ฉลาดซื้อ เผยผลสุ่มตรวจ ‘ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ล้างมือ’ ร้อยละ 67 ไม่ผ่านมาตรฐานประกาศ สธ. พบ 1 ยี่ห้อ ใช้เมธิลแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสม

        ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ เผยผลตรวจวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือ ร้อยละ 67 ไม่ได้มาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข พบ 1 ยี่ห้อ มีส่วนประกอบของเมธานอล (Methanol) ซึ่งเป็นแอลกอฮอล์ชนิดห้ามใช้ในเครื่องสำอางเพราะมีพิษสูง ย้ำผู้ผลิต นำเข้า เครื่องสำอางไม่ปลอดภัย โทษปรับสูงสุดถึง 500,000 บาทส่วนผู้ขายมีโทษปรับสูงสุดถึง 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ        วันนี้ (5 มิถุนายน 2563) ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผยผลทดสอบคุณภาพของผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือ จำนวน 39 ตัวอย่าง สุ่มเก็บตัวอย่างระหว่างวันที่ระหว่างวันที่ 10 มีนาคม ถึง 17 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา แบ่งเป็นสองกลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์จากร้านค้าทั่วไป ร้านขายยา ห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก จำนวน 25 ตัวอย่าง และผลิตภัณฑ์จากร้านค้าออนไลน์ จำนวน 14 ตัวอย่าง          สารี อ๋องสมหวัง บรรณาธิการบริหาร นิตยสารฉลาดซื้อ เปิดเผยว่า ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ล้างมือ และ นำส่งตรวจวิเคราะห์ความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ว่าได้มาตรฐาน ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดลักษณะของเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์เพื่อสุขอนามัยสำหรับมือ ที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือขาย พ.ศ. 2563 หรือไม่ ซึ่งประกาศฯ ดังกล่าว ได้กำหนดให้เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อทำความสะอาดมือโดยไม่ใช้น้ำ ที่มีความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ต่ำกว่าร้อยละ 70 โดยปริมาตร เป็นเครื่องสำอางที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย         “ผลทดสอบ พบว่า มีผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือที่ผ่านมาตรฐาน ซึ่งมีความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ตั้งแต่ 70 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป จำนวน 13 ตัวอย่าง (ประมาณร้อยละ 33) และไม่ผ่านมาตรฐาน 26 ตัวอย่าง (ประมาณร้อยละ 67) นอกจากนี้ยังพบ 1 ตัวอย่าง มีส่วนผสมของเมธานอล (Methanol) หรือ เมธิลแอลกอฮอล์ (Methyl Alcohol) ซึ่งเป็นแอลกอฮอล์ชนิดห้ามใช้ในการผลิตเครื่องสำอางอีกด้วย” บรรณาธิการบริหาร นิตยสารฉลาดซื้อ กล่าว         ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ล้างมือ จำนวน 26 ตัวอย่าง มีปริมาณแอลกอฮอล์ต่ำกว่าร้อยละ 70 โดยปริมาตร ไม่ผ่านเกณฑ์ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดลักษณะของเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ เพื่อสุขอนามัยสำหรับมือ ที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือขาย พ.ศ. 2563 แบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ        (1) จำนวน 14 ตัวอย่าง มีปริมาณแอลกอฮอล์ต่ำกว่าร้อยละ 70 โดยปริมาตร ทั้งนี้ทั้งหมดเป็นผลิตภัณฑ์ที่ระบุวันผลิตตั้งแต่ประกาศฯ มีผลบังคับ คือ 10 มีนาคม 2563         (2) จำนวน 8 ตัวอย่าง เป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตก่อนวันที่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดลักษณะของเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ฯ มีผลบังคับ        (3) จำนวน 4 ตัวอย่าง ไม่ระบุวันผลิต ได้แก่ ยี่ห้อ เมดเดอร์ลีน, Sweet Summer, BFF บีเอฟเอฟ และ TOUCH                   ส่วนอีก จำนวน 13 ตัวอย่าง มีปริมาณแอลกอฮอล์ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 โดยปริมาตร หรือมีปริมาณแอลกฮอล์มากกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 70 ทั้งนี้แบ่งเป็น        (1) ผลิตภัณฑ์ที่มีวันผลิตก่อนวันที่ 10 มีนาคม 2563 จำนวน 4 ตัวอย่าง ได้แก่ Skin Heaven Hand Safe, Anti-A gel (2 ตัวอย่าง), ไลฟ์บอย แฮนด์ ซานิไทเซอร์        (2) ผลิตหลังวันที่ 10 มีนาคม 2563 จำนวน 5 ตัวอย่าง ได้แก่ Ver.88, WE Cleanser, ก๊กเลี้ยง, โพรเทค และ CAVIER         (3) ไม่ระบุวันผลิต 4 ตัวอย่าง ได้แก่ยี่ห้อ CCP LAB BLUE, D GEL , ETC อาย-ตา-นิค และพันตรา         อย่างไรก็ตาม จากทั้งการสุ่มตรวจทั้ง 39 ตัวอย่าง พบผลิตภัณฑ์ 4 ตัวอย่าง ไม่มีเลขจดแจ้ง แบ่งเป็น 3 ตัวอย่าง (2 ยี่ห้อ) ไม่แสดงเลขจดแจ้ง ได้แก่ Anti-A gel (ยี่ห้อเดียวกัน แต่มี 2 ตัวอย่าง), Top Clean Hand Sanitizer และ ยี่ห้อ L Care (มีการแสดงเลข อย. ซ้ำกับผลิตภัณฑ์ตัวอื่น) นอกจากนี้ ยังพบอีก 1 ตัวอย่าง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยี่ห้อ ANANTA Spray (อนันตา สเปรย์) ที่มีการใช้เมธานอลเป็นส่วนผสมในการผลิต           ด้าน รศ.ดร.ภก.วรสิทธิ์ วงศ์สุทธิเลิศ ผู้อำนวยการศูนย์บริการเทคโนโลยีเภสัชอุตสาหกรรม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในการทดสอบเพื่อหาปริมาณแอลกอฮอล์และชนิดของแอลกอฮอล์ในผลิตภัณฑ์ที่ทางแลปใช้เป็นการนำเทคนิค Gas Chromatography มาวิเคราะห์ตัวอย่าง ซึ่งเป็นเทคนิคหลักในอุตสาหกรรมยาที่ใช้ในการตรวจหาปริมาณแอลกอฮอล์ โดยวิธีวิเคราะห์นี้ถูกพัฒนาและตรวจสอบความถูกต้องให้สามารถตอบโจทย์การทดสอบในผลิตภัณฑ์เพื่อทำความสะอาดมือดังกล่าวได้         “อย่างไรก็ตามในมุมมองผม ผลดังกล่าวคงไม่ใช่การตีตราได้ 100 เปอร์เซนต์ ว่าบริษัทใดดีหรือไม่ดีเนื่องจากมีข้อสังเกตจากการทดสอบหลายประการ เช่น เรื่องคุณภาพการผลิต ซึ่งพบว่า ยังไม่มีการควบคุมให้ได้มาตรฐาน และจากรายละเอียดข้อมูลที่แสดงบนฉลากผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ล้างมือทั้ง 39 ตัวอย่าง พบว่า บางบริษัทรับผลิตสินค้าให้กับผู้ประกอบการหลายยี่ห้อ แต่จากผลการทดสอบบางยี่ห้อผ่านเกณฑ์ บางยี่ห้อไม่ผ่านเกณฑ์ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฯ ทั้งที่ผลิตโดยบริษัทเดียวกัน หรือ บางยี่ห้อระบุว่ามีแอลกอฮอลล์ร้อยละ 75 แต่วิเคราะห์ผลได้เพียงร้อยละ 70 ซึ่งถึงแม้จะผ่านตามประกาศกระทรวงฯ แต่ถือว่ามีปัญหาด้านคุณภาพในการผลิต” รศ.ดร.ภก.วรสิทธิ์ กล่าวและว่า ในประเด็นการปลอมแปลงฉลากผู้ผลิตก็เป็นอีกปัจจัยที่เป็นปัญหาในปัจจุบัน แต่ที่แน่นอน คือ ผลที่ออกมาสะท้อนอย่างชัดเจนว่าผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือที่มีในท้องตลาดมีปัญหาและต้องมีการแก้ไขปัญหาจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องโดยด่วน         ส่วน ผศ.ดร.ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) และรองผู้จัดการแผนงานศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ก่อนการระบาดของโรคโควิด-19 เจลแอลกอฮอล์หรือผลิตภัณฑ์ที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ เช่น เจล โลชั่น ครีม โฟม สเปรย์ สารละลาย หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำขึ้นเพื่อสุขอนามัยสำหรับมือ (Alcohol-Bases Hand Sanitizer) ถูกจัดอยู่ในหมวด “เครื่องมือแพทย์” ที่ต้องแจ้งรายละเอียด และกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการควบคุมตามกฎหมายเครื่องมือแพทย์ โดยส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์นี้ ได้แก่ เอธิลแอลกอฮอล์/เอธานอล, ไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์/ไอโซโพรพานอล หรือเอ็น - โพรพิวแอลกอฮอล์/เอ็น - โพรพานอล และมีการกำหนดไว้ชัดเจนว่า “ส่วนประกอบเหล่านี้ต้องรวมกันตั้งแต่ร้อยละ 70 ขึ้นไปโดยปริมาตร” ซึ่งอาจมีสารอื่นๆ ประกอบด้วยได้ เช่น สารแต่งกลิ่น สารกันเสีย         เมื่อเกิดปัญหาโรคโควิด 19 ระบาด คณะกรรมการเครื่องมือแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้มีมติยกเลิก ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ผลิตภัณฑ์ที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบเพื่อสุขอนามัยสำหรับมือ พ.ศ.2562 เพื่อปรับให้ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ล้างมือเป็นสินค้าในกลุ่ม “เครื่องสำอางหรือหมวดเครื่องสำอาง” ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดลักษณะของเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์เพื่อสุขอนามัยสำหรับมือที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือขาย พ.ศ. 2563 เพื่อให้สามารถรับมือกับสถานการณ์โรคระบาดที่อาจทำให้เกิดสินค้าขาดแคลนได้ โดยมีสาระสำคัญ คือ         เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์เพื่อสุขอนามัยสำหรับมือ ที่มีส่วนประกอบเพียงอย่างเดียวหรือผสมรวมกันน้อยกว่าร้อยละ 70  โดยปริมาตร ห้ามผลิต นำเข้า หรือขาย” และ “หากมีการตรวจพบผู้ผลิตหรือนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน ผู้ผลิตหรือนำเข้า จะมีโทษ จำคุก 2 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท ขณะที่ผู้จำหน่าย มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 50,000 บาท          มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา “ตาม มาตรา 60 ของ พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 ได้กำหนดโทษสำหรับ ผู้ที่ผลิตเพื่อขาย นำเข้าเพื่อขาย หรือรับจ้างผลิตเครื่องสำอางที่ไม่ได้มาตรฐาน อันเป็นการฝ่าฝืนประกาศฯ  ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนผู้ขายนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ         หรือในกรณีเป็นเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัย ซึ่งมีวัตถุที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง ผู้ที่ผลิต นำเข้า เพื่อขาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนผู้ขาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ         “ผู้บริโภคสามารถใช้ข้อมูลผลทดสอบของนิตยสารฉลาดซื้อ ในการตัดสินใจเลือกซื้อเจลแอลกอฮอล์ได้ โดยเจลแอลกอฮอล์ที่ดีนั้น นอกจากต้องมีความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 โดยปริมาตรแล้ว ยังไม่ควรแห้งเร็วจนเกินไป เพื่อให้แอลกอฮอล์ได้มีเวลาฆ่าเชื้อไวรัสที่อาจเกาะอยู่ตามผิวหนังก่อนที่จะระเหย  นอกจากนี้ อย. ควรต้องเร่งแก้ปัญหาคุณภาพผลิตภัณฑ์เจลแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะการยกระดับมาตรฐานโรงงานผลิต เพราะความเสียหาย คือ การมีผลิตภัณฑ์เจลแอลกอฮอล์ที่แพร่หลาย แต่ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไม่สามารถมีผลในการลดเชื้อได้จริง” ผศ.ภญ.ดร.ยุพดี กล่าว         ขณะที่ นางสาวสารี อ๋องสมหวัง กล่าวเสริมว่า อยากฝากข้อเสนอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ประกอบการ ดังนี้        1. ให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ดำเนินการตรวจสอบและควบคุมมาตรฐานแอลกอฮอล์ ในผู้ประกอบการที่ผลิต นำเข้า หรือขาย ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือที่ไม่เป็นไปตามประกาศฯ ให้เป็นไปตามประกาศฯ        2.มีการตรวจสอบและควบคุมมาตรฐานผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือ ในสถานประกอบการที่ผลิตและนำเข้า หรือขายเหล่านี้ให้มากขึ้น ก่อนการอนุมัติ เพื่อป้องกันมิให้มีผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีคุณภาพเข้าสู่ท้องตลาดและส่งผลเป็นปัญหาทางด้านสาธารณสุขในวงกว้าง        และ 3.ดำเนินการกับบริษัทที่ใช้เมทานอลอย่างจริงจัง และฝากไปถึงบริษัทด้วย ขออย่าใช้เทคนิค การถูกเจ้าอื่นแอบผลิตหรือใช้เลขที่ใบจดแจ้ง หรืออ้างว่าผลิตภัณฑ์นั้นไม่ใช่ของตนเอง         รายละเอียดผลทดสอบอ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.chaladsue.com/article/3402

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 231 โควิดตัวร้ายกับแอปพลิเคชันสั่งอาหาร

        เดือนที่ผ่านมาพวกเราต่างได้รับผลกระทบจากโรคโควิท 19 กันทุกคน รัฐบาลมีมาตรการล็อคดาวน์ มาตรการ Social Distancing และรณรงค์ให้อยู่บ้านหยุดเชื้อ เพื่อชาติ ร้านอาหารต่างๆ เปิดให้บริการเพียงแบบซื้อกลับบ้านเท่านั้น ทำให้บริการแอปพลิเคชันสั่งซื้ออาหารออนไลน์ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ทั้งGrab Food, Food Panda, Lalamove, Line Man เมื่อผู้บริโภคใช้บริการมากก็จะมีความผิดพลาดเกิดขึ้นได้ เรามาดูกันว่าผู้บริโภครายนี้เขาเกิดความผิดพลาดอย่างไร และเขาจัดการปัญหานี้อย่างไร         คุณภูผาต้องทำงานที่บ้าน (Work from Home) ไม่สะดวกออกไปซื้ออาหาร ทำเองก็ไม่สะดวก เขาจึงสั่งอาหารร้านชื่อดังแห่งหนึ่งผ่าน Grab food โดยมีเมนูข้าวหมกไก่ กล่องละ 45 บาท 1 กล่อง ข้าวมันไก่ทอด กล่องละ 45 บาท 1 กล่อง ข้าวหมกเนื้อ กล่องละ  50 บาท 2 กล่อง และสเต๊ะเนื้อ 1 ชุด 95 บาท ค่าอาหาร 285 บาท และค่าส่งอีก 25 บาท รวมเป็น 310 บาท พอกดสั่งอาหารแล้วก็แอบยิ้มดีใจนิดๆ ว่าแอปฯ ให้ส่วนลดเป็น reward ตั้ง 10 บาท โดยชำระเงินผ่านบัตรเครดิต         เมื่อ Grab นำอาหารมาส่ง ภูผาก็ออกมารับของอย่างมีความสุข แต่มาเกิดเรื่องจนได้ตอนจะรับประทาน เพราะพบว่า ขาดข้าวหมกเนื้อไป 1 กล่อง จึงแจ้งไปยังศูนย์ขอความช่วยเหลือในแอปพลิเคชันพร้อมเล่ารายละเอียดคร่าวๆ ว่า ได้อาหารไม่ครบขาดข้าวหมกเนื้อ 1 กล่อง ราคา 50 บาท และส่งรูปภาพไปด้วย หลังจากนั้นประมาณ 10 – 15 นาที ก็มีอีเมล์ตอบกลับมาว่า ขออภัยและบอกว่าจะคืนเงินให้เป็น reward (reward คือการสะสมคะแนน เพื่อใช้เป็นส่วนลดหรือแลกสิ่งของ) จำนวน 50 บาท และให้แบ่งใช้ 2 ครั้ง 40 บาท และ 20 บาท โดยสามารถใช้ได้ในครั้งถัดไป อย่างไรก็ตามมีการกำหนดอายุการใช้งานของ Reward ด้วย         คุณภูผารู้สึกไม่พอใจ เขารู้สึกว่า Grab เอาเปรียบเขา ทำไม Grab ไม่คืนเงินเข้าไปในวงเงินบัตรเครดิต หรือตัดบัตรเครดิตเพียงแค่ยอดที่เขาได้รับของมาคือ 260 บาท(หักข้าวหมกเนื้อออก) และการที่คืนเป็น Reward อาจจะฟังดูเป็นบุญคุณไปอีก “ไม่โอเค อ่ะ” ความผิดพลาดเกิดจากการส่งอาหารไม่ครบของพนักงาน (Rider) เอง สำหรับการกำหนดอายุการใช้งานของ Reward ก็ยิ่งไม่ควรทำหากจะเลือกเยียวยาด้วยวิธีนี้ คุณภูผาคิดว่า ความผิดไม่ได้เป็นของผู้บริโภค (อาจพลาดที่ไม่ได้ตรวจก่อนว่ารับสินค้าครบไหม) ดังนั้น Grab ควรติดต่อร้านให้นำของมาส่งเพิ่มตามที่ขาดไปยังจะดีกว่า หรือคืนเงิน หรือคิดเงินเขาในราคาเท่ากับของที่เขาได้รับจริง จะโอเคที่สุด  ดังนั้นเขาจึงได้ทำเป็นข้อแนะนำเสนอต่อ Grab Food ไป และมาปรึกษาศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคว่า ควรทำอะไรเพิ่มอีก แนวทางการแก้ไขปัญหา         ศูนย์พิทักษ์สิทธิแนะนำว่า มีวิธีจัดการปัญหาเบื้องต้น 2 วิธี ดังนี้         1. ใช้ช่องทางผ่านตัวผู้ให้บริการแอป คือ ติดต่อไปยัง Grab Food อีกครั้ง โดยผ่านช่องทางศูนย์ขอความช่วยเหลือในแอป หรือโทรศัพท์ติดต่อไปยัง Grab เพื่อปฏิเสธการคืนเป็น reward และแสดงความต้องการขอรับคืนเป็นเงินสดหรือเป็นเงินคืนให้บัตรเครดิตเท่านั้น         2. ใช้ช่องทางบัตรเครดิต คือ ติดต่อไปยังธนาคารเจ้าของบัตรเครดิตว่า สั่งซื้อสินค้าแล้วได้สินค้าไม่ครบถ้วน โดยอ้างประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจบัตรเครดิตเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2542 ข้อ 3 (8) (ข) ของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อให้ธนาคารคืนวงเงินเข้าบัตรเครดิต หรือให้ธนาคารเรียกเก็บเฉพาะส่วนที่ได้รับสินค้า ไม่เรียกเก็บส่วนที่ไม่ได้สินค้า         เมื่อรับคำแนะนำแล้ว ผู้ร้องได้ลองติดต่อไปยังตัวผู้ให้บริการผ่านช่องทางศูนย์ขอความช่วยเหลืออีกครั้งหนึ่ง โดยยืนยันว่าขอให้ Grab คืนวงเงินเข้าบัตรเครดิต เป็นจำนวนเงิน 50 บาท ปรากฎว่า คุณภูผาได้รับการแก้ไขปัญหาจากผู้ให้บริการด้วยการคืนวงเข้าบัตรเครดิตในวันรุ่งขึ้นทันที เขาจึงเสนอต่อ Grab เพิ่มว่า “ควรให้ลูกค้าเลือกใช้สิทธิว่าจะรับเป็น Refund, Reward, Re-Delivery ตั้งแต่แรกเลยจะจบแบบได้ใจลูกค้ามากกว่านี้”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 231 รับยาอย่างปลอดภัยในเทศกาลโควิด19

        ในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด 19 กลุ่มผู้สูงวัย และกลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรังประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดัน ฯลฯ จะเป็นกลุ่มแรกๆ ที่มีความเสี่ยงสูง นอกจากนี้ทางรัฐบาลยังได้รณรงค์ให้ประชาชน ลดการเดินทางไปในที่ชุมชน โดยให้เก็บตัวอยู่ที่บ้าน โรงพยาบาลเองก็พยายามหาทางลดความเสี่ยงของผู้ป่วยกลุ่มนี้ ในการมารับยาที่โรงพยาบาลด้วยเช่นกัน เช่น มีการสั่งจ่ายยาในแต่ละครั้งในจำนวนเพียงพอที่จะรับประทานในระยะเวลาที่มากขึ้น มีนโยบายให้ผู้ป่วยนำใบสั่งยาไปรับยาที่ร้านยาใกล้บ้าน หรือส่งยาไปให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และให้ผู้ป่วยไปรับยาอีกทอดหนึ่ง         นอกจากนี้ยังมีข้อมูลว่า บางโรงพยาบาลเริ่มมีการจัดส่งยาทางไปรษณีย์ หรือผู้ป่วยบางรายอาจไม่สะดวกที่จะเดินทางไปรับยา เนื่องจากเกรงว่าอาจได้รับเชื้อระหว่างการเดินทาง จึงมีการไหว้วานให้คนใกล้ตัว หรือบางทีก็จ้างมอเตอร์ไซค์ไปรับยาจากร้านยาหรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลแทน         เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับความปลอดภัยจากการใช้ยา ไม่ว่าผู้ป่วยจะได้รับยามาด้วยวิธีใด          มีคำแนะนำเบื้องต้นดังนี้         1. ตรวจสอบ “ชื่อของตนเอง”ที่ระบุบนซองยาหรือฉลากยาเป็นอันดับแรก เพื่อให้มั่นใจว่ายาที่ได้รับมานั้น เป็นของเราจริง ไม่ได้สลับกับของผู้ป่วยรายอื่น และต้องเช็คชื่อให้ครบทุกชนิดของยาที่ได้รับ รวมทั้งตรวจสอบด้วยว่ามียาใดที่หายไปจากเดิมที่เราเคยได้รับหรือไม่ หากไม่ตรง ให้รีบโทรศัพท์หรือติดต่อสอบถามยังเภสัชกรที่โรงพยาบาลเดิมที่เคยจ่ายยาให้เรา         2. ตรวจสอบ ”ชื่อยา” บนฉลากว่าตรงกับยาเดิมที่เราเคยได้รับหรือไม่ ถ้าไม่แน่ใจให้เอายาเดิมที่เคยได้รับมาเทียบให้แน่ใจ และแม้ชื่อจะเหมือนเดิม แต่ถ้ารูปแบบยา หรือสีของยา เปลี่ยนไปจากยาเดิมที่เคยได้รับ ให้รีบโทรศัพท์หรือติดต่อสอบถามยังเภสัชกรที่โรงพยาบาลเดิมที่เคยจ่ายยาให้เรา         3. ตรวจสอบ “ขนาดยา” ที่ระบุบนฉลากว่า ตรงกับขนาดเดิมที่แพทย์เคยสั่งให้ใช้หรือไม่ หากไม่ตรง ให้รีบโทรศัพท์หรือติดต่อสอบถามยังเภสัชกรที่โรงพยาบาลเดิมที่เคยจ่ายยาให้เรา          4. ตรวจดู “ลักษณะ” ของยาด้วยสายตาว่า ยาที่ได้รับมีสภาพชำรุดหรือเปลี่ยนไปจากเดิมที่เคยได้หรือเปล่า เนื่องจากอาจมีการขนส่งยาต่อกันมาหลายทอด หากยาที่ได้รับชำรุดหรือเสื่อมสภาพ ให้รีบโทรศัพท์หรือติดต่อสอบถามยังเภสัชกรที่โรงพยาบาลเดิมที่เคยจ่ายยาให้เรา          5. รีบนำยาที่ได้รับไปเก็บในที่ที่เหมาะสมเหมือนเดิม เช่น บางชนิดอาจต้องเก็บให้พ้นแสง บางชนิดอาจต้องแช่ในตู้เย็น         6. ห้ามปรับขนาดในการใช้ยาด้วยตนเองอย่างเด็ดขาดหาก “ไม่มั่นใจ” ในการใช้ยา ให้รีบโทรศัพท์หรือติดต่อสอบถามยังเภสัชกรที่โรงพยาบาลเดิมที่เคยจ่ายยาให้เรา หรือปรึกษาเภสัชกรใกล้ตัวท่าน         และที่สำคัญอีกประการหรึ่งคือ ไม่ต้องขวนขวายหาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหรือผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่โฆษณาอวดอ้างว่าสามารถรักษาหรือป้องกับ โควิด 19 มาใช้อย่างเด็ดขาด เพราะนอกจากจะทำให้เสียเงินแล้ว อาจส่งผลกระทบให้เสียสุขภาพอีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 231 มารู้จัก “ThaiFightCOVID” และ “Card2U”

        ฉบับนี้ยังคงมาย้ำเตือนให้ผู้อ่านทุกคนตระหนักถึงการป้องกันและเฝ้าระวังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) กันอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าตัวเลขการติดเชื้อและจำนวนผู้เสียชีวิตในประเทศไทยจะลดลงก็ตาม        ปัจจุบันหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนได้พัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ ขึ้นมาเพื่อให้ข้อมูลในการเฝ้าระวังอย่างมากมาย อย่างสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้พัฒนาแพลตฟอร์มที่คอยเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยใช้ชื่อว่า “ThaiFightCOVID” ซึ่งสามารถเข้าดูข้อมูลได้ที่ ThaiFightCOVID.depa.or.th ภายใน “ThaiFightCOVID” จะมีข้อมูลตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ได้รับการยืนยันจากกระทรวงสาธารณสุข ข่าวสารที่รวบรวมจากประกาศรัฐบาล หน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานที่ประกาศมาตรการการช่วยเหลือประชาชน รวมถึงประกาศจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และรวบรวมข่าวสารจากสถานการณ์ทั่วโลกที่เกิดขึ้นด้วย          ต่อจากนั้นไม่นาน ได้พัฒนาแอปพลิเคชัน “Card2U” ที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ COVID-19 เพิ่มเติม ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้ทั้งระบบปฏิบัติการ Android และระบบปฏิบัติการ iOS เริ่มแรกผู้อ่านต้องลงทะเบียนโดยใช้ชื่อนามสกุล เบอร์โทรศัพท์ และสร้างรหัสผ่าน จากนั้นให้กดเพื่อรับการ์ด กรอกเพศและอายุเพื่อที่จะเข้าหน้าหลัก         หน้าหลักจะมีรูปการ์ดชื่อนามสกุลของผู้ใช้แอปพลิเคชัน และ QR Code ของการ์ดด้านข้าง ซึ่งด้านล่างจะมีหมวดต่างๆ ได้แก่ หมวดประกาศรัฐบาล หมวดไฮไลท์ข่าวประจำวัน หมวดประกาศหน่วยงานภาครัฐ หมวดตรวจสอบข่าวปลอม หมวดจำนวนผู้ติดเชื้อ หมวดพื้นที่เสี่ยง หมวดจดบันทึกการเดินทาง หมวดประเมินความเสี่ยง หมวดโรงพยาบาลที่รับตรวจโควิด หมวดโปรสู้โควิด หมวดรวมสายด่วน และหมวดไทยรู้สู้โควิด          หมวดประกาศรัฐบาล หมวดไฮไลท์ข่าวประจำวัน และหมวดประกาศหน่วยงานภาครัฐ จะเป็นการรวบรวมข้อมูลข่าวสารเหมือนกับ “ThaiFightCOVID” หมวดตรวจสอบข่าวปลอมจะเป็นข้อมูลข่าวสารจากศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย หมวดไทยรู้สู้โควิดจะเป็นข้อมูลข่าวสารจากหน้าเฟซบุ๊กไทยรู้สู้โควิด แต่หมวดจำนวนผู้ติดเชื้อจะเพิ่มข้อมูลผู้ติดเชื้อที่ละเอียดขึ้น และมีข้อมูลโรงพยาบาลที่รับตรวจพร้อมราคา ส่วนหมวดโรงพยาบาลที่รับตรวจโควิดจะเป็นการแจ้งโรงพยาบาลที่ใกล้ผู้ใช้แอปพลิเคชัน โดยจะมีข้อมูลที่อยู่ เบอร์ติดต่อ และแผนที่สำหรับเดินทาง         ความแตกต่างจาก “ThaiFightCOVID” คือ หมวดพื้นที่เสี่ยงจะแจ้งพิกัดจุดเสี่ยงบนแผนที่ประเทศไทย หมวดจดบันทึกการเดินทาง เพื่อให้ผู้ใช้แอปพลิเคชันเก็บข้อมูลการเดินทางโดยใช้วิธีเช็คอิน หมวดประเมินความเสี่ยงเป็นการตอบคำถามแบบประเมินความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ COVID-19 หมวดโปรสู้โควิดที่รวบรวมร้านอาหารพร้อมโปรโมชันมานำเสนอให้ผู้ใช้แอปพลิเคชัน และหมวดรวมสายด่วน เพิ่มขึ้นมา         ไม่ว่าจะเป็น “ThaiFightCOVID” หรือแอปพลิเคชัน “Card2U” ก็เป็นเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์และถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อช่วยให้คนไทยได้ตระหนักและเฝ้าระวังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) อย่างใกล้ชิด ดังนั้นต้องขอบคุณทุกภาคส่วนที่ร่วมมือกันด้วยใจจริงๆ และอย่าลืมปฏิบัติตามหลักการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social distancing) กันด้วยนะคะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 231 รู้เท่าทันการป้องกันและรักษาโควิด-19

        วันนี้คงไม่มีโรคอะไรที่รุนแรงเท่าโควิด-19 เพราะโรคนี้ได้ระบาดไปทั่วโลก และยังไม่รู้ว่าจะสงบลงเมื่อไหร่ การอยู่กับบ้าน การเว้นระยะห่าง ป้องกันการแพร่กระจายและติดเชื้อได้ดีที่สุดหรือไม่ ยาที่รักษาอยู่ได้ผลจริงหรือไม่ เรามารู้เท่าทันกันเถอะ โคโรนาไวรัสคืออะไร        โคโรนาไวรัสเป็นกลุ่มสายพันธุ์ใหญ่ของไวรัสที่ก่อให้เกิดการเจ็บป่วยในมนุษย์และสัตว์ ในมนุษย์นั้นก่อให้เกิดโรคทางเดินหายใจตั้งแต่ ไข้หวัดธรรมดาจนถึงไข้หวัดรุนแรงเช่น เมอร์ส และซาร์ส ที่เคยระบาดเมื่อหลายปีก่อน จนถึงโควิด-19 ที่กำลังโด่งดังในปัจจุบัน ปัจจุบันมียาหรือวิธีป้องกันโควิด-19 ที่ได้ผลหรือยัง        องค์การอนามัยโลกระบุว่า  ปัจจุบันยังไม่มียาทั้งแผนปัจจุบัน แผนดั้งเดิมหรือการรักษาพื้นบ้านใดที่สามารถป้องกันหรือรักษาโรคนี้ได้          อย่างไรก็ตาม มีการทดลองทางคลินิกจำนวนมากที่ใช้ทั้งยาแผนปัจจุบันและแผนดั้งเดิม จากการทบทวนเอกสารในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2020 พบว่ามีการศึกษาทางคลินิก 24 รายงาน มีการใช้ยากว่า 20 รายการ เช่น อิมมูโนโกลบูลิน อินเตอร์เฟียรอน คลอโรควิน ไฮดรอกซี่คลอโรควิน ฟาวิพิราเวียร์ โลพินาเวียร์ ริโทนาเวียร์ โอเซลทามิเวียร์ ยาจีน เป็นต้น ซึ่งผลการศึกษาจำนวนเหล่านี้ จะเป็นประโยชน์ในการรักษาโควิด-19 และทำให้เราสามารถวางแผนการรักษาอย่างมีประสิทธิผลมากขึ้นภายในสิ้นปีค.ศ. 2020  การกินวิตามิน C ช่วยป้องกันและรักษาโควิด-19 ได้จริงหรือไม่        เมื่อเป็นโรคอุบัติใหม่และระบาดอย่างรวดเร็ว รวมทั้งยังไม่มียาที่มีประสิทธิผลชัดเจนในการรักษา จึงเกิดกระแสการกินวิตามิน C เพื่อป้องกันโควิด-19 ซึ่งน่าจะมาจากความเชื่อเรื่องการกินวิตามิน C เพื่อป้องกันไข้หวัดที่มีอยู่เดิม เรื่องนี้ทางห้องสมุดคอเครนได้ทำการทบทวนวรรณกรรมและตีพิมพ์เมื่อวันที่ 13 มกราคม ค.ศ. 2013 ว่า การกินวิตามิน C ไม่มีผลต่ออุบัติการของไข้หวัดในประชากรทั่วไป แต่มีผลในการลดระยะเวลาของการเป็นไข้หวัดให้สั้นลง         มีการศึกษาการใช้วิตามิน C ในการรักษาโควิด-19 โดยเชื่อว่า วิตามิน C ต้านอนุมูลอิสระสูง ซึ่งอาจลดการอักเสบ เพิ่มระบบภูมิคุ้มกันของเซลล์ ทำให้หลอดเลือดทำงานได้ดีขึ้น การศึกษาพบข้อมูลที่น่าสนใจว่าช่วยลดการเสียชีวิตในภาวะติดเชื้อ แต่ยังต้องการการศึกษามากกว่าที่มีอยู่        นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาในผู้ป่วยโควิด-19 ที่รุนแรงและเกิดปอดอักเสบ ที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน โดยการฉีดวิตามิน C เข้าไปในเส้นเลือด ขนาด 24 กรัม/วัน เป็นเวลา 7 วัน โดยมีกลุ่มควบคุม 104 ราย  ซึ่งจะมีการสรุปผลการศึกษาภายใน เดือนกันยายน ค.ศ. 2020 ผักสดและผลไม้ต้องล้างด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อหรือไม่         องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ล้างผักสดและผลไม้ด้วยวิธีปกติที่เคยทำ แต่ก่อนที่จะสัมผัสด้วยมือ ให้ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่ ก็เพียงพอ         สรุป  ในขณะนี้ยังไม่มียารักษาโควิด-19 ที่มีประสิทธิผลเต็มที่ ยาที่ใช้รักษาเป็นการใช้ยาที่รักษาโรคอื่นๆ การป้องกันการติดเชื้อและแพร่กระจายเชื้อที่ดีที่สุดคือ การสวมหน้าการอนามัย การเว้นระยะห่างจากผู้อื่น 2 เมตร  และการล้างมือด้วยสบู่บ่อยๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 231 กระแสต่างแดน

โอกาสทอง        หลุยส์ วิตตอง และชาแนล ในเกาหลีถูกวิพากษ์วิจารณ์หนักเมื่อลูกค้าที่ไปต่อแถวเข้าร้านหลังพ้นช่วงล็อกดาวน์ต้องเซอร์ไพรซ์กับสินค้า “ราคาใหม่”         ค่ายแบรนด์เนมมองว่าผู้บริโภคมีเงินเหลือใช้มากขึ้นเนื่องจากไม่สามารถเดินทางไปไหนได้ ชาแนลปรับราคาสินค้าในร้านขึ้นร้อยละ 7 -18 ในขณะที่หลุยส์ วิตตองก็ปรับราคาขึ้นเป็นครั้งที่สามในรอบ 7 เดือน ขึ้นอีกร้อยละ 5 - 10 เช่นกัน         นี่ยังไม่นับเรื่องความ (ไม่) รับผิดชอบต่อสังคมของค่ายหลุยส์ ที่ไม่จัดอบรมแนวทางปฏิบัติตัวเพื่อลดการระบาดของไวรัสให้กับพนักงานเหมือนบริษัทอื่นๆ และเมื่อพบว่าพนักงานติดเชื้อจากการไปกินดื่มในย่านอินแทวอน ก็ยังเปิดดำเนินการต่อไปโดยไม่แจ้งให้ลูกค้าที่เข้าร้านสาขาตึกล็อตเต้เวิล์ดในช่วงที่พนักงานดังกล่าวอยู่ประจำร้าน ได้ทราบว่าตนเองเป็นกลุ่มเสี่ยงด้วย           แต่เขาก็คาดการณ์ไม่ผิด ยอดขายสินค้าแบรนด์เนมหลังช่วงล็อกดาวน์เพิ่มขึ้นจริงๆ     ขยะเราต้องมาก่อน        โปรตุเกสเป็นปลายทางของขยะจำนวนมากจากประเทศอื่นๆ ในยุโรป เพราะคิดค่าธรรมเนียมการจัดการขยะเพียงตันละ 11 ยูโร (ประมาณ 400 บาท) เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในภูมิภาคที่ 80 ยูโร (ประมาณ 2,800 บาท)          แต่รัฐบาลได้ประกาศหยุดรับขยะจากต่างประเทศชั่วคราว เพื่อให้แน่ใจว่ามีศักยภาพเพียงพอต่อการรับมือกับขยะในประเทศที่เพิ่มขึ้นมหาศาลในช่วงการระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ชุดและอุปกรณ์ป้องกันเชื้อโรคไปจนถึงกล่องพลาสติกใส่อาหารจากบริการเดลิเวอรี         รวมถึงลดกำลังการรีไซเคิล เพื่อไม่ให้พนักงานต้องสัมผัสกับขยะพลาสติกที่อาจมีการปนเปื้อนเชื้อไวรัส         ข้อมูลจากสำนักงานสิ่งแวดล้อมโปรตุเกสระบุว่าในปี 2018 มีขยะจากต่างประเทศเข้ามาถึง 330,000 ตัน หนึ่งในสามถูกจัดการโดยการฝังกลบ และตั้งแต่ต้นปี 2020 โปรตุเกสปฏิเสธขยะต่างประเทศไปแล้วกว่า 246,000 ตัน  มุมทำงาน        ในเยอรมนี หากคุณมีห้องที่จัดไว้เป็น “ออฟฟิศในบ้าน” คุณจะสามารถขอลดหย่อนภาษีได้ สถิติก่อนการล็อกดาวน์ระบุว่าร้อยละ 12 ของคนเยอรมันทำงานจากบ้าน แต่ช่วงที่รัฐบาลขอให้ทุกคนอยู่บ้านเพื่อหยุดเชื้อ มีคนเยอรมันถึงร้อยละ 25 ที่ทำงานที่บ้าน และแนวโน้มนี้อาจกลายเป็น “นิวนอร์มอล”         ที่ผ่านมาร้อยละ 40 ของนายจ้างในเยอรมนีเปิดโอกาสให้พนักงานทำงานจากบ้านได้ ในขณะที่ร้อยละ 60 ของคนเยอรมันก็เห็นด้วยกับข้อเสนอของกระทรวงแรงงานที่จะให้พนักงานเลือกได้ว่าจะทำงานจากบ้านวันไหนบ้าง หรือทำทุกวันไปเลยหากลักษณะงานเอื้อให้ทำได้            สมาคมผู้เสียภาษีแห่งเยอรมนีเสนอว่าคนที่ใช้โน้ตบุ๊คนั่งทำงานที่โต๊ะกินข้าวหรือมุมใดมุมหนึ่งของบ้านควรมีสิทธิขอลดหย่อนภาษีเช่นกัน เพราะไม่ว่าจะอยู่ตรงไหน การใช้ทรัพยากรน้ำ ไฟฟ้า รวมถึงการสร้างขยะก็เพิ่มขึ้นเหมือนกัน อย่างน้อยๆ ร้อยละ 20 ของค่าเช่าบ้านควรนำไปขอลดหย่อนภาษีได้     เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง        คนแคนาดาเกือบร้อยละ 50 เชื่อ “ข่าวโคมลอย” เกี่ยวกับโรคโควิด-19           การสำรวจโดยคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยคาร์ลตัน ระหว่างวันที่ 5-8 พฤษภาคม ที่สอบถามคนแคนาดา 2,000 คน พบว่าร้อยละ 46 เชื่อข่าวลืออย่างน้อยหนึ่งข่าวจากข่าวที่แชร์กันทางออนไลน์มากที่สุดสี่อันดับแรก         ข่าวลืออันดับหนึ่งได้แก่รายงานที่บอกว่าต้นกำเนิดโรคนี้มาจากไวรัสที่พัฒนาขึ้นโดย “แล็บแห่งหนึ่งในประเทศจีน” ร้อยละ 26 ของคนแคนาดาเชื่ออย่างนั้น         ร้อยละ 23 เชื่อว่ายาไฮดร็อกซีคลอโรควินสามารถรักษาโรคโควิด-19 ได้ ตามที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของอเมริกาบอก         ร้อยละ 11 เชื่อว่าโรคนี้ไม่ได้ร้ายแรงอะไร อาการต่างๆ เป็นผลจากเทคโนโลยี 5G ต่างหาก ตำรวจกำลังสืบสวนว่าความเชื่อนี้เป็นเหตุให้เสาสัญญาณโทรศัพท์หลายแห่งในควิเบกถูกเผาทำลายหรือไม่         แต่ที่เด็ดสุดคือร้อยละ 57 ของคนเหล่านี้เชื่อว่าตนเองสามารถแยกแยะข่าวจริงและข่าวลวงได้   มันอยู่ในตลับ        แอสเบสทอสหรือแร่ใยหินหายหน้าจากสื่อไปนาน เพราะผู้คนตระหนักถึงอันตรายและเลิกใช้มันไปแล้ว คราวนี้มันแฝงมากับเครื่องสำอางที่มีทัลคัมเป็นส่วนประกอบ ที่สามารถหาซื้อได้ในเว็บอเมซอน         การทดสอบพบว่า อายชาโดว์ Jmkcoz 120 Colors Eyeshadow Palette  มีแร่ใยหินถึง 3.9 ล้านใยต่ออายชาโดว์1 กรัม และพบในร้อยละ 40 จาก 45 เฉดสีที่ทดสอบ           ในขณะที่อีกรุ่น ได้แก่ Jmkcoz Beauty Glazed Gorgeous Me Eye Shadow Tray Palette มีถึง 3.5 ใยต่ออ่ายชาโดว์ 1 กรัม พบในร้อยละ 20 จาก 55 เฉดสีที่ทดสอบ         ก่อนหน้านี้มีการพบแร่ใยหินใน “ชุดเมคอัป” ของเล่นเด็กมาแล้ว และในเดือนตุลาคม 2019 จอห์นสันแอนด์จอห์นสันก็ประกาศเรียกคืนแป้งเด็ก หลังจาก อย.สหรัฐพบแร่ใยหินในแป้งดังกล่าวแร่ใยหินเข้าสู่ร่างกายผ่านการหายใจเข้าไปสะสมในปอด และผู้ที่สูดดมเข้าไปอาจไม่แสดงอาการในทันที ทั้งนี้ผู้เชียวชาญย้ำว่าไม่มี “ระดับที่ปลอดภัย” ของการรับแร่ใยหินไม่ว่าประเภทใดเข้าสู่ร่างกาย       

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 231 ช่วงเวลาที่ยากลำบาก

        ช่วงเวลาที่ผ่านมานับว่าเป็นวิกฤตความรุนแรงของคนทั้งโลก จากโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ สู่โควิด-19 ที่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสอันตราย ตัวเลขปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อทั่วโลกแล้วเกือบ 4.5 ล้านคน และเสียชีวิตกว่า 3 แสนคน  โดยสหรัฐอเมริกาคือประเทศที่มีความรุนแรงของผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตมากที่สุดในโลกหรือเฉลี่ยคิดเป็นร้อยละ 30 ของความรุนแรงทั้งหมด        หันกลับมาประเทศไทยแม้ตัวเลขจะดูน้อยเมื่อเทียบกับประเทศอื่น เพราะมีผู้ติดเชื้อเพียง 3,018 คน และเสียชีวิตเพียง 56 คน แต่สถานการณ์แบบนี้อาจยังไม่สามารถไว้วางใจหรือผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ ได้ การล็อคดาวน์ประเทศตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมด้วย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พร้อมด้วยแคมเปญ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ทำให้เกิดเทรนใหม่ในสังคม การทำงานจากที่บ้าน การที่ทุกคนเริ่มเว้นระยะห่างระหว่างกัน ต้องสวมหน้ากากอนามัย หน้ากากผ้าตลอดเวลาในที่สาธารณะ ล้างมืออย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดความเสี่ยงต่อตนเองและคนรอบข้าง        พฤติกรรมที่ปรับตัวเพื่อป้องกันตนเองจากเชื้อโรคนี้ ก็ทำให้เกิดคำถามต่อสังคมของกลุ่มคนทำงานด้านความปลอดภัยทางถนนว่า จริงๆ แล้วคนไทยกลัวโควิด-19 มากกว่ากลัวความรุนแรงจากอุบัติเหตุทางถนนใช่ไหม เพราะขณะที่ในแต่ละปีประเทศไทยมีคนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมากกว่า 20,000 คน แต่ความตื่นตัวด้านความปลอดภัยกลับมีน้อยกว่าไวรัสโควิด-19 ที่มีผู้เสียชีวิตรวมกันไม่ถึง 60 คน  และทุกคนพร้อมใส่หน้ากากผ้าเวลาขี่หรือซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์แต่กลับไม่ยอมสวมหมวกกันน็อค อะไรคือสิ่งที่ทำให้สองอย่างนี้ไม่เหมือนกัน เกิดคำถามกันขึ้นมาว่า ที่ผ่านมาเราทำมาถูกทางแล้วหรือยั        อย่างไรก็ตาม เมื่อค่อยๆ ลองวิเคราะห์เชิงลึกกันแล้ว ระหว่างความรู้สึกและความตื่นตัวจากอุบัติเหตุทางถนนกับไวรัสโควิด-19 คงไม่สามารถวัดหรือเปรียบเทียบกันได้มากนัก เพราะอุบัติเหตุทางถนนอาจจะเกิดกับคนบางกลุ่มบางพวกและบางคน แต่ไวรัสโควิด-19 เกิดได้กับคนทุกกลุ่มทุกคน ไม่เลือกว่าขับขี่หรือไม่ขับขี่รถโดยสาร อีกทั้งอุบัติเหตุทางถนนส่วนใหญ่เกิดจากความประมาทเห็นผลทันทีทันใด แต่โควิด-19 เกิดจากสิ่งที่มองไม่เห็น แม้ระวังแค่ไหนก็เสี่ยงเกิดขึ้นได้ และต้องใช้ระยะเวลาและขั้นตอนในการแสดงผลนานพอสมควร ดังนั้นการมีระยะเวลาแสดงผลที่นานกว่าย่อมให้เกิดความวิตกกังวลได้มากกว่า แต่ไม่ได้หมายความว่าอุบัติเหตุทางถนนไม่ใช่เรื่องสำคัญที่คนเราจะไม่สนใจ        มองในเชิงเศรษฐกิจกันบ้าง บริการขนส่งสาธารณะเกิดผลกระทบหนักหน่วง ที่เห็นได้ชัด คือ ผู้ประกอบการรถร่วมบริการหลายรายต้องปิดตัวลง เพราะทนพิษบาดแผลไม่ไหว ส่วน บขส. และ ขสมก. ไม่เดือดร้อนเท่าไหร่ เพราะรัฐเป็นผู้ให้การสนับสนุนหลัก ขณะที่ประชาชนคนทำงานยังต้องพบกับความยากลำบากในการใช้รถสาธารณะท่ามกลางจำนวนรถที่น้อยลง หลายคนต้องรอรถนานขึ้น แต่ค่าโดยสารยังแพงเหมือนเดิม และจากการคาดการณ์ของผู้เชี่ยวชาญ คาดว่าเราจะต้องอยู่กับโควิด-19 ไปอีกอย่างน้อย 1 ปี หรือมากกว่านั้น สิ่งที่เป็นกังวลตามมาคือ การเว้นระยะห่างทางสังคมจะสามารถทำต่อเนื่องได้หรือไม่ ในเมื่อคนทุกคนต้องกลับมาใช้ชีวิตปกติ ซึ่งการใช้บริการต่างๆ เช่น ระบบบริการสุขภาพ ห้างสรรพสินค้า อาจจะทำได้ แต่กับบริการขนส่งสาธารณะจะทำได้อย่างไร ในเมื่อเราต่างต้องมุ่งหน้าไปทำงานให้ทันเวลา การเบียดเสียดเพื่อไปทำงานในรถโดยสาร รถไฟฟ้า รถตู้ จะกลับมาอีกครั้ง  New normal ของการเดินทางคงต้องออกแบบกันใหม่ เพราะหากยังพึ่งพาระบบแบบเดิมๆ ย่อมไม่มีทางเป็นไปได้แน่นอน นี่แหละช่วงเวลายากลำบากอย่างแท้จริง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 230 สภาองค์กรผู้บริโภคเกิดช้า ผู้บริโภคมีแต่เสียประโยชน์ (1)

        นับแต่ประเทศไทยมีกฎหมายชื่อว่า “พระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ.2562” ซึ่งได้เริ่มใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 22 กรกฏาคม 2562 บรรดาองค์กรผู้บริโภคมีความตื่นตัวไปใช้สิทธิจดแจ้งสถานะองค์กรผู้บริโภคตามกฎหมาย เพื่อให้ได้ 150 องค์กรมารวมตัวกันเริ่มจัดตั้งเป็น “สภาองค์กรผู้บริโภค” เป็นองค์กรที่มีความเป็นอิสระเพื่อให้เกิดพลังในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคโดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐ  มีฐานะเป็น “ตัวแทนผู้บริโภคระดับประเทศ” คอยเป็นปากเป็นเสียง เรียกร้องสิทธิต่างๆ ให้กับผู้บริโภคเรา เช่นเดียวกับที่ภาคธุรกิจที่สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยคอยรักษาประโยชน์ให้ภาคธุรกิจ           ตอนนี้ผ่านมากว่า 8 เดือนแล้ว  “สภาองค์กรผู้บริโภค”ก็ยังไม่ได้เกิดขึ้น แต่ปัญหาผู้บริโภคยังเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ยิ่งในช่วงเวลานื้ที่มีไวรัสโควิด 19 กำลังระบาดในประเทศไทย ผู้บริโภคต้องเผชิญปัญหามากมาย ทั้งหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ล้างมือที่ขายเกินราคา ไม่มีคุณภาพสินค้าขาดตลาด  ถ้ามี"สภาองค์กรผู้บริโภค" ตอนนี้เราจะมีตัวแทน เป็นปากเป็นเสียงแทนเรา ในการตรวจสอบและเสนอแนะกับหน่วยงานรัฐ ให้ข้อมูลที่เป็นจริงกับผู้บริโภคเกี่ยวกับเรื่องหน้ากากอนามัย โต้แย้งข้อมูลปลอมที่อ้างว่าหน้ากากมีเพียงพอ รวมถึงแจ้งเตือนภัยผู้บริโภค เปิดเผยชื่อสินค้า ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ประกอบธุรกิจที่จำหน่ายหน้ากากปลอม ไม่มีคุณภาพมาตรฐานเอาเปรียบผู้บริโภค พร้อมรายงานไปยังหน่วยงานรัฐให้ดำเนินการบังคับใช้กฎหมาย         หรือ “ปัญหาของสายการบิน” ที่พบว่าในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉินที่ผู้บริโภคกำลังเผชิญกับปัญหาโรคระบาดจากเชื้อไวรัสโควิด 19 สายการบินต่างๆ มีการประกาศระงับการบริการ และแจ้งข้อเสนอให้ผู้บริโภคเลือกระหว่างการเลื่อนวันเดินทาง หรือเก็บเครดิตวงเงินไว้เพื่อใช้ในภายหลัง ซึ่งมีกำหนดเวลา 365 วัน โดยไม่มีทางเลือกให้ผู้บริโภคสามารถขอเงินคืนได้ หรือปัญหาสำหรับผู้ที่เลือกรับตามเงื่อนไขของสายการบิน แต่การติดต่อก็มีความยุ่งยาก เพราะไม่มีการใช้พนักงานมาประสานด้วยตนเอง กลับให้ผู้บริโภคติดต่อผ่านระบบ AI ที่เพียงการตอบคำถามตามที่ตั้งค่าไว้ ไม่สามารถให้คำอธิบาย หรือแก้ไขปัญหาแก่ผู้บริโภคได้อย่างเป็นรูปธรรม  สิ่งที่ผู้บริโภคต้องเผชิญคือ ถูกบังคับให้รับสิทธิตามที่บริษัทเสนอไว้ โดยไม่มีอำนาจต่อรอง บางคนติดต่อทำเรื่องขอเงินคืน แต่ก็ไม่ได้รับการดูแล และเงื่อนไขการกำหนดวงเงินเครดิตที่ไม่เป็นธรรมของสายการบินที่ให้เราต้องรีบใช้เงินตัวเองภายใน 365 วัน เรื่องต่างๆ เหล่านี้จะยังคงเกิดขึ้นต่อไป และเกิดซ้ำไปซ้ำมา เพราะเราไม่มี “ตัวแทน”มาคอยช่วยต่อรองแทนให้ ดังนั้น หากมี "สภาองค์กรผู้บริโภค" ก็จะเป็นตัวแทนของผู้บริโภค รวบรวมข้อมูลผู้เสียหาย รวมกลุ่มผู้บริโภคเจรจาต่อรองกับสายการบินต่างๆ เพื่อให้คืนเงินแก่ผู้บริโภคเต็มจำนวน รวมถึงตรวจสอบการกระทำของสายการบินต่างๆ ที่ออกเงื่อนไขที่ไม่เป็นประโยชน์กับผู้บริโภคให้หน่วยงานรัฐดำเนินการแก้ไข หรือออกกติการมากำกับให้เกิดแนวทางหรือมาตรการทางกฎหมายที่ป้องกันไม่ให้เกิดการเอาเปรียบ และคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค รวมทั้งสภาองค์กรผู้บริโภค ยังมีทีมนักกฎหมาย ทั้งทนายความและนักวิชาการเพื่อเข้าช่วยเหลือเจรจาต่อรอง รวมถึงฟ้องคดีเพื่อคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิแทนผู้บริโภคได้ด้วย        ประเด็นคุ้มครองผู้บริโภคยังเชื่อมโยงถึงเรื่อง “การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม” ด้วย โดยเกี่ยวข้องกับการบริโภคที่ยั่งยืน เช่น การที่บริษัท ร้านค้าต่างๆ เลือกใช้ภาชนะบรรจุอาหารที่ทำจากโฟม หรือพลาสติก ผู้บริโภคส่วนใหญ่โดยเฉพาะคนที่สั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชั่นรับส่งอาหารทางออนไลน์ มักไม่ทราบข้อมูลของภาชนะบรรจุภัณฑ์ที่ร้านค้าใช้  ส่วนผู้ประกอบธุรกิจรับส่งอาหาร หรือฟู้ดเดลิเวอรี่ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องของผู้บริโภค มีการไปเก็บค่าส่วนแบ่งจากร้านค้าเพิ่มขึ้น จนทำให้ร้านค้าต้องเพิ่มราคาอาหาร กระทบต่อผู้บริโภคโดยตรง หรือหากร้านใดมีการคิดค่าบริการขนส่งสินค้า การเก็บค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่แตกต่างกัน ผู้บริโภคก็ไม่สามารถทราบข้อมูลได้ทั้งหมด จึงต้องมี “ตัวแทนผู้บริโภค” ทำหน้าที่ในการรวบรวมข้อมูลจำเป็นที่ผู้บริโภคควรรู้ในการเลือกใช้บริการรับส่งอาหาร เพื่อใช้ข้อมูลในการตัดสินใจเลือกใช้ผู้ให้บริการที่เกิดประโยชน์กับผู้บริโภคสูงสุด มีข้อมูลเปรียบเทียบราคาค่าส่งของแต่ละราย รวมถึงช่วยตรวจสอบราคาอาหาร ค่าบริการเพื่อไม่ให้ถูกเอาเปรียบจากการคิดราคาค่าบริการที่ไม่เป็นธรรม            นอกจากนี้ “ตัวแทนผู้บริโภค” ยังช่วยทำหน้าที่วิเคราะห์ปัญหาภาพรวมที่เกิดขึ้น และมีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีกฎหมาย หรือมาตรการดูแลผู้บริโภค อย่างเช่น กรณีของการจัดการปัญหาค่าบริการของธุรกิจรับส่งอาหารในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉินของโรคระบาดโควิด 19  สภาองค์กรผู้บริโภคที่เป็นตัวแทนของผู้บริโภคสามารถเสนอแนะไปยังหน่วยงานรัฐ ให้ลดค่าจัดส่งอาหารแก่ผู้บริโภค โดยลดค่าส่วนแบ่งร้านค้า เนื่องจากช่วงเวลานี้ ผู้บริโภคประสบปัญหาค่าใช้จ่าย มีรายได้ลดลงจากสถานการณ์ปัญหาโรคระบาด จึงควรมีมาตรการช่วยเหลือผู้บริโภค อีกทั้งผู้ประกอบธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ มีรายได้มากขึ้นจากการที่ผู้บริโภคใช้บริการรับส่งอาหารมากขึ้น เนื่องจากไม่สามารถซื้อจากหน้าร้าน หรือกักตัวอยู่ในบริเวณที่พักตนเองเพื่อป้องกันโรค ดังนั้น เพื่อเป็นการส่งเสริมนโยบาย “หยุดเชื้อเพื่อชาติ” ควรลดราคาค่าจัดส่งแก่ผู้บริโภค โดยอย่างน้อยราคาต้องไม่เกินกว่าราคาอาหารหน้าร้าน พร้อมทั้งส่งเสริมค่าตอบแทนที่เป็นธรรมทั้งร้านค้าและผู้ส่ง  รวมถึงเสนอต่อผู้ประกอบธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ ควรมีนโยบายรักษาความปลอดภัยสุขอนามัยของผู้บริโภค และการบริโภคที่ยั่งยืน โดยการส่งเสริมให้ร้านค้างดใช้ภาชนะโฟมใส่อาหารร้อน หลีกเลี่ยงการใช้บรรจุภัณฑ์โฟม เพื่อลดขยะโลก โดยทำระบบแอปพลิเคชั่นสั่งอาหารให้มีเมนูเพื่อให้ผู้บริโภคเลือกร้านค้าที่ใช้ภาชนะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือมีระบบเลือกรับภาชนะที่ไม่ใช้โฟม เพื่อคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในการมีอิสระในการเลือกสินค้าและบริการ รวมถึงมีนโยบายควบคุมพนักงานส่งอาหารเลี่ยงการรับและทอนเงินสดในช่วงสถานการณ์โรคระบาดโควิด 19 ผู้ให้บริการควรมีช่องทางการโอนเงินที่ง่ายและสะดวกสำหรับผู้รับบริการ หรือกรณีจ่ายเงินสด พนักงานต้องสวมถุงมือป้องกัน เป็นต้น        ทุกท่านจะเห็นได้ว่า การมีสภาองค์กรผู้บริโภคนั้น สำคัญต่อผู้บริโภคมากขนาดไหน เพราะเกี่ยวข้องในเกือบจะทุกเรื่องในชีวิตประจำวัน และสำคัญยิ่งที่วาระวิกฤต ไม่เพียงเท่านั้นอีกบทบาทหนึ่งที่สำคัญของ สภาองคืกรผู้บริโภค คือ การสร้างและพัฒนาองค์กรที่ทำงานจริงจังในการพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคให้เข้มแข็ง ซึ่งจะขอกล่าวถึงในฉบับถัดไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 230 เคลื่อนไหวเดือนเมษายน 2563

กสทช.จับมือ 5 ค่ายมือถือออกโทรฟรีในเครือข่าย 100 นาที รับมือโควิด-19        หลังออกโครงการเพิ่มเน็ตมือถือ 10 GB และเพิ่มสปีดเน็ตบ้านเป็น 100 Mbps ไปไม่นาน วันที่ 20 เมษายน 2563 ทางสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ได้ร่วมกับ 5 ค่ายมือถือ AIS, DTAC, TOT, TRUE, และ CAT ออกมาตรการลดค่าใช้จ่ายด้านโทรศัพท์ ให้กับประชาชนผู้ใช้มือถือด้วยการเปิดให้โทรฟรี 100 นาทีในเครือข่าย คาดว่าจะมีผู้ใช้งานได้รับสิทธิ์ตามโครงการประมาณ 50 ล้านเบอร์ แต่ก็ยังต้องกดรับสิทธิ์ได้อยู่ดี (ช่วงเวลาเปิดให้กดรับสิทธิ์ 1-15 พ.ค. 63)        กสทช. ระบุ สถิติการใช้โทรศัพท์ พบว่าแม้ปัจจุบันจะมีการโทรหากันผ่านแอปพลิเคชัน เช่น ไลน์ วีดีโอคอล เฟซบุ๊ก แมสเซนเจอร์ ฯลฯ มากขึ้น แต่ประเทศไทยยังมีการโทรหากันผ่านระบบเสียงแบบปกติอยู่ถึงราว 70%   องค์การอนามัยโลกกล่าวชื่นชมระบบ อสม.ไทย เข้มแข็งสุดในยุคระบาดโควิด-19         รายงานจากองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย (WHO Thailand) เผยว่าการที่ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อไวรัสลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งมาจากอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) จำนวน 1,040,000 คน ซึ่งทำการลงพื้นที่เยี่ยมบ้าน ให้ความรู้เรื่องสาธารณสุข การใช้ยาและการเฝ้าระวังการระบาดของเชื้อไวรัส ในระดับชุมชน รวมถึงการทำรายงานถึงหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเจ้าหน้าที่อสม. เหล่านี้ถูกยกให้เป็นด่านหน้าสำคัญในการตรวจคัดกรองหาผู้ติดเชื้อระดับชุมชน        ทางกระทรวงสาธารณสุขของไทยเองก็กล่าวชื่นชม อสม. ว่า ส่วนหนึ่งที่ประเทศไทยสามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสได้ดีกว่าหลายประเทศเพราะการมีอสม. อยู่ในทุกจังหวัด ที่คอยทำงานอย่างหนัก ทั้งการหาข่าวผู้มีความเสี่ยงเฝ้าระวัง ติดตาม กักตัวบุคคลและให้ความรู้กับประชาชนว่าจะป้องกันการติดเชื้ออย่างไร ทำให้ขณะนี้การควบคุมโรคในจังหวัดต่าง ๆ เป็นไปด้วยดี เพราะมีอสม. เป็นรากฐานอันแข็งแกร่งของระบบสาธารณสุขนายกรัฐมนตรีสั่งให้บันทึกเหตุการณ์โควิด-19 ลงในหอจดหมายเหตุ        สถานการณ์โควิด-19 คือเรื่องใหม่ของมวลมนุษยชาติ นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงสั่งการให้มีการบันทึกเหตุการณ์โควิด-19 ลงในหอจดหมายเหตุของไทย เพื่อเป็นประโยชน์ในการศึกษาในอนาคต ร้องเรียน “ช็อปออนไลน์” ช่วงโควิดพุ่ง 5 พันราย            ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปัญหาออนไลน์ 1212 OCC หรือ Online Complaint Center ของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยว่า  จากการให้บริการคำแนะนำและรับเรื่องร้องเรียนปัญหาซื้อ-ขายออนไลน์ ในช่วงเดือน มกราคม-มีนาคม 2563  ที่ผ่านมา พบว่า ปัญหาที่มีการร้องเรียนและขอคำแนะนำเข้ามามากที่สุดคือ ปัญหาจากการซื้อขายทางออนไลน์ จำนวน 4,786 ครั้ง ส่วนใหญ่เรื่องของการขอคำปรึกษาเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของผู้ขายในออนไลน์ ก่อนการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคกว่า 40% รองมาคือการร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาที่ไม่ได้รับสินค้าหรือถูกหลอกลวงทางออนไลน์ 18% โดยประเภทของสินค้าที่พบปัญหาการซื้อขายออนไลน์มากที่สุด ได้แก่ สินค้าแฟชั่น และ อุปกรณ์ไอที เป็นต้น นอกจากนี้ ยังพบการร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาเว็บไซต์ผิดกฎหมายเข้ามาที่ศูนย์ฯ จำนวน 4,772 ครั้ง        นอกจากนี้ในช่วงเดือน มกราคม – 12 เมษายน 2563 พบสถิติการร้องเรียนจากผู้บริโภคเกี่ยวกับปัญหาการสั่งซื้อหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ล้างมือทางออนไลน์แล้วไม่ได้รับสินค้าเพิ่มขึ้น จำนวน 234 ครั้ง จึงได้ประสานร้านค้า ผู้ขาย และดำเนินการแก้ไขปัญหาให้ผู้บริโภคได้รับสินค้าให้ได้รับการชดเชยเรียบร้อยแล้ว 10% ส่วนกรณีที่เหลืออยู่ระหว่างการดำเนินการ   สมาคมโรคติดเชื้อเตือนไม่จำเป็นต้องฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อตามบ้านเรือน         12 เมย. 2563 เพจเฟซบุ๊ก สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย โพสต์ข้อความโดยระบุว่า ความกังวลเรื่องของการปนเปื้อนเชื้อในสถานที่สาธารณะต่าง ๆ และที่พักอาศัย ตลอดจนในร่างกายของผู้ป่วย ทำให้เกิดการปฏิบัติที่หลากหลายด้วยความเข้าใจคลาดเคลื่อน เช่น การฉีดน้ำยาฆ่าเชื้อบนร่างกายของบุคคลทั่วไป ทั้งในลักษณะของการสร้างอุโมงค์ให้เดินผ่านหรือเดินผ่านไปตามทางเดินปกติ การฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อบนถนนหรือสถานที่สาธารณะต่าง ๆ ตลอดจนภายในอาคารบ้านเรือนที่พักอาศัยหรือร้านค้า ว่าจะช่วยฆ่าเชื้อโควิดได้ นั้น        ทางสมาคมโรคติดเชื้อขอชี้แจงเรื่อง การฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อลงบนตัวบุคคลหรือสถานที่ เพื่อฆ่าเชื้อโคโรนาไวรัส ดังนี้         1.การฉีดพ่นทำลายเชื้อบนร่างกายของบุคคล ไม่ช่วยเพิ่มความปลอดภัยต่อการติดเชื้อ เนื่องจากหากบุคคลมีเชื้อไวรัสอยู่ เชื้อจะอยู่ที่ทางเดินหาย ใจ ซึ่งการพ่นยาฆ่าเชื้อในสักษณะดังกล่าว จะไม่สามารถทำลายเชื้อได้ นอกจากนี้ ยาฆ่าเชื้อยังอาจจะเป็นอันตรายต่อคนได้ จึงไม่ควรทำโดยเด็ดขาด         2. ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ หรืออบฆ่าเชื้อด้วยสารเคมีต่างๆ บนถนน สถานที่สาธารณะ หรืออาคารบ้านเรือนใดๆ ไม่ว่าในสถานที่นั้นจะมีผู้ป่วยโรคนี้หรือไม่ การปฏิบัติดังกล่าวเป็นการสิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน์ เพราะไม่ช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแต่ประการใด         การป้องกันการแพร่เชื้อที่ถูกต้องคือ การรักษาระยะห่างระหว่างบุคคล การใช้หน้ากากอนามัยอย่างถูกต้อง และการรักษาความสะอาดของมือ หากจะทำความสะอาดในกรณีที่มีผู้พักอาศัยหรือผู้ใช้บริการในร้านค้าป่วยเป็นโรคนี้ แนะนำให้ใช้วิธีเช็ดถูด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ และยังมีคำแนะนำอื่น ซึ่งดูรายละเอียดได้ที่ https://www.idthai.org/Contents/Views/… โควิดส่งผลขยะพลาสติก-เศษอาหารพุ่งขึ้ิน ชี้ไร้คัดแยก เหตุกลัวไวรัส         นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า ในช่วงเดือนมกราคม – มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา เป็นช่วงที่หลายๆ ประเทศ รวมทั้งประเทศไทยอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ส่งผลกระทบต้องมีการประกาศมาตรการต่างๆ รวมทั้งจำกัดการเดินทาง ให้ประชาชนอยู่แต่ในบ้าน ปิดบริการเกือบทุกอย่าง ยกเว้นที่จำเป็น เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหาร ร้านยา เป็นต้น ส่งผลต่อการคัดแยกขยะและปริมาณขยะอย่างมาก         จากข้อมูลที่ได้จากผู้เก็บขนขยะของกรุงเทพมหานคร พบว่า ปริมาณขยะในภาพรวมมีปริมาณน้อยลงกว่าช่วงปกติ แต่ขยะพลาสติกมีปริมาณเพิ่มขึ้น อาทิ กล่องพลาสติกใส่อาหารสำเร็จรูปหรืออาหารแบบเดลิเวรี่ รวมทั้งช้อนส้อมพลาสติก แก้วพลาสติกและหลอดดูดที่ใช้เครื่องดื่ม เนื่องมาจากประชาชนส่วนใหญ่จำเป็นต้องทำงานอยู่บ้าน (Work from Home ) ส่งผลให้ต้องใช้บริการสั่งของออนไลน์ และฟู้ดเดลิเวอรี่ที่เพิ่มมากหลายเท่าขึ้น อาทิ LINE MAN , GRAP FOOD , GET FOOD , FOOD PANDA    นอกจากนี้ พบว่า ปริมาณขยะเศษอาหารถูกทิ้งปะปนมากับขยะทั่วไปมีปริมาณเพิ่มขึ้น เนื่องจากครัวเรือนและผู้จัดเก็บไม่มีการคัดแยกขยะก่อนนำไปกำจัด เนื่องจากกลัวการติดเชื้อไวรัส 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 230 เงื่อนไขประกันภัยที่ต้องรู้

ช่วงนี้หลายคนคงสนใจทำประกันโควิด-19   ผมจึงขอแนะนำบางเรื่องที่ควรใส่ใจ แม้การทำประกันอาจเป็นเรื่องที่ดี เพราะเป็นการวางแผนและประกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต หากแต่ทุกอย่างก็ย่อมทั้งมีข้อดีและข้อเสีย      หากไม่ศึกษารายละเอียดให้ดี อาจจะต้องทนปวดหัวกับปัญหาที่ต้องตามมา เสียทั้งเงิน เสียทั้งเวลาก็ย่อมได้    ฉะนั้นก่อนทำสัญญาประกัน ขอให้ทุกท่านอ่านข้อความ เงื่อนไขต่างๆ ให้จบก่อน แล้วค่อยไปทำสัญญานะครับ         อย่างในตัวอย่างที่หยิบยกมาคุยในวันนี้ ก็จะเป็นคดีประกันที่ศาลฏีกาได้เคยตัดสินถึงความรับผิดของบริษัทผู้รับประกันภัยรถยนต์ที่ยังต้องรับผิด  แม้รถยนต์ที่เอาประกันภัยจะมีการขายให้บุคคลอื่นไป แต่เมื่อการซื้อขายไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็ถือว่ารถยนต์ยังเป็นของผู้เอาประกันภัย เมื่อรถยนต์ที่เอาประกันภัยไว้สูญหาย บริษัทประกันก็ย่อมมีหน้าที่ผูกพันตามสัญญาประกันภัย คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13071/2558         โจทก์เช่าซื้อรถยนต์มาจากบริษัทเงินทุน ก. โจทก์จึงมีเพียงสิทธิครอบครองและใช้ประโยชน์ในรถยนต์ เมื่อโจทก์ขายรถยนต์คันที่เช่าซื้อให้แก่ บ. โดยมีข้อตกลงให้ บ. ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อที่เหลืออันเป็นการโอนสิทธิการเช่าซื้อโดยบริษัทเงินทุน ก. ไม่ได้ตกลงด้วย ย่อมเป็นการโอนสิทธิการเช่าซื้อโดยมิชอบ และไม่มีผลผูกพันบริษัทเงินทุน ก. ผู้ให้เช่าซื้อ โจทก์จึงยังคงต้องรับผิดต่อบริษัทเงินทุน ก. ตามสัญญาเช่าซื้อเช่นเดิม และหากมีการชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วนแล้ว รถยนต์ที่เช่าซื้อก็ตกเป็นสิทธิของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 572 ทำให้โจทก์สามารถโอนรถยนต์ทางทะเบียนให้แก่ บ. ต่อไปได้ การที่ บ. ครอบครองรถยนต์ที่เช่าซื้อตามสัญญาซื้อขายจึงเป็นเพียงการครอบครองแทนโจทก์ โจทก์จึงยังเป็นผู้มีส่วนได้เสียในรถยนต์ที่เช่าซื้อในขณะทำสัญญาประกันภัย สัญญาประกันภัยระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงมีผลผูกพันตามกฎหมาย เมื่อรถยนต์ที่เช่าซื้อซึ่งโจทก์เอาประกันภัยไว้กับจำเลยสูญหายไป โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยได้         ขณะเกิดเหตุ บ. ติดเครื่องรถยนต์ที่เช่าซื้อไว้โดยไม่ล็อกประตูรถ แล้วเดินไปสูบบุหรี่ห่างจากตัวรถนานประมาณ 20 นาที โดยไม่เห็นจุดจอดรถยนต์ เป็นการจอดรถยนต์ไว้ในลักษณะไม่ใส่ใจ และไม่สนใจว่าจะเกิดเหตุร้ายกับรถยนต์หรือไม่ เมื่อรถยนต์ที่เอาประกันภัยไว้สูญหายไป พฤติการณ์ถือว่าเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของ บ. ซึ่งเป็นผู้ครอบครองรถยนต์ที่เช่าซื้อแทนโจทก์ จำเลยในฐานะผู้รับประกันภัยจึงไม่ต้องรับผิดในความสูญหายของรถยนต์ที่เช่าซื้อซึ่งรับประกันไว้ต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 879 วรรคหนึ่ง         จากคดีนี้ เราจะเห็นได้ว่าโจทก์ผู้เอาประกันภัย หลังจากทำสัญญาประกันภัยแล้ว ได้ขายรถให้ บ. ดังนั้น บ.จึงถือว่าเป็นผู้ครอบครองรถยนต์แทนโจทก์ เมื่อรถยนต์สูญหายอันเกิดจากความประมาทอย่างร้ายแรงของ บ. กฎหมายก็ถือเสมือนว่า โจทก์เป็นผู้ประมาทเลินเล่อร้ายแรงเองทำให้รถยนต์สูญหาย บริษัทประกันจึงไม่ต้องรับผิดตามกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 879        “ มาตรา 879  ผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิดในเมื่อความวินาศภัยหรือเหตุอื่นซึ่งได้ระบุไว้ในสัญญานั้นได้เกิดขึ้นเพราะความทุจริต หรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ ”        อีกคดีเป็นเรื่องของผู้เอาประกันภัย ที่ประมาทเลินเล่อขับรถชนรถคันอื่นจนเกิดความเสียหาย เมื่อประกันชดใช้ค่าเสียหายแก่บุคคลภายนอกไปแล้ว ก็มีสิทธิเรียกร้องคืนจากผู้เอาประกันภัยที่ทำละเมิดได้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8789/2559         การที่จำเลยที่ 1 ขับรถชนรถคันอื่นจนทำให้เกิดความเสียหายแก่รถอื่นถึง 3 คัน ย่อมเป็นผลโดยตรงอันเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 ซึ่งขับรถด้วยความเร็วสูงในขณะเมาสุรา เมื่อตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ท้ายตารางกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ข้อ 7 ระบุว่า การประกันภัยไม่คุ้มครองความรับผิดอันเกิดจาก 7.6 การขับขี่โดยบุคคลซึ่งในขณะขับขี่ มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเส้นเลือดไม่น้อยกว่า 150 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ข้อ 8 วรรคสอง ระบุว่าเงื่อนไขตาม 7.6 บริษัทจะไม่นำมาเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกเพื่อปฏิเสธความรับผิด เมื่อโจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บุคคลภายนอกไปแล้วตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัย ข้อ 8 วรรคสาม โจทก์มีสิทธิเรียกร้องเอาคืนจากผู้เอาประกันภัยได้         ตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัย ผู้เอาประกันภัยที่จะถูกเรียกค่าสินไหมทดแทนคืนจากบริษัทผู้รับประกันภัยนั้น หมายถึง ผู้เอาประกันภัยที่เป็นผู้ทำละเมิดต่อบุคคลภายนอก แต่ขณะเกิดเหตุคดีนี้จำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัยมิใช่เป็นผู้ทำละเมิด โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกคืนค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ 2 แม้จำเลยที่ 2 มิได้ยกปัญหาดังกล่าวขึ้นต่อสู้ แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)         สุดท้ายนี้ ฝากว่าหากมีคนใกล้ตัวกำลังวางแผนซื้อประกัน ขอให้มีสติ พึงระลึกว่าก่อนทำสัญญาประกัน เรามีอำนาจต่อรองมากกว่า มีสิทธิเลือกว่าจะทำกับเจ้าไหนก็ได้ ควรตรวจสอบเงื่อนไขต่างๆ ให้ดี เพราะเมื่อทำสัญญาแล้ว เขาได้เงินเราไปแล้ว อำนาจต่อรองเราลดลงทันที และอาจต้องปวดหัวกับเงื่อนไขต่างๆ   ดังนั้น ขอย้ำอีกครั้งว่าก่อนทำสัญญาอ่านเงื่อนไขต่างๆ ให้ดีนะครับ เพื่อประโยชน์ของท่านเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 230 ติดตาม COVID-19 กับ COVID Tracker

        ช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เป็นช่วงที่ทุกคนต้องการรับทราบข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์มาใช้ในการเฝ้าระวังตนเองและครอบครัวให้มากที่สุด โดยแต่ละคนอาจใช้วิธีการติดตามข้อมูลข่าวสารที่แตกต่างกันออกไป อย่างเช่น ติดตามจากโทรทัศน์ จากเฟสบุ๊ค จากทวิตเตอร์ จากจังหวัด จากชุมชน ฯลฯ ซึ่งข่าวสารที่ได้รับมาอาจมีข้อมูลที่มีความผิดพลาด บิดเบือน หรือไม่ถูกต้อง จนทำให้เกิดสภาวะตื่นตระหนกกับข้อมูลข่าวสารนั้นๆ แม้ว่าจะเป็นจริงหรือไม่ก็ตาม        ฉบับนี้จึงมาแนะนำเว็บไซต์ที่เป็นเหมือนศูนย์เช็คข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่มีการอัพเดทข้อมูลข่าวสารการระบาดของเชื้อในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศไทยแบบเรียลไทม์ เว็บไซต์นี้มีชื่อว่า COVID Tracker หรือลิ้ง https://covidtracker.5lab.co/ ผู้ที่คิดค้นเป็นกลุ่มทีม 5lab ซึ่งเป็นบริษัทออกแบบเว็บไซต์และแอปพลิเคชั่น ได้เห็นว่ามีข่าวปลอมและข้อมูลที่แพร่สะพัดเป็นจำนวนมาก ทำให้ไม่แน่ใจว่าจะเชื่อถือข้อมูลข่าวสารอันไหนดี ด้วยเหตุผลนี้จึงทำให้มีความคิดที่จะสร้างเว็บไซต์นี้ขึ้นมา เพื่อกลั่นกรองข้อมูลข่าวสารโดยการดึงข้อมูลจากสื่อหลักและหน่วยงานที่มีความน่าเชื่อถือมาประกอบ         ปัจจุบันเว็บไซต์ COVID Tracker มีผู้ติดตามอยู่จำนวนมาก โดยหน้าหลักในเว็บไซต์ COVID Tracker จะแสดงภาพแผนที่ประเทศไทย และสัญลักษณ์เพื่อแสดงพิกัดของผู้ติดเชื้อทั่วประเทศไทย ซึ่งสัญลักษณ์ที่ใช้จะเป็นภาพไอคอนต่างๆ และสีที่แตกต่างกันเพื่อแสดงความหมายของสถานะผู้ป่วยและสถานะข่าวทีเกิดขึ้น ทั้งนี้ผู้ติดตามสามารถคลิกดูความหมายของไอคอนได้จากมุมด้านล่างซ้าย         สัญลักษณ์ไอคอนเหล่านี้จะแสดงบนแผนที่ประเทศไทย ตามพิกัดที่เกิดข่าวหรือมีผู้ป่วยเกิดขึ้น เมื่อคลิกบริเวณสัญลักษณ์ไอคอน ระบบจะแสดงข้อความที่มีรายละเอียดของผู้ป่วย รายละเอียดสถานที่ แจ้งวันที่เกิดข่าว รายงานสถานะของผู้ป่วย รวมทั้งแจ้งว่าเป็นข้อมูลที่ได้รับการยืนยันแล้วหรือไม่         ด้านบนสุดของหน้าเว็บไซต์จะเป็นตัวอักษรวิ่ง เพื่อแจ้งตัวเลขล่าสุดของจำนวนยอดสะสม จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่ม จำนวนผู้เสียชีวิต และจำนวนผู้ที่รักษาหาย ในแต่ละวัน และทางด้านบนขวาจะมีเมนูที่เขียนว่า ดูข่าวล่าสุด ซึ่งเป็นเมนูที่แจ้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยเรียงเหตุการณ์ก่อนหลังจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ในทุกข้อมูลที่ปรากฎอยู่บนหน้าเว็บไซต์จะลิ้งไปยังแหล่งข้อมูลที่แจ้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น โดยสามารถเข้าไปคลิกเพื่ออ่านข้อมูลจากแหล่งข้อมูลได้โดยตรง         เว็บไซต์ COVID Tracker ยังมีการรวบรวมข้อมูลพิกัด รายละเอียดและเบอร์โทรศัพท์ของโรงพยาบาลต่างๆ ไว้บนหน้าเว็บไซต์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ติดตามและผู้ป่วยที่ต้องการเข้ารับการตรวจในโรงพยาบาล นอกจากนี้เว็บไซต์นี้ยังมีการแปลเป็นภาษาอังกฤษ ภาษาญี่ปุ่น และภาษาจีน เพื่อรองรับชาวต่างชาติอีกด้วย         สำหรับผู้ติดตามเว็บไซต์ COVID Tracker ยังสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารผ่านทางทวิตเตอร์ (Twitter) ได้ที่ @covidtrackerth ได้อีกช่องทางหนึ่ง         เว็บไซต์ COVID Tracker จึงเป็นเว็บไซต์ที่ตอบโจทย์ความต้องการในการกลั่นกรองข้อมูลข่าวสารในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ได้ดีจริงๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 230 มันมาแล้วกับโควิด 19

        สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่กำลังระบาดในหลายประเทศ ก่อให้เกิดความตระหนกและตื่นตัว ผู้บริโภคต่างแสวงหาวิธีการ หรืออุปกรณ์ต่างๆ มาป้องกันตนเองและครอบครัว หน้ากากอนามัย เจลล้างมือ แอลกอฮอล์ น้ำยาทำความสะอาดเพื่อฆ่าเชื้อโรค ขาดแคลนเป็นระลอกๆ        เมื่อเข้าตาจน ผู้บริโภคหลายรายที่อ่อนไหวต่อสถานการณ์นี้ จึงแสวงหาทางเลือกอื่นๆ เพื่อนำมาใช้ป้องกันตัว เช่น มีการนำน้ำยาไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ที่ใช้ล้างแผลมาใช้ล้างมือแทนแอลกอฮอล์ หรือนำสุราขาวมาใช้แทนแอลกอฮอล์ล้างแผล ซึ่งความจริงแล้วแอลกอฮอล์ที่ใช้ฆ่าเชื้อได้ดีที่สุดต้องมีความเข้มข้น 70% หากน้อยกว่าหรือมากกว่านี้ประสิทธิภาพจะลดลง        นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้ผลิตบางรายถือโอกาสนำผลิตภัณฑ์แปลกๆ มาขายผู้บริโภค จนสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้ออกมาเตือนผู้บริโภคไม่ให้หลงเชื่อแผ่นป้ายหรืออุปกรณ์ห้อยคอต่างๆ (เช่น ปากกา พัดลม) ที่จำหน่ายในสื่อออนไลน์ โดยอวดอ้างสรรพคุณว่าสามารถปล่อยสารบางอย่างออกมา เพื่อช่วยกรองอากาศ ป้องกันและยับยั้งเชื้อไวรัสและแบคทีเรียในอากาศได้ สามารถใช้แทนหน้ากากอนามัยได้ ซึ่งความจริงผลิตภัณฑ์ที่อ้างว่าสามารถฆ่าเชื้อในอากาศได้นั้น จะจัดเป็นวัตถุอันตรายที่ใช้ตามบ้านเรือน ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 จะต้องมาขอขึ้นทะเบียนและขออนุญาตนำเข้ามาเพื่อจำหน่ายในประเทศกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาก่อน และต้องผ่านการประเมินด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยก่อนด้วย จึงจะสามารถจำหน่ายได้ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีผลิตภัณฑ์เหล่านี้ชนิดใด มาขออนุญาตกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเล         หลังจากนั้นไม่นาน ก็มีการเผยแพร่ทางออนไลน์อีก เป็นการเผยแพร่บทสวดมนต์อ้างว่า ปัดเป่าขับไล่ไวรัสได้ ในจังหวัดสมุทรสงครามเอง ก็มีผู้บริโภคมาเล่าให้ฟังว่า มีคนนำเหรียญหรือยันต์มาชักชวนให้ตนซื้อ เพื่อใช้ป้องกันโรคได้เช่นกัน          ดังนั้นขอย้ำให้ผู้บริโภคมั่นใจว่าวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันไวรัสและเชื้อโรคต่างๆ คือ         1. กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ : รับประทานอาหารปรุงร้อนจนสุก ใช้ช้อนกลางเมื่อรับประทานอาหารร่วมกัน         2. ใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันตนเอง เมื่อต้องไปอยู่ในที่ชุมชน หรือที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก มีผู้คนหนาแน่น         3. ดูแลร่างกายให้แข็งแรง เพื่อให้มีภูมิต้านทานโรค         วัตถุประหลาดใดๆ ไม่อาจช่วยให้รอดจากไวรัสได้ อย่าไปหลงเชื่อโดยเด็ดขาด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 230 สำรวย กล้าวิเศษ พ่อค้าผักสดกับวิกฤตโควิด-19

หลายคนเวิร์กฟอร์มโฮมแต่ชาวฉลาดซื้อเปลี่ยนสำนักงานเป็นที่พักชั่วคราวและอยู่กับที่ตามนโยบายป้องกันโรค อย่างไรก็ตามเราก็ต้องขวนขวายหากิน ทำให้มีโอกาสพูดคุยกับพี่สำรวย ซึ่งเปรียบเสมือนแหล่งอาหารสำคัญของเรา เพราะพี่เขาเข็นรถขายผักคันน้อยๆ มาอำนวยความสะดวกให้เราทุกวัน ฉบับนี้จึงขอพาทุกท่านไปสัมผัสกับชีวิตของพ่อค้าคนยากที่ผันตัวเองจากชาวนาบ้านนอกมาเป็นผู้ขนส่งอาหารแก่ชาวเมืองหลวง ที่พึ่งยามวิกฤตโรคระบาดแห่งปี 2563              พี่สำรวย กล้าวิเศษ พ่อค้าผักสด วัย 55 พื้นเพเป็นคนบุรีรัมย์ แล้วย้ายมาอยู่สุรินทร์ แต่มาได้แฟนที่ร้อยเอ็ด เดิมเขาเป็นชาวนา แต่ไม่พอกิน ทำให้ต้องออกมาทำมาหากินต่างถิ่น โดยเริ่มจากเป็นพ่อค้าที่จังหวัดชลบุรีก่อนจะมาค้าขายผลไม้ที่เมืองหลวงตอนอายุ 40 กว่าๆ หรือเมื่อกว่าสิบปีก่อน แต่พี่สำรวยเพิ่งผันตัวเองมาเป็นพ่อค้าขายผักสดเพราะเห็นว่า ได้กำไรดีกว่า ซึ่งถ้านับอายุงานก็เพียงแค่สองสัปดาห์เศษ เขากับรถเข็นคู่ใจ บรรทุกผักนานาชนิดไม่ต่างจากรถพุ่มพวงขนาดย่อม โดยเริ่มต้นทางจากตลาดมหานาค ตระเวณเข็นรถขายมาเรื่อยๆ จนถึงย่านอนุเสาวรีย์ชัยในเวลาสายๆ ค่อนไปเกือบเที่ยง มาค้าขายในกรุงเทพฯ เองหรือมีคนชักชวนมา         มีคนที่รู้จักสมัยก่อนทำงานด้วยกันชวนมา เขาให้ลองมาขายดู มาขายก็ดีเหมือนกัน เมื่อก่อนของมันถูก ขายได้แต่เดี๋ยวนี้ของแพงมาก แต่ก่อนผมไปหาบขายที่ชลบุรี ขายถั่วต้ม ไข่นกกระทา ขนมไข่หงส์ รับเขามาขายอีกที ขายอยู่ที่ชลบุรีไม่ถึงปีหาบหนักและมันไกลด้วย กินอยู่ก็ไม่สะดวก ฟืนไฟไม่ค่อยมี ตื่นแต่ดึกต้องต้มข้าวโพดต้มถั่ว ลำบากมาก เลยตามเพื่อนชวนเข้ามาขายผลไม้ตั้งแต่แรก ขายมาเรื่อยๆ จนถึงสิ้นปี ขายหลายที่แถวเยาวราช  หมอชิต สุขุมวิท เมื่อก่อนเดินไกลแต่เดี๋ยวนี้ไม่ไหวแล้ว ที่ต้องเดินเพราะจะได้ไม่ต้องเสียค่าที่ เดินเอาตลอด เพิ่งมาเสียค่าเช่าที่ตอนขายที่ซอยรางน้ำ ถ้าไม่เสียก็จอดรถเข็นไม่ได้ ขายที่รางน้ำคงได้นักท่องเที่ยวเยอะ        เมื่อก่อนขายคนจีนนะ ซอยรางน้ำคนจีนเยอะ ก็ขายมะม่วง มังคุด คนจีนเขาชอบทุเรียน มังคุด มะม่วง ลำไย ผลไม้หวานๆ ขายดีมาก เขาชอบของหวานๆ อย่างทุเรียนก็ชอบแบบสุกมากๆ ทำไมถึงเปลี่ยนมาขายผัก         เพิ่งขายได้ 2 อาทิตย์เอง ตอนนักท่องเที่ยวมากๆ เราขายผลไม้แบบชั่งเป็นกิโล ขายบริเวณแถวนี้ ซอยรางน้ำ ขายมะม่วง เงาะ ลำไย พวกมังคุด ละมุด พุทรา ขายผลไม้ทุกอย่างตามฤดูกาล เมื่อก่อนรายได้ดีแต่ตอนนี้ไม่ดีแล้ว พอเริ่มเจอโควิด 19 ก็ต้องเปลี่ยนเริ่มมาขายพวกผักตั้งแต่เดือนนี้ (เมษายน) คนเขาซื้อผักมากกว่าผลไม้ แต่ก็ลำบากเหมือนกัน ลำบากยังไง         มันขายยากขึ้นมากเลยครับ ต้นทุนของก็แพงมากขึ้นหาซื้อยากมาก ของที่ขายมีไม่เท่าเดิม(ความหลากหลาย) ผักหรือของบางอย่างก็ซื้อไม่ได้มันแพงเกินไป จะได้เท่าที่น้องเห็น บางทีลูกค้าถามหาผัก อย่าง คะน้า กวางตุ้ง ถั่วฝักยาว พวกนี้แพงมากหรือก็ไม่มีให้ซื้อ ถึงซื้อมาก็ขายยาก ขายไม่ได้มันแพงมาก พี่จัดการเวลาขายอย่างไร         ผมไปตลาดมหานาค (บ้านพี่สำรวยอยู่ใกล้ๆบริเวณนั้น) ไปให้ถึงตลาดตั้งแต่ตีสี่(หลุดเคอร์ฟิวแล้ว)  ยากมาก ไปตีสี่ ตีสี่กว่าๆ นิด กลับมาเตรียมของกว่าจะเสร็จก็สี่โมงเช้า (ต้องซื้อเจ้าประจำไหม) ไม่ๆ ถ้าเจ้าเดิมไม่มีเราก็เดินซื้อไปเรื่อยๆ ที่มีผักขาย บางทีถ้าซื้อเจ้าประจำตอนนี้เขาขึ้นราคาเราก็ซื้อไม่ได้ไง ตอนนี้ลำบากเมื่อก่อนขายผลไม้ก็ขายไม่ได้ ขายผักๆ ก็ราคาสูงขึ้นอีกยิ่งไปใหญ่เลย เดี๋ยวนี้ของ(ผัก) มันแพง ส่วนหนึ่งเพราะมันหายาก พวกรายย่อยต้องแย่งกันเอาของมาขาย อย่างถ้าเราไปทันก็ทัน แต่ถ้าไม่ทันก็เรียบร้อยเลย อด ต้องตื่นให้ทันคนเขา แต่ดีกว่าขายผลไม้ตรงที่คิดว่า ทุกคนต้องกินอาหาร ทำอาหาร ผักอะไรพวกนี้ทุกคนยังต้องกินอยู่ ตอนนี้ก็คือทำอย่างนี้ไปก่อน        ใช่ คนเขายังต้องการผัก ทำกินไปวันๆ ก่อน ขายไปเรื่อยๆ ชั่วโมงหนึ่งก็เดินไปเรื่อยๆ เป็นจุดๆ ไม่ใช่ว่าจอดรถทิ้งไว้ที่ไหนตลอด มีเพื่อนๆ พี่ที่เปลี่ยนมาขายผักแบบบ้างไหม        เยอะ รับของจากที่เดียวกันหมดเลย แต่ละคนก็กระจายกันไปตลาดไทยบ้าง สี่มุมเมืองบ้าง มหานาค ถ้าไม่มีรถก็ซื้อแถวมหานาค ปากคลองบ้าง เพราะไปรถเมล์ง่ายกว่า แล้วพ่อค้าแม่ค้าเจ้าประจำที่เราซื้อของเขา เขาลดราคาให้บ้างไหม        ราคาเขาลดบาทสองบาทได้ สมัยก่อน 50 สตางค์เอง เขาขายยกลังเขากินกำไรบาทสองบาท ถึงเป็นเจ้าประจำก็เหมือนเดิมเพราะเขาส่งมาแบบนั้น ที่เป็นเศษเขาก็ไม่เอา อย่าง 2,350 บาท 50 บาทเขาปัดออกให้เป็นถ้วน แต่บางคนไม่ลดเลย เต็มๆ เลย เขาบอกว่ากินกำไรแค่บาทสองบาท เป็นบางคนที่ลดให้ อย่างบางคนเราซื้อประจำเขาก็ไม่เอาเขาปัดออกเลยที่เป็นเศษ บางคนก็ไม่ได้จ่ายเต็มๆ เลยก็มีผักมันแพงมากแค่ไหนเมื่อเทียบกันกับช่วงเวลาปกติก่อนโควิดก็อย่างเคยขายถุงละ 80 บาทตอนนี้เป็น 200 บาทแล้ว คะน้าขึ้น 200 ผักบุ้ง 100 บาท ถั่ว 50 บาท เอามาขายไม่ได้มันแบ่งไม่ได้ อย่างเช่น เราเคยขายมะนาว ห้าลูก 10 บาท ตอนนี้ไม่ได้อะไรเลยคะน้าจากเดิมพี่ได้กำไรก็ได้ครึ่งต่อครึ่ง คะน้าธรรมดาแบ่ง 10 บาท มันได้ 20 กำ ตอนนี้ 20 กำ 200 บาท เราไม่ได้สักบาทเลย ส่วนผักที่เลือกมาขายคือที่ยังขายได้ มันได้ครึ่งๆ ก็ยังดี เราก็ยังได้ค่ากับข้าวค่าอะไรๆ บ้าง ถ้าเราขายหมด ถ้าขายไม่หมดกำไรก็ติดลบอยู่ ก็ไปซื้อมาเพิ่มอีกนิดหน่อย ไม่ต้องลงทุนเยอะ บอกได้ไหมว่าตอนนี้มีรายได้วันละเท่าไหร่        เมื่อก่อนมีรายได้วันละ 600 -  800 บาท แต่เดือนนี้ไม่ถึงแล้ว วันละ 400 - 500 บาท ก็ให้ได้เถอะ บางวันก็ได้ บางวันก็ไม่ได้ สมัยก่อนวันละเป็น 1,000 ถึง 2,000 บาท เดี๋ยวนี้ไม่ได้เลย เป็นทุกคนกระทบหมดเลยผักที่ขายดีที่สุดของเราในช่วงนี้คืออะไร         มีผักบุ้ง กวางตุ้ง คะน้า(ถ้าหามาได้) มะละกอก็ขายได้ดี ถั่วฝักยาว มะเขือพวง ทุกอย่าง 10 บาทหมด กะเพรา โหระพา ใบแมงลัก ก็ยังขายได้ พวกเครื่องแกงเครื่องต้มยำขายได้ คนเขาซื้อไปทำกินที่บ้าน คนที่มาซื้อเขามาซื้อปกติ หรือเขามีการป้องกันอะไรมากขึ้นไหมคะ         ระวังตัวเพิ่มมากขึ้น เขาก็จะถามว่าผักมีสารพิษไหม เราก็บอกไม่รู้ รับเขามา เราก็บอกเขาให้ไปแช่น้ำเกลือก่อนก็ได้แล้วค่อยทำกิน ทุกวันนี้เขาใช้สารเคมีทั้งนั้น ร้านส่งเขาก็ตอบไม่ตรง เขาก็บอกผักสวยผักงามแค่นี้แหละ คนกินก็ต้องดูแลตัวเอง ทุกวันนี้ก็มีสารพิษหมด เวลาไปซื้อเดินดูถูกใจก็ซื้อเลย เวลาเราถามเขาก็ตอบไปอย่างนั้นแหละ เขาบอกผักสวย ปลอดสารพิษนะ แต่ก็ไม่จริงหรอก ถ้าพี่เป็นคนกินเองเวลาพี่ซื้อผักพี่จะทำอย่างไร        ส่วนมากไม่ค่อยได้กินผักมาก อยู่บ้านนอกก็จะกินผักที่ปลูกที่บ้าน ผักสวนครัว แต่ถ้ากินผักก็จะดูที่ใบที่มีแมลงกิน ก็จะกินแบบนั้นเพราะส่วนมากจะไม่ปลอดภัย เวลาล้างก็แช่น้ำ แต่ส่วนมากไม่ค่อยทำกินเองซื้อเขากิน พวกผัดกะเพรา ต้มยำ ถ้าเป็นที่บ้านนอกจะปลูกเองผักที่ป่าเยอะเลย ปลูกกินเองก็มีเกิดจากธรรมชาติก็มี ถ้าฝากถึงรัฐบาลได้ เขาคงช่วยได้เป็นบางคน คงช่วยไม่ทุกคนหรอก ตัวผมนี่ยังไม่ได้อะไรเลย เมื่อก่อนขายได้แต่ตอนนี้ขายไม่ค่อยได้ เวลาขายมันสั้นมาก(ติดเคอร์ฟิว) เมื่อก่อนขายถึงเที่ยงคืนตีหนึ่ง แต่ตอนนี้ขายได้แค่สี่ทุ่ม แต่ก่อนมีร้านเย็บผ้า ร้านนวด สปาเขาซื้อเรา ถ้าได้ทิปเยอะ เขาก็ซื้อเยอะ แต่เดี๋ยวนี้ปิดหมดเลย ผักผลไม้ขายไม่ได้ มองข้างหน้าไว้อย่างไรบ้าง                   เหมือนมันไม่มีอะไรแน่นอน อยากให้มันแน่นอนบ้างนะ (น่าจะหมายถึงมาตรการหรือนโยบายเกี่ยวกับผู้ค้ารายย่อย) บางทีเราจอดตรงนี้ได้ พอไปๆ มาๆ ก็ยกเลิกบอกให้เราทำตรงนั้นตรงนี้ ทุกวันนี้มันไม่แน่นอนเดี๋ยวได้ย้ายอีก ถ้าที่ประจำเราจอดหน้าบ้านเราได้ อันนี้ที่ฟุตบาท บางทีเขาจะเปลี่ยนแปลงใหม่เขาก็ให้ย้ายไป อาชีพค้าขายไม่แน่นอนแบบพี่เลยไม่มีอะไรแน่นอนให้วางใจได้เลย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 229 เคลื่อนไหวเดือนมีนาคม 2563

กสทช. เคาะให้เน็ตฟรี 10 GB ปรับความเร็วเน็ตบ้านขั้นต่ำ 100 Mbps หนุนประชาชนทำงานที่บ้าน        นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการกสทช.กล่าวว่า ที่ประชุม กสทช. มีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือประชาชนและผู้ที่ได้รับผลกระทบฯ โดยการลดค่าใช้จ่ายด้านโทรคมนาคม และส่งเสริมการทำงานที่บ้าน รวมทั้งสนับสนุนการทำงานผ่านอินเทอร์เน็ตเพื่อเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเป็นเรื่องเร่งด่วนต่อไป ดังนี้        1. สนับสนุนให้ประชาชนสามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์เคลื่อนที่ (Mobile Broadband) เพิ่ม 10 GB ต่อคน ต่อเดือน ให้แก่ผู้ใช้งานในปัจจุบัน โดยผู้ใช้บริการ 1 คนจะได้รับการสนับสนุน 1 เลขหมาย ต่อ 1 ผู้ให้บริการ โดยจะสนับสนุนเป็นระยะเวลา 3 เดือน นับตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้ลงมติเห็นชอบมาตรการดังกล่าว จนถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2563 โดยใช้ฐานลูกค้าที่มีผู้ใช้งานอยู่ในปัจจุบัน ณ วันที่ครม.มีมติ เท่านั้น โดยประชาชนจะสามารถรับสิทธิได้ด้วยการลงทะเบียนผ่านระบบ USSD ของผู้ให้บริการแต่ละค่ายที่ตนใช้งานอยู่         2. สนับสนุนการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ประจำที่ (Fixed Broadband) ให้แก่ผู้ใช้งานในปัจจุบัน โดยปรับเพิ่มขนาดความจุ (Capacity) เท่าที่ผู้ให้บริการจะสามารถดำเนินการได้ กล่าวคือ กรณีบริการ ADSL/VDSL/Copper ให้ปรับเพิ่มความเร็วสูงสุดที่สามารถทำได้ และกรณีบริการ FTTX ให้ได้ระดับความเร็ว (Download) 100 Mbps   เลี่ยงใช้ยาไอบูโพรเฟนกับโควิด         องค์การอนามัยโลก (WHO) ออกคำแนะนำอย่างเป็นทางการ ให้ผู้ป่วยที่มีอาการของโรคทางเดินหายใจโควิด-19 หลีกเลี่ยงการรับประทานยาลดไข้และแก้อักเสบไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) เพราะมีความเสี่ยงที่จะทำให้อาการทรุดหนักลงไปอีกได้         ข้อมูลจากรายงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ Lancet ตั้งข้อสงสัยว่า เอนไซม์บางชนิดที่ถูกกระตุ้นด้วยยาไอบูโพรเฟน อาจทำให้การติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ลุกลามเร็วขึ้นและส่งผลรุนแรงขึ้นได้        "เราแนะนำให้ใช้ยาลดไข้อย่างพาราเซตามอลแทน และอย่าซื้อยาไอบูโพรเฟนมารับประทานเองโดยไม่ขอคำแนะนำจากแพทย์เสียก่อน" โฆษกประจำองค์การอนามัยโลกกล่าว เกษตรกรฟ้อง “เจียไต๋" 100 ล้าน เหตุเจ็บป่วยพิษพาราควอต        ศาลหนองบัวลำภู นัดสืบคดีไต่สวนครั้งแรกเป็นคดีประวัติศาสตร์ในไทยระหว่างเกษตรกรกับ “เจียไต๋” พร้อมเรียกค่าเสียหายพิษพาราควอตกว่า 100 ล้าน         นายปฏิวัติ เฉลิมชาติ ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคอีสาน กล่าวว่า ““ที่มาของการฟ้องร้องครั้งนี้เป็นผลเสียหายจากการที่เกษตรกรได้ใช้ยาฆ่าหญ้าของบริษัทในกลุ่มพาราควอต และได้เจ็บป่วยมีทั้งถูกตัดขา และมีผลกระทบเป็นโรคเนื้อเน่า รวมทั้งหมด 16 ราย เฉลี่ยรายละ 7-8 แสนบาท รวมแล้วกว่า 100 ล้านบาท ถือเป็นคดีประวัติศาสตร์ที่ฟ้องศาลเรื่องสารเคมี สาเหตุที่ฟ้องเจียไต๋  เนื่องจากเป็นบริษัทรายใหญ่ที่นำเข้าและจำหน่ายของประเทศไทย การฟ้องครั้งนี้จะฟ้องแบบกลุ่ม แต่ถ้าทนายของเจียไต๋ระบุว่าฝ่ายบริษัทเสียเปรียบเนื่องจากคำฟ้องครอบคลุมเกษตรกรคนอื่นที่ไม่ใช่ 16 ราย ด้วย จะต้องไปพูดคุยกันที่ศาลฯ”        ด้าน ดร.จรรยา มณีโชติ นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เป็นเรื่องดีที่จะได้ทำความจริงให้ปรากฏ พิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ไม่ใช่ความเชื่อ เพราะนั้นขอบคุณเกษตรกรที่ฟ้อง ซึ่งความจริงต้องฟ้องรายตัวปลูกพืชไม่เหมือนกัน มีความเสี่ยงแตกต่างกัน ส่วนบริษัทใหญ่ที่นำเข้าพาราควอตมากที่สุด ได้แก่ กลุ่มธุรกิจเอราวัณ รองลงมาเป็นกลุ่มบริษัทซินเจนทา ประเทศไทย ประกันสังคมช่วยผู้ประกันตนรับมือโควิด -19         โดยลดจ่ายเงินสมทบประกันสังคมนายจ้าง-ลูกจ้าง เหลือฝ่ายละ 4% จากเดิมที่กำหนดให้นำส่งฝ่ายละ 5% เป็นเวลา 6 เดือน เพื่อบรรเทาผลกระทบจาก โควิด-19         นอกจากนี้อยู่ระหว่างศึกษาและพิจารณาร่วมกัน 3 กองทุนสุขภาพ (สปส. สปสช. และกรมบัญชีกลาง) สำหรับการจ่ายค่าบริการทางการแพทย์เพิ่มให้กับสถานพยาบาลที่ให้การรักษาผู้ประกันตนที่ป่วยด้วยโรคโควิด-19 ให้ได้รับบริการอย่างทั่วถึงและเพียงพอ 'คืนเงินประกันไฟฟ้า' ไม่เกี่ยวมิเตอร์         จากเหตุที่มีประชาชนจำนวนมากสงสัยในเรื่องการคืนเงินประกันไฟฟ้า ตามมติคณะรัฐมนตรี เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนจากเหตุโควิด-19 โดยเข้าใจสับสนกับเรื่องมิเตอร์ไฟฟ้านั้น ได้มีการชี้แจงรายละเอียดดังนี้         การของคืนเงินประกันไฟฟ้า ของผู้ใช้ไฟฟ้าประเภท 1 บ้านที่อยู่อาศัย และประเภท 2 กิจการขนาดเล็ก จากฝ่ายผลิต(ผู้ให้บริการ) ไม่ว่าจะเป็นการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กปน.) “ไม่มีหมดเขต ไม่ต้องรีบร้อน ขอคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าทางออนไลน์ ที่ไหน เมื่อไหร่ก็ได้ โทรศัพท์มือถือ ...สะดวก สบาย ตลอด 24 ชั่วโมง         เงินค่าประกันการใช้ไฟฟ้า เป็นคนละส่วนกับมิเตอร์ไฟฟ้า เงินประกันการใช้ไฟฟ้า คือ เงินที่ผู้ใช้ไฟฟ้าได้วางเป็นหลักประกันไว้ โดยผู้ให้บริการไฟฟ้าทั้ง กฟภ.และกปน.  ใช้เป็นหลักประกันการชำระหนี้ค่าไฟฟ้า กรณีมีหนี้ค้างชำระ ค่าเบี้ยปรับ หรือหนี้อื่นที่เกี่ยวข้องกับการใช้ไฟฟ้า         ทั้งนี้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ได้เปิด 2 ช่องทางในการตรวจสอบสิทธิ์ และลงทะเบียนขอคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้า ได้แก่ 1.เว็บไซต์ https://dmsxupload.pea.co.th/cdp/  และ 2.การสแกน QR Code ในใบแจ้งค่าไฟฟ้า  สงสัยสอบถามสายด่วน 1129        ส่วนการไฟฟ้านครหลวง เปิดให้ตรวจสอบสิทธิ์และทะเบียน หลายช่องทาง ได้แก่ 1.เว็บไซต์ www.mea.or.th 2.เฟซบุ๊ค การไฟฟ้านครหลวง MEA 3.แอพพลิเคชัน MEA Smart Life 4.ทวิตเตอร์ @mea_news 5.ไลน์ @meathailand 6.สแกน QR Code ในใบแจ้งค่าไฟฟ้า  7.โทรศัพท์เบอร์ 02-256-3333 และ 8.ที่ทำการการไฟฟ้านครหลวง 18 เขต แต่จะเปิดช่องทางนี้ในเดือนพฤษภาคม 2563 เนื่องจากเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม การไฟฟ้านครหลวง เบอร์ 1130

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 229 สถานการณ์ฉุกเฉินจาก โรคติดต่อร้ายแรง Covid 19 ในเยอรมนี และเทคโนโลยีการพบแพทย์ที่ไม่ต้องเดินทางไปคลินิก

        วันนี้ผมขอนำเสนอสถานการณ์ของประชาชนในเยอรมนี ซึ่งกำลังประสบกับสถานการณ์ภัยพิบัติของ โรคติดต่อร้ายแรง Covid-19 ซึ่งทางเวบไซต์ของมูลนิธิทดสอบสินค้า ( Stiftungswarentest) ได้รวบรวมคำถามและข้อสงสัยที่เกิดขึ้นบ่อยๆ กับผู้บริโภค ในประเด็นต่างๆ โดยเฉพาะแหล่งของข้อมูลทางวิชาการที่เป็นกลาง เชื่อถือได้ และขอแนะนำการให้บริการปรึกษาแพทย์แบบ VDO call ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ ที่ช่วยลดความเสี่ยงในการต้องเดินทางไปพบแพทย์ด้วยตนเอง ซึ่งเป็นวิธีที่สอดคล้องกับสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดจาก โควิด 19 ดังนี้  เราสามารถหาข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ของ โลก กับการระบาดของ Covid-19 ได้จากไหนบ้าง         สำหรับประชาชนชาวเยอรมันสามารถหาข้อมูล ที่ทันสมัยได้จากเวบไซต์ของสถาบันวิชาการอิสระ Robert Koch Institute(https://www.rki.de/DE/Content/InfAZ/N/Neuartiges_Coronavirus/nCoV.html) ที่เผยแพร่จำนวนของผู้ติดเชื้อ จำนวนผู้เสียชีวิตจากโรค Covid 19 ซึ่งมีการปรับปรุงให้ทันสมัย และทันต่อสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในประเทศ หรือพื้นที่ ที่มีความเสี่ยงต่อการติดโรคนี้ได้ โดยเชื่อมโยงข้อมูลกับ แผนที่แบบ อินเตอร์แอคทีฟของศูนย์ระบบวิทยาศาสตร์และวิศวกรรม (Center for Systems Science and Engineering: CSSE) ของมหาวิทยาลัย Johns Hopkins University แห่งสหรัฐอเมริกา(https://gisanddata.maps.arcgis.com/apps/opsdashboard/index.html#/bda7594740fd40299423467b48e9ecf6) เราสามารถทราบถึงสถานการณ์ความปลอดภัยของประเทศปลายทางที่จะเดินทางไปได้อย่างไร         กระทรวงการต่างประเทศ ได้ออกคำเตือนประชาชนที่จะออกเดินทางไปต่างประเทศ ตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม 2563 แนะนำให้ยกเลิกการเดินทางที่ไม่จำเป็นในช่วงระยะเวลานี้ เพราะมีข้อจำกัดในการเดินทางทางอากาศ และมาตรการการกักตัว เพื่อเฝ้าระวังการติดเชื้อ และการจำกัดการใช้ชีวิตในที่สาธารณะที่เกิดขึ้นกับหลายๆ ประเทศ และบางประเทศกระทรวงต่างประเทศก็ประกาศยกระดับ เป็นประเทศที่มีความเสี่ยงสูง และอาจไม่สามารถเดินทางกลับประเทศได้ ถ้ามีมาตรการปิดประเทศ อย่างไรก็ตามรัฐบาลเยอรมนีมีมาตรการในการช่วยเหลือประชาชนที่ติดค้างอยู่ในต่างประเทศ โดยจัดลำดับตามความจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งสามารถดูข้อมูลที่ทันสมัยเพิ่มเติมจากเวบไซต์ของกระทรวงต่างประเทศได้ เราสามารถยกเลิกการเดินทางไปต่างประเทศ ที่เป็นประเทศเสี่ยงในการติดเชื้อ Covid-19 โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมได้หรือไม่         ผู้โดยสารสามารถใช้เหตุ ความไม่ปรกติของสถานการณ์ในการยกเลิกการเดินทางไปประเทศที่เสี่ยงกับการติดโรค โควิด-19 ได้ โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม สำหรับความหมายของคำว่า ความไม่ปรกติ ในกรณีของประเทศเยอรมัน คือ การประกาศเตือนของกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งผู้โดยสารสามารถใช้เป็นข้ออ้างได้ในการขอยกเลิกการเดินทาง จริงๆ แล้ว มีสภาพบ่งชี้ อื่นๆ ที่สามารถใช้เป็นเหตุผลในการขอยกเลิกการเดินทางได้เช่นกัน เช่น การปิดเมือง การปิดสถานที่ท่องเที่ยวบางจุด การปิดประเทศทีเราอาต้องเดินทางผ่าน         ในกรณีที่เราจองกรุปทัวร์ไว้ และเตรียมตัวจะเดินทางก่อน 1 เดือน หรือ 2-3 สัปดาห์ ในกรณีของ ภัยพิบัติและความเสี่ยงสูงจากการติดโรค Covid-19 ก็เข้าเกณฑ์ในการเกิด เหตุการณ์ไม่ปรกติ บริษัททัวร์ต้องคืนค่าใช้จ่ายทั้งหมดให้กับนักท่องเที่ยว โดยต้องไม่มีค่าธรรมเนียมในการบอกเลิกการเดินทาง (หมายเหตุ สำหรับกรณีอื่นๆ นั้น ยังไม่มีความชัดเจนทางกฎหมาย แล้วแต่กรณีในการที่จะ ใช้เหตุความไม่ปรกติของสถานการณ์) แพทย์สามารถให้คำปรึกษาผ่านระบบ VDO ได้แล้ว ประชาชนควรต้องเตรียมตัวอะไรบ้าง         ผู้ป่วยสามารถปรึกษาแพทย์ผ่านทางระบบ VDO call โดยจะเริ่มในเดือนเมษายนนี้ แต่บริการนี้แพทย์ต้องเป็นฝ่ายเสนอการให้บริการลักษณะนี้เอง ปัจจุบันการให้บริการผ่าน VDO call ยังมีข้อจำกัดอยู่ และทำได้เพียง 20 % ของเคสเท่านั้น ในไตรมาสที่ 2 ของ ปี 2020 คาดว่า จะสามารถให้บริการผ่าน VDO call ได้เต็มที่ ไม่มีข้อจำกัด สำหรับแพทย์ที่จะเปิดให้บริการผ่าน VDO call ต้องใช้ระบบ VDO call ที่ผ่านการรองรับมาตรฐานแล้วเท่านั้น         สำหรับการพบแพทย์ด้วยเทคโนโลยี VDO call นี้ เหมาะกับผู้ป่วยที่ต้องใช้ระยะเวลาในการเดินทางนานๆ และต้องรอคิวนานๆ ที่โรงพยาบาล ซึ่งมีความเสี่ยงสูงในการที่จะติดเชื้อระหว่างการรอพบแพทย์ และยังมีอาการเจ็บป่วยไม่มาก หรือการไปพบแพทย์ เพื่อตรวจสอบอาการหลังการรักษา การให้คำปรึกษาของแพทย์ด้วยเทคโนโลยีนี้ได้เริ่มทดลองมาตั้งแต่เดือน ตุลาคม ปีที่แล้ว (2019) การให้คำปรึกษาของแพทย์จะมีค่าธรรมเนียมที่คิดคำนวณจากระบบประกันสุขภาพ และไม่จำเป็นที่แพทย์และผู้ป่วยจะต้องรู้จักหรือพบปะกันมาก่อน นอกจากนี้ ผู้ป่วยติดเตียงที่ไม่สะดวกในการเดินทางไปโรงพยาบาลหรือคลินิคก็สามารถใช้บริการ VDO  Call กับผู้ดูแลผู้ป่วยติดเตียง (Care Giver) ได้อีกด้วย         สำหรับผู้ป่วยที่สนใจบริการผ่าน VDO Call จำเป็นต้องมีคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์สื่อสารอิเลคโทรนิค ที่ติดตั้ง ไมโครโฟน ลำโพง และเชื่อมต่อกับสัญญาณอินเทอร์เน็ต และต้องผ่านระบบการนัดคิวของผู้ป่วยกับแพทย์ ที่สำคัญระบบ VDO Call ต้องเป็นระบบที่ได้รับมาตรฐานการรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับระบบการรักษาความลับของผู้ป่วย และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล        แนวทางปฏิบัติของเยอรมนีนั้น ผมคิดว่า เยอรมนีได้วางระบบการปรึกษาแพทย์ผ่าน VDO call ซึ่งสามารถลดปัญหาการติดโรค โควิด-19 ได้ดีระดับหนึ่ง และอาจเป็นทางเลือกการให้บริการผู้ป่วยของไทยในอนาคตอันใกล้ หลังจากผ่านวิกฤติ โควิด-19 ที่แพร่กระจายไปทั่วโลก และเป็นชนวนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการใช้ชีวิตของมนุษยชาติตามมา  แหล่งข้อมูล มูลนิธิทดสอบสินค้า (Stiftungswarentest e.V.) https://www.test.de/Coronavirus-Was-Sie-zum-neuen-Virus-aus-China-wissen-sollten-5570361-0/#question-1

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 229 เปรียบเทียบประกันภัยเพื่อคุ้มครองความเจ็บป่วย หรือเสียชีวิตอันเกิดจากการติดเชื้อโรคโควิด-19

            จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ โควิด-19 (COVID-19) ในประเทศไทยที่มีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้คนไทยตื่นตัวที่จะซื้อประกันภัยเพื่อคุ้มครองความเจ็บป่วย หรือเสียชีวิตอันเกิดจากการติดเชื้อโรคโควิด-19 กันเป็นจำนวนมาก เพราะมีค่าเบี้ยประกันที่ไม่สูงนัก เพื่อลดความเสี่ยงที่จะต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาล หากพบว่าตัวเองติดเชื้อ ผลสำรวจเปรียบเทียบประกันภัยเพื่อคุ้มครองความเจ็บป่วย หรือเสียชีวิตอันเกิดจากการติดเชื้อโรคโควิด-19         ทีนี้มาดูเรื่องประกันภัยกันบ้าง เมื่อเราทราบแล้วว่ามีสิทธิการรักษาพยาบาลอะไร อย่างไรบ้าง เมื่อเลือกซื้อประกันก็ควรซื้อกรมธรรม์ที่ตอบโจทย์ของเราและมีสิทธิประโยชน์นอกเหนือจากสิทธิการรักษาพยาบาล เช่น บางคนอาจจะต้องการตรวจโควิด-19 ในขณะที่ยังไม่แสดงอาการ หรือต้องการเงินชดเชยในช่วงระยะเวลากักตัว 14 วัน เป็นต้น โดยในการซื้อประกันภัยแต่ละครั้ง นอกจากผู้บริโภคจะดูสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับแล้ว ยังต้องตรวจสอบรายละเอียด เงื่อนไข และข้อยกเว้นในการทำสัญญาด้วย เพราะประกันแต่ละตัวของแต่ละบริษัท ก็มีเงื่อนไขและข้อยกเว้นการรับประกันที่แตกต่างกันไป อีกทั้งบางบริษัทก็มีเงื่อนไขที่กำกวม หรือไม่ได้ระบุเงื่อนไขที่จำเป็นบางประการไว้         ฉลาดซื้อได้ทำการสำรวจประกันโควิด-19 จากโฆษณา เอกสารการขาย ที่สามารถหาได้จากสื่อต่างๆ และเวปไซต์ของบริษัทประกันชีวิต จำนวน 16  แห่ง โดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 31 มีนาคม ถึง 3 เมษายน 2563เงื่อนไขการรับประกันของทุกกรมธรรม์  1.ต้องมีใบรับรองแพทย์ระบุว่ามีการเจ็บป่วยด้วยภาวะโคม่า หรือภาวะสมองตายและระบบประสาทล้มเหลว หรือการเจ็บป่วยระยะสุดท้ายซึ่งเป็นการเจ็บป่วยรุนแรงที่แพทย์ลงความเห็นว่าไม่มีวิธีการรักษาให้หายได้ และ/หรือเป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตโดยมีสาเหตุหลักมาจากติดเชื้อไวรัสโคโรนา โควิด(COVID-19) 2. ระยะเวลารอคอย 14 วัน (Waiting Period )หลังจากวันที่กรมธรรม์มีผลบังคับใช้ หมายถึง ระยะเวลาที่ไม่คุ้มครอง/ระยะเวลารอคอย : บริษัทจะไม่จ่ายผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย หากผู้เอาประกันภัยได้รับการวินิจฉัยโรคจากแพทย์เป็นครั้งแรกว่าเป็นโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (Coronavirus (2019-nCoV)) ที่เกิดขึ้นภายในระยะเวลา 14 วัน นับแต่วันที่กรมธรรม์ประกันภัยมีผลบังคับเป็นครั้งแรกตามที่ระบุไว้ในหน้าตารางกรมธรรม์ประกันภัย) หมายเหตุ  :  หลักเกณฑ์การรับเงินค่าทดแทนสำหรับการเสียชีวิต/เจ็บป่วยระยะสุดท้าย และภาวะโคม่า มีดังนี้         ขณะที่กรมธรรม์ประกันภัยนี้มีผลบังคับและเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลารอคอย (Waiting Period) 14 วัน (กรณีกรมธรรม์ที่กำหนดระยะเวลารอคอย)  หากผู้เอาประกันภัยได้รับการวินิจฉัยโดยแพทย์ที่มีใบอนุญาตประกอบประกอบโรคศิลป์ตามกฎหมาย ว่าติดเชื้ออันเนื่องมาจากไวรัส COVID-19 ซึ่งมีลักษณะตามคำจำกัดความในกรมธรรม์ จนเป็นเหตุให้เสียชีวิตหรือต้องได้รับเข้ารับการรักษาพยาบาลเป็นผู้ป่วยใน บริษัทจะจ่ายค่าทดแทนสำหรับการเสียชีวิตให้ผู้รับผลประโยชน์ (กรณีระบุชื่อผู้รับผลประโยชน์) หรือทายาทโดยธรรม (กรณีไม่ได้ระบุชื่อผู้รับผลประโยชน์) ส่วนค่าทดแทนอย่างอื่นจะจ่ายให้แก่ผู้เอาประกันภัย*การเจ็บป่วยระยะสุดท้าย หมายถึง การเจ็บป่วยรุนแรงที่แพทย์ลงความเห็นว่าไม่มีวิธีการรักษาให้หายได้ และ/หรือ เป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตโดยมีสาเหตุหลักมาจากติดเชื้อไวรัสโคโรนา หรือ การเจ็บป่วยด้วยภาวะโคม่า หรือ ภาวะสมองตายและระบบประสาทล้มเหลว**ภาวะโคม่า หมายถึง  ภาวะอาศัยเครื่องช่วยหายใจและไม่ตอบสนองอย่างน้อย 96 ชั่วโมง และสมองถูกทำลายถาวรเกิน 30 วัน*** การเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ(อ.บ.1) หมายถึง การสูญเสียอวัยวะ หรือ สายตา หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง การขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์ รวมถึงการฆาตกรรมหรือถูกทำร้ายร่างกายข้อสังเกต        ·  ผู้ทำประกันสุขภาพต้องได้รับความคุ้มครองทุกโรค        ·  เจอ-จ่าย-จบ  หรือ เจอแล้วจ่าย ต้องสอบถามจากตัวแทนประกันภัยของแต่ละบริษัทว่ามีรายละเอียดอย่างไร        ·  บางกรมธรรม์มีข้อยกเว้นไม่รับทำประกันให้กับกลุ่มอาชีพพิเศษ หรือมีระยะเวลารอคอย ให้ผู้ซื้อประกันตรวจสอบกับผู้ขายก่อนซื้อแล้วก่อนจะซื้อประกัน โควิด-19 ควรดูอะไรบ้าง?         ภญ.ชโลม เกตุจินดา อนุกรรมการด้านการเงินการธนาคาร คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) และนางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ได้อธิบายผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ ในเพจมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ไว้ว่า จุดที่ควรสังเกตในการซื้อประกันภัยโควิด-19 มีอยู่ 4 เรื่องใหญ่ๆ คือ อายุ ปัญหาสุขภาพ ข้อยกเว้นความรับผิดชอบ และการขายพ่วงประกันอื่นๆ1. อายุผู้เอาประกัน เพราะกรมธรรม์แต่ละฉบับจะมีความคุ้มครองในช่วงอายุที่แตกต่างกันในการรับประกัน จึงควรศึกษาให้ดีก่อนซื้อประกันให้ตัวเองหรือคนใกล้ตัว2. ปัญหาสุขภาพ เงื่อนไขของกรมธรรม์บางฉบับ ไม่ได้ระบุหรือสอบถาม เกี่ยวกับสุขภาพและโรคประจำตัวต่างๆ ซึ่งผู้บริโภคควรศึกษาข้อมูลส่วนนี้ให้ละเอียด เนื่องจาก บริษัทอาจใช้ข้ออ้างในเรื่องปัญหาสุขภาพ หรือโรคเรื้อรังต่างๆ มาเป็นเหตุผลในการปฏิเสธความคุ้มครองภายหลังโดยอ้างเรื่องการปกปิด หรือไม่เปิดเผยข้อความจริง ซึ่งเป็นมาก่อนการทำประกัน ( ซึ่งเป็นไปตามข้อยกเว้นท้ายคำเสนอของกรมธรรม์นั้นๆ )3. ข้อยกเว้นในการรับผิดชอบ โดยปกติแล้วบริษัทประกันภัยจะคิดเงื่อนไขโดยคำนึงว่าให้บริษัทแบกรับความเสี่ยงน้อยที่สุด ดังนั้นจึงอาจมีการกำหนดหลักเกณฑ์ข้อยกเว้นสำหรับกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง เช่น เงื่อนไประกันของบางบริษัทมีข้อยกเว้นที่กำหนดเรื่องอาชีพเอาไว้ หากเป็นแพทย์ พยาบาล หรือกลุ่มอาชีพที่มีความเสี่ยงก็จะไม่อยู่ในเงื่อนไขการรับประกัน หรือบางบริษัทกำหนดว่าต้องติดเชื้อก่อนการซื้อประกันภัย โดยใช้เกณฑ์ระยะฟักตัว 14 วัน นั่นหมายความว่า ภายในระยะเวลา 14 วันหลังการซื้อประกัน คุณต้องไม่ป่วยเป็นโควิด ถ้าคุณป่วยประกันจะไม่รับผิดชอบ เป็นต้นและ 4. การขายพ่วงประกันอื่นๆ เช่น ประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุ ซึ่งบางคนอาจจะมองว่าเป็นเรื่องดีที่ได้ประกันในหลายรูปแบบ แต่นั่นก็จะทำให้ผู้บริโภคต้องจ่ายเบี้ยประกันเพิ่มขึ้นทั้งที่อาจไม่ได้มีความจำเป็น ดังนั้น หากต้องการซื้อประกันเกี่ยวกับเรื่องโควิด-19 ก็ให้ซื้อเฉพาะเรื่องไปเลย ไม่ต้องพ่วงเรื่องประกันอื่นๆ ซึ่งจะหมดไปพร้อมกัน         ทั้งนี้ หากผู้บริโภคอ่านรายละเอียดต่างๆ แล้วไม่เข้าใจหรือมีข้อสงสัย ควรโทรถามบริษัทประกันให้เข้าใจก่อน แล้วจึงตัดสินใจซื้อ ก่อนตัดสินใจ ควร 1. ผู้บริโภคต้องตรวจสอบเงื่อนไขความคุ้มครองของกรมธรรม์ให้ดี ก่อนที่จะสมัครทำสัญญา บางกรมธรรม์มักพ่วงประกันอุบัติเหตุร่วมด้วย และหากกรมธรรม์ มีข้อความว่า  ต้องเกิดอุบัติเหตุและติดเชื้อไวรัส Covid -19 พร้อมกัน จึงจะได้เงินตามเงื่อนไขของสัญญาประกันภัย ดังนั้น ถ้าเกิดติดเขื้อไวรัส Covid -19 เพียงอย่างเดียว หรือ อุบัติเหตุเพียงอย่างเดียว ไม่มีสิทธิรับเงิน เพราะไม่เข้าเงื่อนไข ตามสัญญา ดังนั้น ต้องตรวจสอบกรมธรรม์ให้ดีด้วย 2. เงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัยที่ระบุว่า "เป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิต โดยมีสาเหตุหลักมาจากติดเชื้อไวรัส COVID-19" อันนี้ ต้องดูความเห็นของแพทย์ บางคนหากติดเชื้อจริง แต่สาเหตุการเสียชีวิตมาจากโรคแทรกซ้อน เช่น ความดัน หัวใจวาย ปอดติดเชื้อ แพทย์ไม่ได้ระบุให้ชัดเจนว่าเสียชีวิตจากไวรัสโควิด ก็อาจไม่เข้าเงื่อนไขของประกัน 3. ผู้บริโภคที่เอาประกันต้องแจ้งข้อมูลสุขภาพก่อนทำสัญญา เพื่อป้องกันไม่ให้บริษัทประกันอ้างในภายหลังเกี่ยวกับการปกปิดข้อมูลสุขภาพ โดยเฉพาะกรณีติดเชื้อก่อนทำประกัน  ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบบ่อยในการปฏิเสธการจ่ายเงินตามสัญญาประกัน 4. ผู้ที่ทำประกันชีวิต และสุขภาพไว้แล้ว  ขอให้ทราบว่า กรมธรรม์ประกันภัยนั้นๆ จะรวมถึงการประกันกรณีติดเชื้อโควิดด้วยอยู่แล้ว ( ตาม“คำสั่งนายทะเบียนที่ 23/2563 เรื่องให้เพิ่มเติมเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยในระหว่างสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 สำหรับบริษัทประกันวินาศภัย”  )  ดังนั้น หากจะทำประกันภัยเพิ่ม ขอให้พิจารณาความจำเป็นอย่างรอบคอบ “คำสั่งนายทะเบียนที่ 23/2563 เรื่องให้เพิ่มเติมเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยในระหว่างสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 สำหรับบริษัทประกันวินาศภัย” อ่านรายละเอียดได้ที่ https://www.prachachat.net/finance/news-434595   หมายเหตุ 1 การเจ็บป่วยด้วยภาวะโคม่า หรือ ภาวะสมองตายและระบบประสาทล้มเหลว หรือ การเจ็บป่วยระยะสุดท้ายซึ่งเป็นการเจ็บป่วยรุนแรงที่แพทย์ลงความเห็นว่าไม่มีวิธีการรักษาให้หายได้ และ/หรือ เป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิต โดยมีสาเหตุหลักมาจากติดเชื้อไวรัส COVID-19          2 ค่าชดเชยรายได้ระหว่างรักษาตัวในโรงพยาบาลวันละ 1,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 50 วัน3 มีคุ้มครองการเสียชีวิต อวัยวะ สายตา ทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิงจากอุบัติเหตุ (อ.บ.1)      4 เงินชดเชยรายวันกรณีนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา วันละ 300 บาท (สูงสุด14 วัน)5 กลุ่มอาชีพพิเศษ ดังนี้ บุคลากรทางการแพทย์ (แพทย์, พยาบาล หรือเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาล) และพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในท่าอากาศยาน แอร์โฮสเตส สจ๊วต นักบิน6 เงินชดเชยกรณีนอนรพ.จากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 500 บ./วัน (สูงสุด14วัน)7ค่าชดเชยรายได้กรณีนอนรพ.จากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 300 บ./วัน (สูงสุด 30 วัน)  8ค่าชดเชยรายได้กรณีนอนรพ.จากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 700 บ./วัน (สูงสุด 30 วัน)  9ค่าชดเชยรายได้กรณีนอนรพ.จากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 1,000 บ./วัน (สูงสุด 30 วัน)         10 สำหรับผุ้ที่ซื้อกรมธรรม์ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป มีระยะเวลารอคอย 14 วัน

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 229 เหตุแห่งมาตรการทางกฎหมายกักตัวคุมโรค 14 วัน

        ในช่วงนี้หลายคนคงติดตามข่าวสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโรคโควิด-19 ซึ่งแต่ละประเทศก็จะมีมาตรการจัดการและป้องกันตามระดับความร้ายแรงของโรคที่เกิดขึ้น ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ก็มีข่าวอยู่ต่อเนื่องว่าหลายคนไปต่างประเทศกลับมาก็มีอาการป่วยและเพื่อป้องกันความเสี่ยงการระบาดของโรค รัฐก็ประกาศ “ขอความร่วมมือ” กลุ่มคนดังกล่าวกักตัวเองอยู่ที่บ้านอย่างน้อย 14 วัน ที่เน้นย้ำว่า เป็นการขอความร่วมมือเพราะช่วงนั้นยังไม่ได้มีการใช้อำนาจทางกฎหมายบังคับแต่อย่างใด ใครไม่กักตัวก็ไม่ผิด ต่อมา วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2563 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ออกประกาศมาฉบับหนึ่ง คือ “ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อและอาการสำคัญของโรคติดต่ออันตราย (ฉบับที่ 3 ) พ.ศ. 2563” ซึ่งประกาศดังกล่าว มีผลให้โรคติดเชื้อ “โควิด-19” (COVID) เป็นโรคติดต่ออันตราย ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 นำไปสู่มาตรการทางกฎหมาย ในการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรค ในประเทศไทยหลายอย่าง         ดังนั้นรู้กฎหมายฯ ในฉบับนี้ ผมจึงขอกล่าวถึงกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมโรคติดต่อดังกล่าว เพื่อให้ทุกท่านเข้าใจและคลายความสงสัยว่า มาตรการทางกฎหมายที่รัฐมีนั้นใช้บังคับได้เพียงใด ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่าเราทุกคนที่เกิดมาบนแผ่นดินไทย เรามีสิทธิเสรีภาพในการเดินทางครับ ทุกคนมีสิทธิเดินทางจะไปเที่ยวที่ไหนก็ไปได้ ในเรื่องนี้ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ฉบับปัจจุบัน ได้รับรองสิทธิและเสรีภาพของคนไทยในการเดินทางและเลือกถิ่นที่อยู่ ไว้ในมาตรา 38 ซึ่งบัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการเดินทางและการเลือกถิ่นที่อยู่การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชน หรือการผังเมืองหรือเพื่อรักษาสถานภาพของครอบครัว หรือเพื่อสวัสดิภาพของผู้เยาว์”  และมาตรา 28 บัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย การจับและการคุมขังบุคคลจะกระทำมิได้ เว้นแต่มีคำสั่งหรือหมายของศาลหรือมีเหตุอย่างอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ...”         ดังนั้นหากไม่มีกฎหมายกำหนดไว้ เรามีสิทธิเดินทางจะไปที่ไหนก็ได้ ไม่มีใครจะมีสิทธิมาจับตัวหรือนำเราไปกักขังได้ครับ แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ระบาดของโรคไวรัสโคโรน่า 2019 ทั่วโลกตื่นตัวกับเรื่องนี้และการติดเชื้อทำให้หลายประเทศมีผู้เสียชีวิต แถมพบการติดเชื้อในบ้านเราด้วย แบบนี้ถือว่าเกิดภาวะไม่ปกติแล้ว รัฐมีหน้าที่ต้องออกมาดำเนินการเพื่อป้องกันและควบคุมโรค สิ่งแรกที่รัฐทำเพื่อให้ตนเองมีอำนาจจัดการกับโรคติดต่อนี้ได้ตามกฎหมายคือ ออกประกาศก่อนเลยว่า โรคติดเชื้อ “โควิด-19” (COVID) เป็นโรคติดต่ออันตราย ผลคือเมื่อโรคนี้ถูกประกาศเป็นโรคติดต่ออันตรายแล้ว ก็จะถือว่าโรคดังกล่าวเข้าสู่มาตรการทางกฎหมายของพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ทันที ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขก็ได้ออก ประกาศว่าโรคติดเชื้อ “โควิด-19” (COVID) เป็นโรคติดต่ออันตราย และประกาศดังกล่าวก็เริ่มมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563         ดังนั้น นับแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563 เมื่อมาตรการทางกฎหมายตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 เริ่มมีผลใช้บังคับ ทำให้เจ้าพนักงานมีอำนาจในการจัดการเพื่อป้องกันและควบคุมโรคติดต่ออันตราย ดังนี้             1. เจอคนต้องสงสัยเป็นโรค COVID-19 แล้วต้องแจ้ง (มาตรา 31 และ 32 ) หากมีการพบผู้ต้องสงสัยว่าเป็นโรค ไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน สถานประกอบการ หรือสถานพยาบาล ต้องดำเนินการแจ้งต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่ ภายใน 3 ชั่วโมงที่ตรวจพบ และแจ้งให้กับกรมควบคุมโรคทราบโดยเร็วที่สุดในทุกช่องทาง             2. เรียกคนต้องสัยว่าเป็นโรค COVID-19 มาตรวจ ควบคุมตัวไว้จนกว่าจะได้รับการตรวจและการชันสูตรทางการแพทย์ว่าพ้นระยะติดต่อของโรคหรือสิ้นสุดเหตุอันควรสงสัย ( มาตรา 34 (1) )            3. ให้ผู้ที่มีความเสี่ยงมารับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค COVID-19 (มาตรา 34 (2) )             4. ให้นำศพหรือซากสัตว์ ซึ่งตายหรือสงสัยว่าตายด้วยโรค COVID-19 ไปรับการตรวจ หรือจัดการทางการแพทย์เพื่อป้องกันการแพร่ของโรค COVID-19 (มาตรา 34 (3) )            5. สั่งให้เจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้พักอาศัยในบ้านโรงเรือนสถานที่ หรือพาหนะ กำจัดความติดโรค COVID-19 หรือทำลายสิ่งใดๆ ที่มีเชื้อหรือสงสัยว่ามีเชื้อโรคติดต่อ COVID-19 (มาตรา 34 (4) )            6. สั่งให้เจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้พักอาศัยในบ้าน โรงเรือน สถานที่ หรือ พาหนะ กำจัดสัตว์ แมลง ตัวอ่อนของแมลงที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรค COVID-19 (มาตรา 34 (5) )             7. สั่งห้ามบุคคลไม่ให้กระทำการ หรือดำเนินการซึ่งอาจก่อให้เกิดสภาวะไม่ถูกสุขลักษณะ ซึ่งเป็นเหตุให้โรค COVID-19 ระบาดออกไป (มาตรา 34 (6) )             8. สั่งห้ามคนเข้าไปหรือออกจากที่ ซึ่งเจ้าพนักงานกำหนดให้เป็นสำหรับแยกกักหรือกักคนหรือสัตว์ เพื่อป้องกันไม่ให้โรค COVID-19 แพร่โดยทางตรงหรือทางอ้อมไปยังผู้อื่น (มาตรา 34 (7) )             9. เข้าไปในบ้าน โรงเรือน สถานที่ หรือพาหนะที่มี หรือสงสัยว่ามีโรค COVID-19 เกิดขึ้น เพื่อเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมมิให้มีการแพร่ของโรค (มาตรา 34 (8) )           10. กรณีจำเป็นเร่งด่วน ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดมีอำนาจในพื้นที่จังหวัดตนเอง ดังนี้                ·  สั่งปิดตลาด สถานที่ประกอบหรือจําหน่ายอาหาร สถานที่ผลิตหรือจําหน่ายเครื่องดื่ม โรงงาน สถานที่ชุมนุมชน โรงมหรสพ สถานศึกษา หรือสถานที่อื่นใดไว้เป็นการชั่วคราว (มาตรา 35 (1) )                 ·  สั่งให้ผู้ที่เป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรค COVID-19 หยุดการประกอบอาชีพเป็นการชั่วคราว (มาตรา 35 (2) )                 ·  สั่งห้ามผู้ที่เป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรค COVID-19 เข้าไปในสถานที่ชุมนุมชน โรงมหรสพ สถานศึกษาหรือสถานที่อื่นใดเว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ (มาตรา 35 (3) )           11. ในกรณีที่พบว่าผู้เดินทางเป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็น COVID-19 หรือเป็นพาหะนำโรค ให้เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อประจำด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศมีอำนาจสั่งให้บุคคล ดังกล่าว ถูกแยกกัก ถูกกักกัน ถูกคุมไว้สังเกต ได้รับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค (มาตรา 42 )     ดังนั้น 11 ข้อข้างต้นนี้ ผมต้องเรียนว่าเป็นเพียงบางส่วนเท่านั้นครับ ยังมีอำนาจและหน้าที่อีกหลายอย่างที่กฎหมายให้ไว้เพื่อให้เจ้าพนักงานควบคุมและป้องกันการระบาดของโรค COVID-19    ทั้งนี้ กฎหมายก็มีไว้เพื่อความปลอดภัยและความสงบสุขในสังคม ก็อยากให้ท่านผู้อ่านทุกท่านช่วยกันปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ไม่จำเป็นก็หลีกเลี่ยงการเดินทางไปต่างประเทศ เพื่อลดความเสี่ยงต่อตนเองและคนในครอบครัวและขอเป็นกำลังใจให้เจ้าหน้าที่และบุคลากรทางการแพทย์ทุกท่านครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 229 กระแสต่างแดน

 งานด่วน        ยักษ์ใหญ่ในวงการผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดกำลังแข่งกันว่าใครจะส่งสินค้าที่ “สามารถฆ่าไวรัสโคโรนาได้” ออกสู่ตลาดได้ก่อนกัน         เรกคิทท์ เบนคีเซอร์ (เจ้าของแบรนด์เดทตอล) แถลงเป็นรายแรกว่าได้ซื้อสเตรนของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 จากห้องปฏิบัติการอิสระมาแล้ว         ตามข้อกำหนดของยุโรปและอเมริกา ต้องมีผลการทดสอบจากห้องปฏิบัติการที่ผ่านการรับรองโดยหน่วยงานควบคุมมายืนยันว่าผลิตภัณฑ์นั้นฆ่าไวรัสได้ร้อยละ 99.99 จึงจะสามารถโฆษณาว่าผลิตภัณฑ์ “ฆ่าไวรัสได้”         ผลทดสอบจะออกปลายเดือนเมษายนนี้ แต่ยังต้องใช้เวลาอีกไม่ต่ำกว่าหกเดือนสำหรับการทดสอบอย่างเข้มข้นโดยหน่วยงานควบคุมอีกหลายครั้ง (ซึ่งมีค่าใช้จ่ายหนึ่งถึงสองแสนเหรียญ (3.2 ล้านถึง 6.4 ล้านบาท)         ข่าวไม่ได้ระบุราคาของไวรัส แต่แหล่งข่าวคาดการณ์ว่าอีกสามค่าย (โคลร็อกซ์, ยูนิลเวอร์, และ พรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล) คงจะซื้อสเตรนไวรัสสุดเฮี้ยนนี้มาแล้วเช่นกันคนจีนไม่ถูกใจสิ่งนี้        เป็นธรรมเนียมปกติสำหรับศิลปินดาราจีนที่จะต้อง “แทนคุณแผ่นดิน” ที่ผ่านมามีหลายคนมอบเงินบริจาคเพื่อสู้กับวิกฤติการระบาดของโรคโควิด-19 ที่เมืองอู่ฮั่น ชาวเน็ตจึงรวบรวมรายชื่อดาราและเงินบริจาคมาแชร์กันในโลกออนไลน์        งานนี้หลายคนได้รับการชื่นชมมาก เช่น เจย์ โชว์และภรรยาที่บริจาคให้มูลนิธิแห่งหนึ่งในมณฑลหูเป่ยเป็นเงิน 3 ล้านหยวน (13.7 ล้านบาท) หรือเจ้าเปิ่นชาน เจ้าพ่อแห่งวงการบันเทิงที่บริจาคให้กับเทศบาลเมืองอู่ฮั่นถึง 10 ล้านหยวน ( 45.8 ล้านบาท)         แต่บางรายโดนถล่มยับเพราะไม่เป็นไปตามความคาดหวังของชาวจีน เช่น หวงเสี่ยวหมิงและภรรยา ที่มอบเงินให้มูลนิธิแห่งหนึ่ง 200,000 หยวน (917,000 บาท)         โดนหนักที่สุดคือ คริสตัล หลิว นางเอกภาพยนตร์เรื่องมู่หลาน นอกจากถูกหาว่าขี้เหนียวเพราะบริจาคแค่ 200,000 หยวนแล้วเธอยังโดนประณามว่า “ไม่มีสำนึกรักบ้านเกิด” ด้วย  ไหนว่าไม่มี        คอนแทค เอนเนอร์ยี ผู้ประกอบการด้านพลังงานที่ใหญ่เป็นอันดับสองของนิวซีแลนด์ถูกสั่งปรับเป็นเงิน 245,000 เหรียญ (4.8 ล้านบาท) เนื่องจากทำผิด พ.ร.บ.การค้าที่เป็นธรรม ถึงเจ็ดข้อหา          บริษัทยอมรับผิดกรณีที่ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดในสาระสำคัญของโปรโมชัน Fuel Rewards Plans ในปี 2017 ที่โฆษณาว่าลูกค้าจะได้ส่วนลดลดค่าน้ำมัน 10 ถึง 50 เซนต์ต่อลิตรทุกเดือน และยังคำนวณให้ด้วยว่าใครที่เลือกโปรฯ แบบหนึ่งปีจะประหยัดเงินได้ถึง 180 เหรียญ (3,500 บาท) สิ่งที่ไม่บอกให้ชัดคือ ผู้บริโภคมีสิทธิได้ส่วนลดที่ว่านี้เพียงเดือนละครั้ง และจำกัดที่ไม่เกิน 50 ลิตรแต่ที่น่าตีที่สุดคือบริษัทยังมั่นหน้าชูสโลแกน “ไม่ตุกติก ไม่ต้องรอ ไม่มีเซอร์ไพรซ์”          คณะกรรมการพาณิชย์ ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการฟ้องบริษัทนี้บอกว่า การกระทำเช่นนั้นส่งผลให้ผู้บริโภคลดความระมัดระวังในการอ่านเงื่อนไขตัวเล็กๆ ก่อนตัดสินใจ น้องหมางานเข้า        มาตรการล็อกดาวน์ในสเปนที่สืบเนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ผู้คนไม่สามารถออกมาสูดอากาศนอกบ้านได้เลย          เฉพาะคนที่มีสุนัขเท่านั้นที่ได้สิทธิพามันออกมาเดินเล่นในระยะเวลาสั้นๆ ให้มันได้ทำธุระส่วนตัว         แต่คุณจะพากันออกมาทั้งครอบครัวไม่ได้ เขาให้โควตาน้องหมาหนึ่งตัวต่อคนจูงหนึ่งคน นอกจากจะต้องมีถุงเก็บมูลสุนัขแล้ว คนจูง (ซึ่งต้องจูงสุนัขตลอดเวลา) ต้องเตรียมน้ำยาทำความสะอาดละลายน้ำใส่ขวดมาราดทำความสะอาดบริเวณที่สุนัขอึหรือฉี่ด้วย         เมื่อใครๆ ก็อยาก “จูงน้องหมา” ความฮาจึงบังเกิดในโลกโซเชียล... เราได้เห็นคลิปชายคนหนึ่งแอบจูงตุ๊กตาน้องหมาออกมานอกบ้าน หรือคุณพ่อที่จับลูกสาวแต่งเป็นดัลเมเชียนเพื่อจะพาเธอไป “เดินเล่น”         เรายังได้เห็นโฆษณา “ให้เช่าสุนัข” และภาพล้อเลียนที่น้องหมาในสภาพอิดโรยกำลังโอดครวญว่า “วันนี้แม่พาผมเดินไป 38 รอบแล้วนะ”  พักหรูสู้โควิด        หลายโรงแรมอาจเลือกปิดกิจการชั่วคราวในช่วงการระบาดของโควิด-19 แต่ไม่ใช่ที่โรงแรม Le Bijou ในเมืองซูริค สวิตเซอร์แลนด์         โรงแรมแห่งนี้เสนอ “แพ็คเกจสุดหรู ที่ควรคู่กับการกักตัวเพื่อป้องกันการแพร่ไวรัสโคโรนา” ที่นอกจากห้องพักหรูเลิศ ซาวนาและยิมส่วนตัวแล้ว คุณยังสามารถเลือกบริการเสริมต่อไปนี้ได้ตามใจชอบ          มาดูกันว่าคุณชอบค่าใช้จ่ายของแต่ละบริการหรือไม่         บริการตรวจหาเชื้อไวรัส  500 ฟรัง (17,000 บาท)  การเยี่ยมโดยพยาบาลวันละสองครั้ง 1800 ฟรัง (61,000 บาท)  หรือออปชันแบบมีพยาบาลส่วนตัวดูแล 24 ชั่วโมง 4,800 ฟรัง (164,000 บาท)         รวมๆ แล้ว ถ้าคุณพักที่นี่จนครบช่วงเวลากักตัว 14 วัน ก็เตรียมควักกระเป๋าอย่างน้อย 80,000 ฟรัง (2.7 ล้านบาท)  โอ... มันช่างเป็นประสบการณ์ที่เลอค่าจริงๆ  

อ่านเพิ่มเติม >

หน้ากากป้องกัน (Face shield) แบบของม.นิวยอร์ค ทำได้ภายใน 1 นาที

หน้ากากป้องกัน (Face shield) แบบของม.นิวยอร์ค ทำได้ภายใน 1 นาทีเวอร์ชั่นนี้มีข้อดีคือ1. ใช้วัสดุอย่างเดียวคือ พลาสติกใส2. ไม่ต้องติดแถบกาวหรือใช้ปืนกาว3. ไม่ใส่ฟองน้ำ จึงทำความสะอาดง่าย ล้างน้ำสบู่แล้วนำกลับมาใช้ได้        หน้ากากป้องกันใบหน้าเป็นอุปกรณ์ชิ้นสำคัญสำหรับผู้ให้บริการด้านสุขภาพที่ทำงานใกล้ชิดกับผู้ป่วย COVID-19 เอกสารนี้บอกวิธีทำหน้ากากพลาสติกใสแบบปกปิดใบหน้าของผู้สวมใส่ โดยใช้ควบคู่กับ N95 และหน้ากากอนามัย สามารถป้องกันบุคลากรจากการสัมผัสกับละอองที่มีไวรัสจากผู้ป่วยเมื่อพวกเขาไอหรือจาม มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก (NYU) ได้พัฒนาการออกแบบหน้ากากป้องกันใบหน้า (face shield) เพื่อตอบสนองความต้องการอุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคล (PPE) ของบุคลากรทางการแพทย์ทั่วโลก หน้ากากป้องกันใบหน้าแบบอื่นใช้การพิมพ์ 3 มิติ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 30-60 นาทีในการพิมพ์ แต่เวอร์ชั่นนี้ใช้แค่พลาสติกใสยืดหยุ่นสองชิ้นและแถบยางยืด สามารถประกอบได้ภายใน 1 นาที ซึ่งโรงงานที่มีอุปกรณ์สำหรับการผลิตสินค้าแบบแบนๆ เช่นที่เจาะรู เครื่องตัดเลเซอร์ สามารถนำไปผลิตแบบล็อตใหญ่ได้ เวอร์ชั่นนี้ออกแบบออกร่วมกับแพทย์ ทีมของ NYU ได้เผยแพร่วิธีทำแบบโอเพนซอร์ซ เปิดให้ทุกคนนำแบบนี้ไปใช้ได้ มีคำถามเพิ่มเติมติดต่อผ่านทาง covid19.taskforce@nyu.eduดาวน์โหลดแบบตัดและวิธีทำ https://open-face-website.now.sh/instructions#downloadแบบตัดหน้ากาก https://bit.ly/shieldcutfileแบบตัดแถบคาดศีรษะ https://bit.ly/3agdvEPวัสดุ 1. แผ่นพลาสติกใส PET หนา 0.25 มม หรือวัสดุที่มีความยืดหยุ่น (เช่นโพลีคาร์บอเนต, PETA, PETG, ไวนิล)        ·        ส่วนโล่กันใบหน้า ขนาดประมาณ 31.75 x 26 ซม 1 แผ่น        ·        แถบคาดศีรษะ ขนาดประมาณ 27.3 x 2.5 ซม 1 แผ่น2. สายยางยืด กว้าง 1-1.5 ซม ยาว 40 ซม 1 เส้น3. แผ่นโฟม หนา 1 ซม ขนาด 2.5 x 25 ซม (ถ้าจะใช่แผ่นโฟมเสริมก็ได้ แต่จะทำความสะอาดยากกว่า) หน้ากากพลาสติกใสแบบปกปิดใบหน้าของผู้สวมใส่ โดยใช้ควบคู่กับ N95 และหน้ากากอนามัยไม่ใส่ฟองน้ำ จึงทำความสะอาดง่าย ล้างน้ำสบู่แล้วนำกลับมาใช้ได้ อ้างอิง Retrieved and translate by Jittiporn: 30/03/2020 – 7.00NYU makes face shield design for healthcare workers that can be built in under a minute available to allDarrell Etherington @etherington / 12:40 am +07 • March 28, 2020https://techcrunch.com/2020/03/27/nyu-makes-face-shield-design-for-healthcare-workers-that-can-be-built-in-under-a-minute-available-to-all/https://open-face-website.now.sh/instructions#download

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 229 โควิด 19 โรคอุบัติใหม่

        การระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งต่อมาองค์การอนามัยโลกกำหนดชื่อไวรัสว่า SARS CoV-2 และชื่อโรคว่าโควิด 19 (CoVID -19) นับเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญยิ่งแห่งยุคสมัย การระบาดของเชื้อไวรัสที่มีแหล่งกำเนิดจากค้างคาวนี้มีจุดกำเนิดมาจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ตั้งแต่ธันวาคม ค.ศ. 2019  จนกระทั่งปัจจุบัน ซึ่งได้แพร่ระบาดใหญ่ไปแล้วเกือบทั่วโลกอย่างรวดเร็ว   รวมแล้วไม่น้อยกว่า   189 ประเทศ แม้ประเทศจีนซึ่งเป็นจุดเริ่มของการระบาด จะสามารถควบคุมโรคได้แล้ว ทว่าการระบาดในประเทศอื่นๆ หลายประเทศกลับมีความรุนแรงมากขึ้น มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 330,000 คน เสียชีวิต มากกว่า 14,000 คน  ทั้งนี้เพราะไวรัสมีความสามารถในการแพร่เชื้อ มีความทนทานสภาวะแวดล้อมเมื่ออยู่นอกเซลล์ ทั้งในอากาศ และบนพิ้นผิววัตถุต่างๆ   นับว่า โควิด 19 ได้สร้างส่งผลกระทบต่อมวลมนุษยชาติอย่างกว้างขวาง ทั้งด้านสาธารณสุข เศรษฐกิจ และสังคม  จนเป็นที่หวาดวิตกว่า กว่าจะค้นพบยาและวัคซีนป้องกันและรักษาโรคได้อาจมีความสูญเสียอย่างมาก         การจะรับมือกับโรคติดเชื้อไวรัสชนิดใหม่นี้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากหน่วยงานของรัฐจะต้องมีมาตรการที่เหมาะสม ทันสถานการณ์ และปฎิบัติอย่างจริงจังรอบด้านแล้ว ประชาชนจะต้องมีความรู้ที่ถูกต้อง และให้ร่วมมือปฎิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันตนเอง ครอบครัว และสังคมส่วนรวมด้วยอย่างรับผิดชอบ จึงจะสามารถคลี่คลายสถานการณ์โรคระบาดใหญ่ครั้งนี้ได้โดยมีความสูญเสียไม่มากนัก  แต่เป็นที่น่าสลดใจว่า ความสูญเสียบุคลากรทางการแพทย์ และประชาชนจำนวนมาก ได้เกิดขึ้นในหลายประเทศ ที่จัดว่ามีระบบสาธารณสุขที่ดี มีเทคโนโลยีทันสมัยแล้ว          สำหรับประเทศไทย ระยะแรกสามารถชะลอการแพร่กระจายของไวรัสได้ดี จำนวนผู้ติดเชื้อเพียงหลักสิบคน และผู้เสียชีวิต 1 คน มีจำนวนคงที่เป็นเวลามากกว่า 2 เดือน แต่จากการอนุญาตให้มีกิจกรรมมวยที่มีผู้ร่วมงานนับหมื่นคน ประกอบกับการแพร่เชื้อจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศเพียงรายเดียว  เป็นจุดตั้งต้นของการแพร่เชื้ออย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นหลายร้อยคนอย่างรวดเร็ว จนทำให้ต้องมีมาตรการปิดสถานบันเทิง ห้างสรรพสินค้า โรงเรียน มหาวิทยาลัย ตามมา  ไวรัส คืออะไร         ไวรัสเป็นสิ่งไม่มีชีวิตขนาดเล็กมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น  แต่ไวรัสไม่จัดเป็นเซลล์เพราะขาดองค์ประกอบที่สำคัญหลายประการ เช่น ไม่มีเยื่อหุ้มเซลล์ เป็นต้น  ไวรัสจึงมีสถานะเป็นเพียงอนุภาคขนาดเล็กมาก เล็กกว่าแบคทีเรียหลายเท่า มีขนาดอนุภาคอยู่ในช่วง 20-300 นาโนเมตรขึ้นอยู่กับชนิดของไวรัส         การที่ไวรัสเป็นเพียงอนุภาคเล็กๆ จึงไม่สามารถอยู่เป็นอิสระได้  จะต้องอาศัยอยู่ในเซลล์สิ่งมีชีวิตชนิดอื่นอย่างจำเพาะเท่านั้น เช่น ไวรัสพืชต้องอาศัยในเซลล์พืช ไวรัสสัตว์ต้องอาศัยอยู่ในเซลล์สัตว์ ไม่สามารถเพิ่มจำนวนประชากรได้ด้วยตัวเอง ต้องอาศัยกลไกต่างๆ ของเซลล์เจ้าบ้านที่ไวรัสไปอาศัยอยู่เป็นกลไกสำคัญ ทั้งนี้เพราะไวรัส มีองค์ประกอบเพียงสารพันธุกรรมชนิดดีเอ็นเอ หรืออาร์เอ็นเอ  อาจถูกห่อหุ้ม ด้วยโปรตีนหน่วยย่อยที่รวมกันอยู่เป็นแคพซิด (capsid) นอกจากนี้ไวรัสบางชนิดอาจมีเยื่อหุ้มบางๆ ซึ่งเป็นสารพวกไลโปโปรตีนหรือไกลโคโปรตีน ที่ไวรัสได้จากเซลล์เจ้าบ้านที่ไวรัสไปอาศัย ห่อหุ้มไว้อีกชั้นหนึ่งเท่านั้น         สำหรับ SARS CoV- 2 จัดอยู่ในกลุ่มโคโรนาไวรัส เป็นสมาชิกในกลุ่มเดียวกับไวรัสก่อโรคระบบทางเดินหายใจที่เคยระบาดใหญ่มาก่อน คือ ซาร์ส ( SARS) และเมอร์ส ( MERS) ซึ่งเชื้อล้วนมีต้นกำเนิดมาจากค้างคาว แล้วแพร่ผ่านสัตว์ตัวกลางมาสู่คน เช่นเดียวกัน โดยทั่วไป ไวรัสแต่ละชนิดต้องอาศัยเซลล์เจ้าบ้านที่จำเพาะเจาะจงดังกล่าวแล้ว ดังนั้นตามปกติไวรัสไม่มีการก่อโรคในสัตว์ข้ามชนิดกัน  แต่อาจมีกรณีพิเศษเกิดการปรับตัวกลายพันธุ์ ทำให้มีการติดเชื้อข้ามกลุ่มจากสัตว์มาสู่คนได้ ตัวอย่าง เช่น ไข้หวัดนก เอชไอวี และซาร์ เมอร์ เป็นต้น         โคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ หรือ  SARS CoV- 2 ที่ทำให้เกิดโรคโควิด- 19  มีขนาดเพียงประมาณ 0.125 ไมครอนหรือ 125 นาโนเมตร  มีสารพันธุกรรม เป็น  อาร์เอ็นเอสายบวก ซึ่งจะสามารถแปลรหัสสร้างกรดอะมิโนและโปรตีนได้โดยตรง ทำให้ไวรัสเพิ่มจำนวนได้อย่างรวดเร็วในสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสม ปัจจุบัน(เท่าที่มีข้อมูล) พบว่าไวรัสเกิดการกลายพันธุ์เป็น 2 สายพันธุ์ ซึ่งมีคุณสมบัติในการก่อโรคแตกต่างกัน ให้ชื่อว่า ชนิดเอส ( Serine) และชนิดแอล ( Leucine) ตามชนิดของกรดอะมิโนที่เปลี่ยนแปลงเนื่องจากการกลายพันธุ์ของจีโนม แนวโน้มสถานการณ์         องค์การอนามัยโลก ยกระดับการระบาดของโควิด 19 ให้เป็นการระบาดใหญ่ทั่วโลก   นักระบาดวิทยาประเมินสถานการณ์ว่า  ไวรัสคงแพร่ระบาดอีกไม่น้อยกว่า 1 ปี จนทำให้มีคนติดเชื้อจำนวนมาก แล้วมีภูมิคุ้มกันกลุ่มเกิดขึ้น ทำให้คนมีภูมิต้านทาน  ดังนั้นไวรัสจะถูกยับยั้งได้ หรือถ้าสามารถค้นพบวัคซีนได้รวดเร็ว ก็จะช่วยลดระยะเวลาการระบาดให้สั้นลงได้         ในเมื่อมีแนวโน้มว่า ประชาชนคงต้องอยู่เผชิญกับโรคโควิด 19 กันอีกเป็นเวลานานพอสมควร ประชาชนจึงต้องมีความรู้ความเข้าใจ ในประเด็นที่สามารถนำมาใช้ในการดูแลสุขภาพตนเอง             -          ความทนทานของไวรัส มีรายงานการทดลองล่าสุดว่า ไวรัส SARS CoV- 2 มีความทนทานสามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อมอย่างอิสระในอากาศได้ 2 -8 ชั่วโมง และอยู่บนพื้นผิววัสดุชนิดพลาสติก เหล็ก ทองแดง กระดาษได้นานประมาณ 9 วัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิ และความชื้น ดังนั้น ทำให้ไวรัสสามารถแพร่กระจายผ่านการสัมผัสได้อย่างมีประสิทธิภาพ             -          ระยะเวลาฟักตัว ประมาณ 2- 14 วัน พบในบางราย มีระยะฟักตัวนาน  21 วัน และ 28 วัน ซึ่งคงเนื่องมาจาก ปริมาณเชื้อเริ่มต้นที่ผู้ป่วยได้รับว่ามีมากน้อยเพียงใด และเชื้อเข้าสู่ร่างกายทางไหน             -          ความสามารถในการแพร่เชื้อ จากการประมวลผล การแพร่ระบาดในประเทศจีน พบว่า ผู้ติดเชื้อที่ยังไม่มีอาการใดๆ คือยังอยู่ในระยะฟักตัว สามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้แล้วในอัตรา RO  1.6 ทุกๆ 5.4 วัน ซึ่งเป็นความสามารถแพร่เชื้อได้ดี             -          การก่อโรคของไวรัสโควิด 19  แม้ว่าไวรัสจะมีระยะฟักตัวหลายวัน แต่ค้นพบว่า ไวรัสเข้าสู่เซลล์เป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยอนุภาคของไวรัสจะจับกับตำแหน่งตัวรับจำเพาะที่อยู่บนเซลล์เจ้าบ้านเช่น เซลล์ปอดได้อย่างดี แล้วเข้าไปชักนำให้เซลล์เจ้าบ้านมาสร้างสารพันธุกรรม และโปรตีนของไวรัสแทน ในปริมาณมาก จนได้ส่วนประกอบต่างๆ ของไวรัสจำนวนมาก เพื่อประกอบเป็นอานุภาคของไวรัสใหม่ๆ แล้วไวรัสจะออกจากเซลล์เดิมโดยนำเอาส่วนเยื่อหุ้มเซลล์ไปด้วย  ทำให้เซลล์เจ้าบ้านถูกทำลาย  ไวรัสก็จะไปเข้าสู่เซลล์ข้างเคียง แล้วทำลายเซลล์ต่อไปทำนองเดียวกัน  หากไม่สามารถยับยั้งกระบวนการนี้ อวัยวะเป้าหมายจะถูกทำลายมากขึ้นเรื่อยๆ             -          การติดเชื้อซ้ำ มีข้อสงสัยในประเด็นนี้ เพราะมีรายงานข่าวจากประเทศจีนว่า มีคนไข้บางราย ที่รักษาหาย ตรวจไม่พบกรดนิวคลิอิกของไวรัสแล้ว แต่หลังจากนั้นก็กลับมาป่วยใหม่ จึงมีข้อสงสัยและความเป็นไปได้ว่า                 o   คนไข้ติดเชื้อสายพันธุ์ใหม่ที่กลายพันธุ์จากเชื้อเดิม หรือ                o   คนไข้ยังคงมีเชื้ออยู่ในร่างกาย แต่ตรวจไม่เจอ และไม่มีอาการป่วยแล้วระยะหนึ่ง จากนั้นไวรัสเพิ่มจำนวนมากขึ้นใหม่ วัคซีน เมื่อไหร่จะได้ใช้         จากเทคโนโลยีในปัจจุบัน ทำให้สามารถทราบสารพันธุกรรม องค์ประกอบของโปรตีน ลักษณะสามมิติ ตลอดจนวงจรชีวิต ของไวรัส SARS CoV- 2  อย่างรวดเร็ว การออกแบบพัฒนาวัคซีนจึงเป็นไปอย่างรวดเร็วมากเช่นกัน  โดยอาจมุ่งออกแบบวัคซีนเพื่อยับยั้งระยะการเข้าเซลล์ การสร้างโปรตีน หรือ การสังเคราะห์กรดนิวคลิอิก  เป็นต้น  ปัจจุบัน อย่างน้อย 3 ประเทศ คือ จีน สหรัฐอเมริกา และอิสราเอล  ประกาศว่าได้พัฒนาวัคซีนถึงขั้นทดลองในสัตว์ และคนได้แล้ว โดยจำแนกเป็นวัคซีน 3 ชนิด คือ วัคซีนเชื้อตาย  วัคซีนเชื้อเป็นที่ทำให้อ่อนกำลังลงโดยเทคนิคพันธุวิศวกรรม  และแมสเซนเจอร์ อาร์เอ็นเอ วัคซีน (mRNA vaccine)  แต่การใช้วัคซีนใดๆ จำเป็นต้อง ทำการทดสอบหลายขั้นตอน ทั้งประสิทธิภาพ และความปลอดภัย คาดว่าคงต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปี จึงจะสามารถประเมินผลได้ หากได้ผลดีจึงจะทำการผลิตในระดับอุตสาหกรรมต่อไป หากไม่ได้ผล ก็ต้องเริ่มต้นคัดเลือกโมเลกุลเพื่อพัฒนาเป็นวัคซีนใหม่ จึงต้องใช้เวลาเช่นกัน  ดังนั้นการจะรีบนำวัคซีนที่พัฒนาได้มาใช้ในคน โดยลัดขั้นตอนพิสูจน์ความปลอดภัย อาจทำให้เกิดผลเสียกับคนไข้ได้        สำหรับประเทศไทย มีการแถลงข่าว ลงนามความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุข มหาวิทยาลัย และภาคเอกชน เพื่อการพัฒนาวัตซีนโควิด 19 เช่นกัน จึงจะต้องติดตามความคืบหน้าต่อไป         ดังนั้น ในระยะนี้ ประเทศต่างๆ จึงได้พยายามทดสอบหายาต้านไวรัสที่ออกฤทธิ์จำเพาะต่อ SARS CoV- 2 ต่อไป ที่ผ่านมา ได้มีการนำยาต้านไวรัสชนิดอื่นที่มีอยู่แล้ว เช่น ซาร์ส เอชไอวี หรือ ยาต้านมาลาเรีย มาทดลองใช้รักษาผู้ป่วยร่วมกับการรักษาตามอาการ แต่ปรากฏว่า ผลที่ได้ยังไม่ชัดเจน ยังต้องทำการทดลองต่อไป การกลายพันธุ์         โคโรนาไวรัส เป็นอาร์เอนเอไวรัสสายเดี่ยวดังได้กล่าวมาแล้ว ไวรัสจึงมีความสามารถกลายพันธุ์แบบ ไม่เจาะจง (random mutation) ได้มาก ในระหว่างการเพิ่มสารพันธุกรรมของไวรัสในเซลล์เจ้าบ้าน  แต่ส่วนใหญ่การกลายพันธุ์จะไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของไวรัส เพราะอาจมีการเปลี่ยนแปลงดีเอ็นเอเพียงหนึ่งตำแหน่ง หรือไม่กี่ตำแหน่ง  และตำแหน่งที่กลายพันธุ์อาจไม่ส่งผลให้ชนิดของกรดอะมิโนเปลี่ยนแปลงก็ได้  ดังนั้นการกลายพันธุ์ที่ส่งผลให้คุณสมบัติไวรัสเปลี่ยนแปลงจึงเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก ต้องใช้เวลา และการปัจจัยที่เหมาะสม         การกลายพันธุ์อาจทำให้เชื้อก่อโรครุนแรงขี้น หรืออ่อนกำลังลงก็ได้ หรือไม่มีการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติในการก่อโรคก็ได้ ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เปลี่ยนแปลง  จึงไม่ควรวิตกกังวลประเด็นนี้มากนัก เพราะถ้าไวรัสทำลายแหล่งอาศัยอย่างรุนแรง จนเสียชีวิตจำนวนมาก ไวรัสก็อาจมีแหล่งอาศัยน้อยลงด้วย   ตัวอย่าง ไวรัสเอชไอวีที่ก่อโรคเอดส์ แม้เชื้อจะกลายพันธุ์มากมายในคนไข้แต่ไม่ได้ก่อโรครุนแรงเพิ่มขึ้น  ทั้งๆ ที่ปัจจุบันเรายังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคเอดส์ใช้ คนไข้ที่กินยาต้านไวรัสก็สามารถมีชีวิตยืนยาวได้  ประชาชนจะรับมืออย่างไร            การแพร่ระบาดทั่วโลกของโควิด 19 ครั้งนี้เป็นบทเรียนครั้งสำคัญของมวลมนุษยชาติ ว่าพฤติกรรมการกินอาหารที่ไม่เหมาะสมเพียงจุดเดียว สามารถนำเชื้อไวรัสในค้างคาวที่มีอยู่ตามธรรมชาติมาก่อโรคในคน แล้วแพร่ระบาดไปตามเส้นทางการคมนาคมที่สะดวกสบายในปัจจุบัน จนมีคนติดเชื้อทั่วทุกทวีปภายในเวลาไม่เกิน 3 เดือน  ทั้งๆ ที่รัฐบาลประเทศต่างๆ ได้มีมาตรการรับมืออย่างเต็มที่ภายใต้บริบทและทรัพยากรของประเทศเหล่านั้น แต่ก็ยังไม่สามารถหยุดยั้งการระบาดได้ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพและชีวิตของประชาชนอย่างกว้างขวาง          ในกรณีของประเทศไทย   ณ ปัจจุบัน การระบาดดำเนินมาถึงจุดสำคัญมากว่า จะสามารถลดจำนวนผู้ป่วยลงได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้จำนวนคนป่วย คนเสียชีวิต จะเพิ่มขึ้นเป็นหลักพันในเวลาอันใกล้นี้  ซึ่งการจะควบคุมสถานการณ์ให้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงนั้น จะต้องอาศัยความร่วมมือของประชาชนอย่างมาก          ประชาชนทั่วไปควรตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการปฏิบัติตามคำแนะนำ อย่างเคร่งครัด และมีความรู้เกี่ยวกับโรคนี้อย่างจริงจังเพื่อให้สามารถป้องกันตนเองและครอบครัวอย่างเหมาะสม เพราะว่าไวรัสนี้ จะแพร่กระจายติดต่อได้ง่าย ผู้ติดเชื้อไวรัสมีระยะเวลาในการฟักตัวนานประมาณ 2-14 วันเป็นส่วนใหญ่ หรือบางรายอาจถึง 27 วัน  ขึ้นอยู่กับปริมาณเชื้อที่เข้าสู่ร่างกายครั้งแรกว่ามี มากน้อยเพียงใด  ไวรัสแพร่ออกจากร่างกายคนพร้อมสารคัดหลั่งต่างๆ โดยการ ไอ จาม  ของผู้ที่มีอาการแล้ว ในกรณีนี้ เราจะระมัดระวังได้ง่ายกว่าพวกที่ยังไม่มีอาการ        พึงตระหนักว่า ไวรัสแพร่จากร่างกายคนไม่มีอาการ หรืออยู่ในระยะฟักตัวได้  โดยที่ในระยะนี้ ไวรัสอาจอยู่บริเวณเยื่อเมือกบริเวณจมูก ปาก แล้วผู้ป่วยอาจสัมผัสร่างกายบริเวณนั้นๆ แล้วไปสัมผัสสิ่งของ วัตถุต่างๆ ซึ่งเราป้องกันการรับเชื้อได้โดยการล้างมือบ่อยๆ หลังจากไปสัมผัสสิ่งต่างๆ รอบตัว ไวรัสแพร่เชื้อจากคนสู่คน ดังนั้น การอยู่ในสถานที่ที่มีคนแออัด พลุกพล่าน ย่อมมีโอกาสรับเชื้อได้ง่าย จึงต้องหลีกเลี่ยงไม่ไปอยู่ในสถานที่เช่นนั้น   หากไม่ระมัดระวังอาจจะรับเชื้อเข้าสู่ร่างกายได้ทั้งทางจมูก ปาก ตา ผู้ป่วยส่วนใหญ่ 80 % อาการไม่รุนแรง  บางคนหายเองโดยภูมิต้านทานของตนเอง หรือเพียงแต่รักษาตามอาการ         ไวรัสก่อโรครุนแรง หากมีการติดเชื้อในปอด โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง และอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าค่าเฉลี่ย ซึ่งตามรายงานปัจจุบันอยู่ที่ 4.23 % ผู้ป่วยที่มีอาการติดเชื้อที่ปอด เมื่อหายแล้วพบว่ามียังรอยโรคที่ปอด ร่างกายไม่สามารถซ่อมแซมได้ ทำให้ปอดทำงานไม่สมบูรณ์เหมือนเดิม ไวรัสมีผลต่อระบบประสาทของการรับรสชาติในผู้ป่วยบางราย         ดังนั้นแม้ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง แต่เป็นผู้แพร่เชื้อไปยังบุคคลอื่นๆ ได้ดี ผู้ป่วยที่หายจากโรคแล้วอาจมีปัญหาสุขภาพบางประการตามมา  การป้องกันการติดเชื้อไวรัสนี้เป็นมาตรการที่ดีที่สุด

อ่านเพิ่มเติม >