ฉบับที่ 199 ไฟโตสเตอรอล

ไฟโตสเตอรอล (phytosterol น่าจะออกเสียงว่า ไฟ-โต-สะ-เตีย-รอล) เป็นพฤกษเคมีที่เข้ามาสู่วิถีชีวิตของผู้บริโภคหลายท่าน ที่ปรับตัวให้เข้ากับความเป็นอยู่แบบไทยแลนด์ 4.0 โดยใช้บางช่วงของชีวิตล่องลอยไปกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต จนทำให้กลายเป็นคนลดพฤติกรรมสร้างเสริมสุขภาพ เกิดโรคเนื่องจากความเสื่อมของร่างกายเร็วกว่าที่ควรเป็น เช่น มีโคเลสเตอรอลในเลือดสูง มีข้อมูลบอกกล่าวในเว็บที่โฆษณาขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งมีไฟโตสเตอรอลเป็นองค์ประกอบว่า ราว 50 ปีมาแล้ว ชาวฟินแลนด์เคยมีปัญหาโคเลสเตอรอลในเลือดสูงมาก่อน จนทำให้คนวัยทำงานเสียชีวิตสูงที่สุดในโลก ด้วยโรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด รัฐบาลฟินแลนด์และเอกชนได้ระดมนักวิจัยมาคิดหาสิ่งที่ช่วยลดโคเลสเตอรอลในเลือด จนปี 1972 นักวิจัยก็ประสบความสำเร็จค้นพบว่า ไฟโตสเตอรอล มีผลในการลดโคเลสเตอรอลในเลือดของชาวฟินแลนด์ ส่งผลให้ภายใน 5 ปีหลังจากนั้น อัตราการตายเนื่องจากโรคที่เกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือดของชาวฟินแลนด์ในวัยทำงาน ลดลงถึงร้อยละ 70 ซึ่งทำให้องค์การอนามัยโลกจัดอันดับคุณภาพชีวิตของชาวฟินแลนด์ว่า ดีเป็นที่ 11 ของโลกผู้เขียนได้ข้อสังเกตหนึ่งจากการเข้าไปดูเว็บขายผลิตภัณฑ์ที่มีไฟโตสเตอรอลเป็นองค์ประกอบ คือ ชนิดของพฤกษเคมีที่อยู่ในโฆษณาในบ้านเรานั้นมักเป็น แพลนท์สตานอล (แต่ในต่างประเทศนั้นมีแพลนท์สเตอรอลด้วย) จึงฉุกใจว่า ชื่อต่างๆ ของพฤกษเคมีกลุ่มนี้ น่าจะมีความหมายในส่วนลึก ใช่แต่ว่าจะพูดแค่ ไฟโตสเตอรอล เท่านั้นอะไรคือ ไฟโตสเตอรอลคำว่า สเตอรอล นั้นเป็นชื่อของกลุ่มสารเคมี(ที่เป็นอนุพันธ์แอลกอฮอล์ของสารกลุ่มที่เรียกว่า steroid ซึ่งน่าจะออกเสียงว่า ส-เตีย-รอยด์) มีองค์ประกอบค่อนข้างซับซ้อนแต่มีเอกลักษณ์เฉพาะ ซึ่งเมื่อนักวิทยาศาสตร์ที่สนในเรื่องนี้เห็นสูตรโครงสร้างแล้วควรจำได้ทันที สเตอรอลที่เรารู้จักดีมากๆ คือ โคเลสเตอรอล ส่วนในกรณีของ ไฟโตสเตอรอล นั้นมีความหมายว่าเป็น สเตอรอลที่ถูกสร้างขึ้นในพืช ซึ่งแบ่งเป็น 2 กลุ่มย่อยคือ แพลนท์สเตอรอล (plant sterol) และแพลนท์สตานอล (plant stanol) ซึ่งอาจเรียกสั้น ๆ ว่า สเตอรอลและสตานอล ตามลำดับ สำหรับสูตรโครงสร้างทางเคมีของสารทั้งสองนั้น มีความต่างกันเล็กน้อยแต่มีผลต่างกันทางชีวเคมีพอควรไฟโตสเตอรอลทั้งสองกลุ่มนั้น ขณะผ่านเซลล์ลำไส้เล็กเพื่อเข้าสู่กระแสเลือด ส่วนใหญ่ถูกระบบชีวเคมีของเซลล์ขับสารกลุ่มนี้กลับออกไปสู่ลำไส้เล็ก จึงมีเพียงส่วนน้อยที่เข้ากระแสเลือด กลุ่มนักวิจัยอเมริกันกล่าวว่า อาหารที่มีปริมาณไฟโตสเตอรอลและโคเลสเตอรอลใกล้เคียงกันนั้น มีเพียงร้อยละ 5 ของแพลนท์สเตอรอลและร้อยละ 0.5 ของแพลนท์สตานอล เท่านั้น ที่ผ่านเข้าสู่กระแสเลือดของเรา เมื่อเทียบกับโคเลสเตอรอลจากอาหารที่ผ่านเข้าสู่กระแสเลือดถึงร้อยละ 50แพทย์คนหนึ่งในอินเทอร์เน็ตตั้งข้อสังเกตว่า แพลนท์สเตรอลส่วนที่เข้าสู่ระบบโลหิตได้นั้น อาจก่อให้เกิดปัญหาต่อร่างกายได้ถ้ามีมากไป ทั้งนี้เพราะสารนี้มีสมบัติทางเคมีคล้ายคลึงกับโคเลสเตอรอล ดังนั้นเมื่อมีปริมาณในเลือดมากก็อาจเกาะผนังหลอดเลือดได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ ประเด็นข้อสังเกตนี้เป็นที่สนใจอย่างยิ่งของนักวิจัยที่ทำงานเกี่ยวกับเรื่องทำนองนี้ ในขณะที่แพลนท์สตานอลนั้นยังไม่มีข้อมูลที่เป็นสัญญานบ่งว่าก่อปัญหาดังกล่าวไฟโตสเตอรอลที่ขายในตลาดส่วนใหญ่ ได้จากการแยกออกมาจากน้ำมันพืชระหว่างการปรับสภาพให้น้ำมันพืชดูใสขึ้น สารที่แยกได้เหล่านี้ถูกขายให้กับโรงงานผลิตอาหาร เพื่อใช้เสริมให้อาหารนั้นดูดีขึ้นในลักษณะที่อาจเรียกว่า อาหารวัตถุประสงค์พิเศษ หรือใช้ผลิตเป็น ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม โดยตรง เพื่อขายแก่ผู้ที่หวังว่า สารเคมีธรรมชาตินี้น่าจะช่วยลดระดับโคเลสเตอรอลในเลือดซึ่งสูงผิดปรกติการยับยั้งการดูดซึมโคเลสเตอรอลในลำไส้เล็กเกิดเนื่องจาก ไฟโตสเตอรอลสามารถเข้าไปแย่งที่โคเลสเตอรอลในส่วนที่เป็นไขมันของ ไมเซลส์ (micelles คือ ของผสมของสิ่งที่ได้จากอาหารที่กินเข้าไปแล้วไม่ละลายน้ำผสมกับน้ำดีที่ส่งมาจากถุงน้ำดี) ซึ่งเกิดขึ้นก่อนที่ไขมันถูกดูดซึมผ่านผนังลำไส้เล็ก ส่งผลให้โคเลสเตอรอลจากอาหารที่ไม่ถูกรวมเข้าไปในไมเซลส์ต้องออกจากร่างกายไปพร้อมกับอุจจาระอาหารที่มีสเตอรอลและสตานอลสูงคือ ถั่วและพืชน้ำมันอื่นๆ (เช่น งา เมล็ดฝ้าย มะกอกฝรั่ง) ธัญพืชที่ไม่ขัดสีรวมทั้งผลิตภัณฑ์จากธัญพืช ผักหลายชนิดและผลไม้(เช่น กล้วย ส้ม ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่)ปริมาณไฟโตสเตอรอลจากอาหารธรรมดานั้น อาจเพียงพอกับความต้องการของคนธรรมดาที่ กินอาหารอย่างระวังแหล่งของโคเลสเตอรอล แต่สำหรับคนที่กินไม่เลือกหรือมีปัญหาโคเลสเตอรอลในเลือดสูงเองตามพันธุกรรมนั้น แค่อาหารธรรมดานั้นอาจไม่พอในการช่วยลดปริมาณโคเลสเตอรอลในเลือดได้ ด้วยเหตุนี้ผู้ที่มองเห็นโอกาสรวย จึงนำเอาพฤกษเคมีที่ถูกสกัดออกออกจากน้ำมันมันพืชมาเติมลงในอาหารบางชนิดที่เหมาะสม เช่น เนยเทียม มายองเนส โยเกิร์ต น้ำส้มคั้น ขนมอบกรอบหรือเป็นผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารโดยตรงการยอมรับถึงประโยชน์และความปลอดภัยที่สามารถใช้อ้างบนฉลากของผลิตภัณฑ์ที่มีการเติมไฟโตสเตอรอลเป็นองค์ประกอบนั้น Wikipedia ได้กล่าวถึงหลักเกณฑ์ที่ถูกกำหนดโดยองค์กรสำคัญๆ เช่น EFSA (The European Foods Safety Authority) ของสหภาพยุโรปที่ดูแลเกี่ยวกับความปลอดภัยของอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (US.FDA) และกระทรวงสาธารณสุขของแคนาดา สำหรับรายละเอียดนั้นท่านผู้อ่านสามารถเข้าไปอ่านหาความรู้ได้ด้วยตนเองอ่านมาถึงตรงนี้ท่านผู้อ่านคงพอเข้าใจว่า บทความนี้เขียนเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจว่า เมื่อท่านมีระดับโคเลสเตอรอลในเลือดสูงแล้ว อาจมีแพทย์บางคนแนะนำให้ท่านกินผลิตภัณฑ์ดังกล่าว แทนยากลุ่ม สแตติน (เพื่อเลี่ยงผลข้างเคียงของยา) แต่ท่านก็มีสิทธิเลือกทางอื่นเพิ่มได้ ด้วยข้อมูลดังต่อไปนี้ปรกติแล้วร่างกายเราผลิตน้ำดีที่ตับ โดยใช้โคเลสเตอรอลจากเลือดเป็นวัตถุดิบ น้ำดีนั้นมีส่วนสำคัญต่อการดูดซึมไขมันผ่านลำไส้เล็กเข้าสู่กระแสเลือด โดยหลังการทำงานแล้วน้ำดีจะเคลื่อนลงสู่ลำไส้ใหญ่ แล้วถูกดูดซึมกลับไปที่ถุงน้ำดี เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ ดังนั้นวิธีลดระดับโคเลสเตอรอลในเลือดจึงสามารถทำได้ ด้วยการรบกวนการดูดซึมกลับของน้ำดีที่ลำไส้ใหญ่โดยอาศัยเพกติน(ซึ่งมีในผักและผลไม้หลายชนิด) เป็นตัวจับน้ำดีแล้วพาออกจากร่างกายไปพร้อมกับอุจจาระ ส่งผลให้มีการนำโคเลสเตอรอลจากเลือดมาสร้างน้ำดีที่สูญเสียไป ดังนั้นโคเลสเตอรอลในเลือดจึงลดลงได้ในชีวิตประจำวัน เราสามารถเพิ่มปริมาณของเพกตินในลำไส้ใหญ่จากการกินถั่วต่างๆ ผลไม้ตระกูลส้ม แครอท ฟักทอง กล้วย มัน แอปเปิล สตรอเบอร์รี่ ถั่วเขียว มะเขือเทศ องุ่น แตงโม แตงกวา สับปะรด เป็นต้น(อาหารเหล่านี้โดยพื้นฐานแล้วมีไฟโตสเตอรอลธรรมชาติอยู่แล้วเช่นกัน) ดังนั้นแพทย์หลายท่าน จึงแนะนำคนไข้ให้เพิ่มการกินผักและผลไม้ที่มีเพกตินสูง เพื่อแก้ไขปัญหาโคเลสเตอรอลสูงในเลือดเป็นลำดับแรกก่อนการใช้ยาแหล่งหาความรู้เพิ่มเติมข้อมูลที่ท่านสามารถสืบค้นจากอินเทอร์เน็ตเกี่ยวกับการที่เพกตินสามารถลดระดับโคเลสเตอรอลในเลือดได้นั้น เช่น Pectin penta-oligogalacturonide reduces cholesterol accumulation by promoting bile acid biosynthesis and excretion in high-cholesterol-fed mice ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Chemico-Biological Interactions ชุดที่ 272 (2017) หน้าที่ 153-159 และ The Interaction Between Insoluble and Soluble Fiber ในหนังสือ Dietary Fiber for the Prevention of Cardiovascular Disease หน้าที่ 35-59 ซึ่งพิมพ์ในปี 2017 และข้อมูลในวารสาร Foods, Nutrients and Food Ingredients with Authorised EU Health Claims ชุดที่ 2 หน้า 153-174 ในปี 2015 ซึ่งระบุว่า ผลิตภัณฑ์ที่มีเพกตินสามารถใส่ข้อความบนฉลากอาหารว่า “Pectins contribute to the maintenance of normal blood cholesterol concentrations” ถ้ามีเพกตินเป็นองค์ประกอบที่สามารถทำให้ผู้บริโภคได้รับเข้าร่างกาย 6 กรัมต่อวัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 199 ภัยไม่เงียบ รถโดยสารสองชั้น ตอนที่ 1!!

เข้าใกล้สิ้นปีเมื่อใด นั่นหมายความว่าเทศกาลเดินทางการท่องเที่ยวเริ่มมาแล้ว และแน่นอนเมื่อมีการท่องเที่ยวกันมากขึ้น การต้องเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะเพื่อการเดินทางก็มีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้นตามการใช้งานไปด้วย และรถโดยสารยอดนิยมที่เป็นตัวเลือกลำดับต้นๆ ในการเลือกใช้โดยสารนั่นก็คือ รถโดยสารสองชั้น! แล้วทำไมรถโดยสารสองชั้นถึงเป็นที่นิยมของคนจำนวนมาก ??ตอบได้เลย เพราะตอบโจทย์การใช้งานของลูกค้าได้ทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มที่ต้องการรองรับคนเดินทางได้ครั้งละจำนวนมาก และประหยัดงบประมาณค่าใช้จ่ายที่ไม่ต้องเช่ารถโดยสารจำนวนหลายคัน เช่น นักท่องเที่ยวเพื่อทัศนาจร นักเรียน-นักศึกษาเพื่อทัศนศึกษา เจ้าหน้าที่หรือพนักงานเพื่อศึกษาดูงาน หรือการรับส่งพนักงานในกลุ่มบริษัทหรือโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ และด้วยความต้องการใช้รถโดยสารสองชั้นของกลุ่มผู้บริโภค ทำให้ที่ผ่านมาปริมาณรถโดยสารสองชั้นมีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปีสอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มผู้ใช้บริการจากข้อมูลจำนวนรถที่จดทะเบียนสะสมกับกรมการขนส่งทางบก ณ วันที่  31 ธันวาคม 2559  พบว่า มีรถโดยสารสองชั้นที่จดทะเบียนทั่วประเทศทั้งหมด 7,324 คัน   โดยแบ่งเป็นรถโดยสารประจำทาง 1,947 คัน  รถโดยสารไม่ประจำทาง 5, 314 คัน และรถโดยสารส่วนบุคคล 63 คัน สาเหตุที่กลุ่มผู้ใช้บริการนิยมเลือกใช้รถโดยสารสองชั้นพบว่า ส่วนใหญ่เลือกจากความสะดวกสบายของตัวรถ สภาพรถใหม่  ที่นั่งชั้นสองมองเห็นวิวข้างทางได้  มีเครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆรองรับความต้องการครบครัน  เช่น เบาะนวดไฟฟ้า คาราโอเกะ ดนตรี อินเทอร์เน็ต ไวไฟ ขณะที่มีพื้นที่ชั้นล่างในการทำกิจกรรมร่วมกันในขณะเดินทางได้แต่หลายคนจะรู้หรือไม่ว่า รถโดยสารสองชั้นที่เห็นกันอยู่ทุกวันนี้นั้น ส่วนใหญ่มีความสูงขนาดไหนกัน  กฎกระทรวง ฉบับที่ 60 ตามพระราชบัญญัติกรมการขนส่งทางบก  พ.ศ. 2522  กำหนดคุณสมบัติของรถโดยสารสองชั้นไว้ว่า เมื่อวัดส่วนที่กว้างที่สุดของตัวถัง จะต้องไม่เกิน  2.55 เมตร ความสูงภายนอกของตัวรถที่ใช้ในรถโดยสารเมื่อวัดจากพื้นที่ราบถึงส่วนที่สูงที่สุดของรถจะต้องไม่เกิน  4.30 เมตร และความยาวต้องไม่เกิน 12 เมตร  ซึ่งเมื่อดูจากขนาดของรถโดยสารสองชั้นที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบันต้องบอกเลยว่ามีความเสี่ยงไม่น้อยเลยทีเดียว เมื่อเทียบกับรถโดยสารชั้นเดียวที่มีขนาดเล็กกว่า  สอดคล้องกับข้อมูลของศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย  ได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ ในปี 2559 ที่ผ่านมา พบว่า รถโดยสารสองชั้นมีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุสูงกว่า รถโดยสารชั้นเดียว ถึง 6 เท่า” ส่วนอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถโดยสารสองชั้นนั้น ก็สูงกว่าอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถโดยสารชั้นเดียว ถึง 6 เท่า เช่นเดียวกัน สาเหตุของอุบัติเหตุจากรถโดยสารสองชั้นเมื่อวิเคราะห์ถึงอุบัติเหตุรถโดยสารที่เกิดกับรถโดยสารสองชั้นในรอบหลายปีที่ผ่านมา พบว่าอุบัติเหตุส่วนใหญ่จะเกิดกับรถโดยสารสองชั้นไม่ประจำทางมากกว่ารถโดยสารสองชั้นประจำทาง ด้วยจำนวนและปัจจัยเสี่ยงที่มากกว่า ดังนั้นอุบัติเหตุที่เกิดกับรถโดยสารสองชั้นไม่ประจำทาง จึงเป็นส่วนที่น่าเป็นห่วงและต้องให้ความสำคัญ ประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณาคือ ถ้าเป็นรถโดยสารประจำทางจะมีเส้นทางวิ่งที่แน่นอน มีกฎหมายควบคุมเส้นทางที่ขออนุญาตประกอบการเดินรถ ซึ่งรถโดยสารประจำทางจะไม่สามารถวิ่งออกนอกเส้นทางได้  แต่สำหรับรถโดยสารไม่ประจำทางแล้วนั้น เป็นการว่าจ้างให้เดินทางไปที่ไหนก็ได้ทั่วประเทศ  ไม่จำเป็นต้องขออนุญาตก่อนเดินทาง ซึ่งบางครั้งผู้ขับรถอาจไม่มีความชำนาญในเส้นทางนอกพื้นที่ และอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ เมื่อลองพิจารณาปัจจัยการเกิดอุบัติเหตุกับรถโดยสารสองชั้นทั้งหมดแล้ว แม้ปัจจัยความเสี่ยงของผู้ขับขี่จะดูเป็นสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุ ทั้งหลับใน ขับรถเร็ว ประมาทเลินเล่อ ไม่เคารพกฎจราจร แต่สภาพรถโดยสารสองชั้นที่มีความสูง โดยเมื่อประกอบกับความเร็วในการขับขี่และสภาพถนนที่เป็นทางโค้งลาดชัน ก็มีส่วนที่ทำให้รถโดยสารสองชั้นเกิดอุบัติเหตุเสียหลักหรือพลิกคว่ำได้ง่าย ด้วยเหตุผลจากความชำรุดบกพร่องของตัวรถโดยสารสองชั้นเอง (ติดตามต่อในตอนที่ 2) 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 198 สารกันบูดใน “เฉาก๊วย”

“เฉาก๊วย” 1 ในขนมหวานที่อยู่คู่กับคนไทยมานาน ด้วยรสสัมผัสอันเป็นเอกลักษณ์ นุ่มเหนียวเคี้ยวอร่อย นำมารับประทานพร้อมน้ำแข็ง น้ำตาลทรายแดงหรือน้ำเชื่อม ได้รสชาติหวานเย็นชื่นใจ เหมาะกับอากาศร้อนๆ ของเมืองไทยเฉาก๊วย หาทานได้ทั่วไป ที่เห็นบ่อยก็น่าจะเป็นตามร้านขายขนมหวานจำพวกหวานเย็น นอกจากนี้ยังที่ปรับปรุงสูตรให้กลายมาเป็นครื่องดื่ม ใช้เฉาก๊วยเส้นเล็กๆ ใส่ในน้ำเชื่อม เพื่อรับประทานง่ายยิ่งขึ้น เดี๋ยวนี้ เฉาก๊วย ถูกทำให้เพิ่มมูลค่า นำมาใส่ในเครื่องดื่มอย่าง ชา กาแฟ นมสด ก็อร่อยไปอีกแบบ ฉลาดซื้อฉบับนี้ ขอนำเสนอผลทดสอบ “สารกันบูดในเฉาก๊วย” ลองไปดูกันสิว่าขนมหวานในดวงใจของใครหลายๆ คน ปลอดภัยจากการใช้สารกันบูดหรือเปล่า?ผลทดสอบ- จำนวนตัวอย่าง เฉาก๊วย ที่นำมาทดสอบครั้งนี้มีทั้งหมด 30 ตัวอย่าง มีตัวอย่างที่ไม่พบการปนเปื้อนของสารกันบูด ทั้ง เบนโซอิก และ ซอร์บิก ถึง 14 ตัวอย่าง หรือเกือบ 50% ของตัวอย่างทั้งหมดที่นำมาทดสอบ ถือว่าเป็นข่าวดีของผู้บริโภค- นอกจากนี้ยังพบว่ามีอีก 5 ตัวอย่าง ที่พบการปนเปื้อนของ เบนโซอิก น้อยกว่า 1.50 มิลลิกรัมต่อ 1 กิโลกรัม ซึ่งถือว่าเป็นปริมาณที่น้อยมาก- มีตัวอย่างเฉาก๊วยที่พบปริมาณสารกันบูด เบนโซอิก และ ซอร์บิก เกินมาตรฐาน เพียงแค่ 1 ตัวอย่างเท่านั้น คือ เฉาก๊วยอาโก ศูนย์การค้าบางประกอก ที่พบปริมาณเบนโซอิก 1,387.37 มิลลิกรัมต่อปริมาณเฉาก๊วย 1 กิโลกรัม เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดที่สูงสุดไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อปริมาณเฉาก๊วย 1 กิโลกรัมข้อสังเกตเรื่องการแสดงฉลาก-ตัวอย่างที่พบการปนเปื้อนของ เบนโซอิก และ ซอร์บิก จำนวน 16 จาก 30 ตัวอย่าง มีเพียง 4 ตัวอย่างที่แจ้งข้อมูลบนฉลากว่ามีการใช้สารกันบูด ประกอบด้วย1.ยี่ห้อ ปุ้น & เปา แจ้งว่า ใช้วัตถุกันเสีย INS202, 211 หรือ โปแตสเซียม ซอร์เบต และ โซเดียม เบนโซเบต ซึ่งเป็นสารในกลุ่มสารกันเสีย เบนโซเอต ทั้ง 2 ชนิด โดยผลทดสอบพบ เบนโซอิก 219.56 มก./กก. และพบซอร์บิก 180.17 มก./กก.2.เฉาก๊วย (jelly glass) ของ นิตยาวุ้นมะพร้าว แจ้งว่า ใช้วัตถุกันเสีย โซเดียเบนโซเอท (INS211) ผลทดสอบพบ เบนโซอิก 292.03 มก./กก. และพบซอร์บิก 231.05 มก.กก.3.ยี่ห้อ แม่ปิงเฉาก๊วย แจ้งว่า ใช้วัตถุกันเสียโซเดียเบนโซเอท (INS211) ผลทดสอบพบ เบนโซอิก 321.05 มก./กก. และพบซอร์บิก 260.19 มก.กก.4.เฉาก๊วยอาโก ศูนย์การค้าบางปะกอก แจ้งว่า มีโซเดียมเบนโซเอท 0.02% ผลทดสอบพบ เบนโซอิก 1,387.37 มก./กก. ข้อสังเกตเกี่ยวกับ ฉลากสินค้าที่แจ้งว่าไม่มีวัตถุกันเสียมีกลุ่มตัวอย่างที่แจ้งว่า “ไม่มีวัตถุกันเสีย” บนฉลากแต่จากผลทดสอบพบว่า มีการปนเปื้อน ได้แก่ 1.ยี่ห้อ นายอุ๋ย เฉาก๊วยโบราณ ผลทดสอบพบ เบนโซอิก น้อยกว่า 1.50 มก./กก.2.ยี่ห้อ เมจิกฟาร์ม ดีเซิ้ดทคัพ ขนมเยลลี่คาราจีแนน ผสมบุกผง ถั่วแดงและน้ำเฉาก๊วย 15% ผลทดสอบพบ เบนโซอิก 6.53 มก./กก. และพบซอร์บิก 3.74 มก./กก.3.ยี่ห้อ เฉาก๊วยดอนเมือง (แบบถัง) ผลทดสอบพบ เบนโซอิก 68.85 มก./กก. 4.ยี่ห้อ เฉาก๊วยดอนเมือง (แบบถุง) ผลทดสอบพบ เบนโซอิก 79.41 มก./กก.มาตรฐานการใช้สารกันบูดใน เฉาก๊วย เฉาก๊วย จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับผลิตภัณฑ์ เยลลี่ เพราะมีกรรมวิธีในการผลิตในลักษณะเดียวกัน ซึ่งตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 213) พ.ศ. 2543 เรื่อง แยม เยลลี่ และมาร์มาเลด ในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท นิยามความหมายของ เยลลี่ ไว้ว่า ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากน้ำผลไม้ล้วนที่ได้จากการคั้นสดหรือสกัดจากผลไม้ หรือทำจากน้ำผลไม้ล้วนที่ผ่านกรรมวิธี หรือทำให้เข้มข้น หรือแช่แข็ง ซึ่งผ่านการกรองและผสมกับ น้ำตาลทำให้มีความข้นเหนียวพอเหมาะ (ส่วนเฉาก๊วยทำจากพืชที่เรียกว่า หญ้าเฉาก๊วยหรือGrass Jelly )สำหรับข้อกำหนดเรื่องการใช้สารกันบูด กรดเบนโซบิก และ กรดซอร์บิก ในประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 381) พ.ศ. 2559 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 4) กำหนดไว้ อาหารกลุ่ม แยม เยลลี่ และมาร์มาเลด สามารถใช้ กรดเบนโซอิก ได้สูงสุดไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อปริมาณอาหาร 1 กิโลกรัม ส่วน กรดซอร์บิก สามารถใช้ได้สูงสุดไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อปริมาณอาหาร 1 กิโลกรัม เช่นกัน ทั้งนี้หากมีการใช้วัตถุเจือปนอาหารในกลุ่มหน้าที่เดียวกันรวมกันตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไป ปริมาณรวมที่ใช้ต้องไม่เกินปริมาณสูงสุดที่กฎหมายอนุญาตของสารตัวใดตัวหนึ่ง (อิงตัวที่ปริมาณน้อยที่สุด) ซึ่งในกรณีของ เฉาก๊วย อนุญาตให้ใช้สารกันเสีย กรดเบนโซบิก และ กรดซอร์บิก รวมกันสูงสุดไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม -------------------------------------------------------------ฉลาดซื้อแนะนำ1.เฉาก๊วย ชนิดที่จำหน่ายในภาชนะบรรจุ นอกจากจะมีมาตรฐานที่ควบคุมโดยกระทรวงสาธารณสุขแล้ว ยังมีมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน ที่ออกโดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เป็นมาตรฐานแบบสมัครใจที่ช่วยทั้งยกระดับคุณภาพของผู้ผลิตสินค้า และสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์2.มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) เฉาก๊วย จะดูเรื่องการบรรจุ ภารชนะบรรจุที่สะอาด แห้ง ปิดสนิท สามารถป้องกันการปนเปื้อนจากสิ่งสกปรกภายนอกได้ นอกจากนี้ยังดูเรื่องของการแสดงเครื่องหมายและฉลากบนบรรจุภัณฑ์ ต้องมีข้อมูล คือ -ชื่อเรียกผลิตภัณฑ์ เช่น เฉาก๊วย วุ้นดำ เฉาก๊วยหวาน-ส่วนประกอบที่สำคัญ-น้ำหนักสุทธิ-วัน เดือน ปีที่ผลิต และวัน เดือน ปีที่หมดอายุ หรือข้อความว่า “ควรบริโภคก่อน (วัน เดือน ปี)”-ข้อแนะนำในการบริโภคและการเก็บรักษา เช่น ควรเก็บไว้ในตู้เย็น-ชื่อสถานที่ผลิต พร้อมสถานที่ตั้ง หรือเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนในกรณีที่ใช้ภาษาต่างประเทศ ต้องมีความหมายตรงกับภาษาไทยที่กำหนดไว้ข้างต้น3.คุณลักษณะที่ดีของเฉาก๊วย ที่กำหนดไว้ในมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน มีดังนี้ สี     ต้องมีสีที่ดีตามธรรมชาติของส่วนประกอบที่ใช้กลิ่นรส     ต้องมีกลิ่นรสที่ดีตามธรรมชาติของส่วนประกอบที่ใช้ ไม่มีกลิ่นแอลกอฮอล์ ปราศจากกลิ่นรสอื่นที่ไม่พึงประสงค์เนื้อสัมผัส    ต้องนุ่ม หยุ่นตัว ไม่แข็งกระด้าง ต้องไม่พบสิ่งแปลกปลอมที่ไม่ใช่ส่วนประกอบที่ใช้4.ข้อนี้ แค่มองด้วยตาเปล่าอาจดูไม่เห็น แต่ในมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนกำหนดการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ในเฉาก๊วยเอาไว้ด้วย -จำนวนจุลินทรีย์ทั้งหมด ต้องไม่เกิน 1X104  โคโลนีต่อตัวอย่าง 1 กรัม-เอสเชอริเชีย โคไล โดยวิธีเอ็มพีเอ็ม ต้องน้อยกว่า 3 ตัวอย่าง 1 กรัม-ยีสและรา ต้องไม่เกิน 100 โคโลนีต่อตัวอย่าง 1 กรัมอันตรายของ เบนโซอิก และ ซอร์บิกเป็นกลุ่มสารกันเสียที่กฎหมายอนุญาตให้ใช้ในอาหาร ซึ่งนิยมใช้ใน แยม เยลลี่ ผักผลไม้ดอง เครื่องดื่ม น้ำหวาน น้ำอัดลม แต่หากได้รับสารทั้ง 2 ชนิดจากการรับประทานอาหารในปริมาณสูง อาจส่งผลเสียต่อร่างกายทำให้เกิดการระคายเคืองระบบทางเดินอาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย วิงเวียน และปวดศีรษะผลวิเคราะห์เฉพาะตัวอย่างที่ส่งตรวจเท่านั้นสำรวจเมื่อเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2560

อ่านเพิ่มเติม >





ฉบับที่ 198 นักเรียนเขาคิดอย่างไรกับเรื่องรถโรงเรียน

ปี 2558 รถรับส่งนักเรียนเกิดอุบัติเหตุ 17 ครั้ง บาดเจ็บ 212 คน เสียชีวิต 24 รายปี 2559 รถรับส่งนักเรียนเกิดอุบัติเหตุ 27 ครั้ง บาดเจ็บ 231 คน เสียชีวิต 4 รายการเดินทางไปร่ำเรียนหนังสือของเด็กไทยในทุกวันนี้ มีเด็กนักเรียนจำนวนมากที่ผู้ปกครองเลือกวิธีการให้ลูกโดยสารไปกับ “รถรับส่งนักเรียน” โดยเชื่อว่าจะช่วยทำให้เด็กทั้งเดินทางสะดวกสบายและประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนที่พ่อแม่จะต้องไปส่งเด็กที่โรงเรียนเอง ทั้งนี้ส่วนหนึ่งก็เชื่อมั่นด้วยว่า มีความปลอดภัยกว่าที่จะให้ลูกหลานไปกับรถโดยสารประจำทางหรือขับขี่รถไปเอง แต่จะมีพ่อแม่ผู้ปกครองคนไหนบ้าง ที่จะตระหนักว่า รถรับส่งนักเรียนที่มารับลูกของเรานั้น ก็มีความเสี่ยงอันตรายมากเช่นกัน   จากการติดตามสถานการณ์ปัญหาเรื่องอุบัติเหตุที่เกิดกับรถรับส่งนักเรียนในหลายปีที่ผ่านมา ของโครงการ Safe Thai Bus ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค พอที่จะสรุปปัญหาได้ว่า อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นและสร้างความเสียหายจนถึงแก่ชีวิตของลูกหลานเรา มาจากสาเหตุหลักคือการนำรถยนต์ที่ไม่ได้จดทะเบียนเพื่อเป็นรถรับส่งนักเรียนโดยเฉพาะไปทำเป็นรถรับส่งนักเรียน หรือการใช้รถยนต์ผิดประเภทนั่นเอง  จากข้อมูลของกรมการขนส่งทางบก มีรถจดทะเบียนรถรับส่งนักเรียน จนถึงเดือนกรกฎาคม 2559 จำนวน 22,861 คัน แบ่งเป็น รถตู้ จำนวน 15,781 คัน, รถสองแถว จำนวน 3,175 คัน และรถกระบะปิคอัพ จำนวน 2,667 คัน และมีการนำรถมาใช้ผิดประเภทจำนวน 2,788 คัน (อ้างอิงจาก ข่าวไทยพีบีเอส เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2560) ซึ่งจากการทำงานของโครงการฯ แล้วจำนวนรถที่มีการใช้ผิดประเภทน่าจะมีจำนวนมากกว่านี้อีกมาก อย่างไรก็ตาม เพื่อสร้างความเข้าใจต่อสถานการณ์ในปัจจุบันของเรื่องรถรับส่งนักเรียนให้ดียิ่งขึ้น ทางโครงการฯ จึงได้ ทำการสำรวจจากผู้ใช้บริการโดยตรงคือ น้องๆ นักเรียน ว่าสภาพการใช้งานจริงๆ นั้น เป็นอย่างไร  โดยมีอาสาสมัครจากเครือข่ายผู้บริโภคทั้ง 6 ภาคทั่วประเทศเป็นผู้รวบรวมข้อมูล   การสำรวจสภาพการให้บริการของรถรับส่งนักเรียน  ในการสำรวจสภาพการให้บริการของรถรับส่งนักเรียน ซึ่งรวบรวมข้อมูลโดยอาสาสมัครเครือข่ายผู้บริโภค 6 ภาค พบว่า ปัจจุบันมีการนำรถยนต์ส่วนบุคคล ประเภท รถตู้ และรถกระบะดัดแปลงเพิ่มเติมที่นั่งสองแถว มาใช้รับจ้างรับส่งนักเรียนทั้งในและนอกเขตจังหวัดเป็นจำนวนมาก แต่เนื่องจากเป็นรถที่มีขนาดเล็ก เมื่อนำไปรับส่งนักเรียน อาจก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยกับนักเรียน นอกจากนี้ยังไม่มีกฎระเบียบควบคุมในเรื่องความปลอดภัย รถรับส่งนักเรียนลักษณะนี้เป็นรถไม่มีมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด ไม่มีการปรับปรุงสภาพตัวรถให้มีความปลอดภัยสำหรับใช้รับส่งนักเรียน  และเพราะไม่ได้มีที่มาที่ถูกต้องตามกฎหมาย คือเป็นรถที่ไม่ได้รับอนุญาต  จึงมากมายไปด้วยปัญหา ทั้งพนักงานขับรถไม่มีคุณภาพ การขับรถเร็วไม่เคารพกฎจราจร บรรทุกเด็กนักเรียนเกินกว่าที่นั่งของรถที่กฎหมายกำหนด ไม่มีคาดเข็มขัดนิรภัย การปรับเบาะที่นั่งเป็นเบาะยาวในรถตู้ ดัดแปลงสภาพส่งผลกระทบต่อความมั่นคงแข็งแรง รถมีสภาพเก่าไม่เหมาะกับการให้บริการ รวมถึงการไม่จัดทำประกันภัยทั้งภาคบังคับและภาคสมัครใจ ด้วยลักษณะดังกล่าว ทำให้สถานการณ์ของการรับส่งนักเรียนอยู่ในภาวะน่าเป็นห่วง   ลักษณะการเดินทางไป-กลับโรงเรียนและค่าใช้จ่ายต่อเดือน นักเรียนที่ตอบแบบสอบถามของโครงการฯ พบว่า กลุ่มใหญ่ที่สุด คือ 894 คน จากจำนวนผู้ตอบทั้งหมด 2,996 คน ต้องเดินทางไปโรงเรียนในระยะทางที่มากกว่า 20 กิโลเมตร รองลงมาคือ เดินทางในระยะ 16-20 กิโลเมตร 837 คน หรือ ร้อยละ 30 และ ร้อยละ 28 ตามลำดับ โดยมีนักเรียนที่ใช้ระยะเดินทางไม่เกิน 5 กิโลเมตรอยู่เพียงร้อยละ 7 หรือ 224 คน  โดยเวลาที่เสียไปกับการเดินทางปรากฏว่า น้องนักเรียนส่วนใหญ่ไปถึงโรงเรียนในเวลาไม่เกิน 30 นาที ถึง 1,401 คน จากผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด 3,265 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 43 รองลงมาตอบว่า ราว 30 นาที – 1 ชั่วโมง จำนวน 1,200 คน หรือร้อยละ 37 (ถึงไวจริงๆ ) สำหรับค่ารถที่จ่ายให้กับบริการรถรับส่ง มีผู้ตอบว่า อยู่ในช่วงราคา 300-600 บาท มากที่สุด (1,252 คน) และอยู่ในช่วงราคา 600-900 บาทต่อเดือนรองลงมา (1,029 คน) หรือคิดเป็นร้อยละ 41 และร้อยละ 34 จากผู้ตอบแบบสอบถามในส่วนนี้ทั้งหมด 3,043 คน  รถตู้ คือรถยอดนิยมนำมาทำรถรับส่งนักเรียน จากการรวบรวมข้อมูลทั้งหมดภาพรวม พบว่า รถตู้ ถูกนำมาทำเป็นรถรับส่งนักเรียนมากสุด โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 1,869 คน รองลงมา คือ รถกระบะ รถสองแถว รถบัส และ รถสี่ล้อใหญ่ หรือ คิดเป็นรถตู้ ร้อยละ 46 รถกระบะ ร้อยละ 25 รถสองแถว ร้อยละ 11 รถบัส ร้อยละ 9 และรถสี่ล้อใหญ่ ร้อยละ 4จากจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมดจำนวน 4,081 คน    แต่เมื่อแยกรายภาค พบว่า ภาคอีสานจะนิยมรถกระบะมากเป็นอันดับหนึ่ง คิดเป็นร้อยละ 42 รถสองแถว และรถบัสกลายเป็นอันดับรองๆ ลงมา มากกว่ารถตู้ ซึ่งตอบแบบสอบถามเพียง ร้อยละ 8 เท่านั้น เหตุผลที่ต้องใช้บริการรถรับส่งนักเรียน                เรื่องความสะดวกติดโผมาอันดับหนึ่ง ความปลอดภัยมาเป็นอันดับสอง และตอบว่า ไม่มีทางเลือกเป็นอันดับ สาม (ร้อยละ 44 ร้อยละ 19 และไม่มีทางเลือก ร้อยละ 13) สภาพขณะโดยสารตอกย้ำเรื่องความไม่ได้มาตรฐานของรถรับส่งนักเรียน              จากการรวบรวมข้อมูล เราพบว่า เด็กนักเรียนส่วนใหญ่ในการใช้บริการครั้งล่าสุดยังพบว่า มีคนที่ไม่มีที่นั่ง หรือต้องยืนไปโรงเรียน อยู่ที่ร้อยละ 15 และอีกร้อยละ 86 ไม่มีการคาดเข็มขัดนิรภัยเพื่อความปลอดภัย นอกจากนี้ ยังพบว่า ภายในรถไม่มีอุปปกรณ์ความปลอดภัย เช่น ถังดับเพลิง ค้อนทุบกระจก ถึงร้อยละ 31 และร้อยละ 29 ตอบว่าไม่ได้สังเกตหรือไม่ทราบว่ามีไม่มี(อาจเพราะไม่ได้อยู่ในตำแหน่งที่สังเกตได้ง่าย) จากข้อมูลที่ได้ออกไปรวบรวมมาในครั้งนี้ จึงไม่น่าแปลกใจหากจะพบว่า รถรับส่งนักเรียนส่วนใหญ่ที่ให้บริการในปัจจุบัน ยังไม่สามารถปฏิบัติให้เป็นไปตามระเบียบหรือกฎหมายที่กำหนดไว้ได้  ประกอบกับการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ยังไม่ได้ทำอย่างจริงจัง มีการปล่อยปละละเลยหรืออนุโลมมาอย่างต่อเนื่อง เสมือนเป็นการสนับสนุนและเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการนำรถยนต์ส่วนบุคคลที่ไม่ได้รับอนุญาตมาวิ่งรับส่งนักเรียนแบบผิดกฎหมายอย่างทั่วถึงเช่นในปัจจุบัน 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 198 เลือกยาสีฟันให้เหมาะกับช่องปาก

ยาสีฟัน เป็นเครื่องสำอางอีกประเภทหนึ่งที่วางจำหน่ายมากมายหลายสูตรในท้องตลาดบ้านเรา ไม่ว่าจะเป็นสูตรสมุนไพร สูตรฟันขาวหรือสูตรป้องกันฟันผุ ทำให้หลายคนไม่แน่ใจว่าควรเลือกซื้ออย่างไรให้เหมาะกับตนเอง รวมทั้งอาจเชื่อว่าการเลือกยาสีฟันที่ทำจากสมุนไพรจะดีกับช่องปากมากที่สุด แต่มันเป็นเช่นนั้นจริงหรือรู้จักหน้าที่ของยาสีฟันกันก่อนยาสีฟันเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทำความสะอาดร่วมกับแปรงสีฟัน มีลักษณะเป็นผง ของเหลวหรือของเหลวข้น ซึ่งแม้จะมีมากมายหลายยี่ห้อหรือหลายสูตร แต่หน้าที่หลักของยาสีฟันคือการช่วยทำให้ฟันสะอาด หรือเสริมประสิทธิภาพการแปรงฟัน เพื่อให้มีการกำจัดเอาแผ่นคราบจุลินทรีย์ออกได้ง่ายขึ้น โดยทุกยี่ห้อจะมีส่วนประกอบหลัก ดังนี้ 1. สารที่ใช้ทำความสะอาดหรือขัดฟัน ทำหน้าที่ขจัดคราบที่ติดบนผิวฟัน 2. สารลดแรงตึงผิว ทำหน้าที่ช่วยทำให้เกิดฟอง 3. สารทำให้ข้น ทำหน้าที่ป้องกันการแยกตัวของเนื้อยาสีฟัน 4. สารควบคุมความเป็นกรด-ด่าง 5. สารปรุงแต่งกลิ่นรส ทำหน้าที่ให้กลิ่นและรสของยาสีฟัน 6. สารกันเสีย ช่วยป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ ซึ่งยาสีฟันจะมีอายุการใช้งานไม่เกิน 3 ปีนับจากวันผลิตไปรู้จักยาสีฟันแต่ละสูตรกันแม้ยาสีฟันจะมีหลายสูตร แต่หากพิจารณาจากส่วนผสมจะสามารถแบ่งออกเป็น 4 ประเภทใหญ่ได้ ดังนี้1. สูตรผสมฟลูออไรด์ ยาสีฟันกลุ่มนี้มีข้อดีคือ สามารถช่วยป้องกันฟันผุได้เมื่อใช้เป็นประจำ ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้แนะนำให้ประชาชนใช้ยาสีฟันกลุ่มฟลูออไรด์เป็นหลัก และควรแปรงฟันแบบ 2 – 2 – 2 คือ แปรงฟันด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ครั้งละนาน 2 นาที และภายใน 2 ชั่วโมงหลังแปรงฟันควรหลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลผสม 2. กลุ่มผสมสารฆ่าเชื้อโรค ยาสีฟันกลุ่มนี้ผสมสารฆ่าเชื้อโรคที่เป็นสารเคมีหรือสมุนไพร เช่น ไตรโคลซาน น้ำมันกานพลู คาโมไมล์ พิมเสน การบูร ชะเอมเทศ ซึ่งมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรค ลดการอักเสบ สมานแผลและช่วยให้เหงือกแข็งแรงได้3. กลุ่มลดอาการเสียวฟัน ยาสีฟันกลุ่มนี้จะมีการใส่สารเคมีบางตัว เช่น สตอนเทียมคลอไรด์หรือโพแทสเซียมไนเตรท ซึ่งเมื่อแปรงแล้วจะสามารถช่วยลดอาการเสียวฟันได้ชั่วคราว4. กลุ่มช่วยให้ฟันขาว ยาสีฟันกลุ่มนี้มีส่วนผสมสารขัดฟัน และอาจมีการใช้สารเคมีที่มีฤทธิ์ฟอกสีฟันอ่อนๆ ร่วมด้วย ซึ่งสามารถช่วยขจัดคราบสีต่างๆ ที่ติดอยู่บนตัวฟันออก ทำให้ฟันดูขาวขึ้น แต่จะไม่ขาวไปกว่าสีธรรมชาติเดิมของฟันอย่างไรก็ตามหากใช้เป็นประจำจะทำให้สารเคลือบฟันบางลง จนฟันเหลืองขึ้นกว่าเดิมหรือมีอาการเสียวฟันมากขึ้น รวมทั้งอาจเกินอาการระคายเคืองต่อเนื้อเยื่อในช่องปากได้ แนะวิธีการเลือกซื้อยาสีฟันหลักพิจารณาง่ายๆ ในเลือกซื้อยาสีฟันสามารถทำได้จาก 3 ข้อดังนี้1. ควรเลือกให้เหมาะสมกับปัญหาช่องปากของเรา เพราะแต่ละคนมีปัญหาสุขภาพช่องปากที่แตกต่างกัน เช่น หากมีอาการเสียวฟันก็ควรใช้สูตรลดอาการเสียวฟัน อย่างไรก็ตามหากใช้งานแล้วผู้บริโภคบางคนอาจมีอาการแพ้ยาสีฟันได้เช่นกัน เช่น อาการปวดแสบปวดร้อนในขณะที่ยาสีฟันอยู่ในปาก หรือหลังใช้งานแล้วพบว่าริมฝีปากดำคล้ำจากอาการแพ้ หรือเนื้อเยื่อบุผิวในปากหลุดลอกออกมาก็ควรเปลี่ยนสูตรใหม่ให้มีความอ่อนโยนมากขึ้น 2. เลือกยี่ห้อที่มีฉลากครบถ้วน ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมยาสีฟัน (พ.ศ. 2552) กำหนดให้ที่กล่องและภาชนะบรรจุยาสีฟันต้องมีรายละเอียด ดังนี้ 1. ชื่อผลิตภัณฑ์ 2. ชนิด 3. ชื่อสารที่เป็นส่วนผสมทั้งหมด 4. ปริมาณสุทธิ แสดงเป็นกรัมหรือลูกบาศก์เซนติเมตร 5. วัน เดือน ปี ที่ผลิตและรหัสรุ่นที่ทำ 6. คำเตือนหรือข้อความตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด 7. วิธีใช้และข้อควรระวัง 8. ชื่อผู้ผลิต หรือเครื่องหมายการค้าจดทะเบียน3. มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ เพราะฟันผุเป็นปัญหาใหญ่ของผู้บริโภค ซึ่งหนึ่งในวิธีที่ดีและง่ายที่สุดในการยับยั้งปัญหาดังกล่าว คือ การเลือกใช้ยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์แปรงฟันเป็นประจำ โดยผู้บริโภคสามารถดูได้จากรายละเอียดส่วนผสม นอกจากนี้หากเราต้องการให้สุขภาพช่องปากดีอยู่เสมอนั้น ควรแปรงฟันและเหงือกให้ถูกวิธี เพราะสามารถช่วยให้เหงือกและฟันสะอาดแข็งแรงได้จริง รวมทั้งควรพบทันตแพทย์เป็นประจำทุกๆ 6 เดือนอีกด้วย 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 198 10 ปีของมหากาพย์ทวงคืนท่อก๊าซ สมบัติชาติ

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและพวกได้ฟ้องศาลปกครองสูงสุดให้เพิกถอนการแปรรูปปตท.เมื่อเดือนสิงหาคม 2549 ศาลปกครองสูงสุดตัดสินคดีนี้ ในวันที่ 14 ธันวาคม 2550 เป็นคดีหมายเลขแดง ที่ ฟ35/2550 คำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ ประกอบด้วย 1) คณะรัฐมนตรี 2) นายกรัฐมนตรี 3) รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน 4) บมจ. ปตท. ดำเนินการโดยสรุปดังนี้ 1) แบ่งแยกสาธารณสมบัติของแผ่นดินคืนให้รัฐ2) ที่ดินที่ได้มาโดยอำนาจมหาชนคืนให้รัฐ3) แยกอำนาจและสิทธิมหาชนออกจากอำนาจและสิทธิของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 (บมจ. ปตท.)ภาค 1 มหากาพย์แปรรูปฮุบสมบัติชาติการแปรรูป "ปตท." ครั้งประวัติศาสตร์ เมื่อปี 2544 เกิดขึ้นหลังจากพรรคไทยรักไทยจัดตั้งรัฐบาลเพียง 9 เดือนเศษ ทั้งที่เคยหาเสียงว่าหากได้เป็นรัฐบาลจะยกเลิก "กฎหมายขายชาติ 11 ฉบับ" ซึ่งเป็นหนึ่งในกฎหมายที่ถูกเรียกขานว่า 'กฎหมายขายชาติ 11 ฉบับ' คือ พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ ที่ออกตามเงื่อนไขการกู้เงิน IMF เพื่อแก้ปัญหาวิกฤติต้มยำกุ้ง ที่เป็นผลจากความไร้วินัยทางการเงินของภาคเอกชนเมื่อปี 2540 แต่เป็นมรดกบาปที่ประชาชนทั้งประเทศต้องมาจ่ายหนี้แทนเอกชนที่ล้มบนฟูกทั้งหลายเมื่อพรรคไทยรักไทยได้เป็นรัฐบาล ทักษิณมองเห็นสำรับผลประโยชน์ที่จัดเตรียมขึ้นโดยกลุ่มสนับสนุนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจตามแนวทางของมิลเลอร์ ฟรีดแมน ที่มีนางมาร์กาเรต แทตเชอร์เอาไปปฏิบัติจนประเทศอังกฤษย่อยยับจากนโยบายแปรรูปของรัฐบาลของเธอ หากใครติดตามข่าวตอนมรณกรรมของอดีตนายกฯหญิงอังกฤษคนนี้เมื่อปี 2556 จะเห็นหนังสือพิมพ์ในอังกฤษหลายฉบับได้พาดหัวข่าวคำสัมภาษณ์ของคนอังกฤษที่พูดว่านางแม่มดชั่วร้ายได้ตายแล้ว (The wicked witch is dead) ประชาชนออกมาจัดปาร์ตี้แสดงความยินดีกับการตายของเธอตามท้องถนนสวนกระแสการไว้ทุกข์ของรัฐบาล(แต่ในประเทศไทยยังมีกลุ่มธุรกิจผูกขาดหลงยุคที่ชื่นชมการแปรรูปสาธารณูปโภคพื้นฐานของนางแทตเชอร์)ทักษิณมองเห็นธุรกิจพลังงานเป็นผลประโยชน์มหาศาล และปตท. คือเครื่องมือสำคัญ จึงละทิ้งสัญญาประชาคมตอนหาเสียงเลือกตั้งแบบกลับหลังหัน และเข้ามาชุบมือเปิบผลประโยชน์ต่อจากกลุ่มนิยมขายสมบัติชาติที่ตั้งสำรับไว้แล้ว และแปรรูปปตท. เป็นภารกิจลำดับแรกๆ หลังเข้ามาเป็นรัฐบาล ในมุมมองตรงกันข้ามการแปรรูปกิจการรัฐในสายตานักเศรษฐศาสตร์ทุนนิยมกระแสหลักที่เน้นความโปร่งใสตรวจสอบได้ และเป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลเมื่อปี 2544 อย่างโจเซฟ สติกลิสต์ที่กล่าวอมตวาจาว่า "การแปรรูปคือการคอรัปชั่น (Privatization is Barbarization ) เพียงการบอกขายสมบัติชาติในราคาต่ำกว่าราคาตลาด ก็จะสามารถฉกฉวยเอาทรัพย์สินมูลค่ามหาศาลเป็นของตนแทนที่จะปล่อยมันไว้ให้คนอื่นเข้ามาถลุง"การแปรรูป "ปตท." เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สะท้อนอมตวาจาของสติกลิสต์ นอกจากนี้เขายังเคยพูดถึงวิกฤติเศรษฐกิจแฮมเบอร์เกอร์เมื่อปี 2551 ว่ารัฐบาลอเมริกันไม่ควรไปอุ้มกลุ่มทุนการเงินที่เป็นผู้สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างร้ายแรงให้กับสหรัฐอเมริกา และประชาคมเศรษฐกิจโลก เขาถามหาสิ่งที่เรียกว่าความรับผิดชอบ และการตรวจสอบได้ (Accountability) ของกลุ่มทุนการเงินเหล่านั้น และเรียกร้องให้คนพวกนั้นเป็นผู้ที่ต้องจ่ายให้กับความเสียหายที่เขาก่อขึ้น ไม่ใช่ให้รัฐบาลเอาภาษีของประชาชนมาจ่าย และปล่อยคนเหล่านี้ลอยนวลไปพร้อมกับเงินก้อนใหญ่สิ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยในวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งเมื่อ 20 ปีที่แล้ว และ 11 ปีก่อนหน้าวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์นั้น ก็ไม่ต่างจากกลุ่มทุนการเงินชาวอเมริกัน คือนอกจากล้มบนฟูกแล้ว ยังตบตูดจากไปอย่างไม่ต้องรับผิดชอบอะไร ปล่อยให้ประชาชนรับกรรมใช้หนี้แทน แล้วยังต้องการนำปตท.ที่เป็นสาธารณสมบัติของชาติมาพยุงตลาดหลักทรัพย์ที่ซบเซาจากวิกฤติเศรษฐกิจในครั้งนั้น ทั้งที่มาจากความโลภและความไร้วินัยทางการเงินของสถาบันการเงินภาคเอกชนเอง โดยคนเหล่านั้นหาได้มีจิตสำนึกความรับผิดชอบใดๆ ไม่เมื่อรัฐบาลต้องการแปรรูปปตท. ซึ่งทางคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ มีมติเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2544 ให้ปตท.ซึ่งขณะนั้นคือการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยที่ยังเป็นรัฐวิสาหกิจ 100% ไปดำเนินการแยกกิจการท่อก๊าซธรรมชาติ ออกจากกิจการจัดหาและจำหน่ายก่อนการแปรรูปและนำเข้าไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ โดยให้ ปตท.คงการถือหุ้นในกิจการนี้ร้อยละ 100 มติดังกล่าวจึงมิได้ให้มีการนำกิจการท่อก๊าซธรรมชาติเข้าไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ด้วย แต่ทักษิณอ้างว่าหากต้องรอการแยกกิจการท่อส่งก๊าซก่อน ก็จะไม่สามารถนำปตท. เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ได้ทันในปลายปี 2544 รัฐบาลจึงมีมติให้แปรรูปทั้งองค์กรไปก่อน และนำปตท. ไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ทันที โดยมีมติครม. ว่าจะแยกท่อก๊าซหลังระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แล้ว 1 ปี แต่หลังจากนั้น รัฐมนตรีพลังงานในสมัยนั้น ก็กลับมติ โดยให้ยกเลิกมติเดิมที่จะแยกท่อก๊าซภายใน 1 ปี เพราะอ้างว่ามีการเปลี่ยนนโยบายจากระบบ Power pool คือระบบที่ให้บุคคลที่ 3 เข้าร่วมใช้ระบบท่อส่งก๊าซ กลับไปเป็นระบบ Single buyer คือผูกขาดเจ้าเดียวโดยให้ปตท. เป็นผู้ผูกขาดการซื้อก๊าซและใช้ระบบท่อเพียงรายเดียว อันเป็นการโอนย้ายอำนาจผูกขาดจากรัฐไปให้เอกชน  สาเหตุที่ไม่ยอมแยกท่อก๊าซออกก่อนการนำไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ เพราะท่อส่งก๊าซมีลักษณะผูกขาดโดยธรรมชาติทำให้กิจการก๊าซเป็นกิจการไม่มีคู่แข่ง ย่อมทำให้ผู้ครอบครองท่อก๊าซได้รับผลประโยชน์สูงจากกิจการก๊าซไปด้วย การมีมติครม. ว่าจะแยกท่อก๊าซหลังจากนั้นก็เป็นเพียงมติแบบขอไปที และในที่สุดก็ยกเลิกการแยกท่อก๊าซ ซึ่งเข้าข่ายเป็นการยักยอกทรัพย์ของแผ่นดิน ใช่หรือไม่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและพวกร่วมกันฟ้องเพิกถอนการแปรรูปปตท. ต่อศาลปกครองสูงสุดในเดือนสิงหาคม ปี 2549 ในคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดได้บรรยายอย่างชัดเจนว่าการแปรรูปโดยไม่ได้ทำตามเงื่อนไขในกฎหมายทุนรัฐวิสาหกิจที่กำหนดเงื่อนเวลาในการแยกทรัพย์สินที่ได้มาโดยอำนาจมหาชนและการไม่แบ่งแยกอำนาจรัฐออกจากปตท.ที่เป็นบริษัทเอกชนมหาชน โดยยังมีอำนาจเหมือนปตท. สมัยที่ยังเป็นรัฐวิสาหกิจที่ได้รับมอบอำนาจมหาชนตามกฎหมายจากสภานิติบัญญัตินั้นเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลปกครองสูงสุดได้บรรยายในคำพิพากษาว่าเมื่อปตท.ได้เปลี่ยนสภาพจากการเป็นองค์กรมหาชนของรัฐไปเป็นองค์กรเอกชนมหาชนแล้ว จึงไม่ถือเป็นองคาพยพของรัฐอีกต่อไป แม้ว่ากระทรวงการคลังจะถือหุ้นใหญ่เกิน 51% แต่ก็ไม่ได้ทำให้ปตท. มีสถานะกลับมาเป็นองค์กรมหาชนของรัฐอีกแต่อย่างใด ปตท. จึงไม่สามารถครอบครองทรัพย์สินที่ได้มาด้วยอำนาจมหาชน ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เพื่อการใช้ร่วมกันของคนในชาติ และปตท.ซึ่งแปรสภาพไปเป็นบริษัทเอกชนแล้ว ก็ไม่สามารถใช้อำนาจมหาชนของรัฐได้อีกต่อไปด้วย อันที่จริงศาลมีความเห็นว่า การแปรรูปปตท.เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่การฟ้องเพิกถอนการแปรรูปนั้นเกิดขึ้นหลังจากการแปรรูปปตท. ผ่านไปกว่า 5 ปีแล้ว ปตท. ได้ก่อนิติสัมพันธ์กับบุคคลภายนอกเป็นจำนวนมาก และมูลค่าปตท. ในตลาดหลักทรัพย์ขณะนั้นสูงถึง 8.4 แสนล้านบาท หากเพิกถอนการแปรรูปเกรงจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจศาลปกครองสูงสุดได้อ้างพ.ร.บ.กำกับกิจการพลังงานที่ออกในสมัยรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ว่าเป็นการเยียวยาความเสียหายแล้ว จึงให้ยกคำร้องการเพิกถอนการแปรรูปปตท. แต่สั่งให้แบ่งแยกทรัพย์สินที่ได้มาโดยอำนาจมหาชนและทรัพย์สินที่มาจากการรอนสิทธิคืนให้กับรัฐ และให้ดำเนินการให้เสร็จสิ้นก่อนมีการตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน อีกทั้งไม่ให้ปตท. ใช้อำนาจรัฐอีกต่อไป ในการแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษานั้น รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานในสมัยนั้นกำหนดให้คืนเฉพาะท่อก๊าซบนบกที่มีการรอนสิทธิ ส่วนท่อส่งก๊าซในทะเลไม่ได้คืน ทั้งที่ในคำพิพากษาระบุว่าท่อส่งก๊าซและท่อส่งน้ำมันเป็นระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ ซึ่งมีลักษณะเชื่อมต่อกันเป็นระบบจึงต้องคืนทั้งระบบ ไม่ใช่คืนเป็นท่อนหรือเป็นส่วน ๆ แต่กระบวนการแบ่งแยกทรัพย์สินก็ไม่ได้ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ ที่ได้มีมติมอบหมายให้กระทรวงพลังงาน และกระทรวงการคลังไปแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษา และให้สตง. เป็นผู้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้องในการแบ่งแยกทรัพย์สิน หากมีข้อโต้แย้งทางกฎหมายเรื่องทรัพย์สินตามคำพิพากษา มติครม.ก็ได้ระบุให้คณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้วินิจฉัยให้มีข้อยุติต่อไป แม้สตง.จะยืนยันตลอดมาว่าปตท.ยังไม่ได้คืนท่อส่งก๊าซในทะเลและอุปกรณ์ที่รวมกันเป็นระบบตามคำพิพากษาของศาลอย่างครบถ้วน แต่รัฐบาลในสมัยต่อมาก็ไม่ได้ตรวจสอบและกำกับให้หน่วยงานที่มีหน้าที่ดำเนินการตามมติครม.ที่เมื่อมีข้อโต้แย้งว่าท่อก๊าซในทะเลเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่ เมื่อตกลงกันไม่ได้ต้องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาให้มีข้อยุติว่าท่อส่งก๊าซในทะเลเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือสมบัติของเอกชน เมื่อยังไม่มีข้อยุติเรื่องท่อก๊าซในทะเล แต่หน่วยงานรัฐกลับให้บมจ.ปตท. ซึ่งมีสภาพเป็นลูกหนี้ได้ไปรายงานต่อศาลว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ และผู้เกี่ยวข้องได้เห็นชอบการแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อสตง. ทักท้วงว่าการคืนทรัพย์สินยังไม่ครบถ้วน คณะรัฐมนตรีก็เพิกเฉยทั้งที่มีฐานะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่ต้องดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินให้เป็นไปตามคำพิพากษา และมติครม. ก็มอบหมายให้สตง. เป็นฝ่ายตรวจสอบและรับรองความถูกต้องเสียก่อน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและพวกจึงได้ร้องต่อศาลปกครองสูงสุดหลายครั้ง ซึ่งศาลปกครองได้ยกคำร้องด้วยเหตุผลว่าผู้ร้องไม่ใช่ผู้ชนะคดี และไม่ใช่เจ้าของทรัพย์ จึงไม่สามารถร้องให้มีการบังคับคดีใหม่ได้ ซึ่งในคำพิพากษาเมื่อ 14 ธันวาคม 2550 ศาลได้สั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ ประกอบด้วย 1) คณะรัฐมนตรี 2) นายกรัฐมนตรี 3) รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน และ 4) บมจ. ปตท. ไปดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษา ดังนั้นผู้ที่มีสิทธิทักท้วงให้มีการบังคับคดีใหม่ให้ถูกต้องคือ คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ซึ่งมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ ส่วนปตท. เป็นลูกหนี้ และอยู่ภายใต้การกำกับของกระทรวงพลังงาน ปรากฏในการแบ่งแยกทรัพย์สินเจ้าหนี้ปล่อยให้ลูกหนี้ไปรายงานต่อศาลว่าคืนทรัพย์สินครบถ้วนแล้ว ทั้งที่สตง. ทักท้วงว่าไม่ครบ แต่เจ้าหนี้ไม่ทักท้วงว่าลูกหนี้ยังไม่คืนท่อในทะเล และไม่ได้ให้กฤษฎีกาวินิจฉัยข้อโต้แย้งว่าท่อในทะเลเป็นสาธารณสมบัติที่ต้องคืนหรือไม่ตามที่ฝ่ายตรวจสอบคือสตง. บอกว่าต้องคืนด้วย ปรากฏว่าเจ้าหนี้พอใจตามที่ลูกหนี้คืนให้โดยไม่ทักท้วง และไม่ฟังฝ่ายตรวจสอบของตัวเองอีกด้วย จากการนำคดีไปฟ้องร่วมกับประชาชน 1,455 คน เรื่องที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 ไม่ได้ทำตามมติคณะรัฐมนตรี ของรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ จุลานนท์ ที่ให้การแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษานั้นต้องให้สตง.เป็นผู้ตรวจสอบ และรับรองความถูกต้องเสียก่อน การฟ้องของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและพวกนั้น ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งที่ 800/2557 วินิจฉัยว่าข้ออ้างของผู้ร้องว่ามีการไม่ปฏิบัติตามมติครม.นั้นเป็นเรื่องที่คณะรัฐมนตรีต้องไปว่ากล่าวกันเอง ความหมายคือมีแต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่เป็นเจ้าหนี้ตามกฎหมายเท่านั้นที่จะสามารถโต้แย้งว่าการคืนทรัพย์สินยังไม่ครบถ้วนตามการตรวจสอบของสตง. เมื่อปรากฏว่าคณะรัฐมนตรีไม่ว่ากล่าวให้มีการดำเนินการให้ถูกต้อง ประชาชนจึงต้องตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหารว่ามีการปฏิบัติถูกต้องในฐานะเป็นเจ้าหนี้แทนประชาชนหรือไม่ มูลนิธิฯ และพวกจึงนำเรื่องร้องเรียนต่อคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ตามพ.ร.บ. ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน 2542 คตง. มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบว่าหน่วยรับตรวจได้ทำตามกฎหมายระเบียบ คำสั่ง รวมทั้งมติครม.หรือไม่ คตง. อาศัยคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 800/2557 ตรวจสอบแล้วมีคำวินิจฉัยเมื่อ 10 พฤษภาคม 2559 ว่ายังมีการคืนทรัพย์สินไม่ครบถ้วน ยังมีท่อก๊าซในทะเลและบนบกมูลค่าประมาณ 3.2 หมื่นล้านบาทที่ต้องคืน และคตง. มีหนังสือเมื่อ 24 สิงหาคม 2559 แจ้งผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 ให้ดำเนินการคืนให้ครบถ้วนภายใน 60 วัน แต่จนถึงขณะนี้รัฐบาลคสช. ก็ยังไม่ปฏิบัติตามมติของคตง. ซึ่งอาจเข้าข่ายเป็นความผิดฐานละเว้นไม่ปฏิบัติตามกฎหมายอาญามาตรา 157 ต่อมาคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษได้วินิจฉัยเรื่องท่อก๊าซในทะเลเป็นสาธารณสมบัติหรือไม่ ตามการร้องของสตง. คณะกรรมการกฤษฎีกาได้วินิจฉัยว่าคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดเมื่อ 14 ธันวาคม 2550 นั้นมีความชัดเจนว่าท่อส่งก๊าซเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน และศาลมองท่อก๊าซเป็นระบบไม่ว่าท่อก๊าซนั้นจะผ่านบนที่ดินใคร เพราะไม่ได้มองท่อก๊าซเป็นท่อนเป็นส่วน ดังนั้นคำพิพากษาจึงมีความชัดเจนขึ้นอยู่กับว่ามีการปฏิบัติตามคำพิพากษาอย่างครบถ้วนหรือไม่ ท่อก๊าซธรรมชาติที่ถูกแปรรูป และไม่มีการแยกออกมาก่อนการนำไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ทำให้หุ้นของปตท. มีมูลค่าแบบก้าวกระโดดโดยที่ท่อก๊าซมีลักษณะผูกขาดโดยธรรมชาติที่ตามกฎหมายไม่อาจยกให้เอกชนครอบครองได้นั้น แม้มีคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดเมื่อ 14 ธันวาคม 2550 แล้วก็ไม่ได้มีการแบ่งแยกท่อก๊าซคืนทั้งระบบ การไม่แยกกิจการท่อก๊าซออกมา จึงทำให้ปตท. ได้กำไรจากกิจการท่อก๊าซรองมาจากกิจการการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม โดยที่กิจการทั้ง 2 ส่วนนี้เกื้อหนุนกัน เพราะปิโตรเลียมที่พบในประเทศเป็นก๊าซธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ จึงต้องอาศัยท่อส่งก๊าซในการขนส่งก๊าซจากแหล่งผลิตมาถึงโรงแยกก๊าซ ปตท. ผูกขาดกิจการก๊าซทั้งระบบเพราะได้ครอบครองและใช้ท่อก๊าซในระบบผูกขาดเจ้าเดียว และยังได้สิทธิผูกขาดการซื้อก๊าซเจ้าเดียวอีกด้วย ซึ่งสิทธินี้เคยเป็นสิทธิผูกขาดของกระทรวงอุตสาหกรรมและต่อมามอบให้การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย หลังการแปรรูป สิทธินี้ยังไม่ได้คืนตามคำพิพากษาที่ระบุให้แยกอำนาจและสิทธิมหาชนออกจากอำนาจและสิทธิของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 คือปตท.จึงทำให้รายได้ของปตท. จากท่อก๊าซธรรมชาติสูงถึงประมาณ 356,000 ล้านบาท ในระยะเวลา 14 ปี (2544-2558) โดยปตท.จ่ายค่าเช่าท่อที่คืนให้รัฐบางส่วนตามคำพิพากษาเมื่อ 14 ธันวาคม 2550 ซึ่งเป็นเม็ดเงินประมาณ 6,000 ล้านบาทในระยะเวลา 14 ปีภาค 2 มหากาพย์แยกท่อก๊าซเป็นสมบัติเอกชนแผนการฮุบท่อส่งก๊าซไปเป็นของเอกชนยังคงเป็นโรดแมปสำคัญ หลังการรัฐประหารของคสช. ในปี 2557 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานได้อนุมัติให้มีการแยกกิจการท่อส่งก๊าซออกมาตั้งเป็นบริษัทลูกของปตท.ประธานคณะกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการ บมจ. ปตท. เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2557 ว่า ได้เห็นชอบแนวทางการเพิ่มการแข่งขันในธุรกิจพลังงาน และลดอำนาจการผูกขาดของปตท. โดยให้ปตท. ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรียุครัฐบาลทักษิณเมื่อปี 2544 คือให้ดำเนินการแยกท่อก๊าซ ปตท. ให้เป็นบริษัทลูกเพื่อเปิดให้บุคคลที่ 3 มาใช้ท่อก๊าซฯ ด้วยประธานกรรมการปตท. ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการเผชิญหน้า ทีวีสปริงนิวส์ว่า จะแยกท่อก๊าซออกมาตั้งเป็นบริษัทใหม่โดยให้เป็นของบริษัทปตท.หลังจากนั้นก็แล้วแต่ "คสช." จะตัดสินใจให้คนอื่นมาถือหุ้นแทนปตท. และเรื่องแยกท่อก๊าซก็ต้องทำให้เสร็จก่อนมีการเลือกตั้ง (ที่เคยคาดว่าจะเกิด) ในปี 2558 อีกด้วย เมื่อย้อนไปดูมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2544 ได้มอบหมายให้ปตท. ที่เป็นรัฐวิสาหกิจไปดำเนินการแยกท่อส่งก๊าซก่อนการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ และมอบหมายให้ปตท. ที่เป็นรัฐวิสาหกิจ 100% ในขณะนั้นคงการถือหุ้นในกิจการนี้ร้อยละ 100 ตามมติดังกล่าวแสดงว่าระบบท่อส่งก๊าซต้องเป็นของรัฐ 100% แต่กระบวนการแปรรูปโดยไม่แยกท่อก๊าซ จึงเป็นข้อต่อที่สำคัญที่จะถ่ายโอนท่อส่งก๊าซทั้งระบบไปเป็นสมบัติเอกชน ซึ่งศาลมีคำสั่งให้คืนแต่ก็ไม่ยอมคืนท่อทั้งระบบที่แปรรูปไป ข้อเสนอให้ดำเนินการแยกระบบท่อก๊าซมาตั้งเป็นบริษัทใหม่ครั้งใหม่นี้ ย่อมมีความแตกต่างจากมติเดิมของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เพราะปตท.ในขณะนี้เป็นบมจ.ปตท. ที่รัฐถือหุ้นเพียง 51% และมีเอกชนมาถือหุ้นร่วมด้วยอีก 49% ปตท. ในขณะนี้จึงไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ 100% เหมือนเมื่อก่อนแปรรูป ดังนั้นการแยกท่อก๊าซมาตั้งเป็นบริษัทใหม่ตามข้อเสนอนี้ จะทำให้รัฐและประชาชนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ระบบท่อส่งก๊าซเพียง 51% เท่านั้นไม่ใช่เป็นเจ้าของ 100% ตามมติเดิมของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติเมื่อปี 2544 หากการแยกท่อก๊าซไปตั้งบริษัทใหม่สำเร็จ ย่อมทำให้ท่อก๊าซตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนโดยสมบูรณ์ ซึ่งคือการย้อนกลับไปสู่สภาพก่อนที่มีคำพิพากษาจากศาลปกครองสูงสุด และท่อก๊าซก็จะไม่ได้คืนกลับมาเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอีก คำวินิจฉัยของคตง. และคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษ ทำให้มติกพช.ที่อนุมัติให้มีการแยกท่อก๊าซมาตั้งบริษัทใหม่ต้องหยุดชะงักไป แต่คณะรัฐมนตรีก็ยังไม่ยอมปฏิบัติตามมติคตง. ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด เมื่อ 14 ธันวาคม 2550 ที่มีหน้าที่ต้องแบ่งแยกทรัพย์สินที่เป็นสาธารณสมบัติคืนแผ่นดินให้ครบถ้วนตามคำพิพากษา สิ่งที่รัฐบาลคสช. ควรทำคือปฏิบัติตามการตรวจสอบของคตง. โดยใช้อำนาจบังคับบัญชาตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 800/2557 และมติคตง. 10 พฤษภาคม 2559 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา 20 กันยายน 2559 ให้ปตท. คืนท่อก๊าซทั้งระบบตามคำพิพากษา และควรตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติมารับมอบระบบท่อส่งก๊าซและเปิดให้เอกชนและปตท. ใช้โดยจ่ายค่าบริการให้กับรัฐผ่านองค์กรที่จัดตั้งขึ้นใหม่ การแก้ไขพ.ร.บ. ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 7) ที่ประกาศใช้เมื่อ 22 มิถุนายน 2560 หากรัฐบาลและสภานิติบัญญัติแห่งชาติผ่านกฎหมายและให้จัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติขึ้นมาทำหน้าที่แทนการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยที่ถูกแปรรูปไปเป็นเอกชนแล้วจะเป็นการปฏิรูปนโยบายพลังงานอย่างแท้จริง รัฐบาลจะมีองค์กรใหม่เป็นผู้รับมอบทรัพย์สินหลังจากเอกชนหมดสัมปทาน รวมทั้งรับมอบท่อส่งก๊าซและที่ดินตามคำพิพากษา รวมทั้งถือกรรมสิทธิ์ปิโตรเลียมจากระบบแบ่งปันผลผลิตกับบริษัทเอกชน ซึ่งบริษัทปตท. ที่มีเอกชนถือหุ้นไม่สามารถทำหน้าที่นี้ได้ และให้องค์กรใหม่กำกับดูแลให้มีการประมูลขายปิโตรเลียมทั้งส่วนที่เป็นน้ำมันและส่วนที่เป็นก๊าซที่เป็นของรัฐ และเปิดให้เอกชนทุกรายสามารถใช้ท่อส่งก๊าซโดยจ่ายค่าบริการให้รัฐผ่านบรรษัทพลังงานแห่งชาติ เชื่อว่าระบบก๊าซธรรมชาติในประเทศจะเกิดการแข่งขันกัน และได้ราคาที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ แต่น่าเสียดายที่การครอบงำของกลุ่มทุนพลังงานมีพลังมากจนการปฏิรูปไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ตามโรดแมปของกลุ่มทุนพลังงาน ขั้นตอนแรกคือแปรรูปกิจการสาธารณูปโภคของรัฐให้เป็นรัฐครึ่งเอกชนครึ่ง และขั้นตอนต่อมาคือแปรรูปกิจการให้เป็นของเอกชน 100% ตามแนวคิดของมิลเลอร์ ฟรีดแมน ที่เชื่อว่าทรัพย์สินของรัฐไม่มีใครเป็นเจ้าของ เลยไม่มีใครสนใจดูแล ดังนั้นจึงควรแปรรูปให้เป็นของเอกชน (State owns is nobody owns, Nobody owns is nobody cares) กลุ่มทุนใช้ข้ออ้างเพื่อไม่ให้นักการเมืองเข้ามาล้วงลูกกิจการรัฐวิสาหกิจ จึงควรแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้เป็นของเอกชน ดังที่ปตท. ต้องการแยกทั้งบริษัทท่อก๊าซ และบริษัทน้ำมันและค้าปลีกออกไปเป็นบริษัทลูก ที่รัฐถือหุ้นต่ำกว่า 51% เพื่อให้บริษัทใหม่เป็นบริษัทเอกชนเต็มตัว หากทุนเอกชนสามารถยึดโครงข่ายกิจการสาธารณูปโภคพื้นฐานอย่างโครงข่ายระบบท่อส่งก๊าซได้ ก็เหมือนยึดเส้นเลือดในกายเศรษฐกิจของชาติด้านพลังงานได้ทั้งหมด แล้วเลือดหรือทรัพยากรพลังงานที่ผ่านท่อจะไปไหนเสีย? การที่กลุ่มทุนพยายามผลักดันให้คสช.คงระบบสัมปทานในการให้สิทธิสำรวจผลิตปิโตรเลียมแก่เอกชนต่อไปก็ยิ่งทำให้ทรัพยากรพลังงานที่เป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานของประชาชนตกอยู่ในกำมือของกลุ่มทุนผูกขาดการคงระบบสัมปทานปิโตรเลียมก็คือการยกกรรมสิทธิ์ในทรัพยากรปิโตรเลียมทั้งหมดให้กับกลุ่มทุนพลังงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ เมื่อทุนพลังงานครอบครองกลไกเครื่องมือคือระบบท่อส่งก๊าซ ท่อส่งน้ำมันและได้กรรมสิทธิ์ในทรัพยากรปิโตรเลียมไปด้วย ชะตากรรมของคนไทยก็จะอยู่ในกำมือของกลุ่มทุนพลังงานเอกชนโดยสมบูรณ์ การผูกขาดธุรกิจพลังงาน ราคาพลังงานจะแพงขึ้นเท่าไหร่ ประชาชนต้องก้มหน้ารับกรรมกันไป จะไปเรียกร้องตรวจสอบอะไรอีกไม่ได้ เพราะเขาเป็นเอกชนเต็มตัว เมื่อตอนกลุ่มธุรกิจเอกชนใหญ่ก่อวิกฤตเศรษฐกิจฟองสบู่ประชาชนต้องเข้าไปรับเคราะห์ใช้หนี้แทน แต่พอเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว เขาก็มาฮุบสาธารณูปโภคพื้นฐานของประชาขน เอาไปเป็นสมบัติส่วนตัวของผู้ถือหุ้นใหญ่ ๆ ไม่กี่ราย มหากาพย์ฮุบสมบัติชาติด้านพลังงานจะเสร็จสมบูรณ์ตามโรดแมปของกลุ่มทุนพลังงานหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความตื่นรู้ของประชาชนคนไทยทั้งปวง และความสุจริตและธรรมาภิบาลของผู้บริหารบ้านเมืองทั้งในปัจจุบันและอนาคต

อ่านเพิ่มเติม >