ฉบับที่ 104 “รถเปลี่ยนเป็นเงิน” อันตรายติดเสาไฟฟ้า

“หนูจ๋า ช่วยป้าด้วยจ้ะ...!”“มีอะไรหรือคะป้า” เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคถาม“คืออย่างนี้...”ต่อจากนั้นเจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคก็ได้รับฟังความทุกข์จากป้าอารีย์ที่หลั่งไหลออกมาอย่างไม่ขาดสาย“สามีป้ามีปัญหาสุขภาพ เจ็บป่วยออดๆ แอดๆ ป้าต้องทำงานหาเงินคนเดียว ทำทุกอย่างทั้งเย็บมุ้งขาย ทั้งทำสวนอยู่ต่างจังหวัด ยังไม่พอนะหนู แม่สามีของป้าแกก็มาป่วยเข้าอีกคน ป้าแทบหมดหนทางไม่รู้จะหาเงินที่ไหนมาใช้จ่ายจุนเจือครอบครัว”ที่เล่ามาเป็นเพียงจุดเริ่มต้น แต่ปัญหาจริง ๆ ของป้าอารีย์เกิดขึ้นเมื่อ...“ป้าต้องใช้เงินมากไม่รู้จะไปกู้ที่ไหน เห็นเบอร์ตามเสาไฟฟ้าที่บอกว่า ให้นำรถไปเปลี่ยนเป็นเงินได้ พอดีสามีป้ามีรถกระบะอยู่คันหนึ่ง ก็ตัดสินใจวินาทีนั้นล่ะ กะจะเอารถไปจำนำเปลี่ยนเป็นเงินมาใช้กันก่อน มีเงินเมื่อไหร่ค่อยไปไถ่ถอนคืนทีหลัง”ป้าอารีย์จึงโทรไปขอความช่วยเหลือตามเบอร์โทรศัพท์ที่แจ้งไว้ในป้ายข้างเสาไฟฟ้าทันที“ตอนนั้นประมาณเดือนกรกฎาคม ปี 2548 เขาบอกคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อเดือน ใช้สมุดรถยนต์ค้ำประกัน ก็นัดหมายทำสัญญากันเลย” “ไปทำสัญญากันที่ปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่งแถวถนนเพชรเกษม ช่วงบางแค วันนั้นเห็นมีพนักงานแค่ 2 คน ก็เอารถเราไปให้เขาดูด้วย เขาตีราคาบอกว่าได้แค่ 70,000 บาท และให้วางสมุดทะเบียนรถไว้กับเขาแต่รถเอาไปใช้ได้ป้าก็ลังเลอยู่แต่สามีป้า ซึ่งเป็นเจ้าของรถตกลงเซ็นสัญญาทันที ก็ไม่ได้อ่านเอกสารหรอกเพราะตัวเล็กมาก แล้วพนักงานก็ให้ป้าเซ็นกำกับในสัญญานี้ด้วย โดยบอกว่าป้าเป็นเจ้าบ้านต้องเซ็นอนุญาตให้รถที่จำนำทะเบียนนั้นจอดได้ ป้าก็งง ๆ อยู่แต่ก็เซ็นไป”“เมื่อทำสัญญาเสร็จป้ากับสามีได้รับเงินแค่ 64,000 บาท เพราะพนักงานแจ้งว่ามีค่าใช้จ่าย 6,000 บาท หลังจากนั้นเขาก็ให้ป้ากับสามีเดินทางไปโอนทะเบียนรถให้เขา โดยให้พนักงานอีกคนขับรถของสามีป้าตามไปที่ขนส่งเขาเอารถไปทำเรื่องอยู่นานมาก แล้วเมื่อทำเรื่องโอนรถเสร็จป้ายังต้องเสียค่าโอนอีก 1,050 บาท”สรุปว่าวันนั้น ป้าอารีย์กับสามีได้รับเงินเพียงแค่ 62,950 บาท เท่านั้น จากการจำนำรถ 70,000 บาทและไม่ได้รับเอกสารใดๆ กลับบ้านเลยหลังจากนั้นไม่นานป้าอารีย์ได้รับเอกสารสัญญาส่งมาทางไปรษณีย์ เมื่อแกะเปิดดูแบบเต็มๆ ถึงได้รู้ว่าสัญญาที่ได้ทำไปนั้นแทนที่จะเป็นสัญญาจำนำรถกลับเป็นสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ของตัวเอง โดยมีหนี้เช่าซื้อรถจำนวน 137,700 บาท ผ่อนงวดละ 3,825 บาท ระยะเวลาผ่อน 36 งวด ได้รับเอกสารสัญญาแล้วป้าอารีย์ก็น้ำตาตกใน แต่ไม่ได้ทักท้วงอะไรตั้งหน้าตั้งตาผ่อนรถของตัวเองไปโดยไม่ปริปาก มีบางงวดที่ขาดส่งหรือล่าช้าไปบ้างจึงถูกเรียกเบี้ยปรับและค่าติดตามทวงถามเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ แต่ก็กัดฟันสู้ จนเมื่อประมาณเดือนตุลาคม 2551 คราวนี้ป้าอารีย์และสามีไม่มีเงินกันจริงๆ จึงไม่ได้ชำระเงินค่างวดอีก“พอถึงต้นเดือนพฤศจิกายน 2551 มีคนของไฟแนนซ์มาทวงหนี้ถึงที่บ้านแจ้งว่าให้ชำระหนี้ค่าเช่าซื้อทั้งหมด 50,000 กว่าบาทไม่เช่นนั้นจะยึดรถทันที แต่อีกไม่กี่วันป้าได้โทรไปถามยอดหนี้ให้แน่ใจอีกครั้งกลับได้รับแจ้งว่ามีหนี้เช่าซื้อถึง 70,000 กว่าบาทและถ้าจ่ายไม่ได้จะถูกยึดรถ”“ป้ากับสามีไม่รู้จะทำอย่างไรจากที่ไปขอกู้เงินเขาแค่ 70,000 บาท จ่ายคืนหนี้มาตั้ง 2-3 ปีก็ยังไม่หมด ตอนนี้เอารถยนต์ไปหลบที่ต่างจังหวัดอยู่ อยากให้มูลนิธิฯ ช่วยเหลือป้าด้วย”แนวทางแก้ไขปัญหาน่าเห็นใจครับกับปัญหาเศรษฐกิจระดับครัวเรือนที่ไม่มีทางออก เมื่อไม่มีแหล่งเงินกู้ในที่สว่างก็ต้องไปหาเก็บเอาตามเสาไฟฟ้ากันอย่างนี้ล่ะครับชีวิตคนไทยเมื่อเสียรู้เข้าทำสัญญาเช่าซื้อรถของตัวเองไปแล้วก็คงต้องเดินหน้าต่อไปล่ะครับ เมื่อดูใบเสร็จรับเงินที่ป้าอารีย์จ่ายค่างวดไปแล้วพบว่าค้างเหลืออยู่อีกแค่ 7 งวด เป็นเงิน 26,775 บาท เพื่อไม่ให้เป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าซื้อจึงแนะนำให้ป้าอารีย์ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างอยู่ให้ครบ โดยใช้วิธีโอนเงินเข้าบัญชีไฟแนนซ์ไป ไม่ต้องสนใจว่าใบเสร็จที่ได้รับจะถูกหักเป็นเบี้ยปรับล่าช้าหรือไม่ เพราะธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ถือเป็นธุรกิจที่ถูกคณะกรรมกาคุ้มครองผู้บริโภคเขาควบคุมสัญญาไว้ แม้จะให้ผู้ประกอบธุรกิจมีสิทธิคิดเบี้ยปรับ เบี้ยล่าช้า ได้แต่สัญญาควบคุมก็ห้ามคิดอัตราดอกเบี้ยแบบลูกค้าชั้นดีรายย่อยของธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน) บวกสิบ(MRR. + 10) อย่างที่หลาย ๆ ไฟแนนซ์ชอบเขียนกันไว้ในสัญญา หรือค่าทวงถามก็ให้คิดได้แต่ต้องอยู่ในอัตราที่เหมาะสมสามารถพิสูจน์ได้ว่ามีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นตามนั้นจริง ที่สำคัญสัญญาควบคุมเขาถือว่าเมื่อผู้เช่าซื้อชำระค่างวดและค่าใช้จ่ายอื่นใดที่ปรากฏในสัญญาและไม่ขัดต่อสัญญาควบคุมของ สคบ.แล้วถือว่ากรรมสิทธิ์ในรถยนต์ที่เช่าซื้อนั้นตกเป็นของผู้เช่าซื้อโดยทันที และผู้ประกอบธุรกิจมีหน้าที่ต้องดำเนินการโอนทะเบียนรถให้ผู้เช่าซื้อโดยทันทีภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับเอกสารที่เกี่ยวกับการโอนทะเบียนจากผู้เช่าซื้อครบถ้วนดังนั้นเมื่อป้าอารีย์ได้ชำระค่างวดรถไปครบถ้วนหลังจากนั้นมูลนิธิฯ จึงได้ช่วยทำหนังสือแจ้งไฟแนนซ์ให้ทำการโอนเปลี่ยนชื่อในสมุดคู่มือจดทะเบียนรถ ตอนแรกไฟแนนซ์ก็ทำทีอิดเอื้อนจะขอเรียกเก็บเบี้ยปรับอยู่แต่ด้วยไม่มีข้อต่อสู้ทางกฎหมายเนื่องจากสัญญาที่ทำขึ้นได้กำหนดค่าเบี้ยปรับที่ขัดต่อสัญญาควบคุมท้ายที่สุดจึงต้องทำการโอนเปลี่ยนชื่อรถโดยไม่มีเงื่อนไขครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 103 จองรถไม่ได้รถ ต้องได้เงินจองคืน

เรียน ผู้จัดการ บริษัท พระนครออโต้เซลล์เรื่อง ขอเงินค่าจองรถป้ายแดงคืนจากที่ได้ตกลงกันกับทางบริษัทไปแล้วนั้นว่าดิฉันจะรับเงื่อนไขจากบริษัท คือรับเงินคืนจำนวน 3,000 บาท จากที่ได้จองทั้งสิ้นเป็นเงิน 5,000 บาท โดยในการรับเงื่อนไขระบุในเอกสารการจองว่า ให้โอนเงิน 1,000 บาท เข้าบัญชีเลขที่ 688-000000-0 อีก 2,000 บาททางบริษัทยืนยันว่าจะจ่ายเป็นเช็คและแฟกซ์หน้าเช็คที่สั่งจ่ายเข้าบัญชีภายในวันที่ตกลงกัน แต่หลังจากนั้นดิฉันได้รอแฟกซ์แต่ก็ไม่มีแฟกซ์หน้าเช็คกลับมาดิฉันจึงอยากเรียนมา จริง ๆ แล้ว ดิฉันเช็คดูแล้วว่าทางบริษัท ผิดนัด ซ้ำแล้วซ้ำอีก นับตั้งแต่วันจองจนหาบริษัทไฟแนนซ์ให้ไม่ได้ และพยายามทำให้เรื่องยืดเยื้อและล่าช้า การกระทำดังกล่าวทำให้ดิฉันอดคิดไม่ได้ว่า ทางบริษัทจะริบเงินจองทั้งหมดจริง...นี่เป็นส่วนหนึ่งของจดหมายที่คุณกฤชญากรส่งถึงบริษัทขายรถยนต์แห่งหนึ่งเพื่อทวงถามเงินจองที่ได้จ่ายไปจำนวน 5,000 บาท แต่บริษัทรถอ้างว่าคุณกฤชญากรติดเครดิตบูโร ไฟแนนซ์ไม่อนุมัติสินเชื่อเช่าซื้อให้สักราย และได้เสนอเปลี่ยนรถที่จะขายให้เป็นคันใหม่ คุณกฤชญากรเห็นว่าไม่ได้รถตามที่ต้องการไว้แต่แรก จึงบอกเลิกสัญญาการจองและขอเงินค่าจองรถคืน แต่เกือบร้อยทั้งร้อยล่ะครับที่จะเจอการโยกโย้ โยกเย้ ประวิงเวลา เตะถ่วงไปเรื่อย ๆ ไม่คลายเงินจองออกมาง่าย ๆ จนผู้จองรถโดยส่วนใหญ่จำต้องทิ้งเงินจองไป ที่ผ่านมา ธุรกิจกินเงินจองรถนี่บรรดาเต้นท์รถเบิกบานมาก เพียงแค่ลงทุนค่าโฆษณาผ่านหนังสือขายฝากรถยนต์ แจ้งโฆษณาว่ามีรถทุกรุ่น ทุกเฉดสี ไม่ว่าใหม่หรือเก่า ก็สามารถหาให้ได้ แถมราคาย่อมเยากว่าศูนย์ตัวแทนของบริษัทผู้ผลิตเป็นหมื่น แค่นี้ก็มีลูกค้ามาถวายเงินจองให้ตรึม พอลูกค้ามาติดต่อก็บอกว่าหารถให้ได้แน่ ไฟแนนซ์ก็ผ่านแน่ ๆ ขอแค่วางเงินจองไว้ 5,000 บาท พอถึงจังหวะที่จะกินเงินจองกับลูกค้าก็จะมีสูตรตายตัวในทำนองว่า ลูกค้าปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับเครดิตบูโร เลยไม่สามารถจัดไฟแนนซ์ให้ได้ เมื่อลูกค้าเป็นคนผิดสัญญาการจองเอง ดังนั้นจึงต้องถูกยึดเงินจอง ลูกค้ากลับไปดูสัญญาก็เห็นเป็นจริงเช่นนั้นเสียด้วยแต่เขียนซะตัวเล็กกระจ้อยร่อย ท้ายสุดต้องยอมเสียเงินไป เรื่องทำนองนี้เคยนำลงในฉลาดซื้อมาครั้งสองครั้งแล้ว แต่ครั้งนี้มีข้อกฎหมายเด็ดสะระตี่ไว้ให้ผู้บริโภคใช้เรียกเงินจองคืนได้แบบสมบูรณ์แบบครับแนวทางแก้ไขปัญหาด้วยท่วงทำนองการประกอบธุรกิจที่ทุจริตของบรรดาเต้นท์รถทั้งหลายทำให้คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคนิ่งเฉยไม่ได้ ในที่สุดจึงได้ใช้แผนเผด็จศึกที่ได้ผลมาแล้วกับหลายๆ ธุรกิจ คือการประกาศให้ธุรกิจการขายรถยนต์ที่มีการจองเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา หลายคนยังไม่รู้จักเพราะประกาศฉบับนี้เพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ.2551 นี่เอง ถือเป็นประกาศควบคุมสัญญาล่าสุดที่ สคบ. มีออกมาประกาศฉบับนี้ใช้ควบคุมการประกอบกิจการขายรถยนต์ที่ผู้ประกอบธุรกิจนำเอารถยนต์ออกขายโดยให้ผู้บริโภคทำการจองซื้อ และผู้ประกอบธุรกิจได้รับเงินหรือรับสิ่งใดไว้เป็นมัดจำ และให้คำมั่นว่าจะส่งมอบรถยนต์ให้ผู้บริโภคตามเวลาที่กำหนดในสัญญาทีนี้ในเรื่องของการซื้อขายรถยนต์ที่มีการจอง ประกาศฉบับนี้ได้เขียนข้อสัญญาที่ควบคุมไว้อย่างชัดเจนว่า ผู้บริโภคมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเมื่อผู้ประกอบธุรกิจไปปรับเปลี่ยนราคารถยนต์ที่จองไว้สูงขึ้น หรือไม่ส่งมอบรถยนต์ให้ผู้บริโภคภายในระยะเวลาที่กำหนด หรือไม่ส่งมอบรถยนต์ที่มียี่ห้อ รุ่น ปีที่ผลิต สี และขนาดกำลังเครื่องยนต์ตรงตามที่กำหนดในสัญญา หรือ ไม่ส่งมอบรถยนต์ที่มีรายการอุปกรณ์ติดตั้งเพิ่มเติมและของแถม หรือสิทธิประโยชน์ต่างๆ ตามที่กำหนดในสัญญานอกจากนี้ยังมีการควบคุมสัญญาที่สำคัญอีกข้อหนึ่งว่า หากมีข้อเท็จจริงที่ผู้ประกอบธุรกิจได้รับทราบว่า ผู้บริโภคต้องขอสินเชื่อเพื่อการซื้อรถยนต์ และผู้บริโภคไม่ได้รับสินเชื่อตามที่ขอภายในกำหนดเวลาการส่งมอบรถยนต์ ผู้บริโภคหรือผู้ประกอบธุรกิจฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีสิทธิบอกเลิกสัญญากันได้ผลของการบอกเลิกสัญญากันตามเงื่อนไขที่ได้ว่ามา คือ ผู้ประกอบธุรกิจต้องคืนเงินหรือสิ่งใดที่รับไว้เป็นมัดจำทั้งหมดแก่ผู้บริโภคภายใน 15 วันแม้ผู้ประกอบธุรกิจอาจจะหัวหมออ้างว่า สัญญาที่ทำกับผู้บริโภคไม่มีข้อสัญญาเหล่านี้ แต่ไม่สามารถจะใช้ยกเป็นเหตุในการไม่ยอมคืนเงินจองเงินมัดจำให้กับผู้บริโภคได้ครับ เนื่องจาก ตามหลักกฎหมายควบคุมสัญญาของ สคบ. นั้นมีหลักการสำคัญคือ หากสัญญาที่ผู้ประกอบธุรกิจทำขึ้นไม่มีข้อสัญญาตามที่ สคบ. ได้กำหนดไว้ กฎหมายจะถือว่าสัญญาของผู้ประกอบธุรกิจมีข้อสัญญาที่ สคบ. กำหนดไว้อยู่ด้วยแล้ว และหากสัญญาข้อใดของผู้ประกอบธุรกิจที่เขียนแล้วไปฝ่า ไปฝืนข้อสัญญาที่ สคบ. ได้กำหนดไว้ กฎหมายควบคุมสัญญาจะถือว่าไม่มีข้อสัญญานั้นปรากฏอยู่ในข้อสัญญาของผู้ประกอบธุรกิจ พูดง่ายๆ คือ ข้อสัญญาใดที่ไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภคจะเอามาบังคับใช้กันไม่ได้หลักการนี้จึงเป็นที่มาของคำว่า “ธุรกิจที่ควบคุมสัญญา” ของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสัญญานั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 98 วาระสุดท้ายของสัมพันธ์ประกันภัย

ในช่วงปี สองปีที่ผ่านมามีเรื่องร้องเรียนกรณีบริษัท สัมพันธ์ประกันภัย จำกัด ไม่จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เอาประกันภัยและประชาชนเข้ามาที่มูลนิธิฯ เป็นจำนวนมากหลายร้อยราย และที่ร้องเรียนไปที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) อีกร่วม 9 พันกว่าราย คุณจินตนา เป็นตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความทุกข์ของผู้เอาประกันภัยกับบริษัทนี้ได้เป็นอย่างดี คุณจินตนาเล่าว่า ตนทำประกันภัยไว้กับบริษัทสัมพันธ์ประกันภัย และได้เกิดกรณีรถหายตั้งแต่เดือนธันวาคมปี 2549 ซึ่งจะต้องได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยที่ได้ทำไว้กับบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งนี้ ตอนที่รถหายคุณจินตนายังต้องมีภาระส่งค่างวดกับบริษัทไฟแนนซ์ทิสโก้อยู่ ในขณะที่สัมพันธ์ประกันภัยได้ทำการเลื่อนจ่ายค่าสินไหมทดแทนมาเรื่อยๆ คุณจินตนาส่งค่างวดรถไปได้ประมาณ 6 เดือนจึงหยุดส่ง เพราะเห็นว่าสัมพันธ์ประกันภัยถูกกรมการประกันภัยสั่งให้ระงับการขายประกันชั่วคราวเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2550 ทำให้คุณจินตนากลายเป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าซื้อกับไฟแนนซ์ทันทีหลังจากที่ไม่ได้ส่งค่างวดติดกัน 3 งวดและถูกบอกกล่าวเลิกสัญญาในเวลาต่อมา คุณจินตนาได้พยายามติดต่อไปทางทิสโก้ให้ตามเรื่องของทางสัมพันธ์ให้ “เพระคิดว่าให้ทางบริษัทใหญ่ตามเรื่องน่าจะดีกว่าเราตัวเล็กๆ ตามเรื่องเอง แต่ก็ไม่ได้ผลอะไรเกิดขึ้น” คุณจินตนาได้ไปแจ้งกับทางกรมการประกันภัยไว้อีกทางหนึ่งแต่ก็ไม่เกิดผลอะไร จนระยะหลังโทรไปที่กรมการประกันภัย กรมฯ ก็เลี่ยงมาตลอดอีกเช่นกัน ให้โทรมาตอนนั้นตอนนี้ แต่ก็ไม่ได้เรื่องอะไรเลย “ในที่สุดก็มีหมายศาลจากทางทิสโก้ ส่งมาให้เรา ซึ่งเราก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ไม่รู้เรื่องกฎหมายเลยค่ะ ได้แต่รอว่าเมื่อไหร่จะได้เงินจากสัมพันธ์ ทางเราไม่คิดที่จะได้ค่าสินไหมทั้งหมดอยู่แล้วค่ะ ขอแค่บางส่วนมาส่งให้ทิสโก้ก็พอแล้ว หมายศาลนัดให้ไปที่ศาลในเดือนมีนาคมนี้แล้วค่ะ ยังไม่รู้จะทำอย่างไรเลยค่ะ”  แนวทางการแก้ไขปัญหากรณีนี้แยกได้ 2 ประเด็น 1.คดีที่คุณจินตนาถูกไฟแนนซ์ฟ้อง เนื่องจากผิดสัญญาไม่ส่งค่างวดรถให้ครบตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ เฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความอาสาเพื่อผู้บริโภค ได้เคยเขียนไว้ในฉลาดซื้อ ฉบับที่ 93 สรุปสั้น ๆ ว่า ไฟแนนซ์น่าจะฟ้องเป็นคดีผู้บริโภค โดยอ้างข้อสัญญาว่า ถ้ารถที่เช่าซื้อสูญหายไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ หรือสุดวิสัย ผู้เช่าซื้อยินยอมรับผิดและยอมชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาจนครบ ขอให้ศาลบังคับให้ผู้เช่าซื้อรับผิดชอบชดใช้ค่าเช่าซื้อที่เหลืออยู่ ข้อตกลงเช่นนี้ศาลฎีกาตัดสินว่าใช้บังคับได้ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย แต่ถือเป็นการกำหนดเบี้ยปรับไว้ล่วงหน้าศาลมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ โดยดูจากมูลค่าทรัพย์สิน เงินค่าเช่าซื้อที่ได้จ่ายไป และระยะเวลาที่ได้ใช้ประโยชน์จากรถที่หายไป ดังนั้นคุณจินตนาควรไปให้การต่อศาลถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นและขอให้ศาลพิจารณาลดหย่อนค่าเสียหายที่ไฟแนนซ์เรียกร้อง แต่หากสัญญาเช่าซื้อที่ทำไม่มีข้อสัญญาที่ว่ามาข้างต้น ทางกฎหมายก็ถือว่าเมื่อรถที่เป็นทรัพย์สินที่เช่าซื้อ สูญหายไป สัญญาเช่าซื้อถือเป็นอันระงับไปด้วย ผู้เช่าซื้อไม่ต้องชำระเงินค่าเช่าซื้อหรือค่าเสียหายตั้งแต่งวดรถที่หายเป็นต้นไป ถ้าเป็นอย่างนี้คุณจินตนาก็คงจะเบาใจไปเปลาะหนึ่ง2. กรณีสัมพันธ์ประกันภัยไม่จ่ายค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัย ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2552 บริษัท สัมพันธ์ประกันภัย ได้ถูกกระทรวงการคลังสั่งปิดกิจการโดยเด็ดขาดแล้ว โดยมีมาตรการคุ้มครองประชาชนในฐานะเจ้าหน้าหนี้ตามสัญญาประกันภัยให้ไปยื่นเรื่องขอรับชำระหนี้ต่อผู้ชำระบัญชี ของบริษัทสัมพันธ์ประกันภัย และกองทุนประกันวินาศภัย ภายในวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ.2552 โดยให้นำเอกสารต้นฉบับพร้อมทั้งสำเนาเอกสาร จำนวน 2 ชุด ประกอบการยื่นด้วย คือ กรมธรรม์ประกันภัย บัตรประจำตัวประชาชน ใบเคลม ใบนัดชำหระหนี้ หรือเอกสารอื่นใดที่แสดงถึงมูลหนี้ สำหรับส่วนกลางยื่นได้ 3 แห่ง คือ 1.ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) หรือกรมการประกันภัยเดิม กระทรวงพาณิชย์ สนามบินน้ำ จังหวัดนนทบุรี 2. สำนักงาน คปภ. เขต 1 ซอยวิภาวดี 44 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร 3.สำนักงาน คปภ. เขต 2 ซอยรัชดาภิเษก 6 ถนนรัชดาภิเษก ท่าพระ แขวงบุคคโล เขตธนบุรี ส่วนต่างจังหวัดนั้นให้ยื่นได้ที่ สำนักงาน คปภ. ภาค และสำนักงาน คปภ. จังหวัดทั่วประเทศ (ยกเว้นจังหวัดสมุทรสงคราม จังหวัดลำพูน จังหวัดแม่ฮ่องสอน และจังหวัดนนทบุรี) หากคุณจินตนาได้ไปฟ้องศาลเป็นคดีผู้บริโภคและมีคำพิพากษาออกมาแล้ว คำพิพากษาถือเป็นเอกสารที่รับรองถึงมูลหนี้ที่ชัดเจนที่สุดแล้ว นำไปยื่นขอรับชำระหนี้กับ คปภ. ได้เลย ไม่ต้องพิสูจน์อีก  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 97 เขาหาว่าผมค้างค่างวดรถ

คุณเดชาเดินทางมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ด้วยสีหน้าบอกบุญไม่รับ พร้อมกับยื่นกระดาษแผ่นหนึ่งให้เจ้าหน้าที่ของศูนย์พิทักษ์สิทธิมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค “พี่ช่วยผมด้วยครับ” เจ้าหน้าที่รับกระดาษมาอ่านในรายละเอียด เห็นหัวกระดาษเป็นชื่อและที่อยู่ของบริษัทกรุงไทย ออโต้ลีส จำกัด เนื้อหาแจ้งว่า คุณเดชาได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า รุ่น M’TX ตอนเดียว จำนวน 1 คัน จากบริษัท กรุงไทย ออโต้ลีส จำกัด ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ปี 2547 หรือเมื่อ 5 ปีที่แล้ว หนังสือแจ้งว่าคุณเดชาไม่เคยชำระค่าเช่าซื้อเลยสักงวด จึงมีหนังสือฉบับนี้มาถึงคุณเดชาเพื่อให้ชำระหนี้และบอกเลิกสัญญา หนี้ที่คุณเดชาจะต้องจ่ายคือค่างวดเช่าซื้อ 48 งวดเป็นเงิน 254,976 บาท ค่าเบี้ยปรับโดยคิดจากยอด ณ วันที่ออกหนังสือ เป็นเงิน 401,954 บาท และค่าผิดสัญญาค่าติดตามอีก 10,000 บาทรวมเป็นเงิน 666,930 บาท เมื่อเจ้าหน้าที่อ่านรายละเอียดในกระดาษเสร็จจึงเงยหน้าขึ้น “จะให้เราช่วยยังไงครับ ไม่ใช่จะให้เราช่วยชำระหนี้แทนนะครับ” เจ้าหน้าที่เอ่ยถามด้วยอาการเสียวๆ เพราะมีคนเป็นหนี้หลายรายคิดว่ามูลนิธิฯเป็นแหล่งปล่อยเงินกู้ “ไม่ใช่อย่างงั้นครับพี่ คือไอ้สัญญาฉบับที่ไฟแนนซ์เขาอ้างมาในจดหมายทวงหนี้น่ะ ผมไม่เคยเห็นมันมาก่อนเลยครับ ไม่รู้เคยไปเซ็นอะไรไว้ตรงไหน คนค้ำประกันผมก็ไม่รู้จักตอนนี้ผมอายุ 27 ปี ถ้าผมไปทำสัญญาจริงๆ ตอนนั้นผมก็อายุแค่ 22 ปียังเดินเตะฝุ่นหางานทำอยู่เลยครับ ไฟแนนซ์หน้าไหนจะปล่อยเงินให้ผมไปซื้อรถ อยู่ดีๆ ก็มีจดหมายทวงหนี้โผล่มาที่บ้าน...แม่ผมแทบช็อกตาย หนี้ตั้ง 5 แสน 6 แสน บ้านผมทำนาคงไม่มีปัญญาจะหาเงินไปใช้หนี้เขาได้หรอกครับ ช่วยผมที” “เอ้า...ช่วยก็ช่วย” เจ้าหน้าที่รับปาก  แนวทางแก้ไขปัญหาในเรื่องของการเช่าซื้อรถยนต์นั้น คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ได้ประกาศให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจควบคุมสัญญา พ.ศ.2543 โดยมีสัญญาข้อหนึ่งที่ให้สิทธิผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อได้หากมีการผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อรายงวด 3 งวดติดๆ กัน...แต่กรณีนี้บริษัทปล่อยให้หนี้ค้างอยู่ได้ตั้ง 48 งวด แถมไม่เคยมีการติดตามทวงถามกันมาก่อนเลย เมื่อสอบถามกับคุณเดชาว่าตลอด 5 ปีที่ผ่านมาเคยได้รับใบแจ้งหนี้ ใบทวงหนี้มาก่อนหรือเปล่า ได้รับคำตอบว่ามีโทรศัพท์มาทวงหนี้อยู่ครั้งเดียว ก่อนที่จะได้รับจดหมายทวงหนี้ฉบับดังกล่าวเท่านั้น แปลกไหมล่ะครับ ถ้าผู้บริโภคท่านใดเจอหนี้แปลกพิสดารแบบนี้ สิ่งที่ควรทำโดยทันทีคือการทำจดหมายทักท้วงปฏิเสธหนี้ดังกล่าวโดยทันทีส่งเป็นไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับและเก็บใบตอบรับไว้เป็นหลักฐาน ซึ่งหากบริษัทไฟแนนซ์ยืนยันที่จะเรียกเก็บหนี้ต่อไปก็ต้องมั่นใจในเอกสารที่เกี่ยวข้องในการทำสัญญาว่า เป็นเอกสารที่ได้มาโดยชอบ และดำเนินการฟ้องต่อศาลต่อไป แต่หากเป็นการ “ลักไก่” เรียกเก็บหนี้กับคนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ เมื่อเรารู้ทัน เขาก็ต้องยุติการติดตามทวงหนี้ไปโดยปริยาย กรณีของคุณเดชา มูลนิธิฯ ได้ทำหนังสือทักท้วงแจ้งปฏิเสธการชำระหนี้ดังกล่าวส่งไปถึงบริษัทฯ ซึ่งขณะนี้สัญญาณตอบรับจากบริษัทยังคงเงียบฉี่ ติดต่อไม่ได้ในขณะนี  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 152 ยาปลุกนกเขา(แผนปัจจุบัน) ในยาแผนโบราณบำรุงร่างกาย

อันว่าภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศนั้น เป็นหนึ่งในสัญญาณบ่งบอกสภาวะเสื่อมถอยทางกาย(แก่นั่นแหละ) และหลายคนก็อาจมีสาเหตุทางด้านจิตใจ หรือเกิดจากการใช้ยาประจำบางอย่าง โดยไม่รู้ถึงผลข้างเคียง ดังนั้นควรได้รับการวินิจฉัยปัญหาอย่างรอบคอบและแก้ไขที่ต้นเหตุ มิใช่ว่า ต้องฝืนปลุกนกเขาให้ขันตลอด ด้วยการโด๊ปยาอย่างที่หลายท่านชอบทำ เรื่องของเรื่องคือ เมื่อเฝ้าดูรายการโทรทัศน์ในช่องเคเบิลและดาวเทียมทั้งหลายแล้ว ทำให้แจ้งในใจว่า คุณผู้ชายส่วนใหญ่วุ่นวายใจกับเรื่อง หย่อนสมรรถภาพทางเพศจริงจังมาก ไม่ว่ายาอะไรโฆษณาว่าดี ว่ายอดเป็นต้องหามาลองโดยไม่ได้มองถึงอันตรายใดๆ ยาพวกนี้เวลาโฆษณาจนติดแล้วในช่องทางเคเบิล ก็มาโผล่ในฟรีทีวี หรือคัตเอ้าต์ระดับสนามบินสุวรรณภูมิ ด้วยสรรพคุณบำรุงร่างกาย(แต่คนได้ยินชื่อก็รู้ล่ะว่า เป็นยาเพื่อเรื่องอย่างว่า) ยาประเภทนี้มักมาในรูปของยาสมุนไพรหรือยาแผนโบราณ ผสมสารพัดสมุนไพร แน่นอนราคาแพงมาก(ไม่รู้แพงเพราะตัวยาหรือโฆษณา) ซึ่งสรรพคุณเด่นดังในทางบำรุงร่างกาย(เพศชาย) นี่เอง ที่ทำให้เกิดปัญหาว่า ยาเหล่านี้อาจมีการผสมยาแผนปัจจุบันลงไป เข้าอีหรอบเดียวกับกาแฟลดน้ำหนัก ที่ใส่ตัวยาลดน้ำหนัก ซึ่งเป็นข่าวมาโดยตลอด ล่าสุดได้รับรายงานผลการทดสอบจากศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ (เชียงใหม่และอุบลราชธานี) ว่า เจอยาแผนปัจจุบัน(Tadalafil และ Sildenafil ตัวหลังนี้มีชื่อการค้าว่า ไวอากร้า) ในยาบำรุงร่างกาย เกร็กคู จิ่วเจิ้งปู่เซินเจียวหนัง และแคปปร้า หรือ cappra อันนี้โชว์ป้ายโฆษณาท้าทายสายตาอยู่ ณ สนามบินสุวรรณภูมิด้วย   สรุปผล นกเขาขันเพราะยาแผนปัจจุบัน ก็เป็นอันตอบคำถามได้ว่า ทำไมยาแผนโบราณชื่อดังเหล่านี้จึงตอบโจทย์ท่านชายได้ ไอ้ที่ว่าได้ผลดีเยี่ยม ก็เพราะแอบใส่ยาแผนปัจจุบันเข้าไปนี่เอง การรับประทานยาด้วยความเข้าใจผิดแบบนี้ อันตรายต่อสุขภาพมาก เพราะหนึ่งการรับประทานยาสมุนไพรหรือยาแผนโบราณ หลายท่านยังเข้าใจผิดว่า ปลอดภัย (อย่างน้อยก็ปลอดภัยกว่าสารเคมีสังเคราะห์) ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่เลย มันก็อันตรายด้วยกันทั้งสองแบบ แต่ยาแผนโบราณดีกว่านิดหน่อยเพราะไม่ได้ออกฤทธิ์รวดเร็วเท่ายาแผนปัจจุบัน อีกทั้งผลข้างเคียงอาจน้อยกว่า แต่เมื่อมาในรูปของการแอบแฝง ทำให้คุณผู้ชายอาจรับประทานยาเกินขนาดและขาดความระมัดระวัง ซึ่งตัวยา Sildenafil และ Tadalafil มีผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์หลายอย่าง โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด คนที่เป็นโรคหัวใจและกินยาโรคหัวใจอยู่ โดยเฉพาะยาในกลุ่มไนเตรท เช่น ยาไนซอดิล ยาอมใต้ลิ้นที่ชื่อไนโตรกลีเซอรีล หรือยาไนโตรเดิร์ม ยารักษาโรคหัวใจเหล่านี้จะไปเสริมฤทธิ์กับยา Sildenafil ซึ่งอาจเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันได้   ดังนั้นโปรดใช้สติในการซื้อหามารับประทานกันด้วยนะครับ   ------------------------------------------------------------------------------------------------------ Sildenafil หรือ VIAGRA ที่เป็นชื่อทางการค้า ของบริษัท PFIZER ในประเทศสหรัฐอเมริกานั้น เกิดขึ้นมาด้วยความบังเอิญ Sildenafil Citrate (ชื่อสามัญทางยา) เกิดจากการวิจัยเพื่อผลิดยาขยายหลอดเลือดเพื่อช่วยรักษาเรื่องหัวใจขาดเลือด แต่กลับพบว่าผลข้างเคียงที่ได้ คือทำให้อวัยวะเพศชายแข็งตัว คณะนักวิจัยจึงได้วิจัยต่อมาเพื่อเป็นยารักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ และในปี 1998 ได้ผ่าน FDA ของอเมริกาโดยบริษัท PFIZER เป็นเจ้าของสิทธิบัตร หลังจากได้วางขายยา VIAGRA มันก็เป็นที่นิยมมาก นัยว่าเป็นยาชุบชีวิตของท่านชายหลายคนที่ประสบกับปัญหาเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ และนับจากนั้นไม่นานก็ได้แพร่หลายเป็นที่นิยมในหลายๆ ประเทศ อย่างไรก็ตามการใช้ยานี้ต้องจ่ายโดยแพทย์เป็นผู้สั่งเท่านั้น เพราะมีผลข้างเคียงไม่พึ่งประสงค์มากมาย   ------------------------------------------------------------------------------------------------------ พระราชบัญญัติ ยา พ.ศ. 2510 “ยาสมุนไพร” หมายถึง ยาที่ได้จากพฤกษชาติ สัตว์ หรือ แร่ ซึ่งมิได้ผสม ปรุงหรือแปรสภาพ “ยาแผนโบราณ” หมายถึง ยาที่มุ่งหมายสาหรับใช้ในการประกอบโรคศิลปะแผนโบราณ หรือการบำบัดโรคสัตว์ ซึ่งอยู่ในตำรายาแผนโบราณที่รัฐมนตรีประกาศหรือยาที่รัฐมนตรีประกาศเป็นยาแผนโบราณ หรือ ยาที่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนตารับยาเป็นยาแผนโบราณ ------------------------------------------------------------------------------------------------------ มะเขือเผา นกเขาหลับ ทำไงดี เป็นคำสแลงไว้เรียก อาการที่องคชาติไม่แข็งตัว จัดว่าเป็นภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ศัพท์ทางการแพทย์เรียกว่า อิมโพเทน (impotence) หรือ เมล อิเรคไท ดิสออเดอร์ (male erectile disorder) หรือ อิเรคไท ดิสฟังชั่น (erectile dysfunction) เรียกย่อๆ ว่า อีดี (ED) ซึ่งมีคำแปลว่า “ภาวะบกพร่องของการแข็งตัวขององคชาต”  ภาวะนี้สร้างความทุกข์ใจอย่างมาก และแน่นอนเมื่อเกินจะเยียวยาก็ต้องหาหนทางบำบัดอาการ ดังนี้  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 180 ที่นั่งสำหรับเด็กในรถยนต์

ฉบับนี้เรามีผลทดสอบผลิตภัณฑ์เพื่อความปลอดภัยให้กับผู้โดยสารตัวน้อยมาฝากสมาชิกที่กำลังมองหาที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก (หรือที่เรียกกันติดปากว่าคาร์ซีท) มาติดรถไว้ยามที่มีเด็กเล็กร่วมเดินทางไปด้วย  เราใช้ผลทดสอบที่องค์กรทดสอบระหว่างประเทศ (ICRT) ได้ทำไว้กับคาร์ซีทรุ่นที่วางตลาดในยุโรปในปีที่ผ่านมา สนนราคาค่าทดสอบก็ไม่มากเลย แค่ตัวอย่างละประมาณ 8,000 ยูโร (240,000 บาท) เท่านั้น การทดสอบครั้งนี้มีคะแนนให้ ด้านความปลอดภัย (การป้องกันอันตรายจากการชนด้านหน้า ด้านข้าง รวมถึงความแข็งแรงในการยึดกับเบาะรถ) ตามด้วยความสะดวกในการติดตั้ง/การใช้/การปรับให้พอดี/การทำความสะอาด การออกแบบที่ถูกหลักทางการยศาสตร์ (ergonomics) ที่เกี่ยวกับพื้นที่ใช้สอย ลักษณะการนั่ง และความนุ่มสบาย นอกจากนี้ยังดูเรื่องของการใช้สารเคมีอันตรายที่ถูกห้ามใช้ในยุโรปด้วย ที่นั่งนิรภัยเหล่านี้ดีจริงสมราคาหรือคำร่ำลือในสังคมออนไลน์หรือไม่ ติดตามได้ในหน้าถัดไป•    หมายเหตุ ราคาที่นำเสนอเป็นราคาที่ค้นจากอินเตอร์เน็ทในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 กรุณาตรวจสอบราคา นอกจากนี้อย่าลืมสอบถามผู้ขายเพื่อความแน่ใจว่าที่นั่งนิรภัยรุ่นดังกล่าวสามารถใช้ได้กับรถยนต์ที่ท่านต้องการติดตั้งหรือไม่   ECE R44/04ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา พาหนะทุกคันในยุโรปต้องมีการติดตั้งเข็มขัดนิรภัย และมีการใช้ที่นั่งเฉพาะสำหรับเด็ก นอกจากนี้ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปยังกำหนดให้มีการใช้ที่นั่งเสริมในรถสำหรับเด็กจนกว่าเด็กจะมีความสูงถึง 135 หรือ 150 ซม.ด้วยทั้งนี้ที่นั่งสำหรับเด็กจะต้องมีฉลากแสดงตรารับรอง ECE R44/04 เมื่อผ่านการทดสอบตามมาตรฐานที่กำหนดขึ้นใน พ.ศ. 2525 ที่นั่งสำหรับเด็ก สามารถแบ่งกลุ่มตามน้ำหนักตัวของเด็ก ดังนี้Group O    ต่ำกว่า 10 กิโลกรัม (หรืออายุต่ำกว่า 9 เดือน)Group O+    ต่ำกว่า 13 กิโลกรัม (หรืออายุต่ำกว่า 15 เดือน)Group I        9 - 18 กิโลกรัม (ประมาณ 8 เดือน – 3 ปีครึ่ง)Group II    15 - 25 กิโลกรัม (ประมาณ 3 – 7 ปี)Group III      22 - 36 กิโลกรัม (ประมาณ 6 – 12 ปี)i-Size คืออะไร?i-Size คือมาตรฐานใหม่ของยุโรปสำหรับที่นั่งในรถสำหรับเด็ก ปัจจุบันรถยนต์ที่ได้รับการประเมิน 5 ดาวจาก Euro NCAP ทุกคันจะต้องสามารถใช้กับที่นั่งเด็กตามมาตรฐาน i-Size ได้   มาตรฐานนี้ออกแบบมาเพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้กับเด็ก เพื่อใช้ควบคู่ไปกับ R44/04 ตัวเดิม สิ่งที่เพิ่มเข้ามาคือการรองรับศีรษะและคอของเด็ก การป้องกันที่ดีขึ้นทั้งจากการชนด้านหน้าและด้านข้าง ที่จะทำให้เด็กยังคงอยู่ในที่นั่งแม้รถจะพลิกคว่ำการจัดกลุ่มจะแบ่งตามความสูงของเด็ก (ไม่ใช่น้ำหนัก) ที่นั่งมาตรฐาน i-Size จะใช้ได้กับรถยนต์ที่มีหัว IsoFix เพื่อรองรับการติดตั้ง (รถส่วนใหญ่ที่ผลิตหลัง พ.ศ. 2550 จะมีอุปกรณ์ดังกล่าว)                                    

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 178 คนไทยยังต้องเสี่ยงภัยกับการโดยสารรถประจำทาง 2

โครงการเสริมพลังผู้บริโภคและผู้ประกอบการเพื่อรถโดยสารปลอดภัย พยายามทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิความปลอดภัยในการโดยสารรถสาธารณะ ได้จัดทำการสำรวจความคิดเห็นจากผู้ใช้บริการรถทัวร์โดยสารสาธารณะ ซึ่งเก็บตัวอย่างจากผู้บริโภคทั่วประเทศ จำนวน 1,784 ตัวอย่าง (ระยะเวลาเก็บตัวอย่าง เดือนกลางเดือนสิงหาคม-กันยายน 2558 ) เพื่อสะท้อนสถานการณ์จริงที่ผู้บริโภคต้องเผชิญอยู่ ณ ปัจจุบัน ------------------------------------------------------------------------------------------------ในแต่ละปีจะมีอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะทุกประเภท เฉลี่ย 2,000 ครั้งต่อปี ซึ่งจากสถิติเฉลี่ยแล้ว พบว่าเมื่อเกิดอุบัติเหตุกับรถโดยสารสาธารณะ 1 ครั้งจะมีผู้เสียชีวิต 0.42 รายหรือครึ่งคน บาดเจ็บสาหัส 4 คน และบาดเจ็บเล็กน้อย 2.69 ราย มูลค่าความเสียหายมหาศาล รวมถึงปีละ 8,000 – 9,000 พันล้านบาทต่อปี   ข้อมูลเฉพาะจำนวนตัวอย่างแบบสำรวจ 4 ภูมิภาคภาคเหนือ 609 ภาคใต้ 432 ภาคตะวันออก 263 ภาคอีสาน 480 อาชีพนักเรียน 23.9% รับจ้าง 16.6% พนักงานบริษัทเอกชน 13.9% ธุรกิจส่วนตัว 13.7% ข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ 10.3%เกษตรกร 8.5% แม่บ้านพ่อบ้าน 5.8% ว่างงาน 4.5%   ผลสำรวจโดยสรุป 1.ประชาชนยังนิยมใช้รถทัวร์โดยสารสาธารณะ เพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์การเดินทางทั้งไปทำธุระ กลับบ้านและไปเรียนหนังสือ โดยรถ ป.2 ชั้นเดียวได้รับความนิยมที่สุด และบริษัทรถร่วม บขส. ได้รับความนิยมพอๆ กับ บริษัท ขนส่ง จำกัด2. เหตุผลที่ใช้รถทัวร์โดยสารสาธารณะ คือ ความสะดวก ปลอดภัยและราคาถูก เรียงตามลำดับ มากไปน้อย 3.ความพึงพอใจทั้งเรื่องพนักงานขับรถ พนักงานประจำรถ และความสะดวก ความสะอาดของสถานีรถ อยู่ในค่าเฉลี่ยปานกลาง แต่ยังพบปัญหาการบรรทุกผู้โดยสารเกินประมาณ 9.4%4.ภายในรถโดยสารส่วนใหญ่มีเข็มขัดนิรภัย(80% ตอบว่ามี) และประมาณ 50% ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า ทางรถโดยสารได้แจ้งข้อมูลให้กับผู้โดยสารทราบผ่านโทรทัศน์บนรถ แต่มีถึง 45 % ที่ไม่คาดเข็มขัดในขณะโดยสาร ด้วยเหตุผลว่า อึดอัดเป็นอันดับหนึ่ง ไม่มีเข็มขัดหรือเข็มขัดไม่อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน คิดว่าเดินทางแค่ระยะสั้นๆ รวมทั้งอายจึงไม่กล้าคาดเข็มขัด5.มีผู้ตอบแบบสอบถามเพียง 23% ที่ทราบว่าถ้าไม่คาดเข็มขัดจะถูกปรับ 5000 บาท6.เกี่ยวกับอุปกรณ์ความปลอดภัยในรถ ทั้งค้อนทุบกระจก ถังดับเพลิง ส่วนใหญ่จะระบุว่ามี (68.6% ,71.6%) เรื่องประตูฉุกเฉิน 82.2 % สังเกตว่ามี ส่วนที่น่าสนใจคือ การแจ้งเรื่องการใช้อุปกรณ์มีครึ่งหนึ่ง คือ 53.4% ไม่พบว่ามีการให้คำแนะนำแก่ผู้โดยสาร ไม่ว่าจะเป็นโดยพนักงานขับรถ พนักงานประจำรถ หรือ วิดีโอ 7.ความเชื่อมั่นในเรื่องความปลอดภัยในการโดยสาร อยู่ที่ระดับปานกลาง คือ 46.7%   รายละเอียดการสำรวจ         เลือกรถโดยสาร อย่างไรให้ปลอดภัย 1. เลือกรถโดยสารสาธารณะที่ถูกกฎหมาย เช่น ถ้าเป็นรถตู้โดยสารสาธารณะต้องเป็นรถร่วมบริการที่ได้รับอนุญาต (มีตราหรือสัญลักษณ์ของ บ.ข.ส. หรือ ขสมก. ติดข้างรถ) หรือ รถโดยสารป้ายทะเบียนสีเหลืองที่ได้รับอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบกเท่านั้น 2. อย่าไว้ใจทาง อย่าวางใจ ‘รถเสริม’ ไม่ควรใช้บริการ รถทัวร์ผี รถตู้เถื่อน ที่มาวิ่งเสริมรับคนในช่วงเทศกาลต่างๆ โดยเด็ดขาด ซึ่งรถดังกล่าวอาจไม่ได้รับการตรวจสภาพมาก่อน และหากเกิดอุบัติเหตุขึ้นกับรถผีรถเถื่อนแล้ว ผู้โดยสารจะไม่มีหลักประกันใดมารับรองความปลอดภัย อาจจะเจ็บตัวฟรีได้ 3. ผู้โดยสารควรคาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้งที่ใช้บริการ เพื่อลดความรุนแรงของการบาดเจ็บหากเกิดอุบัติเหตุ4. เมื่อต้องเดินทางเกิน 300 กม. ไม่ควรเลือกเดินทางโดยรถตู้โดยสาร เนื่องจากกรมการขนส่งทางบกอนุญาตให้รถตู้โดยสารให้บริการได้ในระยะทางไม่เกิน 300 กม. เท่านั้น เพราะหากไกลกว่านั้นอาจจะทำให้พนักงานขับรถอ่อนเพลียจนเกิดอุบัติเหตุและยังเป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการทำผิดกฎหมายด้วย 5. ถ้ามีผู้โดยสารอื่นขึ้นเต็มรถอยู่ก่อนแล้ว ไม่ควรฝืนขึ้นไปยืนหรือนั่งเบาะเสริม เพียงเพราะต้องการอยากให้ไปถึงที่ด้วยความรวดเร็วอย่างเดียว เพราะการบรรทุกผู้โดยสารเกินของรถโดยสารอาจจะเพิ่มโอกาสเกิดอุบัติเหตุ และอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ 6. ไม่ทนนั่งรถโดยสารอันตราย ผู้โดยสารควรสังเกตพฤติกรรมและอากัปกริยาของพนักงานขับรถ เช่น มีอาการง่วงซึม หรือมึนเมาจากสุรา สารเสพติดหรือไม่ หรือขับรถเร็วผิดปกติ ส่ายไปส่ายมา แซงซ้ายปาดขวา ไม่เคารพกฎจราจร หากพบเห็น ต้องไม่อายที่จะแจ้งเตือนพนักงานขับรถทันที หรือรีบแจ้งสายด่วน 1584 หรือ 191 หรือกองบังคับการตำรวจทางหลวง 1193 เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสารทุกคน เมื่อเกิดอุบัติเหตุรถโดยสารกับตัวเอง ต้องทำยังไง1. ผู้โดยสารต้องตั้งสติให้ได้ก่อน2. เมื่อมีสติแล้ว ให้สำรวจดูสภาพร่างกายของตนเองว่าได้รับบาดเจ็บหรือไม่ และทรัพย์สินเครื่องใช้ที่ติดตัวมายังอยู่ครบหรือเปล่า 3. ถ้ามีสติ รู้สึกตัวดี และสำรวจสภาพร่างกายตนเองเรียบร้อยแล้ว ให้หยิบสิ่งของที่จำเป็น เช่น กระเป๋าสตางค์ , โทรศัพท์มือถือ ฯลฯ แล้วพาร่างกายออกจากตัวรถโดยทันที 4. เมื่อออกมาพ้นตัวรถแล้ว ให้รีบโทรศัพท์ (ถ้ามี) แจ้ง 191 หรือ 1584 หรือ 1193 5. เมื่อดำเนินการตามข้อ 1 – 4 เรียบร้อยแล้ว หากท่านยังพอมีแรงอยู่ ให้ท่านเข้าช่วยเหลือผู้โดยสารคนอื่นที่บาดเจ็บเท่าที่พอจะช่วยได้ หากไม่สามารถทำได้ ให้บุคคลอื่นมาช่วยเหลือ 6. (ถ้ามีสติและทำได้) ควรถ่ายรูปสถานที่เกิดเหตุและบริเวณโดยรอบ ถ่ายภาพตอนบาดเจ็บของตนเองและคนอื่นที่บาดเจ็บ ไว้เป็นหลักฐานด้วยโทรศัพท์มือถือ เพื่อเป็นข้อมูลและพยานหลักฐานสำหรับการเรียกร้องค่าเสียหาย 7. เมื่อผู้โดยสารที่บาดเจ็บถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล หากบาดเจ็บไม่มากและรู้สึกตัวดี ผู้บาดเจ็บต้องให้ข้อมูลที่เป็นจริงกับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล หรือพนักงานสอบสวนที่มาขอข้อมูลของผู้บาดเจ็บเพื่อเป็นหลักฐาน8. ผู้โดยสารที่บาดเจ็บสามารถใช้สิทธิรักษาพยาบาลเบื้องต้น ได้ตามสิทธิ พ.ร.บ. รถ ของรถโดยสารคันที่โดยสารมา (ผู้โดยสารไม่ต้องสำรองจ่าย โรงพยาบาลที่รับการรักษาเป็นผู้เบิกค่าใช้จ่ายในส่วนนี้จากบริษัทประกันภัยเอง)9. ผู้โดยสารที่บาดเจ็บต้องตรวจสอบข้อมูลการทำประกันภัยของรถโดยสารคันเกิดเหตุกับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล หรือพนักงานสอบสวน หรือตัวแทนของคู่กรณี (เจ้าของรถ หรือบริษัทประกันภัย) ว่ารถโดยสารคันเกิดเหตุทำประกันภัยภาคสมัครใจไว้หรือไม่ ถ้าทำ ทำไว้กับบริษัทใด เพราะหากรถโดยสารทำประกันภัยภาคสมัครใจไว้ ผู้โดยสารจะมีสิทธิได้รับความคุ้มครองความเสียหายตามกรมธรรม์ประกันภัย ในการเบิกค่ารักษาพยาบาลและเยียวยาความเสียหายเพิ่มเติมได้    

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 177 แร็คแขวนจักรยานท้ายรถ

ใกล้วันหยุดยาวกันแล้ว ฉลาดซื้อฉบับนี้ขอนำเสนอผลการทดสอบอุปกรณ์เพื่อการพกพาจักรยานคันโปรดของคุณและสมาชิกครอบครัวไปด้วยในยามที่ไปพักผ่อนนอกสถานที่ แร็คจักรยานทั้งหมด 22 รุ่นยอดนิยมในยุโรป ถูกส่งไปที่ห้องแล็บของสถาบันทดสอบทางวิศวกรรมในสาธารณรัฐเช็ก โดยสมาชิกในยุโรปขององค์กรทดสอบระหว่างประเทศ International Consumer Research & Testing การทดสอบดังกล่าวแบ่งการให้คะแนนออกเป็น 3 ด้านดังนี้ร้อยละ 50    ประสิทธิภาพการใช้งาน ดูจากเวลาที่ใช้ในการนำจักรยานขึ้นไปติดตั้ง การถอดจักรยานออก        จากอุปกรณ์ และการทดสอบบนถนน ด้วยการนำรถที่ติดตั้งอุปกรณ์ดังกล่าววิ่งบนสภาพถนน         3 ประเภท แล้วตรวจสอบว่าเกิดการโยกแยก เลื่อนหลุด มากน้อยแค่ไหน -    ทางหลวง เป็นระยะทาง 50 กิโลเมตร ด้วยความเร็ว 130 กิโลเมตร/ชั่วโมง-    ถนนสายรองประเภทที่ 2 และ 3 (ตามเกณฑ์ของยุโรป) ที่มีความชัน ทางโค้ง เป็นระยะทาง 50 กิโลเมตร ด้วยความเร็ว 10-18 กิโลเมตร/ชั่วโมง-    ถนนดิน/กรวด เป็นระยะทาง 50 กิโลเมตร ด้วยความเร็ว 10-18 กิโลเมตร/ชั่วโมงร้อยละ 35    ความแข็งแรงทนทาน ดูจากคุณภาพการประกอบชิ้นงาน ความปลอดภัยของชิ้นส่วนและ            กลไกต่างๆ  ความทนทานต่อการขึ้นสนิม (เมื่อทิ้งไว้ในห้องที่มีฝุ่นเกลือเป็นเวลา 48 ชั่วโมง)         รวมถึงความเป็นไปได้ในการล็อคกันขโมยร้อยละ 15     ความสะดวกในการประกอบอุปกรณ์ ติดตั้ง รวมถึงคู่มือและเวลาที่ใช้ในการติดตั้ง     คราวนี้เรานำเสนอเพียง 18 รุ่น (จากทั้งหมด 22 รุ่น) เพราะที่เหลือได้คะแนนน้อยกว่า 3 ดาว นอกจากนี้เรายังพบว่าของถูกนั้นมี แต่ของดีที่ได้คะแนนรวมสูงนั้นราคาไม่ถูก บอกเลยว่าถ้าอยากได้ของดี คุณต้องเตรียมควักเงินไม่ต่ำกว่าหนึ่งหมื่นบาท  * หมายเหตุ ราคาที่นำเสนอส่วนใหญ่เป็นราคาที่ค้นได้จากอินเทอร์เน็ท และคำนวณเป็นเงินบาทจากอัตราแลกเงินในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2558 กรุณาตรวจสอบราคาอีกครั้งก่อนตัดสินใจ                              

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 177 คนไทยยังต้องเสี่ยงภัยกับการโดยสารรถประจำทาง

ทุกวันนี้ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า รถตู้โดยสาร ได้กลายมาเป็น รถโดยสารประจำทางในเกือบจะทุกเส้นทางรอบปริมณฑลกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียงไปแล้ว ซึ่งไม่ใช่ว่ารถตู้นั้นเป็นทางเลือกยอดนิยม แต่ดูเหมือนไม่มีทางเลือกมากกว่า และแม้ว่าโดยสภาพของรถตู้เองที่ไม่เหมาะกับการเป็นรถขนส่งสาธารณะ แต่เมื่อเติบโตกลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ หลายฝ่ายจึงพยายามหามาตรการต่างๆ ออกมาบังคับเพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดในการโดยสาร ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การจำกัดความเร็วในการขับ การกำหนดปริมาณคนนั่ง ฯลฯ แต่เมื่อมองจากสถิติจำนวนอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นแล้ว ดูเหมือนมาตรการต่างๆ นั้น ไม่ได้ช่วยสร้างความอุ่นใจให้กับผู้โดยสารสักเท่าไรนัก โครงการเสริมพลังผู้บริโภคและผู้ประกอบการเพื่อรถโดยสารปลอดภัย   ซึ่งพยายามทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิความปลอดภัยในการโดยสารรถสาธารณะ  ได้จัดทำการสำรวจความคิดเห็นจากผู้ใช้บริการรถตู้โดยสารสาธารณะ ซึ่งเก็บตัวอย่างจากผู้บริโภคทั่วประเทศ จำนวน 3,885 ตัวอย่าง (ระยะเวลาเก็บตัวอย่าง เดือนกลางเดือนสิงหาคม-กันยายน 2558   ) เพื่อสะท้อนสถานการณ์จริงที่ผู้บริโภคต้องเผชิญอยู่ ณ ปัจจุบัน  ข้อมูลเฉพาะจำนวนตัวอย่างแบบสำรวจ  6 ภูมิภาคภาคเหนือ 177 ภาคใต้ 399 ภาคตะวันออก 479 ภาคตะวันตก 1867 ภาคกลาง 783 ภาคอีสาน 180 เพศชาย 57% หญิง 43%อาชีพนักเรียน     25.4%  รับจ้าง 17% พนักงานบริษัทเอกชน 15.7% ธุรกิจส่วนตัว 15.2% ข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ 10%เกษตรกร    6%  แม่บ้านพ่อบ้าน 5.1% ว่างงาน 3% อื่นๆ 1.2% ไม่ตอบ 1.4% ผลสำรวจโดยสรุป1.รถตู้โดยสารสามารถตอบสนองการเดินทางของผู้บริโภค ทั้งในเรื่อง การทำธุระส่วนตัว การเดินทางกลับบ้าน การทำงานและการเรียน โดยมีเหตุผลเรื่อง ความสะดวก รวดเร็ว เป็นอันดับหนึ่งและสองตามลำดับ ส่วนเรื่องความปลอดภัยจัดอยู่ในลำดับท้ายสุด2. ความพึงพอใจต่อพนักงานขับรถอยู่ในระดับปานกลาง และ 66.5% ของผู้ตอบแบบสำรวจไม่รู้สึกว่าพนักงานขับรถ ขับรถเร็วหรือหวาดเสียว 3. มีผู้บริโภคเพียง 9.6% ที่พบปัญหาการบรรทุกผู้โดยสารเกิน  4. ผู้บริโภคยังไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการคาดเข็มขัดนิรภัยโดย 57% ตอบว่าไม่คาดเข็มขัด จากสาเหตุ อึดอัด(21%) รู้สึกว่าระยะเดินทางเป็นช่วงสั้นๆ /ไม่มีเข็มขัดนิรภัย/เข็มขัดไม่พร้อมใช้งาน(8.6/8.4/8.3 %) และมีประมาณ  4% ที่ระบุว่า น่าอาย(หากต้องคาดเข็มขัดขณะที่คนอื่นไม่คาด)   5.มีผู้บริโภคถึง 31.4% ที่ไม่ทราบว่า ถ้าไม่คาดเข็มขัดจะมีโทษปรับสูงถึง 5000 บาท มีเพียง 23.9% ที่ทราบ  ทั้งนี้มีผู้ไม่ตอบแบบสำรวจถึง 44.7% ซึ่งเป็นไปได้ว่า อาจไม่แน่ใจในข้อบังคับกฎหมายเกี่ยวกับโทษปรับดังกล่าว           สถิติอุบัติเหตุรถตู้โดยสาร มกราคม – กันยายน 2558จำนวน 85 ครั้งบาดเจ็บ 675 รายเสียชีวิต 75 ราย ที่มา โครงการเสริมพลังผู้บริโภคและผู้ประกอบการเพื่อรถโดยสารปลอดภัยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 172 ผลสำรวจความพึงพอใจต่อคุณภาพการบริการและความปลอดภัยรถโดยสารระหว่างจังหวัด

เมื่อเร็วๆ นี้ ฉลาดซื้อได้นำเสนอผลสำรวจความพึงพอใจในเรื่องของคุณภาพการบริการและความปลอดภัยในการใช้รถโดยสารประจำทางหรือรถเมล์ใน กทม.และปริมณฑล ซึ่งข้อมูลที่ได้จากการสอบถามประชาชนคนที่ใช้จริง ทำให้เห็นหลายเรื่องหลายประเด็นที่ยังเป็นปัญหาในการใช้บริการ ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาการรอรถ ที่มีถึง 41% ของตัวอย่างผู้ตอบแบบสอบถาม ที่ต้องทนรอรถนานถึง 16 – 30 นาที หรือเรื่องความสะดวกในการเดินทาง ที่พบว่ามีถึง 31% ที่ต้องต่อรถโดยสารมากกว่า 1 ต่อ จึงจะไปถึงจุดหมาย นอกจากนี้ยังพบว่ามีถึง 45% ที่เคยเจอปัญหารถโดยสารประจำทางรับ – ส่งผู้โดยสารนอกป้ายโดยผลสำรวจครั้งนี้จัดทำขึ้นโดย สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ซึ่งไม่ได้มีแค่รถโดยสารประจำทางในกทม.และปริมณฑลเท่านั้น แต่ยังมีผลสำรวจในส่วนของรถโดยสารสาธารณะที่วิ่งให้บริการระหว่างจังหวัด หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า รถบัส หรือ รถทัวร์ ลองมาดูกันสิว่าประชาชนที่ต้องเดินทางจากกทม.ไปยังจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศด้วยรถโดยสารสาธารณะ เขามีความรู้สึกอย่างไรในเรื่องของคุณภาพการบริการและความปลอดภัยข้อมูลเฉพาะของการสำรวจวิธีสำรวจ : สัมภาษณ์ผู้ใช้บริการรถโดยสารประจำทางระหว่างจังหวัด สถานที่สำรวจ : 1.สถานีขนส่งหมอชิต 2.สถานีขนส่งสายใต้ใหม่จำนวนกลุ่มตัวอย่าง : 413 ตัวอย่างช่วงเวลาที่ทำสำรวจ : 4 – 13 กุมภาพันธ์ 2558ข้อสรุปจากผลสำรวจ-เหตุผลในการเลือกเดินทางโดยรถประจำทางระหว่างจังหวัด พบว่า 70% เลือกเพราะความสะดวก และมีถึง 32% เลือกเพราะค่าใช้จ่ายถูก-จากผลสำรวจพบว่า มีผู้ใช้รถประจำทางระหว่างจังหวัดที่เป็นรถ 2 ชั้น ถึง 60% จากรถทั้งหมด-ผู้ใช้บริการรถประจำทางระหว่างจังหวัด ส่วนใหญ่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเข้าถึงจุดจอดรถรับ-ส่ง สูงกว่าความจำเป็น คือการเดินทางเพื่อเข้าสู่งสถานีขนส่งทั้ง หมอชิต และ สายใต้ใหม่ ยังมีบริการรถโดยสารสาธารณะอย่างรถเมล์ค่อนข้างน้อย ทำให้ผู้โดยสารต้องเลือกใช้บริการที่สะดวกกว่า อย่าง แท็กซี่ หรือ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ซึ่งค่าใช้จ่ายสูงกว่า -ยิ่งเมื่อดูในจุดจอดหรือสถานีรับ - ส่งรถประจำทางระหว่างจังหวัดในพื้นที่ต่างจังหวัด ยิ่งถือว่าค่อนข้างเป็นปัญหา เพราะยังขาดระบบการเชื่อมต่อการเดินทางจากสถานีไปยังสถานที่ต่างๆ ทำให้ผู้โดยสารส่วนใหญ่ต้องใช้ รถยนต์ส่วนตัว เป็นหลัก-การเดินทางระหว่างจังหวัด มีจุดจอดรับ-ส่งหรือสถานีขนส่ง ที่มีความปลอดภัย สร้างความพึงพอใจให้ผู้ใช้บริการได้พอสมควร แต่จะต้องพัฒนาต่อไปในอนาคต-ผู้ใช้บริการรถประจำทางระหว่างจังหวัดที่เดินทางที่สถานีขนส่งหมอชิต รอรถน้อยกว่าการไปขึ้นรถที่สถานีขนส่งใต้ใหม่-รถประจำทางระหว่างจังหวัด ไม่มีการบรรทุกผู้โดยสารเกิน -ผู้โดยสารตระหนักถึงความปลอดภัยเมื่อเริ่มเดินทางระหว่างจังหวัด จากอัตราการคาดเข็มขัดที่สูงกว่าการเดินทางภายในจังหวัด-มีผู้โดยสารรถประจำทางระหว่างจังหวัดถึง 34% ที่ตอบว่าไม่ได้คาดเข็มขัดนิรภัย โดยเหตุผลหลักคือ รู้สึกอึดอัด 76% ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่ค่อนข้างสูง -การแจ้งให้คาดเข็มขัดนิรภัยจากพนักงานขับรถหรือพนักงานบนรถ มีผลต่ออัตราการคาดเข็มขัดนิรภัยของผู้โดยสาร                                          

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 170 ผลสำรวจความพึงพอใจต่อคุณภาพการบริการ และความปลอดภัยรถโดยสารประจำทางใน กทม.

แม้ว่าปัจจุบันจะมีรถโดยสารสาธารณะเป็นตัวเลือกให้ใช้บริการหลากหลายประเภท ทั้ง รถเมล์ รถตู้ รถแท็กซี่ มอเตอร์ไซค์ รถไฟ เรือด่วน แต่ปริมาณกลับไม่ได้ตอบโจทย์เรื่องคุณภาพ เพราะเมื่อเรามองดูสภาพการจราจรบนท้องถนน โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร ทั้งความแออัด ความเสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัย มลภาวะเป็นพิษ ปัญหาเหล่านี้ล้วนยังอยู่คู่ถนนเมืองไทย เป็นปัญหาใหญ่ที่มองยังไงก็ยังไม่เห็นทางออก ระบบขนส่งมวลชนหลักในกรุงเทพฯ คงต้องยกให้กับ รถเมล์ เพราะไม่ว่าจะเด็ก ผู้ใหญ่ คนชรา แม่ค้า หรือว่าพนักงานบริษัท ต่างก็เป็นลูกค้าของ ขสมก. ทั้งสิ้น แน่นอนว่าปัญหาจากบริการรถโดยสารสาธารณะส่วนหนึ่งย่อมมาจากรถเมล์ แต่ปัญหาเหล่านั้นมีอะไรบ้าง การสอบถามจากปากคนที่ใช้บริการรถเมล์เป็นประจำน่าจะช่วยให้เราได้รู้ถึงสิ่งที่ยังเป็นปัญหาและสิ่งที่ผู้บริโภคที่ใช้บริการต้องการให้เกิดการปรับปรุง สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้ทำการสำรวจ “พฤติกรรมการใช้ ความพึงพอใจต่อคุณภาพการบริการ และความปลอดภัยในการใช้รถโดยสารประจำทาง” โดยประเด็นที่ทำการสำรวจมีอย่างเช่น พฤติกรรมก่อนและหลังใช้บริการ, ทัศนคติต่อความปลอดภัยของจุดจอดรับ-ส่ง, เหตุผลในการเลือกใช้บริการ, ระยะเวลาในการรอรถโดยสาร, สภาพรถภายในและภายนอก ฯลฯ โดยการสำรวจความคิดเห็นได้แบ่งประเภทการสำรวจรถโดยสารเป็นสองกลุ่มใหญ่คือ รถโดยสารประจำทางในกทม.และปริมณฑล กับรถโดยสารประจำทางระหว่างจังหวัด ซึ่งฉลาดซื้อขอเลือกนำเสนอในประเด็นรถโดยสารประจำทางใน กทม.และปริมณฑลก่อน เพื่อประกอบกับบทความเรื่องเด่นซึ่งเกี่ยวกับรถโดยสารประจำทางพอดี ข้อมูลเฉพาะของการสำรวจ *ปริมาณตัวอย่างในการเก็บข้อมูล 307 ตัวอย่าง *สถานที่ในการสำรวจ : บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ บริเวณสวนจตุจักรและเซ็นทรัลลาดพร้าว บริเวณเดอะมอลล์งามวงศ์วานและพันธุ์ทิพย์งามวงศ์วาน บริเวณเซ็นทรัลบางนาและสี่แยกบางนา บริเวณเซ็นทรัลปิ่นเกล้าและเมเจอร์ปิ่นเกล้า   ข้อสรุปจากผลสำรวจ -รถเมล์หรือรถโดยสารประจำทาง ยังคงเป็นตัวเลือกแรกในการเดินทางของคนกทม.และปริมณฑล ด้วยเหตุผลของราคาที่ถูกกว่าวิธีการเดินทางประเภทอื่นๆ มากถึง 59% โดยมีผู้ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัยเพียงแค่ 3% เท่านั้น -ในการเดินทางโดยรถประจำทางในกทม. ผู้ใช้ยังต้องต่อรถโดยสารมากกว่า 1 ต่อเพื่อไปยังจุดหมายปลายทางถึง 31% -ระยะเวลาในการรอรถ ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่คือ 41% บอกว่าต้องใช้เวลารอ 16-30 นาที ขณะที่มี 3% ที่ต้องรอรถนานมากกว่า 1 ชั่วโมง -เรื่องความถี่ของการมาของรถโดยสารประจำทางในกทม. พบว่า มากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามคือ 56% รู้สึกพอใจในระดับปานกลาง -สภาพรถทั้งภายนอกและภายใน ผู้ตอบแบบสอบถามมากกว่าครึ่งหนึ่งรู้สึกพอใจในระดับปานกลาง คือ 52% สำหรับสภาพรถภายนอก และ 57% สำหรับสภาพรถภายใน -มารยาทการให้บริการของพนักงานขับรถ ผู้ตอบแบบสอบถามมากกว่าครึ่งหนึ่งรู้สึกพอใจปานกลาง คือ 57% -การรับส่งผู้โดยสารนอกป้าย แม้ว่า 55% ของผู้ตอบแบบสอบถามจะบอกว่าไม่เคยพบปัญหาดังกล่าว แต่อีก 45% ที่เหลือเคยเจอปัญหารถโดยสารประจำทางการรับส่งผู้โดยสารนอกป้าย ซึ่งต้องถือว่าเป็นจำนวนที่ค่อนข้างสูง -ความรู้สึกปลอดภัยโดยรวม 50% ของผู้ตอบแบบสอบถามรู้สึกพอใจมาก ส่วนอีก 37% รู้สึกพอใจปานกลาง ขณะที่มี 6% รู้สึกไม่พอใจมากที่สุด                  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 157 “รถโดยสารไทย” รู้ไว้ก่อนเที่ยวสงกรานต์

“สยอง!! ทัวร์กทม.-ร้อยเอ็ด ชนรถพ่วงไฟลุกท่วมคลอก 19 ศพ เจ็บ 23” 23 กรกฎาคม 2556 “รถตู้เถื่อนซิ่งมรณะอัดท้ายรถพ่วงตายเกลื่อน 9 ศพ” 26 สิงหาคม 2556 “บัสโรงงานซิ่งแข่งกันตกข้างทางตายสยอง 8 ศพ ที่ศรีราช ชลบุรี” 6 มิถุนายน 2555 "รถพ่วงชนรถทัศนศึกษานักเรียนโคราช เสียชีวิต 15 เจ็บกว่า 30 ราย” 28 กุมภาพันธ์ 2557 “รถทัวร์ตกสะพานห้วยตอง เพชรบูรณ์ ดับ 29 เจ็บ 4” 26 ธันวาคม 2556 ข้อความด้านบนคือส่วนหนึ่งของพาดหัวข่าวที่ชวนให้สลดใจจากเหตุการณ์อุบัติเหตุจากรถโดยสารสาธารณะในบ้านเราที่เกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่น่ากังวลไม่ใช่แค่เรื่องความรุนแรงและความสูญเสียจากอุบัติเหตุเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องจำนวนอุบัติเหตุที่เกิด ซึ่งดูเหมือนแนวโน้นมีแต่จะสูงขึ้น คำถามที่อยู่ในใจของผู้บริโภคไทยที่ต้องใช้บริการรถโดยสารสาธารณะตอนนี้ก็คือ “เกิดอะไรขึ้นกับระบบความปลอดภัยรถโดยสารสาธารณะในประเทศไทย?” “หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการดำเนินการแก้ไขปัญหานี้อย่างไรกันบ้าง?” และ “มาตรฐานความปลอดภัยในชีวิตของคนไทยในการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะมีมากน้อยแค่ไหน?”   ผลสำรวจทางสถิติชี้ชัด ความปลอดภัยของรถโดยสารไทยเข้าขั้นวิกฤติ ศูนย์พิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้สรุปตัวเลขอุบัติเหตุ จำนวนผู้บาดเจ็บ และผู้เสียชีวิต จากเหตุการณ์อุบัติเหตุจากรถโดยสารสาธารณะ โดยรวบรวมข้อมูลตั้งแต่เดือนตุลาคม 2554 จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2557 พบว่ามีจำนวนอุบัติเหตุเกิดขึ้นทั้งหมด 334 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ 5,069 ราย และมีผู้เสียชีวิตจำนวน 472 ราย ส่วนพื้นที่ที่มีการเกิดอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะบ่อยครั้งที่สุด คือ พื้นที่ภาคกลาง มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นทั้งหมด 108 ครั้ง คิดเป็น 30% ของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นทั้งหมด       องค์การอนามัยโลกได้จัดอันดับให้ประเทศไทยเรา เป็นประเทศที่มีอัตราการเสียชีวิตจาอุบัติเหตุบนถนนสูงสุดเป็นอันดับ 3 ของโลก นอกจากนี้ยังมีข้อมูลว่า ในแต่ละวันคนไทยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ถึง 38 คน โดย 1 ใน 3 ของผู้เสียชีวิต เป็นกำลังหลักของครอบครัว  ยังไม่นับรวมถึงจำนวนผู้ที่ได้รับเจ็บรุนแรงที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ซึ่งข้อมูลเมื่อปี 2554 มีสูงถึง 136,544 ราย โดยในจำนวนนี้ 5% หรือราวๆ 6,827 ราย ต้องลงเอยด้วยความพิการ สำหรับกลุ่มผู้ที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน กลุ่มหลักๆ ยังคงเป็นผู้ใช้รถจักรยานยนต์ ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 50% ขณะที่ผู้ใช้รถโดยสารสาธารณะจะอยู่ประมาณ 10%   มีกฎหมายบังคับ...แต่กลับใช้ไม่ได้ผล จากสถานการณ์ความไม่ปลอดภัยของรถโดยสารในปัจจุบัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกรมการขนส่งทางบก ก็ไม่ได้นิ่งเฉยต่อปัญหาที่เกิดขึ้น ได้มีความพยายามกำหนดข้อบังคับต่างๆ เพื่อเป็นตัวควบคุมและป้องกันปัญหาความไม่ปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นข้อกำหนดเรื่องการตรวจสอบคุณภาพความปลอดภัยของรถโดยสารใหม่ที่จดทะเบียน ซึ่งครอบคลุมทั้งเรื่องความแข็งแรงของโครงตัวถังรถ ความยึดแน่นของเก้าอี้ที่นั่ง การบังคับให้มีการติดตั้งเข็มขัดนิรภัยที่เบาะนั่ง โดยมีการออกข้อกำหนดเรื่องมาตรฐานเข็มขัดนิรภัย รวมถึงการให้รถโดยสารสาธารณะติดตั้งระบบ RFID ซึ่งเป็นระบบเก็บข้อมูลความเร็วขณะรถวิ่ง เพื่อเป็นการควบคุมความเร็วของรถโดยสาร แต่ดูเหมือนข้อบังคับต่างๆ ที่ออกมาจะใช้ไม่ได้ผลดูได้จากปริมาณของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น จำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต สาเหตุมาจากความประมาท และละเลยของผู้ประกอบการ พนักงานขับรถ หน่วยงานที่มีหน้าบังคับใช้กฎหมาย ไม่เว้นแม้แต่ตัวผู้โดยสารเอง เรายังคงเห็นปัญหาเรื่องรถโดยสารขับซิ่ง รถตู้บรรทุกผู้โดยสารเกิน รถผี รถเถื่อน การไม่ยอมคาดเข็มขัด ฯลฯ ฝั่งผู้ประกอบการก็คิดแต่การสร้างผลกำไรจนมองข้ามที่จะควบคุมคุณภาพการบริการ คุมเข้มเรื่องมาตรฐานความปลอดภัย ส่วนพนักงานขับรถก็เจอปัญหาต้องทำรอบในการขับรถขนส่งผู้โดยสาร ทำให้ต้องขับเร็วขับซิ่ง เลือกฝ่าผืนกฎหมายบรรทุกผู้โดยสารเกิน ไปจนถึงการฝืนร่างกายขับรถในระยะเวลาหรือระยะทางเกินจากที่กฎหมายกำหนด เพื่อต้องการรายได้ที่มากขึ้น ท้ายที่สุดการฝ่าฝืนต่างๆ ก็นำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุ ผู้โดยสารในฐานะผู้บริโภคก็หลงลืมที่จะรักษาสิทธิและความปลอดภัยในชีวิตของตัวเอง เพราะอยากจะเดินทางสะดวก เดินทางไว มองข้ามความปลอดภัย เพราะความคุ้นชิน และคิดว่าไม่เป็นอะไร ซึ่งหากเกิดอุบัติเหตุเกิดขึ้นก็สายเกินไปแล้วที่จะแก้ไข ถึงเวลาแล้วที่จะต้องปรับปรุงแก้ไข ซึ่งขณะนี้มีกลุ่มองค์กรต่างๆ จำนวนไม่น้อยในสังคมที่พยายาม ผลักดันให้เกิดกฎหมายหรือการบังคับใช้ข้อกำหนดต่างๆ ที่เกี่ยวกับมาตรฐานรถโดยสารปลอดภัยที่เข้มแข็งจริงจังในสังคมไทย สำหรับเราในฐานะผู้โดยสารคนใช้บริการ ก็ต้องจริงจังกับการรักษาสิทธิของตัวเอง คำนึงความปลอดภัยของชีวิตมาเป็นอันดับแรก สิทธิของเรา ชีวิตของเรา เราเลือกได้ หากพบเห็นหรือรู้ว่ารถโดยสารที่เราใช้บริการอยู่ เสี่ยงต่อความปลอดภัย เราต้องรีบรักษาสิทธิ เลือกที่จะปฏิเสธ และร้องเรียนเพื่อนำไปสู่การแก้ไข และปรับปรุงเปลี่ยนแปลงต่อไปในอนาคต   เรื่องที่ยังเป็นปัญหาของรถโดยสารสาธารณะไทย -มาตรฐานของรถโดยสารยังต่ำกว่ามาตรฐานของรถโดยสารสากล -ผู้ประกอบการรถโดยสารส่วนใหญ่(โดยเฉพาะผู้ประกอบการรถร่วมบริการ) ยังมีความใส่ใจต่อมาตรฐานความปลอดภัยค่อนข้างน้อย -ผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาต ขาดการกำกับดูแลคุณภาพการให้บริการของผู้ประกอบการรถร่วมบริการ -ระบบประกันภัยและการชดเชยเยียวยาสำหรับผู้ประสบอุบัติเหตุรถโดยสารยังมีการใช้งานอย่างไม่เต็มที่ -ขาดกลไกการเชื่อมโยงความรับผิดชอบของผู้ประกอบการในระดับต่างๆ ที่มา: “ผลการศึกษาและข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย” สุเมธ องกิตติกุล สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (tdri)   ความปลอดภัยในรถโดยสาร เริ่มต้นที่ตัวเราเอง -เลือกใช้รถโดยสารสาธารณะที่เป็นรถที่ถูกกฎหมาย ไม่ใช่บริการรถเสริม รถผี ซึ่งจะมีระบาดมากในช่วงเทศกาลโดยเฉพาะรถตู้ ต้องเลือกรถที่เป็นทะเบียนป้ายเหลือง แสดงว่าได้รับการจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก เพราะรถที่ถูกกฎหมายจะมีหน่วยงานรับรองมีบริษัทต้นสังกัดคอยตรวจสอบควบคุมดูแล นอกจากนี้ต้องสังเกตข้อมูลต่างๆ ที่เป็นประโยชน์กับผู้โดยสาร ซึ่งรถที่ถูกกฎหมายจะต้องมีบอกไว้ให้ผู้โดยสารมองเห็นชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น ชื่อ-นามสกุลพนักงานขับรถ ข้อมูลเส้นทาง เบอร์โทรศัพท์สำหรับติดต่อกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน -สภาพของรถต้องอยู่ในสภาพสมบูรณ์ แข็งแรง ดูแล้วเหมาะสมกับการใช้งาน โดยสารแล้วรู้สึกมั่นใจปลอดภัย โดยเฉพาะเบาะที่นั่งต้องยึดเน้นอยู่กับตัวรถ รวมถึงอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยต่างๆ ต้องพร้อมสำหรับการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นเข็มขัดนิรภัย ค้อนทุบกระจก ถังดับเพลิง และประตูทางออกฉุกเฉิน -คาดเข็มขัดนิรภัยตลอดเวลา -คอยสังเกตพฤติกรรมของพนักงานขับรถขณะขับขี่รถโดยสาร ว่าอยู่ในสภาพพร้อมขับรถหรือไม่ หรือหากมีพฤติกรรมขับขี่ที่ไม่ปลอดภัย เช่น ขับเร็วหวาดเสียว ไม่ปฏิบัติตามกฎจราจร ให้รีบโทรแจ้งข้อมูลของรถคันดังกล่าวไปที่สายด่วนศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารรถสาธารณะ 1584 -พยายามมีสติและสังเกตสภาพแวดล้อมรอบๆ ตัว เพื่อเฝ้าระวังและรู้ตัวได้ทันท่วงทีหากเกิดอุบัติเหตุหรือเหตุฉุกเฉิน โดยเฉพาะผู้ที่โดยสารรถตู้หรือรถทัวร์โดยสารที่วิ่งระยะทางไม่ไกลมาก ใช้เวลาไม่นาน ถ้าเป็นไปได้ไม่ควรหลับขณะนั่งรถ เพราะหากเกิดอุบัติเหตุตอนที่หลับอยู่อาจทำให้สลบไปในทันที เสี่ยงต่อการบาดเจ็บหนัก   เบอร์โทรติดต่อเมื่อเกิดปัญหาเรื่องรถโดยสาร 1584 ศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารรถสาธารณะ 1348 ศูนย์รับร้องเรียนขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ 1193 ตำรวจทางหลวง 1186 สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย 1166 สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค 02 – 6291430 สภาทนายความ 02 – 2483737 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค     --------------------------------------------------------------------- การเรียกร้องค่าชดเชยเมื่อประสบอุบัติเหตุ ผู้ที่ประสบอุบัติเหตุจากรถโดยสารทุกคนจะได้รับการคุ้มครองตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ซึ่งจะการคุ้มครองเบื้องต้นในส่วนของการจ่ายเงินค่าชดเชย ทั้งค่ารักษาพยาบาล เงินชดเชยกรณีเสียชีวิตและพิการทุพพลภาพ รายละเอียดสิทธิเงินค่าชดเชยเบื้องต้นตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มีดังนี้ กรณีความเสียหายที่ได้รับ วงเงินคุ้มครอง บาดเจ็บ เบิกค่ารักษาตามจริงได้ไม่เกิน 15,000 บาท เสียชีวิต 35,000 บาท บาดเจ็บแล้วต่อมาเสียชีวิต เบิกรวมกันไม่เกิน 50,000 บาท   นอกจากนี้ผู้ประสบภัยยังสามารถเรียกร้องขอรับค่าสินไหนทดแทน หลังจากมีการพิสูจน์ความถูกผิดแล้ว ซึ่งบริษัทเจ้าของรถโดยสารที่เป็นฝ่ายผิดต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ประสบภัย โดยมีเกณฑ์การจ่ายดังนี้ กรณีความเสียหายที่ได้รับ วงเงินคุ้มครอง บาดเจ็บ เบิกค่ารักษาตามจริงได้ไม่เกิน 50,000 บาท เสียชีวิต 200,000 บาท ทุพพลภาพ หรือ สูญเสียอวัยวะ 200,000 บาท   ทั้งนี้ ทางบริษัทที่เป็นฝ่ายผิดยังต้องรับผิดชอบในส่วนของค่าชดเชยรายวัน วันละ 200 บาท ไม่เกิน 20 วัน ในกรณีที่ผู้ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุรถโดยสารต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล   การฟ้องคดีรถโดยสาร หากไม่ได้รับการชดเชยจากผู้ประกอบการ การเรียกร้องค่าเสียหายจากบริษัทผู้ประกอบการที่เป็นเจ้าของรถที่ประสบอุบัติเหตุนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย มีหลายตัวอย่างหลายกรณีที่ผู้เสียหายถูกปัดความรับผิดชอบจากบริษัทผู้ประกอบการ ผู้เสียหายจึงต้องเลือกใช้วิธีการฟ้องร้องเป็นคดีความพึ่งอำนาจของศาล ซึ่งปัจจุบันมีกฎหมาย “วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551” ที่ช่วยให้การฟ้องร้องคดีในศาลของผู้บริโภคเป็นไปด้วยความสะดวกสบายง่ายดายมากขึ้น การใช้กฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค - สามารถขอแบบฟอร์มได้ที่ศาล โดยแจ้งข้อเท็จจริงให้กับเจ้าหน้าที่ศาล ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ศาลจะช่วยเขียนคำฟ้องให้ - ผู้ร้องสามารถเขียนเองได้ (สามารถโหลดแบบฟอร์มได้จาก www.consumerthai.org ) แล้วนำไปยื่นที่ศาล - การเลือกศาลที่เหมาะสม เลือกตามมูลค่าทุนความเสียหาย • กรณีต่ำกว่า 3 แสน ฟ้องศาลแขวง • กรณีสูงกว่า 3 แสน ฟ้องศาลแพ่ง หรือศาลจังหวัด ทุกจังหวัด -----------------------------------------------------------------------------------   รู้ไว้ก่อนไปเที่ยวสงกรานต์ สำนักอำนวยความปลอดภัย กรมทางหลวง ได้สรุปข้อมูลอุบัติเหตุบนทางหลวงช่วงเทศกาลสงกรานต์เมื่อปี 2556 ระหว่างวันที่ 11 – 17 เมษายน  มีอุบัติเหตุทางถนนเกิดขึ้นรวมทั้งหมด 966 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 202 ราย บาดเจ็บอีก 1,209 ราย ซึ่งตัวเลขของจำนวนอุบัติเหตุ ผู้เสียชีวิต และผู้บาดเจ็บ ล้วนเพิ่มขึ้นจากช่วงเทศกาลสงกรานต์ในปี 2555 โดยตัวเลขอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นถึง 22.59% จำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 5.76% ขณะที่จำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บเพิ่มขึ้นถึง 32.13% ทั้งๆ ตัวเลขการเดินทางของผู้คนในช่วงเวลาดังกล่าวเพิ่มขึ้นเพียงแค่ 3% เท่านั้น   3 เส้นทางที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2556 1.ทางหลวงหมายเลข 3395 วัฒนานคร – โคคลาน (กม.60+870 – กม.115+139) จำนวนอุบัติเหตุ 12 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 2 ราย บาดเจ็บสาหัส 6 ราย บาดเจ็บเล็กน้อย 10 ราย ถนนมีลักษณะเป็นทาง 2 ช่องจราจร และมีปริมาณจราจรโดยเฉลี่ยประมาณ 11,400 คันต่อวัน อยู่ในความรับผิดชอบของแขวงการทางสระแก้ว บริเวณที่เกิดเหตุ ส่วนใหญ่เป็นทางตรง สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุ เกิดจากการขับรถเร็วและแซงรถอย่างผิดกฎหมาย ทำให้ เกิดการเฉี่ยวชนกัน   2. ทางหลวงหมายเลข 4 คลองบางดินสอ – นาเหนือ (กม.854+553 – กม.879+558, กม.884+598 – กม.915+493) จำนวนอุบัติเหตุ 11 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บสาหัส 2 ราย บาดเจ็บเล็กน้อย 7 ราย ถนนมีลักษณะเป็นทาง 4 ช่องจราจร และมีปริมาณจราจรโดยเฉลี่ยประมาณ 17,700 คันต่อวัน อยู่ในความรับผิดชอบของสานักงานบำรุงทางพังงา บริเวณที่เกิดเหตุ โดยส่วนใหญ่เป็นทางโค้ง สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุ เกิดจากการขับรถเร็ว   3. ทางหลวงหมายเลข 35 นาโคก – แพรกหนามแดง (กม.53+875 – กม.82+833) จำนวนอุบัติเหตุ 10 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บสาหัส 1 ราย บาดเจ็บเล็กน้อย 35 ราย ถนนมีลักษณะเป็นทาง 4 ช่องจราจร และมีปริมาณจราจรโดยเฉลี่ยประมาณ 110,300 คันต่อวัน อยู่ในความรับผิดชอบของสานักงานบำรุงทางสมุทรสงครามและราชบุรี บริเวณที่เกิดเหตุ โดยส่วนใหญ่เป็นทางตรง สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุ เกิดจากการขับรถเร็ว ทำให้เกิดการเฉี่ยวชนกัน  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 146 จอดที่ไหน? จ่ายเยอะสุด

  หลังจากการมาของนโยบายรถคันแรก รถราบนท้องถนนก็ดูเหมือนจะเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เมื่อรถเยอะขึ้นปัญหาที่ตามมาไม่ได้มีแค่รถติด แต่ยังมีอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่เป็นความทุกข์ของคนมีรถนั้นก็คือ การหาที่จอด เพราะเดี๋ยวนี้ที่จอดรถไม่ได้หาง่ายๆ แถมที่สำคัญที่จอดรถส่วนใหญ่ไม่ได้มีไว้ให้จอดฟรีๆ ต้องมีการจ่ายค่าบริการ แต่ละที่ก็คิดราคาถูกแพงไม่เท่ากัน ฉลาดซื้อ จึงอยากช่วยประหยัดเงินในกระเป๋าของคนมีรถที่ต้องเดินทางไปทำธุระตามที่ต่างๆ อยู่เป็นประจำ ด้วยการสำรวจข้อมูลค่าบริการที่จอดรถของอาคารพาณิชย์ชื่อดังที่ตั้งอยู่ในย่านธุรกิจสำคัญๆ  ในกทม. ว่าแต่ละที่เขาคิดค่าบริการกันยังไง ราคาเท่าไหร่ จะได้เตรียมตังค์ เตรียมใจ ก่อนจะเอารถไปจอด   จอดฟรี แต่แค่ 15 นาทีนะ แม้ว่าในการสำรวจครั้งนี้ฉลาดซื้อได้พบว่า “ของฟรียังมีในโลก” แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าดีใจแต่อย่างใด เพราะแม้ที่จอดรถหลายๆ ที่จะมีเวลาให้จอดฟรี แต่ส่วนใหญ่ก็อนุโลมให้เฉพาะแค่ 10 – 15 นาทีแรกเท่านั้น เต็มที่ก็คือให้จอดฟรีได้ครึ่งชั่วโมง อาคารที่ให้จอดฟรีได้ครึ่งชั่วโมงก็มีอย่างเช่น อาคารบีบี Bangkok Business Building ถ.อโศก, อาคารสาทรสแควร์ ถ.สาทร, อาคารอิตัลไทย ทาวเวอร์ ถ.เพชรบุรี, อาคารเพลิตจิต ทาวเวอร์ และ อาคารเมืองไทย-ภัทร ถ.รัชดาภิเษก   ซึ่งการมีช่วงเวลาที่รถเข้าไปจอดในอาคารโดยไม่เสียค่าบริการ แม้จะเป็นแค่ช่วงเวลาสั้นๆ ก็ยังถือเป็นประโยชน์กับคนที่ใช้รถ โดยเฉพาะกับคนที่ไม่ได้จอดที่อาคารนั้นๆ เป็นประจำ คนที่ไม่เคยทราบราคาค่าที่จอดมาก่อน อย่างน้อยๆ ก็จะได้มีโอกาสตัดสินใจเมื่อเห็นราคา ว่าจะเลือกจอดที่นี่หรือย้ายไปจอดที่อื่น เพราะเป็นข้อกำหนดโดยกรมการค้าภายในอยู่แล้วว่า อาคารสถานที่ที่ให้บริการที่จอดรถต้องมีการแจ้งราคากับผู้ใช้บริการ โดยต้องแจงรายละเอียดการคิดราคาค่าบริการทั้งจัดทำเป็นป้ายให้อ่านชัดเจนและทำเป็นข้อมูลลงในบัตรจอดรถที่ต้องได้รับทุกครั้งเมื่อมาใช้บริการ จ่าย 100 ได้จอด 1 ชั่วโมง ใครที่ดีใจที่ได้มีรถไว้ใช้จากนโยบายรถคันแรก ก็อย่าลืมเตรียมใจว่าจากนี้ไปค่าใช้จ่ายต่างๆ กำลังเดินทางมาดูดเงินจากกระเป๋าคุณ ทั้งค่าผ่อนรถ ค่าน้ำมัน ค่าทางด่วน และที่หลายคนอาจลืมคิดไปแต่ถือเป็นรายจ่ายก้อนใหญ่ไม่น้อยก็คือ รายจ่ายค่าที่จอดรถ อาจจะดูน่าตกใจแต่ว่าเป็นเรื่องจริง ที่เดี๋ยวนี้ค่าบริการที่จอดรถมีราคาสูงถึงชั่วโมงละ 100 บาท ซึ่งจากการสำรวจเราพบหลายอาคารที่คิดค่าบริการจอดรถชั่วโมงละ 100 บาท ไม่ว่าจะเป็น อาคาร Interchange ถ.อโศก-สุขุมวิท, อาคาร Exchange Tower ถ.สุขุมวิท-รัชดาภิเษก, อาคาร Q House ถ.พระราม 4 และ อาคารสาทรสแควร์ ถ.สาทร ที่สำคัญคือเศษของชั่วโมงที่เกินมาก็ถือว่าเป็นหนึ่งชั่วโมง บัตรจอดรถเป็นของมีค่า...ต้องรักษาเท่าชีวิต ค่าจอดรถที่ว่าสูงแล้ว ยังไม่เท่าราคาบัตรจอดรถ ทั้งๆ ที่เป็นแค่กระดาษแผ่นเล็กๆ ใบหนึ่งแต่อาจมีค่าสูงถึง 500 บาท ในกรณีถ้าเราทำบัตรจอดรถที่ได้รับมาหายไป ซึ่งการที่บัตรจอดรถมีค่าสูงขนาดนี้เป็นเพราะนี่คือหลักฐานชิ้นสำคัญที่ไว้แสดงว่าได้มีการทำสัญญาร่วมกันระหว่างเจ้าของรถและอาคารที่ให้บริการที่จอดรถ เผื่อหากเกิดกรณีที่รถหายหรือทรัพย์สินที่อยู่ในรถถูกขโมย บัตรจอดรถจะช่วยยืนยันว่าเราในฐานะเจ้าของรถได้มาใช้บริการจริง นำไปใช้เป็นหลักฐานในการเรียกร้องความรับผิดชอบกับเจ้าของอาคารที่เราไปจอดรถ   ไม่ได้ประทับตรา ไม่ได้สิทธิ อาคารต่างๆ ที่ให้บริการที่จอดรถส่วนใหญ่เป็นอาคารพาณิชย์ ที่เป็นที่ตั้งของร้านค้าและสำนักงานเป็นจำนวนมาก ซึ่งใครที่มาจอดรถแล้วใช้บริการหรือติดต่อธุระต่างๆ ต้องอย่าลืมใช้สิทธิประทับตราลงบนบัตรจอดรถ เพราะมันจะช่วยให้เราสามารถจ่ายค่าที่จอดรถได้ถูกลง บางที่ก็ให้สิทธิจอดฟรีได้นานขึ้นเป็น 1 ชั่วโมง – 2 ชั่วโมง เพราะฉะนั้นเวลาไปจอดรถไม่ว่าที่ไหนอย่าลืมมองหาจุดประทับตราเพื่อจะได้ช่วยประหยัดค่าจอดรถ สคบ. ขอความร่วมมือ ให้จอดฟรี 1 ชั่วโมง 15 นาที เรื่องของการคิดราคาค่าบริการที่จอดรถนั้น ในบ้านเราไม่ได้มีกฎหมายใดๆ กำหนดเกณฑ์มาตรฐานเอาไว้ จึงทำให้แต่ละที่มีการคิดราคาแตกต่างกันไป แต่เมื่อปลายปีที่แล้วมีข่าวว่าทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ร่วมกับ กรมการค้าภายใน และ กระทรวงพาณิชย์ ได้มีการขอความร่วมมือไปยังห้างสรรพสินค้าและผู้ให้บริการที่จอดรถของเอกชนทั่วประเทศ ว่าต้องอนุญาตให้ผู้ใช้รถสามารถจอดรถได้ฟรีเป็นเวลา 1 ชั่วโมงกับอีก 15 นาที หลังจากนั้นจึงค่อยมีการคิดค่าบริการ แต่จากผลสำรวจจะเห็นว่าที่จอดรถทุกแห่งที่เราทำการสำรวจ ไม่ได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ สคบ.เรียกร้องเลยแม้แต่แห่งเดียว (นอกเสียจากจะเป็นการคิดค่าบริการจอดรถที่มีการประทับตรา) เนื่องจากหลักเกณฑ์ที่ออกมานั้นไม่ได้เป็นข้อกฎหมายหรือข้อบังคับ แต่เป็นเพียงแต่ขอกำหนดแบบสมัครใจเท่านั้น   มาตรฐานสถานที่จอดรถ -อาคารจอดรถยนต์ต้องสร้างด้วยวัตถุทนไฟทั้งหมด -อาคารจอดรถยนต์ให้สร้างได้สูงไม่เกินสิบชั้นจากระดับพื้นดิน -อาคารจอดรถยนต์ที่สูงเกินหนึ่งชั้น ต้องมีการเปิดโล่งอย่างน้อยสองด้าน ส่วนเปิดโล่งต้องมีพื้นที่ไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของพื้นที่ผนังด้านนั้น -อาคารจอดรถยนต์ที่อยู่ต่ำกว่าระดับพื้นดิน ต้องจัดให้มีเครื่องระบายอากาศภายในชั้นนั้นๆ -ทุกส่วนของอาคารจอดรถยนต์ต้องให้มีแสงสว่างแลเห็นได้ชัดทั้งกลางวันและกลางคืน -ต้องมีอุปกรณ์ดับเพลิงที่เพียงพอ หนึ่งเครื่องต่อจำนวนที่จอดรถยนต์ทุกๆ ห้าสิบคัน -พื้นที่สำหรับจอดรถ 1 คัน ถ้าเป็นแบบที่จอดขนานกับแนวเดินรถ ต้องมีความกว้างไม่น้อยกว่า 2.4 เมตร และยาวไม่น้อยกว่า 6 เมตร ส่วนถ้าเป็นแบบพื้นที่จอดที่ขนานกับแนวเดินรถ ต้องมีความกว้างไม่น้อยกว่า 2.4 เมตร และยาวไม่น้อยกว่า 5 เมตร -ที่จอดรถแต่ละคัน ต้องมีเครื่องหมายแสดงลักษณะและขอบเขตของที่จอดรถไว้ให้ปรากฏบนพื้น ที่มา : ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง อาคารจอดรถยนต์ พ.ศ. 2521 และ กฎกระทรวง พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 เมื่อ “รถหาย” สถานที่ที่รับจอดรถต้องรับผิดชอบหรือไม่? ถ้าลองสังเกตในบัตรจอดรถ จะเห็นข้อความประมาณว่า “บัตรนี้ไม่ถือเป็นการรับฝากรถ อาคารไม่รับผิดชอบใดๆ กรณีเกิดการสูญหายหรือเสียของรถและทรัพย์สินใดๆ” ทำให้หลายคนมีข้อกังวลว่าถ้าหากนำรถไปจอดแล้วรถหายหรือทรัพย์สินในรถถูกขโมยจะสามารถเรียกร้องความรับผิดชอบจากเจ้าของอาคารได้หรือไม่ ซึ่งแม้เจ้าของอาคารจะมีการระบุข้อความที่ไม่ขอแสดงความรับผิดชอบใดๆ เอาไว้ แต่ในทางกฎหมายเราสามารถเรียกร้องค่าเสียหายได้ เพียงแต่ต้องมีหลักฐานที่ใช้ยืนยันว่าเราได้นำรถไปจอดที่สถานที่ดังกล่าวจริง เช่น บัตรจอดรถ หรือใบเสร็จจากการซื้อสินค้าหรือใช้บริการภายในอาคารนั้นๆ ซึ่งเราสามารถแจ้งเรื่องไปยัง สคบ. ให้ช่วยดำเนินการเรียกร้องตามกฎหมายได้   ข้อมูลสำรวจอัตราค่าบริการที่จอดรถยนต์ของอาคารพาณิชย์ชื่อดังใน กทม. 1. อาคารจัตุรัสจามจุรี สามย่าน ชั่วโมงละ 20 บาท ฟรี 2 ชั่วโมงแรก   2. อาคารเมืองไทย-ภัทร ถ.รัชดาภิเษก 1 ชั่วโมง 10 บาท 2 ชั่วโมง 30 บาท 3 ชั่วโมง 70 บาท ชั่วโมงที่ 4 เป็นต้นไป คิดเพิ่มชั่วโมงละ 50 บาท ฟรี 30 นาทีแรก 3. อาคารเพลินจิต ทาวเวอร์ ชั่วโมงละ 20 บาท ฟรี 30 นาทีแรก ถ้ามีประทับตรา ได้รับส่วนลด (ไม่มีการแจ้งรายละเอียด) 4. อาคารบางกอกทาวเวอร์ ถ.เพชรบุรี เวลา 07.01 – 19.00 น. ชั่วโมงละ 20 บาท เวลา 19.01 – 24.00 น. ชั่วโมงละ 60 บาท เวลา 24.01 – 07.00 น. ชั่วโมงละ 120 บาท   5. อาคารอิตัลไทย ทาวเวอร์ ถ.เพชรบุรี ชั่วโมงละ 30 บาท ฟรี 30 นาทีแรก ถ้ามีตราประทับ  ชั่วโมงละ 20 บาท ฟรี 2 ชั่วโมงแรก   6. อาคารยูไนเต็ด เซ็นเตอร์ ถ.สีลม ชั่วโมงละ 30 บาท ฟรี 15 นาทีแรก ถ้ามีตราประทับ ชั่วโมงละ 30 บาท ฟรี 1 ชั่วโมงแรก   7. อาคารสีบุญเรือง ถ.สีลม ชั่วโมงละ 35 บาท ฟรี 10 นาทีแรก ถ้ามีประทับตรา ได้รับส่วนลด (ไม่มีการแจ้งรายละเอียด)   8. อาคารเสริมมิตร ทาวเวอร์ ถ.อโศก ชั่วโมงละ 40 บาท ฟรี 10 นาทีแรก จอดเกิน 8 ชั่วโมง คิดชั่วโมงละ 50 บาท ถ้ามีประทับตรา จอดฟรี   9. อาคารบีบี (Bangkok Business Building) ถ.อโศก ชั่วโมงละ 40 บาท ฟรี 30 นาทีแรก ถ้ามีประทับตรา ลดราคา 50%   10. อาคารลุมพินี ถ.พระราม 4 ชั่วโมงละ 40 บาท ฟรี 15 นาทีแรก ถ้ามีตราประทับ 1 ครั้ง ชั่วโมงแรกฟรี ชั่วโมงต่อไป 20 บาท ถ้ามีตราประทับ 2 ครั้ง จอดฟรี (บริษัทเจ้าของตราประทับนั้นเป็นผู้จ่าย) *หมายเหตุ ตราประทับ 2 ครั้ง ต้องมาจากบริษัทเดียวกัน 11. ที่จอดรถเท็กซัส เยาวราช ชั่วโมงแรก 40 บาท ทุกๆ ครึ่งชั่วโมง ถัดไป 20 บาท   12. อาคารกาญจนทัต ทาวเวอร์ เยาวราช ชั่วโมงละ 50 บาท ถ้ามีประทับตรา ได้รับส่วนลด (ไม่มีการแจ้งรายละเอียด)   13. อาคาร Park Ventures ถ.วิทยุ ชั่วโมงละ 50 บาท ฟรี 15 นาทีแรก   14. อาคารสาทรสแควร์ ถ.สาทร ชั่วโมงละ 100 บาท ฟรี 30 นาทีแรก ถ้ามีประทับตรา ฟรี 1 ชั่วโมงแรก ชั่วโมงต่อไปขึ้นอยู่กับประเภทของตราประทับ   15. อาคาร Exchange Tower ถ.สุขุวิท-รัชดาภิเษก ชั่วโมงแรก 100 บาท ทุกๆ ครึ่งชั่วโมงถัดไป 50 บาท ฟรี 15 นาทีแรก   16. อาคาร Interchange ถ.อโศก-สุขุมวิท ชั่วโมงละ 100 บาท ฟรี 10 นาทีแรก ถ้ามีประทับตรา ชั่วโมงละ 50 บาท ฟรี 1 – 2 ชั่วโมงแรก (ขึ้นอยู่กับประเภทของตราประทับ)   17. อาคารQ House ถ.พระราม 4 ชั่วโมงละ 100 บาท ฟรี 15 นาทีแรก ถ้ามีประทับตรา ได้รับส่วนลด (ขึ้นอยู่กับประเภทของตราประทับ)  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 145 TYRES CSR ความรับผิดชอบของผู้ผลิตยางรถยนต์

  คราวนี้องค์กรทดสอบระหว่างประเทศ International Consumer Research & Testing เขาได้ทำการสำรวจความรับผิดชอบต่อสังคมของบรรดาผู้ผลิตยางรถยนต์แบรนด์ต่างๆ ที่เรารู้จักกันดี ทั้งจากเยอรมัน ฝรั่งเศส อิตาลี ฟินแลนด์ อเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลี   สมาชิกฉลาดซื้อคุ้นเคยกันดีแล้วกับการแสดง “ความรับผิดชอบต่อสังคม” ในรูปแบบที่เป็นการรับผิดชอบตั้งแต่กระบวนการสรรหาวัตถุดิบ กระบวนการผลิต การจ้างงาน การรักษาสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงความโปร่งใสในทุกกระบวนการ  เรามาดูกันเลยว่ายางรถยนต์แบรนด์ไหน ให้ความสนใจต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากกว่ากัน   เกณฑ์การให้คะแนน นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ร้อยละ 40 นโยบายสิ่งแวดล้อม /  มาตรฐานการจัดซื้อ / โปรแกรมและเครื่องมือในการเฝ้าระวัง   นโยบายด้านสังคมร้อยละ 30 นโยบายแรงงาน / มาตรฐานการจัดซื้อ / โปรแกรมและเครื่องมือในการเฝ้าระวัง   การจัดซื้อยางดิบ ร้อยละ 20 เงื่อนไขในการจัดหายางดิบ / เงื่อนไขในการแปรรูปยางดิบ / แนวปฏิบัติต่อชุมชนและต่อการคอรัปชั่น   ความโปร่งใส ร้อยละ 10 การมีส่วนร่วมในการตอบแบบสอบถาม / การอนุญาตให้เข้าชมโรงงาน / การรายงานต่อสาธารณะ   วิธีการสำรวจ ค้นคว้าหาข้อมูลจากเอกสาร เช่น ข่าว รายงานประจำปี รายงานวิจัย การสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ถือหุ้น เป็นต้น ใช้แบบสำรวจ (ระหว่างเดือนกันยายน – ธันวาคม 2555) ด้วยคำถามใน 5 หัวข้อต่อไปนี้ -          นโยบาย CSR สะท้อนมาตรฐานหรือระเบียบปฏิบัติสากลหรือไม่ -          บริษัทมีการกำกับดูแลสภาพการใช้แรงงานและสิ่งแวดล้อมในสายการผลิตหรือไม่ -          บริษัทได้ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากการผลิตหรือไม่ -          บริษัทออกแบบยางโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อระบบนิเวศหรือไม่ -          มีข้อกำหนดเฉพาะเกี่ยวกับแหล่งที่มาของน้ำยางดิบหรือไม่   การสำรวจนี้จะสมบูรณ์ต่อเมื่อผู้สำรวจได้เยี่ยมชมโรงงานและไร่ยางของบริษัท แต่เนื่องจากบริษัทไม่ยินดีเปิดเผยว่าซื้อยางจากที่ใด มีเพียง 3 บริษัทเท่านั้นจากทั้งหมด 7 บริษัทที่ยินดีเข้าร่วมการสำรวจ ที่อนุญาตให้เข้าเยี่ยมชมได้ แต่มีเงื่อนไขว่าผู้สำรวจจะต้องลงนามยินยอมว่าจะไม่เปิดเผยข้อมูลดังกล่าว  ลองมาดูกันว่าแต่ละแบรนด์ตอบว่าอย่างไรกันบ้าง   Michelin มิชลิน บอกว่า “โดยปกติแล้วเราไม่อนุญาตให้บุคคลอื่นเข้าชมโรงงาน ด้วยเหตุผลด้านการรักษาความลับของบริษัท กระบวนการทางสิ่งแวดล้อมและสังคมของเรา ผ่านการตรวจสอบโดย PWC และมีการนำเสนอผลในรายงานประจำปีและรายงานด้านความยั่งยืนอยู่แล้ว ดังนั้นจึงขอแนะนำให้ดูรายงานเล่มล่าสุดของบริษัท (ปีปฏิทิน 2011)”   “ส่วนเรื่องการขอเยี่ยมชมสวนยางพารา ซึ่งเป็นไปตามความเข้าใจว่าเราได้ยางดิบจากสวนนั้น ความจริงแล้วบริษัทซื้อจากคนกลางที่รับซื้อน้ำยางจากเกษตรกรรายย่อย”   Good Year “น้ำยางดิบ ถือเป็นความลับทางธุรกิจ บริษัทไม่เปิดเผยต่อบุคคลภายนอก”   Bridgestone “บริษัทได้ส่งข้อตกลงเรื่องการไม่เปิดเผยข้อมูลให้กับทางผู้สำรวจก่อนการเยี่ยมชม ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติตามปกติของบริษัท แต่ผู้สำรวจไม่ยอมรับเงื่อนไขดังกล่าว”   Pirelli “บริษัทมีนโยบายให้ผู้เข้าเยี่ยมชมลงนามรับรองว่าจะไม่เปิดเผยข้อมูล ก่อนการเข้าเยี่ยมชม”   Nokian บริษัทปฏิเสธการให้เข้าเยี่ยมชมโรงงานในฟินแลนด์โดยไม่แจ้งเหตุผล     ภาพรวม ไม่มีบริษัทใดเปิดเผยชื่อของซัฟฟลายเออร์หรือผู้จัดหายางดิบให้กับบริษัท ในการจัดซื้อยางดิบนั้นแต่ละบริษัทจะดูเรื่องคุณภาพและราคาเป็นเหลัก ยังไม่เน้นเรื่องความยั่งยืนในการผลิตยางดิบ แม้ประเด็นเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมจะเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในอุตสาหกรรมการผลิตยางรถ แต่ยังไม่มีแบรนด์ใดมีนโยบายแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมในส่วนที่เกี่ยวกับการผลิตยางดิบ นโยบายสิ่งแวดล้อมของแบรนด์ต่างๆอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดีและครอบคลุมไปถึงผู้จัดหาวัตถุดิบ ในขณะที่นโยบายด้านแรงงานยังอยู่ในระยะเริ่มต้นเท่านั้น แบรนด์ที่มีนโยบายด้านสังคมและการจัดซื้อที่ดีที่สุดในกลุ่มที่ทำการสำรวจได้แก่ BRIDGESTONE และ PIRELLI   PIRELLI 56 คะแนน ผู้ผลิตยางยี่ห้อ Pirelli นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม 5 นโยบายด้านสังคม 5 การจัดซื้อยางดิบ 1 ความโปร่งใส 4     MICHELIN 55 คะแนน ผู้ผลิตยางยี่ห้อ Michelin/ Kleber นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม 5 นโยบายด้านสังคม 5 การจัดซื้อยางดิบ 1 ความโปร่งใส 3     BRIDGESTONE 49 คะแนน ผู้ผลิตยางยี่ห้อ  Bridgestone/ Firestone นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม 4 นโยบายด้านสังคม 5 การจัดซื้อยางดิบ 1 ความโปร่งใส 3     Nokian 32 คะแนน ผู้ผลิตยางยี่ห้อ  Nokian นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม 4 นโยบายด้านสังคม 2 การจัดซื้อยางดิบ 1 ความโปร่งใส 2     CONTINENTAL 31 คะแนน ผู้ผลิตยางยี่ห้อ  Continental/ Semperit/ Uniroyal/ Barum นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม 3 นโยบายด้านสังคม 3 การจัดซื้อยางดิบ 1 ความโปร่งใส 2     Hankook 29 คะแนน ผู้ผลิตยางยี่ห้อ  Hankook นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม 3 นโยบายด้านสังคม 3 การจัดซื้อยางดิบ 1 ความโปร่งใส 2     Apollo-Vredestein 27 คะแนน ผู้ผลิตยางยี่ห้อ  Apollo/ Vredestein นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม 3 นโยบายด้านสังคม 3 การจัดซื้อยางดิบ 1 ความโปร่งใส 2   GOODYEAR 27 คะแนน ผู้ผลิตยางยี่ห้อ  Goodyear/ Dunlop/ Fulda นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม 3 นโยบายด้านสังคม 3 การจัดซื้อยางดิบ 1 ความโปร่งใส 2   Yokohama 18 คะแนน ผู้ผลิตยางยี่ห้อ  Yokohama นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม 2 นโยบายด้านสังคม 3 การจัดซื้อยางดิบ 1 ความโปร่งใส 2         Kumho 5 คะแนน ผู้ผลิตยางยี่ห้อ  Kumho นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม 2 นโยบายด้านสังคม 1 การจัดซื้อยางดิบ 1 ความโปร่งใส 1     GT Radial 0 คะแนน ผู้ผลิตยางยี่ห้อ  GT Radial นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม 1 นโยบายด้านสังคม 1 การจัดซื้อยางดิบ 1 ความโปร่งใส 1     Nexen 0 คะแนน ผู้ผลิตยางยี่ห้อ  Nexen นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม 1 นโยบายด้านสังคม 1 การจัดซื้อยางดิบ 1 ความโปร่งใส 1   เรื่องของยาง ข้อมูลจากสมาคมผู้ผลิตยางและยางรถยนต์แห่งยุโรประบุว่า โดยเฉลี่ยแล้วยางแต่ละเส้นมียางธรรมชาติเป็นส่วนประกอบร้อยละ18 และยางสังเคราะห์ร้อยละ 25  ของน้ำหนัก แต่ละแบรนด์ จะมีสูตรผสมที่แตกต่างกันไป เช่น ข้อมูลการจัดซื้อของมิชลินในปี 2011 ระบุว่า ในมูลค่าการจัดซื้อวัตถุดิบ ร้อยละ 42 เป็นมูลค่าของยางธรรมชาติ และร้อยละ 24 เป็นมูลค่าของยางสังเคราะห์ ยางที่ใช้ในเมืองหนาวจะมีสัดส่วนของยางธรรมชาติสูงกว่ายางที่ใช้ในเมืองร้อน และยางของรถบรรทุกก็จะมีสัดส่วนของยางธรรมชาติมากกว่ายางของรถยนต์นั่งทั่วไปเช่นกัน ยอดขายยางรถยนต์ในปี 2010 อยู่ที่ 111,000 ล้านยูโร (ประมาณ 4.3 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 20 จากปีก่อนหน้า ฟื้นตัวจากช่วงเศรษฐกิจตกต่ำในปี 2008 แต่หลังจากเติบโตต่อเนื่องมา 2 ปี บริษัทยางในยุโรปรายงานว่ายอดขายลดลงถึง 2 หลักในปี 2012 ปัจจุบันประเทศไทยรั้งตำแหน่งแชมป์โลกด้านการผลิตและส่งออกยางพารา   10 อันดับบริษัทผู้ผลิตยางรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งยึดครอง 2 ใน 3 ของตลาดยางทั่วโลก (ข้อมูลปี 2553) ได้แก่   บริษัท                           สำนักงานใหญ่              ยอดขาย (ล้านเหรียญสหรัฐ)   Bridgestone                   Japan                           24,400   Michelin                        France                          22,400   Goodyear                     USA                             17,000   Continental                    Germany                      8,100   Pirelli                            Italy                               6,300   Sumitomo                     Japan                            5,900   Yokohama                    Japan                            4,800   Hankook                       South Korea                 4,500   Cooper                          USA                             3,400   Maxxis /Cheng Shin       Taiwan                        3,400 ---

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 142 ความปลอดภัยของรถยนต์

ฉลาดซื้อฉบับปิดท้ายปี 2555 ขอเกาะกระแสข่าวยอดขายรถยนต์พุ่งกระฉูด ด้วยการนำเสนอผลทดสอบความปลอดภัยรถยนต์ที่ EuroNCAP* ได้ทำไว้ ต้องบอกกันตรงนี้ก่อนว่าตามกฎหมายแล้ว รถยนต์ทุกยี่ห้อต้องผ่านการทดสอบความปลอดภัยก่อนจะนำมาขาย แต่นี่คืออีกระดับของการคุ้มครองผู้บริโภคและการยกระดับคุณภาพสินค้านั่นเอง ผู้ประกอบการเจ้าไหน ใจป้ำจัดเต็มก็จะได้ใจ (พร้อมเงินในกระเป๋า) ผู้บริโภคไป ----------------------------------------------------------------------------------------------------- EuroNCAP คือหน่วยงานอิสระที่ก่อตั้งโดยกรมการขนส่งของอังกฤษใน พ.ศ. 2540 จากนั้นรัฐบาลของฝรั่งเศส เยอรมนี สวีเดน เนเธอร์แลนด์ และแคว้นคาตาโลเนียของสเปน รวมถึงองค์กรผู้บริโภค และสมาคมรถยนต์ในประเทศต่างๆในยุโรปก็เข้าร่วมด้วย หน้าที่ของ EuroNCAP คือการทดสอบความปลอดภัยของรถที่จำหน่ายในยุโรปและเผยแพร่ข้อมูลให้กับผู้บริโภค ย้ำว่าองค์กรนี้ไม่อยู่ภายใต้อิทธิพลของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ หนึ่งในสมาชิกของ EuroNCAP ได้แก่ องค์กรทดสอบระหว่างประเทศ (International Consumer Research & Testing) ที่ ฉลาดซื้อ และองค์กรผู้บริโภคในอีก 39 ประเทศเป็นสมาชิกอยู่นั่นเอง -----------------------------------------------------------------------------------------------------   การให้คะแนน EuroNCAP ให้คะแนนรวมจากการทดสอบทั้งหมดเป็นดาว สูงสุดคือ 5 ดาว คะแนนในแต่ละด้าน คิดเป็นคะแนนจากคะแนนเต็ม 100 ได้แก่ ความปลอดภัยของคนขับและผู้โดยสารด้านหน้า ความปลอดภัยของเด็ก (เมื่อนั่งบนเบาะนั่งนิรภัย) ความปลอดภัยของคนเดินถนน อุปกรณ์ความปลอดภัยที่เป็นมาตรฐานในตัวรถ ----------------------------------------------------------------------------------------------------- CRASH TESTS -     การชนด้านหน้า ทดสอบด้วยการชนเข้ากับสิ่งกีดขวางแบบยุบตัวได้ ที่ความเร็ว 64 กิโลเมตร/ชั่วโมง - การชนจากด้านข้าง ทดสอบโดยการใช้สิ่งกีดขวางแบบยุบตัวได้พุ่งเข้าชนประตูด้านคนขับ ที่ความเร็ว 50 กิโลเมตร/ชั่วโมง -      การชนเสา ตัวรถจะถูกเหวี่ยงให้ด้านข้างชนกับเสาด้วยความเร็ว 29  กิโลเมตร/ชั่วโมง -      การชน “คนเดินถนน” (โดยการพุ่งชนดัมมี่ศีรษะและขา ทั้งของเด็กและผู้ใหญ่) ที่ความเร็ว 40 กิโลเมตร/ชั่วโมง -      อุปกรณ์ความปลอดภัย การใส่ ถอด หรือการเตือนให้คาดเข็มขัดนิรภัย (ความชัดเจนทั้งเสียง และไฟสัญญาณเตือน) อุปกรณ์ช่วยจำกัดความเร็ว (ทั้งแบบที่ไม่ยอมไปเร็วกว่าความเร็วที่ผู้ขับขี่ตั้งไว้ และแบบที่มีเสียงเตือนเมื่อผู้ขับขี่ใช้ความเร็วเกิน) และระบบควบคุมการทรงตัวของรถ (Electronic Stability Control) -   การทดสอบความปลอดภัยของเด็ก ใช้ดัมมี่ขนาดเด็กขวบครึ่งและสามขวบนั่งบนเบาะนิรภัย (ชนิดที่ผู้ผลิตรถแต่ละยี่ห้อแนะนำ) ที่เบาะหลังของรถ นอกจากจะให้คะแนนโดยดูพฤติกรรมการเหวี่ยงของเบาะนิรภัยแล้ว ยังให้คะแนนในเรื่องคำแนะนำในการติดตั้ง และคำเตือนเรื่องถุงลมนิรภัย รวมถึงความสามารถของรถในการรองรับการติดตั้งที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กได้อย่างปลอดภัยด้วย   ----------------------------------------------------------------------------------------------------- อาการบาดเจ็บของกระดูกต้นคอ ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลถึงปีละหนึ่งหมื่นล้านยูโร ในยุโรป EuroNCAP จึงเพิ่มการทดสอบเรื่องนี้เพื่อให้เกิดการปรับปรุงการออกแบบเบาะนั่งและหมอนรองศีรษะ และให้คะแนนไว้ในเรื่องความปลอดภัยของคนขับและผู้โดยสารด้านหน้า ----------------------------------------------------------------------------------------------------- Meet the Iron Men: รู้จักกับ สองหุ่นกระดูกเหล็ก Hybrid III และ ES-2 คือหุ่นหลักที่ใช้ในการทดสอบความปลอดภัยภายในห้องโดยสาร โดย Hybrid III จะ เก็บข้อมูลการชนด้านหน้า ในขณะที่ ES-2 ทำหน้าที่เก็บข้อมูลการชนด้านข้าง ส่วนการทดสอบความปลอดภัยของคนเดินถนนนั้นเขาจะใช้เพียงชิ้นส่วนของหุ่นยนต์ในการทดสอบ   แม้หน้าตาจะไม่หล่อโดนใจ แต่ขอบอกว่าเขารับได้ทุกอย่าง ส่วนหัวทำด้วยอลูมิเนียม โครงกระดูกทำจากเหล็กกล้าถูกห่อหุ้มด้วย “ผิวหนัง” ที่ทำจากยาง ภายในศีรษะ คอ หน้าอก ช่องท้อง เชิงกราน และขา จะมีอุปกรณ์รับข้อมูลต่างๆ ที่แสดงผลให้เรารู้ถึงอาการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้นกับบริเวณดังกล่าว   สนนราคาของหุ่นทรหดแต่ละตัวนั้นไม่ต่ำกว่า หนึ่งแสนยูโร (ประมาณ 4 ล้านบาท) Supermini Chevrolet Aveo  รุ่นปี 2011 คะแนนรวม        5          ดาว ความปลอดภัยของคนขับและผู้โดยสารด้านหน้า                  95% ความปลอดภัยของเด็กเล็ก                                           87% ความปลอดภัยของคนเดินถนน                                       54% อุปกรณ์ความปลอดภัยมาตรฐาน                                    93%     Citroen C3  รุ่นปี 2009 คะแนนรวม       4          ดาว ความปลอดภัยของคนขับและผู้โดยสารด้านหน้า                  83% ความปลอดภัยของเด็กเล็ก                                           74% ความปลอดภัยของคนเดินถนน                                       33% อุปกรณ์ความปลอดภัยมาตรฐาน                                     40%     Honda Jazz รุ่นปี 2009 คะแนนรวม        5          ดาว ความปลอดภัยของคนขับและผู้โดยสารด้านหน้า                  78% ความปลอดภัยของเด็กเล็ก                                           79% ความปลอดภัยของคนเดินถนน                                       60% อุปกรณ์ความปลอดภัยมาตรฐาน                                     71%     Nissan Micra (Nissan March) รุ่นปี 2010 คะแนนรวม        4          ดาว ความปลอดภัยของคนขับและผู้โดยสารด้านหน้า                  84% ความปลอดภัยของเด็กเล็ก                                          79% ความปลอดภัยของคนเดินถนน                                      58% อุปกรณ์ความปลอดภัยมาตรฐาน                                    57%   Suzuki Swift รุ่นปี 2010 คะแนนรวม        5          ดาว ความปลอดภัยของคนขับและผู้โดยสารด้านหน้า                  94% ความปลอดภัยของเด็กเล็ก                                           82% ความปลอดภัยของคนเดินถนน                                       62% อุปกรณ์ความปลอดภัยมาตรฐาน                                     71%   Toyota Yaris รุ่นปี 2011 คะแนนรวม        5          ดาว ความปลอดภัยของคนขับและผู้โดยสารด้านหน้า                  89% ความปลอดภัยของเด็กเล็ก                                           81% ความปลอดภัยของคนเดินถนน                                      60% อุปกรณ์ความปลอดภัยมาตรฐาน                                    86%     Peugeot 208 รุ่นปี 2012 คะแนนรวม        5          ดาว ความปลอดภัยของคนขับและผู้โดยสารด้านหน้า                  88% ความปลอดภัยของเด็กเล็ก                                           78% ความปลอดภัยของคนเดินถนน                                       61% อุปกรณ์ความปลอดภัยมาตรฐาน                                     83%   Ford Fiesta รุ่นปี 2012 คะแนนรวม        5          ดาว ความปลอดภัยของคนขับและผู้โดยสารด้านหน้า                  91% ความปลอดภัยของเด็กเล็ก                                          86% ความปลอดภัยของคนเดินถนน                                      65% อุปกรณ์ความปลอดภัยมาตรฐาน                                    71%   Small Family Car BMW 3 Series รุ่นปี 2012 คะแนนรวม        5          ดาว ความปลอดภัยของคนขับและผู้โดยสารด้านหน้า                  95% ความปลอดภัยของเด็กเล็ก                                           84% ความปลอดภัยของคนเดินถนน                                       78% อุปกรณ์ความปลอดภัยมาตรฐาน                                     86%   Chevrolet Cruze รุ่นปี 2009 คะแนนรวม        5          ดาว ความปลอดภัยของคนขับและผู้โดยสารด้านหน้า                  96% ความปลอดภัยของเด็กเล็ก                                           84% ความปลอดภัยของคนเดินถนน                                       34% อุปกรณ์ความปลอดภัยมาตรฐาน                                     71%     Ford Focus รุ่นปี 2012 คะแนนรวม        5          ดาว ความปลอดภัยของคนขับและผู้โดยสารด้านหน้า                  92% ความปลอดภัยของเด็กเล็ก                                           82% ความปลอดภัยของคนเดินถนน                                       72% อุปกรณ์ความปลอดภัยมาตรฐาน                                     71%     Honda Civic รุ่นปี 2012 คะแนนรวม        5          ดาว ความปลอดภัยของคนขับและผู้โดยสารด้านหน้า                  94% ความปลอดภัยของเด็กเล็ก                                           83% ความปลอดภัยของคนเดินถนน                                      69% อุปกรณ์ความปลอดภัยมาตรฐาน                                    86%     Mazda 3 รุ่นปี 2009 คะแนนรวม        5          ดาว ความปลอดภัยของคนขับและผู้โดยสารด้านหน้า                  86% ความปลอดภัยของเด็กเล็ก                                          84% ความปลอดภัยของคนเดินถนน                                      51% อุปกรณ์ความปลอดภัยมาตรฐาน                                    71%     Mitsubishi Lancer รุ่นปี 2009 คะแนนรวม        5          ดาว ความปลอดภัยของคนขับและผู้โดยสารด้านหน้า                  81% ความปลอดภัยของเด็กเล็ก                                          80% ความปลอดภัยของคนเดินถนน                                      34% อุปกรณ์ความปลอดภัยมาตรฐาน                                    71%     VW Beetle รุ่นปี 2011 คะแนนรวม        5          ดาว ความปลอดภัยของคนขับและผู้โดยสารด้านหน้า                  92% ความปลอดภัยของเด็กเล็ก                                          90% ความปลอดภัยของคนเดินถนน                                      53% อุปกรณ์ความปลอดภัยมาตรฐาน                                   86%     Chevrolet Captiva รุ่นปี 2011 คะแนนรวม        5          ดาว ความปลอดภัยของคนขับและผู้โดยสารด้านหน้า                  88% ความปลอดภัยของเด็กเล็ก                                          82% ความปลอดภัยของคนเดินถนน                                      48% อุปกรณ์ความปลอดภัยมาตรฐาน                                    71%   Large Family Car Audi A4 รุ่นปี 2009 คะแนนรวม        5          ดาว ความปลอดภัยของคนขับและผู้โดยสารด้านหน้า                 93% ความปลอดภัยของเด็กเล็ก                                          84% ความปลอดภัยของคนเดินถนน                                      39% อุปกรณ์ความปลอดภัยมาตรฐาน                                    71%   Honda Accord รุ่นปี 2009 คะแนนรวม        5          ดาว ความปลอดภัยของคนขับและผู้โดยสารด้านหน้า                  86% ความปลอดภัยของเด็กเล็ก                                          79% ความปลอดภัยของคนเดินถนน                                      54% อุปกรณ์ความปลอดภัยมาตรฐาน                                   86%   Peugeot 508 รุ่นปี 2011 คะแนนรวม        5          ดาว ความปลอดภัยของคนขับและผู้โดยสารด้านหน้า                  90% ความปลอดภัยของเด็กเล็ก                                          81% ความปลอดภัยของคนเดินถนน                                      41% อุปกรณ์ความปลอดภัยมาตรฐาน                                   97%     Toyota Prius รุ่นปี 2009 คะแนนรวม        5          ดาว ความปลอดภัยของคนขับและผู้โดยสารด้านหน้า                  88% ความปลอดภัยของเด็กเล็ก                                          82% ความปลอดภัยของคนเดินถนน                                      68% อุปกรณ์ความปลอดภัยมาตรฐาน                                    86%     Volvo V60 รุ่นปี 2012 คะแนนรวม        5          ดาว ความปลอดภัยของคนขับและผู้โดยสารด้านหน้า                  94% ความปลอดภัยของเด็กเล็ก                                           82% ความปลอดภัยของคนเดินถนน                                      64% อุปกรณ์ความปลอดภัยมาตรฐาน                                    100%     Nissan Cube รุ่นปี 2010 คะแนนรวม        4          ดาว ความปลอดภัยของคนขับและผู้โดยสารด้านหน้า                  83% ความปลอดภัยของเด็กเล็ก                                          64% ความปลอดภัยของคนเดินถนน                                      56% อุปกรณ์ความปลอดภัยมาตรฐาน                                    84%   Pick-up Ford Ranger รุ่นปี 2012 คะแนนรวม        5          ดาว ความปลอดภัยของคนขับและผู้โดยสารด้านหน้า                  96% ความปลอดภัยของเด็กเล็ก                                           86% ความปลอดภัยของคนเดินถนน                                      81% อุปกรณ์ความปลอดภัยมาตรฐาน                                    71%     Isuzu D-Max รุ่นปี 2012 คะแนนรวม        4          ดาว ความปลอดภัยของคนขับและผู้โดยสารด้านหน้า                 83% ความปลอดภัยของเด็กเล็ก                                          67% ความปลอดภัยของคนเดินถนน                                      51% อุปกรณ์ความปลอดภัยมาตรฐาน                                   71%     VW Amarok รุ่นปี 2010 คะแนนรวม        4          ดาว ความปลอดภัยของคนขับและผู้โดยสารด้านหน้า                  86% ความปลอดภัยของเด็กเล็ก                                           64% ความปลอดภัยของคนเดินถนน                                       47% อุปกรณ์ความปลอดภัยมาตรฐาน                                     57%

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 129 ตรวจสอบมาตรการช่วยเหลือ กรณีการเช่าซื้อรถยนต์

ช่วงน้ำท่วมหนักๆ เราได้รับข่าวสารจาก สคบ. ว่าได้ขอความร่วมมือกับหน่วยงาน 5 แห่ง ได้แก่ สมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย   สมาคมอู่กลางแห่งประเทศไทย  สมาคมนายหน้าประกันวินาศภัย   สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน การไฟฟ้านครหลวง เพื่อหามาตรการช่วยเหลือผู้บริโภค ฉลาดซื้อจึงสอบถามเพิ่มเติมในกรณีช่วยเหลือผู้บริโภคที่ประสบอุทกภัยกรณีการเช่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับผู้บริโภคไว้ดูแลตนเองหลังน้ำท่วม   มาตรการน้ำท่วมของสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย มาตรการน้ำท่วม 7 ข้อ สำหรับผู้ประสบภัยและมีปัญหาเกี่ยวกับสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ เพื่อจะนำไปใช้เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาสินเชื่อได้อย่างเหมาะสม มาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยดังกล่าว สรุปได้ดังนี้   1. ให้มีการยกเว้นค่าติดตามทวงถามและเบี้ยปรับล่าช้าสำหรับลูกค้าที่ประสบภัยน้ำท่วมในช่วงระยะเวลาที่เกิดภาวะน้ำท่วม 2. มีแนวทางการพักชำระค่างวดเช่าซื้อ สำหรับลูกหนี้ปกติที่ประสบภัยน้ำท่วม 3. ให้มีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เช่น ขยายเวลาการผ่อนชำระค่างวดเช่าซื้อ ทั้งนี้แต่ละสถาบันจะพิจารณาความเหมาะสมของลูกค้าต่อไป 4. ในส่วนของผู้เช่าซื้อเพื่อการพาณิชย์หรือเช่าซื้อรถยนต์หลายคัน (Fleet Finance) จะพิจารณาช่วยเหลือตามความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้า 5. ให้มีมาตรการหยุดการทวงถามสำหรับลูกหนี้เช่าซื้อปกติที่ประสบภัยน้ำท่วมและอยู่ในพื้นที่ที่ประสบภัยน้ำท่วม 6. ในกรณีที่ลูกค้าต้องการวงเงินฉุกเฉินเพิ่มเติมหลายๆ สถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกสมาคมก็ได้จัดให้มีวงเงินกู้สำหรับลูกค้าที่มีความจำเป็นต้องใช้เงินฉุกเฉิน (สามารถติดต่อข้อมูลเพิ่มเติมได้จากสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย โทร 02 6550240-5) 7. มาตรการอื่นๆ ตามที่ลูกค้าเช่าซื้อร้องขอ โดยพิจาณาเป็นรายๆ ไป   หมายเหตุ: ทั้งนี้มาตรการต่างๆ ที่สมาคมและบริษัทสมาชิกได้สรุปแนวทางมานั้น จะใช้ตามความเหมาะสมและความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าของแต่ละสถาบันการเงิน ซึ่งอาจจะมีความแตกต่างกันออกไปบ้างตามปัญหาที่เกิดขึ้น พร้อมกันนี้สมาคมได้มีหนังสือเลขที่ ชซ.342/2554 ลงวันที่ 31 สิงหาคม 2554 เพื่อขอให้ทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคมีหนังสือประสานไปยังคณะกรรมการการคุ้มครองข้อมูลเครดิต และบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด เพื่อให้มีการปรับ Code สำหรับลูกค้าที่ได้รับการผ่อนผันหรือช่วยเหลือด้านการเงินจากการประสบภาวะน้ำท่วมเช่นเดียวกับครั้งที่ผ่านมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว   ทั้งนี้มาตรการน้ำท่วมดังกล่าวถือว่าเป็นครั้งที่ 4 ที่สมาคมและบริษัทสมาชิกได้ออกแนวทางช่วยเหลือผู้บริโภคนับตั้งแต่เกิดน้ำท่วมใหญ่ในภาคเหนือและภาคอีสานปี 2553 ที่ผ่านมา สำหรับมาตรการดังกล่าวเป็นนโยบายกว้างๆ ไม่เฉพาะเจาะจงเนื่องจากความจำเป็นด้านการเงินของผู้บริโภคและนิติบุคคล เนื่องจากฐานะของผู้บริโภคมีความแตกต่างกัน  ซึ่งผู้บริโภคสามารถร้องขอตามความจำเป็น พร้อมทั้งเป็นการเปิดกว้างให้บริษัทสมาชิกมีแนวทางในการช่วยเหลือให้เหมาะสมกับความเสี่ยงของบริษัทด้วย สำหรับขั้นตอนในการยื่นขอเข้ามาตรการน้ำท่วม 7 ข้อ ข้างต้น ทางผู้บริโภคสามารถติดต่อไปที่บริษัทลีสซิ่งหรือสถาบันการเงินพร้อมยื่นเอกสาร อาทิ -บัตรประชาชน -สำเนาทะเบียนรถ -รูปถ่ายหรือหลักฐานที่แสดงว่าผู้เช่าซื้อประสบภัยน้ำท่วม อย่างไรก็ตามในกรณีที่ผู้บริโภคผ่อนชำระกับบริษัทที่ไม่ใช่สมาชิกของสมาคมสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือผ่านสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้ที่หมายเลข 1166 ได้ ผู้ให้ข้อมูล นายบุญหนา จงถิ่นสุวรรณ ผู้จัดการสมาคมเบอร์โทรประสานงาน   สมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย   02 655 0240-5 --------------------------------- บริษัทสมาชิกสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทยปี 2553(THAI HIRE-PURCHASE ASSOCIATION) 1. บมจ. อะมานะฮ์ ลิสซิ่ง โทร. 0-2612-3233 แฟกซ์.0-2612-3255 Website:  www.navaleasing.co.th 2. บมจ.ธนาคารทิสโก้ โทร. 0-2633-6000 แฟกซ์. 0-2633-6800 Website:  www.tiscogroup.com 3. บจ. ตรีเพชรอีซูซุลิสซิ่ง โทร.0-2792-2000 แฟกซ์. 0-2966-2282-4 4. บมจ.ธนาคารเกียรตินาคิน โทร. 0-2680-3333 แฟกซ์.0-2256-9165 Website:  www.Kiatnakin.co.th 5. บมจ. เงินทุนสินอุตสาหกรรม โทร. 0-2263-2100 แฟกซ์. 0-2253-7086 Website:  www.sicco.co.th E-mail:     finance@mozart.inet.co.th 6. บจ. ซัมมิท แคปปิตอล ลีสซิ่ง โทร. 0-2637-5445-51 แฟกซ์. 0-2637-5442 7. บมจ. เอเชียเสริมกิจลีสซิ่ง โทร. 0-2679-6226 แฟกซ์. 0-2679-6241-3 Website:  www.bgpl-lease.com E-mail:     bgpl@bkk.loxinfo.co.th 8. บมจ. เมโทรโพลิส ลีสซิ่งโทร.0-2642-5031  0-2642-5043 9. บจ. โตโยต้า ลีสซิ่ง (ปทท.) โทร. 0-2634-6400 แฟกซ์.0-2636-1408 Website:  www.tlt.co.th   10. บจ. ยูไนเต็ดลีสซิ่ง โทร. 0-2318-4058 แฟกซ์.0-2314-2083 11. บมจ. ไทยพาณิชย์ลีสซิ่ง โทร. 0-2949-1800 12. บจ. ชยภาค โทร.0-2318-2000 แฟกซ์.0-2318-6677 13. บจ. พระนคร ยนตรการ โทร. 0-2561-4610 แฟกซ์. 0-2579-9826 14. บจ. ซิตี้คอร์ป ลิสซิ่ง (ปทท.) โทร. 0-2788-2000 แฟกซ์. 0-2788-4889 Website:  www.citibank.com 15. บจ. บีเอ็มดับเบิลยู ลิสซิ่ง (ปทท.) โทร.0-2305-8999 แฟกซ์.0-2305-8998 Website:  www.bmw.co.th 16. บมจ. ราชธานีลิสซิ่ง โทร. 0-2440-0844แฟกซ์. 0-2440-0848Website:  www.ratchthani.com E-mail:    info@ratchthani.com 17. บจ. ฮอนด้า ลีสซิ่ง (ปทท.)โทร. 0-2706-2800, 706-2900 แฟกซ์. 0-2744-7714 Website:  www.honda.co.th 18. บจ. เมอร์เซเดส-เบนซ์ ลีสซิ่ง (ปทท.)โทร. 0-2676-5900 แฟกซ์. 0-2676-5949 Website:  www.mercedes-benz-leasing.co.th 19. บมจ. ตะวันออกพาณิชย์ลีสซิ่ง โทร. 0-2641-5252 แฟกซ์.0-2641-5995 20. บมจ. อยุธยา แคปปิตอล ออโต้ ลีส โทร.0-2627-8000 แฟกซ์.0-2627-8001 Website:  www.krungsriauto.com 21. บจ. ไทยประกันชีวิตโทร. 0-2247-0247 แฟกซ์.0-2246-9688 Website:  www.thailife.com 22. บจ. คลังเศรษฐการ โทร. 0-2274-0111 แฟกซ์.0-2274-0311 23. บจ. กรุงไทย ออโต้ลีส โทร. 0-2969-7628-29 แฟกซ์.0-2968-5900 24. บจ. ลีสซิ่งกสิกรไทย โทร. 0-2696-9900 แฟกซ์. 0-2696-9988 25. บจ. เซ็นเตอร์ ออโต้ ลีส โทร. 0-2673-9111-8 แฟกซ์.0-2673-9092 26. บจ. ลีสซิ่งสินเอเชีย โทร.0-2626-8100 แฟกซ์. 0-2626-8190 27. บจ. นิสสัน ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) โทร. 0-2207-4000 แฟกซ์. 0-2207-4001 28. บมจ.ธนาคารธนชาต โทร. 0-2217-8000 แฟกซ์. 0-2217-9642 Website:  www.nfs.co.th 29. บจ. เคทีบี ลีสซิ่ง โทร. 0-2299-3888 แฟกซ์. 0-2299-3801 30. บมจ.ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย โทร.0-2697-5454 แฟกซ์. 0-2642-3048 Website:  www.tcrbank.com 31. ธนาคารไทยพาณิชย์  จำกัด (มหาชน) โทร. 0-2544-1111 32. ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยโทร. 0-2650-6999 แฟกซ์.0-664-3345 Website:  www.isbt.co.th 33. บริษัท แฟคเตอรี แอนด์ อีควิปเมนท์ กสิกรไทย จำกัด โทร. 0-2290-2900 แฟกซ์. 0-2277-3322 Website:  www.kasikornbankgroup.com

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 161 รถด่วน

เป็นชื่อเรียกเฉพาะของหนอนผีเสื้อกลางคืนชนิดหนึ่งที่อาศัยในลำไม้ไผ่ทางภาคเหนือ ซึ่งเป็นที่นิยมอันดับต้นๆ ของเหล่าผู้ชมชอบการบริโภคแมลง ในโลกเรานี้การกินแมลงไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะมีแมลงถึง 500 ชนิดที่ผ่านการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นในหลายสังคมว่า ตัวไหนกินได้ ชนิดไหนกินไม่ได้ ในอัฟริกากินตั๊กแตนและหนอนผีเสื้อกลางคืน  ที่อเมริกาก็กินมดคั่ว ในเอเชียคนเกาหลีก็นิยมตั๊กแตนและดักแด้หนอนไหมเช่นกัน บ้านเราเดิมชนบทของอีสานและภาคเหนือ อาหารโปรตีนเนื้อสัตว์อย่างวัว หมู ไก่ หายาก ราคาแพง  แมลงและหนอนเป็นอาหารทางเลือกหนี่ง เพราะอุดมไปด้วยโปรตีน มีคุณค่าทางโภชนาการที่ทดแทนกันได้    ชาวบ้านนำมามาปรุงเป็นอาหารรับประทานเป็นจานหลัก ทั้งทอด ปิ้ง ย่าง คั่ว หมก อ่อม แกง ยำ และตำน้ำพริก  ซึ่งอาจเป็นของแปลกของคนเมือง แต่เมื่อชนบทกับเมืองปะทะสังสรรค์กันมากเข้า เมนูแมลงในที่สุดจึงกลายเป็นของกินเล่นของคนทั่วไป ชื่อรถด่วนมาอย่างไร ลองนึกดูหากเราชวนใครมากินแมลง ไม่ว่าจะตั๊กแตน จิ้งหรีดหรือแมงดานา มันยังดูไม่ขัดเขินเท่าไหร่ แต่หากเรียกมา “กินหนอน” หลายคนก็อาจตะขิดตะขวงใจ เจ้าหนอนไม้ไผ่ ตัวขาว เลยได้ชื่อเรียกใหม่ว่า รถด่วน ซึ่งส่วนหนึ่งน่าจะมาจากวิธีการเคลื่อนขบวนของหนอนชนิดนี้ที่จะเคลื่อนตัวต่อกันอย่างเป็นระเบียบแถวยาวๆ คล้ายตู้ขบวนรถไฟ รถด่วนหรือหนอนไม้ไผ่ ได้ชื่อว่าเป็นหนอนที่สะอาดที่สุดเพราะตลอดช่วงเวลา 10 เดือนที่เป็นตัวหนอนอาศัยอยู่แต่ในกระบอกไม้ไผ่ จะออกมาชมธรรมชาติภายนอกก็เฉพาะเมื่อกลายเป็นผีเสื้อแล้ว รถด่วนมีโปรตีนสูงและไขมันพอตัว ที่นิยมกินจะเป็นชนิดทอดกรอบ จึงต้องระวังเรื่องน้ำมันทอดซ้ำและพลังงานจากไขมัน อีกอย่างแมลงทอดอาจสร้างปัญหาให้กับคนที่เป็นภูมิแพ้ หอบหืด พึงระมัดระวัง   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 181 กระแสต่างแดน

โทรทัศน์จีนแฉธุรกิจยอดแย่ทุกๆ ปีในวันสิทธิผู้บริโภคสากล 15 มีนาคม สถานีโทรทัศน์แห่งชาติของจีน Central China Television หรือ CCTV จะถ่ายทอดรายการ “315 Gala” ซึ่งเป็นที่รอคอยของผู้ประกอบการทั้งหลายที่ ลุ้นตัวโก่งว่าจะติดบัญชีดำของรัฐบาลจีนหรือไม่315 Gala นำเสนอผลสำรวจปัญหายอดฮิตจากผู้บริโภค รวมถึงคลิป “ซ่อนกล้อง” เข้าไปแอบถ่ายการทำธุรกิจของผู้ประกอบการหลายๆ เจ้าด้วย ร้อยละ 25 ของปัญหาที่ผู้บริโภคพบในปีที่ผ่านมาได้แก่ การได้รับ “ของปลอม” ทั้งๆ ที่สั่งซื้อสินค้าจากเว็บไซต์ที่น่าเชื่อถือ (แต่ไม่ได้บอกว่าเจ้าไหนบ้าง)ปัญหาที่ผู้บริโภคร้องเข้ามามากเป็นอันดับสองคือปัญหาการซื้อขายรถ ที่ผู้ขายบังคับให้ผู้ซื้อจ่ายค่าประกันและค่าป้ายทะเบียน หรือนำรถรุ่นที่ถูกประกาศเรียกคืนแล้วมาขาย เป็นต้น  อันดับสามได้แก่ โทรศัพท์มือถือที่ชำรุดบกพร่อง หรือไม่มีบริการหลังการขายที่ดี ที่ผ่านมารายการนี้สร้างความสั่นสะเทือนให้กับบริษัทใหญ่ๆ ของจีนเอง อย่าง ไชน่าโมไบล์ เจเอซีมอเตอร์ส หรือแม้แต่ ไป่ตู้อิงค์ และบริษัทต่างชาติอย่าง แลนด์โรเวอร์ และแอปเปิ้ล มาแล้วเจมส์ เฟลด์แคมป์ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์จัดอันดับสินค้าและบริการ www.Mingjian.com ให้ความเห็นว่าผู้ประกอบการในจีนเริ่มตระหนักแล้วว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าตัวเองตกเป็นดาราจำเป็นในรายการนี้ จึงหันมาเพิ่มความโปร่งใสเป็นธรรมในการทำธุรกิจ เพื่อจะได้ไม่ถูกประจานออกทีวีเบน คาเวนเดอร์ นักวิเคราะห์จากบริษัทวิจัยการตลาดในเซี่ยงไฮ้บอกว่ารายการนี้ช่วยยกระดับการรับรู้เรื่องสิทธิผู้บริโภคของผู้บริโภค และเมื่อพวกเขารู้สึกว่าตนเองได้รับการดูแลคุ้มครอง พวกเขาก็จะเกิดความมั่นใจในการเลือกซื้อสินค้าและบริการมากขึ้น  เคเบิลทีวี ... บริการนี้ต้องเลือกได้กสทช.ไต้หวันเสนอให้บริษัทเคเบิลทีวีเพิ่มทางเลือกให้สมาชิกสามารถจ่ายเงินเฉพาะช่องที่อยากดู ปัจจุบันสมาชิกเคเบิลทีวีจ่ายค่าบริการรายเดือนในอัตราเดียว (ระหว่าง 500 ถึง 600 เหรียญไต้หวัน) แลกกับช่องรายการกว่า 100 ช่อง (รวมช่อง must-carry ที่ผู้ประกอบการต้องจัดให้เป็นพื้นฐานแล้ว)ปีหน้าผู้ประกอบการถึงคิวต้องมีระบบคิดค่าบริการที่หลากหลายขึ้น กสทช. เขาเสนอให้มีแพ็คเกจที่สมาชิกสามารถเลือกเฉพาะช่องที่ต้องการดู แล้วจ่ายเงินตามนั้น เขาไม่ได้กำหนดเพดานของค่าบริการรายเดือน เนื่องจากไต้หวันมีผู้ประกอบการหลายเจ้า แล้วยังมีบริการทีวีอินเตอร์เน็ทโดยผู้ประกอบการจากต่างประเทศเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดอีก กลไกตลาดจะทำงานของมันเอง ที่สำคัญคือผู้บริโภคจะมีเวลา 1 สัปดาห์ในการ “ทดลองดู” ถ้าไม่พอใจก็สามารถยกเลิกได้โดยไม่ต้องจ่ายเงินทางสิงคโปร์ก็ไม่น้อยหน้า ตามข้อกำหนดใหม่ ถ้าผู้ประกอบการขึ้นค่าบริการหรือยกเลิกรายการหลักๆ ผู้บริโภคสามารถยกเลิกบริการก่อนกำหนดที่ระบุไว้ในสัญญาได้เลยโดยไม่เสียค่าปรับ แต่ต้องไปรับดำเนินการภายใน 30 วันนับจากรับทราบความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว  รถไฟเยอรมันเตรียมยกเครื่องปีที่ผ่านมา ดอยทช์บาห์น หรือการรถไฟเยอรมนี มีรายรับมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ถึง 40,000 ล้านยูโร (1.5 ล้านล้านบาท) แต่ในขณะเดียวกันก็ประสบการขาดทุนสูงที่สุดในรอบ 12 ปี สาเหตุมาจากการลดมูลค่าของสินทรัพย์ในธุรกิจรับส่งสินค้า การรวมตัวนัดหยุดงานของเจ้าหน้าที่ และการที่ผู้โดยสารหันไปใช้บริการรถบัสกันมากขึ้นแผนเพิ่มผลกำไรของดอยทช์บาห์น ซึ่งรัฐบาลเป็นเจ้าของ ณ จุดนี้ได้แก่การวางมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพ ลดค่าใช้จ่าย และขายกิจการบางอย่างให้กับเอกชน ที่ฮือฮามากที่สุดคือแผนเลิกธุรกิจรับส่งสินค้า ที่อาจทำให้พนักงานกว่า 3,500 คนทั่วประเทศถูกเลิกจ้าง  บริษัทประกาศว่าจะปรับปรุงคุณภาพบริการ โครงสร้างพื้นฐาน ตัวรถ ระบบราง ฯลฯ ให้ทันสมัย ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องใช้เงินถึง 55 ล้านยูโร (ไม่ต่ำกว่า 2 ล้านล้านบาท) งบประมาณที่ใช้บางส่วนจะมาจากบริษัทเอง แต่อีกส่วนที่ใหญ่กว่าจะมาจากงบประมาณกลาง สื่อเยอรมันบอกว่ารัฐบาลเลยไม่ปลื้มกับแผนนี้สักเท่าไร  กิน เที่ยว ต้องเรื่องเดียวกันผู้ว่าฯ เมืองฟลอเรนซ์บอกว่าเมืองเก่าระดับ “มรดกโลก” ของอิตาลีนี้กำลังจะสูญเสียภาพลักษณ์เพราะบรรดาร้านที่ขายแต่อาหารต่างถิ่นและร้านขายของคุณภาพต่ำที่นำเข้ามาจากต่างประเทศสมาชิกสภาเมืองเชื่อว่านักท่องเที่ยวที่มาเยือนควรได้ลองลิ้มชิมรสอาหารที่มีชื่อเสียงประจำเมืองนี้ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ จึงออกข้อบังคับให้ร้านอาหารที่กำลังจะเปิดใหม่ขายเฉพาะอาหารท้องถิ่นดั้งเดิมที่ใช้วัตถุดิบจากแคว้นทัสกานีเท่านั้น ส่วนร้านที่เปิดมาก่อนแล้ว ก็ยังมีเวลา 3 ปีในการปรับเปลี่ยนไปใช้วัตถุดิบจากท้องถิ่นให้ได้ถึงร้อยละ 70 เรื่องนี้ ออสกา ฟาริเน็ตติ เจ้าของ Eataly เครือข่ายซูเปอร์มาร์เก็ตระดับโลกเห็นต่าง เขาบอกว่าตัวเลข ร้อยละ 70 นั้นสูงเกินไปและจะสร้างภาระให้กับร้านอาหารมากเกินไปอย่างไรก็ตาม มีข่าวออกมาแล้วว่าเมืองท่องเที่ยวอื่นๆ ก็อาจนำเอาข้อบังคับนี้ไปใช้เช่นเดียวกัน   เรื่องนี้เข้าทางนักท่องเที่ยว แต่ถ้ามีการควบคุมราคาด้วยจะดียิ่งขึ้นไปอีกนะนี่  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 179 กระแสต่างแดน

สร้างแลนด์มาร์คชาวเมืองโอลกีอาสโตร ซิเลนโต เมืองเล็กๆ ในแคว้นคัมพาเนีย ของอิตาลี ออกมาคัดค้านแผนการสร้างรูปปั้นแลนด์มาร์คของเมือง ด้วยงบประมาณ 150 ล้านยูโร (เกือบ 6,000 ล้านบาท) ทั้งๆ ที่ถนนและระบบประปายังอยู่ในสภาพย่ำแย่ เพื่อเป็นเกียรติแก่หลวงพ่อพีโอ นักบุญผู้เป็นที่เคารพรักของชาวอิตาลี นายกเทศมนตรีเมืองนี้ประกาศว่าจะสร้างรูปปั้นของท่านให้มีความสูงถึง 85 เมตร (เทพีเสรีภาพของอเมริกา หรือรูปปั้นพระเยซูมหาไถ่ในบราซิล ซึ่งสูงประมาณ 46 เมตร จะดูเล็กไปเลย)   ชาวบ้านส่วนใหญ่(จากทั้งหมด 2,200 คน) ไม่เห็นด้วยเพราะไม่มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นก่อน ทั้งๆที่โครงการนี้มีมูลค่าสูงลิบ เงินเหล่านี้ควรนำไปปรับปรุงท่อส่งน้ำประปา สร้างถนนเพิ่ม หรือไม่ก็สร้างสระว่ายน้ำขนาดมาตรฐานโอลิมปิกที่มีแผนจะสร้างมาตั้งแต่ 22 ปีก่อนให้เสร็จเสียที นายกฯ เขายืนยันว่ารูปปั้นนี้จะดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาใช้จ่ายเงิน เพิ่มรายได้ให้คนท้องถิ่น โครงการดังกล่าวดำเนินต่อไป โดยยังไม่ชัดเจนว่าจะใช้เงินทุนจากแหล่งใด เงินภาษี? เงินอียู? หรือเงินบริจาคจากภาคเอกชน?  คืนข้ามปีเป็นที่รู้กันว่าโรงพยาบาลที่ไหนๆ ต่างก็เจอศึกหนักในคืนข้ามปี ยืนยันได้ด้วยรายงานตัวเลขผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตด้วยสาเหตุที่เกี่ยวเนื่องกับการบริโภคแอลกอฮอลเกินกว่าเหตุ แต่ปีนี้ที่เมืองซิดนีย์ ออสเตรเลีย ทั้งตำรวจและทีมแพทย์ฉุกเฉินต่างยินดีเป็นที่ยิ่ง เพราะมีเหตุวุ่นวายน้อยลงกว่าปีก่อนหน้า อาจมีคนเรียกรถพยาบาลบ้าง แต่ก็เพื่อรักษาอาการบาดเจ็บเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น ผู้อำนวยการแผนกฉุกเฉินของโรงพยาบาลเซนต์วินเซนต์ ถึงกับกล้าฟันธงว่า ปีใหม่ที่ผ่านมานี่ถือว่าเป็นปีใหม่ที่ยอดเยี่ยมที่สุด เขาดีใจที่การรณรงค์ที่ผ่านมาได้ผลดีจนคนออสซี่เริ่ม “ดื่ม” แบบศิวิไลซ์มากขึ้น เป็นการส่งสัญญาณว่า แม้จะไม่เมาแต่เราก็ยังดูการแสดงดอกไม้ไฟตอนเคานท์ดาวน์ได้สนุกเหมือนเดิม     ด้านนายกเทศมนตรี ก็เป็นปลื้มที่วัฒนธรรมการดื่มของผู้คนกำลังเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น เช่นเดียวกับในอีกหลายๆ ประเทศ (อาจยังไม่รวมประเทศไทย) แต่ที่กรุงเทลอาวีฟ อิสราเอล เหตุการณ์ยังคงน่าเป็นห่วง ทั้งตำรวจ ทั้งหน่วยกู้ภัยต่างงานล้นมือกันในคืนก่อนปีใหม่ มีผู้ป่วยถูกนำตัวเข้ามารับการรักษาฉุกเฉินที่โรงพยาบาลมาเกน เดวิด ถึง 461 คน ในจำนวนนี้มีเด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะที่ถูกนำส่งโรงพยาบาลเพราะดื่มแอลกอฮอลมากไปถึง 63 คน   เรื่องไม่กล้วยนักวิจัยจากเนเธอร์แลนด์ออกมาเตือนว่า อีกไม่นานกล้วยหอมเขียวคาเวนดิช ซึ่งเป็นกล้วยพันธุ์ยอดนิยมที่สุดในขณะนี้กำลังจะถูกล้างเผ่าพันธุ์โดยเชื้อรา TR4 เชื้อราสายโหดนี้สามารถกบดานรอเวลาจู่โจมได้ถึง 30 ปี มันลงมือด้วยการทำลายกลไกการส่งน้ำ ต้นกล้วยจึงเหี่ยวเฉาอย่างรวดเร็วและแห้งตายในที่สุด TR4 (Tropical Race 4) ถูกค้นพบครั้งแรกในไต้หวัน หลังจากมันเป็นสาเหตุการตายหมู่ของต้นกล้วยจำนวนมาก 3 ปีก่อนหน้านั้น แต่เรื่องนี้มีคนรู้ค่อนข้างน้อย ต่อมามันได้แพร่กระจายเข้าไปในเอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงที่อื่นๆ เช่น จอร์แดน ปากีสถาน เลบานอน โอมาน และออสเตรเลีย ที่สำคัญ ยาฆ่าเชื้อราที่มีอยู่ขณะนี้ไม่สามารถทำอะไรมันได้ และถ้ามันขึ้นฝั่งละตินอเมริกาซึ่งเป็นผู้ผลิตกล้วยหอมร้อยละ 80 ของโลกได้ เราคงจะลำบากแน่   แต่เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ครั้งหนึ่งกล้วยหอมพันธุ์กรอส มิเชล ก็เคยถูกโรคปานามากวาดล้างไปแล้ว นักวิจัยเสนอให้เร่งพัฒนากล้วยหอมสายพันธุ์ใหม่ที่สามารถต้านทานโรคนี้ได้ ปัญหาคือมันต้องใช้ต้นทุนสูง แล้วใครจะอยากลงทุนวิจัยและพัฒนา “พืชกำพร้า” อย่างกล้วยหอม ถ้ามันถูกจัดให้เป็น “พืชเศรษฐกิจ” ก็คงจะดี ฉันก็เป็น ... ผู้หญิงคนหนึ่งสาวประเภทสองชาวญี่ปุ่นนางหนึ่ง ประกาศจะฟ้องสถานออกกำลังกายที่ไม่ยอมให้เธอใช้ห้องน้ำหญิง โดยอ้างว่าตามกฎหมายแล้วเธอยังเป็นผู้ชายอยู่ สุภาพสตรีรายนี้ประกาศว่าจะยื่นฟ้องต่อศาลแขวงเมืองเกียวโต เพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย 4.8 ล้านเยน (ประมาณ 1.5 ล้านบาท) จากบริษัทโคนามิ สปอร์ตคลับ   ในปี 2552 เธอเป็นสมาชิกของสถานออกกำลังกาย สาขาในเกียวโต ในสถานภาพของผู้ชาย หลังจากถูกวินิจฉัยในปี 2555 ว่าเธอมีภาวะความไม่พอใจในเพศของตัวเอง เธอจึงเริ่มทานฮอร์โมนตามคำแนะนำของแพทย์ และเข้ารับการผ่าตัดแปลงเพศในปี 2557 ก่อนการผ่าตัด เธอได้ปรึกษาครูฝึกว่าถ้าเธอกลับมาในรูปลักษณ์ของผู้หญิง เธอจะสามารถใช้ห้องน้ำและห้องเปลี่ยนเสื้อผ้าของผู้หญิงได้หรือไม่? แต่เธอได้รับคำตอบปฏิเสธจากผู้จัดการสาขา ซึ่งยืนยันว่าเธอจะทำเช่นนั้นได้ก็ต่อเมื่อเธอได้แจ้งเปลี่ยนเพศอย่างเป็นทางการแล้วแต่เธอทำเช่นนั้นไม่ได้เพราะเธอมีลูกสาวที่อายุยังไม่ถึง 20 ปี(กฎหมายญี่ปุ่นไม่อนุญาตให้ผู้ที่มีบุตรอายุต่ำกว่า 20 ปีแจ้งเปลี่ยนเพศ เพื่อป้องการการเกิดกระทบทางจิตใจต่อเด็ก) เธอบอกว่าอยากให้สังคมญี่ปุ่นเห็นความสำคัญของการเคารพสิทธิในการเลือกตัวตน และเธอต้องการเรียกร้องสิทธิที่จะใช้ชีวิตตามเพศที่เธอเลือก เพราะเธอมีสิทธิที่จะใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ตามมาตรา 13 ในรัฐธรรมนูญ  ทำไมไม่แจ้ง?ตามประกาศฉบับใหม่ ผู้ใช้บริการรถไฟที่ได้รับความเดือดร้อนจากการยกเลิกเที่ยววิ่งหรือมาช้ากว่ากำหนดจะมีสิทธิขอเงินคืนได้ แต่การสำรวจล่าสุดของ Which? องค์กรผู้บริโภคในอังกฤษพบว่ามีเพียง 1 ใน 3 ของผู้โดยสารกลุ่มดังกล่าวเท่านั้นที่ยื่นเรื่องขอเงินคืน และเมื่อถามว่า ครั้งล่าสุดที่รถไฟของคุณมาสาย คุณได้รับการแจ้งสิทธิเรื่องการขอเงินคืนหรือไม่? ก็มีเพียง 1 ใน 3 เท่านั้นที่ตอบว่าได้รับแจ้ง สายสืบที่ปลอมตัวไปเป็นผู้โดยสารในสถานีรถไฟ 102 สถานี พบว่า มีไม่ถึง 1 ใน 5 ของสถานีเหล่านั้นที่อธิบายให้ผู้โดยสารเข้าใจเงื่อนไขการขอเงินคืน และมากกว่าร้อยละ 60 ไม่แจ้งผู้โดยสารว่าพวกเขามีสิทธิดังกล่าว ทั้งๆ ที่ผู้โดยสารเข้าไปถามกับเจ้าหน้าที่โดยตรง    สำนักงานกำกับดูแลการขนส่งทางรางและทางถนน Office of Rail and Road (ORR) ก็มีข้อมูลที่ยืนยันว่าผู้โดยสารมีการรับรู้เรื่องนี้น้อยมาก ทั้งๆ ที่ผู้ประกอบการได้มาร่วมลงนามเรื่องการให้ข้อมูลที่ชัดเจนแก่ผู้ที่มาซื้อตั๋วโดยสาร (ข้อมูลที่ว่านั้นหมายรวมถึงสิทธิในการได้รับเงินคืนด้วย)ผู้ประกอบการรถไฟบางเจ้ามีระบบคืนเงินอัตโนมัติ กรณีที่ผู้โดยสารซื้อตั๋วล่วงหน้าผ่านบัตรเครดิต แล้วขบวนรถเที่ยวนั้นมาสาย บางเจ้าใช้วิธีแจกตั๋วฟรีให้นำไปใช้วันหลัง เป็นต้น    เรื่องนี้ต้องติดตามตอนต่อไป Which? กำลังยืนเรื่องต่อ ORR ให้สอบสวนว่าเหตุใดผู้ประกอบการเหล่านั้นจึงไม่มีการแจ้งผู้โดยสารตามที่ได้ตกลงกัน  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 176 กระแสต่างแดน

กระแสต่างแดนฉบับนี้ขอพาสมาชิกไปที่เมืองบันดุง เมืองใหญ่อันดับสามของประเทศอินโดนีเซีย (รองจากจาการ์ตา และสุราบายา) ซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดงาน Asean Automobile Safety Forum 2015 ในระหว่างวันที่ 21 – 22 กันยายน 2558    ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อินโดนีเซียมีจำนวนพาหนะเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 200 ในขณะที่ถนนหนทางที่รองรับการสัญจรเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 35 ผู้ว่าเมืองบันดุงก็ยืนยันว่าร้อยละ 75 ของคนที่นี่ใช้รถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์ส่วนตัว มีเพียงร้อยละ 25 เท่านั้นที่ใช้การขนส่งสาธารณะ ข้อมูล ณ เดือนธันวาคม ปี 2557 ระบุว่าอินโดนีเซียมีพาหนะบนท้องถนน 113 ล้านคัน ในจำนวนนั้นเป็นรถมอเตอร์ไซค์ 93 ล้านคัน (ร้อยละ 83) และจำนวนอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับมอเตอร์ไซค์ก็มีมากถึงร้อยละ 70 จากอินโดนีเซียเรามาดูตัวเลขของทั้งโลกกันบ้าง ... ปัจจุบันค่าเฉลี่ยอัตราการตายจากอุบัติเหตุทางท้องถนนทั่วโลกอยู่ที่ 18 รายต่อประชากร 100,000 คน เมื่อดูเฉพาะในอาเซียนจะพบว่าอัตราเฉลี่ยอยู่ที่ 20.1 รายต่อประชากร 100,000 คน  (ประเทศไทยอยู่ที่ 33.5 ราย ในขณะที่สิงคโปร์อยู่ที่ 4.75 ราย) ที่น่าสนใจคือ ถ้าแบ่งกลุ่มประเทศต่างๆ เหล่านี้ออกเป็นกลุ่มรายได้น้อย รายได้ปานกลาง และรายได้สูง เราจะพบว่ากลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง (เช่น ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย) มีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเฉลี่ยสูงที่สุด (20.1 ต่อ 100,000) ตามด้วยกลุ่มประเทศรายได้น้อย (18.3) และกลุ่มที่รายได้สูง (8.7) หลายท่านอาจเคยได้ยินคำว่า “ทศวรรษแห่งความปลอดภัย” ที่สหประชาชาติได้กำหนดไว้ให้ช่วงปีค.ศ. 2011 ถึง 2020 เป็นช่วงเวลาที่จะลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทั่วโลกลงให้ได้ เป้าหมายคือการลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุท้องถนนให้เหลือเพียง 7 รายต่อประชากร 100,000 คนภายในในปีค.ศ. 2020 สหประชาชาติเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกมีการพัฒนาทาง 5 ด้าน ได้แก่ การจัดการความปลอดภัยทางท้องถนน  ถนนที่ปลอดภัยขึ้น พาหนะที่ปลอดภัยขึ้น พฤติกรรมการขับขี่ที่ปลอดภัยขึ้น ไปจนถึงการบริหารจัดการในช่วงก่อนและหลังเกิดอุบัติเหตุ ในขณะประเด็นเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนนในบ้านเรายังเน้นเรื่องเมาไม่ขับเป็นหลัก เพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซียและมาเลเซีย มีความเคลื่อนไหวด้านกฎหมายและด้านการทดสอบความปลอดภัยที่น่าสนใจทีเดียว อินโดนีเซียได้ประกาศใช้กฎหมายว่าด้วยการเก็บข้อมูลอุบัติเหตุแล้ว เพราะตระหนักดีว่าข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญ และที่ผ่านมาการบันทึกข้อมูลของเขายังขาดความเที่ยงตรง ทำให้ไม่สามารถได้ข้อมูลที่แท้จริงเพื่อนำมาออกแบบหาทางแก้ปัญหาได้  วิทยากรจากญี่ปุ่นเล่าให้ฟังว่าเวลาที่เกิดอุบัติเหตุนั้น ตำรวจญี่ปุ่นต้องกรอกข้อมูลไม่ต่ำกว่า 300 ช่องเลยทีเดียว และญี่ปุ่นก็ลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุได้ด้วยข้อมูลจากการวิเคราะห์อุบัติเหตุนั่นเอง ปีนี้การประชุม Asean Automobile Safety Forum ที่บันดุงเขาเน้นเรื่อง “พาหนะปลอดภัย” เพราะประเทศในกลุ่มประเทศอาเซียนนั้นติดอันดับผู้ผลิตรถยนต์อันดับต้นๆ ของโลก ประเทศที่ผลิตรถมากเป็นอันดับหนึ่งในอาเซียนได้แก่อินโดนีเซีย ตามด้วยไทย และมาเลเซีย สมาชิกหลายท่านอาจเคยได้ยินชื่อองค์กรทดสอบรถที่มีคำต่อท้ายชื่อว่า NCAP ซึ่งย่อมาจาก New Car Assessment Program เช่น EURO NCAP (ยูโรเอ็นแคป) ที่มีหน้าที่ทดสอบความปลอดภัยของรถใหม่เมื่อเกิดการชน (ความปลอดภัยทั้งต่อตัวผู้โดยสารทั้งเด็กและผู้ใหญ่ รวมถึงผู้ใช้ถนน)     องค์กรดังกล่าวยังมีอยู่ในละตินอเมริกา ออสเตรเลีย และเกาหลี และขณะนี้เรามีองค์กรเพื่อทดสอบการชนรถของรุ่นที่ผลิตขายในภูมิภาคอาเซียนในนาม ASEAN NCAP แล้วเช่นกัน สำนักงานตั้งอยู่ที่เมืองมะละกา ประเทศมาเลเซีย องค์กรนี้อยู่ภายใต้การดูแลของหน่วยงานรัฐบาลที่ชื่อว่า สถาบันวิจัยความปลอดภัยทางถนนแห่งมาเลเซีย Malaysia Institute of Road Safety Research หรือเรียกสั้นๆ ว่า MIROS   นั่นหมายความว่าเราสามารถคลิกเข้าไปที่เว็บไซต์ของ ASEAN NCAP ก่อนตัดสินใจซื้อรถได้เลยว่าคันไหนได้คะแนนความปลอดภัยไม่ต่ำกว่า 4 ดาว ซึ่งความจริงแล้วผู้ผลิตรถยนต์สามารถเพิ่มดาวได้ไม่ยากเลย ยกตัวอย่างรถ เกีย พิคันโต รุ่นที่ไม่มีถุงลมนิรภัย ไม่ได้คะแนนความปลอดภัยเลย แต่รถรุ่นที่มีถุงลมนิรภัย 6 ใบและมีระบบควบคุมเสถียรภาพรถ กลับได้คะแนนความปลอดภัยไปถึง 4 ดาว เดวิด วอร์ด เลขาธิการของ Global NACP ระบุว่าค่าใช้จ่ายในการทำให้รถยนต์ผ่านมาตรฐานขั้นต่ำด้านความปลอดภัยอยู่ที่คันละไม่เกิน 200 เหรียญ (ประมาณ 7,000 บาท) ที่สำคัญวันนี้ถุงลมนิรภัยมีต้นทุนต่ำกว่าเดิมถึงร้อยละ 60 เหลือเพียงแค่ใบละ 50 เหรียญ (ประมาณ 1,800 บาท) และระบบควบคุมเสถียรภาพรถก็ไม่เกินคันละ 50 เหรียญเช่นกัน ที่สำคัญถ้าผู้บริโภคทั่วโลกรวมตัวกันเรียกร้องให้เกิดมาตรฐานเดียวกันได้ ค่าใช้จ่ายในการผลิตรถยนต์ก็จะยิ่งถูกลงไปได้อีก เขาบอกอีกว่า เรื่องนี้ภาครัฐสามารถเข้ามามีบทบาทเพื่อความปลอดภัยของประชาชนได้ด้วยการลงนามรับรองแผนแม่บทเพื่อความปลอดภัยในท้องถนน ปี 2020 ที่ว่าด้วยข้อกำหนดด้านมาตรฐานความปลอดภัยรถยนต์ หากมติดังกล่าวผ่าน รถที่ผลิตใหม่ทุกรุ่น (ทั้งที่ผลิตเองและนำเข้า) ในประเทศนั้นๆจะต้องผ่านมาตรฐานขั้นต่ำการชนทั้งด้านหน้า ด้านข้าง มาตรฐานเข็มขัดนิรภัยและตัวยึด ภายในปี ค.ศ. 2016 และในขั้นต่อไปรถยนต์ใหม่ทุกคันจะต้องผ่านมาตรฐานเรื่องระบบควบคุมเสถียรภาพของรถและการคุ้มครองคนเดินถนน ภายในปี ค.ศ. 2018 และภายในปี 2020 รถทุกคันไม่ว่าจะใหม่หรือเก่าจะต้องผ่านมาตรฐานดังกล่าว เพราะ “ความปลอดภัยไม่ใช่สิทธิพิเศษ”

อ่านเพิ่มเติม >