ฉบับที่ 244 จัดซื้อวัคซีนและบำนาญประชาชน

        ปัญหาผู้บริโภคในรอบเดือนที่ผ่านมาคงหนีไม่พ้นเรื่องถูกเทจากการฉีดวัคซีน จากเดิมที่ไม่สนใจที่จะฉีดวัคซีนในช่วงแรก เนื่องจากความกลัว ความกังวลเรื่องการแพ้วัคซีน อันตรายจากการฉีดวัคซีนที่ถูกข่าวกรอกหูทุกวันหรือการสื่อสารของประชาชนกันเองที่มีเรื่องนี้จำนวนมากมาย         แต่เมื่อรัฐบาลมีความพยายามที่จะให้ประชาชนขึ้นทะเบียนเพื่อฉีดวัคซีน ก็ต้องถือว่าประสบความสำเร็จในการรณรงค์ โดยสามารถสื่อสารให้เกิดความเข้าใจและยึดหลักว่าถ้าฉีดวัคซีนแล้ว อย่างน้อยถึงแม้จะติดเชื้อได้แต่ความรุนแรงลดลง เสียชีวิตน้อยลง มีโอกาสหาย ทำให้คนหลังไหลไปลงทะเบียนกับหมอพร้อมที่ไม่พร้อมจำนวนมากนับตั้งแต่ 6 มิถุนายนที่ผ่านมา แต่ปัญหาตามมามากมาย ถูกเทกันในแต่ละวันหลายกลุ่ม ไม่สามารถฉีดวัคซีนได้จริง และสิ่งที่เห็นความไม่เป็นธรรมในการกระจายวัคซีน หรือไม่เป็นไปตามนโยบายหรือเงื่อนไขที่รัฐบาลกำหนดไว้ให้ประชาชนในการฉีดวัคซีน        ที่สำคัญทุกคนไม่สามารถที่จะรู้ข้อเท็จจริงได้ว่าวัคซีนที่รัฐบาลไปทำสัญญาจัดซื้อมีจำนวนเท่าใด มียี่ห้อไหนทำสัญญาแล้วบ้าง กลับเห็นว่ามีวัคซีนบางยี่ห้อที่ราคาแพงแต่ก็ได้รับการสั่งจองจำนวนมาก ทำให้เกิดคำถามมากมาย ทำไมถึงไม่เห็นการบริหารจัดการวัคซีนที่หลากหลายและมีคุณสมบัติในการป้องกันการติดเชื้อได้มากกว่า ข้อเสนอที่สำคัญในเรื่องวัคซีนก็คงไม่พ้นว่าจะทำอย่างไรให้การบริหารจัดการวัคซีนเป็นไปด้วยความโปร่งใส ประชาชนมีส่วนร่วมหรือใช้หน่วยงานที่มีประสบการณ์ในการบริหารจัดการวัคซีน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ร่วมมือกับกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จะทำให้ประชาชนสบายใจขึ้นว่าการจัดซื้อมีส่วนร่วมจากประชาชนมีความโปร่งใส เปิดเผยข้อมูลตรงไปตรงมา แถมประชาชนมีส่วนร่วมก็จะช่วยตอบคำถามแทนรัฐบาลได้         ทางออกของรัฐบาลในการการจัดการพื้นที่ท่องเที่ยวเฉพาะแห่งที่ควบคุมทางกายภาพได้ ภูเก็ต ย่อมถูกตั้งคำถามจากพื้นที่ท่องเที่ยวอื่นๆ ทั่วประเทศ เช่น ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง ตะวันออก ตะวันตหก อยากเห็นทางเลือกของรัฐบาลดำเนินการเรื่องนี้ที่มากกว่าการเปิดเรื่องการท่องเที่ยว เช่น ทางเลือกในการจัดการทำให้เกิดโครงสร้างความมั่นคงทางสังคมที่ถาวร แทนการสนับสนุนการจ่ายเงินช่วยประชาชนแบบระยะสั้น โดยการช่วยเหลือผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปแบบถาวร ให้ได้รับเงินอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยเดือนละ 3,000 บาท ยกเว้นคนที่มีสวัสดิการข้าราชการ ปัจจุบันพ่อแม่เหล่านี้อาจจะมีลูกอีกจำนวนไม่น้อยที่รายได้ลดลง ตกงาน การได้รับเงินก้อนนี้จะสามารถทำให้เกิดความมั่นคงในครอบครัวได้ เพราะเมื่อพ่อแม่มีรายได้ ทำให้เกิดการใช้จ่ายงบประมาณในระดับท้องถิ่นในทุกพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งน่าจะเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งนอกเหนือจากการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการรับนักท่องเที่ยวเพราะถึงแม้เราจะรับนักท่องเที่ยวก็ยังไม่มีหลักประกันว่านักท่องเที่ยวจะเข้ามาในประเทศไทยท่ามกลางการระบาดที่ยังมีความรุนแรงอยู่ในปัจจุบัน หากรัฐบาลใช้ทางเลือกนี้ก็น่าจะทำให้อย่างน้อยหลายครอบครัวน่าจะมีความเดือดร้อนน้อยลง หากรัฐบาลจะมีมาตรการให้กักตัวหรือเคลื่อนย้ายน้อยลงก็จะมีความเป็นไปได้เพื่อที่จะทำให้ลดการติดเชื้อ โควิด-19 ไปในท้ายที่สุด พร้อมกับการเร่งระดมฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุดน่าจะเป็นคำตอบที่ดีสำหรับรัฐบาลในปัจจุบัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 244 อย่างนี้ก็ได้เหรอ เมื่อต้องเจอโควิด (1)

        การระบาดของโควิด 19 ในระลอกล่าสุด ทำให้เกิดความตระหนกตกใจ และเกิดความตื่นตัวของผู้คนในการแสวงหาสิ่งต่างๆ มาป้องกันตัวหรือต่อสู้กับเจ้าเชื้อโควิด 19 กันจ้าละหวั่น นักวิชาการและนักวิชาเกิน เช่น ผู้ผลิต ผู้ขาย หลายท่านก็ออกมาให้ข้อมูลกับประชาชน ยิ่งให้ข้อมูลบางทีชาวบ้านก็ยิ่งสับสนเพราะมันดูน่าเชื่อถือไปหมด สุดท้ายพอตัวเองคิดว่าน่าจะเป็นไปได้ก็อ่อนระทวยเสียเงินไปหามากินมาใช้ไปตามๆ กัน         ผมพยายามรวบรวมข้อมูลผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้มานำเสนอ เพื่อให้ผู้อ่านได้ฉุกคิดและตัดสินใจได้ว่าอะไรควรใช้ อะไรไม่ควรใช้ อะไรน่าเสี่ยง อะไรไม่ควรเสี่ยง สรุปพอหอมปากหอมคอในช่วงนี้ดังนี้ 1. ห้ามเด็ดขาด เพราะได้ไม่คุ้มเสีย1.1 ห้ามใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของโพวิโดน ไอโอดีน กลั้วคอ เพื่อป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ลงสู่ปอด         สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่า ข้อมูลดังกล่าวนั้นเป็นเท็จ เนื่องจากผลิตภัณฑ์ที่มีการกล่าวถึง คือ โพวิโดนไอไอดีนชนิดกลั้วคอ มีคุณสมบัติฆ่าเชื้อโรค จุลินทรีย์หรือแบคทีเรีย ลดอักเสบบริเวณช่องปากและลำคอ แผลในปาก และระงับกลิ่นปากเท่านั้น ไม่สามารถป้องกันเชื้อไวรัสจากลำคอลงสู่ปอดได้         นอกจากนี้ การที่มีผู้แนะนำให้ใช้น้ำมะนาวมากลั้วคอแทน ก็ไม่สามารถได้ผลเช่นเดียวกัน 1.2 ห้ามตุนยา Hydroxychloroquine เพื่อใช้รักษาโควิด-19         ตามที่มีการแชร์ข้อความว่า "ผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ใช้ยา Hydroxychloroquine รักษาหายทุกราย ให้หาซื้อยามาไว้ที่บ้าน" ทางกรมการแพทย์ได้ชี้แจงว่า มีข้อมูลบิดเบือน เนื่องจากปัจจุบันยา Hydroxychloroquine ถูกแนะนำให้ใช้รักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการ ตามแนวทางการรักษาที่ออกโดยกระทรวงสาธารณสุขจริง แต่ไม่ได้มีประสิทธิภาพสูงขนาดรักษาได้หายทุกรายตามที่กล่าวอ้าง และในแนวทางการรักษาล่าสุด มีการแนะนำให้ใช้ร่วมกับยาชนิดอื่น ไม่ใช้เป็นยาเดี่ยวในการรักษา นอกจากนี้การใช้ยาไม่ถูกวิธีทำให้เกิดอันตรายกับผู้ป่วยจากผลข้างเคียงของยาได้ เช่น จอประสาทตาเสื่อมและมีโอกาสทำให้เกิดการดื้อยาของเชื้อมาลาเรียในประเทศไทยมากขึ้น 1.3 ตระเวณหา ยาฟาวิพิราเวียร์ หรือยาต้านไวรัสอื่นๆ เพื่อมากักตุนใช้เองที่บ้าน         จากการที่ “ยาฟาวิพิราเวียร์” ถูกนำมาใช้ลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อโควิด 19 ในปัจจุบัน ทำให้ประชาชนบางคนถึงกับพยายามตระเวณไปตามร้านยาเพื่อเสาะหายานี้ หรือหายาต้านไวรัสอื่นๆ มากักตุนไว้กับตัวเองเพื่อใช้รับประทานป้องกันการติดโควิด         ขอย้ำเตือนว่า ยาต้านไว้รัสเหล่านี้จะต้องใช้ภายใต้การวินิจฉัยของแพทย์และใช้เมื่อจำเป็น การนำไปใช้อย่างไม่ถูกต้อง นอกจากจะเกิดผลเสียต่อร่างกายตนเองแล้ว ยังจะยิ่งทำให้เกิดการดื้อยาจนส่งผลเสียต่อระดับประเทศได้ 1.4 กล้วยดิบบดแห้ง กัญชา กัญชง กินรักษาโควิด 19         ยังไม่มีงานวิจัยใดๆ ที่สรุปได้ชัดเจนว่า กล้วยดิบบดแห้ง กัญชา กัญชง สามารถป้องกันหรือฆ่าเชื้อโควิด19 ได้ การหลงเชื่อซื้อผลิตภัณฑ์เหล่านี้มากินจึงไม่เกิดประโยชน์ หนำซ้ำจะเกิดผลเสียตามมาอีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 244 ‘หนี้’ ในการแพร่ระบาดของโควิด-19

‘เงินด่วน ไม่ต้องใช้เอกสาร โอนเงินไวใน 30 นาที ติดต่อ xx-xxxx-xxxx’         ไม่ว่าจะร้อนเงินหรือเปล่า ภาพของกระดาษพร้อมข้อความลักษณะนี้มีให้เห็นเนืองนิจ อดตั้งคำถามไม่ได้ว่าบนโลกที่ไม่มีอะไรฟรี คนเราจะได้เงินมาง่ายๆ ได้อย่างไร ต่อให้เป็นเงินกู้ก็เถอะ         เรารู้อยู่แก่ใจว่าความเร็วและง่ายมาพร้อมต้นทุนที่สูงลิบลิ่ว หนี้นอกระบบมีอัตราดอกเบี้ยชนิดขูดเลือดเนื้อ แต่ในสถานการณ์ที่ทางเลือกจำกัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้เศรษฐกิจชะงักงัน เงินสดในมือสำหรับใช้จ่ายไม่เพียงพอ การกู้เงินจึงเป็นทางเลือกหนึ่ง ตัวเลขหนี้ครัวเรือนของไทย ณ สิ้นปี 2563 ที่สูงถึง 14 ล้านล้านบาท ซึ่งถือว่าสูงสุดในรอบ 18 ปีจากการเก็บข้อมูลของของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยคิดเป็นร้อยละ 89.3 ของจีดีพีปี 2563         ตัวเลขข้างต้นบ่งชี้ว่าทั้งความสามารถในการชำระหนี้และการออมของครัวเรือนไทยลดต่ำลงจนน่ากังวล         ขณะเดียวกันแอปปล่อยเงินกู้ผิดกฎหมายก็กำลังสร้างปัญหาใหม่ตามมา คำถามมีอยู่ว่าแม้การไม่มีหนี้จะเป็นลาภอันประเสริฐ แต่ในฐานะผู้บริโภคที่ยังต้องกู้หนี้ยืมสินเพื่อใช้จ่ายจะรับมืออย่างไรกับสิ่งที่เกิดขึ้น พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ พ.ศ.2558 ช่วยได้แค่ไหน โควิด-19 ทำปัญหาหนี้ลุกลาม         เรามาลงรายละเอียดเกี่ยวกับสถานการณ์หนี้ครัวเรือนเพิ่มมากขึ้นจากการวิเคราะห์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่พบว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีปี 2563 แม้จะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 89.3 แต่ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ก็ทำให้หนี้เติบโตช้าลง ถึงกระนั้นระดับหนี้ก็ยังเพิ่มขึ้นสวนทางเศรษฐกิจที่หดตัว เมื่อดูตัวเลขหนี้ครัวเรือนถอยหลังไป 3 ปีก็พบด้วยว่าหนี้ครัวเรือนขยับขึ้นทุกปี โดยในปี 2561 หนี้ครัวเรือนอยู่ที่ร้อยละ 78.4 และร้อยละ 79.8 ในปี 2562         ตัวเลขหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นก็จริง แต่ถ้ามองด้านอัตราการเติบโตของหนี้กลับพบว่ายอดคงค้างหนี้ครัวเรือนปี 2563 เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 3.9 ซึ่งถือว่าต่ำสุดในรอบ 4 ปี ซ้ำยังชะลอลงจากร้อยละ 5.1 ในปี 2562 ซึ่งแสดงผลกระทบจากโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจไทยที่ทั้งผู้กู้และผู้ปล่อยกู้ต่างก็ระมัดระวังมากขึ้น         ศูนย์วิจัยกสิกรไทยวิเคราะห์ต่อไปว่า กลุ่มผู้กู้รายย่อยที่ประกอบธุรกิจและผู้กู้รายย่อยที่มีปัญหาด้านรายได้จะมีภาระหนี้หรือ Debt Service Ratio (DSR) สูงกว่าผู้กู้ในกลุ่มอื่นๆ แรงกดดันที่ทั้งสองกลุ่มนี้ต้องเผชิญคือความสามารถในการชำระคืนหนี้ลดลง ช่องว่างในการก่อหนี้ก้อนใหม่ลดลง และระดับการออมของครัวเรือนลดต่ำลง         นอกจากนี้ยังประเมินว่าหากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว เงินกู้ยืมภาคครัวเรือนปี 2564 อาจมีโอกาสเติบโตสูงกว่าปี 2563 ผลที่ตามมาคือสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีจะขยับสูงขึ้นอยู่ที่ประมาณร้อยละ 89-91 ต่อจีดีพีในปี 2564         ทั้งนี้ตัวเลขเงินกู้ยืมภาคครัวเรือนไตรมาสที่ 4 ปี 2563 จากเว็บไซต์ ธปท. ปรับปรุงล่าสุดวันที่ 31 มีนาคม 2564 พบว่า เป็นเพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคล 10,778,538 ล้านบาท แบ่งเป็นหนี้เพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ 4,785,134 ล้านบาท ซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ 1,781,439 ล้านบาท เพื่อการศึกษา 309,608 ล้านบาท เพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลอื่น 3,902,357 ล้านบาท  และบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับของ ธปท. 1,027,240 ล้านบาท ความโหดร้ายของหนี้นอกระบบ         หนี้นอกระบบเป็นปัญหาและโหดร้ายต่อผู้กู้ทั้งในแง่กฎหมายและมนุษยธรรม ข้อมูลของศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กรมสืบสวนคดีพิเศษ พบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561–วันที่ 24 พฤษจิกายน 2562 ในส่วนที่มีการร้องเรียนไปยังสำนักนายกรัฐมนตรี มีผู้ร้องเรียนจำนวน 4,748 รายกระจายไปตามภาคต่างๆ โดยพื้นที่ภาคกลางมีมากที่สุดถึง 1,926 ราย และ 663 รายอยู่ในเขตกรุงเทพฯ         ปัจจุบันมีแอปพลิเคชั่นเงินกู้-ในที่นี้เฉพาะที่ผิดกฎหมาย-เกิดขึ้นจำนวนมาก สามารถกู้ง่าย เร็ว ไม่มีขั้นตอนยุ่งยาก ทำให้ประชาชนที่เข้าไม่ถึงเงินกู้ในระบบต้องตกเป็นเหยื่อจำนวนมาก กรณีการเข้าจับกุมแอปพลิเคชั่นเงินกู้นอกระบบรายใหญ่ของชาวจีน 2 คนในกรุงเทพฯ เมื่อกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมาของศูนย์ปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ (ศปน.ตร.) พบว่ามีเงินหมุนเวียนถึง 20 ล้านต่อวัน มีพนักงานทวงหนี้คนไทย 53 คน และไม่ได้มีแอปยูบาท (U Baht) เพียงแอปเดียว         แต่มีถึง 12 แอป ได้แก่ 1.speed wallet 2.cash 24 3.Marscash 4.bee bath max 5.cash 24 6.u-wallet 7.yoo card 8.cash map 9.take cash 10.pp cash 11.lend cash และ 12.เงินฟ้าผ่า โดยมีข้อมูลลูกหนี้ 8,600 กว่าราย การปล่อยกู้มีตั้งแต่หลักพันถึงหลักหมื่นโดยใช้บัตรประชาชน บัญชีเงินฝาก และหมายเลขโทรศัพท์ ถ้าคุณกู้ 2,000 บาทจะได้รับเงินจริงเพียง 1,300 บาท กับดอกเบี้ยร้อยละ 35 ต่อสัปดาห์         การตรวจสอบจากเว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า ​รายชื่อผู้ให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลขณะนี้มีเพียง 2 บริษัทคือ บริษัท ซีมันนี่ (แคปปิตอล) จำกัด และบริษัท แอสเซนด์ นาโน จำกัด ดังนั้น หากเจอแอปเงินกู้ที่ไม่ใช่ 2 บริษัทนี้หรือไม่มีแหล่งที่มาชัดเจน ตรวจสอบที่อยู่ไม่ได้ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นแอปเงินกู้ผิดกฎหมาย ถ้าหากหลงกู้เงินไปแล้ว คุณอาจเสียมากกว่าที่คิด นฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้นบริโภค กล่าวว่า         “ปัญหาสำหรับแอปที่ผิดกฎหมาย คือไม่รู้ว่าวิธีการสมัครจะขอข้อมูลส่วนบุคคลอะไรบ้าง เวลาที่เราสมัครผ่านแอปมักจะขอข้อมูลส่วนบุคคลและเขารู้จากเราฝ่ายเดียว แต่เราไม่รู้เลยว่าแอปที่เราขอกู้เงินเป็นใคร มีตัวตนหรือเปล่า เวลาเราจ่ายหนี้ จ่ายให้ใคร เป็นบุคคลหรือนิติบุคคล ยกเว้นเป็นแอปที่ถูกกฎหมายสามารถตรวจสอบได้ แต่ถ้าผิดกฎหมายบางทีจะขออะไรมากมาย และสิ่งที่เกิดขึ้นคือความเสี่ยงจากการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์หลายรูปแบบ ตั้งแต่ขโมยข้อมูลในโทรศัพท์ ขายข้อมูลของเรา ปัจจุบันจะมีการฝังมัลแวร์ไว้ในระบบโทรศัพท์ เวลาที่เราทำธุรกรรมทางการเงินมันก็จะดูดข้อมูลของเราไปในระดับหนึ่งและอาจขโมยข้อมูลเราไปได้ แอพอาจทำให้เกิดภัยการเงินออนไลน์”         และแน่นอนว่าแอปผิดกฎหมายมีวิธีการทวงหนี้ที่ผิดกฎหมาย เนื่องจากระบบของแอปพวกนี้จะดูดข้อมูลเบอร์โทรของลูกหนี้ไปและโทรทวงหนี้จากหมายเลขเหล่านั้น การเอาเปรียบของหนี้ในระบบ         ในช่วงเวลายากลำบากนี้ แม้แต่ลูกหนี้ในระบบก็เผชิญปัญหาอีกรูปแบบหนึ่ง แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยมาตรการขั้นต่ำออกมาเป็นนโยบายขอความร่วมมือธนาคารพาณิชย์และนอน-แบงค์ในการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ยังไม่สามารถชำระหนี้ได้โดยการขอพักชำระหนี้ ซึ่งมีหลายรูปแบบตั้งแต่พักชำระเงินต้น พักชำระดอกเบี้ย พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย แต่พบว่าธนาคารพาณิชย์เลือกมาตรการให้ลูกหนี้พักชำระหนี้เงินต้นโดยยังต้องจ่ายดอกเบี้ยอยู่ ปัญหามีอยู่ว่า         “สมมติเราขอพักชำระหนี้ 6 เดือน เราก็จ่ายแต่ดอกเบี้ย เจ้าหน้ายังได้ดอกเบี้ยอัตราคงที่ ไม่ใช่ลดต้นลดดอก” นฤมลอธิบาย “กรณีที่เจอคือเงินต้นที่ถูกพักเอาไว้ยังถูกคิดดอกเบี้ยอยู่ แทนที่ 6 เดือนที่เราพักชำระหนี้เราจะไม่เสียดอกเบี้ยเลย แต่สุดท้ายก็ยังต้องจ่ายดอกเบี้ยใน 6 เดือนต่อไป คือเดือนที่ 7 ต้องจ่ายดอกเบี้ยเหมือนเดือนที่ 6 พอเดือนที่ 8 ดอกเบี้ยจึงจะลดลงเพราะได้ดอกเบี้ยเดือนที่ 7 ไปลดยอดเงินต้น         “ธนาคารไม่ได้บอกว่าเงินต้นที่พักเอาไว้ 6 เดือนจะไม่คิดดอกเบี้ย ยังถือว่ามีหนี้อยู่อีก 6 เดือน เพราะฉะนั้น 6 เดือนที่ถูกยืดออกไปก็ยังถูกคิดดอกเบี้ยอยู่ มันถูกคิดดอกเบี้ยตลอดเวลา ทั้งที่ดอกเบี้ยเงินต้นที่ยืดออกมามันคือจ่ายไปแล้วใน 6 เดือนที่พักชำระหนี้เงินต้นเอาไว้ ทำให้ผู้บริโภคถูกเอาเปรียบ อันนี้จึงเป็นนโยบายที่ไม่ได้ช่วยเหลือลูกหนี้จริง เพียงแค่ช่วงที่พักชำระหนี้เงินต้นไม่ต้องจ่ายเงินก้อนใหญ่เท่านั้น เพราะการช่วยเหลือลูกหนี้จริงๆ มันต้องพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอก”         และในบางกรณีมีลูกหนี้ที่ถูกธนาคารพาณิชย์พักชำระหนี้โดยที่เจ้าตัวไม่ได้ยินยอม ทวงหนี้แบบไหนทำได้ รู้ไว้ลดแรงกดดัน         ในกรณีหนี้นอกระบบ นฤมลเสนอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงแจ้งความดำเนินคดีกับแอปผิดกฎหมาย         ส่วนกรณีของหนี้ในระบบ การทำเข้าใจ พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ พ.ศ.2558 เบื้องต้นน่าจะช่วยให้ลูกหนี้มีภูมิคุ้มกันจากการทวงถามหนี้ผิดกฎหมายได้บ้าง อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อถกเถียงจากฝั่งเจ้าหนี้ว่ากฎหมายฉบับนี้เข้าข้างฝั่งลูกหนี้มากเกินไป ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดเพราะวัตถุประสงค์ของกฎหมายกำลังพูดถึงพฤติกรรมการทวงถามหนี้ที่เจ้าหนี้สามารถทำได้และทำไม่ได้         ประการแรก เจ้าหนี้สามารถโทรทวงถามหนี้ลูกหนี้ได้เพียงวันละครั้งตั้งแต่ 08.00-20.00 ในวันธรรมดา และ 08.00-19.00 ในวันหยุด ที่กฎหมายกำหนดเช่นนี้เพื่อให้ลูกหนี้มีเวลาจัดการ         ประการที่ 2 ผู้ติดตามทวงหนี้เวลาติดต่อกับลูกหนี้จะต้องแสดงตัวโดยมีเอกสารว่าได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ติดตามทวงถามหนี้ และในกรณีที่จะรับชำระเงินจากลูกหนี้ผู้ทวงถามจะต้องมีใบรับมอบอำนาจจากบริษัท หากถ้าไม่มีเอกสารจะไม่สามารถรับเงินได้ ทวงถามได้อย่างเดียว         ประการต่อมา ผู้ทวงถามหนี้ไม่สามารถทวงหนี้กับบุคคลอื่นที่ลูกหนี้ไม่ได้ระบุไว้ในสัญญาได้ เช่น ลูกหนี้ระบุว่าถ้าไม่สามารถติดต่อตนได้ให้ติดต่อสอบถามกับภรรยา ญาติ หรือบุคคลใดก็ตามที่ลูกหนี้ระบุไว้ โดยกฎหมายให้กล่าวถึงการเป็นหนี้ของลูกหนี้กับบุคคลที่ระบุไว้ในสัญญาเท่านั้น แต่ถ้าเป็นบุคคลอื่นที่ลูกหนี้ไม่ได้ระบุไว้ทำได้แค่ถามสถานที่หรือที่ทำงานของลูกหนี้เท่านั้น เช่น ลูกหนี้ยังอยู่บ้านนี้หรือไม่ หรือทำงานที่นี่หรือเปล่า ไม่สามารถบอกว่าลูกหนี้เป็นหนี้        นฤมลกล่าวว่า หลังจากมีกฎหมายฉบับนี้ออกมา สถานการณ์ปัญหาการทวงถามหนี้มีแนวโน้มดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด หนี้เป็นมากกว่าปัญหาระดับปัจเจก         สำหรับลูกหนี้คนใดที่กำลังเผชิญปัญหาหรือใกล้จะเผชิญปัญหา นฤมลแนะนำให้ติดต่อหน่วยงานที่กำกับดูแลโดยตรงอย่าง ธปท. ซึ่งจะช่วยเข้ามาเจรจาไกล่เกลี่ยกับคู่สัญญาให้ อย่ารอให้ผิดนัดชำระหนี้         “เราเคยมีข้อเสนอต่อธนาคารแห่งประเทศไทยหลายเรื่อง ถ้าเป็นหนี้ในช่วงสถานการณ์โรคระบาดทางธนาคารแห่งประเทศไทยควรมีนโยบายปรับลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อส่วนบุคคลหรือพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยจนถึงปลายธันวาคม 2564 ให้เศรษฐกิจฟื้นตัว คนมีงานทำ หรือจนกว่าจะมีสามารถชำระหนี้ได้ก็ค่อยชำระหนี้ มันก็จะช่วยเหลือผู้บริโภคมากกว่าการใช้มาตรการขั้นต่ำ เพราะถ้าเป็นมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทยมันจะชัดเจน แต่ถ้าเป็นการขอความร่วมมือและออกมาตรการขั้นต่ำ ธนาคารพาณิชย์จะทำหรือไม่ทำก็ได้ซึ่งก็ทำ แต่ทำขั้นต่ำ คือพักชำระหนี้เงินต้น”         ถอยออกมาเพื่อมองภาพในระดับที่ใหญ่ขึ้น เราจะพบปัญหาเชิงระบบที่หลบซ่อนแบบเปิดเผยมานานมากนั่นคือ การเข้าถึงสินเชื่อถูกกฎหมาย ซึ่งทำให้คนจำนวนมากโดยเฉพาะผู้ประกอบอาชีพอิสระและแรงงานนอกระบบไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ ต้องวิ่งเข้าหาหนี้นอกระบบ แม้ว่าจะมีความพยายามแก้ไข แต่ก็ยังไม่คืบหน้าเท่าที่ควร เป็นการฉีกช่องว่างความเหลื่อมล้ำให้กว้างขึ้น        อีกด้านหนึ่งเมื่อมองในแง่ความเป็นธรรมทางสังคม เงินที่ธนาคารปล่อยกู้มาจากเงินฝากของผู้ฝากรายย่อยจำนวนมาก แต่ผู้ฝากรายย่อยกลับไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อของธนาคารได้ผิดกับผู้กู้รายใหญ่ นอกจากนี้ ส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยเงินฝากและดอกเบี้ยเงินกู้ถูกวิจารณ์ว่ามีส่วนต่างมากเกินไป         ปัญหาหนี้สินจึงไม่ใช่แค่ปัญหาระดับปัจเจก ยังมีโครงสร้างและระบบอันบิดเบี้ยวค้ำจุนมันอยู่

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 244 รู้เท่าทันน้ำกระชายขาวป้องกันและรักษาโควิด-19

        ช่วงนี้คงไม่มีอะไรร้อนแรงเท่าน้ำกระชายขาวเพื่อการป้องกันและรักษาโควิด-19 มีการเผยแพร่ผลงานวิจัยของมหิดลว่า กระชาย (ขาว) สามารถป้องกันโควิด-19 ได้ จึงมีการเชียร์ให้กินกระชายและดื่มน้ำกระชายเพื่อป้องกันและรักษาโควิด-19 อย่างอย่างครึกโครมไม่แพ้ฟ้าทะลายโจร เรามารู้เท่าทันกันเถอะ กระชายขาวคืออะไร        กระชายขาวที่เรียกกันนี้ ก็คือกระชายหรือกระชายเหลือง กระชายเป็นพืชสมุนไพรที่คนไทยรู้จักดี และนำมาปรุงเป็นอาหาร เป็นส่วนผสมสำคัญในแกงป่าเพราะมีคุณสมบัติในการช่วยดับกลิ่นคาวของเนื้อสัตว์ได้ดี หรือใช้เป็นผักจิ้มได้โดยตรง         กระชาย มีสรรพคุณทางยามากมายจนได้ชื่อในวงการแพทย์แผนไทยว่าเป็น "โสมไทย" เนื่องจากกระชายกับโสมมีสรรพคุณในการบำรุงกำลังและเสริมสมรรถภาพทางเพศ ทั้งกระชายและโสมต่างสะสมอาหารที่ใช้เป็นยาอยู่ใต้ดิน และสามารถเรืองแสงในที่มืดได้เหมือนกันด้วย และเนื่องจากโสมมีรูปร่างคล้ายกับคน จึงเรียกโสมว่า "โสมคน" และเรียกกระชายว่า "นมกระชาย" เนื่องจากมีลักษณะคล้ายคลึงกับนมผู้หญิง   งานวิจัยที่ยืนยันสรรพคุณในการป้องกันโควิด-19         มีการตีพิมพ์งานวิจัยในวารสาร PubMed [1]     ว่า มีการศึกษาสมุนไพรไทย 122 ผลิตภัณฑ์ พบว่า สารสกัดกระชายและสารประกอบเคมีจากพืช panduratin A มีฤทธิ์ยับยั้ง SARS-CoV-2 การรักษาการติดเชื้อ  SARS-CoV-2  ด้วยสารสกัด  B. rotunda และ panduratin A ยับยั้งการติดเชื้อได้เป็นอย่างดี         โครงการวิจัยต้านเชื้อไวรัสโคโรนาจากสมุนไพรไทย เป็นความร่วมมือระหว่าง คณะวิทยาศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กับ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ หรือ TCELS ขณะนี้งานวิจัยกระชายขาวอยู่ในขั้นตอนการศึกษาวิจัยในคน การพัฒนาสารสกัดกระชายขาวเพื่อใช้เป็นยาสำหรับโรค COVID-19 จะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปี กระชายในท้องตลาดราคาสูงขึ้นมาก         จากการค้นพบสรรพคุณของกระชายดังกล่าว ทำให้ราคาหัวกระชายขาวเพิ่มสูงขึ้น จากปกติราคากิโลกรัมละ 30 บาท ราคาพุ่งขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 80 – 100 บาททีเดียว และบางตลาดถึงกับไม่พอขายเลย น้ำกระชายสามารถป้องกันและรักษาโควิด-19 ได้จริงหรือไม่        เป็นความชาญฉลาดของพ่อค้าแม่ขาย เพื่อให้สะดวกสำหรับผู้บริโภค ก็มีการนำกระชายมาทำเป็นน้ำกระชายดื่ม และใช้ความเชื่อเดิมว่า สารสกัดกระชายสามารถรักษาโควิด-19 ได้ การดื่มน้ำกระชายก็น่าจะมีผลในการรักษาและป้องกันโควิด-19 ได้เช่นเดียวกัน         น้ำกระชาย กระชายสามารถยับยั้ง รักษาโควิด-19 ในคนได้หรือไม่นั้น งานวิจัยยังไปไม่ถึงระดับนั้น อยู่ระหว่างการวิจัยในคนอยู่         เมื่อรักษาโควิด-19 ในหลอดทดลองได้ ก็น่าจะรักษาในคนได้เหมือนกัน         ไม่เป็นอย่างนั้น เพราะกระบวนการที่คนกินยาหรือสมุนไพรเข้าไป จะต้องผ่านการย่อยและดูดซึมเข้าไปในกระแสเลือด และค่อยไปสู่ส่วนต่างๆ ของร่างกาย การย่อยและดูดซึมอาจทำให้ยาหรือสมุนไพรเปลี่ยนสภาพ และมีสรรพคุณเปลี่ยนไปจนไม่สามารถยับยั้งเชื้อไวรัสโควิด-19 เหมือนในหลอดทดลองก็ได้         สรุป  การกินกระชาย น้ำกระชาย อาจไม่สามารถยับยั้ง รักษา โควิด-19 ได้เหมือนในหลอดทดลอง แต่ก็ไม่มีอันตรายเพราะคนไทยกินกระชายเป็นอาหารตามปกติอยู่แล้ว และยังช่วยรักษาอาการท้องอืดท้องเฟ้อได้[1] Sci Rep. 2020 Nov 17;10(1):19963. doi: 10.1038/s41598-020-77003-3

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 244 ข่าวดีเพิ่มเติมจากยาสูบ

        ข้อมูลส่วนใหญ่ที่สืบค้นได้ในประเด็นที่เกี่ยวกับการใช้ยาสูบสายพันธุ์ออสเตรเลียสู้ไวรัสนั้น มักเป็นไปในด้านการดัดแปลงพันธุกรรมให้ใบยาสูบสร้างโปรตีนที่เป็นแอนติบอดีสู้กับเชื้อโรค (neutralizing antibody) ดังที่เล่าให้ฟังในฉลาดซื้อประจำเดือนมีนาคม 2564 อย่างไรก็ดีได้มีคำถามถึงการใช้ใบยาสูบเพื่อผลิตโปรตีนที่ทำหน้าที่ในวัคซีนเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างแอนติบอดีต้านเชื้อโรคมีบ้างไหม ซึ่งคำตอบคือ มี         บทความชื่อ Potential Applications of Plant Biotechnology against SARS-CoV-2 ตีพิมพ์ในวารสาร Trends in Plant Science ในปี 2020 นั้น ให้ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับการหาทางต่อสู้ covid-19 โดยอาศัยใบยาสูบช่วยในการผลิตวัคซีน ข้อความส่วนหนึ่งในบทความกล่าวประมาณว่า...         “อย่างน้อยก็มีบริษัทหนึ่งที่คิดจะพัฒนาวัคซีน covid-19 โดยอาศัยการแสดงออกของยีน (เพื่อสร้างหน่วยย่อยโปรตีนจาก SARS-CoV-2) ในใบยาสูบ บริษัทนั้นคือ Kentucky BioProcessing ในเมือง Owensboro รัฐเคนตักกี สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ British American Tobacco อย่างไรก็ดีรายละเอียดนั้นยังไม่เป็นที่เปิดเผยต่อสาธารณะ โดยมีข้อมูลเบื้องต้นว่าน่าจะเป็นการใช้ลำดับโปรตีน S1 ซึ่งเป็นโพลีเป็บไทด์ที่เป็นองค์ประกอบส่วนที่แสดงความแตกต่างระหว่างหนามโปรตีน (spike protein) ของ SARS-CoV-2 และหนามโปรตีนของ coronavirus ชนิดอื่น มาถอดเป็นรหัสพันธุกรรมแล้วใส่เข้าไปในเซลล์ของใบยาสูบ เพื่อบังคับให้ใบยาสูบสร้างโปรตีนซึ่งสามารถแยกออกเป็นโปรตีนบริสุทธิ์ที่มีศักยภาพเป็นแอนติเจน เพื่อใช้ทำเป็นวัคซีนสำหรับฉีดกระตุ้นภูมิคุ้มกันเพื่อต่อต้าน SARS-CoV-2 ในคน”         กลับมาที่แอนติบอดีที่ผลิตจากใบยาสูบ ซึ่งปรากฏเป็นข่าวในแง่ความปลอดภัยว่าผ่านหรือไม่นั้น ในเว็บ www.sanook.com เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2563 มีหัวข้อข่าวเรื่อง บริษัทยาสหรัฐแตะเบรก ระงับการทดลองแอนติบอดีรักษาโควิด-19 เหตุกังวลความปลอดภัย บริษัทที่ข่าวกล่าวถึงคือ Eli Lilly & Co ซึ่งได้แถลงการณ์ว่า คณะกรรมการติดตามความปลอดภัยด้านข้อมูลของบริษัทจาก US.FDA ได้แนะนำให้บริษัทระงับการรับอาสาสมัครทดลองการฉีดแอนติบอดีในโครงการทดลองซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา โดยแอนติบอดีชนิดนี้เป็นโมโนโคลนอลแอนติบอดี (monoclonal antibody) ที่ Eli Lilly & Co ต้องการใช้บำบัดอาการของผู้ป่วยโรคโควิด-19 ควบคู่กับการใช้ยาเรมเดซิเวียร์ (Remdesivir) ของบริษัทกิลเลียด ไซแอนเซส (Gilead Sciences)         ต่อมาในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2563 ได้มีข่าวปรากฏใน https://www.prnewswire.com กล่าวว่า Lilly's neutralizing antibody bamlanivimab (LY-CoV555) receives FDA emergency use authorization for the treatment of recently diagnosed COVID-19 และเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2563 ในเว็บ https://www.biopharma-reporter.com มีข่าวเรื่อง Canada grants emergency use authorization to Lilly’s COVID-19 antibody, drug maker in strategic manufacturing deal with Samsung ซึ่งเป็นการแสดงว่ามีการอนุมัติแบบฉุกเฉินในการใช้ neutralizing antibody เป็นยาในคนไข้วิกฤตบางกลุ่มเป็นกรณีพิเศษแล้ว         Bamlanivimab เป็นโปรตีนแอนติบอดีที่สามารถจับตัวกับหนามโปรตีนของไวรัส เพื่อยับยั้งการเข้าสู่เซลล์มนุษย์ โดยมีข้อแม้ในการใช้ยาตัวนี้คือ ต้องเป็นคนไข้ covid-19 ซึ่งเป็นผู้ใหญ่ที่มีอาการไม่หนักหรือถ้าเป็นเด็กจะต้องมีอายุมากกว่า 12 ปีและมีน้ำหนักอย่างน้อย 40 กิโลกรัม ซึ่งแพทย์ต้องประเมินว่า ถ้าไม่ได้รับการบำบัดด้วยยานี้แล้วมีแนวโน้มว่า จะมีอาการหนักเมื่อเข้าไปอยู่ในโรงพยาบาล        Bamlanivimab นี้ห้ามใช้กับผู้ป่วยใน (Inpatient) ของโรงพยาบาลซึ่งป่วยเนื่องจาก covid-19 ที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจและผู้ป่วยที่มีปริมาณออกซิเจนต่ำ (ผู้เขียนเข้าใจว่าเนื่องจากผู้ป่วยเหล่านี้อยู่ในขั้นวิกฤตที่เกิดจาก cytokine storm คือสภาวะที่ระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดพลาดและตอบสนองด้านการอักเสบแบบโหมกระหน่ำเกินภาวะควบคุมได้ ส่งผลให้มีการทำลายเซลล์ปอดในคนไข้หลายคน) ยานี้ผ่านการประเมินทั้ง 3 ระยะแล้วในคน แต่ผลจากการประเมินนั้น US.FDA ไม่ประทับใจนัก ซึ่งดูได้จากการกำหนดให้มีข้อแม้ในการใช้ยามากมายซึ่งหาดูได้จากเอกสารหลายชิ้นที่ Eli Lilly & Co เผยแพร่ในเว็บของบริษัท         ตัวอย่างที่สำคัญของข้อมูลที่เป็นข้อจำกัดห้ามใช้คือ ผู้ป่วยต้องไม่เป็น 1. คนขี้แพ้ (allergies) 2. คนท้องหรือเตรียมจะท้อง 3. แม่กำลังให้นมลูก 4. คนไข้โรคร้ายแรงอื่น ๆ หรือ 5. ผู้ที่กำลังกินยาหรือวิตามินเสริมใด ๆ เพื่อการบำบัดโรค และที่สำคัญคือ การใช้ยานี้ในผู้ป่วยจำเป็นต้องให้สู่หลอดเลือดดำโดยผ่านสายน้ำเกลือในปริมาณสูงถึง 700 มิลลิกรัมต่อ 20 มิลลิลิตร ซึ่งอาจมีผลข้างเคียงได้ถึงขั้น “ตาย” หรืออยู่โรงพยาบาลนานขึ้น เป็นต้น         ต่อคำถามที่อาจมีคือ แอนติบอดีชนิดใดบ้างถูกใช้ในการบำบัดโรคเนื่องจากไวรัสได้จริงแล้วหรือไม่ นั้น ผู้เขียนได้สืบข้อมูลพบว่า มีหลายบทความในอินเตอร์เน็ตที่กล่าวถึงยาชื่อ ZMapp ของ Eli Lilly & Co ที่เคยมีเป็นความหวังในการใช้บำบัดโรค Ebola ที่เกิดจากไวรัสชื่อ Zaire ebolavirus โดยโรคนี้ติดต่อจากคนสู่คน (Human to human transmission) ผ่านการสัมผัสเมือกหรือสารคัดหลั่ง (ปัสสาวะ น้ำลาย เหงื่อ อุจจาระ อาเจียน น้ำนมหรือน้ำอสุจิ) ของผู้ป่วยที่ติดเชื้อ นอกจากนี้ยังเชื่อว่าสัตว์บางชนิดอาจเป็นพาหะ ได้แก่ ค้างคาวผลไม้ (Fruit Bat) และลิง เป็นต้น         อาการของการติดเชื้อไวรัสอีโบลาโดยทั่วไปเหมือนการติดเชื้อไข้เลือดออกคือ มีอาการไม่เฉพาะเจาะจง ประกอบไปด้วยอาการไข้ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว แต่อาการจะรุนแรงขึ้นถึงขั้นมีเลือดออก ตาเหลือง ตัวเหลือง การทำงานของอวัยวะภายในล้มเหลว นอกจากนี้ให้สงสัยไว้ก่อนในผู้ที่มีประวัติเดินทางไปในพื้นที่ที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลา และ/หรือ มีการสัมผัสกับสารคัดหลั่งของผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสอีโบลาว่า เป็นผู้อาจติดเชื้อ ซึ่งโดยทั่วไปมักเริ่มมีอาการตั้งแต่ 2-21 วันภายหลังจากสัมผัสกับเชื้อ โรคอีโบลานี้มีความรุนแรงมากเพราะมีอัตราการเสียชีวิตเฉลี่ยสูงถึงราวร้อยละ 50         จากบทความเรื่อง Fighting Ebola with ZMapp: spotlight on plant-made antibody ใน Scientific China Life Sciences ของปี 2014 (doi: 10.1007/s11427-014-4746-7) และบทความเรื่อง Ebola 'Secret Serum': Small Biopharma, The Army, And Big Tobacco ในเว็บ www.forbes.com รวมถึงข้อมูลจาก Wikipedia ทำให้ประมวลรู้เรื่องของ ZMapp ว่า ยานี้ผลิตภายใต้กระบวนการแบบโมโนโคลนอลแอนติบอดีซึ่งมีหลายวิธี แต่วิธีที่เกิดจากการดัดแปลงพันธุกรรมของยาสูบออสเตรเลีย (Nicotiana bethamiana) นั้นเป็นความพยายามของบริษัท Kentucky BioProcessing Inc. ซึ่งหวังว่าจะเป็นยาที่อาจช่วยชีวิตชาวโลกจากโรคอีโบลา         จากข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับ ZMapp นั้นกล่าวประมาณว่า โปรตีนนี้เป็นยาชีวเภสัชภัณฑ์ซึ่งประกอบด้วยโมโนโคลนอลแอนติบอดีที่เป็น chimeric antibodies 3 ชนิดที่ถูกพัฒนาให้ทำงานร่วมกันเพื่อบำบัดโรคอีโบลา คำว่า Chimeric antibody นั้นหมายถึง แอนติบอดีลูกผสมที่เกิดจากการต่อโปรตีนส่วน Fab (ส่วนของแอนติบอดีที่เปลี่ยนแปลงไปตามแอนติเจนที่ต่างกัน) ซึ่งมักผลิตได้จากสัตว์ทดลอง (เช่นหนู) กับโปรตีนส่วน Fc (ส่วนของแอนติบอดีที่คงที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามแอนติเจนที่ต่างกัน) ของแอนติบอดีจากมนุษย์ ทั้งนี้เพื่อลดการกระตุ้นให้เกิดการสร้างแอนติบอดีที่ต่อต้านโปรตีนที่ใช้เป็นยา (ในที่นี้คือ ZMabb) ให้น้อยลง         ยา ZMapp ได้รับการทดสอบกับสัตว์เท่านั้นและยังไม่ได้รับการทดลองแบบ randomized controlled trial ในคน แต่จำเป็นต้องใช้ในมนุษย์อย่างรีบด่วนเพราะในช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2014 เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ชาวอเมริกัน 2 คน ชื่อ Dr. Kent Brantly (อาสาสมัครวัย 33 ปีของ โครงการของ Samaritan's Purse ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรของกลุ่มผู้นับถือศาสนาคริสต์) และ Nancy Writebol (อาสาสมัครวัย 59 ปี ที่ไปทำงานช่วยคนไข้อีโบลา) ได้ติดเชื้อในระหว่างการดูแลผู้ป่วยอีโบลาในไลบีเรีย ซึ่งหลังจากได้ยา ZMapp แล้วผู้ป่วยทั้งสองอ้างว่า รู้สึกดีขึ้นและออกจากโรงพยาบาลเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2014 ซึ่งเป็นข่าวโทรทัศน์ที่หาดูได้จาก YouTube เรื่อง How to grow an Ebola vaccine with a tobacco plant (https://www.youtube.com/watch?v=uCW6qeJt-JA)         National Institute of Health (หรือกระทรวงสาธารณสุขของสหรัฐอเมริกา) เริ่มดำเนินการทดลองประสิทธิภาพของ ZMapp ทางคลินิกในอาสาสมัครจากเซียร์ราเลโอน กินี และไลบีเรีย ในเดือนมกราคม 2015 โดยมีเป้าหมายที่จะทดลองในคน 200 คน แต่การแพร่ระบาดของโรคลดลงส่งผลทำให้ต้องปิดการทดลองก่อนกำหนดในเดือนมกราคม 2016 โดยมีข้อมูล (ที่ไม่สามารถตัดสินทางสถิติ) ว่า ZMapp ช่วยลดอันตรายของโรคราวร้อยละ 40         แม้ว่า ZMapp เคยได้รับการประเมินโดยองค์การอนามัยโลกเพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉินเนื่องจากมีประโยชน์มากกว่าผลเสียที่เป็นความเสี่ยงก็ตาม แต่ก็มีข้อสังเกตเกี่ยวกับปัญหาของอุณหภูมิของการจัดเก็บระหว่างการขนส่งที่ต้องการความเย็นต่อเนื่อง ในเดือนสิงหาคม 2019 หน่วยงานด้านสุขภาพแห่งชาติของสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก องค์การอนามัยโลกและสถาบันสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐอเมริกาได้ประกาศหยุดใช้ ZMapp จากนั้นในเดือนตุลาคม 2020 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) ได้อนุมัติยาอีกชนิดหนึ่งในลักษณะเดียวกับ ZMapp ชื่อ Inmazeb ซึ่งเป็นของผสมของโมโนโคลนอลแอนติบอดี 3 ชนิด คือ atoltivimab, maftivimab, และ odesivimab ในการรักษาการติดเชื้อที่เกิดจาก Zaire ebolavirus         ดังนั้นโดยสรุปแล้ว แอนติบอดีสู้ไวรัสที่ผลิตโดยใช้ใบยาสูบจึงมีแค่แนวโน้มที่อาจถูกใช้ได้จริงยามฉุกเฉิน แต่ยังไม่ได้ใช้โดยทั่วไปในขณะที่เขียนบทความนี้

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 243 ปัญหาขาดแคลนถุงพลาสติกทำให้การผลิตวัคซีนของโลกชะงัก

        การขาดแคลนถุงพลาสติกเฉพาะทางซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในกระบวนการผลิตวัคซีนกลายเป็นปัญหาคอขวดที่ไปชะงักการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้เพียงพอใช้ทั่วโลก เมื่อมองย้อนกลับไปปลายปี 2019 โลกก็เริ่มที่จะประสบปัญหาการขาดแคลนฟิล์มพลาสติกที่ใช้ทำถุงพลาสติกเฉพาะทางเหล่านี้ก่อนที่โควิด-19 จะเริ่มระบาดอยู่แล้ว และเมื่อโควิด-19 ระบาดหนักในช่วงต้นปี 2020 ที่ผ่านมา  วัสดุสำคัญที่เกี่ยวข้องกับโรคโควิด-19  เช่น ขวดแก้ว พลาสติก จุกปิดขวดและสารเคมีประเภทต่างๆ ก็เริ่มที่จะขาดตลาด ซึ่งทำให้เป็นจุดเริ่มในการเกิดปัญหาการขาดแคลนครั้งใหญ่ทั่วโลกครั้งนี้         กระบวนการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19  เช่น BioNTech / Pfizer, Moderna และ Novavax  ต่างต้องใช้ถุงพลาสติกเฉพาะทางในกระบวนการผลิตกันทั้งนั้น โดยจะใช้ถุงพลาสติกเฉพาะทางเหล่านี้ในการเป็นท่อที่ถูกฆ่าเชื้อเพื่อทำการประกอบส่วนผสมของสารเคมีในวัคซีนขึ้น  ผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ รวมไปถึง  CSL หรือบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพท้องถิ่นในออสเตรเลียที่กำลังเร่งผลิตวัคซีนอ็อกซ์ฟอร์ด-แอสตร้าเซนเนก้า (Oxford-Astrazeneca) จำนวน 50 ล้านโดสให้ทันต่อความต้องการของประชากรในประเทศก็ถูกชะงักลงเนื่องจากขาดวัสดุอุปกรณ์เฉพาะทางที่สำคัญในกระบวนการผลิต  เนื่องด้วยวัสดุเหล่านี้ต้องได้รับการผลิตด้วยมาตรฐานการฆ่าเชื้อที่สูงมาก จึงทำให้มีบริษัทเพียงไม่กี่แห่งในโลกที่สามารถผลิตมันได้          ตัวอย่างเช่นในยุโรป ดร.เจอร์เกน ลินเนอร์ หัวหน้าสมาคมผู้ผลิตส่วนผสมทางเภสัชกรรมแห่งออสเตรเลียกล่าวว่า  “เท่าที่ฉันทราบ ในยุโรปมีผู้ผลิตขวดแก้วแค่สามที่”  มากไปกว่านั้นวัสดุหลายประเภทต้องใช้ระยะเวลาในการผลิตเนื่องด้วยความซับซ้อนในกระบวนการผลิตของมัน  จึงทำให้บริษัทในหลายแห่งไม่สามารถผลิตมันออกมาได้ภายในระยะเวลาสั้นๆ ได้ อีกทั้งตัววัคซีนเองก็จำเป็นต้องใช้สารเคมีหลายร้อยชนิดในการผลิต เช่น กระบวนการผลิตวัคซีน Pfizer ที่ต้องใช้ส่วนผสมในการผลิตมากกว่า 280 ชนิด  จึงทำให้ไม่แปลกที่ทั่วโลกจะเกิดอุปทานที่มากขึ้นกับวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตวัคซีน         ดังนั้นจาก “ความต้องการที่ไม่เคยมีมาก่อน” นี้เองที่ทำให้บริษัทที่สามารถผลิตวัตถุดิบเพื่อใช้ในการผลิตวัคซีนต่างก็ตื่นตัวและพยายามอย่างเต็มที่ในการขยายความสามารถในการผลิตของตนให้มีได้ในปริมาณที่มากที่สุด  เพื่อให้ทันต่อปริมาณอุปทานที่ล้นหลามจากทั่วโลก โดยกระบวนการผลิตนั้นจะยังคงต้องรักษาระดับมาตรฐานคุณภาพเอาไว้ให้ได้อีกด้วย  ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการขาดแคลนวัตถุดิบที่สำคัญเหล่านี้สามารถเห็นได้ในหลายๆ ประเทศทั่วโลกที่กระบวนการผลิตวัคซีนถูกชะลอให้ช้าลง ดังจะเห็นได้จาก สถาบันเซรั่มรายใหญ่ของอินเดียได้ออกมากล่าวว่า ปัญหาการขาดแคลนถุงพลาสติกทำให้พวกเขาผลิตวัคซีน Novavax  อย่างยากลำบาก ซึ่งทำให้ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาทางบริษัทได้ออกมาเตือนถึงข้อจำกัดในการผลิตวัคซีนเนื่องจากกำลังประสบปัญหาการสรรหาวัตถุดิบเพื่อใช้ในการผลิต ทำให้เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมาอินเดียทำลายสถิติโลกของผู้ติดเชื้อโควิด-19         วัตถุดิบที่ใช้เพื่อผลิตวัคซีนส่วนใหญ่มาจาก 13 ประเทศ นำโดยสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป อังกฤษ อาร์เจนตินา รัสเซีย บราซิล ออสเตรเลีย แคนาดา จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้และสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งได้รวมตัวกันก่อตั้ง “วัคซีนคลับ” ตามที่ธนาคารโลกได้ขนานนามไว้ขึ้น  โดยเป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นเพื่อผลิตวัตถุดิบที่สำคัญในการผลิตวัคซีนป้องกันโควิดรวมไปถึงตัวผลิตภัณฑ์วัคซีน “นั่นทำให้พวกเขาได้เปรียบกว่าประเทศอื่นๆ เป็นสองเท่า”  ศ.ไซมอน อีเว็ตต์ ผู้เขียนรายงานกล่าวถึงความได้เปรียบของประเทศสมาชิกใน “วัคซีนคลับ”   จากความได้เปรียบนี้เองที่ทำให้การกระทำของประเทศที่ร่ำรวยบางประเทศส่งผลให้ส่วนที่เหลือของโลกมีความเสี่ยง เพราะประเทศที่เหลือนอกจากประเทศสมาชิกเข้าถึงสิทธิ์ในการฉีดวัคซีนได้ยากเนื่องจากต้องจ่ายเงินเพื่อนำเข้าวัคซีนมาใช้ เช่นประเทศที่ยังไม่พัฒนาหรือประเทศที่มีรายได้ต่ำ           ขณะที่จีน อินเดียและสหภาพยุโรปพยายามจัดหาวัตถุดิบและผลิตวัคซีนให้เพียงพอกับความต้องการของประเทศตนเองและประเทศเพื่อนบ้าน สหรัฐอเมริกาเลือกที่จะปฏิเสธการส่งออกวัคซีนไปยังส่วนที่เหลือของโลกถึงแม้ว่าวัคซีนหลายล้านโดสในประเทศตัวเองจะไม่ได้ถูกใช้ก็ตาม เนื่องด้วยสาเหตุจากการขาดแคลนวัตถุดิบที่สำคัญในการผลิตวัคซีนและจำนวนผู้ติดเชื้อที่ยังคงเพิ่มขึ้นทุกวัน ทำให้สหรัฐอเมริกาต้องหยุดการส่งออกวัคซีนเพื่อเก็บไว้ให้ประชากรในประเทศของตนเองใช้  อย่างไรก็ตามเมื่อยักษ์ใหญ่แห่งเอเชียใต้หรืออินเดียต้องต่อสู้กับยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นในทุกวัน  บวกกับแรงกดดันจากนานาชาติที่เรียกร้องให้สหรัฐอเมริกาแบ่งปันส่วนหนึ่งของวัคซีนในประเทศเพื่อช่วยเหลือประเทศอื่นๆ ที่กำลังประสบปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างหนัก โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติในสหรัฐอเมริกาจึงได้ออกมากล่าวให้การสนับสนุนสถานการณ์โควิด-19 ในอินเดีย โดยจะจัดหาวัตถุดิบเพื่อผลิตวัคซีน ตลอดจนหนทางการรักษาและอุปกรณ์ป้องกันโรคที่สำคัญกับอินเดียโดยทันที นอกจากนี้สหรัฐฯ ยังมีแผนส่งออกวัคซีน แอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) กว่า 60 ล้านโดสไปยังประเทศอื่นๆ เพื่อให้สามารถเข้าถึงวัคซีนได้ทั่วทุกประเทศรวมไปถึงประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง นอกจากนี้ ประเทศตะวันตกหลายประเทศ นำโดย อังกฤษ ฝรั่งเศส แคนาดาและเยอรมนีได้ให้คำมั่นว่าจะให้ความช่วยเหลือสถานการณ์วิกฤตของโควิด-19 ในอินเดียที่ยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างเต็มที่         ถึงแม้ว่าการร่วมมือกันของหลายประเทศมหาอำนาจที่ตั้งใจจะพัฒนาและผลิตจำนวนวัคซีนให้เพียงพอเพื่อที่จะจัดจำหน่ายให้บริการทั่วถึงทั้งโลกจะเกินกว่าหนึ่งพันล้านโดสแล้วก็ตาม  ตัวเลขผู้ติดเชื้อทั่วโลกยังคงเพิ่มสูงขึ้น และปริมาณอุปทานในการผลิตวัคซีนก็ยังคงมีอยู่  จากการคาดเดาปริมาณที่ทั่วโลกต้องการผลิตวัคซีนภายในปีหน้าพบว่ามีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งหมายความว่าแรงกดดันในการจัดหาวัตถุดิบเพื่อใช้ในการผลิตวัคซีนยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง Reference Aime Williams and Kiran Stacey, (2021, May 1).Is there a ban on Covid vaccine exports in the US?.https://www.ft.com/content/82fa8fb4-a867-4005-b6c2-a79969139119Belinda Smith, (2021, February 12).Inside CSL, where Australia's Oxford-AstraZeneca vaccines are being made.https://www.abc.net.au/news/science/2021-02-12/covid-19-vaccine-oxford-astrazeneca-adenovirus-csl-manufacturing/13140104 Liam Mannix, (2021, May 7).Why a worldwide shortage of plastic bags is choking vaccine production.https://www.smh.com.au/national/why-a-worldwide-shortage-of-plastic-bags-is-choking-vaccine-production-20210506-p57phk.html Hannah Kuchler and Joe Miller, (2021, February 17).Shortage of giant plastic bags threatens global vaccines rollout.https://www.ft.com/content/b2f4f9cf-af80-428f-a198-2698ceb4c701

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 243 ความเคลื่อนไหวเดือนพฤษภาคม

พาณิชย์คุมเข้มค่าบริการดีลิเวอรี่ ห้ามขึ้นค่าคอมมิชชั่นร้านค้า        7 พ.ค. นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้สั่งการให้กรมการค้าภายในติดตามดูแลราคาค่าบริการขนส่งดีลิเวอรี่อย่างใกล้ชิด กรมการค้าภายในจึงได้หารือร่วมกับผู้ให้บริการส่งอาหารและแพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ ทั้ง 11 แพลตฟอร์ม ได้แก่ Lineman, GRAB, Foodpanda, Robinhood, Gojek, Lazada, Shopee, JJmall, ไปรษณีย์ไทย, Ohlala Shopping และ Lalamove  ซึ่งจากการหารือผู้ให้บริการยืนยันว่า ไม่มีการปรับขึ้นราคาค่าบริการขนส่งดีลิเวอรี่อย่างแน่นอน พร้อมกันนี้ หลายแพลตฟอร์มยังมีการจัดโปรโมชั่น เพื่อช่วยเหลือประชาชนอยู่แล้ว สำหรับสถานการณ์ยอดการสั่งซื้อส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย 5-10% เท่านั้น หรือบางรายไม่เพิ่มขึ้น         กรณีที่มีข่าวว่าแพลตฟอร์มต่าง ๆ มีการปรับขึ้นค่า GP (Gross Profit) หรือ ค่าคอมมิชชั่นที่ร้านอาหารต้องจ่ายให้กับเป็นค่าดำเนินการที่ทางแพลตฟอร์มเรียกเก็บนั้น แพลตฟอร์มต่างๆ ยืนยันว่าไม่มีนโยบายปรับค่า GP หรือค่าบริการขนส่ง เนื่องจากเข้าใจสถานการณ์และต้องการช่วยเหลือร้านค้าต่างๆ อยู่แล้ว โดยในส่วนการเก็บค่า GP บางรายให้ร้านค้าเลือกที่จะจ่ายค่า GP หรือไม่ บางรายไม่มีการเก็บค่า GP หรือเก็บค่า GP เฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่เท่านั้น ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์ ได้เน้นย้ำให้แพลตฟอร์มพยายามรักษามาตรฐานสุขอนามัยของพนักงานส่งสินค้า เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดและสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน รวมทั้งให้แพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ดูแลร้านค้าที่จำหน่ายหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ ห้ามขายเกินราคาที่กำหนด และต้องแสดงราคาให้ชัดเจนอีกด้วยผักสด 10 ชนิดที่พบพยาธิมากที่สุด         เพจเฟซบุ๊ก ศูนย์วิจัยโรคปรสิต สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เผยผลสำรวจผักสดที่วางขายตามตลาด พบการปนเปื้อนพยาธิสูงถึง 35.1%  และมีพยาธิที่สามารถไชผ่านผิวหนังเราได้ จำเป็นต้องล้างด้วยน้ำยาล้างผัก และสวมใส่ถุงมือขณะล้าง         ข้อมูลดังกล่าวมาจากการสำรวจของ Punsawad C และคณะ (2019) จากสำนักวิชาแพทย์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ซึ่งเก็บผักจากตลาดในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 265 ตัวอย่าง พบการปนเปื้อนพยาธิในผักจำนวน 93 ตัวอย่าง (35.1%)   โดยพบว่ามีพยาธิปากขอสูงสุด 42.9% รองลงมาคือ พยาธิเส้นด้าย 10.6% พยาธิแส้ม้า 2.6% พยาธิไส้เดือน 2.6% และพยาธิไส้เดือนสุนัข 2.6%         โดยผัก 10 ชนิดที่พบพยาธิเรียงจากมากไปน้อย คือ 1. ผักขึ้นฉ่ายฝรั่ง 2. สะระแหน่ 3. ใบบัวบก 4. ผักชีไทย 5. หอม 6. ผักชีฝรั่ง 7. ผักกาดขาวจีน 8. ผักสลัด  9. โหระพา 10. ผักบุ้งจีน  แนะรับประทานโดยการทำให้สุก หากจะรับประทานสดควรล้างทำความสะอาดด้วยน้ำยาล้างผัก น้ำส้มสายชู ด้วยการแช่อย่างน้อย 30 นาที และควรสวมถุงมือขณะล้างป้องกันพยาธิชนิดที่ไชผ่านผิวหนังได้ สภาของผู้บริโภคเสนอหน่วยงานกำกับเร่งตรวจสอบ รพ.เอกชนเรื่องค่ารักษาพยาบาล         สภาองค์กรของผู้บริโภค เสนอ กรมการค้าภายในและกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เร่งตรวจสอบและกำกับควบคุมราคาค่าบริการ ค่ารักษา และค่าอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เกี่ยวกับการรักษาผู้ป่วยโควิด - 19 ของโรงพยาบาลเอกชน หลังพบกรณีที่อาจเข้าข่ายการตั้งราคาที่สูงเกินสมควร เช่น ผ้าก๊อซ ที่ราคาต้นทุน 10 บาท ถูกโรงพยาบาลเอกชนเรียกเก็บในราคา 800 บาท ชุดป้องกันเชื้อ (PPE) ราคาที่ยอมรับร่วมกัน 144 บาท แต่กลับถูกเรียกเก็บถึง 401.61 บาท หรือหน้ากาก 3M รุ่น 1870 ราคาขายในท้องตลาดชิ้นละ 65 - 70 บาท แต่โรงพยาบาลเอกชนบางแห่งคิดราคาถึงชิ้นละ 185 บาท ซึ่งสูงกว่าราคาตลาดถึงร้อยละ 226 – 282         การตั้งราคาในลักษณะดังกล่าวอาจเป็นที่มาของการเรียกร้องให้เพิ่มค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จนกลายเป็นภาระของรัฐบาลและประชาชน เป็นการสร้างวิกฤติในวิกฤติอีกชั้นครม.เห็นชอบจัดสรรงบให้สภาองค์กรของผู้บริโภคเป็นทุนประเดิมขับเคลื่อนงาน         11 พ.ค. 2564 น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น งบเงินอุดหนุน จำนวน 350 ล้านบาท ให้แก่สภาองค์กรของผู้บริโภค เพื่อเป็นทุนประเดิมเบื้องต้น ตามที่ พ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 กำหนด สภาองค์กรของผู้บริโภค เป็นองค์กรอิสระที่ไม่แสวงหาผลกำไร มีอำนาจหน้าที่ อาทิ คุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ติดตามและตรวจสอบปัญหาที่กระทบสิทธิผู้บริโภค ส่งเสริมองค์กรของผู้บริโภคในระดับพื้นที่และจังหวัด ดำเนินคดีเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค ช่วยเหลือสมาชิกในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททั้งก่อนและในระหว่างการดำเนินคดี สนับสนุนการศึกษาวิจัยเพื่อใช้ประโยชน์ในการคุ้มครองสิทธิ และเสนอแนะนโยบายเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคแก่ภาครัฐ         น.ส.รัชดา กล่าวว่า สำหรับแผนปฏิบัติการสภาองค์กรของผู้บริโภค ภายใต้งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2564 - 2565 ประกอบด้วย 6 แผนสำคัญ ดังนี้        1.แผนงานสนับสนุนและดำเนินการคุ้มครองพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค        2.แผนงานพัฒนานโยบายและมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค        3.แผนงานสนับสนุนหน่วยประจำจังหวัดและองค์กรของผู้บริโภค        4.แผนงานสื่อสารเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค        5.แผนงานจัดตั้งสำนักงานและพัฒนากำลังคนของสภาองค์กรของผู้บริโภค        6.แผนเงินสำรองกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น  มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและพันธมิตร ส่งคําชี้แจงขอให้ศาลคุ้มครองชั่วคราว ควบรวมธุรกิจ ซีพี – เทสโก้โลตัส         14 พฤษภาคม 2564 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและองค์กรผู้บริโภคในฐานะผู้ฟ้องศาลปกครองร่วมกับ 36 องค์กรผู้บริโภค รวมทั้งผู้บริโภครายบุคคล กรณีคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) มีมติอนุมัติให้ บริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวล ลอปเม้นท์ จํากัด ควบรวมกิจการกับ บริษัท เทสโก้ สโตร์ส จํากัด อาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย ได้ส่งคําชี้แจงถึงเหตุผลที่ขอให้ศาลกำหนดมาตรการคุ้มครองหรือบรรเทาทุกข์ชั่วคราว โดยระบุว่า หากศาลไม่คุ้มครองชั่วคราวจะทำให้เกิดการผูกขาดจนยากต่อการแก้ไข เยียวยาภายหลัง การอนุมัติให้ควบรวมครั้งนี้จะเพิ่มอำนาจครอบงำธุรกิจ ปิดทางเลือกผู้บริโภค ทำลายกิจการรายย่อย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 243 ช่องทางการเช็กข้อมูลโควิด19 ผ่าน Social Media

        จากตัวเลขผู้ติดเชื้อในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด19 ระลอก 3 ในแต่ละวัน ทำให้หลายคนใจหายและภาวนาอยากให้สถานการณ์ดีขึ้น ไม่เลวร้ายไปมากกว่านี้ ดังนั้นสิ่งที่สำคัญสำหรับช่วงนี้คือ การรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ เพื่อที่จะได้รับมือและระมัดระวังตัว โดยเฉพาะคนทำงานที่ยังคงต้องเดินทางไปทำงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หรือแม้กระทั่งพ่อค้าแม่ค้าที่ต้องหาเช้ากินค่ำ ที่ต้องเดินทางหรือไปอยู่ในพื้นที่ที่อาจมีความเสี่ยงได้โดยไม่รู้ตัว         อีกทั้งข่าวปลอมที่แพร่สะพัดก็เยอะ การเช็คข้อมูลที่ถูกต้องจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก ฉบับนี้มาดูกันว่า ข่าวสารต่างๆ ที่น่าเชื่อถือนั้น สามารถดูได้จากที่ใดบ้าง เบื้องต้นขอแบ่งออกเป็น 3 หมวด ได้แก่ เว็บไซต์ Facebook และแอปพลิเคชั่น มาดูรายละเอียดกันเลยค่ะ         เริ่มด้วย หมวดที่ 1 หมวดเว็บไซต์ที่น่าสนใจดังนี้https://covid19.th-stat.com เว็บไซต์แจ้งรายงานสถานการณ์โดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขhttps://ddc.moph.go.th/viralpneumonia/index.php เว็บไซต์ข้อมูลโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขhttps://pr.moph.go.th/?url=main/index เว็บไซต์ข่าวสารของสำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขhttps://covidtracker.5lab.co เป็นแพลตฟอร์มเว็บไซต์ที่พัฒนาโดย 5Lab บริษัทเอกชน ที่นำข้อมูลจุดที่มีผู้ติดเชื้อและข่าวสารทั้งหมดที่เกิดขึ้นบนโลกออนไลน์ มาระบุพิกัดบนแผนที่ให้เห็นกันแบบชัดเจน มีการกรองข้อมูลของ Fake News อัปเดตจุดเสี่ยงที่ผ่านการทำความสะอาดแล้ว         หมวดที่ 2 หมวด Facebook ที่น่าสนใจดังนี้Facebook กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขFacebook กระทรวงสาธารณสุขFacebook ศูนย์ข้อมูล COVID-19Facebook ไทยรู้สู้โควิดFacebook กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์         หมวดที่ 3 หมวดแอปพลิเคชั่นที่น่าสนใจดังนี้แอปพลิเคชั่น “ใกล้มือหมอ” ช่วยเช็กอาการเบื้องต้นของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างสุขภาพแอปพลิเคชั่น “หมอชนะ” ช่วยบันทึกข้อมูลการเดินทางของผู้ใช้งานด้วยเทคโนโลยี GPS และ Bluetooth เพื่อเช็กอินตามสถานที่ต่าง ๆแอปพลิเคชั่น “หมอพร้อม” หรือ บัญชี LINE “หมอพร้อม” ช่วยรายงานข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับวัคซีนโควิด19บัญชี LINE “Away Covid-19” ช่วยให้เข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ซึ่งจำเป็นต่อการรับมือกับโควิด 19 และจะอัปเดตสถิติผู้ติดเชื้อในไทย สถานที่มีความเสี่ยง เป็นต้น         หวังว่าข้อมูลที่รวบรวมมาจะมีประโยชน์ทำให้การติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด19 ระลอก 3 ของผู้อ่านได้รับข้อเท็จจริงที่ถูกต้องเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามผู้อ่านอย่าลืมช่วยกันรักษามาตรการป้องกันอย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะเป็นการใส่หน้ากากอนามัยอย่างถูกวิธี การเว้นระยะห่าง ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ และรับรู้ข่าวสารอย่างพอดี ไม่วิตกกังวลจนเกินไป การ์ดอย่าตกนะคะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 243 คุณครูประจำชั้นถูกทวงหนี้จากหนี้ของพ่อแม่นักเรียน

        การแพร่ระบาดของโควิด 19 ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจโดยรวม ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการ ลูกจ้าง ผู้ใช้แรงงาน ผู้ประกอบการบางรายต้องปิดกิจการ ส่งผลให้ลูกจ้างตกงาน ไม่มีรายได้ ความจำเป็นบังคับให้ต้องกู้เงินเพื่อมาใช้จ่ายในครอบครัว ซึ่งการกู้เงินกับธนาคารลูกจ้างรายวัน ส่วนมากไม่สามารถกู้ได้ เพราะไม่มีหลักประกัน การกู้นอกระบบจึงเป็นทางเลือกอีกทางเลือกหนึ่ง ยิ่งปัจจุบันมีแอปพิเคชั่นสำหรับกู้เงินก็ยิ่งสะดวกรวดเร็วเข้าไปอีก ไม่ต้องมีหลักประกันใดๆ แต่ต้องแลกกับความเสี่ยงที่อาจถูกทวงหนี้แบบผิดกฎหมาย หรือส่งผลกระทบกับคนรอบตัวลูกหนี้         แชมป์เป็นคุณครูโรงเรียนประถมศึกษาแห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีผู้ใช้แรงงานจำนวนมาก วันหนึ่งมีสายโทรศัพท์จากเบอร์แปลกเข้ามา เขารับสายทางปลายสายสอบถามว่า เขาคือครูแชมป์ใช่ไหม เขาตอบว่าใช่ หลังจากนั้นปลายสายก็แจ้งมาว่า โทรศัพท์มาจากบริษัทให้กู้เงิน คุณชบาได้กู้เงินผ่านแอปกู้เงิน จำนวน 3,000 บาท ให้ครูแชมป์ไปบอกให้คุณชบาช่วยใช้หนี้ด้วย หรือให้ครูแชมป์ใช้หนี้แทนคุณชบา แต่เขาก็ปฏิเสธไปเพราะเขาไม่รู้จักคุณชบา         ต่อมาคุณครูจึงทราบว่า คุณชบาที่บริษัทให้กู้เงินโทรศัพท์มาทวงหนี้คือ แม่ของนักเรียนประจำชั้นของเขานั้นเอง เขางงมากว่าบริษัทให้กู้เงินโทรศัพท์มาทวงหนี้ที่เขาได้อย่างไร หลังจากนั้นเขาก็ได้รับโทรศัพท์ทวงหนี้จากการที่พ่อแม่ของนักเรียนประจำชั้นของเขาไปกู้เงินผ่านแอปกู้เงินออนไลน์ไม่ว่างเว้น เขาจึงโพสเฟซบุ๊กแจ้งผู้ปกครองนักเรียนว่า ได้โปรดอย่าให้เบอร์โทรศัพท์ของเขากับบริษัทให้กู้เงิน ปรากฏว่ามีคุณครูหลายคนเข้ามาคอมเมนท์ว่า ได้รับโทรศัพท์จากบริษัทให้กู้เงินจากแอปกู้เงินเหมือนกัน ครูแชมป์จึงปรึกษามาว่า เขาจะสามารถทำอย่างไรได้บ้าง แนวทางการแก้ไขปัญหา         เรื่องการทวงหนี้นั้น กฎหมายกำหนดว่าเจ้าหนี้ต้องทวงหนี้กับลูกหนี้เท่านั้น ห้ามทวงหนี้กับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ลูกหนี้เด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็น คนรู้จัก เพื่อนที่ทำงาน คนข้างบ้าน ฯลฯ เว้นแต่จะระบุไว้แต่แรกในสัญญา หากฝ่าฝืนมีโทษโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และห้ามบอกกับคนอื่นว่าลูกหนี้เป็นหนี้ ยกเว้น สามี ภรรยา บุพการี หรือผู้สืบสันดาน ของลูกหนี้ และบุคคลอื่นดังกล่าวได้สอบถามผู้ทวงถามหนี้ถึงสาเหตุของการติดต่อ หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามพระราชบัญญัติทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558         แอปกู้เงินโทรศัพท์มาทวงหนี้กับครูแชมป์ซึ่งเป็นบุคคลอื่นไม่ใช่ลูกหนี้ และบอกกับคุณแชมป์ว่าแม่ของนักเรียนครูแชมป์เป็นหนี้กับตนเอง เป็นการทวงหนี้ผิดกฎหมายต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ         ดังนั้นครูแชมป์สามารร้องเรียนการทวงหนี้ผิดกฎหมายได้ที่คณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำท้องถิ่น ณ ที่ว่าการอำเภอทุกแห่ง, สำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง, สำนักนโยบายพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และแจ้งความดำเนินคดีได้ที่สถานีตำรวจทุกแห่ง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 243 ลูกจ้างรายวันไปทำละเมิดคนอื่น นายจ้างต้องรับผิดด้วยหรือไม่

เมื่อวันก่อนมีข่าวเกี่ยวกับการเลิกจ้างลูกจ้างจำนวนมาก  ผู้ประกอบธุรกิจหลายแห่งก็ปิดกิจการเพราะทนพิษโควิดไม่ไหว หลายคนต้องเริ่มต้นชีวิตใหม่ ในช่วงเวลาที่ยากลำบากเช่นนี้ ขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านนะครับ  กลับมาในประเด็นของเรา เมื่อพูดถึงลูกจ้าง ทุกคนคงพอทราบว่า ลูกจ้างเมื่อทำงานให้แก่นายจ้าง หากเกิดปัญหากับบุคคลภายนอก ทำให้เขาเสียหายใดๆ ก็ตาม กฎหมายเรากำหนดให้นายจ้างต้องร่วมรับผิดกับลูกจ้างด้วย แต่มีคนสงสัยว่า หากเป็นลูกจ้างรายวัน ความรับผิดในส่วนของนายจ้างจะมีแค่ไหน เพียงใด         ในกรณีนี้ เคยมีการฟ้องคดีกันจนถึงศาลฏีกา เป็นเรื่องที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดแห่งหนึ่ง จ้างลูกจ้างรายวันให้ขับรถบรรทุกไปส่งสินค้า แต่ปรากฏว่าลูกจ้างคนดังกล่าวขับรถไปเฉี่ยวชนกับรถโดยสารทำให้เกิดความเสียหาย นายจ้างก็ไปคุยเจรจาต่อรองค่าเสียหายที่โรงพัก พร้อมทั้งยินยอมเสนอเงินชดใช้ค่าเสียหาย ศาลจึงตัดสินว่า พฤติการณ์ที่นายจ้างกระทำดังกล่าวเป็นการยอมรับว่ายอมรับผิดร่วมกับลูกจ้างผู้ก่อเหตุ แม้ จะเป็นเพียงลูกจ้างรายวันและขณะเกิดเหตุจะล่วงเลยเวลาทำงานตามปกติของแล้วก็ตาม ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17440/2555         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17440/2555         จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 3 ขับรถบรรทุกเฉี่ยวชนรถโดยสารของโจทก์ได้รับความเสียหายแม้ขณะเกิดเหตุเป็นเวลา 20 นาฬิกา แต่จำเลยที่ 1 ยังคงสวมใส่ชุดทำงาน ในวันรุ่งขึ้นจำเลยที่ 2 หุ้นส่วนผู้จัดการห้างจำเลยที่ 3 ไปพบพนักงานสอบสวนกับจำเลยที่ 1 โดยมิได้ปฏิเสธความรับผิดว่าจำเลยที่ 1 มิได้กระทำการในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 3 แต่กลับยอมรับต่อตัวแทนฝ่ายโจทก์และพนักงานสอบสวนว่าจำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 และยังร่วมเจรจาต่อรองค่าเสียหายโดยไม่ได้แจ้งหรือแสดงพฤติการณ์ใดให้เห็นว่าเป็นการกระทำในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 แสดงว่าจำเลยที่ 2 รับโดยปริยายแล้วว่าการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำในทางการที่จ้างซึ่งจำเลยที่ 3 จะต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการที่ยินยอมเสนอเงินชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ แม้จำเลยที่ 1 จะเป็นเพียงลูกจ้างรายวันและขณะเกิดเหตุจะล่วงเลยเวลาทำงานตามปกติของจำเลยที่ 1 แล้วก็ตาม แต่ก็ยังถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างและเมื่องานที่ทำเป็นกิจการของนายจ้าง จึงเป็นการปฏิบัติงานในทางการที่จ้างที่จำเลยที่ 3 ในฐานะนายจ้าง และจำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างจำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกโดยไม่จำกัดความรับผิดในผลแห่งละเมิดที่ห้างก่อให้เกิดขึ้นด้วย        อีกตัวอย่างที่น่าสนใจคือ แม้ลูกจ้างที่รับจ้างขับรถส่งของ จะเลือกใช้เส้นทางที่นอกคำสั่งของนายจ้าง และเป็นการฝ่าฝืนระเบียบก็ตาม ก็ยังถือได้ว่าการปฏิบัติงานที่ได้กระทำไปนั้นอยู่ในทางการที่จ้าง ผู้เป็นนายจ้างจะอ้างคำสั่งหรือระเบียบภายในขึ้นต่อสู้บุคคลภายนอกไม่ได้         คำพิพากษาฎีกาที่ 501-504/2517               จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกจ้างขับรถของจำเลยที่ 1 ได้รับคำสั่งจากจำเลยที่ 1 ให้ขับรถบรรทุกน้ำมันไปส่งที่เวียงจันทน์ ประเทศลาว โดยใช้เส้นทางถนนพหลโยธินและถนนมิตรภาพไปถึงจังหวัดหนองคายแต่หลังจากส่งน้ำมันเสร็จ ขากลับจำเลยที่ 2 ขับรถมาถึงจังหวัดนครราชสีมาแล้วก็แยกเข้าถนนสายนครราชสีมา-กบินทร์บุรีเพื่อจะกลับมายังบางนางเกรง จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นที่จอดรถโดยไม่ใช้เส้นทางเดิมอันเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งและระเบียบของจำเลยที่ 1แล้วเกิดเหตุชนกับรถยนต์อื่นที่อำเภอเมืองชลบุรี แม้จำเลยที่ 2 จะขับรถออกนอกเส้นทาง ก็ยังถือได้ว่าการปฏิบัติงานของจำเลยที่ 2 ที่ได้กระทำไปนั้นอยู่ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 ผู้เป็นนายจ้างจำเลยที่ 1 จะอ้างคำสั่งหรือระเบียบภายในขึ้นต่อสู้บุคคลภายนอกหาได้ไม่ จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ในผลแห่งละเมิดด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 243 วัคซีนสู้ covid-19 มาแล้ว…ดีใจไหม

        www.bbc.com เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2021 มีข่าวเรื่อง วัคซีนโควิด-19 ล็อตแรกถึงไทยแล้ว แต่ผลสำรวจพบบุคลากรทางแพทย์ฯ แค่ 55% พร้อมฉีด โดยมีเนื้อข่าวว่า “วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของบริษัทซิโนแวคไบโอเทคและบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า เดินทางมาถึงประเทศไทยวันนี้ (24 ก.พ.) แม้ว่ากระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ยังต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นในความปลอดภัยของวัคซีน หลังจากหน่วยงานวิจัยของ สธ. สำรวจพบว่าบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขเพียง 55% ยินดีรับวัคซีนโควิด-19” และ “…บุคลากรทางการแพทย์ฯ เพศหญิงและผู้ที่มีอายุน้อย หรืออาชีพพยาบาล เภสัชกร ทันตแพทย์และแพทย์ เป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มไม่รับวัคซีนโควิด-19 หรือยังไม่แน่ใจในสัดส่วนสูงที่สุด”         ประเด็นที่น่าสนใจในข้อความข้างต้นนั้นคือ ทำไมคนระดับปฏิบัติการในกระทรวงนี้ ซึ่งส่วนใหญ่มีพื้นฐานการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพหรือวิทยาศาสตร์สุขภาพเป็นหลัก นั้นยังขอพึ่งหลักการใช้หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ และการจัดระยะห่างระหว่างบุคคลเป็นแนวทางชีวิตในการป้องกัน covid-19 ก่อน มิใยว่าผู้บริหารจะออกมาพรรณนาถึงหลักการว่า ความเสี่ยงที่อาจจะมีเนื่องจากการฉีดวัคซีนนั้นต่ำมาก ว่ากันว่าเป็นเพียง หนึ่งในล้าน ในขณะที่ความเสี่ยงต่อการตายเนื่องจากการติดเชื้อ SARS-CoV-2 ซึ่งก่อโรค covid-19 นั้นคือ หนึ่งในร้อย ซึ่งเทียบกันไม่ได้เลย         เพื่อยืนยันว่า เราจะเสี่ยงไปด้วยกัน คนที่อยู่ในแถวหน้าของประเทศต่างก็แสดงความหาญกล้าอันเป็นที่ยกย่องไม่รู้วายในการรับการฉีดวัคซีนจนครบ 2 เข็ม อย่างหน้าชื่นตาบานและก็ไม่เห็นเป็นอะไร อยู่รอดปลอดภัยดี ยกเว้นส่วนน้อยที่ติดเชื้อบ้างเพราะทำงานในหน้าที่หนักไปหน่อยทั้งกลางวันและกลางคืน         ประเด็นเรื่องผลข้างเคียงของการฉีดวัคซีนต่างๆ นั้นเป็นเรื่องธรรมดา เพราะกระบวนการฉีดวัคซีนเป็นการไปกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายทำงานมากขึ้นกว่าระดับที่เป็นปรกติ เพื่อส่งผลให้ในเลือดของผู้ถูกฉีดวัคซีนมีแอนติบอดีจำเพาะต่อเชื้อเกิดขึ้น (แต่ก็มีข่าวลือบ้างเหมือนกันว่า บางคนฉีดครบ 2 เข็มแล้วความเข้มข้นของแอนติบอดีนั้นไม่มีการเปลี่ยนแปลง...ซึ่งก็ต้องรอหาเหตุผลก่อนว่าทำไม ทั้งนี้ท่านผู้อ่านต้องอย่าลืมว่า การใช้วัคซีนในลักษณะที่อนุญาตแบบฉุกเฉินนี้ น่าจะถูกเรียกว่า เป็นการประเมินประสิทธิภาพของวัคซีนในระยะที่ 3/2 อยู่) นอกจากนี้เม็ดเลือดขาวกลุ่ม T-cells เช่น  T-killer cells นั้นควรจะต้องเพิ่มด้วย แต่ ณ วันที่เขียนบทความนี้ยังไม่เห็นมีใครนำข้อมูลส่วนนี้ออกมาเผยแพร่ว่า วัคซีนที่ฉีดกันทั่วโลกไปแล้วนั้นได้กระตุ้นการเพิ่มปริมาณของ T-cells ดีแค่ไหน...เสมือนทำเป็นลืม         ประเด็นที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่มักคิดไม่ถึงคือ ร่างกายต้องมีการลงทุน (และยอมรับความเสี่ยง) บางประการเพื่อให้ภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้นจากเดิม ซึ่งแสดงออกด้วยอาการที่เรียกว่า ผลข้างเคียง เช่น แขนปวดระบมบริเวณถูกเข็มปักเข้ากล้ามเนื้อแขน (ลึกราว 1 นิ้ว) ส่วนใหญ่ของผู้ถูกฉีดวัคซีนมักมีอาการตัวร้อนระหว่างการเพิ่มภูมิคุ้มกันซึ่งแตกต่างกันไปในหลายระดับ (ตั้งแต่ตัวอุ่นไปถึงร้อนเป็นไข้) จนบางคนที่ไม่ปวดแขนและตัวไม่ร้อนหลังการฉีดวัคซีนชักสงสัยว่าการฉีดวัคซีนไม่ได้ผล (ความจริงกรณีนี้เมื่อรอครบ 14 วัน หลังฉีดครบ 2 เข็มแล้วผู้บริโภคน่าจะยอมเสียเงินทำการตรวจดูการเพิ่มขึ้นของแอนติบอดีด้วย quick test....แต่ก็ไม่เห็นข่าวว่ามีคนทำ เพราะเหล่าหมอทั้งหลายบอกผ่านทางโทรทัศน์ว่าไม่จำเป็น) และบางคนที่เป็นส่วนน้อยมาก อาจมีอาการแพ้ในลักษณะที่เรียกว่า anaphylaxis ระหว่างรอดูอาการ 30 นาทีหลังการฉีดวัคซีน ซึ่งถ้าอยู่ใกล้มือหมอและมียาเฉพาะอาการนี้ (ปรกติเป็น Epinephrine) โอกาสตายนั้นควรจะน้อยมาก ยกเว้นว่าอาการแพ้เกิดขึ้นเมื่อกลับถึงบ้านแล้วหลายชั่วโมง         อย่างไรก็ดีในภาพรวมจากทั่วโลกแล้ว มีการออกมายืนยันกันอย่างเต็มที่ว่า การฉีดวัคซีนป้องกัน covid-19 นั้นเป็นเรื่องควรกระทำ (ซึ่งผู้เขียนก็ wholeheartedly agree แปลว่า เห็นด้วยสุดหัวใจเลย) โดยเฉพาะคนที่มีโรคประจำตัวแบบที่เรียกว่า degenerative diseases ซึ่งเกิดจากความเสื่อมของร่างกายนั้นถูกจัดให้มีลำดับความสำคัญสูงในการถูกฉีด แต่มันก็มีกรณีปัญหาผลข้างเคียงการฉีดวัคซีนที่ออกมาก่อกวนการทำงานของผู้บริหารด้านสาธารณสุขของประเทศบ้างเล็กน้อย ซึ่งกรณีที่ดูจะกระเทือนซางมากหน่อย คือ การปรากฏเป็นหัวข้อข่าวออนไลน์ ดังเช่นใน www.prachachat.net เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2564 มีบทความชื่อ  แพทย์แจง 6 ราย อาการคล้ายอัมพฤกษ์หลังฉีดวัคซีนซิโนแวค เป็นแค่ชั่วคราว ซึ่งสาระของข่าวกล่าวว่า “แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เผยผลสอบสวนอาการไม่พึงประสงค์บุคลากรสาธารณสุข 6 รายที่ระยอง หลังฉีดวัคซีนซิโนแวคมีอาการคล้ายหลอดเลือดสมองอักเสบชั่วคราว คาดเกี่ยวข้องกับวัคซีนจริง แต่ตรวจไม่พบความผิดปกติของสมองผู้ป่วย รวมถึงวัคซีนล็อตนี้ต้องศึกษาเพิ่ม ย้ำประชาชนไม่ควรตื่นตระหนก ลงความเห็นสามารถใช้วัคซีนล็อตนี้ได้ต่อ เชื่อมีประโยชน์มากกว่าอาการข้างเคียง”         สิ่งที่น่ากังวลใจคือ ข่าวเกี่ยวกับอาการข้างเคียงในผู้เป็น เบาหวาน หนึ่งรายที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วเวลาผ่านไปชั่วข้ามคืนก็เสียชีวิต ซึ่งต้องใช้คำว่า มรณภาพ เพราะผู้เคราะห์ร้ายนั้นเป็นพระสงฆ์ในพุทธศาสนา ปรากฏว่าข่าวนี้กลับเงียบหายไป ทำให้ผู้เขียนค่อนข้างสงสัยว่า มีอะไรที่น่าจะเป็นสาเหตุการตายได้บ้าง ผู้เขียนจึงลองทำการสืบค้นข้อมูลดู         ต้นเรื่องการมรณภาพของสงฆ์รูปนี้อยู่ในเว็บข่าวทั่วไป เช่น ในเว็บของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เมื่อ 2 เมษายน 2564 มีหัวข้อข่าว “ผู้ช่วยเจ้าอาวาส มรณภาพ หลังฉีดวัคซีน แน่นิ่งในกุฏิ” รายงานข่าวกล่าวว่า “พระรูปดังกล่าว (อายุ 70 ปี) ได้รับวัคซีนตั้งแต่เวลา 10.00 น. วันที่ 31 มีนาคม และได้สังเกตอาการจนครบ 30 นาที ตามหลักเกณฑ์ จากนั้นได้รับการถวายภัตตาหารเพล อาการปกติทุกอย่าง ได้สอบถามลูกศิษย์วัดทราบว่า พระครูสิริปัญญาเมธี อาพาธทั้งเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไขมัน ช่วงเย็นสังเกตว่าท่านมีอาการเพลียขอตัวไปจำวัด ช่วงเช้าท่านไม่ลงมาฉันภัตตาหารเช้า เมื่อไปดูที่กุฏิพบว่ามรณภาพ”         เว็บไซต์ของประชาชาติธุรกิจออนไลน์เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2564 ให้ข้อมูลต่อมาว่า โรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งเป็นผู้ชันสูตรศพมีผลไม่เป็นทางการออกมาว่า ไม่พบการอุดตันของลิ่มเลือดทั้งที่สมอง หัวใจ หรืออวัยวะอื่น ๆ แต่พบอาการเส้นเลือดหัวใจตีบ ดังนั้นจากผลในเบื้องต้นทำให้ทราบว่า วัคซีนที่พระสงฆ์ท่านได้รับไม่ได้ส่งผลต่อการมรณภาพแต่อย่างใด (สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่นำข้อมูลมาแถลงข่าวนั้นกล่าวแบบมั่นใจสุด ๆ)         www.bbc.com เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2021 มีข่าวเรื่อง วัคซีนโควิด-19: เกิดผลข้างเคียงอะไรบ้างกับคนไทย หลังฉีดวัคซีนของซิโนแวค-แอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งตอนหนึ่งของข่าวรายงานกล่าวประมาณว่า “ตามการเปิดเผยของผู้บริหารของกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรคเมื่อวันที่ 9 มีนาคม ไทยมีผู้ได้รับวัคซีนโควิดสะสมตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ ถึง 8 มีนาคม 2564 รวม 29,900 ราย ในจำนวนนี้มีรายงานผ่านระบบไลน์ "หมอพร้อม" ว่ามีอาการข้างเคียงชนิดไม่รุนแรง จำนวน 2,380 ราย คิดเป็น 7.96% ของผู้รับวัคซีนทั้งหมด โดยอาการข้างเคียงจากการฉีดที่เกิดขึ้นได้ปกติคือ อาเจียน ปวดเมื่อยเนื้อตัว อักเสบบริเวณที่ฉีด เป็นไข้ ปวดศีรษะ มีผื่นขึ้น”         ตำราภูมิคุ้มกันวิทยาบางเล่มให้ข้อมูลในทำนองว่า อาการข้างเคียงหลังได้รับการฉีดวัคซีนดังกล่าวแล้วนั้นดูเป็นตัวบ่งชี้ว่า ร่างกายตอบสนองการฉีดวัคซีนได้ดีและกำลังมีการสร้างภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้น แต่ต้องระวังว่า วัคซีนไม่ควรทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านที่รุนแรงเกินจนเป็นอันตรายต่อผู้รับวัคซีนที่อ่อนแออย่างกลุ่มคนชราได้         มูลนิธิ The diaTribe Foundation (https://diatribe.org ซึ่งมีจุดมุ่งหมายในการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของคนที่ป่วยเป็นเบาหวานหรือกำลังจะเป็น) มีบทความเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2021 เรื่อง What You Should Know About COVID-19 Vaccines and Diabetes ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันมีคนเป็นเบาหวานทั้งโลก 463 ล้านคน (สำหรับประเทศไทยนั้นในงานแถลงข่าววันเบาหวานโลก 2562 เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2562 นายกสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยและประธานคณะกรรมการเครือข่ายคนไทยไร้พุงกล่าวว่า ปัจจุบันประชากรไทยวัยผู้ใหญ่ป่วยเป็นโรคเบาหวานถึง 4.8 ล้านคน และมักเกิดภาวะแทรกซ้อนเมื่ออายุเพิ่มขึ้น)         The diaTribe Foundation ให้ข้อมูลว่า วัคซีนต่างๆ อาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงที่อาจส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นจนคุมไม่ได้ถ้าไม่ระวังให้ดี ดังนั้นจึงควรตรวจสอบระดับน้ำตาลในเลือดของคุณอย่างรอบคอบเป็นเวลา 48 ชั่วโมงหลังจากที่คุณได้รับการฉีดวัคซีนใดๆ ก็ตาม และดื่มน้ำให้เพียงพอ         บทความเรื่อง Acute Hyperglycemia After Influenza Vaccination in a Patient With Type 2 Diabetes ในวารสาร Pharmacy and Therapeutics ของปี 2017 นั้น มีเนื้อความเพื่อแจ้งเตือนผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น (แต่ไม่ได้เขียนไว้ที่ฉลากวัคซีน) แก่ผู้ทำการฉีดวัคซีนว่า ในการฉีดวัคซีนต่างๆ แก่ผู้ป่วยเบาหวานอาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูงแบบเฉียบพลัน เพราะตั้งแต่ปี 1991 ถึง 2017 มีรายงานภาวะน้ำตาลในเลือดสูงแบบเฉียบพลันถึง 946 ครั้ง หลังการฉีดวัคซีนต่างๆ โดยที่ 361 ครั้งเป็นรายงานภาวะน้ำตาลในเลือดสูงหลังฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่         ได้มีการให้สมมติฐานถึงกลไกที่ส่งผลให้ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงหลังการฉีดวัคซีนคือ ในการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายนั้นถือว่าเป็น “ความเครียด (stress)” ในระดับหนึ่ง ความเครียดทางร่างกายไม่ว่าจะมาจากการผ่าตัด การติดเชื้อ การบาดเจ็บ หรือการเจ็บป่วยเฉียบพลัน มีโอกาสเพิ่มระดับฮอร์โมนได้แก่ อะดรีนาลีนและคอร์ติซอล เพื่อตอบสนองต่อความเครียดซึ่งส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ผู้ป่วยโรคเบาหวานนั้นโดยอาการแล้วไม่สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้อย่างรวดเร็วเหมือนคนปรกติ จึงถือว่าเป็นภาวะอันตราย ดังนั้นความเครียดในร่างกายที่ดูไม่รุนแรงแต่ส่งผลสู่ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงในคนเป็นเบาหวานจึงเป็นเรื่องน่าสนใจ โปรดอย่าได้มองข้ามเลย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 241 กระแสต่างแดน

มือสะอาดหรือเปล่า        บริษัทท้อปโกลฟ (Top Glove Corp) ผู้ผลิตถุงมือยางทางการแพทย์รายใหญ่ที่สุดของโลก กำลังถูกฟ้องร้องดำเนินคดีถึงสิบข้อหา โทษฐานไม่จัดหาที่อยู่อาศัยที่มีมาตรฐานให้กับแรงงานต่างชาติ ตามข้อกำหนดของกรมแรงงานมาเลเซียแต่ท้อปโกลฟซึ่งมีโรงงาน 41 แห่งในมาเลเซีย และมีคนงานกว่า 21,000 คน ปฏิเสธทุกข้อหา เรื่องนี้จึงต้องติดตามคำตัดสินกันอีกครั้งในปลายเดือนเมษายนหากพบว่ามีความผิดจริง บริษัทจะถูกปรับเป็นเงิน 50,000 ริงกิต ( 375,400 บาท) ต่อหนึ่งข้อหาในช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ทางการมาเลเซียได้เข้าตรวจสอบหอพักสำหรับคนงานต่างชาติในพื้นที่หลายแห่งของบริษัท หลังมีการระบาดของโควิด-19 ในโรงงานแห่งหนึ่งของบริษัทที่ตั้งอยู่ใกล้กับกรุงกัวลาลัมเปอร์ กลุ่มก้อนดังกล่าวได้กลายเป็นคลัสเตอร์ขนาดใหญ่ที่สุดในมาเลเซีย ที่มีแรงงานต่างด้าวติดเชื้อมากกว่า 5,000 คน ลอนนี้ดีต่อใจ        เป็นเวลาหลายทศวรรษที่สาวๆ อิยิปต์ต้องดิ้นรนไปซาลอนหรือซื้อหาครีมยืดผมมาเปลี่ยนผมให้ตรงสวย “ดูดีมีคลาส” ตามมาตรฐานความงามแบบตะวันตก ในขณะที่หนุ่มๆ ก็ใช้วิธีไว้ผมทรงสั้นติดหนังศีรษะหลายคนเคยถูกครูทำโทษฐานไม่ดูแลตัวเองถ้าไปโรงเรียนด้วยทรงผมหยิกตามธรรมชาติ บ้างก็ไม่ได้รับคัดเลือกเข้าทำงาน หากไปสอบสัมภาษณ์ด้วยลอนผมที่แม่ให้มา เพราะสังคมมองว่าทรงแบบนั้น “ไม่เป็นมืออาชีพ”แต่เรื่องนี้กำลังจะเปลี่ยนไป หนุ่มสาวอิยิปต์วันนี้กล้าโชว์รอยสัก ตัดผมทรงขัดใจบุพการี และกล้าเดินอวดลอนผมตามท้องถนนในเมืองโดยไม่แคร์เสียงโห่ฮาด้วยพวกเขาตระหนักแล้วว่าการยืดผมส่งผลกระทบต่อทั้งเส้นผมและจิตใจ ในขณะที่ความร้อนหรือสารเคมีทำให้ผมแตกแห้งหลุดร่วง การไม่สามารถเป็นตัวของตัวเองก็ทำให้พวกเขารู้สึกขาดอิสรภาพเช่นกัน   บรรดาคนดังของอิยิปต์เริ่มปรากฏตัวในเทศกาลหนังด้วยลอนผมธรรมชาติ แบบเดียวกับที่โมฮาเหม็ด ซาลาห์นักฟุตระดับโลกทำมาตลอดนั่นเอง ขอฉลากมีสี        นักวิทยาศาสตร์ 269 คน และสมาคมสุขภาพ 21 แห่ง ร่วมกันลงชื่อเรียกร้องให้สหภาพยุโรปนำระบบฉลากแบบ Nutri-Score ซึ่งเป็นการระบุข้อมูลโภชนาการด้วยตัวอักษร A B C D E พร้อมสีประจำตัว มาใช้เพื่อให้ผู้บริโภคตัดสินใจได้ดีขึ้นศาสตราจารย์ Serge Hercberg ผู้ให้กำเนิดนูทรีสกอร์ ย้ำว่านี่คือระบบเดียวที่มีงานวิจัยรับรอง แต่กลับถูกลดความน่าเชื่อถือโดยการแทรกแซงทางการเมืองและการให้ข้อมูลเชิงลบผ่านสื่อโซเชียลโดยไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มายืนยันอิตาลี กรีก และสเปน ไม่เห็นด้วยกับระบบนี้ สิ่งที่พวกเขาต้องการคือฉลาก Nutinform ที่แสดงร้อยละของพลังงาน ไขมัน น้ำตาล และเกลือ คล้ายการแสดงกำลังไฟในรูปแบตเตอรี ซึ่งยังไม่มีงานวิจัยรับรองปัจจุบันฉลาก Nutri-Score ใช้อยู่ในฝรั่งเศส เบลเยียม เยอรมนี ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ และสเปน (ซึ่งรัฐบาลรับมาใช้ แต่ผู้ประกอบการไม่เห็นด้วย) ภายในปี 2022 สหภาพยุโรปต้องเลือกรูปแบบของฉลากโภชนาการสำหรับใช้กับทุกประเทศในกลุ่ม  ปวดเมือไรก็แวะมา        ฝรั่งเศสมีร้านยา 21,000 แห่ง ข้อมูลปี 2017 ระบุว่ามีร้านยา 33 แห่งต่อประชากร 100,000 คน (ค่าเฉลี่ยของทั้งยุโรปคือ 29)   ร้านยาที่มีสัญลักษณ์กากบาทสีเขียวเรืองรอง พร้อมป้ายบอกวัน เวลา และอุณหภูมิ มีให้เห็นอยู่ทั่วไป ที่มีมากขนาดนี้เพราะตามกฎหมายฝรั่งเศส คุณจะซื้อยาแก้ไอ แก้ไข้ แก้ปวด ลดน้ำมูก ได้จากร้านขายยาเท่านั้น แต่หลักๆ แล้วรายได้ของร้านยังมาจากการจัดยาตามใบสั่งแพทย์การสำรวจในปี 2019 พบว่าร้อยละ 90 ของการพบแพทย์จบลงด้วยการได้ใบสั่งยา ซึ่งมียาไม่ต่ำกว่า 3 รายการในนั้น รายงานบอกว่าคุณหมอเองก็ถูกกดดันทั้งจากตัวแทนบริษัทยาและคนไข้ (1 ใน 5 ของคนไข้เรียกร้องให้หมอจ่ายยา) ซึ่งไม่วิตกเรื่องค่าใช้จ่ายเพราะเบิกจากรัฐได้พวกเขาคุ้นเคยและใช้ประโยชน์จากร้านขายยาเต็มที่ เภสัชกรประจำร้านนอกจากจะจ่ายยาแล้ว ยังให้คำปรึกษาเรื่องสุขภาพ รวมถึงฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ประจำปี หรือแม้แต่วัคซีนโควิดให้ลูกค้าด้วยใครเข้าป่าไปเก็บเห็ดมาแล้วไม่แน่ใจว่ากินได้หรือไม่ ก็เก็บใส่ถุงไปให้เภสัชกรเขาช่วยดูได้   เสียงจากเบื้องบน        Korea Environment Corporation เปิดเผยเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาว่าในปี 2020 มีเหตุร้องเรียนเพื่อนบ้านชั้นบนถึง 42,250 ครั้ง เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 60 เพราะโรคระบาดทำให้คนต้องอยู่บ้านมากขึ้น  ปัญหาส่วนใหญ่มาจากเสียงกระทืบพื้น (ร้อยละ 61) ตามด้วยเสียงลากเฟอร์นิเจอร์ เสียงค้อนทุบผนัง เสียงปิดประตู และเสียงเพลงที่ดังเกินไปการตอบโต้กันระหว่างเพื่อนบ้าน “ต่างชั้น” นอกจากการใช้เสียง เช่น บางคนลงทุนซื้อลำโพงใหญ่ๆ มาเปิดเสียงพุ่งใส่ชั้นบนแล้ว บางรายถึงขั้นทำร้ายร่างกายหรือฆาตกรรมเพื่อนบ้านด้วย  ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าการได้ยินเสียงรบกวนอย่างต่อเนื่องยาวนานอาจทำให้เป็นโรคนอนไม่หลับหรือภาวะซึมเศร้าได้ร้อยละ 60 ของประชากรเกาหลี 50 ล้านคนอาศัยในอพาร์ตเมนต์ แต่กฎหมายที่กำหนดให้พื้นห้องมีความหนาอย่างต่ำ 21 เซนติเมตรนั้นเพิ่งจะประกาศใช้เมื่อปี 2005 ตึกที่สร้างก่อนหน้านั้นจึงมีพื้นหนาเพียง 13.5 เซนติเมตร และไม่สามารถลดเสียงรบกวนได้         

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 241 ใบยาสูบสู้โควิด-19

        การวิเคราะห์เพื่อหาว่ามีสารเคมีใดอยู่ในตัวอย่างที่อาจเป็นอาหาร เลือด น้ำทิ้งจากสิ่งแวดล้อม หรืออื่นๆ นั้นมีหลายวิธี โดยวิธีหนึ่งที่เป็นที่นิยมในปัจจุบันคือ การประยุกต์ใช้แอนติบอดี (antibody) มาช่วยในการวิเคราะห์ เพราะวิธีการซึ่งเรียกแบบกว้าง ๆ ว่า immunoassay นี้มีความแม่นยำ ความจำเพาะสูง เร็วและเมื่อนำมาใช้กันแพร่หลายพอจะทำให้ต้นทุนต่ำกว่าการวิเคราะห์ด้วยวิธีอื่น         สำหรับคนไทยในยุคที่โควิด-19 เคาะอยู่ที่หน้าประตูบ้านนี้ บางคนคงพอรู้บ้างว่า แอนติบอดี คือโปรตีนที่ร่างกายสร้างขึ้นมาเพื่อต่อสู้เชื้อโรคต่างๆ ยับยั้งการรุกรานไม่ให้เชื้อโรคเข้าสู่เซลล์ของร่างกาย เหนือไปกว่านั้นบางคนอาจเคยรู้มาว่า  แอนติบอดีในร่างกายอาจถูกสร้างขึ้นมาเพื่อตอบสนองสารเคมีหลายประเภท เช่น สารเจือปนในอาหาร สารเคมีทางการเกษตร และอื่น ๆ ซึ่งอยู่ในชีวิตประจำวันได้ ทั้งที่สารเคมีเหล่านี้หลายชนิดไม่ได้มีความเป็นโปรตีน จึงไม่น่ามีคุณสมบัติของการเป็นแอนติเจน (antigenicity) ที่สามารถกระตุ้นให้ร่างกายสร้างแอนติบอดีได้         แต่ปรากฏว่าหลายคนที่ได้รับสารเคมีเหล่านี้กลับมีโอกาสเกิดอาการแพ้ (ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องเกี่ยวข้องกับแอนติบอดีอย่างแน่นอน) ตัวอย่างเช่น บางคนแพ้สารประกอบซัลไฟต์ ซึ่งตกค้างจากกระบวนการผลิตอาหารทางอุตสาหกรรม (จะเห็นว่าอาหารสำเร็จรูปที่เป็นผลิตภัณฑ์จากยุโรปมักมีคำเตือนบนฉลากประมาณว่า อาหารอาจมีสารกลุ่มซัลไฟต์ เพื่อเตือนคนที่แพ้สารนี้)  บางคนแพ้สารกำจัดศัตรูพืชที่ปนเปื้อนบนผักและผลไม้ บางคนแพ้ฝุ่นละอองในอากาศ บางคนแพ้สีย้อมผม เป็นต้น ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในลักษณะนี้มีคำอธิบายทางวิชาการว่า สารเคมีหลายชนิดนั้นมีคุณสมบัติที่เรียกว่า แฮพเทน (hapten)         แฮพเทน เป็นคุณสมบัติของสารเคมีที่สามารถเชื่อมตัวกับโปรตีนใดๆ ในน้ำเลือด แล้วก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างสามมิติ (conformation) ของโปรตีนนั้นๆ ไปจากเดิม จนเซลล์ในระบบภูมิต้านทานของร่างกายจำไม่ได้คิดว่าเป็นโปรตีนแปลกปลอมจึงเริ่มกระบวนการต่อต้านเพื่อทำลายโปรตีนนั้น ซึ่งมักเริ่มต้นด้วยการที่เม็ดเลือดขาวชนิดมาโครฟลาจ (macrophage) เข้าทำลายในลักษณะเสมือนการฉีกโปรตีนโมเลกุลนั้นเป็นชิ้นๆ โดยบางชิ้นมีสารที่เป็นแฮพเทนติดอยู่ด้วย จากนั้นเม็ดเลือดขาวที่เป็นตัวช่วยในการกระตุ้นการสร้างแอนติบอดีจะเข้าสำรวจว่า โปรตีนชิ้นใดมีศักยภาพเป็นแอนติเจน เพื่อเริ่มกระบวนการกระตุ้นให้เซลล์ที่มีหน้าที่สร้างแอนติบอดีเข้าหาโปรตีนชิ้นเล็กชิ้นน้อยแต่ละชิ้น ซึ่งรวมถึงชิ้นโปรตีนที่มีแฮพเทนติดอยู่ ดังนั้นแอนติบอดีที่ถูกสร้างขึ้นมาบางส่วน จึงสามารถจับตัวกับสารที่มีคุณสบบัติเป็นแฮพเทนได้         ความรู้เกี่ยวกับความสามารถเป็นแฮพเทนของสารเคมีบางชนิดช่วยให้นักวิทยาศาสตร์นำมาใช้ในการผลิตแอนติบอดีต่อสารเคมีที่ไม่ใช่โปรตีน เช่น สารพิษจากเชื้อรา สารเคมีทางการเกษตร สารเจือปนในอาหาร และอื่น เพื่อช่วยในการวิเคราะห์ที่ง่ายและรวดเร็วขึ้นได้         ส่วนกระบวนการผลิตให้ได้สารแอนติบอดีต่อสารเคมีใดๆ ในปริมาณมากนั้น นักวิทยาศาสตร์ได้ใช้เทคโนโลยีทางอณูชีววิทยาคือ cell fusion (โดยใช้สารเคมีเช่น polyethylene glycol) เพื่อควบรวมเซลล์ของสัตว์ที่สร้างแอนติบอดี เช่น เซลล์จากม้ามของสัตว์ที่ถูกกระตุ้นให้สร้างแอนติบอดีที่จำเพาะกับสารเคมีที่สนใจ เข้ากับเซลล์มะเร็งบางชนิด (ที่นิยมกันคือ มะเร็งไขกระดูกมัยอิโลมา ซึ่งเป็นเม็ดเลือดขาวชนิดพลาสมาเซลล์ที่เปลี่ยนสภาพเป็นเซลล์มะเร็ง) ได้เซลล์ใหม่ที่สร้างแอนติบอดีที่ต้องการและมีการแบ่งตัวไม่หยุด (กระบวนการนี้ถูกเรียกว่า การผลิตโมโนคลอนอลแอนติบอดี)  จึงทำให้ได้แอนติบอดีในปริมาณมากจนคุ้มทุนเกิดกำไรในทางธุรกิจตรวจวัดหาปริมาณสารเคมีที่สนใจ การสร้างแอนติบอดีจากใบยาสูบ         มาถึงศตวรรษที่ 21 ความก้าวหน้าทางชีวโมเลกุลในปัจจุบันได้ก่อให้เกิดการผลิตแอนติบอดีแนวใหม่ที่อาศัยเทคนิคการตัดแต่งพันธุกรรมของพืช ทำให้ได้พืชหลายชนิดที่ผลิตสารแอนติบอดีจำเพาะต่อสารเคมีต่างๆ ตลอดไปจนถึงเชื้อโรคต่างๆ ในลักษณะของโมโนคลอนอลแอนติบอดี ซึ่งในช่วง พ.ศ. 2563-2564 ได้มีการพูดถึงการได้มาซึ่งแอนติบอดีจากใบยาสูบที่สามารถต้านเชื้อ SARS-CoV-2         ข่าวจากหลายสื่อได้กล่าวถึงนวตกรรมหนึ่งในการผลิด rapid test เพื่อตรวจหาแอนติบอดีต่อไวรัส SARS-CoV-2 นั้นระบุว่า มีการใช้แอนติบอดีมาตรฐานที่ผลิตได้จากใบยาสูบออสเตรเลีย ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Nicotiana benthamiana (มีญาติสนิทเป็นต้นยาสูบคือ  Nicotiana tabacum และ Nicotiana rustica ที่ใช้ในการผลิตบุหรี่ในปัจจุบัน) ซึ่งตั้งแต่อดีตกาลนั้นชนพื้นเมืองออสเตรเลีย (Aborigines) ใช้เป็นสารกระตุ้นให้มีชีวิตชีวา         ความที่พืชในตระกูลของยาสูบนั้นมีศัตรูเป็นไวรัสหลายชนิด จึงเหมาะในการศึกษาที่ใช้ไวรัสเป็นพาหะเพื่อพาหน่วยพันธุกรรมที่ต้องการเข้าสู่เซลล์ใบยาสูบ ที่สำคัญคือ ยาสูบสายพันธุ์พื้นเมืองของออสเตรเลีย (ที่ใช้ในห้องปฏิบัติการผลิตแอนติบอดี) นั้นเป็นสายพันธุ์ที่ยังคงมียีน Rdr1 (RNA-dependent RNA polymerase 1) อยู่ จึงทำให้ง่ายต่อการที่ไวรัสชนิด RNA virus เข้ารุกราน         มีบทความวิจัยหนึ่งของคนไทยเรื่อง Monoclonal Antibodies B38 and H4 Produced in Nicotiana benthamiana Neutralize SARS-CoV-2 in vitro ตีพิมพ์ในวารสาร Frontiers in Plant Science เมื่อ 27 พฤศจิกายน 2020 ได้อธิบายถึงความสำเร็จในการใช้ใบยาสูบสายพันธุ์ของออสเตรเลียผลิตโมโนคลอนอลแอนติบอดีของมนุษย์ 2 ชนิดคือ B38 และ H4 (เป็นรหัสเรียกชื่อของแอนติบอดีสองชนิดต่อโปรตีนที่เป็นหนามของไวรัส SARS-CoV-2) โดยในบทความนั้นได้กล่าวถึงการนำข้อมูลการเรียงตัวของกรดอะมิโนในโปรตีน B38 และ H4 ซึ่งถูกวิเคราะห์และเผยแพร่เป็นบทความวิจัยเรื่อง A noncompeting pair of human neutralizing antibodies block COVID-19 virus binding to its receptor ACE2 ใน www.sciencemag.org เมื่อ 13 พฤษภาคม 2020 โดยกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ชาวจีนซึ่งนำทีมโดย Yan Wu (สังกัด Capital Medical University, Beijing, China) มาใช้ประโยชน์         คณะวิจัยชาวไทยที่ตีพิมพ์บทความดังกล่าวในวารสาร Frontiers in Plant Science ได้ใช้เทคนิคการตัดแต่งพันธุกรรมซึ่งอาศัย geminiviral vector (เป็นไวรัสสาเหตุของโรคพืชที่สำคัญทางเศรษฐกิจซึ่งมีกรดนิวคลีอิคเป็นแบบดีเอ็นเอสายเดี่ยว) พายีนที่สนใจในรูป DNA plasmid (สังเคราะห์โดย บริษัท Genewiz ในเมือง Suzhou ประเทศจีน ให้มีลำดับนิวคลีโอไทด์ที่อ่านผลภายในเซลล์ที่มีชีวิตแล้วได้โปรตีนที่มีลำดับกรดอะมิโนตรงกับแอนติบอดีสองชนิดคือ B38 และ H4 ตามที่ Yan Wu และคณะศึกษาไว้) เข้าสู่เซลล์ใบยาสูบ         จากนั้นนักวิจัยได้นำเซลล์ใบยาสูบที่ถูกตัดแต่งพันธุกรรมแล้วไปเพิ่มปริมาณให้มากขึ้นด้วยวิธีการทางอณูชีววิทยา ก่อนนำไปปลูกเป็นต้นยาสูบในโรงเรือนแบบปิด จนได้ใบยามากพอสำหรับการนำไปบดให้ละเอียด แล้วแยกเอาโปรตีนออกมาโดยอาศัยวิธีการ affinity column chromatography ได้สารแอนติบอดี B38 และ H4 ที่บริสุทธิ์ ซึ่งถูกนำไปทำการศึกษาถึงความสามารถในการจับตัวกับไวรัส SARS-CoV-2 ที่แยกได้จากคนไข้ covid-19 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการรายงานถึงการผลิตแอนติบอดีจากพืชที่สามารถจับกับ receptor binding domain (หมายถึงหนามของไวรัส หรือ spike protein) ของ SARS-CoV-2 ในลักษณะที่เป็นการหยุดฤทธิ์ของไวรัสดังกล่าวสำเร็จ และรายงานต่ออีกว่า ได้กำลังศึกษาต่อในสัตว์ทดลองแล้ว         ในการใช้พืชผลิตแอนติบอดีเพื่อใช้ในการบำบัดโรคติดเชื้อใดๆ นั้น ปัจจุบันวงการวิทยาศาสตร์มีคำศัพท์ใหม่คำหนึ่งคือ pharming ซึ่งออกเสียงคล้าย farming มีความหมายว่า เป็นการทำการเกษตรที่ได้ผลผลิตเป็นยา โดยการอาศัยการตัดแต่งพันธุกรรมพืชใดพืชหนึ่งให้มีหน่วยพันธุกรรมเพิ่ม ที่เมื่อเซลล์ของพืชนั้นมีการอ่านรหัสพันธุกรรมที่ตัดแต่งใส่เพิ่มเข้าไปจะได้โปรตีนที่มีฤทธิ์เป็นแอนติบอดีต่อจุลชีพใดจุลชีพหนึ่ง         ในรัฐเคนตักกี สหรัฐอเมริกา มีโรงงานผลิตแอนติบอดี (มีชื่อการค้าคือ ZMabb) จากใบยาสูบเพื่อสู้โรคที่เกิดจาก Ebola virus และได้รับอนุมัติแบบฉุกเฉินจาก US.FDA แล้ว นอกจากนี้ในรัฐนอร์ทแคโรไลนาก็มีโรงงานหนึ่งที่กำลังผลิตแอนติบอดีสำหรับไข้หวัดใหญ่ ซึ่งปัจจุบันได้ยื่นขออนุมัติฉุกเฉินในการใช้จาก US.FDA และตั้งเป้าจะผลิตแอนติบอดีสำหรับ ไวรัส AIDS, ไวรัส Herpes และอื่น ๆ ส่วนในเอเชียนั้นได้มีบริษัทผลิตยาแห่งหนึ่งในเกาหลีใต้ที่มีงานวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาให้ใบยาสูบออสเตรเลียสามารถผลิตแอนติบอดีต่อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคปากเท้าเปื่อยในหมู         ประเด็นหนึ่งที่ควรได้รับความสนใจคือ แอนติบอดีนั้นไม่ว่ามาจากแหล่งใดก็ตามย่อมเป็นโปรตีน ซึ่งถ้าฉีดเข้าสู่คนหรือสัตว์ชั้นสูงอื่นๆ เพียงครั้งเดียวแล้วบำบัดโรคได้เลย คงไม่ก่อปัญหาทางสุขภาพแต่อย่างใด แต่ถ้าต้องใช้การฉีดมากกว่าหนึ่งครั้งขึ้นไป ร่างกายย่อมสังเกตได้ว่ามันเป็นโปรตีนแปลกปลอม ซึ่งมีความเป็น แอนติเจน จึงต้องสร้างแอนติบอดีออกมาสู้ ดังนั้นการใช้แอนติบอดีบำบัดโรค จึงย่อมจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภูมิแพ้ ถ้ามีการฉีดมากกว่าหนึ่งครั้งขึ้นไป  มากกว่าการใช้วัคซีนกระตุ้นให้ร่างกายสร้างแอนติบอดีของร่างกายเอง         ด้วยเหตุที่ข่าวเกี่ยวกับงานวิจัยเกี่ยวกับการใช้ใบยาสูบพันธุ์ออสเตรเลียผลิตเวชภัณฑ์ที่ไปต่อสู้กับ SARS-CoV-2 นั้น มีมากมายทั้งในสื่อสิ่งพิมพ์ออนไลน์ ทางโทรทัศน์ และคลิปซึ่งหาดูได้ใน YouTube ประเด็นหนึ่งที่ก่อให้นักวิชาการหลายคนสับสนคือ ในการทำวิจัยต่างๆ นั้นมีความมุ่งหมายที่ต้องการผลิตวัคซีนหรือแอนติบอดีกันแน่         การใช้คำที่ต่างกันสับสนไปมาเกี่ยวกับการจัดการกับเชื้อ SARS-CoV-2 นั้นเกิดเช่นกันกับนักข่าวต่างชาติ เช่น คลิปเรื่อง “Korean researchers mass produce swine flu vaccine using tobacco leaves” ซึ่งปรากฏใน YouTube ที่เล่าถึงการใช้ใบยาสูบออสเตรเลียผลิตแอนติบอดีสำหรับสู้กับไวรัสก่อโรคปากเท้าเปื่อยในหมูที่กล่าวแล้วข้างต้นนั้น นักข่าวในคลิปนี้มีความสับสนในการใช้คำว่าวัคซีนในงานวิจัย ซึ่งความจริงแล้วดูเหมือนเป็นการผลิตแอนติบอดี (neutralizing antibody) ซึ่งใช้เป็นยาเพื่อจัดการกับไวรัสในลักษณะที่เรียกว่า passive immunization ไม่ใช่ผลิตเป็นวัคซีน นอกจากนี้ถ้าท่านผู้อ่านได้ดูคลิปชื่อ Future jobs: Pharmer ใน YouTube ซึ่งเผยแพร่ตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ ปี 2010 แล้ว จะพบว่าอาจารย์จากมหาวิทยาลัย St. George's Medical School ใน London ชื่อ Professor Julian Ma ได้แสดงวิธีการผลิตแอนติบอดีต่อโรคเอดส์จากใบยาสูบอย่างคร่าวๆ ในห้องปฏิบัติการ และใช้คำว่า แอนติบอดี อย่างชัดเจนตลอดคลิป         สิ่งที่เหนือกว่าในการใช้วัคซีนต่อการใช้แอนติบอดีเพื่อสู้โรคติดต่อนั้นคือ วัคซีนก่อให้เกิดภูมิคุ้มกันครบทั้งระบบคือ T-cells ซึ่งเป็นเซลล์ที่ทำหน้าที่ฆ่าสิ่งแปลกปลอม และ B-cells ชนิดที่ถูกพัฒนาให้สร้างแอนติบอดี เหนือจากนั้นที่สำคัญคือ จะเกิดเซลล์ความจำที่เรียกว่า memory cells ทั้ง T-cells และ B-cells เพื่อสู้กับเชื้อโรคที่ต้องการป้องกันอย่างรวดเร็วเมื่อร่างกายถูกโจมตีนั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 240 รู้ทันขบวนพาเหรดผลิตภัณฑ์สู้โควิด

ตอนนี้ไวรัสโควิด-19 กลับมาระบาดอีกครั้ง นอกจากเชื้อที่ระบาดได้อย่างรวดเร็วแล้ว ความตื่นกังวลของผู้คนก็ระบาดได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน สิ่งที่ตามมาเหมือนเดิมคือบรรดาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่อ้างว่ามีประสิทธิภาพในการป้องกันโควิด-19 ก็เริ่มทยอยออกมาเรื่อยๆ และน่าจะมีมากขึ้นไปอีก โดยมีสังคมออนไลน์เป็นตัวช่วยกระพือส่งต่อข้อมูลผิดๆ สเปรย์พ่นปากและลำคอฆ่าเชื้อไวรัสโควิด-19          ผลิตภัณฑ์นี้เริ่มมีการโฆษณาและส่งต่อๆ กันในโลกโซเชียล โดยอ้างว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้สำหรับพ่นปากและลำคอที่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ จนสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาต้องรีบออกมาชี้แจงและเตือนประชาชนว่า ผลิตภัณฑ์สเปรย์สำหรับพ่นปากและคอ ที่ผ่านการขออนุญาตจาก อย.นั้น  เป็นเพียงสเปรย์ที่มีตัวยาโพวิโดน ไอโอดีน ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นเพียงยาฆ่าเชื้อโรค ลดอาการอักเสบบริเวณช่องปากและลำคอ แผลในปาก และระงับกลิ่นปากเท่านั้น ไม่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ตามที่มีการกล่าวอ้าง นอกจากนี้ยังบอกอีกว่า การโฆษณาขายโดยแสดงสรรพคุณของผลิตภัณฑ์สเปรย์ดังกล่าว ถือเป็นการโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริงทางยา มีความผิดตามกฎหมาย มีโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท หน้ากากชนิดต่างๆ และชนิดมีวาล์วระบายอากาศ         มีการแชร์ภาพแสดงข้อมูลประสิทธิภาพของหน้ากากชนิดต่างๆ โดยระบุว่าชนิดนั้นดีกว่าชนิดนี้ มีการอ้างอิงประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อโรคแต่ละชนิดของหน้ากากต่างๆ ทำให้ผู้คนหลงเชื่อและแชร์ภาพกันต่อๆ ไป และกังวลว่าเมื่อใช้หน้ากากต่างๆ จะใช้กันโควิดไม่ได้ และพยายามจะหันมาใช้หน้ากากชนิด N95 ซึ่งราคาแพงกว่า ทั้งๆ ที่ในความจริงแล้ว หน้ากากผ้า หน้ากากฟองน้ำ หน้ากากทางการแพทย์ ก็สามารถป้องกันเชื้อโควิด-19 ได้ เพียงแต่ใช้ให้ถูกวิธี ล่าสุดยังมีความเข้าใจผิดอีกว่า หน้ากากแบบมีวาล์วระบายอากาศ นอกจากจะใส่สบายกว่าแล้ว ยังป้องกันโควิด-19 ได้ดีอีกด้วย จนนักวิชาการต้องงัดข้อมูลและรีบออกมาเตือนว่า การที่มันมีช่องระบายอากาศจะยิ่งทำให้เพิ่มความเสี่ยงมากขึ้นด้วยซ้ำ เพราะมันมีช่องให้เชื้อโควิด-19 เล็ดลอดเข้ามาได้ง่าย ชุดตรวจโควิดด้วยตนเอง         เร็วๆ นี้มีคนดังในโลกโซเชียลซื้อชุดตรวจโควิด-19 ด้วยตนเองมาใช้ และบอกว่าตนเองปลอดภัย เพราะตรวจแล้วให้ผลเป็นลบจนนักวิชาการต้องออกมาเตือนกันใหญ่ ความจริงแล้ว ชุดตรวจโควิด-19 ในลักษณะแบบนี้ มีการผลิตออกมาหลายแบบ การจะเอามาใช้ในประเทศต้องได้รับอนุญาตจาก อย. และมักจะให้บุคลากรทางการแพทย์ใช้เบื้องต้นในบางเงื่อนไข แต่ทั้งนี้ก็ต้องยืนยันผลด้วยการตรวจในห้องแล็บทุกครั้ง การที่ประชาชนนำไปใช้ด้วยตนเองโดยไม่มีข้อมูลทั้งระยะเวลาที่ใช้การอ่านผลเอง อาจจะยิ่งทำให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 มากขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำ เพราะผลที่ได้อาจไม่ตรงกับความเป็นจริง เช่น อาจเกิดผลบวกลวง (ตัวเราไม่มีเชื้อ แต่ชุดตรวจให้ผลออกมาว่าเจอเชื้อ) แต่ที่น่ากลัวที่สุดคือผลลบลวง (ตัวเรามีเชื้อ แต่ชุดตรวจให้ผลออกมาว่าไม่มีเชื้อ) ทำให้ผู้ใช้เข้าใจผิดว่าตนเองปลอดภัยและอาจไปแพร่เชื้อโควิด-19 ให้กับผู้อื่นโดยไม่รู้ตัว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 239 บอกเลิกสัญญา Work & Travel เพราะโควิด-19

วัยรุ่นจำนวนไม่น้อยอยากไป Work & Travel ในต่างประเทศ เพราะนอกจากการทำงานระยะสั้น ๆ หาประสบการณ์แล้ว ยังได้ท่องเที่ยวในประเทศนั้นๆ ด้วย เช่นเดียวกับคุณกันตพล ที่อยากให้ลูกชายได้เปิดประสบการณ์การทำงานในต่างประเทศ จึงตัดสินใจส่งลูกชายเข้าโครงการ Work & Travel ในประเทศสหรัฐอเมริกากับบริษัทตัวแทนแห่งหนึ่งระยะเวลา 3 เดือน โดยคุณกันตพลได้ผ่อนค่าใช้จ่ายเป็นรายงวด รวมเป็นเงินทั้งหมดแล้วเกือบ 80,000 บาท         แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส ทำให้กำหนดการการเดินทางไปทำงานและท่องเที่ยวที่อเมริกาของลูกชายคุณกันตพลต้องพับลง บริษัทที่จัดโครงการ Work & Travel ได้แจ้งกับคุณกันตพลว่า ไม่สามารถดำเนินโครงการต่อไปได้เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น โดยทางบริษัทจะคืนเงินให้ประมาณ 50,000 บาท         คุณกันตพลทราบดังนั้น ก็คิดว่าเงินที่บริษัทคืนให้นั้นน้อยเกินไปหรือไม่ ซึ่งค่าใช้จ่ายทั้งหมดนั้นคุณกันตพลได้ชำระไปแล้วล่วงหน้าแล้ว ไม่ว่าจะเป็นค่าโครงการ ค่าธรรมเนียมวีซ่า ค่ามัดจำตั๋วเครื่องบิน การที่บริษัทหักเงินไปเกือบ 30,000 บาทนั้นดูไม่เป็นธรรมเอาเสียเลย แนวทางการแก้ไขปัญหา                 กรณีที่บริษัทแจ้งว่าไม่สามารถดำเนินโครงการต่อไปได้ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสนั้น เท่ากับเป็นการบอกเลิกสัญญา ซึ่งจะต้องคืนเงินให้แก่ผู้บริโภคโดยทันที หากจะมีการหักค่าใช้จ่ายใดๆ ก็ต้องชี้แจงรายละเอียดของค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน มีการแสดงเอกสารหลักฐานค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงให้ได้ทราบอย่างครบถ้วน ถ้าตกลงกันไม่ได้ก็สามารถใช้สิทธิฟ้องร้องได้         ทั้งนี้ ผู้บริโภคเองสามารถบอกเลิกสัญญากับบริษัทที่จัดทำโครงการในลักษณะ Work & Travel ได้ โดยทำหนังสือบอกเลิกสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรส่งแบบไปรษณีย์ตอบรับ หากทางบริษัทเอเจนซี่จะหักค่าใช้จ่ายใดๆ ก็ต้องชี้แจงและแนบหลักฐานให้ผู้บริโภคได้รับทราบด้วยเช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 239 ผดทดสอบหน้ากากอนามัย จากองค์กรผู้บริโภคต่างประเทศ

        ในยุคที่คนทั้งโลกต้อง “สวมหน้ากาก” เข้าหากัน จึงเป็นธรรมดาที่คนจะตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพของมัน กรณีของ “หน้ากากอนามัยเกรดการแพทย์” นั้นไม่น่าเป็นห่วง เพราะกว่าจะเรียกตัวเองเช่นนั้นได้ ก็ต้องผ่านมาตรฐานหลายประการ         แต่สภาผู้บริโภคแห่งฮ่องกง (ผู้จัดพิมพ์ CHOICE นิตยสารเพื่อผู้บริโภค) ก็ไม่ยอมปล่อยผ่าน เขาทดสอบหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ จำนวน 30 ยี่ห้อ (ผลิตในฮ่องกง 18 ยี่ห้อ  ผลิตในจีน 8 ยี่ห้อ ที่เหลือผลิตจากไต้หวัน และเวียดนาม) สนนราคาชิ้นละ 2-9 เหรียญฮ่องกง (ประมาณ 8-35 บาท)          เขาพบว่า 29 รุ่นมีประสิทธิภาพการกรองแบคทีเรียและอนุภาคทั่วไปได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 95 จึงถือว่าวางใจได้พอสมควร ในภาพรวมหลายยี่ห้อทำได้ดี แต่ไม่ดีเท่าที่เคลม ราคาแพงกว่าไม่ได้แปลว่าดีกว่า และหลายยี่ห้อไม่น่าซื้อเพราะสายคล้องคุณภาพไม่ดี        แต่ที่ต้องระวังคือยี่ห้อ Perfetta Disposable High Filtration Face Mask ที่ผลิตในเวียดนาม (ราคาเฉลี่ยชิ้นละ 8 บาท) ที่ฉลากอ้างว่ามีประสิทธิภาพกันอนุภาคทั่วไปได้ 99.99% แต่เขาทดสอบพบว่าทำได้เพียง 86.64% เท่านั้น แถมสายคล้องหูก็ยืดย้วยง่ายด้วย ติดตามตารางแสดงผลการทดสอบแบบเต็มๆ ได้ที่        https://www.consumer.org.hk/ws_en/news/specials/2020/coronavirus-prevention-collection.html          ไปดูการทดสอบ “หน้ากากผ้า” ชนิดใช้ซ้ำ ซึ่งป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้ดี โดยไม่เป็นภาระต่อสิ่งแวดล้อมกันบ้าง         องค์กรผู้บริโภคของอังกฤษหรือนิตยสาร Which? ซึ่งได้ทดสอบหน้ากากผ้าชนิดใช้ซ้ำได้ รูปแบบต่างๆ จำนวน 15 ตัวอย่างที่หาซื้อได้ตามร้านค้าทั่วไปในช่วงเดือนตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา        Which? ทดสอบและให้คะแนนในด้านต่างๆ ได้แก่ ประสิทธิภาพในการป้องกันแบคทีเรีย การหายใจได้สะดวก ความรู้สึกสบายในการสวมใส่ และความทนทานต่อการซักโดยไม่เสื่อมสภาพเร็วเกินไป           หน้ากากผ้าสองยี่ห้อที่ได้คะแนนมากที่สุดคือ NEQI และ Bags of Ethics ที่ขายในราคาชิ้นละ 5 ปอนด์ (ประมาณ 200 บาท) แต่ถ้าใครอยากประหยัดเงินอาจเลือก Step Ahead ที่คะแนนน้อยกว่าเล็กน้อยแต่ราคาถูกกว่ามาก (2 ปอนด์ หรือประมาณ 80 บาท)         ในภาพรวม มีหน้ากากผ้าที่สามารถป้องกันละอองฝอยได้ถึงร้อยละ 99 แต่ก็มีบางรุ่นที่กันได้เพียงร้อยละ 7 เท่านั้น         Which? ให้คำแนะนำ “ไม่ควรซื้อ” กับหน้ากากผ้า 3 ยี่ห้อ ได้แก่ Termin8 / Etiquette / และ White Patterned สองยี่ห้อแรกซึ่งวางขายในร้านขายยา โต้ว่าเขาไม่ได้ทำผิดอะไร กฎหมายไม่ได้กำหนดเกณฑ์แบบที่ Which? ทดสอบ ส่วนยี่ห้อสุดท้ายที่จำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ต ASDA นั้น ทางห้างเรียกเก็บออกจากชั้นไปแล้ว ข้อค้นพบจากการทดสอบหน้ากากผ้า-  การป้องกันจะดีขึ้นตามจำนวนชั้นของผ้า ใส่ฟิลเตอร์ได้ยิ่งดี (แต่ฟิลเตอร์ก็เป็นขยะอีก) หน้ากากผ้าที่ไม่ควรซื้อใช้คือหน้ากากผ้าโพลีเอสเตอร์ที่มีชั้นเดียว-  หน้ากากที่ดีต้องมีสมดุลระหว่างประสิทธิภาพการป้องกันเชื้อกระจายและการระบายอากาศที่ดี ไม่เช่นนั้นจะทำให้เกิดความชื้นทำให้ประสิทธิภาพลดลง และเราอาจเอามือไปขยับบ่อยๆ หรือไม่ก็รำคาญจนไม่อยากใส่ต่อ-  หน้ากากผ้าแบบทำเองก็ใช้ได้ดี การทดสอบพบว่าหน้ากากผ้าที่ตัดเย็บตามแพทเทิร์นที่รัฐบาลอังกฤษแชร์ออนไลน์ สามารถกรองละอองได้ร้อยละ 73 และเมื่อผ่านการซัก 5 ครั้ง กลับสามารถกรองได้ถึงร้อยละ 81 ด้วย! แต่อาจมีปัญหาเรื่องการสวมแล้วอึดอัดไม่สบาย-  การให้คำแนะนำในการใช้บนฉลาก (ทั้งในการใช้งานและการซักทำความสะอาด) ยังทำได้ไม่ดี มีถึง 6 เจ้าที่ไม่ระบุว่า “ไม่ใช่อุปกรณ์ทางการแพทย์” และมี 7 เจ้าไม่แจ้งวิธีการใช้อย่างปลอดภัย            องค์กรผู้บริโภคอื่นๆ ที่ทดสอบหน้ากากผ้า ได้แก่ Forbrugerradet Taenk ของเดนมาร์ก ที่ทดสอบทั้งหน้ากากผ้าและหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ แล้วพบว่ามีประสิทธิภาพในการกรองไม่ต่างกันนัก  ในขณะที่ UFC-Que Choisir ของฝรั่งเศส ทดสอบหน้ากากที่ทำจากผ้าหลากชนิด เขาพบว่าผ้าฝ้ายชนิดที่ใช้ทำเสื้อยืด หรือแม้แต่ทิชชูคลิเน็กซ์ ก็ผ่านการทดสอบประสิทธิภาพการกรองเชื้อโรคเหมือนกัน ทางด้าน Altroconsumo ของอิตาลี ก็ทดสอบหน้ากากผ้า และพบว่ามันสามารถกรองละอองฝอยได้ระหว่างร้อยละ 80-90 แตกต่างกันตรงที่บางรุ่นใส่แล้วหายใจสะดวก บางรุ่นสวมแล้วอึดอัด เช่นเดียวกับ Deco Proteste ของโปรตุเกส

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 239 เช็คสุขภาพใจกับ Mental Health Check Up

        ช่วงนี้นั่งฟังข่าววันไหน ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด -19 ยังคงมีให้เห็นอยู่ทุกวัน แถมยังต้องระมัดระวังตนเองให้การ์ดไม่ตกตามมาตรการของรัฐบาลอีก จนทำให้ใครหลายคนอาจต้องทำงานที่บ้าน งดการเดินทางท่องเที่ยว งดการสร้างสรรค์กันอีกระลอก เพื่อช่วยลดการแพร่ระบาดเชื้อโควิด -19 ให้หมดไปจากประเทศไทยโดยเร็ว         “แล้วฉันเลือกอะไรได้ไหม” ขอฮัมเพลงเบาๆ  กันสักหน่อย เพราะจะหมุนตัวไปทางไหนก็ไม่ได้ เครียดเหลือเกินกับการต้องมาระวังตัวจนจิตตกคิดตลอดว่า “เป็นหรือยังเนี่ย” เครียดเหลือเกินที่ไม่ได้ออกไปเที่ยวกับเพื่อน เครียดเหลือเกินไม่ได้ทานข้าวกับแฟนมาเนิ่นนานมากแล้ว และเครียดเหลือเกินไม่รู้ว่าบริษัทจะลดเงินเดือนเมื่อไรกันหนอ         กลับมาสู่โลกความเป็นจริงกัน ทุกคนต้องพึ่งสุภาษิตที่ว่า “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” ดีที่สุด ดังนั้นการขจัดความเครียดและรู้เท่าทันความรู้สึกของตนเองสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาดระลอกใหม่ ที่ดูทุกอย่างจะถาโถมมาพร้อมกันเหลือกัน ทุกคนต้องตั้งสติ และตระหนักกับสิ่งที่เกิดขึ้น โดยไม่ตระหนกกับเหตุการณ์ต่างๆ มากจนเกินไป         เพื่อคลายความเครียดไม่ให้สะสมจนก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตมากไปกว่านี้ ลองหันมาพึ่งแอปพลิเคชั่น Mental Health Check Up ที่จะช่วยเช็คสุขภาพจิตของเราว่าเป็นเช่นไร เพื่อให้รู้เท่าทันและพร้อมปรับเปลี่ยนสุขภาพจิตให้เหมาะสม จนไม่เกิดภาวะเครียด ภาวะซึมเศร้า และจิตตกกันดีกว่า         แอปพลิเคชั่น Mental Health Check Up เป็นแอปพลิเคชั่นของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข โดยออกแบบมาเพื่อประเมินสุขภาพจิตเบื้องต้นด้วยตนเอง และคัดกรองปัญหาโรคจิตเวชที่พัฒนาขึ้น ทำให้ผู้มีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิตสามารถเข้าถึงบริการได้อย่างรวดเร็ว         ภายในแอปพลิเคชั่นจะใช้วิธีการประเมินตนเองที่เกี่ยวกับสุขภาพใจหลากหลายหมวด ได้แก่ ประเมินดัชนีวัดความสุข ประเมินความเครียด ประเมินภาวะซึมเศร้า ประเมินความฉลาดทางอารมณ์ EQ ประเมินภาวะติดสุรา ประเมินภาวะความจำ ประเมินภาวะติดเกม ประเมินภาวะหมดไฟในการทำงาน ประเมินพลังสุขภาพจิต RQ         โดยก่อนเริ่มใช้แอปพลิเคชั่นจะสอบถามข้อมูลผู้ใช้งาน ดังนี้ ชื่อนามสกุล (ไม่บังคับใส่) อายุ เพศ ที่อยู่ หลังจากนั้นเมื่อเข้ามาในหน้าแรกจะปรากฎวิธีการประเมินตนเองที่เกี่ยวกับสุขภาพใจในหมวดต่างๆ ที่กล่าวมา การทำแบบประเมินจะเป็นในรูปแบบคำถามเชิงจิตวิทยา โดยในแต่ละหมวดจะมีจำนวนข้อแตกต่างกันไป         เมื่อตอบคำถามครบทุกข้อแล้ว แอปพลิเคชั่น Mental Health Check Up จะประมวลผลและแจ้งผลการประเมินว่าอยู่ในระดับใด พร้อมคำแนะนำ ในกรณีที่ผลการประเมินออกมาในเชิงลบ อย่างเช่น มีความเครียดปานกลาง คำแนะนำจะอธิบายถึงสาเหตุที่อาจทำให้เกิดความเครียดเกิดขึ้น และเสนอทางแก้ไขปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย อ่านหนังสือ เล่นดนตรี ดูหนัง ฟังเพลง รดน้ำต้นไม้ สวดมนต์ไหว้พระ ทำจิตใจให้สงบ ไม่นึกถึงเรื่องอดีต เป็นต้น         ถ้าสถานการณ์ช่วงนี้ทำให้จิตใจว้าวุ่นใจ เครียด ไม่มีสมาธิ ลองใช้แอปพลิเคชั่น Mental Health Check Up เช็คสุขภาพใจของตนเองกันดู อย่างน้อยก็ทำให้รู้ตัวว่าสุขภาพใจอยู่ในภาวะใด จะได้รับมือและฟื้นฟูสภาพจิตใจของตนเองได้ทันถ่วงที

อ่านเพิ่มเติม >

‘มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค’ ยืนหยัด ‘คุ้มครองผู้บริโภค’ แถลงชัดไม่มีนโยบายถอนข้อมูลผลทดสอบจากเว็บไซต์

            ตามที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ดำเนินการเชิงรุกเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคช่วงโควิด - 19 โดยเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์เจลแอลกอฮอล์ล้างมือในช่วงที่ขาดแคลนและมีราคาแพง รวมทั้ง ขาดข้อมูลอ้างอิงที่จะทำให้ผู้บริโภคเชื่อถือได้ว่ามีคุณภาพตรงกับฉลากหรือคำโฆษณา และไม่ปนเปื้อนสารที่ก่ออันตราย มูลนิธิฯ ได้เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์เจลแอลกอฮอล์ล้างมือจำนวน 39 ตัวอย่าง เพื่อตรวจหาปริมาณแอลกอฮอล์ในผลิตภัณฑ์ว่าเป็นไปตามมาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาหรือไม่ และตรวจหาการปนเปื้อนของเมธิลแอลกฮอล์ ซึ่งเป็นแอลกอฮอล์ชนิดที่มีอันตรายต่อผู้บริโภค ผลพบว่า จำนวน 27 ตัวอย่าง หรือร้อยละ 69.23 มีปริมาณแอลกอฮอล์ต่ำกว่าร้อยละ 70 จากนั้นจึงได้เผยแพร่ข้อมูลให้ผู้บริโภคได้รับทราบผ่านช่องทางต่าง ๆ โดยเปิดเผยชื่อยี่ห้อ เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับทราบข้อเท็จจริง และมีข้อมูลเพียงพอสำหรับการเลือกซื้อสินค้าที่มีความจำเป็นต้องใช้สำหรับปกป้องสุขภาพในภาวะที่มีการระบาดของเชื้อโรคที่เป็นอันตรายต่อชีวิตนั้น (อ่านข้อมูล ผลทดสอบเจลแอลกอฮอล์ จากนิตยสารฉลาดซื้อ ได้ที่ https://www.chaladsue.com/article/3420)         ต่อมาวันที่ 20 กรกฎาคม 2563 บริษัท รีเอกซ์ โปรดักส์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตเจลแอลกอฮอล์ ได้ฟ้องคดีมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เป็นจำเลยที่ 1 และนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เป็นจำเลยที่ 2 โดยอ้างว่า จำเลยได้กระทำผิดอาญา ใส่ความหมิ่นประมาทบริษัท และระบุว่า “...ไม่ใช่ผลการทดสอบที่ถูกต้องที่จะนำเสนอเป็นข่าวหรือบทความให้สาธารณชนได้รับทราบเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์เจลล้างมือ เพราะเกณฑ์มาตรฐานการทดสอบจำเป็นต้องมีการควบคุมการทดสอบและกำหนดค่าความผันแปรของผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ที่มีความอ่อนไหวต่อสภาพแวดล้อมระหว่างทดสอบ...”         ในวันนี้ (5 พฤศจิกายน 2563) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงได้แถลงข่าวเพื่อให้ข้อเท็จจริงและแสดงจุดยืนต่อกรณีดังกล่าว ดังนี้         1. นิตยสารฉลาดซื้อ และ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้จัดให้มีการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2563 เพื่อเผยแพร่ข้อมูลกับผู้บริโภค โดยมีการเปิดเผยชื่อยี่ห้อให้ผู้บริโภคได้รับทราบ ด้วยเหตุผลในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้า ตามหลักการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 โดยมูลนิธิฯ ได้ดำเนินการตามหลักการนี้มาอย่างต่อเนื่องตลอดมา         2. การทดสอบได้ทำอย่างสุจริตและโปร่งใส โดยยึดมั่นหลักวิชาการ และดำเนินการอย่างมีคุณภาพสูงสุด เพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยการทดสอบเจลแอลกอฮอล์ในครั้งนี้ ดำเนินการโดย ศูนย์บริการเทคโนโลยีเภสัชอุตสาหกรรม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีความเชี่ยวชาญ มีความเป็นอิสระ และเป็นห้องทดลองที่ได้มาตรฐานและผ่านการรับรอง ISO 17025 แม้แต่ อย. ก็ใช้ห้องทดลองนี้เช่นกัน และในการแถลงข่าวเพื่อเผยแพร่ข้อมูล เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2563 ผู้เกี่ยวข้องกับการทดสอบได้ร่วมในการให้ข้อมูลอย่างเปิดเผย ประกอบด้วย นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค รศ.ดร.ภก.วรสิทธิ์ วงศ์สุทธิเลิศ ผู้อำนวยการศูนย์บริการเทคโนโลยีเภสัชอุตสาหกรรม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผศ.ดร. ยุพดี ศิริสินสุข คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) และรองผู้จัดการแผนงานศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย         3. มูลนิธิฯ เห็นว่า การฟ้องร้องของบริษัท รีเอ็กซ์ โปรดักส์ จำกัด อาจเป็นการฟ้องคดีเพื่อให้มูลนิธิฯ ยุติการเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นประโยชน์ต่อการคุ้มครองผู้บริโภค         4. มูลนิธิฯ ไม่มีนโยบายถอนข้อมูลผลทดสอบที่ได้จัดทำและเผยแพร่จากเว็บไซต์ เพื่อให้เป็นไปตามหลักการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคให้สามารถเลือกซื้อสินค้า โดยเป็นไปตามหลักการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ดังที่ได้ถือเป็นแนวทางปฏิบัติตลอดมา         ด้าน ดร. ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ยืนยัน กระบวนการทดสอบสินค้าและบริการของนิตยสารฉลาดซื้อ ใช้ห้องทดสอบที่มีมาตรฐาน ระดับประเทศที่พัฒนาแล้ว สำหรับกระบวนการทดสอบด้านสินค้าและบริการ จะอ้างอิงหลักการและวิธีการออกแบบการทดสอบ ขององค์กรผู้บริโภคระหว่างประเทศ ที่เป็นสมาขิกของ International Consumer Product Research and Testing โดยเน้นหลักการความเป็นกลาง ไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง ใช้การสุ่มซื้อสินค้าที่มีการจำหน่ายจากร้านค้าจริงทั่วไปและออนไลน์เหมือนผู้บริโภคซื้อสินค้าและเผยแพร่ผลการทดสอบผ่านนิตยสารฉลาดซื้อ ซึ่งเป็นสื่อสาธารณะที่ไม่รับโฆษณาจากบริษัทต่าง ๆ เพื่อทำให้สามารถรักษาผลประโยชน์สาธารณะได้อย่างตรงไปตรงมา         "การทดสอบสินค้าที่มีมาตรฐานกำกับจะดำเนินการทดสอบตามมาตรฐาน โดยใช้ห้องทดสอบของมหาวิทยาลัย หรือ ห้องทดสอบเอกชนระดับมาตรฐาน ISO 17025 กรณีสินค้าที่ยังไม่มีมาตรฐานกำกับจะทดสอบโดยใช้มาตรฐานของต่างประเทศที่ได้รับความน่าเชื่อถือ ตัวอย่างเช่น กรณีการทดสอบเครื่องฟอกอากาศ การทดสอบเปรียบเทียบมีส่วนช่วยผลักดันให้เกิดมาตรฐานอุตสาหกรรมของไทยที่จะเข้าไปกำกับมาตรฐานของเครื่องฟอกอากาศในอนาคต เป็นต้น"        ทั้งนี้ พลังของผู้บริโภคในการสนับสนุนการต่อสู้คดีในครั้งนี้ ซึ่งเป็น “ครั้งแรกในรอบกว่า 20 ปี” ที่ผลการทดสอบและการเปิดเผยข้อมูลของนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ถูกฟ้องคดีโดยบริษัทผู้ผลิตหลังจากเปิดเผยชื่อผู้ผลิตและยี่ห้อของสินค้าจากการทดสอบ” จึงมีความสำคัญต่อการยืนหยัดทำหน้าที่ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 235 สามีหรือภริยาทำหนังสือยินยอมให้คู่สมรสไปค้ำประกันหนี้ ต้องร่วมรับผิดในหนี้นั้นด้วยหรือไม่

        ผมขอหยิบเรื่องใกล้ตัวของคนที่แต่งงานเป็นสามีภริยากันตามกฎหมายแล้วมาเสนอในคราวนี้ครับ  เนื่องจากเห็นว่าในช่วงนี้ มีข่าวเกี่ยวกับคู่สามีภริยาที่เป็นคนดังมีประเด็นพิพาทกันมากมาย โดยเฉพาะเรื่องเงินๆ ทองๆ จึงขอนำเรื่องเกี่ยวกับการค้ำประกันหนี้ของสามีหรือภริยามาเล่าสู่กันฟัง        อย่างที่เราทราบกันว่า เมื่อจดทะเบียนสมรส ทรัพย์สินที่ทำมาหาได้หลังสมรส ถือเป็นสมบัติร่วมกันของสามีภริยา แต่ถ้าเป็นเรื่องไปก่อหนี้ เช่นการที่สามีหรือภริยา ฝ่ายหนึ่งไปค้ำประกันหนี้ให้ใครสักคน จะถือว่าคู่สมรสของคนที่ไปค้ำประกัน เขาจะต้องร่วมรับผิดในหนี้นั้นด้วยหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ก็มีการพิพาทเป็นคดีขึ้นสู่ศาล และศาลฏีกาได้เคยตัดสินในเรื่องนี้ไว้แล้ว คือ สามีหรือภริยาของคนที่ค้ำประกันไม่ต้องรับผิด เพราะไม่ถือเป็นการให้สัตยาบันตามกฎหมาย แต่ถ้าคู่สมรสคนที่ค้ำประกันเสียชีวิต สามีหรือภริยานั้นต้องรับผิดชอบตามสัญญาค้ำประกันในฐานะทายาทตามหลักกฎหมายมรดก แต่ความรับผิดจะจำกัดไม่เกินทรัพย์มรดกของคู่สมรสที่ตนได้รับ ตามคำพิพากษาศาลฏีกา 8820/2561 (ประชุมใหญ่)          คำพิพากษาศาลฏีกา 8820/2561 (ประชุมใหญ่)            ในส่วนที่ ส. ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 ไม่ใช่นิติกรรมที่จำต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรส เมื่อจำเลยที่ 2 ให้ความยินยอมไว้เป็นการทั่วไป จึงเป็นการแสดงเจตนารับรู้และไม่คัดค้านที่ ส. สามีไปทำนิติกรรม หาใช่เป็นการให้สัตยาบันตามนัยของบทบัญญัติ มาตรา 1490 (4) ไม่ เนื่องจากไม่มีข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์แต่อย่างใดว่าจำเลยที่ 2 รับรองการที่ ส. ก่อหนี้ขึ้นแล้วตามมูลหนี้ที่มีการทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 คงปรากฏเฉพาะการที่จำเลยที่ 2 รับรู้ถึงการเข้าทำสัญญาค้ำประกันของ  ส. เท่านั้น เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ได้ให้สัตยาบันการก่อหนี้ตามสัญญาค้ำประกันที่คู่สมรสได้กระทำไป จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม  แต่หากสามีถึงแก่ความตาย ภริยาคงรับผิดตามสัญญาค้ำประกันในฐานะทายาทโดยธรรมคือรับผิดไม่เกินกว่าทรัพย์มรดกของสามีที่ตกทอดได้แก่ตนเท่านั้นตาม ม.1601         อยากให้ดูเทียบกับอีกกรณี ที่ภริยาไปลงนามในหนังสือให้ความยินยอมทำสัญญาซื้อขายที่ดิน ต่อมาสามีไปกู้ยืมเงินเพื่อซื้อที่ดิน เช่นนี้ ถือว่าภริยาให้สัตยาบันแล้ว จึงต้องร่วมรับผิดในหนี้กู้ยืมดังกล่าว         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5848/2550         จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์โดยจำเลยที่ 2 ภริยาของจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อให้ความยินยอมในหนังสือให้ความยินยอมซึ่งมีข้อความระบุว่าจำเลยที่ 2 ยินยอมให้จำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมเกี่ยวกับการซื้อและจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง และกู้ยืมเงินจากโจทก์ได้โดยไม่คัดค้าน ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ร่วมรับรู้หนี้กู้ยืมเงินที่จำเลยที่ 1 ผู้เป็นสามีได้ก่อขึ้นเพื่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียวในระหว่างสมรสและจำเลยที่ 2 ให้สัตยาบันในหนี้ดังกล่าวแล้ว จึงเป็นหนี้ร่วมระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1490 (4) จำเลยที่ 2 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์         จากตัวอย่างข้างต้นที่หยิบยกมา เราจะเห็นได้ว่า การเป็นสามีภริยากัน มีสิทธิหน้าที่ซึ่งกันและกัน ดังนั้นเราควรทราบว่าสามีหรือภริยาของตนเองได้ไปทำสัญญาอะไรไว้บ้าง โดยเฉพาะสัญญาที่ก่อให้เกิดหนี้ และหมั่นตรวจสอบว่าตนได้ให้ความยินยอมใดๆ ไปในการดำเนินการของคู่สมรสของตนเอง มีความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกัน เพื่อมิให้เกิดปัญหาความขัดแย้งภายในครอบครัวตามมาภายหลัง

อ่านเพิ่มเติม >