ฉบับที่ 200 เหม็นกลิ่นขี้ยางจากข้างบ้าน

ขี้ยางหรือเศษยาง เป็นสิ่งที่เหลือจากการกระบวนการทำยางก้อนและยางแผ่น ซึ่งสามารถนำไปเป็นส่วนผสมสำหรับยางที่มีสีดำอย่างยางรถยนต์ต่อได้ อย่างไรก็ตามขี้ยางมักมีกลิ่นแรง โดยหากไม่มีการจัดเก็บที่ดี อาจส่งปัญหาต่อบ้านใกล้เรือนเคียงได้ ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณกุญชร ได้กลิ่นเหม็นรบกวนจากเพื่อนบ้านเป็นประจำ ซึ่งมาทราบภายหลังว่าสาเหตุของกลิ่นมาจากการที่เพื่อนบ้าน รับซื้อขี้ยางมาเก็บไว้จำนวนมาก เพื่อรอการจำหน่ายต่อไป ทำให้เขาต้องการทราบว่าเหตุการณ์ดังกล่าวสามารถจัดการปัญหาได้อย่างไรบ้าง เพราะไม่อยากทนกลิ่นเหม็นของขี้ยางอีกต่อไป จึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอคำแนะนำแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำผู้ร้องว่า กรณีดังกล่าวอาจเข้าข่ายการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.สาธารณสุข พ.ศ. 2535 ที่กำหนดไว้ในมาตรา 25 (4) ว่า การกระทำใดๆ ที่เป็นเหตุให้เกิด กลิ่น แสง เสียง การสั่นสะเทือน ฝุ่น จนเป็นเหตุให้เสื่อมหรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ถือว่าเป็นการกระทำผิด ซึ่งผู้มีอำนาจหน้าที่โดยตรงตาม พ.ร.บ. นี้คือเจ้าพนักงานท้องถิ่น สามารถแจ้งให้ปรับปรุง/แก้ไข  ภายในระยะเวลาที่กำหนดได้ และหากล่วงเลยเวลาดังกล่าวแล้ว เจ้าพนักงานก็มีอำนาจสั่งรื้อ/ปรับได้ ศูนย์ฯ จึงแนะนำให้ผู้ร้องไปแจ้งเรื่องต่อผู้ใหญ่บ้าน หรือผู้ปกครองท้องถิ่นก่อนเบื้องต้น โดยภายหลังผู้ร้องได้แจ้งกลับมาว่าได้ดำเนินการบอกผู้ใหญ่บ้านแล้ว ซึ่งไปแจ้งเตือนคู่กรณีให้มีการแก้ไขปรับปรุงเป็นที่เรียบร้อย จึงยินดีขอยุติเรื่องร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 200 งานแต่งเลื่อน ขอเงินค่าแพ็กเกจถ่ายรูปคืน

เพราะการแต่งงานถือเป็นช่วงเวลาสำคัญครั้งหนึ่งในชีวิตของใครหลายคน การจ้างช่างภาพมืออาชีพเพื่อมาเก็บภาพความประทับใจหรือบรรยากาศภายในงานจึงเป็นเรื่องธรรมดา โดยปัจจุบันการถ่ายภาพงานแต่งมักเป็นแพ็กเกจการถ่ายรูป ซึ่งจะมีราคาตั้งแต่หลักหมื่นไปจนหลักแสนเลยทีเดียว อย่างไรก็ตามหากเราพบว่างานแต่งที่วางแผนไว้กลับล่ม แต่ตกลงซื้อแพ็กเกจการถ่ายรูปงานแต่งไว้แล้ว ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้ เราจะจัดการปัญหานี้อย่างไรดี ลองไปดูกันคุณไอติมวางแผนแต่งงานไว้ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า จึงตัดสินใจเลือกใช้บริการถ่ายภาพและเช่าชุดงานแต่งงานกับบริษัทแห่งหนึ่ง อย่างไรก็ตามหลังตกลงกันเรียบร้อย และจ่ายค่ามัดจำด้วยบัตรเครดิตไปแล้วเป็นจำนวนเกือบ 40,000 บาท กลับพบว่ามีปัญหาบางอย่างเกิดขึ้นภายในครอบครัวของเธอ ทำให้งานแต่งต้องยกเลิกไปก่อน คุณไอติมจึงต้องการยกเลิกสัญญาการถ่ายภาพและเช่าชุดแต่งงาน แต่ไม่สามารถตกลงกับบริษัทได้ จึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาในกรณีนี้ผู้ร้องต้องการขอเงินคืนทั้งหมด ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์จึงชี้แจงผู้ร้องว่า การจ่ายเงินมัดจำ เป็นการให้คำมั่นว่าจะมีการทำตามที่ตกลงในสัญญา ซึ่งหากผู้ร้องขอยกเลิกสัญญาเอง โดยที่บริษัทฯ ไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาบริษัทฯ ก็มีสิทธิริบเงินมัดจำได้อย่างไรก็ตามในกรณีนี้ ผู้ร้องได้จ่ายค่ามัดจำด้วยบัตรเครดิตไปแล้วเกือบ 40,000 บาท ซึ่งมากกว่าครึ่งหนึ่งของราคาทั้งหมด ดังนั้นอาจเป็นการจ่ายเงินมัดจำสูงเกินไป ซึ่งตาม พ.ร.บ. ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม กำหนดว่าสามารถลดลงได้เท่าที่เสียหายจริง ในเบื้องต้นศูนย์ฯ จึงแนะนำให้ผู้ร้องแจ้งระงับการจ่ายเงินกับธนาคารของบัตรเครดิตก่อน จากนั้นช่วยทำหนังสือยกเลิกสัญญาและขอเงินมัดจำคืน โดยให้บริษัทฯ สามารถหักค่าเสียหายได้เท่าที่เสียหายจริง รวมทั้งเชิญให้มีการเจรจาไกล่เกลี่ยที่มูลนิธิ ภายหลังการเจรจาพบว่า บริษัทแจ้งรายละเอียดค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เสียไปแล้วจำนวนกว่า 20,000 บาท ซึ่งหากยกเลิกสัญญาจะต้องหักจากเงินมัดจำ แต่ผู้ร้องไม่ยินยอม เพราะเห็นว่าเป็นการเอาเปรียบมากเกินไป พร้อมเสนอให้หักเพียง 5,000 บาท ทางบริษัทจึงขอนำกลับไปพิจารณา และแจ้งกลับมาภายหลังว่ายินดีทำตามข้อเสนอของผู้ร้อง แต่จะคืนเงินให้หลังจากที่ขายแพ็กเกจดังกล่าวให้ลูกค้าคนอื่นได้แล้ว ซึ่งผู้ร้องยินดีและขอยุติการร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 200 แจ้งจับคนขับมอเตอร์ไซค์บนทางเท้า

แม้ทางเท้าหรือฟุตบาทจะเป็นทางเดินสัญจรสาธารณะ แต่ที่ผ่านมาฟุตบาทได้กลายเป็นทั้งที่ขายของ ทางวิ่งรถมอเตอร์ไซค์หรือแม้แต่ที่จอดรถยนต์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้สัญจรไปมาอย่างมาก โดยเฉพาะการขับรถมอเตอร์ไซค์บนทางเท้า ทำให้ภาครัฐออกมาตรการ “ชวนประชาชนแจ้งจับผู้ที่ขี่มอเตอร์ไซค์ทางเท้า และได้รางวัลครึ่งหนึ่งของค่าปรับ” เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตามมาตรการดังกล่าวจะใช้ได้ผลจริงหรือไม่ เราลองไปดูเหตุการณ์ของผู้ร้องรายนี้กันคุณสมจิตรพบเห็นรถจักรยานยนต์และรถยนต์หลายคันจอดอยู่บนทางเท้า และเห็นหลายคนขับรถจักรยานยนต์บนทางเท้าเป็นประจำ ส่งผลให้เขาและผู้ที่เดินทางสัญจรไปมาบริเวณนั้นได้รับผลกระทบ ต้องเดินหลบกลัวว่าจะถูกรถชน คุณสมจิตรจึงถ่ายรูปเหตุการณ์ดังกล่าวไว้และส่งเรื่องแจ้งไปยังอีเมล citylaw_bma@hotmail.com ตามวิธีการแจ้งเบาะแสของภาครัฐ อย่างไรก็ตามหลังส่งเรื่องไปแล้วหลายอาทิตย์ เขากลับไม่พบการแก้ปัญหาหรือการติดต่อกลับเพื่อให้ไปรับรางวัลนำจับแต่อย่างใด จึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิเพื่อขอคำแนะนำแนวทางการแก้ไขปัญหาจากการแถลงข่าวโดยรองโฆษกกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา เกี่ยวประเด็นเรื่องการให้รางวัลนำจับ กรณีพบเห็นผู้ขับขี่บนทางเท้าว่า กทม. ต้องการให้โครงการนี้เป็นมาตรการหนึ่งในการจัดระเบียบสังคมให้เกิดความสะอาดเป็นระเบียบเรียบร้อย ความปลอดภัย โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามามีส่วนร่วม ซึ่งหากพบเห็นผู้ที่จอดหรือขับขี่รถจักรยานยนตร์และรถยนต์บนทางเท้า สามารถถ่ายรูปหรือวิดีโอเก็บไว้เป็นหลักฐานและแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ได้ทันที เพราะถือว่าทำผิดตาม พ.ร.บ. รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 ในมาตรา 17 ที่ห้ามมิให้ผู้ใดจอด หรือ ขับขี่รถยนต์ รถจักรยานยนต์ หรือล้อเลื่อน บนทางเท้า เว้นแต่เป็นการจอดหรือขับขี่เพื่อเข้าไปในอาคาร หรือมีประกาศของเจ้าพนักงานจราจรผ่อนผันให้จอดหรือขับขี่ได้ ซึ่งหากผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาทสำหรับช่องทางการแจ้งเบาะแส สามารถทำได้ 6 ช่องทาง ดังนี้ 1.ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน กทม.1555 2.สายด่วนสำนักเทศกิจ 02-465-6644 3. ไปรษณีย์ ส่งถึงสำนักเทศกิจ เลขที่ 1 ถนนเทศบาลสาย 1 แขวงวัดวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี 10600 4. อีเมล์ citylaw_bma@hotmail.com 5. ทางเฟซบุ๊กสำนักเทศกิจ กรุงเทพมหานคร และ 6. สำนักงานเขตในพื้นที่พบเห็นทั้ง 50 เขต ทั้งนี้สำหรับหลักฐานในการเอาผิดต้องให้เห็นชัดเจนคือ มีเลขทะเบียนรถผู้กระทำผิด ซึ่งหากเป็นมอเตอร์ไซค์รับจ้างโดยสารสาธารณะ ต้องให้เห็นหมายเลขเสื้อและวินที่สังกัดด้วย พร้อมระบุวัน เวลา สถานที่กระทำผิด โดยเจ้าหน้าที่จะเก็บข้อมูลส่วนตัวของผู้แจ้งไว้เป็นความลับอย่างไรก็ตามหลักเกณฑ์รางวัลนำจับที่ผู้แจ้งความจะได้รับรางวัลกึ่งหนึ่งของค่าปรับนั้น จะได้รับภายหลังจากที่ผู้กระทำความผิดได้ชำระค่าปรับแล้ว และสำนักงานเขตจะทำหนังสือไปยังผู้ที่แจ้งข้อมูลดังกล่าว เพื่อให้เข้ามาเพื่อรับค่านำจับ ซึ่งจะได้รับภายใน 60 วันนับแต่วันที่เขตได้รับแจ้ง หรือหากผู้กระทำความผิดได้ชำระค่าปรับในวันเดียวกัน ผู้แจ้งก็จะได้รับรางวัลค่าปรับในนั้นทันที ในขณะเดียวกันส่วนของค่าปรับนั้นต้องเข้าใจว่า ไม่ใช่จับครั้งแรกแล้วปรับ 5,000 บาททันที แต่จะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่เทศกิจด้วย ซึ่งเจ้าหน้าที่จะมีการบันทึกประวัติผู้กระทำผิดไว้ หากทำผิดครั้งแรกอาจจะปรับ 1,000 บาท และครั้งต่อไปถึงค่อยๆ ปรับเพิ่มขึ้น เมื่อศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ได้ช่วยติดตามข้อมูลของผู้ร้อง โดยโทรศัพท์ไปสอบถามยังสำนักงานเขตที่ได้แจ้งไป ซึ่งตอบกลับมาว่าได้รับหลักฐานการแจ้งเบาะแสแล้วเรียบร้อย แต่อยู่ในขั้นตอนรอผู้กระทำความผิดมาชำระค่าปรับ และหากมีการชำระแล้ว จะดำเนินการแจ้งผู้ร้องให้เข้ามารับส่วนแบ่งต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

รวมข้อมูลภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและหักลดหย่อนอะไรได้บ้าง?

ท่านใดที่กำลังคิดว่ารายได้ของท่านจะต้องเสียภาษีเท่าไร และมีอะไรมาหักลดหย่อนได้บ้าง เราเลยนำเสนอข้อมูลในท่านตามลิงค์ด้านล่าง เพื่อเป็นแนวทางในการเตรียมตัวเสียภาษีปีนี้นะคะ :) การปรับปรุงโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาใหม่ 2560   By กรมสรรพากร  https://goo.gl/Y5GxhZโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาใหม่ ปีภาษี 2560 ค่าลดหย่อน  By Kapook.com   https://goo.gl/MEgCYUวางแผนลดหย่อนภาษีปี 60 ฉบับบุคคลธรรมดา มีอะไรหักได้บ้าง  By plus.co.th  https://goo.gl/Nyfi5Uครม.ไฟเขียวลดหย่อนภาษีเพิ่มเท่าตัว มีผลปีภาษี 2560 ช่วยค่าครองชีพมนุษย์เงินเดือน  By matichon  https://goo.gl/JQAukmปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแจกถ้วนหน้า By thaipublica https://goo.gl/5c25X4ขอบคุณข้อมูลกรมสรรพากร Kapook.complus.co.th matichonthaipublica

อ่านเพิ่มเติม >

ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พัฒนาเครือข่ายผู้บริโภค ‘เก็บตัวอย่าง-เฝ้าระวังอาหาร ยา สินค้าสุขภาพ’ รุกสร้างมาตรฐานความปลอดภัยในระดับท้องถิ่นทั่วประเทศ

ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ “การเก็บตัวอย่าง-เฝ้าระวังสินค้าและบริการสุขภาพ” เพื่อเสริมความรู้และพัฒนาศักยภาพในการเก็บตัวอย่างสินค้าและบริการประเภทอาหาร ยา หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพให้กับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคประชาชนส่วนกลางและภูมิภาค เพื่อนำไปใช้ทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคให้เข้าถึงระดับท้องถิ่นอย่างมีมาตรฐานถูกต้องและมีประสิทธิภาพวันนี้ (10 ต.ค.60) เวลา 09.00 น. ณ โรงแรมทีเค พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ - มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จัดกิจกรรมฝึกอบรมปฏิบัติการ การเก็บตัวอย่างและเฝ้าระวังสินค้าและบริการสุขภาพ ภายใต้ โครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมความรู้ให้เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคประชาชน สามารถลงพื้นที่สุ่มเก็บตัวอย่าง ทำการบรรจุ-จัดส่งผลิตภัณฑ์เพื่อส่งตรวจ และเฝ้าระวังสินค้าหรือบริการด้านสุขภาพในท้องถิ่นได้ถูกต้องมีประสิทธิภาพ โดยการบรรยายความรู้การเก็บตัวอย่างเพื่อการทดสอบอาหาร ยาและเครื่องสำอาง จาก ภก.วรวิทย์ กิตติวงศ์สุนทร อดีตอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และคณะ และกิจกรรมฝึกปฏิบัติการเก็บตัวอย่างสินค้านายสมนึก งามละมัย ผู้ประสานงานโครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ กล่าวว่า “การมีส่วนร่วมในการทดสอบสินค้าหรือบริการของเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคประชาชนจากทั่วประเทศ มีผลดีต่อการสุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่กว้าง และครอบคลุมทั่วประเทศมากขึ้น ทำให้ผลการทดสอบโดยรวม มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น” “ผู้เข้าอบรมเองจะได้รับความรู้พื้นฐานในการเลือกซื้อสินค้า ดูข้อมูลบนฉลาก ทำให้เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคมีความเชี่ยวชาญในการสุ่มเก็บตัวอย่าง โดยเฉพาะสินค้าในตลาดชุมชนที่ดูมีความสุ่มเสี่ยงน่าสงสัยว่าอาจไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค ไปยังห้องแล็บเพื่อตรวจสอบ และนำผลการทดสอบที่ได้ไปใช้ประโยชน์ในการคุ้มครองผู้บริโภค” นายสมนึกกล่าว นางสาวมลฤดี โพธิ์อินทร์ นักวิชาการด้านอาหาร มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า “ความรู้และเทคนิคการสุ่มเก็บตัวอย่างสินค้าประเภทอาหาร ยา หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องทำอย่างถูกต้องและรวดเร็ว เช่น การคำนวณปริมาณที่ต้องสุ่มเก็บ เลขล็อตการผลิตที่ต้องเป็นชุดเดียวกัน การถ่ายภาพตัวอย่าง การบันทึกข้อมูลฉลากของตัวอย่างอาหารติดบนตัวอย่าง เหล่านี้ต้องทำอย่างระมัดระวังและเข้มงวด เพราะการเก็บตัวอย่างที่ถูกต้องจะสามารถนำส่งตรวจวิเคราะห์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะสินค้าประเภทอาหารหากเก็บผิดพลาด อาจไม่สามารถส่งตรวจได้ เป็นการเสียเวลาและงบประมาณ”นางสาวบารีย๊ะ ยาดำ ผู้ประสานงานสมาคมผู้บริโภคจังหวัดสงขลา กล่าวว่า “อำเภอหาดใหญ่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีสินค้าหลากหลาย มีแหล่งตลาดสดจำนวนมาก สินค้านำเข้าส่วนใหญ่มาจากจีนและมาเลเซียซึ่งไม่มีฉลากภาษาไทย เช่น อาหารแห้งและเครื่องสำอางที่มีความสุ่มเสี่ยง วันนี้ได้เรียนรู้การอ่านและดูฉลากและเลือกเก็บตัวอย่างประเภทอาหารสด อาหารแห้ง สุ่มเก็บอย่างไรให้ครอบคลุม โดยเรามีเครือข่ายอาสาทำงานในพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมายังไม่รู้เทคนิคการเก็บตัวอย่าง จะนำความรู้ในวันนี้ไปถ่ายทอดให้กับคนทำงานพื้นที่ต่อไป” นางสาวพวงทอง ว่องไว กลไกการคุ้มครองผู้บริโภคภาคเหนือและผู้ประสานงานศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดพะเยา กล่าวว่า “ปัญหาการเฝ้าระวังสินค้าและบริการสุขภาพในภาคเหนือ ส่วนใหญ่เป็นสินค้านำเข้าจากประเทศจีน เช่น ขนม อาหารแห้ง ยา และเครื่องสำอาง ซึ่งไม่มีฉลากภาษาไทย มีการตรวจพบสเตียรอยด์ในยาสมุนไพรจีน จากรถขายเร่ที่มาจำหน่ายตามชุมชน ซึ่งเป็นยาที่ไม่ได้จดแจ้ง มาอบรมวันนี้ได้เทคนิคการอ่านฉลาก วิธีการเลือกเก็บตัวอย่างสินค้า การคำนวณปริมาณสินค้าที่ต้องส่งต่อ การบันทึกข้อมูลเอกสารที่นำส่งเพื่อตรวจสอบสินค้า ซึ่งทั้งหมดจะได้นำไปใช้ทำงานในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ”ทั้งนี้ ภายหลังการฝึกอบรมเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคประชาชนจะลงพื้นที่เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่มีจำหน่ายในชุมชนส่งศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ เพื่อส่งตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการมาตรฐานต่อไป ซึ่งจะส่งเสริมและยกระดับมาตรฐานการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชนครอบคลุมพื้นที่ระดับประเทศมากขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 199 คืนสินค้าเร็ว แต่ได้รับเงินช้า

คุณปราณีสั่งซื้อเครื่องสำอางจากรายการขายของในช่องเคเบิลทีวี ซึ่งผู้ดำเนินรายการแจ้งว่าหากซื้อไปใช้แล้ว เกิดอาการแพ้ก็สามารถคืนสินค้าได้ เธอจึงตัดสินใจลองสั่งเครื่องสำอางดังกล่าวมาใช้ดูเป็นจำนวนเงินเกือบ 2,000 บาท แต่ปรากฏว่าหลังจากทดลองใช้ไปได้ประมาณ 3 วัน คุณปราณีกลับรู้สึกมีอาการคันและผื่นขึ้นบริเวณใบหน้า จึงไปพบแพทย์เพื่อรักษา ซึ่งวินิจฉัยว่าเกิดจากอาการแพ้เครื่องสำอางนั่นเอง เธอจึงโทรศัพท์ไปแจ้งบริษัทเครื่องสำอางถึงอาการแพ้ดังกล่าว เพื่อขอคืนสินค้าและขอเงินคืน เมื่อบริษัทเครื่องสำอางรับทราบก็ได้ส่งเจ้าหน้าที่มารับสินค้าคืน และขอเลขบัญชีของคุณปราณีไป เพื่อจะโอนเงินค่าสินค้าให้ อย่างไรก็ตามหลังผ่านไปเกือบ 4 เดือนก็ไม่พบว่ามีการโอนเงินคืนจากบริษัทดังกล่าวแต่อย่างใด ทำให้คุณปราณีส่งเรื่องร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอคำปรึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ช่วยโทรศัพท์ไปสอบถามที่บริษัทเครื่องสำอางถึงกรณีดังกล่าว ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ตอบกลับมาว่าเหตุที่คืนเงินล่าช้า เพราะผู้ร้องแจ้งเลขบัญชีผิดและไม่มีการติดต่อเข้ามายังบริษัทเพื่อแจ้งเลขบัญชีใหม่ ทำให้บริษัทไม่สามารถโอนเงินคืนให้ได้ อย่างไรก็ตามบริษัทยินดีรับผิดชอบด้วยการโอนเงินคืนเต็มจำนวน ซึ่งภายหลังผู้ร้องได้รับเงินคืนเรียบร้อยแล้วก็ยินดียุติเรื่องร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 199 ต้องการค่าเทอมคืน

คุณสุชาติพาลูกชายเข้าเรียนที่โรงเรียนอนุบาลใกล้บ้าน โดยเสียค่าใช้จ่ายไปแล้วกว่า 60,000 บาท/เทอม แต่เมื่อเปิดภาคเรียนไปได้เพียง 1 เดือนก็เกิดโรคระบาดมือเท้าปากภายในโรงเรียน ซึ่งลูกชายของเขาก็ติดได้ติดโรคดังกล่าวมาด้วย ทำให้คุณสุชาติต้องพาลูกชายไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล และให้หยุดเรียนเป็นเวลา 2 สัปดาห์ตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อรอให้อาการหายสนิท อย่างไรก็ตามเมื่อลูกชายกลับไปที่โรงเรียนก็พบว่าได้ติดโรคดังกล่าวมาอีกครั้ง ทำให้คุณสุชาติต้องพาลูกชายกลับไปพบหมอ เพื่อรักษาอาการดังกล่าวเป็นรอบที่สอง ซึ่งรวมๆ แล้วเสียค่ารักษาพยาบาลไปทั้งหมดประมาณ 90,000 บาท โดยคุณสุชาติได้สังเกตว่าสาเหตุที่ทำให้ลูกชายติดโรคมาอีกครั้งเป็นเพราะ โรงเรียนมีการจัดกิจกรรมเล่านิทาน ที่ให้นักเรียนหลายห้องมารวมกันเพื่อฟังนิทาน ซึ่งเด็กบางคนมีอาการของโรคอยู่ แต่โรงเรียนไม่มีการคัดแยกเด็กป่วยกับไม่ป่วยออกจากกัน ทำให้อาจเกิดการแพร่เชื้อได้ดังนั้นคุณสุชาติจึงคิดว่า ต่อให้อาการของลูกชายหายสนิท แต่ถ้าโรงเรียนไม่มีมาตรการป้องกันควบคุมโรคเช่นนี้ ก็อาจทำให้ลูกชายติดโรคดังกล่าวกลับมาเช่นเดิมได้ เพราะตามประกาศของสาธารณสุขกำหนดมาตรการป้องกันไว้ว่าจะต้องปิดห้อง ปิด ชั้นหรือปิดโรงเรียนเป็นระยะเวลา 5 - 7 วัน แต่ทางโรงเรียนกลับประกาศให้นักเรียนหยุดเรียนเพียง 3 วันเท่านั้น เขาจึงแจ้งไปยังโรงเรียนเพื่อขอลาออก พร้อมขอให้คืนเงินค่าเทอมที่เสียไป และยินดีให้หักค่าใช้จ่ายที่ลูกชายได้เข้าเรียนไปแล้ว 1 เดือนออกได้ อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ไม่ได้เป็นอย่างที่เขาหวังไว้ เพราะทางโรงเรียนแจ้งว่าตามนโยบายการคืนเงินค่าเทอม จะสามารถคืนให้ได้เพียงร้อยละ 40 ของเงินทั้งหมดหรือ 18,800 บาทเท่านั้น เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ คุณสุชาติจึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอคำแนะนำแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ได้แนะนำผู้ร้องว่า กรณีนี้อาจถือได้ว่าโรงเรียนผิดสัญญาจ้างทำของ หากโรงเรียนไม่สามารถทำได้ตามสัญญา ผู้ร้องมีสิทธิเรียกเงินในส่วนที่เหลือคืนได้ ซึ่งควรได้รับเงินคืนตามจริงด้วย ดังนั้นในเบื้องต้นจะเชิญให้มีการเจรจากันก่อนที่มูลนิธิ อย่างไรก็ตามทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงกันได้ เพราะทางโรงเรียนยืนยันว่าสามารถคืนเงินได้ตามระเบียบของโรงเรียนเท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นสินน้ำใจและผู้ร้องไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะเรียกเก็บจากโรงเรียนได้อีก ทำให้ศูนย์ฯ ช่วยผู้ร้องทำเอกสารไปยังสาธารณสุข โดยขอให้เข้าไปตรวจสอบโรงเรียน เพื่อให้มีการแสดงหลักฐานว่าโรงเรียนไม่มีมาตรการในการจัดการโรคระบาดที่เหมาะสมจริงๆ แต่ในระหว่างนี้ยังต้องรอการตอบกลับจากสาธารณสุข และผลจะเป็นอย่างไร ต้องติดตามกันต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 199 แพ้ยา ใครรับผิดชอบ

คุณชัยเข้ารับการผ่าตัดหมอนรองกระดูกคอที่โรงพยาบาลวิภาวดี โดยก่อนผ่าตัดแพทย์ได้แจ้งว่ามีค่าใช้จ่ายประมาณ 300,000 - 400,000 บาท ซึ่งเขาก็รับทราบและตกลงรับการรักษา หลังการผ่าตัดเสร็จสิ้นและอยู่ในระหว่างการพักฟื้นในห้องพักผู้ป่วย คุณชัยมีอาการปวดแผล พยาบาลจึงได้ฉีดยาแก้ปวดให้ หลังได้รับการฉีดยาเข้าไปประมาณ 5 นาที เหตุการณ์ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นคุณชัยเริ่มมีอาการแน่นหน้าอก  ไอ กระสับกระส่าย หายใจลำบาก เหมือนมีอะไรติดในคอ จึงเรียกให้พยาบาลกลับมาดูอาการอีกครั้ง ซึ่งแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยการชงน้ำขิงให้เขาดื่ม แต่อาการก็ไม่ดีขึ้น พยาบาลจึงหยดยาชาบริเวณคอให้แทน อย่างไรก็ตามอาการของคุณชัยกลับแย่ลงเรื่อยๆ เพราะเขาเริ่มหายใจไม่ออก หน้า ลิ้นกลายเป็นสีม่วงและปัสสาวะราด ทำให้พยาบาลรีบนำคุณชัยเข้าห้องไอซียู และภายหลังแพทย์ได้วินิจฉัยว่า อาการที่เกิดขึ้นมีสาเหตุจากการแพ้ยา ที่ถูกฉีดให้เพื่อบรรเทาอาการปวดแผลนั่นเองหลังนอนพักรักษาตัวได้จนครบกำหนดออกจากโรงพยาบาล คุณสุชัยก็ต้องตกใจอีกครั้งเมื่อพบว่า ยอดค่าใช้จ่ายทั้งหมดเป็นเงินเกือบ 700,000 บาท ซึ่งพยาบาลได้ชี้แจงว่าเป็นค่าผ่าตัดรวมกับค่ารักษาอาการแพ้ยาที่เกิดขึ้น เขาจึงทักท้วงไปว่าโรงพยาบาลไม่ควรเรียกเก็บค่ารักษาอาการแพ้ยา เพราะเกิดจากมาตรการดูแลผู้ป่วยที่ผิดพลาดของโรงพยาบาลเอง ทำให้ทางโรงพยาบาลเสนอว่าจะลดค่าใช้จ่ายให้ โดยให้คุณชัยชำระเฉพาะยอดค่าผ่าตัดตามที่ตกลงกันไว้ ส่วนยอดค่ารักษาอาการแพ้ยาจะยังไม่จ่ายก็ได้ แต่ต้องทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้ก่อน จึงจะสามารถออกจากโรงพยาบาลได้ ทำให้คุณสุชัยไม่มีทางเลือกต้องทำหนังสือรับสภาพหนี้ และส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอคำแนะนำแนวทางการแก้ไขปัญหาในกรณีนี้ ทางโรงพยาบาลให้คุณชัยทำหนังสือรับสภาพหนี้ที่เหลืออีกจำนวน 200,000 กว่าบาท โดยเป็นยอดค่าใช้จ่ายในส่วนของการรักษาอาการแพ้ยา ซึ่งศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เห็นว่าการเรียกเก็บเงินจำนวนดังกล่าวเป็นการเอาเปรียบผู้ป่วย เพราะแพทย์ควรมีความระมัดระวังต่อการรักษามากกว่านี้ หรือควรสันนิษฐานได้เบื้องต้นว่าอาการที่เกิดขึ้นหลังการฉีดยาบรรเทาอาการปวดแผลเป็นอาการแพ้ยา และรีบแก้ไขปัญหาให้ถูกต้อง ดังนั้นกรณีที่เกิดขึ้นอาจเข้าข่ายเป็นความประมาทเลินเล่อก็ได้ และทางโรงพยาบาลควรรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มากกว่าการเรียกเก็บเงินเพิ่มเติมจากผู้ป่วย รวมทั้งคุณชัยได้ชำระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลตามที่ตกลงกับโรงพยาบาลแล้ว ศูนย์ฯ จึงช่วยส่งหนังสือแจ้งโรงพยาบาลให้ระงับการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลส่วนที่เหลือ เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้ป่วย โดยขณะนี้กำลังรอการตอบกลับจากโรงพยาบาล และเรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป ยังคงต้องติดตาม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 199 เหตุเกิดจากพนักงานขาย

แม้พนักงานขายจะถือเป็นตัวแทนของบริษัท ที่คอยช่วยอำนวยความสะดวกให้ลูกค้า โดยทำหน้าที่แนะนำและให้คำปรึกษาเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ แต่หลายครั้งที่มีปัญหาเกิดขึ้น บริษัทบางแห่งกลับปฏิเสธการรับผิดชอบผลเสียหายอันเนื่องจากพนักงานขายของตนเอง ซึ่งผู้บริโภคอย่างเราจะแก้ไขเหตุการณ์ได้อย่างไร ลองไปดูกันมาเริ่มกันที่กรณีแรกกับคุณสุชัย เขาตกลงสั่งจองรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้ากับพนักงานขายรถคนหนึ่ง โดยแสดงความต้องการว่า จะซื้อรุ่นที่ผลิตในปี 2016 เท่านั้น ซึ่งพนักงานคนดังกล่าวก็รับทราบและสั่งจองรถยนต์รถยนต์รุ่นดังกล่าวให้ อย่างไรก็ตามพนักงานและสุชัยไม่ได้ตกลงทำสัญญาการจองรถภายในศูนย์บริการ และไม่มีเอกสารการจองรถที่มาจากบริษัท รวมทั้งเงินค่ามัดจำการจองรถพนักงานก็ได้แจ้งให้คุณสุชัยโอนเข้าบัญชีส่วนตัว ซึ่งคุณสุชัยก็ทำตามที่พนักงานระบุและนัดรับรถในอีก 2 เดือนข้างหน้า โดยคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่เหตุการณ์กลับไม่เป็นอย่างนั้น เพราะผ่านไปไม่กี่อาทิตย์พนักงานขายคนดังกล่าวได้เสียชีวิตลง ทำให้คุณสุชัยต้องดำเนินการติดต่อเรื่องใหม่ทั้งหมดกับบริษัท ซึ่งได้อำนวยความสะดวกให้เขาด้วยการส่งรถให้ตามกำหนดเดิม ทำให้คุณสุชัยได้รับรถไปใช้งานอย่างที่ตั้งใจไว้ เมื่อคุณสุชัยได้ใช้งานรถไป 5 เดือนและต้องไปรับป้ายทะเบียนรถ เขากลับพบความจริงว่า ในสำเนาทะเบียนรถระบุว่ารถคันดังกล่าวเป็นรุ่นที่ผลิตในปี 2015 ซึ่งหลังสอบถามไปยังบริษัทก็ได้รับการยืนยันว่าเป็นรุ่นที่ผลิตในปีดังกล่าวจริง ทำให้คุณสุชัยจึงแจ้งกลับไปว่า ก่อนหน้าทำสัญญาจองรถ เขาต้องการซื้อรถที่ผลิตในปี 2016 ซึ่งพนักงานขายที่ได้เสียชีวิตไปแล้วเป็นผู้จองให้ แต่ทางบริษัทได้ตอบกลับว่าไม่ทราบรายละเอียดที่คุณสุชัยได้แจ้งความจำนงไว้กับพนักงานคนดังกล่าว แต่จะรับผิดชอบด้วยการให้เช็คระยะ คุณสุชัยได้ปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว และขอให้บริษัทเปลี่ยนรถให้ใหม่ โดยให้เป็นรุ่นที่ตกลงกันไว้แต่แรก แต่บริษัทกลับตอบกลับว่าไม่สามารถเปลี่ยนให้ได้  เขาจึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอคำแนะนำว่าเขามีสิทธิที่จะขอเงินคืนได้หรือไม่ ส่วนกรณีที่สอง เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับคุณปราณี เธอตกลงใช้บริการรับส่งน้ำดื่มตามบ้าน ซึ่งก่อนใช้บริการพนักงานแจ้งว่าต้องเสียค่ามัดจำถังจำนวน 700 บาท และจะคืนให้เมื่อเลิกใช้บริการ เมื่อใช้บริการดังกล่าวไปได้สักระยะ คุณปราณีต้องการหยุดใช้บริการ โดยเข้าใจว่าต้องได้เงินมัดจำที่เคยเสียไปคืนด้วย แต่เมื่อติดต่อไปยังบริษัทกลับได้รับคำตอบว่า ไม่สามารถคืนเงินให้ได้ เพราะพนักงานที่คุณปรานีเคยติดต่อซื้อขายนั้น ไม่ได้นำเงินดังกล่าวส่งบริษัท ทำให้เธอส่งเรื่องมาร้องเรียนยังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ เพราะเชื่อว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคแนวทางการแก้ไขปัญหาสำหรับทั้งสองกรณีที่เกิดขึ้นล้วนมาสาเหตุจากการพูดคุยติดต่อกับพนักงานขาย ซึ่งเป็นตัวแทนในการซื้อขายระหว่างบริษัทกับผู้ร้อง และเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นเพราะตัวแทนขายดังกล่าว ผู้บริโภคก็ถูกปฏิเสธความรับผิดชอบจากบริษัท ทั้งนี้สำหรับกรณีแรกการซื้อรถยนต์แล้วไม่ได้รถอย่างที่คุยกันไว้ ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำผู้ร้องว่า รายละเอียดต้องเป็นไปตามสัญญาที่ผู้ร้องทำไว้ แม้พนักงานคนที่ได้ทำสัญญาไว้จะเสียชีวิตไปแล้ว ซึ่งหากไม่ได้รถตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญา สามารถบอกเลิกสัญญาและขอเงินคืนได้ เพราะตามประกาศคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคว่าด้วยสัญญา ให้ธุรกิจขายรถยนต์ที่มีการจองเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา 2551 โดยกำหนดไว้ว่า ผู้บริโภคมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเมื่อผู้ประกอบธุรกิจกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ (1) ปรับเปลี่ยนราคารถยนต์สูงขึ้น (2) ไม่ส่งมอบรถยนต์ให้ผู้บริโภคภายในระยะเวลาที่กำหนด (3) ไม่ส่งมอบรถยนต์ที่มียี่ห้อ รุ่น ปีที่ผลิต สี และขนาดกำลังเครื่องยนต์ตรงตามที่กำหนดในสัญญา (4) ไม่ส่งมอบรถยนต์ที่มีรายการอุปกรณ์ติดตั้งเพิ่มเติมและของแถม หรือสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ตามที่กำหนดในสัญญา อย่างไรก็ตามรูปแบบของสัญญาก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะหากไม่ได้ทำตามที่กฎหมายกำหนดก็อาจถูกฉ้อโกงได้ ซึ่งหากใครกำลังจะตกลงจองรถ ต้องตรวจสอบให้ดีก่อนว่าสัญญาที่ทำกับตัวแทนมีลักษณะตรงตามที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่ โดยตามประกาศดังกล่าวกำหนดไว้ว่า สัญญาจองรถยนต์ที่ผู้ประกอบธุรกิจทำกับผู้บริโภคต้องมีข้อความเป็นภาษาไทยที่สามารถเห็นและอ่านได้ชัดเจน มีขนาดของตัวอักษรไม่เล็กกว่าสองมิลลิเมตร และต้องใช้ข้อสัญญาที่มีสาระสำคัญและเงื่อนไข ดังต่อไปนี้ (1) รายละเอียดเกี่ยวกับรถยนต์ดังนี้ (2) ยี่ห้อ รุ่น ปีที่ผลิต สี และขนาดกำลังเครื่องยนต์ (3) รายการอุปกรณ์ติดตั้งเพิ่มเติมและของแถมหรือสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ (ถ้ามี) (4) จำนวนเงิน หรือสิ่งที่รับไว้เป็นมัดจำ (ถ้ามี) (5) ราคา (6) กำหนดเวลาที่คาดว่าจะส่งมอบรถยนต์ส่วนกรณีที่สองผู้ร้องถูกปฏิเสธการคืนเงินมัดจำ ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำผู้ร้องว่า บริษัทไม่สามารถอ้างว่าพนักงานไม่นำส่งได้ เนื่องจากการที่พนักงานไม่ส่งเงินค่ามัดจำให้บริษัท ถือเป็นเรื่องการบริหารงานภายในของบริษัท ซึ่งต้องไปติดตามเอาผิดกับพนักงานคนดังกล่าวเอง แต่ในส่วนที่ผู้ร้องได้จ่ายเงินไปและทำตามสัญญา รวมถึงมีใบเสร็จยืนยันการชำระเงิน บริษัทจำเป็นต้องทำตามสัญญาและคืนเงินค่ามัดจำดังกล่าวให้ผู้ร้อง ซึ่งหากไม่ดำเนินการภายในกำหนด จะถือว่าเป็นการฉ้อโกงผู้บริโภค โดยผู้ร้องสามารถดำเนินการแจ้งความเอาผิดกับบริษัทได้ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 199 ‘อุบัติเหตุบนท้องถนน’ เป็นเพราะเรื่องอาถรรพ์หรือพฤติกรรมเสี่ยงกันแน่

ถ้าลองค้นหาในกูเกิ้ลด้วยคำว่า อุบัติเหตุทางถนน และ อาถรรพ์ คุณก็จะได้ผลลัพธ์ประมาณว่า ‘10 ถนนอันตราย สุดเฮี้ยนในเมืองไทย’‘10 ถนนที่เฮี้ยนที่สุดในประเทศไทย’ หรือ‘สะพรึง!!! 7 โค้งอันตราย อาถรรพ์หรือประมาทเอง?’หรือพาดหัวข่าวตามหน้าสื่อก็เช่น ‘ตูมสนั่น! เก๋งชนรถ 'คาราบาวแดง' แยกอาถรรพ์สังเวย 4 ศพ’ ‘อาถรรพ์โค้ง ศาลปู่โทน  รถพ่วง 18 ล้อเสยกระบะสาหัส 7’ ถ้อยคำจำพวกนี้บอกอะไรเราได้บ้าง? คราวนี้ ลองมาดูสถิติอุบัติเหตุจากเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุ Thai RSC ข้อมูลรับแจ้งอุบัติเหตุทางถนนในปี 2560 ถึง ณ วันที่ 28 สิงหาคม มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 647,145 คน เสียชีวิต 9,757 คน รวม 656,902 คน ประเมินตัวเลขแบบหยาบ เรามีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนเฉลี่ยเดือนละ 1,000 กว่าคน ขณะที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถมาบูรณาการกันจะได้ตัวเลขผู้เสียชีวิตที่ 22,281 คนต่อปี ตัวเลขมากขนาดนี้ ทุกหัวโค้งในประเทศก็คงเป็นโค้งอาถรรพ์เกือบหมด ใช่หรือไม่? องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ทำตัวเลขประมาณการไว้เมื่อปี 2556 ว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีอัตราส่วนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก คิดเป็นอัตราการตายที่ 36.2 คนต่อประชากร 1 แสนคน สถิติแบบนี้ไม่ใช่สิ่งที่น่าทำลาย แต่การสื่อสารเนื้อหาที่หวือหวาด้วยเรื่องอาถรรพ์สารพัดและพระเครื่องของเหล่าเกจิดัง มันได้กลบฝังความเข้าใจที่ถูกต้องต่อการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนลงไปอย่างมาก จนละเลยค้นหาสาเหตุที่ประกอบด้วยปัจจัยหลากหลาย และในบางครั้งก็ซับซ้อน ใหญ่โต ถึงระดับโครงสร้างร้อยละ 24 ของคนไทยหรือ 1 ใน 4 เชื่อว่าอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นป้องกันไม่ได้ อุบัติเหตุเป็นเคราะห์ร้าย โชคชะตา อาถรรพ์ ปัจจัย 2 ระดับของอุบัติเหตุบนท้องถนน น่าสนใจทีเดียวเมื่อพบว่า คนไทย 1 ใน 4 เชื่อว่าอุบัติเหตุเป็นสิ่งที่ป้องกันไม่ได้ มันคือคราวเคราะห์ โชคชะตา อาถรรพ์ แต่ถ้าเราพาตัวเองหลุดจากโค้งอาถรรพ์ แล้ววิเคราะห์การเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนจะพบว่า มี 2 ระดับที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน แต่เราอาจนึกไม่ถึงมาก่อนและคิดเหมาไปว่าเป็นเรื่องเดียวกัน 1.สาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ เช่น เมาแล้วขับ โทรแล้วขับ หรือการขับรถเร็ว เป็นต้น 2.สาเหตุที่ทำให้เสียชีวิต เช่น การไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ไม่สวมหมวกกันน็อก ไม่มีถุงลมนิรภัย หรือโครงสร้างของรถไม่แข็งแรงเพียงพอ ที่ต้องแยกออกเป็น 2 ปัจจัย เพื่อให้การวิเคราะห์และแก้ปัญหาดำเนินไปอย่างถูกต้อง เพราะการเกิดอุบัติเหตุไม่จำเป็นต้องมาคู่กับการสูญเสียชีวิตทุกครั้ง นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน กล่าวว่า“เราต้องมองสาเหตุทั้งสองระดับ คือสาเหตุของการเกิดเหตุและสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิต เมื่อนำปัจจัยเหล่านี้มาวิเคราะห์ร่วมกับคน รถ และถนน เราจึงจะได้ภาพรวมว่าเหตุการณ์นี้จะจัดการตรงจุดไหนได้บ้าง เราจึงต้องวิเคราะห์ทั้งสองส่วน เวลาเกิดอุบัติเหตุแต่ละครั้งเราจะไม่สรุปแค่ว่าขับรถโดยประมาท ทุกวันนี้ เรื่องอุบัติเหตุถูกครอบงำ ถูกทำให้มองไม่ลึก เช่น ถูกมองแบบบิดเบือนเชื่อมโยงกับอาถรรพ์ ปาฏิหาริย์ โชคชะตา ซึ่งทำให้การมองปัญหาเพื่อนำไปสู่การป้องกันมีจำกัด”นพ.ธนะพงษ์ กล่าวว่า อุบัติเหตุส่วนใหญ่ร้อยละ 43 ไม่มีคู่กรณี แต่กลับมีการเสียชีวิตถึงร้อยละ 34 แสดงว่าความตายเกิดจากวัตถุอันตรายข้างทาง เช่น ต้นไม้ เสาไฟฟ้า ป้าย เป็นต้น หรือเพราะสภาพกายภาพของถนน ทั้งที่วัตถุเหล่านี้ควรมีระยะห่างจากขอบทางอย่างน้อย 5-7 เมตร แต่สภาพความเป็นจริงคือ 3-4 เมตรหรือกรณีถนนบริเวณหน้าศาลอาญารัชดาที่ถูกเรียกขานเป็นโค้งอาถรรพ์ นพ.ธนะพงษ์ อธิบายว่า ถ้าเป็นทางหลวงรถสามารถทำความเร็วได้มากกว่า 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง การออกแบบถนนบริเวณโค้งจะมีการยกระดับความลาดเอียงขึ้นเพื่อป้องกันการหลุดโค้งของรถ แต่สำหรับถนนในเมืองซึ่งไม่ได้ออกแบบมาเพื่อให้รถทำความเร็ว ทางโค้งจึงไม่ได้ออกแบบให้มีความลาดเอียงไว้ เมื่อวิเคราะห์ต่อไปว่าอุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดเวลากลางคืน ถนนโล่ง รถจึงทำความเร็วเกินกำหนด แต่เมื่อถนนไม่ได้ออกแบบมาเพื่อทำความเร็วระดับนี้ อุบัติเหตุรถหลุดโค้งจึงเกิดขึ้นบ่อยครั้ง แต่แทนที่จะวิเคราะห์หาปัจจัยที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ กลับถูกสื่อเล่นข่าวเป็นโค้งอาถรรพ์ จนการมองปัญหาผิดเพี้ยนไป“อีกประการคือเวลาพูดถึงอุบัติเหตุ ต้องไม่โทษเหยื่อหรือตัวเหตุการณ์ เช่นไม่มองว่าเพราะรถซิ่ง โจ๋ซิ่งทำให้เสียชีวิต โดยไม่รู้ตัว คำนี้ทำให้คนรับสารไม่รู้สึกถึงการอยากป้องกัน มองแค่ว่าเขาทำตัวเอง บางทีจะรู้สึกว่าสมควรแล้วที่เกิดกับคนเหล่านั้น ไม่ไปชนคนอื่นก็ดีแล้ว ทั้งที่เราไม่รู้สาเหตุที่แท้จริง แต่เราถูกทำให้สรุปไปอย่างนั้น ดังนั้น การนำเสนอ การนำข้อมูลมาวิเคราะห์ นอกจากต้องไม่เชื่อมโยงกับเรื่องอาถรรพ์แล้ว ยังต้องไม่ตำหนิกล่าวโทษตัวเหยื่อ และต้องชี้ให้เห็นว่ามันไม่ใช่เรื่องสุดวิสัย เช่น ฝนตกถนนลื่นซึ่งเราจะเห็นประจำ แต่คำถามคือถ้าฝนตกถนนลื่น ทำไมอุบัติเหตุจึงเกิดกับคันนี้คันเดียว แสดงว่าต้องมีอะไรมากกว่าฝนตกถนนลื่น อาจเป็นไปได้ว่ายางรถยนต์ของคันนี้เป็นยางเสื่อมสภาพหรือคันนี้ขับเร็ว คือสิ่งที่จะถูกวิเคราะห์และนำเสนอ ต้องการการเปลี่ยนมุมมองของคนที่เกี่ยวข้อง การวิเคราะห์ปัญหาต้องเห็นองค์ประกอบที่ครบถ้วน”องค์ประกอบ 4 ด้านของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เมื่อกล่าวถึงอุบัติเหตุบนท้องถนน คน ถนน รถ และสภาพแวดล้อม ใน 4 ปัจจัยนี้ ปัจจัยแรกมีผลมากที่สุดต่อการเกิดอุบัติเหตุ มันคือเรื่องของพฤติกรรม ยามที่คุณขับขี่รถไปบนท้องถนน เชื่อเหลือเกินว่าคุ้นเคยดีกับพฤติกรรมการขับขี่รถที่ไม่เหมาะสมและสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจึงถือเป็นหัวใจหลักประการหนึ่งของการลดอุบัติเหตุบนท้องถนน แต่ทุกครั้งที่พูดถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เรามักได้ยินคำพูดซ้ำๆ ว่า ต้องสร้างจิตสำนึก ต้องสร้างจิตสำนึก และต้องสร้างจิตสำนึก เป็นคำที่ถูกนำมาใช้เสมอเพื่อวัตถุประสงค์นี้ แต่เราก็สร้างจิตสำนึกกันมานานมากแล้ว พฤติกรรมการขับขี่ (หรือแม้กระทั่งเรื่องอื่นๆ) ก็ไม่เปลี่ยน ใช่หรือไม่ว่า ถ้าไม่ใช่เพราะวิธีการสร้างจิตสำนึกของเราล้มเหลว ตัววิธีการสร้างจิตสำนึกเองต่างหากที่น่าจะมีปัญหาหรือไม่เพียงพอ“ถ้ากล่าวเฉพาะการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม สิ่งที่สังคมต้องการตอนนี้คือไม่ใช่แค่เรื่องสร้างจิตสำนึก แต่เรากำลังต้องการการสร้างบรรทัดฐานทางสังคมว่า การมีพฤติกรรมแบบนี้เป็นพฤติกรรมอันตรายและให้คนในสังคมกำกับหรือกดดันควบคู่กับการบังคับใช้กฎหมาย” นพ.ธนะพงศ์ กล่าวแน่นอนว่า การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การสร้างจิตสำนึกยังเป็นความจำเป็น แต่ไม่เพียงพอ หากต้องใส่องค์ประกอบอื่นๆ ลงไปด้วยรวมเป็น 4 องค์ประกอบ1.การสร้างจิตสำนึก2.การสร้างบรรทัดฐานทางสังคม3.การบังคับใช้กฎหมาย4.การใช้สิ่งปลูกสร้างทางกายภาพยกตัวอย่าง การจอดรถในที่จอดรถของผู้พิการที่ปัจจุบันลดลงเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะความเข็ดขยาดจากการถูกถ่ายคลิปหรือรูป แล้วส่งต่อกันในโลกโซเชียลมีเดีย และนี่กลายเป็นการสร้างบรรทัดฐานใหม่ทางสังคมขึ้นมา ซึ่งไม่ได้เกิดจากสำนึกที่ถูกสร้าง แต่เกิดจากมาตรการทางสังคมที่ก่อรูปบรรทัดฐานที่ควรจะเป็น“ผมขยายความเรื่องบรรทัดฐาน มันไม่ใช่การสร้างบรรทัดฐานผ่านโลกโซเชียลอย่างเดียว เราสามารถสอดแทรกเข้าไปในกลไกที่มีอยู่ เช่น ทำให้องค์กรต้นสังกัดกำหนดพฤติกรรมความปลอดภัย ยกตัวอย่างองค์กรหนึ่งบอกกับพนักงานว่า ต่อไปถ้าจะขี่มอเตอร์ไซค์มาต้องใส่หมวก ไม่ใส่จะมีผล จะเห็นว่าพฤติกรรมนี้ไม่ได้ถูกกำกับด้วยตัวปัจเจกแล้ว แต่ถูกกำกับด้วยตัวองค์กร เป็นตัวช่วยอีกแบบในการสร้างบรรทัดฐาน”หรือกรณีการขับรถแซงเข้ามาเบียดที่คอสะพานเพื่อหวังจะได้ไปก่อน นพ.ธนะพงศ์ กล่าวว่า การสร้างจิตสำนึกยังคงต้องทำต่อไป แต่วิธีการที่ได้ผลกว่าคือรถคันอื่นๆ จะต้องไม่ยอมรถจำพวกนี้ ต้องแชร์พฤติกรรมนี้ และมีการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดไปในเวลาเดียวกันการบังคับใช้กฎหมายดูจะเป็นข้ออ่อนอย่างยิ่งสำหรับสังคมไทย นพ.ธนะพงศ์ เล่าให้ฟังว่า เรามักพูดว่าคนไทยขาดจิตสำนึกทำให้ไม่ยอมใส่หมวกกันน็อกเวลาขี่รถจักรยานยนต์ แต่พอคนไทยคนเดียวกันนี้ข้ามไปประเทศมาเลเซีย กลับหยิบหมวกกันน็อกขึ้นมาใส่ คำถามคือ คนคนนี้เกิดจิตสำนึกขึ้นมาโดยพลัน หรือเพราะเกรงกลัวการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดของมาเลเซียการใช้สิ่งปลูกสร้างทางกายภาพเพื่อกำกับพฤติกรรมเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่ต้องนำมาใช้ ยกตัวอย่างปัญหาการขับขี่รถจักรยานยนต์ขึ้นมาบนฟุตปาธ ที่ผ่านมาการรณรงค์ การสร้างจิตสำนึก พิสูจน์แล้วว่าไม่ได้ผล ล่าสุด หน่วยงานรัฐออกนโยบายให้ผู้เห็นพฤติกรรมดังกล่าวถ่ายรูปส่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อปรับและแบ่งค่าปรับคนละครึ่ง นพ.ธนะพงศ์ตั้งคำถามว่า วิธีการที่ง่ายกว่านั้นคือติดอุปกรณ์ขวางไว้ดีหรือไม่ จะช่วยขจัดพฤติกรรมให้หายไปได้ ไม่ใช่เพราะมีจิตสำนึกหรือถูกจับ แต่หายไปเพราะไม่สามารถทำพฤติกรรมนี้ได้ เนื่องจากมีสิ่งปลูกสร้างทางกายภาพมากำกับ หรือกรณีรถวิ่งเร็วในซอย การติดป้ายรณรงค์หรือให้เจ้าหน้าที่ตำรวจมาเฝ้าคงไม่อาจทำได้ตลอด แต่การสร้างเนินชะลอความเร็วจะบังคับให้รถทุกคันต้องขับช้าลง ดังนั้นอิทธิพลทางกายภาพจึงมีผลต่อพฤติกรรมบนท้องถนนมากกว่าการบังคับใช้กฎหมายธูป เทียน ดอกไม้ ไม่ใช่คำตอบ แต่เดี๋ยวก่อน สิ่งปลูกสร้างทางกายภาพไม่ใช่คำตอบสมบูรณ์ของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบนท้องถนน ไม่ใช่เลย เราคงเคยเห็นผู้ขับขี่ยานพาหนะที่ไม่สนใจสิ่งปลูกสร้างทางกายภาพและยังคงทำผิดกฎจราจรเช่นเดิม“เวลาพูดถึงการเปลี่ยนแปลง เราทำเรื่องเดียวไม่ได้ ต้องทำกับตัวปัจเจก กับบรรทัดฐาน กับการบังคับใช้กฎหมาย และกับด้านกายภาพไปพร้อมๆ กัน ผมกำลังบอกว่า เวลาเราคิดเรื่องนี้ มันไม่เบ็ดเสร็จ เราอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง ดังนั้น ต้องสร้างจิตสำนึก ไม่จริงหรอก พลังมันไม่พอ ต้องทำควบคู่กันหลายอย่าง”ไกลและกว้างกว่านั้น นพ.ธนะพงศ์ อยากให้เรามองปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนว่าเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ไม่ใช่แค่เรื่องพฤติกรรมเชิงปัจเจกหรือกฎหมาย เช่น เวลาเผชิญปัญหารถติด ความคิดโดยทั่วไปคือทำไมไม่ขยายถนน แต่เมื่อขยายถนน สิ่งที่ตามมาคือรถวิ่งเร็วขึ้น เพราะสามารถทำความเร็วได้มากขึ้น เสี่ยงทั้งต่อผู้ขับขี่และต่อคนเดินถนนหรือปัญหาในระบบขนส่งสาธารณะที่ไม่สามารถให้บริการประชาชนได้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ เมื่อระบบขนส่งมีข้อจำกัด ผู้คนจึงเลือกการซื้อรถยนต์ส่วนตัวเป็นทางออก แล้วปัญหาต่างๆ ก็ติดตามมาเป็นลูกโซ่ทั้งหมดนี้บอกอะไร?มันกำลังบอกว่า อุบัติเหตุบนท้องถนนไม่ใช่เรื่องของพลังงานลี้ลับ แต่เป็นปัจจัยจากตัวบุคคล รถ ถนน และสภาพแวดล้อม ธูป เทียน ดอกไม้ และเครื่องเซ่นสรวง จึงไม่ใช่คำตอบของการลดอุบัติเหตุบนท้องถนน การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการขับขี่ผ่านกลไกทั้ง 4 ด้านไปพร้อมๆ กันและการแก้ไขปัญหาระยะยาวในเชิงโครงสร้างต่างหากคือคำตอบที่ได้ผลยั่งยืนกว่า

อ่านเพิ่มเติม >