ฉบับที่ 238 ของขวัญที่ให้ แน่ใจแล้วหรือ?

        ในยุคที่คนหันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพ ช่วงเทศกาลทีไร ผมมักจะได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคเกี่ยวกับอันตรายที่เกิดจากผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ได้รับเป็นของขวัญ ทั้งๆ ที่ผู้ให้ก็ตั้งใจจะมอบสิ่งดีๆ ต่อสุขภาพแก่ผู้รับ แต่บางครั้งของขวัญที่ให้อาจเกิดผลกระทบที่คาดไม่ถึง มีตัวอย่างและคำแนะนำเบื้องต้นในการตัดสินใจเลือกของขวัญเพื่อให้ผู้รับเกิดความปลอดภัยดังนี้         1.ผลิตภัณฑ์อาหารบำรุงสุขภาพหรือที่เรียกว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เป็นผลิตภัณฑ์ที่นิยมให้เป็นของขวัญกันมาก โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์อาหารที่กล่าวอ้างสรรพคุณในด้านการบำรุงหรือรักษาโรค เคยมีกรณีที่ลูกชายซื้อผลิตภัณฑ์โสมสกัดมาเป็นของขวัญให้คุณแม่ โดยลืมนึกไปว่าคุณแม่มีโรคประจำตัวคือความดันโลหิตสูง ส่วนคุณแม่แม้เคยได้รับคำเตือนว่า โสมอาจมีผลทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น แต่เห็นว่าลูกชายอุตส่าห์ซื้อมาให้แล้ว ก็เลยรับประทานต่อเนื่องไปเรื่อยๆ สุดท้ายก็ต้องไปโรงพยาบาล เพราะความดันโลหิตสูงขึ้นแบบคุมไม่อยู่         2. วิตามินต่างๆ เป็นอีกผลิตภัณฑ์ที่หลายคนนิยมซื้อให้ผู้ใหญ่ที่เคารพ เพราะเชื่อว่าจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพ แต่ก็เคยมีกรณีที่ผู้ที่รับบางคน รับประทานไปแล้วเกิดอาการแพ้วิตามิน หรือวิตามินบางชนิดเมื่อรับประทานพร้อมกับอาหารหรือยาบางประเภท ก็จะเกิดปฏิกิริยาเพิ่มหรือลดคุณภาพของตัวมันเองหรือยา ที่ผู้รับประทานไปด้วย      ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยของผู้รับจึงไม่ควรซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหรือวิตามินให้เป็นของขวัญ โดยขาดข้อมูลเบื้องต้น เพราะอาจส่งผลต่อสุขภาพได้ หากอยากจะให้เป็นของขวัญจริงๆ ควรมีข้อมูลว่าผู้รับเคยรับประทานผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นประจำหรือไม่ ถ้าไม่แน่ใจไม่ควรให้เป็นของขวัญ นอกจากนี้ต้องตรวจสอบฉลากของผลิตภัณฑ์ว่า มีรายละเอียดต่างๆ ครบถ้วนหรือไม่ และต้องระวังด้วย หากผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอวดอ้างสรรพคุณในการรักษาโรค นอกจากจะผิดกฎหมายแล้วจะยิ่งเกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพด้วย หนำซ้ำถ้าผู้รับนำไปใช้อย่างต่อเนื่อง แม้จะไม่เกิดอันตรายแต่ก็จะทำให้เขาเสียเงินโดยไม่จำเป็นในระยะยาวด้วยเช่นกัน         3. ยาสามัญประจำบ้าน แม้จะเป็นยาที่ค่อนข้างมีความปลอดภัย เหมาะที่จะมีติดไว้ประจำบ้าน แต่ก็พบว่ายาสามัญประจำบ้านที่จัดไว้เป็นชุดขายสำเร็จรูปนั้น ยาบางตัวผู้รับแทบไม่ได้นำไปใช้เลย เพราะไม่มีความจำเป็นสุดท้ายเมื่อหมดอายุก็ต้องนำไปทิ้ง   หากจะซื้อยาสามัญประจำบ้านให้เป็นของขวัญ ควรเลือกรายการยาที่ผู้รับจำเป็นจะต้องใช้ หรือควรมีไว้ติดบ้านจริงๆ โดยอาจปรึกษารายการยากับเภสัชกรประจำร้านยาก็ได้         4. หนังสือหรือสื่อความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ เป็นอีกสิ่งที่ผู้คนชอบซื้อให้เป็นของขวัญ แต่เคยพบว่าผู้บริโภคบางคนที่ได้รับหนังสือความรู้ด้านสุขภาพ และนำมาสอบถามข้อมูล ปรากฎว่าหนังสือนั้นกลับให้ข้อมูลสุขภาพผิดจากข้อเท็จจริงเยอะมาก มีคำแนะนำในการเลือกซื้อหนังสือหรือสื่อความรู้เกี่ยวกับสุขภาพที่จะให้เป็นของขวัญว่า ควรเลือกจากผู้จัดทำที่เป็นองค์กรหรือหน่วยงานทางด้านวิชาการ มีตัวตนหลักแหล่งที่ชัดเจน รวมทั้งมีบทบาทในการสร้างสุขภาพจนเป็นที่ยอมรับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 238 ซื้อที่ดินโดยไม่รู้ว่ามีกฎหมายห้ามโอนจะมีผลอย่างไร

หลายท่านคงมีประสบการณ์ อยากได้ที่ดินสักแปลงมาปลูกบ้านหรือเอาไว้ทำเกษตรหรือทำธุรกิจ ก็ไปหาข้อมูลต่างๆ เพื่อพิจารณาในการซื้อที่ดิน ซึ่งในทุกวันนี้ราคาที่ดินก็แพงขึ้นทุกวัน ดังนั้นกว่าจะตัดสินใจซื้อก็ต้องคิดอย่างรอบคอบ จึงอยากหยิบกรณีเกี่ยวกับปัญหาซื้อขายที่ดินมาแลกเปลี่ยนกับทุกท่านครับ         หนึ่งในเรื่องสำคัญที่เราควรตรวจสอบลำดับต้นๆ คือ ที่ดินดังกล่าวมีเอกสารสิทธิแบบใด และเป็นที่ดินที่มีกฎหมายห้ามโอนหรือไม่ ซึ่งได้แก่ ที่ดิน สปก. เป็นที่รัฐให้ประชาชนเช่าเพื่อใช้ทำเกษตรกรรม ห้ามซื้อขายกัน หรือที่ดินซึ่งมีโฉนดแต่มีสัญญากำหนดห้ามโอนใน 10 ปี เป็นต้น สำคัญเพราะหากไปทำสัญญาซื้อขายที่ดินที่มีข้อกำหนดห้ามโอนจะมีเกิดปัญหาตามมาคือ สัญญาซื้อขายดังกล่าวจะไม่มีผลใช้บังคับ ซึ่งเรื่องนี้ได้มีคำพิพากษาของศาลฏีกาวางหลักไว้ว่า การจะซื้อจะขายที่ดินที่มีข้อกำหนดห้ามโอนเป็นการทำนิติกรรมที่ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายและเป็นโมฆะตามมาตรา 150  ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 620/2539          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 620/2539         โจทก์จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทภายในระยะเวลาตามข้อกำหนดห้ามโอนเป็นการหลีกเลี่ยงข้อห้ามโอนย่อมตกเป็นโมฆะและเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลชั้นต้นมีอำนาจงดสืบพยานแล้วยกขึ้นวินิจฉัยชี้ขาดได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา24         ผลคือ ผู้ซื้อไม่ต้องจ่ายหนี้ค่าที่ดินที่ค้างอยู่ และผู้ขายต้องคืนเงินค่าที่ดินทั้งหมดให้แก่ผู้ซื้อ จะอ้างว่าผู้ซื้อชำระหนี้ตามอำเภอใจไม่ได้          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9087/2539        ขณะโจทก์ทำสัญญาจะซื้อขายที่พิพาทจากจำเลยนั้น โจทก์ไม่ทราบว่ามีข้อกำหนดห้ามโอน นิติกรรมดังกล่าว จึงเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายย่อมตกเป็นโมฆะ โจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องชำระหนี้ที่ค้างชำระและจำเลยต้องคืนเงินที่โจทก์ชำระไว้โดยถือไม่ได้ว่าโจทก์กระทำตามอำเภอใจเหมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระแต่อย่างใด         อีกกรณีคือ แม้จะตกลงให้โอนกันเมื่อพ้นกำหนดห้ามโอนก็ตกเป็นโมฆะ          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5083/2537         ถึงแม้จะฟังว่าจำเลยซื้อที่ดินพิพาทจากโจทก์ โดยโจทก์สละการครอบครองก็เป็นการซื้อมาและเข้าครอบครองภายในกำหนดเวลาห้ามโอน เป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ตกเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113 แม้จะโอนไปเพียงบางส่วนของที่ดินที่ห้ามโอนและมอบการครอบครองแล้ว ทั้งมีข้อตกลงว่าจะจดทะเบียนโอนที่ดินให้จำเลยเมื่อพ้นกำหนดห้ามโอนแล้วก็ไม่อาจทำได้          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 36/2549         ขณะที่ผู้ร้องและ ป. ผู้ตายทำสัญญาซื้อขายที่ดินกันนั้น ที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นที่ดินมีข้อกำหนดห้าม ป. โอนที่ดินไปยังบุคคลอื่นภายในสิบปีตาม ป. ที่ดิน มาตรา 31 และยังอยู่ภายในกำหนดเวลาห้ามโอนนั้น สัญญาซื้อขายที่ดินแปลงดังกล่าวจึงเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 ไม่ว่าผู้ร้องจะครอบครองนานเพียงใด ผู้ร้องก็ไม่ได้สิทธิครอบครอง และถึงแม้ว่าผู้ตายตกลงจะโอนที่ดินดังกล่าวให้แก่ผู้ร้องเมื่อพ้นกำหนดเวลาห้ามโอนแล้ว ก็ไม่อาจทำได้เช่นกัน ผู้ร้องจึงไม่อยู่ในฐานะเจ้าหนี้กองมรดกของผู้ตายที่จะบังคับให้โอนที่ดินแปลงดังกล่าวแก่ผู้ร้อง และถือไม่ได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในอันที่จะร้องขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย         จากตัวอย่างคำพิพากษาของศาลข้างต้น เราจะเห็นว่าการซื้อขายที่ดินที่มีข้อกำหนดห้ามโอนนั้น มีผลทำให้สัญญาซื้อขายที่ทำ ไม่มีผลใช้บังคับ ไม่ว่าจะมีการตกลงกันให้โอนภายหลังครบกำหนดก็ตาม ดังนั้นหากจะวางแผนซื้อที่ดินก็ควรตรวจสอบดูให้ดีก่อนนะครับว่า ที่ดินแปลงนั้นๆ ติดเรื่องห้ามโอนหรือไม่ หากมีก็ไม่ควรไปซื้อเพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมาครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 238 เสียงของผู้บริโภคในปี 2563

ฉลาดซื้อ ฉบับส่งท้ายปี 2563 ที่กำลังจะหมดไปพร้อมๆ กับการกลับมาเยือนของเจ้าโควิด19 ระลอกใหม่ พามาสรุปสถานการณ์เรื่องร้องเรียนภายในปี 2563 จากคำบอกเล่าของคุณนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ปีที่ผ่านมาศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคและเครือข่ายผู้บริโภค 7 ภาค ได้รับเรื่องร้องเรียนจากเดือนมกราคมถึงพฤศจิกายน จำนวน 3,463 เรื่อง         อันดับ 1 ได้แก่ ปัญหา อาหาร ยา ผลิตภัณฑ์สุขภาพยังคงครองแชมป์ มีจำนวน 1,027 เรื่อง (ร้อยละ 29.66)   ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการขายผลิตภัณฑ์สุขภาพโฆษณาเกินจริง  ไม่มี อย. ผ่านช่องทางออนไลน์            อันดับ 2 หมวดบริการสาธารณะ จำนวน 753 เรื่อง (ร้อยละ 21.74) เป็นเรื่องปัญหารถโดยสารสาธารณะ การเยียวยากรณีเกิดอุบัติเหตุ การเฝ้าระวังรถนักเรียนและรถโดยสารผิดประเภท และปัญหาการขอเงินคืนกรณีการยกเลิกเที่ยวบินช่วงเดือนมีนาคม - พฤษภาคม ช่วงโรคไวรัสโควิด19 ระบาด         และอันดับ 3 หมวดสินค้าและบริการทั่วไป จำนวน 724 เรื่อง (ร้อยละ 20.91) เป็นเรื่องการสั่งสินค้าแล้วไม่ได้รับสินค้าตามที่สั่ง   ไม่ได้มาตรฐาน ราคาแพงเกินจริง  สินค้าชำรุดบกพร่อง         สถานการณ์ของผู้บริโภคของปี 2563 เป็นอย่างไร         สถานการณ์ผู้บริโภคตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงเดือนพฤศจิกายน จากสถิติที่มูลนิธิฯ รวบรวมกับเครือข่ายผู้บริโภคทั่วประเทศอยู่ที่ 3,463 กรณีร้องเรียน  โดยสามอันดับแรกที่ร้องเรียนเข้ามาคือ ปัญหาอาหาร ยา ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ครองแชมป์อันดับหนึ่ง (1,027 เรื่อง) ปัญหาที่ร้องเรียนเข้ามาคือการขายผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพประเภทโฆษณาเกินจริง สินค้าที่ซื้อไม่มี อย.  เนื่องจากสถานการณ์วิกฤตโควิด คนก็จะซื้อสินค้าพวกนี้ทางออนไลน์ค่อนข้างเยอะ แล้วก็ปัญหาโฆษณาเกินจริง ซื้อมากินแล้วไม่ได้ผล กินแล้วบางทีก็มีผลกระทบกับสุขภาพตัวเอง อย่างเช่นอาจจะเกิดอาการแพ้ อาจจะเกิดอาการที่ไม่เป็นไปตามที่บอก หรือไม่เป็นไปตามที่ผู้ประกอบการโฆษณา          อันดับที่สองคือหมวดบริการสาธารณะ 753 เรื่อง ซึ่งปัญหาหลักๆ คืออุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ มีทั้งรถตู้ ซึ่งจะเป็นปัญหาอันดับหนึ่ง แล้วก็จะมีเรื่องของรถทัวร์โดยสารแล้วก็รถโรงเรียน  สิ่งที่มันเกิดปัญหามากที่สุดก็คือเรื่องของการเยียวยาผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุ มีกรณีร้องเรียนเข้ามาขอความช่วยเหลือเยอะ อีกเรื่องหนึ่ง ก็มีเรื่องเฝ้าระวังรถโดยสาร รถนักเรียนปลอดภัย พบว่ามีรถนักเรียนที่เป็นรถผิดประเภทเช่นเอารถกระบะมาทำเป็นรถรับส่งนักเรียน         อีกปัญหายอดฮิตในช่วงสถานการณ์โควิดก็คือการยกเลิกเที่ยวบิน ซึ่งก็จะเจอปัญหาเรื่องของการขอเงินคืน มีหลายกรณีที่มีการยุติ ก็คือผู้บริโภคยอมที่จะใช้บริการต่อโดยการเก็บเครดิตไว้แล้วก็ไปใช้บริการตามที่ผู้ให้บริการกำหนด อาจจะใช้ได้ถึงสิ้นปีหรือปีหน้า คือมีข้อตกลงกันและก็ยอมรับกันได้ กับอีกเรื่องหนึ่งคือบางทีผู้บริโภคเขาไม่จำเป็นต้องเดินทางก็ต้องการเงินทั้งหมดคืน อันนี้จะเป็นเรื่องที่ยังค้างอยู่ หมายถึงเราต้องช่วยเหลือผู้บริโภคต่อ ต้องติดตามผู้ประกอบการว่าถ้ามีการยกเลิกแบบนี้จะมีการดำเนินการแบบใด          อันดับสามเป็นเรื่องสินค้าและบริการทั่วไป ที่เจอมากที่สุดก็คือการสั่งสินค้าออนไลน์ ล่าสุดคือที่นอนยางพารา ซึ่งเกิดปัญหาเรื่องของการสั่งซื้อแล้วไม่ได้สินค้า แล้วก็ผู้ประกอบการก็ถูกร้องเรียน ถูกแจ้งความดำเนินคดีในคดีอาญา อีกอย่างหนึ่งก็คือสั่งซื้อสินค้าแล้วไม่ได้เป็นไปตามที่โฆษณาหรือตกลงกัน ก็จะมีเรื่องชำรุดบกพร่อง ไม่ได้ของแถม หรือซื้อสินค้ามาแล้วไม่ตรงปก เสื้ออาจจะย้วย อาจจะมีปัญหาของเรื่องการใส่ไม่ได้ อันนี้ก็จะมีการคืนสินค้ากับผู้ประกอบการค่อนข้างยาก แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นกับการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์มันจะเกิดกับผู้ประกอบการที่ไม่ใช่ Platform แต่เป็นผู้ประกอบการที่ขายผ่าน Facebook ผ่าน Instagram หรือ Line ซึ่งมีการโอนเงินให้กับผู้ประกอบการโดยทันที ไม่ใช่แบบ Platform ที่เขามีการโอนเงินไว้กับตัว Platform แล้วก็ผู้ประกอบการหรือผู้บริโภคจะติดต่อกันได้ผ่าน Platform ซึ่งจะเป็นผู้เก็บเงินหรือจะจัดการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคเอาไว้ ถ้าผู้บริโภคยังไม่ได้รับสินค้าก็แจ้ง Platform ไป เขาก็จะคืนเงินให้กับผู้บริโภคเลย หรือว่าผู้บริโภคขอคืนเงินเพราะว่าสินค้าไม่เป็นไปตามมาตรฐาน พวกนี้ก็จะได้รับการคุ้มครองได้คืนสินค้าตามกติกาที่กระทรวงดิจิทัลกำหนด อาจจะคืนได้ภายใน 14 วัน         แต่มันก็จะมีลักษณะที่อยากเตือนคือ ผู้บริโภคมักจะไปตกลงในแชทของผู้ประกอบการผ่าน Platform ซึ่งเขาจะเตือนเอาไว้เลยว่าถ้าคุณไปแชทคุยกันเองมันคือนอกเหนือกติกา อันนี้ผู้บริโภคต้องระวัง คือเขาก็จะใช้วิธีชักชวนว่าถ้าซื้อผ่านแชทแล้วโอนเงินให้เขาเลยคุณก็ไม่เสียค่าดำเนินการกับ Platform ดังนั้นราคาก็จะถูกลง แต่ถ้ามันเกิดปัญหาขึ้น สินค้าที่ส่งมาไม่เป็นไปตามที่สั่งหรือไม่ตรงปก แล้วเราอยากคืน เราก็จะไม่ได้คืนเพราะ Platform เขาถือว่าคุณไปคุยกันเอง         ขณะที่สถานการณ์โควิดกลับมาอีกรอบ ปีหน้าช่องทางซื้อขายออนไลน์ก็จะยังคงถูกใช้มากขึ้น สิ่งที่อยากฝากเตือนกับผู้บริโภคมีหลายเรื่อง ดังนั้นเวลาจะซื้อสินค้าถ้าจะเลือกว่ามันจูงใจด้วยราคาหรือว่าซื้อผ่าน Inbox ผ่าน Facebook Line Instagram อะไรต่างๆ เหล่านี้ที่เป็น Social Market พวกนี้มันไม่ถูกกฎหมายต้องระมัดระวังมาก เพราะพอมันไม่ถูกกฎหมายมันก็ไม่มีตัวตนของผู้ประกอบการ ก็ค่อนข้างยากที่จะได้รับการดูแลที่ดีหรือว่าได้รับสินค้าไม่ตรงปก คุณอาจจะเจอปัญหาว่าตอนที่ยังไม่ซื้อคุณคุยกันได้แต่พอซื้อแล้วปุ๊บ ถ้าสินค้ามีปัญหาคุณก็ไม่สามารถที่จะไปคุยกับเขาได้แล้ว เขาอาจจะบล็อก อาจจะปิดเฟสปิดไลน์หนีคุณไป  คนทำงานคุ้มครองสิทธิอย่างเราก็หาวิธีการที่จะไปตรวจสอบกลุ่มคนที่สร้าง Line สร้าง Instagram สร้าง Facebook ยากอีกเหมือนกันเพราะว่าเป็นสื่อที่ไม่ได้อยู่ในประเทศไทย ช่องทางนี้มันสะดวกก็จริง แต่มันก็มีความเสี่ยงสูงที่จะโดนหลอก         อีกเรื่องหนึ่งที่ต้องฝากให้ระวังคือ กู้เงินผ่านแอปพลิเคชัน ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยเขากำหนดว่า คุณสามารถทำสินเชื่อหรือธุรกรรมทางการเงิน ประกอบธุรกิจการสินเชื่อปล่อยกู้สินเชื่อผ่านแอปฯ  ได้ แต่คุณต้องขออนุญาต ตอนนี้เราทราบจากธนาคารแห่งประเทศไทยว่ายังไม่มีผู้ประกอบการรายไหนเข้าไปขออนุญาต ดังนั้นการประกอบธุรกิจสินเชื่อแบบนี้ก็ผิดกฎหมาย แต่สิ่งที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดไว้ชัดเจน เช่น กู้ได้ไม่เกินวงเงินครั้งละ 20,000 บาท แล้วระยะเวลาในการกู้ก็กู้ได้ไม่เกิน 6 เดือน แล้วดอกที่ผู้ประกอบการคิดได้ก็คือร้อยละ 25 เท่านั้น ถ้าเกินจากนี้ผิดกฎหมาย กติกาที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเขากำหนดไว้ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อเป็นผู้ปฏิบัติมีชัดเจน แต่ตอนนี้ผู้ประกอบธุรกิจปล่อยกู้ผ่านแอปฯ ก็ใช้ช่องทางที่คุยกันทางไลน์ ทาง Inbox บ้าง ซึ่งก็ไม่รู้ว่าผู้ประกอบการเป็นใคร         ปัญหาที่เจอก็คือ กู้ 2,000 ได้เงินแค่ 1,200 ถูกหักไปเลย 800 บาทเพราะเขาอ้างว่าเป็นความเสี่ยง ถ้าคุณคืนดีพอหักไปแล้ว 800 แต่คุณต้องคืนจำนวนเต็มคือ 2,000 ซึ่งไม่ใช่ 1,200 พูดง่ายๆ คุณโดนหัก 40 เปอร์เซ็นต์เลย ซึ่งมันเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคอย่างชัดเจน แต่ถามว่าแอปฯ นี่ตอนนี้มันถูกขออนุญาตหรือยัง ไม่มีใครรู้ว่าแอปฯ นั้นเปิดโดยใคร อันนี้ก็ตามไม่ได้ แต่สิ่งที่น่ากังวลก็คือ การกู้เงินผ่านแอปฯ มันจะให้เรากรอกข้อมูลแล้วก็อนุญาตให้มันเข้าถึงข้อมูลในโทรศัพท์มือถือ ซึ่งอาจจะเป็นข้อมูลญาติเรา พี่น้องเรา เพื่อนเรา แล้วเวลาเราผิดนัดชำระหนี้มันก็จะส่งข้อความหรือส่งไลน์ไปกับกลุ่มคนที่เรามีเบอร์อยู่ในโทรศัพท์  เพื่อนฝูงพี่น้องหรือญาติมิตรก็จะได้รับข้อความทวงหนี้ถ้าเราไม่ชำระหนี้ อันนี้ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิแล้วก็เป็นการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลด้วยเพราะเราอนุญาตแค่ข้อมูลเรา แต่จริงๆ แล้วมันดึงข้อมูลของเราไปทั้งระบบ ถ้าเรามีเบอร์โทรศัพท์อยู่ในนั้นมันสามารถแฮกข้อมูลเบอร์โทรศัพท์เราไปทั้งหมดได้ อันนี้เป็นเรื่องที่เราอนุญาตเองแล้วก็เข้าถึงข้อมูลได้ด้วย เป็นเรื่องระบบที่ยังไม่มีการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่ชัดเจน         กรณีการกู้เงินผู้บริโภคควรแก้ปัญหาอย่างไร         ถ้าเป็นไปได้ ถ้าคุณมีปัญหาเรื่องการเงินตอนนี้ เราคิดว่าธนาคารแห่งประเทศไทยเขามีหลายมาตรการที่ออกมาช่วยเหลือผู้บริโภค เช่น มาตรการพักชำระหนี้ มาตรการการปล่อยกู้สินเชื่อที่ใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน เช่น จำนำทะเบียนรถ  แต่ว่าดอกเบี้ยจะเป็นไปตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด และสมมติเรามีปัญหาเรื่องการผ่อนชำระหนี้กับ Bank หรือ Nonbank ที่เรากู้เขามา แล้วเขาบอกว่าไม่มีนโยบายในการช่วยเหลือลูกหนี้ คุณร้องเรียนตรงไปที่หมายเลขโทรศัพท์ 1213 สำนักงานของศูนย์คุ้มครองผู้บริโภคทางการเงิน หรือ สคง. ได้เลย เขาจะมีแบบฟอร์มให้คุณกรอกว่าคุณประสงค์ที่จะพักชำระหนี้อย่างไร ช่องทางแบบนี้มันสามารถช่วยให้ผู้บริโภคเข้าถึงแหล่งข้อมูล อย่างเช่น คุณทำกับธนาคารใดธนาคารหนึ่งแล้วธนาคารแห่งประเทศไทยเขาจะมีข้อมูลว่าคุณทำกับธนาคารนี้ เขาจะส่งข้อมูลของคุณเข้าธนาคาร แล้วบอกว่าคุณต้องจัดการช่วยเหลือลูกหนี้แบบนี้เพราะลูกหนี้ประสงค์ที่จะพักชำระหนี้  ตรงนี้จะมีคนกลางที่เป็นหน่วยงานกำกับดูแลไปชี้ให้เขาดำเนินการให้คุณ ทั้งที่จริงๆ ตอนแรกเขาอาจจะปฏิเสธ  ช่องทางแบบนี้ จริงๆ ผู้บริโภคควรเข้าถึง แล้วก็ควรใช้บริการกับธนาคารแห่งประเทศไทยเพราะมันรวดเร็วแล้วก็ได้รับคำตอบว่าจะแก้ไขปัญหาให้ได้ไหม         อีกเรื่องงคือการถูกหลอกหรือแฮกข้อมูลส่วนตัว ที่เป็นข่าวล่าสุดที่มีการส่ง SMS เข้ามาแฮกข้อมูล นั่นคือ SMS ที่มันได้ข้อมูลจากการลงทะเบียนผ่านแอปฯ ต่างๆ ที่บางทีเราดาวน์โหลดมาและเราอนุญาตให้เข้าถึง หรือว่ามีอีเมลที่ส่งเข้ามาให้เรายืนยันตัวตนและก็ขอข้อมูล OTP เข้าไป อันนี้ตั้งเป็นข้อสังเกตเลยว่า ธนาคารมีข้อมูลของเราอยู่ ไม่จำเป็นที่จะต้องมีการยืนยันกันบ่อยๆ ถ้าเราคิดว่ามีธนาคารไหนส่งมาเราควรมีการตรวจสอบกลับไปก่อนที่จะทำธุรกรรมตามที่เขาแจ้งมา เพราะว่าธนาคารมีข้อมูลของเราอยู่แล้ว ไม่จำเป็นจะต้องให้เรายืนยันตัวตน ยกเว้นว่าธนาคารมีปัญหาและอันนั้นนี่เขาควรจะต้องติดต่อเราโดยตรง ทำเป็นหนังสือบอกกล่าวให้เราไปจัดการแก้ไขปัญหาและต้องไม่ใช่การบอกล่าวผ่านช่องทางพวก SMS หรือแอปฯ หรืออีเมล เพราะมันไม่สามารถที่จะบอกได้ว่าอีเมลที่ส่งมาเป็นของธนาคารจริงหรือไม่         “เราคิดว่าความรอบคอบของผู้บริโภคเป็นเรื่องสำคัญในการคุ้มครองสิทธิตัวเอง อย่าเชื่อในสิ่งที่เราเห็น แล้วก็อย่าเพิ่งทำอะไรจนกว่าเราจะตรวจสอบแล้วได้รับการยืนยันที่ชัดเจน” เราอาจจะเข้าไปที่สาขาของธนาคารเองก็ได้เพื่อขอตรวจสอบเรื่องพวกนี้  เดินเข้าธนาคารไปขอตรวจสอบเลยว่ามีคนส่ง SMS นี้มา เป็นของธนาคารจริงหรือเปล่า หรือมีคนส่งอีเมลนี้มาให้เรายืนยันตัวตน ทำไมธนาคารจะต้องมาให้เรายืนยันตัวตนอีกอะไรทำนองนี้ ก็คือการตรวจสอบย้อนกลับไปที่ธนาคารมันจะเป็นผลดีกับผู้บริโภคมากกว่าที่เราจะหลงเชื่อและดำเนินธุรกรรมทางการเงินไปเลย ลิงก์ธนาคารก็ไม่ได้หมายความว่ามันใช่ของธนาคารจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง SMS ที่เป็นลักษณะชื่อบุคคล อันนี้ยิ่งสำคัญใหญ่เพราะคนที่โดนแฮกส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะเหมือนส่ง SMS มาจากบุคคลที่อ้างตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคาร อันนี้ก็จะเป็นประเด็นที่เราควรจะมีการตรวจสอบ มีความรอบคอบในการทำธุรกรรมต่างๆ เพราะมันเป็นข้อมูลของเรา ถ้าเราไม่ให้ ใครก็ไม่สามารถจะดำเนินการอะไรต่อได้ ต่อให้เขาแฮกข้อมูลเรามา แต่ถ้าเราไม่ยืนยันตัวตนกลับไปเขาก็ไม่สามารถเอาข้อมูลของเราไปใช้ได้ เรื่องพวกนี้เป็นความรอบคอบของผู้บริโภคที่ต้องปกป้องสิทธิและคุ้มครองตัวเองด้วย เพราะหน่วยงานและองค์กรผู้บริโภคอย่างเราทำงานที่ปลายน้ำ ไม่สามารถปกป้องสิทธิผู้บริโภคได้ทุกคน ดังนั้นอย่างแรกผู้บริโภคต้องลุกขึ้นมาจัดการเองก่อน         ในปี 2564 ที่จะถึงนี้ มีแผนกิจกรรมอะไรต่อ         ปีหน้าเราจะมีคดีสำคัญที่เป็นคดีผู้บริโภครายกลุ่มอีกสามกรณี คือ กรณีสายการบิน คดีสามล้อเอื้ออาทร โครงการนี้มีกลุ่มผู้บริโภคที่ถูกธนาคารฟ้อง อันนั้นก็จบไปแล้วก็เป็นเรื่องฟ้องแพ่ง แต่ตอนนี้เราพบว่าผู้ซื้อสามล้อยังมีปัญหาเรื่องของการถูกฟ้องคดีอาญา ดังนั้นคดีต้องเดินหน้าต่อในปีหน้า ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งก็จะเป็นเรื่องกลุ่มของการซื้อสินค้าออนไลน์กลุ่มที่นอนยางพารา ซึ่งอาจจะมีการฟ้องคดีแบบกลุ่มเพื่อให้ผู้ประกอบการยุติการดำเนินธุรกิจ ไม่ให้ผู้บริโภครายอื่นได้รับความเสียหายต่อไป อันนี้ก็จะมีสามประเด็นหลักๆ ที่อาจจะต้องทำในเชิงต่อเนื่องจากปีนี้         ส่วนด้านนโยบายจะมีเวทีเรื่องของการผลักดันกฎหมาย Lemon Law ซึ่งปีหน้าจะต้องมีการผลักดันให้เกิด (ตอนนี้ยังอยู่ในชั้นกฤษฎีกา)  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 238 วิตามินซีในเครื่องดื่มสลายตัวเป็นอะไร

        ผู้บริโภคที่ศึกษาถึงขั้นมัธยมศึกษาขึ้นไปนั้นคงพอมีความรู้ว่า วิตามินซี เป็นสารอาหารสำคัญมากชนิดหนึ่งต่อร่างกายมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรรู้ว่า ร่างกายต้องใช้วิตามินซีในกระบวนการสังเคราะห์โปรตีนที่เรียกว่า คอลลาเจน ซึ่งเป็นโปรตีนที่มีสัดส่วนมากที่สุดในร่างกายมนุษย์ราวร้อยละ 25-35 ดังนั้นจึงมีคำแนะนำว่า ควรกินผักและผลไม้ที่มีวิตามินซีสูงเพื่อให้มีผิวพรรณดีเพราะมีคอลลาเจนครบตามที่ผิวควรมีได้ (ไม่เกี่ยวกับสีผิวนะครับ) นอกจากนี้วิตามินซียังมีบทบาทที่สำคัญอีกประการหนึ่ง (ในอีกหลายประการ) คือ ช่วยในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน (ร่วมกับสังกะสี วิตามินเอ โปรตีนและอื่น ๆ) ให้ทำงานเป็นปรกติ)         สิ่งที่พิสูจน์ว่าคนไทยหลายคนสนใจเกี่ยวกับวิตามินซีและรู้ถึงประโยชน์ของวิตามินซีอย่างดีนั้น ยืนยันด้วยความนิยมในการซื้อผลิตภัณฑ์อาหารที่มีการเสริมวิตามินซี โดยเฉพาะน้ำดื่มหรือเครื่องดื่มที่มีการเติมวิตามินซีลงไป ทั้งเติมน้อยพอประมาณหรือเติมเท่าค่า RDA (คือ 60 มิลลิกรัม) หรือเติมให้มากเกินความต้องการโดยระบุเป็นร้อยละที่เพิ่มขึ้น เช่น 200% ไปเลย         แต่ประเด็นที่ผู้บริโภคมักมองผ่านคือ ในการเรียนรู้ที่ผ่านมาในชีวิตนั้น คุณครูมักสอนว่า วิตามินซีไม่ค่อยเสถียรเมื่อได้รับความร้อนและ/หรือแสง ซึ่งในทางวิทยาศาสตร์แล้วแสงโดยเฉพาะแสงอัลตราไวโอเล็ทมีผลต่อการสูญเสียของวิตามินซีเป็นหลักมากกว่าความร้อนเสียอีก ดังนั้นผลิตภัณฑ์ที่เสริมวิตามินซีจึงมักใช้ภาชนะบรรจุปิดสนิทเพื่อป้องกันแสงพร้อมทั้งป้องกันออกซิเจนจากอากาศ ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงวิตามินซีไปเป็นสารอื่น         ประเด็นที่น่าสนใจคือ วิตามินซีที่อยู่ในอาหาร ทั้งวิตามินซีธรรมชาติและวิตามินซีที่สังเคราะห์เลียนแบบธรรมชาติที่เติมลงไปในอาหารนั้นเปลี่ยนแปลงไปเป็นสารอื่นยากหรือง่ายเพียงใด และที่สำคัญคือ เปลี่ยนไปเป็นอะไร เครื่องดื่มผสมวิตามินซี         ความที่สินค้าที่มีการเสริมวิตามินซีได้รับความนิยมสูง คำถามหนึ่งที่ปรากฏขึ้นในใจของคนขี้สงสัย คือ สินค้าที่ซื้อมาบริโภคนั้นมีวิตามินซีที่ต้องการได้ตามที่ระบุไว้บนฉลากหรือไม่ โดยเฉพาะสินค้าที่ไม่ได้อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องทำตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข (มีลักษณะเป็นอาหารทั่วไปซึ่งมีเพียงการควบคุมการแสดงฉลากและดูแลความปลอดภัยเท่าที่ควรเป็นเท่านั้น)         ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงเก็บตัวอย่างสินค้าเครื่องดื่มผสมวิตามินซี จำนวน 47 ตัวอย่าง ส่งให้ห้องปฏิบัติการของหน่วยงานหนึ่งที่ได้รับการยอมรับจากรัฐ ตรวจวิเคราะห์ปริมาณวิตามินซีที่ปรากฏในวันที่เก็บตัวอย่าง แล้วเปิดเผยผลการตรวจสอบปริมาณวิตามินซีในตัวอย่างที่เก็บมาเมื่อวันอังคารที่ 15 ธันวาคม 2563 ซึ่งพบว่ามี 8 ตัวอย่าง ไม่พบปริมาณวิตามินซีตามที่แจ้งบนฉลากสินค้าและหนึ่งในนั้นคือ เครื่องดื่มผสมน้ำสมุนไพรสกัดชนิดหนึ่งและวิตามินซี ของผู้ผลิตใหญ่รายหนึ่ง ซึ่งทำให้ผู้บริโภคสินค้าดังกล่าวประหลาดใจปนเสียดายเงิน ในขณะที่นักวิทยาศาสตร์ที่เคยได้รู้ข้อมูลเกี่ยวกับวิตามินซีมาก่อนเห็นว่า เป็นเรื่องธรรมดา เพราะวิตามินซีนั้นก็เหมือนกับวิตามินที่ละลายน้ำอื่น ๆ ที่เสียสภาพได้ไม่ยากเมื่อถูกละลายน้ำ โดยขึ้นกับสิ่งแวดล้อมรอบวิตามินนั้น ๆ ทั้งสภาวะทางกายภาพและองค์ประกอบในสินค้านั้นว่าเป็นอะไรบ้าง (งานวิจัยในลักษณะนี้มีมากสามารถค้นหาได้จากฐานข้อมูลวิชาการทางวิทยาศาสตร์ในอินเทอร์เน็ต)         หลังการแถลงข่าวของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้มีผู้ผลิตสินค้ารายหนึ่งเห็นความสำคัญที่ต้องแถลงชี้แจงข้อเท็จจริงสู่สาธารณชน (ผู้เขียนจำต้องดัดแปลงเนื้อหาบางส่วนนิดหน่อยโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับยี่ห้อสินค้าเพื่อตัดความรำคาญที่อาจตามมาภายหลัง) ว่า          ….สินค้าที่ผลิตทุกครั้งการผลิตได้ใส่ส่วนผสมวิตามินซีตามที่ได้ระบุไว้บนฉลาก แต่ด้วยคุณสมบัติบางประการของวิตามินซีที่มีความเปราะบาง อาจมีโอกาสที่จะสลายได้ง่ายกว่าวิตามินตัวอื่นๆ และเร็วขึ้นกว่าปกติ โดยเฉพาะการทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศ ในที่ที่มีความร้อน แสง และความชื้น ทางผู้ผลิตขอยืนยันว่า สินค้าของบริษัทในทุกครั้งการผลิตได้ใส่ส่วนผสมวิตามินซีตามที่ได้ระบุไว้บนฉลาก แต่ด้วยคุณสมบัติบางประการของวิตามินซีที่มีความเปราะบาง อาจมีโอกาสที่จะสลายได้ง่ายกว่าวิตามินตัวอื่น ๆ โดยเฉพาะการทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศ อาจส่งผลให้การสลายตัวเร็วขึ้นกว่าปกติ และวิตามินซียังสามารถสลายตัวได้ง่ายในที่ที่มีความร้อน แสง และความชื้น แต่วิตามินซีที่สลายไปนั้นจะกลายเป็นสารอื่นแทน คือ L-tartrate ซึ่งเป็นสารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายเช่นเดิม ทีมงานวิจัยของบริษัทได้มีการคิดค้นวิธีการตามหลักวิทยาศาสตร์และนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้ในกระบวนการผลิตอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สินค้านั้นคงมาตรฐานเครื่องดื่มที่มีวิตามินซี อย่างไรก็ตามจากเหตุการณ์ดังกล่าว บริษัทได้วางแผนการอบรมพนักงานให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการจัดเก็บสินค้าอย่างเหมาะสม เพื่อให้มั่นใจว่า สินค้าที่ส่งถึงมือผู้บริโภคนั้น ยังคงมาตรฐานเครื่องดื่มที่มีวิตามินซี...          ประเด็นสำคัญในแถลงการณ์ของผู้ผลิตรายนี้คือ การระบุว่า วิตามินซีที่สลายไปนั้นจะกลายเป็นสารอื่นแทน คือ L-tartrate ซึ่งเป็นสารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายเช่นเดิม สิ่งที่น่าสนใจคือ ข้อมูลส่วนนี้ได้ตรงกับนักวิทยาศาสตร์คนหนึ่งที่ได้ให้สัมภาษณ์แก่นักข่าวทั้งสื่อสิ่งพิมพ์และโทรทัศน์แล้วก่อให้เกิดความประหลาดใจแก่นักวิชาการที่รู้เรื่องเกี่ยวกับวิตามินซีและผู้เขียน (ซึ่งแม้เกษียณการทำงานสอนแล้วแต่ยังติดตามข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับสุขภาพอยู่) เป็นอย่างมากเสมือนได้ความรู้ใหม่ซึ่งต้อง คิดก่อนเชื่อ         เพื่อให้ได้ข้อตัดสินว่า วิตามินซีที่ละลายน้ำนั้นเปลี่ยนไปเป็น L-tartrate (สารเคมีนี้เป็นเกลือของกรดมะขามคือ L-tartric acid ซึ่งร่างกายสามารถนำไปใช้เป็นพลังงานได้) ได้จริงหรือไม่ ผู้เขียนจึงได้ใช้ฐานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์การแพทย์และวิทยาศาสตร์ชีวภาพทั้งที่เป็นวารสารและตำราทั้งของ PubMed ซึ่งสังกัด National Center for Biotechnology Information (หน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา) และ ScienceDirect ซึ่งเป็นของเอกชนที่รวบรวมข้อมูลจากวารสารนานาชาติจำนวนมาก เพื่อหาว่ามีการตีพิมพ์ผลงานวิจัยที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงวิตามินซีในน้ำ ซึ่งสุดท้ายแล้วหลังใช้ความพยายามพอสมควรก็ได้พบว่ามี 1 บทความวิจัยที่ตอบคำถามว่า วิตามินซีเมื่ออยู่ในน้ำนั้นไม่ได้เปลี่ยนไปเป็น L-tartrate         บทความเรื่อง Oxidative Decomposition of Vitamin C in Drinking Water ซึ่งเขียนโดย Patric J. Jansson และคณะ ในวารสาร Free Radical Research ชุดที่ 38 เล่มที่ 8 ประจำเดือน สิงหาคม หน้า 855–860 ของปี 2004 ได้รายงานการทำวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ชาวฟินแลน์ ซึ่งผู้เขียนขอแปลส่วนที่เป็นบทคัดย่อให้ผู้อ่านได้อ่านแบบเต็มๆ ดังนี้         ก่อนหน้านี้เราได้แสดงให้เห็นว่าวิตามินซี (กรดแอสคอร์บิก) สามารถก่อให้เกิดอนุมูลไฮดรอกซิลในน้ำดื่มที่ปนเปื้อนทองแดงในครัวเรือน (Jansson, P.J. et al. 2003. Vitamin C (ascorbic acid) induced hydroxyl radical formation in copper contaminated household drinking water: role of bicarbonate concentration Free Radic. Res. 37: 901–905.) ในการศึกษาปัจจุบันเราได้ตรวจสอบความเสถียรของวิตามินซีในน้ำดื่มในครัวเรือนที่มีทองแดงและไบคาร์บอเนต (สารตัวนี้ผู้ทำวิจัยไม่ได้บอกว่าเติมลงไปทำไม ผู้แปลเข้าใจว่าเพื่อปรับค่าความเป็นกรดด่างด้วยคุณสมบัติเป็น buffer ให้เหมาะสมในการทำวิจัย) ในการศึกษาพบว่าร้อยละ 35 ของวิตามินซีที่เติมในตัวอย่างน้ำดื่ม (ให้มีความเข้มข้น 2 mM) ที่วางไว้ที่อุณหภูมิห้องถูกออกซิไดซ์เป็นกรดดีไฮโดรแอสคอร์บิก (dehydroascorbic acid) ภายใน 15 นาที และหลังจากผ่านไป 3 ชั่วโมง ร้อยละ 93 ของกรดแอสคอร์บิกที่เติมลงไปถูกออกซิไดซ์เป็นกรดดีไฮโดรแอสคอร์บิก ซึ่งสลายตัวต่อไปเป็นกรดออกซาลิก (oxalic acid) และกรดธรีโอนิก (threonic acid) ด้วยไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ที่เกิดจากปฏิกิริยา autooxidation ระหว่างไอออนทองแดง (Cu+1) และออกซิเจนในน้ำ (สมมุติฐานตามหลักการของ Fenton reaction…ผู้แปล) การออกซิเดชั่นของวิตามินซีเกิดขึ้นพอประมาณในน้ำ Milli-Q (น้ำกรองจนบริสุทธิ์ระดับ ASTM 1...ผู้แปล) และในตัวอย่างน้ำในครัวเรือนที่ไม่ปนเปื้อนด้วยไอออนของทองแดง ยิ่งไปกว่านั้นการเพิ่มวิตามินซีลงในตัวอย่างน้ำดื่มบรรจุขวดที่จำหน่ายในประเทศ (ฟินแลนด์ ??...ผู้เขียน) ไม่ได้ส่งผลให้เกิดการออกซิเดชั่นของวิตามินซี ผลการศึกษาของเราแสดงให้เห็นว่า กรดแอสคอร์บิกถูกออกซิไดซ์อย่างรวดเร็วเป็นกรดดีไฮโดรแอสคอร์บิกและย่อยสลายต่อไปเป็นกรดออกซาลิกและกรดธรีโอนิกในน้ำประปาที่ปนเปื้อนด้วยทองแดง ซึ่งถูกบัฟเฟอร์ด้วยไบคาร์บอเนต (โดยสรุป)งานวิจัยได้แสดงถึงสิ่งที่ได้จากการบริโภคกรดแอสคอร์บิกในน้ำดื่มที่มีทองแดงและไบคาร์บอเนต          จากบทคัดย่อผลงานวิจัยของ Patric J. Jansson ที่ผู้เขียนได้แปลนั้นคงให้คำตอบแล้วว่า วิตามินซีเปลี่ยนไปเป็นสารใดเมื่ออยู่ในน้ำ ส่วนการเกิด L-tartrate ได้หรือไม่นั้น คงต้องรอดูต่อไปว่ามีใครพบหลักฐานทางวิทยาศาสตร์บ้าง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 238 เปลี่ยนแปลงด้วยการเปลี่ยนแปรงสีฟันให้บ่อยขึ้น

        สารภาพมาเถอะว่า คุณจำไม่ได้ละว่าเปลี่ยนแปรงสีฟันครั้งล่าสุดเมื่อไร เพราะคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพและทันตแทพย์จะย้ำเสมอว่า เปลี่ยนทุกสามเดือน แต่จะมีกี่คนที่ทำตามคำแนะนำนั้น ส่วนใหญ่ก็รอจนแปรงสีฟันบาน...ปลาย ทั้งนี้ทั้งนั้นเกิดจากความเสียดายนั่นเอง (ก็ของมันยังใช้ได้) แต่ถ้าต้องการถนอมเงินจริงๆ สู้เปลี่ยนแปรงสีฟันให้บ่อยหรือตามคำแนะนำของทันตแพทย์จะช่วยประหยัดมากกว่า เพราะเท่ากับป้องกันการเกิดปัญหาสุขภาพฟัน ที่รู้กันว่าค่ารักษาไม่ถูกเลย         ถ้าเฉลี่ยว่าคุณแปรงฟันวันละสองครั้ง ตลอดเวลาสามเดือนเท่ากับแปรงของคุณผ่านการใช้งานมาเเล้วกว่า 180 ครั้ง เคยมีการส่องกล้องขยายเพื่อดูสภาพของขนแปรงก็พบว่ามันเสื่อมสภาพสุดๆ ซึ่งอาจเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคแม้จะเหมือนว่าเราล้างแปรงสะอาดแล้วก็ตาม หลายๆ คนอาจจะยังไม่รู้ คือการใช้แปรงสีฟันเก่าซ้ำๆ จะมีผลต่อเหงือกและฟัน แน่นอนว่าสภาพแปรงที่เสื่อมประสิทธิภาพในการขจัดสิ่งสกปรก คราบพลัค เศษอาหารตามผิวฟันเเละร่องฟันจะลดลง ขนแปรงที่บานจะทำให้เกิดผลเสียบางอย่างตามมาเช่น เหงือกอักเสบ บวมแดง หรือมีเลือดออกระหว่างแปรงฟัน          การเลือกซื้อแปรงสีฟัน         1.ขนาดของหัวแปรง หัวแปรงสีฟันสำหรับผู้ใหญ่ควรมีขนาดกว้างประมาณ ½ -1 นิ้ว และความยาวประมาณ 1 นิ้ว เพราะขนาดหัวแปรงที่ใหญ่เกินไปอาจทำความสะอาดในบริเวณที่ยากจะเข้าถึงได้ไม่หมดจด         2.ขนแปรง มีความอ่อนนุ่ม ปลายขนแปรงโค้งมนเล็กน้อย ซึ่งวัสดุที่ใช้ตั้งแต่ชนิดอ่อนนุ่ม, ชนิดนุ่มพิเศษ ชนิดปานกลาง ขนแปรงที่เหมาะสมในการใช้งานสำหรับผู้ใหญ่ควรผลิตจากไนลอน พีบีที (Polybutylene Terephthalate: PBT) หรือวัสดุที่ระบุคุณสมบัติเทียบเท่า ขนแปรงที่มีความแข็งอาจสร้างความเสียหายให้กับเหงือก รากฟัน แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของฟันแต่ละบุคคลรวมถึงวิธีแปรงฟันด้วย         3.แปรงสีฟันไฟฟ้าดีกว่าไหม ขึ้นอยู่กับบุคคลและความชอบส่วนตัว เพราะแปรงสีฟันไฟฟ้ามีราคาค่อนข้างสูงกว่าแปรงสีฟันธรรมดา อีกทั้งยังมีค่าใช้จ่ายเสริมในขณะใช้งานตามมา เช่น หัวแปรง แบตเตอรี่หรือถ่านไฟฉาย แม้สะดวกสบายกว่าแต่ราคาไม่ธรรมดา ส่วนผลการใช้งานไม่แตกต่างกันมากนัก ขึ้นอยู่กับวิธีแปรงฟันมากกว่า         4.แปรงสีฟันสำหรับเด็ก หัวแปรงและด้ามมีขนาดเหมาะสมตามอายุของเด็ก ขนแปรงอ่อนนุ่ม หลายยี่ห้อได้รับการรับรองจากหน่วยงาน ถือเป็นทางเลือกหนึ่ง         การทำความสะอาดและเก็บรักษาแปรงสีฟัน        · ควรล้างแปรงสีฟันให้สะอาดทุกครั้งก่อนการเก็บ        · การวางแปรงสีฟันในที่เก็บหรือภาชนะต่างๆ ควรวางในลักษณะตั้งแปรงขึ้นให้หัวแปรงอยู่ด้านบน        · ที่สำหรับวางแปรงควรมีอากาศถ่ายเทสะดวก และควรมีลมพัดผ่านเพื่อให้ขนแปรงแห้ง        · ไม่ควรเก็บแปรงไว้ในกล่องแบบมิดชิด เพราะอาจจะมีส่วนทำให้เชื้อแบคทีเรียเจริญเติบโตได้         ลองเช็คดูว่าแปรงของคุณเริ่มเสื่อมเเล้วหรือยัง สังเกตจากรูปร่างขนแปรงที่เปลี่ยนไป แปรงสีฟันที่ใช้งานนานๆ จะเริ่มมีปลายขนแปรงที่บาน มีสีแปรงเริ่มเปลี่ยนไป บางทีไม่ถึงสามเดือนถ้าสภาพไม่ไหวก็เปลี่ยนเถอะ และทุกๆ ครั้งที่ป่วย เป็นหวัด เป็นไข้ แผลในปากหรือแม้แต่อาการเจ็บคอ ก็ควรจะเปลี่ยนแปรงสีฟันทันทีเพื่อป้องกันเชื้อแบคทีเรียต่างๆ ที่ยังคงค้างอยู่บนแปรงสีฟัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 238 Tap2Call ตัวช่วยรวบรวมเบอร์สำคัญให้คุณ

        มาถึงเดือนสุดท้ายของปี 2563 ท่ามกลางวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทำให้การเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ ยังคงมีความยากลำบากกันพอสมควร เพราะต้องปฏิบัติตามมาตรการการป้องกันโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้การ์ดตก ซึ่งถือว่าเป็นหน้าที่สำหรับคนไทยของเราทุกคนที่จะทำเพื่อส่วนรวมให้กับประเทศไทย ดังนั้นการมีข้อมูลสำหรับติดต่อสื่อสารไว้ในมือจะช่วยทำให้สามารถตรวจสอบและติดต่อไปยังสถานที่ใดที่ต้องการได้ทุกที่ เพื่อลดการเดินทางไปด้วยตนเองโดยไม่จำเป็น        ฉบับนี้จึงมานำเสนอแอปพลิเคชั่นที่รวบรวมเบอร์โทรศัพท์ที่สำคัญไว้ภายในแอปพลิเคชั่นเดียวกัน ทำให้ลดขั้นตอนการค้นหาในกูเกิ้ลไปได้มากทีเดียว เพราะได้คัดเลือกเบอร์โทรศัพท์ที่ถูกต้องและได้อัพเดทเบอร์โทรศัพท์ตลอดเวลา ช่วยเพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการค้นหาเบอร์โทรศัพท์ในช่วงเวลาสำคัญและเร่งด่วนได้พอตัว และเหมาะกับผู้สูงอายุอีกด้วย                แอปพลิเคชั่นนี้มีชื่อว่า Tap2Call สามารถดาวน์โหลดได้ทั้งระบบปฏิบัติการ iOS และระบบปฏิบัติการ Android ได้ฟรี เมื่อดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น Tap2Call จะเข้าสู่ภายในแอปพลิเคชั่นได้โดยไม่ยุ่งยาก และเมนูที่ปรากฎหน้าแอปฯ สามารถเห็นได้ชัดเจน ตัวอักษรใหญ่ เหมาะกับผู้สูงอายุที่มีปัญหาเรื่องสายตาได้เป็นอย่างดี แถมแอปฯ ไม่มีความซับซ้อน มีสีสันสวยงามน่าใช้มากๆ โดยเบอร์โทรศัพท์ที่ได้รวบรวมไว้ ได้แก่ หมวดสั่งอาหาร หมวดธนาคาร/บัตรเครดิต หมวดโรงภาพยนตร์ หมวดการสื่อสาร หมวดสายการบิน หมวดแท๊กซี่ หมวดโรงพยาบาล หมวดแจ้งเหตุด่วน และหมวดสอบถามข้อมูลทั่วไป        หมวดสั่งอาหารจะรวบรวมเบอร์โทรศัพท์ของร้านอาหารยอดนิยม พร้อมเวลาเปิดให้บริการ หมวดธนาคาร/บัตรเครดิตจะรวบรวมเบอร์โทรศัพท์ของธนาคารทั้งหมดไว้ หมวดโรงภาพยนตร์จะรวบรวมเบอร์โทรศัพท์สาขาต่างๆ ของโรงภาพยนตร์ทุกเครือ หมวดการสื่อสารจะรวบรวมเบอร์โทรศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับเครือข่ายโทรศัพท์และบริษัทที่ผลิตโทรศัพท์สมาร์ทโฟน หมวดสายการบิน หมวดแท๊กซี่ หมวดโรงพยาบาลจะรวบรวมเบอร์โทรศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับหมวดนั้นๆ         ส่วนหมวดแจ้งเหตุด่วนจะรวบรวมเบอร์โทรศัพท์ไว้อย่างหลากหลาย ได้แก่ ตำรวจทางหลวง กองปราบปราม รถพยาบาล ศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารสาธารณะ ศูนย์จราจรอุบัติเหตุ จส.100 ศูนย์ดำรงธรรม ศูนย์นเรนทร ศูนย์ปรึกษาปัญหาชีวิต ศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กและครอบครัว ศูนย์รับแจ้งข่าวยาเสพติด  ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ สายด่วนกรมทางหลวง สายด่วนบัตรทอง สายด่วนผู้บริโภคกับ อย. สายด่วนร้องทุกข์ สคบ. เป็นต้น และหมวดสอบถามข้อมูลทั่วไปจะรวบรวมเบอร์โทรศัพท์ทั่วไปที่ไม่สามารถระบุในหมวดที่กล่าวมาทั้งหมดได้ เช่น บขส. ศาลาว่าการ ศูนย์ช่วยเหลือนักท่องเที่ยว สายด่วนกรมการจัดหางาน เรือด่วนเจ้าพระยา เป็นต้น        เมื่อค้นหาเบอร์โทรศัพท์ที่ต้องการติดต่อภายในแอปพลิเคชั่นเจอแล้ว ผู้ใช้แอปพลิเคชั่นสามารถกดโทรออกผ่านทางแอปพลิเคชั่นได้ทันที ตอบโจทย์ทุกความต้องการขนาดนี้ ลองดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น Tap2Call ไว้บนสมาร์ทโฟนสักนิด รับรองว่าเบอร์สำคัญต่างๆ จะถูกรวบรวมมาไว้เพื่อให้คุณพร้อมโทรแน่นอน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 238 กระแสต่างแดน

หยุดส่งออกขยะ        เมื่อแต่ละประเทศสามารถส่งออกขยะพลาสติกไปที่ไหนก็ได้โดยไม่มีการควบคุม ขยะอันตราย ปริมาณมหาศาลจากประเทศร่ำรวยจึงถูกส่งไปกองรวมกันอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งไม่มีความสามารถในการกำจัด กลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างที่รู้ๆ กัน         แต่สิ่งนี้กำลังจะเปลี่ยนไป นอร์เวย์เป็นประเทศแรกที่ประกาศแบนการส่งออกขยะพลาสติกอันตรายไปยังประเทศกำลังพัฒนา ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 เป็นต้นไป ตามข้อตกลงในอนุสัญญาบาเซิลที่ว่าด้วยการควบคุมการกำจัดและการเคลื่อนย้ายขยะข้ามแดน         ปัจจุบันนอร์เวย์ในฐานะประเทศแถวหน้าด้านการจัดการขยะสามารถรีไซเคิลขวดพลาสติกได้ถึงร้อยละ 97 ด้วยระบบการรับคืน โดยคนที่เอาขวดพลาสติกมาคืนสามารถเลือกได้ว่าจะรับเป็นเงินล็อตเตอรีหรือจะบริจาคให้องค์กรการกุศลและพลาสติกเหล่านี้ ก็จะกลายเป็นส่วนผสมร้อยละ10 ของขวดพลาสติกที่ผลิตออกมาใหม่นั่นเอง   ได้เวลารื้อ        ในช่วงที่รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศล็อคดาวน์เขาส่งเสริมให้คนทำ 5ส. เป็นกิจกรรมฆ่าเวลาขณะอยู่กับบ้าน ผู้ว่าเมืองโตเกียวถึงกับลงทุนจ้าง Marie Kondo กูรูด้านการจัดบ้านมาทำคลิปโปรโมทเลยทีเดียว         ผลพลอยได้คือการเติบโตของตลาดสินค้ามือสอง Buysell Technology บริษัทที่รับซื้อของเก่าตามบ้านมาวางขายในร้านออนไลน์ บอกว่านับถึงเดือนตุลาคมบริษัทได้จัดเที่ยวรถออกไปรับซื้อของเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 31 โดยร้อยละ 75 ของลูกค้าคือคนอายุมากกว่า 50 ปี ที่พากันรื้อกิโมโน กระเป๋าถือ หรือเครื่องประดับออกมาขาย         ด้านแอปตลาดมือสองอย่าง Mercari ก็มียอดขายเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 50 เช่นกัน รายงานข่าวบอกว่าราคาทองคำที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ทำให้คนนำแหวน สร้อยที่เก็บสะสมไว้ออกมาขายกันด้วย        ถือเป็นช่วงเวลาที่คนญี่ปุ่นได้กลับไปใช้ชีวิตตามหลัก “danshari” หรือ “อยู่อย่างพอเพียง” อีกครั้ง แบบนี้ขายไม่ได้        ดีลเลอร์รถมือสอง BNZ JP EURO เจ้าดังในนิวซีแลนด์ถูกปรับ 67,500 เหรียญ (ประมาณ 1.4 ล้านบาท) โทษฐานทำความผิด 6 ข้อหา หลักๆ แล้วคือการละเมิดสิทธิผู้บริโภค 77 ราย ด้วยการทำให้เข้าใจผิดว่ารถที่พวกเขาซื้อไปนั้น “ไม่มีการรับประกัน”         สามปีก่อน บริษัทนี้ซึ่งทำธุรกิจรับทำลายรถเก่าอยู่ที่เมืองปาปากูรา ได้ลงโฆษณาขายรถมือสอง “ตามสภาพ” ในราคาถูกมากทางเฟซบุ๊ก โดยให้ผู้ซื้อเซ็นยินยอมรับเงื่อนไขว่าเป็นการซื้อแบบ “ไม่มีประกัน” หากมีปัญหาอะไรต้อง “ซ่อมเอง” งานนี้มีผู้ซื้อบางรายจ่ายค่าซ่อมไปพอๆ กับราคาที่ซื้อ         คณะกรรมการกำกับการประกอบธุรกิจบอกว่า บริษัทไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ เพราะตามกฎหมายการซื้อขายรถมือสอง รถที่ขายโดยบริษัท (ไม่ใช่ซื้อขายกันเองระหว่างบุคคลทั่วไป) จะต้องเป็นรถที่อยู่ในสภาพ “ยอมรับได้” และมีการรับประกันเสมอ การทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดว่าตนเองไม่มีสิทธิเพราะยอมรับเงื่อนไขการซ่อมเองไปแล้ว จึงถือเป็นการทำผิดกฎหมายว่าด้วยการทำธุรกิจที่เป็นธรรม  มันมาอีกแล้ว         องค์กรผู้บริโภคแห่งเซี่ยงไฮ้เปิดรายงานปัญหาว่าด้วยการโฆษณาผ่านแอปฯ ในมือถือ แน่นอนหนึ่งในเจ้าที่โดนเพ่งเล็งเป็นอันดับต้นๆ คือ WeChat ของเทนเซ็นต์         ที่เคืองใจมากที่สุดคือ “ความยาก” ในการปิดโฆษณาที่ไม่อยากดู ผู้ใช้กด “ไม่สนใจ” แล้ว ยังต้องให้เหตุผลด้วย ที่สำคัญไม่สามารถปิดโฆษณาได้ในแอปฯ ได้ต้องเข้าไปที่หน้านโยบายความเป็นส่วนตัว แล้วเลื่อนลงไปด้านล่างสุด จากนั้นจะถูกส่งต่อไปอีกเพจที่ต้องล็อคอินเข้าไปใหม่        ผ่านกระบวนการมากมาย ผู้ใช้เลยคิดว่าสามารถกำจัดโฆษณานี้ออกไปจากชีวิตอย่างถาวร แต่ไม่ใช่... อีกหกเดือนมันจะกลับมาอีก!         ที่มาที่ไปของโฆษณาแบบเฉพาะเจาะจงเป็นรายบุคคลก็ยังน่าสงสัย แอปฯ รู้ความสนใจของผู้ใช้ได้อย่างไร บริษัทบอกไว้ชัดเจนว่าไม่ได้ดึงข้อมูลจาก “ประวัติการสนทนา” แต่ที่เหลือเข้าไปล้วงได้หมด... หรือไม่... อย่างไร กฎหมายหน้าต่าง        สถาบันกองงานอาคารและการก่อสร้างสิงคโปร์เผย ในรอบ 11 เดือนที่ผ่านมาเกิดอุบัติเหตุ “หน้าต่างหล่น” ถึง 49 ครั้ง ส่วนใหญ่เป็นหน้าต่างชนิดบานเปิด ที่ตกลงมาเพราะหมุดอะลูมิเนียมเสื่อมสภาพแต่โชคดีที่ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ        ตั้งแต่ปี 2004 สิงคโปร์กำหนดให้เจ้าของบ้านเปลี่ยนมาใช้หมุดสแตนเลส ซึ่งทนทานและรับน้ำหนักได้ดีกว่า ผู้ใดฝ่าฝืนมีค่าปรับสูงสุด 5,000 เหรียญ (แสนกว่าบาท) หรือโทษจำคุก 6 เดือน         เจ้าของบ้านที่ปล่อยให้หน้าต่างหล่นลงมา ไม่ว่าจะเป็นชนิดบานเปิด บานเลื่อน (ซึ่งหล่นเพราะไม่มีตัวหยุด เวลาออกแรงเปิดมากเกินไป) หรือบานเกล็ด จะถูกเปรียบเทียบปรับได้สูงสุดถึง 10,000 เหรียญ หรือจำคุก 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ         สถาบันฯ บอกว่า ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมาเกิดอุบัติเหตุแบบนี้เฉลี่ยปีละ 50 ครั้ง และตั้งแต่ปี 2006 เป็นต้นมา มีคนถูกปรับไปแล้ว 378 ราย ถูกฟ้องร้อง 92 ราย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 238 รู้เท่าทันคอลลาเจนกับการปวดเข่าอีกครั้ง

        นอกจากเห็ดถั่งเช่าที่โฆษณากันอย่างครึกโครมแล้ว ยังมีคอลลาเจนที่โฆษณากันไม่น้อยกว่าเห็ดถั่งเช่าหรืออาจจะมากกว่าด้วยซ้ำ มีทั้งที่เป็นคอลลาเจนผลิตในประเทศไทย จากต่างประเทศ จากสัตว์บกและสัตว์น้ำมากมายหลายชนิด ดีจริงหรือไม่ มารู้เท่าทันกันเถอะ คอลลาเจนมาจากไหนบ้าง         ร่างกายของเราสร้างคอลลาเจนตามธรรมชาติ และใช้ในการสร้างกล้ามเนื้อ กระดูก ผิวหนัง ผม เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน และอื่นๆ อีกมากมาย คอลลาเจนเป็นส่วนประกอบโปรตีนหลักของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันและผิวหนัง แต่เมื่ออายุมากขึ้น การสร้างคอลลาเจนน้อยลง ดังนั้นการกินคอลลาเจนเพิ่มจึงเป็นเรื่องที่ตอบโจทย์ผู้บริโภค ทำให้มีผลิตภัณฑ์คอลลาเจนจำนวนมากทั้งที่เป็นผง เป็นแคปซูล ซึ่งส่วนใหญ่ทำจากส่วนของสัตว์ เช่น เกล็ดปลา หอยเป๋าฮื้อ กระดูกหรือหนังวัว หมู เป็นต้น         คอลลาเจนมีอยู่ทั่วร่างกาย เราอาจแบ่งเป็น 3 ชนิด คือ         ชนิดที่ I  มีมากในสัตว์ทะเล นิยมใช้เพื่อลดริ้วรอยของใบหน้า ผิวหนัง แต่ก็มีผลดีต่อกระดูก ข้อ กล้ามเนื้อ         ชนิดที่ 2 เป็นส่วนประกอบหลักในกระดูกอ่อน เนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่ปกป้องข้อ หมอนรองกระดูกสันหลัง ตา มีมากในน้ำต้มกระดูก กระดูกไก่         ชนิดที่ 3 พบมากในลำไส้ กล้ามเนื้อ หลอดเลือด และมดลูก                      คอลลาเจนชนิดที่ 1 และ 3 ส่วนใหญ่พบมากและผลิตมาจากวัว         ผงคอลลาเจนที่ขายในท้องตลาด จะเป็น "hydrolyzed"  การ hydrolyze หมายถึง กรดอะมิโนถูกทำให้แตกตัวเป็นหน่วยเล็กๆ ซึ่งทำให้ผงสามารถละลายในน้ำได้ดี   การกินคอลลาเจนช่วยรักษาโรคข้อเสื่อมจริงหรือไม่         เมื่อทบทวนงานวิจัยในวารสารต่างๆ พบว่า มีงานวิจัยหลายชิ้นที่แสดงว่า การกินคอลลาเจนช่วยให้ร่างกายดูดซึมและนำไปใช้สร้างเสริมส่วนต่างๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะผิวหนัง ลดอาการปวดตามข้อได้ แต่เมื่อทบทวนวรรณกรรมใน Cochrane library ที่มีการวิเคราะห์เปรียบเทียบงานวิจัยหลายๆ งานวิจัย พบว่า         การศึกษาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารคอลลาเจน 20 ชนิด ในงานวิจัย 69 ที่มีการตีพิมพ์ 7 รายงานสามารถลดอาการปวดของข้อได้ดี ส่วนอีก 6 รายงานสามารถลดอาการปวดข้อได้ แต่ผลดีทางคลินิกไม่ชัดเจนไม่มีผลิตภัณฑ์คอลลาเจนใดเลยที่มีผลในการลดอาการปวดในระยะยาว คุณภาพของงานวิจัยมีตั้งแต่น้อยจนถึงดี         ดังนั้น การกินคอลลาเจนอาจลดอาการปวดของข้อได้ในระยะสั้น แต่ในระยะยาวแล้วไม่ยืนยันผลดี รวมทั้งยังไม่มีผลทางคลินิกว่า โครงสร้างของข้อ กระดูก และเนื้อเยื่ออื่นๆ มีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น         การช่วยลดอาการปวดข้อ การปวดกล้ามเนื้อที่ดีและได้ผล คือการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ การกินปลาตัวเล็กตัวน้อยจะได้ปริมาณคอลลาเจนจากอาหารเพียงพอ         สรุป  ผลิตภัณฑ์คอลลาเจนในรูปแบบต่างๆ นั้นอาจมีผลการลดอาการปวดข้อในระยะสั้น ไม่ได้ผลในระยะยาว และไม่ได้ทำให้โครงสร้างของข้อ กระดูกเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >



ฉบับที่ 237 แท็บเล็ต 2020

        ฉลาดซื้อฉบับนี้ขอนำเสนอผลทดสอบแท็บเล็ตอีกครั้ง คราวนี้เราเลือกมาเฉพาะขนาดเกินแปดนิ้ว ทั้งหมด15 รุ่น ที่องค์กรทดสอบระหว่างประเทศทำไว้ในปี 2563 สนนราคาในเมืองไทยของอุปกรณ์ดังกล่าวอยู่ที่ประมาณ 5,000 ถึง 53,000 บาท* ในการทดสอบครั้งนี้ ทีมทดสอบได้แบ่งคะแนนเต็ม 100 ออกเป็น 7 ด้าน ดังนี้        ความสะดวกในการใช้งาน (22.5)          ประสิทธิภาพการทำงาน (22.5)          จอแสดงผล (15)          แบตเตอรี่ (15)          รูปลักษณ์ของตัวเครื่อง (10)          การใช้งานทั่วไป (7.5)          และความน่าเชื่อถือของแบรนด์ (7.5)         ในภาพรวมยังคงพบว่าเราต้องลงทุนมากขึ้นหากต้องการอุปกรณ์ที่สเปคสูงขึ้น และสเปคก็มีผลโดยตรงต่อคะแนนประสิทธิภาพและความสะดวกในการใช้งานของเครื่อง หลายรุ่นได้คะแนนรวมดี ราคาไม่แพง แต่มีหน่วยความจำน้อย ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความต้องการใช้งานของแต่ละคน ... ใครสนใจแบรนด์ไหน สเปคเท่าไร ในงบประมาณแค่ไหน ลองพลิกดูหน้าถัดไปได้เลย         *ราคาดังกล่าวเป็นราคาในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2563 โปรดตรวจสอบอีกครั้งก่อนตัดสินใจ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 237 ผลทดสอบวัตถุเจือปนอาหารผลิตภัณฑ์ไส้กรอกแดง

        ไส้กรอกเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อสัตว์ซึ่งยังเป็นที่นิยมเสมอไม่เคยเปลี่ยน ไม่ว่าจะเป็นร้านสะดวกซื้อหรือตลาดนัด ตลาดหน้าโรงเรียน ย่านชุมชนหรือในที่ที่มีการชุมนุมของคนหมู่มาก เราจะพบว่ามีไส้กรอกหลากหลายประเภทถูกขายอยู่ โดยเฉพาะตัวท็อป “ไส้กรอกแดง” ที่มีส่วนผสมหลักจากเนื้อสัตว์ (หมู ไก่)  แป้ง เครื่องเทศ เครื่องปรุงรส และวัตถุเจือปนอาหารต่างๆ หลายคนชื่นชอบเพราะว่า อร่อย ไม่ว่าจะนำมาย่างหรือบั่งเป็นแฉกแล้วนำลงทอดในน้ำมันด้วยไฟอ่อนๆ จนไส้กรอกพองโตสวยงามให้เนื้อสัมผัสกรอบนอกนุ่มใน ยิ่งราดด้วยน้ำจิ้มรสเด็ดเผ็ดหวาน ก็ยิ่งทำให้ไส้กรอกแดงที่เพิ่งทอดเสร็จใหม่ๆ นั้นอร่อยขึ้นไปอีก         เพื่อเป็นการเฝ้าระวังเรื่องความปลอดภัย นิตยสารฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ไส้กรอกแดงที่มีส่วนผสมจากเนื้อไก่ จำนวนทั้งหมด 8 ตัวอย่าง จากตลาดสดและไฮเปอร์มาร์เก็ตในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ในเดือนตุลาคม 2563 นำส่งตรวจวิเคราะห์ปริมาณวัตถุเจือปนอาหารประเภทกรดเบนโซอิก (Benzoic acid), กรดซอร์บิก (Sorbic acid), ไนเตรท (Nitrate) และ ไนไตรท์ (Nitrite) ซึ่งเป็นวัตถุเจือปนอาหารที่ใช้เป็นสารกันเสีย สารคงสภาพของสี รวมถึงใช้เพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียบางชนิด ว่าเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กำหนดไว้หรือไม่ เป็นการเฝ้าระวังความปลอดภัยของสินค้าให้กับผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง โดยก่อนหน้านี้ฉลาดซื้อเคยสุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ประเภทไส้กรอกมาทดสอบแล้วใน ฉบับที่ 181 (เดือนมีนาคม 2559) และ ฉบับที่ 128 (เดือนตุลาคม 2554)สรุปผลทดสอบ         ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 418) พ.ศ. 2563 ออกตามความใน พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการใช้ และอัตราส่วนของวัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 2) ได้อนุญาตให้ใช้กรดซอร์บิก (Sorbic Acid) ซึ่งเป็นสารกันเสีย ในผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์บดและผ่านกรรมวิธี ได้ไม่เกิน 1500 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม โดยกำหนดเงื่อนไขห้ามใช้ร่วมกับสารกันเสียในกลุ่มไนไตรท์         สารกลุ่มไนไตรท์ (INS 249 INS 250) ซึ่งเป็นสารคงสภาพของสีและสารกันเสีย ในหมวดอาหารประเภทเนื้อสัตว์บดทำให้สุกโดยใช้ความร้อน เช่น ไส้กรอกชนิดต่าง ๆ เช่น ไส้กรอกไก่เวียนนา ไส้กรอกหมูรมควัน ไส้อั่ว ในปริมาณไม่เกิน 80 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และห้ามใช้ร่วมกับสารกันเสียในกลุ่มซอร์เบต         ทั้งนี้ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 418) พ.ศ. 2563 ก็ไม่ได้มีเกณฑ์กำหนดให้ใช้วัตถุกันเสียประเภท กรดเบนโซอิก (Benzoic Acid) ในหมวดอาหารประเภทผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์บดทำให้สุกโดยใช้ความร้อน เช่น หมูยอ ไก่ยอ ลูกชิ้น (เนื้อวัว, หมู, ไก่) หรือ ไส้กรอกชนิดต่างๆ ที่ทำจากเนื้อสัตว์บด จากผลการทดสอบพบว่า         มีตัวอย่างผลิตภัณฑ์ไส้กรอกแดง 1 ตัวอย่าง ตรวจพบไนไตรท์เกินเกณฑ์ที่มาตรฐานกำหนด ไปเล็กน้อยคือ ยี่ห้อ CK ไส้กรอกแดง สูตรทอดกรอบ (วันผลิต/วันหมดอายุ 08-10-20 / 06-11-20) ตรวจพบปริมาณไนไตรท์ เท่ากับ 80.18 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (เกณฑ์ที่กำหนด คือ ต้องไม่เกิน 80 มก./กก.)         พบกรดเบนโซอิก (Benzoic acid) จำนวน 1 ตัวอย่าง ยี่ห้อ หมูสามตัว (วันผลิต/วันหมดอายุ 10-10-20 / 24-10-20) ตรวจพบปริมาณกรดเบนโซอิก 119.91 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม                 ข้อแนะนำในการบริโภค         หากผู้บริโภคเลือกซื้อผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์แปรรูปประเภทลูกชิ้น หมูยอ หรือไส้กรอกแดง ในเบื้องต้นอาจสังเกตสีของไส้กรอกที่ไม่จัดจนเกินไป และสังเกตข้อมูลบนฉลากสินค้าว่ามีข้อความ “ไม่ใช้วัตถุกันเสีย” หรือไม่ โดยหากเลือกบริโภคผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีการใช้วัตถุกันเสียเลยก็จะเป็นการดี นอกจากนี้ การบริโภคผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อสัตว์ในปริมาณพอเหมาะและไม่บ่อยครั้งจนเกินไป ยังเป็นการหลีกเลี่ยงการสะสมสารกันบูดและวัตถุเจือปนอาหารประเภทอื่นๆ อีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 237 เปรียบเทียบผลิตภัณฑ์น้ำนมถั่วเหลือง 2020

        ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 193 เราได้เปรียบเทียบผลิตภัณฑ์นมถั่วเหลืองไว้ถึง 34 ตัวอย่าง จาก 9 ยี่ห้อ สะท้อนว่า ผลิตภัณฑ์นมถั่วเหลืองได้รับความนิยมมาก มีหลากหลายสูตรให้ผู้บริโภคได้เลือกรับประทาน ซึ่งผลิตภัณฑ์หลักในสินค้ากลุ่มนี้ คือผลิตภัณฑ์ชนิดยูเอชที ที่ครองสัดส่วนการตลาดกว่าร้อยละ 96 มีสองแบรนด์หลักเป็นผู้ครองตลาด คือ แลคตาซอยและไวตามิ้ลค์ อย่างไรก็ตามในส่วนของผลิตภัณฑ์ชนิดพาสเจอร์ไรซ์ ถึงสัดส่วนจะมีเพียงร้อยละ 3 แต่ก็มีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ โดยมีแบรนด์โทฟุซัง ที่มาแรงครองใจผู้บริโภค ด้วยการวางภาพให้เป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ หวานน้อย ใช้วัตถุดิบออร์แกนิกเป็นจุดขาย ซึ่งในปี 2020 นี้ ฉลาดซื้อเราได้สำรวจเพิ่มเติมเพื่อดูแนวโน้มและเปรียบเทียบเรื่องคุณค่าทางโภชนาการตามที่ชี้แจงในฉลากสำหรับผลิตภัณฑ์ยี่ห้อใหม่ๆ เพื่อให้เป็นข้อมูลสำหรับการเลือกซื้อของผู้บริโภค         เราไปส่องกันเลยว่าสินค้าที่เราเก็บตัวอย่างเดือนกันยายน ที่ผ่านมา มีอะไรบ้างสิ่งที่ควรพิจารณาเมื่อเลือกซื้อนมถั่วเหลือง1.เลือกที่มีส่วนผสมของน้ำนมถั่วเหลืองในปริมาณสูง2.เลือกรสชาติที่หวานน้อยเพื่อเลี่ยงภาวะติดหวาน3.เลือกที่ปราศจากวัตถุกันเสีย4.เลือกที่วันผลิตสดใหม่5.เลือกโดยพิจารณาว่าภาชนะบรรจุอยู่ในสภาพดี โดยเฉพาะชนิดกล่องต้องไม่อยู่ในสภาพบุบยุบตัวสิ่งที่ควรพิจารณาเมื่อเลือกซื้อนมถั่วเหลือง1.เลือกที่มีส่วนผสมของน้ำนมถั่วเหลืองในปริมาณสูง2.เลือกรสชาติที่หวานน้อยเพื่อเลี่ยงภาวะติดหวาน3.เลือกที่ปราศจากวัตถุกันเสีย4.เลือกที่วันผลิตสดใหม่5.เลือกโดยพิจารณาว่าภาชนะบรรจุอยู่ในสภาพดี โดยเฉพาะชนิดกล่องต้องไม่อยู่ในสภาพบุบยุบตัว

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 237 กินถังเช่าสกัดต่อเนื่อง เสี่ยงไตวาย ต้องระบุคำเตือนในฉลาก

        รศ.ดร.ภญ. มยุรี ตั้งเกียรติกำจาย สาขาวิชาเภสัชกรรมคลินิก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ให้ข้อมูลการติดตามผู้ป่วยพบมีผู้ป่วยไตเรื้อรัง 3 รายแย่ลง วัยกลางคนและสูงอายุใช้สารสกัดถั่งเช่า รับประทาน 1 เม็ดต่อวันเป็นเวลาประมาณ 1 เดือน ค่าการทํางานของไตแย่ลง (eGFR ลดลง) เมื่อหยุดใช้ค่าการทํางานของไตดีขึ้น บางคนไม่ดีขึ้นกลายเป็นไตวายระยะสุดท้ายในปี พ.ศ. 2562         ปี พ.ศ. 2563 พบผู้ป่วยจำนวน 8 ราย เป็นผู้ป่วยสูงอายุมีโรคหัวใจรับประทานสารสกัดถั่งเช่าสีทอง วันละ 1 เม็ดประมาณ 1 เดือน ค่าการทํางานของไตแย่ลงเมื่อหยุดใช้ค่าการทํางานของไตดีขึ้น อีก 6 รายมีอาการไตวายเฉียบพลัน 1 ราย, 2 รายเป็นโรคไตเรื้อรังระยะ 3-4 บางรายเมื่อหยุดใช้แล้วไตดีขึ้น บางรายต้องฟอกเลือด พบอีก 1 รายใช้กาแฟถั่งเช่าร่วมกับยาแก้ปวดและสมุนไพรผสมสเตียรอยด์ทําให้ค่าการทํางานของไตแย่ลง         ทำให้นึกย้อนไปถึงเรื่องร้องเรียนในอดีตของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่หลังจากทานขี้เหล็กสกัดทำให้มีอาการตัวเหลืองตาเหลือง ทั้งที่ใบขี้เหล็กช่วยอาการนอนไม่หลับ บำรุงตับ แกงขี้เหล็กที่รู้จักมีฤทธิ์ระบายอ่อนๆ ช่วยไม่ให้ท้องผูก นอนหลับสบายเมื่อมีความพยายามที่จะทำใบขี้เหล็กให้เป็นยาสมุนไพรสำเร็จรูปที่ใช้ง่ายเป็นชนิดเม็ด โดยใช้ใบขี้เหล็กตากแห้งบดเป็นผงแล้วบรรจุเม็ดวางจำหน่ายในท้องตลาด เมื่อขี้เหล็กแคปซูลเหล่านี้เข้าถึงผู้บริโภค เริ่มมีข้อสังเกตจากแพทย์ระบบทางเดินอาหารหลายท่านว่า พบผู้ป่วยด้วยโรคตับอักเสบมีเรื่องร้องเรียนว่าทานแล้วตัวเหลืองจนต้องยุติการขึ้นทะเบียนและการจำหน่ายยาสมุนไพรชนิดนี้ในท้ายที่สุด         นอกจากปัญหารายงานว่าอาจจะมีความเกี่ยวข้องกับปัญหาการทำงานของไต หลายคนเบื่อการโฆษณาการขายถั่งเช่ามาก โฆษณาจำนวนมากจนน่ารำคาญ ทำให้รู้สึกว่าทำไมถึงขายถั่งเช่าสกัดกันทั้งบ้านทั้งเมือง คนกินเยอะขนาดนี้เลยหรือ ? ถ้ามาดูโฆษณามีทั้งรักษาโรคเรื้อรังสารพัด บำรุงร่างกาย เพิ่มพลังทางเพศ ไทด์อินในรายการต่างๆ ป้ายโฆษณาด้านหลังแนะนำสินค้าขายตรงมีให้เห็นได้ยิน ทุก 15-30 นาที จากทั้งดาราน้อยใหญ่ แทบจะทุกช่องทีวีโซเชียลมีเดียหรือแทบทุกช่องทางทำให้คนที่มีปัญหาสุขภาพหรือโรคเรื้อรังอดใจไว้ไม่อยู่อยากทดลองว่าจะช่วยได้จริงมั้ย แต่ผลลัพธ์กลับส่งผลต่อความรุนแรงของโรคหรือเกิดโรคบางประเภท เช่น ไตวายเรื้อรัง           ถึงแม้ทีวีดิจิทัลจะเป็นอุตสาหกรรมตะวันตกดิน แต่กสทช. ก็ต้องกำกับร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้เข้มข้นเรื่องการโฆษณาผิดกฎหมาย เกินจริง โอ้อวด รักษาโรคของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และเมื่อมีรายงานว่า อาจจะมีความเกี่ยวข้องกับปัญหาไตวายเรื้อรัง อย. ในฐานะหน่วยงานที่ต้องกำกับผลิตภัณฑ์นี้โดยตรงก็ต้องเรียกบริษัทผู้ผลิตผู้จัดจำหน่ายทั้งหลายเร่งปรับปรุงฉลาก ให้มีคำเตือนที่ชัดเจนในการใช้ผลิตภัณฑ์นี้ ติดตามผลข้างเคียงอย่างเป็นระบบและผู้ประกอบการต้องรีบดำเนินการเพื่อลดความเสี่ยงกับผู้ป่วยโรคเรื้อรังทั้งหลาย         สุขภาพของเราไม่ได้มาจากผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หยุดคิดว่าถ้าไม่ดี อย. ก็ไม่ควรให้จำหน่ายเพราะการรู้ว่าไม่ดีมักจะมาทีหลัง หวังว่าถั่งเช่าจะไม่ซ้ำรอยขี้เหล็กที่เป็นอาหารมีคุณ แต่สกัดแล้วเป็นโทษ เพราะหากย้อนไปในประเทศจีนก็ทานถั่งเช่าเป็นอาหารใส่ในต้มจืดเฉพาะฤดูหนาวเท่านั้น  หรือหากในธิเบตก็นิยมทานเป็นชาหรือใส่ในอาหารเฉพาะบางฤดูเช่นเดียวกัน สุขภาพของเราคงไม่ใช่ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแต่มาจากความสุข การบริโภคอาหารที่ดี การใช้ชีวิต การพักผ่อนและการออกกำลังกาย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 237 เบาะกันกระแทก (2)

        มาว่ากันต่อเกี่ยวกับประกันภัยอุบัติเหตุ (Personal Accident Insurance) หรือที่มักเรียกกันว่าพีเอ เชื่อเหลือเกินว่าหลายคนต้องเคยเจอสถานการณ์ที่บริษัทประกันโทรหา (เอาเบอร์โทรของเรามาจากไหน?) เพื่อเสนอขายประกันให้ บางคนตัดบทปฏิเสธ บางคนเคลิ้มตอบตกลง         การซื้อประกันอุบัติเหตุ (และประกันชนิดอื่นๆ) ไม่ควรใจร้อน มันมีหลายเรื่องที่เราต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับเงื่อนไขชีวิตของตัวเรา ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) แยกประกันอุบัติเหตุออกเป็น 2 แบบ คือ แบบ อบ. 1 และ อบ. 2 โดยแบบแรกจะมีความคุ้มครองให้เลือกซื้อ 4 ความคุ้มครอง-การเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ/สายตา การทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง, การทุพพลภาพชั่วคราวสิ้นเชิง, การทุพพลภาพชั่วคราวบางส่วน และการรักษาพยาบาล         ส่วนแบบที่ 2 จะให้ความคุ้มครองเพิ่มจากแบบแรกคือรวมเรื่องการสูญเสียนิ้ว การสูญเสียการรับฟังเสียง/การพูดออกเสียง และการทุพพลภาพถาวรบางส่วน         แต่ถ้าจะเลือกประกันอุบัติเหตุที่เหมาะกับตัวคุณก็มีหลายเรื่องที่ต้องมานั่งพิจารณากัน         อย่างแรกเลยคืออายุ คนอายุน้อยกับคนอายุมาก แน่นอนว่าคนกลุ่มหลังย่อมจ่ายเบี้ยประกันต่ำกว่า แต่อายุก็เป็นแค่ปัจจัยหนึ่ง ยังต้องดูอีกคุณประกอบอาชีพอะไร เพราะแต่ละอาชีพมีระดับความเสี่ยงต่างกัน อาชีพที่มีความเสี่ยงสูงกว่า เบี้ยประกันสูงกว่า         คปภ. แบ่งชั้นอาชีพในการรับประกันภัยไว้ 4 ชั้น ประกอบด้วย อาชีพชั้น 1 ส่วนใหญ่ทำงานประจำในสำนักงาน อาชีพชั้น 2 ปฏิบัติงานที่ใช้วิชาชีพที่ต้องทำงานกลางแจ้งตลอดเวลา อาชีพชั้น 3 ปฏิบัติงานด้านช่าง กระบวนการผลิต ที่มีการใช้เครื่องจักรกลหนัก ผู้ใช้แรงงาน การเดินทาง หรือทำงานนอกสำนักงานเป็นประจำ และอาชีพชั้น 4 อาชีพพิเศษที่มีความเสี่ยงสูงมากกว่าชั้นอื่น ๆ เป็นพิเศษ เช่น นักแสดงผาดโผน         ถ้าคุณรู้ว่าอาชีพที่ทำอยู่มีความเสี่ยงระดับไหน มันจะช่วยให้คุณพอจะประเมินได้ว่าทุนประกันภัย-หมายถึงเงินที่จะได้เวลาประสบอุบัติเหตุนั่นแหละ-แค่ไหนที่เหมาะสมกับตัวเอง ต้องการให้ครอบคลุมความคุ้มครอง ค่าใช้จ่าย และผลประโยชน์ในกรณีเสียชีวิตอย่างไร เช่น ถ้าคุณเป็นเครื่องยนต์หลักในการหาเลี้ยงครอบครัว คุณอาจต้องการทุนประกันที่มากกว่า เพื่อช่วยดูดซับแรงกระแทกไม่ให้คนข้างหลังซวนเซ หรือถ้าคุณยังไม่มีครอบครัว มีพี่น้อง และมีพ่อแม่ที่พอมีเงินเก็บอยู่บ้าง ทุนประกันที่คุณต้องการก็อาจไม่จำเป็นต้องมากเท่ากับกรณีแรก เพราะยิ่งทุนประกันสูง เบี้ยประกันก็ยิ่งสูงตาม การคำนึงถึงจุดนี้จะช่วยให้การจ่ายเบี้ยประกันไม่กลายเป็นภาระเกินจำเป็น         เรื่องนี้ยังไม่จบ ไว้มาต่อกันคราวหน้า

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 237 The World Day of Remembrance for Road Traffic Victims

        15 พฤศจิกายน นอกจากจะเป็นวันรำลึกถึงผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน หรือ The World Day of Remembrance for Road Traffic Victims (WDR) แล้ว ยังเป็นการครบรอบ 15 ปี ของการกำเนิดวันรำลึกถึงผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนอีกด้วย แต่ด้วยเพราะสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 กิจกรรมรณรงค์ร่วมรำลึกในปีนี้อาจจะดูเงียบเหงาขาดสีสันลงไปบ้าง คงมีเพียงมูลนิธิเมาไม่ขับที่เป็นแกนหลักในการจัดงานรำลึกถึงผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนทุกปี ขณะที่หน่วยงานหลักของประเทศกลับไม่มีการแสดงออกถึงวาระสำคัญของโลกในวันนี้อีกเช่นเคย         เหมือนทุกปีที่วันรำลึกถึงผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนหรือที่เราเรียกกันว่า “วันเหยื่อโลก” มีเป้าหมายเพื่อให้ทุกคนได้ร่วมกันรำลึกถึงผู้เสียชีวิตและผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนทั่วโลก เพราะอุบัติเหตุทางถนนเกิดไม่ได้เลือกเกิดขึ้นเฉพาะคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เกิดได้กับทุกคนไม่ว่าจะรวยล้นฟ้า ดารานักแสดงหรือแม้แต่คนเดินถนนทั่วไป         ตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการของผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนตลอดปี พ.ศ. 2563 ผ่านการเบิกจ่ายค่าสินไหมทดแทนจากบริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ณ วันที่ 14 พฤศจิกายน 2563 มีผู้เสียชีวิตจำนวน 12,990 คน และบาดเจ็บ 855,415 คน ผ่านมาเกือบครบปีแล้ว แม้ตัวเลขผู้เสียชีวิตจะลดน้อยลง อาจเพราะผลสืบเนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่เกิดการล็อกดาวน์ประเทศ ส่งผลให้อัตราการเสียชีวิตในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม มีจำนวนลดลง แต่เมื่อเวลาผ่านไปทุกอย่างเริ่มคลี่คลายทุกคนกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนก็ดีดตัวกลับพุ่งขึ้นมาแรงเหมือนเดิม         โดยเฉพาะในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคมที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตมากกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว และเมื่อสถานการณ์เป็นแบบนี้หลายฝ่ายคาดว่า หากไม่ทำอะไรจริงจัง ในช่วงปลายปีไตรมาสสุดท้ายจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนอาจจะพุ่งแตะใกล้เคียงสองหมื่นคนเหมือนในปีที่ผ่านมาก็เป็นได้         ทั้งนี้ตัวเลขการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนจำนวน 12,990 คน ข้างต้นยังไม่ได้รวมกรณีเกิดเหตุแล้วไม่ใช้สิทธิ หรือ รถไม่มีประกัน พ.ร.บ. รวมถึงยังไม่ใช่ตัวเลขจากระบบ 3 ฐาน ที่ประกอบด้วย ข้อมูลจากมรณบัตรและหนังสือรับรองการตาย ที่เป็นระบบลงทะเบียนการตายของผู้เสียชีวิตทุกรายที่มีการแจ้งตาย ข้อมูลจากระบบ POLIS ที่เป็นระบบบันทึกข้อมูลคดี และข้อมูลจากระบบ E-Claim ที่เป็นระบบบันทึกข้อมูลสำหรับเบิกจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทน เพื่อให้ได้ข้อมูลการตายที่มีความครอบคลุมมากที่สุด         เพราะหากกลับไปย้อนดูข้อมูลการเสียชีวิตของอุบัติเหตุทางถนนจากข้อมูล 3 ฐาน ย้อนหลัง 4 ปี ระหว่างปี พ.ศ. 2559 – 2562 พบว่า อัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนลดลงเล็กน้อย คือ 21,745 > 21,607 > 19,331 และ 19,904 คน ตามลำดับ แต่ที่น่าตกใจ คือ ยังอยู่ในระดับเกือบ 20,000 คน ต่อปี หรือคิดเป็นวันละ 55 คนทุกวัน และเกือบ 70% ของผู้เสียชีวิตเกิดจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ ขณะที่อีกประมาณ 3,000 คน ต่อปีที่เสียชีวิตเป็นเด็กและเยาวชน หรือเท่ากับโรงเรียนขนาดใหญ่ปีละ 1 โรงเรียนที่หดหายไป         ในแต่ละปีประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเกือบ 20,000 คน หากพิจารณามูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจ กรณีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บสาหัส ข้อมูลโดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) พบว่า การเสียชีวิตมีมูลค่าเท่ากับประมาณ 10 ล้านบาทต่อราย และการบาดเจ็บสาหัสมีมูลค่าเท่ากับประมาณ 3 ล้านบาทต่อราย และถ้าตัวเลขผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในปี พ.ศ. 2562 มีผู้เสียชีวิตจำนวน 19,904 คน จะคิดเป็นมูลค่าความเสียหายมากถึง 119,040,000,000 (หนึ่งแสนหนึ่งหมื่นเก้าพันสี่สิบล้านบาท) และอาจถึง 200,000 ล้านบาท หากรวมมูลค่าความเสียหายทั้งบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตไว้ด้วยกัน         ปัญหาอุบัติเหตุทางถนนจึงไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนนึง และไม่ใช่เรื่องที่ต้องฝากความหวังไว้กับรัฐบาลเพียงอย่างเดียว เพราะที่ผ่านมาสิบปีทศวรรษความปลอดภัยทางถนน (พ.ศ. 2554 - 2563) ตามข้อตกลงปฏิญญามอสโกที่รัฐบาลมีหน้าที่ต้องลดอัตราการเสียชีวิตลงครึ่งหนึ่ง หรือร้อยละ 50 ภายในปี พ.ศ. 2563 ประเทศไทยล้มเหลวไม่เป็นท่า          รัฐบาลมีโอกาสแก้ตัวต่อจากนี้อีกสิบปี กับการจัดการความปลอดภัยทางถนนภายใต้กรอบ “ปฏิญญาสตอกโฮล์ม” พ.ศ. 2564 – 3573 และเป้าหมายระดับโลกในการลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนลงให้ได้ครึ่งหนึ่ง หรือร้อยละ 50 ที่ต้องลดจำนวนผู้เสียชีวิตลงให้ได้เหลือ 10,000 คนต่อปีภายในปี พ.ศ. 2573 ซึ่งก็ได้แต่หวังว่าจะไม่ใช่แค่งานอีเว้นท์ประจำปีเน้นเทศกาลเหมือนที่ผ่านมา แต่จะเป็นการจัดการที่เข้มข้นและต่อเนื่องในทุกกลุ่มของผู้ใช้รถใช้ถนนอย่างที่ทุกคนต้องการ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 237 ไหนบอก.. ดูดไขมัน ทำแล้วไม่เจ็บ

        บ่ายวันหนึ่งระหว่างที่คุณสุปราณีเดินเล่นอยู่ในห้างสรรพสินค้ามีพนักงานสาวสวยหน้าคลินิกเสริมความงามแห่งหนึ่งตรงดิ่งเข้ามาหา พร้อมกับเสนอโปรโมชันพิเศษคอร์สเสริมความงาม ดูดไขมัน ลดน้ำหนัก กระชับสัดส่วน แบบที่คุณสุปราณีก็ไม่ทันตั้งตัว เมื่อคุณสุปราณีได้ฟังข้อมูลจากพนักงานขายก็เริ่มเกิดความสนใจ และได้เข้าไปพูดคุยสอบถามรายละเอียดขั้นตอนและราคากับทางคลินิก         หลังจากพูดคุยตกลงความต้องการกันเสร็จเรียบร้อย ทางคลินิกได้แจ้งกับคุณสุปราณีว่า จะให้บริการดูดไขมันในครั้งแรกทั้งหมด 7 จุด ที่บริเวณหน้าท้องและใต้คอ รวมค่าใช้จ่าย 100,000 บาท และยังได้ให้คำแนะนำคุณสุปราณีว่า การดูดไขมันนั้นไม่เจ็บมาก โดยจะทำการฉีดยาชาให้ก่อน และรูที่ดูดไขมันนั้นก็เล็กเท่าปลายปากกา         เมื่อถึงวันนัดเข้ารับบริการครั้งแรก คุณสุปราณีไปคลินิกด้วยความตื่นเต้นเพราะไม่เคยเข้าคอร์สดูดไขมันมาก่อนในชีวิต โดยหลังจากคลินิกได้ทำการดูดไขมันให้ คุณสุปราณีรู้สึกว่าเจ็บมาก ไม่ใช่เจ็บนิดเดียวอย่างที่คลินิกบอก และทางคลินิกก็ทำการดูดไขมันบริเวณหน้าท้องไม่ครบทุกจุดตามที่ตกลงกันไว้ และรูที่ดูดก็ไม่ได้เล็กเท่าปลายปากกา แต่ใหญ่กว่ามาก หลังจากที่กลับมาสำรวจรูปร่างของตัวเองก็พบว่าหน้าท้องไม่ได้ยุบลงจากเดิมเลยคุณสุปราณีรู้สึกผิดหวังกับทางคลินิกที่ให้บริการไม่ตรงกับที่บอกไว้ จึงอยากขอเงินอีกครึ่งหนึ่งคืน และไม่ต้องการกลับไปใช้บริการคอร์สดูดไขมันอีกแล้วเพราะรู้สึกเจ็บมาก แนวทางการแก้ไขปัญหา         คุณสุปราณีสามารถบอกเลิกสัญญากับทางคลินิกได้ เพราะคลินิกไม่ได้ให้บริการดูดไขมันให้ครบทุกจุดตามที่ตกลงกันไว้ ถือว่าผิดสัญญา  และยังชี้ชวนว่า การดูดไขมันไม่เจ็บ ถือเป็นการชวนเชื่อให้เข้าใจผิด คุณสุปราณีต้องแจ้งต่อคลินิก เป็นลายลักษณ์อักษร โดยส่งเป็นจดหมายลงทะเบียนแบบตอบรับไว้เป็นหลักฐาน หากคลินิกไม่ยอมคืนเงิน คุณสุปราณีก็สามารถฟ้องเรียกค่าเสียหายได้         ทั้งนี้ การใช้บริการคอร์สเสริมความงามเช่นการดูดไขมันนี้ อาจทำให้ร่างกายเกิดบาดเจ็บหรือได้รับอันตรายได้หากผู้ให้บริการขาดความเชี่ยวชาญ ผู้บริโภคควรศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้านก่อนตัดสินใจใช้บริการ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 237 ซื้อเครื่องตัดหญ้าออนไลน์ แต่ใช้งานไม่ได้

        คุณวิรัชต์ ผู้ซึ่งรักต้นไม้และการทำสวนเป็นชีวิตจิตใจ แต่การต้องตัดหญ้าในสนามหน้าบ้านทุกๆ สองสัปดาห์ ก็ทำเอาคุณวิรัชต์รู้สึกปวดเอวอยู่ไม่น้อย มาวันหนึ่งขณะที่คุณวิรัชต์เปิดเว็บไซต์ดูสินค้าในร้านค้าออนไลน์ ก็ไปพบเข้ากับเครื่องตัดหญ้าไฟฟ้าแบบชาร์จแบตเตอรี่ได้ พร้อมโปรโมชัน ซื้อ 1 แถม 1 ในราคา 1,090 บาท เมื่อดูภาพโฆษณาและอ่านรีวิวแล้ว ก็คิดว่าน่าจะใช้งานได้ดี และคงสะดวกกว่าการใช้กรรไกรตัดหญ้าอยู่ไม่น้อย คุณวิรัชต์จึงตัดสินใจสั่งซื้อเครื่องตัดหญ้าดังกล่าว         ไม่กี่วันให้หลังสินค้ามาถึงผู้รับอย่างรวดเร็ว เมื่อเปิดกล่องพัสดุออกดูด้วยความตื่นเต้น กลับพบว่า รูปลักษณ์ของเครื่องตัดหญ้านั้นช่างแตกต่างจากที่โฆษณาไว้เหลือเกิน ทั้งยังไม่มีกล่องแบตเตอรี แต่กลับเป็นช่องใส่ถ่านขนาดสองเอ (AA) แทน เมื่อคุณวิรัชต์ลองใช้ดูก็พบว่า ไม่สามารถตัดหญ้าได้เหมือนอย่างที่รีวิวเอาไว้อีกด้วย         ด้วยความผิดหวังคุณวิรัชต์จึงรีบโทรกลับไปยังร้านค้าเพื่อที่จะขอเงินคืน เพราะร้านค้าเคยแจ้งว่า สินค้ามีการรับประกันสามารถเปลี่ยนหรือคืนได้ภายใน 7 วัน ซึ่งทางร้านค้าก็ได้ให้คำมั่นว่าจะรีบดำเนินการตรวจสอบสินค้าให้ แต่เอาเข้าจริงคุณวิรัชต์ไม่ได้รับการติดต่อกลับมาอีกเลย พอสอบถามไปบ่อยๆ เข้า ก็เงียบหายและติดต่อไม่ได้อีกเลย คุณวิรัชต์จึงลองกลับไปดูที่เว็บไซต์อีกครั้ง ปรากฏว่ามีผู้ที่ซื้อสินค้าไปแล้วเข้ามาบ่นว่าสินค้าไม่ได้คุณภาพและใช้งานไม่ได้จริงเหมือนกัน แนวทางการแก้ไขปัญหา         ในกรณีนี้ คุณวิรัชต์สามารถรวบรวมหลักฐานเข้าแจ้งความที่สถานีตำรวจใกล้บ้าน ได้แก่ ข้อมูลของร้านค้าที่คู่กรณี, ภาพถ่ายสินค้าที่ชำรุดบกพร่องหรือไม่สามารถใช้งานได้จริงอย่างที่โฆษณา, หลักฐานการโอนเงินว่าโอนเงินไปยังบัญชีใด เพื่อที่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจะได้ออกหนังสือขอให้ทางธนาคารปลายทางอายัดบัญชีดังกล่าวไว้ เพื่อติดตามเงินคืนและดำเนินการตามกฎหมายต่อไป         ทั้งนี้ หากผู้บริโภคซื้อสินค้าออนไลน์แล้วพบว่า ชำรุดบกพร่องไม่สามารถใช้งานได้จริงตามคำโฆษณาก็ให้ขอคืนสินค้าโดยทันทีตามกรอบระยะเวลาเงื่อนไขที่ทางร้านได้แจ้งไว้ หรือแจ้งต่อคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเรื่องโฆษณา และหากเป็นไปได้ควรซื้อสินค้าออนไลน์จากร้านค้าที่จดทะเบียนการค้ากับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และขึ้นทะเบียนขายตรงกับคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เพราะหากเกิดปัญหาขึ้นก็สามารถติดต่อไปยังผู้ขายได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 237 อยู่ๆ คอนโดให้พื้นที่เพิ่มแต่ก็เก็บเงินเพิ่มไปอีก

        ก่อนจะซื้อคอนโดมิเนียม เราได้อ่านสัญญาจะซื้อจะขายกันบ้างหรือไม่ หากอ่านแล้วรู้สึกว่าข้อสัญญาไม่เป็นธรรมกับเราจะทำอย่างไรดี         ย้อนไปประมาณปีครึ่ง คุณภูผาได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายคอนโดแห่งหนึ่งแถวพัทยา โดยอ่านสัญญาคร่าวๆ คิดว่าคงไม่มีปัญหาอะไร ซึ่งข้อความในสัญญาระบุว่าจะก่อสร้างให้เสร็จภายใน 1 ปี เมื่อครบกำหนดสร้างเสร็จ เขาติดต่อไปยังโครงการเพื่อสอบถามเรื่องการโอนคอนโด แต่พนักงานแจ้งว่า คอนโดยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ เขาก็เพียรโทรตามอยู่หลายครั้ง หลังจากนั้นประมาณ 2 เดือน พนักงานดูแลโครงการโทรศัพท์มาแจ้งว่าให้เข้าไปตรวจรับห้อง         เมื่อคุณภูผาไปตามนัด พบว่าโครงการได้เปลี่ยนแปลงวัสดุและสีห้องโดยไม่แจ้งให้เขารู้เลย หลายๆ อย่าง ไม่เหมือนห้องตัวอย่างที่เขาเห็นก่อนทำสัญญา นอกจากนั้นยังพบอีกว่าห้องของเขา ซึ่งทำสัญญาไว้ต้องมีพื้นที่ 29 ตารางเมตร แต่ห้องจริงที่ไปดูกลับมีพื้นที่ 31.45 ตารางเมตร ซึ่งห้องที่ไม่เป็นไปตามตัวอย่างทั้งเรื่องวัสดุและสีห้อง มีลักษณะแบบเดียวกับห้องของเขา คือมีพื้นที่เพิ่มขึ้นเหมือนกันทุกห้อง เหมือนดี แต่ไม่เป็นเช่นนั้น เพราะเขา (และคนอื่นๆ) ต้องจ่ายเงินค่าพื้นที่เพิ่มขึ้นอีกตารางเมตรละ 43,000 บาท         “วันที่ไปตรวจรับห้อง โครงการฯ ยังดำเนินการสร้างสาธารณูปโภคส่วนกลาง เช่น สระว่ายน้ำ ฟิตเนส ไม่เสร็จและไม่ตรงตามใบโบรชัวร์ขายคอนโดด้วย”         เขาจึงแจ้งให้ทางโครงการฯ แก้ไขให้เรียบร้อยให้เหมือนตามที่โฆษณาขายไว้ ซึ่งโครงการฯ ก็ไม่ได้แก้ไข แต่มีหนังสือว่า โครงการฯ ได้สร้างคอนโดเสร็จเรียบร้อยแล้วให้เขาไปรับโอนคอนโดภายใน 30 วัน ถ้าไม่ไปถือว่าเขาผิดสัญญา และให้รับผิดชอบพื้นที่ที่เพิ่มขึ้น        คุณภูผารู้สึกไม่พอใจ ทำไมอยู่ๆ เขากลายมาเป็นคนผิดสัญญา ทั้งๆ ที่โครงการฯ เป็นผู้ทำผิดสัญญาเองทั้งหมด ตั้งแต่สร้างไม่เสร็จตามกำหนด สร้างไม่ตรงตามโฆษณาขาย และมีพื้นที่เพิ่มขึ้นมาแล้วมาเก็บเงินเขาเพิ่ม เขาจึงมาปรึกษามูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา        ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคแนะนำว่า เรื่องการซื้อขายอาคารชุด มีกฎหมายควบคุมให้สัญญาต้องเป็นไปตามแบบ 2 ฉบับ คือประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจขายห้องชุดเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2543 และพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522          สัญญาที่ผู้ประกอบธุรกิจทำกับผู้บริโภคต้องไม่ใช้ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค ข้อ 4 ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจขายห้องชุดเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2543 และมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท         สัญญาจะซื้อจะขายอาคารชุดต้องทำตามแบบ อ.ช. 22 ถ้ามีส่วนหนึ่งส่วนใดในสัญญาไม่ได้ทำตามแบบและไม่เป็นคุณกับผู้จะซื้อ สัญญาส่วนนั้นไม่มีผลบังคับใช้ และมีโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท ตามมาตรา 6/2 และ 63 ตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522         เมื่อพิจารณาสัญญาจะซื้อจะขายของโครงการแล้วพบว่า ไม่ปฎิบัติตามแบบ อ.ช. 22 และประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจขายห้องชุดเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2543 ดังนี้        o       โครงการแจ้งผู้ซื้อด้วยวาจาเรื่องขอขยายระยะเวลาก่อสร้าง ซึ่งโครงการสามารถขยายเวลาก่อสร้างได้ 12 เดือน โดยผู้ขายต้องทำหนังสือแจ้งผู้ซื้อเป็นลายลักษณ์อักษร        o       โครงการเปลี่ยนแปลงวัสดุและสีห้อง สร้างสาธารณูปโภค เช่น สระว่ายน้ำ ฟิตเนส ไม่ตรงตามภาพโฆษณา ภาพโฆษณาเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา ผู้ขายต้องก่อสร้างตามที่ได้โฆษณาไว้        o       โครงการมีพื้นที่ก่อสร้างในห้องเพิ่มขึ้นจาก 29 ตารางเมตร เป็น 31.45 ตารางเมตร เพิ่มขึ้น 2.45 ตารางเมตร ซึ่งผู้ขายสามารถมีพื้นที่พร่องหรือเพิ่มขึ้นได้ไม่เกินร้อยละ 5         ผู้ร้องสามารถบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดและขอเงินคืนได้โดยอาศัยเหตุผลข้างต้นในการบอกเลิกสัญญาเพราะผู้ซื้อไม่ได้เป็นผู้ผิดสัญญา โดยทำหนังสือบอกเลิกสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร ส่งไปรษณีย์แบบลงทะเบียนตอบรับ ถ้าผู้ขายไม่ยินยอมคืนเงิน ผู้ซื้อสามารถฟ้องคดีต่อศาลเพื่อให้ผู้ขายคืนเงินได้         กรณีคุณภูผา ศูนย์พิทักษ์ฯ ได้ทำหนังสือไปยังสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และกรมที่ดิน แจ้งไปยังกรมที่ดินว่าสัญญาจะซื้อจะขายของโครงการเป็นข้อสัญญาไม่เป็นธรรมและไม่เป็นไปตามแบบ อ.ช. 22 และกรมที่ดินได้ดำเนินการตามกฎหมายกับโครงการนี้แล้ว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 237 ระวังเสียเงินกับพัสดุที่ไม่ได้สั่ง

        เมื่อการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์เป็นที่นิยมขึ้นเรื่อยๆ มิจฉาชีพก็ว่องไวในการหาทางฉกฉวยเงินของคุณจากธุรกิจนี้มากขึ้นเช่นกัน ซึ่งขอนำเสนอภัยแฝงอีกชนิดหนึ่ง ที่ผู้บริโภคควรรับทราบไว้         คุณนพวรรณโทรมาปรึกษากับศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า เมื่อวานกลับจากทำงานถึงบ้าน คุณป้าซึ่งอาศัยอยู่ด้วยกันกับคุณนพวรรณยื่นกล่องพัสดุน้อยๆ ให้บอกว่า วันนี้มีคนนำมาส่งและเรียกเก็บเงินปลายทาง จำนวน 150 บาท ป้ามองแล้วแม้เห็นว่าชื่อผู้รับไม่ตรงกับคนในบ้าน แต่บ้านเลขที่ตรงกันจึงคิดว่าหลานหรือคุณนพวรรณอาจใช้ชื่ออื่นในการสั่ง อีกทั้งจำนวนเงินก็ไม่ได้มาก คุณป้าจึงจ่ายค่าสินค้าและเซ็นรับของไว้         คุณนพวรรณอึ้งไปสักพักและทบทวนว่าตนได้สั่งซื้อสินค้าอะไรไปหรือไม่ ก็คิดว่าไม่ และเมื่ออ่านชื่อที่อยู่ผู้รับซ้ำอีกครั้ง พบว่าแม้เลขที่บ้านตรงกันแต่เป็นคนละซอย เธอคิดว่าผู้ส่งซึ่งเป็นพนักงานของบริษัทขนส่งคงเข้าใจผิด ผู้สั่งสินค้าจริงอาจจะกังวลที่ของไม่ถึงมือจึงโทรไปตามเบอร์โทรศัพท์ของผู้รับที่แปะอยู่บนกล่องพัสดุ มีคนรับโทรศัพท์แต่พอเล่าเรื่องให้ฟัง คนตามจ่าหน้ากลับบอกว่าตนเองวันนี้ได้รับสินค้าที่สั่งไปแล้ว สินค้าที่อยู่กับคุณนพวรรณไม่น่าจะใช่ของตนเอง “อ้าว แล้วคราวนี้จะยังไง” สรุป “มีดโกนหนวดนี้เป็นของใคร” คุณนพวรรณเลยโทรไปตามเบอร์โทรศัพท์ของร้านค้าที่เป็นเจ้าของสินค้าก็ไม่มีผู้รับสาย เธอพยายามหลายรอบจนคิดว่าอาจจะไม่มีร้านนี้อยู่จริง “ดิฉันควรทำอย่างไรดี”  แนวทางการแก้ไขปัญหา         เนื่องจากปรากฎเป็นข่าวเตือนภัยกันถึงเรื่องที่มีมิจฉาชีพส่งพัสดุราคาไม่แพงไปเรียกเก็บเงินปลายทาง ซึ่งผู้รับที่ไม่ได้อยู่บ้านในขณะที่สินค้ามาส่งจะไม่มีโอกาสปฏิเสธ แต่ญาติหรือคนที่อาศัยด้วยกันเป็นผู้รับสินค้า เมื่อเห็นว่าราคาเรียกเก็บเงินประมาณ 100-300 บาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินไม่มากก็จะออกเงินให้ไปก่อน แต่มารู้ทีหลังว่าผู้รับตามจ่าหน้าไม่ได้เป็นผู้สั่งสินค้า ก็ทำให้เสียเงินกันไปฟรีๆ เพราะสินค้าที่ได้มามักเป็นสินค้าที่ไม่มีประโยชน์ในชีวิตประจำวันหรือสินค้าที่มูลค่าน้อยกว่าจำนวนเงินที่เสียไป ซึ่งกรณีนี้หากผู้เสียหายต้องการให้เกิดการจัดการทางกฎหมายควรนำสินค้าไปแจ้งความกล่าวโทษกับร้านค้าหรือบริษัทที่ส่งสินค้ามาหลอกลวง         อย่างไรก็ตามสำหรับกรณีคุณนพวรรณ เนื่องจากว่าบ้านเลขที่บนกล่องพัสดุมีบุคคลที่สั่งซื้ออยู่จริงเพียงแต่มีสินค้าชนิดเดียวกันนำไปส่งให้แล้ว อาจเป็นไปได้ว่า ผู้รับสั่งสินค้าผิดพลาด(สั่งซื้อซ้ำ) และพนักงานบริษัทขนส่งทำงานพลาด ดังนั้นทางศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ จึงช่วยประสานงานกับบริษัทขนส่ง ซึ่งเป็นตัวกลางในการนำส่งสินค้าแก้ไขปัญหาให้กับคุณนพวรรณ ทางบริษัทฯ ได้รับเรื่องไว้และส่งพนักงานไปรับสินค้าจากคุณนพวรรณพร้อมคืนเงินจำนวน 150 บาท และนำสินค้ากลับไปเพื่อดำเนินการจัดส่งให้ถูกต้องต่อไป        สำหรับผู้บริโภคที่พบกรณีปัญหาคล้ายกันนี้ หากพบพิรุธว่าเป็นการหลอกลวงให้เสียทรัพย์ ให้นำความไปแจ้งต่อตำรวจเพื่อดำเนินคดีในฐานฉ้อโกง แต่หากพบว่าน่าจะเป็นความผิดพลาดของบริษัทขนส่ง ให้ติดต่อกับบริษัทขนส่งที่รับผิดชอบส่งสินค้าผิดมาให้ท่านเพื่อดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องต่อไป  และบอกกล่าวกับคนในบ้านไว้เสมอเมื่อตนเองสั่งสินค้าอะไรไป ของจะมาส่งวันไหน แต่หากว่ามีของมาส่งโดยไม่ได้บอกกล่าวไว้ให้ตรวจสอบรายชื่อและบ้านเลขที่ให้ดีๆ หากไม่ตรงกันกับบุคคลในบ้านและ/หรือที่อยู่ผิดควรปฏิเสธไม่รับสินค้า 

อ่านเพิ่มเติม >