ฉบับที่ 178 ห้องหุ่น : การบริหารจัดการองค์กรในแบบผีๆ

คนเราโดยทั่วไปมักเชื่อว่า “ความเป็นจริง” ต้องเป็นสิ่งที่เราเห็น หรือจับต้องได้ด้วยสัมผัสของเราโดยตรง แต่ทว่า ยังมีวิธีอธิบายอีกแบบหนึ่งที่ว่า “ความเป็นจริง” ของมนุษย์ อาจมีบางอย่างมากไปกว่าแค่ที่เราสัมผัสจับต้องโดยตรงเท่านั้น ตามคำอธิบายข้อหลัง ความเป็นจริงอาจแบ่งได้เป็นสองประเภท ประเภทแรกคือ “ความเป็นจริงเชิงวัตถุ” ที่เรารับรู้และจับต้องได้แบบเป็นรูปธรรม เช่น รู้เห็นได้ด้วยรูปรสกลิ่นเสียงและกายสัมผัส กับอีกประเภทหนึ่งคือ “ความเป็นจริงเชิงจิตวิญญาณ” หรือความเป็นจริงที่อยู่นอกเหนือสัมผัสทั้งห้า และเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่เหนือธรรมชาติซึ่งมนุษย์เราจะหยั่งรู้ได้ ทั้งความเป็นจริงเชิงวัตถุและความเป็นจริงเชิงจิตวิญญาณนี้ ต่างก็ดำเนินไปแบบคู่ขนานกันบ้าง หรือคู่ไขว้สลับซ้อนทับกันไปมาบ้าง เหมือนกับที่ตัวละครทั้งคนและผีที่หลากหลายได้มามีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกันในพื้นที่ของ “ห้องหุ่น” ในทางหนึ่ง ในโลกของมนุษย์ ตัวละครอย่าง “สันติ” “อัมรา” “พรรณราย” “เดช” “อารีย์” และอีกหลายคน อาจจะมีชีวิตและวิถีปฏิบัติที่ขับเคลื่อนไปในความเป็นจริงเชิงวัตถุของเขาและเธอ แต่ในห้องหุ่นอันเป็นโลกที่เหนือกว่าสัมผัสทั้งห้าของมนุษย์ หุ่นที่มีดวงวิญญาณสถิตอยู่แต่ละตน ตั้งแต่หุ่นท่านเจ้าคุณ หุ่นชาวนา หุ่นนางรำ หุ่นนักดาบ หุ่นนักยิงธนู หุ่นนางพยาบาล และหุ่นเด็ก ต่างก็อาจมีแบบแผนการดำเนินชีวิตในความเป็นจริงเชิงจิตวิญญาณของตนไปอีกทางเช่นกัน   อย่างไรก็ดี จะมีบางเงื่อนไขหรือบางจังหวะเหมือนกัน ที่คนกับหุ่น (หรือกล่าวให้ชัดๆ ก็คือ ระหว่างมนุษย์กับผี) จะได้โคจรมาเจอกัน แบบเดียวกับที่ธีมของละคร “ห้องหุ่น” พยายามบอกคนดูว่า “คนดีผีย่อมคุ้ม” โดยเฉพาะผีบรรพบุรุษหรือผีประจำตระกูลที่จะคอยปกป้องคุ้มครองลูกหลานที่มุ่งมั่นทำกรรมดี และเพราะความสัมพันธ์ของหุ่นแต่ละตนดำรงอยู่ในอีกโลกของจิตวิญญาณ เพื่อให้ความสัมพันธ์นั้นดำเนินไปโดยเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด สมาชิกหุ่นที่อยู่ในห้องหุ่นของคฤหาสน์ตระกูล “สัตยาภา” จึงต้องพัฒนาองค์ความรู้และใช้เทคนิคการออกแบบและบริหารจัดการองค์กรแบบหุ่นๆ ขึ้นมา ซึ่งจะว่าไปแล้วก็ดูไม่แตกต่างจากเทคนิคการบริหารองค์การสมัยใหม่ในโลกของมนุษย์เท่าใดนัก เริ่มตั้งแต่องค์กรของหุ่นต้องเคลื่อนไปโดยมี “พันธกิจ” หรือ “mission” เป็นตัวกำหนดไว้อย่างชัดเจนแน่นอน เพราะฉะนั้น หากเป้าหมายของสมาชิกหุ่นต้องทำหน้าที่ดูแลสมาชิกในครอบครัวสัตยาภาให้แคล้วคลาดปลอดภัย หุ่นทั้งหลายก็ต้องอุทิศตนและทำทุกอย่างเพื่อขจัดตัวละครร้ายๆ อย่าง “พิไล” “เทิด” “ผอบ” “พงษ์” และ “หมอผีเวทย์” ให้หลุดออกไปจากวงจรชีวิตของบุตรหลานในครัวเรือน ภายใต้หลักการบริหารห้องหุ่นให้เกิดประสิทธิภาพ สมาชิกหุ่นได้ออกแบบองค์กรที่ต้องมีนโยบายการวางแผนอัตรากำลังคน การจัดวางลำดับชั้น และการสั่งการตามสายงานบังคับบัญชาที่ชัดเจน ในแง่นี้ เพื่อให้บรรลุพันธกิจในแต่ละวาระ “หุ่นท่านเจ้าคุณนรบดินทร์” ในฐานะประธานของโครงสร้างองค์กรหุ่น ได้เรียนรู้และเลือกใช้การวิเคราะห์สถานการณ์ของคู่ต่อสู้ ก่อนที่จะบัญชาการรบโดยเลือกวิธี “put the right หุ่น on the right job” และออกคำสั่งไล่เรียงตามสายงานบังคับบัญชาลดหลั่นกันลงไป หุ่นเด็กอาจถูกส่งออกไปสู้รบปรบมือในลำดับแรกก่อน แต่เมื่อภารกิจเริ่มซับซ้อนและยากลำบากขึ้น หุ่นผู้ใหญ่ตนอื่นๆ ก็อาจจะได้รับมอบหมายให้ไปจัดการปัญหาต่างๆ แทน และเมื่อถึงภารกิจที่ต้องอาศัยประสบการณ์และความชำนาญการขั้นสูง ก็จะถึงลำดับของหุ่นท่านเจ้าคุณกับไม้เท้าศักดิ์สิทธิ์ของท่านที่จะไปจัดการให้กิจดังกล่าวบรรลุเป้าหมายในที่สุด ขณะเดียวกัน เมื่อมีโครงสร้างองค์กรที่ชัดเจนเช่นนี้ ห้องหุ่นจึงต้องมีระบบการคัดเลือกสมาชิกใหม่ โดยเกณฑ์ในการพิจารณาเปิดรับสมัครสมาชิก จะตัดสินใจจากคุณธรรมความดี และดวงวิญญาณที่จะมาสถิตอยู่ในหุ่นประจำคฤหาสน์ได้ ต้องมีความมุ่งหมายร่วมในพันธกิจที่จะดูแลคุ้มครองบุตรหลานในตระกูลสัตยาภา เมื่อดวงวิญญาณของผู้เสียชีวิตใหม่ได้เข้ามาเยือนห้องหุ่น และผ่านการตรวจสอบ profiles และผ่านการสอบสัมภาษณ์โดยหุ่นท่านเจ้าคุณแล้ว ท่านเจ้าคุณก็จะประกาศว่า “ขอต้อนรับเข้าสู่ห้องหุ่น” เป็นการเชิญให้ดวงวิญญาณนั้นๆ เข้ามาสถิตในหุ่นปั้นที่อยู่ ณ ห้องหุ่นได้ และร่วมภารกิจขับเคลื่อนองค์กรของห้องหุ่นให้ดำเนินต่อไป เหมือนกับวิญญาณอารีย์และเดชที่เมื่อเสียชีวิต ก็ได้เข้ามาร่วมภารกิจดูแลลูกหลานในบ้านนั่นเอง แต่หากระบบองค์กรตรวจสอบดวงวิญญาณใหม่และพบว่า คุณธรรมความดีไม่ผ่านตามเกณฑ์ พันธกิจไม่ได้ยึดถือร่วมกัน แถมดวงวิญญาณนั้นก็มีความอาฆาตมาดร้ายต่อสมาชิกครอบครัวสัตยาภาด้วยแล้ว องค์กรห้องหุ่นก็จะขับไล่ดวงวิญญาณนั้นออกจากบ้านไป เหมือนกับกรณีของวิญญาณผีดาวโป๊อย่าง “เพทาย” ที่ไม่ผ่านระบบ QC และถูกอัปเปหิออกไปเป็นสัมภเวสีอยู่นอกเรือน และที่สำคัญ เมื่อโลกความจริงของมนุษย์ได้ก้าวเข้าสู่สังคมสารสนเทศ ที่ข้อมูลข่าวสารมีผลต่อการตัดสินใจและการกระทำใดๆ ของผู้คน โลกเหนือธรรมชาติอย่างห้องหุ่นก็ผันตัวเข้าสู่สังคมสารสนเทศไม่ต่างกัน สมาชิกต่างๆ ในห้องหุ่น จะมีระบบการไหลเวียนของข้อมูลข่าวสาร และตรวจสอบข้อมูลข่าวสารกันอย่างเข้มข้น เพราะฉะนั้น หากตัวละครผู้ร้ายเริ่มวางแผนจะเข้ามาทำร้ายลูกหลานในบ้านแล้ว หุ่นทั้งหลายก็จะใช้ข้อมูลข่าวสารดังกล่าวมาออกแบบกลยุทธ์เพื่อจัดการกับภยันตรายเหล่านั้น เมื่อย้อนกลับไปสู่ทัศนะที่ว่า ความเป็นจริงรอบตัวเรามีสองโลกที่ดำเนินควบคู่กันไปแล้ว คำถามที่สำคัญก็คือ ตกลงแล้วการบริหารองค์กรในแบบผีกับแบบคนที่แทบจะดูไม่ต่างกันเลยเช่นนี้ เป็นคนที่เลียนแบบผี หรือเป็นผีที่เลียนแบบคนกันแน่ และในเวลาเดียวกัน แม้เมื่อตอนจบ เราจะเห็นภาพหลวงตามาสวดปลดปล่อยวิญญาณของผีหุ่นในห้องไปสู่สุคติโดยถ้วนหน้า แต่พลันที่ประตูของห้องหุ่นปิดลงอีกครั้ง ความเป็นจริงเชิงจิตวิญญาณให้ห้องหุ่นก็ดำเนินไปอีกคำรบหนึ่ง ซึ่งบอกเป็นนัยๆ กับเราว่า ระหว่างสองโลกแห่งความเป็นจริงทางกายภาพและความเป็นจริงทางจิตวิญญาณต่างไม่เคยแยกขาด หากแต่ดำรงอยู่คู่กันเช่นนี้เรื่อยมาและตลอดไป :) 

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 177 ขอเป็นเจ้าสาวสักครั้งให้ชื่นใจ : ในโลกนี้ไม่มีความจริงแบบสมบูรณ์

นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 เป็นต้นมา กรอบความคิดแบบ “วิทยาศาสตร์” ดูเหมือนจะเข้ามาครอบงำ และให้คำอธิบายความจริงในชีวิตของมนุษย์เราเอาไว้อย่างเข้มข้น     หลักการทางวิทยาศาสตร์เชื่อว่า ในโลกนี้มี “ความจริงแบบสมบูรณ์” หรือที่ภาษาอังกฤษอาจเรียกว่า “absolute truth” ดังนั้น หน้าที่ของนักวิทยาศาสตร์ก็คือ ต้องพยายามพิสูจน์ถึงสัจจะความจริงแบบสมบูรณ์และเป็นความจริงเพียงหนึ่งเดียวนี้ โดยปราศจากอคติใดๆ เข้ามาแปดเปื้อนปะปน     ภายใต้หลักการดังกล่าว หากความจริงมีเพียงหนึ่งเดียว คำตอบต่อสรรพสิ่งจึงต้องเป็นหนึ่งเดียว ถ้าไม่ใช่คำตอบว่า “yes” ก็ต้องเป็น “no” หรือถ้าไม่ใช่ “ขาว” ก็ต้องเป็น “ดำ” อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยมิอาจย้อนแย้งเป็นสองอย่างได้ในเวลาเดียวกัน และนักวิทยาศาสตร์ก็ต้องพิสูจน์ความจริงแท้ข้อนี้ออกมาให้เห็นเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์แจ้งแก่สายตาให้ได้เท่านั้น     แม้วิธีคิดเช่นนี้จะครอบงำโลกทัศน์ของมนุษย์มานานหลายศตวรรษ แต่ทว่า ทฤษฎีความจริงแบบสมบูรณ์นี้ก็ถูกท้าทายเรื่อยมาโดยตลอด และที่สำคัญ ก็ยังถูกตั้งคำถามผ่านสายตาของตัวละครอย่าง “วีว่า” สาวนักเรียนนอกเจ้าของ “วรรณวิวาห์เวดดิ้ง” บริษัทรับจัดงานแต่งงานแบบครบวงจรด้วยเช่นกัน     ด้วยความใฝ่ฝันตั้งแต่วัยเด็ก วีว่าปรารถนาที่จะโตขึ้นด้วยกราฟชีวิตที่มุ่งไปข้างหน้า และเมื่อถึงเวลาอันเหมาะสม เธอก็อยากจะสวมชุดเจ้าสาวสุดหรู และมีพิธีแต่งงานที่สุดแสนจะโรแมนติก โดยเฉพาะกับคำมั่นสัญญาของคู่หมั้นอย่าง “ลาภิศ” ที่ให้ไว้ว่า เมื่อเขาเรียนจบจากเมืองนอกกลับมา จะขอเธอแต่งงานทันที     จากความฝันวัยเยาว์และคำสัญญาของคู่หมั้น วีว่าจึงคิดเสมอว่า คำตอบในชีวิตของคนเราจะต้องเป็นเส้นตรงเท่านั้น และมีสิ่งนี้เป็นสัจจะความจริงแบบสมบูรณ์เพียงหนึ่งเดียว     แต่ทว่า โชคชะตาก็ไม่ได้ขีดเส้นตรงเส้นเดียวให้กับมนุษย์อย่างวีว่าได้เดินเสมอไป หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ในขณะที่หลักการวิทยาศาสตร์มีแนวโน้มจะเชื่อว่า เหตุผลของมนุษย์ย่อมมีเหตุผลหลักได้เพียงข้อเดียว แต่วีว่าเองกลับพบว่า ถ้ามีเหตุผลข้อ ก.ไก่ เกิดขึ้นได้ ก็ใช่ว่าเหตุผลแบบ ข.ไข่ ค.ควาย หรือ ง.งู จะอุบัติขึ้นไม่ได้เช่นกัน     ดังนั้น ภายหลังจากการสิ้นลมของ “คุณปู่จรัส” โดยไม่คาดฝัน ทำให้เหตุผลและเส้นกราฟชีวิตของวีว่ากลับตาลปัตรไปจนหมด วีว่าผู้ที่ทุกคนคาดว่าจะได้ครอบครองทรัพย์สินของวงศ์ตระกูล กลับพบว่าคุณปู่ของเธอได้ยกมรดกและกิจการทั้งหมดให้กับลูกบุญธรรมอย่าง “ปูรณ์” ผู้มีศักดิ์เป็นอาของวีว่าในอีกทางหนึ่ง     เมื่อมรดกในพินัยกรรมเปลี่ยนมือไป ทั้งลาภิศและ “คุณหญิงแขอุไร” ผู้เป็นมารดาจึงเป็นเดือดเป็นร้อน เพราะหมายหมั้นปั้นมือที่จะเป็นเจ้าของกองมรดกและธนาคารไทยธนกิจ ลาภิศจึงตัดสินใจล้มเลิกการแต่งงานกับวีว่า ในขณะที่คุณหญิงแขอุไรก็สะบั้นความสัมพันธ์กับตระกูลวรรณดำรงไปในทุกๆ ทาง     ความจริงบางอย่างที่เราเห็นอยู่ใน “หน้าฉาก” ว่าบริสุทธิ์และเบ็ดเสร็จสมบูรณ์ ก็อาจจะมีความจริงอีกชุดหนึ่งซึ่งเป็น “หลังฉาก” และปนเปื้อนไปด้วยอคติกับผลประโยชน์อยู่ ซึ่งนั่นก็คือสัจธรรมที่วีว่าค่อยๆ ได้เรียนรู้ แบบที่เธอประกาศกับ “คุณย่าพริ้มเพรา” และญาติผู้ใหญ่ภายหลังจากถูกยกเลิกงานวิวาห์ว่า “ก็อย่างที่วีว่าบอก...เรื่องมรดกทำให้วีว่าได้รู้ว่า ใครที่รักวีว่าจริงๆ หรือใครที่รักวีว่าเพราะเงิน...”     ไม่เพียงแต่วีว่าจะได้เข้าใจว่า ความจริงโดยสมบูรณ์หรือจริงแท้โดยปราศจากอคติเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลยนั้น อีกด้านหนึ่ง การปรากฏตัวของ “คุณลึกลับ” ชายในชุดสีขาว ที่จะเป็นเทพก็ไม่ใช่ ผีก็ไม่เชิง หรือเป็นนิมิตมายาอะไรบางอย่าง ก็ยิ่งตอกย้ำให้วีว่าได้พบความเป็นไปไม่ได้ของสิ่งที่เธอเคยเข้าใจว่าเป็น “ความจริงหนึ่งเดียว” อย่างชัดเจนยิ่งขึ้นอีก     เพราะพลันที่วีว่าถูกมือปืนยิงจนนอนสลบเป็นเจ้าหญิงนิทรา ในจังหวะเดียวกับดารานางแบบอย่าง “มุกริน” ที่ฆ่าตัวตายเพราะผิดหวังจากความรักที่มีต่อลาภิศ วิญญาณของมุกรินได้หลุดพ้นไปสู่สัมปรายภพ แต่ทว่าไฟล์ดวงจิตของวีว่ากลับถูก “install” เข้ามาอยู่ในร่างของ “มุกริน แม็กซ์เวลล์” แทน จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นแห่งปมปัญหาใหม่ในชีวิตของวีว่าขึ้นมา     ในด้านหนึ่ง วีว่าในร่างของมุกรินอาจจะได้ค้นพบความจริงในชีวิตของตัวละครอื่นๆ ที่มีบางด้านซ่อนเร้นอยู่เป็นเบื้องหลัง ไม่ว่าจะเป็นลาภิศผู้มีบาดแผลจากการถูกมารดากำหนดชะตาชีวิตจนแทบเดินไปทางอื่นไม่ได้ มุกรินที่เบื้องหน้าของชีวิตดาราซึ่งต้องยิ้มสู้กล้องอยู่ตลอดเวลา แต่ด้านหลังก็เคยดำเนินชีวิตผิดพลาดเพราะทำแท้งมาก่อน ไปจนถึงคุณย่าพริ้มเพราที่เกลียดหลานบุญธรรมอย่างปูรณ์ เพียงเพราะความเจ็บปวดจากความรักที่ฝังรากมาตั้งแต่วัยสาว     แต่ในเวลาเดียวกัน วีว่าก็ยังได้เข้าใจอีกข้อเท็จจริงด้วยว่า ในขณะที่มนุษย์เรามี “โลกความจริงทางกายภาพ” แบบที่วิทยาศาสตร์พยายามพิสูจน์จับต้องออกมาให้ได้ แต่ก็ยังมี “โลกความจริง” อีกชุดหนึ่ง (หรืออาจจะเรียกว่า อีกภพหนึ่ง) ของคุณลึกลับที่ดำเนินคู่ขนานไป และวิทยาศาสตร์ก็มิอาจหยั่งรู้ถึงความจริงดังกล่าวได้เลย     เมื่อวีว่าพยายามจะขอความช่วยเหลือจากอาปูรณ์ให้กู้ไฟล์ดวงจิตของเธอกลับคืนสู่ร่างจริงๆ เขาเองก็แสดงให้เห็นว่าตนเชื่อมั่นอยู่ตลอดว่า เหตุผลและโลกความจริงต่างภพที่คู่ขนานกับโลกทางกายภาพแบบนี้คือสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย     จนกระทั่งวีว่าในร่างมุกรินเลือกที่จะกระโดดลงน้ำประหนึ่งจะฆ่าตัวตาย เธอก็ได้ “พิสูจน์” ให้อาปูรณ์ประจักษ์เห็นว่า โลกความจริงที่เราสัมผัสด้วยสายตา ก็เป็นเพียงความจริงชุดหนึ่งๆ เท่านั้น และเป็นชุดความจริงหนึ่งที่อยู่ท่ามกลางความจริงอีกมากมายหลายชุด ซึ่งมนุษย์อาจจะเข้าถึงด้วยอายตนะแห่งตนได้ยากยิ่งนัก     จนเมื่อมาถึงบทสรุปของเรื่องที่วีว่าได้บรรลุการ “ขอเป็นเจ้าสาวสักครั้งให้ชื่นใจ” ของอาปูรณ์ ภาพฉากความจริงที่ทั้งคู่ฮันนีมูนสวีทหวานบนเรือสำราญกลางทะเล ซึ่งละครบรรจงตัดสลับกับภาพความจริงของลาภิศและมุกรินที่ได้ลงเอยเคียงคู่ความรักกันในอีกภพหนึ่ง ก็ไม่ต่างจากการให้คำตอบกับคนดูอย่างเราๆ ว่า ในโลกที่เราเห็นและจับต้องกันอยู่ทุกวันนี้ อาจไม่มีความจริงใดๆ ที่จะกลายเป็นความจริงแบบสมบูรณ์หนึ่งเดียวได้เลย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 176 เลื่อมสลับลาย : ไม่เจ็บอย่างฉันใครจะเข้าใจ

มนุษย์เป็นสัตว์สังคม แต่ทว่า ในสังคมของมนุษย์นั้น คนเรามักจะรับรู้ความสัมพันธ์ระหว่างตัวเรากับคนอื่นหรือโลกรอบตัวแตกต่างกันไป     ตามหลักทฤษฎีทางสังคมเชื่อกันว่า วิธีการรับรู้โลกที่แตกต่างกันของคนเราดังกล่าว อาจจำแนกได้เป็นสามแบบแผนใหญ่ๆ ได้แก่ แบบแผนแรกคือ การที่เรารับรู้โลกแบบ “คนใน” ที่เราสัมผัสด้วยตัวเอง หรือเกิดเนื่องมาแต่ “ประสบการณ์ตรง” ของเราเอง เพราะฉะนั้นก็ต้องเป็นคนจนหรือคนชายขอบเท่านั้น จึงจะรู้ว่าคนจนที่อยู่ชายขอบจะคิดจะอยู่กันเช่นไร     แบบแผนที่สอง ซึ่งเป็นแบบแผนการรับรู้โลกของคนส่วนใหญ่ก็คือ การรับรู้จากสายตาของ “คนนอก” หรือเป็นการมองจากตัวเราออกไป แล้วจึงตัดสินว่าโลกรอบตัวและคนอื่นๆ คืออะไรหรือมีลักษณะเช่นไร โดยที่เขาเองก็อาจไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย หรือหากจะกล่าวง่ายๆ ก็คือ เป็นการรับรู้ที่ “เอาใจเราไปคิดแทนใจเขา” นั่นเอง     ส่วนแบบแผนสุดท้ายที่เกิดขึ้นได้ยากยิ่งก็คือ แม้เราจะไม่ได้มีประสบการณ์ตรงต่อเรื่องใดๆ หรือต่อชีวิตของใคร แต่เราที่เป็น “คนนอก” ก็พยายามเขยิบจุดยืนมาคิดแบบ “คนใน” โดยรับรู้โลกของคนอื่นแบบ “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” และมองความเป็นจริงของคนอื่นจากมุมมองของเขาให้ใกล้เคียงที่สุด     การที่มนุษย์มีจุดยืนหรือตำแหน่งแห่งที่ในการรับรู้โลกต่างกันไปนี้ ก็คือปมปัญหาความขัดแย้งที่อยู่เบื้องลึกของละครโทรทัศน์เรื่อง “เลื่อมสลับลาย” นั่นเอง     โครงเรื่องเปิดฉากผูกเนื้อหาให้ตัวละครเพื่อนในอดีตสองคนถูกโชคชะตาให้ต้องมาสานโยงความสัมพันธ์ และเรียนรู้พร้อมกับรับรู้ความเป็นจริงของอีกฝ่ายหนึ่ง “พาไล” คือตัวละครแรกที่เป็นสาวน้อยจากครอบครัวผู้ดีเก่า แต่เนื่องเพราะอารมณ์ชั่ววูบและความเข้าใจผิดต่อบิดามารดาบุญธรรม พาไลจึงหนีออกจากบ้านและเลือกใช้ชีวิตในด้านมืด เปลี่ยนผู้ชายไม่ซ้ำหน้า จนครั้งหนึ่งเธอต้องแท้งลูกแม้ว่าจะอยู่ในวัยสาวแรกรุ่นเท่านั้น     สลับเลื่อมลายกับตัวละครผู้หญิงอีกคนอย่าง “ปิ่นปัก” ที่ฐานะทางเศรษฐกิจสังคมแตกต่างกันมากกับพาไล ปิ่นปักเรียนจบปริญญาเอกจากอเมริกา มีหน้าที่การงานก้าวหน้าเป็นที่ยอมรับสูงในวงสังคม และถูกวางแผนชีวิตให้แต่งงานกับ “ศก” คู่หมั้นหนุ่มระดับลูกมหาเศรษฐีอันดับต้นๆ ของเมืองไทย     ชีวิตของตัวละครที่มาจากคนละโลกและแตกต่างกันประหนึ่ง “ด้านมืด” กับ “ด้านสว่าง” ที่ไม่น่าจะมาบรรจบกันได้เช่นนี้ กลับถูกละครผูกโยงให้โคจรมาพบกัน เพราะรั้วบ้านหลังงามของปิ่นปักมาปลูกติดกับคอนโดที่พาไลอาศัยเช่าอยู่     และเพราะ “บ้านก็ปลูกติดกัน ปลูกติดกันพอดี” เมื่อ “เปิดหน้าต่างทุกที ทุกทีหน้าของตัวละครทั้งสองก็ต้องมาเจอกัน” ดังนั้น ทั้งพาไลและปิ่นปักจึงมีโอกาสจะได้สัมผัสเห็นภาพการดำเนินชีวิตของกันและกัน     แต่ที่สำคัญ เพราะอีกด้านหนึ่งวิถีทางสังคมของตัวละครทั้งคู่ที่มีรั้วบ้านกับคอนโดเป็นตัวกั้นกลาง ผนวกกับตัวละครเองก็ได้สร้าง “รั้วในใจ” ขึ้นมาขีดวงความเป็นเรากับความเป็นอื่นให้ถ่างออกจากกันอีก การรับรู้กันและกันของผู้หญิงสองคน จึงเกิดจากมุมมองหรือจุดยืนที่ต่างคนต่างคิดต่างตัดสินอีกฝ่ายกันไปเอง     เมื่อปิ่นปักเห็นการใช้ชีวิตของพาไล ที่ทั้งเธอและ “คุณโปรย” ผู้เป็นมารดานิยามไว้ตั้งแต่ต้นแล้วว่า เป็น “ชีวิตของผู้หญิงที่ไม่ดี” ปิ่นปักจึงดูถูกเหยียดหยามการกระทำและพฤติกรรมของพาไลกับผองเพื่อนในทุกๆ ทาง     แม้เมื่อพาไลพยายามที่จะกลับตัวมาตั้งหน้าตั้งตาทำมาหากิน โดยเฉพาะภายหลังที่เธอได้กำลังใจจากชายหนุ่มคนรักอย่าง “นครินทร์” ที่อีกด้านหนึ่งก็เป็นพี่ชายแท้ๆ ของปิ่นปักเอง ทั้งปิ่นปักและคุณโปรยจึงตั้งป้อมรังเกียจพาไลมากยิ่งขึ้น เพราะเชื่อว่าผู้หญิงใจแตกที่ใช้ชีวิตไม่ดีเยี่ยงนั้น ไม่มีวันจะกลับเนื้อกลับตัวได้เลย     การรับรู้และตัดสินคนอื่นไปล่วงหน้าจากพฤติกรรมที่แสดงออกมา จึงเกิดขึ้นเมื่อเราเอาตัวเองไปยืนอยู่เป็น “คนนอก” โดยไม่พยายามเขยิบเข้าไปใกล้เหตุผลและความเป็นจริงในชีวิตของคนอื่นบ้างเลย     แต่อย่างไรก็ดี หากความไม่แน่นอน (หรือกฎอนิจจัง) เป็นสัจธรรมที่สำคัญของชีวิตมนุษย์ แม้แต่ชีวิตของปิ่นปักผู้เลิศเลอเพอร์เฟ็กต์ในทุกทาง ก็จึงมิอาจหลีกพ้นไปจากกฎเกณฑ์ความจริงข้อนี้ไปได้     หลังจากแต่งงานไป ชีวิตคู่ของปิ่นปักกับศกก็เริ่มเผชิญปัญหามากขึ้น จนในที่สุดก็แตกแยกภินท์พังจนถึงกับหย่าร้างและเกิดเป็นสงครามแย่งลูกกัน หม้ายสาวปิ่นปักที่เคยดำเนินชีวิตตามจารีตปฏิบัติก็ผันตัวออกเที่ยวเตร่ประชดชีวิตคู่ที่พังพินาศ แถมยังคบหากับผู้ชายมากหน้าหลายตา รวมทั้งไปมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับ “เพรียว” ผู้ชายอีกคนที่แอบหลงรักปิ่นปักมาตั้งแต่เด็ก     และพลันที่ดอกฟ้าต้องมีอันหล่นร่วงมาจากสรวงสวรรค์ แม้ปิ่นปักจะตัดสินใจกลับตัวกลับใจจะมาลงเอยใช้ชีวิตคู่ครั้งใหม่กับเพรียวก็ตาม แต่เธอก็ถูกเลือกปฏิบัติแบบดูถูกเหยียดหยามศักดิ์ศรีจาก “คุณอร” มารดาของเพรียว ไม่แตกต่างจากภาพในอดีตที่ครั้งหนึ่งปิ่นปักกับมารดาเคยกระทำต่อพาไลในช่วงที่เธอเริ่มต้นคบหาดูใจกับนครินทร์เช่นกัน     “เลื่อม” ที่ค่อยๆ “สลับลาย” ไขว้กันไปมาระหว่างชีวิตของปิ่นปักกับพาไล จึงทำให้ตัวละครทั้งสองเริ่มเข้าใจว่า ถ้าไม่ลองเข้าใจคนอื่นด้วยมุมมองที่ “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” จริงๆ กันบ้าง อคติและทัศนะที่เลือกเอาตนเองเป็นศูนย์กลาง ก็อาจจะเข้ามาเบียดบังการรับรู้ผู้คนและโลกรอบตัวแบบที่เขาอาจไม่ได้เป็นเช่นนั้นจริงๆ ก็ได้     ทุกวันนี้ หากมนุษย์เราจะลดทิฐิ และหัดที่จะลด “กำแพงรั้ว” ที่กั้นอยู่ในใจของตนลง หรือหัดย้ายตำแหน่งแห่งที่มาครวญเพลง “ไม่เจ็บอย่างฉันใครจะเข้าใจ” กันเสียบ้าง บางทีคนเราที่ใช้ชีวิตบนความแตกต่างหลากหลาย ก็อาจจะได้รับรู้และอาศัยอยู่กับเพื่อนร่วมโลกบนความเข้าใจกันและกันได้มากยิ่งขึ้น                             

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 175 ผู้กองยอดรัก : ไม่มีเส้นแบ่งและศักดิ์ชั้นในความบันเทิงสนุกสนาน

นักมานุษยวิทยาชาวอเมริกันที่ชื่อ วิลเลียม เคลาสเนอร์ ได้เคยเข้ามาศึกษาสังคมไทยในช่วงทศวรรษที่ 1950 และได้ค้นพบข้อสรุปที่เขาเองก็สนเท่ห์ใจว่า สังคมไทยเป็นสังคมที่รักความบันเทิงสนุกสนาน จนกลายเป็นมนต์เสน่ห์ที่ยากจะหาสังคมอื่นมาเทียบเคียงได้    และหากความบันเทิงเป็นเบื้องลึกเบื้องหลังที่วัฒนธรรมไทยก่อร่างขึ้นมา ความบันเทิงก็คงทำหน้าที่สนองต่อความต้องการหลายๆ ด้านให้กับคนไทยด้วยเช่นกัน     บทบาทหน้าที่ของความบันเทิงต่อมนุษย์เราอาจมีได้หลายประการ ตั้งแต่การช่วยให้เราได้หย่อนใจคลายเครียด ช่วยปลดปล่อยมนุษย์จากความทุกข์ ช่วยให้ปัจเจกบุคคลมีพลังในการเผชิญกับปัญหาต่างๆ ในชีวิต และอื่นๆ อีกมากมาย แต่ที่สำคัญ ความบันเทิงสนุกสนานยังช่วยลดทอนความขัดแย้งตึงเครียดที่เกิดขึ้นและธำรงอยู่ในระหว่างกลุ่มสังคม    เชื่อหรือไม่ว่า แม้แต่ในพื้นที่ที่มีการใช้อำนาจเข้มข้นที่สุดในสังคม แต่ทว่า ความบันเทิงสนุกสนานก็สามารถชำแรกแทรกเข้าไปในห้วงอณูแห่งอำนาจได้เช่นกัน และนี่ก็คือภาพที่ฉายให้เราเห็นผ่านความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครต่างๆ ในเรื่อง “ผู้กองยอดรัก” นั่นเอง     จะว่าไปแล้ว ด้านหนึ่งละครเรื่อง “ผู้กองยอดรัก” ก็คือโลกแฟนตาซีที่มาเติมเต็มความฝันของกลุ่มคนที่มีอำนาจน้อยอย่างบรรดาทหารเกณฑ์ ที่ริอยากจะสอยดอกฟ้าหรือผู้กองหญิง ที่ไม่เพียงแต่สูงฐานะศักดิ์ชั้นกว่าเท่านั้น หากแต่ยังเป็นผู้หญิงที่มีสถานภาพทางอำนาจ ยศ และตำแหน่งที่เหนือกว่าพวกเขาในทุกๆ ทาง     ด้วยพล็อตเรื่องที่เปิดฉากให้ “พัน น้ำสุพรรณ” หนุ่มบ้านนอก (แต่มีดีกรีการศึกษาจบปริญญาโทด้านกฎหมายจากอังกฤษ) มาตกหลุมรักแบบ “love at first sight” กับ “ผู้กองฉวีผ่อง” ร้อยเอกแพทย์หญิงผู้เป็นลูกสาวของ “ผู้พันผวน” กับ “คุณนายไฉววงศ์” พันจึงเลือกสมัครเป็นทหารเกณฑ์มากกว่าต้องรอจับใบดำใบแดง เพื่อจะได้รับใช้ชาติและใกล้ชิดกับผู้กองฉวีผ่องไปในเวลาเดียวกัน    แน่นอน เมื่อทหารเกณฑ์หนุ่มคิดหวังจะเด็ดดอกฟ้า จึงสร้างความไม่พอใจให้กับว่าที่พ่อตาอย่างผู้พันผวน รวมทั้ง “พันตรีสุทธิสาร” ทหารหนุ่มอีกคนที่มาแอบติดพันผู้กองฉวีผ่องอยู่ ผู้พันทั้งสองคนต่างดูถูกว่าพันเป็นแค่ทหารเกณฑ์ เพราะฉะนั้น เมื่อพันต้องเข้ามาเป็นทหารรับใช้อยู่ในบ้านของผู้พันผวน คุณผู้พันทั้งสองจึงต้อง “จัดเต็ม” เพื่อสั่งสอนและกีดกัน “สุนัข” ที่ไม่บังควรแหงนมอง “เครื่องบิน” ที่ลอยอยู่บนฟ้าเอาเสียเลย    จากโครงเรื่องที่กล่าวมานี้ ละครได้เผยให้เห็นว่า วิธีคิดของสังคมไทยยังมีระบบการแบ่งแยกและจัดลำดับชั้นขึ้นระหว่างเจ้านายกับลูกน้อง ระหว่างผู้บังคับบัญชากับผู้ใต้บังคับบัญชา ระหว่างผู้ใหญ่กับผู้น้อย ระหว่างคนที่ต่างวุฒิการศึกษา ไปจนถึงระหว่างความเป็นเมือง (ที่พูดวาจาชัดถ้อยชัดคำ) กับชนบท (ที่สะท้อนผ่านสำเนียงเหน่อสุพรรณของตัวละครเอก)    และที่สำคัญ เส้นกั้นกับความแตกต่างระหว่างศักดิ์ชั้นเหล่านี้ ก็ยังคงสืบต่อและดำรงอยู่แม้แต่ในโลกสัญลักษณ์ของสถาบันใหญ่ๆ ในสังคมอย่างกองทัพด้วยเช่นกัน    ในแง่หนึ่ง สถาบันทหารอาจถูกมองได้ว่าเป็นสถาบันรูปธรรมที่สุดของการบริหาร “อำนาจ” เพื่อควบคุมชีวิตและร่างกายของมนุษย์อย่างเข้มข้น เพราะตั้งแต่ฉากแรกที่พันและผองเพื่อนอย่าง “อ่ำ” “นุ้ย” “บุญส่ง” และ “พรหมมา” ได้เข้ามาใช้ชีวิตในกองทหาร พวกเขาก็ถูก “หมู่ทอง” จัดวินัยในหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่จับทหารใหม่ตัดผมเสีย จับร่างกายของพวกเขามาอยู่ในชุดยูนิฟอร์มเหมือนกัน จนถึงเปลี่ยนแปลงวัตรปฏิบัติต่างๆ ให้ต่างไปจากที่เคยใช้ชีวิตมาก่อนหน้านั้น (แม้ตัวละครจะยังคงพูดสำเนียงท้องถิ่นอยู่เหมือนเดิมก็ตาม)    แต่ในอีกแง่หนึ่ง หากเราเชื่อว่าความบันเทิงสนุกสนานช่วยลดทอนเส้นแบ่งระหว่างความแตกต่างทางสังคม และหากเรื่องของอำนาจเป็นสิ่งที่ไม่เข้าใครออกใคร ละครก็เลือกใช้อารมณ์บันเทิงขบขันมาผูกเล่าเรื่องของทหารเกณฑ์กลุ่มหนึ่งที่ลุกขึ้นมาเสียดสีท้าทายอำนาจของระบบศักดิ์ชั้นได้อย่างแยบยล    ภาพลักษณะนี้เห็นได้ทั้งจากการที่พันและสหพรรคพวกคอยเล่น “ลิงหลอกเจ้า” ล่อเอาเถิดกับครูฝึกอย่างหมู่ทอง หรือการจับเอาทั้งผู้พันผวนกับผู้พันสุทธิสารมาล้อเลียนล้อเล่นเพื่อเรียกเสียงฮา ไปจนถึงการเสียดสีไปถึงหลังบ้านของผู้พันผวนที่มีศรีภรรยาอย่างคุณนายไฉววงศ์ ผู้แสนจะเค็มแสนเค็มและงกเงินจน “ทะเลเรียกพี่” ได้เลย    การใช้ความขบขันที่เอื้อให้ทหารเกณฑ์ได้ล้อเล่นเสียดสีตั้งแต่กับเจ้านาย นับตั้งแต่คุณหมู่คุณจ่า ผู้กอง ผู้พัน ไปจนถึงคุณนายหลังบ้านผู้พัน (แต่ไม่ยักกะมีท่านนายพล???) คงย้อนกลับไปสะท้อนให้เราเห็นว่า ความบันเทิงสนุกสนานนี่เองที่เป็นพื้นที่ให้โครงสร้างอำนาจต่างๆ ของสังคมได้รับการตรวจสอบและตั้งคำถามอยู่ในเวลาเดียวกัน    ตามหลักทฤษฎีแล้วเชื่อว่า เฉพาะในพื้นที่ของความบันเทิงเริงรมย์เท่านั้น ที่เส้นกั้นระหว่างเจ้านาย-ลูกน้อง ผู้ใหญ่-ผู้น้อย และผู้มีอำนาจ-ผู้ด้อยอำนาจ จะได้มาพบปะแลกเปลี่ยนปรับความสัมพันธ์ระหว่างกัน    เพราะฉะนั้น ในท้ายที่สุด ถึงแม้จะเป็น “เจ้าที่ถูกลิงหลอก” มาแทบตลอดทั้งเรื่อง แต่บรรดาผู้มีอำนาจทั้งหลายก็เรียนรู้ที่จะมองเห็นอีกด้านหนึ่งของกลุ่มคนที่ถูกมองว่าด้อยอำนาจวาสนากว่าตน    หมู่ทองเองก็เรียนรู้ที่จะรักใคร่พันและผองเพื่อน หรือแม้แต่จะยอมรับอ่ำให้มาเป็นลูกเขยของตนเอง ผู้พันสุทธิสารก็เข้าใจว่าคุณค่าของคนไม่ได้พิสูจน์กันด้วยยศถาบรรดาศักดิ์แต่อย่างใด เฉกเช่นเดียวกับผู้พันผวนที่ได้ทบทวนตัวเองว่า ลำดับชั้นและการตัดสินคนที่อำนาจนั้น ก็อาจเป็นเพียงเปลือกนอก มากกว่าการมองเข้าไปเห็นตัวจริงและแก่นแท้ที่เป็น “เนื้อทองผ่องอำไพ” ซึ่งอยู่ในจิตใจของผู้ใต้อำนาจการบังคับบัญชา    เมื่อโลกแห่งความบันเทิงสนุกสนานได้กรุยทางการตั้งคำถามเรื่องเส้นกั้นกับศักดิ์ชั้นระหว่างทหารเกณฑ์กับผู้กองสาวที่อาจลางเลือนลงไปได้ในละครเช่นนี้แล้ว คำถามก็คือ แล้วเส้นกั้นแบ่งที่อยู่ในโลกจริงจะมีโอกาสสลายลงไปได้บ้างหรือไม่? เป็นผู้กองยอดรักแบบร้อยเอกแพทย์หญิงฉวีผ่อง กับเป็นทหารเกณฑ์แบบพัน น้ำสุพรรณ น่าจะได้อะไรมากกว่าที่คุณคิดเยี่ยงนี้แล!!!  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 174 เลือดมังกร เสือ สิงห์ กระทิง แรด หงส์ : “Looking East” ไปสู่จีนาภิวัตน์

กว่าครึ่งศตวรรษผ่านไป นับแต่มีการประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 1 พ.ศ. 2504 (ปีเดียวกับที่ผู้ใหญ่ลีเคยตีกลองประชุม) สังคมไทยได้ปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์จากที่เคย “looking west” หรือปลาบปลื้มกับอารยธรรมความทันสมัยตามรีตตามรอยชาติตะวันตก หันมา “looking east” หรือมองอะไรใกล้ๆ ภายใต้ยุคสมัยที่ความเป็นตะวันตกถูกมองว่า อาจเป็นแค่ “ทันสมัย” แต่ “ไม่พัฒนา” จริงๆ     และคำตอบในการ “looking east” ของคนไทย ก็คือ การเปลี่ยนจากการชื่นชมลัทธิตลาดเสรีและจักรวรรดินิยมแบบตะวันตก มาสู่การเติบโตของทุนไทยที่หันไปจูบปากประสานมือกับทุนจีนกันอย่างเป็นล่ำเป็นสันในยุคนี้ หรือที่บางคนอาจเรียกว่าเป็นการก่อร่างของกระแส “จีนาภิวัตน์” กันอย่างเข้มข้น    ความปรองดองกับกระแสจีนาภิวัตน์ เห็นได้จากประจักษ์พยานที่ทุนจีนขยายตัวเข้ามาในแทบจะทุกอณูของสังคมไทย ตั้งแต่กิจกรรมเศรษฐกิจการเมืองที่ไทยต้องอิงไปกับการขยับตัวของทุนจีน ภาคธุรกิจใหญ่น้อยที่มีทุนจีนสนับสนุนอยู่ด้านหลัง ประเพณีพิธีกรรมแบบจีนที่เข้ามามีบทบาทในวิถีชีวิตผู้คน หรือแม้แต่รายการสอนภาษาทางโทรทัศน์ ที่สอนแค่ภาษาอังกฤษอย่างเดียวไม่ได้อีกแล้ว ต้องฝึกพูดและ “ดูปาก” การออกสำเนียงภาษาจีนของน้องพรีเซ็นเตอร์ไปด้วย    ริ้วรอยการเติบโตของกระแสจีนาภิวัตน์แบบนี้ ก็ได้รับการขานรับเข้าสู่โลกของละครโทรทัศน์ด้วยเช่นกัน และอาจถือเป็นครั้งแรกที่หน้าประวัติศาสตร์ละครไทย มีการผลิตซีรีส์เนื้อหาของกลุ่มทุนจีนเป็นตัวละครเอกแบบยาว 5 เรื่อง 5 รส กันเลยทีเดียว    ซีรีส์ละครชุด “เลือดมังกร” 5 ตอน คือ เสือ สิงห์ กระทิง แรด และหงส์ นั้น ผูกโครงเรื่องขึ้นจากชีวิตของเพื่อนรัก 5 คน ที่มีเชื้อสายจีนหรือเติบโตมาในขนบประเพณีแบบจีนในช่วงยุคปี 2500 หรือช่วงของการเริ่มใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับแรกนั่นเอง ด้วยเหตุนี้ ตัวละครหลักทั้ง 5 ไม่ว่าจะเป็น “ภรพ” จากแก๊งเสือ “ทรงกลด” แห่งแก๊งเขี้ยวสิงห์ “ธาม” จากแก๊งกระทิง “คณิน” จากแก๊งเหยี่ยวแดง และ “หงส์” จากแก๊งหงส์ดำ ก็คือตัวแทนของกลุ่มทุนจีนรุ่นใหม่ ที่เติบโตและมีบทบาททางเศรษฐกิจของไทยมาจนถึงปัจจุบัน    เมื่อเทียบกับการเข้ามาของกลุ่มชาวจีนรุ่นแรกหรือจีนโพ้นทะเล ที่เริ่มต้นด้วยทุนติดตัวอันน้อยนิดเพียงแค่ “เสื่อผืนหมอนใบ” พอสังคมไทยเข้าสู่ยุคการพัฒนาประเทศให้ทันสมัย คนจีนในเจนเนอเรชั่นถัดๆ มา ได้มีการสั่งสมทุนเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นผ่านกิจการและธุรกิจภาคต่างๆ     ในแง่นี้ ละครก็ได้ชี้ให้เห็นว่า รากฐานหลักที่เป็นต้นทุนการผลิตที่สำคัญของชาว “เลือดมังกร” กลุ่มนี้ ก็อยู่ที่การเข้าไปจับจองธุรกิจใหญ่หลายประเภทในระบบเศรษฐกิจไทย นับตั้งแต่การถือครองสัมปทานธุรกิจรังนก การเป็นเจ้าของธุรกิจเซียงกงหรืออุตสาหกรรมยานยนต์ การยึดครองธุรกิจการค้าขายทองคำแท่ง การผูกขาดธุรกิจค้าข้าวและโรงสีข้าว และการเป็นเจ้าของกิจการโรงงิ้วและศาลเจ้าที่เยาวราช    ภายใต้การถือครองทุนและตัวอย่างกิจการใหญ่ๆ ในมือของกลุ่มชาวจีนเช่นนี้ ละครได้เซาะให้เห็นเบื้องหลังว่า อำนาจของกลุ่มทุนจีนอาจไม่ได้ดำเนินไปตามสัมมาอาชีวะเสมอไป เพราะบ่อยครั้งอำนาจดังกล่าวก็ตั้งอยู่บนพื้นฐานของมิจฉาทิฐิ เช่น การใช้ความรุนแรง การขูดรีดเพื่อช่วงชิงผลประโยชน์บนความขัดแย้งระหว่างกัน     จากคนรุ่นบุพการีของตัวละครทั้ง 5 ที่มารวมตัวกันเป็น “สมาคมเลือดมังกร” ด้านหนึ่งก็คือการผนวกผสานทุนและผลประโยชน์เอาไว้ในมือของกลุ่มตน แต่อีกด้านหนึ่ง ก็สะท้อนการได้มาซึ่งผลประโยชน์ที่มีการใช้อาวุธและความรุนแรงประหัตประหารไม่ต่างจากมาเฟียหรืออั้งยี่แต่อย่างใด    แต่เมื่อมาถึงคนรุ่นลูก ละครเองก็กำลังบอกเราว่า ลึกๆ แล้วคนรุ่นหลังก็ไม่ได้เห็นพ้องกับการสั่งสมทุนที่เกิดจากวิถีการขูดรีดบนกองเลือดเท่าใดนัก ตัวละครอย่างภรพ ทรงกลด หรือคณิน ที่ขัดแย้งกับบิดาเพราะไม่อยากสืบต่อธุรกิจของสายตระกูล หรือตัวละครอย่างธามและหงส์ที่มีบาดแผลอันเนื่องมาแต่สถาบันครอบครัว สะท้อนให้เห็นแรงบีบคั้นของกลุ่มทุนจีนรุ่นใหม่ว่า เป็นภาวะจำยอมเข้าสู่อำนาจ มากกว่าจะมาจากความปรารถนาจริงๆ ของปัจเจกบุคคลเหล่านั้น    ในฟากหนึ่ง ละครก็มีมุมเล็กๆ เรื่องปมความรักของตัวละครอย่างภรพกับ “วันวิสา” ทรงกลดกับ “อาจู” ธามกับ “ย่าหยา” คณินกับ “แพน” และหงส์กับ “อาหลง” ซึ่งนั่นก็เป็น “จุดขาย” ของละครที่ต้องใช้โรมานซ์เป็นกลไกของการดำเนินเรื่องให้มีปมขัดแย้งและดึงดูดความสนใจของผู้ชม    แต่ในอีกฟากหนึ่ง การที่ตัวละครต้องเข้าไปอยู่ในสนามการแข่งขันเพื่อสร้างความจำเริญเติบโตของทุนจีนรุ่นใหม่ ก็ยังมีด้านที่ใช้ความรุนแรงและอาวุธประหัตประหารไม่ต่างจากหัวหน้าแก๊งในรุ่นพ่อ แต่ทว่า “เลือดมังกร” รุ่นหลังก็พยายามสร้างความชอบธรรมขึ้นมาใหม่ว่า ไม่เพียงแต่พวกเขาและเธอจะไม่มีทางเลือกอื่นที่จะหลุดพ้นไปจากอำนาจ แต่การขึ้นสู่อำนาจของคนกลุ่มนี้ก็พยายามสถาปนาโฉมหน้าใหม่จากระบอบทุนนิยมเดิมไปสู่ระบอบทุนนิยมแบบ CSR    ถึงแม้จะก่อรูปอำนาจของทุนขึ้นมาจากการใช้อาวุธ ใช้ความรุนแรง หรือใช้การขูดรีดอันเป็นพื้นฐานของระบอบทุนไม่ว่าจะที่ใดก็ตาม แต่กลุ่มสหายทั้ง 5 คนกลุ่มนี้ก็คือ ทุน “เลือดมังกร” ที่ใช้อำนาจดังกล่าวเพื่อผดุงคุณธรรม มีความรับผิดชอบต่อสังคม และมีพื้นฐานเพื่อตอบแทนคุณแผ่นดินที่ให้ข้าวให้น้ำกับบรรพชนของคนเหล่านี้ตั้งแต่ยุค “เสื่อผืนหมอนใบ”    ขณะเดียวกัน การตัดสินใจขึ้นสู่อำนาจของพวกเขาก็ถูกประเมินว่า น่าจะดีเสียกว่าที่จะปล่อยให้มาเฟียในกลุ่มก๊วนและแก๊งอื่นๆ ขึ้นมามีอำนาจแทน เพราะไม่ว่าจะเป็นตัวละครอย่าง “เถ้าแก่เฮ้ง” “เสี่ยเคี้ยง” “เสี่ยเล้ง” “เสี่ยบุ๊ง” และสหพรรคพวกลิ่วล้อและตัวร้ายอีกมากมาย ก็คือตัวแทนอีกปีกหนึ่งของทุนจีนที่ขาดซึ่งคุณธรรมใดๆ     ภายใต้วิถีการเติบโตของทุนจีนในกระแสจีนาภิวัตน์เยี่ยงนี้ ละคร “เลือดมังกร” ก็คือภาพสัญลักษณ์ที่ไม่เพียงฉายให้เราเห็นการสั่งสมอำนาจของคนกลุ่มนี้ แต่ละครก็ยังมีนัยอีกด้านหนึ่งว่า ถึงแม้กลุ่มทุน “เลือดมังกร” รุ่นใหม่จะดำเนินชีวิตไปด้วยอำนาจเศรษฐกิจที่สั่งสมอยู่ในมือ แต่นั่นก็เป็นอำนาจที่ “ฟอกขาว” ไว้ด้วยสำนึกแห่งความรับผิดชอบและคุณธรรมแบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในระบอบเศรษฐกิจยุคใดสมัยใด                                 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 173 สุดแค้นแสนรัก : มนุษย์เราล้วนมีบาดแผลด้วยกันทุกคน

“ความรัก” กับ “ความแค้น” อาจไม่ใช่สองเรื่องที่อยู่ตรงข้ามกันเสียทีเดียว แต่น่าจะเป็นประดุจเหรียญหนึ่งเหรียญที่มีทั้งสองด้านพันผูกเอาไว้ด้วยกันมากกว่า    ปรมาจารย์ต้นตำรับทฤษฎีจิตวิเคราะห์ผู้เลื่องชื่ออย่าง ซิกมันด์ ฟรอยด์ เคยกล่าวไว้ว่า มนุษย์เราต่างก็มีปมแบบ “love-and-hate complex” หรือปมในจิตใจแบบที่ความรักกับความแค้นมักเกิดควบคู่กัน คล้ายๆ กับที่คนไทยมีความเปรียบเปรยว่า “ทั้งรักทั้งแค้นแน่นอุรา” หรือ “รักมากก็แค้นมาก” ซึ่งสะท้อนปมคู่ที่ไขว้กันของรักและแค้นนั่นเอง    ทัศนะเรื่องปมเหรียญสองด้านของความรักกับความแค้นแบบนี้ ก็คือภาพจำลองที่ฉายออกมาผ่านตัวละครมากมายในหมู่บ้าน “หนองนมวัว” ซึ่งเธอและเขาต่างก็มีมุมสองด้าน ที่เป็นมุม “สุดแค้น” ในเวลาหนึ่ง แต่ก็มีมุมแบบ “แสนรัก” ในเวลาเดียวกัน    หากขยายความตามทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์ ในช่วงพัฒนาการบุคลิกภาพของปัจเจกบุคคลในสังคมทุกวันนี้นั้น มนุษย์ทุกผู้ทุกนามล้วนแต่ถูกสังคมมอบ “บาดแผล” บางอย่างขึ้นมาเป็นปมภายในจิตใจของตนด้วยกันทั้งสิ้น ไม่ต่างจากตัวละครอย่าง “แย้ม” ที่เปิดฉากมากับความโกรธเกลียดและแค้นครอบครัวของ “อัมพร” ผู้เป็นลูกสะใภ้ ซึ่งอีกด้านหนึ่งก็เป็นบุตรสาวของ “ขัน” ผู้ที่พลั้งมือฆ่า “เทือง” สามีของแย้มจนเสียชีวิต    ความแค้นที่อยู่ในใจของแย้ม ชนิดเผาพริกเผาเกลือสาปส่งกันระหว่างสองตระกูล ได้กลายมาเป็น “บาดแผล” ที่มิอาจใช้ยาทิงเจอร์ไอโอดีนเยียวยาได้ ซ้ำยังกลับปะทุเป็นเชื้อฟืนเผาไหม้ไปสู่ตัวละครอื่นๆ ในท้องเรื่องเสียอีก     เริ่มจากตัวละครในครอบครัวของแย้มเอง ลูกชายคนโตอย่าง “ประยงค์” ก็ถูกโทสะจริตของมารดาผลักให้เขาต้องยืนอยู่บนทางสองแพร่งแบบ “ทางหนึ่งก็แม่ ทางหนึ่งก็เมีย” หรือลูกชายคนรองอย่าง “ประยูร” ที่แม้จะรู้สึกผิด แต่ก็ต้องเลือกเข้าข้างมารดา และยอมแต่งงานกับ “สุดา” ซึ่งลึกๆ ก็หวังฮุบสมบัติของแย้มเอาไว้เป็นของตน ในขณะที่ลูกสาวคนเล็กอย่าง “พะยอม” ก็ต้อง “ยอมฉันยอมเจ็บปวด” ด้วยการแต่งงานโดยปราศจากความรักกับ “ลือพงษ์” เพียงเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในแผนการแก้แค้นกับครอบครัวของศัตรู    ทางฝ่ายตัวละครในอีกครอบครัวหนึ่งนั้น ก็ถูกผูกโยงเข้าสู่วัฏจักรแห่งบาดแผล อันเกิดมาแต่ความแค้นของแย้มไม่แตกต่างกัน นับตั้งแต่กรณีของอัมพรที่แย้มกลั่นแกล้งพรากเอา “ยงยุทธ” ลูกชายคนโตมาจากอ้อมอก จนเธอต้องจำใจกลับมาใช้ชีวิตอยู่กับ “อ่ำ” ผู้เป็นมารดา ในขณะที่น้องสาวของอัมพรหรือ “อุไร” ซึ่งเป็นคนรักของลือพงษ์ นอกจากจะไม่อาจสมหวังในรักแล้ว เธอยังต้องแบกหน้าอุ้มท้องเลี้ยงดูลูกในครรภ์แต่เพียงลำพัง    สิ่งที่เรียกว่า “ความแค้นของคนรุ่นหนึ่ง” ดูเหมือนจะไม่ได้จบลงแค่ในคนรุ่นนั้น หากแต่บาดแผลมีการสืบทอดเป็นวังวนผ่านคนแต่ละรุ่น และมนุษย์ที่อยู่ในวังวนดังกล่าวก็มีสถานะเป็นเพียงแค่ “ร่างทรง” ที่สืบต่อและรองรับปมบาดแผลต่างๆ ของคนรุ่นก่อนเอาไว้เท่านั้น เหมือนกันกับความเจ็บปวดจากคนรุ่นแย้มและอ่ำที่ได้สืบทอดมาสู่รุ่นลูก และมีแนวโน้มจะส่งต่ออีกคำรบหนึ่งมายังรุ่นหลานๆ ในเจนเนอเรชั่นถัดมา    และภายใต้บาดแผลความเจ็บปวดในจิตใจของเรา ฟรอยด์เองก็ได้กล่าวว่า เพื่อให้มนุษย์มีชีวิตอยู่รอดและดำรงตัวตนต่อไปได้นั้น จิตของเราจะสร้างกลไกบางอย่างขึ้นมาเพื่อเยียวยาบาดแผลให้บรรเทาทุเลาลง หรือที่รู้จักกันว่าเป็น “กลการป้องกันตนเองทางจิต” หรือ “defensive mechanism” ที่คนแต่ละคนจะเลือกใช้วิถีการรักษาบาดแผลของตนแตกต่างกันไป    ในขณะที่แย้มเลือกใช้วิธีการ “ไขว่คว้า” ความสุขของหลานชายมาเป็นเครื่องมือการแก้แค้นของตน และ “ถ่ายโอน” ความเจ็บปวดของตนไปยังตัวละครอื่นๆ สำหรับตัวละครอย่างอ่ำกลับเลือกใช้กลยุทธ์การ “ข่มใจ” หรือปิดกั้นบาดแผลเอาไว้ด้วยธรรมะและพระศาสนา     ส่วนในรุ่นลูกๆ ของแย้มและอ่ำนั้น ในขณะที่ทั้งประยูรและพะยอมเลือกใช้กลไก “สองจิตสองใจ” ไม่ทำเพื่อแม่ก็ไม่ได้ แต่ถึงทำก็รู้สึกผิดอยู่ลึกๆ แต่ประยงค์พี่ชายคนโตกลับใช้วิธี “ถอนตัว” จากความเจ็บปวดและตรอมใจตายตั้งแต่ต้นเรื่องไปเสียเลย     ทางฝ่ายของอัมพรที่ถูกพรากลูกชายไปตั้งแต่ยังเล็ก ก็เลือกใช้กลไกการ “ถอยหลัง” กลับไปหาความปลอดภัยจากมารดา และเริ่มต้นชีวิตคู่ครั้งใหม่กับ “ทวี” นายตำรวจแสนดีมีคุณธรรม ส่วนอุไรผู้เป็นน้องสาวก็ใช้กลยุทธ์ “ตาต่อตาฟันต่อฟัน” กับครอบครัวของแย้ม เพียงเพื่อปิดกั้นปกป้องตนเองจากความเจ็บปวดทางใจ ซึ่งตรงข้ามกับลือพงษ์ ที่ใช้วิธีเลือก “ปลีกตัว” ออกไปจากสนามรบความรักความแค้นของทั้งสองตระกูล แต่ก็ไม่อาจสลัดหลุดจากความรู้สึกเจ็บปวดนั้นได้จริง    ไม่ว่าตัวละครต่างๆ จะเลือกหยิบกลไกป้องกันตนเองแบบใดมาบำบัดเยียวยาบาดแผลในจิตใจ แต่คำตอบที่แน่ๆ ก็คือ กลไกมากมายหลายชนิดดังกล่าวก็มิอาจสลายความเจ็บปวดให้มลายหายไปจนหมด หากแต่ทำได้เพียงบรรเทาโลภะโทสะโมหะของมนุษย์ให้ลดลงได้บ้างชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น     ครั้นมาถึงรุ่นของหลานๆ บุญคุณความแค้นที่ตอกย้ำสืบทอดมาจากบรรพชน ก็เริ่มเห็นริ้วรอยความขัดแย้งที่ส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่น เมื่อพี่น้องอย่างยงยุทธและ “ธนา” ต้องเข้ามาสู่เกมแย่งชิงพิชิตหัวใจของผู้หญิงคนเดียวกันอย่าง “คุณหมอหทัยรัตน์” หรือในกรณีของความรักระหว่าง “ระพีพรรณ” กับ “ปวริศ” ก็ต้องเจ็บปวดและมิอาจสมหวังได้ เนื่องมาจากทิฐิความแค้นของบุพการีเพียงอย่างเดียว    ในท้ายที่สุดของเรื่อง เมื่อตัวละครทั้งหลายเริ่มเรียนรู้ที่จะเข้าใจความจริงของชีวิต และรู้จักที่จะอโหสิกรรมให้อภัยกันและกัน ละคร “สุดแค้นแสนรัก” เองก็ได้ให้คำตอบกับเราไปพร้อมๆ กันว่า ถ้า “ความรัก” กับ “ความแค้น” เป็นสองคำที่อยู่บนเหรียญสองด้านในจิตใจแล้ว หากมนุษย์เราไม่หัดรู้จักตัดวงจรของความโกรธที่ “สุดแค้น” ลงให้ได้ บาดแผลในจิตใจของเราก็มิอาจสูญสลายหายไป และอีกด้านหนึ่งของเหรียญที่เรียกว่า “แสนรัก” ก็คงมิอาจเกิดขึ้นได้จริง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 172 นางชฎา : จาก “ผีนางนาก” สู่ “ผีนางรำ”

ในบรรดาผีที่ออกอาละวาดผ่านโลกของสื่อมวลชนมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน และเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ผู้ชมละครโทรทัศน์ชาวไทย ชื่อแรกคงหนีไม่พ้น “ผีนางนาก” หรือบ้างก็เรียกว่า “แม่นาคพระโขนง” นั่นเอง    จับความตามท้องเรื่องของนางนากนั้น เป็นเรื่องเล่าตำนานกล่าวขานมาตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์ตอนต้น ที่ระบบการแพทย์และสาธารณสุขในสยามประเทศยังล้าหลังอยู่ เมื่อ “อ้ายมาก” ต้องถูกเกณฑ์ทหารไปร่วมสงคราม “นางนาก” ที่คลอดลูกตามวิถีแบบโบราณ ก็เกิดเสียชีวิตตายทั้งกลม    ด้วยความรักและผูกพันกับสามีนั้น นางนากจึงไม่ยอมไปผุดไปเกิด และกลายเป็นผีอุ้มลูกในตำนาน ที่คอยปรนนิบัติพัดวีตำน้ำพริกดูแลอ้ายมากอยู่หลายเพลา กว่าที่เธอจะถูกสมเด็จพระพุฒาจารย์มาปลดปล่อยวิญญาณ และเรื่องจบลงในท้ายที่สุด    นับกว่าศตวรรษผ่านไป เมื่อระบบสาธารณสุขไทยก้าวหน้าขึ้น และสูตินารีเวชศาสตร์กลายเป็นองค์ความรู้ที่เข้ามาจัดการดูแลความปลอดภัยให้กับสตรีมีครรภ์ หลายคนอาจจะตั้งข้อสงสัยว่า แล้วตำนานความเชื่อแนวผีสาวเฝ้ารอความรักแบบนางนากนั้น จะสูญหายกลายกลืนไปกับกระแสธารแห่งอารยธรรมสมัยใหม่ด้วยหรือไม่?    คำตอบก็คือ ผีนางนากอุ้มลูกที่อยู่ท่าน้ำริมคลองอาจจะไม่ได้หายไปหรอก หากทว่าเปลี่ยนรูปจำแลงร่างให้ดูเป็นผีสาวที่เข้ากับยุคสมัยใหม่มากขึ้น ไม่ต่างจากตัวละครผีนางรำสวมชฎาอย่าง “ริลณี” ที่รอคอยการกลับมาของหนุ่มหล่อคนรักในวัยเรียนอย่าง “เตชิน”         ถ้าหากผีนางนากต้องพลัดพรากจากสามีเพราะระบบการจัดการสุขภาพที่ล้าหลังและไม่ปลอดภัย แล้วเหตุอันใดที่ทำให้ผีริลณีจึงมีอันต้องพลัดพรากจากเตชินชายคนรักของเธอ?     ในสังคมสมัยใหม่นั้น แม้วิถีการผลิตทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของพลเมืองจะก้าวหน้าไปเพียงไร แต่อีกด้านที่ล้าหลังของสังคมดังกล่าวก็คือ การธำรงอยู่ของความขัดแย้งระหว่างชนชั้นที่ยังคงคุกรุ่นและทับทวีความรุนแรงให้เห็นเข้มข้นยิ่งขึ้น     นี่เองที่เป็นเหตุผลหลักที่รักระหว่างริลณีกับเตชินมิอาจลงเอยแฮปปี้เอนดิ้งไปได้ เพราะเธอเป็นเด็กสาวที่เติบโตมาในสถานกำพร้า และต้องรับจ้างเป็นนางรำ “เต้นกินรำกิน” เพื่อเลี้ยงชีพ และเพราะเขาคือนักศึกษารุ่นพี่ที่เติบโตมาในครอบครัวผู้มีอันจะกิน และมีอนาคตอาชีพการงานที่ก้าวไกล ความสมหวังในความรักของทั้งคู่จึงเป็นไปไม่ได้เลย     แบบที่ “จิตรา” ผู้เป็นมารดาของเตชิน เคยกล่าวปรามาสถากถางริลณีที่กำลังคบหาดูใจกับบุตรชายว่า “ฉันจะไม่ยอมให้ผู้หญิงชั้นต่ำไม่มีหัวนอนปลายเท้าอย่างเธอเข้ามาเกี่ยวดองกับคนในตระกูลอย่างแน่นอน”     และบทเรียนที่จิตราสั่งสอนให้กับริลณีในระลอกแรกก็คือ ทั้งการข่มขู่คุกคาม การพยายามใช้เงินซื้อ การส่งคนไปเพื่อหวังจะทำร้าย ไปจนถึงการว่าจ้างคนร้ายให้ไปเผาสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าที่ริลณีกับเพื่อนๆ เติบโตมา     ส่วนในระลอกถัดมา ริลณีก็ถูกทดสอบบทเรียนจากบรรดาเพื่อนๆ ในสถาบันการศึกษา ซึ่งในขณะที่เธอเป็นกำพร้าและไม่มีทุนอันใดติดตัวมาแต่กำเนิดเลย แต่เพื่อนรอบข้างกลับเป็นผู้ที่ทั้งมีและเพียบพร้อมไปในทุกด้าน     ไม่ว่าจะเป็น “ปริมลดา” ที่รูปร่างหน้าตาสวยกว่า “เอกราช” ที่มีฐานะมั่งคั่ง “ตุลเทพ” ที่มีความสามารถและชื่อเสียง “ประวิทย์” ที่เรียนหนังสือเก่ง “เชิงชาย” ที่เป็นคนเจ้าเสน่ห์ “หงส์หยก” ที่เป็นลูกสาวพ่อค้าผู้มั่งมี และรวมไปถึงเพื่อนรักที่เป็นนางรำคู่ของริลณีอย่าง “ชมพู” ที่เกิดมาในครอบครัวที่มีฐานานุรูป จึงถูกญาติผู้ใหญ่จับให้เป็นคู่หมั้นหมายกับเตชิน    เพราะปมขัดแย้งระหว่างชนชั้นที่หยั่งรากลึกเกินกว่าความสัมพันธ์เชิงมิตรภาพใดๆ ริลณีจึงถูกเลือกปฏิบัติจากบรรดาเพื่อนๆ ที่หล่อสวยรวยทรัพย์กว่าเหล่านี้ ตั้งแต่ได้รับการดูถูกเหยียดหยาม การใส่ร้ายป้ายสี การกระทำทารุณทางกายและใจ การถูกคุกคามทางเพศ ไปจนถึงการที่ผองเพื่อนร่วมสมคบกันวางแผนที่จะข่มขืนเธอ จนนำมาซึ่งความตายและการพลัดพรากจากชายคนรัก    และเพราะ “อำนาจ” ในสมรภูมิขัดแย้งระหว่างชนชั้นนั้น เป็นสิ่งที่ไม่เข้าใครออกใคร ริลณีจึงเรียนรู้ว่าถ้าเธอไม่รู้จักที่จะใช้อำนาจ ในที่สุดเธอก็จะถูกใช้อำนาจจากคนที่สูงสถานะกว่า    ดังนั้น แม้เมื่อตอนมีชีวิต ริลณีจะถูกกระทำโดยที่เธอเองไม่มีทางต่อกร แต่หลังจากสิ้นสังขารกลายเป็นผีไปแล้ว ริลณีก็ใช้อำนาจเหนือธรรมชาติมาล้างแค้นและจัดการกับผองเพื่อนไปทีละราย เพื่อให้ตัวละครเหล่านั้นได้เรียนรู้ว่า หากต้องมาตกอยู่ในสถานะที่ถูกกระทำอย่างเธอบ้างแล้ว เขาและเธอจะมีความรู้สึกเช่นไร ไม่เว้นแม้แต่จิตราผู้เป็นมารดาของเตชิน ริลณีก็ใช้อำนาจของผีหลอกจนจิตราหวาดกลัวแทบไม่เป็นผู้เป็นคน    เมื่อเทียบกับผีนางนากที่แก้แค้นกับทุกคนที่เข้ามาขัดขวางเป็นอุปสรรคความรักของอ้ายมากกับเธอ ผีสาวริลณีก็ใช้วิธีจัดการกับตัวละครทุกคนที่ไม่เพียงขัดขวางความรักเท่านั้น แต่ยังล้างแค้นกลุ่มคนที่มีสถานะทางชนชั้นเหนือกว่า แต่กลับพรากเอาชีวิตของเธอไปอย่างไม่ยุติธรรม     ในทางหนึ่ง ละครเรื่อง “นางชฎา” ได้มอบอุทาหรณ์ว่า ใครทำกรรมใดไว้ก็ต้องได้รับผลกรรมนั้นตอบแทน หรือการอโหสิกรรมและการไม่ยึดติดต่อกรรมใดๆ จะช่วยปลดปล่อยให้เราหลุดพ้นและเป็นสุขในสัมปรายภพ     แต่ในอีกทางหนึ่ง ตราบใดที่ความขัดแย้งทางชนชั้นยังคงดำรงอยู่ ข้อคิดที่พระอาจารย์คงได้เทศน์สอนใจตัวละครทั้งหลาย ก็ยังคงถูกต้องเสมอว่า “ถึงเราจะคิดว่าผีร้าย แต่ก็อาจไม่ร้ายเท่ากับคน” ตราบเท่าที่คนเหล่านั้นยังมีรักโลภโกรธหลงและเดียดฉันท์กันข้ามชั้นชนระหว่างคนด้วยกันเอง                                 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 171 แก้วตาหวานใจ : อุดมคติกับความเป็นจริงของครอบครัว

ในบรรดาเรื่องราวและเรื่องเล่าที่อยู่ในละครโทรทัศน์นั้น ดูเหมือนว่า เรื่องราวเกี่ยวกับ “สถาบันครอบครัว” เป็นเนื้อหาที่ละครมักจะหยิบยกมากล่าวถึงเป็นอันดับแรกๆ อาจเนื่องด้วยว่าครอบครัวเป็นประเด็นที่ใกล้ชิดกับชีวิตของคนเรามากที่สุด จนช่วงเวลาไพรม์ไทม์มิอาจมองข้ามเรื่องราวดังกล่าวไปได้เลย             แต่คำถามก็คือ ถ้าภาพอุดมคติของความเป็นครอบครัวจักต้องประกอบด้วยพ่อ แม่ ลูก และสมาชิกครอบครัวที่รักผูกพันกันแน่นแฟ้น อุดมคติแบบนี้กับความเป็นจริงที่เราเห็นในละครจะถูกถ่ายทอดออกมาเป็นภาพเดียวกันมากน้อยเพียงไร?             คำตอบต่อข้อคำถามนี้ก็คือ “อุดมคติ” เป็นภาพที่สังคมคาดฝันว่าอยากไปให้ถึง หรืออาจเป็นจินตกรรมความฝันในความคิดของใครหลายๆ คน แต่ภาพฝันของครอบครัวที่อบอุ่นครบครันพ่อแม่ลูกและหมู่มวลสมาชิกในบ้านนั้น ช่างเป็นภาพที่พบเห็นได้ยากหรือพบได้น้อยมากในละครโทรทัศน์ เหมือนกับภาพชีวิตครอบครัวของ “มดตะนอย” เด็กสาวตัวน้อยที่เติบโตมาโดยที่ไม่เคยได้พานพบหน้าบิดามารดาของตนเองเลย             เพราะคุณแม่วัยใสอย่าง “แม่กวาง” ผู้เป็นมารดา รู้สึกผิดที่ตั้งครรภ์ลูกน้อยตั้งแต่วัยเรียน ดังนั้นหลังจากที่ให้กำเนิดมดตะนอยมาแล้ว เธอจึงหลบลี้หนีหน้าไปอยู่ต่างประเทศ ในขณะที่ “พ่อหมึก” ผู้เป็นบิดาเอง ก็ไม่เคยรู้มาก่อนว่า ตนมีลูกสาวกับเขาหนึ่งคน แม่กับพ่อจึงไม่เคยได้เลี้ยงหรือใกล้ชิดกับมดตะนอย และปล่อยให้เด็กสาวตัวน้อยเติบโตมาด้วยการเลี้ยงดูของ “ลุงช้าง” พระเอกของเรื่อง             จนกระทั่งหลายปีผ่านไป พ่อหมึกได้ทราบข่าวจากเพื่อนว่า ตนเคยมีบุตรสาวหนึ่งคนตั้งแต่เมื่อครั้งยังเรียนมหาวิทยาลัย เขาเองก็ต้องการตามหาลูก จึงไหว้วานให้ “ไข่หวาน” ผู้เป็นน้องสาว เดินทางเข้ากรุงเทพเพื่อสืบค้นหาที่อยู่ของมดตะนอย             จะว่าเป็นพรหมลิขิต หรือการผูกเรื่องของนักเขียนบทให้เกิดเงื่อนปมขัดแย้งอย่างไรมิอาจทราบได้ แต่ในที่สุด สาวห้าวผู้รักรถยนต์เป็นชีวิตจิตใจอย่างไข่หวาน ก็มีอันได้มาพำนักพักอยู่ในบ้านของลุงช้างหนุ่มหวานขี้งอนและรักการทำครัวเป็นพ่อบ้านพ่อเรือน โดยมีมดตะนอยกลายเป็นกามเทพสื่อรักตัวน้อยระหว่างลุงช้างกับอาไข่หวานแบบไม่รู้ตัว             ภายใต้โครงเรื่องแบบที่กล่าวมานี้ ละครได้ผูกโยงฉายให้เห็นภาพของสถาบันครอบครัวเอาไว้อย่างซับซ้อน ทั้ง “สะท้อน” ภาพความจริงเอาไว้ด้านหนึ่ง ทั้ง “ตอกย้ำบรรทัดฐาน” เอาไว้อีกด้านหนึ่ง ในขณะเดียวกับที่ “ชี้นำ” หรือ “ตั้งคำถามใหม่ๆ” ให้ผู้ชมได้ทบทวนความเข้าใจเกี่ยวกับครอบครัวเอาไว้เช่นกัน             ในลำดับแรกที่ละคร “สะท้อน” ภาพความจริงของครอบครัวเอาไว้นั้น ถ้าเราคิดถึงภาพอุดมคติของความเป็นครอบครัวที่ต้องประกอบด้วยพ่อแม่ลูกที่รักใคร่อบอุ่นผูกพัน เพราะลูกมักถูกตีความว่าเป็น “แก้วตา” ในขณะที่คู่ชีวิตก็มีสถานะเป็น “หวานใจ” แต่ทว่า ภาพของละครกลับสะท้อนฉายไปที่ความเป็นจริงของสังคมในอีกทางหนึ่งว่า ชีวิตครอบครัวแท้จริงนั้นไม่ได้มีสูตรสำเร็จเหมือนกับภาพอุดมคติดังกล่าวเพียงด้านเดียว ภาพที่พ่อไปทางและแม่ไปทาง อาจเป็นชีวิตที่จริงแท้ยิ่งกว่าของครอบครัวได้เช่นกัน             แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่า เด็กที่เกิดมาภายใต้บรรยากาศครอบครัวแตกแยกจะกลายเป็นเด็กที่มีปัญหาเสมอไป ตราบเท่าที่ยังมีฟันเฟือนตัวอื่นที่หมุนให้สถาบันครอบครัวขับเคลื่อนต่อไปได้ ครอบครัวก็ยังคงดำเนินไปและผลิตเยาวชนรุ่นใหม่ที่น่ารักและเป็นเด็กดีแบบมดตะนอยได้ไม่ต่างกัน             ในแง่นี้ เราอาจตั้งข้อสังเกตได้ว่า ครอบครัวที่เป็นไปตามขนบจารีตไม่อาจตอบโจทย์ของคนยุคนี้ได้อย่างสมบูรณ์อีกต่อไปแล้ว แต่ครอบครัวจะเป็นเช่นไรก็ขึ้นอยู่กับว่า คนแต่ละกลุ่มหรือใครแต่ละคนจะเป็นผู้คิดค้นนิยามและตีความความหมายให้กับครอบครัวของเขาแบบแตกต่างกันไป             ฉะนั้น เมื่อขาดซึ่งพ่อกับแม่ มดตะนอยก็ยังมีลุงช้างที่ทำหน้าที่แทนทั้งเป็นพ่อและแม่ที่เลี้ยงเด็กน้อยให้เติบโตมาเป็นคนดี หรือแม้แต่ช่วงที่มีไข่หวานมาพำนักอาศัยใต้ชายคาเดียวกัน ไข่หวานก็ไม่ได้ทำหน้าที่แค่ “อาไข่หวาน” หากแต่ยังเล่นบทบาทเป็น “แม่ในจินตนาการ” ของมดตะนอยไปในเวลาเดียวกัน             ในขณะที่ด้านหนึ่งละครก็ “สะท้อน” สิ่งที่ “กำลังเป็นอยู่” ว่า ชีวิตจริงของครอบครัวร่วมสมัยไม่ได้อบอุ่นหรือเป็นไปตามอุดมคติ แต่ขึ้นอยู่กับว่าสมาชิกครอบครัวจะตีความและรังสรรค์สายสัมพันธ์ระหว่างกันของตนเองจริงๆ แต่อีกด้านหนึ่ง ในมุมฉากจบของละคร ก็เลือกที่จะรอมชอมด้วยการตอกย้ำกลับไปที่ภาพบรรทัดฐานที่ “ควรจะเป็น” ของครอบครัวว่า พ่อแม่ลูกที่อยู่พร้อมหน้าค่าตากัน ก็ยังเป็นอุดมคติที่ทุกๆ ครัวเรือนยังวาดฝันเอาไว้             เพราะฉะนั้น แม้จะพลัดพรากจากแม่กวางและพ่อหมึกไปตั้งแต่เด็ก แต่ด้วยความพยายามดิ้นรนต่อสู้เพื่อถักทอสายสัมพันธ์ของครอบครัวให้กลับคืนมา ในฉากจบของเรื่อง ละครก็ได้ยึดโยงให้มดตะนอยได้พบพ่อกับแม่ และหวนกลับมาร่วมสร้างครอบครัวที่เชื่อว่า “สมบูรณ์” กันอีกครั้ง พร้อมๆ กับที่ลุงช้างและอาไข่หวานก็ได้ลงเอยกับความรัก และเริ่มที่ก่อรูปก่อร่างสร้างครอบครัวในอุดมคติกันไปอีกทางหนึ่ง             แต่ที่น่าสนใจยิ่งก็คือ ไม่เพียงแต่สะท้อนหรือตอกย้ำเท่านั้น ละครอย่าง “แก้วตาหวานใจ” ยังได้เลือกใช้เส้นทางการ “ชี้นำ” หรือ “เสนอทางเลือกใหม่ๆ” ให้เราได้เห็นด้วยว่า แล้วภาพความจริงที่เราเคยยึดเคยเชื่อกับความสัมพันธ์ที่เวียนวนอยู่ในครอบครัวนั้น จำเป็นต้องเป็นเฉกเช่นนั้นอยู่ทุกครั้งจริงหรือไม่             ภาพตัวละครอย่างลุงช้างที่ชอบทำครัว เลี้ยงเด็ก หรืองุนงงสับสนทุกครั้งที่เกิดรถเสีย กับภาพที่ตัดสลับมาที่อาไข่หวาน ที่เป็นหญิงห้าว สนใจกับงานช่างงานซ่อมรถยนต์ ล้างจานแตกเสมอๆ ก็เป็นตัวอย่างของภาพที่ตั้งคำถามใหม่ๆ กับคนดูว่า ผู้ชายก็ไม่จำเป็นต้องชอบเรื่องที่ใช้กำลังร่างกายและผู้หญิงก็ไม่จำเป็นต้องรักสวยรักงามรักเรื่องที่ละเอียดอ่อนเสมอไป บทบาททางเพศของหญิงชายในสถาบันครอบครัวพร้อมที่จะสลับไปมาระหว่างกันได้ตลอดเวลา             ภายใต้การเล่นบทบาทของละครแบบ “เหรียญสามด้าน” ที่ทั้งฉายภาพสะท้อนสิ่งที่ “กำลังเป็น” ตอกย้ำภาพที่ “ควรจะเป็น” และตั้งคำถามใหม่ๆ กับภาพที่ “อาจจะเป็น” เช่นนี้ ในท้ายที่สุด เมื่อละครจบลง ก็คงทำให้เราได้ฉุกคิดว่า ในอุดมคติของความเป็นครอบครัวนั้น มดตะนอย ลุงช้าง อาไข่หวาน ตัวละครต่างๆ รวมถึงตัวเราเอง จะขับเคลื่อนนำพานาวาชีวิตครอบครัวของแต่ละคนกันไปเช่นไร                                                                                                

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 170 บ้านศิลาแดง : การกลับมาแก้แค้นอีกครั้งของ “แรงเงา”

เมื่อราวสองปีก่อน สังคมไทยได้เกิดปรากฏการณ์ “วันแรงเงาแห่งชาติ” ที่ละครโทรทัศน์เรื่อง “แรงเงา” ได้ออกอากาศ และกระชากเรตติ้งจนทำให้สรรพชีวิตหยุดการเคลื่อนไหวชั่วคราว เพียงเพื่อรอรับชมละครเรื่องดังกล่าวที่หน้าจอโทรทัศน์ ในครั้งนั้น เรื่องราวได้ผูกให้ “มุตตา” หญิงสาวโลกสวยแต่ถูกผู้ชายอย่าง “ผอ.เจนภพ” หลอกให้รักและหลง จนในที่สุดเธอก็ได้กระทำอัตวินิบาตกรรม เพราะไม่อาจทนอยู่ในสภาพภรรยาน้อยที่ถูกคุกคามจากภรรยาหลวงอย่าง “นพนภา” ได้อีกต่อไป และนั่นก็เป็นที่มาของการแก้แค้นของ “มุนินทร์” พี่สาวฝาแฝดที่ปลอมตัวมาเป็นน้องสาวเพื่อทำลายครอบครัวของ ผอ.เจนภพ และนพนภาเป็นการเอาคืน และเป็นจุดกำเนิดของตำนานฉาก “ตบน้อยหน้ากระทรวง ตบหลวงหน้ากอง” อันเลื่องชื่อ สองไปผ่านไป (ไวเหมือนโกหกจริงๆ) ปรากฏการณ์แบบแฝดพี่แฝดน้องสลับตัวเพื่อแก้แค้นในลักษณาการเช่นนี้ ก็ได้หวนวนกลับมาซ้ำรอยอีกคำรบหนึ่งในละครเรื่อง “บ้านศิลาแดง” เรื่องราวเปิดฉากขึ้นมาที่คฤหาสน์บ้านศิลาแดง เมื่อ “พรเพ็ญ” ลูกสาวของ “เอกรินทร์” ซึ่งนอนป่วยเป็นอัมพาตอยู่บนเตียง ได้ถูกกลั่นแกล้งจากแม่เลี้ยงใจร้ายอย่าง “สโรชา” ร่วมกับ “ณัฐพงศ์” และ “อาภาพร” พี่น้องลูกติดและเป็น “ลูกไม้หล่นใต้ต้น” ของสโรชานั่นเอง แม้จะมีศักดิ์เป็นลูกสาวเจ้าของบ้านศิลาแดงก็ตาม แต่พรเพ็ญก็ถูกเลี้ยงดูมาประหนึ่งคนรับใช้ และเรียนจบแค่ชั้น ม.3 เพราะสโรชาไม่ต้องการให้เธอฉลาดและเผยอทัดเทียมลูกทั้งสองคนของเธอ จึงกดขี่พรเพ็ญไว้เยี่ยงทาส กับอีกด้านหนึ่งก็เพื่อจะหาทางครอบครองเป็นเจ้าของบ้านศิลาแดงกับฮุบสมบัติของเอกรินทร์เอาไว้ทั้งหมด   ในขณะเดียวกัน “เพ็ญพร” หญิงสาวปราดเปรียวทายาทเจ้าของบริษัทสวนเสาวรส ได้เรียนจบวิชาบริหารจากต่างประเทศกลับมา เพ็ญพรไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าตนเองมีพี่สาวฝาแฝดอยู่อีกคน แต่กระนั้น ลึกๆ ในจิตใจเธอก็รู้สึกได้ถึงความผูกพันกับพี่สาวที่ไม่เคยเจอหน้าค่าตากันมาก่อน และทุกครั้งที่พี่สาวถูกแม่เลี้ยงข่มเหงทำร้าย เพ็ญพรก็จะสัมผัสได้ถึงความรู้สึกทุกข์ทรมานไม่ต่างกัน ด้วยเหตุดังกล่าว เพ็ญพรจึงเริ่มสืบสาวราวเรื่องเหตุการณ์และเหตุปัจจัยที่เธอมีความรู้สึกผูกพันกับชะตากรรมของใครบางคนอยู่ตลอดเวลา จนในที่สุด เมื่อสองพี่น้องได้โคจรมาพบกัน ปฏิบัติการสลับร่างสวมรอยของฝาแฝดทั้งสองคนจึงเริ่มต้นขึ้น พี่สาวที่หัวอ่อนยอมคนก็ได้มีโอกาสเข้ามาใกล้ชิดกับ “เดือนฉาย” มารดาที่พลัดพรากจากกันไปนาน ในขณะที่น้องสาวผู้แข็งแกร่งกว่า ก็ได้เข้าไปดูแลบิดาที่ป่วย และกลั่นแกล้งแก้แค้นแม่เลี้ยงใจร้าย เพื่อช่วงชิงความเป็นเจ้าของบ้านศิลาแดงกลับคืน พร้อมๆ กับการสลับตัวไปมาจนสร้างความสับสนให้กับนายตำรวจอย่าง “ตรัย” และนักธุรกิจหนุ่มอย่าง “วิทวัส” ชายหนุ่มสองคนผู้เป็นพระเอกของเรื่องไปในเวลาเดียวกัน ในขณะที่ย้อนกลับไปในละครเรื่อง “แรงเงา” นั้น ตัวละครอย่างมุตตาผู้เป็นน้องสาวฝาแฝดต้องเสียชีวิตก่อน “แรง” แห่ง “เงา” ของมุนินทร์ผู้พี่สาวจึงค่อยสวมรอยกลับมาทวงหนี้แค้นคืน ทว่า ในเรื่อง “บ้านศิลาแดง” วิธีการผูกเรื่องกลับต่างออกไป เพราะน้องสาวอย่างเพ็ญพรไม่ต้องรอให้เกิดโศกนาฏกรรมกับชีวิตพี่สาวพรเพ็ญเสียก่อน แต่เธอกลับเลือกเข้ามาสวมบทบาทสลับร่างแก้แค้นแม่เลี้ยงใจร้ายไปตั้งแต่ต้นเรื่องเลย แล้วเหตุอันใดเล่าที่ทำให้ตัวแสดงอย่างเพ็ญพรและพรเพ็ญ จึงเลือกกระทำการแตกต่างไปจากฝาแฝดมุตตากับมุนินทร์? คำตอบก็น่าจะอยู่ที่ปมหลักของความขัดแย้งที่ต่างกันไปในชีวิตของคู่แฝดทั้งสองคู่ ในขณะที่ปมปัญหาหลักของมุตตาหญิงสาวอ่อนโลกมาจากเหตุปัจจัยเรื่อง “รักๆ ใคร่ๆ” ซึ่งในทัศนะของคนชั้นกลางทั่วไปมองว่าเป็นเรื่องส่วนตัวและของใครของมันที่จะต้องจัดการกันเอาเอง แต่กับกรณีของเพ็ญพรและพรเพ็ญนั้น ปมความขัดแย้งใหญ่ของเรื่องกลับอยู่ที่ “บ้านศิลาแดง” อันเป็นมรดกที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น จากรุ่นของบรรพชนมาจนถึงเอกรินทร์ผู้เป็นบิดา และมีแนวโน้มว่ามรดกทั้งบ้าน ที่ดิน และศฤงคารทรัพย์เหล่านี้ ก็น่าจะสืบต่อมาอยู่ในมือของคู่แฝดอย่างพวกเธอ หากมองผาดดูแบบผิวเผิน มรดกก็คือสินทรัพย์ที่พ่อแม่ปู่ย่าตายายสืบทอดและมอบต่อให้กับลูกหลานที่อยู่ในสายตระกูลของตน แต่อันที่จริงแล้ว อีกด้านหนึ่งของมรดก ก็มีสถานะเป็น “ปัจจัยการผลิตทางเศรษฐกิจ” ที่สำคัญของคนชั้นกลางในยุคปัจจุบัน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ทั้งสังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ต่างถือเป็น “ทรัพย์สิน” ที่คนชั้นกลางมีศักยภาพที่จะแปลงให้มันกลายเป็น “ทุน” เพื่อจะได้ใช้ต่อยอดผลิดอกออกผลต่อไปได้ในอนาคต เพราะฉะนั้น มรดกโภคทรัพย์ดังกล่าวจึงถือเป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตของคนกลุ่มนี้ เพราะฉะนั้น เมื่อไรก็ตามที่คนชั้นกลางเริ่มรู้สึกหวั่นไหวว่า มรดกบ้านและที่ดินทั้งหลายของตนมีแนวโน้มจะถูกครอบครองหรือพรากส่วนแบ่งไปด้วยอำนาจของผู้อื่น คนกลุ่มนี้ก็จะเริ่มเข้ามาต่อสู้ต่อกรกับอำนาจดังกล่าวนั้น (ซึ่งก็คงคล้ายๆ กับภาพความขัดแย้งจริงๆ ที่กำลังปะทุอยู่ในเรื่องภาษีมรดก ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หรือแม้แต่เหตุการณ์ทางสังคมที่พี่น้องเข่นฆ่ากันได้เพียงเพื่อแย่งสมบัติประจำตระกูล) ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมถึงเรื่องชื่อเสียง เกียรติยศ หน้าตา บารมี และทุนทรัพย์แบบนามธรรมอื่นๆ ที่ถือเป็นปัจจัยการผลิตอันพ่วงแนบมากับมรดกคฤหาสน์และที่ดินของบ้านศิลาแดงอีก ที่ฝาแฝดพี่น้องทั้งสองต้องพิทักษ์สิทธิ์และผลประโยชน์เอาไว้อย่างเต็มที่ ด้วยเหตุปัจจัยจากความขัดแย้งในมรดกนี่เอง ตัวละครอย่างเพ็ญพรและพรเพ็ญจึงยอมไม่ได้ หากแม่เลี้ยงสโรชาและบรรดาสหพรรคพวกของเธอจะมาผลาญพร่า “ชุบมือเปิบ” ไปแต่โดยง่าย เหมือนกับประโยคที่เพ็ญพรมักจะพูดกับสโรชาและลูกของเธออยู่เป็นประจำว่า “จะผลาญสมบัติพ่อของฉันกันอีกแล้วเหรอ...” ครั้งหนึ่งคนชั้นกลางไทยอาจจะมีความคิดว่า “มีทองเท่าหนวดกุ้ง ยังนอนสะดุ้งจนเรือนไหว” แต่มาถึงยุคนี้ หากจะต้องเสียทั้งทองและทรัพย์สมบัติมรดกที่สั่งสมผ่านสายตระกูลกันมา คงจะเป็นเงื่อนไขที่คนกลุ่มนี้ยอมรับไม่ได้อย่างแน่นอน ก็เหมือนกับชีวิตตัวละครพี่น้องเพ็ญพรและพรเพ็ญนั่นแหละ ที่ต้องจัดการปัญหาเรื่องมรดกอันเป็นปัจจัยการผลิตหลักของตนให้ได้เสียก่อน ส่วนเรื่องรักๆ ใคร่ๆ กับพระเอกหนุ่มของเรื่อง ค่อยมาแฮปปี้เอนดิ้งในภายหลัง หรือเรียกง่ายๆว่า ให้ “lucky in game” ก่อน แล้วเรื่อง “lucky in love” ค่อยมาว่ากันอีกครั้งหนึ่ง  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 169 แอบรักออนไลน์ : ลองหัดเงยหน้าในสังคมก้มหน้า

นักวิชาการชาวแคนาดาท่านหนึ่งที่ชื่อ มาร์แชล แมคลูฮัน เคยกล่าววลีคลาสสิกเอาไว้ว่า “สื่อคือสาร” อันหมายความว่า ถ้าปัจเจกบุคคลหนึ่งๆ เติบโตมากับวิถีการสื่อสารเช่นไร บุคลิกภาพของเขาหรือเธอก็จะมีแนวโน้มถูกกำหนดให้เป็นไปคล้ายคลึงกับเบ้าหลอมรูปแบบการสื่อสารเช่นนั้น ถ้าเราเติบโตมาในบรรยากาศที่วิถีการสื่อสารเป็นการพูดคุยแบบเห็นหน้าค่าตากัน เราก็จะมีทักษะการอ่านคนเป็น และเชื่อว่าความไว้วางใจจะมีได้ก็ต้อง “รู้จักหัวนอนปลายเท้า” เท่านั้น แต่คำถามก็คือ หากทุกวันนี้ มวลมนุษย์เรากำลังใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางวิถีการสื่อสารแห่งโลกเสมือน พูดคุยสื่อสารได้แม้แต่กับคนไกลที่ไม่รู้จักมักจี่กันมาก่อน คำถามก็คือ บุคลิกภาพของเราที่อยู่ในชุมชนเสมือนจะถูกหลอมหล่อกันออกมาเยี่ยงไร คำตอบต่อข้อสงสัยดังกล่าว สามารถส่องดูได้จากความสัมพันธ์ของสามตัวละครหลัก อันได้แก่ สาวออฟฟิศรุ่นใหญ่รุ่นเล็กอย่าง “อวัศยา” และ “พริบพราว” ที่เล่นบทบาท “แอบรักออนไลน์” เพื่อพิชิตหัวใจของหนุ่มหล่อแสนดีวัยเบญจเพสอย่าง “ปราณนต์” สำหรับตัวละครหลักคนแรกคืออวัศยา หญิงวัยสามสิบต้นๆ กับบุคลิกเคร่งขรึมคร่ำครึในฐานะผู้จัดการฝ่ายการตลาดของบริษัทหลักทรัพย์นาราภัทร แม้ด้านหนึ่งเธอจะถูกตั้งฉายาจากเพื่อนร่วมงานว่าเป็น “อสรพิษสี่ตา” แต่ในอีกด้านหนึ่ง อวัศยาก็มีความทรงจำติดตรึงอยู่กับภาพของชายหนุ่มคนหนึ่งที่เคยช่วยชีวิตเธอเอาไว้จากการถูกรถชนเมื่อหลายปีก่อน ส่วนปราณนต์ก็คือ “ผู้ชายในฝัน” คนดังกล่าว ที่หลายปีให้หลังได้ย้อนกลับมาสมัครงานในแผนกเดียวกับที่อวัศยาดูแลอยู่ โดยที่คู่แข่งในหน้าที่การงานของเขาก็คือพริบพราว สาวนักเรียนนอกจากบอสตันที่ได้มาทำงานเป็นผู้ช่วยเลขานุการคนใหม่ของ “ลิปดา” บอสใหญ่เจ้าของบริษัทนาราภัทรนั่นเอง ตัวละครสามคนไม่เพียงถูกเชื่อมโยงกันด้วยหน้าที่การงานในบริษัทเท่านั้น หากแต่การมีอีกส่วนหนึ่งของชีวิตในโลกเสมือน “ออนไลน์” ก็ได้ผูกร้อยเชื่อมรัดคนสามคนให้ก้าวเดินเข้าสู่ปริมณฑลแห่งโลกใหม่ที่เป็น “สังคมก้มหน้า” ที่มนุษย์ติดอยู่กับโลกเสมือนโดยไม่เคยเงยมองความจริงที่อยู่ตรงหน้าแต่อย่างใด   มูลเหตุของเรื่องเริ่มต้นจากที่อวัศยาได้พบกับปราณนต์ในวันที่เขามาสัมภาษณ์งานกับเธอ ความทรงจำในช่วงวัยสาวแรกรุ่นถึง “ชายในฝัน” ผู้นี้ก็ได้ย้อนเวลากลับมา อวัศยาจึงเพียรหาทางที่จะได้พูดคุยกับปราณนต์ผ่านโปรแกรมแชตออนไลน์ โดยสมมติชื่อนามแฝงเป็น “คุณแอบรัก” เมื่ออวัศยาพบว่าปราณนต์เพิ่งอกหักจากแฟนสาวมา เธอก็ใช้คุณแอบรักคอยปลอบประโลมจิตใจและกลายเป็นที่ปรึกษาปัญหาต่างๆ ให้กับชายหนุ่มผ่านสื่อออนไลน์ โดยที่เขาเองก็ไม่ทราบเลยว่า คุณแอบรักก็เป็นคนเดียวกับเจ้านายสาว “อสรพิษสี่ตา” ซึ่งเห็นหน้าค่าตาที่ออฟฟิศอยู่ทุกวัน ภายใต้ความสัมพันธ์ในโลกเสมือนแบบนี้ ละครได้สะท้อนให้เราเห็นความคาดหวังที่แตกต่างกันของผู้ชายและผู้หญิงต่อความสัมพันธ์ที่มีระหว่างกัน เพราะในขณะที่บุรุษเพศอย่างปราณนต์เข้าสู่โลกออนไลน์โดยคาดหวังจะมีผู้หญิงสักคนที่เป็น “คู่คิด” คอยให้คำปรึกษาปัญหาต่างๆ ในชีวิต แต่ผู้หญิงอย่างอวัศยากลับค้นหาผู้ชายหนึ่งคนเพียงเพราะต้องการให้เขามาเป็น “คู่เสน่หา” แม้ว่าจะอยู่ในโลกเสมือนก็ตาม และหากวลีที่ว่า “สื่อคือสาร” เป็นคำกล่าวที่ถูกต้องด้วยแล้ว ไม่ว่าผู้ชายจะคาดหวัง “คู่คิด” หรือผู้หญิงจะคาดหวัง “คู่เสน่หา” แต่ในความผูกพันที่เกิดขึ้นผ่านสื่อเสมือนออนไลน์ ก็ได้เข้ามากำหนดชีวิตของตัวละคร ให้ค่อยๆ ถอยห่างจาก “ความจริงแท้จริง” มาสู่ “ความจริงแบบเสมือน” มากขึ้น เพราะฉะนั้น ภายใต้อำนาจของโลกเสมือน ตัวละครที่ผูกร้อยกันอยู่ในพื้นที่ออนไลน์จึงปรับบุคลิกภาพของตนไปตามโลกใหม่ที่ตัวเองใช้ชีวิตอยู่ และกลายเป็นบุคลิกของคนที่ “ช่างมโน” โดยไม่ยืนอยู่กับความจริงแท้จริงใดๆ อวัศยาได้เริ่มต้น “มโน” จินตนาการความสัมพันธ์แบบรักต่างวัยระหว่างเธอกับพนักงานหนุ่มรุ่นน้อง และสร้างตำนานความรักผ่านดอกไม้ที่ชื่อกิ๊บเก๋ว่า “love in the mist” หรือ “รักในสายหมอก” โดยที่อีกทางหนึ่งก็กังวลว่าปราณนต์และคนรอบข้างจะรู้ความลับว่าเธอกำลังสวมบทบาทเป็นคุณแอบรักในโลกเสมือน ส่วนพริบพราวเอง ที่พบว่าผู้ชายดีๆ ในยุคไฮสปีด ช่างเป็นทรัพยากรที่มีจำกัดยิ่งนัก เธอจึงเลือกโดดมาเล่นเกมในสังคมออนไลน์ ปลอมตัวเป็นคุณแอบรักแบบเสมือนๆ ซ้อนทับไปอีกชั้นหนึ่ง และยังวางหมากวางกลเพื่อแย่งหัวใจของปราณนต์มาจากอวัศยาให้จงได้ ในขณะเดียวกัน ปราณนต์ซึ่งกำลังติดกับดักของสังคมออนไลน์อยู่เช่นกัน เขาก็แอบหลงรักผู้หญิงเสมือนอย่างคุณแอบรัก แม้จะไม่รู้ว่าตัวจริงเธอคือใคร เพราะฉะนั้นเขาจึงเที่ยวถามผู้หญิงแต่ละคนที่วนเข้ามาในชีวิตอยู่เสมอว่า “คุณใช่แอบรักหรือเปล่า” ภายหลังจากที่ตัวละครทั้งหมดถูกยึดโยงเข้าสู่พื้นที่สังคมเสมือนเดียวกัน สังคมเสมือนดังกล่าวนั้นก็เริ่มมีอำนาจมากขึ้น และพัฒนาไปถึงจุดสุดขั้นของตัวมัน เมื่อตัวละครที่ก้มหน้าอยู่ในโลกออนไลน์ ได้จำลองโลกเสมือนให้กลายเป็นโลกจริงขึ้นมาในที่สุด เหมือนกับพริบพราวซึ่งต้องการเอาชนะอวัศยา จนถึงกับสร้างฉากเสแสร้งจมน้ำทะเลเพื่อให้ปราณนต์ว่ายน้ำมาช่วย โดยที่ตัวละครทุกคนก็เริ่มแยกไม่ออกแล้วว่า อุบัติเหตุครั้งนี้เป็นเรื่องจริงหรือเรื่องล้อเล่นกันแน่ สังคมเสมือนอาจช่วยให้ผู้คนที่อยู่ไกลกันได้ผูกโยงมาพานพบและ “แอบรักออนไลน์” ได้ก็จริง แต่ถ้าชุมชนเสมือนที่คนเราใช้ชีวิตอยู่นั้น ค่อยๆ สถาปนาตัวมันขึ้นมาเป็นโลกความจริงเสียเองแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ที่อยู่ก้ำกึ่งระหว่างเรื่องจริงกับเรื่องลวงเยี่ยงนี้ ก็ดูเป็นเรื่องน่าตื่นตระหนกไม่น้อย ก็คงเหมือนกับคำพูดของบอสลิปดาที่เตือนสติอวัศยาซึ่งเริ่มแยกไม่ออกระหว่างตัวเธอกับคุณแอบรักว่า “ก็เพราะคุณมัวแต่ก้มหน้าส่งข้อความไปหาเพื่อนที่ไกล...ไกล๊...ไกล... แต่ผมซึ่งนั่งอยู่ตรงหน้านั้น คุณกลับไม่เคยเงยหน้ามาสนใจเสียเลย” สำหรับชีวิตที่ดำเนินไปในโลกเสมือนที่ดูจะเสมือนแม้แต่ในเรื่องความรักและความสัมพันธ์ หากเรารู้จักหัดเงยหน้าขึ้นมาจากสังคมที่ผู้คนเอาแต่ก้มหน้าอยู่ตลอดเวลา ความรักความผูกพันจริงๆ ก็น่าจะเกิดขึ้นได้โดยไม่ต้องติดกับดักอยู่ในเรื่องเสมือนแบบลวงๆ อีกต่อไป  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 168 ทางเดินแห่งรัก : เส้นทางที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

เส้นทางชีวิตของคนเรา มักถูกตั้งคำถามเสมอว่า เป็นเส้นทางที่เราสามารถเลือกเดินได้เอง หรือเป็นวิถีที่สังคมได้เข้ามากำหนดกฎเกณฑ์ให้เราดำเนินไปในเส้นทางนั้น ยิ่งหากเป็น “ทางเดินแห่งรัก” ของบรรดาสตรีเพศทั้งหลายด้วยแล้ว เส้นทางที่ผู้หญิงเลือกเดิน มักมีอันต้องต่อรองอย่างยิ่งยวดกับข้อเรียกร้องและความเป็นจริงที่สังคมเข้ามาขีดกำหนดโชคชะตาชีวิตของพวกเธอ คงเหมือนกับตัวละครผู้หญิง 4 คน ผู้เป็นตัวแทนของผู้หญิง 4 เจนเนอเรชั่น อย่าง “ศศิ” “อ้อม” “ซัน” และ “เจน” ที่ด้านหนึ่งก็สานมิตรภาพระหว่างกันอย่างแนบแน่น กับอีกด้านหนึ่ง ตัวละครเหล่านี้ก็กำลังว่ายวนอยู่ใน “ทางเดินแห่งรัก” แตกต่างวิถีกันไป เริ่มจากศศิผู้เป็นพี่ใหญ่ หลังจากแต่งงานกับ “โจ” เธอก็ลาออกจากงานที่กำลังก้าวหน้าเพื่อมาเป็นแม่บ้านเลี้ยงดูลูกๆ แบบเต็มตัว จาก “ดาบที่เคยไกว” คงเหลือแต่ “เปลที่ต้องแกว่ง” ประกอบกับชะตากรรมที่สามีเจ้าชู้มีกิ๊กกระจายหว่านไปทั่วเต็มบ้านเต็มเมือง ชีวิตวันๆ ของศศิจึงต้องผันแปรมายุ่งอยู่แต่กับเรื่อง “เสียทองเท่าหัวไม่ยอมเสียผัวให้กับใคร” ในกรณีของนักเขียนอิสระอย่างอ้อม ภายหลังจากแต่งงานกับ “หมอวิน” ไปตั้งแต่ต้นเรื่อง แต่เพราะหมอวินเป็นหนุ่มไทยเชื้อสายจีน ทางครอบครัวของหมอจึงกดดันอ้อมทุกวิถีทางที่จะให้เธอมีหลานชายไว้สืบต่อวงศ์ตระกูล อ้อมจึงวุ่นวายอยู่แต่กับเรื่องการอยากตั้งครรภ์ การนับวันไข่ตก การเล่นโยคะและบริหารร่างกาย การกินวิตามินเสริมสารพัด เพื่อเป้าหมายสุดท้ายคือการตั้งท้องให้จงได้ ส่วนกรณีของซัน ผู้ได้รับฉายาจากผองเพื่อนว่าเป็นดอกไม้เหล็กแห่งวงการโฆษณา ที่ทั้งสวย ดุ แรง มุ่งมั่นทำงาน โดยไม่สนใจหมายตาบุรุษเพศ เนื่องจากปมในใจที่ครั้งหนึ่งเธอเคยทั้ง “หักอก” และ “อกหัก” จาก “วุธ” ชายคนรักในวัยเรียน จนไม่กล้าจะบอกรักเขา ไม่คิดจะมีรักใหม่ และไม่อาจจะลืมเลือนความรักเมื่อครั้งอดีตได้   และสุดท้ายคือเจน สาวน้อยพีอาร์เครื่องสำอางแบรนด์ดัง ที่ใฝ่ฝันอยากจะเป็นนักการตลาดมือเยี่ยมในอนาคต แต่ในเวลาเดียวกันเธอก็มีเหตุต้องมาสะดุดรักเป็นพ่อแง่แม่งอนกับเพื่อนร่วมงานอย่าง “อาร์ต” แถมยังต้องวุ่นๆ กับตัวละครอีกมากมายในชีวิตทำงานเข้าให้อีก หากนำภาพของตัวละครทั้ง 4 คนนี้มาต่อจิ๊กซอว์ย้อนกลับหลัง จะพบว่า ชีวิตของตัวละครเหล่านี้ได้ร้อยเรียงให้เห็นเป็น “หลักกิโล” ที่แทบไม่จะต่างไปจาก “สูตรสำเร็จ” ในการเดินทางของผู้หญิงจำนวนมาก ตั้งแต่เริ่มชีวิตรักกุ๊กกิ๊ก มาถึงช่วงตัดสินใจจะลงเอยกับชีวิตคู่ เข้าสู่ช่วงความพยายามมีลูกหลังชีวิตสมรส และปิดท้ายด้วยการเป็นแม่และเมียที่ดีที่จะสืบทอดสถาบันครอบครัวไปสู่อนาคต แต่ไม่ว่าจะเป็นช่วงหลักกิโลใดในทางเดินแห่งรักนั้น เส้นทางชีวิตของผู้หญิงดูเหมือนจะไม่ได้โรยเอาไว้ด้วยกลีบกุหลาบเสียเลย ตั้งแต่ช่วงเริ่มชีวิตรักแบบ “puppy love” ด้วยหน้าที่การงานที่ยังไม่เสถียร ควบรวมกับความฝันแบบซินเดอเรลล่าที่รอให้มีเจ้าชายมาจุมพิตในฉากจบนั้น ก็เป็นบททดสอบแรกว่า เจนจะเดินฝ่าข้ามด่านดังกล่าวไปได้หรือไม่ อย่างไร เมื่อเดินทางมาสู่ช่วงตัดสินใจจะมีชีวิตคู่ การเลือกระหว่างความก้าวหน้าในอาชีพการงาน กับประเด็นรักใหม่ รักเก่า และมิตรภาพตั้งแต่วัยเยาว์ ก็ได้กลายมาเป็นปมปัญหาที่ซันต้องเรียนรู้ และหาบทสรุปที่จะก้าวเดินหน้าต่อไปอย่างไร โดยเฉพาะเมื่อทางที่จะเดินไปสู่ความรักนั้นมีแนวโน้มจะไม่สมหวังและไม่ลงตัว ครั้นเมื่อชีวิตคู่และการครองเรือนได้เริ่มต้นขึ้น ผู้หญิงก็ต้องเผชิญปัญหาแบบแปลกๆ ใหม่ๆ จากคนรอบข้าง เหมือนกับที่อ้อมไม่เพียงต้องปรับตัวให้เข้ากับชายคนรักที่บัดนี้ได้เปลี่ยนสถานะมาเป็นสามีที่ร่วมเรียงเคียงหมอนร่วมหอลงโรง แต่ยังต้องปรับตนไปตามข้อเรียกร้องของครอบครัวและเครือญาติที่ตามมาใหม่อีกมากมาย และบททดสอบสุดท้ายที่ยืนยันว่า ทางเดินความรักของผู้หญิงไม่ได้มีกลีบกุหลาบมาโรยเอาไว้อยู่รายทางเลยก็คือ แม้เมื่อได้ลงเอยแต่งงานมีลูกเป็นเรือพ่วงและโซ่ทองคล้องใจแล้ว ศศิที่ได้ลาออกจากชีวิตการงาน ก็ต้องมาวุ่นวายอยู่กับปัญหาสารพันที่ถาโถมเข้ามาในชีวิตหลังแต่งงาน โดยละทิ้งความฝันซึ่งครั้งหนึ่งเธออยากจะมีความก้าวหน้าในโลกภายนอกพื้นที่ปริมณฑลของครอบครัวและบ้านเท่านั้น ด่านหินๆ ยิ่งกว่าเกม “โหดมันฮา” เช่นนี้ ได้ชี้ให้เห็นข้อเท็จจริงอีกประการหนึ่งว่า ปัญหาของผู้หญิงมีเหตุที่เกิดมาจากหลากหลายแหล่งที่มา นับตั้งแต่เป็นปัญหาที่มาจากตัวของเธอเอง เป็นปัญหาที่มาจากผู้ชายแต่ละคนที่เข้ามาเป็นเงื่อนไขในชีวิตของพวกเธอ เป็นปัญหาที่มาจากสังคมรอบข้างรอบตัว และที่สำคัญ ปัญหาจำนวนมากของผู้หญิงก็อาจเนื่องมาแต่ผู้หญิงด้วยกันนั่นเอง ไม่ต่างไปจากตัวละครผู้หญิงอย่าง “แพท” คู่แข่งชิงดีชิงเด่นตั้งแต่สมัยเรียนของซัน ที่ได้ก้าวเข้ามายุ่งวุ่นวายเป็นคู่แข่งในอาชีพการงาน ผู้หญิงอย่างแพทพยายามจะเอาชนะผู้หญิงด้วยกันในทุกๆ ทาง ไม่ว่าจะเข้าแทรกแซงครอบครัวของศศิจนเกือบจะหย่าร้างกับสามี และกลั่นแกล้งเพื่อเอาชนะซันในทุกวิถีทาง ทางเดินในชีวิตของผู้หญิงจึงมีอีกด้านที่ปัญหาเกิดมาแต่ผู้หญิงที่เป็นเพศและมีโครโมโซมเดียวกัน แต่ถึงกระนั้น แม้ “ทางเดินแห่งรัก” ของผู้หญิงจะเต็มไปด้วยอุปสรรคขวากหนามในทุกช่วงทุกจังหวะของชีวิต หรืออาจจะเป็นปัญหาจากผู้หญิงด้วยกันก็ตาม แต่ในมุมเล็กๆ ที่ละครได้วาดไว้อย่างน่าสนใจก็คือ ปัญหาของผู้หญิงจะซัดกระหน่ำมาด้วยเหตุผลกลใด ซินเดอเรลล่าจะมีอยู่จริงหรือไม่ หรือการแต่งงานจะมีบทสรุปแฮปปี้เอนดิ้งแบบในนิยายเยี่ยงไร ก็อาจจะไม่สำคัญ แต่ด้วยมิตรภาพของตัวละครผู้หญิงทั้ง 4 คน ก็น่าจะเป็นคำตอบต่อปัญหาของผู้หญิงยุคนี้ได้ว่า ถ้าผู้หญิงต่างคนต่างปัญหาและต่างเจนเนอเรชั่น ได้มีโอกาสมาถักทอความเป็นเพื่อนและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ปัญหาเหล่านั้นร่วมกัน ปัญหาดังกล่าวก็อาจจะไม่ใช่ปัญหาของผู้หญิงคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นปัญหาร่วมที่ผองเพื่อนผู้หญิงอาจช่วยแสวงหาทางออกได้พร้อมๆ กันไป

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 167 ภพรัก : วิญญาณเร่ร่อนในสังคมที่แปลกแยก

ในสมัยเมื่อนักปรัชญาสังคมชาวเยอรมันที่ชื่อ คาร์ล มาร์กซ์ ยังมีชีวิตอยู่นั้น เขาเคยอธิบายไว้ว่า เมื่อระบบทุนนิยมได้พัฒนาไปจนถึงขีดสุดแล้ว สังคมของมนุษย์เราก็จะก้าวเข้าสู่สภาวะที่มนุษย์ต้องอยู่กับ “ความแปลกแยก” ทั้งแปลกแยกกับโลกรอบตัว แปลกแยกกับคนอื่น และแปลกแยกกับตนเอง “ความแปลกแยก” หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า “alienation” นั้น มาจากรากศัพท์คำว่า “a-” ที่แปลว่า “ไม่มี” กับ “-lien” ที่หมายถึงความสัมพันธ์ ซึ่งเมื่อรวมกันแล้วก็หมายถึง สภาวะที่มนุษย์ถูกตัดขาดสายสัมพันธ์หรือแรงเกาะเกี่ยวระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ออกไป และในท้ายที่สุด มนุษย์เราก็จะตัดขาดได้แม้กระทั่งกับตัวตนของตัวเอง สภาพการณ์ดังกล่าวก็คงไม่ต่างไปจากตัวละครวิญญาณเร่ร่อนกลับคืนร่างไม่ได้ของ “น้ำริน” ที่เมื่อยังมีสติสมบูรณ์อยู่นั้น เธอได้เติบโตและใช้ชีวิตอยู่ในสังคมที่แปลกแยกและสายสัมพันธ์รอบด้านได้ถูกลิดรอนออกไป ตั้งแต่ฉากแรกในการเปิดตัวของน้ำรินนั้น เธอกำลังเลือกชุดแต่งงานอยู่ โดยมี “ธารา” ผู้เป็นมารดา ให้คำปรึกษาผ่านทางวิดีโอลิงค์ ก่อนที่มารดา  จะต้องรีบขอตัวไปเข้าประชุมงานด่วน ดังนั้น แม้จะอยู่ในช่วงเวลาพิเศษของชีวิตบุตรสาว แต่ดูเหมือนภาพของน้ำรินก็สะท้อนให้เห็นสายสัมพันธ์ที่ห่างเหินและแปลกแยกแม้กับหน่วยเล็กที่สุดของชีวิตอย่างสถาบันครอบครัว และกับคู่หมั้นหมายอย่าง “ภพธร” หรือกับเพื่อนรักอย่าง “นับดาว” เบื้องหลังของคนทั้งสองที่แอบคบหากันและทรยศหักหลังน้ำริน ก็ไม่ต่างจากการชี้ให้เห็นว่า แม้แต่กับคนใกล้ชิดหรือไว้ใจที่สุดในทุกวันนี้ ความรักและมิตรภาพก็อาจจะถูกสะบั้นออกไปได้ภายใต้สังคมที่กำลังแปลกแยกระหว่างกัน ที่น่าประหลาดใจก็คือ แม้โดยชื่อตัวละครทั้งหลาย จะบ่งนัยถึงความสัมพันธ์ที่น่าจะพันผูกกันไว้อย่างแนบแน่น ระหว่างผืนน้ำ (อย่างชื่อของน้ำรินและธารา) ผืนดิน (แบบชื่อของภพธร) และผืนฟ้า (เหมือนกับชื่อของนับดาว) แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว นั่นก็คงเป็นเพียงแค่ “ชื่อ” ที่หาได้ผูกพันหรือมีความสำคัญทางใจเช่นไรไม่   เพราะฉะนั้น เมื่อความไว้ใจ มิตรภาพ และความรัก เริ่มเป็นสิ่งที่แร้นแค้นและถูกลิดกิ่งลิดใบออกไปจากจิตใจของคน น้ำรินจึงไม่ต่างจากตัวละครที่กำลังเวียนว่ายอยู่ในภาวะแปลกแยกและไร้ซึ่งสายสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมรอบตัว ภาพที่ฉายความแปลกแยกให้เห็นชัดเจนที่สุด ก็คือฉากที่น้ำรินขับรถสปอร์ตซิ่งบนท้องถนนแข่งกับ “ชลชาติ” เพียงเพราะเธอหมั่นไส้ว่า เขาเป็นใครก็ไม่รู้จัก แต่กล้ามาท้าทายเธอที่กำลังขับรถคันงามอยู่ และเพราะถนนก็สถานที่ที่มนุษย์มักแปลกแยกกับเพื่อนร่วมโลกที่ไม่เคยรู้จักมักจี่กันมาก่อน สภาวะดังกล่าวเช่นนี้ก็นำไปสู่โศกนาฏกรรมอุบัติเหตุ อันเป็นจุดเริ่มต้นของปมขัดแย้งต่างๆ ที่อยู่ในท้องเรื่องนั่นเอง จากอุบัติเหตุในครั้งนั้น ทำให้วิญญาณของน้ำรินต้องหลุดออกจากร่าง กลายเป็นดวงวิญญาณเร่ร่อนที่ไม่เพียงแต่แปลกแยกกับโลกรอบตัว แต่ยังเป็นวิญญาณที่เกิดอาการ “ความจำเสื่อม” แปลกแยกกับร่างกายของตนเองไปเสียอีก ในทางจิตวิทยาอธิบายว่า ความจำเสื่อมเป็นอาการทางจิตชนิดหนึ่ง ที่เกิดขึ้นเมื่อคนๆ นั้นเผชิญหน้ากับสภาวะทางจิตแบบสุดขีด เช่น กลัวสุดขีด ตกใจสุดขีด หรือเสียใจสุดขีด จิตก็จะทำการปกป้องตนเองให้ delete ไฟล์ความทรงจำดังกล่าวออกไปจากสาระบบ แต่ในทางสังคมศาสตร์แล้ว เราอาจพิจารณาอาการความจำเสื่อมได้ว่า เป็นสภาพที่มนุษย์ต้องเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงบางอย่างของสังคม แต่เราเองไม่อาจปรับตัวยอมรับกับความผันแปรดังกล่าวได้ จนนำไปสู่ภาวะความจำเสื่อมที่ไม่อาจทนยอมอยู่ในสภาพเยี่ยงนั้นต่อไป หลังจากที่น้ำรินกลายเป็นวิญญาณเร่ร่อนและความจำเสื่อม เพราะไม่อาจปรับตัวเข้ากับภาวะแปลกแยกกับสังคมรอบตัวได้เช่นนี้ เธอก็ได้รับความช่วยเหลือจาก “หมวดเหยี่ยว” พระเอกหนุ่มของเรื่อง และอีกด้านก็เป็นตัวละครที่กลับมีความทรงจำฝังแน่นอยู่กับความเจ็บปวดในอดีตที่เคยเห็นบิดามารดาประสบอุบัติเหตุต่อหน้า เมื่อวิญญาณที่ความทรงจำสูญหายไปกับมนุษย์ที่ความทรงจำฝังตรึงแน่นได้ข้ามภพมาพบพานกัน แม้จะดูเป็นเรื่องเหลือเชื่อหรือแทบจะเป็นไปไม่ได้ แต่ก็คงเป็นเช่นที่หมวดเหยี่ยวได้กล่าวกับน้ำรินขณะที่โดยสารรถไฟไปด้วยกันว่า “คุณดูนะ รางรถไฟเป็นเส้นขนานไปเรื่อยๆ แต่มันมีจุดที่รางรถไฟมาบรรจบกัน...มันก็เลยมีรางสองคู่มาตัดกันเหมือนทางแยกของถนนไง ชีวิตคนสองคนก็เป็นเส้นขนานเหมือนรางรถไฟ มันไม่มีโอกาสเจอกันจนกว่าจะถึงจุดที่เรียกว่าพรหมลิขิต...” ด้วยพรหมลิขิตที่ทำให้น้ำรินได้มาพานพบกับหมวดเหยี่ยว และด้วยความช่วยเหลือจาก “ปริก” วิญญาณผีเร่ร่อนอีกตน ซึ่งในอดีตชาติคือสาวใช้ผู้ภักดีและเคยสาบานว่าจะดูแลน้ำรินตลอดไป สายสัมพันธ์หลายๆ เส้นที่ขาดหายไปจากชีวิตของน้ำริน ก็ค่อยๆ ได้รับการซ่อมแซมกอบกู้กลับคืนมา เริ่มจากวิญญาณของน้ำรินที่ได้เรียนรู้ถึงความผูกพันระหว่างเธอกับธาราผู้เป็นมารดาที่ไม่เคยเลือนหายไปจริงๆ ได้ค้นพบมิตรภาพเส้นใหม่ที่ผูกโยงเธอไว้กับผียายปริกตั้งแต่ชาติปางก่อน หรือแม้แต่ได้เข้าใจในกรรมและภพชาติที่ร้อยรัดเป็นพรหมลิขิตกับคู่แท้อย่างหมวดเหยี่ยว รวมไปถึงการย้อนกลับไปเริ่มต้นเรียนรู้และทบทวนให้เข้าใจตนเองเสียใหม่ คล้ายๆ กับฉากที่วิญญาณน้ำรินค่อยๆ เพียรพยายามฝึกจับตุ๊กตาหมีสีฟ้าที่หมวดเหยี่ยวซื้อมาฝาก และเรียนรู้ที่จะเข้าใจประโยคที่ปริกพูดอยู่เป็นเนืองๆ ว่า “ในชีวิตของเรา ทุกอย่างล้วนมีเหตุผลของตัวเองทั้งสิ้น” การย้อนกลับไปเข้าใจตนเองและเห็นคุณค่าของทุกชีวิตที่อยู่แวดล้อมรอบตนเองเช่นนี้ ไม่เพียงแต่ปลดปล่อยให้น้ำรินและตัวละครรายรอบได้เข้าใจชีวิตภายใต้สภาวะแปลกแยกเท่านั้น ผลานิสงส์ยังเอื้อให้ดวงวิญญาณของเธอกลับคืนสู่ร่างได้ในท้ายที่สุด ปัญหาของชีวิตมนุษย์ที่ต้องกลายเป็นวิญญาณเร่ร่อนอยู่ในวังวนแห่งความแปลกแยกนั้น แท้จริงอาจไม่ใช่ปัญหาที่เกิดมาจากความเปลี่ยนแปลงของโลกรอบตัวเท่านั้น แต่ยังอาจเนื่องมาแต่การที่เรา “มองไม่เห็น” คุณค่าของสายสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนมนุษย์ด้วยกันต่างหาก หาก “นวล” หญิงชราตาบอดผู้เป็นยายของหมวดเหยี่ยว สามารถสัมผัสรับรู้และ “มองเห็น” ได้ถึงวิญญาณของน้ำรินที่กำลังเร่ร่อนไปมา ความหวังและคำถามของผู้คนในสังคมแห่งความแปลกแยกก็คือ แล้วตัวละครอย่างน้ำรินที่ตาไม่ได้บอดเลยนั้น เธอก็น่าจะ “มองเห็น” คุณค่าของตนเองและเพื่อนมนุษย์รอบตัวได้ไม่แตกต่างกัน

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 166 เงา : เมื่อมัจจุราชสวมบทบาทเป็นนักวิจัย

“มนุษย์เราต่างก็มีกรรมเป็นประดุจเงาตามตัว” สัจธรรมความจริงข้อนี้ ดูจะเป็นแก่นแกนหลักที่ละครโทรทัศน์เรื่อง “เงา” ตั้งใจผูกเรื่องเอาไว้ให้เป็นอุทาหรณ์สอนใจผู้ชม ตามแก่นของเรื่องราวข้างต้น ตัวละครทั้งหมดที่เวียนว่ายเกิดแก่เจ็บตายและเกิดใหม่ในอีกชาติภพ ต่างก็สร้างผลกรรมดีชั่วแตกต่างกันไป และเมื่อสังขารแตกดับไปแล้ว กำเกวียนและกงเกวียนนั่นเองที่จะหมุนเป็น “เงาตามตัว” เพื่อพิพากษาว่าใครจะได้รับผลอย่างไรในสัมปรายภพ กับการพิสูจน์ความจริงข้อนี้ ละครโทรทัศน์เรื่อง “เงา” ก็ได้เลือกมองผ่านตัวละคร “วสวัตดีมาร” หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ มัจจุราชผู้พิพากษาดวงวิญญาณต่างๆ ที่แตกดับไปตามอายุขัยของตน หากมนุษย์คนใดทำคุณงามความดีเอาไว้ พญามัจจุราชก็จะมายืนอยู่ปลายเท้าเพื่อรับส่งดวงวิญญาณนั้นไปสู่สุคติ แต่หากบุคคลใดทำแต่ผลกรรมความเลวไว้ พญามารก็จะยืนเป็น “เงา” เหนือหัว และพิพากษาลงทัณฑ์ดวงวิญญาณนั้นในนรกภูมิ แต่ดูเหมือนว่า สถิติที่พญามัจจุราชท่านได้สำรวจไว้ก็พบว่า สัดส่วนของวิญญาณที่มีกรรมชั่วติดเป็นเงาตามตัว นับวันจะดูมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นเหตุให้พญามารถึงกับเกิดความสงสัย และเริ่มสิ้นหวังกับการสั่งสมผลกรรมความดีของปุถุชน ท่านจึงเริ่มจะแสวงหาคำตอบเพื่อจะดูว่า ตนยังพอจะมีความหวังให้กับมนุษย์กับการทำความดีอีกต่อไปหรือไม่ และแม้วสวัตดีมารจะครองตนอยู่ในอีกภพภูมิที่เกินกว่าอายตนะทั้งห้าของมนุษย์จะสัมผัสจับต้องหรือชั่งตวงวัดได้ แต่ที่น่าอัศจรรย์ยิ่งก็คือ วิธีการค้นหามาซึ่งคำตอบต่อข้อสงสัยของพญามาร กลับเลือกใช้กระบวนการทำวิจัยในแบบนักวิทยาศาสตร์ ที่เน้นการพิสูจน์ให้เห็นความเป็นจริงรอบตัวด้วยวิธีการเก็บข้อมูลเชิงประจักษ์   ด้วยเหตุดังกล่าว ภายใต้ “โจทย์ของการวิจัย” ที่ว่า “เพราะเหตุใดมนุษย์ทุกวันนี้จึงทำความดีน้อยลง” วสวัตดีมารจึงลงมือทำงานวิจัยสนาม (หรือที่ภาษาเก๋ๆ จะเรียกว่า “field study”) ด้วยการแปลงตัวมาใช้ชีวิตเยี่ยงมนุษย์ปุถุชนทั่วไปในชื่อ “ท่านชายวสวัต” และเข้าร่วมสังเกตการณ์และสัมภาษณ์เพื่อเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างคนแล้วคนเล่า เพื่อตอบข้อสงสัยตามโจทย์ที่กล่าวมานั้น ประกอบกับอีกด้านหนึ่ง ละครก็ตั้งคำถามที่น่าสนใจพ่วงเข้าไปอีกด้วยว่า แม้จะเป็นมัจจุราชพญามาร แต่นั่นก็ใช่ว่า ท่านชายวสวัตจะหลุดพ้นไปจากกงล้อแห่งกรรมไม่ เพราะอดีตชาติของพญามารเองก็เคยทำกรรมเลวบางประการเอาไว้ ดังนั้นท่านชายก็เลยต้องดื่มน้ำจากกระทะทองแดงทุกๆ ชั่วยาม เพื่อเป็นการลงโทษตามกรรมของตนเองไปด้วย จวบจนกว่าจะหลุดพ้นการทำหน้าที่พญามัจจุราช เมื่อสามารถหาคนที่มีปริมาตรกรรมดีและกรรมชั่วเท่าๆ กัน มารับหน้าที่ดังกล่าวสืบแทน ในฐานะของนักวิจัยเชิงประจักษ์ที่เก็บข้อมูลกับกลุ่มตัวอย่างปุถุชนทั้งหลายนั้น ท่านชายวสวัตได้เข้าไปผูกสัมพันธ์กับกลุ่มตัวอย่างที่น่าจะให้ข้อมูลสำคัญหลักๆ (หรือที่ภาษานักวิจัยเรียกว่า “แหล่งข้อมูลปฐมภูมิ”) อย่าง “อิศรา” ตัวละครซึ่งไม่เพียงแต่ท่านชายจะหมายตาไว้ให้มาสืบต่อตำแหน่งพญามัจจุราชในลำดับถัดไป แต่เขายังเป็นกลุ่มตัวอย่างที่ท่านชายเฝ้าติดตามสังเกตและสัมภาษณ์เก็บข้อมูลต่างๆ ไว้อย่างเข้มข้น และเพื่อให้ข้อมูลมีความรอบด้านและน่าเชื่อถือ ท่านชายวสวัตก็ได้ใช้เทคนิคการตรวจสอบข้อมูลประกอบจากกลุ่มตัวอย่างคนอื่นๆ โดยเฉพาะจากกลุ่มตัวอย่างผู้หญิงสามคนที่อยู่รอบตัวอิศรา เริ่มตั้งแต่ผู้หญิงคนแรก “คุณย่าอุ่น” ผู้ที่เลี้ยงดูอิศรามาตั้งแต่เด็ก แต่เพราะชีวิตเวียนวนอยู่ในโลภะโทสะโมหะและประกอบแต่กรรมชั่วในชาติภพปัจจุบัน คุณย่าอุ่นจึงไม่เพียงแต่เลี้ยงดูอิศรามาอย่างผิดๆ แต่เธอยังมีดวงวิญญาณเจ้ากรรมนายเวรตามคอยรังควานหลอกหลอนจนถึงวันสิ้นลม ส่วนผู้หญิงคนที่สองก็คือ “ชาลินี” ญาติลูกพี่ลูกน้องของอิศรา ชาลินีคือตัวแทนของคนที่มีบาปกรรมติดตัวมาตั้งแต่ชาติปางก่อน และแม้จะมาเกิดในภพปัจจุบัน เธอก็ยังเลือกเป็น “ผู้หญิงหลายบาป” ทั้งฆ่าคน ฆ่าลูกของตน และทำบาปกรรมต่างๆ อย่างมากมหันต์ และเพราะบาปกรรมที่ได้ก่อเอาไว้ คุณย่าอุ่นและชาลินีที่อาจจะมีความสุขให้ได้เสพในกาลปัจจุบัน จึงไม่อาจสัมผัสถึงตัวตนที่แท้จริงของท่านชายวสวัต จนเมื่อถึงวันที่ร่างสังขารของพวกเธอแตกดับไปนั่นแหละ ที่ทั้งสองคนจึงพบว่ากรรมคือ “เงา” ที่ตามมาพิพากษาลงทัณฑ์ และเบื้องหลังธาตุแท้ของท่านชายวสวัตรูปงาม ก็คือพญามัจจุราชที่คอยทำวิจัยสำรวจบาปกรรมต่างๆ ที่พวกเธอสั่งสมเอาไว้ จนมาถึงผู้หญิงคนที่สามและเป็นหญิงคนรักของอิศราอย่าง “เจริญขวัญ” ผู้ที่คิดดีทำดี กลับฉายภาพที่แตกต่างออกไปในฐานะตัวแทนของคนที่สั่งสมแต่กุศลกรรมความดี และเสียสละเพื่อมนุษย์คนอื่นที่อยู่รอบตัว การได้มาเผชิญหน้ากับกลุ่มตัวอย่างแบบเจริญขวัญนั้น ทำให้ท่านชายวสวัตได้ข้อสรุปต่อโจทย์วิจัยที่ท่านสงสัยอยู่ว่า ด้านหนึ่งในท่ามกลางมนุษย์ปุถุชนที่เอาแต่ทำบาปทำกรรมอย่างมิอาจกลับตัว แต่ก็ยังมีมนุษย์บางคนที่พอจะเป็นความหวังและให้ความเชื่อมั่นได้ว่า คนที่ยังศรัทธาในคุณธรรมความดีจริงๆ ก็ไม่เคยหายไปจากโลกเล็กๆ ใบนี้เลย อย่างไรก็ดี แม้โดยหลักการแล้ว นักวิจัยมักถูกเรียกร้องให้วางตนเป็นกลางโดยไม่แทรกแซงความเป็นไปของกลุ่มตัวอย่าง เฉกเช่นวสวัตดีมารที่ต้องพิพากษาบาปบุญของมวลมนุษย์ไปตามข้อเท็จจริงแบบไร้อคติเจือปน แต่จริงๆ แล้ว แม้แต่มัจจุราชเองกลับพบว่า อคติและความผูกพันนั้นเป็นสิ่งที่เลี่ยงได้ยากยิ่ง ทั้งนี้ก็เพราะความผูกพันกับคุณธรรมความดีของเจริญขวัญ การเดินทางมารับวิญญาณของเธอไปสู่สุคติในตอนท้ายเรื่อง ก็ยังอดทำให้พญามัจจุราชต้องรู้สึกหวั่นไหว จนไม่คิดอยากจะทำภาระหน้าที่ดังกล่าวนั้นเลย คนไทยมักจะพูดกันอยู่เสมอว่า แม้บาปกรรมอาจไม่ได้ส่งผลให้เห็นทันตาในชาตินี้ก็จริง แต่เวรกรรมก็เป็น “เงา” ที่ตามตัวไปหลังความตายอย่างแน่นอน ก็คงไม่ต่างจากรูปธรรมของภาพที่เราได้เห็นท่านชายวสวัตตามมาเป็น “เงา” เพื่อทำวิจัยสนามเก็บข้อมูล ก่อนจะสะท้อนและพิพากษาผลกรรมความดีความชั่วของสรรพชีวิตในอีกภพภูมินั่นเอง

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 165 ทรายสีเพลิง : ชาตินี้ที่รัก เราคงรักกันไม่ได้

กล่าวกันว่า ทุกครั้งที่สังคมมีการเปลี่ยนผ่านอำนาจจากยุคหนึ่งไปสู่อีกยุคหนึ่ง มักจะปรากฏให้เห็นภาพความขัดแย้งและการต่อสู้ช่วงชิงผลประโยชน์กันอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะความขัดแย้งของกลุ่มคนที่มีอำนาจหรือที่เรียกกันว่า “ชนชั้นนำ” ที่เป็นกลุ่มอำนาจเก่ากับกลุ่มอำนาจใหม่ เพื่อฉายให้เห็นภาพรอยต่อของการเปลี่ยนผ่านทางสังคม และความขัดแย้งที่ปะทุกันระหว่างกลุ่มผลประโยชน์เก่ากับใหม่เช่นนี้ เราก็อาจจะวินิจวิเคราะห์ได้จากตัวอย่างความสัมพันธ์ของตัวละครอย่าง “ทราย” (หรือ “ศรุตา”) กับ “เสาวนีย์” ในละครโทรทัศน์เรื่อง “ทรายสีเพลิง” ความขัดแย้งระหว่างทรายกับเสาวนีย์เริ่มต้นมาตั้งแต่รุ่นของ “ดวงตา” ผู้เป็นมารดาของทราย ที่แม้ด้านหนึ่งจะเป็นเด็กหญิงที่ถูกชุบเลี้ยงไว้ในเรือนของ “คุณหญิงศิริ พรหมาตร์นารายณ์” แต่ด้วยเหตุผลที่ว่าคุณหญิงต้องการผูกมัดดวงตาให้อยู่เป็นข้ารับใช้ตนตลอดไป คุณหญิงจึงรู้เห็นเป็นใจให้ดวงตาคบหาเป็นภรรยาลับๆ ของบุตรชายหรือ “ศก” จนกระทั่งเธอตั้งท้องลูกสาวซึ่งก็คือทรายนั่นเอง และในเวลาเดียวกัน ในวันที่ดวงตาไปคลอดลูกที่โรงพยาบาล ก็เป็นวันเดียวกับที่คุณหญิงศิริวางแผนให้ศกกับเสาวนีย์ได้แต่งงานจดทะเบียนสมรส เพื่อกำหนดสถานะความเป็นอนุภรรยาให้กับดวงตาที่ต้องอยู่ใต้อาณัติของคุณหญิงและเสาวนีย์ในเวลาต่อมา จากความขัดแย้งตั้งแต่ในรุ่นของมารดา ยังผลให้เกิดความโกรธแค้นในรุ่นของลูกสาว เมื่อทรายเองก็ถูกเสาวนีย์กลั่นแกล้งตั้งแต่เด็ก โดยเฉพาะกับการกล่าวโทษว่าทรายพยายามจะฆ่าน้องสาวต่างมารดาอย่าง “ลูกศร” ให้ตกน้ำจนเกือบจะเสียชีวิต เป็นเหตุให้สองแม่ลูกมีอันต้องตัดสินใจเก็บกระเป๋า ระเห็จออกจากบ้านตระกูลพรหมาตร์นารายณ์ไป เมื่อวันเวลาผันผ่าน ทรายที่ไปเติบโตอยู่ในสหรัฐฯ ก็ได้กลายมาเป็นผู้ที่มั่งคั่งในฐานะทางเศรษฐกิจสังคม เธอจึงตัดสินใจเดินทางกลับมาเมืองไทย เพื่อร่วมงานศพของคุณหญิงศิริ และเพื่อดึงเสาวนีย์ให้กลับเข้าสู่เกมของการแก้แค้น จนนำไปสู่โศกนาฏกรรมการเสียชีวิตของลูกศรในท้ายที่สุดของเรื่อง   ด้วยพล็อตเรื่องที่กล่าวถึงการกลับมาแก้แค้นอันเป็นผลสืบเนื่องมาแต่คนรุ่นก่อน แม้ดูผิวเผินจะไม่ใช่เนื้อเรื่องที่ใหม่นักในละครโทรทัศน์บ้านเรา แต่หากเราเชื่อว่าภาพความขัดแย้งดังกล่าว เป็นการฉายให้เห็นการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจของชนชั้นนำในห้วงที่สังคมกำลังเปลี่ยนผ่านแล้ว โครงเรื่องทำนองนี้ก็มีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย สำหรับสังคมไทยในยุคดั้งเดิม หรืออาจเรียกเป็นอีกนัยได้ว่ายุคศักดินานั้น ชนชั้นนำเองก็คงมีทัศนะไม่ต่างจากตัวละครอย่างคุณหญิงศิริหรือเสาวนีย์เท่าใดนัก กล่าวคือ ในสังคมศักดินา อำนาจเกิดแต่บารมีและการบริหารจัดการผู้คนที่อยู่ภายใต้บารมีนั้นๆ ซึ่งก็คล้ายกับคุณหญิงศิริ ที่ด้วยฐานานุรูปและฐานันดรศักดิ์ เธอก็เลือกที่จะขอเด็กหญิงดวงตาจากพ่อแม่ชาวสวนมาอุปถัมภ์เลี้ยงดูจนเติบโต แต่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์แบบศักดินานั้น คุณหญิงได้ใช้กลวิธีซื้อใจให้ดวงตายอมอยู่ใต้อาณัติ ด้วยการส่งเสียให้เธอเรียนพยาบาล เพื่อที่ว่ามารดาของทรายจะยอมสวามิภักดิ์ และ “อาสาเจ้าจนตัวตาย อาสานายจนพอแรง” โดยไม่สนใจว่าลึกๆ แล้ว มนุษย์ที่เป็นแรงงานภายใต้ระบบอุปถัมภ์ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของความไม่เท่าเทียมดังกล่าว จะมีความรู้สึกนึกคิดเช่นไร แบบเดียวกับที่คุณหญิงเคยกล่าวกับศกเพื่อให้ทรายได้ยินด้วยว่า “ดวงตามันเลี้ยงไม่เชื่อง มันเป็นคนทะเยอทะยาน ถ้ามันไม่รักไม่หวังในตัวลูกอยู่ล่ะก็ มันคงไม่อยู่ให้แม่ใช้จนป่านนี้หรอก แม่ถึงบอกให้...ร้อยมันไว้ใช้เถิด ไม่เสียหายอะไรหรอก...” แต่ทว่า เมื่อสังคมศักดินาเริ่มอ่อนอำนาจลง ทุนทรัพย์ที่ได้สั่งสมมาก็มีแนวโน้มจะถูกนำไปใช้เพื่อรักษาบารมีและฐานานุรูปเอาไว้ เหมือนกับที่ตระกูลพรหมาตร์นารายณ์ก็ต้องขายสมบัติชิ้นแล้วชิ้นเล่าจนเกือบหมดตัว เพียงเพื่อรักษาสุขภาพ(และหน้าตา)ของคุณหญิงศิริในช่วงบั้นปลายชีวิต ในทางกลับกัน ตัวละครอย่างทรายก็ไม่ต่างไปจากภาพตัวแทน “the rise” ของระบบทุนนิยมใหม่ในท่ามกลาง “the fall” ของกลุ่มอำนาจเก่าที่กำลังร่วงโรยและอ่อนกำลังลง สำหรับชนชั้นนำในระบบทุนนิยมใหม่นั้น มักเน้นการสั่งสมทุนในหลายๆ แบบ เฉกเช่นทรายที่ไม่เพียงแต่เป็นตัวแทนของทุนไทยที่ไปประสานผลประโยชน์กับทุนนิยมตะวันตก (เหมือนตัวละครที่บัดนี้ได้กลายไปเป็นลูกเลี้ยงของนายทุนอเมริกันอย่าง “ดอน”) เท่านั้น เธอยังสั่งสมทุนความรู้จากต่างประเทศด้วยการจบมหาวิทยาลัยชื่อดังของสหรัฐฯ สั่งสมทุนชื่อเสียงเกียรติยศในแวดวงสังคมชั้นสูง รวมถึงบริหารจัดการเสน่ห์และเรือนร่างให้กลายเป็นทุนอีกชนิดหนึ่งเช่นกัน และในขณะที่ชนชั้นนำเดิมเลือกใช้วิธีการ “ร้อย” คนเอาไว้ใช้เป็นแรงงาน ระบบทุนนิยมแบบใหม่กลับเลือกใช้ทุนเป็นอำนาจเพื่อขูดรีดผู้คนและตอบโต้กับกลุ่มชนชั้นนำเก่า เหมือนกับที่ทรายเคยกล่าวไว้เป็นนัยกับมารดาว่า “แม่บอกทรายเสมอว่าเราสองไม่ต่างจากกรวดหินดินทรายในบ้านเขา แม่ถึงตั้งชื่อทรายว่าทรายเพื่อเตือนใจเรา” เพราะฉะนั้น “…ทรายจะเอาคืนทุกอย่างที่ควรเป็นของทราย” ดังนั้น เมื่อทุนเป็นเครื่องมือนำมาซึ่งอำนาจ ทรายจึงเริ่มบริหารทุนของเธอ ตั้งแต่ใช้เสน่ห์ยั่วยวน “พัชระ” คู่หมั้นของน้องสาว จนเขาถอนหมั้นกับลูกศรในที่สุด ใช้เม็ดเงินซื้อคฤหาสน์ของตระกูลพรหมาตร์นารายณ์ในช่วงที่ศกกำลังร้อนเงิน หรือแม้แต่หลอกใช้ผู้ชายที่ภักดีต่อเธอยิ่งอย่าง “ฌาน” เพื่อให้เป็นเพียงหมากตัวหนึ่งในเกมการแก้แค้นกับเสาวนีย์ บนสงครามระหว่างอำนาจเก่ากับกลุ่มทุนใหม่เช่นนี้ ฉากสุดท้ายก็มักจะนำไปสู่โศกนาฏกรรมของผู้คนที่แม้จะไม่ได้เป็นคู่สงครามในสมรภูมิ แต่ก็มักกลายเป็นผู้สูญเสียด้วยเช่นกัน เฉกเช่นตัวละครอย่างฌาน พัชระ หรือแม้แต่น้องสาวที่ใสซื่อไร้เดียงสาอย่างลูกศรผู้ที่ต้องจบชีวิตลงในตอนท้ายเรื่อง แม้ในบทสรุปของ “ทรายสีเพลิง” ตัวละครต่างๆ จะได้บทเรียนว่า ความขัดแย้งของกลุ่มอำนาจนั้น จะคลี่คลายได้ก็เพียงแต่ขั้วอำนาจที่ต่อสู้ขัดแย้งกันยินยอมจะ “ขอโทษ” และ “อโหสิกรรม” ให้กันและกัน หรือแม้ “บุรี” ผู้ชายที่ทรายแอบรักมาตั้งแต่วัยเยาว์จะกล่าวเป็นอุทาหรณ์เตือนใจว่า “ชีวิตมันไม่เหมือนจิ๊กซอว์ จะหยิบชิ้นไหนมาต่อผิดต่อถูกโดยไม่ต้องคิดก็ได้ เพราะถึงต่อผิด ก็มีโอกาสเลือกชิ้นใหม่มาต่อ แต่ชีวิต...ถ้าพลาดแล้วก็พลาดเลย ไม่มีโอกาสเปลี่ยนมาเริ่มต้นทำใหม่ได้อีกครั้ง” แต่คำถามก็คือ ความขัดแย้งที่เป็นเกมอำนาจในชีวิตจริงนั้น คำว่า “ขอโทษ” และ “อโหสิกรรม” จะเป็นคำตอบได้เพียงไร หรือในสงครามของคู่ความขัดแย้งในช่วงการเปลี่ยนผ่านทางสังคมแบบนี้ ทั้งสองฝ่ายจะยังเดินหน้าร้องครวญเป็นเพลงต่อไปว่า “ชาตินี้ที่รัก เราคงรักกันไม่ได้...”

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 164 รากบุญ รอยรัก แรงมาร : ความปรารถนาเป็นอาหารอันโอชาของกิเลส

หลังจากที่กล่องรากบุญ อันเป็นแหล่งรวมพลังของ “กิเลส” ได้ถูกเจ้าของกล่องอย่าง “เจติยา” นางเอกนักตกแต่งศพทำลายไปแล้วในภาคแรก คำถามที่ตามมาก็คือ แล้วกิเลสของมนุษย์สามารถถูกทำลายไปได้จนหมดจริงแล้วหรือ? เงื่อนไขที่กล่องรากบุญใบเก่าได้วางรหัสเอาไว้ก่อนหน้านั้นก็คือ ทุกครั้งที่เจ้าของกล่องได้ทำบุญด้วยการช่วยปลดปล่อยวิญญาณคนตายให้หลุดพ้นจากบ่วงกรรม เจ้าของกล่องรากบุญจะได้เหรียญมาหนึ่งเหรียญ และเมื่อสะสมเหรียญจนครบสามเหรียญ เจ้าของก็ต้องขอพรหนึ่งข้อ และกล่องก็จะบันดาลให้พรนั้นสัมฤทธิ์ตาม “ความปรารถนา” แต่เหตุที่เจติยาเลือกขอพรสุดท้ายให้กล่องรากบุญทำลายตัวเองไปนั้น ก็เพราะเธอเห็นแล้วว่า การทำบุญโดยหวังผลก็เป็นเพียงการแปรรูปโฉมโนมพรรณใหม่ของ “กิเลส” ชนิดหนึ่ง เพราะฉะนั้น ถ้ากล่องและเหรียญเป็นที่สั่งสมไว้ด้วยกิเลส ก็ต้องกำจัดกล่องรากบุญอันเป็นต้นตอของกิเลสนั้นเสีย ทว่า ด้วยปมคำถามที่ว่า กิเลสของมนุษย์สามารถถูกทำลายไปได้หมดจริงหรือไม่ มาถึงละครภาคต่อของเรื่อง “รากบุญ” นั้น แม้กล่องจะถูกทำลายไปแล้ว แต่เพราะเหรียญของกล่องรากบุญใบเก่าได้ถูก “วนันต์” ขโมยไปด้วยความโลภ จากเหรียญหนึ่งเหรียญก็ค่อยๆ แตกตัวมาเป็นสามเหรียญ และก็กลายเป็นกิเลสหยดเล็กๆ ที่ค่อยๆ สั่งสมขุมพลังให้ตนเองมีอำนาจมากขึ้น พลังของเหรียญที่มีกิเลสหล่อเลี้ยงอยู่ ได้สร้างปีศาจตนใหม่ขึ้นมาในชื่อว่า “กสิณ” ที่ตามท้องเรื่องเป็นปีศาจที่ไร้เพศไร้อัตลักษณ์ชัดเจน แต่ก็อาจจะด้วยว่าเป็นปีศาจที่ได้รับอิทธิพลจากกระแส J-pop หรืออย่างไรมิอาจทราบได้ ปีศาจกสิณจึงมักปรากฏตนในชุดยูกาตะของญี่ปุ่น และมีฝีมือดาบแบบซามูไรแดนอาทิตย์อุทัย เพื่อเพิ่มพลังให้กับกิเลสของมนุษย์ กสิณจึงพรางตัวอยู่ในเหรียญหนึ่งเหรียญ ซึ่ง “พิมพ์อร” ลูกสาวของวนันต์ได้ครอบครองอยู่ ทุกครั้งที่พิมพ์อรขอพรใดๆ ก็ตาม กสิณหรือปีศาจกิเลสก็จะมีพลังและอำนาจที่เพิ่มมากขึ้น แบบเดียวกับที่ปีศาจกสิณเคยเปรยขึ้นภายหลังจากครั้งหนึ่งที่พิมพ์อรลังเลที่จะไม่ขอพรว่า “เธอใจแข็งได้อีกไม่นานหรอก แล้วสักวัน ความปรารถนาของเธอจะเป็นอาหารอันโชะของฉัน...” เพราะฉะนั้น เมื่อความปรารถนาเป็นอาหารอันโอชารสของกิเลส กสิณจึงคอยตามเป็นเงาของพิมพ์อรอยู่ตลอดเวลา และเรียนรู้ที่จะเข้าไปกำกับก้นบึ้งในจิตใจของพิมพ์อร เพื่อล่อลวงและชักใยให้ผู้หญิงอย่างพิมพ์อรต้องขอพรตามปรารถนาลึกๆ ในใจ ก็ไม่ต่างไปจากภาพสัตว์อย่างกิ้งก่าที่พิมพ์อรเลี้ยงไว้ในห้องนอนของเธอ ที่ผู้กำกับจงใจตัดสลับไปมาในหลายๆ ครั้งคราที่พิมพ์อรกับกสิณสนทนากัน เพราะในขณะที่กิ้งก่าเป็นสัตว์ที่เลียนรู้ที่จะพรางตัวตามสภาวะแวดล้อมที่ต่างกันไป กสิณหรือตัวแทนของกิเลสก็เลียนรู้ที่จะปรับตัวตามธาตุแท้ของโลภะโทสะโมหะที่อยู่ในจิตใจของพิมพ์อรอย่างไม่แตกต่างกัน และเป้าหมายที่กสิณต้องการก็คือ การรวมพลังจากเหรียญที่อยู่ในมือของพิมพ์อรกับเหรียญที่เหลืออีกสองเหรียญเพื่อสร้างกล่องรากบุญใบใหม่ขึ้นมา ซึ่งเหรียญหนึ่งก็อยู่ในมือของ “อยุทธ์” ผู้เป็นน้องชายของพิมพ์อร กับอีกหนึ่งเหรียญที่เปลี่ยนถ่ายมือไปมาจนตกมาอยู่ในความครอบครองของนางเอกอย่างเจติยา แม้ในกรณีของอยุทธ์นั้น เขามีเดิมพันเรื่องการขอพรให้เหรียญช่วยยืดอายุของวนันต์บิดาผู้กำลังเจ็บป่วยใกล้ตาย ทำให้อยุทธ์ต้องเลือกขอพรและเติมความปรารถนาให้เป็นอาหารของกิเลสเป็นครั้งคราว แต่สำหรับเจติยาแล้ว เธอกลับเลือกที่จะยุติอำนาจของกิเลสที่บัดนี้พรางรูปมาอยู่ในร่างของกสิณนั่นเอง เพราะรู้เป้าหมายเบื้องลึกของกสิณที่จะรวมพลังของเหรียญทั้งสามเพื่อสร้างกล่องรากบุญใบใหม่ เจติยาจึงพยายามขัดขวางไม่ให้กิเลสได้สั่งสมขุมกำลังขึ้นมาใหม่ได้ ดังนั้นเจติยาจึงมุ่งมั่นทำความดีด้วยการปลดปล่อยความทุกข์ของวิญญาณคนตายให้หลุดพ้นจากการจองจำ และทุกครั้งที่เธอช่วยเหลือวิญญาณคนตายได้แล้ว แทนที่จะขอพรตามความปรารถนาให้กลายเป็นอาหารหล่อเลี้ยงกิเลสต่อไป เจติยากลับใช้วิธีการชำระเหรียญให้บริสุทธิ์ปราศจากความโลภโมโทสันแทน แต่เพราะเธอเลือกตั้งการ์ดเป็นอริกับกิเลสนี่เอง เจติยาจึงถูกทดสอบโดยกสิณเป็นระยะๆ ว่า เธอจะอดทนยืนหยัดต่อปรารถนาลึกๆ หรือกิเลสที่กำลังเรียกร้องอยู่ในจิตใจได้นานเพียงไร ไม่ว่าจะเป็นการที่กสิณพยายามเอาชีวิตของคนรอบข้าง เพื่อนสนิท น้องชาย ไปจนถึงมารดาของเธอมาเป็นเดิมพัน รวมทั้งล่อลวงสามีพระเอกอย่าง “ลาภิณ” ให้ถูกอำนาจมืดครอบงำจนลืมความรักที่มีต่อเจติยาไปชั่วคราว บทเรียนเหล่านี้จะว่าไปแล้ว ก็ไม่ต่างจากการให้คำตอบกับเราๆ ว่า แท้ที่จริง กิเลสไม่เคยห่างหายไปจากชีวิตของคนเราหรอก และกิเลสก็จะคอยทดสอบเราอยู่ตลอดเวลาว่า มนุษย์จะสามารถเอาชนะปรารถนาที่อยู่ลึกในใจของตนได้หรือไม่ เมื่อมาถึงบทสรุปของเรื่อง ในขณะที่พิมพ์อรที่เชื่อมั่นมาตลอดว่า เธอคือเจ้านายผู้สามารถควบคุมให้กสิณทำโน่นนี่ได้ตามใจปรารถนาของตนเอง แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว เธอกลับได้เรียนรู้ว่า กิเลสไม่เคยอยู่ใต้อำนาจของมนุษย์ หากแต่เป็นมนุษย์ที่สามารถตกเป็นทาสของกิเลสต่างหาก เหมือนกับที่พิมพ์อรได้พูดกับอยุทธ์ผู้เป็นน้องชายว่า “ใช่...พี่รู้แล้วว่าถูกหลอกมาตลอด กสิณไม่ใช่ทาสของพี่และคอยหาผลประโยชน์จากพี่ แต่พี่ก็จะใช้งานกสิณต่อไปเพื่อสร้างกล่องรากบุญขึ้นมาให้ได้ ต่อให้ฉันต้องขายวิญญาณให้ปีศาจ แต่ถ้ามันช่วยคุณพ่อได้ ฉันก็จะทำ” ในขณะเดียวกัน สำหรับผู้ครอบครองเหรียญอีกสองคนคือเจติยากับอยุทธ์ ต่างก็ค้นพบว่า แม้ปรารถนาลึกๆ ของตนต้องการขอพรเพื่อช่วยยืดชีวิตของบุพการีออกไปทั้งคู่ แต่ถึงที่สุดแล้ว ไม่มีใครหรอกที่จะฝ่าฝืนอายุขัยของตนเองไปได้ เหมือนกับบรรดาศพทั้งหลายที่ทั้งสองคนคอยดูแลตกแต่งศพแล้วศพเล่า เมื่อเข้าใจสัจธรรมชีวิตเยี่ยงนี้ แม้กสิณจะบีบบังคับให้เจติยาและอยุทธ์ร่วมสร้างกล่องรากบุญใบใหม่ขึ้นมาได้ แต่พรที่อยุทธ์ขอเป็นข้อแรกจากกล่องใบใหม่ก็คือ ให้กล่องรากบุญทำลายตัวเองและทำลายพลังของกสิณให้สิ้นซากไป แม้บทเรียนของเหรียญและปีศาจกสิณจะบอกกับเราว่า กิเลสไม่เคยห่างหายไปจากจิตใจของมนุษย์ได้หรอก แต่หากมีจังหวะสักช่วงชีวิตที่เราจะบอกตนเองว่า ถึงกิเลสจะไม่เคยหายไป แต่แค่เพียงเราไม่พยายามเพิ่มพูนความปรารถนาให้มากเกินไปกว่านี้ อย่างน้อยเหรียญพลังของกิเลสก็ยังมีโอกาสจะถูกชำระให้สะอาดขึ้นได้บ้างเช่นกัน  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 163 ดาวเคียงเดือน : กับความลงตัวบนความต่าง

ระบบคิดของคนไทยสมัยก่อนเชื่อกันว่า “ความเหมาะสม” คือคำตอบที่ถูกต้องของ “ความลงตัว” แบบที่สำนวนไทยมักจะอธิบายว่า “ขนม” ต้องให้ “พอสมกับน้ำยา” จึงจะมีรสชาติอร่อย หรือแม้แต่ในชีวิตของการครองรักครองเรือน ที่เราก็มีคำพูดว่า “กิ่งทอง” ก็ต้องคู่กับ “ใบหยก” จึงจะทำให้คนสองคนที่ “ควรคู่” ได้ครองรักเป็น “คู่ควร” กันจริงๆ เพราะฉะนั้น เมื่อความเหมาะเจาะลงตัวเกิดเนื่องมาแต่ “ความเหมือน” หรือ “ความเสมอกัน” เยี่ยงนี้ กลไกที่คนโบราณใช้ก็คือ ประเพณีการคลุมถุงชน ที่จะอาศัยสายตาของญาติผู้ใหญ่เป็นผู้จำแนกแยกแยะและตัดสินว่าใครเหมาะกับใคร ใครคู่ควรกับใคร จึงจะเสมอกันด้วยศักดิ์ชั้น ฐานะ และชาติตระกูล แต่เมื่อกาลสมัยเปลี่ยนแปลงไป จึงเกิดคำถามขึ้นมาใหม่ว่า แล้ว “ความลงตัว” จำเป็นต้องพ่วงมาด้วย “ความเสมอกัน” เสมอไปหรือไม่ คำถามเรื่อง “ความลงตัว” เช่นนี้ ก็คือสิ่งที่เธอและเขาซึ่งเป็นตัวละครหลายๆ คู่ ในละครโทรทัศน์เรื่อง “ดาวเคียงเดือน” ร่วมกันหาคำตอบให้กับการใช้ชีวิตคู่ของตนเอง เริ่มต้นตั้งแต่เรื่องราวของ “ดาริกา” หลานสาวของสัปเหร่อที่มาทำงานอยู่บริษัทออร์แกไนเซอร์ และจับพลัดจับผลูถูกไหว้วานจากเพื่อนสนิทให้มาช่วยดูแลคอนโดฯสุดหรูชั่วคราว จนได้มาพบกับพระเอกหนุ่มเจ้าระเบียบอย่าง “หม่อมหลวงจันทรกานต์” หรือ “คุณจันทร์” ลูกท่านหลานเธอเจ้าของห้างสรรพสินค้าแกรนด์ และพักอยู่ห้องติดกันในคอนโดฯ เดียวกับดาริกา ความวุ่นวายของเรื่องจึงเกิดขึ้น เพราะดาริกาเข้าใจผิดว่าคุณจันทร์กับเลขานุการส่วนตัว “วิวิทธิ์” เป็นเกย์คู่รักกัน ยิ่งเมื่อบริษัทของเธอต้องมารับจัดงานครบรอบ 50 ปีของห้างแกรนด์ ดาริกาก็บังเอิญรู้เท่าไม่ถึงการณ์จัดฉากให้คุณจันทร์มารับแสดงบทบาทเจ้าชายเชิญกุญแจเปิดห้าง จนนำความไม่พอใจมาให้กับ “ดาราราย” มารดาของคุณจันทร์นับตั้งแต่นั้นมา   แม้จะถูกดารารายขัดขวางความรักของคนทั้งสอง เพราะเล็งเห็นความ “ไม่ควรคู่” ระหว่างศักดิ์ชั้นของคุณจันทร์กับความเป็นหลานสาวสัปเหร่อของดาริกา แต่สำหรับคุณจันทร์แล้ว ไม่เพียงแต่เขาจะประทับใจดาริกาที่เป็นผู้หญิงชนชั้นล่างที่ต่อสู้ชีวิตเท่านั้น เมื่อได้มาเจอกับตาสัปเหร่อและแม่ของดาริกา เขาก็พบว่า ครอบครัวที่เล็กๆ แต่อบอุ่นแบบนี้ คงไม่ใช่เรื่องของฐานานุรูปหรือชนชั้นหรอกที่จะเป็นคำตอบเรื่องความเหมาะสมในการครองรักและครองเรือน ในส่วนของดาริกา แม้จะเข้าใจผิดทั้งที่ว่าคุณจันทร์เป็นเกย์ และที่ต้องยอมให้ถูกจับคลุมถุงชนกับ “อิงฟ้า” ลูกสาวคนเดียวของ “หม่อมราชวงศ์หญิงอรชร” ก็คงเพื่อปกปิดรสนิยมแบบชายรักชายของตน แต่ลึกๆ แล้ว เธอเองก็ประทับใจในความดีและความติดดินของคุณจันทร์ที่แม้จะชั้นศักดิ์สูงกว่าเธอก็ตาม แบบเดียวกับที่ดาริกาได้สารภาพความในใจกับคุณจันทร์ ก่อนที่เขาจะถูกทำร้ายจนหมดสติไปว่า “ฉันรักคุณตั้งแต่แรกเห็น รักทั้งๆ ที่เข้าใจว่าคุณเป็นเกย์ รักทั้งๆ ที่รู้ว่าคุณสูงส่งและฉันต่ำต้อยแค่ไหน รักทั้งๆ ที่เราต่างกันเหลือเกิน...” เพราะฉะนั้น ในขณะที่ดารารายและคุณหญิงอรชรจะเห็นว่า ความเหมาะสมและทัดเทียมกันคือความลงตัว แต่กฎกติกามารยาทนี้คงไม่ใช่สำหรับคนอีกเจนเนอเรชั่นหนึ่งที่พบว่า ความรักและความลงตัวไม่จำเป็นต้องใช้เกณฑ์ความแตกต่างเรื่องศักดิ์ชั้นหรือรสนิยมทางเพศมาเป็นเส้นกั้นแบ่งแยกจำแนกคน เฉกเช่นเดียวกับตัวละครคู่อื่นๆ ในท้องเรื่อง ก็ดูจะเจริญรอยตามและตั้งคำถามที่ปฏิเสธเส้นแบ่งความแตกต่างดังกล่าวไม่ต่างกันเลย ไม่ว่าจะเป็นวิวิทธิ์และอิงฟ้า ที่แม้เขาจะต่ำศักดิ์แต่ก็มุมานะต่อสู้ชีวิต ส่วนเธอที่สูงศักดิ์แต่ก็รักช่วยเหลือสังคมในฐานะประธานชมรมช่วยเหลือเด็กเร่ร่อน ความไม่คู่ควรที่นำเสนอเป็นภาพตัดสลับตัวละครวิวิทธิ์กับภาพของ “สุนัขที่เห็นเครื่องบิน” นั้น ก็ดูไม่ใช่คำตอบที่จะกีดกันความรักของคนคู่นี้เลย หรือกรณีของ “พิชญา” ที่แอบหมายปองคุณจันทร์มานานหลายปี แต่ต้องตัดสินใจมาแต่งงานกับ “หม่อมหลวงจักรพัฒน์” ลูกพี่ลูกน้องของคุณจันทร์ แต่เมื่อรู้ว่าครอบครัวของจักรพัฒน์ไม่มีทรัพย์สมบัติใดติดตัว ทั้งคู่ก็ระหองระแหงเพราะผลประโยชน์ที่ขัดแย้งกัน แต่ทว่าถึงที่สุดแล้ว ความแตกต่างของผลประโยชน์ก็ไม่ได้เป็นตัวกำหนดความคู่ควรและความเข้าใจของทั้งคู่แต่อย่างใด ส่วนกรณีของ “วรางค์” เจ้านายสาวของดารารายกับ “อาร์ตี้” คนรักหนุ่มที่อ่อนวัยกว่านั้น ด้วยช่องว่างระหว่างวัยที่เหมือนจะเป็นอุปสรรคสำคัญ แต่หากไม่นับเรื่องของอายุที่อุปโลกน์มาเป็นเส้นกั้นแล้ว ความลงตัวก็เป็นไปได้ในความแตกต่างระหว่างวัยเช่นกัน รวมไปถึงคู่รักรุ่นเล็กที่ต่างกันสุดลิ่มทิ่มประตูอย่าง “ป๊อบ” น้องชายของวรางค์ และ “นาง” ที่ดูติ๊งต๊องไม่เป็นโล้เป็นพาย แม้จะมาจากฐานครอบครัวที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง แต่ในมุมเล็กๆ ความแตกต่างที่สิ้นเชิง ก็ไม่ใช่ความแตกต่างที่แยกขาดได้แบบเบ็ดเสร็จสมบูรณ์จริงๆ จะว่าไปแล้ว เมื่อเทียบกันในแง่ความสุกสกาวสว่างไสวนั้น “ดาว” กับ “เดือน” ก็ยากที่จะคู่ควรกันได้ เหมือนกับ “หิ่งห้อยฤๅจะไปแข่งกับแสงจันทร์” แต่ปรากฏการณ์แบบ “ดาวที่เคียงกับเดือน” ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้นั้น ก็พิสูจน์ให้เห็นว่า ในความต่างบางอย่างก็อาจเป็นความลงตัว แบบที่ฝ่ายหนึ่งจะขาดซึ่งอีกฝ่ายหนึ่งไปไม่ได้เลย เหมือนกับที่ดาริกาเคยเตือนสติให้กับป๊อบ ที่พยายามขัดขวางความรักของพี่สาวเพียงเพราะความแตกต่างเรื่องวัยกับแฟนหนุ่มว่า ความรักของคนสองคนนั้นจริงๆ แล้ว เป็น “ความลงตัวบนความต่าง ความต่างที่ลงตัว” และเป็น “ความรักที่ลองผิดลองถูก ผ่านทดสอบกันครั้งแล้วครั้งเล่า ความรักของเขาทั้งคู่อยู่บนความต่าง แต่ก็เป็นความต่างที่มั่นคง” สำหรับสังคมไทยในยุคนี้ “ความลงตัวบนความต่าง” ในความรักดังกล่าว ก็คงไม่ต่างไปจากการที่เราเพียรพยายามลบเส้นแบ่ง และสลายสีเสื้อหรือความแตกต่างทางความคิดที่ห่อหุ้มตัวเราอยู่เท่าใดนัก แต่หากจะเป็นไปได้ นอกจากจะพยายามหาความลงตัวบนความขัดแย้งระหว่างจุดยืนทางการเมืองแล้ว เราเองก็น่าจะหาทางลบเส้นกั้นแบ่งความแตกต่างอื่นๆ ระหว่างศักดิ์ชั้น เพศวิถี อายุ และผลประโยชน์ต่างๆ ลงด้วยเช่นกัน เพราะเมื่อนั้น “ดาว” กับ “เดือน” จะได้เคียงคู่กันอย่างคู่ควรจริงๆ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 162 รักนี้เจ้จัดให้ : ชีวิตจริงที่ไม่ได้เห็นผ่านเลนส์

ปรมาจารย์ด้านจิตวิเคราะห์นามอุโฆษอย่าง ซิกมันด์ ฟรอยด์ เคยอธิบายว่า จิตใจของมนุษย์มีอย่างน้อยสองด้าน เสมือนกับก้อนน้ำแข็งที่ลอยอยู่ในน้ำ ด้านหนึ่งก็เป็นส่วนของจิตที่เรามีสำนึกรู้สึกตัว และเผยให้เห็นแบบน้ำแข็งส่วนที่โผล่พ้นน้ำขึ้นมา กับอีกด้านหนึ่งที่เป็นส่วนของจิตไร้สำนึกดิบๆ ที่ซ่อนเร้นอยู่ใต้ผิวน้ำนั้น และฟรอยด์อีกเช่นกันที่กล่าวว่า ด้วยกรอบประเพณีปฏิบัติต่างๆ ของสังคม ทำให้ส่วนที่เป็นสัญชาตญาณลึกที่แฝงเร้นเป็นก้อนน้ำแข็งใต้น้ำ มักจะกลายเป็นส่วนที่เต็มไปด้วยความเจ็บปวดหรือบาดแผลบางอย่างให้ต้องทำตามปรารถนาของกรอบสังคม โดยที่มนุษย์เองก็พยายามจะปิดกั้นเก็บกดความรู้สึกบาดเจ็บดังกล่าวนั้นเอาไว้ เมื่อเป็นดั่งนี้ หากมนุษย์เราเข้าใจเรื่องบาดแผลและการเยียวยาที่เกิดขึ้นในจิตใจของเพื่อนร่วมโลกด้วยกัน ความรู้สึกแบบ “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” ก็จะเกิดขึ้นระหว่างกันและกันได้อย่างไม่ยากเย็นนัก ก็คงเหมือนกับตัวละครอย่าง “พอล” ช่างภาพอิสระหนุ่มมาดเซอร์ จากที่เคยตระเวนท่องป่าเขาดงดอยเพื่อถ่ายภาพธรรมชาติที่ต่างๆ ก็ต้องจับพลัดจับผลูปลอมตัวมาเป็นพี่ชายฝาแฝดอย่าง “พีท” ดารานายแบบหนุ่มหล่อ และก็ต้องมาใช้ชีวิตอยู่ในแวดวงสังคมที่ช่างภาพอย่างเขาไม่คุ้นเคยมาก่อน เหตุผลของการปลอมตัวดังกล่าวก็เนื่องมาแต่พีท ที่แม้จะเป็นดาราพระเอกหนุ่มคนดัง แต่ภายในจิตใจเบื้องลึกที่เก็บกดไว้ใต้ก้อนน้ำแข็งนั้น เขาเป็นเกย์ที่โหยหาความรัก แต่กลับถูกแฟนหนุ่มที่ตนรักมากหลอกเอาจนหมดตัว และคิดสั้นกินยาตายจนพลาดท่ากลิ้งตกบันไดแขนขาหัก พอลจึงต้องปลอมตัวมาเป็นพีท เพื่อช่วยรักษาชื่อเสียงความเป็นดาราให้กับพี่ชายฝาแฝดของตน จากการปลอมตัวครั้งนี้ พอลก็ได้รู้จักกับ “ลูกจัน” บรรณาธิการสาวสวยแห่งนิตยสารเซเลบ แม้ฉากหน้าเธอจะเป็นผู้หญิงสวยเปรี้ยวมั่นใจและมุ่งมั่นทำงานเขียนคอลัมน์วิจารณ์บุรุษเพศอย่างแสบสันต์ แต่ลึกๆ แล้ว ลูกจันกลับเจ็บปวดที่โดนคนรักเก่าหักอก พร้อมๆ กับที่แม่และยายของเธอก็ยังเคยถูกผู้ชายที่รักทอดทิ้งไป ด้วยบาดแผลและความเจ็บปวดที่สืบต่อจากรุ่นสู่รุ่น ลูกจันจึงเกลียดผู้ชายเป็นอย่างยิ่ง และยึดมั่นในคติที่ว่า “แม้นแผ่นดินสิ้นชายที่พึงเชย อย่ามีคู่เสียเลยจะดีกว่า...” และเพราะลูกจันกับพีทต่างก็มีบาดแผลลึกๆ ในจิตใจเช่นนี้ ทั้งคู่จึงคบหาเป็นเพื่อนสนิทกัน รวมทั้งตกลงอาศัยอยู่ร่วมชายคาเดียวกัน และพร้อมจะร่วมทุกข์ร่วมสุขเป็นเพื่อนรักที่ปรึกษาแลกเปลี่ยนปัญหากันได้ในทุกเรื่อง โดยพล็อตเรื่องของสูตรละครแบบ “การปลอมตัว” ดังกล่าว จริงๆ แล้วก็คือ “ห้องทดลอง” ชนิดหนึ่งที่เปิดโอกาสให้เราได้ทดลองสวมบทบาทเป็นผู้อื่นดูบ้าง เราจะได้เลียนรู้และเข้าใจบทบาทของคนที่ต้องแตกต่างไปจากชีวิตประจำวันของเรา ก็เหมือนกับพอลที่เมื่อได้ปลอมตัวมาเป็นพีท พอลก็ต้องเริ่มเรียนรู้ว่า คนแต่ละคนที่สวมบทบาทแตกต่างกัน ต่างก็มี “บท” หรือ “สคริปต์” ให้ต้องเล่นแตกต่างกันไปด้วย ในขณะที่บทบาทช่างภาพอิสระอาจจะมีอิสระที่จะเดินทางไปโน่นมานี่ได้อย่างเสรี แต่กับบทบาททางอาชีพของดารากลับมีความเป็นบุคคลสาธารณะมาตีกรอบให้ต้องถูกสังคมจับจ้องมองดูอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น เมื่อต้องมาสวมบทบาทใหม่เป็นดารา พอลก็ต้องเริ่มโกนหนวดโกนเคราและตัดผมที่ยาวกระเซอะกระเซิงออกไป ต้องเล่นบทบาทการประทินหน้าตาและผิวกายอยู่ทุกค่ำคืน เพราะเรือนร่างเป็นต้นทุนที่สำคัญในการทำมาหากินของคนที่อยู่วิชาชีพนี้ และที่สำคัญ ต้องแสดงการเก็บกดความเป็นเพศวิถีแบบ “ชายรักชาย” ที่สังคมกำหนดว่าไม่ใช่แบบอย่างที่ดีสำหรับบุคคลสาธารณะพึงทำ การสวมบทบาทที่เปลี่ยนไป จึงไม่ต่างอันใดกับการเปลี่ยนแปลงตัวตนและอัตลักษณ์ที่มนุษย์คนหนึ่งๆ กำลังยอมรับหรือต่อรองกับกฎกติกามารยาทของสังคม จนในบางครั้งก็แม้แต่ต้องยินยอมเก็บกั้นปรารถนาลึกๆ ในจิตใจของตนเอาไว้เช่นกัน เมื่อต้องปรับเปลี่ยนบทบาทดังกล่าว ไม่เพียงแต่พอลจะเข้าใจปมในจิตใจของพี่ชายฝาแฝดเท่านั้น แม้แต่กับลูกจันผู้ที่เขาต้องปลอมตัวมาอยู่ร่วมชายคาเดียวกัน พอลก็เริ่มเห็นว่า ภายใต้หน้ากากความเป็นหญิงมั่นและดูแข็งแกร่งนั้น แท้จริงแล้วลูกจันก็มีบาดแผลเจ็บปวดจากความรักที่ฝังแน่นมาตั้งแต่อดีต เหมือนกับที่ครั้งหนึ่ง ลูกจันซึ่งกำลังเมาได้เผยความเจ็บปวดที่อยู่ในใจกับพอลว่า “ฉันเศร้า...เศร้ามากเลย...บางทีฉันก็รู้สึกว่าฉันไม่ได้เก่ง ไม่ได้แกร่งเหมือนที่ใครๆ คิดเลย” ห้องทดลองที่เปิดโอกาสให้พอลได้ไปสวมตัวตนและอัตลักษณ์ใหม่เช่นนี้ ทำให้เขาเริ่มมองเห็นความเป็นมนุษย์จริงๆ ที่ไม่ได้มองผ่านเลนส์หน้ากล้องซึ่งซ้อนทับอยู่อีกชั้นหนึ่ง จนกลายเป็นความรักให้กับลูกจันและกลายเป็นความเข้าใจที่มีให้พีทพี่ชายของตน หรือแม้กระทั่งกับตัวละครผู้ร้ายอย่าง “ณัฐ” ผู้เป็นทั้งแฟนเก่าที่ทำร้ายจิตใจลูกจัน และเป็นชายหนุ่มที่หลอกลวงพีทจนพยายามฆ่าตัวตาย ในท้ายที่สุดพอลก็ได้เข้าใจว่า แม้แต่ปัจเจกบุคคลที่ต้องมาสวมบทบาทเป็นตัวร้ายเช่นนี้ ลึกๆ เบื้องหลังแล้วก็มีปมความเจ็บปวดจาก “พ่อแม่รังแกฉัน” ที่เขาต้องทำทุกอย่างเพื่อหาเงินมาให้บุพการีผลาญในบ่อนการพนัน “ความรัก” และ “ความเข้าใจ” ระหว่างเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ดูจะเป็นปัญหาใหญ่ยิ่งของสังคมเราทุกวันนี้ ก็คงไม่ต่างจากตัวละครอย่างพอลซึ่งในท้ายที่สุดก็ได้เห็นว่า มนุษย์ทุกคนต่างก็มีบาดแผลบางอย่างที่ต้องการการเยียวยา และในเวลาเดียวกัน ก็ไม่มีมนุษย์คนใดหรอกที่จะสามารถเป็นเสรีชนผู้โดดเดี่ยวและตัดขาดตัวเองจากโลกภายนอกไปได้เลย ตราบใดที่มนุษย์ยังต้องอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มเป็นสังคม บางครั้ง “รักนี้” ก็คงไม่ต้องรอให้ “เจ้จัดให้” เสมอไปหรอก หากเรารู้จักปรับโฟกัสหรือปรับเลนส์ที่อยู่หน้ากล้องกันเป็นระยะๆ หรือหัดเอาใจ “ไปยืนในที่ของคนอื่น” เสียบ้าง ความรักความเข้าใจก็คงไม่น่าไกลเกินจะสร้างขึ้นได้จริง

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 161 สุสานคนเป็น : ความโลภของคนที่ตายทั้งเป็น

แค่ได้ยินชื่อเรื่องของละครโทรทัศน์ว่า “สุสานคนเป็น” ผมก็เกิดคำถามข้อแรกขึ้นมาว่า ทำไมอยู่ดีๆ สุสานที่เป็นที่สถิตของมนุษย์ผู้วายปราณไปแล้ว จึงกลายมาเป็นสถานที่ที่ให้คนเป็นๆ ได้เข้าไปอยู่ เรื่องราวของตัวละครอย่าง “ลั่นทม” เศรษฐินีสาวใหญ่ที่มั่งคั่งด้วยสมบัติพัสถานมากมาย แม้ลั่นทมจะเป็นผู้หญิงที่ยึดมั่นและทุ่มเททุกอย่างให้กับความรักที่มีต่อสามีอย่าง “ชีพ” แต่ลั่นทมกลับต้องพบกับการทรยศจากชีพผู้ที่หวังจะครอบครองสมบัติของเธอเพียงอย่างเดียว ไม่เพียงแต่ชีพที่หวังในทรัพย์สมบัติอันมหาศาลของลั่นทมเท่านั้น เขายังหวังจะครอบครองตัวของ “อุษา” หลานสาวที่ลั่นทมรักมาก รวมทั้งเขายังได้ชักนำภรรยาลับๆ อีกคนอย่าง “รสสุคนธ์” เข้ามาในบ้าน โดยที่ทั้งชีพและรสสุคนธ์ได้ร่วมมือกันวางแผนทุกอย่าง เพื่อจะเข้ามายึดครองทรัพย์ศฤงคารและกำจัดลั่นทมออกไปเสีย ในขณะเดียวกัน ลั่นทมเองก็เป็นโรคประหลาด ที่มักมีอาการวูบแล้วนิ่งไปประหนึ่งคนที่ตายแล้ว ทั้งๆ ที่เธอยังมีชีวิตอยู่ จนขนาดที่ครั้งหนึ่งเธอได้ถูกชีพและรสสุคนธ์จับมัดตราสังลงโลงไปแล้ว แต่ด้วยความช่วยเหลือของอุษาและนายตำรวจอย่าง “ธารินทร์” ลั่นทมก็ฟื้นกลับคืนมาใช้ชีวิตเป็นมนุษย์ตัวเป็นๆ อีกคำรบหนึ่ง และอาการโรคประหลาดแบบตายไปแล้วหรือถูกจับลงตอกตะปูปิดฝาโลงไปแล้ว แต่ก็ยังกลับฟื้นคืนชีวิตได้เช่นนี้เอง ก็ได้กลายมาเป็นปมความขัดแย้งสำคัญที่อยู่ในท้องเรื่องของละคร   เริ่มตั้งแต่ตัวของลั่นทมเอง ที่เมื่อมีอาการวูบนิ่งราวกับเป็นคนตาย ดวงจิตของเธอก็ได้ไปสัมผัสเห็นเบื้องหลังความไม่ซื่อสัตย์ของสามีที่นอกใจเธอ แต่ก็ด้วยความรักที่มีต่อเขา ลั่นทมจึงยังคงพยายามคิดที่จะให้อภัยชีพอยู่ตลอดมา ในเวลาเดียวกัน เมื่อต้องถูกกักขังอยู่ในโลงและในร่างที่ขยับไม่ได้ แต่โสตประสาทได้ยินตลอด ทว่าจะพูดหรือจะเปล่งเสียงให้ใครได้ยินก็มิอาจทำได้ ลั่นทมก็ค่อยๆ เข้าใจความเป็นจริงของชีวิตว่า มนุษย์เราก็เท่านี้ จะโลภะโทสะโมหะกันไปอย่างไร แต่ “สุดท้ายต้องไปที่สุสาน” ด้วยกันทุกคน ดังนั้น เมื่อลั่นทมกลับฟื้นคืนชีวิตมาได้อีกครั้ง สิ่งแรกที่เธอลงมือทำก็คือ การสร้างโลงศพแก้วและสุสานเอาไว้ในอาณาบริเวณของบ้าน แม้คนรอบข้างจะพยายามเตือนว่า การสร้างสุสานในบ้านนั้นถือว่าไม่เป็นมงคลเอาเสียเลย แต่ลั่นทมก็คงต้องการใช้โลงศพเป็นกุศโลบายของการมรณานุสติ เพื่อเตือนตัวละครคนเป็นๆ ทั้งหลาย โดยเฉพาะชีพและรสสุคนธ์ให้รู้จักละทิ้งซึ่งความโลภโกรธหลงออกไปเสีย แต่เนื่องจากความโลภโมโทสันนั้นไม่เข้าใครออกใคร และละครก็คงต้องการบอกเป็นนัยด้วยว่า ความโลภเป็นยิ่งกว่า “ผีสิง” และไม่ต่างไปจาก “สุสานที่ฝังคนเป็นๆ” เอาไว้ในร่างที่เวียนว่ายอยู่ในกิเลสตัณหา เพราะฉะนั้นท้ายที่สุดชีพและรสสุคนธ์ก็จัดการวางแผนฆาตกรรมลั่นทมได้สำเร็จ และส่งร่างที่ไร้วิญญาณลงไปอยู่ในโลงแก้วที่เธอเตรียมเอาไว้นั่นเอง อย่างไรก็ดี อาจเป็นด้วยลั่นทมเป็นสาวใหญ่ที่มีหัวใจในแบบ “โพสต์โมเดิร์น” หรือที่รู้จักกันว่าเป็นวิธีคิดที่เชื่อเรื่องการสลายสีและสลายเส้นแบ่งทุกอย่าง เมื่อตอนยังมีชีวิตอยู่ เธอก็ถูกกักขังวิญญาณให้กลายเป็นประหนึ่งคนตาย จนยากจะเห็นเส้นแบ่งว่า จริงๆ แล้วเธอยังเป็น “คนเป็น” หรือเป็น “คนที่ตายไปแล้ว” เพราะฉะนั้น เมื่อลั่นทมตายไปจริงๆ เธอก็ยังคงทำให้คนรอบข้างอย่างอุษาสนเท่ห์ใจว่า คุณน้าของเธอตายไปแล้วจริงหรือ จนแม้เมื่อแพทย์ยืนยันว่าเธอเสียชีวิตแล้วจริงๆ ลั่นทมก็ยังเวียนว่ายกลายเป็นผีที่คอยคุ้มครองหลานสาวและบรรดาคนรับใช้ผู้ภักดี ไม่ต่างจากครั้งเมื่อเธอยังมีชีวิตอยู่ และด้วยการใส่เกียร์หัวใจแบบ “โพสต์โมเดิร์น” อีกเช่นกัน ที่ทำให้วิญญาณของลั่นทมได้ลบเลือนเส้นแบ่งระหว่างความเป็นและความตายออกจากกัน และพยายามบอกกับทุกคนว่า สุสานอาจไม่ใช่ที่สถิตของคนตายเสมอไป แม้แต่คนเป็นๆ ที่มีความโลภในจิตใจ ก็ไม่ต่างจากคนที่ถูกฝังอยู่ในโลงหรือมีสุสานที่คอยอ้าแขนต้อนรับพวกเขาอยู่เสมอเช่นกัน เพราะคนไทยเชื่อกันว่า “ผี” เป็นรูปแบบหนึ่งของกระบวนการควบคุมทางสังคม ลั่นทมจึงเริ่มให้บทเรียนกับตัวละครที่ประพฤติมิชอบไปทีละคนสองคน ด้วยการจับคนโลภเหล่านั้นเข้าไปนอนอยู่ในโลงในสุสาน โดยใช้ชีวิตอยู่ในโลกเสมือนที่ก้ำกึ่งระหว่างความเป็นกับความตาย ด้านหนึ่งก็คงเป็นด้วยว่า คนโลภนั้นเมื่อไม่เห็นโลงศพก็จะไม่หลั่งน้ำตา เพราะฉะนั้นพวกเขาจะซาบซึ้งกับตัวตนของความโลภได้ ก็ต่อเมื่อคนเป็นๆ อย่างเขาถูกทำให้กลายเป็น “คนที่ตายทั้งเป็น” ขึ้นมาทันที ก็คงเป็นแบบเดียวกับที่วิญญาณผีของลั่นทมได้พูดกับอุษาผู้เป็นหลานสาวว่า “กับคนบางคนที่ไม่มีสำนึก คนบางคนที่ไม่เกรงกลัวบาป ปล่อยให้น้าจัดการด้วยวิธีของน้าจะดีกว่า...” โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับหญิงร้ายชายเลวอย่างรสสุคนธ์และชีพ ที่ลั่นทมเห็นว่าเป็นคนที่โลภเกินกว่าจะเยียวยาได้นั้น วิญญาณคุณน้าลั่นทมก็ได้สร้างโลกเสมือนอีกแบบหนึ่งขึ้นมา ด้วยการจับคนทั้งคู่ล่ามคล้องโซ่ผูกติดกันไว้ และจับขังอยู่ในสุสานเก็บศพที่วัดจริงๆ เมื่อชายหญิงสองคนถูกล่ามโซ่ติดกันเอาไว้ ธาตุแท้ของคนทั้งสองก็ถูกเผยออกมาให้เห็นว่า แท้จริงแล้วความโลภไม่ได้ทำให้คนเรารักกันได้จริงๆ หรอก หากแต่คนโลภจะอยู่ด้วยกันก็เพียงเพราะความเห็นแก่ตัวและเห็นแก่ผลประโยชน์สูงสุดของตนเองเท่านั้น เหมือนกับที่ชีพได้ลงมือฆ่ารสสุคนธ์และกลายเป็นคนเสียสติไป ก็เพราะความโลภและเห็นแก่ตัวที่ต้องการเอาชีวิตรอดของเขานั่นเอง แม้ “สุดท้ายต้องไปที่สุสาน” เหมือนกับเพลงประกอบที่ร้องคั่นขึ้นมาในทุกเบรกของละคร แต่สำหรับ “คนเป็น” ที่ยังคงเปี่ยมไปด้วยความโลภโมโทสันแล้ว ก็คงมีแต่วิญญาณของลั่นทมที่จะจับคนเหล่านี้มานอนกักขังอยู่ในโลงแก้ว เพื่อจะบอกกับพวกเขาว่า ไม่ต้องรอให้ตายจริงๆ หรอก เพราะความโลภก็คงไม่ต่างจากสุสานที่ฝังคนเป็นๆ ที่เปี่ยมไปด้วยโลภจริตเอาไว้ได้เช่นเดียวกัน   //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 160 อย่าลืมฉัน : กลับตัวก็ไม่ได้ ให้เดินต่อไปก็คงไม่ถึง

คนหลายคนอาจจะสงสัยว่า บนเส้นทางการพัฒนาเศรษฐกิจการเมืองของสังคมไทยจวบจนทุกวันนี้นั้น กราฟวิธีคิดของคนไทยจะเลือกเดินเป็นเส้นตรงไปข้างหน้า หรือจะมีเส้นกราฟที่ดำเนินไปในทิศทางใด หนึ่งในคำตอบต่อข้อสงสัยดังกล่าว อาจจะลองฉายภาพดูได้จากโลกของละครโทรทัศน์ร่วมสมัยนั่นเอง ก็คงคล้ายๆ กับการขับเคลื่อนไปของชีวิตตัวละครอย่าง “เขมชาติ” และ “สุริยาวดี” ที่ให้คำตอบกับความข้างต้นว่า ใจหนึ่งสังคมเศรษฐกิจก็คงไม่ต่างจากกราฟชีวิตของตัวละครทั้งสองที่เดินมุ่งไปวันข้างหน้า แต่ในความเป็นจริงแล้ว อีกด้านของทั้งคู่กลับมีปมบางอย่างให้ต้องหวนย้อนกลับสู่อดีต เข้าทำนองที่ว่า “กลับตัวก็ไม่ได้ ให้เดินต่อไปก็คงไม่ถึง” เรื่องราวของเขมชาติและสุริยาวดี (หรือ “หนูเล็ก”) นั้น เริ่มต้นจากการเป็นรักแรกของกันและกันตั้งแต่เป็นเพื่อนร่วมมหาวิทยาลัย ด้วยความมุ่งมั่นที่จะสร้างอนาคตไปข้างหน้าร่วมกับสุริยาวดี เขมชาติจึงมุมานะทำงานอย่างหนัก และมอบแหวนรูปดอกฟอร์เก็ตมีน็อตไว้ให้หญิงคนรัก เพื่อเป็นตัวแทนของความรักที่ไม่มีวันลืมหรือพรากจากกัน แต่เพราะครอบครัวของสุริยาวดีประสบปัญหาทางการเงิน เธอจึงจำใจต้องแต่งงานกับนายธนาคารใหญ่อย่าง “เจ้าสัวชวลิต” เพื่อปลดหนี้ และหลังจากนั้นเธอก็เลือกที่จะหายไปจากชีวิตของเขมชาติโดยที่ไม่ยอมบอกลา นำความเจ็บปวดมาให้เขมชาติที่เมื่อรู้ภายหลังว่า หญิงคนรักของตนยอมแต่งงานกับมหาเศรษฐีวัยคราวพ่อเพื่อแลกกับเงิน เขาจึงตั้งหน้าตั้งตาสร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาบนความคับแค้น   แต่แล้วชะตาก็ทำให้ทั้งคู่ได้โคจรมาพบกันอีกครั้ง เมื่อสุริยาวดีกลายมาเป็นเลขานุการของเขมชาติ และด้วยความ “เจ็บใจนักเพราะรักมากไป” ที่ฝังมาแต่ในอดีต เขมชาติจึงวางแผนแก้แค้นสุริยาวดี ในขณะที่ลึกๆ อีกด้านหนึ่ง เขาก็ยังมีเยื่อใยต่อหญิงผู้เป็นรักครั้งแรกอยู่เช่นกัน บนเส้นทางความสัมพันธ์ระหว่างเขมชาติและสุริยาวดีนี้ จะว่าไปแล้วก็ไม่แตกต่างจากเส้นทางการเคลื่อนไปของกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมไทย ที่ด้านหนึ่งก็มุ่งจะก่อร่างสร้างสั่งสมทุนทางเศรษฐกิจให้เติบโตก้าวหน้าขึ้น เหมือนกับตัวละครเขมชาติที่ก่อร่างสร้างตัวจนมีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดี แต่อีกด้านหนึ่ง ภายใต้การสั่งสมทุนดังกล่าว เขาก็ยังมีเงาความเจ็บปวดจากอดีตตามมาหลอกหลอนอยู่ตลอดเวลา ในขณะที่โดยทั่วไปผู้หญิงมักถูกมองว่าเป็นเพศที่ “เกลียดตัวเองที่ลืมช้า จดจำอะไรบ้าบอ” แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว ผู้ชายอย่างเขมชาติก็เข้าประเภทคนที่ “ลืมช้า” ไม่ยิ่งหย่อนกัน เพราะฉะนั้น แม้กราฟชีวิตทางเศรษฐกิจสังคมของเขมชาติจะพุ่งเป็นเส้นตรงไปข้างหน้า มีฐานะมั่นคงมั่งคั่ง พร้อมๆ กับมีการสั่งสมทุนเพื่อความก้าวหน้าในชีวิตอย่างไม่สิ้นไม่สุด แต่ในอีกด้านหนึ่ง ปมบาดแผลลึกๆ จากอดีต ก็ทำให้เส้นกราฟดังกล่าวมีลักษณะอิหลักอิเหลื่อกับความทรงจำแบบ “forget me not” อยู่ตลอดเวลา และที่สำคัญ กลุ่มคนที่มีบาดแผลฝังลึกจากอดีตเยี่ยงนี้ ก็มักจะห่อหุ้มตนเองเอาไว้ด้วย “ทิฐิ” ที่เข้ามาบดบังตา เมื่อทิฐิเข้าครอบงำ ไม่เพียงแต่ลืมอดีตไม่ได้ ทุกอย่างที่เขมชาติเห็นจึงเป็นสิ่งที่เขาได้แต่คิดเอาเอง แต่หาใช่เกิดจากข้อเท็จจริงที่มีหลักฐานพิสูจน์เชิงประจักษ์รองรับไม่ เริ่มตั้งแต่การคิดเอาเองว่าสุริยาวดีเป็นคนโลภและอยากมีอยากได้ จึงเลือกไปแต่งงานกับท่านเจ้าสัวอายุคราวพ่อ สุริยาวดีเป็นหญิงหลายใจ แม้เจ้าสัวเสียชีวิตไปแล้ว เธอก็เที่ยวหันไปคบชายคนนั้นคนนี้สลับกันไป จนถึงกับมโนไปเองว่า สุริยาวดีคงลืมความรักครั้งเก่าซึ่งตรงข้ามกับตัวเขาเองที่ไม่เคยลืมรักครั้งนั้นไปได้เลย ด้วยการคิดเอาเองแบบนี้ ผนวกกับทิฐิแบบบุรุษเพศที่ค้ำคอเขมชาติอยู่นั้น เมื่อสุริยาวดีปรากฏตัวอีกครั้ง ซึ่งก็อาจเป็นด้วยว่า เธอเองก็ไม่เคยลืมเขาไปได้เลย ทำให้เขมชาติวางแผนแก้แค้นหญิงคนรักโดยไม่สนใจที่จะสืบค้นความจริงว่า เบื้องลึกเบื้องหลังการจากไปของสุริยาวดีเป็นมาด้วยเหตุผลกลใด ผมลองถามเพื่อนรอบข้างหลายคนว่า เมื่อพูดถึงคำว่า “อย่าลืมฉัน” แล้ว คำว่า “ฉัน” ในที่นี้น่าจะหมายถึงตัวละครใด บางคนก็บอกว่า “ฉัน” น่าจะหมายถึงเขมชาติที่ลึกๆ แล้ว ดอกไม้ฟอร์เก็ตมีน็อตก็คือเครื่องหมายแทนใจที่ผูกพัน และพยายามสื่อสารกับสุริยาวดีไม่ให้เธอลืมความรักที่มีต่อเขา ในขณะที่มีเพื่อนบางคนก็บอกว่า “ฉัน” คงหมายถึงสุริยาวดีมากกว่า เพราะการกลับมาของเธออีกครั้ง ก็เพื่อทวงถามเขมชาติว่า ในหัวใจของเขาได้ลืมเลือนเธอไปแล้วหรือยัง อย่างไรก็ตาม หากเราเพ่งพินิจพิจารณาดีๆ แล้ว ในท่ามกลางตัวละครหญิงชายที่ไม่เคยลืมปมบาดแผลจากอดีต แถมยังสาดทิฐิใส่กันและกันอยู่นั้น ยังมีตัวละครอีกสองคนอย่าง “เกนหลง” และ “เอื้อ” ที่ไม่ได้รู้อิโหน่อิเหน่อันใด หากแต่ถูกผูกพ่วงเข้ามาอยู่ในเกมทิฐิและการแก้แค้นไปด้วย ตั้งแต่ฉากเขมชาติรับสุริยาวดีเข้ามาเป็นเลขานุการ ไปจนถึงฉากเล่นล่อเอาเถิดวิ่งไล่จับกันของตัวละครที่สวิตเซอร์แลนด์ หรือแม้แต่ฉากหมั้นของเขมชาติและเกนหลงที่เผยความจริงลึกๆ อันเนื่องมาแต่ปมในอดีต ฉากเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า แม้ทิฐิจะเป็นเรื่องของคนสองคน แต่ผลที่เกิดขึ้นกลับกระทบต่อคนรอบข้างอย่างเกนหลงและเอื้อที่ไม่รู้เห็นอันใดกับบาดแผลในใจของพวกเขาเลย เพราะฉะนั้น แม้การหลอกลวงจะเป็นเรื่องที่เขากระทำต่อคนรักเก่า แต่เขมชาติก็จง “อย่าลืมฉัน” ผู้ที่อยู่รอบข้างอีกหลายคน ซึ่งคงไม่ต่างจากที่เกนหลงบอกกับเขมชาติในภายหลังที่เขามาสารภาพความจริงทุกอย่างว่า “คุณไม่รู้ใจตัวเองจนทำให้คนอื่นต้องเสียใจแบบนี้ไม่ได้ ถ้าคุณยังไม่ซื่อสัตย์กับความรู้สึกตัวเอง ชาตินี้คุณจะซื่อสัตย์กับคนอื่นได้ยังไง...” หากเราใช้ทฤษฎีที่อธิบายว่า โลกของละครไม่เคยและไม่มีวันแยกขาดจากโลกความจริงไปได้นั้น ตัวละครอย่างเขมชาติและสุริยาวดีก็คงบอกเป็นนัยว่า สังคมไทยทุกวันนี้ไม่เพียงแต่ “กลับตัวก็ไม่ได้ และจะเดินต่อไปก็คงไม่รอด” เท่านั้น หากอีกด้านหนึ่งบนความขัดแย้งและอาการอิหลักอิเหลื่อดังกล่าว ก็ยังมีตัวละครอีกหลายคนที่แม้จะอยู่นอกเกม แต่ก็มักถูกดึงเข้าสู่วังวนแห่งความขัดแย้งไม่ต่างกัน ก็คงไม่ต่างจากความขัดแย้งซึ่งฉีกสังคมไทยออกเป็นฝักเป็นฝ่ายอยู่ในขณะนี้ ที่ทิฐิและผลประโยชน์ของกลุ่มอำนาจสองกลุ่ม ก็อาจจะทำให้ตัวละครแบบเกนหลงและเอื้อต้องมาส่งเสียงเตือนสติว่า “อย่าลืมฉัน” ที่ยังมีเลือดมีเนื้อมีความรู้สึกอยู่ตรงนี้อีกหลายๆ คน   //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 159 สามีตีตรา: อย่างนี้ต้องตีตรวน!!!

เชื่อหรือไม่ว่า ภาพสังคมที่เราเห็นหรือรับรู้ว่าดำเนินไปอย่างราบรื่นเป็นปกตินั้น แท้จริงแล้ว คลื่นใต้น้ำที่อยู่ก้นบึ้งของสังคมดังกล่าว กลับเป็นสนามรบที่คุกรุ่นอยู่อย่างต่อเนื่องไม่สิ้นไม่สุด สงครามคลื่นใต้น้ำที่เป็นรูปธรรมอันเข้มข้นที่สุด ก็คงหนีไม่พ้นความขัดแย้งระหว่างคนสองกลุ่ม อันได้แก่ "กลุ่มคนที่มี" (หรือบางครั้งเรียกว่าพวก "the have") กับ "กลุ่มคนที่ไม่มี" (หรือที่รู้จักกันว่าเป็นพวก "the have-not") โดยความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองกลุ่มนี้ก็ยากจะปรองดองและประสานผลประโยชน์กันได้จริงๆ ไม่แตกต่างจากความสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิงสองคน ที่เริ่มต้นจาก "ความเป็นเพื่อนรัก" แต่สุดท้ายก็ "หักเหลี่ยมโหดเสียยิ่งกว่าโหด" อีก ผู้หญิงคนแรกซึ่งเป็นตัวแทนของ "กลุ่มคนที่มี" ก็คือ "กะรัต" หรือ "กั้ง" คุณหนูไฮโซที่เจ้าอารมณ์ชอบเกรี้ยวกราดกับผู้คนรอบตัวไปเรื่อย ซึ่งเหตุผลด้านหนึ่งก็คงเป็นเพราะเธอเกิดในครอบครัวที่มี กะรัตจึงมีทุกอย่างเพียบพร้อมติดตัวมาแต่กำเนิด ตั้งแต่มีรูปสวยรวยทรัพย์ มีฐานะทางสังคมเศรษฐกิจ ไปจนถึงมีสามีมาคนแล้วคนเล่า กับผู้หญิงอีกคนหนึ่งที่เป็นตัวแทนของ "กลุ่มคนที่ไม่มี" อย่าง "สายน้ำผึ้ง" เมื่อชีวิตต้องเกิดมาในครอบครัวที่ไม่มีพ่อแม่และไม่มีทุนอันใดติดตัวมา สายน้ำผึ้งจึงไม่มีในทุกๆ ด้าน แม้แต่ลูกป่วยเข้าโรงพยาบาล เธอก็ยังหาพ่อให้ลูกไม่ได้ และไม่มีเงินจะจ่ายค่ารักษาพยาบาลแม้เพียงอัฐเดียว   เมื่อผู้หญิงที่มีทุกอย่างโคจรมาพบเป็นเพื่อนกับผู้หญิงที่ไม่มีอะไรสักอย่าง ความขัดแย้งจึงเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ที่กะรัตได้ครอบครอง "ภูเบศร์" ชายคนรักของสายน้ำผึ้งไป โดยที่สายน้ำผึ้งก็ซ้อนแผนที่จะช่วงชิงชายผู้นั้นกลับมาพร้อมกับมีลูกของเขาที่อยู่ในครรภ์ จนนำไปสู่ความแตกหักร้าวฉานระหว่างเพื่อนรักทั้งสองคน จนเมื่อกะรัตได้พบรักครั้งใหม่ และได้จดทะเบียนตีตราสมรสกับผู้ชายดีๆ อย่าง "หม่อมหลวงพิศุทธิ์" สายน้ำผึ้งที่พบว่ากลุ่มคนที่มีอย่างกะรัต ก็ดูจะยิ่งมีทุกอย่างอย่างต่อเนื่องไม่สิ้นไม่สุด เธอจึงเริ่มวางแผนที่ซับซ้อนขึ้นในการช่วงชิงสามีที่ตีตราเอาไว้แล้วของอดีตเพื่อนรักให้มาเป็นพ่อของลูกชายเธอ เมื่อเป็นคนที่ไม่มีอะไรติดตัวมาแต่กำเนิด ผู้หญิงอย่างสายน้ำผึ้งจึงต้องหาสิ่งทดแทนด้วยการใช้มันสมองอันชาญฉลาด และอ่านเกมฝ่ายตรงข้ามให้ขาด เพื่อหาทาง "กำจัดจุดอ่อน" ของกะรัตนั้นเสีย ในกลุ่มของคนที่มีนั้น แม้จะมีชื่อเสียง เกียรติยศ เงินทอง และอื่นๆ อีกมากมาย แต่สายน้ำผึ้งก็พบว่า สิ่งเดียวที่ผู้หญิงอย่างกะรัตกลับไม่มีเอาเสียเลยก็คือ "ความไว้วางใจ" อันเป็นปัญหาที่มีมาตั้งแต่รุ่นแม่อย่าง "คุณนายพวงหยก" ที่ไม่เคยไว้ใจในตัวผู้เป็นสามีอย่าง "กฤช" จนสืบต่อมาที่รุ่นลูกสาว แบบที่กะรัตเองก็ไม่เคยจะไว้ใจผู้ชายคนใดที่เข้ามาในชีวิตคู่ของเธอเลย เมื่อความไว้วางใจไม่มีอยู่ในคนกลุ่มนี้ ด้านหนึ่งกะรัตจึงต้องทำทุกอย่างที่จะสร้างความไว้ใจเทียมๆ ขึ้นมา ตั้งแต่การออกอาการเกรี้ยวกราดทุกครั้งที่มีข่าวลือเกี่ยวกับพิศุทธิ์และสายน้ำผึ้ง หรือพยายามจะมีลูกเป็น "โซ่ทองคล้องแทนความไว้ใจ" ไปจนถึงการใช้ความสัมพันธ์เชิงกฎหมายด้วยการตีตราจดทะเบียนสมรส เพื่อยืนยันว่าเธอกับพิศุทธิ์นั้นรักกันจริงๆ สำหรับกลุ่มคนที่มีทุกอย่างนั้น กฎหมายก็คือสถาบันที่คนกลุ่มนี้สร้างขึ้นมาเพื่อเป็นตัวแทนของ "ความไว้วางใจ" (ที่มักไม่มี) ระหว่างกัน แต่เพราะทุกวันนี้กฎหมายเองก็มิได้ศักดิ์สิทธิ์เท่าใดนัก แบบเดียวกับที่ในโลกความจริงก็มีการฉีกกฎหมายหลายๆ มาตรากันเป็นว่าเล่น ความไว้ใจซึ่งมาจากทะเบียนสมรสเยี่ยงนี้จึง "กลายเป็นฝุ่น" ไปในที่สุด เพราะมันไม่ใช่ของจริง หากแต่เป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาแทนความรักและความจริงใจระหว่างคนสองคนต่างหาก เพราะ "จุดอ่อนคือความไว้ใจ" นี่เอง สายน้ำผึ้งก็เลยปั่นหัวเล่นกับความไว้วางใจของกะรัต เพื่อพิสูจน์ว่าสายสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มคนที่มีทุกอย่าง มีความเข้มแข็งหรือเปราะบางกันเพียงไร และกะรัตจะเชื่อคำเป่าหูของสายน้ำผึ้งหรือเชื่อคำพูดจากปากของ "สามีตีตรา" อย่างพิศุทธิ์กันแน่??? ก็เหมือนกับที่ "เนื้อแพร" มารดาของพิศุทธิ์ได้พูดเตือนสติกะรัตอยู่ครั้งหนึ่งว่า "แค่เขาจี้จุดอ่อนว่าคนอย่างคุณมันไม่มีค่าพอให้ใครมารักจริง คุณก็ดิ้นจนไม่มีสติไตร่ตรองว่าอะไรเป็นของจริงอะไรเป็นภาพลวงตา... แต่ที่น่าเศร้าที่สุดคือ คุณเชื่อทุกเรื่องที่สายน้ำผึ้งเป่าหู แต่คุณไม่เชื่อพิศุทธิ์เลย..." และที่น่าฉงนและขบขันอยู่ในทีก็คือ ในขณะที่กะรัตเป็นผู้ซึ่งไม่เคยมีสติสตังที่จะไว้วางใจในตัวสามีเลย แต่กับสาวใช้อย่าง "นวล" (ซึ่งด้านหนึ่งพื้นเพก็คงมาจากกลุ่มคนที่ไม่มีเช่นกัน) กลับเป็นผู้ที่ดูเชื่อมั่นในตัวของพิศุทธิ์ และคอยเตือนสติของเจ้านายอย่างกะรัตให้เห็นว่าเนื้อแท้ของพิศุทธิ์นั้นหาใช่เป็นแบบที่สายน้ำผึ้งใส่ไคล้หรือเป่าหูแต่อย่างใด แต่ที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้น ในสมรภูมิระหว่างกลุ่มคนที่มีและคนที่ไม่แบบนี้ ดูเหมือนว่าสายตาของผู้ดูผู้ชมทุกคนในสังคมจะโอนเอียงเข้าข้างไปทางกลุ่มคนที่มีกันเสียมากกว่า เพราะแม้สายน้ำผึ้งจะยืนยันอยู่ตลอดว่า การที่เธอต้องแย่งผู้ชายอย่างภูเบศร์หรือพิศุทธิ์มาจากเพื่อนรัก ไปจนถึงสร้างความแตกแยกให้กับ "กันตา" น้องสาวของกะรัตกับคู่หมั้นหมายอย่าง "ศิวา" ก็เนื่องเพราะต้องการเรียกร้อง "ความยุติธรรม" ให้กับชีวิตที่ไม่เคยมีอะไรเลยสำหรับคนอย่างเธอ แต่ตัวละครอื่นๆ รวมไปถึง "รสสุคนธ์" น้าสาวของเธอกลับให้นิยามต่างออกไปว่า สายน้ำผึ้งเป็นพวกช่าง "มโน" และมีแต่ความ "อิจฉาริษยา" หาใช่เรื่องของการทวงความยุติธรรมแต่อย่างใดไม่ และความอิจฉาริษยาคนที่มีนั่นเอง ท้ายที่สุดก็จะกลายเป็นเพลิงที่เผาผลาญทำลายให้จิตใจของสายน้ำผึ้งมอดไหม้ลงไป ไม่ว่าความอิจฉาหรือการทวงคืนความยุติธรรมจะเป็นคำตอบจริงๆ ของสายน้ำผึ้ง แต่ตราบใดที่ความขัดแย้งระหว่างคนที่มีกับคนที่ไม่มียังคงดำเนินต่อไปแบบนี้ ความปรองดองกันในสังคมก็คงจะเกิดขึ้นได้ยากยิ่งนัก และในทำนองเดียวกัน หากกลุ่มคนที่มีและมีในทุกๆ ด้าน แต่ขาดซึ่งความไว้วางใจให้กันและกันแม้แต่กับคนใกล้ชิดใกล้ตัวแล้ว สามีที่ "ตีตรา" ของกะรัต ก็คงสู้สามีที่ล่ามโซ่และ "ตีตรวน" เอาไว้ไม่ได้เลย   //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point