ฉบับที่ 174 เลือดมังกร เสือ สิงห์ กระทิง แรด หงส์ : “Looking East” ไปสู่จีนาภิวัตน์

กว่าครึ่งศตวรรษผ่านไป นับแต่มีการประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 1 พ.ศ. 2504 (ปีเดียวกับที่ผู้ใหญ่ลีเคยตีกลองประชุม) สังคมไทยได้ปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์จากที่เคย “looking west” หรือปลาบปลื้มกับอารยธรรมความทันสมัยตามรีตตามรอยชาติตะวันตก หันมา “looking east” หรือมองอะไรใกล้ๆ ภายใต้ยุคสมัยที่ความเป็นตะวันตกถูกมองว่า อาจเป็นแค่ “ทันสมัย” แต่ “ไม่พัฒนา” จริงๆ     และคำตอบในการ “looking east” ของคนไทย ก็คือ การเปลี่ยนจากการชื่นชมลัทธิตลาดเสรีและจักรวรรดินิยมแบบตะวันตก มาสู่การเติบโตของทุนไทยที่หันไปจูบปากประสานมือกับทุนจีนกันอย่างเป็นล่ำเป็นสันในยุคนี้ หรือที่บางคนอาจเรียกว่าเป็นการก่อร่างของกระแส “จีนาภิวัตน์” กันอย่างเข้มข้น    ความปรองดองกับกระแสจีนาภิวัตน์ เห็นได้จากประจักษ์พยานที่ทุนจีนขยายตัวเข้ามาในแทบจะทุกอณูของสังคมไทย ตั้งแต่กิจกรรมเศรษฐกิจการเมืองที่ไทยต้องอิงไปกับการขยับตัวของทุนจีน ภาคธุรกิจใหญ่น้อยที่มีทุนจีนสนับสนุนอยู่ด้านหลัง ประเพณีพิธีกรรมแบบจีนที่เข้ามามีบทบาทในวิถีชีวิตผู้คน หรือแม้แต่รายการสอนภาษาทางโทรทัศน์ ที่สอนแค่ภาษาอังกฤษอย่างเดียวไม่ได้อีกแล้ว ต้องฝึกพูดและ “ดูปาก” การออกสำเนียงภาษาจีนของน้องพรีเซ็นเตอร์ไปด้วย    ริ้วรอยการเติบโตของกระแสจีนาภิวัตน์แบบนี้ ก็ได้รับการขานรับเข้าสู่โลกของละครโทรทัศน์ด้วยเช่นกัน และอาจถือเป็นครั้งแรกที่หน้าประวัติศาสตร์ละครไทย มีการผลิตซีรีส์เนื้อหาของกลุ่มทุนจีนเป็นตัวละครเอกแบบยาว 5 เรื่อง 5 รส กันเลยทีเดียว    ซีรีส์ละครชุด “เลือดมังกร” 5 ตอน คือ เสือ สิงห์ กระทิง แรด และหงส์ นั้น ผูกโครงเรื่องขึ้นจากชีวิตของเพื่อนรัก 5 คน ที่มีเชื้อสายจีนหรือเติบโตมาในขนบประเพณีแบบจีนในช่วงยุคปี 2500 หรือช่วงของการเริ่มใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับแรกนั่นเอง ด้วยเหตุนี้ ตัวละครหลักทั้ง 5 ไม่ว่าจะเป็น “ภรพ” จากแก๊งเสือ “ทรงกลด” แห่งแก๊งเขี้ยวสิงห์ “ธาม” จากแก๊งกระทิง “คณิน” จากแก๊งเหยี่ยวแดง และ “หงส์” จากแก๊งหงส์ดำ ก็คือตัวแทนของกลุ่มทุนจีนรุ่นใหม่ ที่เติบโตและมีบทบาททางเศรษฐกิจของไทยมาจนถึงปัจจุบัน    เมื่อเทียบกับการเข้ามาของกลุ่มชาวจีนรุ่นแรกหรือจีนโพ้นทะเล ที่เริ่มต้นด้วยทุนติดตัวอันน้อยนิดเพียงแค่ “เสื่อผืนหมอนใบ” พอสังคมไทยเข้าสู่ยุคการพัฒนาประเทศให้ทันสมัย คนจีนในเจนเนอเรชั่นถัดๆ มา ได้มีการสั่งสมทุนเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นผ่านกิจการและธุรกิจภาคต่างๆ     ในแง่นี้ ละครก็ได้ชี้ให้เห็นว่า รากฐานหลักที่เป็นต้นทุนการผลิตที่สำคัญของชาว “เลือดมังกร” กลุ่มนี้ ก็อยู่ที่การเข้าไปจับจองธุรกิจใหญ่หลายประเภทในระบบเศรษฐกิจไทย นับตั้งแต่การถือครองสัมปทานธุรกิจรังนก การเป็นเจ้าของธุรกิจเซียงกงหรืออุตสาหกรรมยานยนต์ การยึดครองธุรกิจการค้าขายทองคำแท่ง การผูกขาดธุรกิจค้าข้าวและโรงสีข้าว และการเป็นเจ้าของกิจการโรงงิ้วและศาลเจ้าที่เยาวราช    ภายใต้การถือครองทุนและตัวอย่างกิจการใหญ่ๆ ในมือของกลุ่มชาวจีนเช่นนี้ ละครได้เซาะให้เห็นเบื้องหลังว่า อำนาจของกลุ่มทุนจีนอาจไม่ได้ดำเนินไปตามสัมมาอาชีวะเสมอไป เพราะบ่อยครั้งอำนาจดังกล่าวก็ตั้งอยู่บนพื้นฐานของมิจฉาทิฐิ เช่น การใช้ความรุนแรง การขูดรีดเพื่อช่วงชิงผลประโยชน์บนความขัดแย้งระหว่างกัน     จากคนรุ่นบุพการีของตัวละครทั้ง 5 ที่มารวมตัวกันเป็น “สมาคมเลือดมังกร” ด้านหนึ่งก็คือการผนวกผสานทุนและผลประโยชน์เอาไว้ในมือของกลุ่มตน แต่อีกด้านหนึ่ง ก็สะท้อนการได้มาซึ่งผลประโยชน์ที่มีการใช้อาวุธและความรุนแรงประหัตประหารไม่ต่างจากมาเฟียหรืออั้งยี่แต่อย่างใด    แต่เมื่อมาถึงคนรุ่นลูก ละครเองก็กำลังบอกเราว่า ลึกๆ แล้วคนรุ่นหลังก็ไม่ได้เห็นพ้องกับการสั่งสมทุนที่เกิดจากวิถีการขูดรีดบนกองเลือดเท่าใดนัก ตัวละครอย่างภรพ ทรงกลด หรือคณิน ที่ขัดแย้งกับบิดาเพราะไม่อยากสืบต่อธุรกิจของสายตระกูล หรือตัวละครอย่างธามและหงส์ที่มีบาดแผลอันเนื่องมาแต่สถาบันครอบครัว สะท้อนให้เห็นแรงบีบคั้นของกลุ่มทุนจีนรุ่นใหม่ว่า เป็นภาวะจำยอมเข้าสู่อำนาจ มากกว่าจะมาจากความปรารถนาจริงๆ ของปัจเจกบุคคลเหล่านั้น    ในฟากหนึ่ง ละครก็มีมุมเล็กๆ เรื่องปมความรักของตัวละครอย่างภรพกับ “วันวิสา” ทรงกลดกับ “อาจู” ธามกับ “ย่าหยา” คณินกับ “แพน” และหงส์กับ “อาหลง” ซึ่งนั่นก็เป็น “จุดขาย” ของละครที่ต้องใช้โรมานซ์เป็นกลไกของการดำเนินเรื่องให้มีปมขัดแย้งและดึงดูดความสนใจของผู้ชม    แต่ในอีกฟากหนึ่ง การที่ตัวละครต้องเข้าไปอยู่ในสนามการแข่งขันเพื่อสร้างความจำเริญเติบโตของทุนจีนรุ่นใหม่ ก็ยังมีด้านที่ใช้ความรุนแรงและอาวุธประหัตประหารไม่ต่างจากหัวหน้าแก๊งในรุ่นพ่อ แต่ทว่า “เลือดมังกร” รุ่นหลังก็พยายามสร้างความชอบธรรมขึ้นมาใหม่ว่า ไม่เพียงแต่พวกเขาและเธอจะไม่มีทางเลือกอื่นที่จะหลุดพ้นไปจากอำนาจ แต่การขึ้นสู่อำนาจของคนกลุ่มนี้ก็พยายามสถาปนาโฉมหน้าใหม่จากระบอบทุนนิยมเดิมไปสู่ระบอบทุนนิยมแบบ CSR    ถึงแม้จะก่อรูปอำนาจของทุนขึ้นมาจากการใช้อาวุธ ใช้ความรุนแรง หรือใช้การขูดรีดอันเป็นพื้นฐานของระบอบทุนไม่ว่าจะที่ใดก็ตาม แต่กลุ่มสหายทั้ง 5 คนกลุ่มนี้ก็คือ ทุน “เลือดมังกร” ที่ใช้อำนาจดังกล่าวเพื่อผดุงคุณธรรม มีความรับผิดชอบต่อสังคม และมีพื้นฐานเพื่อตอบแทนคุณแผ่นดินที่ให้ข้าวให้น้ำกับบรรพชนของคนเหล่านี้ตั้งแต่ยุค “เสื่อผืนหมอนใบ”    ขณะเดียวกัน การตัดสินใจขึ้นสู่อำนาจของพวกเขาก็ถูกประเมินว่า น่าจะดีเสียกว่าที่จะปล่อยให้มาเฟียในกลุ่มก๊วนและแก๊งอื่นๆ ขึ้นมามีอำนาจแทน เพราะไม่ว่าจะเป็นตัวละครอย่าง “เถ้าแก่เฮ้ง” “เสี่ยเคี้ยง” “เสี่ยเล้ง” “เสี่ยบุ๊ง” และสหพรรคพวกลิ่วล้อและตัวร้ายอีกมากมาย ก็คือตัวแทนอีกปีกหนึ่งของทุนจีนที่ขาดซึ่งคุณธรรมใดๆ     ภายใต้วิถีการเติบโตของทุนจีนในกระแสจีนาภิวัตน์เยี่ยงนี้ ละคร “เลือดมังกร” ก็คือภาพสัญลักษณ์ที่ไม่เพียงฉายให้เราเห็นการสั่งสมอำนาจของคนกลุ่มนี้ แต่ละครก็ยังมีนัยอีกด้านหนึ่งว่า ถึงแม้กลุ่มทุน “เลือดมังกร” รุ่นใหม่จะดำเนินชีวิตไปด้วยอำนาจเศรษฐกิจที่สั่งสมอยู่ในมือ แต่นั่นก็เป็นอำนาจที่ “ฟอกขาว” ไว้ด้วยสำนึกแห่งความรับผิดชอบและคุณธรรมแบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในระบอบเศรษฐกิจยุคใดสมัยใด                                 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 173 สุดแค้นแสนรัก : มนุษย์เราล้วนมีบาดแผลด้วยกันทุกคน

“ความรัก” กับ “ความแค้น” อาจไม่ใช่สองเรื่องที่อยู่ตรงข้ามกันเสียทีเดียว แต่น่าจะเป็นประดุจเหรียญหนึ่งเหรียญที่มีทั้งสองด้านพันผูกเอาไว้ด้วยกันมากกว่า    ปรมาจารย์ต้นตำรับทฤษฎีจิตวิเคราะห์ผู้เลื่องชื่ออย่าง ซิกมันด์ ฟรอยด์ เคยกล่าวไว้ว่า มนุษย์เราต่างก็มีปมแบบ “love-and-hate complex” หรือปมในจิตใจแบบที่ความรักกับความแค้นมักเกิดควบคู่กัน คล้ายๆ กับที่คนไทยมีความเปรียบเปรยว่า “ทั้งรักทั้งแค้นแน่นอุรา” หรือ “รักมากก็แค้นมาก” ซึ่งสะท้อนปมคู่ที่ไขว้กันของรักและแค้นนั่นเอง    ทัศนะเรื่องปมเหรียญสองด้านของความรักกับความแค้นแบบนี้ ก็คือภาพจำลองที่ฉายออกมาผ่านตัวละครมากมายในหมู่บ้าน “หนองนมวัว” ซึ่งเธอและเขาต่างก็มีมุมสองด้าน ที่เป็นมุม “สุดแค้น” ในเวลาหนึ่ง แต่ก็มีมุมแบบ “แสนรัก” ในเวลาเดียวกัน    หากขยายความตามทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์ ในช่วงพัฒนาการบุคลิกภาพของปัจเจกบุคคลในสังคมทุกวันนี้นั้น มนุษย์ทุกผู้ทุกนามล้วนแต่ถูกสังคมมอบ “บาดแผล” บางอย่างขึ้นมาเป็นปมภายในจิตใจของตนด้วยกันทั้งสิ้น ไม่ต่างจากตัวละครอย่าง “แย้ม” ที่เปิดฉากมากับความโกรธเกลียดและแค้นครอบครัวของ “อัมพร” ผู้เป็นลูกสะใภ้ ซึ่งอีกด้านหนึ่งก็เป็นบุตรสาวของ “ขัน” ผู้ที่พลั้งมือฆ่า “เทือง” สามีของแย้มจนเสียชีวิต    ความแค้นที่อยู่ในใจของแย้ม ชนิดเผาพริกเผาเกลือสาปส่งกันระหว่างสองตระกูล ได้กลายมาเป็น “บาดแผล” ที่มิอาจใช้ยาทิงเจอร์ไอโอดีนเยียวยาได้ ซ้ำยังกลับปะทุเป็นเชื้อฟืนเผาไหม้ไปสู่ตัวละครอื่นๆ ในท้องเรื่องเสียอีก     เริ่มจากตัวละครในครอบครัวของแย้มเอง ลูกชายคนโตอย่าง “ประยงค์” ก็ถูกโทสะจริตของมารดาผลักให้เขาต้องยืนอยู่บนทางสองแพร่งแบบ “ทางหนึ่งก็แม่ ทางหนึ่งก็เมีย” หรือลูกชายคนรองอย่าง “ประยูร” ที่แม้จะรู้สึกผิด แต่ก็ต้องเลือกเข้าข้างมารดา และยอมแต่งงานกับ “สุดา” ซึ่งลึกๆ ก็หวังฮุบสมบัติของแย้มเอาไว้เป็นของตน ในขณะที่ลูกสาวคนเล็กอย่าง “พะยอม” ก็ต้อง “ยอมฉันยอมเจ็บปวด” ด้วยการแต่งงานโดยปราศจากความรักกับ “ลือพงษ์” เพียงเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในแผนการแก้แค้นกับครอบครัวของศัตรู    ทางฝ่ายตัวละครในอีกครอบครัวหนึ่งนั้น ก็ถูกผูกโยงเข้าสู่วัฏจักรแห่งบาดแผล อันเกิดมาแต่ความแค้นของแย้มไม่แตกต่างกัน นับตั้งแต่กรณีของอัมพรที่แย้มกลั่นแกล้งพรากเอา “ยงยุทธ” ลูกชายคนโตมาจากอ้อมอก จนเธอต้องจำใจกลับมาใช้ชีวิตอยู่กับ “อ่ำ” ผู้เป็นมารดา ในขณะที่น้องสาวของอัมพรหรือ “อุไร” ซึ่งเป็นคนรักของลือพงษ์ นอกจากจะไม่อาจสมหวังในรักแล้ว เธอยังต้องแบกหน้าอุ้มท้องเลี้ยงดูลูกในครรภ์แต่เพียงลำพัง    สิ่งที่เรียกว่า “ความแค้นของคนรุ่นหนึ่ง” ดูเหมือนจะไม่ได้จบลงแค่ในคนรุ่นนั้น หากแต่บาดแผลมีการสืบทอดเป็นวังวนผ่านคนแต่ละรุ่น และมนุษย์ที่อยู่ในวังวนดังกล่าวก็มีสถานะเป็นเพียงแค่ “ร่างทรง” ที่สืบต่อและรองรับปมบาดแผลต่างๆ ของคนรุ่นก่อนเอาไว้เท่านั้น เหมือนกันกับความเจ็บปวดจากคนรุ่นแย้มและอ่ำที่ได้สืบทอดมาสู่รุ่นลูก และมีแนวโน้มจะส่งต่ออีกคำรบหนึ่งมายังรุ่นหลานๆ ในเจนเนอเรชั่นถัดมา    และภายใต้บาดแผลความเจ็บปวดในจิตใจของเรา ฟรอยด์เองก็ได้กล่าวว่า เพื่อให้มนุษย์มีชีวิตอยู่รอดและดำรงตัวตนต่อไปได้นั้น จิตของเราจะสร้างกลไกบางอย่างขึ้นมาเพื่อเยียวยาบาดแผลให้บรรเทาทุเลาลง หรือที่รู้จักกันว่าเป็น “กลการป้องกันตนเองทางจิต” หรือ “defensive mechanism” ที่คนแต่ละคนจะเลือกใช้วิถีการรักษาบาดแผลของตนแตกต่างกันไป    ในขณะที่แย้มเลือกใช้วิธีการ “ไขว่คว้า” ความสุขของหลานชายมาเป็นเครื่องมือการแก้แค้นของตน และ “ถ่ายโอน” ความเจ็บปวดของตนไปยังตัวละครอื่นๆ สำหรับตัวละครอย่างอ่ำกลับเลือกใช้กลยุทธ์การ “ข่มใจ” หรือปิดกั้นบาดแผลเอาไว้ด้วยธรรมะและพระศาสนา     ส่วนในรุ่นลูกๆ ของแย้มและอ่ำนั้น ในขณะที่ทั้งประยูรและพะยอมเลือกใช้กลไก “สองจิตสองใจ” ไม่ทำเพื่อแม่ก็ไม่ได้ แต่ถึงทำก็รู้สึกผิดอยู่ลึกๆ แต่ประยงค์พี่ชายคนโตกลับใช้วิธี “ถอนตัว” จากความเจ็บปวดและตรอมใจตายตั้งแต่ต้นเรื่องไปเสียเลย     ทางฝ่ายของอัมพรที่ถูกพรากลูกชายไปตั้งแต่ยังเล็ก ก็เลือกใช้กลไกการ “ถอยหลัง” กลับไปหาความปลอดภัยจากมารดา และเริ่มต้นชีวิตคู่ครั้งใหม่กับ “ทวี” นายตำรวจแสนดีมีคุณธรรม ส่วนอุไรผู้เป็นน้องสาวก็ใช้กลยุทธ์ “ตาต่อตาฟันต่อฟัน” กับครอบครัวของแย้ม เพียงเพื่อปิดกั้นปกป้องตนเองจากความเจ็บปวดทางใจ ซึ่งตรงข้ามกับลือพงษ์ ที่ใช้วิธีเลือก “ปลีกตัว” ออกไปจากสนามรบความรักความแค้นของทั้งสองตระกูล แต่ก็ไม่อาจสลัดหลุดจากความรู้สึกเจ็บปวดนั้นได้จริง    ไม่ว่าตัวละครต่างๆ จะเลือกหยิบกลไกป้องกันตนเองแบบใดมาบำบัดเยียวยาบาดแผลในจิตใจ แต่คำตอบที่แน่ๆ ก็คือ กลไกมากมายหลายชนิดดังกล่าวก็มิอาจสลายความเจ็บปวดให้มลายหายไปจนหมด หากแต่ทำได้เพียงบรรเทาโลภะโทสะโมหะของมนุษย์ให้ลดลงได้บ้างชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น     ครั้นมาถึงรุ่นของหลานๆ บุญคุณความแค้นที่ตอกย้ำสืบทอดมาจากบรรพชน ก็เริ่มเห็นริ้วรอยความขัดแย้งที่ส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่น เมื่อพี่น้องอย่างยงยุทธและ “ธนา” ต้องเข้ามาสู่เกมแย่งชิงพิชิตหัวใจของผู้หญิงคนเดียวกันอย่าง “คุณหมอหทัยรัตน์” หรือในกรณีของความรักระหว่าง “ระพีพรรณ” กับ “ปวริศ” ก็ต้องเจ็บปวดและมิอาจสมหวังได้ เนื่องมาจากทิฐิความแค้นของบุพการีเพียงอย่างเดียว    ในท้ายที่สุดของเรื่อง เมื่อตัวละครทั้งหลายเริ่มเรียนรู้ที่จะเข้าใจความจริงของชีวิต และรู้จักที่จะอโหสิกรรมให้อภัยกันและกัน ละคร “สุดแค้นแสนรัก” เองก็ได้ให้คำตอบกับเราไปพร้อมๆ กันว่า ถ้า “ความรัก” กับ “ความแค้น” เป็นสองคำที่อยู่บนเหรียญสองด้านในจิตใจแล้ว หากมนุษย์เราไม่หัดรู้จักตัดวงจรของความโกรธที่ “สุดแค้น” ลงให้ได้ บาดแผลในจิตใจของเราก็มิอาจสูญสลายหายไป และอีกด้านหนึ่งของเหรียญที่เรียกว่า “แสนรัก” ก็คงมิอาจเกิดขึ้นได้จริง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 172 นางชฎา : จาก “ผีนางนาก” สู่ “ผีนางรำ”

ในบรรดาผีที่ออกอาละวาดผ่านโลกของสื่อมวลชนมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน และเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ผู้ชมละครโทรทัศน์ชาวไทย ชื่อแรกคงหนีไม่พ้น “ผีนางนาก” หรือบ้างก็เรียกว่า “แม่นาคพระโขนง” นั่นเอง    จับความตามท้องเรื่องของนางนากนั้น เป็นเรื่องเล่าตำนานกล่าวขานมาตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์ตอนต้น ที่ระบบการแพทย์และสาธารณสุขในสยามประเทศยังล้าหลังอยู่ เมื่อ “อ้ายมาก” ต้องถูกเกณฑ์ทหารไปร่วมสงคราม “นางนาก” ที่คลอดลูกตามวิถีแบบโบราณ ก็เกิดเสียชีวิตตายทั้งกลม    ด้วยความรักและผูกพันกับสามีนั้น นางนากจึงไม่ยอมไปผุดไปเกิด และกลายเป็นผีอุ้มลูกในตำนาน ที่คอยปรนนิบัติพัดวีตำน้ำพริกดูแลอ้ายมากอยู่หลายเพลา กว่าที่เธอจะถูกสมเด็จพระพุฒาจารย์มาปลดปล่อยวิญญาณ และเรื่องจบลงในท้ายที่สุด    นับกว่าศตวรรษผ่านไป เมื่อระบบสาธารณสุขไทยก้าวหน้าขึ้น และสูตินารีเวชศาสตร์กลายเป็นองค์ความรู้ที่เข้ามาจัดการดูแลความปลอดภัยให้กับสตรีมีครรภ์ หลายคนอาจจะตั้งข้อสงสัยว่า แล้วตำนานความเชื่อแนวผีสาวเฝ้ารอความรักแบบนางนากนั้น จะสูญหายกลายกลืนไปกับกระแสธารแห่งอารยธรรมสมัยใหม่ด้วยหรือไม่?    คำตอบก็คือ ผีนางนากอุ้มลูกที่อยู่ท่าน้ำริมคลองอาจจะไม่ได้หายไปหรอก หากทว่าเปลี่ยนรูปจำแลงร่างให้ดูเป็นผีสาวที่เข้ากับยุคสมัยใหม่มากขึ้น ไม่ต่างจากตัวละครผีนางรำสวมชฎาอย่าง “ริลณี” ที่รอคอยการกลับมาของหนุ่มหล่อคนรักในวัยเรียนอย่าง “เตชิน”         ถ้าหากผีนางนากต้องพลัดพรากจากสามีเพราะระบบการจัดการสุขภาพที่ล้าหลังและไม่ปลอดภัย แล้วเหตุอันใดที่ทำให้ผีริลณีจึงมีอันต้องพลัดพรากจากเตชินชายคนรักของเธอ?     ในสังคมสมัยใหม่นั้น แม้วิถีการผลิตทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของพลเมืองจะก้าวหน้าไปเพียงไร แต่อีกด้านที่ล้าหลังของสังคมดังกล่าวก็คือ การธำรงอยู่ของความขัดแย้งระหว่างชนชั้นที่ยังคงคุกรุ่นและทับทวีความรุนแรงให้เห็นเข้มข้นยิ่งขึ้น     นี่เองที่เป็นเหตุผลหลักที่รักระหว่างริลณีกับเตชินมิอาจลงเอยแฮปปี้เอนดิ้งไปได้ เพราะเธอเป็นเด็กสาวที่เติบโตมาในสถานกำพร้า และต้องรับจ้างเป็นนางรำ “เต้นกินรำกิน” เพื่อเลี้ยงชีพ และเพราะเขาคือนักศึกษารุ่นพี่ที่เติบโตมาในครอบครัวผู้มีอันจะกิน และมีอนาคตอาชีพการงานที่ก้าวไกล ความสมหวังในความรักของทั้งคู่จึงเป็นไปไม่ได้เลย     แบบที่ “จิตรา” ผู้เป็นมารดาของเตชิน เคยกล่าวปรามาสถากถางริลณีที่กำลังคบหาดูใจกับบุตรชายว่า “ฉันจะไม่ยอมให้ผู้หญิงชั้นต่ำไม่มีหัวนอนปลายเท้าอย่างเธอเข้ามาเกี่ยวดองกับคนในตระกูลอย่างแน่นอน”     และบทเรียนที่จิตราสั่งสอนให้กับริลณีในระลอกแรกก็คือ ทั้งการข่มขู่คุกคาม การพยายามใช้เงินซื้อ การส่งคนไปเพื่อหวังจะทำร้าย ไปจนถึงการว่าจ้างคนร้ายให้ไปเผาสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าที่ริลณีกับเพื่อนๆ เติบโตมา     ส่วนในระลอกถัดมา ริลณีก็ถูกทดสอบบทเรียนจากบรรดาเพื่อนๆ ในสถาบันการศึกษา ซึ่งในขณะที่เธอเป็นกำพร้าและไม่มีทุนอันใดติดตัวมาแต่กำเนิดเลย แต่เพื่อนรอบข้างกลับเป็นผู้ที่ทั้งมีและเพียบพร้อมไปในทุกด้าน     ไม่ว่าจะเป็น “ปริมลดา” ที่รูปร่างหน้าตาสวยกว่า “เอกราช” ที่มีฐานะมั่งคั่ง “ตุลเทพ” ที่มีความสามารถและชื่อเสียง “ประวิทย์” ที่เรียนหนังสือเก่ง “เชิงชาย” ที่เป็นคนเจ้าเสน่ห์ “หงส์หยก” ที่เป็นลูกสาวพ่อค้าผู้มั่งมี และรวมไปถึงเพื่อนรักที่เป็นนางรำคู่ของริลณีอย่าง “ชมพู” ที่เกิดมาในครอบครัวที่มีฐานานุรูป จึงถูกญาติผู้ใหญ่จับให้เป็นคู่หมั้นหมายกับเตชิน    เพราะปมขัดแย้งระหว่างชนชั้นที่หยั่งรากลึกเกินกว่าความสัมพันธ์เชิงมิตรภาพใดๆ ริลณีจึงถูกเลือกปฏิบัติจากบรรดาเพื่อนๆ ที่หล่อสวยรวยทรัพย์กว่าเหล่านี้ ตั้งแต่ได้รับการดูถูกเหยียดหยาม การใส่ร้ายป้ายสี การกระทำทารุณทางกายและใจ การถูกคุกคามทางเพศ ไปจนถึงการที่ผองเพื่อนร่วมสมคบกันวางแผนที่จะข่มขืนเธอ จนนำมาซึ่งความตายและการพลัดพรากจากชายคนรัก    และเพราะ “อำนาจ” ในสมรภูมิขัดแย้งระหว่างชนชั้นนั้น เป็นสิ่งที่ไม่เข้าใครออกใคร ริลณีจึงเรียนรู้ว่าถ้าเธอไม่รู้จักที่จะใช้อำนาจ ในที่สุดเธอก็จะถูกใช้อำนาจจากคนที่สูงสถานะกว่า    ดังนั้น แม้เมื่อตอนมีชีวิต ริลณีจะถูกกระทำโดยที่เธอเองไม่มีทางต่อกร แต่หลังจากสิ้นสังขารกลายเป็นผีไปแล้ว ริลณีก็ใช้อำนาจเหนือธรรมชาติมาล้างแค้นและจัดการกับผองเพื่อนไปทีละราย เพื่อให้ตัวละครเหล่านั้นได้เรียนรู้ว่า หากต้องมาตกอยู่ในสถานะที่ถูกกระทำอย่างเธอบ้างแล้ว เขาและเธอจะมีความรู้สึกเช่นไร ไม่เว้นแม้แต่จิตราผู้เป็นมารดาของเตชิน ริลณีก็ใช้อำนาจของผีหลอกจนจิตราหวาดกลัวแทบไม่เป็นผู้เป็นคน    เมื่อเทียบกับผีนางนากที่แก้แค้นกับทุกคนที่เข้ามาขัดขวางเป็นอุปสรรคความรักของอ้ายมากกับเธอ ผีสาวริลณีก็ใช้วิธีจัดการกับตัวละครทุกคนที่ไม่เพียงขัดขวางความรักเท่านั้น แต่ยังล้างแค้นกลุ่มคนที่มีสถานะทางชนชั้นเหนือกว่า แต่กลับพรากเอาชีวิตของเธอไปอย่างไม่ยุติธรรม     ในทางหนึ่ง ละครเรื่อง “นางชฎา” ได้มอบอุทาหรณ์ว่า ใครทำกรรมใดไว้ก็ต้องได้รับผลกรรมนั้นตอบแทน หรือการอโหสิกรรมและการไม่ยึดติดต่อกรรมใดๆ จะช่วยปลดปล่อยให้เราหลุดพ้นและเป็นสุขในสัมปรายภพ     แต่ในอีกทางหนึ่ง ตราบใดที่ความขัดแย้งทางชนชั้นยังคงดำรงอยู่ ข้อคิดที่พระอาจารย์คงได้เทศน์สอนใจตัวละครทั้งหลาย ก็ยังคงถูกต้องเสมอว่า “ถึงเราจะคิดว่าผีร้าย แต่ก็อาจไม่ร้ายเท่ากับคน” ตราบเท่าที่คนเหล่านั้นยังมีรักโลภโกรธหลงและเดียดฉันท์กันข้ามชั้นชนระหว่างคนด้วยกันเอง                                 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 171 แก้วตาหวานใจ : อุดมคติกับความเป็นจริงของครอบครัว

ในบรรดาเรื่องราวและเรื่องเล่าที่อยู่ในละครโทรทัศน์นั้น ดูเหมือนว่า เรื่องราวเกี่ยวกับ “สถาบันครอบครัว” เป็นเนื้อหาที่ละครมักจะหยิบยกมากล่าวถึงเป็นอันดับแรกๆ อาจเนื่องด้วยว่าครอบครัวเป็นประเด็นที่ใกล้ชิดกับชีวิตของคนเรามากที่สุด จนช่วงเวลาไพรม์ไทม์มิอาจมองข้ามเรื่องราวดังกล่าวไปได้เลย             แต่คำถามก็คือ ถ้าภาพอุดมคติของความเป็นครอบครัวจักต้องประกอบด้วยพ่อ แม่ ลูก และสมาชิกครอบครัวที่รักผูกพันกันแน่นแฟ้น อุดมคติแบบนี้กับความเป็นจริงที่เราเห็นในละครจะถูกถ่ายทอดออกมาเป็นภาพเดียวกันมากน้อยเพียงไร?             คำตอบต่อข้อคำถามนี้ก็คือ “อุดมคติ” เป็นภาพที่สังคมคาดฝันว่าอยากไปให้ถึง หรืออาจเป็นจินตกรรมความฝันในความคิดของใครหลายๆ คน แต่ภาพฝันของครอบครัวที่อบอุ่นครบครันพ่อแม่ลูกและหมู่มวลสมาชิกในบ้านนั้น ช่างเป็นภาพที่พบเห็นได้ยากหรือพบได้น้อยมากในละครโทรทัศน์ เหมือนกับภาพชีวิตครอบครัวของ “มดตะนอย” เด็กสาวตัวน้อยที่เติบโตมาโดยที่ไม่เคยได้พานพบหน้าบิดามารดาของตนเองเลย             เพราะคุณแม่วัยใสอย่าง “แม่กวาง” ผู้เป็นมารดา รู้สึกผิดที่ตั้งครรภ์ลูกน้อยตั้งแต่วัยเรียน ดังนั้นหลังจากที่ให้กำเนิดมดตะนอยมาแล้ว เธอจึงหลบลี้หนีหน้าไปอยู่ต่างประเทศ ในขณะที่ “พ่อหมึก” ผู้เป็นบิดาเอง ก็ไม่เคยรู้มาก่อนว่า ตนมีลูกสาวกับเขาหนึ่งคน แม่กับพ่อจึงไม่เคยได้เลี้ยงหรือใกล้ชิดกับมดตะนอย และปล่อยให้เด็กสาวตัวน้อยเติบโตมาด้วยการเลี้ยงดูของ “ลุงช้าง” พระเอกของเรื่อง             จนกระทั่งหลายปีผ่านไป พ่อหมึกได้ทราบข่าวจากเพื่อนว่า ตนเคยมีบุตรสาวหนึ่งคนตั้งแต่เมื่อครั้งยังเรียนมหาวิทยาลัย เขาเองก็ต้องการตามหาลูก จึงไหว้วานให้ “ไข่หวาน” ผู้เป็นน้องสาว เดินทางเข้ากรุงเทพเพื่อสืบค้นหาที่อยู่ของมดตะนอย             จะว่าเป็นพรหมลิขิต หรือการผูกเรื่องของนักเขียนบทให้เกิดเงื่อนปมขัดแย้งอย่างไรมิอาจทราบได้ แต่ในที่สุด สาวห้าวผู้รักรถยนต์เป็นชีวิตจิตใจอย่างไข่หวาน ก็มีอันได้มาพำนักพักอยู่ในบ้านของลุงช้างหนุ่มหวานขี้งอนและรักการทำครัวเป็นพ่อบ้านพ่อเรือน โดยมีมดตะนอยกลายเป็นกามเทพสื่อรักตัวน้อยระหว่างลุงช้างกับอาไข่หวานแบบไม่รู้ตัว             ภายใต้โครงเรื่องแบบที่กล่าวมานี้ ละครได้ผูกโยงฉายให้เห็นภาพของสถาบันครอบครัวเอาไว้อย่างซับซ้อน ทั้ง “สะท้อน” ภาพความจริงเอาไว้ด้านหนึ่ง ทั้ง “ตอกย้ำบรรทัดฐาน” เอาไว้อีกด้านหนึ่ง ในขณะเดียวกับที่ “ชี้นำ” หรือ “ตั้งคำถามใหม่ๆ” ให้ผู้ชมได้ทบทวนความเข้าใจเกี่ยวกับครอบครัวเอาไว้เช่นกัน             ในลำดับแรกที่ละคร “สะท้อน” ภาพความจริงของครอบครัวเอาไว้นั้น ถ้าเราคิดถึงภาพอุดมคติของความเป็นครอบครัวที่ต้องประกอบด้วยพ่อแม่ลูกที่รักใคร่อบอุ่นผูกพัน เพราะลูกมักถูกตีความว่าเป็น “แก้วตา” ในขณะที่คู่ชีวิตก็มีสถานะเป็น “หวานใจ” แต่ทว่า ภาพของละครกลับสะท้อนฉายไปที่ความเป็นจริงของสังคมในอีกทางหนึ่งว่า ชีวิตครอบครัวแท้จริงนั้นไม่ได้มีสูตรสำเร็จเหมือนกับภาพอุดมคติดังกล่าวเพียงด้านเดียว ภาพที่พ่อไปทางและแม่ไปทาง อาจเป็นชีวิตที่จริงแท้ยิ่งกว่าของครอบครัวได้เช่นกัน             แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่า เด็กที่เกิดมาภายใต้บรรยากาศครอบครัวแตกแยกจะกลายเป็นเด็กที่มีปัญหาเสมอไป ตราบเท่าที่ยังมีฟันเฟือนตัวอื่นที่หมุนให้สถาบันครอบครัวขับเคลื่อนต่อไปได้ ครอบครัวก็ยังคงดำเนินไปและผลิตเยาวชนรุ่นใหม่ที่น่ารักและเป็นเด็กดีแบบมดตะนอยได้ไม่ต่างกัน             ในแง่นี้ เราอาจตั้งข้อสังเกตได้ว่า ครอบครัวที่เป็นไปตามขนบจารีตไม่อาจตอบโจทย์ของคนยุคนี้ได้อย่างสมบูรณ์อีกต่อไปแล้ว แต่ครอบครัวจะเป็นเช่นไรก็ขึ้นอยู่กับว่า คนแต่ละกลุ่มหรือใครแต่ละคนจะเป็นผู้คิดค้นนิยามและตีความความหมายให้กับครอบครัวของเขาแบบแตกต่างกันไป             ฉะนั้น เมื่อขาดซึ่งพ่อกับแม่ มดตะนอยก็ยังมีลุงช้างที่ทำหน้าที่แทนทั้งเป็นพ่อและแม่ที่เลี้ยงเด็กน้อยให้เติบโตมาเป็นคนดี หรือแม้แต่ช่วงที่มีไข่หวานมาพำนักอาศัยใต้ชายคาเดียวกัน ไข่หวานก็ไม่ได้ทำหน้าที่แค่ “อาไข่หวาน” หากแต่ยังเล่นบทบาทเป็น “แม่ในจินตนาการ” ของมดตะนอยไปในเวลาเดียวกัน             ในขณะที่ด้านหนึ่งละครก็ “สะท้อน” สิ่งที่ “กำลังเป็นอยู่” ว่า ชีวิตจริงของครอบครัวร่วมสมัยไม่ได้อบอุ่นหรือเป็นไปตามอุดมคติ แต่ขึ้นอยู่กับว่าสมาชิกครอบครัวจะตีความและรังสรรค์สายสัมพันธ์ระหว่างกันของตนเองจริงๆ แต่อีกด้านหนึ่ง ในมุมฉากจบของละคร ก็เลือกที่จะรอมชอมด้วยการตอกย้ำกลับไปที่ภาพบรรทัดฐานที่ “ควรจะเป็น” ของครอบครัวว่า พ่อแม่ลูกที่อยู่พร้อมหน้าค่าตากัน ก็ยังเป็นอุดมคติที่ทุกๆ ครัวเรือนยังวาดฝันเอาไว้             เพราะฉะนั้น แม้จะพลัดพรากจากแม่กวางและพ่อหมึกไปตั้งแต่เด็ก แต่ด้วยความพยายามดิ้นรนต่อสู้เพื่อถักทอสายสัมพันธ์ของครอบครัวให้กลับคืนมา ในฉากจบของเรื่อง ละครก็ได้ยึดโยงให้มดตะนอยได้พบพ่อกับแม่ และหวนกลับมาร่วมสร้างครอบครัวที่เชื่อว่า “สมบูรณ์” กันอีกครั้ง พร้อมๆ กับที่ลุงช้างและอาไข่หวานก็ได้ลงเอยกับความรัก และเริ่มที่ก่อรูปก่อร่างสร้างครอบครัวในอุดมคติกันไปอีกทางหนึ่ง             แต่ที่น่าสนใจยิ่งก็คือ ไม่เพียงแต่สะท้อนหรือตอกย้ำเท่านั้น ละครอย่าง “แก้วตาหวานใจ” ยังได้เลือกใช้เส้นทางการ “ชี้นำ” หรือ “เสนอทางเลือกใหม่ๆ” ให้เราได้เห็นด้วยว่า แล้วภาพความจริงที่เราเคยยึดเคยเชื่อกับความสัมพันธ์ที่เวียนวนอยู่ในครอบครัวนั้น จำเป็นต้องเป็นเฉกเช่นนั้นอยู่ทุกครั้งจริงหรือไม่             ภาพตัวละครอย่างลุงช้างที่ชอบทำครัว เลี้ยงเด็ก หรืองุนงงสับสนทุกครั้งที่เกิดรถเสีย กับภาพที่ตัดสลับมาที่อาไข่หวาน ที่เป็นหญิงห้าว สนใจกับงานช่างงานซ่อมรถยนต์ ล้างจานแตกเสมอๆ ก็เป็นตัวอย่างของภาพที่ตั้งคำถามใหม่ๆ กับคนดูว่า ผู้ชายก็ไม่จำเป็นต้องชอบเรื่องที่ใช้กำลังร่างกายและผู้หญิงก็ไม่จำเป็นต้องรักสวยรักงามรักเรื่องที่ละเอียดอ่อนเสมอไป บทบาททางเพศของหญิงชายในสถาบันครอบครัวพร้อมที่จะสลับไปมาระหว่างกันได้ตลอดเวลา             ภายใต้การเล่นบทบาทของละครแบบ “เหรียญสามด้าน” ที่ทั้งฉายภาพสะท้อนสิ่งที่ “กำลังเป็น” ตอกย้ำภาพที่ “ควรจะเป็น” และตั้งคำถามใหม่ๆ กับภาพที่ “อาจจะเป็น” เช่นนี้ ในท้ายที่สุด เมื่อละครจบลง ก็คงทำให้เราได้ฉุกคิดว่า ในอุดมคติของความเป็นครอบครัวนั้น มดตะนอย ลุงช้าง อาไข่หวาน ตัวละครต่างๆ รวมถึงตัวเราเอง จะขับเคลื่อนนำพานาวาชีวิตครอบครัวของแต่ละคนกันไปเช่นไร                                                                                                

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 170 บ้านศิลาแดง : การกลับมาแก้แค้นอีกครั้งของ “แรงเงา”

เมื่อราวสองปีก่อน สังคมไทยได้เกิดปรากฏการณ์ “วันแรงเงาแห่งชาติ” ที่ละครโทรทัศน์เรื่อง “แรงเงา” ได้ออกอากาศ และกระชากเรตติ้งจนทำให้สรรพชีวิตหยุดการเคลื่อนไหวชั่วคราว เพียงเพื่อรอรับชมละครเรื่องดังกล่าวที่หน้าจอโทรทัศน์ ในครั้งนั้น เรื่องราวได้ผูกให้ “มุตตา” หญิงสาวโลกสวยแต่ถูกผู้ชายอย่าง “ผอ.เจนภพ” หลอกให้รักและหลง จนในที่สุดเธอก็ได้กระทำอัตวินิบาตกรรม เพราะไม่อาจทนอยู่ในสภาพภรรยาน้อยที่ถูกคุกคามจากภรรยาหลวงอย่าง “นพนภา” ได้อีกต่อไป และนั่นก็เป็นที่มาของการแก้แค้นของ “มุนินทร์” พี่สาวฝาแฝดที่ปลอมตัวมาเป็นน้องสาวเพื่อทำลายครอบครัวของ ผอ.เจนภพ และนพนภาเป็นการเอาคืน และเป็นจุดกำเนิดของตำนานฉาก “ตบน้อยหน้ากระทรวง ตบหลวงหน้ากอง” อันเลื่องชื่อ สองไปผ่านไป (ไวเหมือนโกหกจริงๆ) ปรากฏการณ์แบบแฝดพี่แฝดน้องสลับตัวเพื่อแก้แค้นในลักษณาการเช่นนี้ ก็ได้หวนวนกลับมาซ้ำรอยอีกคำรบหนึ่งในละครเรื่อง “บ้านศิลาแดง” เรื่องราวเปิดฉากขึ้นมาที่คฤหาสน์บ้านศิลาแดง เมื่อ “พรเพ็ญ” ลูกสาวของ “เอกรินทร์” ซึ่งนอนป่วยเป็นอัมพาตอยู่บนเตียง ได้ถูกกลั่นแกล้งจากแม่เลี้ยงใจร้ายอย่าง “สโรชา” ร่วมกับ “ณัฐพงศ์” และ “อาภาพร” พี่น้องลูกติดและเป็น “ลูกไม้หล่นใต้ต้น” ของสโรชานั่นเอง แม้จะมีศักดิ์เป็นลูกสาวเจ้าของบ้านศิลาแดงก็ตาม แต่พรเพ็ญก็ถูกเลี้ยงดูมาประหนึ่งคนรับใช้ และเรียนจบแค่ชั้น ม.3 เพราะสโรชาไม่ต้องการให้เธอฉลาดและเผยอทัดเทียมลูกทั้งสองคนของเธอ จึงกดขี่พรเพ็ญไว้เยี่ยงทาส กับอีกด้านหนึ่งก็เพื่อจะหาทางครอบครองเป็นเจ้าของบ้านศิลาแดงกับฮุบสมบัติของเอกรินทร์เอาไว้ทั้งหมด   ในขณะเดียวกัน “เพ็ญพร” หญิงสาวปราดเปรียวทายาทเจ้าของบริษัทสวนเสาวรส ได้เรียนจบวิชาบริหารจากต่างประเทศกลับมา เพ็ญพรไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าตนเองมีพี่สาวฝาแฝดอยู่อีกคน แต่กระนั้น ลึกๆ ในจิตใจเธอก็รู้สึกได้ถึงความผูกพันกับพี่สาวที่ไม่เคยเจอหน้าค่าตากันมาก่อน และทุกครั้งที่พี่สาวถูกแม่เลี้ยงข่มเหงทำร้าย เพ็ญพรก็จะสัมผัสได้ถึงความรู้สึกทุกข์ทรมานไม่ต่างกัน ด้วยเหตุดังกล่าว เพ็ญพรจึงเริ่มสืบสาวราวเรื่องเหตุการณ์และเหตุปัจจัยที่เธอมีความรู้สึกผูกพันกับชะตากรรมของใครบางคนอยู่ตลอดเวลา จนในที่สุด เมื่อสองพี่น้องได้โคจรมาพบกัน ปฏิบัติการสลับร่างสวมรอยของฝาแฝดทั้งสองคนจึงเริ่มต้นขึ้น พี่สาวที่หัวอ่อนยอมคนก็ได้มีโอกาสเข้ามาใกล้ชิดกับ “เดือนฉาย” มารดาที่พลัดพรากจากกันไปนาน ในขณะที่น้องสาวผู้แข็งแกร่งกว่า ก็ได้เข้าไปดูแลบิดาที่ป่วย และกลั่นแกล้งแก้แค้นแม่เลี้ยงใจร้าย เพื่อช่วงชิงความเป็นเจ้าของบ้านศิลาแดงกลับคืน พร้อมๆ กับการสลับตัวไปมาจนสร้างความสับสนให้กับนายตำรวจอย่าง “ตรัย” และนักธุรกิจหนุ่มอย่าง “วิทวัส” ชายหนุ่มสองคนผู้เป็นพระเอกของเรื่องไปในเวลาเดียวกัน ในขณะที่ย้อนกลับไปในละครเรื่อง “แรงเงา” นั้น ตัวละครอย่างมุตตาผู้เป็นน้องสาวฝาแฝดต้องเสียชีวิตก่อน “แรง” แห่ง “เงา” ของมุนินทร์ผู้พี่สาวจึงค่อยสวมรอยกลับมาทวงหนี้แค้นคืน ทว่า ในเรื่อง “บ้านศิลาแดง” วิธีการผูกเรื่องกลับต่างออกไป เพราะน้องสาวอย่างเพ็ญพรไม่ต้องรอให้เกิดโศกนาฏกรรมกับชีวิตพี่สาวพรเพ็ญเสียก่อน แต่เธอกลับเลือกเข้ามาสวมบทบาทสลับร่างแก้แค้นแม่เลี้ยงใจร้ายไปตั้งแต่ต้นเรื่องเลย แล้วเหตุอันใดเล่าที่ทำให้ตัวแสดงอย่างเพ็ญพรและพรเพ็ญ จึงเลือกกระทำการแตกต่างไปจากฝาแฝดมุตตากับมุนินทร์? คำตอบก็น่าจะอยู่ที่ปมหลักของความขัดแย้งที่ต่างกันไปในชีวิตของคู่แฝดทั้งสองคู่ ในขณะที่ปมปัญหาหลักของมุตตาหญิงสาวอ่อนโลกมาจากเหตุปัจจัยเรื่อง “รักๆ ใคร่ๆ” ซึ่งในทัศนะของคนชั้นกลางทั่วไปมองว่าเป็นเรื่องส่วนตัวและของใครของมันที่จะต้องจัดการกันเอาเอง แต่กับกรณีของเพ็ญพรและพรเพ็ญนั้น ปมความขัดแย้งใหญ่ของเรื่องกลับอยู่ที่ “บ้านศิลาแดง” อันเป็นมรดกที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น จากรุ่นของบรรพชนมาจนถึงเอกรินทร์ผู้เป็นบิดา และมีแนวโน้มว่ามรดกทั้งบ้าน ที่ดิน และศฤงคารทรัพย์เหล่านี้ ก็น่าจะสืบต่อมาอยู่ในมือของคู่แฝดอย่างพวกเธอ หากมองผาดดูแบบผิวเผิน มรดกก็คือสินทรัพย์ที่พ่อแม่ปู่ย่าตายายสืบทอดและมอบต่อให้กับลูกหลานที่อยู่ในสายตระกูลของตน แต่อันที่จริงแล้ว อีกด้านหนึ่งของมรดก ก็มีสถานะเป็น “ปัจจัยการผลิตทางเศรษฐกิจ” ที่สำคัญของคนชั้นกลางในยุคปัจจุบัน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ทั้งสังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ต่างถือเป็น “ทรัพย์สิน” ที่คนชั้นกลางมีศักยภาพที่จะแปลงให้มันกลายเป็น “ทุน” เพื่อจะได้ใช้ต่อยอดผลิดอกออกผลต่อไปได้ในอนาคต เพราะฉะนั้น มรดกโภคทรัพย์ดังกล่าวจึงถือเป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตของคนกลุ่มนี้ เพราะฉะนั้น เมื่อไรก็ตามที่คนชั้นกลางเริ่มรู้สึกหวั่นไหวว่า มรดกบ้านและที่ดินทั้งหลายของตนมีแนวโน้มจะถูกครอบครองหรือพรากส่วนแบ่งไปด้วยอำนาจของผู้อื่น คนกลุ่มนี้ก็จะเริ่มเข้ามาต่อสู้ต่อกรกับอำนาจดังกล่าวนั้น (ซึ่งก็คงคล้ายๆ กับภาพความขัดแย้งจริงๆ ที่กำลังปะทุอยู่ในเรื่องภาษีมรดก ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หรือแม้แต่เหตุการณ์ทางสังคมที่พี่น้องเข่นฆ่ากันได้เพียงเพื่อแย่งสมบัติประจำตระกูล) ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมถึงเรื่องชื่อเสียง เกียรติยศ หน้าตา บารมี และทุนทรัพย์แบบนามธรรมอื่นๆ ที่ถือเป็นปัจจัยการผลิตอันพ่วงแนบมากับมรดกคฤหาสน์และที่ดินของบ้านศิลาแดงอีก ที่ฝาแฝดพี่น้องทั้งสองต้องพิทักษ์สิทธิ์และผลประโยชน์เอาไว้อย่างเต็มที่ ด้วยเหตุปัจจัยจากความขัดแย้งในมรดกนี่เอง ตัวละครอย่างเพ็ญพรและพรเพ็ญจึงยอมไม่ได้ หากแม่เลี้ยงสโรชาและบรรดาสหพรรคพวกของเธอจะมาผลาญพร่า “ชุบมือเปิบ” ไปแต่โดยง่าย เหมือนกับประโยคที่เพ็ญพรมักจะพูดกับสโรชาและลูกของเธออยู่เป็นประจำว่า “จะผลาญสมบัติพ่อของฉันกันอีกแล้วเหรอ...” ครั้งหนึ่งคนชั้นกลางไทยอาจจะมีความคิดว่า “มีทองเท่าหนวดกุ้ง ยังนอนสะดุ้งจนเรือนไหว” แต่มาถึงยุคนี้ หากจะต้องเสียทั้งทองและทรัพย์สมบัติมรดกที่สั่งสมผ่านสายตระกูลกันมา คงจะเป็นเงื่อนไขที่คนกลุ่มนี้ยอมรับไม่ได้อย่างแน่นอน ก็เหมือนกับชีวิตตัวละครพี่น้องเพ็ญพรและพรเพ็ญนั่นแหละ ที่ต้องจัดการปัญหาเรื่องมรดกอันเป็นปัจจัยการผลิตหลักของตนให้ได้เสียก่อน ส่วนเรื่องรักๆ ใคร่ๆ กับพระเอกหนุ่มของเรื่อง ค่อยมาแฮปปี้เอนดิ้งในภายหลัง หรือเรียกง่ายๆว่า ให้ “lucky in game” ก่อน แล้วเรื่อง “lucky in love” ค่อยมาว่ากันอีกครั้งหนึ่ง  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 169 แอบรักออนไลน์ : ลองหัดเงยหน้าในสังคมก้มหน้า

นักวิชาการชาวแคนาดาท่านหนึ่งที่ชื่อ มาร์แชล แมคลูฮัน เคยกล่าววลีคลาสสิกเอาไว้ว่า “สื่อคือสาร” อันหมายความว่า ถ้าปัจเจกบุคคลหนึ่งๆ เติบโตมากับวิถีการสื่อสารเช่นไร บุคลิกภาพของเขาหรือเธอก็จะมีแนวโน้มถูกกำหนดให้เป็นไปคล้ายคลึงกับเบ้าหลอมรูปแบบการสื่อสารเช่นนั้น ถ้าเราเติบโตมาในบรรยากาศที่วิถีการสื่อสารเป็นการพูดคุยแบบเห็นหน้าค่าตากัน เราก็จะมีทักษะการอ่านคนเป็น และเชื่อว่าความไว้วางใจจะมีได้ก็ต้อง “รู้จักหัวนอนปลายเท้า” เท่านั้น แต่คำถามก็คือ หากทุกวันนี้ มวลมนุษย์เรากำลังใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางวิถีการสื่อสารแห่งโลกเสมือน พูดคุยสื่อสารได้แม้แต่กับคนไกลที่ไม่รู้จักมักจี่กันมาก่อน คำถามก็คือ บุคลิกภาพของเราที่อยู่ในชุมชนเสมือนจะถูกหลอมหล่อกันออกมาเยี่ยงไร คำตอบต่อข้อสงสัยดังกล่าว สามารถส่องดูได้จากความสัมพันธ์ของสามตัวละครหลัก อันได้แก่ สาวออฟฟิศรุ่นใหญ่รุ่นเล็กอย่าง “อวัศยา” และ “พริบพราว” ที่เล่นบทบาท “แอบรักออนไลน์” เพื่อพิชิตหัวใจของหนุ่มหล่อแสนดีวัยเบญจเพสอย่าง “ปราณนต์” สำหรับตัวละครหลักคนแรกคืออวัศยา หญิงวัยสามสิบต้นๆ กับบุคลิกเคร่งขรึมคร่ำครึในฐานะผู้จัดการฝ่ายการตลาดของบริษัทหลักทรัพย์นาราภัทร แม้ด้านหนึ่งเธอจะถูกตั้งฉายาจากเพื่อนร่วมงานว่าเป็น “อสรพิษสี่ตา” แต่ในอีกด้านหนึ่ง อวัศยาก็มีความทรงจำติดตรึงอยู่กับภาพของชายหนุ่มคนหนึ่งที่เคยช่วยชีวิตเธอเอาไว้จากการถูกรถชนเมื่อหลายปีก่อน ส่วนปราณนต์ก็คือ “ผู้ชายในฝัน” คนดังกล่าว ที่หลายปีให้หลังได้ย้อนกลับมาสมัครงานในแผนกเดียวกับที่อวัศยาดูแลอยู่ โดยที่คู่แข่งในหน้าที่การงานของเขาก็คือพริบพราว สาวนักเรียนนอกจากบอสตันที่ได้มาทำงานเป็นผู้ช่วยเลขานุการคนใหม่ของ “ลิปดา” บอสใหญ่เจ้าของบริษัทนาราภัทรนั่นเอง ตัวละครสามคนไม่เพียงถูกเชื่อมโยงกันด้วยหน้าที่การงานในบริษัทเท่านั้น หากแต่การมีอีกส่วนหนึ่งของชีวิตในโลกเสมือน “ออนไลน์” ก็ได้ผูกร้อยเชื่อมรัดคนสามคนให้ก้าวเดินเข้าสู่ปริมณฑลแห่งโลกใหม่ที่เป็น “สังคมก้มหน้า” ที่มนุษย์ติดอยู่กับโลกเสมือนโดยไม่เคยเงยมองความจริงที่อยู่ตรงหน้าแต่อย่างใด   มูลเหตุของเรื่องเริ่มต้นจากที่อวัศยาได้พบกับปราณนต์ในวันที่เขามาสัมภาษณ์งานกับเธอ ความทรงจำในช่วงวัยสาวแรกรุ่นถึง “ชายในฝัน” ผู้นี้ก็ได้ย้อนเวลากลับมา อวัศยาจึงเพียรหาทางที่จะได้พูดคุยกับปราณนต์ผ่านโปรแกรมแชตออนไลน์ โดยสมมติชื่อนามแฝงเป็น “คุณแอบรัก” เมื่ออวัศยาพบว่าปราณนต์เพิ่งอกหักจากแฟนสาวมา เธอก็ใช้คุณแอบรักคอยปลอบประโลมจิตใจและกลายเป็นที่ปรึกษาปัญหาต่างๆ ให้กับชายหนุ่มผ่านสื่อออนไลน์ โดยที่เขาเองก็ไม่ทราบเลยว่า คุณแอบรักก็เป็นคนเดียวกับเจ้านายสาว “อสรพิษสี่ตา” ซึ่งเห็นหน้าค่าตาที่ออฟฟิศอยู่ทุกวัน ภายใต้ความสัมพันธ์ในโลกเสมือนแบบนี้ ละครได้สะท้อนให้เราเห็นความคาดหวังที่แตกต่างกันของผู้ชายและผู้หญิงต่อความสัมพันธ์ที่มีระหว่างกัน เพราะในขณะที่บุรุษเพศอย่างปราณนต์เข้าสู่โลกออนไลน์โดยคาดหวังจะมีผู้หญิงสักคนที่เป็น “คู่คิด” คอยให้คำปรึกษาปัญหาต่างๆ ในชีวิต แต่ผู้หญิงอย่างอวัศยากลับค้นหาผู้ชายหนึ่งคนเพียงเพราะต้องการให้เขามาเป็น “คู่เสน่หา” แม้ว่าจะอยู่ในโลกเสมือนก็ตาม และหากวลีที่ว่า “สื่อคือสาร” เป็นคำกล่าวที่ถูกต้องด้วยแล้ว ไม่ว่าผู้ชายจะคาดหวัง “คู่คิด” หรือผู้หญิงจะคาดหวัง “คู่เสน่หา” แต่ในความผูกพันที่เกิดขึ้นผ่านสื่อเสมือนออนไลน์ ก็ได้เข้ามากำหนดชีวิตของตัวละคร ให้ค่อยๆ ถอยห่างจาก “ความจริงแท้จริง” มาสู่ “ความจริงแบบเสมือน” มากขึ้น เพราะฉะนั้น ภายใต้อำนาจของโลกเสมือน ตัวละครที่ผูกร้อยกันอยู่ในพื้นที่ออนไลน์จึงปรับบุคลิกภาพของตนไปตามโลกใหม่ที่ตัวเองใช้ชีวิตอยู่ และกลายเป็นบุคลิกของคนที่ “ช่างมโน” โดยไม่ยืนอยู่กับความจริงแท้จริงใดๆ อวัศยาได้เริ่มต้น “มโน” จินตนาการความสัมพันธ์แบบรักต่างวัยระหว่างเธอกับพนักงานหนุ่มรุ่นน้อง และสร้างตำนานความรักผ่านดอกไม้ที่ชื่อกิ๊บเก๋ว่า “love in the mist” หรือ “รักในสายหมอก” โดยที่อีกทางหนึ่งก็กังวลว่าปราณนต์และคนรอบข้างจะรู้ความลับว่าเธอกำลังสวมบทบาทเป็นคุณแอบรักในโลกเสมือน ส่วนพริบพราวเอง ที่พบว่าผู้ชายดีๆ ในยุคไฮสปีด ช่างเป็นทรัพยากรที่มีจำกัดยิ่งนัก เธอจึงเลือกโดดมาเล่นเกมในสังคมออนไลน์ ปลอมตัวเป็นคุณแอบรักแบบเสมือนๆ ซ้อนทับไปอีกชั้นหนึ่ง และยังวางหมากวางกลเพื่อแย่งหัวใจของปราณนต์มาจากอวัศยาให้จงได้ ในขณะเดียวกัน ปราณนต์ซึ่งกำลังติดกับดักของสังคมออนไลน์อยู่เช่นกัน เขาก็แอบหลงรักผู้หญิงเสมือนอย่างคุณแอบรัก แม้จะไม่รู้ว่าตัวจริงเธอคือใคร เพราะฉะนั้นเขาจึงเที่ยวถามผู้หญิงแต่ละคนที่วนเข้ามาในชีวิตอยู่เสมอว่า “คุณใช่แอบรักหรือเปล่า” ภายหลังจากที่ตัวละครทั้งหมดถูกยึดโยงเข้าสู่พื้นที่สังคมเสมือนเดียวกัน สังคมเสมือนดังกล่าวนั้นก็เริ่มมีอำนาจมากขึ้น และพัฒนาไปถึงจุดสุดขั้นของตัวมัน เมื่อตัวละครที่ก้มหน้าอยู่ในโลกออนไลน์ ได้จำลองโลกเสมือนให้กลายเป็นโลกจริงขึ้นมาในที่สุด เหมือนกับพริบพราวซึ่งต้องการเอาชนะอวัศยา จนถึงกับสร้างฉากเสแสร้งจมน้ำทะเลเพื่อให้ปราณนต์ว่ายน้ำมาช่วย โดยที่ตัวละครทุกคนก็เริ่มแยกไม่ออกแล้วว่า อุบัติเหตุครั้งนี้เป็นเรื่องจริงหรือเรื่องล้อเล่นกันแน่ สังคมเสมือนอาจช่วยให้ผู้คนที่อยู่ไกลกันได้ผูกโยงมาพานพบและ “แอบรักออนไลน์” ได้ก็จริง แต่ถ้าชุมชนเสมือนที่คนเราใช้ชีวิตอยู่นั้น ค่อยๆ สถาปนาตัวมันขึ้นมาเป็นโลกความจริงเสียเองแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ที่อยู่ก้ำกึ่งระหว่างเรื่องจริงกับเรื่องลวงเยี่ยงนี้ ก็ดูเป็นเรื่องน่าตื่นตระหนกไม่น้อย ก็คงเหมือนกับคำพูดของบอสลิปดาที่เตือนสติอวัศยาซึ่งเริ่มแยกไม่ออกระหว่างตัวเธอกับคุณแอบรักว่า “ก็เพราะคุณมัวแต่ก้มหน้าส่งข้อความไปหาเพื่อนที่ไกล...ไกล๊...ไกล... แต่ผมซึ่งนั่งอยู่ตรงหน้านั้น คุณกลับไม่เคยเงยหน้ามาสนใจเสียเลย” สำหรับชีวิตที่ดำเนินไปในโลกเสมือนที่ดูจะเสมือนแม้แต่ในเรื่องความรักและความสัมพันธ์ หากเรารู้จักหัดเงยหน้าขึ้นมาจากสังคมที่ผู้คนเอาแต่ก้มหน้าอยู่ตลอดเวลา ความรักความผูกพันจริงๆ ก็น่าจะเกิดขึ้นได้โดยไม่ต้องติดกับดักอยู่ในเรื่องเสมือนแบบลวงๆ อีกต่อไป  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 168 ทางเดินแห่งรัก : เส้นทางที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

เส้นทางชีวิตของคนเรา มักถูกตั้งคำถามเสมอว่า เป็นเส้นทางที่เราสามารถเลือกเดินได้เอง หรือเป็นวิถีที่สังคมได้เข้ามากำหนดกฎเกณฑ์ให้เราดำเนินไปในเส้นทางนั้น ยิ่งหากเป็น “ทางเดินแห่งรัก” ของบรรดาสตรีเพศทั้งหลายด้วยแล้ว เส้นทางที่ผู้หญิงเลือกเดิน มักมีอันต้องต่อรองอย่างยิ่งยวดกับข้อเรียกร้องและความเป็นจริงที่สังคมเข้ามาขีดกำหนดโชคชะตาชีวิตของพวกเธอ คงเหมือนกับตัวละครผู้หญิง 4 คน ผู้เป็นตัวแทนของผู้หญิง 4 เจนเนอเรชั่น อย่าง “ศศิ” “อ้อม” “ซัน” และ “เจน” ที่ด้านหนึ่งก็สานมิตรภาพระหว่างกันอย่างแนบแน่น กับอีกด้านหนึ่ง ตัวละครเหล่านี้ก็กำลังว่ายวนอยู่ใน “ทางเดินแห่งรัก” แตกต่างวิถีกันไป เริ่มจากศศิผู้เป็นพี่ใหญ่ หลังจากแต่งงานกับ “โจ” เธอก็ลาออกจากงานที่กำลังก้าวหน้าเพื่อมาเป็นแม่บ้านเลี้ยงดูลูกๆ แบบเต็มตัว จาก “ดาบที่เคยไกว” คงเหลือแต่ “เปลที่ต้องแกว่ง” ประกอบกับชะตากรรมที่สามีเจ้าชู้มีกิ๊กกระจายหว่านไปทั่วเต็มบ้านเต็มเมือง ชีวิตวันๆ ของศศิจึงต้องผันแปรมายุ่งอยู่แต่กับเรื่อง “เสียทองเท่าหัวไม่ยอมเสียผัวให้กับใคร” ในกรณีของนักเขียนอิสระอย่างอ้อม ภายหลังจากแต่งงานกับ “หมอวิน” ไปตั้งแต่ต้นเรื่อง แต่เพราะหมอวินเป็นหนุ่มไทยเชื้อสายจีน ทางครอบครัวของหมอจึงกดดันอ้อมทุกวิถีทางที่จะให้เธอมีหลานชายไว้สืบต่อวงศ์ตระกูล อ้อมจึงวุ่นวายอยู่แต่กับเรื่องการอยากตั้งครรภ์ การนับวันไข่ตก การเล่นโยคะและบริหารร่างกาย การกินวิตามินเสริมสารพัด เพื่อเป้าหมายสุดท้ายคือการตั้งท้องให้จงได้ ส่วนกรณีของซัน ผู้ได้รับฉายาจากผองเพื่อนว่าเป็นดอกไม้เหล็กแห่งวงการโฆษณา ที่ทั้งสวย ดุ แรง มุ่งมั่นทำงาน โดยไม่สนใจหมายตาบุรุษเพศ เนื่องจากปมในใจที่ครั้งหนึ่งเธอเคยทั้ง “หักอก” และ “อกหัก” จาก “วุธ” ชายคนรักในวัยเรียน จนไม่กล้าจะบอกรักเขา ไม่คิดจะมีรักใหม่ และไม่อาจจะลืมเลือนความรักเมื่อครั้งอดีตได้   และสุดท้ายคือเจน สาวน้อยพีอาร์เครื่องสำอางแบรนด์ดัง ที่ใฝ่ฝันอยากจะเป็นนักการตลาดมือเยี่ยมในอนาคต แต่ในเวลาเดียวกันเธอก็มีเหตุต้องมาสะดุดรักเป็นพ่อแง่แม่งอนกับเพื่อนร่วมงานอย่าง “อาร์ต” แถมยังต้องวุ่นๆ กับตัวละครอีกมากมายในชีวิตทำงานเข้าให้อีก หากนำภาพของตัวละครทั้ง 4 คนนี้มาต่อจิ๊กซอว์ย้อนกลับหลัง จะพบว่า ชีวิตของตัวละครเหล่านี้ได้ร้อยเรียงให้เห็นเป็น “หลักกิโล” ที่แทบไม่จะต่างไปจาก “สูตรสำเร็จ” ในการเดินทางของผู้หญิงจำนวนมาก ตั้งแต่เริ่มชีวิตรักกุ๊กกิ๊ก มาถึงช่วงตัดสินใจจะลงเอยกับชีวิตคู่ เข้าสู่ช่วงความพยายามมีลูกหลังชีวิตสมรส และปิดท้ายด้วยการเป็นแม่และเมียที่ดีที่จะสืบทอดสถาบันครอบครัวไปสู่อนาคต แต่ไม่ว่าจะเป็นช่วงหลักกิโลใดในทางเดินแห่งรักนั้น เส้นทางชีวิตของผู้หญิงดูเหมือนจะไม่ได้โรยเอาไว้ด้วยกลีบกุหลาบเสียเลย ตั้งแต่ช่วงเริ่มชีวิตรักแบบ “puppy love” ด้วยหน้าที่การงานที่ยังไม่เสถียร ควบรวมกับความฝันแบบซินเดอเรลล่าที่รอให้มีเจ้าชายมาจุมพิตในฉากจบนั้น ก็เป็นบททดสอบแรกว่า เจนจะเดินฝ่าข้ามด่านดังกล่าวไปได้หรือไม่ อย่างไร เมื่อเดินทางมาสู่ช่วงตัดสินใจจะมีชีวิตคู่ การเลือกระหว่างความก้าวหน้าในอาชีพการงาน กับประเด็นรักใหม่ รักเก่า และมิตรภาพตั้งแต่วัยเยาว์ ก็ได้กลายมาเป็นปมปัญหาที่ซันต้องเรียนรู้ และหาบทสรุปที่จะก้าวเดินหน้าต่อไปอย่างไร โดยเฉพาะเมื่อทางที่จะเดินไปสู่ความรักนั้นมีแนวโน้มจะไม่สมหวังและไม่ลงตัว ครั้นเมื่อชีวิตคู่และการครองเรือนได้เริ่มต้นขึ้น ผู้หญิงก็ต้องเผชิญปัญหาแบบแปลกๆ ใหม่ๆ จากคนรอบข้าง เหมือนกับที่อ้อมไม่เพียงต้องปรับตัวให้เข้ากับชายคนรักที่บัดนี้ได้เปลี่ยนสถานะมาเป็นสามีที่ร่วมเรียงเคียงหมอนร่วมหอลงโรง แต่ยังต้องปรับตนไปตามข้อเรียกร้องของครอบครัวและเครือญาติที่ตามมาใหม่อีกมากมาย และบททดสอบสุดท้ายที่ยืนยันว่า ทางเดินความรักของผู้หญิงไม่ได้มีกลีบกุหลาบมาโรยเอาไว้อยู่รายทางเลยก็คือ แม้เมื่อได้ลงเอยแต่งงานมีลูกเป็นเรือพ่วงและโซ่ทองคล้องใจแล้ว ศศิที่ได้ลาออกจากชีวิตการงาน ก็ต้องมาวุ่นวายอยู่กับปัญหาสารพันที่ถาโถมเข้ามาในชีวิตหลังแต่งงาน โดยละทิ้งความฝันซึ่งครั้งหนึ่งเธออยากจะมีความก้าวหน้าในโลกภายนอกพื้นที่ปริมณฑลของครอบครัวและบ้านเท่านั้น ด่านหินๆ ยิ่งกว่าเกม “โหดมันฮา” เช่นนี้ ได้ชี้ให้เห็นข้อเท็จจริงอีกประการหนึ่งว่า ปัญหาของผู้หญิงมีเหตุที่เกิดมาจากหลากหลายแหล่งที่มา นับตั้งแต่เป็นปัญหาที่มาจากตัวของเธอเอง เป็นปัญหาที่มาจากผู้ชายแต่ละคนที่เข้ามาเป็นเงื่อนไขในชีวิตของพวกเธอ เป็นปัญหาที่มาจากสังคมรอบข้างรอบตัว และที่สำคัญ ปัญหาจำนวนมากของผู้หญิงก็อาจเนื่องมาแต่ผู้หญิงด้วยกันนั่นเอง ไม่ต่างไปจากตัวละครผู้หญิงอย่าง “แพท” คู่แข่งชิงดีชิงเด่นตั้งแต่สมัยเรียนของซัน ที่ได้ก้าวเข้ามายุ่งวุ่นวายเป็นคู่แข่งในอาชีพการงาน ผู้หญิงอย่างแพทพยายามจะเอาชนะผู้หญิงด้วยกันในทุกๆ ทาง ไม่ว่าจะเข้าแทรกแซงครอบครัวของศศิจนเกือบจะหย่าร้างกับสามี และกลั่นแกล้งเพื่อเอาชนะซันในทุกวิถีทาง ทางเดินในชีวิตของผู้หญิงจึงมีอีกด้านที่ปัญหาเกิดมาแต่ผู้หญิงที่เป็นเพศและมีโครโมโซมเดียวกัน แต่ถึงกระนั้น แม้ “ทางเดินแห่งรัก” ของผู้หญิงจะเต็มไปด้วยอุปสรรคขวากหนามในทุกช่วงทุกจังหวะของชีวิต หรืออาจจะเป็นปัญหาจากผู้หญิงด้วยกันก็ตาม แต่ในมุมเล็กๆ ที่ละครได้วาดไว้อย่างน่าสนใจก็คือ ปัญหาของผู้หญิงจะซัดกระหน่ำมาด้วยเหตุผลกลใด ซินเดอเรลล่าจะมีอยู่จริงหรือไม่ หรือการแต่งงานจะมีบทสรุปแฮปปี้เอนดิ้งแบบในนิยายเยี่ยงไร ก็อาจจะไม่สำคัญ แต่ด้วยมิตรภาพของตัวละครผู้หญิงทั้ง 4 คน ก็น่าจะเป็นคำตอบต่อปัญหาของผู้หญิงยุคนี้ได้ว่า ถ้าผู้หญิงต่างคนต่างปัญหาและต่างเจนเนอเรชั่น ได้มีโอกาสมาถักทอความเป็นเพื่อนและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ปัญหาเหล่านั้นร่วมกัน ปัญหาดังกล่าวก็อาจจะไม่ใช่ปัญหาของผู้หญิงคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นปัญหาร่วมที่ผองเพื่อนผู้หญิงอาจช่วยแสวงหาทางออกได้พร้อมๆ กันไป

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 167 ภพรัก : วิญญาณเร่ร่อนในสังคมที่แปลกแยก

ในสมัยเมื่อนักปรัชญาสังคมชาวเยอรมันที่ชื่อ คาร์ล มาร์กซ์ ยังมีชีวิตอยู่นั้น เขาเคยอธิบายไว้ว่า เมื่อระบบทุนนิยมได้พัฒนาไปจนถึงขีดสุดแล้ว สังคมของมนุษย์เราก็จะก้าวเข้าสู่สภาวะที่มนุษย์ต้องอยู่กับ “ความแปลกแยก” ทั้งแปลกแยกกับโลกรอบตัว แปลกแยกกับคนอื่น และแปลกแยกกับตนเอง “ความแปลกแยก” หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า “alienation” นั้น มาจากรากศัพท์คำว่า “a-” ที่แปลว่า “ไม่มี” กับ “-lien” ที่หมายถึงความสัมพันธ์ ซึ่งเมื่อรวมกันแล้วก็หมายถึง สภาวะที่มนุษย์ถูกตัดขาดสายสัมพันธ์หรือแรงเกาะเกี่ยวระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ออกไป และในท้ายที่สุด มนุษย์เราก็จะตัดขาดได้แม้กระทั่งกับตัวตนของตัวเอง สภาพการณ์ดังกล่าวก็คงไม่ต่างไปจากตัวละครวิญญาณเร่ร่อนกลับคืนร่างไม่ได้ของ “น้ำริน” ที่เมื่อยังมีสติสมบูรณ์อยู่นั้น เธอได้เติบโตและใช้ชีวิตอยู่ในสังคมที่แปลกแยกและสายสัมพันธ์รอบด้านได้ถูกลิดรอนออกไป ตั้งแต่ฉากแรกในการเปิดตัวของน้ำรินนั้น เธอกำลังเลือกชุดแต่งงานอยู่ โดยมี “ธารา” ผู้เป็นมารดา ให้คำปรึกษาผ่านทางวิดีโอลิงค์ ก่อนที่มารดา  จะต้องรีบขอตัวไปเข้าประชุมงานด่วน ดังนั้น แม้จะอยู่ในช่วงเวลาพิเศษของชีวิตบุตรสาว แต่ดูเหมือนภาพของน้ำรินก็สะท้อนให้เห็นสายสัมพันธ์ที่ห่างเหินและแปลกแยกแม้กับหน่วยเล็กที่สุดของชีวิตอย่างสถาบันครอบครัว และกับคู่หมั้นหมายอย่าง “ภพธร” หรือกับเพื่อนรักอย่าง “นับดาว” เบื้องหลังของคนทั้งสองที่แอบคบหากันและทรยศหักหลังน้ำริน ก็ไม่ต่างจากการชี้ให้เห็นว่า แม้แต่กับคนใกล้ชิดหรือไว้ใจที่สุดในทุกวันนี้ ความรักและมิตรภาพก็อาจจะถูกสะบั้นออกไปได้ภายใต้สังคมที่กำลังแปลกแยกระหว่างกัน ที่น่าประหลาดใจก็คือ แม้โดยชื่อตัวละครทั้งหลาย จะบ่งนัยถึงความสัมพันธ์ที่น่าจะพันผูกกันไว้อย่างแนบแน่น ระหว่างผืนน้ำ (อย่างชื่อของน้ำรินและธารา) ผืนดิน (แบบชื่อของภพธร) และผืนฟ้า (เหมือนกับชื่อของนับดาว) แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว นั่นก็คงเป็นเพียงแค่ “ชื่อ” ที่หาได้ผูกพันหรือมีความสำคัญทางใจเช่นไรไม่   เพราะฉะนั้น เมื่อความไว้ใจ มิตรภาพ และความรัก เริ่มเป็นสิ่งที่แร้นแค้นและถูกลิดกิ่งลิดใบออกไปจากจิตใจของคน น้ำรินจึงไม่ต่างจากตัวละครที่กำลังเวียนว่ายอยู่ในภาวะแปลกแยกและไร้ซึ่งสายสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมรอบตัว ภาพที่ฉายความแปลกแยกให้เห็นชัดเจนที่สุด ก็คือฉากที่น้ำรินขับรถสปอร์ตซิ่งบนท้องถนนแข่งกับ “ชลชาติ” เพียงเพราะเธอหมั่นไส้ว่า เขาเป็นใครก็ไม่รู้จัก แต่กล้ามาท้าทายเธอที่กำลังขับรถคันงามอยู่ และเพราะถนนก็สถานที่ที่มนุษย์มักแปลกแยกกับเพื่อนร่วมโลกที่ไม่เคยรู้จักมักจี่กันมาก่อน สภาวะดังกล่าวเช่นนี้ก็นำไปสู่โศกนาฏกรรมอุบัติเหตุ อันเป็นจุดเริ่มต้นของปมขัดแย้งต่างๆ ที่อยู่ในท้องเรื่องนั่นเอง จากอุบัติเหตุในครั้งนั้น ทำให้วิญญาณของน้ำรินต้องหลุดออกจากร่าง กลายเป็นดวงวิญญาณเร่ร่อนที่ไม่เพียงแต่แปลกแยกกับโลกรอบตัว แต่ยังเป็นวิญญาณที่เกิดอาการ “ความจำเสื่อม” แปลกแยกกับร่างกายของตนเองไปเสียอีก ในทางจิตวิทยาอธิบายว่า ความจำเสื่อมเป็นอาการทางจิตชนิดหนึ่ง ที่เกิดขึ้นเมื่อคนๆ นั้นเผชิญหน้ากับสภาวะทางจิตแบบสุดขีด เช่น กลัวสุดขีด ตกใจสุดขีด หรือเสียใจสุดขีด จิตก็จะทำการปกป้องตนเองให้ delete ไฟล์ความทรงจำดังกล่าวออกไปจากสาระบบ แต่ในทางสังคมศาสตร์แล้ว เราอาจพิจารณาอาการความจำเสื่อมได้ว่า เป็นสภาพที่มนุษย์ต้องเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงบางอย่างของสังคม แต่เราเองไม่อาจปรับตัวยอมรับกับความผันแปรดังกล่าวได้ จนนำไปสู่ภาวะความจำเสื่อมที่ไม่อาจทนยอมอยู่ในสภาพเยี่ยงนั้นต่อไป หลังจากที่น้ำรินกลายเป็นวิญญาณเร่ร่อนและความจำเสื่อม เพราะไม่อาจปรับตัวเข้ากับภาวะแปลกแยกกับสังคมรอบตัวได้เช่นนี้ เธอก็ได้รับความช่วยเหลือจาก “หมวดเหยี่ยว” พระเอกหนุ่มของเรื่อง และอีกด้านก็เป็นตัวละครที่กลับมีความทรงจำฝังแน่นอยู่กับความเจ็บปวดในอดีตที่เคยเห็นบิดามารดาประสบอุบัติเหตุต่อหน้า เมื่อวิญญาณที่ความทรงจำสูญหายไปกับมนุษย์ที่ความทรงจำฝังตรึงแน่นได้ข้ามภพมาพบพานกัน แม้จะดูเป็นเรื่องเหลือเชื่อหรือแทบจะเป็นไปไม่ได้ แต่ก็คงเป็นเช่นที่หมวดเหยี่ยวได้กล่าวกับน้ำรินขณะที่โดยสารรถไฟไปด้วยกันว่า “คุณดูนะ รางรถไฟเป็นเส้นขนานไปเรื่อยๆ แต่มันมีจุดที่รางรถไฟมาบรรจบกัน...มันก็เลยมีรางสองคู่มาตัดกันเหมือนทางแยกของถนนไง ชีวิตคนสองคนก็เป็นเส้นขนานเหมือนรางรถไฟ มันไม่มีโอกาสเจอกันจนกว่าจะถึงจุดที่เรียกว่าพรหมลิขิต...” ด้วยพรหมลิขิตที่ทำให้น้ำรินได้มาพานพบกับหมวดเหยี่ยว และด้วยความช่วยเหลือจาก “ปริก” วิญญาณผีเร่ร่อนอีกตน ซึ่งในอดีตชาติคือสาวใช้ผู้ภักดีและเคยสาบานว่าจะดูแลน้ำรินตลอดไป สายสัมพันธ์หลายๆ เส้นที่ขาดหายไปจากชีวิตของน้ำริน ก็ค่อยๆ ได้รับการซ่อมแซมกอบกู้กลับคืนมา เริ่มจากวิญญาณของน้ำรินที่ได้เรียนรู้ถึงความผูกพันระหว่างเธอกับธาราผู้เป็นมารดาที่ไม่เคยเลือนหายไปจริงๆ ได้ค้นพบมิตรภาพเส้นใหม่ที่ผูกโยงเธอไว้กับผียายปริกตั้งแต่ชาติปางก่อน หรือแม้แต่ได้เข้าใจในกรรมและภพชาติที่ร้อยรัดเป็นพรหมลิขิตกับคู่แท้อย่างหมวดเหยี่ยว รวมไปถึงการย้อนกลับไปเริ่มต้นเรียนรู้และทบทวนให้เข้าใจตนเองเสียใหม่ คล้ายๆ กับฉากที่วิญญาณน้ำรินค่อยๆ เพียรพยายามฝึกจับตุ๊กตาหมีสีฟ้าที่หมวดเหยี่ยวซื้อมาฝาก และเรียนรู้ที่จะเข้าใจประโยคที่ปริกพูดอยู่เป็นเนืองๆ ว่า “ในชีวิตของเรา ทุกอย่างล้วนมีเหตุผลของตัวเองทั้งสิ้น” การย้อนกลับไปเข้าใจตนเองและเห็นคุณค่าของทุกชีวิตที่อยู่แวดล้อมรอบตนเองเช่นนี้ ไม่เพียงแต่ปลดปล่อยให้น้ำรินและตัวละครรายรอบได้เข้าใจชีวิตภายใต้สภาวะแปลกแยกเท่านั้น ผลานิสงส์ยังเอื้อให้ดวงวิญญาณของเธอกลับคืนสู่ร่างได้ในท้ายที่สุด ปัญหาของชีวิตมนุษย์ที่ต้องกลายเป็นวิญญาณเร่ร่อนอยู่ในวังวนแห่งความแปลกแยกนั้น แท้จริงอาจไม่ใช่ปัญหาที่เกิดมาจากความเปลี่ยนแปลงของโลกรอบตัวเท่านั้น แต่ยังอาจเนื่องมาแต่การที่เรา “มองไม่เห็น” คุณค่าของสายสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนมนุษย์ด้วยกันต่างหาก หาก “นวล” หญิงชราตาบอดผู้เป็นยายของหมวดเหยี่ยว สามารถสัมผัสรับรู้และ “มองเห็น” ได้ถึงวิญญาณของน้ำรินที่กำลังเร่ร่อนไปมา ความหวังและคำถามของผู้คนในสังคมแห่งความแปลกแยกก็คือ แล้วตัวละครอย่างน้ำรินที่ตาไม่ได้บอดเลยนั้น เธอก็น่าจะ “มองเห็น” คุณค่าของตนเองและเพื่อนมนุษย์รอบตัวได้ไม่แตกต่างกัน

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 166 เงา : เมื่อมัจจุราชสวมบทบาทเป็นนักวิจัย

“มนุษย์เราต่างก็มีกรรมเป็นประดุจเงาตามตัว” สัจธรรมความจริงข้อนี้ ดูจะเป็นแก่นแกนหลักที่ละครโทรทัศน์เรื่อง “เงา” ตั้งใจผูกเรื่องเอาไว้ให้เป็นอุทาหรณ์สอนใจผู้ชม ตามแก่นของเรื่องราวข้างต้น ตัวละครทั้งหมดที่เวียนว่ายเกิดแก่เจ็บตายและเกิดใหม่ในอีกชาติภพ ต่างก็สร้างผลกรรมดีชั่วแตกต่างกันไป และเมื่อสังขารแตกดับไปแล้ว กำเกวียนและกงเกวียนนั่นเองที่จะหมุนเป็น “เงาตามตัว” เพื่อพิพากษาว่าใครจะได้รับผลอย่างไรในสัมปรายภพ กับการพิสูจน์ความจริงข้อนี้ ละครโทรทัศน์เรื่อง “เงา” ก็ได้เลือกมองผ่านตัวละคร “วสวัตดีมาร” หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ มัจจุราชผู้พิพากษาดวงวิญญาณต่างๆ ที่แตกดับไปตามอายุขัยของตน หากมนุษย์คนใดทำคุณงามความดีเอาไว้ พญามัจจุราชก็จะมายืนอยู่ปลายเท้าเพื่อรับส่งดวงวิญญาณนั้นไปสู่สุคติ แต่หากบุคคลใดทำแต่ผลกรรมความเลวไว้ พญามารก็จะยืนเป็น “เงา” เหนือหัว และพิพากษาลงทัณฑ์ดวงวิญญาณนั้นในนรกภูมิ แต่ดูเหมือนว่า สถิติที่พญามัจจุราชท่านได้สำรวจไว้ก็พบว่า สัดส่วนของวิญญาณที่มีกรรมชั่วติดเป็นเงาตามตัว นับวันจะดูมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นเหตุให้พญามารถึงกับเกิดความสงสัย และเริ่มสิ้นหวังกับการสั่งสมผลกรรมความดีของปุถุชน ท่านจึงเริ่มจะแสวงหาคำตอบเพื่อจะดูว่า ตนยังพอจะมีความหวังให้กับมนุษย์กับการทำความดีอีกต่อไปหรือไม่ และแม้วสวัตดีมารจะครองตนอยู่ในอีกภพภูมิที่เกินกว่าอายตนะทั้งห้าของมนุษย์จะสัมผัสจับต้องหรือชั่งตวงวัดได้ แต่ที่น่าอัศจรรย์ยิ่งก็คือ วิธีการค้นหามาซึ่งคำตอบต่อข้อสงสัยของพญามาร กลับเลือกใช้กระบวนการทำวิจัยในแบบนักวิทยาศาสตร์ ที่เน้นการพิสูจน์ให้เห็นความเป็นจริงรอบตัวด้วยวิธีการเก็บข้อมูลเชิงประจักษ์   ด้วยเหตุดังกล่าว ภายใต้ “โจทย์ของการวิจัย” ที่ว่า “เพราะเหตุใดมนุษย์ทุกวันนี้จึงทำความดีน้อยลง” วสวัตดีมารจึงลงมือทำงานวิจัยสนาม (หรือที่ภาษาเก๋ๆ จะเรียกว่า “field study”) ด้วยการแปลงตัวมาใช้ชีวิตเยี่ยงมนุษย์ปุถุชนทั่วไปในชื่อ “ท่านชายวสวัต” และเข้าร่วมสังเกตการณ์และสัมภาษณ์เพื่อเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างคนแล้วคนเล่า เพื่อตอบข้อสงสัยตามโจทย์ที่กล่าวมานั้น ประกอบกับอีกด้านหนึ่ง ละครก็ตั้งคำถามที่น่าสนใจพ่วงเข้าไปอีกด้วยว่า แม้จะเป็นมัจจุราชพญามาร แต่นั่นก็ใช่ว่า ท่านชายวสวัตจะหลุดพ้นไปจากกงล้อแห่งกรรมไม่ เพราะอดีตชาติของพญามารเองก็เคยทำกรรมเลวบางประการเอาไว้ ดังนั้นท่านชายก็เลยต้องดื่มน้ำจากกระทะทองแดงทุกๆ ชั่วยาม เพื่อเป็นการลงโทษตามกรรมของตนเองไปด้วย จวบจนกว่าจะหลุดพ้นการทำหน้าที่พญามัจจุราช เมื่อสามารถหาคนที่มีปริมาตรกรรมดีและกรรมชั่วเท่าๆ กัน มารับหน้าที่ดังกล่าวสืบแทน ในฐานะของนักวิจัยเชิงประจักษ์ที่เก็บข้อมูลกับกลุ่มตัวอย่างปุถุชนทั้งหลายนั้น ท่านชายวสวัตได้เข้าไปผูกสัมพันธ์กับกลุ่มตัวอย่างที่น่าจะให้ข้อมูลสำคัญหลักๆ (หรือที่ภาษานักวิจัยเรียกว่า “แหล่งข้อมูลปฐมภูมิ”) อย่าง “อิศรา” ตัวละครซึ่งไม่เพียงแต่ท่านชายจะหมายตาไว้ให้มาสืบต่อตำแหน่งพญามัจจุราชในลำดับถัดไป แต่เขายังเป็นกลุ่มตัวอย่างที่ท่านชายเฝ้าติดตามสังเกตและสัมภาษณ์เก็บข้อมูลต่างๆ ไว้อย่างเข้มข้น และเพื่อให้ข้อมูลมีความรอบด้านและน่าเชื่อถือ ท่านชายวสวัตก็ได้ใช้เทคนิคการตรวจสอบข้อมูลประกอบจากกลุ่มตัวอย่างคนอื่นๆ โดยเฉพาะจากกลุ่มตัวอย่างผู้หญิงสามคนที่อยู่รอบตัวอิศรา เริ่มตั้งแต่ผู้หญิงคนแรก “คุณย่าอุ่น” ผู้ที่เลี้ยงดูอิศรามาตั้งแต่เด็ก แต่เพราะชีวิตเวียนวนอยู่ในโลภะโทสะโมหะและประกอบแต่กรรมชั่วในชาติภพปัจจุบัน คุณย่าอุ่นจึงไม่เพียงแต่เลี้ยงดูอิศรามาอย่างผิดๆ แต่เธอยังมีดวงวิญญาณเจ้ากรรมนายเวรตามคอยรังควานหลอกหลอนจนถึงวันสิ้นลม ส่วนผู้หญิงคนที่สองก็คือ “ชาลินี” ญาติลูกพี่ลูกน้องของอิศรา ชาลินีคือตัวแทนของคนที่มีบาปกรรมติดตัวมาตั้งแต่ชาติปางก่อน และแม้จะมาเกิดในภพปัจจุบัน เธอก็ยังเลือกเป็น “ผู้หญิงหลายบาป” ทั้งฆ่าคน ฆ่าลูกของตน และทำบาปกรรมต่างๆ อย่างมากมหันต์ และเพราะบาปกรรมที่ได้ก่อเอาไว้ คุณย่าอุ่นและชาลินีที่อาจจะมีความสุขให้ได้เสพในกาลปัจจุบัน จึงไม่อาจสัมผัสถึงตัวตนที่แท้จริงของท่านชายวสวัต จนเมื่อถึงวันที่ร่างสังขารของพวกเธอแตกดับไปนั่นแหละ ที่ทั้งสองคนจึงพบว่ากรรมคือ “เงา” ที่ตามมาพิพากษาลงทัณฑ์ และเบื้องหลังธาตุแท้ของท่านชายวสวัตรูปงาม ก็คือพญามัจจุราชที่คอยทำวิจัยสำรวจบาปกรรมต่างๆ ที่พวกเธอสั่งสมเอาไว้ จนมาถึงผู้หญิงคนที่สามและเป็นหญิงคนรักของอิศราอย่าง “เจริญขวัญ” ผู้ที่คิดดีทำดี กลับฉายภาพที่แตกต่างออกไปในฐานะตัวแทนของคนที่สั่งสมแต่กุศลกรรมความดี และเสียสละเพื่อมนุษย์คนอื่นที่อยู่รอบตัว การได้มาเผชิญหน้ากับกลุ่มตัวอย่างแบบเจริญขวัญนั้น ทำให้ท่านชายวสวัตได้ข้อสรุปต่อโจทย์วิจัยที่ท่านสงสัยอยู่ว่า ด้านหนึ่งในท่ามกลางมนุษย์ปุถุชนที่เอาแต่ทำบาปทำกรรมอย่างมิอาจกลับตัว แต่ก็ยังมีมนุษย์บางคนที่พอจะเป็นความหวังและให้ความเชื่อมั่นได้ว่า คนที่ยังศรัทธาในคุณธรรมความดีจริงๆ ก็ไม่เคยหายไปจากโลกเล็กๆ ใบนี้เลย อย่างไรก็ดี แม้โดยหลักการแล้ว นักวิจัยมักถูกเรียกร้องให้วางตนเป็นกลางโดยไม่แทรกแซงความเป็นไปของกลุ่มตัวอย่าง เฉกเช่นวสวัตดีมารที่ต้องพิพากษาบาปบุญของมวลมนุษย์ไปตามข้อเท็จจริงแบบไร้อคติเจือปน แต่จริงๆ แล้ว แม้แต่มัจจุราชเองกลับพบว่า อคติและความผูกพันนั้นเป็นสิ่งที่เลี่ยงได้ยากยิ่ง ทั้งนี้ก็เพราะความผูกพันกับคุณธรรมความดีของเจริญขวัญ การเดินทางมารับวิญญาณของเธอไปสู่สุคติในตอนท้ายเรื่อง ก็ยังอดทำให้พญามัจจุราชต้องรู้สึกหวั่นไหว จนไม่คิดอยากจะทำภาระหน้าที่ดังกล่าวนั้นเลย คนไทยมักจะพูดกันอยู่เสมอว่า แม้บาปกรรมอาจไม่ได้ส่งผลให้เห็นทันตาในชาตินี้ก็จริง แต่เวรกรรมก็เป็น “เงา” ที่ตามตัวไปหลังความตายอย่างแน่นอน ก็คงไม่ต่างจากรูปธรรมของภาพที่เราได้เห็นท่านชายวสวัตตามมาเป็น “เงา” เพื่อทำวิจัยสนามเก็บข้อมูล ก่อนจะสะท้อนและพิพากษาผลกรรมความดีความชั่วของสรรพชีวิตในอีกภพภูมินั่นเอง

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 165 ทรายสีเพลิง : ชาตินี้ที่รัก เราคงรักกันไม่ได้

กล่าวกันว่า ทุกครั้งที่สังคมมีการเปลี่ยนผ่านอำนาจจากยุคหนึ่งไปสู่อีกยุคหนึ่ง มักจะปรากฏให้เห็นภาพความขัดแย้งและการต่อสู้ช่วงชิงผลประโยชน์กันอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะความขัดแย้งของกลุ่มคนที่มีอำนาจหรือที่เรียกกันว่า “ชนชั้นนำ” ที่เป็นกลุ่มอำนาจเก่ากับกลุ่มอำนาจใหม่ เพื่อฉายให้เห็นภาพรอยต่อของการเปลี่ยนผ่านทางสังคม และความขัดแย้งที่ปะทุกันระหว่างกลุ่มผลประโยชน์เก่ากับใหม่เช่นนี้ เราก็อาจจะวินิจวิเคราะห์ได้จากตัวอย่างความสัมพันธ์ของตัวละครอย่าง “ทราย” (หรือ “ศรุตา”) กับ “เสาวนีย์” ในละครโทรทัศน์เรื่อง “ทรายสีเพลิง” ความขัดแย้งระหว่างทรายกับเสาวนีย์เริ่มต้นมาตั้งแต่รุ่นของ “ดวงตา” ผู้เป็นมารดาของทราย ที่แม้ด้านหนึ่งจะเป็นเด็กหญิงที่ถูกชุบเลี้ยงไว้ในเรือนของ “คุณหญิงศิริ พรหมาตร์นารายณ์” แต่ด้วยเหตุผลที่ว่าคุณหญิงต้องการผูกมัดดวงตาให้อยู่เป็นข้ารับใช้ตนตลอดไป คุณหญิงจึงรู้เห็นเป็นใจให้ดวงตาคบหาเป็นภรรยาลับๆ ของบุตรชายหรือ “ศก” จนกระทั่งเธอตั้งท้องลูกสาวซึ่งก็คือทรายนั่นเอง และในเวลาเดียวกัน ในวันที่ดวงตาไปคลอดลูกที่โรงพยาบาล ก็เป็นวันเดียวกับที่คุณหญิงศิริวางแผนให้ศกกับเสาวนีย์ได้แต่งงานจดทะเบียนสมรส เพื่อกำหนดสถานะความเป็นอนุภรรยาให้กับดวงตาที่ต้องอยู่ใต้อาณัติของคุณหญิงและเสาวนีย์ในเวลาต่อมา จากความขัดแย้งตั้งแต่ในรุ่นของมารดา ยังผลให้เกิดความโกรธแค้นในรุ่นของลูกสาว เมื่อทรายเองก็ถูกเสาวนีย์กลั่นแกล้งตั้งแต่เด็ก โดยเฉพาะกับการกล่าวโทษว่าทรายพยายามจะฆ่าน้องสาวต่างมารดาอย่าง “ลูกศร” ให้ตกน้ำจนเกือบจะเสียชีวิต เป็นเหตุให้สองแม่ลูกมีอันต้องตัดสินใจเก็บกระเป๋า ระเห็จออกจากบ้านตระกูลพรหมาตร์นารายณ์ไป เมื่อวันเวลาผันผ่าน ทรายที่ไปเติบโตอยู่ในสหรัฐฯ ก็ได้กลายมาเป็นผู้ที่มั่งคั่งในฐานะทางเศรษฐกิจสังคม เธอจึงตัดสินใจเดินทางกลับมาเมืองไทย เพื่อร่วมงานศพของคุณหญิงศิริ และเพื่อดึงเสาวนีย์ให้กลับเข้าสู่เกมของการแก้แค้น จนนำไปสู่โศกนาฏกรรมการเสียชีวิตของลูกศรในท้ายที่สุดของเรื่อง   ด้วยพล็อตเรื่องที่กล่าวถึงการกลับมาแก้แค้นอันเป็นผลสืบเนื่องมาแต่คนรุ่นก่อน แม้ดูผิวเผินจะไม่ใช่เนื้อเรื่องที่ใหม่นักในละครโทรทัศน์บ้านเรา แต่หากเราเชื่อว่าภาพความขัดแย้งดังกล่าว เป็นการฉายให้เห็นการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจของชนชั้นนำในห้วงที่สังคมกำลังเปลี่ยนผ่านแล้ว โครงเรื่องทำนองนี้ก็มีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย สำหรับสังคมไทยในยุคดั้งเดิม หรืออาจเรียกเป็นอีกนัยได้ว่ายุคศักดินานั้น ชนชั้นนำเองก็คงมีทัศนะไม่ต่างจากตัวละครอย่างคุณหญิงศิริหรือเสาวนีย์เท่าใดนัก กล่าวคือ ในสังคมศักดินา อำนาจเกิดแต่บารมีและการบริหารจัดการผู้คนที่อยู่ภายใต้บารมีนั้นๆ ซึ่งก็คล้ายกับคุณหญิงศิริ ที่ด้วยฐานานุรูปและฐานันดรศักดิ์ เธอก็เลือกที่จะขอเด็กหญิงดวงตาจากพ่อแม่ชาวสวนมาอุปถัมภ์เลี้ยงดูจนเติบโต แต่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์แบบศักดินานั้น คุณหญิงได้ใช้กลวิธีซื้อใจให้ดวงตายอมอยู่ใต้อาณัติ ด้วยการส่งเสียให้เธอเรียนพยาบาล เพื่อที่ว่ามารดาของทรายจะยอมสวามิภักดิ์ และ “อาสาเจ้าจนตัวตาย อาสานายจนพอแรง” โดยไม่สนใจว่าลึกๆ แล้ว มนุษย์ที่เป็นแรงงานภายใต้ระบบอุปถัมภ์ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของความไม่เท่าเทียมดังกล่าว จะมีความรู้สึกนึกคิดเช่นไร แบบเดียวกับที่คุณหญิงเคยกล่าวกับศกเพื่อให้ทรายได้ยินด้วยว่า “ดวงตามันเลี้ยงไม่เชื่อง มันเป็นคนทะเยอทะยาน ถ้ามันไม่รักไม่หวังในตัวลูกอยู่ล่ะก็ มันคงไม่อยู่ให้แม่ใช้จนป่านนี้หรอก แม่ถึงบอกให้...ร้อยมันไว้ใช้เถิด ไม่เสียหายอะไรหรอก...” แต่ทว่า เมื่อสังคมศักดินาเริ่มอ่อนอำนาจลง ทุนทรัพย์ที่ได้สั่งสมมาก็มีแนวโน้มจะถูกนำไปใช้เพื่อรักษาบารมีและฐานานุรูปเอาไว้ เหมือนกับที่ตระกูลพรหมาตร์นารายณ์ก็ต้องขายสมบัติชิ้นแล้วชิ้นเล่าจนเกือบหมดตัว เพียงเพื่อรักษาสุขภาพ(และหน้าตา)ของคุณหญิงศิริในช่วงบั้นปลายชีวิต ในทางกลับกัน ตัวละครอย่างทรายก็ไม่ต่างไปจากภาพตัวแทน “the rise” ของระบบทุนนิยมใหม่ในท่ามกลาง “the fall” ของกลุ่มอำนาจเก่าที่กำลังร่วงโรยและอ่อนกำลังลง สำหรับชนชั้นนำในระบบทุนนิยมใหม่นั้น มักเน้นการสั่งสมทุนในหลายๆ แบบ เฉกเช่นทรายที่ไม่เพียงแต่เป็นตัวแทนของทุนไทยที่ไปประสานผลประโยชน์กับทุนนิยมตะวันตก (เหมือนตัวละครที่บัดนี้ได้กลายไปเป็นลูกเลี้ยงของนายทุนอเมริกันอย่าง “ดอน”) เท่านั้น เธอยังสั่งสมทุนความรู้จากต่างประเทศด้วยการจบมหาวิทยาลัยชื่อดังของสหรัฐฯ สั่งสมทุนชื่อเสียงเกียรติยศในแวดวงสังคมชั้นสูง รวมถึงบริหารจัดการเสน่ห์และเรือนร่างให้กลายเป็นทุนอีกชนิดหนึ่งเช่นกัน และในขณะที่ชนชั้นนำเดิมเลือกใช้วิธีการ “ร้อย” คนเอาไว้ใช้เป็นแรงงาน ระบบทุนนิยมแบบใหม่กลับเลือกใช้ทุนเป็นอำนาจเพื่อขูดรีดผู้คนและตอบโต้กับกลุ่มชนชั้นนำเก่า เหมือนกับที่ทรายเคยกล่าวไว้เป็นนัยกับมารดาว่า “แม่บอกทรายเสมอว่าเราสองไม่ต่างจากกรวดหินดินทรายในบ้านเขา แม่ถึงตั้งชื่อทรายว่าทรายเพื่อเตือนใจเรา” เพราะฉะนั้น “…ทรายจะเอาคืนทุกอย่างที่ควรเป็นของทราย” ดังนั้น เมื่อทุนเป็นเครื่องมือนำมาซึ่งอำนาจ ทรายจึงเริ่มบริหารทุนของเธอ ตั้งแต่ใช้เสน่ห์ยั่วยวน “พัชระ” คู่หมั้นของน้องสาว จนเขาถอนหมั้นกับลูกศรในที่สุด ใช้เม็ดเงินซื้อคฤหาสน์ของตระกูลพรหมาตร์นารายณ์ในช่วงที่ศกกำลังร้อนเงิน หรือแม้แต่หลอกใช้ผู้ชายที่ภักดีต่อเธอยิ่งอย่าง “ฌาน” เพื่อให้เป็นเพียงหมากตัวหนึ่งในเกมการแก้แค้นกับเสาวนีย์ บนสงครามระหว่างอำนาจเก่ากับกลุ่มทุนใหม่เช่นนี้ ฉากสุดท้ายก็มักจะนำไปสู่โศกนาฏกรรมของผู้คนที่แม้จะไม่ได้เป็นคู่สงครามในสมรภูมิ แต่ก็มักกลายเป็นผู้สูญเสียด้วยเช่นกัน เฉกเช่นตัวละครอย่างฌาน พัชระ หรือแม้แต่น้องสาวที่ใสซื่อไร้เดียงสาอย่างลูกศรผู้ที่ต้องจบชีวิตลงในตอนท้ายเรื่อง แม้ในบทสรุปของ “ทรายสีเพลิง” ตัวละครต่างๆ จะได้บทเรียนว่า ความขัดแย้งของกลุ่มอำนาจนั้น จะคลี่คลายได้ก็เพียงแต่ขั้วอำนาจที่ต่อสู้ขัดแย้งกันยินยอมจะ “ขอโทษ” และ “อโหสิกรรม” ให้กันและกัน หรือแม้ “บุรี” ผู้ชายที่ทรายแอบรักมาตั้งแต่วัยเยาว์จะกล่าวเป็นอุทาหรณ์เตือนใจว่า “ชีวิตมันไม่เหมือนจิ๊กซอว์ จะหยิบชิ้นไหนมาต่อผิดต่อถูกโดยไม่ต้องคิดก็ได้ เพราะถึงต่อผิด ก็มีโอกาสเลือกชิ้นใหม่มาต่อ แต่ชีวิต...ถ้าพลาดแล้วก็พลาดเลย ไม่มีโอกาสเปลี่ยนมาเริ่มต้นทำใหม่ได้อีกครั้ง” แต่คำถามก็คือ ความขัดแย้งที่เป็นเกมอำนาจในชีวิตจริงนั้น คำว่า “ขอโทษ” และ “อโหสิกรรม” จะเป็นคำตอบได้เพียงไร หรือในสงครามของคู่ความขัดแย้งในช่วงการเปลี่ยนผ่านทางสังคมแบบนี้ ทั้งสองฝ่ายจะยังเดินหน้าร้องครวญเป็นเพลงต่อไปว่า “ชาตินี้ที่รัก เราคงรักกันไม่ได้...”

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 164 รากบุญ รอยรัก แรงมาร : ความปรารถนาเป็นอาหารอันโอชาของกิเลส

หลังจากที่กล่องรากบุญ อันเป็นแหล่งรวมพลังของ “กิเลส” ได้ถูกเจ้าของกล่องอย่าง “เจติยา” นางเอกนักตกแต่งศพทำลายไปแล้วในภาคแรก คำถามที่ตามมาก็คือ แล้วกิเลสของมนุษย์สามารถถูกทำลายไปได้จนหมดจริงแล้วหรือ? เงื่อนไขที่กล่องรากบุญใบเก่าได้วางรหัสเอาไว้ก่อนหน้านั้นก็คือ ทุกครั้งที่เจ้าของกล่องได้ทำบุญด้วยการช่วยปลดปล่อยวิญญาณคนตายให้หลุดพ้นจากบ่วงกรรม เจ้าของกล่องรากบุญจะได้เหรียญมาหนึ่งเหรียญ และเมื่อสะสมเหรียญจนครบสามเหรียญ เจ้าของก็ต้องขอพรหนึ่งข้อ และกล่องก็จะบันดาลให้พรนั้นสัมฤทธิ์ตาม “ความปรารถนา” แต่เหตุที่เจติยาเลือกขอพรสุดท้ายให้กล่องรากบุญทำลายตัวเองไปนั้น ก็เพราะเธอเห็นแล้วว่า การทำบุญโดยหวังผลก็เป็นเพียงการแปรรูปโฉมโนมพรรณใหม่ของ “กิเลส” ชนิดหนึ่ง เพราะฉะนั้น ถ้ากล่องและเหรียญเป็นที่สั่งสมไว้ด้วยกิเลส ก็ต้องกำจัดกล่องรากบุญอันเป็นต้นตอของกิเลสนั้นเสีย ทว่า ด้วยปมคำถามที่ว่า กิเลสของมนุษย์สามารถถูกทำลายไปได้หมดจริงหรือไม่ มาถึงละครภาคต่อของเรื่อง “รากบุญ” นั้น แม้กล่องจะถูกทำลายไปแล้ว แต่เพราะเหรียญของกล่องรากบุญใบเก่าได้ถูก “วนันต์” ขโมยไปด้วยความโลภ จากเหรียญหนึ่งเหรียญก็ค่อยๆ แตกตัวมาเป็นสามเหรียญ และก็กลายเป็นกิเลสหยดเล็กๆ ที่ค่อยๆ สั่งสมขุมพลังให้ตนเองมีอำนาจมากขึ้น พลังของเหรียญที่มีกิเลสหล่อเลี้ยงอยู่ ได้สร้างปีศาจตนใหม่ขึ้นมาในชื่อว่า “กสิณ” ที่ตามท้องเรื่องเป็นปีศาจที่ไร้เพศไร้อัตลักษณ์ชัดเจน แต่ก็อาจจะด้วยว่าเป็นปีศาจที่ได้รับอิทธิพลจากกระแส J-pop หรืออย่างไรมิอาจทราบได้ ปีศาจกสิณจึงมักปรากฏตนในชุดยูกาตะของญี่ปุ่น และมีฝีมือดาบแบบซามูไรแดนอาทิตย์อุทัย เพื่อเพิ่มพลังให้กับกิเลสของมนุษย์ กสิณจึงพรางตัวอยู่ในเหรียญหนึ่งเหรียญ ซึ่ง “พิมพ์อร” ลูกสาวของวนันต์ได้ครอบครองอยู่ ทุกครั้งที่พิมพ์อรขอพรใดๆ ก็ตาม กสิณหรือปีศาจกิเลสก็จะมีพลังและอำนาจที่เพิ่มมากขึ้น แบบเดียวกับที่ปีศาจกสิณเคยเปรยขึ้นภายหลังจากครั้งหนึ่งที่พิมพ์อรลังเลที่จะไม่ขอพรว่า “เธอใจแข็งได้อีกไม่นานหรอก แล้วสักวัน ความปรารถนาของเธอจะเป็นอาหารอันโชะของฉัน...” เพราะฉะนั้น เมื่อความปรารถนาเป็นอาหารอันโอชารสของกิเลส กสิณจึงคอยตามเป็นเงาของพิมพ์อรอยู่ตลอดเวลา และเรียนรู้ที่จะเข้าไปกำกับก้นบึ้งในจิตใจของพิมพ์อร เพื่อล่อลวงและชักใยให้ผู้หญิงอย่างพิมพ์อรต้องขอพรตามปรารถนาลึกๆ ในใจ ก็ไม่ต่างไปจากภาพสัตว์อย่างกิ้งก่าที่พิมพ์อรเลี้ยงไว้ในห้องนอนของเธอ ที่ผู้กำกับจงใจตัดสลับไปมาในหลายๆ ครั้งคราที่พิมพ์อรกับกสิณสนทนากัน เพราะในขณะที่กิ้งก่าเป็นสัตว์ที่เลียนรู้ที่จะพรางตัวตามสภาวะแวดล้อมที่ต่างกันไป กสิณหรือตัวแทนของกิเลสก็เลียนรู้ที่จะปรับตัวตามธาตุแท้ของโลภะโทสะโมหะที่อยู่ในจิตใจของพิมพ์อรอย่างไม่แตกต่างกัน และเป้าหมายที่กสิณต้องการก็คือ การรวมพลังจากเหรียญที่อยู่ในมือของพิมพ์อรกับเหรียญที่เหลืออีกสองเหรียญเพื่อสร้างกล่องรากบุญใบใหม่ขึ้นมา ซึ่งเหรียญหนึ่งก็อยู่ในมือของ “อยุทธ์” ผู้เป็นน้องชายของพิมพ์อร กับอีกหนึ่งเหรียญที่เปลี่ยนถ่ายมือไปมาจนตกมาอยู่ในความครอบครองของนางเอกอย่างเจติยา แม้ในกรณีของอยุทธ์นั้น เขามีเดิมพันเรื่องการขอพรให้เหรียญช่วยยืดอายุของวนันต์บิดาผู้กำลังเจ็บป่วยใกล้ตาย ทำให้อยุทธ์ต้องเลือกขอพรและเติมความปรารถนาให้เป็นอาหารของกิเลสเป็นครั้งคราว แต่สำหรับเจติยาแล้ว เธอกลับเลือกที่จะยุติอำนาจของกิเลสที่บัดนี้พรางรูปมาอยู่ในร่างของกสิณนั่นเอง เพราะรู้เป้าหมายเบื้องลึกของกสิณที่จะรวมพลังของเหรียญทั้งสามเพื่อสร้างกล่องรากบุญใบใหม่ เจติยาจึงพยายามขัดขวางไม่ให้กิเลสได้สั่งสมขุมกำลังขึ้นมาใหม่ได้ ดังนั้นเจติยาจึงมุ่งมั่นทำความดีด้วยการปลดปล่อยความทุกข์ของวิญญาณคนตายให้หลุดพ้นจากการจองจำ และทุกครั้งที่เธอช่วยเหลือวิญญาณคนตายได้แล้ว แทนที่จะขอพรตามความปรารถนาให้กลายเป็นอาหารหล่อเลี้ยงกิเลสต่อไป เจติยากลับใช้วิธีการชำระเหรียญให้บริสุทธิ์ปราศจากความโลภโมโทสันแทน แต่เพราะเธอเลือกตั้งการ์ดเป็นอริกับกิเลสนี่เอง เจติยาจึงถูกทดสอบโดยกสิณเป็นระยะๆ ว่า เธอจะอดทนยืนหยัดต่อปรารถนาลึกๆ หรือกิเลสที่กำลังเรียกร้องอยู่ในจิตใจได้นานเพียงไร ไม่ว่าจะเป็นการที่กสิณพยายามเอาชีวิตของคนรอบข้าง เพื่อนสนิท น้องชาย ไปจนถึงมารดาของเธอมาเป็นเดิมพัน รวมทั้งล่อลวงสามีพระเอกอย่าง “ลาภิณ” ให้ถูกอำนาจมืดครอบงำจนลืมความรักที่มีต่อเจติยาไปชั่วคราว บทเรียนเหล่านี้จะว่าไปแล้ว ก็ไม่ต่างจากการให้คำตอบกับเราๆ ว่า แท้ที่จริง กิเลสไม่เคยห่างหายไปจากชีวิตของคนเราหรอก และกิเลสก็จะคอยทดสอบเราอยู่ตลอดเวลาว่า มนุษย์จะสามารถเอาชนะปรารถนาที่อยู่ลึกในใจของตนได้หรือไม่ เมื่อมาถึงบทสรุปของเรื่อง ในขณะที่พิมพ์อรที่เชื่อมั่นมาตลอดว่า เธอคือเจ้านายผู้สามารถควบคุมให้กสิณทำโน่นนี่ได้ตามใจปรารถนาของตนเอง แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว เธอกลับได้เรียนรู้ว่า กิเลสไม่เคยอยู่ใต้อำนาจของมนุษย์ หากแต่เป็นมนุษย์ที่สามารถตกเป็นทาสของกิเลสต่างหาก เหมือนกับที่พิมพ์อรได้พูดกับอยุทธ์ผู้เป็นน้องชายว่า “ใช่...พี่รู้แล้วว่าถูกหลอกมาตลอด กสิณไม่ใช่ทาสของพี่และคอยหาผลประโยชน์จากพี่ แต่พี่ก็จะใช้งานกสิณต่อไปเพื่อสร้างกล่องรากบุญขึ้นมาให้ได้ ต่อให้ฉันต้องขายวิญญาณให้ปีศาจ แต่ถ้ามันช่วยคุณพ่อได้ ฉันก็จะทำ” ในขณะเดียวกัน สำหรับผู้ครอบครองเหรียญอีกสองคนคือเจติยากับอยุทธ์ ต่างก็ค้นพบว่า แม้ปรารถนาลึกๆ ของตนต้องการขอพรเพื่อช่วยยืดชีวิตของบุพการีออกไปทั้งคู่ แต่ถึงที่สุดแล้ว ไม่มีใครหรอกที่จะฝ่าฝืนอายุขัยของตนเองไปได้ เหมือนกับบรรดาศพทั้งหลายที่ทั้งสองคนคอยดูแลตกแต่งศพแล้วศพเล่า เมื่อเข้าใจสัจธรรมชีวิตเยี่ยงนี้ แม้กสิณจะบีบบังคับให้เจติยาและอยุทธ์ร่วมสร้างกล่องรากบุญใบใหม่ขึ้นมาได้ แต่พรที่อยุทธ์ขอเป็นข้อแรกจากกล่องใบใหม่ก็คือ ให้กล่องรากบุญทำลายตัวเองและทำลายพลังของกสิณให้สิ้นซากไป แม้บทเรียนของเหรียญและปีศาจกสิณจะบอกกับเราว่า กิเลสไม่เคยห่างหายไปจากจิตใจของมนุษย์ได้หรอก แต่หากมีจังหวะสักช่วงชีวิตที่เราจะบอกตนเองว่า ถึงกิเลสจะไม่เคยหายไป แต่แค่เพียงเราไม่พยายามเพิ่มพูนความปรารถนาให้มากเกินไปกว่านี้ อย่างน้อยเหรียญพลังของกิเลสก็ยังมีโอกาสจะถูกชำระให้สะอาดขึ้นได้บ้างเช่นกัน  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 163 ดาวเคียงเดือน : กับความลงตัวบนความต่าง

ระบบคิดของคนไทยสมัยก่อนเชื่อกันว่า “ความเหมาะสม” คือคำตอบที่ถูกต้องของ “ความลงตัว” แบบที่สำนวนไทยมักจะอธิบายว่า “ขนม” ต้องให้ “พอสมกับน้ำยา” จึงจะมีรสชาติอร่อย หรือแม้แต่ในชีวิตของการครองรักครองเรือน ที่เราก็มีคำพูดว่า “กิ่งทอง” ก็ต้องคู่กับ “ใบหยก” จึงจะทำให้คนสองคนที่ “ควรคู่” ได้ครองรักเป็น “คู่ควร” กันจริงๆ เพราะฉะนั้น เมื่อความเหมาะเจาะลงตัวเกิดเนื่องมาแต่ “ความเหมือน” หรือ “ความเสมอกัน” เยี่ยงนี้ กลไกที่คนโบราณใช้ก็คือ ประเพณีการคลุมถุงชน ที่จะอาศัยสายตาของญาติผู้ใหญ่เป็นผู้จำแนกแยกแยะและตัดสินว่าใครเหมาะกับใคร ใครคู่ควรกับใคร จึงจะเสมอกันด้วยศักดิ์ชั้น ฐานะ และชาติตระกูล แต่เมื่อกาลสมัยเปลี่ยนแปลงไป จึงเกิดคำถามขึ้นมาใหม่ว่า แล้ว “ความลงตัว” จำเป็นต้องพ่วงมาด้วย “ความเสมอกัน” เสมอไปหรือไม่ คำถามเรื่อง “ความลงตัว” เช่นนี้ ก็คือสิ่งที่เธอและเขาซึ่งเป็นตัวละครหลายๆ คู่ ในละครโทรทัศน์เรื่อง “ดาวเคียงเดือน” ร่วมกันหาคำตอบให้กับการใช้ชีวิตคู่ของตนเอง เริ่มต้นตั้งแต่เรื่องราวของ “ดาริกา” หลานสาวของสัปเหร่อที่มาทำงานอยู่บริษัทออร์แกไนเซอร์ และจับพลัดจับผลูถูกไหว้วานจากเพื่อนสนิทให้มาช่วยดูแลคอนโดฯสุดหรูชั่วคราว จนได้มาพบกับพระเอกหนุ่มเจ้าระเบียบอย่าง “หม่อมหลวงจันทรกานต์” หรือ “คุณจันทร์” ลูกท่านหลานเธอเจ้าของห้างสรรพสินค้าแกรนด์ และพักอยู่ห้องติดกันในคอนโดฯ เดียวกับดาริกา ความวุ่นวายของเรื่องจึงเกิดขึ้น เพราะดาริกาเข้าใจผิดว่าคุณจันทร์กับเลขานุการส่วนตัว “วิวิทธิ์” เป็นเกย์คู่รักกัน ยิ่งเมื่อบริษัทของเธอต้องมารับจัดงานครบรอบ 50 ปีของห้างแกรนด์ ดาริกาก็บังเอิญรู้เท่าไม่ถึงการณ์จัดฉากให้คุณจันทร์มารับแสดงบทบาทเจ้าชายเชิญกุญแจเปิดห้าง จนนำความไม่พอใจมาให้กับ “ดาราราย” มารดาของคุณจันทร์นับตั้งแต่นั้นมา   แม้จะถูกดารารายขัดขวางความรักของคนทั้งสอง เพราะเล็งเห็นความ “ไม่ควรคู่” ระหว่างศักดิ์ชั้นของคุณจันทร์กับความเป็นหลานสาวสัปเหร่อของดาริกา แต่สำหรับคุณจันทร์แล้ว ไม่เพียงแต่เขาจะประทับใจดาริกาที่เป็นผู้หญิงชนชั้นล่างที่ต่อสู้ชีวิตเท่านั้น เมื่อได้มาเจอกับตาสัปเหร่อและแม่ของดาริกา เขาก็พบว่า ครอบครัวที่เล็กๆ แต่อบอุ่นแบบนี้ คงไม่ใช่เรื่องของฐานานุรูปหรือชนชั้นหรอกที่จะเป็นคำตอบเรื่องความเหมาะสมในการครองรักและครองเรือน ในส่วนของดาริกา แม้จะเข้าใจผิดทั้งที่ว่าคุณจันทร์เป็นเกย์ และที่ต้องยอมให้ถูกจับคลุมถุงชนกับ “อิงฟ้า” ลูกสาวคนเดียวของ “หม่อมราชวงศ์หญิงอรชร” ก็คงเพื่อปกปิดรสนิยมแบบชายรักชายของตน แต่ลึกๆ แล้ว เธอเองก็ประทับใจในความดีและความติดดินของคุณจันทร์ที่แม้จะชั้นศักดิ์สูงกว่าเธอก็ตาม แบบเดียวกับที่ดาริกาได้สารภาพความในใจกับคุณจันทร์ ก่อนที่เขาจะถูกทำร้ายจนหมดสติไปว่า “ฉันรักคุณตั้งแต่แรกเห็น รักทั้งๆ ที่เข้าใจว่าคุณเป็นเกย์ รักทั้งๆ ที่รู้ว่าคุณสูงส่งและฉันต่ำต้อยแค่ไหน รักทั้งๆ ที่เราต่างกันเหลือเกิน...” เพราะฉะนั้น ในขณะที่ดารารายและคุณหญิงอรชรจะเห็นว่า ความเหมาะสมและทัดเทียมกันคือความลงตัว แต่กฎกติกามารยาทนี้คงไม่ใช่สำหรับคนอีกเจนเนอเรชั่นหนึ่งที่พบว่า ความรักและความลงตัวไม่จำเป็นต้องใช้เกณฑ์ความแตกต่างเรื่องศักดิ์ชั้นหรือรสนิยมทางเพศมาเป็นเส้นกั้นแบ่งแยกจำแนกคน เฉกเช่นเดียวกับตัวละครคู่อื่นๆ ในท้องเรื่อง ก็ดูจะเจริญรอยตามและตั้งคำถามที่ปฏิเสธเส้นแบ่งความแตกต่างดังกล่าวไม่ต่างกันเลย ไม่ว่าจะเป็นวิวิทธิ์และอิงฟ้า ที่แม้เขาจะต่ำศักดิ์แต่ก็มุมานะต่อสู้ชีวิต ส่วนเธอที่สูงศักดิ์แต่ก็รักช่วยเหลือสังคมในฐานะประธานชมรมช่วยเหลือเด็กเร่ร่อน ความไม่คู่ควรที่นำเสนอเป็นภาพตัดสลับตัวละครวิวิทธิ์กับภาพของ “สุนัขที่เห็นเครื่องบิน” นั้น ก็ดูไม่ใช่คำตอบที่จะกีดกันความรักของคนคู่นี้เลย หรือกรณีของ “พิชญา” ที่แอบหมายปองคุณจันทร์มานานหลายปี แต่ต้องตัดสินใจมาแต่งงานกับ “หม่อมหลวงจักรพัฒน์” ลูกพี่ลูกน้องของคุณจันทร์ แต่เมื่อรู้ว่าครอบครัวของจักรพัฒน์ไม่มีทรัพย์สมบัติใดติดตัว ทั้งคู่ก็ระหองระแหงเพราะผลประโยชน์ที่ขัดแย้งกัน แต่ทว่าถึงที่สุดแล้ว ความแตกต่างของผลประโยชน์ก็ไม่ได้เป็นตัวกำหนดความคู่ควรและความเข้าใจของทั้งคู่แต่อย่างใด ส่วนกรณีของ “วรางค์” เจ้านายสาวของดารารายกับ “อาร์ตี้” คนรักหนุ่มที่อ่อนวัยกว่านั้น ด้วยช่องว่างระหว่างวัยที่เหมือนจะเป็นอุปสรรคสำคัญ แต่หากไม่นับเรื่องของอายุที่อุปโลกน์มาเป็นเส้นกั้นแล้ว ความลงตัวก็เป็นไปได้ในความแตกต่างระหว่างวัยเช่นกัน รวมไปถึงคู่รักรุ่นเล็กที่ต่างกันสุดลิ่มทิ่มประตูอย่าง “ป๊อบ” น้องชายของวรางค์ และ “นาง” ที่ดูติ๊งต๊องไม่เป็นโล้เป็นพาย แม้จะมาจากฐานครอบครัวที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง แต่ในมุมเล็กๆ ความแตกต่างที่สิ้นเชิง ก็ไม่ใช่ความแตกต่างที่แยกขาดได้แบบเบ็ดเสร็จสมบูรณ์จริงๆ จะว่าไปแล้ว เมื่อเทียบกันในแง่ความสุกสกาวสว่างไสวนั้น “ดาว” กับ “เดือน” ก็ยากที่จะคู่ควรกันได้ เหมือนกับ “หิ่งห้อยฤๅจะไปแข่งกับแสงจันทร์” แต่ปรากฏการณ์แบบ “ดาวที่เคียงกับเดือน” ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้นั้น ก็พิสูจน์ให้เห็นว่า ในความต่างบางอย่างก็อาจเป็นความลงตัว แบบที่ฝ่ายหนึ่งจะขาดซึ่งอีกฝ่ายหนึ่งไปไม่ได้เลย เหมือนกับที่ดาริกาเคยเตือนสติให้กับป๊อบ ที่พยายามขัดขวางความรักของพี่สาวเพียงเพราะความแตกต่างเรื่องวัยกับแฟนหนุ่มว่า ความรักของคนสองคนนั้นจริงๆ แล้ว เป็น “ความลงตัวบนความต่าง ความต่างที่ลงตัว” และเป็น “ความรักที่ลองผิดลองถูก ผ่านทดสอบกันครั้งแล้วครั้งเล่า ความรักของเขาทั้งคู่อยู่บนความต่าง แต่ก็เป็นความต่างที่มั่นคง” สำหรับสังคมไทยในยุคนี้ “ความลงตัวบนความต่าง” ในความรักดังกล่าว ก็คงไม่ต่างไปจากการที่เราเพียรพยายามลบเส้นแบ่ง และสลายสีเสื้อหรือความแตกต่างทางความคิดที่ห่อหุ้มตัวเราอยู่เท่าใดนัก แต่หากจะเป็นไปได้ นอกจากจะพยายามหาความลงตัวบนความขัดแย้งระหว่างจุดยืนทางการเมืองแล้ว เราเองก็น่าจะหาทางลบเส้นกั้นแบ่งความแตกต่างอื่นๆ ระหว่างศักดิ์ชั้น เพศวิถี อายุ และผลประโยชน์ต่างๆ ลงด้วยเช่นกัน เพราะเมื่อนั้น “ดาว” กับ “เดือน” จะได้เคียงคู่กันอย่างคู่ควรจริงๆ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 162 รักนี้เจ้จัดให้ : ชีวิตจริงที่ไม่ได้เห็นผ่านเลนส์

ปรมาจารย์ด้านจิตวิเคราะห์นามอุโฆษอย่าง ซิกมันด์ ฟรอยด์ เคยอธิบายว่า จิตใจของมนุษย์มีอย่างน้อยสองด้าน เสมือนกับก้อนน้ำแข็งที่ลอยอยู่ในน้ำ ด้านหนึ่งก็เป็นส่วนของจิตที่เรามีสำนึกรู้สึกตัว และเผยให้เห็นแบบน้ำแข็งส่วนที่โผล่พ้นน้ำขึ้นมา กับอีกด้านหนึ่งที่เป็นส่วนของจิตไร้สำนึกดิบๆ ที่ซ่อนเร้นอยู่ใต้ผิวน้ำนั้น และฟรอยด์อีกเช่นกันที่กล่าวว่า ด้วยกรอบประเพณีปฏิบัติต่างๆ ของสังคม ทำให้ส่วนที่เป็นสัญชาตญาณลึกที่แฝงเร้นเป็นก้อนน้ำแข็งใต้น้ำ มักจะกลายเป็นส่วนที่เต็มไปด้วยความเจ็บปวดหรือบาดแผลบางอย่างให้ต้องทำตามปรารถนาของกรอบสังคม โดยที่มนุษย์เองก็พยายามจะปิดกั้นเก็บกดความรู้สึกบาดเจ็บดังกล่าวนั้นเอาไว้ เมื่อเป็นดั่งนี้ หากมนุษย์เราเข้าใจเรื่องบาดแผลและการเยียวยาที่เกิดขึ้นในจิตใจของเพื่อนร่วมโลกด้วยกัน ความรู้สึกแบบ “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” ก็จะเกิดขึ้นระหว่างกันและกันได้อย่างไม่ยากเย็นนัก ก็คงเหมือนกับตัวละครอย่าง “พอล” ช่างภาพอิสระหนุ่มมาดเซอร์ จากที่เคยตระเวนท่องป่าเขาดงดอยเพื่อถ่ายภาพธรรมชาติที่ต่างๆ ก็ต้องจับพลัดจับผลูปลอมตัวมาเป็นพี่ชายฝาแฝดอย่าง “พีท” ดารานายแบบหนุ่มหล่อ และก็ต้องมาใช้ชีวิตอยู่ในแวดวงสังคมที่ช่างภาพอย่างเขาไม่คุ้นเคยมาก่อน เหตุผลของการปลอมตัวดังกล่าวก็เนื่องมาแต่พีท ที่แม้จะเป็นดาราพระเอกหนุ่มคนดัง แต่ภายในจิตใจเบื้องลึกที่เก็บกดไว้ใต้ก้อนน้ำแข็งนั้น เขาเป็นเกย์ที่โหยหาความรัก แต่กลับถูกแฟนหนุ่มที่ตนรักมากหลอกเอาจนหมดตัว และคิดสั้นกินยาตายจนพลาดท่ากลิ้งตกบันไดแขนขาหัก พอลจึงต้องปลอมตัวมาเป็นพีท เพื่อช่วยรักษาชื่อเสียงความเป็นดาราให้กับพี่ชายฝาแฝดของตน จากการปลอมตัวครั้งนี้ พอลก็ได้รู้จักกับ “ลูกจัน” บรรณาธิการสาวสวยแห่งนิตยสารเซเลบ แม้ฉากหน้าเธอจะเป็นผู้หญิงสวยเปรี้ยวมั่นใจและมุ่งมั่นทำงานเขียนคอลัมน์วิจารณ์บุรุษเพศอย่างแสบสันต์ แต่ลึกๆ แล้ว ลูกจันกลับเจ็บปวดที่โดนคนรักเก่าหักอก พร้อมๆ กับที่แม่และยายของเธอก็ยังเคยถูกผู้ชายที่รักทอดทิ้งไป ด้วยบาดแผลและความเจ็บปวดที่สืบต่อจากรุ่นสู่รุ่น ลูกจันจึงเกลียดผู้ชายเป็นอย่างยิ่ง และยึดมั่นในคติที่ว่า “แม้นแผ่นดินสิ้นชายที่พึงเชย อย่ามีคู่เสียเลยจะดีกว่า...” และเพราะลูกจันกับพีทต่างก็มีบาดแผลลึกๆ ในจิตใจเช่นนี้ ทั้งคู่จึงคบหาเป็นเพื่อนสนิทกัน รวมทั้งตกลงอาศัยอยู่ร่วมชายคาเดียวกัน และพร้อมจะร่วมทุกข์ร่วมสุขเป็นเพื่อนรักที่ปรึกษาแลกเปลี่ยนปัญหากันได้ในทุกเรื่อง โดยพล็อตเรื่องของสูตรละครแบบ “การปลอมตัว” ดังกล่าว จริงๆ แล้วก็คือ “ห้องทดลอง” ชนิดหนึ่งที่เปิดโอกาสให้เราได้ทดลองสวมบทบาทเป็นผู้อื่นดูบ้าง เราจะได้เลียนรู้และเข้าใจบทบาทของคนที่ต้องแตกต่างไปจากชีวิตประจำวันของเรา ก็เหมือนกับพอลที่เมื่อได้ปลอมตัวมาเป็นพีท พอลก็ต้องเริ่มเรียนรู้ว่า คนแต่ละคนที่สวมบทบาทแตกต่างกัน ต่างก็มี “บท” หรือ “สคริปต์” ให้ต้องเล่นแตกต่างกันไปด้วย ในขณะที่บทบาทช่างภาพอิสระอาจจะมีอิสระที่จะเดินทางไปโน่นมานี่ได้อย่างเสรี แต่กับบทบาททางอาชีพของดารากลับมีความเป็นบุคคลสาธารณะมาตีกรอบให้ต้องถูกสังคมจับจ้องมองดูอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น เมื่อต้องมาสวมบทบาทใหม่เป็นดารา พอลก็ต้องเริ่มโกนหนวดโกนเคราและตัดผมที่ยาวกระเซอะกระเซิงออกไป ต้องเล่นบทบาทการประทินหน้าตาและผิวกายอยู่ทุกค่ำคืน เพราะเรือนร่างเป็นต้นทุนที่สำคัญในการทำมาหากินของคนที่อยู่วิชาชีพนี้ และที่สำคัญ ต้องแสดงการเก็บกดความเป็นเพศวิถีแบบ “ชายรักชาย” ที่สังคมกำหนดว่าไม่ใช่แบบอย่างที่ดีสำหรับบุคคลสาธารณะพึงทำ การสวมบทบาทที่เปลี่ยนไป จึงไม่ต่างอันใดกับการเปลี่ยนแปลงตัวตนและอัตลักษณ์ที่มนุษย์คนหนึ่งๆ กำลังยอมรับหรือต่อรองกับกฎกติกามารยาทของสังคม จนในบางครั้งก็แม้แต่ต้องยินยอมเก็บกั้นปรารถนาลึกๆ ในจิตใจของตนเอาไว้เช่นกัน เมื่อต้องปรับเปลี่ยนบทบาทดังกล่าว ไม่เพียงแต่พอลจะเข้าใจปมในจิตใจของพี่ชายฝาแฝดเท่านั้น แม้แต่กับลูกจันผู้ที่เขาต้องปลอมตัวมาอยู่ร่วมชายคาเดียวกัน พอลก็เริ่มเห็นว่า ภายใต้หน้ากากความเป็นหญิงมั่นและดูแข็งแกร่งนั้น แท้จริงแล้วลูกจันก็มีบาดแผลเจ็บปวดจากความรักที่ฝังแน่นมาตั้งแต่อดีต เหมือนกับที่ครั้งหนึ่ง ลูกจันซึ่งกำลังเมาได้เผยความเจ็บปวดที่อยู่ในใจกับพอลว่า “ฉันเศร้า...เศร้ามากเลย...บางทีฉันก็รู้สึกว่าฉันไม่ได้เก่ง ไม่ได้แกร่งเหมือนที่ใครๆ คิดเลย” ห้องทดลองที่เปิดโอกาสให้พอลได้ไปสวมตัวตนและอัตลักษณ์ใหม่เช่นนี้ ทำให้เขาเริ่มมองเห็นความเป็นมนุษย์จริงๆ ที่ไม่ได้มองผ่านเลนส์หน้ากล้องซึ่งซ้อนทับอยู่อีกชั้นหนึ่ง จนกลายเป็นความรักให้กับลูกจันและกลายเป็นความเข้าใจที่มีให้พีทพี่ชายของตน หรือแม้กระทั่งกับตัวละครผู้ร้ายอย่าง “ณัฐ” ผู้เป็นทั้งแฟนเก่าที่ทำร้ายจิตใจลูกจัน และเป็นชายหนุ่มที่หลอกลวงพีทจนพยายามฆ่าตัวตาย ในท้ายที่สุดพอลก็ได้เข้าใจว่า แม้แต่ปัจเจกบุคคลที่ต้องมาสวมบทบาทเป็นตัวร้ายเช่นนี้ ลึกๆ เบื้องหลังแล้วก็มีปมความเจ็บปวดจาก “พ่อแม่รังแกฉัน” ที่เขาต้องทำทุกอย่างเพื่อหาเงินมาให้บุพการีผลาญในบ่อนการพนัน “ความรัก” และ “ความเข้าใจ” ระหว่างเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ดูจะเป็นปัญหาใหญ่ยิ่งของสังคมเราทุกวันนี้ ก็คงไม่ต่างจากตัวละครอย่างพอลซึ่งในท้ายที่สุดก็ได้เห็นว่า มนุษย์ทุกคนต่างก็มีบาดแผลบางอย่างที่ต้องการการเยียวยา และในเวลาเดียวกัน ก็ไม่มีมนุษย์คนใดหรอกที่จะสามารถเป็นเสรีชนผู้โดดเดี่ยวและตัดขาดตัวเองจากโลกภายนอกไปได้เลย ตราบใดที่มนุษย์ยังต้องอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มเป็นสังคม บางครั้ง “รักนี้” ก็คงไม่ต้องรอให้ “เจ้จัดให้” เสมอไปหรอก หากเรารู้จักปรับโฟกัสหรือปรับเลนส์ที่อยู่หน้ากล้องกันเป็นระยะๆ หรือหัดเอาใจ “ไปยืนในที่ของคนอื่น” เสียบ้าง ความรักความเข้าใจก็คงไม่น่าไกลเกินจะสร้างขึ้นได้จริง

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 161 สุสานคนเป็น : ความโลภของคนที่ตายทั้งเป็น

แค่ได้ยินชื่อเรื่องของละครโทรทัศน์ว่า “สุสานคนเป็น” ผมก็เกิดคำถามข้อแรกขึ้นมาว่า ทำไมอยู่ดีๆ สุสานที่เป็นที่สถิตของมนุษย์ผู้วายปราณไปแล้ว จึงกลายมาเป็นสถานที่ที่ให้คนเป็นๆ ได้เข้าไปอยู่ เรื่องราวของตัวละครอย่าง “ลั่นทม” เศรษฐินีสาวใหญ่ที่มั่งคั่งด้วยสมบัติพัสถานมากมาย แม้ลั่นทมจะเป็นผู้หญิงที่ยึดมั่นและทุ่มเททุกอย่างให้กับความรักที่มีต่อสามีอย่าง “ชีพ” แต่ลั่นทมกลับต้องพบกับการทรยศจากชีพผู้ที่หวังจะครอบครองสมบัติของเธอเพียงอย่างเดียว ไม่เพียงแต่ชีพที่หวังในทรัพย์สมบัติอันมหาศาลของลั่นทมเท่านั้น เขายังหวังจะครอบครองตัวของ “อุษา” หลานสาวที่ลั่นทมรักมาก รวมทั้งเขายังได้ชักนำภรรยาลับๆ อีกคนอย่าง “รสสุคนธ์” เข้ามาในบ้าน โดยที่ทั้งชีพและรสสุคนธ์ได้ร่วมมือกันวางแผนทุกอย่าง เพื่อจะเข้ามายึดครองทรัพย์ศฤงคารและกำจัดลั่นทมออกไปเสีย ในขณะเดียวกัน ลั่นทมเองก็เป็นโรคประหลาด ที่มักมีอาการวูบแล้วนิ่งไปประหนึ่งคนที่ตายแล้ว ทั้งๆ ที่เธอยังมีชีวิตอยู่ จนขนาดที่ครั้งหนึ่งเธอได้ถูกชีพและรสสุคนธ์จับมัดตราสังลงโลงไปแล้ว แต่ด้วยความช่วยเหลือของอุษาและนายตำรวจอย่าง “ธารินทร์” ลั่นทมก็ฟื้นกลับคืนมาใช้ชีวิตเป็นมนุษย์ตัวเป็นๆ อีกคำรบหนึ่ง และอาการโรคประหลาดแบบตายไปแล้วหรือถูกจับลงตอกตะปูปิดฝาโลงไปแล้ว แต่ก็ยังกลับฟื้นคืนชีวิตได้เช่นนี้เอง ก็ได้กลายมาเป็นปมความขัดแย้งสำคัญที่อยู่ในท้องเรื่องของละคร   เริ่มตั้งแต่ตัวของลั่นทมเอง ที่เมื่อมีอาการวูบนิ่งราวกับเป็นคนตาย ดวงจิตของเธอก็ได้ไปสัมผัสเห็นเบื้องหลังความไม่ซื่อสัตย์ของสามีที่นอกใจเธอ แต่ก็ด้วยความรักที่มีต่อเขา ลั่นทมจึงยังคงพยายามคิดที่จะให้อภัยชีพอยู่ตลอดมา ในเวลาเดียวกัน เมื่อต้องถูกกักขังอยู่ในโลงและในร่างที่ขยับไม่ได้ แต่โสตประสาทได้ยินตลอด ทว่าจะพูดหรือจะเปล่งเสียงให้ใครได้ยินก็มิอาจทำได้ ลั่นทมก็ค่อยๆ เข้าใจความเป็นจริงของชีวิตว่า มนุษย์เราก็เท่านี้ จะโลภะโทสะโมหะกันไปอย่างไร แต่ “สุดท้ายต้องไปที่สุสาน” ด้วยกันทุกคน ดังนั้น เมื่อลั่นทมกลับฟื้นคืนชีวิตมาได้อีกครั้ง สิ่งแรกที่เธอลงมือทำก็คือ การสร้างโลงศพแก้วและสุสานเอาไว้ในอาณาบริเวณของบ้าน แม้คนรอบข้างจะพยายามเตือนว่า การสร้างสุสานในบ้านนั้นถือว่าไม่เป็นมงคลเอาเสียเลย แต่ลั่นทมก็คงต้องการใช้โลงศพเป็นกุศโลบายของการมรณานุสติ เพื่อเตือนตัวละครคนเป็นๆ ทั้งหลาย โดยเฉพาะชีพและรสสุคนธ์ให้รู้จักละทิ้งซึ่งความโลภโกรธหลงออกไปเสีย แต่เนื่องจากความโลภโมโทสันนั้นไม่เข้าใครออกใคร และละครก็คงต้องการบอกเป็นนัยด้วยว่า ความโลภเป็นยิ่งกว่า “ผีสิง” และไม่ต่างไปจาก “สุสานที่ฝังคนเป็นๆ” เอาไว้ในร่างที่เวียนว่ายอยู่ในกิเลสตัณหา เพราะฉะนั้นท้ายที่สุดชีพและรสสุคนธ์ก็จัดการวางแผนฆาตกรรมลั่นทมได้สำเร็จ และส่งร่างที่ไร้วิญญาณลงไปอยู่ในโลงแก้วที่เธอเตรียมเอาไว้นั่นเอง อย่างไรก็ดี อาจเป็นด้วยลั่นทมเป็นสาวใหญ่ที่มีหัวใจในแบบ “โพสต์โมเดิร์น” หรือที่รู้จักกันว่าเป็นวิธีคิดที่เชื่อเรื่องการสลายสีและสลายเส้นแบ่งทุกอย่าง เมื่อตอนยังมีชีวิตอยู่ เธอก็ถูกกักขังวิญญาณให้กลายเป็นประหนึ่งคนตาย จนยากจะเห็นเส้นแบ่งว่า จริงๆ แล้วเธอยังเป็น “คนเป็น” หรือเป็น “คนที่ตายไปแล้ว” เพราะฉะนั้น เมื่อลั่นทมตายไปจริงๆ เธอก็ยังคงทำให้คนรอบข้างอย่างอุษาสนเท่ห์ใจว่า คุณน้าของเธอตายไปแล้วจริงหรือ จนแม้เมื่อแพทย์ยืนยันว่าเธอเสียชีวิตแล้วจริงๆ ลั่นทมก็ยังเวียนว่ายกลายเป็นผีที่คอยคุ้มครองหลานสาวและบรรดาคนรับใช้ผู้ภักดี ไม่ต่างจากครั้งเมื่อเธอยังมีชีวิตอยู่ และด้วยการใส่เกียร์หัวใจแบบ “โพสต์โมเดิร์น” อีกเช่นกัน ที่ทำให้วิญญาณของลั่นทมได้ลบเลือนเส้นแบ่งระหว่างความเป็นและความตายออกจากกัน และพยายามบอกกับทุกคนว่า สุสานอาจไม่ใช่ที่สถิตของคนตายเสมอไป แม้แต่คนเป็นๆ ที่มีความโลภในจิตใจ ก็ไม่ต่างจากคนที่ถูกฝังอยู่ในโลงหรือมีสุสานที่คอยอ้าแขนต้อนรับพวกเขาอยู่เสมอเช่นกัน เพราะคนไทยเชื่อกันว่า “ผี” เป็นรูปแบบหนึ่งของกระบวนการควบคุมทางสังคม ลั่นทมจึงเริ่มให้บทเรียนกับตัวละครที่ประพฤติมิชอบไปทีละคนสองคน ด้วยการจับคนโลภเหล่านั้นเข้าไปนอนอยู่ในโลงในสุสาน โดยใช้ชีวิตอยู่ในโลกเสมือนที่ก้ำกึ่งระหว่างความเป็นกับความตาย ด้านหนึ่งก็คงเป็นด้วยว่า คนโลภนั้นเมื่อไม่เห็นโลงศพก็จะไม่หลั่งน้ำตา เพราะฉะนั้นพวกเขาจะซาบซึ้งกับตัวตนของความโลภได้ ก็ต่อเมื่อคนเป็นๆ อย่างเขาถูกทำให้กลายเป็น “คนที่ตายทั้งเป็น” ขึ้นมาทันที ก็คงเป็นแบบเดียวกับที่วิญญาณผีของลั่นทมได้พูดกับอุษาผู้เป็นหลานสาวว่า “กับคนบางคนที่ไม่มีสำนึก คนบางคนที่ไม่เกรงกลัวบาป ปล่อยให้น้าจัดการด้วยวิธีของน้าจะดีกว่า...” โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับหญิงร้ายชายเลวอย่างรสสุคนธ์และชีพ ที่ลั่นทมเห็นว่าเป็นคนที่โลภเกินกว่าจะเยียวยาได้นั้น วิญญาณคุณน้าลั่นทมก็ได้สร้างโลกเสมือนอีกแบบหนึ่งขึ้นมา ด้วยการจับคนทั้งคู่ล่ามคล้องโซ่ผูกติดกันไว้ และจับขังอยู่ในสุสานเก็บศพที่วัดจริงๆ เมื่อชายหญิงสองคนถูกล่ามโซ่ติดกันเอาไว้ ธาตุแท้ของคนทั้งสองก็ถูกเผยออกมาให้เห็นว่า แท้จริงแล้วความโลภไม่ได้ทำให้คนเรารักกันได้จริงๆ หรอก หากแต่คนโลภจะอยู่ด้วยกันก็เพียงเพราะความเห็นแก่ตัวและเห็นแก่ผลประโยชน์สูงสุดของตนเองเท่านั้น เหมือนกับที่ชีพได้ลงมือฆ่ารสสุคนธ์และกลายเป็นคนเสียสติไป ก็เพราะความโลภและเห็นแก่ตัวที่ต้องการเอาชีวิตรอดของเขานั่นเอง แม้ “สุดท้ายต้องไปที่สุสาน” เหมือนกับเพลงประกอบที่ร้องคั่นขึ้นมาในทุกเบรกของละคร แต่สำหรับ “คนเป็น” ที่ยังคงเปี่ยมไปด้วยความโลภโมโทสันแล้ว ก็คงมีแต่วิญญาณของลั่นทมที่จะจับคนเหล่านี้มานอนกักขังอยู่ในโลงแก้ว เพื่อจะบอกกับพวกเขาว่า ไม่ต้องรอให้ตายจริงๆ หรอก เพราะความโลภก็คงไม่ต่างจากสุสานที่ฝังคนเป็นๆ ที่เปี่ยมไปด้วยโลภจริตเอาไว้ได้เช่นเดียวกัน   //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 160 อย่าลืมฉัน : กลับตัวก็ไม่ได้ ให้เดินต่อไปก็คงไม่ถึง

คนหลายคนอาจจะสงสัยว่า บนเส้นทางการพัฒนาเศรษฐกิจการเมืองของสังคมไทยจวบจนทุกวันนี้นั้น กราฟวิธีคิดของคนไทยจะเลือกเดินเป็นเส้นตรงไปข้างหน้า หรือจะมีเส้นกราฟที่ดำเนินไปในทิศทางใด หนึ่งในคำตอบต่อข้อสงสัยดังกล่าว อาจจะลองฉายภาพดูได้จากโลกของละครโทรทัศน์ร่วมสมัยนั่นเอง ก็คงคล้ายๆ กับการขับเคลื่อนไปของชีวิตตัวละครอย่าง “เขมชาติ” และ “สุริยาวดี” ที่ให้คำตอบกับความข้างต้นว่า ใจหนึ่งสังคมเศรษฐกิจก็คงไม่ต่างจากกราฟชีวิตของตัวละครทั้งสองที่เดินมุ่งไปวันข้างหน้า แต่ในความเป็นจริงแล้ว อีกด้านของทั้งคู่กลับมีปมบางอย่างให้ต้องหวนย้อนกลับสู่อดีต เข้าทำนองที่ว่า “กลับตัวก็ไม่ได้ ให้เดินต่อไปก็คงไม่ถึง” เรื่องราวของเขมชาติและสุริยาวดี (หรือ “หนูเล็ก”) นั้น เริ่มต้นจากการเป็นรักแรกของกันและกันตั้งแต่เป็นเพื่อนร่วมมหาวิทยาลัย ด้วยความมุ่งมั่นที่จะสร้างอนาคตไปข้างหน้าร่วมกับสุริยาวดี เขมชาติจึงมุมานะทำงานอย่างหนัก และมอบแหวนรูปดอกฟอร์เก็ตมีน็อตไว้ให้หญิงคนรัก เพื่อเป็นตัวแทนของความรักที่ไม่มีวันลืมหรือพรากจากกัน แต่เพราะครอบครัวของสุริยาวดีประสบปัญหาทางการเงิน เธอจึงจำใจต้องแต่งงานกับนายธนาคารใหญ่อย่าง “เจ้าสัวชวลิต” เพื่อปลดหนี้ และหลังจากนั้นเธอก็เลือกที่จะหายไปจากชีวิตของเขมชาติโดยที่ไม่ยอมบอกลา นำความเจ็บปวดมาให้เขมชาติที่เมื่อรู้ภายหลังว่า หญิงคนรักของตนยอมแต่งงานกับมหาเศรษฐีวัยคราวพ่อเพื่อแลกกับเงิน เขาจึงตั้งหน้าตั้งตาสร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาบนความคับแค้น   แต่แล้วชะตาก็ทำให้ทั้งคู่ได้โคจรมาพบกันอีกครั้ง เมื่อสุริยาวดีกลายมาเป็นเลขานุการของเขมชาติ และด้วยความ “เจ็บใจนักเพราะรักมากไป” ที่ฝังมาแต่ในอดีต เขมชาติจึงวางแผนแก้แค้นสุริยาวดี ในขณะที่ลึกๆ อีกด้านหนึ่ง เขาก็ยังมีเยื่อใยต่อหญิงผู้เป็นรักครั้งแรกอยู่เช่นกัน บนเส้นทางความสัมพันธ์ระหว่างเขมชาติและสุริยาวดีนี้ จะว่าไปแล้วก็ไม่แตกต่างจากเส้นทางการเคลื่อนไปของกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมไทย ที่ด้านหนึ่งก็มุ่งจะก่อร่างสร้างสั่งสมทุนทางเศรษฐกิจให้เติบโตก้าวหน้าขึ้น เหมือนกับตัวละครเขมชาติที่ก่อร่างสร้างตัวจนมีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดี แต่อีกด้านหนึ่ง ภายใต้การสั่งสมทุนดังกล่าว เขาก็ยังมีเงาความเจ็บปวดจากอดีตตามมาหลอกหลอนอยู่ตลอดเวลา ในขณะที่โดยทั่วไปผู้หญิงมักถูกมองว่าเป็นเพศที่ “เกลียดตัวเองที่ลืมช้า จดจำอะไรบ้าบอ” แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว ผู้ชายอย่างเขมชาติก็เข้าประเภทคนที่ “ลืมช้า” ไม่ยิ่งหย่อนกัน เพราะฉะนั้น แม้กราฟชีวิตทางเศรษฐกิจสังคมของเขมชาติจะพุ่งเป็นเส้นตรงไปข้างหน้า มีฐานะมั่นคงมั่งคั่ง พร้อมๆ กับมีการสั่งสมทุนเพื่อความก้าวหน้าในชีวิตอย่างไม่สิ้นไม่สุด แต่ในอีกด้านหนึ่ง ปมบาดแผลลึกๆ จากอดีต ก็ทำให้เส้นกราฟดังกล่าวมีลักษณะอิหลักอิเหลื่อกับความทรงจำแบบ “forget me not” อยู่ตลอดเวลา และที่สำคัญ กลุ่มคนที่มีบาดแผลฝังลึกจากอดีตเยี่ยงนี้ ก็มักจะห่อหุ้มตนเองเอาไว้ด้วย “ทิฐิ” ที่เข้ามาบดบังตา เมื่อทิฐิเข้าครอบงำ ไม่เพียงแต่ลืมอดีตไม่ได้ ทุกอย่างที่เขมชาติเห็นจึงเป็นสิ่งที่เขาได้แต่คิดเอาเอง แต่หาใช่เกิดจากข้อเท็จจริงที่มีหลักฐานพิสูจน์เชิงประจักษ์รองรับไม่ เริ่มตั้งแต่การคิดเอาเองว่าสุริยาวดีเป็นคนโลภและอยากมีอยากได้ จึงเลือกไปแต่งงานกับท่านเจ้าสัวอายุคราวพ่อ สุริยาวดีเป็นหญิงหลายใจ แม้เจ้าสัวเสียชีวิตไปแล้ว เธอก็เที่ยวหันไปคบชายคนนั้นคนนี้สลับกันไป จนถึงกับมโนไปเองว่า สุริยาวดีคงลืมความรักครั้งเก่าซึ่งตรงข้ามกับตัวเขาเองที่ไม่เคยลืมรักครั้งนั้นไปได้เลย ด้วยการคิดเอาเองแบบนี้ ผนวกกับทิฐิแบบบุรุษเพศที่ค้ำคอเขมชาติอยู่นั้น เมื่อสุริยาวดีปรากฏตัวอีกครั้ง ซึ่งก็อาจเป็นด้วยว่า เธอเองก็ไม่เคยลืมเขาไปได้เลย ทำให้เขมชาติวางแผนแก้แค้นหญิงคนรักโดยไม่สนใจที่จะสืบค้นความจริงว่า เบื้องลึกเบื้องหลังการจากไปของสุริยาวดีเป็นมาด้วยเหตุผลกลใด ผมลองถามเพื่อนรอบข้างหลายคนว่า เมื่อพูดถึงคำว่า “อย่าลืมฉัน” แล้ว คำว่า “ฉัน” ในที่นี้น่าจะหมายถึงตัวละครใด บางคนก็บอกว่า “ฉัน” น่าจะหมายถึงเขมชาติที่ลึกๆ แล้ว ดอกไม้ฟอร์เก็ตมีน็อตก็คือเครื่องหมายแทนใจที่ผูกพัน และพยายามสื่อสารกับสุริยาวดีไม่ให้เธอลืมความรักที่มีต่อเขา ในขณะที่มีเพื่อนบางคนก็บอกว่า “ฉัน” คงหมายถึงสุริยาวดีมากกว่า เพราะการกลับมาของเธออีกครั้ง ก็เพื่อทวงถามเขมชาติว่า ในหัวใจของเขาได้ลืมเลือนเธอไปแล้วหรือยัง อย่างไรก็ตาม หากเราเพ่งพินิจพิจารณาดีๆ แล้ว ในท่ามกลางตัวละครหญิงชายที่ไม่เคยลืมปมบาดแผลจากอดีต แถมยังสาดทิฐิใส่กันและกันอยู่นั้น ยังมีตัวละครอีกสองคนอย่าง “เกนหลง” และ “เอื้อ” ที่ไม่ได้รู้อิโหน่อิเหน่อันใด หากแต่ถูกผูกพ่วงเข้ามาอยู่ในเกมทิฐิและการแก้แค้นไปด้วย ตั้งแต่ฉากเขมชาติรับสุริยาวดีเข้ามาเป็นเลขานุการ ไปจนถึงฉากเล่นล่อเอาเถิดวิ่งไล่จับกันของตัวละครที่สวิตเซอร์แลนด์ หรือแม้แต่ฉากหมั้นของเขมชาติและเกนหลงที่เผยความจริงลึกๆ อันเนื่องมาแต่ปมในอดีต ฉากเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า แม้ทิฐิจะเป็นเรื่องของคนสองคน แต่ผลที่เกิดขึ้นกลับกระทบต่อคนรอบข้างอย่างเกนหลงและเอื้อที่ไม่รู้เห็นอันใดกับบาดแผลในใจของพวกเขาเลย เพราะฉะนั้น แม้การหลอกลวงจะเป็นเรื่องที่เขากระทำต่อคนรักเก่า แต่เขมชาติก็จง “อย่าลืมฉัน” ผู้ที่อยู่รอบข้างอีกหลายคน ซึ่งคงไม่ต่างจากที่เกนหลงบอกกับเขมชาติในภายหลังที่เขามาสารภาพความจริงทุกอย่างว่า “คุณไม่รู้ใจตัวเองจนทำให้คนอื่นต้องเสียใจแบบนี้ไม่ได้ ถ้าคุณยังไม่ซื่อสัตย์กับความรู้สึกตัวเอง ชาตินี้คุณจะซื่อสัตย์กับคนอื่นได้ยังไง...” หากเราใช้ทฤษฎีที่อธิบายว่า โลกของละครไม่เคยและไม่มีวันแยกขาดจากโลกความจริงไปได้นั้น ตัวละครอย่างเขมชาติและสุริยาวดีก็คงบอกเป็นนัยว่า สังคมไทยทุกวันนี้ไม่เพียงแต่ “กลับตัวก็ไม่ได้ และจะเดินต่อไปก็คงไม่รอด” เท่านั้น หากอีกด้านหนึ่งบนความขัดแย้งและอาการอิหลักอิเหลื่อดังกล่าว ก็ยังมีตัวละครอีกหลายคนที่แม้จะอยู่นอกเกม แต่ก็มักถูกดึงเข้าสู่วังวนแห่งความขัดแย้งไม่ต่างกัน ก็คงไม่ต่างจากความขัดแย้งซึ่งฉีกสังคมไทยออกเป็นฝักเป็นฝ่ายอยู่ในขณะนี้ ที่ทิฐิและผลประโยชน์ของกลุ่มอำนาจสองกลุ่ม ก็อาจจะทำให้ตัวละครแบบเกนหลงและเอื้อต้องมาส่งเสียงเตือนสติว่า “อย่าลืมฉัน” ที่ยังมีเลือดมีเนื้อมีความรู้สึกอยู่ตรงนี้อีกหลายๆ คน   //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 159 สามีตีตรา: อย่างนี้ต้องตีตรวน!!!

เชื่อหรือไม่ว่า ภาพสังคมที่เราเห็นหรือรับรู้ว่าดำเนินไปอย่างราบรื่นเป็นปกตินั้น แท้จริงแล้ว คลื่นใต้น้ำที่อยู่ก้นบึ้งของสังคมดังกล่าว กลับเป็นสนามรบที่คุกรุ่นอยู่อย่างต่อเนื่องไม่สิ้นไม่สุด สงครามคลื่นใต้น้ำที่เป็นรูปธรรมอันเข้มข้นที่สุด ก็คงหนีไม่พ้นความขัดแย้งระหว่างคนสองกลุ่ม อันได้แก่ "กลุ่มคนที่มี" (หรือบางครั้งเรียกว่าพวก "the have") กับ "กลุ่มคนที่ไม่มี" (หรือที่รู้จักกันว่าเป็นพวก "the have-not") โดยความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองกลุ่มนี้ก็ยากจะปรองดองและประสานผลประโยชน์กันได้จริงๆ ไม่แตกต่างจากความสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิงสองคน ที่เริ่มต้นจาก "ความเป็นเพื่อนรัก" แต่สุดท้ายก็ "หักเหลี่ยมโหดเสียยิ่งกว่าโหด" อีก ผู้หญิงคนแรกซึ่งเป็นตัวแทนของ "กลุ่มคนที่มี" ก็คือ "กะรัต" หรือ "กั้ง" คุณหนูไฮโซที่เจ้าอารมณ์ชอบเกรี้ยวกราดกับผู้คนรอบตัวไปเรื่อย ซึ่งเหตุผลด้านหนึ่งก็คงเป็นเพราะเธอเกิดในครอบครัวที่มี กะรัตจึงมีทุกอย่างเพียบพร้อมติดตัวมาแต่กำเนิด ตั้งแต่มีรูปสวยรวยทรัพย์ มีฐานะทางสังคมเศรษฐกิจ ไปจนถึงมีสามีมาคนแล้วคนเล่า กับผู้หญิงอีกคนหนึ่งที่เป็นตัวแทนของ "กลุ่มคนที่ไม่มี" อย่าง "สายน้ำผึ้ง" เมื่อชีวิตต้องเกิดมาในครอบครัวที่ไม่มีพ่อแม่และไม่มีทุนอันใดติดตัวมา สายน้ำผึ้งจึงไม่มีในทุกๆ ด้าน แม้แต่ลูกป่วยเข้าโรงพยาบาล เธอก็ยังหาพ่อให้ลูกไม่ได้ และไม่มีเงินจะจ่ายค่ารักษาพยาบาลแม้เพียงอัฐเดียว   เมื่อผู้หญิงที่มีทุกอย่างโคจรมาพบเป็นเพื่อนกับผู้หญิงที่ไม่มีอะไรสักอย่าง ความขัดแย้งจึงเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ที่กะรัตได้ครอบครอง "ภูเบศร์" ชายคนรักของสายน้ำผึ้งไป โดยที่สายน้ำผึ้งก็ซ้อนแผนที่จะช่วงชิงชายผู้นั้นกลับมาพร้อมกับมีลูกของเขาที่อยู่ในครรภ์ จนนำไปสู่ความแตกหักร้าวฉานระหว่างเพื่อนรักทั้งสองคน จนเมื่อกะรัตได้พบรักครั้งใหม่ และได้จดทะเบียนตีตราสมรสกับผู้ชายดีๆ อย่าง "หม่อมหลวงพิศุทธิ์" สายน้ำผึ้งที่พบว่ากลุ่มคนที่มีอย่างกะรัต ก็ดูจะยิ่งมีทุกอย่างอย่างต่อเนื่องไม่สิ้นไม่สุด เธอจึงเริ่มวางแผนที่ซับซ้อนขึ้นในการช่วงชิงสามีที่ตีตราเอาไว้แล้วของอดีตเพื่อนรักให้มาเป็นพ่อของลูกชายเธอ เมื่อเป็นคนที่ไม่มีอะไรติดตัวมาแต่กำเนิด ผู้หญิงอย่างสายน้ำผึ้งจึงต้องหาสิ่งทดแทนด้วยการใช้มันสมองอันชาญฉลาด และอ่านเกมฝ่ายตรงข้ามให้ขาด เพื่อหาทาง "กำจัดจุดอ่อน" ของกะรัตนั้นเสีย ในกลุ่มของคนที่มีนั้น แม้จะมีชื่อเสียง เกียรติยศ เงินทอง และอื่นๆ อีกมากมาย แต่สายน้ำผึ้งก็พบว่า สิ่งเดียวที่ผู้หญิงอย่างกะรัตกลับไม่มีเอาเสียเลยก็คือ "ความไว้วางใจ" อันเป็นปัญหาที่มีมาตั้งแต่รุ่นแม่อย่าง "คุณนายพวงหยก" ที่ไม่เคยไว้ใจในตัวผู้เป็นสามีอย่าง "กฤช" จนสืบต่อมาที่รุ่นลูกสาว แบบที่กะรัตเองก็ไม่เคยจะไว้ใจผู้ชายคนใดที่เข้ามาในชีวิตคู่ของเธอเลย เมื่อความไว้วางใจไม่มีอยู่ในคนกลุ่มนี้ ด้านหนึ่งกะรัตจึงต้องทำทุกอย่างที่จะสร้างความไว้ใจเทียมๆ ขึ้นมา ตั้งแต่การออกอาการเกรี้ยวกราดทุกครั้งที่มีข่าวลือเกี่ยวกับพิศุทธิ์และสายน้ำผึ้ง หรือพยายามจะมีลูกเป็น "โซ่ทองคล้องแทนความไว้ใจ" ไปจนถึงการใช้ความสัมพันธ์เชิงกฎหมายด้วยการตีตราจดทะเบียนสมรส เพื่อยืนยันว่าเธอกับพิศุทธิ์นั้นรักกันจริงๆ สำหรับกลุ่มคนที่มีทุกอย่างนั้น กฎหมายก็คือสถาบันที่คนกลุ่มนี้สร้างขึ้นมาเพื่อเป็นตัวแทนของ "ความไว้วางใจ" (ที่มักไม่มี) ระหว่างกัน แต่เพราะทุกวันนี้กฎหมายเองก็มิได้ศักดิ์สิทธิ์เท่าใดนัก แบบเดียวกับที่ในโลกความจริงก็มีการฉีกกฎหมายหลายๆ มาตรากันเป็นว่าเล่น ความไว้ใจซึ่งมาจากทะเบียนสมรสเยี่ยงนี้จึง "กลายเป็นฝุ่น" ไปในที่สุด เพราะมันไม่ใช่ของจริง หากแต่เป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาแทนความรักและความจริงใจระหว่างคนสองคนต่างหาก เพราะ "จุดอ่อนคือความไว้ใจ" นี่เอง สายน้ำผึ้งก็เลยปั่นหัวเล่นกับความไว้วางใจของกะรัต เพื่อพิสูจน์ว่าสายสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มคนที่มีทุกอย่าง มีความเข้มแข็งหรือเปราะบางกันเพียงไร และกะรัตจะเชื่อคำเป่าหูของสายน้ำผึ้งหรือเชื่อคำพูดจากปากของ "สามีตีตรา" อย่างพิศุทธิ์กันแน่??? ก็เหมือนกับที่ "เนื้อแพร" มารดาของพิศุทธิ์ได้พูดเตือนสติกะรัตอยู่ครั้งหนึ่งว่า "แค่เขาจี้จุดอ่อนว่าคนอย่างคุณมันไม่มีค่าพอให้ใครมารักจริง คุณก็ดิ้นจนไม่มีสติไตร่ตรองว่าอะไรเป็นของจริงอะไรเป็นภาพลวงตา... แต่ที่น่าเศร้าที่สุดคือ คุณเชื่อทุกเรื่องที่สายน้ำผึ้งเป่าหู แต่คุณไม่เชื่อพิศุทธิ์เลย..." และที่น่าฉงนและขบขันอยู่ในทีก็คือ ในขณะที่กะรัตเป็นผู้ซึ่งไม่เคยมีสติสตังที่จะไว้วางใจในตัวสามีเลย แต่กับสาวใช้อย่าง "นวล" (ซึ่งด้านหนึ่งพื้นเพก็คงมาจากกลุ่มคนที่ไม่มีเช่นกัน) กลับเป็นผู้ที่ดูเชื่อมั่นในตัวของพิศุทธิ์ และคอยเตือนสติของเจ้านายอย่างกะรัตให้เห็นว่าเนื้อแท้ของพิศุทธิ์นั้นหาใช่เป็นแบบที่สายน้ำผึ้งใส่ไคล้หรือเป่าหูแต่อย่างใด แต่ที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้น ในสมรภูมิระหว่างกลุ่มคนที่มีและคนที่ไม่แบบนี้ ดูเหมือนว่าสายตาของผู้ดูผู้ชมทุกคนในสังคมจะโอนเอียงเข้าข้างไปทางกลุ่มคนที่มีกันเสียมากกว่า เพราะแม้สายน้ำผึ้งจะยืนยันอยู่ตลอดว่า การที่เธอต้องแย่งผู้ชายอย่างภูเบศร์หรือพิศุทธิ์มาจากเพื่อนรัก ไปจนถึงสร้างความแตกแยกให้กับ "กันตา" น้องสาวของกะรัตกับคู่หมั้นหมายอย่าง "ศิวา" ก็เนื่องเพราะต้องการเรียกร้อง "ความยุติธรรม" ให้กับชีวิตที่ไม่เคยมีอะไรเลยสำหรับคนอย่างเธอ แต่ตัวละครอื่นๆ รวมไปถึง "รสสุคนธ์" น้าสาวของเธอกลับให้นิยามต่างออกไปว่า สายน้ำผึ้งเป็นพวกช่าง "มโน" และมีแต่ความ "อิจฉาริษยา" หาใช่เรื่องของการทวงความยุติธรรมแต่อย่างใดไม่ และความอิจฉาริษยาคนที่มีนั่นเอง ท้ายที่สุดก็จะกลายเป็นเพลิงที่เผาผลาญทำลายให้จิตใจของสายน้ำผึ้งมอดไหม้ลงไป ไม่ว่าความอิจฉาหรือการทวงคืนความยุติธรรมจะเป็นคำตอบจริงๆ ของสายน้ำผึ้ง แต่ตราบใดที่ความขัดแย้งระหว่างคนที่มีกับคนที่ไม่มียังคงดำเนินต่อไปแบบนี้ ความปรองดองกันในสังคมก็คงจะเกิดขึ้นได้ยากยิ่งนัก และในทำนองเดียวกัน หากกลุ่มคนที่มีและมีในทุกๆ ด้าน แต่ขาดซึ่งความไว้วางใจให้กันและกันแม้แต่กับคนใกล้ชิดใกล้ตัวแล้ว สามีที่ "ตีตรา" ของกะรัต ก็คงสู้สามีที่ล่ามโซ่และ "ตีตรวน" เอาไว้ไม่ได้เลย   //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 158 กุหลาบร้ายของนายตะวัน : กระบวนท่ากลับหลังหันของสังคมเมือง

เป็นเวลานับศตวรรษมาแล้ว ที่เรามักจะมีความคิดความเชื่อว่า “สังคมเมือง” กับ “สังคมชนบท” เป็นสองสังคมที่มีความแตกต่าง และเกิดขึ้นบนรากที่มาต่างกัน ความเป็น “เมือง” มักจะวางอยู่บนอารยธรรมที่ทันสมัย เป็นโลกที่ก้าวหน้ามีแสงสีศิวิไลซ์ ซึ่งเป็นภาพที่ตรงข้ามกับความเป็น “ชนบท” ที่ร้อยรัดอยู่บนสังคมประเพณีดั้งเดิม เป็นโลกที่ล้าหลังไม่ทันสมัยและอยู่กับท้องไร่ท้องนา แต่คำถามที่น่าสนใจก็คือ จริงๆ แล้ว “เมือง” กับ “ชนบท” เป็นคู่ตรงข้ามที่อยู่กันคนละขั้วคนละปลายกันแน่หรือ? ดูเหมือนว่าตัวละครที่ชีวิตจับพลัดจับผลูต้องมาตั้งคำถาม และก็ค้นเจอคำตอบถึงความสัมพันธ์ระหว่างเมืองกับชนบทในที่นี้ก็คือ สาวเปรี้ยวสวยเริ่ดเชิดโสดอย่าง “โรสริน” หรือ “โรส” ทายาทคนเดียวของ “ปู่ณรงค์” เจ้าของโรงแรมชื่อดังอย่าง “ควีนโรส” ชีวิตของโรสเติบโตมาในสังคมเมือง โดยถูกเลี้ยงมาแบบตามใจจนกลายเป็นคนนิสัยเอาแต่ใจ เที่ยวเหวี่ยงวีนใครต่อใครไม่เลือกหน้า และเมื่อโรสเรียนจบปริญญาโทกลับมาจากอังกฤษ คุณปู่ณรงค์ก็ต้องการดัดนิสัยของโรสด้วยการให้เธอฝึกงานตั้งแต่เป็นพนักงานระดับล่าง ก่อนที่โรสจะมีสิทธิขึ้นแท่นเป็นผู้บริหารกิจการโรงแรมต่อไป   เมื่อมีตัวละครสาวเมืองกรุงแถมหัวนอกอย่างโรส ก็ต้องมีพระเอกคู่ปรับที่เป็นหนุ่มชนบทบ้านไร่อย่าง “ตะวัน” เจ้าของไร่ดอกไม้ที่ชื่อ “บ้านไร่ตะวัน” การพบเจอกันครั้งแรกระหว่างโรสกับตะวันนั้นเรียกได้ว่าเข้าสูตรพ่อแง่แม่งอน โดยที่ตะวันต้องรับงานจัดแต่งดอกไม้ในงานเลี้ยงต้อนรับการกลับมาของโรส ซึ่งโรสเองก็ไม่พอใจเขาที่เลือกกล้วยไม้แบบบ้านๆ มาตกแต่งงาน เพราะสำหรับสาวนักเรียนนอกอย่างเธอ ดอกไม้ที่คู่ควรต้องเป็นกุหลาบนอกราคาแพงเท่านั้น แม้ว่าจุดเริ่มต้นของปมปัญหาในเรื่อง อาจจะมาจากความแตกต่างระหว่าง “กุหลาบร้าย” ในสังคมเมืองอย่างโรส กับเจ้าของ “กล้วยไม้พื้นเมือง” จากสังคมชนบทอย่างตะวัน แต่ทว่า อาจจะเป็นเพราะโลกใบนี้มันช่างกลม ปู่ณรงค์ของโรสกลับกลายเป็นเพื่อนรักที่สนิทสนมยิ่งกับ “ปู่ชาญ” ของนายตะวัน เพราะโลกมันกลม ในอดีตปู่ชาญเคยให้ปู่ณรงค์ยืมเงินจำนวน 20 ล้าน เพื่อมาสร้างโรงแรมจนเจริญรุ่งเรืองใหญ่โต เมื่อปู่ณรงค์มาพบกับปู่ชาญอีกครั้ง ทั้งคู่จึงวางแผนจับให้หลานของตนร่วมหอลงโรงแต่งงานกันเสียเลย โดยที่ปู่ณรงค์เองก็เชื่อว่า จะมีก็แต่นายตะวันคนเดียวที่จะปราบ “กุหลาบร้าย” อย่างโรสให้กลายเป็นนางฟ้าแสนดีคนเดิมได้ แล้วหลังจากนั้น เนื้อเรื่องก็เข้าตามทางของละครที่ว่า คุณหนูไฮโซแสนสวยก็ต้องถูกระเห็จออกไปอยู่บ้านไร่ปลายนาหนึ่งปี และที่แน่ๆ ก็คือ ต้องแง่ต้องงอนกับกับพระเอกไปจนจบเรื่อง โดยโรสก็ต้องพ่ายแพ้ต่อคุณงามความดีของหนุ่มบ้านไร่อย่างนายตะวันไปในที่สุด จะว่าไปแล้ว สูตรละครแนวโรแมนติกคอมเมดี้แบบนี้ ถือเป็นหนึ่งในสูตรสำเร็จของละครจอแก้วที่ถูกสร้างขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง แต่ทว่า เบื้องหลังความคิดของละครสูตรดังกล่าวก็คือ การทดลองใช้โลกจินตนาการปรับประสานความไม่ลงรอยบางอย่างที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่ในสังคมจริงๆ เฉกเช่นเดียวกับละคร “กุหลาบร้ายของนายตะวัน” ที่แม้จุดเริ่มต้นของเรื่องจะมาจากความขัดแย้งระหว่างเมืองกับชนบท โดยที่มีสาวสังคมเมืองอย่างโรสมองข้ามคุณค่าและศักดิ์ศรีของชนบทบ้านไร่อย่างวิถีชีวิตของพระเอกหนุ่มกับตัวละครทั้งหลายในบ้านไร่ตะวัน แต่เอาเข้าจริงๆแล้ว ในความแตกต่างดังกล่าวกลับปรากฏให้เห็นว่า ยังมีสายสัมพันธ์อีกเส้นหนึ่งระหว่างปู่ชาญกับปู่ณรงค์ที่บ่งบอกเป็นนัยๆ ว่า ชนบทกับเมืองต่างก็เป็นเกลอเก่าที่ถักทอความสัมพันธ์แบบคู่ไขว้กันอย่างแนบแน่นมาตั้งแต่ครั้งอดีต หากเราลองย้อนกลับไปมองพัฒนาการการเกิดขึ้นของสังคมเมืองในโลกจริง ก็คงไม่แตกต่างไปจากการก่อตั้งโรงแรมควีนโรสของปู่ณรงค์เท่าใดนัก เพราะในช่วงราวศตวรรษที่ 19 ที่ระบบอุตสาหกรรมกำลังก้าวหน้า และเมืองขนาดใหญ่ทั้งหลายเริ่มผุดขึ้นมานั้น แท้จริงแล้ว ชุมชนเมืองเหล่านี้ก็คือ “บาง” หรือ “ย่าน” ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นชนบทมาก่อน (แบบเดียวกับ “กรุงเทพมหานคร” ซึ่งก็เคยเป็นเมืองเล็กๆ อย่าง “บางกอก” มานั่นเอง) เพียงแต่ว่ามี “บาง” หรือ “ย่าน” บางแห่งเท่านั้น ที่มีศักยภาพมากพอในการสั่งสมทุนจนเติบโตกลายเป็นเมืองกรุงเมืองใหญ่ได้อย่างในปัจจุบัน เพราะฉะนั้น ไม่ใช่อยู่ดีๆ ปู่ณรงค์จะสามารถสร้างโรงแรมใหญ่โตอลังการได้ด้วยมือคนเดียว แต่คุณปู่ก็ต้องอาศัยทุนหรือปัจจัยการผลิตที่เป็นเงิน 20 ล้านของคุณปู่ชาญแห่งบ้านไร่ ที่จะให้ยืมไปผลิดอกออกผลเป็นกิจการขนาดใหญ่ในสังคมเมืองหลวง แต่คงเป็นเพราะเมื่อเมืองเติบโตขึ้นไปเรื่อยๆ การสั่งสมทุนของคนในเมืองก็ทำให้พวกเขาต้องถีบทะยานตัวและจำแนกวิถีชีวิตให้แตกต่างไปจากชนบท หรือแม้แต่กลายเป็น “กุหลาบร้ายกลายพันธุ์” ที่เกิดขึ้นในอนุชนรุ่นหลังอย่างโรส ซึ่งลืมแม้แต่รากและศักดิ์ศรีของชนบทดั้งเดิมไปเสีย อย่างไรก็ดี แม้เมืองกับชนบทจะกลายเป็นสองโลกที่แตกต่างกันสุดขั้วไปแล้ว ละครก็ให้ความหวังเอาไว้ด้วยว่า คงต้องรอให้มีโอกาสที่คนเมืองจะได้มาสัมผัสกับชีวิตสมถะแบบชนบท แบบเดียวกับโรสที่คุณปู่ส่งมาฝึกงานเพาะชำต้นกล้าและต่อตาแต่งกิ่งกล้วยไม้ในบ้านไร่ สังคมเมืองก็จะค่อยๆ เริ่มกลับหลังหันไปทำความเข้าใจรากที่เป็นมาในวิถีชีวิตของตนเองกันอีกสักครั้ง และสำหรับเราๆ ที่อยู่ในสังคมเมืองกันมาอย่างยาวนานเช่นนี้ คงไม่ต้องถึงกับรอให้คุณปู่ๆ จับส่งกลับไปทำงานในบ้านไร่กันกระมัง เนื่องเพราะสังคมโดยรวมจะก้าวดีขึ้นไปได้ หากอย่างน้อยเราเองก็ตระหนักเบื้องต้นว่า ปัญหาที่เกิดกับชาวไร่ชาวนาทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งก็คงเนื่องมาจากสายตาที่บรรดา “กุหลาบร้าย” ในสังคมเมืองกรุงของเรามองข้ามว่ามันเป็นปัญหานั่นเอง //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 157 ในสวนขวัญ : ครอบครัวของเรา ก็ต้องเป็นเราที่ดูแล

ในสังคมของมนุษย์เรามีลักษณะของครอบครัวอยู่สองประเภท คือ ครอบครัวแบบที่เราไม่ได้เลือก กับครอบครัวที่เราเลือกได้เอง ในกรณีของครอบครัวที่เราไม่ได้เลือกหรือไม่มีสิทธิ์เลือกนั้น เนื่องจากมนุษย์เราเลือกเกิดไม่ได้ว่าเราจะตกฟากมาถือกำเนิดในครอบครัวใด เพราะฉะนั้น บรรดาพ่อแม่พี่น้องปู่ย่าตายายที่อยู่ในวงศ์วานเครือญาติและครอบครัวเดียวกับเรา ก็คือคนที่เราเลือกไม่ได้ว่าจะเกิดมาเป็นลูกเป็นหลานของใครคนใด ส่วนกรณีของครอบครัวที่เราเลือกได้นั้น ก็คือรูปแบบของครอบครัวที่มนุษย์แต่ละผู้แต่ละนามมีสิทธิที่จะสร้างขึ้นเอง โดยเลือกชายหรือหญิงที่ตนพึงใจมาเป็นสามีหรือภรรยาคู่ครองของตน แต่ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวแบบใดก็ตาม เนื่องเพราะครอบครัวเป็นสถาบันที่เล็กที่สุด แต่ก็ใกล้ชิดกับทุกชีวิตในสังคมมากที่สุดเช่นกัน ดังนั้น ครอบครัวของใคร คนๆ นั้นก็ต้องดูแลรักษาและออกแบบครอบครัวของเขาหรือเธอกันเอง และเพราะครอบครัวต้อง “ออกแบบ” หรือ “by design” แบบของใครของมัน ตัวละครอย่าง “ไม้” และ “เป็ดปุ๊ก” ในละคร “ในสวนขวัญ” จึงต้องเรียนรู้ที่จะเข้าใจสัจธรรมความเป็นจริงข้างต้นด้วยเช่นกัน หาก “สนิมเหล็กเกิดแต่เนื้อในตน” ฉันใด ปัญหาของครอบครัวใครก็เกิดแต่ภายในของครอบครัวตนฉันนั้น เฉกเช่นเดียวกับไม้ที่ความเข้าใจผิดว่า “คุณหทัย” ผู้เป็นมารดาทอดทิ้งเขาและไปแต่งงานมีครอบครัวใหม่ ก็เป็นปมในใจที่ค้างคามานับแต่วัยเด็กของไม้   ในทางเดียวกัน สำหรับครอบครัวของเป็ดปุ๊กเอง ความขัดแย้งระหว่างบิดาหรือ “คุณเชียร” กับลูกชายและลูกสะใภ้อย่าง “ไก่กุ๊ก” และ “เก็จเกยูร” ก็ทำให้ทั้งคุณเชียรและเป็ดปุ๊กต้องระเห็จออกจากบ้านมาหาที่อยู่ใหม่ ซึ่งก็คือหมู่บ้านที่คุณหทัยมารดาของไม้เป็นเจ้าของนั่นเอง เมื่อเป็ดปุ๊กย้ายรกรากมาซื้อบ้านใหม่ติดอยู่กับเรือนของไม้ ด้านหนึ่งทั้งคู่อาจจะเริ่มต้นจากความผิดใจระหองระแหง เป็นพ่อแง่แม่งอนที่ไม่เข้าใจกัน แต่เพราะกลายเป็นคนบ้านใกล้ชิดรั้วติดกัน ประกอบกับไม้ที่มีอีกอาชีพหนึ่งเป็นคนจัดสวนได้เข้ามาตกแต่งสวนในบ้านให้ลุงเชียรและเป็ดปุ๊กอยู่เป็นประจำ ความใกล้ชิดก็ค่อยๆ เกิดกลายเป็นความรักในที่สุด ไม่เพียงแต่ไม้จะได้เข้ามาช่วยดูแลแก้ปัญหาให้กับครอบครัวของเป็ดปุ๊กในหลายๆ เรื่อง แต่เมื่อต่างฝ่ายต่างได้มองเห็นปัญหาของอีกครอบครัวหนึ่ง แบบที่ตัวละครพระเอกแอบมองนางเอกจากบ้านที่ปลูกอยู่บนต้นไม้อยู่ทุกวัน ต่างฝ่ายต่างก็เริ่มเข้าใจสัจธรรมที่ว่า คงไม่มีครอบครัวของใครหรอกที่จะไร้ซึ่งปัญหาใดๆ เลย เพราะฉะนั้น เมื่อพระเอกอย่างไม้ได้เข้ามาตกแต่งสวนในบ้านของเป็ดปุ๊ก รวมไปถึงร่วมมือกับวัยรุ่นในหมู่บ้าน ทำกิจกรรมแปลงเขตกองขยะให้เป็นสวนหย่อมอันร่มรื่น ก็เท่ากับการทิ้งคำถามให้กับตัวละครและผู้ชมไปพร้อมๆ กันว่า ถ้าเราเห็นครอบครัวและบริเวณรอบๆ เป็นแค่ “กองขยะ” มันก็จะเป็น “กองขยะ” อยู่เยี่ยงนั้น แต่หากครอบครัวเป็นอะไรบางอย่างในชีวิตที่มีคุณค่ายิ่งไปกว่านั้น ก็คงต้องเป็นเราที่พร้อมจะเก็บกวาด และแปลงครอบครัวให้เป็นสถาบันที่มีคุณค่าต่อชีวิตเราจริงๆ นั่นเอง แบบเดียวกับที่เป็ดปุ๊กได้ตั้งคำถามกับไม้ว่า “แล้วสวนหย่อมที่สร้างขึ้นในหมู่บ้านนี้จะมีใครมาดูแลหรือ” ซึ่งไม้ก็ตอบเธอไปว่า “ถึงแม้ว่าจะไม่มีใครมาดูแล ผมก็จะมารดน้ำพรวนดินที่นี่อยู่เป็นประจำ” นั่นก็เท่ากับว่า กับครอบครัวของเรา หากเราไม่หมั่นใส่ปุ๋ยพรวนดินเอง ก็คงไม่มีใครอื่นจะมาดูแลได้ดีไปกว่าเราหรอก ในขณะเดียวกัน ตัวละครอย่างไม้และเป็ดปุ๊กก็ได้สาธิตให้เราเห็นอีกด้วยว่า วิธีการดูแลคุณค่าของครอบครัวที่ดีที่สุด ก็คือการย้อนกลับไปสื่อสารความเอื้ออาทรและ “หมั่นคอยดูแลและรักษาดวงใจ” ของคนในครอบครัวอยู่อย่างต่อเนื่อง ก็เหมือนกับบรรดาเมนูอาหารไทยๆ นานาชนิด ที่ได้เข้ามาเป็นส่วนเชื่อมร้อยสายใยระหว่างสมาชิกของครอบครัวดังกล่าว ในท่ามกลางสายสัมพันธ์อันเปราะบางของคนในครอบครัวยุคปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นข้าวเหนียวหมูปิ้งที่ไม้ซื้อมาฝาก “คุณย่าขวัญ” เอย น้ำพริกปลาร้าที่เป็ดปุ๊กซื้อมาฝากคุณเชียรเอย หมูมะนาวที่ไม้ใช้เป็นสื่อสมานรอยร้าวกับคุณหทัยผู้เป็นมารดาเอย ไปจนถึงสำรับอาหารอย่างปลาทูต้มเค็มที่ใช้เชื่อมสัมพันธ์ข้ามรั้วบ้านของไม้และเป็ดปุ๊ก สำรับเมนูเหล่านี้ก็คือการที่ตัวละครพยายามต่อสายใยบางเส้นให้กับสายสัมพันธ์ที่แห้งแล้งยิ่งนักในสถาบันครอบครัวยุคนี้ ในขณะเดียวกัน ในอีกหลืบมุมหนึ่งของตัวละคร เราก็จะได้เห็นบทบาทสำคัญของบรรดาผู้อาวุโสอย่างคุณย่าขวัญ ผู้ผ่านโลกผ่านร้อนผ่านหนาวเข้าใจชีวิตมาก่อนคนรุ่นใหม่ เพราะฉะนั้นเมื่อคุณย่าขวัญปรารถนาจะให้หลานชายได้ลงเอยเป็นฝั่งเป็นฝากับเป็ดปุ๊ก คุณย่าจึงลงมือจัดการตั้งแต่ส่งสำรับปลาทูต้มเค็มเป็นสื่อสัมพันธ์กับครอบครัวของเป็ดปุ๊ก จัดงานเลี้ยงวันเกิดของตนเพื่อให้หนุ่มสาวได้มีโอกาสใกล้ชิดกัน จัดทริปท่องเที่ยวเพื่อเอื้อให้บรรยากาศเป็นใจ ไปจนถึงกลยุทธ์การสมคบคิดกับคุณเชียร เพื่อวางแผนให้ลูกหลานของตนได้เข้าใจและบอกรักกันในที่สุด บทบาทของผู้อาวุโสดังกล่าว คงบอกเป็นนัยแก่เราได้ว่า ปัญหาครอบครัวหรือปัญหาการใช้ชีวิตของคนหนุ่มสาวในท่ามกลางสังคมที่เปลี่ยนแปลงแบบทุกวันนี้ คนรุ่นใหม่อย่างไม้และเป็ดปุ๊กคงไม่มีศักยภาพมากพอที่จะเข้าไปจัดการแก้ไขได้ด้วยตนเอง หากแต่ยังต้องพึ่งพิงผู้ใหญ่ที่เคย “อาบน้ำร้อนมาก่อน” ที่จะช่วยขับให้นาวาชีวิตของคนกลุ่มนี้ดำเนินต่อไปได้ และเพราะครอบครัวของเรา ก็ต้องเป็นเราที่ดูแลแบบนี้เอง หากเราจะใช้ชีวิตอยู่ “ในสวนขวัญ” ก็คงไม่ต่างจากไม้ เป็ดปุ๊ก และตัวละครต่างๆ ที่ต้องหมั่นรดน้ำพรวนดินดูแลครอบครัวของเราให้เป็น “สวนขวัญ” ที่ร่มรื่นและมีคุณค่าต่อชีวิตจริงๆ //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 156 คือหัตถาครองพิภพ : คือการเมืองเป็นเรื่องของอำนาจ

โดยสามัญสำนึกของคนทั่วไปนั้น ละครก็คือละคร ชีวิตจริงก็คือชีวิตจริง โลกความเป็นละครกับโลกความเป็นจริง เป็นสองโลกที่แบ่งแยกหลุดขาดออกจากกัน เพราะละครเป็นเรื่องที่ถูกแต่งขึ้น จึงมีสถานะเป็นเพียงจินตนาการที่มนุษย์เราวาดไว้เท่านั้น แต่ทว่า ยังมีอีกคำอธิบายหนึ่งที่แย้งว่า ไม่เคยมีหรอกที่ความเป็นละครกับความเป็นจริงจะแยกขาดจากกันโดยสิ้นเชิง ทั้งละครและของจริงต่างก็มีจังหวะจะโคนที่โยกย้ายถ่ายโอนไปมา เป็นสองโลกที่สานไขว้กันไว้ได้อย่างแนบแน่นเลยทีเดียว ตามคำอธิบายแบบหลังนี้เอง หากเราจะทำความเข้าใจความเป็นจริงทางเศรษฐกิจการเมืองในแต่ละยุคสมัยให้ถ่องแท้ได้แล้ว ก็อาจพิจารณาผ่านภาพที่ฉายอยู่ในจอละครโทรทัศน์ได้เช่นกัน ทั้งนี้     ภายใต้กระแสการเมืองเข้มข้นที่เข้าไปล่วงลึกอยู่ในอารมณ์ความรู้สึกของคนไทยในห้วงนี้ โลกแห่งละครก็ขานรับกับโครงสร้างแห่งความรู้สึกนึกคิดดังกล่าวของมวลชนได้เป็นอย่างดี หาก "การเมือง" ในชีวิตจริงถูกนิยามว่าเป็น "เวทีของการต่อรองช่วงชิงอำนาจ" ระหว่างกลุ่มผลประโยชน์ที่แตกต่างกันแล้วไซร้ ภาพวิธีคิดแบบนี้ก็คงไม่ต่างไปจาก "การเมือง" ของตัวละครต่างๆ ที่วนว่ายอยู่ในละครเรื่อง "คือหัตถาครองพิภพ" เท่าใดนัก   แม้ว่า ณ ขณะที่ผู้เขียนกำลังปิดต้นฉบับบทวิจารณ์ละคร "คือหัตถาครองพิภพ" อยู่นั้น ละครได้ดำเนินมาเพียงราวครึ่งเรื่อง แต่ด้วยโครงเรื่องที่น่าสนใจและสอดรับกับสถานการณ์ความเป็นไปในสังคมการเมืองร่วมยุค ผมจึงขออนุญาตคุณผู้อ่านหยิบเรื่องราวของละครมาตั้งข้อสังเกตให้ร่วมถกเถียงพินิจพิเคราะห์กัน ประเด็นเชิง "การเมือง" ในละคร "คือหัตถาครองพิภพ" เริ่มต้นขึ้นเมื่อ "ศรี" ถูกจับคลุมถุงชนให้ต้องแต่งงานกับชายที่เธอไม่ได้รักครั้งแล้วครั้งเล่า อันเนื่องมาจากครอบครัวของศรีต้องการดองเธอเพื่อประสานผลประโยชน์กับกลุ่มคนในแวดวงที่เท่าเทียมหรือสูงศักดิ์ชั้นกว่า แต่เพราะเหตุที่ศรีเองก็มิได้มีจิตปฏิพัทธ์ที่จะร่วมเรียงเคียงหัวใจกับชายใด (หรือในบางหลืบมุมของละครก็ซ่อนสื่อความนัยว่า เธอเองก็อาจมีรสนิยมแบบหญิงรักหญิงก็เป็นได้) ในท้ายที่สุด เมื่อมิอาจขัดใจบิดามารดา ศรีจึงตัดสินใจเลือกแต่งงานกับชายสักคนหนึ่งอย่าง "พระยาสมิติภูมิ" ขุนนางไทยแต่เป็นชาวต่างชาติ ด้วยเหตุผลเดียวเพียงเพราะว่า "เขาน่าจะเป็นคนดี" และให้เธอมีอำนาจสูงสุดในเรือนหลังใหญ่ แล้วปมมูลเหตุสำคัญก็เกิดขึ้นตามมาอีก เมื่อศรี (ซึ่งตอนนี้ก็คือ "คุณหญิงศรี" ตามศักดิ์ขุนนางของสามี) ได้แต่งงานไป แต่มิอาจร่วมหลับนอนมีความสัมพันธ์ฉันสามีภรรยา และเธอเองก็ไม่ได้ปรารถนาจะให้กำเนิดลูกได้ตามความคาดหวังของท่านเจ้าคุณผู้สามีอีก ภายใต้เรือนหลังใหญ่ของท่านเจ้าคุณพระยาสมิติภูมิ ซึ่งเป็นเสมือนตัวแทนของสังคมการเมืองแบบบุรุษเพศเป็นใหญ่ ละครก็ได้แสดงให้เราเห็นว่า หากผู้หญิงคนหนึ่งไม่ต้องการจะร่วมเรียงเคียงข้างหมอนของสามี เธอจะต้องใช้กลยุทธ์วางเหลี่ยมเดินแต้มในเกมแต่ละยกอย่างไร เริ่มต้นก็จากการแสร้งทำป่วยด้วยการร้องเสียงดังโหยหวนทุกครั้งที่ท่านเจ้าคุณมาถูกเนื้อต้องตัว จนท่านเจ้าคุณตกใจ ซึ่งก็บอกเป็นนัยอีกด้านหนึ่งด้วยว่า อาการ "ความเจ็บไข้ได้ป่วย" ก็สามารถใช้เป็นส่วนหนึ่งของการเล่น "การเมือง" ได้เช่นกัน แต่ปัญหาก็คือ "การป่วยการเมือง" นั้น ทำได้ก็เพียงชั่วครั้งชั่วคราว คุณหญิงศรีจึงต้องเดินเกมถัดมา ด้วยการจัดส่งสาวใช้ในบ้านขึ้นไปร่วมหอลงโรงกับท่านเจ้าคุณแทน ไม่ว่าจะเป็นสองพี่น้อง "สังวร" กับ "สังเวียน" หรือแม้แต่บ่าวที่คิดคดหักหลังตลอดเวลาอย่าง "น้อย" และเมื่อผู้หญิงคนหนึ่งได้โอกาสเขยิบสถานะจาก "บ่าว" ขึ้นมาเป็น "เมียบ่าว" นั่นก็หมายความว่า อำนาจของผู้หญิงที่มี "ทุนสัญลักษณ์" แบบใหม่กลุ่มนี้ ก็มีอันต้องเพิ่มขึ้นไปโดยปริยาย เพราะฉะนั้น คุณหญิงศรีจึงมิเพียงแค่ต้องต่อรองอำนาจกับท่านเจ้าคุณเท่านั้น เธอยังต้องเดินเกมช่วงชิงผลประโยชน์กับบรรดาเมียบ่าวมือใหม่ไปด้วยเช่นกัน สำหรับคุณหญิงศรีแล้ว "คืออำนาจ" ใน "หัตถา" เท่านั้น จึงจะ "ครองพิภพ" บนเกมการเมืองในเรือนของท่านเจ้าคุณได้ ดังนั้น หลังจากที่คุณหญิงศรีผลักดันให้บ่าวขึ้นมาเป็นเมียบ่าว เธอก็ต้องลงมือจัดการลิดปีกลิดหางของบรรดาอนุภรรยาเหล่านั้นลงไปด้วยในเวลาเดียวกัน โดยหลักแห่ง "อำนาจ" ที่ต้อง "สำแดงให้เห็น" แต่ "จับมือใครดมพิสูจน์ต้นตอไม่ได้" คุณหญิงศรีจึงเลือกใช้มือของ "เมี้ยน" บ่าวผู้ภักดีต่อนาย ไปจัดการใส่ไคล้จนท่านเจ้าคุณอัปเปหิสังวรออกไปจากเรือน และเมี้ยนเองก็ยืมมือของ "นายยอด" บ่าวอีกคน ไปจัดการจัดเก็บสังเวียนจนออกไปจากวังวนแห่งอำนาจเสียอีกคน ในขณะเดียวกัน ผู้ผลิตก็ได้สร้างตัวละครหญิงอีกคนหนึ่งอย่าง "สะบันงา" ขึ้นมา เป็นตัวละครที่คุณหญิงศรีรักปานแก้วตาดวงใจ แต่กลับเป็นที่หมายปองเลี้ยงต้อยของท่านเจ้าคุณมาตั้งแต่ไหนแต่ไร หากอำนาจเป็นสิ่งที่สิงสู่ไม่เข้าใครออกใคร และขึ้นอยู่กับจังหวะการเดินหมากแต่ละตัวของแต่ละฝ่ายผลประโยชน์ ในท้ายที่สุด ภายใต้ร่มการเมืองเรื่องเพศแบบนี้ คุณหญิงศรีก็ต้องยอมเอาตัวเข้าแลกเพื่อปกป้องสะบันงาเอาไว้ แม้ในภายหลังจากนั้น สะบันงาก็ได้ตกมาเป็นภรรยาผู้ไม่จำยอมของท่านเจ้าคุณด้วยเช่นกัน ในท่ามกลางการเมืองทั้งในและนอกสภา ที่ช่วงชิงอำนาจและผลประโยชน์เป็นสงครามคุกรุ่นอยู่ ณ ขณะนี้ ก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกหรอกที่โลกแห่งละครจะสอดประสานขานรับอารมณ์ความรู้สึกดังที่ได้กล่าวมา ดังนั้น สำหรับตัวคุณหญิงศรีแล้ว "คือหัตถา" เท่านั้น ที่จะ "ครองพิภพ" ได้ ก็คงคล้ายๆ กับโลกความเป็นจริงที่ว่า "คือการเมืองก็เป็นเรื่องของอำนาจ" ไม่แตกต่างกัน   //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 155 ทองเนื้อเก้า : “แม่” ในหลายหลากมุมนิยาม

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้กำหนดนิยามความหมายของคำว่า “แม่” เอาไว้ว่า หมายถึง “หญิงผู้ให้กำเนิดหรือเลี้ยงดูลูก” ภายใต้นิยามแบบนี้ บ่งบอกนัยกับเราหลายอย่าง ตั้งแต่การบ่งชี้ว่า บุคคลที่เป็น “แม่” ต้องเป็นเพศหญิงเท่านั้น และผู้หญิงที่เป็น “แม่” ก็มีบทบาทแรกในฐานะของ “ผู้ให้กำเนิด” แต่บทบาทที่เหนือยิ่งสิ่งใดของ “แม่” ที่ตามมานั้น ก็ต้อง “เลี้ยงดูลูก” อันถือเป็นหน้าที่ที่สังคมมอบหมายภาระให้กับเธอ อย่างไรก็ดี นิยามความหมายของแม่ตามพจนานุกรมอาจจะเป็นเรื่องหนึ่งก็จริง แต่ทว่า ในโลกความเป็นจริงของความเป็นแม่แล้ว ก็อาจมีความหลายหลากและมากไปกว่านิยามที่บัญญัติเอาไว้แค่ในเล่มพจนานุกรม และความหลากหลายในนิยามของแม่นี้ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ได้รับการสะท้อนออกมาให้เห็นผ่านละครโทรทัศน์ที่ถูกกล่าวขานถึงอย่างมากเมื่อช่วงราวหนึ่งหรือสองเดือนที่ผ่านมาอย่างเรื่อง “ทองเนื้อเก้า” เรื่องราวชีวิตของตัวละครสามคนที่ผูกโยงให้ต้องมาร่วมในชะตากรรมเดียวกันอย่าง “ลำยอง” หญิงสาวสวยขี้เมาที่ขาดซึ่งอุดมคติของความเป็นแม่และเมียที่ดีที่จารึกอยู่ในพจนานุกรม “สันต์” นายทหารเรือหนุ่มที่ชีวิตพลิกผันเมื่อเลือกลำยองมาเป็นภรรยาคนแรกของเขา และ “วันเฉลิม” อภิชาตบุตรผู้ที่ไม่ว่าแม่จะขี้เหล้าหรือร้ายกาจเพียงไร แต่เด็กน้อยวันเฉลิมก็ยังคงเป็น “ทองเนื้อเก้า” ที่เปล่งปลั่งความกตัญญูต่อมารดาไม่เสื่อมคลาย   แม้โดยโครงเรื่องของ “ทองเนื้อเก้า” จะเล่าถึงชีวิตของสาวขี้เมากับความล่มสลายครั้งแล้วครั้งเล่าในชีวิตครอบครัวของเธอ (ซึ่งคงไม่แตกต่างจากเนื้อเพลงนำของละครที่ร้องว่า “จุดจบเธอคงจะไปไม่สวย ถ้าหากเธอยังทำตัวเสียเสีย...”) แต่อีกด้านหนึ่ง ฉากหลังของละครก็ได้ฉายให้เราเห็นภาพของ “แม่” ที่หลายหลากแตกต่างกันไปอย่างน้อยสามคน เริ่มต้นจากตัวละครอย่าง “ปั้น” แม่ของสันต์ ซึ่งถูกสร้างให้เป็นแม่ตามแบบฉบับที่สังคมไทยปรารถนา เป็นแม่ที่ขยันทำมาหากิน เก็บหอมรอมริบ และอบรมสั่งสอนลูกชายจนได้ดี จะว่าไปแล้ว แม่ในแบบยายปั้นนี้ก็น่าจะสอดรับตามความหมายที่พจนานุกรมบัญญัติไว้มากที่สุด ส่วนคนที่สองก็คือ “แล” แม่ที่ทะเยอทะยานอยากให้ลูกสาวอย่างลำยองได้สามีที่ร่ำรวย และด้วยเหตุที่ยายแลทั้งขี้ขโมย ติดการพนัน แทงหวย ติดเหล้า จนเรียกได้ว่ารวมดาวแห่งความทะยานอยากเอาไว้ “แม่ปูที่เดินเบี้ยวๆ” แบบยายแล จึงเป็นต้นแบบให้ลำยองกลายเป็น “ลูกปูที่เดินเบี้ยวไปมา” ตามๆ กัน แน่นอนว่า บทบาทของแม่แบบยายปั้นกับยายแลที่แตกต่างกันนี้ ก็คงเป็นความจงใจของละครที่ต้องการสื่อความเปรียบเทียบให้ผู้ชมเห็นว่า “ลูกไม้ย่อมหล่นไม่ไกลต้น” หรือเผลอๆ “ลูกไม้ก็จะอาจจะหล่นอยู่ใต้ต้น” เลยนั่นแหละ เพราะฉะนั้น ก็คงไม่ต่างจากคำโบราณที่ว่า “ดูช้างให้ดูหาง ดูนางให้ดูแม่” ลูกที่จะเติบโตเป็นเมล็ดพันธุ์ที่งอกงามได้ ก็ต้องมาจากการเลี้ยงดูบ่มเพาะจากพ่อแม่อย่างตาสินและยายปั้น แต่หากเป็น “พ่อแม่รังแกฉัน” แบบตาปอและยายแลแล้วไซร้ โศกนาฏกรรมชีวิตของลูกก็คงไม่แตกต่างไปจากตัวละครอย่างลำยองเท่าใดนัก จากแม่สองแบบแรก ก็มาสู่แบบในแบบที่สามที่สวิงกันมาสุดขั้วสุดโต่งไปอีกทางหนึ่ง ซึ่งก็คือ แม่ในเจเนอเรชั่นถัดมาอย่างลำยองนั่นเอง ในขณะที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตฯระบุว่า แม่หมายถึง “หญิงผู้ให้กำเนิดหรือเลี้ยงดูลูก” แต่สำหรับลำยองแล้ว นิยามความเป็นแม่กลับมาเพียงครึ่งแรกครึ่งเดียวคือ “หญิงผู้ให้กำเนิด” แต่ทว่าครึ่งหลังในฐานะ “ผู้เลี้ยงดูลูก” นั้น กลับไม่เคยปรากฏอยู่ในพจนานุกรมฉบับของลำยองเอาเสียเลย ในแง่ของ “ผู้ให้กำเนิด” นั้น ละครได้วาดภาพให้ลำยองถือกำเนิดลูกแบบชนิดคนแล้วคนเล่า หรือกล่าวง่ายๆ ก็คือ นับแต่เลิกรากับสันต์ ลำยองก็มาคบกับเจ้าของโรงงานอย่าง “เฮียกวง” นักพนันในบ่อนอย่าง “เมืองเทพ” ไปจนถึงมีสัมพันธ์กับชายมากหน้าหลายตาไม่เว้นแม้แต่คนขับรถรับจ้าง และลำยองก็ให้กำเนิดลูกกับผู้ชายเหล่านั้นคนแล้วคนเล่าชนิดยายแลผู้เป็นมารดาเองถึงกับงุนงง แต่ในแง่ของ “ผู้เลี้ยงดูลูก” นั้น ลำยองกลับไม่เคยใยดีกับการเลี้ยงดูลูกคนใดของเธอเองเลย ซึ่งนั่นก็เท่ากับว่า ลำยองได้ปฏิเสธทัศนะที่ว่า ลูกจะดีหรือไม่ก็ไม่จำเป็นต้องผ่านการอบรมเลี้ยงดูจากมารดาผู้ให้กำเนิด และที่น่าสนใจยิ่งก็คือ แม้ว่าภาพของลำยองจะไม่เป็นไปตามความเป็นแม่ในอุดมคติก็ตาม แต่ทว่าชะตาชีวิตของวันเฉลิมผู้เป็นลูกของลำยองนั้นกลับแตกต่างกันไปอีกทางหนึ่ง ถึงแม้ลำยองจะไม่ได้ “เลี้ยงดู” หรือแม้แต่ใส่ใจกับวันเฉลิมและลูกๆ คนใดของเธอเลยก็ตาม แต่วันเฉลิมก็กลับเป็นเด็กที่ดีแสนดี เป็นยอดยิ่งของความกตัญญู ไม่เพียงแต่ดูแลมารดาที่ขี้เมาหรือเจ็บป่วยจนถึงช่วงสุดท้ายของลำยองจะสิ้นลมหายใจเท่านั้น เขายังดูแลน้องๆ และอบรมสั่งสอนจนน้องๆ เหล่านั้นสามารถเป็นคนดีได้ในที่สุด ในมุมนี้ก็เหมือนกับละคร “ทองเนื้อเก้า” จะบอกเราๆ ว่า แม้สังคมไทยจะยึดถือค่านิยมที่เชื่อว่าลูกที่ดีก็ต้องมาจากแบบพิมพ์ที่ดีของพ่อแม่เท่านั้น แต่ก็อาจมีข้อยกเว้นบางเงื่อนไขเหมือนกันที่เด็กคนหนึ่งอาจจะเป็นคนดีได้ แม้ว่าเขาจะไม่ได้เกิดมาในครอบครัวที่สมบูรณ์พร้อมสรรพก็ตาม แต่ถึงกระนั้น จุดยืนของละครก็ไม่ได้เชื่อในทัศนะที่ว่า เด็กจะดีหรือเป็น “ทองเนื้อเก้า” ได้ ก็ด้วย “ทองเนื้อแท้” ที่ติดตัวเองมาเสียทีเดียว ตรงกันข้าม ละครก็ยังยืนยันว่า ผ้าจะเป็นสีขาวบริสุทธิ์ได้ก็ต้องมาจากการขัดกับการเกลาจากสังคมเท่านั้น เพราะฉะนั้น หากสถาบันครอบครัวหรือแม่อย่างลำยองทำหน้าที่เบี่ยงเบนไปจากบรรทัดฐานที่เขียนไว้ในพจนานุกรม แต่สังคมยังมีสถาบันอื่น ๆ เช่นสถาบันวัดและศาสนา ที่ทำหน้าที่กล่อมเกลาเยาวชนเป็นการทดแทนได้แล้ว เด็กๆ ก็สามารถเปล่งประกายเป็น “ทองเนื้อเก้า” ได้เช่นกัน เหมือนกับที่วันเฉลิมได้รับการอบรมขัดเกลาจาก “หลวงตาปิ่น” มาตลอดทั้งเรื่องของละคร บทสรุปของ “ทองเนื้อเก้า” นอกจากจะทำให้เราเห็นความจริงในชีวิตว่า ความเป็นแม่ไม่ได้มีอยู่แบบเดียวเหมือนกับที่เรารับรู้กันโดยทั่วไป แต่ในเวลาเดียวกัน ถึงจะมีแม่ที่มีวัตรปฏิบัติที่เบนเบี่ยงไปจากค่านิยมที่ผู้คนยึดถือกันอยู่บ้าง สังคมเราก็มิได้สิ้นหวังเสียทีเดียว เผลอๆ คำตอบสุดท้ายที่จะมาช่วยจรรโลงเกื้อกูลสถาบันครอบครัวทุกวันนี้ ก็อาจต้องย้อนกลับไปพึ่งพิงคุณงามความดีของสถาบันศาสนาที่สร้าง “ทองบริสุทธิ์” ให้เป็น “ทองเนื้อเก้า” ได้เฉกเช่นเดียวกัน  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point