ฉบับที่ 216 เพิ่งออกรถใหม่แต่มีปัญหา เบื่อซ่อมขอเงินคืนได้หรือไม่

        เมื่อซื้อสินค้าใหม่ สิ่งที่คาดหวังคือคุณภาพของสินค้าที่ใช้งานได้แบบสมบูรณ์ แต่หากเกิดปัญหาไม่ว่าจะเป็นทางกายภาพที่ไม่เหมือนใหม่หรือด้านประสิทธิภาพที่บกพร่อง คุณก็คงอยากเปลี่ยนเป็นสินค้าตัวใหม่หรือขอเงินคืน ซึ่งกับสินค้าทั่วไปอาจทำได้ไม่ยาก แต่ของมูลค่าสูงอย่างรถยนต์ บอกเลยว่ายาก เพราะบริษัทรถยนต์เกือบทุกค่ายไม่มีนโยบายนี้เป็นแนวทางปฏิบัติ ผู้บริโภคต้องสู้กันเต็มที่กว่าจะได้ในสิทธิที่ตนพึงได้        เรื่องรถใหม่ป้ายแดงมีปัญหาไม่ได้เกิดกับเฉพาะรถยนต์รุ่นที่ใช้งานทั่วไป แม้กับรถยนต์หรูก็มีปัญหาได้ เช่นกรณีของคุณกรุณา ซึ่งได้วางเงินจองรถยนต์หรูจากโชว์รูมรถยนต์ที่มาเปิดขายในงานมอเตอร์โชว์เมื่อปลายปี 2560   ในราคารวมทั้งสิ้น 3,990,000 บาท โดยวางเงินดาวน์ไว้ 1,197,000 บาท ส่วนที่เหลือผ่อนชำระกับบริษัทไฟแนนซ์ จำนวน 48 งวด        คุณกรุณารับรถยนต์มาใช้งานเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2561 และเพียงแค่ 4 วัน รถก็มีอาการเกียร์ลาก จึงแจ้งไปที่ศูนย์บริการ ซึ่งบอกให้คุณกรุณานำรถมาตรวจสภาพในวันที่ 23 มกราคม เมื่อช่างตรวจสภาพแล้วบอกว่า รถไม่มีปัญหาอะไรแต่จะปรับปรุงชุดคำสั่งการทำงานของเครื่องยนต์ หรือ update software ให้ ซึ่งต้องนำจอดไว้ที่ศูนย์ฯ 2 สัปดาห์        เมื่อคุณกรุณานำรถกลับมาใช้งานอีกครั้งปัญหาเดิมก็กลับมา รถเกียร์ลาก วิ่งไม่ออก จึงนัดกับทางศูนย์ฯ ว่าจะนำรถกลับไปตรวจสภาพใหม่ แต่บังเอิญคุณกรุณาเกิดอุบัติเหตุหกล้ม จึงไม่สะดวกขับรถไปที่ศูนย์ฯ ตามนัด อย่างไรก็ตามในเวลานั้นพนักงานขายได้นำรถสำรองมาให้ใช้งานแทนรถยนต์ที่มีปัญหา และนำรถไปตรวจสภาพที่ศูนย์บริการให้ จนระยะเวลาย่างเข้าเดือนเมษายน ทางศูนย์ฯ ได้แจ้งว่าช่างจากทางบริษัทแม่บอกให้เปลี่ยนเกียร์ใหม่  แต่ต้องรออะไหล่จากทางบริษัทแม่ในต่างประเทศ ซึ่งคุณกรุณานั้นคิดว่า เมื่อทางศูนย์บริการเปลี่ยนสมองเกียร์และอัปเดต ซอฟท์แวร์แล้ว รถยนต์น่าจะใช้งานได้ ถ้าแค่ต้องรออะไหล่จากต่างประเทศ ขอนำรถมาใช้งานก่อนได้ไหม เมื่ออะไหล่มาถึงค่อยนำรถไปศูนย์บริการ  เพราะตั้งแต่ซื้อรถยนต์มาได้ใช้งานแค่ไม่กี่วัน ขณะที่เงินก็จ่ายไปเป็นล้านแล้ว        แต่เมื่อได้รถมา วิ่งไปได้ไม่กี่วัน รถก็เกียร์ลาก วิ่งไม่ออกเหมือนเดิม  และเมื่อทางศูนย์ฯ บอกว่าอะไหล่มาแล้วให้นำไปเปลี่ยนเกียร์ใหม่แต่จะไม่มีรถยนต์สำรองให้ คุณกรุณาเลยขอขับคันนี้ไปก่อนจนกว่าจะได้รถสำรอง ซึ่งต้องรอจนถึงต้นเดือนมิถุนายน และรถยนต์คันหรูก็เข้าไปจอดในศูนย์บริการอีกครั้ง จนวันที่ 19 มิถุนายน พนักงานขายได้ขับรถที่เปลี่ยนอะไหล่เรียบร้อยแล้วมาส่งให้ที่บ้าน          คุณกรุณาใช้งานไปได้อีกราวสองเดือน วันหนึ่งขณะที่ขับรถอยู่คุณกรุณาก็ต้องขวัญหาย เมื่อรถเกิดอาการกระชากอย่างแรงขณะกำลังออกตัวหลังจอดติดไฟแดง ทั้งยังมีเสียงดังเหมือนกับว่ามีรถคันอื่นมาชน จึงสงสัยว่าน่าจะเป็นอาการผิดปกติของเกียร์อีกแล้ว จึงต้องนำรถเข้าศูนย์บริการอีกครั้ง ซึ่งได้รับแจ้งว่าทางศูนย์ฯ จะเปลี่ยนสมองเกียร์ให้อีกครั้ง โดยคราวนี้ต้องรออยู่เกือบสองเดือนกว่าทางศูนย์ฯ จะโทรศัพท์มาแจ้งให้ไปรับรถได้        “ดิฉันเบื่อมากๆ รถยนต์ที่จ่ายเงินสดไปเป็นล้าน แต่ได้มาใช้งานอยู่ไม่กี่เดือน เข้าๆ ออกๆ ศูนย์บริการไม่รู้กี่รอบ ไม่ไหวแล้วจริงๆ ยิ่งแก้ก็ยิ่งแย่ลง อย่างนี้จะขอเงินที่จ่ายไปแล้วคืนได้ไหม”  นั่นเป็นสิ่งที่คุณกรุณาแจ้งขอคำปรึกษามาทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคแนวทางการแก้ไขปัญหา        อย่างที่กล่าวไว้ในตอนต้น เรื่องการเปลี่ยนรถยนต์คันใหม่หรือการคืนเงินให้แก่ผู้ซื้อรถยนต์ ไม่ใช่แนวทางปฏิบัติของบริษัทค่ายรถยนต์ในไทย แต่บริษัทรถยนต์มักจะขอตรวจสอบและแก้ไขก่อนจนกว่าลูกค้าจะพอใจ หรือปลอบใจลูกค้าด้วยการแถมระยะเวลารับประกันชิ้นส่วน หรือฟรีค่าแรงในการซ่อมบำรุงให้ยืดระยะเวลาออกไปอีกเล็กน้อย เฉพาะบางรายเท่านั้นที่ค่ายรถยนต์ยอมทำตามลูกค้า เพื่อรักษาชื่อเสียงของแบรนด์ตัวเองเอาไว้        ในกรณีของคุณกรุณา ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ได้ทำหนังสือถึงบริษัทรถยนต์เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายได้เจรจาไกล่เกลี่ย ซึ่งทางบริษัทได้ดำเนินการเจรจาเองกับทางผู้ร้อง และทราบต่อมาในภายหลังว่าสามารถยุติเรื่องลงได้ เป็นอันว่าคุณกรุณาเป็นกรณีเฉพาะรายที่ทางบริษัทต้องการรักษาชื่อเสียงของบริษัทไว้ และดูจากกรณีที่เกิดขึ้นแล้ว คุณกรุณาแทบจะไม่ค่อยได้ใช้งานรถยนต์เลย เป็นความเสียหายที่เกิดจากสภาพรถยนต์เองโดยแท้        อย่างไรก็ตามจากบทเรียนในอดีต การใช้สิทธิขอเปลี่ยนรถยนต์คันใหม่หรือขอเงินคืน จะเกิดขึ้นได้ค่อนข้างยาก เพราะผู้ซื้อไม่มีความชำนาญในการวินิจฉัยอาการผิดปกติหรือชำรุดในแต่ละกรณี อีกทั้งรถยนต์ก็ได้ใช้งานไประยะหนึ่งแล้ว ตรงนี้จะเกิดปัญหาภาระในการติดตามทวงสิทธิและการพิสูจน์ความบกพร่อง ซึ่งผู้บริโภคจะเสียเปรียบด้านข้อมูล กระนั้นแล้วหากไม่พอใจสินค้าใหม่ป้ายแดงจริง ก็ต้องใช้สิทธิให้ถึงที่สุด อย่างแรกคือต้องเก็บหลักฐานต่างๆ ให้ดี เปิดเจรจาและที่สุดคงต้องให้ศาลวินิจฉัย เพราะมีกฎหมายคุ้มครองอยู่ คือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 472 “ ในกรณีที่ทรัพย์สินซึ่งขายนั้นชำรุดบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใดอันเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติก็ดี ประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญาก็ดี ท่านว่าผู้ขายต้องรับผิด ความที่กล่าวมาในมาตรานี้ย่อมใช้ได้ ทั้งที่ผู้ขายรู้อยู่แล้วหรือไม่รู้ว่าความชำรุดบกพร่องมีอยู่” และในส่วนของกฎหมายเช่าซื้อ ซึ่งผู้ให้เช่าซื้อจะต้องส่งมอบรถในสภาพที่สมบูรณ์หรือใช้งานได้เป็นปกติแก่ผู้เช่าซื้อ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 216 การเยียวยาจากเหตุรถโดยสารเกิดอุบัติเหตุ ไม่ได้ง่ายอย่างที่เขาบอกกัน

คล้อยหลัง 7 วันอันตรายไม่กี่วัน กลางดึกเวลาตีสี่ของวันที่ 6 มกราคม 2562  สายด่วนข่าวอุบัติเหตุรายงานว่า เกิดเหตุรถโดยสารสองชั้นของบริษัทประหยัดทัวร์เสียหลักพลิกคว่ำที่จังหวัดปทุมธานี มีบาดเจ็บและเสียชีวิตหลายราย และเหตุการณ์นี้ถือเป็นเหตุรุนแรงของรถโดยสารสาธารณะที่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตมากเป็นครั้งแรกของปี 2562         รายงานข่าวระบุว่า รถโดยสารคันที่เกิดอุบัติเหตุเป็นรถโดยสารสองชั้นของบริษัท ประหยัดทัวร์ หมายเลขทะเบียน 10-8175 นครราชสีมา ที่ให้บริการในฐานะผู้ประกอบการรถร่วมบริการของบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) วิ่งบริการในเส้นทางกรุงเทพ – พนมไพร  มุ่งหน้าเข้ากรุงเทพมหานคร แต่เกิดเสียหลักพลิกคว่ำสภาพรถหงายท้อง บริเวณ (ขาเข้า) ตรงข้ามไทวัสดุ ถนนพหลโยธิน คลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เสียก่อน ตรวจสอบแล้วมีผู้บาดเจ็บเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลจำนวน 24 รายและเสียชีวิตรวมจำนวน 6 ราย        หลังเกิดเหตุทีมสืบสวนสอบสวนอุบัติเหตุได้ลงพื้นที่เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงของอุบัติเหตุครั้งนี้ พบว่านอกจากสภาพถนนที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุแล้ว  พฤติกรรมของคนขับก็เป็นสาเหตุที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน คือ มีการเปลี่ยนตัวคนขับระหว่างทางจากพ่อมาเป็นลูกที่อายุเพียง 24 ปี แต่ต้องมารับผิดชอบคนเกือบครึ่งร้อยบนรถโดยสาร คนขับคนที่สองขับรถเกินเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ ทำให้เครื่องรูดบัตรร้องเตือนตลอดเวลา และพบว่ามีประวัติขับรถเร็วจากกล้องตรวจจับของตำรวจทางหลวงมาแล้วหลายครั้ง นอกจากนี้ยังพบว่ารถโดยสารคันนี้บรรทุกผู้โดยสารมากกว่า 50 คน ทั้งที่มีที่นั่งบนรถเพียง 46 ที่เท่านั้น        จากอุบัติเหตุครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงมาตรการของรัฐที่ยังใช้ไม่ได้จริงในสองประเด็นหลัก คือ การกำหนดให้รถโดยสารทุกคันต้องติด GPS เพื่อควบคุมความเร็ว ควบคู่ไปกับเครื่องรูดบัตรใบขับขี่ของพนักงานขับรถโดยสารประจำทางต้องขับรถได้ต่อเนื่องกันไม่เกิน 4 ชั่วโมง และต้องหยุดพักอย่างน้อย 30 นาที และการบรรทุกผู้โดยสารเกินกว่าจำนวนที่นั่งที่กฎหมายกำหนด        นอกจากมาตรการทางกฎหมายในสองส่วนข้างต้นที่ใช้ไม่ได้จริงแล้ว ระบบการกำกับติดตามรถโดยสารไม่ปลอดภัยของรัฐก็ไม่สามารถทำได้อย่างทันทีอีกด้วย ทั้งที่เป้าหมายการติดตั้ง GPS tracking คือการควบคุมกำกับให้รถโดยสารที่ติดตั้งระบบมีความปลอดภัยจากการขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดที่สามารถตรวจสอบได้ทันทีด้วยระบบออนไลน์ แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่สามารถแจ้งเตือนผู้ประกอบการแบบเรียลไทม์ได้อย่างทันท่วงที เมื่อพบว่ากำลังขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดหรือมีพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจจะทำให้เกิดความรุนแรงเสียหายขึ้นได้        และที่สำคัญปัญหาที่ตามมาหลังเกิดอุบัติเหตุทุกครั้ง คือ การชดเชยเยียวยาที่ไม่เป็นธรรม แม้ว่ารถโดยสารคันเกิดเหตุจะทำประกันภัยภาคบังคับและภาคสมัครใจไว้เพื่อเป็นหลักประกันความเสียหาย โดยพบว่ามีวงเงินความคุ้มครองตามประกันภัยภาคบังคับ หรือ พ.ร.บ. ในส่วนค่ารักษาพยาบาลตามจริงไม่เกิน  80,000 บาท ส่วนกรณีทุพพลภาพถาวรหรือเสียชีวิตจ่ายทันที 300,000 บาท และความคุ้มครองตามประกันภัยภาคสมัครใจมีค่ารักษาพยาบาล PA 200,000 บาท และค่าสินไหมทดแทนอีก 300,000 บาท ซึ่งหากมีผู้เสียชีวิตทายาทจะได้รับการชดเชยเยียวยาเป็นเงินรวม 800,000 บาทนั้น        แต่ในความเป็นจริงการจะได้รับค่าชดเชยเยียวยาของผู้ประสบเหตุไม่ใช่เรื่องง่ายและไม่ได้ในทันที แต่ละรายต้องมีความยากลำบากในการจัดทำเอกสารต่างๆ เช่น ใบรับรองแพทย์ ใบเสร็จค่ารักษาพยาบาล ภาพถ่ายอาการบาดเจ็บ เพื่อเป็นหลักฐานในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัย และถึงแม้จะได้เอกสารมาแล้วแต่ก็ต้องถูกบังคับให้เจรจาต่อรองตามฐานานุรูปและอาการบาดเจ็บ บางรายต้องจำยอมรับเงินเพียงเพื่ออยากให้เรื่องจบ จะได้เอาเวลาต่อจากนี้ไปรักษาตัวและทำมาหากินตามปกติที่เคยทำ ทั้งที่คนเหล่านั้นเพิ่งจะเฉียดความตายจากความประมาทเลินเล่อของคนขับรถโดยสารคันเกิดเหตุมา           นอกจากนี้ยังพบอีกว่า สำหรับกรณีผู้เสียชีวิตนั้น แม้จะมีการจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนตามความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยจำนวน 800,000 บาท ให้กับทายาทของผู้เสียชีวิตแล้วก็ตาม แต่ก็พบปัญหาข้อความในสัญญาประนีประนอมยอมความที่เป็นการตัดสิทธิเรียกร้องต่อผู้ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ซึ่งอาจเข้าข่ายเป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ว่ากันง่ายๆ คือ ถ้าลงชื่อในสัญญาประนีประนอมแล้วก็จะไม่สามารถไปใช้สิทธิฟ้องผู้ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายเพิ่มเติมได้อีก ทั้งที่ผู้ประสบเหตุมีสิทธิที่จะฟ้องบริษัทรถโดยสาร และบริษัท ขนส่ง จำกัด ในฐานะผู้ให้สัมปทานได้ เพราะความเสียหายของเขายังมีอยู่        อย่างไรก็ดีปัญหาที่เกิดจากอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะจะยังไม่มีวันหมดไป หากยังไม่มีการจัดการตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องมาตรการกำกับรถโดยสารสาธารณะให้มีความปลอดภัย มาตรฐานการชดเชยเยียวยาที่ไม่เป็นการซ้ำเติมความเสียหายของผู้ประสบเหตุ  และโดยเฉพาะเรื่องสิทธิผู้บริโภคที่ถูกละเมิดซ้ำซากจากหน่วยงานและผู้ประกอบการ ซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่ในสังคมไทยทุกวันนี้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 214 กระแสต่างแดน

รางวัลแด่คน “ช่างกล้า”Consumer NZ นิตยสารเพื่อผู้บริโภคของนิวซีแลนด์มอบรางวัลยอดแย่ประจำปีให้กับผู้ผลิตอาหารที่กล้าเคลมว่าสินค้าตนเอง “ดีต่อสุขภาพ” ทั้งๆ ที่ส่วนประกอบมันไม่ใช่เจ้าใหญ่อย่าง เคลลอกส์ เนสท์เล่ เทเกล และ เฟรชแอนด์ฟรุ้ตตี้ ต่างไดัรับเกียรติกันถ้วนหน้าคะแนนที่ได้มาจากเสียงโหวตของผู้บริโภคที่พบว่า อาหารที่มีฉลากกำกับความดีงาม เช่น  “ไขมันต่ำ” “ธัญพืชไม่ผ่านการขัดสี” “ไม่ใช้น้ำตาลทรายขาว” “ไม่ใช้สีหรือกลิ่นสังเคราะห์” หรือ “เป็นแหล่งไฟเบอร์” กลับมีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบ 3 ถึง 20 ช้อนชาต่อหนึ่งเสิร์ฟ        บ้างก็ชูจุดขายเรื่องส่วนประกอบที่เป็นผักและผลไม้ ทั้งที่ใส่ไปแค่ร้อยละ 1.36 มีแม้กระทั่งไก่ทั้งตัวที่ระบุว่าไก่ “ไม่ได้ถูกขังในกรง” เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าพวกมันถูกเลี้ยงอย่างอิสระ ทั้งๆ ที่พวกมันก็ถูกจำกัดบริเวณอยู่ในคอกนั่นเองขอเสียงหน่อย            นครเชินเจิ้นเปลี่ยนรถโดยสารทั้งหมดเป็นระบบไฟฟ้าแล้ว เพื่อให้เป็นไปตามแผนการลดคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศลงร้อยละ 48    แม้จะต้องใช้งบประมาณ 1.8 ล้านหยวนต่อคัน(ประมาณ 8.5 ล้านบาท) แต่ค่าโดยสารก็ไม่ได้แพงขึ้นมากนัก            ทั้งนี้เพราะรัฐบาลกลางสนับสนุนค่าใช้จ่ายมากกว่าครึ่งให้กับผู้ประกอบการ ในขณะที่รัฐบาลท้องถิ่นจะเติมให้อีก 500,000 หยวน(ประมาณ 2.3 ล้านบาท) เมื่อรถเมล์ไฟฟ้าวิ่งรับส่งผู้คนได้เป็นระยะทางครบ 60,000 กิโลเมตร                   จากหมู่บ้านชาวประมงเล็กๆ ปัจจุบันเชินเจิ้นมีประชากร 12 ล้านคน มีรถเมล์ไฟฟ้าให้บริการทั้งหมด16,000 คัน พร้อมสถานีชาร์จที่เทศบาลเป็นเจ้าของอีก 40,000 แห่ง             รองผู้จัดการทั่วไปบริษัทเชินเจิ้นบัสกรุ๊ป หนึ่งในผู้ประกอบการรถเมล์สามรายของเมืองนี้บอกว่า บริษัทกำลังหาวิธีเพิ่ม “เสียง” ให้กับรถ เพราะมีผู้โดยสารร้องเรียนเข้ามาว่ามันวิ่งได้ “เงียบเกินไป”Madrid Central           กรุงแมดริดเริ่มโครงการ Madrid Central เพื่อลดมลภาวะจากน้ำมันเชื้อเพลิง ด้วยการทดลองใช้กฎห้ามรถที่ผลิตก่อนปี ค.ศ. 2000 (รถเบนซิน) และ ค.ศ. 2006 (รถดีเซล) เข้ามาในเขตใจกลางเมือง           ข่าวระบุว่าประมาณร้อยละ 17 ของรถที่วิ่งในเมืองนี้ถือเป็น “รถเก่า” ใครฝ่าฝืนขับเข้ามาจะมีค่าปรับ 90 ยูโร (เขาอนุโลมในนำรถดังกล่าวเข้ามาวิ่งได้หากลงทะเบียนไว้ล่วงหน้าและมีที่จอดรถเป็นของตัวเอง พูดง่ายๆ คือคนที่มีบ้านอยู่ในเขตเมือง)           แผนนี้อาจแตกต่างจากที่อื่นๆ ในยุโรป เช่น ลอนดอน สต็อกโฮล์ม และมิลาน ที่จำกัดจำนวนรถด้วยการเรียกเก็บ “ค่าเข้าเมือง” จากผู้ขับขี่ “รถเก่า” ซึ่งปล่อยมลภาวะมากกว่ารถยนต์รุ่นใหม่ๆ           แมดริดมีประชากร 3.2 ล้านคน ยานพาหนะ 1.8 ล้านคัน ภูมิประเทศแบบที่ราบสูงของเมืองมักถูกปกคลุมด้วยมลภาวะหนาแน่นในวันที่ไม่ค่อยมีลมของมันต้องมี             คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าของออสเตรเลียเสนอให้มีการจัดตั้งองค์กรเฉพาะ เพื่อกำกับดูแลบริษัทเทคโนโลยีอย่าง Facebook Inc และ Alphabet Inc (เจ้าของกูเกิ้ล) ที่อาจผูกขาดธุรกิจโฆษณาออนไลน์             คณะกรรมการฯ ตั้งคำถามว่าเราจะรู้ได้อย่างไรว่าบริษัทไม่ได้เลือกนำเสนอสินค้าหรือบริการของตนเอง ก่อนผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการรายอื่นที่มาซื้อพื้นที่โฆษณา             นอกจากนี้บริษัทยังทำหน้าที่เป็นผู้เผยแพร่ข่าวสารแข่งกับสื่อแบบดั้งเดิม ทำให้ผู้บริโภคได้รับข้อมูลท่วมท้นจนอาจเกิดความสับสน             หน่วยงานตรวจสอบระบบการจัดอันดับโฆษณาหรือบทความต่างๆ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในแผนการปฏิรูปสื่อของออสเตรเลีย             ด้านคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าของอิตาลีก็เพิ่งจะสั่งปรับ facebook เป็นเงิน 10 ล้านยูโร(ประมาณ 370 ล้านบาท) จากการที่บริษัทนำข้อมูลผู้ใช้ไปเผยแพร่โดยไม่ได้รับอนุญาต  เลือกเราไปสร้างตึกตามกฎหมายเกาหลีใต้ ผู้อยู่อาศัยในอพาร์ตเมนท์ที่จะถูกรื้อเพื่อสร้างใหม่จะมีสิทธิออกเสียงเลือกบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างได้        สำนักงานตำรวจโซลเปิดเผยว่าเมื่อปี 2560 บริษัท แดวู ล็อตเต้ และฮุนได ได้เสนอสินบนให้กับผู้มีสิทธิออกเสียงรวมเป็นเงิน 230 ล้านวอน  200 ล้านวอน และ 110 ล้านวอนตามลำดับ เพื่อแลกกับการได้สิทธิก่อสร้างอาคารใหม่ในเขตตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงโซล        นอกจากเงินแล้วยังแจกแทบเล็ตหรือคูปองห้องพักโรงแรมหรูด้วย         ทั้งสามบริษัทที่ได้สิทธิการก่อสร้างไปบอกว่าตนเองไม่รู้เห็นกับการกระทำของ “ที่ปรึกษาด้านการประชาสัมพันธ์”  สำนักงานตำรวจฯ จึงส่งฟ้องพนักงานของบริษัทเพราะมีหลักฐานว่า “บริษัทที่ปรึกษาฯ” ได้แจ้งให้บริษัททราบแล้ว        นักวิเคราะห์มองว่าคดีนี้อาจส่งผลในทางลบต่อความสามารถในการแข่งขันของบริษัทก่อสร้างสัญชาติเกาหลีในระดับสากล ซึ่งมีคู่แข่งที่น่ากลัวอย่างจีนและอินเดีย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 214 ห้ามรถยนต์ที่ใช้เครื่องดีเซลวิ่งในหลายๆ เมืองของประเทศเยอรมนี !!!

       มีข่าวที่น่าสนใจเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ประเด็น “สิทธิที่จะดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี และยังชีพได้อย่างปลอดภัย เป็นสิทธิที่จะได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ซึ่งหมายรวมถึงสิทธิที่จะได้รับการป้องกันจากปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ผู้บริโภคแต่ละคนไม่สามารถควบคุมได้เอง สิทธินี้ต้องยอมรับถึงความต้องการที่จะได้รับการคุ้มครองและปรับปรุงสิ่งแวดล้อม ตลอดชั่วอายุเราไปจนชั่วอายุลูกหลานอีกด้วย”       โดยที่ ศาลยุติธรรมแห่งสหภาพยุโรป (Court of European Union) พิพากษายืนยันมาตรการ การห้ามรถยนต์ดีเซลวิ่งในเมือง ที่มีคุณภาพอากาศย่ำแย่ ในหลายๆ เมืองของประเทศเยอรมนี โดยก่อนหน้านี้ ศาลปกครองสูงสุดของเยอรมนี ก็ได้มีคำพิพากษาห้ามรถยนต์ดีเซลวิ่งในเมือง ใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็น ฮัมบวร์ก  มิวนิค สตุ๊ตการ์ต โคโลญจน์  ดึสเซลดอร์ฟ เบอร์ลิน ดอร์ตมุน ฯลฯ และอีกกว่า 20 เมืองที่จะมีกฎหมายห้ามรถยนต์ดีเซลวิ่งในเมืองเหล่านี้ เนื่องจากเมืองใหญ่ประสบปัญหา มีปริมาณ NOx  (ออกไซด์ของไนโตรเจน) เกินค่ามาตรฐาน  มาตรการการห้ามรถยนต์ดีเซล โดยเฉพาะรถบรรทุกวิ่งในเขตเมือง คือ การแบ่งโซนนิง พื้นที่ที่มีความเข้มข้นของ ก๊าซ NOx ที่มีค่าสูงจนเกิดความเสี่ยงและผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ที่อยู่อาศัยในเขตเมือง พื้นที่ที่ได้ประกาศให้เป็นพื้นที่ห้ามผ่าน จะมีผลต่อรถยนต์ที่ใช้เครื่องดีเซล ต่ำกว่ามาตรฐาน EUEO 4 และตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2562 ก็จะขยายมาตรการห้ามรถยนต์ที่เครื่องดีเซล ต่ำกว่ามาตรฐาน EURO 5 วิ่งในพื้นที่ ที่ได้ประกาศไว้ด้วยเช่นกัน       อย่างไรก็ตาม ก็มีข้อยกเว้น สำหรับ ผู้พิการที่จำเป็นต้องใช้รถเก่า และประชาชนที่อาศัยในเขตห้ามรถยนต์ดีเซลวิ่งผ่าน แต่อาจต้องขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่ในกรณีพิเศษ โดยจะพิจารณาความเหมาะสมเป็นรายๆ ไป นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ตั้งเป้า การห้ามรถยนต์ดีเซลที่มีมาตรฐานต่ำกว่า EUEO 6  วิ่งในพื้นที่ห้ามวิ่ง ภายในปี 2564 เพิ่มเติมอีกด้วยรัฐบาลมีมาตรการอย่างไรในการรับมือกับคำพิพากษาของศาลปกครอง-  รัฐบาล ไม่ห้ามรถยนต์ดีเซล มาตรฐาน Euro 4 และ Euro 5 แต่รถต้องปล่อย NOx ไม่เกิน 270 mg/ km -  รัฐบาลมีงบสนับสนุนการเปลี่ยนรถใหม่ (Exchange Premium) ในกรณีที่รถยนต์ต่ำกว่ามาตรฐาน Euro 4 และ Euro 5 ที่ปล่อยก้าซ NOx เกินกว่า 270 mg/km โดยมีเงื่อนไขว่า เงินสนับสนุนนี้จะให้กับประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ ห้ามรถยนต์ดีเซลวิ่ง หรือต้องขับรถเข้ามาทำงาน ในพื้นที่ห้ามวิ่งและครอบครองรถยนต์มาตรฐานดังกล่าว ซึ่งเงินสนับสนุนของรัฐบาลนี้มีวัตถุประสงค์ในการชดเชย มูลค่ารถที่เสียไปจาก มาตรการทางกฎหมายห้ามรถยนต์ดีเซลมาตรฐานต่ำๆ วิ่งในพื้นที่ต้องห้ามวิ่ง-  มาตรการการเปลี่ยนชิ้นส่วน หรือระบบกรองอากาศ มาตรการนี้ ผู้ผลิตรถยนต์หลายเจ้าได้ยกเลิกการพัฒนาระบบกรองอากาศ แต่ บริษัทรถยนต์ชั้นนำไม่ว่าจะเป็น Mercedes, Volkswagen และ BMW พร้อมที่จะสนับสนุนมาตรการนี้ให้กับลูกค้าที่ได้รับผลกระทบในวงเงินไม่เกิน 3000 ยูโร ถ้า ลูกค้าไม่สนใจในมาตรการรับเงินสนับสนุน (Exchange Premium) จากรัฐบาล          ในกรณีที่ประชาชนละเมิดกฎหมาย ฝ่าฝืนมาตรการการห้ามรถวิ่งผ่านพื้นที่ดังกล่าว จะต้องเสียค่าปรับ ประมาณ 80 ยูโร หรือ อาจต้องเสียค่าปรับถึง 160 ยูโร หากทางเจ้าหน้าที หรือ ศาลเห็นว่าจงใจฝ่าฝืนมาตรการหรือคำสั่งดังกล่าว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 214 เห็นใจกันบ้างไหม รถใหม่แต่ทำไมแอร์ไม่เย็น

            อากาศประเทศไทยร้อนแค่ไหน ถามใจดู ยิ่งนำรถมาวิ่งในสภาพการจราจรของเมืองหลวงที่รถติดสาหัส รถยนต์ใหม่เพิ่งถอยมาแท้ๆ แทนที่จะได้ไอเย็นของแอร์เย็นฉ่ำกลับร้อนจนเหงื่อตก อารมณ์จะไม่เดือดอย่างไรไหว             เรื่องนี้ยังไม่จบต้องยาวไปถึงขั้นฟ้องร้องเป็นคดีความ แต่ขอนำมาเล่าเป็นกรณีศึกษา ซึ่งเริ่มจากที่คุณประภาส ซื้อรถยนต์ใหม่ปีที่แล้ว แต่ใช้งานได้ไม่นานประมาณปลายเดือน ก.ค. 60 ขับรถอยู่ดีๆ รถเกิดอาการแอร์ไม่เย็น จึงนำรถยนต์เข้าศูนย์บริการของบริษัทรถยนต์ดังกล่าว ช่างระบุต้องเปลี่ยนอะไหล่ คุณประภาสไม่พอใจนักเพราะว่า รถยนต์ตนเองยังใหม่อยู่เลย นี่ถึงกับต้องเปลี่ยนอะไหล่แล้ว แต่ไม่อยากร้อนมากไปกว่านี้ จึงตกลงจ่ายค่าเปลี่ยนอะไหล่เป็นเงิน 12,386 บาท            ใช้งานมาได้จนถึงตุลาคม 60 อาการแอร์ไม่เย็นก็กลับมาอีกครั้ง ศูนย์ฯ ระบุว่าต้องเปลี่ยนอะไหล่บางตัว แต่คราวนี้คิดที่ราคา 469 บาท “เอาน่าจ่ายก็จ่าย” คุณประภาสตัดใจ แต่เรื่องกวนใจนี้ไม่จบย่างเข้ามีนาคม 2561 แอร์ไม่เย็นอีก จึงต้องนำรถเข้าศูนย์ฯ เกิดค่าใช้จ่ายจากการเปลี่ยนอะไหล่อีก 6,524 บาท รวมว่าเสียเงินไปแล้ว 19,381 บาท  ทว่าในเวลาเพียงสิบกว่าวันถัดมา คุณประภาสต้องนำรถยนต์ไปศูนย์ฯ บริการซ้ำด้วยปัญหาเดิมแอร์ไม่เย็น ทายสิว่าทางศูนย์บริการบอกว่าอย่างไร ใช่แล้ว ศูนย์ฯ แจ้งต้องเปลี่ยนอะไหล่ แต่คราวนี้คุณประภาสไม่ยอม            คุณประภาสยื่นเงื่อนไขให้ศูนย์บริการคืนเงินค่าซ่อมทั้งหมด เนื่องจากดำเนินการหลายครั้งก็ไม่สามารถแก้ไขอาการแอร์ไม่เย็นได้ แต่ทางศูนย์ฯ ปฏิเสธคืนเงินเต็มจำนวน จะคืนเงินเพียงแค่ในส่วนของการซ่อมครั้งที่สองและสาม  โดยต้องขอถอดอะไหล่ที่เปลี่ยนให้ในทั้ง 2 ครั้งคืนด้วย เนื่องจากการรับประกันการซ่อมตั้งแต่ครั้งแรกถึงครั้งที่สาม มีระยะเวลาประกันแค่ 6 เดือนเท่านั้น ซึ่งคุณประภาสรู้สึกไม่เป็นธรรม เพราะในใบเสร็จรับเงินแจ้งว่า “รับประกันงานซ่อมหรือผลงานซ่อม 6 เดือน หรือ 10,000 กิโลเมตร อย่างใดอย่างหนึ่งก่อน” ทั้งในความเป็นจริงการซ่อมครั้งที่สองเกิดขึ้นในระยะเวลาไม่ถึง 3 เดือน แอร์รถยนต์ก็ไม่ดีขึ้นจากการซ่อมครั้งแรก หรือจนล่วงเข้าครั้งที่ 3 ก็เป็นระยะเวลาเพียง 5 เดือน ซึ่งระยะเวลาทั้งสองครั้งนี้ ไม่ต้องจ่ายเงินด้วยซ้ำเพราะเป็นไปตามเงื่อนไขการรับประกัน ดังนั้นทางศูนย์ฯ จึงควรต้องคืนเงินทั้งหมดให้            คุณประภาสติดตามเพื่อให้ทางศูนย์บริการดำเนินการคืนเงินทั้งหมดอีกหลายครั้ง แต่การเจรจาไม่ประสบผลทางศูนย์ฯ ยืนยันเหมือนเดิม คุณประภาสจึงได้ยื่นเรื่องร้องเรียนที่ สคบ. ซึ่งทาง สคบ.ได้นัดทั้งสองฝ่ายเจรจา คราวนี้ทางศูนย์บริการยื่นข้อเสนอจะซ่อมให้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย แต่จะไม่คืนเงินจากการซ่อมที่ผ่านมาทั้งสามครั้ง ซึ่งคุณประภาสปฏิเสธโดยยืนยันเช่นกันว่าศูนย์บริการต้องคืนเงินค่าซ่อมทั้งหมด            ทางศูนย์บริการจึงได้อธิบายว่า เงื่อนไขการรับประกัน หมายถึงจะครอบคลุมเฉพาะอะไหล่อุปกรณ์ชิ้นที่เปลี่ยนเท่านั้น ไม่รับประกันไปถึงงานซ่อมแอร์ให้กลับมาทำงานได้  ซึ่งคุณประภาสรู้สึกว่าตนเองโดนเอาเปรียบ ทั้งสองฝ่ายจึงไม่สามารถตกลงกันได้ แนวทางการแก้ไขปัญหา            การเจรจาที่ สคบ. เกิดขึ้นสองครั้งแต่ไม่สามารถตกลงกันได้ ผู้ร้องจึงมาปรึกษาที่ ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งทางศูนย์พิทักษ์ฯ ได้ประสานงานกับทางศูนย์บริการเพื่อให้เกิดการเจรจา แต่ทางคุณประภาสเอง คิดว่าคงไม่สามารถตกลงกันได้อีกเพราะผ่านการเจรจาหลายครั้ง ดังนั้นจึงขอคำปรึกษาเรื่องฟ้องคดีแทน             กรณีนี้จึงได้ความรู้ใหม่เพิ่มขึ้นว่า การรับประกัน(ในความหมายของศูนย์บริการรถยนต์แห่งนี้) หมายถึงรับประกันแค่อะไหล่เท่านั้น ไม่ได้หมายถึงรับประกันว่าซ่อมแล้วของจะใช้งานได้เหมือนเดิม   

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 214 ไม่หลงทาง เมื่อพกแอปพลิเคชัน ViaBus

            ฉบับนี้ขออำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่ต้องเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ แต่ไม่รู้เส้นทางการเดินรถโดยสารสาธารณะ รวมทั้งแอปพลิเคชันนี้ยังเหมาะสำหรับประชาชนที่เดินทางมาจากต่างจังหวัดเพื่อมาทำภารกิจในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลได้อีกด้วย            แอปพลิเคชันนี้ถูกพัฒนาขึ้นโดยองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อต้องการอำนวยความสะดวกการใช้รถโดยสาธารณะให้กับประชาชนผู้ใช้เส้นทาง มีชื่อว่า “ViaBus”  ผู้ใช้สมาร์ทโฟนสามารถดาวน์โหลดได้ทั้งระบบปฏิบัติการ iOS และระบบปฏิบัติการ Android            ภายในแอปพลิเคชันมีการใช้งานที่ไม่ซับซ้อนมากนัก เมื่อเข้าหน้าหลักจะปรากฏภาพแผนที่ โดยการค้นหาเส้นทางจะมีอยู่ 2 รูปแบบ ดังนี้           1. ต้องการค้นหาเส้นทางจากจุดที่ผู้ใช้สมาร์ทโฟนอยู่ปัจจุบัน ให้กดรูปสัญลักษณ์แว่นขยายบริเวณด้านบนขวาของแอปพลิเคชัน และให้ระบุสถานที่ที่ต้องการเดินทางไป           2.ต้องการค้นหาเส้นทางจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่บริเวณที่ผู้ใช้สมาร์ทโฟนอยู่ปัจจุบัน ให้กดรูปสัญลักษณ์สี่เหลี่ยมสีแดง จากนั้นให้ระบุสถานที่เริ่มต้นในการเดินทางและสถานที่ที่เป็นจุดเป้าหมายปลายทาง            เมื่อแอปพลิเคชันได้ค้นหาเส้นทางให้แล้ว จะปรากฏเป็นภาพเส้นทางบนแผนที่ และปรากฏข้อมูลต่างๆ ไว้ด้านล่าง ผู้ใช้งานสามารถเข้าไปดูรายละเอียดต่างๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นสายรถเมล์ที่สามารถเดินทางไปได้ ป้ายรถเมล์ใกล้บริเวณนั้น บอกจำนวนป้ายรถเมล์ที่ต้องผ่าน หรือบางเส้นทางจะมีข้อมูลการใช้เส้นทางโดยใช้รถไฟฟ้า นอกจากนี้ยังค้นหาเพิ่มให้เห็นเส้นทางสภาพการจราจรว่า ติดขัดมากน้อยเพียงใด โดยให้กดไปที่สัญลักษณ์ไฟจราจรบริเวณหน้าแอปพลิเคชันจะปรากฏเส้นทางสภาพการจราจรเป็นเส้นสีแดง สีเขียวและสีเหลือง             สิ่งที่ช่วยอำนวยความสะดวกเพิ่มเติมคือ สัญลักษณ์การค้นหาตำแหน่งของผู้ใช้สมาร์ทโฟนปัจจุบันได้ทันที โดยกดสัญลักษณ์ค้นหาตำแหน่งที่อยู่ถัดจากสัญลักษณ์ไฟจราจร เพื่อช่วยให้ไม่ต้องเสียเวลาหาจุดเริ่มต้นของการเดินทาง            ถ้าได้ใช้แอปพลิเคชันอย่างต่อเนื่อง และเห็นข้อผิดพลาดของข้อมูล หรือต้องการร้องเรียนการขับรถไม่สุภาพของรถโดยสารสาธารณะ หรือปัญหาอื่นๆ ที่ต้องการแจ้งเพื่อให้แก้ไขปรับปรุง สามารถแจ้งผ่านแอปพลิเคชันได้ทันที โดยกดปุ่มด้านบนซ้าย และเข้า Report             รีบดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน ViaBus มาไว้เลย เพียงเท่านี้ก็จะไม่ต้องกังวลว่าจะหลงทางอีกต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 214 คุณภาพรถเมล์ไทย

ดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุว่า ปัญหาคุณภาพรถเมล์ของประเทศไทยมีมานานแล้ว โดยแยกเป็น 2 ส่วน คือ “ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการบริการ” อาทิ ตัวรถ สภาพรถ การให้บริการ กับ “ปัญหาในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง” เช่น ป้ายรถเมล์ จุดจอด การเชื่อมต่อ เชื่อมโยง เป็นต้นสำหรับ “ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการบริการ” พบว่ามีปัญหาตั้งแต่สภาพตัวรถ รวมถึงรูปแบบการประกอบการ โครงสร้างองค์กรที่เกี่ยวข้องเป็นไปอย่างยากลำบาก ในกรณีที่เป็นรถของขนส่งมวลชน(ขสมก.) มีปัญหาสะสมที่ไม่สามารถซื้อรถใหม่ได้ หรือจัดซื้อได้ล่าช้า ปัจจุบันรถใน กทม. และปริมลฑล มีอยู่ประมาณ 7-8 พันคัน เข้าใจว่าเป็นรถเก่าไม่น่าจะต่ำกว่า 4-5 พันคัน จะมีรถใหม่ของขสมก.จะเข้ามาประมาณ 2-3 พันคันในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ซึ่งไม่น่าจะเพียงพอควรมีปริมาณรถใหม่มากกว่านี้ รวมถึงมีกลไกกำกับดูแลคุณภาพในอนาคตต่อไปว่าจะการันตีได้อย่างไรเมื่อเปลี่ยนรถแล้วคุณภาพต้องดีด้วย ต้องเข้มข้นเรื่องการรับพนักงาน รวมถึงเรื่องของค่าตอบแทน เช่น ค่าโดยสารที่เหมาะสม เพราะก็ยังมีคำถามอยู่ว่าค่าโดยสารที่เหมาะสมเป็นอย่างไร ด้านหนึ่งบอกว่าค่าโดยสารไม่ควรสูงเกินไป แต่รัฐก็ไม่มีกลไกทำเรื่องนี้อย่างเป็นระบบ ก็เลยเป็นปัญหาค่าโดยสารที่กำหนดอยู่ปัจจุบันจะทำให้ได้คุณภาพการให้บริการที่ดีหรือไม่ ถ้าจะให้ได้พนักงานที่มีคุณภาพต้องอนุญาตให้เขาสามารถขึ้นค่าโดยสารได้บ้างหรือไม่ แต่คงไม่ได้ขึ้นมากเกินไป เช่น ปัจจุบันเก็บอยู่ 9 บาท สำหรับรถร้อน ถ้าปรับราคาขึ้นเป็น 11-12 บาท เป็นไปได้หรือไม่ ตอนนี้เราเริ่มคุยกันแล้วว่าน่าจะพอขึ้นได้ และพอจ่ายได้ เพราะอยากได้บริการที่ดี แต่กลัวว่าขึ้นไปแล้วยังได้บริการแย่เหมือนเดิม อะไรจะการันตี  “เวลาสำรวจความพึงพอใจเรื่องพวกนี้ก็จะเห็นภาพว่าผู้โดยสารมีความรู้สึกคล้ายกันว่ารถเก่า บริการไม่ดี รถขาดระยะ ความถี่ไม่ดี รอนาน สภาพโดยรวมไม่สะดวกสบาย”  คำถามที่จะตามมาคือต่อให้คุณภาพรถเมล์ดีแล้ว “โครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง” จะดีตามมาหรือไม่ ซึ่งจากการสำรวจทั้งในกทม. และปริมณฑลพบว่ามีปัญหาคล้ายกันคือ ตำแหน่งป้ายไม่ชัดเจน ที่พักพิงผู้โดยสาร เช่น ศาลาไม่ครบ ปัญหาที่ตามมาคือการบริการช่วงเช้ามืด และช่วงค่ำ มีแสงสว่างไม่เพียงพอ เสี่ยงเกิดอันตราย ตรงนี้ผู้ประกอบการคงไม่ได้เป็นคนจ่าย หน่วยงานท้องถิ่นที่ดูแลน่าจะต้องเป็นคนที่ลงทุน เพราะที่ผ่านมาก็มีการลงทุนเรื่องรถไฟฟ้า อะไรต่างๆ มากมาย ทำไมไม่ลงทุนเรื่องเหล่านี้บ้าง “จริงๆ เรายังให้ความสำคัญกับการพัฒนารถเมล์น้อยไป ถ้าพัฒนาเต็มที่ต้องดีทั้งตัวรถ และคนขับ พนักงานประจำรถ ตรงนี้เริ่มมีการปฏิรูปบ้าง แต่ที่ยังขาด คือโครงสร้างพื้นฐาน และการเชื่อมต่อ เรื่องป้ายรถเมล์ ถ้าจะทำต้องทำควบคู่กัน  ไม่อย่างนั้นคนเดินมาป้ายรถเมล์ก็ไม่อยากเดิน ไม่จูงใจให้คนมาใช้รถเมล์” อย่างไรก็ตาม ปัญหาเหล่านี้เริ่มได้รับการแก้ไขบ้างแล้ว อย่างเช่น รถเมล์ในกรุงเทพจากเดิมมีเพียงการให้บริการของ “ขสมก.” เท่านั้น ปัจจุบันก็มี “เอกชน” เข้ามาร่วมเดินรถด้วย อีกทั้งยังมีการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย โดยให้บริษัทเอกชน บางรายสามารถยื่นขอใบอนุญาตได้โดยตรง และเดินรถเองได้ ตรงจุดนี้ทำให้สามารถเปลี่ยนรถใหม่ได้เอง แต่ความอิสระนี้ยังไม่ได้การันตีว่าการให้บริการจะมีคุณภาพ ต้องมีระบบกำกับดูแลที่ต้องตรวจสอบคุณภาพรถเอกชนที่จะเข้ามาวิ่งในระบบต่อไป ส่วนปัญหาเรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องยังไม่เห็นนโยบายที่ชัดเจนว่าจะมีการปรับปรุงอย่างไร  ปัญหารถขาดระยะ-เส้นทางเดินรถ “รถเมล์ขาดระยะ” มาจากทั้งปัญหาการจราจร และจำนวนรถไม่เพียงพอ ยิ่งรถติดมากยิ่งทำให้รถขาดระยะมาก ตรงนี้ก็พูดยาก เพราะหลายครั้งปริมาณการเดินทางของคน โดยเฉพาะชั่วโมงเร่งด่วนนั้นสูงมาก ซึ่งถ้าทำให้คนขึ้นรถเมล์มากเท่าไหร่ ก็จะลดการใช้รถส่วนบุคคลเท่านั้น รถไม่ติด และจะส่งผลดีกับทั้งคู่คือรถติดน้อยลง ต้นทุนการประกอบการก็น้อยลง ไม่ต้องซื้อรถมาเก็บไว้จำนวนมาก ทำรอบความถี่ได้ นี่เป็นปัญหาที่คิดว่าแก้ไขยาก เพราะประเทศไทยยังไม่มีมาตรการจำกัดการใช้รถส่วนบุคคลเท่าไหร่นัก ส่วนเรื่องเส้นทางการเดินรถนั้น ถือว่ามีความครอบคลุมระดับหนึ่ง แต่ไม่ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ปัญหาที่แท้จริงคือ “การทับซ้อนเส้นทาง” แม้จะมีความพยายามในการแก้ไขปัญหาระดับหนึ่ง แต่ความครอบคลุมปัจจุบันเรียกว่าลากเส้นรถเมล์ไม่ทันกับการขยายเมือง สวัสดิการภาครัฐเดิมรัฐบาลมีนโยบายรถเมล์ฟรีให้ประชาชนก็ถือว่ามีความครอบคลุมระดับหนึ่ง พอเปลี่ยนมาเป็นบัตรสวัสดิการแห่งรัฐก็จะเปลี่ยนแปลงอีกแบบ ซึ่งเท่าที่เห็นยังไม่มีข้อมูล เลยยังวิจารณ์ไม่ได้ แต่สิ่งที่น่าสนใจคือรัฐเองให้การสนับสนุนระบบขนส่งพวกนี้เพียงพอหรือยังในเชิงของการลงทุน รัฐอาจจะไม่ต้องให้เป็นสวัสดิการสำหรับคนขึ้นรถเมล์ แต่อาจจะต้องลงทุนกับโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการรถเมล์หรือไม่ เรื่องป้ายรถเมล์ เรื่องจุดจอด เรื่องการบำรุงรักษา รัฐต้องเข้ามาดูมากขึ้น เสมือนเป็นการสนับสนุนทางอ้อม พัฒนาระบบ เรื่องคุณภาพของการให้บริการก่อน เมื่อเริ่มดีขึ้นค่อยเริ่มหาช่องทางในการให้เงินอุดหนุนเงินเฉพาะกลุ่ม เช่น การลดค่าโดยสาร 50 เปอร์เซ็นต์สำหรับผู้สูงอายุ ลดค่าโดยสาร 25 เปอร์เซ็นต์สำหรับนักเรียน นักศึกษา ให้เฉพาะกลุ่มที่มีเหตุผลน่าจะทำได้ และไม่ควรมองเป็นเรื่องการเมือง คุณภาพรถเมล์กับผู้พิการ-ผู้สูงอายุมีคำถามว่าการพัฒนาระบบขนส่งหลงลืมผู้พิการ และผู้สูงอายุ จริงๆ ถ้ากรณีรถเมล์ปัจจุบันถึงแม้จะยังไม่มีข้อกำหนดชัดเจนว่าให้ใช้รถเมล์ชานต่ำ แต่มีสัญญาณที่ดีจากผู้ประกอบการ  อย่างเช่น ขสมก. หากจะมีการเปลี่ยนรถเมล์ก็เปลี่ยนเป็นชานต่ำ ซึ่งอยู่ระหว่างการสั่งซื้อและนำเข้ามาใช้ ซึ่งจะเอื้อต่อการใช้งานของผู้พิการ และผู้สูงอายุขึ้นลงได้สะดวกขึ้น แต่ปัญหาก็ย้อนกลับมาที่โครงสร้างพื้นฐาน เช่น สมมติว่ารถเมล์เข้าป้ายได้ แต่ทางเท้า หรือป้ายรถเมล์ไม่ดี คนพิการก็ใช้ไม่ได้ หรือถ้าปัญหาเรื้อรัง เข้าป้ายไม่ได้คนพิการต้องลงมาที่ถนน ซึ่งก็เป็นไปไม่ได้ ลำบาก ดังนั้นตรงนี้ถ้าจะทำต้องทำทั้งระบบพร้อมกัน    สุภรธรรม มงคลสวัสดิ์ เลขาธิการมูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการก่อนจะมีรถเมล์ชานต่ำในประเทศไทย ต้องยอมรับว่าคนพิการที่นั่งรถเข็นไม่สามารถขึ้นรถเมล์ได้เลย ถ้าจะขึ้นก็ต้องคลานขึ้น มีคนช่วยยกวีลแชร์ ซึ่งมีแต่น้อย หากไม่จำเป็นก็ไม่ไป เพราะการคลานขึ้นรถเมล์เป็นภาพที่ไม่น่าดู ส่วนผู้พิการที่ต้องใช้ไม้เท้าก็มีความยากลำบาก อุบัติเหตุพลัดตกจากรถเมลมีให้เห็นบ่อย ปัญหาใหญ่ที่สุด คือลักษณะของรถสูง ประตูแคบ บวกกับพฤติกรรมขับรถและการให้บริการของพนักงานประจำรถ “พฤติกรรมของพนักงานขับรถไม่ต้องอธิบายมาก จอดปุ๊บไปปั๊บ ถ้าคนพิการขึ้นรถเมล์ บางทีมีการตะโกนบอก คนพิการมา หลบให้คนพิการขึ้นหน่อย เร็วๆ ได้ยินแบบนี้ถามว่าเรามีความสุขที่จะไปต่อไหม เราก็อาย เรากลายเป็นจุดรวมสายตาของทุกคน ซึ่งมีทั้งสายตาที่เห็นอกเห็นใจ และสายตาที่มีคำถามว่ามาทำไม คุณลำบากแล้วมาทำไม สร้างปัญหา คือไม่ขึ้นรถเมล์แล้วจะให้คนพิการเดินทางอย่างไร ให้อยู่กับบ้านอย่างนั้นหรือ” ในอดีตปัญหาแบบนี้ชัดเจนมาก ปัจจุบันก็ยังมีอยู่ แต่ถือว่าดีขึ้น เริ่มตั้งแต่ ขสมก. จัดซื้อรถเมล์ใหม่ เป็นรถเมล์ชานต่ำทั้งหมด ซึ่งอันที่จริงเมื่อ 10 ปีก่อน เดิม ขสมก. ไม่ต้องการซื้อรถเมล์ชานต่ำ แต่ด้วยการต่อสู้อย่างเข้มข้นของเครือข่ายผู้พิการต่างๆ เครือข่ายผู้สูงอายุ รวมถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ทำให้ทุกวันนี้ ขสมก.มีนโยบายใหม่ชัดเจนว่าถ้าจะซื้อรถเมล์ใหม่ ต้องเป็นรถเมล์ชานต่ำเท่านั้น ทั้งนี้ รถเมล์ชานต่ำล็อตแรก 489 คัน ที่จะทยอยส่งมอบเข้ามา แม้ยังมีบางจุดที่ต้องปรับปรุง แต่ไม่ถึงกับเป็นประเด็นใหญ่มาก เพราะต้องยอมรับว่าล็อตแรกอาจจะมีปัญหาเพราะเป็นครั้งแรกที่แปลงกฎหมาย เป็นทีโออาร์ ตัวรถอาจจะมีความคาดเคลื่อนอยู่บ้าง แต่โดยรวมถือว่าเอื้ออำนวยความสะดวกให้กับผู้พิการ ปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุ เพราะประตูกว้างขึ้น เดินสเต็ปท์เดียว ก้าวขาจากฟุตบาทขึ้นตัวรถได้เลย ถือว่ามีความปลอดภัยสูง มีระบบเซ็นเซอร์ มีกล้องวงจรปิด อย่างไรก็ตาม มีรถเมล์ใหม่แล้วก็ต้องมาพร้อมการบริการที่มีการปรับปรุงทั้งพนักงานขับรถ และพนักงานเก็บค่าโดยสาร ซึ่งถือว่ามีการพัฒนาที่ดีขึ้น แต่การจอดให้ตรงป้ายยังมีปัญหาอยู่ ซึ่งต้องเรียนว่า “รถเมล์ชานต่ำ” นั้นการจอดให้ตรงป้ายถือว่ามีความสำคัญมาก เพราะจะมีบันไดพาดจากตัวรถมายังฟุตบาท หากจอดไม่ตรงบันไดก็ต้องวางกับถนนซึ่งจะทำให้ชันมากเป็นอันตราย นอกจากนี้การปรับสภาพแวดล้อมบริเวณป้ายรถเมล์ก็มีความสำคัญ รวมถึงการสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจว่ารถจะบริการคนพิการอย่างไร ก็ต้องมีการสื่อสารและพัฒนานอกจากนี้ ปัญหาอีกอย่างคือ รถเมล์ชานต่ำที่จะเข้ามา 489 คัน นั้นคิดเป็นประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนรถเมล์ของ ขสมก. ซึ่งปกติ ขสมก.เดินรถเมล์ประมาณ 120 สาย ดังนั้นจึงมีคำถามตามมาว่ารถเมล์ชานต่ำล็อตนี้เอาไปวางบนเส้นทางอย่างไร ยกตัวอย่างรถ 1 สาย มีรถ 20 คัน แล้วรถจะเข้ามาทุก 10-15 นาที แสดงว่าผู้พิการ ผู้สูงอายุเดินออกมาก็จะเจอรถเมล์ชานต่ำทุกคัน แต่ถ้าสมมติในสายนั้นมีรถเมล์ 20 คัน แต่มี รถเมล์ชานต่ำ 5 คัน ถามว่า 5 คันนั้นจัดวางอย่างไร ถ้าทำแบบผสมตามสัดส่วน แสดงว่ารถเมล์แบบเก่าต้องผ่านไปแล้ว 5 คัน คันที่ 5 ถึงจะเป็นรถเมล์ชานต่ำ แสดงว่าต้องรอเมล์ประมาณ 1 ชั่วโมง “ถามว่าในชีวิตจริงที่ต้องไปทำงานทุกวัน เราจะใช้บริการรถเมล์แบบนี้ได้หรือไม่ การแก้ปัญหาต้องมีตารางเดินรถชัดเจน จริงอยู่ว่าสภาพการจราจรของ กทม.เอาแน่เอานอนไม่ได้ แต่ก็สามารถปรับตามความเหมาะสมได้ วันนี้ตัวรถสะดวก บริการดีขึ้น แต่จำนวนรถยังไม่เพียงพอ เว้นแต่ว่า ขสมก.จะวางรถเมล์ชานต่ำใหม่ทั้งเส้นทั้งหมด อันนี้แน่นอนใช้ได้เลย ถ้าเอามาผสมกันก็ไม่สะดวก ดังนั้นเป็นสิ่งที่ต้องพัฒนาระยะยาว คิดว่า ภายใน 5-10 ปี ของขสมก.น่าจะได้มาทดแทนทั้งหมด ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการด้วย แต่ปัญหาที่คาราคาซังอยู่คือเนื่องจาก ขสมก.จัดซื้อรถใหม่ไม่สะดวก เลยแก้ปัญหาโดยการนำรถเก่ามาปรับปรุง เปลี่ยนเครื่องยนต์ ทำตัวถัง ทำสี แต่บอดี้อยังเหมือนเดิม และใช้ต่อไปอีกอย่างน้อย 5 ปี เพราะฉะนั้นปัญหาของผู้พิการ และผู้สูงอายุก็ยังคงมีอยู่”อย่างไรก็ตาม ปัญหารถเมล์ไม่ได้มีแค่ของ ขสมก. เท่านั้น แต่ยังมีรถร่วมบริการด้วย และดูเหมือนว่าสัดส่วนจะเพิ่มสูงกว่าขสมก. ในขณะที่กรมการขนส่งทางบกก็ยังไม่พูดชัดเจนว่ารถร่วมฯ ที่ให้สัมปทานใหม่จะต้องเป็นรถเมล์ชานต่ำหรือไม่ ซึ่งเราพยายามคุยกับกรมการขนส่งทางบกว่าควรกำหนดไว้ในเงื่อนไขสัมปทานด้วย ก็นับเป็นเรื่องที่ดีที่รถร่วมบริการเส้นแรกที่วิ่งระหว่าง รพ.รามาธิบดี บางพลี จ.สมุทรปราการ ไปยังรพ.รามาธิบดี ย่านราชวิถีนั้นทางบริษัทเอกชนได้นำเอารถเมล์ชานต่ำมาให้บริการ แต่จะดีกว่าหรือไม่ถ้ากำหนดให้ชัดว่าจากนี้เป็นต้นไป รถใหม่ที่เข้ามาต้องเป็นรถเมลชานต่ำเท่านั้น ถ้าปล่อยเป็นเรื่องความสมัครใจแล้วมีทั้งรถเมล์ชานต่ำ ชานสูงก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ “เราพยายามคุยกับกระทรวงคมนาคมแล้ว เราไม่ไปแตะรถเมล์คันเก่า แต่ขอแค่ว่ารถเมล์ใหม่ที่จะเข้ามาต้องเป็นรถเมล์ชานต่ำ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่เขา รมว.-รมช.คมนาคม ก็ยังไม่ตอบ ซึ่งถือว่ายังเป็นปัญหาอยู่ในกรณีรถร่วมบริการ” นอกจากนี้ หากเป็นการนำเอารถตู้มาให้บริการเพิ่มมากขึ้น ก็จะยิ่งเป็นอุปสรรคกับคนพิการที่ต้องนั่งรถเข็นแน่นอน แต่บรรเทาได้หากมีการอบรมและขอความร่วมมือ เช่น ให้คนพิการนั่งหน้า และเก็บรถเข็นไว้ด้านหลังรถ แต่ปัญหาคือ ดีไซน์ของรถตู้ส่วนมากต้องพยายามบรรทุกผู้โดยสารให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ส่วนถ้าเป็นคนพิการตาบอด ปัญหาน้อยกว่า อาจต้องจับสัญญาณเสียง ซึ่งรถบางคันก็มี ถ้าไม่มีก็อาศัยการสอบถามคนรอบข้าง ในขณะที่ปัญหาคนหูหนวก อาจจะต้องมีการตื่นตัวอยู่เสมอ และอีกกลุ่มที่ต้องนึกถึงคือผู้ปกครองของผู้พิการทางสติปัญญา ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีพฤติกรรมแปลก คนทั่วไปมักไม่เข้าใจ และมองว่าทำไมครอบครัวไม่ดูแลลูก แต่ความจริงคือพ่อ แม่ควบคุมไม่ได้ เรื่องนี้ต้องให้ความรู้กับคนไทยเรื่องความแตกต่างของคนในสังคม อย่าด่วนตำหนิ มองกันในเชิงลบ คงไม่มีใครปรารถนาทำสิ่งไม่เหมาะไม่ควรในที่สาธารณะ “ดังนั้นโดยรวมการใช้บริการรถเมล์ของผู้พิการใน กทม. ปริมณฑล มีความสะดวกประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ ที่เป็นรถเมล์ชานต่ำ ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนรถเมล์ที่วิ่งให้บริการในปัจจุบันประมาณ 7,000-10,000 คัน”ทั้งนี้ถ้าพูดถึงเรื่องความสะอาด คุณภาพอากาศภายในรถเมลไทย ตรงนี้ในฐานะที่มีโอกาสคลุกคลีกับคณะกรรมการที่เขียนสเป็คของรถ คิดว่าสิ่งที่เราขาดคือ ความรู้ ความเข้าใจที่แท้จริงของรถโดยสาร และความร่วมมือของทุกฝ่าย ยกตัวอย่างรถเมล์ที่ดี คงไม่ใช่รถราคาถูก แต่กระบวนการจัดซื้อ จัดจ้างของไทยต้องการรถที่ราคาถูกที่สุด แล้วจะหวังเรื่องคุณภาพที่ดีที่สุดอย่างไร ทางแก้ คือเขียนคุณสมบัติให้ได้มาตรฐาน แต่ตรงนี้ก็มีปัญหาอีกตรงที่ระเบียบ มาตรฐานของกรมการขนส่งทางบก หรือมาตรฐานอุตสาหกรรม เป็นมาตรฐานที่ต่ำ เมื่อเขียนสเป็คก็ต้องเขียนต่ำ เพราะถ้าเขียนสูงก็ถูกตั้งคำถามว่า เอื้อประโยชน์ให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือไม่ คิดว่านี่เป็นปัญหาของกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของประเทศไทย มันมีช่องว่างอยู่ระหว่างสินค้าที่มีคุณภาพและราคา รวมถึงความรู้ความเข้าใจของคนกำหนดระเบียบ สุดท้ายอาจจะสำคัญที่สุด คือการให้ความรู้ความเข้าใจกับผู้ใช้ ว่าผู้ใช้ควรจะได้สินค้าที่ดี ที่มีคุณภาพแบบไหน คิดว่า เวลานโยบายกำหนดมาก็มีการกำหนดเงื่อนไขมาด้วย แต่ไปบีบคนทำงานให้ไม่สามารถมองเป้าของผู้บริโภคเป็นหลัก หรืออย่างการจัดซื้อ จัดจ้างรถเมล์ ทำไม ขสมก.รถพัง รถหมดสภาพเยอะแยะ แต่การจัดซื้อต้องใช้เวลาเป็น 10 ปี ในเวลา 10 ปีนี้ประชาชนสูญเสียโอกาสในการได้ใช้บริการรถเมล์ที่ดีไปแค่ไหน “คนใช้บริการรถเมล์เป็นคนที่รายได้ไม่สูง คนกลุ่มนี้ไม่มีปากมีเสียง นี่คือปัญหาสำคัญ คนมีปาก เสียงคือคนใช้รถยนต์ส่วนตัว ได้สิทธิประโยชน์ในการขยายถนน ลดภาษี แต่คนใช้รถโดยสารประจำทางไม่สามารถส่งเสียงให้ฝ่ายนโยบายได้ยินได้ ทำให้กระบวนการจัดซื้อยืดยาว และได้สินค้าที่ไม่มีคุณภาพ ปัญหาเลยตามมา นี่เป็นปัญหาเชิงระบบ โครงสร้างนโยบายของประเทศ” วันนี้มีรถเมล์ชานต่ำเข้ามาแล้ว แต่การพัฒนาสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับคนทุกกลุ่ม ทั้งความสะอาด การอำนวยความสะดวกต่างๆ  เข้าใจว่าได้ทำไปพอสมควร แต่ไม่สามารถตอบได้ว่า ณ วันนี้ มันเอื้ออำนวยมากน้อยแค่ไหน แต่เราก็เห็นจุดที่เป็นข้อบกพร่องปรากฏออกมาเป็นระยะๆ  ในภาพรวมทางเท้า ป้ายรถเมล์ พื้นที่สาธารณะ คนเดินถนน ในกทม. รัฐบาลให้ความสำคัญน้อยมาก ส่วนตัวไม่คิดว่าแนวคิดการขยายถนนเพื่อรองรับปริมาณรถยนต์แล้วจะทำให้การจราจรคล่องตัวนั้น ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ขยายถนนเท่าไหร่รถก็ยังติด การไม่ให้ความสำคัญกับการทำทางเท้าที่มีคุณภาพ ทั้งแคบ สกปรกและเหม็นขยะ ไม่เรียบ ไม่มีความปลอดภัย ใครจะอยากเดินมาขึ้นรถเมล์ตราบใดที่รัฐบาล หรือ กทม. ไม่ได้ใส่ใจวางนโยบายให้ความสำคัญกับทางเท้ามากกว่าการขยายถนน ที่ผ่านมามักได้ยินนโยบายการหาเสียงว่าจะแก้ปัญหาการจราจรภายในระยะเวลาเท่านั้น เท่านี้ เป็นไปไม่ได้ เมื่อมีถนนเพิ่ม คนก็ซื้อรถเพิ่มเป็นธรรมดา แต่ถ้าเราขยายพื้นทางเดินเท้าให้ประชาชน ปรับปรุงเรื่องคุณภาพ และความสะอาด คิดว่าประชาชนจะค่อยๆ ปรับพฤติกรรมมาใช้รถสาธารณะมากขึ้น ทางเดินเท้าคือสิ่งสำคัญเช่นกัน บรรดาห้างสรรพสินค้าต่างๆ ซึ่งเป็นพื้นที่ธุรกิจเฉพาะกลุ่มคน ใครจะเปิดก็ต้องระบุให้ชัดว่าต้องมีพื้นที่สำหรับการจราจรภายใน ไม่ใช่สร้างปัญหารถติดบนท้องถนนส่วนรวม เพราะทำให้ประชาชนที่ไม่เกี่ยวข้องเดือดร้อนไปด้วย.

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 213 เมื่อรถถูกยึดขายทอดตลาด ระวังถูกลักไก่โกงส่วนต่าง

เมื่อรถถูกยึดขายทอดตลาด ระวังถูกลักไก่โกงส่วนต่างเมื่อเช่าซื้อรถยนต์แล้วผ่อนต่อไม่ไหว ต้องปล่อยให้ไฟแนนซ์ยึดรถไป ผู้บริโภคไม่ควรเพิกเฉยและคิดว่าถูกยึดไปแล้วก็ช่างมันเถอะ เพราะการที่รถยนต์ถูกนำไปขายทอดตลาดนั้น จำนวนเงินที่ขายได้จะมีผลต่อหนี้ที่ผูกพันกันอยู่ระหว่างผู้บริโภคกับสถาบันการเงิน บางทีความเผอเรออาจทำให้ถูกโกงส่วนต่างได้โดยไม่รู้ตัว         กรณีที่ถูกเรียกค่าส่วนต่างเกินกว่าที่ควรจะเป็น คุณสัญญาเช่าซื้อรถกระบะในราคาประมาณ 800,000 บาท ทำสัญญากับไฟแนนช์ระบุการชำระค่างวดทั้งสิ้น 84 งวด  ซึ่งคุณสัญญาก็ชำระค่างวดได้ราบรื่นผ่านไปถึงงวดที่ 48 จากนั้นจำเป็นต้องหยุดผ่อนชำระเพราะมีปัญหาด้านการเงิน จึงถูกยึดรถและเข้าสู่กระบวนการขายทอดตลาด ซึ่งขายได้ในราคา 340,000 บาท มีส่วนต่างที่ถูกเรียกเก็บจากไฟแนนช์ 290,000 บาท และเรียกให้คุณสัญญาชำระหนี้ในส่วนนี้         คุณสัญญาคำนวณแล้ว รู้สึกว่าตนเองโดนเอาเปรียบเพราะถูกเรียกค่าส่วนต่างเกินค่าใช้จ่ายที่เป็นจริง จึงขอคำปรึกษากับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค   แนวทางแก้ไขปัญหา         ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจควบคุมสัญญา พ.ศ. 2543 ข้อ 3 (5) ก. กำหนดว่า ก่อนขายให้แก่บุคคลอื่น ผู้ให้เช่าซื้อต้องแจ้งล่วงหน้าให้ผู้เช่าซื้อทราบเป็นหนังสือไม่น้อยกว่า 7 วัน เพื่อให้ผู้เช่าซื้อใช้สิทธิซื้อได้ตามมูลค่าหนี้ส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 3 (5) ข. กำหนดว่า ในกรณีที่ผู้ให้เช่าซื้อนำรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ออกขาย หากได้ราคาเกินกว่ามูลหนี้ในส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อ จะรับผิดชอบส่วนที่ขาดนั้น เฉพาะกรณีการขายโดยวิธีประมูลหรือขายทดอดตลาดที่เหมาะสมเท่านั้น         ดังนั้นเมื่อถูกยึดรถ แนวทางปฏิบัติคือ         1.ถ้าได้รับแจ้งจากไฟแนนซ์ ให้รับผิดชอบส่วนต่าง หากเห็นว่าส่วนต่างที่ถูกเรียกเก็บนั้นไม่เป็นธรรมหรือสูงเกินสมควร ลูกหนี้สามารถเจรจาต่อรองกับไฟแนนซ์ โดยลูกหนี้จะต้องหาข้อมูลก่อนว่า รถยนต์ยี่ห้อ รุ่นและปีผลิตเดียวกันกับรถยนต์ของลูกหนี้มีราคาขายในตลาดมือสองเท่าไร เพื่อใช้ในการคำนวณให้ลดส่วนต่างได้ เช่น เช่าซื้อรถยนต์มาในราคา 300,000 บาท ราคารถยนต์ตามตลาดรถยนต์มือสองอยู่ที่ 200,000 บาท แต่ไฟแนนซ์กลับนำไปขายได้ราคาเพียง 100,000 บาท แล้วเรียกเก็บส่วนต่างกับลูกหนี้ 200,000 บาท เช่นนี้ลูกหนี้จะสามารถต่อรองได้ เนื่องจากขายทอดตลาดได้ราคาที่ต่ำเกินไป         2. หากไฟแนนซ์ฟ้องคดีแล้ว โดยส่วนใหญ่จะฟ้องให้ลูกหนี้ชำระ ค่าส่วนต่างราคารถที่เช่าซื้อ ค่าบอกกล่าวทวงถาม ค่ายกเลิกสัญญา ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ ค่ายึดรถ เป็นต้น ลูกหนี้จะต้องทำคำให้การเพื่อขอให้ศาลพิจารณาลดยอดหนี้ที่ฟ้องมา ให้เป็นไปตามความจริง เช่น ส่วนต่างราคารถยนต์ที่ไฟแนนซ์ขายทอดตลาดต่ำกว่าราคาที่ควรได้จริงหรือไม่ หรือลูกหนี้เป็นผู้ไปคืนรถยนต์ด้วยตนเอง เท่ากับว่าบริษัทไม่มีการไปยึดรถ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เรียกเก็บนั้นเกิดขึ้นจริงหรือไม่ โดยจะต้องมีหลักฐานประกอบเพื่อให้ศาลใช้ในการพิจารณาพิพากษา         3. เมื่อศาลพิพากษาแล้วได้ยอดหนี้เท่าใดนั้น ก็อยู่ที่ลูกหนี้ว่าตนเองจะสามารถปิดบัญชีหนี้ได้ตามที่ศาลพิจารณาหรือไม่           ดังนั้นคำแนะนำของศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคต่อคุณสัญญาคือ ถ้าเห็นว่าถูกเอาเปรียบโดนเก็บค่าส่วนต่างเกินจริงไป สามารถต่อรองกับทางไฟแนนซ์ได้ ซึ่งถ้าตกลงกันไม่ได้ไฟแนนซ์จะฟ้องศาลเพื่อให้ผู้ร้องจ่ายหนี้ส่วนต่างนี้ สิ่งที่ต้องทำคือหาทนายเพื่อเขียนคำให้การต่อสู้คดี โดยทางศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ มีทนายเพื่อผู้บริโภคช่วยทำคำให้การต่อสู้ได้ หากผู้ร้องต้องการ           กรณีโดนลักไก่ คุณสายัณห์ เช่าซื้อรถยนต์เมื่อเดือนเมษายนปี 2551 ในราคา 449,663.40 บาท สัญญาระบุการผ่อนชำระ 60 งวด แต่ด้วยสภาพทางการเงินที่ไม่เอื้ออำนวย คุณสายัณห์กัดฟันผ่อนไปได้เพียง 11 เดือนก็ต้องยุติการผ่อนชำระ แน่นอนว่ารถได้ถูกยึดไปเพื่อขายทอดตลาด ต่อมาวันที่ 15 สิงหาคม 2561 คุณสายัณห์ถูกฟ้องเป็นจำเลย เรื่องผิดสัญญาเช่าซื้อ ค้ำประกัน และเรียกค่าเสียหาย เป็นเงิน 131,824.77  บาท จึงมาขอคำปรึกษากับทางศูนย์พิทักษ์สิทธิ เพื่อให้ช่วยเหลือด้านคดี         เมื่อพิจารณาสำนวนฟ้องแล้ว ทนายเพื่อผู้บริโภคพบว่า ทางไฟแนนซ์เรียกเก็บค่าส่วนต่างเกินไปมาก เนื่องจากจำเลยผ่อนค่างวดไป 11 งวด รวมเป็นเงิน 88,205 บาท ยังคงค้างอีกประมาณ 271,515 บาท แต่โจทก์ทำสำนวนฟ้องว่า รถยนต์ขาดทอดตลาดได้ 228,000 บาท แต่เอกสารการขายทอดตลาดระบุชัดเจนว่า ขาดได้เงินทั้งสิ้น 288,000 บาท ดังนั้นสิ่งที่ควรจะเป็นคือ ส่วนที่เหลือจากการขายทอดตลาด เป็นเงิน 16,455 บาท ต้องคืนให้แก่จำเลย เมื่อศาลพิจารณาคำให้การแล้ว ได้แจ้งให้ทนายโจทก์ถอนฟ้อง ต่อมาในการพิจารณาคดีเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2561ทราบว่าโจทก์ถอนฟ้องแล้ว เนื่องจากการขายทอดตลาดในคดีนี้คุ้มทุนกับหนี้ที่จำเลยค้างชำระแล้ว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 213 รถมือสองต้องระวัง

หนึ่งเดือนถัดมา รถเริ่มมีปัญหาสตาร์ทไม่ติด ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในต่างจังหวัด เมื่อนำเข้าอู่เพื่อตรวจอาการช่างแจ้งว่า มีปัญหาไดสตาร์ทต้องเปลี่ยนใหม่ มีค่าใช้จ่าย 4,000 บาท คุณพิภพจึงติดต่อพนักงานขายที่เคยแจ้งว่าทางเต็นท์รับประกันสามเดือนเพื่อให้ช่วยแก้ปัญหาให้ ทางพนักงานขายแจ้งกลับว่า จะช่วยซ่อมรถยนต์ให้แต่ต้องมาซ่อมกับอู่ของทางเต็นท์เท่านั้น รถมือสองต้องระวัง      สำหรับยุคปัจจุบัน รถเป็นปัจจัยสำคัญไม่ด้อยกว่าปัจจัยสี่ ช่วยให้การเดินทางสะดวกสบาย และหลายคนก็มีไว้เพื่อการประกอบอาชีพ แต่เพราะพาหนะชนิดนี้มีราคาสูงมาก การจะเป็นเจ้าของรถใหม่สักคันจึงต้องมีทุนทรัพย์พอสมควร สำหรับผู้ที่ทรัพย์ไม่มากแต่จำเป็นต้องมีรถ รถยนต์มือสองจึงเป็นทางเลือกที่เพิ่มโอกาสในการเป็นเจ้าของ แต่ก็มีข้อพึงระวังหลายอย่าง เช่นที่ผู้ร้องรายนี้กำลังปวดหัวอยู่      คุณพิภพกับคุณปานวาด ได้ติดต่อกับเต็นท์รถยนต์มือสองแถวถนนกาญจนาภิเษก เพื่อซื้อรถยนต์ยี่ห้อเชฟโรเลต รุ่นแคปติวา โดยคุณปานวาดเป็นผู้ทำสัญญาเช่าซื้อกับทางไฟแนนซ์ ในราคาประมาณ 400,000 บาท ส่วนผู้ใช้งานตัวจริงคือคุณพิภพ ซึ่งวันที่ไปดูรถก็ได้ทดสอบรถที่บริเวณเต็นท์รถเท่านั้น โดยไม่พบปัญหาใด ในการทำสัญญาพนักงานขายแจ้งว่า มีการรับประกันเกียร์ แอร์และเครื่องยนต์ 3 เดือน และจะติดฟิล์มรถยนต์ เปลี่ยนยางขอบ แบตเตอรี่ พร้อมถ่ายน้ำมันเครื่องให้ใหม่ ซึ่งมีการแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ในเอกสาร ยกเว้นแต่การรับประกัน 3 เดือน ที่พนักงานแจ้งด้วยวาจา      ประมาณหนึ่งเดือนถัดมา รถเริ่มมีปัญหาสตาร์ทไม่ติด ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในต่างจังหวัด เมื่อนำเข้าอู่เพื่อตรวจอาการช่างแจ้งว่า มีปัญหาไดสตาร์ทต้องเปลี่ยนใหม่ มีค่าใช้จ่าย 4,000 บาท คุณพิภพจึงติดต่อพนักงานขายที่เคยแจ้งว่าทางเต็นท์รับประกันสามเดือนเพื่อให้ช่วยแก้ปัญหาให้ ทางพนักงานขายแจ้งกลับว่า จะช่วยซ่อมรถยนต์ให้แต่ต้องมาซ่อมกับอู่ของทางเต็นท์เท่านั้น ซึ่งคุณพิภพตอบตกลง แต่เมื่อรถยนต์ซ่อมเสร็จ พอนำมาใช้งานกลับพบปัญหาเพิ่มคือ รถมีเสียงดังเมื่อเหยียบคันเร่งหรือเบรก และยังมีการแจ้งรหัสปัญหาหลายอย่างบนหน้าจอแสดงผลของรถยนต์ ซึ่งคุณพิภพได้ลองสอบถามไปทางศูนย์รถเชฟโรเลต ทำให้ทราบว่ารหัสที่ขึ้นมานั้น แจ้งปัญหาเกี่ยวกับระบบไฟฟ้า เซนเซอร์ที่ล้อเกิดปัญหา 1 ล้อ กล่อง ETU และโช้คมีปัญหา หากจะซ่อมต้องเสียค่าใช้จ่ายในหลักแสนบาทขึ้น ทางคุณพิภพจึงปรึกษากับทางศูนย์พิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า เขาต้องการให้เต็นท์รับผิดชอบซ่อมแซมรถให้มีสภาพปกติ เพราะรับประกันไว้สามเดือน ควรทำอย่างไรดี แนวทางแก้ไขปัญหา      เมื่อพิจารณาปัญหาของคุณพิภพแล้ว ทางศูนย์ฯ แนะนำว่า ควรรีบไปแจ้งความไว้ที่สถานีตำรวจเพราะเข้าข่ายว่าเต็นท์รถฉ้อโกง และเนื่องจากอายุความกรณีฉ้อโกงมีระยะเวลาเพียงสามเดือน นับแต่ที่รู้ว่าถูกฉ้อโกงจึงควรดำเนินการเรื่องนี้ก่อน อย่างไรก็ตามทางคุณพิภพอยากให้เริ่มจากการเจรจา หากไม่เป็นผลจึงจะดำเนินการแจ้งความต่อไป     ในการติดต่อประสานงานเพื่อให้เกิดการเจรจานั้น ทางฝ่ายเต็นท์ยินดีที่จะไกล่เกลี่ยกับทางผู้ร้อง แต่ปรากฏว่า เมื่อถึงวันที่นัดหมายทางฝ่ายผู้ร้องติดธุระสำคัญที่ต่างจังหวัดไม่สามารถมาตามนัดได้ จึงเปลี่ยนเป็นการแจ้งความไว้ก่อนเพื่อไม่ให้กระทบอายุความ ดังนั้นขอพักเรื่องนี้ไว้ก่อน เมื่อมีความคืบหน้าอย่างไรจะได้นำมาเสนอต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 213 การฟ้องร้องคดีประวัติศาสตร์ ขององค์กรผู้บริโภคเยอรมนี

จากเหตุการณ์ กรมควบคุมมลพิษของอเมริกา (EPA) ได้แจ้งข้อกล่าวหาต่อ บ. โฟล์คสวาเกน (VW) ว่า จงใจที่จะหลอกลวงการแสดงข้อมูลการวัดค่าไอเสียจากรถยนต์ดีเซลรุ่น Jetta, Beatle, Passat และ Audi A 3 เนื่องจากซอฟท์แวร์แสดงผลการวัดต่ำกว่าค่าความเป็นจริงถึง 10- 40 เท่าในสภาวะการขับแบบปรกติ ซึ่งเกินกว่าค่าที่ทางกรมควบคุมมลพิษของอเมริกากำหนด เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นข่าวเมื่อ 3 ปีที่แล้ว และกฎหมายการฟ้องคดีแบบกลุ่ม ของเยอรมนี(Musterfeststellungsklage) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2018 ที่ผ่านมา องค์กรผู้บริโภคเยอรมนี(The consumer protection federal association: VZBV) ร่วมกับ สมาคมยานยนต์แห่งเยอรมนี(The German automobile club: ADAC) ได้เป็นแกนนำในการฟ้องร้องคดีแบบกลุ่มขึ้น ซึ่งเป็นรูปแบบเฉพาะในการฟ้องคดีที่มีผู้บริโภคเสียหายเป็นจำนวนมาก ลักษณะการฟ้องคดีแบบเฉพาะนี้เรียกว่า Musterfeststellungsklage(Pattern Declaratory Action) ผมขออนุญาตนำประเด็นและสาระสำคัญขององค์กรผู้บริโภค ที่จำเป็นต้องดำเนินการการฟ้องคดีด้วยวิธีพิเศษนี้ มาเล่าสู่กันฟังครับ1 ทำไมองค์กรผู้บริโภคต้องฟ้องคดีองค์กรผู้บริโภคได้รณรงค์ให้มีการฟ้องคดีแบบกลุ่ม(Pattern Declaratory Action) มาเป็นเวลากว่า 10 ปี เพื่อเพิ่มอำนาจให้กับผู้บริโภคในการจัดการกับปัญหาที่เกิดจากการใช้สินค้าและบริการ ที่กระทบกับประชาชนในฐานะผู้บริโภคในวงกว้าง เกิดความเสียหายเป็นมูลค่าสูง และด้วยวิธีการฟ้องคดีแบบพิเศษนี้ จะช่วยให้ข้อจำกัดในเรื่องของอายุความหมดไป        2 บทบาทหน้าที่ของสมาคมยานยนต์แห่งเยอรมนีคดีประวัติศาสตร์นี้ เป็นคดีแรกที่ทั้งสององค์กรได้ร่วมมือกันฟ้องคดี ซึ่งการร่วมกันฟ้องคดีของทั้งสององค์กร จะช่วยเพิ่มโอกาสในการชนะคดีมากกว่าการแยกกันฟ้อง และสมาคมยานยนต์แห่งเยอรมนีเองก็มีหน้าที่ในการดูแลปกป้องผลประโยชน์ของสมาชิก ที่เป็นผู้บริโภค คือ ผู้ใช้ และผู้ซื้อรถยนต์        3 ใครสามารถมาร่วมฟ้องคดีนี้ได้อีกบ้าง ?ผู้บริโภคทุกคนที่เป็นเจ้าของ รถยนต์ยี่ห้อ VW, Audi, Seat และ Skoda ที่ติดตั้งเครื่องยนต์ดีเซล รุ่น EA 189 ขนาด 1.2, 1.6 และ 2 ลิตร)        4 ประเด็นอะไรที่ศาลพิจารณาในคดีนี้ศาลพิจารณาว่า VW ที่ ผลิตรถยนต์รุ่นดังกล่าว แสดงข้อมูลการวัดค่าไอเสียจากรถยนต์ดีเซลผิดพลาด เนื่องจากซอฟท์แวร์แสดงผลการวัดต่ำกว่าค่าความเป็นจริงถึง 10- 40 เท่าในสภาวะการขับแบบปรกติ ซึ่งเกินกว่าค่าที่ทางกรมควบคุมมลพิษกำหนด ทำให้เกิดความเสียหาย จากการชำรุดบกพร่อง อันเป็นผลมาจากการจงใจ แสดงข้อมูลอันเป็นเท็จ(Software Manipulation) 5 ผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายแต่ไม่สามารถเข้าร่วมการฟ้องคดีครั้งนี้สามารถทำอะไรได้บ้างสำหรับผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายแต่ไม่ได้เข้าร่วมลงชื่อฟ้องคดีในครั้งนี้ ควรปรึกษาทนายความหรือ องค์กรคุ้มครองผู้บริโภคอื่นๆ        6 เมื่อศาลมีคำพิพากษาแล้ว จะต้องทำอย่างไรต่อไปการฟ้องคดีแบบพิเศษนี้ มีไว้เพื่อให้ศาลตัดสินว่า การกระทำของ บริษัท VW มีความผิด แต่ไม่ใช่การฟ้องคดี เพื่อเรียกชดใช้ค่าเสียหาย  ซึ่งหากศาลตัดสินคดีทางผู้บริโภคแต่ละรายต้องไปฟ้องเรียกค่าเสียหายอีกครั้งหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตามคำตัดสินของศาล จะส่งผลให้การดำเนินคดีที่ต่อเนื่องกับการฟ้องร้องคดีนี้สะดวกรวดเร็วในการดำเนินคดีในศาล ข้อดีของการฟ้องคดีด้วยวิธีการแบบนี้ คือ ความเสี่ยงจะตกอยู่กับองค์กรผู้บริโภคไม่ใช่ ตัวผู้บริโภค และผู้บริโภคยังมีเวลาในการตัดสินใจฟ้องคดีเรียกค่าเสียหายหากผลของการตัดสินคดี เป็นคุณกับโจทก์ที่เป็นองค์กรผู้บริโภค7 ในกรณีที่องค์กรผู้บริโภคแพ้คดี มีผลอย่างไร ในกรณีที่ศาลตัดสินว่า VW ไม่ได้กระทำผิด ผลของคำพิพากษามีผลผูกพันไปยังศาลอื่นๆ ด้วย องค์กรหรือบุคคลที่ร่วมฟ้องคดี ไม่สามารถอุทธรณ์คดีได้        8 ผู้บริโภคสามารถเข้าร่วมฟ้องคดีได้อย่างไรผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากความเสียหายสามารถลงชื่อเข้าร่วมการฟ้องคดีได้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย และทางองค์กรผู้บริโภคจะส่งรายชื่อผู้ร่วมฟ้องร้องไปยัง สำนักงานกระทรวงยุติธรรมยุติธรรม (Bundesamt fÜr Justiz) เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณะหลังจากนั้น ทางสำนักงานจะส่ง คำฟ้องคดีและรายชื่อผู้ร่วมฟ้องไปยังฝ่ายจำเลย ซึ่งกระบวนการนี้ใช้เวลา 14 วัน        9 ผู้บริโภคสามารถถอนรายชื่อในภายหลังได้หรือไม่สามารถทำได้ จนกว่าศาลจะนัดคู่ความมาศาลครั้งแรก ซึ่งหากศาลบอกวันนัดมาแล้วทางองค์กรผู้บริโภคจะแจ้ง ผู้ที่ลงชื่อร่วมฟ้องทันทีที่ได้รับหมายนัดจากศาล10 ในกรณีที่ผู้บริโภคใช้สิทธิในการฟ้องคดีเองไปแล้วยังสามารถร่วมฟ้องคดีนี้ได้อีกหรือไม่ ผู้บริโภคสามารถร่วมลงชื่อฟ้องร้องคดีได้ หากกระบวนการทางศาลยังไม่ถึงที่สุด(คำพิพากษาศาลยุติธรรมสูงสุดแห่งรัฐ (Bundesgerichthof) แต่กระบวนการทางศาลของผู้บริโภคจะถูกระงับไว้ เพื่อรอผลของการฟ้องร้องคดีนี้11 จะสามารถร่วมฟ้องคดีได้หรือไม่ถ้า เคยทำสัญญาไกล่เกลี่ยกับ บริษัท VW มาแล้วโดยทั่วไปการทำสัญญาไกล่เกลี่ย มักจะมีข้อสัญญาที่ไม่ให้คู่ความไกล่เกลี่ยใช้สิทธิฟ้องคดีทางศาลได้ ในภายหลัง ดังนั้นหากสนใจจะลงชื่อ ร่วมฟ้องคดี ผู้บริโภคต้องปรึกษากับทนายความ และฝ่ายกฎหมายขององค์กรผู้บริโภคที่เป็นโจทก์ฟ้องคดีก่อน        12 ผู้บริโภคที่ขายรถไปแล้วสามารถร่วมฟ้องคดีได้หรือไม่กระบวนการลงชื่อร่วมฟ้องเปิดโอกาสให้ทุกคนที่ซื้อรถยี่ห้อ และรุ่นดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2008 สามารถร่วมลงชื่อได้ รวมทั้งผู้บริโภคที่ซื้อรถใช้แล้ว ด้วยเช่นกัน13 ใช้เวลานานเท่าไหร่กว่าจะมีคำพิพากษาออกมาเป็นประเด็นที่ตอบได้ยาก เนื่องจากเป็นคดีแรกในประวัติศาสตร์ กระบวนการนี้ เริ่มที่ศาลสูงแห่งรัฐ(Oberlandesgericht: OLG) ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลา ไม่ต่ำกว่า 2  ปี ในการพิจารณาพิพากษาคดี และอาจไปจบที่ศาลยุติธรรมสูงสุดแห่งรัฐ (Bundesgerichthof) ในเวลา 2-3 ปี        14 ผู้บริโภคที่ร่วมฟ้องคดีสามารถติดตามความคืบหน้าของคดีได้อย่างไรผู้บริโภคสามารถติดตามความคืบหน้าของคดีได้ ที่เวบไซต์ของสมาคมยานยนต์แห่งเยอรมนี (adac.de/musterfeststellungsklage) และสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค  (www.musterfeststellungsklagen.de* (vzbv))กระบวนการฟ้องคดีแบบกลุ่มตาม เยอรมนีโมเดลนี้ ค่อนข้างใช้เวลานาน กว่าที่ผู้บริโภคจะได้รับการชดใช้ค่าเสียหาย อย่างไรก็ตาม การฟ้องคดีแบบกลุ่ม(Musterfeststellungsklage) ได้ถูกบรรจุไว้ในนโยบายการหาเสียงเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ผ่านมา และประกาศบังคับใช้ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2018  และเมื่อกฎหมายบังคับใช้แล้ว องค์กรผู้บริโภคก็ได้ทดลองใช้เครื่องมือในกระบวนการยุติธรรมเลยทันที สำหรับประเทศไทยในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มาตรา 46 ก็บัญญัติให้  “สิทธิของผู้บริโภคย่อมได้รับความคุ้มครองบุคคลย่อมมีสิทธิรวมกันจัดตั้งองค์กรของผู้บริโภคเพื่อคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคองค์กรของ  ผู้บริโภคตามวรรคสองมีสิทธิรวมกันจัดตั้งเป็นองค์กรที่มีความเป็นอิสระเพื่อให้เกิดพลัง ในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคโดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐ ทั้งนี้ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดตั้ง อํานาจในการเป็นตัวแทนของผู้บริโภค และการสนับสนุนด้านการเงินจากรัฐ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ” ผมมองว่า องค์กรผู้บริโภคที่เป็นอิสระควรมีส่วนร่วมในการร่างและพิจารณากฎหมาย ที่มีผลกระทบกับผู้บริโภคทุกฉบับ และควรมีบทบาทในฐานะกรรมาธิการในวุฒิสภา ซึ่งทำหน้าที่ ให้ความเห็นและกลั่นกรองกฎหมาย ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการละเมิดสิทธิผู้บริโภค จนต้องใช้การฟ้องร้องคดี หรือใช้ความรุนแรง ในการทวงถามความยุติธรรมเหมือนหลายๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรายวัน เท่าที่เราพบเห็นในข่าวสารทุกวันนี้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 213 แท็กซี่ครองแชมป์ถูกร้องเรียนมากสุด

ทุกวันนี้ปัญหารถโดยสารสาธารณะในประเทศไทยมีกันหลากหลายรูปแบบ และมีให้เห็นกันได้ไม่เว้นวัน แถมไม่เลือกปฏิบัติเพราะเกิดทั้งกลุ่มคนไทยและคนต่างชาติ แต่หากเจาะจงกลุ่มรถโดยสารที่มีปัญหาร้อนแรงสุดในช่วงนี้  คงต้องยกให้กับกลุ่มรถแท็กซี่ ว่าไปแล้วปัญหาที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงความหย่อนยานในการบังคับใช้กฎหมาย ทำให้ปัญหาหลายอย่างสะสมและก่อตัวจนกลายเป็นความเคยชินที่ใครๆ ก็ทำได้ จากสถิติข้อมูลการร้องเรียนในระยะเวลา 5 เดือน (ตุลาคม 2560 – กุมภาพันธ์ 2561)  ของกรมการขนส่งทางบก เฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร พบว่า รถแท็กซี่ได้รับการร้องเรียนมากที่สุดถึง 17,794 เรื่อง โดย 3 อันดับแรก ได้แก่ ปฏิเสธไม่รับผู้โดยสาร แสดงกิริยาวาจาไม่สุภาพ และขับรถประมาทหวาดเสียว  ขณะที่ปัญหาอื่นๆ ที่พบได้ทั่วไปจากการใช้บริการรถแท็กซี่ คือ ขับรถเร็ว ไม่ปฏิบัติตามกฎจราจร ไม่กดมิเตอร์ คิดเหมาจ่าย ไม่ทอนเงินค่าโดยสาร ขับรถออกนอกเส้นทาง มีพฤติกรรมไม่น่าไว้วางใจ ทิ้งผู้โดยสารลงข้างทาง ทะเลาะวิวาท คุกคามทางเพศ หรือแม้กระทั่งรถแท็กซี่เถื่อน หนักกว่านั้นวันดีคืนดีก็ออกมาขู่ประท้วงหยุดวิ่ง เรียกร้องให้รัฐขึ้นค่าแท็กซี่ หากไม่ปรับจะหยุดวิ่งให้บริการ เรียกได้ว่ามีทุกรูปแบบกับการให้บริการรถรับจ้างประเภทนี้  จากข้อมูลการจดทะเบียนสะสมของกรมการขนส่งทางบก ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2561 มีรถแท็กซี่ที่จดทะเบียนจำนวนทั้งสิ้น 85,820 คัน แบ่งเป็นประเภทส่วนบุคคล 19,789 คัน ประเภทนิติบุคคล 65,464 คัน และไม่ระบุประเภท 567 คัน โดยจำนวนรถแท็กซี่ที่จดทะเบียนสะสมมีอัตราลดลงอย่างต่อเนื่องในรอบ 5 ปีหลังสุด ส่วนหนึ่งมาจากที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ขาดความเชื่อมั่นในบริการของรถแท็กซี่ และหันไปเลือกใช้บริการรถรับจ้างผ่านแอปพลิเคชันที่ตอบโจทย์ความต้องการมากกว่า สภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำ การขาดแคลนบุคลากรขับรถสาธารณะ ส่งผลให้ผู้ที่จะมาขับรถแท็กซี่มีจำนวนลดน้อยลงตามลำดับรวมถึงการบังคับให้รถแท็กซี่ที่จะจดทะเบียนใหม่ทุกคันต้องเข้าระบบโครงการ TAXI OK ที่มีค่าใช้จ่ายสูง ทำให้ผู้ขับรถแท็กซี่รายเดิมเลือกที่จะเลิกขับหรือหันไปเช่ารถแท็กซี่ขับแทนที่จะออกรถคันใหม่ เพื่อจะได้ไม่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นแทนยังมีกรณีรถแท็กซี่ที่ทยอยหมดอายุการใช้บริการเพิ่มเติมด้วย ซึ่งจากข้อมูลของกรมการขนส่งทางบกระบุว่า ในปี 2561 นี้ จะมีรถแท็กซี่ที่หมดอายุลงจำนวนมากกว่า 20,000 คัน เนื่องจากตามกฎหมายกำหนดอายุการใช้งานของรถแท็กซี่ให้มีระยะเวลาไม่เกิน 9 ปี นับแต่วันจดทะเบียนครั้งแรก แต่กลับพบว่ามีรถแท็กซี่บางส่วนที่ครบอายุการใช้งานแล้วแต่ยังไม่ดำเนินการแจ้งระงับหรือแจ้งเปลี่ยนประเภทรถ โดยปัจจุบันพบว่า มีรถแท็กซี่ที่หมดอายุ มาวิ่งรับส่งคนโดยสารอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะในเขตรอบนอกกรุงเทพมหานคร ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง และเขตปริมณฑล เช่น รังสิต นนทบุรี นครปฐมซึ่งตามกฎหมายกำหนดโทษสำหรับผู้ขับรถแท็กซี่ที่นำรถที่สิ้นอายุการใช้งานมาวิ่งรับส่งผู้โดยสารจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 5 (10) ต้องระวางโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 1,000 บาท และต้องปลดป้ายทะเบียนออกทันที และหากนำรถที่แจ้งเปลี่ยนประเภทเป็นรถส่วนบุคคลแล้วมาลักลอบรับส่งผู้โดยสารจะมีความผิดตามมาตรา 21 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท แต่จะมีรถแท็กซี่เถื่อนสักกี่รายที่ถูกเจ้าหน้าที่จับปรับ แน่นอนว่าเรื่องเหล่านี้ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังไม่รู้ว่า รถแท็กซี่คันที่ขึ้นนั้นหมดอายุแล้วหรือยัง หรือขึ้นแล้วจะปลอดภัยแค่ไหน ผู้บริโภคจะรู้ก็ต่อเมื่อรถแท็กซี่คันนั้นถูกจับปรับแล้วเท่านั้นอย่างไรก็ดีแม้ว่ากรมการขนส่งทางบกจะพยายามให้ข้อมูลผ่านสื่อสาธารณะเพื่อแจ้งเตือนว่า ปัจจุบันมีรถแท็กซี่ที่หมดอายุแล้ว คือ รถแท็กซี่นิติบุคคล (หลายสี) ที่ขึ้นต้นด้วยหมวด “ท” ประกอบด้วย ทะเบียน ทฉ, ทต, ทท, ทธ, ทน, ทพ, ทม, ทย, ทร, ทล และรถแท็กซี่ส่วนบุคคล (สีเขียวเหลือง) ที่ขึ้นต้นด้วยหมวด “ม” ประกอบด้วย ทะเบียน มก, มข, มค, มง, มจ รวมถึงรถแท็กซี่หมวด ทว และหมวด มฉ ที่จะทยอยครบอายุการใช้งานภายในปีนี้  พร้อมเตือนให้ผู้บริโภคคอยสังเกตรถแท็กซี่ที่จะขึ้น หากพบเห็นรถเถื่อนรถไม่ปลอดภัยให้แจ้ง 1584 นั้นแม้จะเป็นเรื่องดีที่มีการแจ้งเตือนให้ผู้บริโภคต้องเฝ้าระวังไม่ให้เลือกใช้รถที่ผิดกฎหมาย เพราะอย่าลืมว่ากลุ่มนี้คือรถแท็กซี่ที่หมดอายุ เป็นรถเถื่อนที่ไม่มีความคุ้มครอง แต่มาตรการดังกล่าวกลับกลายเป็นภาระของผู้บริโภคที่รัฐบอกให้ต้องคอยดูป้ายทะเบียนก่อนเลือกรถใช้บริการ ทั้งที่หน่วยงานรัฐอย่างกรมการขนส่งทางบกควรจะทำได้มากกว่านี้ ถึงขนาดมีบอกกันว่า แค่โบกรถให้ไปยังยากเลย แล้วนี่จะมาให้จ้องป้ายทะเบียนด้วย ใครจะไปดู…เกิดเป็นผู้บริโภคไทยนี่ลำบากจริงๆ ครับ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 212 รถยนต์ซื้อใหม่แต่เร่งความเร็วไม่ได้

“ซ่อมแล้วแต่ก็ยังพบปัญหาเดิม ในเวลาไม่นานด้วย อย่างนี้พี่ไม่วางใจเลย มันหมดความเชื่อมั่น ตอนนี้รถก็ยังอยู่ในศูนย์ซ่อม พี่เคยไปที่ สคบ.แล้วแต่เรื่องยังไม่คืบ ทางบริษัทรถบอกเพียงว่ากำลังดำเนินการตรวจสอบอยู่ แบบนี้พอจะทำอย่างไรได้บ้าง” รถยนต์ซื้อใหม่แต่เร่งความเร็วไม่ได้     รถยนต์เป็นปัจจัยสำคัญของชีวิตคนยุคปัจจุบัน เพราะช่วยให้สะดวกในเรื่องการเดินทาง การประกอบอาชีพ บางคนถ้าพอมีฐานะการเงินพอที่จะมีรถยนต์ส่วนตัวได้ ก็ไม่ลังเลที่จะมีไว้สักคัน แล้วถ้ายิ่งได้ครอบครองรถใหม่ป้ายแดงก็ยิ่งมีความคาดหวังที่สูง เพียงแต่ว่าหลายคนก็โชคไม่ดีเจอปัญหารถป้ายแดงทำพิษ     คุณสมหวังผิดหวังอย่างแรง เมื่อรถยนต์หรูราคา 3 ล้านบาทของเธอ ซึ่งใช้งานได้ยังไม่ถึงเดือนก็เกิดอาการผิดปกติเสียแล้ว “รถคันนี้ซื้อมาเมื่อ 5 ก.พ.ที่ผ่านมา ก็นำมาใช้งานทุกวันไม่มีปัญหาอะไร จนวันที่ 24 ก.พ. ขณะขับบนทางด่วน สังเกตที่ปุ่ม P มีไฟโชว์ขึ้นมา ตอนนั้นไม่ได้เอะใจอะไรคิดว่าเดี๋ยวคงหาย ทว่าสักพักพอจะเร่งความเร็วรถ กลับเร่งไม่ขึ้น  ไม่มีกำลัง”            เหตุคาดไม่ถึงนี้ทำให้คุณสมหวังต้องค่อยๆ ประคองรถขับเรื่อยๆ จนถึงบ้าน แล้ววันรุ่งขึ้นก็ขับแบบสภาพไม่มีกำลังเร่งไปที่ศูนย์บริการของแบรนด์รถยนต์ดังกล่าว ช่างขอรับรถไว้ตรวจสภาพและหาสาเหตุก่อน ผลคือรถยนต์อยู่ในศูนย์ซ่อมถึง 3 สัปดาห์ เมื่อมารับรถยนต์คุณสมหวังยังรู้สึกดีกับบริการต่างๆ อยู่ เพราะเชื่อมั่นในแบรนด์และคุณภาพของช่างว่าจะจัดการปัญหาได้เรียบร้อย แต่เมื่อนำมาใช้งานตามปกติเพียงไม่ถึง 3 สัปดาห์ปัญหาเดิมก็กลับมาอีก และเกิดขึ้นตอนอยู่บนทางด่วนเช่นเดิม    “ซ่อมแล้วแต่ก็ยังพบปัญหาเดิม ในเวลาไม่นานด้วย อย่างนี้พี่ไม่วางใจเลย มันหมดความเชื่อมั่น ตอนนี้รถก็ยังอยู่ในศูนย์ซ่อม พี่เคยไปที่ สคบ.แล้วแต่เรื่องยังไม่คืบ ทางบริษัทรถบอกเพียงว่ากำลังดำเนินการตรวจสอบอยู่ แบบนี้พอจะทำอย่างไรได้บ้าง” เป็นคำปรึกษาที่ทางคุณสมหวังแจ้งต่อทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค  แนวทางแก้ไขปัญหา   เมื่อปรึกษาหารือกันแล้ว ทางออกที่ผู้บริโภคต้องการคือ ให้บริษัทเปลี่ยนรถยนต์คันใหม่ให้หรือรับซื้อคืนคันที่มีปัญหา วิธีที่ต้องทำคือ ผู้บริโภคต้องทำหนังสือถึงบริษัทรถยนต์ดังกล่าว แจ้งลักษณะของปัญหาและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตลอดจนความไม่มั่นใจในคุณภาพสินค้าที่ผู้บริโภคได้ใช้งานมาระยะหนึ่ง ซึ่งรถยนต์หากเกิดปัญหาเรื่องคุณภาพก็อาจส่งผลถึงชีวิตของผู้ขับขี่ได้  ดังนั้นจึงขอให้บริษัทดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่ผู้บริโภคร้องขอ พร้อมกับทำสำเนาส่งถึงศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งจะดำเนินการต่อหากบริษัทปฏิเสธคำร้องของผู้บริโภค    ต่อมาได้รับแจ้งจากคุณสมหวังว่า ทางบริษัทฯ ยินดีที่จะรับซื้อรถคืนแล้ว โดยจะมีการหักค่าใช้จ่ายบางส่วน ซึ่งตรงนี้คุณสมหวังพอใจ จึงขอยุติเรื่องร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 212 ผลทดสอบประสิทธิภาพแผ่นฟิล์มลดความร้อนติดรถยนต์ระดับสูง

จากบททดสอบแผ่นฟิล์มลดความร้อนติดรถยนต์ จากฉลาดซื้อฉบับที่ 197 เดือนกรกฎาคม 2560 ซึ่งเป็นการทดสอบสำหรับฟิล์มกันร้อนระดับล่าง ราคาอยู่ในช่วง 3,000-5,000 บาท ทั้งนี้ได้มีผู้บริโภคเรียกร้องให้ทดสอบฟิล์มกันร้อนระดับสูงด้วย ดังนั้นการทดสอบในครั้งนี้ จึงใช้ตัวอย่างฟิล์มกันร้อน ระดับช่วงราคา 18,000 – 30,000 บาท จำนวน 7 ตัวอย่าง จากยี่ห้อที่เป็นที่นิยมในตลาด ได้แก่ Vox, Ultimate, Ceramic Original, Smarttec, 3M และ V-kool โดยแสดงค่าคุณสมบัติจำเพาะดัง ตารางที่ 1ตารางที่ 1 แสดงค่าคุณสมบัติจำเพาะต่างๆ ของฟิล์มกันร้อน ซึ่งจะอธิบายความหมายตามหลักทฤษฎีที่กล่าวว่า แสงแดดมีองค์ประกอบอยู่ 3 ส่วนหลักๆ ได้แก่ อินฟราเรด (Infrared IR) ไม่มีสีแต่อยู่ในรูปของรังสีความร้อน ต่อไปคือแสงช่วงที่สายตามองเห็น (Visible light VL) และช่วงอัลตราไวโอเลต (Ultraviolet UV) อยู่ในรูปของพลังงาน ที่มีความสามารถทำลายเซลล์ผิวหนัง ซึ่งทำให้เกิดมะเร็งผิวหนังได้การเกิดความร้อนในรถยนต์ การเกิดความร้อนในรถยนต์เกิดจากการที่กระจกรถยนต์ไม่สามารถกันคลื่นอินฟราเรด ที่เป็นคลื่นความร้อนได้ เมื่อผ่านเข้ามายังตัวรถแล้ว คลื่นอินฟาเรดจะไม่สามารถสะท้อนออกไปได้ทำให้เกิดภาวะเรือนกระจกภายในรถ ความร้อนสะสมจึงสูงขึ้นเรื่อยๆ             สำหรับข้อกำหนดความสามารถของแผ่นฟิล์มติดรถยนต์ แบ่งเป็นลักษณะต่างๆ ดังนี้ -  VLT (Visible Light Transmission) ความสามารถในการส่องผ่านของแสงในช่วงสายตามองเห็น ค่ายิ่งมากแสงผ่านได้เยอะ ทำให้การมองผ่านชัดเจน - VLR (Visible Light Reflectance) ความสามารถในการสะท้อนแสงในช่วงสายตามองเห็น เป็นค่าแสดงการสะท้อนออกของแสงจากกระจกที่ติดฟิล์ม ค่ามากกระจกที่ติดฟิล์มจะมีลักษณะคล้ายกับกระจกเงา -  Glare Reduction การลดความจ้า เป็นการวัดเปอร์เซ็นเปรียบเทียบค่าการส่องผ่านได้ของแสงช่วงที่มองเห็น ระหว่างกระจกที่ติดฟิล์มกรองแสงกับไม่ติดฟิล์มกรองแสง -  IRR (Infrared Rejection) เป็นค่าที่แสดงความสามารถในการลดความร้อนเนื่องจากคลื่นความร้อน(Infrared) จากแสงแดด -  UVR (Ultraviolet Rejection) ค่าที่แสดงความสามารถในการลดแสงอัลตราไวโอเลต TSER (Total SolarEnergy Rejection) การป้องกัน พลังงานแสงอาทิตย์โดยรวมเครื่องมือ อุปกรณ์ทดสอบ -  ตู้ทดสอบขนาดปริมาตร 0.5 ลูกบาศก์ฟุต -  แผ่นกระจกติดฟิล์มตัวอย่าง -  เครื่องวัดอุณหภูมิ -  เครื่องวัดแสงเชิงสเปกตรัม ช่วง ยูวี ถึง อินฟราเรด (200-1000nm) -  เครื่องวัดแสงยูวีเอ หลอดไฟฮาโลเจนขนาด 2000 วัตต์การทดสอบ การทดสอบแบ่งเป็น 2 ส่วนได้แก่ -  ทดสอบความสามารถการกรองแสงช่วงต่างๆ -  ทดสอบเรื่องการป้องกันความร้อน   ทดสอบความสามารถการกรองแสงช่วงต่างๆ     วัดค่าสเปคตรัมของแสง เพื่อตรวจสอบแสงที่ผ่านกระจกติดฟิล์มตัวอย่าง ผลของแสงและรังสีความร้อน ที่ได้จากหลอดฮาโลเจนขนาด 2000 วัตต์ มีลักษณะครอบคลุมเพียงพอ ช่วงที่ต้องการทดสอบด้วยเครื่องวัดแสงเชิงสเปคตรัมมีความสามารถวัดค่าได้ ที่ความยาวคลื่น 200 – 1000 นาโนเมตร สำหรับค่ารังสีความร้อนช่วง อินฟราเรด ที่มีความยาวคลื่นมากกว่า 1000 นาโนเมตรจะไม่สามารถวัดค่าได้ ด้วยเครื่องวัดนี้ พลังงานความร้อนในรูปแบบนี้ จะใช้วิธีประเมิน ในหัวข้อถัดไป   สำหรับผลของสเปคตรัมของแสงที่วัดได้จากเครื่องมือ เป็นดังนี้ ตารางที่ 2 ผลการทดสอบความสามารถการกรองแสงช่วงต่างๆ ของตัวอย่างฟิล์มกันร้อนระดับสูง  ทดสอบเรื่องการป้องกันความร้อน เป็นการวัดหาประสิทธิภาพการสกัดกั้นความร้อนของฟิล์มกันความร้อน โดยให้ความร้อนด้วยหลอดไฟขนาด 2000 วัตต์ ที่ช่วงเวลาหนึ่ง แล้ววัดค่าความร้อนที่เกิดขึ้นภายในตู้ทดสอบ เปรียบเทียบกับอุณหภูมิ ที่เกิดขึ้นภายนอก โดยประสิทธิภาพของฟิล์มกันความร้อนจะถูกประเมินจาก อุณหภูมิแตกต่างกันระหว่างภายในตู้ทดสอบกับภายนอกตู้ทดสอบ หากมีความแตกต่างกันมาก ฟิล์มชนิดนั้นจะมีประสิทธิภาพสูงกว่า ชนิดที่มีความแตกต่างของอุณหภูมิน้อย ก่อนทดสอบ จำเป็นต้องหาช่วงเวลาที่ใช้ในการทดสอบ โดยประเมินจากผลของค่าอุณหภูมิภายนอก หลังจากให้แสงความร้อนไป ช่วงเวลาหนึ่ง ที่ทำให้อุณหภูมิมีค่าคงที่ ดังแสดงในภาพที่ 4 พบว่าในเวลานาทีที่ 15 อุณหภูมิมีความคงที่ดี ดังนั้นจึงกำหนด ให้วัดค่าอุณหภูมิภายนอกและภายในตู้ทดสอบ ที่เวลาเริ่มต้นและ เวลา 15 นาที หลังจากให้แสงและความร้อนหลังจากเปลี่ยนฟิล์มกันความร้อนที่นำทดสอบ ชนิดต่างๆ กันแล้ว ผลที่ได้นำมาเปรียบเทียบกันแสดงในตารางที่ 3สรุป   จากการผลการทดลองที่ได้พบว่าฟิล์มกันความร้อน V Kool VK30 มีความสามารถกันความร้อนได้สูงสุดเหนือกว่ายี่ห้ออื่นอย่างเห็นได้ชัด (ความต่างของอุณหภูมิภายนอกและภายในตู้ทดสอบ 13.86) แต่จากการสืบราคา ค่าใช้จ่ายในการติดตั้งก็มีราคาสูงกว่ายี่ห้ออื่นๆ เช่นกัน และถึงแม้ว่าฟิล์มกันความร้อน  ยี่ห้อ Vox รุ่น Luxury 60 มีความสามารถในการกันความร้อนด้อยกว่ายี่ห้ออื่น แต่หากดูผลของตารางที่ 2 (ความสามารถการกรองแสงช่วงต่างๆ) เปรียบเทียบด้วยจะเห็นว่า Vox รุ่น Luxury 60 มีความใสกว่าทุกยี่ห้อ  สำหรับในกลุ่มที่ผลของการกันความร้อนใกล้เคียงกันได้แก่ Ultimate, Ceramic Original, Lamina, Smarttec และ 3M แต่หากพิจารณา ตารางที่ 2 และ 3 ควบคู่กัน จะพบว่าฟิล์มกันความร้อนยี่ห้อ Ultimate รุ่น UM15 จะมีความสามารถมากกว่า เนื่องจากแผ่นฟิล์มใสกว่า แสงผ่านมาได้มากกว่า อีกทั้งมีความสามารถในการต้านทานความร้อนได้ดีกว่า อย่างไรก็ตามนอกเหนือจากประสิทธิภาพตามผลทดสอบ ความพึงพอใจของผู้บริโภคก็มีความสำคัญ ก่อนพิจาณาเลือกซื้อควรเปรียบเทียบ ข้อมูลหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น ราคา มุมมอง ทัศนวิสัย และความอับสัญญาณ GPS ด้วย 

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 212 ตามติดคดีรถตู้จันทบุรี

          ย้อนกลับไปเมื่อ 2 มกราคม 2560  กับโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ที่สุดของรถตู้โดยสาร จากเหตุการณ์รถตู้โดยสารสายกรุงเทพ – จันทบุรี เสียหลักพุ่งข้ามเลนไปชนรถกระบะที่แล่นสวนทางมา จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตมากมายถึง 25 ศพ โดยเป็นผู้เสียชีวิตจากรถตู้โดยสารจำนวน 13 ศพ และเป็นผู้เสียชีวิตจากรถกระบะจำนวน 12 ศพภาพความชุลมุนของสื่อมวลชนทุกแขนง หน่วยงานด้านสาธารณกุศล หน่วยงานด้านความมั่นคงจำนวนมากที่ต่างมุ่งหน้าไปที่จันทบุรี เพื่อติดตามข่าวสาร รวมถึงเสนอความช่วยเหลือให้กับผู้เสียหายทุกคน เสมือนหนึ่งว่าต่อจากนี้ผู้เสียหายทุกคนจะได้รับการช่วยเหลือให้ได้รับความเป็นธรรมโดยเร็วแน่นอนนั้น มีเพียงเงินชดเชยความเสียหายจากบริษัทประกันภัย ทั้งประกันภัยภาคบังคับและประกันภัยภาคสมัครใจของรถตู้โดยสารคันเกิดเหตุเป็นเงินรวม 700,000 บาท พร้อมเงินช่วยเหลือจากผู้ว่าราชการจังหวัดครอบครัวละ 10,000 บาท ทว่าแค่เงินจำนวนดังกล่าวไม่ได้ทำให้หัวใจของพ่อแม่แต่ละคนที่สูญเสียลูก ให้ฟื้นคืนกลับมาแข็งแรงดังเดิมได้ มิหนำซ้ำกลับมีความรู้สึกเหมือนถูกทอดทิ้ง เพราะในระยะเวลาไม่ถึงสามเดือน เรื่องทุกอย่างก็กลับเงียบลงเหมือนไม่เคยมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น รวมถึงความผิดหวังต่อองค์กรด้านกฎหมายที่ไม่ได้ให้ความช่วยเหลือแบบที่ควรจะเป็น ทั้งที่ผู้เสียหายทุกคนต้องว่าจ้างรถตู้มาถึงกรุงเทพเลยทีเดียว รียกได้ว่าเป็น “ความทุกข์ซ้ำซ้อน” ที่เกิดกับผู้เสียหายทุกคนดังนั้นการก้าวเข้ามาของทีมทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงเป็นจุดสำคัญที่จะพลิกนำพาผู้เสียหายทุกคนให้กลับมามีความหวัง และพร้อมที่จะลุกขึ้นสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิที่หายไปให้กลับคืนมาอีกครั้ง ด้วยการรวมตัวกันฟ้อง ห้างหุ้นส่วนจำกัด วีเจทรานสปอร์ต เป็นจำเลยที่ 1 นางวาสนา จันทร์เอี่ยม เป็นจำเลยที่ 2 และบริษัท ขนส่ง จำกัด เป็นจำเลยที่ 3 เป็นคดีผู้บริโภค ต่อศาลจังหวัดจันทบุรี เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2560 เรียกค่าเสียหายให้กับ 7 ครอบครัว รวมเป็นเงินกว่า 26 ล้านบาท อย่างไรก็ตามสำหรับผู้เสียหายทุกคน กระบวนการฟ้องคดีต่อศาลนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ผ่านไปครึ่งปีก็แล้ว หนึ่งปีก็แล้ว ผู้เสียหายแต่ละคนยังไม่เข้าใจว่า  ทำไมการฟ้องคดีถึงมีความยุ่งยาก ต้องไปศาลหลายนัด ต้องใช้เวลานานหลายเดือน บางคนต้องลางานเพื่อมาขึ้นศาลตามที่ศาลนัด บางคนต้องขับรถซาเล้งจากบ้านที่ไกลออกไปมากกว่า 40 กิโลเมตร เพื่อมาศาลตามที่ศาลนัด โดยมีคำถามที่ถามบ่อยมากๆ คือ เมื่อไหร่คดีจะจบ… และนี่อาจจะเป็นการตอกย้ำความทุกข์ให้กับผู้เสียหายแต่ละคนอีกครั้ง เพราะเมื่อคดีขึ้นสู่ศาลแล้ว หากจะทำให้คดีจบลงได้โดยเร็ว มีเพียงสองทาง คือ หนึ่ง ถอนฟ้องต่างคนต่างไป(ซึ่งไม่มีใครทำอยู่แล้ว) และสอง เจรจาตกลงค่าเสียหายกันได้ แล้วทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันไป แต่สำหรับคดีนี้ไม่สามารถทำได้ในทั้งสองทางที่กล่าวมา จึงต้องเดินหน้าสู้คดีนำหลักฐานที่มีมาหักล้างกัน เพื่อให้ศาลรับฟังและมีข้อยุติเป็นคำพิพากษาออกมาในที่สุดจากวันที่ 8 เมษายน 2560 วันที่ทุกคนร่วมกันยื่นฟ้องคดีต่อศาล จนถึงวันที่ 4 ตุลาคม 2561 ซึ่งเป็นวันที่ศาลจังหวัดจันทบุรีนัดอ่านคำพิพากษา รวมเป็นเวลานานกว่า 545 วัน ศาลก็ได้มีคำพิพากษาให้ทายาทคนขับ ซึ่งเป็นจำเลยร่วมในคดีนี้ และบริษัท ขนส่ง จำกัด จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ให้สัมปทานเส้นทางรถตู้โดยสารคันเกิดเหตุชดเชยค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เสียหายทั้ง 7 ครอบครัว รวมเป็นเงินมากกว่า 20 ล้านบาท และทั้งนี้ศาลได้กำหนดค่าเสียหายเชิงลงโทษกับจำเลยที่รับผิด ฐานกระทำการโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เพื่อลงโทษผู้กระทำละเมิด และป้องปรามมิให้กระทำมิชอบเช่นนั้น เป็นเงินอีกคนละ 500,000 บาท จากผลคดีที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ถือว่าเป็นบรรทัดฐานที่ดีในเรื่องคำพิพากษาต่อผู้บริโภค และเป็นมิติใหม่ในการกำหนดค่าเสียหายเชิงลงโทษของศาลยุติธรรมในประเทศไทย ที่เห็นถึงความสำคัญในการบังคับใช้กฎหมายคดีผู้บริโภค เนื่องจากที่ผ่านมาในหลายกรณีของการเรียกร้องค่าเสียหายจากอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ พบปัญหาว่า การกำหนดค่าเสียหายของศาลยังมีจำนวนค่อนข้างน้อย และไม่ครอบคลุมถึงความเสียหายที่แท้จริง ทำให้ผู้บริโภคที่เสียหายรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรม รวมถึงยังไม่มีผลให้ผู้ประกอบการที่ด้อยคุณภาพเกิดความเกรงกลัวต่อกฎหมาย และปฏิบัติตามกฎระเบียบที่กำหนดไว้ เพื่อความปลอดภัยขณะให้บริการการฟ้องคดีต่อศาลไม่ใช่เรื่องสนุกหรือหนทางที่ดีที่สุด เพราะต้องสู้คดีกันถึงสามศาล คือ ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา แม้กฎหมายคดีผู้บริโภคจะกำหนดให้คดีสิ้นสุดในชั้นอุทธรณ์ แต่คู่ความยังสามารถยื่นขออนุญาตฎีกาต่อศาลฎีกาได้ อีกทั้งการศาลจะกำหนดค่าเสียหายเชิงลงโทษได้นั้นก็ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด และเป็นดุลพินิจของศาลเจ้าของคดีที่จะกำหนดค่าเสียหายดังกล่าวดังนั้นคดีนี้จึงยังไม่จบ ผู้เสียหายทั้ง 7 ครอบครัว ยังต้องการกำลังใจและแรงหนุนเสริมจากพวกเราทุกคน ที่จะช่วยส่งพลังเพื่อให้พวกเขามีแรงต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ต่อไป เพราะเชื่อแน่ว่า บริษัท ขนส่ง จำกัด จำเลยที่ 3 คงไม่ยอมอยู่เฉย แต่หากบริษัท ขนส่ง จำกัด ยังดื้อดึงอุทธรณ์คำพิพากษา แล้วหลังจากนั้นผลของคดีไม่เปลี่ยนแปลง พวกเราอาจจะได้พาเจ้าพนักงานบังคับคดีไปเยี่ยมบริษัท ขนส่ง จำกัด เพื่อยึดทรัพย์สินชดใช้ค่าเสียหายตามคำพิพากษากันอีกครั้งแน่นอน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 212 กระแสในประเทศ

ระวัง เมนูเจยอดฮิต โซเดียมสูงผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า เครือข่ายลดบริโภคเค็มทำการสุ่มตรวจตัวอย่างอาหารเจ 13 เมนูยอดนิยมบนถนน เยาวราช อตก. และตลาดยิ่งเจริญ โดยใช้เครื่องวัดความเค็มตรวจสอบปริมาณโซเดียมในอาหาร ประกอบด้วย แกงเขียวหวาน แกงกะทิ จับฉ่าย พะโล้ ผักกระเพรา แกงส้ม ต้มจืด ต้มกะหล่ำปลี ขนมจีนน้ำยากะทิ ลาบเห็ด กระเพาะปลา และผัดขิง พบทุกเมนูมีปริมาณโซเดียมสูงเกินค่าที่ร่างกายควรได้รับต่อวัน    นอกจากนี้อาหารเจจำพวก ผักดอง เกี้ยมไฉ่ กานาฉ่าย จับฉ่ายเป็นอาหารที่ใช้เกลือมาก ซึ่งผักที่เคี่ยวหรือดองเป็นเวลานานจะได้คุณค่าทางอาหารที่น้อยลง รวมถึงอาหารแปรรูป เช่น โปรตีนเกษตร เนื้อสัตว์เจจะมีการเติมรสเค็มเพื่อทำให้รสชาติใกล้เคียงของจริงมากที่สุด แพทย์เตือน ควรทำความสะอาดเสื้อกันหนาวมือสองก่อนนำไปใช้นพ.สมิต ประสันนาการ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี เปิดเผยว่า ช่วงย่างเข้าสู่ฤดูหนาว ประชาชนส่วนใหญ่นิยมซื้อเสื้อและผ้าห่มกันหนาวมือสองสภาพ เนื่องจากราคาถูกและประหยัดกว่าเสื้อผ้าใหม่ตามห้างร้านทั่วไป ซึ่งเสื้อผ้ามือสองที่กลุ่มพ่อค้า แม่ค้า นำมาจำหน่ายนั้นส่วนใหญ่มักรับซื้อมาจากชายแดน โดยไม่คำนึงถึงสิ่งสกปรกหรือเชื้อโรคต่างๆ ที่อาจติดมากับผ้า เช่น ปัญหาโรคผิวหนัง โรคติดเชื้อ ความชื้น เชื้อราและโรคอันตรายต่างๆ ดังนั้นเพื่อป้องกันการติดเชื้อควรนำเสื้อผ้ามือสองไปทำความสะอาด โดยต้มในน้ำเดือด แล้วซักด้วยผงซักฟอกหรือน้ำยาซักผ้า แล้วนำไปตากแดดจัดให้แห้งสนิทก่อนนำมาสวมใส่กสทช. คาดปี 62 เรียกคืนคลื่น-จัดสรรใหม่ได้ ตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม จะให้อำนาจ กสทช. พิจารณา “เหตุผลแห่งความจำเป็น” ในการใช้งานคลื่นและ “เรียกคืนคลื่นโดยกำหนดวิธีการทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทน” แต่ 7 ปีผ่านไปก็แทบจะเรียกคืนคลื่นไม่ได้ เพราะทุกมติที่มีคำสั่งจะยืดเยื้อถึงชั้นศาล อาทิ มติเรียกคืนคลื่น 2600 MHz จากกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งการที่ กสทช.ไม่สามารถกำหนดได้ชัดเจนว่าคลื่นไหนจะถูกนำออกมาประมูลเมื่อไหร่ จึงเป็นคำถามสำคัญที่สังคมรอคำตอบ จนกระทั่ง มีการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ ฯ เมื่อปี พ.ศ. 2560 ตามมาตรา 27 (12/1) ที่ให้ กสทช. มีอำนาจหน้าที่เรียกคืนคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า จากผู้ได้รับใบอนุญาตเพื่อนำมาจัดสรรใหม่ได้ โดย กสทช. ต้องทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายตอบแทนให้กับผู้ที่ถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ในแต่ละกรณีด้วย ทำให้ กสทช. เร่งเดินหน้าในการปฏิรูปคลื่นได้อย่างเต็มที่ ล่าสุด นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการ กสทช. เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 8 ต.ค.2561 สำนักงาน กสทช.ได้เปิดรับฟังความเห็นสาธารณะต่อร่างประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการเรียกคืนคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ใช้ ประโยชน์หรือใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า หรือนำมาใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่ายิ่งขึ้น ทั้งนี้เพื่อเตรียมความพร้อมให้ประเทศไทยมีคลื่นความถี่เพียงพอสำหรับการเป็นพื้นฐานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีทาง โดย กสทช.จะตั้งคณะทำงาน ซึ่งมีผู้แทนจากหลายหน่วยงานเพื่อพิจารณาว่าคลื่นใดไม่ได้ใช้ประโยชน์ คลื่นใดใช้ไม่คุ้มค่า หรือจะสามารถใช้ประโยชน์ได้มากกว่า และมีมหาวิทยาลัยของรัฐเข้ามาศึกษาว่าควรเป็นคลื่นใด และเมื่อการดำเนินออกประกาศเป็นไปตามขั้นตอน อย่างไรก็ตาม คาดว่าต้นปี 2562 จะเริ่มเรียกคืนคลื่นได้ภาคประชาชน ค้านร่าง พ.ร.บ.สุขภาพปฐมภูมิ ชี้ซ้ำซ้อนกฎหมายบัตรทอง1 ต.ค. 61 นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สัดส่วนภาคประชาชน และกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขฯ พร้อมตัวแทนภาคประชาชนรวม 8 ราย เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อคัดค้านร่าง พ.ร.บ. ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. ... เนื่องจากไม่มีความจำเป็นจะต้องมีกฎหมายเฉพาะมารองรับเรื่องดังกล่าว เพราะมี พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ที่ครอบคลุมบริการสุขภาพปฐมภูมิของคนไทยทุกคนอยู่แล้ว โดยความซ้ำซ้อนของกฎหมาย 4 ประเด็น ได้แก่ 1) ความซ้ำซ้อนในการกำหนดชุดสิทธิประโยชน์ 2) ความซ้ำซ้อนในเรื่องอำนาจในการจัดสรรงบประมาณ 3) ความซ้ำซ้อนในเรื่องการใช้อำนาจการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข ซึ่งจะส่งผลต่อการกำหนดโทษหน่วยบริการปฐมภูมิในกรณีที่ผิดมาตรฐาน โดยอาจต้องถูกลงโทษจากกฎหมายทั้งสองฉบับ และ4) ความซ้ำซ้อนในการขึ้นทะเบียนหน่วยบริการปฐมภูมิ รวมถึงบทบาทหน้าที่และการจัดทำฐานข้อมูลหน่วยบริการศาลสั่ง บขส. - ทายาทคนขับคดี ‘รถตู้จันทบุรี 25 ศพ’ จ่ายค่าสินไหมกว่า 20 ล้านบาทศาลจังหวัดจันทบุรี พิพากษาคดีรถตู้โดยสารจันทบุรี - กรุงเทพฯ ทะเบียน 15-1352 กทม. ที่พุ่งข้ามเลนไปชนรถกระบะที่แล่นสวนทางมา จนเกิดเพลิงลุกไหม้เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 25 ราย เมื่อวันที่ 2 ม.ค. 60 ให้บริษัท ขนส่ง จำกัด และทายาทของคนขับรถตู้ จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ญาติของผู้เสียชีวิต รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 20,780,000 บาท รวมทั้งดอกเบี้ยอีกร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันทำละเมิด    นายโสภณ หนูรัตน์ ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ผู้ดูแลคดีให้ความเห็นว่า คำตัดสินใจวันนี้ถือเป็นบรรทัดฐานในเรื่องคำพิพากษา เรื่องเกี่ยวกับรถตู้โดยสารสาธารณะ ซึ่งเป็นบทบาทของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร่วมกับเครือข่ายผู้บริโภคภาคตะวันออกในการช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่เสียหายจากอุบัติเหตุเกี่ยวกับรถโดยสาร

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 211 การแก้ปัญหาจราจรด้วยการลดรถสาธารณะใช่แนวทางที่ดีจริงหรือ

ท่ามกลางกระแสความร้อนแรงของการจราจรที่ติดขัดแทบทุกจุดจากการก่อสร้างรถไฟฟ้าในเขตเมืองชั้นในของกรุงเทพมหานคร อยู่ดีๆ คณะกรรมการแก้ปัญหาจราจรกรุงเทพมหานคร ที่ไม่มีใครรู้จักว่ามีใครเป็นคณะกรรมการบ้าง ก็เสนอมาตรการใหม่ เอารถเมล์ที่ถูกมองว่าคันใหญ่กีดขวางการจราจรออกไป เพื่อแก้ปัญหารถติดตามแนวก่อสร้างรถไฟฟ้าบนถนนรามคำแหง ทันทีที่มาตรการเผยสู่สาธารณะ ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางในทุกๆ ช่องทางว่าคนกลุ่มนี้เขาคิดอะไรกันอยู่ มีหลายคนแสดงความคิดเห็นผ่านเพจ safethaibus และ inbox เช่น“รถเมล์ 1 คันจุดคนได้มากกว่า 50 คน ทำไมถึงไม่เพิ่มรถสาธารณะ แล้วลดรถส่วนตัวแทน” “ทำรถสาธารณะให้ดีขึ้น ออกมาตรการจูงใจให้คนหันมาใช้รถสาธารณะกันดีมั้ย” “เอารถเมล์ออก แต่รถส่วนตัวยังวิ่งเหมือนเดิม จะแก้ปัญหาได้ยังไง” ถึงประเด็นนี้จะวิจารณ์กันร้อนแรงแค่ไหน ก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับคนคิดเรื่องนี้ด้วย โดย พล.ต.ต.จิรพัฒน์ ภูมิจิตร รอง ผบช.น. ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางการแก้ไขปัญหารถติดในชั่วโมงเร่งด่วน ที่นอกจากมีแผนการหาจุดจอดรถ Park & Ride หรือจอดแล้วจรให้ประชาชนเชื่อมต่อรถชัทเทิลบัส (Shuttle Bus) แล้ว ขณะที่มีการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) ขสมก.ต้องลดจำนวนรถเมล์ประจำทางในเส้นทางรามคำแหง ในสายที่มีปริมาณรถมากแต่คนขึ้นน้อย เพราะรถมีขนาดใหญ่และเก่า เมื่อเกิดปัญหารถติดรถเสียจะใช้พื้นที่เป็นจำนวนมากจากแนวคิดของ รอง ผบช.น นั่นหมายความว่า คณะกรรมการฯ ชุดนี้ ไม่ได้พุ่งเป้าไปที่การลดจำนวนรถเมล์เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีมาตรการอื่นๆ เสริมเติมเข้าไปด้วย ทั้งการหาที่จอดรถ การให้บริการรถชัทเทิลบัสส่งต่อสถานีรถไฟฟ้า โดยมุ่งหวังว่าการมีจุดจอดที่รองรับปริมาณรถส่วนตัวได้มากพอ แล้วมีรถชัทเทิลบัสนำพาไปส่งจุดปลายทาง จะช่วยลดปริมาณการนำรถส่วนตัวเข้ามาวิ่งบนถนนรามคำแหงได้อ่านดูเหมือนจะเคลิ้มไปกับภาพที่สวยหรู รถยนต์จะน้อยลง ถนนจะโล่งขึ้น… แต่ในความเป็นจริงท่านคณะกรรมการฯ อาจจะคิดผิดหรือคิดไม่ครบ เพราะจากมาตรการที่ออกมายังไม่เห็นถึงแรงจูงใจที่คนใช้รถยนต์ส่วนตัว อยากที่จะเอารถไปจอดไว้ที่จุดจอดแล้วใช้รถชัทเทิลบัสไปสถานีรถไฟฟ้าเลย ต้องยอมรับก่อนว่า ส่วนหนึ่งที่คนมีรถส่วนตัวเพราะอยากสบาย ถึงรถติดแค่ไหนก็ยังสบายๆ นั่งอยู่ในรถฟังเพลงเปิดแอร์ได้ ดีกว่าไปทนยืนเบียดสูดกลิ่นเหงื่อไคลของผู้ร่วมทางคนอื่นๆ ในรถสาธารณะ ยิ่งช่วงนี้หน้าฝนความทรมานจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยเท่าพันเท่า ฝนตกรถติดน้ำท่วม ยืนรอเป็นชั่วโมงรถเมล์ก็ยังไม่มา หรือรถไฟฟ้าที่เบียดเสียดมากๆ ในช่วงเร่งด่วน เรียกว่าแน่นจนขึ้นไม่ได้ ท่านจะสร้างแรงจูงใจให้คนลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวอย่างไร การทำให้ระบบรถสาธารณะที่บรรทุกคนได้จำนวนมากใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ควรเป็นคำตอบมากกว่าเป็นปัญหา ทุกที่ของเมืองใหญ่ทั่วโลกต่างควบคุมปริมาณรถยนต์ส่วนตัวที่วิ่งในเมือง ยิ่งเป็นเส้นทางก่อสร้าง ยิ่งต้องกำหนดเส้นทางเลี่ยงออกจากจุดก่อสร้าง และเสริมด้วยแรงจูงใจที่อยากให้คนมาใช้รถเมล์ เพิ่มรถเมล์ที่มีคุณภาพเข้ามาแทน แบบนี้ประชาชนถึงอยากจอดรถแล้วไปใช้รถสาธารณะ แต่ปัญหารถสาธารณะบ้านเมืองเราเป็นของแสลงทำให้ดีได้ยาก คนไทยก็ซื้อรถยนต์ส่วนตัวใช้กันในระดับสินค้าขายดี จึงเข้าใจว่าคณะกรรมการชุดนี้คงหมดหนทาง เมื่อไม่สามารถควบคุมปริมาณรถส่วนตัวได้ เลยมาลงที่รถสาธารณะอย่างรถเมล์แทน โดยใช้เหตุผลที่ทุกคนเบื่อหน่ายกับรถเมล์ ที่หลายคันมีสภาพเก่าทรุดโทรม บางสายคนใช้น้อย คนขับหลายรายไร้วินัยเป็นแรงหนุน ซึ่งต้องบอกว่าพลาดครับ แม้ว่าคล้อยหลังออกมาตรการเพียงสองวัน รอง ผบช.น. จะได้ออกมาชี้แจงว่า เป็นการสื่อสารที่ผิดพลาด เพราะไม่ได้เป็นการลดจำนวนของรถเมล์บนถนนรามคำแหง แต่เป็นการลดขนาดของรถเมล์ลงจากรถขนาดใหญ่บางสายที่มีคนขึ้นน้อยให้เป็นมินิบัส เพื่อให้ถนนโล่งขึ้นลดการจราจรติดขัดในชั่วโมงเร่งด่วนนั้น ก็ไม่ได้ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น ถ้าจะมองกันให้ลึกแล้ว ปัญหารถติดสำหรับคนเมืองไม่ได้เป็นเพียงปัญหาที่รอวันแก้ไข แต่มันคือวิถีชีวิตที่คนเมืองทุกคนต้องเจอตั้งแต่ตื่นเช้ามาทำงานจนเลิกงานกลับเข้าบ้าน ยิ่งผสมกับมหกรรมรถไฟฟ้าที่กำลังก่อสร้างอยู่ทุกวันนี้ ยิ่งทำให้เพิ่มปริมาณการจราจรที่ติดขัดมากขึ้น โดยที่ยังไม่มีหลักประกันอะไรจะยืนยันได้ว่า เมื่อรถไฟฟ้าสร้างเสร็จแล้วรถจะไม่ติดอีก ดังนั้นการแก้ไขปัญหาเพียงบางจุด ย่อมไม่อาจทำให้ปัญหาในภาพรวมแก้ไขไปด้วยได้ ตัวอย่างของมาตรการแก้ไขปัญหารถติดบนถนนรามคำแหงนี้ ถือเป็นบทเรียนที่ดีของผู้กำหนดนโยบาย ที่ต้องวิเคราะห์ถึงสาเหตุและต้นตอของปัญหาให้ชัดเจนก่อน ไม่งั้นก็จะตกม้าตายแบบนี้….

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 211 รู้จักกฎหมายดำเนินคดีแบบกลุ่ม (Class Action) ตอนที่ 2

บทเรียนการทำคดีผู้บริโภคก่อนมีกฎหมายดำเนินคดีแบบกลุ่มทุกวันนี้ปัญหาของผู้บริโภคที่เกิดมีความซับซ้อนเพิ่มขึ้น จากเดิมที่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นแบบปัจเจกคือ เกิดกับคนๆ เดียว แต่ปัจจุบันมีปัญหาหลายกรณีที่เป็นปัญหาที่เกิดกับผู้บริโภคหลายคนในเวลาเดียวกัน เช่น กรณี สถานออกกำลังกายแคลิฟอร์เนีย ว้าวปิดตัวโดยไม่แจ้งลูกค้า หรือ กรณีอุบัติเหตุรถโดยสาร หรือ กรณีปัญหาสาธารณูปโภคบ้านจัดสรร ซึ่งเมื่อเกิดเหตุขึ้นแล้ว กระบวนการใช้สิทธิเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายของผู้บริโภค จะมีความแตกต่างกันตามสภาพของแต่ละบุคคลคือ ต้องแยกกันฟ้อง บางกรณีฟ้องคนละศาล ซึ่งทำให้เกิดความขัดแย้งของคำพิพากษา หรือการไม่สะดวกต่อกระบวนการใช้สิทธิดังกล่าว ขอยกกรณีศึกษา จากการฟ้องคดีของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่ผ่านมาดังต่อไปนี้ กรณีแคลิฟอร์เนีย ว้าวมีผู้บริโภคมากกว่า 600 ราย มาร้องเรียนต่อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ว่าได้รับความเสียหายจากการปิดกิจการของบริษัท แคลิฟอร์เนีย ว้าว ฯ  โดยไม่แจ้งให้สมาชิกทราบล่วงหน้า เป็นเหตุให้สมาชิกจำนวนมากได้รับความเสียหาย ไม่สามารถใช้บริการได้ตามสัญญา ทั้งที่ยังมีอายุสัญญาใช้บริการอยู่  และได้จ่ายเงินล่วงหน้าไปแล้วอีกทั้งยังพบว่า กรณีนี้มีการกระทำผิดหลายอย่าง เช่น การฝ่าฝืนประกาศ สคบ. เรื่องให้ธุรกิจการให้บริการออกกำลังกายเป็นธุรกิจควบคุมสัญญา โดยกำหนดห้ามทำสัญญาเป็นสมัครสมาชิกเกิน 1 ปี แต่ทางแคลิฟอร์เนียเปิดรับสมัครสมาชิกตลอดชีพ เพื่อระดมเงินค่าสมัครของผู้ใช้บริการ ก่อนที่จะยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินไปต่างประเทศ และทยอยปิดกิจการลงจนหมดสิ้น ส่งผลให้มีผู้ใช้บริการทั่วประเทศกว่า 1 แสนราย ที่ได้รับผลกระทบจากกรณีนี้ กรณีอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะกรณีรถยนต์โดยสารประจำทางบริษัท เปรมประชาขนส่ง จำกัด วิ่งระหว่างเส้นทาง อ.แม่สะเรียง – จ.เชียงใหม่ แล้วรถเกิดอุบัติเหตุพลิกคว่ำระหว่างทาง เป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตรวมกว่า 40 คน  ผู้เสียหายแต่ละรายต้องใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลแยกเป็นรายคดี เพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย  ซึ่งผู้เสียหายที่เจ็บมากและเจ็บน้อย ต่างก็ต้องแยกฟ้องคดีส่วนของตนเอง ในทางปฏิบัติอาจฟ้องหลายๆ คนรวมกันได้ แต่มีความยุ่งยากค่อนข้างสูงกรณีรถยนต์ชำรุดบกพร่อง (เชฟโรเล็ต)  จากกรณีความชำรุดบกพร่องของสินค้ารถยนต์เชฟโรเลต ที่พบปัญหาในระบบส่งกำลัง ระบบเกียร์  ของรถยนต์รุ่นครูซ และแคปติว่า ของรถยนต์เชฟโรเลต โดยปัญหาที่เกิดขึ้นมีมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ซื้อรถจนถึงปัจจุบัน แต่บริษัทก็ไม่สามารถแก้ไขให้รถมีสภาพปกติเหมาะกับการใช้งานได้แต่เมื่อคดีไม่สามารถเจรจาตกลงการเยียวยาได้ ผู้เสียหายทั้ง 7 ราย จึงตัดสินใจฟ้องบริษัท บริษัท เชฟโรเลต เซลส์ ประเทศไทย ,  บริษัทผู้ขายรถยนต์ (ดีลเลอร์) และบริษัทเช่าซื้อ เป็นคดีผู้บริโภค ต่อศาลแพ่ง โดยฟ้องแยกเป็น 7 คดี เรียกค่าเสียหาย ทั้งนี้ผู้เสียหายได้ยื่นฟ้อง 4 ประเด็น คือ1.ขอให้รับผิดชอบคืนเงินดาวน์และค่างวดการเช่าซื้อที่ชำระไปแล้วทั้งหมด2.ขอให้บริษัทฯ รับผิดชอบค่าใช้สอยรถยนต์ต่อผู้ให้เช่าซื้อเต็มจำนวนแทนผู้บริโภค เนื่องจากสาเหตุที่ต้องบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อและเรียกเงินคืนนั้นเพราะสินค้าชำรุดบกพร่องจากการผลิต ไม่ใช่จากการใช้งานปกติของผู้บริโภค3.ขอให้ศาลห้ามบริษัทฯ จำหน่ายรถยนต์รุ่นพิพาท และให้เรียกเก็บสินค้าดังกล่าวจนกว่าจะได้เปลี่ยนแปลงให้มีความปลอดภัย แต่หากแก้ไขไม่ได้นั้นห้ามผลิตหรือนำเข้ามาจำหน่าย4.ขอเรียกค่าเสียหายต่อจิตใจที่ต้องหวาดกลัว วิตกกังวล ตลอดเวลาในการใช้รถยนต์พิพาทวันที่ 9 ตุลาคม 2558  ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ 6 คดี ชนะคดีโดยศาลพิจารณาตามหน้าที่ของบริษัทที่ต้องชำระคืน ทั้งเงินดาวน์และเงินที่ผ่อนชำระค่างวดไปแล้ว นั้นก็คือผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ของบริษัทเชฟโรเล็ต คืนเงินดาวน์ทั้งหมด พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ตั้งแต่วันทำสัญญาจนถึงวันที่ชำระคืนให้ผู้บริโภคจนเสร็จ และให้บริษัทไฟแนนซ์ ผู้ให้เช่าซื้อรถยนต์คืนเงินค่าเช่าซื้อที่ผ่อนไปทั้งหมด พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ตั้งแต่วันรับฟ้องคดีนกว่าจะชำระหมด  และให้โจทก์ชำระเงินค่าใช้รถยนต์ให้กับบริษัทผู้เช่าซื้อรถยนต์วันละ 100 บาท ตั้งแต่วันรับรถจนกว่าจะคืนรถ  แต่อีกคดี ปรากฏว่า แม้ฟ้องคดีต่อศาลชั้นต้นเดียวกัน ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ กลับพิพากษายกฟ้องโจทก์ ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างโจทก์ขออนุญาตฎีกา ดังนั้น จะเห็นได้ว่าจากการฟ้องคดีรถยนต์ดังกล่าวนี้  แม้ข้อเท็จจริงจะเป็นการฟ้องคดีที่ผู้เสียหายมีความเสียหายแบบเดียวกัน มีจำเลยคนเดียวกัน ในปัญหาข้อเท็จจริงแบบเดียวกัน แต่ก็ศาลก็อาจมีผลคำพิพากษาที่แตกต่างกันได้   จากตัวอย่างข้างต้น แสดงให้เห็นว่าปัญหาของผู้บริโภคหลายครั้งเป็นเรื่องที่ไม่ได้เกิดกับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เพราะโดยสภาพของการทำธุรกิจ ย่อมเข้าถึงผู้บริโภคเป็นจำนวนมาก ดังนั้นเมื่อเกิดปัญหาจากการบริโภคสินค้าและบริการ จึงทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้บริโภคจำนวนมาก บางครั้งการร้องเรียนหรือฟ้องคดีเพื่อให้ได้รับการชดเชยเยียวยา อาจไม่ได้รับการดูแลที่เท่าเทียมกัน และผู้บริโภคที่เสียหายแต่ละรายก็ไม่มีกำลังทรัพย์หรือความรู้ที่เท่าทันมากพอที่จะคุ้มครองสิทธิของตนเอง จึงจำเป็นต้องมีการรวมกลุ่มของผู้เสียหายเพื่อให้เกิดอำนาจต่อรอง มีตัวแทนกลุ่มในการเรียกร้องสิทธิ รวมถึงมีกฎหมายที่มีประสิทธิภาพในการคุ้มครองประโยชน์ของคนจำนวนมากจากความเสียหายเดียวกัน[1] จุฬารัตน์  ยะปะนัน. หนังสือจุลนิติ พ.ค. - มิ.ย. 53[2] เกรียงศักดิ์ สวัสดิ์พาณิชย์. สรุปสาระสำคัญการดำเนินคดีแบบกลุ่ม[3] ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค “บทเรียน 10 ปี ศูนย์ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค” 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 211 การเยียวยาผู้ประสบอุบัติเหตุจากรถโดยสารสาธารณะ

   ผู้บริโภคหลายท่านน่าจะเคยใช้บริการรถโดยสารสาธารณะกัน ไม่ว่าระยะทางจะใกล้หรือไกล มีกรณีศึกษาของสมาคมผู้บริโภค จ.ขอนแก่น ที่น่าสนใจพบว่า มีผู้บริโภคหลายท่านที่ประสบอุบัติเหตุแล้วได้รับการชดเชยความเสียหายได้ไม่เต็มที่ เพราะขาดความรู้ที่สำคัญ            คุณเอก(นามสมมติ) ได้โดยสารรถทัวร์ของบริษัทรถชื่อดังแห่งหนึ่ง เส้นทางสายมุกดาหาร - กรุงเทพฯ  เมื่อรถวิ่งมาถึงบริเวณถนนสายมหาสารคาม – บรบือ  รถโดยสารเสียหลักพุ่งเข้าชนกับรถบรรทุก ทำให้คุณเอกและภรรยาที่มาด้วยกันได้รับบาดเจ็บสาหัส ต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลเป็นเวลาหลายเดือน  เป็นเพราะยังบาดเจ็บค่อนข้างสาหัส ทำให้ช่วงแรกไม่รู้ว่าตนเองจะไปเรียกร้องความเสียหายจากใคร  อย่างไรได้บ้าง ต่อมาตัวแทนของทางบริษัทรถโดยสารได้ติดต่อเข้ามาเพื่อขอจ่ายเงินเยียวยาให้แก่ผู้เสียหาย และได้แถลงข่าวว่า ทางบริษัทฯ ยินดีที่จะเยียวยาความเสียหายกับผู้โดยสารทุกราย ไม่เคยทอดทิ้งผู้โดยสาร อย่างไรก็ตามหลังจากได้ข้อมูลเพิ่มเติมจากสมาคมผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่น ซึ่งเสนอตัวเข้าช่วยเหลือทางด้านสิทธิในการเยียวยาเหตุจากรถโดยสารสาธารณะในเหตุการณ์ครั้งนี้ ทำให้คุณเอกพบว่า ทางบริษัทฯ สร้างเงื่อนไขหลายอย่างที่ไม่เป็นธรรมกับผู้เสียหาย บอกข้อมูลที่สำคัญไม่ครบถ้วน คุณเอกจึงปฏิเสธไม่รับเงื่อนไขของบริษัทฯ และยังได้ขอความช่วยเหลือกับสมาคมผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่น ให้ช่วยดำเนินเรื่องฟ้องเรียกค่าเสียหายจากบริษัทฯ  โดยยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดมหาสารคามเมื่อต้นเดือนมีนาคม 2561 และนัดสืบเมื่อ 13 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ต่อมาหลังการเจรจาไกล่เกลี่ย ทางบริษัทรถโดยสารยินดีที่จะจ่ายค่าชดเชยความเสียหายให้กับทั้งสองสามีภรรยาตามที่เรียกร้องไป โดยนัดให้ทางบริษัทฯ นำเงินมาจ่ายค่าเสียหายที่ศาล  และลงบันทึกเป็นหนังสือยินยอมให้คุณเอกถอนฟ้อง  แนวทางแก้ไขปัญหา   เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาในเชิงระบบ  สมาคมผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่น จึงมีข้อเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ กรมการขนส่งทางบกและสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)  ดังนี้ 1. ต้องเปิดเผยข้อมูลการจดทะเบียน สถิติอุบัติเหตุหรือการกระทำความผิดของผู้ประกอบการ ผ่านระบบออนไลน์ของกรมการขนส่งทางบก เพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคเลือกผู้ประกอบการรถโดยสารเพื่อการเช่าเหมาเดินทางได้2. กำหนดเส้นทางเสี่ยงอันตรายสำหรับรถสองชั้น โดยพิจารณาจากสภาพถนน ทางโค้งลาดชัน จำนวนการเกิดอุบัติเหตุ และระยะทางไกล3. ปรับเพิ่มวงเงินประกันภัยภาคบังคับ กรณีเสียชีวิต จาก 300,000 บาท เป็น 1 ล้านบาทต่อราย  โดยให้แยกเงินชดเชยกรณีเสียชีวิตและทุพพลภาพออกจากค่ารักษาพยาบาล และเพิ่มวงเงินกรณีรักษาพยาบาลจาก 80,000 บาท  เป็น 150,000 บาทต่อราย  และปรับเพิ่มวงเงินประกันภัยสมัครใจ เฉพาะการชดเชยเยียวยาผู้ประสบเหตุในส่วนประกันภัยภาคสมัครใจของรถสองชั้น จาก 10 ล้านบาท เป็น 30 ล้านบาทต่อครั้ง และให้แยกค่ารักษาพยาบาลออกจากค่าซ่อมรถ4. มีตัวแทนผู้บริโภคเข้าเป็นคณะกรรมการควบคุมขนส่งทางบกประจำจังหวัด และศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนระดับจังหวัด5.ให้มีกองทุนช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบอุบัติเหตุจากรถโดยสาธารณะภายในปี 2562 แหล่งที่มาของเงิน ให้เรียกจากค่าปรับจากจราจรทางบก และกองทุนเลขสวย 6.ยกระดับคนขับรถโดยสารสาธารณะ ให้เป็นอาชีพที่น่าเชื่อถือ มีเงินเดือนที่เหมาะสม กำหนดอายุในช่วงวัยที่เหมาะสม  โดยผ่านการอบรมพัฒนาทักษะการขับรถ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 211 รู้จักกฎหมายดำเนินคดีแบบกลุ่ม (Class Action) ตอนที่ 1

การดำเนินคดีแบบกลุ่ม หรือ Class Action คืออะไร        การดำเนินคดีแบบกลุ่ม หรือ Class Action เป็นหนึ่งในวิธีพิจารณาความ เพื่อเยียวยาความเสียหายให้แก่กลุ่มผู้เสียหายที่มีจำนวนหลายคน  ให้ทั่วถึง รวดเร็ว เป็นธรรม  สร้างภาระและค่าใช้จ่ายแก่ภาครัฐน้อยที่สุด  โดยมีรูปแบบการดำเนินคดีที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ในการอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชน เนื่องจากเป็นวิธีการที่สามารถคุ้มครองผู้เสียหายจำนวนมากได้ในการทำคดีเพียงครั้งเดียว และสามารถอำนวยความยุติธรรมให้แก่ผู้เสียหายที่ไม่มีความสามารถฟ้องคดีเพื่อตนเองได้ หรือผู้เสียหายที่ได้รับความเสียหายจำนวนเพียงเล็กน้อย หลีกเลี่ยงความซ้ำซ้อนในการฟ้องคดี และป้องกันความขัดแย้งกันของคำพิพากษา ตลอดจนเป็นมาตรการในการลดปริมาณคดีที่จะขึ้นสู่ศาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยประเทศไทย ได้ออกพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 26) พ.ศ. 2558 ว่าด้วยการดำเนินคดีแบบกลุ่ม มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2558 เป็นต้นมา[1]คดีอะไรบ้างที่ฟ้องคดีแบบกลุ่มได้   การดำเนินคดีแบบกลุ่มจะใช้ในกรณีที่มีผู้ถูกโต้แย้งสิทธิเป็นจำนวนมาก เช่น ในคดีคุ้มครองผู้บริโภคที่มีผู้เสียหายจำนวนมากจากการใช้สินค้าและบริการ ซึ่งเกิดจากผู้ประกอบการรายเดียวกัน หรือในคดีละเมิดที่มี ผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำเป็นบุคคลจำนวนมาก   ซึ่งบ่อยครั้งความเสียหาย อาจเกิดจากอุบัติเหตุต่างๆ ไม่ว่าจะทางบก ทางน้ำหรือทางอากาศ ซึ่งแต่ละครั้ง ที่มีเหตุละเมิดดังกล่าวจะมีผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำนั้นเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคดีที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ที่พบปัญหามากขึ้นในปัจจุบัน เพราะการกระทำอันก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมในแต่ละครั้งนั้น จะมีผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำดังกล่าวเป็นจำนวนมากเช่นเดียวกันนอกจากนี้ ยังรวมถึง คดีอื่นๆ เช่น คดีแรงงาน คดีเกี่ยวกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์   การแข่งขันทางการค้า  เป็นต้น[i] ศาลที่มีอำนาจรับฟ้องและพิจารณาพิพากษาคดีแบบกลุ่มได้   ศาลที่มีอำนาจรับฟ้องและพิจารณาพิพากษาคดีแบบกลุ่มได้  คือ ศาลยุติธรรมทุกศาล(ยกเว้น ศาลแขวง) ทั้งศาลแพ่ง  ศาลจังหวัด  ศาลภาษีอากร  ศาลแรงงาน  ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการ ค้าระหว่างประเทศ  เป็นต้น(แต่ไม่รวมไปถึงศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญ) หลักการสำคัญของการฟ้องคดีแบบกลุ่ม·ผู้ที่ได้รับความเสียหายอันเนื่องมาจากข้อเท็จจริงและหลักกฎหมายเดียวกันจะอยู่ในฐานะเป็นสมาชิกกลุ่ม และเฉพาะสมาชิกกลุ่มที่เป็นโจทก์  เท่านั้นที่จะมีฐานะเป็นคู่ความในคดี·โจทก์และทนายความโจทก์ในการดำเนินคดีแบบกลุ่มจะต้องเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติที่จะทำหน้าที่เพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ให้กับสมาชิกกลุ่มได้อย่างเพียงพอและเป็นธรรม โดยศาลจะต้องคัดเลือกผู้ที่จะเป็นโจทก์และทนายความฝ่ายโจทก์อย่างละเอียดรอบคอบ·การเริ่มดำเนินคดีแบบกลุ่มจะต้องได้รับอนุญาตจากศาลเสียก่อน  เมื่อเข้าหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามกฎหมายและตามข้อกำหนดที่จะออกตามมาที่จะสามารถดำเนินคดีแบบกลุ่มได้ทุกประการแล้ว  การดำเนินคดีนั้นๆ ในศาลจะไม่เป็นการดำเนินคดีแบบกลุ่มโดยอัตโนมัติ  แต่โจทก์จะต้องยื่นคำร้องขออนุญาตดำเนินคดีแบบกลุ่มต่อศาลเสียก่อน  และเมื่อศาลอนุญาตแล้ว  จึงจะให้ถือว่าการดำเนินคดีในคดีนั้นเป็นการดำเนินคดีแบบกลุ่ม การยื่นคำร้องฝ่ายโจทก์จะต้องเป็นฝ่ายยื่นคำร้องไปพร้อมกับการยื่นคำฟ้อง·การออกจากลุ่ม โดยสมาชิกกลุ่มมีสิทธิแสดงเจตนาต่อศาลในการขอออกจากการเป็นสมาชิก และไม่ประสงค์จะผูกพันในคำพิพากษาคดีแบบกลุ่ม เพื่อไปฟ้องคดีของตนเองได้·ผลของคำพิพากษาสมควรผูกพันบุคคลอื่นที่ไม่ได้เข้ามาในคดีโดยวิธีการแจ้งหรือประกาศเพื่อให้สมาชิกกลุ่มทราบถึงความเคลื่อนไหวของคดีและทราบถึงสิทธิของตน·โจทก์ ต้องมีความสามารถทำแทนคนอื่นได้ กล่าวคือ โจทก์จะต้องทำหน้าที่แทนสมาชิกกลุ่มทั้งหมดซึ่งอาจมีจำนวนมากโดยที่ไม่เคยพบปะกันมาก่อน และการทำหน้าที่ของโจทก์จะส่งผลกระทบต่อสมาชิกกลุ่มคนอื่นๆ โจทก์จึงเป็นตัวละครที่มีความสำคัญมาก จึงมีความจำเป็นที่ศาลจะต้องควบคุมตรวจสอบผู้ที่เป็นผู้แทนกลุ่มโดยเคร่งครัด ·กลุ่มบุคคล แม้ความเสียหายต่างกันก็ดำเนินคดีแบบกลุ่มได้  หมายถึง บุคคลที่มีสิทธิอย่างเดียวกัน เนื่องจากข้อเท็จจริงและกฎหมายอย่างเดียวกัน และมีลักษณะเฉพาะของกลุ่มเหมือนกัน แม้ว่าลักษณะของความเสียหายจะแตกต่างกันก็ตาม เช่น นางสาวแดง ฟ้า และส้ม ซื้อเครื่องสำอางยี่ห้อหนึ่ง จากห้างสรรพสินค้าคนละที่ คนละจังหวัดกันไม่ได้รู้จักกันมาก่อน แต่ปรากฎว่าพอทุกคนใช้เครื่องสำอางเกิดอาการเป็นผื่นแดง ผิวลอกลาย ต้องไปหาหมอเสียค่ารักษาพยาบาล กรณีเช่นนี้ทั้งสามคนถือว่าเป็นกลุ่มบุคคล เมื่อมาร้องเรียนและรวมกลุ่มกัน ก็สามารถตกลงกันให้ใครคนหนึ่งเป็นตัวแทน ฟ้องร้องและดำเนินคดีแบบกลุ่มกับบริษัทเครื่องสำอางได้ โดยคนที่เหลือก็เป็นสมาชิกกลุ่ม แม้แต่ละคนจะมีความเสียหายต่างกันก็ตาม ·ทนายความฝ่ายโจทก์ ต้องรับผิดชอบสูงจึงมีสิทธิได้รับเงินรางวัล หลังจากที่ศาลอนุญาตให้มีการดำเนินคดีแบบกลุ่มแล้ว ทนายความของโจทก์จะทำหน้าที่เป็นทนายความของกลุ่มด้วย ซึ่งบทบาทของทนายความฝ่ายโจทก์นี้ก็มีความสำคัญไม่แพ้ตัวโจทก์ เพราะทนายความจะเป็นผู้รวบรวมผู้ที่ได้รับความเสียหาย รวบรวมพยานหลักฐาน รวมทั้งจ่ายเงินทดรองในการดำเนินคดีทั้งหมดไปก่อน เช่น ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการแสวงหาพยานหลักฐานและค่าใช้จ่ายในการติดต่อประสานงานสมาชิกกลุ่ม เป็นต้น ซึ่งกฎหมายได้กำหนดความสามารถของทนายความฝ่ายโจทก์ไว้ว่า ต้องสามารถดำเนินคดีคุ้มครองสิทธิของกลุ่มได้อย่างเพียงพอและเป็นธรรม และต้องไม่มีผลประโยชน์ขัดหรือแย้งกับสมาชิกกลุ่ม หากปรากฏว่าทนายความไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเหมาะสม หรือเมื่อทนายความถอนตัว สมาชิกกลุ่มสามารถร้องขอต่อศาลให้มีการเปลี่ยนตัวทนายความฝ่ายโจทก์ได้  ทนายความของกลุ่มจึงมีภาระหน้าที่สูงกว่าทนายความคดีทั่วไป เนื่องจากต้องดูแลรักษาผลประโยชน์ให้คนเป็นจำนวนมากและต้องเป็นผู้รับความเสี่ยงในการออกค่าใช้จ่ายต่างๆ ไปก่อน ดังนั้น เพื่อเป็นค่าตอบแทนและแรงจูงใจ กฎหมายจึงกำหนดให้ทนายความกลุ่มมีสิทธิได้รับเงินรางวัลทนายความ ศาลจะเป็นผู้กำหนดเงินรางวัลทนายความให้เมื่อการดำเนินคดีสิ้นสุดแล้ว โดยพิจารณาจากความยากง่ายของคดี และระยะเวลาการทำงาน รวมทั้งค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการดำเนินแบบกลุ่ม  แต่ไม่เกินจำนวนร้อยละ 30 ของจำนวนค่าเสียหายที่สมาชิกกลุ่มมีสิทธิได้รับ โดยจำเลยเป็นผู้มีหน้าที่จ่ายเงินรางวัลให้ทนายความ·ศาล ต้องแสวงหาข้อเท็จจริงแบบเชิงรุก ในระบบวิธีพิจารณาปกติ ศาลจะดำเนินกระบวนการพิจารณาด้วยระบบกล่าวหา คือ โจทก์และจำเลยนำเสนอพยานหลักฐานของตนต่อศาล ศาลมีหน้าที่ชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานและตัดสินไปตามที่ปรากฏ แต่ในการพิจารณาคดีแบบกลุ่มนั้น ศาลจะมีบทบาทในเชิงรุกโดยใช้ระบบไต่สวนในการพิจารณา กล่าวคือ ศาลมีอำนาจในการแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมได้เอง ไม่ผูกพันอยู่เฉพาะแต่พยานหลักฐานที่คู่ความนำเสนอเท่านั้น  โดยมีเจ้าพนักงานคดีแบบกลุ่มทำหน้าที่ช่วยเหลือศาล·เมื่อมีการพิจารณาคดีแบบกลุ่มแล้ว หากศาลเห็นว่าสมาชิกในกลุ่มได้รับความเสียหายต่างกัน ศาลก็สามารถแบ่งสมาชิกในกลุ่มออกเป็นกลุ่มย่อยๆ ได้ เพื่อความสะดวกในการพิสูจน์เรื่องจำนวนค่าเสียหาย[2] สิทธิของสมาชิกกลุ่ม (ที่ไม่ได้เป็นโจทก์ผู้เริ่มคดี)       มีสิทธิดังนี้ 1. เข้าฟังการพิจารณาคดี2. ร้องขอต่อศาลถ้าเห็นว่าโจทก์ไม่มีคุณสมบัติหรือส่วนได้เสียในคดี3. ขอตรวจเอกสารหรือขอคัดสำเนาเอกสารในสำนวนความ4. จัดหาทนายคนใหม่แทนทนายที่ขอถอนตัวหรือที่ศาลสั่งเปลี่ยนทนาย5. ร้องขอเข้าแทนที่โจทก์6. คัดค้านสมาชิกอื่นในกลุ่มที่ร้องขอเข้าแทนที่โจทก์7. คัดค้านการที่โจทก์ขอถอนฟ้อง8. คัดค้านการตกลงหรือการประนีประนอมยอมความ9. คัดค้านการตกลงเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการเป็นผู้ชี้ขาด10.ตรวจและโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของสมาชิกอื่น11. แต่งตั้งทนายความให้เป็นผู้ดำเนินการแทนตนตาม 1 ถึง 10 ข้างต้นได้ประโยชน์ของการฟ้องคดีแบบกลุ่ม·ลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี·เป็นมาตรการที่เพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการยุติธรรมให้มากขึ้น·ทำให้การดำเนินคดีในปัญหาอย่างเดียวกันได้รับผลเป็นอย่างเดียวกันโดยจำเลยจะไม่ได้รับผลกระทบจากคำพิพากษาที่แตกต่างกัน·ทำให้ผู้ที่จะฝ่าฝืนกฎหมายเกิดความยับยั้งชั่งใจในการที่จะก่อให้เกิดความเสียหาย·เป็นมาตรการที่ได้รับความคุ้มครองผู้ด้อยโอกาสทางสังคม และผู้ที่ได้รับความเสียหายเพียงเล็กน้อยให้ได้รับการเยียวยาแก้ไขตัวอย่างคดีผู้บริโภคที่มูลนิธิฟ้องเป็นคดีแบบกลุ่มนับตั้งแต่มีกฎหมายฟ้องคดีแบบกลุ่มประกาศใช้ในประเทศไทยในปี 2558  มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคเห็นความสำคัญของการดำเนินคดีแบบกลุ่ม จึงมีการสนับสนุนผู้บริโภคให้เกิดการรวมกลุ่ม และฟ้องคดีผู้บริโภคแบบกลุ่มในหลายกรณี ที่สำคัญ ดังนี้ 1.ฟ้องคดีสินค้าไม่ปลอดภัย กรณีเครื่องสำอางเมื่อวันที่   18  กันยายน  2560   กลุ่มผู้เสียหายได้ยื่นฟ้องผู้ประกอบธุรกิจเป็นคดีผู้บริโภค และขอให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม เรียกค่าเสียหายตามพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ.2551  คดีนี้สืบเนื่องจากจำเลย เป็นผู้จำหน่ายเครื่องสำอางใช้ชื่อการค้าว่า “เมย์โรว”  โดยผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง คือ เพิร์ลลี่ อินแทนซีพ ไวท์ โลชั่น เป็นเครื่องสำอางประเภทผลิตภัณฑ์บำรุงผิวกาย เพื่อจำหน่ายให้ประชาชนทั่วไป ด้วยการโฆษณา และจำหน่ายสินค้าทางสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อสังคมออนไลน์ เฟซบุ๊ค ตัวแทนจำหน่าย และอื่นๆ โดยได้โฆษณาชวนเชื่อในลักษณะเชิญชวนให้ประชาชนทั่วไปเกิดความเชื่อถือเมื่อใช้ผลิตภัณฑ์ของจำเลยว่า “ผิวขาวสวย ปัง ปัง ปัง”  “ขาวสุดพลัง ขาวได้มง อยากขาว ต้องลอง” และอื่นๆจากการโฆษณาชวนเชื่อของจำเลยดังกล่าว เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสี่ และผู้บริโภครายอื่นอีกหลายรายเชื่อว่าสินค้าของจำเลยเป็นจริงตามที่โฆษณา ปลอดภัยต่อสุขภาพ และร่างกาย จึงซื้อสินค้าของจำเลยมาใช้กับตนตามที่จำเลยโฆษณา แต่เมื่อมีการใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางประเภทบำรุงผิวกายของจำเลยเป็นประจำทุกวัน ปรากฏว่ามีอาการปวดแสบ ปวดร้อน มีรอยแตกลาย เป็นแผลเป็นบริเวณแขน และขา อันเกิดจากการแพ้สารเคมีที่ผสมอยู่ในเครื่องสำอางของจำเลย เมื่อไปพบแพทย์เพื่อรักษาอาการเจ็บป่วย แพทย์วินิจฉัยว่าสาเหตุที่ผิวหนังแตกลายเกิดจากการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสม สารสเตียรอยด์ และไม่สามารถรักษาผิวหนังให้กลับมาเป็นปกติได้  ผลการดำเนินการ  ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้โจทก์ทั้งสี่ดำเนินคดีแบบกลุ่ม ให้ยกคำร้อง ต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 9 อนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม และมีการประกาศแจ้งการดำเนินคดีแบบกลุ่มลงหนังสือพิมพ์ ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่าง นัดพร้อมและนัดไต่สวนคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราว2.ฟ้องคดีสินค้าโฆษณาเกินความเป็นจริงเมื่อวันที่   30  มิถุนายน 2560   กลุ่มผู้เสียหายได้ยื่นฟ้องบริษัท เป็นคดีผู้บริโภคและขอให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม โดยมีสมาชิกกลุ่มจำนวน 72 คน  ต่อศาลแพ่ง เรียกเงินคืน และเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน  1,650  ล้านบาท จากการโฆษณาสินค้าเกินความเป็นจริงและสินค้าดังกล่าวไม่เป็นไปตามโฆษณา   คดีนี้สืบเนื่องจากจำเลย เป็นผู้จำหน่าย “กระทะโคเรียคิง (KOREA KING)” โดยจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภคทั่วไป ด้วยการโฆษณา และจำหน่ายสินค้าของจำเลยทางสื่อโฆษณาทางช่องโทรทัศน์ สื่อสังคมออนไลน์ เฟสบุ๊ค และอื่นๆ โดยได้โฆษณาชวนเชื่อในลักษณะเชิญชวนให้ผู้บริโภคทั่วไปเกิดความเชื่อถือว่าผลิตภัณฑ์ของจำเลยเป็นกระทะไม่ใช้น้ำมัน ทำอาหารไม่ติดกระทะ ราคาถูก เหมาะสำหรับทำอาหารคลีน หรืออาหารเพื่อสุขภาพ เป็นกระทะที่ขายดีที่สุดในประเทศไทย  จากการโฆษณาชวนเชื่อของจำเลยดังกล่าว เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสอง และผู้บริโภครายอื่นๆ อีกจำนวนมากหลงเชื่อว่าสินค้าของจำเลยมีราคาแพง แต่จำเลยจัดรายการส่งเสริมการขาย(PROMOTION) จำหน่ายในราคาพิเศษ และสินค้ามีคุณสมบัติเป็นจริงตามที่โฆษณา รวมทั้งปลอดภัยต่อสุขภาพ และร่างกาย จึงสำคัญผิดในสาระสำคัญของราคา และคุณสมบัติของสินค้าจำเลย จึงซื้อสินค้าจำเลยมาใช้กับตนและครอบครัวตามที่จำเลยโฆษณา  เมื่อโจทก์ทั้งสองและผู้บริโภครายอื่นๆ ได้ใช้สินค้าของจำเลยตามวิธีการที่จำเลยโฆษณาไว้ ผลปรากฏว่าไม่เป็นไปตามที่จำเลยโฆษณาไว้ เช่น กระทะดำไหม้  อาหารติดกระทะ ไม่ทนความร้อน ฯลฯ           ผลการดำเนินการ  ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างไต่สวนคำร้องขอให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม3.ฟ้องคดีบริษัทคิดค่าโทรศัพท์เกินจริง   เมื่อวันที่   15 พฤษภาคม  2561   ผู้เสียหายได้ยื่นฟ้องบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ จากการที่ผู้เสียหายถูกคิดค่าโทรศัพท์ปัดเศษวินาทีเป็นนาที ทำให้ผู้บริโภคถูกเอาเปรียบจากการคิดค่าบริการเกินจริงเป็นวงกว้าง  มีการแยกฟ้องเป็นสามคดี ตามค่ายมือถือ คือ เอไอเอส ดีแทคและทรู  เรียกค่าเสียหายรวมไม่น้อยกว่า 2.2 หมื่นล้านบาท เพื่อให้จ่ายให้ชดเชยและเยียวยาแก่ผู้ใช้มือถือทุกคนกว่า 90 ล้านเลขหมายในประเทศไทย กำหนดโจทก์ผู้ฟ้องคดี  เป็นแกนนำคดีละ 2 คน  แบ่งตามผู้ใช้บริการแบบรายเดือนกับเติมเงิน  โดยแบ่งเป็นสองศาล คือ คดีดีแทค ยื่นฟ้องที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เป็นคดีหมายเลขดำที่ ผบ.527/2561 ซึ่งศาลได้นัดไต่สวนคำร้องดำเนินคดีแบบกลุ่ม ในวันที่  18  มิถุนายน  2561 เวลา 9.00 น. ส่วนเอไอเอสและทรู  ยื่นฟ้องที่ศาลแพ่ง (รัชดา) โดยเอไอเอสเป็นคดีหมายเลขดำที่ ผบ. 2023/2561  และทรู เป็นคดีหมายเลขดำที่ ผบ. 2031/2561  และมีการแถลงข่าวต่อสาธารณะ เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2561  ณ สำนักงานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคผลการดำเนินการ   โดยทั้งสามคดีอยู่ระหว่างศาลนัดไต่สวนคำร้องดำเนินคดีแบบกลุ่ม[3] 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 211 ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์ รู้หรือไม่ เรียกได้จากใคร?

        หลายคนอาจจะไม่เคยรู้มาก่อน กรณีรถยนต์ โดนรถของคู่กรณีชนได้รับความเสียหาย ถ้าท่านเป็นฝ่ายถูก และไม่ได้มีส่วนร่วมในการประมาทที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้น จะเรียกร้องค่าขาดประโยชน์การใช้รถยนต์ได้จากใคร?         ถ้าเราเป็นฝ่ายถูก  สามารถเรียกร้องค่าขาดประโยชน์การใช้รถยนต์จากบริษัทประกันภัยของรถยนต์คู่กรณีได้ ไม่ใช่เรียกจากบริษัทประกันภัยรถยนต์ของตนเองนะครับ        การเรียกร้องต้องทำอย่างไร ยุ่งยากหรือเปล่า?  ขอเริ่มดังนี้ คือ        1.    เราต้องขอใบเคลมรถยนต์ของคู่กรณี สำหรับยืนยันว่ารถยนต์คู่กรณีป็นฝ่ายผิด และถ่ายรูปใบเคลม กรมธรรม์ประกันภัยของรถยนต์คู่กรณีไว้ เพื่อจะได้ทราบรายละเอียด เช่น ชื่อบริษัทประกันภัย เบอร์โทรศัพท์ ทะเบียนรถยนต์ของคู่กรณี  ชื่อผู้ขับขี่ และเลขการเคลมประกัน         2.  หลังจากนั้นให้ท่านนำรถยนต์เข้าซ่อมที่ศูนย์ หรืออู่ในเครือบริษัทประกันของท่าน        3.  เมื่อซ่อมรถยนต์เสร็จ ให้ขอรายการซ่อมแซมรถยนต์ว่ามีรายการอะไรบ้าง และใบรับรถยนต์จากศูนย์หรืออู่ซ่อม โดยต้องระบุวันที่เข้าซ่อม และวันที่ซ่อมรถยนต์เสร็จ จากศูนย์หรืออู่ที่ท่านนำรถยนต์เข้าซ่อม         4. ให้ติดต่อบริษัทประกันภัยรถยนต์คู่กรณี เพื่อเรียกร้องค่าขาดประโยชน์การใช้รถยนต์ โดยใช้เอกสารประกอบดังนี้                   - สำเนาบัตรประชาชนเจ้าของรถยนต์                   - สำเนาทะเบียนรถยนต์                   - สำเนากรมธรรม์ของผู้เรียกร้อง                   - ใบรับรถยนต์จากศูนย์ หรืออู่ซ่อม                   - รายการซ่อมแซมรถยนต์ที่เสียหาย                   - ภาพถ่ายรถยนต์ที่เกิดอุบัติเหตุ                   - สำเนาหน้าบัญชีธนาคาร                   - หนังสือเรียกร้องค่าขาดประโยชน์การใช้รถยนต์                   - หนังสือมอบอำนาจ (กรณีไม่สามารถดำเนินการด้วยตนเองได้)       5. การติดต่อบริษัทประกันของรถยนต์คู่กรณี ถ้าสะดวกไปที่สำนักงานใหญ่ ก็จะรวดเร็วกว่า แต่ถ้าท่านอยู่ต่างจังหวัดหรือไม่สะดวกไปที่สำนักงานใหญ่ ให้ติดต่อผ่านสำนักงานสาขาของบริษัทประกันภัยนั้นๆ สาขาเขาจะส่งเรื่องต่อเข้าไปที่สำนักงานใหญ่เอง แต่อาจจะให้เวลานานกว่ายื่นเองที่สำนักงานใหญ่             ท่านสามารถเรียกค่าขาดประโยชน์การใช้รถยนต์ ที่ต้องใช้พาหนะอื่นๆ ในการเดินทางแทน เช่น ค่ารถแท็กซี่ หรือค่ารถจักรยานยนต์รับจ้าง  โดยคำนวณค่าใช้จ่ายทั้งหมดเป็นรายวัน  คูณ กับจำนวนวันที่ท่านนำรถยนต์เข้าซ่อม             ค่าขาดประโยชน์การใช้รถยนต์บริษัทประกันภัยมีแนวปฏิบัติคราว ๆ  ไว้ว่าจะต้องจ่ายดังนี้     1.    รถยนต์นั่งส่วนบุคคล หรือรถเก๋ง บริษัทประกันภัยจะจ่ายประมาณวันละ 300 – 400 บาท     2.    รถกระบะที่ใช้ในการบรรทุก หรือรับขนส่งสินค้า บริษัทประกันภัยจะจ่ายประมาณวันละ 500 – 700 บาท     3.    รถตู้ที่วิ่งโดยสาร บริษัทประกันภัยจะจ่ายประมาณวันละ  1,000 บาท         กรณีที่ท่านมีค่าใช้จ่ายในการเดินทาง หรือค่าขาดประโยชน์มากกว่าตัวเลขดังกล่าว ก็สามารถเรียกตามจริงไปก่อนได้ เพราะว่าบริษัทประกันภัยจะต้องมีการเจรจาต่อรองกับท่านอีกครั้ง พร้อมกันนี้ผมได้แนบ ตัวอย่างหนังสือเรียกร้องค่าขาดประโยชน์การใช้รถยนต์ เพื่อให้ง่ายสำหรับผู้อ่านในการเรียกร้องจากบริษัทประกันภัย        เมื่อเจรจาตกลงกับบริษัทประกันภัยรถยนต์คู่กรณีได้แล้ว เขาจะให้ท่านลงนามในหนังสือประนีประนอมยอมระงับข้อพิพาท  สำหรับตัวเงินที่ตกลงกันได้   หลังจากนั้นบริษัทประกันภัยคู่กรณี จะโอนเงินค่าขาดประโยชน์การใช้รถยนต์ให้ท่าน เป็นอันเสร็จกระบวนการเรียกร้อง        ผู้เขียนหวังว่าผู้อ่านคงจะได้ความรู้ ในการเรียกร้องค่าขาดประโยชน์การใช้รถยนต์ เพื่อบรรเทาความเสียหายที่ต้องเสียค่าเดินทางด้วยพาหนะอย่างอื่น แทนการใช้รถยนต์ของตนเอง  แล้วพบกันใหม่ในโอกาสหน้าครับ…..

อ่านเพิ่มเติม >