ฉบับที่ 197 รู้เท่าทันการกินอาหารคลีน

อาหารคลีนหรืออาหารสะอาดนั้นกำลังเป็นที่นิยมของคนหนุ่มสาวที่รักสุขภาพทั่วโลก เพราะเชื่อว่า “อาหารคลีนเป็นวิถีชีวิตใหม่ในการกินอาหารที่กินได้มาก(ไม่ต้องอดอาหาร) น้ำหนักลด และมีสุขภาพที่ดีเยี่ยม”  ความเชื่ออาหารคลีนนี้จริงหรือไม่ มีประโยชน์จริงหรือไม่ มารู้เท่าทันกันเถอะอาหารคลีนคืออะไร แนวทางอาหารคลีนเกิดขึ้นจากแนวคิดของนักวิชาการหลายคน โดยเฉพาะ ทอสค่า เรโน่ นักโภชนาการ ซึ่งได้เขียนหนังสือกว่าสิบเล่มเกี่ยวกับอาหารคลีน จนเป็นที่โด่งดังและเกิดเป็นกระแสการกินอาหารคลีนขึ้นแนวอาหารคลีนก็คือ อาหารที่ไม่ผ่านการแปรรูป อาหารที่เป็นธรรมชาติมากที่สุด เช่น ผลไม้ ผัก ธัญพืชที่ไม่ขัดสี เนื้อสัตว์ที่ปลอดไขมัน และไม่ใส่ผงชูรส เครื่องปรุงรสอาหาร สารกันบูด สารเคมี น้ำตาล ไขมันอิ่มตัว และไขมันทรานส์  ที่สำคัญต้องควบคู่กับการออกกำลังกายด้วย นั่นแสดงว่า มะเขือเทศสดถือเป็นอาหารคลีน แต่ซอสมะเขือเทศไม่ใช่  อาหารที่ผ่านการแปรรูปจะมีผลเสียต่อสุขภาพ โดยเฉพาะน้ำตาลทรายขาว ซึ่งไม่ควรบริโภคอย่างยิ่ง อาหารคลีนที่ให้พลังงาน 1,200-1,800 แคลอรี่ต่อวัน โดยแบ่งกินวันละ 5-6 มื้อเล็กๆ จะช่วยกระตุ้นการย่อยและเผาผลาญอาหารในร่างกายได้ดีขึ้น และไม่ต้องกังวลเรื่องการควบคุมแคลอรี่ อาหารคลีนจะช่วยลดน้ำหนัก 1.4 กิโลกรัมต่อสัปดาห์ และเกิดการเปลี่ยนแปลงของร่างกายและความรู้สึกอย่างชัดเจนอาหารคลีน กินอย่างไร หลักการการกินอาหารคลีน1. อาหารแต่ละมื้อควรให้พลังงาน 200-300 แคลอรี่2. กินคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนกับเนื้อสัตว์(20 กรัม) ทุกมื้อ3. ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว4. ห้ามงดอาหารโดยเฉพาะมื้อเช้า5. บริโภคไขมันที่ดีต่อสุขภาพทุกวัน6. อาหารที่กินได้แก่ ธัญพืชที่ไม่ขัดสี ผลไม้ ผัก เนื้อสัตว์ที่ไขมันน้อย ไขมันที่ดีต่อสุขภาพ กินในอาหารปริมาณน้อย แต่บ่อยๆ อาจทุก 2-3 ชั่วโมง7. หลีกเลี่ยงไขมันอิ่มตัว ไขมันทรานส์ อาหารที่ผ่านการแปรรูปมากเกินไป แป้งที่ขัดขาว น้ำตาลทราย น้ำอัดลม น้ำผลไม้ แอลกอฮอล์นอกจากการกินอาหารแล้ว การออกกำลังกายถือเป็นส่วนสำคัญของแนวทางอาหารคลีน  ต้องมีการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ยกน้ำหนัก อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละอย่างน้อย 30 นาทีอาหารคลีนดีจริงหรือ? โรเบิร์ตต้า แอนดิ้ง นักโภชนาการหญิงจากสมาคมอาหารแห่งอเมริกา ได้ออกมาชี้แจงว่า “ทุกคนต่างทราบดีว่า การออกกำลังกาย การกินอาหารทุกมื้อ การดื่มน้ำปริมาณมาก อาหารที่มาจากผัก และเนื้อสัตว์ที่ไขมันน้อย มีประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างแน่นอน  แต่ข้อปฏิบัติและกฎเกณฑ์ต่างๆ ของอาหารคลีนนั้น “เข้มงวดและไม่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ และยากที่ปฏิบัติได้”นักวิชาการหลายคนออกมาคัดค้านและกล่าวว่า อาหารคลีนนั้น ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เพียงพอ และมีผลประโยชน์ทางธุรกิจอาหารที่เข้ามาส่งเสริม  สรุป  แนวทางอาหารคลีนนั้น ประกอบด้วยอาหารธรรมชาติ อาหารที่ไม่แปรรูป อาหารไขมันต่ำ  ซึ่งเป็นหลักการการกินอาหารเพื่อสุขภาพที่เป็นที่รู้จักและยอมรับกันทั่วไป  ที่สำคัญต้องมีการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ  ดังนั้นเราสามารถทำอาหารคลีนได้เอง โดยไม่ต้องซื้อตามร้านทั่วไป ซึ่งมักมีราคาสูงกว่าอาหารปกติ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 197 สบู่ผสมสารต้านแบคทีเรีย จำเป็นหรือไม่ ?

ในปัจจุบันคนทั่วไปให้ความสนใจกับการดูแลสุขภาพตนเองเพิ่มขึ้น ดังนั้นผลิตภัณฑ์ที่กล่าวอ้างว่าเพื่อสุขภาพต่างๆ ได้มีการผลิต โฆษณา จำหน่าย และบริโภคกันอย่างกว้างขวาง เห็นได้จากการนำผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางหลายชนิดมาผสมกับสารเคมีหรือสารสกัดสมุนไพรต่างๆ แล้วสร้างความเชื่อว่ามีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น มีสรรพคุณกว้างขวางขึ้น  ซึ่งมักจะเป็นกลยุทธ์การเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์นั้น เช่น สบู่ผสมสารต้านแบคทีเรียคุณประโยชน์และหลักการทำงานของสบู่สบู่ เป็นผลิตภัณฑ์ใช้ทำความสะอาดร่างกายในชีวิตประจำวัน มีรูปแบบเป็นสบู่ก้อนหรือสบู่เหลว  ซึ่งสบู่จะช่วยเรื่องชำระล้างได้ดีกว่าการใช้น้ำเพียงอย่างเดียว ส่วนประกอบสำคัญของสบู่ คือ เกลือของกรดไขมัน ได้แก่ เกลือโซเดียม หรือเกลือโปแตสเซียม หรือเกลือแอมโมเนียม หรือเกลือเอมีน ที่ได้จากการใช้ไขมันสัตว์ และ/หรือน้ำมันพืชต่างๆ มาผสมกับด่างชนิดต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น เช่น หากต้องการผลิตภัณฑ์สบู่ก้อนก็เลือกใช้ด่างโซเดียม หรือเลือกใช้ด่างโปแตสเซียม  หากต้องการผลิตภัณฑ์สบู่เหลว อาจผสมสารลดแรงตึงผิว สารให้ความชุ่มชื้นเข้าไป  ซึ่งก็แล้วแต่ชนิดของสบู่ที่ผลิต การชำระล้างสิ่งสกปรกต่างๆ ออกจากผิวหนังของสบู่นั้น เนื่องจากกลไกของเกลือของกรดไขมัน ซึ่งมีโครงสร้างโมเลกุลประกอบด้วยส่วนที่ชอบน้ำและส่วนที่ไม่ชอบน้ำ ดังนั้นเมื่อถูกละลายด้วยน้ำ ส่วนที่ไม่ชอบน้ำจะถูกผลักเข้าไปหลบอยู่ด้านใน  และหันส่วนที่ชอบน้ำให้อยู่ด้านนอกเพื่อไปสัมผัสกับสิ่งสกปรกต่างๆ ที่ล้างออกด้วยน้ำไม่ได้(ส่วนมากจะเกาะติดกับไขมันหรือน้ำมัน) ซึ่งสิ่งสกปรกจะเข้าไปเกาะติดกับส่วนที่ไม่ชอบน้ำ กลายเป็นหยดน้ำมัน และจากนั้นจะถูกน้ำชำระล้างออกด้วยน้ำ ทำให้สิ่งสกปรกหลุดออกมาด้วยสบู่ผสมสารต้านแบคทีเรีย ผู้ผลิตหลายรายได้มีการผสมสารต้านแบคทีเรียในสบู่ขึ้น  โดยอ้างว่าจะสามารถทำความสะอาดผิวได้ดีขึ้น โดยเชื่อว่าสารต้านแบคทีเรียจะช่วยทำลายเชื้อโรคที่อยู่บนผิวหนัง สารต้านแบคทีเรียที่นิยมนำมาผสมในสบู่ที่นิยมมากชนิดหนึ่ง ได้แก่ ไตรโคลซาน)Triclosan)   ซึ่งเป็นสารเคมีที่มีคุณสมบัติต้านเชื้อจุลินทรีย์ ทั้งราและแบคทีเรีย จึงนิยมใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์เพื่อความสะอาดหลายชนิด   เช่น   สบู่    ครีมอาบน้ำ  ผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกาย     ยาสีฟัน   น้ำยาบ้วนปาก   ตลอดจนน้ำยาล้าง  อย่างไรก็ตามปัจจุบันมีรายงานการวิจัยบ่งชี้ว่า ไตรโคลซาน ทำให้แบคทีเรียเกิดการดื้อยาข้ามกลุ่ม คือการที่แบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะ โดยผลจากการได้รับสารเคมีที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อกลุ่มไบโอไซด์ (biocides) เช่น กรณีไตรโคลซาน ซึ่งเป็นสารสังเคราะห์ที่มีฤทธิ์ต่อต้านแบคทีเรีย  นิยมนำมาผสมในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง โดยมีรายงานวิจัยว่า เมื่อใช้เป็นเวลานาน สารไตรโคลซานสามารถสะสมในร่างกาย เช่น มีการตรวจพบในปัสสาวะของคนอเมริกันถึง 75%  นอกจากนั้น สารไตรโคลซานที่ผสมในสบู่และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดต่างๆ เมื่อถูกปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อม ได้ส่งผลต่อจุลินทรีย์ในระบบนิเวศน์วิทยา ทำให้แบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะ เพราะไตรโคลซาน มีคุณสมบัติก่อให้แบคทีเรียดื้อยาข้ามกลุ่มได้ โดยสารไตรโคลซานมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงกระบวนการขับยาออกนอกเซลล์  ทำให้มีปริมาณยาปฏิชีวนะในเซลล์น้อยไม่สามารถฆ่าเชื้อได้ทั้งหมด จึงทำให้เชื้อปรับตัวดื้อยาในที่สุด นอกจากนั้น ยังพบว่า ในสัตว์ทดลอง ไตรโคลซาน ก่อให้เกิดอาการข้างเคียงหลายอย่าง เช่น ผลต่อพัฒนาการ และภาวะการเจริญพันธุ์ ผลต่อต่อมไร้ท่อ ไทรอยด์ฮอร์โมน ฮอร์โมนเอสโตรเจและมีความเป็นพิษเรื้อรัง และเป็นสารก่อมะเร็งอีกด้วย  องค์การอาหารและยา สหรัฐอเมริกา และอีกหลายประเทศได้ยกเลิกการใช้ไตรโคลซานในผลิตภัณฑ์สบู่แล้ว รวมถึงสารเคมีกลุ่มนี้อีก 18 ชนิด เพราะไม่มีหลักฐานใดๆ บ่งชี้ว่าสามารถชำระล้างได้ดีกว่าการใช้สบู่ธรรมดา ทั้งนี้เพราะกลไกการชำระล้างร่างกายโดยสบู่นั้น ผิวกายสัมผัสกับสบู่ในเวลาสั้นๆ แล้วเราก็ล้างน้ำออกไป ซึ่งระยะเวลาที่ใช้ไม่นานพอที่สารไตรโคลซานจะออกฤทธิ์ทำลายเชื้อแบคทีเรีย เพราะกลไกการทำลายเชื้อแบคทีเรียนั้นจำเป็นต้องใช้ระยะเวลานานกว่ามาก จะต้องอาศัยทั้งสภาวะแวดล้อมและระยะเวลาที่เหมาะสม จะต้องมีเวลาให้สารเข้าสู่เซลล์แบคทีเรียก่อน แล้วสารจึงจะสามารถออกฤทธิ์ทำลายเชื้อแบคทีเรียได้ ในกรณีของไตรโคลซานจะออกฤทธิ์ขัดขวางการสร้างกรดไขมันของแบคทีเรีย ทำให้แบคทีเรียถูกทำลายไป ซึ่งต้องอาศัยสภาวะที่เหมาะสม ความเข้มข้นของสารต้านแบคทีเรียที่เหมาะสม และระยะเวลาที่เหมาะสมด้วย    แบคทีเรียที่ผิวหนัง ต้องทำลายให้หมดหรือ ? ผิวหนังมีหน้าที่ป้องกันร่างกายจากสิ่งแวดล้อม โดยมีบทบาทในการป้องกันการสูญเสียน้ำ และการซึมผ่าน สกัดกั้นไม่ให้เชื้อจุลินทรีย์เข้าสู่ร่างกาย โดยการหลั่งกรดอ่อนจากต่อมเหงื่อ ทำให้ผิวหนังมีสภาพความเป็นกรด ซึ่งไม่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย ทำให้เชื้อจุลินทรีย์เข้าสู่ร่างกายยากขึ้น  ต่อมไขมันจะผลิตสารที่เป็นกรดไขมันและกรดแลคติค มาต่อต้านแบคทีเรียและเชื้อราบางชนิดได้เองตามธรรมชาติ ผิวหนังปกติมีเชื้อจุลินทรีย์อาศัยอยู่โดยไม่ก่อให้เกิดโรค ในแต่ละส่วนของร่างกายมีเชื้อจุลินทรีย์จำนวนแตกต่างกัน  เชื้อจุลินทรีย์ประจำถิ่นซึ่งเป็น เชื้อที่อยู่เป็นประจำนี้ทำหน้าที่ป้องกัน 2 อย่างคือ ต่อต้านจุลินทรีย์ แปลกปลอมและทำหน้าที่แย่งอาหารจุลินทรีย์แปลกปลอมบนผิวหนัง ดังนั้นคนปกติทั่วไปจึงมิต้องวิตกกังวลว่า ร่างกายมีเชื้อมากไป จนจะต้องกำจัดเชื้อแบคทีเรียบนผิวหนังให้หมดไปอย่างราบคาบ ดังนั้นการใช้สบู่ธรรมดาในการชำระล้างก็เพียงพอในชีวิตประจำวัน ส่วนการใช้สบู่ผสมสารต้านแบคทีเรียไม่เกิดประโยชน์ และยังเป็นโทษต่อผู้ใช้และสิ่งแวดล้อม ก่อปัญหาเชื้อดื้อยาต้านแบคทีเรียอีกด้วย 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 197 มือเหี่ยวก่อนวัย

ผิวหนังเหี่ยวย่นก่อนวัยเป็นปัญหากวนใจของใครหลายคน ซึ่งส่วนใหญ่เรามักจะพุ่งเป้ากันไปที่ผิวหนังบริเวณผิวหน้า แต่รู้หรือไม่ว่าอีกหนึ่งบริเวณที่สามารถสังเกตเห็นได้ชัดก็คือ ผิวหนังบริเวณหลังมือของเรานั่นเอง โดยหากใครที่เริ่มรู้สึกว่ามือเหี่ยวก่อนวัยแล้ว อาจทำให้ขาดความมั่นใจไปเลยก็ได้ เพราะมือเป็นอวัยวะสำคัญที่เราใช้จับสิ่งของต่างๆ ไม่เว้นแม้แต่ใช้จับมือกับคนข้างๆ ยังไงล่ะ ดังนั้นนี่อาจถึงเวลาแล้วที่สาวๆ และหนุ่มๆ ควรหันมาบำรุงมือกันบ้าง เพื่อป้องกันอาการมือเหี่ยวก่อนวัยมือเหี่ยวเกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้างแน่นอนว่าผิวหนังของเรามีความเปลี่ยนแปลงไปตามอายุ แต่ทำไมบางคนกลับพบว่ามีอาการผิวหนังเหี่ยวย่นก่อนวัยได้ ไม่แน่ว่าอาจเป็นเพราะสาเหตุใหญ่ๆ ดังต่อไปนี้1. ไม่สวมถุงมือเมื่อสัมผัสกับสารเคมีต่างๆหลายคนที่ต้องทำงานบ้าน เช่น ล้างจาน ซักผ้า ล้างห้องน้ำเป็นประจำ แล้วไม่สวมถุงมือก่อนสัมผัสกับสารเคมีในผลิตภัณฑ์เหล่านั้น อาจทำให้เกิดอาการแพ้หรือระคายเคืองจากสารเคมี ซึ่งนำไปสู่อาการผิวหนังอักเสบ แห้งตึง หรือสูญเสียความชุ่มชื้นจนผิวหนังเกิดความเหี่ยวย่นก่อนวัยได้ 2. ล้างมือบ่อยแม้ว่าการล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่จะช่วยกำจัดเชื้อโรคหรือเชื้อแบคทีเรียได้เป็นอย่างดี แต่ก็ทำให้ผิวหนังขาดความชุ่มชื้นได้เช่นกัน เนื่องจากสบู่มีส่วนประกอบหลักคือสารชะล้าง ซึ่งทำหน้าที่ทำความสะอาดผิวหรือทำลายล้างสิ่งสกปรก โดยอาจทำให้เกิดความระคายเคืองต่อผิวหนังและนำไปสู่ภาวะผิวแห้งได้ 3. อยู่ในสภาพร้อนหรือหนาวเป็นประจำอาการเย็นหรือร้อนเกินไปก็สามารถทำให้ผิวหนังสูญเสียความชุ่มชื้นได้เช่นกัน รวมถึงการล้างมือด้วยน้ำอุ่นหรือน้ำร้อนเป็นประจำด้วย แนะวิธีป้องกันมือเหี่ยวก่อนวัยถึงเราจะเริ่มสังเกตได้ว่าผิวหนังบริเวณมือไปไกลกว่าผิวหน้าและอายุมากแล้ว แต่เราก็ไม่ควรปล่อยปละละเลยให้เยี่ยวย่นไปเรื่อยๆ โดยสามารถดูแลรักษาด้วยวิธีการดังต่อไปนี้1. ใช้อุปกรณ์ป้องกันผิวหนังทุกครั้งหากรู้ว่ากำลังจะต้องสัมผัสกับสารเคมี ไม่ว่าจะเป็นผงซักฟอก น้ำยาล้างจาน น้ำยาขัดห้องน้ำ น้ำยาย้อมผม ซึ่งเป็นสารเคมีที่มีฤทธิ์ในการกัดกร่อนผิวหนังได้ก็ควรป้องกันด้วยการใช้ถุงมือที่มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันการซึมผ่านของสารเคมี เช่น ถุงมือที่ทำจากวัสดุพีวีซี ยางธรรมชาติหรือยางสังเคราะห์หรือพีวีเอ โดยอาจเลือกประเภทที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง หรือใช้งานได้งานครั้ง แต่ต้องระวังเรื่องการเก็บรักษา เพราะหากถุงมือสกปรกก็จะทำให้สารเคมีตกค้าง และทำให้เกิดการระคายเคืองหรือแพ้ได้เช่นเดิม 2. ทาครีมที่มือเป็นประจำหลังล้างมือทุกครั้งควรทาครีมบำรุงเสมอ ซึ่งเราจะใช้ครีมสำหรับทาผิวกายหรือทามือโดยเฉพาะก็ได้ เพียงแต่ควรเลือกให้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีส่วนประกอบของสารให้ความชุ่มชื้นกับผิวหนัง เพื่อชดเชยไขมันที่สูญเสียไปอย่างสารในกลุ่ม Glycol หรือ Glycerin เพราะครีมจะช่วยทำหน้าที่เหมือนน้ำมันเคลือบผิวและกักเก็บความชุ่มชื้นไว้ นอกจากนี้ควรเลือกครีมที่มีสามารถป้องกันแสงแดดได้ด้วย เพราะแสงแดดสามารถทำให้ผิวหนังสูญเสียความชุ่มชื้น เหี่ยวย่นได้3. ฉีดสารเติมเต็มหรือฟิลเลอร์ สำหรับการฉีดสารเติมเต็มอย่างฟิลเลอร์ก็ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะฟิลเลอร์สามารถเข้าไปทดแทนคอลลาเจนที่เสื่อมสภาพไป ซึ่งจะคงสภาพอยู่ประมาณ 6-8 เดือนและสามารถจะสลายตัวไปตามธรรมชาติ หรืออีกวิธีหนึ่งคือการใช้ไขมันตัวเองฉีดเพื่อรักษามือเหี่ยวก็สามารถทำได้เช่นกัน อย่างไรก็ตามการฉีดสารดังกล่าวต้องอยู่ในความควบคุมของแพทย์นั้น เพราะบริเวณหลังมือมีเส้นเลือดและเส้นประสาทจำนวนมาก เสี่ยงต่อการติดเชื้อหรืออันตรายอื่นๆ ได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 197 ข้าวรักษาเบาหวาน

ผู้ป่วยเบาหวานมักจะได้รับคำเตือนให้ลดอาหารประเภทแป้งและน้ำตาล รวมทั้งจำกัดปริมาณข้าวไม่ให้รับประทานมากเกินไปเพราะแป้งในข้าวมีผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด แต่วันนี้มีผลิตภัณฑ์ข้าวบรรเทาเบาหวาน ... มันคืออะไร? มีผู้บริโภคนำผลิตภัณฑ์ พร้อมทั้งแผ่นพับโฆษณามาให้ผมดู พร้อมทั้งถามว่า “มันรักษาเบาหวานได้จริงหรือ?” โดยให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ตนเป็นสมาชิกชมรมผู้สูงอายุ วันหนึ่งมีบริษัทมาขายข้าว โดยให้ข้อมูลว่าข้าวชนิดนี้เป็นข้าวที่รักษาเบาหวานได้ ในระหว่างขายสินค้า ก็จะมีผู้คนที่อ้างว่าเป็นเบาหวานและปัจจุบันหายจากโรคนี้แล้ว เพราะกินข้าวชนิดนี้ ราคาขายกิโลกรัมละ 220 บาท ถ้าสมัครเป็นสมาชิกจะเหลือกิโลกรัมละ 175 บาท ตนเองสงสัยว่าข้าวหอมมะลิทั่วไปราคาประมาณกิโลกรัมละ 50 บาทเอง ทำไมข้าวชนิดนี้ถึงราคาแพงมาก แล้วมันดีจริงหรือผมดูผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ก็เหมือนข้าวสารทั่วๆไป แต่ที่น่าสนใจคือรายละเอียดในแผ่นพับ อธิบายว่า ข้าวชนิดนี้เป็นนวัตกรรมโภชนาการบำบัด สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหาน และบุคคลทั่วไป ผลิตโดยกระบวนการพิเศษ ทำให้ลดแป้งในเม็ดข้าว ทำให้การเปลี่ยนแป้งเป็นน้ำตาลช้าลง ทำให้ร่างกายนำน้ำตาลไปใช้ได้หมด ไม่เหลือในระบบเลือด (เบาหวานลด) นอกจากนี้ก็มีเนื้อหาที่อธิบายโรคแทรกซ้อนในเบาหวาน รวมทั้งอธิบายคุณสมบัติของข้าวชนิดนี้ว่า จะมีสารสกัดน้ำมันรำข้าวซึมเข้าไปในเมล็ดข้าว และมีปริมาณคาร์โบไฮเดรตน้อย สามารถช่วยลดโคเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดี (LDL) ช่วยลดไตรกลีเซอร์ไรด์ ลดความเสี่ยงโรคเบาหวาน ลดความเสี่ยงโรคมะเร็ง ลดความเสี่ยงโรคสมองเสื่อม ลดความเสี่ยงโรคสายตา บำรุงผิวพรรณ ทำให้นอนหลับสบาย ทำให้ระบบไหลเวียนโลหิตดีขึ้น ฯลฯ รวมทั้งมีการอ้างอิงวิชาการต่างๆ ด้วย ซึ่งหากดูข้อมูลตรงนี้จะเห็นว่า เป็นการให้ข้อมูลที่ไม่ระบุชัดเจนว่ารักษาโรคได้ โดยพยายามเลี่ยงมาใช้คำว่า “ลด” ความเสี่ยงต่างๆแต่ที่น่าประหลาดใจคือ ข้อความจากรูปถ่าย ป้ายโฆษณาที่ผู้ขายนำมาตั้งไว้ระหว่างขาย กลับแสดงรูปผู้ป่วยหลายคน(บางรายมีแผลลุกลามที่ขา) และมีข้อความโฆษณาสรรพคุณของข้าวชนิดนี้ อย่างเข้มข้นกว่าในแผ่นพับ เช่นระบุว่า ป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดตีบตัน  ป้องกันโรคเบาหวาน  ป้องกันโรคมะเร็ง ป้องกันโรคสมองเสื่อมผู้บริโภคถามว่า ตนควรจะกินข้าวนี้แทนข้าวกล้องที่กินประจำดีไหม ผมจึงแนะนำไปว่า การรับประทานข้าวกล้องก็ได้วิตามินและแร่ธาตุอยู่แล้ว  ข้าวชนิดนี้มีการอ้างกรรมวิธีการผลิต  ซึ่งผมไม่ทราบว่ากรรมวิธีการผลิตที่แท้จริง  มันจะเป็นอย่างที่โฆษณาหรือไม่ มีข้อสังเกตสองสามอย่างคือ  ข้าวชนิดนี้ราคาจะแพงกว่าข้าวทั่วๆ หลายเท่า และข้อความที่โฆษณาหลายอย่าง โดยเฉพาะในป้ายที่ตั้งโฆษณา เป็นข้อความที่เข้าข่ายเสมือนเป็นยารักษาโรค ซึ่งในแง่ผลิตภัณฑ์อาหารจะไม่สามารถโฆษณาแบบนี้ได้ หากจะโฆษณาแบบนี้จะต้องพิสูจน์ให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยายอมรับว่ามีสรรพคุณดังกล่าวจริงและต้องมาขอขึ้นทะเบียนเป็นยาด้วย  นอกจากนี้ฉลากโภชนาการที่แสดงด้านหลังภาชนะบรรจุ ก็ไม่ใช่แบบที่ถูกต้อง แสดงว่ายังไม่ได้ขออนุญาตใช้ฉลากที่แสดงคุณค่าทางโภชนาการ ดังนั้นจึงพิสูจน์ไม่ได้ว่าคุณค่าสารอาหารที่อ้างว่ามี ตรงกับที่แสดงในฉลากหรือไม่ เพราะเมื่อไม่ได้มาขออนุญาต จึงไม่มีการตรวจสอบจากหน่วยงานใดๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 197 ข้อระวัง ในการมอบอำนาจฟ้องคดี

เชื่อว่าหลายท่านคงมีประสบการณ์เคยมอบหมายงานบางอย่างให้ผู้อื่นทำแทนบ้าง  ซึ่งแน่นอนว่าเราก็ต้องทำหลักฐานมอบอำนาจขึ้นมาโดยทำเป็นหนังสือ เช่น มอบอำนาจให้ไปแจ้งความ ไปยื่นเอกสาร ติดต่อที่หน่วยงานต่างๆ  เป็นต้น  ซึ่งในการดำเนินคดีก็เช่นกัน เราก็มักจะมอบหมายให้ทนายความฟ้องร้องและดำเนินคดีแทนเรา ซึ่งบางคนคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่ในคดีหนึ่ง ก็มีการโต้แย้งกันในเรื่องหนังสือมอบอำนาจ จนเป็นข้อพิพาทขึ้นสู่ศาลฏีกา เรื่องมีว่า โจทก์สองคน ทำหนังสือมอบอำนาจฉบับเดียว ซึ่งการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีก็ต้องมีการติดอากรแสตมป์ให้ครบถ้วนตามกฎหมาย จำเลยสู้ว่าไม่ติดให้ครบถ้วน ซึ่งสุดท้าย ศาลฏีกาก็วินิจฉัยว่า เป็นการมอบอำนาจให้บุคคลเดียว กระทำการครั้งเดียว การติดอากรแสตมป์ของโจทก์ทั้งสองครบถ้วนถูกต้องตามกฎหมายแล้ว หนังสือมอบอำนาจย่อมใช้เป็นหลักฐานในคดีได้  โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง  ตามนัยคำพิพากษาฏีกา ที่ 16640/2557 คำพิพากษาฏีกา ที่ 16640/2557    หนังสือมอบอำนาจระบุข้อความว่า “โจทก์ทั้งสองขอมอบอำนาจให้ อ.เป็นผู้รับมอบอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ทั้งสองเพื่อฟ้องร้องและดำเนินคดีแพ่งกับจำเลยทั้งห้า ในข้อหาหรือฐานความผิดละเมิด  สัญญาประกันภัย เรียกค่าเสียหาย ต่อศาลจังหวัดพัทยา โดยให้ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจในการดำเนินกระบวนพิจารณาไปในทางจำหน่ายสิทธิได้ เช่น ...” ข้อความที่ระบุแจ้งชัดเช่นนี้ ถือว่าเป็นการมอบอำนาจให้ อ. ฟ้องร้องดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งห้า ฐานละเมิด ประกันภัย และเรียกค่าเสียหายคดีนี้เท่านั้น มิได้มอบอำนาจให้ฟ้องคดีเรื่องอื่นต่อจำเลยทั้งห้า หรือฟ้องบุคคลอื่น อันเป็นการกระทำมากกว่าครั้งเดียวไม่ แม้ตามหนังสือมอบอำนาจจะระบุให้ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาอื่นๆ ได้ด้วยก็ตาม แต่เป็นเพียงวิธีการที่เกี่ยวกับการฟ้องร้องดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งห้าเท่านั้น จึงถือว่าเป็นการมอบอำนาจให้บุคคลคนเดียวกระทำการครั้งเดียว ซึ่งตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้าย ป.รัษฏากร ข้อ 7 (ก) กำหนดให้ปิดอากรแสตมป์คิดตามรายตัวบุคคลผู้มอบคนละ 10 บาท โจทก์ทั้งสองจึงต้องปิดอากรแสตมป์ในหนังสือมอบอำนาจรวม 20 บาท เมื่อโจทก์ทั้งสองปิดอากรแสตมป์ในหนังสือมอบอำนาจ จำนวน 30 บาท จึงครบถ้วนถูกต้องตามกฎหมายแล้ว หนังสือมอบอำนาจย่อมใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีนี้ได้ ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.รัษฏากร มาตรา 118 จากคำพิพากษาศาลฏีกาข้างต้น เราจะเห็นว่า เรื่องการมอบอำนาจฟ้องคดีมีความสำคัญ หากหนังสือมอบอำนาจไม่ระบุข้อความให้ชัดเจน หรือติดอากรแสตมป์ไม่ครบถ้วนตามกฎหมาย  ทำให้อำนาจฟ้องคดีไม่สมบูรณ์ ศาลอาจยกฟ้องได้ อีกประเด็นคือกรณีมีผู้มอบอำนาจสองคน มอบหมายในหนังสือมอบอำนาจให้บุคคลเดียวทำการแทน การติดอากรแสตมป์ต้องคิดตามรายตัวบุคคลที่มอบอำนาจ อย่างเช่นในคดีนี้ มีผู้มอบอำนาจสองคน ต้องติดคนละ 10 บาท รวม 20 บาท  แต่ถ้าเป็นกรณีการมอบอำนาจให้บุคคลคนเดียวหรือหลายคนร่วมกันกระทำการมากกว่าครั้งเดียวปิดอากรแสตมป์ จำนวน 30 บาท

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 197 ทำอย่างไรดี ถูกบังคับซื้อตั๋วโดยสาร

สัปดาห์ก่อนมีเพื่อนสมาชิกสอบถามมาว่า “เวลาที่เราต้องเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะ  แล้วอยู่ดีๆ ถูกบังคับให้ซื้อตั๋วโดยสารที่ราคาแพงกว่าเดิม  หรือคนนั่งเต็มรถแต่ทำไมยังมีผู้โดยสารขึ้นมานั่งกับพื้น มายืนตรงทางเดินบนรถอีก เจอแบบนี้ผู้บริโภคอย่างเราจะทำอะไรได้บ้าง แล้วมีกฎหมายควบคุมผู้ประกอบการไม่ให้ฉวยโอกาสเอาเปรียบบ้างไหม  อยากอธิบายแบบนี้ครับว่า สิ่งเหล่านี้ยังเป็นปัญหาที่ยังพบเจอได้ในปัจจุบัน แม้ว่ากรมการขนส่งทางบกจะมีกฎหมายควบคุมลงโทษพฤติกรรมเอาเปรียบผู้บริโภคของผู้ประกอบการ แต่เราก็ยังพบเห็นปัญหาแบบนี้ออกมาเรื่อยๆ  เพื่อให้คลายข้อสงสัยและตอบข้อซักถามของเพื่อนสมาชิก วันนี้ผมจะมาบอกเล่าสู่กันฟังแบบพอเข้าใจเบื้องต้นแล้วกันนะครับ • ขายตั๋วโดยสารแพงกว่าปกติ  กรณีนี้ตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 38 บัญญัติว่า ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง เพิ่ม ลด หรือยกเว้นค่าขนส่งหรือค่าบริการอย่างอื่นในการขนส่ง เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการและมาตรา159  บัญญัติว่า  ผู้ใดเรียกเก็บค่าขนส่ง ค่าบริการรับจัดการขนส่ง ค่าบริการเกี่ยวกับการดำเนินการของสถานีขนส่ง หรือค่าบริการอย่างอื่นผิดไปจากอัตราที่คณะกรรมการกำหนด ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทและมาตรา 135  บัญญัติว่า ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 38 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาทจากข้อบัญญัติดังกล่าว ถูกกำหนดไว้ชัดเจนในเรื่องการควบคุมกำกับมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง ซึ่งหมายได้รวมถึงบริษัทเจ้าของรถ รวมถึงพนักงานขาย เจ้าหน้าที่บริษัท เรียกเก็บค่าโดยสารสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ ดังนั้นหากพบว่ามีการจำหน่ายตั๋วหรือคิดค่าโดยสารแพงเกินกว่าปกติที่กฎหมายกำหนดไว้ พนักงานจำหน่ายตั๋วโดยสาร จะมีความผิด ตาม มาตรา 38 ประกอบกับ มาตรา 159  ฐานจำหน่ายตั๋วเกินราคา ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน  10,000 บาท ขณะที่ผู้ประกอบการขนส่งหรือบริษัทเจ้าของรถ ก็มีความผิดตาม มาตรา 38 ประกอบมาตรา 135 ฐานเพิ่มค่าบริการค่าโดยสารโดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน  20,000 บาทอีกด้วย  • รถเต็มแล้วคนขับก็ยังรับผู้โดยสารขึ้นมาบนรถ กรณีนี้ตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522  มาตรา 107 บัญญัติว่า  ในการขนส่งประจำทางหรือการขนส่งไม่ประจำทางระหว่างจังหวัดหรือระหว่างประเทศไทยกับต่างประเทศ ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถรับบรรทุกผู้โดยสารเกินจำนวนที่นั่งผู้โดยสารที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตและมาตรา 127 บัญญัติว่า ผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถ ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ ปฏิบัติตามมาตรา 26  วรรคสอง มาตรา 101 มาตรา 102 (1) (2) หรือ (4) มาตรา 103  มาตรา 103 ทวิ มาตรา 104  มาตรา 105 มาตรา 106  หรือมาตรา 107  ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาทสำหรับผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทาง  มาตรา 31 ได้กำหนดเงื่อนไขไว้ในใบอนุญาตเกี่ยวกับ (4) จำนวนที่นั่ง และ (7) ค่าขนส่งและค่าบริการ ไว้และมาตรา 131 บัญญัติว่า ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใดไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดตามมาตรา 31 (2) (3) (4) (5) (6) (7) (8) (9) (10) (11) (12) (13) (14) หรือ (15) หรือ ในอนุมาตราหนึ่งอนุมาตราใดตามมาตรา 32 มาตรา 33 หรือมาตรา 34 หรือไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 35  หรือมาตรา 36 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาทดังนั้นหากพบว่ามีการรับผู้โดยสารเกินจากจำนวนที่นั่งบนรถ  พนักงานขับรถจะมีความผิด ตาม มาตรา 107 ประกอบกับ มาตรา 127  ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน  5,000 บาท ขณะที่ผู้ประกอบการขนส่งหรือบริษัทเจ้าของรถ ก็มีความผิดตาม มาตรา 31 (4),(7) ประกอบมาตรา 131 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน  50,000 บาท อีกด้วย เห็นแล้วใช่ไหมครับว่า การฉวยโอกาสเอาเปรียบผู้บริโภคของผู้ประกอบการนั้นมีบทลงโทษเทียบปรับตามกฎหมายอยู่แล้ว แต่ในทางปฏิบัติก็อาจจะมีผู้ประกอบการที่เจตนาฝ่าฝืนกฎหมายหลุดลอดสายตาการตรวจของเจ้าหน้าที่ไปได้ แต่หากเราที่เป็นผู้ใช้บริการพบเจอกับตัว เราไม่ควรยอมปล่อยให้หลุดรอดไปนะครับ เพราะผู้บริโภคมีสิทธิร้องเรียน  เราเชื่อว่า “ ร้องทุกข์ 1 ครั้ง ดีกว่าบ่น 1,000 ครั้ง ”  ฉะนั้นหากเราพบเจอปัญหาจากการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ ไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตาม เรามีสิทธิร้องเรียน เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้  ด้วยวิธีการดังนี้1. เก็บรายละเอียด หลักฐาน ต่างๆให้ครบถ้วน เช่น หมายเลขทะเบียนรถ เส้นทางวิ่ง  ภาพถ่าย  คลิป  2. ร้องเรียน สายด่วนของกรมการขนส่งทางบก 1584  และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.)  02-248 3737 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 197 เหตุเกิดจากพนักงานขาย

แม้พนักงานขายจะถือเป็นตัวแทนของบริษัท ที่คอยช่วยอำนวยความสะดวกให้ลูกค้า โดยทำหน้าที่แนะนำและให้คำปรึกษาเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ แต่หลายครั้งที่มีปัญหาเกิดขึ้น บริษัทบางแห่งกลับปฏิเสธการรับผิดชอบจากพนักงานขายของตนเอง ซึ่งผู้บริโภคอย่างเราจะแก้ไขเหตุการณ์ได้อย่างไร ลองไปดูกันมาเริ่มกันที่กรณีแรกกับคุณสุชัย เขาตกลงสั่งจองรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้ากับพนักงานขายรถคนหนึ่ง โดยแสดงความต้องการว่าจะซื้อรุ่นที่ผลิตในปี 2016 เท่านั้น ซึ่งพนักงานคนดังกล่าวก็รับทราบและสั่งจองรถยนต์รถยนต์รุ่นดังกล่าวให้คุณสุชัย อย่างไรก็ตามพนักงานและสุชัยไม่ได้ตกลงทำสัญญาการจองรถภายในศูนย์บริการ และไม่มีเอกสารการจองรถที่มาจากบริษัท รวมทั้งเงินค่ามัดจำการจองรถพนักงานก็ได้แจ้งให้คุณสุชัยโอนเข้าบัญชีส่วนตัว ซึ่งคุณสุชัยก็ทำตามที่พนักงานระบุและนัดรับรถในอีก 2 เดือนข้างหน้า โดยคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่เหตุการณ์กลับไม่เป็นอย่างนั้น เพราะผ่านไปไม่กี่อาทิตย์พนักงานขายคนดังกล่าวได้เสียชีวิตลง ทำให้คุณสุชัยต้องดำเนินการติดต่อเรื่องใหม่ทั้งหมดกับบริษัท ซึ่งได้อำนวยความสะดวกให้เขาด้วยการส่งรถให้ตามกำหนดเดิม ทำให้คุณสุชัยได้รับรถไปใช้งานอย่างที่ตั้งใจไว้ เมื่อคุณสุชัยได้ใช้งานรถไปถึง 5 เดือนและต้องไปรับป้ายทะเบียนรถ เขากลับพบความจริงว่า ในสำเนาทะเบียนรถระบุว่ารถคันดังกล่าวเป็นรุ่นที่ผลิตในปี 2015 ซึ่งหลังสอบถามไปยังบริษัทก็ได้รับการยืนยันว่าเป็นรุ่นที่ผลิตในปีดังกล่าวจริง ทำให้คุณสุชัยจึงแจ้งกลับไปว่า ก่อนหน้าทำสัญญาจองรถ เขาต้องการซื้อรถที่ผลิตในปี 2016 ซึ่งพนักงานขายที่ได้เสียชีวิตไปแล้วเป็นผู้จองให้ แต่ทางบริษัทได้ตอบกลับว่าไม่ทราบรายละเอียดที่คุณสุชัยได้แจ้งความจำนงไว้กับพนักงานคนดังกล่าว แต่จะรับผิดชอบด้วยการให้เช็คระยะฟรี 10,000 – 20,000 กิโลเมตรอย่างไรก็ตามคุณสุชัยได้ปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว และขอให้บริษัทเปลี่ยนรถให้ใหม่ โดยให้เป็นรุ่นที่ตกลงกันไว้แต่แรก แต่บริษัทกลับตอบกลับว่าไม่สามารถเปลี่ยนให้ได้  เขาจึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอคำแนะนำว่าเขามีสิทธิที่จะขอเงินคืนได้หรือไม่ ส่วนกรณีที่สอง เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับคุณปราณี เธอตกลงใช้บริการรับส่งน้ำดื่มตามบ้าน ซึ่งก่อนใช้บริการพนักงานแจ้งว่าต้องเสียค่ามัดจำถังจำนวน 700 บาท และจะคืนให้เมื่อเลิกใช้บริการ เมื่อใช้บริการดังกล่าวไปได้สักระยะ คุณปราณีต้องการหยุดใช้บริการ โดยเข้าใจว่าต้องได้เงินมัดจำที่เคยเสียไปคืนด้วย แต่เมื่อติดต่อไปยังบริษัทกลับได้รับคำตอบว่า ไม่สามารถคืนเงินให้ได้ เพราะพนักงานที่คุณปรานีเคยติดต่อซื้อขายนั้น ไม่ได้นำเงินดังกล่าวส่งบริษัท ทำให้เธอส่งเรื่องมาร้องเรียนยังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ เพราะเชื่อว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคแนวทางการแก้ไขปัญหาสำหรับทั้งสองกรณีที่เกิดขึ้นล้วนมาสาเหตุจากการพูดคุยติดต่อกับพนักงานขาย ซึ่งเป็นตัวแทนในการซื้อขายระหว่างบริษัทกับผู้ร้อง และเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นเพราะตัวแทนขายดังกล่าว ผู้บริโภคก็ถูกปฏิเสธความรับผิดชอบจากบริษัท ทั้งนี้สำหรับกรณีแรกการซื้อรถยนต์แล้วไม่ได้รถอย่างที่คุยกันไว้ ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำผู้ร้องว่า รายละเอียดต้องเป็นไปตามสัญญาที่ผู้ร้องทำไว้ แม้พนักงานคนที่ได้ทำสัญญาไว้จะเสียชีวิตไปแล้ว ซึ่งหากไม่ได้รถตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญา สามารถบอกเลิกสัญญาและขอเงินคืนได้ เพราะตามประกาศคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคว่าด้วยสัญญา ให้ธุรกิจขายรถยนต์ที่มีการจองเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา 2551 โดยกำหนดไว้ว่า ผู้บริโภคมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเมื่อผู้ประกอบธุรกิจกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ (1) ปรับเปลี่ยนราคารถยนต์สูงขึ้น (2) ไม่ส่งมอบรถยนต์ให้ผู้บริโภคภายในระยะเวลาที่กำหนด (3) ไม่ส่งมอบรถยนต์ที่มียี่ห้อ รุ่น ปีที่ผลิต สี และขนาดกำลังเครื่องยนต์ตรงตามที่กำหนดในสัญญา (4) ไม่ส่งมอบรถยนต์ที่มีรายการอุปกรณ์ติดตั้งเพิ่มเติมและของแถม หรือสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ตามที่กำหนดในสัญญา อย่างไรก็ตามรูปแบบของสัญญาก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะหากไม่ได้ทำตามที่กฎหมายกำหนดก็อาจถูกฉ้อโกงได้ ซึ่งหากใครกำลังจะตกลงจองรถ ต้องตรวจสอบให้ดีก่อนว่าสัญญาที่ทำกับตัวแทนมีลักษณะตรงตามที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่ โดยตามประกาศดังกล่าวกำหนดไว้ว่า สัญญาจองรถยนต์ที่ผู้ประกอบธุรกิจทำกับผู้บริโภคต้องมีข้อความเป็นภาษาไทยที่สามารถเห็นและอ่านได้ชัดเจน มีขนาดของตัวอักษรไม่เล็กกว่าสองมิลลิเมตร และต้องใช้ข้อสัญญาที่มีสาระสำคัญและเงื่อนไข ดังต่อไปนี้ (1) รายละเอียดเกี่ยวกับรถยนต์ดังนี้ (2) ยี่ห้อ รุ่น ปีที่ผลิต สี และขนาดกำลังเครื่องยนต์ (3) รายการอุปกรณ์ติดตั้งเพิ่มเติมและของแถมหรือสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ (ถ้ามี) (4) จำนวนเงิน หรือสิ่งที่รับไว้เป็นมัดจำ (ถ้ามี) (5) ราคา (6) กำหนดเวลาที่คาดว่าจะส่งมอบรถยนต์ส่วนกรณีที่สองผู้ร้องถูกปฏิเสธการคืนเงินมัดจำ ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำผู้ร้องว่า บริษัทไม่สามารถอ้างว่าพนักงานไม่นำส่งได้ เนื่องจากการที่พนักงานไม่ส่งเงินค่ามัดจำให้บริษัท ถือเป็นเรื่องการบริหารงานภายในของบริษัท ซึ่งต้องไปติดตามเอาผิดกับพนักงานคนดังกล่าวเอง แต่ในส่วนที่ผู้ร้องได้จ่ายเงินไปและทำตามสัญญา รวมถึงมีใบเสร็จยืนยันการชำระเงิน บริษัทจำเป็นต้องทำตามสัญญาและคืนเงินค่ามัดจำดังกล่าวให้ผู้ร้อง ซึ่งหากไม่ดำเนินการภายในกำหนด จะถือว่าเป็นการฉ้อโกงผู้บริโภค โดยผู้ร้องสามารถดำเนินการแจ้งความเอาผิดกับบริษัทได้ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 197 ใช้สิทธิฉุกเฉินไม่ได้

ก่อนหน้านี้เราเคยเสนอเรื่องร้องเรียนของผู้บริโภคหลายรายที่เจ็บป่วยฉุกเฉิน แต่ไม่สามารถใช้สิทธิผู้ป่วยฉุกเฉิน หรือเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดทุกแห่งโดยไม่ต้องสำรองจ่ายล่วงหน้าได้ ปัจจุบันเราก็ยังพบปัญหานี้อยู่ แต่มีความคืบหน้ามาให้ผู้บริโภคได้รู้กันช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คุณสมจิตรเรียกรถพยาบาลให้รีบมารับเพื่อนที่มีอาการหมดสติอยู่ภายในบ้าน ซึ่งได้ถูกนำส่งไปยังโรงพยาบาลเปาโล เพราะอยู่ที่ใกล้ที่สุดในขณะนั้น โดยแพทย์ได้ช่วยเหลือด้วยการพาเข้าห้องไอซียู อย่างไรก็ตามก่อนทำการรักษา ทางโรงพยาบาลได้เรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลล่วงหน้าเป็นเงิน 50,000 บาท ซึ่งคุณสมจิตรก็ยินยอมจ่ายเงินดังกล่าวไปในเวลาต่อมาเพื่อนของเธอได้เสียชีวิตลง แต่ภาระอื่นๆ ยังคงอยู่ เพราะแพทย์ได้แจ้งว่ายังมีค่ารักษาพยาบาลเพิ่มเติมอีกเกือบ 1,000 บาท ซึ่งคุณสมจิตรก็ได้จ่ายเพิ่มไปอีกครั้ง แต่เธอก็สงสัยว่ากรณีดังกล่าวสามารถใช้สิทธิฉุกเฉินได้หรือไม่ จึงสอบถามไปยังสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) และได้รับการตอบกลับว่า กรณีดังกล่าวสามารถใช้สิทธิฉุกเฉินได้ โดยให้ทางโรงพยาบาลเป็นผู้ดำเนินการเบิกจ่ายผ่านระบบของ สปสช. ได้เลย อย่างไรก็ตามเมื่อคุณสมจิตรติดต่อกลับไปยังโรงพยาบาลก็พบว่า ทางโรงพยาบาลไม่ได้ทำเรื่องตั้งเบิกให้และไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ คุณสมจิตรจึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำให้ผู้ร้องส่งเอกสารต่างๆ มาเพิ่มเติม ได้แก่ ใบเสร็จการชำระเงิน สำเนาบัตรประชาชนของผู้เสียชีวิต และช่วยร่างหนังสือถึง สปสช. เกี่ยวกับมาตรฐานการรักษาพยาบาลโดยการเรียกเก็บเงินล่วงหน้า และทำหนังสือถึงโรงพยาบาลเพื่อให้ดำเนินการตั้งเบิกกองทุนฉุกเฉิน พร้อมโทรศัพท์สอบถามที่โรงพยาบาลถึงการจัดตั้งกองทุนฉุกเฉิน ซึ่งเจ้าหน้าที่แจ้งว่ายังไม่มีการตั้งเบิก อย่างไรก็ตามสำหรับกรณีดังกล่าวจะนำเรื่องเข้าพิจารณาและขอติดต่อกลับมา โดยภายหลังได้มีการเยียวยาผู้ร้องด้วยการแจ้งว่าจะตั้งเบิกกรณีฉุกเฉินให้ แต่จะได้รับเงินคืนเพียง 10,000 กว่าบาท โดยเช็คจะออกอีกประมาณ 2 เดือนถัดไป ซึ่งผู้ร้องจึงยินดีรับข้อเสนอดังกล่าวและขอยุติเรื่องร้องเรียนทั้งนี้เพื่อแก้ปัญหากรณีการใช้สิทธิฉุกเฉินที่ไม่ทั่วถึง ทาง สปสช. จึงได้ได้ออกประกาศล่าสุด โดยกำหนดให้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2560 เป็นต้นไป ผู้ป่วยฉุกเฉินสามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลรัฐหรือเอกชนที่อยู่ใกล้ที่สุดฟรี โดยไม่ต้องจ่ายเงินใน 72 ชั่วโมงแรก ซึ่งกลุ่มอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินที่สามารถใช้สิทธิได้มี 6 ประเภท ดังนี้ 1. หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ 2. หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรง หายใจติดขัดมีเสียงดัง 3. ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น หรือมีอาการชักร่วม 4. เจ็บหน้าอกเฉียบพลันรุนแรง 5. แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก พูดไม่ชัดแบบปัจจุบันทันด่วน หรือชักต่อเนื่องไม่หยุด และ 6. มีอาการอื่นร่วมที่มีผลต่อการหายใจ ระบบการไหลเวียนโลหิต และระบบสมองที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิตนอกจากนี้เมื่อโรงพยาบาลแต่ละแห่งรับตัวผู้ป่วยฉุกเฉินแล้ว จะต้องดูแลรักษาเพื่อให้พ้นจากอันตรายตามมาตรฐานวิชาชีพและขีดความสามารถของตน โดยไม่มีเงื่อนไขการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลในระยะ 72 ชั่วโมงแรกนอกจากนี้เมื่อโรงพยาบาลแต่ละแห่งรับตัวผู้ป่วยฉุกเฉินแล้ว จะต้องดูแลรักษาเพื่อให้พ้นจากอันตรายตามมาตรฐานวิชาชีพและขีดความสามารถของตน โดยไม่มีเงื่อนไขการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลในระยะ 72 ชั่วโมงแรก แต่ให้เรียกเก็บจากกรมธรรม์ประกันภัย หรือกองทุนที่ผู้ป่วยมีสิทธิรักษาพยาบาลตามกฎหมาย เช่น กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนประกันสังคม กรมบัญชีกลาง หรือตามบัญชีและอัตราค่าใช้จ่ายตามที่ภาครัฐกำหนด เช่น ค่าห้องผ่าตัดใหญ่ 2,400 บาท/ชั่วโมง ค่าอัลตราซาวน์ 1,150 บาท/ครั้ง ค่า MRI สมอง 8,000 บาท/ครั้ง ค่าลิ้นหัวใจเทียม 29,000 บาท/อัน ค่าสายยางและปอดเทียม 80,000 บาท/ชุด ส่วนการรักษาพยาบาลหลัง 72 ชั่วโมงนั้น ให้โรงพยาบาลที่รับตัวผู้ป่วยฉุกเฉินส่งต่อไปยังโรงพยาบาลที่ผู้ป่วยมีสิทธิรับการรักษาอยู่ ซึ่งจะเข้าสู่ระบบปกติ แต่หากผู้ป่วยประสงค์จะรักษาต่อในโรงพยาบาลแห่งนั้นก็จะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง อย่างไรก็ตามหากใครสงสัยว่าจะสามารถใช้สิทธิดังกล่าวได้หรือไม่ก็สามารถโทรศัพท์สอบถามก่อนได้ที่สายด่วน 1669 (ฟรี) เพื่อช่วยให้เกิดการคัดกรองที่ถูกต้อง รวมทั้งหากพบผู้ป่วยฉุกเฉินก็สามารถโทรแจ้งที่เบอร์สายด่วนดังกล่าวได้เช่นกัน โดยมีแนวทางในการแจ้งรายละเอียดดังนี้ 1. ให้ข้อมูลว่าเกิดเหตุอะไรมีผู้ป่วยและผู้บาดเจ็บในลักษณะใด 2. บอกสถานที่เกิดเหตุเส้นทางจุดเกิดเหตุให้ชัดเจน 3. บอกเพศ ช่วงอายุ อาการจำนวนผู้ป่วยหรือผู้บาดเจ็บ 4. บอกระดับความรู้สึกตัวของผู้ป่วย 5. บอกความเสี่ยงที่อาจเกิดซ้ำ เช่นอยู่กลางถนนหรือรถติดแก๊ส 6. บอกชื่อผู้แจ้งเบอร์โทรศัพท์ที่สามารถติดต่อได้ 7. ช่วยเหลือเบื้องต้นตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ และ 8. รอทีมกู้ชีพมารับผู้ป่วยเพื่อนำส่งโรงพยาบาล หรือในกรณีที่มีข้อสงสัยอื่นๆ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ ศูนย์ประสานงานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ โทร. 02-8721669 หรือสายด่วน สปสช. 1330

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 197 บันไดเลื่อนเป็นเหตุ

ที่ผ่านมาเคยมีข่าวคนจีนประสบอุบัติเหตุจากบันไดเลื่อนในห้างสรรพสินค้า ทำให้หลายคนกังวลว่าอาจเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันเช่นนั้นในฝั่งบ้านเราบ้าง ซึ่งแน่นอนว่าตัวแทนของห้างร้านหลายแห่งก็ได้ออกมายืนยันถึงระบบการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวด อย่างไรก็ตามอุบัติเหตุดังกล่าวก็ยังเกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้ คุณสุชาติและลูกชายไปเดินซื้อสินค้าที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งย่านถนนสามเสน โดยหลังจากซื้อสินค้าเสร็จเรียบร้อยและกำลังลงบันไดเลื่อนกลับบ้าน เขาพบว่าบันไดเลื่อนมีอาการสั่นจนรู้สึกได้ ทำให้ลูกชายที่จูงมือลงมาพร้อมกันล้มลง ซึ่งในขณะนั้นลูกชายได้ใช้มือยันพื้นเอาไว้ ทำให้ถูกบันไดเลื่อนหนีบมือได้รับบาดเจ็บรุนแรง โดยเกิดแผลฉีกขาดที่บริเวณมือขวาและมีเลือดออกจำนวนมากคุณสุชาติจึงรีบพาลูกชายไปโรงพยาบาลที่ทำประกันอุบัติเหตุไว้ ซึ่งได้รับการรักษาตามวงเงินประกัน คือ การปฐมพยาบาลเบื้องต้น แต่อาการของลูกชายจำเป็นต้องรักษาเพิ่มเติม เขาจึงพาไปยังโรงพยาบาลอีกแห่งหนึ่งที่สู้ค่าใช้จ่ายไหวแทน ซึ่งทางโรงบาลดังกล่าวได้ช่วยเหลือด้วยการเบิกค่ารักษาพยาบาลกับสิทธิฉุกเฉินให้ ต่อมาคุณสุชาติจึงไปร้องเรียนที่ห้างสรรพสินค้าดังกล่าว เพื่อให้มีการชดเชยเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น แต่ไม่ได้รับการติดต่อกลับแต่อย่างใด เขาจึงต้องโทรศัพท์ไปร้องเรียนอีกครั้ง ซึ่งภายหลังพนักงานส่งเรื่องให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงก็ได้ขอโทษคุณสุชาติต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นพร้อมตอบกลับมาว่า ให้เขานำรายละเอียดใบเสร็จการรักษามาฝากไว้ที่จุดประชาสัมพันธ์ของห้างฯ และจะดำเนินการเยียวยาชดเชยค่าเสียหายที่เกิดขึ้นตามจริงให้อย่างไรก็ตามคุณสุชาติกลับไม่ได้รับการเยียวยาค่าเสียหาย เพราะหลังจากพนักงานได้ตรวจสอบรายละเอียดของใบเสร็จการรักษาพยาบาลก็พบว่า ในใบเสร็จระบุว่าเบิกได้ ทำให้ประกันของบริษัทไม่จ่ายให้ ทางห้างฯ จึงไม่สามารถจ่ายค่ารักษาพยาบาลได้ตามใบเสร็จ เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้คุณสุชาติจึงมาร้องเรียนที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาในเบื้องต้นศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แจ้งให้ผู้ร้องไปขอภาพจากกล้องวงจรปิดวันที่เกิดอุบัติเหตุ เพื่อยืนยันว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดจากบันไดเลื่อนของห้างจริง แต่พบว่าหลังจากผู้ร้องไปขอพนักงานแจ้งว่าในบริเวณที่เกิดเหตุภาพจากกล้องไปไม่ถึง จึงไม่สามารถขอภาพมาเป็นหลักฐานได้ อย่างไรก็ตามศูนย์ฯ ให้ผู้ร้องทำเอกสารสรุปค่าเสียหายทั้งหมดที่มี เช่น ค่ารักษาพยาบาลที่จ่ายไปแล้วและในอนาคตที่คาดว่าจะต้องไปรักษาจนกว่าแผลจะหาย ค่าเดินทางในการไปรักษาพยาบาลหรือไปดำเนินการเรียกร้องในเรื่องดังกล่าว จากนั้นจึงช่วยผู้ร้องให้มีการเจรจากับตัวแทนของห้าง ซึ่งภายหลังยินดีชดเชยค่าเสียหายที่เกิดขึ้นให้ตามใบเสร็จค่ารักษาพยาบาล ส่วนค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ทางห้างจะขอนำไปพิจารณาก่อนและจะติดต่อกลับมาภายหลัง 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 197 ซื้ออาหารเสริมลดน้ำหนักออนไลน์

สาวๆ เกือบทั่วโลกใฝ่ฝันให้ตัวเองมีรูปร่างที่ดีได้สัดส่วน ทำให้อาหารเสริมลดน้ำหนักเป็นหนึ่งสินค้าขายดีสำหรับคนอยากหุ่นดีด้วยวิธีลัด ยิ่งด้วยยุคสมัยนี้ที่อินเทอร์เน็ตช่วยให้การซื้อของสะดวกสบายง่ายเพียงปลายนิ้ว ธุรกิจการขายอาหารเสริมลดน้ำหนักออนไลน์จึงยิ่งขยายตัวและควบคุมได้ยากขึ้น ซึ่งหากใครไม่อยากโดนหลอกให้เสียเงินฟรี ลองมาดูเหตุการณ์ที่เกิดกับผู้ร้องรายนี้กันคุณมานีสนใจอยากลดน้ำหนัก เธอจึงเลือกซื้ออาหารเสริมลดน้ำหนักที่โฆษณาผ่านทางร้านค้าออนไลน์ในแอปพลิเคชันอินสตาแกรม (Instagram) และพบว่ามียี่ห้อหนึ่งที่โฆษณาว่า เป็นสินค้านำเข้าจากประเทศเกาหลี ได้มาตรฐานปลอดภัย มี อย. และ GMP ช่วยให้แขนขาเรียว ลดไวไม่ลดทานฟรี เหมาะกับคนดื้อยา อ้วนสะสม หลังคลอด ซึ่งหลังจากดูรายละเอียดต่างๆ แล้ว เธอก็คิดว่าสินค้าดังกล่าวน่าจะปลอดภัยจริง จึงตัดสินใจสั่งซื้อและโอนเงินชำระค่าสินค้าไปจำนวน 550 บาทอย่างไรก็ตามหลังแจ้งแม่ค้าว่าโอนเงินเรียบร้อยแล้วและสอบถามถึงเลขพัสดุสินค้ากลับพบว่า แม่ค้าไม่สนใจข้อความของเธอและปล่อยให้เวลาผ่านไปนานเป็นอาทิตย์ โดยได้ตอบกลับมาภายหลังว่ากำลังจัดส่งอยู่ ขอให้เธอเย็นๆ ก่อน แต่สุดท้ายก็ไม่มีความคืบหน้าใดๆ ทำให้คุณมานีมั่นใจว่าโดนโกงเงินแน่นอน เธอจึงไปแสดงความคิดเห็นในอินสตาแกรมของแม่ค้าและขอให้คืนเงินที่โอนไป ซึ่งแม่ค้าก็ได้เข้ามาตอบกลับว่าจะคืนเงินให้ แต่หลังจากนั้นก็เงียบหายไปพร้อมส่งสินค้ามาให้แทน เมื่อได้รับสินค้าคุณมานีก็พบว่าบรรจุภัณฑ์ไม่เหมือนกับในรูปที่โฆษณาไว้ เธอจึงไม่กล้ารับประทานและติดต่อกลับไปยังแม่ค้าอีกครั้งเพื่อขอให้คืนเงิน ซึ่งแม่ค้าก็ได้แจ้งมาว่าจะคืนเงินให้ แต่ต้องส่งสินค้าคืนมาก่อน และเมื่อคุณมานีส่งสินค้าดังกล่าวคืนไป แน่นอนว่าแม่ค้าก็หายเข้ากลีบเมฆไป ด้วยการลบบัญชีผู้ใช้ในอินสตาแกรมทิ้งและปิดทุกช่องทางการสื่อสารกับเธอ ทำให้คุณมานีต้องส่งเรื่องมาร้องเรียนยังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางการแก้ไขปัญหา เรื่องนี้ขอแยกเป็นสองกรณี กรณีที่ซื้อสินค้าแล้วโดนโกงเงินนั้น ผู้ร้องสามารถรวบรวมหลักฐานต่างๆ เช่น โฆษณาการขายสินค้าดังกล่าวบนอินสตาแกรม บทสนทนาซื้อขาย หลักฐานการโอนเงินและสินค้าที่ซื้อมา ไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจได้ หรือแจ้งเบาะแสและส่งตัวอย่างสินค้าให้ อย. ลงพื้นที่ตรวจสอบผ่านทางสายด่วน อย. 1556 หรือ ร้องเรียน ผาน Oryor Smart Application หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดอย่างเข้มงวดต่อไปอย่างไรก็ตามในกรณีนี้พบว่าผู้ขายได้ปิดร้านค้าบนอินสตาแกรมไปแล้ว รวมทั้งผู้ร้องได้ส่งสินค้าคืนไปแล้ว และไม่สามารถติดตามหาเบาะแสอื่นๆ ของสินค้านี้ได้อีกเลย มีเพียงชื่อยี่ห้อเท่านั้น จึงแนะนำให้ผู้ร้องร้องเรียนไปยังสายด่วน อย. เพื่อให้ติดตามและสุ่มเก็บตัวอย่างมาเพื่อตรวจสอบต่อไป สำหรับกรณีนี้ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำผู้ร้องว่า ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายจำนวนมาก ซึ่งมักโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง เช่น ช่วยลดน้ำหนัก ทำให้ผิวขาวหรือเสริมสรรถทางเพศ เนื่องจากผลิตภัณฑ์เหล่านี้เป็นเพียงอาหารที่ช่วยเสริมหรือเติมเต็มสารอาหารที่ร่างกายขาดเท่านั้น ไม่ใช่ยาที่สามารถออกฤทธิ์หรือมีสรรพคุณในการรักษาโรคได้ ซึ่งผู้บริโภคสามารถสังเกตได้จากฉลากดังนี้ 1. หากสินค้าดังกล่าวเป็นอาหารจะต้องใช้เลข อย. 13 หลัก 2. หากเป็นยาจะต้องใช้เลขทะเบียนยาและไม่ได้อยู่ในกรอบของ อย. ซึ่งจะต้องระบุว่า “ทะเบียนยาเลขที่” หรือ “Reg. No.” ตามด้วยอักษรและตัวเลขนอกจากนี้เราควรตรวจสอบรายละเอียดบนฉลากว่า เป็นสินค้าที่ได้รับการขึ้นทะเบียนหรือรับรองจากอย. ได้จริงหรือไม่ผ่านทางเว็บไซต์ของ อย. ที่ http://porta.fda.moph.go.th/FDA_SEARCH_ALL/MAIN/SEARCH_CENTER_MAIN.aspx ซึ่งหากพบว่า รายละเอียดในฉลากของผลิตภัณฑ์นั้นไม่ตรงกับที่ระบุไว้ในเว็บไซต์ ควรสันนิษฐานว่าอาจเป็นสินค้าปลอมหรือไม่ได้มาตรฐาน และไม่ควรเสี่ยงรับประทานเนื่องจากอาจทำให้ได้รับสารอันตรายอย่าง ไซบูทรามีน (Sibutramine) เพราะที่ผ่านมา อย. เคยตรวจพบสารดังกล่าวในผลิตภัณฑ์ที่มักโฆษณาว่าช่วยลดน้ำหนักจำนวนมาก ซึ่งมีอันตรายต่อร่างกายและมีความเสี่ยงทำให้เสียชีวิตได้ มากไปกว่านั้นหากพบว่า สินค้าดังกล่าวเข้าข่ายเป็นยารักษาโรคก็ถือว่าผิดกฎหมายได้เช่นกัน เพราะตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 มีข้อกำหนดชัดเจนเรื่องสถานที่ขายยาว่า ต้องไม่ขายนอกสถานที่ตามที่อนุญาต เพราะยาไม่ใช่สินค้าทั่วไป การซื้อจึงต้องได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องจากผู้ปฏิบัติวิชาชีพโดยตรง การขายในอินเทอร์เน็ต จึงเป็นการขายนอกสถานที่ที่อนุญาต มีความผิดตามมาตรา 12 พ.ร.บ.ยา มีโทษ จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 10,000 บาท นอกจากนี้ จะถือว่ามีความผิดฐานโฆษณาด้วย เพราะยาถือเป็นสิ่งที่ไม่อนุญาตให้โฆษณา จะมีโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท            ทั้งนี้หากผู้บริโภคต้องการซื้อยาลดความอ้วน ควรปรึกษาแพทย์และรับประทานภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์หรือเภสัชกรเท่านั้น ไม่ควรหาซื้อยามารับประทานเอง เนื่องจากอาจพบสารอันตรายดังที่กล่าวไว้ข้างต้นหรือสารอันตรายอื่นๆ อีก นอกจากนี้การรับประทานยาลดความอ้วน ต้องทำควบคู่ไปกับการออกกำลังกายหรือควบคุมอาหาร เพื่อช่วยให้รูปร่างสมส่วนและสุขภาพดี 

อ่านเพิ่มเติม >