ฉบับที่ 174 กระแสต่างแดน

ยังไม่พร้อมความพร้อมในการอพยพผู้อยู่อาศัยในบริเวณรอบๆ โรงไฟฟ้าเซนได(ซึ่งคาดว่าจะกลับมาใช้งานได้ตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม) ยังคงต่ำกว่าระดับค่าเฉลี่ยของญี่ปุ่นทั้งประเทศการสำรวจโดยหนังสือพิมพ์อาซาฮีพบว่า มีสถานพยาบาล 2 แห่งจาก 85 แห่ง และศูนย์พักฟื้น 15 แห่ง จาก 159 แห่งในรัศมี  30 กิโลเมตรจากโรงไฟฟ้าดังกล่าวเท่านั้นที่เตรียมพร้อมแผนอพยพในกรณีฉุกเฉินถ้ารวมความพร้อมในเขตโรงงานนิวเคลียร์ทั้งประเทศจะพบว่า มีเพียงร้อยละ 34 เท่านั้นจัดทำแผนอพยพแล้ว ในปี 2012 รัฐบาลญี่ปุ่นขยายเขตการเตรียมตัวเมื่อเกิดภัยพิบัติ จากรัศมี 8 – 10 กิโลเมตรเป็น 30 กิโลเมตร และกำหนดให้สถานพยาบาลต่างๆ ระบุสถานที่พักสำหรับคนไข้ เส้นทางการอพยพ รูปแบบการเดินทางขนส่งที่จะใช้ เพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้าในการอพยพผู้ป่วยและชาวบ้านเหมือนเหตุการณ์ที่เมืองฟุกุชิมะนอกจากนี้ยังกำหนดให้เมืองและหมู่บ้าน 135 แห่งในรัศมี 30 กิโลเมตรของโรงไฟฟ้าทุกโรง รวบรวมรายชื่อผู้ที่ไม่สามารถอพยพด้วยตนเองได้เอาไว้ด้วย แต่การสำรวจพบว่า 1 ใน 4 ของหมู่บ้านเหล่านี้ยังไม่ได้ทำ ปัจจุบันเตาปฏิกรณ์ปรมาณูทุกตัวในญี่ปุ่นถูกพักงาน แต่บริษัทคิวชู อิเล็กทริก พาวเวอร์ กำลังผลักดันให้เซนไดเป็นโรงงานแรกที่เริ่มใช้งานเตาดังกล่าวอีกครั้ง ภายใต้มาตรการความปลอดภัยที่เข้มงวดขึ้น และในอนาคตอัน โรงไฟฟ้าทากาฮามาและโรงไฟฟ้าอิคาตะก็จะเริ่มเดินเครื่องเตาเหล่านี้เช่นกัน   ระวัง “ของนอก” อาหารปลอมจากจีนระบาดไปหลายประเทศ จึงไม่แปลกที่เราจะได้ยินข่าวว่าคนจีนก็ไม่ไว้ใจอาหารในประเทศตัวเองผู้ประกอบการหลายเจ้าจึงไม่ยอมพลาดโอกาสจัดหาสินค้าแบรนด์นอกเข้ามาสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการอาหาร “ปลอดภัยและมีคุณภาพ”  นมผงสำหรับทารกเป็นหนึ่งในสินค้าที่ว่า บรรดาผู้ผลิตนมผงยี่ห้อที่ได้รับความน่าเชื่อถือในต่างประเทศต้องกำหนดโควตาการส่งออกไปยังประเทศจีน เพื่อไม่ให้เกิดการขาดแคลนในประเทศตัวเอง แม้แต่นักท่องเที่ยวที่ถือโอกาสไปหิ้วมาด้วยตนเองก็เริ่มพบอุปสรรค เพราะต้นทางเขาจำกัดจำนวนซื้อ (ฮ่องกงอนุญาตให้นักท่องเที่ยวจีนซื้อได้คนละ 2 กระป๋อง ออสเตรเลียให้ซื้อได้คนละ 4 กระป๋อง) โอกาสใหม่สำหรับพ่อค้าหัวใสจึงบังเกิด เขาเอาใจผู้นิยมของนอกด้วยการ “จ้าง” โรงงานในประเทศที่มีชื่อเสียงด้านผลิตภัณฑ์นม อย่างออสเตรเลีย เป็นผู้ผลิตให้ บนกระป๋องมีฉลากที่ระบุว่า “มาจากออสเตรเลีย” และ “ได้รับการรับรองโดยหน่วยงานที่ดูแลผลิตภัณฑ์นมของออสเตรเลีย” แล้วขายออนไลน์ในราคาถูกจนไม่น่าเชื่อขนาดรวมค่าจัดส่งแล้ว นมผงกระป๋องขนาด 1,800 กรัม ราคาประมาณ 600 บาทเท่านั้นมันเป็นสินค้า “จากออสเตรเลีย” ที่คุณหาซื้อไม่ได้ในออสเตรเลียแน่ๆ แล้วก็ได้แต่สงสัยว่ามัน “ผลิตในออสเตรเลีย” จริงหรือเปล่า  อยากรู้ ต้องได้รู้กฎหมายที่กำหนดให้ไม่ต้องมีการติดฉลากอาหารที่มีส่วนประกอบผ่านการดัดแปรพันธุกรรม หรือ  Safe and Accurate Food Labeling Act กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาโดยวุฒิสภาอเมริกันเร็วๆ นี้ร่างกฎหมายนี้มีคนตั้งชื่อให้ว่า DARK Act หรือ Denying Americans the Right–to-Know Act เพื่อประชดที่กฎหมายดังกล่าวละเมิดสิทธิที่ผู้บริโภคจะได้รู้ว่ามีอะไรอยู่ในอาหารที่พวกเขารับประทาน Just Label It หนึ่งในองค์กรที่คัดค้านร่างกฎหมายดังกล่าวระบุว่า ร้อยละ 90 ของคนที่พวกเขาสอบถาม เห็นด้วยกับการติดฉลาก และยังมีอีกกว่า 200,000 คนที่ลงชื่อออนไลน์ว่าไม่เห็นด้วยกับ “พรบ. มืด” ดังกล่าว ดาราสาวกวินเน็ธ พาลโทรว์ ก็เป็นหนึ่งในนั้น เธอมาร่วมประท้วงในฐานะคุณแม่ที่ต้องการให้ลูกๆได้สิ่งที่ดีและสมควรได้รู้ว่าเธอกำลังให้พวกเขารับประทานอะไร  คุณแม่ของเธอก็มาด้วยเพราะเชื่อว่ายังมีเรื่องที่ต้องพิสูจน์อีกมากเกี่ยวกับความปลอดภัยของอาหารดัดแปรพันธุกรรม ด้านอุตสาหกรรมอาหารอ้างว่า การติดฉลากจะทำให้ผู้บริโภคสับสน แถมยังต้องจ่ายเงินมากขึ้นถึงปีละ 500 เหรียญ (17,500 บาท) ต่อครัวเรือน แถมยังแขวะดาราสาวว่าหาเรื่องเกาะกระแสแก้ตกเทรนด์หรือเปล่า    ปัจจุบัน จีน บราซิล รัสเซีย ออสเตรเลีย ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป และประเทศอื่นๆ รวม 64 ประเทศ มีกฎหมายบังคับการติดฉลากระบุว่ามีส่วนผสมที่ผ่านการดัดแปรพันธุกรรมแล้ว    โดนเรียกคุยหลังจากชาวเน็ตในสิงคโปร์พากันแชร์รูปพนักงานร้าน BreadTalk เทนมถั่วเหลืองยี่ห้อ Yeo’s ลงในขวดแบ่งของทางร้าน ที่ติดฉลากว่า “freshly prepared” (ซึ่งทำให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าทางร้านทำเองทุกวัน)ทางร้านออกมาขอโทษและหยุดขายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแล้ว BreadTalk ยอมรับว่าเขาแบ่งนมถั่วเหลืองพาสเจอไรส์ยี่ห้อเย่วอี้มาใส่ขวดขายในร้านจริง ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติที่ร้านอาหารนิยมทำ(แต่ร้านอื่นเขาไม่ได้ติดฉลากที่ว่านะคุณ)ร้านให้เหตุผลว่าปกติแล้วขวดเหล่านั้นเป็นขวดสำหรับใส่น้ำผลไม้คั้นสด ไม่ได้ใช้สำหรับนมถั่วเหลือง และจะดูแลไม่ให้เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นอีก  แต่นั่นยังไม่เพียงพอ สมาคมผู้บริโภคแห่งสิงคโปร์ CASE – Consumers Association of Singapore บอกว่าการกระทำดังกล่าวถือเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ และเรียกร้านขนมปังเจ้าดังสัญชาติสิงคโปร์ (ซึ่งมีสาขาอยู่ในบ้านเราด้วย) เข้ามาพูดคุยปรับความเข้าใจเนื่องจากฉลากทำให้เข้าใจได้ว่าทางร้านเป็นผู้ผลิตนมถั่วเหลืองเองทุกวัน ซึ่งสอดคล้องกับการมีราคาสูงกว่านมถั่วเหลืองที่เทจากกล่อง ผู้บริโภคจึงมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากการกระทำดังกล่าวได้   บอลลิวูดลดโลกร้อนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ก็ไม่ต่างจากอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ใช้พลังงานมหาศาลและสร้างผลกระทบมากมายต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางของทีมงาน นักแสดง การใช้แสง สี เสียง และเอฟเฟคต่างๆ รวมถึงอาหารการกิน ไหนจะวัสดุต่างๆที่นำมาสร้างฉากอีก ทั้งหมดนี้ล้วนทำให้เกิด “รอยเท้าคาร์บอน” ภาพยนตร์เรื่อง “Aisa Yeh Jahaan” เป็นภาพยนตร์อินเดียเรื่องแรกที่มีการบันทึกข้อมูลรอยเท้าคาร์บอน การถ่ายทำภาพยนตร์ดรามาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเรื่องนี้ สร้างคาร์บอนไดออกไซด์ 78.47 ตัน คิดจากการใช้พลังงานทั้งทางตรง (ไฟฟ้าที่ใช้) และทางอ้อม (อาหาร การเดินทาง ฯลฯ)  เพื่อเป็นการชดเชยมลพิษที่สร้างขึ้น ผู้สร้างต้องปลูกต้นไม้ทั้งหมด 560 ต้น แนวทางการวัดและจัดการร้อยเท้าคาร์บอนสำหรับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ถูกกำหนดขึ้นโดยสมาคมผู้ผลิตภาพยนตร์ BAFTA ของอังกฤษ และ PGA ของอเมริกา ที่ผ่านมาพบว่าหนังค่ายเล็กๆ จะสร้างคาร์บอนฯประมาณ 100 ตัน แต่ถ้าเป็นหนังฟอร์มยักษ์ ก็อาจสร้างคาร์บอนฯ ได้มากถึง 10,000 ตันอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของลอนดอนเจ้าเดียวก็ทำให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 125,000 ตัน ต่อปี (เทียบเท่ากับปริมาณจากบ้าน 24,000 หลังเลยทีเดียว)  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 157 กระแสต่างแดน

รถยนต์ความเสี่ยงสูง ข่าวนี้สร้างความสั่นสะเทือนให้อุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ขนาดเล็กในอินเดียไม่น้อย เมื่อองค์กรทดสอบรถยนต์ Global NCAP ได้ทดสอบความปลอดภัยของรถยนต์นั่งขนาดเล็กที่ผลิตและจำหน่ายในอินเดียจำนวน 5 รุ่น และพบว่าระดับคะแนนความปลอดภัยของทุกรุ่นเท่ากับ ... 0 ดาว (จากคะแนนเต็ม 5 ดาว) เขาทดสอบด้วยการชนด้านหน้า ที่ความเร็ว 64 กิโลเมตร/ชั่วโมง โดยรถรุ่นพื้นฐาน (ซึ่งไม่มีการติดตั้งถุงลมนิรภัย) เขาพบว่าโครงสร้างของ Suzuki Maruti Alto 800 / Tata Nano และ Hyundai i10 มีความปลอดภัยต่ำเสียจนกระทั่งแม้จะมีถุงลมนิรภัยก็ไม่สามารถช่วยป้องกันการบาดเจ็บสาหัสจากการชนได้ ส่วนอีก 2 รุ่นคือ Ford Figo และ Volkswagen Polo นั้น ยังพอทำเนาตรงที่มีโครงสร้างแข็งแรงกว่า และการติดตั้งถุงลมนิรภัยก็จะช่วยให้ปลอดภัยขึ้นได้ (หลังการทดสอบครั้งนี้ Volkswagen ประกาศเลิกขายรุ่นที่ไม่ทีถุงลมนิรภัย) Max Mosley ประธาน Global NCAP กล่าวว่าขณะนี้ระบบความปลอดภัยของรถยนต์อินเดียยังล้าหลังยุโรปหรืออเมริกาอยู่ถึง 20 ปี อีกครั้งที่ประชากรของประเทศที่สามารถผลิตรถยนต์ที่ผ่านมาตรฐานความปลอดภัยเพื่อส่งออกไปขายทั่วโลก กลับต้องขับรถยนต์ตกมาตรฐานอยู่ในบ้านตัวเอง ปีที่ผ่านมา รถยอดนิยมทั้ง 5 รุ่นมียอดขายรวมกันเป็นร้อยละ 20 ของยอดขายรถยนต์ทั้งหมดในอินเดีย     เลือกกินไม่ได้ ข้อมูลจากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุว่าความหลากหลายของการปลูกพืชเพื่อใช้เป็นอาหารในช่วงศตวรรษที่ 20 ลดลงไปถึงร้อยละ 75 และยิ่งไปกว่านั้น 1ใน 3 ของความหลากหลายที่เหลืออยู่ ณ วันนี้อาจจะหายไปภายในปี 2050 ด้วย ในรอบ 50 ปีที่ผ่านมาอาหารการกินของผู้คนในโลกเปลี่ยนไป และโลกาภิวัฒน์ด้านอาหารก็ทำให้ผู้คนที่อยู่ต่างถิ่นกันบริโภคอาหารที่เหมือนกันมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งพืชที่ให้พลังงานสูงอย่าง ข้าว มันฝรั่ง อ้อย และข้าวสาลี (อย่างหลังนี้เป็นหนึ่งในอาหารหลักในร้อยละ 97 ของประเทศทั่วโลก)  และพืชที่ไม่เคยมีความสำคัญเลยเมื่อ 50 ปีก่อนก็กลับมีความสำคัญขึ้น โดยเฉพาะพืชที่ปลูกเพื่อสกัดน้ำมันเช่น ถั่วเหลือง ซึ่งเป็นส่วนผสมสำคัญในอาหารใน 3 ใน 4 ของประเทศต่างๆ ทั่วโลก แม้พืชเหล่านี้จะช่วยบรรเทาความหิวโหยของประชากรโลกได้ แต่การบริโภคพืชที่ให้พลังงานสูงเป็นหลักก็เป็นสาเหตุของอัตราการเกิดโรคไม่ติดต่อเช่นโรคหัวใจหรือโรคเบาหวานด้วยเช่นกัน นี่ยังไม่นับว่าการปลูกพืชเชิงเดี่ยวนั้นเสี่ยงต่อความแห้งแล้ง แมลงศัตรูพืช และโรคต่างๆ ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นเมื่อสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลง และพันธุ์พืชบางชนิดยังถูกครอบครองโดยบรรษัทข้ามชาติเพียงไม่กี่ราย ซึ่งนิยมลงทุนในพืชเพียงไม่กี่สายพันธุ์อีกด้วย ทางเลือกในการกินของเราจึงถูกจำกัดด้วยประการฉะนี้     “มีฉลากก็ไม่ช่วย” ภายใต้กฎหมาย Affordable Care Act ของอเมริกานั้น ผู้ประกอบการตู้ขายอาหารอัตโนมัติหยอดเหรียญจะต้องติดฉลากโภชนาการแสดงปริมาณแคลอรี่ ไว้ในบริเวณใกล้ๆ กับจุดที่วางอาหาร(ขนมหวาน ของขบเคี้ยว น้ำอัดลม) กฎหมายที่จะมีผลภายในหนึ่งปีนี้มีผลกระทบต่อผู้ประกอบการที่มีตู้ขายอาหารอัตโนมัติตั้งแต่ 20 ตู้ขึ้นไป(ข่าวบอกว่ามีประมาณ 10,800 ราย) ร้านอาหารที่มีสาขามากกว่า 20 สาขาขึ้นไป ร้านสะดวกซื้อ และร้านขายของชำด้วย แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านโยบายจาก Heritage Foundation บอกว่าที่ผ่านมานั้นชัดเจนแล้วว่าฉลากเปลี่ยนพฤติกรรมของคนอเมริกันไม่ได้ เขาว่ารัฐบาลอาจมาผิดทาง เพราะปัญหาคือประชาชนยังไม่สามารถตัดสินใจเลือกซื้ออาหารอย่างถูกต้อง จึงควรให้ความรู้เรื่องแคลอรี่ในอาหารกับผู้บริโภคเสียก่อน เพื่อให้ผู้บริโภคอยากควบคุมปริมาณแคลอรี่ด้วยตนเอง ด้านผู้ประกอบการ(ซึ่งกว่าร้อยละ 75 เป็นรายย่อยที่มีลูกจ้างไม่เกิน 3 คน) บอกว่าเรื่องนี้มีค่าใช้จ่ายมากโขอยู่ บริษัทขนาดเล็กจะมีค่าใช้ประมาณ 2,400 เหรียญในปีแรก และ 2,200 เหรียญในปีต่อๆ ไป และเงินที่ลงไปก็ไม่ได้สร้างผลตอบแทนทางธุรกิจด้วย อัตราส่วนประชากรต่อตู้ขายอาหารอัตโนมัติของอเมริกาอยู่ที่ 40 คนต่อ 1 ตู้ และร้อยละ 5 ของเงินที่คนอเมริกันใช้จ่ายนอกบ้านเป็นการใช้จ่ายกับตู้เหล่านี้    มันช่างน่าอิจฉายิ่งนัก นอกจากเนเธอร์แลนด์จะมีนายกอินดี้ที่ขี่จักรยานไปทำงาน (ขออภัยพี่น้องประชาชนที่ต้องการหาเลขเด็ดเพราะจักรยานเขาไม่มีหมายเลขทะเบียน) องค์กรผู้บริโภคของเขาก็ยังเปรี้ยวไม่แพ้กันอีกด้วย Netherlands Authority for Consumers and Markets หรือ ACM บอกว่าปีที่ผ่านมาเขาสามารถช่วยชาวบ้านประหยัดเงินได้ถึง 300 ยูโร (13,400 บาท) ต่อครัวเรือนเลยทีเดียว รวมๆ แล้วการทำงานของ ช่วยลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นของผู้บริโภคลงได้มากกว่า 1,850 ล้านยูโร (80,000 ล้านบาท) จากค่าแก๊ส ไฟฟ้า ค่าบริการโทรศัพท์ หรืออินเตอร์เน็ต ถ้าเป็นวงดนตรีก็ต้องเรียกว่าเป็น “ซูเปอร์กรุ๊ป” เพราะเป็นการรวมตัวของ 3 องค์กรที่ดูแลผู้บริโภค เหมือนการรวม สคบ. เข้ากับ กสทช. และคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เข้าด้วยกัน ล่าสุด ACM ขู่จะเข้าไปตรวจสอบเรื่องร้องเรียนจากร้านค้าปลีกว่ามาสเตอร์การ์ดเก็บค่าธรรมเนียมจากพวกเขาแพงเกินไป แต่ยังไม่ทันลงมือ มาสเตอร์การ์ดก็ยอมปรับลดค่าธรรมเนียมลงจากปัจจุบันที่ร้อยละ 0.9 เหลือ 0.7 ในเดือนมิถุนายนและลดลงไปเรื่อยๆ จนเหลือร้อยละ 0.3 ในเดือนมกราคมปี 2016 แน่นอนจริงๆ แค่เงื้อก็ได้ผลแล้ว หมายเหตุ : เรื่องร้องเรียน 3 อันดับต้นของผู้บริโภคชาวดัทช์ได้แก่ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน บริการโทรคมนาคม(ซึ่งปีนี้ถูกเบียดตกมาอยู่อันดับสอง) และบริการขนส่งและการท่องเที่ยว   ฟินแลนด์ ไม่น่าเชื่อว่าประเทศฟินแลนด์จะยังไม่มีข้อกำหนดเรื่องเงื่อนไขการจ้างงานในฟิตเนส จนทำให้บรรดาครูฝึกต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดแบบใครตัวมัน แม้จะไม่มีองค์กรด้านวิชาชีพนี้อย่างจริงจัง แต่ ERTO องค์กรด้านแรงงานก็เคยเสนอค่าจ้างที่เหมาะสมสำหรับงานครูผู้ฝึกสอนในฟิตเนสไว้ที่ชั่วโมงละ 29.90 ยูโร (1,300 บาท) ในเมืองหลวง และ 26.10 ยูโร(1,165 บาท) ในพื้นที่อื่นๆ แต่ไม่มีใครจ่ายอัตราที่ว่าเลย ผู้ประกอบการฟิตเนสบางรายจ่ายค่าจ้างพื้นฐานต่ำกว่า 5 ยูโร แล้วให้ค่าหัวตามจำนวนผู้เรียนในคลาสหัวละ 50 เซนต์ (ถ้าครูฝึกสอนคลาสละ 10 คน ก็จะได้ค่าจ้างรวมชั่วโมงละ 10 ยูโรเท่านั้น)  ส่วนบางแห่งก็จ่ายเพียงชั่วโมงละ 20 ยูโร ให้กับครูฝึกที่มีประสบการณ์การสอนมากกว่า 10 ปี การปริปากบ่นก็ไม่ใช่ทางเลือก เพราะเจ้าของฟิตเนสพร้อมที่จะหาครูหน้าใหม่ไร้ประสบการณ์เข้ามาแทนที่อยู่เสมอ หรือไม่ก็อาจถูกย้ายช่วงเวลาสอนไปอยู่ในช่วงที่ไม่ค่อยมีคนมาใช้บริการ นอกจากนี้ยังจ่าย “โบนัสวันอาทิตย์” น้อยกว่าที่ควรด้วย ปกติแล้วโบนัสนี้ต้องจ่ายตามค่าแรงรายชั่วโมง แต่ผู้ประกอบการหัวใสกลับแจ้งค่าจ้างรายชั่วโมงต่ำกว่าที่จ่ายจริง เช่นในจำนวน 30 ยูโรที่จ่ายนั้น มีเพียง 10 ยูโรที่แจ้งเป็นค่าแรง ที่เหลือกลับเรียกว่าเงินที่ชดเชยให้สำหรับเวลาที่ใช้เตรียมสอน เป็นต้น   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 154 กระแสต่างแดน

เครื่องดื่มบำรุงคลัง สภาล่างของฝรั่งเศสผ่านกฎหมายรับรองการเก็บภาษี “เครื่องดื่มบำรุงกำลัง” ด้วยเหตุผลว่าผลิตภัณฑ์ที่มีคาเฟอีนสูงอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพเด็กและเยาวชน เพราะมันส่งต่อการเต้นของหัวใจและความดันเลือด ถ้ากฎหมายนี้ผ่านการรับรองของวุฒิสภา รัฐบาลฝรั่งเศสจะมีรายได้เพิ่มขึ้นปีละ 60 ล้านยูโร(ประมาณ 2,647 ล้านบาท) จากการเก็บภาษีในอัตรา 1 ยูโร(44 บาท) ต่อเครื่องดื่มบำรุงกำลัง 1 ลิตร ฝรั่งเศสซึ่งเก็บภาษีจากเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูงมาได้สองปีแล้ว เพิ่งจะมีผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มบำรุงกำลังเข้ามาทำตลาดอย่างจริงจังได้เพียง 5 ปีเท่านั้น แต่ด้วยการเป็นสปอนเซอร์ให้กับกิจกรรมกีฬาต่างๆ และการทำตลาดทางโซเชียลมีเดีย เครื่องดื่มดังกล่าวก็เป็นที่นิยมอย่างมากในหมู่วัยรุ่น ทั้งในผับ คอนเสิร์ต และสถานที่ออกกำลังกายต่างๆ   ข่าวบอกว่ามีชาวฝรั่งเศสที่เป็นลูกค้าเครื่องดื่มชนิดนี้อยู่ประมาณ 9 ล้านคน และ 1 ใน 4 ของคนกลุ่มนี้อายุระหว่าง 14 – 25 ปี ก่อนหน้านี้องค์การอาหารและยาฝรั่งเศสได้ออกคำแนะนำให้เด็กและวัยรุ่นหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มเรดบูล มอนสเตอร์ เบิร์น และ ร็อคสตาร์ และเตือนว่าไม่ควรดื่มพร้อมกับแอลกอฮอล์ หรือดื่มหลังการออกกำลังกาย ถ่ายมากลืมหมด งานวิจัยเขาพบว่าการถ่ายภาพเก็บทุกรายละเอียดในช่วงเวลาดีๆ อย่างวันเกิด วันรับปริญญา วันแต่งงาน ฯลฯ มันจะทำให้เราจดจำเรื่องราวในวันนั้นได้น้อยลง ดร. ลินดา เฮนเคล จากมหาวิทยาลัยแฟร์ฟิลด์ ที่ทำการวิจัยครั้งนี้บอกว่า การที่เราวุ่นวายกดชัตเตอร์อยู่นั้น เราจะประสบการณ์ร่วมกับเหตุการณ์ตรงหน้าน้อยลง และนั่นทำให้เราจำรายละเอียดของช่วงเวลาพิเศษนั้นไม่ได้ดีเท่าที่ควร ข้อสรุปนี้เขาได้จากการทดลองพานักศึกษากลุ่มหนึ่งเดินชมภาพที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งหนึ่งพร้อมฟังการบรรยาย เขาบอกให้นักศึกษาจดจำรายละเอียดของภาพต่างๆ ให้ได้ ใครอยากจะถ่ายรูปเก็บไว้ด้วยก็ไม่ว่ากัน เช้าวันต่อมามีการทดสอบความจำ ปรากฏว่านักศึกษาที่ดูภาพอย่างเดียว กลับจำรายละเอียดของภาพได้ดีกว่าคนที่ใช้กล้องบันทึกภาพไว้ แล้วสิ่งที่อยู่ในภาพถ่าย มีผลต่อความจำของเราหรือไม่? ดร. เฮนเคลบอกว่า มันขึ้นอยู่กับว่าตอนถ่ายรูปนั้นคุณตั้งใจสำรวจวัตถุและพื้นหลังในขณะนั้นจริงๆ หรือไม่ เพราะงานสำรวจอีกชิ้นของเธอพบว่า การ “ถ่ายเจาะ” ไปที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้นจะทำให้เราจดจำมันได้ดีขึ้น ไม่ใช่เฉพาะสิ่งที่เราถ่ายเจาะมาเท่านั้น แต่เราจะจำได้ว่าเรากันอะไรออกไปนอกเฟรมด้วย   ภาระผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุชาวจีนคงจะไม่สามารถเปิดกรุเงินเก็บมาใช้เที่ยวต่างประเทศ หรือทำกิจกรรมใดๆ ที่ใช้เงินมากได้ เพราะยังคงมีภาระต้อง “เลี้ยง” ลูก ลี ชวน ในวัย 57 ยังต้องช่วยลูกชายจ่ายค่าผ่อนบ้าน ทั้งๆ ที่ลูกชายของเขาก็มีรายได้ประมาณ 30,000 – 45,000 บาทต่อเดือนแล้วเชียว(ลืมบอกไปว่าลูกชายเขาเพิ่งจะแต่งงาน และต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่างๆ รวมถึงค่าน้ำค่าไฟ และอื่นๆ เพราะอยู่ในเมืองที่ ค่าบ้านแพงกว่ารายได้เฉลี่ยต่อปีของครัวเรือนถึง 28 เท่า) ผู้สูงวัยเหล่านี้อยากให้ลูกหลานมีชีวิตที่ดี จึงยินดีให้เงินช่วยเหลือ ถ้าไม่มีเงินก็จะใช้วิธีเปิดบ้านให้ลูกและครอบครัวย้ายเข้ามาอยู่เป็นการประหยัดรายจ่าย การสำรวจโดยบริษัทประกัน HSBC Life Insurance ระบุว่าร้อยละ 76 ของชาวจีน จะยังต้องให้เงินสนับสนุนลูกหลานเมื่อตัวเองเข้าสู่วัยเกษียน งานสำรวจครั้งในทำกับกลุ่มตัวอย่างขนาด 16,000 คน ใน 15 ประเทศ มีคนจีนเข้าร่วมการสำรวจ 1,000 คน งานสำรวจนี้พบว่า ร้อยละ 40 ของคนจีนวัยเกษียนยังคงต้องอุปการะลูก ร้อยละ 28 ยังต้องเลี้ยงพ่อแม่ และร้อยละ 9 ยังต้องรับผิดชอบเลี้ยงหลาน เฮ้อ! รวมๆ แล้วเงินเก็บเพื่อความสุขส่วนตัวของผู้สูงอายุเหลือน้อยลง แถมยังต้องทำงานหาเงินหลังวัยเกษียนอีกด้วย   แผนปรองดอง หลังจากพยายามหาทางออกกันมากว่า 20 ปี ในที่สุดอิสราเอล จอร์แดน ปาเลสไตน์ ก็ตกลงกันได้ ... เรากำลังพูดถึงข้อตกลงเรื่องโครงการนำน้ำจากทะเลแดงมาใช้ ข่าวบอกว่าโครงการที่ไปเซ็นสัญญาที่ธนาคารโลก สาขาใหญ่ในกรุงวอชิงตันนี้มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 240 ล้านเหรียญ(7,700 ล้านบาท) ตามแผนแล้วเขาจะสร้างโรงบำบัดน้ำที่เมืองอคาบา ในจอร์แดน เพื่อเปลี่ยนน้ำเค็มจากทะเลแดงให้เป็นน้ำจืดเพื่อรองรับชุมชนทางตอนใต้ของอิสราเอลและจอร์แดน สองประเทศนี้จะได้น้ำไปใช้กันคนละ 8,000 – 13,000 ล้านลูกบาศก์แกลลอนต่อปี ส่วนน้ำเกลือที่เป็น “น้ำเสีย” จากการผลิตจะถูกส่งผ่านท่อในจอร์แดนขึ้นเหนือไปประมาณ 100 ไมล์ เพื่อปล่อยลงในทะเลสาบเดดซี นั่นหมายความว่าต้องมีการจับตาดูการบริหารจัดการน้ำเค็มนี้ให้ดี ไม่อย่างนั้นทะเลสาบเดดซีจะกลายเป็นทะเลสาบมรณะไปจริงๆ นอกจากนี้อิสราเอลจะต้องส่งน้ำจืด 13,000 พันล้านแกลลอน จากทะเลกาลิลีทางตอนเหนือของประเทศ ให้กับอัมมานเมืองหลวงของจอร์แดน และปาเลสไตน์ก็คาดหวังว่าจะสามารถซื้อน้ำได้อีก 8,000 ล้านลูกบาศก์แกลลอนจากอิสราเอลในราคาพิเศษด้วย ที่มาของข้อตกลงนี้คือการพยายามแก้ปัญหาหลักๆ สองประการคือ 1) การขาดแคลนน้ำจืด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจอร์แดน และ 2) การลดลงของระดับน้ำในทะเลสาบเดดซีปีละกว่า 3 ฟุต เพราะน้ำส่วนใหญ่ในแม่น้ำจอร์แดน ถูกเบี่ยงเส้นทางออกไปยังชุมชนและไร่นาในอิสราเอล จอร์แดน และซีเรีย จึงทำให้แทบไม่มีน้ำไหลเขามาในทะเลสาบ แถมยังมีอุตสาหกรรมโปแตช สองฝั่งทะเลสาบอีกด้วย   ศึกคุ้มครองผู้บริโภค ที่เมียนมาร์ไม่ได้มีแค่ศึกซีเกมส์ เขายังมีแมทช์องค์การอาหารและยา ปะทะ สมาคมคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้ลุ้นกัน ด้าน อย. นั้นเตรียมจะฟ้องสมาคมฯ โทษฐานแอบอ้างอำนาจของกระทรวงสาธารณสุขในการออกตรวจแผงขายอาหาร ส่วนสมาคมฯ ก็ขู่จะฟ้อง อย. ที่พยายามลดความน่าเชื่อถือของสมาคมฯ ซึ่งเพิ่งจะได้รับการก่อตั้งเมื่อปีที่แล้วให้มาช่วย อย.ทำงานด้านอาหารปลอดภัยและอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่สองหน่วยงานนี้ไฝ่ว์กัน ล่าสุดเมื่อมีสายมารายงานว่ามีการใช้ปุ๋ยเคมีในการผลิตกะปิจากปลา เพื่อช่วยย่นระยะเวลาการหมัก(ซึ่งปกติจะนานถึง 12 เดือน) จึงมีการเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์มาทดสอบ ผลปรากฏว่าห้องแล็บของอย. พบยูเรียในผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจำนวน 3 ตัวอย่าง แต่อย. ไม่ยอมเปิดเผยปริมาณที่พบ เพียงแต่แถลงข่าวว่าพบในปริมาณปกติทั่วไป ส่วนสมาคมฯ นั้นตีพิมพ์ผลทดสอบทั้งหมด ให้รู้กันไป จึงสร้างความหงุดหงิดใจให้กับ อย.และบรรดาผู้ประกอบการ ที่อ้างว่ายอดขายกะปิปลาของเขาลดลงทั้งๆ ที่เขาได้รับการรับรองความปลอดภัยจาก อย.แล้ว หมัดเด็ดอยู่ตรงที่ สมาคมฯ ประกาศว่าจะเปิดห้องปฏิบัติการของตัวเองเพื่อทดสอบอาหาร เพราะรู้สึกไม่เชื่อในผลการทดสอบจากอย. แล้ว   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 140 กระแสต่างแดน

ได้เวลาตัดสัญญาณ ปัจจุบันประเทศเคนยามีผู้ใช้มือถืออยู่ประมาณ 29 ล้านคน แต่มือถือที่ชาวบ้านร้านตลาดถือกันอยู่นั้น มีไม่น้อยที่เป็น “เครื่องปลอม” หรือเครื่องที่หมายเลขอีมี่ไม่ปรากฏในฐานข้อมูลระหว่างประเทศ พูดง่ายๆ คือมือถือประเภทที่แอบหิ้วเข้ามาขายกันเองจากจีน ไนจีเรีย หรือ อัฟริกาใต้นั่นแหละ รัฐบาลเคนยาตัดสินใจเด็ดขาด ให้บรรดาผู้ประกอบการทั้ง 4 เจ้า ระงับการให้สัญญาณกับ ”เครื่องปลอม” ที่ว่านั้นทันทีหลังเที่ยงคืนวันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมา (ข่าวบอกว่าก่อนหน้านี้ รัฐบาลประกาศเลื่อนเวลาการตัดสัญญาณไปแล้ว 3 ครั้ง) รัฐบาลเขาบอกว่า “เครื่องปลอม” นั้นเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของชาติและของบุคคลทั่วไป เพราะโทรศัพท์พวกนี้ทำให้ประสิทธิภาพของเครือข่ายลดลง และยังอาจถูกนำไปใช้ในการก่ออาชญากรรมด้วย ผู้ประกอบแต่ละรายมีจำนวนผู้ได้รับผลกระทบแตกต่างกันไป ซาฟารีคอมมีลูกค้าได้รับผลกระทบถึง 670,000 คน ตามด้วยแอร์เทลเคนยา 100,000 คน เทเลคอมออเรนจ์ 20,000 คน และยูโมบายอีก 45,000 คน ทางออกของผู้บริโภคคือต้องไปซื้อเครื่องใหม่มาใช้ก่อนกำหนดตัดสัญญาณดังกล่าว   รวมๆ แล้ว มีเลขหมายที่ถูกตัดสัญญาณทั้งหมด 800,000 เลขหมาย (รวมซิมการ์ดแบบไม่จดทะเบียนด้วย) ทั้งนี้ กสทช. ของเคนยา บอกว่าจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการตัดสัญญาณให้กับผู้ประกอบการ แต่ไม่ได้บอกว่าผู้บริโภคจะได้รับการชดเชยอย่างไร หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า การที่โทรศัพท์ “ปลอม” สามารถผ่านชายแดนเข้ามาขายในประเทศได้ ก็เป็นความรับผิดชอบของรัฐเช่นกัน เพราะผู้บริโภคทั่วไปจะไปตรวจสอบหมายเลขอีมี่ของโทรศัพท์ด้วยตนเองได้อย่างไรกัน บอลจบ คนยังจบไม่ได้ ชาวฉลาดซื้อคงยังจำกันได้ว่าเมื่อ 2 ปีก่อน ทีมนักเตะจากสเปนได้ตำแหน่งแชมป์ฟุตบอลโลก (World Cup 2010) ไปครอง สำหรับพวกเราที่นี่พอได้รู้ว่าใครเป็นแชมป์ก็บ้านใครบ้านมัน แต่จนถึงวันนี้ มีผู้บริโภคชาวสเปนจำนวนไม่น้อยที่รู้สึกว่าเกมนี้ยังไม่จบ คนเหล่านี้คือผู้บริโภคที่ซื้อโน้ตบุ้ค และเครื่องรับโทรทัศน์ ยี่ห้อทอม ทอม และโตชิบา รุ่นที่โฆษณาในช่วงก่อนและขณะที่มีการแข่งขันฟุตบอลโลกที่ประเทศอัฟริกาใต้ว่า “ถ้าสเปนได้แชมป์ พวกเขาจะสามารถมาขอเงินคืนได้ทันที” ผ่านไปแล้ว 2 ปี บางคนก็ยังไม่ได้เงินคืน แต่ได้รับคำตอบจากบริษัททั้งสองแห่งว่า เป็นเพราะพวกเขาไม่ได้เข้าไปลงทะเบียนในเว็บไซต์หลังการซื้อ (แต่ข้อมูลดังกล่าวไม่ได้บอกไว้ชัดเจนในโฆษณา) องค์กรผู้บริโภค FACUA ของสเปนบอกว่าขณะนี้มีเรื่องร้องเรียนเข้ามาท่วมท้น และทีมกฎหมายขององค์กรก็กำลังเตรียมที่จะฟ้องบริษัทอยู่ เนื่องจากโฆษณาที่ว่านั้นเข้าข่ายทำให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจผิด ซึ่งเป็นตามมาตรา 5 ของ พรบ.การค้าที่เป็นธรรม ของสเปน ความจริงโฆษณานี้ก็มีในประเทศอื่นในยุโรปด้วยเช่นกัน ทอม ทอม ทำโฆษณาใน 8 ประเทศ ในขณะที่โตชิบาก็โฆษณาใน เยอรมนี อังกฤษ อิตาลี สเปน และโปรตุเกส แต่ไม่เป็นปัญหาที่ประเทศอื่นเพราะประเทศเหล่านั้นไม่ได้แชมป์   อาหารกลางวันเยอรมนี เดือนที่แล้วนักเรียนกว่า 11,000 คนในเยอรมนีตะวันออก (เบอร์ลิน แบรนเดนเบิร์ก แซ็กโซนี เทอริงเกีย)  ต้องล้มป่วยลงด้วยอาการอาหารเป็นพิษ สาเหตุเบื้องต้นคาดว่าน่าจะมาจากชุดอาหารกลางวันที่มีสตรอเบอรี่แช่แข็งเป็นของหวานอยู่ด้วย ระบบอาหารกลางวันที่โน่นเขาใช้การจ้างบริษัทเอกชนจัดส่งให้ตามโรงเรียน สถาบันควบคุมและป้องกันโรค สถาบันประเมินความเสี่ยง และสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคของที่นั่น สันนิษฐานว่าโรงเรียนที่มีเด็กป่วยเหล่านี้ น่าจะได้รับอาหารจากบริษัทที่ชื่อ โซเด๊กโซ เหมือนกัน  และสาเหตุน่าจะมาจากไวรัสที่แฝงตัวมาในอาหาร อย่าง โนโรไวรัส โซเด๊กโซ ยืนยันว่ามีเพียงร้อยละ 5 ของโรงเรียนที่เขาส่งอาหารให้เท่านั้นที่มีนักเรียนมีอาการอาหารเป็นพิษ แต่ข่าวล่าสุด ระบุว่าโซเด๊กโซยอมจ่ายค่าชดเชยให้กับนักเรียนที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด (แต่ไม่ได้เปิดเผยตัวเลข) เนื่องจากความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากบริษัทที่มารับช่วงการผลิตนั่นเอง นายกผู้ประกอบการอาหารโรงเรียนแห่งเบอร์ลินและแบรนเดนเบิร์ก บอกว่าเขาไม่แปลกใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะราคาวัตถุดิบแพงขึ้นในขณะที่งบช่วยเหลือที่รัฐบาลให้กับพวกเขาก็น้อยลง เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการ 6 รายร่วมกันหยุดส่งอาหารตามโรงเรียนจนกว่าเทศบาลจะอนุมัติเพิ่มเงินช่วยเหลือ งานวิจัยจากคณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยฮัมบูร์ก ก็ระบุว่ารัฐจะต้องเพิ่มงบประมาณอีกอย่างน้อย 1 ยูโรต่อหัว จึงจะสามารถมีอาหารกลางวันที่ดีตามมาตรฐานของสมาคมโภชนาการแห่งเยอรมนีให้กับเด็กนักเรียนได้ ปัจจุบันงบอาหารกลางวันอยู่ที่ประมาณ 2.50 ยูโรต่อหัว (99 บาท) แต่เขาบอกว่าถ้าจะให้ดีต้องมีถึง 3.17 – 4.25 ยูโรต่อหัว (126 – 168 บาท)     นายก (อียิปต์) หยุดได้ กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าต่างประเทศของอียิปต์ กำลังเล็งจะรื้อฟื้นการใช้อำนาจของนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 10 ของ พรบ. คุ้มครองการแข่งขันและป้องกันการผูกขาดทางการค้าขึ้นมาอีกครั้ง กลุ่มประชาชนต่อต้านการขึ้นราคาสินค้า (Citizens Against Price Rise Association CAPRA) สนับสนุนการเคลื่อนไหวดังกล่าวเต็มที่ เพราะกฎหมายดังกล่าวระบุให้นายกรัฐมนตรีมีสิทธิกำหนดราคาสินค้าโภคภัณฑ์ได้ ในยามจำเป็นหรือเมื่อประเทศเกิดวิกฤติ ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าอียิปต์จะกลับไปใช้นโยบายเศรษฐกิจแบบเผด็จการ ที่กำหนดราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทุกชนิดเหมือนในอดีต เขาแค่ต้องการจัดระเบียบการค้าและป้องกันผู้บริโภคจากผู้ค้าบางรายที่อาศัยช่วงชุลมุนมาผูกขาดราคาสินค้า หลังเหตุการณ์ไม่สงบทางการเมืองเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2555 และเหตุการณ์ต่อเนื่องหลังจากนั้น กลุ่ม CAPRA บอกว่ารัฐบาลปฏิบัติต่อนักธุรกิจพวกนี้ราวกับว่าพวกเขาเห็นแก่ประโยชน์ของประเทศเป็นหลักและใส่ใจความเดือดร้อนของคนในสังคม ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วผู้ค้าเหล่านั้นไม่ได้มีความรับผิดชอบถึงระดับนั้น ข่าวบอกว่า ราคาสินค้าที่สูงขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาไม่ได้เป็นไปตามหลักอุปสงค์อุปทานแต่อย่างใด แต่เป็นผลพวงจากการคอรัปชั่นในช่วงการปกครองของนายมูบารัคนั่นเอง    ยักษ์ใหญ่ยอมแล้ว ในที่สุดห้างยักษ์ใหญ่ค้าปลีกของอังกฤษอย่างเทสโก้ก็ยินยอมที่จะใช้ฉลากอาหารระบบไฟจราจร เหมือนห้างอื่นๆ ในประเทศเสียที เทสโก้บอกว่าได้ทำการสำรวจความเห็นของลูกค้าแล้วพบว่า พวกเขาชอบฉลากแบบไฟจราจรที่แสดงให้เห็นกันไปเลยว่าอาหารดังกล่าวมีปริมาณไขมัน น้ำตาล และเกลือ เกินไปหรือไม่ ในขณะเดียวกันก็ชอบฉลากแบบ GDA ที่ให้ข้อมูลละเอียดเป็นร้อยละด้วย เลยตัดสินใจจะใช้ฉลากระบบ “ลูกครึ่ง” ที่มีทั้งสองอย่างด้วยกัน ความจริงแล้ว ก่อนหน้านี้ห้างอื่นๆ (Sainsbury, Mark & Spencer, Asda) เขาเปลี่ยนมาตั้งแต่ปี 2548 แล้ว อีกสองห้างได้แก่ Lidl และ Aldi ก็เปลี่ยนไปแล้วตั้งแต่ต้นเดือนกันยายน และข่าวล่าสุดห้าง Morrisons ก็เปลี่ยนแล้วเช่นกัน องค์กรมาตรฐานอาหารของอังกฤษ ระบุว่าฉลากไฟจราจร จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการบริโภคที่ดีต่อสุขภาพและจัดการไขปัญหาโรคอ้วนของคนอังกฤษได้ดีที่สุด ข้ามฝั่งมาดูทางอเมริกาเขาบ้าง บริษัทน้ำอัดลม โค้ก เป๊ปซี่ และดร.เปปเปอร์ กำลังจะเปิดตัวตู้ขายน้ำอัดลมอัตโนมัติที่จะแจ้งปริมาณแคลอรี่ ให้ทราบก่อนลูกค้าจะตัดสินใจซื้อ โดยจะเริ่มจากตึกราชการในเมืองชิคาโก และซานอันโตนีโอ และจะใช้ตู้ดังกล่าวทั่วประเทศในปี 2556

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 136 กระแสต่างแดน

ทำเองใช้เอง จะมีสักกี่คนที่รู้จักเมือง อีสต์ ลิเวอร์พูล บนฝั่งแม่น้ำโอไฮโอ ก่อนหน้านี้เคยได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่ “จัดโต๊ะอาหารให้กับอเมริกา” ด้วยโรงงานถ้วยชามในเมือง ที่มีถึง 48 แห่ง แต่ปัจจุบัน เศรษฐกิจที่นี่แตกสลาย ไม่ต่างอะไรกับถ้วยชามที่ถูกทำหล่น เมืองนี้กลายเป็นจุดอับของอเมริกา ประชากร(ซึ่งมีทั้งหมด 11,000 คน) มีรายได้เฉลี่ยเพียง 1 ใน 3 ของรายได้ของผู้คนในรัฐโอไฮโอทั้งหมด คนส่วนใหญ่ข้ามแม่น้ำไปหางานทำในคาสิโน ในเวอร์จิเนียตะวันตก บ้างก็ไปทำงานที่สนามบินพิทส์เบิร์ก อัตราว่างงานที่นี่สูงถึงร้อยละ 10 โรงงานเซรามิกก็เหลืออยู่เพียง 2 เจ้าเท่านั้น หนึ่งในนั้นได้แก่ The American Mug and Stein เกือบจะปิดตัวลงเมื่อฤดูใบไม้ร่วงที่ผ่านมา   ที่ว่า “เกือบ” ก็เพราะ อูลริค โฮนิกเฮาเซน เจ้าของบริษัทเฮาเซนแวร์ ในคาลิฟอร์เนีย ที่เป็นผู้จัดหาเครื่องถ้วยชามเซรามิกให้กับห้างค้าปลีกรายใหญ่ๆ มีแผนจะให้โรงงานนี้ผลิตถ้วยส่งให้กับร้านกาแฟสตาร์บัคส์ ถ้วยดังกล่าวจะเริ่มวางขายในสาขาต่างๆ ทั่วอเมริกา ในเดือนมิถุนายน ภายใต้แบรนด์ Indivisible ที่เป็นโครงการสร้างงานให้กับคนอเมริกัน ของสตาร์บัคส์นั่นเอง นี่เป็นตัวอย่างการตอบสนองเสียงเรียกร้องให้ผู้ประกอบการทั้งได้มีส่วนช่วยกันแก้ปัญหาการว่างงานในอเมริกา บริษัท GE ก็ตั้งโรงงานเพิ่มอีก 2 แห่งเพื่อผลิตแบตเตอรี่คุณภาพสูง ที่แต่ก่อนเคยสั่งผลิตจากจีน ทำให้มีคนว่างงานน้อยลงไปอีก 800 คน เป็นต้น เรื่องนี้เป็นไปได้ด้วยหลายปัจจัย ตั้งแต่ค่าแรงในสหรัฐฯ ที่ลดลง ในขณะที่ค่าแรงในจีนแพงขึ้น นอกจากนี้ระยะทางและเวลาในการขนส่งที่น้อยกว่าก็มีส่วนจูงใจผู้ประกอบการไม่น้อย (เช่น ถ้าสั่งทำถ้วยที่อีสต์ ลิเวอร์พูล จะใช้เวลารอเพียง 4 วัน ถ้าสั่งจากจีนจะต้องรอถึง 3 เดือน เป็นต้น)   จับไป .. อย่าให้เสีย นักวิชาการเขาบอกว่า ถ้าเราเรียนรู้ที่จะกินปลาชนิดใหม่ๆ กันบ้าง เราจะสามารถรอดพ้นจากวิกฤติอาหารได้ อย่างน้อยๆ ก็ที่ทะเลเหนือ ที่แต่ละปีมีการทิ้งปลาที่จับขึ้นมาได้กลับลงทะเลไป ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านตัน ด้วยวิธีการทำประมงแบบปัจจุบัน ทำให้ชาวประมงมักจะได้ปลาที่ไม่ได้ตั้งใจจับ (เพราะมันนำมาขายใครไม่ได้) ขึ้นมาด้วยเสมอ สถิติบอกว่ามีปลาที่ถูกจับผิดตัวอยู่ประมาณร้อยละ 50 แถมบางประเทศยังมีกฎหมายห้ามจับปลาบางชนิด หรือไม่ก็มีโควตาห้ามจับปลาบางชนิดเกินปริมาณ ก็ต้องจัดการทิ้งปลาพวกนี้ไปซะก่อนจะถึงฝั่ง คำถามคือ ทำไมเราต้องเลือกด้วย? การนำปลาที่ว่ามากินเป็นอาหาร ย่อมดีกว่าปล่อยพวกมันกลับลงทะเลไป รอเวลาสิ้นลม เสียของเปล่าๆ นอกจากเรื่องภาวะเศรษฐกิจ เรื่องฟุตบอลแล้ว ระยะนี้สมาชิกสหภาพยุโรปก็กำลังถกเถียงกันว่าจะประกาศห้ามการจับปลาแบบทิ้งๆ ขว้างๆ นี้ดีหรือไม่ นอร์เวย์ สวีเดน เดนมาร์ค แบนไปแล้ว ในขณะที่ สก็อตแลนด์ ฝรั่งเศส โปรตุเกส และโปแลนด์อยู่ฝ่ายที่ยังไม่ค่อยจะเห็นด้วย นักวิชาการยืนยันว่าต้องแบนเท่านั้นยุโรปถึงจะมีทางรอด และมีปลาบริโภคกันอย่างพอเพียงในอนาคต     ผู้ดีเชิดใส่วันหมดอายุ สิ่งที่สำคัญที่สุดบนฉลากอาหารสำเร็จรูปคือ วันหมดอายุ แต่พักหลังๆ นี่ผู้บริโภคชาวอังกฤษดูเหมือนจะใส่ใจกับมันน้อยลง ต้องกินให้หมด แม้มันจะเสี่ยง องค์การมาตรฐานอาหารของอังกฤษเขาทำสำรวจพบว่าร้อยละ 97 ของผู้บริโภคเชื่อว่าราคาอาหารนั้นเพิ่มขึ้นมากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา(ข่าวไม่ได้บอกว่านายกอร์ดอน บราวน์ สั่งการให้บรรดา รมต.ไป เดินตลาดสำรวจราคาด้วยตนเองหรือเปล่านะ) และเมื่อถามว่าผู้บริโภคมีมาตรการที่จะจัดการกับเรื่องนี้อย่างไร ร้อยละ 47 บอกว่าตนเองใช้วิธี “บริการจัดการ สต๊อค” หรือพูดอีกอย่างคือเก็บของเหลือในตู้เย็นกินให้เกลี้ยงนั่นแหละ ปัญหามันอยู่ที่เขากินทุกอย่างแม้จะเลยวันหมดอายุที่ระบุไว้บนฉลาก คือถ้าดูแล้วยังหน้าตาเหมือนเดิม กลิ่น ยังไม่เปลี่ยน หรือจำได้ว่าเอาใส่ตู้เย็นไว้ไม่นาน ก็เป็นอันว่าลงมือกินได้ แต่ทางการเขาเป็นห่วง เพราะผู้ดีเหล่านี้ลืมใช้วิจารณญาณในการกินไปนิด เพราะอันตรายบางอย่างนั้นไม่สามารถบอกได้ด้วยลักษณะภายนอก เช่น คุณไม่มีทางดมดูแล้วรู้ว่าอาหารนั้นมี อีโคไล หรือซัลโมเนลลา เด็ดขาด ข่าวเขาฝากเตือนมาว่าใครก็ตามที่ไปลอนดอนเพื่อดูกีฬาโอลิมปิกในปีนี้ อย่าลืมสังเกตดูว่ารถเข็นขายอาหารที่เข้าไปรุมซื้อนั้นมีใบอนุญาตและผ่านการตรวจสอบหรือไม่ อาหารเป็นพิษขึ้นมาจะเชียร์กีฬาไม่สนุกซะเปล่าๆ     อีบุ๊คส์ บุกโรงเรียนฮ่องกง ฮ่องกงก็เป็นอีกที่ๆ มีปัญหาเรื่องราคาหนังสือเรียนแพงเหลือหลาย ปีที่แล้ว ก็ออกประกาศห้ามโรงเรียนใช้ระบบการรับแจกคู่มือครูฟรีจากสำนักพิมพ์ เพื่อแลกกับการขายหนังสือฉบับนักเรียนในราคาที่สูงกว่าปกติ แต่ปัญหาก็ยังไม่หมดไป รมต.ศึกษาธิการของที่นั้นจึงหันมาชงข้อเสนอให้รัฐส่งเสริมการพัฒนาหนังสือในรูปแบบอิเลคทรอนิกส์แทน เขาบอกว่าตั้งแต่ปีการศึกษาหน้าเป็นต้นไป โรงเรียนประถมและมัธยมในฮ่องกง อย่างน้อย 50 โรงจะเปลี่ยนจากหนังสือในรูปแบบดั้งเดิมมาเป็นอีบุ๊คส์ทั้งหมด ทั้งนี้กำลังรอให้รัฐบาลอนุมัติงบประมาณ 50 ล้านเหรียญฮ่องกง (ประมาณ 200 ล้านบาท) ให้มหาวิทยาลัยและองค์กรไม่แสวงหากำไรนำไปเป็นทุนพัฒนาอีบุ๊คส์เล่มใหม่ๆ ขึ้นมาให้ตอบสนองกับหลักสูตรในโรงเรียนมากขึ้น ที่น่าสนใจคือ เขาบอกว่าอุปกรณ์ที่ใช้ในการอ่านอีบุ๊คส์นั้น ไม่จำเป็นต้องมีกันคนละเครื่อง เด็กๆ สามารถใช้อุปกรณ์ร่วมกันเป็นกลุ่มได้ จะได้แบ่งเบาภาระของผู้ปกครองด้วย ไม่น่าเชื่อว่าฮ่องกงที่รวยขนาดนั้น เขาไม่แจกแท็บเล็ตให้เด็กคนละเครื่องเหมือนที่เมืองไทยหรอกหรือนี่     รักคงยังไม่พอ โคลเอตต้า ผู้ผลิตช็อคโกแล็ต สัญชาติสวีเดน โฆษณาว่าในซองขนมหวานรสช็อคโกแลต Mini Plopp ของเขาจะมีถ้อยคำ 4 คำบรรจุอยู่: LOVE HUG KISS และ JOY บรรยากาศรักนะจุ๊บๆ นี้ควรจะทำให้ทุกฝ่ายรื่นรมย์ แต่ปรากฏการณ์รักคุดก็เกิดขึ้นจนได้ เมื่อผู้บริโภคชาวสวีเดนรายหนึ่งร้องเรียนต่อองค์กรผู้บริโภค Konsumentverket ว่าเธอไม่ได้รับความเป็นธรรม(หรือจะบอกว่าไม่ได้รับความรักดี?) จากโคลเอตต้า เพราะเธอลงทุนไปซื้อ Mini Plopps มาหลายห่อ เพื่อนำมาใช้ในงานแต่งของเธอ ซึ่งคิดมาแล้วว่าจะต้องอบอวลไปด้วยความรัก แต่ปรากฏว่าไม่ว่าจะเปิดสักกี่ซอง แขกเหรื่อทั้งหลายรวมทั้งตัวเธอเองก็ยังไม่พบคำว่า LOVE และ JOY เสียที เมื่อสืบสาวราวเรื่องไปก็พบว่าเกิดความผิดพลาดขึ้นในกระบวนการผลิต ทำให้โรงงานใส่แต่คำว่า HUG และ KISS ลงไปในซองเท่านั้น โฆษกบริษัทออกมาขอโทษ และสัญญาว่าคราวหน้าจะไม่ให้พลาดอีก ... เขาคงหมายถึงการผลิตครั้งต่อๆ ไป ไม่ใช่งานแต่งครั้งหน้าหรอก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 116 กระแสต่างแดน

  อภินิหารกังหันลมครองพิภพ สองสามปีที่ผ่านมามีฟาร์มกังหันลมผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดในชนบทของอิตาลี ซึ่งก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรเพราะการมีพลังงานทดแทนไว้ใช้ย่อมเป็นเรื่องดี แต่เรื่องมันมาปูดตอนที่มีข่าวว่านักธุรกิจที่ชื่อ วีโต้ นิคาสตริ ซึ่งขณะนี้เป็นที่รู้จักกันในฉายา “ลอร์ดออฟเดอะวินด์” (Lord of the Wind) ถูกศาลสั่งยึดทรัพย์สินมูลค่าถึงหนึ่งพันห้าร้อยล้านยูโร (ไม่ต่ำกว่า 60,000 ล้านบาท) ในบรรดาทรัพย์สินที่ถูกยึดไปจากบุคคลผู้นี้ นอกจากอสังหาริมทรัพย์กว่า 100 แห่งทางตะวันตกของเกาะซิซิลีแล้ว ยังมีธุรกิจพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์กว่า 43 บริษัทด้วย   คนส่วนใหญ่ก็เพิ่งจะรู้ว่าที่แท้จอมบงการเบื้องหลังกังหันลมเหล่านั้นคือนายวีโต้ ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกลุ่มมาเฟีย “โคซา โนสตรา” ที่แทรกซึมเข้าสู่ธุรกิจพลังงานทดแทนจากลมมาได้สองสามปีแล้ว เรื่องนี้เป็นกระแสฮือฮาไม่น้อย เพราะมันหมายถึงธุรกิจพลังงาน ซึ่งเป็นธุรกิจที่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลได้กลายเป็นแหล่งให้เงินที่ได้มาอย่างผิดกฎหมาย อาศัยเป็นช่องทางฟอกตัวไปแล้ว เรียกว่ามาเฟียเขาได้ไปสองเด้ง ขูดรีดชาวบ้านโดยตรงไปรอบหนึ่งแล้วยังขูดทางอ้อมผ่านรัฐบาลได้อีก   ข่าวบอกว่าอย่าให้รัฐบาลเลือกแก้ปัญหานี้ด้วยการหันไปใช้พลังงานนิวเคลียร์แทนก็แล้วกัน ทุกวันนี้อิตาลีผลิตพลังงานลมได้มากเป็นอันดับสามของยุโรป รองจากเยอรมนีและสเปน ปลายปีพ.ศ. 2552 อิตาลีมีฟาร์มกังหันลมทั้งหมด 294 ฟาร์ม และที่ผ่านมาธุรกิจนี้ในอิตาลีเติบโตถึงร้อยละ 20 ต่อปี-------------------------------------------------------------------------------------   ขาปั่นขอร้อง นาทีนี้จะพูดเรื่องทางสำหรับจักรยานมันก็คงเชยไปแล้วสำหรับประเทศในยุโรป คนที่เดนมาร์กเขาขยับไปถกกันเรื่องของทางจักรยานแบบไม่มีสัญญาณไฟกันแล้วเรื่องของเรื่องคือ ชาวเมืองโคเปนเฮเกนที่เขานิยมปั่นจักรยานไปทำงานหรือไปทำธุระ เขารู้สึกหงุดหงิดเหมือนกันนะที่ต้องติดไฟแดง คับข้องใจได้ไม่นานรัฐบาลเขาก็จัดให้ ด้วยการประกาศแผนการสร้างมอเตอร์เวย์สำหรับจักรยาน เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ผู้คนหันมาใช้จักรยานให้มากขึ้น สมาคมนักปั่นเขารับรองว่าแผนนี้จะทำให้มีจำนวนคนใช้จักรยานเพิ่มขึ้นสองเท่า (ปัจจุบันชาวเมืองโคเปนเฮเกนเกือบร้อยละ 30 ไปทำงานด้วยพาหนะสองล้อที่ต้องอาศัยพลังงานส่วนตัวนี่แหละ) นอกจากทางสำหรับจักรยานโดยเฉพาะแล้ว เขายังจะจัดสถานีบริการให้เป็นระยะ เพื่อให้นักปั่นได้ใช้บริการสูบลม รับน้ำดื่ม หรือสอบถามข้อมูลเรื่องเส้นทางด้วย … อิจฉาจัง ...-------------------------------------------------------------------------------------     น้ำพุโซดา คนปารีสเขาติดน้ำขวดอัดคาร์บอน (หรือโซดานั่นแหละ) กันงอมแงม ถึงขั้นที่เทศบาลเมืองปารีสต้องหาวิธีมาช่วยให้คนเหล่านี้หย่าขาดจากมันให้ได้คุณอาจสงสัยว่าดื่มโซดาแล้วมันมีปัญหาอะไรหรือ เรื่องของเรื่องเทศบาลเขากังวลเรื่องปัญหาขยะพลาสติก ซึ่งฝรั่งเศสมีศักยภาพในการผลิตได้ถึง 262,000 ตันในปีที่ผ่านมา ทั้งนี้เพราะฝรั่งเศสเป็นประเทศที่บริโภคน้ำบรรจุขวดมากที่สุดเป็นอันดับ 8 ของโลก และสาเหตุที่คนที่นี่เขาชอบดื่มน้ำขวดก็เพราะว่ามันเป็นน้ำอัดแก๊สที่ดื่มแล้วซ่าได้ใจนั่นเอง เทศบาลที่นั่นเขาทำการสำรวจแล้วพบว่า คนจะดื่มน้ำจากก๊อกมากขึ้นถ้ามันซ่าด้วย ไม่เชื่อดูได้จากยอดขายถล่มทลายของเครื่องอัดแก๊สแบบใช้ตามบ้านก็ได้ว่าแล้วก็ควักกระเป๋าไป 75,000 ยูโร (หรือประมาณ 3 ล้านบาท) เพื่อติดตั้งน้ำพุโซดาในสวนสาธารณะให้ชาวบ้านพากันมาดื่มฟรีกันทุกวันไม่เว้นวันหยุดตั้งแต่ 8 โมงเช้า – 3 ทุ่มครึ่ง นี่เป็นขั้นทดลอง ถ้าเสียงตอบรับดีก็จะมีการติดตั้งเพิ่มขึ้นในสวนสาธารณะอื่นๆ ด้วย-------------------------------------------------------------------------------------   เมื่อ “สี” อาจก่อความไม่สงบนักโภชนาการและองค์กรด้านเด็กออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลออสเตรเลียประกาศห้ามใช้สีสังเคราะห์ในอาหาร ที่เป็นสาเหตุให้เกิดอาการไฮเปอร์แอ็คทีฟในเด็ก ในขณะที่ซูเปอร์มาร์เก็ตเจ้าใหญ่อย่าง Aldi เก็บผลิตภัณฑ์ที่มีสีเหล่านี้เป็นส่วนผสมออกไปจากชั้นหมดแล้ว งานสำรวจของกลุ่ม Karitane พบว่าหนึ่งในสามของแม่ชาวออสเตรเลียสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของลูก ว่ามีอาการอยู่ไม่สุก ลุกลี้ลุกลน บางทีก็ก้าวร้าว หลังจากกินอาหารที่มีสีผสมอาหารเข้าไป สมาคมนักโภชนาการแห่งออสเตรเลียบอกว่าร้อยละ 21 ของเด็กออสซี่วัย 9 ขวบ รับประทานเค้กหรือบิสกิตทุกวัน และแม่ๆ เหล่านี้ส่วนใหญ่สามารถเห็นความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมเด็กหลังกินอาหารที่มีสารกันบูดและสีได้ชัดเจน สีที่เป็นปัญหากลุ่มนี้มีอีกฉายาว่า “หกอันตรายเซาท์แทมตัน” (ได้แก่ sunset yellow (E110) quinoline yellow (E104) carmoisine (E122) allura red (E129) ponceau 4R (E124) and tartrazine (E102)) ที่ได้ชื่อนี้มาก็เพราะงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยเซาท์แทมตัน ในปีค.ศ. 2007 พบว่าสารทั้งหกตัวมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมไฮเปอร์แอคทีฟในเด็ก จึงทำให้ร้านค้าในอังกฤษพากันสมัครใจถอนสินค้าออกไป หลังจากที่องค์กรมาตรฐานอาหารอังกฤษได้ออกเป็นคำแนะนำไป สหภาพยุโรปก็ออกข้อกำหนดให้อาหารที่ใส่สีจะต้องมีคำเตือนทำนองว่า: “ตาตราซีน (หรือสารตัวใดตัวหนึ่งในกลุ่มดังกล่าว) อาจมีผลในทางลบต่อความตื่นตัวและความสนใจของเด็ก” แต่สถาบันมาตรฐานอาหารของออสเตรเลียและนิวซีแลนด์กลับบอกว่ายังไม่มีหลักฐานแน่นหนาพอที่จะสั่งแบนสีสังเคราะห์เหล่านั้น และให้ผู้บริโภคดูแลตัวเอง (อ้าว) ด้วยการดูที่ฉลากซึ่งกฎหมายระบุให้แจ้งสีผสมอาหารไว้แล้ว-------------------------------------------------------------------------------------   รอการพิสูจน์ รับจดหมายเตือนกันไป สำหรับบริษัทผู้ผลิตน้ำยาบ้วนปากที่โฆษณาว่าผลิตภัณฑ์ของตนสามารถกำจัดคราบพลัคหรือรักษาโรคเหงือกได้ องค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ ทำจดหมายไปถึงผู้ผลิตน้ำยาบ้วนปากยี่ห้อลิสเตอรีน ซีวีเอส และวอลกรีน ให้รีบจัดการแก้ไขโฆษณาเหล่านั้นภายใน 15 วัน จริงอยู่น้ำยาบ้วนปากเหล่านี้มีส่วนผสมของโซเดียมฟลูออไรด์ ซึ่งทางอย.ก็ยอมรับว่าสามารถป้องกันฟันผุได้ แต่ทั้งนี้ทางผู้ผลิตยังไม่ได้พิสูจน์ว่ามันสามารถกำจัดคราบพลัค หรือป้องกันโรคเหงือกได้อย่างที่โฆษณาไว้ ตามกฎหมายแล้วผู้ผลิตไม่สามารถกล่าวอ้างว่าผลิตภัณฑ์ของตนรักษาโรคได้ จนกว่าข้อกล่าวอ้างเหล่านั้นจะผ่านการพิสูจน์โดย อย.เสียก่อน ถ้ามันทำได้จริงก็จะได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นยา และอนุญาตให้สามารถวางขายในร้านขายยาทั่วไปได้ แม้ปัจจุบันจะยังไม่มีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับอาการบาดเจ็บหรือผลในทางลบต่อสุขภาพจากผลิตภัณฑ์เหล่านี้แต่ อย. ก็ขอแจ้งให้พี่น้องทราบว่าอย่าเพิ่งคาดหวังว่าน้ำยาบ้วนปากจะสามารถป้องกันหรือรักษาโรคเหงือกได้ และถ้าคุณเคยอ่านหนังสือเรื่อง “100 สิ่งที่ไม่ต้องทำ (ก็ได้) ก่อนตาย” คุณก็จะรู้ว่าจริงๆ แล้วคุณไม่จำเป็นต้องใช้น้ำยาบ้วนปากเลยด้วยซ้ำไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 115 กระแสต่างแดน

เบื้องหลังของถูก สถานีโทรทัศน์ NDR ของเยอรมนี เปิดโปงเบื้องหลังที่มาของเสื้อผ้าราคาประหยัดยี่ห้อ KIK ซึ่งมีจำหน่ายทั่วไปในยุโรป ว่าเอาเปรียบพนักงานอย่างไม่น่าให้อภัยผู้ชมกว่า 4 ล้านคนในเยอรมนีได้รู้พร้อมๆ กันว่าหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้พวกเขาสามารถซื้อเสื้อยืดได้ในราคา 3 ยูโร(120 บาท) หรือกางเกงขาสั้นในราคา 4 ยูโร(160 บาท) ก็คือการที่บริษัทกดค่าแรงพนักงานให้ต่ำสุดๆ ข่าวบอกว่าพนักงานในเยอรมนีได้ค่าจ้างน้อยกว่า 3 ยูโร ต่อชั่วโมง (เบอร์เกอร์บิ๊กแมคที่นั่นราคาชิ้นละ 4.6 ยูโร)  นี่ยังไม่พูดถึงคนงานในประเทศกำลังพัฒนาที่ทำงานในโรงงานที่ KIK จ้างเป็นผู้ผลิต ที่มีรายได้คิดเป็น 0.5% ของราคาสินค้าเท่านั้น เมื่อเรื่องแดงเสียขนาดนั้น KIK จึงออกมายอมรับผิดและขอโทษต่อสังคม รวมถึงตั้งตำแหน่งผอ.ฝ่ายการสื่อสารคนใหม่ขึ้นมารับผิดชอบเรื่องนี้โดยเฉพาะ   แต่ถึงกระนั้นการขุดคุ้ยก็ยังดำเนินต่อไป เพื่อพิสูจน์ “ข่าวลือ” ต่างๆ ของ KIK ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในเยอรมนีและมีร้านทั่วยุโรปกว่า 3,000 สาขา เขาลือกันว่า KIK ไม่จ้างพนักงานประจำ ไม่มีสัญญาจ้างงาน ไม่มีการตั้งสหภาพแรงงาน อีกทั้งยังมีมาตรการการรับคนเข้าทำงานที่ค่อนข้างอุกอาจ ตั้งแต่การให้ผู้สมัครเปิดเผยข้อมูลเรื่องความเจ็บป่วย ความพิการโดยละเอียด รวมถึงคอยตามเช็คเครดิตพนักงานและถ้าสืบรู้ว่าว่าใครเป็นหนี้ก็จะไล่ออก.. โหดซะ Clean Clothes Campaign องค์กรที่ส่งเสริมให้เกิดธรรมาภิบาลในการผลิตเสื้อผ้า บอกว่าถ้าดูจากราคาแล้ว มันแทบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่มีการเอาเปรียบแรงงาน เขายืนยันว่า “ราคาต่ำสุดๆ” นั้นไม่ใช่ทางออก และเสนอให้บริษัทหันมาสร้างแรงจูงใจให้กับผู้บริโภคด้วยคุณภาพสินค้าและบริการที่ดีขึ้นดูบ้าง รับรองว่างานนี้วินวินกันทุกฝ่าย ---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------  คนเยอรมันเมินเปย์ทีวี ธุรกิจโทรทัศน์แบบเสียเงินดู ดูเหมือนจะไม่รุ่งในประเทศเยอรมนี เพราะจนป่านนี้บริษัทสกายดอยท์ชแลนด์ ยังคงมียอดสมาชิกไม่ถึงร้อยละ 10 ของครัวเรือนที่มีเครื่องรับโทรทัศน์ ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างอังกฤษและฝรั่งเศส  มีสัดส่วนของครัวเรือนที่เป็นสมาชิกบริการทีวีดังกล่าวไม่ต่ำกว่าร้อยละ 40 นักวิเคราะห์เขาบอกว่าน่าจะเป็นเพราะคนเยอรมันรู้สึกว่ามันเป็นสิทธิตามธรรมชาติของพวกเขาที่จะได้ดูทีวีดีๆ ที่รัฐจะต้องจัดหามาให้ เพราะเก็บค่าธรรมเนียมปีละประมาณ 8,000 บาทไปแล้ว(ประเทศส่วนใหญ่ในยุโรปมีการเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวจากผู้มีเครื่องรับโทรทัศน์ เพื่อที่สถานีจะได้ดำเนินการได้โดยไม่ต้องพึ่งพาโฆษณามากเกินไป) คนเยอรมันได้ดูฟรีทีวีถึง 20 ช่อง ในขณะที่อังกฤษ และฝรั่งเศส ซึ่งมีการเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวปีละ 7,000 บาท และ 4,600 บาท ตามลำดับ มีทีวีฟรีให้ดูอยู่ไม่เกิน 5 ช่อง ซึ่งนั่นอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้สองประเทศนี้มีการตอบรับต่อเปย์ทีวีมากกว่า   สกายดอยท์ชแลนด์ ซึ่งอุตสาห์เปลี่ยนชื่อจาก “พรีเมียร์” มาครั้งหนึ่งแล้ว จึงรู้สึกปวดใจอย่างมากที่ขณะนี้มียอดสมาชิกอยู่เพียง 2.4 ล้านคน และจากการคาดการณ์ที่เข้าข้างตัวเองสุดๆ ก็พบว่าจะยังต้องขาดทุนต่อไปอีกไม่ต่ำกว่า 1 ปี ทั้งๆ ที่สถิติเมื่อปลายปี 2008 ระบุว่าเยอรมนีเป็นตลาดเปย์ทีวีที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป ด้วยฐานลูกค้ากว่า 37 ล้านครัวเรือนที่มีเครื่องรับโทรทัศน์ อย่างว่า ถ้ามีของดีให้ดูอยู่แล้วเป็นเราก็คงไม่อยากเสียเงินเพิ่ม เพราะบางทีอุตส่าห์ควักกระเป๋าทุ่มทุนแล้วเราก็ยังอาจต้องมาดูโฆษณาอีกอยู่ดี ... ชิมิ ชิมิ--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- เราไม่ยอมให้ใครเล็กกว่า เพิ่งจะรู้ว่าธุรกิจหมูกระเป๋า หรือที่รู้จักกันทั่วไปในนามไมโครพิก “Micro Pig” นี่เขาก็มีการแข่งขันดุเดือดเหมือนกัน เจ้าหมูน้อยที่มีสนนราคาอยู่ที่ตัวละประมาณ 700 ปอนด์ หรือ 34,000 บาทนี้ เป็นของเล่นสุดฮิพของเหล่าเซเลบทั้งหลาย (ข่าวว่าครอบครัวเบคแฮมนักฟุตบอลคนดังก็เลี้ยง) โฆษณาของบริษัทลิ้ตเติ้ลพิกฟาร์มในนิตยสาร บรรยายสรรพคุณของหมูน้อยจากฟาร์มของตนเองว่าพวกมันเลี้ยงแสนง่าย ตัวเล็กสะดวกพกพาสุดๆ ขนาดไม่เกินแก้วเบียร์ปริมาตรหนึ่งไพนท์ พร้อมกับมีรูปเจ้าหมูกับแก้วเบียร์เปรียบเทียบกันด้วย สมาคมผู้เลี้ยงหมูพันธ์คูนคูนเห็นแล้วรับไม่ได้  ออกมาร้องเรียนต่อองค์การมาตรฐานโฆษณาของอังกฤษว่าโฆษณาดังกล่าวนั้นมันไม่จริ๊งไม่จริง ไม่มีหมูที่ไหนตัวเล็กขนาดนั้น นอกเสียจากมันจะเป็นพันธุ์คูนคูน และหมูของลิ้ตเติ้ลพิกก็ไม่ใช่พันธุ์ที่ว่าเสียด้วย องค์การดังกล่าวตรวจสอบแล้วฟันธงให้แบนโฆษณาที่ว่านั้นทันทีฐานหลอกลวงผู้บริโภค ... ดีนะเนี่ยที่มีตัวจริงเขาออกมายืนยัน ไม่งั้นคงได้เห็นไฮโซอังกฤษพกหมูกระสอบแทนหมูกระเป๋ากันบ้าง  --------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- เปิดให้หมด ลดเรื่องฟ้อง งานวิจัยของสหรัฐฯ พบว่าการเปิดเผยข้อมูลความผิดพลาดทางการแพทย์นั้น ไม่ได้ทำให้คนไข้ที่ได้รับความเสียหายจากการรับบริการมีการฟ้องร้องเพิ่มขึ้นอย่างที่ผู้ให้บริการทางการแพทย์กังวล ตรงกันข้าม มันช่วยลดเรื่องร้องเรียนและลดค่าชดเชยลงด้วย นี่คือผลจากการสำรวจระบบสุขภาพของรัฐมิชิแกน ก่อนหน้านี้มิชิแกนก็ใช้ระบบเหมือนที่อื่นทั่วไป คือเมื่อเกิดความเสียหายจากการรับบริการทางแพทย์ขึ้นผู้เสียหายก็จะเรียกร้องเงินช่วยเหลือหรือชดเชย ถ้าตกลงกันไม่ได้ก็ไปฟ้องร้องต่อศาล จนกระทั่งเมื่อประมาณสิบปีที่แล้ว ระบบสุขภาพของมิชิแกนหันมาใช้รูปแบบการจัดการเรื่องนี้ใหม่ โดยเน้นที่การยอมรับความผิดทั้งหมดของแพทย์และโรงพยาบาล มีการขอโทษ และจ่ายค่าชดเชยให้ แนวๆเดียวกับขอนแก่นบ้านเรา งานวิจัยครั้งนี้พบว่าตั้งแต่มีระบบ “เปิดหมด” นั้น จำนวนเรื่องร้องเรียนลดลงไปกว่าครึ่ง การจ่ายค่าชดเชยก็ลดลง และจำนวนเงินชดเชยโดยเฉลี่ยต่อกรณีก็ลดลงจาก 400,000 เหรียญ เหลือ 225,000 เหรียญ ที่สำคัญกระบวนการทั้งหมดใช้เวลาน้อยกว่าเดิมถึง 5 เดือนเลยทีเดียว ข่าวบอกว่ารัฐอื่นๆ เห็นแล้วเตรียมตัวจะนำไปใช้บ้าง อีกไม่นานมิชิแกนโมเดลคงจะเป็นที่แพร่หลายในอเมริกา--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- อดวันนี้เพื่อวันหน้านักวิทยาศาสตร์ประเมินว่าในปี ค.ศ. 2050 นั้นประชากรบนโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 9 พันล้านคน และมีงานวิจัย 21 ชิ้น ที่ยืนยันว่าเราไม่มีที่ดินเพียงพอสำหรับการผลิตอาหารเพื่อเลี้ยงคนจำนวนนั้นอย่างแน่นอน อย่าว่าแต่ในอนาคตเลย ทุกวันนี้ 1 ใน 7 ของประชากรโลกก็ได้รับโปรตีนและพลังงานไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายอยู่แล้ว แล้วต้องทำอย่างไร เราถึงจะได้ไปต่อ ... นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ไว้ว่าต่อไปคงจะต้องใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเนื้อสัตว์สังเคราะห์ หรือแม้แต่ “เนื้อสัตว์นาโน” ขึ้นมา เทคโนโลยีใหม่ที่ว่านั้นจะต้องไม่เป็นพิษภัยต่อโลก และการผลิตอาหารจะต้องไม่ถูกผูกขาดโดยบรรษัทขนาดใหญ่เพียงไม่กี่เจ้าแบบที่เป็นอยู่ขณะนี้ นั่นเป็นเรื่องของอนาคต แต่สิ่งที่เขาอยากให้ช่วยกันลงมือทำเดี๋ยวนี้คือการลดขยะอาหารลงให้ได้ร้อยละ 30 เอ้าพี่น้องครับ บ้านใครบ้านมันลงมือได้เลย---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 114 กระแสต่างแดน

      คนบ้านเดียวกันประเทศมั่งคั่งอย่างแคนาดาก็มีปัญหาเรื่องความมั่นคงทางอาหารกับเขาเหมือนกันหรือนี่   สมาพันธ์การเกษตรแห่งแคว้นโนวา สโกเชีย บอกว่าในทุกๆ 1 เหรียญที่คนแคนาดาใช้จ่ายกับการซื้ออาหารนั้น มีเพียง 13 เซ็นต์เท่านั้นที่เป็นรายได้ให้กับเกษตรกรในท้องถิ่น งานวิจัยที่ติดตามเรื่องนี้มาเป็นเวลากว่า 3 ปี พบว่าโดยเฉลี่ยแล้ว อาหารที่ประชากรของแคว้นนี้รับประทานกันอยู่นั้น ต้องเดินทางรอนแรมมาไม่ต่ำกว่า 4,000 กิโลเมตร โดยปกติแล้วครัวเรือนในแคนาดานั้นใช้จ่ายกับเรื่องอาหารค่อนข้างน้อยอยู่แล้ว  เมื่อเทียบกับประชากรในอเมริกา หรือออสเตรเลีย   แต่งานวิจัยเรื่องนี้ระบุว่าปรากฏการณ์ห้างค้าปลีกเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้เกษตรกรในแคว้นนี้ต้องปิดกิจการกันไปเป็นจำนวนมาก เช่นปัจจุบันแคว้นนี้มีฟาร์มหมูเหลืออยู่เพียง 4 ฟาร์มเท่านั้น จากที่เคยมีถึง 90 ฟาร์มเมื่อ 10 ปีก่อน อย่างที่รู้ๆ กัน ซูเปอร์มาเก็ตเจ้าใหญ่ๆ สามารถนำเข้าสินค้าเกษตรในปริมาณมากและในราคาที่ค่อนข้างต่ำทำให้สามารถขายให้กับผู้บริโภคในราคาที่ถูกกว่าผลผลิตในท้องถิ่นได้ เกษตรกรในพื้นที่จึงต้องหันไปทำอย่างอื่นแทน  พูดง่ายๆ แคว้นนี้กำลังสูญเสียความสามารถในการพึ่งพาตนเองในเรื่องอาหารนั่นเอง เพราะคนรุ่นใหม่ก็ไม่สนใจที่จะสานต่อกิจการของเกษตรกรรุ่นปัจจุบัน ซึ่งขณะนี้มีอายุเฉลี่ย 55 ปีแล้วด้วย แต่ทั้งนี้ก็ยังไม่ถึงกับหมดหวัง รายงานดังกล่าวประเมินว่าถ้าผู้คนในแคว้นโนวา สโกเชียหันมาอุดหนุนเนื้อวัวที่ผลิตในท้องถิ่น จะทำให้มีเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจถึง 65.5 ล้านเหรียญ และสร้างงานได้ถึง 1,300 ตำแหน่งทีเดียว นั่นไง ฮีโร่ตัวจริงก็ไม่ใช่ใครที่ไหน เป็นผู้บริโภคอย่างเราๆ ท่านๆ นี่เอง   นักศึกษาก็ผู้บริโภค ปัจจุบันมีเรื่องร้องเรียนจากนักศึกษาในอังกฤษและเวลส์เกี่ยวกับมหาวิทยาลัยตัวเอง มากขึ้นร้อยละ 50 รายงานของสำนักงานตุลาการอิสระระบุว่า สาขาวิชาที่มีนักศึกษาร้องเรียนมากที่สุดได้แก่ บริหารธุรกิจ กฎหมาย และแพทย์ศาสตร์ และส่วนใหญ่มักเป็นนักศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษาหรือนักศึกษาต่างชาติ รายงานดังกล่าวตั้งข้อสังเกตว่า การร้องเรียนที่เพิ่มขึ้นนี้แสดงให้เห็นว่านักศึกษาเริ่มมองเห็นตนเองในฐานะ “ผู้บริโภค”มากขึ้น และเริ่มรับ “การศึกษาที่ไม่ได้มาตรฐาน” ไม่ได้ เพราะนักศึกษาทุกวันนี้เริ่มมีหนี้สินมากขึ้น จึงทำให้มีความเครียด และความคาดหวังมากขึ้น   (แม้จะเป็นพียงแค่ร้อยละ 0.05 ของจำนวนนักศึกษาทั้งหมด ซึ่งอาจเป็นเพราะการร้องเรียนนั้นมีขั้นตอนค่อนข้างยุ่งยาก)   ปีที่ผ่านมามีเรื่องร้องเรียนเข้ามาทั้งหมด 1,007 เรื่อง และ 1 ใน 5 ของเรื่องร้องเรียนเหล่านี้   "เป็นเรื่องที่ฟังขึ้น" ข้อร้องเรียนส่วนใหญ่เกี่ยวกับการที่มหาวิทยาลัยไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนกระบวนการของตัวเองตามที่ได้แจ้งนักศึกษาไว้  ทั้งนี้สำนักงานตุลาการอิสระสามารถตรวจสอบว่ามหาวิทยาลัยได้ให้สิ่งที่สัญญาไว้กับผู้เรียนหรือไม่ แต่ไม่สามารถตรวจสอบเรื่องของการให้คะแนน การตัดเกรด หรือคุณภาพการสอนได้ในปี พ.ศ. 2552 มหาวิทยาลัยเหล่านี้ต้องจ่ายค่าชดเชยไปเป็นจำนวนทั้งสิ้น 163,000 ปอนด์  (ประมาณ 8 ล้านกว่าบาท) ซึ่งเป็นการจ่ายให้กับ การสูญเสียโอกาสในการได้งานทำ โอกาสในการก้าวหน้าทางการงานหรือความเครียด เป็นต้น   นักศึกษาคนหนึ่งได้รับเงินชดเชย 750 ปอนด์ (37,800 บาท) กับการที่ไม่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการนักเรียนแลกเปลี่ยนเพราะมีคุณสมบัติไม่ครบตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด เขาร้องเรียนว่ามหาวิทยาลัยไม่ได้แจ้งคุณสมบัตินั้นไว้ให้ชัดเจน อีกรายหนึ่งเป็นนักศึกษาปริญญาเอกที่ได้ค่าชดเชยไป 45,000 ปอนด์ (2 ล้าน 2 แสนบาท) จากการที่เขาต้องเสียเวลาไปกับกระบวนการตรวจสอบทางวินัยของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งไปถึง 3 ปีเต็ม -----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------   รถ ICE ที่ไม่เย็น คลื่นความร้อนที่เล่นงานประเทศต่างๆในยุโรป นั้นลุกลามเข้าไปถึงห้องโดยสารติดแอร์ของรถไฟความเร็วสูงที่วิ่งระหว่างเมืองของเยอรมนี Inter City Express (ที่เรียกย่อๆ ว่า ICE) กับเขาด้วยดอยท์ชบาห์น หรือการรถไฟเยอรมนี จึงต้องรับผิดชอบด้วยการจ่ายค่าชดเชยให้กับผู้โดยสารที่ต้องพบแพทย์เพราะอาการเจ็บป่วยอันสืบเนื่องมาจากความร้อนที่ว่า คนละ 500 ยูโร (20,000 บาท) พร้อมกับคืนเงินค่าตั๋วให้ด้วย ขณะนี้มีคนมารับเงินชดเชยไปแล้วถึง 2,200 คน   สื่อเยอรมันรายงานว่าอุณหภูมิในห้องโดยสารนั้นสูงกว่า 50 องศาเซลเซียส ในขณะที่ระบบเครื่องปรับอากาศของตู้โดยสารนั้นสามารถรับมือกับอุณหภูมิได้สูงสุดแค่ 32 องศาเท่านั้น รูดิเกอร์ กรูบ ซีอีโอ ของการรถไฟเยอรมันตั้งคำถามกับประสิทธิภาพของรถไฟที่บริษัทใช้วิ่งอยู่ แต่นายกสมาคมอุตสาหกรรมรถไฟเยอรมนี ปฏิเสธข้อสงสัยดังกล่าว โดยยืนยันว่าบริษัทผู้ผลิตไม่มีทางทำรถไฟไก่กาที่ระบบแย่ๆ ออกมาแน่นอน ปัญหาน่าจะเป็นเพราะการดูแลรักษาที่ไม่ดีพอมากกว่า   อย่างไรก็ตามข่าวเขาบอกมาว่า ด้วยอากาศที่เปลี่ยนไป รถไฟรุ่นหน้าที่จะเข้าประจำการปีหน้านั้นจะทำมาให้สามารถรับมืออุณหภูมิได้ถึง 40 องศาเซลเซียสกันไปเลย@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@   เบียดเบียนคนแก่ สถานีโทรทัศน์ Nos ของเนเธอร์แลนด์ ออกมาแฉว่าเดี๋ยวนี้บรรดาบ้านพักฟื้นหรือบ้านพักคนชราจะเรียกเก็บเงินจากผู้ใช้บริการมากขึ้น ด้วยการเรียกเก็บค่าบริการเล็กๆ น้อยๆ ประปราย เช่น ค่าผลไม้ ค่ากระดาษทิชชู ค่าพาไปเดินออกกำลัง เป็นต้น ที่ต้องแฉก็เพราะว่าบรรดาบริการเหล่านี้ถือเป็นบริการที่อยู่ภายใต้การคุ้มครองของระบบประกันสุขภาพอยู่แล้วนั่นเอง   Nos TV บอกว่า ผู้ป่วยหรือคนชราที่พักอยู่ในสถานบริการเหล่านั้น ต้องจ่ายเงินเพิ่มค่ากาแฟ น้ำอัดลมหรือขนมขบเคี้ยว บางคนถูกเรียกเก็บค่าต่อสัญญาณโทรทัศน์หรือการอาบน้ำเพิ่มอีกหนึ่งครั้ง มีรายหนึ่งที่ต้องจ่ายค่าถุงมือและน้ำยาฆ่าเชื้อที่พยาบาลใช้ด้วย  สำนักงานประกันสุขภาพของเนเธอร์แลนด์บอกว่าได้รับเรื่องร้องเรียนมากขึ้นเกี่ยวกับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นกับใบเรียกเก็บเงินของสถานบริการเหล่านี้ และได้ประกาศให้บรรดาศูนย์บริการเหล่านั้นรีบแก้ไข ไม่เช่นนั้นจะต้องจ่ายค่าปรับ แต่ยืนยันว่ายังไม่มีเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคถูกเก็บเงินเพิ่มเข้ามาเลย  ปัจจุบันในเนเธอร์แลนด์ มีคนที่ใช้บริการบ้านพักเหล่านี้อยู่ประมาณ 260,000 คน ประชาชนชาวดัทช์ทุกคนจะต้องทำประกันสุขภาพที่เรียกว่า AWBZ ที่ตนเองต้องจ่ายเบี้ยประกันในอัตราร้อยละ 12 ของเงินเดือน ซึ่งครอบคลุมการใช้บริการสถานพักฟื้นและบ้านพักคนชราด้วย ขณะนี้มีคน 600,000 คนภายใต้การดูแลของระบบประกันที่ว่านี้ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายประมาณ 22,000 ล้านยูโร (ประมาณ 920,000 ล้านบาท) ต่อปี@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@   สวยต้องเสี่ยงลิปสติกสีแดงนั้นท่านว่ามักมีการปนเปื้อนของสารตะกั่ว สาวปากแดงโปรดระวัง องค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ ได้ทดสอบหาปริมาณสารตะกั่วในลิปสติกสีแดงทั้งหมด 22 ยี่ห้อ และ พบว่า ลิปสติกยี่ห้อคัฟเวอร์เกิร์ลและลอรีอัล นั้นมีตะกั่วปนเปื้อนในปริมาณสูงที่สุด องค์กรผู้บริโภคของนิวซีแลนด์ ซึ่งเป็นประเทศที่ลิปสติกสองยี่ห้อที่ว่ามานั้น ได้รับความนิยมในระดับต้นๆ บอกว่า องค์กรนี้กำลังเรียกร้องให้มีกฎหมายที่บังคับให้มีการแสดงส่วนประกอบรอง (เช่นตะกั่ว) ในเครื่องสำอางไว้บนฉลากด้วย(กฎหมายปัจจุบันกำหนดให้มีการแสดงเฉพาะส่วนผสมหลักเท่านั้น) เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับรู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสารตะกั่วด้วย ผู้อำนวยการสมาคมน้ำหอมและเครื่องสำอาง การ์ธ วิลลี่ บอกว่าการทำลิปสติกสีแดงให้ปราศจากตะกั่วนั้นแทบจะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ และปริมาณสารตะกั่วที่เกิดขึ้นในแต่ละล็อตแตกต่างกันไป บางล็อตอาจไม่มีเลย ในขณะที่บางล็อตก็แทบจะสูงเกินมาตรฐานที่กำหนด   ด้านโฆษกพร็อกเตอร์แอนด์แกมเบิล ผู้ผลิตลิปสติกยี่ห้อคัฟเวอร์เกิร์ลบอกว่าไม่ได้ใช้สารตะกั่วในการผลิต แต่ที่ตรวจพบนั้นเป็นตะกั่วที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและมีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ไม่ใช่ปริมาณที่จะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ทางลอรีอัล ก็ยืนยันว่ามีตะกั่วในลิปสติกในปริมาณต่ำมากเช่นกัน นักพิษวิทยา ดร.ไมเคิล บีสลีย์ บอกว่าการจะระบุว่าปริมาณเท่าใดจึงจะเป็นอันตรายนั้นค่อนข้างยาก เพราะการเป็นพิษนั้นมีปัจจัยในเรื่องของการสะสมด้วย แต่ทั้งนี้ในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป ได้ประกาศห้ามใช้สารตะกั่วในลิปสติกทุกชนิดแล้ว อ้าว ... เรื่องสวยก็มีสองมาตรฐานกับเขาเหมือนกันหรือนี่

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 111 กระแสต่างแดน

โซฟา ไม่โซกู้ดใครจะไปนึกว่าโซฟาหนังแท้ที่อุตส่าห์ทุ่มทุนไปซื้อมาไว้นั่งเล่นชิลๆ จะทำให้เราเป็นแผลพุพองเรื้อรังได้ เรื่องนี้ก็เกิดขึ้นแล้วที่อังกฤษ ซึ่งมีผู้บริโภคหลายพันคนได้รับความเดือดร้อนจากการใช้โซฟามหาภัยที่ซื้อจากร้านเฟอร์นิเจอร์ชื่อดังอย่าง อาร์กอส หรือโฮมเบส เป็นต้น เรื่องก็มีอยู่ว่า โซฟาบางส่วนที่ขายในร้านเหล่านี้ผลิตโดยบริษัท Linkwise และ Eurosofa ในประเทศจีน ทั้งสองโรงงานนี้จะใส่สารไดเมทธิลฟูราเมท (หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า DMF) ไว้ในตัวโซฟาเพื่อป้องกันไม่ให้มันขึ้นราในขณะที่ถูกเก็บไว้ในโกดัง เมื่อโซฟาเหล่านี้เข้าไปอยู่ในห้องนั่งเล่นของผู้บริโภค สารดังกล่าวก็กลายสภาพเป็นก๊าซและระเหยออกมาในอากาศ ทำให้หายใจลำบากและรู้สึกระคายเคืองตา นอกจากนี้ยังสามารถทะลุผ่านเสื้อผ้าไปยังผิวหนังทำให้เกิดอาการปวดแสบปวดร้อนไปจนถึงเป็นแผลเรื้อรังในบางรายด้วย ศาลอังกฤษตัดสินให้ร้านเฟอร์นิเจอร์เหล่านั้นจ่ายค่าชดเชยให้กับผู้บริโภครายละ 1,200 ถึง 9,000 ปอนด์ (ประมาณ 35,000 – 260,000 บาท) แตกต่างกันไปตามความร้ายแรงของอาการเจ็บป่วย ขณะนี้โซฟาหนังมหาภัยขายออกไปแล้ว 100,000 ตัว นอกจากที่ฟ้องร้องและได้ค่าชดเชยไปแล้ว 2,000 ราย จะมีตามมาอีกประมาณ 2,500 ราย ข่าวเขาบอกว่าใครที่ซื้อไปแล้วให้นำกลับมารับเงินคืนหรือเปลี่ยนเป็นรุ่นอื่นได้ แต่น่าแปลกที่ยังไม่มีการประกาศเรียกคืนโซฟามหาภัยทั้งหมด ----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- แชมป์รอสายองค์กรผู้บริโภคของนิวซีแลนด์ทำการสำรวจระยะเวลาที่ผู้บริโภคต้องรอสายเมื่อโทรเข้าไปที่ศูนย์บริการของผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต(ทั้งหมด 10 เจ้า สำหรับรองรับประชากร 4 ล้านคนทั้งประเทศ) และพบว่าลูกค้าของเทลสตราเคลียร์ต้องรอนานที่สุด เขาพบว่าถ้าคุณโทรเข้าไปที่ศูนย์บริการของเทลสตราเคลียร์ ในวันอังคาร ช่วงเวลา 23:40 น. – 01:30 น. คุณจะใช้เวลารอสาย 30 นาที ถ้าเป็นวันพฤหัส ช่วงเวลา 18:30 น.– 20:00 น. คุณจะได้ถือสายรอ 58 นาที ซึ่งความจริงตัวเลขดังกล่าวนี้ต่ำกว่าที่ทางบริษัทเขาแจ้งเตือนไว้อีกนะ(บริษัทแจ้งไว้ว่าเวลารอสายของช่วงดังกล่าวอาจนานถึง 36 นาที และ 65 นาที ตามลำดับ) เขาแจ้งว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเพราะปริมาณลูกค้าเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 30 จนขณะนี้มีลูกค้ากว่า 300,000 รายที่ต้องให้บริการ(พูดเหมือนเป็นความผิดของลูกค้านะนี่)ด้วยความไม่พร้อมดังกล่าวจึงทำให้พนักงานที่ให้บริการเองก็เครียดไม่แพ้กัน หนุ่มสาวชาวกีวี่ที่อายุระหว่าง 17 – 29 ปี ที่ผ่านการฝึกเป็นเวลา 3 สัปดาห์ก่อนเริ่มปฏิบัติงาน จะต้องรับฟังคนโทรเข้ามาระบายอารมณ์ใส่แล้วก็ต้องรีบรับสายต่อไปทันทีโดยไม่มีเวลาผ่อนคลาย คิดไปคิดมาบริษัทประกาศว่าอาจจะต้องย้ายฐานศูนย์บริการไปยังเมืองมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งจะส่งผลให้พนักงานในนิวซีแลนด์ (ซึ่งบริษัทจ้างด้วยค่าตอบแทนชั่วโมงละ 20 เหรียญ หรือประมาณ 470บาท บวกกับโบนัสจากจำนวนครั้งที่รับสายและความรวดเร็วในการแก้ปัญหา) ต้องตกงานไม่ต่ำกว่า 120 คนนักวิเคราะห์บอกว่าบริการจะดีขึ้นหรือไม่ยังบอกไม่ได้ แต่ที่แน่ๆ บริษัทจะประหยัดเงินได้หลายล้านเหรียญทีเดียว --------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- อาหาร “ห้ามนำเข้า”โรงภาพยนตร์ในไต้หวันนั้นเป็นที่รู้กันดีว่าจริงจังกับการห้ามผู้บริโภคนำอาหาร(ที่ไม่ได้ซื้อจากหน้าโรง) เข้าไปรับประทาน ... อ่อ นึกว่าเป็นแต่ที่เมืองไทยเสียอีก แต่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา รัฐบาลไต้หวันได้ออกประกาศห้ามโรงภาพยนตร์การกระทำดังกล่าว โรงไหนฝ่าฝืนจะถูกปรับประมาณ 60,000 ถึง 150,000 บาท โดยจะยอมให้ห้ามได้เฉพาะอาหารบางอย่าง เช่น อาหารที่ทำให้เกิดเสียงดังเวลารับประทาน และอาหารที่มีกลิ่นแรงเท่านั้น ส่วนอาหารอื่นๆ ถ้าคนดูต้องการจะนำอาหารอย่าง น้ำอัดลม กาแฟ ข้าวโพด หรือฮอทด็อก แม้จะไม่ได้ซื้อจากหน้าโรง ก็ให้สามารถนำเข้าไปได้ ทั้งนี้เขาเปิดช่องให้แต่ละโรงไปทำรายการอาหารห้ามนำเข้ากันเอาเอง ซึ่งจากการสำรวจโรงภาพยนตร์ 10 แห่งในกรุงไทเป โดยองค์กรผู้บริโภคของไต้หวันปรากฎว่าเกือบร้อยละ 80 ของโรงภาพยนตร์ที่สำรวจ มีข้อห้ามที่ดูไม่ค่อยสมเหตุสมผล เช่นห้ามนำเบอร์เกอร์เข้าไป โดยให้เหตุผลเรื่องกลิ่น แต่ในขณะเดียวกันที่หน้าโรงก็ขายฮอทด็อก(ซึ่งกลิ่นก็ไม่น่าจะต่างกัน) บางโรงมีข้อกำหนดไว้เฉพาะเจาะจงมากเช่น ขนมจีบทอด ข้าวกล่องเบนโตะ เครป ทุเรียน เม็ดแตงโม(ดูเหมือนว่าจะแล้วแต่ว่าพนักงานจะคิดอะไรได้) ในขณะที่บางแห่งก็ระบุไว้กว้างๆ ว่าห้ามนำ “อาหารร้อน” เข้าไป อย่างหลังนี่ก็ถือเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคอยู่เหมือนกัน เพราะทำให้เข้าใจไปว่าห้ามนำอาหารจากภายนอกทั้งหมดแต่โรงหนังเขายังมีหมัดเด็ดไว้จัดการกับผู้ชมที่จะนำอาหารเข้าไปรับประทาน ด้วยการเก็บ “ค่าธรรมเนียมในการทำความสะอาด” อีกนะ เขาช่างมุ่งมั่นดีจริงๆ ---------------------------------------------------------------------------------------------------------------- จ่ายแพงกว่าทำไมมารค์แอนด์สเป็นเซอร์งานเข้า เมื่อองค์กรผู้บริโภคของอังกฤษออกมาแฉว่า กางเกงกำจัดเซลลูไลท์ของทางร้านซึ่งราคาตัวละ 29.50 ปอนด์ (ประมาณ 1,450 บาท)นั้นมีคุณสมบัติไม่แตกต่างไปจากกางเกงทั่วๆ ไปที่ใส่ให้รัดต้นขาเลย ทางร้านโฆษณาว่ากางเกงดังกล่าวสามารถกำจัดเซลลูไลท์บริเวณรอบเอวและต้นขาได้ ด้วยส่วนผสมจากอโลเวรา วิตามินอี และคาเฟอีน ซึ่งเป็นที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในครีมลดเซลลูไลท์ทั่วไปเชียวนะ เขาอ้างว่าคาเฟอีนจะทำให้ขาเรียวและกระชับ ในขณะที่วิตามินอีจะช่วยป้องกันริ้วรอยเหี่ยวย่น และอโลเวราจะทำให้ผิดเรียบเนียน โดยสารเหล่านี้จะถูกปล่อยออกมาจากฟองอากาศขนาดเล็กๆ บนตัวกางเกงในขณะที่ผู้สวมใส่เคลื่อนไหวร่างกาย ศัลยแพทย์และแพทย์ผิวหนังบอกกับกับนิตยสาร WHICH? ว่ากางเกงทั่วไปที่ใส่รัดต้นขาให้แน่น ก็ให้ผลไม่ต่างกัน เพราะการรัดของมันจะทำให้เซลลูไลท์ลดลงชั่วคราวด้วยการรีดของเหลวออกจากเนื้อเยื่อนั่นเอง และส่วนผสมสุดวิเศษสามอย่างที่ว่านั้น ก็ยังไม่แน่ว่าจะมีปริมาณมากพอที่จะให้ผลที่ต้องการหรือไม่ ----------------------------------------------------------------------------------------------------- ซองใหม่ ไม่ชวนสูบเดือนกรกฎาคม 2012 ออสเตรเลียจะเป็นประเทศแรกในโลกที่ ซองบุหรี่จะต้องดูเรียบๆ ไม่มีโลโก้ ไม่มีสีสันฉูดฉาด ดึงดูดใจอีกต่อไป นอกจากนี้ยังต้องมีคำเตือนตัวใหญ่ๆ ถึงอันตรายต่อสุขภาพ โดยยี่ห้อนั้นเขาให้พิมพ์ตัวเล็กๆ ไว้ด้านล่าง นายกรัฐมนตรี เควิน รัดด์ บอกว่านี่เป็นกฎหมายที่เข้มงวดที่สุดในโลก และบริษัทบุหรี่คงจะไม่ชอบแน่นอนแต่สงสัยจะเข้มไม่พอจึงต้องแถมด้วยการขึ้นภาษีอีกร้อยละ 25 ซึ่งจะทำให้บุหรี่ขนาดซองละ 30 มวนขึ้นราคาอีกซองละ 60 บาท งานนี้ค่ายบุหรี่ตอบโต้ทันทีด้วยการขู่ว่าจะฟ้องร้องแน่นอน โฆษกของผู้ผลิตบุหรี่อิมพีเรียล โทแบคโคบอกว่า “การใช้ซองเรียบๆ ก็เท่ากับเป็นการทำให้ผู้บริโภคไม่สามารถแยกแยะยี่ห้อของเราออกจากยี่ห้ออื่นได้ ซึ่งนั่นเท่ากับเป็นการสูญเสียประโยชน์ของบริษัท” ส่วนร้านค้ารายย่อยบอกว่า การขึ้นราคาบุหรี่ก็จะส่งผลต่อธุรกิจของพวกเขา ในขณะเดียวกันก็ส่งเสริมให้คนหันไปซื้อจากตลาดมืดมากขึ้น ประธานกลุ่มร้านค้าปลีก IGA บอกว่ากฎหมายดังกล่าวเป็นการทำร้ายคนออสซี่จำนวน 16 ล้านคนที่เลือกการใช้ชีวิตอย่างถูกต้องตามกฎหมาย งานนี้ดูท่าว่ารัฐจะหนาว เพราะตามกฎหมายของออสเตรเลียนั้นบริษัทบุหรี่สามารถที่จะฟ้องร้องขอค่าชดเชยจากการถูกบังคับเปลี่ยนลักษณะของซองผลิตภัณฑ์ได้ และรัฐบาลจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้เป็นเงินถึงปีละ 3000 ล้านเหรียญ(ไม่ต่ำกว่า 86,000 ล้านบาท)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 109 กระแสต่างแดน

คุณค่าที่ไม่คู่ควร องค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ ลุกขึ้นมาประกาศสงครามกับผู้ผลิตที่ติดฉลาก อวดอ้างสรรพคุณที่ไม่เป็นจริงบนผลิตภัณฑ์อาหาร เนื่องจากมีให้เห็นกันแพร่หลายจนเกินทน ถึงวันนี้มีผู้ประกอบการที่ได้รับจดหมายเตือนไปแล้ว 17 บริษัท หนึ่งในนั้นคือเนสท์เล่ที่เรารู้จักกันดี ข่าวบอกว่าข้อความบนฉลากของน้ำผลไม้ยี่ห้อจูซี่ จูซ ของเนสท์เล่นั้น ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าเครื่อง ดื่มดังกล่าวทำมาจากผลไม้ชนิดใดชนิดหนึ่ง แต่ความจริงแล้วเป็นการนำเอาน้ำผลไม้หลายชนิดมารวมกัน แล้วแต่งกลิ่น นอกจากนี้บริษัทยังถูกตักเตือนเรื่องอาหารเสริมสำหรับเด็กยี่ห้อเกอเบอร์ ด้วยเหตุที่ข้อมูล โภชนาการที่แจ้งบนฉลากนั้นยังไม่ได้รับการรับรองสำหรับเด็กอายุ 2 ปี อีกหนึ่งบริษัทที่ถูกอย. สหรัฐฯ จับจ้องอยู่ได้แก่ผู้ผลิตเครื่องดื่มน้ำทับทิมยี่ห้อ POM ที่ให้ข้อมูลกับผู้บริโภคบนเว็บไซต์ของตนเอง (โดยแจ้งเว็บไซต์ไว้ที่ฉลาก) ว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวสามารถป้องกันหรือรักษาอาการเครียด เบาหวาน หรือมะเร็งได้ แม้จดหมายเหล่านี้จะเป็นเพียงการขอความร่วมมือจากบริษัท แต่อย่างน้อยๆ ก็เป็นการส่งสารไป ยังผู้บริโภคว่าอย่าเชื่อในสิ่งที่เห็นเสมอไป และถ้าอะไรมันดูเหมือนจะดีเกินจริง ก็คงเป็นเพราะมันไม่จริงนั้นแล ... -------------------------------------------------------------------------------------------------------------- คุมน้ำหนักด้วยอาหารฟาสต์ฟู้ด ?นาทีนี้อะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้ในโลกของธุรกิจ แม้แต่ผู้ให้บริการโปรแกรมลดน้ำหนัก Weight Watchers ที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลกก็ยังจับมือกับร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดแมคโดนัลด์ ต่อไปนี้ แมคนักเก็ต เบอร์เกอร์ปลา และแร็พไก่ ที่ขายในร้านแมคโดนัลด์สาขาในนิวซีแลนด์ จะมีโลโก้ของ Weight Watchers อยู่ด้วย เพื่อเป็นการรับรองว่าคนที่กำลังควบคุมน้ำหนักนั้น สามารถกินได้ ไม่ต้องกังวลWeight Watchers ชื่อที่ได้รับการเชื่อถือมานานด้วยระบบ การให้แต้มกับอาหารแต่ละประเภท โดยคิดจากปริมาณแคลอรี่ และไขมันอิ่มตัว ถ้าต้องการจะลดน้ำหนักด้วยโปรแกรมนี้เรา จะต้องควบคุมปริมาณอาหารให้อยู่ที่วันละ 18 – 40 แต้ม โดย แต่ละคนก็จะมีแต้มที่ต่างกันไปตามแต่น้ำหนัก ส่วนสูง อายุ เพศ และกิจกรรมในแต่ละวัน งานนี้ Weight Watchers ถึงขั้นออกมารับรองว่าอาหารชุดของแมคที่เสิร์ฟพร้อมสลัดและน้ำ/น้ำอัดลม แบบไร้น้ำตาล จะมีค่าเท่ากับ 6.5 แต้ม บริษัทอ้างว่าอยากจะส่งสารไปยังคนที่ควบคุม น้ำหนักว่าพวกเขายังมีความสุขกับชีวิตได้แม้จะอยู่ในช่วงลดน้ำหนัก (ว่าแต่ความสุขนี่มันหาได้จากอาหาร ฟาสต์ฟู้ดอย่างเดียวรึ)มองในทางกลับกัน มันจะทำให้ผู้คนหันมาบริโภคอาหารประเภทนี้กันด้วยความเข้าใจว่ามันดีต่อสุขภาพ และยังไม่นับว่าเมื่อเข้าไปในร้านแล้วลูกค้าก็อาจจะสั่งโดนัทหรือมิลค์เชคเพิ่มจากอาหารสามประเภทที่ว่า นั้นด้วย หลายฝ่ายมองว่ามันคือแผนเพิ่มยอดขายด้วยการดึงลูกค้ากลุ่มที่ควบคุมน้ำหนักตัวให้เข้าร้าน จะมีหรือไม่มีโลโก้ ไก่ชุบแป้งทอดก็ยังเป็นไก่ชุบแป้งทอดอยู่นั่นเอง ----------------------------------------------------------------------------------------------------------ห่อให้ด้วย ช่วยลดโลกร้อน เพิ่งรู้ว่าคนญี่ปุ่นเขาไม่นิยมเก็บอาหารที่ทานไม่หมดในร้านติดตัวกลับบ้านไปด้วย การสำรวจเมื่อสองปีก่อนพบว่ามีคนญี่ปุ่นพียงร้อยละ 1 เท่านั้นที่เข้าใจแนวคิดเรื่องการนำอาหารเหลือกลับบ้าน ดังนั้นเขาถึงมีการก่อตั้งองค์กรขึ้นมารณรงค์เปลี่ยนทัศนคติคนให้ช่วยกันลดขยะจากอาหารเหลือตามร้าน ปีนี้องค์กร DoggyBag Committee ได้ทำการสำรวจอีกครั้งและพบว่าร้อยละ 90 ของผู้ตอบเห็นด้วย กับการนำอาหารที่กินเหลือกลับบ้าน (องค์กรนี้บอกว่าความจริงแล้วเมื่อ 20 -30 ปีก่อนคนญี่ปุ่น ก็นิยมเก็บอาหารที่เหลือจากงานเลี้ยงกลับบ้านกันเป็นปกติ) เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วก็เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของภัตตาคารบุฟเฟ่ต์ในญี่ปุ่นที่มีบริการห่อกลับบ้านให้กับลูกค้า ร้านที่เป็นผู้บุกเบิกได้แก่ร้านอาหารบุฟเฟ่ต์ 3 แห่งของโรงแรมในเครือโคคุไซ แต่เขาก็มีการจำกัดปริมาณในการห่อกลับบ้านและต้องตรวจสอบก่อนว่าอาหารที่จะให้ลูกค้านำกลับนั้นจะยังอยู่ได้อีกหลายชั่วโมง นอกจากนี้ยังกำชับให้กินให้หมดภายในวันเดียวด้วย ขณะนี้ร้านเล็กๆ เริ่มให้ความร่วมมือกับการบรรจุถุง/กล่องกลับบ้านให้ลูกค้า แต่ร้านใหญ่ๆ บอกว่ายังไม่อยากทำเรื่องนี้เต็มตัวจนกว่าจะแน่ใจว่าสังคมญี่ปุ่นให้การยอมรับเรื่องนี้อย่างจริงจัง กระทรวงเกษตรของญี่ปุ่นบอกว่า ในปี พ.ศ. 2550 มีขยะจากอุตสาหกรรมอาหารถึง 11 ล้านตันต่อปี นับเป็นสถิติที่สูงเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศที่พัฒนาแล้ว และการจัดการกับขยะเศษอาหารในญี่ปุ่น นั้นมีค่าใช้จ่ายประมาณ 36 บาทต่อ 1 กิโลกรัม --------------------------------------------------------------------------------------------------------------ขวดเก่าไปบอลโลกกำลังรออยู่ว่าฟุตบอลโลกที่อัฟริกาใต้ปีนี้จะมีมุขอะไรออกมารณรงค์เพื่อการลดโลกร้อนกันบ้าง ข่าวแรกออกมาแล้วว่าบรรดานักเตะจาก 9 ทีมดังที่มีไนกี้เป็นสปอนเซอร์หลักจะสวมเสื้อที่ทำจากใยโพลีเอสเตอร์ที่ผ่านการรีไซเคิลมาจากขวดพลาสติกที่ใช้แล้ว ขวดพวกนี้จะเดินทางมาจากญี่ปุ่นและไต้หวัน เพื่อเข้าแถวรับการตัด หลอม แล้วปั่นเป็นเส้นใย ซึ่งสามารถนำไปทอเป็นผืนผ้าและเย็บเป็นตัวเสื้อ เขาบอกว่าเสื้อหนึ่งตัวจะใช้ขวดประมาณ 8 ขวด บริษัทบอกว่า “เสื้อขวด” นั้นจะมีราคาเท่ากับเสื้อปกติ แม้ว่าวัสดุรีไซเคิลนั้นจะมีราคาแพงกว่า ผ้าธรรมดาอยู่บ้างแต่ก็สามารถชดเชยด้วยการประหยัดงบในส่วนอื่นๆ เพราะจะว่าไปแล้วการ ผลิตเสื้อแบบนี้สามารถลดการใช้พลังงานในการผลิตได้ถึงร้อยละ 30 เลยทีเดียว การตัดสินใจผลิตเสื้อรุ่นดังกล่าวออกมาช่วยทำให้ขวดพลาสติก จำนวน 13 ล้านขวด ได้อวตารมาเป็นเสื้อ 1.5 ล้านตัว แทนจะกลาย เป็นวัสดุถมดิน------------------------------------------------------------------------------------------------------------------มาสอนก็มีเสี่ยงนับถึงวันนี้มีครูชาวอังกฤษเสียชีวิตไปแล้ว 178 คน จากอาการเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับแร่ใยหิน (แอสเบสทอส) และนั่นคือสาเหตุที่หน่วยงานท้องถิ่น 34 หน่วยงานกำลังถูกสอบสวนอยู่ในขณะนี้ การสุ่มสำรวจโรงเรียน 16 โรงโดยสมาคมให้คำปรึกษาและฝึกอบรมเกี่ยวกับแร่ใยหินพบว่า ไม่มีโรงเรียนไหนเลยที่มีระบบป้องกันอันตรายจากแร่ใยหินซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิด โรคมะเร็งที่เยื่อหุ้มปอด ข่าวดังกล่าวทำให้สมาคมครูในอังกฤษออกมาเรียกร้องให้มีการตั้งองค์กรอิสระขึ้นมากำกับ ดูและและให้คำแนะนำในเรื่องแร่ใยหินและการกำจัดหรือจัดการมันในเขตโรงเรียน รัฐมนตรีที่ดูแลเรื่องนี้ประกาศว่ารัฐบาลจะจัดทำคู่มือเรื่องการจัดการแร่ใยหิน เพื่อแจกให้กับบรรดาครูใหญ่ ผู้ว่าการรัฐ และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานท้องถิ่นได้ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เนื่องจากประมาณร้อยละ 75 ของโรงเรียนในอังกฤษนั้นมีการใช้แร่ใยหินในวัสดุก่อสร้าง เบื้องต้นผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้กำจัดวัสดุอาคารที่ชำรุดเสียหายที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหินออกไปก่อน ส่วนวัสดุที่ยังไม่เสียหายนั้นให้ปล่อยไว้อย่างนั้นโดยเพิ่มการจัดการที่ดีแทน โชคดีที่อังกฤษเขามีกฎหมายเรื่องนี้เข้มพอสมควร จึงทำให้เรื่องนี้ได้รับการจัดการอย่างรวดเร็ว ส่วนประเทศไทย ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราซึ่งมีการใช้วัสดุก่อสร้างที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบกันอย่างแพร่หลายเช่นกัน จะหันมาให้ความสนใจกับการจัดการแร่ใยหินอย่างเป็นรูปธรรมเหมือนเขาบ้าง --------------------------------------------------------------------------------------------------------------- สายการบินสปิริตสูงออสเตรเลียก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่เกิดกรณีร้องเรียนจำนวนมากจากผู้ใช้บริการสายการบินต้นทุนต่ำ รัฐบาลจึงออกกฎให้สายการบินเหล่านี้เสนอสิ่งที่เรียกว่า “ข้อตกลงกับผู้โดยสาร” เพื่อเป็นการรับประกัน ว่าผู้โดยสารจะได้รับบริการที่ดีขึ้น สายการบินเจ็ทสตาร์รีบลงมือทำเรื่องนี้ก่อนใคร หลังจากเสียคะแนนไปเยอะเมื่อปลายเดือนมกราคม ที่ผ่านมาเมื่อเครื่องบินที่จะต้องพาผู้โดยสารจากเกาะภูเก็ตกลับไปออสเตรเลีย เกิดเหตุขัดข้อง ทางเทคนิค ทำให้ผู้โดยสารจำนวน 290 คนต้องติดค้างอยู่ที่ภูเก็ตถึง 2 คืน แต่บริษัทก็รีบกู้ชื่อกลับมาด้วยการให้การชดเชยและปลอบใจผู้โดยสารแบบที่สายการบินอื่นๆ ต้องอึ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเจ็ทสตาร์บอกว่างานนี้ใช้เงินไปประมาณ 1 ล้านเหรียญออสเตรเลีย (เกือบๆ 30 ล้านบาท) สำหรับการส่งเครื่องบินเปล่ามารับผู้โดยสาร และจ่ายเงินคืนเต็มจำนวน ให้กับผู้โดยสารทุกคน เฉลี่ยคนละ 1,000 เหรียญ (ประมาณ 29,500 บาท) เงินชดเชยอีกคนละ 600 เหรียญ (ประมาณ 17,600 บาท) และค่าที่พัก 2 คืนในโรงแรมที่ภูเก็ตด้วย สายการบินอื่นจะไม่อึ้งได้อย่างไร เพราะที่ผ่านมาอย่างเก่งสายการบินก็ยอมคืนเงินให้ บางส่วนหรือไม่ก็แจกเวาเชอร์มูลค่า 50 เหรียญ (ประมาณ 1,500 บาท) ให้ผู้โดยสารเท่านั้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 103 กระแสต่างแดน

“สร้างภาพ” ได้ ไม่ถือว่าหลอกกันองค์กรเฝ้าระวังโฆษณาของอังกฤษออกมายืนยันว่าจะไม่สั่งห้ามการใช้เทคนิค “สร้างภาพ” ให้บุคคลที่ปรากฏตัวบนหน้านิตยสารดูดีเกินจริง กลุ่มเสรีนิยมประชาธิปไตยได้ออกมาเรียกร้องให้มีการห้ามใช้เทคนิคต่างๆ ในการตกแต่งรูปภาพของบรรดาคนดัง หรือนางแบบนายแบบที่ปรากฏบนหน้านิตยสาร เพราะมันทำให้เด็กๆ เกิดความกังวลในเรื่องรูปร่างหน้าตาของตนเอง และขณะเดียวกันก็เรียกร้องให้โฆษณาสำหรับผู้ใหญ่นั้น มีคำเตือนทำนอง “ภาพนี้ผ่านการตกแต่งด้วยเทคนิค” อยู่ด้วย กลุ่มดังกล่าวบอกว่าการตกแต่งหรือเปลี่ยนแปลงภาพเพื่อทำให้คนดูดีขึ้นนั้น มันหมายถึงการที่สังคมคาดหวังใน “ภาพลักษณ์ที่เป็นไปไม่ได้” และเทคนิคการลบไฝ ฝ้า หรือรอยย่นบนใบหน้านั้นอาจจะทำให้บรรดาเด็กผู้หญิงเสียความมั่นใจในตนเอง ในขณะที่ภาพสาวๆ ที่ผอมเกินเหตุก็อาจทำให้เด็กๆ เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติทางการกินมากขึ้นด้วย ดาราหลายคนก็เคยออกมาพูดถึงการใช้เทคนิคเหล่านี้ เคท วินสเล็ท ไม่พอใจที่นิตยสาร GQ ทำให้เธอขายาวขึ้นและผอมเกินจริงในรูปที่ขึ้นปก ในขณะที่นักร้องสาว เคลลี่ คล้ากสัน ก็เคยถูก “ลดไซส์” บนปกของนิตยสารอเมริกันฉบับหนึ่งมาแล้วเช่นกัน แม้แต่คีร่า ไนท์ลี่ย์ นางเอกจากเรื่องคิงอาเธอร์ ก็เคยพูดถึงหน้าอกที่ดูเหมือนเป็นของเธอในโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวนั้น “ไม่ใช่ของชั้นแน่ๆ” โฆษกขององค์กรที่ควบคุมดูแลเรื่องมาตรฐานการโฆษณา (ซึ่งตั้งขึ้นโดยอุตสาหกรรมการโฆษณา) บอกว่า ไม่จำเป็นต้องไปห้ามกันให้วุ่นวายเพราะปีที่แล้วมีเรื่องร้องเรียนดังกล่าวเพียง 5 กรณีเท่านั้นที่สำคัญเขาบอกว่า ใครๆ ก็รู้อยู่แล้ว(จริงหรือ?) ว่าภาพโฆษณาเหล่านี้มีการใช้เทคนิคช่วยทั้งนั้น ใครมีรถเก่า เอามาขาย หนึ่งในแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเยอรมนีได้แก่ การประกาศรับซื้อรถเก่า (กว่า 9 ปี) ในราคาคันละ 2,500 ยูโร (ประมาณ 124,000 บาท) กระทรวงการคลังของเยอรมนีบอกว่านี่คือแผนการกระตุ้นให้ผู้คนตัดสินใจลงทุนซื้อรถใหม่ที่มีประสิทธิภาพในการใช้เชื้อเพลิงมากขึ้นมาใช้แทนคันเก่า ส่วนเจ้ารถเก่าที่ว่านั้นก็ไม่ได้เอาไปจอดที่เต็นท์ไหนแต่จะถูกเอาไปเข้าเครื่องบดให้เป็นเศษเหล็กนั่นเอง ผู้คนให้ความสนใจโครงการนี้กันล้นหลาม งบที่เตรียมไว้(ประมาณ 2,600 ล้านยูโรหรือ 129,000 ล้านบาท) ก็ถูกใช้หมดไปภายในวันเดียว แถมยังมีคนมาลงชื่อต่อคิวไว้ล่วงหน้าอีก 15,000 คนด้วย แต่ไม่รู้ว่าแผนนี้ จะกระตุ้นเศรษฐกิจของเยอรมนีได้จริงหรือไม่ งานวิจัยจากสถาบัน Halle Economic Research Institute ระบุว่า 3 ใน 4 ของคนที่เอารถเก่ามาขายให้รัฐบาลในโครงการนี้ คือคนที่ตั้งใจจะซื้อรถใหม่อยู่แล้วแม้จะไม่ได้เงินช่วยเหลือจากรัฐก็ตาม ซึ่งหมายความว่าในจำนวนรถที่คาดว่าขายได้ 2 ล้านคันตามโครงการเอื้ออาทรที่ว่านี้ มีถึง 1.5 ล้านคันที่ยังไงๆ ก็ขายได้อยู่แล้ว เรื่องนี้รัฐบาลออกมาแก้ต่างว่า เจตนาของโครงการคือการกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายเดี๋ยวนี้ ไม่ใช่ปีหน้า ซึ่งเยอรมนีเตรียมงบประมาณในการกระตุ้นเศรษฐกิจไว้ทั้งหมด 5,000 ล้านยูโร หรือประมาณ 247,000 ล้านบาท ความสุขที่คุณตัดไม่ได้ประเทศภูฏานออกมาเตือนประชาชนเรื่องการตัดต้นไม้มาทำธงในการอธิษฐานให้กับผู้ล่วงลับ เพราะเหตุว่ามันจะไม่ดีต่อพื้นที่ป่าอันเขียวชอุ่มและ “ความสุขมวลรวม” ของประเทศ ชาวพุทธที่นี่นิยมปักธงเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตหรือเพื่ออุทิศให้กับผู้ที่ล่วงลับให้สามารถค้นพบทางไปสู่โลกหน้าได้ เชื่อกันว่ายิ่งปักมากยิ่งดี และที่สำคัญคือต้องใช้ธงใหม่ทุกครั้งด้วย ถ้าใครใช้ธงเก่าก็จะดูเหมือนไม่พยายามเท่าที่ควร ซึ่งก็หมายถึงว่าจะไม่ได้บุญไปด้วย คนภูฏานเชื่อว่า ลมจะพัดพาเอากระแสดีๆ จากสัญลักษณ์ตันตระที่เขียนอยู่บนธงสีเหลือง เขียว แดง ขาว และน้ำเงิน ซึ่งเป็นตัวแทนของธาตุทั้ง 5 ออกไป และจะต้องมีการปักธงทั้งหมด 108 ธง เมื่อมีคนเสียชีวิต รัฐบาลภูฏานต้องคิดหนักเพราะไม่สามารถชักชวนให้ประชาชนเปลี่ยนจากธงไม้มาใช้ธงเหล็กหรือธงรีไซเคิลได้ ในขณะที่รัฐธรรมนูญของภูฏานซึ่งให้ความสำคัญกับความสุขมวลรวมประชาชาติของประชากรซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 700,000 คนนั้นระบุไว้ชัดเจนว่าจะต้องมีพื้นที่ป่าไม้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 ของพื้นที่ประเทศ ในระหว่างเดือนมิถุนายนปี 2007 ถึงมิถุนายน 2008 ภูฏานมีการตัดต้นไม้ 60,000 ต้น เพื่อนำมาใช้ในการทำธงดังกล่าว อยู่คุกกินอร่อยกว่าอยู่โรงพยาบาลนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยบอร์นมัธ ในอังกฤษ ได้ทำการสำรวจเปรียบเทียบคุณภาพของอาหารที่โรงพยาบาลของรัฐเตรียมให้ผู้ป่วยกับอาหารที่เรือนจำเตรียมให้กับนักโทษ ผลปรากฏว่าอาหารสำหรับนักโทษนั้นมีคุณภาพสูงกว่าอาหารสำหรับผู้ป่วย ทั้งนี้นักวิจัยเขาบอกว่าอาหารในเรือนจำ จัดว่าเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการดีเยี่ยม เป็นอาหารที่ไม่เน้นไขมัน แถมยังใส่เกลือน้อยกว่าและไม่นิยมใช้วิธีการทอดหรือผัดด้วย ศาสตราจารย์ จอห์น เอ็ดเวิร์ดส์ หนึ่งในผู้ร่วมวิจัยบอกว่าเรื่องนี้เรื่องใหญ่ ร้อยละ 40 ของคนไข้จะมีภาวะทุพโภชนาการเพราะอาการเจ็บป่วยทำให้คนไข้มีความอยากอาหารน้อยลง คนเหล่านี้จึงควรจะได้รับความใส่ใจเป็นพิเศษจากโรงพยาบาลในการกระตุ้นให้รับประทานอาหารดีๆ ให้มากขึ้น แต่ทีมวิจัยกลับพบว่าเวลาที่โรงพยาบาลของรัฐถูกตัดงบประมาณนั้น งบอาหารจะเป็นอย่างแรกที่ถูกตัด แต่ทั้งนี้โฆษกจากกรมสุขภาพของอังกฤษเขายืนยันว่า คนไข้ส่วนใหญ่ก็พอใจกับอาหารที่โรงพยาบาลจัดให้(เป็นไปได้ว่าคนไข้ยังไม่เคยรับประทานอาหารในเรือนจำ ... แต่ก็น่าจะไม่จำเป็นต้องเข้าไปลองนะ) น้ำหนักไม่ลด อดได้เงินคืน เดี๋ยวนี้คลินิกลดน้ำหนักในฮ่องกงหันมาชักชวนผู้บริโภคให้เข้ารับบริการด้วยข้อเสนอว่าพวกเขาจะได้บริการฟรี ถ้าสามารถลดความอ้วนได้จริงและช่วยเป็นพรีเซ็นเตอร์ให้กับทางคลินิกด้วย แต่มันไม่ง่ายอย่างที่คิด ก่อนอื่นผู้ที่ประสงค์จะใช้บริการลดน้ำหนักกับทางคลินิกพวกนี้ต้องจ่ายเงินเต็มจำนวนล่วงหน้าไปก่อน เพื่อแสดงถึงความมุ่งมั่นว่าต้องการจะลดน้ำหนักจริงๆ และมีการทำสัญญาตั้งเป้าหมายการลดไว้ด้วย ถ้าพลาดเป้าไม่สามารถลดได้ตามที่แจ้งความจำนงไว้กับทางร้าน ลูกค้าก็จะไม่ได้เงินคืนหรือได้ส่วนลดตามที่เสนอไว้ในตอนแรก เช่น รายหนึ่งที่ร้องเรียนเข้ามาบอกว่าเธอต้องจ่ายเงิน 24,800 เหรียญฮ่องกง (ประมาณ 108,000 บาท) ต่อคอร์สลดน้ำหนักที่ใช้เวลา 2 เดือน และเธอจะได้เงินคืนถ้าสามารถลดน้ำหนักได้ 15 ปอนด์ (ประมาณ 7 กิโลกรัม) ภายในระยะเวลาดังกล่าว แต่เธอก็ไม่ได้เงินก้อนนั้นคืนมา เพราะไม่สามารถลดน้ำหนักได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ เรื่องนี้จัดการยากจริงๆ เพราะแม้จะมีการดูสัญญาโดยละเอียดแล้วก็ตาม แต่ในสัญญาก็ระบุไว้แล้วว่า การรักษาอาจไม่ประสบความสำเร็จเสมอไป ขึ้นอยู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตและการรับประทานอาหารของผู้เข้ารับบริการ ทำให้เป็นการยากที่จะชี้ลงไปว่าความล้มเหลวในการลดน้ำหนักนั้นเป็นความผิดของใคร แต่ส่วนมากแล้วจะเป็นฝ่ายลูกค้า ปัจจุบันสภาผู้บริโภคของฮ่องกงมีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับคลินิกลดความอ้วนมากขึ้น แค่ช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ ก็มีกรณีร้องเรียนที่เกี่ยวกับเงื่อนไขคืนเงินที่ว่านี้กว่า 31 กรณี (มากกว่าปีที่แล้ว 7 เท่า) จากเรื่องร้องเรียนทั้งหมด 86 เรื่องที่เกี่ยวกับบริการของคลินิกลดความอ้วน คำแนะนำที่ทางการฮ่องกงให้กับผู้บริโภคขณะนี้คือ ให้ระลึกไว้เสมอว่าใดๆ ในโลกล้วนไม่ฟรี

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 100 กระแสต่างแดน

กระแสต่างแดนศศิวรรณ ปริญญาตร วัยรุ่นร้ายกว่ายุง?สวนสาธารณะในโตเกียวกำลังกำลังประสบปัญหาน่ากลุ้ม จากแกงค์วัยรุ่นที่ออกก่อกวนทำลายทรัพย์สินสาธารณะและสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้กับคนที่อาศัยอยู่ใกล้สวนเหล่านั้น เช่นสวนสาธารณะคิตาชิตาฮามา ในเขตอาดาจิทางเหนือของกรุงโตเกียว นั้นต้องพบกับการถูกวัยรุ่นที่คึกคะนองทำลาย ไม่ว่าจะซ่อมแซมใหม่สักกี่ครั้งก็ยังจะกลับมาทำลายซ้ำได้อีก แม้ว่าทางสวนจะแก้ปัญหาด้วยการจัดเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยมาดูแลแล้วก็ตาม สุดท้ายทางเขตเลยตัดสินใจไปปรึกษาบริษัทจากอังกฤษที่เคยประดิษฐ์อุปกรณ์ไว้ป้องกันการจับกลุ่มเฮฮาของตามหน้าห้างสรรพสินค้ามาแล้ว แล้วก็ได้อุปกรณ์ Mosquito MK4 Anti-vandal system มาทดลองใช้ ฟังจากชื่ออาจเหมือนกับอุปกรณ์ไล่ยุงแต่ความจริงแล้วเขาทำขึ้นมาเพื่อปราบเด็กเฮี้ยนโดยเฉพาะ โดยเจ้าอุปกรณ์ที่ว่าซึ่งมีหน้าตาคล้ายสี่เหลี่ยมลูกบาศก์ขนาด 10 เซนติเมตร จะปล่อยเสียงความถี่สูงขนาด 17 เมกะเฮิร์ทซ์ (ที่ว่ากันว่าจะมีแต่คนที่อายุต่ำกว่า 25 ปีเท่านั้นที่จะได้ยิน) ออกมาทุกวันในช่วงเวลาระหว่างเวลา 5 ทุ่มถึงตี 5 ด้วยระยะการทำงานของคลื่นเสียงที่ครอบคลุมพื้นที่ 40 เมตรทางสวนดังกล่าวหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเด็กเหล่านี้จะไม่มาจับกลุ่มเฮฮา เตะนี่ ทุบนั่น หรือแม้แต่จุดประทัดเล่นกันกลางดึกอีกต่อไป ยากูซ่าขาลงสมาชิกยากูซ่าตัวจริงทุกวันนี้ดูไม่น่าเกรงขามเหมือนในภาพยนตร์ที่เราเห็นอีกต่อไปแล้ว เรื่องนี้ข่าวจากหนังสือพิมพ์เจแปนไทม์ เขายืนยันมาปลายปีที่แล้วมีชายวัย 61 ปีถูกตำรวจจับข้อหารีดไถคุณแม่บ้านด้วยการขายของแล้วทอนเงินไม่ครบ เรื่องนี้ถ้าเป็นกรณีทั่วไปก็ไม่มีอะไรน่าสนใจ แต่ชายคนดังกล่าวเป็นสมุนยากูซ่า ซึ่งตามมาตรฐานยากูซ่าแล้วการหาเงินด้วยวิธีดังกล่าวออกจะน่าขำอยู่บ้างแต่นั่นเป็นแค่ตัวอย่างเดียว ข่าวเขาบอกว่ายากูซ่าทุกวันนี้รับแทบจะทุกงานที่ได้เงิน ตั้งแต่รับจ้างเข้าคิวซื้อตั๋วดูคอนเสิร์ต เป็นนายหน้าจัดหาภรรยาน้อย ช่วยหาลูกค้ามาเช่าบ้านหรือมาเที่ยวผับ และมีไม่น้อยที่เปลี่ยนไปหากินด้วยการขับแท็กซี่ในทางกลับกัน คนที่เป็นซาลารี่แมนหรือมนุษย์เงินเดือนกลับนิยมไปสมัครเป็นสมาชิกยากูซ่ามากขึ้น เพราะรายได้จากงานประจำนั้นไม่พอใช้ ซึ่งก็เข้าทางกันพอดี เพราะทางยากูซ่าก็หาคนรุ่นใหม่ๆ มาสืบทอดไม่ได้ ในขณะที่รุ่นเก่าก็อายุมากขึ้นกันทุกวัน ที่สำคัญมนุษย์เงินเดือนเหล่านี้มีรายได้ประจำมาเสียค่าสมาชิกอย่างสม่ำเสมอดีด้วย สรุปว่าการควบรวมกิจการระหว่างแก๊งค์ยากูซ่ากับซาลารี่แมน นี้เกิดขึ้นแล้ว แต่ไม่แน่ใจว่าเราควรดีใจหรือเสียใจดีนะนี่ เมื่ออาหารสุขภาพแย่กว่าอาหารขยะคุณพ่อคุณแม่ต้องเกิดอาการช็อคกันอีกครั้ง (หรืออาจจะชินแล้วก็ได้) เมื่อมีงานสำรวจที่พบว่า อาหารเสริมสำหรับเด็กนั้นมีน้ำตาลและไขมันอิ่มตัวมากกว่าขนมปังกรอบรสช็อคโกแล็ต หรือชีสเบอร์เกอร์เสียอีก โครงการรณรงค์เพื่ออาหารสำหรับเด็ก Children’s Food Campaign ได้ทำการสำรวจอาหารสำหรับเด็กทารกและเด็กวัยหัดเดินจำนวน 100 ชนิดที่โฆษณาว่าเป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และพบว่ามีเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่มีไขมัน น้ำตาล และเกลือไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานของอังกฤษขนมปังกรอบ Toddler's Own Mini Cheese Biscuits ที่ผลิตโดยบริษัท Heinz นั้นมีไขมันอิ่มตัวถึงร้อยละ 7.3 ซึ่งมากกว่าในชีสเบอร์เกอร์ที่ที่มีไขมันดังกล่าวร้อยละ 6.7 หรือ เช่น Farley’s Original Rusk มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบถึง 29 กรัม (มากกว่าในขนมปังรสช็อคโกแล็ตเสียอีก)แล้วบริษัทผู้ผลิตเหล่านี้มีปฏิกิริยาอย่างไรบ้าง ... บริษัท Cow and Gate ตัดสินใจเลิกผลิตขนมปังกรอบ ที่ถูกพบว่ามีไขมันทรานส์เป็นส่วนประกอบไปเลย ในขณะที่บริษัท Heinz นั้นยังยืนยันว่า นี่เป็นของชอบของเด็กๆ มากว่า 120 ปี สูตรดั้งเดิมของเขาจริงๆ มีทั้งวิตามินและเกลือแร่มากมาย (เอ่อ ... แล้วก็น้ำตาลด้วย) กูเกิ้ลโดนห้ามถ่ายหลายคนคงรู้จักบริการของกูเกิ้ลที่ชื่อว่า สตรีทวิว ว่ากันว่ามันดีกว่าการดูแผนที่ธรรมดามากมายนัก เพราะคุณสามารถคลิกซูมเข้าไปบนตำแหน่งที่ต้องการแล้วคุณก็จะเห็นภาพสองข้างถนน ราวกับว่าคุณกำลังเดินอยู่บนถนนสายนั้นเลยทีเดียวแต่ปัญหามันอยู่ตรงที่ เวลาที่กล้องหมุนได้ 360 องศาซึ่งติดอยู่บนหลังคารถของกูเกิ้ล เก็บภาพสองข้างถนนเข้าไป มันก็เก็บเอารูปคนที่เดินผ่านไปมาในย่านนั้นๆ ด้วย ถือเป็นการละเมิดสิทธิของคนเหล่านั้นเขาด้วยเช่นกันประเทศกรีกจึงตัดสินใจห้ามไม่ให้ยักษ์ใหญ่อย่างกูเกิ้ล (ที่เคยประกาศไว้ว่าจะขยายบริการให้ครอบคลุมยุโรป) เข้าไปเก็บภาพด้วยสตรีทวิว ทางกูเกิ้ลต่อรองว่าจะทำจุดเบลอๆ ลงบนหน้าคนหรือทะเบียนรถให้ แต่หน่วยงานที่ดูแลเรื่องการปกป้องข้อมูลข่าวสารได้ขอให้กูเกิ้ลตอบมาก่อนว่าจะเก็บภาพดังกล่าวไว้นานเท่าใด และจะแจ้งให้กับบุคคลในวิดีโอทราบด้วยวิธีใดว่าจะมีหน้าเขาอยู่ในนั้นเยอรมนีก็เป็นอีกประเทศที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับบริการดังกล่าว และจะยอมให้มีได้ก็ต่อเมื่อกูเกิ้ลสามารถพัฒนาเครื่องมือที่รับรองว่าจะไม่รุกล้ำความเป็นส่วนตัวขึ้นมาได้ในกรณีของญี่ปุ่นนั้น กูเกิ้ลต้องถ่ายใหม่ทั้งหมดโดยลดระดับความสูงของกล้องลงมา เนื่องจากกล้องที่ติดอยู่กับรถนั้นอยู่ในระดับที่สูงเกินไปจนเห็นเข้าไปในรั้วบ้านได้ ระวัง คุณอาจจ่ายทิปโดยไม่จำเป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เข้าไปรับประทานอาหารในร้านต่างๆ ในเมืองเบอร์ลิน อาจยังไม่รู้ตัวว่าจ่ายเงินเกินจริง ทั้งนี้ก็เพราะว่าเขาจะปั๊มข้อความอย่าง “ยังไม่รวมค่าบริการ” หรือ “ยังไม่รวมทิป” เพิ่มในใบเสร็จสำหรับลูกค้าที่ไม่ได้พูดภาษาเยอรมันนั่นเองซึ่งฟังดูก็ไม่น่าจะแปลก แต่ที่เยอรมนีนั้นเขามีกฎหมายควบคุมงานบริการโรงแรมและร้านอาหาร ที่ระบุว่า “ราคา” นั้นได้รวมเอาทั้งภาษีและค่าบริการเอาไว้หมดแล้ว โดยปกติแล้วสิ่งที่คนเยอรมันนิยมทำคือการจ่ายเงินแบบปัดเศษไป ไม่รับเงินทอน หรือไม่ก็เพิ่มให้อีกประมาณร้อยละ 10 จากค่าอาหารและเครื่องดื่ม แต่นี่เป็นความสมัครใจของลูกค้านะ สเตฟานี่ เฮคเคล โฆษกสมาคมผู้ประกอบการโรงแรมและร้านอาหารแห่งเยอรมนีบอกว่า การเรียกร้องทิปจากลูกค้านั้นเป็นสิ่งที่ห้ามเด็ดขาดแต่เห็นได้ชัดว่ามีคนทำแล้วจริงๆ มีนักท่องเที่ยวจากฝรั่งเศสคนหนึ่ง เพิ่งมาเที่ยวได้สามวัน แกก็เจอกับใบเสร็จอย่างว่าเข้าไป 5 ใบ จากร้านอาหารต่างๆ กัน 5 ร้าน จนเขานึกว่าตัวเองตกข่าว และคิดเอาเองว่าสงสัยเยอรมนีคงจะเปลี่ยนกฎหมายไปใช้แบบอเมริกา ที่เป็นที่รู้กันว่าลูกค้าต้องให้ค่าบริการอย่างน้อยร้อยละ 15 นั่นเองทางเจ้าของร้านและบริกร ต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เดี๋ยวนี้นักท่องเที่ยวไม่ค่อยจะให้ทิปเลย เลยต้องใช้วิธีนี้แหละในขณะที่สหพันธ์ผู้บริโภคแห่งเยอรมนีบอกว่า อย่างนี้เขาเรียกปล้นกันกลางวันแสกๆ นะพี่น้อง แต่การท่องเที่ยวแห่งเยอรมนี บอกว่ายังไม่เห็นมีใครมาร้องเรียนอย่างเป็นทางการ แต่ก็เริ่มเป็นห่วงว่าเรื่องนี้อาจทำให้เบอร์ลินเสียภาพพจน์ในหมู่นักท่องเที่ยวอยู่เหมือนกัน เอาเป็นว่าเรารู้กันไว้ ก่อนไปเที่ยวเบอร์ลินแล้วกัน ว่าค่าบริการต่างๆ ที่นั่นความจริงเขารวมไว้หมดแล้ว ไม่จำเป็นต้องจ่ายเพิ่มอีก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 178 สถานการณ์ อาหาร GMO ในเยอรมนี

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการร่างกฎหมายจีเอ็มโอ (GMO- Genetically Modified Organism) หรือร่างพ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ ที่ผลักดันโดยกลุ่มผู้สนับสนุนจีเอ็มโอและใกล้ชิดกับบรรษัทเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติผ่านการเห็นชอบโดยคณะรัฐมนตรี แล้ว กำลังถูกเสนอไปสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองปัจจุบันเชื่อว่าจะผ่านการพิจารณาโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติโดยเร็ว กฎหมายฉบับนี้จะเป็นใบผ่านเพื่อเปิดทางสะดวกให้กับการปลูกพืชจีเอ็มโอในประเทศไทย โดยเปิดช่องโหว่ให้บรรษัทที่ทำการทดลองจีเอ็มโอในภาคสนาม และขายเมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอในเชิงพาณิชย์ไม่ต้องรับผิดชอบผลกระทบที่มีต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ความมั่นคงทางอาหาร และผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมอื่นๆ ร่างกฎหมายฉบับนี้ยังมีประเด็นที่ควรปรับปรุง เพราะมีหลายข้อที่ไม่สอดคล้องกับหลักการสากลในพิธีสารว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ และพิธีสารเสริมนาโงย่า-กัวลาลัมเปอร์ว่าด้วยการรับผิดและชดใช้ความเสียหาย เช่น กรณีผลกระทบจากกรณีจีเอ็มโอนั้น ในพิธีสารฯ ครอบคลุมถึงการคุ้มครองผลกระทบทางสังคมเศรษฐกิจ และอนุญาตให้ใช้ดุลพินิจตามสมควรได้ แม้จะไม่ปรากฏหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ แต่ในร่างกฎหมายระบุว่า ต้องใช้ข้อมูลและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนแล้วเท่านั้น สำหรับประเทศเยอรมนี ที่ประชาชนมากกว่าร้อยละ 80 ไม่ต้องการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มี GMO ก็ตกอยู่ในฐานะมัดมือชก ซึ่งก็ยังถูกบังคับให้บริโภคทางอ้อมเช่นกัน แต่อย่างไรก็ตามกฎหมายของเยอรมนีเข้มงวดมากในเรื่องการติดฉลากผลิตภัณฑ์ที่มี ส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ และองค์กรผู้บริโภคก็เรียกร้องให้รัฐบาลแบน อาหารที่มี GMO เป็นองค์ประกอบ   เคยมีกรณีที่รัฐบาลท้องถิ่น ซากเซน อันฮาลต์ (Sachsen Anhalt) เป็นโจทก์ ฟ้องร้องรัฐบาลกลางที่ออกกฎหมายการขึ้นทะเบียนเกษตรกรที่ปลูกพืช GMO และควบคุมอย่างเข้มงวด ในกรณีที่มีการปนเปื้อน การผสมพันธุ์พืชข้ามแปลง เกษตรกรที่ปลูกพืช GMO จะต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้น ฝ่ายโจทก์อ้างว่า เป็นการจำกัดเสรีภาพในการประกอบอาชีพ คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธรัฐเยอรมนี ยืนยันถึงหลักแห่งความปลอดภัยและคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ จึงยกคำร้องของของโจทก์ จนถึงปัจจุบันนี้ พื้นที่การทำการเพาะปลูก พืช GMO ในเยอรมนี เหลือน้อยมาก และไม่เป็นที่นิยม เนื่องจากถูกต่อต้านจากผู้บริโภคและเกษตรกรที่ให้ความสำคัญกับเกษตรอินทรีย์ เยอรมนีมีคำสั่งประกาศห้ามปลูก ข้าวโพด GMO Mon 810 ถึงแม้ว่าจะมีกฎหมายห้ามแต่ก็มีช่องทางอื่นที่สามารถหลุดรอดเข้ามาได้ จากการนำเข้าผลผลิตทางเกษตร ไม่ว่าจะเป็น ถั่วเหลือง คาโนลา (พืชสำหรับผลิตน้ำมันพืช) และเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์บางราย ก็ใช้อาหารสัตว์ที่มีส่วนผสมของ GMO เลี้ยงสัตว์ด้วย ในอียูอนุญาตให้ใช้สิ่งมีชีวิตที่ดัดแปลงพันธุกรรม GMO ประมาณ 50 ชนิด ในเยอรมนี รัฐบาลห้ามจำหน่ายพืชผัก เนื้อสัตว์ ที่เป็น GMO ซึ่งเป็นอาหารของมนุษย์ ยกเว้นอาหารบางชนิดเช่น ช็อคโกแลต จาก อเมริกา ซีอิ๊วในร้านอาเซียนช็อป แต่ต้องติดฉลากว่า GMO ให้เห็นอย่างชัดเจนเรื่องการติดฉลาก หากผลิตภัณฑ์ชนิดใดมีส่วนผสมของ ผลิตภัณฑ์ GMO น้อยกว่า 0.9 % ได้รับข้อยกเว้นไม่ต้องติดเครื่องหมาย GMO สำหรับผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ไม่ว่า จะเป็น เนื้อ นม ไข่ ที่ผลิตจาก สัตว์ ที่เลี้ยงด้วยอาหารสัตว์ GMO ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายมาควบคุมเรื่องฉลาก เนื่องจาก การย่อยของกระเพาะสัตว์ ที่เลี้ยงด้วยพืช GMO สามารถย่อยสลาย DNA ของพืชชนิดนี้ได้ แต่จากผลการศึกษาปัจจุบันมีการตรวจพบ ว่า มีการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมในสัตว์ที่เลี้ยงด้วย พืช GMO ในอนาคตอาจมีการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ให้รัดกุมยิ่งขึ้น หน่วยงานเฝ้าระวังทางด้านอาหารของเยอรมนี ทำการสุ่มตรวจผลิตภัณฑ์ทางอาหารมนุษย์เป็นระยะๆ พบว่า หนึ่งในสี่ ของผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง มี GMO ปนอยู่ พบว่าในน้ำผึ้งที่นำเข้ามาจำหน่ายในเยอรมนี มีการปนเปื้อนของ GMO สำหรับข้าวโพดพบมากถึง 6% และ และพบว่า ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง 7 ตัวอย่าง ผลิตภัณฑ์จากข้าวโพด 3 ตัวอย่างมีการปนเปื้อน GMO สูงกว่าที่กฎหมายกำหนด (ยกตัวอย่าง ชิปข้าวโพด (maize chip) ที่นำเข้าจากฟิลิปปินส์) และยังตรวจพบมะละกอนำเข้ามี่มีการปนเปื้อน GMO (โชคดีที่ วารสารสำหรับผู้บริโภคที่มีสมาชิกมากกว่า หนึ่งแสนราย ไม่ได้ใส่ชื่อประเทศที่ส่งออกไปว่า เป็นประเทศไทย) สำหรับผู้บริโภคที่ตระหนักถึงความเสี่ยงจากผลกระทบทางด้านสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมจากGMO สามารถเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ปลอดจาก GMO ภายใต้ฉลาก GMO free ซึ่งเป็นการติดฉลากแบบสมัครใจ ซึ่งเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค ที่ตระหนักและให้คุณค่ากับการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์ เนื่องจากในการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์นั้นจะต้องไม่มีการใช้ ส่วนผสมที่เป็น GMO และต้องรักษามาตรฐานความปลอดภัย ไม่ให้มีการปนเปื้อนของ GMO ในฟาร์มแบบเกษตรอินทรีย์ ในกรณีที่เราจะผลักดันนโยบายเกษตรอินทรีย์ นั้น เราคงต้องเลือกระหว่าง GMO กับ เกษตรอินทรีย์ อย่างชัดเจน ว่าจะเอาแบบไหน สำหรับผมเองในฐานะผู้บริโภค ชัดเจนครับว่า “ไม่เอา GMO” ครับ   (ที่มา วารสาร test 2/2014)  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 164 ยาปฏิชีวนะและเชื้อดื้อยาในห่วงโซ่อาหาร

บทนำ เมื่อ อเล็คซานเดอร์ เฟลมมิ่ง ค้นพบเพนนิซิลลิน ซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะตัวแรกของโลก ถือเป็นความยิ่งใหญ่ในการรักษาโรคติดเชื้อในคน ซึ่งในยุคนั้น มีปัญหาโรคติดเชื้อมากมาย และผู้คนต้องเสียชีวิตจำนวนมาก  เขาได้บรรยายในวันที่รับรางวัลโนเบล เมื่อปีพ.ศ.2492 ว่า มันเป็นการไม่ยากที่จะก่อให้เกิดการดื้อยาในเชื้อแบคทีเรีย เมื่อใช้ยาในขนาดน้อย ๆ ที่ไม่เพียงพอในการกำจัดเชื้อโรค จะนำไปสู่เชื้อที่มีความดื้อด้านทนทานต่อยามากขึ้น แต่ดูเมือนผู้คนยังไม่ตื่นตระหนก จึงยังคงใช้ยาปฏิชีวนะกันมากมาย อย่างไม่ระมัดระวัง ใช้ไม่ถูกต้อง ใช้เกินจำเป็น ตลอดมา องค์การอนามัยโลกได้สะท้อนปัญหาเชื้อดื้อยามานานแล้ว ตั้งแต่ปีพ.ศ.2541 และมีรายงาน มีเอกสารยุทธศาสตร์ มีมติต่าง ๆ ออก มาอยางต่อเนื่อง โดยล่าสุดคือในปีนี้เอง มีรายงานขององค์การอนามัยโลกที่ สะท้อนผลการสำรวจสถานการณ์การดื้อยาทั่วโลก[1] พบว่ามีสถานการณ์เชื้อดื้อยาต้านจุลชีพอยู่ในระดับเลวร้ายมาก และพบช่องว่างการเฝ้าระวังเชื้อดื้อยาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อาหารมาก เมื่อเทียบกับในคน  ในสมัชชาอนามัยโลก ปีพ.ศ. 2557 (WHA67.25)[2] จึงมีมติแสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์ และเรียกร้องประเทศสมาชิกให้รีบเร่งดำเนินการต่าง ๆ ถึง 10 เรื่อง เช่น การพัฒนาระบบเฝ้าระวังเชื้อดื้อยา ใน 3 ด้าน คือผู้ป่วยในสถานพยาบาล ผู้ป่วยนอกและชุมชน และรวมถึง ในสัตว์และการใช้ในส่วนที่ไม่ใช่คน เช่น ในการเกษตร  การมีนโยบายของประเทศที่ชัดเจน เป็นต้น เป็นที่น่าตื่นตาตื่นใจ  World Economic Forum ซึ่งเป็นองค์ด้านเศรษฐกิจ มีการประชุมและจัดทำรายงายทุกปี  ซึงเมื่อปีพ.ศ. 2556 ได้จัดทำรายงาน เกี่ยวกับสภาวะปัจจัยเสี่ยงของโลก Global Risk 2013[3] และหนึ่งในความเสี่ยงที่ได้หยิบยกมา เป็นโรคแห่งความอหังกาของมนุษย์โดยแท้  คือเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพและรวมถึงยาปฏิชีวนะด้วย  ที่เกิดทั้งจากการใช้ในคนและใช้สัตว์อย่างไม่ระมัดระวัง ปัญหาเกิดจากการรักษาในคนและ การนำมาใช้ในการเกษตร ทั้งการปลูกพืช และในการเลี้ยงสัตว์ (ปศุสัตว์ และประมง) มีการสะท้อนปัญหาของการดื้อยาปฏิชีวนะ นำไปสู่ปัญหาไม่มียาปฏิชีวนะใช้  และอนาคต ผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหาร เรื่องสิ่งแวดล้อม และนิเวศน์วิทยา และเรียกร้องทุกภาคส่วนโดยเฉพาะผู้ผลิต ผู้ควบคุม ไปจนถึงผู้ใช้ในทุกระดับ ให้ตระหนักเรื่องนี้ให้มากกว่าปกติ จึงควรมาทำความเข้าใจถึงเรื่องการใช้ยาปฏิชีวนะและปัญหาเชื้อดื้อยาในห่วงโซ่อาหาร  พระราชบัญญัติคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ พ.ศ. 2551 ให้คำจำกัดความ ของ “ห่วงโซ่อาหาร[4]” ว่า หมายความว่า วงจรการผลิตอาหารตั้งแต่วัตถุดิบ ปัจจัยการผลิต การเพาะปลูก การเพาะเลี้ยง การตัดแต่ง การแปรรูป การขนส่ง การปรุง การประกอบ การบรรจุ การเก็บรักษา การจัดจำหน่าย การกระจาย จนถึงผู้บริโภค รวมทั้งการนำเข้า การนำผ่าน และการส่งออก สถานการณ์ของประเทศไทย สถานการณ์มีได้ 2 ลักษณะ คือ กลุ่มแรก พบมีการตกค้างของยาปฏิชีวนะในผลิตภัณฑ์สัตว์ เช่น  ไก่ กุ้ง ซึ่งพบมีรายงานมานานแล้ว อีกกลุ่มที่น่ากลัวและพบรายงานเร็ว ๆ นี้ คือการพบเชื้อ และโดยเฉพาะเชื้อดื้อยาในผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับมนษย์ เช่นไก่ รายงานในปี พ.ศ. 2545 พบว่า มีการตรวจพบ สารตกค้างของยาปฏิชีวนะในกลุ่มไนโตฟูแรน (Nitrofurans) ในสินค้ากุ้งและไก่แช่แข็งจากประเทศไทยที่ส่งไปที่สหภาพยุโรป ส่งผลให้มีการระงับการนำเข้าและส่งคืนสินค้าที่มาจาก ประเทศไทย รวมถึงมีการใช้มาตรการกีดกันทางการค้า ตั้งข้อกำหนดที่เข้มงวด เช่น การตรวจสอบสารตกค้างทุกครั้งที่นำเข้า ทำให้ประเทศไทยสูญเสียโอกาสการส่งออกผลิตภัณฑ์สัตว์ มีการตรวจพบเชื้อแบคทีเรียที่ดื้อต่อยาแวนโคมัยซิน (vancomycin) ในเนื้อไก่ที่ส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น มีรายงานอื่น ๆ อีกมากมาย เช่นการตรวจพบการตกค้างของยาปฏิชีวนะในบ่อเลี้ยงกุ้งขาวแวนนาไม ที่สงขลา [5] รุ่งทิพย์ ชวนชื่น[6] (2553) ได้ศึกษาพันธุกรรมการดื้อยาและการปรากฏของ virulence factors ในเชื้อ Salmonella enterica ที่แยกได้จากโคนม เนื้อสุกรและผู้ป่วย  พบการแพร่กระจายของเชื้อ Samonella ดื้อยาในฟาร์มโคนม เนื้อสุกรและผู้ป่วย โดย class 1 integrons มีบทบาทสำคัญในการแพร่กระจายและการถ่ายทอดพันธุกรรมการดื้อยาในเชื้อเหล่านี้ รวมทั้งเชื้อเหล่านี้ยังมีปัจจัยก่อความรุนแรงของโรค ผลการวิจัยชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการควบคุมการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์ที่เลี้ยงเพื่อการบริโภคอย่าง รวมถึงการส่งเสริมให้การศึกษาพันธุกรรมการดื้อยาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ทราบปัญหาที่แท้จริงของการดื้อยาในเชื้อและสามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้อย่างถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์ มีรานงานการวิจัยของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล[7] ว่าทำการตรวจสอบเนื้อไก่สดที่แพ็กขายในซุปเปอร์มาร์เกต พื้นที่ใกล้เคียง รพ.ศิริราช จำนวน 200 แพ็ก พบว่าเกินครึ่ง (56.7%) มีการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย เอสเชอริเชีย โคไล (Escherichia coli) ซึ่งเป็นเชื้อที่พบได้ในลำไส้ใหญ่ของคนทั่วไป และเชื้อซัลโมเนลลา เอนเตอโรติก้า (Salmonella enteritica) ก่อให้เกิดโรคอุจจาระร่วง พบว่าเกินค่ามาตรฐานที่ 500 ตัว ต่อ 25 กรัมของเนื้อสัตว์  และในจำนวนเชื้อที่ปนเปื้อนทั้ง 2 ชนิดเป็นเชื้อดื้อยาถึงร้อยละ 40 อาจจะทำให้คนทั่วไปได้รับเชื้อดื้อยาโดยไม่รู้ตัว ดังนั้นจึงน่าเป็นห่วงว่ายังมีการใช้จนได้ตรวจพบยาปฏิชีวนะในผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับคนอีกต่อไปหรือไม่ และเป็นยาปฏิชีวนะประเภทใด พบในผลิตภัณฑ์ชนิดใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจพบเชื้อดื้อยา พบเชื้ออะไรอีกบ้าง และดื้อต่อยาปฏิชีวนะชนิดใด  เหล่านี้เกิดมาได้อย่างไร ผลเสียหายต่อสุขภาพและเศรษฐกิจ รุนแรงและมากมายเพียงใด ระบบเฝ้าระวังเรื่องนี้เป็นอย่างไร ศูนย์เฝ้าระวังเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติ [8] (National Antimicrobial Resistance Surveillance Thailand, NARST) ดำเนินการมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2541 มีรายงานต่อเนื่องทุกปีถึงสถานการณ์เชื้อดื้อยาในมนุษย์ โดยได้ตัวอย่างมาจากโรงพยาบาลเป็นหลัก จึงยังมีตัวอย่างจากชุมชนไม่มากนัก รายงานจากกระทรวงสาธารณสุข เมื่อปี 2556 และ 2557[9] ระบุว่าคนไทยติดเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะปีละกว่า 1 แสนคน ใช้เวลารักษาตัวนานขึ้นรวมกันปีละกว่า 3 ล้านวัน ในปี 2553 มีผู้ป่วยติดเชื้อชนิดดื้อต่อยาปฏิชีวนะ 5 ชนิด เสียชีวิต 38,481 ราย เชื้อจุลชีพ 5 ชนิด ได้แก่ 1.เอสเชอริเชีย โคไลหรืออี.โคไล (Escherichia coli) ที่ทำให้เกิดโรคติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะและทางเดินอาหาร 2.เคลบซีลลา นิวโมเนอี (Klebsiella pneumoniae) ทำให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจ โรคปอดอักเสบ 3.เชื้ออะซีนีโตแบคเตอร์ บอแมนนิอาย (Acinetobactor baumannii) เป็นโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคปอดบวม 4.ซูโดโมแนส แอรูจิโนซา (Pseudomonas aeruginosa) ทำให้เกิดโรคติดเชื้อหลายระบบของร่างกาย เช่น โรคปอดบวม ติดเชื้อในกระแสเลือด และ5.สแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) ที่ดื้อต่อยาเมทิซิลิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อันได้แก่ กรมประมง กรมปศุสัตว์ มีหน้าที่เฝ้าระวังเชื้อดื้อยาเฉพาะในสัตว์ที่หน่วยงานรับผิดชอบ  แต่ยังมีกลุ่มเกษตรกรรมที่ใช้ยาปฏิชีวนะในการปลูกพืช  ยังไม่มีระบบการเฝ้าระวังเชื้อดื้อยาที่ชัดเจน มีเพียงงานวิจัยประปรายที่ระบุการพบการตกต้างของยาปฏิชีวนะในผลิตภัณฑ์ และมีการศึกษาในภายหลังถึงการพบเชื้อดื้อยาด้วย ที่น่าอันตรายมากต่อผู้รับประทาน และต่อสุขภาพเกษตรกรด้วย ห่วงโซ่อาหาร มียาปฏิชีวนะและเชื้อดื้อยามาอยู่ได้อย่างไร การใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์มีวัตถุประสงค์ หลัก 3 ประการ คือ เพื่อการรักษา เพื่อการป้องกันโรค และเพื่อเร่งการเจริญเติบโตวิธีการให้ทั้ง 3 วิธีนี้มีความแตกต่างกันไป เชื้อดื้อยาที่เกิดขึ้นในสัตว์นั้นสามารถถูกส่งผ่านไปยังคนได้ โดย 3 วิธีหลักๆ คือ[10] 1) การบริโภคเนื้อสัตว์หรือผลิตภัณฑ์ จากสัตว์ 2) การสัมผัสกับสัตว์โดยเฉพาะผู้เลี้ยงสัตว์ และ  3) การรับเชื้อจากสิ่งแวดล้อม เช่น ในแหล่งน้ำและดิน เป็นต้น  มีรายงานของประเทศสหรัฐอเมริการะบุว่า 5 จาก 90 ตัวอย่าง เนื้อหมูที่วางขายในร้านขายของชำในรัฐลุยเซียนามีเชื้อ Methicillin-resistance Staphylococcus aureus (MRSA) อยู่ และมีการศึกษายืนยันความสัมพันธ์ของการใช้ยาในสัตว์และการเกิดเชื้อดื้อยา MRSA ที่ส่งผ่านมายังคน ใจพร พุ่มคำ (2555) อธิบายถึงสาเหตุของการเกิดปัญหาเชื้อดื้อยาและยาปฏิชีวนะ ตกค้างในเนื้อสัตว์ไว้ 7 ประการ 1. ความจำเป็นของผู้เลี้ยงในการใช้ยาในสัตว์ เนื่องจากโอกาสที่สัตว์จะป่วยมีได้โดยเฉพาะในฟาร์มทีไม่ได้มาตรฐาน 2. การใช้ยาอย่างผิดกฎหมาย เช่นใช้เภสัชเคมีภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยาสำเร็จรูป ฉลากไม่ถูกต้องหรือใช้ยาคนไปผสมให้สัตว์กิน ทำให้อาจได้ขนาดไม่ถูกต้อง 3. การใช้ยาอย่างไม่ถูกวิธี เช่น ใช้ยาไม่ตรงกับโรค ผิดขนาด ผิดช่วงเวลา วิธีการใช้ไม่การใช้ยาสูงขึ้น ใช้ยานานขึ้น หรือเปลี่ยนไปใช้ยาอื่นที่แรงขึ้น แพงขึ้น 4. ไม่มีการหยุดยาตามระยะเวลาที่กำหนด ทำให้มียาตกค้างในเนื้อเยื่อของสัตว์ในปริมาณที่เป็นอันตรายได้ 5. การไม่ตรวจหาสารตกค้างหรือการตรวจอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ผู้เลี้ยงสัตว์บางรายไม่มีการสุ่มตรวจหาสาร ตกค้างในสัตว์ก่อนการฆ่าหรือจับสัตว์มาบริโภค 6. การบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ในการกำกับดูแลสถานที่จำหน่ายยาสัตว์  รวมถึงสถานนำเข้า หรือผลิต เป็นสิ่งสำคัญ หากมีความอ่อนแอและไม่ทั่วถึงย่อมเกิดปัญหาตามมาแน่นอน ถือเป็นการดูแลที่ต้นน้ำ 7. มีระบบติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์การเกิดเชื้อ-ดื้อยา และยาตกค้างในเนื้อสัตว์ ต้องถูกต้อง แม่นยำ รวดเร็ว และครอบคลุม เช่นเดียวกันว่าหากระบบไม่เข้มแข็งก็ติดตามไม่ทนสถาณการณ์ อย่างไรก็ดี หลายคนตั้งคำถามว่า ประเด็นในเรื่องนี้ อยู่ที่ว่า ในความเป็นจริง การอนุญาตให้ใช้ยาฏิชีวนะในอาหารสัตว์  แล้วพักเวลาก่อนการขาย นั้น ทำให้ตรวจไม่พบไม่มียาปฏิชีวนะตกค้าง   แต่น่าจะป้องกันการเกิดเชื้อดื้อยาในเนื้อสัตว์ ส่วนยาปฏิชีวนะในสวนผลไม้ต่าง ๆ เช่นสวนส้ม ยังไม่มีการศึกษามากนักว่าตกค้างในผลไม้เท่าไหร่ และตกค้างในสิ่งแวดล้อมเท่าไหร่ มีอันตรายแก่ผู้คนอย่างไร โดยเฉพาะการเกิดเชื้อดื้อยา การควบคุมการนำเข้า การกระจายและการใช้ยาปฏิชีวนะของไทย เป็นอย่างไร พระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551[11] และฉบับแก้ไข พ..ศ. 2556[12] เป็นการกำหนดมาตรฐาน และออกใบอนุญาต ผลิต ส่งออก และนำเข้า สินค้าเกษตรมาตรฐาน ทั้งนี้ โดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ(มกอช.)[13] ทำหน้าที่ เป็นแกนประสาน รวม 7 ประการ เช่น  เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ด้านความปลอดภัยสินค้าเกษตรและอาหาร   กำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารให้สอดคล้องกับสากล และ รับรองระบบงานผู้ประกอบการตรวจสอบมาตรฐานให้สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ออกประกาศไม่อนุญาตให้นำเข้าเพื่อขายซึ่งอาหารสัตว์ทุกประเภททีมีสารอะโวพาร์ซินเป็นส่วนผสม  จึงมีประกาศกระทรวงสาธารณสุข ที่ ให้ยกเลิกข้อความใน (3) ของข้อ 3 แห่งประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 24 (พ.ศ. 2538) เรื่อง วัตถุที่ได้รับยกเว้นไม่เป็นยา ลงวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2538 นั่นคือกลับให้ อะโวพาร์ซิน ( Avoparcin ) ที่อยู่ในสภาพของสารผสมล่วงหน้า กลับไปเป็นยาอย่างเดิม รือยกเลิกไปเลย น่าสับสน น่าสนใจว่า ตั้งแต่พ..ศ. 2522 เป็นต้นมา มีการประกาศยกเว้นให้ยาปฏิชีวนะหลายชนิด ไม่เป็นยา นั่นคือนำไปใช้ผสมในอาหารสัตว์ได้ เช่น ให้ เตตราซัยคลิน และ สเตรปโตมัยซิน ในขนาด ไม่เกิน 15% ใช้ในทางเกษตรกรรมได้ และยกเว้นไม่ถือเป็นยา (ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 6 พ.ศ. 2524 เรื่องวัตถุที่ได้รับยกเว้นไม่เป็นยา) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 34 (พ.ศ. 2548) เรื่อง วัตถุที่ได้รับยกเว้นไม่เป็นยา ข้อ 3 ให้ยาต้านจุลชีพที่เป็นสารผสมล่วงหน้า ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อกระตุ้นและส่งเสริมการเจริญเติบโตของสัตว์ในด้านเกษตรกรรม ซึ่งได้รับยกเว้นจากการเป็นยาตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 24 (พ.ศ. 2538) รวมทั้งที่ได้ขึ้นทะเบียนอาหารสัตว์ตามพระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ. 2525 ไว้แล้ว ได้รับยกเว้นจากการเป็นยาเป็นเวลา 2 ปี นับจากวันที่ประกาศฉบับนี้มีผลบังคับใช้ และเมื่อพ้นกำหนดแล้ว การผลิต ขายหรือนำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งวัตถุดังกล่าว ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 4 วัตถุตามข้อ 2 และข้อ 3 ต้องไม่แสดงสรรพคุณบำบัด บรรเทา รักษา หรือป้องกันโรค หรือความเจ็บป่วยสำหรับสัตว์ จากการสืบค้นในเวปไซต์ ต่าง ๆ ที่สะท้อนถึงปัญหาการใช้ยาปฏิชีวนะ ความเข้าใจผิด และความละเลยในการใช้    เช่น มีคำถาม ว่าสเตรปโตมัยซิน มีขายที่ไหนเอ่ย?  ที่ใช้กับพืชนะครับ คำตอบคือ  ร้านขายยาปราบศัตรูพืช คุณอยู่ใกล้ที่ไหนลองไปเดินหาดู  ตามตลาดร้านขายยาฆ่าแมลง มีทั่วไป เป็นยาปฏิชีวนะ  ครอบจักรวาล ส่วนมากเขาไม่นิยมใช้ เพราะมีสารตกค้าง  อันตรายต่อคน เขาใช้น้ำหมักชีวภาพ ใช้สารสะเดา หรือไม่  ก็ใช้ตัวฮั่มหรือแตนเบียน ไล่แมลง แต่ในความเป็นจริงมีการอนุญาตตามกฎหมมายให้ยกเว้นจากการเป็นยา ทิศทางการรณรงค์เชื้อดื้อยาในห่วงโซ่อาหารของ นานาชาติ การได้เรียนรู้มาตรการจัดการในต่างประเทศมีประโยชน์ในการเสนอแนะต่อหน่วยงานรับผิดชอบของไทยไม่ว่าจะเป็นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กรมประมง กรมปศุสัตว์ และสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ) กระทรวงสาธารณสุข (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์) กระทรวงการคลัง (กรมศุลกากร) เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2548 คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ได้มีมติระงับการใช้สารเสริม (additives) กลุ่มยาปฏิชีวนะ (antibiotic) ประเภทสารเร่งการเจริญเติบโต (growth promoters) เพื่อใช้เป็นส่วนผสมในอาหารเลี้ยงสัตว์ จำนวน 4 รายการ[14] ได้แก่  1. Monensin sodium : ใช้ในการขุนเลี้ยงโค กระบือ 2. Salinomycin sodium : ใช้ในการขุนเลี้ยงสุกร 3.  Avilamycin : ใช้ในการขุนเลี้ยงสุกร ไก่ และไก่งวง 4.  Flavophospholipol : ใช้ในการขุนเลี้ยง กระต่าย ไก่ไข่ ไก่ ไก่งวง สุกร ลูกสุกร วัว ลูกวัว มติดังกล่าวมีผลบังคับใช้ 1 มกราคม 2549 โดยยาปฏิชีวนะนี้เป็น 4 รายการสุดท้ายที่ยังเคยคงอนุญาต และยังสอดคล้องกับมติเดิม เกี่ยวกับแผนการควบคุมเชื้อดื้อยาของสภายุโรป [15] ได้ทราบว่ามีการห้ามใช้ยาปฏิชีวนะบางรายการในการเป็นส่วนผสมอาหารเพื่อการเจริญเติบโต และนโยบายว่าจะควบคุมยาปฏิชีวนะทุกชนิดในการเป็นสารเร่งการเจริญเติบโต แต่ข้อเท็จจริง มีการอนุญาตใช้สารที่เรียกว่า pre-mix ใช้ผสมให้สัตว์ กินทั้งในรูปอาหารและในรูปเป็นน้ำผสม เพื่อระบุว่าเป็นการป้องกันและรักษา การติดเชื้อของโรค การอนุญาตดังกล่าว จะนำไปสู่การใช้ไม่ระมัดระวัง และนำไปสู่การเกิดเชื้อดื้อยาหรือไม่ การเฝ้าระวังสถานการณ์การกระจายและใช้ ตลอดจนการเกิดเชื้ออดื้อยาจึงจำเป็นที่สุด   [1] WHO (2014) ANTIMICROBIAL RESISTANCE: Global Report on Surveillance, Available from  http://apps.who.int/iris/bitstream/10665/112642/1/9789241564748_eng.pdf?ua=1 [2]WHO (2014) SIXTY-SEVENTH WORLD HEALTH ASSEMBLY:   Antimicrobial resistance, Available from http://apps.who.int/gb/ebwha/pdf_files/WHA67/A67_R25-en.pdf?ua=1 [3]WEF (2013) Global Risk 2013  http://www3.weforum.org/docs/WEF_GlobalRisks_Report_2013.pdf [4] พระราชบัญญัติคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ พ.ศ.. 2551 http://www.thailandlawyercenter.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=538973927&Ntype=19 [5] การตกค้างของยาปฏิชีวนะในบ่อเลี้ยงกุ้งขาวแวนนาไม http://www.fisheries.go.th/quality/กุ้งขาวแวนนาไม.pdf [6] รุ่งทิพย์ ชวนชื่น (2553) การศึกษาพันธุกรรมการดื้อยาและปัจจัยในการก่อความรุนแรงของโรคของเชื้อซาลโมเนลล่า เอ็นเทอริก้าที่แยกได้จากห่วงโซ่อาหาร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย [7] ไทยรัฐ (2555) พบไก่สดในซุปเปอร์มาร์เกตมี “เชื้อดื้อยา” http://www.thairath.co.th/content/264356 [8] http://narst.dmsc.moph.go.th/ [9] http://narst.dmsc.moph.go.th/news001.html  และ http://news.mthai.com/general-news/348974.html [10] ใจพร พุ่มคำ (2555) อาหาร (ไม่) ปลอดภัย ...ผลจากการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์ วารสารอาหารและยา กันยายน-ธันวาคม 2555 http://journal.fda.moph.go.th/journal/032555/02.pdf [11] http://www.acfs.go.th/km/download/thai_agrilaw_3.pdf [12]http://www.acfs.go.th/km/download/thai_agrilaw_2.pdf [13] http://www.acfs.go.th/index.php [14]European Commission (2005) Ban on antibiotics as growth promoters in animal feed enters into effect, available from  http://europa.eu/rapid/press-release_IP-05-1687_en.htm [15] European Commission (2001) Commission proposals to combat anti-microbial resistance , available from http://europa.eu/rapid/press-release_IP-01-885_en.htm

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 130 อาหารต้องมาก่อนเสมอ

  “หิวเมื่อไหร่ก็แวะมา เซเว่น อีเลฟเว่น” สโลแกนนี้ฝังอยู่ในหัวคนไทยจำนวนมาก และเขาก็ทำได้จริงเสียด้วย ผู้คนจำนวนไม่น้อยชื่นชมกับข้าวกล่อง ไส้กรอก ขนมจีบซาลาเปา ในร้านสะดวกซื้อแห่งนี้ แต่ทว่า ในช่วงวิกฤตอุทกภัยกว่าสองเดือนที่ผ่านมา ให้ตายเถอะ เข้าไปเซเว่นไหน ก็หาอะไรกินแทบไม่ได้ แม้แต่น้ำเปล่าสักขวด มันเกิดอะไรขึ้น แต่พลันที่หันหลังจากร้านที่เปิดตลอด 24 ชั่วโมงออกมาด้านนอก ร้านค้าของชาวบ้านธรรมดาๆ กลับมีน้ำดื่มวางขายให้ดื่มกินชื่นใจ พร้อมกับข้าวสารอาหารแห้งและบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่หายากยิ่งกว่าทองคำในช่วงเวลานั้น มันเกิดอะไรขึ้นสภาพขาดแคลนอาหารอย่างหนัก ภาพชั้นวางสินค้าที่ว่างเปล่า โดยเฉพาะในห้างร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ ซูเปอร์มาร์เก็ตระดับยักษ์ ตลอดจนร้านสะดวกซื้อที่ว่ามีการจัดการกับระบบการกระจายสินค้าที่ยอดเยี่ยม  ทำไมจึงเน่าสนิทเมื่อเกิดภาวะวิกฤตขึ้นในบ้านเมืองแห่งนี้ ระบบอาหารของประเทศอยู่ในมือคนจำนวนน้อยที่ตัวอ้วนกลม ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา วัฒนธรรมการกินของเราเปลี่ยนไปมากโดยเฉพาะคนเมืองที่วิถีชีวิตเร่งรีบ คนจำนวนมากพึ่งพิงการซื้อสินค้าโดยเฉพาะอาหารจาก Modern Trade ไม่ว่าจะเป็นไฮเปอร์มาเก็ตขนาดยักษ์ ซูเปอร์มาร์เก็ต ดิสเคาน์สโตร์และร้านสะดวกซื้อที่เปิดอยู่ทุกมุมเมือง แล้วคุณรู้หรือไม่ว่า สินค้าที่ขายในห้างร้านเหล่านี้มากกว่า 50% (บางห้างก็ 100 %) เป็นอาหาร ถ้ามองในระดับโลก เราก็จะพบว่าห้างขนาดใหญ่อย่าง ไฮเปอร์มาร์เก็ต ซูเปอร์มาร์เก็ต ดิสเคาสโตร์ ร้านสะดวกซื้อ เป็นแหล่งกระจายอาหารหลัก ไฮเปอร์มาร์เก็ต  35 % เป็นอาหาร ซูเปอร์มาร์เก็ตสินค้ากว่า 70  % เป็นอาหาร  ดิสเคาน์สโตร์ 69 % เป็นอาหาร ร้านสะดวกซื้อ 58 %เป็นอาหาร ซึ่งการค้าอาหารในปัจจุบันถูกครอบครองในมือบริษัท  15  บริษัทของโลกนี้เท่านั้น   Leading retailers in global food market sales, by type of retail outlet, 2008 Global sales rank Supermarkets Hypermarkets Discounters   1 Kroger Co (United States) Wal-Mart Stores Inc (United States) Aldi Group (Germany)   2 Safeway Inc (United States) Carrefour SA (France) Schwarz Beteiligungs GmbH (Germany)   3 Tesco Plc (Uniked Kingdom) Tesco Plc (United Kingdom) Rewe Group (Germany)   4 Royal Ahold NV (Netherlands) Auchan Group SA (France) Supervalu Inc (United States)   5 Edeka Zentrale AG & Co KG (Germany) E Leclerc (France) Carrefour SA (France)   6 Rewe Group (Germany) J Sainsbury Plc (United Kingdom) Wal-Mart Stores Inc (United States)   7 Delhaize Group SA (Belgium) Casino Guichard-Perrachon SA (France) Tengelmann Group, The (Germany)   8 ITM Entreprises SA (France) Schwarz Beteiligungs GmbH (Germany) George Weston Ltd (Canada)   9 Carrefour SA (France) Royal Ahold NV (Netherlands) Dansk Supermarked A/S (Denmark)   10 Woolworths Ltd (United States) Metro AG (Germany) X5 Retail Group NV (Russia)   11 Supervalu Inc (United States) Target Corp (United States) Edeka Zentrale AG & Co KG (Germany)   12 Publix Super Markets Inc (United States) Meijer Inc (Japan) Reitan-Gruppen AS (Norway)   13 Internationale Spar Centrale BV (Netherlands) Shinsegae Department Store Co Ltd (South Korea) Norma Lebensmittel Filialbetrieb GmbH & Co KG (Germany)   14 Mercadona SA (Spain) Systeme U Central Nationale SA (France) Tander ZAO (Russia)   15 Casino Guichard-Perrachon SA (France) Louis Delhaize SA (Belgium) Jerónimo Martins SGPS SA (Portugal)   Sales share of top 15 30.6 percent 73.5 percent 68.8 percent     Source: Euromonitor, 2008.   การรุกคืบเข้ามาเป็นผู้ป้อนอาหารให้กับผู้คนจำนวนมาก แน่นอนว่าร้านค้ารายย่อย ร้านโชว์ห่วย และบรรดาพ่อค้าแม่ค้าตลาดสด คือกลุ่มคนแรกๆ ที่ต้องล้มหายตายจากไปเป็นจำนวนมาก เพราะไม่สามารถแข่งขันกับความทันสมัยด้วยเทคโนโลยีและทุนมหาศาลของค้าปลีกขนาดยักษ์ได้ และผู้บริโภคคือกลุ่มถัดมา ที่ค่อยๆ ถูกครอบงำวิถีการกินอยู่ อย่างช้าๆ ปรากฏการณ์ที่ผู้คนจำนวนมากแห่แหนกันไปไฮเปอร์มาเก็ตต่างๆ เพื่อระดมซื้อสินค้ามากักตุนยามวิกฤติหรือเดินเข้าร้านสะดวกซื้อเพื่อจะหาน้ำกินสักขวด สะท้อนให้เห็นว่า ผู้บริโภคเราคิดอะไรไม่ออก และเคยชินกับการพึ่งพิงค้าปลีกขนาดยักษ์ร้านสะดวกซื้อทันสมัยมากกว่าจะอุดหนุนร้านค้าหรือโชว์ห่วยใกล้บ้าน ยิ่งเจาะไปที่รายการสินค้าที่ซื้อมาเพื่อสะสมเป็นเสบียง ยิ่งบอกชัดถึงจินตนาการที่ตีบตันของผู้บริโภค คิดอะไรไม่ออก นอกจาก มาม่ากับปลากระป๋อง ผลก็คือ ทั้งสองสิ่งหายากยิ่งกว่าทองคำ ในห้วงเวลาวิกฤต   ระบบกระจายอาหารย้ายไปอยู่ในมือค้าปลีกขนาดยักษ์ได้อย่างไร ในอดีตเมื่อใครสักคนผลิตอาหารอะไรได้ ก็จะมีพ่อค้าขายส่งหรือที่เรียกว่า ยี่ปั๊ว มารับซื้อสินค้าแล้วไปกระจายยังร้านค้าปลีกเล็กๆ ที่ฝังรากอยู่ในท้องถิ่นต่างๆ ยี่ปั๊วจะรู้ว่าสินค้าอะไรเป็นที่ต้องการของร้านไหน การค้าขายอาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจกันค่อนข้างสูง  ยี่ปั๊วที่มีสมาชิก(ร้านค้า) อยู่ในมือจำนวนมาก ก็จะมีอำนาจในการต่อรองกับผู้ผลิตสูง สามารถขอส่วนลดของแถมหรือเครดิตกับผู้ผลิตได้ ต่อมาโครงสร้างสังคมเปลี่ยน ความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีต่างๆ รุดหน้าไปเรื่อยๆ เริ่มมีห้างร้านขนาดใหญ่ อย่างที่เราเรียกว่า ห้างสรรพสินค้าเกิดขึ้น ห้างฯ ที่ยิ่งกระจายตัวออกไปมากเท่าไหร่ คนก็นิยมเข้าไปซื้อหาสินค้าในห้างมากขึ้น เพราะเหตุปัจจัยหลายอย่าง เช่น ราคาที่มีโปรโมชั่นพิเศษ สินค้าที่ดูคัดเกรดมาอย่างดี มีแอร์เย็นฉ่ำหรือพนักงานต้อนรับที่อัธยาศัยดี ทำให้ห้างสรรพสินค้าเริ่มเข้ามามีอำนาจต่อรองกับผู้ผลิตมากกว่ายี่ปั๊วในระบบการค้าแบบเก่า เพราะเป็นแหล่งที่คนเข้าไปจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น แต่ก็ยังไม่ถึงกับแข่งขันกันมาก เพราะตัวสินค้าจะมีความแตกต่างกันสูง จนเมื่อห้างฯ เริ่มขยับตัวมาเป็นห้างค้าปลีกขนาดยักษ์และถูกทุนต่างชาติเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ห้างค้าปลีกขนาดยักษ์ที่เรียกกันว่า Modern Trade นั้น กลายเป็นยักษ์ที่ทำลายระบบการค้าเดิมจนแทบจะอยู่ไม่ได้ พวกเขามีทุนมหาศาล มีหน้าร้านหรือสาขาที่กระจายออกไปทั่วประเทศ ทั้งขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ จนเหลียวมองไปทางไหนก็เห็น ดังนั้น  Modern Trade จึงสามารถสั่งซื้อสินค้าจากผู้ผลิตได้โดยตรงโดยไม่ต้องผ่านยี่ปั๊วอีกต่อไป เท่ากับลดต้นทุนในการสั่งซื้อได้ ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจที่ ราคาสินค้าในห้างค้าปลีกขนาดยักษ์จะสามารถ ขายในราคาที่ถูกกว่าได้ เพราะส่วนต่างของราคาไม่ต้องผ่านคนกลางอีก ปรากฏการณ์นี้เกิดกับสินค้าทุกชนิดและแน่นอนว่า อาหาร ก็เป็นสิ่งที่  Modern Trade นำมาวางขายมากกว่า 50 % ของสัดส่วนสินค้าทั้งหมด เพราะอาหารเป็นปัจจัยสี่ที่คนไม่อาจขาดได้   จุดแข็งของ Modern Trade ใช้ไม่ได้ในยามวิกฤต ด้วยจำนวนหน้าร้านหรือสาขาที่มีเป็นจำนวนมาก การกระจายสินค้าเพื่อให้สินค้าไปถึงมือผู้บริโภคอย่างรวดเร็ว และไม่มีการสะสมไว้ในคลังสินค้าเป็นจำนวนมากๆ ถือเป็นหัวใจหลักที่การค้ายุคใหม่ให้ความสำคัญมาก ในการค้าแบบเดิม เมื่อผู้ผลิต ผลิตสินค้าได้ก็เตรียมสินค้าไว้ในคลังสินค้าก่อนเพื่อรอการจำหน่ายให้กับพ่อค้าส่ง พ่อค้าส่งเองก็อาจมีคลังสินค้าหรือที่เรียกว่า โกดัง ไว้เก็บสินค้าเพื่อรอกระจายไปให้กับร้านค้าปลีกในกลุ่มของตน ปัญหาคือ การบริหารให้สินค้าไม่ค้างในคลังสินค้ามากเกินไปจนเป็นภาระและไม่น้อยเกินไปจนอาจขาดแคลนเมื่อจำเป็นต้องส่งให้ร้านค้า จึงเป็นสิ่งสำคัญ  แต่ Modern Trade คือผู้ที่สามารถพัฒนาระบบคลังสินค้าให้มีประสิทธิภาพถึงขีดสุดได้ ด้วยสิ่งที่เรียกว่า ศูนย์กระจายสินค้า(Distribution Center) ศูนย์กระจายสินค้าก็คือ คลังสินค้าของ Modern Trade ที่ดำเนินการในการรวบรวมคำสั่งซื้อจากหลายๆ ที่แล้วรวบรวมเป็นคำสั่งซื้อเดียว และจัดส่งคำสั่งซื้อไปยังผู้ผลิต(Suppliers) เพื่อให้จัดส่งสินค้ามาในคราวเดียว จึงลดต้นทุน ลดระยะเวลาในการจัดส่ง และทำหน้าที่ในการแยกย่อยสินค้าไปบรรจุลงกล่องจัดส่งไปยังสาขาต่าง ๆ ของModern Trade ด้วยวิธีการที่ทันสมัยนี้ จะช่วยลดต้นทุน ลดการมีสินค้าคงคลังเกินความจำเป็น ลดระยะเวลาในการเก็บรักษาสินค้า เพราะไม่ต้องสั่งสินค้ามาเกินความจำเป็น ขณะเดียวกันก็สามารถส่งผ่านสินค้าออกไปยังหน้าร้านได้อย่างทันท่วงที ทำให้หน้าร้านเองก็ไม่จำเป็นต้องสต็อกสินค้าเอาไว้จำนวนมาก ผู้ผลิตเองก็ได้ประโยชน์เพราะรับรู้ได้ว่า สินค้าของตนขายไปได้เท่าไหร่ ต้องผลิตเพิ่มเติมในจำนวนเท่าไหร่ ลองมาดูกรณีตัวอย่างของค้าปลีกยักษ์ เทสโก้ โลตัส  เมื่อโลตัสได้ผุดสาขาแห่งแรกขึ้นที่ซีคอนสแควร์ เมื่อปี 2538  ก็ได้มีการสร้างศูนย์กระจายสินค้าครบวงจรที่วังน้อย อยุธยา เพื่อแก้ปัญหาการคอนโทรลสินค้าเข้าห้าง โดยเฟสแรกมีพื้นที่ 1.5 หมื่นตารางเมตร และต่อมาได้ขยายเฟส 2 อีก 2.5 หมื่นตารางเมตร ศูนย์กระจายสินค้า หรือ Distribution Center (DC.) แห่งนี้สามารถรองรับการขยายร้านได้ถึง 60 สาขา และยังมีแผนขยายพื้นที่ออกไปอีก กว่า2 หมื่นตารางเมตร  ศูนย์กระจายสินค้าของโลตัสที่วังน้อย ทำงาน 24 ชั่วโมงเพื่อจัดส่งสินค้าให้แก่สาขาต่างๆ ถือได้ว่าเป็นศูนย์กระจายสินค้าที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก คือ 1. คลังสินค้าประเภทไม่ต้องแช่เย็น ได้แก่ สินค้าอุปโภค บริโภค เครื่องใช้ไฟฟ้า และเสื้อผ้า ส่วนที่ 2. ได้แก่ ศูนย์กระจายสินค้าอาหารสด มีพื้นที่ 10,000 ตารางเมตร    ศูนย์กระจายสินค้าแห่งนี้จัดได้ว่าเป็นศูนย์แรกของเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ที่ใช้ระบบคอมพิวเตอร์ควบคุมการทำงานแบบครบวงจร ระบบลำเลียงสินค้าใช้ระบบบาร์โค้ดและระบบสายพานไฟฟ้าที่ทันสมัย ช่วยในการจัดเรียงและกระจายสินค้าด้วยความรวดเร็ว   ด้วยระบบดังกล่าวสินค้าที่คู่ค้าจัดส่งมายังศูนย์กระจายสินค้าจะถูกจัดส่งไปยัง เทสโก้ โลตัส สาขาต่าง ๆ ภายใน 12 ชั่วโมง โดยมีระบบคอมพิวเตอร์แจ้งจำนวนและตำแหน่งที่จัดเก็บสินค้าต่าง ๆ รวมทั้งระยะเวลาที่สินค้านั้นอยู่ในคลังจัดเก็บสินค้า   ทุกวันจะมีรถบรรทุกจำนวนตั้งแต่ 500-700 คันนำสินค้าอุปโภคบริโภคมาส่งที่นี่ โดยจะมีกล่องสินค้าทั้งหมดส่งผ่านศูนย์กระจายสินค้าแห่งนี้ประมาณ 300,000-800,000 กล่องเป็นประจำทุกวัน (ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 23 ฉบับที่ 1806 วันที่ 5-7 มิถุนายน 2546 หน้า 22 “เปิดหลังบ้านโลตัส สำรวจอาณาจักร 2,000 ล้านที่วังน้อย) ไม่เพียงเฉพาะโลตัส ระบบศูนย์กระจายสินค้ากลายเป็นหัวใจหลักของระบบค้าปลีกใน Modern Trade ทั้งหมด โดยพื้นที่ที่นิยมในการตั้งศูนย์กระจายสินค้า เพื่อจัดส่งสินค้าให้กับค้าปลีกในเขตกรุงเทพฯ และภาคกลาง คือ เขตอำเภอวังน้อย อยุธยา บางบัวทอง นนทบุรี เมื่อศูนย์กระจายสินค้าหลักๆ ของค้าปลีกยักษ์และร้านสะดวกซื้อไปอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมหนัก ก็เป็นอันว่า สิ้นหวัง สินค้าในคลังถูกน้ำล้อมไว้หมด เส้นทางคมนาคมถูกตัดขาด สินค้าจึงขาดแคลน ชั้นวางของจึงว่างเปล่าอย่างที่เห็น โชว์ห่วยพระเอกตัวจริง ถ้าจะประมวลหาสาเหตุของสินค้าขาดแคลนในยามวิกฤตที่ผ่านมา อาจพอสรุปได้ 4 ประการ คือ 1. การผลิตสินค้าหลายชนิดทำไม่ได้ เนื่องจากโรงงานถูกน้ำท่วม ขณะที่ผลผลิตในภาคการเกษตรเสียหายทำให้ไม่มีวัตถุดิบในการผลิต 2. การขนส่ง และกระจายสินค้าทำไม่ได้ เพราะถนนถูกตัดขาด 3. การกักตุน ฉวยโอกาสขึ้นราคาของพ่อค้า แม่ค้า และกฎเกณฑ์การนำสินค้าวางขายที่ไม่ผ่อนปรนของ Modern Trade 4. การแห่กันกักตุนสินค้าของประชาชน ข้อ 1 และ 2 ต้องยอมรับว่าเกิดความเสียหายจริง แต่ก็ใช่ว่าจะทำให้สินค้าขาดแคลนทั้งหมด เพราะยังมีตัวเลือกรองๆ ให้ผู้บริโภคเลือกได้ อย่างกรณีน้ำดื่มบรรจุขวด แน่นอนว่าผู้ผลิตรายใหญ่ต่างถูกน้ำท่วมทั้งหมด (สองรายใหญ่ สิงห์ ช้าง โรงงานตั้งอยู่ในจังหวัดปทุมธานี ที่น้ำท่วมเกือบ 100 %) แต่ก็ยังมีผู้ผลิตน้ำดื่มอีกจำนวนมากที่อยู่ในพื้นที่ไม่ถูกน้ำท่วม ส่วนการคมนาคมยังมีเส้นทางรองให้สามารถจัดหาสินค้าเข้ามาขายได้ แม้ต้องเพิ่มต้นทุนในการขนส่ง ข้อ 4 อันนี้ไม่ควรกล่าวโทษกัน เพราะอาการตื่นตระหนักที่เกิดขึ้น เนื่องจากประชาชนไม่มีข้อมูลเพียงพอในการที่จะตัดสินใจได้ว่า จะต้องดูแลชีวิตตัวเองอย่างไร ดังนั้น การกักตุนสินค้าถือเป็นการประกันความเสี่ยงของผู้บริโภค ถ้ารัฐสามารถรับประกันหรือให้ความมั่นใจ ให้ข้อมูลกับประชาชนได้อย่างเพียงพอ ปัญหาการกักตุนก็จะไม่เกิดขึ้น ดังนั้น ข้อที่เราควรให้ความสำคัญมากที่สุดก็คือ ความแข็งตัวของ Modern Trade ดังที่ได้กล่าวไป สาขาของ Modern Tread ไม่มีการกักเก็บสินค้าไว้มาก เพราะเชื่อมั่นในระบบการกระจายสินค้าของตน และผู้ค้าที่จะเข้าไปวางสินค้าขายของใน Modern Tradeได้ ก็มีจำนวนจำกัด เพราะต้องเสียค่าจัดการสูง ด้วยความที่เป็นระบบใหญ่ การนำจัดหาสินค้ามาวางขายให้ทันกับความต้องการของผู้บริโภคในภาวะวิกฤตเลยทำได้ลำบาก ปัญหาสินค้าหมดเกลี้ยงจึงเกิดขึ้น แต่ในเวลาเดียวกันร้านค้าแบบดั้งเดิมที่ลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว จากการถูกรุกพื้นที่ทำมาหากินของ Modern Trade กลับเป็นที่พึ่งของผู้ประสบภัยเพราะสามารถหาสินค้าอุปโภคบริโภคมาให้แก่ชุมชนได้ตลอด แม้ในเขตที่มีน้ำท่วมหนัก ปรากฏการณ์นี้ชี้ให้เห็นว่าระบบการค้าแบบดั้งเดิมที่กำลังจะตายจากนั้นเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพในการกระจายสินค้าและการเข้าถึงอาหารของประชาชนในภาวะฉุกเฉิน   เหตุใดระบบร้านค้าดั้งเดิมจึงสามารถทำให้ประชาชนเข้าถึงอาหารได้มากกว่าระบบค้าปลีกขนาดใหญ่ เมื่อการขนส่งหยุดชะงักเพราะน้ำท่วมเส้นทางและศูนย์กระจายสินค้า ระบบที่แข็งตัวของ Modern Trade ทำให้ไม่ค่อยกล้าเสี่ยงเข้าไปนำสินค้าออกมาจากศูนย์กระจายสินค้า เพราะต้นทุนจะสูงขึ้นแต่ราคาขายกลับต้องเป็นไปตามกติกาของรัฐ แม้ในภาวะวิกฤติห้างปลีกขนาดใหญ่ก็ยังใช้หลักการทำงานโดยการคำนวณจากกำไรและขาดทุนมากกว่าการช่วยเหลือชุมชน ที่เข้าไปตั้งสาขาทำมาหากิน ถ้าการนำสินค้าออกมาจากคลังสินค้าสร้างต้นทุนสูงขึ้น Modern Trade ไม่ยินดีทำ แต่หันมาสนับสนุนให้นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศแทนทั้งๆ ที่ในคลังสินค้ายังมีสินค้าอีกมาก และผู้ผลิตสินค้าที่เป็นตัวเลือกรองก็มีอีกมาก เพียงพอที่จะบรรเทาภาวะขาดแคลนน้ำและอาหารModern Trade ไม่เลือกทางนั้น สิ่งนี้ ชี้ให้เห็นว่าธุรกิจค้าปลีกขนาดยักษ์ขาดความรับผิดชอบต่อสังคมไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การเสียสละเพื่อชุมชนหรือการนำสินค้าที่ผลิตในประเทศจากจุดอื่นมาขายเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ระบบค้าปลีกดั้งเดิมนั้นมีการสต๊อกสินค้าไว้หลังร้านในจำนวนที่มากกว่า แม้ความหลากหลายของสินค้าอาจจะน้อยกว่าค้าปลีกขนาดใหญ่ แต่การสต็อกสินค้าที่ส่วนมากเป็นสินค้าพื้นฐานที่จำเป็นทำให้มีสินค้ารองรับกับความต้องการของผู้บริโภคได้มากกว่า อันที่จริงก็อาจจะมีบ้างที่ร้านค้าดั้งเดิมกักตุนสินค้า แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นทุกร้าน และราคาก็ไม่ได้ขูดรีดเกินไป เพราะอย่างไรก็เป็นคนในชุมชนเดียวกัน ผู้ค้าส่ง(ยี่ปั๊ว) ที่ส่งของให้ร้านค้าแบบดั้งเดิมมีหลายเจ้ากว่าและผู้ค้าจะช่วยกัน แบ่งสต็อกให้จุดที่ขาดแคลนช่วยกันกระจายกันหลายๆ ทอดจนทำให้สินค้าเข้าไปใน ร้านโชว์ห่วยชุมชนได้ และทำให้ลดความเสี่ยงเรื่องการขาดแคลนอาหารและเครื่องอุปโภค ในขณะที่พนักงานร้านสะดวกซื้อเป็นลูกจ้างที่รับเงินเดือนประจำ พวกเขาจึงขาดความผูกพันกับชุมชนจึงไม่กระตือรือร้นที่จะหาอาหารหรือสินค้าที่ขาดแคลนมาให้ชุมชน แต่เจ้าของร้านค้าแบบดั้งเดิมมักจะมีหลักแหล่งในชุมชนมานานและมีความผูกพันต่อสมาชิกในชุมชนจึงขวนขวายออกไปนำเอาอาหารและน้ำดื่มจากที่อื่นเข้ามาขาย ให้ประชาชนแม้จะต้องรับภาระต้นทุนค่าขนส่งเพิ่มขึ้นก็ตาม ร้านสะดวกซื้อและค้าปลีกขนาดใหญ่มักจะมีการสั่งซื้อในปริมาณที่กำหนดไว้ก่อนแล้ว จึงขาดความยืดหยุ่นในการจัดหาสินค้าประเภทที่ขาดแคลนให้มีจำนวนมากพอกับความ ต้องการ ในขณะที่ร้านค้าแบบดั้งเดิมสามารถมีความยืดหยุ่นในการสั่งและสต็อกสินค้าจึงสามารถนำสินค้าที่ขาดแคลนมากที่สุดมาสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างเพียงพอ   อาหารต้องมาก่อนเสมอ เมื่อเหตุการณ์น้ำท่วมผ่านไป Modern Trade คงต้องมีการปรับตัวขนานใหญ่เพื่อรับมือกับภัยพิบัติที่มีแนวโน้มคุกคามประเทศทุกปี และก็เชื่อว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่ก็ยังคงต้องพึ่งพากับระบบอาหารที่อยู่ในมือของModern Trade ต่อไปเพราะวิถีการกินใช่จะเปลี่ยนกันได้ง่ายๆ แต่ก็อีกนั่นแหละไม่ใช่ว่าจะเปลี่ยนไม่ได้เสียทั้งหมด ยังโชคดีที่เรายังพอมีทางเลือกอยู่บ้าง และเพื่อไม่ให้ผู้ค้ารายเล็กรายน้อยต้องหายไป ทั้งๆ ที่พวกเขาคือพระเอกในยามวิกฤต ฉลาดซื้อมีข้อเสนอดังนี้ 1.เราควรหันกลับมาใส่ใจกันสักนิด ว่าอาหารที่เรากินอยู่ทุกวันนี้ มีที่มาจากไหนและการบริโภคของเราจะไปสร้างผลกำไรให้กับใคร พ่อค้าตัวอ้วนใหญ่หรือคนเล็กคนน้อยเช่นเดียวกับเรา 2.เลือกซื้ออาหารจากตลาดสด ร้านค้ารายย่อย ร้านค้าใกล้บ้านในชุมชน โชว์ห่วยปากซอย เพื่อต่อลมหายใจให้กับธุรกิจเล็กๆ ให้มีที่ยืนในสังคม 3.ทำอาหารกินเองบ้างเพื่อให้ได้เกิดการสร้างสรรค์และก่อเกิดจินตนาการที่กว้างไกล มากกว่าจะนึกถึงแต่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและปลากระป๋อง เมื่อชีวิตเข้าสู่ภาวะวิกฤตจะได้มีตัวเลือกในการกินมากขึ้น 4.อะไรที่พอผลิตเองได้ ก็น่าลองเพื่อจะได้ไม่ต้องถูกผูกขาดอยู่ในวังวนของผู้ผลิตและผู้ประกอบการที่เอาเปรียบ   และข้อเสนอต่อรัฐเมื่อยามเกิดวิกฤตชาติ ระยะสั้นในภาวะฉุกเฉินรัฐต้อง : 1.ดึงศักยภาพของภาคประชาชนเข้ามาร่วมทำงานในการบริหารจัดการเรื่องการเข้าถึง อาหารในภาวะวิกฤติให้เกิดประสิทธิภาพ เพราะภาคประชาชนสามารถเข้าถึงปัญหาอย่างแท้จริงและสามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุดกว่าหน่วยงานราชการ 2.ดึงศักยภาพของหน่วยงานรัฐที่มีกลไกและระบบในการขนย้ายลำเลียงในภาวะฉุกเฉินเช่น ทหารมาแทนที่ระบบเอกชนเพื่อลำเลียงอาหารจากแหล่งกระจายให้ถึงมือประชาชน อย่างทั่วถึง 3.จัดทำจุดยุทธศาสตร์คลังสินค้าอาหารที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้หรือเป็นจุด ที่ขนย้ายได้ใกล้กับเขตพื้นที่ภัยพิบัติโดยใช้พื้นที่สถานที่ราชการที่ใกล้ เคียงเพื่อมาทดแทนพื้นที่ของเอกชนในยามวิกฤติ 4.จัดระบบกระจายสินค้าจากมือเกษตรกรและผู้ผลิตอาหารไปสู่มือผู้บริโภคให้เหลือน้อยที่สุดสั้นที่สุดและเร็วที่สุด มาตรการระยะยาว 1. รัฐต้องสนับสนุนและสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบการค้าแบบดั้งเดิม ให้มีความสามารถในการแข่งขันกับระบบค้าปลีกขนาดใหญ่ เพื่อเป็นทางเลือกของประชาชนในยามวิกฤติ เพราะร้านค้าดั้งเดิมสามารถเข้าถึงและกระจายอาหารอย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อระบบค้าปลีกสมัยใหม่ล่ม ควรมีมาตรการทางกฎหมายเพื่อไม่ให้การค้าในลักษณะค้าปลีกขนาดใหญ่ขยายตัวและครอบงำระบบการบริโภคมากไปกว่านี้ 2.จัดระเบียบการสำรองอาหารโดยการขอให้เอกชนกระจายจุดคลังสินค้าหลายๆ แห่งเพื่อลดความเสี่ยงต่อความขาดแคลนอาหาร 3.ปฏิรูปกฎหมายแข่งขันทางการค้าการผูกขาดทางการค้า และกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพราะมีผลกระทบโดยตรงต่อการเข้าถึงอาหาร เนื่องจากการเข้าถึงอาหารเกี่ยวข้องโดยตรงตั้งแต่ภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรมอาหาร ผู้ค้าส่ง ค้าปลีก ร้านสะดวกซื้อและร้านโชว์ห่วย ก่อนจะมาถึงมือประชาชน 4.สร้างกลไกการค้าที่คล่องตัวให้ประชาชนสามารถเข้าถึงอาหารได้ ด้วยการตัดขั้นตอนค้าส่งค้าปลีกลงให้มากที่สุดเพื่อลดต้นทุนค่าอาหารลง ในบางประเทศสนับสนุนให้ผู้ผลิตพบกับผู้บริโภคโดยตรง ด้วยการสร้างอาคารสถานที่ให้ แทนที่จะต้องพึ่งพาแต่สาขาของร้านค้าปลีกขนาดยักษ์ 5.สร้างระบบพึ่งพาตนเองของชุมชน ให้สามารถสร้างอาหารเองได้เมื่อเจอภาวะวิกฤต เช่น การสร้างจุดกรองน้ำสะอาดเพื่อการบริโภค หรือการทำแปลงผักชุมชนลอยฟ้า 6.สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน เช่น กิจกรรมการร่วมมือทำงานเพื่อส่วนรวมเพื่อให้ชุมชนมีจิตสำนึกสาธารณะและช่วยเหลือกันเองยามวิกฤติ 7.ให้แต่ละชุมชนมีการฝึกซ้อมภัยพิบัติอย่างสม่ำเสมอเพื่อการอยู่รอดในภาวะวิกฤติ

อ่านเพิ่มเติม >