ฉบับที่ 181 ค้างชำระค่างวดรถ โดนยึดทันทีจริงหรือ

หนึ่งในปัญหาเรื่องการเช่าซื้อรถทั้งรถจักรยานยนต์และรถยนต์ ที่สร้างความปวดหัวให้กับผู้เช่าซื้อมาตลอดคือ การค้างชำระค่างวดรถแล้วไม่แน่ใจว่าควรแก้ปัญหาอย่างไรดี เพราะรถกำลังจะโดนบริษัทมายึดไปแล้ว ดังกรณีของผู้ร้องรายนี้ผู้ร้องซื้อรถมอเตอร์ไซค์ยี่ห้อฮอนด้า เวฟ โดยตกลงกันให้มีการผ่อนชำระเดือนละ 1,130 บาท อย่างไรก็ตามภายหลังการผ่อนชำระไปได้ไม่กี่เดือน ผู้ร้องก็มีปัญหาทางการเงิน ทำให้ต้องหยุดการผ่อนค่างวดรถคันดังกล่าวเป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งภายหลังพนักงานของบริษัทก็เดินทางมายึดรถไป โดยไม่มีหนังสือแจ้งเป็นลายลักษณ์ที่เตือนให้มีการชำระค่างวดที่ค้างไว้ก่อนแต่อย่างใด แม้จะพยายามเจรจาด้วยการขอชำระค่างวดทั้งหมดในขณะนั้นทันที แต่พนักงานก็ไม่ยอมและยืนยันที่จะยึดรถคืนแนวทางการแก้ไขปัญหาสำหรับกรณีนี้แม้ผู้ร้องจะผิดชำระค่างวดรถมอเตอร์ไซค์ แต่บริษัทก็ไม่สามารถดำเนินการยึดรถคืนได้ทันที เพราะตามประกาศของคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่องให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์กำหนดว่า บริษัทสามารถยึดรถคืนได้ กรณีที่ผู้เช่าซื้อค้างชำระค่างวด 3 งวดติดๆ กัน โดยผู้ให้เช่าซื้อต้องบอกกล่าวล่วงหน้าอีก 30 วัน ดังนั้นถ้ายังไม่ครบกำหนด 4 เดือน ผู้ให้เช่าซื้อไม่สามารถยึดรถ หากฝ่าฝืนถือว่าผู้ให้เช่าซื้อผิดสัญญา และผู้เช่าซื้อสามารถร้องเรียนหรือฟ้องต่อศาลคุ้มครองผู้บริโภคได้ ทั้งนี้หากเราพบว่าโดนเอาเปรียบด้วยการกระทำดังกล่าว จึงไม่จำเป็นต้องส่งรถคืนแต่ควรเข้าแจ้งความที่สถานีตำรวจ พร้อมรายละเอียดการค้างชะระค่างวดและขอให้มีการเจรจา แต่ถ้าในกรณีที่บริษัทได้แจ้งเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว และเราก็ยังไม่สามารถชำระค่างวดได้ สิ่งที่ควรทำคือ1. ให้มีการประเมินสภาพรถหรือราคาเบื้องต้นก่อนการส่งมอบ เพื่อเป็นหลักฐานในกรณีที่บริษัทนำรถคันดังกล่าวไปขาย และเรียกร้องให้เราจ่ายค่าส่วนต่างที่เหลือให้ครบ2. ในกรณีที่เราอยากได้รถคืนก็ต้องกลับไปติดต่อที่บริษัทดังกล่าวและจ่ายค่างวด รวมทั้งเบี้ยปรับต่างๆ ให้ครบ หรือหากไม่ต้องการรถคันดังกล่าวแล้ว ก็รอจ่ายเงินส่วนต่างที่เหลือภายหลังบริษัทนำรถไปขาย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 179 รถมือสอง สภาพ(ภายนอก)เยี่ยม

ตาดีได้ตาร้ายเสีย สำนวนนี้คงใช้ได้ดีกับผู้ที่กำลังจะซื้อรถยนต์มือสอง เพราะหากเราเลือกผิดคันก็ต้องคอยตามซ่อมปัญหาจุกจิกต่างๆ จนพาให้เหนื่อยใจได้ ดังนั้นเพื่อป้องกันปัญหาการซ่อมถี่ ผู้ขับส่วนมากจึงมักทดลองขับก่อนตกลงซื้อ เพราะลำพังแค่คำโฆษณาจากผู้ขายอย่างเดียว ก็ไม่ได้รับประกันว่ารถจะดีจริง อย่างไรก็ตามหากเราเจอคันที่ชอบสุดๆ แต่เจ้าของเต็นท์ ไม่ยอมให้ทดลองขับ เราควรทำอย่างไรผู้ร้องรายนี้ถูกใจรถมือสอง ยี่ห้อ Nissan CEFIRO จากเต็นท์รถแห่งหนึ่งย่านลาดปลาเค้า 28 เมื่อพูดคุยสอบถามกับเจ้าของเต็นท์ก็ได้รับการโฆษณาว่า รถคันดังกล่าว อยู่ในสภาพดี เครื่องยนต์พร้อมใช้งาน ไม่ต้องซ่อมหรือทำอะไรเพิ่มเติมเลย ซึ่งหากต้องการรถก็เพียงแค่มัดจำไว้จำนวน 5,000 บาทเท่านั้นอย่างไรก็ตามก่อนมัดจำผู้ร้องต้องการทดสอบสภาพรถก่อน แต่เจ้าของเต็นท์กลับแจ้งว่า ไม่ให้มีการทดลองขับแต่อย่างใด ด้วยความที่ถูกใจรถคันดังกล่าว เพราะสภาพภายนอกดูดีสมคำบอกเล่าของเจ้าของ และเชื่อว่าสภาพภายในก็คงดีเช่นนั้นจริงๆ จึงตกลงมัดจำไว้ และมารับรถในไม่อีกกี่วันถัดมา ซึ่งเหตุการณ์ก็ไม่ได้เป็นไปอย่างที่คิด เพราะหลังจากขับรถคันดังกล่าวออกมาจากเต็นท์ไม่ถึง 500 เมตร ห้องเครื่องของรถส่งเสียงดังและสั่นสะเทือนแรงมาก ทำให้วิ่งกระตุกตลอดเวลา เมื่อโทรศัพท์ไปสอบถามเจ้าของก็ได้รับคำตอบว่า ให้ลองเติมน้ำมันกับแก๊สดูก่อน ซึ่งผู้ร้องก็ได้ทำตาม โดยเสียค่าน้ำมันและแก๊สไปจำนวน 1,000 และ 550 บาท ตามลำดับ อย่างไรก็ตามอาการของเครื่องยนต์ก็ยังคงเหมือนเดิม และรถก็เริ่มวิ่งต่อรอบต่ำมาก ขับได้ไม่เกิน 80 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ทั้งๆ ที่เป็นเครื่องยนต์ 3,000 ซีซี 6 สูบ  ผู้ร้องจึงโทรศัพท์กลับไปสอบถามเจ้าของเต็นท์รถคันดังกล่าวอีกครั้ง ซึ่งก็ได้แนะนำวิธีแก้ไขปัญหาว่า ให้ขับรถไปก่อน แล้วไปเปลี่ยนน้ำมันเครื่องกับน้ำมันเกียร์ ซึ่งหากอาการยังไม่ดีขึ้นค่อยโทรศัพท์ติดต่อกลับมาใหม่เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ ผู้ร้องจึงตัดสินว่าจะขอคืนรถคันดังกล่าว และโทรศัพท์ไปเลิกสัญญากับไฟแนนซ์ โดยให้เหตุผลว่า รถไม่อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานตามที่เจ้าของเต็นท์กล่าวอ้าง ต่อมาวันรุ่งขึ้นจึงนำรถเจ้าปัญหานี้กลับมาคืนที่เต็นท์ และขอเงินมัดจำจำนวน 5,000 บาทคืน แต่เจ้าของเต็นท์ดังกล่าวไม่ยอมคืนเงินให้ บอกเพียงว่าจะตรวจซ่อมให้เอง ผู้ร้องก็ตกลง ซึ่งหลังจากช่างประจำเต็นท์ตรวจสอบแล้วเรียบร้อย ก็ยังไม่สามารถหาสาเหตุได้ว่าอาการดังกล่าวเกิดจากอะไร แต่ก็ยังยืนยันที่จะไม่คืนเงินค่ามัดจำให้ ดังนั้นผู้ร้องจึงมาขอให้ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำให้ผู้ร้องทำจดหมาย ขอคืนรถยนต์กับทางเต็นท์พร้อมทั้งคืนเงินค่ามัดจำ เพราะมีการหลอกลวงผู้บริโภคด้วยการโฆษณาชวนเชื่อว่า รถอยู่ในสภาพดี พร้อมใช้ พร้อมให้ถ่ายรูปรถคันดังกล่าวเป็นหลักฐาน และแจ้งไปความลงบันทึกประจำวัน จากนั้นจึงนัดเจรจาไกล่เกลี่ย หลังการเจรจา ไม่สามารถตกลงกันได้ เพราะเจ้าของเต็นท์อ้างว่า รถคันดังกล่าวน่าจะหัวเทียนมีปัญหา ซึ่งน่าจะเกิดจากการล้างเครื่องแล้วน้ำเข้าไป หากเปลี่ยนหัวเทียนก็จะสามารถใช้งานได้ตามปกติ ซึ่งผู้ร้องเกิดความไม่ไว้วางใจเสียแล้ว จึงไม่ต้องการรถยนต์คันดังกล่าว ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์จึงแนะนำให้มีการฟ้องร้องดำเนินคดีต่อไป แต่ผู้ร้องพิจารณาแล้วเห็นว่าคดีอาจยืดเยื้อและเสียค่าใช้จ่ายมากกว่าเดิม จึงขอยุติเรื่อง โดยต้องจำใจเสียเงินให้กับกลโกงของเจ้าของเต็นท์รถรายนี้ไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 174 “จะตะคอกกันทำไม”

ทุกครั้งใช้บริการรถตู้สาธารณะ นอกจากจะคาดหวังให้เดินทางถึงที่หมายอย่างปลอดภัยแล้ว สิ่งหนึ่งที่ผู้โดยสารต้องการคือ กิริยามารยาทที่สุภาพของคนขับ ไม่ว่าจะเป็นการขับรถที่สุภาพ หรือแม้แต่การสนทนาอย่างสุภาพกับผู้โดยสาร เพราะนี่ถือเป็นคุณสมบัติขั้นพื้นฐานที่ผู้ให้บริการทั้งหลายพึงปฏิบัติเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อ ผู้ร้องเรียนขึ้นรถตู้โดยสารสาธารณะ ที่วิ่งระหว่างคลองรั้ง-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และได้ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้พิการทางสายตาอีกท่านหนึ่งด้วย โดยผู้พิการได้สอบถามเส้นทางขึ้นรถไฟฟ้า BTS สถานีที่ใกล้ที่สุด ซึ่งผู้ร้องอาสาจะพาไปส่ง ดังนั้นพอรถตู้มาถึงทางขึ้นสะพานสามเหลี่ยมดินแดง ผู้ร้องจึงบอกคนขับว่าขอลงป้ายประจำทาง โดยแจ้งความประสงค์ว่าจะพาผู้โดยสารรถตู้ที่เป็นผู้พิการทางสายตา ไปขึ้นบันไดเลื่อนตรงเกาะพญาไท อนุสาวรีย์ชัยเพื่อขึ้นรถไฟฟ้า BTS อย่างไรก็ตามเมื่อคนขับรถตู้ได้ยินดังนั้นก็บอกว่า จอดไม่ได้เพราะเป็นเขตห้ามจอด ทำให้ผู้ร้องแจ้งว่าปกติที่โดยสารรถตู้มาอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ สามารถลงบริเวณนี้ได้ พอได้ยินเช่นนั้นคนขับจึงแสดงอารมณ์โมโห และกล่าววาจาฉุนเฉียว เกรี้ยวกราดเสียงดังว่า “ถ้ากูจอดมึงจะเสียค่าปรับ 500 ให้กูใช่ไหม เป็นพ่อกูหรือจะมาบังคับกู” แม้ผู้ร้องจะพยายามอธิบายต่อไปว่าไม่ได้มีเจตนาบังคับ แต่ถ้าจอดตรงนี้ก็จะทำให้ผู้โดยสารที่เป็นผู้พิการทางสายตา ได้รับความสะดวกในการขึ้นรถไฟฟ้า อีกทั้งปกติรถตู้คันอื่นก็จอดบริเวณนี้จริงๆ แต่คนขับก็ไม่ได้รับฟังเหตุผลพร้อมกับพูดจาต่อว่า และท้าทายให้ผู้ร้องดำเนินการร้องเรียนกับหน่วยงานใดก็ได้ โดยแจ้งชื่อเล่นของตนเองให้อีกด้วย จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ผู้ร้องเห็นว่าเป็นการกระทำและการให้บริการที่ไม่ดี ต่อผู้ร้องและผู้พิการทางสายตา รวมทั้งบุคคลอื่นๆ ภายในรถตู้ดังกล่าวด้วย จึงขอให้มีบทลงโทษต่อกรณีนี้ และมาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางการแก้ไขปัญหาเมื่อทางศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ได้รับเรื่อง จึงดำเนินการร้องเรียนไปยังอธิบดีกรมการขนส่งทางบก เพื่อขอให้ตรวจสอบปัญหาดังกล่าว และพิจารณาดำเนินการลงโทษตาม พ.ร.บ.ขนส่งทางบก 2522 เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคและรักษาภาพพจน์ที่ดีขององค์กรหรือหน่วยงานต่อไป ซึ่งกรมการขนส่งทางบกก็ ได้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง และพบว่าพนักงานขับรถคันดังกล่าวมีความผิดฐานไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานการบริการ โดยแสดงกิริยาวาจาไม่สุภาพจริง เจ้าหน้าที่ฝ่ายเปรียบเทียบจึงได้มีการเรียกเจ้าของรถตู้มาตักเตือน พร้อมปรับเงินเป็นจำนวน 1,000 บาท

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 173 รถตู้ 100% ขับเร็วกว่ากฎหมายกำหนดจริงหรือ?

อุบัติเหตุจากรถโดยสารสาธารณะ  โดยเฉพาะ”รถตู้” ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างดีคือ  สะดวกสบาย  ออกตรงเวลา  ไม่แวะกลางทาง ถึงที่หมายในเวลาที่ชัดเจน รถตู้จึงได้รับความนิยมจากผู้ใช้บริการอย่างรวดเร็ว  ส่งผลให้วินรถตู้เพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว สิ่งที่ตามอย่างเห็นได้ชัดคือ   อุบัติเหตุจากรถตู้โดยสารสาธารณะก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน   สมาคมผู้บริโภคภาคตะวันตก  จึงได้ทำการสุ่มสำรวจความพึงพอใจในการใช้บริการรถตู้ โดยสุ่มสำรวจจากผู้ใช้บริการทั้งหมด 26 วิน วินละ 10 คน  รวมเป็นจำนวนผู้ให้ข้อมูลทั้งหมด 260 คน พื้นที่สำรวจ 3 จังหวัด คือ  1.จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (18 วิน ) 2.จังหวัดกาญจนบุรี (12 วิน)  3. สุพรรณบุรี (6 วิน)  เชื่อไหมว่า เราพบประเด็นที่น่าตกใจ จากคำถาม “ท่านเคยพบรถตู้ที่ท่านนั่งขับเร็วเกินกฎหมายกำหนดหรือไม่” คำตอบคือ  80% ของ 180 คน  (สุพรรณบุรี และกาญจนบุรี) พบรถตู้ขับเร็วเกินกฎหมายกำหนด  และ 100%  ของ 180 คน (จังหวัดประจวบฯ)  ซึ่งผลสำรวจนี้ยังสอดคล้องกับข้อมูลสถิติของกรมการขนส่งทางบก   ที่แจ้งว่ารถตู้โดยสาธารณะจังหวัดประจวบฯ เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด โดยพื้นที่ที่มักจะเกิดอุบัติเหตุ คือบริเวณจังหวัดเพชรบุรี      แม้จำนวนผู้ใช้บริการที่สำรวจครั้งนี้จะมีจำนวนไม่มาก  แต่ผลการสำรวจครั้งนี้ ก็น่าจะทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรจะต้องลุกขึ้นมาทำอะไรที่มากกว่าที่ทำอยู่ขณะนี้  เพราะผล 100% ที่ระบุว่า มีการขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด  บอกได้หลายมิติ  ทั้งความหย่อนยานของผู้มีหน้าที่ตรวจสอบ  และกำกับดูแล  และสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ  รวมถึงความรุนแรงของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น   เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค และลดจำนวนอุบัติเหตุ   ต้องบอกว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องทำหน้าที่รวดเร็วขึ้น เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุซ้ำซาก  มิใช่ปล่อยให้ผู้บริโภคต้องเสี่ยงชีวิตทุกครั้งที่ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ  ที่ตามมาด้วยการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 173 “เมื่อรถใหม่ ไม่ใหม่อย่างที่คิด”

ปัญหารถยนต์ใหม่ป้ายแดงกลับมาอีกแล้ว หลังผู้บริโภคถอยมาได้สองวันแล้วขับไปเที่ยวต่างจังหวัดพร้อมครอบครัว แต่ดันเกิดอุบัติเหตุยางระเบิดเสียหลักบนทางด่วน เป็นเหตุให้ได้รับบาดเจ็บสาหัสทั้งครอบครัว หลังสอบถามไปยังบริษัทรถยนต์ดังกล่าว กลับปฏิเสธว่ารถยนต์มีปัญหา อ้างเป็นเพราะปัจจัยแวดล้อม แม้ผู้บริโภคจะมีทางเลือกมากมายในการซื้อสินค้าและใช้บริการต่างๆ แต่ความเสี่ยงในการเลือกซื้อสินค้าต่างๆ เหล่านั้นกลับไม่ได้ลดลงเท่าไรนัก เพราะ เราก็ไม่มีทางรู้ได้ว่า สินค้าที่เราเลือกไว้อย่างดีแล้วนั้น จะดีจริงตามที่เราคิดไว้หรือไม่ เนื่องจากสินค้าเหล่านั้นอาจมีความชำรุดบกพร่องอันเนื่องมาจากขาดการตรวจสอบคุณภาพจากผู้ผลิต หรือผ่านการตรวจสอบแต่ไม่พบข้อบกพร่องในขั้นตอนการผลิต ซึ่งผู้บริโภคไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีความชำรุดบกพร่อง หรือมีคุณภาพตามที่ได้ระบุไว้หรือไม่ รวมถึงการบริการต่างๆ ของผู้ประกอบการที่ไม่ได้เป็นไปตามสัญญา ล้วนส่งผลให้ผู้บริโภคตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ ได้รับสินค้าที่ชำรุดบกพร่องหรือไม่เป็นไปตามโฆษณา เหมือนกรณีของคุณสุชาติที่เกือบได้รับอันตรายถึงชีวิตคุณสุชาติและภรรยาเข้ามาร้องเรียนหลังจากซื้อรถยนต์ใหม่ป้ายแดงยี่ห้อ เชฟโรเลต รุ่นสปิน (Chevrolet Spin) มาได้ 2 วัน แล้วเกิดอุบัติเหตุยางระเบิด ทำให้ทั้งครอบครัวที่โดยสารไปด้วยกันวันนั้นได้รับบาดเจ็บสาหัส โดยเมื่อทางบริษัทรถยนต์นำยางรถดังกล่าวไปตรวจสอบกลับพบว่า ยางไม่มีความผิดปกติใดๆ จึงปฏิเสธว่าสาเหตุไม่ได้เกิดจากยางรถยนต์ของบริษัท หากแต่เป็นเพราะปัจจัยภายนอกอื่นๆ มากกว่า เช่น ผู้ร้องขับรถยนต์ไปทับตะปูหรือก้อนหินขนาดใหญ่ ทั้งๆ ที่ในวันเกิดเหตุกำลังขับรถอยู่บนเส้นทางด่วนบูรพาวิถี ไม่มีก้อนหินใหญ่ใดๆ รวมทั้งอากาศปลอดโปร่ง ไม่มีปัจจัยใดที่ทำให้ยางระเบิดได้แน่นอน อย่างไรก็ตามหลังจากผู้ร้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล ก็ได้ให้ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้นำยางรถยนต์ที่เหลือไปตรวจสอบ ซึ่งผลปรากฏว่ายางรถที่เหลือทั้ง 3 ล้อเป็นยางเก่าทั้งหมด ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิ์จึงแนะนำให้ผู้ร้องติดต่อไปยังบริษัทประกันภัยและเจ้าหน้าฝ่ายขายของรถยนต์ (ไฟแนนซ์) เพื่อทำหนังสือยกเลิกสัญญาเช่าซื้อ หรือการจ่ายค่างวดรถยนต์ เพราะ ตั้งแต่เกิดเรื่องผู้ร้องก็ไม่ได้มีการใช้รถ แต่ว่าต้องจ่ายค่าเช่ามาเป็นระยะเวลา 2 เดือนแล้ว อย่างไรก็ตามไฟแนนซ์ก็ได้ปฏิเสธโดยอ้างว่าเป็นเพียงผู้ให้กู้ยืมเงินไม่เกี่ยวกับกับการซื้อรถยนต์ และไม่ยอมให้ยกเลิกเพียงแต่ให้ชะลอการจ่ายค่างวดแทน ต่อมาก็ได้แนะนำให้ผู้ร้องใช้ประกันภาคสมัครใจชั้น 1 คุ้มครองรถยนต์ที่เสียหาย โดยให้ช่วยตรวจสอบว่ารถยนต์มีความผิดปกติอย่างไรจึงทำให้เกิดอุบัติเหตุดังกล่าวขึ้นแนวทางการแก้ไขปัญหาสำหรับกรณีนี้นอกจากผู้ร้องจะได้เข้ามาร้องเรียนที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แล้ว ยังได้มีการดำเนินคดีฟ้องร้องต่อศาล โดยหลังจากการเจรจากับอัยการก็ได้ข้อเสนอ 2 ข้อดังนี้ 1. ให้ทางบริษัทรถยนต์ เชฟโรเลต รับรถคืนไปและช่วยเหลือเงินชดเชยค่างวดที่ผู้ร้องได้เสียไปก่อนหน้านี้ ได้แก่ ค่าดาวน์รถยนต์และค่าเช่าซื้อ พร้อมขอให้ผู้ร้องได้รับส่วนลดพิเศษสำหรับการซื้อรถยนต์ยี่ห้อ เชฟโรเลต คันใหม่ หรือ 2. ทางบริษัทรถยนต์ เชฟโรเลต และศูนย์บริการซ่อมรถคันดังกล่าวให้เหมือนเดิม พร้อมช่วยเยียวยาค่าเสียหายและค่าเช่าซื้อจนกว่ารถยนต์นั้นจะซ่อมเสร็จ และหารถยนต์คันใหม่ให้ผู้ร้องใช้งานจนกว่าจะได้รถยนต์คืนหลังจากบริษัทรถยนต์ เชฟโรเลต นำข้อเสนอกลับไปพิจารณาก็ได้แจ้งกับผู้ร้องว่า บริษัทประกันภัยรถยนต์ตกลงที่จะรับซื้อซากรถ และทางบริษัทรถยนต์ เชฟโรเลต จะให้การช่วยเหลือส่วนหนึ่งเพื่อให้ผู้ร้องขาดทุนน้อยลง ส่วนทางไฟแนนซ์ก็จะยกเว้นค่าเบี้ยปรับให้ ด้านฝ่ายผู้ร้องเมื่อเห็นว่าทุกฝ่ายมีความเต็มใจที่จะให้การช่วยเหลือ จึงตกลงรับข้อเสนอและยุติเรื่องแต่เพียงเท่านี้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 169 ความคืบหน้ากรณี รถทัวร์ตกเหว แล้วหลอกให้ผู้เสียหายทำยอมรับเงิน

ความคืบหน้าหลังการฟ้องคดี จากเสียงผู้บริโภค ฉบับที่ 165 ตอน บริษัทประกัน หลอกผู้เสียหาย ทำยอมรับเงิน เหตุรถทัวร์ตกเหว ครับจากเหตุการณ์ ที่กลุ่มชาวบ้านผู้สูงอายุ จากหมู่บ้านแม่สะลาบและหมู่บ้านบุปผาราม ตำบลชมพู อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ได้ร่วมกันเหมารถยนต์โดยสารรับจ้างจำนวน 3 คัน เพื่อไปทำบุญทอดกฐินที่วัดใหม่สามัคคีธรรม จังหวัดลำปาง ครั้นเมื่อทำบุญเสร็จแล้ว และกำลังเดินทางกลับจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อมาถึงบริเวณเส้นทางถนนสายพะเยา – วังเหนือ มุ่งหน้าไปยังอำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นทางลาดลงเขา รถยนต์โดยสารคันที่ 2 ที่ขับรถมาด้วยความเร็ว ได้เสียหลัก ก่อนจะพุ่งใส่ราวสะพานเหล็กกั้นริมถนน ชนเข้ากับต้นไม้ใหญ่หักโค่น หลังคารถฉีกขาด รถพลิกคว่ำพุ่งดิ่งลงเหวลึก มีผู้เสียชีวิตทันที 22 คนและบาดเจ็บ 17 คน นั้นหลังเกิดเหตุ ตัวแทนบริษัทผู้ประกอบการรถยนต์โดยสารและตัวแทนบริษัทประกันภัยได้เข้าเยี่ยมดูแลผู้เสียหายทั้งหมดด้วยความปรารถนาดี พร้อมมอบของขวัญอันล้ำค่าที่ไม่ลืมเลือนให้กับผู้เสียหายที่บาดเจ็บและญาติผู้เสียชีวิตแต่ละราย ด้วยการจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทน พร้อมสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยที่ตัวแทนบริษัทประกันภัยดังกล่าวไม่ได้อธิบายถึงข้อเสียของการทำสัญญาประนีประนอมให้กับผู้เสียหายแต่อย่างใด ว่าเมื่อผู้เสียหายรับเงินและลงชื่อรับเงินไปแล้วจะเสียสิทธิในการเรียกร้องค่าเสียหายต่างๆ เพิ่มเติมจากผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นคนขับ เจ้าของรถ หรือบริษัทประกันภัยทันทีจากกรณีดังกล่าว ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ร่วมกับ ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพจังหวัดเชียงใหม่ และมูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา ในการลงพื้นที่รวบรวมข้อเท็จจริงและให้ความช่วยเหลือทางคดีเพื่อเรียกร้องสิทธิที่ถูกละเมิดและถูกหลอกลวงจากข้อมูลของบริษัทประกันภัย จึงได้ยื่นฟ้องนายวิวัฒน์ โนชัย , ห้างหุ้นส่วนวีระพันธ์ทัวร์แอนด์ทราเวล , นายวีระพันธ์ เหลืองทอง , บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด มหาชน และ บริษัท สหมงคลประกันภัย จำกัด มหาชน เป็นคดีผู้บริโภค จำนวน 26 คดี ต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2557 ศาลจังหวัดเชียงใหม่ นัดพิจารณาคดีครั้งแรก ในวันที่ 23 ธันวาคม 2557   และ 16 มกราคม 2558  ตามลำดับ โดยในวันนัดดังกล่าวคู่ความทั้งหมดประกอบด้วยผู้เสียหายที่เป็นโจทก์ทั้ง 26 คดี และจำเลยทั้งห้ามาศาล เพื่อเจรจาไกล่เกลี่ย แต่คู่ความทั้งสองฝ่ายเจรจากันไม่ได้ เนื่องจากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าของรถแถลงต่อศาลว่าไม่มีเงินเพียงพอที่จะจ่ายตามที่โจทก์ทั้ง 26 คดีเรียกร้องได้ และให้เป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 4 บริษัทประกันภัยให้จ่ายค่าเสียหายแทน  ส่วนจำเลยที่ 4 และที่ 5 ในฐานะบริษัทประกันภัยรถยนต์คันเกิดเหตุ ก็ออกตัวชัดเจนว่าได้จ่ายเงินตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้กับผู้เสียหายและทายาททั้งหมดแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องจ่ายเพิ่มให้อีกแต่อย่างใด  เมื่อคดีไม่สามารถเจรจาตกลงกันได้ ศาลจึงกำหนดให้นัดสืบพยานเพื่อไม่ให้คดีล่าช้าโดยศาลใช้กระบวนพิจารณาคดีแบบกลุ่ม คือ รวมทั้ง 26 คดีเป็นคดีเดียวกัน โดยให้สืบโจทก์แต่ละคดีให้เสร็จสิ้นก่อน ค่อยให้จำเลยทั้งห้าสืบแก้ แต่ในระหว่างการสืบพยานโจทก์  คู่ความทั้งสองฝ่ายได้เจรจาไกล่เกลี่ยกันโดยตลอดซึ่งภายหลังการสืบพยานโจทก์ได้ 10 วัน  จำเลยที่ 2 และ 3 เสนอเงื่อนไขการเจรจา ยินยอมชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้ง 26 คดี เป็นเงินจำนวนหนึ่ง และจำเลยที่ 4 ในฐานะผู้รับประกันภัยภาคสมัครใจของรถยนต์คันเกิดเหตุ เสนอเงื่อนไขการเจรจา ช่วยเหลือชำระค่าเสียหายเพิ่มเติมให้กับโจทก์ที่บาดเจ็บตามการเรียกร้องของแต่ละคนอีกจำนวนหนึ่ง (สำหรับกรณีคนที่เสียชีวิตนั้น จำเลยที่ 4 ไม่ได้จ่ายเพิ่ม เนื่องจากเต็มวงเงินตามหน้ากรมธรรม์ประกันภัยแล้ว)  โจทก์ทั้ง 26 เห็นชอบด้วยกับเงื่อนไขของจำเลยดังกล่าว จึงยอมรับและยินยอมถอนฟ้องจำเลยทั้งหมดในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ผ่านมาหลังคดีสิ้นสุด จำเลยที่ 3 เจ้าของรถ ได้แถลงต่อหน้าศาลแสดงความเสียใจและขออโหสิกรรมในความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด และผู้เสียหายทุกคนไม่ติดใจ ยินยอมอโหสิกรรมให้ตามที่จำเลยที่ 3 แถลง คดีจึงยุติลงด้วยดีบทสรุปของคดีนี้ หากมองถึงเรื่องจำนวนเงินที่โจทก์แต่ละคนได้รับแล้ว อาจจะไม่สมหวังเท่าใดนัก เหตุเพราะคดีนี้มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้เรื่องจำนวนเงินค่าเสียหายไม่ใช่ประเด็นสำคัญสำหรับการฟ้องคดี  อาทิ เจ้าของรถไม่มีเงินเพราะเป็นผู้ประกอบการรายย่อย และผู้เสียหายเกือบทุกคนถูกบิดเบือนข้อมูลหลอกให้รับเงินทำสัญญาประนีประนอมยอมความแต่หากมองถึงเรื่องกระบวนการต่อสู้ของผู้เสียหายทุกคนที่ ร่วมมือ ร่วมแรงร่วมใจ ในการเรียกร้องสิทธิ รวมถึงขั้นตอนการฟ้องคดี ที่ชาวบ้านผู้เสียหายทั้งหมดได้เรียนรู้โดยตรง ในการเจรจาไกล่เกลี่ย และการรวมคดีเพื่อพิจารณาแบบกลุ่มนั้น ต้องถือว่าประสบความสำเร็จอย่างสูงและที่สำคัญ ผู้เสียหายทุกคน รู้ตัวเองดีว่าโอกาสที่จะได้รับค่าเสียหายได้ยาก เพราะถูกสัญญาประนีประนอมยอมความปิดปากไว้แล้ว แต่ทุกคนก็ไม่ยอมแพ้ ไม่มีถอย พร้อมที่จะสู้ เพราะทุกคนต้องการปกป้องสิทธิของตนเอง ต้องการฟ้องคดีเพื่อให้เป็นประเด็นสาธารณะ  เป็นตัวอย่างให้กับจังหวัดเชียงใหม่เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อการนำไปสู่การพัฒนามาตรฐานสัญญารถเช่าต่อไปกรณีนี้ ถือเป็นกรณีตัวอย่างอีกเรื่องหนึ่งที่จะเป็นบทเรียนให้กับผู้บริโภครายอื่นๆ ได้เรียนรู้ได้ว่า อย่าเพิ่งยอมแพ้กับสิ่งที่ยังไม่เกิด แม้จะมีปัญหาและอุปสรรคขวางอยู่ข้างหน้า ขอให้เราได้เริ่ม รับรองมีทางออกแน่นอน...  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 167 เมื่อคดีสิ้นสุดแล้ว จำเลยไม่จ่ายก็ต้องยึด(ทรัพย์)

ความสูญเสียที่เกิดจากอุบัติเหตุรถโดยสารยังมีให้เห็นกันไม่หยุดหย่อน แต่ละเหตุการณ์มีทั้งคนเจ็บคนตาย หลายเรื่องเมื่อเกิดเหตุขึ้นแล้วก็เงียบไป เพราะอาจจะตกลงกันได้ หรือไม่ติดใจเอาความ แต่อีกหลายเรื่องก็ต้องฟ้องคดีกัน บางคดีต้องใช้เวลานาน ถึงชนะแล้วก็ยังไม่ได้เงินชดเชยเยียวยาก็มี และกรณีนี้ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความยากลำบากของผู้ประสบเหตุที่นอกจากจะต้องสูญเสียคนที่รัก คนที่สำคัญของครอบครัวไปแล้ว กระบวนการยุติธรรม การชดเชยเยียวยาก็ล่าช้า ไม่เป็นธรรมสำหรับผู้ที่เสียหายเลย...จากกรณีที่ นางสาวภัทราพร ได้โดยสารรถร่วม บขส. ปรับอากาศ ชั้น 2 (ป.2) คันหมายเลขทะเบียน 10-6539 นครราชสีมา เส้นทางสายนครราชสีมา-อุดรธานี-ขอนแก่น-ศรีเชียงใหม่ ที่นายทองใบ ศรีโนรักษ์ เป็นผู้ขับขี่ เพื่อเดินทางไปสมัครงานหลังเรียนจบ แล้วรถเกิดอุบัติเหตุ ยางล้อหลังข้างซ้ายระเบิด ผู้ขับขี่ไม่สามารถบังคับรถให้ทรงตัวอยู่ได้ ทำให้รถเสียหลักตกลงไปในร่องกลางถนน เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตทันที 5 ศพ และมีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมากหลังเกิดเหตุ ญาติผู้เสียชีวิตได้เข้าเจรจาไกล่เกลี่ยค่าสินไหมทดแทนจากตัวแทนบริษัท แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ มีการท้าทายถ้าอยากได้มากกว่านี้ให้ไปฟ้องเอา...คดีจึงต้องไปว่ากันที่ศาล โดยนางปุ่น ชุ่มพระ ได้มาขอความช่วยเหลือจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคในการช่วยเรียกร้องค่าเสียหายในส่วนนี้ และมูลนิธิฯ ได้จัดหาทีมกฎหมายเข้าช่วยเหลือทางคดี โดยฤกษ์ดีวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2555  ได้เข้ายื่นฟ้องนายทองใบ ศรีโนรักษ์ ผู้ขับขี่ ,  บริษัท ประหยัดทัวร์, นายอุบล เมโฆ เจ้าของรถ, บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) และบริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด เป็นคดีผู้บริโภค ฐานผิดสัญญารับ-ส่งคนโดยสาร เรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 7,342,249 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันเกิดเหตุ จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คดีนี้ศาลใช้เวลาพิจารณาคดี 7 เดือน และในวันที่ 26 กันยายน 2555 ศาลชั้นต้นมีพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมชดเชยเงิน 1,370,540 บาท ให้กับนางปุ่น ชุ่มพระ มารดาผู้เสียชีวิต เนื่องจากนายทองใบ ผู้ขับขี่ให้การรับสารภาพในคดีอาญา และถูกพิพากษาว่าขับรถโดยประมาท ต้องรับผิดชอบความเสียหายในทางแพ่งด้วย อีกทั้งพฤติการณ์ของจำเลยขับรถด้วยความประมาท ปราศจากความระมัดระวังด้วยความเร็วสูง เสียหลักออกไปนอกเส้นทางเดินรถ จนไม่สามารถบังคับรถได้ ทำให้รถเสียหลักพลิกคว่ำตะแคงซ้ายอย่างรุนแรง ทำให้ผู้ตายเสียชีวิตในทันที และเหตุที่เกิดขึ้นไม่ถือว่าเป็นความผิดของผู้ตาย เพราะจำเลยย่อมรู้ว่าสภาพรถไม่ปลอดภัย ควรดูแลรักษาอุปกรณ์ ส่วนควบ ให้อยู่ในสภาพปกติก่อนนำออกใช้ อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจึงเป็นความผิดของจำเลยที่ 1, 3 และ 4 ต้องร่วมรับผิดชอบ (ส่วนจำเลยที่ 5 บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด ได้จ่ายค่าสินไหมในระหว่างพิจารณาคดีจนครบตามกรมธรรม์แล้ว จึงมีคำสั่งให้ถอนฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 5 ได้)ผลของคดีเหมือนจะจบลงด้วยดี หากฝ่ายจำเลยยอมรับคำตัดสินของศาล แต่กรณีนี้ไม่ใช่ นายทองใบ ศรีโนรักษ์ จำเลยที่ 1  ผู้ขับขี่ และ บริษัท ขนส่ง จำกัด จำเลยที่ 2 ผู้ให้สัมปทานรถร่วม ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลอุทธรณ์เวลาผ่านไปอีก 22 เดือน นับแต่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา โดยในวันที่ 18 กรกฎาคม 2556 ศาลอุทธรณ์ก็มีคำพิพากษายืนข้อเท็จจริงตามศาลชั้นต้น แต่แก้ในส่วนของค่าเสียหายให้ จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันชำระเงินให้แก่โจทก์เป็นเงินจำนวน 1,150,540  บาท ของต้นเงินจำนวน 140,540 บาท นับแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2554 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์ 10,000 บาทแทนโจทก์ด้วย ทั้งนี้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ไม่ได้ยื่นขออนุญาตฎีกาต่อศาลฎีกา จึงทำให้คดีนี้ถึงที่สุดตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 49 บัญญัติไว้ว่า “ การพิจารณาพิพากษาคดีผู้บริโภคในศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคหรือศาลอุทธรณ์ภาคแผนกคดีผู้บริโภคต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว ทั้งนี้ตามข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาภายใต้การบังคับมาตรา 52 คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคและศาลอุทธรณ์ภาคแผนกคดีผู้บริโภคให้เป็นที่สุด ”อ่านกันถึงตรงนี้แล้ว หลายคนคงคิดว่าจำเลยคงยอมจะจ่ายเงินตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์อย่างแน่นอน โดยโจทก์ไม่ต้องรออีกต่อไป แต่ผ่านไปอีก 17 เดือน ฝ่ายจำเลยก็นิ่งเงียบไม่ยอมจ่าย แม้โจทก์จะยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อออกคำบังคับและออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว ฝ่ายจำเลยก็ยังเงียบกริบเหมือนไม่รับรู้อะไรทั้งสิ้นดังนั้นในวันที่ 17  พฤศจิกายน 2557 นางปุ่น ชุ่มพระ จึงต้องตัดใจยื่นเรื่องตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีต่อกรมบังคับคดี เพื่อดำเนินการยึดทรัพย์ของจำเลย ชดใช้หนี้ตามคำพิพากษาในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2557  โดยในวันดังกล่าวนางปุ่น ชุ่มพระ พร้อมเจ้าพนักงานบังคับคดี ได้เข้ายึดทรัพย์ บริษัท ขนส่ง จำกัด จำเลยที่ 4 ในคดี เพื่อรับการชำระหนี้จำนวน 1,190,066 บาท ซึ่งบริษัท ขนส่ง จำกัด ก็ยินยอมชำระหนี้เป็นเช็คเงินสดของธนาคารกรุงไทยให้แต่โดยดี แม้จะใช้เวลานานไปบ้างในขั้นตอนการออกเช็คก็ตามนับเป็นการสิ้นสุดคดีความและการรอคอยการจ่ายค่าสินไหม รวมเวลานับแต่เกิดเหตุจนคดีสิ้นสุดได้รับการชำระค่าเสียหายเป็นเวลา 45 เดือน ซึ่งกรณีนี้สะท้อนให้เห็นได้ถึงความล้มเหลวของกระบวนการชดเชยเยียวยาต่อผู้บริโภคที่เสียหาย ที่ต้องรอการพิสูจน์ถูกผิดและใช้เวลานาน โดยจำเลยที่เป็นหน่วยงานรัฐจะไม่ยอมจ่ายค่าเสียหายเลย หากคดีไม่ถึงที่สิ้นสุด รวมถึงความอ่อนแอของขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรมและการบังคับคดี เนื่องจากจำเลยยังมีช่องทางเพื่อประวิงเวลาการชดใช้ค่าเสียหายได้มารดาของ นางสาวภัทราพร กล่าวว่า “ดีใจที่เรื่องนี้จบซะที แม้ว่าวันนี้จะไม่ได้ชีวิตลูกสาวกลับคืนมา ซึ่งไม่มีอะไรชดใช้ได้ก็ตาม แต่ก็สะท้อนให้เห็นว่าเมื่อเกิดเหตุในลักษณะทำนองนี้ นอกจากคนขับแล้ว ผู้ประกอบการ และผู้ที่เกี่ยวข้อง ต้องร่วมกันรับผิดชอบด้วย อยากขอให้เป็นบทเรียนให้ทุกฝ่ายระมัดระวัง โดยเฉพาะเจ้าของรถก่อนจะออกจากสถานีก็ควรตรวจสอบรถโดยสารให้มีสภาพพร้อมใช้งาน เพราะชีวิตของผู้โดยสารฝากไว้ที่คุณแล้ว ดิฉันมีลูกแค่คนเดียว ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังทำใจไม่ได้เพราะลูกคือความหวังของชีวิต”  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 165 บริษัทประกัน หลอกผู้เสียหายทำยอมรับเงิน เหตุรถทัวร์ตกเหว

เรื่องราวของอุบัติเหตุรถโดยสารมีให้เห็นกันแทบทุกวัน ไม่ว่าคุณจะเดินทางไปไหน ไปทำงาน ทำบุญ หรือจะไปที่ไหนก็แล้วแต่  ไม่ว่าจะเป็นรถตู้ รถแท็กซี่ รถเมล์ หรือรถทัวร์โดยสาร ก็เกิดกันได้ทุกครั้งที่เกิดอุบัติเหตุ สิ่งที่ตามมาก็คือ มีผู้บาดเจ็บล้มตาย ความเสียหายเกิดขึ้นกับชีวิตและทรัพย์สินของคนที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก ที่แย่กว่านั้นหากเป็นรถโดยสารที่เจ้าของรถหรือบริษัทประกันภัย ไม่มีความรับผิดชอบ หรือประวิงเวลาในการจ่ายค่าสินไหมทดแทน ปัญหาดังกล่าว จะยิ่งทำให้ผู้ประสบเหตุได้รับความเดือดร้อนมากขึ้นทั้งนี้เมื่อเกิดเหตุขึ้น หน่วยงานแรกๆ ที่ต้องเข้าถึงตัวผู้เสียหายเพื่อจัดการเรื่องค่าสินไหมทดแทน คือ บริษัทประกันภัยที่รับทำประกันภัยไว้กับรถยนต์คันเกิดเหตุ(ประกันภัยภาคสมัครใจ)  ซึ่งเป็นที่รู้กันว่า หากบาดเจ็บ ไม่ว่าเจ็บน้อยหรือเจ็บสาหัสมากแค่ไหน แต่ถ้าไม่ถึงกับตาย การได้ค่าสินไหมจากบริษัทประกันภัยนั้นจะเป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะบริษัทประกันภัยมีเทคนิคมากมาย ที่จะจ่ายค่าสินไหมให้น้อยกว่าความเสียหายที่เกิดขึ้น  ผู้เสียหายหลายรายบ่นกับเจ้าหน้าที่มูลนิธิฯว่า “บางครั้งเวลาเจรจาค่าเสียหาย รู้สึกเหมือนตัวเองกำลังขอเงินเขาใช้ยังไงยังงั้น ทั้งที่เราเป็นคนเจ็บแท้ๆ แต่บริษัทประกันภัยกลับมาต่อรองเราครึ่งๆ เหมือนซื้อของกัน เขายังเห็นเราเป็นคนอยู่รึเปล่า อยากรู้จริงๆ”เมื่อผู้เสียหายต้องการมากเพราะเจ็บ แต่บริษัทประกันภัยต้องการจ่ายน้อยเพราะไม่อยากเสียเงินเยอะ  หลายรายจึงไม่สามารถตกลงกันได้ ขณะที่บางรายต้องจำยอมรับเงินเพียงบางส่วนเพื่อเป็นค่ารักษาพยาบาล  และมีอีกหลายรายที่รู้ไม่ทันเกมของบริษัทประกัน ทำให้ต้องยอมรับค่าสินไหมทดแทนไปแบบ งงๆ มารู้ตัวอีกทีก็สายไปเสียแล้ว  และเรื่องราวต่อนี้ ก็เป็น 1 ในอีกหลายๆ เหตุการณ์ของความสูญเสียที่ไม่ได้เกิดเป็นเรื่องแรก แต่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกของอุบัติเหตุรถยนต์โดยสาร ที่รอวันแก้ไขอย่างจริงจังจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง…. เช้ามืดวันที่  23 ตุลาคม 2556  เวลา 5.00 น.   กลุ่มชาวบ้านผู้สูงอายุจำนวนกว่า 120 คน จากหมู่บ้านแม่สะลาบและหมู่บ้านบุปผาราม ตำบลชมภู อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่  ได้ร่วมกันจ้างเหมารถยนต์รับจ้างจำนวน 3 คัน  เพื่อไปทำบุญทอดกฐินที่วัดใหม่สามัคคีธรรม บ้านวังเจริญ ตำบลวังแก้ว อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง ครั้นเมื่อทำบุญทอดกฐินและท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆมาทั้งวันแล้ว ในเวลาประมาณ 18.00 น. ขณะที่คณะกำลังเดินทางกลับบ้านที่จังหวัดเชียงใหม่   โดยรถยนต์โดยสารทั้ง 3 คัน ขับเรียงกันมาตามเส้นทางถนนสายพะเยา-วังเหนือ มุ่งหน้าไปยังอำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อรถยนต์ขับมาถึงบริเวณ หมู่ที่ 2 ตำบลวังทอง อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง ซึ่งเป็นทางโค้งลาดลงเขารถยนต์โดยสารคันแรกเริ่มมีอาการกระตุก คนขับรถจึงได้หยุดจอด และพูดคุยกับคนขับรถคันที่ 2 ที่ขับตามมาว่า รถเบรกมีปัญหาเอาไม่อยู่ ให้รถที่ตามมาแซงไปก่อน เมื่อรถที่ตามมาแซงล่วงหน้าไปแล้ว ผู้สูงอายุที่นั่งด้านหน้าติดกับคนขับได้ยินก็ถามคนขับว่าจอดรถทำไมรถมีปัญหาหรือเปล่า คนขับรถตอบว่าไม่มีอะไรก่อนจะออกตัวขับรถยนต์โดยสารต่อไปหลังจากรถออกไป 5 – 10 นาที โดยประมาณ ผู้สูงอายุที่นั่งในรถก็เริ่มรู้สึกว่ารถแล่นเร็วผิดปกติจนไม่สามารถควบคุมรถได้ และผู้โดยสารทางด้านท้ายรถเริ่มได้กลิ่นเหม็นน้ำมัน มีผู้โดยสารที่ไม่ได้นอนหลับ (ตอนหลังเสียชีวิต) ได้ตะโกนบอกให้คนขับจอดรถ แต่คนขับไม่ยอมจอด รถเริ่มส่ายไปมา ก่อนที่จะมีเสียงตะโกนว่ารถจะคว่ำแล้ว ไม่กี่อึดใจ รถก็พุ่งใส่ราวสะพานเหล็กกั้นริมถนน ชนเข้ากับต้นไม้ใหญ่หักโค่น หลังคารถฉีกขาด รถพลิกคว่ำพุ่งดิ่งลงเหวลึกด้านล่างประมาณ 100 เมตร มีผู้เสียชีวิตที่กระเด็นออกนอกรถและถูกร่างทับกันตายเป็นจำนวนมาก  หลังเกิดเหตุจึงทราบว่ามีผู้เสียชีวิต 22 คน และบาดเจ็บ 17 คน นับเป็นการสูญเสียครั้งสำคัญของชาวอำเภอสารภี ที่หลายคนเป็นพี่น้อง ญาติ สามีภรรยา พ่อแม่และลูก ส่วนคนขับอาศัยช่วงชุลมุนกระโดดออกจากรถก่อนตกเหวเอาตัวรอดไปได้แต่เรื่องยังไม่จบ เคราะห์ซ้ำกรรมซัด ญาติพี่น้องล้มตายบาดเจ็บยังไม่พอ หลังเกิดเหตุ ผู้บาดเจ็บและญาติผู้เสียชีวิต ยังถูกเจ้าของรถปฏิเสธการชดเชยเยียวยา อ้างว่ารถมีคันเดียว ตอนนี้ไม่มีเงิน แถมยังถูกบริษัทรับประกันภัย บิดเบือน ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสิทธิของผู้เสียหายในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน พูดง่ายๆ หลอกให้ทำสัญญายอมรับเงินบางส่วน หรือที่เรียกว่าสัญญาประนีประนอมยอม เพื่อเป็นค่าปิดคดีกับบริษัทรับประกันภัย นั่นหมายถึงว่า คนที่ลงชื่อในสัญญายอมรับเงินไปแล้ว จะไม่สามารถเรียกร้องค่าเสียหายอื่นใดกับคู่กรณีได้อีก…..เจอแบบนี้เข้า ชาวบ้านก็ไปต่อไม่ถูก แทนที่หน่วยงานที่กำกับดูแลจะมาช่วยชี้แจงให้ได้รับความเป็นธรรม กลับร่วมมือกับผู้รับประกันภัย มากล่อมเรา หรือจะเรียกว่า หลอกให้เราลงชื่อยอมรับเงินซะงั้น   “มาถึงเขาก็บอกให้ป้าเซ็นชื่อ  ป้าก็ไม่รู้ว่าเซ็นอะไร เขาไม่ได้ให้อ่าน บอกให้ลงชื่อตรงนี้ๆๆๆ  ป้าถามว่าเป็นเงินอะไร เขาบอกว่าเป็นเงินชดเชย ไม่ใช่เงินค่าเสียหาย  ป้าเลยเซ็นชื่อรับเงินไป  แต่ตอนหลังถึงรู้ว่าที่เซ็นชื่อไปนั้น เป็นสัญญายอมความ ผู้เสียหายทุกคนเจอแบบเดียวกัน  ป้าจะเรียกร้องอะไรไม่ได้อีกแล้ว ถ้ารู้แบบนี้แต่แรก ป้าไม่เซ็นชื่อแน่ ป้าโดนหลอก !!!  ” เสียงสะท้อนจากคุณป้าที่รอดชีวิตอุบัติเหตุครั้งนี้จะไม่เกิดขึ้นเลย หากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีความตระหนักถึงความปลอดภัยและป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้น  ไม่ว่าจะเป็นการซื่อสัตย์ต่อหน้าที่และการบังคับใช้กฎหมายที่จริงจัง รวมถึงการไม่ประกอบธุรกิจที่เอาเปรียบผู้บริโภคของผู้ประกอบการ  แต่นั่นก็อาจจะเป็นเพียงแค่ความฝัน หรือการเฝ้ารอแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ซึ่งกว่าจะถึงวันนั้นก็ไม่รู้ว่าจะมีการสูญเสียอีกกี่รายกรณีนี้จึงถือเป็นบทเรียนสำคัญที่ควรจะต้องได้รับการเผยแพร่ ตักเตือนให้กับผู้บริโภคทุกคนได้รับรู้ว่า หากวันหนึ่งเมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น แล้วมีการพูดคุยเจรจาเพื่อตกลงค่าสินไหมทดแทนกับคู่กรณี  ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของรถหรือบริษัทประกันภัย แล้วต้องมีการลงชื่อเซ็นเอกสารนั้น ผู้เสียหายต้องอ่านและดูเนื้อหาเอกสารให้ละเอียดชัดเจน หากมีข้อความทำนองว่า ถ้ารับเงินแล้วตกลงจะไม่เรียกร้องค่าเสียหายอื่นใดทั้งทางแพ่งและทางอาญาต่อผู้ที่เกี่ยวข้องอีกต่อไป....  ข้อความลักษณะนี้ ห้ามลงชื่อยอมรับเด็ดขาด !!! เพราะหากลงชื่อไปแล้ว ผู้เสียหายจะเสียสิทธิในการเรียกร้องค่าเสียหายเพิ่มเติมทางแพ่งได้อีก  เมื่อรู้แบบนี้กันแล้ว ก็ช่วยกันบอกต่อกันไปนะครับ อย่างน้อยหากเราไม่สามารถหยุดเหตุความเสียหายให้เกิดขึ้นได้ แต่เราก็ยังรู้วิธีรับมือกับปัญหาที่จะตามมาได้ครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 161 รถหาย! ถูกฟ้องเรียกค่ากุญแจ

พี่คะ  “แม่หนูถูกฟ้อง  ทำยังไงดี ”   คำถามของคุณจิราภรณ์ ที่ซื้อรถยนต์มือสอง ยี่ห้อ TOYOTA ซึ่งจัดไฟแนนท์กับ  กับบริษัท อยุธยา แคปปิตอล ออโต้ ลีส จำกัด (มหาชน) โดยใช้ชื่อคุณแม่ เพราะตนเองเพิ่งทำงานและพักอยู่กับแม่ที่ ปทุมธานี  ปลายปี 54  เกิดวิกฤติน้ำท่วมครั้งใหญ่ ทำให้ต้องอพยพทั้งข้าวของและรถยนต์มาพักบ้านพี่สาวแถวงามวงศ์วาน ทำให้บ้านคับแคบข้าวของต้องวางไว้นอกบ้าน จนจอดรถไม่ได้  เลยต้องนำรถไปจอดไว้ข้างทาง เหมือนที่ชาวบ้านทั่วไปเค้าจอดกัน  โดยล็อกพวงมาลัย ล็อกเบรก และล็อกกุญแจประตูรถยนต์  ตามที่จะสามารถล็อกได้ จอดไว้ได้ประมาณเกือบปี  รถหาย!ในวันเดียวกันกับที่ทราบเรื่อง น้องรีบพาแม่ไปแจ้งความ  ตำรวจแนะนำให้ไปขอหนังสือมอบอำนาจเพราะไม่ใช่ผู้ถือกรรมสิทธิ์รถแจ้งความเองไม่ได้  ตนเองกับแม่ก็รีบไปขอหนังสือฉบับนั้นทันที  แล้วรีบมาดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์เพื่อให้ตำรวจทำคดีอีกครั้ง จัดการเรื่องนี้เสร็จก็ทำหนังสือถึงไฟแนนท์ขอหยุดชำระทันที  ถูกไฟแนนท์เรียกเก็บค่าธรรมเนียมไปอีก 500  บาท ตนเองเสียดายรถยังคิดที่จะตามหารถ โดยโพสต์ Facebook บ้าง ไปตามที่มีแหล่งข่าวว่ารถน่าจะถูกขายแถวไหนบ้าง ก็ไม่พบ เรื่องเงียบหายไปปีกว่า  อยู่ๆ แม่ก็ได้รับหมายศาลถูกไฟแนนท์ฟ้องเป็นจำเลย คดีผิดสัญญา  ไฟแนนท์เรียกให้คืนรถ หรือคืนเงิน  ชาวบ้านอย่างเรา จะสู้เค้ายังไง  มีแต่กุญแจ ไม่มีรถ  ไม่มีเงิน  จะหาทนายช่วยอย่างไร  ได้มาปรึกษากับมูลนิธิฯ เพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางแก้ไขปัญหา เนื่องจากพยานหลักฐานของผู้ร้อง ที่มีอยู่ครบถ้วน  เช่น หลักฐานการแจ้งความที่มีรายละเอียดครบถ้วน, หนังสือบอกกล่าวให้บริษัท อยุธยาฯ  รับทราบว่ารถหายไม่ขอชำระค่างวด และใบเสร็จรับเงินค่าธรรมเนียมการหยุดใช้รถ ภาพถ่ายต่างๆ เช่น การโพสต์ใน Facebook เพื่อตามหารถยนต์ของตนเอง สถานที่จอดรถ เป็นต้น   โดยแนวทางการต่อสู้คดีนั้น ชี้ให้เห็นว่า “รถหายมิได้เกิดจากความประมาทของผู้ซื้อ  และผู้ซื้อต้องรับผิดชอบค่าเสียหายหรือเบี้ยปรับหรือค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการทวงถาม การติดตามรถ ค่าทนายหรือค่าอื่นใด เพียงเท่าที่เจ้าของได้ใช้จ่ายไปจริงตามความจำเป็นและมีเหตุผลอันสมควร” อีกทั้งบริษัทฯ ทราบดีอยู่แล้วว่ารถยนต์คันเช่าซื้อสูญหายไป โดยการแจ้งของผู้ร้อง ตามหลักฐานที่ผู้ร้องมี แล้วยังนำคดีมาฟ้อง โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งจะได้รับ ถือเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรม คดีนี้ได้ขอให้ศาลยกฟ้อง    ภายหลังการพิจารณาคดี  ศาลชั้นต้น พิพากษายกฟ้อง คดีนี้บริษัทฯ ได้ยื่นอุทธรณ์   คงต้องตามกันต่อไปว่าจะสิ้นสุดอย่างไร //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 159 เหยื่อรถทัวร์ผี ความสูญเสียที่ไม่มีวันได้คืน

เทศกาลสงกรานต์หลายครอบครัวคงมีความสุขที่ได้กลับมาอยู่กันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา แต่สำหรับครอบครัว นันตะนะ นี่คือการสูญเสียอย่างไม่มีวันได้คืน...เช้า 13 เมษายน 2553  บุญถม นันตะนะ ได้รับงานด่วนให้ไปที่จังหวัดอุบลราชธานี   บุญถมจึงรีบโทรศัพท์จองตั๋วกับ บ.รถทัวร์ แต่ทุกที่บอกเพียงว่า “ ให้มาก่อน บางทีเผื่อจะมีคนยกเลิกตั๋ว ไม่ก็มีรถเสริม ”  คล้อยบ่ายบุญถม จึงรีบเดินทางไปสถานีขนส่งหมอชิต 2  โดยหวังว่าจะมีตั๋วว่างสำหรับคืนนี้ค่ำวันนั้น “  พ่อได้ตั๋วแล้วนะแม่ ซื้อที่ช่องขายตั๋วเลย รถจะออกตอนสี่ทุ่มครึ่ง เดี๋ยวถึงแล้วจะโทรหาแม่นะ ” ...นี่คือเสียงสุดท้ายที่ ชุติกาญจน์ ได้ยินเสียงจากสามี  เพราะเช้ามืดวันที่ 14 เมษายน 2553  รถทัวร์ที่บุญถมนั่งไปประสบอุบัติเหตุพลิกคว่ำที่จังหวัดนครราชสีมา บุญถม พร้อมผู้โดยสารอีกหลายราย เสียชีวิตทันที และมีคนบาดเจ็บจำนวนมากหลังการเสียชีวิตของบุญถม ชุติกาญจน์ได้รับจดหมายแจ้งสิทธิการให้ความช่วยเหลือจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เธอจึงมาร้องขอความช่วยเหลือ เพื่อให้ช่วยเรื่องการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อให้ชุติกาญจน์ได้รับการเยียวยาตามสิทธิที่มีก่อนนั้น มูลนิธิฯ ได้นำเรื่องยื่นต่ออนุญาโตตุลาการ เพื่อมีคำสั่งให้บริษัทกมลประกันภัย จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับชุติกาญจน์ตามกรมธรรม์โดยทันที ผลการเจรจาไกล่เกลี่ย บริษัทยอมจ่ายค่าสินไหมตามกรมธรรม์ให้กับชุติกาญจน์ได้สำเร็จ ส่วนข้อเท็จจริงทางคดีจากทะเบียนรถยนต์คันเกิดเหตุ พบว่า รถทัวร์คันที่เกิดเหตุนั้น เป็นรถโดยสารไม่ประจำทางของบริษัท เฟิร์สแฟรงค์ทัวร์ จำกัด ที่นำมาเสริมวิ่งรับคนโดยสารในช่วงเทศกาลสงกรานต์กับบริษัท ขนส่ง จำกัด  แต่ บริษัท ขนส่ง จำกัด กลับปฏิเสธ อ้างไม่มีส่วนรู้เห็นกับเหตุการณ์นี้ เพราะรถคันนี้ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาวิ่งรับคนโดยสารในวันดังกล่าว ทำให้การเจรจาไม่สามารถยุติได้ ชุติกาญจน์ จึงจำเป็นต้องนำเรื่องขึ้นฟ้องนายชำนาญ มหาสังข์ คนขับ จำเลยที่ 1 , บริษัท เฟิร์สแฟรงค์ทัวร์ จำกัด เจ้าของรถ จำเลยที่ 2 และ บริษัท ขนส่ง จำกัด  จำเลยที่ 3 ต่อศาลแพ่ง เป็นคดีผู้บริโภค เพื่อเรียกค่าเสียหาย เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2554ในชั้นพิจารณาคดี ทั้งสองฝ่ายนำพยานเข้าสืบ ฝ่ายโจทก์ มีชุติกาญจน์ เบิกความยืนยันถึงความเดือดร้อนเสียหายที่เกิดขึ้นกับครอบครัว ภายหลังที่สามีเสียชีวิต โดยมีคุณวิลาวรรณ  ผู้รอดชีวิตที่ขึ้นรถคันเดียวกับบุญถม มาเป็นพยานนำชี้จุดซื้อตั๋วและทางเดินไปที่ชานชาลา พร้อมยืนยันการขึ้นรถในสถานีขนส่ง ขณะที่ฝ่ายจำเลย  บริษัท ขนส่ง จำกัด จำเลยที่ 3  ปฏิเสธไม่เกี่ยวข้องทุกอย่าง โดยมีพยานเป็นเจ้าหน้าที่ของบริษัท มาเป็นพยานเบิกความถึงขั้นตอนการขออนุญาตนำรถเสริมเข้ามาวิ่งร่วมรับส่งคนโดยสารกับบริษัทในเทศกาลดังกล่าวศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า แม้ว่าจำเลยที่ 3 ที่จะนำพยานที่เป็นเจ้าหน้าที่เบิกความทำนองว่า รถยนต์โดยสารที่จะนำเข้ามาวิ่งรับส่งคนโดยสารร่วมกับจำเลยที่ 3 ในช่วงเทศกาลสงกรานต์จะต้องได้รับอนุญาตจากจำเลยที่ 3 และกรมการขนส่งทางบกก่อน ตามหนังสือขออนุญาตของจำเลยที่ 3 และจะมีเจ้าหน้าที่คอยตรวจใบอนุญาตตั้งแต่ปากทางเข้าและทางออกอยู่ตลอดเวลานั้นแต่ตามหลักฐานเอกสารการขออนุญาตนำรถเข้าวิ่งร่วมของจำเลยที่ 3 ที่นอกจากจะระบุให้เจ้าของรถร่วมหมวด 2 มาร่วมวิ่งแล้ว ยังระบุให้สมาคมผู้ประกอบการขนส่งผู้โดยสารด้วยรถโดยสารไม่ประจำทางมาร่วมวิ่งเสริมได้ด้วย ซึ่งรถยนต์คันเกิดเหตุอาจอยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะนำรถเข้าวิ่งร่วมกับจำเลยที่ 3 และได้รับอนุญาตให้นำรถเข้ามาวิ่งร่วมกับจำเลยที่ 3 ได้ แม้จะไม่มีตราหรือสัญลักษณ์ใดๆ ของจำเลยที่ 3 ติดอยู่ก็ตาม เพราะมิฉะนั้นรถยนต์โดยสารคันเกิดเหตุคงไม่สามารถเข้ามาวิ่งร่วมรับคนโดยสารได้เพราะจะถูกเจ้าหน้าที่จับกุมยึดรถได้นอกจากนี้เอกสารดังกล่าวยังระบุว่าให้เจ้าของรถร่วมและสมาคมผู้ประกอบการรถโดยสารไม่ประจำทางทุกคันต้องใช้ตั๋วรถโดยสารตามแบบตั๋วโดยสารที่จำเลยที่ 3 กำหนด นั้น ก็เป็นการสอดคล้องกับคำเบิกความของพยานโจทก์ที่ว่าได้ซื้อตั๋วโดยสารที่ช่องจำหน่ายตั๋วและขึ้นรถที่ชานชาลาในสถานีขนส่งหมอชิต 2 อีกด้วยพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบจึงมีน้ำหนักมากกว่าพยานของจำเลย ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 เป็นผู้อนุญาตจำเลยที่ 2 รถโดยสารเข้าร่วมวิ่งรับขนคนโดยสารกับจำเลยที่ 3 ในช่วงเทศกาลสงกรานต์เป็นการชั่วคราวโดยมีผลประโยชน์ร่วมกัน ถือได้ว่าจำเลยที่ 3 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 ด้วย จำเลยที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และ จำเลยที่ 2  เมื่อพิเคราะห์จากความเสียหายที่โจทก์ได้รับแล้ว จึงกำหนดให้จำเลยทั้งสามร่วมกันจ่ายค่าสินไหมทดแทนรวมเป็นเงิน 1,312,000 บาท เมื่อหักจากเงินที่ได้รับจากบริษัทประกันภัยไปแล้ว คงเหลือเป็นเงินที่จำเลยทั้งสามต้องจ่ายทั้งสิ้นจำนวน  682,000 บาทกรณีนี้ถือเป็นบทเรียนสำคัญและเป็นคดีตัวอย่างของผู้บริโภคที่อาจจะไม่มีทางเลือก และหลงใช้บริการรถทัวร์ผี ที่เมื่อเกิดอุบัติเหตุแล้ว อาจจะไม่มีผู้ใดออกมารับผิดชอบ แต่กรณีนี้โชคดีที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าผู้เสียชีวิตซื้อตั๋วที่ช่องจำหน่ายตั๋วและขึ้นรถภายในสถานีขนส่งหมอชิต 2ซึ่งแม้คดีจะจบลงด้วยศาลชั้นต้นสั่งให้จำเลยทั้งสามร่วมกันจ่ายค่าเสียหาย แต่คดีก็ใช้เวลานานกว่า 3 ปี อีกทั้งจำเลยทั้งสามยังมีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาต่อได้ ทำให้คดียังไม่สิ้นสุด ชุติกาญจน์ จึงยังไม่ได้รับการเยียวยาอย่างแท้จริงแต่อุปสรรคดังกล่าวก็ไม่ได้ทำให้ชุติกาญจน์ยอมแพ้  แม้จะเจ็บช้ำ แต่เธอยังมีหน้าที่ต้องสู้เพื่อสิทธิของครอบครัวเธอต่อไป  สู้จนกว่าเธอจะชนะ   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 159 รถใหม่ป้ายแดง ใช้ได้แค่ 6 เดือน กุญแจพัง!

ข่าวครึกโครมกรณี  รถยนต์ยี่ห้อดัง  เชฟโรเลต รุ่นครูซ ที่ผลิตปี 2011-2012 เกียร์พัง   ทำให้ คุณสุษมา  โทรศัพท์เข้ามาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเช่นกัน ว่าตนได้รับความเสียหายจากการใช้รถยนต์ยี่ห้อนี้เหมือนกัน  แต่เป็นรุ่นแคปติวา  ผลิตปี 2013 ที่ใช้ชื่อพี่ชายเป็นผู้ซื้อมาตั้งแต่เดือนเมษายน 56  ในงานมอเตอร์โชว์ และซื้อเป็นเงินสดถึงหนึ่งล้านหกแสนกว่าบาทรถยนต์ใช้ไปได้ประมาณ  6  เดือน  คุณสุษมาขับรถไปทำธุระ พอจะขับรถกลับบ้าน  เปิดรีโมทกุญแจพบว่า ไม่ปลดล็อก  จึงใช้กุญแจไขเข้าไป แต่กลับใช้กุญแจสตาร์ทรถไม่ได้ และมีไฟสัญลักษณ์ต่างขึ้นบนหน้าปัดรถเต็มไปหมด  จึงโทรเรียก Call Center 1734บริษัทฯ รีบส่งทีมช่างมาตรวจ แต่แก้ไขไม่ได้   จึงส่งเข้าศูนย์บริการสาขาแจ้งวัฒนะในวันรุ่งขึ้น   ช่างที่ศูนย์ตรวจสอบ  3 สัปดาห์ หาสาเหตุไม่พบ   ศูนย์ได้ประสานให้ช่างจากสำนักงานใหญ่มาตรวจสอบ ได้ทำการรื้อเบาะและคอนโซลรถออกทั้งหมด  จึงพบว่า ชุดสายไฟที่อยู่ด้านล่างมีปัญหา(น่าจะเกิดจากความบกพร่องของวัสดุสายไฟและจากการผลิตรถยนต์)“ดิฉันได้สอบถามที่ Call Center   ทางนั้นชี้แจงว่ามีการสั่งอะไหล่จากศูนย์ฯ แล้ว แต่ยังไม่มีกำหนดส่งให้ศูนย์ฯ  ดิฉันก็พยายามติดต่อกับบริษัทอีกหลายครั้ง(เพราะรถต้องใช้งาน) ทั้งทางโทรศัพท์และทำหนังสือสอบถามและเร่งให้ดำเนินการแก้ไขซ่อมแซมส่งทางเมล์  ไม่ได้รับการติดต่อกลับหรือมีความคืบหน้าใดๆ เลย” ล่าสุดประมาณต้นเดือนกุมภาพันธ์ 57  ได้รับแจ้งว่า ซ่อมระบบไฟแล้ว แต่เมื่อใส่เบาะกลับไปพบว่าสตาร์ทไม่ติดอีก  คุณสุษมาจึงขอให้บริษัทส่งรถทดแทนให้ใช้  แต่สุดท้ายต้องนำไปคืนเพราะรถเบรกไม่อยู่ เหตุการณ์นี้นอกจากจะมีความรู้สึกที่แย่กับการให้บริการของบริษัท ยังสร้างความเสียหายให้แก่คุณสุษมาเป็นอย่างมาก  จนอยากให้บริษัทซื้อรถคืนไป การแก้ไขปัญหาเมื่อมูลนิธิฯ ได้รับโทรศัพท์จากผู้ร้อง จึงแนะนำให้ผู้ร้องเก็บหลักฐานการซ่อมรถและทำหนังสือถึงศูนย์บริการสาขาแจ้งวัฒนะสอบถามว่า เหตุใดจึงซ่อมไม่ได้  เสียเพราะอะไร  และเชิญผู้ร้องมาที่ศูนย์พิทักษ์เพื่อพูดคุยและสอบถามถึงวัตถุประสงค์ว่าต้องการเรียกร้องอย่างไร  ซึ่งผู้ร้องและพี่ชายเข้ามาที่มูลนิธิฯ ขอให้ช่วยเจรจาไกล่เกลี่ย   โดยผู้ร้องยังประสงค์ใช้รถต่อ  แต่ขอให้บริษัทขยายการรับประกันเป็น 7 ปี หรือ 200,000 กม. จ่ายค่าชดเชยที่ขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์วันละ 1,500 บาทหลังการเจรจาไกล่เกลี่ย  คุณสุษมายอมรับข้อเสนอของบริษัทฯ ที่ยอมขยายระยะเวลารับประกันเป็น 5 ปีหรือ 150,000  กม. แล้วแต่เงื่อนไขใดถึงก่อน และได้รับเงินชดเชยค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ เดือนละ 35,000  บาท เป็นเวลา 3 เดือน รวมเป็นเงิน 105,000 บาทก็ต้องขอขอบคุณบริษัทฯ ที่มองเห็นความสำคัญและพร้อมแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภค //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 157 ว่าด้วยเรื่อง พ.ร.บ.รถ อีกสักที

ปัญหาเกี่ยวกับอุบัติเหตุทางถนนสร้างความปวดหัว และปวดใจได้ไม่น้อยเลย ยิ่งในรายที่ประสบอุบัติเหตุแบบไม่ธรรมดา คือ ต้องไปข้องเกี่ยวกับรถที่ไม่ได้ทำ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ หรือเรียกว่า พ.ร.บ.ภาคบังคับ หรือบางราย พ.ร.บ.หมดอายุ (พ.ร.บ. ขาด) แล้วใครล่ะที่จะมารับผิดชอบค่ารักษาพยาบาล และค่าปลงศพ (กรณีเสียชีวิต)ให้กับผู้เสียหาย  เรื่องนี้มีคำตอบกรณีที่ผู้เสียหาย 3 คน เดินกินลมชมวิวริมถนนอยู่ดีๆ ก็มีรถมาเฉี่ยวชน คนที่ 1 บาดเจ็บสาหัส และเสียชีวิตในเวลาต่อมา ส่วนคนที่ 2 บาดเจ็บเล็กน้อย คนที่ 3 เสียชีวิตคาที่  และบังเอิญ รถคันที่มาชนไม่ได้ทำ พ.ร.บ.ภาคบังคับเสียด้วย จะได้รับการชดเชยเยียวยาอะไรบ้างการชดเชยในกรณีนี้ -  ทั้ง 3 คน สามารถใช้สิทธิจากกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยจากรถ สามารถทำเรื่อง เบิกจ่ายได้ที่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) -  คนที่ 1 ทายาทจะได้รับเงิน จำนวน 35,000 บาท ซึ่งจะหัก ค่ารักษาพยาบาลตามจริงก่อนเสียชีวิต ด้วย ในรายที่รักษาเกินกว่า 35,000 บาท ก่อนเสียชีวิตก็เท่ากับว่าจะไม่ได้ค่าปลงศพนั่นเอง -  คนที่ 2 โรงพยาบาลจะได้รับเงินค่ารักษาพยาบาลตามจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท หากเกินจะสามารถใช้สิทธิที่ตนเองมีอยู่ เช่น ประกันสังคม ข้าราชการ หลักประกันสุขภาพ(บัตรทอง) -  คนที่ 3 ทายาทจะได้รับเงินค่าปลงศพ จำนวน 35,000 บาทอีกกรณีคือเด็กชายอายุ 13 ปี ได้ขับรถมอเตอร์ไซด์ พาน้องสาวอายุ 9 ปี นั่งซ้อนท้ายมาด้วยกัน แล้วถูกรถยนต์เก๋งชน จนเป็นเหตุให้คนขับบาดเจ็บ ส่วนน้องสาวเสียชีวิตคาที่  ทั้ง พ.ร.บ.รถมอเตอร์ไซด์ และ พ.ร.บ.รถยนต์ ไม่ยอมจ่ายค่าชดเชย อ้างว่า เด็กชายคนดังกล่าวไม่มีใบขับขี่การชดเชยในกรณีนี้ -  โปรดจำไว้ว่า แม้คนขับจะไม่มีใบขับขี่ก็ตาม จะได้รับจากชดเชยเยียวยาจาก พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถตามปกติคือ ค่ารักษาพยาบาลตามจริงไม่เกิน 15,000 บาท แต่หากพิสูจน์ได้ว่า คู่กรณีเป็นฝ่ายผิดจะได้รับความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลเพิ่มเป็นตามจริง ไม่เกิน 50,000 บาท  เพราะ เป็นกฎหมายคนละฉบับกัน หากคนขับไม่มีใบขับขี่จะถูกดำเนินการลงโทษจาก พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 โดยการเปรียบเทียบปรับในภายหลัง - สำหรับคนซ้อน ถือเป็นบุคคลภายนอก ไม่ต้องรอพิสูจน์ถูกผิด จะได้รับความคุ้มครองจาก พ.ร.บ.รถมอเตอร์ไซด์ทันที ที่ 200,000 บาท - หากไม่สามารถตกลงกันได้ สามารถร้องเรียนได้ที่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)   ความคุ้มครองจาก พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ค่ารักษาพยาบาล ตามจริง ไม่เกิน 50,000 บาท ค่าปลงศพ จำนวน 200,000 บาท ค่าชดเชยกรณีนอนโรงพยาบาล วันละ 200 บาท ไม่เกิน 20 วัน กฎหมายบังคับให้รถยนต์ทุกคันที่จดทะเบียนกับการขนส่งทางบกจะต้องมีการประกันภัยตาม พ.ร.บ.คุ้มครอบผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 หากไม่ทำจะมีความผิด มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท และให้เจ้าของรถหรือผู้ใช้รถเก็บรักษาหลักฐานแสดงการมีประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัยจากรถไว้ให้พร้อมที่จะแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทุกเวลาที่ใช้รถ เว้นแต่กรณีรถคันดังกล่าวได้จดทะเบียนหรือชำระภาษีประจำปีแล้ว   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 156 ค้างค่างวดรถ 3 งวด แต่จะให้จ่าย 6 ไหวไหม

สมัยนี้ยังจะมีใครซื้อรถด้วยเงินสดๆ แบบจ่ายทีเดียวไหม คงน้อยมากๆ แม้แต่คนที่มีเงินมาก ก็ไม่ทำเพราะระบบลิซชิ่งหรือระบบเช่าซื้อรถยนต์มันทำให้บริหารเงินได้ดีกว่าที่จะเอาเงินเยอะๆ ไปทุ่มในครั้งเดียว และยังช่วยให้คนเงินน้อยสามารถมีรถยนต์เป็นของตนเองได้ บริษัทรถยนต์ก็ขายได้มากขึ้น ยังไม่รวมนโยบายรถคันแรกที่รัฐบาลออกมาช่วยกระตุ้นยอดขายด้วย เราจึงเห็นปรากฏการณ์ยอดขายรถยนต์สูงลิ่วในทุกปีการเช่าซื้อหรือทำสัญญาเช่าซื้อ (Hire-Purchase) คือ สัญญาที่เจ้าของทรัพย์สินหรือผู้ให้เช่าซื้อนำทรัพย์สินออกให้เ ช่า และให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินหรือให้ทรัพย์สินตกเป็นกรรมสิทธิ์แก่ผู้เช่าซื้อ เมื่อผู้เช่าซื้อได้ชำระเงินครบถ้วนตามสัญญาแล้วการเช่าซื้อรถยนต์เราจึงยังไม่ได้เป็นเจ้าของโดยสมบูรณ์แต่เป็นเพียงผู้เช่าซื้อ โดยมีสัญญาว่าจะชำระเงินให้เป็นงวดๆ ให้แก่เจ้าของจริง ซึ่งก็คือบริษัทที่ให้บริการเช่าซื้อรถยนต์ ถ้าสามารถจ่ายเงินได้ตรงงวดคงไม่มีปัญหา ปัญหามาเกิดเอาตรงที่จ่ายไม่ทันและถ้าไม่ทัน 3 งวดติด เจ้าของเขาก็จะมายึดรถ(ทรัพย์)ของเขาทันทีคุณพิมลวรรณเช่าซื้อรถยนต์กับบริษัท โตโยต้า ลิสซิ่ง(ประเทศไทย) จำกัด เป็นราคาค่าเช่า 857,247 บาท โดยจะชำระงวดละ 8,733 บาท แต่เกิดปัญหาขึ้นเมื่อคุณพิมลวรรณขาดส่งไป 3 งวด ไม่นานทางบริษัทลิสซิ่ง ได้ให้พนักงานมานำรถไปพร้อมบอกว่า ให้ไปไถ่ถอน ด้วยการชำระเงิน 3 งวดที่ขาดส่งไป รวมค่าปรับ ค่าติดตามรถ พร้อมค่าไถ่ถอนทั้งสิ้น 36,624 บาท โดยให้เวลาดำเนินการ 6 เดือน แต่เมื่อคุณพิมลพรรณติดต่อกลับไปทางโทรศัพท์เพื่อขอทราบรายละเอียดค่าบริการค่าปรับต่างๆ ก็ได้ข้อมูลใหม่ชวนตกใจว่า คุณพิมลพรรณต้องชำระทั้งหมด 89,022 ซึ่งเป็นยอดที่รวมค่าเช่าล่วงหน้าอีก 6 เดือน จึงจะมารับรถคืนได้ แนวทางแก้ไขปัญหาทางศูนย์พิทักษ์ฯ ได้สอบถามข้อมูลจากคุณพิมลพรรณ พบว่า ยอดค่าใช้จ่ายที่ถูกเรียกเก็บเกิดจากการเจรจาความกันทางโทรศัพท์ ซึ่งคุณพิมลพรรณมิได้รับหนังสือบอกกล่าวจากบริษัทแต่อย่างใดตามประกาศของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) เรื่องให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์นั้น ความข้อ 3 มีสาระสำคัญและมีเงื่อนไข ที่เกี่ยวข้องดังนี้ (4) ผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อได้ในกรณีผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อรายงวด 3 งวดติดๆ กัน และผู้ให้เช่าซื้อมีหนังสือบอกกล่าวผู้เช่าซื้อให้ใช้เงินรายงวดที่ค้างชำระนั้นภายในเวลาอย่างน้อย 30 วัน นับแต่วันที่ผู้เช่าซื้อได้รับหนังสือและผู้เช่าซื้อละเลยเสียไม่ปฏิบัติตามหนังสือบอกกล่าวนั้น (5) เมื่อผู้ให้เช่าซื้อบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อและกลับเข้าครอบครองรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่ให้เช่าซื้อ เพื่อนำออกขายให้แก่บุคคลอื่น     ก. ก่อนขายให้แก่บุคคลอื่น ผู้ให้เช่าซื้อต้องแจ้งล่วงหน้าให้ผู้เช่าซื้อทราบเป็นหนังสือไ ม่น้อยกว่า 7 วัน เพื่อให้ผู้เช่าซื้อใช้สิทธิซื้อได้ตามมูลหนี้ส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อ       ข. ในกรณีที่ผู้ให้เช่าซื้อนำรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ออกขาย หากได้ราคาเกินกว่ามูลหนี้ในส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อ ผู้ให้เช่าซื้อจะคืนเงินส่วนที่เกินนั้นให้แก่ผู้เช่าซื้อ แต่หากได้ราคาน้อยกว่ามูลหนี้ในส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อจะรับผิดส่วนที่ขาดนั้นเฉพาะกรณีการขายโดยวิธีประมูลหรือขายทอดตลาดที่เหมาะสมเท่านั้นเมื่อไม่มีหนังสือแจ้งบอกกล่าว เจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์ฯ จึงได้ติดต่อกลับไปยัง บริษัท โตโยต้า ลิสซิ่ง เพื่อขอทราบข้อเท็จจริง อีกทั้งแจ้งให้ทางผู้ร้องชำระเงินค่างวดที่ค้างไว้ 3 งวดแก่บริษัทฯ เพื่อให้สัญญากลับคืนสู่สภาพ ทางศูนย์ฯ ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ของบริษัทฯ ว่า ผู้ร้องผิดสัญญาเพราะผิดนัดชำระ 3 งวด ในหนังสือบอกกล่าวก็ระบุไว้ว่าให้ชำระทันที จุดนี้ทางศูนย์ฯ แย้งว่า ผู้ร้องไม่ได้รับหนังสือบอกกล่าวจากทางบริษัทแต่อย่างใด อีกทั้งการชำระทันทีก็ยังต้องอยู่ในเงื่อนไขตามประกาศของ สคบ. คือ ไม่เกิน 30 วัน จึงถือว่ากรณีนี้ผู้ร้องมิได้กระทำผิดสัญญาและยังได้ชำระค่างวดที่ค้างอยู่ทั้งหมดแล้ว ทางบริษัทจึงต้องคืนรถยนต์ให้กับผู้ร้องโดยทันทีเมื่อแย้งกลับไปด้วยข้อกฎหมายทางฝ่ายบริษัทฯ เลยขอพักการเจรจาก่อนบอกว่า ตนเองมิใช่คนดูแลโดยตรง จะติดต่อกลับในภายหลังต่อมาผู้ร้องได้แจ้งว่า บริษัทฯ ติดต่อให้ไปรับกุญแจคืนและตนก็ได้ไปรับตรวจรถเรียบร้อยแล้ว จึงขอขอบคุณมูลนิธิฯ มา ณ ที่นี้   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 155 กลุ่มคนใช้รถเชฟโรเลต ครูซ รวมพลังสู้

ร้องบริษัทรับผิดชอบ รถเสียซ่อมไม่หาย เป็นอีกครั้งที่การรวมพลังกันของผู้บริโภคไทยสร้างแรงสั่นสะเทือนครั้งสำคัญต่อมาตรฐานการคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศกลุ่มผู้ใช้รถยนต์ เชฟโรเลต รุ่นครูซ และ แคปติวา หลาย 10 คัน ทนไม่ไหวกับปัญหาสภาพรถที่เสี่ยงต่อความปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็น เกียร์ค้าง เปลี่ยนเกียร์ไม่ได้ ขับๆ ไป เครื่องดับโดยไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งแต่ละปัญหาล้วนแล้วแต่นำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุรุนแรง เพราะเห็นว่าชีวิตยังมีค่าไม่น่านำไปเสี่ยงกับรถที่ไม่มีคุณภาพ ผู้ใช้รถยนต์ เชฟโรเลต ที่เจอปัญหาตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกัน จึงนัดรวมตัวเพื่อแสดงพลังปกป้องสิทธิของผู้บริโภค เรียกร้องให้ผู้ผลิตรถยนต์ออกมาแสดงความรับผิดชอบ เริ่มต้นจากการไปร้องเรียนผ่านสื่อ จนผู้ผลิตอยู่เฉยไม่ไหวต้องออกมาดูแลผู้เสียหายแต่ใช่ว่าทุกอย่างจะง่ายเหมือนฝัน เพราะยังมีผู้เสียหายอีกหลายคัน ที่ปัญหาไม่ได้รับการแก้ไขอย่างที่ควรจะเป็น แม้ว่าทางบริษัท เชฟโรเลต เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด จะนำรถกลับไปตรวจสอบแก้ไข แต่พอผู้เสียหายนำรถกลับมาใช้ปัญหาก็ยังคงอยู่ และปัญหาที่เกิดส่วนใหญ่ล้วนเสี่ยงต่อความปลอดภัยของชีวิต ทางออกที่ดีที่สุดที่ผู้ผลิตควรทำเพื่อแสดงความจริงใจในการแก้ปัญหา คือรับซื้อคืนรถที่เสี่ยงต่ออันตรายทั้งหมดคืนไป เพื่อความปลอดภัยและความสบายใจของผู้บริโภคแต่เมื่อข้อเรียกร้องนี้ไม่ได้รับการตอบรับ กลุ่มผู้ใช้รถยนต์ เชฟโรเลต ครูซ ที่พบปัญหา จึงต้องเพิ่งพากฎหมาย เดินหน้าร้องเรียนต่อ สคบ. โดยมีมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคช่วยดำเนินการ จนในที่สุดบริษัทผู้ผลิตก็ยินยอมที่จะนำรถยนต์ เชฟโรเลต ครูซ ที่พบปัญหาจำนวน 12 คัน เข้ารับการทดสอบเพื่อตรวจดูคุณภาพรถยนต์ โดยใช้ผู้เชี่ยวชาญมืออาชีพดำเนินการทดสอบ ซึ่งค่าใช้จ่ายในการทดสอบทั้งหมดทางบริษัท เชฟโรเลต ต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งถ้าผลออกมาพบว่ารถยนต์ที่ทดสอบมีปัญหา บริษัทควรต้องซื้อคืนรถยนต์และจ่ายชดเชยค่าเสียหายให้กับเจ้าของรถ สถานการณ์ล่าสุด สคบ. แถลงผลการทดสอบรถยนต์เชฟโรเลต พบปัญหาทุกคัน13 ม.ค. 57  นายอำพล วงศ์ศิริ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค จัดประชุมเพื่อแจ้งผลการทดสอบรถยนต์เชฟโรเลต ครูซ 12 คัน เมื่อวันที่ 14-18 ต.ค. 56 ณ สนามแก่งกระจานเซอร์กิต จ.เพชรบุรี ซึ่งมีผู้ร้องเรียน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และตัวแทนบริษัท เชฟโรเลตฯ เข้าร่วมรับฟัง โดยมีนายศิริบูรณ์ เนาว์ถิ่นสุข ประธานคณะทำงานสืบค้นข้อเท็จจริง เป็นผู้ชี้แจงผลการทดสอบพบ  ปัญหาในรถทุกคันที่ทดสอบ จากการรายงานของทีมนักขับและผลจากเครื่องมือที่ใช้ติดตั้งเพื่อตรวจสอบ พบปัญหาระบบส่งกำลัง ได้แก่ เกียร์เปลี่ยนขึ้น-ลงกระตุก เกียร์ไม่ Kick-down เกียร์กระตุกในช่วงเครื่องเย็น และในสภาวะรถติดเคลื่อนตัวช้า เบรก RF ค้าง รถยนต์คันที่เกิดปัญหาดังกล่าวมีการรายงานอาการซ้ำๆ มากที่สุดถึง 38 ครั้งภายหลังทราบผล นายอำพล เลขาฯ สคบ. ยืนยันว่า สคบ.ผลการทดสอบของคณะทำงานสืบค้นฯ ถือเป็นที่สุด และขอให้บริษัทฯ เยียวยาความเสียหาย โดยคณะกรรมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทของ สคบ. จะนัดทั้งสองฝ่ายมาเจรจาในสัปดาห์หน้า และขอให้บริษัทฯ ส่งผู้มีอำนาจในการตัดสินใจเป็นผู้มาเจรจา ซึ่งตัวแทนบริษัทฯ ขอนำผลการทดสอบในครั้งนี้ไปเปรียบเทียบกับผลการทดสอบที่เก็บข้อมูลมา และหารือเรื่องการเยียวยาความเสียหายกับผู้บริหารต่อไป ปัญหารถยนต์ใหม่เกิดปัญหาจากสถิติการร้องเรียนของ ผู้บริโภคทั่วประเทศ ที่ส่งเรื่องร้องเรียนเข้ามายังสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) พบว่า ในช่วงระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมานั้น การร้องเรียนด้านอุตสาหกรรมรถยนต์ ขยับขึ้นมาครองแชมป์อันดับหนึ่ง แซงการร้องเรียนด้านอสังหาริมทรัพย์ เมื่อวันที่ 15 ส.ค. ที่ผ่านมา ผู้ใช้รถยนต์เชฟโรเลตครูซและแคปติวา จำนวน 26 ราย เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อ สคบ. เรียกร้องให้เชิญบริษัทรถยนต์เข้า มาไกล่เกลี่ยภายใน 7 วัน เนื่องจากคันเร่งค้าง เครื่องเร่งเองโดยไม่เหยียบคันเร่ง ระบบเกียร์อัตโนมัติมีอาการกระตุกรุนแรง และระบบเกียร์ล็อคขณะเปลี่ยนเกียร์ โดยขอให้ สคบ.จัดทดสอบเพื่อพิสูจน์ปัญหา ซึ่งหากพิสูจน์ได้ว่ารถยนต์มีความชำรุดบกพร่องตามที่ร้องเรียนจริง ขอให้ทางบริษัทรับซื้อรถยนต์คืนในปี 2555 มีเรื่องร้องเรียนเข้ามาที่ สคบ. กว่า 2,000 กรณี โดยเป็นการร้องเรียนด้านรถยนต์ 877 กรณี ซึ่งปัญหาที่ร้องเรียนมากที่สุดเกิดจากรถยนต์ชำรุด บกพร่อง รองลงมาคือของแถมไม่เป็นไปตามที่ระบุไว้ และสัญญาเช่าซื้อที่ไม่ชัดเจน ทำให้ผู้ซื้อรถส่วนใหญ่เข้าใจผิดเรื่องการผิดนัดชำระเงิน ขณะที่สถิติร้องเรียนด้านรถยนต์ล่าสุด ตั้งวันที่ 1 ต.ค. 2555 ถึง วันที่ 31 ก.ค. 2556 รวมทั้งหมด 682 กรณี แบ่งเป็น รถยนต์ชำรุด 208 ขอเงินจองคืนกรณีไม่ได้รถ 96 ค้างค่างวด/คืนรถ/ส่วนต่างสูง 23 ไม่เป็นไปตามที่ระบุไว้ในสัญญา 65 ยกเลิกสัญญาและขอเงินคืน 83 ขอให้ชดใช้ค่าเสียหาย 32 ขอคำปรึกษา 36 ขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง 67 ค่าปรับสูง 32 กรณี และขอให้ตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ 40นายจิรชัย มูลทองโร่ย เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) เปิดเผยว่า ในแต่ละปีผู้บริโภคที่ประสบปัญหาด้านต่างๆ จะร้องเรียนเข้ามา ประมาณ 2,000 ราย ซึ่ง สคบ.จะจำแนกประเภทการร้องเรียนออกเป็นกลุ่มๆ เพื่อให้ง่ายต่อการดำเนินการ โดยการร้องเรียนเกี่ยวกับรถยนต์ แบ่งออกเป็น 4 ด้านใหญ่ๆ คือ 1.ปัญหารถยนต์ป้ายแดง 2.ปัญหารถยนต์มือสอง 3.ปัญหาการเช่าซื้อ และ 4.ปัญหาการซ่อมแซม ซึ่งแม้ว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา การร้องเรียนด้านรถยนต์จะ ขยับสูงขึ้นเป็นอันดับ 1 แต่ประมาณ ร้อยละ 80-90 เกี่ยวกับความรู้สึกของผู้ใช้งาน เช่น ไม่พอใจในเสียงดัง ไม่พอใจในกลิ่น ขณะที่เรื่องของคุณภาพและมาตรฐานของรถยนต์นั้น หากช่วงใดเกิดกระแสและมีการรวมตัวกันของผู้ประสบปัญหา ก็จะมีการร้องเรียนเข้ามายัง สคบ.ค่อนข้างมาก รับเรื่องร้องเรียน 2 ลักษณะนายจิรชัย กล่าวว่า สำหรับการดำเนินการหลังจากได้รับเรื่องร้องเรียน แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ 1.บริษัทรถยนต์เป็น ผู้ดำเนินการตรวจสอบ และดำเนินการปรับเปลี่ยนซ่อนแซมอุปกรณ์ที่มีปัญหา โดยจะต้องยืดระยะเวลาในการประกันออกไปด้วย และ 2.ประสานไปยังผู้เชี่ยวชาญด้านยานยนต์ เข้ามาดำเนินการตรวจสอบปัญหาที่เกิดขึ้นว่าตรงตามข้อร้องเรียนหรือไม่ รวมถึงหาสาเหตุว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเหล่านั้นเกิดจากกระบวนการผลิตหรือไม่ ซึ่งการดำเนินการในส่วนที่ 2 นี้ จะเกิดขึ้นหลังจาก การเจรจาระหว่างบริษัทรถยนต์กับผู้บริโภค ไม่สามารถตกลงร่วมกันได้ส่วนขั้นตอนการตรวจสอบคุณภาพรถยนต์นั้น ทาง สคบ.จะประสานไปยังสถาบันยานยนต์ ซึ่งเป็นคณะกรรมการด้านยานยนต์ของ สคบ.อยู่แล้ว ให้เข้ามาดำเนินการตรวจสอบปัญหาว่าเกิดจากอะไร เช่น เหยียบคันเร่งให้รถเดินหน้าแต่รถไม่ขยับ เข้าเกียร์ถอยหลังแต่ไม่ถอยหลัง หรือเกิดเสียงดังเวลาเปลี่ยนเกียร์ ตรงนี้ต้องตรวจสอบดูว่าตามสภาพจริงของรถยนต์เป็น แบบนี้หรือไม่ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ผู้เชี่ยวชาญสามารถตรวจสอบได้ไม่อยาก และหากว่าปัญหาที่เกิดขึ้น เกิดจากความผิดพลาดในการผลิต ทางบริษัทรถยนต์ก็จะต้องดำเนินการแก้ไขตามขั้นตอน เช่น ซ่อมแซม เปลี่ยนอุปกรณ์ที่ชำรุด เปลี่ยนรถคันใหม่ หรือรับซื้อคืน ตามลำดับ เคลียร์เชฟโรเรตในเดือนนี้"ที่ผ่านมาการร้องเรียนเกี่ยวกับคุณภาพและมาตรฐานของรถยนต์ มีทั้งแบบผู้บริโภคร้องเรียนเข้ามารายเดียว และผู้บริโภคที่ประสบปัญหาเดียวกันหรือคล้ายกันรวมกลุ่มเข้ามาร้องเรียน ล่าสุดเมื่อวันที่ 20 ส.ค. ที่ผ่านมา สคบ.ได้ประชุมพิจารณากรณีของผู้ใช้รถยนต์เชฟ โลเรต พบว่าก่อนหน้านี้ได้ร้องเรียนมายัง สคบ.แล้ว 13 ราย ซึ่งทางบริษัทกำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการอยู่ ส่วนที่เหลือได้ยืนความจำนงไปยังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคให้เข้ามาช่วยเหลือ อย่างไรก็ตามข้อสรุปจากการประชุม สคบ.สั่งให้ทางบริษัทเร่งดำเนินการเคลียร์ปัญหาที่เกิดขึ้น ให้แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนนี้"นายจิรชัย กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตามเมื่อผู้บริโภคร้องเรียนเข้ามายัง สคบ. ส่วนใหญ่ปัญหาจะจบอยู่ในขั้นตอนเจรจาไกลเกลี่ย ดังนั้นที่ผ่านมาการร้องเรียนเกี่ยวกับเรื่องคุณภาพมาตรฐาน และปัญหาเกี่ยวกับอุปกรณ์ต่างๆ จึงไม่ไปถึงขั้นฟ้องร้องในชั้นศาลด้านนายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค(มพบ.) กล่าวว่า การร้องเรียนปัญหาเกี่ยวกับมาตรฐานรถยนต์ ถือเป็นเรื่องที่ผู้บริโภคที่ประสบปัญหาให้ความสำคัญ เนื่องจากมูลค่าค่อนข้างสูง แต่กว่าที่ผู้บริโภคจะร้องเรียนเข้ามายัง มพบ. ส่วนใหญ่จะมีการติดต่อไปยังบริษัทรถยนต์ เพื่อเจรจาพูดคุย รวมถึงส่งรถยนต์เข้า ไปตรวจเช็คและซ่อมแซมมาแล้วในระดับหนึ่ง ในขณะที่บางรายก็ได้ร้องเรียนไปยัง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) แล้ว แต่สุดท้ายอาจจะทนรอขั้นตอนการดำเนินการ ของทางบริษัทรถยนต์หรือหน่วยงานราชการไม่ไหว จึงตัดสินใจร้องเรียนมายัง มพบ. ให้เป็นหน่วยงานกลางเร่งรัดการดำเนินการ และเป็นไปตามกฎหมายผู้บริโภค ปัญหาเครื่องยนต์กลไก 'ต้องฟ้องร้อง'ส่วนความเสียหายเป็นไปตามมาตรฐานของรถยนต์หรือ ไม่นั้น ส่วนใหญ่จะแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ 1.ปัญหาจุกจิกลำคาญใจ เช่น มีเสียงเข้าไปในห้องโดยสาร เสียงอุปกรณ์ต่างๆ ที่ติดตั้งไม่สนิท เบรกหรือโชคแข็ง ซึ่งปัญหาเหล่านี้ส่วนใหญ่จะสามารถแก้ไขได้ เพราะตามกฎหมายกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจเป็นผู้รับผิดชอบ และ 2.ปัญหาเรื่องเครื่องยนต์กลไก เช่น ระบบเกียร์ คันเร่ง หรือสมองของรถยนต์ ซึ่งเป็นปัญหาเชิงเทคนิคต้องมีการพิสูจน์ ส่วนใหญ่จึงนำไปสู่การฟ้องร้อง เนื่องจากบริษัทรถยนต์ไม่มีนโยบายเปลี่ยนรถคันใหม่ เมื่อลูกค้ามีปัญหาเกี่ยวกับรถยนต์ ก็จะให้นำเข้ามาซ่อมแซม ซึ่งแม้ว่าหลังจากซ่อมแล้วยังเกิดอาการเดิม ทางผู้ประกอบการก็จะยืนยันว่าสามารถซ่อมได้ แต่ตามหลักจิตวิทยาของคนซื้อรถใหม่ หากรถที่ซื้อมาใหม่ถูกชำแหละราคาจะตกทันที ส่วนใหญ่ผู้บริโภคจึงต้องการให้ทางบริษัทเปลี่ยนรถยนต์คันใหม่"หลังจากผู้บริโภคร้องเรียนเข้ามายัง มพบ. จะมีการตรวจข้อร้องเรียนและปัญหาที่เกิดขึ้น จากนั้นจึงติดต่อไปยังบริษัทรถยนต์ เพื่อให้เข้ามาเจรรจาพูดคุย ส่วนใหญ่จะเป็นการชี้แจงและยืนยันว่าสามารถซ่อมได้ ตรงนี้ผมมองว่าเป็นการประวิงเวลา รับผิดชอบตามระยะประกันและอายุกฎหมาย ที่กำหนดไว้ 1 ปี หลังจากรับสินค้า หากผู้บริโภคฟ้องร้องหลังจากหมดอายุความก็จะแพ้ทางเทคนิค แต่หากเรื่องเข้าสู่กระบวนการเจรจาไกลเกลี่ยผู้บริโภค ตามกฎหมายอายุความจะหยุดทันที แต่ประชนส่วนใหญ่จะไม่รู้"จากการดำเนินการฟ้องร้องที่ผ่านมา แม้ว่าศาลชั้นต้นจะพิพากษาให้ผู้บริโภคเป็นฝ่ายชนะ เช่น กรณีประกอบรถไม่ดีแล้วเขม่าควันเข้ามาในห้องผู้โดยสาร แต่ทางบริษัทรถยนต์ก็ ยื่นอุทธรณ์ กระบวนหลังจากฟ้องร้องจึงยาวนานมาก ประเด็นจึงอยู่ที่ว่าคนไทยมีกลไลศาลเท่านั้นที่คอยช่วยเหลือ แต่ความรู้เรื่องกลไลการทำงานของรถยนต์ จำเป็นต้องอาศัยผู้เชียวชาญโดยตรง เข้ามาเป็นตัวกลางในการตรวจสอบซ้ำ เพราะหากทางบริษัทนำรถไปตรวจสอบ และออกมาแถลงว่าไม่พบปัญหา ตรงนี้ไม่มีใครสามารถเชื่อถือได้ จี้ตรวจสอบมาตรฐานสินค้านายอิฐบูรณ์ กล่าวต่อว่า การที่ประเทศไทยไม่มีหน่วยงานที่มีอำนาจโดยตรง ในการตรวจสอบหรือเรียกคืนยานยนต์ ที่ถูกตรวจพบปัญหาหรือถูกร้องเรียนเข้ามา ทำให้ผู้บริโภคในบ้านเราเสียเปรียบ เพราะความรู้ส่วนใหญ่เกี่ยวกับเทคนิคเครื่องยนต์กลไก เป็นข้อมูลที่มาจากผู้ประกอบการทั้งหมด ตรงนี้สะท้อนให้เห็นว่าในขณะที่ประเทศไทยรถยนต์เป็น สินค้าส่งออก 5 อันดับแรก แต่การกำกับดูและมาตรฐานสินค้ายังไม่เข้มข้นมากพอ แม้ว่าล่าสุดทาง สคบ.ได้แก้ไขข้อกฎหมายให้มีอำนาจสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจไปตรวจสอบสินค้า แต่ก็ยังคงมีการคำถามในเรื่องการดำเนินการอยู่ดีสำหรับสถิติร้องเรียนด้านมาตรฐานรถยนต์ส่วน บุคคล ที่ร้องเรียนเข้ามายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ตั้งแต่ปี 2553-2556 รวมทั้งหมด 93 กรณี โดย 10 อันดับ บริษัทที่ถูกร้องเรียนมากที่สุด คือ 1.เชฟโลเรต 38 กรณี 2.โฟตอน 29 กรณี 3.โตโยต้า 18 กรณี 4.มิซูบิชิ 12 กรณี 5.ฮอนด้า 8 กรณี 6.ฟอร์ด ประเทศไทย 7 กรณี 7.นิสสัน 4 กรณี 8.เมอร์เซเดสเบนซ์ ประเทศไทย 2 กรณี 9.มิลเลนเนียม ออโต้ จำกัด 2 กรณี และ 10.คูโบต้า 2 กรณี ซึ่งปัญหาด้านมาตรฐที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ร้องเรียน เช่น เกียร์กระชาก สมองเกียร์พัง เกียร์กระตุกเวลาเร่งเครื่องรอบขึ้นแต่ความเร็วไม่ขึ้น เครื่องยนต์ร้อนและมีเสียงดังผิดปกติ คันเร่งค้าง เครื่องเร่งเอง เครื่องพุ่ง มีกลิ่นและเขม่าควันเข้ามาในห้องโดยสาร และถุงลมนิรภัยไม่ทำงานที่มา กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ สถิติร้องเรียนปัญหารถยนต์'ป้ายแดง'7เดือนพุ่ง วันที่ 3 กันยายน 2556   สถิติรับร้องทุกข์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มกราคม – พฤศจิกายน 2556                                                             กลุ่มปัญหา ปี 2556 ร้อยละ มค. กพ. มีค. เมย. พค. มิย. กค. สค. กย ตค. พย. ธค. รวม   ธุรกิจศูนย์ออกกำลังกาย 8 3 2 1 3 1 1 0 1 0 0   20   เครื่องใช้ไฟฟ้า 1 0 0 1 0 0 0 0 0 0 0   2 1.79 ธุรกิจซื้อขายสัตว์เลี้ยง 0 0 0 0 0 0 0 0 0 0 0   0 0.00 บริการท่องเที่ยว 0 1 0 0 1 0 0 0 0 0 0   2 1.79 บริการห้างร้าน 2 0 2 4 1 0 2 3 0 2 0   16 14.29 บริการให้เช่า 0 0 0 0 0 0 1 0 1 0 0   2 1.79 วัสดุก่อสร้าง 0 0 0 0 0 0 0 0 0 0 0   0 0.00 อุปกรณ์อิเล็คทรอนิค 1 1 1 1 0 0 0 2 0 1 0   7 6.25 ผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพ 1 0 0 0 0 0 0 0 0 1 0   2 1.79 อุปกรณ์ในครัวเรือน 0 0 0 0 0 0 0 1 0 2 1   4 3.57 ยานพาหนะ 0 1 0 0 3 5 30 7 5 4 1   56 50.00 สินค้าเกษตร 0 0 0 0 0 0 0 0 0 0 0   0 0.00 เครื่องแต่งกาย 0 0 0 0 0 0 0

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 147 ตีค่าราคามนุษย์ เยียวยาความเสียหายหรือเอาเงินฟาดหัว?

วันที่ 17 เมษายน 2556 วันสุดท้ายของโครงการ 7 วันอันตราย ตามนโยบายของรัฐบาลบนถนนสายหนึ่งในกรุงเทพมหานคร  หนุ่มสาวยังคงสนุกสนานกับการเล่นน้ำ ยิ่งรถติดยิ่งสนุกโครม!! เสียงรถเมล์สาย 15 ชนกับท้ายรถยนต์คันหนึ่ง แต่ไม่รุนแรงมากนัก ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ จึงมีการถ่ายผู้โดยสารจากรถเมล์ที่เกิดอุบัติเหตุมายังรถเมล์สายเดียวกันที่แล่นตามมา เมื่อรวมผู้โดยสารทั้งหมดมาอยู่ในคันเดียวกัน ทำให้เกิดความแออัดยัดเยียดเบียดกันมาถึงบริเวณด้านหน้ารถติดคนขับ“ผู้โดยสารด้านหน้าช่วยเขยิบด้วยครับ ผมมองกระจกข้างไม่เห็น” เสียงลุงคนขับรถเมล์ตะโกนบอกแต่ด้วยเสียงเครื่องยนต์ที่ดังทำให้ผู้โดยสารคนนั้นไม่ได้ยิน ลุงคนขับจึงขยับตัวเอื้อมมือไปสะกิดผู้โดยสารคนที่ยืนบังกระจกมองข้าง โดยที่รถยังแล่นด้วยความเร็ว และเรื่องไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นโครม!!! ลุงคนขับล้มลง ทำให้มือที่จับพวงมาลัยอยู่นั้น หักเข้าชนต้นไม้ข้างทางเข้าอย่างจัง ผู้โดยสารได้รับบาดเจ็บกว่า 20 รายวันที่ 23 เมษายน 2556 บริษัทประกันภัยที่รับทำประกันไว้กับรถเมล์คันที่เกิดเหตุ ได้นัดผู้โดยสารที่ได้รับบาดเจ็บมาเจรจาค่าเสียหาย วันนั้นเป็นวันธรรมดาผู้บาดเจ็บแต่ละคนต้องลางานมา  เมื่อผู้จัดการบริษัทประกันภัยมาถึง“เอ้า .. ใครก่อนดีครับ?” ผู้จัดการบริษัทประกันภัยตะโกนร้องเรียกเหมือนมาแจกของที่โรงทาน“ชั้นก่อนละกัน เดี๋ยวต้องรีบไปเปิดร้านขายของต่อ” หญิงคนหนึ่งยกมือแสดงตัว “300 พอมั้ย” ผู้จัดการคนนั้นเสนอตัวเลข โดยไม่ถามถึงความเสียหาย หรืออาการบาดเจ็บเลยแม้แต่น้อย“บ้าเหรอ  300  ชั้นหน้าบวมปูดไปตั้งหลายวันนะ ไปทำงานก็ไม่ได้ ชั้นมีใบเสร็จนะ”“ใบเสร็จนี้มันใช้ไม่ได้ มันไม่ได้ลงวันที่ .. เอางี้ ผมให้ 1,000 บาท จบเรื่องเลย ถือว่าผมช่วยละกัน” ผู้จัดการคนเดิมตอบ“ 1,000 ก็ได้ ชั้นกลัวเสียเวลา” หญิงคนนั้นตอบเมื่อตกลงตัวเลขเงินค่าเสียหายกันได้ด้วยวิธีแบบที่ว่ามา ผู้จัดการบริษัทประกันภัย จะส่งเรื่องให้ลูกน้องอีก 2-3 คน ดำเนินการเรื่องการประนีประนอมยอมความ และจัดการให้ผู้เสียหายแต่ละรายลงลายมือชื่อยอมให้รับเงินและไม่ติดใจเอาความทางคดีทั้งแพ่งและอาญาต่อไป จากนั้นผู้จัดการบริษัทประกันภัยก็ทำสิ่งที่เรียกว่า การเจรจาเพื่อเยียวยาความเสียหายแก่ผู้บาดเจ็บ” แบบเดิมซ้ำๆ จนครบทั้ง 20 คนคำถามคือ มาตรฐานการชดเชยเยียวยาของประกันภัยในอุบัติเหตุรถโดยสารอยู่ตรงที่ไหน? อยู่ที่ความเขี้ยวของตัวแทนประกัน หรือควรอยู่บนที่ตั้งแห่งความเสียหายที่เกิดขึ้น แนวทางแก้ไขปัญหาดร.สุเมธ  องกิตติกุล  แห่งสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) ได้ทำการศึกษา “อุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ : ผลกระทบ การประกันภัย การชดเชยเยียวยา” ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน ได้เปิดเผยว่า การชดเชยเยียวยาต่อผู้ประสบอุบัติเหตุจากระบบประกันภัยนั้นพบว่า วงเงินค่าเสียหายยังไม่มีความเหมาะสมเท่าที่ควรนอกจากนั้น ยังพบปัญหาการขาดการเชื่อมโยงระหว่างบริษัทประกัน ผู้ประกอบการ และผู้ประกอบการที่ถือใบอนุญาตอย่างบริษัท ขนส่ง จำกัด(บขส.) และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.)  และบทบาทของบริษัทประกันมีอยู่น้อยในการสร้างระบบตรวจสอบ และป้องกันการเกิดอุบัติเหตุรถโดยสารจากการกำหนดเบี้ยประกัน ดังนั้นจึงเสนอให้มีการกำกับดูแลผู้ประกอบการ ทั้งผู้ประกอบการที่ถือใบอนุญาตและผู้ประกอบการที่ร่วมบริการอย่างเข้มงวด รวมถึงให้เข้มงวดในการให้ใบอนุญาตที่พิจารณาถึงประวัติด้านอุบัติเหตุด้วย นอกจากนี้ยังต้องสร้างกลไกของบริษัทประกันภัยในการกำหนดเบี้ยที่สะท้อนความเสี่ยงของผู้ประกอบการแต่ละรายด้วยนอกจากนี้ ดร.สุเมธได้เสนอให้มีการปรับปรุงเงินชดเชยเยียวยาความเสียหายสำหรับ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 หรือประกันภัยภาคบังคับที่รถยนต์ทุกคันต้องทำ โดยให้ความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลจากไม่เกิน 15,000 บาท เพิ่มเป็นไม่เกิน 150,000 บาท ส่วนค่าชดเชยกรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพอย่างถาวร ให้กับจาก 200,000 บาทเพิ่มขึ้นเป็น 400,000 บาท และหากสูญเสียอวัยวะหรือพิการ ที่มีผลต่อการดำเนินชีวิตควรปรับให้ได้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้น 240,000 บาทและระบบประกันภัย ควรปรับปรุงแก้ไขอุปสรรคปัญหาในการเรียกร้องค่าเสียหายของผู้ประสบอุบัติเหตุ ได้แก่ ความล่าช้าในการพิสูจน์ถูก-ผิด และค่าใช้จ่ายในการเดินทาง การติดต่อประสานงานที่ไม่มีใบเสร็จ ทำให้ใช้เรียกร้องค่าเสียหายได้ยากด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 145 ตามหาเงินเยียวยา

ดิฉันชื่อ ฉันทนาค่ะเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2555 ได้นั่งรถโดยสารปรับอากาศเดินทางจากกรุงเทพฯ จะไปลงที่โพนพิสัย จ.หนองคาย เพื่อไปหาพ่อแม่ จองตั๋วรถกับบริษัท แอร์อุดร จำกัด เส้นทางกรุงเทพฯ-บึงกาฬ ระหว่างทางรถโดยสารขับมาด้วยความเร็วสูงมาก ถึงช่วงถนนมิตรภาพ  อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เกิดอุบัติเหตุรถโดยสารที่ดิฉันนั่งมาคนขับพยายามจะขับแซงรถพ่วงแต่ไม่พ้น และไปชนท้ายรถบรรทุกพ่วงอย่างแรงก่อนเสียหลักลงไหล่ทาง ทำให้ดิฉันได้รับบาดเจ็บศีรษะแตก และกระดูกนิ้วก้อยเท้าขวาแตกหน่วยกู้ภัยพาดิฉันส่งโรงพยาบาลปากช่องนานา แพทย์ได้ทำการรักษากระดูกแตกที่นิ้วเท้าและเย็บแผลแตกที่ศีรษะรวม 10 เข็ม จะกลับบ้านได้ต้องโทรศัพท์ให้ญาติมารับหลังประสบอุบัติเหตุ ไม่ได้รับการติดต่อใดๆ จากบริษัท แอร์อุดรเลย ประมาณวันที่ 2 กรกฎาคม 2555 ได้รับการติดต่อจากแม่ว่า ตำรวจให้ไปพบที่สถานีตำรวจโพนพิสัย จึงได้ไปตามนัดในวันที่ 4 กรกฎาคม 2555 บริษัท แอร์อุดร ได้ส่งพนักงานไม่แจ้งชื่อมาเจรจาโดยมีข้อเสนอชดใช้เยียวยาให้ที่จำนวน 50,000 บาท ดิฉันได้ตกลงยอมรับข้อเสนอ พนักงานคนนั้นจึงบอกกับดิฉันว่าจะติดต่อกลับมาภายใน 7 วันนับจากวันที่แจ้ง แต่จนถึงปัจจุบัน(28 สิงหาคม 2555) ยังไม่ได้รับการติดต่อใดๆ จากบริษัทดังกล่าวเลยดิฉันขอให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคดำเนินการเรียกร้องค่าเสียหายในจำนวนเงิน 50,000 บาท ให้กับดิฉันด้วยค่ะ แนวทางแก้ไขปัญหาคุณฉันทนาเป็นหนึ่งในผู้โดยสารที่ได้รับบาดเจ็บจำนวนทั้งสิ้น 29 ราย ในอุบัติเหตุครั้งนั้น มูลนิธิฯได้ติดตามตรวจสอบข้อมูลแล้วทราบว่า รถโดยสารคันดังกล่าว ทำประกันภัยไว้กับบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด จึงได้มีหนังสือเชิญตัวแทนจากบริษัท ทิพยประกันภัย มาร่วมเจรจากันในวันที่ 25 ธันวาคม 2555 แต่เนื่องจากผู้เสียหายอยู่ต่างจังหวัดไม่สามารถเดินทางมาร่วมเจรจาได้ จึงมีการเจรจากับผู้เสียหายทางโทรศัพท์กันในวันนั้น ได้ผลว่า บริษัท ทิพยประกันภัย ตกลงจ่ายค่าสินไหมตามที่ได้มีการร้องขอและเจรจากันไว้แต่แรก จำนวน 50,000 บาท และนัดหมายเพื่อมารับเช็คค่าสินไหมอีกครั้งในอาทิตย์ถัดไป อาทิตย์ต่อมาตัวแทนของทิพยประกันภัยเตรียมเช็คค่าสินไหมมาตามวันเวลานัดหมาย แต่ปรากฏว่าผู้เสียหายไม่สามารถติดตามตัวได้ในวันนั้น จึงต้องกำหนดนัดใหม่เป็นสัปดาห์ถัดไป อีกสัปดาห์หนึ่งต่อมาผู้เสียหายจึงสามารถเดินทางมารับเช็คค่าสินไหมได้ด้วยตนเองนอกจากคุณฉันทนาแล้ว ยังมีผู้โดยสารอีกท่านหนึ่งคือคุณโพสิทธิ เครือเนตร ที่ได้รับบาดเจ็บและทิพยประกันภัยตกลงที่จะจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้เป็นจำนวนเงิน 50,000 บาท แต่ขณะนี้ไม่สามารถติดต่อได้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและทิพยประกันภัยจึงได้ทำหนังสือตกลงกันไว้ว่า หากผู้เสียหายท่านนี้ได้ติดต่อกลับมา ทางทิพยประกันภัยยินดีดำเนินการเยียวยาความเสียหายให้ต่อไปคุณโพสิทธิ หรือญาติ ทราบข่าวแล้วโปรดติดต่อกลับมาด่วน ทิพยประกันภัยรอคุณอยู่

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 142 การเรียกความเสียหายในอุบัติเหตุรถโดยสาร

ตีหนึ่งครึ่ง ของคืนวันที่ 11 ตุลาคม 2554รถทัวร์สองชั้นของบริษัท ทรัพย์ไพศาลทัวร์ รับผู้โดยสารรวม 40 ชีวิต จาก จ.พัทลุง มุ่งหน้าเข้ากรุงเทพฯ แล่นมาถึงเขต อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร ผู้โดยสารที่ยังไม่หลับเห็นว่าข้างหน้าเป็นทางแยก อ.ท่าแซะ มีรถบรรทุก รถทัวร์หลายคันจอดติดไฟแดงอยู่ แต่แทนที่รถทัวร์ที่โดยสารมา ซึ่งกำลังแล่นเข้าโค้งลงเนินก่อนถึงทางแยกจะชะลอความเร็วของรถลง และดูเหมือนว่าคนขับพยายามเบรกรถแต่รถกลับไม่เบรกดังใจ จึงตัดสินใจหักพวงมาลัยหลบรถด้านหน้า ทำให้รถทัวร์ขนาดสองชั้นพุ่งขึ้นเกาะกลางถนนพลิกคว่ำในชั่วพริบตาผู้โดยสารที่อยู่ในรถ ทั้งผู้หญิง ผู้ชาย และเด็ก ต่างร้องขอความช่วยเหลือระงม หลายรายได้รับบาดเจ็บ แขนขาหัก ศีรษะแตก เนื้อตัวมีบาดแผลถลอก เจ้าหน้าที่กู้ภัยได้เร่งเข้าช่วยเหลือผู้โดยสารออกจากตัวรถที่ล้มคว่ำตะแคง บางรายยังติดอยู่ในตัวรถ เจ้าหน้าที่กู้ภัยต้องใช้เครื่องตัด ถ่าง ตัดตัวถังรถเพื่อช่วยชีวิตของผู้โดยสารอย่างทุลักทุเลกรรณิการ์ เป็นหนึ่งในผู้โดยสาร เธอได้รับบาดเจ็บเจียนตายหากไม่ได้รับการรักษาจากแพทย์อย่างทันท่วงที หลังเข้ารับการรักษาพยาบาล แพทย์ตรวจพบอาการบาดเจ็บหลายแห่ง กระดูกซี่โครงหัก 5 ซี่ แทงปอดฉีกขาด ต้องใส่สายระบายของเสีย กระดูกเบ้าตาขวาแตก ต้องแย็บแผลรอบดวงตา 3 เข็ม กระดูกสะบักขวาและกระดูกแขนขวาหักสะบั้น เส้นประสาทโดนทำลาย 3 เส้น จนไม่สามารถใช้แขนและมือหยิบจับสิ่งของได้ตามปกติ เขียนหนังสือหรือพิมพ์ดีดไม่ได้ เวลานอนต้องนอนหงายอย่างเดียว  เธอรู้สึกว่า ร่างกายเหมือนถูกบดแทบจะเป็นผุยผง นี้เป็นภาพชีวติหนึ่งของผู้โดยสาร 40 ชีวิต อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในดึกคืนนั้นทำให้มีผู้บาดเจ็บ 33 ราย และเสียชีวิตถึง 7 ราย แนวทางแก้ไขปัญหากรรณิการ์ ติดต่อร้องขอความช่วยเหลือมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อขอเรียกความเสียหายจากบริษัทรถและบริษัทประกันภัยที่เกี่ยวข้อง แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไรเมื่อเกิดขึ้นอุบัติเหตุ ใครหลายคนมักทำอะไรไม่ถูก มีคำแนะนำเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติดังนี้ผู้โดยสารที่ประสบอุบัติเหตุจนได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต แม้จะมีสิทธิบัตรทอง บัตรข้าราชการ หรือสิทธิอื่นใด อย่าเพิ่งไปใช้ให้ใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 (พ.ร.บ. รถฯ) ก่อนเป็นลำดับแรก ความคุ้มครองที่จะได้รับ คือ1. ค่ารักษาพยาบาล ที่เกิดขึ้นจริงรายละไม่เกิน 5 หมื่นบาท เงินส่วนนี้โรงพยาบาลที่ผู้ประสบภัยไปรับการรักษาจะเป็นผู้ทำเรื่องรับแทน2. ค่าปลงศพ กรณีที่มีการเสียชีวิต ให้ทายาทโดยธรรม เช่น พ่อ-แม่ หรือคู่สมรส ติดต่อขอรับจากบริษัทประกันภัยซึ่งรถที่เกิดเหตุแต่ละคันทำประกันภัยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.รถ) เช่นเดียวกัน จำนวนรายละ 2 แสนบาท (ทั้งนี้รวมค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นก่อนเสียชีวิตด้วยหากมี) ค่าใช้จ่ายจำนวนนี้รวมไปถึงกรณีสูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพอย่างถาวรด้วย3. เงินชดเชยรายวันกรณีต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล วันละ  200 บาท  รวมกันไม่เกิน 20 วัน (ค่าใช้จ่ายส่วนนี้ ตัวแทนบริษัทประกันมักไม่บอกให้ทราบ และโรงพยาบาลไม่ได้ยุ่งเกี่ยวด้วย ผู้ป่วยจึงควรเบิกเสียให้ครบ อย่างน้อยๆ ก็มีมูลค่าถึง 4,000 บาท )ความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 (พ.ร.บ. รถฯ) ผู้เสียหายไม่ว่าจะเป็นตัวผู้โดยสารเองหรือทายาท สามารถติดต่อขอเบิกได้จากบริษัทประกันภัยซึ่งรถโดยสารที่เกิดเหตุแต่ละคันจะต้องทำประกันภัยนี้ไว้เนื่องจากเป็นประกันภัยภาคบังคับ หากมีปัญหาสะดุดติดขัดประการใด ให้ติดต่อไปที่สายด่วนประกันภัย 1186 หรือติดต่อ บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด โทร 0-2100-9191ทีนี้ ยังมีความเสียหายอื่นๆ อีก ที่ผู้โดยสารที่ประสบอุบัติเหตุควรได้รับการชดเชยจากบริษัทรถและบริษัทประกันภัย แต่ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถฯ ดูแลเฉพาะค่ารักษาและค่าปลงศพซึ่งจำกัดวงเงินไว้ในระดับหนึ่ง ดังนั้น ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นเพิ่มเติม ผู้เสียหายสามารถเรียกร้องได้จากกรมธรรม์ประกันภัยรถภาคสมัครใจที่รถโดยสารคันนั้นมีอยู่ หากไม่มีกรมธรรม์ในส่วนนี้ก็ให้เรียกร้องโดยตรงกับบริษัทเจ้าของรถโดยสารและบริษัทขนส่งจำกัดได้ ความเสียหายที่สามารถเรียกได้จากประกันภัยรถภาคสมัครใจหรือจากบริษัทรถ กรณีบาดเจ็บ กรณีเสียชีวิต - ค่ารักษาพยาบาลที่เกินจาก พ.ร.บ.รถ- ค่าเสียความสามารถในการประกอบการงานในอนาคต- ค่าเสียหายอย่างอื่นที่มิใช่ตัวเงิน- ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ระหว่างเจ็บป่วย - ค่าความเสียหายต่อทรัพย์สิน - ค่าขาดไร้อุปการะ - ค่าปลงศพ- ค่าใช้จ่ายอันจำเป็น- ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ก่อนตาย- ค่าขาดการงานในครัวเรือน ข้อควรระวัง ให้ระมัดระวังการลงลายมือชื่อรับค่าสินไหมทดแทนเบื้องต้นจากบริษัทรถยนต์หรือบริษัทประกันภัย หากมีเงื่อนไขในเอกสารการรับเงินหรือเอกสารข้อตกลงใด ๆ ว่า ให้ยินยอมรับเงินค่าเสียหายโดยไม่ติดใจเอาความกับบริษัทรถยนต์ เจ้าของบริษัทรถยนต์ บริษัทประกันภัย หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่น ๆ ในกรณีที่การเจรจาค่าเสียหายยังไม่เป็นที่ยุติ แต่หากผู้เสียหายได้ลงลายมือชื่อยินยอมไปแล้ว จะทำให้ไม่สามารถนำเรื่องฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกับศาลได้ ในกรณีของคุณกรรณิการ์ มูลนิธิฯได้แนะนำให้รวบรวมความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงทั้งหมดและตีมูลค่าออกมาเป็นตัวเงิน คุณกรรณิการ์ได้สรุปรวมตัวเลขที่ต้องการเรียกร้องกับบริษัทประกันภัยเป็นจำนวนเงินรวม 5 แสนบาท และยื่นข้อเสนอไปที่บริษัทประกันภัย ซึ่งบริษัทประกันภัยเจรจาต่อรองลดเหลือ 450,000 บาท คุณกรรณิการ์ตกลง เรื่องจึงเป็นอันยุติในขั้นตอนการเจรจาไกล่เกลี่ย ไม่ต้องเสียเวลาเทียวไปเทียวมาที่สถานีตำรวจหรือไปฟ้องร้องต่อศาล

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 138 ค่าจอดรถแสนแพงที่ตลาด อ.ต.ก.?

การจอดรถนานไปหน่อย...ถ้าจอดแถวที่บ้านคงไม่เป็นไร แต่ถ้ามาจอดในสถานที่ที่มีการเรียกเก็บค่าจอด ควรตรวจสอบราคาค่าจอดให้แน่ใจเสียก่อน เผลอจอดนานไปมีสิทธิเจอค่าจอดประเภทที่ใช้จัดการคนชอบจอดรถนาน เจ็บกระเป๋าแน่คุณสุเทพ ร้องเรียนมาว่า เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2555 ตนเข้าไปจอดรถที่ตลาด อ.ต.ก.ตรงข้ามสวนจตุจักรตอนเข้าไปพนักงานให้บัตรจอดรถ  ตอกเวลา 11.23 น. คุณสุเทพบอกว่าไปรับประทานอาหาร ทำธุระจนถึงเวลา 17.58 น. จึงได้ขับรถออกแล้วยื่นบัตรจอดรถให้เจ้าหน้าที่เก็บบัตร“พนักงานเก็บบัตรบอกผมว่า ค่าจอดรถ 500 บาท ผมตกใจมาก อะไรจะแพงขนาดนั้น ขนาดสนามบินสุวรรณภูมิ จอดทั้งวันยังไม่ถึง 300 บาทเลย”“เขาบอกเป็นระเบียบที่นี่ ผมเหลือบไปเห็นที่ป้ายข้างป้อมของเจ้าหน้าที่เก็บบัตรก็ตกใจอีก จอด 15 นาที ฟรี , 15 นาที -  ชม. 100 บ. ,1-2 ชม. 200 บ. 2-3 ชม. 300 บ. 3-4 ชม.400 บ. 4-5 ชม. 500 บ. นี้ประเทศไทยหรือเปล่า และที่แห่งนี้ก็เป็นตลาดเพื่อเกษตรกร มาขูดรีดกับประชาชนในการเก็บค่าจอดรถ แต่ยังไงผมก็จ่าย 500 บ.ให้พนักงานเพื่อตัดปัญหา”“ผมลองโทรไปถาม ทาง ผอ.ตลาด อ.ต.ก. ว่าเก็บค่าจอดแพงเกินไป ผมจะร้องเรียน ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค เขาบอกเชิญเลย ดังนั้นผมขอร้องเรียนมา ณ ที่นี้เพื่อให้ นำข้อมูลที่ผมแจ้งเผยแพร่ต่อสาธารณชน และเป็นวิทยาทานให้กับผู้ที่ประสบความเดือดร้อนเช่นผม” แนวทางแก้ไขปัญหา จากรายละเอียดที่ได้แจ้งมาพบว่า คุณสุเทพใช้เวลาจอดรถนานถึง 6 ชั่วโมง 35 นาทีการจอดรถยนต์บริเวณตลาดกลาง อ.ต.ก. ย่านพหลโยธิน เราได้ตรวจสอบข้อมูลในเว็บไซต์พบว่าองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร(อ.ต.ก.) ได้ออกประกาศเรื่องอัตราค่าบริการจอดรถยนต์บริเวณตลาดกลาง อ.ต.ก. ในวันธรรมดา-วันหยุดนักขัตฤกษ์ และวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ซึ่งใช้เรียกเก็บกับบุคคลทั่วไปตามนี้(1)   30 นาทีแรก ไม่คิดค่าจอด(2)   เกิน 30 นาที แต่ไม่เกิน 1 ชั่วโมง          คิดค่าจอดคันละ 10 บาท(3)   เกิน 1 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 2 ชั่วโมง         คิดค่าจอดคันละ 20 บาท(4)   เกิน 2 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 3 ชั่วโมง         คิดค่าจอดคันละ 40 บาท(5)   เกิน 3 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 4 ชั่วโมง         คิดค่าจอดคันละ 100 บาท(6)   เกิน 4 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 5 ชั่วโมง         คิดค่าจอดคันละ 200 บาท(7)   เกิน 5 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 6 ชั่วโมง         คิดค่าจอดคันละ 400 บาท(8)   เกินกว่า 6 ชั่วโมง                              คิดค่าจอดคันละ 500 บาทกรณีบัตรหาย คิดค่าปรับใบละ 300 บาท (ไม่รวมค่าจอดรถยนต์)ประกาศดังกล่าว เป็นประกาศที่มีการแก้ไขจากประกาศฉบับเดิม ซึ่งป้ายราคาค่าจอดรถยังคงปรากฏอยู่  ณ ที่ช่องทางเก็บค่าจอดรถของตลาด อ.ต.ก.นั้นยังเป็นอัตราราคาเดิม ซึ่งมีช่วงเวลาจอดรถที่ผู้จอดรถได้เปรียบเสียเปรียบแตกต่างกันอยู่บ้าง แต่ที่แน่ ๆ หากจอดรถนานเกินกว่า 6 ชั่วโมงขึ้นไปจะถูกเก็บค่าจอดคันละ 500 บาทเรามีหนังสือไปที่ อ.ต.ก. เพื่อสอบถามถึงโครงสร้างราคาค่าจอดรถ ได้รับคำชี้แจงจาก อ.ต.ก.ว่าประการที่หนึ่ง ตามประกาศดังกล่าว จะเห็นว่าค่าจอดรถยนต์ของตลาด อ.ต.ก.คิดราคาไม่สูงเกินกว่า 10-40 บาท หากจอดไม่เกิน 3 ชั่วโมง ซึ่งเป็นเวลาที่เพียงพอสำหรับการใช้บริการตลาด อ.ต.ก. และผู้ใช้บริการมากกว่าร้อยละ 95 จอดภายในเวลานี้ประการที่สอง อ.ต.ก.จำเป็นจะต้องกำหนดราคาจอดรถยนต์ให้สูงมากหลังจากช่วงเวลานี้ เนื่องจาก อ.ต.ก.มีที่จอดรถยนต์จำกัดเพียง 580 คัน แต่มีผู้มาใช้บริการวันละ 1,500 – 2,500 คัน เพื่อป้องกันมิให้ผู้มาใช้ลานจอดรถยนต์เพื่อเรื่องอื่นๆ ที่มิใช่การใช้บริการตลาด อ.ต.ก. และทำให้ที่จอดรถยนต์ไม่มีเพียงพอ สำหรับผู้มาใช้บริการตลาดคนอื่นๆประการที่สาม กรณีนี้ผู้ใช้บริการจอดรถยนต์นานกว่า 6 ชั่วโมง โดยอาจจะไม่ทราบว่าจะต้องเสียค่าจอดสูงหากจอดเกินกว่าหกชั่วโมง ซึ่งหากมาใช้บริการตลาด อ.ต.ก.เป็นเวลานานมากเช่นนี้ อาจติดต่อขอให้ อ.ต.ก.พิจารณาลดหย่อนเป็นกรณีๆ ต่อไปใครที่จะจอดรถนานๆ นานแบบปาเข้าไปครึ่งค่อนวันกับตลาด อ.ต.ก. ทราบแล้วเปลี่ยน...เปลี่ยนที่จอดด่วน  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 137 นิสสัน อัลเมลา (บางคัน) กว้างแถมเปียก

เชื่อว่าเวลาเราซื้อรถยนต์ สิ่งที่ต้องการมากที่สุดคือ ขอให้ได้รถดีเหมือนที่โฆษณา และเราก็เชื่อว่ารถดีมีเป็นร้อยที่ถอยออกจากโรงงานในแต่ละวัน แต่รถคุณภาพต่ำต้อยก็มีสิทธิหลุดออกมาได้เหมือนกัน ถ้าคุณภาพบริการหลังการขายไม่ดี ความชอกช้ำชีวีมีถึงผู้บริโภคแน่นอนนี้คือคำโฆษณา...“นิสสัน อัลเมลา อีโคคาร์ 4 ประตูคันแรกของเมืองไทย”“ความสุขที่กว้างขึ้น ความภาคภูมิที่สัมผัสได้ตั้งแต่แรกเห็น”“ด้วยรูปลักษณ์ภายนอกที่ออกแบบอย่างภูมิฐานเหนือระดับพร้อมสปอย์เลอร์หลังเพิ่มประสิทธิภาพทางการขับขี่ตัวถังเน้นความโอ่อ่า เพื่อให้ห้องโดยสารภายในกว้างขวางผ่อนคลายพร้อมขยายพื้นที่ช่วงขาให้ยาวขึ้นนอกเหนือความงามคือความใส่ใจเพื่อผู้โดยสารนั่งสบายทุกอิริยาบถ” และนี้คือความจริง.......“ซื้อนิสสัน อัลเมลา ป้ายแดง ใช้งานมาได้ 4 เดือนค่ะ ตอนนี้พบปัญหา น้ำเข้าขณะล้างรถและตอนจอดตากฝน” คุณรฐาผู้บริโภคของเราบอก“น้ำเข้ารถ 2 จุด คือที่ประตูหลังด้านขวาและเข้าทางกระโปรงหลัง ได้เข้าปรึกษากับทางศูนย์ที่ออกรถมาว่าจะรับผิดชอบให้เราอย่างไร เราไม่ได้คำตอบ โทรไปเซลล์ไม่รับสาย”คุณรฐาพยายามช่วยเหลือตัวเองด้วยการไปสอบถามกับศูนย์บริการอีกแห่ง ได้รับการยืนยันว่าเกิดจากกระบวนการผลิตต้องส่งเคลมโรงงาน แต่ก็ไม่มีการดำเนินการต่อไปหลังจากนั้น“ไม่มีคำตอบว่าจะมีความรับผิดชอบเมื่อไรและอย่างไร เราได้รับบริการที่แย่มากมาตั้งแต่ต้น เราควรปฏิบัติอย่างไรในกรณีนี้คะ” คุณรฐาถาม แนวทางแก้ไขปัญหาจะเห็นว่าคำโฆษณานั้นดูดีเสมอ โดยเฉพาะกับการขายรถยนต์ราคาเป็นแสนๆ แต่การเกิดปัญหาเล็กๆ น้อยๆ อย่างที่เด็กบางคนเรียกว่า “เรื่องกะโหลกกะลาแค่เนี้ย” เมื่อไม่ได้รับการแก้ไขปัญหากะโหลกกะลามันก็จะบานปลายจนส่งผลต่อชื่อเสียงของสินค้าได้ไม่ยาก และหวังว่าคุณรฐาจะไม่ใช้รถคันนี้ตอนช่วงน้ำท่วม นึกเห็นภาพแล้ว...ความเสียหายคงบาน...วิธีแก้ปัญหานี้ คือ การเจรจาให้ผู้ขายรถยนต์ต้องรับรถไปตรวจและส่งซ่อมโดยเร็ว และผู้ขายสินค้าก็ไม่ควรอิดเอื้อนบ่ายเบี่ยงทำตัวเหมือนคนท้องผูก ปิดประตูห้องน้ำนั่งขยี้กระดาษชำระเล่น หรือไม่ยอมรับสาย ไม่ยอมพบปะพูดจากับลูกค้า เพราะคิดว่าเป็นเรื่องหมูในอวย ขายรถได้แล้วเป็นอันจบศูนย์รถแห่งไหนเลี้ยงพนักงานขายแบบนี้ ยิ่งมีมากก็ยิ่งเจ๊งไว สาธุ...ทำไมถึงแช่งกันอย่างนั้น เพราะยิ่งพนักงานขายแชเชือนแช่บ๊วยปล่อยปัญหาให้ช้าเนิ่นนานไป ก็ยิ่งจะทำให้ผู้บริโภคเกิดอารมณ์ขุ่นมัวสะสมพอกพูนแปรสภาพเป็นการเรียกค่าเสียหายผ่านการฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคได้สำหรับผู้บริโภคก็อย่าเพิ่งลัดขั้นตอนใจร้อนเอาเรื่องไปฟ้องร้องต่อศาลเพื่อขอเปลี่ยนรถใหม่หรือให้ซื้อรถคืนเลย เพราะฟ้องไปหากศาลท่านเห็นว่าน่าจะซ่อมได้ท่านก็คงสั่งให้ไปซ่อมก่อน ซ่อมได้ก็จบกันไป หากซ่อมไม่ได้หรือซ่อมไปแล้วเอากลับมาใช้อีก มองแล้วอาจเกิดอันตรายต่อชีวิตร่างกายของผู้บริโภคท่านถึงจะพิจารณาให้เรียกคืนรถและชดใช้เงินค่าซื้อรถกันได้ สรุปว่าทุกอย่างมีขั้นตอนดังนั้น สิ่งที่ผู้บริโภคควรทำเมื่อเกิดปัญหาแนวๆ นี้ คือ นำสินค้าที่เสียหายหรือชำรุดบกพร่องโดยที่ไม่ได้เกิดจากการความบกพร่องจากการใช้งานของผู้บริโภคส่งให้ผู้ขายสินค้าตรวจเช็คและร้องขอเป็นหนังสือลงลายมือชื่อของตนเองเพื่อขอให้ผู้ขายสินค้าซ่อมสินค้าที่ชำรุดบกพร่องโดยทันที และเริ่มนับเวลาค่าเสียหายที่ขาดโอกาสในการใช้รถนับแต่วันที่ส่งซ่อมทันที ไม่ได้หวังว่าจะเอามาคิดเป็นเงินจริงจังก็ได้ แต่คิดเป็นตัวเลขเพื่อใช้กดดันเป็นปฏิกิริยาเร่งให้มีการซ่อมสินค้าโดยเร็ว ซ่อมได้ภายในระยะเวลาที่เหมาะสมไม่เยิ่นเย้อยาวนานเกินไปก็สมควรจบปัญหากัน แต่หากซ่อมไม่ได้หรือซ่อมไม่หายจึงค่อยเรียกร้องให้เปลี่ยนสินค้าใหม่หรือคืนเงินกัน หากผู้ขายสินค้าไม่ยินยอมจึงค่อยไปฟ้องร้องต่อศาลในคดีผู้บริโภคได้ ว่ากันเป็นกระบวนยุทธ์อย่างนี้ ปัญหายุติเร็วแน่นอน ที่สำคัญยุติ แบบยุติธรรมด้วย แต่อย่าลืมเรื่องอายุความของคดีที่มีระยะเวลาแค่ 1 ปี นับแต่วันที่รับรู้ถึงความเสียหาย ต้องฟ้องร้องภายในกรอบระยะเวลานี้ หากพ้นระยะเวลานี้ไปก็หมดสิทธิที่จะเรียกร้องความรับผิดกันได้หลังจากได้รับคำแนะนำไปคุณรฐาเธอจึงเริ่มดำเนินการเจรจาตามกระบวนยุทธพิทักษ์ผู้บริโภค ไม่นานศูนย์นิสสันลาดพร้าวก็ได้ทำการตรวจสอบสภาพความชำรุดบกพร่องของรถ จนทราบสาเหตุที่น้ำรั่วไหลเข้ารถว่าเป็นเพราะขอบยางจากกระโปรงท้ายรถติดตั้งไม่เรียบร้อย และไม่มีการปิดฝาท่อระหว่างท้ายรถกับห้องโดยสารทำให้น้ำรั่วไหลเข้าไปได้ทั้งในเวลาล้างรถหรือตอนฝนตก จึงได้ทำการซ่อมแซมแก้ไขให้“เมื่อรับรถออกมาเราได้ทดสอบเบื้องต้นโดยการเอาน้ำฉีด น้ำไม่เข้าแล้ว...ขอขอบคุณทางมูลนิธิฯมากๆ ค่ะ ที่ให้คำปรึกษาดีมากๆ ขอบคุณค่ะ...”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่่ 135 รถถูกน้ำท่วม ประกันปัดจ่ายอ้างซ่อมรถอู่นอกเครือ

คุณกชนุช มีบ้านอยู่ ต.บางบัวทอง อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี ครั้งน้องน้ำท่วมใหญ่เมื่อปลายปี 54 ทั้งครอบครัวสำลักน้ำไปเต็มๆ ไม่เว้นแม้แต่รถเก๋งคันงาม ตราวอลโว่ พยายามพาขึ้นที่สูงก็ไม่รอด โดนเข้าไปถึงเบาะทีแรกคิดว่าจะเบาใจได้เพราะรถคันนี้ทำประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 ไว้กับบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างทิพยประกันภัย เมื่อน้ำลดในปลายเดือนพฤศจิกายน 2554 จึงนำรถเข้าศูนย์วอลโว่ รามอินทรา เพื่อตรวจสภาพความเสียหาย โดยมีพนักงานฝ่ายเคลมประกันของทิพยประกันภัยมาร่วมตรวจสภาพและถ่ายภาพไว้เป็นหลักฐาน พร้อมออกใบเคลมประกันให้เบื้องต้น มีการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง พร้อมทำความสะอาดเบาะและพรมที่ถูกน้ำเน่าแช่ขังอยู่นาน เสียค่าใช้จ่ายรวม 12,500 บาทเศษ ส่วนความเสียหายอื่นๆ ที่เหลือ ศูนย์วอลโว่ฯ จะจัดทำใบเสนอราคาส่งให้ทิพยประกันภัยพิจารณาต่อไป“วันรุ่งขึ้น ได้ติดต่อสอบถามไปที่ทิพยประกันภัยเพื่อขอทราบผลการพิจารณา คุยกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายคุมราคา ใช้เวลาคุยอยู่นานค่ะ ถึงทราบว่าการทำประกันรถของดิฉันเป็นประกันซ่อมอู่ไม่ใช่ซ่อมห้าง คือนำรถเข้าซ่อมกับศูนย์บริการของวอลโว่ไม่ได้”“ดิฉันต้องการให้บริษัทประกันภัยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด จึงได้สอบถามเจ้าหน้าที่ฝ่ายคุมราคาว่า มีอู่ในเครือของบริษัทฯ อยู่ที่ไหนบ้าง เจ้าหน้าที่ฝ่ายคุมราคาได้เอ่ยชื่อศูนย์บริการมา 4 แห่ง ดิฉันยังได้ย้ำว่า ขอเป็นอู่ในเครือ ก็ยังได้รับการเสนอชื่อศูนย์เดิม 4  แห่งนั้น ทำให้ดิฉันเข้าใจว่าเป็นศูนย์ที่เป็นอู่ในเครือ ของบริษัทฯ จึงตัดสินใจนำรถเข้าไปตรวจเช็คและซ่อมที่ศูนย์สุขุมวิท 66/1 ของบริษัท ทีทีไอ โกลเบิล ออโตโมทีฟ จำกัด”สี่สัปดาห์ต่อมา คุณกชนุชได้ติดต่อไปที่ศูนย์สุขุมวิท 66/1 เพื่อขอรับรถที่ซ่อม จึงได้ทราบข่าวร้ายว่าศูนย์ดังกล่าวไม่ได้เป็น “อู่ในเครือ” ของบริษัททิพยประกันภัยฯ ตามที่เข้าใจ “ที่ทราบก็เพราะศูนย์สุขุมวิท 66/1 บอกกับดิฉันว่า จะต้องจ่ายส่วนต่างค่าซ่อม 40% ค่ะ” คุณกชนุชบอกสถานการณ์ตอนนั้น คุณกชนุชก็ยังไม่รู้จะทำยังไงก็ต้องสำรองจ่ายไปอีกครั้งเป็นเงิน 55,400 บาทเศษ แต่ก็เข้าใจว่าบริษัทประกันภัยควรต้องรับผิดชอบค่าซ่อมทั้งหมดเพราะคนของประกันภัยเป็นคนบอกเองว่าเป็นอู่ในเครือ แล้วรถก็ยังซ่อมไม่เสร็จสมบูรณ์ เพราะศูนย์แจ้งว่าต้องรออะไหล่บางชิ้นก่อน จนหลังปีใหม่ คุณกชนุชได้นำรถกลับไปซ่อมที่ศูนย์สุขุมวิท 66/1 อีกครั้ง เพราะศูนย์ฯแจ้งมาว่าอะไหล่ส่งมาถึงแล้ว“หลังจากเอารถเข้าศูนย์ฯ ดิฉันได้ติดตามอย่างต่อเนื่อง ปรากฏว่าจนถึงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ศูนย์ฯ ไม่ได้ดำเนินการอะไรให้เลย อ้างว่าบริษัทประกันภัยยังไม่อนุมัติการซ่อม เมื่อสอบถามไปที่บริษัทประกันภัยคุยกับเจ้าหน้าที่คนเดิมก็บอกว่า ส่งแฟกซ์ใบอนุมัติไปที่ศูนย์ฯ แล้ว แต่พอสอบถามที่ศูนย์ฯ ศูนย์ฯ ก็บอกว่ายังไม่ได้รับ”“เมื่อแจ้งไปที่บริษัทประกันภัยว่าศูนย์ฯ ยังไม่ได้รับ เจ้าหน้าที่คนเดิมของบริษัทประกันภัยก็บอกว่าจะจัดการให้” คุณกชนุชเล่าไปกัดฟันไปด้วยความโกรธและฉุน เพราะจับได้ว่าเจ้าหน้าที่บริษัทประกันตุกติกสามวันหลังจากนั้น คุณกชนุชคาดว่ารถน่าจะซ่อมเสร็จแล้วจึงได้ติดต่อไปที่ศูนย์ซ่อมอีกครั้ง ปรากฏว่าศูนย์ฯ ยังไม่ได้รับเอกสารการอนุมัติซ่อมเลย คุณกชนุชจึงติดต่อไปที่บริษัทประกันภัย เจ้าหน้าที่คนเดิมบอกว่า “ได้คุยกันแล้ว ไม่ต้องรอแฟกซ์เอกสารให้ เพราะงานยุ่ง”คุณกชนุช เธอก็อดทนมาก โทรศัพท์กลับไปที่ศูนย์ฯ อีกครั้ง ได้คำตอบจากศูนย์ฯ ว่า ถ้าไม่มีเอกสารยืนยันจากบริษัทประกันภัยก็ไม่สามารถซ่อมได้ เพราะเกรงจะมีปัญหาการเบิกจ่ายในภายหลังคุณกชนุชเธออดทนถึงที่สุดก็สุดทน จึงประกาศวาจาต่อหน้าบานกระจกว่า “เรื่องนี้มันต้องถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแน่!”“ดิฉันคิดว่า เจ้าหน้าที่ของบริษัทประกันภัย มีพฤติกรรมไม่ตรงไปตรงมา ปัดความรับผิดชอบ ด้วยการให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน ไม่ชัดเจน ทำให้ดิฉันเข้าใจผิดในสาระสำคัญ สร้างความเสียหายแก่ดิฉันที่ต้องจ่ายเงินค่าซ่อม รวมถึงพฤติกรรมบ่ายเบี่ยง ทำให้เกิดความล่าช้าในการดำเนินการ จนถึงขณะนี้รถยังไม่ได้ซ่อม ไม่สามารถใช้รถได้ จึงขอร้องเรียนต่อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ช่วยดำเนินการให้บริษัททิพยประกันภัยรับผิดชอบความเสียหายครั้งนี้ด้วยค่ะ” แนวทางแก้ไขปัญหามูลนิธิฯ ได้ติดต่อไปที่บริษัททิพยประกันภัย แจ้งข้อเรียกร้องของคุณกชนุช ที่ยินดีจะชำระค่าส่วนต่างของค่าซ่อม 40% แต่ขอให้บริษัทชดเชยค่าเสียหายที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากรถเป็นเงิน 30,000 บาท ทิพยประกันภัยให้คำตอบกลับมาว่า เรื่องค่าซ่อมน่าจะจัดการได้ แต่อาจติดปัญหาเรื่องค่าชดเชยเยียวยา ขอให้มูลนิธิฯ ช่วยเจรจากับผู้ร้องอีกครั้งหลังทราบข้อมูล คุณกชนุช จึงแจ้งข้อเสนอใหม่ คือ ไม่ติดใจเรื่องค่าชดเชยแต่ขอให้บริษัทรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการซ่อม 100% และขอให้คืนเงินค่าซ่อมที่ได้สำรองจ่ายไปก่อนแล้วจำนวน 67,900 กว่าบาทด้วยทิพยประกันภัยขอเวลาสามวันจะให้คำตอบ วันที่สามตามกำหนด มูลนิธิฯ ได้โทรสอบถามทันที ได้รับคำตอบว่า บริษัทฯ ได้อนุมัติตามที่ผู้ร้องต้องการในที่สุดวันที่ 14 กุมภาพันธ์ วันวาเลนไทน์ปี 2555 คู่กรณีทั้งสองฝ่ายจึงได้มาทำบันทึกข้อตกลงยุติเรื่องที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยบริษัททิพยประกันภัย ยินดีรับผิดชอบคืนค่าซ่อมรถ 67,900 กว่าบาทที่คุณกชนุชสำรองจ่ายไป และรับผิดชอบค่าซ่อมรถตามใบเสนอราคาของศูนย์ฯ ทั้งหมดอีก 98,293 บาทคุณกชนุช ขอบคุณในความรับผิดชอบของบริษัททิพยประกันภัย และขอบคุณความช่วยเหลือของมูลนิธิฯ และรับปากว่า จะช่วยมูลนิธิฯ ด้วยการสมัครเป็นสมาชิกอุปถัมภ์นิตยสารฉลาดซื้อให้กับโรงเรียนจำนวน 19 โรงเรียน เพื่อเป็นมงคลชีวิตและครอบครัวของตนเองต่อไปสาธุ...สาธุ

อ่านเพิ่มเติม >