ฉบับที่ 124 ไอเสียรั่วในรถโตโยต้า อินโนว่า ศาลสั่งเปลี่ยนรถใหม่ให้ผู้บริโภค

 ศาลแพ่งธนบุรีพิพากษาสั่ง โตโยต้าเปลี่ยนรถใหม่ให้ผู้บริโภค เหตุเชื่อว่ารถมีความบกพร่องก่อนส่งมอบให้ผู้บริโภค คิดเป็นมูลค่าความเสียหายเป็นเงิน 759,850 บาท หลังฟ้องศาลผู้บริโภค 1 ปีเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน คุณสุภาภรณ์ ว่องวีรวัฒนกุล กับบุตร 3 คน เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง บริษัท โตโยต้า ธนบุรี จำกัด เป็นจำเลยที่ 1 บริษัท โตโยต้า ทีบีเอ็น จำกัด เป็นจำเลยที่ 2 และ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศ ไทย จำกัด เป็นจำเลยที่ 3 เป็นคดีผู้บริโภค เรียกค่าเสียหาย 5 ล้านบาท สาเหตุที่ฟ้องร้องกันเนื่องจาก คุณสุภาภรณ์ได้ซื้อรถยนต์โตโยต้า รุ่นอินโนว่า แต่ปรากฏว่ามีไอเสียจากเครื่องยนต์รั่วเข้ามาในห้องโดยสารทำให้คุณสุภาภรณ์และบุตรซึ่งใช้รถคันนี้ไปรับส่งลูกที่โรงเรียนเป็นประจำมีสุขภาพย่ำแย่ไปตามๆ กันจุดเริ่มต้นของเรื่องเกิดขึ้น เมื่อประมาณเดือนธันวาคม พ.ศ.2547 คุณสุภาภรณ์ไปเที่ยวงานมหกรรมรถยนต์ที่ศูนย์แสดงสินค้าเมืองทองธานี และได้ตกลงซื้อรถยนต์โตโยต้า อินโนว่า ใช้เชื้อเพลิงน้ำมันดีเซลกับบริษัท โตโยต้า ธนบุรี จำกัด ต่อมาได้รับโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์คันดังกล่าวมาเป็นที่เรียบร้อย ก็ได้ใช้งานตามปกติวิสัยรวมทั้งใช้รับส่งลูกทั้งสามไป-กลับโรงเรียนเช้า-เย็นตั้งแต่จันทร์-ศุกร์ เท่ากับว่าคุณสุภาภรณ์กับลูกๆ ต้องอยู่ในรถยนต์คันดังกล่าววันละประมาณ 5-6 ชั่วโมงหลังจากนั้นไม่นาน คุณสุภาภรณ์เริ่มรู้สึกว่า มีกลิ่นคล้ายกลิ่นจากท่อไอเสียเข้ามาในห้องโดยสาร จึงได้แจ้งกับพนักงานขายของบริษัท โตโยต้า ธนบุรีฯ พนักงานก็แจ้งว่าเป็นเรื่องปกติของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล ซึ่งคุณสุภาภรณ์ไม่เคยใช้รถยนต์เครื่องยนต์ดีเซลมาก่อน จึงไม่ทราบว่าว่าเป็นเรื่องปกติหรือไม่ คุณสุภาภรณ์ใช้รถยนต์คันนี้ (ร่วมกับกลิ่นท่อไอเสีย) จนครบระยะ 50,000 กิโลเมตร เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ.2549 จึงได้นำรถยนต์เข้าตรวจเช็คกับศูนย์บริการซ่อมรถยนต์ของโตโยต้า โดยแจ้งกับพนักงานว่า มีกลิ่นควันคล้ายกลิ่นท่อไอเสียเข้ามาในห้องโดยสาร พนักงานแจ้งว่า เป็นเรื่องปกติของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลและแนะนำให้คุณสุภาภรณ์ติดตั้งเครื่องฟอกอากาศ ติดตั้งเครื่องฟอกอากาศไปแล้วแต่กลิ่นดังกล่าวก็ยังไม่หายไป และเริ่มมีคราบเขม่าเข้ามาในห้องโดยสาร จึงได้นำรถกลับไปให้ศูนย์ดูอีกหลายครั้งก็ได้รับคำตอบเหมือนเดิมว่า “ไม่เป็นไร เป็นธรรมดาของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล”ยิ่งใช้รถไปรอยคราบเขม่าในห้องโดยสารยิ่งชัดยิ่งมากขึ้นเรื่อยๆ ต่อมาในเดือนตุลาคม พ.ศ.2552 จึงได้มีการนัดตรวจรถยนต์คันนี้ โดยมีเจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีเข้าร่วมเป็นสักขีพยานในการตรวจสอบว่ามีควันพิษของท่อไอเสียรั่วไหลอยู่ในห้องโดยสารของรถจริงหรือไม่ โดยทำการตรวจวัดประมาณ 1 ชั่วโมง ใช้วิธีขับรถยนต์รอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โดยนำรถยนต์อีกยี่ห้อหนึ่งมาเปรียบเทียบกับรถของคุณสุภาภรณ์ ผลปรากฏว่า พบค่าก๊าซคาร์บอนมอนอกไซค์ในห้องโดยสารรถยนต์ของคุณสุภาภรณ์สูงถึง 16 พีพีเอ็ม ส่วนรถยนต์ยี่ห้อที่นำมาเปรียบเทียบตรวจไม่พบก๊าซดังกล่าวคุณสุภาภรณ์ มาทราบภายหลังว่า รถยนต์ที่ซื้อมาตั้งแต่ปี 2547 มีก๊าซอันตรายและเขม่าจากไอท่อไอเสียเข้ามาในห้องโดยสาร และเป็นอันตรายต่อสุขภาพของตนและลูกทั้งสาม จึงหยุดใช้รถยนต์คันนี้ตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2552 และได้ยื่นฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคในเวลาต่อมา ผลของคำพิพากษาวันที่ 25 พฤษภาคม 2554 ศาลแพ่งธนบุรีออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาในคดี ซึ่งได้ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานการนำสืบของฝั่งผู้บริโภคและผู้ประกอบธุรกิจแล้ว เห็นว่า จำเลย(โตโยต้า)ไม่สามารถพิสูจน์ถึงข้อเท็จจริงและสาเหตุของปัญหาไอเสียเครื่องยนต์ที่รั่วเข้ามาในห้องโดยสารได้ว่า เหตุของไอเสียเกิดจากสภาพการใช้งานของผู้บริโภคไม่ได้เกิดจากปัญหาการผลิต ทำให้เชื่อได้ว่า รถยนต์คันพิพาทมีความชำรุดบกพร่องมาตั้งแต่บริษัทโตโยต้า ธนบุรี จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ให้แก่คุณสุภาภรณ์ และไม่ได้เกิดจากการใช้งานของคุณสุภาภรณ์แต่อย่างใด ดังนั้นบริษัทโตโยต้า ธนบุรี จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จำหน่าย และ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ประเทศไทย จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ผลิต นำเข้า จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ ในความชำรุดบกพร่องของสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานพิพากษาให้บริษัททั้งสอง เปลี่ยนรถยนต์คันใหม่ที่เป็นรุ่นเดียวกับที่ขายให้กับคุณสุภาภรณ์ หรือไม่ก็ซื้อรถยนต์คันที่มีปัญหาคืน ในราคา 759,850 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีจนกว่าจะดำเนินการเสร็จสิ้น และยังสั่งให้จ่ายค่าเสียหายแก่ผู้บริโภคอีก 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตรา 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2552 หรือวันที่คุณสุภาภรณ์รู้ว่าในรถมีควันพิษและหยุดใช้รถ“รู้สึกพอใจกับคำพิพากษามากและรู้ว่าความยุติธรรมมีอยู่จริง ซึ่งกฎหมายผู้บริโภคเอื้อประโยชน์ให้กับผู้บริโภคให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ จึงอยากฝากบอกกับผู้บริโภคที่มีปัญหาว่าให้ลุกขึ้นมาต่อสู้ตามกระบวนการทางกฎหมายเหมือนดิฉัน” คุณสุภาภรณ์กล่าว  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 121 เซลล์ขายประกัน “ไทยคาร์ดิฟ” ลวงผู้บริโภคทำประกันทางโทรศัพท์

ผู้บริโภคแฉตัวแทนประกันชีวิต “ไทยคาร์ดิฟ” ใช้เล่ห์ลวงล้วงข้อมูลส่วนตัวกลายเป็นการสมัครทำประกันภัยทางโทรศัพท์ ต้องเสียเวลาเสียค่าใช้จ่ายในการบอกเลิกการทำประกัน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภครายหนึ่งซึ่งขอสงวนนามได้แจ้งว่า ตนถูกบุคคลซึ่งอ้างตัวว่าเป็นตัวแทนประกันของบริษัทประกันภัย ไทยคาร์ดิฟ ประกันชีวิต จำกัด โทรฯ มาเชิญชวนให้ทำประกันภัย ผุ้บริโภครายนี้ได้ให้ข้อมูลว่า เหตุเกิดเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2554 เวลา 14.58 นาฬิกา ได้มีพนักงานโทรฯ เข้ามาเสนอการทำประกันภัยกับตน ในส่วนของประกันชีวิตกลุ่ม สำหรับลูกค้าแผนความคุ้มครอง AEON BETTER LIFE โดยขอบันทึกเสียงการสนทนาไว้ด้วย ซึ่งผู้บริโภคได้ปฏิเสธไปอย่างชัดเจนว่าไม่สนใจที่จะทำประกันภัยที่ทางพนักงานโทรฯ มาเสนอแทนที่ตัวแทนประกันจะยุติการสนทนาโดยทันที ตัวแทนประกันรายนี้กลับใช้เล่ห์ลวง แจ้งว่าให้ผู้บริโภคบอกข้อมูลเลขบัตรประชาชน และผู้รับผลประโยชน์เพื่อออกเอกสารส่งมาให้ดูก่อนเท่านั้น หากว่าได้รับเอกสารและอ่านแล้วไม่พึงพอใจที่จะทำประกันภัยผู้บริโภคก็เพียงฉีกเอกสารทิ้ง ไม่ต้องไปชำระเงินประกันภัยและจะไม่มีผลใดๆ กับตัวผู้บริโภค ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ผู้บริโภคท่านนี้จึงบอกข้อมูลไป ในเวลาต่อมาก็ได้รับเอกสารจากทางบริษัทเป็นกรมธรรม์ประกันภัยที่ตนไม่ได้ต้องการตั้งแต่แรก ทำให้ต้องเสียเวลาเพื่อโทรศัพท์ยกเลิกการทำประกันภัยกับทางบริษัท และยังต้องเสียค่าใช้จ่ายในการแฟ็กซ์สำเนาบัตรประชาชนไปที่บริษัทเพื่อทำการยกเลิกและเป็นการยืนยันว่าไม่ประสงค์ที่จะทำประกันภัยกับทางบริษัท!!!!! แนวทางแก้ไขปัญหา ในปัญหาที่มีการร้องเรียนมาจากผู้บริโภครายนี้ มีข้อแนะนำคือ ในการเสนอขายประกันทางโทรศัพท์นั้นผู้บริโภคสามารถปฏิเสธการเจรจาได้ตลอดเวลา ซึ่งการเสนอขายประกันทางโทรศัพท์ เมื่อผู้บริโภคไม่ประสงค์จะทำประกันภัย ไม่ต้องการรับการติดต่อ ตัวแทนประกันชีวิต นายหน้าประกันชีวิตต้องยุติการสนทนาทันทีการที่ยังมีความพยายามเจรจาที่จะเสนอขายประกันต่อไปและใช้วิธีล่อลวงเพื่อให้ได้ข้อมูลส่วนตัวของผู้บริโภคในลักษณะนี้ถือเป็นการกระทำผิดต่อประกาศของคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์วิธีการเสนอขายกรมธรรมประกันภัยผ่านทางโทรศัพท์ พ.ศ.2552 หากตัวแทนประกันชีวิต นายหน้าประกันชีวิต ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามประกาศนี้อาจเป็นเหตุให้นายทะเบียนมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันชีวิต หรือใบอนุญาตเป็นนายหน้าประกันชีวิตได้  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 120 รายงานปัญหาผู้บริโภค ปี 2553 และจับตาภัยผู้บริโภคปี 2554 ตอนที่ 2

1. ปัญหาด้านสื่อและโทรคมนาคม• เอสเอ็มเอสกวนใจ และอินเตอร์เน็ตสุดอืดปัญหากลุ่มนี้ อันดับหนึ่งเป็นปัญหาของการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ราวร้อยละ 48 และอันดับสองคือ ปัญหาการใช้บริการอินเตอร์เน็ตร้อยละ 33 ในกลุ่มปัญหาโทรศัพท์เคลื่อนที่นั้น เรื่องที่มีการร้องเรียนเข้ามามากที่สุดคือ ปัญหาเอสเอ็มเอสกวนใจ หรือสมัครเข้าใช้บริการโดยไม่ได้ตั้งใจและถูกหักเงินค่าใช้บริการ ซึ่งเรื่องนี้จะเชื่อมโยงกับปัญหาการคิดค่าบริการผิดพลาดด้วย เนื่องจากถูกหักเงินโดยไม่ทราบเหตุผลส่วนปัญหาอินเตอร์เน็ตนั้น จะมีสองเรื่องใหญ่ที่ผู้บริโภคร้องเรียนคือ ปัญหาเน็ตช้า ไม่เร็วอย่างที่โฆษณา และปัญหาซื้อสินค้าผ่านเน็ต ถูกหลอกให้โอนเงินแต่ไม่ได้สินค้า แนวทางแก้ไข• กรณีมีเอสเอ็มเอสขยะเข้ามากวนใจตลอดเวลา ผู้บริโภคสามารถทำข้อตกลงกับผู้ให้บริการมือถือได้ว่าโทรศัพท์มือถือเบอร์ใดที่ไม่ต้องการรับเอสเอ็มเอสขยะได้ และหากยังมีเข้ามาอีกก็สามารถเรียกค่าเสียหายกับผู้ให้บริการได้ เพราะถือว่าได้ทำสัญญาตกลงกันแล้ว• กรณีสมัครเอสเอ็มเอส โดยไม่ตั้งใจ เมื่อทราบว่าเกิดปัญหานี้ขึ้นให้ผู้บริโภคติดต่อกับผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือโดยทันที เพื่อแจ้งยกเลิกการใช้บริการรับข้อความเอสเอ็มเอสและมิให้เรียกเก็บเงิน หรือหากมีการหักเงินเรียกเก็บไปแล้ว ก็ให้ผู้ให้บริการมือถือคืนเงินโดยทันที เพราะถือว่าเป็นการใช้บริการที่ผู้บริโภคไม่ได้ตั้งใจสมัคร• ปัญหาเน็ตช้า ผู้บริโภคควรเข้าไปในเว็บไซต์ที่มีบริการตรวจสอบความเร็วเน็ต และปริ้นท์ข้อมูลไว้เป็นหลักฐาน หากความเร็วเน็ตที่ใช้ได้ไม่ถึง 80% จากความเร็วที่โฆษณา ผู้บริโภคสามารถเรียกร้องให้ผู้ให้บริการแก้ไขปัญหาให้มีความเร็วตามที่โฆษณาได้และยังขอลดหย่อนค่าบริการได้ หรือปฏิเสธการจ่ายค่าบริการได้ หากไม่สามารถใช้บริการอินเตอร์เน็ตได้ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งที่มีหลักฐานชัดเจน• ส่วนการซื้อสินค้าผ่านเน็ตนั้น ทราบว่าในขณะนี้รัฐบาลกำลังดำเนินการกับปัญหานี้ โดยพยายามให้มีการเรียกเก็บภาษีการซื้อขายสินค้าผ่านเน็ต ซึ่งจะช่วยให้ผู้บริโภครู้ตัวตนผู้ขายสินค้าได้ชัดเจนมากขึ้น   2. ปัญหาด้านอสังหาริมทรัพย์ คนร้องคอนโดแซงหน้าปัญหาบ้านจัดสรร ในปี 2553 ปัญหาของผู้อยู่อาศัยในอาคารชุดหรือคอนโดมิเนียมเบียดแซงหน้าปัญหาของหมู่บ้านจัดสรรไปแบบเฉียดฉิว โดยกลุ่มปัญหาอสังหาริมทรัพย์ การร้องรียนเรื่องคอนโดคิดเป็นร้อยละ 40 และปัญหาหมู่บ้านจัดสรรอยู่ที่ร้อยละ 37 ปัญหาคอนโด ส่วนใหญ่เป็นเรื่องผิดสัญญาจะซื้อจะขายของผู้ประกอบธุรกิจ คือ สร้างไม่เสร็จ สร้างล่าช้า สร้างไม่ได้มาตรฐาน แต่ผู้บริโภคที่ไม่รู้เหลี่ยมกฎหมายมักตกเป็นฝ่ายถูกฟ้องร้องเหตุไม่ยอมรับโอนกรรมสิทธิ์ตามสัญญา ในขณะที่หมู่บ้านจัดสรรจะมีปัญหาในการจะซื้อจะขายบ้านและที่ดิน โดยที่ผู้บริโภคต้องจ่ายเงินจอง เงินดาวน์ไปก่อน ในระหว่างที่รอคำตอบขอสินเชื่อกับสถาบันการเงิน แต่เมื่อทราบผลว่าสินเชื่อไม่อนุมัติ ทำให้ผู้บริโภคต้องสูญเงินจองเงินดาวน์ไปเป็นจำนวนมาก แนวทางแก้ไข• กรณีคอนโดมีปัญหาในการก่อสร้าง สร้างไม่เสร็จ สร้างล่าช้า สร้างไม่ได้มาตรฐาน เมื่อผู้บริโภคทราบเหตุปัญหาในขั้นตอนไหน ลักษณะใด ให้ทำหนังสือทักท้วงให้ผู้ประกอบธุรกิจแก้ไขหรือให้ก่อสร้างให้เป็นไปตามที่ตกลงไว้ในสัญญาโดยทันที อย่าใช้วิธีโทรศัพท์ติดตามเพียงอย่างเดียว และไม่ให้จ่ายเงินค่างวดจนกว่าปัญหาที่ทักท้วงไปนั้นจะได้รับการแก้ไขลุล่วงเรียบร้อย หากผู้ประกอบธุรกิจไม่ดำเนินการแก้ไขให้เป็นไปตามสัญญา ผู้บริโภคมีสิทธิ์บอกเลิกสัญญา และเรียกค่าเสียหายได้ • กรณีซื้อบ้านจัดสรร ที่ต้องขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินแล้วยังไม่รู้ผลอนุมัติ เพื่อป้องกันไม่ให้สูญเงินจองเงินดาวน์ไปแบบกินเปล่า ก่อนที่จะลงนามในสัญญาจองและสัญญาจะซื้อจะขาย ผู้บริโภคควรขอให้ผู้ประกอบธุรกิจระบุไว้ในสัญญาเลยว่า หากกู้ไม่ผ่านผู้ประกอบธุรกิจยินดีจะคืนเงินจอง เงินดาวน์ทั้งหมด หรือในสัดส่วนเท่าไหร่ก็ว่าไปตามที่จะตกลงกัน หากผู้ประกอบธุรกิจหรือพนักงานขายไม่ยินยอม ให้เดินออกมาได้เลย ไม่ต้องสนใจกับโครงการนั้นอีกต่อไป   3. ปัญหาด้านบริการสุขภาพและสาธารณสุข• ฟิตเนส...สัญญาชั่วฟ้าดินสลาย ในช่วงเดือนกันยายน ปี 2553 มีหนังไทยเรื่องหนึ่งเข้าฉาย คือเรื่อง ชั่วฟ้าดินสลาย เป็นเรื่องราวโศกนาฏกรรมความรักสุดหน่วงระหว่างอาสะใภ้กับหลานชายของสามี แบบ “ความรักชั่วนิรันดร์ การลงทัณฑ์ชั่วชีวิต” ดูไปแล้วเอามาเทียบกับการเป็นสมาชิกบริการฟิตเนสช่างเหมือนกันได้แบบไม่ผิดเพี้ยน ต่างกันนิดเดียวคือฟิตเนสจะออกแนว “สมาชิกชั่วนิรันดร์ การลงทัณฑ์ชั่วชีวิต” เป็นสมาชิกไปแล้ว เลิกไม่ได้ ต้องจ่ายเงินไปเรื่อยๆ ลูกเดียว นอกจากฟิตเนสแล้ว จากการร้องเรียนยังพบว่าบรรดาศูนย์สุขภาพและความงามจำพวกสปามีการใช้สัญญาชั่วนิรันดร์ลักษณะนี้กับผู้บริโภคเช่นกัน นับเป็นภัยผู้บริโภคอีกเรื่องหนึ่งที่น่าจับตาในปี 2554ปัญหาสัญญาสัญญาไม่เป็นธรรมของบริการฟิตเนส เป็นปัญหายอดฮิตที่มีการร้องเรียนในกลุ่มปัญหาด้านบริการสุขภาพและสาธารณสุข โดยมีมากถึงร้อยละ 45 แนวทางแก้ไข• ผู้บริโภคควรตั้งสติก่อนคิดทำสัญญา• หากหลงเข้าทำสัญญาไปแล้ว ถ้าเป็นการจ่ายเงินผ่านบัตรเครดิต หากไม่ประสงค์จะใช้บริการต้องรีบทำหนังสือบอกเลิกสัญญาโดยเร็วที่สุด ด้วยเหตุผลที่ผู้ประกอบธุรกิจโฆษณาเป็นเท็จ เกินจริง หรือผิดสัญญาในข้อสำคัญ แล้วให้ส่งสำเนาหนังสือบอกเลิกสัญญาไปที่บริษัทบัตรเครดิตเพื่อให้ระงับการเรียกเก็บเงินโดยทันที• หากผู้ประกอบธุรกิจฟิตเนสผิดสัญญาในเงื่อนไขสำคัญ นอกจากจะสามารถบอกเลิกสัญญาได้แล้ว ผู้บริโภคยังมีสิทธิเรียกค่าเสียหายหรือเรียกร้องค่าสมาชิกคืนได้ แต่หากเจรจาไม่สำเร็จอาจต้องใช้การฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคในท้ายที่สุด4. ปัญหาด้านอาหาร ยา เครื่องสำอางจับตา...อาหารไม่ปลออดภัยปัญหาด้านอาหารเท่าที่มีการร้องเรียนกับมูลนิธิฯ มีสองลักษณะใหญ่คือ อาหารไม่ปลอดภัย และการโฆษณาเป็นเท็จหรือเกินจริง  โดยอาหารไม่ปลอดภัยนั้นมักเกิดในลักษณะของอาหารไม่บริสุทธิ์ โดยมีสาเหตุใหญ่ๆ คือ มีสิ่งที่น่าจะเป็นอันตรายแก่สุขภาพเจือปนอยู่ และเกิดปัญหาในกระบวนการผลิต การบรรจุหรือการเก็บรักษา ที่ไม่ถูกสุขลักษณะ กรณีที่เคยนำมาลงในฉลาดซื้อ เช่น พบตัวมอดในนมผงสำหรับเด็กเล็ก นมบูดเสียก่อนกำหนดส่วนด้านการโฆษณาที่เป็นเท็จหรือสงสัยว่าเป็นเท็จนั้น มักพบในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีการโฆษณาตามสื่อทีวีดาวเทียมหรือสื่อวิทยุชุมชนต่างๆ แนวทางแก้ไขใน 7 กลุ่มปัญหา ปัญหาด้านอาหาร ยา เครื่องสำอางนับเป็นกลุ่มปัญหาที่มีการร้องเรียนเข้ามาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเป็นจำนวนน้อยที่สุด ทั้งนี้ด้วยปัจจัยหลายอย่าง เช่น การมีหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลอย่างชัดเจน ความเสียหายไม่ชัดเจน หรือเสียหายไม่มาก หรือพบปัญหาบ่อยมากจนเป็นเรื่องชินชา อย่างไรก็ดีปัญหากลุ่มนี้นับเป็นปัญหาที่ใกล้ตัวผู้บริโภคมากที่สุดกว่ากลุ่มใด จึงจำเป็นที่มูลนิธิฯ จะต้องดำเนินการรณรงค์ให้ผู้บริโภคได้ใช้สิทธิให้มากยิ่งขึ้น  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 119 รายงานปัญหาผู้บริโภค ปี 2553 และจับตาภัยผู้บริโภคปี 2554 ตอนที่ 1

เมื่อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคต้องประสบวิบากกรรมเพลิงไหม้สำนักงาน ทำให้พวกเราเจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ต้องกลายเป็นชนเผ่าเร่ร่อนชั่วคราวสถานที่ทำงานต้องถูกย้ายไปย้ายมา สัมภาระข้าวของที่ต้องแบกขนกันอีรุงตุงนัง ที่สำคัญสายโทรศัพท์พื้นฐานซึ่งเป็นช่องทางรับเรื่องร้องเรียนหลัก เหลือใช้งานเพียงเบอร์เดียวจากที่เคยมีอยู่ 3 เบอร์ด้วยสภาพที่ทุลักทุเลของศูนย์พิทักษ์สิทธิฯที่ไม่ต่างจากชาวบ้านที่โดนน้ำท่วม ทำให้การทำงานรับเรื่องร้องเรียนของศูนย์พิทักษ์สิทธิฯในปี 2553 มียอดรับเรื่องร้องเรียนที่ไม่ค่อยน่าภูมิใจเท่าไรนักคือนับได้ 796 กรณี(นับแต่เดือนมกราคมถึงพฤศจิกายน) ซึ่งลดลงไปกว่าครึ่งเมื่อเทียบยอดรับเรื่องร้องเรียนในปี 2552 ที่มีถึง 1,587 รายอย่างไรก็ตาม ถึงแม้เรื่องร้องเรียนจะผ่านเข้ามาน้อย แต่กระบวนการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยังคงคุณภาพเข้มข้นให้มากที่สุดเท่าที่พวกเราจะมีแรงทำได้ และส่งผลต่อการปกป้องสิทธิของผู้บริโคภที่สำคัญหลายประการภาพรวมเรื่องร้องเรียนปี 2553ในปี 2553 ปัญหาหนี้สิน การเงิน การธนาคาร ยังคงสร้างความทุกข์ให้กับผู้บริโภคนำมาเป็นอันดับ 1 คิดเป็นร้อยละ 45 ของกลุ่มเรื่องร้องเรียนทั้งหมด ตามมาห่างๆ ด้วยปัญหาบริการสาธารณะ คิดเป็นร้อยละ 14 ปัญหาด้านสื่อและโทรคมนาคม ร้อยละ 11 และที่เกาะกลุ่มตามมาติดๆ คือปัญหาจากการซื้อหรือใช้สินค้าและบริการทั่วไป ปัญหาอสังหาริมทรัพย์ปัญหาจากการใช้บริการสุขภาพและสาธารณสุข ปัญหาอาหาร ยา เครื่องสำอาง คิดเป็นร้อยละ 8,8,7 และ 3 เรียงตามลำดับ นอกนั้นเป็นเรื่องร้องเรียนอื่นๆที่ไม่ใช่ปัญหาด้านผู้บริโภคอีกร้อยละ 4 แน่นอนว่าปัญหาเรื่องร้องเรียนอันดับต้นๆ ของทุกกลุ่มปัญหาจะเป็นปัญหาผู้บริโภคที่ต้องจับตากันอย่างใกล้ชิดในปี 2554 ปัญหาเหล่านั้นมีเรื่องใดบ้าง เชิญติดตามได้     1. ปัญหาด้านการเงินการธนาคาร • หนี้บัตรเครดิต ปัญหาอมตะที่ต้องเร่งแก้ไขปัญหาหนี้บัตรเครดิต ครองแชมป์เรื่องร้องเรียนอันดับหนึ่งของมูลนิธิฯมาตั้งแต่ปี 2550 สำหรับในปี 2553 เรื่องร้องเรียนหนี้บัตรเครดิตมีทั้งสิ้น 268 กรณี(เฉพาะที่มีการบันทึก) ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 74 ของเรื่องร้องเรียนในกลุ่มการเงินการธนาคารที่มีเรื่องร้องเรียนทั้งหมด 360 กรณีลักษณะปัญหาที่มีการร้องเรียนหรือขอคำปรึกษา คือ ใช้บัตรเครดิตในทางไม่เหมาะสม เช่น เบิกถอนเป็นเงินสดเพื่อมาลงทุนประกอบธุรกิจแต่ไม่สามารถสู้กับดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมที่สูงของบัตรเครดิตได้พยายามช่วยเหลือตนเองจนเกิดหนี้หลายบัตร เพิ่มเป็นหนี้หลายทางทั้งในและนอกระบบ ขาดความรู้ในการจัดการบริหารหนี้สิน และเลือกใช้วิธีหมุนเงินในอนาคตจนสุดสายป่าน ท้ายสุดต้องผิดนัดชำระหนี้ยกแผง เกิดทุกข์ติดตามเป็นกระบวน คือ ถูกติดตามทวงถามหนี้ไม่เป็นธรรม บางรายถูกหักเงินในบัญชีเงินเดือน ถูกฟ้องศาล และถูกบังคับคดี  บางครอบครัวถึงกับอยู่ในสภาพล่มสลายโดยมิได้เป็นบุคคลล้มละลาย   แนวทางแก้ไข• ความรู้เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการสร้างวินัยการใช้จ่ายและการจัดการบริหารหนี้ ดังนั้น จึงควรมีการส่งเสริมให้ความรู้กับประชาชนในการใช้บริการด้านการเงินการธนาคารอย่างเต็มที่ เช่น การทำบัญชีครัวเรือน เพื่อการบริหารจัดการรายได้ การออม การใช้จ่าย การให้ความรู้ในการขอสินเชื่อตรวจสอบค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ย รวมทั้งการทำธุรกรรมด้านการเงินต่างๆ เป็นต้น• ให้เร่งออกกฎหมายคุ้มครองประชาชนอย่างเหมาะสม เช่น กฎหมายติดตามทวงถามหนี้ที่เป็นธรรม , กฎหมายบัตรเครดิตที่มีการกำกับดูแลค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ยที่เป็นธรรม ,กฎหมายการแข่งขันด้านการเงิน เป็นต้น• รัฐควรจัดให้มีแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำสำหรับผู้ประกอบธุรกิจขนาดเล็ก• ควรกำกับผู้ประกอบธุรกิจให้มีวินัยในการปล่อยสินเชื่อ เช่น การให้วงเงินและเพิ่มวงเงินของบัตรเครดิต ควรใช้ข้อมูลเครดิตบูโรมาประกอบการพิจารณา ไม่ใช่ใช้ฐานจากยอดใช้จ่าย ซึ่งอาจเกิดความเสี่ยงทั้งต่อลูกหนี้และผู้ประกอบธุรกิจได้ง่าย เป็นต้น • การเช่าซื้อรถยนต์และการจองรถสองเรื่องนี้เปรียบเหมือนปัญหาคู่แฝดสำหรับคนอยากมีรถแต่ไม่มีเงินสด และเป็นปัญหาลูกพี่ลูกน้องของคนที่มีปัญหาหนี้บัตรเครดิต หรือผิดนัดชำระหนี้กับสถาบันการเงินต่างๆการขอสินเชื่อผ่อนรถจากไฟแนนซ์เป็นวิธีการที่ทำให้ผู้บริโภคมีโอกาสเป็นเจ้าของรถใหม่ป้ายแดงได้สะดวกรวดเร็วมากที่สุดวิธีการหนึ่ง แต่การที่ผู้บริโภคบางรายมีปัญหาทางด้านการเงิน ประวัติเครดิตมีตำหนิ แต่ไม่สามารถสลัดความอยากออกจากจิตใจได้เพราะถูกโฆษณาเล้าโลมจนอ่อนระรวย คนกลุ่มนี้มักตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพที่ใช้ธุรกิจซื้อขายรถยนต์บังหน้าได้ง่ายๆ โดยจะถูกหลอกให้วางเงินจองรถอย่างน้อย 5,000 บาท เพื่อแลกกับการซื้อรถใหม่ราคาถูกกว่าปกติ แถมออฟชั่นเพียบ แต่สุดท้ายมักถูกริบเงินจองในท้ายที่สุด เพราะถูกอ้างว่าขอสินเชื่อจากไฟแนนซ์ไม่ผ่านแนวทางแก้ไขo ให้ผู้บริโภครู้ว่า กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคมีการควบคุมสัญญาการซื้อขายรถที่มีการจองแล้วo สัญญาจะซื้อจะขายรถต้องมีรายละเอียดของรถที่ชัดเจน พร้อมกำหนดวันที่คาดว่าจะส่งมอบรถo เมื่อรู้ว่าขอสินเชื่อไฟแนนซ์ไม่ผ่าน ให้แจ้งแก่ผู้ขายโดยทันที ให้เป็นลายลักษณ์อักษรดีที่สุด เพราะสัญญาควบคุมกำหนดไว้ว่า เมื่อผู้ขายทราบเรื่องนี้จะต้องคืนเงินจองให้โดยเร็ว ไม่ถือว่าผู้บริโภคเป็นฝ่ายผิดสัญญา  o อย่าซื้อรถกับเต้นท์ขายรถเลื่อนลอย ควรซื้อรถกับผู้ขายที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลo ถ้าจะซื้อรถกับบุคคลธรรมดา ต้องไม่ซื้อรถกับคนที่ไม่ให้สำเนาบัตรประชาชน   2. ปัญหาด้านบริการสาธารณะ• รถโดยสารสาธารณะ ยมทูตติดล้อในกลุ่มปัญหาด้านบริการสาธารณะ เกือบครึ่งเป็นปัญหาเกี่ยวกับการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ โดยเฉพาะการเกิดอุบัติเหตุจนมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ในช่วงปี 2553 มียอดผู้ประสบภัยจากรถโดยสารที่ปรากฏเป็นข่าวมากกว่า 2,000 รายในจำนวนนี้ผู้ประสบภัยกว่าครึ่งได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากบริการรถโดยสารปรับอากาศประจำทาง สาเหตุสำคัญมาจากระบบการบริการที่ขาดคุณภาพมาตรฐาน ทั้งคุณภาพของรถและคุณภาพของคนขับที่มาของปัญหา : รถโดยสารสาธารณะกลุ่มใหญ่เป็นรถร่วมบริการของภาคเอกชน ขาดการอุดหนุน ส่งเสริมด้านความรู้และเงินทุนจากรัฐ ทำให้ไม่สามารถยกระดับคุณภาพมาตรฐานความปลอดภัยได้อย่างเป็นระบบ การบังคับใช้กฎหมายไม่เข้มแข็งและขาดความชัดเจน การประกันภัยภาคบังคับเน้นการเยียวยาด้านชีวิตและร่างกาย ส่วนประกันภัยภาคสมัครใจเน้นใช้หลักฐานานุรูป หรือความยากดีมีจนเป็นเกณฑ์การพิจารณาเยียวยาความเสียหาย ระบบประกันภัยทั้งสองแบบยังให้ความสำคัญในสิทธิของผู้ใช้บริการรถโดยสารด้านอื่นๆในระดับที่น้อยมาก แนวทางแก้ไข• ให้รัฐประกาศรับรองสิทธิผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ และมีเกณฑ์ในการเยียวยาความเสียหายเบื้องต้นที่ชัดเจน และไม่ตัดสิทธิในการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเพิ่มเติม รวมทั้งให้มีบทกำหนดโทษหากมีการละเมิดสิทธิผู้โดยสาร• ให้จัดตั้งกองทุนคุ้มครองสิทธิผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะขึ้น ภายใต้ พ.ร.บ.การขนส่งทางบก พ.ศ. 2522  ทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิของผู้โดยสาร  ส่งเสริมอุดหนุนแก่ผู้ประกอบการที่มีประวัติการให้บริการที่ดีโดยอาจเป็นแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ และเป็นทุนในการพัฒนาองค์ความรู้สู่บริการรถโดยสารที่มีคุณภาพและปลอดภัยอย่างต่อเนื่องทั้งนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาการผลักภาระของผู้ประกอบการมาสู่ผู้บริโภค และไม่ให้เป็นภาระกับรัฐบาลมากจนเกินไป• แหล่งที่มากองทุน ให้พิจารณาจากเงินรายได้ที่ได้รับจากภาษีรถยนต์ส่วนบุคคล ค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาตขับรถยนต์ส่วนบุคคล  เงินค่าปรับ เงินสนับสนุนจากรัฐบาลโดยตรง เงินจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เป็นต้น   3. ปัญหาด้านสินค้าและบริการทั่วไป• รถยนต์ไม่ได้คุณภาพ และรถยนต์ซื้อใหม่ ใช้ไปซ่อมไปปัญหาในกลุ่มรถยนต์ เป็นเรื่องร้องเรียนหลักในด้านสินค้าและบริการทั่วไปที่เข้ามาที่มูลนิธิฯเกือบจะทุกยี่ห้อดังปัญหามีหลายลักษณะ ตัวอย่างปัญหาในกลุ่มรถใหม่ เช่น รถติดก๊าซเอ็นจีวีจากโรงงานระบบทำงานไม่สมบูรณ์ ซื้อรถใหม่ป้ายแดงแต่มีปัญหาจุกจิกเกิดขึ้นตลอด ทำให้เกิดข้อเรียกร้องขอเปลี่ยนรถใหม่แต่ถูกผู้ประกอบธุรกิจปฏิเสธ  ส่วนปัญหาเรื่องคุณภาพมาตรฐานของรถนั้น มีการร้องเรียนและกลายเป็นคดีฟ้องร้อง มี 2 กรณี คือ รถชนอย่างแรงแต่ถุงลมนิรภัยไม่ทำงาน ทำให้ผู้ขับขี่และผู้โดยสารได้รับบาดเจ็บสาหัส ผู้ประกอบธุรกิจอ้างว่ารถชนผิดเหลี่ยมและชนแรงไม่พอ กับอีกกรณีคือ มีควันพิษรั่วไหลเข้ามาในห้องโดยสาร โดยผู้ขับขี่ไม่รู้ตัว และเกิดปัญหาสุขภาพ  แนวทางแก้ไข• ในกรณีที่พบว่ารถเกิดปัญหาชำรุดบกพร่อง ผู้บริโภคควรให้ผู้ประกอบธุรกิจทำการซ่อมแก้ไขก่อน และให้เก็บหลักฐานการซ่อมนั้นไว้ทุกครั้ง โดยผู้บริโภคมีสิทธิที่จะเรียกค่าเสียหายในค่าขาดโอกาสในการใช้รถยนต์ หรือขอให้มีรถใช้ระหว่างซ่อมได้• เมื่อให้โอกาสผู้ประกอบธุรกิจทำการซ่อมแก้ไขแล้วหลายครั้ง แต่ยังเกิดปัญหาเดิมขึ้นมาอีก หรือเกิดปัญหาใหม่ต่อเนื่อง ผู้บริโภคควรใช้สิทธิฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคเรียกค่าเสียหายหรือขอเปลี่ยนรถได้• แนวทางนี้ใช้สำหรับกรณีรถยนต์ไม่ได้คุณภาพมาตรฐานเช่นกัน   ฉบับนี้คงรายงานได้เพียงแค่นี้ ติดตามเรื่อง สื่อและโทรคมนาคม อสังหาริมทรัพย์ ปัญหาบริการด้านสุขภาพ อาหารและยา ได้ในฉบับหน้า ครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 116 สิทธิของคนชอบบิน

ในช่วงที่ผ่านมา มีผู้ใช้บริการสายการบินภายในประเทศหลายราย ถูกสายการบินแจ้งเลื่อนเที่ยวบินโดยไม่มีคำชี้แจงใดๆ บางรายเจอปัญหาโดนเลื่อนเที่ยวบินบ่อยครั้ง ทำให้เกิดความเสียหายทั้งในเชิงทางการท่องเที่ยวและทางธุรกิจที่ต้องมีการวางแผนล่วงหน้า ดังนั้น ฉบับนี้จึงขอนำประกาศของกระทรวงคมนาคม “สิทธิของผู้โดยสารซึ่งใช้บริการสายการบินของไทยในเส้นทางบินประจำภายในประเทศ” ที่กำหนดสิทธิและหน้าที่ของผู้โดยสารและสายการบินของไทยที่จะได้รับความคุ้มครองเป็นขั้นพื้นฐานใน 3 กรณียอดฮิตที่ผู้โดยสารสายการบินในประเทศมักถูกเอาเปรียบ มานำเสนอ เผื่อเอาไว้ให้คุณผู้อ่านและเพื่อนพ้องได้ใช้เรียกร้องสิทธิกับสายการบินภายในประเทศกันครับ ซึ่งหากสายการบินใดได้กำหนดมาตรการเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารของตนในกรณีต่างๆ ไว้ในระดับที่ดีกว่าและไม่ขัดหรือแย้งกับมาตรการขั้นพื้นฐานนี้ ให้สายการบินนั้นใช้มาตรการของตัวเองเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารได้3 ปัญหายอดฮิตที่ผู้โดยสารสายการบินในประเทศต้องได้รับการปกป้องสิทธิ1. ถูกสายการบินปฏิเสธการขนส่ง(Denied Boarding) คือ การที่สายการบินปฏิเสธที่จะรับผู้โดยสารเพื่อเดินทางไปกับเที่ยวบินที่ระบุไว้ในบัตรโดยสาร แม้ว่าผู้โดยสารจะได้มาแสดงตนเพื่อการขึ้นเครื่อง(Check in) ภายในระยะเวลาที่สายการบินระบุไว้ล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษร รวมทั้งการแจ้งผ่านสื่ออิเล็กทรอนิคส์ เช่น เว็บไซต์ หรือ เอสเอ็มเอส(SMS) ฯลฯ หรือถ้ายสายการบินไม่ได้ระบุเวลาไว้ ให้ถือเวลาไม่น้อยกว่า 45 นาทีก่อนเวลาที่ระบุไว้ในตารางการบินที่ประกาศ2. ถูกยกเลิกเที่ยวบิน (Fight Cancellation)  คือ การที่สายการบินยกเลิกการบินเที่ยวบินใดๆ ตามตารางการบินที่ประกาศไว้ ซึ่งรวมถึงการยกเลิกเที่ยวบินพิเศษ(Extra Flight)3. เที่ยวบินล่าช้า (Filght Delay)  คือ กรณีทำการบินเที่ยวบินล่าช้าเกินกว่าเวลาที่กำหนดในตารางการบินที่ประกาศไว้เกินควร   กรณีที่ได้รับความคุ้มครองหรือยกเว้น มาตรการคุ้มครองสิทธิและข้อยกเว้น ถูกปฏิเสธการขนส่ง ถูกยกเลิกเที่ยวบิน สิทธิได้รับเงินชดเชย จำนวน 1,200 บาท ให้สายการบินจ่ายเป็นเงินสด หรือโดยการโอนเงินผ่านบัญชีธนาคาร หรือเช็คธนาคาร แต่หากจ่ายเป็น Travel vouchers และ/หรือบริการอื่นๆแทน จะต้องให้ผู้โดยสารลงนามตกลงยินยอมด้วย(ถ้าไม่เอาอย่าเผลอเซ็นชื่อเด็ดขาด) ถูกยกเลิกเที่ยวบิน ข้อยกเว้นที่จะไม่ได้รับเงินชดเชย   (ก)     สายการบินได้แจ้งข่าวการยกเลิกเที่ยวบินไปยังผู้โดยสารก่อนกำหนดวันเวลาเดินทางไม่น้อยกว่า 3 วัน พร้อมทั้งแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับการเลือกการเดินทางต่างๆ (ข)     สายการบินได้แจ้งข่าวการยกเลิกเที่ยวบินไปยังผู้โดยสารก่อนกำหนดวันเวลาเดินทางไม่ถึง 3 วัน แต่จะมีการเปลี่ยนแปลงเที่ยวบินใหม่ให้ ซึ่งจะถึงจุดหมายปลายทางที่ระบุในบัตรโดยสารเร็วหรือช้ากว่ากำหนดวันเวลาเดิมไม่เกิน 3 ชั่วโมง (ค)     สายการบินพิสูจน์ได้ว่าการยกเลิกเที่ยวบินเกิดจากเหตุสุดวิสัย คือ สถานการณ์ทางการเมือง สภาพอากาศที่มีผลกระทบต่อการปฏิบัติการบิน การรักษาความปลอดภัย เหตุการณ์ใดๆที่มีหรืออาจมีผลกระทบต่อความปลอดภัยในการทำการบินของอากาศยานและผู้โดยสาร การนัดหยุดงานหรือการกระทำใดๆ ของพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการของสายการบิน ซึ่งมีผลกระทบต่อการปฏิบัติการบินของสายการบิน และเหตุสุดวิสัยอื่นใดที่สายการบินสามารถพิสูจน์ได้ว่าอยู่นอกเหนือการควบคุมของสายการบิน หมายเหตุ : ภาระการพิสูจน์ว่าสายการบินได้แจ้งข่าวการยกเลิกเที่ยวบินหรือไม่ และได้แจ้งข่าวเมื่อใด เป็นภาระของสายการบินผู้ให้บริการ ถูกปฏิเสธการขนส่ง ถูกยกเลิกเที่ยวบิน เที่ยวบินล่าช้าเกินกว่า 3 ชั่วโมง สิทธิทางเลือกในการรับคืนค่าโดยสาร, เปลี่ยนแปลงเที่ยวบิน  หรือ เดินทางโดยการขนส่งทางอื่น (เลือกได้อย่างใดอย่างหนึ่ง)   ทางเลือกที่ 1 การรับคืนค่าโดยสารและค่าธรรมเนียมอื่นใดที่ถูกเรียกเก็บเต็มจำนวนที่จ่ายไปสำหรับการเดินทาง หรือส่วนของการเดินทางที่ยังไม่ได้ใช้เดินทาง รวมถึงการเดินทางหรือส่วนของการเดินทางที่ได้เดินทางไปแล้วแต่ไม่สมประโยชน์ ภายในระยะเวลาไม่เกิน 7 วัน รวมทั้งการเดินทางในเที่ยวบินกลับไปยังจุดเริ่มต้นการเดินทางของผู้โดยสารนั้นเองโดยเร็วที่สุด   ทางเลือกที่ 2 เปลี่ยนแปลงเที่ยวบินภายในวันเดียวกัน ไปยังจุดหมายปลายทางที่ระบุไว้ในบัตรโดยสารโดยเร็วที่สุด   ทางลือกที่ 3 เปลี่ยนแปลงเที่ยวบิน ไปยังจุดหมายปลายทางที่ระบุไว้ในบัตรโดยสารในวันถัดไป หรือวันอื่นตามความสมัครใจของผู้โดยสาร   ทางเลือกที่ 4 เดินทางโดยการขนส่งทางอื่นที่เหมาะสมเพื่อไปยังจุดหมาย ปลายทางที่ระบุไว้ในบัตรโดยสาร หรือจุดใกล้เคียงแล้วแต่ความเหมาะสม   หมายเหตุ : การเปลี่ยนแปลงเที่ยวบิน ขึ้นอยู่กับความสะดวกของผู้โดยสารและที่นั่งว่างที่สายการบินสามารถจะจัดให้ได้ หากค่าโดยสารในการเปลี่ยนแปลงเที่ยวบินนั้นสูงกว่าค่าโดยสารที่ได้ชำระแล้ว สายการบินจะไม่เรียกเก็บค่าโดยสารหรือค่าบริการเพิ่มอีก และหากค่าโดยสารในการเปลี่ยนเที่ยวบินนั้นต่ำกว่าค่าโดยสารที่จ่ายไปแล้ว สายการบินจะต้องจ่ายเงินส่วนต่างคืนให้กับผู้โดยสารภายใน 7 วัน และในกรณีที่สายการบินเสนอเปลี่ยนแปลงเที่ยวบินไปยังสนามบินอื่นที่ใกล้เคียงกับจุดหมายปลายทางเดิม สายการบินจะต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางจากสนามบินใหม่ไปยังสนามบินที่เป็นจุดหมายปลายทางเดิมให้แก่ผู้โดยสารด้วย   กรณีการเปลี่ยนแปลงการเดินทางโดยการขนส่งทางอื่น หากค่าเดินทางสูงหรือต่ำกว่าค่าโดยสารที่ได้ชำระไปแล้วก็ให้ใช้วิธีชดเชยลักษณะเดียวกัน ถูกปฏิเสธการขนส่ง   สิทธิที่จะได้รับการดูแล 1.ผู้โดยสารมีสิทธิได้รับการดูแลจากสายการบิน โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ในเรื่องต่อไปนี้ ถูกปฏิเสธการขนส่ง ถูกยกเลิกเที่ยวบิน เที่ยวบินล่าช้าเกินกว่า 2 ชั่วโมงขึ้นไป (ก)     อาหารและเครื่องดื่ม ตามความเหมาะสมกับระยะเวลารอขึ้นเครื่อง ถูกปฏิเสธการขนส่ง ถูกยกเลิกเที่ยวบิน เที่ยวบินล่าช้าเกินกว่า 1 วัน (ข)     ที่พักแรม สำหรับการพำนักตั้งแต่หนึ่งคืนขึ้นไปตามความจำเป็นและเหมาะสม(กรณีการเปลี่ยนเส้นทางการบินมีกำหนดเวลาการออกเดินทางล่าช้ากว่ากำหนดเวลาตามตารางการบินเดิมเกินกว่าหนึ่งวัน) ถูกปฏิเสธการขนส่ง ถูกยกเลิกเที่ยวบิน เที่ยวบินล่าช้าเกินกว่า 1 วัน (ค)     การขนส่งระหว่างสนามบินและที่พักแรม (กรณีการเปลี่ยนเส้นทางการบินมีกำหนดเวลาการออกเดินทางล่าช้ากว่ากำหนดเวลาตามตารางการบินเดิมเกินกว่าหนึ่งวัน) ถูกปฏิเสธการขนส่ง ถูกยกเลิกเที่ยวบิน เที่ยวบินล่าช้าเกินกว่า 2 ชั่วโมงขึ้นไป 2.ผู้โดยสารมีสิทธิโทรศัพท์ หรือโทรสาร หรือส่งอีเมล์ที่สายการบินจัดให้ ตามความจำเป็นและเหมาะสมไม่เกิน 2 ครั้ง โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ถูกปฏิเสธการขนส่ง ถูกยกเลิกเที่ยวบิน เที่ยวบินล่าช้าไม่ว่าเป็นเวลามากน้อยเพียงใด   3.สายการบินจะต้องให้การดูแลเป็นพิเศษแก่เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีที่เดินทางโดยลำพัง และคนพิการ การรักษาสิทธิ : กรณีที่สายการบินไม่ปฏิบัติตามมาตรการคุ้มครองสิทธิฯขั้นพื้นฐานนี้ ผู้โดยสารสามารถร้องเรียนได้ที่ กรมการบินพลเรือน (กรมการขนส่งทางอากาศเดิม)เลขที่ 71 ซอยงามดูพลี ถนนพระราม 4 แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตสาทร กรุงเทพฯ 10120 โทรศัพท์: 02-287-0320-9 โทรสาร: 02-286-3373   หากมีความเสียหายมากกว่าที่ได้รับจากมาตรการคุ้มครองสิทธิฯขั้นพื้นฐานนี้ ผู้โดยสารสามารถใช้สิทธิฟ้องร้องสายการบินเป็นคดีผู้บริโภคได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 634 “ผู้ขนส่งจะต้องรับผิดต่อคนโดยสารในความเสียหายอันเกิดแก่ตัวเขา หรือในความเสื่อมเสียอย่างใดๆอันเป็นผลโดยตรง แต่การที่ต้องชักช้าในการขนส่ง เว้นแต่การเสียหายหรือชักช้านั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือเกิดแต่ความผิดของคนโดยสารนั้นเอง”      

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 114 อย่าลืมปฏิรูป

เมื่อประมาณปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสไปเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นเครือข่ายเพื่อนทีวีไทย (ผู้เขียนเป็นสมาชิกสภาผู้ชมผู้ฟังรายการทีวีไทย) ในหัวข้อรับฟังความคิดเห็นมีหัวข้อหนึ่งคือคนสุพรรณคิดว่ามีปัญหาอะไรบ้างในพื้นที่ที่ต้องพึ่งสื่อ และก็มีหลากหลายปัญหาที่ลั่งไหลออกมาจากเวทีนั้น แต่มีอยู่ปัญหาหนึ่งที่ฟังแล้วสะดุดหูมากเป็นเรื่องของคุณจันทร์(นามสมมุติ) เธอเล่าว่าเธอกำลังปลูกบ้านใหม่ เลยเข้าไปติดต่อที่ร้านโฮมโปรบางใหญ่และได้คุยกับเซลล์โดยตรง และมีการตกลงซื้อไม้รามิเนสซึ่งเซลล์บอกว่าเป็นไม้เยอรมัน และได้บอกขนาดของบ้านให้เซลล์ช่วยคำนวณไม้ให้ ว่าต้องซื้อจำนวนเท่าไร รวมถึงซื้อสินค้าอื่นๆ ในร้านด้วย รวมๆ แล้ววันนั้นคุณจันทร์จ่ายเงินล่วงหน้า ไปประมาณ 200,000 บาท โดยมีสัญญาว่าจะส่งมอบของให้ทั้งหมดภายใน 1 เดือน พอครบเดือนของยังไม่มาส่งคุณจันทร์ได้โทรทวงถาม คำตอบที่ได้คือ พี่ปรับพื้นหรือยัง(อ้าวทำไมไม่บอกว่าต้องปรับพื้นก่อนส่งของ)คุณจันทร์จึงตอบไปว่าอีก 15 วันมาส่งของได้เลย ผ่านไป 15 วันของก็ยังไม่มาส่ง จากนั้นก็โทรตามตลอด กว่าจะมาส่งของก็เล่นไป เกือบๆ 4 เดือน จึงมีความชัดเจนว่าจะนำของมาส่งและส่งช่างมาปูพื้นให้ตามสัญญา คุณจันทร์ก็บอกว่าไหนๆ จะมาส่งไม้ 80 ตารางเมตร จึงแล้วขอให้เอาไม้มาเพิ่มอีก 5 ตารางเมตร เผื่อไม่พอจะได้ไม่ต้องเทียวไปเทียวมา ปรากฎว่าของที่เอามาส่งไม่ตรงตามที่สั่งทั้งสีและลาย แต่ไหนๆ ก็มาส่งแล้วหยวนๆ แล้วกัน(นิสัยผู้บริโภคทั่วไป) และก็ไม่มีไม้มาเพิ่มตามที่ตกลงและสิ่งที่คุณจันทร์กังวลก็เกิดขึ้นจริงคือไม้ไม่พอ ขาด 5 ตารางเมตร ตรงนี้คุณจันทร์ร้องทุกข์ว่าอาจเป็นเทคนิคการขายสินค้าของร้านนี้ เพราะเมื่อไม่พอก็ต้องกลับไปเอาใหม่ และคิดค่าขนส่งเพิ่มอีกเที่ยวละ 1,500 บาท ฟังดูรู้สึกได้เลยว่าผู้บริโภคอย่างเราๆ เสียเปรียบไปทุกทาง เอาเงินเขาไปหมุนก่อนตั้ง 4 เดือน กว่าจะส่งของ(ผู้บริโภคเสียเปรียบตลอด) และยังมีการเอารัดเอาเปรียบเล็กๆ น้อยๆ ตอดนิดตอดหน่อยกันอีก แล้วเรื่องอย่างนี้เชื่อว่าไม่ได้เกิดขึ้นกับคุณจันทร์รายเดียว ผู้บริโภคอย่างเราๆ จะพึ่งใครได้ นอกจากต้องใฝ่คว้าหาความรู้เรื่องสิทธิผู้บริโภคด้วยตนเองเพิ่มขึ้นไม่อย่างนั้นก็ต้องตกเป็นเบี้ยล่างผู้ประกอบการอยู่อย่างนี้ร่ำไป คงต้องขอบอกดังๆ อีกครั้ง ว่าเราต้องการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ที่จ่อรอเข้าสภาผู้แทนมาตั้งแต่สมัยประชุมที่แล้ว(เป็นแม่สายบัวแต่งตัวเก้อไปแล้ว1สมัย)หวังว่า สมัยประชุมนี้จะไม่เบี้ยวกันอีกนะท่านนักการเมือง..... ไหนๆ ก็กำลังเข้าสู่กระแสการปฏิรูปฟีเวอร์กันแล้ว ก็ขอให้ ช่วยปฏิรูปให้เกิดความเป็นธรรมในทุกด้าน ด้วยนะ ท่าน นน....อะ-พิ-สิดดดดๆๆๆๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 111 สาวใหญ่โดน SMS ลามก

“พี่สาวได้รับเอ็มเอ็มเอสเป็นภาพลามกค่ะ”น้องตู่(นามสมมติ) ร้องเรียนเข้ามาทางเว็บไซต์ของมูลนิธิฯ“ได้ติดต่อไปทางคอลเซนเตอร์ 1175 บริษัทเอไอเอสที่เป็นเจ้าของเครือข่ายที่พี่สาวใช้อยู่บอกว่าทำอะไรไม่ได้ ขอให้เราไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจก่อน พอแจ้งเสร็จก็ไปที่บริษัทเอไอเอสสาขาสุราษฎร์ธานี พนักงานไม่ยอมรับเรื่องค่ะ บอกว่าต้องพาเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับพันโทมาด้วย พนักงานถามอยู่คำเดียวจะบล็อกหมายเลขมั้ย และลูกค้าก็ต้องจ่ายเองจำนวนสามสิบบาท แล้วเราถามไปถามมา พนักงานบอกว่าบล็อกได้แต่สายโทรเข้า“เขาไม่สนใจว่าจุดประสงค์ของเราคือ ต้องการทราบว่าใครเป็นคนส่งมา เพราะพี่สาวไม่เคยมีเรื่องกับใคร”การบล็อกเบอร์ไม่ใช่วิธีแก้ปัญหา เพราะไปอ่านเจอตามเว็บต่างๆ หลายคนก็เจอปัญหาแบบนี้เหมือนกัน ต้องทนกล้ำกลืน นี่ยังไม่รวมบรรดาเอสเอ็มเอสขยะทั้งหลาย ทำอะไรได้บ้างคะ แนวทางแก้ไขปัญหากรณีที่ร้องเรียนมาถือว่าเป็นการกระทำผิดพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2540 มาตรา 14 (4) มาตรา 14 ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ(1) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน (2) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความ ตื่นตระหนกแก่ประชาชน (3) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา (4) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ (5) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (1)(2) (3) หรือ (4)เรื่องนี้เป็นความผิดทางอาญาเบื้องต้นต้องไปแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจและให้แจ้งข้อกล่าวหาตามที่กล่าวมาข้างต้น เมื่อแจ้งความแล้วให้นำหลักฐานการแจ้งความไปยื่นร้องเรียนกับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารหรือไอซีที เมื่อเป็นคดีความแล้วไอซีทีสามารถไปสืบค้นข้อมูลกับบริษัทผู้ให้บริการมือถือว่าใครเป็นคนปล่อยข้อมูลมาเข้าเครื่องของเราได้ การไปร้องเรียนโดยตรงกับบริษัทมือถือ บริษัทมือถือจะทำได้แค่การช่วยบล็อกเบอร์โทรศัพท์ที่มีปัญหา แต่ไม่สามารถจะแจ้งข้อมูลของคนที่ส่งเอสเอ็มเอสต่อบุคคลที่สามได้ เพราะอาจจะมีความผิดเรื่องการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและไม่ปกปิดข้อมูลของลูกค้า ใครที่ประสบปัญหาในลักษณะนี้แนะนำให้ทำตามขั้นตอนที่ว่ามาหากต้องการสืบหาคนกระทำผิดอย่างจริงจังครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 111 ภัยไม่คาดฝัน จากห้างค้าปลีกยักษ์

ในยามที่บ้านเมืองที่แสน...จะปั่นป่วนวุ่นวาย วังเวง ไร้ซึ่งจุดจบอย่างนี้ ก็ขอให้แฟนๆ ฉลาดซื้อ มีความสุขกับการอ่านหนังสือดีๆ เล่มนี้กันนะจ๊ะ วันนี้มีเรื่องเล่าแปลกๆ ที่เกี่ยวกับ การใช้สิทธิในห้างสรรพสินค้ากันหน่อย เรื่องนี้เกิดขึ้นที่ห้างเทสโก้โลตัส คือศูนย์พิทักษ์ผู้บริโภคจังหวัดสมุทรสงคราม ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภครายหนึ่ง กรณีซื้อสินค้าเครื่องเล่น ซีดี แล้วสินค้าชำรุดเสียหาย(ภายในระยะเวลาประกัน) จึงได้นำสินค้าไปที่ห้าง ห้างก็ๆ รับไว้และบอกว่าจะส่งซ่อมกับบริษัทผู้ผลิต ผู้บริโภคก็รอเกือบ 3 เดือนก็ยังไม่ได้รับการติดต่อจากห้างฯ จึงไปสอบถามพนักงานห้างฯ ท่านก็ตอบว่าอยู่ระหว่างส่งซ่อมเช่นเดิม ไปอีกหลายครั้งก็ได้คำตอบเหมือนเดิม จึงมาร้องเรียนให้ศูนย์ช่วยตรวจสอบ ศูนย์จึงได้ดำเนินการตรวจสอบไปทีห้าง และบริษัทผู้ผลิต เลยพบความจริงว่าบริษัทเจ้าของผลิตภัณฑ์ บอกไม่มีสินค้าชิ้นนี้ส่งซ่อม แต่ห้างยืนยันว่าส่งแล้วศูนย์ฯ จึงเดินหน้าพาผู้เสียหายไปเจรจากับผู้จัดการห้าง จนสุดท้ายผู้เสียหายได้เงินคืน(เรื่องก็จบไปไม่มีอะไรในกอไผ่) ถัดมาอีกไม่กี่วัน มีผู้บริโภคมาปรึกษาอีกว่าได้ไปซื้อโทรศัพท์ในห้างโลตัส(ที่เดิมอีก) มา ยังไม่ได้แกะใช้แต่รู้สึกอยากเปลี่ยนเป็นรุ่นอื่น จะขอเปลี่ยนได้ไหม เจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ ก็บอกว่า ลองไปคุยดูซิ แต่คิดว่าน่าจะเปลี่ยนได้เพราะยังไม่ได้ใช้สินค้า ผู้มาร้องเรียนจึงขอให้น้องในศูนย์ฯ ไปเป็นเพื่อน(ศูนย์ฯ กับห้างฯ อยู่ใกล้กัน) น้องที่เคยไปเจรจาครั้งที่แล้วเลยอาสาไปเป็นเพื่อน เพราะรู้ช่องทางและรู้จักผู้จัดการอยู่แล้ว เช่นเดิมคือไปเจรจากับร้านที่ซื้อโทรศัพท์ แล้วตกลงกันไม่ได้ น้องเจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ จึงพาไปเจรจากับผู้จัดการจนสามารถเปลี่ยนเป็นโทรศัพท์รุ่นที่ต้องการได้สำเร็จขณะกำลังเตรียมตัวจะกลับ ก็มีพนักงานห้างฯ เข้ามาคุยและแนะนำตนเองว่าเป็นผู้จัดการด้านรักษาผลประโยชน์ของห้างฯ เมื่อเห็นน้องเจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ จึงไม่ยอมให้น้องและผู้ซื้อสินค้าที่ไปด้วยกันออกจากห้างฯ และขอให้น้องแสดงบัตรเจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ให้ดู น้องบอกว่าศูนย์ฯ เป็นศูนย์ภาคประชาชนไม่มีบัตร และวันนี้ไม่ได้มาในนามเจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ แต่มาเป็นเพื่อนของลูกค้าห้าง และจะเดินออกจากห้างฯ เจ้าหน้าที่ห้างฯ มาขวางไม่ให้ออกจากห้างฯ และขอยึดบัตรประชาชนไว้ น้องเจ้าหน้าที่ศูนย์ไม่ยอม เกือบจะวางมวยกัน (ดีนะที่น้องยังยั้งใจไว้ได้) เจ้าหน้าที่ห้างฯ ขอเบอร์ศูนย์และโทรไปให้ผู้ประสานงานศูนย์มายืนยันความเป็นเจ้าหน้าที่ของน้องที่อยู่ที่ห้าง คุณเรณู ภู่อาวรณ์ ผู้ประสานงานศูนย์ฯ ตอบกลับไปว่า “ทำไมต้องไปยืนยัน ทุกคนมีสิทธิเข้าห้างฯ เพราะห้างฯ เปิดให้คนเข้าไปไม่ใช่หรือ และห้างฯ ก็ไม่มีสิทธิกักตัวประชาชนที่เข้าไปในห้างฯ ไม่ว่าจะเป็นใครทั้งนั้น ให้ปล่อยตัวทั้งเจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ และผู้ซื้อสินค้าออกมา ไม่อย่างนั้นจะแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจในข้อหากักขังหน่วงเหนี่ยว” พนักงานห้างฯ จึงยอมปล่อยตัวทั้ง 2 คนออกมา ซึ่งทั้งหมดของการเจรจากินเวลาเกือบชั่วโมง ตกลงว่า..นี่ห้างสรรพสินค้าหรือสถานีตำรวจ กันแน่เนี่ย...ห้างสรรพสินค้าเปิดไว้เพื่อให้ลูกค้าเข้าไปซื้อสินค้า เราเข้าไปแล้ว จะซื้อหรือไม่ซื้อสินค้าก็ได้ขึ้นอยู่กับความพอใจของเรา พอใจก็ซื้อไม่พอใจก็ไม่ซื้อไม่มีใครมาบังคับเราได้ และหากเราไม่ได้ขโมยสินค้าหรือทำข้าวของๆ แตกหักเสียหาย ห้างสรรพสินค้าจะมาใช้สิทธิกักขังหน่วงเหนี่ยวเราไม่ได้ และการซื้อสินค้าเราซื้อมาโดยมีใบเสร็จยืนยันการซื้อสินค้า ในเวลาไม่เกิน 3-7 วัน เรามีสิทธิเปลี่ยนสินค้าได้ ห้างสรรพสินค้าจะมาแสดงความยิ่งใหญ่ข่มขู่กักขังเราไม่ได้ ฝากผู้บริโภคแล้วกันว่าหากเจอเรื่องอย่างนี้ขอให้แจ้งตำรวจทันทีโดยไม่ต้องเจรจาให้เสียเวลานะจ๊ะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 109 ท่าน ส.ส. เมื่อไหร่จะทำงานคะ?

เราท่านทั้งหลายคงต้องยอมรับว่าวันนี้ “สื่อ” เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการสื่อสารให้เราท่านได้ทราบความเคลื่อนไหวของสังคมรอบข้างเราได้ดีมากๆ อย่างเรื่องลูกชิ้นเรืองแสงไง (เท่ชะมัดของกินเรืองแสงได้ด้วย) ซึ่งเป็นเรื่องคุ้นชินของสังคมไทยคือ เรื่องอะไรที่สื่อเล่นด้วยเรื่องนั้นก็จะดังเป็นที่สนใจของสังคม ทีนี้พอเรื่องลูกชิ้นมามันก็เลยช่วยกระตุ้น ให้คนไทยเริ่มรู้สึกว่า จริงๆ แล้วทุกวันนี้สิ่งที่เราบริโภคเข้าไปมีอะไรบ้างที่ปลอดภัยและอะไรบ้างที่ไม่ปลอดภัย ซึ่งสถานการณ์ของผู้บริโภคในปัจจุบัน มันก็ไม่ต่างอะไรกับการทดลองใช้เครื่องมือ จีที 200 ที่ผลมันออกมาว่าการใช้งานเท่ากับการเดาสุ่มเอา เพราะวันนี้ผู้บริโภคที่ซื้อสินค้า ก็ประสบชะตากรรมว่าตาดีได้ตาร้ายเสียเช่นกันว่าไปแล้วไม่อยากจะพูดว่าเราเหมือนไม่มีหน่วยงานดูแล แต่สถานการณ์มันบ่งชี้ว่าเป็นเช่นนั้นจริงๆ เพราะวันนี้เราไม่รู้ว่าจะพึ่งใคร มีหน่วยงานไหนบ้างที่จะทำให้ผู้บริโภคอย่างเราๆ ท่านๆ อุ่นใจได้ว่าสินค้าที่เราซื้อมันปลอดภัยจริง เช่นผู้เขียนซึ่งมีชีวิตส่วนใหญ่อยู่บนรถ(ส่วนตัว)เพราะมีภารกิจที่ต้องทำให้เดินทางอย่างต่อเนื่อง และเพื่อนของคนเดินทางคือวิทยุ ส่วนใหญ่ในต่างจังหวัดก็จะเป็นวิทยุชุมชน(สื่อชาวบ้าน) ซึ่งผู้เขียนก็สนับสนุนเพราะเชื่อว่าการสื่อสารเป็นเรื่องสำคัญ และประชาชนควรมีสื่อเป็นของเขาเองเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและประชาสัมพันธ์เรื่องดีๆ ของชุมชนแต่ที่น่าเศร้าใจคือวิทยุชุมชนของเรามากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ กลายเป็นฐานโฆษณาสินค้าไปเสียหมด ไม่มีใครกำกับดูแลว่า คุณสมบัติของคนที่จะมาเป็นผู้ให้ข้อมูลกับชาวบ้านต้องเป็นอย่างไร ที่เห็นอยู่ทุกวันนี้ก็คือ ให้ใครก็ได้ที่พูดได้มาเป็นดีเจ เนื้อหาของวิทยุชุมชนส่วนใหญ่จึงไม่ค่อยมีสาระมีแต่โฆษณาเต็มไปหมด อย่างการโฆษณาน้ำผลไม้แสนวิเศษ ราคาแพงลิบ โรคอะไรกินแล้วหายหมด ทั้งโฆษณาเป็นชิ้นเป็นอันและที่ท่านดีเจพร่ำพรรณนาสรรพคุณของสินค้านั้น จนคนฟังเคลิ้มว่ามันน่าจะรักษาโรคได้จริง แหม…ท่ารักษาโรคได้จริงเขาคงขึ้นทะเบียนยาไม่ดีกว่าหรือ(รับรองได้ว่ารวยไม่รู้เรื่อง) ชาวบ้านเราส่วนใหญ่ก็มีความเชื่อ(ผิดๆ) ว่าอะไรที่โฆษณาทางวิทยุเขาคงไม่หลอก(แต่จริงๆ เขาหลอกเราก็ไม่รู้หรอก) ชาวบ้านจึงตกเป็นหยื่อได้โดยง่าย โดยไม่มีหน่วยงานไหนแอ่นอกเข้ามาตรวจสอบ ผู้บริโภคอย่างเราท่านเหมือนขาดที่พึ่งจริงๆ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราควรจะมีหน่วยงานที่มีภารกิจเฉพาะ อย่างเช่น องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มาช่วยดูแลผู้บริโภคอย่างจริงจัง เรื่องนี้เครือข่ายผู้บริโภคทั่วประเทศพยายามผลักดันอย่างเต็มกำลัง และปัจจุบันร่างกฎหมายที่ได้เข้าวาระเร่งด่วนวาระที่ 2 ของสภาผู้แทนราษฏรแล้ว แต่เร่งด่วนยังไง ก็ยังไม่ได้รับการพิจารณาเพราะท่าน ส.ส. มัวทะเลาะกันไม่เลิก จึงอยากขอท่าน ส.ส.ทั้งหลายว่าช่วยทำหน้าที่เพื่อพี่น้องเสียที ไม่ใช่ทะเลาะกันแค่เรื่องไม่เป็นเรื่อง อายคนที่เลือกคุณเข้าไปบ้าง สนใจบ้างว่าพี่น้องที่เลือกคุณมา เขาต้องเผชิญปัญหาอะไรอยู่ย้ำอีกครั้งว่าเรารอผลงานของท่าน ส.ส. ผู้ทรงเกียรติอยู่นะคะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 108 หัวล้านได้หวี

เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาผู้เขียนได้มีโอกาสเดินทางไปเยี่ยมศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดเพชรบูรณ์  เพื่อให้กำลังใจคนทำงาน และดูความก้าวหน้างานด้านการคุ้มครองผู้บริโภค    รวมถึงได้มีโอกาสตั้งวงคุยกับคณะทำงานของเพชรบูรณ์  เรื่องหนึ่งที่คุยแล้วรู้สึกตกใจ เฮ้ย..มีเรื่องยังงี้ด้วยหรือ   แถมเป็นเรื่องที่ใครได้ฟังก็ขำไม่ออกก็เรื่องมันมีอยู่ว่า ศูนย์ฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนจากกลุ่มผู้พิการในจังหวัดเพชรบูรณ์   กรณีเขาได้รับแจกบัตรโทรศัพท์  ที่มีมูลค่าในบัตร 100  บาท  โดยสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นผู้แจกให้ เราก็ว่าก็ดีแล้วเขาแจกให้ทำไมเขายังมาร้องเรียนอีก ศูนย์บอกว่า บัตรที่แจกไม่ใช่บัตรเติมเงินโทรศัพท์มือถืออย่างที่เราๆ คุ้นเคย  แต่มันเป็นบัตรที่ต้องใช้กับตู้โทรศัพท์สาธารณะของTOT  เท่านั้น   และที่ขำไม่ออกสุดๆ คือ  มันมีแต่บัตร แต่ตู้โทรศัพท์ของ TOT ยังไม่มีในพื้นที่เลยสักตู้เดียว (ขำไหมล่ะทีนี้)ผู้พิการเขามาบอกว่าแจกมาทำไมบัตรเนี่ย…ยังไงเขาก็ไม่ได้ใช้ ถึงแม้จะมีตู้ก็ตามเพราะถึงมีตู้มันก็เป็นตู้ที่คนพิการใช้ไม่ได้อยู่ดี  เขามีเหตุผลฟังแล้วน่าสนใจคือ ถ้าเป็นผู้พิการที่ต้องนั่งรถเข็น ตู้มันชอบอยู่บนฟุตบาท ทั้งแคบและสูงกว่ารถเข็นคนพิการจะเข้าถึง  เขาก็ใช้ไม่ได้อยู่ดี   ส่วนผู้พิการทางสายตาตู้โทรศัพท์ก็เป็นตู้แบบไม่มีเสียงนำคนตาบอดก็ใช้ไม่ได้    สำหรับผู้พิการทางหู เขาพูดไม่ได้ต้องสื่อสารเป็นข้อความหรือภาพ  แต่ตู้สาธารณะมันก็ไม่มีภาพก็ใช้ไม่ได้อยู่ดี  สรุปบัตรที่แจกผู้พิการใช้ไม่ได้เลยซักกลุ่ม    เขาทำนองหัวล้านได้หวี เออ....นั่นสิ  แล้วเขาแจกมาทำไมมันไม่มีประโยชน์เลย ผู้เขียนก็เลยสอบถามข้อมูลกับผู้ที่เกี่ยวข้องก็ได้รู้ว่า  ไอ้ที่เราๆ เสียค่าโทรศัพท์ทั้งพื้นฐานและเคลื่อนที่นั้น มีอยู่ส่วนหนึ่งที่บริษัทต้องส่งเงินเข้ากองทุน UFO (กองทุนพัฒนากิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ)ให้กับสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.)  ซึ่งมีวงเงินนับหมื่นล้านบาทกันเลยทีเดียวเชียว โดยมีสำนักงานการบริการอย่างทั่วถึง ซึ่งเป็นสำนักงานหนึ่งในกทช.เป็นผู้รับผิดชอบ สำนักนี้ก็มอบให้ TOT เป็นเจ้าภาพในการจัดการบริการตามวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ  แทนที่ TOT จะคิดวิธีจัดให้มีบริการอย่างทั่วถึงแต่กลับแปลงกายเป็นช่างตัดรองเท้า และก็ตัดเบอร์เดียวทั้งประเทศ แล้วมาบังคับให้ทุกตีนใส่รองเท้าที่เขาตัดให้   โดยใช้วิธีสะดวกคือแจกบัตรโทรศัพท์ให้ผู้พิการทั่วประเทศผ่าน พมจ.จังหวัด  เรื่องมันก็กลายเป็นว่า TOT ให้บัตรแล้วจบ พมจ.มีหน้าที่แจกแล้วจบ   คนที่เจ็บแล้วเจ็บอีกก็เลยกลายเป็นผู้พิการ   เฮ้อ....ประเทศไทยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเขาคิดกันได้แค่นี้  แต่ใช้เงินเป็นหมื่นล้าน เราเจ้าของเงินจะนั่งกันตาปริบๆ ทำอะไรไม่ได้อย่างนี้ แล้วปล่อยให้พวกเขาผลาญเงินให้หมดไปวันๆ โดยใช้กลุ่มผู้พิการเป็นเหยื่อกระนั้นหรือ  กทช.ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องนี้แบบเต็มๆ ทราบบ้างไหม ว่ามีเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นถ้ายังไม่ทราบก็ควรทราบเสียที  ผู้บริโภคอย่างเราๆ ก็ไม่ควรอยู่เฉย ต้องลุกขึ้นมาร่วมกันตรวจสอบและกระตุ้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง(ที่บ้า บอด ใบ้ ทางปัญญา)  เพื่อช่วยทำให้เงินของเราเกิดประโยชน์กับผู้ด้อยโอกาสจริงๆ  ไม่ใช่ปล่อยไว้อย่างนี้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 108 รถหาย แต่ถูกขู่ว่ายักยอกทรัพย์

ในปัจจุบันต้องถือว่ารถจักรยานยนต์เป็นพาหนะที่ซื้อง่ายและหายก็คล่อง อย่างที่มีข่าวว่า มีการค้นพบสุสานโครงรถจักรยานยนต์ในคลองแห่งหนึ่งที่แก๊งค์ลักรถนำมาทิ้งไว้ ทำให้มีคำถามเข้ามามากว่า เมื่อรถหายแล้วผู้บริโภคที่เช่าซื้อรถคันนั้นมาจะต้องผ่อนกุญแจรถต่อไปหรือไม่ คำถามนี้มีคำตอบครับคุณนฤมลได้ร้องเรียนมาว่า ได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ 1 คัน ในราคา 41,000 บาท กับบริษัท อิออน ธนสินทรัพย์(ไทยแลนด์) จำกัด(มหาชน) โดยตกลงชำระเป็นงวด 36 งวด ๆ ละ 1,750 บาท คุณนฤมลได้ชำระมาถึงงวดที่ 19 ปรากฏว่ารถจักรยานยนต์สุดที่รักถูกขโมยหายไป ได้แจ้งความกับตำรวจไว้เป็นหลักฐานแล้ว แต่ปรากฏว่าบริษัทอิออนได้มีเอกสารมาแจ้งให้คุณนฤมลชำระเงินต่อให้หมดอีก 17 งวดที่เหลือ คุณนฤมลพยายามต่อรองขอส่วนลดกับอิออนโดยขอชำระส่วนที่เป็นเงินต้นที่ค้างอยู่ แต่ทางอิออนบอกว่า ไม่ได้ ต้องจ่ายให้หมด ไม่เช่นนั้นจะฟ้องร้องข้อหายักยอกทรัพย์อ้าว...! ไหงเป็นอย่างนี้ล่ะ คุณนฤมลร้อง อุตส่าห์ยอมที่จะผ่อนกุญแจรถให้แต่กลับถูกกล่าวหาว่าเป็นโจรไปเสียนี่ จึงอยากจะให้ทางมูลนิธิ ช่วยแนะนำแนวทางแก้ไขปัญหาว่าตามกฎหมายแล้ว ในฐานะผู้บริโภคจะสามารถจ่ายในส่วนของเงินต้นที่ค้างอยู่ได้หรือไม่ เพราะตอนนี้ฐานะทางการเงินของครอบครัวไม่ดีนัก รายรับไม่แน่นอน จึงอยากจะเก็บสะสมเงินก้อนเพื่อนำไปจ่ายหนี้สินให้กับทางอิออนให้หมดไป มารดาจะได้ไม่ต้องทุกข์ใจเมื่อทางเจ้าหน้าที่โทรและส่งจดหมายมาข่มขู่ว่าจะดำเนินคดีในข้อหายักยอกทรัพย์ แนวทางแก้ไขปัญหาอันว่าสัญญาเช่าซื้อรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ ไม่ว่าจะเป็นของไฟแนนซ์หรือลิซซิ่งไหนก็แล้วแต่ จะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมสัญญาตามประกาศเรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2543 ซึ่งประกาศฉบับนี้ได้คุ้มครองผู้บริโภคไม่ต้องผ่อนค่ากุญแจต่อไปจนครบสัญญาในกรณีที่รถหรือรถจักรยานยนต์ที่เช่าซื้อสูญหาย ถูกทำลาย ถูกยึด ถูกอายัด หรือถูกริบโดยมิใช่ความผิดของผู้เช่าซื้อ เพราะถือว่าสัญญาเช่าซื้อได้ระงับลงแล้วเมื่อทรัพย์สินที่เช่าซื้อได้สูญหายไปดังนั้น หากผู้บริโภคมั่นใจว่าการสูญหายของรถนั้นไม่ได้เกิดมาจากความประมาทหรือความจงใจของตนก็ให้ไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยทันที และให้ส่งสำเนาหลักฐานการแจ้งความไปให้อิออนครับ ส่งทางไปรษณีย์ตอบรับ เก็บตัวจริงไว้เป็นหลักฐาน หากจะมีการกล่าวหาว่าผู้บริโภคเป็นผู้ยักยอกทรัพย์ที่เช่าซื้อนั้นเองฝ่ายผู้กล่าวหาก็ต้องมีพยานหลักฐานที่ชัดเจนเช่นกันครับ  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 107 “ไฮสปีดกลายเป็นโลว์สปีด”

ปัญหาของอินเตอร์เน็ตที่มีการร้องเรียนจากผู้บริโภคมากที่สุดในขณะนี้คือ เน็ตช้า ความเร็วไม่เป็นไปตามที่โฆษณา อารมณ์สะเทือนใจของชาวเน็ตเป็นอย่างไรบ้างลองอ่านดูกันครับ“ที่บ้านดิฉันใช้บริการอินเตอร์เน็ต แบบ 3Mb ค่ะ ใช้มาสองปีแล้ว แต่เพิ่งเปลี่ยนแพคเกจเป็น 3MB เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมาและเมื่อเปลี่ยนแล้ว ความเร็วไม่เต็มสปีดสักเท่าไหร่ ที่สำคัญ หลุดบ่อยมากค่ะ โดยเฉพาะเวลาที่ฝนตก และตอนกลางคืนใช้ได้ 5-10 นาที เน็ตก็ตัดแล้วทำอะไรไม่ได้เลยโทรศัพท์ไปแจ้งกับทางศูนย์บริการก็รับเรื่องแบบแกนๆ เคยโทรไปหลายครั้งแล้วรอสายนานมาก แต่ก็ไม่ได้รับการแก้ไขสักทีตอนนี้ใช้งานที่ราชบุรีค่ะ ศูนย์บริการปิดตอนห้าโมงเย็น แต่ปัญหาเกิดตอนกลางคืนค่ะ เคยโทรไปฝากเรื่องตอนกลางคืน เพราะอินเตอร์เน็ตใช้ไม่ได้ตอนเช้าพนักงานเพิ่งจะโทรมา ปัญหาก็หายไปแล้ว ทำแบบนี้ก็ไม่ได้แก้ไขปัญหาอะไรจริงมั้ยคะ?? จ่ายเต็มราคาทุกครั้งแต่เจอสภาพอินเตอร์เน็ตแบบนี้สมควรเรียกร้องมั้ยล่ะคะ”หรืออีกกรณีหนึ่ง“ผมทำสัญญาใช้บริการอินเตอร์เน็ตรายเดือน ความเร็ว 3 เม็ก แต่ความเร็วจริงต่างกับที่โฆษณาเอาไว้มากครับน่าจะโฆษณาว่าเน็ต 2.5 เม็กมากกว่า ต้องจ่ายเงินให้ทีโอทีทุกเดือน แต่ก็มีความรู้สึกเหมือนโดนเอาเปรียบอยู่ทุกเดือน ต่างกับของ ทีทีแอนด์ที มากครับ 3 เม็กเต็ม บางวันก็จะตกมาอยู่ที่ 2.9 หรือ 2.8 ดาวน์โหลดทุกอย่างเร็วทันใจ ผมใช้เน็ตของทีโอทีดาวน์โหลดไฟล์ให้ลูกค้า บางไฟล์ ต้องรอถึงสามวันกว่าจะโหลดเสร็จ ทั้งๆ ที่ เคยใช้ของทีทีแอนด์ทีใช้เวลาแค่ 8 ชั่วโมง เก็บค่าใช้บริการเท่ากันแท้ๆ แต่ทีโอทีกลับเอาเปรียบผู้บริโภคไม่ดีเลยครับ” “ดูหนัง ฟังเพลงได้ช้ามากๆ กระตุกหยุดโหลดทุกสามวินาที ทั้งที่เป็น 3 เม็ก เช็คความเร็วดูปรากฏว่าไม่ถึง 3 เม็ก โทรไปร้องเรียนที่ 1100 คอนแทคเซ็นเตอร์ก็ไม่มีเจ้าหน้าที่รับสาย โทรไปกี่ครั้งก็ไม่มีเจ้าหน้าที่รับสาย มีแต่เสียงตอบรับอัตโนมัติว่าคู่สายบริการเต็มให้โทรมาใหม่เสียความรู้สึกมากๆ รบกวนช่วยรับเรื่องร้องเรียนของฉันด้วยค่ะ มันไม่ยุติธรรมเลยที่ต้องเสียค่าบริการเต็ม แต่ได้รับบริการห่วยๆแบบนี้” ฯลฯ “มีปัญหาสัญญาณหลุดบ่อย อีกทั้งมีความล่าช้าในการแก้ไข และไม่ได้รับความเร็วตามที่กำหนด 3 เม็กแต่ใช้งานได้เพียงไม่ถึง 1 เม็ก แต่ก็ยังเก็บค่าบริการรายเดือนเต็มจำนวนอีกด้วยทุกเดือน โดยที่ปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไขให้เสร็จสมบูรณ์”แนวทางแก้ไขปัญหาบรรดาสารพันปัญหาอินเตอร์เน็ตล่าช้า ไม่เป็นไปตามสัญญา สามารถดำเนินการได้ 4 แนวทางนะครับ 1. สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) ได้จัดทำโครงการทดสอบความเร็วอินเตอร์เน็ตของผู้ให้บริการร่วมกับ สมาคมผู้ดูแลเว็บไทย บนเว็บไซต์ www.speedtest.or.th ให้ไปเช็คความเร็วอินเตอร์เน็ตและแจ้งไว้เป็นหลักฐานที่นี่ ปกติแล้วถ้าได้ความเร็วสัก 80% ขึ้นไปก็ถือว่าเป็นคุณภาพที่พอรับได้ครับ2. ถ้าโทรแจ้งที่คอลเซนเตอร์แล้วไม่ได้ผล ผู้บริโภคทำหนังสือร้องเรียนโดยตรงที่บริษัทผู้ให้บริการ โดยเรียนถึงกรรมการผู้จัดการ เรื่องขอให้แก้ไขปรับปรุงคุณภาพมาตรฐานการบริการ และขอให้คืนเงินค่าบริการในช่วงที่ไม่ได้ใช้งานไปหักลบกลบหนี้ของบิลรอบเดือนถัดไป ดังนั้นควรระบุให้ชัดเจนว่าเน็ตช้ามากในช่วงไหนถึงไหนจากหลักฐานที่เราได้เช็คจากwww.speedtest.or.th3. หากผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตไม่แก้ไขปัญหา หรือยังไม่ยอมคืนเงินในช่วงที่ไม่ได้ใช้บริการหรือใช้บริการแล้วแต่ได้ความเร็วไม่เป็นไปตามโฆษณาหรือสัญญา ให้ทำหนังสือร้องเรียนพร้อมแนบสำเนาบัตรประชาชนส่งถึงผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม หรือ สบท. ส่งไปที่สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) 404 อาคารพหลโยธินเซนเตอร์ ถนนพหลโยธิน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400 โทร.02-2790250 โทรสาร 02-2790251 หรือจะเดินทางไปร้องเรียนด้วยตนเองก็ได้4. การร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สิ่งที่เราจะดำเนินการให้คือ ออกจดหมายเรียกร้องให้บริษัทปรับปรุงคุณภาพบริการ หากยังไม่มีการดำเนินการใดๆ อีก คุณสามารถขอให้มูลนิธิฯ ดำเนินการเขียนคำฟ้องเพื่อฟ้องเรียกค่าเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นคดีผู้บริโภคได้ครับ ความผิดของผู้ให้บริการคือ การให้บริการที่ไม่มีคุณภาพมาตรฐานไม่เป็นไปตามที่โฆษณาหรือสัญญาไว้ครับ  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 106 บทเรียนของพวกหากินกับหนี้เสีย

“ผมสงสัยว่าคดีหนี้ของผมจะขาดอายุความไปแล้ว อยากให้มูลนิธิฯ ช่วยดูให้หน่อยครับ”บ่ายแก่ ๆ ของวันที่ 6 ตุลาคม 2552 คุณเสน่ห์ เดินเข้ามาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคพร้อมสำเนาคำฟ้องคดีผู้บริโภค ที่คุณเสน่ห์ตกเป็นจำเลยฐานผิดสัญญากู้ยืมเงินที่เอามาจากบริษัท อีซี่บาย จำกัด(มหาชน)และถูกเรียกให้ชำระหนี้เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 82,000 กว่าบาท แต่ชื่อโจทก์ที่ยื่นฟ้องกลับเป็นชื่อบริษัท เจเอ็มที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด ที่ซื้อหนี้เสียมาจากบริษัทอีซี่บาย“ศาลนัดผมเพื่อเจรจาไกล่เกลี่ยครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2552 ตอนแรกผมตั้งใจว่าจะแถลงด้วยวาจาว่าคดีของผมนั้นโจทก์ฟ้องขาดอายุความแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ของศาลแนะนำให้ผมเขียนคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรจะดีกว่า ผมจึงได้ขอให้ศาลเลื่อนพิจารณาไปอีกสักนัดเพื่อติดต่อหาทนายช่วยเขียนคำให้การเพราะผมไม่รู้ว่าจะเขียนอย่างไร ศาลจึงได้นัดพิจารณาคดีอีกครั้งเป็นวันที่ 15 ตุลาคม 2552 ซึ่งครั้งนี้ผมจะต้องมีคำให้การของจำเลยไปยื่นต่อศาลครับ ไม่อย่างนั้นผมถูกพิพากษาให้ต้องชำระหนี้ก้อนนี้แน่”“ถามหน่อยเถอะครับ...ว่าทำไมคุณถึงไม่ชำระหนี้เขาต่อและทำไมคิดว่าคดีนั้นขาดอายุความไปแล้ว?” เจ้าหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนถาม “ผมกู้เงิน 1 แสนบาทจากอีซี่บายมาเมื่อปี 2544 ผมก็ชำระหนี้เรื่อยมาตลอดร่วม 2 ปี เป็นเงินร่วมแสนกว่าบาทแต่หนี้ในบัญชีมันไม่หมดสักที ดอกเบี้ยมันแพงมาก ตอนนั้นก็ลำบากมากเลยต้องหยุดจ่ายหนี้ไป จำได้ว่าผมจ่ายหนี้ครั้งสุดท้ายเมื่อประมาณเดือนพฤษภาคม 2546 แต่ในคำฟ้องแจ้งว่าผมไม่ชำระหนี้เงินกู้มาตั้งแต่งวดวันที่ 2 มิถุนายน 2546 เขามาฟ้องผมวันที่ 8 มิถุนายน 2552 นี่เอง ก่อนหน้านี้ผมได้เคยโทรมาปรึกษากับทางมูลนิธิฯ แล้วทราบว่า สัญญาสินเชื่อส่วนบุคคลอายุความที่จะฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ต้องทำกันภายใน 5 ปีใช่ไหมครับ”“ใช่ครับต้องฟ้องร้องกันภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญา แต่ต้องขอดูรายละเอียดในคำฟ้องก่อนนะครับว่าจะช่วยเหลือได้อย่างไร”แนวทางแก้ไขปัญหาเมื่อพิจารณาในรายละเอียดคำฟ้องพบข้อมูลที่น่าสนใจมากสำหรับผู้ที่เป็นลูกค้าหรือลูกหนี้อีซี่บายดังนี้ครับ1. เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2551 บริษัท อีซี่บาย จำกัด(มหาชน) ได้ดำเนินการขายบัญชีหนี้เสียในกลุ่มสินเชื่อเงินสดให้กับบริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด โดยมีจำนวนบัญชีลูกหนี้รวมกันทั้งสิ้น 17,170 ราย มูลหนี้รวมกันทั้งสิ้น 471 ล้านบาทเศษ โดยคิดค่าตอบแทนที่บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็สฯ จ่ายเพื่อซื้อหนี้เสียจากอีซี่บายก้อนนี้เป็นเงินเพียง 20 ล้านบาทเศษเท่านั้น หรือคิดเป็นเพียงร้อยละ 4.25 ของมูลหนี้ทั้งหมด2. ผลจากการซื้อขายหนี้เสียดังกล่าวทำให้บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็สฯ ได้มาซึ่งทรัพย์สินและสิทธิเรียกร้องเกี่ยวกับหนี้ทั้งหมดตลอดจนการรับชำระหนี้แทนอีซี่บาย พูดง่ายๆ คือจ่ายเพียงแค่ร้อยละ 4.25 แต่ได้สิทธิเรียกร้องจากลูกหนี้เต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ แถมดอกเบี้ยอีกต่างหาก3. อัตราดอกเบี้ยที่อีซี่บายทำกับผู้บริโภครายนี้ซึ่งทำในช่วงปี 2544 นั้น จะคิดเป็นค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินในอัตราร้อยละ 2.0 บาทต่อเดือนหรือร้อยละ 24 บาทต่อปี และยังคิดดอกเบี้ยอีกในอัตราร้อยละ 0.50 บาทต่อเดือนหรือร้อยละ 6 ต่อปีอีก จึงเท่ากับว่าผู้บริโภคต้องจ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 30 บาทต่อปี ซึ่งในขณะนั้นธนาคารแห่งประเทศไทยยังไม่ได้เข้าไปกำกับการเรียกเก็บดอกเบี้ยของสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารทั้งหลาย การเรียกเก็บดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวจึงเป็นการเรียกเก็บดอกเบี้ยที่ผิดกฎหมาย4. สัญญากู้ยืมเงินที่เรียกว่าประเภทสินเชื่อส่วนบุคคลนั้น มีข้อตกลงว่าผู้บริโภคจะใช้เงินต้นพร้อมดอกเบี้ยคืนให้กับเจ้าหนี้โดยผ่อนชำระเป็นรายเดือนเป็นงวดๆ ดังนั้น การฟ้องเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระดอกเบี้ยพร้อมเงินต้นตามสัญญากู้ยืมเงิน จึงถือได้ว่าเป็นการเรียกเอาดอกเบี้ยพร้อมต้นเงินเพื่อผ่อนต้นทุนคืนเป็นงวด ๆ ซึ่งมีกำหนดอายุความไว้ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/32(2) ในคำฟ้องระบุว่าฝ่ายผู้บริโภคไม่ชำระหนี้เงินกู้มาตั้งแต่งวดวันที่ 2 มิถุนายน 2546 สิทธิเรียกร้องของฝ่ายเจ้าหนี้จึงเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2546 แต่โจทก์มาฟ้องวันที่ 8 มิถุนายน 2552 เกินกว่า 5 ปีแล้ว ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความครับ คือต้องฟ้องก่อนวันที่ 3 มิถุนายน 2551 เท่านั้นเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏชัดตามที่กล่าวมาเจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยคำแนะนำของหัวหน้าศูนย์ทนายความอาสาจึงได้ช่วยเหลือผู้บริโภคโดยการร่างคำให้การจำเลยเพื่อให้ผู้บริโภคเป็นผู้ไปยื่นต่อศาลในวันนัด โดยได้ให้การใน 2 ประเด็นหลักคือ เรื่องการเรียกเก็บดอกเบี้ยที่ผิดกฎหมายและเรื่องคดีขาดอายุความ ซึ่งท้ายสุดศาลได้พิพากษายกฟ้องโจทก์เป็นที่เรียบร้อย ทำให้ผู้บริโภครายนี้พอที่จะลืมตาอ้าปากได้บ้างเนื่องจากอีซี่บายมีการขายหนี้เสียออกไปร่วมสองหมื่นราย และอาจมีหลายรายที่เจ้าหนี้เสียสิทธิในการเรียกร้องแล้วเนื่องจากขาดอายุความ แต่หากลูกหนี้ไม่ได้ยื่นคำให้การสู้คดีอย่างถูกต้อง ศาลจะพิพากษาให้ลูกหนี้ต้องชำระหนี้ต่อไป ดังนั้นหากใครมีข้อสงสัยในประเด็นนี้รีบติดต่อมาที่มูลนิธิฯ โดยทันที

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 104 “รถเปลี่ยนเป็นเงิน” อันตรายติดเสาไฟฟ้า

“หนูจ๋า ช่วยป้าด้วยจ้ะ...!”“มีอะไรหรือคะป้า” เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคถาม“คืออย่างนี้...”ต่อจากนั้นเจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคก็ได้รับฟังความทุกข์จากป้าอารีย์ที่หลั่งไหลออกมาอย่างไม่ขาดสาย“สามีป้ามีปัญหาสุขภาพ เจ็บป่วยออดๆ แอดๆ ป้าต้องทำงานหาเงินคนเดียว ทำทุกอย่างทั้งเย็บมุ้งขาย ทั้งทำสวนอยู่ต่างจังหวัด ยังไม่พอนะหนู แม่สามีของป้าแกก็มาป่วยเข้าอีกคน ป้าแทบหมดหนทางไม่รู้จะหาเงินที่ไหนมาใช้จ่ายจุนเจือครอบครัว”ที่เล่ามาเป็นเพียงจุดเริ่มต้น แต่ปัญหาจริง ๆ ของป้าอารีย์เกิดขึ้นเมื่อ...“ป้าต้องใช้เงินมากไม่รู้จะไปกู้ที่ไหน เห็นเบอร์ตามเสาไฟฟ้าที่บอกว่า ให้นำรถไปเปลี่ยนเป็นเงินได้ พอดีสามีป้ามีรถกระบะอยู่คันหนึ่ง ก็ตัดสินใจวินาทีนั้นล่ะ กะจะเอารถไปจำนำเปลี่ยนเป็นเงินมาใช้กันก่อน มีเงินเมื่อไหร่ค่อยไปไถ่ถอนคืนทีหลัง”ป้าอารีย์จึงโทรไปขอความช่วยเหลือตามเบอร์โทรศัพท์ที่แจ้งไว้ในป้ายข้างเสาไฟฟ้าทันที“ตอนนั้นประมาณเดือนกรกฎาคม ปี 2548 เขาบอกคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อเดือน ใช้สมุดรถยนต์ค้ำประกัน ก็นัดหมายทำสัญญากันเลย” “ไปทำสัญญากันที่ปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่งแถวถนนเพชรเกษม ช่วงบางแค วันนั้นเห็นมีพนักงานแค่ 2 คน ก็เอารถเราไปให้เขาดูด้วย เขาตีราคาบอกว่าได้แค่ 70,000 บาท และให้วางสมุดทะเบียนรถไว้กับเขาแต่รถเอาไปใช้ได้ป้าก็ลังเลอยู่แต่สามีป้า ซึ่งเป็นเจ้าของรถตกลงเซ็นสัญญาทันที ก็ไม่ได้อ่านเอกสารหรอกเพราะตัวเล็กมาก แล้วพนักงานก็ให้ป้าเซ็นกำกับในสัญญานี้ด้วย โดยบอกว่าป้าเป็นเจ้าบ้านต้องเซ็นอนุญาตให้รถที่จำนำทะเบียนนั้นจอดได้ ป้าก็งง ๆ อยู่แต่ก็เซ็นไป”“เมื่อทำสัญญาเสร็จป้ากับสามีได้รับเงินแค่ 64,000 บาท เพราะพนักงานแจ้งว่ามีค่าใช้จ่าย 6,000 บาท หลังจากนั้นเขาก็ให้ป้ากับสามีเดินทางไปโอนทะเบียนรถให้เขา โดยให้พนักงานอีกคนขับรถของสามีป้าตามไปที่ขนส่งเขาเอารถไปทำเรื่องอยู่นานมาก แล้วเมื่อทำเรื่องโอนรถเสร็จป้ายังต้องเสียค่าโอนอีก 1,050 บาท”สรุปว่าวันนั้น ป้าอารีย์กับสามีได้รับเงินเพียงแค่ 62,950 บาท เท่านั้น จากการจำนำรถ 70,000 บาทและไม่ได้รับเอกสารใดๆ กลับบ้านเลยหลังจากนั้นไม่นานป้าอารีย์ได้รับเอกสารสัญญาส่งมาทางไปรษณีย์ เมื่อแกะเปิดดูแบบเต็มๆ ถึงได้รู้ว่าสัญญาที่ได้ทำไปนั้นแทนที่จะเป็นสัญญาจำนำรถกลับเป็นสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ของตัวเอง โดยมีหนี้เช่าซื้อรถจำนวน 137,700 บาท ผ่อนงวดละ 3,825 บาท ระยะเวลาผ่อน 36 งวด ได้รับเอกสารสัญญาแล้วป้าอารีย์ก็น้ำตาตกใน แต่ไม่ได้ทักท้วงอะไรตั้งหน้าตั้งตาผ่อนรถของตัวเองไปโดยไม่ปริปาก มีบางงวดที่ขาดส่งหรือล่าช้าไปบ้างจึงถูกเรียกเบี้ยปรับและค่าติดตามทวงถามเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ แต่ก็กัดฟันสู้ จนเมื่อประมาณเดือนตุลาคม 2551 คราวนี้ป้าอารีย์และสามีไม่มีเงินกันจริงๆ จึงไม่ได้ชำระเงินค่างวดอีก“พอถึงต้นเดือนพฤศจิกายน 2551 มีคนของไฟแนนซ์มาทวงหนี้ถึงที่บ้านแจ้งว่าให้ชำระหนี้ค่าเช่าซื้อทั้งหมด 50,000 กว่าบาทไม่เช่นนั้นจะยึดรถทันที แต่อีกไม่กี่วันป้าได้โทรไปถามยอดหนี้ให้แน่ใจอีกครั้งกลับได้รับแจ้งว่ามีหนี้เช่าซื้อถึง 70,000 กว่าบาทและถ้าจ่ายไม่ได้จะถูกยึดรถ”“ป้ากับสามีไม่รู้จะทำอย่างไรจากที่ไปขอกู้เงินเขาแค่ 70,000 บาท จ่ายคืนหนี้มาตั้ง 2-3 ปีก็ยังไม่หมด ตอนนี้เอารถยนต์ไปหลบที่ต่างจังหวัดอยู่ อยากให้มูลนิธิฯ ช่วยเหลือป้าด้วย”แนวทางแก้ไขปัญหาน่าเห็นใจครับกับปัญหาเศรษฐกิจระดับครัวเรือนที่ไม่มีทางออก เมื่อไม่มีแหล่งเงินกู้ในที่สว่างก็ต้องไปหาเก็บเอาตามเสาไฟฟ้ากันอย่างนี้ล่ะครับชีวิตคนไทยเมื่อเสียรู้เข้าทำสัญญาเช่าซื้อรถของตัวเองไปแล้วก็คงต้องเดินหน้าต่อไปล่ะครับ เมื่อดูใบเสร็จรับเงินที่ป้าอารีย์จ่ายค่างวดไปแล้วพบว่าค้างเหลืออยู่อีกแค่ 7 งวด เป็นเงิน 26,775 บาท เพื่อไม่ให้เป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าซื้อจึงแนะนำให้ป้าอารีย์ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างอยู่ให้ครบ โดยใช้วิธีโอนเงินเข้าบัญชีไฟแนนซ์ไป ไม่ต้องสนใจว่าใบเสร็จที่ได้รับจะถูกหักเป็นเบี้ยปรับล่าช้าหรือไม่ เพราะธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ถือเป็นธุรกิจที่ถูกคณะกรรมกาคุ้มครองผู้บริโภคเขาควบคุมสัญญาไว้ แม้จะให้ผู้ประกอบธุรกิจมีสิทธิคิดเบี้ยปรับ เบี้ยล่าช้า ได้แต่สัญญาควบคุมก็ห้ามคิดอัตราดอกเบี้ยแบบลูกค้าชั้นดีรายย่อยของธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน) บวกสิบ(MRR. + 10) อย่างที่หลาย ๆ ไฟแนนซ์ชอบเขียนกันไว้ในสัญญา หรือค่าทวงถามก็ให้คิดได้แต่ต้องอยู่ในอัตราที่เหมาะสมสามารถพิสูจน์ได้ว่ามีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นตามนั้นจริง ที่สำคัญสัญญาควบคุมเขาถือว่าเมื่อผู้เช่าซื้อชำระค่างวดและค่าใช้จ่ายอื่นใดที่ปรากฏในสัญญาและไม่ขัดต่อสัญญาควบคุมของ สคบ.แล้วถือว่ากรรมสิทธิ์ในรถยนต์ที่เช่าซื้อนั้นตกเป็นของผู้เช่าซื้อโดยทันที และผู้ประกอบธุรกิจมีหน้าที่ต้องดำเนินการโอนทะเบียนรถให้ผู้เช่าซื้อโดยทันทีภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับเอกสารที่เกี่ยวกับการโอนทะเบียนจากผู้เช่าซื้อครบถ้วนดังนั้นเมื่อป้าอารีย์ได้ชำระค่างวดรถไปครบถ้วนหลังจากนั้นมูลนิธิฯ จึงได้ช่วยทำหนังสือแจ้งไฟแนนซ์ให้ทำการโอนเปลี่ยนชื่อในสมุดคู่มือจดทะเบียนรถ ตอนแรกไฟแนนซ์ก็ทำทีอิดเอื้อนจะขอเรียกเก็บเบี้ยปรับอยู่แต่ด้วยไม่มีข้อต่อสู้ทางกฎหมายเนื่องจากสัญญาที่ทำขึ้นได้กำหนดค่าเบี้ยปรับที่ขัดต่อสัญญาควบคุมท้ายที่สุดจึงต้องทำการโอนเปลี่ยนชื่อรถโดยไม่มีเงื่อนไขครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 103 จองรถไม่ได้รถ ต้องได้เงินจองคืน

เรียน ผู้จัดการ บริษัท พระนครออโต้เซลล์เรื่อง ขอเงินค่าจองรถป้ายแดงคืนจากที่ได้ตกลงกันกับทางบริษัทไปแล้วนั้นว่าดิฉันจะรับเงื่อนไขจากบริษัท คือรับเงินคืนจำนวน 3,000 บาท จากที่ได้จองทั้งสิ้นเป็นเงิน 5,000 บาท โดยในการรับเงื่อนไขระบุในเอกสารการจองว่า ให้โอนเงิน 1,000 บาท เข้าบัญชีเลขที่ 688-000000-0 อีก 2,000 บาททางบริษัทยืนยันว่าจะจ่ายเป็นเช็คและแฟกซ์หน้าเช็คที่สั่งจ่ายเข้าบัญชีภายในวันที่ตกลงกัน แต่หลังจากนั้นดิฉันได้รอแฟกซ์แต่ก็ไม่มีแฟกซ์หน้าเช็คกลับมาดิฉันจึงอยากเรียนมา จริง ๆ แล้ว ดิฉันเช็คดูแล้วว่าทางบริษัท ผิดนัด ซ้ำแล้วซ้ำอีก นับตั้งแต่วันจองจนหาบริษัทไฟแนนซ์ให้ไม่ได้ และพยายามทำให้เรื่องยืดเยื้อและล่าช้า การกระทำดังกล่าวทำให้ดิฉันอดคิดไม่ได้ว่า ทางบริษัทจะริบเงินจองทั้งหมดจริง...นี่เป็นส่วนหนึ่งของจดหมายที่คุณกฤชญากรส่งถึงบริษัทขายรถยนต์แห่งหนึ่งเพื่อทวงถามเงินจองที่ได้จ่ายไปจำนวน 5,000 บาท แต่บริษัทรถอ้างว่าคุณกฤชญากรติดเครดิตบูโร ไฟแนนซ์ไม่อนุมัติสินเชื่อเช่าซื้อให้สักราย และได้เสนอเปลี่ยนรถที่จะขายให้เป็นคันใหม่ คุณกฤชญากรเห็นว่าไม่ได้รถตามที่ต้องการไว้แต่แรก จึงบอกเลิกสัญญาการจองและขอเงินค่าจองรถคืน แต่เกือบร้อยทั้งร้อยล่ะครับที่จะเจอการโยกโย้ โยกเย้ ประวิงเวลา เตะถ่วงไปเรื่อย ๆ ไม่คลายเงินจองออกมาง่าย ๆ จนผู้จองรถโดยส่วนใหญ่จำต้องทิ้งเงินจองไป ที่ผ่านมา ธุรกิจกินเงินจองรถนี่บรรดาเต้นท์รถเบิกบานมาก เพียงแค่ลงทุนค่าโฆษณาผ่านหนังสือขายฝากรถยนต์ แจ้งโฆษณาว่ามีรถทุกรุ่น ทุกเฉดสี ไม่ว่าใหม่หรือเก่า ก็สามารถหาให้ได้ แถมราคาย่อมเยากว่าศูนย์ตัวแทนของบริษัทผู้ผลิตเป็นหมื่น แค่นี้ก็มีลูกค้ามาถวายเงินจองให้ตรึม พอลูกค้ามาติดต่อก็บอกว่าหารถให้ได้แน่ ไฟแนนซ์ก็ผ่านแน่ ๆ ขอแค่วางเงินจองไว้ 5,000 บาท พอถึงจังหวะที่จะกินเงินจองกับลูกค้าก็จะมีสูตรตายตัวในทำนองว่า ลูกค้าปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับเครดิตบูโร เลยไม่สามารถจัดไฟแนนซ์ให้ได้ เมื่อลูกค้าเป็นคนผิดสัญญาการจองเอง ดังนั้นจึงต้องถูกยึดเงินจอง ลูกค้ากลับไปดูสัญญาก็เห็นเป็นจริงเช่นนั้นเสียด้วยแต่เขียนซะตัวเล็กกระจ้อยร่อย ท้ายสุดต้องยอมเสียเงินไป เรื่องทำนองนี้เคยนำลงในฉลาดซื้อมาครั้งสองครั้งแล้ว แต่ครั้งนี้มีข้อกฎหมายเด็ดสะระตี่ไว้ให้ผู้บริโภคใช้เรียกเงินจองคืนได้แบบสมบูรณ์แบบครับแนวทางแก้ไขปัญหาด้วยท่วงทำนองการประกอบธุรกิจที่ทุจริตของบรรดาเต้นท์รถทั้งหลายทำให้คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคนิ่งเฉยไม่ได้ ในที่สุดจึงได้ใช้แผนเผด็จศึกที่ได้ผลมาแล้วกับหลายๆ ธุรกิจ คือการประกาศให้ธุรกิจการขายรถยนต์ที่มีการจองเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา หลายคนยังไม่รู้จักเพราะประกาศฉบับนี้เพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ.2551 นี่เอง ถือเป็นประกาศควบคุมสัญญาล่าสุดที่ สคบ. มีออกมาประกาศฉบับนี้ใช้ควบคุมการประกอบกิจการขายรถยนต์ที่ผู้ประกอบธุรกิจนำเอารถยนต์ออกขายโดยให้ผู้บริโภคทำการจองซื้อ และผู้ประกอบธุรกิจได้รับเงินหรือรับสิ่งใดไว้เป็นมัดจำ และให้คำมั่นว่าจะส่งมอบรถยนต์ให้ผู้บริโภคตามเวลาที่กำหนดในสัญญาทีนี้ในเรื่องของการซื้อขายรถยนต์ที่มีการจอง ประกาศฉบับนี้ได้เขียนข้อสัญญาที่ควบคุมไว้อย่างชัดเจนว่า ผู้บริโภคมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเมื่อผู้ประกอบธุรกิจไปปรับเปลี่ยนราคารถยนต์ที่จองไว้สูงขึ้น หรือไม่ส่งมอบรถยนต์ให้ผู้บริโภคภายในระยะเวลาที่กำหนด หรือไม่ส่งมอบรถยนต์ที่มียี่ห้อ รุ่น ปีที่ผลิต สี และขนาดกำลังเครื่องยนต์ตรงตามที่กำหนดในสัญญา หรือ ไม่ส่งมอบรถยนต์ที่มีรายการอุปกรณ์ติดตั้งเพิ่มเติมและของแถม หรือสิทธิประโยชน์ต่างๆ ตามที่กำหนดในสัญญานอกจากนี้ยังมีการควบคุมสัญญาที่สำคัญอีกข้อหนึ่งว่า หากมีข้อเท็จจริงที่ผู้ประกอบธุรกิจได้รับทราบว่า ผู้บริโภคต้องขอสินเชื่อเพื่อการซื้อรถยนต์ และผู้บริโภคไม่ได้รับสินเชื่อตามที่ขอภายในกำหนดเวลาการส่งมอบรถยนต์ ผู้บริโภคหรือผู้ประกอบธุรกิจฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีสิทธิบอกเลิกสัญญากันได้ผลของการบอกเลิกสัญญากันตามเงื่อนไขที่ได้ว่ามา คือ ผู้ประกอบธุรกิจต้องคืนเงินหรือสิ่งใดที่รับไว้เป็นมัดจำทั้งหมดแก่ผู้บริโภคภายใน 15 วันแม้ผู้ประกอบธุรกิจอาจจะหัวหมออ้างว่า สัญญาที่ทำกับผู้บริโภคไม่มีข้อสัญญาเหล่านี้ แต่ไม่สามารถจะใช้ยกเป็นเหตุในการไม่ยอมคืนเงินจองเงินมัดจำให้กับผู้บริโภคได้ครับ เนื่องจาก ตามหลักกฎหมายควบคุมสัญญาของ สคบ. นั้นมีหลักการสำคัญคือ หากสัญญาที่ผู้ประกอบธุรกิจทำขึ้นไม่มีข้อสัญญาตามที่ สคบ. ได้กำหนดไว้ กฎหมายจะถือว่าสัญญาของผู้ประกอบธุรกิจมีข้อสัญญาที่ สคบ. กำหนดไว้อยู่ด้วยแล้ว และหากสัญญาข้อใดของผู้ประกอบธุรกิจที่เขียนแล้วไปฝ่า ไปฝืนข้อสัญญาที่ สคบ. ได้กำหนดไว้ กฎหมายควบคุมสัญญาจะถือว่าไม่มีข้อสัญญานั้นปรากฏอยู่ในข้อสัญญาของผู้ประกอบธุรกิจ พูดง่ายๆ คือ ข้อสัญญาใดที่ไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภคจะเอามาบังคับใช้กันไม่ได้หลักการนี้จึงเป็นที่มาของคำว่า “ธุรกิจที่ควบคุมสัญญา” ของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสัญญานั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 102 ห้างใหญ่หนีอาญาขายของหมดอายุยอมชดใช้ผู้บริโภค

 “ฮัลโหล...มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคใช่ไหมคะ”“ค่ะ ใช่ค่ะ ไม่ทราบว่ามีปัญหาอะไรจะร้องเรียนคะ”“ชื่อสุนีย์นะคะ คืออย่างงี้ค่ะ ตอนนี้กำลังยืนเรียกค่าเสียหายจากทางห้างอยู่ เพราะเขาเอาของหมดอายุมาขายให้เรา เราจะเรียกค่าเสียหายกับเขาได้ไหมคะ”พอได้ยินคำถาม เจ้าหน้าที่รับเรื่องของเราถึงกับตื่นเต้น ก็ไม่ให้ตื่นเต้นได้ไงเจอผู้บริโภคที่รักษาสิทธิของตัวเองเต็มที่อย่างนี้ไม่ได้หาได้ง่ายๆ และเป็นเรื่องที่กำลังเกิดขึ้นสดๆ ร้อนๆ จึงค่อยๆ ปล่อยคำถามหารายละเอียดออกไป “ไหนช่วยเล่ารายละเอียดหน่อยนะคะว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมถึงต้องคิดเรียกค่าเสียหายกับเขา” แล้วคุณสุนีย์ก็เล่าเรื่องที่กำลังเกิดขึ้นกับตัวเอง เธอบอกว่าตอนนี้กำลังอยู่ที่ห้างตราดอกบัว สาขาแจ้งวัฒนะ เพื่อมาเรียกร้องค่าเสียหายกับทางห้าง เป็นค่ารถ ค่าเสียเวลา รวมเป็นเงิน 500 บาท ซึ่งก่อนหน้าที่จะมายืนเรียกค่าเสียหายนั้น ประมาณสัก 4-5 วันที่ผ่านมาคือวันที่ 6 มิถุนายน 2552คุณสุนีย์ได้มาซื้อสินค้าประเภทอาหารที่ห้างแห่งนี้แล้วนำกลับไปรับประทานที่บ้าน แต่เมื่อมาตรวจดูสินค้าพบว่าสินค้าหมดอายุไปแล้วเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2552 คุณสุนีย์เห็นว่าไม่เป็นธรรมจึงขับรถกลับมาร้องเรียนเรียกค่าเสียหาย “ตอนนี้กำลังรอทางห้างเขาตัดสินใจอยู่ว่าจะเอาไง” แนวทางแก้ไขปัญหา ตามกฎหมายอาหารที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) เป็นผู้ดูแลอยู่ การจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารหมดอายุที่มีสิ่งที่น่าจะเป็นอันตรายแก่สุขภาพเจือปนอยู่ จะเข้าข่ายเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ อาจถูกระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท และหากพบว่าผลิตภัณฑ์อาหารแสดงฉลากไม่ถูกต้อง มีโทษปรับถึง 3 หมื่นบาท ผู้บริโภคที่พบการจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารหมดอายุ หากต้องการให้มีการดำเนินคดี ให้แจ้งไปที่สายด่วน อย.โทร.1556 หรือที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัดแต่สำหรับคุณสุนีย์ต้องการเรียกค่าเสียหายเป็นจำนวนเงิน 500 บาทเพื่อเป็นค่ารถค่าเสียเวลาที่มาซื้อของหมดอายุ ท้ายสุดห้างซูเปอร์สโตร์แห่งนี้ยินยอมชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 500 บาทตามที่ผู้บริโภคเรียกร้อง นับเป็นการใช้สิทธิและบทลงโทษกับผู้ประกอบการด้วยฝีมือผู้บริโภคชั้นเยี่ยม ขอปรบมือให้ 40 แปะ!  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 100 16 ปี ฉลาดซื้อ

ก่อนอื่นต้องขอแสดงความยินดีกับหนังสือ “ฉลาดซื้อ” หนังสือที่ดีมีประโยชน์ เป็นอิสระไม่ถูกครอบงำจากกลุ่มทุน เหมือนหนังสือทั่วๆ ไป ที่มีอยู่เกลื่อนประเทศไทย ฉลาดซื้อจึงเป็นหนังสือที่ไม่ใช่หนังสือทั่วไป แต่เป็นหนังสือที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่โดดเด่นสามารถติดอาวุธทางปัญญาให้ผู้อ่านอย่างแท้จริงตลอด 16 ปีที่ผ่านมา จึงขอปรบมือดังๆ ให้และขออวยพรให้หนังสือเล่มนี้ยืนหยัดอยู่คู่กับสังคมไทยต่อไป เพื่อเป็นกระจกสะท้อนให้เห็นว่า ปัญหาการเอารัดเอาเปรียบในสังคมไทยยังมีอยู่อีกมากมาย หนังสือฉลาดซื้อจึงยังคงต้องทำหน้าที่ให้ข้อมูล หยิบยื่นอาวุธ(ข้อมูล)ที่ทำให้ผู้บริโภคตื่นรู้ (รู้เท่าไว้ป้องกัน/รู้ทันไว้แก้ไข) และไม่สยบยอมต่อการถูกเอารัดเอาเปรียบ ร่วมกันลุกขึ้นมาปกป้องคุ้มครองสิทธิของตนเองอย่างแข็งขัน เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างแท้จริง เอ้าๆ ฉบับนี้ครบรอบ16 ปี “ฉลาดซื้อ” ก็อดพูดถึง “มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค” ไม่ได้ เพราะพี่ๆน้องๆ ในมูลนิธิฯ มีความมุ่งมั่นที่จะสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นกับผู้บริโภคอย่างแท้จริง ทั้งงานข้อมูล งานด้านกฎหมาย งานรณรงค์ การผลักดันให้เกิดกฎหมายใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค ตลอดจนประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนทำให้กระแสสิทธิผู้บริโภคกระจายไปสู่สังคมไทยอย่างกว้างขวาง เรียกได้ว่าปัจจุบันเป็นยุคทองของการทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคก็ว่าได้ และจากการทำงานอย่างแข็งขันของมูลนิธิฯ ส่งผลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตื่นตัว ที่เห็นชัดเจนก็ สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) ที่ออกประกาศที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนเป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น การออกประกาศเกี่ยวกับสัญญาเช่าซื้อ ยกตัวอย่างการเช่าซื้อรถ(รถทุกชนิด)ซึ่งเมื่อก่อนเราเช่าซื้อมาในสัญญาจะระบุไว้ชัดเจนว่า หากรถสูญหายผู้เช่าซื้อต้องรับผิดชอบกับความเสียหายที่เกิดขึ้น พูดง่ายๆ คือเช่าซื้อรถมาแล้วรถหายไป ผู้เช่าซื้อก็ต้องรับภาระผ่อนต่อ(ผ่อนกุญแจ) จนครบตามราคาในสัญญาเช่าซื้อนั้นๆ แต่ปัจจุบันประกาศของ(สคบ.)เขียนไว้ชัดเจนว่าห้ามเขียนสัญญาที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค จนทำให้ผู้บริโภคที่เช่าซื้อรถยนต์ มีโอกาสหายใจได้ทั่วท้องมากขึ้น ตอนนี้หากเราเช่าซื้อรถยนต์(ผ่อนรายเดือน) และรถเกิดสูญหายโดยที่พิสูจน์ได้ว่าการสูญหายนั้นไม่ได้เกิดจากการประมาทเลินเล่อของเรา เราก็ไม่ต้องผ่อนกุญแจอีกต่อไป เพราะทรัพย์ตามสัญญาไม่มีแล้ว ถือได้ว่าสัญญานั้นเป็นโมฆะ ไม่ต้องผ่อนกุญแจเหมือนเดิมอีกแล้วล่ะ ถึงคราวไชโยกันแล้วใช่ไหมล่ะพี่น้อง ผู้บริโภคเป็นอิสระจากสัญญาไม่เป็นธรรมแล้วจริงๆๆ ขอปรบมือดังๆ ให้ สคบ. และขอตะโกนดังๆ แทนผู้บริโภคว่า.... ไชโยๆๆๆๆๆๆ  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 96 สิทธิของคนใช้โทรศัพท์

เคยเขียนแต่เรื่องที่มีคนมาร้องทุกข์ วันนี้เลยจะคุยเรื่องวีรกรรมของคนเขียนเองบ้าง ในฐานะคนทำงานด้านการคุ้มครองสิทธิ และก็เป็นคนหนึ่งที่ตกเป็นทาสของเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่ นั่นคือโทรศัพท์เคลื่อนที่(มือถือ) ซึ่งเป็นธุรกิจที่กำลังเบ่งบานสุดๆ ในประเทศไทย และทั่วโลก ที่น่าตกใจ(หลังจากอ่านบทความการวิจัย) ว่าวัยรุ่นไทยใช้โทรศัพท์มากที่สุดติดอันดับต้นๆของโลกและค่าใช้โทรศัพท์ มากกว่ากินข้าวปลาอาหารบวกเสื้อผ้าเสียอีก อุแม่เจ้า..อะไรจะขนาดน้านนน... ไม่เชื่อก็ไม่ได้ในเมื่อมีข้อมูลว่าประชากรในประไทยมีประมาณ 73 ล้านคน แต่พี่ท่าน..(ผู้ให้บริการ) ขายเบอร์โทรเคลื่อนที่ไปแล้วกว่า 75 ล้านเลขหมาย นั่นหมายความว่าต้องมีคนใช้โทรมากกว่า 1 เลขหมายอยู่หลายคนอย่างแน่นอน (อู้ฮู.....เงินมหาศาลเลย...) แต่ปัญหาของผู้บริโภคคือเรามีหน้าที่ แค่ซื้อ แค่ใช้และจ่ายเงินเท่านั้น โดยไม่ได้คิดถึงสิทธิหน้าที่ ที่พึงมีพึงได้ของผู้บริโภคเอง ผู้บริโภคเรามีหน้าที่เป็นผู้ยอมสยบแต่โดยดี ทั้งๆ ที่เราเป็นผู้จ่ายเงินเข้าระบบธุรกิจการสื่อสาร (ถ้าไม่มีเราเขาก็ไม่รวย) โดยไร้ซึ่งปากเสียง เช่น เขาบอกให้เราเสียเงินค่าต่อสัญญาณกรณีที่ผิดนัดชำระค่าโทรศัพท์ 107 บาท เราก็จ่าย เขากำหนดว่าเติมเงิน 200 บาท ใช้งานได้แค่ 30 วัน เติม 50 บาทใช้แค่ 3 วัน เราก็ยอม ช่างเป็นผู้จ่ายที่ว่าง่ายอย่างเหลือเชื่อ ใช้ๆ ไปก็มีบริการอื่นๆ ที่เราไม่ต้องการเข้ามาในเครื่องโทรศัพท์เรา แถมบอกอีกว่า ถ้าไม่เอาให้โทรกลับ (โทรกลับใครเสียเงิน)ไม่โทร ครบ 15 วันเขาก็คิดสตางค์เรา เราก็ยอม เคยถามตัวเองว่าทำไมเราต้องยอม หลายคนบอกว่าเราอยากใช้บริการเขาเราก็ต้องยอมซิ.. เมื่อผู้บริโภคว่าง่ายขนาดนั้น การโฆษณา โปรโมชั่นหลากหลาย สารพัดรูปแบบอกมาเป็นชุดๆ เลย เราก็ซื้อ เอาเปรียบหรือเปล่าเราไม่เคยรู้ รู้แต่เขาว่าดีเราก็ซื้อแล้วโดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของผู้ให้บริการ แต่ในฐานะคนจ่ายสตางค์ อย่างผู้เขียน ที่คิดเสมอว่าผู้จ่ายสตางค์(คือพระเจ้า คือผู้มีพระคุณของผู้ให้บริการ) มันต้องมีสิทธิบ้างซิ! เพราะจริงๆ มันก็เป็นสิทธิ และเมื่อเป็นสิทธิเราก็ต้องใช้ ดังนั้นกระบวนการร้องเรียนจึงเกิดขึ้น เริ่มที่ ร้องเรียนเรื่องการยกเลิกการใช้บริการยาก เหตุผลคือเวลาเราซื้อโทรศัพท์ ซื้อเลขหมาย(ซิม)จ่ายสตางค์ค่าใช้บริการ จ่ายที่ไหนก็ได้ จ่ายที่ศูนย์/ร้านสะดวกซื้อ/ไปรษณีย์ และอื่นๆอีกมากมาย เรียกว่าเรื่องจ่ายสตางค์ให้เขามันง่ายจริงๆ แต่เวลาเราจะเลิกใช้บริการมันก็ยากจริงๆ เหมือนไอ้ร้านต่างๆ ที่เราจ่ายสตางค์สะดวกน่ะ ยกเลิกการใช้บริการไม่ได้ เพราะเขาจะสร้างข้อแม้ไว้ให้เรายกเลิกได้ยากมาก คือหากอยู่สมุทรสงครามก็ต้องมายกเลิกที่ เซ็นทรัลพระราม 2 อยู่ลำปางต้องไปยกเลิกเชียงใหม่ เป็นต้น สรุปคือการยกเลิกการใช้บริการมีแต่ในหัวเมืองใหญ่ๆ เห็นไหม ช่องจ่ายสตางค์ ง่ายแสนง่าย ยกเลิกการจ่ายสตางค์ ยากแสนยากแค่ไหน ผู้เขียนร้องเรียนบริษัท ดีแทกซ์ ปรากฏว่าปัจจุบันผู้ใช้บริการของบริษัทนี้สามารถยกเลิกบริการได้แค่เพียงโทรศัพท์บอกก็สามารถยกเลิกได้เลย หรือการยัดเยียดบริการ(โฆษณาผ่านมือถือ) ทั้งๆ ที่เราไม่ต้องการ เช่น ส่งข่าวดูดวง ทายผลฟุตบอล คลิปท์ดารา ฯลฯ ที่สำคัญคือการที่ ส่งข่าวมาให้อ่าน แล้วบอกว่า ให้อ่านฟรี 15 วัน หากไม่ต้องการให้โทรกลับ ทำไมไม่เขียนว่าเอาให้โทรกลับ เพราะโทรกลับเราก็เสียสตางค์ พอไม่โทรกลับก็ถือโอกาสเก็บเงินรายเดือนเราเลย ผู้เขียนก็ร้องเรียนว่าไม่ต้องการรับการยัดเยียดบริการ ปรากฏว่า ปัจจุบันไม่มีข้อความยัดเยียดบริการส่งมาให้อีกเลย (3 เดือนแล้ว) หรือแม้แต่กรณีเราชำระค่าบริการไม่ตรงเวลา แล้วถูกเรียกเก็บค่าต่อสัญญาณ 107 บาท (ไม่รวมค่ารักษาเลขหมาย) ผู้เขียนได้อ่านประกาศของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ( กทช.) เขียนไว้ในมาตรฐานสัญญา สรุปว่าไม่น่าจะเรียกเก็บกรณีนี้ได้ เมื่อรู้ก็เลยลองร้องทุกข์ไปที่สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม(สบท.สายด่วน 1200) ผลสรุปมติ กทช.ตัดสินมาว่าให้คืนเงิน 107 บาท ให้ผู้เขียน และห้ามเก็บเงินค่าต่อสัญญาณ 107 บาท กับผู้อื่นอีกต่อไป (บริษัทกำลังดำเนินการอุทธรณ์คำตัดสินอยู่) และมีอีกหลายเรื่องที่ผู้บริโภคถูกละเมิดสิทธิและถูกเอาเปรียบอยู่จริงๆ เห็นไหมว่าเรามีสิทธิแต่ยังใช้มันไม่เป็น จึงเขียนมาเล่าสู่กันฟัง และเชิญชวนให้ผู้บริโภคลุกขึ้นมาช่วยกันปกป้องคุ้มครองสิทธิของตนเอง อย่าสยบยอมให้ใครมาละเมิดสิทธิและเอาเปรียบเราลุกขึ้นมาเถอะเพื่อร่วมสร้างความเป็นธรรมให้กับสังคมเพื่ออนาคตของลูกหลานเรา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 164 บรรจุภัณฑ์ใหญ่ไปไหม??

สินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันอย่าง ยาสระผม สบู่เหลว แป้งฝุ่น โลชั่น ทุกวันนี้เริ่มมีแต่เสียงสะท้อนว่า “กระป๋องใหญ่ไปไหม ข้างในมีอยู่นิดเดียว” หรือ “เพิ่งซื้อมาใช้ ทำไมหมดเร็วจัง” ซึ่งจริงๆ แล้วสินค้าประเภทนี้ น้ำหนัก ประมาณ 200 – 250 กรัม(มิลลิลิตรในกรณีของเหลว) คนส่วนใหญ่ก็ไม่รู้หรอกว่าจริงๆ แล้วมันคือแค่ไหน ทุกคนก็อาศัยมองดูลักษณะเอาจากตัวแพ็กเก็จหรือบรรจุภัณฑ์ ซึ่งเป็นธรรมดาที่เราจะมองว่าแพ็กเก็จใหญ่ของข้างในก็น่าจะเยอะสิ ยิ่งถ้าดูยี่ห้อหนึ่งที่กระป๋องใหญ่แล้วราคาถูกกว่าอีกยี่ห้อ บางทีก็ไม่ได้ดูฉลากว่าน้ำหนักบรรจุเท่าไหร่รีบคว้าไปจ่ายเงินทันที ทั้งที่อีกยี่ห้อที่มองข้ามอาจบรรจุน้ำหนักสินค้ามากกว่าก็ได้ เพียงแต่กระป๋องดูเล็กกว่า ด้วยจิตวิทยาแบบนี้ ผู้ผลิตจึงมักเลือกออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้ใหญ่สักหน่อย หรือทำให้ดูเหมือนใหญ่เพื่อดึงความสนใจของคนซื้อ แต่ของข้างในอาจใส่ลงไปแค่ 60 % หรือ 70 % เหลือที่ว่างอีกเยอะ ทางหน่วยงานรัฐเองก็ไม่ได้กำหนดขนาดมาตรฐาน เช่น ยาสระผมขนาดกลางทุกยี่ห้อ ต้องบรรจุน้ำหนักที่ 200 มล. เท่ากันหมด เพราะถือว่าเป็นการค้าเสรีผู้ผลิตมีสิทธิบรรจุน้ำหนักเท่าไรก็ได้ เป็นหน้าที่ของผู้ซื้อต้องพิจารณาฉลากกันเอาเอง แต่รัฐจะไปเน้นควบคุมที่เรื่องราคาขายปลีกแทนและดูแลไม่ให้โกงน้ำหนักที่ผิดไปจากฉลาก กรณีทำแพ็กเก็จให้ใหญ่ยังอาจใช้เพื่อให้ผู้ซื้อเข้าใจผิดว่ามีการเพิ่มน้ำหนักสินค้าเพื่อการปรับขึ้นราคา ทั้งที่บรรจุน้ำหนักเท่าเดิม และในทางกลับกันแพ็กเก็จก็อาจเท่าเดิม(คือใหญ่มาแต่แรก) เพื่อเผื่อไว้สำหรับลดน้ำหนักที่บรรจุให้น้อยลงแต่ขายในราคาเดิม โดยผู้ซื้อไม่ทันรู้ตัวว่าน้ำหนักได้ลดลงไปแล้ว แต่เรื่องแบบนี้ถ้าพูดอย่างเดียวอาจถูกมองว่ารู้สึกไปเองหรือเปล่า ฉลาดซื้อเลยนำตัวอย่างสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันอย่าง แป้งฝุ่น โลชั่น ยาสระผม สบู่เหลว มาทดลองหาน้ำหนักที่กระป๋องหรือขวดที่ผู้ผลิตใช้ในการบรรจุสินค้าแต่ละชนิดนั้น ว่าสามารถบรรจุน้ำหนักเต็มที่ได้เท่าไหร่ เพื่อเทียบกับปริมาณที่บรรจุจริงตามฉลาก แล้วหาสัดส่วนของพื้นที่ว่างในบรรจุภัณฑ์ว่าเหลืออยู่กี่เปอร์เซ็นต์ สำหรับฉบับนี้ขอลงแค่ “แป้ง” กับ ”โลชั่น” ก่อน ฉบับหน้าจึงเป็นคิวของยาสระผมและสบู่เหลว   แป้งฝุ่น เป็นอะไรที่น่าสนใจมาก เพราะพบว่าส่วนใหญ่บรรจุน้ำหนักลงไปแค่ครึ่งหนึ่งของกระป๋องเท่านั้น เหลือพื้นที่ว่างอยู่ ราวๆ  50% คาดว่าน่าจะช่วยให้สามารถเขย่าแป้งได้สะดวกขึ้น **สำรวจเดือนตุลาคม 2557                                                                                                                                                   สคบ.วอนเอกชนลดขนาดบรรจุภัณฑ์ โดย ทีมข่าวเศรษฐกิจ 24 ก.ค. 2557 นายอำพล วงศ์ศิริ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เปิดเผยว่า ในเร็วๆ นี้ สคบ.จะเชิญตัวแทนผู้ประกอบการด้านสินค้าอุปโภค และบริโภค รายใหญ่ เข้ามาหารือเพื่อขอให้ช่วยลดขนาดบรรจุภัณฑ์สินค้า ทั้ง แชมพู สบู่เหลว ครีมบำรุงผิว ผงซักฟอก อาหาร และขนมขบเคี้ยว ลงจากเดิม หลังจากได้ส่งทีมออกสุ่มตรวจสินค้าแล้วเห็นว่า ขนาดบรรจุภัณฑ์สินค้าหลายชนิดมีขนาดใหญ่เกินจริง แต่ปริมาณสินค้าที่บรรจุมีขนาดเท่าเดิม จึงอาจทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด เลือกซื้อสินค้าโดยที่ไม่ได้ทันสังเกต ขณะเดียวกันการปรับลดปริมาณของบรรจุภัณฑ์ลง ยังส่งผลดีต่อต้นทุนการผลิตลดลงด้วย “จากการสุ่มตรวจสินค้าหลากชนิด เช่น ครีมบำรุงผิวหลายยี่ห้อ ขนาดขวดที่ใช้บรรจุครีมมีพื้นที่ว่างอยู่ถึง 17-31% ส่วนแชมพูก็มีพื้นที่ว่าง 23-41% แม้จะเข้าใจว่า การทำขนาดขวดที่บรรจุให้ใหญ่ จะเป็นการแข่งขันทางการตลาดของผู้ประกอบการ เพื่อจูงใจให้ผู้บริโภคมาเลือกซื้อสินค้า ซึ่งบางรายอาจจะเข้าใจผิดได้ว่า สินค้านี้ขวดใหญ่ขึ้น อาจมีปริมาณเพิ่มขึ้น แต่พอมาใช้แล้ว กลับมีอยู่นิดเดียวไม่แตกต่างจากขวดธรรมดา ขณะเดียวกันการเพิ่มขนาดยังทำให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนเพิ่มโดยไม่จำเป็น อีกอย่างยังเป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากรโดยใช่เหตุอีกด้วย” ทั้งนี้ในระยะแรก สคบ.จะขอความร่วมมือตามความสมัครใจก่อน หรือถ้าเป็นไปได้ก็ขอให้ลดลงเท่าที่จำเป็น เบื้องต้นอาจกำหนดให้พื้นที่ว่างภายในบรรจุภัณฑ์ต้องไม่เกิน 15% หรือมีสินค้าที่บรรจุภายในอยู่เกิน 3 ใน 4 ของบรรจุภัณฑ์ ส่วนในระยะยาว ต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กรมส่งเสริมคุณภาพและสิ่งแวดล้อม และกรมควบคุมมลพิษ เพื่อออกมาตรการควบคุมให้ชัดเจน เพื่อกำหนดแนวทางปฏิบัติให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน. ที่มา http://www.thairath.co.th/content/438498

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 132 ตามไปดู ยุทธการ Down size “การลดขนาดบรรจุภัณฑ์”

  ฉลาดซื้อฉบับนี้เราไปเดินช้อปปิ้งในห้างค้าปลีกยักษ์และร้านค้าปลีกย่อยกันอย่างขะมักเขม้นตามแรงผลักแรงเชียร์จากคุณผู้อ่านที่น่ารักของเรา แล้วก็พบว่า ผู้บริโภคเรากำลังถูกเล่นกลด้วยยุทธการที่เรียกว่า  Down size หรือ “การลดขนาดบรรจุภัณฑ์” ในสินค้าหลายประเภทตามที่ผู้อ่านของเราประสานเสียงกันมา ทั้งนี้อาจเป็นไปได้ว่าส่วนหนึ่งผู้ผลิตเองก็กำลังประสบปัญหาต้นทุนราคาสินค้าพุ่ง แต่ตัวเองกลับขายแบบขึ้นราคาตรงๆ ไม่ได้ เลยต้องหันมาเล่นวิธีนี้กันเกลื่อนเมือง   ตัวอย่างที่ 1 ณ ซูเปอร์มาร์เก็ตในห้างสรรพสินค้า เห็นป้ายที่ชั้นวางเขียนว่า ลักส์ครีมอาบน้ำโกล์ว...220 ml. ราคา 66.50 บาท พิจารณาดูจากสูตรอื่นๆ ในยี่ห้อเดียวกันที่วางเรียงเป็นตับก็พบว่า ราคาเดียวกัน แต่สิ่งที่ไม่เหมือนกันคือ ลักส์ครีมอาบน้ำโกล์วอิ้ง ทัช นั้นที่ขวดเขียนว่า 200 ml. ไม่ใช่ 220 ตามที่ป้ายบอก พอเหลือบมองที่วันผลิตจึงเห็นว่า เป็นเดือน 11 ปี 2011 แต่ที่ป้ายตรงชั้นวางเป็นวันเวลาที่ระบุไว้ตั้งแต่ วันที่ 24 เดือน 8 ปี 2010   คราวนี้มือก็อยู่ไม่สุขจับขวดอื่นๆ มาส่องวันผลิตและน้ำหนัก สิ่งที่พบคือ ส่วนใหญ่เปลี่ยนเป็นขนาด 200 ml. หมดแล้ว มีเหลืออยู่สูตรเดียวที่มีน้ำหนัก 220 ml. คือ ลักส์ เวลเวท ทัช ซึ่งระบุวันผลิต เดือน 9 ปี 2011 ลักส์ เวลเวท ทัชจึงเป็นสูตรเดียวที่ราคาและน้ำหนักตรงกับป้ายแสดงราคาผลิตภัณฑ์ของห้างสรรพสินค้า   ตัวอย่างที่ 2 ณ ร้านสะดวกซื้อ ป้ายแสดงราคาสินค้าระบุ น้ำยาล้างจานไลปอนเอฟ ขนาด 170 ml. ราคา 11 บาท แต่เมื่อหยิบขวดน้ำยาล้างจานมาพิจารณาจริงๆ น้ำหนักที่ขวดระบุไว้ 160 ml. (เมื่อจ่ายเงิน ราคา 11 บาทซะงั้น) แล้วอีก 10 ml. ของฉันหายไปไหน   จริงๆ ปรากฏการณ์สินค้าน้ำหนักหายไปจากเดิมราว 5-10 % ในผลิตภัณฑ์ประเภทใช้แล้วหมดไปอย่างสบู่เหลว น้ำยาล้างจาน แชมพูสระผม เป็นสิ่งที่มีมาตั้งแต่ปี 2554 แล้ว   “สมชาย พรรัตนเจริญ” นายกสมาคมการค้าส่ง-ปลีกไทย ได้เปิดเผยกับ “ผู้จัดการ 360 องศา รายสัปดาห์” ว่า ขณะนี้ผู้ผลิตแชมพูสระผม ได้แจ้งลดขนาดบรรจุภัณฑ์สินค้าลง จากขวดขนาด 80-85 มิลลิลิตร ลดเหลือ 70 มิลลิลิตร กาแฟซองเดิมห่อละ 30 ซอง ลดลงเหลือ 27-28 ซอง ส่วนปลากระป๋องแจ้งราคาขายส่งเพิ่มขึ้นลังละ 50 บาท เป็นต้น ทำให้ตลาดขายปลีกเวลานี้ปลากระป๋องปรับขึ้นกระป๋องละ 3 บาท นอกจากนี้ยังมีผู้ผลิตบางรายใช้วิธีปรับลดขนาดบรรจุและเปลี่ยนหีบห่อสินค้าให้เล็กลงแต่คงราคาขายเดิมเช่น กาแฟซอง เดิม 1 แพ็กจะมี 30 ซอง ก็จะเหลือ 27-28 ซอง เป็นต้น หรืออย่างสินค้าชำระล้าง สินค้าใช้แล้วหมดไป เช่น แชมพูสระผม ครีมนวดผม ยาสีฟัน ที่ลดปริมาณบรรจุ 5-10% แต่ขนาดกล่องเท่าเดิม ที่มา  http://www.manager.co.th/asp-bin/mgrView.asp?NewsID=9540000048921เวลา 14 ธันวาคม 2554 16:42 น.   นวัตกรรม หรือ ปรับราคา การลดขนาดของผลิตภัณฑ์ลงสามารถช่วยได้มากในแง่จิตวิทยาคือ ผู้ซื้อจะไม่รู้สึกว่าสินค้าราคาแพงขึ้น เพราะยังสามารถซื้อหาได้ในราคาเท่าเดิม รูปทรงผลิตภัณฑ์ก็เหมือนเดิม แต่หากวิธีนี้เกิดไม่เวิร์ก ผู้บริโภคเริ่มจับได้ อีกวิธีที่ผู้ผลิตนิยมนำมาใช้คือ การปรับสูตร  เปลี่ยนชื่อรุ่น เพื่อตั้งราคาขายใหม่ที่ดีกว่าเดิม หรือราคาเดิมแต่ปริมาณลดลง ไปจนถึงการถอดโปรโมชั่น เพื่อลดรายจ่ายด้านการตลาดลง อันที่จริงภาครัฐก็ควบคุมกำกับในเรื่องราคาสินค้าขายปลีก โดยบอกว่า ห้ามปรับราคา แต่ไม่ได้ห้ามลดขนาดสินค้าผลก็คือ ผู้ผลิตต้องหาทางออกด้วยการปรับลดขนาดกันยกใหญ่ ต่อไปเราก็คงได้เห็นรูปทรงและสินค้าสูตรใหม่ๆ ทยอยกันออกมาเรื่อยๆ ทั้งที่จริงๆ แล้วอาจไม่ได้มีอะไรใหม่เลย   ตัวอย่างขนาดที่หลากหลายของแชมพูสระผม จากเดิมที่ขนาด 200-220 ml. ผลิตภัณฑ์แชมพู วันผลิต น้ำหนัก(ml.) ราคาต่อหน่วยบรรจุ(บาท) ราคาต่อ 1 ml.(บาท) ซันซิล ดรีม ซอฟท์แอนด์สมูท 13/12/2011 180 60.75 0.33 ซันซิล เพอร์เฟค สเตรท 02/11/2011 160     โดฟ แดเมจ เธอราพี อินเทนซ์ รีแพร์ 01/12/2011 175 69 0.39 แพนทีน โปรวี ลอง แบลค 20/01/2012 170 63.75 0.37 เอเชียนช์ ชายน์ เธอราพี 17/08/2011 220 118 0.53 เฮดแอนด์โชว์เดอร์ คลูเมนทอล 29/10/2011 180 75 0.41 รีจอยส์ ริช 11/09/2011 180 53.75 0.29 ราคาสำรวจ ณ วันที่ 8 ก.พ.2555 จับตาสินค้าสองมาตรฐาน นอกจากยุทธการ ดาวน์ไซส์ แบบหนีตายแล้ว ยังมีรายการ ดาวน์ไซส์ แบบน่าเกลียดด้วย กล่าวคือ ผู้ผลิตสินค้าได้ผลิตสินค้า 2 มาตรฐาน โดยการผลิตสินค้าในบรรจุภัณฑ์ขนาดเท่าเดิม เรียกว่ามองเผินๆ จะไม่เห็นความแตกต่าง แต่สิ่งที่ต่างคือ ปริมาณในบรรจุภัณฑ์กลับน้อยลง  สำหรับขายในร้านค้าปลีกขนาดยักษ์หรือโมเดิร์นเทรด ส่วนน้ำหนักขนาดเดิมจะส่งไปขายในร้านค้าแบบดั้งเดิม(โชห่วย) ทำให้เกิดความแตกต่างในด้านกำไรและความคุ้มค่าในการซื้อ เพราะผู้บริโภคจะเข้าใจว่า สินค้าหน้าตาเดียวกัน แต่ราคาในห้างค้าปลีกถูกกว่ามาก ดูที่ภาพประกอบ ภาพแพนทีนโปรวี(สีม่วง) ขนาด 180 ml.   วันผลิต 28/07/2011 ภาพแพนทีโปรวี(สีม่วง) ขนาด 160 ml.   วันผลิต 20/07/2011 ภาพข้าวตัง เจ้าสัว ขนาด 125 กรัม   วันผลิต 16/09/2011 ภาพข้าวตัง เจ้าสัว ขนาด 105 กรัม เชื่อถือได้นานกว่า 50 ปี   วันผลิต 07/09/2011 ภาพครีมเทียม สีม่วง ขนาด 200 กรัม ภาพครีมเทียม ขนาด 150 กรัม ภาพข้าวมาบุญครอง ถุงแดง   วันผลิต 16/09/54 ราคาข้างถุง 240 บาท ภาพข้าวมาบุญครอง ถุงเขียว   วันผลิต 11/09/54 ราคาข้างถุง 185 บาท     ด้านซ้ายเป็นตัวอย่างสินค้าในร้านค้าแบบดั้งเดิม   ส่วนด้านขวาเป็นสินค้าที่วางในห้างค้าปลีกยักษ์   การผลิตสินค้าสองมาตรฐานลักษณะนี้ แน่นอนว่าผู้ที่เสียเปรียบเห็นๆ ก็คือ ผู้บริโภค รวมทั้งร้านค้ารายย่อยที่อาจถูกมองว่าขายของในราคาแพง ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วไม่ได้ขายแพง สินค้าที่วางในห้างค้าปลีกยักษ์ต่างหาก ที่น้ำหนักสินค้าหดหายไป อย่างไรก็ตาม มีการมองว่า ดำเนินการดังกล่าวของผู้ประกอบการหรือผู้ผลิตสินค้าต่างๆ อาจเป็นเพราะได้รับการกดดันจากทางโมเดิร์นเทรด ซึ่งต้องมีการต่อรองค่าใช้จ่ายต่างๆ กรณีที่จะนำสินค้าเข้าไปวางจำหน่ายในโมเดิร์นเทรด ก็จะเป็นรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นหรือต้นทุนแอบแฝงของผู้ประกอบการ โดยอาจจะส่งผลให้มีการผลิตสินค้าสองแบบ ต่างจากร้านโชห่วยที่ไม่มีรายจ่ายหรือต้นทุนที่แอบแฝงในลักษณะเช่นนี้ ดังนั้นการผลิตสินค้าป้อนให้กับร้านโชห่วยก็จะเป็นไปตามปกติ     ฉลาดซื้อแนะ 1.แน่นอนว่าเราต้องสนับสนุนร้านค้ารายย่อย เพื่อเป็นการถ่วงดุลการเอาเปรียบจากห้างค้าปลีกขนาดยักษ์ 2.ถ้าพบสินค้าไม่ตรงราคาป้าย โดยเฉพาะเรื่องน้ำหนักที่หดหายไป รีบแจ้งผู้ประกอบการให้ปรับเปลี่ยนรายการสินค้าให้ถูกตรง และถ้าคุณรู้สึกอยากทดลองใช้สิทธิดูบ้าง ก็ขอให้ห้างค้าปลีกชดเชยค่าเสียหายจากน้ำหนักของสินค้าที่หายไปด้วย 3.ในสินค้าประเภทแชมพูสระผม น้ำยาล้างจาน สบู่เหลว ส่วนผสมหลักๆ นั้นไม่ต่างกัน สิ่งที่ต่างคือ การโฆษณา ยิ่งโฆษณาเยอะต้นทุนยิ่งสูง ราคาก็ยิ่งแพง ดังนั้นเลือกที่คุณใช้แล้วรู้สึกว่าดี และราคาไม่แพง ย่อมจะดีกว่าในภาวะที่ทุกคนต้องประหยัดรายจ่ายมากขึ้น 4.ผลิตภัณฑ์หลายชนิด การซื้อในขนาดบรรจุที่ใหญ่จะช่วยให้ประหยัดได้เพิ่มขึ้น แต่ไม่แนะนำสำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีอายุการใช้งานสั้น เพราะยิ่งซื้อมาสะสมมากยิ่งมีปัญหา เช่น น้ำมันพืช เป็นต้น

อ่านเพิ่มเติม >