ฉบับที่ 248 ทฤษฎีสมคบคิด โควิด-19 มาจากไหน

        ช่วงเวลาที่คนอเมริกันกำลังติดเชื้อโควิด-19 จำนวนมากในปี 2020 นั้น อดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ได้เริ่มเผยแพร่ทฤษฎีสมคบคิดว่า โควิด-19 หลุดรอดออกมาจากห้องแล็บในหวู่ฮั่น ส่งผลให้ WHO ต้องส่งทีมงานไปพิสูจน์เรื่องนี้ที่ประเทศจีน แต่สุดท้ายก็ยังไม่สามารถสร้างความกระจ่างในเรื่องนี้ได้ อย่างไรก็ตามมีรายงานข่าวแบบไม่เป็นทางการในขณะนั้นว่า นักวิจัยหลายคนของสถาบันไวรัสวิทยาที่หวู่ฮั่นของจีนล้มป่วยจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลในเดือนพฤศจิกายน 2019 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่นานก่อนที่ทางการจีนยืนยันการพบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่รายแรกในเมืองหวู่ฮั่น         กลางเดือนกันยายน 2020 มีข่าวหนึ่งซึ่งแพร่หลายแทบทุกสื่อคือ Yan Li-Meng ออกเสียงแบบจีนว่า เหยียน ลี่-ม่อง ซึ่งเป็นแพทย์ (MD.) และนักจักษุวิทยา (Ph.D.) ชาวฮ่องกงซึ่งลี้ภัยออกจากฮ่องกงไปสหรัฐอเมริกาได้ให้สัมภาษณ์แก่สถานีโทรทัศน์ฟ็อกซ์นิวส์ว่า รัฐบาลจีนรู้เรื่องเกี่ยว covid-19 ตั้งแต่ก่อนมีการระบาด แต่ปกปิดเอาไว้จนเกิดการระบาดไปทั้งโลก นอกจากนี้เธอยังกล่าวหาหัวหน้าของเธอซึ่งเป็นที่ปรึกษาองค์การอนามัยโลกว่า ไม่นำพากับคำเตือนที่เธอบอกให้ระวังเชื้อไวรัสตัวใหม่เกี่ยวกับการติดต่อจากคนสู่คนได้ โดยหัวหน้าของเธออ้างว่า รัฐบาลจีนไม่อนุญาตให้เผยแพร่ข้อมูล ซึ่งทำให้แพทย์ตามโรงพยาบาลไม่กล้าให้ข้อมูลอะไรเกี่ยวกับคนไข้ที่มีอาการโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันอย่างรุนแรง ส่งผลให้เธอต้องหนีออกไปสหรัฐอเมริกาเพื่อเปิดเผยให้คนทั้งโลกได้รู้ อย่างไรก็ดีข่าวดังกล่าวได้ถูกด้อยค่าลงโดยนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำจากหลายประเทศ เนื่องจากหลักฐานที่ เหยียน ลี่-ม่อง อ้างถึงนั้นเป็นบทความวิชาการที่ตีพิมพ์ในวารสารซึ่งเป็นประเภท preprint ที่ต้องการความรวดเร็วในการเผยแพร่ข้อมูล จึงไม่มีการตรวจทานความถูกต้อง (no peer review)         ครั้นถึงวันที่ 15 สิงหาคม 2021 เว็บไซต์สำนักงานข่าว Global Times ของจีนได้มีบทความเรื่อง Conspiracy theory or reasonable skepticism? Why we should demand an investigation into US labs for origins of COVID-19 (ประมาณว่า...ทฤษฎีสมคบคิดหรือความสงสัยที่สมเหตุสมผล? ทำไมเราจึงควรเรียกร้องให้มีการสอบสวนห้องทดลองของสหรัฐฯ เพื่อหาที่มาของ COVID-19) ซึ่งกล่าวว่า ชาวจีนกว่า 25 ล้านคนได้ลงนามเพื่ออุทธรณ์ให้มีการสอบสวนห้องปฏิบัติการทางชีววิทยาใน Fort Detrick สังกัดกองทัพบกในสหรัฐอเมริกาในลักษณะเดียวกับที่ WHO ทำกับสถาบันไวรัสวิทยาหวู่ฮั่นของจีน         ในบทความของ Global Times นั้นนักข่าวได้ชี้ถึงเบาะแสและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเอกสารทางวิชาการและรายงานสาธารณะส่วนหนึ่งจากสื่ออเมริกัน ก่อให้เกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับห้องปฏิบัติการใน Fort Detrick ซึ่งโยงไปถึงความเกี่ยวข้องกับ ดร. ราล์ฟ แบริค (Ralph Baric) ศาสตราจารย์ในภาควิชาระบาดวิทยาและศาสตราจารย์ในภาควิชาจุลชีววิทยาและภูมิคุ้มกันวิทยาที่ University of North Carolina at Chapel Hill ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในการปรับแต่งไวรัสให้เปลี่ยนแปลงได้ตามต้องการด้วยเทคนิคการตัดแต่งพันธุกรรม         ในบทความวิจัยเรื่อง Reverse genetics with a full-length infectious cDNA of severe acute respiratory syndrome coronavirus (ประมาณว่า...การย้อนกลับของระบบพันธุกรรมทำให้ได้ cDNA ที่ก่อการติดเชื้อได้ของไวรัสโคโรนาซึ่งก่อโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันอย่างร้ายแรง) ในวารสาร PNAS หรือ Proceedings of the National Academy of Sciences of the United States of America ของปี 2003 โดยคำว่า cDNA ย่อนั้นมาจาก complementary DNA ซึ่งเป็น DNA สายเดี่ยวที่สร้างจาก RNA template โดยอาศัยเอ็นซัม reverse transcriptase ช่วยเร่งปฏิกิริยา งานวิจัยนี้ได้แสดงศักยภาพของเทคนิคที่คิดค้นชื่อ reverse genetics system จนสามารถสังเคราะห์ cDNA แบบเต็มความยาวจากหน่วยพันธุกรรมคือ RNA ของ SARS-CoV สายพันธุ์ Urbani จากเทคนิคดังกล่าวทำให้ทีมวิจัยสามารถสังเคราะห์ไวรัสโคโรนาในกลุ่ม SARS ที่มีการกลายพันธุ์ตามตำแหน่งที่ต้องการขึ้นมาได้ และสุดท้ายผู้เกี่ยวข้องในการทำวิจัยได้ยื่นขอสิทธิบัตรสิ่งที่ค้นพบสำเร็จในปี 2007 (patent code US7279327B2)         นิตยสาร MIT Technology Review ฉบับวันที่ 29 มิถุนายน 2021 มีบทความเรื่อง Inside the risky bat-virus engineering that links America to Wuhan (ประมาณว่า...ความเสี่ยงที่เชื่อมโยงให้อเมริกาเกี่ยวข้องกับหวูฮั่นนั้นเกิดเนื่องจากไวรัสในค้างคาวที่ถูกตัดแต่งพันธุกรรม) ได้กล่าวว่า หลังตีพิมพ์ผลงานเกี่ยวกับวิธีสำคัญในการสังเคราะห์ไวรัสได้ในปี 2007 แล้ว ดร.แบริค ได้เริ่มสะสมตัวอย่างไวรัสโคโรนาจากทั่วโลกโดยหวังสร้างไวรัสโคโรนาที่เป็นต้นแบบที่นำไปสู่การพัฒนายาและวัคซีนที่ต่อต้านไวรัสโคโรนาทั้งหลายที่ออกฤทธิ์คล้ายเชื้อไวรัสก่อโรค SARS (ในปี 2013)         เว็บ www.justia.com ให้ข้อมูลว่า (ณ เดือนสิงหาคม 2021 ) ดร.แบริค นั้นถือสิทธิบัตร 13 เรื่องที่เป็นรายละเอียดเกี่ยวกับไวรัสที่เป็นอันตราย 3 ชนิด โดยสิทธิบัตรต่างๆ นั้นน่าจะนำไปสู่การสร้างวัคซีนต่อต้านและวิธีการวินิจฉัยโรคเกี่ยวกับไวรัสเช่น สิทธิบัตรเกี่ยวกับ Dengue virus ซึ่งก่อให้เกิดไข้เลือดออก สิทธิบัตรเกี่ยวกับ Zika virus ซึ่งก่อโรคที่มีอาการคล้ายไข้เลือดออกแต่อันตรายน้อยกว่า ยกเว้นในหญิงมีครรภ์ที่ติดเชื้อนี้จะคลอดลูกออกมามีสมองเล็กกว่าปรกติ และสิทธิบัตรการสร้างหนามโปรตีนของไวรัสโคโรนา         ในช่วงปลายปี 2019 มีข่าวซึ่งเป็นที่สนใจไปทั่วโลกว่า ทีมของนักวิทยาศาสตร์จีนนำโดย ดร.ฉี เจิ้งลี่ (Dr. Shi Zhengli) ซึ่งเป็นนักไวรัสวิทยาและรองผู้อำนวยการสถาบันไวรัสวิทยาที่หวู่ฮั่น ในมณฑลหูเป่ยทางตอนกลางของจีน ได้ประกาศถึงความสำเร็จในการถอดรหัสพันธุกรรมของ coronavirus ในค้างคาวถ้ำ (Chinese horseshoe bat) ที่จับได้ในมณฑลยูนนาน ซึ่งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีนและพบว่า เป็นไวรัสสายพันธุ์ใหม่         มีคลิปวิดีโอใน YouTube เรื่อง Wuhan Lab Scientist Warns Coronavirus Is Just The Tip Of An Iceberg ซึ่งมีใจความสำคัญในการกล่าวเตือนต่อสาธารณะว่า การพบไวรัสโคโรนาชนิดใหม่นี้จำเป็นต้องมีการศึกษาให้ดีเพราะจะต้องหาหนทางป้องกันหากเกิดการระบาดครั้งใหญ่ นอกจากนี้ในการให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ CGTN นั้น ดร.ฉี กล่าวว่า ตัวอย่างไวรัสที่ศึกษานั้นได้รับในวันที่ 30 ธันวาคม 2019 จากนั้นจึงทำการถอดรหัสพันธุกรรมและตั้งชื่อชั่วคราวว่า ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (novel coronavirus) พร้อมทั้งแจ้งข้อมูลไปยัง WHO ในวันที่ 12 มกราคม 2020 ซึ่งต่อมาในต้นเดือนกุมภาพันธ์จึงเริ่มพบว่า ไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้มีความเชื่อมโยงกับอาการปอดบวมอย่างหนักของคนไข้ของโรงพยาบาลที่หวู่ฮั่น         กลับไปที่นิตยสาร MIT Technology Review ฉบับวันที่ 29 มิถุนายน 2021 ซึ่งให้ข้อมูลย้อนหลังถึงการเกี่ยวข้องของ ดร. แบริค ที่นำมาสู่ความน่าสงสัยเกี่ยวกับต้นตอของ SARS-CoV-2 โดยกล่าวว่า ดร.แบริค เคยติดต่อกับ ดร.ฉี เพื่อขอตัวอย่างข้อมูลพันธุกรรมของไวรัสโคโรนาที่ถูกสะสมในห้องปฏิบัติการของสถาบันฯ เพื่อนำไปใช้ในการวิจัยและทดลองสร้างไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ภายในห้องปฏิบัติการที่อาจแพร่เชื้อสู่มนุษย์ได้ และสุดท้ายได้มีการตีพิมพ์ข้อมูลความสำเร็จโดยมี ดร.แบริคและ ดร.ฉี เป็นผู้ร่วมวิจัย บทความนั้นชื่อ A SARS-like cluster of circulating bat coronaviruses shows potential for human emergence (ประมาณว่า...ไวรัสโคโรนาที่มีลักษณะคล้ายกลุ่มไวรัสที่ก่อให้เกิดโรค SARS ในค้างคาวได้แสดงศักยภาพในการก่อโรคในมนุษย์) ในวารสาร Nature Medicine ของปี 2015           บทความใน Nature Medicine ดังกล่าวเป็นการร่วมงานของทีมนักวิจัยจาก University of North Carolina at Chapel Hill และหน่วยงานสำคัญอื่นๆ ในสหรัฐอเมริกา รวมถึงห้องปฏิบัติการของ US.FDA ตลอดถึงนักวิจัยจาก Wuhan Institute of Virology, Chinese Academy of Sciences ซึ่งเมื่อพิจารณาจากการค้นพบและการตีพิมพ์ผลงานแบบเปิดเผยนั้น อาจสื่อได้ถึงความบริสุทธิ์ใจในการเผยแพร่ข้อมูลทางวิชาการเกี่ยวกับโอกาสของเชื้อไวรัสโคโรนาที่อาจกลายพันธุ์แล้วระบาดในมนุษย์ โดยทีมนักวิจัยได้อธิบายถึงการดัดแปลงรหัสพันธุกรรมของ RNA ส่วนที่สร้างหนามโปรตีนของไวรัส SARS-CoV (ชนิดที่ก่อการติดเชื้อทางเดินหายใจในหนูเม้าส์) ไปเป็นรหัสทางพันธุกรรมที่สร้างหนามโปรตีนของไวรัสสายพันธุ์ SHC014 (ซึ่ง ดร.ฉี ส่งให้ ดร.แบริค) ส่งผลให้ได้ไวรัสสังเคราะห์ชนิดใหม่ (synthetic virus) ซึ่งมีศักยภาพในการก่อการติดเชื้อในคนได้ เพราะไวรัสใหม่มีหนามโปรตีนที่สวมเข้าพอดีกับตัวรับ ACE2 ของเซลล์ซึ่งแยกจากทางเดินหายใจของมนุษย์แล้วเลี้ยงในห้องทดลอง สิ่งที่น่ากังวลประการหนึ่งจากบทความนี้คือ ได้มีการประเมินวิธีการบำบัดการติดเชื้อไวรัสใหม่ด้วยระบบภูมิคุ้มกันชนิดโดยโมโนโคลนัลแอนติบอดีและแนวทางการใช้วัคซีนตลอดจนถึงการใช้ยาที่มีอยู่ในขณะนั้นต่อการต้านเชื้อใหม่แล้ว พบว่าแนวทางที่มีอยู่ขณะนั้นมีประสิทธิภาพต่ำจนถึงล้มเหลวในการจัดการและป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนาที่ถูกสังเคราะห์ให้มีโปรตีนหนามแบบใหม่         งานวิจัยที่กล่าวถึงในวารสาร Nature Medicine ของปี 2015 นั้น ได้รับการสนับสนุนเงินทุนวิจัยจากหลายแหล่งคือ National Institute of Allergy & Infectious Disease (ซึ่งมี ดร. Anthony S. Fauci เป็นผู้อำนวยการ และมีห้องปฏิบัติการด้านโรคติดเชื้อร้ายแรงในค่ายทหารบก Fort Detrick), National Institute of Aging of the US National Institutes of Health, National Natural Science Foundation of China และ EcoHealth Alliance ซึ่งเป็นองค์กรเอกชน (ที่ได้เงินสนับสนุนจากหน่วยงานที่มีภารกิจในการป้องกันประเทศของสหรัฐฯ) โดยมีบทบาทในการปกป้องผู้คน สัตว์ และสิ่งแวดล้อมจากโรคติดต่ออุบัติใหม่          ดังนั้นโดยสรุปแล้วจะเห็นได้ว่า สองประเทศยักษ์ใหญ่ที่มีเทคโนโลยีด้านชีวภาพสูงนั้นได้มีความร่วมมือในการทำวิจัยเพื่อให้ได้ความรู้เกี่ยวกับไวรัสสายพันธุ์ที่ถูกทำนายว่า น่าจะก่อหายนะแก่มนุษย์ ก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 แล้วถึง 4 ปี ผู้เขียนคาดเอาเองว่า อีกไม่นานอาจมีภาพยนตร์ที่สร้างตามพล็อตเรื่องของทฤษฎีสมคบคิดนี้ในแนวทางเดียวกับภาพยนต์เรื่อง Contagion ซึ่งฉายในปี 2011 และมีชื่อไทยว่า สัมผัสล้างโลก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 248 อาหารเป็นพิษ ร้านค้ารับผิดชอบอะไรบ้าง

        ช่วงล็อคดาวน์ในสถานการณ์โควิด รัฐบาลขอความร่วมมืองดการเดินทาง ใช้ชีวิตอยู่บ้าน Work From Home กันไป หรือถ้าต้องการจะรับประทานอะไรที่ต้องเดินทางไปที่ร้านก็ต้องเปลี่ยนมาพึ่งบริการเดลิเวอรี่แทน           คุณดิน เป็นอีกคนที่ทำงานจากที่บ้าน วันหนึ่งไม่อยากทำอาหารเอง จึงสั่งไก่ย่างจากฟาสต์ฟู้ดส์ดังยี่ห้อหนึ่งซึ่งมีบริการเดลิเวอรี่ของตนเอง มารับประทานกับแฟนของเขา หลังจากอิ่มหนำสำราญผ่านไปได้ประมาณ 2 ชั่วโมง ทั้งสองก็เกิดอาการอาหารเป็นพิษ อาเจียน ท้องเสียอย่างหนัก จึงรีบพากันไปโรงพยาบาล         เมื่อแพทย์วินิจฉัยและให้การรักษา ผลคืออาการอาหารเป็นพิษจากชุดไก่ย่างที่สั่งมารับประทาน ทั้งเขาและแฟนต้องนอนโรงพยาบาล 2 คืน รวมค่าใช้จ่ายในการรักษาทั้งสองคนคือ 75,000 บาท เป็นค่ารักษาพยาบาลของเขา 36,000 บาท และส่วนของแฟน 39,000 บาท ซึ่งในระหว่างรักษา คุณดินได้แจ้งเรื่องไปที่ร้านฟาสต์ฟู้ดส์ที่เป็นต้นเหตุของการเจ็บป่วย ทางร้านจึงได้ส่งตัวแทนมาเยี่ยม พร้อมให้ฝ่ายกฎหมายของทางร้านมาเจรจา พอต้องเจอทนาย คุณดินไม่แน่ใจว่าจะต้องเจรจาอย่างไรเพื่อให้สิทธิของตนเองไม่ถูกลดทอน  จึงโทรมาสอบถามศูนย์พิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อขอคำแนะนำ แนวทางการแก้ไขปัญหา         ศูนย์พิทักษ์สิทธิให้คำแนะนำว่า ผู้ร้องสามารถเจรจากับทางร้านได้ โดยต้องกำหนดค่าชดเชยที่ครอบคลุมเรื่องความเสียหายทั้งหมดไว้ก่อน  ผู้ร้องประสงค์ให้ทางร้านรับผิดชอบสิ่งใดบ้าง เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าขาดประโยชน์ ค่าเสียเวลา เป็นต้น  และต้องเก็บเอกสารหลักฐานต่างๆ ไว้กับตนเอง หากทางร้านต้องการเอกสารควรสำเนาไว้กับตนหนึ่งชุดด้วย เช่น ใบรับรองแพทย์ ใบเสร็จค่าอาหาร เป็นต้น         หลังจากการให้คำปรึกษา ต่อมาผู้ร้องได้แจ้งกลับมาว่าตนได้เจรจากับทางร้านเรียบร้อยแล้ว โดยเรียกให้ทางร้านรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลของผู้ร้องและแฟน รวมทั้งเรียกค่าชดเชยจำนวน 5,000 บาท เนื่องจากผู้ร้องไม่สามารถปฏิบัติงานได้ช่วงที่ต้องรักษาตัว อย่างไรก็ตามทางร้านแจ้งว่าจะรับผิดเฉพาะค่ารักษาพยาบาลจำนวน 36,000 บาทและของแฟนผู้ร้องจำนวน 39,000บาท เท่านั้น ทางศูนย์ฯ จึงแจ้งว่าหากผู้ร้องไม่พอใจกับข้อเสนอของบริษัท มูลนิธิฯ จะเป็นคนกลางช่วยเจรจาให้ ซึ่งถ้ายังไม่สามารถตกลงกันได้ ก็สามารถฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคต่อไป         ภายหลังทางร้านได้รับผิดชอบทั้งค่ารักษาพยาบาลของผู้ร้องและแฟนเป็นจำนวนเงิน 75,000 บาท และมอบค่าชดเชยให้แก่ผู้ร้องอีกจำนวน 2,000 บาท เรื่องเป็นอันยุติ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 248 โควิด 19 น่ะของจริง แต่ผลิตภัณฑ์บางอย่างอาจจะปลอม?

        ข่าวผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ในการรักษาผู้ติดเชื้อโควิด19 จะมีการเผยแพร่ออกมาเรื่อยๆ ล่าสุดมีการนำผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพรที่ใช้ในผู้ป่วยจากประเทศจีนเข้ามาขออนุญาตจำหน่ายในไทย โดยยานี้ได้รับอนุญาตในประเทศไทยแล้ว โดยให้สรรพคุณบรรเทาอาการจากไข้หวัดใหญ่ เช่น ไข้ ปวดเมื่อยร่างกาย บรรเทาอาการไอ เจ็บคอ ปวดหัว และเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงทำให้ประชาชนต้องการยาสมุนไพรชนิดนี้มาก จึงมีผู้ฉวยโอกาสนำยาปลอมลักลอบมาจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์จำนวนมาก และยังขายในราคาแพงกว่ายาจริงอีกด้วย        จากข้อมูลที่ได้รับแจ้งจากผู้บริโภคพบว่าจำหน่ายถึงราคากล่องละ 350-380 บาท ในขณะที่ผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพรของแท้ราคากล่องละ 279 บาทเท่านั้น ซึ่งล่าสุดผู้นำเข้ายาสมุนไพรนี้ได้แจ้งความเพื่อให้ตำรวจติดตามดำเนินคดีแล้ว         สมุนไพรจากจีนยังมีมาอีกเรื่อยๆ ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา พบการโฆษณาขายผลิตภัณฑ์สเปรย์พ่นจมูกต้านเชื้อแบคทีเรีย ทางสื่อออนไลน์ โดยระบุสรรพคุณว่า สมุนไพรชนิดนี้ ใช้สเปรย์พ่นจมูกต้านเชื้อแบคทีเรีย ป้องกันและรักษาโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ จมูกตัน น้ำมูกไหล จมูกคัน แห้งตึง สูตรสมุนไพรบริสุทธิ์ สเปรย์ฆ่าเชื้อป้องกันไวรัส และต้านการอักเสบที่มีประสิทธิภาพ 10 วินาทีผ่านโพรงจมูกและหายเร็วโดยไม่เกิดซ้ำ” จนบางคนนำไปใช้กับผู้ป่วยโควิด 19         สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่าผลิตภัณฑ์นี้ยังไม่ได้รับอนุญาตจาก อย. จึงไม่สามารถประเมินความปลอดภัยและประสิทธิผลตามที่กล่าวอ้างได้ และพบว่าผู้จำหน่ายมีลูกเล่นในการหลบเลี่ยงให้ดำเนินการตามกฎหมายได้ยาก โดยเมื่อจะสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ ผู้ซื้อจะต้องกรอกข้อมูลชื่อผู้ซื้อและเบอร์โทรศัพท์ของตนลงในเว็บไซต์ หลังจากนั้นผู้ขายจึงจะติดต่อกลับเพื่อส่งสินค้าโดยการเก็บเงินปลายทาง ทำให้โฆษณานี้จะไม่สามารถเชื่อมโยงกับผู้ขายได้ และหากผู้บริโภคใช้ผลิตภัณฑ์แล้วไม่ได้ผลตามที่กล่าวอ้างหรือได้รับอันตราย การเอาผิดใดๆ กับผู้ขายก็ทำได้ยาก        นอกจากสมุนไพรจีนแล้ว ยังมีผู้นำผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพรทางเลือกในไทย ไปมอบให้ตามโรงพยาบาลสนามหรือศูนย์พักคอยผู้ป่วยโควิด 19 โดยแนะนำว่าให้ใช้รักษาโควิด มีการนำเสนอภาพการรับมอบผลิตภัณฑ์ หรือคลิปประสบการณ์ของผู้ติดเชื้อโควิด 19 ที่ใช้ผลิตภัณฑ์ชนิดนี้แล้วหายจากการป่วย ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีการโฆษณาอ้างว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบจากสมุนไพรหลายชนิด ได้แก่ ฟ้าทะลายโจร แก่นจันทน์แดง แก่นจันทน์ขาว หัวคล้า รากฟักข้าว รากมะนาว รากสะแก รากกระทุงหมาบ้า รากย่านาง บอระเพ็ด แต่เมื่อตรวจสอบจากสูตรที่ขึ้นทะเบียนตํารับแล้ว พบว่าไม่มีฟ้าทะลายโจรเป็นส่วนประกอบ และมิได้มีสรรพคุณหรือมีฤทธิ์ในการช่วยรักษาการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่อย่างใด และไม่พบหลักฐานข้อมูลการวิจัยถึงประสิทธิผลและความปลอดภัยในการใช้เพื่อข้อบ่งใช้เพื่อรักษาโรคโควิด-19  นอกจากนี้ยังพบว่าผลิตภัณฑ์สมุนไพรดังกล่าวขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์ยาแผนไทย มีข้อบ่งใช้เป็นยาแก้ไข้ ดังนั้นการนำเอาผลิตภัณฑ์สมุนไพรดังกล่าวมาใช้เพื่อรักษาโรคโควิด-19 จึงไม่สอดคล้องตามสรรพคุณที่ขึ้นทะเบียนไว้         ในยุคที่ผู้คนกำลังตื่นตัวในการดูแลสุขภาพเพื่อป้องกันและรักษาโควิด 19 แม้การใช้ผลิตภัณฑ์ทางเลือกต่างๆ จะเป็นสิ่งที่หลายคนอยากลองนำมาใช้ แต่หากเราผลีผลามนำมาใช้โดยไม่หาข้อมูลอย่างรอบคอบแล้ว เราอาจจะเสียทั้งเงิน และอาจเสี่ยงต่ออาการป่วยที่ลุกลามไปได้ ดังนั้นควรปรึกษาหรือติดตามตรวจสอบข้อมูลจากหน่วยงานของสาธารณสุขก่อนจะดีกว่า

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 247 ความเคลื่อนไหวเดือนกันยายน 2564

อนุทินแจงสาธารณสุขโดนแฮกข้อมูลคนไข้จริงสั่งเร่งแก้ปัญหา        จากกรณีเพจเฟซบุ๊กน้องปอสาม ได้เปิดเผยถึงการถูกแฮกข้อมูลผู้ป่วย 16 ล้านราย ของกระทรวงสาธารณสุขไทย วันที่ 7 กันยายน 2564  นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เผยว่า ยอมรับว่าข้อมูลผู้ป่วยถูกแฮกจริง โดยข้อมูลที่ถูกแฮกเกิดขึ้นใน จ.เพชรบูรณ์ และเคยเกิดที่ จ.สระบุรี แต่เป็นข้อมูลทั่วไป ไม่ใช่ข้อมูลที่เป็นความลับแต่ประการใด ทั้งนี้ ได้สั่งให้ปลัด สธ. เร่งดำเนินการแก้ไข ด้าน นพ. ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้แถลงการณ์กรณีการแฮกข้อมูลผู้ป่วยว่า ข้อมูลที่โดนประกาศขายมาจากฐานข้อมูลย่อยที่ทางเจ้าหน้าที่ของ รพ. ต้นทาง ไม่ได้เป็นข้อมูลเชิงลึกที่อยู่ในระบบฐานข้อมูลของโรงพยาบาล ซึ่งแฮกเกอร์ได้เพียงข้อมูลชื่อนามสกุล เบอร์โทรศัพท์ สิทธิในการรักษา อาทิ ประกันสังคม ข้าราชการ บัตรทอง ประวัติการนัดคนไข้ของแพทย์ ข้อมูลการแอดมิท ตารางเวรของแพทย์และการคำนวณรายจ่ายการผ่าตัดราว 692 ราย เพื่อซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นต้น ส่วนการดำเนินการตรวจสอบเรื่องความเสี่ยงได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการรักษามั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์แห่งชาติ สธ. และกระทรวงดีอีเอส ได้มีการแบ็กอัพข้อมูลทั้งหมด ว่ายังมีสิ่งใดซ่อนอยู่ในเซิร์ฟเวอร์หรือไม่” องค์การเภสัชกรรมเตือน “ฟาวิพิราเวียร์” ขายออนไลน์ผิดกฎหมาย        วันที่ 8 กันยายน 2564  ภญ.ศิริกุล เมธีวีรังสรรค์ รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า มีผู้แอบอ้างประกาศขายยาฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งเป็นยาต้านไวรัสโควิด-19 ขององค์การเภสัชกรรมที่ได้ทำการผลิตวิจัยและพัฒนาเองผ่านทางอินเทอร์เน็ต โดยระบุเป็นยาขององค์การเภสัชฯ จึงขอเตือนผู้บริโภคระวังอาจได้ยาปลอมและการขายผ่านอินเทอร์เน็ตเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เนื่องจากยาฟาวิพิราเวียร์จัดอยู่ในกลุ่มยาควบคุมพิเศษ โดยสั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้นและต้องติดตามผลการรักษาตลอด ซึ่งปัจจุบันยังไม่สามารถวางขายทั่วไปและออนไลน์ได้ กระท่อม "ต้ม-ปรุงอาหารขาย" ยังผิดกฎหมาย        กรณีพืชกระท่อมถูกปลดออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 และประชาชนเริ่มค้าขายใบกระท่อมได้นั้น เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2564 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า หลังจากรัฐสภาได้เห็นชอบ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 8) ซึ่งเป็นการถอดพืชกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษประเภท 5 ยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้พืชกระท่อมว่าสามารถทำในส่วนใดได้บ้าง ขอชี้แจงว่า ส่วนของการเคี้ยวใบ การปลูก การครอบครองและขายใบสด โดยไม่ได้ปรุงหรือทำเป็นอาหารสามารถทำได้อย่างเสรีไม่ผิดกฎหมาย แต่หากนำไปทำผลิตภัณฑ์สมุนไพรและแจ้งว่ามีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการต่างๆ จะต้องไปขออนุญาตตามกฎหมายของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพราะมีกฎหมาย พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ.2562 ควบคุม        หรือการนำไปทำเป็นอาหารหรือเป็นส่วนผสมในอาหารเพื่อขายนั้น  พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 ยังไม่ปลดล็อคให้สามารถนำพืชกระท่อมไปทำอาหารหรือผสมในอาหารเพื่อจำหน่ายได้ แม้กระทั่งน้ำต้มกระท่อมที่ไม่ได้ผสมกับสิ่งใดเลย ก็เป็นสิ่งที่ห้ามผลิตเพื่อจำหน่าย โดยประกาศของกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 424 ) พ.ศ.2564 ออกตามความใน พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้าหรือจำหน่าย ซึ่งกำหนดให้อาหารที่ปรุงจากพืชกระท่อมนั้น เป็นอาหารที่ห้ามผลิตนำเข้าหรือจำหน่าย การฝ่าฝืน ผลิต และขาย อาหาร ที่ พ.ร.บ.อาหาร ห้ามมีโทษตามมาตรา 50 จำคุก 6 เดือน-2 ปี ปรับ 5,000-20,000 บาท ตรวจสอบผ้าก่อนอบแห้ง        จากกรณีมีคลิปวิดีโอเผยแพร่เครื่องอบผ้ามีไฟลุกท่วมของร้านสะดวก Otteri wash & dry ซึ่งทางต้นคลิปได้ระบุว่า เจ้าของน่าจะเป็นการลืมไฟแช็กไว้ในกระเป๋าเสื้อผ้า  ทางบริษัท อ๊อตเทริ วอช แอนด์ ดราย จำกัด เจ้าของแบรนด์แฟรนด์ ได้ชี้แจ้งสาเหตุว่า ไม่มีการลืมไฟแช็คในผ้าและเกิดจากการนำผ้าที่ไม่ควรนำเข้าอบใส่ในเครื่องอบ หลังบริษัทลงพื้นที่ตรวจสอบระบบแก๊สและระบบไฟฟ้า พบว่ามีการทำงานปกติ และได้มีการตรวจสอบ ณ จุดเกิดเหตุไฟไหม้ที่เครื่องอบผ้า พบว่า ซากของผ้าที่อยู่ด้านในกลายสภาพเป็นพลาสติกแข็ง ซึ่งเป็นชุดกีฬา ชุดผ้าร่ม ซึ่งเป็นผ้าที่ไม่ควรนำเข้าเครื่องอบ เพราะเส้นใยผ้าที่ผ่านสภาพการใช้งานพักหนึ่งจะไม่สามารถทนต่อความร้อนได้ จึงจะดำเนินการเพิ่มคือ มีป้ายประกาศเรื่องของชนิดผ้าที่ห้ามนำเข้าเครื่องอบติดตั้งอยู่ภายในร้าน ศาลตัดสิน “จ่ายค่าเสียหายผู้พิการ”กรณีสร้างลิฟต์ระบบไฟฟ้าบีทีเอสล่าช้า 5 ปี        จากกรณีภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้และภาคีคนพิการ ร่วมกันฟ้องยื่นฟ้อง กทม. ปี 2550 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาวันที่ 20 มกราคม 2558 ให้ กทม. จัดทำลิฟต์และสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานตามกฎหมายในระบบรถไฟฟ้าบีทีเอส สายแรกที่อยู่ในสัมปทานให้ครบทั้ง 23 สถานี ภายในวันที่ 21 มกราคม 2559 แต่จนถึงปี 2564  ยังไม่ดำเนินการสร้างลิฟต์และสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานให้เสร็จได้ เป็นเวลา 5 ปีแล้ว วันที่ 15 กันยายน 2564 ศาลปกครองสูงสุดได้นัดฟังคำพิพากษา กรณีเรียกร้องค่าเสียหายที่ กทม. ไม่สามารถสร้างลิฟต์บนระบบรถไฟฟ้าบีทีเอสให้เสร็จภายใน 1 ปี ด้านนายสว่าง ศรีสม ผู้จัดการโครงการและแผนงานภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ กล่าวว่า ศาลปกครองสูงสุดตัดสินให้ กทม. ซึ่งเป็นผู้ให้สัมปทาน รับผิดชอบค่าเสียหายให้แก่ผู้พิการที่ร่วมฟ้องกว่า 500 คนที่ได้รับความเสียหาย โดยต้องมีภูมิลำเนาใน กทม. และพิสูจน์ได้ว่าทำงาน/อยู่อาศัยใน กทม. ต้องใช้ขนส่งสาธารณะในกรุงเทพฯ เป็นประจำ เป็นค่าชดเชยค่าเสียหายจำนวน 5,000 บาทต่อคน รวมดอกเบี้ย ร้อยละ 7 ต่อปี นับตั้งแต่ปี 2559 ที่ควรจะทำให้แล้วเสร็จ เป็นเวลา 5 ปี และให้กทม.จ่ายค่าชดเชยค่าเสียหายภายใน 6-7 วัน   เคลมประกันโควิดเกิน 15 วัน เร่งใช้สิทธิร้องทุกข์        มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเผย ผู้ร้องเรียนกรณีเคลมประกันโควิด-19 ล่าช้าเกิน 15 วัน บางส่วนได้รับค่าสินไหมแล้ว หลังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคพายื่นเรื่องที่ คปภ. เมื่อวันที่ 10 กันยายน แม้ยังมีผู้ที่ไม่ได้รับค่าสินไหมกว่าครึ่งของรายชื่อที่ส่งไป แต่คาดว่าคงได้รับการแก้ไขปัญหาทุกราย         นางสาวฟิตรีนา อาลี เจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ผู้บริโภคที่พบปัญหาเรื่องบริษัทประกันจ่ายค่าสินไหมประกันโควิด-19 ล่าช้า เกิน 15 วัน สามารถร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยเตรียมเอกสารดังนี้ 1. ใบรับรองแพทย์ 2. รายงานการตรวจ RT-PCR (ถ้ามี)  3. สำเนากรมธรรม์  4. สำเนาหน้าบัญชีธนาคาร  5. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน  ส่งมาให้ทางมูลนิธิฯ ซึ่งจะรวบรวมและทยอยส่งให้ทาง คปภ.ดำเนินการ เนื่องจากมีผู้เสียหายทยอยร้องเรียนเข้ามาเรื่อยๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 247 กระแสต่างแดน

ต้องมีสักวัน        ตั้งแต่ปี 2021 เป็นต้นไป สหภาพยุโรปจะถือเอาวันที่ 23 กันยายนเป็น “วันออกานิก” เพื่อส่งเสริมและสร้างความตระหนักรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์ รวมถึงให้ความสำคัญกับเกษตรกรที่เลือกแนวทางนี้         รัฐสภายุโรป คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป และคณะกรรมาธิการยุโรป เลือกวันดังกล่าวซึ่งเป็นวันที่กลางวันยาวเท่ากับกลางคืน (วันอิควิน็อกซ์ฤดูใบไม้ร่วงหรือวันศารทวิษุวัต) เพื่อสื่อถึง “สมดุล” ระหว่างการทำเกษตรและการรักษาสิ่งแวดล้อม          โปรเจคฟาร์มทูฟอร์ก (Farm2Fork) ของสหภาพยุโรป ตั้งเป้าว่าภายในปี 2030 ร้อยละ 25 ของพื้นที่เกษตรในกลุ่มประเทศสมาชิกจะทำการเกษตรแบบออกานิก         ปัจจุบันออสเตรียล้ำหน้าไปแล้ว ด้วยพื้นที่เกษตรออกานิกร้อยละ 26 ส่วนที่ใกล้เป้าหมายได้แก่ สวีเดนและเอสโตเนีย (ร้อยละ 20) ตามด้วยอิตาลี ลัตเวีย และสาธารณรัฐเชค (ร้อยละ 15)         ในขณะที่ประเทศอื่นๆ อย่าง บัลกาเรีย โรมาเนีย โปแลนด์ มอลต้า เนเธอร์แลนด์ และไอร์แลนด์ ยังต้องเร่งมืออีกมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งไอร์แลนด์ที่มีพื้นที่เกษตรอินทรีย์เพียงร้อยละ 2  เมื่อวัคซีนมา ฉันจะไป         ปีที่แล้วร้อยละ 90 ของบริษัทประกันในอเมริกา ยกเว้นการร่วมจ่ายสำหรับผู้เอาประกันที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเนื่องจากป่วยด้วยโรคโควิด-19         ถือเป็นการลดภาระให้กับผู้บริโภคที่อาจต้องจ่ายเองถึง 1,300 เหรียญ (ประมาณ 44,000 บาท) หากอาการไม่รุนแรง หรืออาจมากถึง 50,000 เหรียญ (ประมาณ 1.7 ล้านเหรียญ) กรณีที่ป่วยหนักจนต้องใช้เครื่องช่วยหายใจและพักฟื้นในโรงพยาบาลเป็นเวลานาน         แต่หลังจากสิ้นเดือนตุลาคมปีนี้ บริษัทเหล่านี้จะกลับมาใช้นโยบายร่วมจ่ายเหมือนเดิม เนื่องจากอเมริกามีการจัดฉีดวัคซีนให้ประชากรอย่างทั่วถึง ทำให้ทุกคนมีโอกาสที่จะป้องกันตัวเองจากการป่วยหนัก         เรื่องนี้อาจเป็นสิ่งจูงใจให้คนที่ยังลังเล “ไม่อยากเสี่ยง” หรือไม่ต้องการรับวัคซีนโควิด-19 ยอมไปรับวัคซีนกันมากขึ้น เพื่อป้องกันการป่วยหนักหากได้รับเชื้อ รวมถึงภาระค่าใช้จ่ายสูงลิ่วที่ตามมาด้วย ไม่มีสิทธิเก็บ         ลูกหนี้เงินกู้ซื้อบ้านและสินเชื่อส่วนบุคคลจำนวน 150,000 คนในนิวซีแลนด์รวมตัวกันยื่นฟ้องคดีแบบกลุ่ม ขอให้ธนาคาร ASB และ ANZ คืนค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ยที่เรียกเก็บไป         ตามกฎหมายนิวซีแลนด์ ธนาคารไม่สามารถเรียกเก็บดอกเบี้ยหรือค่าธรรมเนียมได้ หากไม่ได้ชี้แจงข้อตกลงและเงื่อนไขให้ผู้บริโภคทราบ         ก่อนหน้านี้ทั้งสองธนาคารได้ทำข้อตกลงยอมรับผิดกับคณะกรรมการการค้า ในข้อหาไม่ให้ข้อมูลกับผู้บริโภค โดย ANZ ตกลงจ่ายค่าปรับ 35 ล้านเหรียญ (ประมาณ 847 ล้านบาท) สำหรับความผิดระหว่าง 30 พฤษภาคม 2015 ถึง 25 พฤษภาคม  2016 ในขณะที่ ASB ตกลงจ่าย 8.1 ล้านเหรียญ (ประมาณ 189 ล้านบาท) สำหรับความผิดระหว่าง 6 มิถุนายน 2015 ถึง 18 มิถุนายน 2019         อย่างไรก็ตาม ทนายความที่ทำคดีนี้กล่าวว่าผู้บริโภคยังมีสิทธิตามกฎหมายสัญญาเงินกู้และสินเชื่อผู้บริโภค ที่จะเรียกร้องขอเงินที่ธนาคารเก็บเป็นค่าธรรมเนียมหรือดอกเบี้ยในช่วงดังกล่าว รวมมูลค่ากว่า 100 ล้านเหรียญคืนด้วย  นิสัยใหม่         ข้อมูลการใช้เงินของผู้คนในเมืองซิดนีย์และเมลเบิร์นของออสเตรเลีย ระบุว่าสิ่งที่คนเหล่านี้ “เปย์” หนักขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญในช่วงล็อกดาวน์ปีนี้คือการพนันออนไลน์         การตรวจสอบข้อมูลการโอนเงินรายสัปดาห์โดยบริษัท Accenture และ illion  พบว่าปีนี้การเล่นพนันออนไลน์เพิ่มขึ้นจากระดับปกติร้อยละ 329 มากกว่าปีที่แล้วที่ร้อยละ 215 ทั้งนี้เพราะการพนันยุคนี้กลายเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้มือ รวมกับการที่ผู้คนอยู่บ้านนานจนเบื่อ แถมยังมีเงินเหลือใช้เพราะไม่ได้ไปเที่ยว         อย่างไรก็ตาม รายงานดังกล่าวมองว่าการใช้จ่ายดังกล่าวยังอยู่ในระดับของความบันเทิงที่หาได้ง่ายในช่วงล็อกดาวน์ แต่จะถึงขั้นเสพติดจนน่าวิตกหรือไม่ ต้องติดตามกันต่อไป          การสั่งอาหารผ่านบริการเดลิเวรี่ปีนี้เพิ่มขึ้นจากปกติถึงร้อยละ 203 เช่นกัน (จากสถิติร้อยละ 132 ในช่วงล็อกดาวน์ปีที่แล้ว) สินค้าอีกสองประเภทที่ผู้คนสองเมืองนี้นิยมซื้อมากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญคืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และผลิตภัณฑ์สำหรับสัตว์เลี้ยง      สะอาดพอไหม        ในวิดีโอแนะนำ “ปารีสโอลิมปิก 2024” ฝรั่งเศสได้เปิดเผยต่อชาวโลกว่าจะจัดแข่งขันไตรกรีฑาในส่วนของการว่ายน้ำ ในแม่น้ำแซนบริเวณใต้สะพานเจน่า (Pont d’ lena) โดยมีฉากหลังเป็นหอไอเฟิล ทำให้หลายคนเกิดความสงสัยว่า แม่น้ำแซนสะอาดพอที่จะลงว่ายได้แล้วหรือ         ประชากรกว่าร้อยละ 30 ของประเทศตั้งถิ่นฐานอยู่ใกล้แม่น้ำแซน ซึ่งเป็นหนึ่งในแม่น้ำสายหลัก 4 สายของฝรั่งเศส จึงเป็นความท้าทายของทุกรัฐบาลที่จะทำให้แม่น้ำนี้ใสสะอาดปราศจากมลพิษ         ปริมาณแบคทีเรียในแม่น้ำอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ไม่เป็นปัญหา ที่ต้องแก้ไขคือการปนเปื้อนของสารเคมีการเกษตร โดยเฉพาะไนเตรต ขณะเดียวกันยังมีเศษพลาสติกปะปนโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่บริเวณปากแม่น้ำ เนื่องจาก 2 ใน 5 ของโรงงานผลิตพลาสติกรายใหญ่ของประเทศตั้งอยู่บนแม่น้ำสายนี้         แต่อาเธอร์ เจอร์เมน (ลูกชายของแอนน์ ฮิลกาโก นายกเทศมนตรีเมืองปารีส) ที่ลงว่ายในแม่น้ำแซนเป็นระยะทางรวม 800 เมตร โดยใช้เวลารวม 50 วัน พร้อมอุปกรณ์ทดสอบคุณภาพน้ำแบบเรียลไทม์ บอกว่าตัวเขาไม่มีอาการผิดปกติใดๆ ไม่เป็นสิวและไม่ปวดท้อง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 247 ขอรับชุดตรวจโควิด-19 ฟรีผ่านแอปพลิเคชั่นเป๋าตัง

        แน่นอนว่าทุกคนต้องเคยได้ยินเรื่องชุดตรวจ ATK ที่ให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงตรวจโควิด-19 ได้ด้วยตนเอง ซึ่ง ATK มีชื่อเต็มว่า Antigen Test Kit คือชุดตรวจการติดเชื้อโควิด-19 ที่สามารถทดสอบได้ในเบื้องต้น เหมาะกับผู้ที่สงสัยหรือไม่แสดงอาการติดเชื้อ โดยสามารถหาซื้อได้ที่ร้านขายยาทั่วไปแล้ว ล่าสุดสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. ได้มีโครงการแจกชุดตรวจ ATK ฟรี กระจาย 8.5 ล้านชิ้น ให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงทุกสิทธิการรักษา ซึ่งหมายถึงผู้ที่มีสิทธิบัตรทอง ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการก็สามารถขอรับชุดตรวจ ATK นี้ได้ผ่านแอปพลิเคชั่นเป๋าตัง ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2564 นี้         หลายคนน่าจะมีแอปพลิเคชั่นเป๋าตังอยู่แล้ว แต่ถ้าใครยังไม่มีก็สามารถดาวน์โหลดมาใช้เพื่อกดขอรับชุดตรวจ ATK นี้ได้ แต่มีเงื่อนไขกำหนดไว้ว่า คุณต้องประเมินแล้วมีความเสี่ยงและอยู่ในพื้นที่สีแดง         เมื่อเข้าแอปพลิเคชั่นเป๋าตัง ให้กดเมนูที่เขียนว่า ฟรีชุดตรวจโควิด จะปรากฎข้อตกลงและเงื่อนไขให้กดในช่องยอมรับเงื่อนไขการใช้บริการและกดตกลง หลังจากนั้นหน้าแอปพลิเคชั่นจะมีข้อความเงื่อนไขในการรับชุดตรวจให้อ่านและมีเมนูให้เลือกอยู่หลายเมนู ได้แก่ เมนูทำแบบประเมินก่อนรับชุดตรวจโควิด-19 เมนูสำหรับกด QR Code แสกนเพื่อรับชุดตรวจที่หน่วยบริการ ใช้ในกรณีที่ประเมินความเสี่ยงแล้วได้รับชุดตรวจ เมนูหน่วยรับบริการเพื่อค้นหาจุดรับชุดตรวจที่ใกล้บ้าน เมนูวิธีใช้ชุดตรวจโควิด-19 เป็นการอธิบายวิธีการใช้และมีวิดีโอสาธิตการใช้งาน เมนูวิธีการอ่านผลตรวจเพื่ออธิบายวิธีการอ่านและมีวิดีโอสาธิต เมนูบันทึกผลตรวจกรณีที่มีการตรวจด้วยชุดตรวจโควิด-19 ที่ได้รับมาแล้ว และเมนูประวัติบันทึกผลตรวจเพื่อแสดงผลตรวจทั้งหมด         ถ้าผู้อ่านประเมินตนเองแล้วมีความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 อย่างแรกให้กดไปที่เมนูทำแบบประเมินก่อนรับชุดตรวจโควิด-19 ซึ่งจะมีต้องระบุจังหวัดที่อาศัยอยู่ในปัจจุบันและตอบคำถาม 3 ข้อ เมื่อระบบประเมินแล้วว่ามีความเสี่ยงและให้เข้ารับชุดตรวจโควิด-19 ได้ ให้คลิกที่เมนู หน่วยบริการใกล้ฉัน เพื่อเลือกหน่วยบริการที่จะไปรับชุดตรวจ แต่ควรโทรสอบถามและประสานเพื่อไปขอรับหรือให้ผู้อื่นไปรับแทน เนื่องจากชุดตรวจโควิด-19 นั้นมีจำนวนจำกัดในแต่ละหน่วยบริการ         หน่วยบริการจะจ่ายชุดตรวจ ATK ให้จำนวน 2 ชุด สำหรับการตรวจ 2 ครั้ง กรณีผลเป็นลบ ตรวจซ้ำอีกครั้งห่างกันครั้งละ 5 วัน โดยต้องยืนยันตัวตนด้วยการสแกน QR Code ที่หน่วยบริการนั้นผ่านแอปพลิเคชั่นเป๋าตัง ด้วย เมื่อตรวจโควิด-19 ด้วยตนเองที่บ้านแล้ว ให้บันทึกผลตรวจผ่านแอปพลิเคชั่นเป๋าตัง         ในกรณีที่ผลการตรวจเป็นบวก ให้กดไปที่เมนูลงทะเบียนเข้ารับการดูแลที่บ้านหรือที่ชุมชนต่อไป และถ้าจังหวัดนั้นยังไม่มีระบบการดูแลที่บ้านหรือที่ชุมชน จะเข้าสู่ระบบการรักษากับหน่วยบริการต่อไป         การขอรับชุดตรวจโควิด-19 ที่คลินิกและร้านยาที่เข้าร่วมโครงการ ให้เฉพาะผู้ที่มีมือถือสมาร์ทโฟนเท่านั้น แต่ถ้าไม่มีมือถือสมาร์ทโฟน สามารถไปขอรับได้ที่โรงพยาบาล, โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และศูนย์บริการสาธารณสุข ทางเจ้าหน้าที่จะทำการคัดกรองและยืนยันตัวตนให้ หากมีข้อสงสัยโทรสอบถามได้ที่สายด่วน สปสช. 1330

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 247 ประสบการณ์ในการเคลมค่าสินไหมจากผู้บริโภค “ประกันภัยโควิด-19”

จากกรณีที่เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2564 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคพาผู้ร้องเรียน กรณีบริษัทประกันจ่ายค่าสินไหมประกันโควิด-19 ล่าช้าเกิน 15 วัน ไปยื่นเรื่องเร่งรัดบริษัทประกันให้จ่ายค่าสินไหม ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) นั้น มีผู้ร้องเรียนกรณีเคลมประกันโควิด-19 ล่าช้าเกิน 15 วัน บางส่วนได้รับค่าสินไหมแล้ว แต่ยังมีผู้เดือดร้อนกว่าครึ่งของรายชื่อที่ส่งไปที่ไม่ได้รับค่าสินไหม ฉลาดซื้อ จึงพาผู้อ่านมาพบกับผู้บริโภค 2 ท่าน ที่จะมาเล่าถึงประสบการณ์ในการเคลมค่าสินไหม “ประกันภัยโควิด-19”         ท่านแรก คุณนุชนาฎ หอมชื่น ผู้ร้องเรียนบริษัทประกันจ่ายค่าสินไหมประกันโควิด-19 ล่าช้า กล่าวว่า เธอทำประกันกลุ่มกับบริษัทที่ทำงานซึ่งทำประกันโควิดให้ เพื่อเป็นสวัสดิการด้านการเจ็บป่วย โดยเลือกทำประกันกับเอเชียประกันภัย เพราะมีข้อเสนอและเงื่อนไขที่น่าสนใจ เมื่อเทียบข้อเสนอและเบี้ยประกันที่จ่ายกับบริษัทอื่นแล้ว มีความคุ้มค่ากับสิ่งที่พนักงานควรได้รับ         คุณนุชนาฎ เป็นคนแรกที่ติดเชื้อโควิดในบริษัท ดังนั้นตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม 2564 หลังจากที่หายป่วยเธอจึงรีบยื่นเอกสาร จนผ่านมาเป็นเดือนก็ไม่ได้รับการติดต่อกลับมา         “คือจริงๆ ตอนแรกคิดว่าอย่างไรเขาก็ต้องจ่ายเพราะว่าทางบริษัทมีเอกสารที่ถูกต้องในการยื่นขอกรมธรรม์ มีเอกสาร มีบัตรประชาชนมีเลขกรมธรรม์ แล้วเราก็ยื่นเอกสารปกติไม่คิดว่าจะล่าช้า พอยื่นเอกสารหลังจากที่หายป่วย ยื่นเอกสารตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม จนแบบมาเป็นเดือนแล้วคะพี่ ก็คือทั้งโทรไปแล้วก็ไลน์ไปตามก็คือโทรแต่ไม่มีผู้รับสายเลย ส่วนไลน์เช็คก็จะขึ้นว่าคุณไม่พบข้อมูล ประมาณนี้คะพี่ แล้วในช่วงระหว่างหนึ่งเดือนพนักงานก็เริ่มมีการติดเชื้อโควิดมากขึ้น คือหนูเป็นคนแรกที่ติดเชื้อเลย แล้วก็พอระยะเวลาที่เรายื่นประกันไปก็มีเพื่อนร่วมงานติด เพื่อนก็ยื่นเราก็เลยคิดว่าเราต้องติดตามแล้วนะ ก็มาตั้งคำถามว่าเอกสารเรามันไปถึงไหนแล้วอย่างนี้คะ” เมื่อติดต่อบริษัทไม่ได้แล้ว ไปร้องเรียนที่ไหนบ้าง         ทีนี้พอติดต่อไม่ได้เราก็เลยปรึกษาฝ่ายบุคคลของบริษัท ปรึกษาว่าทำไมถึงติดต่อประกันไม่ได้เลย ทั้งๆ ที่ยื่นเอกสารไปก่อนหน้านี้แล้ว HR จึงปรึกษาฝ่ายบริหารว่าตอนนี้เจ้าหน้าที่ที่ติดโควิดยื่นเอกสารไปแล้วแต่ประกันไม่ติดต่อกลับมาเลย         โชคดีค่ะ ที่บริษัทมีผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลที่คอยให้คำปรึกษาและก็ช่วยเหลือก็เลยได้ไปปรึกษาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคให้ช่วยเป็นธุระจากนั้นมูลนิธิฯ จึงพาไปที่ คปภ.ค่ะ        หลังจากมูลนิธินัดหมายให้ไปยื่นเรื่องร้องเรียนที่ คปภ. พร้อมแนบเอกสารหลักฐานตามที่ประกันร้องขอ เพื่อดำเนินการเร่งรัดบริษัทประกันให้จ่ายค่าสินไหม หลังจากนั้น 3 วัน คุณนุชนาฎก็ได้รับค่าสินไหม พร้อมกับพนักงานคนอื่นที่ยื่นเอกสารไปภายหลังทั้งหมด ได้รับการชดเชยอย่างไร         ตัวของนุชนาฎเองได้เบี้ยไม่ครบนะพี่ ได้เงินไม่ครบเพราะว่าหนูนอนที่โรงพยาบาลทั้งหมด 6 วัน แล้วก็ได้ย้ายไปอยู่ที่โรงพยาบาลสนามอีก 4 วัน ก็คือหนูจะได้แค่เบี้ย เจอจ่ายจบ แล้วก็นอนโรงพยาบาลแค่ 6 วันเป็น 56,000 หักไป 4 วันแล้วก็คือหลังจากวันที่เงินเข้าก็มีเจ้าหน้าที่จาก คปภ.โทรมาสอบถามว่าใช่คุณนุชนาฎไหมเขาก็ถามได้เงินเบี้ยประกันหรือยัง หนูก็ตอบไปว่าคือได้แล้วแต่ได้เงินไม่ครบและพี่เขาก็ถามว่าหนูไปนอนที่ไหนต่อหนูเลยบอกว่าอีก 4 วันหนูนอนเป็นโรงพยาบาลสนาม ซึ่งในใบรับรองแพทย์มีระบุอยู่แล้วเราก็ได้ไม่ครบแต่เขาก็ ครับๆ ไม่ได้พูดอะไร ฝากอะไรถึงผู้บริโภคที่มีปัญหาการเคลมประกันล่าช้าบ้างคะ         จะฝากว่าก่อนคุณจะทำประกันอะไรก็ควรศึกษาให้ดีก่อนว่าบริษัทที่คุณทำว่ามีความมั่นคงหรือว่าอยู่ในหน่วยงานที่สามารถติดตามได้หรือไม่ เบี้ยประกันดูน่าสนใจไหม ทำแล้วมันคุ้มกับเบี้ยที่คุณทำไปไหม ตัดสินใจเลือกให้ดีก่อนคะศึกษาก่อนที่จะทำ ให้ศึกษาหาข้อมูลก่อนที่จะเลือกทำประกันนะคะ         ท่านที่ 2 คุณสาร์รัฐ รุ่งนาค ผู้ร้องเรียนบริษัทประกันจ่ายค่าสินไหมประกันโควิด-19 ล่าช้า เล่าว่า  บริษัทเลือกทำประกันกลุ่มเพื่อเป็นสวัสดิการให้กับพนักงานทั้งหมดภายในโรงพยาบาลกับเอเชียประกันภัย โดยมองจากความเหมาะสมของเบี้ยประกัน ความคุ้มค่าในการทำประกัน ผลประโยชน์ที่ได้รับหากติดเชื้อโควิด และความมั่นคงของบริษัท ดูจากประกันการรักษาแบบอื่นของเอเชียประกันภัยนั้น เคลมไม่นานก็จ่ายคืนโรงพยาบาล มั่นคงอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ และเมื่อเทียบตัวเลือกกับบริษัทอื่นแล้วคุ้มค่ามากที่สุด รู้สึกอย่างไรตอนเกิดเหตุการณ์         คือตอนแรกเลยเราไม่ได้คิดอะไรเลยเพราะเราทำงานโรงพยาบาลเราก็รู้ว่าคนไข้คือมัน Over อยู่แล้วคือมันด้วยความที่ว่ามันป่วยกันเยอะแล้วก็การรักษาด้วยเรื่องอะไรด้วย เราก็คิดว่าอาจจะมีการเขาเรียกว่ามีภาระเหมือนกับว่าคนเคลมเยอะหรือเปล่า หรือว่ามีการ Work from Home หรือเปล่า มีการลดจำนวนพนักงาน แต่เมื่อพอไประยะหนึ่งมันเหมือนกับข่าวมันเริ่มออกแล้วพนักงานก็รู้สึกว่ามันนานไปแล้วเดือนกว่าสองเดือนคือมันยังไม่ได้อีก ผมส่งเอกสารไปครบถ้วนเขาก็ประสานมาเราก็ตรวจสอบให้พอตรวจสอบให้เราก็โทรไปให้ปรากฏว่าก็ไม่มีคนรับสายบ้าง และให้ไปติดต่อทางระบบเหมือน AI ครับ สถานะก็ขึ้นอยู่อย่างเดียวก็คือ  รอตรวจสอบ รอตรวจสอบซึ่งเราได้คำตอบอย่างนี้มาเป็นหลายเดือนเรารู้สึกว่ามันไม่ค่อยโอเคเท่าไหร่ พอเราพบว่ามีปัญหาติดต่อไม่ได้แล้วเราได้ทำอะไรบ้าง         ตอนแรกเราก็พยายามดูและก็หาวิธี คือหาตัวแทน หาทุกอย่าง โทรทุกอย่างและสุดท้ายก็ไปเจอมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคนั่นแหละครับ มูลนิธิฯ ให้คำแนะนำอย่างไร         คือเราก็เอาเอกสารไปให้ดูแล้วก็ให้รายละเอียดว่าเราส่งเอกสารไปเมื่อไหร่แล้วก็เอกสารมีอะไรบ้างเหตุเกิดอย่างไร ซึ่งทางมูลนิธิเขามองว่ามันล่าช้า เขาจึงประสานให้เรา แล้วนัดเราไปที่ คปภ. ในวันที่ 10 กันยายน ในการแก้ไขปัญหา คปภ.ดำเนินการอย่างไรบ้าง         ถ้าอธิบายเป็นวิธีก็คือเบื้องต้นเขาก็จะมีศูนย์รับไว้ใช่ไหมครับ เขาก็จะมีศูนย์เหมือนรับเรื่องร้องเรียนอยู่ด้านหน้าและเข้าไปเขาก็จะตรวจเอกสารให้เราว่าเรามีเอกสารครบไหม จริงๆ เอกสารก็ไม่เยอะนะครับก็จะมีพวกกรมธรรม์ สำเนาบัตรประชาชนแล้วก็เอกสารยืนยันว่าเรามีการยื่นเคลมไปแล้ว หลังจากนั้นพอเราเข้าไปในระบบเขาก็จะดูในระบบให้ เขาจะมีเลขรับว่าเป็นเรื่องร้องเรียนเลขที่เท่าไหร่และก็จะมีใบกลับมาให้เราซึ่งใช้ระยะเวลาไม่นานครับไม่นาน ไม่เกิน 30 นาทีครับ ได้รับเงินชดเชยมาหลังจากที่ยื่นเรื่อง         ก็หลังยื่นเรื่องวันที่ 10 ใช่ไหมครับ ก็มีเจ้าหน้าที่ติดต่อมาอีกสักประมาณห้าหกวันโทรเข้ามา แล้วก็วันที่ 17 กันยายน ก็มีการจ่ายเข้ามาครับ ฝากอะไรถึงผู้บริโภคที่มีปัญหาเรื่องการเคลมประกันล่าช้า         อยากจะฝากเรื่องของการรักษาสิทธิของตัวเองว่า ยังมีหน่วยงานหลายๆ หน่วยงานที่เขายังคอยให้ความช่วยเหลือไม่ว่าจะเป็นมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็น คปภ.อาจจะมีหน่วยงานอื่นๆ อีกที่เขายังคอยช่วยเหลืออยู่สามารถปรึกษาได้นะครับ แนะนำคนที่กำลังจะทำประกันโควิด         อยากให้ดูความมั่นคงผมยังยืนยันว่าให้ดูความมั่นคงของบริษัทประกันว่าถ้าเกิดมันเกิดมีเรื่องขึ้นมาแล้วถึงเวลาเขาจะมีเงินชำระให้เราหรือเปล่า เรื่องขั้นตอนระเบียบขั้นตอนต่างๆ ไม่สร้างความยุ่งยากหรือเป็นภาระให้กับเราเพราะบางที่อาจจะแบบเจอจ่ายจบ จริงๆ ผมยังมองว่าเจอจ่ายจบ แค่ผล LAB ก็พอ ซึ่งตอนแรกพวกบริษัทประกันต้องใช้ประวัติการรักษาด้วยผมคิดว่ามันไม่จำเป็นเพราะว่ามันเจอจ่าย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 247 ไม่ได้ทำประกันแล้วทำไมมาทวงค่าเบี้ย

        สถานการณ์โควิดทำเอาเดือดร้อนกันไปถ้วนหน้า หลายธุรกิจก็เร่งทำตลาดปิดยอดขาย หลายมิจฉาชีพก็พร้อมจะลวงให้เชื่อ ดังนั้นเวลานี้หลายคนอาจได้รับโทรศัพท์หรือข้อความแปลกๆ ทั้งเข้ามาขายของ หลอกให้กู้เงิน หรือแม้แต่หลอกให้กดลิงก์เพื่อขโมยข้อมูลส่วนตัว ซึ่งไม่ได้มาแค่ครั้งสองครั้งแต่ดูเหมือนจะมากันทุกวันสำหรับผู้ใช้บริการมือถือ (แล้วใครละที่ไม่มีมือถือ) เรามาลองดูกรณีของคุณปันปัน ผู้ซึ่งงงไม่หายว่าไปทำประกันตอนไหน ถึงถูกทวงให้ต่อค่าเบี้ยประกัน         วันหนึ่งคุณปันปันที่กำลัง Work from home อย่างเคร่งเครียด ได้รับสายหนึ่งแจ้งว่า เป็นตัวแทนของบริษัทประกันภัยยี่ห้อหนึ่ง แจ้งว่ามีข้อเสนอให้เลือกแผนประกันตัวใหม่นี้ ซึ่งคุ้มครองมากกว่าตัวประกันเดิมซึ่งคุณปันปันได้ทำไว้ เพียงแค่จ่ายเบี้ยไม่ถึง ...บาทต่อปีและสามารถผ่อนชำระเป็นรายเดือนได้เพียง ...ต่อเดือนเท่านั้น   แต่เดี๋ยวก่อนคุณปันปันงงงวยมากว่า ฉันไปทำประกันตอนไหนกัน         คุณปันปันต้องทำความเข้าใจกับเรื่องราวโดยพยายามถามไปถามมาจนได้ความว่า เมื่อประมาณสามเดือนก่อนเธอไปสมัครบัตรเครดิตกับธนาคารแห่งหนึ่ง แล้วบัตรเครดิตนั้นให้ “ของแถม” เป็นประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองทันทีโดยที่คุณปันปันไม่ต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันในระยะเวลาสามเดือน แต่ถ้าต้องการให้สัญญาประกันภัยคุ้มครองต่อไปต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันซึ่งจะหักทันทีทุกเดือนจากบัตรเครดิต แต่ถ้าคุณปันปันเปลี่ยนมาเป็นอีกแผนหนึ่งซึ่งให้ความคุ้มครองมากกว่า ก็จ่ายเพิ่มอีกไม่มาก        โห...อะไรกันนี่ คุณปันปันเครียดกว่าเดิมและบอกปฏิเสธไปรัวๆ ว่าไม่สนใจแผนการทำประกันใหม่อะไรทั้งนั้น ของเก่าที่ได้มาฟรีๆ ก็ไม่เห็นจะเคยรู้เลยว่ามี นี่ถ้าหกล้มตอนสองสามเดือนที่ผ่านมาก็เสียสิทธิไปแบบไม่รู้ตัวด้วย  ถึงจะปฏิเสธไปตลอดเวลาก็ต้องทนฟังพนักงานหว่านล้อมอีกสักพัก เธอคนนั้นจึงยอมวางสาย คุณปันปันบอกตัวเองว่า เราคงไม่ได้พูดว่าตกลงไปนะ เพราะการสนทนาแบบนี้จะมีการบันทึกเสียงเพื่อใช้ยืนยันว่าผู้บริโภคตอบตกลง อย่างไรก็ตามเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าตนเองไม่ได้พลาดอะไรอีกคุณปันปันจึงโทรมาปรึกษามูลนิธิเพื่อผู้บริโภค  แนวทางแก้ไขปัญหา         ศูนย์พิทักษ์สิทธิแนะนำให้คุณปันปันนำสัญญาและใบโฆษณาเรื่องโปรโมชั่นฟรีค่าประกันภัยสามเดือนมาอ่านข้อความโดยละเอียด เพื่อดูว่าอาจจะมีความเสียหายอะไรเกิดขึ้นได้บ้าง พบว่าสัญญาประกันภัยตลอดจนการคุ้มครองจะสิ้นสุดลงหากผู้เอาประกันหรือคุณปันปันไม่ต่ออายุสัญญา คุณปันปันวางใจได้ว่าจะไม่มีการเรียกเก็บเงินค่าเบี้ยประกัน อย่างไรก็ตามผู้บริโภคที่ได้รับการให้สิทธิพิเศษเกี่ยวกับประกันภัย คุณต้องมีกรมธรรม์มาถือไว้ในมือ เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองสิทธิของตน มิใช่ไม่รู้ตัวเลยว่าตนเองได้รับสิทธิการคุ้มครองจากการทำประกันภัย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 247 เครื่องบินบินไม่ได้ ขออะไรคืนได้บ้าง

        ช่วงสถานการณ์โควิด 19 ระบาดหนัก มีคำสั่งล็อกดาวน์ หรือคำขอความร่วมมือไม่ให้เดินทางข้ามจังหวัด หรือประกาศให้พื้นที่ในจังหวัดเป็นพื้นที่สีแดงเข้ม การเดินทางต่างๆ ยากลำบาก ถ้าได้จองรถโดยสาร เครื่องบิน เราจะสามารถยกเลิกหรือขอเงินคืนได้ไหม เราไปตามไปดูผู้บริโภครายนี้กันว่าเขาจะได้อะไรคืนบ้างในการขอยกเลิกการเดินทาง         คุณภูผาต้องการไปทำงานที่จังหวัดสตูลกับเพื่อนร่วมงานอีก 2 คน เขาวางแผนเลือกเดินทางโดยเครื่องบินจากกรุงเทพฯ ไปหาดใหญ่และต่อรถไปจังหวัดสตูล จึงได้จองตั๋วเครื่องบินของสายการบินหนึ่ง เที่ยวบินกรุงเทพฯ ถึงหาดใหญ่ วันที่ 1 พฤษภาคม 2564 และจองขากลับเที่ยวบินหาดใหญ่ ถึงกรุงเทพฯ วันที่ 3 พฤษภาคม 2564 รวมเป็นเงิน 10,030 บาท แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิด 19 ระบาด รัฐบาลได้ประกาศขอความร่วมมืองดเว้นการท่องเที่ยวและการเดินทาง และจังหวัดสตูลประกาศ ให้ผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงสีแดงต้องกักตัวเป็นเวลา 14 วัน เพื่อให้ความร่วมมือในการปฎิบัติตามกฎหมายและมาตรการของรัฐ ช่วยลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 เขาและเพื่อนร่วมงานจึงไม่สามารถเดินทางตามวันเวลาที่จองตั๋วของสายการบินไว้ได้ จึงต้องการยกเลิกการจองและขอเงินจำนวน 10,030 บาท คืน จึงมาปรึกษามูลนิธิว่าเขาควรดำเนินการอย่างไรต่อไป แนวทางการแก้ไขปัญหา         ศูนย์พิทักษ์สิทธิแนะนำผู้ร้องว่า ให้ผู้ร้องทำหนังสือถึงบริษัทสายการบิน เพื่อยกเลิกสัญญาและขอเงินคืน โดยส่งแบบไปรษณีย์ตอบรับ     หลังจากนั้นศูนย์พิทักษ์ได้ติดต่อสอบถามไปยังสายการบิน เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับผู้ร้อง สายการบินแจ้งว่าผู้ร้องไม่ได้แจ้งความประสงค์ว่าจะขอเงินคืน สายการบินจะคืนผู้ร้องเป็นเครดิตในเที่ยวบินกรุงเทพฯ-หาดใหญ่ โดยยืดระยะเวลาออกไปถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 โดยสายการบินได้แจ้งเงื่อนไขนี้ให้ผู้ร้องทราบแล้ว ผู้ร้องตกลงยอมรับในเงื่อนไขที่สายการบินเสนอ ส่วนเที่ยวบินหาดใหญ่-กรุงเทพฯ ผู้ร้องได้รับเงินคืนเรียบร้อยแล้ว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 247 มหกรรมยารักษาโควิด?

        ท่ามกลางสงครามการระบาดของโควิด 19 ที่คงจะยืดเยื้อไปอีกระยะหนึ่ง มหกรรมยารักษาโควิดก็กระหน่ำสะพัดกระจายไปทั่วในสังคม จนหลายฝ่ายต้องออกมาช่วยกันเตือนและขอความร่วมมืออย่าแชร์ข้อมูลดังกล่าว เตรียมตุนยาฟาวิพิราเวียร์ไว้กินป้องกันตัว?        ด้วยเหตุที่ประชาชนได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ยายาฟาวิพิราเวียร์รักษาโควิด 19 มาบ้าง ทำให้มีผู้ไม่หวังดีฉวยโอกาสนี้ หลอกขายยาให้แก่ประชาชนตามอินเทอร์เน็ต โดยอ้างว่าเพื่อนำมาใช้ในการป้องกันการติดเชื้อโควิด และเป็นยาดีที่ลักลอบนำเข้ามาจากประเทศจีน         อันที่จริงแล้วการกินยาฟาวิพิราเวียร์ล่วงหน้าไม่เกิดประโยชน์ เพราะไม่สามารถป้องกันโรคได้ ยาฟาวิพิราเวียร์ เป็นยาควบคุมพิเศษ ที่แพทย์ต้องพิจารณาจ่ายตามอาการที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยโควิด 19 แต่ละราย และต้องสั่งจ่ายภายใต้การดูแลของแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข เพราะมีความจำเป็นที่จะต้องติดตามอาการข้างเคียง และผลการรักษาระหว่างการใช้ยาอย่างต่อเนื่อง  และต้องคำนึงถึงความเสี่ยงจากผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้นด้วย โดยเฉพาะในหญิงตั้งครรภ์ นอกจากนี้ยาฟาวิพิราเวียร์ ยังจำเป็นต้องใช้ยาอย่างต่อเนื่องตามคำแนะนำ การนำยาไปใช้อย่างไม่ถูกต้อง อาจทำให้เกิดเชื้อดื้อยาได้ง่าย จนอาจเป็นเหตุให้ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้ในที่สุด           การลักลอบนำยาของผู้ป่วยมาขาย หรือเจตนานำยาอื่นมาปลอม เพื่อให้เชื่อว่าเป็นยาฟาวิพิราเวียร์และหลอกขายตามอินเทอร์เน็ต ยังเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย หากประชาชนสงสัยว่ายาฟาวิพิราเวียร์ที่ได้รับเป็นยาปลอม สามารถสอบถามและแจ้งเบาะแสที่สายด่วน 1556 อีเมล์ 1556@fda.moph.go.th ยา 6 ชนิด ที่ต้องเตรียมไว้ใช้รักษาโควิด-19 ด้วยตนเองที่บ้าน?         มีการส่งต่อข่าวเรื่อง ยา 6 ชนิด ที่ต้องเตรียมไว้ใช้รักษาโควิด-19 ด้วยตนเองที่บ้าน คือ ยาพาราเซตามอล แอมบรอกซอล เดกซ์โทรเมทอร์แฟน คลอเฟนิรามีน วิตามินซี และฟ้าทะลายโจร  ซึ่งต่อมาทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง ร่วมกับกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และชี้แจงว่าข้อมูลนี้เป็นข้อมูลเท็จ  ผู้ป่วยโควิด-19 ที่ต้องการเข้าร่วมโครงการ home isolation (การแยกกักตัวที่บ้าน)  จะต้องได้รับการประเมินอาการรายบุคคล และได้รับการอนุญาตจากแพทย์เสียก่อน หลังจากนั้นผู้ป่วยจะได้รับยาที่เหมาะสมตามความจำเป็นโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อใช้ในระหว่างกักตัวที่บ้าน  การนำยามาเตรียมไว้รับประทานเองโดยไม่ตรงตามอาการ อาจทำให้เกิดอันตรายจากภาวะแทรกซ้อนของยา จนส่งผลเสียต่อผู้ป่วยเองได้ยาชุดรักษาโควิด?         นอกจากนี้ยังมีการหลอกขายชุดยาต้านโควิด โดยมีการแอบขายผ่านทางอินเทอร์เน็ตในราคาชุดละประมาณ 4,000 บาท เมื่อเหยื่อหลงเชื่อสั่งซื้อและโอนเงินไปปรากฎว่าได้รับวิตามินซี และยารักษาเริมมาแทน เสียทั้งเงินและอาจเสียสุขภาพด้วยในสถานการณ์นี้ สิ่งที่จะทำให้ผู้ป่วยโควิด 19 ได้รับความปลอดภัย ไม่มีความทุกข์จากผลิตภัณฑ์ที่ และไม่ถูกหลอกลวงซ้ำเติมจนเสียเงินเสียทอง ขอให้ผู้ป่วยหรือผู้สัมผัสเสี่ยงสูงกับผู้ป่วย ติดต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือ อสม หรือกำนันผู้ใหญ่บ้าน เพื่อให้ข้อมูลต่างๆ เข้าสู่ระบบในการรักษาพยาบาลอย่างเร็วที่สุด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 246 ผู้ป่วยโควิดสีเขียวกักตัวที่บ้าน ต้องจ่ายค่าชดเชยรายวันหรือไม่

        องค์กรของผู้บริโภค เรียกร้องคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) ให้ทบทวนการจ่ายเงินชดเชยรายวัน กับผู้ป่วยสีเขียวที่แยกตัวที่บ้าน (Home Isolation) ทุกกรณี         กลับมาเป็นประเด็นร้อนอีกรอบ จากข้อร้องเรียนของผู้เอาประกันภัยที่กักตัวเองที่บ้านแล้วบริษัทอ้างว่า ป่วยน้อย สีเขียว นอนที่บ้านไม่สามารถเรียกเงินชดเชยรายวันได้         โดยใช้คำวินิจฉัยของเลขาธิการคปภ. ในเอกสารแจง 17 ข้อสงสัย เหตุใดจึงไม่ให้เคลมค่าชดเชยรายวันกรณี home isolation หรือแบบ community isolation ได้ทุกกรณี? ได้อ้างเงื่อนไขตามกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 ปัจจุบัน ในเรื่องค่าชดเชยรายวัน ให้ความคุ้มครองเฉพาะกรณีผู้ป่วยในไม่ครอบคลุมกรณีการรักษาแบบ home isolation หรือแบบ community isolation แล้วไม่มีโอกาสเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาล ดังนั้น สำนักงาน คปภ. จึงได้หารือร่วมกับภาคธุรกิจประกันภัย ซึ่งได้ข้อสรุปร่วมกันว่า ถ้าผู้เอาประกันภัยมีสภาพที่จะต้องเข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยใน แต่ไม่สามารถหาเตียงสถานพยาบาลได้ จึงต้องรักษาตัวแบบ home isolation และ community isolation ให้ถือเสมือนเป็นผู้ป่วยในและมีสิทธิได้รับค่าชดเชยรายวันตามกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 และเพื่อป้องกันมิให้มีการเคลมเกินสิทธิที่พึงมีตามเงื่อนไขการคุ้มครองในกรมธรรม์ รวมทั้งป้องกันปัญหาการฉ้อฉลประกันภัย ในกรณีที่ปรากฏว่าผู้ป่วยมีความจำเป็นทางการแพทย์ที่ต้องรักษาตัวเป็นผู้ป่วยในในสถานพยาบาล เช่น เป็นผู้ป่วยที่ยังไม่มีอาการ แต่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง หรือผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการรุนแรงขึ้น แต่ไม่มีสถานพยาบาลรองรับ เป็นต้น ซึ่งแม้ไม่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง แต่มีความจำเป็นทางการแพทย์ที่ต้องรักษาตัวเป็นผู้ป่วยในในสถานพยาบาลก็มีสิทธิได้รับค่าชดเชยรายวัน ซึ่งคำสั่งนี้ได้เปิดช่องให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัยกรณีมีความจำเป็นทางการแพทย์ที่ต้องรักษาตัวเป็นผู้ป่วยในในสถานพยาบาลได้ด้วย         การวินิจฉัยของคปภ.แบบนี้ ย่อมสร้างปัญหาให้กับผู้บริโภค ต้องไม่ลืมว่า การรักษาผู้ป่วยโควิดจากเดิมกรมการแพทย์บังคับให้ทุกคนต้องนอนโรงพยาบาลเมื่อติดเชื้อโควิด 19 แต่เมื่อรัฐไม่สามารถมีเตียงรองรับในโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม หรือ Hospitel การนอนโรงพยาบาลของผู้ป่วยจึงเป็นไปไม่ได้ กรมการแพทย์ได้ประกาศให้หน่วยบริการดูแลประชาชนที่บ้าน พร้อมสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จ่ายเงินให้หน่วยบริการที่รับดูแลผู้ป่วยในการแยกตัวที่บ้านประมาณ 1,000 บาทต่อราย ผู้ป่วยจำนวนมากได้ยาต้านไวรัส และต้องติดตามอาการที่มีความเปลี่ยนแปลงทุกวัน ไม่สามารถไปทำงานได้ตามปกติ ต้องแยกตัวไม่สามารถใช้ชีวิตตามปกติได้ เป็นมาตรการควบคุมโรคที่สำคัญ ทุกคนที่ทำประกันเมื่อไม่มีรายได้หรือรายได้ลดลง ต้องได้ค่าชดเชยรายวันทุกคนตามสิทธิ หากในอนาคตการขายประกันของบริษัทจะกำหนดเงื่อนไข ว่า คุ้มครองเฉพาะสีเหลืองและแดงเท่านั้นก็ต้องเป็นเงื่อนไขในอนาคต ไม่ใช่เงื่อนไขในปัจจุบัน         บริษัทประกันย่อมไม่มีสิทธิที่จะไม่จ่ายสินไหมชดเชยรายวันให้กับผู้บริโภค จากเหตุที่อ้างว่าเพราะอาการของโรคน้อย ที่สำคัญจะทำอย่างไรให้ระบบการทำงานของคปภ.รับฟังความเห็นจากตัวแทนของผู้บริโภค ไม่ใช่เฉพาะจากบริษัทประกัน และการประกันภัยในประเทศไทย ต้องยึดหลักการจ่ายเป็นหลักปฏิเสธเป็นรอง ถึงเวลาที่คปภ.ต้องจัดการเรื่องนี้เพราะไม่อย่างงั้นบริษัทประกันก็คิดถึงแต่ตัวเลขกำไรงามๆของตนเองฝ่ายเดียว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 246 รู้เท่าทันการฉีดวัคซีนโควิด-19 สลับชนิด

        ขณะนี้นโยบายการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของประเทศไทยให้ใช้การฉีดวัคซีนสลับชนิด โดยเข็มที่ 1 เป็นวัคซีนซิโนแวค เข็มที่ 2 เป็นวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า หรือ อาจเป็นวัคซีนทางเลือก เช่น ไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นา ทำให้ประชาชนจำนวนมากกังวลว่า การฉีดวัคซีนสลับชนิดจะเกิดประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ได้จริงหรือไม่ โดยเฉพาะมีหมอบางคนออกมาคัดค้านการฉีดวัคซีนสลับชนิดดังกล่าว เรามารู้เท่าทันกันเถอะ ประเทศทางยุโรปเริ่มใช้มาตรการฉีดวัคซีนสลับชนิด         ในขณะนี้ ทั่วโลกมีการฉีดวัคซีนไปกว่า 1.2 พันล้านโดสแล้ว และเริ่มมีบางประเทศแนะนำให้มีการฉีดวัคซีนสลับชนิด โดยเข็มแรกเป็นวัคซีนชนิดหนึ่ง และเข็มที่ 2 เป็นวัคซีนอีกชนิดหนึ่ง         มาตรการดังกล่าวเริ่มจากประเทศฝรั่งเศสและเยอรมัน ที่ผู้รับวัคซีนเข็มแรกเป็นแอสตร้าเซนเนก้าแล้วมีอาการของลิ่มเลือดอุดตัน จึงให้ฉีดวัคซีนเข็มสองเป็นวัคซีนอีกชนิดเพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงของวัคซีน พบว่า การฉีดวัคซีนสลับชนิดทำให้มีภูมิต้านทานเชื้อโควิด-19 เหมือนหรือสูงกว่าการฉีดวัคซีนชนิดเดียว และทำให้การกระจายการฉีดวัคซีนสามารถทำได้ง่ายและมากขึ้น การฉีดวัคซีนสลับชนิดไม่ใช่เรื่องใหม่ มีประโยชน์         การใช้วัคซีนสลับชนิดเริ่มมีมาตั้งแต่ทศวรรษในปีค.ศ. 1990-1999 โดยใช้ในนักวิจัยเรื่องเอชไอวี         นอกจากนี้ การใช้วัคซีนสลับชนิดยังช่วยหลีกเลี่ยงภูมิต้านทานที่มีต่อวัคซีน ทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลง และยังทำให้ภูมิต้านทานเชื้อโรคหรือโควิด-19 เพิ่มสูงขึ้นและอยู่ได้นานขึ้น         อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนสลับชนิดนั้นต้องมีการประเมิน เพราะในขณะนี้ ยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนโควิด-19 สลับชนิดมากเพียงพอ และต้องประเมินผลด้านความปลอดภัยในการใช้ โดยเฉพาะการใช้วัคซีน mRNA (ของไฟเซอร์และโมเดอร์นา) สลับกับวัคซีนที่ใช้อดีโนไวรัส (ของแอสตร้าเซนเนก้า) ซึ่งยังไม่เคยมีมาก่อน         การฉีดวัคซีนแบบสลับชนิด อาจช่วยในการต่อสู้กับการกลายพันธุ์ของไวรัส เพราะทำให้เกิดภูมิต้านทานกว้างขึ้น ซึ่งช่วยในการป้องกันไวรัสที่กลายพันธุ์ได้ดีขึ้น ประสิทธิผลของการฉีดวัคซีนสลับชนิด         มีการศึกษาเบื้องต้นในหลายประเทศ เช่น ในสเปน ศึกษาในอาสาสมัคร 600 คน  ในสหราชอาณาจักร ศึกษาในอาสาสมัคร 830 คน พบว่า มีภูมิต้านทานสูงกว่าการรับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเพียงอย่างเดียว แต่เนื่องจากเป็นการศึกษาในจำนวนอาสาสมัครที่น้อย และระยะเวลาสั้น จึงต้องติดตามผลต่อไป องค์การอนามัยโลกแนะนำให้หน่วยงานด้านสุขภาพเป็นผู้พิจารณา         องค์การอนามัยโลกแนะนำว่า ไม่ควรให้แต่ละคนเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะเลือกฉีดวัคซีนแบบสลับชนิดหรือไม่ด้วยตนเอง แต่ขอให้หน่วยงานด้านสุขภาพของแต่ละประเทศเป็นผู้พิจารณาและกำหนดแนวทางบนพื้นฐานข้อมูลที่มีอยู่ ขณะนี้ ยังต้องรอข้อมูลการประเมินผลการฉีดวัคซีนแบบสลับชนิด การศึกษาภูมิต้านทาน และความปลอดภัย         สำหรับประเทศไทย การฉีดวัคซีนสลับชนิดไม่ใช่เกิดจากวัคซีนที่ฉีดไม่มีคุณภาพ จึงต้องเปลี่ยนวัคซีน แต่เพราะมีการศึกษาว่า การฉีดวัคซีนสลับชนิดจะมีประสิทธิผลเพิ่มมากขึ้นจาการฉีดวัคซีนชนิดเดียว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 246 หลอก หลอก หลอก

        ในขณะที่สถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ยังไม่ลดลง สถานการณ์การหลอกหากินของกลุ่มมิจฉาชีพ บนความหวาดกลัวจะติดเชื้อของประชาชนก็ไม่ลดลงเช่นกัน มีอะไรๆ มาพวกนี้ก็ช่างหาเรื่องมาหลอกได้ทุกเรื่อง         หลอกขายสมุนไพรต้านโควิด         มีข้อมูลของแพทย์ออกมาเตือนภัยผ่านทางโซเชียล ซึ่งข้อมูลที่อ่านพบปรากฎว่าคล้ายกับข้อมูลที่น้องๆ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่มาเล่าให้ฟัง คือ ในโลกออนไลน์มีการโฆษณาผลิตภัณฑ์บรรจุในแคปซูล โดยอ้างว่าเป็นผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพรต้านโควิด นำมาจากคลินิก ไหนๆ ก็โฆษณาแล้วจะไม่ขายก็ดูกระไรอยู่ หลังจากปลุกอารมณ์และความหวังของผู้คนที่กำลังหวาดระแวงว่าตนเองจะติดเชื้อโควิดหรือไม่ ก็ขายมันซะเลย ทำให้ผู้ที่กังวลว่าจะป่วยหรือผู้ป่วยโควิดบางรายหลงเชื่อ ยอมเสียเงินสั่งซื้อมากิน กินไปแล้วอาการไม่ดีขึ้น บางรายอาการกลับแย่ลง ตรวจพบว่ามีภาวะผิดปกติ บางรายพบว่าเซลล์เม็ดเลือดลดลงด้วย         หลอกขายประกันโควิด         ไม่ได้มีแต่หลอกขายผลิตภัณฑ์ มีข้อมูลจากน้องในชุมชนทางอีสานเล่าให้ฟังว่า ในขณะที่หลายคนกำลังลังเลว่าจะฉีดวัคซีนหรือไม่ฉีดดี จะไม่ฉีดก็กลัวคิดเชื้อ แต่ถ้าฉีด ก็กลัวจะเกิดการแพ้จนอันตราย ในที่สุดก็มีแก๊งหัวใส อาศัยจังหวะนี้ตระเวณไปหลอกขายประกันเกี่ยวกับโควิด ทั้งประกันการติดเชื้อโควิด และประกันการแพ้วัคซีน โดยเลือกเหยื่อที่ไม่ค่อยมีความรู้เกี่ยวกับการประกัน สุดท้ายเมื่อเหยื่อหลงเชื่อจ่ายเงินไปแล้ว ก็หายหน้าไปเลย ไม่ได้กรมธรรม์อะไรกลับมา         หลอกขายวัคซีนทางเลือก         ที่จังหวัดอุดรธานี พบเหตุการณ์มีผู้ตระเวณหลอกขายวัคซีนซิโนฟาร์ม ในราคาเข็มละ1,800 บาท โดยอ้างว่าเหลือจากที่ฉีดให้บุคลากรของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มีผู้หลงเชื่อรวม 20 คน ตกลงจ่ายเงินยอมซื้อ โดยผู้ที่หลอกขายอ้างว่า เมื่อจ่ายเงินแล้ว จะให้ไปฉีดได้ที่จุดบริการฉีดของโรงพยาบาล มีการระบุเวลานัดหมายให้เรียบร้อย นอกจากนี้ กลุ่มมิจฉาชีพยังพยายามสร้างความน่าเชื่อถือ โดยสร้างกลุ่มไลน์ โดยมีบุคคลที่อ้างว่าเป็นแพทย์เป็นผู้ดูแลกลุ่ม คอยให้ข้อมูลต่างๆ อยู่ตลอด จนเมื่อถึงวันฉีดวัคซีน ผู้ที่จ่ายเงินไปแล้วเดินทางไปฉีดวัคซีนที่จุดบริการของโรงพยาบาล ปรากฎว่าไม่มีรายชื่อของตนแต่อย่างใด เมื่อไปตรวจสอบที่โรงพยาบาลก็พบว่า แพทย์ที่มีการอ้างชื่อและคอยให้ข้อมูลในกลุ่มไลน์ ก็ไม่ใช่แพทย์ด้วย         เอ๊ะ เอ๊ะ เอ๊ะ ทุกครั้งจะได้ไม่ถูกหลอก         เนื่องจากการจัดการปัญหาการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 เป็นเรื่องสำคัญที่ทุกหน่วยงานประเทศต้องมาร่วมกันดูแล ดังนั้นสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจะมีการกำหนดขั้นตอนต่างๆ อย่างละเอียด มีการตรวจสอบ เพื่อไม่ให้มีใครมาหลอกลวงจนเกิดอันตรายได้ ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ก็ต้องมาขออนุญาตและพิสูจน์กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาว่าปลอดภัยไม่มีอันตราย การขายประกันก็มีหน่วยงานที่ดูแลด้านนี้ดูแลอยู่ ส่วนการบริการฉีดวัคซีน ก็มีระบบและรายละเอียดทุกขั้นตอน โดยมีหน่วยงานสาธารณสุขในแต่ละจังหวัดดูแล ดังนั้นหากใครมาแนะนำหรือชักชวนอะไรเกี่ยวกับโควิด ให้เราเสียเงินเสียทอง อย่าเพิ่งรีบเชื่อนะครับ ให้ เอ๊ะๆๆ ไปหลายๆ ครั้ง ถ้าไม่แน่ใจก็ไปสอบถามที่หน่วยงานสาธารณสุขใกล้ตัวได้เลย เอ๊ะ เอ๊ะ เอ๊ะ จะได้ไม่ถูก หลอก หลอก หลอก นะครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 245 เลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร เดี๋ยวนี้

        โพลล่าสุด บอกคนกรุงเทพต้องการให้รัฐบาลเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครด่วน        วิกฤตการระบาดของเชื้อโควิดโดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สะท้อนการบริหารจัดการการดูแลผู้ป่วยโควิดได้อย่างยากยิ่งในเมืองหลวง แต่ได้เห็นความพยายามของกลุ่มคนต่างๆมากมายซึ่งเป็นโอกาสที่รัฐบาลจะได้ใช้ความร่วมมือของกลุ่มคนต่างๆเหล่านี้ หน่วยงานที่ต้องยกย่องชมเชย เห็นจะเป็นชมรมแพทย์ชนบท และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่มีความพยายามที่จะมองปัญหาเรื่องนี้ไปข้างหน้าไม่ว่าจะเป็นการจัดการปัญหาเรื่องการแยกตัวที่บ้าน(Home Isolation) หรือการแยกตัวในชุมชน(Community Isolation) กับสนับสนุนให้ประชาชนสามารถกลับไปรักษาที่จังหวัดของตนเอง โดยการสนับสนุนรถรับส่ง เพราะเห็นได้ว่าหน่วยบริการไม่สามารถจัดบริการเหล่านี้ได้หรือรองรับได้เพียงพอกับความต้องการ ทำให้ประชาชนต้องพึ่งกลุ่มบุคคลต่างๆที่ทำงานนอกระบบหรืออาสาสมัครในปัจจุบัน เช่น วัดสะพาน หลายชุมชนในคลองเตย คลองเตยดีจัง กลุ่มเส้นด้าย คลินิกพริบตา IHRI กลุ่มออนไลน์อีกจำนวนมาก และรวมถึงมูลนิธิและองค์กรสาธารณประโยชน์ อาสาสมัครอีกมากมายในการแก้ไขปัญหาวิกฤตโควิด หรือแม้แต่การสนับสนุนการทำกิจกรรมป้องกัน ดูแล รักษา กันเองในชุมชน         สิ่งที่ประชาชนอยากเห็นรัฐบาลการดำเนินการ คือการสนับสนุนกลุ่มองค์กรต่างๆเหล่านี้ ด้วยงบประมาณแผ่นดิน แทนที่แต่ละองค์กรจะต้องมีภาระในการระดมเงินบริจาคจากประชาชนเพียงอย่างเดียว หรือการสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐสามารถทำได้เพียงหน่วยบริการสาธารณสุขในระบบเท่านั้น         ซึ่งต้องยอมรับว่าในปัจจุบันหน่วยบริการต่างๆได้มีความพยายามให้บริการได้อย่างเต็มความสามารถ และได้ขยายการให้บริการในรูปแบบต่างๆเต็มศักยภาพเท่าที่จะสามารถทำได้ แต่จำนวนยังไม่เพียงพอต่อการเจ็บป่วยของประชาชน         ทางออกสำคัญในการดูแลผู้ป่วยโควิดในปัจจุบันก็คือให้ชุมชนดูแลกันเองให้มากที่สุด ให้ประชาชนที่สามารถแยกตัวเองที่บ้านได้มีชุดความรู้ ชุดข้อมูล ชุดอุปกรณ์ดูแลตัวเองแบบเบ็ดเสร็จ พร้อมสนับสนุนการเข้าถึงยาที่จำเป็นในการรักษาตนเองโดยเร็วที่สุด         เขียนมาตั้งนานไม่เห็นจะเกี่ยวกับการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเลย หากย้อนกลับไปจะเห็นได้ว่าการเลือกตั้งสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด รัฐบาลได้ดำเนินการมาก่อนหน้านี้เกือบแปดเดือนแล้ว หลายคนก็คาดหวังว่าจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครแต่ต่างก็ต้องผิดหวัง ทำให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนปัจจุบันไม่ยึดโยงกับประชาชนใช่หรือไม่ เพราะไม่ได้มาจากการตัดสินใจของประชาชนในกรุงเทพมหานคร ทำให้การตัดสินใจหลายครั้งของผู้ว่ากรุงเทพมหานครไม่ได้ยึดโยงอยู่กับความเดือดร้อนของประชาชน ไม่ว่าการออกประกาศให้เก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว 104 บาท แต่ถูกนายกรัฐมนตรีสั่งห้าม ดึงดันคิดราคา 65 บาททั้งที่ไม่มีที่ไปที่มา หรือแม้แต่การแก้ไขปัญหาโควิดของกรุงเทพมหานครก็สะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาที่ไม่สามารถดูแลประชาชนได้อย่างน่าภูมิใจ ถึงแม้ทุกคนจะรู้ว่าไม่ใช่เรื่องง่าย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนความต้องการผู้ว่าราชการที่มาจากการเลือกตั้งเดี๋ยวนี้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 245 ความเคลื่อนไหวเดือนกรกฎาคม 2564

คปภ.มีคำสั่งห้าม "สินมั่นคง" ยกเลิกประกันภัยโควิด เจอ จ่าย จบ          จากกรณีบริษัทสินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ได้ประกาศยกเลิกแผนประกันภัยโควิด เจอ จ่าย จบ หรือ COVID 2 in1 อ้างเนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดไวรัสโควิด-19  ที่ไม่สามารถควบคุมได้จึงใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์นั้น  นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ระบุว่า จะใช้อำนาจตามกฎหมาย อาศัยมาตรการ 29 อนุ 2 ตามพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย เพื่อสั่งยกเลิกเงื่อนไขของสินมั่นคงประกันภัยทั้งหมด เพื่อให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนเหมือนเดิม         ด้านนายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า จากกรณีที่สินมั่นคงประกันภัยยกเลิกกรมธรรม์ประกันโควิด-19 แบบเจอ จ่าย จบ สมาคมได้ดำเนินการสอบถามบริษัทประกันวินาศภัยรายอื่นที่เป็นสมาชิก ซึ่งขายกรมธรรม์ประกันประกันโควิด-19 อยู่ในเวลานี้ และได้รับแจ้งว่าบริษัทส่วนใหญ่ที่ขายกรมธรรม์ดังกล่าวอยู่ ไม่มีนโยบายในการยกเลิกกรมธรรม์แต่อย่างใด จี้รัฐแก้กฎหมายพนันออนไลน์สถิติสูงช่วงโควิด        รศ.นวลน้อย ตรีรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และทีมวิจัย ได้ศึกษาภาพรวมการเล่นพนันออนไลน์ ชี้การสำรวจจากปี 2562-2564 มีรูปแบบไม่แตกต่างกันที่นิยมเล่นสูงสุด คือ บาคาร่า ป๊อกเด้ง รองลงมาคือพวก slot machine และจำนวนผู้เล่นปี 2562  จากเดิม 8 แสนกว่าคนพุ่งสูงขึ้นมาในปี 2564 ประมาณ 1.9 ล้านคน ชี้ให้เห็นว่าในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระบาดมีผู้เล่นการพนันออนไลน์เพิ่มมากขึ้น  จากการสัมภาษณ์พบว่า เป็นผู้เล่นกลุ่มใหม่และเป็นผู้เล่นออฟไลน์ ที่เปลี่ยนมาเล่นออนไลน์แทน เนื่องจากสถานที่ปิดจากสถานการณ์โควิด-19 ผู้เล่นส่วนมากมีช่วงอายุเป็นเด็กรุ่นใหม่ที่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้รวดเร็ว ส่วนใหญ่สาเหตุการเล่น ประมาณ 90% มาจากการเข้าถึงที่สะดวกง่าย โปรโมชั่น ปกปิดเป็นความลับ และมั่นใจได้ว่าจะไม่ถูกจับ รศ.นวลน้อย จึงแนะว่า รัฐควรมีการจัดการอย่างจริงจัง คิดในรูปแบบบริบทใหม่เพราะเศรษฐกิจสังคมมีการพัฒนาไปเยอะ ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายหรือบทลงโทษการเล่นพนันออนไลน์  มีเพียงกฎหมายที่เกี่ยวกับการพนันที่ออกมาตั้งแต่ปี 2478 ถึงมีการปรับปรุงแต่ยังล้าสมัย ไม่ชัดเจนในบทลงโทษ ดังนั้น ผู้ที่เกี่ยวข้องในเชิงนโยบาย ควรกำหนดมาตรการหรือวิธีการจัดการให้ชัดเจน ครอบคลุม กรณีหมิงตี้พบยื่นร้องเรียนกว่า 500 ราย ด้านมลพิษอยู่ระหว่างประเมินความเสียหาย         พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยถึงความคืบหน้าเหตุเพลิงไหม้โรงงานหมิงตี้เคมีคอล ใน จ.สมุทรปราการ เมื่อวันที่ 5 ก.ค.ที่ผ่านมา ว่า ศูนย์รับแจ้งความเสียหาย สภ.บางแก้ว จ.สมุทรปราการ ได้สอบปากคำผู้ที่ได้รับความเสียหายไปแล้วกว่า 500 ราย รวมมูลค่าความเสียหายที่ได้รับแจ้งจากผู้ได้รับผลกระทบเบื้องต้นประมาณ 250 ล้านบาท ด้านกรมควบคุมมลพิษ โดยนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า คพ.ได้ประสานสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 5 (นครปฐม) และสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 6 (นนทบุรี) ร่วมกับเจ้าหน้าที่ คพ. ในการประชุมหารือเพื่อสรุปความก้าวหน้าและปัญหาอุปสรรคในการดำเนินการตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมหลังเพลิงไหม้โรงงานดังกล่าว จากผลการตรวจสอบพบว่าสถานการณ์มลพิษในพื้นที่ดีขึ้นตามลำดับ เหลือเพียงการตรวจสอบสารเคมีและกากของเสียอันตรายที่ตกค้างอยู่ในพื้นที่โรงงาน เพื่อหาแนวทางการจัดการ บำบัดและขนย้ายออกไปกำจัดอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการต่อไป          “ในส่วนของการสื่อสารกับประชาชน คพ.ได้จัดทำอินโฟกราฟิกให้ความรู้ในเรื่องการข้อควรปฏิบัติสำหรับประชาชนเมื่อกลับเข้าที่พักอาศัยหลังเกิดเพลิงไหม้ และคำแนะนำการใช้น้ำรอบพื้นที่เกิดเหตุ ซึ่งน้ำฝน น้ำคลอง ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสและนำน้ำฝนมาใช้ในการอุปโภคบริโภคในช่วงนี้ ส่วนน้ำประปา สามารถใช้ในการอุปโภคบริโภคได้ตามปกติ แต่ทั้งนี้ ประชาชนที่มีการรองน้ำประปาใส่ภาชนะไว้ ให้มีฝาปิดมิดชิดเพื่อป้องกันการปนเปื้อน”  ขึ้นภาษีผ้าอนามัยแบบสอด         จากกรณีมีราชกิจจานุเบกษาประกาศ ณ วันที่ 29 มิถุนายน 2564  ให้ผ้าอนามัยชนิดสอดที่ใช้สอดใส่เข้าไปในช่องคลอดเพื่อซับเลือดประจำเดือน เป็นเครื่องสำอาง ลงนามโดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จนเกิดแฮชแท๊กเทรนด์ทวิตเตอร์  #ผ้าอนามัยไม่มีภาษี และเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากผู้บริโภคกลัวว่าจะมีการขึ้นภาษี เนื่องจากถูกจัดเป็นเครื่องสำอางนั้น         นายลวรรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยถึง กรณีที่มีการประกาศให้ผ้าอนามัยแบบสอด เป็นเครื่องสำอาง จะทำให้ต้องมีภาระเสียภาษีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอัตราภาษีของผ้าอนามัยอยู่ที่ 30% และกรมสรรพสามิตไม่มีนโนบายการจัดเก็บภาษีผ้าอนามัยตามที่เป็นข่าว และไม่เคยมีการกำหนดอัตราภาษีสรรพสามิต ซึ่งปัจจุบันกรมสรรพสามิตมีการจัดเก็บภาษีสินค้าฟุ่มเฟือยเพียงรายการเดียว คือ น้ำหอม ในอัตราภาษีตามมูลค่า 8% ทั้งนี้ ปัจจุบันผ้าอนามัยไม่ถือว่าเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีความจำเป็นที่สตรีต้องใช้ในชีวิตประจำวัน ดังนั้น ในนิยามการเสียภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย คือ ถ้าไม่มีใช้ ก็ไม่กระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน ถ้าส่งผลกระทบ ก็ให้ถือว่าเป็นสินค้าที่ไม่ฟุ่มเฟือย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคชี้ นสพ.ฐานเศรษฐกิจพาดหัวข่าวไม่ตรงกับข้อเท็จจริง         วันที่ 11 กรกฎาคม 2564 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจและในเว็บไซต์ข่าว  ได้ทำการพาดหัวข่าวว่า “เปิดปมศาลปกครองกลาง ไฟเขียวดีล ‘ซีพี-โลตัส’ ยกคำฟ้อง 37 องค์กรผู้บริโภค” มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคในฐานะผู้ฟ้องคดีนี้ ได้ชี้แจงว่า เป็นการพาดหัวข่าวที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง สร้างความเข้าใจผิดว่าศาลได้มีคำสั่งยกฟ้องคดีการควบรวม ซีพีและโลตัส ซึ่งข้อเท็จจริงคือศาลเพียงยกคำร้องกรณีที่ผู้ฟ้องคดีร้องขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเท่านั้น ไม่ใช่เป็นการให้ “ไฟเขียว ดีล ซีพี-โลตัส” การรายงานข่าวเช่นนี้ถือเป็นการช่วงชิงความได้เปรียบให้กับคู่กรณีของคดี ในขณะที่คดียังอยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งการกระทำนี้อาจถือว่าเป็นการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมของศาล ผิดจรรยาบรรณสื่อมวลชน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงขอให้ข้อเท็จจริงคือ ในระหว่างการพิจารณาคดีเพิกถอนมติคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า มูลนิธิและผู้ร่วมฟ้อง ได้ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเพื่อระงับยับยั้งความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อผู้บริโภค คู่แข่งทางการค้า และผู้ผลิตสินค้าการเกษตร และสินค้าอุปโภคบริโภค ไว้เป็นการชั่วคราว ซึ่งศาลได้มีคำสั่งยกคำร้องดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่ายังไม่มีเหตุให้คุ้มครอง แต่ในส่วนของคดี ศาลยังอยู่ระหว่างการไต่สวน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำคำคัดค้านคำให้การยื่นต่อศาล การกระทำเช่นนี้อาจถือได้ว่าเป็นการให้ข้อมูลเท็จกับสาธารณะ เป็นการหมิ่นศาล และผิดจรรยาบรรณสื่อมวลชน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และสมาคมนักกฎหมายคุ้มครองสิทธิและสิ่งแวดล้อม จึงเรียกร้องให้บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ แก้ไขสาระสำคัญของข่าวให้ถูกต้อง ให้เป็นไปตามข้อเท็จจริง

อ่านเพิ่มเติม >



ฉบับที่ 245 อย่างนี้ก็ได้เหรอ เมื่อต้องเจอโควิด (2)

2. ควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกร ก่อนตัดสินใจนำมาใช้        2.1 กินฟ้าทะลายโจร ป้องกันรักษาโควิด 19        ตามที่มีข่าวว่าฟ้าทะลายโจรรักษาโควิด 19 ได้ ทำให้ประชาชนหลายคน แห่ไปซื้อยาฟ้าทะลายโจรเพื่อมารับประทานอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันโควิด 19  หรือหากตัวเองติดเชื้อแล้วก็จะสามารถหายได้โดยไม่ต้องไปรักษาที่ไหน ในแง่วิชาการ ฟ้าทะลายโจรมีสารสำคัญคือ แอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide) ซึ่งการทดลองในหลอดทดลอง พบว่ามีฤทธิ์ต้านไวรัสได้ แต่ปีที่ผ่านมาทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ทำการทดลองเพิ่มเติมพบว่า เมื่อมาอยู่ในเซลล์ร่างกายจะป้องกันโคโรนาไวรัสได้หรือไม่ ปรากฏว่ายังไม่สามารถป้องกันไวรัสเข้าสู่เซลล์ได้         อย่างไรก็ตามสารแอนโดรกราโฟไลด์ในฟ้าทะลายโจรนั้น ยังมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียบางตัวได้และฟ้าทะลายโจรยังเป็นยาลดไข้ที่ดี จึงมีการกำหนดในบัญชียาหลักในสรรพคุณที่ ลดไข้ได้ และเนื่องจากในผู้ป่วยโควิด19 จะมีภาวะการอักเสบ ซึ่งฟ้าทะลายโจรสามารถลดการอักเสบและส่งเสริมภูมิคุ้มกันได้ดี ซึ่งในการศึกษาวิจัยใน 9 รพ. (มีผู้ป่วยจำนวน 304 ราย ซึ่งเป็นผู้ป่วยอาการน้อย) เมื่อให้รับประทานยาฟ้าทะลายโจรในขนาด 180 มิลลิกรัมต่อวัน วันละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 5 วัน พบว่าผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น โดยไม่พบผลข้างเคียงรุนแรง อาจมีเวียนศีรษะ หน้ามืด หรือถ่ายเหลว แต่ไม่มาก จึงน่าจะเป็นทางเลือกในการใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง และมีแนวโน้มที่ดีในการจะนำมาใช้ประโยชน์ในผู้ป่วยโควิด 19 ได้ ซึ่งหากมีความก้าวหน้ามากขึ้นจะนำมาเผยแพร่ต่อไป         แต่ฟ้าทะลายโจรเองก็มี ข้อห้ามในการใช้ เช่นกัน เช่น ผู้ป่วยรายใดมีประวัติเคยแพ้ฟ้าทะลายโจร หากรับประทานครั้งแรกมีผื่นคันขึ้นต้องหยุดใช้ หญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตรก็ไม่ควรใช้ รวมทั้งผู้ป่วยโรคตับ โรคไตก็ต้องหลีกเลี่ยงและผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวและรับประทานยาประจำ โดยเฉพาะยาลดการแข็งตัว อย่างยาวาร์ฟาริน แอสไพริน โคลพิโดเกรล ซึ่งเป็นยาที่จ่ายให้กับผู้ป่วยอัมพฤตอัมพาต หรือเส้นเลือดหัวใจตีบต้องระวัง และผู้ป่วยที่รับประทานยาลดความดันโลหิตก็ไม่แนะนำให้ใช้ร่วมกัน”         การใช้ฟ้าทะลายโจรเพื่อเสริมภูมิคุ้มกัน สามารถเป็นข้อแนะนำได้ในเบื้องต้น แต่ต้องรับประทานฟ้าทะลายโจรประมาณ 20 มิลลิกรัมต่อวัน ติดต่อกันไม่เกิน 5 วัน หยุด 2 วัน ต่อเนื่องไม่เกิน 3 เดือน         2.2 กิน กระชาย ขิง ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด ป้องกันรักษาโควิด 19         ตามที่มีคลิปผู้ป่วยโควิด19 ใช้สมุนไพรพวก กระชาย ขิง ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด มาต้มแล้วดื่ม ปรากฏว่าอาการป่วยดีขึ้น จึงแนะนำให้ผู้ป่วยอื่นๆ ทำตามดูบ้าง         ในแง่วิชากการ สมุนไพรเหล่านี้ยังไม่สามารถฆ่าเชื้อโควิด 19 ได้ แต่อาจมีประโยชน์ตรงที่ทำให้ร่างกายแข็งแรง การป่วยจึงฟื้นตัวจนหายได้เร็วขึ้น แม้ในการศึกษาจะพบว่า กระชายได้ผลลัพธ์คล้ายคลึงกับฟ้าทะลายโจรในการต้านไวรัส แต่ก็ต้องใช้ปริมาณมากจนเป็นไปยากเพราะต้องใช้กระชายถึงครั้งละ ครึ่งกิโลกรัม         ดังนั้นหากเราจะเลือกสมุนไพรเหล่านี้มาบริโภค ก็อย่าคาดหวังผลในการรักษาโควิด 19 แต่ให้หวังผลในแง่สุขภาพที่อาจจะดีขึ้นบ้างเล็กน้อย และไม่ควรไปซื้อผลิตภัณฑ์เหล่านี้ที่ราคาแพงๆ ที่วางขาย เพราะจะไม่คุ้มค่าเงินที่เสียไปในยามที่เศรษฐกิจฝืดเคืองแบบนี้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 245 รู้เท่าทันผลไม่พึงประสงค์ของวัคซีนโควิด-19

        เดือนมิถุนายน เป็นช่วงการเร่งฉีดวัคซีนโควิด-19 กันอย่างเร่งด่วน เพื่อที่จะสร้างภูมิคุ้มกันในหมู่ประชาชนไทยให้มากที่สุด มีข่าวต่างๆ มากมายว่า วัคซีนที่ไทยใช้นั้นไม่ดี ไม่ปลอดภัยเท่ากับของอเมริกา และมีผู้เสียชีวิตหลังการฉีดวัคซีนในประเทศไทยจำนวนมาก ทำให้คนไทยกลัวการฉีดวัคซีน อยากได้วัคซีนที่ปลอดภัยกว่านี้ มารู้เท่าทันผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนแต่ละชนิดกันเถอะ รายงานอาการไม่พึงประสงค์หลังการฉีดวัคซีนโควิดในสหรัฐอเมริกา        ในอเมริกาจะมีระบบรายงานอาการไม่พึงประสงค์หลังการฉีดวัคซีนโควิด ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล โดยทุกๆ วันศุกร์ จะรายงานต่อสาธารณชนเกี่ยวกับอาการไม่พึงประสงค์ของวัคซีนทุกชนิด         ข้อมูลระหว่างวันที่ 14 ธันวาคม 2563 – 28 พฤษภาคม 2564 มีการรายงานว่า         อาการไม่พึงประสงค์หลังการฉีดวัคซีนโควิดมีจำนวนทั้งหมด 294,801 ราย จากการฉีดวัคซีนทั้งหมด 292.1 ล้านโดส คิดเป็นร้อยละ 0.1         ในจำนวนนี้ เป็นวัคซีนโมเดอร์นา 123 ล้านโดส เป็นวัคซีนไฟเซอร์ 158 ล้านโดส และวัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน 11 ล้านโดส         มีอาการไม่พึงประสงค์รุนแรง 25,359 ราย มีผู้เสียชีวิตหลังการฉีดวัคซีน 5,165 ราย         โดยร้อยละ 24 เสียชีวิตหลังการฉีดภายใน 48 ชั่วโมง ร้อยละ 38 เสียชีวิตหลังการฉีดภายใน 24 ชั่วโมง ที่เกิดในผู้ที่ได้รับวัคซีนและป่วยภายใน 48 ชั่วโมง         ร้อยละ 52 ที่เสียชีวิตเป็นผู้หญิง ร้อยละ 45 เป็นผู้ชาย ที่เหลือไม่ได้ระบุเพศ         อายุเฉลี่ยที่เสียชีวิตคือ 74.4 ปี         ร้อยละ 17 ที่เสียชีวิต เกี่ยวกับความผิดปกติของหัวใจ         หญิงที่ตั้งครรภ์ 1,831 ราย เกิดอาการไม่พึงประสงค์ ในจำนวนนี้ มี 596 รายที่แท้งหรือคลอดก่อนกำหนด         เกิดอาการอัมพาตของใบหน้า (Bell’s Palsy) 2,876 ราย เป็นวัคซีนไฟเซอร์ ร้อยละ 41 วัคซีนโมเดอร์นา ร้อยละ 41 และวัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ร้อยละ 9         มีรายงานการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน 5,159 รายงาน  จากวัคซีนไฟเซอร์ 2,213 รายงาน จากวัคซีนโมเดอร์นา 1,617 รายงาน และจากวัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน 1,289 รายงาน         มีรายงานการเกิดการอาการแพ้รุนแรง 83,684 รายงาน จากวัคซีนไฟเซอร์ ร้อยละ 40 จากวัคซีนโมเดอร์นา ร้อยละ 51 และจากวัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ร้อยละ 9     รายงานอาการไม่พึงประสงค์หลังการฉีดวัคซีนโควิดในไทย         เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2564 ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 รายงานการฉีดวัคซีนโควิด-19 ทั่วประเทศ สะสม 7,003,783 โดส แล้ว ฉีดเข็มแรก 5,114,755 ราย เข็มสอง 1,889,028 ราย         พบอาการไม่พึงประสงค์ ทั้งวัคซีนซิโนแวค และแอสตร้าเซเนก้า         มีผู้เสียชีวิตหลังฉีดวัคซีน 68 ราย โดยจำนวน 13 ราย ผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่าไม่เกี่ยวกับวัคซีน อีก 55 รายรอการพิจารณา         เป็นการฉีดวัคซิโนแวค 3,214,385 โดส มีอาการไม่พึงประสงค์ 993 ราย (เฉพาะที่ต้องนอนโรงพยาบาล) คิดเป็น 20 ราย ต่อ 1 แสนโดส  พบมากที่สุดคือ เวียนศีรษะ คลื่นไส้ ปวดศีรษะ อาเจียน ผื่น         เป็นวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า 1,943,693 โดส พบอาการไม่พึงประสงค์ที่รับรักษา 472 ราย คิดเป็น 24 ราย ต่อ 1 แสนโดส พบมากคือ อาการไข้ ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย ถ่ายเหลว         สรุป  วัคซีนที่เชื่อว่าดีที่สุดนั้น มีอาการไม่พึงประสงค์เช่นเดียวกัน และอาจมีมากกว่าวัคซีนที่ฉีดในไทยอย่างเห็นได้ชัด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 245 ฟ้าทะลายโค (วิด)

        มีผู้โพสต์คลิปบ้างและจัดรายการสดบ้างใน YouTube แนะนำให้ผู้บริโภคที่เริ่มสงสัยตนเองว่าติดเชื้อก่อโรค covid-19 กินสมุนไพรฟ้าทะลายโจรบรรจุในแคปซูล โดยวิธีการกินนั้น กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกได้แนะนำไว้ (ในเอกสารรูปแบบ pdf เรื่อง คำแนะนำการใช้ฟ้าทะลายโจร-บุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งเข้าไปดาว์นโหลดได้ที่ https://thaicam.go.th/26042020)         ประมาณว่า “สำหรับผู้ที่ได้รับการตรวจพบเชื้อโควิด-19 แล้วแต่ยังไม่มีอาการป่วย ควรกินสารสกัดฟ้าทะลายโจรที่มีสารแอนโดรกราโฟไลด์ (andrographolide) ปริมาณ 20 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร เช้า กลางวัน และเย็น (รวม 60 มิลลิกรัมต่อวัน) ติดต่อกันนาน 5 วัน ส่วนผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการไม่รุนแรงและไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรงอื่นๆ มีคำแนะนำให้กินสารสกัดฟ้าทะลายโจรที่มีสารแอนโดรกราโฟไลด์ปริมาณ 60 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร เช้ากลางวัน และเย็น (รวม 180 มิลลิกรัมต่อวัน) ติดต่อกันนาน 5 วัน”         สำหรับในการแถลงข่าวทางโทรทัศน์และสิ่งพิมพ์ออนไลน์ต่างๆ กระทรวงสาธารณสุขโดยอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกได้ให้ข้อมูลว่า แม้สมุนไพรฟ้าทะลายโจร ไม่สามารถนำมาใช้เพื่อป้องกันการติดเชื้อโรคโควิด-19 ได้ แต่สารแอนโดรกราโฟไลด์ในสมุนไพรฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์ฆ่าไวรัสและแบคทีเรีย ลดไข้ ลดอาการอักเสบ ส่งเสริมภูมิคุ้มกัน โดยมีผลการทดลองจากโรงพยาบาล 9 แห่งพบว่า การให้สมุนไพรฟ้าทะลายโจรจำนวน 180 มิลลิกรัม/วัน โดยแบ่งเป็นสามมื้อให้กับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการน้อยจำนวน 304 ราย กินต่อเนื่องเป็นเวลา 5 วันแล้วมีอาการดีขึ้นและไม่มีอาการข้างเคียงรุนแรง อย่างไรก็ดีได้มีคำแนะว่า หลังผู้เริ่มป่วยกินทันทีเมื่อมีไข้แล้ว หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 2 วันให้รีบพบแพทย์        นอกจากนี้ใน www.bangkokbiznews.com ยังมีบทความเรื่อง ไขข้อสงสัย 'ฟ้าทะลายโจร' รักษา - ป้องกัน 'โควิด-19' ได้หรือไม่ ซึ่งให้ข้อมูลว่า หลายหน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับโรงพยาบาลสมุทรปราการศึกษาในผู้ป่วยที่ติดเชื้อกลับจากต่างประเทศแล้วถูกกักตัวใน State Quarantine นั้นพบว่า ผู้ป่วยที่กินสารสกัดฟ้าทะลายโจรมีอาการดีขึ้นตั้งแต่วันที่ 3 ของการได้รับสารสกัดโดยไม่มีอาการข้างเคียงซึ่งตรวจวัดได้จากค่าการทำงานของตับและไตที่อยู่ในเกณฑ์ปกติ         ฟ้าทะลายโจรที่มีวางขายอย่างแพร่หลายในลักษณะยาสมุนไพรนั้น มักเป็นการนำใบแห้งมาบดเป็นผงบรรจุแคปซูลขนาด 500 มิลลิกรัม ซึ่งเมื่อวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัยแล้ว ควรพบสารแอนโดรกราโฟไลด์ราว 20 มิลลิกรัม อย่างไรก็ดีในการโฆษณาขายยาฟ้าทะลายโจรนั้น ในบางกรณีอาจก่อให้เกิดความสับสนแก่ผู้บริโภค เพราะยาฟ้าทะลายโจรบางยี่ห้อนั้นโฆษณาว่า เป็นสารสกัดฟ้าทะลายโจร ซึ่งโดยทั่วไปแล้วน่าจะหมายถึง การนำเอาฟ้าทะลายโจรแห้งมาบดสกัดในตัวทำละลายเช่น แอลกอฮอล์ 95% ก่อนแล้วจึงนำสารที่สกัดได้ในรูปของเหลวไปทำให้กลายเป็นผงแห้ง น่าจะทำให้ได้สารแอนโดรกราโฟไลด์ในปริมาณที่เข้มข้นขึ้นกว่าการกินในลักษณะผงที่ได้จากการบดใบแห้ง ผู้บริโภคจำเป็นต้องสอบถามความชัดเจนจากเภสัชกรที่เป็นผู้ขายก่อนว่า สินค้าที่ขายนั้นเป็นผงใบแห้งหรือสารสกัดจากใบ และต้องกินเท่าใดจึงจะได้แอนโดรกราโฟไลด์ตามที่กรมการแพทยแผนไทยและการแพทย์ทางเลือกแนะนำ ข้อมูลในลักษณะนี้อาจขาดหายไปเมื่อสินค้านั้นถูกขายออนไลน์ (ดูคำแนะนำการใช้ที่ กระทรวงสาธารณสุขแนะนำ)         ข้อมูลเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2552 จากเว็บของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์กล่าวว่า ฟ้าทะลายโจรเป็นสมุนไพรที่มีชื่อวิทยาศาสตร์วา Andrographis paniculata (Burm.f.) Nees นอกจากนี้ยังมีชื่อสามัญอื่น ๆ อีกว่าฟ้าทะลาย หญ้ากันงู น้ำลายพังพอน สามสิบดี คีปังฮี เป็นต้น ฟ้าทะลายโจรส่วนของต้นเหนือดินมีสารสำคัญกลุ่มไดเทอร์ปีนแลคโตน (diterpene lactones) หลายชนิด ได้แก่ แอนโดรกราโฟไลด์ (andrographolide), นีโอแอนโดกราโฟไลด์ (neoandrographolide), ดีออกซีแอนโดกราโฟไลด์ (deoxyandrographolide), 14-ดีออกซี-11,12-ไดดีไฮโดรแอนโดรกราโฟไลด์ (14-deoxy-11,12-didehydroandrographolide) ซึ่งสารสำคัญเหล่านี้มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาแตกต่างกันไป         Wikipedia ให้ข้อมูลที่น่าสนใจประการหนึ่งว่า อนุพันธุ์หนึ่งของแอนโดรกราโฟไลด์ที่ได้จากการสังเคราะห์ในห้องปฏิบัติการชื่อ Xiyanping (ซิ-เหยีน-ผิง) ได้ถูกผลิตในประเทศจีนเพื่อใช้ในรูปยาฉีดเพื่อต่อต้านไวรัสหลายชนิดนั้น ให้ผลในลักษณะเดียวกับสารแอนโดรกราโฟไลด์ธรรมชาติ แต่อาจก่ออาการแพ้ได้ เช่น มีผื่นแดงและตุ่มคันรอบ ๆ บริเวณที่ฉีด ตลอดไปจนถึงก่อให้เกิดปฏิกิริยาแพ้อย่างรุนแรง  จนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตและที่น่ากังวลคือ พบว่าซิเหยีนผิงทำให้สัตว์ทดลองแท้งลูก ดังนั้นจึงไม่เหมาะสำหรับการใช้ในสตรีมีครรภ์ ซึ่งข้อมูลจาก Wikipedia นี้เป็นการยืนยันถึงข้อห้ามการใช้สมุนไพรฟ้าทะลายโจรในหญิงมีครรภ์ดังกล่าวข้างต้น         ข้อมูลเกี่ยวกับฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของฟ้าทะลายโจรนั้นมีผลการศึกษาหลายเรื่อง ที่น่าสนใจ เช่น งานวิจัยจากประเทศอินเดียเรื่อง Immunostimulant Agents From Andrographis Paniculata ตีพิมพ์ใน Journal of Natural Products ของปี 1993 กล่าวว่า สารสกัดฟ้าทะลายโจรด้วยเอทานอล 95% สามารถกระตุ้นการสร้างแอนติบอดีเพื่อการตอบสนองต่อเซลล์เม็ดเลือดแดงแกะ (SRBC) ที่ฉีดเข้าสู่ร่างกายหนูอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และมีการกระตุ้นการตอบสนองของภูมิคุ้มกันเป็นแบบไม่เฉพาะเจาะจง (nonspecific immune response) กล่าวคือ เมื่อดูการเพิ่มจำนวนเซลล์แมคโครฟาจและการเพิ่มจำนวนของเซลล์เม็ดเลือดขาวในม้ามนั้น ปรากฏผลว่า สารสกัดฟ้าทะลายโจรสามารถกระตุ้นกระตุ้นการเพิ่มเซลล์ดังกล่าวในลักษณะเดียวกันของแอนโดรกราโฟไลด์บริสุทธิ์ (เมื่อปรับปริมาณแอนโดรกราโฟไลด์ให้เท่ากัน) เพียงแต่ผลจากสารสกัดนั้นสูงกว่าซึ่งชี้ให้เห็นว่า สารธรรมชาติอื่นที่ไม่ใช่แอนโดรกราโฟไลด์ที่มีอยู่ในสารสกัดอาจมีส่วนในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันด้วย         ในการศึกษาเพื่อดูว่าองค์ประกอบใดในฟ้าทะลายโจรที่ควรนำไปพัฒนาเป็นยาต้านการรุกรานของไวรัสที่ก่อโรค covid-19 นั้นบทความเรื่อง Computational investigation on Andrographis paniculata phytochemicals to evaluate their potency against SARS-CoV-2 in comparison to known antiviral compounds in drug trials ในวารสาร Journal of Biomolecular Structure and Dynamics ของปี 2020 ได้ศึกษาโดยใช้รูปแบบจำลองทางคอมพิวเตอร์ดูความสามารถของสารพฤกษเคมี 4 ชนิด ซึ่งพบได้ในฟ้าทะลายโจร ได้แก่ andrographolide, 14-deoxy 11,12-didehydro andrographolide, neoandrographolide และ 14-deoxy andrographolide ในการเข้าจับกับเป้าหมายหลักซึ่งเป็นโปรตีน 4 ชนิดของไวรัสซึ่ง สองชนิดเป็นเอ็นซัมโปรตีเอส หนึ่งชนิดคือเอ็นซัม RNA-direct RNA polymerase (เอ็นซัมสำคัญในการเพิ่มปริมาณองค์ประกอบของ SARS-CoV-2) และหนามโปรตีน (spike protein) ของไวรัส ซึ่งข้อมูลจากการศึกษาในภาพรวมชี้ให้เห็นว่า neoandrographolide น่าจะถูกใช้เป็นยาสำหรับการบำบัดการติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศกำลังพัฒนา เพราะมีผลในการจับรูปแบบโปรตีนของไวรัสดีที่สุด         ในการทบทวนเอกสารเกี่ยวกับสารธรรมชาติที่น่าจะมีฤทธิ์ในการต้านเชื้อไวรัสก่อ covid-19 นั้น มีบทความเรื่อง Combating COVID-19: The role of drug repurposing and medicinal plants ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Infection and Public Health ของปี 2021ให้ข้อมูลว่า แอนโดรกราโฟไลด์ในฟ้าทะลายโจรนั้นมีฤทธิ์ต้านการอักเสบและเป็นสารต้านไวรัสแบบไม่จำกัด (broad spectrum) โดยยับยั้งเชื้อไวรัส Influenza A virus (H9N2, H5N1 และ H1N1), ไวรัส Hepatitis B และ C, ไวรัส Herpes simplex, ไวรัส Epstein–Barr, ไวรัส Human papilloma, ไวรัส HIV และไวรัส Chikungunya         ส่วนในกรณีของการต้านไวรัส SARS-CoV-2 นั้นมีรายงานผลการวิจัยที่เป็นความร่วมมือของหลายคณะในมหาวิทยาลัยมหิดลและโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ตีพิมพ์ในวารสาร bioRxiv เมื่อ 8 ธันวาคม 2020 เรื่อง Anti-SARS-CoV- 2 activity of Andrographis paniculata extract and its major component Andrographolide in human lung epithelial cells and cytotoxicity evaluation in major organ cell representatives ที่ให้ข้อมูลว่า ทั้งสารสกัดฟ้าทะลายโจรด้วยเอทานอล 95% หรือแอนโดรกราโฟไลด์บริสุทธิ์นั้นสามารถยับยั้งการเจริญของไวรัส SARS-CoV-2 ในเซลล์ปอดมนุษย์ (Calu-3) ที่เลี้ยงในหลอดทดลอง ข้อควรรู้เกี่ยวกับยาฟ้าทะลายโจรที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำ  1) ห้ามใช้ยาฟ้าทะลายโจรในหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร2) ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการไข้เจ็บคอจากการติดเชื้อแบคทีเรีย มีตุ่มหนองในคอ มีไข้สูง หนาวสั่น3) ห้ามใช้ในผู้ที่เคยมีประวัติแพ้ฟ้าทะลายโจร หากไม่เคยมีประวัติแต่เมื่อใช้ยาแล้วมีอาการแพ้ เช่น เกิดผื่น ลมพิษ หน้าบวม ริมฝีปากบวม หายใจลำบาก ให้หยุดใช้ยาทันที4) ควรระวังในผู้ที่ใช้ยาที่มีผลต่อเลือดเช่น วาร์ฟาริน แอสไพริน โคลพิโดเกรล ยาลดความดันโลหิต เป็นต้น

อ่านเพิ่มเติม >