ฉบับที่ 200 รถโดยสารสองชั้น ตอนที่ 2!!

แม้ว่าประเด็นความเสี่ยงในความไม่ปลอดภัยของรถโดยสารสองชั้น จะเป็นข้อถกเถียงกันระหว่างกลุ่มนักวิชาการและกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจว่า จริงๆ แล้วรถโดยสารสองชั้นมีความปลอดภัยหรือไม่ปลอดภัยกันแน่ ทั้งที่รถโดยสารสองชั้นที่วิ่งกันทุกวันนี้ ล้วนผ่านการรับรองการใช้งานจากกรมการขนส่งทางบกมาแล้วทุกคัน แต่ด้วยความสูงของรถโดยสารสองชั้นที่สูงมากถึง 4.30 เมตร ในทางวิศวกรรมถือเป็นปัจจัยสำคัญส่วนหนึ่งของความเสี่ยงที่จะนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุทางถนนได้ ยิ่งหากมีปัจจัยความประมาทเลินเล่อของคนขับ และปัจจัยเสี่ยงจากสภาพถนนโค้ง ลาดชัน หรือสิ่งแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยรวมกันแล้ว ย่อมมีส่วนทำให้รถโดยสารสองชั้นเกิดอุบัติเหตุเสียหลักหรือพลิกคว่ำได้ง่ายขึ้นแม้จะไม่ได้ใช้ความเร็วมาก จากความสูญเสียในหลายๆ ครั้งที่เกิดขึ้น จึงเป็นที่มาของการกำหนดมาตรการป้องกันสำหรับรถโดยสารสาธารณะโดยเฉพาะรถโดยสารสองชั้นที่มีความสูงเป็นปัจจัยเสี่ยง คือ การทดสอบการทรงตัว หรือที่เรารู้จักกันว่า การทดสอบความลาดเอียง 30 องศานั่นเอง เพื่อให้มีมาตรฐานความปลอดภัยที่สูงขึ้นและสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคที่ใช้บริการ ลำดับการจัดการปัญหารถโดยสารสองชั้นเริ่มแรกในปี 2555 กรมการขนส่งทางบกได้ออกประกาศกำหนดให้รถโดยสารที่สูงเกิน 3.60 เมตร ขึ้นไป ต้องมีเกณฑ์การทรงตัวหรือผ่านทดสอบความลาดเอียง 30 องศา มีผลให้รถโดยสารที่สูงเกิน 3.60 เมตร (ส่วนใหญ่คือรถโดยสารสองชั้น) ที่จดทะเบียนก่อน 1 มกราคม 2556 ต้องผ่านการทดสอบความลาดเอียงก่อนวันที่ 1 มกราคม 2561 ส่วนรถที่จดทะเบียนใหม่ ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2556 เป็นต้นไป ต่อมาในปี 2557 กรมการขนส่งทางบก ได้ออกประกาศฉบับที่ 2 แก้ไขเพิ่มเติมปรับปรุงระยะเวลาการบังคับใช้เกณฑ์การทรงตัวให้เร็วขึ้นกว่าเดิม โดยกำหนดให้รถโดยสารสองชั้นที่จดทะเบียนก่อนวันที่ 1 มกราคม 2556 ต้องผ่านการทดสอบความลาดเอียงก่อนวันที่ 1 มกราคม 2559 แต่ประกาศฉบับนี้ก็ไม่ได้การยอมรับจากกลุ่มผู้ประกอบการ จนนำไปสู่การยื่นข้อเสนอเพื่อหาทางออก ผ่อนผันจากมาตรการบังคับให้ต้องนำรถเข้ารับการทดสอบตามประกาศฉบับนี้ ทำให้ในช่วงปลายปี 2558 ก่อนครบกำหนดระยะเวลาตามประกาศฉบับที่ 2 กรมการขนส่งทางบก ต้องออกประกาศฉบับที่ 3 ยกเลิกข้อความตามประกาศฉบับที่ 1 และที่ 2 เพื่อผ่อนผันให้รถโดยสารสองชั้นที่จดทะเบียนก่อน วันที่ 1 มกราคม 2556 จำนวนกว่า 5,700 คัน หรือคิดเป็นร้อยละ 75 ของรถโดยสารสองชั้นทั้งหมด ยังไม่ต้องนำรถมาทดสอบความลาดเอียงตามกำหนดระยะเวลาเดิม แต่ต้องนำรถไปติดระบบ GPS ซึ่งเป็นมาตรการควบคุมการใช้ความเร็วแทน และหากรถในกลุ่มนี้ แจ้งยกเลิกการใช้หรือนำรถมาจดทะเบียนใหม่หรือเปลี่ยนแปลงตัวถังรถ รถในกลุ่มนี้ก็ต้องบังคับให้เข้ารับการทดสอบความลาดเอียงก่อนวิ่งให้บริการเช่นเดียวกัน และในปี 2560 นี้ กรมการขนส่งทางบกได้กำหนดมาตรการคุมกำเนิดรถโดยสารสองชั้นเพิ่มอีกขั้นหนึ่ง ด้วยการกำหนดให้รถโดยสารขนาดใหญ่ที่มาจดทะเบียนใหม่จะต้องมีความสูงไม่เกิน 4.00 เมตร จากเดิมที่กำหนดไว้ 4.30 เมตร โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม 2560 โดยมีเป้าหมายเพื่อไม่ให้มีการจดทะเบียนรถโดยสารสองชั้นเพิ่มใหม่ในระบบอีก ซึ่งจะเป็นการจัดระบบรถโดยสารสองชั้นได้อีกทางหนึ่งด้วย อนาคตของรถโดยสารสองชั้นจากมาตรการต่างๆ ของกรมการขนส่งทางบก จะเห็นได้ว่าเป็นแนวทางจัดการที่มุ่งเน้นไปกับกลุ่มรถจดทะเบียนใหม่ที่ควบคุมได้ง่ายมากกว่า ในขณะที่ยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจนหรือเป็นทางออกร่วมกันกับกลุ่มรถเก่าหรือรถที่ใช้งานมาก่อนวันที่ 1 มกราคม 2556 ที่เป็นรถกลุ่มใหญ่ในระบบตลาดทุกวันนี้ แม้ทางออกในวันนี้ คือ การติดตั้ง GPS ควบคุมความเร็ว รวมถึงมาตรการควบคุมพฤติกรรมคนขับรถด้วยเทคโนโลยี ซึ่งมีผลช่วยในเรื่องความปลอดภัยได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็อาจจะยังไม่ตอบโจทย์โครงสร้างของตัวรถโดยสารสองชั้นที่ไม่เหมาะสมสำหรับการนำมาใช้ในเส้นทางเสี่ยงได้ โดยมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการประกอบต่อรถโดยสารขนาดใหญ่ของอู่ต่อรถในบ้านเรา ยังต่อกันตามแบบที่สั่งกับแบบที่มี ไม่ใช่ต่อตามแบบมาตรฐานที่กรมฯ ควรจะกำหนดไว้ ดังนั้นหากกรมการขนส่งทางบก ปรับนโยบายใช้แนวทางการหาทางออกแบบมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในประเด็นการกำหนดแบบมาตรฐานโครงสร้างรถโดยสารที่ปลอดภัย การสนับสนุนอาชีพพนักงานขับรถที่มีประสิทธิภาพ และระเบียบข้อบังคับความปลอดภัยที่จะออกมาเพิ่มเติมในอนาคต รวมถึงการทบทวนมาตรการต่างๆเพื่อให้เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน น่าจะเป็นทางออกที่ดีต่อทุกฝ่ายมากกว่าการบังคับเพียงฝ่ายเดียวแต่ไม่สามารถปฏิบัติได้แบบที่ผ่านมา 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 199 เหตุเกิดจากพนักงานขาย

แม้พนักงานขายจะถือเป็นตัวแทนของบริษัท ที่คอยช่วยอำนวยความสะดวกให้ลูกค้า โดยทำหน้าที่แนะนำและให้คำปรึกษาเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ แต่หลายครั้งที่มีปัญหาเกิดขึ้น บริษัทบางแห่งกลับปฏิเสธการรับผิดชอบผลเสียหายอันเนื่องจากพนักงานขายของตนเอง ซึ่งผู้บริโภคอย่างเราจะแก้ไขเหตุการณ์ได้อย่างไร ลองไปดูกันมาเริ่มกันที่กรณีแรกกับคุณสุชัย เขาตกลงสั่งจองรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้ากับพนักงานขายรถคนหนึ่ง โดยแสดงความต้องการว่า จะซื้อรุ่นที่ผลิตในปี 2016 เท่านั้น ซึ่งพนักงานคนดังกล่าวก็รับทราบและสั่งจองรถยนต์รถยนต์รุ่นดังกล่าวให้ อย่างไรก็ตามพนักงานและสุชัยไม่ได้ตกลงทำสัญญาการจองรถภายในศูนย์บริการ และไม่มีเอกสารการจองรถที่มาจากบริษัท รวมทั้งเงินค่ามัดจำการจองรถพนักงานก็ได้แจ้งให้คุณสุชัยโอนเข้าบัญชีส่วนตัว ซึ่งคุณสุชัยก็ทำตามที่พนักงานระบุและนัดรับรถในอีก 2 เดือนข้างหน้า โดยคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่เหตุการณ์กลับไม่เป็นอย่างนั้น เพราะผ่านไปไม่กี่อาทิตย์พนักงานขายคนดังกล่าวได้เสียชีวิตลง ทำให้คุณสุชัยต้องดำเนินการติดต่อเรื่องใหม่ทั้งหมดกับบริษัท ซึ่งได้อำนวยความสะดวกให้เขาด้วยการส่งรถให้ตามกำหนดเดิม ทำให้คุณสุชัยได้รับรถไปใช้งานอย่างที่ตั้งใจไว้ เมื่อคุณสุชัยได้ใช้งานรถไป 5 เดือนและต้องไปรับป้ายทะเบียนรถ เขากลับพบความจริงว่า ในสำเนาทะเบียนรถระบุว่ารถคันดังกล่าวเป็นรุ่นที่ผลิตในปี 2015 ซึ่งหลังสอบถามไปยังบริษัทก็ได้รับการยืนยันว่าเป็นรุ่นที่ผลิตในปีดังกล่าวจริง ทำให้คุณสุชัยจึงแจ้งกลับไปว่า ก่อนหน้าทำสัญญาจองรถ เขาต้องการซื้อรถที่ผลิตในปี 2016 ซึ่งพนักงานขายที่ได้เสียชีวิตไปแล้วเป็นผู้จองให้ แต่ทางบริษัทได้ตอบกลับว่าไม่ทราบรายละเอียดที่คุณสุชัยได้แจ้งความจำนงไว้กับพนักงานคนดังกล่าว แต่จะรับผิดชอบด้วยการให้เช็คระยะ คุณสุชัยได้ปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว และขอให้บริษัทเปลี่ยนรถให้ใหม่ โดยให้เป็นรุ่นที่ตกลงกันไว้แต่แรก แต่บริษัทกลับตอบกลับว่าไม่สามารถเปลี่ยนให้ได้  เขาจึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอคำแนะนำว่าเขามีสิทธิที่จะขอเงินคืนได้หรือไม่ ส่วนกรณีที่สอง เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับคุณปราณี เธอตกลงใช้บริการรับส่งน้ำดื่มตามบ้าน ซึ่งก่อนใช้บริการพนักงานแจ้งว่าต้องเสียค่ามัดจำถังจำนวน 700 บาท และจะคืนให้เมื่อเลิกใช้บริการ เมื่อใช้บริการดังกล่าวไปได้สักระยะ คุณปราณีต้องการหยุดใช้บริการ โดยเข้าใจว่าต้องได้เงินมัดจำที่เคยเสียไปคืนด้วย แต่เมื่อติดต่อไปยังบริษัทกลับได้รับคำตอบว่า ไม่สามารถคืนเงินให้ได้ เพราะพนักงานที่คุณปรานีเคยติดต่อซื้อขายนั้น ไม่ได้นำเงินดังกล่าวส่งบริษัท ทำให้เธอส่งเรื่องมาร้องเรียนยังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ เพราะเชื่อว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคแนวทางการแก้ไขปัญหาสำหรับทั้งสองกรณีที่เกิดขึ้นล้วนมาสาเหตุจากการพูดคุยติดต่อกับพนักงานขาย ซึ่งเป็นตัวแทนในการซื้อขายระหว่างบริษัทกับผู้ร้อง และเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นเพราะตัวแทนขายดังกล่าว ผู้บริโภคก็ถูกปฏิเสธความรับผิดชอบจากบริษัท ทั้งนี้สำหรับกรณีแรกการซื้อรถยนต์แล้วไม่ได้รถอย่างที่คุยกันไว้ ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำผู้ร้องว่า รายละเอียดต้องเป็นไปตามสัญญาที่ผู้ร้องทำไว้ แม้พนักงานคนที่ได้ทำสัญญาไว้จะเสียชีวิตไปแล้ว ซึ่งหากไม่ได้รถตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญา สามารถบอกเลิกสัญญาและขอเงินคืนได้ เพราะตามประกาศคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคว่าด้วยสัญญา ให้ธุรกิจขายรถยนต์ที่มีการจองเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา 2551 โดยกำหนดไว้ว่า ผู้บริโภคมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเมื่อผู้ประกอบธุรกิจกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ (1) ปรับเปลี่ยนราคารถยนต์สูงขึ้น (2) ไม่ส่งมอบรถยนต์ให้ผู้บริโภคภายในระยะเวลาที่กำหนด (3) ไม่ส่งมอบรถยนต์ที่มียี่ห้อ รุ่น ปีที่ผลิต สี และขนาดกำลังเครื่องยนต์ตรงตามที่กำหนดในสัญญา (4) ไม่ส่งมอบรถยนต์ที่มีรายการอุปกรณ์ติดตั้งเพิ่มเติมและของแถม หรือสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ตามที่กำหนดในสัญญา อย่างไรก็ตามรูปแบบของสัญญาก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะหากไม่ได้ทำตามที่กฎหมายกำหนดก็อาจถูกฉ้อโกงได้ ซึ่งหากใครกำลังจะตกลงจองรถ ต้องตรวจสอบให้ดีก่อนว่าสัญญาที่ทำกับตัวแทนมีลักษณะตรงตามที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่ โดยตามประกาศดังกล่าวกำหนดไว้ว่า สัญญาจองรถยนต์ที่ผู้ประกอบธุรกิจทำกับผู้บริโภคต้องมีข้อความเป็นภาษาไทยที่สามารถเห็นและอ่านได้ชัดเจน มีขนาดของตัวอักษรไม่เล็กกว่าสองมิลลิเมตร และต้องใช้ข้อสัญญาที่มีสาระสำคัญและเงื่อนไข ดังต่อไปนี้ (1) รายละเอียดเกี่ยวกับรถยนต์ดังนี้ (2) ยี่ห้อ รุ่น ปีที่ผลิต สี และขนาดกำลังเครื่องยนต์ (3) รายการอุปกรณ์ติดตั้งเพิ่มเติมและของแถมหรือสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ (ถ้ามี) (4) จำนวนเงิน หรือสิ่งที่รับไว้เป็นมัดจำ (ถ้ามี) (5) ราคา (6) กำหนดเวลาที่คาดว่าจะส่งมอบรถยนต์ส่วนกรณีที่สองผู้ร้องถูกปฏิเสธการคืนเงินมัดจำ ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำผู้ร้องว่า บริษัทไม่สามารถอ้างว่าพนักงานไม่นำส่งได้ เนื่องจากการที่พนักงานไม่ส่งเงินค่ามัดจำให้บริษัท ถือเป็นเรื่องการบริหารงานภายในของบริษัท ซึ่งต้องไปติดตามเอาผิดกับพนักงานคนดังกล่าวเอง แต่ในส่วนที่ผู้ร้องได้จ่ายเงินไปและทำตามสัญญา รวมถึงมีใบเสร็จยืนยันการชำระเงิน บริษัทจำเป็นต้องทำตามสัญญาและคืนเงินค่ามัดจำดังกล่าวให้ผู้ร้อง ซึ่งหากไม่ดำเนินการภายในกำหนด จะถือว่าเป็นการฉ้อโกงผู้บริโภค โดยผู้ร้องสามารถดำเนินการแจ้งความเอาผิดกับบริษัทได้ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 199 ภัยไม่เงียบ รถโดยสารสองชั้น ตอนที่ 1!!

เข้าใกล้สิ้นปีเมื่อใด นั่นหมายความว่าเทศกาลเดินทางการท่องเที่ยวเริ่มมาแล้ว และแน่นอนเมื่อมีการท่องเที่ยวกันมากขึ้น การต้องเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะเพื่อการเดินทางก็มีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้นตามการใช้งานไปด้วย และรถโดยสารยอดนิยมที่เป็นตัวเลือกลำดับต้นๆ ในการเลือกใช้โดยสารนั่นก็คือ รถโดยสารสองชั้น! แล้วทำไมรถโดยสารสองชั้นถึงเป็นที่นิยมของคนจำนวนมาก ??ตอบได้เลย เพราะตอบโจทย์การใช้งานของลูกค้าได้ทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มที่ต้องการรองรับคนเดินทางได้ครั้งละจำนวนมาก และประหยัดงบประมาณค่าใช้จ่ายที่ไม่ต้องเช่ารถโดยสารจำนวนหลายคัน เช่น นักท่องเที่ยวเพื่อทัศนาจร นักเรียน-นักศึกษาเพื่อทัศนศึกษา เจ้าหน้าที่หรือพนักงานเพื่อศึกษาดูงาน หรือการรับส่งพนักงานในกลุ่มบริษัทหรือโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ และด้วยความต้องการใช้รถโดยสารสองชั้นของกลุ่มผู้บริโภค ทำให้ที่ผ่านมาปริมาณรถโดยสารสองชั้นมีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปีสอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มผู้ใช้บริการจากข้อมูลจำนวนรถที่จดทะเบียนสะสมกับกรมการขนส่งทางบก ณ วันที่  31 ธันวาคม 2559  พบว่า มีรถโดยสารสองชั้นที่จดทะเบียนทั่วประเทศทั้งหมด 7,324 คัน   โดยแบ่งเป็นรถโดยสารประจำทาง 1,947 คัน  รถโดยสารไม่ประจำทาง 5, 314 คัน และรถโดยสารส่วนบุคคล 63 คัน สาเหตุที่กลุ่มผู้ใช้บริการนิยมเลือกใช้รถโดยสารสองชั้นพบว่า ส่วนใหญ่เลือกจากความสะดวกสบายของตัวรถ สภาพรถใหม่  ที่นั่งชั้นสองมองเห็นวิวข้างทางได้  มีเครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆรองรับความต้องการครบครัน  เช่น เบาะนวดไฟฟ้า คาราโอเกะ ดนตรี อินเทอร์เน็ต ไวไฟ ขณะที่มีพื้นที่ชั้นล่างในการทำกิจกรรมร่วมกันในขณะเดินทางได้แต่หลายคนจะรู้หรือไม่ว่า รถโดยสารสองชั้นที่เห็นกันอยู่ทุกวันนี้นั้น ส่วนใหญ่มีความสูงขนาดไหนกัน  กฎกระทรวง ฉบับที่ 60 ตามพระราชบัญญัติกรมการขนส่งทางบก  พ.ศ. 2522  กำหนดคุณสมบัติของรถโดยสารสองชั้นไว้ว่า เมื่อวัดส่วนที่กว้างที่สุดของตัวถัง จะต้องไม่เกิน  2.55 เมตร ความสูงภายนอกของตัวรถที่ใช้ในรถโดยสารเมื่อวัดจากพื้นที่ราบถึงส่วนที่สูงที่สุดของรถจะต้องไม่เกิน  4.30 เมตร และความยาวต้องไม่เกิน 12 เมตร  ซึ่งเมื่อดูจากขนาดของรถโดยสารสองชั้นที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบันต้องบอกเลยว่ามีความเสี่ยงไม่น้อยเลยทีเดียว เมื่อเทียบกับรถโดยสารชั้นเดียวที่มีขนาดเล็กกว่า  สอดคล้องกับข้อมูลของศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย  ได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ ในปี 2559 ที่ผ่านมา พบว่า รถโดยสารสองชั้นมีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุสูงกว่า รถโดยสารชั้นเดียว ถึง 6 เท่า” ส่วนอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถโดยสารสองชั้นนั้น ก็สูงกว่าอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถโดยสารชั้นเดียว ถึง 6 เท่า เช่นเดียวกัน สาเหตุของอุบัติเหตุจากรถโดยสารสองชั้นเมื่อวิเคราะห์ถึงอุบัติเหตุรถโดยสารที่เกิดกับรถโดยสารสองชั้นในรอบหลายปีที่ผ่านมา พบว่าอุบัติเหตุส่วนใหญ่จะเกิดกับรถโดยสารสองชั้นไม่ประจำทางมากกว่ารถโดยสารสองชั้นประจำทาง ด้วยจำนวนและปัจจัยเสี่ยงที่มากกว่า ดังนั้นอุบัติเหตุที่เกิดกับรถโดยสารสองชั้นไม่ประจำทาง จึงเป็นส่วนที่น่าเป็นห่วงและต้องให้ความสำคัญ ประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณาคือ ถ้าเป็นรถโดยสารประจำทางจะมีเส้นทางวิ่งที่แน่นอน มีกฎหมายควบคุมเส้นทางที่ขออนุญาตประกอบการเดินรถ ซึ่งรถโดยสารประจำทางจะไม่สามารถวิ่งออกนอกเส้นทางได้  แต่สำหรับรถโดยสารไม่ประจำทางแล้วนั้น เป็นการว่าจ้างให้เดินทางไปที่ไหนก็ได้ทั่วประเทศ  ไม่จำเป็นต้องขออนุญาตก่อนเดินทาง ซึ่งบางครั้งผู้ขับรถอาจไม่มีความชำนาญในเส้นทางนอกพื้นที่ และอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ เมื่อลองพิจารณาปัจจัยการเกิดอุบัติเหตุกับรถโดยสารสองชั้นทั้งหมดแล้ว แม้ปัจจัยความเสี่ยงของผู้ขับขี่จะดูเป็นสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุ ทั้งหลับใน ขับรถเร็ว ประมาทเลินเล่อ ไม่เคารพกฎจราจร แต่สภาพรถโดยสารสองชั้นที่มีความสูง โดยเมื่อประกอบกับความเร็วในการขับขี่และสภาพถนนที่เป็นทางโค้งลาดชัน ก็มีส่วนที่ทำให้รถโดยสารสองชั้นเกิดอุบัติเหตุเสียหลักหรือพลิกคว่ำได้ง่าย ด้วยเหตุผลจากความชำรุดบกพร่องของตัวรถโดยสารสองชั้นเอง (ติดตามต่อในตอนที่ 2) 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 198 นักเรียนเขาคิดอย่างไรกับเรื่องรถโรงเรียน

ปี 2558 รถรับส่งนักเรียนเกิดอุบัติเหตุ 17 ครั้ง บาดเจ็บ 212 คน เสียชีวิต 24 รายปี 2559 รถรับส่งนักเรียนเกิดอุบัติเหตุ 27 ครั้ง บาดเจ็บ 231 คน เสียชีวิต 4 รายการเดินทางไปร่ำเรียนหนังสือของเด็กไทยในทุกวันนี้ มีเด็กนักเรียนจำนวนมากที่ผู้ปกครองเลือกวิธีการให้ลูกโดยสารไปกับ “รถรับส่งนักเรียน” โดยเชื่อว่าจะช่วยทำให้เด็กทั้งเดินทางสะดวกสบายและประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนที่พ่อแม่จะต้องไปส่งเด็กที่โรงเรียนเอง ทั้งนี้ส่วนหนึ่งก็เชื่อมั่นด้วยว่า มีความปลอดภัยกว่าที่จะให้ลูกหลานไปกับรถโดยสารประจำทางหรือขับขี่รถไปเอง แต่จะมีพ่อแม่ผู้ปกครองคนไหนบ้าง ที่จะตระหนักว่า รถรับส่งนักเรียนที่มารับลูกของเรานั้น ก็มีความเสี่ยงอันตรายมากเช่นกัน   จากการติดตามสถานการณ์ปัญหาเรื่องอุบัติเหตุที่เกิดกับรถรับส่งนักเรียนในหลายปีที่ผ่านมา ของโครงการ Safe Thai Bus ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค พอที่จะสรุปปัญหาได้ว่า อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นและสร้างความเสียหายจนถึงแก่ชีวิตของลูกหลานเรา มาจากสาเหตุหลักคือการนำรถยนต์ที่ไม่ได้จดทะเบียนเพื่อเป็นรถรับส่งนักเรียนโดยเฉพาะไปทำเป็นรถรับส่งนักเรียน หรือการใช้รถยนต์ผิดประเภทนั่นเอง  จากข้อมูลของกรมการขนส่งทางบก มีรถจดทะเบียนรถรับส่งนักเรียน จนถึงเดือนกรกฎาคม 2559 จำนวน 22,861 คัน แบ่งเป็น รถตู้ จำนวน 15,781 คัน, รถสองแถว จำนวน 3,175 คัน และรถกระบะปิคอัพ จำนวน 2,667 คัน และมีการนำรถมาใช้ผิดประเภทจำนวน 2,788 คัน (อ้างอิงจาก ข่าวไทยพีบีเอส เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2560) ซึ่งจากการทำงานของโครงการฯ แล้วจำนวนรถที่มีการใช้ผิดประเภทน่าจะมีจำนวนมากกว่านี้อีกมาก อย่างไรก็ตาม เพื่อสร้างความเข้าใจต่อสถานการณ์ในปัจจุบันของเรื่องรถรับส่งนักเรียนให้ดียิ่งขึ้น ทางโครงการฯ จึงได้ ทำการสำรวจจากผู้ใช้บริการโดยตรงคือ น้องๆ นักเรียน ว่าสภาพการใช้งานจริงๆ นั้น เป็นอย่างไร  โดยมีอาสาสมัครจากเครือข่ายผู้บริโภคทั้ง 6 ภาคทั่วประเทศเป็นผู้รวบรวมข้อมูล   การสำรวจสภาพการให้บริการของรถรับส่งนักเรียน  ในการสำรวจสภาพการให้บริการของรถรับส่งนักเรียน ซึ่งรวบรวมข้อมูลโดยอาสาสมัครเครือข่ายผู้บริโภค 6 ภาค พบว่า ปัจจุบันมีการนำรถยนต์ส่วนบุคคล ประเภท รถตู้ และรถกระบะดัดแปลงเพิ่มเติมที่นั่งสองแถว มาใช้รับจ้างรับส่งนักเรียนทั้งในและนอกเขตจังหวัดเป็นจำนวนมาก แต่เนื่องจากเป็นรถที่มีขนาดเล็ก เมื่อนำไปรับส่งนักเรียน อาจก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยกับนักเรียน นอกจากนี้ยังไม่มีกฎระเบียบควบคุมในเรื่องความปลอดภัย รถรับส่งนักเรียนลักษณะนี้เป็นรถไม่มีมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด ไม่มีการปรับปรุงสภาพตัวรถให้มีความปลอดภัยสำหรับใช้รับส่งนักเรียน  และเพราะไม่ได้มีที่มาที่ถูกต้องตามกฎหมาย คือเป็นรถที่ไม่ได้รับอนุญาต  จึงมากมายไปด้วยปัญหา ทั้งพนักงานขับรถไม่มีคุณภาพ การขับรถเร็วไม่เคารพกฎจราจร บรรทุกเด็กนักเรียนเกินกว่าที่นั่งของรถที่กฎหมายกำหนด ไม่มีคาดเข็มขัดนิรภัย การปรับเบาะที่นั่งเป็นเบาะยาวในรถตู้ ดัดแปลงสภาพส่งผลกระทบต่อความมั่นคงแข็งแรง รถมีสภาพเก่าไม่เหมาะกับการให้บริการ รวมถึงการไม่จัดทำประกันภัยทั้งภาคบังคับและภาคสมัครใจ ด้วยลักษณะดังกล่าว ทำให้สถานการณ์ของการรับส่งนักเรียนอยู่ในภาวะน่าเป็นห่วง   ลักษณะการเดินทางไป-กลับโรงเรียนและค่าใช้จ่ายต่อเดือน นักเรียนที่ตอบแบบสอบถามของโครงการฯ พบว่า กลุ่มใหญ่ที่สุด คือ 894 คน จากจำนวนผู้ตอบทั้งหมด 2,996 คน ต้องเดินทางไปโรงเรียนในระยะทางที่มากกว่า 20 กิโลเมตร รองลงมาคือ เดินทางในระยะ 16-20 กิโลเมตร 837 คน หรือ ร้อยละ 30 และ ร้อยละ 28 ตามลำดับ โดยมีนักเรียนที่ใช้ระยะเดินทางไม่เกิน 5 กิโลเมตรอยู่เพียงร้อยละ 7 หรือ 224 คน  โดยเวลาที่เสียไปกับการเดินทางปรากฏว่า น้องนักเรียนส่วนใหญ่ไปถึงโรงเรียนในเวลาไม่เกิน 30 นาที ถึง 1,401 คน จากผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด 3,265 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 43 รองลงมาตอบว่า ราว 30 นาที – 1 ชั่วโมง จำนวน 1,200 คน หรือร้อยละ 37 (ถึงไวจริงๆ ) สำหรับค่ารถที่จ่ายให้กับบริการรถรับส่ง มีผู้ตอบว่า อยู่ในช่วงราคา 300-600 บาท มากที่สุด (1,252 คน) และอยู่ในช่วงราคา 600-900 บาทต่อเดือนรองลงมา (1,029 คน) หรือคิดเป็นร้อยละ 41 และร้อยละ 34 จากผู้ตอบแบบสอบถามในส่วนนี้ทั้งหมด 3,043 คน  รถตู้ คือรถยอดนิยมนำมาทำรถรับส่งนักเรียน จากการรวบรวมข้อมูลทั้งหมดภาพรวม พบว่า รถตู้ ถูกนำมาทำเป็นรถรับส่งนักเรียนมากสุด โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 1,869 คน รองลงมา คือ รถกระบะ รถสองแถว รถบัส และ รถสี่ล้อใหญ่ หรือ คิดเป็นรถตู้ ร้อยละ 46 รถกระบะ ร้อยละ 25 รถสองแถว ร้อยละ 11 รถบัส ร้อยละ 9 และรถสี่ล้อใหญ่ ร้อยละ 4จากจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมดจำนวน 4,081 คน    แต่เมื่อแยกรายภาค พบว่า ภาคอีสานจะนิยมรถกระบะมากเป็นอันดับหนึ่ง คิดเป็นร้อยละ 42 รถสองแถว และรถบัสกลายเป็นอันดับรองๆ ลงมา มากกว่ารถตู้ ซึ่งตอบแบบสอบถามเพียง ร้อยละ 8 เท่านั้น เหตุผลที่ต้องใช้บริการรถรับส่งนักเรียน                เรื่องความสะดวกติดโผมาอันดับหนึ่ง ความปลอดภัยมาเป็นอันดับสอง และตอบว่า ไม่มีทางเลือกเป็นอันดับ สาม (ร้อยละ 44 ร้อยละ 19 และไม่มีทางเลือก ร้อยละ 13) สภาพขณะโดยสารตอกย้ำเรื่องความไม่ได้มาตรฐานของรถรับส่งนักเรียน              จากการรวบรวมข้อมูล เราพบว่า เด็กนักเรียนส่วนใหญ่ในการใช้บริการครั้งล่าสุดยังพบว่า มีคนที่ไม่มีที่นั่ง หรือต้องยืนไปโรงเรียน อยู่ที่ร้อยละ 15 และอีกร้อยละ 86 ไม่มีการคาดเข็มขัดนิรภัยเพื่อความปลอดภัย นอกจากนี้ ยังพบว่า ภายในรถไม่มีอุปปกรณ์ความปลอดภัย เช่น ถังดับเพลิง ค้อนทุบกระจก ถึงร้อยละ 31 และร้อยละ 29 ตอบว่าไม่ได้สังเกตหรือไม่ทราบว่ามีไม่มี(อาจเพราะไม่ได้อยู่ในตำแหน่งที่สังเกตได้ง่าย) จากข้อมูลที่ได้ออกไปรวบรวมมาในครั้งนี้ จึงไม่น่าแปลกใจหากจะพบว่า รถรับส่งนักเรียนส่วนใหญ่ที่ให้บริการในปัจจุบัน ยังไม่สามารถปฏิบัติให้เป็นไปตามระเบียบหรือกฎหมายที่กำหนดไว้ได้  ประกอบกับการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ยังไม่ได้ทำอย่างจริงจัง มีการปล่อยปละละเลยหรืออนุโลมมาอย่างต่อเนื่อง เสมือนเป็นการสนับสนุนและเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการนำรถยนต์ส่วนบุคคลที่ไม่ได้รับอนุญาตมาวิ่งรับส่งนักเรียนแบบผิดกฎหมายอย่างทั่วถึงเช่นในปัจจุบัน 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 198 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหว เดือนสิงหาคม 2560ใช้ “รังสี” ต้องติดใบรับรองสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) แนะประชาชนสังเกตสัญลักษณ์แสดงสถานประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตครอบครองหรือใช้รังสีอย่างถูกต้องจาก ปส. ก่อนเข้ารับบริการ เพื่อให้มั่นใจปลอดภัยจากรังสีตามมาตรฐานสากลหลังจากที่พระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2559 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 ปส. ได้เร่งสร้างความเข้าใจต่อผู้ประกอบและประชาชนให้พร้อมต่อการบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบเมื่อกฎหมายลำดับรองแล้วเสร็จในเดือนตุลาคม 2560 นี้ โดยล่าสุดมีสถานประกอบการยื่นคำร้องขอรับใบอนุญาติจาก ปส. แล้วกว่า 3,500 แห่ง ซึ่งเมื่อผู้ประกอบการได้รับใบอนุญาตแล้ว ปส. จะมอบสัญลักษณ์แสดงการได้รับอนุญาต สามารถนำไปติดบริเวณที่ให้บริการประชาชน เพื่อให้เป็นจุดสังเกตซึ่งจะทำให้ประชาชนเกิดความมั่นใจก่อนเข้ารับบริการมากยิ่งขึ้นโดยปัจจุบันสถานประกอบการที่เกี่ยวข้องกับรังสีมีมากมายหลายด้าน ทั้งด้านอาหาร การแพทย์ และด้านอุตสาหกรรม เช่น การทำอัญมณี ด้านเชื้อเพลง เป็นต้นอาหารทะเลปลอดภัยไม่มีปรอทข่าวนี้ถือเป็นข่าวดีของคนที่ชอบรับประทานอาหารทะเลเพราะมีผลตรวจการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ว่า อาหารทะเล พวก กุ้ง หอย ปูปลา ที่ขายในตลาดจังหวัดชลบุรีและจังหวัดระยอง ปลอดภัยจากสารปรอทกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 6 ชลบุรี ได้สุ่มเก็บตัวอย่าง อาหารทะเล จำนวน 54 ตัวอย่าง ได้แก่ ปลา หอย กุ้ง ปู ปลาหมึก และ กั้ง จากแหล่งจำหน่ายอาหารทะเลที่สำคัญ ได้แก่ ตลาดหนองมน และสะพานปลาอ่างศิลา จังหวัดชลบุรี ตลาดประมงพื้นบ้านหาดสวนสน จังหวัดระยอง นำมาตรวจวิเคราะห์หาปริมาณสารปรอท โดยใช้เครื่อง Mercury Analyzer หลักการ Cold Vapor Atomic Absorption Spectrometry (CVAAS) พบว่าอาหารทะเลทั้ง 54 ตัวอย่างมีปริมาณสารปรอทต่ำกว่ามาตรฐานที่ประกาศโดยกระทรวงสาธารณสุขที่กำหนดให้มีได้ไม่เกิน 0.5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม เท่ากับว่าตัวอย่างอาหารทะเลที่นำมาวิเคราะห์อยู่ในระดับที่ปลอดภัยต่อการบริโภคพบสารอันตรายในเครื่องสำอาง “โบวี่ คิ้ม”เรายังคงได้ยินข่าวคราว เครื่องสำอางอันตราย ปรากฎให้เห็นกันอยู่เรื่อยๆ ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ทำการลงดาบจัดการเครื่องสำอางยี่ห้อ “โบวี่ คิ้ม”(BOWVY KIM) หลังจากมีผู้บริโภคร้องเรียนว่าใช้แล้วผิวเกิดขึ้นผื่นแดง ซึ่งจากการวิเคราะห์ก็พบสารอันตรายต้องห้ามปนเปื้อนอยู่ในเครื่องสำอางยี่ห้อดังกล่าวโดยผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการใช้เครื่องสำอางยี่ห้อ โบวี่ คิ้ม ได้ซื้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแบบที่ขายเป็นเซ็ตผ่านทางเฟซบุ๊ค ประกอบด้วย  ครีมสมุนไพรเวียดนาม ครีมกันแดดหน้าเงา ครีมแตงกวา ครีมขมิ้น เซรั่มอโลเวล่าเจล และสบู่เมือกหอยทาก เมื่อใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้ 1 วัน พบว่า เกิดผื่นแดงและสิวขึ้นตามใบหน้า และมีอาการคัน ทำให้สงสัยว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอาจมีสารอันตรายปนเปื้อนอยู่ อย. ได้นำตัวอย่างครีมที่ได้รับการร้องเรียนส่งตรวจวิเคราะห์ให้กับศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 8 อุดรธานี พบไฮโดรควิโนน และ กรดเรทิโนอิก ซึ่งเป็นสารห้ามใช้ในผลิตภัณฑ์ที่ใช้ชื่อว่า Bowvy Kim แตงกวา Night 1 สมุนไพรลดฝ้า กระ จุดด่างดำ และพบปรอทแอมโมเนียในผลิตภัณฑ์  Bowvy Kim ขมิ้น Night 2ซึ่งเมื่อมีการไปตรวจยังสถานที่ผลิตที่ตั้งอยู่ใน จังหวัดสกลนคร พบตลับบรรจุครีม ตัวครีม สติกเกอร์ ยี่ห้อผลิตภัณฑ์ของกลางจำนวนมาก แต่ไม่มีหลักฐานการจดแจ้งผลิตภัณฑ์หลายรายการ รวมทั้งยังตรวจพบการโฆษณาทางเฟซบุ๊คที่มีข้อความแสดงสรรพคุณรักษาโรค ซึ่งไม่ใช่จุดมุ่งหมายของการเป็นเครื่องสำอาง เช่น ลดสิว ฝ้า กระ จุดด่างดำรอยสิว ริ้วรอย ลดอาการแพ้ ระคายเคือง เป็นต้น มีความผิดตาม พ.ร.บ. เครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทดลองวิ่ง “รถเมล์ปฏิรูป” 8 เส้นทาง เปลี่ยนเบอร์ใหม่ เติมสีแบ่งโซนวิ่งกรมการขนส่งทางบก และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เปิดทดลองเดินรถเมล์ตามโครงการปฏิรูปเส้นทางใหม่ นำร่องจำนวน 8 เส้นทาง  ประกอบด้วยสาย G21 (เทียบเคียงกับสาย 114) : รังสิต - ท่าเรือพระราม 5 สาย G59E (เทียบเคียงกับสาย 514) : มีนบุรี - ท่าเรือสี่พระยา (ทางด่วน) สาย R3 (เทียบเคียงกับสาย 11) : สวนหลวง ร.9 - สนามกีฬาแห่งชาติ สาย R41 (เทียบเคียงกับสาย 22) : ถนนตก - แฮปปี้แลนด์ สาย Y59 (เทียบเคียงกับสาย 189) : สถานีรถไฟชุมทางตลิ่งชัน - กระทุ่มแบน สาย Y61 (เทียบเคียงกับสาย 509) : หมู่บ้านเศรษฐกิจ - หมอชิต 2 สาย B44 (เทียบเคียงกับสาย 54) : วงกลมพระราม 9 - สุทธิสาร สาย B45 (เทียบเคียงกับสาย 73) : ม.เอื้ออาทรบึงกุ่ม - สะพานพุทธ โดยทำการแบ่งโซนเส้นทางวิ่งเป็น 4 สี 4 โซน ประกอบด้วย สีเขียว G (Green) ย่าน รังสิต บางเขน มีนบุรี, สีแดง R (Red) ย่าน ปากน้ำ คลองเตย สาธุประดิษฐ์, สีเหลือง Y (Yellow) ย่าน พระประแดง พระราม 2 บางแค ศาลายา และ สีน้ำเงิน B (Blue) ย่าน นนทบุรี ปากเกร็ด หมอชิต 2 ดินแดง สวนสยาม โดยสีที่กำหนดขึ้นจะนำมาติดไว้บนรถเมล์ที่วิ่งในโซนนั้นๆในการทดลองเดินรถจะใช้รถธรรมดา (รถร้อน) สายละ 5 คัน เป็นเวลา 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม - 15 กันยายน 2560 เวลา 06.30 - 18.30 น. และในช่วงการทดลองเดินรถ รถสายเดิมยังคงมีรถให้บริการตามปกติ หลังจากนั้นจะประเมินผลการให้บริการ พร้อมสร้างความรับรู้ความเข้าใจให้กับประชาชน และรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ทางแฟนเพจ Facebook ในชื่อ การปฏิรูปเส้นทางรถเมล์ กทม. เพื่อนำมาพัฒนาคุณภาพของระบบรถโดยสารประจำทางต่อไปไปรษณีย์ไทยยืนยันใช้กล่อง – ซองรีไซเคิลได้จากกรณีที่มีผู้ใช้เฟซบุ๊กคนหนึ่งได้โพสต์ภาพประกาศเตือนที่ถ่ายจากที่ทำการไปรษณีย์บางบัวทอง ซึ่งแจ้งประชาชนว่า ไม่ให้ใช้ซองที่ใช้แล้ว หรือกล่องที่มีตราสัญลักษณ์อื่นๆ โดยผู้โพสต์ได้ระบุว่า “#แจ้งมาเพื่อทราบครับ ต่อไปนี้จะเอาซอง กล่อง KERRY กล่องเบียร์ กล่องใช้แล้ว มาส่งที่ไปรษณีย์บางบัวทองไม่ได้แล้ว จะถูกปฏิเสธการรับของนะครับ #เมื่อวานมีคนโวยแล้วเจ้าหน้าที่บอก คำสั่งหัวหน้าครับ"ข้อมูลดังกล่าวสร้างความสงสัยให้กับผู้ที่ใช้บริการไปรษณีย์ไทยเป็นอย่างมาก เพราะถือเป็นการปฏิบัติในลักษณะเอาเปรียบผู้ใช้บริการมากเกินไปหรือไม่ซึ่งต่อมาทางไปรษณีย์ไทย ก็ได้ออกจดหมายมาชี้แจงว่าเรื่องดังกล่าวเกิดจากความเข้าใจผิดในการสื่อสารของไปรษณีย์สาขาดังกล่าว พร้อมทั้งยืนยันว่าผู้ใช้บริการสามารถใช้กล่องหรือซองที่เคยผ่านการนำส่งแล้วกลับมาใช้อีกได้ โดยไม่ถือเป็นข้อห้าม ทั้งนี้ หากผู้ใช้บริการนำกล่องและซองที่เคยผ่านการนำส่งแล้วมาใช้ในการห่อหุ้มสิ่งของเพื่อฝากส่งนั้น เจ้าหน้าที่รับฝากจะพิจารณาจากลักษณะของกล่องหรือซองว่ามีความมั่งคง แข็งแรง และต้องปิดผนึกจ่าหน้าใหม่ทับจ่าหน้าเดิมให้ถูกต้องตามที่ไปรษณีย์ไทยกำหนด เพราะหากกล่องหรือซองมีสภาพไม่แข็งแรงเพียงพออาจทำให้เกิดความเสียหายกับสิ่งของที่ฝากส่งได้ โดยเจ้าหน้าที่จะให้คำแนะนำและแก้ไขหรือหุ้มห่อใหม่ เพื่อไม่ให้สิ่งของที่ฝากส่งทางไปรษณีย์เสียหาย ส่วนการใช้กล่องที่ผลิตจากบริษัทรับขนส่งเอกชนรายอื่นในการฝากส่งสิ่งของเข้าสู่เส้นทางไปรษณีย์ไทยผู้ใช้บริการก็สามารถนำมาใช้ได้โดยไม่ถือเป็นข้อห้ามเช่นเดียวกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 197 การทดสอบแผ่นฟิล์มลดความร้อนติดรถยนต์

แสงแดดมีองค์ประกอบอยู่ 3 ส่วนหลักๆ ได้แก่อินฟราเรด (Infrared IR) ไม่มีสีแต่อยู่ในรูปของรังสีความร้อน ต่อไปคือแสงช่วงที่สายตามองเห็น (Visible light VL) และช่วงอัลตราไวโอเลต (Ultraviolet UV)อยู่ในรูปของพลังงาน ที่มีความสามารถทำลายเซลล์ผิวหนัง ซึ่งทำให้เกิดมะเร็งผิวหนังได้ การเกิดความร้อนในรถยนต์เกิดจากการที่กระจกรถยนต์ไม่สามารถกันคลื่นอินฟราเรด ที่เป็นคลื่นความร้อนได้ เมื่อผ่านเข้ามายังตัวรถแล้ว คลื่นอินฟาเรดจะไม่สามารถสะท้อนออกไปได้ทำให้เกิดภาวะเรือนกระจกภายในรถ ความร้อนสะสมจึงสูงขึ้นเรื่อยๆ  สำหรับข้อกำหนดความสามารถของแผ่นฟิล์มติดรถยนต์ แบ่งเป็นลักษณะต่างๆ ดังนี้- VLT (Visible Light Transmission) ความสามารถในการส่องผ่านของแสงในช่วงสายตามองเห็น ค่ายิ่งมากแสงผ่านได้เยอะ ทำให้การมองผ่านชัดเจน - VLR (Visible Light Reflectance) ความสามารถในการสะท้อนแสงในช่วงสายตามองเห็น เป็นค่าแสดงการสะท้อนออกของแสงจากกระจกที่ติดฟิล์ม ค่ามากกระจกที่ติดฟิล์มจะมีลักษณะคล้ายกับกระจกเงา- Glare Reduction การลดความจ้า เป็นการวัดเปอร์เซ็นเปรียบเทียบค่าการส่องผ่านได้ของแสงช่วงที่มองเห็น ระหว่างกระจกที่ติดฟิล์มกรองแสงกับไม่ติดฟิล์มกรองแสง- IRR (Infrared Rejection) เป็นค่าที่แสดงความสามารถในการลดความร้อนเนื่องจากคลื่นความร้อน(Infrared) จากแสงแดด- UVR (Ultraviolet Rejection) ค่าที่แสดงความสามารถในการลดแสงอัลตราไวโอเลตเราทดสอบอะไรบ้าง1. ทดสอบการป้องกันรังสียูวี ช่วง  UVA และ UVB ความยาวคลื่น 280-400 นาโนเมตร2. ทดสอบการส่องผ่านของแสงช่วงที่สายตามองเห็น ความยาวคลื่น 380-780 นาโนเมตร3. ทดสอบการลดรังสีอินฟราเรด หรือรังสีความร้อน ความยาวคลื่น 800-1000 นาโนเมตร4. ทดสอบการป้องกันความร้อนสะสมการทดสอบออกแบบให้สามารถวัดความสามารถของฟิล์มติดรถยนต์ในเรื่องการช่วยลดแสงยูวี การช่วยลดแสงสว่างในช่วงที่สายตามองเห็น ความสามารถในการกันรังสีความร้อน (Infrared) และการป้องกันความร้อนสะสมสำหรับการออกแบบการวัด ได้จำลองตู้ทดสอบซึ่งเป็นตัวแทนของรถยนต์ที่มีกระจกที่ติดฟิล์มตัวอย่าง ปิดอยู่ด้านบน รับแสงจากหลอดฮาโลเจน มีเครื่องวัดแสงเชิงสเปกตรัมอยู่ภายใน และหัววัดอุณหภูมิภายนอกและภายใน ซึ่งผลการวัดจะแสดงถึงความสามารถในการกันแสงและความร้อนของฟิล์มตัวอย่าง อุปกรณ์1. ตู้ทดสอบขนาดปริมาตร 0.5 ลูกบาศก์ฟุต 2. แผ่นกระจกติดฟิล์มตัวอย่าง3. เครื่องวัดอุณหภูมิ4. เครื่องวัดแสงเชิงสเปกตรัม ช่วง ยูวี ถึง อินฟราเรด (200-1000nm)5. หลอดไฟฮาโลเจนขนาด 2000 วัตต์วิธีการทดสอบเลือกฟิล์มที่นิยมใช้กันทั่วไปในตลาดโดยเลือกอยู่ในระดับการกรองแสงเท่าๆ กันประมาณ 60 % (ตามค่าที่แจ้งบนฉลาก) แต่ค่าจำเพาะบางค่าอาจไม่เหมือนกัน แสดงดังตารางดังนี้ทดลองโดยการวัดค่าอุณหภูมิทุกๆ 30 วินาที เป็นเวลา 15 นาที โดยเรียงลำดับดังนี้1. ตู้เปล่า2. แผ่นกระจกไม่ติดฟิล์ม3. แผ่นกระจกติดฟิล์มยี่ห้อต่างๆ4. นำค่าที่ได้มาวิเคราะห์ผลวัดค่าสเปคตรัมของแสงเพื่อตรวจสอบแสง ที่ผ่านกระจกติดฟิล์มตัวอย่าง ผลของแสงที่ได้จากหลอดฮาโลเจนขนาด 2000 วัตต์ มีลักษณะครอบคลุมช่วงที่ต้องการทดสอบ ที่ความยาวคลื่น 200 – 1000 นาโนเมตร เป็นดังนี้ภาพที่ 5 ผลของแสงและรังสีความร้อนภายในตู้ทดสอบ ที่ถูกวัด ขณะไม่มีกระจกกั้น เท่ากับ 100%สรุปผลการทดสอบการทดสอบฟิล์มกรองแสงติดรถยนต์นี้ ผลที่ได้พบว่าทุกๆ ยี่ห้อสามารถป้องกันแสง UV ได้ใกล้เคียงกัน การป้องกันความร้อน ถ้าค่าความแตกต่างของอุณหภูมิด้านนอกกับด้านในมีน้อย แสดงว่าสามารถกันความร้อนได้ดี และพบว่า Hi-Kool มีความสามารถกันความร้อนความร้อนได้ดีกว่าทุกยี่ห้อ แต่ความสามารถของการส่องผ่านแสงช่วงสายตามองเห็น ผ่านเข้ามาได้ค่อนข้างน้อย หากค่าแสงช่วงสายตามองเห็นได้ผ่านเข้ามาได้น้อยเกินไปก็ทำให้การมองเห็นได้ไม่ดีอาจจะลดทัศนวิสัยในการขับรถได้สำหรับในการพิจารณาเรื่อง การส่องผ่านแสงช่วงสายตามองเห็นค่าความสว่างของแสง(Lux) มากจะทำให้การมองเห็นชัดเจนกว่าค่าความสว่างของแสงน้อย ซึ่งจะเห็นผลชัดเจนเวลาขับรถเวลากลางคืน  ทำให้ ฟิล์ม 3M อาจเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดสำหรับเรื่องนี้ จากข้อมูลในตารางที่ 2 ฟิล์มยี่ห้อ Xtra-Cole อาจจะเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมสำหรับ ความสามารถในการป้องกันความร้อน และทัศนวิสัยที่ดีในการขับขี่                 การป้องกันความร้อนได้ดีเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งในการเลือกฟิล์มกรองแสงไว้ใช้งาน แต่ยังมีตัวแปรอื่นๆ ให้พิจารณาเช่น ความคงทนต่อรอยขีดข่วน การซีดจาง เปลี่ยนสี การหลุดร่อนตามอายุการใช้งาน การรบกวนสัญญาณโทรศัพท์ การรบกวนระบบนำทาง GPS เป็นต้นขอขอบคุณห้องปฏิบัติการมาตรฐานทางแสงและอุณหภูมิ ศูนย์ทดสอบและมาตรวิทยา สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย(วว.)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 197 กระแสต่างแดน

เยอรมันก็มุงความอยากรู้อยากเห็น(และอยากถ่ายรูป) เป็นธรรมชาติของมนุษย์ แต่บางครั้งมันก็ทำให้เกิดผลกระทบที่ไม่คาดคิดอุบัติเหตุรถโดยสารชนท้ายรถบรรทุกแล้วเกิดไฟลุกไหม้ที่มีผู้เสียชีวิตถึง 18 ราย บนมอเตอร์เวย์สาย A9 ในแคว้นบาวาเรียนั้นเป็นตัวอย่างเรื่องนี้ได้ดีข่าวระบุว่าทีมช่วยเหลือใช้เวลา 10 นาทีเพื่อมายังที่เกิดเหตุ ทั้งๆ ที่ควรมาถึงเร็วกว่านี้หากไม่ต้องเจอกับรถที่ชะลอดู ถ่ายรูป ถ่ายคลิป กว่ารถพยาบาลและรถดับเพลิงจะเข้าถึงจุดเกิดเหตุ ไฟก็โหมจนเจ้าหน้าที่ไม่สามารถเข้าไปช่วยผู้บาดเจ็บออกมาได้รัฐบาลของแคว้นบาวาเรียกำลังเตรียมพิจารณาขึ้นค่าปรับสำหรับเยอรมันมุง จาก 20 ยูโร(775 บาท) ในปัจจุบัน เป็น 155 ยูโร(6,000 บาท) และอาจแถมโทษจำคุกให้ด้วย เพราะเหตุการณ์นี้ไม่ใช่ครั้งแรก เอาอะไรมาแลกก็ยอมPurple บริษัทผู้ให้บริการฮอทสป็อตไวไฟรายหนึ่งในเมืองแมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษทดลองซ่อนเงื่อนไขแปลกๆ ลงไปในข้อตกลงการเข้าใช้ไวไฟฟรี(ที่ผู้ใช้ควรอ่านให้ถี่ถ้วนก่อนจะกด “ยอมรับ”) ในสองสัปดาห์ บริษัทพบว่ามีผู้ใช้ 22,000 คนที่ “ยินดี” สละเวลามาทำงานบริการสังคม เช่นล้างห้องน้ำสาธารณะ ขูดหมากฝรั่งตามพื้นถนน หรือล้วงท่อระบายน้ำ เป็นเวลา 1,000 ชั่วโมงเขาเสนอให้รางวัลกับคนที่อ่านข้อตกลงและเงื่อนไขโดยละเอียด(และพบข้อความแปลกๆ) มีผู้ได้รางวัลไปทั้งหมด... หนึ่งคน ผลการทดลองนี้ยืนยันอีกครั้งว่า เราหน้ามืดขนาดไหนเวลาอยากใช้ของฟรี สามปีก่อนหน้านี้บริษัทซอฟต์แวร์ป้องกันไวรัสรายหนึ่ง ก็เคยทดลองในลอนดอน แม้จะเขียนไว้ชัดเจนว่าบริการฟรีนั้นจะต้องแลกกับ “ลูกคนแรก” ก็ยังมีคนลงชื่อใช้ถึง 6 คนต่ำกว่าคาดจากการเปรียบเทียบความพร้อมด้านอินเทอร์เน็ตของ 139 ประเทศทั่วโลก ออสเตรเลียเป็นประเทศที่มีการเข้าถึงโมบายบรอดแบนด์สูงเป็นอันดับ 10 กำลังจะดีแล้วเชียว แต่... ผลสำรวจระบุว่า บรอดแบนด์สำหรับอินเทอร์เน็ตบ้านในออสเตรเลียยังมีราคาแพงเกินไป ทำให้ผู้คนจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงได้ ส่งผลให้ประเทศยังไม่พร้อมที่จะเป็น “เศรษฐกิจดิจิตัลระดับเวิร์ลดคลาส” อย่างที่ตั้งใจ (เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ แล้วระดับการเข้าถึงของออสเตรเลียหล่นลงไปที่อันดับ 57)ความเร็วเบรอดแบนด์เฉลี่ยของเขาอยู่ที่ 11.1Mbps หรืออันดับที่ 50 ของโลก ในขณะที่อันดับหนึ่งอย่างเกาหลีมีความเร็วเฉลี่ยสูงสุด 28.6Mbps (สิงคโปร์เพื่อนบ้านเราอยู่อันดับ 7)ร้อยละ 56 ของคนออสซี่เชื่อว่าอินเทอร์เน็ตของเขาอยู่ในระดับแถวหน้าและรัฐบาลก็ทุ่มงบประมาณลงไปกับโครงการ NBN (New Broadband Network) ไม่น้อย ไม่ต้องรีบเริ่มแล้ว! แผนลดความแออัดของรถไฟโตเกียวในชั่วโมงเร่งด่วนเพื่อสยบความวุ่นวายโกลาหลในการเดินทางให้ได้ก่อนถึงการแข่งขันโอลิมปิกและพาราลิมปิกในอีก 3 ปีข้างหน้า สิ่งที่ผู้ว่าราชการกรุงโตเกียวอยากขอร้องจากมนุษย์เงินเดือนทั้งหลายคือ ช่วยมาขึ้นรถกันก่อนหรือหลังชั่วโมงเร่งด่วนกันบ้างนางยูริโกะ โคอิเกะ เคยเสนอแผนนี้ไว้เมื่อครั้งที่เธอสมัครเข้ารับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ เธอบอกว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือ ต้องเปลี่ยนทัศนะของคนญี่ปุ่นที่คุ้นชินกับชั่วโมงทำงานอันยาวนานและการเบียดเสียดขึ้นรถไฟไปทำงานในช่วงเวลาเดียวกันแผนดังกล่าวประกอบด้วยความร่วมมือจาก 260 บริษัทและหน่วยงาน ที่จะเพิ่มบริการรถเที่ยวเช้าตรู่จัดหาของรางวัลให้กับผู้ที่เลือกเดินทางก่อนหรือหลังชั่วโมงเร่งด่วน รวมถึงให้พนักงานในบริษัทตัวเองเลือกเวลาทำงานได้ แบบนี้เรียกจริงจังตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคของมาเลเซีย การขายกุ้งแห้งย้อมสีมีโทษปรับไม่เกิน 100,000 ริงกิต(ประมาณ 785,000 บาท) หรือจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้วสองพี่น้องคู่หนึ่งถูกจับได้(เพราะมีคนถ่ายคลิปไว้) ว่าพ่นสีสเปรย์ลงในกุ้งแห้งเพื่อให้มีสีแดงสดน่ารับประทานและขายได้ราคาดีขึ้น กุ้งธรรมดากิโลกรัมละ 20 ริงกิต แต่กุ้งสีสวยของร้านนี้ขายได้ถึง 25 ริงกิตเนื่องจากการกระทำดังกล่าวถือเป็นความผิดร้ายแรงที่ส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพของประชาชน สร้างความเสียหายให้กับภาพลักษณ์ของสินค้าอาหารทะเลในท้องถิ่นและการท่องเที่ยวของเมืองโคตาคินาบาลูในภาพรวม ศาลจึงตัดสินให้ผู้กระทำผิดจ่ายค่าปรับสูงสุด 100,000 ริงกิต  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 196 โศกนาฏกรรมรถตู้จันทบุรี ยังต้องใช้เวลาอีกนานเพื่อเยียวยา

จากเหตุการณ์รถตู้โดยสารจันทบุรีพุ่งข้ามเลนชนรถกระบะจนเกิดไฟไหม้ที่ อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี เมื่อต้นปีที่ผ่านมา เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 25 คนนั้น นอกจากจะเป็นเรื่องสะเทือนขวัญแห่งปีแล้ว ยังนับได้ว่าเป็นสึนามิลูกใหญ่ที่ถาโถมใส่รัฐบาลนายกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ต้องรีบหาทางแก้ไขปัญหารถตู้โดยสารที่ทุกคนคุ้นชินอย่างทันทีและรวดเร็ว กับปัญหาที่รู้กันดี ไม่ว่าจะขับรถเร็ว ที่นั่งแออัด ไม่เข้าจอดรับส่งผู้โดยสารในสถานี รถไม่มีเข็มขัดนิรภัย หรือมีแต่คนขับไม่บอก คนนั่งก็ไม่คาด สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นปัญหาที่ถูกสั่งสมมานาน จนทุกคนเคยชินคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว ในช่วงแรกที่กระแสเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงยังร้อนแรง รัฐบาลรีบประกาศทันทีว่าจะยกเลิกรถตู้โดยสารเปลี่ยนเป็นรถไมโครบัสเร็วสุดใน 6 เดือนกันเลยทีเดียว แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่มีใครเชื่อว่าจะทำได้ และสุดท้ายกระแสข่าวการยกเลิกรถตู้โดยสารก็จางหายไป หลังจากนั้นไม่นาน รัฐบาลเริ่มตั้งหลักได้ กระทรวงคมนาคม โดยกรมการขนส่งทางบก จึงได้ออกมาตรการเร่งด่วนแรก คุมเข้มพฤติกรรมการขับขี่รถตู้โดยสาร เริ่มจากรถตู้โดยสารประจำทางร่วมบริการกับบริษัท ขนส่ง จำกัด ที่มีเส้นทางวิ่งกรุงเทพฯ ปลายทางต่างจังหวัด (ไม่นับรวมรถตู้โดยสารร่วมบริการของ ขสมก. ที่วิ่งในเขตกรุงเทพ-ปริมณฑล) ต้องติดตั้ง GPS Tracking แบบ Realtime Online ที่ทำงานได้ ควบคู่กับการติดตั้งเครื่องรูดใบขับขี่แสดงตัวตนพนักงานขับรถในรถทุกคัน ทุกเส้นทาง ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2560 ซึ่งเร็วกว่ากำหนดเดิมที่ให้ติดตั้งแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2560 เท่านั้นยังไม่พอเมื่อ 21 มีนาคม 2560 เหมือนฟ้าผ่าลงกลางกลุ่มผู้ประกอบการรถตู้โดยสารอีกครั้ง เมื่อเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 15/2560 เรื่อง มาตรการเพิ่มความปลอดภัยในรถโดยสารสาธารณะ มีสาระสำคัญ คือ ห้ามรถตู้โดยสารนั่งเกิน 13 คน สั่งทำประกันภัยภาคสมัครใจเพิ่มจากประกันภัยภาคบังคับ ห้ามทิ้งผู้โดยสาร บรรทุกผู้โดยสารและเก็บค่าโดยสารเกิน หากเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงให้นายทะเบียนมีอำนาจสั่งเพิกถอนทะเบียนรถหรือพักใบอนุญาตผู้ประกอบการได้ และต่อด้วยกรมการขนส่งทางบก ออกประกาศกรมฯ รองรับคำสั่งหัวหน้า คสช. เรื่อง การจัดวางที่นั่งรถตู้โดยสารสาธารณะตามมาตรการเพิ่มความปลอดภัยในรถโดยสารสาธารณะ พ.ศ.2560 เกี่ยวกับการจัดกำหนดที่นั่งสำหรับผู้โดยสารให้เหลือเพียง 13 ที่นั่ง และถอดเบาะด้านหลังออก 1 ที่ เพื่อให้มีทางออกไปยังประตูฉุกเฉินด้านหลังได้ เมื่อมีเหตุจำเป็นหรือเกิดอุบัติเหตุ  ซึ่งประกาศฯ มีผลครอบคลุมถึงรถตู้โดยสาร ประเภทประจำทางและไม่ประจำทางในทุกหมวดเส้นทางทั่วประเทศ ซึ่งมาตรการนี้มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ในสถานการณ์จริง ใช่ว่าประกาศฯจะมีผลบังคับใช้ได้เลย เพราะทุกวันนี้ก็ยังพบพฤติกรรมฝ่าฝืนกฎหมายของผู้ประกอบการรถตู้โดยสารบางรายอยู่ เรายังเห็นว่ามี รถตู้ที่รับผู้โดยสารเกินอยู่ หรือ รถตู้ที่ยอมแก้ไขเบาะที่นั่งรถให้เหลือ 13 ที่นั่งแล้ว แต่ในช่องทางเดินฉุกเฉินกลับนำเบาะเสริมมาให้ผู้โดยสารนั่ง หรือเอาสัมภาระมาวางปิดกั้นทางออกฉุกเฉินแทน ยิ่งเมื่อพิเคราะห์จากสถิติอุบัติเหตุรถตู้โดยสารที่เกิดในรอบ 4 เดือนแรก ระหว่างมกราคมถึงเมษายน ของปี 2560 พบว่า รถตู้โดยสารเกิดเหตุมากถึง 127 ครั้ง หรือ เฉลี่ยเดือนละ 32 ครั้ง บาดเจ็บ 501 คน หรือ เฉลี่ยวันละ 4 คน และเสียชีวิตมากถึง 65 คน หรือจะมีคนเสียชีวิตจากรถตู้โดยสารทุก 1 คนในเวลา 2 วัน และจากข้อมูลอุบัติเหตุยังชี้ให้เห็นด้วยว่า รถตู้โดยสารสาธารณที่วิ่งให้บริการระหว่างจังหวัดนั้น มีอัตราการเกิดอุบัติเหตุสูงกว่ารถที่วิ่งในเขตเมืองหรือปริมณฑลอีกด้วย โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการขับรถเร็วนั่นเอง ดังนั้นจะไม่แปลกใจเลย ที่แม้กฎหมายจะบังคับทุกอย่างแล้ว แต่ความสูญเสียจะยังเกิดให้เห็นอยู่ หากทุกฝ่ายยังไม่จริงจังที่จะร่วมกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ เพราะฉะนั้นถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน ร่วมกันตรวจสอบเฝ้าระวังผู้ประกอบการที่มีพฤติกรรมเอาเปรียบผู้บริโภค อย่าปล่อยให้เรื่องแบบนี้เป็นเรื่องธรรมดา ที่เรามองว่าเป็นเรื่องไกลตัว หากพบเห็นการกระทำที่เป็นเรื่องผิดกฎหมาย ขอให้โทรศัพท์แจ้ง 1584 ทันที พร้อมข้อมูลเส้นทางเดินรถและทะเบียนรถ เพื่อร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลงรถโดยสารปลอดภัยกันนะครับ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 196 ตั๋วรถไฟมีเลขที่นั่ง แต่ไม่มีเก้าอี้

ใครที่เคยเดินทางโดยสารด้วยรถไฟของบ้านเรา คงเจอปัญหารถไฟมาช้าไม่ตรงเวลากันมาบ้าง แต่จะมีสักกี่คนที่เจอปัญหาซื้อตั๋วที่มีเลขนั่งแล้ว แต่บนรถไฟกลับไม่มีเก้าอี้ให้นั่ง เพราะเก้าอี้เบอร์ดังกล่าวถูกยกเลิกไปแล้วเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับคุณสมชาย เขาซื้อตั๋วรถไฟที่สถานีรังสิต เพื่อที่จะกลับบ้านที่จังหวัดสุรินทร์ โดยได้ซื้อตั๋วนั่งชั้นที่ 2 ในราคา 190 บาท ซึ่งเป็นขบวนรถเร็ว กรุงเทพฯ-อุบลราชธานี และเมื่อรถไฟมาถึงผู้ร้องจึงขึ้นไปที่โบกี้ชั้น 2 และเดินดูหมายเลขที่นั่งตามตั๋วที่ซื้อมา แต่เขาไม่พบเบอร์เก้าอี้ของตนเอง จึงไปสอบถามกับพนักงานตรวจตั๋ว ซึ่งตอบกลับมาว่า ชั้น 2 มีที่นั่งถึงเบอร์ 20 กว่าเท่านั้น ส่วนเบอร์อื่นได้ถูกยกเลิกไปหมดแล้ว เพราะทางการรถไฟได้ตัดตู้ชั้น 2 ไปหนึ่งตู้ ทำให้เบอร์ที่นั่งของผู้ร้องหายไป แต่สามารถไปร้องเรียนหรือขอคืนเงินค่าตั๋วได้ที่สถานีปลายทาง ส่วนตอนนี้ถ้ามีที่ว่างก็นั่งไปก่อนได้ แต่ถ้าเจ้าของหมายเลขเขาขึ้นมาก็ต้องลุกให้เขานั่งแทน ดังนั้นผู้ร้องจึงไปนั่งเก้าอี้ที่ว่าง ซึ่งภายหลังก็มีเจ้าของหมายเลขขึ้นมา ทำให้ผู้ร้องต้องลุกไปนั่งที่อื่นสลับไปเรื่อยๆ จนถึงจุดหมาย เมื่อลงจากรถไฟ คุณสมชายจึงไปสอบถามกับพนักงานขายตั๋ว ซึ่งเขาไม่ได้ต้องการเงินคืน เพียงแต่ไม่เข้าใจว่าหากไม่มีเบอร์หมายเลขที่นั่ง แล้วพนักงานจะขายตั๋วเบอร์ดังกล่าวให้ทำไม ซึ่งถือเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคมาก อย่างไรก็ตามพนักงานขายตั๋วก็ไม่สามารถให้คำตอบใดๆ กับคุณสมชายได้ เขาจึงส่งเรื่องร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ เพื่อขอให้มีการตรวจสอบการทำงานของการรถไฟ แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์สอบถามข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับตั๋วโดยสารว่า ผู้ร้องได้ไปคืนตั๋วที่ปลายทางหรือยังและได้รับเงินคืนหรือไม่ เพราะถ้าไม่ได้รับเงินคืนจะได้ทำจดหมายขอเงินคืนในครั้งเดียวกัน ซึ่งผู้ร้องแจ้งว่า ยังไม่ได้ไปขอเงินคืน เนื่องจากจะเก็บไว้เป็นหลักฐาน  จึงขอให้ผู้ร้องส่งรูปถ่ายมาให้กับศูนย์ฯ เพิ่มเติม จากนั้นจึงช่วยผู้ร้องทำหนังสือถึงการรถไฟแห่งประเทศไทย และสำเนาถึงปลัดกระทรวงคมนาคม เพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบและดำเนินการแก้ไขปัญหา ซึ่งผลการดำเนินการจะเป็นอย่างไรยังคงต้องติดตามความคืบหน้าต่อไป 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 196 กระแสต่างแดน

ถุงลมมหาภัยสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคฮาวายยื่นฟ้องฟอร์ด นิสสัน และโตโยต้า ที่เลือกใช้ถุงลมนิรภัยทาคาตะที่มีข้อบกพร่อง จนกลายเป็นอันตรายต่อผู้ขับขี่แทนที่จะเป็นอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยเมื่อเกิดการชน เขาให้เหตุผลว่า บริษัทรถเหล่านี้น่าจะรู้เรื่องความบกพร่องนี้มาไม่ต่ำกว่า 10 ปี และรู้ว่าแอมโมเนียมไนเตรต(สารเคมีที่ใช้ในการปล่อยจรวด) เป็นสารที่ยากแก่การควบคุม และภูมิอากาศในฮาวายเองมีการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิตลอดเวลา ซึ่งก็เอื้อต่อการเกิดปฏิกิริยาเคมีที่จะทำให้เกิดการระเบิดของถุงลมด้วยสำนักงานดังกล่าวเรียกร้องค่าเสียหาย 10,000 เหรียญต่อรถยนต์หนึ่งคัน ซึ่งคาดว่าในฮาวายมีรถยี่ห้อดังกล่าวที่ใช้ถุงลมทาคาตะอยู่ประมาณ 30,000 คัน  ก่อนหน้านี้รัฐนิวเม็กซิโก ก็ได้ยื่นฟ้องบริษัททาคาตะและบริษัทรถยนต์ไปแล้วเช่นกัน ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 16 ราย บาดเจ็บ 180 รายจากอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับถุงลมดังกล่าว เลือกกินไม่ได้?หลายพื้นที่ในรัฐทมิฬนาฑูและรัฐเกรละของอินเดียจัดงานเทศกาลกินเนื้อวัวเพื่อแสดงความไม่พอใจที่รัฐบาลกลางประกาศห้ามซื้อขายวัวเพื่อนำเข้าโรงฆ่าหลายฝ่ายมองว่าเรื่องนี้ผิดรัฐธรรมนูญและละเมิดเสรีภาพในการเลือกของผู้บริโภค นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเนื้อวัวในอินเดียที่มีมูลค่าถึง 15,000 ล้านเหรียญสหรัฐอีกด้วย การแบนครั้งนี้จะทำให้มีคนตกงานไม่ต่ำกว่า 500,000 คนรัฐเกรละซึ่งมีประชากรที่บริโภคเนื้อวัวอยู่ถึงร้อยละ 70 นำเข้าเนื้อวัวจากรัฐอื่นไม่ต่ำกว่า 2 แสนตันต่อปี  กฎหมายใหม่จะทำให้เกิดการขาดแคลนขึ้นอย่างแน่นอนด้วยปริมาณเนื้อที่เข้าสู่ตลาดน้อยลงและบริษัทรับจ้างขนส่งที่ไม่ยินดีรับงานเพราะกลัวจะถูกทำร้ายเมื่อขับผ่านพื้นที่ ที่ต่อต้านการบริโภคเนื้อวัว รัฐบาลอินเดียภายใต้การนำของนายนเรนดรา โมดี ได้เพิ่มความเข้มงวดเรื่องการฆ่าวัว ซึ่งเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อในศาสนาฮินดูขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่เขาเข้ารับตำแหน่งในปี 2014 อินเดียมีประชากรร้อยละ 20 ที่ไม่ได้นับถือฮินดู ไม่ปลื้มของนอกธุรกิจอาหารฟาสต์ฟู้ดจากต่างประเทศดูจะไปได้ไม่สวยนักในเวียดนาม เบอร์เกอร์คิงตัดสินใจปิดสาขาในเมืองหลักๆ อย่างโฮจิมินห์และดานังไปหลายสาขา หลายเจ้าเลือกที่จะไม่เปิดสาขาเพิ่มแม้แต่เจ้าใหญ่อย่างแมคโดนัลด์ที่เคยประกาศไว้เมื่อสามปีก่อนตอนเริ่มเข้ามาทำธุรกิจในเวียดนามว่าจะเปิดให้ได้ 100 สาขาภายใน 10 ปี ขณะนี้ก็มีเพียง 15 สาขาเท่านั้น เหตุผลหลักๆ ที่นักวิเคราะห์เขาบอกไว้ คืออาหารไม่ถูกปาก ราคาก็ไม่ถูกใจ แถมคนเวียดนามเขายังมีทางเลือกเป็นแซนวิช “บั๋นหมี่” ที่หาซื้อได้ทั่วไปตามถนนในราคาย่อมเยา รสชาติโดนใจกว่าและดีต่อสุขภาพด้วย ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมเวียดนามได้ให้ใบอนุญาตกับธุรกิจต่างชาติ 148 แบรนด์ ในจำนวนนี้มีถึงร้อยละ 43.7 ที่เป็นแบรนด์อาหารและเครื่องดื่ม จอดได้ แต่จ่ายเพิ่มกรุงเดลลีมีประชากร 17 ล้านคน มีรถยนต์ 10 ล้านคัน(ในจำนวนนั้น 9.5 แสนคันเป็นรถส่วนตัว) ปัญหาเรื่องรถติด มลภาวะ และการขาดแคลนที่จอดรถจึงตามมาอย่างไม่ต้องสงสัยเทศบาลเมืองจึงเสนอมาตรการรับมือกับปัญหาดังกล่าวด้วยการขึ้นค่าจอดรถบนพื้นที่ข้างถนนในกรณีต่อไปนี้ : จอดตอนกลางวัน จอดช่วงที่มีการจราจรหนาแน่น จอดช่วงวันจันทร์ถึงศุกร์ นอกจากนี้ใครที่มีรถมากกว่าสองคันก็จะต้องจ่ายค่าจอดมากกว่าคนอื่นที่พีคไปกว่านั้น คือค่าจอดรถในพื้นที่ใกล้ตลาดจะแพงขึ้นเป็นสามเท่า ข่าวบอกว่าเขาจะปรับค่าบริการจอดรถริมทางให้แพงกว่าการนำรถขึ้นไปจอดบนอาคารจอดรถ ส่วนใครที่จะซื้อรถใหม่ก็ต้องแสดงหลักฐานยืนยันว่ามีที่จอดด้วย ชาวเดลลีมีเวลาหนึ่งเดือน ในการแสดงความคิดเห็นก่อนที่นโยบายนี้จะประกาศใช้ เขาคำนวณไว้ว่าถ้าเป็นไปตามสูตรนี้จริง รัฐบาลจะมีรายได้เพิ่มขึ้นถึง 6,000 ล้านรูปี (ประมาณ 3,000 ล้านบาท) ย่างกุ้งได้รถเมล์ใหม่ปีนี้เป็นการดำเนินงานปีแรกของขนส่งมวลชนย่างกุ้ง(Yangon Bus System) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนยกระดับบริการรถสาธารณะให้กับเมืองที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว ด้วยผู้ใช้บริการวันละไม่ต่ำกว่า 2 ล้านคน YBS นำรถเมล์ใหม่มาวิ่งแล้ว 2,600 คัน(2,000 คันเป็นของรัฐ ที่เหลือเป็นของเอกชน) เพื่อนำมาวิ่งแทนรถโดยสารรุ่นเก่าที่ทำงานล่วงเวลามาหลายปีแล้ว ทั้งนี้เจ้าของรถเก่าเหล่านั้นสามารถนำรถไปส่งที่โรงหลอมแล้วรับคูปองไปเป็นส่วนลดในการซื้อคันใหม่ได้ตามแผนนี้ผู้ประกอบการรายเดิมจะมี 3 ทางเลือก ได้แก่ เลิกกิจการ เข้าร่วมเป็นรถของ YBS หรือเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทที่จัดตั้งร่วมกันระหว่างรัฐและเอกชน(PPP) ทั้งนี้โครงสร้างรายได้สำหรับคนขับจะเป็นการรับเงินเดือนแทนการ “ทำยอด” เหมือนก่อนรัฐบาลพม่าจะต้องใช้งบประมาณ 70,000 ล้านจัต(ประมาณ 17,000 ล้านบาท) ในการจัดซื้อรถเมล์ทั้งหมด 3,000 คัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 195 Lemon Law กฎหมายมะนาว กับ รถใหม่เจ้าปัญหา

ข่าวรถใหม่ป้ายแดง มีปัญหาซ่อมแล้วซ่อมอีก จนผู้บริโภคต้องออกมาประท้วงบริษัทรถยนต์ ด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น ทุบรถ ติดป้ายประจาน เอาควายมาลาก ฯลฯ ยังคงมีปรากฏอยู่ตามหน้าสื่ออยู่เป็นระยะ ๆ ล่าสุด เมื่อต้นเดือน พฤษภาคม 2560 ก็เพิ่งมีข่าว “เศรษฐีนีชาวขอนแก่น เดือด ซื้อรถหรูป้ายแดงแต่ซ่อมไม่เลิก เลยเอาต้นไม้ไปปลูกบนรถประชดหน้าบริษัท” ปรากฏการณ์เหล่านี้ สะท้อนให้เห็นว่า กลไกการแก้ไขปัญหาในระบบปกติ เช่น การเจรจาให้ผู้ประกอบการรับผิดชอบ เอารถเข้าไปซ่อมครั้งแล้วครั้งเล่า การร้องเรียนกับหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคภาครัฐ หรือแม้แต่การฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย มันไม่ Work ผู้บริโภคเหล่านี้จึงเลือกใช้วิธีการออกมาหาความยุติธรรมที่ข้างถนน มาฟ้องสื่อ ฟ้องสังคม ฟ้อง Social Media  เพราะดูแล้วจะได้ผลรวดเร็วกว่า การใช้พลังทางสังคมเข้าไปกดดัน (Social Sanction) เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหานั้น หลายกรณี เมื่อสังคมให้ความสนใจ จับตามอง ก็ได้รับการดูแลแก้ไขอย่างรวดเร็ว แต่ทางเลือกนี้ก็มิได้เหมาะสำหรับทุกคน เพราะต้องใช้พลังอย่างมากในการต่อสู้เพื่อให้เป็นข่าว และที่สำคัญ มันเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเป็นราย ๆ ไป เคลียร์รายนี้ได้ เดี๋ยวก็มีรายใหม่โผล่มาอีก ตราบใดที่ยังไม่ปรับปรุงระบบการจัดการปัญหาในช่องทางปกติให้มีประสิทธิภาพ เป็นธรรม และเข้าถึงได้โดยสะดวก หนึ่งในมาตรการแก้ปัญหาเชิงระบบที่องค์กรผู้บริโภคพยายามผลักดันกันมาโดยตลอดก็คือ “ประเทศไทยต้องมีกฎหมายความรับผิดต่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า” เช่นเดียวกับนานาอารยประเทศ ซึ่งสาระสำคัญของกฎหมายนี้ ก็คือ สินค้าใหม่ทุกชนิด ที่ผู้บริโภคซื้อไปแล้ว หากพบว่ามีความเสียหาย ชำรุดบกพร่อง ใช้งานไม่ได้ หรือไม่เป็นไปไปตามสัญญา ผู้บริโภคมีสิทธิเลือกได้ว่าจะให้ซ่อมแซม หรือเปลี่ยนสินค้าใหม่ ถ้าหากซ่อมเกิน 2 ครั้งแล้ว ก็มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ และสิทธินี้ยังรวมถึงผู้เช่าซื้อด้วย เช่น รถยนต์ มอเตอร์ไซค์  ที่ถึงแม้จะยังผ่อนไม่หมด ยังไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์โดยสมบูรณ์ แต่ไฟแนนซ์ ผู้ให้เช่าซื้อ ก็ต้องให้สิทธินี้แก่ผู้บริโภคในการเรียกร้องให้เจ้าของสินค้าซ่อมแซม หรือเปลี่ยนสินค้า ถ้าของที่เช่าซื้อมาเกิดชำรุดบกพร่อง ซึ่งกฎหมายนี้ก็จะช่วยให้ผู้บริโภคมีทางออก ไม่ต้องดิ้นรน คิดหาวิธีประท้วงแบบแปลก ๆ ใหม่ ๆ เพื่อเรียกร้องความสนใจจากสังคมและสื่อพูดถึง “กฎหมายความรับผิดต่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า” นี้  ในแวดวงคนทำงานคุ้มครองผู้บริโภคก็มักจะเรียกทับศัพท์ตามอย่างฝรั่งว่า “Lemon Law” ซึ่งฟังดูแล้วก็ชวนให้สงสัยว่า สินค้าใหม่ที่มันชำรุดบกพร่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ รถใหม่ป้ายแดงที่มันซ่อมแล้วซ่อมอีก มันเกี่ยวข้องยังไงกับมะนาว เรื่องนี้ มีผู้รู้เล่าให้ฟังว่า มีที่มาจาก “Joke ตลกร้าย” ที่พูดถึงฝรั่งชาติต่าง ๆ ไว้ว่า “สวรรค์ของคนยุโรป ก็คือ ที่ที่ทุกคนได้กินอาหารที่ปรุงโดย เชฟชาวฝรั่งเศส เพราะคนฝรั่งเศสนั้นพิถีพิถันเรื่องอาหารการกิน ขับรถยนต์ที่สร้างโดยวิศวกรชาวเยอรมัน รถหรูยอดนิยมยี่ห้อ Benz , BMW นั้นก็สัญชาติเยอรมัน มีตำรวจอังกฤษคอยดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อย  มีคนรักเป็นชาวอิตาเลียน และมีชาวสวิสเซอร์แลนด์ทำหน้าที่บริหารจัดการทุกอย่างที่ว่ามา ส่วนนรกของชาวยุโรป ก็คือ ที่ที่ทุกคนต้องกินอาหารอังกฤษ ใช้รถยนต์ฝรั่งเศส มีตำรวจเป็นชาวเยอรมัน มีคนรักชาวสวิส และบริหารทุกสิ่งอย่างโดยชาวอิตาเลียน JOKE นี้ ก็สะท้อนว่า ในสายตาชาวตะวันตก รถยนต์ที่แย่ ก็คือ รถจากประเทศฝรั่งเศส  ซึ่งรถยนต์ยี่ห้อดังของฝรั่งเศสก็คือ “ซีตรอง” (Citroen) ซึ่งในภาษาฝรั่งเศส แปลว่า “มะนาว” ส่วนเหตุที่นาย อังเดร ซีตรอง ผู้ก่อตั้งบริษัท ตั้งชื่อยี่ห้อรถยนต์ว่า “Citroen” ก็เพราะว่า ต้นตระกูล ปู่ของเขาสร้างฐานะมาจากการค้าขายมะนาว จึงตั้งชื่อสกุลตามธุรกิจที่ทำ ดังนั้น พอรุ่นหลานมาสร้างธุรกิจผลิตรถยนต์ก็เลยเอาชื่อสกุล “ซีตรอง” มาตั้งเป็นยี่ห้อรถยนต์ พอคนอเมริกันออกกฎหมายมาเพื่อแก้ไขปัญหาสินค้าใหม่ที่บกพร่องหรือรถใหม่ป้ายแดงที่มีตำหนิ ผู้คนก็เลยนึกถึง รถ Citroen (Lemon) ของชาวฝรั่งเศส จึงพากันเรียกกฎหมายดังกล่าวด้วยชื่อเล่น ว่า Lemon Law  เรื่องนี้ จริงเท็จประการใด ยังไม่ทราบแน่ชัด อาจจะเป็นแค่ เรื่องเล่าอำกันเล่นๆ ของฝรั่งก็เป็นได้ เพราะรถยนต์ Citroen จากประเทศฝรั่งเศส ก็ได้ชื่อว่าเป็นรถยนต์ที่มีเทคโนโลยี ล้ำสมัยมากยี่ห้อหนึ่งส่วนข้อสันนิษฐานที่สอง คาดว่า “Lemon” นี้เป็นคำสแลงในภาษาอังกฤษ ในความหมายที่ว่า “แสบ แย่” ซึ่งน่าจะมาจากรสชาติที่เปรี้ยวจี๊ด ของมะนาว ดังที่มีสำนวนว่า “when life gives you lemons , make lemonade” และก็มีการนำมาใช้ในแวดวงรถยนต์ ในความหมายที่ว่า “เอาของไม่ดี มาหลอกขายว่าเป็นของดี” ถ้าเป็นสำนวนแบบไทย ๆ ก็ต้องพูดว่า “ย้อมแมวขาย” ซึ่งมีที่มาจาก คนไทยสมัยก่อนจะนิยมเลี้ยงแมวที่มีลักษณะดี โดยดูจากสีขน จุดแต้ม ตามส่วนต่าง ๆ บนตัวแมว เพราะเชื่อว่า แมวพวกนี้จะให้คุณ ให้โชค แต่แมวที่มีลักษณะดีก็ใช่ว่าจะหากันง่าย ๆ จึงมีพวกคิดไม่ซื่อ ไปจับแมวทั่วๆ ไปมาย้อมสี แต่งแต้ม ให้ดูเหมือนแมวตามตำรา แล้วเอาไปหลอกขายคนซื้อ  ดู ๆ แล้วเรื่อง “คนใจคด หากินไม่สุจริต” นี่เห็นจะมีเหมือนกันทุกชาติ ทุกภาษา และมีเหมือนกันมาตั้งแต่ไหนแต่ไร แต่ที่จะไม่เหมือนกันอยู่อย่างก็คือ ต่างชาติเขาคิดแก้ไข พัฒนากฎหมาย ป้องกันปัญหา คุ้มครองคนของเขาไม่ให้ถูกเอาเปรียบมานานแล้ว แต่ไทยเรายังไปไม่ถึงไหน ปล่อยให้พวก นักขายจอมกะล่อน ปลิ้นปล่อน กลมกลิ้งเป็นลูกมะนาว หากินเอาเปรียบผู้คนอยู่จนทุกวันนี้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 195 ค่าเสียหายเพื่อการลงโทษกับคดีรถโดยสารสาธารณะ

ค่าเสียหายเพื่อการลงโทษ คืออะไร พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 ได้บัญญัติให้อำนาจศาลพิพากษาให้ผู้ประกอบธุรกิจชดใช้ค่าเสียหายเชิงลงโทษไว้ใน  มาตรา 42 ว่า“ ถ้าการกระทำที่ถูกฟ้องร้องเกิดจากการที่ผู้ประกอบธุรกิจกระทำโดยเจตนาเอาเปรียบผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรมหรือจงใจให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหายหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงไม่นำพาต่อความเสียหายที่จะเกิดแก่ผู้บริโภคหรือกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนต่อความรับผิดชอบในฐานะผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน เมื่อศาลมีคำพิพากษาให้ผู้ประกอบธุรกิจชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้บริโภค ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นจากจำนวนค่าเสียหายที่แท้จริงที่ศาลกำหนดได้ตามที่เห็นสมควร ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงพฤติการณ์ต่างๆ เช่น ความเสียหายที่ผู้บริโภคได้รับ ผลประโยชน์ที่ผู้ประกอบธุรกิจได้รับ สถานะทางการเงินของผู้ประกอบธุรกิจ การที่ผู้ประกอบธุรกิจได้บรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้น ตลอดจนการที่ผู้บริโภคมีส่วนในการก่อให้เกิดความเสียหายด้วย การกำหนดค่าเสียหายเพื่อการลงโทษตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลมีอำนาจกำหนดได้ไม่เกินสองเท่าของค่าเสียหายที่แท้จริงที่ศาลกำหนด แต่ถ้าค่าเสียหายที่แท้จริงที่ศาลกำหนดมีจำนวนเงินไม่เกินห้าหมื่นบาท ให้ศาลมีอำนาจกำหนดค่าเสียหายเพื่อการลงโทษได้ไม่เกินห้าเท่าของค่าเสียหายที่แท้จริงที่ศาลกำหนด ”โดยมีหลักเกณฑ์การพิจารณา ดังต่อไปนี้1) กระทำโดยเจตนาเอาเปรียบผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรม2) จงใจให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหาย3) ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงไม่นำพาต่อความเสียหายที่จะเกิดแก่ผู้บริโภค4) กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนต่อความรับผิดชอบในฐานะผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน ขอยกตัวอย่างจากกรณีศาลอุทธรณ์ภาค 5 แผนกคดีผู้บริโภค พิพากษาคดีรถโดยสารเปรมประชา เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2560  จำนวน  2  คดี  ในคดีที่นายลำพูน – นางทอง เจริญเกียรติ และคดีนายวรัญญู อยู่สุภาพ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายอิ่นแก้ว มูลสุข และบริษัท เปรมประชาขนส่ง จำกัด เป็นจำเลยคดีผู้บริโภค ต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ ว่า บริษัท เปรมประชาขนส่ง จำกัด ประกอบกิจการขนส่งคนโดยสารอันเป็นกิจการที่ต้องรับผิดชอบต่อชีวิต ทรัพย์สินและความปลอดภัยของสาธารณชน แต่เหตุครั้งนี้เกิดจากนายอิ่นแก้ว มูลสุข ลูกจ้างของบริษัท ที่ขับรถโดยสารรับผู้โดยสารเกินอัตราบรรทุกที่กฎหมายกำหนด ประมาทขับรถด้วยความเร็วสูง ลงทางโค้งเนินเขาโดยปราศจากความระมัดระวัง แม้จะมีผู้โดยสารร้องเตือนแล้ว แต่นายอิ่นแก้ว มูลสุข ยังคงไม่สนใจและยังคงขับรถด้วยความเร็วต่อไป ทำให้เกิดอุบัติเหตุมีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก จึงถือว่าเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงไม่นำพาต่อความเสียหายที่จะเกิดแก่ผู้บริโภค ตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551  มาตรา 42   ซึ่งบริษัท เปรมประชาขนส่ง จำกัด ผู้ประกอบธุรกิจและเป็นนายจ้างของนายอิ่นแก้ว มูลสุข จะต้องรับผิดชอบด้วย พิพากษาแก้เป็นว่าให้ บริษัท เปรมประชาขนส่ง จำกัด กับพวกร่วมกันชำระเงิน ให้กับ นายลำพูน – นางทอง เจริญเกียรติ รวมเป็นเงิน 1,030,000  บาท  และนายวรัญญู อยู่สุภาพ  เป็นเงิน  186,740  บาท  กับให้บริษัท เปรมประชาขนส่ง จำกัด ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นจากค่าเสียหายที่แท้จริงอีกคดีละ 50,000  บาท  พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5  ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ            จำนวนเงิน 50,000 บาท ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้ ก็คือ ค่าเสียหายเพื่อการลงโทษ ตามมาตรา 42 นี้ ที่กำหนดขึ้นเพื่อเป็นค่าเสียหายที่เพิ่มเติมขึ้นนอกเหนือจากค่าเสียหายที่โจทก์พิสูจน์ได้ (ศาลพิพากษา) หรือค่าเสียหายที่แท้จริง ทั้งนี้เพื่อเป็นการลงโทษผู้ประกอบธุรกิจที่ดำเนินธุรกิจในลักษณะเอาเปรียบผู้บริโภคมากเกินไป และยังมุ่งหมายเพื่อเป็นการป้องปรามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นมีพฤติกรรมเช่นเดียวกัน โดยฝ่ายผู้บริโภคที่เป็นโจทก์ไม่จำเป็นต้องเป็นฝ่ายพิสูจน์ค่าเสียหายส่วนนี้ เพราะศาลจะเป็นผู้พิจารณากำหนดเองตามความเหมาะสม โดยคำนึงถึงลักษณะความร้ายแรง สภาพและปริมาณความเสียหายที่โจทก์ได้รับ ตลอดจนฐานะทางเศรษฐกิจของจำเลยที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจ  ขอบคุณข้อมูลจาก 1. คำอธิบายกฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค ดร.ไพโรจน์ วายุภาพ2. คำอธิบาย : วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค วินัย หนูโท

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 195 บอกเลิกสัญญาจองรถได้หรือไม่

เชื่อว่ามีหลายคนที่เคยตัดสินใจวางเงินมัดจำจองรถ แต่มาเปลี่ยนใจภายหลัง เพราะไม่อยากได้รถคันดังกล่าวแล้วด้วยเหตุผลต่างๆ ซึ่งมักเกิดคำถามตามมาว่า เงินจองที่เสียไป จะสามารถขอคืนได้หรือไม่ ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณสมใจตัดสินจองรถยนต์ยี่ห้อฟอร์ด ภายในงานมอเตอร์โชว์ที่ผ่านมา โดยชำระเงินจองเป็นเงินจำนวน 5,000 บาท อย่างไรก็ตามภายหลังเธอพบว่า ตนเองประสบปัญหาด้านการเงิน และเกรงว่าจะไม่สามารถผ่อนชำระค่างวดรถในอนาคตได้ จึงต้องการยกเลิกการซื้อรถดังกล่าว เธอแจ้งความจำนงกลับไปที่บริษัทพร้อมขอเงินจองคืน ซึ่งพนักงานตอบกลับมาว่า สามารถคืนเงินให้ได้เมื่อจบงานมอเตอร์โชว์ อย่างไรก็ตามเมื่อจบงานดังกล่าวแล้ว ทางบริษัทก็บ่ายเบี่ยงการคืนเงินมาตลอด คุณสมใจจึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำผู้ร้องว่า การบอกเลิกสัญญาสามารถทำได้ หากมีเหตุแห่งการบอกเลิก ซึ่งตามมาตรา 378 (2) ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการขายรถยนต์ที่มีการจองเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2551 กำหนดไว้ดังนี้ข้อ 3 ผู้บริโภคมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเมื่อผู้ประกอบธุรกิจกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้3.1 ปรับเปลี่ยนราคารถยนต์สูงขึ้น3.2 ไม่ส่งมอบรถยนต์ให้ผู้บริโภคภายในระยะเวลาที่กำหนด3.3 ไม่ส่งมอบรถยนต์ที่มี ยี่ห้อ รุ่น ปีที่ผลิต สี และขนาดกำลังเครื่องยนต์ ตรงตามที่กำหนดไว้ในสัญญา3.4 ไม่ส่งมอบรถยนต์ที่มีรายการอุปกรณ์ติดตั้งเพิ่มเติมและของแถม หรือสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ตามที่กำหนดในสัญญาข้อ 4 ผู้บริโภคหรือผู้ประกอบธุรกิจฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีสิทธิบอกเลิกสัญญา หากมีข้อเท็จจริงที่ผู้ประกอบธุรกิจได้รับทราบว่า ผู้บริโภคต้องขอสินเชื่อเพื่อการซื้อรถยนต์และผู้บริโภคไม่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อตามที่ขอภายในกำหนดเวลาที่คาดว่าจะส่งมอบรถยนต์ดังนั้นหากไม่มีเหตุให้บอกเลิกสัญญาตามข้อกำหนดเบื้องต้น ผู้ร้องจะไม่สามารถเรียกร้องเงินจองหรือเงินมัดจำคืนได้ อย่างไรก็ตามสำหรับกรณีนี้ศูนย์ฯ เสนอว่าสามารถช่วยให้เกิดการเจรจาระหว่างผู้ร้องกับบริษัทรถยนต์ เพื่อขอให้มีการคืนเงินบางส่วนได้ ซึ่งจะมีการหักค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงไป แต่ผู้ร้องได้ขอกลับไปตัดสินใจก่อน และจะแจ้งความจำนงมายังมูลนิธิฯ ในภายหลัง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 195 กระแสต่างแดน

มาถูกทางแล้วค่าไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์ลดลงเป็นประวัติการณ์ในอินเดีย… อีกแล้วผู้ประกอบการโซล่าฟาร์มในรัฐราชสถานของอินเดียบอกว่าปีนี้เขาผลิตขายได้ที่อัตราขายส่ง  2.62 รูปี/kwh (ต่ำกว่าราคา “ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์” ของปีก่อนที่ 4.34 รูปี) พูดง่ายๆ ตอนนี้ถูกกว่าอัตราของค่าไฟฟ้าจากถ่านหิน ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 3.20 รูปี/kwh เหตุที่ขายได้ถูกลงถึงร้อยละ 40 นั้นเป็นเพราะผู้ที่จะเข้ามาทำธุรกิจนี้สามารถกู้เงินได้ง่ายขึ้น แถมดอกเบี้ยก็ถูกลงเรื่อยๆ อันเนื่องมาจากความจริงจังและชัดเจนของรัฐบาลในการสนับสนุนธุรกิจด้านนี้ ถามว่าจริงจังแค่ไหน? เอาเป็นว่านายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานพูดออกสื่อแทบทุกวัน  และธุรกิจพลังงานทางเลือกก็ได้รับการยกเว้นภาษีด้วยนอกจากนี้ เพื่อลบภาพลักษณ์ของการเป็นประเทศที่สร้างมลพิษมากเป็นอันดับสามของโลก อินเดียยังร่วมลงนามในข้อตกลงว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่ปารีสเมื่อสองปีก่อน และให้คำมั่นว่าจะผลิตพลังงานทางเลือกให้ได้ถึง 175 กิกะวัตต์ภายในปี 2022 และเมื่อถึงปี 2027 เขาจะทำได้ถึง 275 กิกะวัตต์แม้จะมีความท้าทายที่ต้องผลิตกระแสไฟฟ้าให้เพียงพอต่อผู้คนเป็นพันล้าน แต่การเติบโตของธุรกิจพลังงานทางเลือก (ลม น้ำ ขยะ แสงอาทิตย์) ทั้งจากผู้ประกอบการท้องถิ่นและนักลงทุนต่างชาติก็ทำให้อินเดียไม่จำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ไปอีกอย่างน้อย 10 ปีเหตุที่ของขึ้นการสำรวจความเห็นคุณแม่ชาวสิงคโปร์โดยหนังสือพิมพ์สเตรทไทมส์ พบว่าคุณแม่ส่วนใหญ่เชื่อว่าสาเหตุที่นมผงราคาแพงขึ้นเกือบเท่าตัวในรอบ 9 ปีที่ผ่านมา เป็นเพราะต้นทุนในการวิจัยและพัฒนาเพิ่มขึ้น แต่คณะกรรมการด้านการแข่งขันทางการค้าพบว่า ระหว่างปี 2010 และ 2014 งบการตลาดของผู้ผลิตนมผงสำหรับเด็กนั้นเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 42.4คุณแม่คนหนึ่งเล่าว่าเธอถูกตัวแทนขายนมผงเด็กมาถามซ้ำๆ เรื่องนมผงที่ใช้และถูกตื้อให้ทดลองยี่ห้อใหม่ สถานที่เกิดเหตุก็คือคลินิกเด็กในโรงพยาบาลนั่นเอง คุณแม่ที่มาคลอดบางรายพบว่าลูกตัวเองได้รับการป้อนนมยี่ห้อหนึ่งไปโดยที่เธอไม่ได้เลือกซึ่งหมายความว่าลูกของเธอจะไม่คุ้นชินกับนมแม่ด้วย รัฐบาลสิงคโปร์กำลังเตรียมแบนการอวดอ้างสรรพคุณใดๆ ก็ตามไม่ว่าจะด้วยคำหรือภาพบนฉลากนมผงสำหรับทารก และสื่อสารให้พ่อแม่เด็กเข้าใจว่าราคาของนมผงเหล่านี้ไม่ได้ยืนยันคุณภาพแต่อย่างใด ไม่ใช่แค่กิ้งก่าในที่สุดบริษัทดอยช์บาห์น ผู้รับผิดชอบโปรเจค Stutgart 21 หรือโครงการทางรถไฟมูลค่าหลายพันล้านยูโรทางตอนใต้ของเยอรมนี ยอมจ่ายค่าขนย้ายกิ้งก่าใกล้สูญพันธุ์ออกจากพื้นที่ก่อสร้างรางรถไฟช่วงระหว่างชตุทท์การ์ทและเมืองอุลม์ เป็นมูลค่า 15 ล้านยูโร (ประมาณ 575 ล้านบาท) ตัวเลขนี้มาจากไหน? ดอยช์บาห์นเขาคำนวณจากค่าจ้างทีมมาจับกิ้งก่าหลายพันตัว ค่าใช้จ่ายในการขนส่งเป็นระยะทาง 6 ไมล์ และการจัดหาที่อยู่ใหม่ในเมือง Unterturkheim และค่าดูแลความเป็นอยู่ให้เป็นไปตามมาตรฐาน เฉลี่ยแล้วตกหัวละ 2,000 – 4,000 ยูโร กลุ่มพิทักษ์สัตว์บอกว่าที่แพงขนาดนี้ก็เป็นเพราะการเตะถ่วงของบริษัทเอง ถ้ารีบจัดการตั้งแต่เดือนมีนาคม ปี 2015 ที่รู้ปัญหาก็จะประหยัดเงินได้มากโขโครงการรถไฟสายทรานส์ยูโรเปียนนี้เริ่มก่อสร้างในปี 2010 และมีกำหนดเปิดใช้งานในปี 2021 งบประมาณขณะนี้อยู่ที่ 6,300 ล้านยูโร (204,000 ล้านบาท) ++  ไม่มีต่อเวลากรมสุขภาพของไต้หวันยืนยันว่า วิกเกอร์ โคโบ ผู้ผลิตพายสับปะรดยี่ห้อดัง มีความผิดฐานเปลี่ยนวันหมดอายุบนแพ็คเกจสินค้าจริงแม้การไปสุ่มตรวจในร้านโดยกรมฯ จะไม่พบหลักฐานการกระทำผิด แต่เขาก็ได้รวบรวมหลักฐานจากผู้แจ้งเบาะแสแล้วชงเรื่องต่อให้กับสำนักงานอัยการเมืองชิหลินทำการสืบสวนต่อไปเขาพบว่ามีขนมหลายชนิด เช่น พายสับปะรด พายไข่แดง ถูกเรียกคืนเพื่อเปลี่ยนวันหมดอายุเพื่อยืดเวลาออกไปอีก 10 วันจริง ความผิดนี้มีโทษปรับ 40,000 ถึง 4,000,000 เหรียญ  วิกเกอร์ โคโบ เป็นที่รู้จักกันดีในไต้หวันและในหมู่นักท่องเที่ยวที่ต้องการซื้อขนมดังจากไต้หวันไปเป็นของฝาก แต่พฤติกรรมนี้ทำให้สมาคมผู้ประกอบการนำเที่ยวประกาศงดพาลูกทัวร์เข้าร้านชั่วคราวเพราะไม่ต้องการเสียชื่อไปด้วยโฆษกสมาคมฯ บอกว่าเข้าใจดีว่าช่วงนี้ธุรกิจไม่ดีเพราะไม่มีนักท่องเที่ยวจากจีน แต่การขยายวันหมดอายุนี่มันแก้ปัญหาอะไรได้หนอ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 194 รถรับส่งนักเรียนปลอดภัย

เข้าเดือนพฤษภาคมของทุกปี เป็นสัญญาณให้รู้กันว่าโรงเรียนทั่วประเทศกำลังจะเปิดเทอมกันแล้ว ความคึกคักยามเช้าและเย็นของเด็กนักเรียนจะกลับมาให้เห็นกันอีกครั้ง ทุกๆ วันจะมีเด็กหลายคนที่เลือกเดินทางไปโรงเรียนด้วยตัวเอง บางคนเลือกใช้บริการรถโดยสารประจำทาง ขณะที่มีเด็กอีกกลุ่มหนึ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองเลือกวิธีการให้ลูกโดยสารรถรับส่งนักเรียนไปโรงเรียนแทน มีทั้งวิ่งรับส่งในเขตอำเภอ บ้างก็วิ่งรับส่งจากนอกอำเภอเข้าจังหวัด ซึ่งการให้ลูกเดินทางไปกับรถรับส่งนักเรียนจะช่วยทำให้เด็กเดินทางสะดวกสบายขึ้น และทำให้พ่อแม่ประหยัดค่าใช้จ่ายในการไปส่งเด็กที่โรงเรียนอีกด้วย แต่จะมีพ่อแม่ผู้ปกครองคนไหนรู้หรือไม่ว่า รถรับส่งนักเรียนที่มารับลูกของเราไปโรงเรียนนั้นมีความปลอดภัยแค่ไหน และเราจะเชื่อใจได้อย่างไร จากข้อมูลของกรมการขนส่งทางบกผ่านสื่อออนไลน์ระบุว่าในปี 2558 มีรถรับส่งนักเรียนประเภทรถตู้ที่จดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกประมาณ 1,204 คัน และมีรถโรงเรียนสีเหลืองคาดดำที่จดทะเบียนอยู่ประมาณ 807 คัน รวมเป็นรถรับส่งนักเรียนและรถโรงเรียนจดทะเบียนถูกต้องทั่วประเทศประมาณ 2,000 คันเท่านั้น ซึ่งนับว่าน้อยมากกับปริมาณนักเรียนที่มีอยู่ทั่วประเทศ ขณะที่ไม่มีข้อมูลเปิดเผยให้ประชาชนรับทราบว่าแล้วรถรับส่งนักเรียนที่ไม่ได้ขออนุญาตที่วิ่งให้บริการอยู่ทุกวันนี้มีจำนวนกี่คัน   อย่างไรก็ตาม ในการสำรวจสภาพการให้บริการของรถรับส่งนักเรียน ซึ่งรวบรวมข้อมูลโดยอาสาสมัครเครือข่ายผู้บริโภค 6 ภาค พบว่า ปัจจุบันมีการนำรถยนต์ส่วนบุคคล ประเภท รถตู้ และรถกระบะดัดแปลงเพิ่มเติมที่นั่งสองแถว มาใช้รับจ้างรับส่งนักเรียนทั้งในและนอกเขตจังหวัดเป็นจำนวนมาก แต่เนื่องจากเป็นรถที่มีขนาดเล็ก เมื่อนำไปรับส่งนักเรียนอาจเกิดความไม่ปลอดภัยกับนักเรียน และไม่มีกฎระเบียบควบคุมในเรื่องความปลอดภัย รถรับส่งนักเรียนส่วนใหญ่ลักษณะนี้เป็นรถไม่มีคุณภาพมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด และไม่ได้มีการปรับปรุงสภาพตัวรถให้มีความปลอดภัยสำหรับใช้รับส่งนักเรียน รวมถึงเป็นรถที่ไม่ได้รับอนุญาต  ส่งผลให้เกิดปัญหา อาทิ พนักงานขับรถไม่มีคุณภาพ การขับรถเร็ว ไม่เคารพกฎจราจร บรรทุกเด็กนักเรียนเกินกว่าที่นั่งของรถที่กฎหมายกำหนด ไม่มีคาดเข็มขัดนิรภัย การปรับเบาะที่นั่งเป็นเบาะยาวในรถตู้ ดัดแปลงสภาพส่งผลกระทบต่อความมั่นคงแข็งแรง รถมีสภาพเก่าไม่เหมาะกับการให้บริการ รวมถึงการไม่จัดทำประกันภัยทั้งภาคบังคับและภาคสมัครใจ ด้วยลักษณะดังกล่าว ทำให้สถานการณ์ของการรับส่งนักเรียนอยู่ในภาวะน่าเป็นห่วง  เฉพาะปี 2559 พบว่า มีอุบัติเหตุทางถนนที่เกิดกับรถรับส่งนักเรียนที่มีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของเด็กนักเรียนที่ใช้บริการทั่วประเทศมากถึง 27 ครั้ง มีเด็กได้รับบาดเจ็บ 231 คน และเสียชีวิตถึง 4 คน  เมื่อเราหันมามองดูกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จะพบว่ามีกฎหมายหรือระเบียบที่สำคัญในการกำกับดูแลรถรับส่งนักเรียนอยู่สองฉบับ คือ กฎกระทรวงกำหนดความปลอดภัยในการรับจ้างบรรทุกคนโดยสาร พ.ศ. 2555 ตาม พ.ร.บ.รถยนต์ 2522 และ กฎกระทรวง ฉบับที่ 22 (พ.ศ. 2526) ตาม พ.ร.บ.การขนส่งทางบก 2522 โดยกฎหมายทั้งสองฉบับมีเนื้อหาสาระไปในทางเดียวกัน โดยเป็นแนวทางปฏิบัติที่สอดคล้องกับสภาพวิถีชีวิตการใช้รถรับส่งนักเรียนของชุมชน ด้วยการอนุญาตให้ผู้ประกอบการนำรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน แต่ไม่เกิน 12 คน หรือ รย.2  (รถกระบะที่มีที่นั่งสองแถว หรือ รถตู้) มาจดทะเบียนใช้เป็นรถรับส่งนักเรียนได้  แต่ต้องมีการรับรองการใช้รถดังกล่าวจากโรงเรียนหรือสถานศึกษา ซึ่งต้องได้มาตรฐานตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด  ห้ามติดฟิล์มกรองแสงที่กระจกรอบคัน ที่นั่งผู้โดยสารต้องยึดแน่นมั่นคงแข็งแรง ไม่มีพื้นที่ให้นักเรียนยืนในห้องโดยสารเด็ดขาด กรณีเป็นรถสองแถวต้องมีประตูและที่กั้นป้องกันนักเรียนตก ส่วนรถตู้ต้องจัดวางที่นั่งเป็นแถวตอนตามความกว้างของตัวรถเท่านั้น และต้องนำรถเข้าตรวจสอบ ณ สำนักงานขนส่งจังหวัดที่โรงเรียนหรือสถานศึกษาตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ ซึ่งจะได้รับอนุญาตเป็นครั้งคราว คือ ครั้งละ 1 ภาคการศึกษาเท่านั้น นอกจากนี้รถรับส่งนักเรียนทุกคันที่ได้รับอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบกต้องติดแผ่นป้ายพื้นสีส้ม มีข้อความตัวอักษรสีดำว่า “รถรับส่งนักเรียน” และไฟสัญญาณสีเหลืองอำพันหรือสีแดงติดอยู่ด้านหน้าและด้านท้ายของรถให้เห็นชัดเจน  พร้อมมีอุปกรณ์ส่วนควบเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นกรณีฉุกเฉิน เช่น เครื่องดับเพลิง ค้อนทุบกระจก วัสดุภายในรถส่วนของผู้โดยสารต้องไม่มีส่วนแหลมคม ทางประตูทางขึ้นลงหรือเป็นช่องเปิดต้องมีความปลอดภัย โครงสร้างหลังคามั่นคงแข็งแรง และที่สำคัญผู้ขับรถโรงเรียนต้องได้รับใบอนุญาตขับรถยนต์ส่วนบุคคลมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี หรือได้รับใบอนุญาตขับรถยนต์สาธารณะ หรือเป็นผู้ขับรถตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก ซึ่งต้องไม่เคยมีประวัติเสียหายอันเกิดจากการขับรถมาก่อน รวมถึงต้องมีผู้ควบคุมดูแลนักเรียน ซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี ประจำอยู่ในรถตลอดเวลาที่ใช้รับส่งนักเรียน เพื่อดูแลความปลอดภัยให้นักเรียนตลอดการรับส่ง หากพบการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดสั่งเพิกถอนหนังสืออนุญาตให้ใช้รถทันที และไม่สามารถขออนุญาตได้อีกจนกว่าจะพ้น 1 ปีไปแล้ว แต่ด้วยกฎหมายของประเทศไทยที่กำหนดระเบียบและมาตรฐานการให้บริการของรถรับส่งนักเรียนไว้ในระดับสูง เพื่อให้มีมาตรฐานความปลอดภัยในการรับส่งนักเรียน จึงไม่น่าแปลกใจหากจะพบว่า รถรับส่งนักเรียนส่วนใหญ่ที่ให้บริการในปัจจุบัน ยังไม่สามารถปฏิบัติให้เป็นไปตามระเบียบหรือกฎหมายที่กำหนดไว้ได้  ประกอบกับการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ยังไม่ได้ทำอย่างจริงจัง มีการปล่อยปละละเลยหรืออนุโลมมาอย่างต่อเนื่อง เสมือนเป็นการสนับสนุนและเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการนำรถยนต์ส่วนบุคคลที่ไม่ได้รับอนุญาตมาวิ่งรับส่งนักเรียนแบบผิดกฎหมายอย่างทั่วถึงเช่นในปัจจุบัน จนทุกฝ่ายเฉยชากับปัญหาและคิดว่าเป็นเรื่องปกติที่ทุกคนยอมรับกันไปแล้ว แล้วความปลอดภัยของลูกหลานเราจะเป็นยังไง หากทุกคนเป็นแบบนี้….

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 193 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหวเดือนมีนาคม 2560ระวังอาหารเสริมผสม “ยาต้านซึมเศร้า”นางศิริวิทย์ หลิ่มโตประเสริฐ นักวิชาการสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี เผยผลการตรวจวิเคราะห์อาหารเสริม 2 ตัว ลอบผสมยาฟลูออกซิทีน (Fluoxetine) หรือ “ยาต้านซึมเศร้า” เตือนผู้บริโภคที่รับประทานอาจเกิดผลข้างเคียงต่อสุขภาพ โดยผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 2 ยี่ห้อที่ตรวจพบการปนเปื้อน ได้แก่ 1.KITO DETOX เลขสารบบอาหาร 74-2-03357-1-0091 รุ่นที่ผลิต AA000308 ผลิตโดย บริษัท สยามเฮลท์แอนบิวตี้แคร์ จำกัด และ 2.ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร CORE LIPO 8 DIETRY SUPPLEMENT PRODUCT เลขสารบบอาหาร 13-1-13653-1-0112 รุ่นที่ผลิต 112974C ผลิตโดยบริษัท เนเจอร์ นิวทริ จำกัด ยาฟูลออกซิทีนเป็นยาแผนปัจจุบันใช้ต้านอาการซึมเศร้า ต้องจ่ายโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ตัวยามีผลข้างเคียงทำให้เบื่ออาหาร เมื่อนำไปใช้ไม่ถูกจะมีโทษ อาจจะทำให้ผู้ได้รับยามีอาการคลื่นไส้ มีผลต่อการมองเห็น ปวดท้อง แน่นหน้าอก และอาจถึงขั้นหัวใจล้มเหลวเสียชีวิต อย่ากิน!!!ขนม “BLACK POWDER” ทำเด็กหมดสติอย.ฝากเตือน เด็กๆ พ่อ-แม่ ผู้ปกครอง และบุคลากรในสถานศึกษา เฝ้าระวังอันตรายจาก “ขนมหน้าโรงเรียนที่ไม่ได้มาตรฐาน” หลังพบเด็กทานขนมที่มีลักษณะเป็นผงคล้ายเกล็ดน้ำตาล มี 2 สี 2 รสชาติ บรรจุในขวดเล็กๆ รูปร่างเหมือนขวดน้ำอัดลม สีดำ บนฉลากเขียนคำว่า “BLACK POWDER” แล้วเกิดอาการเวียนหัว อาเจียน นอนซึม ตาลอย และไม่มีอาการตอบสนอง จนต้องนำตัวส่งโรงพยาบาล หลังตรวจสอบขนมดังกล่าว บนฉลากมีเพียงชื่อยี่ห้อ และข้อความภาษาจีน ไม่มีข้อความภาษาไทย และไม่มีเลข อย.โดยที่ผ่านมา อย. ได้ดำเนินการตรวจสอบเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์อาหารในกลุ่มลูกกวาด ลูกอม และกลุ่มที่มีความเสี่ยงในการใช้สีผสมอาหารมากเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด แต่ก็ยังพบเห็นผลิตภัณฑ์อาหารและขนมต้องสงสัย ถูกนำมาขายให้กับเด็กวัยอนุบาลและประถมตามหน้าโรงเรียนต่างๆ ทั้งนี้ อย. ได้ฝากถึง พ่อ-แม่ ผู้ปกครอง ครู-อาจารย์ ช่วยเป็นหูเป็นตาเฝ้าระวังขนมที่ผลิต จำหน่าย หรือนำเข้าโดยผิดกฎหมาย หากพบมีการนำเข้าหรือจำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ สามารถแจ้งไปยัง อย. หรือ สาธารณสุขจังหวัดได้ทันทีเอาผิด รพ.เอกชน แจกคูปองน้ำมันให้อาสากู้ภัยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ลงดาบโรงพยาบาลเอกชนที่จัดโปรโมชั่นให้เจ้าหน้าที่กู้ภัย ทั้งแจกคูปองเติมน้ำมัน คูปองสะสมแต้ม เพื่อแลกกับการนำผู้ป่วยฉุกเฉินมาส่งที่โรงพยาบาล เนื่องจากผิดกฎหมายสถานพยาบาล นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองอธิบดี สบส. กล่าวว่า รพ.เอกชนดังกล่าวจัดทำโปรโมชันนี้ตั้งแต่ช่วง ก.พ. ที่ผ่านมา โดยอ้างว่าเป็นการช่วยเหลือมูลนิธิกู้ภัย แต่ภายหลังเมื่อมีการการตรวจสอบ รพ.เอกชนดังกล่าวก็ได้ยุติการทำโปรโมชันไปตั้งแต่วันที่ 11 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยทาง รพ.เอกชน ก็ได้ทำให้หนังสือแจ้งต่อ สบส. ว่า ไม่ได้มีเจตนารมณ์ไม่ดีในการจัดโปรโมชันดังกล่าว และไม่ได้สนับสนุนการส่งผู้ป่วยข้ามเขตแต่อย่างใด อีกทั้งตั้งแต่จัดโปรโมชันดังกล่าว รพ. ก็ไม่ได้มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อ รพ.ดังกล่าวยอมรับว่าได้จัดโปรโมชันจริง สบส. ก็จะดำเนินการตามกฏหมาย ตาม พ.ร.บ. สถานพยาบาล (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2559 ในมาตรา 38 ที่ว่าด้วยการห้ามโฆษณา โอ้อวด ลด แลก แจก แถม เพื่อชักชวนให้มีผู้มารับบริการจากสถานพยาบาลของตน โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ “ทุบรถโชว์” ประชดแก้ปัญหาไม่คืบหน้ากลุ่มผู้ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาการใช้รถยนต์ยี่ห้อฟอร์ด รุ่นเฟียสต้า และรุ่นโฟกัส กว่า 60 คน รวมตัวกันที่บริเวณด้านหน้าสำนักงานใหญ่ บริษัท ฟอร์ด เซลส์ แอนด์ เซอร์วิส ประเทศไทย จำกัด เพื่อเรียกร้องหาความรับผิดชอบจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ชื่อดัง หลังจากผู้เสียหายประสบปัญหาจากการใช้รถยี่ห้อดังกล่าวทั้งๆ ที่เพิ่งซื้อมาได้ไม่นาน โดยปัญหาที่พบมีทั้ง เกียร์กระตุก รถสั่น และที่ร้ายแรงที่สุดคือเบรกไม่อยู่ โดยกลุ่มผู้เสียหายนอกจากจะมีการอ่านแถลงการณ์ข้อเรียกร้องแล้ว ยังการนำพลั่วมาทุบรถยนต์คันที่มีปัญหา เพื่อแสดงถึงความไม่พอใจการแก้ไขปัญหาของบริษัทซึ่งที่ผ่านมากลุ่มผู้เสียหายเคยไปร้องเรียนกับทั้งศูนย์บริการของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ สคบ. สำนักนายกรัฐมนตรี และสภาทนายความ แต่ก็ยังไม่ได้รับการชดเชย นอกจากนี้กลุ่มผู้ร้องยังรู้สึกไม่พอใจในการแก้ปัญหาของ สคบ. ที่ได้มีการนำรถรุ่นที่พบปัญหาไปทดสอบแล้วผลออกมาว่ารถปลอดภัยดี ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ ฟอร์ดเคยออกมายอมรับว่ารถยนต์รุ่นที่มีการร้องเรียนมีปัญหาจริง คงต้องติดตามกันต่อไปว่าคดีนี้จะจบอย่างไร ผู้บริโภคจะได้รับการชดเชยที่เหมาะสมและเป็นธรรมหรือไม่ค้าน ม.44 เร่งผ่าน “สิทธิบัตรยา” กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี ออกมาแสดงความกังวลและขอคัดค้านแนวคิดของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่เตรียมใช้ ม.44 เป็นช่องทางพิเศษเร่งรัดพิจารณาและออกสิทธิบัตร แก้ปัญหาความล่าช้าคำขอสิทธิบัตรที่ค้างอยู่กว่า 12,000 ฉบับ ซึ่งคาดว่าเป็นคำขอเกี่ยวกับยาถึง 3,000 ฉบับ และเกือบทั้งหมดเป็นคำขอสิทธิบัตรแบบ Evergreening หรือสิทธิบัตรที่ไม่มีความใหม่ เนื่องจะทำให้เกิดปัญหาต่อระบบสาธารณสุขในประเทศ ทั้งการผูกขาด ปัญหายาราคาแพง นำไปสู่การเข้าถึงยาที่ยากขึ้นในอนาคตภาคประชาชนได้ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการออกคำสั่งตามมาตรา 44 เพื่อเร่งออกสิทธิบัตร โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับยา พร้อมเสนอให้มีการทบทวน โดยให้พิจารณาถึงเหตุผลที่แท้จริงของความล่าช้าในการออกสิทธิบัตร ที่นอกจากจะมีสาเหตุมาจากความด้อยประสิทธิภาพของกรมทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว ยังมีสาเหตุมาจาก บริษัทยาหรือผู้ยื่นคำขอจดสิทธิบัตรอาศัยช่องว่างของ พ.ร.บ. สิทธิบัตรที่ให้ระยะเวลาในการยื่นเอกสารรายละเอียดการจดสิทธิบัตรยาวนานถึง 5 ปี และมักจะมายื่นเอกสารในปีท้ายๆ ทำให้การพิจารณาคำขอไม่สามารถดำเนินการได้โดยเร็ว ซึ่งกรณีนี้เป็นประโยชน์กับผู้ยื่นคำขอ เพราะกฎหมายให้สิทธิคุ้มครองนับตั้งแต่วันยื่น ทั้งที่คำขอนั้นยังไม่ได้รับพิจารณาตามกระบวนการตรวจสอบสิทธิบัตร กลายเป็นเครื่องมือให้ผู้ยื่นใช้ผูกขาดตลาดและราคายานอกจากนี้ การเร่งออกสิทธิบัตรกลับยิ่งส่งผลกระทบต่อการสนับสนุนนวัตกรรมในประเทศ เนื่องจากคำขอที่ค้างอยู่โดยเฉพาะในเรื่องยา ส่วนใหญ่เป็นคำขอที่ไม่เข้าข่ายสมควรจะได้รับสิทธิบัตร หรือเรียกว่าสิทธิบัตรต่อยอดแบบไม่มีวันตาย ยิ่งเร่งออกสิทธิบัตรยิ่งไปจำกัดการพัฒนานวัตกรรมใหม่ในประเทศ รวมทั้งจะก่อให้เกิดปัญหาสิทธิบัตรด้อยคุณภาพและการผูกขาดตลาดยาและยาแพงโดยไม่จำเป็น  ทั้งนี้การพิจารณาคำขอรับสิทธิบัตร โดยเฉพาะยา ต้องใช้ความละเอียดรอบคอบ เพราะมีข้อมูลจำนวนมากและต้องใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เพื่อพิสูจน์ว่าคำขอฯ นั้นมี “ความใหม่” และ “ขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น”  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 192 Transit การเดินทางด้วยรถไฟและรถไฟฟ้าแต่ละประเทศ

ตั้งแต่การคมนาคมสะดวกรวดเร็ว มีสายการบินเพิ่มขึ้นหลากหลาย ทำให้ผู้บริโภคที่ชื่นชอบการเดินทางท่องเที่ยวไปต่างประเทศมีทางเลือกมากขึ้น ประกอบกับราคาค่าเดินทางของสายการบินที่แข่งขันกัน จึงทำให้ราคาถูกมากกว่าเดิม และลองสังเกตดีๆ จะเห็นว่าราคาตั๋วเครื่องบินไปต่างประเทศถูกมากเมื่อเทียบเท่ากับราคาตั๋วเครื่องบินที่เดินทางภายในประเทศ จึงเป็นจุดที่ทำให้ผู้คนหันเหไปท่องเที่ยวต่างประเทศมากขึ้นฉบับนี้ผู้เขียนขอเอาใจผู้ที่ชื่นชอบการเดินทางท่องเที่ยวไปประเทศต่างๆ แบบท่องเที่ยวด้วยตนเองสักหน่อย แอพพลิเคชั่นนี้จะทำให้ผู้เดินทางสามารถเรียนรู้เส้นทางการเดินรถไฟและรถไฟฟ้าของประเทศนั้นได้ก่อนเดินทางไป โดยไม่ต้องไปเสียเงินซื้อคู่มือเส้นทางการเดินรถแอพพลิเคชั่นนี้ผลิตโดยประเทศญี่ปุ่น แต่ได้พัฒนาไว้หลายประเทศ ได้แก่ ไต้หวัน อังกฤษ เกาหลี สิงคโปร์ ฮ่องกง ฟิลิปปินส์ สหรัฐอเมริกา มาเลเซีย จีน ฝรั่งเศส อิตาลี เยอรมัน อินโดนีเซีย สวิตเซอร์แลนด์ และอาจจะมีมากกว่านี้การค้นหาแอพพลิเคชั่นให้ใช้คำว่า Transit ตามหลังชื่อประเทศที่ต้องการดาวน์โหลด เช่น ประเทศเกาหลี ใช้คำว่า Korea Transit, ประเทศฮ่องกง ใช้คำว่า Hong Kong Transit, ประเทศสิงคโปร์ใช้คำว่า Singapore Transit เป็นต้น ภายในแอพพลิเคชั่นจะมีภาษาอังกฤษและภาษาท้องถิ่นของประเทศกำกับ ผู้ใช้สามารถเลือกสถานีที่เริ่มต้นและสถานีปลายทางที่ต้องการไป โดยให้กดตรงสัญลักษณ์วงกลมของสถานีนั้นๆ แล้วเลือกว่าเป็นสถานีเริ่มต้นหรือสถานีปลายทาง และตรงสัญลักษณ์ยังปรากฏคำว่า hotels around the spot หมายถึง ข้อมูลโรงแรมที่ตั้งโดยรอบสถานี ซึ่งจะทำให้สะดวกในการค้นหาโรงแรมที่ใกล้กับสถานีรถไฟได้อีกด้วยเมื่อได้สถานีที่ต้องการเดินทางแล้วให้กดเลือก Depart now แอพพลิเคชั่นจะแสดงเส้นทางสายรถไฟที่ต้องเดินทางหรือต้องเปลี่ยนขบวน พร้อมทั้งช่วงเวลาในการเดินทางการ เพื่อใช้สำหรับคำนวณระยะเวลาในการเดินทางแต่ละทริปด้วยนอกจากนี้ยังมีแอพพลิเคชั่นที่มีลักษณะเดียวกัน โดยใช้การค้นหาแอพพลิเคชั่นคำว่า Rail ตามหลังชื่อประเทศที่ต้องการดาวน์โหลดเช่นกัน แอพพลิเคชั่นนี้จะเพียงแค่กดเลือกสถานีที่ต้องการเริ่มต้น หลังจากนั้นจะปรากฏเส้นทางการเดินทางที่ต้องผ่านแต่ละสถานีให้เลือกอีกครั้งแอพพลิเคชั่นทั้งสองรูปแบบมีเส้นทางการเดินทางของประเทศไทยเช่นกัน ชื่อแอพพลิเคชั่น Bangkok Transit และ Thailand Rail และขอแนะนำว่าผู้อ่านลองดาวน์โหลดรูปแบบการเดินทางของประเทศไทยมาศึกษาก่อน เพื่อให้เกิดความชำนาญและเข้าใจมากขึ้น เมื่อไปใช้แอพพลิเคชั่นของประเทศต่างๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 192 การเลือกซื้อที่นั่งนิรภัย (car seats) สำหรับเด็ก

ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กเป็นอุปกรณ์ที่มีความสำคัญ เพราะเป็นอุปกรณ์ที่มีความจำเป็นสำหรับเด็กทารกตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 12 ปี เพื่อใช้สำหรับการเดินทางร่วมไปกับพ่อแม่ในรถยนต์ส่วนบุคคล ซึ่งในหลายๆ ประเทศ การติดตั้ง car seat ได้ออกเป็นกฎหมายบังคับ เพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพและความปลอดภัยของเด็กและทารก ดังนั้นจำเป็นต้องมีข้อมูลและแนวทางเบื้องต้นในการประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อ สำหรับประเทศไทยแม้จะไม่มีกฎหมายบังคับในเรื่องนี้ แต่ก็พบว่าคุณพ่อคุณแม่ต่างก็ให้ความสำคัญในเรื่องความปลอดภัย และซื้อมาติดตั้งเป็นจำนวนหลายรายทีเดียว บทความนี้ต้องการให้ข้อมูลซึ่งเป็นความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับ car seat เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่สามารถนำไปประกอบในการเลือกซื้อ และใช้งาน car seat ได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมมาตรฐานของที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กมาตรฐานของที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กมี 2 แบบ แบบแรก เรียกว่า เป็นมาตรฐานที่กำหนดตามขนาดของร่างกายเด็ก i-Size (เป็นไปตามมาตรฐาน ECE R 129) แบ่งขนาดของทารกเป็น 2 ช่วงอายุ คือ ตั้งแต่แรกเกิดถึง 1 ขวบ (ขนาดตัวเด็กไม่เกิน 75 เซนติเมตร) และ ตั้งแต่ 1 ขวบ- 4 ขวบ (ขนาดตัวไม่เกิน 105 เซนติเมตร) แบบที่สอง แบ่งตามน้ำหนักของทารก (ตามมาตรฐาน ECE R44)การติดตั้งที่นั่งนิรภัย การติดตั้งที่นั่งนิรภัยควรติดตั้งไว้ทางด้านหลัง เพราะให้ความปลอดภัยสูงกว่าการติดตั้งด้านหน้า ในกรณีที่ ติดตั้งที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กไว้ด้านหน้าข้างคนขับ จำเป็นต้องล็อคถุงลมนิรภัยไม่ให้ทำงาน กรณีเกิดการชน เพราะแรงดันของถุงลมนิรภัยทำให้เกิดอาการบาดเจ็บที่ตัวเด็กทารกอย่างรุนแรงที่นั่งนิรภัยแบบไหนที่ป้องกันเด็กและทารกได้เป็นอย่างดี สำหรับทารกแรกเกิดที่นั่งนิรภัย แบบ carry seat ที่สามารถถอดประกอบกับที่นั่งนิรภัยได้ เหมาะสมที่สุด และการติดตั้งที่นั่งนิรภัย ควรติดตั้งในทิศหันหลังให้กับด้านหน้ารถ เนื่องจากลำคอของเด็กทารกยังไม่แข็งแรง ดังนั้นการติดตั้งแบบนี้จะช่วยประคองลำคอของทารกได้ดี การติดตั้งแบบหันหลังนี้ ควรใช้ไปจนถึงทารกหรือเด็กสามารถเดินได้ จึงค่อยเปลี่ยนมาเป็นหันหน้าออกสู่ด้านหน้ารถ เมื่อทารกเจริญเติบโตขึ้นจนกระทั่งศีรษะพ้นจากที่นั่งนิรภัย เป็นสิ่งที่บอกคุณพ่อคุณแม่ว่าได้เวลาเปลี่ยนที่นั่งนิรภัยอันใหม่ที่มีขนาดพอเหมาะกับร่างกายของเด็กแล้วที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กที่มีน้ำหนัก 9- 18 กิโลกรัม (หรืออายุไม่เกิน 4 ขวบ)ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กขนาดนี้มีระบบนิรภัย 2 แบบ แบบแรกเรียกว่า Impact shield และ แบบ Full belt safety harness ข้อดีของที่นั่งนิรภัยแบบ Impact shield นี้ คือ ในกรณีที่เกิดการชนกัน ที่นั่งนิรภัยแบบนี้จะรับแรงกระแทกได้ดีกว่าแบบ Full belt safety harness แต่แบบนี้เด็กจะนั่งได้สบายกว่า แต่การติดตั้งก็จะยุ่งยากกว่า และที่สำคัญ ต้องปรับเข็มขัดให้ติดแน่นกับตัวเด็ก เพราะเมื่อเกิดการชนกัน เข็มขัดจะเป็นส่วนที่ช่วยพยุงและป้องกันไม่ให้เกิดการกระแทกของตัวเด็กที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กที่มีน้ำหนัก 15- 25 กิโลกรัม (หรืออายุ3 ขวบครึ่ง ถึง 7 ขวบ)ที่นั่งสำหรับเด็กกลุ่มนี้สามารถปรับระดับความสูงของพนักพิงหลังได้ ซึ่งลำตัวของเด็กจะล็อคติดไว้กับ three point safety belt ซึ่งระบบนิรภัยแบบนี้จะเหมาะกับเด็กที่มีอายุมากกว่า 4 ขวบสำหรับการติดตั้งที่นั่งนิรภัยและวิธีการใช้ ควรศึกษาจากคู่มือการใช้งานและปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้สมาคมยานยนต์แห่งเยอรมนี ยังได้ทดสอบความปลอดภัยของที่นั่งนิรภัยอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งเราสามารถดูผลทดสอบเพื่อประกอบการตัดสินใจในการเลือกซื้อที่นั่งนิรภัยได้อีกเช่นกัน บางครั้งก็จะมีการแจ้งเตือนที่นั่งนิรภัยบางยี่ห้อ บางรุ่นที่อาจก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัย (www.adac.de) ซึ่งผู้ประกอบการก็จะตอบรับการแจ้งเตือนโดยการเรียกคืนสินค้า หรือนำสินค้ามาปรับปรุงเพื่อให้คุณพ่อคุณแม่ได้รับความมั่นใจในการใช้งานสูงสุด(แหล่งข้อมูล: วารสาร Test ฉบับที่ 11/2016)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 192 อวสานรถตู้ 2562 ทำจริงหรือแค่ขู่ ???

สลดรับปีใหม่ 2 มกราคม 2560 อุบัติเหตุรถตู้โดยสารประจำทาง สายจันทบุรี-กรุงเทพ คันหมายเลขทะเบียน 15-1352 กรุงเทพมหานคร เสียหลักพุ่งข้ามถนนชนรถยนต์กระบะ คันหมายเลขทะเบียน 1ฒณ 2483 กรุงเทพมหานคร ที่บริเวณทางหลวงสาย 344 กม.26 ตำบลหนองอิรุณ อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตที่เกิดเหตุรวม 25 คน และบาดเจ็บ 2 คนเหตุการณ์ลักษณะนี้ไม่ใช่ครั้งแรก หากย้อนกลับไปในปี 2559 จะพบว่า มีอุบัติเหตุรถตู้โดยสารไฟไหม้ถึง 4 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตรวมมากถึง 20 ราย บาดเจ็บรวม 17 รายจากความสูญเสียของชีวิตและทรัพย์สินที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงครั้งนี้ นำไปสู่การออกมาตรการเปลี่ยนแปลงระบบขนส่งสาธารณะของกระทรวงคมนาคมชนิดไม่มีใครตั้งตัว โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการรถตู้โดยสารประจำทาง กับการปรับเปลี่ยนรถตู้โดยสารสาธารณะหมวด 2 ที่วิ่งให้บริการในเส้นทาง กรุงเทพ - ต่างจังหวัด และหมวด 3 ที่วิ่งให้บริการระหว่างจังหวัดกับจังหวัด จำนวน 6,341 คัน เป็นรถไมโครบัส เริ่มต้นตั้งแต่ 1 กรกฎาคมนี้ โดยให้ครบทุกคันภายในปี 2560รวมถึงการออกประกาศเพิ่มเติมของกรมการขนส่งทางบก เรื่อง กำหนดประเภทและลักษณะของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสาร ที่ต้องติดตั้งเครื่องบันทึกข้อมูลการเดินทางของรถก่อนการตรวจสภาพรถเพื่อต่ออายุทะเบียน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ที่บังคับให้รถตู้โดยสารร่วมให้บริการกับ บริษัท ขนส่ง จำกัด ต้องติดตั้ง GPS Tracking ให้ครบถ้วนทุกคันภายใน 31 มีนาคม 2560 ยังไม่รวมถึงมาตรการอื่นๆ ที่รัฐประกาศผ่านสื่อว่าจะจัดการกับปัญหาที่เกิดกับรถโดยสารสาธารณะอย่างเด็ดขาดจริงจังแต่หากยังจำกันได้ ปัญหารถตู้โดยสารไม่ได้เพิ่งจะมาแก้ไขเอาในรัฐบาลชุดนี้ ในอดีตอย่างน้อย 2 รัฐบาล ล้วนเคยพยายามที่จะจัดระเบียบรถตู้โดยสารประจำทางมาแล้ว ปี 2553 ยุคนายโสภณ ซารัมย์ เป็น รมว.คมนาคม ได้ออกนโยบายมุ่งแก้ปัญหารถตู้ผิดกฎหมายด้วยการนำรถตู้ผิดกฎหมายเข้าสู่ระบบปี 2556 ยุคนายชัชชาติ สิทธิพันธ์ เป็น รมว.คมนาคม มุ่งเน้นการปราบรถตู้เถื่อน การติดตั้งเข็มขัดนิรภัยและเริ่มแนวคิดการติดตั้ง GPS ในรถโดยสารสาธารณะ ปี 2557 รัฐบาล คสช หันมาจัดระเบียบรถตู้โดยสารประจำทางด้วยการดึงรถตู้ผิดกฎหมายที่มีอยู่จำนวนมากให้เข้าสู่ระบบอีกครั้งจากความพยายามในอดีตจะเห็นได้ว่า การจัดการกับปัญหารถตู้โดยสารทั้งที่ถูกกฎหมายและรถผิดกฎหมายหรือรถผีรถเถื่อนนั้นไม่ง่ายเลย โดยเฉพาะที่รัฐบาลชุดนี้ประกาศชัดเจนว่าจะทยอยยกเลิกรถตู้โดยสารประจำทางให้หมดภายในปี 2562 นั้น ยังคงเป็นคำถามที่รอคำตอบว่าจะทำได้แค่ไหนหากดูจากจำนวนปริมาณรถตู้โดยสารทั่วประเทศ ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2559 มีรถตู้โดยสารประจำทางที่จดทะเบียนสะสมกับกรมการขนส่งทางบกมากถึง 16,002 คัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรายย่อยที่มีรถเพียงคันเดียว และไม่มีเงินทุนมากพอที่จะเปลี่ยนรถไมโครบัสที่มีราคาสูงกว่ารถตู้ถึง 2 เท่า โดยไม่มีมาตรการช่วยเหลือของรัฐ นอกจากนี้หากเจาะลึกลงในธุรกิจรถตู้โดยสารประจำทางก็จะพบว่า มีความเกี่ยวพันกับผู้มีอิทธิพล หรือคนในเครื่องแบบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นการประกาศยกเลิกรถตู้โดยสารประจำทางให้หมดไปภายในปี 2562 จึงไม่มีใครเชื่อว่าจะทำได้จริงแม้ตอนนี้ที่ทุกฝ่ายเหมือนจะยอมรับกันได้แล้วว่า สภาพโครงสร้างของรถตู้โดยสารที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน มีความเสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัยและไม่เหมาะสมในการนำมารับขนคนโดยสาร ไม่ว่าประตูทางเข้าออกมีทางเดียว ประตูฉุกเฉินด้านหลังใช้ไม่ได้ กระจกมีขนาดเล็ก ติดตั้งถังก๊าซ เพิ่มจำนวนที่นั่ง ฯลฯ ซึ่งการการกำจัดจุดอ่อนอย่างรถตู้โดยสารประจำทางเป็นรถไมโครบัสอย่างเดียวคงไม่ใช่คำตอบด้านความปลอดภัยที่ทุกคนถามหา หากกฎกติกายังมีช่องโหว่ การบังคับใช้กฎหมายยังไม่มีประสิทธิภาพ ความสูญเสียที่เกิดกับรถโดยสารสาธารณะทุกประเภทก็คงจะเกิดขึ้นต่อไปต่อจากนี้คงเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องติดตามว่าปัญหารถตู้โดยสารจะหมดไปภายในปี 2562 จริงหรือไม่ หรือจะเป็นเพียงการขู่ดังๆให้ทุกฝ่ายรู้สึกตัวว่าต่อจากนี้จะเอาจริงแล้วนะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 191 อุบัติเหตุรถโดยสารมากสุดปี 2559 รถตู้ครองแชมป์

นี่คือยุคของ “รถตู้โดยสารสาธารณะ”  ที่ทุกวันนี้กลายเป็นพาหนะเดินทางที่เข้าถึงประชาชนมากที่สุด รถตู้กลายเป็นรถประจำทางในเกือบทุกเส้นทางรอบกรุงเทพฯ ปริมณฑล และเส้นทางระหว่างจังหวัดทั่วประเทศ อย่างไรก็ตามความสะดวกสบายจากทางเลือกใหม่นี้ ไม่ได้มาพร้อมกับความปลอดภัย เมื่อดูจากสถิติจำนวนการเกิดอุบัติเหตุ หรือสภาพของรถตู้โดยสารบางคันที่ไม่เหมาะจะเป็นรถขนส่งสาธารณะ หรือรถตู้เถื่อนที่แอบวิ่งรับส่งคน ในเส้นทางที่มีระยะทางไกลเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้จากการรวบรวมข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะของเครือข่ายเฝ้าระวังอุบัติเหตุ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน ในช่วงเดือนมกราคม – พฤศจิกายน 2559 พบว่า “รถตู้โดยสาร ” มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุมากถึง  215 ครั้ง หรือ 19.5 ครั้ง/เดือน  บาดเจ็บ  1,102 คน หรือ 100 คน/เดือน  มีผู้เสียชีวิต  103 คน หรือ 9.4 คน/เดือน  สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุเกิดจากพฤติกรรมเสี่ยงและความประมาทในการขับรถของผู้ขับขี่  และสาเหตุความรุนแรงของการบาดเจ็บและเสียชีวิต เกิดขึ้นจากสภาพของรถตู้โดยสารดัดแปลงที่ไม่เหมาะกับการบรรทุกผู้โดยสาร และการไม่คาดเข็มขัดนิรภัยขณะที่รถโดยสารสาธารณะประเภทอื่นๆ มีอัตราการเกิดอุบัติเหตุต่อปีตามลำดับดังนี้ รถทัวร์โดยสารประจำทาง 141 ครั้ง  มีผู้บาดเจ็บ 1,252 คน เสียชีวิต 56 คน รถทัวร์โดยสารไม่ประจำทาง 52 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ 576 คน เสียชีวิต 47 คน   รถแท็กซี่ 77 ครั้ง บาดเจ็บ 84 คน เสียชีวิต 7คน  และรถเมล์โดยสาร 48 ครั้ง บาดเจ็บ 75 ครั้ง เสียชีวิต 10 คน (ปัจจุบันมีรถโดยสารที่จดทะเบียนสะสมกับกรมการขนส่งทางบก ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2559  จำนวน 156,089 คัน   โดยเป็นรถตู้โดยสารจำนวน  41,202 คัน  แบ่งเป็นรถตู้โดยสารประจำทาง 16,002 คัน  รถตู้โดยสารไม่ประจำทาง 24,136 คัน และรถตู้ส่วนบุคคล 1,064 คัน)สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ พบว่าเกิดได้จากหลายปัจจัยทั้ง คน รถ และถนน  เช่น พฤติกรรมเสี่ยงและความประมาทของผู้ขับขี่  โครงสร้างรถโดยสารที่ไม่ได้มาตรฐานความปลอดภัยในรถตู้โดยสารและรถโดยสารสองชั้น  รูปแบบถนนและสิ่งแวดล้อมที่เป็นอุปสรรคไม่เอื้อต่อการขับขี่ของรถโดยสาร  ความไม่พร้อมและการไม่ตระหนักถึงความปลอดภัยในการให้บริการของผู้ประกอบการ ฯลฯ  และแม้ว่า กฎหมายจะบังคับให้รถโดยสารสาธารณะทุกคันต้องติดตั้งเข็มขัดนิรภัย แต่จากการสำรวจคุณภาพความพึงพอใจของผู้บริโภคที่ใช้บริการรถโดยสารประจำทางทั้งรถตู้และรถทัวร์โดยสารในช่วงปี 2558  ก็ยังพบปัญหาของรถโดยสารที่มีเข็มขัดนิรภัย แต่ไม่อยู่ในสภาพที่สามารถใช้งานได้   ไม่มีอุปกรณ์นิรภัยประจำรถ พนักงานขับรถขับรถด้วยความประมาท ขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด  การบรรทุกผู้โดยสารเกิน  โดยเฉพาะในรถตู้ประจำทาง  ซึ่งสอดคล้องเป็นแนวทางเดียวกับปัญหาการร้องเรียนของผู้บริโภคที่ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะในปัจจุบันที่ยังพบปัญหาลักษณะดังกล่าวอยู่  จะเห็นได้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้น มีผู้ที่เกี่ยวข้องหลายส่วน ทั้งพฤติกรรมของผู้บริโภค  การละเลยเรื่องความปลอดภัยของผู้ประกอบการ และการขาดความต่อเนื่องในการกำกับดูแลของรัฐที่จริงจัง ชัดเจน ต่อเมื่อมีเหตุการณ์ร้ายแรงเกิดขึ้นจึงจะมีการตื่นตัว แต่พอไม่นานเรื่องก็ซาไป โจทก์จึงอยู่ที่ว่า จะทำยังไงให้ทุกภาคส่วนร่วมกันเห็นถึงทางออกในการแก้ไขปัญหาทั้งระบบเพื่อความปลอดภัยทางถนนและการลดอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะร่วมกัน 

อ่านเพิ่มเติม >