ฉบับที่ 237 จับพิรุธ ตระเวนซื้อยาแก้แพ้ แก้ไอ

        วัยรุ่นยุคนี้มักมีพฤติกรรมแปลกๆ เพื่อโชว์ให้คนสนใจ บางครั้งกลับทำให้เกิดอันตรายกับตัวเองดังกรณีล่าสุดที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาต้องออกมาเตือนวัยรุ่นว่า อย่าลอกเลียนแบบการทำ Benadryl challenge เด็ดขาด หลังพบรายงานผู้เสียชีวิตจากการเข้าร่วมทำไวรัลดังกล่าวผ่านแอพพลิเคชั่น TIKTOK เพราะยาเบนาดริล (Benadryl) แม้จะเป็นยาที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการรักษา แต่หากรับประทานเกินขนาด อาจเกิดอาการข้างเคียงจนถึงแก่ชีวิตได้         ยาเบนาดริล (Benadryl) มีชื่อสามัญทางยาคือ ไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine) เป็นยาแก้แพ้ที่ใช้ในการบรรเทาอาการโรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจส่วนบนและอาการหวัด เช่น น้ำมูกไหลและจาม ในแง่กฎหมายจัดเป็นยาอันตรายที่ต้องสั่งจ่ายยาโดยแพทย์หรือเภสัชกรเท่านั้น หากรับประทานเกินขนาด อาจเกิดความผิดปกติกับหัวใจทำให้หัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะ ความดันโลหิตสูง หัวใจหยุดเต้นและอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้         ในประเทศไทยมีการขึ้นทะเบียนตำรับยาที่มีไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine) หลายตำรับ ทั้งยาน้ำ ยาเม็ด และยาแคปซูล มีชื่อการค้าต่างๆ มากมาย  ร้านขายยาที่จ่ายยานี้ให้กับผู้ป่วยจะต้องจัดทำบัญชีการขายยาเพื่อป้องกันการนำยาไปใช้ในทางที่ผิด         จากการลงพื้นที่ตรวจสอบตามร้านขายยาและข้อมูลในชุมชนพบว่า วัยรุ่นมักจะตระเวณมาขอซื้อยานี้ตามร้านต่างๆ ทั้งจากร้านยาหรือร้านขายของชำบางแห่งที่แอบลักลอบนำมาขาย ในอดีตวัยรุ่นที่มาซื้อยาเหล่านี้ เราจะสังเกตได้ง่าย โดยดูจากท่าทีและพฤติกรรมของพวกเขาที่แสดงออกอย่างชัดเจน แต่เมื่อทางการเข้มงวดมากขึ้นก็เลี่ยงหาวิธีต่างๆ มาซื้อ เช่น จ้างผู้ใหญ่มาซื้อโดยอ้างว่าจะนำไปใช้กับบุตรหลาน เคยมีข้อมูลว่าบางครั้งมีการจ้างคนแต่งกายเป็นพระสงฆ์หรือผู้สูงอายุมาขอซื้อ อ้างว่ารับประทานประจำ ล่าสุดมีการจ้างเด็กวัยรุ่นที่ท่าทางสุภาพเรียบร้อยมาขอซื้อยาเหล่านี้         วิธีง่ายๆ ที่จะจับพิรุธคือ เมื่อคนกลุ่มนี้เข้ามาในร้านยามักจะคอยสอดส่ายสายตา กวาดตามองยาตามชั้นวางยาพยายามเพ่งไปบริเวณที่มียาน้ำ และเมื่อจะขอซื้อก็มักจะเอ่ยปากขอซื้อยาโดยระบุชื่อการค้าของยาพวกนี้ที่วัยรุ่นนิยมแทนที่จะบอกอาการเจ็บป่วยไม่สบาย  หรือบางคนโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว แต่กลับจะซื้อแต่ยาน้ำเชื่อมและมักจะวนมาขอซื้อบ่อยๆ จนมีพิรุธว่าทำไมอาการป่วยไม่หายสักที และทำไมรับประทานยาหมดก่อนกำหนดตามปริมาณที่ได้รับไป         หากใครเจอพฤติกรรมเหล่านี้ หรือเจอร้านขายยาที่ไม่เข้มงวดปล่อยปละละเลยในการขายยาอย่างไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ ช่วยไปกระซิบเจ้าหน้าที่กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาให้ลงไปตรวจสอบด้วยนะครับ เพื่อคุ้มครองให้บุตรหลานเราปลอดภัยต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 237 กระชับรูขุมขน

        หลายคนพอส่องกระจกแบบชิดใกล้เห็นรูขุมขนบริเวณจมูก โหนกแก้ม หน้าผาก แล้วอาจเกิดความเครียดเอาได้ง่ายๆ เพราะกังวลใจในเรื่องของรูขุมขนที่ขยายกว้างทำให้ผิวดูไม่เรียบเนียน จริงๆ ถ้าไม่ได้มีปัญหาสิว สิวอักเสบ มันก็เป็นเรื่องปกติของผิวบริเวณนั้น เป็นเรื่องธรรมชาติที่เป็นกันทุกคน เห็นชัด ไม่ชัด ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยทั้งกรรมพันธุ์ เชื้อชาติ ประเภทของผิว การสัมผัสแดดหรืออายุ         แต่เชื่อไหมว่า รูขุมขนกว้างเป็นปัญหาลำดับต้นๆ ที่สาวไทยกังวล ทำให้มีผลิตภัณฑ์และรูปแบบการรักษานำมาเสนอขายกันไม่หวาดไหว ซึ่งจริงๆ แล้วมันไม่ต้องรักษาเพราะไม่ได้เป็นภาวะผิดปกติ และรูขุมขนกว้างทำให้หายไปไม่ได้ มีแต่เพียงวิธีที่จะช่วยทำให้มันดูกระชับขึ้นเล็กน้อยเท่านั้น         รูขุมชนที่ดูกว้างจนเห็นชัดเจนนั้นเกิดจากต่อมผลิตไขมันใต้ผิวหนังขยายขนาดใหญ่ขึ้นกว่าปกติ โดยผิวหนังบริเวณรอบๆ จะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงหรืออักเสบ กล่าวคือไม่ได้เจ็บปวดอะไร ไม่พยายามไปยุ่งกับมันแค่ทำความสะอาดเพื่อลดปริมาณสิ่งสกปรกก็เพียงพอแล้ว แต่ถ้าอยากจะกระชับรูขุมขนบนผิวหน้าเพื่อให้แลดูเล็กลงสักนิด ต้องเริ่มที่การทำความสะอาดและลดปัจจัยเสี่ยงบางอย่าง                 การทำความสะอาดผิวหน้า        ล้างหน้าให้สะอาดด้วยผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยนต่อผิว เลือกผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมที่ปลอดภัยได้มาตรฐาน ไม่ผสมสารที่อาจทำให้เกิดความระคายเคือง หรือมีค่ากรดด่างที่เข้มข้น และไม่ควรล้างหน้าบ่อยเกินไปเพราะผิวจะยิ่งแห้งและเร่งการผลิตไขมัน ยิ่งทำให้รูขุมขนขยายกว้างขึ้น         การบำรุงผิว         เลือกครีมบำรุงผิวที่เหมาะสมกับสภาพผิว เลี่ยงครีมบำรุงที่ผสมน้ำมันหนักๆ เพราะเมื่อน้ำมันรวมกับเซลล์ผิวที่ตายอาจเกิดการอุดตันที่บริเวณรูขุมขน กลายเป็นสิวอักเสบได้ ซึ่งจะยิ่งทำให้รูขุมขนไม่กระชับ         การแต่งหน้า         ช่วยปกปิดรูขุมขนกว้างได้แน่ๆ แต่เลือกผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับสภาพผิวและต้องล้างทำความสะอาดก่อนนอนไม่ปล่อยให้เกิดการตกค้างบนผิว         ใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงยูวี         รังสียูวีเป็นสาเหตุหนึ่งที่มีส่วนทำให้รูขุมขนขยายกว้าง เพราะทำลายคอลลาเจน อีลาสติน บนผิวทำให้ผิวขาดความยืดหยุ่นไม่กระชับ         ไม่สัมผัสหน้าด้วยมือบ่อยๆ           เพราะอาจนำสิ่งสกปรกสู่ผิว ไม่บีบหรือเค้นสิว ควรรักษาให้ถูกวิธี         ทำให้ผิวแห้งและลดความมัน         การทำผิวให้แห้งจะทำให้ชั้นเคราตินหดตัวเล็กลง จึงดูเหมือนว่ารูขุมขนมีขนาดเล็กลงด้วย โดยอาจเลือกใช้คลีนเซอร์แบบ oil-control หรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของซาลิไซลิค เอสิด ซึ่งจะช่วยป้องกันความมันบนใบหน้าได้         ลดความมันของผิวด้วยการมาสก์หน้าเฉพาะจุด         ผิวหน้าในแต่ละจุดอาจมีความมันไม่เท่ากัน ทำให้บางจุดดูรุขุมขนกว้างกว่าบริเวณอื่น ดังนั้นส่วนที่รูขุมขนกว้างผิวมันมาก อาจมาสก์เฉพาะจุดนั้นๆ เช่น จมูก หน้าผาก โดยทำตามวิธีที่ระบุบนฉลากผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานและล้างให้สะอาด         ลดความมันบนผิวหน้าระหว่างวัน         กลางวันอาจใช้กระดาษซับมันช่วยลดความมันบนใบหน้า และลดสิ่งสกปรกที่ค้างบนผิว         การใช้บริการคลินิกความงาม         ควรเลือกใช้วิธีที่ได้มาตรฐานมีการควบคุมด้วยผู้เชี่ยวชาญ ที่สำคัญต้องจำไว้ว่า ยังไม่มีวิธีการทางแพทย์วิธีใดที่จะทำให้รูขุมขนกว้างหายไปได้ และอาจจะยิ่งเสี่ยงก่อให้เกิดปัญหากับผิวมากยิ่งขึ้นหากเลือกวิธีการที่ไม่เหมาะสม จึงควรศึกษาข้อมูลให้รอบคอบก่อนเลือกใช้บริการ         แอปพลิเคชั่น         วิธีนี้ไม่ทำให้รูขุมชนกว้างหายไปจากใบหน้า แต่ช่วยให้เวลาถ่ายรูปออกมาแล้วสวยเนียนกริบได้แน่นอน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 237 ทำความรู้จัก ‘สภาองค์กรของผู้บริโภค’ เป็นปากและเป็นเสียงให้ผู้บริโภค

      ทุกวันนี้เวลาซื้อสินค้าหรือบริการแล้วไม่เป็นอย่างที่โฆษณา สินค้าไม่ตรงปก บริการไม่เป็นธรรมและอีกสารพัดสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคหรือ สคบ. จะเป็นหน่วยงานแรกที่ผู้บริโภคนึกถึง           เอาล่ะ เรื่องการทำหน้าที่ของ สคบ. เป็นอย่างไร มีประสิทธิภาพแค่ไหน ไม่ใช่หัวข้อที่เราจะคุยกันตรงนี้ ประเด็นคือ สคบ. เป็นหน่วยงานรัฐ ไม่ใช่ ‘ตัวแทนผู้บริโภค’        เทียบกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชนในสภา ตัวแทนผู้บริโภคก็ทำงานในลักษณะเดียวกัน แต่ถ้าถามว่าปัจจุบันนี้เราในฐานะผู้บริโภคมีตัวแทนผู้บริโภคที่จะคอยเป็นปากเสียง คอยตรวจสอบผู้ประกอบการ เสนอแนะนโยบายคุ้มครองผู้บริโภคแก่รัฐบาลหรือหน่วยงานรัฐ ไปจนถึงการฟ้องร้องแทนผู้บริโภคหรือยัง?        คำตอบคือ ยังไม่มี        ทั้งที่แนวคิดนี้ก่อร่างสร้างตัวมาไม่น้อยกว่า 2 ทศวรรษแล้ว แต่อย่างว่าในประเทศที่รัฐสนใจเรื่องความมั่นคงมากกว่าสิทธิของผู้บริโภค (และประชาชน) การจะได้ตัวแทนผู้บริโภคย่อมต้องต่อสู้ให้ได้มา ซึ่งหากไม่มีอะไรผิดพลาด ปีหน้าเราจะได้เห็น ‘สภาองค์กรของผู้บริโภค’ เกิดขึ้น        ‘ฉลาดซื้อ’ ฉบับนี้จะพาไปทำความรู้จักสภาองค์กรของผู้บริโภคแบบเป็นกันเอง ถาม-เส้นทางการเกิดขึ้นของสภาองค์กรของผู้บริโภคเป็นอย่างไรตอบ-แนวคิดเรื่ององค์กรอิสระของผู้บริโภคปรากฏครั้งแรกในรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่บัญญัติให้มีองค์กรอิสระเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐในมิติต่างๆ เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เป็นต้น โดยในมาตรา 57 ได้กำหนดให้มีองค์กรอิสระอีกองค์กรหนึ่งที่เกิดจากการรวมตัวของผู้บริโภคเพื่อทำหน้าที่ให้ความเห็นในการตรากฎหมายและมาตรการต่างๆ ในการคุ้มครองเพื่อผู้บริโภค ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่า ‘องค์กรอิสระเพื่อผู้บริโภค’        10 ปีผ่านไปจนถึงปี 2549 เกิดการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 องค์กรอิสระเพื่อผู้บริโภคก็ยังไม่เกิดขึ้น แต่รัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 61 ยังคงบัญญัติเรื่องนี้ไว้และขยายความเพิ่มเติมให้มีหน้าที่ ‘ตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งนี้ให้รัฐสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการขององค์การอิสระดังกล่าวด้วย’        เช่นเคย ยังไม่ทันที่องค์กรอิสระเพื่อผู้บริโภคจะเกิดขึ้น รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 นำไปสู่รัฐธรรมนูญปี 2560 ได้บัญญัติเรื่องนี้อีกครั้งในมาตรา 46 ว่า ‘สิทธิของผู้บริโภคย่อมได้รับความคุ้มครอง บุคคลย่อมมีสิทธิรวมกันจัดตั้งองค์กรของผู้บริโภคเพื่อคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค องค์กรของผู้บริโภคตามวรรคสองมีสิทธิรวมกันจัดตั้งเป็นองค์กรที่มีความเป็นอิสระเพื่อให้เกิดพลัง ในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคโดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐ ทั้งนี้ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดตั้ง อํานาจในการเป็นตัวแทนของผู้บริโภค และการสนับสนุนด้านการเงินจากรัฐ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ’        ในที่สุด พ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ.2562 ก็ถือกำเนิดขึ้น หลังต้องรอคอยถึง 23 ปี ถาม-สภาองค์กรของผู้บริโภคคืออะไร?ตอบ-พ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ.2562 ให้นิยามสภาองค์กรของผู้บริโภคเพียงว่าคือ ‘สภาขององค์กรผู้บริโภคที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัตินี้’ ทำให้ต้องดูต่อว่า ‘องค์กรผู้บริโภค’ คืออะไร ซึ่งกฎหมายให้นิยามว่า         ‘องค์กรที่ผู้บริโภคซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาตั้งแต่สิบคนขึ้นไปรวมตัวกันจัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ในการคุ้มครองผู้บริโภคและไม่แสวงหากำไร ไม่ว่าการรวมตัวจัดตั้งนั้นจะจัดตั้งเป็นรูปแบบใด และจะเป็นนิติบุคคลหรือไม่ก็ตาม และให้หมายความรวมถึงนิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์ดังกล่าวด้วย’         ทั้งนี้องค์กรผู้บริโภคตามนิยามของกฎหมายมี 2 รูปแบบคือองค์กรที่เป็นบุคคลธรรมดาตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปมารวมตัวกัน จะเป็นผู้ประกอบธุรกิจหรือผู้บริโภคก็ได้ มีการกำหนดวัตถุประสงค์ร่วมกันเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและไม่แสวงหากำไร แบบที่ 2 คือนิติบุคคล ซึ่งกฎหมายไม่ได้กำหนดว่าต้องมีผู้ร่วมก่อตั้งกี่คน ดูเพียงว่าเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งตามกฎหมายหรือไม่ และมีวัตถุประสงค์ว่าเกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคหรือเปล่า         เมื่อนำนิยามทั้งสองมารวมกัน สภาองค์กรของผู้บริโภคก็คือสภาที่เกิดจากการรวมตัวกันขององค์กรผู้บริโภคโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ถาม-อำนาจและหน้าที่ของสภาองค์กรของผู้บริโภคมีอะไรบ้างตอบ-กฎหมายกำหนดให้สภาองค์กรของผู้บริโภคอำนาจหน้าที่ ดังนี้        1.ให้ความคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค รวมตลอดทั้งเสนอแนะนโยบายเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคต่อคณะรัฐมนตรีหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง        2.สนับสนุนและดำเนินการ ตรวจสอบ ติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์ปัญหาสินค้าและบริการ แจ้งหรือโฆษณาข่าวสารหรือเตือนภัยเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการที่อาจกระทบต่อสิทธิของผู้บริโภคหรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายหรือเกิดความเสื่อมเสียแก่ผู้บริโภค โดยจะระบุชื่อสินค้าหรือบริการหรือชื่อของผู้ประกอบธุรกิจด้วยก็ได้        3.รายงานการกระทำหรือละเลยการกระทำอันมีผลกระทบต่อสิทธิของผู้บริโภค ไปยังหน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานอื่นที่รับผิดชอบและเผยแพร่ให้ประชาชนทราบ        4.สนับสนุนและช่วยเหลือองค์กรของผู้บริโภคในการรักษาประโยชน์ของผู้บริโภคให้มีประสิทธิภาพและได้รับความเชื่อถือ ตลอดจนส่งเสริมการรวมตัวขององค์กรของผู้บริโภคในระดับจังหวัดและเขตพื้นที่ ทั้งนี้ ตามที่กำหนดในข้อบังคับของสภาองค์กรของผู้บริโภค        5.สนับสนุนการศึกษาและการวิจัยเพื่อประโยชน์ในการด าเนินงานคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค        6.สนับสนุนและช่วยเหลือสมาชิกในการไกล่เกลี่ยหรือประนีประนอมยอมความข้อพิพาทเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคทั้งก่อนและในระหว่างการดำเนินคดีต่อศาล        7.ดำเนินคดีเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคตามที่เห็นสมควรหรือเมื่อมีผู้ร้องขอ หรือให้ความช่วยเหลือในการดำเนินคดีในกรณีที่ผู้บริโภคหรือองค์กรของผู้บริโภคถูกฟ้องคดีจากการใช้สิทธิในฐานะผู้บริโภคหรือใช้สิทธิแทนผู้บริโภค แล้วแต่กรณี และเพื่อประโยชน์แห่งการนี้ ให้มีอำนาจประนีประนอมยอมความด้วย        8.จัดให้มีหรือรวบรวม และเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการอันจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคในการตัดสินใจซื้อสินค้าหรือใช้บริการ ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้โดยสะดวก ถาม-แล้วจะจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคได้อย่างไรตอบ-กฎหมายกำหนดให้องค์กรผู้บริโภคที่เข้าเกณฑ์ตามเงื่อนไขอย่างน้อย 150 องค์กรสามารถรวมตัวกันเพื่อจัดตั้งเป็นสภาองค์กรของผู้บริโภคได้กับนายทะเบียนกลาง ซึ่งก็คือสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อนายทะเบียนกลางได้รับเอกสารครบถ้วนถูกต้องแล้วจะต้องดำเนินการตรวจสอบและประกาศการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคภายใน 30 วัน หลังจากนั้นทั้ง 150 องค์กรที่ขอจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคจะต้องเรียกประชุมสมาชิกและร่างข้อบังคับสภาภายใน 30 วันนับจากประกาศจัดตั้ง เช่น วัตถุประสงค์ของสภา โครงสร้างการบริหาร การคัดเลือกกรรมการ ข้อบังคับ แนวทางนโยบายคุ้มครองผู้บริโภค เป็นต้น ถาม-ขณะนี้เกิดสภาองค์กรของผู้บริโภคขึ้นหรือยังตอบ-ยัง ข้อมูล ณ วันที่ 8 ตุลาคม 2563 พบว่ามีองค์กรผู้บริโภครวมตัวกันได้ 151 องค์กรที่ยื่นขอจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคต่อสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี แต่การตรวจสอบเอกสารของนายทะเบียนกลาง พบว่ามี 7 องค์กรที่ต้องแก้ไขเอกสารให้ถูกต้อง ขณะนี้จึงอยู่ระหว่างการแก้ไขเอกสาร หากนายทะเบียนกลางได้รับเอกสารที่ครบถ้วนถูกต้องแล้ว จึงจะประกาศการจัดตั้งสภาองค์กร ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในภายในปี 2564 นี้ ถาม-ถ้ามีองค์กรผู้บริโภคต้องการเข้าร่วมเป็นสมาชิกสภาองค์กรผู้บริโภคสามารถทำได้หรือไม่ตอบ-ทำได้ หากเข้าเกณฑ์ที่สภาองค์กรของผู้บริโภคกำหนดไว้ อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาการจัดตั้งองค์กรผู้บริโภคพบอุปสรรคสำคัญ 3 ประเด็นหลัก ได้แก่        ประการแรก ผู้ทำหน้าที่เป็นนายทะเบียนรับจดแจ้งมีความรู้ความเข้าใจในประเด็นการคุ้มครองผู้บริโภคไม่เพียงพอ โดยมองเป็นแค่เรื่องการซื้อขายสินค้าและบริการเท่านั้น เช่น บางจังหวัดนายทะเบียนมองว่าองค์กรผู้บริโภคที่จัดตั้งขึ้นเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับบริการสุขภาพหรือคุ้มครองสิทธิ์ให้ผู้พิการสามารถเข้าถึงสิทธิ์รักษาพยาบาลได้ ไม่ถือเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งที่การรักษาพยาบาลถือเป็นบริการอย่างหนึ่ง        ประการที่ 2 การสร้างภาระขั้นตอนเกินจำเป็น เช่น การจะตั้งองค์กรผู้บริโภคตัวผู้ก่อตั้งทั้งหมดจะต้องไปยืนยันตัวตน ณ สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีหรือนายทะเบียนจังหวัด ทั้งที่เทคโนโลยีปัจจุบันสามารถตรวจสอบได้จากฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์ ซึ่งกระบวนการนี้เป็นการสร้างภาระให้องค์กรผู้บริโภคเกินจำเป็น ทำให้การจดแจ้งมีความยุ่งยาก ทั้งที่ในมาตรา 6 ระบุว่า ‘ต้องไม่มีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็น และให้รับฟังความคิดเห็นขององค์กรของผู้บริโภคประกอบด้วย’        ประการที่ 3 การตีความเกี่ยวกับตำแหน่งกรรมการองค์กรผู้บริโภคที่บางองค์กรเกิดจากการรวมตัวของประชาชนทั่วไป การจะทำงานให้มีความน่าเชื่อถือ มีหลักฐานทางวิชาการรองรับ ย่อมต้องมีนักวิชาการมาสนับสนุน ประเด็นคือหากกรรมการด้านวิชาการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยของรัฐ นายทะเบียนจะตีความว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ จึงไม่อนุญาตให้จดแจ้งเป็นองค์กรผู้บริโภค ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นการตีความที่ไม่ตรงกับเจตนารมย์ของกฎหมาย เนื่องจากนักวิชาการที่มาให้ความเห็นไม่สามารถครอบงำองค์กรได้เพราะไม่ใช่เสียงส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในองค์กรผู้บริโภคที่เป็นนิติบุคคล ซึ่งการจะแก้ไขรายชื่อกรรมการและข้อบังคับไม่ใช่เรื่องง่าย การตีความลักษณะนี้เป็นส่วนหนึ่งที่องค์กรผู้บริโภคจำนวนมากไม่สามารถจดแจ้งได้ ถาม-จะป้องกันไม่ให้ภาคธุรกิจสวมรอยเข้ามาเป็นองค์กรผู้บริโภคและจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคได้อย่างไรตอบ-เพราะต้องการให้เกิดสภาองค์กรของผู้บริโภคที่เป็นอิสระจึงมีการกำหนดคุณลักษณะขององค์กรผู้บริโภคที่จะมีสิทธิ์รวมตัวกันเป็นสภาองค์กรของผู้บริโภคในมาตรา 5 ว่าต้องไม่เป็นองค์กรของผู้บริโภคที่จัดตั้งขึ้นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมหรือถูกครอบงำโดยผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นนิติบุคคล กรรมการหรือผู้มีอำนาจบริหารของผู้ประกอบธุรกิจดังกล่าว หรือโดยหน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือพรรคการเมือง และไม่เป็นองค์กรของผู้บริโภคที่ได้รับเงินอุดหนุนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมจากบุคคล        บวกกับการมีกระบวนการตรวจสอบที่ค่อนข้างเข้มงวด เช่น การตรวจสอบชื่อกรรมการองค์กรว่ามีชื่อเป็นกรรมการบริหารอยู่ในบริษัทใดหรือไม่จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ หรือการตรวจสอบว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือไม่จากกรมบัญชีกลาง เป็นต้น นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสให้มีการร้องคัดค้านหากเห็นว่าองค์กรผู้บริโภคนั้นๆ ไม่เข้าเงื่อนไขตามมาตรา 5ถาม-ช่วยยกตัวอย่างการทำงานของสภาองค์กรของผู้บริโภคที่เป็นรูปธรรมตอบ-กรณีการควบรวมกิจการของ CP และเทสโก้ โลตัส ซึ่งทางคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) อนุญาตให้ควบรวมได้ ทั้งที่หลายฝ่ายกังวลว่าจะทำให้ CP มีอำนาจเหนือตลาด กรณีเช่นนี้กฎหมายให้อำนาจสภาองค์กรของผู้บริโภคตรวจสอบมติของ กขค. ได้ โดยทำความเห็นได้ว่าลักษณะการควบรวมแบบนี้จะกระทบต่อผู้บริโภค เนื่องจากการผูกขาดทำให้ผู้บริโภคไม่มีทางเลือกในการเลือกที่เป็นอิสระเกี่ยวกับสินค้าและบริการบางประเภท แต่เมื่อ กขค. เห็นชอบให้ควบรวมได้แล้ว สภาองค์กรของผู้บริโภคหากเห็นว่ามีผลกระทบ หรือกรณีการแบนพาราควอต สมมติว่าคณะกรรมการวัตถุอันตรายเสียงข้างมากเห็นว่าพาราควอตปลอดภัย มีคำสั่งไม่แบน แต่สภาองค์กรของผู้บริโภคเห็นว่าพาราควอตเป็นสารเคมีที่ห้ามใช้กันทั่วโลก มีข้อเท็จจริงทางวิชาการที่พิสูจน์ได้ สภาองค์กรของผู้บริโภคสามารถยื่นฟ้องศาลปกครองให้เพิกถอนมติได้เช่นกันข้อดีประการหนึ่งของกฎหมายฉบับนี้คือมีข้อสันนิษฐานที่เป็นคุณต่อสภาองค์กรของผู้บริโภคว่า ในการทำหน้าที่ในข้อ 1, 2, 3, 7 หรือ 8 ถ้าเป็นการกระทำโดยสุจริต ให้สภาองค์กรของผู้บริโภคพ้นจากความรับผิด ถาม-เราจะตรวจสอบการทำงานของสภาองค์กรของผู้บริโภคได้อย่างไรตอบ-ความรับผิดรับชอบ (accountability) เป็นสิ่งที่มาพร้อมกับอำนาจหน้าที่ กลไกการตรวจสอบสภาองค์กรของผู้บริโภคถูกล่าวถึงในมาตรา 17 ว่า        ‘เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมประสิทธิภาพและการตรวจสอบการดำเนินงานของสภาองค์กรของผู้บริโภคให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ให้สภาองค์กรของผู้บริโภคจัดให้มีการประเมินผลการดำเนินงานของสภาองค์กรของผู้บริโภคตามระยะเวลาที่สภาองค์กรของผู้บริโภคกำหนด แต่ต้องไม่เกิน 3 ปี การประเมินผลการดำเนินงานตามวรรคหนึ่ง ให้จัดทำโดยสถาบันหรือองค์กรที่เป็นกลางและมีความเชี่ยวชาญในด้านการประเมินผลการดำเนินงาน โดยมีการคัดเลือกตามวิธีการที่สภาองค์กรของผู้บริโภคกำหนด การประเมินผลการดำเนินงานของสภาองค์กรของผู้บริโภคจะต้องแสดงข้อเท็จจริงให้ปรากฏในด้านประสิทธิผล ประสิทธิภาพ การพัฒนาสภาองค์กรของผู้บริโภค และการสนับสนุนจากประชาชน หรือในด้านอื่นตามที่สภาองค์กรของผู้บริโภคจะได้กำหนดเพิ่มเติมขึ้น’        และในมาตรา 18        ‘ให้สภาองค์กรของผู้บริโภคจัดทำรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปี ตลอดจนปัญหาและอุปสรรคเผยแพร่ให้ประชาชนทราบและเสนอต่อคณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา เพื่อทราบภายใน 6 เดือนนับแต่วันสิ้นปีปฏิทิน นายกรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา อาจขอให้ประธานกรรมการนโยบายสภาองค์กรของผู้บริโภคชี้แจงการดำเนินงานในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นหนังสือหรือขอให้มาชี้แจงด้วยวาจาได้’ ถาม-เมื่อเกิดสภาผู้บริโภคขึ้นแล้ว ผู้บริโภคจะมีส่วนร่วมได้อย่างไรตอบ-สภาองค์กรของผู้บริโภคจะเป็นพื้นที่รวมตัวของสมาชิกองค์กรผู้บริโภค ขณะที่ตัวผู้บริโภคเองที่มีการรวมกลุ่มและต้องการการสนับสนุนก็สามารถทำเรื่องขอรับการสนับสนุนได้ เนื่องจากเป็นหน้าที่โดยตรง ทั้งนี้ภารกิจหลักที่สภาองค์กรของผู้บริโภคควรรีบผลักดันให้เกิดขึ้นโดยเร็วคือการทำให้เกิดองค์กรผู้บริโภคในทุกจังหวัด จัดการบริการแบบ one stop service ให้แก่ผู้บริโภคในการร้องเรียน ขอข้อมูล หรือแจ้งเบาะแส เป็นต้น ก็จะช่วยทำให้การคุ้มครองผู้บริโภคในไทยมีความเข้มแข็งขึ้นกว่าในอดีต        เพราะในโลกทุนนิยม พลังของ ‘ผู้บริโภค’ คือพลังสำคัญที่จะเปลี่ยนแปลงโลกและทำให้ทุนนิยมอ่อนโยนลงกว่าที่เป็นอยู่

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 237 FoodChoice ตัวช่วยของการรับประทานอาหาร

        สุขภาพที่แข็งแรงย่อมเกิดมาจากการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ มีสารอาหารที่มีคุณค่าต่อร่างกาย ดังนั้นอาหารที่เลือกรับประทานในชีวิตประจำวันมีผลกระทบต่อสุขภาพของตนเองเป็นอย่างมาก ด้วยเหตุนี้ฉบับนี้จึงมาแนะนำการเลือกรับประทานอาหารในแบบฉบับใส่ใจและลงลึกถึงสารอาหารและข้อมูลทางโภชนาการกันดีกว่าค่ะ         เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมามีการเปิดตัวแอปพลิเคชั่นที่มีชื่อว่า “FoodChoice” ที่ได้รับการพัฒนาจากกระทรวงสาธารณสุข ร่วมมือกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานอีกหลายฝ่าย และหนึ่งในนั้นคือ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค         แอปพลิเคชั่น “FoodChoice” ตั้งใจมีไว้เพื่อให้ข้อมูลด้านโภชนาการอาหารและเครื่องดื่มให้กับผู้บริโภค ซึ่งจะจำแนกข้อมูลต่อหนึ่งหน่วยบริโภคของปริมาณสารอาหาร ได้แก่ พลังงาน น้ำตาล โซเดียม ไขมัน ไขมันอิ่มตัว และโปรตีน ให้ข้อมูลในหน่วยช้อนชา และทำให้ผู้บริโภคได้รับทราบเกณฑ์มาตรฐานโภชนาการอีกด้วย         ภายในแอปพลิเคชั่นจะมี 3 หมวด ดังนี้ หมวดแรกคือประวัติการค้นหา จะช่วยเก็บข้อมูลที่ได้ค้นหาข้อมูลบนฉลากโภชนาการทั้งหมด หมวดสองใช้สำหรับสแกนบาร์โค้ดจากผลิตภัณฑ์เพื่อให้แอปฯ ประมวลผลข้อมูลบนฉลากโภชนาการ และหมวดสามเป็นข้อมูลทั่วไปของแอปพลิเคชั่น ได้แก่ การใช้งาน เกณฑ์สีและการจัดเรียงข้อมูล หน่วยงานที่ร่วมพัฒนา ช่องทางการติดต่อ และข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้         เมื่อต้องการทราบข้อมูลบนฉลากโภชนาการ ให้สแกนบาร์โค้ดจากผลิตภัณฑ์นั้นๆ หลังจากนั้นจะปรากฎภาพข้อมูลโภชนาการในรูปแบบที่สามารถเข้าใจได้ง่าย โดยแยกเป็นสารอาหารในปริมาณต่างๆ พร้อมคำแนะนำว่าผลิตภัณฑ์เหมาะสมหรือไม่เหมาะสมกับผู้บริโภคที่เป็นโรคใดบ้าง และช่วยเปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวกันได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งมีการจำแนกสีของผลิตภัณฑ์ เพื่อให้สามารถเลือกบริโภค และกำหนดปริมาณการกินให้เหมาะสมได้ ดังนี้        1) สีเขียว หมายถึง ปริมาณพลังงานหรือสารอาหาร อยู่ในเกณฑ์ที่กําหนด        2) สีเหลือง หมายถึง ปริมาณพลังงานหรือสารอาหาร อยู่ในเกณฑ์ปานกลาง        3) สีแดง หมายถึง ปริมาณพลังงานหรือสารอาหาร อยู่ในเกณฑ์ที่สูงเกิน 2 เท่าของเกณฑ์ที่กำหนด        4) สีฟ้า หมายถึง ปริมาณโปรตีน แคลเซียม วิตามินบีสอง ซึ่งเป็นสารอาหารที่ดีแต่มีปริมาณต่ำกว่าเกณฑ์มาก          ในกรณีที่ผู้ใช้แอปพลิเคชั่นสแกนบาร์โค้ดบนผลิตภัณฑ์แล้วไม่พบข้อมูล ผู้ใช้แอปพลิเคชั่นสามารถถ่ายรูปของด้านหน้าผลิตภัณฑ์ ข้อมูลโภชนาการ ส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ และเลขอย. 13 หลัก เพื่อแชร์รูปภาพให้ข้อมูลในแอปพลิเคชั่นทันสมัย และครบถ้วนอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นช่องทางหนึ่งที่ผู้บริโภคจะช่วยกันเพิ่มข้อมูลด้านโภชนาการและแบ่งปันข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อกัน         การใช้แอปพลิเคชั่น “FoodChoice” อย่างน้อยก็ช่วยสร้างให้ผู้บริโภคได้ตระหนักในการเลือกบริโภคและใส่ใจกับข้อมูลโภชนาการที่ระบุไว้บนผลิตภัณฑ์ เพื่อประกอบการตัดสินใจที่จะเลือกบริโภคและพิจารณาถึงคุณค่าของสารอาหารที่ควรได้รับในแต่ละวันให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม ไม่มากจนเกินไปและน้อยเกินไป ซึ่งจะช่วยทำให้ร่างกายได้รับแต่อาหารและเครื่องดื่มที่มีประโยชน์

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 237 วาสนารัก : แข่งบุญแข่งวาสนา...แข่งกันไม่ได้จริงๆ หรือ

                มีความเปรียบเปรยอยู่ข้อหนึ่งที่ผู้คนมักจะกล่าวกันไว้ว่า “แข่งเรือแข่งพายนั้นแข่งได้ แต่แข่งบุญแข่งวาสนาแข่งกันไม่ได้”         ความเปรียบข้อนี้สะท้อนโลกทัศน์ที่หยั่งรากลึกเนิ่นนานในสังคมไทยเอาไว้ว่า ถึงแม้นเรื่องของ “ความสามารถ” อาจเป็นสิ่งที่ปัจเจกบุคคลแข่งขันเพื่อกำชัยชนะระหว่างกันได้ก็ตาม แต่เรื่องของ “เส้นวาสนา” หาใช่จะเป็นสิ่งที่ปัจเจกชนมีอำนาจกำหนดกฎเกณฑ์ใดๆ ได้ไม่         “บุญพาวาสนาส่ง” ถือเป็นกลไกรอมชอมความขัดแย้ง และสร้างความชอบธรรมให้กับคนชั้นนำที่จะอธิบายว่า ทำไมมนุษย์เราจึงมีความแตกต่างและไม่เท่าเทียมกันในความสัมพันธ์ ด้วยเหตุนี้ คนที่เราเห็นว่า เขามีสถานะดีกว่า ก็เนื่องจากเขามีวาสนาติดตัวมาแต่กำเนิด ในขณะที่เราอาจจะมีสถานะต่ำต้อยด้อยกว่า ก็ด้วยเพราะเกิดมาพร้อมกับเสียงเพลงที่ปลอบประโลมใจว่า “ฉันมันไม่มีวาสนา ฝืนดวงชะตาก็คงไม่ได้”         แม้โลกทัศน์เรื่อง “วาสนา” เยี่ยงนี้ อาจตกผลึกฝังเป็นตะกอนนอนก้นในสังคมไทยมายาวนานก็จริง แต่ทุกวันนี้ เมื่อสถานะแห่งชนชั้นนำเริ่มแปรเปลี่ยนโฉมหน้าค่าตาไป คำถามก็ดูน่าสงสัยยิ่งว่า แล้วบุญวาสนายังจะเป็นเรื่องที่แข่งขันฝีพายไม่ได้จริงอยู่อีกหรือไม่         ละครโทรทัศน์เรื่อง “วาสนารัก” ที่เพียงเห็นแค่ชื่อ ก็เหมือนจะชวนชี้ให้เราเริ่มตั้งคำถามต่อสำนึกเรื่อง “บุญพาวาสนาส่ง” เฉกเช่นที่กล่าวมานี้         ด้วยเป็นภาคต่อของละครเรื่อง “ทุ่งเสน่หา” ซึ่งเรื่องราวแต่เดิมสะท้อนความเปลี่ยนแปลงของชนบท ที่ผันผ่านสู่ความเป็นเมือง ละคร “วาสนารัก” จึงสานต่อคำถามว่า ภายใต้วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปสู่รุ่นลูกและหลานของตัวละครในภาคแรกนั้น โลกทัศน์ต่อบุญวาสนาของเธอและเขาได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรกันบ้าง         เปิดฉากมากับบรรยากาศของตัวเมืองนครสวรรค์ กับภาพของตัวละครภาคก่อนอย่าง “สำเภา” และ “ยุพิณ” ที่อดีตเคยเป็นคู่ปรับกัน แต่เวลาที่ผ่านผันก็ทำให้ทั้งสองมีวุฒิภาวะและเข้าใจชีวิตมากขึ้น พร้อมๆ กับปมปัญหาใหม่ที่ถูกผูกไว้ให้เป็นจุดเริ่มต้นของความรักอันดูเหมือนจะไร้วาสนาของคนรุ่นลูกหลาน          สำเภามี “กันตพล” เป็นหลานชาย ที่เพราะชาติกำเนิดของเขาหาใช่เป็นหลานแท้ๆ ของสำเภาไม่ แต่เขาเป็นลูกของ “ไผท เทพทอง” พระเอกลิเกชื่อดังที่ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตลงตั้งแต่ต้นเรื่อง         และเหมือนกับโชควาสนาจะเล่นตลก เมื่อกันตพลได้มาพบเจอกับ “ใกล้รุ่ง” ลูกสาวบ้านลิเกของไผท เทพทอง และเขาก็รู้สึกถูกชะตาตกหลุมรักหญิงสาวมาตั้งแต่ครั้งแรกที่พบกัน โดยมีความลับที่ถูกลืออยู่ตลอดว่า ทั้งคู่อาจเป็นพี่น้องพ่อเดียวกัน ซึ่งอาจจะก่อกลายเป็นรักต้องห้ามของพระนางในเรื่องไปในที่สุด         เพราะโดยแก่นแกนหลักของละครก็คือ การชี้ยืนยันให้เห็นว่า วาสนาเป็นเงื่อนไขที่กำหนดมนุษย์ทุกคน และเป็นลิขิตที่เรามิอาจฝืนได้ เพราะฉะนั้นความรักที่พลิกผันไปมาของกันตพลกับใกล้รุ่ง ก็เหมือนจะถูกเล่าผ่านกติกาของบุญวาสนาที่ให้ผู้ชมได้ลุ้นไปด้วยว่า “วาสนารัก” ของคนทั้งคู่จะบรรจบพบและลงเอยอย่างไร         พร้อมๆ กับการร่วมลุ้นไปกับ “วาสนารัก” ของตัวละครนี้ ที่น่าอัศจรรย์ใจยิ่งก็คือ แทบจะทุกตัวละครในเรื่องต่างก็พากันพ้องเสียงพร่ำพูดซ้ำแล้วซ้ำเล่าด้วยประโยคที่มักจะขึ้นต้นว่า “ถ้าคนเค้ามีวาสนาต่อกัน...” บ้าง หรือ “เป็นเพราะวาสนาที่ทำให้...” บ้าง จนผู้เขียนเองก็รู้สึกได้ว่า ตั้งแต่ดูละครโทรทัศน์มา ไม่เคยอิ่มล้นกับละครเรื่องใดที่จะสำทับซ้ำๆ กับคำว่า “วาสนา” จนนับครั้งไม่ถ้วนเยี่ยงนี้         แม้ว่าวาสนาจะเป็นโลกทัศน์ที่ฝังแฝงเข้มข้นอยู่ในมโนสำนึกของคนรุ่นหนึ่ง แต่สำหรับคนรุ่นใหม่หรือลูกหลานที่เป็นผลผลิตของคนรุ่นก่อนๆ นั้น เหมือนจะเดินอยู่บนทางสองแพร่ง ที่ฟากหนึ่งก็เชื่อในพลังของวาสนาฟ้าลิขิต แต่อีกฝั่งหนึ่ง โลกทัศน์ของคนกลุ่มนี้ก็เริ่มเห็นว่า สองมือของปัจเจกบุคคลสามารถก่อร่างและกำหนดชะตาชีวิตของตนเองได้ด้วยเช่นกัน         จะมีก็แต่ตัวละครอย่าง “ไพรัช” ที่ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตไปเท่านั้น ที่ไร้วาสนาในความรักกับนางเอกใกล้รุ่ง แบบที่ “จินดา” ผู้เป็นแม่ก็ยังกล่าวถึงบุตรชายว่า “ทำบุญแค่นี้ มีวาสนาต่อกันแค่นี้” แต่กับตัวละครอื่นๆ ที่เหลือนั้น เมื่อต้องหันมา “สู้เพื่อรัก” กลุ่มคนรุ่นใหม่เหล่านี้ต่างก็พากันเชื่อด้วยว่า หากมีความมุ่งมั่นตั้งใจกันแล้ว ต้องอาศัยสองมือกับหนึ่งใจของปัจเจกเท่านั้น ที่จะฝ่าฟันและกำหนดทางเดินแห่งรักของตนเองได้          ไม่ว่าจะเป็น “พรรณษา” ศัตรูหัวใจของใกล้รุ่ง ที่ไม่เลือกทำตัวเป็น “ข้าวคอยฝน” นั่งรอโชควาสนาบันดาลให้ได้เข้าวงการบันเทิง หากแต่เธอก็เชื่ออยู่ตลอดกับคำพูดที่ว่า “ในเมื่อวาสนามันไม่มี มันก็ต้องสร้างโอกาสเอาเอง” จนบรรลุฝั่งฝันในวงการมายาได้ในที่สุด         หรือ “เพทาย” กับ “เมฆินทร์” ที่เพื่อจะพิชิตหัวใจหญิงสาวอย่างพรรณษาและ “จินตนา” ซึ่งเขาแอบรักมาตลอด ก็มิอาจรอให้ “พรหมลิขิตบันดาลชักพา” ได้ แต่ทั้งสองมุ่งมั่นสมัครเรียนนายร้อยตำรวจ เพราะเชื่อมั่นว่า มีเพียงดาวบนบ่ากับหัวใจของตนเท่านั้น ที่จะให้ได้มาซึ่งความรักที่อยู่เหนือวาสนา         ไล่เรื่อยไปถึง “บดินทร์ เทพทอง” พระเอกลิเกที่ถือคติ “ดักลอบต้องหมั่นกู้ เป็นเจ้าชู้ต้องหมั่นเกี้ยว” ด้วยหวังพิชิตใจของ “อาภากร” ที่ต่างกันทั้งฐานะทางสังคมและต่างกันทั้งช่วงวัย รวมทั้งตัวละคร “เอกชัย” ที่เพศวิถีหาใช่อุปสรรคที่จะกีดกันความรักความรู้สึกที่เขามีต่อ “จันทร์เพ็ญ” ไปได้          จนแม้แต่กับนางเอกใกล้รุ่ง ที่แม้จะมีชายหนุ่มรูปหล่อพ่อรวยอย่าง “อรรณพ” มาคุกเข่าขอแต่งงาน แต่เมื่อกันตพลคือชายเดียวที่เธอรัก ถึงใครต่อใครจะพยายามขัดขวางความรักของเธอ แต่ใกล้รุ่งก็เลือกยืนยันว่า “ครั้งนี้ขอรุ่งทำตามใจของตัวเองสักครั้ง” ก่อนที่ปมเงื่อนเรื่องชาติกำเนิดของทั้งคู่จะคลี่คลายไปในที่สุด         ในฉากอวสานของเรื่อง แม้ละครจะปิดท้ายด้วยข้อความแคปชันที่ขึ้นไว้ว่า “โชคชะตา ทำให้รู้จัก หากได้รัก เพราะวาสนา” แต่ความคิดต่อบุญวาสนาก็อาจไม่ใช่คำตอบที่เหมือนพ้องกันระหว่างคนสองรุ่นสองวัย          เพราะในทางหนึ่ง คนรุ่นเก่าอย่างสำเภาผู้ผ่านโลกมาทั้งด้านที่สมหวังและสูญเสีย เหมือนจะยังคงยึดมั่นในพลังแห่งวาสนาที่เข้ามากำหนดชะตาชีวิตของคนเรา แบบเดียวกับที่เธอพูดว่า “ไม่คิดว่าแต่ละคู่แต่ละคนจะลงเอยกันได้ ต่างที่มาต่างวาสนา มีวาสนามากมีวาสนาน้อยก็แตกต่างกันไป แต่ก็เพราะวาสนานี่แหละที่ทำให้ชีวิตของเราหักเหเปลี่ยนผัน และลงเอยกันได้ โดยที่เรามิอาจคาดเดากันได้เลย”         แต่สำหรับอนุชนคนรุ่นใหม่ๆ ทั้งหลายแล้ว ปริศนาที่ทิ้งไว้ให้ขบคิดหลังละครจบลงก็คือ ระหว่าง “วาสนา” กับ “สองมือหนึ่งใจ” นั้น เธอและเขายังคงต้องค้นหาต่อไปว่า ปัจเจกบุคคลจะเลือกผสมผสานเส้นทางทั้งสองแพร่งให้เป็นเส้นทางดำเนินชีวิตของตนกันอย่างไร

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 237 รู้เท่าทันอาหารเสริมบำรุงตา

        โรคความเสื่อมที่ผู้สูงอายุทุกคนจะต้องเป็นคือ สายตาเสื่อม มองเห็นไม่ชัด พร่ามัว จึงเป็นโอกาสดีสำหรับผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆ สำหรับผู้สูงอายุ ที่จะมาโฆษณาชักชวนให้ผู้สูงอายุบริโภคเพื่อให้สายตาดีขึ้นไม่ต้องผ่าตัด เมื่อเข้าไปดูผลิตภัณฑ์สุขภาพเกี่ยวกับสายตาก็พบว่า มีการโฆษณาผลิตภัณฑ์ต่างๆ จำนวนมาก แต่ที่มีคนถามไถ่มากคือ ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ดี คอนแทค ว่ามีสรรพคุณรักษาดวงตาตามโฆษณาจริงหรือไม่ เรามารู้เท่าทันกันเถอะ  ดีคอนแทคคืออะไร               มีการโฆษณาดีคอนแทค (D-Contact ) ทั้งจากผู้จำหน่าย ร้านค้า ว่าเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ช่วยดูแลดวงตาที่ดีที่สุดในปัจจุบัน ป้องกันการเกิดโรคที่เกี่ยวกับดวงตาได้แก่ ต้อกระจก ต้อลม ต้อเนื้อ ต้อหิน จอประสาทตาเสื่อม วุ้นในตาเสื่อม ตาบอดกลางคืน โรคตาแห้ง เป็นต้น         มีการโฆษณาว่าในดีคอนแทคมีส่วนประกอบหลักจากสารต่างๆ จากธรรมชาติ ได้แก่ เบต้ากลูแคนจากยีสต์ สารสกัดจากบิลเบอร์รี่ กรดแอสคอร์บิก สารสกัดจากแครนเบอร์รี่ สารสกัดจากบลูเบอรี่ สารสกัดจากดอกดาวเรือง เบต้า- แคโรทีน วิตามิน บี 12  รวมทั้งมีเลขทะเบียน อ.ย 10-1-15456-5-0019         ราคาขายมีตั้งแต่กล่องละ 700 กว่าบาทจนถึง 1,200 กว่าบาท กล่องละ 30 แคปซูล โดยสามารถหาซื้อได้จากผู้ขายตรงและในร้านค้าออนไลน์ต่างๆ  ดีคอนแทคน่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในประเทศไทย        พยายามค้นข้อมูลดีคอนแทคในต่างประเทศ ก็ไม่พบว่ามีผลิตภัณฑ์ในชื่อ ดีคอนแทคในต่างประเทศ และพยายามค้นการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องใน Pubmed และ Cochrane และในหน่วยงานต่างๆ ก็ไม่พบ จึงเป็นไปได้ว่าผลิตภัณฑ์นี้อาจผลิตและจำหน่ายในประเทศไทย เลขทะเบียนอ.ย 10-1-15456-5-0019        เมื่อค้นข้อมูลในอย. พบข้อมูลว่า         สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ตรวจพบการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร “ดีคอนแทค” อวดอ้างสรรพคุณช่วยรักษาโรคที่เกิดกับดวงตาทางสื่อต่างๆ โดยมีการระบุสรรพคุณสามารถป้องกันรักษาโรคทางตา เช่น ต้อกระจก , ต้อหิน , ต้อเนื้อ , วุ้นตาเสื่อม และเบาหวานขึ้นตา ทั้งนี้ อย. ขอชี้แจงว่า ผลิตภัณฑ์ “ดีคอนแทค” ได้รับอนุญาตเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เลขสารบบอาหาร 10-1-15456-5-0001 จึงไม่มีสรรพคุณเป็นยารักษาโรคตามที่กล่าวอ้าง ส่วนการขออนุญาตโฆษณามีเนื้อหาเพียง ดีคอนแทค เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และระบุคำเตือนว่า อ่านคำเตือนในฉลากก่อนบริโภค ไม่มีผลในการป้องกันหรือรักษาโรค         ต่อมา นพ. ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้กล่าวว่า อย. ได้รับการยืนยันข้อมูลทางวิชาการจากราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทยว่า ไม่พบหลักฐานทางวิชาการรับรองว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ดี-คอนแทค มีสรรพคุณรักษาดวงตาได้จริง จึงได้ออกคำสั่ง อย.ที่ 127/2562 ยกเลิกเลขสารบบอาหารผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ดี-คอนแทค เลขสารบบอาหารที่ 10-1-15456-5-0001 ตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค. 2562        สรุป  ผลิตภัณฑ์สุขภาพจำนวนมากที่ได้รับการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากอย. แต่มีการนำไปโฆษณาใช้เป็นการรักษาโรค ซึ่งเป็นการผิดกฎหมายจึงขอให้ผู้บริโภคได้รู้เท่าทันไว้ว่า การมีเลขทะเบียนอย. นั้น ไม่ใช่การรับรองว่าเป็นยาหรือผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ใช้รักษาโรคได้ต่างๆ นานาตามโฆษณา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 237 ‘ภาษีน้ำตาล’ มาตรการลดจริตติดหวานของคนไทย

คนไทยบริโภคน้ำตาลจากอาหารและเครื่องดื่มในแต่ละวัน มากกว่า 20 ช้อนชา ซึ่งสูงกว่าคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกที่กำหนดไว้ว่า ไม่ควรบริโภคน้ำตาลเกินวันละ 6 ช้อนชา ทำให้คนไทยป่วยเป็นโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นมากกว่า 5 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้ยังไม่รวมผู้ป่วยที่ยังไม่รู้ตัวอีกมากอาหารรสจัดทั้งหลายนั้นนำไปสู่กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-Communicable Diseases; NCDs) เช่น โรคเบาหวาน โรคไตเรื้อรัง โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ ที่ส่งผลให้คุณภาพชีวิตคนไทยแย่ลง และเกิดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นตามมา จากความเสี่ยงดังกล่าว สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปท.) จึงมีมติเห็นชอบ ให้จัดเก็บภาษีสรรพสามิตในสินค้าประเภทเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเป็นส่วนผสม เช่น น้ำอัดลม ชา กาแฟ เครื่องดื่มชูกำลัง รวมถึงน้ำผลไม้ โดยวัตถุประสงค์ของการจัดเก็บภาษีความหวาน ก็เพื่อส่งเสริมให้คนไทยบริโภคน้ำตาลกันน้อยลง ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในมาตรการที่จะช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคของคนไทย ให้หันมาบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากยิ่งขึ้น แม้มาตรการการจัดเก็บภาษีดังกล่าวจะก่อให้เกิดคำถามว่า ภาครัฐเองต้องการเพิ่มรายได้จากการจัดเก็บภาษีให้มากขึ้นหรือไม่         โดยการจัดเก็บภาษีความหวานนั้น จะจัดเก็บเป็นอัตราก้าวหน้าแบบขั้นบันไดทุกๆ 2 ปี เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการปรับสูตรการผลิตสินค้าเครื่องดื่มให้มีปริมาณน้ำตาลลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอัตราการจัดเก็บภาษีความหวาน ตาม พ.ร.บ.สรรพสามิต พ.ศ. 2560 นั้นมีผลบังคับใช้ในรอบแรก ซึ่งมีระยะเวลา 2 ปี ตั้งแต่ 16 ก.ย.60 – 30 ก.ย.62 โดยเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลไม่เกิน  6 กรัม ต่อเครื่องดื่ม 100 มิลลิลิตร จะไม่เสียภาษี แต่หากมีปริมาณน้ำตาลมากกว่า 6 กรัม แต่ไม่เกิน 8 กรัม/ 100 มล. จะต้องเสียภาษี 0.30 บาท/ลิตร, หากมีปริมาณน้ำตาลเกิน 10 กรัม แต่ไม่เกิน 14 กรัม จะต้องเสียภาษี 0.50 บาท/ลิตร และหากปริมาณน้ำตาลเกิน 14 กรัมขึ้นไป /100 มล. ต้องเสียภาษี 1 บาท/ลิตร  ซึ่งจะมีการเพิ่มอัตราจัดเก็บภาษีเป็นขั้นบันไดทุกๆ 2 ปี สูงสุดถึง 5 บาทต่อลิตร เพื่อให้ผู้ประกอบการได้ปรับตัว และไม่โยนภาระไปยังผู้บริโภคโดยการขึ้นราคา         โดยตั้งแต่ 1 ต.ค.62 ที่ผ่านมา เป็นการเพิ่มอัตราการเก็บภาษีรอบที่สอง (ซึ่งมีผลตั้งแต่ 1 ต.ค.62 – 30 ก.ย.64) โดยเริ่มจากกลุ่มเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลเกิน 10 กรัม แต่ไม่เกิน 14 กรัม ต้องเสียภาษี 1 บาท/ลิตร (เดิม 0.5 บาท/ลิตร) กลุ่มที่มีปริมาณน้ำตาลเกิน 14 กรัม แต่ไม่เกิน 18 กรัม ต้องเสียภาษี 3 บาท/ลิตร (เดิม 1 บาท/ลิตร) และ กลุ่มที่ปริมาณน้ำตาลเกิน 18 กรัมขึ้นไป ต้องเสียภาษี 5 บาท/ลิตร  ผลกระทบจากการจัดเก็บภาษีความหวาน        ที่ผ่านมาผู้ประกอบการมีแนวโน้มปรับลดปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่มให้น้อยลง ยกตัวอย่างเช่น เครื่องดื่มน้ำอัดลมบางยี่ห้อ มีการปรับลดน้ำตาลจาก 14 กรัมต่อลิตร เหลือ 12 กรัมต่อลิตร เพื่อให้เสียภาษีต่ำลง         อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการบางรายยังไม่ค่อยปรับเปลี่ยนสินค้าให้มีความหวานน้อยลงมากเท่าที่ควร เพราะกลัวยอดขายลดลง แต่บางยี่ห้อได้ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีความหวานน้อยลง เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค และยังคงขายผลิตภัณฑ์เดิมที่มีปริมาณน้ำตาลเท่าเดิม เพราะลูกค้ากลุ่มนี้ถือเป็นกลุ่มรายได้หลัก ซึ่งส่วนนี้ผู้ผลิตจะแบกรับภาระต้นทุนภาษีไว้เอง นอกจากนี้ผู้ผลิตน้ำอัดลมบางยี่ห้อได้ปรับขึ้นราคาขายไปแล้ว 2 บาทต่อลิตร ซึ่งเป็นการปรับขึ้นราคาจากภาระต้นทุน และภาระทางภาษีที่ปรับขึ้นใหม่         จากที่กรมสรรพสามิตเริ่มจัดเก็บภาษีความหวานเครื่องดื่มเมื่อ 2 ปีก่อน พบว่า มีกลุ่มเครื่องดื่มที่ได้ปรับลดปริมาณน้ำตาลให้น้อยลง เพิ่มขึ้นสองเท่าตัว จาก 60 - 70 ผลิตภัณฑ์ เพิ่มเป็น 200-300 ผลิตภัณฑ์ และมีน้ำอัดลมบางยี่ห้อลดปริมาณน้ำตาลลงจากร้อยละ 10 เหลือร้อยละ 7.5 เพื่อให้เสียภาษีในอัตราเดิม             ทั้งนี้ นอกจากมาตรการการจัดเก็บภาษีความหวานแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ได้ใช้มาตรการอื่นๆ ที่ไม่ใช่มาตรการทางภาษี เช่น ใช้ฉลากหวาน มัน เค็ม หรือ GDA (Guideline Daily Amount), การติดสัญลักษณ์ “ทางเลือกสุขภาพ” Healthier Choice Logo บนผลิตภัณฑ์ เพื่อส่งเสริมให้ผู้บริโภคตระหนักถึงผลกระทบต่อสุขภาพจากการบริโภคเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลสูงมากขึ้น กล่าวโดยสรุปคือ สินค้าที่มีน้ำตาลสูงจะมีราคาแพงกว่าและยังส่งผลเสียต่อสุขภาพมากกว่า         ในขณะที่การใช้สารให้ความหวานทดแทนน้ำตาลนั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก็จะทำหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับชนิดของสารและปริมาณที่เหมาะสมที่จะสามารถเติมในเครื่องดื่มได้ในระดับที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค ซึ่งต้องดำเนินการควบคู่กันไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 237 ประวีณมัย บ่ายคล้อย “ทำอย่างไรเมื่อคอนโดฯ ที่ทำสัญญาไว้สร้างไม่เสร็จตามกำหนด”

ทุกคนมีสิทธิ์ฉบับนี้มาเรียนรู้บทเรียนในการซื้อคอนโดจากคุณตาล ประวีณมัย บ่ายคล้อย ผู้ประกาศ ข่าวช่อง 3 ซึ่งเธอเล่าว่า นอกจากเรื่องทำเล เรายังต้องดูที่เอกสารหรือสัญญาว่าข้อสัญญาเป็นธรรมกับเราไหม มีรายละเอียดตรงไหนบ้าง เพราะแม้ก่อนหน้านี้ตัวเองเคยซื้อคอนโดมาบ้าง แต่ก็ยังมีปัญหาถึงกับต้องขึ้นโรงขึ้นศาลแบบไม่มีทนายมาแล้ว การซื้อคอนโดครั้งนี้เจอปัญหาอย่างไร         คอนโดอันนี้(ที่มีปัญหา) คือซื้อเพื่ออยู่เองนะคะ เราก็นึกภาพไปว่าถ้าเกิดว่าเรามีที่พักอยู่ที่นี่เอาไว้แบบตอนแก่ๆ เกษียณอะไรอย่างนี้ มีที่พักอยู่ปากช่อง ซื้อคอนโดก็ตอบโจทย์ที่ไม่ต้องเรื่องเยอะ ดูแลง่าย เลยไปซื้อโครงการหนึ่งที่ปากช่อง นครราชสีมา ดู Developer นี้แล้วพบว่าเป็นบริษัทชื่อดังบริษัทมหาชนด้วย คือพูดชื่อนี้ก็เป็น Big Name ของคนทำก่อสร้างคอนโดอยู่แล้ว เลยตัดสินใจว่าเราซื้อละกัน         พอซื้อแล้วก็ดูสัญญา เราเคยซื้อคอนโดมาบ้างหลายครั้งที่เราเจอว่าในสัญญาของโครงการจะไม่ได้ใช้สัญญามาตรฐาน หลายๆ ที่ไม่ได้ใช้สัญญามาตรฐาน อย่าง Case นี้เจอเหมือนกันว่าไม่ได้ใช้สัญญามาตรฐาน ส่วนตัวเวลาพิจารณาสัญญาข้ออื่นดูผ่านๆ แต่ข้อที่เพ่งคือจะดูเรื่องของการผิดนัดของทางผู้ที่จะขาย แล้วดูว่าถ้าเราผิด เช่น เราไม่มีกำลังในการผ่อนอย่างนี้เราจะโดนปรับอะไรบ้าง อันนี้เป็นไปตามสัญญาไหม และดูว่าถ้าผู้จะขายโครงการผิด เช่น ก่อสร้างไม่ทันหรือว่างานไม่มีคุณภาพนี่เราจะเอาผิดอย่างไรกับเขาได้บ้าง ซึ่งตรงข้อนี้ส่วนใหญ่เลยที่เจอ เท่าที่ตาลเจอคือสัญญาฝั่งผู้ที่จะขายจะเขียนค่าปรับตรงนี้ไม่เท่าในสัญญามาตรฐาน คือในสัญญาเขียนน้อยกว่า         เขียนน้อยกว่า อันนี้ใช่ค่ะ ซึ่งจริงๆ ใน Case นี้เราก็อาจจะไม่ใช่ผู้บริโภคที่แบบว่าทำหน้าที่เข้มแข็งนะคะ คือบางคนอาจจะบอกว่าแก้สัญญาเลยสิ ให้มันเป็นสัญญามาตรฐานได้ไหม แต่เราก็รู้สึกว่าไม่เป็นไรเดี๋ยวถ้าเกิดว่าผิดจริงๆ เราค่อยไปคุยกันตอนที่มีปัญหาละกัน เพราะว่าเราก็อยากได้โครงการนี้ พอดูสัญญาเสร็จแล้วจนถึงช่วงเวลาที่ต้องโอนแล้ว เราดูอาการออกเลยว่า พอถึงวันที่ต้องโอนโครงการไม่สามารถโอนได้แน่ เราก็รู้สึกว่าถ้าโอนไม่ได้ น่าจะยึดเยื้อน่าจะก่อสร้างแบบดีเลย์ไปเป็นปีสองปี “ความคืบหน้ามันน้อยมากค่ะ ดีเลย์ไปเป็นปีแน่นอน เราก็เลยบอกเลิกสัญญาดีกว่า ทีนี้พอบอกเลิกสัญญาเราเข้าใจว่า โครงการคุณก็ต้องจ่ายเงินต้นที่เราได้จ่ายไปแล้วพร้อมดอกเบี้ย” บอกเลิกสัญญาทำอย่างไร         บอกเลิกสัญญาก็คือ ในสัญญาเขาจะบอกว่าถ้าเขาสร้างไม่เสร็จเราสามารถบอกเลิกได้ พี่ก็โทรไปแจ้งเซลล์คนที่เราติดต่อด้วยว่าอยากจะบอกเลิกสัญญา เซลล์บอกว่าต้องทำจดหมายมาถึงบริษัท เราก็ทำจดหมายไป ซึ่งความคาดหวังของเราคือบอกเลิกสัญญาจะต้องได้เงินต้นพร้อมกับค่าปรับ ก็คือดอกเบี้ยตามสัญญามาตรฐานของกฎหมายที่กำหนดเอาไว้         แต่ว่าตรงนี้พอคุยกันแล้วมีปัญหาเพราะว่าโครงการเขาบอกว่าจริงๆ แล้วเขาจะจ่ายเฉพาะเงินต้นไม่ยอมจ่ายค่าปรับให้ เราก็ทำไมเป็นอย่างนั้นล่ะ เลยนำมาซึ่งการคุยกับเขาแต่ว่าตอนนั้นก็ตกลงกันไม่ได้ เคสตาลมันก็จะมีรายละเอียดอีกนิดหนึ่ง คือว่ามาถกเถียงกันเรื่องรายละเอียดว่าในสัญญามันจะมีข้อหนึ่งที่เขาเขียนเอาไว้บอกว่า ถ้าเกิดว่าโครงการมีปัญหาในการก่อสร้างประสบปัญหา โครงการเขาจะส่งหนังสือแจ้งมาว่าเขาจะขอขยายระยะเวลาการก่อสร้าง ไอ้ประโยคนี้ถ้าผู้บริโภคที่อาจจะเพิ่งเคยซื้อคอนโดหรือไม่ดูในสัญญา ก็อาจจะคิดว่าทุกกรณีเลยหรือ ถ้าเกิดว่าเขาอยากจะขยายเวลาการก่อสร้าง แต่ว่าพอดูเจตนารมณ์ตามกฎหมายคือการขยายเวลามันต้องมีเหตุผลจริงๆ เช่น แบบอย่างช่วงน้ำท่วมหรือว่ามีปัญหาเรื่องโควิดอะไรอย่างนี้ แต่ว่ารายละเอียดเขาต้องแจ้งมาที่คนซื้อด้วยว่าขยายเวลา ขอขยายจากเหตุอะไรแล้วก็ต้องแจ้งหลังจาก 7 วันที่เกิดเหตุนั้นแล้ว อันนี้คือรายละเอียด         แต่ว่าสัญญาไม่ระบุขนาดนี้แล้วโครงการเขาก็บอกว่าเขาแจ้งมาแล้ว ประเด็นคือเขาบอกเขาส่งหนังสือแจ้งมาตอนธันวา คือธันวาเขาต้องส่งงานประมาณต้นธันวาเขาส่งจดหมายมาแต่ตาลไม่ได้รับ ไม่มีจดหมาย พอมีเรื่องกันแล้วพอไปทวนกันดู  เขาบอกว่าเขาส่งมาแล้วแต่เขาไปส่งในที่อยู่ในบัตรประชาชนไง ซึ่งไม่ใช่ที่อยู่ในสัญญา ที่อยู่ตามบัตรเราไม่ได้อยู่ที่นั่นเราก็ไม่รู้เรื่องแล้ว แต่เราไปตามดูจดหมายนะว่ามีไหมก็ไม่มี อะไรอย่างนี้คะ ก็เลยเป็นที่ถกเถียงกัน เขายืนยันว่าเขาส่งแล้วเขามีสิทธิขอขยาย แต่เรายืนยันว่าคุณผิดสัญญาเราจะขอเลิกสัญญา  เขามีไปรษณีย์ตอบรับไหมคะว่ามีใครเซ็นจดหมาย         มีคะ ก็คือเหมือนกับว่าเขาส่งไปคนเซ็นเป็น รปภ.เขาก็เอาใบนั้นมาให้เราดู แต่ว่าคิดดูนะถ้าเราไม่ไปตามหาจดหมายจริงๆ เราก็ไม่ได้นะคะ ซึ่งอันนี้มันก็ยังสงสัยอยู่ว่าจริงๆ แล้วถ้า Developer มาอ้างแบบนี้ว่าเขาส่งไปที่ที่อยู่แล้ว แต่ว่าเป็นที่อยู่ตามบัตรประชาชนไม่ใช่อยู่ในสัญญา อันนี้จะใช้ได้หรือเปล่า อันนี้เรื่องหนึ่งทีนี้พอตกลงกันไม่ได้ก็เลยคิดว่าจะอย่างไรดี ซึ่งถ้าเกิดได้คืนเฉพาะเงินต้นมันไม่โอเคอยู่แล้ว เพราะรู้สึกว่า Developer เอาเปรียบเราเกินไป แล้วเป็นบริษัทใหญ่ด้วย         ใช่คะ ก็เลยนำมาซึ่งการฟ้องคดี บริษัทควรมีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค  ฟ้องเองเลยไม่ใช้ทนาย         ต้องบอกว่าฟ้องเองเลย ลองฟ้องดู คือเข้าไปอ่านรีวิว รีวิวใน Pantip เขาบอกว่าเขาก็ฟ้องกันนี่ แล้วทีนี้ก็เลยเริ่มหาข้อมูลแล้วก็โทรศัพท์ไปที่ศาล เพราะว่าตอนแรกยังสับสนเรื่องของการฟ้องคดีต้องฟ้องในพื้นที่ไหน ทางศาลเจ้าหน้าที่ท่านรับโทรศัพท์ก็ให้คำแนะนำที่ดีมากเลยนะคะ แล้วก็กระบวนการในการฟ้องก็ไม่ได้หนักอย่างที่คิด คือตอนแรกเรารู้สึกว่ากระบวนการมันน่าจะแบบว่าเป็นปีเลยหรือเปล่า แต่ปรากฏว่ากระบวนการก็คือเตรียมเอกสารไป ทางเจ้าหน้าที่ศาลก็แนะนำว่าถ้าจะให้ดีเอกสารเตรียมให้พร้อม แล้วถ้าเป็นไปได้อาจจะเขียนพิมพ์เป็น File ก็ได้ว่าเหมือนกับเล่าว่าเหตุการณ์เป็นอย่างไร Timeline เป็นอย่างไร สิ่งที่อยากเรียกร้องคืออะไร อย่างนี้ค่ะ เราก็เลยทำเป็น File ไป เสร็จแล้วจะมีเจ้าหน้าที่ที่เราโทรปรึกษา เขาก็จะเป็นเจ้าหน้าที่ที่ช่วยเขียนสำนวนให้ ซึ่งตรงนี้คือเรารู้สึกว่ากระบวนการไม่ได้ยากอย่างที่คิดจริงๆ ถึงแม้ว่าเราไม่ได้มีความรู้เรื่องกฎหมายไม่รู้ภาษากฎหมายไม่รู้จะเขียนสำนวนอย่างไรก็คือเดี๋ยวเขาก็จะไปปรับให้เอง (ตามกฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคจะมีเจ้าพนักงานคดีซึ่งผู้บริโภคสามารถเล่าเหตุการณ์ปากเปล่า บอกว่าเรามีปัญหาอย่างไรแล้วเขาก็จะเขียนให้ตามนั้น แต่ว่าของคุณตาลจะพิเศษตรงที่ตรงไล่เรียงลำดับเหตุการณ์ไปให้ด้วย)         ที่ชอบก็คือ เจ้าหน้าที่เขาก็ใส่ใจมากเลยเหมือนกับว่าก่อนที่จะไปให้ดูอีกครั้งหนึ่งเพื่อจะให้มันรวดเร็วเขาก็ส่ง File E-mail กลับมาเลย บอกว่าเราโอเคในสำนวนนี้ไหม ถูกต้องไหม ให้ตรวจทานดูอีกทีหนึ่งรู้สึกว่ากระบวนการมันไม่ช้า ขั้นตอนไม่ยุ่งยาก ก็ใช้เวลาสองเดือนพอดีถึงวันที่ที่ศาลเริ่มนัดวันแรก จริงๆ ต้องนัดภายใน 30 วัน         ใช่ค่ะเป็นช่วงโควิดพอดี เขาต้องทำภายใน 30 วันใช่ไหมคะ เห็นทางเจ้าพนักงานก็แจ้งว่าช่วงนี้คดีเยอะแล้วก็ช้า (ดีเลย์) ไปเพราะว่าโควิดด้วย จริงๆ ก็คือสองเดือนของคดีนี้ถือว่าเร็วแล้ว แต่ด้วยความที่ไม่เคยไปศาล ไม่เคยมีคดีอะไรมาก่อนเลยในชีวิต  อันนี้เป็นคดีแรกเราก็รู้สึกว่าจริงๆ เรื่องราวมันก็ไม่ได้ซับซ้อน คือจริงๆ น่าจะมีผู้เสียหายคล้ายๆ กันหรือว่าเจอยิ่งกว่าเราอีกหลายคดี เรารู้สึกว่าคดีเราก็เป็นคดีเล็กมากๆ ตอนแรกที่ไปเราก็เข้าใจว่าน่าจะมีการมาไกล่เกลี่ยพูดคุย ทาง Developer น่าจะชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้น แต่ว่าตอนแรกที่ไปเจอทาง Developer เขาส่งทนายความมาท่านเดียว แล้วก็ให้เหตุผลว่าไม่สามารถติดต่อผู้มีอำนาจของบริษัทที่จะมาพูดคุยได้ ดังนั้นคือขอให้ทางศาลได้เลื่อนแล้วก็นัดกันใหม่ เพื่อไปคุยกันนัดหน้าก็เลยใช้เวลาไปอีกสองเดือน         แต่ว่าช่วงสองเดือนนี้เลยได้กลับมาทบทวนเรื่องของสำนวนเพราะว่ามีคนทักมาเหมือนกันว่า ฟ้องคดีคนเดียวเขาก็เป็นห่วงว่า เดี๋ยวสำนวนมันจะไม่รัดกุมหรือเปล่า หรือว่าจะมีจุดไหนที่เพลี่ยงพล้ำหรือเปล่า เราก็เลยกลับมาเอาสำนวนของทาง Developer มานั่งดูว่าเขาก็ยืนยันว่าเขาไม่ได้ผิดอะไร อย่างไร มีประเด็นไหนที่ต้องดูเป็นพิเศษ เราเลยเอาสำนวนเอาคดีมาปรึกษาทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค         ตาลได้รับคำแนะนำในเบื้องต้นว่าในเรื่องกฎหมายหรือว่าการฟ้องคดี จริงๆ อาจจะไม่ต้องใช้ทนายก็ได้ แต่ว่ามีประเด็นไหนที่เราควรจะรู้แล้วก็เตรียมข้อมูลไปในวันที่จะมีการไต่สวน แต่ว่าสุดท้ายเรื่องก็มาลงเอยที่เราก็เตรียมตัวไป แต่ว่าช่วงใกล้ๆ เวลาที่จะมีคณะไต่สวนทาง Developer ก็ส่งทนายมาแล้วก็บอกว่าโอเค ก็อยากประนีประนอมกัน แล้วก็จะตกลงตามที่เราเรียกร้องไปกคือคืนเงินต้นแล้วก็เบี้ยปรับตามที่เราบอกไป พอฟ้องคดีถึงมีการเจรจาคืนเงินต้นคืนเบี้ยปรับให้เราทั้งที่ตอนแรกไม่ได้ให้         ตอนแรกไม่ได้ให้แต่ก็เป็นช่วงเวลาที่ค่อนข้างจะกระชั้นเหมือนกันคือ ศาลจะนัดไต่สวนวันพรุ่งนี้ วันนี้มาทำประนีประนอมกัน สุดท้ายเราก็ยอมที่จะประนีประนอมไป ขอให้ช่วยแชร์ประสบการณ์ผู้ที่จะซื้อคอนโดต้องดูอะไรบ้าง         จริงๆ แล้วเรื่องสัญญาคือถ้าเป็นไปได้อยากให้ศึกษาให้ละเอียดหน่อยว่าถ้าสัญญาตรงไหนเราไม่เข้าใจหรือเราเห็นว่ามันคลุมเครือหรือว่าเราจะเป็นฝ่ายเสียประโยชน์ก็ศึกษาสัญญาให้ดีก่อนที่จะเซ็น จริงๆ อันนี้ประสบการณ์ตัวเองที่เอามาแชร์ได้ก็คือ บางทีเราไปหลงเป็นเหยื่อการตลาด คือเราเห็นโปรโมชันแล้วเคลิ้ม อย่างปีนี้คอนโดมีเนียมโครงการต่างๆ มีโปรโมชันดีมากเลย คืออาจจะต้องถามความจำเป็นของตัวเองก่อนว่าเราซื้อคอนโดเพื่ออะไร จำเป็นไหม แล้วได้โปรโมชันมานี่มันคุ้มค่าจริงหรือเปล่า ค่อยๆ พิจารณาว่าอันนี้เป็นเหตุผลที่เราจะซื้อจริงๆ ใช่ไหม         เสร็จแล้วพอไปดูในสัญญา อย่างข้อที่อยากให้ดูมากๆ เลย ก็คือเรื่องนี้ว่าเบี้ยปรับหรือทางกรณีผู้ที่จะขายหรือว่าโครงการผิดสัญญาเขาจะโดนลงโทษอย่างไร หรือว่าเราเรียกร้องอะไรได้บ้างตรงนี้อยากให้เคลียร์กับเขาไปเลยว่ามันต้องเป็นอย่างไร แล้วอาจจะบอกไปได้เลยได้ว่าอันนี้มันไม่ใช่เป็นตามสัญญามาตรฐานนะ เราขู่เลยได้ไหมพี่ว่าอันนี้เดี๋ยวไปฟ้อง สคบ.ได้นะว่าสัญญาไม่ใช่สัญญามาตรฐาน         อันนี้คือให้แบบชัดเจนอยู่ในสัญญามันจะดีมาก แล้วก็อีกอย่างหนึ่งก็คือภาพที่เราเห็นตอนโฆษณาอย่างนี้ต้องเก็บไว้เป็นหลักฐานให้หมดเลย ตั้งแต่โบชัวร์ที่เราเห็นโฆษณาที่เขาติดไว้ เกิดมีปัญหาตรงนี้มันจะได้เอาเป็นข้อมูลที่จะเอาไว้เรียกร้องได้รวมถึงใบเสร็จต่างๆ ที่เราจ่ายค่างวดไป แล้วก็มีอันหนึ่งที่เป็นรายละเอียดเหมือนกันก็คือถ้าเกิดโครงการบอกว่าจะมีอะไรให้ เช่น แถมเฟอร์นิเจอร์กี่ชิ้น ก็ให้เขาแนบรูปเฟอร์นิเจอร์ที่แบบตรงตามสเปคที่เขาจะให้จริงๆ เพราะเคยเจอเหมือนกันบอกว่าจะแถมเฟอร์นิเจอร์แล้วแบบว่ามันครบไหม หรือว่าบางทีคุณภาพมันไม่ได้เหมือนกับตอนที่เขาโฆษณาไว้ สุดท้ายอยากฝากอะไรถึงผู้บริโภคหรือ Developer ที่กำลังทำโครงการ         Developer บ้านเราก็อยากจะให้คำนึงถึงจิตใจของผู้บริโภคเรื่องของสิ่งที่ผู้บริโภคเขามีความคาดหวัง จริงๆ ก็ทำตามสัญญาทำตามมาตรฐานที่คุณเป็น ทำตามสัญญาให้ได้ ส่วนฝั่งผู้บริโภคตาลคิดว่าจริงๆ สิทธิของผู้บริโภคเป็นเรื่องสำคัญแต่ว่าหลายคนอาจจะคิดว่ามันเสียเวลาหรือว่ามันไม่คุ้ม มันลำบาก มันยากอะไรอย่างนี้ค่ะ แต่จริงๆ แล้วคืออยากเชิญชวนว่าในเมื่อมันเป็นสิทธิของเรา คือถ้าเกิดผู้บริโภคเข้มแข็งเรียกร้องสิทธิที่เราพึงมีพึงได้ มันก็เป็นตัวที่จะช่วยกำกับการทำงานของ Developer ให้เขาควบคุมคุณภาพให้ดีด้วย ดังนั้นเราศึกษาก่อนว่าเรามีสิทธิอะไรบ้าง ถ้าเราเสียสิทธิเราควรจะเรียกร้องสิทธิที่เรามีคืนมา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 237 ข้อมูลพันธุกรรมมีค่าเป็นเงิน ตอนที่ 2

        ในตอนที่แล้วได้กล่าวถึง การสร้างข้อมูลของระบบตรวจสอบความเหมาะสมในการซื้อสินค้าอาหารต่อสุขภาพของลูกค้าซึ่งแปรไปตามยีน ฉบับนี้จะเล่าต่อว่าเมื่อลูกค้าต้องการซื้อสินค้าอาหารใดก็เพียงนำเอาสายรัดข้อมือ ซึ่งมีระบบอิเล็คทรอนิคที่ส่งสัญญาณไปสแกนที่บาร์โค้ดบนกล่องสินค้า แล้วจะมีสัญญาณขึ้นเป็นสีจากเขียว เหลือง หรือแดง เพื่อเตือนว่าลูกค้าควรซื้อสินค้านั้นหรือไม่ อย่างไรก็ดีผู้ให้บริการไม่ได้อธิบายว่า การ สแกนที่บาร์โค้ดแล้วเกิดไฟเขียว เหลือง หรือแดงนั้นเป็นไปได้อย่างไร ผู้เขียนจึงเข้าใจว่า เมื่อสายรัดข้อมือได้ข้อมูลว่าสินค้านั้นคืออะไรแล้ว รหัสที่อยู่ในบาร์โค้ดคงถูกส่งไปที่แอปพลิเคชั่นในสมาร์ทโฟน ซึ่งคงต้องออนไลน์ไปยังแหล่งเก็บข้อมูลทางโภชนาการของสินค้าอาหารตามฉลากโภชนาการ (nutrition label) ที่น่าจะต้องเป็นการตกลงไว้กับบริษัทที่ขายสินค้านั้น จากนั้นข้อมูลทางโภชนาการจะถูกส่งกลับเข้าสมาร์ทโฟนเพื่อเปรียบเทียบความเหมาะสมกับข้อมูลรหัสพันธุกรรมของลูกค้าว่า ถ้าลูกค้ากินอาหารดังกล่าวแล้วจะเสี่ยงต่อภาวะอ้วน ภาวะความดันโลหิตสูง ภาวะกระดูกพรุน หรืออื่นๆ หรือไม่ แล้วส่งผลไปที่สายรัดข้อมือเพื่อแสดงสีของสัญญาณไฟ ในกรณีที่สีของไฟเป็นแดง คือไม่แนะนำให้ซื้อนั้น ลูกค้าสามารถเข้าดูเหตุผลได้จากแอปพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน         โดยสรุปแล้ว DNAnudge นั้น เป็นการย่อกระบวนการวิเคราะห์รหัสพันธุกรรมของลูกค้าในลักษณะที่เรียกว่า Lab on Chip เพื่อเปรียบเทียบความเหมาะสมในการกินสินค้าอาหารหนึ่งๆ ที่มีข้อมูลทางโภชนาการว่าเหมาะสมหรือไม่ ข้อสังเกตคือ ลูกค้าต้องเป็นคนที่มีความเชื่อมั่นต่อศักยภาพของบริษัทว่าทำได้จริง มีเงิน (สายรัดข้อมือของบริการนี้คงทำหน้าที่บอกเศรษฐานะของเจ้าของได้เหมือนกับนาฬิกา) มีความสนใจและบังคับใจตนเองให้ปฏิบัติตนตามหลักการทางโภชนาการที่บริษัทได้ nudge ให้ และต้องอยู่ในบริเวณที่มีอินเทอร์เน็ต ระดับ 5 G        การตรวจลำดับของหน่วยพันธุกรรมกับเชื้อโรค Covid-19         นอกจากการหารับประทานจากข้อมูลทางพันธุกรรมของมนุษย์ นักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานเพื่อธุรกิจหาประโยชน์จากการวิเคราะห์ข้อมูลทางพันธุกรรม ยังได้พัฒนากระบวนการตรวจลำดับของหน่วยพันธุกรรมอย่างเร็วมาใช้ในการตรวจพบว่า ผู้รับบริการอยู่ในข่ายอาจติดเชื้อโรค Covid-19 มีผลการตรวจเป็นบวกหรือลบอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วได้         การตรวจว่าผู้ต้องสงสัยติดเชื้อหรือไม่ด้วยระยะเวลาช้าหรือเร็วนั้นมีผลทางจิตใจอย่างมาก งานวิจัยเรื่อง Impact of delays on effectiveness of contact tracing strategies for COVID-19: a modelling study ซึ่งตีพิมพ์ออนไลน์ในวารสาร Lancet Public Health ของปี  2020 ได้แสดงให้เห็นว่า การลดความล่าช้าในการทดสอบให้น้อยที่สุดมีผลกระทบมากที่สุดในการติดตามแจ้งข้อมูลผ่านแอปพลิเคชั่นบนมือถือสมาร์ทโฟนแก่ผู้ที่อยู่ในข่ายติดเชื้อ ปฏิบัติการนี้เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสได้ถึงร้อยละ 80         เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2020 สำนักข่าวบีบีซีให้ข้อมูลว่า นายแมตต์ แฮนค็อก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขสหราชอาณาจักรกล่าวว่า มีการตรวจสารคัดหลั่งและตรวจหน่วยพันธุกรรม ซึ่งจะรู้ผลอย่างรวดเร็วภายในไม่เกิน 90 นาที เป็นการช่วยแยกแยะผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 ออกจากโรคประจำฤดูกาลอื่นๆ เช่น ไข้หวัดใหญ่ ปฏิบัติการดังกล่าวจะเป็นประโยชน์อย่างมากในช่วงฤดูหนาวที่จะมาถึงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า         นอกจากนี้ยังมีข้อมูลอีกว่า นายกรัฐมนตรี Boris Johnson ตั้งเป้าการตรวจวัดไว้ที่ 200,000 ตัวอย่างต่อวัน โดยในอนาคตอันใกล้รัฐบาลสหราชอาณาจักรจะจัดส่งชุดตรวจเร็วที่ใช้ตัวอย่างสารคัดหลั่งแบบชื่อ LamPORE (จากบริษัทวิจัย Oxford Nanopore) จำนวน 450,000 ชุด ไปยังสถานพยาบาลและห้องปฏิบัติการต่าง ๆ ที่ทำหน้าที่ตรวจหาเชื้อที่ก่อโรค covid-19 และจะเพิ่มจำนวนเป็นหลายล้านชุดในช่วงปลายปีนี้ โดยมีค่าใช้จ่ายราว 40 ปอนด์ต่อ 1 ตัวอย่าง จากนั้นตั้งแต่เดือนกันยายนรัฐบาลสหราชอาณาจักรจะเพิ่มเครื่องตรวจหน่วยพันธุกรรมของบริษัท DnaNudge ซึ่งปัจจุบันมีใช้อยู่แล้วในโรงพยาบาลเครือสำนักงานบริการสุขภาพแห่งชาติหรือ NHS จำนวน 8 แห่ง ไปยังโรงพยาบาลในเครือที่อื่นๆ อีก 5,000 เครื่อง โดยเครื่องตรวจหน่วยพันธุกรรมดังกล่าวจะช่วยให้สามารถตรวจหาเชื้อเพิ่มได้อีก 5.8 ล้านตัวอย่าง ซึ่งเป็นความหวังว่าจะช่วยให้สามารถตัดห่วงโซ่แห่งการแพร่ระบาดได้เร็วขึ้น นอกจากนี้รัฐบาลอังกฤษกำลังจะเซ็นสัญญาเพื่อซื้อเครื่องตรวจหน่วยพันธุกรรมจากผู้ผลิตรายอื่นๆ ด้วย สำหรับความน่าเชื่อถือของระบบตรวจหาเชื้อไวรัสก่อ Covid-19 นั้น เซอร์จอห์น เบลล์ จากคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดให้ข้อมูลว่า เครื่องตรวจที่กล่าวถึงนั้นมี "ความไว" พอๆ กับการตรวจ RT-PCR ในห้องปฏิบัติการ         เว็บ https://edition.cnn.com เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2020 มีบทความเรื่อง FDA authorizes new test that could detect coronavirus in about 45 minutes ได้ให้ข้อมูลว่า การตรวจวินิจฉัยที่เร็วขึ้นนี้เป็นนวัตกรรมของบริษัท Cepheid ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งความเร็วดังกล่าวนั้นช่วยลดความกังวลของผู้ต้องการรับการตรวจเนื่องจากอยู่ในข่ายต้องสงสัยว่าติดเชื้อได้เป็นอย่างดี และน่าจะเป็นอีกเหตุผลหนึ่งว่า ทำไมคนอเมริกันถึงมีจำนวนผู้ติดเชื้อมากนั่นก็เพราะมีการตรวจที่เร็วและสะดวกนั่นเอง         www.hospimedica.com/covid-19 มีบทความเรื่อง New Biosensor Detects COVID-19 Virus in Air ซึ่งรายงานว่า ทีมนักวิจัยจากบริษัท Empa และ ETH Zurich สวิตเซอร์แลนด์ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเซ็นเซอร์ใหม่สำหรับตรวจจับไวรัสโคโรนาตัวใหม่ ที่บอกถึงความเข้มข้นของไวรัสในสิ่งแวดล้อม เช่น ในสถานที่ที่มีคนจำนวนมากหรือในระบบระบายอากาศของโรงพยาบาล         การตรวจหาไวรัสโดยใช้เซ็นเซอร์นี้ไม่ได้ถูกพัฒนาเพื่อแทนที่การทดสอบในห้องปฏิบัติการมาตรฐาน อุปกรณ์นี้เหมาะที่จะใช้ในสถานที่ที่มีคนพลุกพล่าน เช่น สถานีรถไฟหรือโรงพยาบาล เพื่อวัดการปรากฏตัวของไวรัสในอากาศ โดยเซ็นเซอร์ที่กล่าวถึงนี้เป็นไบโอเซ็นเซอร์แบบออปติคัล ที่ทำขึ้นจากโครงสร้างเล็กๆ ของทองคำที่เรียกว่า โกลด์นาโนไอแลนด์บนพื้นผิวแก้ว ซึ่งมีการตรึงหน่วยพันธุกรรมที่มีหน่วยโครงสร้างที่สามารถเข้ากันได้อย่างดีกับลำดับหน่วยโครงสร้างของ RNA ที่อยู่ภายใน SARS-CoV-2 ซึ่งเมื่อจับกันได้แล้วจะมีการแปลผลออกมาเป็นสัญญาณบวกของการตรวจหา และเพื่อแสดงให้เห็นว่าเซ็นเซอร์ใหม่ตรวจจับไวรัส COVID-19 ในปัจจุบันได้อย่างน่าเชื่อถือเพียงใด นักวิจัยได้พบความสำเร็จในการทดสอบกับไวรัส SARS-CoV (ซึ่งระบาดในปี 2546) เพื่อแสดงว่าสามารถแยกแยะออกจากตรวจจับไวรัสก่อโรค Covid-19 ได้ ทั้งที่เป็นโคโรนาไวรัสที่ใกล้เคียงกันมาก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 237 Shonky Award 2020

        ประกาศรายชื่อแล้ว ผลิตภัณฑ์/บริการยอดแย่ประจำปี 2020 ในออสเตรเลีย โดยนิตยสารเพื่อผู้บริโภค CHOICE มาดูกันว่ามีใครบ้างที่สมควร (แต่ไม่อยาก) ได้รางวัลนี้    ·  รายแรกยกให้ “ฮาร์วี นอร์แมน” ห้างเครื่องใช้ไฟฟ้าเจ้าใหญ่ในออสเตรเลีย ที่จับมือกับ “ละติจูดไฟแนนซ์” ออกบัตรเครดิต นัยว่าเพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้บริโภค   เขาอนุมัติบัตรโดยไม่ตรวจสอบรายได้หรือความสามารถในการใช้หนี้ แถมยังให้วงเงินสูงถึง12,000 เหรียญ (หรือประมาณ 270,000 บาท) โดยคิดดอกเบี้ยร้อยละ 21.99 ถึง 24.99 ต่อปี CHOICE คำนวนแล้วพบว่าถ้าผู้ใช้นำบัตรไปรูดปรื้ดใช้จ่าย 5,000 เหรียญ แล้วผ่อนชำระขั้นต่ำเดือนละ 100 เหรียญ (ร้อยละ 2) ก็จะผ่อนหมดใน 29 ปี 8 เดือน และจ่ายดอกเบี้ยไปทั้งหมด 12,909 เหรียญ ... ปัจจุบันเกือบร้อยละ 8 ของคนออสเตรเลียเป็นหนี้บัตรเครดิต    ·  ตามด้วย Revitalife ที่ทำการตลาดแบบอุกอาจไม่เกรงใจใคร เริ่มจากชักชวนให้ร่วมตอบแบบสอบถามเกี่ยวกับสุขภาพทางอินเทอร์เน็ตหรือทางโทรศัพท์ จากนั้นก็เริ่มโทรไปขอนัดมาคุยปัญหาสุขภาพที่บ้าน คุยไปคุยมาก็ขายที่นอนที่อ้างว่าสามารถแก้ปัญหาการนอนแบบไม่มีคุณภาพได้  ราคาของที่นอน “อัจฉริยะ” นี้อยู่ระหว่าง 4,000 ถึง 8,000 เหรียญ    ถ้าจะขายว่าที่นอนนุ่มสบายก็ย่อมทำได้ แต่ผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่าที่นอนไม่สามารถ “บำบัดรักษา” ปัญหาการนอนไม่หลับ นอกจากนี้ผู้ขายยังระบุเงื่อนไขการเปลี่ยน ซ่อม หรือคืนเงิน ว่า “เป็นไปตามวิจารณญาณของทางบริษัท” ... มันใช่หรือ    ·  ส่วนรายนี้ก็ซุกราคาเหลือเกิน ผู้ให้บริการจัดงานศพ InvoCare Funerals ขายแพ็คเกจพิธีศพบนเว็บไซต์ ที่สนนราคาระหว่าง 2,400 – 5,600 เหรียญ โดยไม่ให้รายละเอียดว่ายอดที่เสนอขายนั้นประกอบด้วยค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง โทรถามก็ยังมุบมิบอ้อมค้อม ผู้บริโภคจึงไม่มีข้อมูลพอต่อการตัดสินใจ     ในที่สุดค่ายนี้ (ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดถึง 1 ใน 4) ก็ถูกคณะกรรมการเพื่อการค้าที่เป็นธรรมของนิวเซาท์เวลส์ บังคับให้แสดงรายละเอียดค่าบริการต่างๆ ในเว็บไซต์ ... บริษัทเขาก็แน่จริง แสดงข้อมูลเฉพาะบริการในรัฐนิวเซาท์เวลส์ ที่เหลืออีก 5 รัฐ เขาก็ยังทำเนียน แจ้งราคารวมๆ เหมือนเดิม    ·  ยุคนี้อากาศสะอาดเป็นเรื่องใหญ่ ถึงออสเตรเลียจะไม่มีฝุ่นจิ๋วพีเอ็ม 2.5 แต่เขาก็มีไฟป่าอยู่เนืองๆ     การทดสอบเปรียบเทียบเครื่องฟอกอากาศโดย CHOICE พบว่าเครื่อง Green Tech Pure Air 500 ที่ขายในราคาคิดเป็นเงินไทยประมาณ 5,000 บาท นั้นประสิทธิภาพต่ำมาก กรองฝุ่น ควัน หรือสารระเหยไม่ได้เลย และทั้งๆ ที่โฆษณาว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตัวมันเองกลับใช้พลังงานเปลืองมาก เอาเป็นว่าจากคะแนนเต็มร้อย เจ้าตัวนี้ได้ไป 19 คะแนน ทีมทดสอบบอกว่า “เก็บออกจากตลาดไปเลยจะดีกว่า”     ·  พื้นสะอาดก็เรื่องใหญ่อีกเหมือนกัน เรื่องนี้อาจสะเทือนไปไกลเกินออสเตรเลีย เมื่อทีมทดสอบพบว่าน้ำยาทำความสะอาดพื้นที่ขายอยู่ในท้องตลาด 15 ยี่ห้อนั้น มีประสิทธิภาพในการทำความสะอาดพื้นไม่ต่างอะไรกับน้ำเปล่า! เพียงแต่พื้นบ้านของคุณอาจจะดูแวววาวและมีกลิ่นหอมเท่านั้น    CHOICE บอกว่าที่เป็นเช่นนั้นเพราะสารออกฤทธิ์ที่ผู้ผลิตใส่มาในผลิตภัณฑ์นั้นมันมีปริมาณน้อยเสียจนไม่เกิดผลใดๆ นั่นเอง ... เขาแนะนำให้ใช้น้ำเปล่าไปเลย ประหยัดเงินได้ด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 236 หุ่นยนต์ตัดหญ้า

        หากการตัดหญ้าหน้าบ้านด้วยกรรไกรมันใช้เวลานานเกินไป หรือทำให้คุณปวดหลังไปอีกหลายวัน ลองดูผลทดสอบเครื่องตัดหญ้าอัตโนมัติที่เรานำมาฝาก การทดสอบครั้งนี้ทำขึ้นทั้งในห้องปฏิบัติการและสนามหญ้าจริง ในช่วงปลายปี 2019 โดยองค์กรผู้บริโภคที่เป็นสมาชิกขององค์กรทดสอบระหว่างประเทศ         สัดส่วนคะแนนในการทดสอบเปรียบเทียบ แบ่งออกเป็น ประสิทธิภาพการทำงาน ร้อยละ 60  (การตัดหญ้าได้สม่ำเสมอสวยงามทั้งหญ้าเปียก/หญ้าแห้ง หญ้ายาว/หญ้าสั้น การตอบสนองของเครื่องเมื่อเจออุปสรรค เช่น รั้ว แปลงดอกไม้ ต้นไม้ หรือชานบ้าน เป็นต้น)  ความสะดวกในการใช้งาน ร้อยละ 20 (การตั้งค่า การใช้ร่วมกับแอปฯ การเคลื่อนย้าย การทำความสะอาด การเปลี่ยนใบมีด เป็นต้น) การทำงานโดยไม่ส่งเสียงรบกวน ร้อยละ 10 ตามด้วยคุณภาพการประกอบ ร้อยละ 5 และคู่มือการใช้งาน ร้อยละ 5         ในภาพรวมถือว่าเจ้าหุ่นยนต์พวกนี้ทำงานได้เข้าตากรรมการ แต่ราคาของมันก็ไม่ถูกนัก เครื่องตัดหญ้าที่เราเลือกมา 20 รุ่นจากการทดสอบครั้งนี้มีราคาระหว่าง 6,750 – 40,500 บาท และราคาก็มีผลต่อประสิทธิภาพพอสมควร รุ่นที่ได้คะแนนมากที่สุดคือรุ่นที่แพงที่สุด (Stihl RMI 632)  แต่อย่าเพิ่งถอดใจกลับไปใช้กรรไกร ยังมีรุ่นที่ได้คะแนนมากกว่า 80 ในราคาไม่เกิน 10,000 บาทให้คุณได้เลือก         สิ่งหนึ่งที่วางใจได้คือทุกรุ่นได้คะแนนความปลอดภัยในระดับ 5 ดาว และทำงานได้ทั้งระบบออโตและแมนนวล ยกเว้น Riwall PRO RRM 1000 ที่เป็นระบบออโตเพียงอย่างเดียว         มีข้อสังเกตว่า สำหรับเครื่องตัดหญ้าส่วนใหญ่ ขนาดพื้นที่สนามสูงสุดเป็นไปตามที่ผู้ผลิตเคลมไว้ในสเปค ยกเว้น Wolfgarten Loopo M 1500 และ Wolfgarten Loopo M 1000 ที่ทดสอบแล้วทำได้สูงสุดเพียง 800 และ 500 ตารางเมตร ตามลำดับ และ Cub Cadet XR2 1000 ที่รองรับได้สูงสุดเพียง 500 ตารางเมตรเท่านั้น         · หมายเหตุ ราคาที่แสดงเป็นราคาแปลงจากหน่วยเงินยูโร ตามที่องค์กรสมาชิกจ่ายจริง โปรดตรวจสอบราคาที่เป็นปัจจุบันอีกครั้งก่อนตัดสินใจ  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 236 เผยผลสำรวจคนกทม 33.7 เปอร์เซ็นต์ เคยมีการตรวจสอบหมายเลข อย

        นิตยสารฉลาดซื้อร่วมกับศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับความรู้ความเข้าใจของเครื่องหมายบนสลากสินค้า โดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,121 กลุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลในวันที่ 1 - 7 ตุลาคม 2563 กลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ใช้เกณฑ์ตารางสำเร็จรูปของ Taro Yamane กำหนดว่า ประชากรเกิน 100,000 คนต้องการความเชื่อมั่น 95% และความผิดพลาดไม่เกิน 3% ต้องใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,111 กลุ่มตัวอย่าง        ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ กล่าวว่า ผลการสำรวจในครั้งนี้เรื่องความรู้ความเข้าใจของเครื่องหมายบนสลากสินค้า เนื่องจากในปัจจุบันมีการขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์และได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในปัจจุบัน ประกอบกับการที่มีการขายสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพ มาตรฐาน การตรวจสอบฉลากผลิตภัณฑ์ของสินค้าที่จะต้องมีรายละเอียดประกอบด้วย ชื่อประเภทสินค้าชื่อผู้ผลิต ผู้สั่งหรือนำเข้า สถานประกอบการ วันเดือนปีที่ผลิต กรณีนำเข้าต้องระบุประเทศที่ผลิต ขนาดของสินค้า วิธีใช้ ข้อแนะนำในการใช้ คำเตือน และราคาสินค้าไว้บนฉลากหรือภาชนะหีบห่อที่บรรจุ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 การขายสินค้าที่ฉลากผลิตภัณฑ์ของสินค้าที่ไม่ถูกต้องและมีการปลอมแปลงมีความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ในส่วนของการตรวจสอบนั้นสามารถตรวจสอบหมายเลข อย. ของสินค้าทาง www.fda.moph.go.th ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นช่องทางที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ และเครื่องหมายบนสลากสินค้านั้นมีผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าอย่างไร ผลการสำรวจในครั้งนี้ต่อเรื่องความรู้ความเข้าใจของเครื่องหมายบนสลากสินค้า โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้             กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ทราบว่าฉลากผลิตภัณฑ์ของสินค้าจะต้องมีรายละเอียดประกอบด้วย ชื่อประเภทสินค้าชื่อผู้ผลิต ผู้สั่งหรือนำเข้า สถานประกอบการ วันเดือนปีที่ผลิต กรณีนำเข้าต้องระบุประเทศที่ผลิต ขนาดของสินค้า วิธีใช้ ข้อแนะนำในการใช้ คำเตือน และราคาสินค้าไว้บนฉลากหรือภาชนะหีบห่อที่บรรจุ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ร้อยละ 76 และทราบว่าฉลากผลิตภัณฑ์ของสินค้าถ้าไม่ถูกต้องและมีการปลอมแปลงมีความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ร้อยละ 55.8             เคยมีการค้นหาความหมายของตราสัญลักษณ์ต่างๆ ที่อยู่บนฉลากผลิตภัณฑ์ ร้อยละ 50 ในส่วนของการเลือกซื้อสินค้าได้มีการตรวจสอบฉลากผลิตภัณฑ์ของสินค้าในส่วนของผู้ผลิต ราคา วันผลิต วันหมดอายุ ร้อยละ 82.8 และทราบว่าเครื่องหมาย อย. ย่อมาจากสํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ร้อยละ 83.7             กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดว่าผลิตภัณฑ์ที่มีเครื่องหมาย อย. แสดงว่าผลิตภัณฑ์นั้นมีความปลอดภัย ร้อยละ 81.5 ผลิตภัณฑ์ที่มีเครื่องหมาย อย. มีผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้า ร้อยละ 74.9 และ จะไม่เลือกซื้อสินค้า หากพบสินค้าไม่มีเครื่องหมาย อย. บนฉลากผลิตภัณฑ์ ร้อยละ 46.9             ไม่เคยมีการตรวจสอบหมายเลข อย. ของสินค้าทาง www.fda.moph.go.th ร้อยละ 46.6 ทราบว่า สามารถตรวจสอบหมายเลข อย. ของสินค้าทาง www.fda.moph.go.th  ร้อยละ 47.5 และทราบว่าผลิตภัณฑ์ประเภทอาหาร หมายเลข อย. จะมีตัวเลข 13 หลัก ร้อยละ 61.4            กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ทราบว่าความหมายของตัวเลขที่ระบุในหมายเลข อย. ร้อยละ 44.5 ทราบว่าผลิตภัณฑ์ประเภทผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง จะมีเลขที่ใบรับแจ้งโดยมีตัวเลข 10 หลัก ร้อยละ 46 และไม่ทราบว่าผลิตภัณฑ์ประเภทยา ยา ทั้งยาแผนปัจจุบัน ยาแผนไทย หรือยาแผนโบราณ จะมีเลขทะเบียนตำรับยาแสดงบนฉลากเช่น ทะเบียนยาเลขที่ G XXX/XX ร้อยละ 40.5             ในส่วนของเครื่องหมาย มอก. ย่อมาจากมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ทราบว่าเครื่องหมาย มอก. ย่อมาจากมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ร้อยละ 66.3 คิดว่าผลิตภัณฑ์ที่มีเครื่องหมาย มอก. แสดงว่าผลิตภัณฑ์นั้นมีความปลอดภัย ร้อยละ 69.7 เครื่องหมาย มอก. บนฉลากผลิตภัณฑ์ มีผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้า ร้อยละ 61.3 และหากพบสินค้าไม่มีเครื่องหมาย มอก. บนฉลากผลิตภัณฑ์ มีผลต่อการจะตัดสินใจซื้อ ร้อยละ 48.3

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 236 กระแสต่างแดน

ผมแก้บน         ร้อยละ 70 ของวิกผมในตลาดโลกที่มีมูลค่าสูงเกือบ 10,000 ล้านเหรียญ เป็นวิกที่ผลิตในประเทศจีน และหนึ่งในสามของ “ผม” ที่นำมาทำเป็นวิกเหล่านั้นมาจากอินเดียผม “คุณภาพพรีเมียม” เหล่านี้ได้จากญาติโยมที่มา “แก้บน” ด้วยการโกนศีรษะถวายเป็นการบูชาพระนารายณ์ ที่วัดศรีเวงกเฏศวรา ในเมืองติรุปติ รัฐอันธรประเทศร้อยละ 30 – 50 ของผู้คนหลายหมื่นคนที่เดินทางมายังวัดนี้ในแต่ละวันคือผู้ที่มาแก้บนหลังได้รับพรจากพระนารายณ์ให้มีบุตร มีบ้าน มีรถ หรือหายจากอาการป่วย ฯลฯทางวัดมีเจ้าหน้าที่คอยรวมรวมผมที่ถูกโกนทิ้ง แล้วนำไปทำความสะอาด หวีให้เรียบร้อย แล้วจัดเก็บในโกดัง ทุกๆ โดยจะนำออกมาประมูลขายออนไลน์ทุกสองหรือสามเดือน ผู้ที่เข้ามาประมูลซื้อก็คือบริษัทที่ทำธุรกิจส่งออกผมไปยังจีนหรือฮ่องกงนั่นเองผมของผู้คนประมาณ 12 ล้านคนต่อปีนี้ทำให้วัดมีรายได้ประมาณ 17 ล้านเหรียญ ที่วัดนำไปใช้จ่ายในการบริหารโรงเรียน วิทยาลัย โรงพยาบาล บ้านเด็กกำพร้า รวมถึงทำอาหารเลี้ยงญาติโยมที่มาทำบุญหอมซ่อนเสี่ยง         สำนักงานส่งเสริมสุขภาพประชาชนของไต้หวันกำลังเตรียมเสนอให้รัฐบาลประกาศแบน “บุหรี่แต่งกลิ่น” ที่กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นในหมู่วัยรุ่นมีข้อมูลที่ยืนยันว่าบุหรี่ชนิดนี้เป็นตัวเลือกของร้อยละ 40 ของนักสูบที่อยู่ในวัยทีน และยังเป็นชนิดที่ได้รับความนิยมในหมู่เด็กผู้หญิงค่อนข้างมาก ที่สำคัญผู้สูบมักรู้สึกว่าบุหรี่ที่มีกลิ่นหอมน่ารักแบบนี้มีอันตรายนิ้ยดว่าบุหรี่ธรรมดา ทั้งที่ปริมาณนิโคตินไม่ต่างกัน    จากข้อมูลการขึ้นทะเบียนในไต้หวันเมื่อปีที่ผ่านมา “กลิ่น” ที่ว่านี้มีให้เลือกไม่ต่ำกว่า 1,200 กลิ่น สำนักงานฯ จึงเตรียมเสนอให้มีการจำกัดการใช้สารเคมีในการแต่งกลิ่นยอดนิยมอย่าง วานิลา เมนทอล อัลมอนด์ คาราเมล ในการแก้ไขพรบ. ป้องกันอันตรายจากยาสูบด้วยปัจจุบันมี 39 ประเทศทั่วโลกที่ประกาศแบนบุหรี่แต่งกลิ่น เช่น กลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป อเมริกา แคนาดา บราซิล ตุรกี และสิงคโปร์ กินหวานช่วยชาติ         อัตราการบริโภคน้ำตาลโดยเฉลี่ยของคนทั่วโลกอยู่ที่ 23 กิโลกรัมต่อคน/ต่อปี แต่สำหรับอินเดียซึ่งเป็นทั้งผู้บริโภคและผู้ส่งออกน้ำตาลอันดับหนึ่งของโลก (ผลัดกันครองแชมป์กับบราซิล) ผู้คนกลับบริโภคน้ำตาลเพียงคนละ 19 กิโลกรัมต่อปีเท่านั้นอินเดียประสบปัญหาการผลิตน้ำตาลได้เกินความต้องการมาอย่างต่อเนื่อง จากการที่นักการเมืองท้องถิ่นส่งเสริมให้เกษตรกรในชนบทปลูกอ้อยกันมากขึ้นเพื่อแลกกับผลตอบแทนสมาคมผู้ผลิตน้ำตาลจึงออกมาเรียกร้องให้มีการบริโภคในประเทศมากขึ้น อย่างน้อยๆ ก็ควรเท่ากับค่าเฉลี่ยของโลก เพื่อให้ความต้องการบริโภคน้ำตาลในประเทศจะได้เพิ่มเป็น 5.2 ล้านตันต่อปี เหลือส่งออกน้อยลง ประหยัดเงินที่รัฐต้องใช้อุดหนุนการส่งออกได้ไม่น้อยผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่อันดับสามของโลกได้แก่ สหภาพยุโรป อันดับสี่คือประเทศไทย ส่วนจีนนั้นเข้ามาที่อันดับห้าจากข้อมูลล่าสุด อัตราการบริโภคน้ำตาลของคนไทยอยู่ที่คนละ 43.4 กิโลกรัมต่อปี ช้อปล้างแค้น         งานช้อปออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกในวันที่ 11 เดือน 11 หรือ “วันคนโสด” ปีนี้เป็นความหวังของผู้ประกอบการว่าผู้บริโภคคงจะ “ช้อปล้างแค้น” ที่อดไปเที่ยวเพราะการระบาดของโควิด-19 งานนี้เขาเตรียมพนักงานไว้กว่า 3 ล้านคน เครื่องบินและเรือสินค้ารวมกันไม่ต่ำกว่า 4,000 ลำ และรถโมบายล็อคเกอร์อีก 10,000 คัน  จากสถิติปีที่แล้วมียอดขาย 210,000 ล้านหยวน (สองเท่าของยอดขายในวันแบล็คฟรายเดย์และวันไซเบอร์มันเดย์รวมกัน) โดยสินค้าที่มีคนสั่งซื้อมากที่สุดได้แก่ อาหารสัตว์เลี้ยง และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงามแม้จะเข้าสู่ปีที่ 12 แล้ว แต่งานช้อปแห่งปีของจีนแผ่นดินใหญ่ปีนี้คึกครึ้นยิ่งกว่าเคย และสินค้าที่คาดว่าจะได้รับความนิยมมากได้แก่ วิตามิน เครื่องฟอกอากาศ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น และกล่องเครื่องมือ DIY หรือแม้แต่สินค้าแบรนด์เนมก็คาดว่าขายดีขึ้นเช่นกันงานนี้ยังมีบ้าน/คอนโด ลดราคาท้าโควิดให้เลือกซื้อกันถึง 800,000 แห่ง และรถอีก 200,000 คันคิดบวก         งานวิจัยล่าสุดโดยมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดไม่พบความแตกต่างทางสุขภาพอย่างมีนัยยะสำคัญระหว่างคนที่ทานวิตามินทุกวันกับคนที่ไม่ได้ทานจากการสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างมากกว่า 20,000 คน (ประกอบด้วยผู้ที่ทานวิตามินเป็นประจำ 5,000 คน และผู้ที่ไม่ทาน 16,660 คน) ในเรื่องสุขภาพ กิจกรรมในชีวิตประจำวัน และประวัติทางการแพทย์ แล้วนำข้อมูลมาเปรียบเทียบกับตัวชี้วัดทางสุขภาพ 5 รายการ นักวิจัยพบว่าคนสองกลุ่มนี้ไม่แตกต่างกันที่น่าสนใจคือเขาพบว่าผู้บริโภควิตามินนั้นเป็นกลุ่มที่มีความสนใจและความกังวลเรื่องสุขภาพมากทั้งๆ ที่ตนเองมีสุขภาพดีอยู่แล้ว และร้อยละ 30 ของกลุ่มที่ทานวิตามินนั้น “รู้สึก” ว่าตัวเองสุขภาพดีขึ้น   “ประโยชน์” ที่เกิดขึ้นนี้จึงน่าจะเป็นเพราะพวกเขาคาดหวังเช่นนั้นนักวิจัยย้ำว่าการรับประทานวิตามินนั้นมีประโยชน์จริงกับคนที่ร่างกายขาดวิตามินส่วนคนที่ไม่ได้ขาดวิตามินก็ถือว่าช่วยทำประโยชน์ให้กับอุตสาหกรรมมูลค่าหลายแสนล้านก็แล้วกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 236 ความเคลื่อนไหวเดือนตุลาคม 2563

กทม.ใช้สิทธิบัตรทองได้ทุกแห่งเริ่ม 1 พ.ย. 63           นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่าคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บอร์ด สปสช. มีมติเห็นชอบให้สิทธิบัตรทอง เมื่อเจ็บป่วยไปรับบริการที่หน่วยบริการปฐมภูมิในระบบบัตรทองที่ใดก็ได้ในเครือข่ายบริการนำร่องในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เริ่มวันที่ 1 พ.ย.นี้         การให้บริการจะแบ่งเป็นกลุ่มเครือข่ายบริการที่มีศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม.จำนวน 69 แห่ง ในแต่ละเขต ทำหน้าที่เป็นหน่วยบริการแม่ข่ายเชื่อมต่อหน่วยบริการปฐมภูมิ เช่น คลินิกเอกชน ร่วมดูแลในเครือข่ายบริการนั้นๆ ซึ่ง 1 เขตอาจจะมี 2 เครือข่ายบริการได้ และหนึ่งเครือข่ายบริการอาจมีโรงพยาบาลรองรับการส่งต่อ 2-3 แห่ง นอกจากหน่วยบริการประจำหน่วยบริการรับส่งต่อแล้วยังมีรายชื่อหน่วยบริการที่อยู่ในเครือข่ายบริการซึ่งอาจจะมี 10-20 แห่งต่อเครือข่ายบริการที่ประชาชนสามารถไปรับบริการที่ใดก็ได้ ทั้งรักษาพยาบาลเบื้องต้น รักษาต่อเนื่องโรคเรื้อรังและบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค พร้อมกันนี้ สปสช.ยังได้ร่วมกับธนาคารกรุงไทยพัฒนาระบบนัดหมายล่วงหน้าผ่านแอปพลิเคชัน "เป๋าตัง" เพื่ออำนวยความสะดวกในการนัดหมายรับบริการล่วงหน้า พร้อมตรวจสอบรายชื่อด้วย ขยะอิเล็กทรอนิกส์ในไทยมีแนวโน้มล้นประเทศ          จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พบว่าปัจจุบันในไทยมีขยะอิเล็กทรอนิกส์จากซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าในประเทศเป็นจำนวนมาก ประมาณ 400,000 ตันต่อปี และยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นเมื่อมีการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ ดังนั้นในเดือนกันยายน ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ได้ออกประกาศ เรื่อง ‘กำหนดให้ขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2563’ โดยห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์จำนวน 428 รายการ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 ก.ย. 2563         ในงานศึกษา 'การขับเคลื่อนและอุปสรรคของการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย' โดยพีรนาฏ คิดดี และสุทธิพร บุญมาก คาดการณ์ปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างปี 2559-2564 จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษและสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เมื่อปี 2558 แล้วพบว่าในช่วงปี 2559-2564 ปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์จะเพิ่มขึ้นจาก 947,881 พันชิ้น ในปี 2559 เป็น 1,067,767 พันชิ้น ในปี 2564 (อัตราเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 3 ต่อปี) การคาดการณ์ปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นสูงสุดในปี 2564 เมื่อจำแนกเป็นชนิด พบว่า (คาดการณ์ว่า) อันดับหนึ่งคือ แบตเตอรี่มีจำนวนสูงถึง 718,000 พันชิ้น รองลงมาคือ หลอดฟลูออเรสเซนต์จำนวน 317,012 พันชิ้น และโทรศัพท์มือถือ/บ้าน จำนวน 13,419 พันชิ้น ตามลำดับ เหตุจากคนใช้งานสั้นลงและเปลี่ยนใหม่บ่อย         เผยผลตรวจ "ลูกอม-หมากฝรั่ง" พบใช้สีไม่ได้มาตรฐานเกือบ 10%          27 ตุลาคม นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า ได้รวบรวมผลการตรวจวิเคราะห์สีอินทรีย์สังเคราะห์ในลูกอมทั้งชนิดแข็ง ชนิดนุ่ม และหมากฝรั่ง โดยเป็นตัวอย่างที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) และผู้ประกอบการส่งตรวจระหว่างปี 2560-2562 จำนวน 387 ตัวอย่าง ผลการตรวจวิเคราะห์พบว่า มีการใช้สีอินทรีย์สังเคราะห์ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน 30 ตัวอย่าง หรือคิดเป็นร้อยละ 9.8         ลูกอมและหมากฝรั่งเป็นอาหารที่อนุญาตให้ใช้สีอินทรีย์สังเคราะห์ เพื่อเติมแต่งผลิตภัณฑ์แต่ปริมาณและชนิดของสีที่ใช้ต้องเป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข โดยสีอินทรีย์สังเคราะห์เป็นสารเคมีชนิดหนึ่งใช้แต่งสีอาหารให้มีสีสันที่น่ารับประทานมากขึ้น ทั้งนี้หากร่างกายได้รับในปริมาณมากหรือบ่อยครั้งย่อมก่อให้เกิดอันตรายได้ เช่น สีจะไปเคลือบเยื่อบุกระเพาะอาหารและลำไส้ทำให้น้ำย่อยอาหารออกมาไม่สะดวก อาหารย่อยยาก เกิดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และขัดขวางการดูดซึมอาหาร ก่อให้เกิดภูมิแพ้หรืออาจมีอาการของตับ ไตอักเสบ และสีอินทรีย์สังเคราะห์บางชนิดอาจก่อให้เกิดมะเร็งที่ต่อมน้ำเหลืองและอวัยวะอื่นๆ  เตือนระวังโรคอ้วน ไทยอยู่อันดับสองของอาเซียน          ภาพรวมสุขภาพคนไทยพบว่า 'โรคอ้วน' หรือสภาวะอ้วน BMI (Body Mass Index) สูงมากกว่า 25% เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 48.28 ของประชากรวัยทำงาน ส่งสัญญาณอันตรายหลายด้าน ทั้งโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันอุดตัน ซึ่งปีที่ผ่านมาพบว่า โรคอ้วนคร่าชีวิตประชากรทั่วโลกไปกว่า 4 ล้านคน         จากการสำรวจข้อมูลในระดับนานาชาติพบว่า ประเทศไทยมีความชุกของภาวะโรคอ้วนโดยมีดัชนีมวลกาย หรือ BMI สูงมากกว่า 25% โดยสูงเป็นอันดับ 2 ในกลุ่มประเทศอาเซียน รองจากมาเลเซีย ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 48.28 จากภาวะคนไทยที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องส่งผลทำให้คนไทยมีผู้ป่วยโรคเบาหวานถึง 4.8 ล้านคน และเสียชีวิตจากการโรคดังกล่าวไปมากกว่า 200 คน/วัน  ศาลชั้นต้น รับ คดี ‘กระทะโคเรียคิง’ เป็นคดีกลุ่ม          จากการที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ยื่นฟ้อง ‘กระทะโคเรียคิง’ เป็นคดีแบบกลุ่มและมีการนัดไต่สวนคำร้องขอดำเนินคดีแบบกลุ่มตั้ง 25 กันยายน 2560 จนถึงวันที่ 7 กันยายน 2563 นั้น         ล่าสุด 19 ตุลาคม 2563 ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพมหานคร มีคำสั่งอนุญาตให้รับคดี ‘กระทะโคเรียคิง’ รุ่นไดมอนด์ ซีรีส์ (Diamond Series) และ รุ่นโกลด์ ซีรีส์ (Gold Series) ที่ผู้บริโภคร้องเรียนเรื่องคุณสมบัติของกระทะดังกล่าวไม่ได้เป็นไปตามคำโฆษณาเป็นคดีแบบกลุ่ม        นายเฉลิมพงษ์ กลับดี ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคและทนายความผู้รับผิดชอบคดีกล่าวว่า วันนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตรับเป็นคดีแบบกลุ่ม โดยให้เหตุผลว่ามีผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการซื้อกระทะรุ่นดังกล่าวเป็นจำนวนที่มาก ดังนั้นการดำเนินคดีแบบกลุ่มจะทำให้ผู้เสียหายได้รับความเป็นธรรมและมีประสิทธิภาพในการดำเนินคดีมากกว่าการดำเนินคดีแบบทั่วไป นอกจากนี้ศาลยังได้กำหนดขอบเขตของผู้เสียหายที่จะได้รับการชดเชยเยียวยาหากคดีสิ้นสุดลง คือ ผู้เสียหายที่ซื้อกระทะยี่ห้อโคเรียคิง จำนวน 2 รุ่น ได้แก่ รุ่นไดมอนด์ ซีรีส์ (Diamond Series) และ รุ่นโกลด์ ซีรีส์ (Gold Series) ทุกคน และจำเป็นต้องซื้อภายในวันที่ 17 พฤษภาคม 2560 หากซื้อหลังจากนี้จะถือว่าไม่ได้เป็นสมาชิกของกลุ่มและจะไม่ได้รับการชดเชยเยียวยา        “ขอฝากให้ผู้เสียหายที่ซื้อกระทะรุ่นไดมอนท์ซีรีส์และรุ่นโกลด์ซีรีส์ทุกคน เก็บหลักฐานที่เกี่ยวข้องเอาไว้ด้วย เช่น หลักฐานการสั่งซื้อ ใบเสร็จ หลักฐานการโอนเงิน กระทะรุ่นไดมอนท์ซีรีส์หรือรุ่นโกลด์ซีรีส์ เป็นต้น เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินคดีในขั้นตอนต่อไป” ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคกล่าว         ทั้งนี้จำเลยสามารถใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มได้ภายในกำหนด 7 วัน นับตั้งแต่วันที่ศาลมีคำสั่ง หากครบกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์แล้วไม่มีการอุทธรณ์ก็สามารถดำเนินการต่อไปได้ ซึ่งผู้บริโภคสามารถติดตามความคืบหน้าของคดีดังกล่าวได้ทางเว็บไซต์ consumerthai.org และทางเฟซบุ๊กเพจมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

อ่านเพิ่มเติม >

วิตามินซีในเครื่องดื่มสลายตัวเป็นอะไร

ผู้บริโภคที่ศึกษาถึงขั้นมัธยมศึกษาขึ้นไปนั้นคงพอมีความรู้ว่า วิตามินซี เป็นสารอาหารสำคัญมากชนิดหนึ่งต่อร่างกายมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรรู้ว่า ร่างกายต้องใช้วิตามินซีในกระบวนการสังเคราะห์โปรตีนที่เรียกว่า คอลลาเจน ซึ่งเป็นโปรตีนที่มีสัดส่วนมากที่สุดในร่างกายมนุษย์ราวร้อยละ 25-35 ดังนั้นจึงมีคำแนะนำว่า ควรกินผักและผลไม้ที่มีวิตามินซีสูงเพื่อให้มีผิวพรรณดีเพราะมีคอลลาเจนครบตามที่ผิวควรมีได้ (ไม่เกี่ยวกับสีผิวนะครับ) นอกจากนี้วิตามินซียังมีบทบาทที่สำคัญอีกประการหนึ่ง (ในอีกหลายประการ) คือ ช่วยในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน (ร่วมกับสังกะสี วิตามินเอ โปรตีนและอื่น ๆ) ให้ทำงานเป็นปรกติ)สิ่งที่พิสูจน์ว่าคนไทยหลายคนสนใจเกี่ยวกับวิตามินซีและรู้ถึงประโยชน์ของวิตามินซีอย่างดีนั้น ยืนยันด้วยความนิยมในการซื้อผลิตภัณฑ์อาหารที่มีการเสริมวิตามินซี โดยเฉพาะน้ำดื่มหรือเครื่องดื่มที่มีการเติมวิตามินซีลงไป ทั้งเติมน้อยพอประมาณหรือเติมเท่าค่า RDA (คือ 60 มิลลิกรัม) หรือเติมให้มากเกินความต้องการโดยระบุเป็นร้อยละที่เพิ่มขึ้น เช่น 200% ไปเลยแต่ประเด็นที่ผู้บริโภคมักมองผ่านคือ ในการเรียนรู้ที่ผ่านมาในชีวิตนั้น คุณครูมักสอนว่า วิตามินซีไม่ค่อยเสถียรเมื่อได้รับความร้อนและ/หรือแสง ซึ่งในทางวิทยาศาสตร์แล้วแสงโดยเฉพาะแสงอัลตราไวโอเล็ทมีผลต่อการสูญเสียของวิตามินซีเป็นหลักมากกว่าความร้อนเสียอีก ดังนั้นผลิตภัณฑ์ที่เสริมวิตามินซีจึงมักใช้ภาชนะบรรจุปิดสนิทเพื่อป้องกันแสงพร้อมทั้งป้องกันออกซิเจนจากอากาศ ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงวิตามินซีไปเป็นสารอื่นประเด็นที่น่าสนใจคือ วิตามินซีที่อยู่ในอาหาร ทั้งวิตามินซีธรรมชาติและวิตามินซีที่สังเคราะห์เลียนแบบธรรมชาติที่เติมลงไปในอาหารนั้นเปลี่ยนแปลงไปเป็นสารอื่นยากหรือง่ายเพียงใด และที่สำคัญคือ เปลี่ยนไปเป็นอะไร         เครื่องดื่มผสมวิตามินซี        ความที่สินค้าที่มีการเสริมวิตามินซีได้รับความนิยมสูง คำถามหนึ่งที่ปรากฏขึ้นในใจของคนขี้สงสัย คือ สินค้าที่ซื้อมาบริโภคนั้นมีวิตามินซีที่ต้องการได้ตามที่ระบุไว้บนฉลากหรือไม่ โดยเฉพาะสินค้าที่ไม่ได้อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องทำตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข (มีลักษณะเป็นอาหารทั่วไปซึ่งมีเพียงการควบคุมการแสดงฉลากและดูแลความปลอดภัยเท่าที่ควรเป็นเท่านั้น) ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงเก็บตัวอย่างสินค้าเครื่องดื่มผสมวิตามินซี จำนวน 47 ตัวอย่าง ส่งให้ห้องปฏิบัติการของหน่วยงานหนึ่งที่ได้รับการยอมรับจากรัฐ ตรวจวิเคราะห์ปริมาณวิตามินซีที่ปรากฏในวันที่เก็บตัวอย่าง แล้วเปิดเผยผลการตรวจสอบปริมาณวิตามินซีในตัวอย่างที่เก็บมาเมื่อวันอังคารที่ 15 ธันวาคม 2563 ซึ่งพบว่ามี 8 ตัวอย่าง ไม่พบปริมาณวิตามินซีตามที่แจ้งบนฉลากสินค้าและหนึ่งในนั้นคือ เครื่องดื่มผสมน้ำสมุนไพรสกัดชนิดหนึ่งและวิตามินซี ของผู้ผลิตใหญ่รายหนึ่ง ซึ่งทำให้ผู้บริโภคสินค้าดังกล่าวประหลาดใจปนเสียดายเงิน ในขณะที่นักวิทยาศาสตร์ที่เคยได้รู้ข้อมูลเกี่ยวกับวิตามินซีมาก่อนเห็นว่า เป็นเรื่องธรรมดา เพราะวิตามินซีนั้นก็เหมือนกับวิตามินที่ละลายน้ำอื่น ๆ ที่เสียสภาพได้ไม่ยากเมื่อถูกละลายน้ำ โดยขึ้นกับสิ่งแวดล้อมรอบวิตามินนั้น ๆ ทั้งสภาวะทางกายภาพและองค์ประกอบในสินค้านั้นว่าเป็นอะไรบ้าง (งานวิจัยในลักษณะนี้มีมากสามารถค้นหาได้จากฐานข้อมูลวิชาการทางวิทยาศาสตร์ในอินเทอร์เน็ต)หลังการแถลงข่าวของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้มีผู้ผลิตสินค้ารายหนึ่งเห็นความสำคัญที่ต้องแถลงชี้แจงข้อเท็จจริงสู่สาธารณชน (ผู้เขียนจำต้องดัดแปลงเนื้อหาบางส่วนนิดหน่อยโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับยี่ห้อสินค้าเพื่อตัดความรำคาญที่อาจตามมาภายหลัง) ว่า        ….สินค้าที่ผลิตทุกครั้งการผลิตได้ใส่ส่วนผสมวิตามินซีตามที่ได้ระบุไว้บนฉลาก แต่ด้วยคุณสมบัติบางประการของวิตามินซีที่มีความเปราะบาง อาจมีโอกาสที่จะสลายได้ง่ายกว่าวิตามินตัวอื่นๆ และเร็วขึ้นกว่าปกติ โดยเฉพาะการทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศ ในที่ที่มีความร้อน แสง และความชื้น ทางผู้ผลิตขอยืนยันว่า สินค้าของบริษัทในทุกครั้งการผลิตได้ใส่ส่วนผสมวิตามินซีตามที่ได้ระบุไว้บนฉลาก แต่ด้วยคุณสมบัติบางประการของวิตามินซีที่มีความเปราะบาง อาจมีโอกาสที่จะสลายได้ง่ายกว่าวิตามินตัวอื่น ๆ โดยเฉพาะการทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศ อาจส่งผลให้การสลายตัวเร็วขึ้นกว่าปกติ และวิตามินซียังสามารถสลายตัวได้ง่ายในที่ที่มีความร้อน แสง และความชื้น แต่วิตามินซีที่สลายไปนั้นจะกลายเป็นสารอื่นแทน คือ L-tartrate ซึ่งเป็นสารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายเช่นเดิม ทีมงานวิจัยของบริษัทได้มีการคิดค้นวิธีการตามหลักวิทยาศาสตร์และนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้ในกระบวนการผลิตอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สินค้านั้นคงมาตรฐานเครื่องดื่มที่มีวิตามินซี อย่างไรก็ตามจากเหตุการณ์ดังกล่าว บริษัทได้วางแผนการอบรมพนักงานให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการจัดเก็บสินค้าอย่างเหมาะสม เพื่อให้มั่นใจว่า สินค้าที่ส่งถึงมือผู้บริโภคนั้น ยังคงมาตรฐานเครื่องดื่มที่มีวิตามินซี....         ประเด็นสำคัญในแถลงการณ์ของผู้ผลิตรายนี้คือ การระบุว่า วิตามินซีที่สลายไปนั้นจะกลายเป็นสารอื่นแทน คือ L-tartrate ซึ่งเป็นสารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายเช่นเดิม สิ่งที่น่าสนใจคือ ข้อมูลส่วนนี้ได้ตรงกับนักวิทยาศาสตร์คนหนึ่งที่ได้ให้สัมภาษณ์แก่นักข่าวทั้งสื่อสิ่งพิมพ์และโทรทัศน์แล้วก่อให้เกิดความประหลาดใจแก่นักวิชาการที่รู้เรื่องเกี่ยวกับวิตามินซีและผู้เขียน (ซึ่งแม้เกษียณการทำงานสอนแล้วแต่ยังติดตามข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับสุขภาพอยู่) เป็นอย่างมากเสมือนได้ความรู้ใหม่ซึ่งต้อง คิดก่อนเชื่อ        เพื่อให้ได้ข้อตัดสินว่า วิตามินซีที่ละลายน้ำนั้นเปลี่ยนไปเป็น L-tartrate (สารเคมีนี้เป็นเกลือของกรดมะขามคือ L-tartric acid ซึ่งร่างกายสามารถนำไปใช้เป็นพลังงานได้) ได้จริงหรือไม่ ผู้เขียนจึงได้ใช้ฐานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์การแพทย์และวิทยาศาสตร์ชีวภาพทั้งที่เป็นวารสารและตำราทั้งของ PubMed ซึ่งสังกัด National Center for Biotechnology Information (หน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา) และ ScienceDirect ซึ่งเป็นของเอกชนที่รวบรวมข้อมูลจากวารสารนานาชาติจำนวนมาก เพื่อหาว่ามีการตีพิมพ์ผลงานวิจัยที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงวิตามินซีในน้ำ ซึ่งสุดท้ายแล้วหลังใช้ความพยายามพอสมควรก็ได้พบว่ามี 1 บทความวิจัยที่ตอบคำถามว่า วิตามินซีเมื่ออยู่ในน้ำนั้นไม่ได้เปลี่ยนไปเป็น L-tartrateบทความเรื่อง Oxidative Decomposition of Vitamin C in Drinking Water ซึ่งเขียนโดย Patric J. Jansson และคณะ ในวารสาร Free Radical Research ชุดที่ 38 เล่มที่ 8 ประจำเดือน สิงหาคม หน้า 855–860 ของปี 2004 ได้รายงานการทำวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ชาวฟินแลน์ ซึ่งผู้เขียนขอแปลส่วนที่เป็นบทคัดย่อให้ผู้อ่านได้อ่านแบบเต็มๆ ดังนี้         ก่อนหน้านี้เราได้แสดงให้เห็นว่าวิตามินซี (กรดแอสคอร์บิก) สามารถก่อให้เกิดอนุมูลไฮดรอกซิลในน้ำดื่มที่ปนเปื้อนทองแดงในครัวเรือน (Jansson, P.J. et al. 2003. Vitamin C (ascorbic acid) induced hydroxyl radical formation in copper contaminated household drinking water: role of bicarbonate concentration Free Radic. Res. 37: 901–905.) ในการศึกษาปัจจุบันเราได้ตรวจสอบความเสถียรของวิตามินซีในน้ำดื่มในครัวเรือนที่มีทองแดงและไบคาร์บอเนต (สารตัวนี้ผู้ทำวิจัยไม่ได้บอกว่าเติมลงไปทำไม ผู้แปลเข้าใจว่าเพื่อปรับค่าความเป็นกรดด่างด้วยคุณสมบัติเป็น buffer ให้เหมาะสมในการทำวิจัย) ในการศึกษาพบว่าร้อยละ 35 ของวิตามินซีที่เติมในตัวอย่างน้ำดื่ม (ให้มีความเข้มข้น 2 mM) ที่วางไว้ที่อุณหภูมิห้องถูกออกซิไดซ์เป็นกรดดีไฮโดรแอสคอร์บิก (dehydroascorbic acid) ภายใน 15 นาที และหลังจากผ่านไป 3 ชั่วโมง ร้อยละ 93 ของกรดแอสคอร์บิกที่เติมลงไปถูกออกซิไดซ์เป็นกรดดีไฮโดรแอสคอร์บิก ซึ่งสลายตัวต่อไปเป็นกรดออกซาลิก (oxalic acid) และกรดธรีโอนิก (threonic acid) ด้วยไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ที่เกิดจากปฏิกิริยา autooxidation ระหว่างไอออนทองแดง (Cu+1) และออกซิเจนในน้ำ (สมมุติฐานตามหลักการของ Fenton reaction…ผู้แปล) การออกซิเดชั่นของวิตามินซีเกิดขึ้นพอประมาณในน้ำ Milli-Q (น้ำกรองจนบริสุทธิ์ระดับ ASTM 1...ผู้แปล) และในตัวอย่างน้ำในครัวเรือนที่ไม่ปนเปื้อนด้วยไอออนของทองแดง ยิ่งไปกว่านั้นการเพิ่มวิตามินซีลงในตัวอย่างน้ำดื่มบรรจุขวดที่จำหน่ายในประเทศ (ฟินแลนด์ ??...ผู้เขียน) ไม่ได้ส่งผลให้เกิดการออกซิเดชั่นของวิตามินซี ผลการศึกษาของเราแสดงให้เห็นว่า กรดแอสคอร์บิกถูกออกซิไดซ์อย่างรวดเร็วเป็นกรดดีไฮโดรแอสคอร์บิกและย่อยสลายต่อไปเป็นกรดออกซาลิกและกรดธรีโอนิกในน้ำประปาที่ปนเปื้อนด้วยทองแดง ซึ่งถูกบัฟเฟอร์ด้วยไบคาร์บอเนต (โดยสรุป)งานวิจัยได้แสดงถึงสิ่งที่ได้จากการบริโภคกรดแอสคอร์บิกในน้ำดื่มที่มีทองแดงและไบคาร์บอเนต         จากบทคัดย่อผลงานวิจัยของ Patric J. Jansson ที่ผู้เขียนได้แปลนั้นคงให้คำตอบแล้วว่า วิตามินซีเปลี่ยนไปเป็นสารใดเมื่ออยู่ในน้ำ ส่วนการเกิด L-tartrate ได้หรือไม่นั้น คงต้องรอดูต่อไปว่ามีใครพบหลักฐานทางวิทยาศาสตร์บ้าง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉลาดซื้อเผยผลตรวจ ‘เครื่องดื่มผสมวิตามินซี’ ไม่พบปริมาณวิตามินซี 8 ตัวอย่าง และมีปริมาณวิตามินซีไม่ตรงตามที่แจ้งบนฉลาก

วันนี้ 15 ธันวาคม 2563 ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ภายใต้โครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ เผยผลทดสอบปริมาณวิตามินซีในเครื่องดื่มผสมวิตามินซี จำนวน 47 ตัวอย่าง ที่วางจำหน่ายทั่วไปตามท้องตลาด พบมีปริมาณวิตามินซีไม่ตรงตามที่แจ้งบนฉลากสินค้า และมีถึง 8 ตัวอย่างที่ไม่พบปริมาณวิตามินซี แนะผู้บริโภครับประทานวิตามินซีจากผักหรือผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว เช่น ส้ม ฝรั่ง หรือลูกหม่อนตัวอย่างเครื่องดื่มผสมวิตามินซี ที่ตรวจไม่พบปริมาณวิตามินซี จำนวน 8 ตัวอย่าง ได้แก่        1) ยันฮี วิตามิน ซี วอเตอร์ Yanhee VITAMIN C WATER กราสเจลลี่ (เครื่องดื่มผสมน้ำเฉาก๊วยสกัดและวิตามินซี)ขนาด 460 มล.(วันผลิต 07-10-2020 / 07-10-2021)        2) นูริชเมท Nurish Mate ขนมเยลลี่บุก และคาราจีแนน ผสมคอลลาเจน วิตามินซี และน้ำองุ่นขาว 15% กลิ่นสตรอเบอร์รี่ และพีช ขนาด 150 มล.( วันผลิต 11-08-2020 / 10-08-2021  )        3) มีมิกซ์ เครื่องดื่มเข้มข้นกลิ่นส้มผสมวิตามิน  ขนาด 48 มล. ( วันผลิต12-06-2019 / 12-06-2021  )        4) มีมิกซ์ เครื่องดื่มเข้มข้นกลิ่นเบอร์รี่เลมอนผสมวิตามิน ขนาด 48 มล. ( วันผลิต 07-03-2019 / 07-03-2021 )        5) เครื่องดื่มรสมะนาวเลม่อน ตรามินิ Lemonade Vitamin C200 ขนาด 345 มล. ( วันผลิต00-00-0000 / 03-10-2021 )        6) เฟสต้า-ซี เดลี่ ไฟเบอร์ ลิ้นจี่ เฟลเวอร์ เครื่องดื่มน้ำรสลิ้นจี่ 12% ผสมวิตามินซี และใยอาหาร 100 ขนาด มล.( วันผลิต 02-09-2019 / 01-03-2021  )        7) มินิ พิงค์เลม่อนเนด เครื่องดี่มรสเลม่อนผสมเบอร์รี่ ขนาด 345 มล. ( วันผลิต 00-00-00 / 26-08-21 )และ 8) ดี.อาร์.ดริ้งค์ D.R.DRINK เจนไม วิตามิน วอเตอร์ (เครื่องดื่มผสมวิตามินซี วิตามินบี3 บี6 บี12 ไบโอติน กรดโฟลิค แซฟฟลาเวอร์และแคลเซียมจากสาหร่ายลิโทรามเนียน) ขนาด 500 มล. ( วันผลิต09-11-2020 / 09-11-2021)          และเมื่อเปรียบเทียบปริมาณวิตามินซีกับคำกล่าวอ้างบนฉลาก มากกว่าหรือน้อยกว่า ร้อยละ 30 บนฉลากพบว่า มีผลิตภัณฑ์จำนวน 37 ตัวอย่าง มีปริมาณวิตามินซีไม่ตรงตามที่แจ้งบนฉลาก มีทั้งปริมาณมากและน้อยกว่าที่อ้างบนฉลาก          ทั้งนี้ ปริมาณวิตามินซีที่แนะนำให้บริโภคต่อวันตาม Thai RDI* (Thai Recommended Daily Intakes) อยู่ที่ 60 มิลลิกรัม โดยวิตามินซีสามารถสลายตัวได้ง่ายหากสัมผัสกับแสงหรือความร้อน แหล่งอาหารสำคัญที่ผู้บริโภคสามารถเลือกบริโภคเพื่อให้ได้วิตามินซี คือ ผักผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว เช่น ส้ม, ฝรั่ง หรือ ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ และหม่อนอย่างไรก็ตาม การรับประทานวิตามินซี ขนาดสูง อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นนิ่วในไตอ่านรายละเอียดได้ที่ https://www.chaladsue.com* Thai RDI คือ ปริมาณสารอาหารที่แนะนำให้บริโภคสำหรับคนไทยอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 236 ผลทดสอบยาปฏิชีวนะในปลาทับทิมและเนื้อไก่ชำแหละ

        “ในเรื่องอาหารและการตกค้างของยาปฏิชีวนะ เกี่ยวข้องกับสิทธิผู้บริโภคอย่างน้อยสามประเด็น คือ เรื่องข้อมูลในการเลือก เรื่องความปลอดภัย และเรื่องบริโภคศึกษา”          ทุกปีเพื่อเป็นการเฝ้าระวังอาหารที่คนไทยบริโภค ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการตกค้างของยาปฏิชีวนะ ซึ่งถูกนำมาใช้ในภาคการผลิต นิตยสารฉลาดซื้อได้นำเสนอผลทดสอบย้อนหลังไปอย่างน้อยในสามครั้ง ได้แก่ การทดสอบการตกค้างของยาปฏิชีวนะในอาหารฟาสต์ฟู้ด (ฉบับ 188  เดือนตุลาคม 2559 ) การตกค้างของยาปฏิชีวนะในเนื้อหมู (ฉบับ 193 เดือนมีนาคม 2560) การตกค้างของยาปฏิชีวนะในอกไก่และตับไก่สด (ฉบับ 209  เดือนกรกฎาคม 2561)         ในเดือนตุลาคม 2563 นี้ ฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงสุ่มเก็บตัวอย่าง ปลาทับทิม ซึ่งเป็นปลายอดนิยมของไทยและมีการเพาะเลี้ยงอย่างแพร่หลาย ซึ่งพบว่าส่วนหนึ่งของการดูแลปลาทับทิมจะมีการใช้ยาปฏิชีวนะร่วมด้วย เราจึงสุ่มเก็บปลาทับทิมจากตลาดในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 11 แห่ง ตลาดและกระชังปลาในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและอ่างทอง จำนวน 4 แห่ง รวมเป็นจำนวนตัวอย่างทั้งสิ้น 15 ตัวอย่าง ส่งห้องปฏิบัติการเพื่อหาการตกค้างของยาปฏิชีวนะ ตามตารางที่ 1         และเนื่องจากข้อเสนอของเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค โซนภาคกลาง ที่มีข้อสงสัยต่อเนื้อไก่ซอยหรือไก่ที่ชำแหละขายเป็นส่วนๆ (ปีก น่อง สะโพก ฯลฯ) ว่าอาจมีการตกค้างของยาปฏิชีวนะในเนื้อไก่เหล่านี้ นิตยสารฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังฯ จึงสนับสนุนให้เกิดข้อพิสูจน์ดังกล่าว โดยร่วมมือกับอาสาสมัครของเครือข่ายผู้บริโภค โซนภาคกลางเก็บตัวอย่างไก่ซอย จำนวน  10 ตัวอย่างในพื้นที่ภาคกลาง เพื่อตรวจหาการตกค้างของยาปฏิชีวนะ ตามตารางที่ 2ผลทดสอบ        การตกค้างของยาปฏิชีวนะในปลาทับทิม         จากจำนวนตัวอย่าง 15 ตัวอย่าง 14 ตัวอย่าง ไม่พบการตกค้างของยาปฏิชีวนะที่ส่งตรวจ มีเพียง 1 ตัวอย่าง จากปลาทับทิมที่ซื้อจากตลาดคลองเตย พบ ยา Oxytetracycline ในปริมาณน้อยกว่า 5.00 ไมโครกรัม/กิโลกรัม        ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 303) พ.ศ. 2550 เรื่อง อาหารที่มียาสัตว์ตกค้างเพื่อใช้ควบคุมปริมาณการตกค้างของสารใดๆ ที่ถูกใช้กับสัตว์ที่ถูกเลี้ยงเพื่อเป็นอาหารสำหรับมนุษย์ ตามบัญชีแนบท้ายของประกาศฉบับนี้ ได้กำหนดให้พบปริมาณการตกค้างสูงสุด (Maximum Residue Limit, MRL) ของยาในกลุ่มต่างๆ Tetracycline (เตตราไซคลีน) ในปลาส่วนของกล้ามเนื้อ ไม่เกิน 200 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม         หมายเหตุ เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ เดือนตุลาคม 2563 / ผลวิเคราะห์เฉพาะตัวอย่างที่ส่งตรวจเท่านั้น        การตกค้างของยาปฏิชีวนะในเนื้อไก่ชำแหละ        จากจำนวนตัวอย่าง 10 ตัวอย่าง 9 ตัวอย่าง ไม่พบการตกค้างของยาปฏิชีวนะที่ส่งตรวจ  มี 1 ตัวอย่าง จากเนื้อไก่ที่ซื้อจากตลาดเจ้าพรหม (รับจากโรงงานตลาดเจ้าพรหม) พบยา Enrofloxacin (Endrofloxacin) ในปริมาณ 0.66 ไมโครกรัม/กิโลกรัม        ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 303) พ.ศ. 2550 เรื่อง อาหารที่มียาสัตว์ตกค้างเพื่อใช้ควบคุมปริมาณการตกค้างของสารใดๆ ที่ถูกใช้กับสัตว์ที่ถูกเลี้ยงเพื่อเป็นอาหารสำหรับมนุษย์ ตามบัญชีแนบท้ายของประกาศฉบับนี้ ได้กำหนดให้พบปริมาณการตกค้างสูงสุด (Maximum Residue Limit, MRL) ของยาในกลุ่มต่างๆ เช่น Tetracycline (เตตราไซคลีน) ในสัตว์ปีก เช่น นก ไก่ ไก่งวง เป็ด ห่าน ไก่ต๊อก ในส่วนของกล้ามเนื้อ ไม่เกิน 200 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม เป็นต้น         อย่างไรก็ตามจากผลการตรวจวิเคราะห์พบยาเอนโรฟลอคซาซิน จำนวน 1 ตัวอย่าง ซึ่งไม่ได้เป็นรายการยาในบัญชีแนบท้ายประกาศ แม้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อนุญาตให้ใช้ยานี้ได้แต่ต้องไม่พบการตกค้างเลย อาจถือเป็นความผิดตามมาตรา 60 โทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท ของ พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522         หมายเหตุ เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ เดือนตุลาคม 2563 / ผลวิเคราะห์เฉพาะตัวอย่างที่ส่งตรวจเท่านั้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 236 ผลทดสอบวัตถุกันเสียในผลิตภัณฑ์หมูยอ

นอกจากแคบหมูกับน้ำพริกหนุ่มที่เป็นของฝากยอดฮิตของเมืองเหนือแล้ว หมูยอก็เป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์หนึ่งที่นักท่องเที่ยวนิยมซื้อเป็นของฝากเช่นกัน โดยก่อนนี้ ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 221 เดือนกรกฎาคม 2562 ได้ทดสอบสารกันบูดในน้ำพริกหนุ่มกันไปแล้ว ฉบับนี้จึงขอเก็บผลิตภัณฑ์หมูยอนำมาทดสอบกันบ้าง หลังจากที่เคยเก็บตัวอย่างหมูยอมาทดสอบเมื่อ 11 ปีที่แล้ว ในฉบับที่ 95 (เดือนมกราคม 2552)        หมูยอเป็นผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แปรรูปที่พร้อมนำมาปรุงอาหารได้ง่ายๆ เหมือนกับลูกชิ้นและไส้กรอก มีส่วนประกอบสำคัญ ได้แก่ เนื้อหมู, แป้งมันสำปะหลัง, เกลือ, พริกไทย และเครื่องปรุงรส หมูยอนิยมนำไปทำเมนูอาหารได้หลากหลาย จัดเป็นอาหารประเภทเนื้อสัตว์แปรรูปที่ได้รับความนิยมมากอีกชนิดหนึ่งเช่นกัน ผลิตภัณฑ์หมูยอที่วางจำหน่ายทั่วไปตามท้องตลาด มีทั้งแบบห่อด้วยใบตองเพื่อเพิ่มกลิ่นหอม และมีแบบห่อบรรจุภัณฑ์พลาสติกใสที่สามารถเห็นชิ้นหมูยอได้ชัดเจน เรื่องความอร่อยขึ้นอยู่กับรสนิยม แต่ในเรื่องความปลอดภัยจากวัตถุเจือปนอาหารอย่างเช่น สารกันบูดหรือวัตถุกันเสียนั้น ฉลาดซื้ออาสาทดสอบให้ผู้บริโภคได้ทราบกันในฉบับนี้         นิตยสารฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ร่วมกับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคเหนือ จึงสุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์หมูยอที่วางจำหน่ายตามตลาดสด ร้านขายของฝากในจังหวัดภาคเหนือ และไฮเปอร์มาร์เก็ตในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 30 ตัวอย่าง ส่งตรวจวิเคราะห์ปริมาณวัตถุกันเสียประเภทกรดเบนโซอิก (Benzoic acid) และ กรดซอร์บิก (Sorbic acid) ว่าเป็นไปตามเกณฑ์ข้อกำหนดของทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หรือไม่ สรุปผลการทดสอบ         จากตารางแสดงผลการตรวจวิเคราะห์ปริมาณวัตถุกันเสียประเภทกรดเบนโซอิก (Benzoic acid) และ กรดซอร์บิก (Sorbic acid) ในผลิตภัณฑ์หมูยอ จำนวนทั้งหมด 30 ตัวอย่าง พบว่า         มีผลิตภัณฑ์หมูยอ จำนวน 3 ตัวอย่าง ที่ตรวจไม่พบสารกันบูดทั้งสองชนิดเลย ได้แก่         1) บิ๊กซี หมูยอ (หมูผสมไก่) จาก บิ๊กซี สาขาสุขสวัสดิ์ จ.สมุทรปราการ        2) บ้านไผ่ หมูยอ (หมูผสมไก่) จาก บิ๊กซี สาขาสุขสวัสดิ์ จ.สมุทรปราการ         และ     3) ส.ขอนแก่น หมูยอ (หมูผสมไก่) จาก บิ๊กซี สาขาสุขสวัสดิ์ จ.สมุทรปราการ              มีผลิตภัณฑ์หมูยอ จำนวน 4 ตัวอย่าง ที่ตรวจพบกรดซอร์บิกแต่ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน ได้แก่        1) เอโร่ aro จาก สยามแม็คโคร สาขาสามเสน กรุงเทพฯ            พบปริมาณกรดซอร์บิก เท่ากับ  6.34  มก./กก.                 2) เซพแพ็ค Savepak จาก สยามแม็คโคร สาขาสามเสน กรุงเทพฯ            พบปริมาณกรดซอร์บิก เท่ากับ  6.68  มก./กก.                 3) 444 ตองสี่ จาก ร้านตองสี่ ต.ต๋อม อ.เมือง จ.พะเยา            พบปริมาณกรดซอร์บิก เท่ากับ  860.23 มก./กก.          4) ป้าปี๋ (ขนาดใหญ่ ซองสีแดงเหลือง)             พบปริมาณกรดซอร์บิก เท่ากับ  883.96 มก./กก.        และมีผลิตภัณฑ์หมูยอ จำนวน 1 ตัวอย่าง ที่ตรวจพบกรดซอร์บิกเกินเกณฑ์มาตรฐาน ได้แก่ หมูยอ พญาลอ พบปริมาณกรดซอร์บิก 1652.41 มก./กก.         โดย ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 418) พ.ศ. 2563 เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการใช้ และอัตราส่วนของวัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 2) ตามบัญชีหมายเลข 1 แนบท้ายประกาศฯ ได้กำหนดปริมาณสูงสุดของวัตถุกันเสียประเภทกรดซอร์บิก ในหมวดอาหารประเภทผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์บดและผ่านกรรมวิธีไว้ โดยอนุญาตให้ใช้ได้ไม่เกิน 1500 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักอาหาร 1 กิโลกรัม         ทั้งนี้ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 418) ไม่ได้กำหนดปริมาณของวัตถุกันเสียประเภทกรดเบนโซอิก ในอาหารประเภทหมูยอไก่ยอ ลูกชิ้น (เนื้อวัว,เนื้อหมู,เนื้อไก่) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์บดทำให้สุกโดยใช้ความร้อนเอาไว้ ดังนั้นตามข้อกำหนดจึงไม่สามารถใช้วัตถุกันเสียประเภทกรดเบนโซอิกในผลิตภัณฑ์หมูยอได้         แต่จากการตรวจวิเคราะห์พบว่า หมูยอ ที่ส่งทดสอบจำนวน 30 ตัวอย่าง พบกรดเบนโซอิกในจำนวน 23 ตัวอย่าง ในปริมาณตั้งแต่ 3.18 – 3874.95 มก./กก.        ข้อสังเกตการแสดงข้อมูลการใช้วัตถุกันเสีย         จากการสังเกตเรื่องการแสดงข้อมูลการใช้วัตถุกันเสียบนฉลากผลิตภัณฑ์ พบว่า ตัวอย่างผลิตภัณฑ์หมูยอทั้ง 27 ตัวอย่างที่ตรวจพบวัตถุกันเสีย มีเพียง 11 ตัวอย่างเท่านั้น (ร้อยละ 40.74) ที่แสดงข้อมูลการใช้วัตถุกันเสียบนฉลากผลิตภัณฑ์         ข้อสังเกตการแสดงวันผลิตและหมดอายุ         จากการสังเกตข้อมูลวันผลิตและวันหมดอายุบนฉลากผลิตภัณฑ์ พบว่า ตัวอย่างผลิตภัณฑ์หมูยอทั้ง 30 ตัวอย่าง มีเพียง 10 ตัวอย่างเท่านั้น (ร้อยละ 33.33) ที่แสดงข้อมูลวันผลิตหรือวันหมดอายุ ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์หมูยอบางตัวอย่างที่วางจำหน่ายในตลาดสด หรือร้านของฝาก ซึ่งไม่ได้มีการระบุวันผลิต วันหมดอายุ อาจเนื่องมาจากเป็นสินค้าที่ผู้ปรุงเป็นผู้จำหน่ายแก่ผู้บริโภคโดยตรง แบบวันต่อวัน        เปรียบเทียบราคาต่อกรัม         เมื่อลองเปรียบเทียบราคาต่อกรัมของผลิตภัณฑ์หมูยอทั้ง 30 ตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างผลิตภัณฑ์หมูยอที่มีราคาจำหน่ายสูงสุดนั้นอยู่ที่ 0.35 บาท/กรัม ได้แก่ ส.ขอนแก่น หมูยอ (หมูผสมไก่) จาก บิ๊กซี สาขาสุขสวัสดิ์ จ.สมุทรปราการ และราคาจำหน่ายต่ำสุดนั้นอยู่ที่ 0.06 บาท/กรัม ได้แก่ โกบอม, พานทอง และ หมูยอเส้น เจ๊รดา ทั้งสามตัวอย่างซื้อจากตลาดสดบ้านดู่ ต.บ้านดู่ อ.เมือง จ.เชียงราย ซึ่งหากลองเฉลี่ยราคาจำหน่ายของผลิตภัณฑ์หมูยอทั้ง 30 ตัวอย่าง ราคาเฉลี่ยจะอยู่ที่ 0.17 บาท/กรัม        ข้อสังเกตอื่น ๆ         จากการตรวจสอบข้อมูลเลขสารบบอาหาร พบว่า เลข อย.ที่แสดงบนฉลากผลิตภัณฑ์หมูยอบางตัวอย่าง ตรวจไม่พบข้อมูลในระบบฐานข้อมูลบนเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ มีชื่อผลิตภัณฑ์ หรือ สถานที่ผลิต ไม่ตรงกับในระบบฐานข้อมูล        ข้อแนะนำในการบริโภค         หากเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ของฝากจำพวกหมูยอไก่ยอ ลูกชิ้น ไส้อั่ว ในเบื้องต้นผู้บริโภคอาจสังเกตข้อมูลบนฉลากสินค้าก่อนตัดสินใจซื้อว่ามีข้อความ “ไม่ใช้วัตถุกันเสีย” หรือไม่ โดยหากไม่มีการแสดงข้อมูลการใช้วัตถุกันเสียบนฉลาก อาจเป็นสินค้าที่ผลิตและจำหน่ายแบบวันต่อวัน ซึ่งแม่ค้าปรุงและนำมาขายเอง ก็ให้สอบถามจากแม่ค้าดูว่ามีการใช้สารกันบูดหรือไม่         นอกจากนี้ การบริโภคผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อสัตว์ในปริมาณที่พอเหมาะและไม่บ่อยครั้งจนเกินไป เป็นการหลีกเลี่ยงการสะสมสารกันบูดและวัตถุเจือปนอาหารประเภทอื่นๆ อีกด้วย  ข้อมูลอ้างอิง- พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 - ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 237) พ.ศ. 2544 เรื่อง การแสดงฉลากของอาหารพร้อมปรุงและอาหารสำเร็จรูปที่พร้อมบริโภคทันที - ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 418) พ.ศ. 2563 เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการใช้ และอัตราส่วนของวัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 2)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 236 มีอำนาจเหนือตลาดแต่ไม่ผูกขาด

        คำตัดสินของคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าเสียงข้างมาก ทำให้นึกย้อนไปถึงมติปปช.เรื่องนาฬิกาเพื่อนเป็นการยืมใช้คงรูปไม่ต้องแสดงรายการในบัญชีทรัพย์สิน และหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง         กรรมการเสียงข้างมาก 4 เสียง มีมติ อนุญาตให้ควบรวมกิจการระหว่างบริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้น จำกัดและบริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด โดยให้เหตุผลว่า การควบรวมครั้งนี้จะมีอำนาจตลาดเพิ่มมากขึ้น แต่ไม่เป็นการผูกขาด และการรวมธุรกิจดังกล่าวมีความจำเป็นตามควรทางธุรกิจและก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการส่งเสริมการประกอบธุรกิจเพิ่มมากขึ้นและอาจส่งผลให้การแข่งขันลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง         ขณะที่กรรมการแข่งขันการค้าเสียงข้างน้อย 3 เสียง ได้แก่ ศาสตราจารย์สกนธ์ วรัญญูวัฒนา ประธานกรรมการ นายสันติชัย สารถวัลย์แพศย์ และนางอร่ามศรี รุพันธ์ กรรมการการแข่งขันทางการค้า ไม่สนับสนุนการควบรวมในครั้งนี้ เพราะเห็นว่า จะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ เนื่องจากการรวมธุรกิจมีโอกาสทำให้เกิดการผูกขาดหรือครอบงำทางเศรษฐกิจขึ้นได้ เนื่องจากผู้ขออนุญาตมีสถานะเป็นผู้ผลิตสินค้าสำคัญหลายประเภททั้งในส่วนของสินค้าเกษตรและสินค้าเกษตรแปรรูป สินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวันตั้งแต่ระดับต้นน้ำถึงปลายน้ำ        เมื่อผนวกรวมกับธุรกิจค้าส่งค้าปลีกสมัยใหม่ที่มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ในระดับสูงทุกรูปแบบการค้า ตั้งแต่ระดับค้าส่ง ค้าปลีกขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก ซึ่งเป็นช่องทางการจำหน่ายสำคัญที่จะกระจายสินค้าไปสู่ผู้บริโภค ด้วยปัจจัยเหล่านี้จะทำให้ ผู้ขออนุญาตมีอำนาจเหนือตลาดสูงมากจนสามารถครอบงำเศรษฐกิจการค้าของประเทศได้โดยง่ายและจะมีส่วนทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมมากยิ่งขึ้น         นอกจากนี้ยังมีผลกระทบต่อคู่แข่ง (Competitors) โดยผู้ขออนุญาตเป็นผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งมีอำนาจเหนือตลาดและมีส่วนแบ่งตลาดในระดับสูงทุกรูปแบบของการค้าส่งและค้าปลีก จะทำให้ผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นคู่แข่งทางธุรกิจที่มีอยู่หรือผู้ประกอบธุรกิจรายใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดจะยิ่งเข้าสู่ตลาดยากยิ่งขึ้น เพราะคู่แข่งที่จะสามารถแข่งขันได้ในตลาดจะต้องมีการใช้กลยุทธ์ทางธุรกิจและการตลาดที่เน้นการลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน ตลอดจนการลดราคาแข่งขัน เพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดได้ แม้จะมีผลดีในระยะสั้น แต่หากผู้ประกอบธุรกิจรายใดไม่สามารถปรับตัวได้ก็อาจจะต้องออกจากตลาดไปในที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งคู่แข่งที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ในที่สุดทำให้ทางเลือกของผู้บริโภคลดน้อยลง         ขณะเดียวกันยังมีผลกระทบต่อผู้ผลิตสินค้าหรือวัตถุดิบ (Suppliers) การรวมธุรกิจในครั้งนี้ จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อผู้ผลิตสินค้าและวัตถุดิบ เนื่องจากเป็นการรวมธุรกิจระหว่างผู้ประกอบธุรกิจร้านค้าปลีกสมัยใหม่รายใหญ่ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด โดยภายหลังการรวมธุรกิจส่งผลให้ผู้ขออนุญาตและบริษัทในเครือเป็นผู้ประกอบธุรกิจร้านจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคครบทุกรูปแบบ ทั้งร้านค้าส่ง ร้านไฮเปอร์มาร์เก็ต ร้านซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านค้าปลีกขนาดเล็ก อันเป็นผลให้ผู้ขออนุญาตมีอำนาจเหนือตลาดและมีอำนาจต่อรองกับผู้ผลิตสินค้าหรือวัตถุดิบ (Supplier) มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะผู้ผลิตที่เป็นเอสเอ็มอี ที่อาจไม่มีอำนาจต่อรองมาก จึงมีโอกาสสูงที่จะถูกเอารัดเอาเปรียบอย่างไม่เป็นธรรมในการกำหนดเงื่อนไขทางการค้า หรืออาจอยู่ในภาวะจำยอมที่จะต้องรับเงื่อนไขตามที่ผู้ขออนุญาตรวมธุรกิจเสนอโดยไม่มีข้อต่อรองใดๆ เนื่องจากหากไม่ยินยอมดำเนินการในลักษณะดังกล่าวก็ไม่สามารถที่จะวางสินค้าจำหน่ายหรืออาจถูกปิดกั้นช่องทางการจำหน่ายและต้องล้มเลิกกิจการไปในที่สุด ซึ่งท้ายที่สุดก็กระทบกับผู้บริโภค

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 235 ขวากหนามสุดท้าย สภาองค์กรผู้บริโภค

        วันที่ 8 ตุลาคมที่ผ่านมา นับเป็นหมุดหมายสำคัญของการคุ้มครองผู้บริโภค เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคจำนวน 152 องค์กรจากหลายจังหวัดทั่วประเทศ ได้ร่วมมือกันเป็นผู้ริเริ่มการจัดตั้ง “สภาองค์กรผู้บริโภค ประเทศไทย” กับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี(สปน.) ซึ่งพรบ. ว่าด้วยการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 ได้ออกแบบให้ปลัด สปน.ทำหน้าที่เป็นนายทะเบียนกลาง และผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดเป็นนายทะเบียนจังหวัดในการรับจดแจ้งองค์กรผู้บริโภค           องค์กรผู้บริโภคเกิดจากการรวมตัวกันไม่น้อยกว่า 10 คน ทำงานอย่างเป็นอิสระไม่ใช่องค์กรที่ถูกจัดตั้งทั้งจากภาครัฐและภาคธุรกิจ มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ 2 ปี องค์กรผ่านการประกาศจากนายทะเบียนกลาง จำนวน 150 องค์กร สามารถขอริเริ่มเป็นผู้จัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคได้ หากมีสมาชิกเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนที่ผ่านการจดแจ้งซึ่งขณะนั้นมีองค์กรผู้บริโภค จำนวน 156 องค์กร  ให้สปน.พิจารณาการจดจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคภายใน 30 วัน         คุณศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ไปยื่นคัดค้านว่าองค์กรผู้บริโภคว่า มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ 2 ปี หรือไม่ จะเป็นเหตุให้ต้องชะลอการจัดตั้งสภาองค์กรผู้บริโภคหรือไม่ ตามกฎหมายมาตรา 8 เขียนไว้ว่า เมื่อผู้ใดเห็นว่าองค์กรของผู้บริโภคที่ได้แจ้งไว้ มีลักษณะไม่ถูกต้อง ให้มีสิทธิยื่นคัดค้านพร้อมทั้งหลักฐานต่อนายทะเบียนกลาง และให้ดำเนินการสอบข้อเท็จจริงแล้ววินิจฉัยโดยเร็ว ให้เพิกถอนการรับแจ้ง พร้อมทั้งแจ้งให้ผู้ร้องและองค์กรของผู้บริโภคที่เกี่ยวข้องทราบคำวินิจฉัยของนายทะเบียนกลางให้เป็นที่สุด         ดังนั้นการร้องคัดค้านของคุณศรีสุวรรณ เป็นการร้องคุณสมบัติขององค์กรผู้บริโภคที่ผ่านการจดแจ้ง ซึ่งไม่ส่งผลต่อการขอริเริ่มการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค แต่หากองค์กรผู้บริโภคไหนขาดคุณสมบัติ ขณะที่ยังไม่มีการประกาศจัดตั้งสภาองค์กรผู้บริโภค ก็อาจจะต้องมาพิจารณาว่า จำนวนองค์กรที่ขอริเริ่มครบถ้วน 150 องค์กรหรือไม่ แต่หากการจัดตั้งสภาองค์กรผู้บริโภค ประเทศไทย สำเร็จภายใน 30 วัน ก็จะสามารถดำเนินการได้ทันที        คุณศรีสุวรรณอ้างว่า หากมีองค์กรผู้บริโภคจำนวนมากขนาดนี้ปัญหาผู้บริโภค น่าจะไม่มี แต่คุณศรีสุวรรณ คงลืมไปแล้วว่า คุณศรีสุวรรณทำเรื่องคอรัปชั่นมานาน? และมีองค์กรหน่วยงานที่ทำเรื่องนี้มากมาย แต่ปัญหาคอรัปชั่นในประเทศไทยก็ยังเต็มบ้านเต็มเมืองให้พบเห็นได้ ปัญหาของสังคมไทย ชี้ไปที่ไหนก็เห็นหรือพบปัญหา ยิ่งปัญหาผู้บริโภคด้วยแล้ว ยิ่งมีความซับซ้อนรวดเร็วเปลี่ยนแปลงไปตามความเปลี่ยนแปลงของโลก เทคโนโลยี เศรษฐกิจ สังคม หรือแม้แต่การระบาดของโรคโควิด19         เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค หวังว่า ขวากหนามสุดท้ายจะไม่เป็นอุปสรรคในการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค และสามารถเดินหน้า “สภาองค์กรผู้บริโภค ประเทศไทย” ตัวแทนของผู้บริโภคในการรักษาผลประโยชน์ คุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคได้อย่างเข้มแข็งต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >