ฉบับที่่ 135 รถถูกน้ำท่วม ประกันปัดจ่ายอ้างซ่อมรถอู่นอกเครือ

คุณกชนุช มีบ้านอยู่ ต.บางบัวทอง อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี ครั้งน้องน้ำท่วมใหญ่เมื่อปลายปี 54 ทั้งครอบครัวสำลักน้ำไปเต็มๆ ไม่เว้นแม้แต่รถเก๋งคันงาม ตราวอลโว่ พยายามพาขึ้นที่สูงก็ไม่รอด โดนเข้าไปถึงเบาะทีแรกคิดว่าจะเบาใจได้เพราะรถคันนี้ทำประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 ไว้กับบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างทิพยประกันภัย เมื่อน้ำลดในปลายเดือนพฤศจิกายน 2554 จึงนำรถเข้าศูนย์วอลโว่ รามอินทรา เพื่อตรวจสภาพความเสียหาย โดยมีพนักงานฝ่ายเคลมประกันของทิพยประกันภัยมาร่วมตรวจสภาพและถ่ายภาพไว้เป็นหลักฐาน พร้อมออกใบเคลมประกันให้เบื้องต้น มีการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง พร้อมทำความสะอาดเบาะและพรมที่ถูกน้ำเน่าแช่ขังอยู่นาน เสียค่าใช้จ่ายรวม 12,500 บาทเศษ ส่วนความเสียหายอื่นๆ ที่เหลือ ศูนย์วอลโว่ฯ จะจัดทำใบเสนอราคาส่งให้ทิพยประกันภัยพิจารณาต่อไป“วันรุ่งขึ้น ได้ติดต่อสอบถามไปที่ทิพยประกันภัยเพื่อขอทราบผลการพิจารณา คุยกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายคุมราคา ใช้เวลาคุยอยู่นานค่ะ ถึงทราบว่าการทำประกันรถของดิฉันเป็นประกันซ่อมอู่ไม่ใช่ซ่อมห้าง คือนำรถเข้าซ่อมกับศูนย์บริการของวอลโว่ไม่ได้”“ดิฉันต้องการให้บริษัทประกันภัยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด จึงได้สอบถามเจ้าหน้าที่ฝ่ายคุมราคาว่า มีอู่ในเครือของบริษัทฯ อยู่ที่ไหนบ้าง เจ้าหน้าที่ฝ่ายคุมราคาได้เอ่ยชื่อศูนย์บริการมา 4 แห่ง ดิฉันยังได้ย้ำว่า ขอเป็นอู่ในเครือ ก็ยังได้รับการเสนอชื่อศูนย์เดิม 4  แห่งนั้น ทำให้ดิฉันเข้าใจว่าเป็นศูนย์ที่เป็นอู่ในเครือ ของบริษัทฯ จึงตัดสินใจนำรถเข้าไปตรวจเช็คและซ่อมที่ศูนย์สุขุมวิท 66/1 ของบริษัท ทีทีไอ โกลเบิล ออโตโมทีฟ จำกัด”สี่สัปดาห์ต่อมา คุณกชนุชได้ติดต่อไปที่ศูนย์สุขุมวิท 66/1 เพื่อขอรับรถที่ซ่อม จึงได้ทราบข่าวร้ายว่าศูนย์ดังกล่าวไม่ได้เป็น “อู่ในเครือ” ของบริษัททิพยประกันภัยฯ ตามที่เข้าใจ “ที่ทราบก็เพราะศูนย์สุขุมวิท 66/1 บอกกับดิฉันว่า จะต้องจ่ายส่วนต่างค่าซ่อม 40% ค่ะ” คุณกชนุชบอกสถานการณ์ตอนนั้น คุณกชนุชก็ยังไม่รู้จะทำยังไงก็ต้องสำรองจ่ายไปอีกครั้งเป็นเงิน 55,400 บาทเศษ แต่ก็เข้าใจว่าบริษัทประกันภัยควรต้องรับผิดชอบค่าซ่อมทั้งหมดเพราะคนของประกันภัยเป็นคนบอกเองว่าเป็นอู่ในเครือ แล้วรถก็ยังซ่อมไม่เสร็จสมบูรณ์ เพราะศูนย์แจ้งว่าต้องรออะไหล่บางชิ้นก่อน จนหลังปีใหม่ คุณกชนุชได้นำรถกลับไปซ่อมที่ศูนย์สุขุมวิท 66/1 อีกครั้ง เพราะศูนย์ฯแจ้งมาว่าอะไหล่ส่งมาถึงแล้ว“หลังจากเอารถเข้าศูนย์ฯ ดิฉันได้ติดตามอย่างต่อเนื่อง ปรากฏว่าจนถึงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ศูนย์ฯ ไม่ได้ดำเนินการอะไรให้เลย อ้างว่าบริษัทประกันภัยยังไม่อนุมัติการซ่อม เมื่อสอบถามไปที่บริษัทประกันภัยคุยกับเจ้าหน้าที่คนเดิมก็บอกว่า ส่งแฟกซ์ใบอนุมัติไปที่ศูนย์ฯ แล้ว แต่พอสอบถามที่ศูนย์ฯ ศูนย์ฯ ก็บอกว่ายังไม่ได้รับ”“เมื่อแจ้งไปที่บริษัทประกันภัยว่าศูนย์ฯ ยังไม่ได้รับ เจ้าหน้าที่คนเดิมของบริษัทประกันภัยก็บอกว่าจะจัดการให้” คุณกชนุชเล่าไปกัดฟันไปด้วยความโกรธและฉุน เพราะจับได้ว่าเจ้าหน้าที่บริษัทประกันตุกติกสามวันหลังจากนั้น คุณกชนุชคาดว่ารถน่าจะซ่อมเสร็จแล้วจึงได้ติดต่อไปที่ศูนย์ซ่อมอีกครั้ง ปรากฏว่าศูนย์ฯ ยังไม่ได้รับเอกสารการอนุมัติซ่อมเลย คุณกชนุชจึงติดต่อไปที่บริษัทประกันภัย เจ้าหน้าที่คนเดิมบอกว่า “ได้คุยกันแล้ว ไม่ต้องรอแฟกซ์เอกสารให้ เพราะงานยุ่ง”คุณกชนุช เธอก็อดทนมาก โทรศัพท์กลับไปที่ศูนย์ฯ อีกครั้ง ได้คำตอบจากศูนย์ฯ ว่า ถ้าไม่มีเอกสารยืนยันจากบริษัทประกันภัยก็ไม่สามารถซ่อมได้ เพราะเกรงจะมีปัญหาการเบิกจ่ายในภายหลังคุณกชนุชเธออดทนถึงที่สุดก็สุดทน จึงประกาศวาจาต่อหน้าบานกระจกว่า “เรื่องนี้มันต้องถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแน่!”“ดิฉันคิดว่า เจ้าหน้าที่ของบริษัทประกันภัย มีพฤติกรรมไม่ตรงไปตรงมา ปัดความรับผิดชอบ ด้วยการให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน ไม่ชัดเจน ทำให้ดิฉันเข้าใจผิดในสาระสำคัญ สร้างความเสียหายแก่ดิฉันที่ต้องจ่ายเงินค่าซ่อม รวมถึงพฤติกรรมบ่ายเบี่ยง ทำให้เกิดความล่าช้าในการดำเนินการ จนถึงขณะนี้รถยังไม่ได้ซ่อม ไม่สามารถใช้รถได้ จึงขอร้องเรียนต่อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ช่วยดำเนินการให้บริษัททิพยประกันภัยรับผิดชอบความเสียหายครั้งนี้ด้วยค่ะ” แนวทางแก้ไขปัญหามูลนิธิฯ ได้ติดต่อไปที่บริษัททิพยประกันภัย แจ้งข้อเรียกร้องของคุณกชนุช ที่ยินดีจะชำระค่าส่วนต่างของค่าซ่อม 40% แต่ขอให้บริษัทชดเชยค่าเสียหายที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากรถเป็นเงิน 30,000 บาท ทิพยประกันภัยให้คำตอบกลับมาว่า เรื่องค่าซ่อมน่าจะจัดการได้ แต่อาจติดปัญหาเรื่องค่าชดเชยเยียวยา ขอให้มูลนิธิฯ ช่วยเจรจากับผู้ร้องอีกครั้งหลังทราบข้อมูล คุณกชนุช จึงแจ้งข้อเสนอใหม่ คือ ไม่ติดใจเรื่องค่าชดเชยแต่ขอให้บริษัทรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการซ่อม 100% และขอให้คืนเงินค่าซ่อมที่ได้สำรองจ่ายไปก่อนแล้วจำนวน 67,900 กว่าบาทด้วยทิพยประกันภัยขอเวลาสามวันจะให้คำตอบ วันที่สามตามกำหนด มูลนิธิฯ ได้โทรสอบถามทันที ได้รับคำตอบว่า บริษัทฯ ได้อนุมัติตามที่ผู้ร้องต้องการในที่สุดวันที่ 14 กุมภาพันธ์ วันวาเลนไทน์ปี 2555 คู่กรณีทั้งสองฝ่ายจึงได้มาทำบันทึกข้อตกลงยุติเรื่องที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยบริษัททิพยประกันภัย ยินดีรับผิดชอบคืนค่าซ่อมรถ 67,900 กว่าบาทที่คุณกชนุชสำรองจ่ายไป และรับผิดชอบค่าซ่อมรถตามใบเสนอราคาของศูนย์ฯ ทั้งหมดอีก 98,293 บาทคุณกชนุช ขอบคุณในความรับผิดชอบของบริษัททิพยประกันภัย และขอบคุณความช่วยเหลือของมูลนิธิฯ และรับปากว่า จะช่วยมูลนิธิฯ ด้วยการสมัครเป็นสมาชิกอุปถัมภ์นิตยสารฉลาดซื้อให้กับโรงเรียนจำนวน 19 โรงเรียน เพื่อเป็นมงคลชีวิตและครอบครัวของตนเองต่อไปสาธุ...สาธุ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 133 คนคอนจองรถ โดนเซลล์อมเงิน

คุณสุรางค์ เจ้าหน้าที่เทศบาลเมืองปากพนัง นครศรีธรรมราช ใช้รถฮอนด้า ซีวิค ปี 2002 อยากจะขายรถเพื่อเอาเงินไปซื้อรถคันใหม่เธอเที่ยวตระเวนไปตามศูนย์ซื้อ-ขายรถหลายแห่งในเมืองนครฯ ก็ยังไม่เจอศูนย์รถที่ให้ราคาที่ถูกใจ ท้ายสุดมาเจอกับพนักงานขายรถยอดแสบ นายทวี ปานถนอม ของบริษัท จ.วินิต จำกัด จึงได้เรื่องนายทวีบอกรับซื้อรถของคุณสุรางค์ที่นำมาเสนอขาย แต่ขอโทรศัพท์ไปสอบถามราคากับผู้ประเมินราคารถก่อน ซึ่งคุณสุรางค์ก็ไม่รู้ว่าเป็นใคร ไม่นานนายทวีวางโทรศัพท์หันมาบอกว่าผู้ประเมินฯ ให้ราคาอยู่ที่ 320,000 บาท คุณสุรางค์นึกกระหยิ่มเพราะได้ราคาสูงกว่าที่บริษัทอื่นประเมินราคามา แถมรถใหม่ที่จะซื้อนายทวีบอกว่าจะได้สินเชื่ออัตราดอกเบี้ย 1.99% และอาจน้อยกว่านี้อีกขึ้นอยู่กับเงินดาวน์คุณสุรางค์ดีดลูกคิดในใจ ว้าว ...ดอกเบี้ยต่ำกว่าหลายๆ บริษัทที่ไปคุยมา ราคาและเงื่อนไขซื้อขายดีขนาดนี้ “อย่าปล่อยให้หลุดมือเชียว” จึงตกลงใจที่จะซื้อขายรถกับบริษัท จ.วินิต ผ่านทางนายทวีทันทีตอนนั้นเป็นช่วงเย็นนายทวีบอกว่าศูนย์จะปิดบริการแล้วไม่สะดวกในเรื่องเอกสารและการออกใบเสร็จบอกว่าจะนำเอกสารสัญญาจองรถให้คุณสุรางค์เซ็นต์ถึงที่ทำงานเลยในวันรุ่งขึ้น ส่วนรถคันเก่าจะทำสัญญาซื้อขายในวันออกรถใหม่คุณสุรางค์ไม่ได้เอะใจอะไร คิดแต่ว่าช่างเป็นวันที่ดีจริงๆ ได้มาเจอศูนย์ขายรถที่ให้ราคารับซื้อรถเก่าที่สูง แถมจะได้สินเชื่อผ่อนรถใหม่ดอกถูกแสนถูกอีก หาที่ไหนไม่ได้แล้ว วันรุ่งขึ้นนายทวี มาหาคุณสุรางค์ถึงที่ทำงานที่เทศบาลปากพนังในชุดพนักงานบริษัท จ.วินิต จำกัด มีป้ายชื่อพนักงานแขวนคอมาพร้อมสรรพ นำใบสัญญาจองรถให้คุณสุรางค์เซ็นต์ คุณสุรางค์เซ็นต์เสร็จก็ล้วงเงิน 5,000 บาทจ่ายเป็นค่าจองรถไป นายทวีให้สำเนาใบจองรถที่มีหัวเป็นชื่อบริษัท จ. วินิตเป็นหลักฐาน พร้อมหยอดข้อเสนอใหม่ก่อนจากว่า จะรีบติดต่อธนาคารเรื่องขอสินเชื่อให้ถ้ารีบทำในช่วงนี้จะได้ดอกเบี้ย 1.55% พอได้ยินดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าครั้งแรก คุณสุรางค์น้ำตาแทบเล็ดไม่คิดว่าจะมีเซลล์แสนดีขนาดนี้อยู่ในโลก รีบขอบอกขอบใจนายทวีเป็นการใหญ่สามวันต่อมาหลังเซ็นต์สัญญาจองรถ นายทวีพาผู้ชายคนหนึ่งมาหาคุณสุรางค์ แนะนำตัวว่าอยู่แผนกสินเชื่อ ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขานครศรีธรรมราช รับผิดชอบการทำสินเชื่อรถยนต์ และนำเอกสารการขอสินเชื่อให้คุณสุรางค์เซ็นต์ ส่วนนายทวีบอกว่าจะได้รับรถภายในกลางเดือนถัดไป หลังเซ็นต์สัญญาขอสินเชื่อไป 2-3 วัน ก็มีโทรศัพท์มาหาคุณสุรางค์เป็นเสียงผู้หญิงบอกว่าโทรจากธนาคารไทยพาณิชย์ ขอสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับรถที่จอง และแจ้งว่าจะดำเนินการส่งเรื่องให้สำนักงานใหญ่พิจารณาต่อไป ทำให้คุณสุรางค์มั่นใจว่านายทวีได้ดำเนินการจองรถให้จริงกระบวนการต้มเหยื่อยังไม่จบ จากนั้นไม่นานนายทวีโทรมาหาเหยื่ออยู่หลายครั้งเพื่อหลอกล่อให้ใส่อุปกรณ์ตกแต่งรถเพิ่มเติม คุณสุรางค์ทนลูกตื๊อไม่ไหวจึงตกปากรับคำซื้ออุปกรณ์ตกแต่งรถเพิ่มเติมเป็นเงินอีก 33,000 บาท โดยที่นายทวีอาศัยจังหวะน้ำท่วมใหญ่เข้านครศรีธรรมราชอ้างเรื่องความไม่สะดวกในการเดินทาง ขอให้คุณสุรางค์โอนเงินเข้าบัญชีของตัวเอง คุณสุรางค์โอนเงินให้โดยไม่เอะใจอะไรเพราะคิดว่ายังพอมีใบโอนเงินของธนาคารเป็นหลักฐานอยู่ต่อมาก่อนถึงเวลารับรถ 1 สัปดาห์ นายทวีโทรมาหาเหยื่อบอกว่า ตอนนี้มีคนสั่งจองรถเป็นจำนวนมาก อาจมีปัญหาไม่ได้รับรถตามกำหนด ขอให้คุณสุรางค์จ่ายเงินค่าล็อครถจำนวน 20,000 บาท ไม่งั้นอาจมีคนอื่นแย่งไปได้คุณสุรางค์โดนรีดเงินไปแล้ว 38,000 บาท(5,000+33,000) พอได้ยินค่าล็อครถอีก 20,000 บาทก็ถึงกับสะอึก “มีด้วยเหรอค่าล็อครถ” คุณสุรางค์ขอวางสายกับนายทวี แล้วโทรไปหาน้องเขยที่กรุงเทพฯ ซึ่งเคยใช้บริการกับบริษัทมิตซูบิชิผู้ผลิตรถปาเจโรเรื่องค่าล็อครถ 20,000 บาท น้องเขยยืนยันว่ามีจริง คุณสุรางค์จึงเดินทางไปที่บริษัท จ.วินิตเพื่อจะจ่ายเงินค่าล็อครถ 20,000 บาทผ่านนายทวี แต่ก่อนจ่ายเงินคุณสุรางค์เอ่ยขอใบเสร็จรับเงิน นายทวีบอกว่าจะออกให้ในวันที่ออกรถทีเดียวทั้งหมด คุณสุรางค์จึงถามหาใบเสร็จรับเงินชั่วคราว นายทวีก็บ่ายเบี่ยงบอกว่าต้องขอเวลาสัก 1 ชั่วโมงจะไปถามหัวหน้าดูก่อนและจะไปช่วยเพื่อนพนักงานขนของด้วย“แค่ขอใบเสร็จ ให้รอนานขนาดนี้ กลับบ้านดีกว่า” คุณสุรางค์บอกกับตัวเองกลับมาถึงบ้านไม่ถึง 20 นาที นายทวีได้โทรมาหาบอกว่า ปรึกษากับหัวหน้าแล้วให้ออกใบเสร็จได้ และจะไปขอรับเงินที่บ้านพักของคุณสุรางค์เลยเพื่อจะได้รีบกลับมาดำเนินการส่งเรื่องให้บริษัทใหญ่ภายในวันนี้ คุณสุรางค์จึงตกลงไม่นานนายทวีได้มารับเงินสดค่าล็อครถ 20,000 บาทจากคุณสุรางค์ แต่แทนที่จะได้รับเป็นใบเสร็จรับเงิน นายทวีกลับใช้ใบสั่งจองรถยนต์ของบริษัท จ.วินิต เป็นหลักฐานการรับเงินแทน คุณสุรางค์นึกสงสัยแต่เห็นหัวเห็นตราของบริษัทในกระดาษ คิดว่าไม่มีปัญหาจึงยอมจ่ายเงินให้ไปหลังจากจ่ายเงินไปแล้วคุณสุรางค์ยังรู้สึกไม่สบายใจเรื่องหลักฐานการจ่ายเงินที่ได้จากนายทวีที่เป็นใบสั่งจองรถทั้งหมด หยิบขึ้นมาเทียบดูก็เห็นความผิดปกติ ใบแรกที่ได้รับเป็นใบสั่งจองเล่มที่ 073 ส่วนใบที่สองที่เพิ่งได้มากลับเป็นใบสั่งจองเล่มที่ 065 ซึ่งย้อนหลังไปอีก กำลังมึนๆ งงๆ กับตัวเลขในใบสั่งจองรถอยู่ นายทวีได้โทรศัพท์เข้ามาพอดี บอกว่าจะขอค่ามัดจำรถอีก 30,000 บาท คุณสุรางค์นึกในใจจ่ายไปแล้ว 58,000 บาท ยังไม่เห็นหน้ากระโปรงรถเลย นี่จะเอาอีก 30,000 บาท สงสัยจะโดนต้มเสียแล้ว จึงบอกกับนายทวีว่าเดี๋ยวจะจัดการให้แล้ววางสายทันที แนวทางแก้ไขปัญหาคุณสุรางค์ได้ติดต่อกลับไปที่บริษัท จ.วินิต และนำหลักฐานใบจองรถที่ได้รับจากนายทวีให้บริษัทฯตรวจสอบ บริษัทฯ ตรวจสอบแล้วบอกว่า ไม่เคยมีการจองรถคันนี้ และไม่มีการนำเงินเข้าบริษัทฯ เลย แต่บริษัทฯ จะรับผิดชอบทั้งหมด ตอนนี้อย่าเพิ่งกระโตกกระตากและให้หยุดการติดต่อกับนายทวี ซึ่งบริษัทฯ แจ้งว่าเป็นเพียงพนักงานชั่วคราวยังไม่ได้รับการบรรจุจากบริษัทฯ และขณะที่บริษัทฯ ทราบเรื่องนายทวีก็ยังปฏิบัติหน้าที่เป็นพนักงานขายให้บริษัทฯ อยู่ บริษัทฯ จึงไปขอยึดรถจักรยานยนต์ของนายทวีไว้เป็นประกันก่อนจากนั้นคุณสุรางค์และเจ้าหน้าที่ของบริษัทฯ ได้พากันไปหาพ่อแม่ของนายทวีถึงบ้าน ก็ทราบว่าพ่อแม่มีฐานะยากจนไม่สามารถชดใช้ค่าเสียหายแทนลูกชายได้ เจ้าหน้าที่ของบริษัทฯ จึงแนะนำให้คุณสุรางค์ไปแจ้งความดำเนินคดีกับนายทวีที่สถานีตำรวจภูธรปากพนัง และบริษัทฯ เสนอที่จะชดใช้เงินเฉพาะตามหลักฐานของบริษัทฯ คือเงินจองและเงินค่าล็อกรถรวม 25,000 บาท คุณสุรางค์ไม่ตกลง ต่อมาได้มีการเจรจากันอีกครั้งที่สถานีตำรวจ ท้ายสุดคุณสุรางค์ยอมรับเงินจากนายทวีที่ 50,000 บาท ที่เหลือ 8,000 บาทนั้น ยินยอมลดให้นายทวี โดยได้มีการทำบันทึกเป็นหลักฐานไม่ติดใจดำเนินคดีทั้งแพ่งและอาญาอีกต่อไป พอทำบันทึกออกมาเช่นนี้ เป็นผลให้บริษัทฯ ไม่ต้องรับผิดชอบการกระทำของนายทวีทันทีเรื่องนี้มาถึงมูลนิธิฯ หลังจากที่ได้มีการทำบันทึกข้อตกลงที่ว่ามาเรียบร้อยแล้ว การเรียกร้องค่าเสียหายเพิ่มเติมจึงเป็นอันต้องยุติไปด้วย จึงนำเรื่องมาแจ้งเตือนให้ระวังภัยโดยทั่วกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 132 เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องรถในขณะอยู่ในประกันมีสิทธิเลือกยี่ห้อมั้ย?

ตอนกำลังเผชิญหน้าน้ำท่วมใหญ่ มีคำแนะนำมากมายเรื่องรถยนต์ หนึ่งในนั้นก็คือ กรณีการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง ที่นักวิชาการด้านรถยนต์เขาแนะนำว่า หากน้ำท่วมรถไม่มาก แต่แช่น้ำอยู่นานก็ควรถ่ายน้ำมันเครื่องเสียเพื่อให้มั่นใจในการใช้รถต่อไปทีแรกได้ยินเรื่องนี้ก็ไม่ได้คิดอะไร เปลี่ยนก็เปลี่ยน  แต่เมื่อมีน้องคนหนึ่งโทรมาปรึกษาว่า  น้องเพิ่งซื้อรถยนต์ยี่ห้อมิตซูบิชิมาใช้ได้ประมาณหนึ่งปี   โดยในข้อสัญญาระบุว่ามีการประกันการใช้รถ ระยะทางจำนวน 150,000 กม.ในระยะเวลา 5 ปี  และฟรีค่าบริการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องด้วย      ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่รถยี่ห้อนี้ ต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องกับศูนย์บริการของมิตซูเองเท่านั้น เพราะหากไปถ่ายที่อื่นหากเกิดอะไรขึ้นอาจเป็นเหตุให้บริษัทมิตซู  อ้างได้ว่าผู้ซื้อผิดกติกาของมิตซู และอาจถูกปฏิเสธการรับประกันดังกล่าวได้  ดังนั้นเพื่อป้องกันปัญหาผู้ซื้อก็จะตัดสินใจไปถ่ายน้ำมันเครื่องที่ศูนย์ของมิตซู  (ประหยัดค่าจ้างถ่ายน้ำมันด้วย)น้องคนที่มาปรึกษามีบ้านอยู่ที่สมุทรสงครามสะดวกสุดก็จะถ่ายที่สมุทรสงคราม  แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ศูนย์มิตซูบิชิสมุทรสงคราม น้องบอกว่าไปถ่ายครั้งแรก เสียค่าใช้จ่ายไปเกือบ 3,000 บาท(ใช้น้ำมันเครื่องเชลล์) น้องก็เลยตรวจสอบสเป็กน้ำมันว่าใช้สเป็กไหน   และมีการไปเทียบราคาเพื่อจะได้ประหยัดในการถ่ายครั้งต่อไป(น้องเขาก็ฉลาดซื้อเหมือนกัน)  น้องบอกว่าน้องได้ซื้อน้ำมันเครื่องของ ปตท.ในสเป็กเดียวกัน  ซึ่งมีค่าใช้จ่ายราวๆ 1,300  บาทมาให้ศูนย์ฯ เปลี่ยนให้  แต่ศูนย์ฯ ปฏิเสธที่จะถ่ายให้บอกว่าศูนย์ฯ ขอสงวนสิทธิ ไม่ให้ลูกค้านำน้ำมันจากภายนอกเข้ามา  และอ้างว่าน้ำมันที่น้องซื้อมาเองไม่ดี  (อ้าวปตท.ว่าไง!) น้องก็ใช้สิทธิผู้บริโภค โดยการโทรหาบริษัทมิตซูส่วนกลางเพื่อสอบถามเรื่องการสงวนสิทธิของศูนย์บริการ ก็ได้รับคำตอบว่าการสงวนสิทธิไม่ใช่นโยบายของมิตซู  แต่เป็นนโยบายของแต่ละศูนย์ฯ เอง ศูนย์ฯ บอกว่างั้นก็ไปถ่ายศูนย์ฯ อื่นล่ะกัน  น้องก็บอกว่าบ้านอยู่ที่นี่ทำไมต้องเสียน้ำมันขับไปถ่ายจังหวัดอื่น  ศูนย์ฯ ก็จะยอมให้น้องคนเดียวเป็นกรณีพิเศษ  ซึ่งน้องได้ตอบปฏิเสธไปเพราะน้องบอกว่าที่น้องเรียกร้องสิทธิไม่ใช่แค่แก้ไขให้คนร้องคนเดียว  แต่ต้องปฏิบัติกับผู้ใช้บริการทุกคนอย่างเสมอภาพไม่ใช่เลือกปฏิบัติน้องถามอีกว่า...การที่ศูนย์ฯ สงวนสิทธิไม่ยอมให้ผู้บริโภคเลือกสินค้าที่ผู้บริโภคต้องการ เป็นการละเมิดสิทธิผู้บริโภคหรือไม่ ?      เอาละซิ !   คำถามนี้เป็นคำถามที่ท้าทายมาก.... เพราะการกระทำของศูนย์ฯ ผิด พรบ. คุ้มครองผู้บริโภคตามมาตรา 4  สิทธิผู้บริโภค อนุ 2 ผู้บริโภคมีสิทธิเลือกซื้อสินค้าและบริการ   ซึ่งชัดเจนว่าหรือศูนย์บริการมิตซู สมุทรสงคราม ออกระเบียบละเมิดกฎหมาย โดยใช้สัญญามาผูกมัดให้ผู้บริโภคต้องยินยอม  เรื่องนี้ผู้เขียนแนะนำให้น้องไปร้องเรียนที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคสมุทรสงคราม(ซึ่งไม่น่าจะทำงานยาก) เพื่อให้เป็นกรณีตัวอย่างให้ผู้ประกอบการรายอื่นที่กำลังละเมิดสิทธิผู้บริโภคเช่นนี้อีก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 132 ผู้บริโภคร้องฟอร์ดเฟียสต้าเหม็นไหม้

คุณลลิตา ชาวจังหวัดพิจิตร ได้ซื้อรถเก๋งฟอร์ดเฟียสต้าสีน้ำเงินจากศูนย์ฟอร์ดพิษณุโลกในราคา 699,000 บาท และทำสัญญาเช่าซื้อผ่านธนาคารแห่งหนึ่ง ผ่อนได้ไม่กี่เดือนรถก็มีปัญหาคุณลลิตาบอกว่า ตั้งแต่ได้รับรถมาก็ใช้รถตามปกติ ไม่เคยทำการดัดแปลงใดๆ กับรถเลย แต่ต่อมาไม่กี่เดือนพบอาการผิดปกติของรถ คือขณะที่ขับรถอยู่ได้กลิ่นเหม็นไหม้ที่หน้าเครื่องยนต์ จึงรับนำรถเข้าตรวจเช็คที่ศูนย์ฟอร์ดพิจิตร ศูนย์น แจ้งว่าไม่พบสาเหตุ อาจจะเป็นที่ผ้าเบรค ช่างก็ได้ถอดผ้าเบรคมาขัดและเช็ด แต่อาการเหม็นไหม้ก็ยังมีอยู่“ช่างบอกว่าให้นำรถกลับไปใช้ก่อน ถ้าอาการยังไม่หายให้นำรถเข้าตรวจเช็คที่ศูนย์ฟอร์ดพิษณุโลกที่ได้ซื้อรถมา”เมื่อนำรถกลับมาใช้อาการก็เป็นเหมือนเดิม คุณลลิตาจึงนำรถไปตรวจเช็คที่ศูนย์ฟอร์ดพิษณุโลก ในวันนั้นช่างรับรถและเปิดห้องเครื่องปรากฏว่ามีควันลอยขึ้นมา ช่างบอกว่าต้องทิ้งรถไว้เพราะไดร์ชาร์ตไหม้ ช่างบอกว่าจะเปลี่ยนให้ใหม่แต่ต้องรออะไหล่มาจากกรุงเทพฯ“ดิฉันไม่มีรถใช้เพราะต้องไปรับส่งลูกที่โรงเรียน และต้องใช้รถยนต์ขับไปทำงานทุกวัน จึงขอรถใช้ระหว่างซ่อมกับทางศูนย์ฯ”ศูนย์ฯ บอกว่าไม่มีรถสำรองให้ใช้ และไม่มีโครงการนี้ ! เมื่อเจอคำตอบแบบไร้เยื่อขาดใย คุณลลิตาก็ไม่รู้จะทำยังไง ได้แต่ทิ้งรถไว้ให้ช่าง ส่วนตัวเองก็กลับมาบ้านและคอยติดตามถามไถ่ความคืบหน้าการซ่อมรถเป็นระยะๆคุณลลิตาส่งรถเข้าศูนย์ฯ ไปตั้งแต่วันที่ 8 กันยายน 2554 จนถึงวันที่ 19 กันยายน ปีเดียวกัน ช่างของศูนย์ฯ ก็ยังไม่สามารถชี้ชัดฟันธงได้ว่าปัญหาที่รถมีกลิ่นไหม้เวลาวิ่งนั้นเกิดจากอะไรแน่“ช่างบอกว่าเปลี่ยนไดร์ชาร์ตให้ใหม่แล้ว พอทดลองติดเครื่องและเปิดแอร์อาการก็ยังเหมือนเดิม พอถึงวันที่ 19 กันยายน ช่างประจำศูนย์ฯ จึงโทรมาแจ้งว่าพบสาเหตุแล้ว แต่บอกว่าอาจเป็นที่แผ่นครัช เบรก หรือเกียร์ แต่ก็ไม่ได้ระบุสาเหตุที่แน่ชัด”ช่างบอกว่าต้องถอดออกมาดูก่อน ทางคุณลลิตาก็มองว่าเป็นการถอดไปเรื่อยๆ  จึงเกิดความไม่มั่นใจในคุณภาพของรถคันนี้ และมองว่ารถคันนี้ไม่มีความปลอดภัยในการใช้งาน จึงติดต่อไปที่ศูนย์ฟอร์ดฮอตไลน์เพื่อแจ้งขอให้เปลี่ยนรถคันใหม่ให้“ฟอร์ดฮอตไลน์บอกว่า ทางบริษัททำได้แค่การเปลี่ยนอะไหล่ให้ คงจะไม่เปลี่ยนรถให้ใหม่เพราะรถได้มีการใช้งานแล้ว ดิฉันจึงได้ถามว่า ซ่อมแล้วจะมีอะไรรับรองได้ว่ามันจะไม่กลับมาเป็นอีก และถ้าเสียอีกจะทำอย่างไร”“เสียอีกก็ต้องซ่อมอีก รถเสียก็ต้องซ่อม” ฟอร์ดฮอตไลน์ตอบคำถามของคุณลลิตาอย่างชัดถ้อยชัดคำพอได้รับคำตอบแบบนี้ คุณลลิตาจึงร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อขอให้ช่วยเจรจากับทางฟอร์ดขอรับเงินดาวน์พร้อมค่างวดรถจำนวน 272,215 บาทที่ได้จ่ายไปแล้วคืน แนวทางแก้ไขปัญหาหลังจากการร้องเรียนผ่านมูลนิธิฯ ครั้งแรกคุณลลิตาต้องการให้ฟอร์ดเปลี่ยนรถคันใหม่ให้ และต้องการเรียกร้องค่าขาดโอกาสในการใช้รถในระหว่างซ่อมด้วย แต่เมื่อคุณลลิตาได้มีการเจรจากับศูนย์ฟอร์ดพิษณุโลกในเวลาต่อมา ก็ได้ข้อสรุปที่น่าพึงพอใจคือ ศูนย์ฟอร์ดฯ จะทำการเปลี่ยนไดร์ชาร์ตและยกชุดเกียร์ให้ใหม่ และจะมีการรับประกันอะไหล่ให้ 4 ปี หรือที่ระยะทาง 120,000 กิโลเมตร และฟรีโปรแกรมเช็คระยะ 3 ปี 100,000 กิโลเมตร ภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว คุณลลิตาจึงได้รถกลับมาใช้ในวันที่ 30 ธันวาคม 2554 และขอยุติเรื่องร้องเรียนในท้ายที่สุด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 129 เปิ้ลไอริณโดนเต๊นท์หลอกขายรถ

จำได้ว่า เราเคยลงเรื่องการหลอกขายรถและวิธีการแก้ไขในคอลัมน์นี้มาแล้ว น่าเสียดายที่ดาราสาวอย่าง "เปิ้ล ไอริณ" ไม่มีโอกาสได้อ่าน ไม่เช่นนั้นคงจะไม่ประสบกับเหตุการณ์เช่นนี้อย่างแน่นอนเรื่องนี้เก็บมาจากข่าวที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 17 ตุลาคมที่ผ่านมานี้เองเนื้อข่าวเขาบอกว่า ประมาณบ่าย 2 โมงของวันนั้น  น.ส.ไอริณ ศรีแกล้ว หรือ “เปิ้ล ไอริณ” เข้าแจ้งความต่อ พล.ต.ต.พูลทรัพย์ ประเสริฐศักดิ์ ผู้บังคับการกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ให้ดำเนินคดีกับ นายลิขิต ชัยนะกุล เจ้าของเต๊นท์รถออโตเทรด เลียบทางด่วนรามอินทรา หลังจากที่ถูกหลอกให้ซื้อรถมือสองราคาเกือบ 1 ล้านบาทแต่ต้องจอดซ่อมหลายเดือนเปิ้ลไอริณ เธอเล่าว่า นายลิขิต อ้างว่าจะขายรถปี 2008 ให้ แต่ปรากฏว่าทางเต๊นท์ได้นำรถปี 2005 มาขายให้ จึงได้ติดต่อกลับไปยังนายลิขิต แต่นายลิขิตอ้างว่าซื้อไปแล้วไม่สามารถทำอะไรได้ จึงไปแจ้งความที่ สน.โชคชัย 4 ต่อมาเมื่อขับไปได้ประมาณ 7 เดือน รถก็ความร้อนขึ้น จนต้องจอดซ่อมมาแล้วกว่า 3 เดือน"ตอนซื้อมาหนูจ่ายไป 7 แสนบาท บวกค่าโอนอีก 1.5 แสนบาท รวมแล้วก็เกือบ 1 ล้านบาท ถ้าเอารถรุ่น 2005 นี้ไปขายก็ได้แค่ 4-5 แสนบาทเท่านั้น ซึ่งรถที่ต้องการเป็นปี 2008 ก็ไม่ได้ยังต้องมาจอดซ่อมอยู่ในศูนย์ ซ่อมจุดละ 5,000 บาท ตอนนี้หนูกลุ้มใจมาก ไปแจ้งความที่ สน.โชคชัย 4 ทางตำรวจก็บอกว่านายลิขิตให้ตำรวจชั้นผู้ใหญ่มาปิดคดีแล้ว หนูหมดเงินไปกับรถคันนี้เยอะมาก อยากจะร้องเรียนเพื่อขอความเป็นธรรมเพราะไม่รู้ว่าจะต้องไปพึ่งใคร แล้ว" เปิ้ล ไอริณ กล่าวขณะที่ พล.ต.ต.พูลทรัพย์ กล่าวว่า จะรับเรื่องไว้ โดยในเบื้องต้นจะเข้าไปดูเรื่องสัญญาการซื้อขาย ซึ่งมี พรบ.ควบคุมการขายรถยนต์ใช้แล้ว และเอาหลักฐานมาดูว่าจะเข้ากฎหมายประเภทใดที่สามารถดำเนินคดีได้ต่อไป แนวทางแก้ไขปัญหา ข่าวเขาว่ามาแค่นี้ล่ะครับ สรุปว่าน้องไอริณยังต้องรอตำรวจว่าจะดำเนินการยังไงอยู่ แต่มีประเด็นในเรื่องเกี่ยวกับการซื้อรถใช้แล้วที่เราจะเรียนรู้ซ้ำร่วมกันจากข่าวนี้ คือ...สัญญาในการซื้อรถใช้แล้ว เป็นสัญญาที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.)ได้มีประกาศควบคุมไว้ สัญญาการซื้อขายรถยนต์ใช้แล้ว สคบ.กำหนดให้เป็นสัญญาที่ต้องควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงินหรือใบเสร็จรับเงินนั่นเอง ซึ่งจะต้องมีการระบุรายละเอียดของรถยนต์ที่ตกลงซื้อขายกัน เกี่ยวกับ ยี่ห้อ รุ่น ปี สี หมายเลขเครื่องยนต์ หมายเลขตัวถัง หมายเลขทะเบียน ระยะทางการใช้รถยนต์ ภาระผูกพันของรถยนต์(ถ้ามี) และชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์หรือผู้ครอบครองรถยนต์ ทีนี้ก็มาตรวจสอบดูครับว่า ในสัญญาที่น้องไอรินไปทำนั้น รถยนต์คันที่ซื้อขายกันได้ระบุปีของรถไว้เป็นปี 2008 หรือไม่ ถ้าระบุไว้อย่างชัดแจ้งแล้วยังนำรถปี 2005 มายัดให้ลูกค้า อย่างนี้ถือว่าผู้ขายผิดสัญญา ผู้ซื้อสามารถบอกเลิกสัญญาขอเรียกเงินคืนได้ รวมทั้งความเสียหายต่างๆ ที่เกิดขึ้นด้วย อย่างเช่นค่าซ่อมที่ผ่านมา  เพราะถือว่าจัดรถมาให้ไม่ถูกต้องตามที่ได้ตกลงกัน แต่หากไม่มีการเขียนหรือไม่มีการทำสัญญากัน ผู้ขายรถจะมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับเมื่อโทษทางอาญาหนักระดับนี้ ผู้บริโภคที่ประสบกับเหตุการณ์เช่นนี้รวมทั้งคุณเปิ้ลไอริณด้วย ควรใช้แนวทางเรียกค่าเสียหายให้เต็มพิกัด คือทั้งราคารถ ค่าซ่อม ค่าเสียโอกาส จัดมาให้เต็ม หากจะมีการเจรจาไกล่เกลี่ยค่าใช้จ่ายที่จะยอมถอยให้ได้มีเพียงค่าเสียโอกาสเท่านั้น ส่วนค่าราคารถและค่าซ่อมไม่ควรยอมถอยครับ เพราะหากเจรจากันไม่ได้ผู้บริโภคยังสามารถยกเรื่องฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคได้ และคำพิพากษาหากเห็นว่าผู้ประกอบธุรกิจผิดจริง ยังเพิ่มดอกเบี้ยอีกร้อยละ 7.5 ให้กับผู้เสียหายอีกต่างหาก ส่วนเรื่องทางอาญานั้นปล่อยให้เป็นหน้าที่ของตำรวจกับ สคบ. ไปครับ    

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 128 รถตู้โฟตอนเอ็นจีวี ถูกร้องคุณภาพห่วย

สมาชิกสมาคมรถตู้โดยสารต่างจังหวัดแห่งประเทศไทย แห่ร้องกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค รถตู้โฟตอนเอ็นจีวีคุณภาพไม่ได้มาตรฐาน ซื้อมาแล้วใช้งานไม่ได้ ที่มาของปัญหาเรื่องนี้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2551เมื่อบริษัท แพล็ททินัม มอเตอร์เซลล์ จำกัด ตัวแทนนำเข้ารถตู้ ยี่ห้อโฟตอนจากประเทศจีน ได้โฆษณาประชาสัมพันธ์ขายรถตู้โฟตอนเอ็นจีวีผ่านสมาคมรถตู้โดยสารต่างจังหวัดแห่งประเทศไทย  ในราคาคันละ 1,365,000 บาทโดยสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าว่า จะมีบริษัท เงินทุนกรุงเทพธนาทร จำกัด (มหาชน) และ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย  เป็นผู้ปล่อยสินเชื่อให้เช่าซื้อ และบริษัท กมลประกันภัย จำกัด เป็นผู้รับประกันภัย ในกรณีที่ผู้เช่าซื้อไม่สามารถชำระค่าเช่าซื้อรถตู้คันดังกล่าวได้ เช่น รถหาย รถชำรุดบกพร่อง เป็นต้นรับประกันความมั่นใจขนาดนี้ สมาชิกของสมาคมฯ จึงไม่รีรอรีบเข้าทำสัญญาเรียบร้อยโรงเรียนจีน(ของแท้) ในคราวเดียวทั้งสิ้นกว่า 70 ราย หลังการเข้าทำสัญญาเช่าซื้อรถตู้โฟตอนแล้วนำมาใช้งานเป็นรถโดยสารสาธารณะเหล่าสมาชิกสมาคมฯ ต้องพบปัญหามากมายหลายหลากกับรถตู้นำเข้าจากจีนรุ่นนี้ โดยเฉพาะเกี่ยวกับระบบเครื่องยนต์ บางคันขณะขับรับส่งผู้โดยสารอยู่ดีๆ เครื่องยนต์ก็ดับกะทันหัน บางทีก็เร่งไม่ขึ้นเครื่องไม่มีกำลัง ระบบความร้อน ระบบแอร์ มีปัญหาไม่ทำงานบ่อยครั้ง ยังมีปัญหาเรื่องของตัวถังที่มาจากการประกอบที่ไม่มั่นคงแข็งแรง ขับรถรับส่งผู้โดยสารช่วงหน้าฝน มักมีน้ำหยดผ่านหลังคาเข้ามาในรถสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้โดยสารเป็นประจำ   นอกจากนี้ยังมีปัญหาด้านการบริการ ซึ่งก่อนเช่าซื้อทางบริษัทฯ ได้โฆษณาว่า  จะมีศูนย์บริการหรืออู่ให้การบริการซ่อมอยู่ทั่วประเทศ  แต่ในความเป็นจริงกลับมีเพียง  1 แห่ง และไม่มีอะไหล่ของบริษัทโฟตอนโดยตรงรถตู้ที่เช่าซื้อมา ต้องขับไปซ่อมไป บางคันก็ซ่อมไม่ไหวเพราะไม่มีอะไหล่ ทำให้ผู้ร้องเรียนแต่ละรายต้องแบกรับภาระค่าซ่อมรถ ค่างวดเช่าซื้อรถ โดยที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากตัวรถเต็มที่ บางรายต้องจอดทิ้งไว้ที่อู่เพราะไม่มีเงินจ่ายค่าซ่อม ภายหลังจากพบปัญหาผู้ร้องเรียนได้พยายามติดต่อ สอบถามไปยังผู้ให้เช่าซื้อคือ บริษัทเงินทุนกรุงเทพธนาทร จำกัด(มหาชน) และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย เพื่อขอคืนรถตู้โดยสารคันดังกล่าวแต่ได้รับการปฏิเสธ ผู้เช่าซื้อกว่า 30 รายเมื่อไม่มีรายได้เลยตัดสินใจหยุดผ่อนค่างวด ทำให้ถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย มีเพียงบางส่วนได้ทำการคืนรถให้กับทางผู้ให้เช่าซื้อก่อนที่จะมีการฟ้องร้องดำเนินคดี แนวทางแก้ไขปัญหา ใครที่เช่าซื้อรถมาแล้วรถเกิดปัญหาแบบนี้ ให้รู้ไว้ว่า สัญญาเช่าซื้อรถยนต์ทุกฉบับในเมืองไทยเป็นสัญญาที่อยู่ภายใต้การควบคุมของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) รายละเอียดมีอยู่ในประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2543 โดยรายละเอียดที่เกี่ยวกับปัญหาเรื่องนี้สัญญาควบคุมระบุว่า ผู้เช่าซื้อสามารถใช้สิทธิในการเรียกร้องให้มีการปฏิบัติตามเงื่อนไขการรับประกันของรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่เช่าซื้อจากผู้ขายหรือผู้ผลิตได้โดยตรง และผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิได้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย ในจำนวนหนี้ที่ยังคงค้างชำระตามสัญญาเช่าซื้อเท่านั้น ส่วนที่เกินจากมูลหนี้ค้างชำระให้บริษัทประกันภัยจ่ายให้แก่ผู้เช่าซื้อ เมื่อสัญญาที่ควบคุมเป็นดังนี้ ดังนั้น เมื่อผู้เช่าซื้อรถประสบปัญหาคุณภาพรถไม่มีมาตรฐาน สินค้าที่เช่าซื้อจึงไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการเช่าซื้อ ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้ผู้ขายรถยนต์ ซึ่งอยู่ในเมืองไทยต้องรับผิดชอบแก้ไข หรือแก้ไขไม่ได้ก็ให้เปลี่ยนรถใหม่ให้ หรือรับซื้อคืนไป แต่ถ้าผู้ขายเพิกเฉยไม่รับผิดชอบ ผู้เช่าซื้อรถต้องรีบตัดวงจรปัญหาทันทีด้วยการบอกเลิกสัญญาและคืนรถให้ผู้เช่าซื้อไป ซึ่งกรณีนี้ได้มีการทำประกันกันไว้ เมื่อผู้ให้เช่าซื้อได้รถคืนไปแล้วจึงจะนำไปรถไปประมูลขายในตลาด ถ้าหากขายได้แต่มีส่วนต่างอยู่บริษัทประกันก็รับผิดชอบไป สำหรับค่าเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งจากเงินค่าเช่าซื้อที่ได้จ่ายไป ค่าขาดประโยชน์ที่ไม่ได้ใช้รถตู้วิ่งรับส่งผู้โดยสาร ก็ต้องฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกันต่อไป ซึ่งมูลนิธิฯ ได้นำผู้ร้องเรียนทั้งหมดเข้ายื่นข้อเรียกร้องต่อสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคให้พิจารณาฟ้องแทนผู้บริโภคแล้ว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 126 เจ็บใจอยากฟ้องบริษัทลิสซิ่ง สงสัยแกล้งขายรถทอดตลาดราคาต่ำ

ทั้งที่ตัดสินใจถวายรถคืนบริษัทเช่าซื้อไปแล้ว ก็ยังต้องถูกฟ้องให้ชดใช้หนี้ค่าเช่าซื้อที่ขาดอีก และมาชีช้ำซ้ำอีกครั้ง ที่บังเอิญไปเจอรถยนต์ตัวเองถูกขายต่อให้คนอื่นในราคาที่สูงกว่าราคาขายทอดตลาดเกือบแสนคุณภูวดล เขียนจดหมายมาถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคด้วยความขมขื่นใจเป็นล้นพ้นว่า เมื่อกลางปี 2551 ตนได้เช่าซื้อรถยนต์ฮอนด้าแอคคอร์ดมือสองกับบริษัท ราชธานี ลิสซิ่ง จำกัด(มหาชน) ในราคารวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วเป็นเงิน 475,000 บาทเศษ ผ่อน 48 งวด งวดละ 9,911 บาท(ในจดหมายไม่ได้บอกว่าผ่อนไปได้กี่งวด แต่เมื่อตรวจดูคำฟ้องที่บริษัทฟ้องเรียกค่าเสียหายกับคุณภูวดล ได้ความว่ามีการส่งค่างวดไปเพียงแค่สองงวดเท่านั้น จากนั้นก็ไม่ได้ส่งอีกเลย)หลังจากถูกติดตามทวงถามยึดรถคืนตั้งแต่ปลายปี 2551 ท้ายสุดคุณภูวดลตัดสินใจบอกบริษัทฯ ไม่ต้องส่งคนมายึดรถแล้ว เดี๋ยวจะเป็นคนส่งมอบรถยนต์คืนให้เอง ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2552 คุณภูวนัยส่งมอบรถยนต์คืนให้บริษัทลิสซิ่ง ต่อมาวันที่ 9 มีนาคม ปีเดียวกัน บริษัทฯ มีหนังสือบอกกล่าวการขายทอดตลาดรถยนต์คันที่ส่งคืนมาถึงคุณภูวดลด้วยจดหมายลงทะเบียนตอบรับ และได้นำรถออกขายทอดตลาดในวันที่ 13 มีนาคม 2552 หรืออีก 4 วันต่อมา ในราคา 300,000 บาท ให้กับบุคคลภายนอกรายหนึ่งไปจากนั้นบริษัทฯ ได้นำเงินในส่วนที่ขายรถได้มาหักลบกลบหนี้ค่าเช่าซื้อที่ขาดอยู่ ปรากฏว่าก็ยังขาดอยู่อีก 141,000 บาท บริษัทฯ จึงยื่นฟ้องคุณภูวดลเรียกค่าเสียหายในส่วนนี้ และมีลูกตามน้ำคือ ค่าติดตามทวงถาม 7,200 บาท ค่าขาดประโยชน์นับแต่วันที่ผิดนัดค่างวดจนถึงวันที่ได้รถคืนเป็นเวลา 5 เดือนอีก 45,000 บาท รวมเป็นเงินค่าเสียหายที่คุณภูวดลถูกฟ้อง 193,200 บาทเมื่อถูกฟ้องคุณภูวดลก็ไม่รู้ว่าจะต่อสู้คดียังไง ศาลจึงมีคำพิพากษาให้เขาชดใช้ค่าเสียหายให้กับบริษัทลิสซิ่งแห่งนี้ ในท้ายที่สุด แต่ที่ทำให้คุณภูวดลชีช้ำกะหล่ำปลีเพิ่มขึ้นก็คือ วันหนึ่งคุณภูวดลบังเอิญไปเจอรถยนต์คันที่ตัวเองเคยเช่าซื้ออยู่บนถนน ก็ตามไปจนได้พูดคุยกับผู้ที่ครอบครองรถอยู่ ผู้ครอบครองรถได้ให้สำเนาหนังสือสัญญาซื้อขายรถมาให้ดูพบว่า มีการขายในราคา 393,000 บาท เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2552 คุณภูวดลถึงกับอึ้งและคิดว่าการขายทอดตลาดเมื่อ 13 มีนาคม 2552 นั้นมีการฮั้วราคากันระหว่างบริษัทลิสซิ่งกับคนซื้อ จึงเขียนจดหมายมาถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเมื่อกุมภาพันธ์ 2554 สอบถามว่า จะฟ้องบริษัทลีสซิ่งแห่งนี้เป็นคดีผู้บริโภคได้หรือไม่ที่ขายรถทอดตลาดได้ในราคาถูกเกินไป ทำให้ตนได้รับความเสียหายต้องชดใช้หนี้ส่วนต่างที่สูงเกินสมควร แนวทางแก้ไขปัญหา ต้องบอกว่าผู้บริโภคท่านนี้ตื่นตัวช้าไปนิดนะขอรับ เหตุเกิดเมื่อปี 52 แต่มาเขียนถามกันในปี 54 เจออย่างนี้ก็ต้องบอก “อย่างนี้ก็มีด้วย” ก็คงให้ได้แต่คำแนะนำและชี้จุดบกพร่องผิดพลาดให้ทราบไว้เป็นบทเรียนสำหรับท่านอื่นๆ ครับ จุดที่หนึ่ง การที่ผู้เช่าซื้อรถยนต์จะขอบอกเลิกสัญญา และคืนรถที่เช่าซื้อนั้น ควรมีการตรวจสอบสภาพรถและประเมินราคารถก่อนทำการคืนเพื่อใช้เป็นหลักฐานจุดที่สอง การนำรถที่ยึดมาไปขายให้แก่บุคคลอื่นนั้น จากข้อเท็จจริงที่ได้รับทราบ พอที่จะบอกได้ว่าบริษัทลิสซิ่งแห่งนี้มีการกระทำที่ผิดสัญญาต่อผู้บริโภค คือระยะเวลาในการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือกับระยะเวลาที่นำรถออกขายทอดตลาดห่างกันแค่ 4 วันเท่านั้น อันนี้เป็นข้อพิรุธ ในขณะที่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้กำหนดสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์เป็นสัญญาควบคุมและกำหนดให้ระยะเวลาการบอกกล่าวก่อนนำรถออกขายจะต้องไม่น้อยกว่า 7 วัน เพื่อให้ผู้เช่าซื้อใช้สิทธิซื้อได้ตามมูลค่าหนี้ส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อ จุดที่สาม เมื่อมีการนำรถออกขายทอดตลาด ผู้เช่าซื้อควรเข้าไปดูการประมูลด้วยตนเองว่า เป็นการประมูลขายทอดตลาดที่เหมาะสมหรือไม่ ทั้งนี้เนื่องจากสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ ที่คณะกรรมการคุมครองผู้บริโภคควบคุมนั้นได้ระบุอย่างชัดเจนว่า การที่ผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดส่วนที่ขาดนั้น ก็เฉพาะกรณีการขายโดยวิธีประมูลหรือขายทอดตลาดที่เหมาะสมเท่านั้น ซึ่งหากผู้เช่าซื้อสามารถพิสูจน์ได้ว่าการประมูลหรือขายทอดตลาดรถเป็นไปในลักษณะที่ไม่เหมาะสม ละเมิดสัญญากับผู้เช่าซื้อตามที่ว่ามา ศาลก็อาจจะพิจารณายกฟ้องก็เป็นได้แต่เมื่อผู้บริโภคไม่ได้ทำอะไรเลยทั้งในขั้นตอนการตรวจสอบการประมูลหรือเข้าต่อสู้ในชั้นศาล ศาลก็จะพิพากษาไปตามข้อเท็จจริงที่ได้รับจากฝ่ายบริษัทฯ เท่านั้น และเป็นการยากที่จะดำเนินการฟ้องใหม่และอาจจะถูกพิจารณาว่าเป็นการรื้อร้องฟ้องซ้ำไม่มีประโยชน์ใดๆ เพราะไม่ได้เข้าไปค้านในเวลาที่บริษัทฯ ขายทรัพย์ และไม่ได้เข้าต่อสู้คดีเมื่อถูกฟ้องนั่นเอง ส่วนผู้ที่มาซื้อรถในการขายทอดตลาดโดยซื้อในราคาถูกเพื่อไปขายเอากำไรในภายหลังก็สามารถทำได้โดยชอบ ดังนั้นผู้บริโภคที่ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ หากพบว่าตนเองจะไม่สามารถผ่อนค่างวดรถต่อไปได้ และยังเหลือค่างวดอีกบานตะไท การขายดาวน์รถอาจเป็นทางเลือกหนึ่งแต่จะต้องไม่ทำการซื้อขายกันเองเด็ดขาด เพราะผู้ซื้อรถต่ออาจไม่ส่งค่างวดกับบริษัทเช่าซื้อตามที่รับปากก็ได้ ทางที่ดี...ควรจะจูงมือกันไปที่ไฟแนนซ์เปลี่ยนชื่อของผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำประกันในสัญญาเช่าซื้อให้เป็นชื่อและผู้ค้ำประกันของผู้ซื้อรถรายใหม่เสียให้เรียบร้อย อย่างนี้ปลอดภัยไม่โดนฟ้องร้องในภายหลังครับ  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 125 จองรถป้ายแดงดาวน์ถูก ระวังจะเสียรู้นายหน้า

เรื่องนี้เกิดขึ้นสดๆ ร้อนๆ ไม่นานมานี้เองสายของวันที่ 23 มิถุนายน 2554 คุณพงศ์วรัฐและคุณภูวนาถ เดินทางเข้ามาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคด้วยสีหน้าบอกบุญไม่รับ“เมื่อสามวันที่แล้วผมสองคนเพิ่งไปทำสัญญาจองรถกับบริษัทสปอร์ต คาร์มา เป็นรถฮอนด้าซีวิคกับรถโตโยต้า วีโก้ ป้ายแดงทั้งคู่ครับ” คุณพงศ์วรัฐเริ่มเรื่อง“แล้วรู้จักมักจี่กับบริษัทนี้ยังไงคะถึงเข้าไปจองรถกับเขาได้” เจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคถาม“ก้อญาติของผมน่ะสิครับ เขาเพิ่งไปวางเงินจองรถนิสสัน มาร์ชกับเต๊นท์นี้มาเมื่อเดือนที่ผ่านมานี่เอง แต่เขายังไม่ได้รถนะครับ” คุณพงศ์วรัฐหมายถึงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาด้วยข้อเสนอจ่ายเงินดาวน์เพียง 15,000 บาท โดยวางเงินจอง 5,000 บาท  และจ่ายที่เหลือในวันรับรถอีก 10,000 บาท  แล้วออกรถได้เลย ทำให้คุณพงศ์วรัฐและคุณภูวนาถสองเพื่อนซี้ตาโต ควักเงินคนละ 5,000 บาทวางจองรถคันที่ต้องการทันทีในวันนั้น แม้จะผิดสังเกตและทักท้วงไปกับนายหน้าขายรถ ตรงที่ใบสัญญาจอง แทนที่จะระบุว่าเป็นสัญญาจองรถยนต์กับเขียนหัวกระดาษเป็นใบรับเงินค่าบริการที่มีข้อความว่าจะต้องเสียค่าบริการ 3,000 บาท ถ้าผู้จองรถไม่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อจากไฟแนนซ์ แต่ก็คิดว่าไม่เป็นอะไรเพราะตนเองไม่มีปัญหาด้านหนี้ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันการเงินต่างๆ อยู่แล้ว“ผมได้ทักท้วงไปเหมือนกัน แต่เซลล์บอกว่าไม่มีปัญหา เพราะถ้าไฟแนนซ์ผ่าน เงินที่จ่ายมาก็เป็นค่าดาวน์ที่ต้องนำไปหักอยู่แล้ว” คุณพงศ์วรัฐว่า ทำสัญญาจองรถไปเพียงแค่วันเดียววันรุ่งขึ้น วันที่ 21 มิถุนายน  คุณพงศ์วรัฐได้รับโทรศัพท์สายหนึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ไฟแนนซ์แจ้งว่า เขาไม่ผ่านไฟแนนซ์ เพราะติดแบล็คลิสต์กับบริษัทบัตรเครดิต“ผมก็เอะใจล่ะครับ เพราะผมไม่เคยทำบัตรเครดิตหรือสินเชื่ออะไรจะติดแบล็คลิสต์ได้ยังไง” คุณพงศ์วรัฐจึงแจ้นไปปรึกษากับคุณภูวนาถและญาติซึ่งทั้งคู่ก็บอกว่าโดนแจ้งว่าไฟแนนซ์ไม่ผ่านเพราะติดแบล็คลิสต์เหมือนกัน ทั้งสามก็เลยต้องร่วมมือกันวางแผนที่จะตรวจสอบข้อมูลที่ได้รับแจ้งมาว่าจริงเท็จแค่ไหนเริ่มแรก คุณพงศ์วรัฐให้ญาติและคุณภูวนาถขอชื่อบริษัทไฟแนนซ์จากเต๊นท์รถ เซลล์แจ้งว่าได้ส่งข้อมูลขอสินเชื่อของญาติของคุณพงศ์วรัฐไปที่บริษัท เซนเตอร์ ลิสซิ่ง และของคุณภูวนาถส่งไปที่บริษัท เอเซียลิสซิ่ง  ญาติของคุณพงศ์วรัฐจึงได้ทำทีโทรศัพท์ไปสอบถามขอสินเชื่อกับบริษัทเอเซีย ลิสซิ่ง พนักงานบริษัทดังกล่าวแจ้งว่า เป็นเพียงเต๊นท์รถที่รับไถ่ถอนรถถูกยึด และรับจัดไฟแนนซ์เฉพาะรถมือสองเท่านั้น ไม่มีตัวแทนหรือนายหน้า ผู้ที่ใช้บริการต้องมาที่บริษัทเอง ส่วนนายภูวนาถก็สอบถามไปที่บริษัทเซนเตอร์ลิสซิ่งสลับกัน ก็ได้ข้อมูลทำนองเดียวกันว่าไม่รู้เรื่องการติดต่อขอสินเชื่อจากเต๊นท์รถที่ไปวางเงินมัดจำจองรถเลย คุณพงศ์วรัฐ  จึงรู้ว่าถูกหลอกแน่และรีบเข้ามาร้องเรียนกับมูลนิธิฯ เพื่อขอความช่วยเหลือเรียกเงินจองรถคืนทันที แนวทางแก้ไขปัญหาทันทีที่ได้รับเรื่องร้องเรียนในวันที่ 23 มิถุนายน 2554 เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้พาผู้เสียหายทั้งสาม เข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่เกิดเหตุทันที หลังจากร้อยเวรได้สอบสวนข้อเท็จจริงเรียบร้อย จึงลงบันทึกประจำวันรับแจ้งความไว้และขอให้ใช้วิธีเจรจาไกล่เกลี่ยกันก่อน ร้อยเวรได้ประสานไปที่สายตรวจให้เข้าไปที่เต๊นท์รถและแจ้งว่ามีผู้เสียหายมาแจ้งความและให้มาที่โรงพัก หลังจากนั้นประมาณ 14.00 น.ของวันเดียวกัน ตัวแทนของเต๊นท์รถจึงรีบแจ้นเดินทางมาที่โรงพักและขอคืนเงินทั้งหมดแก่ผู้เสียหายทั้ง 3 ราย รวมเป็นเงินจำนวน 15,000 บาทในทันที“คนมีรายได้น้อยอย่างพวกเรา แต่อยากได้รถยนต์เห็นดาวน์ถูกก็เลยตกเป็นเหยื่อ  แต่ถ้ารู้ตัวแล้วรีบแจ้งความเพื่อเอาผิดกับมิจฉาชีพพวกนี้ เราก็จะไม่สูญเสียทรัพย์สินไป อยากฝากเตือนไปถึงคนอื่นที่ต้องการมีรถ ขอให้ไปที่ตัวแทนจำหน่ายโดยตรงดีกว่า”คุณพงศ์วรัฐกล่าว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 124 ไอเสียรั่วในรถโตโยต้า อินโนว่า ศาลสั่งเปลี่ยนรถใหม่ให้ผู้บริโภค

 ศาลแพ่งธนบุรีพิพากษาสั่ง โตโยต้าเปลี่ยนรถใหม่ให้ผู้บริโภค เหตุเชื่อว่ารถมีความบกพร่องก่อนส่งมอบให้ผู้บริโภค คิดเป็นมูลค่าความเสียหายเป็นเงิน 759,850 บาท หลังฟ้องศาลผู้บริโภค 1 ปีเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน คุณสุภาภรณ์ ว่องวีรวัฒนกุล กับบุตร 3 คน เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง บริษัท โตโยต้า ธนบุรี จำกัด เป็นจำเลยที่ 1 บริษัท โตโยต้า ทีบีเอ็น จำกัด เป็นจำเลยที่ 2 และ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศ ไทย จำกัด เป็นจำเลยที่ 3 เป็นคดีผู้บริโภค เรียกค่าเสียหาย 5 ล้านบาท สาเหตุที่ฟ้องร้องกันเนื่องจาก คุณสุภาภรณ์ได้ซื้อรถยนต์โตโยต้า รุ่นอินโนว่า แต่ปรากฏว่ามีไอเสียจากเครื่องยนต์รั่วเข้ามาในห้องโดยสารทำให้คุณสุภาภรณ์และบุตรซึ่งใช้รถคันนี้ไปรับส่งลูกที่โรงเรียนเป็นประจำมีสุขภาพย่ำแย่ไปตามๆ กันจุดเริ่มต้นของเรื่องเกิดขึ้น เมื่อประมาณเดือนธันวาคม พ.ศ.2547 คุณสุภาภรณ์ไปเที่ยวงานมหกรรมรถยนต์ที่ศูนย์แสดงสินค้าเมืองทองธานี และได้ตกลงซื้อรถยนต์โตโยต้า อินโนว่า ใช้เชื้อเพลิงน้ำมันดีเซลกับบริษัท โตโยต้า ธนบุรี จำกัด ต่อมาได้รับโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์คันดังกล่าวมาเป็นที่เรียบร้อย ก็ได้ใช้งานตามปกติวิสัยรวมทั้งใช้รับส่งลูกทั้งสามไป-กลับโรงเรียนเช้า-เย็นตั้งแต่จันทร์-ศุกร์ เท่ากับว่าคุณสุภาภรณ์กับลูกๆ ต้องอยู่ในรถยนต์คันดังกล่าววันละประมาณ 5-6 ชั่วโมงหลังจากนั้นไม่นาน คุณสุภาภรณ์เริ่มรู้สึกว่า มีกลิ่นคล้ายกลิ่นจากท่อไอเสียเข้ามาในห้องโดยสาร จึงได้แจ้งกับพนักงานขายของบริษัท โตโยต้า ธนบุรีฯ พนักงานก็แจ้งว่าเป็นเรื่องปกติของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล ซึ่งคุณสุภาภรณ์ไม่เคยใช้รถยนต์เครื่องยนต์ดีเซลมาก่อน จึงไม่ทราบว่าว่าเป็นเรื่องปกติหรือไม่ คุณสุภาภรณ์ใช้รถยนต์คันนี้ (ร่วมกับกลิ่นท่อไอเสีย) จนครบระยะ 50,000 กิโลเมตร เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ.2549 จึงได้นำรถยนต์เข้าตรวจเช็คกับศูนย์บริการซ่อมรถยนต์ของโตโยต้า โดยแจ้งกับพนักงานว่า มีกลิ่นควันคล้ายกลิ่นท่อไอเสียเข้ามาในห้องโดยสาร พนักงานแจ้งว่า เป็นเรื่องปกติของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลและแนะนำให้คุณสุภาภรณ์ติดตั้งเครื่องฟอกอากาศ ติดตั้งเครื่องฟอกอากาศไปแล้วแต่กลิ่นดังกล่าวก็ยังไม่หายไป และเริ่มมีคราบเขม่าเข้ามาในห้องโดยสาร จึงได้นำรถกลับไปให้ศูนย์ดูอีกหลายครั้งก็ได้รับคำตอบเหมือนเดิมว่า “ไม่เป็นไร เป็นธรรมดาของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล”ยิ่งใช้รถไปรอยคราบเขม่าในห้องโดยสารยิ่งชัดยิ่งมากขึ้นเรื่อยๆ ต่อมาในเดือนตุลาคม พ.ศ.2552 จึงได้มีการนัดตรวจรถยนต์คันนี้ โดยมีเจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีเข้าร่วมเป็นสักขีพยานในการตรวจสอบว่ามีควันพิษของท่อไอเสียรั่วไหลอยู่ในห้องโดยสารของรถจริงหรือไม่ โดยทำการตรวจวัดประมาณ 1 ชั่วโมง ใช้วิธีขับรถยนต์รอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โดยนำรถยนต์อีกยี่ห้อหนึ่งมาเปรียบเทียบกับรถของคุณสุภาภรณ์ ผลปรากฏว่า พบค่าก๊าซคาร์บอนมอนอกไซค์ในห้องโดยสารรถยนต์ของคุณสุภาภรณ์สูงถึง 16 พีพีเอ็ม ส่วนรถยนต์ยี่ห้อที่นำมาเปรียบเทียบตรวจไม่พบก๊าซดังกล่าวคุณสุภาภรณ์ มาทราบภายหลังว่า รถยนต์ที่ซื้อมาตั้งแต่ปี 2547 มีก๊าซอันตรายและเขม่าจากไอท่อไอเสียเข้ามาในห้องโดยสาร และเป็นอันตรายต่อสุขภาพของตนและลูกทั้งสาม จึงหยุดใช้รถยนต์คันนี้ตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2552 และได้ยื่นฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคในเวลาต่อมา ผลของคำพิพากษาวันที่ 25 พฤษภาคม 2554 ศาลแพ่งธนบุรีออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาในคดี ซึ่งได้ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานการนำสืบของฝั่งผู้บริโภคและผู้ประกอบธุรกิจแล้ว เห็นว่า จำเลย(โตโยต้า)ไม่สามารถพิสูจน์ถึงข้อเท็จจริงและสาเหตุของปัญหาไอเสียเครื่องยนต์ที่รั่วเข้ามาในห้องโดยสารได้ว่า เหตุของไอเสียเกิดจากสภาพการใช้งานของผู้บริโภคไม่ได้เกิดจากปัญหาการผลิต ทำให้เชื่อได้ว่า รถยนต์คันพิพาทมีความชำรุดบกพร่องมาตั้งแต่บริษัทโตโยต้า ธนบุรี จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ให้แก่คุณสุภาภรณ์ และไม่ได้เกิดจากการใช้งานของคุณสุภาภรณ์แต่อย่างใด ดังนั้นบริษัทโตโยต้า ธนบุรี จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จำหน่าย และ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ประเทศไทย จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ผลิต นำเข้า จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ ในความชำรุดบกพร่องของสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานพิพากษาให้บริษัททั้งสอง เปลี่ยนรถยนต์คันใหม่ที่เป็นรุ่นเดียวกับที่ขายให้กับคุณสุภาภรณ์ หรือไม่ก็ซื้อรถยนต์คันที่มีปัญหาคืน ในราคา 759,850 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีจนกว่าจะดำเนินการเสร็จสิ้น และยังสั่งให้จ่ายค่าเสียหายแก่ผู้บริโภคอีก 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตรา 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2552 หรือวันที่คุณสุภาภรณ์รู้ว่าในรถมีควันพิษและหยุดใช้รถ“รู้สึกพอใจกับคำพิพากษามากและรู้ว่าความยุติธรรมมีอยู่จริง ซึ่งกฎหมายผู้บริโภคเอื้อประโยชน์ให้กับผู้บริโภคให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ จึงอยากฝากบอกกับผู้บริโภคที่มีปัญหาว่าให้ลุกขึ้นมาต่อสู้ตามกระบวนการทางกฎหมายเหมือนดิฉัน” คุณสุภาภรณ์กล่าว  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 123 รถมือสองถูกปรับแก้ไมล์หลอกขายผู้บริโภค

คุณณัฐสุดา ได้ติดต่อซื้อรถยนต์มือสองยี่ห้อโตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์ รุ่นปี 2006 ผ่านทางเว็บไซต์ตลาดรถดอทคอม ผู้ประกาศขายรถคือนายณรงค์ศักดิ์ ลงโฆษณาว่าเป็นรถบ้านเจ้าของขายเอง และแจ้งว่ารถใช้งานวิ่งได้ระยะทางเพียงแค่ 75,000 กิโลเมตร “เมื่อดิฉันได้ไปดูสภาพรถ ปรากฏเลขไมล์ที่ระยะทางประมาณ 76,000 กิโลเมตร ก็ได้ต่อรองราคาจากราคาโฆษณา 820,000 บาท เหลือราคา 815,000 บาท” หลังจากนั้นคุณณัฐสุดาได้ติดต่อขอสินเชื่อจากไฟแนนซ์แห่งหนึ่ง จนสามารถทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์กับไฟแนนซ์ได้สำเร็จในเดือนตุลาคม 2553 และมีการรับมอบโอนกันเรียบร้อยที่ขนส่งทางบก กรุงเทพฯ คุณณัฐสุดาจึงนำรถกลับบ้าน ต่อมาในเดือนมกราคม 2554 รถมีปัญหาเร่งไม่ขึ้นและสัญญาณเตือนถอยหลังไม่ทำงาน คุณณัฐสุดาจึงนำรถไปเข้าศูนย์โตโยต้าที่จังหวัดปทุมธานี ช่างได้ทำการตรวจเช็คและมาแจ้งคุณณัฐสุดาว่า รถถูกปรับแก้ไมล์จากระยะทางจริงคือ 240,000 กิโลเมตร/ไมล์ และรถต้องทำการเปลี่ยนซ่อมหลายอย่าง ความลับของรถยนต์ที่ถูกเปิดเผยทำให้คุณณัฐสุดา ต้องจ่ายค่าซ่อมไปร่วม 2 หมื่นกว่าบาท คุณณัฐสุดาได้โทรศัพท์ติดต่อไปที่นายณรงค์ศักดิ์ผู้ขายรถ แต่นายณรงค์ศักดิ์ปฏิเสธความรับผิดชอบ คุณณัฐสุดาจึงต้องร้องเรียนมาขอความช่วยเหลือจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคในท้ายที่สุด แนวทางแก้ไขปัญหา มีหลักฐานค่าหนังคาเขา ว่ารถถูกปรับแก้ไมล์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงได้ให้คำแนะนำแก่คุณณัฐสุดาว่า สามารถฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นคดีผู้บริโภคได้ คุณณัฐสุดาบอกว่าจะลองให้โอกาสแก่ผู้ขายอีกสักครั้งเพื่อให้แสดงความรับผิดชอบ หากไม่ได้รับการตอบสนองใดๆ จะใช้สิทธิฟ้องร้องอย่างแน่นอน พอคุณณัฐสุดาบอกว่าจะฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคและฟ้องเป็นคดีอาญาด้วยที่หลอกขายสินค้าแน่ๆ หากไม่รับผิดชอบ ทางผู้ขายจึงเสนอที่จะชดใช้เงินให้จำนวน 1 แสนบาท คุณณัฐสุดาจึงตกลงและได้รับเงินชดใช้ในความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นที่เรียบร้อยเมื่อช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมานี่เอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 122 รถไปไม่ถึงหมอชิต ทำไมไม่บอก

 เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นก่อนวันเข้าพรรษาของปี 2553 หนึ่งวัน คือตรงกับวันที่ 26 กรกฎาคม 2553เวลาประมาณ 23.30 น. คุณเทพรักษ์ บุญรักษา ได้เดินทางโดยรถโดยสารปรับอากาศของบริษัท นครชัยแอร์ จำกัด จากขอนแก่นเพื่อเข้ามาทำธุระในกรุงเทพมหานคร โดยตั้งใจว่าจะลงรถที่สถานีขนส่งสายเหนือหมอชิต(ใหม่) ระหว่างเดินทางคุณเทพรักษ์บอกว่าการบริการไม่มีปัญหาอะไร แต่ปัญหามาเกิดเอาเมื่อรถเกือบถึงปลายทางอยู่รอมร่อรถได้เดินทางมาถึงกรุงเทพฯ และเข้าจอดที่ศูนย์บริการของบริษัทนครชัยแอร์ ถ.กำแพงเพชร 2 ในเวลา 05.40 น. มีผู้โดยสารบางส่วนลงที่สถานีแห่งนี้ ส่วนที่เหลือยังนั่งอยู่ในรถโดยสารเพื่อจะเดินทางเข้าสถานีขนส่งสายเหนือหมอชิตคุณเทพรักษ์เล่าว่า ตนเข้าใจว่ารถโดยสารที่เดินทางมาจากต่างจังหวัดทุกคันจะต้องเข้าไปส่งผู้โดยสารที่หมอชิตด้วย เพื่ออำนวยความสะดวกต่อผู้โดยสารที่ต้องอาศัยรถโดยสารประจำทาง ขสมก.หรือรถร่วมที่มีท่ารถจอดอยู่ในหมอชิตหลายสิบสาย เพื่อเดินทางต่อในเขตกรุงเทพฯและจังหวัดใกล้เคียง โดยไม่ต้องเสียค่าแท็กซี่ที่มีราคาแพงกว่าหลายสิบเท่าตัว“ผมรออยู่ได้สักพักรถก็ไม่เคลื่อนออกไปไหน แต่มีพนักงานประจำรถมาบอกผู้โดยสารว่า รถจะไม่เข้าไปที่สถานีขนส่งหมอชิต ทำให้ผมแปลกใจมาก เพราะไม่มีการแจ้งข้อมูลนี้มาก่อนออกเดินทางเลย จึงถามเหตุผลกับพนักงานประจำรถว่าทำไมรถไม่เข้าหมอชิต พนักงานประจำรถบอกว่า เป็นช่วงเทศกาลรถติดมากจึงไม่เข้าหมอชิต” “การไม่บอกข้อมูลเรื่องนี้ให้ผู้โดยสารทราบ ผมเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญมากในการตัดสินใจที่จะใช้บริการรถโดยสารเที่ยวนี้หรือไม่ ผมจึงเดินลงจากรถเข้าไปในศูนย์บริการของบริษัทฯ และหยิบกระดาษขึ้นมาเขียนข้อความร้องเรียนกับบริษัทนครชัยแอร์ว่าพนักงานบริการประจำรถไม่ได้แจ้งข้อมูลล่วงหน้ากับผู้โดยสารว่ารถโดยสารจะไม่เข้าไปที่สถานีหมอชิต ทำให้ตนเสียค่ารถโดยสารเพิ่ม และติดต่องานล่าช้า แล้วจึงส่งลงกล่องรับความคิดเห็นจากผู้ใช้บริการต่อหน้าพนักงานของบริษัท”เมื่อทำเรื่องร้องเรียนเสร็จ คุณเทพรักษ์ก็ต้องเรียกแท็กซี่เพื่อไปทำธุระของตนต่อโดยไม่คาดหวังอะไรมากนักกับการส่งเรื่องร้องเรียนไปแต่ปรากฏว่าในสายวันเดียวกัน เจ้าหน้าที่ของบริษัทนครชัยแอร์ได้ติดต่อกลับมาเพื่อขอโทษและยอมรับในข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น และได้แสดงความรับผิดชอบด้วยการมอบตั๋วเดินทางชั้นไฮคลาสให้ฟรีหนึ่งที่นั่ง โดยให้สิทธิแก่คุณเทพรักษ์ที่จะเลือกเดินทางไปที่ไหนก็ได้ที่บริษัทนครชัยแอร์มีเส้นทางบริการอยู่ “การร้องเรียนครั้งนี้แสดงว่า ผู้บริโภคยังมีสิทธิมีเสียงในการร้องเรียนอยู่ในสังคมไทย และยังมีผู้ประกอบการที่ดีที่ยังรับฟังเสียงเล็กๆ ของผู้บริโภคอยู่” คุณเทพรักษ์กล่าวด้วยความภาคภูมิใจ ข้อแนะนำเพิ่มเติม บทเรียนเรื่องนี้ เป็นข้อพิสูจน์อย่างหนึ่งว่า “ร้องทุกข์หนึ่งครั้ง ดีกว่าบ่นพันครั้ง” อย่างแน่นอนครับ น่าเสียดายสำหรับผู้โดยสารท่านอื่นที่เกิดเหตุการณ์เดียวกันไม่ได้ใช้สิทธิร้องเรียนเหมือนคุณเทพรักษ์ พึงระลึกไว้เสมอว่าเมื่อเกิดการละเมิดสิทธิขึ้น ผู้บริโภคได้รับความเสียหาย เราควรร้องเรียนโดยตรงต่อผู้ประกอบธุรกิจโดยทันที การร้องเรียนด้วยวาจาอาจทำให้เราสะดวกและได้ระบายอารมณ์ แต่มันไม่ค่อยมีผลในการเรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดขึ้น ดังนั้น การร้องเรียนที่ดีจะต้องมีเป้าหมายไม่ใช่เพียงแค่การระบายอารมณ์ครับ แต่ควรจะเรียกร้องให้ผู้ประกอบธุรกิจเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเราด้วย โดยให้เขียนข้อร้องเรียนเป็นลายลักษณ์อักษรไป แล้วแจ้งว่าเราได้รับความเสียแค่ไหนอย่างไรและขอให้เยียวยาความเสียหายแก่เราเป็นจำนวนเท่าไหร่ด้วยวิธีการใดก็ระบุให้ชัดเจน แต่ถ้าไม่แน่ใจก็เขียนไปว่าขอให้พิจารณาเยียวยาความเสียหายให้แก่เราตามสมควรครับ ถ้าเก็บสำเนาข้อร้องเรียนนี้ได้ก็จะเป็นหลักฐานในการฟ้องร้องต่อไปได้อย่างชัดเจนที่สุดครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 122 ขอมาตรฐานรถตู้โดยสารด้วยจ้ะ

เผลอ..แป๊บเดียวสงกรานต์มาถึงอีกแล้วหรือนี่...  เฮ้อ...วันเวลามันช่างผ่านไปอย่างรวดเร็วจริงๆ เอ้า...เมื่อสงกรานต์มาถึงก็หมายความว่าเทศกาลแห่งการเดินทางของผู้คนก็มาถึงอีกแล้วซิ...  เมื่อถึงเทศกาลนี้ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องรถโดยสารสาธารณะ ซึ่งเดี๋ยวนี้ไม่ได้มีแค่ บขส.รถไฟ ดั่งแต่ก่อน ปัจจุบันการเดินทางด้วยรถตู้ก็ได้รับความนิยมอย่างมากเช่นกัน เพราะทั้งสะดวกและรวดเร็วกว่า(ไม่ค่อยจอดรับรายทางแต่ความปลอดภัยตัวใครตัวมัน) ธุรกิจรถตู้จึงเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว เห็นได้ว่าทุกซอกทุกมุมทั้งต่างจังหวัดและในเมืองมีคิวรถตู้เกลื่อนไปหมดวันก่อนมีชาวบ้านมาตั้งคำถามว่าหน่วยงานไหนควบคุมดูแลรถตู้(นั่นซิหน่วยงานไหนจ๊ะ) แล้วทำไมรถตู้จึงสามารถเพิ่มที่นั่งได้มากกว่าที่กฎหมายกำหนดเช่น กฎหมายกำหนดไว้ให้มีที่นั่งได้ 11 ที่นั่ง แต่รถตู้โดยสารสามารถเพิ่มที่นั่งได้ถึง 14 ที่ อย่างหน้าตาเฉย โดยไม่มีใครสนใจ  แม้แต่ตำรวจจราจรตำรวจทางหลวงก็เพิกเฉยและยิ่งไปกว่านั้นด้านหน้ารถจริงๆ มีได้แค่ 2 ที่นั่ง คือคนขับและคนนั่งอีกคน แต่รถตู้สามารถเสริมให้มีคนนั่งข้างคนขับได้ถึง 2 คน และที่แย่ไปกว่านั้นคือคนที่นั่งข้างหน้าริมประตูคนเดียวที่มีเข็มขัดให้คาด ส่วนคนนั่งกลางตัวใครตัวมัน  หากมีอุบัติเกิดขึ้นอาจกระเด็นทะลุกระจกออกไปได้ง่ายๆ  ลุงยังบอกอีกว่าผู้โดยสารอย่างเขามีสิทธิบอกมั้ย... ว่าอย่าเพิ่มที่นั่งเลย จะคิดค่าโดยสารเพิ่มก็ได้ แต่ขอความปลอดภัยให้เขาได้ไหม? เพราะการเพิ่มที่นั่ง มันทำให้นั่งไม่สบายอึดอัด  ยิ่งเป็นรถที่ขับระยะทางไกลๆ กว่าจะถึงที่หมายก็เกือบเป็นอัมพาตกันเลยทีเดียว   นั่นนะซิ..ใครล่ะที่จะเป็นคนบอกว่าได้ไม่ได้   ตกลงผู้บริโภคอย่างเราๆ ท่านๆ ที่เป็นคนจ่ายสตางค์มีสิทธิที่จะร้องขอความปลอดภัยบ้างไหม.. ทำไมรถตู้ถึงมีเอกสิทธิเหนือกฎหมายได้ขนาดนี้ปากก็บอกว่าจะจัดระเบียบรถตู้ มีการเอาจริงเอาจังขนาดตรวจจับกันเลยทีเดียว   แต่ที่สำคัญคือไอ้ที่ดูๆ อยู่น่ะ...ดูกันแค่ ป้ายเหลืองหรือป้ายดำเท่านั้น  ส่วนความปลอดภัยของผู้โดยสารไม่เห็นมีใครพูดถึง    หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจะดูแลเรื่องพวกนี้บ้าง? ไม่ใช่จ้องจะนับศพว่าปีนี้จะตายมากหรือน้อยกว่าปีที่ผ่านมา  ฟังแล้วมันวังเวง และหดหู่ใจ  ที่ตื่นเช้ามาก็จะมีรายงานข่าววันที่ 1 ตายกี่ศพและนับทบไปเรื่อยๆ จนทำให้เราลืมไปว่ากำลังอยู่ใน เทศกาล สงกรานต์ ปีใหม่  หรือเทศกาลแห่งความตายกันแน่    ที่พูดนี่ไม่ใช่ไม่ให้มีรถตู้แต่อยากให้มีการกำหนดมาตรฐานกันให้ชัดเจน  ใครฝ่าฝืนก็ดำเนินการตามกฎหมายผู้โดยสารจะได้อุ่นใจ  และเดินทางอย่างมีความสุข เอาเป็นว่าหากท่านผู้อ่านท่านใดที่พบเห็นเรื่องราวที่ท่านคิดว่าไม่เป็นธรรมและไม่ค่อยจะปลอดภัยสำหรับผู้โดยสาร ก็ขอให้เล่าสู่กันฟังมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค  เราจะได้ช่วยกันพัฒนาระบบบริการสาธารณะให้มีความปลอดภัยมากขึ้น พลังของผู้บริโภคสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้ หากเราช่วยกันสอดส่องดูแล  ขอให้เดินทางโดยปลอดภัยและมีความสุขกับครอบครัวในเทศกาลสงกรานต์ปี 54 ทุกคนนะจ๊ะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 117 ประกันภัยชั้น 1 กับรถเช่า

คุณอนุสรณ์(นามสมมติ) มีความจำเป็นที่จะต้องเช่ารถเพื่อพาญาติเดินทางไปต่างจังหวัดตอนไปติดต่อขอเช่ารถ หลังจากที่สอบถามราคาค่าเช่ารถจนเป็นที่พอใจแล้ว จึงสอบถามผู้ให้เช่าต่อไปว่า รถมีประกันชั้น 1 หรือไม่ ทางผู้ให้เช่าตอบว่า รถมีประกันชั้น 1ด้วยความคุ้นเคยในประกันภัยประเภทนี้ ทำให้คุณอนุสรณ์วางใจที่จะเช่ารถคันนั้นในทันที เพระคิดว่าประกันภัยประเภทนี้จะให้ความคุ้มครองทั้งหมดเมื่อรถเช่าเกิดอุบัติเหตุอีกหนึ่งวันต่อมารถคันที่เช่าก็เกิดอุบัติเหตุขึ้นจริงๆ เนื่องจากฝนตกถนนลื่นรถเบรกไม่อยู่ทำให้ไปชนกับรถอีกคันหนึ่ง คุณอนุสรณ์จึงโทรแจ้งเรียกประกันภัยมาเคลมค่าเสียหายทั้งรถเช่าและรถคู่กรณี  ซึ่งเจ้าหน้าที่เคลมประกันแจ้งให้คุณอนุสรณ์นำรถเข้าอู่ซ่อมของบริษัทประกันภัยวันรุ่งขึ้นด้วยความพาซื่อคุณอนุสรณ์จึงไปที่อู่ซ่อมของบริษัทประกัน พร้อมถือเอกสารการประกัน และ สัญญาเช่ารถติดไปด้วย เจ้าหน้าที่ประกันคว้าสัญญาเช่ารถไปถ่ายรูปทันทีคุณอนุสรณ์เริ่มเอะใจ ถามเจ้าหน้าที่ประกันว่าจะรับผิดชอบไหม ทำไมต้องถ่ายสัญญาเช่ารถด้วย และท่าทางเจ้าหน้าที่เริ่มมีพิรุธแต่ปากก็ยังบอกว่า ไม่ต้องห่วงประกันจะรับผิดชอบทั้งหมด หลังจากนั้นไม่กี่วัน  คุณอนุสรณ์ได้รับโทรศัพท์จากผู้ให้เช่ารถแจ้งว่า ประกันภัยปฏิเสธการจ่ายค่าสินไหม คุณอนุสรณ์ต้องรับผิดชอบค่าซ่อมทั้งหมด เพราะทางประกันแจ้งว่า ประกันชั้น 1 ที่ทำไว้เป็นประเภทบุคคล ไม่ใช่ประกันชั้น 1 สำหรับรถเช่า“ผมจะทำไงดีครับ เพราะในสัญญาเช่ารถ เขียนไว้ว่า ถ้ารถเกิดอุบัติเหตุ ผู้เช่าต้องรับผิดชอบ แต่ผมเห็นว่ามีประกันชั้น 1 จึงยอมเช่า แต่ไม่รู้ว่าเป็นประกันส่วนบุคคล” คุณอนุสรณ์กล่าวแนวทางแก้ไขปัญหา เรื่องนี้ถือเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับผู้ที่มีความจำเป็นต้องติดต่อขอเช่ารถ ที่จะไม่ถามเพียงแค่ว่ารถคันที่เช่ามีประกันภัยหรือไม่เท่านั้น แต่จะต้องถามว่าประกันภัยของรถคันที่เช่านั้นเป็นประกันภัยประเภทรถยนต์ส่วนบุคคลหรือประกันภัยรถยนต์เชิงพาณิชย์ ให้ชัดเจน เนื่องจากการใช้รถยนต์ผิดประเภทถือเป็นการกระทำที่ผิดสัญญาประกันภัย และจะเป็นเหตุให้บริษัทประกันปฏิเสธการจ่ายค่าสินไหมได้มีข้อมูลจากบริษัทรถเช่าแห่งหนึ่งกล่าวว่า จริงๆ แล้วส่วนใหญ่จะเป็นฝรั่งที่ถามเกี่ยวกับประกัน คนไทยส่วนมากไม่ค่อยสนใจเรื่องนี้ ทั้งๆ ที่จริงๆ เป็นเรื่องสำคัญมากในกรณีของคุณอนุสรณ์จึงไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบในอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นได้ เพราะผู้ให้เช่าไม่ได้มีการการปกปิดข้อมูลแต่อย่างใด เพียงแต่ผู้ให้เช่าเข้าใจเอาเองโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ดังนั้น บรรดาค่าซ่อมรถ (ทั้งรถคันที่เช่า และคู่กรณี ค่าลากรถ (หากรถไม่สามารถขับเคลื่อนได้) หรือค่าเรียกร้องอื่นๆ หากคู่กรณีเรียกร้องจะต้องรับผิดชอบทั้งหมดทางออกพอมีอยู่บ้าง คือ ขอเจรจาไกล่เกลี่ยเพื่อขอให้ลดยอดหนี้ลงมา และหรือขอผ่อนชำระเป็นงวดๆไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 112-113 สามีไปม็อบ - ไม่ยอมส่งค่างวดรถ

เหตุการณ์เรื่องนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่รัฐบาลยังไม่สามารถขอคืนพื้นที่จากกลุ่มผุ้ชุมนุมเสื้อแดงได้  เช้าวันหนึ่งของต้นเดือนพฤษภาคม 2553  คุณวรรณาโทรศัพท์เข้ามาที่มูลนิธิฯ ด้วยเสียงกระหืดกระหอบปนแค้นๆ เธอบอกว่า ตนเองทำสัญญาเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ยี่ห้อฮอนด้าให้กับสามีที่มีอาชีพขับรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง โดยให้พี่สาวเป็นคนค้ำประกัน ส่วนสามีของเธอเป็นผู้ส่งค่างวด ที่ผ่านมาสามีก็ขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างและรับส่งเธอซึ่งทำงานเป็นลูกจ้างร้านค้า มีเงินไปชำระค่างวดอย่างต่อเนื่องไม่เคยขาดต่อมาประมาณต้นปี 2553 มีการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง สามีก็ไปเข้าร่วมม็อบด้วยโดยอ้างว่าอยากเข้าร่วมการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม ช่วงที่มีม็อบแถวสนามหลวงก็ไปๆ มาๆ  แต่ก็กลับเอาเงินมาให้ที่บ้านทุกวัน จนกระทั่งเสื้อแดงย้ายมาที่ราชประสงค์สามีเริ่มไม่กลับบ้าน อ้างว่าเป็นการ์ดต้องอยู่ช่วยคนเสื้อแดง จนเดือนมีนาคมสามีเธอไม่กลับบ้านเลย ติดต่อไปก็อ้างโน่นอ้างนี่ จนกระทั่งต้นเดือนพฤษภาคม เธอได้รับเอกสารติดตามทวงหนี้ค่างวดรถที่ค้างชำระจำนวน 2 งวดจากไฟแนนซ์ทำให้ทราบว่า สามีไม่ได้ส่งค่างวดรถมาตั้งแต่เดือนมีนาคมด้วยความร้อนใจจึงโทรมือถือไปหาสามี ปรากฏว่าติดต่อไม่ได้  จึงได้ไปดักรอเพื่อนของสามีที่ไปม็อบเสื้อแดงด้วยกันแล้วกลับมาแถวบ้าน  เพื่อนสามีบอกว่า สามีของเธอไปติดผู้หญิงในม็อบเสื้อแดงด้วยกัน  คงไม่กลับบ้านแล้วคุณวรรณาโกรธมากที่สามีนำรถไปใช้กลับไม่รับผิดชอบอะไร ซ้ำยังไปมีผู้หญิงใหม่อีก แต่ก็กัดฟันบอกกับเพื่อนสามีให้ไปบอกกับสามีในม็อบว่า ไฟแนนซ์ทวงค่างวดรถมาให้เอาเงินไปจ่ายด้วย เพื่อนของสามีแจ้งว่าคงไม่เข้าไปแล้ว เพราะสถานการณ์กดดันและกลับบ้านยากมากกว่าจะออกจากม็อบได้  เธอจึงสอบถามถึงการปัญหาติดต่อทางโทรศัพท์ เพื่อนสามีบอกว่า ไม่สามารถติดต่อได้หรอก เพราะคนที่พาเข้าไปเค้าไม่ให้เปิดมือถือ คุณวรรณาเล่าด้วยความแค้นใจที่สามีทรยศ และรู้สึกทุกข์ใจที่ทำให้พี่สาวต้องเดือดร้อน นอกจากนี้ก็ยังกังวลว่าสามีอยู่ในม็อบเสื้อแดงถ้านำรถไปใช้ในทางไม่ดีผู้ร้องจะติดร่างแหไปด้วยหรือเปล่า จึงต้องการรถคืน  และยินดีผ่อนค่างวดรถเอง  แต่ไม่รู้จะทำยังไงต่อไปดีแนวทางการแก้ไขปัญหาเราได้ให้ข้อแนะนำกับคุณวรรณาว่า หากกังวลเรื่องจะมีการนำรถจักรยานยนต์ที่เช่าซื้อไปใช้ในทางที่ผิดกฎหมาย ก็ให้ไปแจ้งความไว้กับตำรวจเพื่อขอให้ทำบันทึกไว้เป็นหลักฐานว่ารถมอเตอร์ไซค์คันนี้ถูกสามีที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสนำไปใช้โดยที่ตนไม่ได้ให้ความยินยอม ในระหว่างที่ยังลูกผีลูกคนยังไม่รู้ว่ามอเตอร์ไซค์จะพาสามีกลับมาบ้านได้หรือไม่ ก็ต้องผ่อนส่งค่างวดอย่าให้ติดค้างเป็นดีที่สุด เพราะเมื่อสถานการณ์คลี่คลายสามารถติดตามรถมาจากสามีได้ก็ได้ใช้ต่อไป ส่วนตัวสามีนั้นจะใช้งานในฐานะสามีต่อไปหรือไม่ก็ขอให้คุณวรรณาได้พิจารณาเอาเองก็แล้วกัน เรื่องนี้ไม่ขอเกี่ยวครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 111 เมียเก่าอยากปลดกระดูก

การทำสัญญาค้ำประกันให้กับคนอื่น ตรงกับคำโบราณที่ว่า “เนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้รองนั่ง มีแต่เอากระดูกมาแขวนคอ” แม้ว่าคนที่เราค้ำประกันให้นั้นจะเป็นสามีหรือภรรยากันก็ตามคุณวรินบอกว่าได้ไปค้ำประกันรถยนต์ให้กับสามี โดยสามีไปทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์มาจากบริษัทไฟแนนซ์แห่งหนึ่ง แต่บุญวาสนาของสามีภรรยาคู่นี้นั้นแสนสั้นนัก หลังเช่าซื้อรถคันนี้ไม่ถึงปีคุณวรินได้หย่าขาดแยกทางจากสามี เหตุเพราะฝ่ายชายไปมีภรรยาใหม่“ตอนนี้สามีดิฉันยังส่งรถคันนี้อยู่ตลอดค่ะ แต่ที่กังวลก็คือเขาจะส่งไปได้ตลอดหรือเปล่าไม่รู้ เพราะยังเหลือค่างวดอีกตั้ง 5 ปีกว่าจะครบ”คุณวรินเธอปรึกษาว่า ตอนนี้ไม่อยากจะเป็นคนค้ำประกันรถยนต์ให้อดีตสามีอีกต่อไป เพราะไม่ได้มีความผูกพันกันเหมือนแต่ก่อน จะมีวิธีไหนบ้างที่จะยกเลิกการค้ำประกันรถยนต์ของอดีตสามีได้แนวทางแก้ไขปัญหาสัญญาค้ำประกัน คือการที่ไปทำสัญญากับเจ้าหนี้ว่าถ้าลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ ผู้ค้ำประกันจะชำระหนี้นั้นแทน ดังนั้นเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องหรือฟ้องให้ผู้ค้ำประกันรับผิดแทนได้ สัญญาค้ำประกัน ถ้าผู้ค้ำประกันไม่ต้องการรับผิดอะไร หรือต้องการจำกัดขอบเขตความรับผิดไว้เพียงใด ต้องระบุในสัญญาให้ชัดเจน เมื่อจำกัดความรับผิดไว้แล้วก็รับผิดเท่าที่จำกัดไว้ แต่สัญญาค้ำประกันส่วนใหญ่เป็นสัญญาสำเร็จรูป ซึ่งจะให้ผู้ค้ำประกันรับผิดเสมือนลูกหนี้ร่วมเมื่อลูกหนี้ผิดสัญญาต่อเจ้าหนี้ ไม่ชำระเงินหรือค่าเสียหายมากน้อยเพียงใด ผู้ค้ำประกันก็ต้องรับผิดจนสิ้นเชิงเช่นเดียวกับลูกหนี้ทุกอย่าง ไม่มีสิทธิเกี่ยงการยกเลิกหรือสิ้นสุดสัญญาค้ำประกันนั้นกฎหมายไม่ได้ให้สิทธิในการให้ผู้ค้ำประกันบอกเลิกสัญญาเองได้ทันที ยกเว้นกรณีที่ผู้ค้ำประกันถึงแก่ความตาย หรือศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด หรือเป็นบุคคลล้มละลาย หรือเป็นคนไร้ความสามารถ หรือเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ หากจะถอนค้ำประกันหรือเปลี่ยนตัวผู้ค้ำประกันคงต้องคุยกับอดีตสามีในฐานะลูกหนี้โดยตรงว่าจะขอเปลี่ยนคนค้ำประกันใหม่ ซึ่งอาจจะเป็นภรรยาใหม่ก็ได้ เมื่อตกลงกันได้แล้วถึงจะพากันไปเจรจาตกลงกับไฟแนนซ์หรือเจ้าหนี้ว่าจะยินยอมตกลงด้วยหรือไม่ ซึ่งบริษัทไฟแนนซ์อาจมีสองทางเลือกคือยินยอมที่จะเปลี่ยนสัญญาให้ หรือที่พบโดยมากคือให้บุคคลที่เพิ่มเข้ามาทำสัญญาค้ำประกันพ่วงต่อท้ายไปอีกคนหนึ่งเลย ทั้งนี้เพื่อที่จะได้ช่วยกันกดดัน ควบคุมลูกหนี้ให้ชำระหนี้ต่อไปตามสัญญานั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 109 อุบัติเหตุรัก

อนันยา นักศึกษาสาวใสวัยยี่สิบ ขับรถเก๋งมาจากแยกแจ้งวัฒนะตัดกับถนนวิภาวดี กำลังมุ่งหน้าไปทางวงเวียนบางเขนในช่องทางด้านซ้าย โดยไม่รู้ตัวว่าอีกไม่กี่นาทีข้างหน้าเธอกำลังเจอเนื้อคู่ (คดี)อนันยา ขับรถไปฟังเพลงไปรู้สึกหิวขึ้นมาตะหงิดๆ เหลือบตาไปเห็นป้ายร้านแมคโดนัลด์ตั้งอยู่ริมทางซ้ายมือเกิดอาการน้ำลายสอ จึงหักพวงมาลัยเลี้ยวรถเพื่อเข้าร้านฯ ทันที โดยไม่ได้มองไปที่กระจกส่องหลังว่ามีรถใครตามมาหรือไม่ห่างกันไม่ถึง 10 เมตร บนถนนเส้นเดียวกัน อนันต์ หนุ่มใสวัยยี่สิบสอง บิดมอเตอร์ไซค์ตามหลังรถสาวอนันยามาในช่องทางด้านซ้ายสุดชิดขอบทางซึ่งถือว่าเป็นช่องทางของรถจักรยานยนต์ อนันต์ไม่คาดคิดว่ารถเก๋งคันข้างหน้าจะเลี้ยวซ้ายปาดหน้ารถของตัวเองอย่างกะทันหัน ดวงชะตาของหนุ่มสาวทั้งสองจึงปะทะกันอย่างรุนแรง ราวแรงถาโถมของคลื่นสึนามิที่กระแทกชายฝั่งจังหวัดภูเก็ต“โครม”“ว้าย…” สาวอนันยาใช้น้ำเสียงแอ๊บแบ๊วเจือสำเนียงเกาหลีร้องด้วยความตกใจ พร้อมเหยียบเบรคหยุดรถทันที“โอยยยยย....” หนุ่มอนันต์กระเด็นตกจากรถมอเตอร์ไซค์ ลงไปกองกับพื้นถนนนั่งกุมข้อมือขวาที่แตกหักด้วยความปวดร้าวเมื่อตาต่อตาประสานสบ บทพ่อแง่แม่งอนตามสูตรละครประเภทน้ำที่มีปริมาณก๊าซออกซิเจนน้อยกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จึงเกิดขึ้น“ขับรถมอเตอร์ไซค์ประสาอะไร ถึงขี่มาชนชั้นได้เนี่ยคุณ” สาวเจ้ายืนเท้าสะเอวใส่ฉอดๆ “อูยยย นี่คุณ...ที่คุณว่าน่ะมันต้องผมเป็นคนพูด นึกจะเลี้ยวก็เลี้ยว ไม่ดูหน้า ดูหลังบ้างเลย”“เอาล่ะ เอาล่ะ ไม่ต้องทะเลาะกัน รถติดเป็นแถวแล้ว น้องผู้ชายไปโรงพยาบาล น้องผู้หญิงไปสถานีตำรวจ ฟันธง!”ตำรวจจราจรผู้เข้ามาระงับเหตุประกาศด้วยเสียงเด็ดขาด เป็นเหตุให้โลกแห่งละครของคู่หนุ่มสาวทั้งสองต้องยุติลงแนวทางแก้ไขปัญหาบทสรุปรักครั้งนี้ ตำรวจระบุเป็น “คดีจราจร” โดยมีน้องนางเอกอนันยาตกเป็นผู้ต้องหา ข้อหาขับรถประมาทเฉี่ยวชนทรัพย์สินผู้อื่นเสียหายและมีผู้ได้รับบาดเจ็บ เนื่องจากตำรวจพิจารณารูปการณ์อุบัติเหตุแล้วชี้ชัดได้ว่า เกิดจากความประมาทของอนันยาที่ขับรถโดยใช้ความระมัดระวังไม่เพียงพอ ทำให้มองไม่เห็นรถจักรยานยนต์ที่วิ่งตามหลังมาในช่องทางที่วิญญูชนทั่วไปรับทราบกันดีว่าเป็นช่องทางของรถจักรยานยนต์ ทำให้อนันยาต้องยอมรับผิดและถูกเปรียบเทียบปรับในข้อหา “ขับรถโดยประมาทเฉี่ยวชนทรัพย์สินผู้อื่นเสียหาย” ส่วนค่าเสียหายทั้งตัวรถและค่ารักษาพยาบาลนั้นตำรวจเห็นว่ารถเก๋งของอนันยามีประกันอุบัติเหตุชั้น 1 จึงให้คู่กรณีตกลงค่าเสียหายกันเองทางแม่ของหนุ่มอนันต์ได้ออกมาปกป้องลูกชายสุดที่รักที่ถูกนางเอกของเรื่องขับรถชนจนชอกช้ำเรียกค่าเสียหายทั้งสิ้น 50,000 บาท ซึ่งบริษัทประกันรับปากที่จะจ่ายชดใช้ให้ แต่ต่อมาก็เงียบหายแม่ของหนุ่มอนันต์ไม่รู้จะทำยังไง เพราะตำรวจบอกไม่ยุ่งเป็นเรื่องทางแพ่งให้เรียกเสียหายกันเอง ดังนั้นข้อแนะนำสำหรับคนที่ประสบเหตุแบบนี้คือ1. ถ้าบาดเจ็บ มีค่ารักษาพยาบาลเกิดขึ้นให้สำรองจ่ายไปก่อน แล้วนำใบเสร็จค่ารักษาไปเบิกกับประกันภัยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ คันที่ตนขับขี่มาไม่ใช่คันของคู่กรณี แต่หากมีค่ารักษาพยาบาลเกิน 15,000 บาท ส่วนที่เกินให้เบิกกับประกันภัยของรถคันที่เป็นฝ่ายผิด2. ส่วนค่าเสียหายอื่นๆ เช่น ค่าซ่อมรถที่เสียหาย ค่าขาดโอกาสในการทำงาน ค่าทนทุกข์ทรมานจากการบาดเจ็บ ค่าขาดการอุปการะเลี้ยงดูนั้น สามารถเรียกร้องได้กับผู้ขับขี่คู่กรณี หากคู่กรณีได้ทำประกันภัยเพิ่มเติมไว้ ประกันภัยจะมีหน้าที่รับผิดชอบค่าสินไหมตามสัญญาของกรมธรรม์ที่ทำ3. แต่หากประกันภัยไม่จ่ายหรือจ่ายค่าสินไหมทดแทนน้อยกว่าความเสียหายที่ได้รับ ผู้เสียหายมีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นคดีทางแพ่งได้กับผู้ขับขี่รถคู่กรณีในเวลา 1 ปีนับแต่วันที่เกิดเหตุ และให้เรียกประกันภัยเข้ามาเป็นจำเลยร่วมรับผิดชอบค่าเสียหายด้วยโชคดีที่การเยียวยารักครั้งนี้ไม่ถึงขั้นต้องไปพบกันที่ศาล เพราะมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ติดต่อเจรจาจนบริษัทประกันยอมชดใช้ค่าเสียหายให้ในท้ายที่สุด ความรักของหนุ่มอนันต์กับสาวอนันยาจึงถึงบทอวสานด้วยเหตุฉะนี้  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 108 รำคาญเชฟโรเลตป้ายแดงกินน้ำมันเครื่อง

คุณไพฑูรย์ได้เดินทางเข้ามาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอคำปรึกษาปัญหารถยนต์กินน้ำมันเครื่องแต่ศูนย์บริการไม่เปลี่ยนเครื่องยนต์ใหม่ให้ จะใช้วิธีซ่อมอย่างเดียวคุณไพฑูรย์เล่าว่า ได้ซื้อรถยนต์เชฟโรเลต โคโลราโด รุ่น 2,500 ซีซี  เพื่อใช้รับจ้างบรรทุกของทั่วไป ตั้งแต่ปี 2548 มีระยะประกันเครื่องยนต์ 100,000 กิโลเมตรหรือ 3 ปี  วิ่งวันละไม่ต่ำกว่า 400 กิโลเมตร ปัญหาที่ทำให้คุณไพฑูรย์หัวเสียกับรถคันนี้มากคือ น้ำมันเครื่องจะหาย ทำให้ต้องมีการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องทุก 5,000 กิโลเมตรแทนที่จะเป็น 10,000 กิโลเมตรเหมือนรถป้ายแดงคันอื่นคุณไพฑูรย์ได้นำรถเข้าศูนย์บริการแจ้งถึงปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ฝ่ายช่างของศูนย์บริการแจ้งว่าเป็นอาการปกติของรถรุ่นนี้ โดยไม่ได้มีการตรวจสอบแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องบ่อยมากทุกๆ 5,000 กิโลเมตร สุดท้ายทนต่อค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไม่ไหวจึงเปลี่ยนมาใช้ศูนย์บริการอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งช่างเครื่องของศูนย์บริการแห่งนี้ได้ให้ข้อมูลว่ารถยนต์รุ่นนี้มีอายุการถ่ายน้ำมันเครื่องทุก 10,000 กิโลเมตรช่างเครื่องจึงได้แนะนำให้เข้าไปตรวจสอบกับศูนย์บริการใหญ่ คุณไพฑูรย์จึงได้ทำตามคำแนะนำโดยได้มีการทดสอบตามขั้นตอน เช่น ติดตั้งอุปกรณ์ดักไอน้ำมันเครื่อง แล้วให้ขับไปใช้งานเพื่อดูผลทีละหมื่นกิโลเมตรแต่อาการน้ำมันเครื่องหายก็ไม่หายเสียที ทดสอบตามขั้นตอนจนถึงเลขไมล์วิ่งมาที่ 95,947 กิโลเมตร จึงได้มีการนัดให้มาแก้ไขปรับปรุงเครื่องยนต์ ก็พอดีกับที่คุณไพฑูรย์ต้องใช้รถกว่าจะเข้าศูนย์บริการได้ เลขไมล์ก็เกิน 100,000 กิโลเมตรแล้ว คุณไพฑูรย์เห็นว่า ทางศูนย์บริการนั้นทราบดีว่าเครื่องยนต์มีปัญหาก่อน 100,000 กิโลเมตร แทนที่จะนัดเพื่อให้มาเปลี่ยนเครื่องยนต์ใหม่แทนเครื่องยนต์เดิมกลับใช้วิธีแก้ไขเครื่องยนต์แทน จึงมาขอคำปรึกษากับมูลนิธิฯว่า จะเรียกค่าเสียหายที่เกิดขึ้นได้หรือไม่เพราะเป็นรถซื้อมาป้ายแดงแล้วเกิดปัญหาเช่นนี้แนวทางแก้ไขปัญหากรณีของความชำรุดบกพร่องของสินค้านั้น สามารถฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคได้ แต่อย่างไรก็ดีการที่ศาลจะมีคำสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจเปลี่ยนสินค้าใหม่ให้แก่ผู้บริโภคแทนการแก้ไขซ่อมแซมสินค้าที่ชำรุดบกพร่องนั้น ก็ต่อเมื่อศาลเชื่อว่าความชำรุดบกพร่องนั้นมีอยู่ในขณะส่งมอบสินค้าและไม่อาจแก้ไขให้กลับคืนสภาพที่ใช้งานได้ตามปกติ หรือถึงแม้จะแก้ไขแล้วแต่หากนำไปใช้บริโภคแล้วอาจเกิดอันตรายแก่ชีวิตร่างกายของผู้บริโภคได้  หรือพูดง่าย ๆ ก็คือแม้จะนำเรื่องขึ้นสู่ศาล หากศาลเห็นว่าความชำรุดบกพร่องนั้นไม่เกิดผลอันตรายต่อชีวิตหรือร่างกายของผู้บริโภค ศาลก็จะสั่งให้มีการซ่อมสินค้าก่อน คงจะไม่สั่งให้เปลี่ยนสินค้าโดยทันที ซึ่งในกรณีรถของคุณไพฑูรย์นั้นทราบว่าศูนย์บริการได้ดำเนินการซ่อมแก้ไขเครื่องยนต์ให้จนสามารถใช้งานได้ตามปกติ และปัญหาน้ำมันเครื่องหายได้รับการแก้ไขเรียบร้อยแล้วโดยที่ผู้บริโภคไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพราะทางศูนย์บริการถือว่ายังอยู่ในระยะรับประกันอยู่  การฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจึงเห็นว่าไม่มีความจำเป็น แต่ที่เสียความรู้สึกคือปัญหาถูกปล่อยให้เยิ่นเย้อยาวนานตรงนี้ต้องถือเป็นบทเรียนของผู้บริโภคด้วยเช่นกัน ที่ศูนย์บริการมักใช้วิธีประวิงเวลาจนอายุประกันใกล้หมดหรือหมดไปและหาเหตุที่จะไม่รับผิดชอบต่อลูกค้า ทางแก้ไขคือ การทักท้วงไม่ควรทักท้วงด้วยวาจาอย่างเดียว ควรทำเป็นลายลักษณ์อักษรตั้งแต่แรกเมื่อทราบถึงปัญหา และหากทักท้วงล่าช้าก็จะลำบาก อย่างไรก็ดี หากคุณไพฑูรย์มีหลักฐานพบว่าปัญหาน้ำมันเครื่องหายยังปรากฏขึ้นอยู่หลังการซ่อมแซมแล้วก็ยังสามารถนำเรื่องฟ้องต่อศาลเป็นคดีผู้บริโภคเพื่อขอให้เปลี่ยนเครื่องยนต์ใหม่ได้เช่นกัน  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 108 รถหาย แต่ถูกขู่ว่ายักยอกทรัพย์

ในปัจจุบันต้องถือว่ารถจักรยานยนต์เป็นพาหนะที่ซื้อง่ายและหายก็คล่อง อย่างที่มีข่าวว่า มีการค้นพบสุสานโครงรถจักรยานยนต์ในคลองแห่งหนึ่งที่แก๊งค์ลักรถนำมาทิ้งไว้ ทำให้มีคำถามเข้ามามากว่า เมื่อรถหายแล้วผู้บริโภคที่เช่าซื้อรถคันนั้นมาจะต้องผ่อนกุญแจรถต่อไปหรือไม่ คำถามนี้มีคำตอบครับคุณนฤมลได้ร้องเรียนมาว่า ได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ 1 คัน ในราคา 41,000 บาท กับบริษัท อิออน ธนสินทรัพย์(ไทยแลนด์) จำกัด(มหาชน) โดยตกลงชำระเป็นงวด 36 งวด ๆ ละ 1,750 บาท คุณนฤมลได้ชำระมาถึงงวดที่ 19 ปรากฏว่ารถจักรยานยนต์สุดที่รักถูกขโมยหายไป ได้แจ้งความกับตำรวจไว้เป็นหลักฐานแล้ว แต่ปรากฏว่าบริษัทอิออนได้มีเอกสารมาแจ้งให้คุณนฤมลชำระเงินต่อให้หมดอีก 17 งวดที่เหลือ คุณนฤมลพยายามต่อรองขอส่วนลดกับอิออนโดยขอชำระส่วนที่เป็นเงินต้นที่ค้างอยู่ แต่ทางอิออนบอกว่า ไม่ได้ ต้องจ่ายให้หมด ไม่เช่นนั้นจะฟ้องร้องข้อหายักยอกทรัพย์อ้าว...! ไหงเป็นอย่างนี้ล่ะ คุณนฤมลร้อง อุตส่าห์ยอมที่จะผ่อนกุญแจรถให้แต่กลับถูกกล่าวหาว่าเป็นโจรไปเสียนี่ จึงอยากจะให้ทางมูลนิธิ ช่วยแนะนำแนวทางแก้ไขปัญหาว่าตามกฎหมายแล้ว ในฐานะผู้บริโภคจะสามารถจ่ายในส่วนของเงินต้นที่ค้างอยู่ได้หรือไม่ เพราะตอนนี้ฐานะทางการเงินของครอบครัวไม่ดีนัก รายรับไม่แน่นอน จึงอยากจะเก็บสะสมเงินก้อนเพื่อนำไปจ่ายหนี้สินให้กับทางอิออนให้หมดไป มารดาจะได้ไม่ต้องทุกข์ใจเมื่อทางเจ้าหน้าที่โทรและส่งจดหมายมาข่มขู่ว่าจะดำเนินคดีในข้อหายักยอกทรัพย์ แนวทางแก้ไขปัญหาอันว่าสัญญาเช่าซื้อรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ ไม่ว่าจะเป็นของไฟแนนซ์หรือลิซซิ่งไหนก็แล้วแต่ จะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมสัญญาตามประกาศเรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2543 ซึ่งประกาศฉบับนี้ได้คุ้มครองผู้บริโภคไม่ต้องผ่อนค่ากุญแจต่อไปจนครบสัญญาในกรณีที่รถหรือรถจักรยานยนต์ที่เช่าซื้อสูญหาย ถูกทำลาย ถูกยึด ถูกอายัด หรือถูกริบโดยมิใช่ความผิดของผู้เช่าซื้อ เพราะถือว่าสัญญาเช่าซื้อได้ระงับลงแล้วเมื่อทรัพย์สินที่เช่าซื้อได้สูญหายไปดังนั้น หากผู้บริโภคมั่นใจว่าการสูญหายของรถนั้นไม่ได้เกิดมาจากความประมาทหรือความจงใจของตนก็ให้ไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยทันที และให้ส่งสำเนาหลักฐานการแจ้งความไปให้อิออนครับ ส่งทางไปรษณีย์ตอบรับ เก็บตัวจริงไว้เป็นหลักฐาน หากจะมีการกล่าวหาว่าผู้บริโภคเป็นผู้ยักยอกทรัพย์ที่เช่าซื้อนั้นเองฝ่ายผู้กล่าวหาก็ต้องมีพยานหลักฐานที่ชัดเจนเช่นกันครับ  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 107 ปัญหาจาก พรบ.ผู้ประสบภัยจากรถอีกแล้วครับ..ท่าน

สวัสดีปีใหม่ ขอให้โชคดีมีชัยทุกท่านนะจ๊ะ(ไม่ช้าไปใช่ไหม) และเรื่องที่ตามมาคือจำนวนอุบัติเหตุต่างๆ ที่เกิดจากการเดินทางด้วยรถประเภทต่างๆ ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บมากมาย และที่หนีไม่พ้นคือเมื่อเกิดเหตุจากรถ ก็ต้องมี พรบ.ผู้ประสบภัยจากรถ จึงเขียนเรื่องที่เกิดเหตุเมื่อตอนปลายปี 2552ช่วงนั้นมีข่าวแปลกๆ คือชาวบ้าน “แห่ศพไปสวดที่หน้าสถานีตำรวจ” สาเหตุเพราะผู้ตายประสบเหตุ ถูกรถกระบะของตำรวจเฉี่ยวชน รถซาเล้ง(มอเตอร์ไซด์พ่วงข้าง) จนทำให้แม่ลูก 2 คน ที่โดยสารมาเสียชีวิตทั้งคู่ โดยตำรวจคนที่ขับรถมาชน(ซึ่งค่อนข้างมีอิทธิพล) สั่งห้ามแจ้งความและไม่ยอมแจ้งประกัน แต่จะจ่ายให้ 2 ศพ 30,000 บาท ชาวบ้านไม่กล้าแจ้งความเพราะกลัวไม่ได้รับความเป็นธรรมเพราะคนที่ขับรถชนคือตำรวจ แล้วเขาก็ต้องไปแจ้งตำรวจอีก ญาติจึงตัดสินใจแห่ศพไปสวดหน้าโรงพักซะเลย เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมปรากฏว่าวิธีนี้ได้ผลมากเพราะสื่อต่างๆ ให้ความสนใจ ทั้งทีวี หนังสือพิมพ์ (ออกหน้าหนึ่งไทยรัฐ) ทำให้ผู้ว่าฯ นั่งก้นไม่ติดเก้าอี้ ต้องลุกขึ้นมาสั่งการให้มีการสอบสวนให้เกิดความเป็นธรรมในกรณีนี้ ศูนย์พิทักษ์ผู้บริโภคได้เข้าไปช่วยเหลือเพราะกลัวว่าเรื่องนี้จะเป็นแค่ไฟไหม้ฟาง ข่าวสงบทุกอย่างก็จะเงียบอีก จึงได้ไปประสานงานเรื่องการชดเชยเบื้องต้นตามพรบ.ผู้ประสบภัยจากรถก่อน จากข้อมูลที่ศูนย์ฯ ได้มาคือ รถซาเล้ง พรบ. ขาดยังไม่ได้ต่อ แต่รถคันที่มาชนมี พรบ. ผู้ประสบภัยจากรถ ศูนย์ฯ จึงได้ไปประสานงานกับบริษัทประกันภัยกลางจังหวัด เพื่อรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้น ซึ่งโดยทั่วไปผู้โดยสารซึ่งเป็นบุคคลที่ 3 ต้องได้รับเงินชดเชยตามกฎหมายศพละ 100,000 บาท ไม่ต้องรอพิสูจน์ถูกผิด เพราะไม่ใช่คนขับขี่ แต่กรณีนี้ปรากฏว่า บริษัทประกันภัยกลางแจ้งมาว่า จ่ายให้ได้แค่ศพละ 35,000 บาท เท่านั้น เพราะรถที่ผู้เสียชีวิตนั่งไปไม่ได้ทำประกัน อ้าว..ก็รถคันที่ชนมันมีประกันทำไมไม่ให้คันนั้นจ่ายให้ ล่ะ.. เพราะถึงรถคันที่นั่งไปไม่มีประกัน หากเขาไม่ถูกรถกระบะวิ่งมาชนเขาก็ไม่ตายนี่.. บริษัทกลางยืนยันยังไงก็จ่ายได้แค่นั้น เพราะกฎหมายเขียนไว้อย่างนี้ และนี่คือเหตุผลที่ต้องเขียนเรื่องนี้มาเล่าสู่กันฟังว่า พรบ.ผู้ประสบภัยจากรถมันมีปัญหาซับซ้อนซ่อนเงื่อนมากมาย ที่ทำให้ผู้บริโภคไม่สามารถใช้ประโยชน์จาก พรบ.นี้ได้จริง เห็นมีแต่บริษัทประกันภัยเท่านั้นที่ได้ประโยชน์ และบริษัทประกันภัยกลางก็ไม่ได้ยินดียินร้ายกับความเสียหายที่เกิดขึ้น เฉื่อยแฉะและเย็นชาเอามาก...ก...ก...เครือข่ายผู้บริโภคและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงร่วมกันผลักดันให้เกิดการแก้กฎหมายฉบับนี้ เพราะเรารู้ว่าเราพึ่งใครไม่ได้ (นักการเมืองไม่ว่างเพราะทะเลาะกันอยู่) ขณะนี้เราร่างพรบ.ฉบับใหม่เรียบร้อยแล้ว และได้ชื่อมาแล้วกว่า 8,000 ชื่อ ยังขาดอีกนิดหน่อย จึงขอเรียนเชิญท่านผู้อ่านช่วยร่วมลงชื่อเพื่อแก้ไข พรบ.ผู้ประสบภัยจากรถให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ประสบภัยมากขึ้น  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 105 รถไฟไหม้หลังเข้าศูนย์ซ่อม

คุณรัชตะ (นามสมมติ)ใช้รถยนต์ฮอนด้า แอคคอร์ด (V6) รุ่นปี 2003 มาได้ประมาณ 3 ปี 3 เดือน วิ่งประมาณ 113,XXX กิโลเมตรต่อมาในราว ๆ กลางเดือนกันยายน 2552 บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ได้มีจดหมายถึงคุณรัชตะรวมทั้งผู้ที่เป็นเจ้าของรถยนต์ฮอนด้า แอคคอร์ด (V6) รุ่นปี 2003 ถึง 2007 ว่าให้นำรถยนต์ฮอนด้ารุ่นดังกล่าวเข้ารับการเปลี่ยนท่อน้ำมันของระบบบังคับเลี้ยว เนื่องจากพบว่า ท่อน้ำมันระบบบังคับเลี้ยวเกิดเสื่อมสภาพ หลังจากผ่านการใช้งาน ส่งผลให้ระบบบังคับเลี้ยวทำงานผิดปกติและต้องใช้แรงในการหมุนเพิ่มขึ้นขณะหมุนพวงมาลัย โดยบริษัทฯ จะดำเนินการเปลี่ยนอะไหล่ชิ้นใหม่ที่ได้รับการปรับปรุงคุณภาพ(เพิ่มเติม) โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายแต่ประการใดในวันพุธที่ 23 กันยายน 2552 คุณรัชตะได้นำรถเข้ารับบริการที่ศูนย์บริการฮอนด้าเอกอินทราฮอนด้า ออโตโมบิล เพื่อเปลี่ยนชุดลิ้นปีกผีเสื้อและเปลี่ยนท่อน้ำมันของระบบบังคับเลี้ยวตามที่บริษัทฮอนด้าแจ้ง และได้ไปรับรถออกมาในวันศุกร์ที่ 25 กันยายน 2552 คุณรัชตะได้เล่าถึงเหตุการณ์ระทึกขวัญในวันที่ไปรับรถที่เกือบเป็นวันมรณะของตนเองว่าผมรับรถออกมาเมื่อเวลาประมาณ 17.30 น. และขับขึ้นทางด่วนโยธินพัฒนา วิ่งแค่พักเดียว (ถึงประมาณแถวพระราม 9) ก็เกิดอาการพวงมาลัยหนัก/แข็ง (อาการแบบพวงมาลัยหมุนแทบไม่ไปจากระบบพาวเวอร์ไม่ทำงาน) จึงได้นำรถลงบริเวณคลองตันเพื่อวกขึ้นทางด่วนกลับไปศูนย์ฯ(เอกอินทราฮอนด้า ออโตโมบิล) หลังจากผ่านด่านเก็บเงินเพื่อขึ้นกลับไปศูนย์ดังกล่าวซักระยะ การจราจรเริ่มชะลอตัว เริ่มได้กลิ่นเหม็นไหม้ กลิ่นเหมือนการไหม้ของน้ำมันเครื่องโดนความร้อน ซึ่งในกรณีนี้น่าจะเป็นน้ำมันพาวเวอร์ที่รั่วฉีดไปทั่วห้องเครื่อง และเริ่มเห็นควันขาวซึ่งน่าจะเป็นควันจากน้ำมันพาวเวอร์โดนความร้อน ผมจึงได้โทรเข้าศูนย์ เพื่อสอบถามว่าจะทำอย่างไรดีศูนย์แนะนำให้จอดและให้รถลากของทางด่วนลากไปส่ง ผมจึงได้ขับตัดเข้าข้างทาง (บริเวณดังกล่าวเป็นทางบรรจบบนทางด่วน ช่วงพระราม 9) และจอดบริเวณตู้โทรศัพท์ ซึ่งระหว่างนั้นยังไม่ได้ลงจากรถเนื่องจากมีฝนพรำๆ ซึ่งตอนนั้นยังคุยอยู่กับศูนย์ฯ เพื่อขอเบอร์ทางด่วน และได้เบอร์ 1543 ของทางด่วนเพื่อโทรขอความช่วยเหลือระหว่างนั้นกลุ่มควันขาวเริ่มมากขึ้น เนื่องจากตอนนี้รถจอดนิ่งสนิทแล้ว ไม่มีลมพาควันออกไป และจึงเริ่มสังเกตเห็นเปลวเพลิงลุกขึ้นมาบริเวณระหว่างฝากระโปรงและกระจกบังลมหน้า (บริเวณช่องที่ปัดน้ำฝน) จึงได้ออกจากรถ โดยหลังจากนั้นเพลิงได้โหมไหม้จนไม่สามารถควบคุมได้ (เจ้าหน้าที่กู้ภัยทางด่วนใช้ถังดับเพลิงมือถือ หมดไป 4 ถัง) ซึ่งต้องรอรถน้ำของหน่วยกู้ภัยเพื่อเข้าระงับเหตุจึงสามารถควบคุมเพลิงได้ หลังเกิดเหตุ ซึ่งรถเสียหายบริเวณห้องเครื่องทั้งหมดและลามบริเวณส่วนหน้าของคนขับจากการถูกเพลิงไหม้ เจ้าหน้าที่การทางได้ให้เข้าลงบันทึกประจำวันที่ สน.ทางด่วน 1 เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายเสียหายของการทาง ประกอบด้วยค่าใช้จ่าย เติมสารดับเพลิง 4 ถัง, ค่ารถน้ำ 1 คัน, พื้นทางเสียหาย (เข้าใจว่าประกันเป็นผู้สำรองจ่าย) ภายหลังจากลงบันทึกประจำวันที่ สน. ทางด่วนแล้ว รถถูกลากไปรอที่ศูนย์เอกอินทราเพื่อรอการตรวจพิสูจน์ โดยได้นัดทำการตรวจสอบในวันจันทร์ ที่ 28 กันยายน 2552ทั้งนี้ผมโดยส่วนตัวมั่นใจว่าเป็นความผิดพลาดจากการเปลี่ยนท่อน้ำมันระบบบังคับเลี้ยว (ท่อ Hi Power) โดยเป็นข้อผิดพลาดจากการเปลี่ยน/ประกอบ หรือ ตัวอะไหล่ โดยมีข้อสังเกตจากการที่ศูนย์ขอเลื่อนการรับรถผม 1 วัน โดยแจ้งว่าเปลี่ยนท่อ Hi Power แล้วพวงมาลัยมันหนัก (ผมก็ไม่ได้ถามว่าที่บอกว่าหนักนี่คือหนักขึ้น หรือหนักขนาดไหน) โดยศูนย์แจ้งว่าขอไล่ลมและตรวจสอบทั้งระบบ นอกจากนี้ ก่อนที่จะเกิดเหตุเพลิงไหม้ อาการก็คือพวงมาลัยหนัก/แข็ง จากระบบพาวเวอร์นี้เองโดยในปัจจุบัน (3 ตุลาคม 2552) บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับทราบเรื่องแล้ว รวมทั้งได้ส่งพนักงานเพื่อเข้ามาตรวจสอบเหตุการณ์ดังกล่าวแล้ว (ตั้งแต่วันอังคารที่ 29 กันยายน 2552) แต่ไม่พบการสรุปสาเหตุของปัญหา หรือแนวทางการชดเชยค่าเสียหายแต่อย่างใด และมีข้อสังเกตว่า ศูนย์บริการ เอกอินทราฮอนด้า ออโตโมบิล จำกัด / บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ไม่ได้ให้ความสำคัญต่อเหตุการณ์เท่าที่ควร และไม่ได้ดำเนินการเพื่อเร่งการสรุปสาเหตุ หรือพิจารณาการชดเชยแต่อย่างใด เนื่องจากตั้งแต่เกิดเรื่อง ผมจะต้องเป็นคนติดตามเกือบทั้งหมด ตั้งแต่นัดประกันเข้าตรวจสอบ, การแจ้งเรื่องให้ บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะเจ้าของผลิตภัณฑ์เข้ามาร่วมตรวจสอบ, การเรียกร้องให้ได้มาซึ่งการชดเชยเบื้องต้น (ได้ขอรถชั่วคราวเพื่อสำรองใช้ 1 คัน) , และจากการติดตามจากเจ้าหน้าที่ลูกค้าสัมพันธ์ซึ่งเป็นผู้ดูแลปัญหานี้ (ติดตามวันพฤหัสบดีที่ 1 กันยายน 2552 และ ศุกร์ 2 กันยายน 2552) ก็ได้ความว่ายังไม่มีความคืบหน้าทั้งที่เป็นกรณีที่มีความรุนแรง รวมทั้งมีผู้ใช้รถรุ่นเดียวกันที่ถูกเรียกให้เข้าไปดำเนินการเปลี่ยนท่อดังกล่าวจำนวนมากสิ่งที่คุณรัชตะต้องการขอความช่วยเหลือคือต้องการให้เร่งการสรุป การชดเชยค่าเสียหาย รวมทั้งเป็นแกนหลักในการแนะนำถึงความสมเหตุสมผลของการชดเชยที่พึงจะได้รับ ทั้งการชดเชยต่อทรัพย์สิน การชดเชยต่อความไม่ปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ รวมทั้งการชดเชยอื่นๆ ที่พึงจะประเมินได้ตามสมควรแนวทางแก้ไขปัญหาคุณรัชตะร้องเรียนเข้ามาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคในวันอาทิตย์ที่ 4 ตุลาคม 2552 หลังจากที่รถไฟไหม้ได้ 1 อาทิตย์และพยายามตามเรื่องด้วยตนเอง จนในที่สุดได้มีหนังสือแจ้งจากคุณรัชตะว่าศูนย์บริการฮอนด้า (เอกอินทราฮอนด้า) ได้แสดงความรับผิดชอบในเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้ว คือ หนึ่ง ได้มีการจัดหารถยนต์สำรองใช้ระหว่างดำเนินการ ตั้งแต่วันที่ 29 กันยายน 2552 สอง ศูนย์บริการฮอนด้าฯ แห่งนี้ได้ทำการชดเชยค่าเสียหายทั้งในส่วนของทรัพย์สินและค่าเสียหายอื่น ๆ ตามที่คุณรัชตะได้รียกร้อง โดยที่คุณรัชตะพึงพอใจต่อการดำเนินการดังกล่าวของศูนย์ฯ และไม่ติดใจเอาความหรือเรียกร้องอื่น ๆ เพิ่มเติมแต่อย่างใดสำหรับผู้ที่เป็นเจ้าของรถยนต์ฮอนด้า แอคคอร์ด (V6) รุ่นปี 2003 ถึง 2007 และได้รับแจ้งให้ไปเปลี่ยนท่อน้ำมันของระบบบังคับเลี้ยว(เพิ่มเติม) หากสงสัยว่าอาจมีปัญหาเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนอะไหล่ ไม่ควรปล่อยให้ชักช้าเนิ่นนานไป รีบติดต่อศูนย์บริการโดยทันทีเป็นดีที่สุด

อ่านเพิ่มเติม >