ฉบับที่ 203 ถูกอายัดเงินเดือน เพราะเป็นหนี้บัตรเครดิต

หลายคนที่นิยมการซื้อก่อนแล้วค่อยจ่าย อาจทำให้เป็นหนี้ก้อนใหญ่โดยไม่รู้ตัวได้ แล้วตามมาด้วยปัญหามากมาย ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณอมรเคยเป็นเจ้าของร้านหมูย่างเกาหลีที่ขายดีมากๆ แต่หลังพบปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ ทำให้ไม่ค่อยมีลูกค้าเข้าร้าน เขาก็เริ่มขาดทุนติดต่อกันหลายเดือน ส่งผลให้หมุนเงินไม่ทันและต้องนำเงินจากบัตรเครดิตมาใช้จ่ายไปก่อน โดยเมื่อคุณอมรใช้จนหมดวงเงินและไม่สามารถหาเงินมาชำระได้ทันกำหนด เขาก็เป็นหนี้ก้อนโตรวมแล้วเป็นเงินกว่า 1 แสนบาท ทำให้โดนบริษัทฟ้องและถูกบังคับคดีด้วยการอายัดเงินเดือน ซึ่งสร้างความเดือดร้อนในการดำเนินชีวิตมาก เขาจึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอคำปรึกษาเรื่องดังกล่าว แนวทางการแก้ไขปัญหา              ในกรณีนี้ผู้ร้องสงสัยว่า ทำไมเขาจึงถูกอายัดเงินเดือน ทั้งที่ๆ เงินเดือนไม่ถึง 20,000 บาท เพราะตามมาตรา 302 พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2560 ซึ่งบังคับใช้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 4 กันยายน 60 เป็นต้นมานั้น เจ้าหนี้จะอายัดเงินเดือนลูกหนี้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 2 หมื่นบาทไม่ได้ เพื่อให้ลูกหนี้มีเงินไว้ดำรงชีพ และเพื่อให้สอดรับกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบัน              อย่างไรก็ตามการที่ผู้ร้องถูกอายัดเงินเดือนนั้น อาจเป็นไปได้ 2 กรณีคือ               1. เงินเดือนของผู้ร้องเกินกว่า 20,000 บาทจริง ซึ่งควรสอบถามทางฝ่ายการเงิน หรือฝ่ายบุคคลของบริษัทที่ตนเองทำงานอยู่ว่า นำเงินอื่นไปบวกเข้ากับฐานเงินเดือนหรือไม่ เช่น ค่าโอทีหรือค่าคอมมิชชั่น เพราะหากทางบริษัทส่งรวมกันไปทั้งหมด ทางกรมบังคับคดีก็ไม่อาจทราบได้ว่าเป็นค่าอะไรบ้าง แต่หากสามารถแจกแจงรายละเอียดของเงินเดือนได้ ก็สามารถบอกทางบริษัทให้แจ้งกับกรมบังคับคดีใหม่อีกครั้ง หรือ              2. กรณีที่ผู้ร้องถูกเจ้าหนี้ฟ้องร้องก่อนกฎหมายดังกล่าวบังคับใช้ หรือก่อนวันที่ 4 กันยายน 60 ซึ่งในกฎหมายฉบับเก่านั้น กำหนดให้อายัดเงินเดือนที่ไม่เกิน 10,000 บาทได้ อย่างไรก็ตามผลการดำเนินการจะเป็นอย่างไรต่อไปนั้น ยังคงต้องติดตาม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 203 ผิวเต่งตึงด้วยกรดไฮยาลูโรนิก (ตอนที่ 2)

มาต่อกันกับเรื่อง ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกรดไฮยาลูโรนิก ซึ่งเป็นสารสำคัญสำหรับเซลล์ผิวหนัง ในการช่วยกักเก็บความชุ่มชื้นทำให้ผิวไม่แห้งตึง โดยฉบับที่ผ่านมาเราได้พูดถึงกรดไฮยาลูโรนิกในกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางกันไปแล้ว คราวนี้เราลองมาดูกรดไฮยาลูโรนิกในกลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหารกันบ้าง มารู้จักผลิตภัณฑ์เสริมอาหารกันสักนิดผู้บริโภคส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและอาหารเสริมมีความหมายเดียวกัน แต่จริงๆ แล้วอาหารทั้ง 2 ประเภทนี้มีความแตกต่างกันอยู่เล็กน้อยตรงที่ “ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร” คือผลิตภัณฑ์ที่ใช้รับประทานนอกเหนือจากการรับประทานอาหารตามปกติ และไม่สามารถใช้รับประทานแทนอาหารหลักได้ โดยมีสารอาหารหรือสารอื่นเป็นองค์ประกอบ และอยู่ในรูปแบบเม็ด แคปซูล ผง เกล็ด ของเหลวหรือลักษณะอื่น ซึ่งมีจุดมุ่งหมายให้บุคคลทั่วไปที่มีสุขภาพปกติรับประทาน ในขณะที่ “อาหารเสริม” จะหมายถึงผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากอาหารจริงๆ เช่น ฟักทองบด ที่เป็นอาหารเสริมสำหรับเด็กเล็ก หรือ โจ๊กปั่น ที่เป็นอาหารเสริมสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาในการกินอาหาร ซึ่งมีจุดมุ่งหมายสำหรับใช้กินเป็นมื้อเสริมเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีวิตามินบางชนิดที่จัดเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอีกด้วย โดยผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อเองได้ตามท้องตลาดทั่วไป อย่างไรก็ตามผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ต้องมีการควบคุมคุณภาพและได้รับการรับรองจาก อย. ซึ่งผู้บริโภคควรตรวจสอบก่อนซื้อมารับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีส่วนผสมของกรดไฮยาลูโรนิกแม้ปัจจุบันจะมีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีส่วนผสมของกรดไฮยาลูโรนิกจำนวนมาก ซึ่งผู้บริโภคหลายคนรับประทานกันเป็นประจำอยู่แล้ว และเชื่อมั่นว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวสามารถช่วยชะลอความเหี่ยวย่นได้จริง แต่เราไม่ควรลืมว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวก็ถือว่าเป็นอาหารประเภทหนึ่ง ซึ่งช่วยเสริมสารอาหารบางอย่างให้กับร่างกายตามที่กล่าวไว้ข้างต้น และไม่ควรถูกโฆษณาอวดอ้างในลักษณะสรรพคุณทางยาหรือเครื่องสำอาง เช่น เสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย บำรุงหัวใจ ลดการดูดซึมไขมัน ทำให้ผิวขาวเปล่งปลั่ง กระชับรูขุมขนหรือลดรอยเหี่ยวย่น เป็นต้น อย่างไรก็ตามเรามักพบว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหลายยี่ห้อตามท้องตลาด มักโฆษณาว่ามีฤทธิ์หรือให้สรรพคุณคล้ายกับยารักษาโรค จนทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่เกิดความสับสนหรือเข้าใจผิดได้เราจึงควรสำรวจผลิตภัณฑ์ดังกล่าวก่อนตัดสินใจซื้อด้วยวิธีการง่ายๆ อย่างการอ่านฉลาก ซึ่งหากพบว่ามีเลขสารบบอาหาร 13 หลักก็แสดงให้ว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจัดเป็นอาหารและไม่มีสรรพคุณทางยาใดๆ แต่หากพบว่ามีเลขทะเบียนยา เช่น Reg. No. …/.. ก็หมายถึงผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจัดเป็นยารักษาโรค ซึ่งเราสามารถคาดหวังสรรพคุณหรือการออกฤทธิ์ต่อร่างกายได้ ไม่ว่าจะเป็นป้องกันโรค ส่งเสริมสุขภาพ บำบัด บรรเทา รักษาโรค หรือให้ออกฤทธิ์ในการเติมเต็มร่องลึกและทำให้ผิวหนังเต่งตึงขึ้น แต่ทั้งนี้ประสิทธิผลก็ขึ้นอยู่กับการดูดซึมของร่างกายแต่ละคนด้วยวิธีการง่ายๆ ในการตรวจสอบฉลากผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนอกจากเราควรตรวจสอบเลขสารบบอาหาร 13 หลักแล้ว ยังมีรายละเอียดอื่นๆ ที่กฎหมายกำหนดให้ฉลากของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่จำหน่ายต่อผู้บริโภคต้องระบุ ดังนี้1. ชื่ออาหาร โดยมีคำว่า “ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร” เป็นส่วนหนึ่งของชื่ออาหารหรือกำกับชื่ออาหาร 2. เลขสารบบอาหาร 3. ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า (แล้วแต่กรณี) 4. ปริมาณของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่บรรจุ 5. ชื่อและปริมาณของส่วนประกอบสำคัญของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และส่วนประกอบที่มีการกล่าวอ้างสรรพคุณ คุณประโยชน์ ในฉลากของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 6. ข้อความว่า “ใช้วัตถุกันเสีย” (ถ้ามี) 7. ข้อความว่า “เจือสีธรรมชาติ” หรือ “เจือสีสังเคราะห์” (ถ้ามี) 8. ข้อความว่า “แต่งกลิ่นธรรมชาติ” “แต่งกลิ่นเลียนธรรมชาติ” “แต่งกลิ่นสังเคราะห์” “แต่งรสธรรมชาติ” หรือ “แต่งรสเลียนธรรมชาติ” (ถ้ามี) 9. ข้อความชัดเจนว่า “การได้รับสารอาหารต่างๆ นั้น ควรได้จากการบริโภคอาหารหลักที่หลากชนิดครบทั้ง 5 หมู่ และเป็นสัดส่วนที่พอเหมาะ” 10. คำแนะนำในการใช้ 11. คำแนะนำในการเก็บรักษา (ถ้ามี) 12. วันเดือนและปีที่ผลิต/ หมดอายุการบริโภค ทั้งนี้การแสดงข้อความตามข้อ (12) ต้องมีข้อความที่ฉลากระบุตำแหน่งที่แสดงข้อความดังกล่าวด้วย 13. คำเตือนการบริโภคผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเรื่อง การกล่าวอ้างทางสุขภาพ (Health claim) และคำเตือนการบริโภคอาหาร 14. ข้อมูลเฉพาะอื่นๆ ถ้าเข้าข่ายตามที่กฎหมายกำหนด เช่น ข้อมูลสำหรับผู้แพ้อาหาร วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาลที่ใช้ หรือฉลากโภชนาการ เป็นต้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 203 แบ่งปันผ่านหนังสือเสียงกับ RFB

ฉบับนี้ขอต้อนรับปีจอด้วยการแนะนำแอปพลิเคชันที่สามารถทำให้ผู้ใช้ทำความดีช่วยเหลือสังคมและสามารถใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ได้ตั้งแต่ต้นปี ซึ่งเป็นโครงการดีๆ ที่ช่วยแบ่งปันบทความและหนังสือต่างๆ ให้กับผู้พิการทางสายตา ผ่านหนังสือเสียงในแอปพลิเคชันนี้ได้เลยแอปพลิเคชันนี้มีชื่อว่า Read for the Blind เป็นแอปพลิเคชันที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ใช้เข้ามาอ่านหนังสือให้ผู้พิการทางสายตาโดยเฉพาะ พร้อมทั้งให้ผู้พิการทางสายตาสามารถเข้ามาใช้แอปพลิเคชันนี้เพื่อฟังหนังสือหรือบทความที่น่าสนใจได้เช่นกันโดยในขณะนี้ภายในแอปพลิเคชันมีหนังสือที่มีผู้ใช้แอปพลิเคชันได้อ่านแล้วมากถึง 33,676 เล่ม โดยแบ่งหมวดหมู่ประเภทของหนังสือ 14 หมวดหมู่ ได้แก่ หมวดหมู่วรรณคดีวรรณกรรม หมวดหมู่ธุรกิจและการจัดการ หมวดหมู่หนังสือสำหรับเยาวชน หมวดหมู่การท่องเที่ยว หมวดหมู่คู่มือสิบต่างๆ หมวดหมู่เบ็ดเตล็ด หมวดหมู่ปรัชญาจิตวิทยา หมวดหมู่ศาสนาโหราศาสตร์ หมวดหมู่สังคมศาสตร์ หมวดหมู่ภาษาศาสตร์ หมวดหมู่วิทยาศาสตร์ หมวดหมู่วิทยาการและเทคโนโลยี หมวดหมู่ศิลปกรรมและการบันเทิง และหมวดหมู่ประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์เมื่อดาวน์โหลดแอปพลิเคชันแล้ว แอปพลิเคชันจะให้ผู้ใช้ลงชื่อการใช้งาน ซึ่งสามารถเลือกลงชื่อการใช้งานผ่านการเชื่อมต่อเฟซบุ๊คได้ จากนั้นผู้ใช้แอปพลิเคชันสามารถค้นหาและตรวจสอบชื่อหนังสือหรือชื่อผู้แต่ง เพื่อให้ทราบว่ามีหนังสือที่ต้องการจะบันทึกเสียงหรือไม่ และมีการบันทึกการอ่านหนังสือเล่มนั้นหมดเล่มแล้วหรือไม่ โดยสังเกตจำนวนเปอร์เซ็นต์ที่อยู่บริเวณภาพหนังสือว่าครบร้อยเปอร์เซ็นต์หรือยังในกรณีที่ต้องการบันทึกหนังสือเล่มใหม่ให้กดตรงคำว่า “สร้างหนังสือเสียงเล่มใหม่” แอปพลิเคชันจะให้กรอก ISBN หรือสแกน ซึ่งเป็นหมายเลขประจำหนังสือนั้นๆ เมื่อกรอก ISBN หรือสแกนเรียบร้อยแล้ว แอปพลิเคชันจะขึ้นชื่อและรายละเอียดมาอัตโนมัติ แต่ถ้าไม่มีหมายเลขจะให้กรอกชื่อหนังสือ ชื่อผู้แต่ง ชื่อสำนักพิมพ์ จำนวนบท จำนวนหน้า และเลือกหมวดหมู่ของหนังสือ หลังจากนั้นจะสามารถบันทึกเสียงได้คำแนะนำของทางแอปพลิเคชันสำหรับผู้เริ่มใช้นั้น อยากให้เริ่มการอ่านบทความก่อน โดยควรฝึกก่อนเริ่มบันทึกเสียงจริง โดยให้ทดลองอ่านก่อนหนึ่งรอบ ทำความเข้าใจกับเรื่องการอ่าน อ่านด้วยน้ำเสียงที่เข้าใจเรื่องที่อ่าน เว้นจังหวะการอ่านให้เหมาะสม อ่านทอดอารมณ์ และตั้งใจอ่านทั้งนี้การกดฟังเสียงของหนังสือหรือบทความต่างๆ จะมีไว้ให้เฉพาะผู้ที่ลงชื่อใช้งานที่เป็นผู้พิการทางสายตาเท่านั้น นอกจากแอปพลิเคชั่น Read for the Blind แล้ว ยังมีเฟซบุ๊ค readfortheblind ที่บอกเล่ากิจกรรมและข่าวสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้พิการทางสายตาอีกด้วย  ลองมาเป็น “ผู้ให้” กันนะคะ และจะรู้ว่าความสุขทางใจดีอย่างไร

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 203 เคล็ดวิชาสู้พวกหลอกลวง

หลายครั้งที่คนทำงานคุ้มครองผู้บริโภค ต้องปะทะกับผู้ขายสินค้าที่หลอกลวง และมักจะเกิดเรื่องเกิดราวหรือเพลี่ยงพล้ำ จนบางครั้งพาลจะหมดกำลังใจ  คอลัมน์นี้ขอให้กำลังใจนักคุ้มครองผู้บริโภคทุกคนครับ แต่อย่าลืมว่าการทำงานเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคมันก็เหมือนการต่อสู้  มันต้องมีรูปมวยหรือวรยุทธ์ที่ดี ถึงจะได้เปรียบจนโค่นคู่ต่อสู้ลงได้ผมเคยไปฟังนักเคลื่อนไหวหลายคนที่ต้องทำงานเผชิญหน้ากับฝ่ายตรงข้าม แต่ละท่านได้เล่าประสบการณ์ของท่าน ผมเห็นว่าน่าสนใจ เลยนำมาเล่าให้นักคุ้มครองผู้บริโภคทราบ เผื่อลองนำไปปรับใช้เป็นแนวทางของตนเอง1. ต้องลงไปสัมผัสกับข้อมูลจริงๆ : การทำงานคุ้มครองผู้บริโภคนั้น ข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญ การที่คนทำงานได้ลงไปในพื้นที่ ได้สอบถามข้อมูลจากผู้บริโภค จะทำให้เราได้รายละเอียด ตลอดจนพยานต่างๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการดำเนินงานได้มากขึ้น 2. พยายามหากลุ่มคนหรือภาคีเครือข่ายที่สนใจในปัญหาเดียวกันหรือคนที่ได้รับผลกระทบ : เพราะคนกลุ่มนี้จะมีหัวอกเดียวกัน และจะมีข้อมูลชัดเจน เพราะเคยใช้ผลิตภัณฑ์และได้รับอันตรายมาก่อน  นอกจากนี้การรวมกลุ่มกัน จะเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับพวกเขาในการลุกขึ้นมาช่วยกันจัดการปัญหาต่างๆ3. ควรนำเสนอข้อมูลปัญหาในลักษณะการเปรียบเทียบ : การนำเสนอข้อมูลในลักษณะเปรียบเทียบ จะทำให้คนทั่วไปรับรู้ได้ง่ายว่า ขนาดปัญหามันใหญ่ หรือรุนแรงขนาดไหน เช่น อาจนำเสนอว่า เงินที่ผู้บริโภคถูกหลอกให้ซื้อผลิตภัณฑ์ในแต่ละครั้ง เท่ากับกี่เท่าของเงินเดือนที่เขาได้รับ หรือค่าใช้จ่ายในการรักษาตัวหลังใช้ผลิตภัณฑ์เท่ากับกี่เท่าของราคาที่ซื้อมาใช้4. ใช้การสื่อสาร ที่สั้น กระชับ : ในแต่ละวันผู้บริโภคเองมีเรื่องต่างๆ ให้จำมากมาย  การให้ความรู้เพื่อเตือนภัยผู้บริโภค แม้เราจะหวังดี โดยพยายามยัดข้อมูลให้มากที่สุด บางทีมันอาจไม่เกิดประโยชน์เท่าที่ควร เพราะผู้บริโภคแต่ละคนมีศักยภาพในการรับรู้ที่ต่างกัน เราควรเลือกใช้ให้เหมาะสม โดยเน้นข้อความ ให้สั้นกระชับ เข้าใจง่าย และเมื่อเขาสนใจแล้ว เราค่อยเพิ่มรายละเอียดเนื้อหาให้มากขึ้น ตามที่เขาสนใจในลำดับต่อๆ ไป5. ไม่ต้องกังวลแต่ควรระวัง “ต้องพูดความจริง” : นักคุ้มครองผู้บริโภคหลายคนมักจะกังวลว่า หากเผยแพร่ข้อมูลผลิตภัณฑ์อันตรายไปแล้ว อาจถูกผู้จำหน่ายสินค้าฟ้องร้องได้  ในประเด็นนี้มีคำแนะนำว่า การพูดความจริงในที่นี้หมายถึงการนำเสนอข้อเท็จจริง เช่น แจ้งว่าผลิตภัณฑ์นี้  รุ่นที่ผลิตนี้  ตรวจพบสารอะไรบ้าง และสารชนิดนี้มีอันตรายอย่างไร สิ่งที่ต้องควรระวังคือคำพูดที่ไปแสดงความรู้สึก เพราะอาจไปเข้าข่ายหมิ่นประมาท เช่น ผลิตภัณฑ์นี้มีสารอันตรายผสม เลวมาก  ทั้งนี้หากไม่มั่นใจ อาจแจ้งให้เจ้าหน้าที่เป็นผู้แจ้งข้อมูลก็ได้6. ลองใช้ยุทธศาสตร์เชิงบวกบ้าง : การใช้ยุทธศาสตร์เชิงบวก ไม่ได้หมายถึงการห้ามนำเสนอข้อมูลด้านลบ แต่หมายถึงการใช้ศักยภาพดึงพลังบวกในตัวของแต่ละคนออกมาเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหา เช่น เราอาจใช้วิธีชักชวน หรือโน้มน้าว ให้เขาลุกขึ้นมาเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์อันตรายในชุมชน โดยเน้นให้เขาเห็นว่าเมื่อเขาช่วยกันแล้ว จะเกิดสิ่งดีๆ อะไรขึ้นในชุมชน เช่น  พ่อแม่ ลูกหลานในชุมชนของเราเองจะได้ปลอดภัยลองนำไปปรับใช้ดูนะครับ เชื่อว่าคราวนี้แหละ พลังนักคุ้มครองผู้บริโภคจะเข้มแข็งขึ้นทันตา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 203 สารกันบูด เรื่องจริงบางอย่างที่คุณอาจยังไม่รู้

สารกันบูดคืออะไรสารกันบูดเป็นสารเคมีที่สามารถพบได้ทั้งในธรรมชาติหรือสังเคราะห์ขึ้น ซึ่งมีหน้าที่หลักในการทำลายหรือยับยั้งการเจริญของจุลินทรีย์ในอาหาร  เพราะการขยายตัวเพิ่มจำนวนมากขึ้นดังกล่าวอาจก่อให้เกิดพิษภัยในอาหารหรือทำให้อาหารเน่าเสียได้ จึงเป็นสารที่มีประโยชน์โดยตรงในการยืดอายุการเก็บรักษาของอาหารนั้น บางครั้งสารกันบูดชนิดเดียวกันอาจมีคุณสมบัติในการปรับคุณภาพด้านประสาทสัมผัสให้ดีขึ้นด้วย เช่น สารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (สารฟอกขาว) ไม่เพียงช่วยป้องกันจุลินทรีย์หลายชนิดไม่ให้เจริญแล้ว ยังช่วยป้องกันให้อาหารไม่เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลคล้ำได้  หรือสารไนไตรท ที่หยุดยั้งการเจริญของสปอร์แบคทีเรียคลอสทริเดียม โบทูลินั่มในไส้กรอก ยังช่วยให้ไส้กรอกมีสีชมพูสวยงามด้วย อย่างไรก็ตามเมื่อจะใช้สารกันบูดก็ควรเน้นในปริมาณที่หยุดยั้งการเจริญของจุลินทรีย์เป็นสำคัญ เพื่อความปลอดภัยในการบริโภคเป็นหลักอันตรายจากสารกันบูดไม่ค่อยมีโอกาสที่จะเป็นแบบเฉียบพลัน  แต่มักเป็นแบบเรื้อรังที่สะสมเป็นเวลานานและมักจบที่โรคมะเร็งตามอวัยวะต่างๆ ยกเว้น ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่มีผลเฉียบพลันที่ทำให้เกิดการหอบหืดจนอาจเสียชีวิตได้ ในผู้บริโภคที่มีอาการแพ้ประเภทของสารกันบูดสารกันบูดมีหลากหลายชนิด ทั้งที่อยู่ในรูปสารอินทรีย์และสารอนินทรีย์  ซึ่งสารกันบูดที่อยู่ในรูปสารอินทรีย์ ได้แก่ กรดอินทรีย์ ชนิดต่างๆ เช่น กรดเบนโซอิก กรดซอร์บิก กรดโพรพิโอนิก สารกันบูดที่เป็นกรดอินทรีย์ยังพบในพืชหลายชนิดตามธรรมชาติและยังสามารถสร้างได้โดยจุลินทรีย์บางชนิด เช่น กรดเบนโซอิกมีพบในผลไม้พวกเบอรี่หลายชนิด เครื่องเทศจำพวกอบเชย และนมเปรี้ยว ผลแครนเบอรี่เป็นตัวอย่างของผลไม้ที่มีกรดเบนโซอิกในปริมาณที่สูงมาก กรดซอร์บิกก็มีพบในผลไม้หลายชนิดเช่นกัน นอกจากนี้ ยังมีกรดโพรพิโอนิกที่ใช้เติมเพื่อยืดอายุการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์เบเกอรี ก็สร้างได้โดยแบคทีเรียที่ใช้ในกระบวนหมักเนยแข็งบางประเภท   ในอุตสาหกรรมอาหารยังมีสารเคมีบางชนิดที่ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นสารกันบูดแต่มีโครงสร้างคล้ายสารกันบูด เช่น สารเบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ ที่ใช้ฟอกแป้งให้ขาว มีโครงสร้างเหมือนกรดเบนโซอิก ซึ่งอาจทำให้ถูกวิเคราะห์เป็นสารกันบูดชนิดดังกล่าวได้ จุดนี้จึงอาจเป็นข้อเตือนใจในการวิเคราะห์ผลส่วนสารกันบูดที่อยู่ในรูปสารอนินทรีย์ เช่น สารไนเตรท สารไนไตรท สารซัลเฟอร์ไดออกไซด์  สารอนินทรีย์เหล่านี้มีสมบัติที่ควรทราบไว้ด้วย เช่น สารไนเตรทและสารไนไตรทสามารถเปลี่ยนกลับไปมาได้ตามปฏิกริยาเคมีที่เกิดจากจุลินทรีย์ในเนื้อสัตว์  สารซัลเฟอร์ไดออกไซด์สามารถสลายตัวได้ในระหว่างกระบวนการผลิตที่มีการให้ความร้อนและระหว่างการเก็บรักษา  ดังนั้นในการอนุญาตให้ใช้สารกันบูด จึงได้มีการศึกษาถึงปริมาณที่ต่ำสุดที่สามารถก่อให้เกิดผลในการยืดอายุการเก็บรักษาอาหารและปริมาณสูงสุดที่มีโอกาสก่ออันตรายกับสุขภาพ พร้อมกำหนดเป็นเกณฑ์ที่อนุญาตให้เหลืออยู่ในอาหาร เพื่อให้สารเหล่านั้นได้ทำหน้าที่ในการยืดอายุการเก็บรักษาโดยไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพแนวทางการปฏิบัติสำหรับผู้ประกอบการผู้ประกอบการหากจะใช้สารกันบูดในผลิตภัณฑ์ของตน ต้องเข้าใจข้อความในกฎหมายอย่างถ่องแท้เพื่อให้สามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง ปริมาณของสารกันบูดที่กำหนดไว้ในกฏหมายมักระบุปริมาณสารกันบูดให้มีหน่วยเป็นมิลลิกรัมในอาหารที่มีหน่วยเป็นลิตรหรือกิโลกรัม  ซึ่งหน่วยมิลลิกรัมต่อกิโลกรัมหรือลิตร บางครั้งเรียกว่า พีพีเอ็ม (ppm) ซึ่งก็สามารถคิดกลับมาเป็นค่าเปอร์เซนต์ที่คุ้นเคยกันได้ โดยใช้บัญญัติไตรยางค์ธรรมดา เช่น กฎหมายอนุญาตให้ใช้กรดเบนโซอิก 1000 มิลลิกรัมในเครื่องดื่ม 1 ลิตร หมายถึง 0.1%  ทั้งนี้ จะเห็นว่ากรดเบนโซอิก 1000 มิลลิกรัม คือ 1 กรัม ซึ่งเป็นปริมาณที่น้อยมากและไม่สามารถชั่งด้วยตาชั่งตามบ้านได้  ผู้ประกอบการจึงมีทางเลือกเพียง 2 วิธี คือ (1) เตรียมเครื่องดื่มครั้งละอย่างน้อย 25 ลิตร เพื่อให้สามารถใช้ตาชั่งพลาสติกที่ใช้ในร้านเบเกอรีที่มีขีดตัวเลขที่อ่านเห็นเป็น 25 กรัม ตัวละประมาณ 800 บาท หรือ (2) ซื้อตาชั่งไฟฟ้าที่มีความละเอียดเพียงพอให้สามารถใช้ชั่งที่น้ำหนักต่ำขนาด 1 กรัม  ซึ่งมีราคาประมาณ 3,000-5,000 บาท  ทั้งนี้ ห้ามใช้วิธีตวงสารกันบูด(กะเอา) ต้องชั่งเท่านั้น ส่วนอาหารที่เป็นของเหลว อนุโลมให้ตวงได้ แต่อุปกรณ์ที่ใช้ตวงต้องมีความละเอียดเพียงพอ หากอาหารเป็นของแข็งต้องใช้การชั่งเท่านั้น ห้ามตวงเด็ดขาดหลังจากเข้าใจข้อความในกฎหมายที่นำไปสู่การปฏิบัติในการชั่งตวง ซึ่งเป็นการควบคุมให้ปริมาณสารกันบูดที่ใช้ไม่เกินกว่าที่กฏหมายกำหนดแล้ว ก็ยังมีปัจจัยอีกประการหนึ่ง ซึ่งสำคัญมาก คือ ความทั่วถึงของสารกันบูดที่เติมลงในอาหาร หากเติมลงในอาหารเหลว ต้องมั่นใจว่ามีการคนจนละลายหมด ไม่ตกตะกอนและกระจายตัวจนทั่ว ซึ่งสามารถทำและสังเกตเห็นไม่ยากในกรณีที่อาหารมีลักษณะใสและไม่ข้น  แต่หากอาหารมีลักษณะขุ่นข้นหรือเป็นของแข็งที่อาจเป็นผงหรือกึ่งแข็งกึ่งเหลว ต้องมีวิธีการปฏิบัติที่ช่วยให้มั่นใจว่ามีการกระจายตัวของสารกันบูดอย่างทั่วถึง ได้แก่ การผสมสารกันบูดกับส่วนผสมที่เป็นผงซึ่งใช้ในปริมาณมากให้ทั่วถึงก่อน แล้วจึงนำผงที่ผสมกันแล้วเติมลงในอาหาร  เช่น ในสูตรอาจใช้สารกันบูด 10 กรัมและน้ำตาล 500 กรัม ก็นำสารกันบูดทั้งหมดผสมกับน้ำตาล 100 กรัมให้ทั่วถึงก่อน แล้วนำน้ำตาลที่ผสมกับสารกันบูดแล้วดังกล่าว ไปผสมกับน้ำตาลส่วนที่เหลือ 400 กรัม ให้ทั่วถึง  แล้วจึงนำน้ำตาลทั้งหมดที่มีสารกันบูดผสมอยู่ลงไปคลุกเคล้าในอาหารให้ทั่วถึง ตามวิธีการปกติสรุปแล้วการเติมสารกันบูดลงในอาหารต้องมีข้อควรปฏิบัติ 3 ประการ คือ (1) รู้ปริมาณที่เติมได้ตามกฏหมาย (2) ชั่งสารกันบูดและอาหารให้ถูกต้อง และ (3) ผสมให้ทั่วถึงคำถามที่พบได้บ่อยจากคนใช้สารกันบูดQ1. ทำไมใช้สารกันบูดแล้ว บางทีก็บูด ยกชุด  บางทีก็ไม่บูด ยกชุดชั่งน้ำหนักสารกันบูดถูกต้องไหม? ชั่งน้ำหนักอาหารถูกต้องไหม?2. ทำไมใช้สารกันบูดแล้วบางห่อก็บูด  บางห่อก็ไม่บูด ผสมทั่วถึงหรือเปล่านะ3. เราไม่ใช่คนใช้สารกันบูดสักหน่อย แต่มาหาว่าเราใช้ ได้อย่างไรA- ขอรายละเอียดสินค้าจากคนส่งวัตถุดิบหรือส่วนประกอบทุกตัวว่าประกอบด้วยอะไรบ้าง เพราะอาจมีการใช้ในส่วนประกอบเหล่านั้น ซึ่งภาษาวิชาการ เรียกว่า carry over  ที่หมายความว่าตกค้างมาถึงของเรา- อาจใช้วัตถุดิบจากพืช หรือจากการหมักที่โดยธรรมชาติมีสารกันบูดชนิดนั้นปะปนอยู่- อาจใช้วัตถุดิบที่มีการเติมวัตถุเจือปนอาหารบางชนิด ที่มีโครงสร้างคล้ายสารกันบูดบางชนิด หรือมีการผสมสารกันบูดบางชนิดในวัตถุดิบQเราไม่อยากใช้สารกันบูดแต่อยากให้เก็บรักษาได้นานขึ้น ควรทำอย่างไรA ต้องสังเกตว่าอาหารเน่าเสียจากสาเหตุอะไรแล้วป้องกันตามเหตุนั้น เช่น อาหารกึ่งแห้งพวกขนมเปี๊ยะมักเสียจากเชื้อรา ซึ่งตามธรรมชาติต้องใช้อากาศเพื่อการเจริญ เราก็ใส่ซองสารดูดออกซิเจนลงในถุงที่จำหน่าย ทำให้ในถุงไม่มีออกซิเจนเพียงพอ เชื้อราก็ไม่เจริญ เป็นต้นคำถามจากคนตรวจสารกันบูดQ1. ทำไมสุ่มอาหารชุดเดียวกัน เราตรวจเจอสารกันบูดเกินที่กำหนด  คนขายส่งตรวจเจอต่ำกว่าถามคนขายว่าผสมอย่างไร ทั่วถึงไหม2. ทำไมสุ่มอาหารชุดเดียวกัน คนขายบอกไม่ได้เติมสารกันบูด เราตรวจเจอสารกันบูด  คนขายส่งตรวจไม่เจอ- อาจใช้วัตถุดิบที่มีปนเปื้อนตามธรรมชาติไหม หรือมีการเติมสารกันบูดหรือสารที่มีโครงสร้างทางเคมีคล้ายสารกันบูด3. ถ้าพบสารกันบูดปริมาณนิดเดียว ไม่เกินมาตรฐาน แต่ไม่ยอมแจ้งบนฉลาก จะจัดเข้าข่ายฉลากปลอมไหมA- ปริมาณสารกันบูดที่มีผลในการยืดอายุการเก็บรักษา ได้แก่ 500-2,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งถ้าพบว่าต่ำกว่า น่าจะไม่จงใจ ซึ่งอาจเกิดจากการปนเปื้อนจากวัตถุดิบหรือการปนเปื้อนข้ามจากอาหารสูตรอื่นที่มีการเติมสารกันบูด จึงต้องมีการสอบสวนเหตุ ซึ่งหากมาจากวัตถุดิบธรรมชาติ ไม่น่าจะเข้าข่าย แต่หากเป็นการ carry over จากวัตถุดิบหรือปนเปื้อนข้ามน่าจะเข้าข่าย อย่างไรก็ตาม ต้องระวังผลวิเคราะห์ที่อาจผิดพลาดจากวัตถุเจือปนอาหารชนิดอื่นที่มีโครงสร้างทางเคมีคล้ายกันด้วยข้อเตือนใจงานคุ้มครองผู้บริโภคเป็นงานที่สำคัญ ซึ่งต้องเกิดจากความร่วมมือระหว่างผู้ผลิตอาหารและผู้บริโภคเอง ทั้งนี้ทั้งสองฝ่ายต้องร่วมมือกันแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยความไว้วางใจและปรารถนาดีต่อกัน ทั้งนี้  เรื่องสารกันบูดที่เล่าสู่กันฟังเป็นตัวอย่างของความร่วมมือของหน่วยงานคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคที่ทำหน้าที่ของตนในแนวทางที่ควรจะเป็น แต่ก็รับฟังผู้ผลิตอาหารที่ก็มีเจตนาดีเช่นกัน เมื่อพบปัญหาแล้วจึงพูดคุยกัน แสวงหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์เพื่อหาคำตอบและทางออกร่วมกัน   ความจริงใจเหล่านี้ในที่สุดจะยังประโยชน์ให้กับทุกฝ่าย โดยเฉพาะผู้บริโภค ซึ่งก็คือพวกเราทุกคนนั่นเอง********สรุปการประชุมสร้างความร่วมมือกับผู้ประกอบการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านอาหาร กรณีวัตถุกันเสีย28 พฤศจิกายน 2560  โรงแรมเซ็นจูรี่พาร์ค   นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ภายใต้โครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งสนับสนุนงบประมาณโดย สสส. ผลการประชุมพบว่า ผู้ประกอบการมีความตั้งใจจริงในการที่จะปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์ของตนเอง โดยการขอให้ผู้จัดส่งวัตถุดิบทำใบรับรองสินค้าของตนเอง(Certificate of analysis) ว่าปราศจากสารกันบูด เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคว่าจะได้รับสินค้าที่มีคุณภาพดี ได้มาตรฐาน การประชุมนี้จัดขึ้นเพื่อสร้างความเข้าใจที่ดีร่วมกันระหว่างองค์กรผู้บริโภค ผู้ประกอบการ และห้างค้าปลีก ซึ่งต่างเป็นผู้เล่นที่สำคัญในการผลิตและจำหน่ายสินค้าด้านอาหาร โดยนิตยสารฉลาดซื้อส่งหนังสือเชิญประชุมถึงผู้ประกอบการทุกราย ที่ทางนิตยสารได้เคยสุ่มสำรวจและทดสอบผลิตภัณฑ์ ในประเด็นที่เกี่ยวกับการใช้สารกันบูด ในช่วงปี 2559-2560 ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีมีผู้ประกอบการเข้าร่วมงานอย่างคึกคัก มีการบรรยายด้านวิชาการจาก ศ.วิสิฐ จะวะสิต นักโภชนาการ จากสถาบันโภชนาการ ม.มหิดล เรื่อง ความสำคัญและการใช้สารกันบูดอย่างเหมาะสม ในหัวข้อใหญ่ๆ ดังนี้  1.สารกันบูดมีความสำคัญเพราะช่วยยืดอายุอาหาร สามารถใช้ได้ แต่ต้องใช้ให้ถูกต้อง คือ ปริมาณถูกต้องตามกฎหมายกำหนด ต้องใช้เครื่องชั่งที่เหมาะสม และผสมให้ถูกวิธี  2.ความสำคัญของการระบุข้อความบนฉลาก เพื่อแจ้งเป็นข้อมูลแก่ผู้บริโภค  3.เรื่องที่ต้องเข้าใจ บางครั้งเมื่อตรวจพบการปนเปื้อนของสารกันบูด ในปริมาณไม่มากทั้งๆ ที่ผู้ประกอบการไม่ได้ใส่ลงไปในกระบวนการผลิต อาจเป็นได้จากตัววัตถุดิบที่นำมาประกอบเป็นอาหาร ซึ่งมีทั้งที่เป็นการตั้งใจใส่ลงไปในวัตถุดิบก่อนถึงมือผู้ประกอบการ หรือเป็นสารกันบูดที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ซึ่งมีอยู่เองในตัววัตถุดิบ  หรือมีสารบางตัวที่อาจมีคุณสมบัติคล้ายกับตัวสารกันบูดทำให้ผลการวิเคราะห์ได้ค่าที่แสดงว่าตรวจพบ(ในปริมาณน้อย)  4.การเก็บรักษาที่ถูกวิธีช่วยยืดอายุสินค้าได้ ด้วยการทำความเข้าใจถึงสาเหตุของการบูดเสียและแก้ให้ถูกจุด 5.อาหารหลายชนิดจำเป็นจริงๆ ต้องใช้สารกันบูด มิฉะนั้นจะก่อผลเสียในการบริโภคมากกว่าไม่ใส่เช่น การใช้ไนเตรทในไส้กรอก เป็นต้น แต่ต้องอยู่ในเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดหลังการบรรยายมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างผู้เข้าร่วมประชุมในบรรยากาศที่ดี ผู้ประกอบการได้นำเสนอให้องค์กรหรือหน่วยงานที่กำกับดูแลสร้างความเข้าใจให้กับผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการในขั้นตอนในทางกฎหมายหรือวิธีปฏิบัติที่ง่าย เพื่อให้สามารถนำไปใช้ได้จริง ซึ่งทางองค์กรผู้บริโภคยินดีนำข้อเสนอดังกล่าวไปจัดประชุมและเสนอเป็นความเห็นกับทางหน่วยงานต่อไป โดยบทสรุปในครั้งนี้คือ  ผู้ประกอบการได้แสดงเจตนารมณ์ว่าตนเองนั้นมีความตั้งใจจริงในการที่จะปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์ของตนเอง โดยจะมีการขอให้ผู้จัดส่งวัตถุดิบทำใบรับรองสินค้าของตนเอง(Certificate of analysis) ว่าปราศจากสารกันบูด เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคว่าจะได้รับสินค้าที่มีคุณภาพดี ได้มาตรฐานต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 203 รู้เท่าทันกบฏผีบุญทางการแพทย์ (ตอนที่ 1)

ปรากฏการณ์หนึ่งทางการแพทย์ที่เกิดขึ้นเป็นระยะๆ คือ การมีหมอเทวดาปรากฏตัวขึ้นเพื่อรักษาโรคที่การแพทย์แผนปัจจุบันยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ มีผู้คนแห่ไปรับการรักษาอย่างเนืองแน่น จนทางการต้องเข้ามาควบคุมและห้ามปราม  ทำไมจึงเกิดเหตุการณ์เช่นนี้  เราควรมีท่าทีหรือมุมมองต่อเรื่องนี้อย่างไร  เรามารู้เท่าทันกันเถอะมีหมอเทวดาเกิดขึ้นเสมอ ไม่ห่างหาย เมื่อเร็วๆ นี้ คงได้ยินข่าวมีบุคคลท่านหนึ่งแจกยารักษามะเร็ง มีผู้ป่วยมารับยาครั้งละเป็นหมื่นคน พระที่บอกว่า นั่งทางในและค้นพบวิธีการรักษาด้วยการตอกเส้น  รวมทั้งก่อนหน้านี้ ที่มีหมอเทวดาเกิดขึ้นในที่ต่างๆ ทำไมหมอเทวดาเหล่านี้ทำไมจึงเกิดขึ้นและได้รับความนิยม ทั้งๆ ที่การแพทย์แผนปัจจุบันของไทยมีความก้าวหน้ามาก และมีระบบประกันสุขภาพต่างๆ ที่รักษาโดยไม่ต้องเสียเงิน การเกิดปรากฎการณ์ที่ชาวบ้านธรรมดาๆ ลุกขึ้นมารักษาโรคให้กับประชาชน(ทั้งโดยเจตนาบริสุทธิ์และไม่บริสุทธิ์) ซึ่งมีกฎหมายวิชาชีพทั้งการแพทย์แผนปัจจุบัน การแพทย์แผนไทย และวิชาชีพต่างๆ ดูแลอยู่นั้น นับเป็นการสั่นคลอนความเชื่อมั่น และความไว้วางใจต่อวิชาชีพต่างๆ ที่มีอยู่ ความเชื่อและวัฒนธรรมชุมชนต่อเรื่องการแพทย์ ดั้งเดิมของสังคมไทย ชุมชนจะดูแลสุขภาพด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น เมื่อเจ็บป่วยมากก็จะไปหาหมอพื้นบ้านและหมอแผนไทยเพื่อรับการรักษา หมอพื้นบ้านส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านที่ผ่านการบวชเรียน เมื่อมีความรู้ก็ช่วยเยียวยาชาวบ้านโดยไม่ผลตอบแทนเป็นเงินทอง   ต่อมาพ.ศ. 2466 มี พระราชบัญญัติการแพทย์ ทำให้การรักษาพยาบาลประชาชนต้องกระทำโดยผู้ประกอบโรคศิลปะเท่านั้น  ทำให้หมอพื้นบ้านและหมอแผนไทยส่วนใหญ่ที่ไม่มีใบประกอบโรคศิลปะยกเลิกการรักษาผู้ป่วยเนื่องจากเกรงกลัวผิดกฎหมายหมอเทวดานั้นผูกพันกับความเชื่อ และวัฒนธรรมท้องถิ่น  หมอเทวดานั้นจะผูกพันและมีฐานความเชื่อของวัฒนธรรมท้องถิ่นและชุมชน โดยเฉพาะ ยาสมุนไพร วิธีการรักษาพื้นบ้าน ที่มาของภูมิปัญญาจากการนั่งทางใน หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และส่วนใหญ่เป็นการรักษาที่ไม่หวังผลตอบแทนเป็นเงินทอง  ความเชื่อและวิถีปฏิบัติของหมอเทวดาเหล่านี้ สอดคล้องกับความเชื่อของสังคมไทยที่มองการเยียวยานั้นเป็นการเยียวยาแบบเอื้ออาทร และหมอเป็นผู้มีเมตตากรุณาต่อผู้ป่วย  แน่นอนที่ว่า มีมิจฉาชีพที่แอบอ้างเป็นหมอเทวดา เพื่อหวังหลอกลวงและค่าตอบแทนจากผู้หลงเชื่อหมอเทวดาเปรียบเสมือนกบฏผีบุญทางการแพทย์หรือไม่เรื่องของกบฏผีบุญ หรือกบฏผู้มีบุญ เกิดขึ้นครั้งแรกในปีพ.ศ. 2249 เป็นกบฏผีบุญลาวบุญกว้าง เข้ายึดเมืองโคราช  หลังกบฏลาวบุญกว้าง ยังมีกบฏผีบุญ 8 ครั้ง กบฏเชียงแก้ว พ.ศ. 2334 กบฏสาเกียดโง้ง กบฏสามโบก กบฏผู้มีบุญอีสาน กบฏหนองหมากแก้ว กบฏหมอลำน้อยชาดา กบฏหมอลำโสภาและกบฏศิลา วงศ์สิน พ.ศ. 2502   การเกิดกบฏผีบุญอีสาน พ.ศ. 2444-2445 เป็นเพราะ ราษฎรไม่พอใจการเก็บภาษีส่วยจากชายฉกรรจ์ มิหนำซ้ำมาเกิดภัยแล้งติดต่อกันสองสามปี ส่วนขุนนางท้องถิ่นไม่พอใจการปฏิรูปการปกครองที่เอาอำนาจไปจากพวกเขาแล้วยังเอาผลประโยชน์ ประกอบกับการคุกคามจากฝรั่งเศส ทำให้กบฏขยายตัวอย่างกว้างขวางถึง 13 จังหวัด แต่ถูกปราบโดยรัฐบาลการเกิดหมอเทวดาจากผู้ที่ไม่ได้เป็นหมอวิชาชีพ อาจเป็นเสมือนการทวงคืนพื้นที่และสิทธิอันชอบธรรมของประชาชนในการเลือกที่จะรับการเยียวยาจากหมอชาวบ้าน บนฐานการพึ่งตนเองของชุมชน ก็เป็นได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 203 รักกันพัลวัน : เพราะ 1+1 ก็อาจไม่เท่ากับ 2 เสมอไป

สังคมมนุษย์ถูกครอบงำด้วยวิธีคิดแบบแบ่งขั้วหรือแบ่งความสัมพันธ์ที่ตรงข้ามกันอย่างชัดเจนมานานแล้ว ถ้าไม่ขาวก็ต้องเชื่อว่าดำ ถ้าไม่ดีก็ต้องแปลว่าเลว หรือถ้าพูดว่า “ใช่” แล้ว ก็จะบอกว่า “ไม่ใช่” ไม่ได้ อันมีนัยว่า สรรพสิ่งล้วนแต่มีอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงด้านเดียว ทั้งนี้ แม้แต่ในระบบคิดของคณิตศาสตร์หรือสถิติศาสตร์ ก็ยังกล่าวกันว่า O ไม่ใช่ 1 หรือ A ย่อมไม่ใช่ non-A และหากเรานำ 1 มาบวกกับ 1 ต้องได้คำตอบเท่ากับ 2 เสมอ จะผิดเพี้ยนเบี่ยงเบนไปจากกฎเกณฑ์คำตอบนี้ไปไม่ได้เลยวิธีคิดแบบแบ่งขั้วของสังคมเฉกเช่นนี้ ปรากฏให้เห็นอยู่แม้แต่ในระบบการควบคุมเรื่องรักๆ ใคร่ๆ หรือเพศและเพศวิถีของมนุษย์เราแม้เรื่องเพศวิถีจะดูผิวเผินเหมือนกับเป็นเรื่องส่วนบุคคล หรือเป็นรสนิยมและความรื่นรมย์เฉพาะตน แต่กับในระบบคิดของสังคมแล้ว ต่อให้เป็นเรื่องเพศที่ “ส่วนตั๊วส่วนตัว” นั้น สังคมก็ยังเข้าไปกำกับควบคุมความหมายให้เราคิดได้แค่เป็นสองแพร่งสองทางเช่นกันตัวอย่างเช่น ถ้าเป็นเพศชาย ก็ต้องแสดงลักษณะแบบชายที่แข็งแรง เป็นเพศแห่งการพิทักษ์ปกป้อง แต่หากเป็นเพศหญิง ก็ต้องอ่อนโยนและรอคอยการปกป้องจากบุรุษเพศ หรือหากเป็นรสนิยมรักต่างเพศแบบชายหญิง ก็จะมีลักษณะตรงข้ามอย่างชัดเจนจากกลุ่มรักเพศเดียวกันแบบชายรักชาย หญิงรักหญิง หรือบรรดา LGBT ทั้งหลายแต่อย่างไรก็ดี ทุกวันนี้ระบบคิดแบบแบ่งขั้วตรงข้ามกันดังกล่าวได้ถูกท้าทาย และตั้งคำถามเสียใหม่ว่า แน่ใจแล้วหรือที่เส้นกั้นแบ่งขั้วต่างๆ จะไม่มีการข้ามเส้น หรือแม้แต่สลายเส้นแบ่งนั้นๆ ให้พร่าเลือนลงไปก็ได้ เหมือนกับที่ 1 บวก 1 ก็อาจเป็น 1 (แบบที่เราเอาทรายกองหนึ่งมารวมกับอีกกองหนึ่ง ก็ได้เป็นทรายกองเดียวกัน) โดยไม่จำเป็นต้องได้คำตอบเป็น 2 เสมอไปวิธีคิดเรื่องเส้นแบ่งที่ลางเลือนลงเช่นนี้ มีให้เห็นแม้แต่ในประเด็นเกี่ยวกับเรื่องเพศวิถีและรักๆ ใคร่ๆ แบบที่ปุถุชนคนธรรมดาก็สามารถก่อกลายเป็นความ “รักกัน” ที่ “พัลวัน” อยู่ในละครโทรทัศน์ จนยุ่งเหยิงแทบแยกไม่ออกว่าจะแบ่งขั้วแบ่งวิธีคิดกันต่อไปได้เยี่ยงไรเริ่มต้นเมื่อสาวหล่ออย่าง “ตุลญาณา” พนักงานดูแลสวนสัตว์ Blue Planet เกิดอาการอกหักรักคุดจากสาวๆ มาครั้งแล้วครั้งเล่า หญิงห้าวอย่างตุลญาณาที่ไม่อาจแบกรับความเจ็บปวดจากผู้หญิงด้วยกันได้ จึงตั้งปณิธานกับตนเองว่า นับจากนี้จะกลับมามองหาผู้ชายดีๆ สักคนเพื่อคบเป็นแฟนหนุ่มให้ได้อย่างไรก็ตาม แม้จะ “คิดใหม่ทำใหม่” กับการคบหามนุษย์เพศชาย แต่ความคิดของตุลญาณาก็ช่างย้อนแย้งเป็นอย่างยิ่ง เมื่อลึกๆ เธอเองก็ต่อต้านบุรุษเพศ เพราะตั้งแต่เด็กก็เกลียดพ่อที่ขี้เมาไม่เป็นโล้เป็นพาย กอปรกับการก่อตัวของบุคลิกภาพที่ห้าวและแกร่งเกินหญิงทั่วไป ในขณะที่อีกด้านหนึ่ง เธอก็อยากลบภาพสาวหล่อ โดยเลือกเดินเกมรุกจีบหนุ่มอย่างเต็มตัวผู้ชายคนแรกที่ก้าวเข้ามาในชีวิตได้แก่ หนุ่มรุ่นพี่สมัยเรียนมหาวิทยาลัยอย่าง “ฐานัท” ที่ตุลญาณาหวังว่า เขาจะช่วยปลุกเร้าสัญชาตญาณความเป็นหญิงที่อยู่หลืบลึกในตัวเธอให้ปรากฏออกมา แต่ปัญหาก็คือ ฐานัทเองกลับจัดวางนางเอกของเราไว้เพียงสถานะเป็นแค่น้องสาวหญิงห้าวผู้แสนดีเท่านั้น ส่วนชายหนุ่มคนที่สองก็คือ “โตมร” เพื่อนร่วมงานผู้ดูแลสิงสาราสัตว์ใน Blue Planet ด้วยกัน แม้จะเป็นคนที่ขยันขันแข็งและแอบรักตุลญาณามานานแสนนาน โดยไม่สนใจว่าเพศสภาพหรือเพศวิถีของเธอจะเป็นเช่นไร แต่ในทางกลับกัน ตุลญาณาก็เห็นว่าโตมรเป็นได้แค่เพื่อนที่แสนดีคนหนึ่งเท่านั้นและแน่นอน ชายหนุ่มคนสุดท้ายที่เข้ามาเป็นตัวเลือกของตุลญาณาก็คือ “เมธากวิน” พระเอกหนุ่มของเรื่อง นอกจากเขาจะเป็นซีอีโอคนใหม่ของ Blue Planet แล้ว เจ้านายหนุ่มยังเป็นอดีต “ศัตรูหัวใจ” ที่เธอเคยมีคดีแย่งแฟนเก่ากับเขามาก่อน อันนำไปสู่สูตรพ่อแม่แม่งอนที่เขม่นกันตลอดแทบจะทั้งเรื่องยิ่งเมื่อเมธากวินเข้าใจผิดอยู่ตลอดเวลาว่า ตุลญาณาแอบมีจิตปฏิพัทธ์ต่อทั้ง “สโรชินี” แฟนสาวคนล่าสุดของเขา และ “พนิตพิชา” ลูกพี่ลูกน้องของตน ตุลญาณาจึงต้องเข้าไปอยู่ในวังวนรักๆ ใคร่ๆ ของชายสามหญิงสองที่อลวน “พัลวัน” กันยิ่งกว่า “ลิงพันแห” เสียอีกยิ่งเมื่อผนวกกับตัวแปรเรื่องเพศวิถีของตุลญาณาที่ดูคลุมเครือยิ่งนักว่า นางเอกสาวหล่อจะเป็น “ทอม” หรือจะเป็น “เธอ” พร้อมกับคำทำนายของหมอดูที่บอกว่าคู่แท้ของเธอจะต้องเป็นคนที่มอบจุมพิตแรก มอบลมหายใจ และมอบชีวิตใหม่ให้กับตุลญาณา “รักกันที่พัลวัน” ก็ยิ่ง “พัลวันแสนพัลวัน” กันหนักเข้าไปอีกหากดูผิวเผินแล้ว โครงเรื่องของละครก็เหมือนจะสร้างขึ้นบนสูตรของการ “เปลี่ยนทอมให้เธอ” แต่เพราะเหตุที่ว่า 0 ไม่จำเป็นต้องเท่ากับ 1 หรือ A ก็ไม่จำเป็นต้องเท่ากับ non-A ดังนั้น ความซับซ้อนที่ “พัลวัน” ยวดยิ่งจึงมิใช่แค่การแบ่งขั้วกันระหว่าง “ทอม” กับ “เธอ” หรือมิใช่การแบ่งความคิดตรงข้ามกันเป็นแบบ “รักต่างเพศ” หรือเป็นแบบ “รักเพศเดียวกัน” เพียงอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น เฉกเช่นเดียวกับที่ 1 บวก 1 ก็สามารถออกมาเป็นคำตอบตัวเลขใดๆ ที่อาจไม่ใช่ 2 เสมอไป เรื่องของเพศวิถีจึงขึ้นอยู่กับสองมือมนุษย์ที่จะเสกสรรปั้นแต่งให้เป็นได้ในทุกๆ ทาง เหมือนกับที่ “หญิงรักหญิง” อย่างตุลญาณาก็อาจพึงใจที่คบหากับหญิงหรือชาย และผู้ชายอย่างเมธากวินเองก็อาจจะเลือกคบหากับหญิงที่ออกแบบเพศวิถีมาแบบใดก็เป็นได้ เพราะทั้งคู่เชื่อในตอนจบของเรื่องว่า “เคมีที่เข้ากันของคนสองคน” ต่างหากที่สำคัญยิ่งกว่าเพศวิถีซึ่งถูกจัดกรอบไว้แล้วด้วยกฎกติกาของสังคมบทเรียนที่ทั้งตุลญาณาและเมธากวินเคยเผชิญเมื่อครั้งที่หมีควายหลุดออกไปจากกรงขัง และวิ่งไล่ล่าโตมรและใครต่อใครในสวนสัตว์ ก็ชี้ให้เห็นความเป็นจริงที่ว่า สัญชาตญาณ (อันรวมถึงเรื่องเพศวิถีแห่งปุถุชน) นั้น ต่อให้จับขังกรงเพื่อกำกับวินัยควบคุมเอาไว้ แต่มันก็ไม่ต่างจากหมีควายที่ยากจะทำให้เชื่องหรือให้สั่งซ้ายหันขวาหันไปได้ด้วยธรรมเนียมปฏิบัติของสังคมจริงๆ หรอกไม่ว่าจะเรื่อง “รัก” หรือเรื่อง “ใคร่” คำตอบของมนุษย์เราทุกวันนี้ดูแสนจะ “พัลวัน” เสียยิ่งกว่าที่ 1+1 จักต้องได้ 2 เป็นคำตอบสุดท้ายเช่นนี้แล

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 203 มีปัญหา ค่าเน็ต ค่าโทร อย่าลืมให้บริษัท โชว์หลักฐาน พิสูจน์ความจริง

ในโลกยุค 4.0 อย่างทุกวันนี้ บริการโทรคมนาคม ถือเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในชีวิตประจำวัน บางคนตื่นขึ้นมาก็ต้องควานหาโทรศัพท์มือถือก่อนเลย เช็คข้อความในไลน์ ตลอดวันจะทำธุรกิจ ติดต่อค้าขาย คุยกับเพื่อนฝูง ครอบครัวก็ต้องใช้โทรศัพท์  อินเทอร์เน็ต ก่อนนอนก็ยังต้อง อัพเดท สเตสัส ราตรีสวัสดิ์ ในเฟซบุ๊ค  บริการเหล่านี้ ไม่ใช่ของฟรี ยิ่งใช้มาก ก็ยิ่งต้องจ่ายค่าบริการมาก อย่างน้อยก็หลักร้อยต่อเดือน หรือบางคนถ้าเลือกใช้แพคเก็จแบบจัดเต็มทั้งเน็ต ทั้งโทร ก็อาจจะต้องจ่ายถึงหลักพันบาทยิ่งใช้มาก ก็ยิ่งมีปัญหามาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาเกี่ยวกับค่าบริการที่ถูกเรียกเก็บ  “ไม่เคยสมัครใช้บริการ แต่มีรายการเรียกเก็บค่า sms ดูดวง / ข่าวซุปซิปดารา” “ใช้ WiFi ที่บ้าน แต่ทำไมถูกเก็บค่าเน็ตมือถือ”  “ถูกคิดค่าบริการส่วนเกินแพคเก็จ ทั้งที่ใช้งานนิดเดียว”ฯลฯ เมื่อบริษัทมีบิลเรียกเก็บค่าบริการมา แต่ผู้บริโภคยืนยันว่า “ฉันไม่ได้ใช้” ทั้ง 2 ฝ่ายเห็นไม่ตรงกัน ปัญหาจึงเกิดขึ้น จริงๆ แล้วปัญหานี้พิสูจน์ได้ไม่ยาก เพราะการกระทำทุกอย่างในระบบโทรคมนาคม จะมีการเก็บข้อมูลไว้ในระบบทั้งหมด สามารถตรวจสอบได้ว่า มีการสมัครใช้บริการ เมื่อวันที่เท่าไร เวลาอะไร ใช้บริการกี่นาที เริ่มกี่โมง จบกี่โมง ใช้บริการจากบริเวณไหน ฯลฯ ซึ่งข้อมูล รายละเอียดเหล่านี้จะอยู่ในมือบริษัทผู้ให้บริการ  ถ้าบริษัทผู้ประกอบการ ยอมเอาข้อมูลออกมายืนยัน พิสูจน์ข้อโต้แย้งของผู้ใช้บริการมันก็จบ แต่ส่วนใหญ่ผู้ประกอบการมักจะพูดลอยๆ ว่าคิดค่าบริการถูกต้องแล้ว โดยไม่ได้แสดงหลักฐานอะไรประกอบ แล้วอย่างนี้จะให้ผู้ใช้บริการเชื่อได้อย่างไรล่ะ ครับ  เมื่อฝ่ายที่กุมข้อมูลไว้ในมือ ไม่ยอมคายหลักฐานออกมา กฎหมายจึงต้องกำหนดเรื่อง “ภาระการพิสูจน์ (Burden of Proof)” ไว้ให้เป็นหน้าที่ของผู้ให้บริการโทรคมนาคม ที่จะต้องพิสูจน์ข้อเท็จจริงเพื่อยืนยันความถูกต้องในการคิดค่าบริการโทรคมนาคม เมื่อมีการโต้แย้งว่า คิดค่าบริการผิดพลาด ไม่เป็นไปตามสัญญา หรือ ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย  โดยพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 มาตรา 47 มาตรา 48 และ ประกาศ กทช. เรื่อง กระบวนการรับเรื่องร้องเรียนและพิจารณาเรื่องร้องเรียนของผู้ใช้บริการ ข้อ 13 และ ประกาศ กทช. เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ข้อ 22 นั้น บัญญัติไว้สอดคล้องกัน ว่า เมื่อมีการร้องเรียนเกี่ยวกับการเรียกเก็บค่าบริการโดยไม่ถูกต้อง ผู้ให้บริการมีหน้าที่ต้องพิสูจน์ข้อเท็จจริงเพื่อยืนยันความถูกต้องในการเรียกเก็บค่าบริการ เพราะผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมเป็นฝ่ายที่ครอบครองข้อมูลการใช้บริการโทรคมนาคม  ดังนั้นหากผู้ให้บริการสามารถนำพยาน หลักฐานมาแสดง เพื่อพิสูจน์ได้ว่าผู้ร้องเรียนมีการใช้บริการจริง และผู้ให้บริการเรียกเก็บค่าบริการเป็นไปตามเงื่อนไขของสัญญา และเรียกเก็บตามอัตราค่าบริการที่ตกลงกันแล้ว ผู้ให้บริการก็ย่อมมีสิทธิเรียกเก็บค่าบริการจากผู้ใช้บริการได้ แต่หากผู้ให้บริการไม่สามารถพิสูจน์ยืนยันได้ว่า ผู้ร้องเรียนได้ใช้บริการจริง หรือผู้ให้บริการได้เรียกเก็บค่าบริการตรงตามเงื่อนไขของสัญญา ผู้ให้บริการก็ย่อมไม่มีสิทธิที่จะเรียกเก็บค่าบริการจากผู้ใช้บริการ อันเป็นหลักการพื้นฐานของกฎหมายทั่วไป ประกาศ กทช. เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ข้อ 22 กำหนดให้ ผู้ให้บริการมีหน้าที่ต้องพิสูจน์ข้อเท็จจริงเพื่อยืนยันความถูกต้องในการเรียกเก็บค่าบริการ และต้องแจ้งให้ผู้ใช้บริการทราบภายในระยะเวลา 60 วันนับแต่วันที่ผู้ใช้บริการมีคำขอ หากไม่ดำเนินการภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้ถือว่าผู้ให้บริการนั้นสิ้นสิทธิในการเรียกเก็บค่าบริการในจำนวนที่ผู้ใช้บริการได้โต้แย้งนั้น    การกำหนดระยะเวลา 60 วันนั้น เป็นไปเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค ผู้ใช้บริการ ซึ่งอยู่ในฐานะที่ด้อยกว่าผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม เมื่อผู้ให้บริการไม่สามารถหาพยาน หลักฐาน ซึ่งอยู่ในความครอบครองของตน มาพิสูจน์ข้อเท็จจริงเพื่อยืนยันความถูกต้องในการเรียกเก็บค่าบริการที่ผู้ใช้บริการโต้แย้งได้ภายใน 60 วัน ผู้ใช้บริการจึงย่อมมีสิทธิที่จะปฏิเสธการชำระหนี้ค่าบริการที่โต้แย้งนั้นได้  หลักฐานที่จะพิสูจน์ยืนยันว่าผู้ร้องเรียนมีการใช้บริการโทรคมนาคม หรือไม่ อย่างไรนั้น  จะต้องเป็นหลักฐานที่ไม่อาจแก้ไขดัดแปลงได้ อาทิ ข้อมูลจราจรคอมพิวเตอร์(log file) ซึ่งเป็นข้อมูลเกี่ยวกับการติดต่อสื่อสารของระบบคอมพิวเตอร์ แสดงถึงแหล่งกำเนิด ต้นทาง ปลายทาง เส้นทาง เวลา วันที่ ปริมาณ ระยะเวลาชนิดของบริการ หรืออื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการติดต่อสื่อสารของระบบคอมพิวเตอร์ หลักฐาน เช่น ข้อมูลจราจรคอมพิวเตอร์ (log file) นี้ จึงจะเป็นสิ่งที่จะพิสูจน์ว่า ผู้ร้องเรียนมีการใช้บริการ GPRS Roaming ของบริษัท ฯ จริง หรือไม่  ส่วนใบแจ้งหนี้ค่าใช้บริการ ที่ถึงแม้จะแสดงข้อมูลว่า มีการใช้บริการอะไรบ้าง เมื่อวันที่เท่าไร แต่ใบแจ้งค่าใช้บริการนั้น ไม่สามารถใช้เป็นเครื่องพิสูจน์ยืนยันถึงความถูกต้องในการเรียกเก็บค่าบริการได้ เพราะเป็นเอกสารที่บริษัท ทำขึ้นเองฝ่ายเดียว สามารถแก้ไข ดัดแปลงได้  ดังนั้น ถ้ามีปัญหาเกี่ยวกับค่าบริการโทรคมนาคม ไม่ว่าจะค่าโทร ค่าเน็ต อย่าลังเลใจที่จะใช้สิทธิตรวจสอบกับผู้ให้บริการ ให้ชี้แจง แสดงพยานหลักฐาน พิสูจน์ว่ารายการที่เรียกเก็บมานั้นถูกต้องหรือไม่ ถ้าร้องเรียนแล้ว ผู้ให้บริการนิ่งเฉย ไม่สามารถแสดงหลักฐานที่ยืนยันถึงความถูกต้องในการเรียกเก็บค่าบริการนั้นได้ภายในระยะเวลา 60 วัน ผู้บริโภคก็ไม่ต้องจ่ายค่าบริการส่วนที่โต้แย้งนั้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 203 หนังสือรับสภาพความผิด ไม่ใช่สัญญาประนีประนอมยอมความ

ครั้งนี้ผมจะนำเกร็ดความรู้ทางกฎหมายเกี่ยวกับการทำสัญญารับสภาพความผิด มาเล่าสู่กันฟัง หากกล่าวถึงเรื่องเงินๆ ทองๆ คงไม่เข้าใครออกใคร ตัวอย่างที่จะยกมาเล่าครั้งนี้ ก็เป็นเรื่องของเหรัญญิกคนหนึ่งที่ต้องดูแลเงินของกองทุนหมู่บ้าน แต่ด้วยความโลภก็เอาเงินดังกล่าวไปใช้ส่วนตัว ต่อมามีการทำหนังสือสัญญารับสภาพความผิด และมีข้อตกลงจะรับผิดชอบหาเงินมาคืน แต่สุดท้ายเหรัญญิกก็ผิดสัญญา ไม่คืนเงิน คณะกรรมการกองทุนจึงมาฟ้องคดีให้คืนเงิน ซึ่งก็มีประเด็นที่ขึ้นสู่ศาลฎีกาว่า หนังสือรับสภาพความผิดที่ทำกัน มีผลทำให้มูลหนี้เดิมระงับไปแล้วหรือไม่ ซึ่งศาลฎีกาก็ได้ตัดสินโดยวางหลักไว้ว่า หนังสือรับสภาพความผิดไม่ใช่สัญญาประนีประนอมยอมความ และมิใช่การแปลงหนี้ใหม่อันจะทำให้หนี้เดิมระงับไป โจทก์มีอำนาจฟ้องให้จำเลยคืนเงินแก่โจทก์ได้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่6271/2558 หนังสือรับสภาพความผิดจำเลยทำขึ้นเพื่อเป็นหลักฐานว่าได้นำเงินของโจทก์ไปใช้ส่วนตัวในระหว่างดำรงตำแหน่งเหรัญญิกของโจทก์ และจำเลยยินยอมชำระเงินดังกล่าวแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยให้ครบถ้วนภายในวันที่ 1 มิถุนายน  2554 หนังสือรับสภาพความผิดดังกล่าวจึงเป็นเพียงหลักฐานที่จำเลยทำขึ้นฝ่ายเดียวตกลงยอมรับผิดชำระหนี้ที่จำเลยนำเงินของโจทก์ไปใช้โดยไม่ชอบ มิใช่คู่กรณีตกลงระงับข้อพิพาทที่มีอยู่หรือจะมีขึ้นให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน จึงไม่ใช่สัญญาประนีประนอมยอมความ ไม่ทำให้มูลหนี้เดิมที่จำเลยนำเงินของโจทก์ไปใช้ระงับไปแล้วเกิดหนี้ใหม่ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ทั้งไม่มีการเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ จึงมิใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่อันจะทำให้หนี้ระงับไปอีกเรื่องหนึ่ง ที่มีข้อเท็จจริงใกล้เคียงกัน ศาลฎีกาได้ตัดสินว่า เมื่อกระทำผิดฐานยักยอกทรัพย์ของผู้เสียหายแล้ว ต่อมาผู้กระทำผิดได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้และตกลงจะชำระเงินคืนให้ผู้เสียหาย หากผิดนัดยินยอมให้ผู้เสียหายดำเนินคดี ยังไม่ถือเป็นการยอมความกัน เมื่อต่อมามีการผิดสัญญารับสภาพหนี้ ก็ยังมีสิทธิฟ้องคดีอาญาข้อหายักยอกทรัพย์ได้คำพิพากษาฎีกาที่ 270/2558เดิมจำเลยได้กระทำการยักยอกทรัพย์ของผู้เสียหายในคดีนี้และก่อนมีการดำเนินคดีผู้เสียหายกับจำเลยได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้กัน มีใจความว่า จำเลยยอมรับว่าเป็นหนี้ผู้เสียหายเนื่องจากได้กระทำทุจริตยักยอกเงินค่าไม้และวัสดุก่อสร้างของผู้เสียหายไป เป็นเงิน 260,597.80 บาท จำเลยตกลงชำระหนี้ให้แก่ผู้เสียหายวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2556 เป็นเงิน 100,000 บาท วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2556 เป็นเงิน 80,289.90 บาท และวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 เป็นเงิน 80,289.90 บาท หากผิดนัดงวดหนึ่งงวดใดถือว่าผิดนัดทั้งหมดและยินยอมให้ผู้เสียหายเรียกเงินส่วนที่เหลือพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 10 และยินยอมให้แจ้งความดำเนินคดีฐานทุจริตยักยอกเงินของผู้เสียหาย ปัญหามีว่าถ้อยคำตามหนังสือรับสภาพหนี้เป็นการยอมความกันหรือไม่ศาลฎีกาพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ข้อตกลงตามหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าว เป็นข้อตกลงที่จำเลยรับว่าเป็นหนี้ผู้เสียหายในเงินที่จำเลยยักยอกไปและจะชดใช้หนี้ให้ผู้เสียหายโดยวิธีการผ่อนชำระเท่านั้น ซึ่งมีผลผูกพันกันทางแพ่งและเป็นสิทธิทางแพ่งที่ผู้เสียหายสามารถเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ได้อีกทางหนึ่งเท่านั้น หนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าวไม่มีข้อความใดที่แสดงว่าผู้เสียหายตกลงสละสิทธิ์ในการดำเนินคดีอาญาแก่จำเลย กรณียังถือไม่ได้ว่าเป็นการยอมความกันตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39(2) สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจึงยังไม่ระงับไปจากตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาทั้งสองข้างต้น ทุกท่านจะเห็นว่า เวลามีการตกลงทำหนังสือรับสภาพความผิดก็ดี หนังสือรับสภาพหนี้ก็ดี ในกรณีมีการทำผิดฐานยักยอกทรัพย์ สัญญาดังกล่าว ไม่ถือว่าเป็นการทำให้หนี้ที่เกิดขึ้นระงับไป ไม่เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ ผู้เสียหายที่ถูกยักยอกเงินยังมีสิทธิตามกฎหมายที่จะฟ้องคดีเพื่อติดตามเอาเงินคืนได้ และมีสิทธิดำเนินคดีอาญาในความผิดฐานยักยอกทรัพย์ได้ด้วย 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 203 การเลือกซื้อรถยนต์ให้สัมพันธ์กับครอบครัวที่มีเด็กเล็ก

เมื่อทราบข่าวจากคุณแม่ว่าจะมีสมาชิกใหม่ในบ้าน หลายครอบครัวก็ต้องมาวางแผนในการที่จะต้องซื้อของเพื่อใช้ในการเลี้ยงเด็กทารก รถยนต์เป็นอุปกรณ์ที่มีความสำคัญ บางครั้งก็ถูกมองว่าเป็นปัจจัยที่ 5 ในการดำรงชีวิตในยุคปัจจุบัน เพราะเป็นอุปกรณ์ที่ต้องใช้ในการเดินทางร่วมกันของครอบครัว ดังนั้นการเลือกซื้อรถยนต์ เพื่อตอบโจทย์ในเรื่อง ความเป็นมิตรกับครอบครัวที่มีเด็กเล็ก (Family friendly car) จำเป็นต้องมีข้อมูลและแนวทางเบื้องต้นในการประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อสิ่งที่ต้องคำนึงในการเลือกซื้อรถเข็นเด็กทั่วไป คือ ยิ่งเป็นรถขนาดใหญ่ยิ่งดีใช่หรือไม่?คำตอบคือ ถูกเพียงครึ่งเดียว สิ่งที่ควรพิจารณา คือ ความง่ายในการติดตั้งที่นั่งสำหรับเด็ก(car seat) และเข็มขัดนิรภัยของรถ สามารถติดตั้งได้ง่ายหรือไม่ ซึ่งในรถรุ่นเก่าก่อนปี 2004 จะไม่มีตะขอโลหะที่ซ่อนอยู่ใต้เบาะสำหรับติดตั้งที่นั่งสำหรับเด็ก แบบ Isofix ซึ่งเป็นชิ้นส่วนมาตรฐานสำหรับรถยนต์ในปัจจุบัน(โดยเฉพาะรถยนต์ ของประเทศยุโรป)  ที่มีไว้สำหรับการติดตั้ง car seat สำหรับเด็ก นอกจากนี้ ควรพิจารณาถึงความยาวของเข็มขัดนิรภัยในรถด้วย เพราะถ้าความยาวของเข็มขัดสั้นเกินไปอาจทำให้เกิดการรัดเข็มขัดที่ยากขึ้น หรือไม่สามารถใช้เข็มขัดนิรภัยได้สำหรับกรณีการติดตั้งที่นั่งนิรภัยสำหรับทารกแบบ carry seat ซึ่งการติดตั้งในกรณีที่ติดตั้งอยู่ข้างหน้าข้างคนขับจะต้องล็อคไม่ให้กลไกถุงลมนิรภัยทำงาน เนื่องจากจะเป็นอันตรายแก่เด็กในกรณีเกิดอุบัติเหตุ  และหากเป็นไปได้ ก็ควรเลือกรถที่มี ประตู ปิด เปิด แบบสไลด์ นอกจากจะต้องคำนึงถึงรถยนต์คันใหม่ที่จะซื้อแล้ว คุณพ่อคุณแม่ยังต้องคำนึงถึง ที่นั่งนิรภัยที่จะซื้อตามมาอีกด้วย เพราะ ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก ไม่ได้ทำมาเพื่อติดตั้งได้กับรถทุกคันในตารางที่แสดงผลการทดสอบ ความเหมาะสมของที่นั่งตำแหน่งต่างๆ ของรถยนต์หลากหลายยี่ห้อ หลากหลายแบบ ตั้งแต่ รถยนต์ กลุ่ม Middle class SUV VAN และ Compact wagon จำนวน 18 รุ่น จะเห็นได้ว่า การติดตั้งที่นั่งนิรภัยด้านข้างคนขับนั้นทุกยี่ห้อ ได้ผลการประเมินเพียงแค่ พอใช้ หรือผ่านเท่านั้น เนื่องจากเด็กไม่ควรนั่งข้างหน้าข้างคนขับ ยกเว้นในกรณีจำเป็น เพราะในกรณีเกิดอุบัติเหตุ เด็กจะได้รับการบาดเจ็บที่รุนแรงกว่า การที่นั่งข้างหลังสำหรับการให้คะแนนในการประเมินทางองค์กรที่ทดสอบการติดตั้งที่นั่งนิรภัยจะพิจารณาจากความยาวของเบาะที่นั่ง ที่ว่างด้านหน้าเบาะ ตำแหน่งของตะขอสำหรับการติดตั้งที่นั่งนิรภัยแบบ Isofix และความยาวของเข็มขัดนิรภัยที่มา วารสาร Test ฉบับที่ 7/2015

อ่านเพิ่มเติม >