ฉบับที่ 98 โฆษณา อันตรายหลบใน

ของฝากจากอินเตอร์เน็ตรศ.ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ : สถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยามหิดลnukks@mahidol.ac.th โฆษณาเครื่องสำอางสำหรับทาผิวสาวยี่ห้อหนึ่งได้กระตุ้นให้ผู้เขียนต้องเขียนบทความนี้ ความจริงมันก็เป็นโฆษณาที่เหมือนโฆษณาเครื่องสำอางทั่วไป (คือ ไม่บอกความจริงทั้งหมด) โดยให้สาวหน้าตาพาไปวัดตอนสายๆ ได้บอกผู้ชมว่า สาร SPF นั้นป้องกันแสง UVB ได้เท่านั้นนะ ส่วน UVA นั้น สาร SPF ส่วนใหญ่ปกป้องไม่ได้ จึงทำให้คนที่ทาเครื่องสำอางป้องกันอันตรายจากแดดนั้น ยังไง ๆ ก็คล้ำแน่ ดังนั้นเครื่องสำอางยี่ห้อดังกล่าวจึงใส่สารอื่นลงไปด้วยป้องกันได้ทั้ง UVA และ UVB เล การใช้ครีมกันแดดซึ่งมี SPF สูงกว่า 15 นั้น เป็นคำแนะนำของแพทย์โรคผิวหนัง ที่เตือนคนทั่วไปให้ระวังเมื่อออกแดด แต่แพทย์คงไม่ได้หวังให้สาวไทยผิวขาวเป็นจิ้งจกเผือก เพราะวันใดที่สาวที่ผิวขาวลืมทาครีมออกไปกลางแดด โอกาสเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งผิวหนังก็จะเพิ่มขึ้น เพราะตำแหน่งของประเทศไทยนั้นรับแสง UVB มากกว่าประเทศแถบอบอุ่นและแถบหนาว ดังที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า การโฆษณานั้นมีนิยามมากมาย มนุษย์คนหนึ่งนิยามว่า "การโฆษณา หมายถึง การสื่อสารในรูปแบบใดๆ ซึ่งเจตนาที่จะกระตุ้นผู้ที่มีศักยภาพในการซื้อ และการส่งเสริมในด้านการจำหน่ายสินค้าและบริการ รวมถึงการสร้างประชามติ การกระทำการเพื่อก่อให้เกิดการสนับสนุนทางการเมือง การขายความคิดหรือการเสนอความคิดเห็น หรือสาเหตุต่างๆ และการกระทำเพื่อให้ประชาชนเห็นคล้อยตามหรือปฏิบัติไปในทางที่ผู้โฆษณาประสงค์" จะเห็นว่าการโฆษณานั้นไม่ได้พูดถึง ความเสียหายของผู้ที่บริโภคสินค้านั้นๆ เลย เสมือนกับว่า เมื่อถูกโน้มน้าวให้ควักกระเป๋าแล้วก็ตัวใครตัวมัน คนทำโฆษณาก็ได้เงิน คนขายสินค้าก็ได้เงิน ส่วนผู้บริโภคนั้นถ้าเป็นไรไป ก็ตามหาหน่วยงานที่คุ้มครองผู้บริโภคมาช่วยเอาเอง ที่สำคัญก็คือ มันเป็นสิ่งที่น่าคิดว่า การโฆษณานั้นเป็นการที่บ้านเมืองอนุญาตให้ใครก็ไม่รู้มาพูดในสิ่งซึ่งอาจเป็นการโกหกโดยสิ้นเชิงในที่สาธารณะได้ โดยไม่ผิดกฏหมาย เช่น การออกมาพูดในโทรทัศน์ว่า ดื่มกินสินค้าชนิดหนึ่งแล้วอึง่าย ทั้งที่ความจริงไม่เคยกินเลย สวนกาแฟมาตลอดประเด็นสำคัญคือ ผู้ร่วมในการทำโฆษณาคงไม่เคยอารธนาศีลข้อ 4 แน่นอน ดังนั้นในฉลาดซื้อฉบับนี้ ผู้เขียนจึงขอออกนอกเรื่องที่เกี่ยวกับอาหารมาเป็นเรื่องเครื่องสำอางบ้าง เพราะสินค้านี้อยู่ภายใต้การดูแลของ อย เช่นกัน แต่ไม่ค่อยมีปัญหาในเรื่องจับผิดโฆษณาเท่าไร เพราะแค่จับน้ำดื่มบรรจุขวดผิดมาตรฐาน อย ก็ดูจะหมดแรงแล้ว เด็กไทยเรียนรู้มานานแล้วว่า ถ้าได้ออกไปเล่นกลางแดดตอนเช้าๆ บ้างจะแข็งแรง ไม่เป็นโรคกระดูกอ่อน เพราะได้แสงแดดในตอนเช้าถึงสายกระตุ้นให้ร่างกายสร้างวิตามินดีได้ วิตามินดีเป็น วิตามินที่เกี่ยวกับการสะสมแคลเซียมที่กระดูกทำให้กระดูกเจริญเติบโตและแข็งแรง ในแสงแดดมีแสงหลายระดับคลื่นประกอบอยู่ ระดับที่เรียกว่าแสงอัลตราไวโอเลตเป็นแสงที่มีความสำคัญมากต่อการสร้างไวตามินดี ข้อมูลจากวิกิพีเดียกล่าวว่า รังสีเหนือม่วง หรือ รังสีอัลตราไวโอเลต (ultraviolet) หรือ รังสียูวี (UV) เป็นช่วงหนึ่งของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีความยาวคลื่นสั้นกว่าแสงที่มองเห็น มีความยาวคลื่นในช่วงต่ำกว่า 400 นาโนเมตร มันได้ชื่อดังกล่าวเนื่องจากสเปกตรัมของมันประกอบด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีความถี่สูงกว่าคลื่นที่มนุษย์มองเห็นเป็นสีม่วง รังสีอัลตราไวโอเลตแบ่งเป็น UVA UVB และ UVC (แต่ไม่มี UBC นะครับเพราประเภทหลังเป็นอันตรายต่อสุขภาพเนื่องจากทำให้คนนอนน้อย) UVA มีพลังงานต่ำที่สุด แต่ทะลุลงมาถึงพื้นโลกได้ตลอดวัน แสง UVA นี้แน่มาก ทะลุกระจกได้ราว 70% ดังนั้นถ้าต้องการป้องกันไม่ให้ผิวคล้ำมาก ต้องใช้ผ้าม่านบังแดด อย่างไรก็ดีรังสีนี้ไม่ทำให้เกิดผิวไหม้แดด เพียงแต่ทำให้คล้ำพอสวยงาม จึงมีฝรั่งหัวใสผลิตหลอดไฟปล่อยแสง UVA สำหรับใช้ปิ้งให้สาวฝรั่งที่ผิวขาวเป็นจิ้งจกมีผิวคล้ำขึ้น ซึ่งสาวไทยไม่ชอบนั่นเอง ส่วนปรากฏการณ์ผิวดำตับเป็ดนั้นเกิดเนื่องจาก UVB ที่ทะลุชั้นผิวหนังน้อยกว่า ทำให้เกิดความร้อนและไหม้ เพราะรังสี UVB เป็นต้นเหตุที่ให้คนมีสีผิวดำเพราะกระตุ้นให้มีการสร้างรงควัตถุที่เรียกว่า เมลานิน อย่างไรก็ดีรังสีนี้มีส่วนสำคัญในการกระตุ้นให้มีการสร้างวิตามินดีในร่างกายจากอนุพันธ์ของโคเลสเตอรอลได้ถ้ารับรังสีนี้นานพอควร รายละเอียดมีเยอะมากในเน็ทต่าง ๆ เช่น http://www.westonaprice.org/basicnutrition/vitamindmiracle.html ระยะเวลาในการที่ร่างกายเรารับแสงเพื่อสังเคราะห์วิตามินดีนั้นขึ้นกับตำแหน่งบนพื้นโลก เช่น ประเทศไทยไม่ควรนานนักเพราะ UVB มีเยอะและออกมาแต่เช้า แต่ถ้าไปอยู่แถบประเทศที่เกินเส้นรุ้งที่ 30 องศาไปทั้งเหนือและใต้จะมีรังสี UVB น้อยกว่าและมาในเวลาที่สายกว่าเช่น สิบโมงเช้าถึงบ่ายสองโมง ซึ่งเป็นเวลาที่แสงแดดบ้านเรากำลังร้อนมากสามารถเผาคนไทยให้สุกได้กลางถนนทีเดียว ที่เป็นเช่นเป็นผลเนื่องจากมุมหักเหแสงที่ตกกระทบพื้นโลกที่ตำแหน่งต่างกัน ดังนั้นคนที่อยู่ในแถบมีรังสี UVB น้อยจึงมักมีผิวขาวเพื่อให้รับแสงได้มาก ส่วนคนในพื้นที่มี UVB มากจึงต้องมีสีผิวคล้ำเพื่อป้องกันไม่ให้รับมากไปจนเกิดอันตราย เพราะทั้งรังสี UVA และ UVB นั้นเป็นสาเหตุของการเป็นมะเร็งผิวหนังถ้าสัมผัสนานเกินไป ประการสำคัญคือ รังสี UVA นั้นทะลุลงไปในชั้นผิวหนังได้ลึกกว่า เลยถูกสงสัยว่าทำให้เกิดมะเร็งผิวหนังชนิดที่เรียกว่า non-melanoma skin cancers โดยสรุปแล้ว ถ้าจะให้ปลอดภัยกับเด็กๆ ควรให้สัมผัสแสงแดดไม่เกินเก้าโมงเช้าและหลังบ่ายสี่โมงเย็น ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ความร้อนของแดดพอทนได้ แต่ที่สำคัญคือ ควรหัดให้เด็กใส่แว่นดำกลางแดด ไม่ใช่เพื่อสวยเท่ แต่เพื่อป้องกันอันตรายจากแสง UV ทั้งสองที่อาจทำให้ตาเป็นโรคต้อได้เมื่ออายุมากขึ้น สำหรับ UVC นั้นเป็นตัวแสบ เพราะพลังงานสูงมาก ถ้าโดนผิวก็จะแสบร้อน แต่มนุษย์ยังโชคดีที่รังสีนี้ถูกดูดซับไว้ได้ด้วยชั้นโอโซนในบรรยากาศโลก แต่อีกไม่นานมนุษย์ก็อาจโชคเลวได้ เพราะตอนนี้ชั้นโอโซนเริ่มเป็นรูเนื่องจากถูกสาร Chlorofluorocarbon (CFC) ที่ใช้เป็นก๊าซอัดในกระป๋องที่ต้องการฉีดพ่นอะไรก็ตามที่ต้องการพ่น หรือที่ใช้เป็นตัวทำให้เกิดความเย็นในเครื่องปรับอากาศตกยุค ลอยขึ้นไปถึงชั้นโอโซนและทำลายโอโซนจนเกิดช่องในชั้นบรรยายกาศของแถวขั้วโลกแล้ว UVC นี้เราสามารถผลิตได้โดยใช้หลอดไฟพิเศษ วัตถุประสงค์เพื่อใช้ฆ่าเชื้อโรคในห้องผ่าตัด เนื่องจากรังสีนี้มีพลังทำลายได้ถึงหน่วยพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิต ดังนั้นจึงมีการประยุกต์นำหลอดไฟประเภทนี้มาใช้ในกระบวนการฆ่าเชื้อในน้ำดื่มบรรจุขวดด้วย กรณีนี้มีข้อน่าสังเกตประการหนึ่งคือ หลอดฆ่าเชื้อประเภทนี้มีอายุใช้งาน ซึ่งเมื่อใช้นานไป แม้หลอดยังติดอยู่แต่ฆ่าเชื้อไม่ได้แล้วเพราะพลังงานต่ำลง ซึ่งปรากฏว่าโรงงานผลิตน้ำดื่มบรรจุขวดแบบห้องแถวมักไม่สนใจ เนื่องจากมันยังติดอยู่ได้ ทั้งที่ความจริงแล้วหลอดชนิดนี้ต้องเปลี่ยนเมื่อใช้ครบตามชั่วโมงที่โรงงานผลิตกำหนดมา ไม่ใช่ใช้จนโรงงานเจ๊ง ที่ได้กล่าวเรื่องแสง UV มานี้เพื่อจะเข้าเรื่องเกี่ยวกับการโฆษณาเครื่องสำอางในโทรทัศน์ที่ พูดถูกแต่อันตราย ทั้งนี้เพราะบริษัทผลิตเครื่องสำอางจับไต๋ผู้ชายไทยได้ว่า ชอบผู้หญิงที่เรียกว่า ชีชีแปะแป๊ะ (ซึ่งน่าจะแปลว่า อวบๆ ขาวๆ) แม้รักแร้ยังต้องทาให้ขาวเนียน จึงจะมีโอกาสหาสามีได้เครื่องสำอางสำหรับผิวหนังจึงต้องผสมสารทำให้ผิวขาวที่มีค่า SPF ตั้งแต่ 15 ขึ้นไป คำว่า SPF นั้นย่อมาจาก Sun Protecting Factor หรือเรียกง่ายๆ ว่า ค่าป้องกันแสงแดด โดยถ้าเราเคยตากแดดในระดับหนึ่งแล้วผิวไหม้ใน 15 นาที แต่ถ้าทาครีมที่มี SPF 6 ผิวก็จะไหม้ช้าลง 6 เท่าคือ ไหม้หลังจากตากแดดในระดับเดียวกัน 90 นาที ถ้า SPF 8 ก็จะไหม้ที่ 120 นาที หรือ 2 ชั่วโมง ยังมีหลายๆ คนเข้าใจผิดว่าการใช้ค่า SPF สูงๆ จะทำให้ตากแดดได้นานขึ้น ซึ่งไม่จริง เพราะค่า SPF ที่สูงขึ้น ไม่ได้แปรผันตามความทนแดดเลย ครีมกันแดดที่มีค่า SPF15 นั้น สามารถป้องกันรังสียูวีบีได้ 93% ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับค่า SPF30 จะป้องกันได้เพียง 96% เท่านั้น ดังนั้น ค่า SPF ที่สูงขึ้น ก็ไม่ได้เพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันเท่าไหร่ แถมสิ่งที่ตามมาก็คือ ราคาและความเหนียวเหนอะหนะเพิ่มมากขึ้น หากไม่จำเป็นก็ใช้ SPF ที่พอเหมาะ เพื่อไม่ให้ผิวหนังของเราต้องแบกรับภาระของสารเคมีที่มากเกินไป ดังนั้น โดยสรุปแล้ว ถ้าสาวๆ ใช้เครื่องสำอางเพื่อพยายามทำให้ผิวของตนเองขาวมากที่สุดเท่าที่ขาวได้ คุณๆ ต้องป้องกันแสงแดดให้ดี เพราะผิวคุณแทบไม่มีภูมิคุ้มกันแสง UV ที่อาจทำอันตรายให้คุณเป็นมะเร็งได้เลย คุณต้องทำเหมือนคนที่มีอาการความดันโลหิตสูง ซึ่งต้องกินยาลดความดันตลอดชาติ ดังนั้นเมื่อคุณมีผิวขาวเพื่อประกันความสามารถจะยั่วยวนหนุ่ม คุณก็ต้องมีสตางค์ที่ต้องซื้อเครื่องสำอางมาปกป้องผิวตลอดไป หรือไม่ก็ต้องใส่เสื้อปกปิดผิว แม้อากาศจะร้อนมากในเดือนเมษายน แต่ถ้าคุณเป็นสตรีที่มีผิวคล้ำ แม้จะดำตับเป็ดก็ตาม คุณค่อนข้างจะปลอดภัยจากมะเร็งผิวหนังเพราะ พ่อแม่ให้พันธุกรรมสร้างเม็ดสีปกป้องผิวเป็นของขวัญชีวิต เพื่อปกป้องคุณจากการเป็นมะเร็งผิวหนัง รู้อย่างนี้แล้ว จะไปซื้อเครื่องสำอางมาลดเกราะคุ้มกันผิวตามที่เขาโฆษณา ก็สุดแต่ใจจะไขว่คว้า หามะเร็งผิวหนัง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 97 สุขภาพที่ดีจากอินเตอร์เน็ต

ของฝากจากอินเตอร์เน็ตรศ.ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ : สถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยามหิดลnukks@mahidol.ac.th ตามที่ได้สัญญาว่าจะหาแหล่งข้อมูลทางโภชนาการดีในเว็บนานาชาติให้ท่านผู้อ่านได้เข้าถึง ต่อไปนี้จึงภูมิใจเสนอเว็บแรกคือ www.who.int/nutrition/en/index.html หรือองค์การอนามัยโลก ซึ่งเป็นหน่วยงานขึ้นตรงของสหประชาชาติ ท่านผู้อ่านคงไม่ประหลาดใจถ้าผู้เขียนจะกล่าวว่าเว็บนี้เป็นเว็บขององค์กรที่ (น่าจะมี) ข้อมูลที่ดีที่สุด (อาจจะ) ถูกต้องที่สุด และไม่ (น่าจะ) หลอกลวงที่สุด เพราะไม่มีการขายของอะไรเพื่อประโยชน์ของคนในองค์กร เนื่องจากเงินเดือนแต่ละคนที่ทำงานค่อนข้างสูง จนสหประชาติเคยถูกตำหนิจากหลายประเทศว่าจ่ายค่าตอบแทนให้บุคลากรในบางส่วนขององค์กรมากเกินไปแต่ได้งานไม่คุ้ม อย่างไรก็ดีข้อมูลในเว็บนี้ค่อนข้างมืออาชีพมากๆ มือสมัครเล่นอาจค่อนข้างลำบากเพราะเนื้อหา รูปแบบเว็บจืดชืด มีแต่ข้อมูลพื้นฐานคือ เรื่องที่ควรรู้เกี่ยวกับโภชนาการ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับเด็กนั้น ต้องเว็บนี้เป็นหลัก มีข้อมูลเกี่ยวกับการรนณรงค์ให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งบริษัทขายนมกระป๋องคงไม่อยากอ่าน เสียอย่างเดียวไม่บู๊เท่าที่ควร เพราะถ้าเป็นการให้ข้อมูลในเรื่องเดียวกันของ NGO ในประเด็นดังกล่าว คงน่าดูกว่านี้ สิ่งน่าสนใจคือ การเข้าไปเก็บเกี่ยวเอกสารอิเล็คทรอนิกส์ ซึ่งเป็นเรื่องค่อนข้างวิชาการทั้งนั้น ได้แก่ หนังสือเกี่ยวกับการวางนโยบายและแผนงานด้านโภชนาการ ซึ่งมีทั้งเรื่องเกี่ยวกับแม่และเด็ก ตั้งแต่ในครรภ์ จนถึงชรา หนังสือเกี่ยวกับการลดปัญหาการขาดสารอาหารที่ร่างกายต้องการปริมาณน้อย ซึ่งมีข้อมูลหลัก ๆ ที่นักโภชนาการกังวลมานานแล้วคือ เหล็ก ไอโอดีนและวิตามินเอ หนังสือเกี่ยวกับการตรวจวัดการเจริญเติบโตของเด็ก หนังสือกลุ่มสุดท้ายเกี่ยวกับเรื่องของโภชนาการในสภาวะวิกฤตต่าง ๆ ของชุมชน แต่เล่มที่เป็นที่ชื่นชอบของผู้เขียนคือ เล่มที่ชื่อว่า Diet, nutrition and the prevention of chronic diseases ซึ่งมีข้อมูลที่ครบถ้วนพอสมควรเกี่ยวกับความสำคัญของอาหารและสภาวะโภชนาการต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อต่าง ๆ เช่น มะเร็ง โรคหัวใจ โรคเกี่ยวกับหลอดเลือดต่างๆ เป็นต้น เว็บต่างชาติที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือ เว็บของ usa.gov ซึ่งเป็นเว็บหลักของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ผู้นำการล้มละลายทางเศรษฐกิจของโลก ซึ่งเข้าดูได้ที่ http://www.usa.gov/Citizen/Topics/Health.shtmlเว็บนี้มีข้อมูลพื้นฐานด้านอาหารและโภชนาการที่มีผลต่อสุขภาพของประชาชนมีครบ และอยู่ในระดับที่ประชาชนควรทราบและเข้าใจได้ มีทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์และด้านกฎหมายที่สำคัญ คำแนะนำในการเลือกกินเพื่อสุขภาพที่ดี การออกกำลังกายซึ่งสำคัญมาก เพราะคนอเมริกันหนึ่งในสามเป็นโรคอ้วนไปนานแล้ว เรื่องเกี่ยวกับยาที่ควรรู้ โรคและการป้องกันโรคต่างๆ และการเตรียมตัวเป็นผู้สูงวัยที่ดี เป็นต้น ที่สำคัญของเว็บนี้คือ ท่านผู้อ่านสามารถลุยต่อจากส่วนที่เข้านี้ไปยังหน่วยงานของสหรัฐอเมริกาทั้งหมดได้เลย เพราะมี หัวข้อ A-Z Index of U.S. Government Departments and Agencies ให้เข้าไปเลือกหาข้อมูล หน่วยงานของสหรัฐอเมริกันที่น่าสนใจอันดับ 1 คือ Food and Drug Administration (FDA) อันดับ 2 คือ Food and Nutrition Service อันดับ 3 คือ Food Safety and Inspection Service และอันดับ 4 คือ Food, Nutrition and Consumer Services ผู้เขียนขอรับรองเลยว่า ถ้าท่านต้องการความรู้ด้านอาหาร โภชนาการ และความปลอดภัยด้านอาหาร เว็บทั้งสี่นี้ให้ท่านอย่างเหลือเฟือ เว็บต่อไปต้องข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก จากสหรัฐอเมริกาไปเกาะอังกฤษ เพราะเว็บนี้คือ เว็บของ BBC http://www.bbc.co.uk/health/healthy_living/nutrition/ ซึ่งให้ความรู้เกี่ยวกับ Healthy eating คือ กินให้มีสุขภาพดี (ความหมายคือ ถ้ามีสตางค์ก็ควรรู้ว่า ควรซื้ออะไรกินดี ไม่ใช่รวยไม่รู้เรื่อง ซื้อของไม่ได้เรื่องมากิน) ส่วนที่น่าสนใจคงหนีไม่พ้นข้อมูลที่เกี่ยวกับเรื่องของน้ำหนักตัว ที่ว่าน้ำหนักตัวอย่างไรถึงเป็น healthy weight เรื่องนี้เป็นเรื่องที่พูดง่ายแต่ทำยากมาก เป็นปัญหาระดับจักรวาล เพราะต่อให้มนุษย์ย้ายไปอยู่ดาวดวงไหน เมื่ออายุมากขึ้น โอกาสที่อ้วนก็จะเพิ่มเป็นเงาตามตัวอยู่ดี ผู้เขียนเองก็ยังอยู่ในสถานภาพปริ่มๆ ที่จะเกินบ้าง ไม่เกินบ้าง ขนาดพยายามออกกำลังกายแบบเต็มที่สัปดาห์ละสี่ชั่วโมงยังแทบไม่รอด ดังนั้นจึงพอเข้าใจความรู้สึกของผู้ที่ทำงานวิชาการหรืองานบริหารที่ไม่ค่อยได้ออกแรงนั้นว่า เวลาพูดถึง ดัชนีมวลกาย หรือ BMI แล้วมันระคายหูมาก เพราะใครๆ ก็อยากทำให้ตนเองอยู่ในเกณฑ์ที่ปรกติ แต่พออายุขึ้นเลขห้าแล้ว โอกาสน้อยมากถ้าไม่ได้มีการบริหารร่างกายอย่างมีระบบตั้งแต่อายุขึ้นเลขสี่ อีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจคือ BBC ให้ความใส่ใจกับสิ่งที่มนุษย์ชอบ คือ เรื่องทางเพศ เพราะมีส่วนหนึ่งของเว็บที่พูดถึง Sexual health screening ซึ่งมีทั้งความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับเรื่องเพศสัมพันธ์ การป้องกันโรค การป้องกัน ท.ก.ต (ท้องก่อนแต่ง) เป็นต้น เพราะกำเนิดนั้นคุมได้แต่กำหนัดนั้นคุมยาก ยิ่งถ้าเรามีประชาชนที่ไร้คุณภาพคือ ใครอยากทำให้เด็กเกิดก็ทำได้ตามใจคือไทยแท้ โดยสังคมไม่มีการออกกฎ กติกา มารยาท ให้เหมาะสมแก่ความเป็นจริงแล้ว ประเทศเราก็จะมีปัญหาจากคนไร้คุณสมบัติมากขึ้นเรื่อยๆ จนวันหนึ่งอาจจะมีเหตุการณ์เหมือนกับภาพยนตร์สารคดีขององค์กรเกี่ยวกับมนุษยชนที่แสดงให้เห็นเหตุการณ์ในประเทศบราซิลที่ ผู้มีสตางค์ต้องจ้างมือปืนรับจ้างออกเก็บคนที่อาศัยในสลัมหรือข้างถนนคืนละเฉลี่ยถึงหกคน เพื่อป้องกันการเกิดอาชญากรรมที่รัฐคุมไม่ได้ เว็บถัดไปคือ เว็บของประเทศแคนาดา ซึ่งมีข้อมูลหลักเกี่ยวกับมาตรฐานด้านความปลอดภัยของอาหารและด้านโภชนาการ กระบวนการกระตุ้นการดำเนินงานด้านอาหารและโภชนาการ ตลอดจนถึงรัฐบัญญัติอาหารของแคนาดา เป็นต้น ท่านผู้อ่านสามารถเข้าดูข้อมูลเหล่านี้ได้ที่ http://www.hc-sc.gc.ca/fn-an/index-eng.php ข้อมูลในเว็บนี้ค่อนข้างดูสวยงามเป็นหลัก มีการ์ตูนประกอบภาพ ที่น่าสนใจคือ ข้อแนะนำในการออกกำลังกายให้มีสุขภาพดี ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่และผู้สูงวัย ซึ่งน่าประทับใจมากเพราะเมื่อเข้าไปดูจะพบข้อความที่เขียนว่า Age is no barrier ซึ่งน่าจะหมายความว่า ถ้าจะออกกำลังกายนั้น ไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับอายุ เพียงแต่ขอให้รู้จักวิธีออกให้สมวัย แต่ที่สำคัญที่สุดในการออกกำลังกายคือ การพาตัวเองไปให้ถึงสถานที่ออกกำลังกาย จากนั้นการออกกำลังกายก็น่าจะเกิดขึ้นได้ เว็บสุดท้ายนี้น่าสนใจมาก เพราะไม่จำเป็นต้องเป็นนักวิชาการก็ควรเข้าไปอ่าน เขาให้ข้อมูลที่ดูครบเช่นกัน เว็บนี้คือ เว็บของ Medline ซึ่งเป็นบริการของ สำนักหอสมุดแห่งชาติของสหรัฐอเมริกัน หรือ US National Library of Medicine ซึ่งสามารถเข้าไปดูข้อมูลได้ที่ http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/nutrition.html สิ่งที่ท่านผู้อ่านจะได้พบในเว็บของ Medline คือ ข้อแนะนำการบริโภคอาหารของชาวอเมริกันปี 2005 ซึ่งยังใช้อยู่ เรื่องราวเกี่ยวกับปิรามิดอาหารที่บ้านเราปรับเป็นธงโภชนาการและอีกมากมาย ควรค่าแก่การเข้าชมเป็นอย่างยิ่ง เช่น ข้อมูลในส่วนที่เรียกว่า Nutrient List ซึ่งจะเป็นแหล่งข้อมูลว่า สารอาหารชนิดใด สามารถหามารับประทานได้จากสินค้ายี่ห้ออะไร เช่น ไลโคปีน ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่สำคัญในมะเขือเทศนั้นอยู่ในสินค้ายี่ห้อใด เหตุที่ผู้เขียนยกตัวอย่างของไลโคปีนเพราะเพิ่งได้อ่านบทความวิจัยว่า สารธรรมชาติชนิดนี้ช่วยลดการสร้างโคเลสเตอรอลและเพิ่มการพาโคเลสเตอรอลเข้าเซลล์เพื่อทำลาย อีกทั้งเคยทราบข้อมูลมาจากเว็บด้านอาหารกับมะเร็งอีกว่า ไลโคปีน ช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งต่อมลูกหมากในชายสูงอายุ ดังนั้นผู้เขียนเลยพยายามหาโอกาสกินไลโคปีนให้มากกว่าเดิม ไหนๆ ก็เอ่ยถึงคำว่า อาหารกับมะเร็งแล้ว จึงขอแถมเว็บที่เกี่ยวกับเรื่องนี้เลย ซึ่งเป็นเว็บที่หลายท่านอาจรู้จักดีคือ เว็บของ NCI (National Cancer Institute) ซึ่งเข้าชมได้ที่ http://www.cancer.gov/ ซึ่งมีข้อมูลเกี่ยวกับอาหารหลายมุมมอง ที่น่าสนใจคือ เรื่องของตำรับอาหารที่น่าจะลดความเสี่ยงหรือสู้กับมะเร็งได้ ซึ่งท่านผู้อ่านเข้าไปดูได้ที่ http://www.cancer.gov/cancertopics/down-home-healthy-cooking และที่ขอแนะนำคือ ให้ใช้ search engine ของเว็บนี้หาข้อมูลเกี่ยวกับ diet หรือ nutrition ท่านจะได้ความรู้ที่น่าสนใจมหาศาลเลยทีเดียว เว็บต่างๆ ที่ยกตัวอย่างให้ท่านเข้าเยี่ยมชมนี้ อาจเป็นเพียงส่วนน้อยนิด ซึ่งแต่ละเว็บอาจพาท่านไปยังเว็บที่ดีอื่นๆ ได้ด้วย แต่ที่ท่านควรต้องระวังให้จงหนัก ไม่ว่าเป็นเว็บชาติใด ภาษาใดก็ตาม ถ้ามีการขายสินค้าหรือบริการแล้ว ให้อ่านข้อมูลด้วยความระมัดระวัง ก่อนยอมจ่ายเงินให้ เพราะเว็บที่มีธุรกิจเข้าไปเกี่ยวข้องนั้น อาจดีในบางเรื่อง แต่เลวร้ายเกือบทุกเรื่องทีเดียว

อ่านเพิ่มเติม >

เสริมสมองดีกว่าเสริมอาหาร

ของฝากจากอินเตอร์เน็ตรศ.ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ : สถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยามหิดลnukks@mahidol.ac.th ความรู้ฟรีจาก อินเตอร์เน็ต (ค่าเน็ตต้องจ่ายเองนะครับ) ข้อมูลในลักษณะนี้ต้องระวังให้มากกว่าในหนังสือ เพราะมันไม่มีหลักฐานแน่นอน เนื่องจากบางครั้งเป็นข้อมูลลวงของคนหากินทำขึ้น และอาจลบทิ้งเมื่อไรก็ได้ ในฉบับนี้ผู้เขียนจึงจะขอแนะนำเว็บทางอาหารและโภชนาการที่น่าสนใจเข้าไป ประเทืองปัญญามาฝาก ความรู้ด้านอาหารและโภชนาการนั้น มีทั้งที่หาได้ฟรีและแลกเปลี่ยนด้วยเงินทอง ประการหลังนั้นมักเป็นด้วยความสมัครใจของผู้บริโภคที่จะจ่ายเงินซื้อหนังสือที่มีผู้เขียนมากมายผลิตออกสู่ตลาด ทั้งเชื่อได้และเชื่อไม่ได้ ผู้บริโภคต้องสืบประวัติคนเขียนเอาเองว่า ผู้เขียนมีความรู้ความเชี่ยวชาญจริงหรือไม่ หรือสักแต่จบสาขาที่เข้าใจจิตใจมนุษย์แล้วเสาะหาหนังสือคนอื่นมาอ่านแล้วตีความเองว่า อะไรควรเป็นอะไร ถูกผิดไม่สนใจ จากนั้นก็ใช้สำนวนที่ดีเขียนออกมา ทำให้คนอ่านเข้าใจผิด ตัวอย่างเช่น คนเขียนหนังสือบางคนกล่าวว่า การดื่มน้ำมากนั้นเป็นอันตรายต่อไต เพราะทำให้ไตต้องทำงานหนักเนื่องจากต้องขับปัสสาวะมากเกินไป ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว การมีปริมาณปัสสาวะมากต่อครั้งนั้นเป็นประโยชน์ต่อร่างกายหลายประการ ที่สำคัญคือ เป็นการเจือจางของเสียและสารพิษที่ถูกขับออกจากร่างกาย ซึ่งเป็นการหลีกเลี่ยงการเกิดโทษต่อไตเพราะความเข้มข้นสารพิษได้ต่ำลง ส่วนในประการแรกนั้นเป็นการได้ความรู้ฟรีจากอินเตอร์เน็ต (ค่าเน็ตต้องจ่ายเองนะครับ) ข้อมูลในลักษณะนี้ต้องระวังให้มากกว่าในหนังสือ เพราะมันไม่มีหลักฐานแน่นอน เนื่องจากบางครั้งเป็นข้อมูลลวงของคนหากินทำขึ้น และอาจลบทิ้งเมื่อไรก็ได้ ในฉบับนี้ผู้เขียนจึงจะขอแนะนำเว็บทางอาหารและโภชนาการที่น่าสนใจเข้าไปประเทืองปัญญา เว็บที่ให้ความรู้ทางอาหารและโภชนาการแก่ประชาชน แบบที่มั่นใจได้ว่า ไม่มีการขายของหากำไรเว็บแรกคือ เว็บของกองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข http://nutrition.anamai.moph.go.th ซึ่งว่าไปแล้วก็เป็นภาคีกับสถาบันวิจัยโภชนาการมหาวิทยาลัยมหิดล แต่กองโภชนาการนั้นมีความคล่องตัวกว่า เพราะมีกำลังบุคลากรที่ทำงานด้านการเผยแพร่ข้อมูลโดยเฉพาะ ผู้ที่เข้าไปในเว็บนั้นอาจต้องใช้เวลาหลายวัน เพื่อเก็บเกี่ยวความรู้ที่มีมากมาย จะขอยกตัวอย่างเพื่อให้มองเห็นภาพคือ การที่กองโภชนาการได้ร่วมมือกับ สสส. สร้างโครงการมีคุณแก่ประเทศอย่างมากคือ โครงการภาคีร่วมใจ คนไทยไร้พุง ที่มีรายการออกโทรทัศน์ทาง โทรทัศน์ไทย หรือ Thai PBS นั่นเอง ผู้สนใจรายการนี้สามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ครับ อีกโครงการที่น่าสนใจของกองโภชนาการคือ รายชื่อสถานประกอบการที่ได้รับการรับรอง “อาหารเพิ่มสารอาหาร” เหตุที่ว่าน่าสนใจเพราะ ตอนนี้มีเฉพาะเกลือกับน้ำปลาเท่านั้นที่ได้รับการรับรอง อาหารประเภทอื่นไม่สนใจหรือ จึงทำให้น่าสนใจว่า จะไปรอดหรือไม่ ทั้งที่เป็นโครงการที่ดี อีกส่วนที่แนะนำในเว็บของกองโภชนาการคือ ส่วนที่เป็นเอกสารเผยแพร่ ซึ่งเป็นหนังสือหรือเอกสารวิชาการประเภท e-book ซึ่งสามารถ download มาอ่านได้ ดูจากชื่อเรื่องแล้วเป็นประโยชน์ทั้งนั้นเช่น กินตามวัยให้พอดี (เหตุที่น่ารู้เพราะว่าคนส่วนใหญ่มักกะกินอร่อยกันทั้งนั้น ไม่ได้รู้หรอกว่าเมื่อแก่แล้วต้องลดอะไรบ้าง) กินอย่างไรห่างไกลโรค (ซึ่งถ้าทำได้ งบประมาณที่เราเสียไปกับโรคโง่ ๆ คงเหลือไปเพิ่มการพัฒนาสมองเด็กที่กระทรวงศึกษาธิการดูแล) แคลเซียมกับความสูง (เป็นหนังสือที่น่าจะสำคัญกับทีมชาติไทย เพราะกีฬาหลายประเภทที่เราแพ้คนยุโรป อเมริกา หรือแม้แต่ญี่ปุ่นเอง ก็เพราะเราสูงแค่รักแร้เขา แค่เขาไม่อาบน้ำมา 3-4 วัน เราได้กลิ่นก็หมดแรงแล้ว ดังนั้นต้องสร้างนักกีฬาให้สูงหลบกลิ่นให้พ้นก่อน ฝีมือนั้นไม่แพ้เท่าไรหรอก) และอีกมากมายเป็นโหล ท่านผู้อ่านควรลองเข้าไปอ่านดู เข้าใจ ไม่เข้าใจอย่างไร หรือมีประเด็นสงสัย ต้องการให้ขยายความ ติดต่อมาได้ที่ผู้เขียนโดยผ่าน วารสารฉลาดซื้อ เว็บที่มีข้อมูลด้านอาหารและโภชนาการที่ค่อนข้างจะเชื่อถือได้คือ เว็บของ สสส. หรือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพนั่นเอง ตัวอย่างบทความที่น่าสนใจคือ “อาหารปลอดภัย โภชนาการที่ดีกว่าเดิม และเด็กสุขภาพดี” ท่านผู้อ่านสามารถเข้าถึงบทความเหล่านี้ได้ที่ http://www.thaihealth.or.th/node/4277 ถึงแม้เว็บของ สสส. นี้จะเป็นเว็บของสำนักงานที่ดำเนินการด้วยเงินบาป คือ จากภาษีเหล้าและบุหรี่ก็ตาม แต่ก็ให้ประโยชน์แก่คนดี และอาจช่วยสกัดไม่ให้คนดีไปเกลือกกลั้วกับสิ่งชั่ว ถ้า สสส. ออกแรงให้มากกว่านี้ โดยหาผู้ทำโครงการที่ชักชวนให้เยาวชนเห็นโทษของการบริโภคสินค้าบาป ทั้งนี้เพราะถ้างบประมาณของ สสส. มากขึ้นเท่าใด ก็แสดงว่าคนช่วยกันจ่ายภาษีบาปมากขึ้นเท่านั้น วัตถุประสงค์หลักที่น่าจะเป็นของ สสส. คือ ควรทำอย่างไรให้ สสส. ไม่มีงบประมาณทำงานนั่นเอง (เพราะคนไทยเลิกเหล้าและบุหรี่หมดทั้งประเทศ) เว็บที่น่าสนใจอีกเว็บคือ http://www.yourhealthyguide.com/index.htm หรือ เส้นทางสุขภาพ ซึ่งเท่าที่เข้าไปลองเปิดข้อมูลดู ก็พบว่าเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์มาก ส่วนใหญ่มาจากวารสารสุขภาพของไทยที่ค่อนข้างดีฉบับหนึ่ง (แม้เป็นวารสารที่มีโฆษณาบ้าง แต่ก็เป็นไปเพื่อความอยู่รอดของวารสาร) ในเว็บนี้มีข้อมูลด้านอาหารและโภชนาการที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพโดยทั่วไปของผู้บริโภค ตลอดจนถึงการป้องกันพื้นฐานเกี่ยวกับมะเร็ง ข้อดีของเว็บนี้คือ เหมือนไม่มีการขายสินค้าหลอกลวงแก่ผู้บริโภค ที่มีอยู่บ้างเท่าที่ดูคือ โฆษณาของร้านอาหาร หรือสถานพักผ่อนต่าง ๆ ซึ่งไม่ใช่ของผิดแต่ประการใด ขอเพียงให้ข้อมูลผู้บริโภคครบ แล้วให้ผู้บริโภคตัดสินใจใช้บริการเอง ดังนั้นถ้าท่านผู้อ่านเข้าไปแล้วพบว่ามีการโฆษณาขายสินค้าน่าสงสัย ก็ขอให้แจ้งไปที่ ฉลาดซื้อ ด้วย จะได้ช่วยกันดูว่าจะยังเสนอให้ผู้อ่านเข้าไปหาความรู้หรือไม่ อีกเว็บที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือ เว็บของหมอชาวบ้าน ภาคีสมาชิกด้านสุขภาพที่นับวันจะพัฒนาก้าวไกลออกไปเรื่อย ๆ จนดูต่างจากหมอชาวบ้านฉบับเมื่อ 10 ปี อย่างไรก็ไม่รู้ ท่านผู้อ่านเข้าไปเยี่ยมชมได้ที่ http://www.doctor.or.th ซึ่งเริ่มต้นหน้าแรกที่สมถะ ไร้สีสัน เพราะเป็นหน้าแรกที่เปิดฉากด้วยการช่วยค้นข้อมูลได้เลย แต่ความจริง นิตยสารหมอชาวบ้านก็เน้นแนวทาง ตรวจสุขภาพด้วยตนเอง คุยสุขภาพ สุขภาพพอเพียง ดูแลสุขภาพ แม่และเด็ก เป็นต้น คงขาดไม่ได้ที่ต้องแนะนำคือ เว็บให้ความรู้ของโรงพยาบาลชั้นนำที่ให้ความรู้ดีน่าสนใจแม้จะเป็นการประชาสัมพันธ์โรงพยาบาล ก็ดูไม่น่าเกลียดนัก ข้อมูลที่ให้เท่าที่เปิดดูบ้าง ก็ไม่ได้ขายสินค้าอะไร ที่ทำให้ผู้บริโภคฉลาดหลังซื้อ (คือ รู้ว่าโง่ไปแล้ว) เว็บนี้คือ http://www.bangkokhealth.com/ ของโรงพยาบาลกรุงเทพ ท่านผู้อ่านพบเห็นอะไร หรือแม้แต่บทความที่อ่านแล้วกระตุ้นความรู้สึกประหลาดใจว่า “จริงหรือ” สามารถติดต่อให้ผู้เขียนช่วยกันวิเคราะห์วิจารณ์ได้ เว็บนี้มีส่วนที่น่าสนใจคือ ส่วนของแบบทดสอบตนเอง ซึ่งเพิ่งมีเพียงไม่กี่แบบแต่น่าสนใจ เช่น การทดสอบว่า ทำไมจึงติดบุหรี่ เสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจไหม หรือ มีความฉลาดทางอารมณ์ประการใด ขาดไม่ได้เลยคือเว็บที่ให้ความรู้ทางอาหารและโภชนาการแบบที่ทำให้เกิดอาการคันในจิตใจว่า ทำไมถึงต้องมีเรื่องแบบนี้ให้เราอ่าน เป็นเว็บที่ขุดคุ้ยปัญหาที่กำลังเกิดในประเทศไทย ที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่ได้สนใจ จึงทำให้ NGO หรือองค์กรเอกชนของไทยจึงต้องนำเสนอแก่สังคม เพื่อปลุกจิตสำนึกของคนไทยให้รู้ว่า อะไรที่ดูดีในประเทศไทยนั้น ดูให้ลึกมันยังน่าเป็นห่วง ควรหาทางแก้ไข เว็บที่กล่าวถึงนี้คือ เว็บของ ฐานทรัพยากรอาหาร ซึ่งเป็นโครงการของมูลนิธิชีววิถีที่ได้รับเงินสนับสนุนของ สสส เข้าไปดูได้ที่ http://www.food-resources.org/news/view.php?id=1395 สิ่งที่น่าสนใจในเว็บนี้คือ ส่วนของบทความที่ให้ความรู้ว่า คนในต่างจังหวัดไกลๆ นั้นมีความคิด ความเป็นอยู่อย่างไรในเรื่อง อาหารและโภชนาการ มีอะไรเกิดขึ้นเกี่ยวกับธุรกิจการเกษตร เรื่องเกี่ยวกับเวทีความมั่นคงและอธิปไตยทางอาหาร มีเรื่องผีที่อาจารย์ระพี สาคริก มาเล่าให้ฟังคือ ผีดิบที่ลุกขึ้นมาสูบเลือดเนื้อชาวไทยกินเป็นอาหาร เป็นต้น ในฉบับหน้า ถ้าทำได้จะนำเว็บของฝรั่งที่ดีๆ มาให้ดู บางเว็บต้องดูผ่าน youtube เพราะเป็นคลิปวิดีโอ ก็ขอให้รอแล้วกันนะครับว่าผู้เขียนจะพาไปดูคลิปอะไร หลุดหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 93 น่าอนาถ นมจีน

ของฝากจากอินเตอร์เน็ต93รศ. ดร.แก้ว กังสดาลอำไพสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล บทเรียนเรื่องเกี่ยวกับเมลามีนในนมนั้นสอนให้รู้ว่า น่าจะมีการปรับปรุงกระบวนการตรวจสอบการหาปริมาณโปรตีนในตัวอย่างอาหารกันใหม่ได้แล้ว เพราะวิธีการที่วิเคราะห์ปริมาณโปรตีนโดยการหาปริมาณไนโตรเจนด้วยวิธีการทางเคมี แล้วนำค่าที่ได้มีคูณกับตัวเลขที่เป็น Factor เฉพาะ เพื่อเปลี่ยนค่าเป็นปริมาณโปรตีนนั้น เป็นตัวก่อปัญหาดังกล่าวได้กว่าท่านผู้อ่านจะได้อ่านบทความนี้ หลายท่านคงอร่อยไปกับเมลามีนไปหลายยกแล้ว เพราะปัญหานี้มันไม่ได้เพิ่งเกิด แต่เกิดมานาน 3-4 ปีแล้ว และเป็นการแสดงถึงความเลวร้ายของอุตสาหกรรมอาหารจีนที่มีพฤติกรรมซึ่งในทางอุตสาหกรรมอาหารใช้คำว่า Adulteration คำว่า Adulteration นั้นเป็นคำที่ใช้ในทางกฎหมายอาหารของฝรั่ง ครั้งแรกที่ผู้เขียนพบคำนี้ตอนเรียนหนังสือก็งงว่า เอ!! อาหารมันไปเกี่ยวอะไรกับสิ่งที่มันโป๊หรือเปล่านะ เพราะคำว่า Adult only หรือ Adult movie มันเป็นสิ่งที่นักท่องเว็บคงพอทราบว่ามันคืออะไร แต่เมื่อเปิดพจนานุกรมจึงทราบว่ามันมีความหมายว่า เป็นการปลอมปนอาหาร เช่น การเติมใยอาหารหรือโปรตีนที่แยกจากถั่วเหลืองใส่ลงในไส้กรอกเพื่อลดปริมาณเนื้อสัตว์ แล้วแต่งสี รส กลิ่นให้คล้ายกับมีเนื้อสัตว์เยอะ ซึ่งก็เป็นหลักการเดียวกับที่โรงงานนมของจีนทำ คือ การ adulterate นมโดยใช้เมลามีนเป็นตัวตบตา การตบตาผู้บริโภคด้วยเมลามีนในนมนั้นทำได้เนื่องจาก เมลามีนเป็นสารเคมีที่มีจำนวนอะตอมของไนโตรเจนหลายอะตอมใน 1 โมเลกุล ดังนั้นโรงงานนมของจีนจึงสามารถเติมน้ำในนมให้เจือจาง แล้วเติมเมลามีนลงไป เวลาทำการวิเคราะห์ว่านมได้มาตรฐานหรือไม่ด้วยการตรวจวัดว่ามีไนโตรเจนในนมเท่าใด ก็จะพบว่ามีไนโตรเจนในปริมาณที่อยู่ในมาตรฐาน แล้วก็เข้าใจว่าเป็นไนโตรเจนที่เป็นองค์ประกอบของกรดอะมิโนที่รวมตัวเป็นโปรตีนต่างๆ ในนม ลักษณะความเข้าใจผิดในเรื่องปริมาณไนโตรเจนว่า เป็นตัวบ่งชี้ปริมาณโปรตีนนั้น เกิดได้ไม่ยากสำหรับผู้ที่ไม่ได้เรียนทางด้านการวิเคราะห์อาหาร จึงทำให้หลายคนเข้าใจผิดเมื่อดูผลการวิเคราะห์ปริมาณไนโตรเจนในตัวอย่างพืชแล้วพบว่าสูง ก็ไปแปลความว่าพืชหลายชนิดมีโปรตีนสูง เพราะทั้งที่ความจริงแล้วไนโตรเจนในพืชซึ่งเรียกว่า non-protein nitrogen นั้นเป็นองค์ประกอบทางเคมีของสารเคมีธรรมชาติอีกมากมาย บทเรียนเรื่องเกี่ยวกับเมลามีนในนมนั้นสอนให้รู้ว่า น่าจะมีการปรับปรุงกระบวนการตรวจสอบการหาปริมาณโปรตีนในตัวอย่างอาหารกันใหม่ได้แล้ว เพราะวิธีการที่วิเคราะห์ปริมาณโปรตีนโดยการหาปริมาณไนโตรเจนด้วยวิธีการทางเคมี แล้วนำค่าที่ได้มีคูณกับตัวเลขที่เป็น Factor เฉพาะ เพื่อเปลี่ยนค่าเป็นปริมาณโปรตีนนั้น เป็นตัวก่อปัญหาดังกล่าวได้ นอกจากความผิดพลาดในเรื่องการทำให้ผู้ตรวจสอบอาหารเข้าใจผิดแล้ว ยังมีข่าวที่แสดงความผิดพลาดในการทำความเข้าใจกับผู้บริโภคโดยบางหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้ในประเด็นที่เกี่ยวกับการดื่มนมด้วย โดยมีหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษฉบับหนึ่งในไทยได้ลงข่าวว่า สหภาพยุโรปได้ยอมให้ผู้บริโภคสามารถได้รับการปนเปื้อนของเมลามีนในนมได้ในระดับ 0.5 มก. ต่อน้ำหนักตัว 1 กก. เพราะเมื่อคำนวณแล้ว พบว่าจะต้องดื่มนมมากถึง 1,000 ลิตร ต่อวันถึงจะเป็นอันตราย ข้อความดังกล่าวนี้เป็นจริงในทางทฤษฎีเกี่ยวกับการกำหนดปริมาณสารพิษที่ยอมให้ปนเปื้อนในอาหาร ทั้งนี้เพราะประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปหลายประเทศเป็นผู้ผลิตอาหารนม และในการผลิตนมก็ต้องปลูกหญ้าให้วัวกิน ซึ่งหญ้าเหล่านี้อาจมีการปนเปื้อนของเมลามีนได้ เพราะเมลามีนนั้นเป็นผลิตภัณฑ์ที่เปลี่ยนจากสารกำจัดศัตรูพืชชื่อ ไซโรมาซีน (cyromazine) ซึ่งถือว่าเป็นการปนเปื้อนตามธรรมชาติที่หลีกเลี่ยงได้ยากสำหรับผู้ผลิต (แต่ผู้บริโภคมีสิทธิเลี่ยงได้คือ ไปซื้อนมจากทวีปอื่นที่ไม่ได้ใช้สารกำจัดศัตรูพืชชนิดนี้) ความจริงแล้วค่า 0.5 มก./น้ำหนักตัวเป็น กก./วัน ของสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นตัวเลขเดียวกับ Tolerable daily intake (TDI) ที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ ตัวเลข TDI นั้น คือปริมาณสารพิษที่ผู้บริโภคได้รับต่อวันแล้วไม่น่าเป็นอันตราย ซึ่งคำนวณได้จากผลการประเมินความเสี่ยงในสัตว์ทดลอง ดังนั้นค่าที่กำหนดไม่เกิน 0.5 มก./น้ำหนักตัวเป็น กก./วัน ไม่น่าจะอันตราย เพราะเมลามีนมีค่าความเป็นพิษเฉียบพลันต่ำมากและขับออกจากร่างกายสัตว์ทดลอง (อาจรวมถึงคน) เร็ว แต่ในการทดสอบระยะยาวความเป็นพิษในสัตว์ทดลองสูงขึ้น ประเด็นนี้น่าสนใจเพราะสัตว์ทดลองที่ใช้ในการศึกษาทางพิษวิทยานั้นเป็นสัตว์ทดลองที่สุขภาพดีคือ Healthy young adult สภาพความเป็นอยู่ควบคุมให้ดีที่สุด ดังนั้นผลการศึกษานั้นจึงอาจเปลี่ยนแปลงเลวร้ายลงถ้าผู้รับสารพิษเป็นเด็กเล็กซึ่งมีระบบต่างๆ ภายในร่างกายยังพัฒนาไม่เต็มที่ หรือแม้ในคนป่วยและคนชราก็เช่นเดียวกัน จึงถือว่าเป็นการพยายามทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดได้ว่า ปริมาณที่ได้รับตามที่ องค์การอนามัยโลกแนะนำนี้ไม่มีปัญหา ทั้งที่คนไทยไม่จำเป็นต้องเสี่ยงในเรื่องนี้เลย เพราะเราสามารถผลิตนมของเราได้เอง (แต่มีข้อแม้ว่า คนผลิตนมของเราต้องไม่เลียนแบบคนจีนด้วยนะครับ) ในประเด็นที่กำหนดว่าต้องดื่มนมถึง 1,000 ลิตรถึงจะเป็นอันตราย หมายถึงว่านมนั้นมีเมลามีน ในระดับต่ำ ก็เป็นการมองความเป็นพิษของเมลามีนเพียงชนิดเดียว ไม่ได้มองว่าเมลามีนนั้นสามารถรวมตัวกับสารที่มีโครงสร้างคล้ายกันคือ กรดไซยานูริค (cyanuric acid) ได้เป็น เมลามีนไซยานูเรต ซึ่งตกตะกอนได้ดีเช่นกันในไต กรดไซยานูริคนั้นมักมีการปนเปื้อนพร้อมๆ กับ เมลามีนที่มีเกรดต่ำ ที่สำคัญอีกประการคือ เมลามีนอาจรวมตัวกับ กรดยูริก (uric acid) แล้วตกตะกอนที่ไตได้เช่นกัน กรดยูริกนั้นเป็นผลิตภัณฑ์ของกรดนิวคลิอิก (nucleic acid) ซึ่งพบได้ในคนที่ชอบบริโภคเครื่องในสัตว์ หรืออาหารที่ค่าของกรดนิวคลิอิกสูง เช่น สาหร่ายสีเขียวอัดเม็ด โดยสรุปแล้วถ้าสามารถควบคุมไม่ให้อาหารมีเมลามีนปนเปื้อนได้ เราก็ลดความเสี่ยงของการเป็นโรคไตได้ (ปัจจุบันอัตราการป่วยด้วยโรคไตของคนไทยสูงขึ้นมาก) ปัญหาที่เด็กจีนตายไปสี่คนนั้น เป็นเพราะในนมที่ปนเปื้อนเมลามีนมีระดับการปนเปื้อนสูงมาก และคงไม่ได้ปนเปื้อนแต่เมลามีนอย่างเดียว องค์การอนามัยโลกได้คำนวณว่า นมของบริษัท Sanlu ที่ทำให้เด็กตายนั้นมีการปนเปื้อนเมลามีนสูง และได้กล่าวว่า ค่า TDI ที่กำหนดไว้ 0.5 มก. ต่อ น้ำหนักตัว 1 กก. นั้น แปลได้ว่า คนที่มีน้ำหนักตัว 50 กก. มีความสามารถจะทนการรับสารพิษได้ถึง 25 มก.ของเมลามีนต่อวัน ข้อมูลดังกล่าวมาจากเอกสารชื่อ Melamine and Cyanuric acid: Toxicity, Preliminary Risk Assessment and Guidance on Levels in Food ลงวันที่ 25 September 2008 ซึ่งเข้าไป download ได้ที่ http://www.who.int/foodsafety/fs_management/Melamine.pdf ดังนั้นการดื่มนมวันละ 1 ลิตร ก็จะถึงค่านี้ได้ถ้านมนั้นมีการปนเปื้อนที่ความเข้มข้น 25 มก. ต่อลิตร ค่า TDI 0.5 มก. ต่อน้ำหนักตัว 1 กก. ที่องค์การอนามัยโลกกำหนดนั้นจึงเป็นตัวเลขที่น่าเป็นห่วง เพราะเมื่อพิจารณาถึงเด็กหนักราว 5 กก. ค่าความทนต่อเมลามีนก็คงจะเป็นราว 2.5 มก. ต่อวัน ปริมาณดังกล่าวนี้ถึงได้ไม่ยากถ้าดื่มนมราว 750 มล. (ซึ่งเป็นปริมาตรที่มักจะแนะนำให้ใช้เมื่อมีการชงนม) ที่มีการปนเปื้อนในระดับ 3.3 มก. ต่อลิตร เมื่อเปรียบเทียบกับสินค้านมของบริษัท Sanlu ที่เมื่อนำไปละลายน้ำแล้ว จะได้น้ำนมที่มีความเข้มข้นของเมลามีนถึง 350 มก. ต่อ ลิตร (ซึ่งเป็นการละลายนมตามวิธีการทั่วไป) ซึ่งหมายความว่าในนมผงมีการปนเปื้อนถึง 2500 มก. ต่อ 1 กก. นมผง บทเรียนเรื่องเมลามีนนี้ จะทำให้ประเทศจีนตกต่ำอย่างมากในเรื่องสินค้าอาหาร ทั้งที่ความจริงแล้วก็เป็นมานาน โดยดูจากตัวอย่างพืชผักผลไม้ที่จีนถมลงมาในประเทศไทย หลังการทำสัญญาไม่เก็บภาษีกัน สินค้าพืชผักเหล่านี้ที่น่าจะมีการปนเปื้อนของสารเคมีค่อนข้างสูง ซึ่งถ้าตรวจสอบก็น่าจะพบปริมาณเกลือไนเตรท (nitrate salt) ที่เป็นปุ๋ยเคมี สารพวกไนเตรท นี้สามารถเปลี่ยนเป็นไนไตรท (nitrite salt) ได้ในปากเราแล้วลงไปทำปฏิกิริยากับสารเคมีในอาหารหลายชนิดได้เป็นสารก่อมะเร็ง ในระหว่างการย่อยอาหารในกระเพาะอาหาร อย่างไรก็ตามผู้บริโภคคงไม่ต้องตระหนกมากนักเพราะเราก็คงไม่ได้ตรวจสอบเท่าใด เนื่องจากอ้างว่าขาดงบประมาณและขาดกำลังคน ซึ่งมันขาดมานานตั้งแต่เมื่อ 30 ปี มาแล้วที่เราเริ่มมีพระราชบัญญัติอาหาร และคงขาดไปเรื่อย ๆ เพราะเงินต้องเอาไปทำ Megaproject ผู้เขียนจึงไม่แนะนำให้ท่านผู้อ่านบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารที่มาจากจีน โดยเฉพาะที่มีการขายตามตลาดนัดคาราวานต่างๆ เช่นเดียวกับนักกีฬาสหรัฐที่เอาอาหารไปกินเองตอนโอลิมปิคที่ปักกิ่ง ปัญหาในลักษณะที่เกิดในจีนก็อย่านึกว่าจะไม่เกิดในไทย ทั้งนี้เพราะแม้แต่ปัญหาการใช้สารกระตุ้นเนื้อแดงในหมูคือ ยากลุ่ม beta-agonist เราก็ยังแก้ไม่ได้ มีปัญหาทั้งทางกฎหมาย การตรวจสอบ และบุคลากร ดังนั้นถ้าหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบด้านอาหารทั้งระดับท้องถิ่นและระดับที่สูงขึ้นไปเกิดฟิตขึ้นมาตรวจสอบอาหารที่คนไทยกินเยอะ เอาแค่ 10 % ของรายการอาหารที่เรากินสูงสุด ก็อาจพบสารพิษมากมาย จนอาจไม่มีอะไรให้กินเลยด้วยซ้ำ ถึงเวลานั้น อาหารเจ ก็จะขายได้ทั้งปีแน่นอน ล่าสุดเมื่อกำลังเขียนบทความนี้จะเสร็จ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาก็ออกมาประกาศว่า ผลิตภัณฑ์อาหารของไทยทั้งที่เป็นผลิตภัณฑ์นม และผลิตภัณฑ์ขนมที่มีนมเข้าไปเกี่ยว มีการปนเปื้อนของเมลามีนเสียแล้ว ทั้งที่อาจไม่ได้ใช้นมจากจีน คำถามคือ แล้วมันมาจากไหน หรือว่าถึงเวลาที่ควรมองหานมพืชแทนนมสัตว์ คือ ใช้กะทิในการผลิตสินค้าที่เคยใช้นมแทนนั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >