ฉบับที่ 276 ไซบูทรามีน คืนชีพ

        ข่าวการเสียชีวิตของผู้ป่วยหญิงรายหนึ่งที่จังหวัดอ่างทอง เมื่อกลางปี 2562 ผลชันสูตรพบว่าสาเหตุการเสียชีวิตเกิดจากภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ผลการตรวจเลือดพบว่ามียา 4 ชนิด (ที่มีการผสมในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อ้างสรรพคุณลดน้ำหนักที่ผู้เสียชีวิตรับประทาน) ได้แก่ ฟูลออกซิทีน (Fluoxetine) บิซาโคดิล (bisacodyl) ไฮโดรคลอโรไทอะไซด์ (hydrochlorothaiazide) และ ไซบูทรามีน (cybutramine) ยาทั้ง 4 ชนิด ออกฤทธิ์ร่วมและเสริมกันทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะจนเสียชีวิต นำไปสู่การปราบปรามการแอบลักลอบปลอมปน “ไซบูทรามีน” ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยมีเป้าหมายสำคัญคืออำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เพราะมีข้อมูลว่าเป็นต้นทางการลักลอบนำเข้าสารไซบูทรามีนจากประเทศเพื่อนบ้าน มีการตรวจค้นและพบวัตถุดิบสารไซบูทรามีนและการปลอมปนในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อวดอ้างสรรพคุณลดน้ำหนักจำนวนมากหลายยี่ห้อ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้ดำเนินคดีและแจ้งเตือนไปแล้ว         ล่าสุดในเดือนธันวาคม 2566 เครือข่ายเฝ้าระวังในจังหวัดเชียงราย รายงานว่าพบการกลับมาจำหน่ายและพบการบริโภคผลิตภัณฑ์ยี่ห้อ “Lishou” และ “Bashi”ในหลายพื้นที่ โดยผลิตภัณฑ์ที่พบใครั้งล่าสุดนี้ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่มีเลขสารบบอาหาร (เลข อย.) ผลิตภัณฑ์ทั้ง 2 ยี่ห้อนี้เคยตรวจพบการปลอมปนสารไซบูทรามีน และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้เคยดำเนินคดีและแจ้งเตือนไปแล้ว แสดงให้เห็นว่าเครือข่ายธุรกิจการลักลอบผลิตยาลดความอ้วนไม่ได้หมดไป ยังคงคืนชีพดำเนินการอย่างต่อเนื่อง การกลับมาระบาดครั้งนี้ยังพบว่ามีการโฆษณาขายในตลาดออนไลน์อย่างเปิดเผย        ขอเตือนภัยมายังผู้บริโภคให้สังเกตผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่กำลังรับประทานอยู่ว่าได้ขออนุญาตถูกต้องหรือไม่ หรือแม้จะมีเลข อย. หากรับประทานไปแล้วน้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็วหรือผอมเร็ว ให้ระวังว่าอาจมีสารไซบูทรามีนปลอมปนควรหยุดรับประทาน แล้วให้ส่งผลิตภัณฑ์ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้านตรวจสอบและดำเนินการต่อไปเพื่อความปลอดภัย         ไซบูทรามีนคืออะไร : ไซบูทรามีนคือสารเคมีที่ส่งผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง (สมอง) ที่ทำให้ไม่รู้สึกหิว อิ่มเร็วและกระตุ้นการเผาผลาญพลังงานในร่างกาย จึงมีการนำไปใช้ในทางที่ผิดโดยนำมาลักลอบปลอมปนในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อ้างสรรพคุณลดน้ำหนัก แต่เนื่องจากสารนี้มีผลข้างเคียงต่อร่างกายทำให้ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะ ปากแห้ง ปวดศีรษะ นอนไม่หลับและท้องผูก ที่สำคัญมีรายงานผลกระทบต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดทำให้เกิดผลเสียร้ายแรงจนถึงแก่ชีวิต ประเทศไทยจึงจัดไซบูทรามีนเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด และยกเลิกทะเบียนตำรับยาที่มีสารนี้ไปแล้วตั้งแต่ ปี 2553

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 274 ผักผลไม้ควรกินแต่พอดี

        หลายคนอาจเข้าใจว่า การกินผักมากๆ ดีต่อสุขภาพเพราะอุดมไปด้วยใยอาหาร วิตามินและเกลือแร่มากมาย กินมากเท่าไรก็ควรจะดีเท่านั้น         อย่างไรก็ดีในเดือนตุลาคม 2566 มีข่าวหนึ่งซึ่งน่าสนใจบนหลายเว็บไซต์ให้ข้อมูลว่า ดาราสาวได้แชร์ประสบการณ์ผ่านอินสตาแกรมถึงกรณีป่วยเพราะกินผักเยอะ ก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพจนเสี่ยงเป็นโรคกระเพาะอาหาร เนื้อข่าวนั้นได้มีการแสดงภาพขณะทำการตรวจรักษาพร้อมเขียนข้อความประกอบว่า “มีเรื่องมาเตือนทุกคนเพราะเพิ่งไปตรวจสุขภาพส่องกล้องลำไส้ใหญ่มา เนื่องจากช่วงหลังรู้สึกว่าท้องอืด ท้องเฟ้อบ่อยมากแล้วพบว่า เกิดจากการกินอาหารจำพวกสลัดมากเกินไป เพราะผักบางชนิดอาจจะไปกระตุ้นทำให้เกิดแก๊สในลำไส้ใหญ่ เลยทำให้ท้องอืด ท้องเฟ้อ”         มีคำแนะนำจากเว็บไซต์ของ Mayo Clinic (Wikipedia ให้ข้อมูลว่า เป็นศูนย์การแพทย์เชิงวิชาการของสหรัฐอเมริกาที่ไม่แสวงหากำไร มุ่งเน้นด้านการดูแลสุขภาพ การศึกษาและการวิจัยแบบบูรณาการในการบำบัดโรคที่ยากลำบากที่ต้องการดูแลระดับตติยภูมิและการแพทย์ทางไกล ศูนย์นี้มีแพทย์และนักวิทยาศาสตร์มากกว่า 7,300 คน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารและบุคคลากรด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพอีก 66,000 คน ประจำในวิทยาเขตหลักสามแห่ง ได้แก่ โรเชสเตอร์ รัฐมินนิโซตา; แจ็กสันวิลล์ รัฐฟลอริดา, และฟีนิกซ์/สกอตส์เดล รัฐแอริโซนา) กล่าวในบทความเกี่ยวกับใยอาหารว่า ผู้หญิงควรพยายามกินใยอาหารอย่างน้อย 21-25 กรัมต่อวัน ในขณะที่ผู้ชายควรตั้งเป้าไว้ที่ 30-38 กรัมต่อวัน โดยผักหนึ่งถ้วย (ประมาณ 250 มิลลิลิตร) ให้ใยอาหารราว 8 กรัม นั่นหมายความว่า ถ้ากินผัก 4-5 ถ้วยแล้วจะได้ใยอาหารเกินมาตรฐานสำหรับผู้หญิง         ในกรณีที่กินผักผลไม้มากเกินไปจะเกิดอะไรขึ้นนั้น Mayo Clinic กล่าวว่า ปริมาณที่แนะนำนั้นไม่ใช่ปริมาณสูงสุด คนที่ชอบผักและผลไม้ส่วนใหญ่กินใยอาหารมากกว่าที่แนะนำโดยไม่ได้รับผลเสียใดๆ ถ้าทยอยกิน ปัญหาจะเกิดขึ้นเมื่อกินมากกว่าที่กระเพาะรับไหวหรือเป็นลักษณะเฉพาะบุคคลที่มักแสดงออกในลักษณะของผลข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์คือ มีแก๊สในท้อง ท้องอืด และอาจท้องผูกอย่างรุนแรง         การกินใยอาหารมากเกินไปอาจทำให้ได้สารอาหารบางชนิดไม่พอได้ เนื่องจากใยอาหารมีผลต่อการดูดซึมสารอาหารอื่นๆ บทความเรื่อง Does Dietary Fiber Affect the Levels of Nutritional Components after Feed Formulation ในวารสาร Fibers ของปี 2018 ได้ให้ข้อมูลว่า การบริโภคใยอาหารอาจส่งผลต่อการดูดซึมสารอาหารในรูปแบบต่างๆ อีกทั้งคุณสมบัติของใยอาหาร เช่น ความสามารถในการอุ้มน้ำจนรวมตัวเป็นก้อนส่งเสริมให้เกิดความสามารถในการจับสารอาหารอื่น เกิดความหนืดและมีความเป็นวุ้นหรือเจลซึ่งเป็นการกักเก็บน้ำซึ่งส่งผลให้สารอาหารที่ละลายน้ำได้ติดอยู่กับใยอาหารซึ่งเคลื่อนตัวลงสู่ลำไส้ใหญ่ ปรากฏการณ์เหล่านี้ส่งผลให้การดูดซึมสารอาหารต่างๆ ลดลง         มีประเด็นที่น่าสนใจว่า สถานการณ์ใดที่ควรใส่ใจควบคุมปริมาณผักและผลไม้ให้พอเหมาะ โดยทั่วไปแล้วการกินอาหารที่อุดมด้วยผักและผลไม้หรือ plant based diet ในภาพรวมนั้นช่วยให้การควบคุมน้ำหนักเป็นไปได้ดี แต่อาหารที่มีพืชเป็นหลักนั้นบางประเภทอาจทำให้ผอมเกินไป ซึ่งหากเป้าหมายในการกินผักผลไม้คือ การลดน้ำหนัก สิ่งจำเป็นต้องควบคุมคือ สัดส่วนของผลไม้และผักที่มีแป้งและ/หรือน้ำมันที่ให้พลังงานสูง เช่น ข้าวโพด มันฝรั่ง และถั่ว ดังนั้นแม้แต่อาหารเพื่อสุขภาพก็อาจทำให้น้ำหนักเพิ่มหรือลดมากเกินไปขึ้นได้         มีการแนะนำกันอย่างแพร่หลายในหลายประเทศว่า ประชาชนควรบริโภคอาหารให้ครบห้าหมู่ซึ่งรวมถึงการกินอาหารกลุ่มผักผลไม้ที่ให้ใยอาหาร อย่างไรก็ดีคำแนะนำนั้นยังขาดการให้ข้อมูลเชิงลึกว่า การกินผักหรือผลไม้นั้น ถ้ากินอะไรก็ได้ ทำให้ได้ผลเหมือนกันหรือไม่อย่างไร ข้อมูลพื้นฐานที่ผู้บริโภคควรทราบเกี่ยวกับใยอาหาร         ใยอาหาร หมายถึง ทุกส่วนของอาหารจากพืชที่เป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน ซึ่งร่างกายไม่สามารถย่อยเป็นโมเลกุลเล็กได้ จึงไม่มีการดูดซึมอะไรเข้าสู่ระบบของร่างกาย ต่างจากคาร์โบไฮเดรตที่ได้จาก ข้าวสุก ขนมปัง เผือก มัน และน้ำตาลต่างๆ ส่วนความรู้สึกจากการเคี้ยวอาหารที่มีใยอาหารปริมาณสูงคือ ความกระด้างของอาหารที่เกิดขึ้น เปรียบได้ถึงความแตกต่างระหว่างการเคี้ยวข้าวสวยที่หุงจากข้าวขัดขาวและข้าวกล้อง (หรือข้าวซ้อมมือ)         ใยอาหารนั้นมีสองประเภทคือ ใยอาหารที่อุ้มน้ำดี (soluble fiber) ซึ่งอุ้มน้ำและของเหลวในทางเดินอาหารจนมีลักษณะคล้ายวุ้น (ให้นึกภาพเม็ดแมงลักที่แช่น้ำแล้วพองตัว) ที่ถูกย่อยโดยแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ได้แก๊ซ ซึ่งมีความเป็นกรดไขมันระเหยง่ายที่ให้พลังงานแก่เซลล์ของลำไส้ใหญ่และอาจเหลือส่งไปสมอง ส่วนอีกประเภทคือ ใยอาหารที่อุ้มน้ำไม่ดี (insoluble fiber) ซึ่งคงสภาพเกือบเหมือนเดิมแม้มีโมเลกุลของน้ำเกาะอยู่บ้างขณะเคลื่อนผ่านระบบทางเดินอาหาร และไม่ถูกย่อยเลยทั้งจากน้ำย่อยของมนุษย์และแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่จึงถือว่า ไม่เป็นแหล่งพลังงาน         ผู้เขียนไม่ใช้คำว่า ละลาย แม้ว่าฝรั่งใช้คำว่า soluble กับ fiber เนื่องจากคำว่า ละลายนั้นทางเคมีแล้วมีความหมายประมาณว่า การที่สารกระจายตัวในตัวทำละลายอย่างสม่ำเสมอส่งผลให้เกิดของเหลวที่ทุกตำแหน่งในภาชนะมีความเข้มข้นเท่ากัน เช่น เกลือแกงละลายน้ำ ส่วนใยอาหารนั้นเป็นแค่จับตัวกับโมเลกุลของน้ำได้ดีทางกายภาพจึงทำให้มองเห็นว่า พองขึ้นในน้ำ เช่นกรณีที่เมล็ดแมงลักพองตัวในน้ำ         สำหรับภาพรวมถึงประโยชน์ของใยอาหารคือ ทำให้รู้สึกอิ่มนานหลังมื้ออาหาร เนื่องจากใยอาหารที่อุ้มน้ำดีทำให้การย่อยอาหารช้าลง ในขณะที่ใยอาหารที่อุ้มน้ำไม่ดีจะเข้าไปเติมเต็มพื้นที่ในกระเพาะอาหารและลำไส้ ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้ช่วยในการควบคุมน้ำหนักตัว ลดความเสี่ยงต่อหลายโรค เช่น โรคอ้วน โรคหลอดเลือดหัวใจ เบาหวาน โรคเกี่ยวกับเมตาบอลิซึมอื่นๆ         ใยอาหารที่อุ้มน้ำดีมักลดการดูดซึมไขมันและช่วยควบคุมน้ำหนักซึ่งเข้าใจกันว่า ลักษณะวุ้นที่เกิดขึ้นนั้นมีความหนาและกระจายตัวออกไปรอบไขมันจึงชะลอหรือลดการย่อยและดูดซึม ประเด็นนี้รวมถึงลดการดูดซึมคอเลสเตอรอลได้ในระดับหนึ่ง จึงเป็นการลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด นอกจากนี้ใยอาหารที่อุ้มน้ำดีช่วยรักษาระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดให้คงที่ โดยชะลออัตราการย่อยคาร์โบไฮเดรตให้ช้าลงเช่นกัน         ประเด็นที่สำคัญมากคือ ใยอาหารที่อุ้มน้ำดีแทบทั้งหมดเป็นอาหาร (prebiotics) ของแบคทีเรียที่ดีต่อสุขภาพ (probiotics) ในลำไส้ใหญ่ โดยผลที่ได้ออกมาคือ กรดไขมันระเหยได้ (volatile free fatty acids เช่น กรดน้ำส้ม กรดโปรปิโอนิค และกรดบิวทิริค) ซึ่งเป็นประโยชน์ในการลดความเสี่ยงของมะเร็งลำไส้ใหญ่         สำหรับใยที่อุ้มน้ำไม่ดี (ซึ่งหมายความว่า อุ้มน้ำบ้าง) นั้นมีบทบาทในการป้องกันอาการท้องผูกเพราะไม่ถูกแบคทีเรียย่อย จึงกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญในการก่อตัวเป็นอุจจาระที่มีความหนืดพอเหมาะไม่แข็งหรือเหลวเกินไป รวมถึงช่วยเพิ่มน้ำหนักของอุจจาระส่งผลให้เกิดการกระตุ้นการขยับตัวของลำไส้ซึ่งเป็นการช่วยเร่งการกำจัดของเสีย (รวมถึงสารพิษที่ถูกขับออกมาจากตับทางน้ำดี) ในอุจจาระให้ออกจากร่างกาย เป็นการป้องกันการอุดตันของกากอาหารในทางเดินอาหารและลดอาการท้องผูก ซึ่งต่อเนื่องไปถึงการลดความเสี่ยงของโรคถุงบนผนังลำไส้ (diverticular disease คือ การเกิดกระเปาะหรือถุงโป่งยื่นออกมาทางด้านนอกของผนังลำไส้) ซึ่งอาจมีขนาดต่างๆ ทั้งเล็กและใหญ่ และอาจมีกระเปาะเดียวหรือหลายกระเปาะได้  ควรกินใยอาหารแต่ละประเภทในปริมาณเท่าใด         มักมีคำถามว่า ควรกินใยอาหารแต่ละประเภทในปริมาณเท่าใด ประเด็นนี้คงตอบยากและคงไม่จำเป็นต้องหาคำตอบ เพราะแต่ละคนนั้นมีความแตกต่างเฉพาะตัว เช่น กรณีของโปรไบโอติกในลำไส้ใหญ่นั้นก็ตัวใครตัวมัน ดังนั้นถ้ากินใยอาหารได้เหมาะสมสิ่งที่สังเกตได้คือ การขับถ่ายอุจจาระเป็นไปได้ด้วยดี ไม่ถ่ายแข็งหรือเหลวเกินไป ไม่ท้องอืดท้องเฟ้อ ไม่ผายลมบ่อยนัก         อาหารที่อุดมไปด้วยใยอาหารที่อุ้มน้ำดีที่หากินได้ในบ้านเราเพื่อทำหน้าที่เป็นโปรไบโอติกนั้น เช่น แตงกวาทั้งสุกและดิบ ฟักทองสุก ถั่วดำปรุงสุก ถั่วแดงปรุงสุก แครอทปรุงสุก กระหล่ำดาวปรุงสุก ข้าวโอ๊ต มันหวานปรุงสุก (เช่น มันม่วง มันสีส้ม) ฝรั่ง แอปเปิ้ล กล้วย ส้ม เมล็ดทานตะวัน และอีกหลายชนิดที่ดูมีเนื้อนิ่ม         สำหรับคำแนะนำในการเพิ่มปริมาณใยอาหารในแต่ละมื้อสำหรับท่านผู้อ่านที่ถ่ายอุจจาระแล้วดูแข็งเกินไปคือ กินธัญพืชไม่ขัดสีซึ่งมีใยอาหารที่อุ้มน้ำไม่ดีสูง (ตามเหตุผลที่อธิบายข้างต้น) พร้อมทั้งพิจารณาอาหารที่อุดมไปด้วยผักและผลไม้ราวครึ่งจานในแต่ละมื้อ และถ้าเป็นไปได้ให้พยายามบริโภคผักและผลไม้ทั้งเปลือกถ้าพิจารณาแล้วไม่เสี่ยงต่อสารกำจัดศัตรูพืชและไม่ก่อความลำบากให้เหงือกและฟัน พร้อมทั้งค้นหาวิธีที่ดีในการปรุงอาหารที่สามารถเพิ่มผักเช่น ถั่วต่าง ๆ ข้าวโพด และผลไม้บางชนิดลงไปตามความเหมาะสม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 273 แพ้กัญชาในอาหารเสี่ยงล้างไต ช็อค เสียชีวิต

        หลังจากที่กัญชาถูกปลดล็อคจากยาเสพติดเป็นสมุนไพรควบคุมทำให้หลายคนหันมาใช้และซื้อ-ขายกัญชากันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะการใส่กัญชาลงในอาหาร จึงทำให้พบผู้ป่วยที่มีอาการแพ้กัญชาพบเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รุนแรงถึงไตวาย ช็อคหรืออาจเสียชีวิตจากฤทธิ์ของสารในกัญชา           ประกาศกรมอนามัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565 เรื่อง การนำใบกัญชามาใช้ในสถานประกอบกิจการอาหาร กำหนดให้สถานประกอบกิจการอาหาร มีการควบคุมคุณภาพวัตถุดิบ การจัดเก็บ จัดให้มีการสื่อสารข้อมูลด้านสุขภาพ และความปลอดภัยแก่ผู้บริโภค โดยการแสดงข้อมูลปริมาณการใช้ใบกัญชาตามประเภทการประกอบอาหาร  เพื่อให้มีสาร THC ไม่เกินกว่าร้อยละ 0.2 เช่น อาหารทอด แนะนำให้ใช้ ใบสด 1-2 ใบต่อเมนู อาหารประเภทผัด แกง ต้ม ผสมในเครื่องดื่มแนะนำใช้ใบสด 1 ใบต่อเมนู แสดงคำเตือนให้แก่ผู้บริโภคที่มีความเสี่ยง ได้แก่ เด็กและวัยรุ่นช่วงอายุน้อยกว่า 18 ปี  สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร ผู้สูงอายุ , ผู้ที่แพ้กัญชา มีคำเตือนผลข้างเคียง  ฯลฯ นอกจากนี้ร้านอาหารต้องขอรับใบอนุญาตสถานที่จำหน่ายอาหาร รวมถึงต้องใช้กัญชาจากแหล่งผลิตและแหล่งจำหน่ายที่ขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตรเท่านั้น  แต่พบว่าปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานเฉพาะที่ตรวจสอบสาร THC ในอาหารหรือเครื่องดื่ม ผู้บริโภคจึงไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าร้านอาหารใช้ปริมาณใบกัญชาตามที่กำหนดหรือไม่ และกรมอนามัยไม่มีอำนาจลงโทษผู้ประกอบการหากเกิดข้อร้องเรียนจากผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบ         ด้านสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ผลิตภัณฑ์อาหารและยาต้องมีเลขอนุญาต ผู้ที่ใช้ส่วนประกอบของกัญชาเป็นส่วนผสมในอาหารของอุตสาหกรรมต้องขออนุญาตจดแจ้งเลขทะเบียนกับ อย. ฉลากต้องแจ้งว่าผลิตภัณฑ์มีส่วนผสมของกัญชา หากผลิตภัณฑ์ไม่มีการจดแจ้งจะมีความผิดเรื่องการจำหน่ายอาหารที่ไม่ขึ้นทะเบียน อย. รวมถึงถ้าผู้บริโภคได้รับอันตรายจากการบริโภคอาหาร เข้าข่ายเป็นอาหารที่ไม่มีความปลอดภัย มีโทษตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 แต่ปัจจุบันมาตรการควบคุมการผลิตหรือการจำหน่ายอาหารในระดับพื้นที่หรือทางออนไลน์ยังไม่ทั่วถึง         ผลการวิจัยเรื่อง ความรู้ความเข้าใจและความตระหนักของผู้ประกอบการร้านอาหารและวิสาหกิจชุมชนต่อมาตรการทางกฎหมายและกรรมวิธีกรผลิตอหารทีมีกัญชาเป็นส่วนผสม ของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ ที่สำรวจกลุ่มตัวอย่างผู้ประกอบการ 320 คนในจังหวัดเชียงใหม่ พบว่ามีผู้ประกอบการ 12.6% เข้าใจว่าสามารถใช้ทุกส่วนของกัญชา ผสมลงในอาหาร เครื่องดื่ม ขนมได้โดยไม่จัดเป็นยาเสพติด ขณะที่ 23.9% คิดว่าสามารถนำกัญชาจากแหล่งใดก็ได้มาประกอบอาหารเพื่อจำหน่าย และผู้ประกอบการเกิน 50% ไม่ทราบว่าการผสมกัญชาลงในอาหารต้องระมัดระวังเรื่องสารปนเปื้อน เช่นสารโลหะหนัก สารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือเชื้อจุลินทรีย์ที่มีโทษ         สรุปภาพรวมเรื่องกัญชาในอาหาร ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจวิธีการใช้กัญชาในอาหารเพียงพอ ยังไม่มีกฎหมายควบคุมกำกับกัญชาโดยเฉพาะ ประกาศ ข้อกำหนด หรือมาตรการของหน่วยงานรัฐต่างๆที่ใช้ยังมีช่องโหว่หรือข้อจำกัดในการตรวจสอบเฝ้าระวังควบคุมให้เป็นไปตามแนวทางที่กำหนด ดังนั้นผู้บริโภคยังคงต้องอาศัยความรู้และใช้สิทธิผู้บริโภคในระวังคุ้มครองตนเองควบคู่ไปกับมาตรการของหน่วยงานรัฐข้างต้น

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 271 แอปพลิเคชัน FoodiEat กินดีมีสุข

เคยได้ยินคำว่า ดัชนีมวลกาย กันไหม         ค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index : BMI) คือ มาตรการที่ใช้ประเมินภาวะอ้วนและผอมในผู้ใหญ่ ตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไป สามารถทำได้โดยการชั่งน้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม และวัดส่วนสูงเป็นเซนติเมตร แล้วนำมาหาดัชมีมวลกาย โดยเกณฑ์มาตรฐานอยู่ระหว่าง 23 - 24.90 kg/m2 ผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกาย (BMI) ตั้งแต่ 23.0 ขึ้นไป ถือว่าน้ำหนักเกินมาตรฐาน มีภาวะเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังขึ้นตามลำดับ ไม่ว่าจะเป็น โรคอ้วน โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ตามมาได้         การควบคุมอาหารมีส่วนสำคัญอย่างมาก ที่จะช่วยให้สามารถลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้ ดังนั้นเพื่อให้มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ห่างไกลจากโรคภัยไข้เจ็บ สิ่งที่สำคัญคือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหารของตนเอง โดยเลือกกินอาหารให้หลากกลาย แต่มีประโยชน์ และควรกำหนดปริมาณการกินที่เหมาะสมต่อความต้องการพลังงาน ทั้งนี้ก็ไม่ควรลด งด หรือ อดอาหารมากจนเกินไป โดยเฉพาะการรับประทานอาหารเช้าซึ่งมีความสำคัญอย่างมาก เพื่อสะสมไว้ใช้ทำกิจกรรมทั้งวัน ส่วนอาหารเย็นควรรับประทานไม่หนักมาก เนื่องจากจะมีโอกาสเผาผลาญพลังงานได้น้อย ทำให้พลังงานเหล่านั้นถูกสะสมในร่างกายกลายเป็นไขมันได้         ลองมาควบคุมพฤติกรรมการกินอาหารผ่านแอปพลิเคชัน FoodiEat กันดีกว่า แอปพลิเคชันนี้ถูกพัฒนามาโดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล มีวัตถุประสงค์เพื่อบันทึกและวิเคราะห์พฤติกรรมการกินอาหาร และการออกกำลังกาย         การใช้งานไม่ยาก เพียงดาวน์โหลดและกรอกข้อมูลชื่อผู้ใช้งาน รหัสผ่าน วันเกิด เพศ น้ำหนัก ส่วนสูง รอบเอว เพื่อลงทะเบียน ระบบจะเริ่มต้นโดยการคำนวณค่าดัชนีมวลกาย (BMI) และอัตราความต้องการเผาผลาญพลังงานของร่างกายในแต่ละวัน (BMR) หรือเรียกว่าค่าพลังงานที่ร่างกายต้องการต่อวันโดยไม่รวมการทำกิจกรรมต่างๆ ต่อจากนั้นกรอกข้อมูลประวัติการรับประทานอาหารในแต่ละมื้อและข้อมูลการออกกำลังกายของทุกวัน แอปพลิเคชันจะคำนวณพลังงานของอาหารหักลบอัตราความต้องการเผาผลาญพลังงานของร่างกายในแต่ละวัน เพื่อให้ผู้ใช้แอปพลิเคชันสามารถควบคุมและวางแผนการการรับประทานอาหารในแต่ละมื้อได้         นอกจากนี้แอปพลิเคชันจะรวบรวมประวัติในรูปแบบสถิติ เพื่อให้นำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบย้อนหลังได้ และยังมีข้อมูลความรู้ คำแนะนำ เป็นแนวทางในการปฏิบัติที่ถูกต้อง ดังนั้นเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารเป็นสิ่งที่ดีที่สุด รวมถึงการออกกำลังกายเพื่อส่งเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ถ้าอยากเปลี่ยนตัวเองให้กลับมามีรูปร่างสมส่วน ห่างไกลโรคร้าย ต้องเริ่มหันมาใส่ใจเรื่องนี้กันมากขึ้น โดยเริ่มต้นจากการใช้แอปพลิเคชัน FoodiEat เพื่อดูแลสุขภาพกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 270 ไปกินสุกี้บุฟเฟต์แล้วเกิดอาการหน้าบวม

        วันนี้ฉลาดซื้อ มีเรื่องราวเกี่ยวกับการรับประทานอาหารบุฟเฟต์มาเล่าเป็นประสบการณ์ให้กับผู้บริโภคหลายๆ คน ให้คอยระมัดระวังกัน โดยเรื่องราวมีอยู่ว่า คุณน้ำตาลได้มาเล่าให้ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคฟังว่า 12 สิงหาคม ที่ผ่านมา เธอไปกินบุฟเฟต์ร้านดังที่กำลังฮิตอยู่ในตอนนี้กับเพื่อนหลายคน ซึ่งเธอก็ได้สั่งอาหารมากินแบบจัดหนักจัดเต็ม (ก็บุฟเฟต์นี่นะ) แต่...เมื่อเธอเริ่มกินอย่างเอร็ดอร่อยได้สักพัก ดันมีอาการหน้าบวม ตาบวมจนปิดขึ้นมาซะงั้น ทำให้เธอต้องไปโรงพยาบาลทันที ซึ่งในวันนั้นเธอได้สั่งแมงกะพรุนกับหมึกกรอบมารับประทาน (อาหารต้องสงสัย) เพราะว่าตัวเองนั้นชอบกินมาก แต่ในตัวเธอเองก็ได้ยืนยันว่าเธอไม่เคยมีประวัติแพ้มาก่อน         ต่อมา เมื่อเธอถึงโรงพยาบาลแพทย์ก็ได้ทำการรักษา เช่น ฉีดยาแก้แพ้และรักษาตามอาการอื่นๆ แต่อาการก็ยังไม่ดีขึ้น พร้อมทั้งแพทย์ยังตรวจพบว่าเธอมีหนองอยู่ในโพรงจมูก สืบเนื่องจากอาการแพ้อาหาร และเธอยังเคยเสริมจมูกมาทำให้ต้องผ่าตัดซิลิโคนออกเพื่อเอาหนองออกไป จนเมื่อเธอได้ออกจากโรงพยาบาลจึงได้ติดต่อมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อปรึกษาและขอคำแนะนำ  แนวทางแก้ไขปัญหาเบื้องต้น          จากข้อมูลที่ทางผู้ร้องได้แจ้งมากับทางมูลนิธิฯ ได้ให้คำแนะนำ ดังนี้             1. ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจในพื้นที่เกิดเหตุ พร้อมหลักฐานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับเป็นเรื่องจริง ไม่ได้กลั่นแกล้งหรือใส่ความแต่ประการใด            2. ทำจดหมายเรียกร้องค่าเสียหายกับทางร้านเป็นแบบไปรษณีย์ตอบรับ โดยสำเนาถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยให้เงื่อนเวลากำกับสำหรับการชดเชยค่าเสียหายไว้ด้วย เช่น 15-30 วัน เป็นต้นไป             3.หากพ้นกำหนดตามเงื่อนเวลาดังกล่าว ทางมูลนิธิฯ อาจเรียกผู้ร้องและคู่กรณีมาทำการไกล่เกลี่ยอีกครั้งหนึ่ง แต่ถ้ายังไม่สามารถตกลงในรายละเอียดได้  ผู้ร้องอาจจะต้องฟ้องศาลเป็นคดีผู้บริโภค เพื่อให้ศาลตัดสินว่าผู้ร้องควรจะได้ค่าชดเชยเป็นจำนวนเงินเท่าไร         ทั้งนี้ หลังจากที่ทางผู้ร้องรับทราบก็ได้มีการทำตามที่มูลนิธิฯ แนะนำ หลังจากนั้นมูลนิธิฯ ได้ติดต่อผู้ร้องไปอีกครั้งเพื่ออัปเดตเรื่องดังกล่าวที่ก่อนหน้านี้วันที่ 18 สิงหาคม มีการนัดไกล่เกลี่ยกับทางร้านซึ่งสรุปว่าทางร้านไม่มาตามที่นัดหมายไว้ อย่างไรก็ตามผู้ร้องได้ปรึกษาอีกว่าได้มีการร้องเรียนไปยังสำนักข่าวต่างๆ เพื่อขอให้ช่วยเหลือเพิ่มเติมอีกด้วย แต่หลังจากข่าวแพร่ออกไปกับมีความคิดเห็นต่อผู้ร้องในแง่ลบ จึงอยากปรึกษาว่าจะทำอย่างไรดี? ทางเราจึงได้แนะนำให้เข้าคอร์สเพื่อตรวจหาสารก่อภูมิแพ้ เพื่อเป็นหลักฐานยืนยัน ซึ่งทางผู้ร้องเองก็ได้ไปตรวจมาเรียบร้อย และกำลังรอผลอีก 1 สัปดาห์          ขณะปิดต้นฉบับเรื่องราวของคุณน้ำตาลยังไม่จบเพราะยังไม่ได้รับการพิสูจน์ว่า เป็นเพราะสาเหตุอะไรกันแน่ คุณน้ำตาลจึงมีอาการดังกล่าว พร้อมทั้งยังไม่ได้ค่าชดเชยจากทางร้าน  แต่อย่างไรก็ตาม ทางมูลนิธิฯ ก็อยากให้ทุกคนระมัดระวังในการรับประทานให้มาก เพราะยิ่งเป็นอาหาร เช่น หมึกกรอบแมงกระพรุนก็อาจจะทำให้เสี่ยงที่จะมีส่วนผสมของฟอร์มาลินได้ สามารถอ่านผลทดสอบหมึกกรอบได้ที่ : https://www.chaladsue.com/article/4269/           ทางที่ดีสอบถามทางร้านให้แน่นอนก่อนรับประทานเพราะมันคือสิทธิของเราที่จะถามว่าอาหารที่เรารับประทานมีแหล่งที่มาจากที่ไหนปลอดภัยและสะอาดหรือไม่ เพื่อความปลอดภัยของตัวเราเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 270 ไม่หลอกก็เหมือนหลอกกับ Voucher ฟรีที่ใช้ไม่ได้จริง!

        แม้ปัจจุบันช่องทางการซื้อขายออนไลน์ผู้บริโภคจะได้รับการคุ้มครองมากขึ้นแล้ว แต่ยังอาจถูก ผู้ประกอบการสบช่องโหว่บางประการชวนให้คนเข้าซื้อสินค้า โดยอาจใช้วิธีการให้สิทธิพิเศษต่างๆ แต่เมื่อถึงเวลากลับไม่สามารถใช้ได้จริง เช่น เรื่องราวของคุณฝ้ายที่ซื้อคูปองจากบริษัทแห่งหนึ่งที่โพสต์บน Facebook page ซึ่งมี เงื่อนไข เรียกแขก จูงใจมาก ...         “ลดราคาร้านอาหารนานาชาติ Rooftop Mocktail และอื่นๆ อีกมากมายในราคาเพียง 99 บาท โปรโมชั่น Flash Sale เริ่มวันที่ xxx 2566 เวลา 00.00 น. เป็นต้นไป”         คุณฝ้ายไม่รอช้า โปรโมชั่น Flash Sale เปิดให้จองเพียง 20 นาทีเท่านั้น  และเพียงกดเข้าไป Voucher Flash sale ราคา 99 บาท อย่างด่วนๆ รอไม่นาน ก็ได้ E-MAIL แจ้งยืนยัน “รายการสั่งซื้อสำเร็จ”         คุณฝ้ายนึกดีใจ รอวันใช้  Voucher  ที่ร้านอาหารนานาชาติในราคาที่รู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้โชคดีมากๆ แต่เพียงไม่กี่ชั่วโมงต่อมา เพจที่ขาย E-Voucher ส่งข้อความมาแจ้งว่า “ เนื่องจากปริมาณการซื้อ ช่วงจัดโปรโมชันมีจำนวนมากทำให้ ระบบ E-MAIL ยืนยัน Voucher ภายใน 24 ชั่วโมง มีความขัดข้องทำให้จำหน่ายเกินโควตาหลายเท่า ดังนั้นจึงขอแจ้งยกเลิก Voucher         บริษัทอ้างเพราะระบบขัดข้องทำให้ต้องแจ้งยกเลิกการใช้  Voucher  โดยแจ้งว่า บริษัทจะคืนเป็น Gift Card มูลค่า 100 และ 200 บาทแต่หากลูกค้าต้องการเงินคืน 100% ให้แจ้งความประสงค์ขอรับเงินคืนได้ที่แบบฟอร์มลงทะเบียนของเพจบริษัทซึ่งต้องทำภายใน 1 วันหลังจากที่บริษัทประกาศเท่านั้น  คุณฝ้ายมองว่า ปัญหาลักษณะนี้อาจหลอกเอาเงินผู้บริโภคได้จำนวนมาก เพราะด้วยราคาไม่สูงมากจึงอาจทำให้มีผู้สนใจจำนวนมากที่แห่กดเข้าไปเมื่อทราบว่าตนเองไม่ได้สิทธิ การทำเรื่องขอเงินคืนบริษัทให้เวลาน้อยมาก ผู้บริโภคหลายคนน่าจะไม่อยากเสียเวลาเพื่อรับเงิน 99 บาทคืน จึงส่งเสียงร้องเรียนเรื่องนี้มาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค             แนวทางการแก้ไขปัญหา         หากผู้บริโภค เจอเหตุการณ์ ซื้อคูปอง/ดีล Flash Sale แล้วถูกยกเลิก ให้ผู้ร้องรวบรวมหลักฐาน มาให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ช่วยดำเนินการ ทำหนังสือไปยังผู้ประกอบการ แต่ผู้ร้องต้องมีหลักฐาน ดังนี้            1.โฆษณาดีล/ Flash Sale ตามช่องทางต่างๆ ที่พบ             2.หมายเลขคำสั่งซื้อ/ดีลที่ซื้อ             3.หลักฐานการชำระเงิน             4.ประกาศแจ้งยกเลิก/ข้อมูลยกเลิกจากบริษัทฯ             5.มีการติดตามทวงถามหรือไม่ (ถ้ามีให้แนบมาด้วย)         เมื่อมีหลักฐานแล้วต้องการรับความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ ก็มีทั้ง  มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และยังสามารถร้องเรียนออนไลน์ กับ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ที่ เว็บไซต์ https://complaint.ocpb.go.th/ หรือแอปพลิเคชัน OCPB Connect ตลอด 24 ชั่วโมง หรือกับ แผนกคดีซื้อขายออนไลน์ กับ ศาลแพ่ง “ได้ 24 ชั่วโมง ที่ เว็บไซต์ศาลแพ่งhttps://efiling3.coj.go.th/eFiling และหากจะฟ้องคดีแพ่งส่วนตัวก็จะต้องทำเป็นหนังสือแจ้งยุติเรื่องร้องทุกข์กับ สคบ. เสียก่อน         เรื่องราวของคุณฝ้าย แม้จำนวนเงินอาจจะดูไม่เยอะ แต่เมื่อผู้เสียหายหลายราย คำนวณจึงเป็นเงินจำนวนมาก หากไม่ช่วยกันส่งเสียง อาจเกิดเหตุลักษณะนี้อีกต่อไปได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 269 สำรวจฉลากอาหารกึ่งสำเร็จรูปชนิด ก๋วยเตี๋ยว ก๋วยจั๊บและเส้นหมี่

        อาหารที่เรียกว่า กึ่งสำเร็จรูป คนไทยส่วนใหญ่จะรู้จัก “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” มากที่สุด เพราะคุ้นชินและมีความนิยมมากเมื่อมองจากมูลค่าการตลาดของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ซึ่งสูงถึงสองหมื่นล้านบาทในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม “อาหารกึ่งสำเร็จรูป” ไม่ได้มีเพียงแค่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเท่านั้นยังมีชนิดอื่นๆ ด้วย เช่น โจ๊ก ข้าวต้มหรือซุป กึ่งสำเร็จรูป ที่วางจำหน่ายทั่วไป         ทั้งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และ โจ๊ก ข้าวต้ม กึ่งสำเร็จรูป นั้น “ฉลาดซื้อ” เคยสำรวจฉลากอยู่บ่อยครั้งเพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการพิจารณาเลือกซื้อให้กับผู้อ่าน แต่สำหรับคราวนี้เราเลือกหยิบ “อาหารกึ่งสำเร็จรูป” อีกชนิดหนึ่ง ซึ่งเมื่อก่อนด้วยเทคโนโลยีการผลิตและความนิยมอาจจะทำให้มีผู้ผลิตไม่มากนัก ยากจะฝ่ากระแสของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปได้ แต่ด้วยยุคสมัยที่ก้าวหน้าทั้งการผลิตและช่องทางการจำหน่าย ปัจจุบันเราจะพบ “อาหารกึ่งสำเร็จรูป” ชนิด ก๋วยเตี๋ยว ก๋วยจั๊บ เส้นหมี่ (หมี่โคราช) วางจำหน่ายในตลาดมากขึ้น โดยบางยี่ห้อก็สามารถทำยอดขายจากผลิตภัณฑ์ก๋วยเตี๋ยวกึ่งสำเร็จรูปได้ถึงปีละ 100 ล้านซอง เรียกว่ากำลังเป็นตลาดที่น่าจับตา         นิตยสารฉลาดซื้อ ร่วมกับโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. จึงได้เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์อาหารกึ่งสำเร็จรูปประเภท ก๋วยเตี๋ยว ก๋วยจั๊บ เส้นหมี่ (ผัดโคราช) และยำขนมจีน  จำนวนรวมทั้งสิ้น 19 ยี่ห้อ จากร้านค้าทั่วไป ร้านค้าปลีก ห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อ ตลอดจนแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อนำมาสำรวจฉลากของผลิตภัณฑ์ทั้งในเรื่อง การแสดงฉลากทั่วไป การแสดงคุณค่าทางด้านโภชนาการและราคา เพื่อให้เป็นชุดข้อมูลสำหรับผู้บริโภคไว้เปรียบเทียบและพิจารณาเลือกซื้อได้อย่างถูกต้อง ตรงใจ     สรุปผลการสำรวจฉลากผลิตภัณฑ์อาหารกึ่งสำเร็จรูปชนิดก๋วยเตี๋ยว ก๋วยจั๊บ เส้นหมี่และยำขนมจีน        1.     ทุกตัวอย่างทั้ง 19 ยี่ห้อ  มีเลขสารบบอาหาร (อย.)         2.     การแสดงฉลากโภชนาการ                 - ก๋วยจั๊บสำเร็จรูป แสดงฉลากโภชนาการ 5 ตัวอย่าง ไม่มีการแสดงฉลากโภชนาการ 2 ตัวอย่าง                - หมี่โคราช แสดงฉลากโภชนาการ 4 ตัวอย่าง ไม่มีการแสดงฉลากโภชนาการ 4 ตัวอย่าง                 - ยำขนมจีน แสดงฉลากโภชนการ 1 ตัวอย่าง ไม่มีการแสดงฉลากโภชนการ 1 ตัวอย่าง                 -  ก๋วยเตี๋ยวเรือ แสดงฉลากโภชนาการ  ตัวอย่าง         3.     ปริมาณโซเดียมพบว่า อาหารกึ่งสำเร็จรูปมีปริมาณโซเดียมค่อนข้างสูง                 - ก๋วยจั๊บในขนาดซองเล็กที่ปริมาณ 50-75 กรัม จะมีโซเดียมระหว่าง 1280 – 1730 มก.                - ผัดหมี่โคราชในหนึ่งหน่วยบริโภคที่ปริมาณ 100 กรัม จะมีโซเดียมระหว่าง 720 – 1330 มก.                - ยำขนมจีนในหนึ่งหน่วยบริโภคที่ปริมาณ 120 กรัม จะมีโซเดียม 1990 มก.                - ก๋วยเตี๋ยวเรือ ในหนึ่งหน่วยบริโภคที่ปริมาณ   กรัม จะมีโซเดียม    มก.        4.     มีเพียง ห้าดาว หมี่โคราชพร้อมน้ำผัดสำเร็จรูป สูตรต้นตำรับโคราช ระบุไม่เจือสีและวัตถุกันเสีย         5.     ราคาสินค้าอยู่ระหว่าง    บาท    ฉลาดซื้อแนะ        1.อาหารกึ่งสำเร็จรูปมีข้อดีที่เก็บรักษาได้นาน ราคาย่อมเยาและรสชาติที่น่าพอใจ อย่างไรก็ตามจัดว่าเป็นอาหารที่มีปริมาณสารอาหารไม่มาก ปริมาณโปรตีนต่ำและมีโซเดียมสูงซึ่งเกิดจากการปรุงรสให้กลมกล่อม ดังนั้นไม่ควรรับประทานบ่อย และในการปรุงควรเพิ่มปริมาณเนื้อสัตว์ ผัก เพื่อเพิ่มคุณค่าของสารอาหาร         2.ผัดหมี่ มักจะมาในบรรจุภัณฑ์ขนาดใหญ่ ซึ่งในการทำหนึ่งครั้งอาจแบ่งกินได้ 3 – 4 คน หรือ 3 – 4 ครั้ง ดังนั้นควรเลี่ยงไม่รับประทานหมดห่อในครั้งเดียว ด้วยเสี่ยงต่อปริมาณโซเดียมที่สูงเกินไป         3.เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มี เลขสารบบอาหาร วันเดือนปี ผลิต/หมดอายุที่ชัดเจน และมีสถานที่ติดต่อหรือแหล่งผลิตแน่นอน        4.หากเปิดซองแล้วพบสภาพสินค้า ไม่สมบูรณ์ มีกลิ่นหืน ไม่ควรรับประทาน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 269 ซื้ออาหารเสริม แต่สินค้ามีสภาพหมดอายุทำอย่างไรดี

        คุณศรีนวล ซื้ออาหารเสริมมากินเพราะเห็นคำโฆษณาและรีวิวต่างๆ แล้วสนใจ ตอนที่หยิบซื้อมาก็คิดว่า ตรวจสอบข้างกล่องอย่างดีแล้วนะ ยังไม่หมดอายุ เมื่อวางใจ จึงกินต่อเนื่องวันละเม็ด รวม 4 วัน เท่ากับ 4 เม็ด คือแกะจากแผง ก็เอาเข้าปากกลืนลงคอเลย ทว่าวันที่ 4 ได้ทดลองตรวจสอบสภาพสิ่งของที่กินเข้าไป เลยพบว่ามีอะไรขาวๆ ติดอยู่บนอาหารเสริมที่เป็นสีเทา คราวนี้จึงรู้สึกวิตกว่ามันจะเป็น “ เชื้อรา “ หรือเปล่าพอแกะเปลือกแคปซูล ปรากฏว่า ผงขาวๆ ข้างในมันแข็งตัวเป็นแท่ง โดย 10 แคปซูล ใน 1 แผง มีสภาพเหมือนกันหมด ปัญหาคือ อีก 3 กล่อง ที่ซื้อมาพอแกะดูทั้งหมด มีสภาพไม่ต่างกัน จึงอยากจะคืนสินค้าและขอเงินคืน จึงปรึกษามูลนิธิฯ ว่าต้องทำอย่างไร แนวทางการแก้ไขปัญหา        1.แนะผู้ร้องซึ่งบริโภคอาหารเสริมเข้าไปแล้ว 4 วัน ควรไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลก่อน เพราะสภาพสินค้าตามที่ผู้ร้องแจ้งมามีลักษณะเหมือนกับสินค้าหมดอายุ และหากพบความผิดปกติควรขอใบรับรองแพทย์ด้วย เพื่อใช้เจรจาหรือฟ้องร้องในกรณีที่เจรจากันไม่ได้       2.แจ้งความเพื่อลงบันทึกประจำวันกับทางสถานีตำรวจ อย่างน้อยเพื่อแสดงว่าตนเองไม่ได้มีเจตนากลั่นแกล้งผู้ขายหรือผู้ผลิต             3.ตัวสินค้าแนะนำให้ผู้ร้องแจ้งกับทาง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อขอให้ตรวจสอบว่าเป็นสินค้าหมดอายุ สินค้าอันตรายหรือไม่        4.ติดต่อบริษัทผู้ขาย (ตัวแทนขายตรง) เพื่อขอให้แก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภค        อาหารที่เสื่อมสภาพก่อนหมดอายุ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแนะนำว่าผู้บริโภคอย่าปล่อยผ่าน เมื่อมีเหตุเสียหายจากผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าต้องรับผิดชอบ อย่าปล่อยให้คนทำผิดได้ใจ “ร้องทุกข์หนึ่งครั้ง ดีกว่าบ่นพันครั้ง” 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 269 กินบุฟเฟ่ต์ร้านหรูแต่เจอเศษแก้วบาดในช่องปาก

        การจ่ายเงินเพื่อเข้าร้านอาหารแน่นอนว่าทุกคนคงจะคาดหวังว่าจะได้รับการบริการที่ดี อาหารที่อร่อย สะอาด และปลอดภัยกันใช่ไหม เพราะว่ามันคือมาตรฐานที่ทุกร้านควรจะต้องมีอยู่แล้ว ทว่าหลายครั้งเราก็พบข่าวการพบสิ่งแปลกปลอมในร้านอาหารและมีเรื่องร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคก็บ่อยครั้ง คราวนี้มาในระดับร้านบุฟเฟ่ต์หรูเสียด้วย          คุณน้ำตาลร้องเรียนกับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม ที่ผ่านมา คุณน้ำตาลกับแฟนได้ไปรับประทานอาหารบุฟเฟ่ต์นานาชาติหรูหราที่ห้างดังใจกลางเมืองแห่งหนึ่ง เป็นร้านอาหารบุพเฟ่ต์ที่มีอาหารหลากหลายทั้ง ไทย จีน ญี่ปุ่น และตะวันตก เรียกได้ว่าคุ้มเลยทีเดียวกับราคาที่จ่ายไป ราคาต่อคนก็ประมาณหนึ่งแบงค์เทากับอีกหนึ่งใบแดง มีตังค์ทอนนิดหน่อย แต่...ประเด็นมันไม่ได้อยู่ตรงนี้ เพราะเธอได้เล่าว่าเมื่อเริ่มรับประทานไปจนอิ่มอาหารคาวแล้ว ก็เลยสั่งของหวานมาตบท้ายเป็น บิงซู ในขณะที่กำลังเคี้ยวอย่างเอร็ดอร่อย ก็รู้สึกเหมือนมีอะไรแตกในปาก ตอนแรกผู้ร้องก็คิดว่าก้อนหินหรือพลาสติกอะไรหรือเปล่าหนอ เลยพยายามเอาลิ้นดัน แต่คราวนี้มาพร้อมกับอาการเจ็บและเลือดออก ผู้ร้องจึงหยิบมันออกมาดูสรุปว่า มันคือเศษแก้ว จึงพยายามหยิบเศษพวกนั้นออกมาให้มากที่สุด และเข้าห้องน้ำเพื่อล้างปาก         หลังจากเกิดเรื่องขึ้นทางแฟนและเธอก็ได้เข้าไปพบผู้บริหารของร้านดังกล่าว ซึ่งตอนแรกผู้ร้องแจ้งว่าทางร้านยินดีจะลดค่าอาหารให้ 50% ซึ่งทางผู้ร้องเองปฏิเสธที่รับเงื่อนไขนั้น เนื่องจากตกใจในมาตรฐานของร้านและกังวลเรื่องที่เศษแก้วอาจเข้าไปรบกวนในทางเดินอาหาร ขอให้ทางผู้บริหารไปพิจารณาใหม่อีกครั้ง โดยหลังจากนั้นผู้บริหารก็เลยพิจารณาใหม่และให้ทางผู้ร้องกับแฟนนั้นทานฟรีสำหรับอาหารมื้อนี้  อย่างไรก็ตามเนื่องจากผู้ร้องได้เข้าไปโรงพยาบาล และเข้ารับการตรวจปรากฎว่า ในช่องปากของผู้ร้องยังคงมีเศษแก้วปักอยู่ที่เหงือกอยู่ถึง 2-3 อัน ซึ่งแพทย์ก็ได้ถอนออกมาพร้อมให้ยาฆ่าเชื้อโรคมาด้วย เพราะในเศษแก้วอาจจะมีเชื้อโรคปะปนอยู่ได้ ซึ่งมีค่ารักษาพยาบาลประมาณ 2,000 กว่าบาท จึงมาปรึกษากับทางมูลนิธิฯ ว่าสามารถทำสิ่งใดเพิ่มเติมได้อีกบ้าง แนวทางการแก้ไขปัญหา ทางผู้ร้องได้มาร้องเรียนกับทางมูลนิธิฯ  เพื่อต้องการเรียกร้องค่าเสียหายเพิ่มเติม โดยเบื้องต้นทางมูลนิธิฯ ให้คำแนะนำดังนี้           1. ให้ผู้ร้องไปแจ้งความที่สถานีตำรวจในพื้นที่ (สน.ในพื้นที่ของห้างซึ่งร้านค้าตั้งอยู่)  เพื่อยืนยันว่าผู้ร้องไม่ได้แกล้งหรือใส่ความทางร้านค้าแต่ประการใด        2. ทำจดหมายเรียกร้องค่าเสียหายกับทางร้านค้า แบบไปรษณีย์ตอบรับ สำเนาถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยให้เงื่อนไขเวลากำกับสำหรับการชดเชยค่าเสียหายไว้ด้วย        3. เมื่อพ้นกำหนดตามเงื่อนเวลาดังกล่าวแล้ว หากยังไม่มีการติดต่อจากทางคู่กรณี ทางมูลนิธิอาจจะเชิญผู้ร้องและคู่กรณีมาทำการไกล่เกลี่ยอีกครั้งหนึ่ง        4. และหากหลังจากมีการไกล่เกลี่ยแล้วแต่ยังไม่สามารถตกลงในรายละเอียดกันได้  ผู้ร้องสามารถฟ้องศาลเป็นคดีผู้บริโภคได้ เพื่อให้ศาลตัดสินว่าจะได้ค่าชดเชยเป็นจำนวนเงินเท่าไร        ต่อมาเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 66 ทางมูลนิธิฯ ได้ติดต่อทางผู้ร้องอีกครั้ง เพื่อติดตามความคืบหน้า ซึ่งผู้ร้องได้แจ้งกับทางมูลนิธิฯ ว่า ได้ติดต่อกับทาง สคบ. เพื่อให้นัดเจรจาไกล่เกลี่ยให้ เนื่องจากตัวผู้ร้องเองไม่มีความรู้ในด้านนี้ ซึ่งกลัวว่าอาจจะทำให้เสียเปรียบจึงต้องการหน่วยงานของรัฐเข้ามาพูดคุยเป็นตัวแทน ซึ่งทางมูลนิธิฯ ก็ยินดีเป็นอย่างยิ่งและพร้อมให้คำปรึกษากับทางผู้ร้องเสมอ  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 269 ภาพลวงตาธุรกิจอาหารเสริม ลวงให้กินอาหารเสริมเหมือนเป็นยา

ผู้บริโภคที่ซื้ออาหารเสริมมากิน อาจแบ่งคร่าวๆได้เป็น 2 กลุ่มหลัก  กลุ่มแรกกินเพราะต้องการเสริมอาหารเพราะคิดว่าตัวเองกินไม่พอ ขาดสารอาหาร เช่น คนที่ทำงานหนัก พักผ่อนน้อย ไม่มีเวลากินข้าว หรือผู้ป่วยที่กินอาหารได้น้อย และอีกกลุ่มคือกลุ่มที่คาดหวังสรรพคุณบางอย่างจากอาหารเสริม โดยเฉพาะสรรพคุณในการรักษาโรคเหมือนการกินยา กลุ่มหลังเป็นกลุ่มที่มักจะตกเป็นเหยื่อของการโฆษณาหลอกลวงได้ง่ายมาก “ประสบการณ์ในพื้นที่ ผมเคยเจอการที่ผู้ขายพยายามทำให้อาหารเสริมมีสรรพคุณเป็นยารักษาโรค กรณีแรกเป็นข้าวสารธรรมดาๆ แต่กลับอ้างสรรพคุณช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดและรักษาโรคเบาหวานได้ คนขายพยายามนำผู้ป่วยเบาหวานที่กินข้าวนี้มาเป็นตัวอย่างและแอบอ้างเกินจริงว่ากินแล้วน้ำตาลลดลง จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า มันคือข้าวที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ คือกินแล้วน้ำตาลจะขึ้นช้ากว่าข้าวทั่วไป จึงอาจเหมาะกับผู้ป่วยเบาหวาน (แต่ไม่ได้ช่วยรักษาเบาหวาน) การกินข้าวแบบนี้โดยไม่ควบคุมนอกจากจะไม่ช่วยรักษาเบาหวานแล้วอาจจะทำให้น้ำตาลในเลือดสูงจนเบาหวานขึ้นได้ อีกกรณีเป็นการหลอกลวงให้ตรวจสุขภาพด้วยอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่อ้างว่าสามารถวิเคราะห์สุขภาพผู้ตรวจได้ทุกระบบ (โดยไม่ต้องเจาะเลือด ตรวจปัสสาวะ เพียงแต่ถืออุปกรณ์ที่นำมาแอบอ้าง แค่นั้นเอง) พอผลตรวจ (ที่ถูกอุปโลกน์) ออกมาก็หลอกขายอาหารเสริมให้กับชาวบ้านที่มาตรวจ” ที่ผ่านมาเราก็เคยพบว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบางอย่างจงใจปลอมปนยาแผนปัจจุบันเข้าไป เพื่อหวังสรรพคุณทางยา ที่ผู้ใช้บอกต่อกันปากต่อปาก ในชุมชนเรามักจะตรวจพบน้ำผลไม้สกัดเข้มข้นบางยี่ห้อที่แอบขายให้ชาวบ้านปลอมปนสเตียรอยด์ หรือ ข่าวใหญ่โตคือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ปลอมปนยาลดความอ้วน (ไซบูทรามีน) ที่กินแล้วผอมจริง ตายจริง ตามที่ปรากฏในข่าว จนต้องปราบปรามกันในระดับประเทศ  ภาพลวงตาเหล่านี้คืออุปสงค์ (demand) ของผู้บริโภคที่มาตรงกับอุปทาน (supply) ของธุรกิจอาหารเสริมพอดิบพอดี ธุรกิจอาหารเสริมเข้าใจตรงนี้ดี จึงมีความพยายามที่จะโฆษณา เพื่อเบี่ยงเบนหรือแม้กระทั่งชี้นำให้ผู้บริโภคคิดเอาเองว่า อาหารเสริมนั้นมีสรรพคุณเหมือนการกินยา  ข้อเท็จจริงคือ อาหารเสริมตามกฎหมายต้องขึ้นทะเบียนเป็นอาหารที่ต้องมีเลขสารบบอาหาร (เลข อย.) และห้ามโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณว่าเป็นยา และต้องมีคำเตือนว่าไม่ให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าสามารถกินแทนอาหารปกติได้ การไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย โดยเฉพาะการโฆษณาอ้างสรรพคุณทางยา มีความผิดตามกฎหมายหลายมาตราที่มีโทษทั้งจำคุกและปรับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 268 กระแสต่างแดน

แบนดีไหม         ฮ่องกงกำลังพิจารณาห้ามนำเข้าอาหารทะเลจาก 10 จังหวัดของญี่ปุ่น หลังสำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) อนุมัติให้ญี่ปุ่นปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในจังหวัดฟุกุชิมะที่ผ่านการบำบัด ปริมาณ 1.3 ล้านตัน ลงสู่ทะเลได้ในช่วง 30 ปีข้างหน้า         นอกจากอาหารทะเลชนิดสด แห้ง ดอง แช่เย็น และแช่แข็ง ฮ่องกงยังจะแบนเกลือทะเล สาหร่าย และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ทำให้ธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่น (คิดเป็นร้อยละ 13 ของร้านอาหารที่จดทะเบียนในฮ่องกง) ได้รับผลกระทบ อาจมีถึง 3 ใน 10 ร้านที่ต้องเลิกกิจการ         ฮ่องกงเป็นผู้นำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่นรายใหญ่ที่สุดอันดับสอง รองจากจีนแผ่นดินใหญ่ซึ่งประกาศห้ามนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่นไปก่อนหน้านี้เรียบร้อยแล้ว            ส่วนประเทศไทย อเมริกา แคนาดา อังกฤษ และอีก 30 กว่าประเทศทั่วโลกได้ยกเลิกมาตรการห้ามหรือจำกัดการนำเข้าอาหารจากญี่ปุ่นมานานแล้ว  ช่วยน้องกลับบ้าน         สืบเนื่องจากการร้องเรียนของนักศึกษามหาวิทยาลัยในกัวลาลัมเปอร์ ที่ไม่สามารถกลับบ้านได้ในช่วงปิดเทอม เนื่องจากบ้านอยู่ไกลถึงรัฐซาบาห์ ซาราวัก หรือเกาะลาบวน ซึ่งต้องเดินทางโดยเครื่องบิน แต่ราคาตั๋วกลับสูงเกินเอื้อม แม้จะทำงานพิเศษ ก็ยังมีรายได้ไม่พอซื้อตั๋ว         ในที่สุดกระทรวงคมนาคมมาเลเซียตัดสินใจแจกเวาเชอร์มูลค่า 300 ริงกิต (ประมาณ 2,300 บาท) ให้กับนักศึกษาเพื่อใช้ซื้อตั๋วเครื่องบินในประเทศ รายงานระบุว่าแผนนี้สามารถช่วยเหลือนักศึกษาได้ไม่ต่ำกว่า 56,000 คน ด้วยงบประมาณ 16.8 ล้านริงกิต โดยโครงการดังกล่าวจะเริ่มในวันที่ 15 สิงหาคมนี้         สภานักศึกษาฯ มองว่ารัฐมาถูกทางแล้ว แต่ยังต้องศึกษาข้อมูลเพิ่มด้วย เช่น นักศึกษาบางคนต้องนั่งเครื่องบินมากกว่าหนึ่งต่อ รวมถึงรัฐควรจัดให้มีความช่วยเหลือกรณีฉุกเฉิน เช่น การกลับบ้านด่วนเพื่อไปร่วมงานศพของคนในครอบครัว         เมื่อต้นปีรัฐบาลประกาศว่าจะเจรจากับผู้ประกอบการสายการบินให้จัดตั๋วราคาพิเศษสำหรับนักศึกษา แต่แผนดังกล่าวไม่มีความคืบหน้า    ไม่มาเลยดีกว่า         การรถไฟสวิตเซอร์แลนด์ (SBB) ภูมิใจในความตรงต่อเวลาในการให้บริการมาโดยตลอด แต่เมื่อเปิดบริการ “ขบวนรถไฟความเร็วสูงข้ามประเทศ” จากเยอรมนีเข้ามายังเมืองหลักในประเทศ เช่น คูร์ ซูริค หรือ อินเทอร์ลาเคน สถิติความล่าช้าของเขากลับเพิ่มขึ้นจนน่าเป็นห่วง         เพราะขบวนรถจากเยอรมนีมาสายบ่อย ตารางเวลาเดินรถที่ออกแบบไว้เพื่อการเชื่อมต่อจึงไม่สามารถใช้การได้ สถิติปีที่แล้วระบุว่าร้อยละ 80 ของขบวนรถไฟที่มาช้าคือขบวนที่มีต้นทางในเยอรมนี         เพื่อไม่ให้เสียชื่อไปมากกว่านี้ สำนักงานขนส่งของสวิตเซอร์แลนด์ จึงเสนอว่าเมื่อสัญญาร่วมให้บริการหมดลงในปี 2035 เขาจะให้รถไฟจากเยอรมนีส่งผู้โดยสารเป็นป้ายสุดท้ายที่สถานีเมืองบาเซิลตรงชายแดนเท่านั้น ผู้โดยสารที่ต้องการเข้าเมืองจะต้องเปลี่ยนไปขึ้นรถไฟขบวนท้องถิ่น         หลายฝ่ายไม่เห็นด้วย การตัดลดเส้นทางไม่น่าจะเอื้อต่อแผนลดโลกร้อน นักท่องเที่ยวคงไม่อยากหอบกระเป๋าขึ้นลงหลายรอบ แม้แต่รัฐบาลกลางก็ไม่เห็นด้วยและเกรงว่าเรื่องนี้อาจยังแก้ไม่ถูกจุด   กติกานักสู้         หน่วยงานป้องกันการผูกขาดทางการค้าของอิตาลีเริ่มสอบสวน CoopCulture ผู้ให้บริการขายตั๋วเข้าชม “โคลอสเซียม” หลังได้รับเรื่องร้องเรียนจากนักท่องเที่ยวว่าการซื้อตั๋วเพื่อเข้าชมสถานที่แห่งนี้ด้วยตนเอง แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เพราะบริษัททัวร์ใหญ่ๆ กว้านซื้อไปหมดแล้ว         จากการตรวจสอบพบว่า จนถึงวันที่ 7 สิงหาคม มีตั๋วเหลืออยู่เพียง 3 ใบในเว็บขายตั๋วอย่างเป็นทางการของโคลอสเซียม (ราคาตั๋วปกติอยู่ที่ 18 ยูโร หรือประมาณ 700 บาท)        แต่ในช่วงเวลาเดียวกัน เว็บของบริษัททัวร์หลายเจ้ากลับมี “ทัวร์โคลอสเซียมพร้อมตั๋วและไกด์” ให้เลือกมากมายในราคาตั้งแต่ 37.50 ถึง 74 ยูโร (1,430 ถึง 2,820 บาท)        CoopCulture ยืนยันว่าบริษัทมีระบบป้องกันการกว้านซื้อ และยินดีให้ความร่วมมือกับการตรวจสอบ ในขณะที่องค์กรผู้บริโภค Codacons ก็ออกมาเรียกร้องให้มีกฎหมายห้ามการซื้อตั๋วไปขายต่อ รวมถึงเพิ่มบทลงโทษผู้ที่ฝ่าฝืนด้วย  ผิดซ้ำต้องแฉ         ตั้งแต่ต้นปี 2566 สำนักอนามัยเทศบาลเมืองไทเป ได้สุ่มตรวจผลิตภัณฑ์ขนมหวานแช่แข็งและเครื่องดื่มเย็นทั้งหมด 299 รายการ เพื่อหาแบคทีเรียที่เป็นอันตราย (เช่น ซัลโมเนลลา อีโคไล) และพบว่ามี 20 ผลิตภัณฑ์หรือร้อยละ 6.7 ที่ไม่ผ่านเกณฑ์        ตามระเบียบของไทเป ผู้ประกอบการที่มีอาหารหรือเครื่องดื่ม “ไม่ผ่านเกณฑ์ความปลอดภัย จะได้รับแจ้งจากสำนักฯ พร้อมกับ “เดดไลน์” ในการปรับปรุง แต่การตรวจครั้งล่าสุดยังพบว่ามากกว่าร้อยละ 50 ยังคงสอบตกเหมือนเดิม        พ.ร.บ.ความปลอดภัยและอนามัยด้านอาหารของไต้หวันกำหนดโทษปรับสำหรับร้านค้าที่ฝ่าฝืนข้อกำหนดเรื่องปริมาณจุลินทรีย์ไว้ที่ระหว่าง 30,000 ถึง 3,000,000 เหรียญ         สำนักอนามัยฯ ยังเตือนภัยผู้บริโภคด้วยการเปิดเผยชื่อเมนู ชื่อร้าน รวมถึงสาขาที่ตั้ง พร้อมรูปถ่ายในการแถลงข่าวด้วย หากสนใจกดเข้าไปดูได้ที่ลิงก์นี้ https://www.taiwannews.com.tw/en/news/4947489

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 268 ไซบูทรามีนเกลื่อนเมือง.....ปัญหาเรื้อรังที่รอจุดสิ้นสุด

        เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา จังหวัดขอนแก่นได้ประกาศแจ้งเตือนผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร “คอร์เซ่” ตรวจพบไซบูทรามีนซึ่งทำให้ผู้บริโภคได้รับอันตรายจนต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล1 และในวันเดียวกันนี้ สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้เผยแพร่ข่าวพบไซบูทรามีนในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร NQ S Cross ซึ่งตำรวจ ปคบ.กับ อย.ได้ทลายเครือข่ายผู้ผลิต และผู้จัดจำหน่าย ในพื้นที่ 4 จุดของจังหวัดตาก สุโขทัย  และพิษณุโลก 2          “ไซบูทรามีน” เป็นสารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท  ทำให้ลดความอยากอาหารอิ่มเร็วขึ้นและช่วยกระตุ้นกระบวนการเผาผลาญของร่างกายส่งผลให้ร่างกายมีน้ำหนักลดลง  เดิมมีการนำมาใช้เป็นยาลดความอ้วน แต่เนื่องจากไซบูทรามีนทำให้เสี่ยงต่อการมีเลือดไปเลี้ยงอวัยวะสำคัญลดลง เช่น หัวใจ สมอง จนอาจเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายจากการขาดเลือดและสมองขาดเลือดฉับพลัน ผู้ที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคหัวใจล้มเหลว โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคหลอดเลือดสมองตีบ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคความดันโลหิตสูงที่ควบคุมไม่ได้ อาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้   ซึ่งผู้ผลิตได้สมัครใจถอนทะเบียนจากท้องตลาดแล้วทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยเมื่อ 11 ตุลาคม 2553  แม้จะไม่มีไซบูทรามีนที่ถูกต้องตามกฎหมายแต่ยังคงมีการลักลอบนำไปใส่ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารกลุ่มที่อวดอ้างสรรพคุณลดน้ำหนัก ทำให้พบอาการไม่พึงประสงค์ ได้แก่ ปากแห้ง คอแห้ง ท้องผูก ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ ใจสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น นอกจากนี้หากใช้ร่วมกับยาอื่นที่มีผลเสียต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเสียชีวิต         ปัจจุบัน “ไซบูทรามีน” ถูกยกระดับให้เป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด โดยผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย มีไว้ในครอบครองผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ผสมไซบูทรามีนเพื่อการค้า จะต้องรับโทษจำคุกตั้งแต่ 1-15 ปี  และปรับตั้งแต่ 100,000-1,500,000 บาท แม้“ไซบูทรามีน”ถูกปรับเปลี่ยนประเภทตามกฎหมายทำให้มีบทลงโทษหนักขึ้น  แม้จะมีการตรวจจับดำเนินคดีอย่างต่อเนื่อง แต่สถานการณ์ปัญหาก็ยังคงอยู่ ดังนั้นผู้บริโภคจะต้องดูแลตนเองมิให้ตกเป็นเหยื่อกับผลิตภัณฑ์ดังกล่าว โดยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ลดหวาน มัน เค็ม และออกกำลังกายสม่ำเสมอ  หากพบอาการไม่พึงประสงค์ดังกล่าวภายหลังรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผู้เสียหายจะต้องกล้าลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิของตนเอง  โดยการร้องเรียนหรือให้ข้อมูลผู้จำหน่ายแก่หน่วยงานหรือเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค ขณะเดียวกันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับด่านนำเข้า เช่น กรมศุลกากรและสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจะต้องร่วมกันสกัดการนำเข้าสารไซบูทรามีนหรืผลิตภัณฑ์ที่ปลอมปนไซบูทรามีนมิให้เข้ามาทำอันตรายต่อประชาชน  และหากพบผลิตภัณฑ์ที่ปลอมปนไซบูทรามีน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดจะต้องประกาศผลวิเคราะห์ให้ประชาชนทราบ  เพื่อจะมิให้มีผู้บริโภคที่ตกเป็นเหยื่อรายต่อไป   ที่มา        1. ศูนย์ประสานงานอาหารปลอดภัยจังหวัดขอนแก่น สืบค้นเมื่อ 26 เมษายน 2566 https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=pfbid02LQYqAggoAUUcEWnBaBJ1Xumxg49hLDhhRH1kiqZqVS7wJRWGdfsHkS8fHBrNcXLEl&id=100054673890265        2. สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข สืบค้นเมื่อ 26 เมษายน 2566   https://pr.moph.go.th/?url=pr/detail/2/02/190296/

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 267 เจอแมลงสาบในอาหารของห้างดัง

        ในโลกออนไลน์มีข่าวการพบเจอสิ่งแปลกปลอมในอาหารอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นเลย เนื่องจากสิ่งแปลกปลอมนั้นอาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายเราได้ ที่ผ่านมาทางมูลนิธิฯ เองก็ได้รับเรื่องร้องเรียนอยู่บ่อยครั้ง แต่ละกรณีชวนให้คิดว่าทำไมกระบวนการผลิตจึงมีปัญหา เพราะขาดการควบคุมเรื่องสุขอนามัยหรือขาดความรอบคอบใช่หรือไม่         เหมือนกับผู้ร้องรายนี้ คุณน้ำตาล เธอเล่าว่าเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม ที่ผ่านมา เธอได้เข้าไปรับประทานอาหารที่ซูเปอร์มาร์เก็ตชื่อดังแห่งหนึ่ง โดยเธอก็เลือกที่จะกินอาหารตามสั่งในโซนศูนย์อาหารของห้าง ขณะกำลังกินอาหารอย่างเอร็ดอร่อยจนใกล้จะหมดจานแล้ว ก็พบว่า... มันมีอะไรแปลกๆ นะที่อยู่ในจานนั้น เมื่อลองเขี่ยดูก็พบว่า มันคือน้องปีเตอร์ (แมลงสาบนั้นเอง) เธอตกใจมาก พะอืดพะอมขึ้นมาทันที ทำไมอาหารที่กินถึงมีแมลงสาบได้และก็กินอาหารไปแล้วเกือบจะหมดจาน เลิกกินสิคะ แล้วนำจานไปบอกที่ร้านทันที พร้อมกับแจ้งพนักงานของทางห้างด้วย ทางร้านค้าก็ได้มีการขอโทษขอโพยกับเธอและพร้อมจะจ่ายค่าอาหารคืนให้        แต่...เธอนั้นอยากให้ทางร้านมีความรับผิดชอบมากกว่านี้ จึงได้มีการปฏิเสธทางร้าน โดยจะไม่รับเงิน และแจ้งกับทางพนักงานของห้างว่า “เธอจะไปตรวจสุขภาพและทางร้านต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดด้วย”  ซึ่งทางพนักงานรับเรื่องเธอไว้และแจ้งว่าจะติดต่อกลับในภายหลัง แต่ปรากฎว่าหลังจากนั้นเธอก็ไม่ได้รับการติดต่ออีกเลย จึงได้มาร้องเรียนเพื่อให้ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคช่วยเหลือ แนวทางการแก้ไขปัญหา         หลังจากทางมูลนิธิฯ ได้รับเรื่องจึงติดต่อไปหาผู้ร้องเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม ทันทีเพื่อสอบถามข้อเท็จจริงและขอเอกสารเพิ่มเติม พร้อมกับแนะนำให้ไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันเพื่อเป็นหลักฐาน และวันถัดไปทางมูลนิธิฯ ทำหนังสือถึงบริษัทฯพร้อมสำเนาหนังสือไปยังสาขาที่เกิดเหตุเพื่อขอให้ดำเนินแก้ไขปัญหาต่อมาจึงได้ประสานติดต่อพนักงานของห้าง ทราบว่า ทางบริษัทฯ  ได้ดำเนินการเยียวยาค่าเสียหายกับผู้ร้องไปแล้ว โดยมีค่าชดเชยเยียวยา ได้แก่ ค่าตรวจสุขภาพ  ค่าอาหาร ค่าเสียเวลา  ค่ายาที่ผู้ร้องซื้อจากร้านยารวมทั้งสิ้น 7,020 บาท ซึ่งทางผู้ร้องก็ได้ตกลงรับเงินเยียวยาต่างๆ เรียบร้อยแล้ว เป็นอันว่าจบไปได้ด้วยดี

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 267 น้ำตาลเทียมก่อโรค..???

        มีข่าวออนไลน์เกี่ยวกับงานวิจัยเรื่องหนึ่งที่แปลผลจากการศึกษาว่า สารให้ความหวานแทนน้ำตาลชื่อ อิริทริทอล (erythritol) อาจเป็นปัจจัยต่อความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด (cardiovascular disease) ในผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ตลอดไปจนถึงคนธรรมดาที่เลือกกินอาหารคีโต (Ketogenic diet) เพื่อปรับปรุงน้ำหนักตัวให้เหมาะสม         อาหารคีโต คืออาหารที่ถูกปรับลดคาร์โบไฮเดรตจนคำนวณได้ว่ามีการกินไม่เกิน 50 กรัม/วัน และเน้นกินไขมันและโปรตีนให้มากขึ้น เพื่อให้ร่างกายผลิตสารคีโตน (ketone bodies) จากไขมันเนื่องจากมีการใช้ไขมันทั้งจากอาหารที่กินและสะสมไว้มาใช้เป็นพลังงานแทนการใช้น้ำตาลกลูโคสที่ได้จากการย่อยแป้งหรือน้ำตาลทราย ซึ่งเป็นการนำร่างกายเข้าสู่สภาวะคีโตสิส (ketosis) ซึ่งดีร้ายอย่างไรขอไม่กล่าวถึงในที่นี้ แต่แน่ๆ คือ ผู้กินอาหารคีโตมักพยายามเลี่ยงน้ำตาลทรายโดยหันมากินน้ำตาลเทียมแทนโดยอิริทริทอลคือตัวเลือกที่นิยมกัน        สำหรับคำโฆษณาที่ใช้ในการขายน้ำตาลอิริทริทอลบนแพลทฟอร์มออนไลน์นั้นมักบอกว่า เป็นสินค้านำเข้าเช่น จากฝรั่งเศส 100% ขนาด 500 กรัม มีราคาเกือบ 200 บาท (น้ำตาลทราย 1000 กรัมราคาเฉลี่ยประมาณ 25 บาท) เหมาะกับผู้บริโภคอาหารคีโต ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและไม่กระตุ้นอินซูลินของผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน ไม่ทำให้ฟันผุเพราะจุลินทรีย์ย่อยอิริธรีทอลได้น้อย ช่วยในการขับถ่ายเพราะสามารถดูดซับน้ำในทางเดินอาหารไว้อย่างช้าๆ เหมือนใยอาหารทั่วๆ ไป (ความจริงคือผลข้างเคียงของน้ำตาลแอลกอฮอล์ทุกชนิดที่กินมากแล้วทำให้ถ่ายเหลว)         อิริทริทอลเป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาลที่ดูคล้ายน้ำตาลทรายมาก เพราะผลิตทางเคมีจากน้ำตาลกลูโคส จริงแล้วร่างกายก็สร้างเองได้ในปริมาณน้อย เป็นสารที่มีความหวานราว 60-70% ของน้ำตาลทราย สามารถใช้ในการผลิตขนมอบได้แบบเนียนๆ ไม่แสดงผล aftertaste (หวานติดคอน่ารำคาญ) ในผู้บริโภค ไม่เพิ่มระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดและมีฤทธิ์เป็นยาระบายน้อยกว่าน้ำตาลแอลกอฮอล์อื่น ๆ จึงเป็นที่นิยมในอุตสาหกรรมผลิตอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารคีโตและอาหารชนิดที่มีน้ำตาลต่ำซึ่งขายแก่ผู้ป่วยเบาหวาน         อิริทริทอลเป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาลที่มักถูกนำไปใช้ผสมกับสารสกัดจากหญ้าหวาน (stevioside) หรือกับสารสกัดหล่อฮังก๊วย (arhat fruit, Buddha fruit, monk fruit หรือ longevity fruit) ทั้งนี้เพราะสารสกัดทั้งสองมีความหวานมากกว่าน้ำตาลประมาณ 200 ถึง 400 เท่า เวลาใช้จึงต้องใช้ในปริมาณน้อยทำให้ตวงปริมาณยาก จำต้องใช้อิริทริทอลซึ่งมีลักษณะหลอกตาดูคล้ายน้ำตาลทำหน้าที่เป็นเนื้อสัมผัสเพื่อให้ปริมาณสารให้ความหวานหลักถูกใช้ในปริมาณไม่มากจนเกินควร         สำหรับงานวิจัยที่ก่อให้เกิดความสงสัยว่า การกินอิริทริทอลอาจเป็นปัจจัยก่อโรคหัวใจและหลอดเลือด คือ บทความเรื่อง The artificial sweetener erythritol and cardiovascular event risk ในวารสาร Nature Medicine ของปี 2023 นั้นเป็นการรายงานความเชื่อมโยงระหว่างอิริทริทอลต่อความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของอาการหัวใจวายและโรคหลอดเลือดสมอง         คำถามที่เกิดขึ้นในโลกโซเชียลคือ เหตุใดอยู่ดี ๆ นักวิจัยกลุ่มนี้จึงสนใจว่า อิริทริทอลส่งผลทำให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด ทั้งที่น้ำตาลเทียมชนิดนี้มีการใช้มานานพอควรและดูว่าไม่น่าเกิดปัญหาใดๆ แต่เมื่อตามดูบทความที่ผู้ทำวิจัยหลักให้สัมภาษณ์แก่นักข่าวของ New York Times และ CNN ทำให้ได้ข้อมูลว่า จริงแล้วก่อนหน้าที่จะตีพิมพ์ผลงานวิจัยดังกล่าว ผู้ทำวิจัยได้ทำงานวิจัยก่อนหน้าที่ต้องการค้นหาว่า มีสารเคมีหรือสารประกอบที่ไม่มีใครคาดถึงมาก่อนในเลือดของผู้ป่วยโรคหัวใจหรือไม่ ที่สามารถใช้ในการทำนายความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจวาย โรคหลอดเลือดสมองหรือเสียชีวิตภายในระยะเวลาสามปีของการศึกษาที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการใหญ่ของ Cleveland Clinic ในรัฐโอไฮโอ โดยนักวิจัยกลุ่มนี้ได้ทำการวิเคราะห์ตัวอย่างเลือด 1,157 ตัวอย่าง ซึ่งเก็บรวบรวมระหว่างปี 2004 ถึง 2011 จากอาสาสมัครที่มีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจแล้วพบว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอิริทริทอลในเลือดในระดับที่น่าสนใจจนนำไปสู่การวิจัยที่เป็นที่มาของบทความวิจัยที่ก่อความกังวลแก่ผู้ที่บริโภคอิริทริทอล         ในการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Medicine ของปี 2023 นั้น นักวิจัยได้ตรวจสอบระดับอิริทริทอลในเลือดของคนไข้ 2,149 คนจากสหรัฐอเมริกาและ 833 คนจากยุโรป แล้วพบว่าอาสาสมัคร (ซึ่งส่วนใหญ่อายุเกิน 60 ปี เป็นหรือมีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดเนื่องจากภาวะต่างๆ เช่น เบาหวานและความดันโลหิตสูง) มีความเข้มข้นของอิริทริทอลในเลือดสูง แล้วเมื่อทดลองเติมอิริทรีทอลลงในตัวอย่างเลือดหรือเกล็ดเลือดที่แยกออกมา (ซึ่งเกล็ดเลือดนั้นเป็นองค์ประกอบในเลือดที่เกาะกันเป็นก้อนเพื่อหยุดการไหลของเลือดเมื่อเกิดแผลและทำให้เกิดเลือดอุดตันในบางโรค) ในหลอดทดลองผลที่ได้ปรากฏว่า อิริทรีทอลทำให้เกล็ดเลือดถูกกระตุ้นง่ายขึ้นในการจับตัวเป็นก้อน ซึ่งโดยทั่วไปแล้วลิ่มเลือดที่เกิดขึ้นในร่างกายอาจแตกออกจากกันแล้วไหลไปในหลอดเลือดเดินทางไปยังหัวใจ ซึ่งถ้ามีการตกตะกอนในเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจจะก่อให้เกิดภาวะหัวใจวายหรือถ้าไปตกตะกอนในเส้นเลือดสมองจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองได้         นอกจากนี้นักวิจัยได้ให้อาสาสมัครที่มีสุขภาพดี 8 คน กินอิริทริทอลในปริมาณเดียวกับที่พบได้เมื่อกินอาหารที่ใช้สารให้ความหวานนี้ เพื่อลองกระตุ้นให้ระดับอิริทริทอลในน้ำเลือดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและคงที่ (นานมากกว่า 2 วัน) ซึ่งคำนวณแล้วว่า สูงกว่าขนาดที่ก่อให้เกิดลิ่มเลือดในหลอดทดลอง ส่งผลให้ผู้วิจัยประเมินว่า อิริทริทอลนั้นน่าจะเพิ่มปริมาณให้สูงได้ในร่างกายจากการกินอาหารจึงอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาความเสี่ยงอันตรายของหัวใจที่เกิดขึ้น ทำให้น่าจะศึกษาเพื่อประเมินความปลอดภัยในระยะยาวของอิริทริทอลเพิ่มเติม         มีการตั้งข้อสังเกตจากงานวิจัยดังกล่าวในหลายบทความในอินเตอร์เน็ทว่า ข้อจำกัดที่สำคัญของการศึกษาคือ ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดหรือมีปัจจัยเสี่ยงหลายประการต่อการเป็นโรคดังกล่าวอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งอาจทำให้ข้อมูลคลาดเคลื่อนได้ อีกทั้งงานวิจัยนี้ได้แสดงให้เห็นถึง ความสัมพันธ์ (correlation) แต่ไม่ใช่สาเหตุ (causation) นอกจากนี้ความสัมพันธ์ระหว่าง erythritol และความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจที่เพิ่มขึ้นไม่ได้พิสูจน์ว่า สารให้ความหวานนี้ทำให้เกิดโรคเพราะผู้ที่บริโภคสารให้ความหวานเทียมนี้ในปริมาณสูงเพื่อพยายามลดการกินน้ำตาลทรายให้เป็นศูนย์ อย่างไรก็ดีคงเป็นไปไม่ได้ที่จะทดลองให้คนสุขภาพปรกติกินสารให้ความหวานนี้จนอยู่ในสถานะเสี่ยงเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด ยกเว้นทำการศึกษาในสัตว์ทดลองที่มีกระบวนการทางสรีรภาพคล้ายมนุษย์         ประเด็นที่น่าสนใจจากงานวิจัยนี้คือ พบว่าผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ เช่น โรคเบาหวาน มีโอกาสเป็นโรคหัวใจหรือโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า หากพวกเขามีระดับอิริทริทอลในเลือดสูง และผลการศึกษานี้ดูขัดแย้งกับการวิจัยทางวิทยาศาสตร์หลายทศวรรษที่แสดงว่า สารให้ความหวานที่มีแคลอรีต่ำอย่างอิริทริทอลนั้นปลอดภัย จนได้รับอนุญาตให้ใช้ในอาหารและเครื่องดื่ม         ก่อนหน้านี้ในปี 2022 วารสาร BMJ ได้มีบทความเรื่อง Artificial sweeteners and risk of cardiovascular diseases: results from the prospective NutriNet-Santé cohort ได้รายงานผลการศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างสารให้ความหวานเทียมจากเครื่องดื่ม (แอสปาร์แตม อะเซซัลเฟมโพแทสเซียม หรือซูคราโลส) สารให้ความหวานบรรจุซอง ผลิตภัณฑ์นม ฯลฯ ต่อความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยเก็บข้อมูลจากผู้เข้าร่วม 103 388 คนจาก NutriNet-Santé cohort (เป็นกลุ่มตัวอย่างขนาดใหญ่ของอาสาสมัครประมาณ 171,000 คนที่เปิดตัวในฝรั่งเศสในปี 2009 เพื่อศึกษาถึงความสัมพันธ์ทางโภชนาการซึ่งหมายถึงการกินอยู่ตามปรกติและสุขภาพ) ซึ่งมีอายุเฉลี่ย 42.2 ปี ที่มีร้อยละ 79.8 เป็นเพศหญิง โดยข้อมูลการกินสารให้ความหวานเทียมได้รับการประเมินโดยบันทึกจากการกินอาหารใน 24 ชั่วโมงมากกว่า 1 ครั้ง และจากการประเมินผลได้ชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์โดยตรงที่เป็นไปได้ระหว่างการกินสารให้ความหวานเทียมที่สูงขึ้น (โดยเฉพาะแอสปาร์แตม อะซีซัลเฟม โพแทสเซียม และซูคราโลส) และการเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด อย่างไรก็ดีสารให้ความหวานเหล่านี้ยังคงเป็นหัวข้อที่ถกเถียงกันอยู่และกำลังได้รับการประเมินใหม่โดย European Food Safety Authority, องค์การอนามัยโลก และหน่วยงานด้านสุขภาพอื่นๆ         การกำหนดปริมาณการกินอิริทริทอลในอาหารนั้นเริ่มในปี พ.ศ. 1999 คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญเรื่องวัตถุเจือปนอาหารแห่งสหประชาชาติ (JECFA) ซึ่งเป็นความร่วมมือขององค์การอาหารและการเกษตรและองค์การอนามัยโลกได้ประเมินความเสี่ยงในการกินอิริทริทอลและกำหนด ปริมาณที่ยอมรับได้ต่อวัน (acceptable daily intake หรือ ADI) เป็น "ไม่ระบุ (not specified)" ซึ่งต่อมาในปี 2003 คณะกรรมการวิทยาศาสตร์ด้านอาหารของสหภาพยุโรป (EU Scientific Committee on Food) สรุปว่า อิริทริทอลนั้นปลอดภัยสำหรับใช้ในอาหาร การอนุมัติอิริทริทอลของสหภาพยุโรปยังไม่ครอบคลุมถึงการใช้อิริทริทอลในเครื่องดื่ม เนื่องจากความเห็นของคณะกรรมการวิทยาศาสตร์ด้านอาหารของสหภาพยุโรประบุว่า อาจมีผลข้างเคียงเกินเกณฑ์ของยาระบาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้บริโภควัยหนุ่มสาวที่ได้รับอิริทริทอลจากเครื่องดื่มในปริมาณสูง

อ่านเพิ่มเติม >


ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อสุ่มวิเคราะห์ “หมึกกรอบ”ทั่วกรุงเทพและปริมณฑล พบกว่าร้อยละ 57 ปนเปื้อนฟอร์มาลิน

        วันนี้ ( 14 มิถุนายน 2566 ) ทัศนีย์ แน่นอุดร บรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวว่า การสุ่มตรวจสอบ “หมึกกรอบ”  ปนเปื้อนฟอร์มาลิน เป็นหนึ่งในงานเฝ้าระวังสินค้าและบริการของ นิตยสารฉลาดซื้อ ตามโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสุขภาพ จากการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) เนื่องจากในทุกๆ ปีจะมีข่าวการพบสารฟอร์มาลินในอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอาหารทะเล         จากข้อมูลของกรมอนามัย ปีงบประมาณ 2563  พบว่า จากผลการตรวจวิเคราะห์ของกระทรวงสาธารณสุข จำนวนทั้งหมด 14,046 ตัวอย่าง พบการปนเปื้อนของฟอร์มาลิน 705 ตัวอย่าง โดยพบมากที่สุดใน หมึกกรอบ ร้อยละ 31.35 รองลงมาคือ หมึกสด  ร้อยละ 2.36  แมงกะพรุน ร้อยละ 1.55 และ กุ้ง ร้อยละ 0.14 ตามลำดับ ทั้งนี้ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 391 (พ.ศ.2561) แห่งพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 กำหนดให้สารละลายฟอร์มัลดีไฮด์หรือ ฟอร์มาลิน เป็นวัตถุห้ามใช้ในอาหาร ผู้ใช้สารนี้กับอาหาร หรือทำให้อาหารนั้นเกิดพิษภัยต่อผู้บริโภค จัดเป็นการผลิต จำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ และถ้าตรวจพบการกระทำดังกล่าวจะต้องถูกดำเนินการตามกฎหมาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ         สรุปผลการทดสอบ “หมึกกรอบ” จำนวน 14 ตัวอย่าง สุ่มเก็บจากแหล่งจำหน่ายสินค้าในเขตกรุงเทพและปริมณฑล ได้แก่ ตลาดสด 8 แห่ง , ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต 4 แห่ง ,และ ร้านค้าออนไลน์ 2 แห่ง ส่งวิเคราะห์ที่ห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 17025 ซึ่งดำเนินการช่วงเดือนเมษายน 2566 พบปนเปื้อนฟอร์มาลิน 8 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 57.14 โดยปริมาณฟอร์มาลิน พบตัวอย่างที่สั่งซื้อจากร้านค้าออนไลน์  สูงเป็นอันดับ 1 ส่วนอันดับ 2 และ 3  พบจากตลาดสด (  ดูผลทดสอบจากhttps://chaladsue.com/article/4269/ )          ดร. แก้ว กังสดาลอำไพ นักวิชาการอิสระ ที่ปรึกษาศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า หากถามว่า ฟอร์มาลินมีอันตรายอย่างไรต่อร่างกาย ข้อมูลที่พอเชื่อถือได้จากอินเทอร์เน็ตกล่าวโดยรวมว่า อาการระยะสั้นจากการสูดดมเข้าไปจะมีผลต่อระบบหายใจ คือ แสบจมูก เจ็บคอ ไอ หายใจไม่ออก หากสูดดมในปริมาณมากอาจทำให้ปอดอักเสบ น้ำท่วมปอด และอาจเสียชีวิตได้ หากสัมผัสกับฟอร์มาลินโดยตรงจะมีผลต่อระบบผิวหนังหลังสัมผัสคือ ทำให้เกิดผื่นคัน จนถึงผิวหนังอาจไหม้ หรือเปลี่ยนเป็นสีขาวได้ และหากกินอาหารที่ปนเปื้อนฟอร์มาลินเข้าไปในปริมาณมาก อาจมีอาการปวดศีรษะรุนแรง หัวใจเต้นเร็ว แน่นหน้าอก ปากและคอแห้ง คลื่นไส้อาเจียน ถ่ายท้อง ปวดท้องอย่างรุนแรง ปัสสาวะไม่ออก หมดสติ ถ้าปล่อยทิ้งไว้อาจเสียชีวิตเพราะระบบหมุนเวียนเลือดล้มเหลว         วิธีเลือกซื้อเนื้อสัตว์ให้ปลอดภัยจากฟอร์มาลิน สำหรับผู้บริโภคที่ต้องการซื้อเนื้อสัตว์ต่าง ๆ จากร้านค้าที่ไม่มีการแช่ในตู้เย็น สามารถใช้วิธีการดมกลิ่น ถ้าอาหารนั้นมีกลิ่นฉุนแสบจมูกให้สงสัยว่ามีฟอร์มาลินอยู่ (ปัญหามักเกิดกับอาหารทะเลซึ่งเหม็นคาว) ซึ่งมีนักวิชาการคนหนึ่งกล่าวว่า สามารถกำจัดฟอร์มาลินที่ปนเปื้อนบนเนื้อได้ด้วยการใช้น้ำด่างทับทิมหรือ potassium permanganate เพื่อเปลี่ยนฟอร์มาลดีไฮด์ในฟอร์มาลินให้เป็นกรดฟอร์มิคหรือกรดมดได้ แต่ควรคำนึงด้วยว่า เนื้อสัตว์ที่ชุบฟอร์มาลินนั้นมักไม่ถูกสุขอนามัยที่ดีมาก่อน จึงต้องใช้ฟอร์มาลินกลบเกลื่อนความไม่สด ดังนั้นจึงไม่สมควรนำเนื้อดังกล่าวมาบริโภคและไม่ควรโยนให้สัตว์เช่น หมาหรือแมวกิน         อ่านผลทดสอบฟอร์มาลินใน “หมึกกรอบ”เพิ่มเติมได้ที่ https://chaladsue.com/article/4269/

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 265 ซูเปอร์มาร์เก็ตจำหน่ายนมหมดอายุ

        คุณน้ำตาล เจ้าของเรื่องราวที่มาร้องเรียนกับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้เล่าว่า เมื่อ 11 มีนาคม ที่ผ่านมา เธอไปซื้อของที่ซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่ง โดยเธอได้เลือกซื้อนมพร่องมันเนยยี่ห้อหนึ่งมา 1 แพ็ก ขนาด 225 มล. (แบบยูเอชที) หลังจากนั้นเมื่อเธอเดินทางกลับถึงบ้าน ก็นำนมที่ซื้อมาแช่เย็นไว้ในตู้เย็น ต่อมาเธอก็ได้หยิบนมดังกล่าวที่ซื้อมาดื่ม ขณะกำลังดื่มสายตาก็ดันเหลือบไปเห็นรายละเอียดวันหมดอายุบนกล่องนม อ้าว!! หมดอายุตั้งแต่ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 ทำไมเอาของหมดอายุมาขายกันนะ ห้างก็ออกจะชื่อดังระบบแย่ขนาดนี้เลย         คุณน้ำตาลยังดื่มนมไม่หมด แต่เธอก็กังวลเพราะดื่มเข้าไปแล้ว สำคัญคือเธอตั้งครรภ์อยู่ด้วย อย่างแรกที่ทำคือ เธอรีบติดต่อไปถึงห้างฯ ดังกล่าวเพื่อแจ้งเรื่องที่เกิดขึ้นทันที ซึ่งทางพนักงานรับเรื่องแจ้งเธอว่าจะติดต่อกลับมาภายในเวลา 3-5 วัน คำตอบนี้เธอไม่โอเค จึงโทรศัพท์มาขอคำปรึกษาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่าควรจะทำอย่างไรต่อดี แนวทางการแก้ไขปัญหา        เบื้องต้นผู้บริโภคหากพบปัญหาลักษณะนี้สามารถดำเนินการได้ตามแนวทางที่เขียนในกรณีของคุณกุ้ง (ซื้ออาหารดองหมดอายุจากห้างค้าปลีก)         กรณีคุณน้ำตาล วันที่ 15 มีนาคม 2566 ทางมูลนิธิฯ ได้ส่งหนังสือถึงบริษัทผู้ประกอบการซูเปอร์มาร์เก็ตขอให้ตรวจสอบและแก้ไขถึงปัญหาที่เกิดขึ้น หลังจากนั้นไม่นานทางผู้ร้องก็ได้แจ้งกับทางมูลนิธิฯ ว่าผู้ร้องได้รับการติดต่อจากบริษัทแล้ว โดยได้รับแจ้งว่า ทางบริษัทฯ รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเรื่องสุขภาพทั้งหมด           อย่างไรก็ตาม คุณน้ำตาลแม้ว่ารับประทานเข้าไปแล้วก็จริง แต่เธอไม่ได้มีอาการป่วยอะไร อาจเพราะเธอเห็นวันหมดอายุตอนที่ดื่มเข้าไปไม่มาก เธอจึงขอปฏิเสธที่จะรับเงินในส่วนนี้ไปแต่ขอให้บริษัทฯ ช่วยชดเชยเป็นค่าเสียเวลาให้เธอจำนวน 30,000 บาท ทางมูลนิธิฯ จึงให้ข้อมูลกับทางผู้ร้องว่า การเรียกร้องค่าเสียหายเป็นจำนวนเงินดังกล่าวนั้นเป็นสิทธิของผู้ร้องที่จะเรียกได้ และการจะได้รับค่าเสียหายตามที่เรียกร้องไปนั้นก็ขึ้นอยู่ที่ทางบริษัทฯ จะพิจารณาด้วยเช่นกัน ต่อมาเมื่อมีการเจรจาและทางบริษัทฯ ได้รับข้อเสนอคุณน้ำตาลไปพิจารณา ต่อมาได้รับการแจ้งจากผู้ร้องว่า บริษัทฯ ให้ไปรับเงินชดเชยจำนวน 5,000 บาท ที่สาขาที่ผู้ร้องใช้บริการ คุณน้ำตาลจึงข้อยุติเรื่องร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 265 ห้างดังวางขายอาหารหมดอายุ

        ผู้บริโภคต่างรู้กันอยู่แล้วว่าก่อนจะซื้อของกินทุกครั้งนั้น ต้องดูวันผลิตและวันหมดอายุอย่างรอบคอบ แต่บางทีถ้าซื้อเยอะๆ ใครจะไปตรวจดูได้ทุกชิ้น พอดูชิ้นสองชิ้นว่ายังไม่หมดอายุ ก็คิดเหมาว่าลอตเดียวกันน่าจะเหมือนกัน โดยไม่ได้เฉลียวใจเลยว่าจะมีของที่หมดอายุแล้วปะปนอยู่ในนั้นด้วยเหมือนอย่างที่คุณกุ้งเพิ่งเจอมากับตัวเอง         เธอเล่าว่าไปซื้ออาหารทะเลดองจากห้างชื่อดังแห่งหนึ่งใกล้บ้านซึ่งเป็นห้างค้าปลีกที่ใช้บริการเป็นประจำ จำนวน 10 กระปุก จ่ายเงินไป 3,471 บาท แต่เมื่อนำมารับประทานแล้วเกิดท้องเสียอย่างรุนแรงจนต้องเข้าโรงพยาบาลเพื่อรักษาอาการ เมื่ออาการดีขึ้นแล้วจึงกลับบ้านและเริ่มค้นหาสาเหตุที่ทำให้เสียทั้งสุขภาพและเงินจำนวนพอสมควร อย่างแรกคือของดองต้องสงสัย         แล้วก็อย่างที่สงสัย เมื่อค่อยๆ พิจารณาดูฉลากบนกระปุกหอยดองที่เพิ่งเปิดกินไป ก็เจอแจ็กพอต!! เพราะระบุวันหมดอายุบนฉลาก ระบุว่าหมดอายุก่อนหน้าวันที่ซื้อไปถึงเดือนกว่าๆ (ซื้อสินค้าวันที่ 18 ก.พ. 66 แต่ของหมดอายุตั้งแต่ 1 ม.ค. 66) แถมพอไปดูที่ซื้อมาทั้งหมดก็พบว่ายังมีอีก 2 กระปุกที่หมดอายุนานแล้วเหมือนกัน เรียกว่าปนๆ กันไปกับของที่ยังอยู่ในสภาพไม่หมดอายุ         คุณกุ้งจึงติดต่อไปทางห้างชื่อดังที่ขายของหมดอายุแล้วนี้และได้คุยกับทางผู้จัดการ คุณกุ้งขอให้ผู้จัดการช่วยออกค่ารักษาพยาบาลให้ก่อน แต่ทางนั้นจะขอเป็นคืนเงินค่าสินค้าทั้งหมดแทน ซึ่งเธอไม่รับข้อเสนอนี้ จึงร้องเรียนมายังมูลนิธิฯ ผ่านช่องทางไลน์ เพื่อขอความช่วยเหลือ  แนวทางการแก้ไขปัญหา         หากใครเจอกรณีเช่นเดียวกับคุณกุ้งนี้ แนะนำให้ดำเนินการเบื้องต้น ดังนี้        1. ถ่ายรูปฉลาก โดยเฉพาะวันผลิต – วันหมดอายุและตัวสินค้า พร้อมเก็บบรรจุภัณฑ์ของสินค้าและใบเสร็จจากร้านที่ซื้อไว้เป็นหลักฐาน (ขอให้ถ่ายสำเนาใบเสร็จเก็บไว้ด้วย)        2. นำหลักฐานทั้งหมดแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษที่สถานีตำรวจในท้องที่เพื่อเป็นหลักฐาน        3. ให้ติดต่อแหล่งจำหน่ายอาหารที่ซื้อมา ซึ่งต้องคิดให้ดีว่าเราต้องการให้เขาดำเนินการอย่างไรเพื่อแก้ไขปัญหา พร้อมชดเชยเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น (เช่น ขอเปลี่ยนสินค้า ขอเงินคืน จ่ายค่าเสียเวลา ค่ารักษาพยาบาล ค่าขาดประโยชน์ และค่าใช้จ่ายในการติดต่อกับผู้ประกอบการ หรือให้ทำหนังสือชี้แจงเหตุของสิ่งผิดปกติและขอโทษต่อผู้เสียหายและสาธารณะ เป็นต้น)         4. หากไม่สามารถตกลงกันได้ ให้ทำหนังสือยื่นกับผู้ประกอบการ บรรยายสรุปปัญหาที่พบ พร้อมข้อเรียกร้อง โดยส่งถึงเจ้าของร้านค้านั้นๆกรณีคุณกุ้งอยู่ระหว่างไกล่เกลี่ยเมื่อมีความคืบหน้าจะได้นำเสนอต่อไป ยังมีอีกเรื่องที่ผู้บริโภคพบปัญหาดื่มนมที่หมดอายุ ซึ่งซื้อมาจากซูเปอร์มาร์เก็ตดัง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉลาดซื้อ เปิดเผยผลทดสอบอาหารเม็ดแมวโต พร้อมย้ำ! ไฟเบอร์สูงไม่จำเป็นต่อแมว เพราะแมวเป็นสัตว์กินเนื้อ

        ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อทดสอบคุณค่าทางโภชนาการอาหารแห้งสำหรับแมวโต อายุ 1 ปี เปรียบเทียบคุณภาพอาหารแมว 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีน้อยยิ่งดี กลุ่มที่มีมากเกินไปไม่ดี และกลุ่มที่ยิ่งมีมากยิ่งดี ในภาพรวมมีคุณภาพที่ดีขึ้น และการทดสอบครั้งนี้พบ “ไมโคทอกซิน” ในยี่ห้อเดียวและมีปริมาณน้อยลงมากเมื่อเปรียบเทียบกับการทดสอบในปี 2559 พร้อมแนะนำว่า อาหารไฟเบอร์สูงไม่จำเป็นต่อร่างกายของแมวเพราะแมวเป็นสัตว์กินเนื้อ หากมีไฟเบอร์มากกว่า 1% หมายความว่าผู้ผลิตอาจใส่เพิ่มลงไปเพื่อลดต้นทุน                  วันนี้ ( 21 เมษายน 2566 ) ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ  ภายในการทำงานของนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันครัวเรือนที่เลี้ยงสัตว์เป็นสมาชิกหนึ่งของครอบครัวกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ครัวเรือนเหล่านี้มีลักษณะการใช้จ่ายคล้ายครัวเรือนที่มีบุตรหลานมีการเลือกผลิตภัณฑ์อาหารที่ดีที่สุดให้สัตว์เลี้ยง  ส่งผลให้ตลาดอาหารเพื่อสัตว์เลี้ยงเติบโตและมีมูลค่าสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง Kantar Worldpanel หน่วยงานที่ศึกษาพฤติกรรมการเกี่ยวกับการซื้อสินค้าเพื่ออุปโภค บริโภค ศึกษาข้อมูลในประเทศไทย พบว่าครัวเรือนที่เลี้ยงแมวเติบโตมากกว่าครัวเรือนที่เลี้ยงสุนัขแต่สัดส่วนที่เลือกใช้อาหารแบบหีบห่อยังน้อยกว่าครึ่งทำให้ยังเป็นโอกาสที่ยังสามารถเติบโตขึ้นได้ของอาหารสำเร็จ บริษัทต่างๆ จึงพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารแมวหลากหลายสูตรเพื่อจูงใจให้ผู้บริโภคมาเลือกซื้ออาหารเม็ดมากยิ่งขึ้น        นิตยสารฉลาดซื้อ โครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ได้สุ่มเลือก “อาหารสำเร็จรูปแบบแห้งสำหรับแมวโต อายุ 1 ปีขึ้นไป” จำนวน 12 ตัวอย่าง ในเดือนมกราคม 2566 มาสำรวจฉลาก และส่งตัวอย่างไปยังห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน เพื่อวิเคราะห์หาปริมาณสารพิษที่ไม่ควรมี และสารอาหารต่างๆ ที่ควรมีอย่างเหมาะสม เพื่อให้ผู้บริโภคตัดสินใจเลือกซื้ออาหารเม็ดให้แมวได้อย่างคุ้มค่า ให้โภชนาการที่ดีต่อแมวได้            นางสาวทัศนีย์ แน่นอุดร รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) และบรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อกล่าวว่าศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อเคยทดสอบเปรียบเทียบอาหารสำเร็จรูปแบบแห้งสำหรับแมวมาแล้วในฉบับที่ 183 ปี 2559 เพื่อเฝ้าระวังคุณภาพการผลิตอาหารแมวอย่างต่อเนื่องและปัจจุบันตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงยังได้เติบโตขึ้นมาก มีการโฆษณาคุณสมบัติที่ดีต่อร่างกายหลายรูปแบบ ผู้บริโภคจึงยิ่งควรมีข้อมูล องค์ความรู้โภชนาการที่เหมาะสมกับแมวเพื่อที่สามารถเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสม คุ้มราคา   การตรวจหาในการเปรียบเทียบคุณภาพอาหารแมวครั้งนี้แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่         1. กลุ่มที่มีน้อยยิ่งดี คือ ไมโคทอกซิน HT-2 และ T-2 สหภาพยุโรปกำหนดให้มีในอาหารแมวได้ไม่เกิน 50 ไมโครกรัม/กิโลกรัม เพราะอาจเป็นอันตรายต่อแมว การทดสอบครั้งนี้ ไม่พบ HT-2 ในทุกตัวอย่าง และพบ T-2 ปริมาณน้อยกว่า 10 ไมโครกรัม/กิโลกรัม ในยี่ห้อฮิลส์ ไซเอนซ์ ไดเอท          - ไฟเบอร์พบว่าทุกยี่ห้อมีมากกว่า 1% ยี่ห้อมีโอ รสปลาทูน่า มีน้อยที่สุดคือ 1.99% ส่วนยี่ห้อบิ๊กซี แฮปปี้ ไพรซ์ โปร รสทูน่า มีมากที่สุดคือ 4.17%  ซึ่งองค์กรทดสอบระหว่างประเทศให้ข้อสังเกตไว้ในฉลาดซื้อฉบับที่ 183 ว่าอาหารแมวไม่ต้องมีไฟเบอร์ก็ได้ เพราะแมวเป็นสัตว์กินเนื้อ หากมีไฟเบอร์มากกว่า 1% หมายความว่าผู้ผลิตอาจใส่เพิ่มลงไปเพื่อลดต้นทุน          2. กลุ่มที่มีมากเกินไปไม่ดี อ้างอิงจากปริมาณความต้องการสารอาหารสำหรับแมว พิจารณาตามปริมาณอาหารแมวแบบแห้ง 100 กรัม ที่ European Pet Food Industry Federation (FEDIAF 2021) แนะนำไว้เป็นขั้นต่ำคือ มีโซเดียม 80 มิลลิกรัม (0.08 กรัม) และแมกนีเซียม 40 มิลลิกรัม (0.04 กรัม) (หากแมวได้รับโซเดียมมากเกินไปจะเสี่ยงเป็นโรคไต และถ้าได้แมกนีเซียมมากเกินไปอาจเป็นนิ่วในไตได้) ผลทดสอบพบว่า         - ทุกตัวอย่างมีปริมาณโซเดียมมากกว่า 80 มิลลิกรัม/100 กรัม ยี่ห้อเพียวริน่า ฟริสกี้ส์ รสรวมมิตรปลาทะเล มีมากที่สุด คือ 687.36 มิลลิกรัม ส่วนยี่ห้อบิ๊กซี แฮปปี้ ไพรซ์ โปร รสทูน่า มีน้อยที่สุดคือ 393.58 มิลลิกรัม        - ทุกตัวอย่างมีปริมาณแมกนีเซียมมากกว่า 40 มิลลิกรัม/100 กรัม ยี่ห้อเพ็ทส์ เฟรนด์ รสทูน่า มีมากที่สุดคือ 164.02 มิลลิกรัม ส่วนยี่ห้อฮิลส์ ไซเอนซ์ ไดเอท มีน้อยที่สุด คือ 75.86 มิลลิกรัม         3. กลุ่มที่ยิ่งมีมากยิ่งดี อ้างอิงจากปริมาณความต้องการสารอาหารสำหรับแมว พิจารณาตามปริมาณอาหารแมวแบบแห้ง 100 กรัม ที่ FEDIAF 2021 แนะนำไว้เป็นขั้นต่ำคือ มีทอรีน 100 มิลลิกรัม(0.10 กรัม) ทอรีนเป็นกรดอะมิโนจำเป็นที่ร่างกายแมวไม่สามารถผลิตเองได้ หากได้รับน้อยเกินไปอาจทำให้แมวตาบอด ขนหรือฟันร่วงก่อนเวลาอันควร รวมถึงมีความปกติของระบบสืบพันธุ์ โปรตีน 25 กรัม ไขมัน 9 กรัม แคลเซียม 400 มิลลิกรัม (0.40 กรัม) และฟอสฟอรัส 260 มิลลิกรัม (0.26 กรัม) สรุปผลทดสอบ         - ทุกตัวอย่างมีทอรีนมากกว่า 100 มิลลิกรัม ยกเว้นยี่ห้อโปรไดเอ็ท รสทูน่า มี 93.19 มิลลิกรัม ส่วนยี่ห้อที่มีทอรีนมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ยี่ห้อรอยัล คานิน เอฟเอชเอ็น โฮม ไลฟ์ อินดอร์ 27 (197.09 มิลลิกรัม), วิสกัส รสปลาทูน่า (191.17 มิลลิกรัม) และมีโอ รสปลาทูน่า (187.90 มิลลิกรัม)         - ทุกตัวอย่างมีโปรตีนมากกว่า 25 กรัม ยี่ห้อสมาร์ทฮาร์ท โกลด์ รสทูน่ามีลแอนด์บราวน์ไรซ์ มีมากที่สุดคือ 35.44 กรัม ส่วนยี่ห้อรอยัล คานิน เอฟเอชเอ็น โฮม ไลฟ์ อินดอร์ 27 มีน้อยที่สุด คือ 26.95 กรัม         - ทุกตัวอย่างมีไขมันมากกว่า 9 กรัม ยี่ห้อแม็กซีม่า มีมากที่สุด คือ 22.4 กรัม ส่วนยี่ห้อเพ็ทส์เฟรนด์ รสทูน่า มีน้อยที่สุด คือ 10.1 กรัม         - ทุกตัวอย่างมีแคลเซียมมากกว่า 400 มิลลิกรัม ยี่ห้อบิ๊กซี แฮปปี้ ไพรซ์ โปร รสทูน่า มีมากที่สุด คือ 2,035.37 มิลลิกรัม ส่วนยี่ห้อฮิลส์ ไซเอนซ์ ไดเอท มีน้อยที่สุด คือ 813.08 มิลลิกรัม         - ทุกตัวอย่างมีฟอสฟอรัสมากกว่า 260 มิลลิกรัม ยี่ห้อสมาร์ทฮาร์ท โกลด์ รสทูน่ามีลแอนด์บราวน์ไรซ์ มีมากที่สุด คือ 1,382.41 มิลลิกรัม ส่วนยี่ห้อฮิลส์ ไซเอนซ์ ไดเอท มีน้อยที่สุด คือ 695.47 มิลลิกรัม          ด้านราคาเมื่อเปรียบเทียบราคาต่อปริมาณอาหารเม็ดแมว 1 กรัม พบว่ายี่ห้อฮิลส์ ไซเอนซ์ ไดเอท ราคาแพงที่สุด คือ 0.38 บาท ส่วนยี่ห้อโลตัส รสปลาทูน่า ราคาถูกที่สุด คือ 0.08 บาท       ข้อสังเกตจากการทดสอบครั้งนี้พบ ไมโคทอกซิน ในยี่ห้อเดียวและมีปริมาณน้อยลงมากเมื่อเปรียบเทียบกับการทดสอบในปี 2559 ซึ่งอาจสะท้อนได้ว่าผู้ผลิตอาหารแมวใส่ใจคุณภาพมากขึ้น อย่างไรก็ตามยังพบว่ามีไฟเบอร์มากกว่า 1 % ในทุกตัวอย่างเช่นเดียวกับการทดสอบในครั้งที่แล้ว ตัวอย่างส่วนใหญ่มีธัญพืชเป็นส่วนประกอบ ซึ่งแมวจะย่อยยากและอาจเกิดอาการแพ้ได้         - ด้านความชื้นทุกตัวอย่างมีความชื้นไม่มากกว่าร้อยละ 14 ของน้ำหนัก ตามที่กรมปศุสัตว์กำหนดไว้      - ทุกตัวอย่างระบุข้อมูลคุณภาพของอาหารสัตว์ทางเคมี (โปรตีน ไขมัน และกาก) ไว้ตรงกับผลวิเคราะห์ที่ได้จากห้องปฏิบัติการ มีเพียงยี่ห้อโปรไดเอ็ท รสทูน่า ที่ฉลากระบุว่ามีโปรตีนไม่น้อยกว่า 30% แต่ผลวิเคราะห์ออกมาได้ 29.83% (ซึ่งน่าจะพออนุโลมกันได้)         นางสาวทัศนีย์ ยังกล่าวต่ออีกว่า นอกจากเลือกอาหารที่มีโภชนาการครบถ้วนเหมาะสมกับร่างกายและช่วงอายุของแมว ยังสร้างสุขภาพที่ดีให้แก่แมวได้ด้วยการสร้างนิสัยการกินอาหารที่ถูกต้อง แมวบางตัวมีนิสัยกินจุ กินยากหรือกินอาหารบ่อยครั้ง ซึ่งแก้ไขหรือปรับพฤติกรรมการกินของแมวได้ด้วยการให้อาหารเป็นเวลาแน่นอน และจำกัดปริมาณให้เหมาะสม แมวโตกินอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ในแมวเด็ก 3 ครั้ง เพราะการทดสอบยังพบ โซเดียมและแมกนีเซียมในปริมาณสูงเกินระดับมาตรฐานในทุกตัวอย่าง การให้อาหารเม็ดจึงยิ่งควรระมัดระวัง จำกัดปริมาณเพราะสารทั้งสองทำให้แมวเสี่ยงเป็นโรคไต และนิ่วในไตได้ ซึ่งการดูแลเรื่องอาหารจะนำไปสู่การลดโรคได้ ตรงนี้อาจจะช่วยลดค่าใช้จ่ายจากการรักษาพยาบาลในอนาคตได้ติดตามอ่าน“ผลทดสอบคุณค่าทางโภชนาการในอาหารสำเร็จรูปแบบแห้งสำหรับแมวโต อายุ 1 ปีขึ้นไป” ฉบับเต็มได้ใน https://www.chaladsue.com/article/4234 และโหลดไฟล์กราฟฟิกผลทดสอบได้ที่ https://drive.google.com/file/d/1CZtJSsLJdxBFRmgeuP5nSl1uBQx9Of3U/view?usp=share_linkข้อมูลประกอบข่าวฉลาดซื้อแนะ        - ก่อนซื้อทุกครั้งตรวจสอบว่ามีเลขทะเบียนอาหารสัตว์ 10 หลักเพื่อแสดงว่าอาหารผ่านการตรวจสอบและได้รับการรับรองจากกรมปศุสัตว์แล้ว ดูส่วนผสมและสารอาหาร สารปรุงแต่งที่ต้องระวังไหม แสดงปริมาณอาหารที่แนะนำต่อวันหากมีมาตรฐานรับรองจากหน่วยงานที่เชื่อถือจะยิ่งดี ที่สำคัญคือต้องระบุวันหมดอายุไว้ชัดเจน         - อาหารเม็ดแมวมี 2 ประเภทหลัก ๆ คือสูตรโภชนาการครบถ้วนสำหรับแมวที่สุขภาพดี หาซื้อได้ทั่วไป และสูตรป้องกันโรคที่ช่วยเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรงเฉพาะจุดสำหรับแมวป่วย ควรซื้อจากโรงพยาบาลสัตว์ และได้รับคำแนะนำจากสัตวแพทย์ก่อน         - แม้ซื้ออาหารเม็ดแมวถุงใหญ่จะคุ้มกว่าถุงเล็ก แต่หากเก็บไว้นานเกินไปจนทำให้กลิ่น รสชาติและสัมผัสของอาหารเม็ดเปลี่ยนไป แมวอาจไม่ยอมกิน ก็น่าเสียดาย จึงควรเลือกซื้ออาหารเม็ดแมวในปริมาณที่แมวสามารถกินหมดได้ภายใน 1 เดือนเพื่อรักษาความสดใหม่ไว้         - แมวแต่ละตัวมีโอกาสแพ้สารแตกต่างกัน เช่นอาจแพ้ธัญพืช โปรตีนจากสัตว์ สารกันบูดและสารกันความชื้นต่าง ๆ หากสังเกตว่าแมวกินอาหารแล้วมีอาการผิดปกติ เช่นผื่นขึ้น ตุ่มขึ้น ตาบวม น้ำมูกน้ำตาไหล ให้เปลี่ยนอาหาร ถ้าไม่ดีขึ้นให้รีบพาไปรักษาและนำอาหารนั้นไปให้สัตวแพทย์ดูด้วย         - ไม่ควรซื้ออาหารแมวที่มีสีสันฉูดฉาดเกินไป เพราะอาจมีส่วนผสมที่ทำให้แมวเสี่ยงเป็นโรคไตได้        - ไม่ควรเทอาหารแมวค้างคืนหรือเททิ้งไว้นานจนเกินไป เพราะอาหารจะเสื่อมสภาพและเป็นแหล่งของเชื้อโรคแทนได้        - แม้แมวเป็นสัตว์กินเนื้อที่ไม่จำเป็นต้องได้รับไฟเบอร์สูงมากเท่าสัตว์กินพืช แต่ไฟเบอร์ก็มีประโยชน์สำหรับแมวที่มีปัญหาท้องผูก และแมวอ้วนลงพุงที่จำเป็นต้องลดน้ำหนัก

อ่านเพิ่มเติม >