ฉบับที่ 168 สีสังเคราะห์ ใน “ไข่กุ้ง”

แฟนๆ “ฉลาดซื้อ” คงยังจำกันได้ว่าเราเพิ่งนำเสนอผลทดสอบ “สารกันบูดในไข่กุ้ง” ไปเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ซึ่งผลจากการทดสอบก็ทำให้คนที่ชอบกินไข่กุ้งชอบกินซูชิพอจะมีความสุขได้ เพราะไข่กุ้งที่เรานำมาทดสอบปลอดภัยไร้สารกันบูด แต่ผลทดสอบสารกันบูดที่ผ่านมาเป็นเพียงแค่น้ำจิ้มเท่านั้น ของจริงคือผลทดสอบที่ฉลาดซื้อตั้งใจจะนำเสนอต่อจากนี้ กับเรื่องที่ใครๆ ก็สงสัย ว่าไข่กุ้ง (หรือแท้ที่จริงก็คือไข่ปลานั่นแหละ) ที่สีสันสดใสสะดุดตา เห็นแล้วห้ามใจไม่ให้กินไม่ไหว มีเบื้องลึกเบื้องหลังยังไง ใส่สีลงไปมากน้อยแค่ไหน กินเข้าไปแล้วจะส่งผลเสียต่อสุขภาพหรือเปล่า ไปติดตามกันว่า ผลวิเคราะห์ที่ได้จะเป็น “ข่าวร้าย” หรือ “ข่าวดี” ของคนชอบกินไข่กุ้ง   สีผสมอาหารที่พบจากการตรวจวิเคราะห์ สำหรับสีผสมอาหารชนิดสีสังเคราะห์ที่ฉลาดซื้อพบจากการตรวจวิเคราะตัวอย่างไข่กุ้งในครั้งนี้ จำนวน 9 ตัวอย่าง พบว่ามีการใช้สีผสมอาหารทั้งหมด 6 ชนิด ประกอบด้วย สีสังเคราะห์ในกลุ่มสีเหลือง 1. Sunset yellow FCF E110 2. Tartazine E102 สีสังเคราะห์ในกลุ่มสีแดง 3. Ponceau 4 R E124 4. Azorubine (Carmoisine) 5. Erythrosine E127 และ 6. Allura Red E129   สีทั้ง 6 ชนิดที่ตรวจพบมีอยู่ 3 ชนิดที่ “โคเด็กซ์” มีการกำหนดค่ามาตรฐานเอาไว้ ในกลุ่มของ “คาร์เวียร์และผลิตภัณฑ์จากไข่ปลาชนิดอื่นๆ” (Salmon substitutes, caviar, and other fish roe products) คือ Allura Red E129 พบได้ไม่เกิน 300 มิลลิกรัม ต่อ ปริมาณอาหาร 1 กิโลกรัม Ponceau 4 R E124 พบได้ไม่เกิน 500 มิลลิกรัม ต่อ ปริมาณอาหาร 1 กิโลกรัม Sunset yellow FCF E110 พบได้ไม่เกิน 300 มิลลิกรัม ต่อ ปริมาณอาหาร 1 กิโลกรัม ส่วน Erythrosine E127 ไม่พบเกณฑ์มาตรฐานในกลุ่ม “คาร์เวียร์และผลิตภัณฑ์จากไข่ปลาชนิดอื่นๆ” ในเกณฑ์ในกลุ่มผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ทั้งชิ้นหรือตัดแต่งที่กำหนดไว้ไม่เกิน 30 มิลลิกรัม ต่อ ปริมาณอาหาร 1 กิโลกรัม ส่วน Azorubine (Carmoisine) และ Tartazine E102 โคเด็กซ์ไม่ได้มีการระบุเกณฑ์มาตรฐานไว้ แต่ในประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 66 (พ.ศ.2525) มีการระบุเกณฑ์การใช้สีผสมอาหารชนิด Azorubine (Carmoisine) ไว้ไม่เกิน 100 มิลลิกรัม ต่อ ปริมาณอาหาร 1 กิโลกรัม ส่วน Tartazine E102 พบได้ไม่เกิน 200 มิลลิกรัม ต่อ ปริมาณอาหาร 1 กิโลกรัม ----------------------------------------------------------------------------------   ผลการวิเคราะห์ปริมาณสีสังเคราะห์ในไข่กุ้ง                     สรุปผลทดสอบ ทั้ง 9 ตัวอย่างที่ส่งทดสอบ มีการใส่สีสังเคราะห์ทุกตัวอย่าง มีตัวอย่างไข่กุ้งจำนวน 3 ตัวอย่างที่การใส่สีสังเคราะห์เกินค่ามาตรฐาน ได้แก่ 1.ไข่กุ้งยี่ห้อ “โชกุน ไข่ปลาแคปลินปรุงรส” เป็นตัวอย่างที่พบปริมาณสีสังเคราะห์มากที่สุดคือ พบปริมาณสีสังเคราะห์รวมถึง 555.77 มิลลิกรับต่อกิโลกรัม (มก./กก.) จากปริมาณสีสังเคราะห์ 3 ชนิดรวมกัน คือ Tartazine E102 ปริมาณ 159.21 มก, Sunset yellow FCF E110 ปริมาณ 339.21 มก. และ Allura Red E129 ปริมาณ 57.35 มก./กก. ซึ่งปริมาณของสีชนิด Sunset yellow FCF E110 มีปริมาณสูงกว่าค่ามาตรฐานของโคเด็กซ์ที่ให้พบได้ไม่เกิน 300 มก./กก. ที่สำคัญคือเมื่อนำปริมาณปริมาณสีทั้งหมดมารวมกันแล้ว สูงกว่าเกณฑ์ที่ให้พบได้สูงสุดถึงเกือบ 1 เท่าตัวเลยทีเดียว 2. “ไข่กุ้งปรุงรส ยี่ห้อไคเซนมารุ” พบมีการใช้สีเพียง 1 ชนิด คือ Sunset yellow FCF E110 แต่ปริมาณที่พบสูงถึง 434.91 มก./กก. ซึ่งเกินกว่าค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ไม่เกิน 300 มก./กก. 3.ไข่กุ้งยี่ห้อ “กรูเมท์ มาร์เก็ต ไข่กุ้งส้ม” พบมีการใช้สีเพียง 1 ชนิดเช่นกัน คือ Sunset yellow FCF E110 ปริมาณ 426.79 มก./กก. ไข่กุ้งอีก 6 ตัวอย่างที่เหลือ คือ TSR ไข่กุ้งส้ม (จากวิลล่ามาร์เก็ต), ฟูจิ, ฟูดแลนด์ ไข่กุ้งส้ม, ไข่กุ้ง Kinda ,ไข่กุ้ง โทคุเซน และพรานทะเล พบว่ามีการใส่สีเฉลี่ยอยู่ประมาณ 100 – 237 มก./กก. โดยตัวอย่างที่พบการใส่สีน้อยที่สุดคือ ฟูดแลนด์ ไข่กุ้งส้ม พบสีที่ใช้คือ Tartazine E102 ปริมาณ 84.72  มก./กก. และ Allura Red E129 ปริมาณ 10.99 มก./กก. รวมแล้วมีปริมาณเท่ากับ 95.71 มก./กก.   อันตรายของสีผสมอาหาร สีสังเคราะห์ที่เรารับประทานเข้าไปหากได้รับในปริมาณไม่มาก ร่างกายของเราสามารถกำจัดออกได้เองโดยการขับถ่าย แต่ถ้าหากได้รับในปริมาณที่สูงก็จะส่งผลเสียต่อร่างกาย โดยเฉพาะกับระบบทางเดินอาหาร กระเพาะอาหาร เพราะสีสังเคราะห์ส่วนใหญ่เป็นโลหะหนัก เมื่อเข้าสู่ร่างกายไปสู่กระเพาะอาหารก็จะไปเกาะตัวอยู่ตามผนังกระเพาะ ทำให้เกิดปัญหาต่อระบบดูดซึมอาหาร ทำลายระบบน้ำย่อยในกระเพาะ นอกจากนี้บางชนิดหากสะสมมากเป็นระยะเวลานานก็อาจเป็นเหตุของโรคมะเร็ง ทำร้ายตับ ไต บางชนิดก็แสดงผลแบบเฉียบพลันออกมาทางผิวหนัง ทำให้เกิดผื่นคัน หรือไม่ก็ทำให้เกิดอาการวิงเวียน คลื่นไส้ ปริมาณสีสังเคราะห์ที่อยู่ในเกณฑ์ปลอดภัยที่ร่างกายของเราสามารถรับได้คือ ไม่เกิน 1 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักร่างกาย 1 กิโลกรัม ต่อ 1 วัน สีสังเคราะห์ที่ผสมลงในอาหารนั้นมีหน้าที่เพียงทำให้อาหารมีสีสันที่สดใสเพิ่มขึ้นเท่านั้น ไม่ได้มีสารอาหารใดๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย และอาจนำโทษมาสู่ร่างกายของเราได้หากได้รับมากเกินไป จึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ผสมสีสังเคราะห์ ซึ่งนอกจากไข่กุ้งแล้ว ยังมีอาหารประเภทอื่นๆ ที่พบว่ามีการใช้สีสังเคราะห์ในปริมาณค่อนข้างสูง เช่น  ขนมหวานต่างๆ เยลลี่ ลูกอม รวมถึงน้ำอัดลม น้ำผลไม้บรรจุขวดพร้อมดื่ม ชาโบราณ และอาหารอื่นๆ ที่มีสีสันฉูดฉาด  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 166 ปูเทียม(Imitation crab)

ไม่รู้ใครคิดชื่อ ปูอัด น่าจะเรียก ปูเทียมหรือเนื้อปูเทียม เสียตั้งแต่แรก เพราะว่าทำมาจากปลาทั้งนั้น ไม่มีปูสักนิด ทำเอาบางคนยังเข้าใจผิดอยู่ แล้วทายสิใครเป็นผู้คิดค้นการทำปูอัดขึ้นเป็นครั้งแรก ... ใช่แล้วมนุษย์ญี่ปุ่นนั่นเอง ที่มาของปูอัดนั้นเกิดขึ้นด้วยเหตุผลที่ว่า บ่อยครั้งที่ชาวประมงจับได้แต่ปลาตัวเล็ก ขนาดยังนำไปขายไม่ได้ราคา แต่ไหนๆ ก็จับปลามาได้แล้ว จึงคิดเอาปลามาแล่เอาเนื้อเข้าเครื่องบดละเอียด แล้วนำเข้าเครื่องปั้น แต่งกลิ่นปู ตกแต่งสีเป็นสีแดงคล้ายประดองปู และปั้นให้มีลักษณะเหมือนเนื้อปู (เนื้อจากก้ามปู หรือบางบริษัทก็ปั้นเป็นรูปปูตัวเล็ก ๆ) เนื่องจากมีรสชาติดีเลยได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางในหมู่ผู้บริโภค โดยรูปแบบที่นิยมมากทุกวันนี้ คือลักษณะปูอัดแบบแท่ง(สติ๊ก) ปัจจุบันนี้ปูอัดก็มีให้เลือกกินเลือกซื้อหลายเกรด ตั้งแต่ปูอัดที่ทำมาจากเนื้อปลาอัดแน่นเป็นพิเศษ วัตถุดิบที่นำมาทำค่อนข้างดี ไปจนถึงปูอัดที่เทียมอีกขั้น ด้วยการนำเนื้อแป้งมาผสมเนื้อปลา เพื่อลดต้นทุนการผลิต ทำให้ขายในราคาที่ถูกได้ ซึ่งก็แน่นอนว่า สารอาหาร และประโยชน์ที่ได้รับก็คงลดหลั่นกันมาตามลำดับ รวมทั้งอาจมีการใช้สีที่ไม่ได้รับอนุญาตให้นำมาผสมอาหารและสารกันเสีย ซึ่งฉลาดซื้อเลยเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ปูอัดมาเพื่อทดสอบหาสิ่งปนเปื้อนดังกล่าว   ผลการทดสอบ นับว่าโชคดีมาก อาหารนี้ปลอดภัย เราตรวจไม่พบปัญหาจากการปนเปื้อนของทั้งสีอันตรายและวัตถุกันเสีย(มีพบตกค้างบ้างเล็กน้อยในบางผลิตภัณฑ์ ซึ่งไม่อันตราย) ปูอัดถือว่าเป็นอาหารแคลอรีต่ำอย่างหนึ่ง เพราะทำมาจากเนื้อปลาบดปรุงรส(เลือกชนิดที่มีเนื้อปลาผสมมากหน่อย) และนึ่งสุกแล้ว จึงสามารถกินปูอัดได้ทันที โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการปรุงสุกใด ๆ แต่การเก็บต้องรักษาอุณหภูมิตามฉลากระบุเพื่อป้องกันการบูดเสีย   ปูอัดหรือปูเทียม ทำมาจากเนื้อปลาซูริมิบดผสมแป้ง น้ำตาล เกลือ ผงชูรส และแต่งกลิ่นให้คล้ายปู ให้พลังงานน้อย แต่คุณค่าทางอาหารอาจจะไม่เท่ากับการกินเนื้อปลาแท้ๆ ซูริมิ หมายถึง ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการนำเนื้อปลาบดไปล้างด้วยน้ำเกลือและน้ำ แล้วบดผสมกับสารป้องกันการสูญเสียสภาพธรรมชาติของโปรตีน     ปลาอลาสก้าพอลล็อค (Alaska Pollock) ส่วนประกอบหลักของปูอัดคือ ซูริมิ (Surimi) ซึ่งทำมาจากปลาเนื้อสีขาวที่มีไขมันต่ำ ได้แก่ ปลาตาหวาน ปลาข้างเหลือง ปลาดาบ ปลากะพง ส่วนปลาที่ใช้กันมากที่สุดคือ ปลาทรายแดง (ปลาอิโตโยริ) ปลาอลาสก้าพอลล็อค (Alaska Pollock) ส่วนประกอบปลีกย่อยอื่นๆ ได้แก่ น้ำ แป้งสาลี แป้งมันสำปะหลัง ไข่ขาว น้ำมันถั่วเหลือง เกลือ น้ำตาล ซอร์บิทอล (สารให้ความหวานและเมื่อละลายจะให้ความรู้สึกเย็น) โปรตีนจากถั่วเหลือง สารสกัดจากปู กลิ่นปู รสปู ส่วนผสมอาจแตกต่างไปบ้างตามสูตรของแต่ละบริษัท กรรมวิธีการผลิตปูอัดนั้นมีขั้นตอนที่ยุ่งยากหลากหลายขั้นตอน ได้แก่ การบดผสม การขึ้นรูป การหั่นและม้วน การใส่สี การตัดแต่ง บรรจุลงถุง ปิดผนึกแบบสุญญากาศ การฆ่าเชื้อ นำไปแช่แบบเยือกแข็ง และสุดท้ายคือการส่งจำหน่าย      

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 162 ไข่กุ้งในอาหารญี่ปุ่น

อาหารญี่ปุ่นนั้นได้รับความนิยมไปทั่วโลก คนไทยก็ชอบอาหารญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน ร้านจำหน่ายอาหารญี่ปุ่นมีจำนวนมากมาย ในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ต่างก็มีร้านอาหารญี่ปุ่นเป็นตัวเลือกให้ลิ้มลองกันทั้งนั้น หรือ “ซูชิ” อาหารญี่ปุ่นยอดนิยม ระดับตลาดล่างคำละ 5 บาท 10 บาท ก็พบเห็นได้ทั่วไปตามตลาดนัดต่างๆ  และหากใครนึกสนุกอยากทำกินเอง วัตถุดิบก็หาได้ไม่ยากเช่นกัน ซึ่งหนึ่งในวัตถุดิบที่มีคนไทยนิยมกันมาก ก็คือ “ไข่กุ้ง” ที่ทำมาจากไข่ปลานั่นเอง ไข่กุ้งที่ใช้ทำซูชินั้นไม่ได้เป็นไข่ของกุ้งจริงๆ แต่เป็นไข่ปลา ซึ่งเดิมใช้ไข่ของปลา Capelin หรือปลาไข่ กรรมวิธีการทำไข่จากปลา Capelin มาเป็นไข่กุ้ง(เทียม) นั้นต้องนำไข่ของปลามาหมักและปรุงรสจนได้ไข่ที่มีลักษณะโปร่งใส และมีสีส้มๆ คล้ายกับกุ้ง ซึ่งจะเรียกกันอย่างแพร่หลายในร้านซูชิที่ประเทศญี่ปุ่นว่า Ebiko แต่เมื่อปลาไข่หาได้ยากขึ้น จึงเปลี่ยนมาใช้ไข่ของปลา Flying Fish หรือ ปลาบิน (บ้านเราเรียกปลานกกระจอก) เพื่อทดแทนไข่จากปลา Capelin และเรียกไข่จากปลาบินว่า Tobiko เพื่อป้องกันการสับสน โดยไข่ของปลา Flying fish มีขนาดเล็กประมาณ 0.5-0.8 มม. ตามปกติจะมีสีส้มแดง รสออกเค็มอ่อนๆ บางครั้งนำไปย้อมเป็นสีอื่น เช่น ย้อมวาซาบิได้ไข่สีเขียว ย้อมขิงได้ไข่สีส้ม หรือย้อมกับหมึกของปลาหมึกจะได้สีดำเห็นวางขายกันหลายที่ ฉลาดซื้อเลยเลือกซื้อจากหลายแหล่งขายทั้งในห้างค้าส่ง ค้าปลีก ร้านอาหารญี่ปุ่นและทางร้านค้าออนไลน์ เพื่อทดสอบดูว่ามีการใช้วัตถุกันเสียหรือไม่ ผลทดสอบไม่พบการตกค้างของวัตถุกันเสียยอดนิยมทั้งซอร์บิกและเบนโซอิก เป็นอันว่าปลอดภัยจากสองตัวนี้ แต่สำหรับส่วนสีสันจัดจ้านนั้น ไว้รอผลทดสอบกันอีกครั้งนะคะ   ผลวิเคราะห์เฉพาะตัวอย่างที่ส่งตรวจเท่านั้น   flying fish หรือ ปลาบิน,ปลานกกระจอก อยู่ในวงศ์ Exocoetidae เป็นวงศ์ของปลากระดูกแข็ง...พบ มากกว่า 50 ชนิดทั่วโลก แบ่งออก เป็น 8 สกุล...รูปร่างลักษณะโดยรวม มีลำตัวยาวมากค่อนข้างกลม ส่วนใหญ่มีลำตัวสีเขียว หรือสีน้ำเงินหม่น ข้างท้องสีขาวเงิน จะงอยปากสั้นทู่สั้นกว่าตา ปากเล็กไม่มีฟัน ไม่มีก้านครีบแข็งที่ทุกครีบ ครีบหูขยายใหญ่ยาวถึงครีบหลัง ครีบท้องขยายอยู่ในตำแหน่งท้อง ครีบหางมีแพนล่างยาวกว่าแพนบน ครีบหางเว้าลึกแบบส้อม เส้นข้างลำตัวอยู่ค่อนลงทางด้านล่างของลำตัว เกล็ดเป็นแบบขอบ บางไม่มีขอบหยักหรือสากหลุดร่วงง่าย จัดเป็นปลาทะเลขนาดเล็ก มีความยาวเต็มที่ ไม่เกิน 30 เซนติเมตร พบกระจายพันธุ์ในทะเลเขตร้อนและเขตอบอุ่นทั่วโลก โดยพบในทะเลที่ห่างจากชายฝั่งพอสมควร นิยมอยู่รวมกันเป็นฝูงและหากินบริเวณผิวน้ำ มีจุดโดดเด่นอยู่ที่ครีบอกขนาดใหญ่ และยาวออกมามีลักษณะคล้ายคลึงกับปีกของนก หรือปีกของผีเสื้อ และเมื่อว่ายน้ำด้วยความเร็วสูงแล้วกางครีบอกออก เมื่อตกใจหรือหนี ภัยจะกระโดดได้ไกลเหมือนกับร่อนหรือเหินไปในอากาศเหมือนนกบิน ด้วยเหตุนี้เอง จึงกลายมาเป็นชื่อของปลาบิน...ซึ่งอาจจะ บินได้ไกลถึง 30 เมตร ขึ้นอยู่กับขนาดของตัวปลา และจังหวะที่ลอยตัวขึ้นบนอากาศ โดยใช้ครีบอกหรือครีบหูที่มีขนาดใหญ่มากเป็นตัวพยุงช่วย ในขณะที่บางชนิด ยังมีการใช้ครีบก้นที่มีขนาดใหญ่ร่วมด้วย ชาวประมง...มักจะจับตัวมัน ได้ในช่วง เวลาวางไข่ประมาณต้นฤดูร้อน เพื่อนำไข่มาประกอบอาหารเพื่อสุขภาพ โดยมีวิธีเก็บรักษา คือ นำใส่ถุงมัดปากถุงให้สนิท แล้วเก็บใส่กล่องพลาสติก ปิดฝาให้สนิทนำเข้าแช่ในตู้เย็นที่มีอุณหภูมิ -18 องศาเซลเซียส จะสามารถเก็บได้นานหลายวัน

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 161 วัดค่าพลังงานและโซเดียมกับอาหารเช้าสำเร็จรูป

ชีวิตที่เร่งรีบแบบในโฆษณาสารพัดอาหารเช้าสำเร็จรูป อาจสร้างภาพให้ดูสวยงามด้วยวิธีการแก้ไขปัญหาแบบง่าย คือ แค่ฉีกซองเติมน้ำร้อนก็อิ่มท้องสบายๆ แต่อย่าลืมกันนะว่าของสำเร็จรูป  มันไม่ควรเป็นคำตอบสุดท้าย ที่จริงแล้วมันควรจะเป็นแค่ตัวช่วยเฉพาะกิจเท่านั้น เพราะถ้าจัดเต็มกันทุกวัน ท่านมีปัญหาสุขภาพแน่ โซเดียมแทบไม่ต่างจากบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ฉลาดซื้อเคยทดสอบปริมาณโซเดียมทั้งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและโจ๊กซอง เราพบว่ามันมีค่าโซเดียมแทบไม่ต่างกัน จึงควรระวังในการบริโภค เรื่องน่ายินดีคือ การสำรวจครั้งนี้ฉลาดซื้อพบว่า โจ๊กซองหลายแบรนด์มีค่าโซเดียมลดลง เช่น มาม่า โจ๊กกึ่งสำเร็จรูป รสหมู มีโซเดียม 2826 มก. /100 ก.(ฉลาดซื้อ ฉ.101)  เมื่อสำรวจซ้ำคราวนี้พบว่าลดลงมาที่ 1961 มก./100 ก.   ü ปริมาณโซเดียมที่เหมาะสม แนะนำให้บริโภคประจำวันคือ ไม่เกิน 2400 มิลลิกรัม//ปริมาณโซเดียมในบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสหมูสับ อยู่ที่ประมาณ 1500-2000 มก. ü กินโซเดียมมากๆ ทำให้ไตและหัวใจทำงานหนัก ค่าพลังงาน โซเดียมและน้ำตาลในอาหารเช้ากึ่งสำเร็จรูป         //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 158 รสหวานในน้ำจิ้มไก่

น้ำจิ้ม จัดเป็นของคู่สำรับอาหาร อย่างน้อยๆ ก็ต้องมีพริกน้ำปลาสักถ้วย น้ำจิ้มช่วยเพิ่มอรรถรสในการกิน เรียกได้ว่าเป็นตัวชูรสอาหารให้โดดเด่นขึ้น ปัจจุบันน้ำจิ้มถ้าไม่ทำเอง ก็มีผู้ผลิต บรรจุขวดไว้ให้เราซื้อหากันได้สะดวก น้ำจิ้มมีหลายชนิด แต่ที่นิยมกันมากถึงกับเคยมีการจัดอันดับน้ำจิ้มที่คนไทยชื่นชอบ ปรากฏว่า น้ำจิ้มไก่มาเป็นอันดับหนึ่ง  “เหตุเพราะน้ำจิ้มไก่สามารถทานได้กับอาหาราแทบทุกชนิดไม่ใช่แค่ไก่อย่างเดียว แถมทานกับข้าวสวยเปล่าๆยังอร่อยอย่าบอกใคร” (ที่มา toptenthailand) และเพราะว่ากินคู่กับอาหารมาเป็นเวลานาน ทำให้คนส่วนใหญ่ติดในรสชาติที่จัดจ้าน ทั้งเปรี้ยว หวานและเผ็ดนิดๆ อีกทั้งยังกินกันมาตั้งแต่เด็ก ซึ่งพอไปรวมกับอาหารอื่นๆ เข้า ก็อาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมาได้เช่นกัน เพราะน้ำจิ้มไม่เพียงแต่หวานจากน้ำตาล ยังมีการตัดรสด้วยเกลือ ซึ่งก็คือโซเดียม ที่กำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ในปัจจุบัน เพื่อช่วยให้มองภาพรวมของน้ำจิ้มไก่ได้ว่า อาจมีปัญหาถ้าติดรสชาติของน้ำจิ้มมากเกินไป และจิ้มกินจนเพลิน เราลองมาดูฉลากของน้ำจิ้มไก่กันดีกว่า ซึ่งน่าสนใจว่า หลายยี่ห้อได้ทำฉลากโภชนาการไว้ด้วย   อย่ามองข้ามน้ำจิ้ม แค่สองช้อนโต๊ะ ก็หวานพุ่ง ค่าเฉลี่ยของโซเดียมในน้ำจิ้มไก่ ในหน่วยบริโภคขนาด 36 กรัมหรือราวๆ 2 ช้อนโต๊ะ คือ 460 มก. ส่วนน้ำตาลประมาณ 14.3 กรัม เรียกว่า แค่จิ้มนิดๆ ก็หวานจัดกันทีเดียว สำคัญอีกอย่างที่ต้องระวังคือ โซเดียม ซึ่งมีปริมาณไม่เบาเลย ดังนั้นแล้ว อย่าเห็นว่าหวานเลยจิ้มเพลินจนลืมโซเดียมที่แฝงอยู่ในน้ำจิ้มอันแสนอร่อย แม้น้ำจิ้มจะเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของอาหารที่หลายคนขาดไม่ได้ แต่ควรกินแต่เพียงพอดี อย่าเยอะนะคะ ด้วยความปรารถนาดีจากฉลาดซื้อ(มารคอหอยตัวสำคัญ)   ปริมาณโซเดียมในเครื่องปรุงและอาหารสำเร็จรูป   •        เกลือ 1 ช.ช                                             =โซเดียม 2,000 มก. •        น้ำปลาหรือซีอิ๊ว 1 ช. ช.                        =โซเดียม  400  มก. •        ซอสมะเขือเทศ  1 ช.ช                           = โซเดียม 55 มก. •        ซอสหอยนางรม 1ช.ช                            = โซเดียม140 – 160มก. •        น้ำจิ้มไก่ 1 ช.ช                                        = โซเดียม 67 - 76 มก. •        บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 60 กรัม                   = โซเดียม 1,500 มก. •        โจ๊กกึ่งสำเร็จรูป    42 กรัม                    = โซเดียม 1,000 มก. http://www.raktai.org/Home/KnowledgeContent.aspx?id=4         คำแนะนำสิบข้อที่เตือนให้เราทบทวน “นิสัยการกิน” 1. กรุณาชิมทุกครั้งก่อนที่จะเติมเครื่องปรุงลงไป โดยเฉพาะก๋วยเตี๋ยว2. กรุณากวาดเอาขวดน้ำปลา ซอส ซีอิ๊วและเกลือออกจากโต๊ะอาหารให้เกลี้ยงภายในวันนี้3. ลดการกินอาหารหมัก-ดอง, อาหารแปรรูปเช่นผัก, ผลไม้ดอง, ไส้กรอก, หมูยอ, แหนม, เบคอน4. ลด การกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป (เพราะมีโซเดียมในอาหารประเภทนี้มหาศาล ซึ่งอาจจะมาจากผงชูรส ดังนั้น สัปดาห์หนึ่งอย่ากินเกินสามซอง และเวลากินอย่าไปซดน้ำจนหมดเกลี้ยง เพราะถ้าซดจนหมด ก็จะได้ทั้งความเค็มจากเกลือ, น้ำปลาและผงชูรสไปเต็มๆ ) 5. ลดการกิน อาหารที่มีน้ำจิ้ม (เวลากินสุกียากี้หรือหมูกระทะ น้ำจิ้มมีเหลือล้น บางคนขอเพิ่มสองสามรอบด้วยซ้ำไป นั่นคือความเต็มอย่างยิ่งและมีโซเดียมสูงอย่างยิ่ง)6. ลดการกินอาหารที่ปรุงจากปลาเค็ม ไข่เค็ม เนื้อเค็ม ปลาร้า กะปิ เต้าหู้ยี้ (ไม่ควรกินบ่อย, ขอย้ำว่ากินได้แต่อย่าบ่อย)7. กินผลไม้สดโดยไม่ต้องจิ้มพริก, เกลือหรือน้ำตาล 8. ลดการกินอาหารจานด่วนตะวันตกและขนมกรุบกรอบ เพราะอาหารประเภทนี้ผงชูรสและโซเดียมมากเกินความจำเป็น9. ลดการใช้ผงชูรส (ไม่ถึงกับต้องงด หากกินปริมาณพอเหมาะก็ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย แต่หากกินมากก็จะเจอปัญหาโซเดียมสูง)10. อ่านฉลากก่อนซื้อ (ฉลากไหนที่บอกว่ามีโซเดียมไม่เกิน 200 มิลลิกรัม ก็ถือว่าใช้ได้)   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 152 เปิดขวด “น้ำจิ้มสุกี้”

สุกี้ ถือเป็นเมนูที่หลายๆ คนยกให้เป็นอาหารจานสุขภาพ เพราะความที่เป็นเมนูที่เน้นผักมากกว่าเนื้อสัตว์ สาวๆ หลายคนเลือกรับประทานสุกี้เพราะเชื่อว่ากินแล้วจะไม่อ้วน แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่ไม่ประสบความสำเร็จในการรับประทานสุกี้ให้เป็นเมนูสุขภาพ ไม่ใช่เพราะแค่ดันเข้าใจผิดไปจัดเต็มกับสุกี้บุฟเฟ่ต์ แต่ยังเป็นเพราะสุกี้จานโปรดของคุณเล่นเติมน้ำจิ้มแบบไม่บันยะบันยัง รู้มั้ยในน้ำจิ้มสุกี้รสเด็ด มีทั้งน้ำตาล เกลือ บางยี่ห้อก็มีผงชูรส ฉลาดซื้อเป็นห่วงสุขภาพของคนชอบทานสุกี้ เราจึงลองสำรวจดูว่า น้ำจิ้มสุกี้ยี่ห้อต่างๆ ที่วางขายอยู่ในท้องตลาดทั่วไปนั้น เสี่ยงต่อความหวานของน้ำตาล และความเค็มของโซเดียมมากน้อยแค่ไหน   ตารางสำรวจปริมาณโซเดียมและน้ำตาลในน้ำจิ้มสุกี้บรรจุขวด ปริมาณโซเดียมและน้ำตาลที่เหมาะสมต่อสุขภาพ ***ปริมาณโซเดียมที่เหมาะสมในการบริโภคสำหรับคนไทยใน 1 วัน คือไม่เกิน 2,400 มิลลิกรัม ส่วนปริมาณน้ำตาลที่เหมาะสมในการบริโภคสำหรับคนไทยใน 1 วัน คือไม่เกิน 6 ช้อนชา หรือประมาณ 24 กรัม   วิธีการสำรวจ ฉลาดซื้อได้ทำการสุ่มสำรวจตัวอย่างน้ำจิ้มสุกี้บรรจุขวดจำนวน 12 ตัวอย่าง เพื่อสำรวจปริมาณของโซเดียมและน้ำตาล โดยการดูข้อมูลในฉลากโภชนาการที่แสดงไว้บนขวดน้ำจิ้มสุกี้แต่ละยี่ห้อ ซึ่งมีการแจ้งปริมาณของโซเดียมและน้ำตาลต่อหน่วยบริโภคเป็นช้อนโต๊ะ เช่น น้ำจิ้มสุกี้ตราสุรีย์ สูตรกวางตุ้ง ข้อมูลในฉลากโภชนาการแจ้งว่า ปริมาณน้ำจิ้มสุกี้ 2 ช้อนโต๊ะ (25กรัม) มีปริมาณโซเดียม 460 มิลลิกรัม ปริมาณน้ำตาล 6 กรัม เป็นต้น โดยจากตัวอย่างทั้งหมด 12 ตัวอย่าง มี 2 ตัวอย่างที่ไม่มีการแสดงฉลากโภชนาการ คือ น้ำจิ้มสุกี้ยี่ห้อพันท้าย (สูตรดั้งเดิม) และ น้ำจิ้มสุกี้เด็กสมบูรณ์ (สูตรกวางตุ้ง) แต่ฉลาดซื้ออยากรู้ปริมาณโซเดียมและน้ำตาลของทั้ง 2 ตัวอย่าง เราจึงส่งตัวอย่างไปตรวจวิเคราะห์ที่สถาบันโภชนาการ ม.มหิดล เพื่อนำผลมาฝากแฟนฉลาดซื้อ   ผลการสำรวจ โซเดียม ตัวอย่างน้ำจิ้มสุกี้ที่พบปริมาณโซเดียมสูงที่สุด คือ น้ำจิ้มสุกี้ยี่ห้อควิกเชฟ (สูตรกวางตุ้ง) ที่บอกไว้ในฉลากโภชนาการว่ามีปริมาณโซเดียม 740 มิลลิกรัมต่อปริมาณน้ำจิ้มสุกี้ 2 ช้อนโต๊ะ (30 กรัม) หรือประมาณ 1 ใน 3 ของปริมาณโซเดียมที่แนะนำให้บริโภคต่อวัน (2,400 มิลลิกรัม) ตัวอย่างน้ำจิ้มสุกี้ยี่ห้ออื่นๆ ที่พบปริมาณโซเดียมค่อนข้างสูง ได้แก่ ยี่ห้อเด็กสมบูรณ์ (สูตรกวางตุ้ง) พบปริมาณโซเดียมจากการส่งวิเคราะห์โดยสถาบันโภชนาการ ม.มหิดล ที่ปริมาณ 2,152 มิลลิกรับต่อ 100 กรัม หรือที่ประมาณ 646 มิลลิกรัม ต่อปริมาณน้ำจิ้มสุกี้ 2 ช้อนโต๊ะ (30 กรัม) นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างน้ำจิ้มสุกี้ ยี่ห้อ แม่ประนอม (สูตรกวางตุ้ง) และ ยี่ห้อบิ๊กซี (รสจัดจ้าน) ที่แสดงปริมาณโซเดียมไว้ที่ 600 มิลลิกรัมต่อปริมาณน้ำจิ้มสุกี้ 2 ช้อนโต๊ะ (30 กรัม) ส่วนตัวอย่างน้ำจิ้มสุกี้ที่เหลือพบปริมาณโซเดียมเฉลี่ยที่ประมาณ 500 – 600 มิลลิกรัมต่อปริมาณน้ำจิ้มสุกี้ 2 ช้อนโต๊ะ ซึ่งต้องย้ำว่าเป็นการแสดงปริมาณโซเดียมต่อปริมาณน้ำจิ้มสุกี้ 2 ช้อนโต๊ะเท่านั้น แต่เชื่อว่าหลายคนเวลาทานสุกี้หรือทานพวกอาหารบุฟเฟ่ต์ที่มีน้ำจิ้มสุกี้เป็นน้ำจิ้ม คงไม่เติมกันแค่ 2 ช้อนโต๊ะ หลายคนเติมแล้วเติมอีก บางคนก็กินน้ำจิ้มกันทีเป็นถ้วยๆ ฉลาดซื้อขอเตือนว่าใครที่มีพฤติกรรมกินน้ำจิ้มสุกี้แบบนั้น มีสิทธิได้รับโซเดียมเกินปริมาณที่เหมาะสมกับสุขภาพ (2,400 มิลลิกรัมต่อวัน)   น้ำตาล ปริมาณน้ำตาลในตัวอย่างน้ำจิ้มสุกี้บรรจุขวดที่พบในการสำรวจ เฉลี่ยอยู่ที่ 7 กรัมต่อปริมาณน้ำจิ้มสุกี้ 2 ช้อนโต๊ะ ที่พบมีปริมาณสูงสุดคือ ตัวอย่างน้ำจิ้มสุกี้ยี่ห้อเจ๊เล็ก (สูตรกวางตุ้ง เผ็ดกลาง) ซึ่งแสดงปริมาณน้ำตาลในฉลากโภชนาการไว้ที่ 4 กรัมต่อหนึ่งช้อนโต๊ะ (17 กรัม) หรือถ้าเทียบเป็น 2 ช้อนโต๊ะ (34 กรัม) แบบตัวอย่างอื่นๆ จะเท่ากับ 8 กรัม ซึ่งมากที่สุดในตัวอย่างทั้งหมด 12 ตัวอย่าง คิดเป็น 1 ใน 3 ของปริมาณน้ำตาลที่แนะนำให้บริโภคต่อวัน (24 กรัม) สำหรับตัวอย่างที่พบปริมาณน้ำตาลน้อยที่สุดในตัวอย่างน้ำจิ้มสุกี้ที่ฉลาดซื้อสุ่มสำรวจครั้งนี้คือ ยี่ห้อบิ๊กซี (รสจัดจ้าน) ซึ่งพบปริมาณน้ำตาลอยู่ที่ 3 กรัมต่อปริมาณน้ำจิ้มสุกี้ 2 ช้อนโต๊ะ (33 กรัม) เช่นเดียวกับโซเดียม การทานน้ำจิ้มสุกี้ในปริมาณที่มากเกินไป ย่อมมีความเสี่ยงต่อการได้รับปริมาณน้ำตาลเกินความต้องการของร่างกาย ซึ่งแน่นอนว่าจะกลายเป็นผลเสียต่อสุขภาพของเรา ข่าวดี!!!ไม่พบอะฟลาท็อกซินในน้ำจิ้มสุกี้ นอกจากปริมาณของโซเดียมและน้ำตาลแล้ว ฉลาดซื้อยังได้ส่งตรวจวิเคราะห์หาการปนเปื้อนของเชื้อรา “อะฟลาท็อกซิน” ในตัวอย่างน้ำจิ้มสุกี้บรรจุขวดทั้ง 12 ตัวอย่าง เนื่องจากส่วนประกอบในน้ำจิ้มสุกี้มีทั้ง พริก และ งา ซึ่งมีโอกาสเป็นแหล่งกำเนิดของสารอะฟลาท็อกซิน จากการวิเคราะห์โดยสถาบันโภชนาการ ม.มหิดล ฉลาดซื้อได้ผลวิเคราะห์ที่ถือว่าเป็นข่าวดี เพราะตัวอย่างน้ำจิ้มสุกี้ทั้ง 12 ยี่ห้อ ไม่พบการปนเปื้อนของสารอะฟลาท็อกซิน ผู้บริโภคสบายใจได้ ฉลาดซื้อแนะนำ ถ้าไม่อยากเสี่ยงโซเดียมและน้ำตาลในน้ำจิ้มสุกี้ -  ชิมก่อนปรุง ด้วยความที่คนไทยเราชอบทานอาหารรสจัด ก็เลยอดไม่ได้ที่จะต้องเติมเครื่องปรุงเพิ่ม เพราะฉะนั้นถ้าไม่อยากได้รับโซเดียมและน้ำตาลมากเกินไป ก็ควรชิมก่อนตัดสินใจเติมเครื่องปรุงหรือน้ำจิ้มต่างๆ เพิ่ม - อ่านฉลากโภชนาการ การอ่านฉลากโภชนาการถือเป็นวิธีง่ายๆ ที่ช่วยให้รู้ได้ว่าอาหารที่เรากำลังทานอยู่นั้นมีปริมาณสารอาหารต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น โซเดียม น้ำตาล หรือสารอาหารอื่นๆ เป็นปริมาณเท่าไหร่ น้ำจิ้มสุกี้บรรจุขวดที่เราสำรวจส่วนใหญ่ก็มีการแสดงฉลากโภชนาการ   ***มีข้อสังเกตเรื่องฉลากโภชนาการ แม้ว่าตัวอย่างน้ำจิ้มสุกี้บรรจุขวดที่ฉลาดซื้อสำรวจส่วนใหญ่ (10 จาก 12 ตัวอย่าง) จะแสดงฉลากโภชนาการซึ่งเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับผู้บริโภค แต่การกำหนดหน่วยบริโภคเพื่อแสดงปริมาณของน้ำจิ้มสุกี้นั้น ยังมีความแตกต่างกัน ซึ่งส่งผลต่อการนำไปเป็นข้อมูลการเปรียบเทียบของผู้บริโภค เช่นบางยี่ห้อ กำหนดให้หนึ่งหน่วยบริโภค = 2 ช้อนโต๊ะ หรือ 30 กรัม ขณะที่อีกยี่ห้อกลับกำหนดให้หนึ่งหน่วยบริโภค 2 ช้อนโต๊ะ = 33 กรัม บางยี่ห้อก็กำหนดให้หนึ่งหน่วยบริโภค 2 ช้อนโต๊ะ = 25 กรัม พูดง่ายๆ คือไม่มีมาตรฐานกลางที่แน่นอน ผู้บริโภคจึงต้องลำบากคำนวณเปรียบเทียบกันเอง เพราะฉะนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรกำหนดเรื่องหน่วยบริโภคให้เป็นหน่วยเดียวกัน   ปริมาณโซเดียมในซอสปรุงรสชนิดต่างๆ ที่มา: “กินดีสมดุล...การเสริมสร้างวิถีชีวิตสุขภาพ” รองศาสตราจารย์ ดร. ประไพศรี ศิริจักรวาล สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล จากการสัมมนาเครือข่ายวิชาการป้องกันควบคุมโรคไม่ติดต่อ จัดโดยสำนักควบคุมโรค 23 กุภาพันธ์ 2554

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 146 อย่าลืมดู “ส่วนประกอบ” ก่อนซื้ออาหารสำเร็จรูป

  เมื่อหมูย่างกลายเป็นไก่ย่าง             ในวิถีชีวิตของผู้บริโภคยุคใหม่ที่มีแต่ความเร่งรีบ เรื่องของความสะดวกและรวดเร็ว ถือเป็นเรื่องสำคัญ ทำให้ความต้องการบริโภคอาหารได้เปลี่ยนแปลงไปจากคนรุ่นก่อนหน้านี้อย่างชัดเจน จากวิถีการบริโภคที่เนิ่นช้า ใช้เวลาในการประดิดประดอย ตกแต่งทั้งรสชาติและรูปร่างหน้าตาของอาหารให้มีความสวยงาม เปลี่ยนมาสู่อาหารที่พร้อมบริโภคได้ทันที เพียงแค่เอาออกจากตู้แช่แล้วผ่านความร้อนแค่ไม่กี่นาที จากเตาไมโครเวฟ โดยเราเรียกมันว่า “อาหารแช่เย็น – แช่แข็ง”    ถ้ามองผ่านๆ รูปร่างหน้าตาบนฉลากสินค้าเหล่านี้จะดูน่ารับประทานและมีความหลากหลายของตัวผลิตภัณฑ์สูง เรียกว่า อยากกินเมนูอะไรก็มีให้เลือกมากมาย แต่เดี๋ยวก่อน ...การมองเฉพาะชื่ออาหารบนผลิตภัณฑ์อาจไม่ใช่อย่างที่คุณคิด เพราะเป็นไปได้ว่า หมูย่างที่คุณกำลังจะกินอาจมีไก่ผสม หรือ ลูกชิ้นกุ้ง ไม่ได้เป็นกุ้งล้วน แต่เป็นเนื้อปลา   ดังนั้น “ฉลาดซื้อ” จึงได้ร่วมกับโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งกลไกคุ้มครองผู้บริโภคความปลอดภัยด้านอาหารภาคประชาชนสุ่มสำรวจตัวอย่างอาหารพร้อมบริโภคชนิดแช่เย็นและแช่แข็ง จำนวน 76 ตัวอย่าง 3 กลุ่มอาหาร ประกอบด้วย กลุ่มเบอร์เกอร์-ฮอทดอก-แซนวิช กลุ่มติ่มซำ-อาหารเรียกน้ำย่อย และกลุ่มเนื้อสัตว์แปรรูป จากร้านสะดวกซื้อ และซูเปอร์มาร์เก็ตจำนวน 5 แห่ง ได้แก่ โฮมเฟรชมาร์ท บิ๊กซี โลตัส และกูร์เม่ มาร์เก็ต สยามพารากอน เซเว่นอีเลฟเว่น ระหว่างวันที่ 18 – 22 มีนาคม 2556 เมื่อมาพิจารณาเปรียบเทียบการแสดงรายละเอียดของชื่ออาหาร และส่วนประกอบ ว่ามีความสอดคล้องหรือไม่ และอาจจะนำมาซึ่งความสับสนแก่ผู้บริโภคหรือไม่   ผลทดสอบ  ร้อยละ 62 ฉลากควรต้องปรับปรุง            “ฉลาดซื้อ” พบว่า จาก 76 ตัวอย่าง มี 29 ตัวอย่าง (ร้อยละ 38) ที่ฉลากแสดงข้อมูลได้ค่อนข้างดี คือ มีการใช้ชื่ออาหารที่ชัดเจนเข้าใจได้ทันทีเมื่ออ่านชื่ออาหาร มีการแสดงชื่ออาหารที่สอดคล้องกับส่วนประกอบ และมีการแสดงรายการส่วนประกอบที่ค่อนข้างละเอียดและชัดเจน ขณะที่อีก 47 ตัวอย่าง (ร้อยละ 62) มีการแสดงข้อมูลบนฉลากที่สร้างความสับสนให้กับผู้บริโภค บางรายการอาจเข้าข่ายทำให้เข้าใจผิดและเข้าข่ายการกระทำความผิดฐานแสดงฉลากไม่ถูกต้องได้ (มาตรา 6(10) ของ พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522) โดย แบ่งตามลักษณะการกระทำความผิดได้เป็น 5 ลักษณะ คือ   ชื่ออาหารไม่สอดคล้องกับส่วนประกอบ การแสดงชื่ออาหารไม่สอดคล้องกับส่วนประกอบหลักของอาหาร เช่น ตรา เดลี่ไทย ใช้ชื่ออาหารว่า ข้าวเหนียวหมูย่าง แต่มีส่วนประกอบของหมูและไก่ อีกทั้งปริมาณและสัดส่วนของเนื้อสัตว์ทั้งสองชนิดยังใกล้เคียงกันมากคือ ร้อยละ 10 และ ร้อยละ 9 ตามลำดับ หรือ ไส้กรอกชีสต์หมู ตราเบทเทอร์ฟู้ด ที่ส่วนประกอบไม่มีการระบุว่า มีชีสต์ ทั้งที่ในชื่ออาหารแสดงไว้อย่างชัดเจนว่าเป็นไส้กรอกชีสต์ กุ้งทอดสอดไส้ชีส ตราสุรพลฟู้ดส์ ที่ชื่อบอกว่ากุ้ง แต่มีส่วนประกอบ ทั้งกุ้งและปลา คือ กุ้ง 23%, เกล็ดขนมปัง 17%, เนื้อปลาบด 15%, ชีส 6% เป็นต้น   การแสดงชื่ออาหารไม่ได้บอกว่าอาหารนั้นทำมาจากอะไร การแสดงชื่ออาหารไม่ได้บ่งชี้ว่าอาหารชนิดนั้นคืออะไร ทำมาจากอะไร เช่น แซนวิชเค้กไส้กรอก ตรา เซเว่น เฟรช ที่ส่วนประกอบระบุว่า ไส้กรอก 41%, ไข่ขาว 13.20%, แป้งสาลี 10.8%... ฯลฯ ซึ่งทั้งชื่ออาหารและส่วนประกอบไม่ได้ให้ข้อมูลกับผู้บริโภคว่า ไส้กรอกนั้น ๆ คืออะไร หรือ WAVE DOG ฮอทดอกซอสพิซซ่า ที่ส่วนประกอบแสดงว่าทำจากไส้กรอกไก่ แต่มิได้แสดงชื่อไส้กรอกไก่ไว้บนฉลาก   การแสดงชื่ออาหารไม่ชัดเจน เมื่อชื่ออาหารไม่ชัดเจน ก็ไม่สามารถระบุได้ว่าอาหารนั้นทำมาจากอะไรเป็นจริงตามชื่ออาหารที่กล่าวอ้างหรือไม่ รวมถึงมิได้มีการแสดงส่วนประกอบเป็นร้อยละ หากแต่แสดงเพียงรายการวัตถุดิบที่นำมาผลิตเป็นอาหารเท่านั้น เช่น ลูกชิ้นหมูปิ้ง ตรา เซเว่นเฟรช บายแฮปปี้เชพ ที่ส่วนประกอบระบุแค่ เนื้อสัตว์ เพียงอย่างเดียว หรือ เกี๊ยวปู ตรา เจด ดราก้อน ที่ระบุส่วนประกอบ เนื้อสัตว์ 49.5%, แผ่นแป้ง 29.5% เครื่องปรุงรส 11.9%, มันแกว 11.5% ยอพริก (ไส้กรอกตราซีเค ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อสัตว์) ที่ชื่อไม่บอกว่าทำจากสัตว์ โดย ส่วนประกอบ แสดงแค่ว่าทำจากเนื้อสัตว์ + เครื่องปรุงรส แต่บนฉลากกลับมีการแสดงรูปไก่ ซึ่งอาจทำให้เข้าใจว่าเป็นยอไก่ได้ เป็นต้น   มีการแสดงฉลากอาหารสองชุด คือมีฉลากที่สลักติดมากับบรรจุภัณฑ์และฉลากแบบที่เป็นสติ๊กเกอร์ที่แปะมาในภายหลังซึ่งฉลากทั้งสองชุดมีการแสดงรายการส่วนประกอบที่ไม่ตรงกัน เช่น ไส้กรอกคอกเทลรมควัน ตรา ซีพี ซึ่งฉลากที่ติดมากับซองแสดงรายละเอียดว่า เนื้อสัตว์ ขณะที่ ฉลากที่เป็นสติ๊กเกอร์ ระบุว่า ทำมาจาก เนื้อหมู และเนื้อไก่ หรือ ไส้กรอกหมูเวียนนา ตรา บางกอกแฮม รูปหมูตัวเดียว ที่มีฉลาก 2 ชุด ชุดแรกเป็นสติ๊กเกอร์แสดงรายละเอียดว่า ทำจากเนื้อหมูและอื่น ๆ กับ ฉลากชุดที่สองเป็นตัวหนังสือสลักบนซองบอกรายละเอียดว่าทำจากเนื้อสัตว์และอื่น ๆ เป็นต้น   มีชื่ออาหารทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ แต่ความหมายไม่ตรงกัน ชื่อที่อาจสร้างความสับสน เช่น ลูกชิ้นกุ้งมังกรเทียม (เนื้อปลาบดปรุงรส) ขณะที่ ชื่อภาษาอังกฤษ แสดงคำว่า Lobster Ball ซึ่งหมายถึงว่าทำมาจากกุ้งมังกรแท้ กับ Shrimp Shao – mai ขนมจีบ ตรา S&p ที่ชื่อภาษาอังกฤษแสดงว่าเป็นขนมจีบกุ้ง ขณะที่ชื่อภาษาไทยบอกแค่ขนมจีบ เป็นต้น   ข้อควรระวัง สีของซองกับตัวอักษรบนซองกลืนกัน อ่านได้ยาก เช่น กุ้งทิพย์ ตรา พี.เอฟ.พี (เนื้อปลาผสมกุ้งปรุงรส) ที่ทำสีซองและตัวหนังสือเป็นสีเหลืองกลืนกับสีพื้น ชื่ออาหารตัวเล็กอ่านได้ยากเนื่องจากมีชื่ออาหารที่ยาวเกินไป เช่น เนื้อปลาบดปรุงรสผสมกลิ่นไก่และกลิ่นชีส รมควันรูปแองกรี้เบิร์ดส์ ตรา TVI ทวีวงษ์ Angry Birds Fish Cake การแสดงรายละเอียดของส่วนประกอบบางครั้งยังไม่ละเอียดเพียงพอ ไม่สามารถทราบได้ว่าอาหารนั้นทำมาจากอะไร เช่น เกี๊ยวซ่าญี่ปุ่นสำเร็จรูป ไส้กุ้งทรงเครื่อง ตรา โออิชิ เกี๊ยวซ่า ที่ส่วนประกอบหลักระบุเพียงแค่ว่าทำจาก ไส้กุ้งทรงเครื่อง 57% ขณะที่เกี๊ยวหมูซอสญี่ปุ่น ตรา ซีพี ที่มีการแสดงส่วนประกอบคล้าย ๆ กัน กลับแสดงรายละเอียดเป็นวงเล็บไว้ว่าไส้หมูสูตรญี่ปุ่นทำจาก เนื้อหมู ผัก และเครื่องปรุงรส การแสดงรายละเอียดของส่วนประกอบที่อาจมีผลต่อการก่อภูมิแพ้สำหรับผู้แพ้อาหารยังคงเป็นการแสดงโดยสมัครใจ (ผู้ผลิต เป็นผู้อาสาแสดงรายละเอียดเองโดยไม่มีกฎหมายบังคับ) และยังไม่โดดเด่นพอที่จะเป็นจุดสังเกตให้ผู้บริโภคต้องระวังเมื่ออ่านฉลาก ส่วนใหญ่ของอาหารที่ฉลาดซื้อนำมาสำรวจในครั้งนี้ใช้ ผงชูรส (msg-โมโนโซเดียมกลูตาเมต) และวัตถุปรุงแต่งรสอาหารชนิดอื่น ๆ ประกอบอาหารด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่จำหน่ายในร้านสะดวกซื้อ ทำให้ผู้บริโภคที่มีปัญหาโรคไตหรือมีปัญหากับผงชูรส ไม่มีตัวเลือกเท่าไหร่นัก กว่าหนึ่งในสามของตัวอย่างที่ทดสอบจะมีการใช้เนื้อสัตว์อื่นนอกจากเนื้อสัตว์ที่เป็นชื่ออาหารมาผสมเป็นอาหาร ดังนั้น ผู้ที่มีปัญหาแพ้อาหารหรือไม่สามารถรับประทานเนื้อสัตว์บางประเภทได้ด้วยปัญหาด้านสุขภาพส่วนตัว (เช่น เป็นโรคแพ้กุ้ง หรือเป็นโรคเก๊าท์ ทานเนื้อไก่ไม่ได้ เป็นต้น) จะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากอาจจะได้เนื้อสัตว์อื่นที่ไม่ต้องการเป็นของแถมเมื่อบริโภคอาหารในกลุ่มนี้   ฉลาดซื้อแนะนำ 1.อ่านฉลากอาหารโดยละเอียด อย่าดูเพียงแค่วันผลิต – วันหมดอายุ โดยให้อ่านทั้งชื่ออาหาร ส่วนประกอบของอาหาร รวมถึงข้อมูลโภชนาการ ว่าสอดคล้องกับชื่ออาหารที่แสดงไว้หรือไม่ และอย่าลืมดูชื่อผู้ผลิต-ผู้จัดจำหน่ายด้วย เนื่องจากหากต้องการร้องเรียนหรือให้ข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงข้อผิดพลาด จะได้ดำเนินการได้โดยตรง 2.ให้ดำเนินการร้องเรียน เมื่อพบอาหารที่มีปัญหาการแสดงฉลาก หรือสงสัยว่าจะมีปัญหากับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยทำหนังสือเป็นทางการพร้อมส่งภาพฉลากอาหารที่สงสัยให้กับ อย. เพื่อให้วินิจฉัย พร้อมดำเนินการทางกฎหมายหากพบว่าเป็นการกระทำความผิดจริงตาม พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522 3.ควรซื้อหรือรับประทานอาหารที่ปรุงสดใหม่ และ/หรือปรุงอาหารรับประทานเองบ้าง อาหารแช่แข็งควรเป็นเพียงแค่ตัวเลือกหนึ่งเท่านั้น อย่าจำกัดชีวิตตัวเองมากเกินไป   ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่การแสดงฉลากควรปรับปรุง   ชื่ออาหาร ส่วนประกอบสำคัญ ที่แสดงบนฉลาก สถานที่ผลิต/จัดจำหน่าย เลขสารบบอาหาร (เครื่องหมาย อย.) ข้าวเหนียวหมูย่าง ตรา เดลี่ไทย ข้าวเหนียว 71.4%, เนื้อหมู 10.6%, เนื้อไก่ 9.1% บริษัท ซี.พี. ค้าปลีกและการตลาด จำกัด 13-1-19233-2-0347 เบอร์เกอร์ข้าวเหนียวหมูย่าง ตรา เดลี่ไทย ข้าวเหนียว 67.7%, เนื้อหมู 14.0%, เนื้อไก่ 12.0% บริษัท ซี.พี. ค้าปลีกและการตลาด จำกัด 13-1-19233-2-0726 เบอร์เกอร์ข้าวเหนียวลาบหมู ตรา 7 เฟรช ข้าวเหนียว 67.7%, เนื้อหมู 12.7%, เนื้อไก่ 7.5% บริษัท ซี.พี. ค้าปลีกและการตลาด จำกัด 13-1-19233-2-0611 แซนวิชเค้กไส้กรอก ตรา เซเว่นเฟรช Sausage Cake Sandwitch ไส้กรอก 41%, ไข่ขาว 13.20% แป้งสาลี 10.80%... ฯลฯ บริษัท เอ็นเอสแอล ฟู้ดส์ จำกัด 12-2-01653-2-0002 เกี๊ยวหมูซอสสุกี้ ตราซีพี แผ่นเกี๊ยว 31%, เนื้อหมู 26%, ผัก 23 %, เนื้อไก่ 14% บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) 24-2-02255-2-0029 เกี๊ยวซ่าญี่ปุ่น ไส้หมู ตรา สุรพลฟู้ดส์ Pork Gyoza ผัก 27.1%, แป้งเกี๊ยว 22.8% เนื้อหมู 21.3%, เนื้อไก่ 15.4% บริษัท สุรพลฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่ 11-1-21429-2-0353 ขนมจีบกุ้ง ตรา เทสโก้ Shrimp Shumai กุ้ง 39%, มันแกว 27%, ปลาบด 10% บริษัท พัฒนาซีฟู้ดส์ จำกัด (สำนักงานใหญ่) 74-2-00644-2-0068 Shrimp Shao – mai ขนมจีบ ตรา S&p กุ้ง, หมู, แป้งสาลี, เครื่องปรุงรส บริษัท สุรพลฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่ ต.เทพารักษ์ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ 11-1-21429-2-0056 กุ้งบอมบ์ ตรา สามสมุทร Sea Shrimp Bomb ขนมปังหั่นเต๋า 40%, เนื้อปลา 35% กุ้ง 12%, … ฯลฯ บริษัท เค. แอล. ห้องเย็นจำกัด 74-2-03448-2-0075 เกี๊ยวปู ตรา เจด ดราก้อน Crab Dumpling เนื้อสัตว์ 49.5%, แผ่นแป้ง 29.5% เครื่องปรุงรส 11.9%,มันแกว 11.5% บริษัท ซี.พี. ค้าปลีกและการตลาด จำกัด 13-1-19233-2-0693 ลูกชิ้นหมูปิ้ง ตราเซเว่นเฟรช บายแฮปปี้เชพ เนื้อสัตว์ บริษัท ที.เอ.ซี คอนซูเมอร์ จำกัด นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค 14-2-01552-2-0001 ลูกชิ้นปลาหมึก (cuttlefish ball) ตราแต้จิ๋ว เนื้อปลา 58% ปลาหมึก 15% บริษัท มหาชัยฟู้ดโปรเซสซิ่ง จำกัด 74-2-00637-2-0001 ลูกชิ้นกุ้งมังกรเทียม (เนื้อปลาบดปรุงแต่งรส) Lobster Ball เนื้อปลา 60% น้ำ 35% แป้ง 6% ผลิตโดย บริษัท ลัคกี้ ยูเนี่ยน ฟู้ดส์ จำกัด 74-1-28034-2-0010 ชิกเก้นแฟรงค์ (ไก่) ตรา ซีพี มีฉลาก 2 ชุดแสดงข้อมูลต่างกันเล็กน้อย ชุดแรกป้ายแปะบนซอง : เนื้อไก่, เกลือเสริมไอโอดีน, น้ำตาล, เครื่องเทศ ชุดที่สองตัวอักษรสลักบนซองอาหาร: เนื้อสัตว์ เกลือเสริมไอโอดีน น้ำตาล เครื่องเทศ ผลิต/บรรจุโดย บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)   10-1-05649-1-0678 ไส้กรอกชีสไก่ Halal ตรา บีเคพี มีฉลาก 2 ชุด แสดงข้อมูลตรงกัน คือ เนื้อไก่, เกลือเสริมไอโอดีน, น้ำตาล, เครื่องเทศ (ไม่มีการแสดงชีสในส่วนประกอบ) ผลิตโดย บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)   19-2-01155-2-0031 ไส้กรอกไก่-หนังกรอบ ตรา SSP (ฉลากบนซองไม่ระบุชนิดของไส้กรอก บอกเพียงแค่ ไส้กรอก SSP) เนื้อสัตว์ 80%, ไขมัน 12% น้ำ 2%, แป้ง 4%, เครื่องปรุง 2% ผลิตโดย บริษัท เจพีเอ็ม ซอสเซส จำกัด 26-2-00250-2-0022 ไส้กรอกจูเนียร์ไก่ ตรา โชคุ-ดี เนื้อสัตว์ 85%, ไขมัน 10%, เกลือ-น้ำตาล 4%, เครื่องเทศ 1% บริษัท ทีดี มีท โปรดักส์ จำกัด 30-2-03153-2-0001 ไส้กรอกชีสหมู ตราเบทเทอร์ฟู้ด เนื้อสัตว์อนามัย ไขมัน น้ำตาล เกลือ เครื่องเทศ บริษัท อาหารเบทเทอร์ จำกัด โรงงาน: อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี 16-2-01746-2-0271 ไส้กรอกหมูเวียนนา ตรา บางกอกแฮม รูปหมูตัวเดียว มีฉลาก 2 ชุดแสดงข้อมูลต่างกันเล็กน้อย ชุดแรกเป็นป้ายแปะบนซอง : เนื้อหมู น้ำตาล เครื่องเทศ เกลือเสริมไอโอดีน ชุดที่สองเป็นตัวอักษรสลักบนซองอาหาร: เนื้อสัตว์ เกลือ น้ำตาล เครื่องเทศ บริษัท บางกอกแฮม โปรดักส์ ซัพพลาย จำกัด 11-2-10747-2-0037 ยอพริก (ไส้กรอกตราซีเค ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อสัตว์) เนื้อสัตว์อนามัย ไขมัน วิตามิน น้ำตาล เครื่องเทศ บริษัท แอดวานซ์ มีท โปรดักส์ จำกัด 13-2-06647-2-0072 ตับบด (ก้อน) ตรา ทีจีเอ็ม Liver Sausage เนื้อหมู 60%, ตับหมู 15%, มันหมู 15%, น้ำ 5%,… ผลิตโดย บริษัท ไทย-เยอรมัน มีท โปรดักส์ จำกัด 24-2-00936-2-0102       ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่แสดงฉลากชัดเจน ชื่ออาหาร ส่วนประกอบสำคัญ ที่แสดงบนฉลาก สถานที่ผลิต/จัดจำหน่าย เลขสารบบอาหาร (เครื่องหมาย อย.) เบอร์เกอร์ข้าวเหนียวไก่ทอดหาดใหญ่ ตรา เซเว่นเฟรช Hat Yai Fried Chicken Sticky Rice Burger ข้าวเหนียว 61.5%, เนื้อไก่ 22.5%, เครื่องปรุงรส 6.9% บริษัท ซี.พี. ค้าปลีกและการตลาด จำกัด 13-1-19233-2-0836 ข้าวเหนียวไก่ทอด ตรา พรานไพร Fried Chicken with Sticky Rice ข้าวเหนียว 70% เนื้อไก่ 24.5%...ฯลฯ บริษัท ยูเนี่ยนโฟรเซนโปรดักส์ จำกัด 74-2-01249-2-0221 หมูปิ้งสูตรนมสด ตราเซเว่นเฟรช บายแฮปปี้เชพ เนื้อหมู 73%, เครื่องปรุง 11.26% (พริกไทย,…ฯลฯ), นมข้นจืด 1.50% บริษัท ที.เอ.ซี คอนซูเมอร์ จำกัด นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค 14-2-01552-2-0014 แซนวิชกุ้งชีส ตรา I-Bake Sandwich Shrimp & Cheese ขนมปังแซนวิชนมสด 40% เบอร์เกอร์กุ้ง 32%, แซนวิช สเปรด 22%, ชีสสไลด์ 6% บริษัท เอ็นเอสแอล ฟู้ดส์ จำกัด   12-2-01653-2-0043 เบรก แอนด์ ฟาสต์ แซนวิช ไส้หมูอบซอสญี่ปุ่นและชีส ตรา โออิชิ ขนมปังแซนวิช 54%, มายองเนสซอสญี่ปุ่น 24%, หมูอบ 18%, เชดด้าชีส 4% บริษํท โออิชิเทรดดิ้ง จำกัด 13-2-02746-2-0416 เกี๊ยวซ่าญี่ปุ่นสำเร็จรูป ไส้หมู ตรา โออิชิ เกี๊ยวซ่า เนื้อหมู 45%, แป้ง 35% กะหล่ำปลีและหอมใหญ่ 20% เครื่องปรุงรส 3% บริษํท โออิชิเทรดดิ้ง จำกัด 13-2-02746-2-0055 เกี๊ยวหมูลุยสวน ตรา ซีพี ไส้หมูลุยสวน (เนื้อหมู, ผัก และเครื่องปรุงรส) 48%, แผ่นเกี๊ยวผัก 30%, น้ำจิ้มลุยสวน 22% ผลิตโดย บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)   24-2-02255-2-0017 กุ้งทิพย์ ตรา พี.เอฟ.พี (เนื้อปลาผสมกุ้งปรุงรส) เนื้อปลาบด 64.08% น้ำแข็ง 17.68% เนื้อกุ้งบด 8.59% เกล็ดขนมปัง 6.71% ผู้ผลิต บริษัท แปซิฟิคแปรรูปสัตว์น้ำ จำกัด   90-1-22129-2-0004 กุ้งระเบิด Shrimp Bomb เนื้อปลาบดปรุงรส ผสมกุ้งชุบเกล็ดขนมปัง เนื้อปลาบด 30%, น้ำ 23%, เกล็ดขนมปัง 15%, เนื้อกุ้ง 12%, … ฯลฯ บริษัท อุตสาหกรรมทวีวงษ์ จำกัด   74-1-01029-2-0007 นักเก็ตกุ้ง ตรา ซีพี CP Appetizer แป้งทอด 50% กุ้ง 48% เครื่องปรุงรส 2% ผลิต/บรรจุโดย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) 74-2-00348-2-0029 หมูพันสาหร่าย ตรา เจด ดราก้อน Seaweed Pork Roll   เนื้อหมู 60%, เครื่องปรุงรส 16%, โปรตีนถั่วเหลือง 12%, น้ำกรอง 6%, สาหร่ายทะเลอบแห้ง 4%, น้ำมันงา 2% บริษัท ซี.พี. ค้าปลีกและการตลาด จำกัด   13-1-19233-20004 ขนมจีบไก่สับ ตรา เปาสตาร์ Chicken Shu Mai เนื้อไก่ 58.4%, มันแกว 13.3%, เครื่องปรุง 12.9%, แป้งสาลี 10%, …ฯลฯ ผลิตโดย บริษัท บีดีซี สเปเชียลตี้ฟู้ดส์ จำกัด 13-2-00549-2-0022 ไส้กรอกพ๊อคจูเนียร์ ตรา ทีจีเอ็ม Junior Pork Sausage เนื้อหมู 80%, น้ำ 15%, เครื่องปรุงรส 5% ผลิตโดย บริษัท ไทย-เยอรมัน มีท โปรดักส์ จำกัด 24-2-00936-2-0267 ไส้กรอกเวียนนาหมู ตรา บิ๊กซี Pork Vienna Sausage เนื้อหมู 85%, น้ำ 10%, เครื่องปรุงรส 5% บริษัท พลายฟู้ดส์ จำกัด 74-2-02551-2-0010 ไส้กรอกหมูกระเทียมพริกไทย ตรา S&p Premo Pepper and Garlic Pork Sausage เนื้อหมู, เครื่องเทศ, น้ำตาล, เกลือ บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน)   10-1-07036-1-0250 ลูกชิ้นหมู ปิ้ง – ทอด ตรา โฮเด้ง เนื้อหมู 70%, แป้งมัน 20%, พริกไทยและอื่น ๆ 6%... บริษัท บิ๊กบอล ฟู้ดส์ จำกัด 73-2-06146-2-0012 เนื้อปลาบดปรุงรสผสมกลิ่นไก่และกลิ่นชีส รมควันรูปแองกรี้เบิร์ดส์ ตรา TVI ทวีวงษ์ Angry Birds Fish Cake เนื้อปลาบด 50% น้ำ 34.8% แป้งมันฝรั่ง 10% บริษัท อุตสาหกรรมทวีวงษ์ จำกัด   74-1-01029-2-0181 มูส เดอ ฟัว (ตับหมูบดนึ่ง) ตราคาสิโน ตับหมู 30%, ไขมัน 30%, หนังหมู 10%, …. ฯลฯ ผลิตโดย Madrange La Valoine ประเทศฝรั่งเศส นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) 10-3-07554-1-0112  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 139 คำกล่าวอ้างทางสุขภาพบนฉลากอาหาร

อาหารสำเร็จรูปในปัจจุบัน ถ้าไม่เพิ่มหรือลดสารอาหารบางอย่าง ก็ดูจะไม่อินกับกระแสรักสุขภาพ ทำให้ผู้ประกอบการต้องพยายามคิดหาอะไรมาเป็นจุดขายเพิ่มความโดดเด่นกับสินค้าของตนเอง เราจึงเห็นโฆษณาและข้อความกล่าวอ้างบนฉลากประเภท มีวิตามิน บี 12 แคลเซียมสูง หรือไขมันต่ำ อยู่เสมอ คำกล่าวอ้างที่ปรากฏบนฉลากอาหาร มีผลอย่างมากที่ทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อ  ในงานวิจัยเรื่อง อิทธิพลของข้อมูลการกล่าวอ้างหน้าที่สารอาหารบนฉลากต่อการตัดสินใจซื้อเครื่องดื่มผสมสารอาหารของผู้บริโภค โดยวรรณวิสา ฮับหลี พบว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่ตัดสินใจซื้อเครื่องดื่มผสมสารอาหารโดยดูข้อความกล่าวอ้างได้แก่ ไขมันต่ำ ร้อยละ 92.6 ไม่มีโคเรสเตอรอล ร้อยละ 90.4 และ ไขมันอิ่มตัว 0% ร้อยละ 89.5 เช่นเดียวกับที่ฉลาดซื้อเคยทำผลสำรวจไปเมื่อฉบับ 134 ที่พบว่า ร้อยละ 76.8 มีผลต่อการตัดสินใจซื้อ   ความจริงของคำกล่าวอ้างบนฉลาก คำกล่าวอ้างบนฉลากที่บอกปริมาณสารอาหาร (Nutrient content claim) นั้น หากผู้ประกอบการจะนำมาแสดงบนฉลาก ต้องเป็นไปตามเกณฑ์กำหนดในบัญชีแนบท้ายประกาศกระทรวงสาธารณสุข(ฉบับที่ 182) พ.ศ. 2541 เรื่อง ฉลากโภชนาการ หมายความว่า คำที่จะนำมาใช้ต้องเป็นคำที่กฎหมายกำหนดจะมาใช้คำตามใจชอบไม่ได้ ฉลาดซื้อขอนำข้อมูลบางส่วนมานำเสนอเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง โดยเฉพาะคำกล่าวอ้างที่กำลังฮิตในปัจจุบัน ไขมัน ไขมันต่ำ (low fat) ต้องมีไขมันต่ำกว่า 3 กรัมต่อ1 หน่วยบริโภคและขนาดของหน่วยบริโภคไม่เกิน 30 กรัม หรือ ไม่เกิน 2 ช้อนโต๊ะ ปราศจากไขมัน (fat free) มีไขมันน้อยกว่า 0.5 กรัมต่อ1 หน่วยบริโภค ปราศจากไขมันอิ่มตัว (saturated fat free) มีไขมันอิ่มตัวน้อยกว่า 0.5 กรัมต่อ 1 หน่วยบริโภค และมีไขมันทรานส์ไม่เกิน 0.5 กรัมต่อหน่วยบริโภค ปราศจากโคเลสเตอรอล (cholesterol free) มีโคเลสเตอรอลน้อยกว่า 2 มิลลิกรัม หรือไขมันอิ่มตัว ไม่เกิน 2 กรัมต่อ 1 หน่วยบริโภค โคเลสเตอรอลต่ำ (low cholesterol) มีโคเลสเตอรอลไม่เกิน 20 มิลลิกรัม หรือไขมันอิ่มตัว ไม่เกิน 2 กรัมต่อ 1 หน่วยบริโภค   น้ำตาล ปราศจากน้ำตาล (sugar free) มีน้ำตาลน้อยกว่า 0.5 กรัมต่อ 1 หน่วยบริโภค   ใยอาหาร ใยอาหารสูง (high fiber) มีปริมาณใยอาหารตั้งแต่ 5 กรัมขึ้นไป และอาหารนั้นจะต้องจัด อยู่ในประเภทไขมันต่ำร่วมด้วย หรือต้องระบุปริมาณไขมันถัดจากปริมาณใยอาหารเป็นแหล่งใยอาหาร (food source of fiber) ใยอาหาร 2.5-4.9 กรัมต่อ 1 หน่วยบริโภค  พลังงาน ปราศจากพลังงาน (calorie free) มีพลังงานน้อยกว่า 5 กิโลแคลอรี่ต่อ 1 หน่วยบริโภค พลังงานต่ำ (low calorie) มีพลังงานน้อยกว่า 40 กิโลแคลอรี่ต่อหน่วยบริโภคและขนาดหน่วยบริโภคไม่เกิน 30 กรัม หรือไม่เกิน 2 ช้อนโต๊ะ   ดังนั้นจะเห็นว่า คำว่า ปราศจาก ไม่ได้หมายถึง ไม่มี หรือ เป็น 0 แต่ยังมีอยู่น้อยกว่า 0.5 กรัม เช่น กรณีน้ำตาลและไขมัน ที่สำคัญคือ กฎหมายไม่อนุญาตการกล่าวอ้าง “ปราศจาก” หรือ “ต่ำ” หากอาหารนั้นหรืออาหารชนิดนั้นโดยธรรมชาติทั่วไปเป็นไปตามเงื่อนไขอยู่แล้ว โดยมิได้มีการใช้กระบวนการผลิตพิเศษ หรือมีการปรับสูตรเพื่อให้อาหารนั้นมีปริมาณสารอาหารที่จะกล่าวอ้างลดลงจนเป็นไปตามเงื่อนไข เนื่องจากจะทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดว่าอาหารจากผู้ผลิตนั้นแต่เพียงผู้เดียวที่มีคุณสมบัตินี้ ตัวอย่างเช่น ไม่อนุญาตให้น้ำบริโภคแสดงข้อความ “ปราศจากพลังงาน” หรือ “ไขมันต่ำ” เนื่องจากน้ำบริโภคทั่วไปจากผู้ผลิตทุกรายก็มีคุณสมบัตินี้ด้วย   กรณีกล่าวอ้างว่า “มี” หรือ “สูง”  การบอกว่า มี สารอาหารชนิดที่อ้างก็ต้อง มีจริงๆ แต่ถ้ามีจริงแต่มีน้อยเกินกว่าจะเป็นประโยชน์ในทางโภชนาการต่อร่างกาย ก็ห้ามแสดงคำว่า “มี” จะกล่าวอ้างว่า มี ได้ก็ต้องไม่น้อยกว่า ร้อยละ 10 ของปริมาณที่แนะนำต่อวัน (Thai RDI) และถ้าจะกล่าวอ้าง ด้วยคำว่า “สูง” (high) ก็ต้องมีสารอาหารชนิดที่อ้าง 20 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณที่แนะนำต่อวัน (Thai RDI)   กรณีการกล่าวอ้างถึงหน้าที่ของสารอาหารที่มีต่อร่างกาย สารอาหารที่มีการกล่าวอ้างถึง ต้องมีอยู่ในบัญชีสารอาหารที่แนะนำให้บริโภคประจำวันสำหรับคนไทยอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป (Thai RDI) โดยผลิตภัณฑ์ที่กล่าวอ้างต้องมีสารอาหารนั้นอยู่ในระดับที่จัดว่า “เป็นแหล่งของ” ของสารอาหารนั้นในปริมาณหนึ่งหน่วยบริโภคอ้างอิงและปริมาณหนึ่งหน่วยบริโภคที่แสดงบนฉลาก  มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่เชื่อถือได้และการกล่าวอ้างจะต้องไม่มีข้อความระบุหรือมีความหมายให้เข้าใจว่าการบริโภคสารอาหารนั้นจะสามารถป้องกันหรือบำบัดรักษาโรคได้ ตัวอย่าง “แคลเซียมเป็นส่วนประกอบสำคัญของกระดูกและฟัน” การจะระบุเช่นนี้ได้ ก็ต้องมีแคลเซียมอย่างน้อย ร้อยละ 10 ของ (Thai RDI) เพราะเมื่อผู้บริโภคเห็นข้อความนี้แล้วจะเข้าใจทันทีว่า ผลิตภัณฑ์นี้ มีแคลเซียมอยู่มาก   ความจริงเกี่ยวกับการรับรู้เรื่องฉลากของผู้บริโภค คำกล่าวอ้างที่ดึงดูดใจนั้นมีผลต่อการตัดสินใจซื้อ ซึ่งฉลากอาหารคือด่านแรกที่จะวัดว่า ผู้บริโภค เข้าใจหรือเข้าใจมากพอหรือไม่ในการซื้อผลิตภัณฑ์ ฉลาดซื้ออาศัยช่วงงานสมุนไพรแห่งชาติที่ผ่านมา สำรวจทัศนคตินักช้อปที่ร่วมเดินภายในงาน วันที่ 7-9 กันยายน 2555 จำนวน 317 คน เกี่ยวกับความเข้าใจเรื่องฉลากอาหาร พบว่า  ร้อยละ 90.9 เข้าใจว่าผลิตภัณฑ์อาหารทุกชนิดต้องแสดงฉลากโภชนาการ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง การแสดงฉลากโภชนาการ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข(ฉบับที่ 182) นั้น เป็นการแสดงโดยสมัครใจสำหรับอาหารทุกชนิดทั่วไป แต่จะบังคับสำหรับอาหารที่มีการกล่าวอ้างต้องแสดงฉลากโดยบังคับ ร้อยละ 53.6 เข้าใจว่าข้อความบรรยายสรรพคุณในการรักษา บำบัด บรรเทาโรค สามารถระบุบนฉลากอาหารได้ ซึ่งถือเป็นเรื่องเข้าใจผิดที่ต้องเร่งแก้ไข เพราะฉลากอาหารห้ามเด็ดขาดมิให้บรรยายสรรพคุณในการรักษา บำบัดหรือบรรเทาโรค เพราะอาหารไม่ใช่ยา ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนนี้ทำให้ผู้บริโภคส่วนหนึ่งถูกหลอกให้เสียเงินมาแล้วเป็นจำนวนมากเพราะเชื่อว่า กินอาหารตามที่อ้างสรรพคุณรักษาโรคได้แล้วจะช่วยหายจากอาการเจ็บป่วย ความเข้าใจในเรื่องฉลากจึงยังเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องช่วยกันทำความเข้าใจ เพื่อยกระดับผู้บริโภคของเราให้เท่าทันเกมของผู้ประกอบการ ข้อมูล อิทธิพลของข้อมูลการกล่าวอ้างหน้าที่สารอาหารบนฉลากต่อการตัดสินใจซื้อเครื่องดื่มผสมสารอาหารของผู้บริโภค โดยวรรณวิสา ฮับหลี สาขาวิชาเทคโนโลยีอาหาร บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2552. ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 182) พ.ศ. 2541

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 134 ฉลากอาหารกับความเข้าใจของผู้บริโภค

“ฉลากอาหาร” เปรียบเสมือนหน้าต่างของผลิตภัณฑ์ที่ทำให้สามารถมองเห็นผลิตภัณฑ์ภายในภาชนะบรรจุได้ โดยเป็นเครื่องมือของผู้ประกอบการในการสื่อสารข้อมูลแก่ผู้บริโภคและเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มมูลค่าแก่ผลิตภัณฑ์ เป็นเครื่องมือของหน่วยงานรัฐในการติดตามตรวจสอบคุณภาพอาหารและให้ข้อมูลความรู้ที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากการดำเนินงานของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคพบว่า มีการละเมิดสิทธิผู้บริโภคจากกรณีการแสดงฉลากอาหารไม่ถูกต้องอยู่พอสมควร เช่น การไม่แสดงวันผลิต-วันหมดอายุ หรือแสดงแล้วแต่หาไม่เจอ ไม่แสดงชื่อผู้ผลิต-ผู้จำหน่าย การใช้ข้อความกล่าวอ้างคุณค่าให้เข้าใจผิดในสรรพคุณไปจากความเป็นอาหาร และการใช้คำแสดงส่วนประกอบที่ทำให้เข้าใจผิดถึงส่วนประกอบของอาหาร เป็นต้น ซึ่งปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้เห็นถึงความจำเป็นที่น่าจะต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบฉลากอาหารโดยทำให้เป็นมิตรต่อผู้บริโภคโดยทำให้เห็นชัด น่าอ่าน อ่านง่าย และเข้าใจง่ายมากขึ้น แต่ก่อนที่จะมีการปรับปรุงรูปแบบฉลากอาหารได้จะต้องมีการสำรวจข้อมูลการแสดงฉลากอาหารในปัจจุบันกันเสียก่อน ฉลาดซื้อฉบับนี้จึงได้นำข้อมูลผลการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคที่มีต่อฉลากอาหารมาฝากคุณผู้อ่านกัน   ข้อมูลการสำรวจ ฉลาดซื้อได้ร่วมกับโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งกลไกการคุ้มครองความปลอดภัยด้านอาหารโดยผู้บริโภคดำเนินการสำรวจการรับรู้และความเข้าใจของผู้บริโภคที่มีต่อฉลากอาหารในสามประเด็น 1. รูปแบบฉลากโภชนาการ 2. วันผลิต/วันหมดอายุของอาหาร และ 3. ประเด็นการโฆษณาบนฉลากอาหาร การสำรวจนี้ได้รับความร่วมมือในการตอบแบบสอบถามจากผู้บริโภคจำนวน 474 คนในทุกช่วงอายุ คละกลุ่มอาชีพและคละฐานการศึกษาจากแปดจังหวัดในสี่ภูมิภาคคือ กรุงเทพฯ สมุทรสงคราม ขอนแก่น เชียงใหม่ พะเยา สุราษฎร์ธานี สงขลา และสตูล ระหว่างช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนตุลาคม 2554   ผลการสำรวจ 1 การรับรู้ฉลากโภชนาการ ร้อยละ 83.5 ต้องการให้อาหารทุกประเภทต้องแสดงฉลากโภชนาการ ฉลากโภชนาการ คือ การแสดงข้อมูลคุณค่าทางอาหารของผลิตภัณฑ์นั้น ๆ บนฉลากในรูปของชนิด และปริมาณของสารอาหารรวมไปถึงการใช้ข้อความ กล่าวอ้างทางโภชนาการ เช่น โปรตีนสูง เสริมวิตามินซี เป็นต้น การใช้ฉลากโภชนาการในปัจจุบันอยู่ในลักษณะการแสดงโดยสมัครใจสำหรับอาหารทุกชนิดทั่วไป แต่จะบังคับให้ อาหารที่มีการกล่าวอ้าง ต้องแสดงฉลากโภชนาการ ซึ่งหมายความว่า ไม่ใช่อาหารทุกชนิดต้องมีฉลากโภชนาการ เราถามผู้บริโภคเกี่ยวกับความเข้าใจฉลากโภชนาการ (ข้อมูลแสดงคุณค่าของอาหาร) ในสามรูปแบบคือ แบบการแสดงตัวเลขเป็นร้อยละโดยมีสีเดียวที่ อย. เพิ่งนำมาใช้ (Guideline Daily Amount: GDA)     แบบสีสัญญาณไฟจราจร เขียว เหลือง แดง (Traffic Light Labeling) และ แบบตารางแสดงคุณค่าโภชนาการตามปกติ   ผลการสำรวจพบว่า ผู้บริโภคร้อยละ 49.6 มีความพอใจในฉลากโภชนาการแบบ GDA ขณะที่ความพอใจที่มีต่อฉลากสีสัญญาณไฟจราจรนั้นอยู่ที่ร้อยละ 84.8 และเมื่อถามเปรียบเทียบระหว่างการใช้ฉลากทั้งสองรูปแบบพบว่าร้อยละ 24.3 ชื่นชอบ GDA ร้อยละ 64.8 ชื่นชอบแบบสีสัญญาณไฟจราจร และร้อยละ 5.7 ไม่ชอบทั้งสองแบบ โดยให้ข้อเสนอแนะว่าน่าจะนำทั้งสองรูปแบบมารวมกัน(มีผู้ไม่ตอบในข้อนี้อีกจำนวนร้อยละ 5.3) เมื่อถามว่าถ้ามีการใช้รูปแบบฉลากโภชนาการแบบใหม่ไม่ว่าจะเป็น GDA หรือ สีสัญญาณไฟจราจรแล้วจะต้องใช้รูปแบบฉลากโภชนาการแบบเดิมหรือไม่ ได้รับคำตอบว่าจำเป็น แต่ต้องปรับรูปแบบให้เข้าใจง่ายขึ้นจำนวนร้อยละ 62.2 และมีผู้ที่ตอบว่าไม่จำเป็นจำนวนร้อยละ 33.5 โดยให้เหตุผลสองข้อคือ 1) เพราะไม่เคยอ่านฉลากโภชนาการรูปแบบเดิม จำนวนร้อยละ 67.5 และ 2) เพราะอ่านฉลากโภชนาการแบบเดิมไม่รู้เรื่องจำนวนร้อยละ 32.5 คำถามสุดท้ายในประเด็นนี้ ได้ถามถึงความจำเป็นในการแสดงฉลากโภชนาการในอาหาร พบว่า ร้อยละ 83.5 ต้องการให้อาหารทุกประเภทต้องแสดงฉลากโภชนาการ ร้อยละ 10.3 ให้แสดงเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่กล่าวอ้างคุณค่าทางโภชนาการ และ ร้อยละ 1 ต้องการให้แสดงในผลิตภัณฑ์สำหรับเด็ก โดยที่มีผู้ไม่ตอบในข้อนี้อีกจำนวนร้อยละ 5.7   2 ความเข้าใจเรื่องการโฆษณาบนฉลากอาหาร ร้อยละ 76.8 ตอบว่า โฆษณาบนฉลากมีผลต่อการตัดสินใจซื้อ โดยทั่วไป พรบ. อาหาร พ.ศ. 2522 ได้กำหนดให้ผู้ประกอบการที่ประสงค์จะโฆษณาคุณประโยชน์ของผลิตภัณฑ์อาหารของตนจะต้องขออนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาทุกครั้งแต่สำหรับการโฆษณาบนฉลากอาหารนั้นกลับไม่มีการบังคับทางกฎหมายว่าต้องส่งให้ อย. ตรวจสอบแต่อย่างใด ทำให้ผู้ประกอบการบางส่วนใช้ช่องว่างนี้ในการโฆษณาผลิตภัณฑ์ของตนซึ่งบางครั้งก็เป็นข้อความที่เกินจริง โอ้อวดสรรพคุณ ทำให้เข้าใจผิดไปจากความเป็นอาหาร อีกทั้งยังเป็นการสิ้นเปลืองเนื้อที่บนฉลากทำให้ตัวหนังสือในส่วนอื่น ๆ ของฉลากที่มีความสำคัญมากกว่า เช่น วันผลิต-วันหมดอายุ ตารางโภชนาการ มีขนาดเล็กทำให้ไม่น่าอ่าน ดังนั้นหากมีการควบคุมดูแลด้านฉลากอาหารที่ดี โดยตัดเนื้อหาการโฆษณาที่ไม่จำเป็นเหล่านี้ออกไปก็จะทำให้มีเนื้อที่บนฉลากมากขึ้นเพียงพอที่จะทำให้ฉลากอาหารน่าอ่านและอ่านง่าย   เมื่อส่งผลิตภัณฑ์ให้กับผู้ตอบแบบสอบถามและให้หาโฆษณาบนฉลากอาหาร ร้อยละ 24.5 ตอบว่าไม่มีโฆษณา ขณะที่ร้อยละ 71.3 ตอบว่ามี อย่างไรก็ตาม จากการให้ผู้ตอบแบบสอบถามเขียนคำโฆษณาที่ตนเห็นลงในแบบสอบถามด้วย พบว่า กว่าครึ่งเข้าใจได้ถูกต้องถึงสิ่งที่ตนเขียนมา ขณะที่อีกกลุ่มใหญ่ไม่เข้าใจว่าการโฆษณาบนฉลากอาหารคืออะไร โดยที่กว่าครึ่งของผู้ที่ตอบว่ามีโฆษณาบนฉลากเข้าใจว่าการใช้คำกล่าวอ้างทางโภชนาการตามที่ อย. อนุญาต คือการโฆษณา บ้างคิดว่าชื่ออาหารเป็นโฆษณา และบางส่วนสับสนระหว่างการแสดงส่วนประกอบของอาหารกับการโฆษณา เมื่อถามว่าโฆษณาที่เห็นมีผลต่อการตัดสินใจซื้อหรือไม่ ร้อยละ 76.8 ตอบว่ามี ร้อยละ 18.6 ตอบว่าไม่มีผล และร้อยละ 4.6 ไม่แสดงความคิดเห็น ซึ่งหมายความว่าคำบรรยายต่าง ๆ ที่เห็นบนฉลากไม่ว่าจะเป็นการกล่าวอ้างทางโภชนาการทั้งที่ถูกต้องและไม่ถูกต้อง และทั้งการโฆษณาโดยตรงบนฉลาก มีผลต่อการตัดใจของผู้บริโภคค่อนข้างสูง คำถามสุดท้ายของประเด็นว่าเห็นด้วยกับการมีโฆษณาบนฉลากอาหารหรือไม่ ร้อยละ 69 ตอบว่า เห็นด้วย และ ร้อยละ 26.8 ตอบว่า ไม่เห็นด้วย อย่างไรก็ตามจากเหตุผลของผู้ที่เห็นด้วยที่บอกว่าการโฆษณาทำให้รู้สรรพคุณและส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์นั้นทำให้สามารถเข้าใจได้ว่าผู้ที่ตอบว่าเห็นด้วยบางส่วนนั้นยังคงมีความสับสนและไม่สามารถแยกแยะได้ว่าอะไรคือคำกล่าวอ้างทางโภชนาการที่ อย. อนุญาต และอะไรคือการโฆษณาซึ่งเป็นสิ่งที่มิได้ระบุไว้ให้แสดงตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องฉลาก 3 การรับรู้ของผู้บริโภคที่มีต่อการแสดงวันผลิต-วันหมดอายุ ร้อยละ 49.2 อยากเห็นฉลากอาหารแสดงทั้งวันผลิตและวันหมดอายุ --------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- “ในทางกฎหมายคำว่า “วันหมดอายุ” ถือเป็นสัญญาที่ผู้ประกอบการให้กับผู้บริโภค ส่วนคำว่า “ควรบริโภคก่อน” ถือเป็นคำแนะนำของผู้ประกอบการที่มีต่อผู้บริโภค” นายอิฐบูรณ์  อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------   เมื่อถามผู้ตอบแบบสอบถามว่าเห็นวันผลิต-วันหมดอายุของผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในมือหรือไม่ ร้อยละ 57.6 ตอบว่าเห็น ร้อยละ 7.4 ตอบว่า ไม่เห็น ร้อยละ 30.6 ตอบว่า เห็นแต่ใช้เวลาในการหานาน และส่วนที่เหลือไม่แสดงความคิดเห็น ซึ่งสัดส่วนที่ไม่ต่างกันมากของทั้งสามคำตอบและเมื่อรวมผู้ที่ตอบว่าไม่เห็นกับผู้ที่ตอบว่าเห็นแต่ใช้เวลาในการหานานแล้วนั้นสัดส่วนขยับมาเป็นร้อยละ 57.6 ต่อ ร้อยละ 38 สำหรับคำถามที่ว่าพอใจกับการแสดงวันผลิต-วันหมดอายุที่เห็นอยู่แค่ไหน ได้รับคำตอบว่า พอใจ ร้อยละ 52.7 ไม่พอใจ ร้อยละ 42.8 และไม่แสดงความคิดเห็นอีกร้อยละ 4.4 จากการตอบแบบสอบถาม แสดงว่าการแสดงวันผลิต-วันหมดอายุบนบรรจุภัณฑ์ในปัจจุบันค่อนข้างมีปัญหา และควรที่จะมีการปรับปรุงรูปแบบ ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อถามความเข้าใจเรื่องวันหมดอายุว่า คำว่า “วันหมดอายุ” เหมือนหรือต่างอย่างไรกับคำว่า “ควรบริโภคก่อน” พบว่า ร้อยละ 47.3 ตอบว่า เหมือนกัน ร้อยละ 48.1 ตอบว่า ต่างกัน และร้อยละ 4.6 ไม่ตอบ ซึ่งชี้ให้เห็นว่าความเข้าใจเรื่องวันผลิต-วันหมดอายุของผู้บริโภคยังคงเป็นปัญหาและตามมาซึ่งคำถามว่าปัญหานี้เกิดจากอะไร ระหว่าง การใช้คำที่สร้างความสับสนให้เหมือนว่าใช้แทนกันได้ทั้งที่ควรจะมีการบังคับทางกฎหมายต่างกัน หรือความเข้าใจพื้นฐานของผู้บริโภคน้อย หรือ ระบบไม่ต้องการให้คนเข้าใจได้ กันแน่ ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงรูปแบบการแสดงวันผลิต-วันหมดอายุที่อยากเห็น เราได้รับคำตอบว่า ร้อยละ 49.2 อยากเห็นการแสดงทั้งวันผลิตและวันหมดอายุโดยให้มีแต่คำว่า “วันหมดอายุ” เพียงอย่างเดียว โดยไม่ต้องมีคำว่า “ควรบริโภคก่อน” มาเป็นตัวเลือกของผู้ประกอบการ ขณะที่ร้อยละ 29.5 ต้องการแบบเดียวกับข้อแรกแต่ให้เปลี่ยนจากคำว่า “วันหมดอายุ” มาเป็น “ควรบริโภคก่อน” แต่อย่างเดียว ซึ่งจากสัดส่วนที่ออกมาเห็นได้ชัดเจนว่าผู้บริโภคไม่อยากเห็นการแสดงคำที่สร้างความสับสนอย่างคำว่าว่า “วันหมดอายุ” และ “ควรบริโภคก่อน” ไว้ด้วยกันโดยให้เป็นตัวเลือกของผู้ประกอบการ หากแต่ต้องการความชัดเจนอย่างใดอย่างหนึ่งไปเลย --------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- ความหมายและความสำคัญของฉลากอาหาร “ฉลากอาหาร” คืออะไร? บางคนตอบว่ากระดาษ/พลาสติกที่มีตัวหนังสือพิมพ์ติดอยู่ข้างขวด บ้างก็ตอบว่าลวดลายและตัวอักษรที่ติดอยู่บนซองขนม และอีกหลายคนตอบว่าข้อความบรรยายสรรพคุณของอาหาร ซึ่งคำตอบของคำถามนี้ คือ ถูกทุกข้อ โดยตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 ให้คำนิยามไว้ว่าคือ “รูป รอยประดิษฐ์ เครื่องหมาย หรือข้อความใด ๆ ที่แสดงไว้ที่อาหาร ภาชนะบรรจุอาหารหรือหีบห่อของภาชนะบรรจุอาหาร” และตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 194 พ.ศ. 2543 เรื่องฉลากอาหารได้กำหนดให้อาหารทุกชนิดที่ผู้ผลิตไม่ได้เป็นผู้ขายอาหารนั้นให้กับผู้บริโภคโดยตรงต้องแสดงฉลากบนภาชนะบรรจุ โดยกำหนดให้แสดงข้อมูลที่สามารถแบ่งกลุ่มตามวัตถุประสงค์การแสดงได้เป็น 4 กลุ่มได้แก่ ข้อมูลความปลอดภัย ประกอบด้วย วันที่ผลิต/หมดอายุ วิธีการเก็บรักษา วิธีปรุง และคำเตือนต่างๆ ข้อมูลความคุ้มค่า ประกอบด้วย ชื่อ/ประเภทของอาหาร ส่วนประกอบซึ่งเรียงลำดับตามปริมาณที่ใช้จากมากไปน้อย และปริมาณอาหาร (น้ำหนักหรือปริมาตร) ในภาชนะบรรจุ ข้อมูลเพื่อการโฆษณา ได้แก่ รูปภาพและข้อความกล่าวอ้างต่าง ๆ  และ ข้อมูลเพื่อแสดงความเชื่อมั่น ได้แก่ ยี่ห้ออาหาร ชื่อและที่อยู่ของผู้ผลิต ผู้จำหน่ายหรือผู้นำเข้า เครื่องหมาย อย.  และตราสัญลักษณ์ต่าง ๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 125 SUNSCREEN UPDATE!

  เพื่อเป็นการลดความสับสนให้กับผู้บริโภคเวลาที่เลือกซื้อผลิตภัณฑ์กันแดด องค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ ประกาศกฎใหม่สำหรับฉลากผลิตภัณฑ์กันแดดที่จะบังคับใช้ภายใน 1 ปี ดังนี้  •  ผลิตภัณฑ์ที่จะติดฉลากว่าเป็น ซันสกรีน (Sunscreen) ได้นั้นจะต้องสามารถป้องกันได้ทั้งรังสียูวีเอ และยูวีบี (UVA/UVB)  • ถ้าจะมีคำว่า “Broad spectrum” บนฉลาก ผลิตภัณฑ์นั้นจะต้องมีประสิทธิภาพในการป้องกันรังสีทั้งสองประเภทได้พอๆ กัน (ไม่ใช่ป้องกันรังสียูวีเอได้มากแต่ป้องกันรังสียูวีบีได้เพียงเล็กน้อย เป็นต้น)  • ต่อไปนี้ห้ามใช้คำว่า “กันน้ำ” (Waterproof/ water resistance) หรือ “กันเหงื่อ” (Sweatproof) โดยอนุญาตให้ระบุเป็นเวลาที่ยังมีประสิทธิภาพในการกันแดดหลังจากโดนน้ำได้เท่านั้น อย่างที่เห็นในผลทดสอบ ว่าประสิทธิภาพในการป้องกันรังสีของผลิตภัณฑ์กันแดดส่วนใหญ่มักลดลงเมื่อผิวหนังเราสัมผัสกับน้ำ บางยี่ห้อเหลืออยู่ประมาณร้อยละ 30 เท่านั้น  • ที่สำคัญ ผลิตภัณฑ์นั้นจะต้องมีค่า SPF ไม่ต่ำกว่า 15 จึงจะสามารถอ้างว่า “สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งผิวหนัง หรือป้องกันผิวแก่ก่อนวัยได้”  • ถ้าผลิตภัณฑ์นั้นมีค่า SPF ระหว่าง 2 ถึง 14 จะต้องมีคำเตือนให้ผู้ใช้ทราบว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่สามารถช่วยป้องกันมะเร็งผิวหนังหรือการเกิดริ้วรอยก่อนวัยได้ ---- ข้องใจ ... ทำไมไม่แบน?กฎเกณฑ์ใหม่ที่ออกมาได้รับการชื่นชมจากบรรดาผู้ที่ทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภค แต่มีอยู่หนึ่งเรื่องที่ยังเป็นที่คาใจของประธานมูลนิธิมะเร็งผิวหนังแห่งอเมริกา  เขาบอกว่ารู้สึกผิดหวังมากที่ อย.สหรัฐยังไม่ประกาศห้ามการอ้างว่ามี SPF สูงกว่า 50 ซึ่งยังไม่ได้รับการพิสูจน์ว่าจะช่วยป้องกันรังสีอันตรายได้นานขึ้นจริงหรือไม่  เพราะการปล่อยให้มีการขายผลิตภัณฑ์ที่อ้างว่ามีค่า SPF มากกว่า 50 ทำให้ผู้บริโภคได้รับสารเคมีที่อาจก่อความระคายเคืองในปริมาณที่มากขึ้น โดยไม่มีผลทางการป้องกันแดดเพิ่มขึ้น --- เพื่อเป็นการตอบรับมาตรการใหม่ในการควบคุมฉลากผลิตภัณฑ์กันแดด ฉลาดซื้อฉบับนี้ขอนำผลทดสอบจากองค์กรทดสอบสากลมาฝากกันอีกครั้ง คราวนี้เขาเลือกทดสอบเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่มีค่า SPF 15 และ SPF 20 เท่านั้น ผลิตภัณฑ์ที่ส่งเข้ามาทดสอบจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ซื้อจากฝรั่งเศสและเยอรมนี ดังนั้นเราจึงเลือกมาเฉพาะแบรนด์ที่มีจำหน่ายในบ้านเราเท่านั้น   เราพบว่า• ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่มีค่า SPF สูงกว่าที่แจ้งไว้บนฉลาก ยกเว้น อัลตราซัน Ultrasun professional protection sports clear gel formula วิชี่ Vichy Laboratoires Capital Soleil Sonnschutz-Gel-Milch Körper  การ์นีเย่ Garnier Ambre Solaire ที่มีค่าการป้องกันรังสี UVB หรือค่า SPF ที่วัดได้จริงเพียง 15 แต่แจ้งบนฉลากว่ามีค่า SPF 20 • ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่มีค่าการป้องกันรังสี UVA ไม่ต่ำกว่า 1 ใน 3 ของค่าการป้องกันรังสี UVB ยกเว้น คลาแรงส์ Clarins Sun Care Cream และ อีโค คอสเมติกส์ Eco Cosmetics Sonnencreme • ผลิตภัณฑ์กันแดดชนิดที่อ้างว่าใช้สารสกัดจากธรรมชาติหรือออร์กานิกนั้นยังไม่สามารถป้องกันรังสี UVA ที่เป็นตัวการทำให้ผิวหนังเกิดริ้วรอย เช่น อีโค คอสเมติกส์ Eco Cosmetics Sonnencreme นีเวีย Nivea Sun Pflegende Sonnenmilch SPF 20 ค่า SPF ที่วัดได้จริง  SPF 23ประสิทธิภาพในการกันแดดหลังจากผิวหนังเปียกน้ำ ร้อยละ 69 ค่าการป้องกันรังสี UVA ไม่ต่ำกว่า 1 ใน 3 ของค่าการป้องกัน UVB  ประสิทธิภาพในการให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวหนัง 1 ความพึงพอใจของผู้ใช้เกลี่ยง่าย  2ซึมลงสู่ผิวรวดเร็ว 2.5ไม่รู้สึกเหนอะหนะ 1.5  อีฟ โรเช่ Yves Rocher Protectyl Végétal Feuchtigkeitsspendende Sonnenschutz-Milch SPF 15ค่า SPF ที่วัดได้จริง  SPF 29ประสิทธิภาพในการกันแดดหลังจากผิวหนังเปียกน้ำ ร้อยละ 66ค่าการป้องกันรังสี UVA ไม่ต่ำกว่า 1 ใน 3 ของค่าการป้องกัน UVB  ประสิทธิภาพในการให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวหนัง 1 ความพึงพอใจของผู้ใช้เกลี่ยง่าย  2ซึมลงสู่ผิวรวดเร็ว 2ไม่รู้สึกเหนอะหนะ 2.5   การ์นิเย่ Garnier Ambre Solaire Ultra-feuchtigkeitsspendende Sonnenschutz-Milch SPF 20ค่า SPF ที่วัดได้จริง  SPF 21ประสิทธิภาพในการกันแดดหลังจากผิวหนังเปียกน้ำ ร้อยละ 63 ค่าการป้องกันรังสี UVA ไม่ต่ำกว่า 1 ใน 3 ของค่าการป้องกัน UVB  ประสิทธิภาพในการให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวหนัง 1 ความพึงพอใจของผู้ใช้เกลี่ยง่าย  2ซึมลงสู่ผิวรวดเร็ว 2.5ไม่รู้สึกเหนอะหนะ 2   ลอรีอัล L`Oréal Paris Solar Expertise SPF 20ค่า SPF ที่วัดได้จริง  SPF 27ประสิทธิภาพในการกันแดดหลังจากผิวหนังเปียกน้ำ ร้อยละ 58 ค่าการป้องกันรังสี UVA ไม่ต่ำกว่า 1 ใน 3 ของค่าการป้องกัน UVB  ประสิทธิภาพในการให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวหนัง 1 ความพึงพอใจของผู้ใช้เกลี่ยง่าย  2ซึมลงสู่ผิวรวดเร็ว 2ไม่รู้สึกเหนอะหนะ 2   ลาโรช โพเซ่ย์ La Roche-Posay Anthelios Spray für empfindliche Haut SPF 20ค่า SPF ที่วัดได้จริง  SPF 35ประสิทธิภาพในการกันแดดหลังจากผิวหนังเปียกน้ำ ร้อยละ 56 ค่าการป้องกันรังสี UVA ไม่ต่ำกว่า 1 ใน 3 ของค่าการป้องกัน UVB  ประสิทธิภาพในการให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวหนัง 2 ความพึงพอใจของผู้ใช้เกลี่ยง่าย  1.5ซึมลงสู่ผิวรวดเร็ว 2ไม่รู้สึกเหนอะหนะ 2    นีเวีย Nivea Sun Light Feeling Transparentes Spray SPF 20 ค่า SPF ที่วัดได้จริง  SPF 24ประสิทธิภาพในการกันแดดหลังจากผิวหนังเปียกน้ำ ร้อยละ 54 ค่าการป้องกันรังสี UVA ไม่ต่ำกว่า 1 ใน 3 ของค่าการป้องกัน UVB  ประสิทธิภาพในการให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวหนัง 1 ความพึงพอใจของผู้ใช้เกลี่ยง่าย  2ซึมลงสู่ผิวรวดเร็ว 2ไม่รู้สึกเหนอะหนะ 1.5   นีเวีย Nivea Sun  Sun Spray 20 mediumค่า SPF ที่วัดได้จริง  SPF 24ประสิทธิภาพในการกันแดดหลังจากผิวหนังเปียกน้ำ ร้อยละ 51 ค่าการป้องกันรังสี UVA ไม่ต่ำกว่า 1 ใน 3 ของค่าการป้องกัน UVB  ประสิทธิภาพในการให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวหนัง 1 ความพึงพอใจของผู้ใช้เกลี่ยง่าย  2ซึมลงสู่ผิวรวดเร็ว 2ไม่รู้สึกเหนอะหนะ 2   เอวอน Avon sun medium SPF 20ค่า SPF ที่วัดได้จริง  SPF 34ประสิทธิภาพในการกันแดดหลังจากผิวหนังเปียกน้ำ ร้อยละ 51ค่าการป้องกันรังสี UVA ไม่ต่ำกว่า 1 ใน 3 ของค่าการป้องกัน UVB  ประสิทธิภาพในการให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวหนัง 3 ความพึงพอใจของผู้ใช้เกลี่ยง่าย  2.5ซึมลงสู่ผิวรวดเร็ว 2ไม่รู้สึกเหนอะหนะ 1    วิชี่ Vichy Capital Soleil SPF 20ค่า SPF ที่วัดได้จริง  SPF 25ประสิทธิภาพในการกันแดดหลังจากผิวหนังเปียกน้ำ ร้อยละ 50 ค่าการป้องกันรังสี UVA ไม่ต่ำกว่า 1 ใน 3 ของค่าการป้องกัน UVB  ประสิทธิภาพในการให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวหนัง 3 ความพึงพอใจของผู้ใช้เกลี่ยง่าย  1.5ซึมลงสู่ผิวรวดเร็ว 2ไม่รู้สึกเหนอะหนะ 1.5   ชิเซโด Shiseido Sun Protection Lotion SPF 15ค่า SPF ที่วัดได้จริง  SPF 29ประสิทธิภาพในการกันแดดหลังจากผิวหนังเปียกน้ำ ร้อยละ 40 ค่าการป้องกันรังสี UVA ไม่ต่ำกว่า 1 ใน 3 ของค่าการป้องกัน UVB  ประสิทธิภาพในการให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวหนัง 2 ความพึงพอใจของผู้ใช้เกลี่ยง่าย  2ซึมลงสู่ผิวรวดเร็ว 2.5ไม่รู้สึกเหนอะหนะ 1.5  ลอรีอัล L`Oreal Solar Expertise, icy protection SPF 20ค่า SPF ที่วัดได้จริง  SPF 20ประสิทธิภาพในการกันแดดหลังจากผิวหนังเปียกน้ำ ร้อยละ 40 ค่าการป้องกันรังสี UVA ไม่ต่ำกว่า 1 ใน 3 ของค่าการป้องกัน UVB  ประสิทธิภาพในการให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวหนัง 1 ความพึงพอใจของผู้ใช้เกลี่ยง่าย  1.5ซึมลงสู่ผิวรวดเร็ว 2ไม่รู้สึกเหนอะหนะ 1.5  ยูเซอริน Eucerin Sun Protection Sun Spray SPF 20ค่า SPF ที่วัดได้จริง  SPF 35ประสิทธิภาพในการกันแดดหลังจากผิวหนังเปียกน้ำ ร้อยละ 32 ค่าการป้องกันรังสี UVA ไม่ต่ำกว่า 1 ใน 3 ของค่าการป้องกัน UVB  ประสิทธิภาพในการให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวหนัง 1 ความพึงพอใจของผู้ใช้เกลี่ยง่าย  2ซึมลงสู่ผิวรวดเร็ว 2ไม่รู้สึกเหนอะหนะ 2   อัลตราซัน Ultrasun professional protection sports clear gel formula SPF 20ค่า SPF ที่วัดได้จริง  SPF 15ประสิทธิภาพในการกันแดดหลังจากผิวหนังเปียกน้ำ ร้อยละ 61 ค่าการป้องกันรังสี UVA ไม่ต่ำกว่า 1 ใน 3 ของค่าการป้องกัน UVB  ประสิทธิภาพในการให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวหนัง 3 ความพึงพอใจของผู้ใช้เกลี่ยง่าย  1.5ซึมลงสู่ผิวรวดเร็ว 1.5ไม่รู้สึกเหนอะหนะ 1   วิชี่ Vichy Laboratoires Capital Soleil Sonnschutz-Gel-Milch Körper SPF 20ค่า SPF ที่วัดได้จริง  SPF 15ประสิทธิภาพในการกันแดดหลังจากผิวหนังเปียกน้ำ ร้อยละ 51 ค่าการป้องกันรังสี UVA ไม่ต่ำกว่า 1 ใน 3 ของค่าการป้องกัน UVB  ประสิทธิภาพในการให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวหนัง 1 ความพึงพอใจของผู้ใช้เกลี่ยง่าย  1ซึมลงสู่ผิวรวดเร็ว 2ไม่รู้สึกเหนอะหนะ 2   การ์นีเย่ Garnier Ambre Solaire SPF 20ค่า SPF ที่วัดได้จริง  SPF 15ประสิทธิภาพในการกันแดดหลังจากผิวหนังเปียกน้ำ ร้อยละ 37 ค่าการป้องกันรังสี UVA ไม่ต่ำกว่า 1 ใน 3 ของค่าการป้องกัน UVB  ประสิทธิภาพในการให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวหนัง 3 ความพึงพอใจของผู้ใช้เกลี่ยง่าย  1.5ซึมลงสู่ผิวรวดเร็ว 2ไม่รู้สึกเหนอะหนะ 1.5  คลาแรงส์ Clarins Sun Care Cream SPF 20ค่า SPF ที่วัดได้จริง  SPF 52ประสิทธิภาพในการกันแดดหลังจากผิวหนังเปียกน้ำ ร้อยละ 42 ค่าการป้องกันรังสี UVA ไม่ต่ำกว่า 1 ใน 3 ของค่าการป้องกัน UVB ×ประสิทธิภาพในการให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวหนัง 3 ความพึงพอใจของผู้ใช้เกลี่ยง่าย  2ซึมลงสู่ผิวรวดเร็ว 2.5ไม่รู้สึกเหนอะหนะ 2   อีโค คอสเมติกส์ Eco Cosmetics, Sonnencreme SPF15ค่า SPF ที่วัดได้จริง  SPF 24ประสิทธิภาพในการกันแดดหลังจากผิวหนังเปียกน้ำ ร้อยละ 67 ค่าการป้องกันรังสี UVA ไม่ต่ำกว่า 1 ใน 3 ของค่าการป้องกัน UVB ×ประสิทธิภาพในการให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวหนัง 1 ความพึงพอใจของผู้ใช้เกลี่ยง่าย  3ซึมลงสู่ผิวรวดเร็ว 3ไม่รู้สึกเหนอะหนะ 2.5

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 123 ตรวจสอบการให้ข้อมูลบนฉลากของอาหารกึ่งสำเร็จรูปแบบบรรจุห่อรวม

  บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นเสบียงคู่ครัวคนไทยสมัยใหม่มาอย่างยาวนาน เท่าที่ผู้เขียนทราบก็ราว ๆ ปี พ.ศ. 2514 – 2515 จนถึงปัจจุบัน โดยมียี่ห้อแรกคือ ซันวา นิตยสารฉลาดซื้อได้เคยลงบทความทดสอบปริมาณโซเดียม (เกลือ และ ผงชูรส) มาแล้ว ครานี้ผมขอนำบทความเกี่ยวกับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมาเสนอผู้อ่านอีกครั้ง แต่ครั้งนี้เราจะไม่พูดถึงคุณภาพของผลิตภัณฑ์แต่อย่างใด หากแต่เป็นเรื่องของ ฉลาก และการให้ข้อมูลบนฉลาก ที่ต้องพูดคุยกันมาก ฉบับนี้เลยขอนำเสนอการเปรียบเทียบฉลากภายนอกของอาหารกึ่งสำเร็จรูปชนิดจัดชุดก่อน และฉบับหน้าจะพาท่านผู้อ่านไปดูรายละเอียดฉลากชนิดซองต่อซอง ยี่ห้อต่อยี่ห้อของผู้ประกอบการรายต่าง ๆ ในตลาดว่าค่ายใดจะให้ข้อมูลกับผู้บริโภคมากกว่ากัน   ฉลากและความสำคัญคำว่า ฉลาก ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน หมายความว่า รูป รอยประดิษฐ์ เครื่องหมายหรือข้อความใด ๆ ที่แสดงไว้ที่ภาชนะหรือหีบห่อบรรจุยา อาหาร หรือผลิตภัณฑ์อื่น เช่น ฉลากยา ฉลากเครื่องสําอาง  ส่วนคำว่า ฉลากอาหาร นั้น พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 ระบุว่าหมายรวมถึง รูป รอยประดิษฐ์ เครื่องหมาย หรือข้อความใด ๆ ที่แสดงไว้ที่อาหาร ภาชนะบรรจุอาหาร หรือหีบห่อของภาชนะที่บรรจุอาหาร  ฉลากอาหารเป็นแหล่งข้อมูลของผู้บริโภค ที่จะทำให้ผู้บริโภคได้ทราบข้อมูลที่จำเป็นเกี่ยวกับอาหารนั้น ๆ ในการแสดงข้อมูลบนฉลากอาหาร ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 194) พ.ศ. 2543 เรื่องฉลาก ได้กำหนดไว้ว่า “ฉลากของอาหารที่จำหน่ายต่อผู้บริโภค ต้องมีข้อความเป็นภาษาไทยแต่จะมีภาษาต่างประเทศด้วยก็ได้ และจะต้องมีข้อความแสดงรายละเอียดดังต่อไปนี้…” สำหรับข้อมูลที่ประกาศฉบับนี้ระบุให้แสดงนั้นมีทั้งหมด 15 รายการ   ในปัจจุบันสินค้าหลายชนิดถูกวางขายในห้างค้าปลีกขนาดใหญ่และห้างสรรพสินค้าในลักษณะแพ็กชุดใหญ่ เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เครื่องดื่มชงชนิดต่างๆ เพื่อส่งเสริมการขายให้มากขึ้น เพราะการซื้อแบบแพ็กชุดราคาจะถูกลงเมื่อเทียบเป็นจำนวนชิ้น ในกรณีฉลากสำหรับบรรจุภัณฑ์ภายนอกของอาหารชนิดจัดชุดนั้น ตามหลักการควรที่จะมีการแสดงข้อมูลในระดับเดียวกันกับการแสดงข้อมูลที่อยู่ในซองย่อยที่อยู่ภายในซองบรรจุภัณฑ์รวม เพราะไม่เช่นนั้นจะรู้ได้อย่างไรว่า ผลิตภัณฑ์ข้างในเป็นอย่างไร เนื่องจากไม่สามารถแกะแยกห่อออกมาดูได้  ฉลาดซื้อจึงได้ลองใช้เกณฑ์ขั้นต่ำที่พึงแสดงตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องฉลากที่ต้องแสดงจำนวน 4 รายการ ได้แก่ ชื่ออาหาร ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิตหรือผู้แบ่งบรรจุ ปริมาณของอาหารเป็นระบบเมตริก (น้ำหนักสุทธิ-กรัมหรือกิโลกรัม/ ปริมาตรสุทธิ-มิลลิลิตรหรือลิตร) และวันเดือนและปีที่ผลิต วันเดือนและปีที่หมดอายุการบริโภค หรือ วันเดือนและปีที่อาหารยังมีคุณภาพดี โดยมีข้อความว่า “ผลิต” “หมดอายุ” หรือ “ควรบริโภคก่อน” กำกับไว้ด้วยแล้วแต่กรณี มาใช้เป็นเกณฑ์ประกอบการพิจารณากับตัวที่บรรจุภัณฑ์ที่ห่อหุ้มสินค้าชนิดแพ็กชุด  โดยตัวอย่างทดสอบชุดแรก มาจากกรณีร้องเรียนของผู้บริโภครายหนึ่งที่ ร้องเรียนกับศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคเมื่อกลางเดือนเมษายน เรื่องซื้อสินค้าหมดอายุเนื่องจากการไม่เห็นวันผลิต – วันหมดอายุ บนบรรจุภัณฑ์ของผลิตภัณฑ์ 3 ห่อได้แก่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสต้มยำกุ้งน้ำข้น ตรามาม่า ชนิดห่อแบบจัดชุด 6 ซอง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสต้มยำกุ้ง ตรามาม่า ชนิดจัดชุด 10 ซอง และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสหมูสับ ตรายำยำ จัมโบ้ ชนิดจัดชุด 10 ซอง ที่ผู้ร้องซื้อจากห้างบิ้กซี สาขาสะพานควายเมื่อเดือนมีนาคม   จากการตรวจสอบหลักฐานเบื้องต้นที่ผู้ร้องส่งมา พบว่าซองภายนอกของผลิตภัณฑ์ทั้ง 3 ห่อ ไม่มีการระบุ วันผลิต – วันหมดอายุ แต่มีการระบุวัน เวลา ดังกล่าวไว้ในบรรจุภัณฑ์ย่อยแต่ละซองที่อยู่ภายในซองใหญ่ ในการหาข้อมูลเพิ่มเติมผู้เขียนจึงได้ไปเก็บตัวอย่างเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2554 จากห้างที่ผู้ร้องไปใช้บริการจำนวน 3 ตัวอย่าง และจากร้านท็อปซูเปอร์มาเก็ต สาขาโรงภาพยนตร์เซ็นจูรี่ จำนวน 5 ตัวอย่าง รวม 8 ตัวอย่างได้แก่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสหมูสับต้มยำ ตราไวไว ชนิด 10 ซอง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสต้มยำกุ้ง ตราไวไว ชนิด10 ซอง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสกุ้งนึ่งมะนาว ตราไวไวควิก ชนิด 5 ซอง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสต้มยำหมูสับ ตรา ยำยำจัมโบ้ ชนิด 6 ซอง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสต้มยำทะเลหม้อไฟ ตรายำยำจัมโบ้ ชนิด 6 ซอง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสเย็นตาโฟต้มยำหม้อไฟ ตรามาม่า ชนิด 10 ซอง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสไก่กระเทียม ตราซื่อสัตย์ ชนิด 6 ซอง และวุ้นเส้นกึ่งสำเร็จรูปรสต้มยำกุ้ง ตราเกษตร ชนิด 4 ซอง แล้วนำมารวมกับตัวอย่างเก่าที่ผู้ร้องส่งมาให้รวมทั้งหมด 11 ตัวอย่าง เพื่อตรวจสอบลักษณะการแสดงข้อมูลขั้นต่ำแก่ผู้บริโภค จำนวน 4 รายการได้แก่ ชื่ออาหาร ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิตหรือผู้แบ่งบรรจุ ปริมาณของอาหารเป็นระบบเมตริก และ วันผลิต – วันหมดอายุ รวมไปถึงตรวจดูลักษณะบรรจุภัณฑ์บนซองภายนอกของผลิตภัณฑ์   ผลการทดสอบพบว่า1. เกือบทุกตัวอย่าง แสดงชื่อสินค้าและตราสินค้าบนซองภายนอกบรรจุภัณฑ์ แม้ว่าซองที่บรรจุจะเป็นซองใสก็ตาม ยกเว้น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสไก่กระเทียม ตราซื่อสัตย์ ที่ได้แสดงข้อมูลไว้ในห่อภายในของบรรจุภัณฑ์โดยที่ห่อภายนอกเป็นพลาสติกใส สามารถมองทะลุได้อย่างชัดเจน  2. ไม่มีตัวอย่างใดแสดงชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิตหรือผู้แบ่งบรรจุบนซองภายนอกของบรรจุภัณฑ์ 3. มีตัวอย่างจำนวน 7 ตัวอย่างจาก 11 ตัวอย่างแสดงปริมาณของอาหารไว้บนห่อรวมบรรจุภัณฑ์ โดยที่ 3 ตัวอย่างแสดงไว้ด้านหลังบรรจุภัณฑ์ ได้แก่ ยำยำจัมโบ้รสต้มยำหมูสับชนิด 6 ซอง ยำยำจัมโบ้รสต้มยำทะเลหม้อไฟชนิด 6 ซอง และไวไวรสต้มยำกุ้งชนิด 10 ซอง อีก 4 ตัวอย่างแสดงไว้ด้านหน้าบรรจุภัณฑ์ได้แก่ มาม่ารสต้มยำชนิด 10 ซอง มาม่ารสเย็นตาโฟต้มยำหม้อไฟ ชนิด 10 ซอง มาม่ารสต้มยำกุ้งน้ำข้นชนิด 6 ซอง และยำยำจัมโบ้รสหมูสับชนิด 10 ซอง  4. ไม่มีตัวอย่างใดแสดงวันผลิต-วันหมดอายุบนห่อรวมบรรจุภัณฑ์ หากแต่มีการแสดงข้อมูลวันผลิต วันหมดอายุ หรือวันบริโภคก่อน ภายในบรรจุภัณฑ์ย่อยในทุกผลิตภัณฑ์ อย่างไรก็ตามมีตัวอย่างจำนวน 3 ตัวอย่างที่ไม่สามารถเห็นวันผลิต – วันหมดอายุในผลิตภัณฑ์ด้านในซอง ได้อย่างชัดเจน เนื่องจากซองรวมบรรจุภัณฑ์มีลักษณะปิดทึบทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมด ได้แก่ รสเย็นตาโฟต้มยำหม้อไฟ ชนิด 10 ซอง ยำยำจัมโบ้รสต้มยำทะเลหม้อไฟ ชนิด 6 ซอง ยำยำจัมโบ้รสต้มยำหมูสับ ชนิด 6 ซอง  5. ลักษณะของบรรจุภัณฑ์แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มได้แก่ (1) บรรจุภัณฑ์ที่เป็นพลาสติกใสทั้งหมดหรือใสบางส่วนแต่สามารถเห็นได้ครบทุกด้านทั้งซ้าย ขวา หน้า และหลัง บรรจุภัณฑ์กลุ่มนี้มี 3 ตัวอย่าง คือ ซื่อสัตย์รสไก่กระเทียม ชนิดจัดชุด 6 ซอง ไวไวควิกรสกุ้งนึ่งมะนาว ชนิดจัดชุด 5 ซอง และ วุ้นเส้นกึ่งสำเร็จรูปรสต้มยำตราเกษตร ชนิดจัดชุด 4 ซอง (2) บรรจุภัณฑ์ที่เป็นพลาสติกประกอบลวดลายด้านหน้าและหลังแต่เปิดพื้นที่ว่างด้านซ้ายและขวาให้มองเห็นสิ่งที่อยู่ข้างในได้ บรรจุภัณฑ์กลุ่มนี้มี 4 ตัวอย่าง ได้แก่ มาม่ารสต้มยำกุ้ง ชนิดจัดห่อ 10 ซอง มาม่ารสต้มยำกุ้งน้ำข้น ชนิดจัดชุด 6 ซอง ยำยำจัมโบ้รสหมูสับ ชนิดจัดชุด 10 ซอง และไวไวรสต้มยำกุ้ง ชนิดจัดชุด 10 ซอง (3) บรรจุภัณฑ์ที่เป็นพลาสติกประกอบด้วยรูปหรือลวดลายปิดหมด 3 ด้านเปิดพื้นที่ใสให้เห็นด้านในเพียงด้านเดียวหรือปิดทั้ง 4 ด้านจนไม่สามารถเห็นสิ่งที่อยู่ด้านในได้ บรรจุภัณฑ์กลุ่มนี้มีทั้งหมด 4 ตัวอย่าง ได้แก่ มาม่ารสเย็นตาโฟต้มยำหม้อไฟ ชนิดจัดชุด 10 ห่อ ยำยำจัมโบ้รสต้มยำทะเลหม้อไฟ ชนิดจัดชุด 6 ซอง ยำยำจัมโบ้รสต้มยำหมูสับ ชนิดจัดชุด 6 ซอง และไวไวรสหมูสับต้มยำชนิดจัดชุด 10 ซอง   ข้อสังเกต1. ถึงแม้ผลิตภัณฑ์จะเป็นตราสินค้าเดียวกันแต่หากต่างรสกัน ไม่เสมอไปที่การแสดงข้อมูลจะเป็นแบบเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น ไวไวรสหมูสับต้มยำชนิดจัดชุด 10 ซอง กับ ไวไวรสต้มยำกุ้งชนิดจัดชุด 10 ซอง ที่ตัวอย่างแรกมีการแสดงข้อมูลเพียงชื่อและตราสินค้าร่วมกับตัวอักษรขนาดใหญ่ว่าจัดชุด 10 ซอง ขณะที่ตัวอย่างหลังมีการแสดงข้อมูลสำคัญทุกอย่างเกือบครบถ้วนรวมไปถึง ข้อมูลโภชนาการด้วย 2. มีเพียง 2 ตัวอย่างเท่านั้นที่มีการแสดงคำว่า ผลิต หรือ ควรบริโภคก่อน เป็นภาษาไทยอยู่ในบรรจุภัณฑ์ ได้แก่ วุ้นเส้นกึ่งสำเร็จรูปรสต้มยำกุ้งตราเกษตร ชนิดจัดชุด 4 ซอง และ ไวไวรสต้มยำกุ้ง ชนิดจัดชุด 10 ซอง  3. ไม่มีรูปแบบตายตัวของการแสดงข้อมูลสำคัญของผู้ผลิตบนห่อใหญ่ของบรรจุภัณฑ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วันผลิต วันหมดอายุ หรือ ควรบริโภคก่อน อีกทั้ง เมื่อมองเข้าไปในบรรจุภัณฑ์ย่อย ยังพบว่าหน่วยปีที่ใช้ก็ยังมีความแตกต่างกัน ขณะที่ส่วนใหญ่ใช้ปี ค.ศ. แต่ก็ยังมีบางรายใช้ปี พ.ศ. ในการอ้างอิง เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสไก่กระเทียมตราซื่อสัตย์ เป็นต้น  สรุป การแสดงฉลากของอาหารกึ่งสำเร็จรูปชนิดจัดชุดอยู่ในระดับไม่น่าพอใจเนื่องจากมีการแสดงข้อมูลสำคัญที่จำเป็นไม่เพียงพอโดยเฉพาะอย่างยิ่ง วันผลิต วันหมดอายุ หรือ ควรบริโภคก่อน   ยิ่งไปกว่านั้น ในกรณีที่มีการกล่าวอ้างทางโภชนาการ หรือ มีการใช้คุณค่าในการส่งเสริมการขาย เช่น มาม่ารสต้มยำกุ้ง ชนิดบรรจุ 10 ซอง ระบุว่ามีธาตุไอโอดีน เหล็ก และวิตามินเอ บนฉลากทั้งซองรวมภายนอกและซองเล็กภายในแต่บนซองรวมกลับไม่มีการระบุฉลากโภชนาการไว้ จริงอยู่ว่ามีการแสดงข้อมูลโภชนาการไว้ภายในซองเล็ก และลักษณะซองภายนอกอาจจะมีลักษณะใสมองเห็นด้านในได้บางส่วน แต่การจัดวางบรรจุภัณฑ์ทำให้มองไม่เห็นข้อมูลเหล่านี้  ดังนั้น ในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์นี้ชนิดจัดชุด ควรดูที่การแสดงข้อมูลบนบรรจุภัณฑ์ภายนอก หากไม่มีการแสดงข้อมูลวันผลิต-วันหมดอายุ ที่เห็นได้ชัดเจน ผู้บริโภคไม่น่าจะสนับสนุน ผู้ประกอบการรายนั้นๆ และควรส่งเสริมผู้ประกอบการที่ทำดี ทำฉลากชัดเจนจะดีกว่า   ตารางเปรียบเทียบการแสดงข้อมูลบนฉลากของอาหารกึ่งสำเร็จรูปชนิดบรรจุห่อรวม ผลิตภัณฑ์/ยี่ห้อ ชื่ออาหาร ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิตหรือผู้แบ่งบรรจุ ปริมาณของอาหาร วันผลิต – วันหมดอายุ ลักษณะบรรจุภัณฑ์ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสต้มยำกุ้ง ตรามาม่า ชนิดจัดชุด 10 ซอง มี ไม่มี มี ไม่มี มีภาพประกอบและลวดลายด้านหน้าและหลังของบรรจุภัณฑ์แต่มองเห็นด้านข้างได้ทั้งสองด้าน โดยแสดงวันผลิต-วันหมดอายุ บนซองย่อยที่อยู่ภายในห่อรวม บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสต้มยำกุ้งน้ำข้น ตรามาม่า ชนิดจัดชุด 6 ซอง มี ไม่มี มี ไม่มี มีภาพประกอบและลวดลายด้านหน้าและหลังของบรรจุภัณฑ์แต่มองเห็นด้านข้างได้ทั้งสองด้าน โดยแสดงวันผลิต-วันหมดอายุ บนซองย่อยที่อยู่ภายในห่อรวม บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสเย็นตาโฟต้มยำหม้อไฟ ตรามาม่า ชนิดจัดชุด 10 ซอง มี ไม่มี มี ไม่มี มีภาพประกอบและลวดลายทั้งด้านหน้าและหลังของบรรจุภัณฑ์ ซองมีสีชมพูถึงชมพูเข้มทั้งซอง มีการแสดงวันผลิต-วันหมดอายุ บนซองย่อยที่อยู่ภายในห่อรวมแต่ไม่สามารถมองเห็นสิ่งของด้านในได้อย่างชัดเจน บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสหมูสับต้มยำ ตราไวไว ชนิดจัดชุด 10 ซอง มี ไม่มี ไม่มี ไม่มี มีภาพประกอบและลวดลายบนผลิตภัณฑ์ 3 ด้าน เปิดพื้นที่ให้เห็นด้านในได้หนึ่งด้าน โดยแสดงวันผลิต-วันหมดอายุ บนซองย่อย บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสต้มยำกุ้ง ตราไวไว ชนิดจัดชุด 10 ซอง มี ไม่มี มี ไม่มี มีภาพประกอบและการแสดงข้อมูลชื่ออาหาร ตราสินค้า เลขสารบบอาหาร (เลขอย.) ด้านหน้าของซองรวม ด้านหลังแสดงข้อมูลโภชนาการ วิธีปรุง ส่วนประกอบสำคัญ และคำแนะนำในการบริโภค และเปิดพื้นที่ด้านข้างทั้งสองข้างให้มองเห็นวันผลิต-วันหมดอายุที่อยู่ภายในซองย่อย บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสกุ้งนึ่งมะนาว ตราไวไวควิก ชนิดจัดชุด 5 ซอง มี ไม่มี ไม่มี ไม่มี เป็นซองใสมีลายเล็กน้อยตรงกลางด้านหน้าซอง ซึ่งเป็นที่ระบุข้อมูลชื่อและชนิดอาหารพร้อมบาร์โค้ดของซอง วันผลิต-วันหมดอายุอยู่ในซองย่อยแต่มองได้ไม่ชัดเจนเนื่องจากสีสันของบรรจุภัณฑ์ภายในมีมากเกินไป บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสหมูสับ ตรายำยำจัมโบ้ ชนิดจัดชุด 10 ซอง มี ไม่มี มี ไม่มี มีภาพประกอบและลวดลายด้านหน้าและหลังของบรรจุภัณฑ์แต่มองเห็นด้านข้างได้ทั้งสองด้าน โดยแสดงวันผลิต-วันหมดอายุ บนซองย่อยที่อยู่ภายในห่อรวม บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสต้มยำหมูสับ ตรายำยำจัมโบ้ ชนิดจัดชุด 6 ซอง มี ไม่มี มี ไม่มี มีภาพประกอบและลวดลายบนผลิตภัณฑ์ และมีสีทึบ 3 ด้าน เปิดพื้นที่ให้เห็นด้านในได้เพียงเล็กน้อยหนึ่งด้าน โดยมีลวดลายมากจนมองเห็นการแสดงวันผลิต-วันหมดอายุ บนซองย่อย ได้ไม่ชัดเจนหรือไม่เห็นเลย บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสต้มยำทะเลหม้อไฟ ตรายำยำจัมโบ้ ชนิดจัดชุด 6 ซอง มี ไม่มี มี ไม่มี มีภาพประกอบและลวดลายบนผลิตภัณฑ์ และมีสีทึบ 3 ด้าน เปิดพื้นที่ให้เห็นด้านในได้เพียงเล็กน้อยหนึ่งด้าน โดยมีการแสดงวันผลิต-วันหมดอายุ บนซองย่อย แต่ไม่สามารถเห็นได้เนื่องจากตำแหน่งของวันผลิต-วันหมดอายุที่อยู่ในซองย่อยไม่ตรงกับช่องที่เปิดไว้ให้เห็นด้านในเพียงเล็กน้อย วุ้นเส้นกึ่งสำเร็จรูปรสต้มยำกุ้ง ตราเกษตร ชนิดจัดชุด 4 ซอง มี ไม่มี ไม่มี ไม่มี เป็นซองใส มีข้อมูลชื่อและชนิดอาหารพร้อมบาร์โค้ดของซอง วันผลิต-วันหมดอายุ อยู่ในซองย่อย สามารถมองเห็นได้ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสไก่กระเทียม ตราซื่อสัตย์ ชนิดจัดชุด 6 ซอง ไม่มี ไม่มี ไม่มี ไม่มี เป็นซองใสมีลายเล็กน้อยตรงกลางด้านหน้าซอง ระบุตราสินค้าแต่ไม่ระบุชื่อสินค้า มีบาร์โค้ดของซอง วันผลิต-วันหมดอายุอยู่ในซองย่อยสามารถมองเห็นได้

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 121 กุนเชียง เสี่ยง...ไม่เสี่ยง

  โครงการพัฒนากลไกการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารของผู้บริโภคได้เก็บตัวอย่างกุนเชียงหมูจำนวน 7 ตัวอย่าง จากพื้นที่ปฏิบัติงานโครงการ 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ ขอนแก่น มหาสารคาม เชียงใหม่ พะเยา และสงขลา จังหวัดละ 1 ตัวอย่าง ยกเว้นจังหวัดมหาสารคามที่เก็บตัวอย่างทั้งสิ้น 2 ตัวอย่าง นอกจากนี้ยังได้เก็บตัวอย่างกุนเชียงไก่จำนวน 1 ตัวอย่าง จากพื้นที่จังหวัดสตูล รวม 8 ตัวอย่าง ในเดือนมีนาคม 2553 เพื่อทดสอบหาปริมาณการใช้วัตถุเจือปนอาหาร 2 กลุ่ม คือ สารกันบูด (ได้แก่ กรดเบนโซอิค กรดซอร์บิค ไนเตรท และไนไตรท์) กับ สีสังเคราะห์   ผลการทดสอบ1. พบการใช้กรดเบนโซอิคในกุนเชียงจำนวน 5 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 62 ปริมาณเฉลี่ยที่พบเท่ากับ 15.3 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ซึ่งจัดอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัยต่อการบริโภค2. พบการใช้กรดซอร์บิคจำนวน 3 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 37 ปริมาณเฉลี่ยที่พบเท่ากับ 620 มิลลิกรัม/กิโลกรัม โดยมี 1 ตัวอย่างที่ปริมาณกรดซอร์บิคอยู่ในเกณฑ์สูงเกินมาตรฐาน ปริมาณสารกันบูดที่พบเท่ากับ 1,205 มิลลิกรัม/กิโลกรัม3. พบการใช้ไนเตรทและไนไตรท์จำนวน 3 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 37 ปริมาณเฉลี่ยที่พบเท่ากับ 10 มิลลิกรัม/กิโลกรัมซึ่งจัดอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัยต่อการบริโภค4. ไม่พบการใช้สีสังเคราะห์ในทุกตัวอย่างที่ทำการทดสอบ  สรุป ในกุนเชียง 1 กิโลกรัมจากจำนวน 8 ตัวอย่างที่ทดสอบ ปริมาณเฉลี่ยของสารกันบูดชนิด กรดเบนโซอิคเท่ากับ 15.3 มิลลิกรัม กรดซอร์บิคเท่ากับ 620 มิลลิกรัม ไนเตรทและไนไตรท์เท่ากับ 10 มิลลิกรัม อย่างไรก็ตามความเสี่ยงจากการได้รับสารกันบูดสูงเกินมาตรฐานอยู่ในเกณฑ์ต่ำที่ร้อยละ 12.5 ขณะที่ความเสี่ยงจากการได้รับสีสังเคราะห์เป็นศูนย์หรือเท่ากับไม่มีเลย ซึ่งก็ถือว่าเป็นข่าวดี ยังไงเพื่อลดความเสี่ยงเวลาเลือกซื้อกุนเชียงอ่านฉลากให้ดี โดยเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ฉลากระบุว่าไม่ใช้วัตถุกันเสียและไม่เจือสีสังเคราะห์*************************************************************** กุนเชียง ถือเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปซึ่งมีลักษณะคล้ายกันกับไส้กรอก แต่จะแตกต่างกันตรงที่ความละเอียดของเนื้อที่ใช้ เนื้อสำหรับทำกุนเชียงจะเป็นเนื้อที่บดหยาบกว่า อาจจะใช้เครื่องบดหรือใช้มีดสับด้วยมือธรรมดาๆ ส่วนไส้กรอกจะเป็นเนื้อที่บดละเอียด เรียกว่าเนียนเป็นเนื้อเดียวกัน ก่อนจะนำมาใส่ส่วนผสม เช่น เกลือ น้ำตาล ซีอิ้วขาว หรือเครื่องเทศ แล้วนำไปใส่ลงในไส้หมูที่ล้างทำความสะอาดมาแล้วเรียบร้อย นำไปตากหรืออบให้แห้ง กุนเชียง มีที่มาจากประเทศจีน หลายประเทศในแถมเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ก็นิยมรับประทานกุนเชียงเหมือนบ้านเรา แต่ว่าจะมีชื่อเรียกแตกต่างกัน ถ้าเป็นชาวตะวันตกก็จะเหมาเรียกรวมกันว่า Chinese sausage หรือ ไส้กรอกจีน ************************************************************** ฉลาดซื้อแนะนำ-กุนเชียงที่ดี เนื้อกุนเชียงต้องผสมกันดี ทั้งส่วนเนื้อและส่วนที่เป็นมัน-สี ต้องเป็นธรรมชาติ ดูสม่ำเสมอกันตลอดชิ้น ไม่ซีดหรือคล้ำ-ไม่มีกลิ่นอับ หรือมีกลิ่นเหม็น -กุนเชียงต้องบรรจุอยู่ในภาชนะบรรจุที่สะอาด ผนึกเรียบร้อย ไม่มีสิ่งปนเปื้อน-ถ้าจะให้ดีควรมีการระบุ ชื่อผลิตภัณฑ์ ส่วนประกอบ น้ำหนักสุทธิ วัน เดือน ปี ที่ผลิตหรือหมดอายุ ชื่อผู้ผลิตพร้อมสถานที่ตั้ง กำกับไว้ที่ภาชนะบรรจุกุนเชียง+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++   ผลวิเคราะห์ตัวอย่างกุนเชียง ยี่ห้อ ผู้ผลิต จังหวัดที่เก็บตัวอย่าง ผลวิเคราะห์ (มิลลิกรัม / กิโลกรัม) เบนโซอิค ซอร์บิค ไนเตรท ไนไตรท์ สีสังเคราะห์ กุนเชียงหมู บิ๊กซี บ. ส ขอนแก่น กรุงเทพ 10.42 474.04 28.43 2.65 ไม่พบ ชิน เหอ เชียง ไม่ระบุ ขอนแก่น ไม่พบ 181.4 ไม่พบ ไม่พบ ไม่พบ พีแอนด์พี บ. พี แอนด์ พี มหาสารคาม 5 ไม่พบ ไม่พบ ไม่พบ ไม่พบ จิง จิง เชียง บ.จิง จิง เชียง มหาสารคาม 5 ไม่พบ ไม่พบ ไม่พบ ไม่พบ ไม่ระบุ ไม่ระบุ สงขลา 48.79 ไม่พบ 23.2 5.84 ไม่พบ แม่เนื้อพลอย ไม่ระบุ เชียงใหม่ 7.31 ไม่พบ ไม่พบ ไม่พบ ไม่พบ พีแอนด์พี บ.พี แอนด์ พี พะเยา ไม่พบ ไม่พบ ไม่พบ ไม่พบ ไม่พบ กุนเชียงไก่ ปิยวัฒน์ บ.ปิยะวัฒน์เจ้เม้ง สตูล ไม่พบ 1,205 1.62 0.22 ไม่พบ   ผลรายงานเฉพาะตัวอย่างที่ส่งวิเคราะห์เท่านั้น โดย สถาบันโภชนาการ ม.มหิดล ภาควิชาเทคโนโลยีอาหาร คณะเทคโนโลยี ม.ขอนแก่น คณะอุตสาหกรรมการเกษตร ม.สงขลานคริทร์ สถาบันวิจัยทยาศาสตร์สุขภาพ ม.เชียงใหม่ อ้างอิงสารกันบูด – ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 281 (พ.ศ. 2547) เรื่องวัตถุเจือปนอาหาร กำหนดให้ผลิตภัณฑ์กุนเชียงสามารถใช้วัตถุกันเสีย (สารกันบูด) ได้ 2 ชนิด คือไนเตรทและไนไตรท์ ที่ปริมาณไม่เกิน 500 และ 125 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ตามลำดับ และในกรณีใช้ไนเตรทกับไนไตรท์ร่วมกันในหนึ่งผลิตภัณฑ์ให้ปริมาณที่ใช้ได้สูงสุดไม่เกิน 125 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ส่วนการใช้สารกันบูดชนิดอื่น ๆ รวมถึงกรดซอร์บิคและกรดเบนโซอิค ไม่มีการระบุไว้แต่อย่างใดว่าให้ใช้ได้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม มาตรฐานอาหารสากล (Codex) ปี 2005 ได้กำหนดการใช้กรดเบนโซอิคในผลิตภัณฑ์กุนเชียงเพื่อถนอมอาหารนั้นไว้ว่าไม่ควรเกินกว่า 1,000 มิลลิกรัม/กิโลกรัม โดยที่ไม่ได้ระบุการใช้กรดซอร์บิคในกุนเชียงไว้อีกทั้งยังมิได้ระบุค่าความปลอดภัย (Acceptable Dietary Intake: ADI) เอาไว้อีกด้วย  สีสังเคราะห์ - ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 281 (พ.ศ. 2547) เรื่องวัตถุเจือปนอาหาร ระบุว่าห้ามใช้สีสังเคราะห์ในกุนเชียง

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 119 โด…นัทกันมาหวาน

  ฉบับนี้ขอเกาะกระแส “คริสปี้ครีม ฟีเวอร์” โดนัทยี่ห้อดังจากอเมริกา ที่มาสร้างปรากฏการณ์ มีคนไปต่อแถวรอซื้อยาวเป็นกิโลฯ ทนร้อน ทนเมื่อยตั้งเกือบ 3 ชั่วโมง เพื่อรอซื้อโดนัท (!?) ยังไงก็อย่ามั่วเพลิดเพลินกับรสชาติจนลืมห่วงใยสุขภาพเพราะโดนัทชิ้นหนึ่ง(40 กรัม) ให้พลังงานสูงถึง 168 กิโลแคลอรี อุดมด้วยไขมันและน้ำตาลแบบนี้ถ้ารับประทานมากไปหวาน มันเข้าเลือดแน่ๆ   ฉลาดซื้อส่งทีมงานไปเข้าแถวรอซื้อ คริสปี้ครีม 3 ชั่วโมงและตระเวนซื้อโดนัท จากร้านแฟรนไชส์อื่นอีกหลายร้าน รวม 5 ยี่ห้อ แล้วก็รีบนำส่งสถาบันโภชนาการ ม.มหิดล เพื่อเช็คค่าพลังงานและความหวาน รวมทั้งแอบดูเรื่อง สารกันบูดด้วย เผื่อเอาไว้เป็นคู่มือให้กับคนที่ชอบรับประทานโดนัทแต่ก็ยังห่วงใยสุขภาพ   ฉลาดซื้อทดสอบ โดนัทที่นำมาทดสอบทั้งหมด 9 ตัวอย่าง ประกอบด้วย ดังกิ้นโดนัท รสคลาสสิค เกรซ (โดนัทเคลือบน้ำตาล) และรสดับเบิ้ลช็อค (เนื้อแป้งช็อคโกแลตเคลือบช็อคโกแลต), มิสเตอร์โดนัทรสฮันนี่ดิป (โดนัทเคลือบน้ำตาล) และรสดับเบิ้ลช็อค, คริสปี้ ครีมรสดั้งเดิม (เคลือบน้ำตาล), แดดดี้ โด รสคลาสสิค เกรซ และรสดับเบิ้ลช็อค, และบัพเพิล รสแคลิฟอร์เนียอัลมอนด์ (เคลือบช็อคโกแลตขาวโรยหน้าด้วยอัลมอนด์) และรสช็อคโคโฮลิค (เนื้อแป้งโดนัทใส่ใส้ครีมช็อคโกแลต) มาดูผลทอดสอบกัน1.ค่าพลังงาน ปริมาณพลังงานที่แนะนำให้บริโภคต่อวันสำหรับคนไทยอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไปคือวันละ 2,000 กิโลแคลอรี ฉลาดซื้อขอทดสอบเพื่อดูกันว่าโดนัทรสใดของค่ายใดที่ให้พลังงานสูง-ต่ำ แค่ไหนกันบ้าง ผลการทดสอบในภาพรวมพบว่า   ค่าพลังงานเฉลี่ยของโดนัททุกค่ายอยู่ที่ 420.7 กิโลแคลอรี/100 กรัม ซึ่งเท่ากับ ร้อยละ 21 ของพลังงานที่ควรได้รับต่อวัน   และหากพิจารณาที่หนึ่งหน่วยบริโภคโดยเฉลี่ย 1 ชิ้น = 40 กรัม ค่าพลังงานที่ได้รับจะเท่ากับ 168.3 กิโลแคลอรี่/40 กรัมคิดเป็นร้อยละ 8 ของค่าพลังงานที่ต้องการต่อวัน ซึ่งตัวอย่างที่มีค่าพลังงานต่อชิ้นมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ 1. ดังกิ้นโดนัท รสดับเบิ้ลช็อค (1 ชิ้น หนักประมาณ 60 กรัม) ให้พลังงานอยู่ที่ 247.8 กิโลแคลอรี 2. มิสเตอร์โดนัท รสดับเบิ้ลช็อค (1 ชิ้น หนักประมาณ 50 กรัม) ให้พลังงาน 226.5 กิโลแคลอรี 3. บัพเพิล โดนัท รสช็อคโกโฮลิค (1 ชิ้น หนักประมาณ 50 กรัม) ให้พลังงาน 208 กิโลแคลอรี รู้ผลโดนัทที่มีพลังงานมากไปแล้ว มาดูโดนัทที่ให้พลังงานน้อยกันบ้าง ตัวอย่างโดนัทที่ให้พลังงานต่อชิ้นน้อยที่สุดในตัวอย่างที่เราสุ่มทดสอบครั้งนี้ คือ 1. มิสเตอร์โดนัท รสฮันนี่ดิป (1 ชิ้น หนักประมาณ 30 กรัม) ให้พลังงาน 121.5 กิโลแคลอรี 2. แดดดี้โด รสคลาสสิคเกรซ (1 ชิ้น หนักประมาณ 30 กรัม) ให้พลังงาน 135.3 กิโลแคลอรี 3. คริสปี้ครีม รสออริจินอล (1 ชิ้น หนักประมาณ 40 กรัม) ให้พลังงาน 138.8 กิโลแคลอรี   2.ปริมาณไขมัน ไขมันทำหน้าที่ให้พลังงานแก่ร่างกาย เป็นแหล่งกรดไขมันที่จำเป็นและเป็นตัวช่วยการดูดซึมของวิตามินที่ละลายในไขมันคือ วิตามินเอ ดี อี และเค ส่วนที่ไม่ดีของไขมันคือถ้าร่างกายได้รับไขมันอิ่มตัวและโคเลสเตอรอลสูงจะเป็นสาเหตุของภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง ซึ่งนำไปสู่โรคหลอดเลือดหัวใจ ข้อมูลทางโภชนาการจากกองโภชนาการ กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ใน 1 วันไม่ควรได้รับไขมันเกิน 65 กรัม  สำหรับผลการทดสอบไขมันรวม (Total Fat) ในโดนัททั้ง 9 ตัวอย่างพบว่าปริมาณไขมันเฉลี่ยที่หน่วยบริโภค 100 กรัมเท่ากับ 23.4 กรัม คิดเป็นร้อยละ 36 และเมื่อคิดเฉลี่ยต่อหนึ่งหน่วยบริโภคที่ 40 กรัม พบว่ามีปริมาณเท่ากับ 9.8 กรัม/ชิ้น คิดเป็นร้อยละ 15 สำหรับ ปริมาณไขมันสูงสุดต่อ 1 ชิ้น 3 อันดับแรก ได้แก่ 1. มิสเตอร์โดนัท รสดับเบิ้ลช็อค (1 ชิ้น หนักประมาณ 50 กรัม) มีปริมาณไขมัน 13.3 กรัม 2. ดังกิ้นโดนัท รสดับเบิ้ลช็อค (1 ชิ้น หนักประมาณ 60 กรัม) มีปริมาณไขมัน 11.88 กรัม 3. บัพเพิล โดนัท รสแคลิฟอร์เนียอัลมอนด์ (1 ชิ้น หนักประมาณ 50 กรัม) มีปริมาณไขมัน 11.84 กรัม   ส่วน 3 อันดับ ที่มีปริมาณไขมันรวมต่ำสุด ได้แก่ 1. มิสเตอร์โดนัท รสฮันนี่ดิป (1 ชิ้น หนักประมาณ 30 กรัม) มีปริมาณไขมัน 6.2 กรัม2. ดังกิ้นโดนัท รสคลาสสิคเกรซ (1 ชิ้น หนักประมาณ 40 กรัม) มีปริมาณไขมัน 6.7 กรัม3. แดดดี้โด รสคลาสสิคเกรซ (1 ชิ้น หนักประมาณ 30 กรัม) มีปริมาณไขมัน 8.0 กรัม 3.ปริมาณไขมันทรานส์ การบริโภคอาหารที่มีกรดไขมันทรานส์มากเกินไป อาจก่อให้เกิดสภาวะที่ผิดปกติกับร่างกาย เช่น น้ำหนักและไขมันส่วนเกินเพิ่มมากขึ้น มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดหัวใจตีบโรคไขมันอุดตันในเส้นเลือด รวมทั้งเป็นอันตรายต่อตับด้วย   มีข่าวดีจากการทดสอบไขมันทรานส์ เพราะไม่มีตัวอย่างใดที่มีปริมาณไขมันทรานส์สูงเกินว่า 0.5 กรัมต่อหน่วยบริโภค(1 ชิ้น) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่องค์การอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกากำหนดไว้ โดยค่าเฉลี่ยของไขมันทรานส์ที่พบต่อชิ้นอยู่ที่ 0.045 กรัม นอกจากนั้นเกินกว่าครึ่งของตัวอย่างทั้งหมดได้แก่ยี่ห้อคริสปี้ครีม แดดดี้โด และบัพเพิล ยังตรวจไม่พบไขมันทรานส์เลยอีกด้วย 4.ปริมาณน้ำตาล น้ำตาล 1 กรัมให้พลังงาน 4 กิโลแคลอรี ข้อแนะนำในการรับประทานน้ำตาล คือ จำกัดไว้ที่ 5-10% ของพลังงานที่ได้รับทั้งหมดในหนึ่งวัน ซึ่งตามหลักโภชนาการแนะนำให้กินน้ำตาลในปริมาณน้อยเช่นเดียวกับไขมันและเกลือ สำหรับคนไทยกองโภชนาการแนะนำว่าไม่ควรกินน้ำตาลเกิน 6 ช้อนชาต่อวัน (ราว ๆ 24 กรัม)  ผลการทดสอบน้ำตาลในโดนัทพบว่าระดับน้ำตาลเฉลี่ยจากทั้ง 9 ตัวอย่างเท่ากับ 12.6 กรัม/ 100 กรัม คิดเป็นร้อยละ  52.5 และเท่ากับ 5.5 กรัม/หนึ่งชิ้น (40 กรัม) คิดเป็นร้อยละ 23 ของปริมาณสูงสุดที่ควรบริโภคต่อวัน โดยมีปริมาณน้ำตาลในโดนัทต่อชิ้นสูงสุด 3 อันดับแรกดังนี้   1. ดังกิ้นโดนัท รสดับเบิ้ลช็อค (1 ชิ้น หนักประมาณ 60 กรัม) มีปริมาณน้ำตาล 13.9 กรัม2. มิสเตอร์โดนัท รสดับเบิ้ลช็อค (1 ชิ้น หนักประมาณ 50 กรัม) มีปริมาณน้ำตาล 6.5 กรัม3. แดดดี้โด รสดับเบิ้ลช็อค (1 ชิ้น หนักประมาณ 40 กรัม) มีปริมารน้ำตาล 5.5 กรัม สำหรับปริมาณน้ำตาลต่ำสุด 3 อันดับแรก ได้แก่1. แดดดี้โด รสคลาสสิคเกรซ (1 ชิ้น หนักประมาณ 30 กรัม) มีปริมาณน้ำตาล 3.0 กรัม2. บัพเพิล โดนัท รสแคลิฟอร์เนียอัลมอนด์ (1 ชิ้น หนักประมาณ 40 กรัม) มีปริมาณน้ำตาล 3.4 กรัม3. มิสเตอร์โดนัท รสฮันนี่ดิป (1 ชิ้น หนักประมาณ 30 กรัม) มีปริมาณน้ำตาล 3.5 กรัม   5.สารกันบูดสารกันบูดหรือวัตถุกันเสียทั้ง กรดเบนโซอิค และกรดซอร์บิค ถ้าได้รับในปริมาณไม่มากร่างกายสามารถขับออกเอง แต่หากได้รับในปริมารมากเกินไปก็จะเป็นอันตราย ตั้งแต่ท้องเสีย โรคกระเพาะ ทำร้ายตับและไต และอาจรุนแรงถึงขั้นเป็นอัมพาต  จากการทดสอบถึงแม้จะพบสารกันบูดชนิดกรดเบนโซอิคในโดนัทกว่า 5 ตัวอย่างจาก 9 ตัวอย่างที่ทดสอบแต่ปริมาณที่พบอยู่ในเกณฑ์ที่น้อยมากจนไม่ก่อให้เกิดอันตราย ส่วนสารกันบูดชนิดกรดซอร์บิคนั้นพบเพียงแค่ตัวอย่างเดียวและตัวอย่างที่พบก็มีปริมาณที่ตรวจพบน้อยมากจนถึงน้อยที่สุด ดังนั้นจึงเป็นอีกหนึ่งข่าวดีของคอโดนัทที่อย่างน้อยก็ไม่ต้องกังวลเรื่องสารกันบูด   สรุปจากผลการทดสอบ โดนัทหนึ่งชิ้นที่น้ำหนักประมาณ 40 กรัม จะให้พลังงาน 168.3 กิโลแคลอรี่ คิดเป็นร้อยละ 8 ของความต้องการพลังงานต่อวัน ไขมัน 9.8 กรัม คิดเป็นร้อยละ 15 ของความต้องการไขมันต่อวัน และน้ำตาล 5.5 กรัม คิดเป็นร้อยละ 23 ของปริมาณน้ำตาลที่แนะนำให้บริโภคได้สูงสุดต่อวัน   ฉลาดซื้อแนะนำนักโภชนาการจัดให้โดนัทอยู่ในกลุ่มอาหารที่ให้พลังงานสูง หากรับประทานมากเกินไป จะทำให้อ้วนและเสี่ยงต่อการมีไขมันในเส้นเลือดสูง รวมถึงโรคอื่นๆ ที่จะตามมาเช่น โรคหัวใจ เบาหวาน เพราะส่วนประกอบหลักในโดนัทคือ คาร์โบไฮเดรตและไขมันจาก แป้ง นม เนย และน้ำตาล นอกจากนี้ยังมีไขมันจากน้ำมันที่ใช้ทอดโดนัทอีกต่างหาก ดังนั้นจึงควรอร่อยกันในปริมาณน้อย และนานๆ ครั้ง อย่ารับประทานทุกวัน -----------------------------------------------------------------------------------------------------   กาลครั้งหนึ่ง...โดนัท ว่ากันว่า โดนัท เป็นสูตรขนมหวานดั้งเดิมของชาวดัตช์ ซึ่งมีลักษณะเป็นขนมปังที่ทอดในน้ำมันมีชื่อเรียกว่า Olykoek  (เป็นภาษาดัตช์ที่ตรงกับภาษาอังกฤษว่า oil cake หรือ เค้กที่ทอดในน้ำมันหรือไขมัน) ช่วงปี ค.ศ. 1800 ชาวอเมริกันก็ได้รู้จักโดนัทจากชาวดัตช์ที่อพยพเข้ามา แม้ในช่วงแรกจะมีรูปร่างเป็นแค่ขนมปังก้อนธรรมดา   บ้างก็ว่าเป็นแป้งที่มีลักษณะเป็นเกลียวๆ เพราะเกิดจากการบิดฉีกแป้งโดลงไปทอด ซึ่งก็เป็นที่มาของคำว่าโดนัท ที่เพี้ยนมาจากคำว่า ว่า“โดน็อต” (dough knots) จากลักษณะแป้งที่เป็นเกลียวๆ คล้ายน็อตนี่แหละ บางแหล่งข้อมูลก็บอกว่าคำว่าโดนัทมาจากคำง่ายๆ อย่าง “dough nuts” ซึ่งหมายถึงแป้งโดที่มีการเติมถั่วลงไปนั่นเอง จนในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ร้านโดนัทแบบแฟรนไชส์ก็เกิดขึ้น โดยมีการใช้เครื่องจักรมาช่วยในการผลิตโดนัท เพื่อรองรับความต้องการที่มีมากขึ้น   ทำไมโดนัทต้องมีรู แฮนสัน เกรกอรี (Hansen Gregory) ได้รับการบันทึกว่าเป็นคนแรกของโลกที่ทำให้โดนัทมีรูตรงกลาง เรื่องเกิดขึ้นในปี1847 เมื่อเขาใช้กระปุกพริกไทยมากดแป้งโดนัทให้เป็นรูตรงกลางก่อนจะนำไปทอด เพื่อจะแก้ปัญหาแป้งตรงกลางไม่สุก และขยายพื้นที่แป้งเพื่อเวลาทอดจะได้ไม่อมน้ำมัน ซึ่งใครที่ได้กินโดนัทมีรูของ แฮนสัน เกรกอรี ต่างก็ชื่นชอบชื่นชมเป็นเสียงเดียวกัน จนในที่สุดโดนัทมีรูก็เป็นที่นิยมและยอมรับไปทั่วอเมริกา  คริสปี้ครีม ไม่ได้ฮิต ทุกที่กระแสการต่อแถวยาวเป็นกิโลฯ เพื่อรอซื้อโดนัท “คริสปี้ครีม” ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในบ้านเราเท่านั้น แต่หลายๆ ประเทศที่เจ้าโดนัทสัญชาติอเมริกันที่มีอายุร่วม 70 ปีร้านนี้ไปเปิด ก็เกิดกระแสเข้าแถวรอเหมือนบ้านเรา เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี แต่ก็มีอีกหลายประเทศที่คริสปี้ครีมไม่ได้รับความนิยม ทั้งใน ฮ่องกง ออสเตรเลีย หรือแม้แต่ในอเมริกาบ้านเกิด สาเหตุมาจากการขยายสาขาที่เร็วและมากเกินไป รวมทั้งการที่คนเริ่มหันมาห่วงใยเรื่องสุขภาพกันมากขึ้น โดนัทจึงถูกเมินจากคนรักสุขภาพทำให้ร้านคริสปี้ครีมจึงต้องปิดตัวลงไปหลายสาขาในเวลาไม่กี่ปี     ตารางแสดงผลทดสอบคุณค่าทางโภชนาการในโดนัท ชื่อตัวอย่าง ราคา / ชิ้น (บาท) น้ำหนัก / 1 ชิ้น (โดยประมาณ) ผลทดสอบ / 100 กรัม ผลทดสอบเทียบ / 1 ชิ้น พลังงาน (กิโลแคลอรี) ไขมัน (กรัม) ไขมันทรานส์ (กรัม) น้ำตาล(กรัม) เบนโซอิค(มิลลิกรัม/กิโลกรัม) ซอร์บิค(มิลลิกรัม/กิโลกรัม) พลังงาน (กิโลแคลอรี) ไขมัน (กรัม) ไขมันทรานส์ (กรัม) น้ำตาล(กรัม) เบนโซอิค(มิลลิกรัม/กิโลกรัม) ซอร์บิค(มิลลิกรัม/กิโลกรัม) ดังกิ้น โดนัท คลาสสิค เกรซ 22 40 ก. 369 16.8 0.07 11.9 ไม่พบ ไม่พบ 147.6 6.7 0.03 4.7 ไม่พบ ไม่พบ ดังกิ้น โดนัท ดับเบิลช็อค 22 60 ก. 413 19.8 0.11 23.6 4.12 5.88 247.8 11.88 0.06 13.9 2.4 3.4 มิสเตอร์ โดนัท ฮันนี่ ดิป 10 30 ก. 405 20.7 0.09 11.6 36.24 ไม่พบ 121.5 6.2 0.03 3.5 10.9 ไม่พบ มิสเตอร์ โดนัท ดับเบิลช็อค 12 50 ก. 453 26.6 0.12 13.0 ไม่พบ ไม่พบ 226.5 13.3 0.06 6.5 ไม่พบ ไม่พบ ครีสปี้ ครีม ออริจินัล 27 40 ก. 347 21.0 0 12.4 ไม่พบ ไม่พบ 138.8 8.4 0 4.9 ไม่พบ ไม่พบ แดดดี้ โด คลาสสิค เกรซ 22 30 ก. 451 26.4 0 9.8 6.54 ไม่พบ 135.3 8.0 0 3.0 2.0 ไม่พบ แดดดี้ โด ดับเบิลช็อค 22 40 ก. 460 26.1 0 13.7 ไม่พบ ไม่พบ 184 10.44 0 5.5 ไม่พบ ไม่พบ บัพเพิล โดนัท แคลิฟอร์เนีย อัลม่อน 26 40 ก. 473 29.6 0 8.4 5.02 ไม่พบ 189.2 11.84 0 3.4 2.0 ไม่พบ บัพเพิล โดนัท ช็อคโคโฮลิค 26 50 ก. 416 23.5 0 9.0 13.70 ไม่พบ 208 11.75 0 4.5 6.8 ไม่พบ รายงานผลเฉพาะที่ส่งตรวจเท่านั้นทดสอบโดย : สถาบันโภชนาการ มหาลัยมหิดล   เปรียบเทียบพลังงานของโดนัทที่ทดสอบกับอาหารชนิดต่าง ๆ ขนิดของอาหาร พลังงาน (กิโลแคลอรี/ 100 กรัม) ไขมัน (กรัม) กลุ่มของหวาน เค้กปอนด์ โดนัท ฟรุ้ตเค้ก คุกกี้เนย บราวนี่ ไอศกรีมวานิลา 2 ก้อน ฝอยทอง ทองหยอด ขนมชั้น ลูกชุบ วุ้นกะทิ   473 420 380 458 485 280 423 337 273 268 133   29.5 23.4 15.3 17.0 31.5 ไม่มีข้อมูล 25.8 16.4 8.2 8.2 5.4

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 115 กินเส้นใหญ่ระวังไตพัง

ก๋วยเตี๋ยวหนึ่งในอาหารจานด่วนที่บริโภคกันมาก เพราะมีสารพัดสูตรให้เลือกชิมเลือกทาน ไม่ว่าจะเป็น ก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้น ก๋วยเตี๋ยวเย็นตาโฟ ก๋วยเตี๋ยวสุโขทัย ก๋วยเตี๋ยวเรือ ก๋วยเตี๋ยวผัดไทย ก๋วยเตี๋ยวคั่วไก่ บะหมี่หมูแดง ราดหน้า ผัดซีอิ้ว ก็ใช่ เรียกว่ามากมาย จนสาธยายไม่หมด ซึ่งตัวเส้นก๋วยเตี๋ยวก็มีหลากหลาย ชนิด ทั้ง เส้นเล็ก เส้นใหญ่ เส้นหมี่ วุ้นเส้น บะหมี่ โซบะ เส้นขนมจีน และเส้นก๋วยจั๊บ โดยเส้นก๋วยเตี๋ยว  ส่วนใหญ่จะทำจากแป้งข้าวเจ้า บะหมี่ทำจากแป้งสาลี  ผสมไข่ ส่วนวุ้นเส้นทำจากแป้งถั่วเขียวผสมน้ำโครงการพัฒนากลไกการเฝ้าระวังความ  ปลอดภัยด้านอาหารของผู้บริโภค ได้เก็บตัวอย่างเส้น  ก๋วยเตี๋ยวจำนวน 5 ชนิด ได้แก่ เส้นใหญ่จำนวน 8  ตัวอย่าง เส้นเล็กจำนวน 8 ตัวอย่าง เส้นหมี่(ขาว)  จำนวน 5 ตัวอย่าง เส้นบะหมี่จำนวน 6 ตัวอย่าง  และเส้นขนมจีนจำนวน 4 ตัวอย่าง จากตลาดสดในพื้นที่ดำเนินงานโครงการทั้ง 8 จังหวัดได้แก่ กรุงเทพฯ  สมุทรสงคราม   ขอนแก่น   มหาสารคาม    เชียงใหม่   พะเยา สงขลา และ สตูล ในการเก็บตัวอย่างครั้งที่ 3   เมื่อเดือนมกราคม 2553 รวมจำนวนตัวอย่างที่เก็บทั้งสิ้น 31 ตัวอย่าง เพื่อทดสอบหาสิ่งปนเปื้อนใน  อาหารกลุ่มสารกันบูดและสีผสมอาหารที่เป็นวัตถุ   เจือปนอาหาร นอกจากนั้นยังมีการตรวจหาสารพิษ  จากเชื้อรา-อะฟลาท็อกซินในเส้นก๋วยเตี๋ยวประเภทเส้นแห้ง และการทดสอบทางจุลินทรีย์ในเส้นก๋วยเตี๋ยว  ประเภทเส้นสดเพื่อหาการปนเปื้อนของจุลินทรีย์รวม เชื้อแบคทีเรีย อี.โคไล และเชื้อแบคทีเรียซัลโมเนลล่า   ผลการทดสอบเส้นก๋วยเตี๋ยวทั้ง 5 ชนิดพบว่า เส้นใหญ่  ข่าวดี – พบสารกันบูดในปริมาณที่น้อยลงกว่า  ที่ศูนย์วิทยาศาสตรการแพทย์อุบลราชธานีเคย  แถลงข่าวเมื่อปี พ.ศ. 2550 กว่าหกเท่าตัว คือจาก ประมาณ 3,900 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมเหลือไม่เกิน 600 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม  ข่าวร้าย – ไม่มีตัวอย่างเส้นก๋วยเตี๋ยวประเภท  เส้นใหญ่ใดที่ไม่พบการปนเปื้อน โดยทุกตัวอย่างมี อย่างใดอย่างหนึ่งไม่ว่าจะเป็นทางจุลินทรีย์หรือทางเคมี ดังมีรายละเอียดดังนี้ - พบสารกันบูดประเภทกรดเบนโซอิค จำนวน 7 ตัวอย่างจากตัวอย่างทดสอบทั้งสิ้น 8 ตัวอย่าง โดย มีอัตราเฉลี่ยของกรดเบนโซอิคที่พบเท่ากับ 570.2 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม หรือเท่ากับประมาณ 125 - 175  มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคของก๋วยเตี๋ยวเส้นใหญ่  1 ชาม (ประมาณ 150 - 250 กรัม) จำนวนกรด  เบนโซอิคที่พบสูงสุด 3 อันดับแรกคือ (1) ตัวอย่างที่เก็บจากตลาดคลองเตยกรุงเทพฯ มีปริมาณกรดเบนโซอิคที่พบเท่ากับ 836.3 มิลลิกรัม/กิโลกรัม เทียบเป็นปริมาณต่อหน่วยบริโภคเท่ากับ 209 มิลลิกรัม/250 กรัม หรือเท่ากับ 2 ใน 3 ของปริมาณที่แนะให้บริโภคได้สูงสุดต่อวันในคน น้ำหนักตัว 60 กิโลกรัม [ปริมาณที่แนะนำให้บริโภค ได้สูงสุดต่อวัน (ADI) เท่ากับ 0-5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัวกิโลกรัม หรือ ไม่เกิน 300 มิลลิกรัม ในคนที่มีน้ำหนักตัว 60 กิโลกรัม] (2) ก๋วยเตี๋ยวเส้นสดตราเส้นทิพย์ที่เก็บจากตลาดบรบือ จังหวัดมหาสารคาม มีปริมาณกรดเบนโซอิคที่พบเท่ากับ 598 มิลลิกรัม/กิโลกรัมเทียบเป็นปริมาณต่อหน่วยบริโภคเท่ากับ148 มิลลิกรัม/250 กรัม (3) ตัวอย่างที่เก็บจากร้านพรพัฒนา จังหวัดสมุทรสงคราม มีปริมาณกรดเบนโซอิคที่พบเท่ากับ596.2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม เทียบเป็นปริมาณต่อหน่วยบริโภคเท่ากับ 146 มิลลิกรัม/250 กรัม- พบสารกันบูดประเภทกรดซอร์บิคจำนวน2 ตัวอย่างจาก 8 ตัวอย่างที่ทำการทดสอบ โดยมีอัตราเฉลี่ยที่พบเท่ากับ 428.8 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ตัวอย่างที่พบกรดซอร์บิคทั้ง 2 ตัวอย่าง ได้แก่เส้นใหญ่สดของโรงก๋วยเตี๋ยวไทยเจริญ เก็บตัวอย่างจากตลาดพลาซ่า อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา มีปริมาณกรดซอร์บิคที่พบเท่ากับ 505.6 มิลลิกรัม/กิโลกรัมและเส้นใหญ่แสงชัยตราพระอาทิตย์ เก็บตัวอย่างจากตลาดสดเทศบาล 2 จังหวัดขอนแก่น มีปริมาณกรดซอร์บิคที่พบเท่ากับ 352 มิลลิกรัม/กิโลกรัม- พบการปนเปื้อนของสารพิษจากเชื้อรา – อะฟลาท็อกซิน จำนวน 1 ตัวอย่างจาก 8 ตัวอย่างที่ทำการทดสอบ โดยพบที่ตัวอย่างจากตลาดคลองเตยกรุงเทพฯ ที่ปริมาณ 0.1 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งถือว่าน้อยมากและไม่ก่อให้เกิดอันตรายกับร่างกาย- พบการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ในการทดสอบค่าจุลินทรีย์รวม (Total plate count) ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ความสะอาดของเส้น จำนวน 6 ตัวอย่างจาก 8 ตัวอย่างที่ทำการทดสอบ แต่มีเพียง 1 ตัวอย่างจาก 6 ตัวอย่างที่พบเท่านั้นที่มีค่าจุลินทรีย์รวมสูงเกินกว่าที่ เกณฑ์คุณภาพทางจุลชีววิทยาของอาหารและภาชนะ และผู้สัมผัสอาหารของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กำหนดไว้ที่ 100,000 โคโลนี/กรัม โดยพบที่ตัวอย่าง จากร้านพรพัฒนา จังหวัดสมุทรสงคราม พบค่าจุลินทรีย์รวมที่ 200,000 โคโลนี/กรัม หมายเหตุ- เส้นก๋วยเตี๋ยวประเภทเส้นใหญ่ตราพระอาทิตย์ที่เก็บตัวอย่าง  จากตลาดสดเทศบาล 2 จังหวัดขอนแก่นพบสารกันบูดทั้ง  กรดเบนโซอิคและกรดซอร์บิค ในผลิตภัณฑ์เดียวโดยปริมาณ  รวมของกรดทั้ง 2 ชนิดเท่ากับ 942 มิลลิกรัม/กิโลกรัม หรือ เกือบจะเท่ากับที่เกณฑ์มาตรฐานระหว่างประเทศหรือ CODEX กำหนดไว้ที่ 1,000 มิลลิกรัม/กิโลกรัม - เส้นก๋วยเตี๋ยวจากร้านพรพัฒนา จังหวัดสมุทรสงครามไม่ผ่าน เกณฑ์มาตรฐานวัตถุเจือปนอาหารด้านสารกันบูด (กรดเบนโซอิค) และไม่ผ่านเกณฑ์คุณภาพทางจุลชีววิทยาฯ ของกรมวิทยาสตร์การแพทย์ - เส้นก๋วยเตี๋ยวกว่าครึ่งไม่ทราบผู้ผลิตและทั้งหมดไม่ระบุวันหมดอายุ  อะฟลาท็อกซิน จำนวน 1 ตัวอย่างจาก 8 ตัวอย่าง  ที่ทำการทดสอบ โดยพบที่ตัวอย่างจากตลาดคลองเตย  กรุงเทพฯ ที่ปริมาณ 0.1 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่ง  ถือว่าน้อยมากและไม่ก่อให้เกิดอันตรายกับร่างกาย - พบการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ในการทดสอบ ค่าจุลินทรีย์รวม (Total plate count) ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ ความสะอาดของเส้น จำนวน 6 ตัวอย่างจาก 8 ตัวอย่างที่ทำการทดสอบ แต่มีเพียง 1 ตัวอย่างจาก 6 ตัวอย่างที่พบเท่านั้นที่มีค่าจุลินทรีย์รวมสูงเกินกว่าที่ เกณฑ์คุณภาพทางจุลชีววิทยาของอาหารและภาชนะ และผู้สัมผัสอาหารของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กำหนดไว้ที่ 100,000 โคโลนี/กรัม โดยพบที่ตัวอย่าง จากร้านพรพัฒนา จังหวัดสมุทรสงคราม พบค่า  จุลินทรีย์รวมที่ 200,000 โคโลนี/กรัม   ฉลาดซื้อแนะเส้นก๋วยเตี๋ยวที่บริโภคนอกบ้าน  เราไม่สามารถรู้ได้ว่าผลิตจากที่ไหน และมี  กระบวนการผลิตอย่างไรบ้าง ดังนั้นหาก  ต้องการบริโภคเส้นใหญ่นอกบ้านไม่ว่าจะเป็น  ผัดซีอิ้ว ก๋วยเตี๋ยวหลอด หรือก๋วยเตี๋ยวน้ำ  เส้นใหญ่ไม่ควรรับประทานเกิน 1 ชามต่อวัน   และไม่ควรบริโภคติดต่อกันทุกวัน เนื่องจาก  จะเกิดการสะสมและทำให้ประสิทธิภาพการ ทำงานของตับและไตลดลง และอาจเป็น  สาเหตุให้เกิดโรคไตได้ ค่ามาตรฐานเส้นก๋วยเตี๋ยว- ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 281 เรื่องวัตถุเจือปนอาหาร จะไม่ระบุให้ผู้ประกอบการใช้กรดเบนโซอิคและกรดซอร์บิคใน  เส้นก๋วยเตี๋ยวได้ - ขณะที่มาตรฐานสากล (CODEX) ระบุให้ใช้ได้ที่ไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมสำหรับกรดเบนโซอิค และไม่ระบุว่าให้ใช้ได้หรือไม่สำหรับกรดซอร์บิค - ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 เรื่องมาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อน อนุญาตให้มีสารอะฟลาทอกซินปนเปื้อนในอาหารได้ไม่เกิน 20 ไมโครกรัม ต่ออาหาร 1 กิโลกรัม - ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 281 เรื่องวัตถุเจือปนอาหาร ไม่อนุญาตให้ใส่สีผสมอาหารในเส้นบะหมี่ - เกณฑ์กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กำหนดเรื่องจุลินทรีย์ในอาหารไว้ดังนี้ - Total plate count หรือ จุลินทรีย์ทั้งหมด ไม่เกิน 1 x 106 cfu/g - E. coli อี.โคไล

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 114 เฟรนช์ฟราย จานด่วน อันตราย

  เฟรนช์ฟราย ของอร่อยที่มากับความน่ากลัว (รึเปล่า) หากพูดถึงร้านอาหารจานด่วนหรือร้านฟาสต์ฟู้ด ผมมั่นใจได้ว่าเฟรนช์ฟรายจะมาเป็นลำดับต้น ๆ ของรายการอาหารในร้านอาหารจานด่วนที่ท่านผู้อ่านจะนึกถึง เฟร้นช์ฟรายหรือมันฝรั่งแท่งทอดมีต้นกำเนิดมาจากประเทศเบลเยียมในปี ค.ศ. 1680 ภายหลังได้แพร่กระจายไปหลายประเทศในยุโรปจนมาถึงประเทศสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. 1856 โดยพ่อครัวชาวฝรั่งเศสท่านหนึ่งทำอาหารชนิดนี้และนำไปเสิร์ฟให้กับประธานาธิบดีโธมัส เจฟเฟอร์สัน และได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในประเทศสหรัฐอเมริกาในเวลาต่อมา ในชื่อสั้น ๆ ว่า ฟราย (Fries) และกลายเป็นรายการอาหารหลักในร้านฟาสต์ฟู้ด จัดว่าเป็นหนึ่งในอาหารที่ทำกำไรได้มากที่สุดของร้านอาหารจานด่วนต่างๆ ทั่วโลกรวมไปถึงประเทศไทย   เพื่อทดสอบความปลอดภัยของเฟรนช์ฟรายที่บริโภคกันอยู่ในปัจจุบัน ทางโครงการพัฒนากลไกการ เฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารของผู้บริโภคจึงได้เก็บตัวอย่างเฟรนช์ฟราย จำนวน 30 ตัวอย่าง ในการเก็บตัวอย่างจำนวน 3 ครั้ง ครั้งแรกเดือนพฤศจิกายน 2552 เก็บตัวอย่างจากร้านอาหารจานด่วน หรือฟาสต์ฟู้ดเฟรนไชส์ใหญ่ จำนวน 6 ยี่ห้อ ได้แก่ เคเอฟซี แมคโดนัลด์ เชสเตอร์กริลล์ เบอร์เกอร์คิง เอแอนด์ดับบลิว และมอสเบอร์เกอร์ ในกรุงเทพมหานคร กับ ร้านเคเอฟซี จำนวน 2 สาขาในจังหวัดสมุทรสงคราม นอกจากนี้ยังได้เก็บตัวอย่างเฟรนช์ฟรายจากร้านอาหารจานด่วนขนาดเล็ก อีก 2 ร้าน คือร้านยูเฟรนและร้านอีสานคลาสสิคในจังหวัดสมุทรสงคราม การเก็บตัวอย่างครั้งที่ 2 ได้ดำเนินการเก็บตัวอย่างเมื่อเดือนมีนาคม 2553 จากร้านอาหารจานด่วนเฟรนไชส์ขนาดใหญ่ จำนวน 4 ยี่ห้อ ได้แก่ เคเอฟซี แมคโดนัลด์ เชสเตอร์กริลล์ และเบอร์เกอร์คิง ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร กับ ร้านเคเอฟซี จำนวน 2 สาขาในจังหวัดสมุทรสงคราม การเก็บตัวอย่างครั้งที่ 3 เก็บตัวอย่างซ้ำของครั้งที่ 1 และ 2 ในเดือนเมษายน 2553 ดำเนินการเก็บตัวอย่างจากร้านอาหารจานด่วนเฟรนไชส์ขนาดใหญ่จำนวน 6 ยี่ห้อที่เก็บเมื่อการเก็บตัวอย่างครั้งแรกเดือนพฤศจิกายน 2552 รวม 9 ตัวอย่าง ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และตัวอย่างจากร้านเคเอฟซีอีก 2 สาขา จำนวน 4 ตัวอย่าง กับตัวอย่างจากร้านยูเฟรน และร้านทีสเต็ก รวม 4 ตัวอย่าง ในจังหวัดสมุทรสงคราม โดยตรวจหาปริมาณเกลือ (Salt) ไขมันทรานส์ (Trans fat) และค่าของกรด (Acid Value) ผลการทดสอบ(3 ครั้ง) พบว่า• เกลือหรือโซเดียมยังสูง...น่าห่วงการทดสอบปริมาณเกลือหรือโซเดียมในเฟรนช์ฟรายขนาดใหญ่ที่เก็บเมื่อเดือนมีนาคม 2553 นั้นทั้ง 6 ตัวอย่างของเฟรนช์ฟรายที่ทดสอบ มีปริมาณเกลือในระดับที่สูงและจัดว่ามีความเสี่ยงที่อาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อไตได้หากมีการบริโภคติดต่อกันในระยะยาว โดยมีปริมาณเฉลี่ยอยู่ที่ 1.48 กรัม/100 กรัม เทียบน้ำหนักต่อห่อของเฟรนช์ฟรายจะพบว่า 1 ห่อมีน้ำหนักอยู่ที่ 150 – 200 กรัม ซึ่งหากใช้ปริมาณเฉลี่ยที่ตรวจพบเป็นฐานคิดจะพบว่าในการบริโภคเฟรนช์ฟราย 1 ห่อจะได้รับเกลือเข้าร่างกายประมาณ 2.2 กรัม – 2-9 กรัม/หน่วยบริโภค ซึ่งเกือบจะเทียบเท่าหรือสูงกว่าปริมาณสารอาหารที่แนะนำให้บริโภคต่อวันสำหรับคนไทย(Thai RDI) ที่ระบุไว้ว่าควรบริโภคโซเดียมน้อยกว่า 2,400 มิลลิกรัมหรือ 2.4 กรัมต่อวัน   • ไขมันทรานส์ ต่ำกว่าเกณฑ์เป็นอันตรายการทดสอบไขมันทรานส์ (Trans fat) ที่เป็นตัวเพิ่มระดับโคเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL: low-density lipoprotein) ในเลือดและลดระดับโคเลสเตอรอลชนิดดี (HDL: high-density lipoprotein) ในเลือด อันก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดนั้น พบว่าอยู่ในระดับที่ปลอดภัยในการบริโภค โดยพบไขมันทรานส์ในทั้ง 10 ตัวอย่างที่สุ่มตรวจในการเก็บตัวอย่างเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2552 ด้วยอัตราเฉลี่ย เท่ากับ 0.09 กรัม/100 กรัม หรือเท่ากับ 0.14 – 0.18 กรัม/หน่วยบริโภคที่ 150 – 200 กรัม ในการเก็บตัวอย่างครั้งที่ 2 เมื่อเดือนมีนาคม 2553 พบไขมันทรานส์ในตัวอย่างจำนวน 5 จาก 6 ตัวอย่างที่ทดสอบด้วยอัตราเฉลี่ยเท่ากับ 0.04 กรัม/100 กรัม หรือเท่ากับ 0.06 – 0.08 กรัม/หน่วยบริโภค 150 – 200 กรัมซึ่งค่าเฉลี่ยของไขมันทรานส์ที่พบในการทดสอบทั้งสองครั้งนั้นต่ำกว่าค่ามาตรฐานการบริโภคไขมันทรานส์ที่องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริการแนะนำให้บริโภคไม่เกิน 0.7 กรัม/หน่วยบริโภคอยู่อย่างน้อยกว่า 3 เท่า     • น้ำมันทอดซ้ำ ยังเข้าข่ายเฝ้าระวังการทดสอบค่าของกรด (Acid Value) [จำนวนมิลลิกรัมของโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ ที่ทำปฏิกิริยาเป็นกลาง (Neutralize) พอดีกับกรดไขมันอิสระที่มีอยู่ในน้ำมันหรือไขมัน 1 กรัม] ซึ่งค่าของกรดจะเป็นเครื่องชี้วัดคุณภาพของน้ำมันที่ใช้ในการทอดอาหาร โดยหากค่าของกรดต่ำหมายความว่าน้ำมันที่ใช้มีคุณภาพดีและหากค่าของกรดสูงหมายความว่าน้ำมันที่ใช้ผ่านการใช้ซ้ำมาแล้วหลายครั้ง จากการทดสอบพบว่า มีค่าเฉลี่ยของค่าของกรดจากการทดสอบครั้งที่ 3 เดือนเมษายน 2553 เท่ากับ 2.06 มิลลิกรัมโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ต่อน้ำมัน 1 กรัม (mgKOH/g oil) โดยมีตัวอย่างจำนวน 2 ตัวอย่าง จาก 15 ตัวอย่างส่งตรวจ ที่พบค่าของกรดสูงกว่า 3 มิลลิกรัมโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ต่อน้ำมัน 1 กรัม (mgKOH/g oil) [อ้างอิงโดยอนุโลมจากค่ามาตรฐานตามกฎหมายสาธารณสุขด้านอาหารของประเทศญี่ปุ่น (Japan Food Sanitation Act) เรื่อง น้ำมันในอาหารซึ่งสกัดออกจากอาหารของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป]       ได้แก่ ตัวอย่างจากร้าน เคเอฟซี สาขาเซ็นทรัลลาดพร้าวที่ปริมาณ 5.44 มิลลิกรัมโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ต่อน้ำมัน 1 กรัม (mgKOH/g oil) และตัวอย่างจากร้านเบอร์เกอร์คิง สาขามาบุญครอง ที่ปริมาณ 4.47 มิลลิกรัมโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ต่อน้ำมัน 1 กรัม (mgKOH/g oil) นอกจากนั้นยังมีตัวอย่างอีก 3 ตัวอย่างที่มีปริมาณค่าของกรดใกล้เคียงกับมาตรฐาน (สูงกว่า 2 แต่ไม่ถึง 3 mgKOH/g oil โดยอ้างอิงเกณฑ์พึงระวังจากมาตรฐานกลางหรือโคเด็กซ์ - Codex Commodity Standard) คือตัวอย่างจากร้านแมคโดนัลด์ สาขาเซ็นทรัลลาดพร้าว ที่ปริมาณ 2.52 มิลลิกรัมโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ต่อน้ำมัน 1 กรัม (mgKOH/g oil) ในการเก็บตัวอย่างเดือนมีนาคม 2553 ตัวอย่างจากร้านเคเอฟซี สาขาเซ็นเตอร์วัน อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ที่ปริมาณ 2.3 มิลลิกรัมโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ต่อน้ำมัน 1 กรัม (mgKOH/g oil) และ ตัวอย่างจากร้านแมคโดนัลด์ สาขาเซ็นเตอร์วัน อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ที่ปริมาณ 2.22 มิลลิกรัมโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ต่อน้ำมัน 1 กรัม (mgKOH/g oil) ในการเก็บตัวอย่างเดือนพฤศจิกายน 2552         บริโภคแต่น้อย เพื่อสุขภาพที่ดีเมื่อดูภาพรวมหลังการทดสอบ การบริโภคเฟรนช์ฟรายขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่อง จะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคไตอันเนื่องมาจากได้รับโซเดียมเกินความต้องการของร่างกาย นอกจากนี้ยังเพิ่มความเสี่ยงจากการเป็นโรคมะเร็ง ความดันโลหิต และหลอดเลือดหัวใจอันเนื่องมาจากการบริโภคน้ำมันทอดซ้ำ แต่ถ้ายังรู้สึกว่า ชีวิตจะไร้สีสันไปสักนิดหากงดบริโภคไปเลย ก็มีข้อแนะนำดังนี้  • ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคเฟรนช์ฟรายที่ขายในร้านอาหารจานด่วนทั้งหลาย โดยเฉพาะเฟรนช์ฟรายขนาดใหญ่ เพราะโอกาสที่จะกินให้หมดเนื่องจากเสียดายมีสูง • หากจะบริโภคจริงๆ ก็เลือกขนาดเล็ก กินให้น้อยและไม่ควรบริโภคติดต่อกันเป็นประจำ ถ้าเป็นไปได้ก็ขอให้เจ้าของร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดเปลี่ยนน้ำมันที่ใช้ทอดอาหารในร้านบ่อยๆ และใส่เกลือลงในเฟรนช์ฟรายให้น้อยลง • ทำกินเองที่บ้านก็ดีนะครับ เพราะสามารถควบคุมปริมาณเกลือที่จะใช้และอุณหภูมิในการทอดและคุณภาพของน้ำมันที่ใช้ทอดได้------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------  “น้ำมันทอดซ้ำ” น้ำมันทอดซ้ำ ถือเป็นภัยใกล้ตัวคนไทย เพราะบ้านเรามีพวกอาหารทอดๆ ขายเยอะแยะเต็มไปหมด น้ำมันทอดซ้ำก็คือน้ำมันที่ผ่านการทอดมาหลายครั้งจนเสื่อมคุณภาพและเกิดการแตกตัวเป็นสารโพลาร์ ซึ่งทำให้น้ำมันเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล มีกลิ่นเหม็นหืน และเป็นต้นเหตุทำให้เกิดมะเร็งในกระเพาะอาหาร ทำให้ตับเสื่อม นอกจานี้ยังก่อให้เกิดอนุมูลอิสระ ทำให้มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด วิธีที่จะเลี่ยงภัยเสี่ยงจากน้ำมันทอดซ้ำ ก็ต้องพยายามสังเกตน้ำมันที่ร้านค้านั้นใช้ ต้องไม่มีกลิ่นเหม็นหืน หรือมีสีดำคล้ำ เวลาทอดต้องไม่มีฟองกับควันมากเกินไป เพราะนั้นแสดงว่าน้ำมันใช้มานาน ส่วนใครที่ทำกับข้าวกินเองที่บ้าน มีหลายวิธีหลีกหนีจากภัยน้ำมันทอดซ้ำ เช่น ไม่ควรใช้น้ำมันทอดอาหารซ้ำเกิน 2 ครั้ง หรือหากจำเป็นต้องใช้จริงๆ ให้เทน้ำมันเก่าทิ้ง 1 ใน 3 แล้วเติมน้ำมันใหม่ลงไปแทน ไม่ควรทอดไฟแรงเกินไป อุณหภูมิที่เหมาะสมอยู่ที่ประมาณ 160 – 180 องศาเซลเซียส หรือซับน้ำส่วนที่เกินบริเวณผิวหน้าอาหารดิบก่อนทอด ก็ช่วยชะลอการเสื่อมสลายตัวของน้ำมันได้ เฟรนช์ฟราย จานด่วน อันตราย!โดย นายพชร แกล้วกล้าผู้ประสานงานโครงการพัฒนากลไกการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารของผู้บริโภค

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 112-113 ปลาหมึกแห้ง ของดีแต่มีเสี่ยง

ปลาหมึกแห้ง จัดเป็นอาหารแปรรูปที่ขายดีอันดับหนึ่ง หาซื้อไม่ยากจะเอามาทำอะไรกินก็ง่ายจะทอดหรือย่างก็อร่อย ปลาหมึกที่นำมาทำปลาหมึกแห้งมีหลายชนิด แต่ที่นิยมกันมากๆ ก็คือ  ปลาหมึกกล้วย และปลาหมึกสาย ผลการทดสอบที่นำเสนอนี้เป็นผลจากการทดสอบตัวอย่างอาหารจำนวน 8 ตัวอย่างจาก 8 จังหวัด ซึ่งดำเนินการภายใต้โครงการพัฒนากลไกการเฝ้าระวังฯ โดยเก็บตัวอย่างในเดือนมกราคม 2553 ครับ   ปลาหมึกแห้งที่เก็บตัวอย่างนี้เรานำมาทดสอบหาสิ่งปนเปื้อนในอาหาร 3 กลุ่ม คือ สารพิษจากเชื้อรา-อะฟลาท็อกซิน ซึ่งอาจจะมาจากการเก็บรักษาที่ไม่สะอาด โลหะหนักในอาหาร ซึ่งมักปนเปื้อนในอาหารทะเลและสารปรุงแต่งรส สีผสมอาหาร และสารเคมีทางการเกษตรที่พ่อค้า-แม่ค้าบางรายมักฉีดพ้นเพื่อป้องกันแมลงมาตอมปลาหมึกแห้งในร้านครับ   ผลการทดสอบ - ข่าวดี ไม่พบการปนเปื้อนของสารพิษจากเชื้อรา-อะฟลาท็อกซินในทุกตัวอย่างที่ทดสอบ (8 ตัวอย่าง) - ข่าวร้าย พบการปนเปื้อนของโลหะหนักประเภทแคดเมียมในทุกตัวอย่างที่ทดสอบ คิดเป็นร้อยละ 100 โดยมีค่าเฉลี่ยของแคดเมียมที่พบอยู่ที่ 3.43 มิลลิกรัม/กิโลกรัม (ค่ามาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ-CODEX อยู่ที่ 2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) และหากนำค่ามาตรฐานอาหารระหว่างประเทศมาเป็นตัวชี้วัดจะพบว่ามีตัวอย่างที่พบค่าแคดเมียมเกินกว่า 2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม จำนวน 4 ตัวอย่าง ได้แก่ (1) ตัวอย่างจากร้านเจ๊ต้อย ซึ่งเก็บจากตลาดสดมหาสารคาม พบแคดเมียมที่ปริมาณ 13 มิลลิกรัม/กิโลกรัม (2) ตัวอย่างจากร้านเจ๊ดม ซึ่งเก็บตัวอย่างจากร้านพรพัฒนา จังหวัดสมุทรสงคราม พบแคดเมียมที่ปริมาณ 4.77 มิลลิกรัม/กิโลกรัม (3) ตัวอย่างจากตลาดเมืองใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ พบแคดเมียมที่ปริมาณ 3.36 มิลลิกรัม/กิโลกรัม (4) ตัวอย่างจากตลาดสดเทศบาล 3 จังหวัดขอนแก่น พบแคดเมียมที่ปริมาณ 2.05 มิลลิกรัม/กิโลกรัม -พบการปนเปื้อนของโลหะหนักประเภทตะกั่วในทุกตัวอย่าง (8 ตัวอย่าง) คิดเป็นร้อยละ 100 โดยมีค่าเฉลี่ยของปริมาณตะกั่วที่พบเท่ากับ 0.137 มิลลิกรัม/กิโลกรัม อย่างไรก็ตามไม่มีตัวอย่างใดที่มีการปนเปื้อนสูงเกินกว่ามาตรฐานกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 98 (พ.ศ. 2529) กำหนดที่ 1 มิลลิกรัม/กิโลกรัม โดยมีปริมาณตะกั่วสูงสุดที่พบในตัวอย่างที่เก็บจากตลาดสดตำบลจำปาหวาย จังหวัดพะเยาที่ปริมาณ 0.46 มิลลิกรัม/กิโลกรัม - พบการปนเปื้อนของโลหะหนักประเภทปรอทในทุกตัวอย่าง (8 ตัวอย่าง) คิดเป็นร้อยละ 100 โดยมีค่าเฉลี่ยของปริมาณที่พบเท่ากับ 0.03 มิลลิกรัม/กิโลกรัม อย่างไรก็ตามไม่มีตัวอย่างใดที่มีการปนเปื้อนสูงเกินกว่ามาตรฐานกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 98 (พ.ศ. 2529) กำหนดที่ 0.5 มิลลิกรัม/กิโลกรัม สำหรับอาหารทะเล โดยมีปริมาณปรอทที่พบสูงสุดในตัวอย่างที่เก็บจากตลาดสดเทศบาล 3 จังหวัดขอนแก่นที่ปริมาณ 0.06 มิลลิกรัม/กิโลกรัม - พบการปนเปื้อนของสารตกค้างทางการเกษตรกลุ่มไพรีทอยด์ (ยาฆ่าแมลง) จำนวน 5 ตัวอย่างจาก 8 ตัวอย่างที่ทดสอบ คิดเป็นร้อยละ 62 โดยพบสารตกค้างชนิดเพอร์เมทริน (Permethrin) ในตัวอย่างจากตลาดสดตำบลจำปาหวาย จังหวัดพะเยา และ ตัวอย่างจากผู้ผลิต บมจ.สยามแมคโคร กรุงเทพฯ โดยมีปริมาณที่พบเท่ากับ 0.18 และ 0.15 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ตามลำดับ นอกจากนั้นยังพบสารตกค้างชนิดไซไฟทริน (Cyflythrin) ในตัวอย่างจากร้านเจ๊ดม จังหวัดสมุทรสงครามและตัวอย่างจากตลาดเมืองใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ที่ปริมาณ 0.12 และ 0.10 มิลลิกรัม/กิโลกรัมตามลำดับ ท้ายที่สุด พบสารพิษตกค้างชนิดไบเฟนทริน (Bifenthrin) ในตัวอย่างเก็บจากร้านป้าอร ตลาดสดละงู จังหวัดสตูล ที่ปริมาณ 0.03 มิลลิกรัม/กิโลกรัม - พบการปนเปื้อนของสารตกค้างทางการเกษตรประเภทคาเบนดาร์ซิม (ยากันรา) ในตัวอย่างจำนวน 3 ตัวอย่างจาก 8 ตัวอย่างที่ทดสอบ คิดเป็นร้อยละ 37.5 โดยมีค่าเฉลี่ยของปริมาณที่พบเท่ากับ 0.2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ปริมาณสูงสุดของสารเคมีที่พบคือ 0.44 มิลลิกรัม/กิโลกรัม จากตัวอย่างที่เก็บในตลาดเมืองใหม่ จังหวัดเชียงใหม่   ข้อสังเกต- ตัวอย่างที่เก็บจากตลาดเมืองใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ และตัวอย่างที่เก็บจากห้างแมคโคร กรุงเทพฯ พบการปนเปื้อนทั้งแคดเมียม สารตกค้างทางการเกษตรกลุ่มไพรีทอยด์ และยากันรา-คาร์เบนดาซิมในปริมาณที่ค่อนข้างสูงและอาจก่อให้เกิดอันตรายหากมีการบริโภคติดต่อกันเป็นระยะเวลานานได้ - ตัวอย่างที่เก็บจากร้านเจ๊ดม จังหวัดสมุทรสงคราม พบการปนเปื้อนของแคดเมียมในปริมาณที่สูงเกินกว่าที่มาตรฐานอาหารสากล (CODEX) กำหนด (2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) โดยพบในปริมาณที่สูงถึง 4.77 มิลลิกรัม/กิโลกรัม นอกจากนี้ยังพบการปนเปื้อนของตะกั่วและปรอทในระดับพอสมควร อีกทั้งยังพบการปนเปื้อนของสารเคมีทางการเกษตรกลุ่มไพรีทอยด์ในตัวอย่างอีกด้วย - ตัวอย่างกว่าร้อยละ 90 ที่ทำการทดสอบไม่ระบุยี่ห้อ ไม่ทราบผู้ผลิต และไม่ทราบวันผลิตและวันหมดอายุ ----------------------------------------------------------------------------------------------------- อันตรายของโลหะหนักที่ปนเปื้อนในปลาหมึกแห้งอันตรายจากแคดเมียม – ทำให้เกิดความเจ็บปวดตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายอย่างมาก ทำให้กระดูกและไตพิการ อันตรายจากตะกั่ว – จะทำให้เบื่ออาหาร ปวดท้อง มือเท้าอ่อนแรง เลือกจาง ถ้าเป็นเด็กจะทำให้สมองพิการได้ การเรียนรู้ด้อยลงอันตรายจากปรอท – เกิดอาการชาตามปลายมือปลายเท้า รวมไปถึงแขน ขา ริมฝีปากและเป็นอัมพาตในที่สุด ---------------------------------------------------------------------------------------------------- *จากผลทดสอบจะเห็นว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดในปลาหมึกแห้งก็คือ การปนเปื้อนของแคดเมียม และสารเคมีในกลุ่มไพรีทอยด์ ซึ่งเป็นสารเคมีในกลุ่มยากำจัดศัตรูพืช การปนเปื้อนของแคดเมียมส่วนหนึ่งก็มาจากเหตุผลเรื่องธรรมชาติความสะอาดในท้องทะเล เพราะมนุษย์เรานี่แหละที่ทำร้ายธรรมชาติชอบทิ้งสารเคมีลงในทะเล ถ้าอยากกินอาหารทะเลดีๆ ที่ปลอดภัยก็ต้องช่วยกันดูแลรักษาท้องทะเล ส่วนเรื่องสิ่งปนเปื้อนอื่นๆ ก็ต้องฝากวอนไปถึงพ่อค้า-แม่ค้าอย่าได้ใส่อะไรไม่พึ่งประสงค์ลงไปเลย ผู้บริโภคเราอยากรับประทานของสะอาดและมาจากธรรมชาติจริงๆ ครับ ------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- -ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 (พ.ศ.2529) เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อนข้อ 4 (2) ระบุการปนเปื้อนของ อฟลาทอกซิน ได้ไม่เกิน 20 ไมโครกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัมข้อ 4 (1) (ง) ระบุการปนเปื้อน ตะกั่ว ได้ไม่เกิน 1 มิลลิกรัม ต่ออาหาร 1 กิโลกรัม เว้นแต่อาหารที่มีสารตะกั่วปนเปื้อนตามธรรมชาติในปริมาณสูง ให้มีได้ตามที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาข้อ 4 (1) (ฉ) ระบุการปนเปื้อน ปรอท   ได้ไม่เกิน 0.5 มิลลิกรัม ต่ออาหาร 1 กิโลกรัม สำหรับอาหารทะเล และไม่เกิน 0.02 มิลลิกรัม ต่ออาหาร 1 กิโลกรัม สำหรับอาหารอื่น -ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่288  (พ.ศ. 2548) เรื่องอาหารที่มีสารพิษตกค้าง ไม่ระบุว่าอนุญาติให้มีการปนเปื้อนของสารเคมีทางการเกษตรในอาหารทะเลแห้ง ดังนั้นจึงไม่ควรมีปนเปื้อนมาในอาหาร -ค่ามาตรฐานอาหารสากล (CODEX)กำหนดค่าการปนเปื้อนของ แคดเมียม ในอาหารประเภทปลาหมึก อยู่ที่ไม่เกิน 2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม(ผลรายงานเฉพาะตัวอย่างที่ส่งวิเคราะห์เท่านั้นโดย สถาบันโภชนาการ ม.มหิดล ภาควิชาเทคโนโลยีอาหาร คณะเทคโนโลยี ม.ขอนแก่น คณะอุตสาหกรรมการเกษตร ม.สงขลานครินทร์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ ม.เชียงใหม่) วิธีการทำปลาหมึกแห้ง ไม่ยากแต่อาจจะมีหลายขั้นตอนอยู่สักหน่อย เอาปลาหมึกไปตากแดดแล้วก็คอยพลิกกลับตัวปลาหมึกเพื่อให้ปลาหมึกแห้งทั่วกัน ถ้าแดดดีๆ 20 -30 ชั่วโมงก็ถือว่าใช้ได้ แต่ยังกินไม่ได้นะ ต้องนำปลาหมึกที่ตากแล้วนำมาวางซ้อนทับกันแล้วใช้ผ้าใบหรือพลาสติกคลุมไว้แล้วหาอะไรหนักๆ ทับไว้ ทิ้งไว้ 2 – 3 วัน ปลาหมึกจะยืดหยุ่นมากขึ้นเพราะความชื้นเกิดขึ้นในเนื้อปลาหมึก หลังจากนั้นก็นำมาตากแดดให้แห้งอีกครั้งประมาณอีก 2-3 วัน ที่นี้ก็นำมาทำอาหารรับประทานได้แล้ว

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 112-113 กุ้งแห้ง แดงนี้อาจมีปัญหา

เมนูยอดฮิตอย่าง ส้มตำ ผัดไทยและยำรสเด็ด กุ้งแห้งตัวแดงๆ นี้ถือเป็นส่วนประกอบที่ขาดไม่ได้เชียว เพราะมันทั้งช่วยเพิ่มรสชาติและสีสันให้อาหารชวนรับประทานมากยิ่งนัก กุ้งแห้งที่เรารับประทานกันทุกวันนี้มีหลายไซด์หลายราคา เกรดดีเกรดไม่ดี ก็แล้วแต่กำลังทรัพย์ ยิ่งกุ้งตัวใหญ่อ้วนท้วนสมบูรณ์ราคาก็จะสูงตามไปด้วย กุ้งแห้งที่ขายกันอยู่ในตลาดนั้นมีราคาตั้งแต่กิโลกรัมละร้อยกว่าบาทไปจนถึงพันบาท ปัจจัยในการซื้อไม่เพียงแค่เรื่องราคา ขนาด ความสะอาดและแหล่งผลิตแล้ว เราต้องไม่มองข้ามเรื่อง “สี” นะครับเพราะกุ้งแห้งที่ดีไม่ควรผสมสีใดๆ ลงไปทั้งสิ้น ผลการทดสอบที่นำมาเสนอนี้เป็นการเก็บตัวอย่างอาหารครั้งที่ 3 ของโครงการพัฒนากลไกการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารของผู้บริโภคเช่นเคยครับ มีจำนวนตัวอย่างที่เก็บทั้งสิ้นจำนวน 8 ตัวอย่าง เมื่อเดือนมกราคม 2553 จากพื้นที่ดำเนินงานโครงการ ใน 8 จังหวัดจาก 4 ภูมิภาค ดังนี้ ภาคกลาง ได้แก่ กรุงเทพฯ และจังหวัดสมุทรสงคราม ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดขอนแก่นและจังหวัดมหาสารคาม ภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดพะเยา และภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดสงขลาและจังหวัดสตูล กุ้งแห้งที่นำมาทดสอบเป็นกุ้งแห้งขนาดเล็กไม่แกะเปลือกสำหรับใช้ประกอบอาหาร และมีสิ่งที่ต้องการทดสอบคือตรวจหาสิ่งปนเปื้อนในอาหาร 3 ชนิดได้แก่ สารพิษจากเชื้อรา-อะฟลาทอกซิน สีปรุงแต่งอาหาร และสารเคมีทางการเกษตรกลุ่มไพรีทอยด์   ผลการทดสอบ - ข่าวดี ไม่พบการปนเปื้อนของสารพิษจากเชื้อรา-อะฟลาทอกซินในทุกตัวอย่างที่ทดสอบ (8 ตัวอย่าง) - ข่าวร้าย พบสีสังเคราะห์ในตัวอย่างจำนวน 2 ตัวอย่าง จาก 8 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 25 ของตัวอย่างทั้งหมดที่เก็บ โดยตัวอย่างที่เก็บจากร้านเจ๊รัตนา ในตลาดสดจังหวัดมหาสารคามพบสีตระกูลสีส้ม ซึ่งไม่ใช่สีสังเคราะห์ที่กฎหมายอนุญาตให้ใส่ในอาหาร และตัวอย่างที่เก็บจากตลาดสดจังหวัดพะเยา พบสีสังเคราะห์ชนิดสีแดง-ปองโซ 4 อาร์ และชนิดสีเหลือง-ซันเซ็ตเยลโลว์ เอฟซีเอฟ อันนี้อนุญาตให้ใช้กับอาหารแต่ไม่อนุญาตในกุ้งแห้งครับ   - พบการปนเปื้อนของสารเคมีทางการเกษตรกลุ่มไพรีทอยด์ในตัวอย่างจำนวน 4 ตัวอย่างจาก 8 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 50 ของตัวอย่างทั้งหมดที่เก็บ คือ 1. กุ้งแห้งใหญ่ ยี่ห้อ BDMP ของบริษัทบางกอกดีไฮเดรทมารีนโปรดักส์ จำกัด เก็บตัวอย่างจากห้างสยามพารากอน กรุงเทพฯ พบแลมบ์ดาไซแฮโลทริน (Lambda cyhalothrin )ที่ปริมาณ 0.098 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และพบไซเปอร์เมทริน (cypermethrin) ที่ปริมาณ 0.131 มิลลิกรัม/กิโลกรัม2. กุ้งแห้งจากร้านเจ๊ดม ณ ตลาดเทศบาลเมืองสมุทรสงครามพบแลมบ์ดาไซแฮโลทริน (Lambda cyhalothrin ) ที่ปริมาณ 0.052 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และพบไซเปอร์เมทริน (cypermethrin) ที่ปริมาณ 0.235 มิลลิกรัม/กิโลกรัม3. กุ้งแห้งที่เก็บตัวอย่างจากตลาดเมืองใหม่ จังหวัดเชียงใหม่พบแลมบ์ดาไซแฮโลทริน (Lambda cyhalothrin ) ที่ปริมาณ 0.031 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และพบไซเปอร์เมทริน (cypermethrin) ที่ปริมาณ 0.061 มิลลิกรัม/กิโลกรัม 4. กุ้งแห้งนำเข้าจากประเทศจีนที่เก็บตัวอย่างจากตลาดสดจังหวัดพะเยา พบแลมบ์ดาไซแฮโลทริน (Lambda cyhalothrin ) ที่ปริมาณ 0.048 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และพบไซเปอร์เมทริน (cypermethrin) ที่ปริมาณ 0.33 มิลลิกรัม/กิโลกรัม   ข้อสังเกต• ตัวอย่างที่เก็บจากตลาดสดจังหวัดพะเยา พบการปนเปื้อนทั้งสีสังเคราะห์สีแดงและสีเหลืองและพบการปนเปื้อนของสารเคมีทางการเกษตรกลุ่มไพรีทอยด์ (ยาฆ่าแมลง) • ผลิตภัณฑ์ที่ทำการทดสอบกว่าร้อยละ 90 ไม่ระบุยี่ห้อ ไม่ทราบวันผลิตและวันหมดอายุ และไม่ทราบผู้ผลิต ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 (พ.ศ.2529) เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อน ข้อ 4 (2) ระบุว่าให้พบการปนเปื้อนของ อฟลาทอกซิน ได้ไม่เกิน 20 ไมโครกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม สาระน่ารู้เกี่ยวกับสิ่งปนเปื้อนที่พบในกุ้งแห้ง สีผสมอาหาร นิยมใส่ในอาหารเพื่อทำให้อาหารมีสีสันสดใสดึงดูดใจให้รู้สึกอยากรับประทาน ซึ่งสีที่ใส่ในอาหารมีทั้งสีจากธรรมชาติและสีที่สังเคราะห์ขึ้นมา แน่นอนสีผสมอาหารไม่มีคุณค่าทางอาหารแถมถ้าสะสมอยู่ในร่างกายในปริมาณมากๆ ก็อาจเป็นอันตรายต่อตัวเราได้ โดยเฉพาะกับระบบการทำงานของกระเพาะอาหาร เพราะสีผสมอาหารจะเข้าไปเคลือบกระเพาะอาหารการดูดซึมสารอาหารก็จะมีปัญหา และอาจลุกลามไปกระทบต่อการทำงานของไตด้วย สำหรับวิธีง่ายๆ เพื่อจะดูว่ากุ้งแห้งที่เราจะซื้อใส่สีหรือเปล่า แม่ค้าอาหารทะเลแห้งจากตลาดมหาชัยแนะนำว่าให้ดูที่ท้องกุ้ง ถ้ากุ้งแห้งไม่ใส่สีท้องกุ้งจะขาว แต่ถ้าเกิดเป็นสีแดงหรือส้มก็ให้สงสัยได้เลยว่าใส่สี สารเคมีทางการเกษตรกลุ่มไพรีทอยด์ เป็นสารเคมีในกลุ่มยาจำกัดแมลงซึ่งสารพิษชนิดนี้จะทำอันตรายกับคนเราไม่มาก แต่ก็ไม่ควรให้ร่างกายสัมผัสหรือหายใจเข้าไป ยิ่งถ้าหากเข้าสู่ร่างกายโดยการดื่มกินเข้าไปก็ต้องระวัง โดยเฉพาะคนที่เป็นและเคยเป็นโรคหอบหืด เพราะจะทำให้อาการหอบหืดปรากฏขึ้นมาได้ อาการเบื้องต้นก็มีทั้ง คลื่นไส้ อาเจียน ไปจนถึงชีพจรเต้นช้า หายใจติดขัด ผิวหนังซีด เหงื่อออก กล้ามเนื้อกระตุก ซึ่งเหตุผลที่สารเคมีกำจัดศัตรูพืชมาปนเปื้อนอยู่ในกุ้งแห้งก็เพราะพ่อค้า-แม่ค้าบางคนนำเจ้าสารเคมีดังกล่าวมาฉีดลงบนกุ้งแห้งเพราะไม่อยากให้มีแมลงวันมาตอมกลัวจะดูไม่ดีลูกค้าไม่มาซื้อ อะฟลาทอกซิน เป็นสารพิษที่เกิดจากเชื้อราซึ่งมักเกิดกับพืชตระกูลถั่ว ข้าว และอาหารแห้งต่างๆ โดยเฉพาะยิ่งเมื่ออยู่ในสภาพอาการที่ร้อนชื้น สำหรับพิษของอะฟลาทอกซินจะไปทำอันตรายกับตับ คือทำให้เกิดโรคต่างๆ ที่เกี่ยวกับตับ ไม่ว่าจะเป็นมะเร็งตับ ตับอักเสบ ตับแข็ง รวมทั้งอาจทำให้เกิดอาการสมองอักเสบ วิธีหลีกเลี่ยงสารอะฟลาทอกซินอย่างแรกก็คือ ไม่ทานอาหารที่มีเชื้อราขึ้น สังเกตง่ายๆ ก็คือถ้ามีรอยสีดำหรือสีเขียวเข้มๆ เกิดที่อาหาร ให้สงสัยได้เลยว่าเป็นเชื้อรา วิธีทำกุ้งแห้ง บ้านเราแดดจัดดี ถ้าพอมีพื้นที่โล่ง ทำกุ้งแห้งกินเองก็ดีนะครับ กุ้งที่นิยมนำมาทำกุ้งแห้งคือกุ้งทะเลเปลือกบางครับ นำมาต้มหรือนึ่งจนสุก โดยเคล้าเกลือพอให้มีรสเค็ม จากนั้นก็นำไปตากแดด ถ้าแดดดี ๆ แค่วันเดียวก็แห้งใช้ได้แล้วครับ จากนั้นก็หาถุงผ้าใส่กุ้งลงไปแล้วบุบหรือทุบด้วยไม้ตีพริก จะทำให้เปลือกร่อนออกมา แกะส่วนเปลือกทิ้งไป เราก็จะได้กุ้งแห้งอย่างดี รสชาติอร่อย ไม่ปนเปื้อนสารเคมีครับ อ้อสำหรับบ้านที่ไม่มีพื้นที่สำหรับตากแดด ลองนำกุ้งสดหรือกุ้งแช่แข็ง(ละลายก่อนนะครับ) เคล้าเกลือแล้วอบด้วยเตาอบไฟฟ้า ก็พอจะเป็นกุ้งแห้งแบบบ้านๆ ได้แล้วครับ กุ้งขนาดกลาง 1 กิโลกรัม พอตากแดดแห้งแล้วจะเหลือน้ำหนักประมาณ 250 กรัมครับ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 281( พ.ศ.2547) เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร ระบุว่า เนื้อสัตว์ทุกชนิด ที่ปรุงแต่ง รมควัน ทำให้แห้ง ห้ามใส่สี ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่288 (พ.ศ. 2548) เรื่องอาหารที่มีสารพิษตกค้าง ไม่ระบุว่าอนุญาติให้มีการปนเปื้อนของสารเคมีทางการเกษตรในอาหารทะเลแห้ง ดังนั้นจึงไม่ควรมีปนเปื้อนมาในอาหาร (ผลรายงานเฉพาะตัวอย่างที่ส่งวิเคราะห์เท่านั้นโดย สถาบันโภชนาการ ม.มหิดล ภาควิชาเทคโนโลยีอาหาร คณะเทคโนโลยี ม.ขอนแก่น คณะอุตสาหกรรมการเกษตร ม.สงขลานครินทร์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ ม.เชียงใหม่)

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 110 ‘สารกันบูด’ สูตรอร่อยเสี่ยงในลูกชิ้น

ลูกชิ้น หนึ่งในอาหารยอดนิยม ทั้งกินเล่นกินจริง นำไปปรุงเป็นอาหารต่างๆ ได้หลายเมนู ทั้งใส่ ก๋วยเตี๋ยว ปิ้ง ทอด หรือยำลูกชิ้นก็มี ลูกชิ้นมีขายทั่วไปทั้งหน้าโรงเรียน หน้าปากซอย ตลาดสด ร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาเก็ตในห้างสรรพสินค้า และห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ ด้วยความหลากหลายในการนำไปประกอบอาหารนี้เอง ทำให้โครงการพัฒนากลไกการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารสนใจและอยากรู้ว่าจะมีการปนเปื้อนอะไรบ้างในลูกชิ้น ทางโครงการฯ ร่วมกับนิตยสารฉลาดซื้อ และพื้นที่ดำเนินงานอีก 7 จังหวัด ของโครงการพัฒนากลไก ฯ จึงได้ดำเนินการเก็บตัวอย่างลูกชิ้นหมู ลูกชิ้นไก่ และ ลูกชิ้นปลา จากทั้งตลาดสด ร้านค้าปลีกในจังหวัด และ ห้างค้าปลีกและค้าส่งขนาดใหญ่ (โลตัส แมคโคร คาร์ฟูร์) ในเดือนพฤศจิกายน 2552 เพื่อตรวจหาสารกันบูด 4 ประเภท คือ กรดเบนโซอิค กรดซอร์บิค ไนเตรท และไนไตรท์ นอกจากนั้นยังตรวจหาน้ำประสานทองหรือ บอแรกซ์ อีกด้วย โดยเก็บตัวอย่างลูกชิ้นหมูจากพื้นที่กรุงเทพฯ สมุทรสงคราม ขอนแก่น มหาสารคาม เชียงใหม่ และ พะเยา จำนวน 22 ตัวอย่าง (22 ยี่ห้อ) เก็บตัวอย่างลูกชิ้นไก่จากจังหวัดสงขลา และ จังหวัดสตูล จำนวน 8 ตัวอย่าง (8 ยี่ห้อ) และ เก็บตัวอย่างลูกชิ้นปลา จากจังหวัดพะเยา จำนวน 2 ตัวอย่าง (2 ยี่ห้อ) รวมตัวอย่างลูกชิ้นที่เก็บ ทั้งสิ้น 32 ตัวอย่าง (32 ยี่ห้อ) ผลการทดสอบ1. การทดสอบวัตถุเจือปนอาหาร ประเภทสารกันบูด – กรดเบนโซอิค1.1. พบว่าลูกชิ้นหมูทุกยี่ห้อ (22 ยี่ห้อ) ที่เก็บตัวอย่างใส่สารกันบูดประเภทกรดเบนโซอิค โดยมีค่าเฉลี่ยของปริมาณที่พบอยู่ที่ 2,206.97 มิลลิกรัม/กิโลกรัม การแบ่งกลุ่มตัวอย่างตามผลที่พบออกเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มตัวอย่างที่มีปริมาณกรดเบนโซอิคต่ำกว่า 1,000 มิลลิกรัม/กิโลกรัม จำนวน 7 ตัวอย่าง (ร้อยละ 32) และกลุ่มตัวอย่างที่มีปริมาณกรดเบนโซอิคสูงกว่า 1,000 มิลลิกรัม/กิโลกรัม จำนวน 15 ตัวอย่าง (ร้อยละ 68) ปริมาณกรดเบนโซอิคที่พบสูงสุด 5 ตัวอย่าง ได้แก่ (1) ยี่ห้อกวางตุ้ง 9536.19 มิลลิกรัม/กิโลกรัม เก็บตัวอย่างจากห้างโลตัสจังหวัดเชียงใหม่ (2) ยี่ห้อหมูรวมดาว 3,572 มิลลิกรัม/กิโลกรัม เก็บตัวอย่างจากจังหวัดมหาสารคาม (3) ยี่ห้อหมูสยาม 3317.59 มิลลิกรัม/กิโลกรัม เก็บตัวอย่างจากตลาดยิ่งเจริญ กรุงเทพฯ (4) ยี่ห้อคุณหมอ 3,163.27 มิลลิกรัม/กิโลกรัม เก็บตัวอย่างจากตลาดห้วยขวาง กรุงเทพฯ และ (5) ยี่ห้อน้องเพียร 3,152 มิลลิกรัม/กิโลกรัม เก็บตัวอย่างจากจังหวัดมหาสารคาม 1.2. พบว่าลูกชิ้นไก่ทุกยี่ห้อ (8 ยี่ห้อ) ที่เก็บตัวอย่างใส่สารกันบูดประเภทกรดเบนโซอิค โดยมีค่าเฉลี่ยของปริมาณที่พบอยู่ที่ 2,243.668 มิลลิกรัม/กิโลกรัม โดยกลุ่มตัวอย่างที่มีปริมาณกรดเบนโซอิคต่ำกว่า 1,000 มิลลิกรัม/กิโลกรัม จำนวน 3 ตัวอย่าง (ร้อยละ 37.5) ส่วนกลุ่มตัวอย่างที่มีปริมาณกรดเบนโซอิคสูงกว่า 1,000 มิลลิกรัม/กิโลกรัม จำนวน 5 ตัวอย่าง (ร้อยละ 62.5) ปริมาณกรดเบนโซอิคที่พบสูงสุด 3 ตัวอย่างได้แก่ (1) ยี่ห้ออร่อย 5 ดาว 5,796 มิลลิกรัม/กิโลกรัม เก็บตัวอย่างจากตลาดพลาซ่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา (2) ยี่ห้อบีบี 4,371.04 มิลลิกรัม/กิโลกรัม เก็บตัวอย่างจากตลาดสดละงู อำเภอละงู จังหวัดสตูล และ (3) ยี่ห้อจงหยวน 2,672 มิลลิกรัม/กิโลกรัม เก็บตัวอย่างจากตลาดพลาซ่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา 1.3. พบว่าลูกชิ้นปลาจำนวน 1 ตัวอย่างจาก 2 ตัวอย่างที่ทำการสำรวจในจังหวัดพะเยาใส่สารกันบูดประเภทกรดเบนโซอิค คือยี่ห้อห้าดาว ซึ่งเก็บจากตลาดสดแม่ต๋ำ โดยพบที่ปริมาณ 167.37 มิลลิกรัม/กิโลกรัม 2. การทดสอบวัตถุเจือปนอาหารประเภทสารกันบูด – กรดซอร์บิคพบว่ามีลูกชิ้นจำนวน 5 ตัวอย่างที่ใช้กรดซอร์บิคในผลิตภัณฑ์ แบ่งเป็นลูกชิ้นหมูจำนวน 3 ตัวอย่าง ได้แก่ (1) ยี่ห้อแชมป์ 138.07 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ที่เก็บจากห้างแม็คโคร จังหวัดเชียงใหม่ (2) ยี่ห้อหมูดี 61.34 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ที่เก็บจากห้างคาร์ฟูร์ จังหวัดเชียงใหม่ และ (3) ยี่ห้อเทสโก้ 103.05 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ที่เก็บจากห้างโลตัสจังหวัดพะเยา อีก 2 ตัวอย่างที่พบกรดซอร์บิค ได้แก่ลูกชิ้นไก่ที่เก็บตัวอย่างจากจังหวัดสตูล ประกอบด้วยยี่ห้อบีวัน 406 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และ ยี่ห้อไก่ยิ้ม 143.4 มิลลิกรัม/กิโลกรัม 3. การทดสอบวัตถุเจือปนอาหารประเภทสารกันบูด – ไนเตรทจากการทดสอบทั้งสิ้น 28 ตัวอย่าง พบการใช้ไนเตรทในลูกชิ้นทั้งสิ้น 11 ตัวอย่าง แบ่งเป็นลูกชิ้นหมู 7 ตัวอย่าง (กรุงเทพ ฯ 4 ตัวอย่าง สมุทรสงคราม 2 ตัวอย่าง และมหาสารคาม 1 ตัวอย่าง) และลูกชิ้นไก่ 4 ตัวอย่าง (ทั้งหมดจากจังหวัดสงขลา) โดยมีปริมาณที่พบอยู่ระหว่าง 2.5 – 35 มิลลิกรัม/กิโลกรัม 4. การทดสอบวัตถุเจือปนอาหารประเภทสารกันบูด – ไนไตรท์จากการทดสอบทั้งสิ้น 28 ตัวอย่าง พบการใช้ไนไตรท์ในลูกชิ้นทั้งสิ้น 11 ตัวอย่าง แบ่งเป็น ลูกชิ้นหมู 7 ตัวอย่าง (กรุงเทพฯ 3 ตัวอย่าง และ สมุทรสงคราม 4 ตัวอย่าง) และลูกชิ้นไก่ 4 ตัวอย่าง (ทั้งหมดจากจังหวัดสงขลา) โดยมีปริมาณที่พบอยู่ระหว่าง 0.2 – 4.2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม 5. การทดสอบวัตถุเจือปนอาหาร – น้ำประสานทอง หรือ บอแรกซ์ไม่พบน้ำประสานทอง (บอแรกซ์) ในทุกตัวอย่างที่ทำการทดสอบ ข้อสังเกต1. มีลูกชิ้นหมูทั้งสิ้น 3 ยี่ห้อ ที่ใช้สารกันบูด 2 ชนิด คือกรดเบนโซอิค และกรดซอร์บิคร่วมกันในผลิตภัณฑ์เดียว ได้แก่ ยี่ห้อหมูดีและยี่ห้อแชมป์ที่เก็บตัวอย่างจากจังหวัดขอนแก่น และยี่ห้อเทสโก้ ที่เก็บตัวอย่างจากจังหวัดพะเยา 2. มีลูกชิ้นไก่จำนวน 2 ยี่ห้อ ที่ใช้สารกันบูด 2 ชนิด คือกรดเบนโซอิค และกรดซอร์บิคร่วมกันในผลิตภัณฑ์เดียว ได้แก่ ยี่ห้อ บีวันของบริษัทอาหารเบทเทอร์ และ ยี่ห้อไก่ยิ้มของบริษัท ซีพี ที่เก็บตัวอย่างจากจังหวัดสงขลา 3. มีลูกชิ้นหมูจำนวน 5 ยี่ห้อ ที่ใส่สารกันบูดตั้งแต่ 3 ชนิดขึ้นไป (กรดเบนโซอิค ไนเตรท และไนไตรท์) ในผลิตภัณฑ์เดียว ได้แก่ ยี่ห้อหมูสยาม วีไอพี และคุณหมอ ซึ่งเก็บจากตลาดสดในกรุงเทพฯ และ ยี่ห้อ พีพีเอ็น และ ศรีปทุม ซึ่งเก็บจากร้านค้าในจังหวัดสมุทรสงคราม 4. มีลูกชิ้นไก่จำนวน 4 ยี่ห้อ ที่ใส่สารกันบูดตั้งแต่ 3 ชนิดขึ้นไป (กรดเบนโซอิค ไนเตรท และไนไตรท์) ในผลิตภัณฑ์เดียว ได้แก่ ยี่ห้อจงหยวน อร่อย 5 ดาว บอลลูน และดิสโก้ ซึ่งเก็บตัวอย่างจากตลาดสดในจังหวัดสงขลา สรุปผลในการทดสอบครั้งนี้ พบว่าตัวอย่างลูกชิ้นเกือบทุกยี่ห้อที่เรานำมาทดสอบครั้งนี้มีการใช้สารกันบูด โดยเฉพาะกรดเบนโซอิค ซึ่งถึงแม้ อย. จะอนุญาตให้ใช้ได้ แต่ปริมาณที่ตรวจพบอยู่ในเกณฑ์ที่สูงมาก เมื่อเทียบมาตรฐานอาหารสากล (Codex Alimentarius Commission) ซึ่งกำหนดปริมาณการใช้กรดเบนโซอิคในอาหารไว้ว่าไม่ควรเกิน 1,000 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม สำหรับคนที่ชอบลูกชิ้น เห็นตัวเลขของสารกันบูดจากผลการทดสอบครั้งนี้แล้วอาจตกใจ แต่ก็ต้องทำความเข้าใจว่า สารกันบูดสามารถใส่ลงในลูกชิ้นได้แต่ต้องอยู่ในปริมาณที่กำหนด ซึ่งเราในฐานะผู้บริโภคก็ต้องรู้จักเลือกที่จะรับประทาน คือเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากแสดงข้อมูลส่วนผสมต่างๆ ชัดเจน แสดงแหล่งที่ผลิต วันเดือนปีที่หมดอายุ ล่าสุด อย. ก็ได้ออกกฎระเบียบใหม่ให้ผู้ผลิตลูกชิ้นต้องติดฉลากแสดงข้อมูลสำคัญต่างๆ ลงบนสินค้าของตัวเอง ซึ่งตรงนี้ก็จะเป็นประโยชน์กับผู้บริโภคในการตัดสินใจเลือกซื้อ นอกจากนี้คนที่ชอบทานลูกชิ้นก็ต้องรู้จักควบคุมปริมาณการรับประทาน คือทานแต่พอดี เพราะถ้าทานมากไปก็ยิ่งเสี่ยงอันตราย ตารางแสดงผลการทดสอบสารกันบูดในลูกชิ้น    

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point


ฉบับที่ 91 ปลาเส้นปรุงรส รสยิ่งเข้มยิ่งมีปัญหา

ปลาเส้นปรุงรส เป็นอาหารว่างอีกชนิดหนึ่งที่นิยมรับประทานกันมาก โดยเฉพาะเด็กๆ และสาวกลัวอ้วนทั้งหลาย เพราะนักโฆษณาเขานำจุดขายไขมันต่ำ โปรตีนสูงมาเรียกความสนใจจากผู้บริโภค เพื่อให้แทนที่ขนมขบเคี้ยวที่มีทั้งแป้ง น้ำตาลและไขมัน ซึ่งล้วนส่งเสริมความอ้วนและโดนโจมตีหนักว่าทำให้เด็กไทยกลายเป็นเด็กอ้วน แต่…ข้อด้อยสำคัญของปลาเส้นปรุงรส ที่ถูกละเลยไปจากโฆษณาคือ ปริมาณโซเดียมที่สูงจนน่าเป็นห่วง ยิ่งประเภทรสจัดจ้าน รสเข้มข้นยิ่งมีปัญหา หลายคนอาจมองว่า ปลาเส้นก็เป็นอาหารว่างประเภทหนึ่ง มันคงไม่มีอะไรนักหนา อย่าประมาทไปนะ ถ้าลองพลิกดูฉลากด้านหลังซองแล้วเพ่งมองดูปริมาณโซเดียมตรงฉลากโภชนาการสักนิด จะรู้สึกถึงความไม่ธรรมดาของมัน เพราะอาหารชนิดนี้มีปริมาณโซเดียมสูงมากๆ ความจริงแล้วถ้ามีการระบุทุกฉลากก็น่าจะดีใช่ไหมคะ เพราะเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจให้ผู้บริโภคได้ แต่บางฉลากก็ละเลยไม่มีรายละเอียดอะไรเลย นอกจากแสดงวิธีกินและการดัดแปลงเป็นอาหารแบบต่างๆ ฉลาดซื้อเลยนำผลิตภัณฑ์ปลาเส้นปรุงรส ยี่ห้อยอดนิยมบวกด้วยยี่ห้อของห้างสรรพสินค้าที่เรียกว่า โลคอลแบรนด์ มาทดสอบหาปริมาณโซเดียม พร้อมกับปริมาณโปรตีนที่อ้างว่ามีสูง และแถมด้วยผลิตภัณฑ์ที่ใกล้เคียงกันได้แก่ ปลาหมึกปรุงรส อีก…  ตัวอย่างเพราะเห็นว่ามีคนนิยมชมชอบไม่แพ้กัน ผลทดสอบปริมาณโปรตีนและโซเดียมในผลิตภัณฑ์ ปลาเส้นปรุงรสและปลาหมึกปรุงรส 

อ่านเพิ่มเติม >