ฉบับที่ 201 ออกกำลังกายกับแอพพลิเคชั่นนับก้าวเดิน

ข่าวการวิ่งรับบริจาคของ “ตูน บอดี้สแลม” ถูกจับตามองจากประชาชนทั้งประเทศ อีกทั้งการชักชวนให้ออกกำลังกายโดยการวิ่งก็เริ่มเป็นกระแสที่โด่งดังอีกครั้ง และกระแสดังกล่าวได้เป็นแรงกระตุ้นจนทำให้มีผู้คนหลายฝ่ายหันมาให้ความสนใจกับการวิ่งออกกำลังกายกันมากขึ้น  การวิ่งถือว่าเป็นการออกกำลังกายวิธีหนึ่ง ซึ่งส่งผลดีในหลายด้าน ได้แก่ ช่วยเบิร์นไขมันส่วนเกินออกจากร่างกาย เพิ่มกล้ามเนื้อ เพิ่มความแข็งแกร่ง สร้างภูมิคุ้มกัน ลดความเครียด ลดความวิตกกังวล และเป็นวิธีที่ช่วยฝึกฝนสมาธิอีกวิธีหนึ่ง หลายคนที่กำลังอยากจะออกกำลังกายโดยการวิ่ง แต่ร่างกายไม่พร้อมอาจหันมาให้ความสนใจในเรื่องการเดินเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงได้เช่นกัน เพราะการเดินก็เป็นรูปแบบหนึ่งของการออกกำลัง ลองเริ่มต้นจากการใช้แอพพลิเคชั่นที่ช่วยคำนวณการเคลื่อนไหวของร่างกายเป็นจุดเริ่มต้น โดยขอแนะนำแอพพลิเคชั่น “Moves” และแอพพลิเคชั่น “StepsApp” ซึ่งแอพพลิเคชั่นทั้งสองมีความคล้ายคลึงกันในการใช้งาน นั่นคือ ช่วยในการนับก้าวเดินในแต่ละวัน แต่มีรายละเอียดที่ความแตกต่างกันบางส่วน แอพพลิเคชั่น “Moves” นอกจากจะช่วยนับก้าวเดินในแต่ละวันแล้ว ยังสามารถช่วยนับก้าวขณะวิ่งได้ด้วย และเป็นแอพพลิเคชั่นที่สามารถบอกระยะทางเป็นเส้นทางการเดินทางในแต่ละวันได้ว่า เริ่มการใช้แอพพลิชั่นจากสถานที่ใดในช่วงเวลาใด ใช้เส้นทางใด และเดินทั้งหมดกี่ก้าว กี่กิโลเมตร หรือช่วงเวลาใดเดินทางด้วยรถ ซึ่งผู้ใช้แอพพลิเคชั่นสามารถเปิดดูเส้นทางที่มีลักษณะเป็นแผนที่ย้อนหลังได้ และยังสามารถคำนวณการเบิร์นแคลอรี่ สำหรับแอพพลิเคชั่น “StepsApp” มีความแตกต่างกับแอพพลิเคชั่น “Moves” โดย “StepsApp” จะสามารถตั้งเป้าหมายที่ผู้ใช้แอพพลิเคชั่นต้องการให้เป็นไปในแต่ละวัน ตั้งแต่จำนวนก้าวในการเดิน จำนวนปริมาณการเบิร์นแคลอรี่ ระยะทางเป็นกิโลเมตร และการระบุเวลาในการเดินทั้งหมด นอกจากนี้ยังสามารถเก็บเป็นสถิติเป็นสัปดาห์ เป็นเดือน เพื่อนำมาเปรียบเทียบกันได้ ถ้ามีการตั้งเป้าหมายเรียบร้อยแล้ว ภายในหน้าแอพพลิเคชั่น “StepsApp” จะมีสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นว่าครบตามเป้าหมายที่ตั้งไว้หรือไม่ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ผู้ใช้แอพพลิเคชั่นเดินเพื่อออกกำลังกายให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ได้วางไว้ทั้งแอพพลิเคชั่น “Moves” และแอพพลิเคชั่น “StepsApp” มีความแตกต่างกันเล็กน้อย ซึ่งการเลือกดาวน์โหลดลงมาใช้งานบนสมาร์ทโฟน ก็ต้องขึ้นอยู่กับจุดมุ่งหมายของผู้ใช้ว่าต้องการเลือกแบบใด เพราะการเลือกแอพพลิเคชั่นใดนั้นก็ขึ้นอยู่กับความชอบของผู้ใช้เป็นหลักแต่ถ้าชอบทั้งคู่ ก็ดาวน์โหลดเก็บไว้ทั้ง “Moves” และ “StepsApp” เลยล่ะกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 201 น้ำเชื่อมฟรุกโตสในอาหาร ก่อปัญหาต่อสุขภาพจริงหรือ

ความหวาน แทบจะเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในอาหารและเครื่องดื่มต่างๆ เพราะนอกจากจะช่วยทำให้รสชาติกลมกล่อมถูกปากแล้ว ยังส่งผลให้ผู้ที่บริโภครู้สึกสดชื่น หายอ่อนเพลียเพราะได้รับพลังงานในเวลาอันรวดเร็ว อย่างไรก็ตามความหวานในอาหารกลับแฝงอันตรายที่สามารถส่งผลร้ายต่อสุขภาพ ทั้งในแง่ก่อให้เกิดอาการเสพติดความหวาน และเกิดโรคต่างๆ เช่น โรคอ้วนหรือความดันโลหิตสูงน้ำตาลทรายแม้จะยังคงเป็นแหล่งความหวานของอาหาร แต่รู้หรือไม่ว่า ที่มาของรสหวานในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มส่วนใหญ่ กลับไม่ได้เกิดจากน้ำตาลทรายเพียงอย่างเดียว แต่มาจากส่วนผสมที่เรียกว่า “น้ำเชื่อมฟรุกโตสหรือน้ำเชื่อมข้าวโพดที่มีฟรุกโตสสูง” (High Fructose Corn Syrup หรือ HFCS)  ซึ่งให้รสหวานได้มากกว่าน้ำตาลทรายธรรมดา แต่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเราได้มากกว่าน้ำตาลทรายเสียอีก ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ นักวิชาการอิสระสายอาหารและโภชนาการของฉลาดซื้อ เคยให้ความเห็นในประเด็นดังกล่าวไว้ในนิตยสารฉลาดซื้อประจำฉบับที่ 173 คอลัมน์ของฝากจากอินเทอร์เน็ต เรื่อง ดื่มน้ำหวานในฤดูร้อนพึงระวัง ว่าน้ำเชื่อมฟรุกโตสหรือน้ำเชื่อมข้าวโพดที่มีฟรุกโตสสูง(HFCS) เป็นน้ำเชื่อมที่ได้จากการย่อยแป้งข้าวโพดจนเหลือเฉพาะน้ำตาลฟรุกโตสนั้น มันได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในวงการอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม เพราะให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลทรายถึง 1.3 เท่า รวมทั้งเป็นน้ำเชื่อมใสไม่มีสี จึงไม่บดบังสีของอาหารทำให้ดูน่าดื่มกิน ดังนั้นเมื่อเทียบกับน้ำตาลทรายที่มีราคาสูงและมักเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเมื่อใช้ในอาหารแล้ว จึงถือว่าคุ้มค่ากว่าในด้านราคาต้นทุนและความสะดวกในการผลิต อย่างไรก็ตามกลับมีงานวิจัยบางฉบับได้รายงานว่า ผู้ที่บริโภคน้ำเชื่อมข้าวโพดชนิดที่มีฟรุกโตสสูงนี้เป็นประจำ จะทำให้มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นมากผิดปกติ เพราะน้ำเชื่อมดังกล่าวส่งผลต่อความอยากอาหาร ทำให้กินอาหารอื่นได้ในปริมาณมากขึ้น นอกจากนี้ยังทำให้ไขมันในเลือดสูงขึ้น โดยเฉพาะไขมันชนิดแอลดีแอลโคเลสเตอรอล (LDL-C) ซึ่งเป็นไขมันเลวที่ควรหลีกเลี่ยง รวมทั้งอาจทำให้เกิดภาวะดื้ออินซูลิน หรือกรดไขมันอิสระที่อาจส่งผลต่อภาวะไขมันเกาะตับ(Fatty Liver) ได้อีกด้วย เพราะน้ำเชื่อมดังกล่าวร่างกายนำไปเผาผลาญได้ที่เซลล์ตับเท่านั้น ดังนั้นพลังงานที่เกิดที่ตับ จึงมีความเหลือเฟือจนน่าจะส่งผลให้เกิดการสร้างไขมันสะสมขึ้นมาได้ ซึ่งต่างจากน้ำตาลโมเลกุลเดียวประเภทอื่น เช่น กลูโคส ที่สามารถเผาผลาญได้จากเซลล์ต่างๆ ในร่างกาย ประเด็นนี้ผู้บริโภคในต่างประเทศให้ความสนใจอย่างมาก ดังนั้นบรรดาผู้ผลิตอาหารจึงต้องทำให้ฉลากอาหารหรือเครื่องดื่มของตน มีการระบุที่ชัดเจนในฉลากว่า มีการผสมน้ำเชื่อมข้าวโพดที่มีฟรุกโตสสูง (HFCS) หรือไม่ เพื่อให้ผู้บริโภคได้ตัดสินใจในการเลือกซื้อ กลับมาที่ฉลากอาหารในบ้านเรา...และการสุ่มตัวอย่างเพื่อค้นหา HFCSเพื่อเป็นการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของน้ำเชื่อมฟรุกโตสหรือน้ำเชื่อมข้าวโพดที่มีฟรุกโตสสูง(HFCS) ฉลาดซื้อฉบับนี้จึงขออาสาไปส่องฉลากผลิตภัณฑ์ที่ให้รสหวานอย่าง น้ำอัดลม ชาเขียว ขนมขบเคี้ยว แยมหรือเยลลี่ต่างๆ จำนวน 25 ตัวอย่าง ว่าจะมีสินค้าอะไรหรือยี่ห้อใดบ้างที่ใช้น้ำเชื่อมดังกล่าวเป็นส่วนประกอบ ซึ่งผลทดสอบจะเป็นอย่างไร เราลองไปดูกันเลยผลโดยสรุปจากตัวอย่างสินค้าที่นำมาพิจารณาฉลากทั้งหมด 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเครื่องดื่ม กลุ่มแยมและกลุ่มขนม/ลูกอม ทั้ง 25 ตัวอย่าง พบว่า- มีเพียง 1 ยี่ห้อที่ระบุว่า ไม่มีส่วนผสมของไฮฟรุกโตสคอร์นไซรัป (No high fructose corn syrup) คือ วิลเดอร์เนส (WILDERNESS) Premium ไส้ผลไม้กวนสตรอเบอร์รี่- มี 2 ยี่ห้อที่ระบุว่ามีส่วนผสมของ ไฮฟรุกโตสคอร์นไซรัป คือ 1. ไดอาน่า (Diana) มาราสชิโน เชอร์รี่ ชนิดมีก้าน และ 2. วิลเดอร์เนส (WILDERNESS) Original ไส้ผลไม้กวนบลูเบอร์รี่ - มี 1 ยี่ห้อที่ฉลากภาษาไทยระบุส่วนผสมว่ามี “น้ำเชื่อมข้าวโพด” แต่ฉลากภาษาอังกฤษระบุส่วนผสมว่า “High Fructose Corn Syrup” คือ สมัคเกอร์ส (SMUCKER’S) ซันเดย์ ไซรัป น้ำเชื่อมรสช็อกโกแลต - อีก 21 ตัวอย่างระบุว่ามีส่วนผสมของ ฟรุกโตสไซรัป/น้ำเชื่อมฟรุกโตส และคอร์นไซรัป/น้ำเชื่อมข้าวโพด- มี 1 ยี่ห้อไม่ระบุวันเดือนปีที่ผลิตหรือหมดอายุ คือ เอสแอนด์ดับบลิว (S&W) เชอร์รี่ดำแกะเมล็ดในน้ำเชื่อม ซึ่งถือว่าไม่เป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องฉลาก ที่กำหนดให้อาหารในภาชนะบรรจุต้องแสดงวันเดือนปีที่ผลิตหรือหมดอายุรายละเอียดการสุ่มตัวอย่างตารางที่ 1 :  กลุ่มเครื่องดื่มตารางที่ 2 : กลุ่มแยมตารางที่ 3: กลุ่มขนม, ลูกอมข้อสังเกตเรื่องฉลากอาหาร 1. ฉลากส่วนผสมไม่สมบูรณ์พบว่า สินค้าส่วนใหญ่มักใช้คำว่ามี ฟรุกโตสไซรัป/น้ำเชื่อมฟรุกโตส และคอร์นไซรัป/น้ำเชื่อมข้าวโพด แทนคำว่า น้ำเชื่อมฟรุกโตสหรือน้ำเชื่อมข้าวโพดที่มีฟรุกโตสสูง (High Fructose Corn Syrup หรือ HFCS) ซึ่งอาจสร้างความสับสนให้กับผู้บริโภคว่า ส่วนประกอบดังกล่าวเป็นน้ำเชื่อมชนิดเดียวกันหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ทั้งฟรุกโตสไซรัป/น้ำเชื่อมฟรุกโตส และคอร์นไซรัป/น้ำเชื่อมข้าวโพด สามารถสร้างผลกระทบต่อสุขภาพได้เช่นเดียวกับ “น้ำเชื่อมข้าวโพดที่มีฟรุกโตสสูง” (HFCS) จึงอาจเป็นเรื่องสมควรที่ฉลากต้องมีคำเตือนในการบริโภค หรือระบุรายละเอียดส่วนผสมให้ชัดเจนกว่านี้2. ฉลากโภชนาการไม่ครอบคลุมแม้กฎหมายไม่ได้กำหนดให้อาหารทุกชนิดต้องแสดงฉลากโภชนาการ แต่ฉลากโภชนาการนั้นนับเป็นข้อมูลสำคัญสำหรับการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภค เพราะช่วยให้ทราบถึงปริมาณที่แท้จริงของไขมัน พลังงานหรือน้ำตาลในผลิตภัณฑ์นั้นๆ ซึ่งจะส่งผลให้ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อหรือบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารที่ปลอดภัย และได้คุณค่าทางโภชนาการที่เหมาะสมกับสุขภาพของตนเอง รวมทั้งสามารถเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ หรือมีคุณค่าทางโภชนาการที่ดีกว่าได้อีกด้วย อย่างไรก็ตามจากผลการสุ่มตัวอย่างครั้งนี้พบว่า มีเพียงร้อยละ 50 ที่มีฉลากโภชนาการ และมี 9 ตัวอย่างเท่านั้นที่มีฉลากโภชนาการเป็นภาษาไทย3. ฉลากวันเดือนปีที่ผลิต/หมดอายุ อยู่ในตำแหน่งที่อ่านยากตัวอย่างที่นำมาพิจารณาฉลากทั้งหมดครั้งนี้ มีหลายกลุ่มสินค้ามีทั้งที่ผลิตในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งพบว่าตำแหน่งของวันเดือนปีที่ผลิต/หมดอายุ มีความแตกต่างกันไปในทุกผลิตภัณฑ์ อาจส่งผลให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่ต้องใช้เวลานานมากกว่าจะสามารถตรวจสอบวันที่ได้ นอกจากนี้บางตัวอย่าง เช่น คุคุริน (KUKURIN) น้ำชาเขียวคั่ว สูตรรสกลมกล่อม มีการระบุวันเดือนปีที่ผลิต/หมดอายุ อยู่ในตำแหน่งปากขวด ซึ่งใช้สีของตัวอักษรคล้ายกับสีของสินค้า ทำให้ตรวจสอบได้ยากมากขึ้นไปอีก

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า500 Point

ฉบับที่ 201 แท็บเล็ต 2017

เมื่อสมาร์ตโฟนในมือของคุณดูจะเล็กไปสำหรับการใช้งานซื้อของออนไลน์ ติดตามข่าวสาร หรือส่องความเคลื่อนไหวของเพื่อนๆ และโน้ตบุ๊กก็ดูจะเป็นทางเลือกที่สร้างภาระให้กับหลังและไหล่เกินไป ฉลาดซื้อฉบับนี้จึงขอชวนสมาชิกมาด้อมๆ มองๆ ผลการทดสอบแท็บเล็ตกันที่องค์กรทดสอบระหว่างประเทศทำไว้ในช่วงปี 2017 เผื่อใครจะซื้อเป็นของขวัญปีใหม่ให้ตัวเอง เขาทดสอบไว้ทั้งรุ่นที่ขนาดเล็กกว่า 8 นิ้วและใหญ่เกิน 8 นิ้ว โดยให้คะแนนด้านต่างๆ เพื่อนำมาประมวลผลเป็นคะแนนเต็ม 100 ตามสัดส่วนดังนี้  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า500 Point

ฉบับที่ 201 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหว เดือนพฤศจิกายน 2560กลุ่มผู้ซื้อรถมาสด้าแล้วเจอปัญหา ร้อง สคบ. จี้บริษัทแสดงความรับผิดชอบ กลุ่มผู้ใช้รถยนต์มาสด้า 2 ดีเซล Sky Active รุ่นปีผลิต 2015-2016 รวมรุ่นย่อย ของบริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด จำนวน 22 ราย ซึ่งซื้อรถยนต์ดังกล่าวในช่วงปี 2558-2559 พร้อมด้วย นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เดินทางมาร่วมยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อเรียกร้องให้ผู้ประกอบการแสดงความรับผิดชอบกรณีพบว่ารถยนต์ที่ซื้อมาใช้งานอาการผิดปกติจนมีความกังวลในเรื่องความปลอดภัยจากปัญหาความชำรุดบกพร่องของรถยนต์ ได้แก่ อาการผิดปกติของระบบไฟแจ้งเตือน อาการรั่วซึมของโช้คด้านหลัง และอาการเครื่องยนต์สั่น เร่งความเร็วไม่ขึ้น โดยอาการจะปรากฏครั้งแรกในช่วงเลขไมล์ 20,000 – 70,000 กม. และคงอาการลักษณะนี้จนปัจจุบันนายภัทรกร ทีปบุญรัตน์ ตัวแทนกลุ่มผู้เสียหายจากการใช้รถยนต์มาสด้า 2 รุ่นสกายแอคทีฟ กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้นำรถของตนเข้าศูนย์หลายครั้ง คิดเป็น 2 เท่าของระยะตรวจเช็คตามรอบปกติ เริ่มจากปัญหาโช้ครั่วที่พบหลังใช้รถ 2-3 เดือนแรก จนถึงปัญหาความผิดปกติของระบบไฟแจ้งเตือนและตัวเลขแสดงระยะทางที่ผิดพลาด ล่าสุดพบปัญหาเครื่องยนต์ดีเซลมีอาการสั่น และเร่งความเร็วไม่ขึ้นช่วง 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุรุนแรงต่อชีวิตทางกลุ่มผู้ร้องและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค อยากให้ทางศูนย์มาสด้าออกมาชี้แจงถึงวิธีการแก้ไขปัญหาให้รถยนต์กลับมามีสภาพปกติที่ควรเป็น และขอให้ สคบ.มีคำสั่งให้ผู้ประกอบการทดสอบรถยนต์ที่เกิดปัญหาภายใน 7 วัน ตามอำนาจกฎหมาย และขอให้มีคำสั่งระงับการจำหน่ายรถยนต์ยี่ห้อมาสด้า 2 ในรุ่นที่มีการร้องเรียนเป็นการชั่วคราว จนกว่าจะทราบผลการพิสูจน์ ซึ่งหากพบว่าสินค้าชำรุดบกพร่องจนอาจก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตจริง ก็ขอให้คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค มีคำสั่งให้บริษัทรับผิดชอบรับซื้อรถยนต์คืนทั้งหมดย้อมสีเนื้อหมูหลอกขายเป็นเนื้อวัวพ่อค้าร้านอาหารตามสั่งแห่งหนึ่งในจังหวัดชลบุรี เข้าแจ้งความกับตำรวจ หลังพบว่าเนื้อวัวที่ซื้อมาเมื่อนำไปล้างน้ำทำความสะอาด สีลอกและซีดลง แถมไม่มีกลิ่นของเนื้อวัว พ่อค้ารายดังกล่าวสงสัยว่าแม่ค้าจะเอาเปรียบผู้บริโภคด้วยการนำเนื้อหมูมาย้อมสีโกหกว่าเป็นเนื้อวัวหลอกขายผู้บริโภค ซึ่งหลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตรวจสอบร้านค้าดังกล่าว พร้อมทั้งควบคุมตัวแม่ค้ามาสอบปากคำ ท้ายที่สุดแม่ค้าก็รับสารภาพว่าได้เอาสีผสมอาหารย้อมเนื้อหมูให้มีสีแดงคล้ายเนื้อวัวจริง แล้วติดป้ายหลอกขายว่าเป็นเนื้อวัวในราคากิโลกรัมละ 235 บาท เพื่อให้ขายได้กำไรมากขึ้นจากเนื้อหมูที่มีราคากิโลกรัมละ 120 บาท โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้แจ้งข้อกล่าวหากับแม่ค้าคนดังกล่าวในความผิดฐานฉ้อโกงและขายสินค้าหลอกลวงประชาชน ถูกเปรียบเทียบปรับไป 1,000 บาท พร้อมต้องชดใช้ค่าเสียหายคืนให้กับพ่อค้าร้านอาหารตามสั่งที่ถูกหลอก นวดปลอดภัย เลือกร้านที่มีใบอนุญาติถูกต้องกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แนะนำให้ผู้ที่ต้องการรับบริการนวดต้องประเมินร่างกายตนเองเบื้องต้นก่อนรับบริการทุกครั้ง หากพบว่าร่างกายของตนมีอาการเจ็บปวด ต้องการนวดเพื่อรักษา ฟื้นฟูสุขภาพ อย่างการนวดจับเส้น ขอให้เลือกรับบริการจากสถานพยาบาลการแพทย์แผนไทย ซึ่งผู้ให้บริการนวดจะต้องเป็นผู้ที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพด้านเวชกรรมไทย ด้านนวดไทย หรือด้านการแพทย์แผนไทยประยุกต์ จากสภาการแพทย์แผนไทยเท่านั้นโดยสามารถสังเกตสถานพยาบาลที่ถูกต้องตามกฎหมายจากหลักฐาน 3 ประการ ได้แก่ 1. มีการแสดงเลขที่ใบอนุญาต 11 หลัก ให้เห็นได้ชัดเจนที่ด้านหน้าสถานพยาบาล 2. มีการแสดงใบอนุญาตประกอบกิจการสถานพยาบาลให้เห็นชัดเจนที่จุดบริการ และ 3. มีการแสดงป้ายชื่อ-สกุล รูปถ่าย พร้อมกับเลขที่ใบอนุญาตการประกอบวิชาชีพของแพทย์ติดหน้าห้องตรวจ ซึ่งต้องตรงกับตัวจริงที่ให้บริการขณะนั้นแต่หากต้องการนวดเพื่อส่งเสริมสุขภาพ หรือ ผ่อนคลาย ให้เลือกรับบริการจากสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ประเภท สปา นวดเพื่อสุขภาพหรือเพื่อเสริมความงาม ที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบการจาก สบส. หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ซึ่งผู้ให้บริการนวดจะต้องได้รับประกาศนียบัตรตามหลักสูตรที่ สบส. ให้การรับรอง และขึ้นทะเบียนเป็นผู้ให้บริการในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพถูกต้องตามกฎหมาย และสังเกตหลักฐาน 3 ประการ ได้แก่ 1. มีการแสดงสติกเกอร์มาตรฐาน สบส. สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ตามประเภทกิจการ ให้เห็นชัดเจนที่จุดบริการ 2. มีการแสดงใบอนุญาตประกอบกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ และ 3. มีการแสดงใบอนุญาตผู้ดำเนินการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพอาหารเสริมคังหลินอวดอ้างสรรพคุณหลอกเงินชาวบ้านคณะกรรมการอาหารและยา และ กลุ่มงานเภสัชกรรมและคุ้มครองผู้บริโภค โรงพยาบาลวาริชภูมิ จ.สกลนคร ร่วมกับสถานีตำรวจภูธรวาริชภูมิ ดำเนินการเอาผิดกลุ่มบุคคลที่ทำการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้อ คังหลิน (KungLin) ที่ใช้หยอดหู หยอดตา โดยอ้างว่าเป็นตัวแทนและทีมวิจัยสมุนไพรของศูนย์วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน นำสินค้ามาแนะนำ โดยขอให้ผู้ใหญ่บ้านประกาศเสียงตามสายให้ชาวบ้านที่มีปัญหาเรื่อง หู ตา คอ จมูก เบาหวาน ภูมิแพ้ ความดัน และชาวบ้านที่ต้องการตรวจโรค ลงทะเบียนตรวจวินิจฉัยโรคฟรีแต่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ในราคา 3,600 บาท หลังจากตรวจสอบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวพบว่า ฉลากระบุผู้จำหน่ายคือ บริษัท กรีนนิซ เทคโนโลยี จำกัด จ.นครราชสีมา แต่ไม่พบข้อมูลชื่อ ที่อยู่ ผู้ผลิต ไม่ระบุวันเดือนปีที่ผลิต และหมดอายุ เมื่อเจ้าหน้าที่ขอดูเอกสารเกี่ยวกับโครงการ ก็ไม่สามารถนำมาแสดงได้ดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหา และเก็บตัวอย่างส่งตรวจวิเคราะห์ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์อุดรธานีต่อไป ทั้งนี้ อย.ฝากเตือนผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่อวดอ้างเรื่องการรักษาโรค เพราะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต อย่างในกรณีนี้หากนำไปใช้หยอดหู หยอดตา สุ่มสี่สุ่มห้าโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน อาจเป็นอันตรายต่อหูและดวงตาของผู้ที่ใช้ถอนทะเบียนยา “ฟีนิลบิวตาโซน” 70 รายการ เหตุอันตรายถึงชีวิตในเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้มีการเผยแพร่ คําสั่งกระทรวงสาธารณสุข ที่ 1435/2560 เรื่อง เพิกถอนทะเบียนตำรับยา ที่มีตัวยาฟีนิลบิวตาโซน (Phenylbutazone) เป็นส่วนประกอบ หลังพบข้อมูลทางวิชาการว่า ยาฟีนิลบิวตาโซน เป็นสาเหตุของการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรง เนื่องจากอาจทำให้เกิดโรคโลหิตจางจากภาวะไขกระดูกฝ่อ (aplastic anaemia) และเกิดภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ (agranulocytosis) ซึ่งอาจเป็นอันตรายแก่ชีวิตได้ฉะนั้น อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 86 แห่งพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยา (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2530 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยคําแนะนําของคณะกรรมการยาในการประชุมครั้งที่ 1/2560 เมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2560 จึงมีคําสั่งเพิกถอนทะเบียนตํารับยาสําหรับมนุษย์ที่มีตัวยาฟีนิลบิวตาโซนเป็นส่วนประกอบ จํานวน 70 ตํารับ ตามบัญชีแนบท้ายประกาศ โดยสามารถดูรายละเอียดประกาศฉบับนี้ได้ที่เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/E/277/62.PDF

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 201 ฟ้องคดีแบบกลุ่ม

ข่าวการยื่นฟ้องคดีแบบกลุ่มมีให้เห็นเป็นระยะ นับตั้งแต่คดีแรกเรื่องความเสียหายของประชาชนจากเหมืองทอง กลุ่มผู้ใช้รถยนต์ฟอร์ด กลุ่มผู้ใช้กระทะโคเรียคิงส์ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม ทุกคดีที่ฟ้องทั้งหมดอยู่ในขั้นตอนการการไต่สวนอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มหรือไม่ การฟ้องคดีแบบกลุ่ม ภายใต้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ต้องได้รับอนุญาตจากศาล โดยสามารถดำเนินคดีละเมิดที่เกี่ยวข้องกับการผิดสัญญา คดีเรียกร้องสิทธิตามกฎหมายสิ่งแวดล้อม กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค แรงงาน หลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ การแข่งขันทางการค้า โดยผู้เสียหายมีข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเดียวกัน การดำเนินคดีแบบกลุ่ม เป็นการเรียกร้องค่าเสียหายที่บรรดาผู้เสียหายได้รับความเสียหายจากการกระทำเดียวกัน มีประโยชน์มากเพราะช่วยให้เข้าถึงความเป็นธรรมในการฟ้องคดีอย่างทั่วถึง คุ้มครองผู้เสียหายทุกคนถึงแม้จะไม่ได้ร่วมฟ้องคดี ลดภาระของผู้บริโภค การสนับสนุนกันของผู้บริโภคในการดำเนินคดี ลดโอกาสในการมีคำพิพากษาต่างกัน เกิดมาตรฐานในการพิจารณาคดี จากเดิมการฟ้องคดีเป็นกลไกตั้งรับที่สำคัญในการได้รับการชดเชยเยียวยา การฟ้องคดีก็ถูกคาดหวังว่าจะช่วยป้องปรามการกระทำที่เอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค ทำให้ผู้ประกอบการเข็ดหลาบ ไม่กล้าดำเนินการที่ละเมิดสิทธิผู้บริโภคอีกต่อไป การฟ้องคดีแบบกลุ่มจึงมีความหมายมากในการป้องกันปัญหาสำหรับผู้บริโภค เพราะหากได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดี จะกลายเป็นบรรทัดฐานทางสังคมที่ส่วนอื่นๆ พึงต้องระวัง สร้างความตื่นตัวผู้ประกอบการให้ตระหนักถึงการผลิตสินค้าและบริการที่จะต้องมีมาตรฐานและคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นสำคัญการดำเนินคดีที่ผ่านมาทั้งคดีปกครองที่มีข้อจำกัดเรื่องการบังคับคดี มาตรฐานการพิจารณาคดีผู้บริโภคที่แตกต่างกันในการพิจารณาคดีที่มีความเสียหายแบบเดียวกันของผู้บริโภค ความจำกัดของคำพิพากษาเชิงลงโทษ ความร่วมรับผิดของนิติบุคคล ระยะเวลาในการดำเนินคดี ภาระค่าใช้จ่ายของผู้ฟ้องคดี รวมถึงภาระในการพิสูจน์ความเสียหาย ทำให้ความคาดหวังที่มีต่อการดำเนินคดีแบบกลุ่ม ต้องไม่หนีห่างจากการใช้กฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค ในส่วนการดำเนินคดีผู้บริโภค ปฏิบัติการให้สอดคล้องกับกฎหมายใหม่ฉบับนี้นอกจากนี้ บทเรียนการฟ้องคดีของมูลนิธิมามากกว่า 10 ปี ย่อมเป็นธรรมดาที่ต้องมีความคาดหวังและจินตนาการต่อกระบวนการยุติธรรม เช่น มาตรฐานการอนุญาตฎีกา การเลื่อนคดีต้องแจ้งให้คู่ความได้รับทราบและคู่ความไม่จำเป็นต้องไปศาล ขั้นตอนต่างๆ มีพองามไม่เนิ่นนาน ทัศนคติต่อผู้บริโภคหรือประชาชนที่ฟ้องคดี ต้องไม่ถูกมองว่าเป็นผู้สร้างภาระให้ศาลยุติธรรม ยึดหลักการและทัศนคติต่อการคุ้มครองผู้บริโภค มีความเป็นมิตรต่อผู้บริโภค ประชาชนที่ฟ้องคดี ที่สำคัญหากสามารถทำได้ การให้กำลังใจต่อผู้ฟ้องคดี มีคำถามบางคำถามที่ไม่ควรใช้ เช่น คุณใช้สินค้าไปแล้วจะเป็นไปได้อย่างไรที่จะได้เงินคืนเต็มจำนวน ฟ้องแล้วไม่ใช่จะชนะนะ ใช้เงินเยอะนะรู้มั้ย และผู้บริโภคไม่ได้อะไร คำถามเหล่านี้จะให้ทนายความพูดตอบโต้ ก็ยาก เพราะทุกคนก็ทราบความจริงว่าเรื่องนี้เหมือนกับการไปพบแพทย์ การโต้แย้งแพทย์ไม่ต่างจากการโต้แย้งศาล เพราะกลัวการรักษาไม่ดีหรือแพ้คดี หากลดข้อจำกัดเหล่านี้ต่อประชาชน ผู้บริโภคได้จริง จะทำให้ประเทศนี้ยึดศาลยุติธรรมเป็นที่พึ่ง เมื่อเกิดข้อขัดแย้งในสังคม เช่นเดียวกับในต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จมากในการใช้การฟ้องคดีแบบกลุ่มเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 201 สั่งของแท้ แต่ได้ของปลอม

ไม่ว่าใครก็ต้องการของดีราคาไม่แพง ทำให้หลายครั้งเราตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ ที่หลอกลวงด้วยถ้อยคำโฆษณาและสินค้าราคาถูกกว่าปกติ ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณสุนีย์ตัดสินใจสั่งซื้อสร้อยไข่มุก Loperla Masami Jewelry Opera Set จากช่องทรูวิชชั่น ในราคา 5,990 บาท แต่โฆษณาลดเหลือ 5,690 บาท เนื่องจากคุณสุนีย์เห็นโฆษณาว่าเป็นไข่มุกเลี้ยงแท้ 100% พร้อมรายละเอียดต่างๆ ของสินค้าที่น่าสนใจ เช่น ขนาดเม็ดมุก  7 มม., มีจำนวนเม็ดไข่มุก 135 เม็ด, จี้ห้อย เป็นนิกเกิล ประดับคริสตัส และความยาวสร้อย 95.5 ซม. (รวมจี้และตะขอ)อย่างไรก็ตามหลังได้รับสินค้ากลับพบว่า สร้อยมีไข่มุกเพียง 127 เม็ด และความยาวน้อยกว่าที่โฆษณา ประมาณ 2 นิ้ว  เธอจึงแจ้งให้บริษัทเปลี่ยนสินค้าในวันเดียวกัน ต่อมาเมื่อบริษัทนำสินค้ามาเปลี่ยนให้ก็ยังพบปัญหาว่าไข่มุกมีขนาดเม็ดเล็กกว่าเส้นแรก เธอจึงแจ้งให้บริษัทเปลี่ยนสินค้าอีกครั้ง ซึ่งหลังได้รับการเปลี่ยนสินค้ารอบนี้ เธอได้ทดสอบไข่มุกด้วยการลนไฟ โดยหากเป็นไข่มุกเทียมจะเกิดการไหม้หลอมและหลุดลอก เเต่ถ้าเป็นไข่มุกเเท้ จะเป็นคราบเขม่าดำที่เกิดจากความร้อนซึ่งเช็ดออกได้หลังการทดสอบสินค้าเธอก็พบว่าผิวไข่มุกไหม้และลอกล่อน รวมทั้งเมื่อนำไข่มุกมาถูกัน ก็เกิดอาการลื่นออกจากกัน ต่างจากไข่มุกแท้ที่จะมีลักษณะฝืด ทำให้คุณสุนีย์แจ้งไปยังบริษัทฯ เพื่อขอคืนสินค้าและขอเงินคืนทั้งหมด ซึ่งบริษัทฯ แจ้งว่าจะขอทดสอบไข่มุกในห้องปฏิบัติการก่อน โดยใช้เวลาในการทดสอบ 1 สัปดาห์ อย่างไรก็ตามหลังผ่านไปหลายเดือนก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ เธอจึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ แจ้งให้ผู้ร้องส่งรายละเอียดการโฆษณาสินค้ามาให้เพิ่มเติม พร้อมทำหนังสือนัดเจรจาไกล่เกลี่ยกับบริษัท ซึ่งผู้ร้องต้องการให้บริษัทเยียวยาความเสียหาย ดังนี้ 1. ให้ประกาศโฆษณาขอโทษ ด้วยวิธีการเช่นเดียวกับที่ประกาศโฆษณาจำหน่ายสินค้า เป็นเวลา 1 ปี  และให้เรียกคืนสินค้าและคืนเงินให้ลูกค้าทุกรายที่ซื้อสินค้าดังกล่าว หรือ 2. หากไม่สามารถดำเนินการตามข้อ 1 ได้ ให้ชดเชยเยียวยาความเสียหาย เป็นเงินจำนวน 10 ล้านบาทให้แก่ผู้ร้อง อย่างไรก็ตามทางบริษัทได้ขอเลื่อนการเจรจาออกไป แต่ส่งหนังสือชี้แจงกลับมาว่าบริษัทกำลังตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมจากผู้ผลิตในประเทศไต้หวัน ซึ่งอาจเกิดจากเหตุขัดข้องในการจัดส่งสินค้าที่ผิดไป โดยผู้ผลิตยินยอมส่งคืนสินค้าที่ถูกต้องให้ภายในระยะเวลา 30 วัน และได้ร่วมมือกับ บริษัท ทรู จีเอส จำกัด ในการประสานงานติดต่อผู้ซื้อทุกราย เพื่อทำการเปลี่ยนแปลงสินค้าที่ถูกต้อง ภายใน 15 วันทำการ หรือรับคืนเงินเต็มจำนวนทันที สำหรับผู้ซื้อที่ไม่ประสงค์รอสินค้าด้านผู้ร้องพอใจกับข้อเสนอดังกล่าว แต่ต้องการให้บริษัทรับผิดชอบเพิ่มเติม ด้วยการโฆษณาการคืนสินค้าให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่รับทราบ ไม่ใช่คืนสินค้าเฉพาะรายอย่างเงียบๆ เพราะไม่แน่ใจว่าจะมีการคืนสินค้ากันจริงหรือไม่ ซึ่งผลการดำเนินการจะเป็นอย่างไรต่อไป ยังคงต้องติดตาม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 201 ซื้อยาสมุนไพรออนไลน์ ปลอดภัยแค่ไหน

สินค้าออนไลน์มีมากมายหลายประเภท แต่หนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคจำนวนมากก็หนีไม่พ้นอาหารเสริม หรือผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพต่างๆ อย่างไรก็ตามการซื้อสินค้าเหล่านี้ผ่านโลกออนไลน์ จะมีความปลอดภัยจริงหรือคุณดวงใจโทรศัพท์มาปรึกษาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า น้องสาวของเธอมีอาการเท้าบวมและไม่ยอมไปโรงพยาบาล แต่ซื้อผลิตภัณฑ์สมุนไพรยี่ห้อ นราห์ (NARAH) ผ่านอินเทอร์เน็ตมาเพื่อรักษาอาการแทน ซึ่งเมื่อได้รับสินค้า เธอได้นำเลขที่สารบบอาหาร 13 หลักที่ระบุไว้บนฉลากคือ 50-1-02254-1-0009 ไปตรวจสอบผ่านการสืบค้นข้อมูลผลิตภัณฑ์ในเว็บไซต์ของ อย. ก็ไม่มีพบรายละเอียดใดๆ เธอจึงไม่มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีความปลอดภัย นอกจากนี้สินค้ายังมีการโฆษณาแสดงสรรพคุณที่ดูเกินจริงอีกด้วย เช่น เป็นสมุนไพรเพื่อลด ควบคุมและป้องกันโรคเบาหวาน ไขมันสูง ความดันและโรคหัวใจได้ คุณดวงใจจึงส่งผลิตภัณฑ์และรายละเอียดต่างๆ มาให้ศูนย์ฯ ช่วยตรวจสอบแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมาคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เคยแถลงข่าวเตือนประชาชนในการซื้อผลิตภัณฑ์สุขภาพผ่านอินเทอร์เน็ตว่า อาจเสี่ยงได้รับผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีคุณภาพมาตรฐาน หรือมีส่วนผสมของสารอันตราย เพราะมักมีการโฆษณาอวดอ้างเกินจริงและแสดงฉลากไม่ถูกต้อง ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภคแล้ว ผู้ที่ขายยาผ่านอินเทอร์เน็ตหรืออาหารเสริมที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริงยังเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายอีกด้วย จึงขอความร่วมมือผู้บริโภคไม่สนับสนุนผู้กระทำผิดกฎหมาย และช่วยแจ้งเบาะแสหากพบเห็นการจำหน่ายสินค้าในลักษณะนี้ที่สายด่วน อย. 1556และสำหรับในกรณีนี้ ศูนย์ฯ ได้ช่วยผู้ร้องตรวจสอบผลิตภัณฑ์สมุนไพรดังกล่าว ด้วยการทำหนังสือถึง อย. เพื่อขอให้มีการตรวจสอบ ซึ่งภายหลังทาง อย. ก็ได้แจ้งผลการดำเนินการมาว่า ผู้ขอจดทะเบียนเลขระบบอาหารของสมุนไพรนราห์ ได้ขอยกเลิกเลขทะเบียนสารระบบอาหารไปแล้ว เนื่องจากมีผู้เสียหายร้องเรียนเข้ามาหลายราย ซึ่งขณะนี้ อย. กำลังสืบเรื่องและเตรียมส่งต่อให้กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ดำเนินคดีและแจ้งระงับการโฆษณาการขายสินค้าดังกล่าว โดยหากดำเนินการเสร็จเรียบร้อย จะทำหนังสือตอบกลับมายังมูลนิธิฯ อีกครั้ง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 201 ห้องจริงไม่เหมือนในตัวอย่าง

การตัดสินใจเลือกซื้อที่อยู่อาศัยจากใบโฆษณา หรือจากห้องตัวอย่างอาจสร้างความผิดหวังได้ หากพบว่าห้องจริงที่ได้มานั้น ไม่ตรงตามที่โฆษณาไว้ ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้เมื่อปี 2556 คุณภารดรได้เข้าทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดในโครงการ ออริจินส์ บางมด-พระราม 2  ซึ่งเขาได้ชำระค่าทำสัญญาไป 27,000 บาท และผ่อนดาวน์เดือนละ 5,000 บาท ระยะเวลา 21 งวด รวมเป็นเงิน 139,200 บาท และยังชำระเกินไปอีก 2 งวดจำนวน 10,000 บาท ต่อมาในปี 2558 ทางโครงการฯ ได้ส่งจดหมายแจ้งให้คุณภารดรทำการยื่นขอสินเชื่อและเข้าไปตรวจดูห้องชุด ซึ่งปรากฏว่าห้องที่ทางโครงการจะส่งมอบให้มีการออกแบบแตกต่างไปจากในใบโฆษณาสินค้าหลายประการ เขาจึงไม่พอใจและต้องการยกเลิกสัญญา จึงส่งเรื่องร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอคำปรึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ แนะนำผู้ร้องว่า การยกเลิกสัญญาเนื่องจากห้องชุดที่ได้ไม่ตรงตามที่โฆษณาไว้สามารถทำได้ โดยตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่องให้ธุรกิจขายห้องชุดเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา ข้อ 8.6 ผู้ซื้อมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและเรียกเงินทั้งหมดคืนจากผู้ขายได้ หากผู้ขายไม่ได้ทำตามแบบที่นำแสดงขายหรือห้องตัวอย่างไว้ โดยศูนย์ฯ ช่วยผู้ร้องร่างหนังสือบอกเลิกสัญญาไปที่บริษัท ทั้งนี้ภายหลังได้มีการเจรจาไกล่เกลี่ยเพิ่มเติมที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ซึ่งทางบริษัทยินยอมคืนเงินที่ผู้ร้องชำระไป จำนวนกว่าเก้าหมื่นบาท ด้านผู้ร้องก็ยินดีรับข้อเสนอดังกล่าวและขอยุติการร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 201 ก่อนซื้อเครื่องสำอาง อย่าลืมดูฉลาก

สาวๆ หลายคนที่ชื่นชอบการแต่งหน้า อาจเคยเผลอซื้อเครื่องสำอางที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งบางคนอาจโชคดีไม่เกิดอาการแพ้ใดๆ แต่ไม่ใช่กับผู้ร้องรายนี้ คุณปาริชาตร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ว่า เธอซื้อเครื่องสำอางนำเข้าจากร้าน  K'Saranon Beauty and Herb  ที่ตั้งอยู่หลังตึกการบินไทยมาใช้ ซึ่งหลังใช้แล้วเกิดอาการคัน แพ้ แสบปาก และเมื่อตรวจสอบสินค้าดูอีกครั้งก็พบว่ากล่องก็ไม่มีฉลากภาษาไทย เธอจึงกลับไปที่ร้านเพื่อขอคืนสินค้า แต่แม่ค้าไม่ยินยอม โดยอ้างว่าเป็นของแท้และไม่คืนเงินให้ อย่างไรก็ตามจะให้เปลี่ยนเป็นสินค้าอื่นภายในร้านแทนด้านคุณปาริชาตไม่มั่นใจว่าสินค้าอื่นๆ จะได้มาตรฐานหรือเปล่า จึงไม่ต้องการแลกสินค้าและถ่ายรูปร้านค้าไว้ ทำให้แม่ค้าแจ้งว่าจะไม่ขายสินค้ายี่ห้อดังกล่าวแล้ว และจะคืนเงินให้ 60% แต่หลังจากนั้นก็ไม่มีการติดต่อกลับมาแต่อย่างใด เธอจึงส่งเรื่องมายังศูนย์ฯ เพื่อขอคำแนะนำแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ ช่วยผู้ร้องด้วยการทำหนังสือถึง อย. เพื่อให้มีการเข้าไปตรวจสอบร้านค้าดังกล่าว ซึ่งภายหลังการดำเนินการ อย. ได้แจ้งกลับมาว่า สถานที่จำหน่ายเครื่องสำอางตามที่ผู้ร้องได้แจ้งมานั้นปิดทำการไปแล้ว โดยได้มีการเข้าตรวจสอบหลายครั้งก็ไม่พบว่าร้านเปิดทำการอีกเลย ทำให้ไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้ อย่างไรก็ตามทาง อย. จะติดตามผลต่อไป และหากพบว่าทางร้านกระทำผิดจริงหรือจำหน่ายสินค้าไม่ได้มาตรฐานก็จะสั่งระงับการขายทันที ทั้งนี้สำหรับผู้บริโภคที่กำลังตัดสินใจเลือกซื้อเครื่องสำอาง ควรตรวจสอบฉลากภาษาไทยก่อนซื้อทุกครั้ง โดยอย่างน้อยฉลากต้องระบุข้อความดังนี้ (1) ชื่อเครื่องสำอาง (2) ประเภทหรือชนิดของเครื่องสำอาง (3) ส่วนประกอบ (4) วิธีใช้ (5) ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต/นำเข้า (6) ปริมาณสุทธิ (7) เลขที่แสดงครั้งที่ผลิต (8) เดือนปีที่ผลิตหรือหมดอายุ รวมทั้งต้องมีเลขที่จดแจ้ง 10 หลัก ซึ่งเราสามารถนำเลขดังกล่าวเข้าไปตรวจสอบได้ที่เว็บไซต์สืบค้นข้อมูลผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางของ อย. หรือ http://164.115.28.102/FDA_SEARCH_CENTER/PRODUCT/FRM_SEARCH_CMT.aspx เพื่อดูว่าเป็นเครื่องสำอางที่ได้รับการอนุญาตให้ขายจริงหรือไม่ ซึ่งหากพบว่าชื่อจดแจ้งข้างกล่องกับในเว็บไซต์ไม่ตรงกันก็ให้สงสัยไว้ก่อนว่าเครื่องสำอางดังกล่าวอาจไม่ปลอดภัย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 201 เร่งผมยาว ได้จริงหรือ

ใครที่กำลังขาดความมั่นใจจากความสั้นเต่อของเส้นผม มักมองหาสารพัดวิธีเพื่อช่วยเร่งให้ผมยาวขึ้น ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการใช้ผลิตภัณฑ์เร่งผมยาวอย่างแชมพู สเปรย์หรือเซรั่ม แต่วิธีเหล่านี้จะได้ผลมากน้อยแค่ไหน เราลองไปหาคำตอบกันมารู้จักเส้นผมของเรากันสักนิดเส้นผม เป็นส่วนที่เจริญเติบโตจากต่อมรากผม มีโปรตีนเคราติน(Keratin) เป็นส่วนประกอบหลัก แต่ถือว่าเป็นส่วนของเซลล์ที่ตายแล้ว จึงทำให้เราไม่รู้สึกเจ็บหรือมีเลือดเมื่อหลุดร่วงหรือถูกตัดออก ซึ่งตามปกติเส้นผมจะหลุดร่วงประมาณ 100 เส้น/วัน และมีวงจรการเจริญเติบโตเป็นระยะที่แน่นอน คือ เมื่อเส้นผมงอกไปจนยาวได้ประมาณหนึ่งแล้ว ต่อมผมก็จะหยุดสร้างเส้นผมเพื่อให้เกิดการหลุดร่วง จากนั้นก็จะมีผมงอกใหม่ขึ้นมาแทนที่ ทั้งนี้จำนวนเส้นผมตามปกติบนศีรษะของเราจะมีประมาณ 100,000-150,000 เส้น ผมยาวขึ้นได้ อย่างไรอย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า เส้นผมมีวงจรการเจริญเติบโตเป็นระยะที่แน่นอน แตกต่างจากการงอกของเล็บ ซึ่งแบ่งออกป็น 3 ระยะ ดังนี้ 1. ระยะเจริญเติบโต(Anagen) เป็นช่วงที่เส้นผมมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้สังเกตได้ว่าผมยาวขึ้นเรื่อยๆ  ซึ่งส่วนใหญ่จะมีอัตราการเจริญของเส้นผมประมาณ 1/2 นิ้ว/เดือน 2. ระยะหยุดเจริญเติบโต(Catagen) เป็นช่วงที่เส้นจะหยุดการเจริญเติบโตและหลุดร่วงไป และ 3. ระยะหลุดร่วง (Telogen) เป็นช่วงเวลาพักตัวของเส้นผม ซึ่งหลังจากนี้จะเกิดการสร้างรากผมใหม่และเข้าสู่ระยะที่หนึ่งอีกครั้งอย่างไรก็ตามวงจรการงอกของเส้นผมทั้ง 3 ระยะนี้เกิดขึ้นพร้อมกันทั่วทั้งหนังศีรษะ ผมเส้นหนึ่งอาจอยู่ในระยะเจริญเติบโตในขณะที่บริเวณผมด้านข้างอยู่ในระยะหยุดการเจริญเติบโต ทำให้เรายังรู้สึกว่าผมยังดูยาวหรือหนาแน่นเต็มศีรษะอยู่ นอกจากนี้กระบวนการเติบโตเหล่านี้ล้วนขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายด้าน เช่น พันธุกรรม อายุหรือโรคประจำตัว ส่งผลให้แต่ละคนมีความยาวของเส้นผมที่แตกต่างกันไปแล้วเราสามารถเร่งผมยาวได้ จริงหรือแม้การเจริญเติบโตของเส้นผมจะมีวงจรที่แน่นอน และมีระยะเวลาการเจริญเติบโตที่ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายด้าน แต่หลายคนยังต้องการที่จะเร่งกระบวนการดังกล่าว ด้วยการใช้แชมพู สเปรย์หรือเซรั่มต่างๆ ซึ่งหากเราลองตรวจสอบหน้าที่หลักของผลิตภัณฑ์เหล่านี้ดูจริงๆ ก็จะพบว่า แชมพูมีหน้าที่หลักในการชำระล้างสิ่งสกปรกบนหนังศีรษะ จึงอาจช่วยชำระล้างความมันที่อุดตันที่รากผมและทำให้เส้นผมเจริญเติบโตได้ดีขึ้น แต่ไม่สามารถส่งผลให้เส้นผมยาวไปมากกว่าอัตราการเจริญเติบโตตามปกติของมันได้ ส่วนสเปรย์หรือเซรั่มต่างๆ ที่มักโฆษณาว่ามีส่วนประกอบของอาหารผมนั้น พบว่าสามารถช่วยทำให้ผมแข็งแรงขึ้นได้ เพราะช่วยปิดเกล็ดผมที่ถูกทำร้ายจากความร้อน จึงอาจทำให้ดูเหมือนผมสุขภาพดีและหนาขึ้น แต่ก็ไม่สามารถส่งผลให้เส้นผมยาวไปมากกว่าอัตราการเจริญเติบโตตามปกติของมันได้เช่นกันแนะวิธีดูแลเส้นผมเพื่อให้เส้นผมมีการเจริญเติบโตตามวงจรปกติของมัน เราควรมีการดูแลเส้นผมอย่างถูกวิธี ดังนี้1. การสระผม แน่นอนว่าจำนวนครั้งการสระผมไม่ได้ส่งผลต่อความยาวของเส้นผม แต่ส่งผลต่อความสะอาดของหนังศีรษะ ซึ่งทำให้รูขุมขนไม่อุตตันและผมงอกได้ตามปกติ ระยะเวลาในการสระจึงขึ้นกับลักษณะการใช้ชีวิตของเรา และเลือกใช้แชมพูที่เหมาะสมกับสภาพหนังศีรษะ เช่น ถ้าหนังศีรษะมันอาจจะสระผมบ่อยได้ แต่ถ้าหนังศีรษะแห้งหรือผมแห้งมาก การสระผมบ่อยมากเกินไปอาจจะไม่เหมาะ รวมทั้งหลังการสระผมทุกครั้ง เราควรบำรุงผมให้มีความนุ่มลื่นขึ้นด้วยครีมนวดผม เพื่อป้องกันเส้นผมพันกัน ซึ่งยากต่อการจัดแต่งทรงภายหลัง2. เลี่ยงความร้อนและการใช้สารเคมี เพราะจะทำให้เกล็ดผมเปิด และเส้นผมขาดหรือแตกปลายได้ง่าย 3. รับประทานอาหารให้เหมาะสม เช่น อาหารที่มีโปรตีน เพราะเป็นส่วนสำคัญในการเจริญเติบโตของเส้นผม หรือวิตามินต่างๆ เช่น วิตามินบีรวม ซึ่งมีมากในยีสต์และโยเกิร์ต 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 201 ไทยแลนด์ 4.0 หรือจะสู้ไทยลวง 4.0

ตอนนี้ ไทยแลนด์ 4.0 กำลังฮิต แต่ผมว่าที่มาแรงกว่า คือ ไทยลวง 4.0 เพราะเป็นการลวงผู้บริโภคอย่างได้ผล โดยเฉพาะผู้บริโภคที่ไม่ค่อยเท่าทันคนลวง จะเผลอเป็นเหยื่อได้ง่าย มาลองดูกันว่าคนใกล้ตัวเราเคยเจอแบบนี้บ้างหรือเปล่า1. บูชาสาธุ : เทคนิคนี้ ผู้ขายสินค้าหลอกลวงจะอ้างอิงความเชื่อและศรัทธาของคนไทย พยายามทำให้ผลิตภัณฑ์ของตนดูศักดิ์สิทธิ์ ด้วยเทคนิคแพรวพราว บางทีเจ้าของผลิตภัณฑ์จะยกยาหรือพระขรรค์ขึ้นเหนือหัว อ้างว่าเคารพครูบาอาจารย์ บางทีก็ท้าสาบานต่อหน้าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เล่นแบบนี้  ไม่เชื่ออย่าลบหลู่ สุดท้ายก็ระทวยทรัพย์ไปจากกระเป๋าเพราะค่ายกครูยาแบบนี้ราคาไม่ถูก ส่วนใหญ่ก็หมดเป็นร้อยเป็นพัน บางรายหมดไปเกือบหมื่นก็มี2. อ้างอิงไปทั่ว : เทคนิคนี้จะใช้การอ้างอิงกับผู้ป่วยรายอื่น และแน่นอนจะต้องบอกว่าผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ดี เคยมีผู้ป่วยรายก่อนๆ นำไปรับประทานแล้วหาย อ้างว่าอัมพฤกษ์ อัมพาต ยังลุกขึ้นมาเดินได้ บางครั้งอ้างถึงขนาดว่าตาบอดยังกลับมามองเห็นได้  แต่ส่วนใหญ่ที่ว่าหายๆ พอขอดูตัวเป็นๆ กลับหายหัวไปหมด3. หวาดกลัวยาเคมี : เทคนิคนี้จะจับกระแสที่คนกลัวยาแผนปัจจุบัน อยากได้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ ผู้ขายจะโน้มน้าวว่า ยาแผนปัจจุบันคือสารเคมี ควรหันมาใช้ผลิตภัณฑ์ที่ตนจำหน่ายดีกว่า เพราะเป็นของจากธรรมชาติล้วนๆ (แต่คงลืมนึกไปว่า กว่าจะสกัดมาขายอย่างนี้  ก็ใช้สารเคมีสกัดมาเหมือนกัน) สุดท้ายเหยื่อก็เคลิ้มไปเรียบร้อย4. ส่งทุกที่ไปรษณีย์ไทย : เทคนิคนี้ ผู้ขายจะหาพื้นที่สื่อในโลกโซเชียล โฆษณาสรรพคุณมหัศจรรย์จนตะลึง และให้สั่งซื้อได้ทางไปรษณีย์ ซึ่งรวดเร็วถูกใจเหยื่อที่ใจร้อนอยากหายไวๆ แค่นี้ก็ขายได้แล้ว ไหนๆ ก็เจอไทยลวง 4.0  แล้ว ขอเสนอ คาถาปราบลวง 4.0 สู้กันซึ่งๆ หน้าไปเลย1. สู้บูชาสู้สาธุ : ค่ายกครูตามความเชื่อของคนไทยต้องไม่แพง ในชนบทเขายกกันไม่กี่บาท ถ้ายกเป็นร้อยเป็นพันน่ะ มันไม่ใช่ยกครูแล้ว มันทำท่าจะยกเค้าซะมากกว่า ถ้าแพง อย่าเพิ่งรีบเชื่อ2. สู้อ้างอิงไปทั่ว : ลองช่วยกันแอบดูว่า พวกคนขายที่อ้างอิงว่าผลิตภัณฑ์ของตนดีแบบมหัศจรรย์นั้น เวลาเจ็บป่วย เขาใช้ผลิตภัณฑ์ที่ขายรักษาตนเองหรือไม่ หรือแอบไปรักษาตัวที่ไหน เท่าที่เจอมา ส่วนใหญ่เวลาเจ็บป่วยก็หอบสังขารไปโรงพยาบาลกันทั้งนั้น ท่องไว้เลยว่า ถ้าผลิตภัณฑ์ดีจริง ทางโรงพยาบาลต้องเอาไว้ใช้เป็นยารักษาผู้ป่วยแล้ว ไม่ใช่ให้มาแอบขายโฆษณาโอเวอร์ๆ แบบนี้3. อย่าหวาดกลัวยาเคมี : ตั้งสติให้ดีครับ ยาเคมีกว่าจะออกมาใช้กับมนุษย์ได้ เขาต้องมีการตรวจสอบความปลอดภัยจนมั่นใจ แต่ยาก็เหมือนกับผลิตภัณฑ์อื่นๆ บางคนอาจมีการแพ้ หรือมีผลข้างเคียงได้ บุคลากรสาธารณสุขเขามีหน้าที่ดูแลตรงนี้อยู่แล้ว  ส่วนผลิตภัณฑ์ที่มาหลอกขายราคาแพงๆ นั้น กว่าจะมาเป็นผลิตภัณฑ์ มันก็ต้องผ่านกระบวนการทางเคมีบ้างเหมือนกัน ไม่ใช่หยิบมาจากธรรมชาติมากินได้ทันที4. ส่งทุกที่แต่ส่งมาจากที่ไหน :  ปกติกฎหมายจะกำหนดให้ยาต้องจำหน่ายในสถานที่ที่ต้องได้รับอนุญาต เพื่อให้มีหลักแหล่งแน่นอน ตรวจสอบได้ ของที่ส่งมาแบบไม่มีหัวนอนปลายเท้า ชื่อผู้และสถานที่ส่งก็ไม่รู้ว่ามีจริงหรือเปล่า เราจะยอมเอาสุขภาพเราไปเสี่ยงหรือยังไงผู้บริโภคยุค 4.0 ตั้งสติกันให้ดีนะครับ ไม่ชอบมาพากลใช้คาถาปราบลวง 4.0 สู้กันเลย โชคดีนะครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 201 สถานการณ์การปนเปื้อนของยาปฏิชีวนะ เชื้อดื้อยา และยีนดื้อยา ในห่วงโซ่อาหารและสิ่งแวดล้อม และการจัดการ

1. เกริ่นนำ ความห่วงใยเรื่องปัญหาเชื้อดื้อยาเดิมเริ่มจากผลกระทบและปัญหาที่พบในโรงพยาบาล  และไทยก็มีการตั้งศูนย์เฝ้าระวังเชื้อดื้อยาในมนุษย์ ส่งมาจากโรงพยาบาลเป็นหลัก ต่อมาเริ่มเห็นปัญหาการใช้ยาปฏิชีวนะในชุมชน  และมีความเข้าใจมากขึ้นถึงปัญหาในระบบห่วงโซ่อาหาร  รวมถึงมีคำอธิบายความเชื่อมโยงของการดื้อยาทั้งในคน สัตว์ พืช และ สิ่งแวดล้อม ที่ไม่อาจแยกจากกันได้ ปัจจุบันทั้งนักวิชาการ และฝ่ายนโยบายจึงให้ความสำคัญมากขึ้น กับสิ่งที่เรียกว่า one health โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการรายงานการใช้ยาปฏิชีวนะและการปนเปื้อนเชื้อโรค เชื้อดื้อยาในห่วงโซ่อาหารและสิ่งแวดล้อม บทความนี้ทบทวนสถานการณ์ถึงความก้าวหน้าใหม่ๆ ในด้านนี้ ต่อเนื่องจากบทความในฉลาดซื้อ ฉบับที่ 164 เรื่องยาปฏิชีวนะและเชื้อดื้อยาในห่วงโซ่อาหาร พบว่า มีความก้าวหน้าเชิงนโยบายและวิชาการทั้งจากทั่วโลกและในประเทศไทย  แต่ขณะเดียวกันก็มีความน่ากลัวของสถานการณ์การดื้อยาที่รุนแรงขึ้น จากห่วงโซ่อาหารมาสู่คนและสิ่งแวดล้อม ที่ทุกภาคส่วนล้วนยอมรับว่ากระทบต่อความมั่นคงของชาติ ความมั่นคงด้านอาหารและรายได้ และต่อสุขภาพประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อสิ่งแวดล้อมที่กระทบทั้งสุขภาพและกระทบต่อการผลิตอาหารในระยะยาวในวงจรอาหารมีองค์ประกอบที่มีความหลากหลายและเชื่อมโยงกันเป็น one health  ดังนั้นการทำงานเกี่ยวกับเชื้อดื้อยาควรมองการป้องกันและจัดการอย่างบูรณาการ ระบาดวิทยาของเชื้อดื้อยา (Epidemiology of Antimicrobial Resistance)  สะท้อนแหล่งผลิตเชื้อดื้อยาหรือยีนดื้อยา ที่เกิดจากการใช้ยาปฏิชีวนะหรือเกิดการปนเปื้อนของเชื้อดื้อยา  มีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันหมด ทั้งทางตรงและทางอ้อม   อาจมีปฏิสัมพันธ์ทางเดียวหรือสองทิศทางก็ได้ ที่สำคัญๆ มีได้ 7 จุด ได้แก่ มนุษย์(โรงพยาบาล สถานีอนามัย ชุมชน และการท่องเที่ยว) ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ที่เป็นอาหาร(วัว หมู แกะ เป็ดไก่ ฯลฯ) สัตว์เลี้ยง สัตว์สวยงาม สัตว์โชว์(เช่นสุนัข แมว ไก่ชน ฯลฯ) การปลูกพืช ผัก ผลไม้ ผลิตเม็ลดพันธ์(ส้ม ส้มโอ มะนาว มันเทศ ฯลฯ) การประมง(ปลา กุ้ง ฯลฯ) โรงงานผลิตยา สารเคมี และสารเคมีใช้ในบ้าน(อาจปล่อยยาปฏิชีวนะ หรือสารเคมีลงสิ่งแวดล้อม) การผลิตแอลกอฮอล์จากพืช(มีการใช้กลุ่มยาปฏิชีวนะด้วย) ในการเชื่อมโยง แพร่ปัจจัยการเกิดเชื้อดื้อยา มีทั้งสัมผัสตรงหรือได้ทางอ้อม จุดเชื่อม เช่น มูลสัตว์และน้ำจากฟาร์ม การขายทำปุ๋ย หรือปล่อยลงดิน การลงแม่น้ำ นำไปสู่ ทะเลหรือทะเลสาบ มีการนำไปบริโภค แหล่งบำบัดน้ำเสียจากจุดปล่อย ต่างๆ เหล่านี้ เป็นต้น     2. MCR-1 gene เรื่องใหญ่ของโลกและของไทย เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2558  มีรายงานจากประเทศจีนที่ลงตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ Lancet Infectious     เป็นการค้นพบยีน (gene) ที่ดื้อต่อยาโคลิสติน ที่ชื่อว่า mcr-1 gene เป็นครั้งแรกในโลก โดยที่เป็นการพบว่า ยีนการดื้อยานี้ มีลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากยีนดื้อยาเดิม คือชนิดใหม่เกิดบน plasmid มีการถ่ายทอดพันธุกรรมในลักษณะเป็น Horizontal Gene Transfer สามารถถ่ายทอดสายพันธุกรรมข้ามสายพันธุ์ได้  การค้นพบนี้ก่อให้เกิดความตื่นเต้นและตระหนกไปทั่วโลก แม้ว่าก่อนหน้านี้มีการศึกษา การดื้อยาโคลิสติน มาแล้วหลายรายงาน แต่รายงานดั้งเดิมพบยีนดื้อยาที่มีลักษณะแบบ Vertical Gene Transfer  ทั้งนี้ยาโคลิสตินเป็นหนึ่งในยากลุ่ม polymyxin   เนื่องจากความเป็นพิษต่อมนุษย์ จึงมีการแนะนำให้ใช้ในการเลี้ยงสัตว์(หมูและไก่) แต่ในขณะเดียวกัน ยาโคลิสตินก็เป็นยากลุ่มสำคัญที่มักจะใช้รักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อที่ดื้อต่อยาอื่นๆ  การค้นพบครั้งนี้ จึงสะท้อนปัญหาการดื้อยาที่เกิดในห่วงโซ่อาหารและกระทบต่อสุขภาพของคนและนำไปสู่สิ่งแวดล้อมด้วยแล้ว หลังรายงานฉบับแรก ได้เพียง 3 เดือน พบรายงานถึงการพบ mcr-1 gene ในอย่างน้อยใน 19 ประเทศ และเพียงกลางปี พ.ศ. 2559 พบรายงานแล้วกว่า 32 ประเทศ  จากการที่ผู้เขียนได้รวบรวมเอกสารงานวิจัยและข่าวต่างๆ จากทั่วโลกในช่วงเวลาสองปีย้อนหลัง(พฤศจิกายน พ.ศ. 2558-ตุลาคม พ.ศ. 2560) พบว่ามีการรายงานการพบ mcr-1 gene แล้วถึงมากกว่า 42 ประเทศ กระจายทุกภูมิภาค(ตารางที่ 1) คาดว่าน่าจะมีมากกว่านี้ตารางที่ 1 รายชื่อประเทศ ที่มีรายงานตรวจพบ mcr-1 gene และยีนในกลุ่มเดียวกัน (mcr-1 gene ถึง mcr-5 gene)จากรายงานวิจัยที่รวบรวม พบว่าแหล่งของยีนเชื้อดื้อยามาจากหลากหลายแหล่ง เช่น จากฟาร์ม (อุจจาระ เลือด สารคัดหลั่ง หรือการ swab ทวารหนัก ของหมู วัว ไก่ในฟาร์ม) จากเนื้อสัตว์แหล่งต่างๆ  (หมู ไก่ วัว)  จากพืชผัก (ตรวจที่ปลายทางที่ประเทศนำเข้า ส่วนไทยยังไม่ได้ตรวจ)   จากสิ่งแวดล้อม(แม่น้ำ น้ำบ่อ น้ำระหว่างการบำบัด) รวมถึงตัวอย่างเชื้อที่แยก จากผู้ป่วยหรือสัตว์ป่วยที่เพาะและแช่แข็งเก็บไว้ และต่อมาพบในผู้ป่วย ( เลือด อุจจาระ สารคัดหลั่ง)  หรือในอาสาสมัครปกติ( เลือด อุจจาระ สารคัดหลั่ง)   ความห่วงใยต่อการปนเปื้อนของ mcr-1 gene หรือ แบคทีเรียที่มี mcr-1 gene  ในสิ่งแวดล้อมหรือในระบบนิเวศน์ เพราะหลังจากตรวจพบ mcr-1 gene ในสัตว์ ในคน ก็เริ่มพบว่ามีการแพร่ไปสู่สิ่งแวดล้อมในหลาย ๆ ลักษณะ นอกจากนี้  มีข่าวบางข่าวจากต่างประเทศสะท้อนความห่วงใยการปนเปื้อนยาปฏิชีวนะยาหรือยีนเชื้อดื้อจากโรงงานผลิตยา และจากโรงพยาบาล  ยังพบต่อมาว่าเกิดยีนส์อีกหลายชนิดที่เป็นกลุ่มใกล้เคียงกัน รวมแล้วปัจจุบันพบยีนดื้อยาโคลิสตินชนิดร้ายแรงนี้ ได้แก่ mcr-1, mcr-2, mcr-3, mr-4, mcr-5  และในบางครั้งพบยีนดื้อยาที่รวมกันหลายชนิดในสายพันธุกรรมเดียวกันด้วยที่มาจากผู้ป่วย  ส่วนสถานการณ์ของไทย พบว่ามีรายงานต่างประเทศระบุว่าพบ mcr-1 gene ในตัวอย่าง ที่เก็บ ตั้งแต่ พ.ศ. 2555   โดยพบในคนไทย  2 ราย จากตัวอย่างคนไทยที่ตรวจทั้งหมด 3 ราย ที่ยังไม่ได้แสดงอาการ และเห็นความเชื่อมโยงว่าอาจแพร่จากหมูมาสู่คนได้ต่อมามีรายงานในผู้ป่วย ตามที่ปรากฎในบทความ ในหนังสือพิมพ์ คมชัดลึก   ที่ระบุว่า  มีเอกสารรายงาน “สถานการณ์การเกิดโรคประจำสัปดาห์ที่ 24 ระหว่างวันที่ 12-18 มิถุนายน 2559” ของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่ามีการตรวจพบยีนดื้อยาดังกล่าวในตัวอย่างปัสสาวะผู้ป่วยชาย ข้อความดังนี้  "4.พบผู้ป่วยติดเชื้อ Escherichia coli มียีนดื้อยา mcr-1 สำนักระบาดวิทยาได้รับรายงานจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จ.นนทบุรี โดยศูนย์เฝ้าระวังเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติได้ตรวจพบเชื้อ Escherichia coli มียีนดื้อยา mcr-1 จากตัวอย่างปัสสาวะของผู้ป่วยไทย เพศชาย อายุ 63 ปี ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาครั้งแรกระหว่างวันที่ 23 มกราคม-25 กุมภาพันธ์ 2559 ด้วยอาการ Intracerebral hemorrhage แพทย์ได้ผ่าตัด และผู้ป่วยเข้ารับการรักษาครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 8-11 เมษายน 2559 ด้วยโรคหลอดลมอักเสบ คาดว่าผู้ป่วยติดเชื้อดื้อยาจากโรงพยาบาล”ทั้งนี้ต่อมามีรายงานวิชาการระบุการพบเชื้อดื้อยาที่ชื่อ Escherichai coli (E coli) จากปัสสาวะของผู้ป่วยชายไทยอายุ 63 ปี ที่มีการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ  การตรวจเบื้องต้นพบการดื้อต่อยาปฏิชีวนะถึงกว่า 30 ชนิด เมื่อทำการตรวจยีนพบทั้ง mcr-1 gene ที่ดื้อต่อโคลิสตินและยีนดื้อยารุนแรงอื่น   หมายเหตุ ผู้เขียน เข้าใจว่าตัวอย่างนี้น่าจะเป็นชายคนเดียวกับที่รายงานในคมชัดลึก มีรายงานจากต่างประเทศระบุว่าพบ mcr-1 gene ในตัวอย่าง ผัก จากไทย(ชะอม) และเวียดนาม (โหระพา) ที่ส่งไปขายในสวิตเซอร์แลนด์ โดยตัวอย่างเก็บเมื่อพ.ศ. 2557 รายงานการตรวจพบ mcr-1 gene ในไทยจากตัวอย่างเชื้อที่เก็บจากหมู  ในช่วงพ.ศ. 2547, 2554-2557 จาก 4 จังหวัด พบ mcr-1 gene ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2555 (1 จังหวัด) และพบต่อเนื่อง ในปีพ.ศ. 2555-2556 (2 จังหวัด) และพ.ศ.2557 (1 จังหวัด)  รายงานข่าวในคมชัดลึก ถึงการสำรวจฟาร์มหมู และการดำเนินการของกรมปศุสัตว์ที่เข้มงวด รวดเร็ว ที่ลงต่อเนื่อง  3. นานาชาติเขาทำอะไรกันบ้าง เกี่ยวกับเชื้อดื้อยาในห่วงโซ่อาหาร  Antibiotic Awareness Week/Day 2017วันที่ 18 พฤศจิกายน ของทุกปี จัดเป็นวัน antibiotic awareness day  ซึ่งเริ่มต้นมาตั้งแต่ ปี พ.ศ.2551 โดยเริ่ม European Antibiotic Awareness Day ด้วยการประสานงานของ European Center for Diseases Prevention and Control  ร่วมกับภาคีหลายภาคส่วน เป็นการรณรงค์ให้ใช้ยาปฏิชีวนะ/ยาต้านแบคทีเรียอย่างสมเหตุผลและอย่างมีความรับผิดชอบ เพื่อให้ยายังคงมีประสิทธิผลในการรักษาและเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดเชื้อดื้อยา ซึ่งเดิมเป้าหมายมุ่งที่การใช้ยาในคน แต่ต่อมาขยายสู่การใช้ในสัตว์และในพืชด้วย  ซึ่งงานนี้ก็แพร่หลายไปสู่ประเทศต่าง ทั้งในยุโรป สหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย ส่วนไทยนับได้ว่าเป็นประเทศต้นๆ ในเอเชีย ที่จัดงานนี้ ตั้งแต่ปี 2556 สำหรับปี พ.ศ. 2560 องค์การอนามัยโลก ประกาศ ให้ World Antibiotic Awareness Week 2017  คือ ช่วง 13-19 พฤศจิกายน 2560  ซึ่งประเทศไทย กำหนดจัดกิจกรรม ในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2560 จัดเป็นงานใหญ่ เพราะกระทรวงสาธารณสุข ได้จัดงานนี้ เป็นครั้งแรก ด้วยการสนับสนุนขององค์การอนามัยโลก ทั้งวิชาการและงบประมาณ  นอกจากนี้ กพย. สสส. ให้การสนับสนุน ทั้งงานส่วนกลาง และงานพื้นที่ เพราะ กพย. ได้เคยจัดงานนี้ มาแล้วอย่างต่อเนื่อง ถึง 4 ปี (พ.ศ.2556-2559) ในชื่อวัน(สัปดาห์) รู้รักษ์ ตระหนักใช้ยาต้านแบคทีเรีย  มีประเด็นหลักแตกต่างกันไป  ที่เกี่ยวเนื่องกับอาหาร ชุมชน และสิ่งแวดล้อม คือปี พ.ศ.2558  และมีแผนงานที่ชัดเจนในการขับเคลื่อนนโยบายการจัดการการดื้อยา ตั้งแต่ พ.ศ. 2553 และต่อเนื่องมาจนผลักเข้าเป็นวาระสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 8 ใน พ.ศ. 2558 และต่อมาจึงมียุทธศาสตร์ชาติด้านนี้ขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศไทย องค์กรระหว่างประเทศองค์การอนามัยโลก เน้นเฉพาะสุขภาพของมนุษย์ มีมติสมัชชาอนามัยโลกมาอย่างต่อเนื่อง ออกรายงานการเฝ้าระวังเชื้อดื้อยาทั่วโลก และมีการรับรอง Global Action Plan อย่างไรก็ดี สุขภาพมนุษย์มีความเชื่อมโยงกับอาหารที่มาจากสัตว์และสัตว์เลี้ยง จึงมีการประกาศร่วมในที่ประชุมใหญ่สหประชาชาติ (General Assembly) เมื่อ ตุลาคม พ.ศ 2559  Resolution adopted by the General Assembly   และให้ทำงานร่วม ระหว่าง 3 หน่วยงาน WHO, FAO และ OIEองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ออกแผนปฏิบัติการต่อสู้ปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพ   เมื่อ 14 กันยายน พ.ศ. 2559 มีหัวใจสำคัญ ๔ ข้อ  ได้แก่ (ก) สร้างความตระหนักเกี่ยวกับปัญหาเชื้อดื้อยาและผลเสียที่อาจเกิดขึ้นให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานอาหารรับทราบ   และ ทำงานร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือชำนาญในเรื่องนี้ (ข) เพิ่มขีดความสามารถของประเทศในการติดตามและเฝ้าระวังการใช้ยาต้านจุลชีพ และปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพในการผลิต อาหารและสินค้าเกษตร (ค) เสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านการกำกับดูแลการใช้ยาต้านจุลชีพและปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพในการผลิตอาหารและสินค้าเกษตร (ง) สนับสนุนแนวทางปฏิบัติที่ดีในการผลิตอาหารและสินค้าเกษตร และ การใช้ยาต้านจุลชีพอย่างระมัดระวังล่าสุดองค์การอนามัยโลก ออกคู่มือการใช้ยาต้านจุลชีพที่มีความสำคัญด้านการแพทย์ในการเลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นอาหาร  4. สถานการณ์ของไทย ข้อมูลจากพื้นที่ งานวิชาการ และมาตรการนโยบายที่เกี่ยวข้อง ในวงจร ห่วงโซ่อาหาร ยังพบการใช้ยาปฏิชีวนะ ทั้งในการเลี้ยงสัตว์ และปลูกพืช มีงานสำรวจการพบเชื้อในหลายพื้นที่ โดยตัวอย่างการสำรวจการใช้ยาปฏิชีวนะในฟาร์มปศุสัตว์ในเชียงใหม่  พบว่าเกษตรกรที่สำรวจเกือบทั้งหมดมีการใช้ยาปฏิชีวนะ ซึ่งรายการยาปฏิชีวนะ 5 อันดับแรกของการเลี้ยงสัตว์แต่ละกลุ่ม เป็นดังนี้ ในโคนม ได้แก่ oxytetracycline, penicillin, sulphamethoxydiazine, cloxacillin + ampicillin (ยาดราย), kanamycinในหมู  ได้แก่ amoxicillin, enrofloxacin, oxytetracycline, gentamycin, neomycin ในไก่ไข่ ได้แก่ enrofloxacin, Sulfadimethoxine , cocidiocidal triazinetrione โดยที่ในรายงานมิได้กล่าวถึงการใช้อาหารสัตว์ผสมยาปฏิชีวนะที่ชัดเจน แต่ได้ระบุว่ามีการใช้โคลิสตินผสมน้ำให้ดื่มตั้งแต่เป็นลูกสุกรทุกวัน เรียกว่าวิตามิน ทั้งนี้ข่าวจากคมชัดลึก สะท้อนว่ามีการใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยงหมูจริง ใช้ตั้งแต่แรกเกิดมีการสำรวจแหล่งขายยาหรือขายอาหารผสมยาชัดเจนนอกจากนี้จากการรวบรวมรายงานวิชาการ การสำรวจหรือสอบถามคนพื้นที่ และติดตามข่าว พบมีการใช้ยาปฏิชีวนะฉีดเข้าลำต้นผลไม้ในหลายจังหวัด เช่น เชียงใหม่ เชียงราย ปทุมธานี ชัยนาท  โดยต้นส้ม  ต้มส้มโอ มะนาว หรือแม้แต่พ่นยากับต้นมันเทศ ยาที่ใช้ในไทย เช่น แอมพิซิลลิน เอม๊อกซี่ซิลลิน เตตร้าไซคลิน สเตรปโตมัยซิน หรือการใช้ เพนนิซิลลิน จี สำหรับจุ่มตา หรือการใช้สารเคมีฉีดเข้าลำต้นทุเรียน  ส่วนในต่างประเทศบางประเทศก็มีการใช้ด้วยเช่นกัน เช่นจีน   ที่น่าเป็นห่วงคือการตกค้างในผลไม้และการไหลค้างลงสู่สิ่งแวดล้อม ที่ต้องการการศึกษาอย่างจริงจัง  ถึงระบาดวิทยาการดื้อยา ผลกระทบต่อมนุษย์พร้อมทั้งศึกษาหาสาเหตุและวิธีการรักษาโดยไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ  ในมิติมุมมองผู้บริโภค พบมีการเคลื่อนไหว สำรวจและรณรงค์ให้เลิกใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยงสัตว์ที่เป็นอาหาร เมื่อ 2 มีนาคม 2559 มพบ. แถลงข่าวรณรงค์ในวันสิทธิผู้บริโภคสากล เรียกร้องให้บริษัทขายอาหารฟาสต์ฟู้ด เลิกใช้เนื้อสัตว์ที่เลี้ยงโดยใช้ยาปฏิชีวนะ ซึ่งเป็นการรณรงค์พร้อมกันทั่วโลกของเครือข่ายสมาชิกองค์กรผู้บริโภคทั่วโลก เมื่อ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559  มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา  ได้ ร่วมแถลงข่าวพบยาปฏิชีวนะใน แซนด์วิชไก่อบ ซับเวย์ แต่ไม่เกินมาตรฐาน องค์กรผู้บริโภค-นักวิชาการสุขภาพ เรียกร้องให้ลดและยกเลิกการใช้เนื้อสัตว์ที่มียาปฏิชีวนะ14 มี.ค.60 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้รายงานผลการเก็บตัวอย่างเนื้อหมูจากตลาดสด และห้างค้าปลีก รวม 15 แห่งในกรุงเทพมหานคร พบเนื้อหมูมียาปฏิชีวนะตกค้างถึงร้อยละ 13 พบจาก 2 ตลาดสด   เครือข่ายเกษตรอินทรีย์ อาหารปลอดภัยมีความพยายามของเกษตรกรที่ประสบปัญหาด้านสุขภาพจากการใช้ยาปฏิชีวนะผสมเลี้ยงสัตว์ หันมาเลี้ยงหมูเสรี หมูปลอดภัย หมูหลุม เลี้ยงไก่ ปลูกผักอินทรีย์ ไม่ใช้ยา เลี้ยงปลาปลอดสาร หรือสารเคมีต่าง ๆ มีตัวอย่างที่นครปฐม ปทุมธานี สุพรรณบุรี ฉะเชิงเทรา เชียงใหม่ มหาสารคาม เป็นต้น   รัฐบาลควรได้มีการส่งเสริมความรู้ แก่ทั้งเกษตรกร สนับสนุนการจัดตลาดอาหารปลอดภัย และให้ความรู้ข้อมูลแก่ผู้บริโภคประกาศของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกระทรวงสาธารณสุข มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างน้อย 2 ฉบับ พระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 และฉบับแก้ไข และ พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2559ล่าสุดมีการประกาศยกเลิกยาโคลิสติน ชนิดรับประทานสำหรับคน และมีความพยายามทบทวนทะเบียนตำรับยาปฏิชีวนะ(กพย. ได้จัดแถลงข่าวและทำหนังสือถึง รมว.สธ. เรียกร้องให้ทำการทบทวนทะเบียนตำรับยาสูตรที่ไม่เหมาะสม ด่วน) แต่ผลยังไม่มีความคืบหน้านักกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ. 2558ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดชื่อ ประเภท ชนิด ลักษณะหรือคุณสมบัติของวัตถุที่ห้ามใช้ผสมในอาหารสัตว์ พ.ศ. 2558  ห้ามใช้ยาต้านจุลชีพทุกชนิดผสมลงในอาหารสัตว์ในวัตถุประสงค์เพื่อเร่งการเจริญเติบโตหรือเพิ่มประสิทธิภาพการใช้อาหารสัตว์5. ยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย เป็นยุทธศาสตร์ร่วมระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ผ่านมติ ครม. เมื่อ 17 สิงหาคม 2559 ต่อมาขยายไปอีกหลายกระทรวงวิสัยทัศน์  แผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ. 2560-2564 มีการกําหนดวิสัยทัศน์คือ การป่วย การตาย และผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากเชื้อดื้อยาลดลง และกําหนดเป้าประสงค์ที่ต้องการบรรลุภายในปี 2564 ไว้ 5 ประการ คือ การป่วยจากเชื้อดื้อยาลดลงร้อยละ 50 (ซึ่งสามารถนําไปใช้คํานวณผลกระทบต่อสุขภาพและเชิง เศรษฐกิจ) การใช้ยาต้านจุลชีพสําหรับมนุษย์และสัตว์ลดลงร้อยละ 20 และ 30 ตามลําดับ ประชาชนมีความรู้เรื่องเชื้อดื้อยา และตระหนักในการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 และประเทศไทยมีระบบจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพที่มีสมรรถนะตามเกณฑ์สากลประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ ดังนี้ยุทธศาสตร์ที่ 1 การเฝ้าระวังการดื้อยาต้านจุลชีพภายใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียวยุทธศาสตร์ที่ 2 การควบคุมการกระจายยาต้านจุลชีพในภาพรวมของประเทศยุทธศาสตร์ที่ 3 การป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในสถานพยาบาลและควบคุมกํากับดูแลการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมยุทธศาสตร์ที่ 4 การป้องกันและควบคุมเชื้อดื้อยาและควบคุมกํากับดูแลการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมในภาคการเกษตรและสัตว์เลี้ยงยุทธศาสตร์ที่ 5 การส่งเสริมความรู้ด้านเชื้อดื้อยาและความตระหนักด้านการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมแก่ประชาชนยุทธศาสตร์ที่ 6 การบริหารและพัฒนากลไกระดับนโยบายเพื่อขับเคลื่อนงานด้านการดื้อยาต้านจุลชีพอย่างยั่งยืนแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติ มีรองนายกเป็นประธาน และคณะกรรมการมีมติรับรองแผนปฏิบัติการเบื้องต้น และให้มีการปรับปรุงต่อเนื่องได้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อาหาร ได้แก่ กรมปศุสัตว์ กรมประมง กรมวิชาการเกษตร ได้ร่วมประกาศกลยุทธ์ 5 ด้าน  ได้แก่ ก. การลดใช้ยาต้านจุลชีพในการทำปศุสัตว์และประมง ข. ลดเชื้อ ดื้อยาในห่วงโซ่การผลิต อาหาร ค. การพัฒนาระบบเฝ้าระวังการใช้ยาต้านจุลชีพในพืช ง.  พัฒนาต้นแบบสถานพยาบาลสำหรับสัตว์เลี้ยง จ. พัฒนาให้ความรู้เรื่องการใช้ยาต้านจุลชีพแก่ผู้เกี่ยวข้อง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 201 การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่จะทำให้เป็นโรคความจำเสื่อมจริงหรือ

หลายคนไม่กล้าฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่เพราะกลัวว่าจะเกิดโรคสมองเสื่อม หรืออัลไซเมอร์ เนื่องจากมีเว็บไซต์ของการแพทย์ทางเลือกหลายเว็บไซต์จากต่างประเทศกล่าวถึงผลข้างเคียงที่เกิดจากการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ทำให้ผู้สูงอายุซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเป็นไข้หวัดใหญ่ยอมเป็นไข้หวัดใหญ่ดีกว่าเป็นโรคอัลไซเมอร์วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่คืออะไรวัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นวัคซีนที่ใช้ฉีดปีละครั้ง และต้องฉีดทุกปี วัคซีนนี้ป้องกันไข้หวัดใหญ่ที่กระทบต่อทางเดินหายใจส่วนบนเป็นหลัก ซึ่งมีอาการไข้ ไอ บวม และอาจเกิดอาการปอดอักเสบหรือที่เราเรียกกันทั่วไปว่า ปอดบวม  ทุกปีวัคซีนนี้ต้องคัดเชื้อที่คิดว่าจะเกิดการระบาดในปีนั้น และสามารถป้องกันเชื้อไข้หวัดได้ประมาณร้อยละ 70 เนื่องจากเชื้อไข้หวัดใหญ่มีมากกว่า 200 สายพันธุ์วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ก่อให้เกิดอัลไซเมอร์จริงหรือ สมาคมอัลไซเมอร์แห่งอเมริกา แถลงว่า ความเข้าใจเรื่องวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่(หรือสารเคมีในวัคซีน) ก่อความเสี่ยงในการเกิดอัลไซเมอร์นั้น เป็นความหลงเชื่อที่ผิด และไม่เป็นความจริง เหตุที่เชื่อนั้นเพราะ วัคซีนจะมีสารปรอทซึ่งเป็นสารกันเสื่อมของวัคซีนบางชนิด(วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่เป็นการฉีดแค่ครั้งเดียว จึงไม่ต้องใช้สารนี้)  หน่วยงานควบคุมและป้องกันโรค ได้ทำการวิจัยและพบว่า ปริมาณของปรอทนั้นมีปริมาณน้อย และไม่มีอันตรายมากไปกว่าการบวมและแดงเล็กน้อยเมื่อฉีดวัคซีนงานวิจัยกลับบอกผลตรงกันข้ามจากการทบทวนงานวิจัยในหลายๆ ที่ พบว่า งานวิจัยในวารสาร Canadian Medical Journal ปีค.ศ. 2001 มีการวิจัยในประชากร 4, ราย  392 รายที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอัลไซเมอร์ มีความเสี่ยงลดลงสำหรับผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ เช่นเดียวกับผู้ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคคอตีบและบาดทะยัก หรือโปลิโอ  งานวิจัยนี้ไม่ได้บ่งชี้ว่า วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ไม่ได้ลดความเสี่ยงต่อการเกิดอัลไซเมอร์ หรือผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนมีแนวโน้มการเกิดอัลไซเมอร์มากกว่ารายงานอีกเรื่องในวารสาร JAMA ค.ศ. 2004 พบว่า การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ประจำปีสำหรับผู้สูงอายุ สัมพันธ์กับความเสี่ยงที่ลดลงในการตายจากสาเหตุต่างๆ ทุกประเภท  ซึ่งในวารสาร Pubmed ได้นำบทคัดย่อไปเผยแพร่ในวารสารงานวิจัยอีกชิ้นที่น่าสนใจคือ การศึกษาล่าสุดในไต้หวัน ปีค.ศ. 2016 เป็นการศึกษาในผู้ที่เป็นโรคไตเรื้อรัง จำนวน 11,943 ราย ในจำนวนนี้ มีผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ร้อยละ 48 และที่เหลืออีก 6,192 ราย ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่  พบว่า ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่มีการลดลงของการเกิดโรคความจำเสื่อมโดยสรุป ความเชื่อเรื่องการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่จะทำให้เกิดโรคความจำเสื่อม โรคอัลไซเมอร์ นั้น ไม่พบหลักฐานทางวิชาการที่สนับสนุนความเชื่อดังกล่าว  ในทางตรงข้าม กลับพบว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่กลับมีความเสี่ยงและการเกิดโรคความจำเสื่อมและอัลไซเมอร์ลดลง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 201 นายจ้างเรียกค่ารักษาพยาบาลคืนจากผู้ทำละเมิดลูกจ้าง “ไม่ได้”

สวัสดีครับ ครั้งนี้มาคุยกันเรื่องของสิทธินายจ้าง ลูกจ้างกันนะครับ เรื่องเหล่านี้ก็เป็นเรื่องใกล้ตัวของทุกท่าน ซึ่งบางท่านอาจจะเป็นทั้งนายจ้างและลูกจ้าง เช่นเดียวกับที่ท่านอาจเป็นทั้งผู้บริโภคที่ซื้อและขายสินค้าในคนเดียวกัน โดยมีคดีเรื่องหนึ่งน่าสนใจมาก เป็นเรื่องของนายจ้างคนหนึ่งซึ่งมีลูกจ้างไปขับรถตักยกสินค้าประมาท โดยขับรถตักยกสินค้าเพื่อยกเยื่อกระดาษอัดลงจากรถยนต์บรรทุก โดยไม่ตรวจสอบก่อนว่าเยื่อกระดาษอยู่ในตำแหน่งที่อาจหล่นได้หรือไม่ เป็นเหตุให้เยื่อกระดาษหล่นจากรถยนต์บรรทุกมาทับลูกจ้างอีกคนตาย หลังเกิดเหตุ นายจ้างก็รับผิดชอบต่อครอบครัวของผู้ประสบเหตุ จ่ายค่ารักษาพยาบาล ค่าโลงศพ และค่าฉีดยาศพ พร้อมค่าขนศพมายังภูมิลำเนาลูกจ้างผู้ตาย รวมเป็นเงินกว่าแสนบาท   และต่อมา นายจ้างและครอบครัวของลูกจ้างที่ตาย ลูกจ้างที่ขับรถตักยก ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันแต่ไม่ยอมชดใช้เงินให้นายจ้าง นายจ้างจึงมาฟ้องคดีต่อศาล  ซึ่งฝั่งจำเลยที่เป็นครอบครัวของลูกจ้างที่ตายก็สู้ว่าผู้ตายเป็นลูกจ้างของโจทก์ประสบเหตุขณะทำงานให้โจทก์ ผู้ตายเข้ารับการรักษาและโดยความยินยอมของโจทก์ โจทก์มีหน้าที่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลและค่าทำศพ ขอให้ยกฟ้อง ท้ายที่สุด ศาลฎีกาได้วินิจฉัยว่า การที่นายจ้างจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาล ซึ่งเป็นเงินทดแทนแก่ลูกจ้าง กรณีที่ลูกจ้างประสบอันตรายถึงแก่ความตายอันเนื่องมาจากการทำงานให้แก่นายจ้าง กฎหมายไม่ได้ให้สิทธิแก่นายจ้างเรียกเอาเงินทดแทนที่จ่ายไปนั้นคืนจากผู้ทำละเมิดต่อลูกจ้าง เพราะไม่ใช่ค่าสินไหมทดแทน ดังนั้นนายจ้างจึงไม่อาจอ้างการรับช่วงสิทธิมาฟ้องเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลที่นายจ้างจ่ายไปคืนได้คำพิพากษาศาลฎีกาที่  7630/2554          การรับช่วงสิทธิจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยอำนาจของกฎหมาย จึงต้องเป็นกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติให้รับช่วงสิทธิได้ การที่โจทก์จ่ายเงินค่ารักษาพยาบาล ซึ่งเป็นเงินทดแทนแก่ลูกจ้างตามกฎหมายแรงงานอันเป็นกฎหมายพิเศษซึ่งใช้บังคับระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างกรณีที่ลูกจ้างประสบอันตรายถึงแก่ความตายอันเนื่องมาจากการทำงานให้แก่นายจ้างโดยเฉพาะ มิใช่การจ่ายค่าสินไหมทดแทนความเสียหายและกฎหมายก็ไม่ได้บัญญัติให้สิทธิแก่โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างเรียกเอาเงินทดแทนที่จ่ายไปนั้นคืนจากผู้ทำละเมิดต่อลูกจ้างโจทก์ได้แต่อย่างใด ดังนั้น โจทก์จึงไม่อาจอ้างการรับช่วงสิทธิมาฟ้องเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลที่โจทก์จ่ายไปคืนจากจำเลยที่ 7 ได้ โดยสรุปคือ การจ่ายเงินของนายจ้างกรณีตามคดีนี้ เป็นการจ่ายเงินทดแทนตามกฎหมายแรงงานอันเป็นกฎหมายพิเศษที่ใช้บังคับกรณีลูกจ้างประสบอันตรายถึงแก่ความตายจากการทำงานให้นายจ้างโดยเฉพาะ ไม่ใช่การจ่ายค่าสินไหมทดแทนความเสียหาย และกฎหมายก็ไม่ได้ให้สิทธินายจ้างเรียกเอาเงินที่จ่ายทดแทนไปนั้นจากผู้ทำละเมิดต่อลูกจ้างโจทก์แต่อย่างใด ดังนั้นนายจ้างซึ่งเป็นโจทก์จึงไม่อาจอ้างการรับช่วงสิทธิมาฟ้องเรียกค่ารักษาพยาบาลที่จ่ายไปคืนได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 201 เพลิงบุญ : ความเมตตาหากไร้ซึ่งปัญญากำกับ

“เมตตาเป็นธรรมค้ำจุนโลก” สัจธรรมความคิดนี้น่าจะถูกต้องอยู่ แต่ทว่า ความเมตตาที่มีต่อโลกนั้น ก็ต้องมีเงื่อนไขและขอบเขตในการปฏิบัติด้วยเช่นกัน นิทานโบราณเรื่อง “ม้าอารี” เคยเล่าเตือนสติผู้คนจากรุ่นสู่รุ่นมาว่า ม้าตัวหนึ่งอาศัยอยู่ในเพิงหลบแดดหลบฝน เพราะเจ้าของสร้างให้ด้วยความรักใคร่เอ็นดู ในขณะที่วัวอีกตัวหนึ่งกลับถูกทอดทิ้งไว้ตามยถากรรม จนวันหนึ่งฝนตกหนัก วัวก็ขอเข้ามาปันแบ่งชายคาเพิงพัก ม้าผู้อารีก็ใจดี ค่อยๆ เขยิบให้จมูกวัวพ้นจากฝน แต่เมื่อวัวหายใจคล่องขึ้น ก็เริ่มต่อรองให้ม้าเขยิบออกไปอีกทีละนิดๆ จนในที่สุด ม้าที่แสนใจดีก็ต้องกระเด็นออกไปยืนกลางแดดและตากฝนอยู่นอกเพิงพัก นิทานเรื่อง “ม้าอารี” สอนให้รู้ว่า ความเมตตาอารีแม้นจะมีได้ แต่ก็ใช้ไม่ได้กับคนที่ไม่รู้จักบุญคุณคน และยิ่งหากคนที่เมตตาไร้ซึ่งปัญญามากำกับด้วยแล้ว คนผู้นั้นก็อาจมีอันต้องระเห็จออกไปจากเพิงพักอันอบอุ่นในที่สุด และคนที่กำลังเล่นบทบาทแบบ “ม้าอารี” เยี่ยงนี้ ก็คงหนีไม่พ้นตัวละครอย่าง “พิมาลา” แห่งเรื่อง “เพลิงบุญ” ที่เอื้ออารีต่อเพื่อนรักอย่าง “ใจเริง” แบบมากล้น จนในท้ายที่สุด เธอก็แทบจะถูกอัปเปหิออกไปจากเพิงพักที่สร้างไว้กับสามีอันเป็นที่รักอย่าง “ฤกษ์”  ปรมาจารย์เจ้าตำรับทฤษฎีจิตวิเคราะห์อย่างซิกมันด์ ฟรอยด์ เคยอธิบายว่า ในห้วงแห่งจิตมนุษย์นั้นไซร้ จะมีการต่อสู้ชักเย่อกันไปมาระหว่างระบบระเบียบศีลธรรมของสังคมกับปรารถนาดิบๆ ที่หลบเร้นอยู่ในซอกลึกๆ ของจิตใจ หรือที่ฟรอยด์เรียกว่า เป็นการต่อสู้กันระหว่าง “superego” กับ “id” ในจิตมนุษย์นั่นเอง ภาพการชิงดำของสองส่วนในจิตแบบนี้ ก็สะท้อนอยู่ในความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครที่เป็นเพื่อนรักกันแต่ก็แตกต่างกันสุดขั้วอย่างพิมาลากับใจเริง ในด้านของพิมาลา ผู้เป็นตัวแทนของ “แม่พระ” หรือระเบียบศีลธรรมอันดีงามแห่งมวลมนุษยชาตินั้น ในขณะที่วัยเด็กของเธอเคยได้รับความช่วยเหลือจากครอบครัวของใจเริงที่ช่วยปลดหนี้ของครอบครัวซึ่งเกือบจะล้มละลาย “บุญคุณ” ครั้งนั้นก็ได้กลายมาเป็นดั่ง “หนี้บุญคุณ” ที่พิมาลาต้องจ่ายคืนแบบไม่สิ้นไม่สุด ตรงกันข้ามกับใจเริง ซึ่งเป็นตัวแทนของผู้หญิงที่ทะยานอยาก หรือเป็น “ปรารถนาดิบๆ” ที่อยู่ในหลืบเร้นในจิตของมนุษย์ เธอก็สามารถทำทุกอย่างโดยไม่ใส่ใจว่า นั่นจะละเมิดหลักศีลธรรมหรือไม่ อย่างไร เฉกเช่นประโยคที่เธอกล่าวว่า “เริงทำก็เพราะความอยู่รอด แล้วเริงก็รอดจริงๆ แสดงว่าเริงทำในสิ่งที่ถูกต้อง…” ชีวิตของผู้หญิงสองคนที่ผูกเกลียวเอาไว้ด้วย “บุญ” ที่กลายมาเป็น “เพลิง” เผาผลาญตัวละคร เริ่มต้นขึ้นเมื่อฤกษ์เข้ามายืนอยู่ตรงกลางระหว่างตัวแทนของคุณค่าศีลธรรมอย่างพิมาลา กับผู้หญิงที่เป็นภาพแทนของแรงขับดิบๆ ในจิตอย่างใจเริง แม้จุดเริ่มต้นใจเริงจะคบหากับฤกษ์ชายหนุ่มที่แย่งมาจากพิมาลา แต่เมื่อเธอได้มาพบกับนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์หนุ่มผู้มั่งคั่งอย่าง “เทิดพันธ์” ใจเริงก็เปลี่ยนใจหันไปหาชายหนุ่มคนใหม่ และทิ้งฤกษ์ไปโดยไม่สนใจว่าเขาจะเจ็บปวดเพียงใด จนฤกษ์ได้เลือกตัดสินใจกลับมาลงเอยกับความรักอีกครั้งกับพิมาลา แต่ในเมื่อชีวิตคนล้วนไม่แน่นอน มีขาขึ้นก็ต้องมีขาลงสลับกัน ในขณะที่พิมาลากับฤกษ์ประสบความสำเร็จทั้งในชีวิตคู่และชีวิตการทำงาน แต่ชีวิตของใจเริงกับเทิดพันธ์กลับดิ่งลงเหว พร้อมๆ กับธุรกิจของเทิดพันธ์ที่เกิดล้มละลาย ผู้หญิงที่จมไม่ลงแบบใจเริงก็พร้อมจะเทเขาทิ้งแบบไร้เยื่อขาดใยเช่นกัน  และด้วยความริษยาที่มีต่อกราฟชีวิตของเพื่อนซึ่งดีวันดีคืน ใจเริงก็ใช้ “หนี้บุญคุณ” ซึ่งผูกไว้แต่อดีต มาทวงขอความช่วยเหลือจากพิมาลา อันกลายมาเป็นจุดเริ่มต้นบทเรียนแบบ “ม้าอารี” ที่เพื่อนรักใช้มารยามา “หักเหลี่ยมโหด” เพื่อเขี่ยเจ้าของชายคากระเด็นออกไปจากเพิงพักในที่สุด เพราะเพื่อนรักเป็นประหนึ่ง “ม้าอารี” ใจเริงก็วางหมากกลค่อยๆ ยื่นจมูกเข้าไปในชายคาบ้านทีละนิดๆ ตั้งแต่เสแสร้งว่าเธอเป็นคนสิ้นเนื้อประดาตัวไร้พิษสงใดๆ ขนานไปกับการหว่านเสน่ห์ใส่ฤกษ์ให้เขาตบะแตก หรือแม้แต่จัดฉากภาพบาดตาที่เธอกับฤกษ์กำลังนัวเนียกันอยู่บนเตียง ปฏิบัติการทั้งหมดทั้งมวลนี้ก็มุ่งเป้าที่จะผลักให้ “ม้าอารี” อย่างพิมาลาออกไปยืนกรำแดดกรำฝนอยู่นอกชายคานั่นเอง สำหรับใจเริงแล้ว แม้ใครต่อใครจะมองว่าเธอผิด และทุกคนก็ฉลาดพอจะรู้ทันการใช้เล่ห์มารยามาทำร้ายเพื่อนรักอยู่โดยตลอด แต่ที่น่าชวนฉงนยิ่งก็คือ พิมาลาผู้เป็นคู่กรณีนั้นกลับแสนซื่อโลกสวยเสมือน “ขี่ม้าชมทุ่งลาเวนเดอร์” ในความฝันอันงดงามตลอดเวลา แม้ผู้หวังดีจะหมั่นเตือนสติ แต่เธอก็คอยแก้ต่างด้วยวลีที่ว่า “แต่พิมกับเริงคบกันมาตั้งแต่เด็ก เริงไม่น่าจะคิดร้ายกับพิมขนาดนั้นหรอก” จนผ่านไปเกินค่อนเรื่องแล้วนั่นแหละ ที่พิมาลาจึง “ถึงบางอ้อ” เปลี่ยนมา “คิดใหม่ทำใหม่” และเปลี่ยนคำพูดเสียใหม่ว่า “พิมที่แสนดีก็ยังอยู่ แต่พิมที่โง่หลงเชื่อว่าเพื่อนที่เราดีด้วยจะดีตอบ...ตายไปแล้ว” แม้สำหรับผู้ชายอย่างฤกษ์ที่นอกใจภรรยาผู้โลกสวย หรือผู้หญิงตัวแทนแห่ง “ปรารถนาดิบๆ” แบบใจเริง จะถูกมองว่าผิดเต็มประตูก็จริง แต่ตัวละคร “ม้าอารี” ที่โลกสวยและศีลธรรมล้นเกินแบบพิมาลานั้น ก็มิต่างจากจำเลยอีกคนที่เป็นมูลเหตุให้ชีวิตคู่ของเธอเองต้องพังครืนลงมา คงเหมือนกับที่ “คุณฤทธิ์” พ่อของฤกษ์ที่กล่าวกับพิมาลาว่า “ทั้งสามคนมีจุดผิดพลาดร่วมกัน ไม่ต้องโยนให้คนอื่น และก็ไม่ต้องแบกรับเอาไว้คนเดียว” เพราะเผลอๆ แล้ว ความเมตตาหากไร้ซึ่งปัญญากำกับ ก็ถือเป็นอันตรายต่อการดำเนินชีวิตเสียยิ่งกว่าตัวแปรใดๆ  หากจะถามว่าข้อคิดของละครผู้หญิงสองคนแย่งชิงผู้ชายกันอย่างเรื่อง “เพลิงบุญ” ให้อะไรกับคนดูนั้น ก็คงเป็นอุทาหรณ์ที่คุณฤทธิ์เตือนสติพิมาลาและผู้ชมไปพร้อมๆ กันว่า “การทำความดีไม่ใช่สักแต่ว่าหลับหูหลับตาทำ แต่เราก็ต้องทำด้วยปัญญา...ให้ในสิ่งที่สมควร ในเวลาอันสมควร แก่ผู้ที่สมควร”  “บุญ” เป็นสิ่งที่เราพึงทำอยู่เสมอก็จริง แต่หาก “บุญ” เป็นดุจดั่ง “เพลิง” ที่เผาผลาญ เพราะคนทำบุญไม่ใช้ปัญญาขบคิดให้แตกฉานด้วยแล้ว ก็ไม่ต่างจาก “ม้าอารี” ที่ชักศึกเข้าบ้าน จนเบียดขับให้ตนต้องไปยืนกรำแดดกรำฝนอยู่นอกเพิงพักนั่นเอง 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 201 เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ขวบ ไม่ควรใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์

ปัจจุบัน ร้อยละ 30 ของเด็กมีพัฒนาการไม่สมวัย ส่วนหนึ่งเพราะ   เด็กทารก เด็ก ใช้สื่อ ดูสื่อ ได้รับสื่อทางอ้อม มากถึง 4 ชม.ต่อวันจากการประชุมเวทีสื่อสาธารณะ เรื่อง “แนวทางการกำหนดช่วงอายุที่เหมาะสมสำหรับเด็กในการใช้สื่ออออนไลน์ผ่านสมาร์ทโฟนและแทบเลต”  ซึ่งจัดโดย คณะอนุกรรมการส่งเสริมการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ กรมกิจการเด็กและเยาวชน ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2560 มีเรื่องที่น่าสนใจดังต่อไปนี้ เด็กแรกเกิดถึงอายุสองปี ไม่สามารถแปลงภาพและเสียงที่พบเห็นและได้ยินจากสื่อหน้าจอ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ทุกประเภท มาเป็นความรู้ที่จะใช้กับโลกแห่งความเป็นจริงได้ด้วยตนเอง เด็ก แรกเกิดถึงอายุ 2 ปี เป็นวัยที่สมองมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว มีการเปลี่ยนแปลง พัฒนาการ ทุกด้าน อย่างรวดเร็ว เด็กวัยนี้จะต้องเรียนรู้โดยการสำรวจสิ่งแวดล้อมรอบตัวภายใต้การสอนการบอก การแยกแยะ สิ่งถูกผิด การคุ้มครองอันตรายโดยผู้เลี้ยงดูอย่างใกล้ชิด เพื่อให้มีพัฒนาการที่ดี ทั้งด้านกล้ามเนื้อ ภาษา สติปัญญา และด้านอารมณ์สังคม แต่ไม่ใช่จากสื่ออิเล็กทรอนิกส์ในการศึกษาวิจัย ของนายแพทย์วีระศักดิ์ ชลไชยะ หัวหน้าสาขาวิชาพัฒนาการและการเจริญเติบโต ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้แทนกลุ่มแพทย์สามสถาบันพบว่า เด็กได้รับสื่ออิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่อายุ 1 เดือนครึ่ง และที่อายุ 1 ปีได้รับถึงร้อยละ 99.7 และได้รับเฉลี่ย 4 ชั่วโมงต่อวัน เพิ่มขึ้นเป็น 5 ชั่วโมงต่อวัน ที่อายุ 18เดือน สื่ออิเล็กทรอนิกส์ส่วนใหญ่เป็นทีวี แต่แนวโน้มจะมีการดูรายการทีวี รายการเพลง การ์ตูนผ่านระบบอินเตอร์เน็ต สมาร์ทโฟน และแทบเล็ต เพิ่มมากขึ้น เด็กได้รับสื่ออิเล็กทรอนิกส์ในบ้านในช่วงเย็น ระหว่างทานอาหาร ในห้องนอน ในเวลาก่อนนอนเป็นจำนวนมากการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ มีผลกระทบต่อสุขภาพเด็ก ดังนี้1. พฤติกรรมก้าวร้าว การศึกษาพบชัดเจนว่าเด็กที่ได้รับสื่อที่มีความรุนแรงความก้าวร้าวนำไปสู่พฤติกรรมความก้าวร้าว2. พฤติกรรมซนสมาธิสั้น มีการศึกษาที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ พบว่าเด็กที่ใช้สื่อเป็นระยะเวลายาวนานมีความสัมพันธ์กับภาวะซนและสมาธิสั้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นสื่อที่มีความก้าวร้าวรุนแรง 3. การศึกษาของนายแพทย์วีระศักดิ์พบว่าเด็กที่ได้รับสื่ออิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่อายุ 6 - 18 เดือน มีพฤติกรรมการแยกตัวการดื้อต่อต้านมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นการได้รับสื่อสำหรับผู้ใหญ่4.พฤติกรรมด้านภาษา สื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นสื่อการศึกษาดีสามารถช่วยส่งเสริม พัฒนาการ ด้านภาษา และการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยได้ ที่ถูกออกแบบมา การพูดการใช้ภาษาที่ชัดเจนให้เด็กมีส่วนร่วม จะสามารถพัฒนาทางด้านภาษาให้แก่เด็กได้ แต่ต้องถูกออกแบบมาโดยเฉพาะ ไปไม่ใช่รายการบันเทิงทั่วไป หากเด็กดูรายการบันเทิงทั่วไปและใช้เวลายาวนานต่อวัน กลับมีผลให้พัฒนาการทางภาษาล่าช้า 5. พัฒนาการด้านการใช้สมองระดับสูงในการแก้ไขปัญหา คิดสร้างสรรค์ พบชัดเจนว่าเด็กที่ใช้สื่อเป็นระยะเวลายาวนานมทำให้ความสามารถระดับสูงล่าช้ากว่าเด็กที่ใช้สื่อในระยะเวลาที่น้อยกว่า แพทย์หญิงมธุรดา  สุวรรณโพธิ์  ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กล่าวว่าผลกระทบต่อพัฒนาการสมองของเด็ก 5 ประการได้แก่  พัฒนาการการพูดช้าลง  สมาธิสั้น กระทบต่อการนอน พฤติกรรมก้าวร้าว  และอ้วน เมื่อเด็กโตเข้าสู่ปฐมวัยและวัยเรียน  ค.ศ.2011 มีการศึกษาปฏิกิริยาของการตอบสนองของเด็กทารกกับตุ๊กตาเปรียบเทียบกับเกมในแทบเล็ต  ผลพบว่าของเล่นทั้งสองอย่างทำให้เด็กมีความสุขพอๆกัน  แต่เด็กทารกมีการติดใจในเกมมากกว่าตุ๊กตา  ดังนั้นการหยิบยื่นสื่ออิเล็กทรอนิกส์ให้เด็กจึงต้องมีเงื่อนไขและข้อจำกัด  และต้องไม่ให้สื่ออิเล็กทรอนิกส์นั้นเป็นตัวทดแทนเวลาของครอบครัวพ่อแม่หลายๆ ท่านเห็นว่าการปล่อยลูกเล่นเกมที่บ้านปลอดภัยกว่าการให้ลูกออกไปเล่นนอกบ้านไปเจอความเสี่ยงต่างๆ  แน่นอนสื่ออิเล็กทรอนิกส์ใหม่ๆมีข้อดีเสมอ เช่น อีบุ๊ค  หรือแอปพลิเคชัน ต่างๆ ที่ช่วยการอ่าน  ภาษา แต่พ่อแม่ควรพิจารณาช่วงอายุที่เหมาะสม กล่าวคือยิ่งลูกอายุเข้าใกล้วัยเรียนหรือใกล้จะเข้าโรงเรียนยิ่งดี  นอกจากนี่พ่อแม่เป็นผู้เลือกเนื้อหาและอยู่ร่วมกับเด็กเสมอในขณะลูกใช้อุปกรณ์ การศึกษาของเด็กอายุ 2 ปีพบว่าระยะเวลาของการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ ต่อสัปดาห์ มีความสัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของค่า BMI การให้เด็กได้ดูสื่อโฆษณาอาหาร และการดูสื่ออิเล็กทรอนิกส์ในระหว่างมื้ออาหาร เป็นปัจจัยที่มีความเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์นี้ ในส่วนของการนอน การศึกษาพบว่า เด็กทารกที่ได้ดูสื่อหน้าจอในช่วงเย็น จะมีระยะเวลาของการนอนหลับในช่วงกลางคืนที่สั้นลง ซึ่งเป็นได้จาก เนื้อหาของสื่อที่กระตุ้นความตื่นเต้น และจากรังสีสีฟ้าที่ผ่านทางหน้าจอ กดการหลั่งสารเมลาโทนินนายแพทย์ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กสทช กล่าวว่า ประเทศไทยไม่มีกฎหมายคุ้มตรองเด็กด้านสื่อออนไลน์ เราควบคุมแต่สื่อผิดกฎหมาย สื่อไม่ผิดกฎหมายแต่ไม่เหมาะสมกับเด็กสามารถจะถูกผลิตออกไปได้ การส่งเสริมการปกป้องคุ้มครองเด็กในเรื่องนี้ต้องทำทั้งการส่งเสริมคนที่สร้างโปรแกรมที่ดีสำหรับเด็กและการควบคุมโปรแกรมอันตรายหรือไม่เหมาะสมกับเด็กให้ไม่สามารถเข้าถึงตัวเด็กได้ เรื่องนี้ต้องเอาจริงเอาจัง มุ่งที่การคุ้มครองเด็กไม่สับสนกับเสรีภาพผู้ใหญ่ ครอบครัวและชุมชนต้องมีส่วนร่วมข้อสรุป1.หน่วยงานเทคโนโลยีดิจิตอล ผู้ประกอบการ ตำรวจ การแพทย์ การศึกษา การพัฒนาเด็ก   ต้องทำข้อตกลงความร่วมมือกันในการพัฒนาระบบการคุ้มครองเด็ก ให้เท่าทันกับการพัฒนาเทคโนโลยีและการกระตุ้นการใช้งานของสังคม โดยมุ่งไปที่การคุ้มครองเด็กให้ชัดเจน ไม่สับสนกับเสรีภาพผู้ใหญ่ ครอบครัวและชุมชนต้องมีส่วนร่วม2. สำหรับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ขวบ ไม่ควรใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์3. สำหรับเด็กอายุมากกว่า 2 -5 ขวบ หากผู้ดูแลเด็กต้องการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ ต้องใช้เป็นเครื่องมือประกอบ การสอนการเล่นของผู้ดูแลเด็กเอง หรืออย่างน้อยต้องนั่งดูด้วยกัน ใช้เฉพาะโปรแกรมที่มีคุณภาพ ไม่ใช้โดยเปิดทิ้งไว้ให้เด็กดูด้วยตนเอง และใช้ไม่เกิน 1 ชม ต่อวัน โดยมีการพักเป็นระยะ และไม่เปิด สื่ออิเล็กทรอนิกส์ ในระหว่างกินอาหาร และก่อนนอนให้กับเด็ก4. หน่วยงานทางการแพทย์ การศึกษา การพัฒนาเด็ก เทคโนโลยีดิจิตอล ผู้ประกอบการ   ต้องร่วมกันให้ความรู้ในเรื่องการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์อย่างเหมาะสมแก่ผู้ดูแลเด็กตั้งแต่หลังคลอด ให้ความรู้ในเรื่องการพัฒนาการของสมอง ใน 2 ขวบแรก และความสำคัญในการกระตุ้นพัฒนาการ โดยการเล่น อย่างใกล้ชิดกับผู้ดูแลเด็ก รวมทั้งช่วยเหลือในการวางแผนการใช้สื่อในครอบครัวอย่างเหมาะสม 5. รัฐและผู้ประกอบการต้องร่วมกันส่งเสริมคนที่สร้างโปรแกรมที่ดีสำหรับเด็กและควบคุมโปรแกรมอันตรายหรือไม่เหมาะสมกับเด็กให้ไม่สามารถเข้าถึงตัวเด็กได้ 6. รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงทุนกับการเพิ่มของเล่น พื้นที่เล่น ส่งเสริมกิจกรรมการเล่นอิสระที่ปลอดภัย โดยมีผู้ช่วยการเล่นในการจัดการพื้นที่และให้คำแนะนำเพื่อความปลอดภัย ตั้งแต่ในระดับชุมชนขนาดเล็กที่ใกล้ชิดบ้านของเด็ก จนถึงระดับจังหวัด สื่อสำหรับเด็ก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 201 บรรณารักษ์เคลื่อนที่!

คุณสุภาพร สนธิเณร บรรณารักษ์สาวแห่งจังหวัดสุพรรณบุรี เธอเป็นนักอ่านและแฟนฉลาดซื้อตัวยง แนะนำตัวเองพร้อมกับเล่าว่า ที่มาทำงานเป็นบรรณารักษ์ก็เพราะว่า “ส่วนตัวแล้วคิดว่าการอ่านเป็นเครื่องมือในการแสวงหาความรู้ โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในวัยศึกษาเล่าเรียน จำเป็นต้องอ่านหนังสือเพื่อการศึกษาหาความในรู้ด้านต่าง ๆ อยู่เสมอและการอ่านเป็นสิ่งที่ช่วยให้ประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพ เพราะสามารถนำความรู้ที่ได้จากการอ่านไปพัฒนางานของตนได้อีกทั้งการอ่านยังเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิต  สามารถนำความรู้ไปใช่ในการดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุขอีกด้วยค่ะ” ใช้นิตยสารฉลาดซื้อในการทำงานอย่างไรใช้ในส่วนของการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ด้านการส่งเสริมการอ่านค่ะ เพราะเจี๊ยบทำงานเป็นบรรณารักษ์อยู่ที่ห้องสมุดประชาชนจังหวัดสุพรรณบุรี ก็จะต้องเป็นผู้ส่งเสริมการอ่าน ซึ่งฉลาดซื้อ จะมีเนื้อหาเรื่องราวข่าวสารที่มีประโยชน์ หลากหลาย เหมาะสมกับทุกเพศทุกวัย เจี๊ยบก็จะคัดเลือกเรื่องที่เหมาะสมกับช่วง จังหวะ เวลา มาเผยแพร่ อาจจะเผยแพร่ในรูปแบบต่างๆ ที่น่าสนใจ เช่น ทำเป็นหนังสือพิมพ์ฝาผนัง ไปไว้ตามบ้านหนังสือชุมชน ก็จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนด้วยค่ะเรื่องที่ได้รับความสนใจเป็นเรื่องอะไรบ้างบางทีอาจเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ชาวบ้านอาจไม่รู้ เช่น สิทธิต่างๆ ที่ควรรู้ด้านสุขภาพ  เรื่องอุปโภคบริโภค เราก็ได้ข้อมูลสรุปจากฉลาดซื้อไปเผยแพร่ ซึ่งทำให้เกิดความเข้าใจและเป็นประโยชน์ในการดำเนินชีวิตของชาวบ้านเป็นอย่างมากค่ะชาวบ้านที่ได้รับความรู้จากการเผยแพร่ของเรามีการตอบรับอย่างไรบ้างคะชาวบ้านก็รู้สึกยินดี ชอบ บอกว่าได้รับประโยชน์ เพราะบางเรื่องเขาก็ไม่เคยรู้มาก่อน และสามารถทำให้เขาเลือกกินเลือกใช้ได้อย่างถูกวิธีค่ะสถานที่จัดกิจกรรมเป็นที่ไหนบ้าง จะไปย่านชุมชนนะคะ ที่มีคนเยอะๆ บางทีก็ไปตลาดค่ะ เป็นกิจกรรมส่งเสริมการอ่านสำหรับชาวตลาด โดยการที่เราจะนำหนังสือ นิตยสารของทางฉลาดซื้อไปส่งเสริมการอ่าน โดยแจกให้พ่อค้าแม่ค้าได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ปลูกฝังนิสัยการรักการอ่าน ซึ่งจะได้รับความสนใจมาก โดยเฉพาะหนังสือ เลือกอย่างไรให้ถูกใจ เลือกอย่างไรให้ถูกปาก(รวมผลทดสอบ) ซึ่งจะตอบโจทย์ของพ่อค้าแม่ค้าและประชาชนผู้มาซื้อของ ให้เขาได้สามารถเลือกสิ่งที่ดี ที่ถูกต้อง โดยอ่านและศึกษาจากหนังสือ และนิตยสารของทางฉลาดซื้อค่ะ กิจกรรมบรรณสัญจร ก็จะมีไปตามชุมชน โรงเรียน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล คือตามบ้านหนังสือชุมชน ก็จะนำหนังสือของทางฉลาดซื้อไปมอบให้เพื่อเพิ่มพูนความรู้และส่งเสริมการอ่านอย่างต่อเนื่องค่ะ ถ้าสมาชิกฉลาดซื้อของจังหวัดสุพรรณบุรีที่กำลังอ่านอยู่นี้ จะติดตามงานเผยแพร่งานกิจกรรมส่งเสริมการอ่านของเรา ก็จะมีช่องทางที่ติดตามคือ เฟซบุ๊ค ชื่อ ห้องสมุดประชาชนจังหวัดสุพรรณบุรี เพจ ชื่อ เพจ ห้องสมุดประชาชนจังหวัดสุพรรณบุรี และ ระบบเชื่อมโยงแหล่งการเรียนรู้ ห้องสมุดประชาชนจังหวัดสุพรรณบุรี อยากให้มาติดตามกันมากๆ คิดว่างานคุ้มครองผู้บริโภคมีความจำเป็นอย่างไรกับสังคมบ้านเรามีความจำเป็นและมีความสำคัญมาก เพราะงานคุ้มครองผู้บริโภค ช่วยปกป้องดูแลผู้บริโภค ให้ได้รับความปลอดภัย จากการบริโภคสินค้าและบริการ เพราะปัจจุบันนี้ มีผู้ผลิตที่ไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค เราจึงต้องอาศัยงานคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อคุ้มครองไม่ให้เกิดการเสียเปรียบ และอาจตกเป็นเหยื่อของการโฆษณาที่เกินจริง รวมถึงควบคุมสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานหรือเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้ซื้อและผู้ขายค่ะ อย่างตัวเจี๊ยบเองมองว่าปัญหาที่ผู้บริโภคอย่างเราๆ เจอบ่อยและจำเป็นที่จะต้องแก้ไขด่วนคือ  การซื้อสินค้าทางอินเทอร์เน็ต ที่เรียกกันง่ายๆ ว่า Social นั่นล่ะค่ะ  คือซื้อสินค้ามาบางอันเราใส่ไม่ได้ ใช้ไม่ได้จริงๆ แล้วก็รุ่นและแบบก็ไม่ตรง กับที่เห็นบนเว็บ บางร้านก็ดีค่ะให้เปลี่ยนได้ แต่บางร้านก็ไม่ให้เปลี่ยน ซึ่งจริงๆ แล้ว มันน่าจะมีหลักเหมือนกับหน้าร้านที่เราเดินไปซื้อเอง ที่เราสามารถเปลี่ยนได้จะภายในกี่วันก็ว่าไป และก็มีอีกเรื่องที่เคยประสบด้วยตัวเองก็คือ เรื่องบัตรเครดิตค่ะ ตอนเราทำงานใหม่ๆ เงินเดือนเราพอที่จะทำบัตรเครดิตได้ ก็จะถูกชักชวนให้ทำบัตรเครดิต จากธนาคารต่างๆ และสุดท้ายก็มีหนี้บัตรเครดิตอยู่ช่วงหนึ่ง ซึ่งตรงนี้มองว่าเป็นปัญหาในส่วนการกำกับดูแล อัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บ แล้วก็การทวงถาม ตรงนี้สำคัญมากค่ะ แต่ทุกวันนี้ไม่รู้ปัญหาแบบนี้ยังมีอีกหรือเปล่านะคะ เพราะไม่ได้ใช้มานานมากแล้วเวลาถูกละเมิดสิทธิทำอย่างไรตอนแรกๆ  เจี๊ยบก็จะค้นหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตก่อนค่ะ ว่าเราสามารถทำอะไรได้บ้าง พออ่านไปเรื่อยๆ ก็ไปเจอมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคค่ะ เจี๊ยบโชคดีตรงที่มีเพื่อนทำงานด้านคุ้มครองผู้บริโภคพอดีค่ะ เลยสอบถาม พอได้ข้อมูลที่ชัดเจนมากขึ้นก็จะทำตามขั้นตอนในเรื่องที่เจอมาค่ะ  แต่หลายครั้งก็ใช้คำว่าช่างมัน แต่รู้สึกว่าการที่เรานิ่งเฉยต่อการถูกละเมิดสิทธิมันก็จะเหมือนกับว่าเราส่งเสริมให้มีการละเมิดสิทธิต่อไป หลายครั้งค่ะที่เราถูกละเมิดสิทธิ ก็จะคิดว่าแล้วคนอื่นละ เขาก็อาจจะโดนเหมือนเราแบบนี้ เลยอยากให้ทุกคนเข้มแข็ง เริ่มที่จะปกป้องสิทธิของตัวเอง เมื่อเราเริ่มแล้ว เรามีความรู้บ้างแล้ว เราก็สามารถแนะนำผู้อื่นได้ ซึ่งเจี๊ยบก็จะมีเพื่อนมาปรึกษาอยู่บ่อยครั้งค่ะ เจี๊ยบก็ให้คำแนะนำมาตลอด ซึ่งก็เป็นผลดี วันนี้เจี๊ยบก็ได้มาเล่าเรื่องราว ประสบการณ์ลงฉลาดซื้อ ก็สามารถทำให้เรื่องราวกระจายออกไปยังที่อื่นๆ คนอื่นๆ ที่ไม่ใช่เพียงแค่เราคนเดียวหรือแค่คนใกล้ตัวเราเท่านั้น ถึงมันอาจจะเป็นเรื่องราวที่แตกต่างกัน เป็นข้อมูลที่ไม่น่าจะใช่เรื่องของคนอื่น แต่เจี๊ยบก็เชื่อว่า ต้องมีสักคน สักหนึ่งความคิด ที่เห็นว่าสิทธิผู้บริโภคนั้นสำคัญจะชักชวนให้คนใกล้ตัวลุกมาใช้สิทธิอย่างไรจะเล่าประสบการณ์รวมถึงแนวทางการแก้ไข และก็ให้เข้าไปดูเว็บไซต์ ให้ลองศึกษาถึงกรณีต่างๆ เพื่อให้คนใกล้ตัวได้เห็นถึงความสำคัญในสิทธิของตัวเอง ถ้าเราถูกละเมิดเราต้องปกป้อง เพื่อไม่ให้เราโดนเอารัดเอาเปรียบ เพราะเขาอาจไปทำแบบนี้กับคนอื่นๆ อีก เราต้องเต็มที่กับสิทธิของเรา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 201 นโยบายหาเสียงพรรคการเมืองเยอรมัน (ตอนที่ 2)

ขอรายงานต่อเนื่องเกี่ยวกับนโยบายหาเสียงเลือกตั้งของเยอรมัน ที่มีประเด็นเกี่ยวข้องกับผู้บริโภคหลายประเด็น สิทธิของประชาชนในฐานะผู้บริโภค ทั้งนโยบายด้านการคมนาคม การสนับสนุนสถาบันครอบครัว ด้านที่อยู่อาศัย การทำงาน ระบบประกันสุขภาพ ฯลฯ ต่อจากคราวที่แล้วนะครับนโยบายด้านคมนาคม โดยเฉพาะเรื่องการขนส่งทางบก: รถยนต์ส่วนบุคคลภายในปี 2030 เยอรมนีมีแผนที่จะอนุญาตให้ใช้เฉพาะรถที่ไม่ปล่อยควันจากท่อไอเสียรถยนต์เท่านั้น (emission free auto) ซึ่งเป็นนโยบายหาเสียงของพรรคเขียว (The Greens party) และพรรคฝ่ายซ้าย (The Left Party) ในขณะที่พรรค CDU เน้นในเรื่องการก่อสร้างสถานีชาร์จไฟฟ้า เพิ่มขึ้น เป็น 50,000 สถานีทั่วประเทศ การจำกัดความเร็วโดยกำหนดความเร็วบนถนน Autobahn ไม่เกิน 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (ปัจจุบัน ไม่ได้จำกัดความเร็ว) เป็นนโยบายของพรรค The Greens และพรรค The Left Party เรียกร้องให้กำหนดความเร็วในเขตชุมชน ไม่เกิน 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมงในขณะที่ พรรค CDU/CSU FDP และ พรรค AfD ต่อต้านนโยบายจำกัดความเร็วบนท้องถนนนโยบายสนับสนุนสถาบันครอบครัว•ที่อยู่อาศัยพรรค CDU มีนโยบายให้เงินสนับสนุนครอบครัวที่จะซื้อหรือสร้างที่อยู่อาศัย ในวงเงิน 1200 ยูโรต่อลูก 1 คนต่อปี เป็นเวลานาน 10 ปีพรรค SPD ไม่ได้ระบุวงเงินให้ความช่วยเหลือ แต่หาเสียงว่าจะให้ความช่วยเหลือแก่ครอบครัวที่มีรายได้น้อย และรายได้ปานกลางพรรค AfD มีนโยบาย ปลอดดอกเบี้ยสำหรับการกู้ยืมเงินในการซื้อหรือสร้างที่อยู่อาศัย และมีเงินช่วยเหลือสำหรับค่าภาษี ค่าธรรมเนียมในการซื้อบ้าน•เวลาทำงาน และเงินสนับสนุนสถาบันครอบครัวพรรค SPD มีนโยบายลดเวลาการทำงานของครอบครัวที่มีลูกเล็กที่อายุยังไม่ถึง 8 ขวบ ให้ทำงานไม่เกิน 26-36 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ (เวลาทำงานของคนเยอรมัน ปัจจุบันคือ 43.5 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) และมีเงินช่วยเหลือ เดือนละ 300 ยูโรต่อเดือน เป็นระยะเวลานาน 2 ปี พรรค CDU เสนอนโยบาย ลดหย่อนภาษี สำหรับครอบครัวที่มีลูก 7,356 ยูโรต่อปีพรรค FDP เสนอนโยบาย ให้ลดหย่อนภาษีขั้นสูงสุด (ไม่ได้ระบุจำนวน)พรรค The Greens The Left และ พรรค AfD เสนอการยกเลิก การแยกยื่นภาษีรายได้ส่วนบุคคลของสามีภรรยา เหมือนกับพรรค SPDในขณะที่พรรค FDP ยังคงยืนนโยบายการแยกการยื่นภาษีรายได้ของสามี ภรรยาไว้ พรรค The Left party เสนอนโยบายการจ่ายภาษีที่เป็นธรรมสำหรับครอบครัว แต่ไม่มีรายละเอียด พรรค AfD เสนอนโยบาย การแยกการยื่นภาษีของสามีภรรยา และเสนอรูปแบบการคำนวณการหักภาษีตามฐานรายได้ของครอบครัว โดยคำนึงถึงรายได้ของสมาชิกในครอบครัวทุกคน และพรรคเขียว เสนอนโยบายเงินช่วยเหลือครอบครัวพื้นฐาน (Family Budget) ในกรณีที่มีเด็กที่ต้องเลี้ยงดู•เงินสนับสนุนการเลี้ยงดูเด็กในครอบครัว (Kindergeld)เป็นเงินที่รัฐบาลให้กับครอบครัวที่มีลูก 2 คนแรกได้รับคนละ 192 ยูโรต่อเดือน ลูกคนที่สามได้รับเดือนละ 198 ยูโร และลูกคนที่สี่เป็นต้นไป ได้รับคนละ 223 ยูโรต่อเดือนพรรค CDU/ CSU ต้องการเพิ่มให้อีก คนละ 25 ยูโรต่อคนทุกอัตราพรรค The Left เสนอนโยบายให้เงินสนับสนุนเด็ก 328 ยูโรต่อคนต่อเดือนพรรค SPD เสนอนโยบาย ให้เงินสนับสนุนการเลี้ยงดูเด็ก ตามฐานรายได้พรรค The Greens เสนอนโยบายให้เงินช่วยเหลือเพิ่มเติม แก่ครอบครัวที่มีรายได้น้อย (Kindergeld-Bonus)พรรค FDP เสนอนโยบายเงินช่วยเหลือเด็ก 2.0 (Kindergeld 2.0) โดยที่แนวความคิดดังกล่าวจะรวมเงินที่ให้ความช่วยเหลือเด็กทุกด้าน มารวมเป็นก้อนเดียวกัน และจ่ายโดยองค์กรส่วนกลาง•ค่าเล่าเรียนใน Kindergartenพรรค SPD The Greens และพรรค The Left ต้องการยกเลิกค่าเล่าเรียนใน Kindergartenนโยบายการประกันสุขภาพพรรค SPD เสนอนโยบายระบบประกันสุขภาพสำหรับทุกสาขาอาชีพ ซึ่งรวมข้าราชการ และผู้ประกอบอาชีพอิสระเข้าไว้ด้วย โดยมีการร่วมจ่ายของนายจ้าง และลูกจ้าง โดยที่ในส่วนของลูกจ้างไม่ต้องจ่ายเงินประกันส่วนเพิ่ม (Zusatzbeitrag der Arbeitsnehmer entfällt) ค่ารักษาพยาบาล ใช้อัตราเดียวกันไม่ว่าจะเป็นการประกันตนแบบภาคบังคับ (Gesetzliche Versicherung) หรือแบบภาคสมัครใจ (Private Versicherung) สำหรับผู้ประกันตนในอนาคตจะไม่มีการแบ่งระหว่าง ประกันภาคบังคับ หรือภาคสมัครใจ (แนวคิดระบบประกันสุขภาพมาตรฐานเดียว)พรรค The Left และ พรรค The Greens ต้องการยกเลิกการประกันภาคสมัครใจพรรค CDU และ FDP ยังคงต้องการดำรงไว้ระบบประกันทั้งสองระบบยังมีต่ออีกนิด ขอเป็นตอนสุดท้ายฉบับหน้าครับ(ที่มา เว็บไซต์ มูลนิธิการทดสอบสินค้าเพื่อผู้บริโภค https://www.test.de/Bundestagswahl-Familie-Rente-Steuern-was-die-Parteien-vorhaben-5217841-0/)หมายเหตุ พรรค CDU (Christian Democratic Union Party),พรรค CSU (Christian Social Union Party in Bavaria),พรรค SPD (Social Democratic Party),พรรค FDP (Free Democratic Party),พรรค The Greens (Alliance 90/The Greens Party),พรรค The Left (Party of Democratic Socialism Party),พรรค AfD (Alternative for Germany)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 201 เรื่องราวของน้ำไม่ธรรมดา

ผู้เขียนเคยอ่านบทนำของอาจารย์ประเวศ วะสี ในนิตยสาร หมอชาวบ้าน ฉบับหนึ่งซึ่งแนะนำว่า หลังออกกำลังกายเสียเหงื่อนั้นเครื่องดื่มที่ดีที่สุดคือ น้ำเปล่า ข้อมูลดังกล่าวนี้ตรงกับความรู้ที่เรียนมาในวิชาสรีรวิทยาที่กล่าวประมาณว่า ถ้าไตเราอยู่ในสภาพปรกติ ไตนั้นจะเป็นตัวปรับสมดุลของเกลือแร่ในร่างกายเอง การดื่มเครื่องดื่มเกลือแร่นั้นเป็นแค่ช่วยเร่งการปรับระบบให้เร็วขึ้นเท่านั้น ซึ่งอาจมีประโยชน์บ้างในแง่การป้องกันตะคริวของผู้ออกกำลังกายหนัก อย่างไรก็ดีการดื่มเครื่องเกลือแร่นั้น ต้องระวังไม่ให้ได้รับเกลือแร่มากเกิน เพราะอาจทำให้ไตต้องทำงานหนักในการที่ต้องขับเกลือแร่ส่วนเกินออกจากร่างกาย โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับไตและ/หรือความดันโลหิตสูง เพราะในการออกกำลังกายเพื่อให้เหงื่อออกนั้น จะเกิดการขับเกลือต่างๆ ออกจากร่างกายโดยผ่านทางต่อมเหงื่อ ซึ่งเป็นการลดภาระการทำงานของไตอีกทางหนึ่ง ดังนั้นผู้ที่มีโรคประจำตัวดังกล่าวจึงควรดื่มแต่น้ำเปล่าหลังออกกำลังกายน่าจะดีที่สุด พอมาถึงปัจจุบันในปีที่เราหวังเป็น ไทยแลนด์ 4.0 ผู้เขียนได้อ่านข้อความในจดหมายอีเล็คทรอนิคของ Time Health เรื่อง Is Hydrogen Water Actually Good For You? เขียนโดย Alice Park เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2017 ซึ่งได้เอ่ยถึงประโยชน์ของน้ำเปล่าดังเช่นที่อาจารย์ประเวศกล่าวว่า เป็นของเหลวที่เหมาะสุดหลังการออกกำลังกาย และให้ประเด็นเพิ่มว่า การดื่มน้ำเปล่านั้นเป็นการเลี่ยงการได้รับน้ำตาลและสารเคมีที่ใช้ในการปรุงแต่งเครื่องดื่มอื่น(ที่ไม่ใช่น้ำเปล่า) เพื่อให้มีรสชาติต่าง ๆ บทความของ Alice Park ได้ตั้งคำถามว่า เมื่อน้ำเปล่านั้นดีต่อสุขภาพแล้ว การเพิ่มก๊าซไฮโดรเจนลงไปในน้ำดื่มนั้นจะช่วยให้มีผลดีต่อสุขภาพเพิ่มขึ้นหรือไม่ ทั้งนี้เพราะปัจจุบันได้มีคนสมองใสนำเอาน้ำเปล่ามาเติมก๊าซไฮโดรเจนบรรจุกระป๋องขาย โดยอวดอ้างว่า มีคุณความดีต่าง ๆ นานา อีกทั้งผู้ที่เคยไปทัศนาจรในประเทศญี่ปุ่นอาจได้พบโฆษณาว่า มีการผสมก๊าซไฮโดรเจนในบ่ออาบน้ำของร้านทำสปาในหลายพื้นที่ก๊าซไฮโดรเจนผสมน้ำไม่ใช่เรื่องใหม่ถ้าท่านผู้อ่านลองใช้วลีต่อไปนี้คือ hydrogen fortified drinking water ใน google ก็จะพบบทความจากเว็บต่างๆ ซึ่งเบื่อจะฟันธงว่า จริงหรือไม่ เพราะมันต้องไตร่ตรองกันมากๆ หน่อยเช่น ผู้เขียนขอยกบทความเรื่อง Effects of drinking hydrogen-rich water on the quality of life of patients treated with radiotherapy for liver tumors ซึ่งเป็นบทความวิจัยทางวิทยาศาสตร์ของ Ki-Mun Kang และคณะ ตีพิมพ์ในวารสารชื่อ Medical Gas Research เมื่อปี 2011 (ผู้อ่านที่สนใจสามารถดาว์นโหลดมาอ่านได้ฟรี) พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ในเครือของ Springer ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ไทยส่วนใหญ่ค่อนข้างคุ้นชินว่า บทความวิจัยที่มาจากเครือสำนักพิมพ์นี้(ควรจะ) ผ่านการคัดกรองแล้วระดับหนึ่ง จากการเข้าไปหาดูข้อมูลเกี่ยวกับวารสาร Medical Gas Research นั้นพบว่า เพิ่งเปลี่ยนสำนักพิมพ์ในเดือน พฤศจิกายน 2015 จาก BioMed Central ไปเป็น Medknow Publications ผู้เขียนเข้าใจว่า สำนักพิมพ์หลังนี้คงยังอยู่ในเครือข่ายของ Springer  ซึ่งปัจจุบันได้หันมาทำธุรกิจด้านวารสาร Online เหมือนสำนักพิมพ์ใหญ่อื่น ๆ อีกหลายแห่ง โดยสรุปของบทความนี้กล่าวว่า การให้ผู้ป่วยที่มีเนื้องอกที่ตับ ดื่มน้ำที่มีการเติมก๊าซไฮโดรเจนเข้มข้นนั้นพบว่าผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและลดตัวบ่งชี้การออกซิเดชั่นหลังการรับการฉายรังสี แต่อย่างไรก็ตามต้องฟังหูไว้หูแม้จะมีการประกาศที่ท้ายบทความของเหล่าผู้นิพนธ์ (ทั้งจากเกาหลีและญี่ปุ่น) ในทำนองว่าไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนก็ตามคราวนี้ย้อนกลับมาพิจารณางานวิจัยของ Ki-Mun Kang และคณะนั้น เราสามารถพบว่า มีความน่าสงสัยในงานวิจัยนี้หลายประการ โดยเฉพาะวิธีการทำน้ำที่มีก๊าซไฮโดรเจนผสมนั้น เป็นวิธีการที่นักวิทยาศาสตร์สติเฟื่องชาวญี่ปุ่นหลายคนใช้ในการทำน้ำชนิดนี้ขาย เชื่อได้หรือไม่ ท่านผู้อ่านโปรดใช้วิจารณญานคิดดู ซึ่งถ้าพบว่าตนเองมีวิจารณญานไม่พอ เพราะลืมแล้วว่าครูสอนเคมีกล่าวว่าอย่างไร ก็ขอให้ไปถามนักเคมีดูว่า น่าหัวเราะหรือไม่ เนื่องจากผู้วิจัยได้ใช้วิธีแยกน้ำด้วยไฟฟ้าให้ได้เป็นก๊าซไฮโดรเจนออกมาผสมกับน้ำ โดยใช้แท่งโลหะแมกนีเซียมเป็นขั้วอิเล็คโทรด ใครก็ตามที่เรียนระดับมัธยมศึกษาในสายวิทยาศาสตร์คงเคยทำการทดลองดังกล่าวมาแล้ว ผลที่ได้จากการให้กระแสไฟฟ้าชนิดตรงผ่านอิเล็คโทรดลงน้ำนั้น ทำให้โมเลกุลน้ำแตกตัวเป็นก๊าซไฮโดรเจนวิ่งไปที่อิเล็คโทรดขั้วลบ ส่วนก๊าซออกซิเจนวิ่งไปที่อิเล็คโทรดขั้วบวก ก๊าซทั้งสองจะถูกเก็บในภาชนะด้วยวิธีการแทนที่น้ำ เนื่องจากก๊าซไฮโดรเจนและออกซิเจนนั้นละลายน้ำน้อยมากค่าการละลายน้ำของไฮโดรเจนคือ 0.00016 กรัม ต่อน้ำ 100 กรัม ส่วนของออกซิเจนคือ 0.0043 กรัม ต่อน้ำ 100 กรัม (ข้อมูลจาก www.wiredchemist.com/chemistry/data/solubilities-gases) ดังนั้นในบทความงานวิจัยของ Ki-Mun Kang และคณะจึงทำเป็นลืมบอกว่า น้ำที่ให้คนไข้ดื่มนั้นมีไฮโดรเจนเท่าไร(เพราะตัวเลขมันคงน้อยมาก) และทำนองเดียวกันใครก็ตามที่ไปซื้อน้ำกระป๋องที่ผสมก๊าซไฮโดรเจนมาดื่มคงต้องยอมรับในการไม่รู้ว่า ในน้ำนั้นมีก๊าซไฮโดรเจนเท่าไร ผู้เขียนได้พยายามสืบค้นว่า มีงานวิจัยในวารสารวิชาการที่เชื่อถือได้กล่าวถึงก๊าซไฮโดรเจนว่าบำบัดโรคใดได้บ้างหรือไม่ ก็ไม่พบสักบทความวิจัย ยกเว้นผลงานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่นกลุ่มหนึ่งซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร European Journal of Pharmacology เมื่อปี 2015 ที่กล่าวเป็นเชิงว่า เมื่อให้คนไข้กิน Acarbose ซึ่งเป็นสารต้านการย่อยแป้ง(ทำหน้าที่เป็นยาต้านเบาหวานชนิดที่ 2) แล้วทำให้เกิดการสร้างก๊าซไฮโดรเจนในร่างกาย ซึ่งมีผลบางประการเกี่ยวกับระบบภูมิต้านทาน ว่าไปแล้วไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะถ้าใครกินอาหารแล้วเกิดอาการท้องอืดท้องเฟ้อนั้นจะพบว่า เป็นเพราะมีระดับก๊าซไฮโดรเจนเพิ่มขึ้นในทางเดินอาหารแล้วรั่วออกมาทางลมหายใจ ซึ่งรวมถึงลมที่ผายออกมาด้วยประเด็นหนึ่งซึ่งแสดงให้เห็นถึงความไม่เข้าใจของเหล่านักเขียนบนอินเทอร์เน็ตคือ การพยายามอธิบายว่า ก๊าซไฮโดรเจนนั้นมีความสามารถในการรีดิวส์สารที่มีสถานะออกซิไดซ์ เช่น อนุมูลอิสระ ได้ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วไฮโดรเจนที่จะทำงานลักษณะนี้ได้นั้นต้องเป็นไฮโดรเจนที่เป็นองค์ประกอบของสารอินทรีย์บางชนิดในผักและผลไม้ ซึ่งระหว่างออกฤทธิ์นั้นต้องอาศัยเอ็นซัมในเซลล์สิ่งมีชีวิตเป็นตัวช่วย เพราะอยู่ๆ สารเหล่านี้จะไม่สามารถทำงานได้เอง สำหรับไฮโดรเจนซึ่งอยู่ในรูปของก๊าซนั้น ถ้าจะสามารถทำหน้าที่เป็นตัวรีดิวส์ในหลอดทดลองได้ ก็ต้องมีแร่ธาตุบางชนิดเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา ซึ่งเมื่อพิจารณาดูแล้วกระบวนนี้ไม่น่าเกิดได้ในเซลล์Alice Park ผู้เขียนบทความเรื่อง Is Hydrogen Water Actually Good For You? ได้เอ่ยชื่อของชาวอเมริกันคนหนึ่งชื่อ Dr. Nicholas Perricone ซึ่งมีอาชีพขายน้ำยี่ห้อ Dr. Perricone Hydrogen Water ในราคากระป๋องละ 3 เหรียญดอลล่าร์อเมริกัน มีข่าวกล่าวว่า Dr. Perricone เคยใช้สินค้าของตนเองในการ (อ้างว่า) ช่วยให้พลังงานของเซลล์ผิวหนังของอาสาสมัครดีขึ้น แต่ตัว Dr. Perricone เองก็ตอบไม่ได้ว่า ไฮโดรเจนในน้ำนั้นไปออกฤทธิ์อีท่าไหนในร่างกายมนุษย์ ได้แต่อ้อมแอ้มว่าเป็นกระบวนการที่เกี่ยวกับเอ็นซัมต้านออกซิเดชั่น อย่างไรก็ตามที่แน่ ๆ คือ คนประเภท Dr. Perricone นั้นรวยแบบไม่รู้เรื่องไปหลายคน ซึ่งอาจรวมถึงคนไทยบางคนในอนาคตไม่ไกลนี้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 201 รถตู้โดยสารไม่ประจำทางกับความปลอดภัยของผู้โดยสาร

เป็นเวลาเกือบครบปี  หลังจากที่เราผ่านความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ กับอุบัติเหตุรถตู้โดยสารประจำทาง สายจันทบุรี – กรุงเทพ  พุ่งข้ามเลนประสานงากับรถกระบะที่สวนทางมา จนเกิดเพลิงลุกไหม้รถทั้งสองคัน มีผู้เสียชีวิตเป็นคนไทยด้วยกันเองมากถึง 25 คน  จากเหตุการณ์ครั้งนั้น นำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงทางนโยบายที่เข้มข้นหลายอย่าง ที่ออกมาเพื่อควบคุมความเร็วและพฤติกรรมคนขับรถโดยสาร ทั้งการติด GPS ห้ามวิ่งเกิน 90 กิโลเมตร/ชั่วโมง การบังคับทำประกันภาคสมัครใจ การปรับลดเบาะที่นั่ง การมีช่องทางออกฉุกเฉิน และการรณรงค์ให้ผู้โดยสารคาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้งเมื่อเดินทาง โดยมุ่งหวังเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำซากแบบนั้นอีกแต่จากวันนั้นจนถึงวันนี้ ก็ยังมีเหตุสะเทือนขวัญที่เกิดกับรถตู้โดยสารอยู่เป็นระยะๆ เป็นเหมือนฝันร้ายที่คอยวนเวียนหลอกหลอนผู้โดยสารที่ต้องใช้บริการอยู่ทุกวันว่า วันไหนจะเกิดขึ้นกับใคร ไม่ว่าจะเป็นตัวเราเอง คนรู้จัก เพื่อน ญาติสนิทหรือไม่ หลายฝ่ายต่างพุ่งเป้าไปที่กลุ่มรถตู้โดยสารประจำทางที่มีอยู่มากกว่า 15,000 คันทั่วประเทศ โดยเฉพาะรถที่วิ่งระหว่างจังหวัดว่าเป็นกลุ่มรถความเสี่ยงสูง ที่หลายคนจำเป็นต้องใช้เพื่อการเดินทางในชีวิตประจำวัน แม้จะกลัวการเกิดอุบัติเหตุเวลานั่งรถตู้โดยสาร แต่กลับพบว่าผู้โดยสารส่วนใหญ่ยังไม่เห็นถึงความสำคัญที่ต้องคาดเข็มขัดนิรภัย นั่นเท่ากับว่า ผู้ใช้บริการส่วนหนึ่งยังไม่ตระหนักในเรื่องความปลอดภัยให้กับตัวเองมากนักขณะที่คนจำนวนมากกำลังจับตามองไปที่กลุ่มรถตู้โดยสารประจำทางว่าเป็นกลุ่มรถเสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัย แต่เราอาจลืมไปว่า ยังมีรถตู้โดยสารอีกกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงไม่น้อยกว่ากัน นั่นก็คือ กลุ่มรถตู้โดยสารรับจ้างไม่ประจำทางที่มีปริมาณรถอยู่ในระบบมากกว่า 27,000 คันทั่วประเทศ โดยรถในกลุ่มนี้มีทั้งในรูปแบบผู้ประกอบการใหญ่ที่เป็นนิติบุคคล หรือกลุ่มรายย่อย ที่เจ้าของรถขับเอง และมีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มหรือเครือข่ายเพื่อการติดต่อรับจ้างทางธุรกิจ แน่นอนว่า ความแตกต่างที่สำคัญ นอกจากเรื่องระบบการออกใบอนุญาตและการกำกับดูแลตามมาตรการของรัฐแล้ว โดยปกติรถตู้โดยสารประจำทางจะวิ่งได้ในเฉพาะในเส้นทางที่ขออนุญาตเส้นทางไว้เท่านั้น ห้ามวิ่งออกนอกเส้นทาง ในเส้นทางระยะไกลห้ามวิ่งเกินวันละ 2 รอบ หรือวันละไม่เกิน 8 ชั่วโมงตามกฎหมายแรงงาน แต่รถตู้โดยสารรับจ้างไม่ประจำทางนั้น  วิ่งได้ในทุกเส้นทางทั่วไทยตามที่ว่าจ้าง ไม่มีใครคอยตรวจสอบว่าคนขับพักผ่อนเพียงพอหรือไม่ก่อนมาให้บริการ   ถือได้ว่าเป็นกลุ่มรถมีความเสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัยมากกว่า สอดคล้องกับผลการเก็บข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุของรถตู้โดยสารของเครือข่ายเฝ้าระวังรถโดยสารปลอดภัย พบว่า กลุ่มรถตู้โดยสารรับจ้างไม่ประจำทาง มีอัตราการเกิดเหตุและอัตราการบาดเจ็บของผู้โดยสารมากกว่ากลุ่มรถตู้โดยสารประจำทาง โดยมีแนวโน้มการเกิดอุบัติเหตุ ที่มีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นเช่น โศกนาฏกรรมครั้งล่าสุดของวันที่  8  พฤศจิกายน  ที่ผ่านมา กรณีรถตู้โดยสารรับจ้างไม่ประจำทางของบริษัท อาร์แอลเซอร์วิส ประสบอุบัติเหตุชนท้ายรถบรรทุกสิบล้อ ที่อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  จากการสอบปากคำคนขับรถตู้โดยสารที่รอดชีวิต ได้ยอมรับกับทางเจ้าหน้าที่ว่า ในวันที่เกิดเหตุตนเองเข้านอนเวลา 24.00 น.และตื่นในเวลา 04.00 น.ของวันที่เกิดเหตุ และในเวลา 05.00 น.ได้เดินทางไปรับคณะนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นพร้อมไกด์คนไทย ที่สนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อนำทั้งหมดเดินทางมาท่องเที่ยวตามโปรแกรมที่วางไว้ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ก่อนจะประสบอุบัติเหตุหลับในชนท้ายรถบรรทุก ทำให้มีผู้เสียชีวิตรวม 5 ราย  แม้หลังเกิดเหตุกรมการขนส่งทางบกจะมีมาตรการเด็ดขาดสั่งถอนทะเบียนรถตู้คันเกิดเหตุออกจากบัญชีประกอบการขนส่ง และให้บริษัทฯ นำรถในบัญชีทั้งหมด จำนวน 84 คัน เข้ารับการตรวจสภาพโดยละเอียดอีกครั้ง และให้พนักงานขับรถทุกคนของบริษัทฯ เข้ารับการอบรมด้านความปลอดภัย พร้อมเปรียบเทียบปรับฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดในกฎกระทรวงว่าด้วยความปลอดภัยในอัตราโทษสูงสุดเป็นจำนวนเงิน 50,000  บาท รวมถึงเพิกถอนใบอนุญาตขับรถของคนขับรถคันเกิดเหตุทันที แต่มาตรการดังกล่าวก็เป็นเพียงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อเรียกความเชื่อมั่นของทุกฝ่ายกลับคืนมา  โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ ขณะที่ยังมีประเด็นปัญหาสำคัญที่รอให้จัดการ คือ การกำหนดแนวทางการประกอบธุรกิจรถรับจ้างไม่ประจำทาง ที่ทุกวันนี้ยังไม่มีมาตรการกำกับหรือควบคุมที่ชัดเจนแต่อย่างใด ทำให้มีผู้ประกอบการรายย่อยหลายรายที่นำรถทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมายออกมาวิ่งรับจ้างไม่ประจำทางอีกเป็นจำนวนมาก โดยที่ผู้บริโภคต้องกลายเป็นคนแบกรับชะตากรรมนั้นเสียเอง

อ่านเพิ่มเติม >