ฉบับที่ 247 “ทิ้ง” เพื่อโลก

        หลายปีที่ผ่านมาเราได้ยินเรื่องของเศรษฐกิจแบบหมุนเวียนกันมาพอสมควร เราได้รับข้อมูลเรื่องผลกระทบของการบริโภคที่มีต่อสิ่งแวดล้อม และตระหนักว่า “การคัดแยกขยะ” นั้นมีส่วนอย่างยิ่งในการลดโลกร้อน แต่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ก็ยังไม่ได้ลงมือทำ บ้างก็ทำไม่ได้ หรือทำได้แต่ไม่ถูกต้อง แม้จะมีการรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับการคัดแยกขยะแล้วก็ตาม ที่เป็นเช่นนี้เพราะในทางปฏิบัติมีรายละเอียดที่ซับซ้อน เช่น ขวด กล่อง ถุง หรือแพ็คเกจต่างๆ ประกอบด้วยวัสดุหลายประเภท ผู้ผลิตแต่ละเจ้าให้ความสนใจในเรื่องนี้ต่างกัน ในขณะที่ภาครัฐของหลายๆ ประเทศก็ยังไม่มีการจัดการอย่างเป็นระบบ             เรามาดูกรณีตัวอย่างจากออสเตรเลีย/นิวซีแลนด์ และเดนมาร์ก ที่รัฐบาลร่วมกับภาคธุรกิจและภาคประชาสังคม กำหนดแนวปฏิบัติในการจัดทำฉลากที่ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถคัดแยกขยะได้อย่างถูกต้อง รองรับการนำกลับไปแปรรูปมาใช้ใหม่ และกรณีของสิงคโปร์ที่ใช้วิธีส่งเสริมให้แบรนด์ต่างๆ “ลดขนาด” ของบรรจุภัณฑ์ ด้วยการให้ “โลโก้” ที่ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเลือกสนับสนุนแบรนด์เหล่านี้ได้  ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์          ก่อนหน้านี้คนออสเตรเลียมีความสับสนอยู่ไม่น้อยกับ “ฉลากรีไซเคิล” ที่มีถึง 200 รูปแบบ ผู้ผลิตที่นั่นให้ความสนใจเรื่องนี้มาก ต่างคนต่างก็คิดรูปแบบเฉพาะออกมาใช้กับสินค้าตัวเอง ผู้บริโภคส่วนใหญ่ “ตามไม่ทัน” จึงยังคง “ทิ้งผิด” อยู่นั่นเอง ความพยายามนั้นจึงเท่ากับสูญเปล่า          ต่อมาออสเตรเลียและนิวซีแลนด์แก้เกมด้วยการใช้ระบบฉลากรีไซเคิลที่เรียกกันว่า ARL (Australasian Recycling Label) ซึ่งพัฒนาขึ้นโดย APCO หรือ Australian Packaging Covenant Organization ร่วมกับ Planet Ark และ PREP (Packaging Recyclability Evaluation Postal) Design         คณะกรรมการที่ดูแลโครงการนี้แบ่งออกเป็นสองชุด ได้แก่ คณะที่ดูแลเรื่องข้อมูล (ซึ่งต้องมีความแม่นยำสูงมาก) และคณะที่ดูแลเรื่องการสื่อสารกับผู้บริโภค สมาชิกของทั้งสองคณะประกอบด้วยตัวแทนจากแบรนด์/ร้านค้าปลีก อุตสาหกรรมรีไซเคิล/จัดการขยะ ตัวแทนจากรัฐบาล และองค์กรไม่แสวงหากำไร           ผลิตภัณฑ์ภายใต้ระบบ ARL (สินค้าอุปโภคบริโภคที่จำหน่ายในซูเปอร์มาร์เกต และร้านค้าประเภทอื่นๆ ที่ร่วมโครงการ) จะมีสัญลักษณ์ 3 รูปแบบได้แก่         -        ลูกศรทึบวิ่งวน หมายถึง รีไซเคิลได้ (เจอถังรีไซเคิลที่ไหน ทิ้งได้เลย)         -        ลูกศรโปร่งวิ่งวน หมายถึง รีไซเคิลได้แบบมีเงื่อนไขตามที่แจ้งไว้ใต้สัญลักษณ์         -        ถังขยะ หมายถึง ไม่สามารถนำมารีไซเคิลได้ ทางเดียวที่ไปคือบ่อขยะ           ทั้งหมดนี้จะระบุชัดเจนว่าชิ้นส่วนไหน ต้องทิ้งอย่างไร          เช่น ตัวอย่างนี้ ส่วนที่เป็นกล่อง สามารถใส่ลงในถังรับขยะรีไซเคิลได้เลย ในขณะที่พลาสติกที่ห่อหุ้มมาจะต้องนำไป “ส่งคืนร้าน” ส่วนฝานั้นให้ทิ้งเป็นขยะทั่วไป          หัวใจของความสำเร็จของโครงการนี้คือข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำ แบรนด์ที่เข้าร่วมโครงการ (ปัจจุบันเป็นแบบสมัครใจ) จะต้องประเมิน “ความสามารถในการรีไซเคิล” ของแพ็คเกจสินค้าตัวเอง โดยอ้างอิงกับฐานข้อมูลของ PREP ซึ่งมีการอัปเดตทุกปี โครงการนี้ยังส่งเสริมเศรษฐกิจแบบหมุนเวียนด้วยการช่วยผู้ประกอบการออกแบบแพ็คเกจที่ตอบโจทย์เรื่องรักษ์โลกด้วย          ออสเตรเลียตั้งเป้าว่าภายในปี ค.ศ. 2025 แพ็คเกจผลิตภัณฑ์ทั้งหมดจะต้องเข้าเงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ ได้แก่ ใช้ซ้ำได้ รีไซเคิลได้ หรือ ย่อยสลายได้   เดนมาร์ก          ระบบ Pant A, B, C ของเดนมาร์กเป็นอีกตัวอย่างที่ยืนยันว่า จะมีการส่งต่อ “ขยะ” ไปสู่กระบวนการรีไซเคิลมากขึ้น หากผู้บริโภคได้รับข้อมูลที่ชัดเจนและได้ผลตอบแทนเป็นเงิน            Pant ในภาษาแดนิช แปลว่า “มัดจำ” เมื่อซื้อเครื่องดื่มในเดนมาร์ก ผู้บริโภคจะต้องจ่ายค่ามัดจำขวดหรือกระป๋องให้กับทางร้าน โดยร้านจะคำนวณค่าธรรมเนียมดังกล่าวให้ที่หน้าเคาน์เตอร์ตามอัตราต่อไปนี้           เมื่อผู้บริโภคนำบรรจุภัณฑ์เหล่านี้มาคืนกับ “ตู้รับคืนอัตโนมัติ” ที่ตั้งอยู่ตามร้านค้าหรือปั๊มน้ำมันที่ร่วม โครงการ ซึ่งมีอยู่ 3,000 แห่งทั่วประเทศ ตู้ดังกล่าวก็จะออก “ใบเสร็จ” ให้ผู้บริโภคนำไปใช้ซื้อของในร้าน หรือจะรับเป็นเงินสดก็ได้เช่นกัน           หรือใครจะเก็บรวบรวมไว้ที่บ้านให้ได้เยอะๆ ก่อนก็ไม่ว่ากัน กรณีนี้ผู้บริโภคสามารถนำขวดหรือกระป๋องไปคืนที่ “Pantstation” ซึ่งสามารถรับได้ครั้งละ 90 ชิ้น ปัจจุบันมีสถานีรับคืนอยู่ใน 12 เมืองทั่วประเทศ          ขวดหรือกระป๋องจากตู้เหล่านี้จะถูกส่งต่อไปยัง Dansk Retursystem องค์กรไม่แสวงหากำไรซึ่งมีหน้าที่ตามกฎหมายในการดูแลระบบการจัดการบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วของเดนมาร์ก ตั้งแต่การจัดเก็บ คัดแยก ไปจนถึงการหลอมเพื่อผลิตขวดหรือกระป๋องขึ้นมาใหม่          จากข้อมูลของ DR การหลอมกระป๋องใช้แล้วขึ้นมาใหม่ ใช้พลังงานน้อยกว่าการผลิตกระป๋องขึ้นมาใหม่ตั้งแต่ต้นถึงร้อยละ 95         โครงการที่ริเริ่มขึ้นในปี 2002 โดยผู้ผลิตเบียร์ร่วมกับหน่วยงานรัฐ ภายใต้การดูแลของกระทรวงสิ่งแวดล้อมนี้ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง          ข้อมูลในปี 2019 ระบุว่าอัตราการส่งคืนขวด/กระป๋องเครื่องดื่ม โดยผู้บริโภคสูงถึงร้อยละ 92         นอกจากเดนมาร์กแล้ว โมเดลการมัดจำขวดก็มีใช้ในเยอรมนี สวีเดน และนอร์เวย์เช่นกัน  สิงคโปร์         กรณีของสิงคโปร์นั้นแม้จะไม่ใช่เรื่องการรีไซเคิล แต่ก็เป็นโครงการที่น่าสนใจไม่น้อยไปกว่ากัน เพราะเป็นการ “ตัดตอน” การใช้ทรัพยากรและพลังงาน รวมถึงลดการสร้างขยะโดยไม่จำเป็น          ตั้งแต่ปี 2017 รัฐบาลสิงคโปร์เริ่มโครงการติด “โลโก้” ให้กับสินค้าที่มีการปรับลดขนาดบรรจุภัณฑ์ ภายใต้ข้อตกลง SPA (Singapore Packaging Agreement) เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อสินค้าที่ไม่ใส่บรรจุภัณฑ์ที่ใหญ่เกินปริมาณสิ่งของด้านใน และเลือกสนับสนุนแบรนด์ที่ใส่ใจกับการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ง่ายขึ้น           สินค้าที่จะติดโลโก้ “Reduced packaging” ภายใต้โครงการ LPRP (The Logo for Products with Reduced Packaging) จะต้องได้รับการอนุญาตจากคณะกรรมการโครงการ โดยผู้ผลิตจะต้องส่งหลักฐานข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่าได้มีการลดปริมาณการใช้วัสดุในการผลิตบรรจุภัณฑ์ เพื่อประกอบการพิจารณา ทั้งนี้ไม่มีข้อจำกัดเรื่องเวลาในการใช้โลโก้ดังกล่าว   ข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2563 ระบุว่าโครงการนี้สามารถลดขยะบรรจุภัณฑ์ได้ถึง 54,000 ตัน และประหยัดเงินค่าวัตถุดิบได้ 130 ล้านเหรียญ   เอกสารอ้างอิง รายงานกรณีศึกษาโดยสหพันธ์ผู้บริโภคสากล (Consumers International)  โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) และเครือข่าย One Planet    https://www.consumersinternational.org/media/361469/unep_ci_2021_arl_case_study.pdf https://www.consumersinternational.org/media/361467/unep_ci_2021_pantabc_case_study.pdf https://www.consumersinternational.org/media/361470/unep_ci_2021_lprp_case_study.pdf

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 247 เด็กยุคนี้สูงได้เต็มศักยภาพ...จริงหรือ

        คนที่มีร่างกายสูงมักดูได้เปรียบคนตัวเตี้ย มองดูดีและมีความมั่นใจ และอาจส่งผลไปถึงบางอาชีพที่เลือกเฉพาะคนตัวสูงและแข็งแรง ซึ่งรวมถึงกีฬาอาชีพหลายประเภท ดังนั้นจึงมีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบางชนิดพยายามสร้างข้อเสนอให้พ่อแม่เตรียมพร้อมเรื่องความสูงให้กับลูกของตนตั้งแต่เยาว์วัย         คำโฆษณาสินค้าประเภทนี้มักระบุว่า ความสูงของคนนั้นขึ้นกับพันธุกรรม การกินอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ในปริมาณที่เพียงพอ การนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และเพื่อเป็นการประกันให้เด็กในวัยเจริญเติบโตสามารถสูงเต็มศักยภาพซึ่งอาจสูงกว่าพ่อแม่นั้น จำต้องกินผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่เหล่าคุณแม่ที่เป็นเซเล็บต่าง (ออกมา call out ในโฆษณาว่า) เลือกเสริมเพิ่มความสูงให้ลูกน้อย ซึ่งสินค้าเหล่านี้มักเป็นนวัตกรรมจากต่างชาติที่อ้างว่า เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ช่วยสร้างหรือกระตุ้นมวลกระดูกและกล้ามเนื้อให้แข็งแรง โดยกินคู่ไปกับอาหารหลัก 5 หมู่ (ความจริงแค่กินอาหารได้ครบ 5 หมู่ด้วยปริมาณที่เหมาะสมตามหลักการทางโภชนาการก็น่าจะพอแล้ว...ผู้เขียน)         มีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับวิธีเพิ่มความสูงแบบรวดเร็วสำหรับเด็กที่กำลังเข้าสู่วัยรุ่น โดยอ้างว่ามาจากแหล่งความรู้ที่เชื่อถือได้ (ซึ่งดูจริงบ้าง มั่วบ้าง) คือ  1.) กระโดดเชือกวันละ 30 นาที โดยแบ่งเป็นครั้งละ 5 นาที หรือเล่นบาสเก็ตบอลวันละ 1 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย  2.) ดื่มนมจืดวันละ 2 แก้ว หลังอาหารเช้าและก่อนนอน  3.) งดดื่มน้ำอัดลมเพราะเสี่ยงกระดูกพรุนและเบาหวาน  4.) ฉีด Growth hormone เพิ่มความสูง แต่ต้องระวังว่าหากได้ฮอร์โมนเกินขนาดที่ร่างกายรับได้ อาจทำให้น้ำตาลในเลือดสูง  5.) ไม่เล่นมือถือก่อนนอนเพราะทำให้ลดการหลั่ง Growth hormone และควรนอนติดต่อกัน 7-8 ชั่วโมง  6.) กินนมน้ำเหลือง (Colostrum) จากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม  7.) ผ่าตัดยืดกระดูกเฉลี่ย 1 เซนติเมตร/เดือน โดยต้องยอมรับความเจ็บและราคาแพง  8.) ควรนอนช่วง 3-4 ทุ่ม เพื่อให้ได้หลับลึกที่เที่ยงคืนซึ่งเป็นช่วงที่ Growth hormone หลั่งออกมามากที่สุด  9.) กินอาหารที่มีแคลเซียมสูงเช่น ปลาเล็กปลาน้อย กุ้งแห้ง เต้าหู้แข็ง ผักสีเขียวเข้ม เช่น คะน้า ตำลึง ผักกาดเขียว พร้อมการออกกำลังกาย แต่ถ้าเห็นว่ามันยากนัก (เพราะเด็กในปัจจุบันชอบเล่นแต่โทรศัพท์มือถือ) ทางออกที่ง่ายกว่าคือ การกินผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิด CBP หรือ Concentrated Bioactive Protein ที่มีในนมวัว         กล่าวกัน (ในโฆษณา) ว่า ในนมวัว 1 ลิตรมี CBP เพียง 1.5 มิลลิกรัมเท่านั้น ดังนั้นในสายตาของผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจึงคิดว่า การดื่มนมเพียงอย่างเดียวดูจะได้ CBP ไม่พอต่อการเจริญเติบโตของเด็ก ต้องมีตัวช่วยมาเสริมให้เด็กมีโอกาสสูงได้เต็มศักยภาพที่ควร โดยการกิน CBP ที่ถูกอัดไว้ในแคปซูลที่วางขายในตลาดเมืองไทยและระบุว่า ใน 1 แคปซูล มี CBP สูงถึงเกือบ 100  มิลลิกรัม ซึ่งถ้าคำนวณด้วยบัญญัติไตรยางศ์แล้วการกินสินค้า 1 แคปซูล ดูเสมือนได้กินนมกว่า 50 ลิตร พร้อมด้วยวิตามินบางชนิดที่จำเป็นต่อความสูง (ในปริมาณที่น่าจะเกินพอต่อความต้องการของร่างกายในหนึ่งวัน) เพื่อช่วยเสริมสร้างมวลกระดูกและกล้ามเนื้อของผู้กิน ซึ่งจริงแล้วต้องมีปัจจัยอื่นเสริมด้วย คือ พันธุกรรมที่อาจเป็นอุปสรรคได้ เพราะถ้าเถือกเถาเหล่ากอตัวเตี้ยมาตลอดลูกหลานคงไม่สูงเกินศักยภาพทางพันธุกรรม ยกเว้นมีการกลายพันธุ์         สรุปแล้วมีการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อ้างถึง CBP ซึ่งมีคุณสมบัติในการเพิ่มส่วนสูงของผู้บริโภคตั้งแต่วัย 3-18 ปี โดยช่วยให้มีสัดส่วนความสูงที่สมบูรณ์แบบ กระดูกแข็งแรง เสริมสร้างกล้ามเนื้อ จนดูหุ่นดี และสินค้านี้ยังช่วยป้องกันโรคกระดูกเปราะ กระดูกพรุน ในผู้บริโภคผู้ใหญ่ใกล้วัยชรา อย่างไรก็ตาม prerequisite (แปลเป็นไทยว่า ข้อกำหนดเบื้องต้น) คือ ผู้บริโภคต้องมีสตางค์พอ เพราะราคาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนี้ตกแคปซูลละ 17 บาท ถึง 50 บาท ขึ้นกับว่าขายบนแพลทฟอร์มออนไลน์ใด (หรืออาจขึ้นอีกว่าเป็นของแท้ด้วยหรือไม่)         ประเด็นที่น่าสนใจคือ CBP นั้นมีแนวโน้มในการช่วยเด็กให้เติบโตเพิ่มขึ้นจริงหรือ แนวคำตอบคือ ถ้าเด็กชายที่เข้าสู่วัยรุ่นคนหนึ่งมีศักยภาพที่จะสูงได้ 180 เซนติเมตร ตามพันธุกรรมของตระกูล (คือมีคนในตระกูลที่เป็นผู้ชายสูงได้เฉลี่ยประมาณนี้) แต่มีพฤติกรรมชีวิตที่ไม่เหมาะสมเช่น กินอาหารไม่ครบห้าหมู่ นอนดึก ไม่ออกกำลังกาย เอาแต่เล่นเกมส์ในมือถือ ฯลฯ โอกาสสูงถึง 180 เซนติเมตรย่อมน้อยลง ถึงจะกิน CBP ตามที่ฉลากบอกไว้ก็คงหวังยาก แต่ถ้ากินแล้วปรับพฤติกรรมให้เหมาะสมแบบที่วัยรุ่นที่ดีควรทำ ความสูงก็ควรขึ้นได้ถึงจุดที่ควรเป็น         ต้นแบบของ CBP นั้นคือ เวย์โปรตีน         ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่เป็นต้นแบบของ CBP นั้นคือ เวย์โปรตีน ซึ่งน่าจะช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อและลดน้ำหนักจากการออกกำลังกายได้ เพราะมีบทความวิชาการที่อ้างว่า โปรตีนในนมมีผลต่อมวลกล้ามเนื้อของผู้บริโภค บทความนั้นชื่อ Dietary protein recommendations and the prevention of sarcopenia (sarcopenia หมายถึง ภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อย) ในวารสาร Current Opinion in Clinical Nutrition & Metabolic Care ของปี 2009 ซึ่งให้ข้อมูลประมาณว่า มวลกล้ามเนื้อของมนุษย์ลดลงตามธรรมชาติเมื่ออายุเพิ่มขึ้นโดยมีไขมันเข้ามาแทนและเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังต่างๆ อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงที่ไม่พึงประสงค์ในองค์ประกอบของร่างกายนั้นสามารถชะลอ ป้องกัน หรือย้อนกลับได้บ้างเป็นบางส่วน ด้วยการฝึกความแข็งแรงควบคู่ไปกับการบริโภคอาหารที่มีโปรตีนสูงหรืออาหารเสริมที่มีโปรตีน         สิ่งที่ผู้อ่านบางท่านอาจไม่เคยสนใจรู้คือ สมัยก่อนถือว่าเวย์โปรตีนเป็นของเหลือจากการผลิตเนยเหลวหรือ butter และเนยแข็งคือ cheese ทั้งนี้เพราะนมสดที่ได้มาสดๆ และยังไม่ได้ดำเนินการใดนั้น เมื่อทิ้งไว้สักพักจะเกิดการแยกส่วนและตกตะกอน โดยส่วนที่มีไขมันสูงซึ่งมีความหนาแน่นต่ำกว่าน้ำจะแยกตัวลอยขึ้นมาอยู่ชั้นบนเป็นครีม (cream) ที่ถูกแยกนำไปใช้ทำเนย butter ในขณะที่เนยแข็งหรือ cheese นั้นทำมาจากส่วนที่ตกตะกอนอยู่ชั้นล่างซึ่งอุดมไปด้วยโปรตีนเป็นส่วนใหญ่ ส่วนสุดท้ายที่เหลือคือ ของเหลวซึ่งมีองค์ประกอบหลักเป็นโปรตีนที่ละลายน้ำได้ดี กรดอะมิโนอิสระบางชนิดรวมถึงวิตามินและเกลือแร่ต่าง ๆ ซึ่งแต่เดิมนั้นนิยมนำของเหลวนี้ไปใช้ทำอาหารสัตว์ แล้วพบว่าสัตว์เจริญเติบโตได้ดี จึงมีการศึกษาของเหลวส่วนนี้อย่างจริงจังแล้วก็พบว่า มีโปรตีนสำคัญที่มีองค์ประกอบเป็นกรดอะมิโนชนิด branched-chain amino acid  ได้แก่ ลิวซีน (leucine), ไอโซลิวซีน (isoleucine), และ เวลีน (valine) ในสัดส่วนที่สูง กรดอะมิโนทั้งสามมีความสำคัญต่อการสร้างโปรตีนของกล้ามเนื้อทดแทนส่วนที่สูญเสียระหว่างการออกกำลังกายหนักและใช้แป้งเป็นพลังงานหมดไปแล้ว จนต้องสลายโปรตีนของกล้ามเนื้อระหว่างการออกกำลังกายหนัก เพราะกรดอะมิโนทั้งลิวซีน ไอโซลิวซีนและเวลีนนั้นถูกนำไปใช้เป็นพลังงานได้ ดังนั้นเมื่อใดที่ออกกำลังกายจนได้กลิ่นแอมโมเนีย ซึ่งเปลี่ยนมาจากกลุ่มอะมิโนของกรดอะมิโนทั้งสามที่ถูกตัดออกเพื่อเอาส่วนที่เหลือไปผลิตเป็นสารเข้าสู่กระบวนการสร้างพลังงาน         ทุกวันนี้ในท้องตลาดมีเวย์โปรตีนขายอยู่ 3 ชนิดด้วยกัน โดยชนิดที่มีราคาถูกสุดคือ เวย์โปรตีนคอนเซนเทรท (whey protein concentrate) ซึ่งมีความเข้มข้นโปรตีนอยู่ประมาณ 70-80% มีลักษณะเป็นผงสีครีมอ่อน กลิ่นรสตามธรรมชาติเหมือนนม ส่วนเวย์โปรตีนไอโซเลต (whey protein isolate) ซึ่งได้จากการนำเวย์โปรตีนคอนเซนเทรทมาผ่านกระบวนการผลิตเพิ่มความเข้มข้นของโปรตีนสูงถึงกว่า 90% พร้อมทั้งราคาเพิ่มขึ้น ชนิดที่สามคือ เวย์โปรตีนไฮโดรไลเซต (whey protein hydrolysate) นั้นเป็นการนำเวย์โปรตีนมาย่อยด้วยเอ็นซัมเฉพาะเพื่อเปลี่ยนโมเลกุลของโปรตีนให้เล็กลงเป็นเปปไทด์ที่มีความบริสุทธิ์สูงถึงเกือบ 100% ซึ่งตามหลักการทางวิทยาศาสตร์แล้วเปปไทด์ถูกร่างกายดูดซึมได้ดีกว่าโปรตีน และมีงานวิจัยทางคลินิกแสดงให้เห็นว่า เวย์โปรตีนช่วยส่งเสริมภาวะโภชนาการที่ดีและอื่นๆ         บทความชื่อ Consumption of fat-free fluid milk after resistance exercise promotes greater lean mass accretion than does consumption of soy or carbohydrate in young, novice, male weightlifters ในวารสาร American Journal of Clinical Nutrition ของปี 2007 ให้ข้อมูลว่า การดื่มนมที่เอาไขมันออกไปแล้วเหลือแต่โปรตีน คาร์โบไฮเดรต วิตามินและเกลือแร่นั้นช่วยในการซ่อมแซมกล้ามเนื้อของนักยกน้ำหนักวัยเยาว์ดีกว่าการดื่มนมถั่วเหลืองหรือผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มที่มีแป้ง         ในการโฆษณาขายสินค้านั้นมักระบุว่า เวย์โปรตีนมีกรดอะมิโนจำเป็นคือ ลิวซีน ซึ่งมีบทความเรื่อง Signaling pathways and molecular mechanisms through which branched-chain amino acids mediate translational control of protein synthesis ในวารสาร Journal of Nutrition ของปี 2006 ได้กล่าวว่า ลิวซีนเป็นกรดอะมิโนจำเป็นสูงที่ส่งเสริมการเจริญเติบโต ซึ่งรวมถึงการซ่อมแซมกล้ามเนื้อที่สูญเสียเมื่อเทียบกับกรดอะมิโนอื่นทำให้สรุปได้ว่า เวย์โปรตีนจึงมีประสิทธิภาพในการป้องกันการสูญเสียกล้ามเนื้อทั้งในเด็กวัยออกกำลังกายและผู้สูงวัยซึ่งกินโปรตีนต่ำกว่าที่ควร ข้อมูลในเรื่องนี้เป็นสิ่งที่เมื่อเชื่อและมีสตางค์พอซื้อสินค้าเหล่านี้กินได้น้นถือว่าเป็นบุญของผู้บริโภคที่มีกำลังทรัพย์พอซื้อของแพงกิน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 246 เครื่องพิมพ์เลเซอร์

        อีกหนึ่งอุปกรณ์ที่กลับมาอยู่ในความสนใจของผู้บริโภคอีกครั้งในยุคที่ต้องทำงาน หรือเรียน อยู่ที่บ้านก็คงหนีไม่พ้นเครื่องพิมพ์อัตโนมัติ ฉลาดซื้อฉบับนี้ขอนำเสนอผลทดสอบเปรียบเทียบเครื่องพิมพ์เลเซอร์ทั้งแบบธรรมดา (พิมพ์อย่างเดียว) และแบบอเนกประสงค์ (พิมพ์งาน สแกน ถ่ายเอกสาร ส่งแฟกซ์) ทั้งแบบขาวดำและสี ที่องค์กรผู้บริโภคของออสเตรเลียทดสอบไว้ ด้วยเนื้อที่จำกัดเราจึงเลือกมาเฉพาะรุ่นที่ได้คะแนนรวมตั้งแต่ร้อยละ 59 ขึ้นไป และจำกัดที่ราคาไม่เกิน 30,000 บาทโดยรวมแล้วถือว่าเป็นข่าวดีที่เราจะมีพรินเตอร์คุณภาพดีใช้ในราคาไม่เกิน 4,000 บาท หากอยากรู้ว่ารุ่นไหนจะตอบโจทย์แต่ละด้าน (เช่น งานพิมพ์คมชัด การใช้งานได้สะดวก การเชื่อมต่อลื่นไหล หรือการประหยัดพลังงาน) ติดตามได้ในหน้าถัดไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 247 รู้เท่าทันหม้อหุงข้าวลดน้ำตาล

        ช่วงนี้กระแสโฆษณาหม้อหุงข้าวลดน้ำตาลกำลังมาแรงทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศจีน ญี่ปุ่น และประเทศต่างๆ ในเอเชียที่กินข้าวเป็นอาหารหลัก ข้าวเป็นอาหารประเภทแป้ง ซึ่งจะย่อยกลายเป็นน้ำตาล ดังนั้นกลุ่มผู้ที่เป็นเบาหวานและต้องการลดน้ำตาล จึงสนใจหม้อหุงข้าวลดน้ำตาลกันอย่างมากมาย เรามารู้เท่าทันกันเถอะ หม้อหุงข้าวลดน้ำตาลลดน้ำตาลคืออะไร         หม้อหุงข้าวลดน้ำตาลนั้นจะมีกระบวนการในการหุงที่แตกต่างกันกับหม้อหุงข้าวทั่วไป โดยมีการแยกน้ำที่ได้จากการหุงข้าวออกมาจากข้าว ทำให้ระดับน้ำตาลภายในข้าวลดลงได้ถึง 70 เปอร์เซ็นต์หลังจากข้าวสุกแล้ว ทำให้เข้ากับกระแสการต่อต้านน้ำตาล หม้อหุงข้าวลดน้ำตาลจึงได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในประเทศจีน จนสถาบันอาหารปักกิ่งต้องออกมาทำการทดลองว่า หม้อหุงข้าวลดน้ำตาลสามารถลดน้ำตาลได้ 70 เปอร์เซนต์จริงหรือไม่ หม้อหุงข้าวลดน้ำตาลช่วยลดน้ำตาลในข้าวได้จริงหรือไม่         ข้อมูลจากเว็บไซต์ใน Blogdits อ้างอิงข้อมูลจาก https://www.chinanews.com/cj/2020/10-31/9326997.shtml พบว่า กระบวนการทำงานของหม้อหุงข้าวลดน้ำตาลนั้น ไม่สามารถที่จะใช้ในการลดน้ำตาลภายในข้าวได้จริง เนื่องจากว่าภายในเมล็ดข้าวนั้นจะประกอบไปด้วย คาร์โบไฮเดรตซึ่งเป็นแป้งถึงร้อยละ 90 ของเมล็ดข้าว และร้อยละ 75 ของข้าวเป็นแป้ง โดยองค์ประกอบของแป้งเป็นพอลิแซคคาไรด์ที่เกิดจากกลูโคสจำนวนหลายพันโมเลกุลมาต่อกัน มีโครงสร้างเป็นทั้งแบบสายยาวและกิ่งก้านสาขา แป้งมีมากในพืชประเภทเมล็ดเช่นเมล็ดข้าวและพืชที่มีหัวหัว เมื่อแป้งถูกความร้อนจะกลายเป็นเด็กซ์ตริน ซึ่งเป็นสารที่มีรสหวานเล็กน้อยและมีสมบัติเหนียวแบบกาว ถ้ากินมากเกินไปจะทำให้อ้วนได้  ดังนั้นไม่ว่าจะโดนความร้อนหรือมีการแยกน้ำที่ใช้ในการต้มข้าวออกจากการหุงข้าวก็ตาม ก็ไม่สามารถที่จะทำการลดปริมาณน้ำตาลที่อยู่ภายในข้าวหรือเมล็ดข้าวได้อย่างมีนัยยะสำคัญและสามารถที่จะช่วยในการลดปริมาณน้ำตาลภายในข้าวได้จริงนั่นเอง         สถานีโทรทัศน์ของจีนยังรายงานผลการทดลองการเปรียบเทียบโดยการวัดระดับน้ำตาลภายในเลือดของอาสาสมัครที่กินข้าวที่หุงด้วยหม้อหุงข้าวธรรมดา กับ ข้าวที่หุงด้วยเครื่องหุงข้าวลดน้ำตาลพบว่า อาสาสมัครทั้งสองกลุ่ม มีระดับน้ำตาลที่ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยยะสำคัญการหุงข้าวที่แยกน้ำออกจากข้าว คล้ายกับการเช็ดข้าวแบบสมัยก่อน ซึ่งนำมาใช้กับการหุงข้าวแบบหม้อหุงข้าวลดน้ำตาล ซึ่งน้ำข้าวนั้นจะอุดมไปด้วย โพลิฟีนอล วิตามินบีคอมเพลกซ์ วิตามินอี เป็นต้น  โดยเฉพาะวิตามินบี จะสูญเสียไปได้ง่าย         การกินข้าวที่หุงข้าวแบบทิ้งน้ำข้าวเป็นเวลานาน จะต้องกินวิตามินรวมเสริม หรือกลุ่มวิตามินบี เพื่อทดแทนวิตามินที่สูญเสียไป         ยังไม่มีงานวิจัยที่ยืนยันประสิทธิผลของการลดน้ำตาลในข้าวที่หุงด้วยหม้อหุงข้าวลดน้ำตาล         สรุป     ยังไม่มีงานวิจัยที่ยืนยันประสิทธิผลการลดน้ำตาลของข้าวที่หุงด้วยหม้อหุงข้าวลดน้ำตาล              ฉบับหน้า จะพูดถึงการหุงข้าวอีกแบบหนึ่งที่เป็นการลดการดูดซึมแป้งหรือน้ำตาลในข้าวที่มีงานวิจัยรองรับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 246 ผู้ป่วยโควิดสีเขียวกักตัวที่บ้าน ต้องจ่ายค่าชดเชยรายวันหรือไม่

        องค์กรของผู้บริโภค เรียกร้องคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) ให้ทบทวนการจ่ายเงินชดเชยรายวัน กับผู้ป่วยสีเขียวที่แยกตัวที่บ้าน (Home Isolation) ทุกกรณี         กลับมาเป็นประเด็นร้อนอีกรอบ จากข้อร้องเรียนของผู้เอาประกันภัยที่กักตัวเองที่บ้านแล้วบริษัทอ้างว่า ป่วยน้อย สีเขียว นอนที่บ้านไม่สามารถเรียกเงินชดเชยรายวันได้         โดยใช้คำวินิจฉัยของเลขาธิการคปภ. ในเอกสารแจง 17 ข้อสงสัย เหตุใดจึงไม่ให้เคลมค่าชดเชยรายวันกรณี home isolation หรือแบบ community isolation ได้ทุกกรณี? ได้อ้างเงื่อนไขตามกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 ปัจจุบัน ในเรื่องค่าชดเชยรายวัน ให้ความคุ้มครองเฉพาะกรณีผู้ป่วยในไม่ครอบคลุมกรณีการรักษาแบบ home isolation หรือแบบ community isolation แล้วไม่มีโอกาสเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาล ดังนั้น สำนักงาน คปภ. จึงได้หารือร่วมกับภาคธุรกิจประกันภัย ซึ่งได้ข้อสรุปร่วมกันว่า ถ้าผู้เอาประกันภัยมีสภาพที่จะต้องเข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยใน แต่ไม่สามารถหาเตียงสถานพยาบาลได้ จึงต้องรักษาตัวแบบ home isolation และ community isolation ให้ถือเสมือนเป็นผู้ป่วยในและมีสิทธิได้รับค่าชดเชยรายวันตามกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 และเพื่อป้องกันมิให้มีการเคลมเกินสิทธิที่พึงมีตามเงื่อนไขการคุ้มครองในกรมธรรม์ รวมทั้งป้องกันปัญหาการฉ้อฉลประกันภัย ในกรณีที่ปรากฏว่าผู้ป่วยมีความจำเป็นทางการแพทย์ที่ต้องรักษาตัวเป็นผู้ป่วยในในสถานพยาบาล เช่น เป็นผู้ป่วยที่ยังไม่มีอาการ แต่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง หรือผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการรุนแรงขึ้น แต่ไม่มีสถานพยาบาลรองรับ เป็นต้น ซึ่งแม้ไม่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง แต่มีความจำเป็นทางการแพทย์ที่ต้องรักษาตัวเป็นผู้ป่วยในในสถานพยาบาลก็มีสิทธิได้รับค่าชดเชยรายวัน ซึ่งคำสั่งนี้ได้เปิดช่องให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัยกรณีมีความจำเป็นทางการแพทย์ที่ต้องรักษาตัวเป็นผู้ป่วยในในสถานพยาบาลได้ด้วย         การวินิจฉัยของคปภ.แบบนี้ ย่อมสร้างปัญหาให้กับผู้บริโภค ต้องไม่ลืมว่า การรักษาผู้ป่วยโควิดจากเดิมกรมการแพทย์บังคับให้ทุกคนต้องนอนโรงพยาบาลเมื่อติดเชื้อโควิด 19 แต่เมื่อรัฐไม่สามารถมีเตียงรองรับในโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม หรือ Hospitel การนอนโรงพยาบาลของผู้ป่วยจึงเป็นไปไม่ได้ กรมการแพทย์ได้ประกาศให้หน่วยบริการดูแลประชาชนที่บ้าน พร้อมสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จ่ายเงินให้หน่วยบริการที่รับดูแลผู้ป่วยในการแยกตัวที่บ้านประมาณ 1,000 บาทต่อราย ผู้ป่วยจำนวนมากได้ยาต้านไวรัส และต้องติดตามอาการที่มีความเปลี่ยนแปลงทุกวัน ไม่สามารถไปทำงานได้ตามปกติ ต้องแยกตัวไม่สามารถใช้ชีวิตตามปกติได้ เป็นมาตรการควบคุมโรคที่สำคัญ ทุกคนที่ทำประกันเมื่อไม่มีรายได้หรือรายได้ลดลง ต้องได้ค่าชดเชยรายวันทุกคนตามสิทธิ หากในอนาคตการขายประกันของบริษัทจะกำหนดเงื่อนไข ว่า คุ้มครองเฉพาะสีเหลืองและแดงเท่านั้นก็ต้องเป็นเงื่อนไขในอนาคต ไม่ใช่เงื่อนไขในปัจจุบัน         บริษัทประกันย่อมไม่มีสิทธิที่จะไม่จ่ายสินไหมชดเชยรายวันให้กับผู้บริโภค จากเหตุที่อ้างว่าเพราะอาการของโรคน้อย ที่สำคัญจะทำอย่างไรให้ระบบการทำงานของคปภ.รับฟังความเห็นจากตัวแทนของผู้บริโภค ไม่ใช่เฉพาะจากบริษัทประกัน และการประกันภัยในประเทศไทย ต้องยึดหลักการจ่ายเป็นหลักปฏิเสธเป็นรอง ถึงเวลาที่คปภ.ต้องจัดการเรื่องนี้เพราะไม่อย่างงั้นบริษัทประกันก็คิดถึงแต่ตัวเลขกำไรงามๆของตนเองฝ่ายเดียว

อ่านเพิ่มเติม >



ฉบับที่ 246 กระแสต่างแดน

ขอร้องอย่าทิ้งกัน        แอนนา แซคส์ หรือ “TheTrashWalker” ผู้โด่งดังจากการทำคลิปแฉพฤติกรรม “ชอบทิ้ง” ของชาวนิวยอร์ก  ออกมาเรียกร้องให้ผู้คนนึกถึงการ “บริจาค” ก่อนจะ “ทิ้ง” ของกินของใช้สภาพดีลงถังไปเฉยๆ         เรื่องนี้ไม่มีใครรู้ดีไปกว่าแอนนาและผู้คนเป็นล้านที่ติดตามเธอ สิ่งที่เธอทำสัปดาห์ละ 3 – 4 ครั้ง คือการออกไปรื้อถังขยะตามครัวเรือน ร้านอาหาร และซูเปอร์มาร์เก็ต เพื่อหาของที่ไม่ควรถูกทิ้ง เธอได้อาหารกระป๋อง เครื่องสำอาง ถ้วยชามเซรามิก หรือแม้แต่เฟอร์นิเจอร์ ติดไม้ติดมือกลับบ้านเป็นประจำ         เธอพบว่าบางครั้งผู้ประกอบการก็จงใจทำลายของที่เลยวัน “ควรใช้/บริโภคก่อน”  เช่น บีบยาสีฟันทิ้งไปบางส่วน หรือฉีกถุงขนมให้ดูมีตำหนิ จะได้นำมาทิ้งเป็นขยะ         หลายเจ้าก็ไม่ทำอย่างที่พูด จากการรื้อค้นถังขยะของสตาร์บัคส์ 5 สาขาในแมนฮัตตัน เธอพบว่าบริษัทไม่ได้นำอาหารที่ขายไม่หมดไปบริจาคให้กับผู้ที่ต้องการ อย่างที่เคยให้คำมั่นไว้เมื่อปี 2016 “คิมบับ” เป็นพิษ        ผู้เสียหาย 130 กว่ารายรวมตัวกันฟ้องร้องแฟรนไชส์ร้านข้าวปั้นห่อสาหร่ายแห่งหนึ่งในกรุงโซล หลังมีอาการอาหารเป็นพิษจากการกินข้าวปั้นที่ซื้อจากสาขาของทางร้านในเขตบันดัง ระหว่าง 29 กรกฎาคม – 2 สิงหาคมที่ผ่านมา จากผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมด 276 ราย มี 40 รายที่ต้องเข้าโรงพยาบาล         กรณีเดียวกันนี้ยังเกิดกับร้านคิมบับเจ้าอื่นในเขตพาจูและโกยาง คราวนี้มีหญิงวัย 20 กว่าเสียชีวิตด้วย         สาเหตุหนึ่งมาจากการปนเปื้อนของแบคทีเรียซัลโมเนลลา ซึ่งเติบโตได้ดีในอุณหภูมิช่วงหน้าร้อนของเกาหลีที่ 37 องศาเซลเซียส         อีกส่วนหนึ่งมากจากการที่ร้านอาหารเหล่านี้ว่างเว้นจากการถูกสุ่มตรวจสอบ เพราะเจ้าหน้าที่สาธารณสุขถูกระดมไปทำหน้าที่ควบคุมการระบาดของโควิด-19         อย่างไรก็ตามหลังเกิดเหตุดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุขได้สั่งให้มีการตรวจสอบร้านคิมบับทุกร้านแล้ว   โอลิมปิกเดือด        อุปสรรคของโตเกียวโอลิมปิกที่ผ่านไปหมาดๆ นอกจากไวรัส ก็คืออุณหภูมิในแต่ละวันที่เฉลี่ยประมาณ 28 องศาเซลเซียส โค่นแชมป์เก่าอย่างเอเธนส์ ในปี 2004 ลงไปได้สบายๆ         หน้าร้อนของโตเกียวเริ่มไม่ธรรมดา เมื่อสามปีก่อนก็เคยร้อนถึง 40 องศา และยังเกิดคลื่นความร้อนที่คร่าชีวิตผู้คนไปไม่ต่ำกว่า 1,000 คน         หากเปรียบเทียบกับสถิติเมื่อ 120 ปีก่อน จะพบว่าโตเกียวร้อนขึ้นถึง 3 องศา (สูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งโลกเกือบสามเท่า)         แต่ที่เขาไม่เลื่อนการแข่งขันออกไปเป็นเดือนตุลาคมที่อากาศเย็นสบายกว่านี้ ก็เพราะช่วง “เวลาทอง” ของการถ่ายทอดโอลิมปิกมันอยู่ในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม ที่พอจะหาสปอนเซอร์มาสนับสนุนการถ่ายทอดสดได้         หากเลยช่วงนี้ไป ผู้คนทางฝั่งยุโรปก็จะสนใจแต่ฟุตบอล ในขณะที่อเมริกาก็เตรียมเปิดฤดูกาลของอเมริกันฟุตบอลเช่นกัน เปลี่ยนใจไม่แบน        แม้จะคัดค้านการเปิดคาสิโนอย่างชัดเจนมาตลอด ในที่สุดประธานาธิบดีดูเตอร์เต้ของฟิลิปปินส์ ก็ยอมให้เปิดคาสิโนบนเกาะโบราไกย์ โดยหวังว่าจะมีรายได้จากภาษีมาใช้รับมือกับวิกฤติโควิด         แต่ชาวบ้านและผู้ประกอบการรีสอร์ทบนเกาะไม่เห็นด้วย พวกเขาตั้งใจจะพัฒนาโบราไกย์ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำหรับครอบครัว และถึงจะไม่มีคาสิโน เกาะของพวกเขาก็สร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 60,000 ล้านเปโซ (38.7 ล้านบาท) อยู่แล้ว         นักอนุรักษ์ก็ไม่ปลื้ม เขาประเมินไว้ในปี 2018 ว่าโบราไกย์ซึ่งมีพื้นที่ 10 ตารางกิโลเมตร มีศักยภาพรองรับคนได้ 54,945 คน (คนท้องถิ่น/คนที่เข้ามาทำงาน 35,730 คน และนักท่องเที่ยว 19,215 คน)         พวกเขายังตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลอุตส่าห์ปิดเกาะ 6 เดือน และยอมสูญรายได้หลายพันล้านเปโซ ในปี 2018 เพื่อให้ธรรมชาติได้ฟื้นตัวจากมลภาวะที่มนุษย์สร้างขึ้น แต่กลับอนุญาตให้เปิดคาสิโนที่จะมีผู้คนเข้ามาเพิ่มอีกวันละประมาณ 4,000 คน ซึ่งเลยจุดที่เกาะนี้จะรองรับได้อย่างยั่งยืน กาแฟจะมาไหม?        เวียดนามเป็นผู้ส่งออกกาแฟรายใหญ่ที่สุดอันดับสองของโลก ร้อยละ 20 ของกาแฟที่สหภาพยุโรปนำเข้าก็เป็นกาแฟจากเวียดนาม         ปีที่แล้วเวียดนามสามารถสามารถควบคุมโรคระบาดได้ดี และเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในโลก แต่ปีนี้เหตุการณ์เปลี่ยนไปเมื่อเวียดนามต้องเผชิญกับวิกฤติโควิดระลอกใหม่         ด้วยการระบาดที่รุนแรง ที่ราบสูงตอนกลางของประเทศซึ่งเป็นแหล่งปลูกกาแฟจึงต้องอยู่ภายใต้มาตรการต่างๆ อย่างเข้มงวด การเก็บเกี่ยวย่อมไม่สามารถเป็นไปตามปกติ         ในขณะที่โฮจิมินห์ซึ่งเป็นศูนย์กลางการระบาดระลอกใหม่ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ก็อยู่ในสภาวะถูกล็อคดาวน์ การขนส่งเมล็ดกาแฟไปยังท่าเรือจึงติดขัด เท่านั้นยังไม่พอ อีกปัญหาที่ผู้ส่งออกทั่วโลกต้องเจอคือการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และค่าธรรมเนียมการขนส่งที่แพงขึ้น         ด้านผู้ส่งออกอันดับหนึ่งอย่างบราซิลก็กำลังประสบภาวะแล้ง ซึ่งอาจทำให้ปริมาณผลผลิตลดลงเช่นกัน    

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 246 ฮาวทู (ไม่) ทิ้ง

         ปัจจุบันมีผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยที่ตระหนักถึงผลกระทบจากการกินการใช้สินค้า/บริการ และต้องการทางเลือกที่เป็นภาระต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด ผลการสำรวจพบว่าร้อยละ 74 ของผู้บริโภคในยุโรป สหรัฐอเมริกา และอเมริกาใต้ ยอมจ่ายแพงกว่าเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่แพ็คเกจรีไซเคิลได้         ผู้ประกอบการหลายเจ้าก็เริ่มให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้น มาดูกันว่าสินค้าอุปโภคบริโภคจากผู้ผลิตค่ายใหญ่ มีการปรับปรุงแพ็คเกจให้เหลือเป็น “ขยะ” น้อยลง และให้ความรู้กับผู้บริโภคเรื่องวิธีการ “ทิ้ง”หรือ “รีไซเคิล” แพ็คเกจที่ใช้แล้วหรือไม่           Consumers International หรือสหพันธ์ผู้บริโภคสากล ร่วมกับองค์กรผู้บริโภคที่เป็นสมาชิกใน 9 ประเทศ (บราซิล โปรตุเกส ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ มาเลเซีย อินเดีย และฮ่องกง ทั้งหมดนี้มีผู้บริโภครวมกันไม่ต่ำกว่า 1,800 ล้านคน) ทำการสำรวจบรรจุภัณฑ์ของกินของใช้ยอดนิยม 11 ชนิดที่มีจำหน่ายในประเทศดังกล่าว ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม 2564 ว่าสามารถคัดแยกไปรีไซเคิลได้สะดวกหรือไม่และมีฉลากที่ให้ข้อมูลในเรื่องดังกล่าวมากน้อยเพียงใด         มีข้อค้นพบที่น่าสนใจจากการสำรวจดังนี้        · ในภาพรวม ร้อยละ 35 ของแพ็คเกจผลิตภัณฑ์ทั้งหมดที่สำรวจยังเป็นภาระในการรีไซเคิล        · ถ้าเฉลี่ยเป็นรายชิ้นจะพบว่า ร้อยละ 17 ของแพ็คเกจแต่ละชิ้นไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ และยิ่งเป็นพลาสติกชิ้นบางเบา ก็ยิ่งยากต่อการรีไซเคิล        · เมื่อเทียบแพ็คเกจสินค้า 11 ชนิด ในแต่ละประเทศ ฮ่องกงมีสัดส่วนของแพ็คเกจที่นำไปรีไซเคิลได้มากที่สุด ในขณะที่บราซิลมี “ขยะ” เหลือทิ้งมากที่สุด          ·  สำหรับอีก 7 ประเทศ ดูได้จากตารางด้านล่างนี้                   · ฉลากสินค้าเหล่านี้ในทุกประเทศที่สำรวจ ไม่ระบุวิธี “ทิ้ง” บางชนิดมีแพ็คเกจที่นำไปรีไซเคิลได้ แต่ฉลากกลับไม่แจ้งไว้ หรือกรณี M&M ของโปรตุเกส ที่แพ็คเกจระบุว่าให้นำไปทิ้งลงถัง ทั้งๆ ที่มันสามารถนำไปรีไซเคิลได้ 100%        · ฉลากมีข้อความที่ไม่สามารถเข้าใจได้ง่ายโดยผู้บริโภคในประเทศ เช่น ฉลากน้ำแร่ซานเพลลิกรีโน ที่ขายในออสเตรเลียกับนิวซีแลนด์ กลับมีการแสดงสัญลักษณ์แบบที่ใช้ในยุโรป        · จากการเปรียบเทียบฉลากสินค้า 11 ชนิด ใน 9 ประเทศ พบว่า ออสเตรเลีย บราซิล และฝรั่งเศส มีสินค้าที่มีฉลากให้ข้อมูลรีไซเคิลมากกว่า 8 ชนิด อินเดีย มาเลเซีย นิวซีแลนด์ และสหราชอาณาจักร มีระหว่าง 5 – 8 ชนิด ฮ่องกงและโปรตุเกสมีไม่เกิน 4 ชนิด                     โดยสรุป ผู้บริโภคใน 9 ประเทศที่ทำการสำรวจรู้สึกว่า การคัดแยกขยะเพื่อการรีไซเคิลเป็นสิ่งที่ไม่ง่าย ฉลากที่ไม่ชัดเจนหรือให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องก็ทำให้การตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าอย่างรับผิดชอบต่อโลกเป็นเรื่องยาก หากต้องการไปให้ถึงเป้าหมายเรื่องความยั่งยืน ภาระเรื่องนี้ต้องไม่ใช่ของผู้บริโภคอย่างเดียว ผู้ผลิตและผู้ประกอบการต้องร่วมเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามนี้ รวมถึงภาครัฐที่ปัจจุบันยังมีระดับการจัดการเรื่องนี้แตกต่างกันไป ก็ควรมีกฎเกณฑ์ในเรื่องฉลากและมีศูนย์รีไซเคิลไว้รองรับด้วย           หลัก 7R ที่ผู้บริโภคอย่างเราสามารถใช้เพื่อช่วยลดขยะ        REFUSE         ปฏิเสธสิ่งที่เป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม            REDUCE        ลดการใช้อย่างฟุ่มเฟือย รวมถึงเลือกสินค้าที่สามารถใช้งานได้นานขึ้น        REUSE           ใช้บรรจุภัณฑ์ซ้ำหลายครั้งก่อนทิ้ง        REFILL           เลือกใช้สินค้าชนิดเติมได้ เพื่อลดขยะบรรจุภัณฑ์        REPAIR          ซ่อมแซมเพื่อให้สามารถใช้ต่อได้ แทนที่จะปลดระวางมันไปเป็นขยะ        RETURN        เลือกสินค้าที่สามารถส่งคืนบรรจุภัณฑ์กลับสู่ผู้ผลิตได้          RECYCLE     แยกขยะที่ยังมีประโยชน์ออกมาเพื่อส่งแปรรูป  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 246 “มือแชร์ข่าวปลอมเลยพวกนี้ ต้องเอากลับมาแชร์ข่าวดีแทน”

        นิตยสารฉลาดซื้อ ฉบับนี้พาไปพบคนทำงานคุ้มครองผู้บริโภคอีกท่าน ภญ.ชโลม เกตุจินดา หลังจากเรียนจบสาขาวิชาเภสัชศาสตร์ ก็มุ่งมั่นมาทำงานคุ้มครองผู้บริโภค ด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ เพราะสนใจเรื่องอาหารสุขภาพ อาหารปลอดสารพิษ การดูแลสุขภาพ โดยเน้นเรื่องวัฒนธรรมชุมชน เธอบอกเราว่า “เราอยากจะเห็นสินค้าที่มันอยู่ในชุมชนได้รับการสนับสนุนและมีมาตรฐาน” ประสบการณ์และเรื่องเล่ามากมาย แต่ครั้งนี้จะเน้นถึงงานเรื่อง ข่าวปลอม ข่าวลวง ข่าวดี ว่ามีผลต่อผู้บริโภคอย่างไร และการทำงานด้วยพลังของอาสาสมัครนั้นสำคัญอย่างไร งานที่อาจารย์ให้ความสำคัญมากคือการเฝ้าระวังสินค้าออนไลน์         คืองานเฝ้าระวังออนไลน์ของเราตอนนี้ เราจะมุ่งไปที่การพัฒนาศักยภาพเครือข่ายอาสาสมัครคนทำงาน ซึ่งสินค้าออนไลน์ส่วนหนึ่งนี่มันก็จะมีการแชร์ โพสต์ขาย เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับสถานการณ์โควิดค่อนข้างเยอะ    ไม่ว่าจะเป็นเรื่องยารักษาหรือว่าชุดผลิตภัณฑ์ต่างๆ การตรวจพวกนี้หรือว่าสมุนไพร ซึ่งพอมีคนโพสต์แนะนำหรือให้ข่าวว่าสมุนไพรตัวนี้ใช้ดี สักพักเดี๋ยวก็จะมี “ตัวผลิตภัณฑ์” เกี่ยวกับสมุนไพรนั้นโผล่ขึ้นมาในกลุ่มไลน์ ซึ่งเป็นกลุ่มเฉพาะความที่เป็นกลุ่มเฉพาะมันก็จะทำให้การตรวจสอบจากข้างนอกมันเข้าไปไม่ถึง การที่เรามีอาสาสมัครที่เป็นกลไกอยู่ในกลุ่มไลน์ต่างๆ กลุ่มชุมชน กลุ่มวิสาหกิจ กลุ่ม อพม.อะไรอย่างนี้ พอเจอประเด็นอะไรเขาก็สามารถแคปหน้าจอกลับมาให้เราตรวจดูได้ อาจจะมีการแชร์เรื่องสมุนไพรที่โฆษณาเกินจริง มีการแชร์กันเกิดขึ้นอย่างนี้นะคะ เราจะมุ่งไปที่การพัฒนาศักยภาพอาสาสมัครในพื้นที่ ในการที่จะใช้สื่อออนไลน์แบบมีประสิทธิภาพ คนอายุเยอะส่วนใหญ่จะเป็นอาสาสมัครของเรา อายุประมาณ 50-60 หรือ 40 แถวๆ นี้         แต่ก็ยากตั้งแต่แคปหน้าจอเลย พอเราบอกว่าปัญหาของคนกลุ่มนี้คือ เชื่อง่าย แชร์ง่ายด้วย แชร์เร็ว แต่ว่าหาหลักฐานหาข้อมูลไม่ได้ เราก็จะให้เขาช่วยแคปข้อมูลกลับมาแล้วเราก็ตรวจสอบ หลักจากนั้นก็ทำกระบวนการให้เขาสามารถเชคเกอร์ (Checker) หรือตรวจข้อมูลจาก Application ของ อย. หรือ FDA ได้ อย่างน้อยๆ ตรวจเลข อย.เป็น ว่าอันนี้คือตัวผลิตภัณฑ์อาหารเสริมหรือว่าเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหรือว่าเป็นยาสามัญประจำบ้าน หรือว่าเป็นยาสมุนไพร เขาก็จะตรวจสอบผ่าน Application เป็นนะคะ อย่างนี้นะคะ ก็ค่อนข้างยากเพราะว่าแคปหน้าจอหลายยี่ห้อนะโทรศัพท์ มือถือหลายยี่ห้อมันก็จะแคปหน้าจอลำบาก พอแคปมาตัวหนังสือเขาก็จะเป็นฟอนต์ประมาณ 30 ตัวอักษรใหญ่ๆ ยาวๆ เต็มจอ มันก็จะมองไม่เห็นไม่ครบหน้าจอ ก็แคปได้ทีละจออะไรอย่างนี้ เราจะสอนให้เขาแคปแล้วก็แคปรูปแบบยาวๆ ให้มีข้อมูลครบ ก็จะเป็นเรื่องเทคนิค เพราะฉะนั้นอันนี้มันก็จะกลายเป็นเหมือนเราฝึกทักษะทางดิจิตอลให้กับอาสาสมัครผู้บริโภคในการเฝ้าระวังด้วย ตอนนี้มีอาสาสมัครกี่คนที่กระจายตามกลุ่มไลน์ต่างๆ         เราทำอบรมมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2562 ตอนนี้ก็จะมีของสงขลา ประมาณ 100 คน แล้วเราก็ขยายเฉพาะโครงการนี้เป็นการเฝ้าระวังสื่อออนไลน์ คือรวมถึงเรื่องการเคลียร์เรื่องข้อมูลเท็จ ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพด้วย แล้วก็จะมีประปรายไปว่าเอาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มันมีปัญหานะคะ ก็มีเริ่มไปอีก 5 จังหวัด แต่ก็ไม่ค่อยต่อเนื่องเพราะว่าสถานการณ์โควิด การฝึกอบรมที่จะต้องจับมือทำงาน  เลยจับไม่ได้เพราะว่าต้องใกล้ชิด โทรศัพท์เขาบางทีก็จะเป็นโทรศัพท์ที่มีปัญหาว่าข้อมูลเต็มเล่นอะไรไม่ได้แล้ว โทรศัพท์ลูกให้ ข้อมูลเต็มไปหมดแล้วก็ดี ไปกดรับอะไรก็ไม่รู้เป็นข้อความ SMS ยืมเงินอีก ก็เจอนะ ก็ต้องมานั่งช่วยเคลียร์ให้ เคลียร์แคช (Cache) เคลียร์อะไรให้ อันนี้ก็จะเป็นประเด็นหนึ่งเรื่องศักยภาพในเรื่องของการใช้พวกมือถือในการสื่อสาร         แต่ในช่วงโควิดนี้ อสม.ส่วนหนึ่งเขาก็จะได้รับหน้าที่ในเรื่องของการสำรวจข้อมูล ทำ Google from มันก็เลยทำให้งานแบบนี้มันได้รับความสนใจมากขึ้น เพราะฉะนั้นทุกคนก็จะรู้สึกว่ามันช่วยการทำงานของเขา อาสาสมัครเราส่วนหนึ่งส่วนมากก็จะเป็นแกนนำเป็น อสม.อยู่ในชุมชนที่ต้องใช้เรื่องพวกนี้ ขณะเดียวกันก็จะมีงานอีกชุดหนึ่งร่วมกับ กพย.กับทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ในเรื่องของการเฝ้าระวังยาชายแดน แล้วก็คิดงานในลักษณะเป็นยุทธศาสตร์เพื่อทำงานเสริมศักยภาพเครือข่ายการทำงานร่วมกัน         เครือข่ายภาคีทำงานร่วมกันก็จะมีตั้งแต่ สาธารณสุขจังหวัด หน่วยบริการที่มีเภสัชฯ อยู่ในโรงพยาบาลระดับชุมชน เพราะว่างานเรื่องการใช้ยาที่ไม่เหมาะสมส่วนหนึ่ง ก็จะมีกลุ่มเภสัชฯ ในโรงพยาบาลชุมชนที่เขาต้องลงไปดูเรื่องยาชุด ยาที่มีปัญหาสารสเตียรอยด์เกิดขึ้นในพื้นที่ หรือตัวอื่นๆ อย่างเช่น อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์ที่มันขายอยู่ตามตลาดนัด  ซึ่งตัวผลิตภัณฑ์นี้จะไม่มีฉลากภาษาไทย รวมถึงยาบางตัวที่อยู่ตามเขตชายแดนก็จะเป็นภาษามลายู ภาษารูมี ที่เป็นภาษาของทางมาเลเชียเขียนแบบภาษาอังกฤษแต่อ่านคำเป็นภาษามาเลเชีย ก็จะสอดคล้องกับในพื้นที่เองเขาก็มีกระบวนการทำงานของอีกด้านหนึ่ง ด้านงานคุ้มครองผู้บริโภคที่ไปเชื่อมกันที่เรียกว่า Border Health ที่เรียกว่าคณะกรรมการชายแดนเรื่องสุขภาพ ซึ่งเป็นข้อตกลงร่วมกัน คณะเภสัชฯ ซึ่งรับหน้าที่เป็นกลไกวิชาการประสานประชาคม ซึ่งพวกเราเองคือเครือข่ายผู้บริโภคในพื้นที่ ก็จะมีประเด็นทำงานร่วมกันมีการเฝ้าระวังผลิภัณฑ์ชายแดน ทำให้เกิดการทำงานร่วมกัน เพราะว่าปัญหาอยู่ในส่วนของชุมชน             “คือส่วนหนึ่งคนไม่ค่อยไปแจ้ง อย.หรือแจ้ง สสจ.แต่พอเราไป Survey สำรวจ มีกระบวนการเฝ้าระวัง เราก็จะไปถึงต้นตอปัญหาก็คือการใช้ยาในครัวเรือน” ครัวเรือนนี้ได้ยามาจากไหน ได้ยาจากคนที่เพิ่งไปกลับมาจากอินโดฯ กลับจากมาเลย์ แล้วก็มีการส่งต่อ รวบรวมมาแล้วก็ส่งให้ศูนย์วิทย์ฯ ก็เลยกลายเป็นการร่วมมือของภาคี ซึ่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เอง คณะเภสัชฯ ก็จะไปทำกระบวนการที่เรียกว่า ฝึกให้เราเป็นนักวิจัยร่วม คือเก็บข้อมูล แล้วก็ออกแบบสอบถามให้มันสามารถมาประมวลผลวิเคราะห์ได้ ฉะนั้นก่อนที่จะไปเก็บข้อมูลก็ต้องมานั่งออกแบบสอบถาม แบบ Survey ก่อนว่าเราต้องการข้อมูลแบบไหน มันก็จะทำให้เห็นทิศทางการจัดการปัญหา         เช่น ถ้าเกิดเจอแบบนี้แสดงว่าสเตียรอยด์ที่เราเจอ คือมันค่อนข้างที่จะชัดเจนแล้ว ทางศูนย์วิทย์ฯ ก็จะส่งไปตรวจสอบ แล้วก็หลังจากนี้เราก็จะดูว่าถ้าเกิดตัวนี้มีปัญหาเราก็จะพูดคุยผ่านใครล่ะ ก็ต้องส่งไปที่ Border Health ส่วนหนึ่งก็จะมีทางสาธารณสุขจังหวัดนราธิวาสนะคะ ที่ทำงานกับตรงนี้แล้วก็กับด่านสินค้า ด่านตรวจสินค้าก็จะมีด่านศูนย์วิทย์ฯ ของสงขลาด้วยส่วนหนึ่งนะคะ หลังจากนี้เราก็จะเอาข้อมูลพวกนี้มานั่งคุยกันว่าจะมีข้อเสนอต่อไปอย่างไรเพื่อจัดการตัวผลิตภัณฑ์นี้ อันนี้ก็จะเป็นกระบวนการทำงานและอาสาสมัครเองส่วนหนึ่งก็จะตรวจง่ายๆ เป็นสเตียรอยด์จะเป็นในกลุ่มที่เขาถ้าพัฒนาอีกนิดหนึ่งเขาก็จะเป็นอาสาสมัครผู้เชี่ยวชาญที่เขาเรียกว่า อาสาสมัครนักวิทย์ อสม.เขาจะมีกลุ่มนี้ก็จะตรวจสเตียรอยด์กันเป็นเบื้องต้นก่อน ศักยภาพของกลุ่มอาสาสมัครที่น่าสนใจ         คือกลุ่มไลน์พวกนี้ที่เขาเป็นสมาชิกกันเขาก็จะเกรงใจกันส่วนหนึ่ง แต่ว่าเขาก็จะมีศักยภาพคืออย่างน้อยๆ ตอนนี้เขาเริ่มพิมพ์เป็น คือกดพิมพ์ไม่ใช่กดแชร์อย่างเดียว พอเริ่มกดพิมพ์ได้เขาก็จะเริ่มถามว่าถ้าพูดไปอย่างนี้ดีไหม อย่างคนที่ส่งข้อมูลมามีวุฒิการศึกษานะเป็นอาจารย์โรงเรียนด้วย แต่อาจารย์คนนี้ส่งข้อมูลที่มันไม่น่าเชื่อถือ น่าสงสัย เรา (อาสาสมัคร) จะตอบกลับไปอย่างไร ก็จะมีกลุ่มไลน์เพื่อปรึกษาหารือกันเป็นกลุ่มไลน์เพื่อส่งข้อมูล คือแชร์หน้าจอมาแล้วเหล่าอาสาสมัครเขาก็จะถามว่าอันนี้จะตอบไปอย่างไรดี ให้ไม่หักหน้ากันมากนัก ปัจจุบันก็ยังมีข้อความที่แชร์เรื่องผิดๆ อยู่มาก มีวิธีจัดการอย่างไร         ใช่ค่ะ ถูก เพราะฉะนั้นตอนนี้ศักยภาพของอาสาสมัครเราที่เห็นได้ชัดเจนคือ ข่าวปลอมๆ พวกนี้ที่ได้รับมาบางส่วนมันเริ่มเป็นข่าววนซ้ำ เขา (อาสาสมัคร) จะจำได้ เช่น ข่าววนซ้ำว่าแชร์เรื่องคลิปที่อาจารย์มหิดลเขาทำวิจัยเรื่องกระชาย อาสาสมัครของเราก็สามารถบอกกันต่อได้ว่า “เออวิจัยนั้นเขาก็จะยังไม่เป็นยานะ เป็นแค่การทดลองในเซลล์ที่อยู่ข้างนอกที่เป็นในหลอดทดลองยังไม่ได้ใช้ในคน” เขาก็จะพิมพ์พวกนี้ได้เรียกว่ามีชุดข้อมูลที่ถูกต้อง  คือมีชุดคำที่พร้อมจะไปอธิบายว่า เห้ย ยังไม่ได้เป็นยาอันนี้อันนั้น หรือว่าอันนี้น้ำกระชายจริงๆ ยังไม่ควรกินแบบคั้นสด เพราะมันกินแล้วมันจะระคายเคืองปาก ปากคุณจะเป็นตุ่มนะและก็ไม่ได้รักษามีแค่เสริมภูมิ ก็จะชุดคำที่เขาเอาไปพูดได้แต่มันจะเริ่มวนซ้ำแล้ว เดี๋ยวสักพักจะมีคนในกลุ่มเขาก็จะแชร์เนื่องจากความยากในการเข้าถึงยาตอนนี้นะคะ          แต่ตอนนี้ก็อาจจะมีอีกประเด็นหนึ่งซึ่งยังเป็นความคลุมเครือยังไม่ลงตัวกันของข้อมูล เช่น ATK Antigen Test Kit ตอนนี้มันคืออะไรแน่มันต้องผ่าน WHO ก่อน หรือมันผ่าน อย.ก่อน ก็เป็นเรื่องประเด็นถกเถียงกัน ซึ่งการสื่อสารของ อย.ก็ไม่ชัด สื่อสารของหน่วยที่จัดซื้อก็ไม่ชัด อันนี้ก็จะลำบากนิดหนึ่ง จากประสบการณ์ของอาจารย์เห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างในเรื่องผลิตภัณฑ์สุขภาพ         คือเราเองความไว้เนื้อเชื่อใจเรื่องมาตรฐานหรือเรื่อง อย.เราก็คิดว่าเป็นเกณฑ์แรก แต่ในขณะที่ความเปลี่ยนแปลงเรื่องเทคโนโลยีโดยเฉพาะในเรื่องของไลฟ์สไตล์ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับเรื่องสุขภาพการบำรุงสุขภาพเป็นพวก Function Drink  อะไรพวกนี้ไปไกลมากกว่าการที่จะมารับรองมาตรฐาน  แล้วคนก็สนใจในเรื่องภูมิคุ้มกันเรื่องการสร้างความแข็งแรงมากกว่าการรักษา เพราะฉะนั้นตัวผลิตภัณฑ์พวกนี้มันค่อนข้างจะคลุมตลาดได้กว้างมากขึ้นนะคะ แล้วก็การให้ใบอนุญาตอะไรพวกนี้มันก็ง่ายขึ้นแต่ไม่มีใครยืนยันความชัดเจน คือมันขายเหมือนอาหารนั่นแหละแต่มันโฆษณามากเกินกว่าอาหาร อันนี้ก็เป็นปรากฏการณ์ที่เห็น         เรื่องพฤติกรรมของผู้บริโภค ปัจจุบันคนก็ชอบทางลัดคือกินอะไรง่ายๆ กินนิดเดียวก็ได้ผัก 2 กิโลกรัม อะไรอย่างนี้ก็จะยิ่งสอดรับกับวิถีแบบนี้ ซึ่งเราก็คงไปบอกเขาห้ามกินไม่ได้ แต่เราก็จะต้องทำเรื่องกำกับคุณภาพกับหน่วยงาน หน่วยงานรัฐให้เขาทำเรื่อง Post Marketing ให้เยอะขึ้น เพราะเขาอนุญาตไปแล้วแต่เขาไม่ได้มาตามดูคุณภาพหลังจากที่มีใบอนุญาตออกมาแล้ว ก็มีการขายในท้องตลาดแล้ว มันควรจะมีหน่วยงานต่างหากที่มาทำเรื่องนี้ ทำวิจัยที่เรียกว่า Out of Pocket ด้วย ก็คือเราจะสุขภาพเกินไปไหม คือบางคนพร้อมจะจ่ายนะ แต่การรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ที่มันเป็นการตลาดเหมือน Functional Drink ที่เราเห็นบางโครงการมันจะเปลี่ยนรูปแบบไปเรื่อยๆ และหน่วยงานก็ไม่ได้กำกับดูแล กลายเป็นเราต้องไปซื้อหาเพื่อดูแลสุขภาพมากเกินจำเป็น แต่ก็ยังเจ็บป่วยอยู่เหมือนเดิม อันนี้ก็เห็นอยู่ในประเด็นเรื่องสุขภาพ         สำหรับประเด็นเรื่องอื่นของผู้บริโภค เนื่องจากผู้บริโภคไม่มีแหล่งข้อมูลรีวิวสินค้าที่เป็นกลางมาก อันนี้ก็จะเห็นพัฒนาการว่าเรายังไม่มีหน่วยงานที่จะมาดูแลสินค้าที่น่าเชื่อถือ ก็คาดหวังว่าหน่วยงานรัฐเองจะสนับสนุนเรื่องเกณฑ์สินค้าที่เป็นมาตรฐานจริงๆ แล้วก็สินค้าบางตัวที่มันทำให้เสื่อมเร็ว ซึ่งมันไม่สอดคล้องกับวิถีที่เราจะต้องดูแลสิ่งแวดล้อม มันก็ควรจะมีข้อบ่งใช้ให้พวกบริษัท ร้านค้า ผู้ประกอบธุรกิจร่วมรับผิดชอบด้วยเกี่ยวกับขยะต่างๆ ที่มันจะเกิดขึ้น อันนี้ในแง่มุมผู้บริโภค ซึ่งอันนี้น่าจะเป็นประเด็นเรื่องผู้บริโภคยั่งยืนด้วยคะ ก้าวต่อไปที่คิด         ก็คิดว่าส่วนหนึ่งคือ เราต้องไปทำระบบที่มันเป็นระบบข้อมูลที่คนเข้าถึงได้ง่าย คือตอนนี้ Application มันเยอะ สแกน QR Code ก็ง่ายแต่มันไม่มีเครื่องมือสำหรับผู้บริโภคที่เราจะเข้าถึงได้ง่ายอย่างนี้นะ ก็คิดว่ามันควรจะมีใครมาทำเรื่องพวกนี้ เปรียบเทียบราคาสินค้าต่างๆ เปรียบเทียบคุณภาพจากการสแกน QR Code คือผู้บริโภคจะต้องทำได้ง่ายขึ้น ก็คงจะต้องไปพัฒนาเขาเรียกว่า Smart People ให้เท่าทันกับสถานการณ์ว่าเรารีวิวสินค้าไม่ได้ แต่เราควรจะต้องมีเครื่องมืออะไรที่เรารู้ว่าอันนี้มันมีคะแนนให้จากคนทั่วไป ชุมชนอื่นหรือ อสม. หรือเครือข่ายผู้บริโภคอื่นๆ ที่สนใจ มีคำแนะนำอย่างไร         คือเริ่มต้นจริงๆ อสม.ทำได้นะคะ มันมีกองทุนสุขภาพท้องถิ่นรวมตัวกันแล้วก็เขียนโครงการเป็นเรื่องพัฒนาศักยภาพผู้บริโภคได้เลยในเรื่องของสุขภาพในเรื่องของการตรวจสอบความเท่าทันข้อมูลสุขภาพที่เรียกว่า Health literacy อาจจะต้องให้ทางเจ้าหน้าที่ช่วยหน่อยเป็นเรื่องความฉลาดทางสุขภาพนะคะ Health literacy ซึ่งมันต้องใช้พวกเครื่องไม้เครื่องมือนี้นะคะ ไปเขียนโครงการพัฒนาศักยภาพและก็ขณะเดียวกันก็อาจจะต้องหาคนมาช่วยเรื่องพวกนี้ แต่ว่าติดต่อมาทางเราได้ ยินดีเลย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 246 น้องชมพู่กับขน 3 เส้น

        เว็บ https://workpointtoday.com เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2564 มีหัวข้อข่าวเรื่อง “สรุปคดีลุงพลทุกมิติ โพสต์เดียวจบ” ตอนหนึ่งของบทความกล่าวว่า “...หลังจากผ่านไป 1 ปีเต็ม พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวในวันที่ 17 พฤษภาคม 2564 ว่า “คดีน้องชมพู่ยังไม่จบ แต่เรามีคำตอบให้แน่นอน ช้าเร็วอยู่ที่เรา และผมเชื่อว่ามีคำตอบที่สังคมพอใจแน่ เอาอย่างนี้แล้วกัน” โดยมีรายงานว่าตำรวจค้นพบ เส้นขนจำนวน “3 เส้น” อยู่ในจุดที่เกิดเหตุ โดยหลังจากตรวจ DNA แล้ว สามารถชี้ชัดได้ว่า ใครที่อยู่ใกล้ชิดกับน้องชมพู่ในวันนั้น         ประเด็นที่น่าสนใจคือ การใช้เส้นขนจำนวน 3 เส้น ซึ่งตกอยู่ข้างศพเด็กเพื่อตรวจหา DNA ว่าเป็นของใครนั้นจะตรวจสอบได้อย่างไร        วันที่ 2 มิถุนายน 2564 รายการข่าวสามมิติ ของสถานีโทรทัศน์ดิจิตอลช่อง 33 รายงานประมาณว่า หลักฐานสำคัญในการคลี่คลายคดี คือ พยานหลักฐานทั้งหมด 16 ชิ้นได้จากที่เกิดเหตุโดยหลักฐานสำคัญ คือ เส้นผมทั้งหมด 36 เส้น ความยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ซึ่งตรวจพบดีเอ็นเอของน้องชมพู่ และ เส้นขนไร้ราก 3 เส้น  จากนั้นจึงนำเส้นขนนี้ไปตรวจด้วยเทคโนโลยีแสงซินโครตรอน ที่มีความละเอียดระดับนาโนเมตร (synchrotron นั้น google translate อ่านออกเสียงตามภาษา phonetic ว่า sing-kruh-traan หรือประมาณว่า ซิ้ง-โคร-ตรอน ซึ่งผู้อ่านสามารถเลือกอ่านได้ว่า ให้คนที่รู้ภาษาอังกฤษรู้เรื่อง หรือ ให้เป็นไปตามการกำหนดการอ่านออกเสียงแบบไทย ๆ คือ ซิน-โคร-ตรอน)         แสงซินโครตรอน คืออะไร ในเว็บของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ให้ข้อมูลว่า เป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเช่นเดียวกับแสงที่มาจากดวงอาทิตย์ แต่แสงซินโครตรอนนั้นคือ คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ถูกปลดปล่อยออกมาจากอนุภาคที่มีประจุ เช่น อิเล็กตรอน ที่เคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงเกือบเท่าความเร็วแสง และถูกบังคับให้เลี้ยวโค้งด้วยสนามแม่เหล็ก ทำให้อิเล็กตรอนสูญเสียพลังงานบางส่วน และปลดปล่อยออกมาในรูปของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่เรียกว่า “แสงซินโครตรอน”         ส่วน Wikipedia ให้ข้อมูลเพิ่มเติมประมาณว่า จริงแล้วในการเลี้ยวโค้งในสนามแม่เหล็กของอิเล็กตรอนนั้น เส้นทางการวิ่งไม่ได้ทำเป็นวงกลมเสียทีเดียวแต่เป็นรูป polygon คือ มีหลายมุมมากจนดูคร่าว ๆ เป็นวงกลม การเกิดมุมบนเส้นทางวิ่งโค้งของอิเล็คตรอนนั้น ส่งผลให้อิเล็คตรอนสูญเสียพลังงานบางส่วนออกมาในรูปของแสง ซึ่งมีหลายรูปแบบ (เมื่อเสียความเร็วแล้วเข้าใจว่าอีเล็คตรอนจะถูกเร่งความเร็วใหม่ด้วยสนามแม่เหล็กอีก เป็นอย่างนี้ไปตลอดเส้นทาง...ผู้เขียน) เช่น ในรูปของแสงเอ็กซ์เรย์กำลังสูง ซึ่งมีการนำไปใช้ประโยชน์ในทางต่างๆ ในแนวทางเดียวกับการหาโครงสร้างของดีเอ็นเอในวิธีการที่เรียกว่า X-ray diffraction crystallography เมื่อเกือบ 70 ปีก่อน (ซึ่งมีเครื่องกำเนิดแสงเอ็กซ์เรย์แล้ว เพียงแต่มีกำลังต่ำกว่ามาก)         วิธีการของ X-ray diffraction crystallography นั้น James Dewey Watson และ Francis Harry Compton Crick ได้ใช้เป็นกระบวนการในการหาโครงสร้างของ DNA โดยประกาศว่า มีลักษณะเป็น double helix ในปี 1953 ผลงานดังกล่าวทำให้เขาทั้งสองและ Maurice Hugh Frederick Wilkins ได้รับรางวัล Noble Prize สาขา Physiology or Medicine ในปี 1962         ไทยรัฐออนไลน์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2563 มีบทความเรื่อง การตรวจ DNA จากเส้นผม เมื่อไม่เจอรากผม "ไมโทคอนเดรีย" คือความหวัง ท่านผู้อ่านพึงทราบว่า โดยทั่วไปแล้วเป็นที่เข้าใจโดยทั่วกันว่า ในเซลล์ของสิ่งมีชีวิตนั้นมี DNA อยู่ 2 ลักษณะคือ nucleus DNA (ซึ่งทั่วไปเรียกว่า DNA) และ mitochondrial DNA (ซึ่งมักเรียกกันว่า mDNA) โดย nucleus DNA นั้นมีอยู่ 2 ชุด (ชุดละ 2 สายพันกันอยู่เป็นเกลียว) ซึ่งเรียกแต่ละชุดว่า แท่งโครโมโซม (chromosome) ส่วน mDNA นั้นอยู่ในไมโตคอนเดรีย ซึ่งเป็น organelle ซึ่งทำหน้าที่ในการผลิตสารให้พลังงานสูง (ATP) แก่เซลล์ และมี DNA ของตัวเองขนาดเล็ก (ซึ่งทำหน้าที่ต่างไปจาก nucleus DNA) ประเด็นที่น่าสนใจคือ ยิ่งเซลล์นั้นต้องทำงานมากเท่าไร จำนวนไมโตคอนเดรียต้องมีมากขึ้นเท่านั้น         ไทยรัฐออนไลน์ เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2564 อีกเช่นกัน มีข่าวเรื่อง ผู้เชี่ยวชาญแจง "น้องชมพู่" ไม่ใช่คดีแรก ที่ใช้เทคนิคซินโครตรอน โดยเนื้อข่าวส่วนหนึ่งกล่าวว่า “ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนเปิดเผยถึงกรณีดังกล่าวว่า ลักษณะของการตรวจด้วยแสงซินโครตรอนไม่เหมือนการตรวจดีเอ็นเอ (ซึ่งเป็นการวิเคราะห์ลำดับการเรียงตัวของเบสของกรดนิวคลิอิก..ผู้เขียน) แต่เป็นการตรวจข้อมูลทางกายภาพอื่น ๆ เพื่อนำไปประกอบในการสืบคดีของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่ต้องมีข้อมูลหลากหลาย โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องสืบสวนว่า ใครทำอะไรอยู่ตรงไหน เกิดอะไรได้ขึ้น จากนั้นจึงนำข้อมูลในด้านต่างๆ มาประกอบจนได้ข้อสรุป แต่ข้อสรุปดังกล่าวจะถูกต้องและน่าเชื่อถือได้ขนาดไหนก็อยู่ที่ดุลยพินิจของศาล ทางสถาบันซินโครตรอนมีหน้าที่ให้ข้อมูลส่วนหนึ่งที่นำประกอบในสำนวน”         ประเด็นที่ต้องคำนึงคือ นักวิทยาศาสตร์คงต้องพยายามอย่างหนักในการอธิบายถึง ผลที่ได้จากการใช้แสงซินโครตรอนสามารถพิสูจน์เอกลักษณ์ที่เหมือนกันระหว่าง mDNA ในไมโตรคอนเดรียของตัวอย่างขนและ mDNA ในไมโตคอนเดรียจากขนของแม่ของผู้ต้องสงสัยในคดีนี้ให้ศาลเข้าใจและยอมรับได้นั่นเอง         แล้วสิ่งที่ท่านผู้อ่านควรรู้ก็คือ mDNA นั้น มนุษย์ทุกคนได้มาจากแม่เท่านั้น ไม่เกี่ยวกับพ่อ เพราะในการผสมกันระหว่างไข่และอสุจินั้น ส่วนของหางอสุจิจากพ่อ ซึ่งมีไมโตคอนเดรียต้องหลุดไป ไม่ได้เข้าไปในไข่ของแม่ (มีแค่โครโมโซมของพ่อเท่านั้นที่เข้าไปได้) ดังนั้นเมื่อการผสมของเซลล์ทั้งสองเสร็จ ได้เซลล์ที่เรียกว่า zygote นั้น ไมโตคอนเดรียที่ zygote ใช้ในการสร้างพลังงานเพื่อการแบ่งตัวจึงมาจากแม่อย่างเดียว ความรู้นี้สร้างประเด็นที่เป็นคำถามคือ ในเส้นขนหรือเส้นผมซึ่งขาดรากหรือหมายความง่ายๆ ว่า ไม่มีตัวเซลล์อยู่นั้นมี mDNA ด้วยหรือ และเส้นขนนั้นไม่ใช่ส่วนของร่างกายที่ต้องการพลังงานสูงนัก จึงไม่น่ามีจำนวน mDNA สูงแต่อย่างใด         มีหลายเว็บที่เป็นภาษาไทยอธิบายความหมายของส่วนของเส้นขน ซึ่งภาษาอังกฤษคือ hair shaft คลาดเคลื่อนว่า “เป็นเซลล์ส่วนที่ตายแล้ว ไม่มีชีวิต และความรู้สึก เป็นส่วนที่งอกเจริญยาวออกมาปกคลุมศีรษะ” ทั้งที่จริงแล้ว hair shaft นั้นในตำราหลายเล่มกล่าวว่าเป็น a protein filament that grows from follicles found in the dermis. ซึ่งแปลง่ายๆ ว่า เป็นเส้นใยโปรตีนที่เติบโตจากรูขุมขนที่พบในผิวหนังชั้นหนังแท้         หลายบทความวิชาการทางนิติวิทยาศาสตร์ได้กล่าวว่า ส่วนของเส้นขนหรือเส้นผมที่ไม่มีราก (hair shaft) นั้นมี mDNA ด้วยทั้งที่ไม่ได้เป็นเซลล์ เช่น บทความเรื่อง Forensic applications of mDNA ในวารสาร Trends in Biotechnology หรือ Tibtech ของเดือนเมษายน 1998 ได้อธิบายถึงการใช้ mDNA ในส่วนของเส้นขนที่ไม่มีราก (hair shaft) ในการพิสูจน์หลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ได้ ซึ่งผู้เขียนเข้าใจจากการอ่านบทความว่า ไมโตคอนเดรียนั้นถูกดันออกไปพร้อมโปรตีนที่ทำให้เส้นผมยาวออกไปเรื่อยๆ         แต่บรรดาแถลงข่าวเกี่ยวกับการใช้แสงซินโครตรอนเพื่องานด้านนิติวิทยาศาสตร์นั้น  ไม่มีการกล่าวถึงรายละเอียดแต่อย่างใดในการพิสูจน์ mDNA ดังนั้นผู้สนใจในเรื่องนี้อาจต้องมโนเองว่า มีการเพิ่มจำนวน mDNA ที่สกัดได้จากเส้นขนแค่ 3 เส้น ด้วยวิธีการในห้องปฏิบัติการ ซึ่งน่าจะเป็นวิธีการที่เรียกว่า PCR (Polymerase chain reaction) จนได้ mDNA มากพอที่จะตกผลึกได้ จากนั้นจึงนำผลึกไปใช้ในการศึกษาด้าน X-ray diffraction crystallography (แบบที่ Watson และ Crick เคยอธิบายเมื่อเกือบ 70 ปีมาแล้ว) ด้วยแสงซินโครตรอนเพื่อให้ได้ภาพถ่าย mDNA จากขนที่เป็นวัตถุพยานไปเทียบกับภาพถ่ายของ mDNA จากขน (ซึ่งน่าจะเป็นเส้นผม) ของแม่ของผู้ต้องสงสัยว่า อยู่ในบริเวณที่พบศพผู้เคราะห์ร้าย ซึ่งเรื่องนี้ต้องใช้ความสามารถระดับสูงเป็นอย่างยิ่ง         ดังนั้นผู้ที่สนใจข่าวนี้ในแง่ของการใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ไขปัญหาคดีการฆาตกรรมนั้น ควรมีความอดทน อย่าเบื่อและอย่าลืม ติดตามผลสุดท้ายของคดีนี้ ซึ่งจะเป็นการพิสูจน์ความมหัศจรรย์ของการใช้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์เพื่อไขความจริงในคดีฆาตกรรมอีกครั้งหนึ่งในประเทศไทย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 246 ทดสอบความยาวของ “ไหมขัดฟัน”

        คุณคิดว่าอวัยวะส่วนไหนของคนเราที่สกปรกที่สุด ?         คำตอบคือ “ช่องปาก”         การแปรงฟันเพียงอย่างเดียวอาจดูแลความสะอาดในช่องปากได้ไม่ทั่วถึง ผู้บริโภคหลายคนจึงเลือกใช้ไหมขัดฟัน(Floss) มาช่วยกำจัดคราบจุลินทรีย์และเศษอาหารที่ติดอยู่บริเวณที่แปรงสีฟันเข้าไม่ถึง โดยเฉพาะซอกฟัน ด้านข้างของฟันที่อยู่ชิดกัน ร่องเหงือก และฟันกรามซี่ใน ซึ่งเมื่อใช้เส้นใยขนาดเล็กๆ นี้ขัดฟันหลังแปรงฟันอย่างน้อยวันละครั้งสม่ำเสมอ จะช่วยป้องกันฟันผุ ลดกลิ่นปาก ลดการสะสมของหินปูน และช่วยลดปัญหาเหงือกอักเสบเพราะมีคราบหินปูนที่ฝังแน่นบนผิวเคลือบฟันได้          ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ไหมขัดฟันให้เลือกหลากหลายยี่ห้อ หาซื้อได้สะดวก ส่วนใหญ่ที่วางขายจะเป็นแบบม้วนอยู่ในตลับ ซึ่งหากมองภายนอกเราไม่อาจรู้ได้ว่าไหมขัดฟันในตลับนั้นมีความยาวเท่ากับที่ระบุไว้บนฉลากจริงหรือไม่ ฉลาดซื้อฉบับนี้ขอพิสูจน์ความซื่อสัตย์ของผู้ผลิตด้วยการชวนผู้บริโภคมาวัดความยาวของไหมขัดฟันกัน         เพื่อเป็นการเฝ้าระวังเรื่องความปลอดภัย นิตยสารฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ไหมขัดฟันจำนวน 14 ตัวอย่าง 13 ยี่ห้อ ในช่วงเดือนมิถุนายน 2564 มาวัดความยาวของไหมขัดฟันเปรียบเทียบกับความยาวที่ระบุบนฉลาก เพื่อนำเสนอไว้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ ผลการทดสอบความยาวของ “ไหมขัดฟัน”         ข่าวดี ทุกตัวอย่างมีความยาวที่วัดได้จริงมากกว่าความยาวที่ระบุไว้บนฉลาก         อย่างไรก็ตามเมื่อเปรียบเทียบส่วนต่างของความยาวเฉลี่ยที่วัดได้ทั้ง 4 ครั้งในการทดสอบ กับความยาวที่ระบุบนฉลาก พบว่า ไหมขัดฟันฟลูโอคารีล มีส่วนต่างมากที่สุดคือ +10.85 เมตร ส่วน ไหมขัดฟัน ดร.ฟิลิปส์ มีส่วนต่างน้อยที่สุด คือ +0.89 เมตร         เมื่อนำราคามาเปรียบเทียบกับความยาวเฉลี่ยที่วัดได้จริง เพื่อคำนวณหาราคาต่อเมตร พบว่า ยี่ห้อสกิลแล็บ พรีเมี่ยม เดนทัล ฟลอส มินท์ มีราคาสูงที่สุด คือ เมตรละ 3.49 บาท ส่วนยี่ห้อ fresh up มีราคาต่ำที่สุด คือ เมตรละ 0.35 บาท ข้อสังเกต- ทุกตัวอย่างมีข้อความหรือรูปภาพแนะนำวิธีการใช้ไหมขัดฟันไว้ให้  - จากข้อมูลที่ National Health Service (NHS) ของอังกฤษแนะนำความยาวของไหมขัดฟันที่ควรใช้ต่อครั้งไว้ประมาณ 45 เซนติเมตร พบว่ามี 8 ตัวอย่างที่บอกให้ใช้ความยาวตามที่แนะนำนี้ไว้บนฉลาก ได้แก่เดนท์พลัส ไหมขัดฟันเคลือบขี้ผึ้ง,สปาร์คเคิล ไวท์ เดนทัลฟลอส,ออรัล-บี ไกล์ด โปร-เฮลธ์ ดีพ คลีน ฟลอส, Watsons Dental Floss,ออรัล-บี เอนเซนเชียล ฟลอส, fresh up, สกิลแล็บ พรีเมี่ยม เดนทัล ฟลอส มินท์ และไหมขัดฟันเดนทิสเต้(18 นิ้ว = 45.72 เซนติเมตร)  ในขณะที่ยี่ห้อคอลเกต โททอล มินท์ ระบุความยาวที่ใช้ต่อครั้งยาวที่สุด คือ 50 เซนติเมตร และไหมขัดฟัน ดร.ฟิลิปส์ ระบุความยาวที่ใช้ต่อครั้งสั้นที่สุด คือ 25 เซนติเมตร รวมทั้งมีตัวอย่างที่ไม่ได้ระบุความยาวที่ใช้ต่อครั้งไว้คือ ยี่ห้อเดนติคอน ไหมขัดฟัน ฟลอส แอนด์ สมูท- วัสดุและส่วนประกอบหลักๆ ในไหมขัดฟัน คือ เส้นใยพลาสติกสังเคราะห์  ขี้ผึ้ง(wax) และกลิ่น/รสชาติ เมื่อสำรวจข้อมูลบนฉลากผลิตภัณฑ์ไหมขัดฟัน พบว่ามี 4 ตัวอย่างที่ไม่ระบุชนิดของเส้นใยพลาสติก ได้แก่ คอลเกต โททอล มินท์, ไหมขัดฟัน ดร.ฟิลิปส์, fresh up และ สกิลแล็บ พรีเมี่ยม เดนทัล ฟลอส มินท์ ส่วนที่ไม่ระบุว่าเคลือบขี้ผึ้งหรือไม่นั้นมี 2 ตัวอย่าง คือ ยี่ห้อคอลเกต โททอล มินท์ และ fresh up อีกทั้งมีเพียงตัวอย่างเดียวที่ระบุว่าไม่มีกลิ่น/รสชาติ คือ ยี่ห้อ REACH- ไหมขัดฟันฟลูโอคารีล ระบุว่าเหมาะสำหรับผู้เริ่มต้นใช้ไหมขัดฟัน เพราะมีเส้นไหมบางเพียง 0.04 มิลลิเมตร และเพิ่มโปรวิตามินบี 5 ที่ดีต่อเหงือกด้วย-ยี่ห้อสปาร์คเคิล ไวท์ เดนทัลฟลอส ระบุว่าเป็นไหมขัดฟันแบบเอ็กซ์แพนดิ้งที่จะขยายตัวช่วยเพิ่มพื้นผิวให้พอดีกับซอกฟัน ต่างจากไหมขัดฟันแบบปกติที่จะมีช่องว่าง-ไหมขัดฟัน ดร.ฟิลิปส์ ระบุว่าได้ผ่านการรับรองคุณภาพโดยสมาคมทันตแพทย์ของสหรัฐอเมริกา ส่วนยี่ห้อสกิลแล็บ พรีเมี่ยม เดนทัล ฟลอส มินท์ มีสัญลักษณ์ LABORATORY TESTED บนฉลาก คำแนะนำ - ไหมขัดฟันมีทั้งแบบเส้นใยไนลอนที่ลื่นและใช้ง่าย แต่จะบางและขาดง่าย และแบบพลาสติกเส้นใยเดี่ยว(PTFE) ที่เหนียวมากกว่า แต่อาจแข็งและบาดเหงือกจนเลือดไหลได้ - ควรเลือกใช้ไหมขัดฟันที่เส้นเล็กและแบนแผ่ออกได้เมื่อผ่านซอกฟัน สำหรับมือใหม่อาจเลือกใช้ชนิดเคลือบขี้ผึ้งเพราะใช้ง่าย แต่หากคล่องมือแล้วอาจใช้ชนิดไม่เคลือบขี้ผึ้ง เพราะมีความคมมากกว่า จะขจัดคราบหินปูนเกิดใหม่ได้ดีกว่า หรือจะปรึกษาทันตแพทย์เพื่อให้ช่วยเลือกให้ก็ได้-บางคนใช้ไหมขัดฟันแรกๆ อาจเจ็บและมีเลือดไหลได้ ซึ่งเลือดจะหยุดไหลเองถ้าสุขภาพเหงือกดี แต่หากเลือดยังไหลอยู่หลังจากใช้ไหมขัดฟันแล้ว 2-3 วัน ควรไปพบทันตแพทย์- หากไหมขัดฟันหมดกะทันหัน ไม่ควรใช้ด้ายเย็บผ้าหรือเส้นผมตัวเองมาแทนเด็ดขาด เพราะไม่ได้ผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อจึงยังมีเชื้อโรคติดอยู่ อาจเสี่ยงติดเชื้อได้- ไหมขัดฟันที่ใช้แล้วควรทิ้งทันที ห้ามนำกลับมาใช้ซ้ำ เพราะอาจเป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อแบคทีเรียได้ เมื่อพิจารณาคุณสมบัติโดยรวมๆ ของตัวอย่างผลิตภัณฑ์ไหมขัดฟันที่นำมาทดสอบนี้แล้ว ดูไม่แตกต่างกันมากนัก ดังนั้นการเลือกซื้ออาจไม่สำคัญเท่ากับการใช้ไหมขัดฟันอย่างถูกวิธีและสม่ำเสมอ ซึ่งจะช่วยดูแลสุขอนามัยในช่องปากให้สะอาดล้ำลึกยิ่งขึ้นข้อมูลอ้างอิง https://www.pobpad.com/https://www.hisopartyofficial.com/contenthttps://chulalongkornhospital.go.thhttps://www.thaihealth.or.th/https://themomentum.co/plastic-diary-ep3/

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 246 ห้างไหนช่วยเซฟคุณจาก “อาหารหมดอายุ”

        จากเรื่องร้องเรียนเรียนเกี่ยวกับอาหารหมดอายุที่ซื้อจากร้านสะดวกซื้อและห้างสรรพสินค้า ที่มีเข้ามายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคอยู่บ่อยครั้ง นิตยสารฉลาดซื้อจึงได้ส่งแบบสอบถามไปยังผู้ประกอบการ ในเรื่องโยบายว่าด้วยการจัดเก็บอาหารใกล้หมดอายุหรือหมดอายุออกจากชั้นวาง โดยบริษัทมีระยะเวลาในการตอบกลับตั้งแต่วันที่ 5 - 23 เมษายน 2564          จากทั้งหมด 11 บริษัทที่ได้รับแบบสอบถาม มีบริษัทที่ตอบกลับมาเพียง 3 ราย คือบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์  (Big C)เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม (Tesco Lotus)อิออน (ไทยแลนด์) (Maxvalu)ซึ่งในภาพรวมพบว่าทั้ง 3 ราย มีนโยบาย มาตรการ ขั้นตอน ช่องทางร้องเรียน และการกำหนดระยะเวลาในการจัดเก็บอาหารใกล้หมดอายุ/หมดอายุ ออกจากชั้นวางค่อนข้างชัดเจน อาจแตกต่างกันบ้างในอาหารแต่ละประเภท  รายละเอียดเกี่ยวกับแนวคิด นโยบาย มาตรการ ช่องทางและระยะเวลาจัดการกับเรื่องร้องเรียน ของผู้ประกอบการทั้งสามรายมีอะไรบ้าง ไปดูกันเลย ผลการสำรวจ(ผลการสำรวจมี 5 หัวข้อ ใช้หัวข้อละ 1 หน้า หน้าไหนข้อมูลน้อยลงภาพประกอบ)ความคิดเห็นต่อเรื่องการจัดเก็บอาหารใกล้หมดอายุ/หมดอายุ ออกจากชั้นวาง Big Cคำนึงถึงลูกค้าเป็นอันดับแรก โดยตระหนักและให้ความสำคัญเรื่องสินค้าหมดอายุเป็นอย่างมาก เพื่อให้ลูกค้าได้สินค้าที่มีคุณภาพอยู่เสมอ โดยได้กำหนดให้มีมาตรการในการจัดการเรื่องการเก็บสินค้าที่ใกล้หมดอายุและหมดอายุออกจากชั้นวาง เช่น การทำ MOU สินค้า (First in First out) การกำหนดระยะเวลาที่จะเก็บสินค้าออกจากชั้นวางฯ ล่วงหน้าก่อนหมดอายุ เป็นต้นMaxvaluให้ความสำคัญเรื่องการดำเนินการด้านสินค้าอาหารใกล้หมดอายุ/หมดอายุ เป็นอย่างมาก ในทุกๆ แผนกไม่ว่าจะเป็นสินค้าหารสดหรือาหารแห้ง ต้องเก็บออกจากชั้นวาง ตามกฎเกณฑ์ที่บริษัทกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้มีสินค้าหมดอายุในพื้นที่ขายและเพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพของลูกค้าที่มาใช้บริการTesco Lotusตระหนักและให้ความสำคัญกับการควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้าและบริการ การจัดจำหน่ายสินค้าที่มีคุณภาพและปลอดภัยคือหน้าที่และความรับผิดชอบที่สำคัญที่สุด เพื่อผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าจากสาขาและช่องทางออนไลน์ได้บริโภคสินค้าที่ปลอดภัยและมีคุณภาพสูงสุด โดยมีมาตรการจัดเก็บอาหารใกล้หมดอายุ หรือ อาหารหมดอายุ ออกจากชั้นวางสินค้าทันที           นโยบายในการจัดเก็บอาหารใกล้หมดอายุ/หมดอายุ ออกจากชั้นวางBig Cนโยบายเกี่ยวกับการจัดการกับอาหารที่ใกล้หมดอายุ มีดังนี้        1. ห้ามจำหน่ายอาหารที่หมดอายุ        2. การทำ FIFO สินค้า (First in First out) เพื่อบริหารสินอายุสินค้า        3. กำหนดระยะเวลาในการเก็บออกจากชั้นวาง ล่วงหน้าก่อนวันหมดอายุ        4. สินค้าจะถูกเก็บล่วงหน้าก่อนวันหมดอายุ 1 วัน เพื่อทำลายทิ้ง Tesco Lotusมีแนวปฏิบัติเรื่องการควบคุมอายุการวางจำหน่ายสินค้า (Data Code Management) ซึ่งกำหนดมาตรการจัดเก็บอาหารใกล้หมดอายุ/หมดอายุ และสินค้าที่ด้อยคุณภาพ หรือมีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของผู้บริโภคออกจากชั้นวางสินค้า โดยนำหลักบริหารความเสี่ยงมาใช้ในการควบคุมอายุการวางจำหน่ายสินค้าMaxvaluมีนโยบายในการตรวจเช็คสินค้าที่ใกล้หมดอายุ/หมดอายุ โดยมีแผนงาน ขั้นตอนการดำเนินการ และผู้รับผิดชอบแต่ละแผนกอย่างชัดเจน หากพบว่าการดำเนินการมีปัญหา ก็จะตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อให้มีแนวทางการปรับปรุงแก้ไขทันที มาตรการ ขั้นตอน ในการจัดเก็บอาหารใกล้หมดอายุ/หมดอายุ ออกจากชั้นวาง Big Cขั้นตอนในการดำเนินการตามนโยบายดังที่กล่าวมาข้างต้น มีดังนี้        1. การทำ FIFO สินค้า (First in First out)            - ดำเนินการในทุกวันก่อนเปิดบริการ และระหว่างวันตามเวลาที่กำหนด            - ทำการคัดแยก หากพบอาหารที่ใกล้หมดอายุตามที่กำหนด            - หากพบอาหารเสื่อมสภาพ และอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ ให้เก็บออกจากชั้นวางฯ และนำไปกำจัดหรือทำลายตามวิธีการที่กำหนด        2. มีการตรวจสอบโดยหน่วยงานเฉพาะ Maxvaluมาตรการเก็บอาหารใกล้หมดอายุ/หมดอายุ ออกจากชั้นวาง  คือ ปลา/เนื้อ ก่อนหมดอายุ 1-3 วัน ผัก/ผลไม้ ผลไม้ตกแต่ง สินค้าฝากขาย ก่อนหมดอายุ 1 วัน และ Dry/San&HBC ก่อนหมดอายุ 1 เดือน Tesco Lotusมาตรการการจัดเก็บอาหารใกล้หมดอายุ/หมดอายุ และสินค้าที่ด้อยคุณภาพ หรือมีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของผู้บริโภคออกจากชั้นวางสินค้า มีขั้นตอนดังนี้        1.   สินค้าที่ระบุวันหมดอายุบนภาชนะบรรจุสินค้า        ร้านค้าจะตรวจสอบสินค้าที่ใกล้หมดอายุและนำออกจากชั้นวางสินค้า ก่อนถึงวันหมดอายุอย่างน้อย 15 วัน แล้วแต่ประเภทและอายุสินค้า (shelf life) อาทิ สินค้าที่มีอายุมากกว่า 1 ปี จะถูกนำออกจากชั้นวางสินค้าอย่างน้อย 60 วัน ก่อนวันหมดอายุ และสินค้าที่มีอายุระหว่าง 2-6 เดือน จะถูกนำออกจากชั้นวางสินค้าอย่างน้อย 15 วัน เป็นต้น        2.   สินค้าที่ไม่ระบุวันหมดอายุ        ร้านค้าจะตรวจสอบสินค้าที่ไม่ระบุวันหมดอายุบนภาชนะบรรจุ โดยนับอายุสินค้าจากวันผลิตที่แสดงอยู่บนภาชนะบรรจุเดิม ตามที่ระบุไว้ใน Shelf Life Guideline เพื่อจัดเก็บอาหารใกล้หมดอายุ/หมดอายุออกจากชั้นวาง ได้อย่างถูกต้องตามกำหนดนอกจากนั้น ในส่วนของอาหารสด  ฝ่ายควบคุณภาพสินค้าจะดำเนินการตรวจสอบปริมาณสินค้าสด และนำสินค้าที่ใกล้หมดอายุ/หมดอายุจากชั้นวาง (Stock take) ภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในคู่มือของฝ่ายควบคุมคุณภาพสินค้า ซึ่งช่วงเวลาการตรวจสอบปริมาณสินค้า และการนำสินค้าออกจากชั้นวาง จะแตกต่างกันออกไปตามประเภทสินค้าช่องทางร้องเรียนBig Cผู้บริโภคสามารถร้องเรียนได้ 2 ช่องทาง    - Big C contact center โทร 1756 กด 2    - Facebook (FB) : Big C (ส่วนกลางและสาขา) Maxvaluผู้บริโภคสามารถร้องเรียนได้ 3 ช่องทาง    - สำนักงานใหญ่ โทร 02-9701826-30 ต่อแผนก customer service    - เว็บไซต์ของบริษัท www.aeonthailand.co.th    - Facebook: MaxvaluThailand  Tesco Lotusผู้บริโภคสามารถร้องเรียนได้ 3 ช่องทาง    - ร้านค้า ผ่านศูนย์รับเรื่องราวร้องเรียน    - โทรสายด่วน 1712    - Facebook: Tesco Lotus และ Tesco Lotus Online      หากเป็นกรณีสินค้าไม่มีคุณภาพ ไม่ปลอดภัย ไม่เป็นไปตามกฎหมาย ผู้บริโภคสามารถขอรับเงินค่าสินค้าคืนได้ทันที นอกจากนี้ทุกข้อร้องเรียนปัญหาสินค้าไม่มีคุณภาพ ไม่ปลอดภัย จะถูกส่งต่อไปยังทุกฝ่ายที่jเกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบอย่างรอบด้านและป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาดังกล่าวขึ้นอีกในอนาคต ระยะเวลาในการดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนBig Cดำเนินการติดต่อกับลูกค้าที่ร้องเรียน และประสานงานไปที่สาขาที่ถูกร้องเรียน หลังจากนั้นสาขาจะติดต่อกลับโดยเร็วที่สุดMaxvaluแก้ปัญหาทันทีที่ทราบเรื่องร้องเรียน พร้อมทั้งมีมาตรการดำเนินการแก้ไขให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน Tesco Lotusแก้ไขปัญหา คืนเงินค่าสินค้าตามช่องทางการร้องเรียนต่างๆ ทันที หรือภายใน 24 ชั่วโมง นับจากได้รับเรื่องร้องเรียน ----ก่อนหน้านี้มีงานวิจัยของป่าสาละ ที่สำรวจประเมินความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคผ่านการจัดซื้ออาหารสดของห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ 6 แห่ง และห้างค้าปลีกขนาดกลางที่เน้นขายอาหารสดอีก 2 แห่ง (Big C / CP Fresh Mart / Foodland / Gourmet Market / Makro/  Tops / Tesco Lotus และ Villa Market) ประจำปี 2562 โดยใช้ข้อมูลที่เผยแพร่ต่อสาธารณะ ณ วันที่ 30 เมษายน 2563จากการสำรวจโดยใช้ตัวชี้วัด 8 ด้าน ได้แก่ความปลอดภัยของอาหาร ส่วนประกอบที่มาของอาหาร ภาวะโภชนาการ กลไกรับเรื่องร้องเรียน กลไกเยียวยา การมีส่วนร่วมของผู้บริโภค การให้ความรู้แก่ผู้บริโภค และการให้ความร่วมมือกับภาคส่วนอื่นๆ ผู้วิจัยพบว่า จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน ห้างเหล่านี้ 5 รายไม่ได้คะแนนเลย ในขณะที่อีกสามห้างที่ได้คะแนนจากตัวชี้วัดเหล่านี้ได้แก่ Makro ที่ได้ไป 25 คะแนน  Top ได้ 16.67  และ CP Fresh Mart ที่ได้ไป 12.50 คะแนนอีกประเด็นที่น่าสนใจในการสำรวจดังกล่าวคือมีตัวชี้วัด 2 ด้าน ได้แก่ กลไกเยียวยา และการมีส่วนร่วมของผู้บริโภค ที่ไม่มีห้างไหนให้ข้อมูลไว้เป็นสาธารณะให้ผู้บริโภคได้ทราบเลย 

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 246 Plant-Based Food ทางเลือกของเรา ทางรอดของโลก

        เมื่อปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเป็นโจทย์ใหญ่ของชาวโลก ผู้บริโภคต่างหันมาดูแลตัวเองในเรื่องอาหารการกินด้วยวิถีธรรมชาติกันมากขึ้น เน้นกินพืชผักและลดเนื้อสัตว์ ตามแนวทาง ’กินสู้โรค’ และ’กินเปลี่ยนโลก’ ในรูปแบบต่างๆ กัน อาหารทางเลือกจึงถูกพัฒนาให้มีความหลากหลาย อย่างล่าสุดกระแส plant-based food ที่กำลังมาแรงในตลาดอาหารสุขภาพ ก็ว่ากันว่าเป็นอาหารแห่งอนาคตฟีลกู๊ดที่ดีต่อเรา ดีต่อโลก และดีต่อใจด้วย         Plant-Based Food ผลิตภัณฑ์อาหารจากพืช         เนื้อทำจากขนุนอ่อน หมูสับจากเห็ดแครง เบค่อนจากเส้นใยเห็ด นมจากข้าวโอ๊ต ไข่จากถั่วเขียว         ผลิตภัณฑ์อาหารเหล่านี้คือตัวอย่าง plant-based food กลุ่มอาหารโปรตีนทางเลือกที่นำพืชโปรตีนสูง เช่น ถั่วและธัญพืชต่างๆ เห็ด สาหร่าย ข้าวโอ๊ต แอลมอนด์ เป็นต้น มาเป็นวัตถุดิบหลักใช้ผลิตอาหารให้มีลักษณะและรสชาติใกล้เคียงกับผลิตภัณฑ์จากสัตว์มากที่สุด โดยคิดค้นและผลิตขึ้นมาเพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ลดปัญหาขาดแคลนอาหารในระยะยาว เป็นอาหารทางเลือกให้ผู้บริโภคที่ต้องการลดหรือลด ละ เลิกกินเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลทางศาสนา ความเชื่อ ความชอบ หรือความจำเป็นส่วนตัวใดๆ ก็ตาม กินได้อย่างสบายใจ มีทั้งในรูปแบบเนื้อสัตว์ นมและผลิตภัณฑ์จากนม ไข่ รวมถึงอาหารปรุงสำเร็จ           เนื้อไร้เนื้อ เปิดใจผู้บริโภค ปลุกเทรนด์อาหารจากพืช         ความก้าวหน้าของนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์การอาหารในปัจจุบัน ทำให้ผู้ผลิตพลิกแพลงพืชผักผลไม้กลายมาเป็นอาหารที่คล้ายมาจากสัตว์จริงๆ มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเนื้อสัตว์จากพืช (plant -based meat) ที่พัฒนาให้มีรูปลักษณ์ รสชาติ กลิ่น เนื้อสัมผัส และสีสัน เสมือนเป็นเนื้อวัว หมู ไก่ กุ้ง และอาหารทะเลต่างๆ จริงๆ นั้น เชิญชวนให้ผู้บริโภคเปิดใจลิ้มลอง สอดคล้องกับกลุ่มคนกินผักก็ดีกินเนื้อก็ได้ (Flexitrain) ที่มากขึ้น อย่างในไทยเอง 1 ใน 4 ของประชากร หันมาลดกินเนื้อสัตว์เพื่อสุขภาพ 65% เพื่อควบคุมน้ำหนัก 20% โดยส่วนใหญ่จะงดกินในวันพระหรือวันเกิด ประกอบกับแนวโน้มผู้บริโภคที่ดูแลสุขภาพ ใส่ใจสิ่งแวดล้ม และกังวลการปนเปื้อนในเนื้อสัตว์มีเพิ่มขึ้น จึงเป็นปัจจัยที่ปลุกตลาดอาหารจากพืชทั่วโลกให้คึกคัก โดยศูนย์วิจัยกรุงไทย COMPASS ประเมินไว้เมื่อปี 2563 ว่า ตลาดเนื้อจากพืชในไทยเติบโตเฉลี่ยปีละ 10% ต่อปี และคาดว่ามูลค่าตลาดอาจแตะที่ 4.5 หมื่นล้านบาทในปี 2567         ในช่าง 2-3 ปีที่ผ่านมา เนื้อสัตว์จากพืชได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น มีวางขายในซุปเปอร์มาร์เกตทั่วไป ในรูปแบบเป็นวัตถุดิบและอาหารสำเร็จรูป ปัจจุบันมีให้เลือกหลายยี่ห้อทั้งที่นำเข้าจากต่างประเทศและผลิตในไทย เช่น  BEYOND MEAT, OmniMeat, NEVER MEAT, Meat Avatar, Let’s Plant Meat, More Meat, OMG Meat, MEAT ZERO, VG for Love และ Healthiful เป็นต้น         โปรตีนทางเลือก...ดีต่อเรา         ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ คนชรา ต่างต้องการโปรตีนเป็นองค์ประกอบในอาหารเพื่อช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย การกินเนื้อ นม ไข่ ที่ผลิตจากพืชจึงเป็นอาหารโปรตีนทางเลือกที่เหมาะต่อสุขภาพ โดยเฉพาะคนที่แพ้โปรตีนจากสัตว์ ทั้งยังย่อยง่าย มีใยอาหารสูง มีไขมันดี(ไขมันไม่อิ่มตัว) ให้พลังงานต่ำ มีคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอร์ไรด์ต่ำ จึงช่วยให้ระบบขับถ่ายดี ควบคุมน้ำหนัก ป้องกันและรักษาโรคได้ เช่น โรคอ้วน โรคหัวใจ หลอดเลือดหัวใจ เป็นต้น         พืชบางชนิดมีกรดอะมิโนจำเป็นอยู่น้อย  ผู้บริโภคควรเลือกกินอาหารจากพืชที่หลากหลายเพื่อให้มั่นใจว่าร่างกายจะได้รับโปรตีนเพียงพอ ในแต่ละวันคนทั่วไปควรได้รับโปรตีน 0.8-1 กรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ไม่อย่างนั้นอาจเสี่ยงต่อภาวะพร่องโปรตีน ร่างกายต้องสลายโปรตีนจากกล้ามเนื้อบางส่วนมาทดแทน ทำให้อาจเกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงได้         สำหรับคนที่แพ้ถั่วควรเลี่ยง เพราะอาหารจากพืชส่วนใหญ่ใช้ถั่วและธัญพืชต่างๆ เป็นวัตถุดิบ รวมทั้งคนที่เป็นโรคโลหิตจางหรือมีอาการมือเท้าชา ควรกินอาหารอื่นๆ ที่มีธาตุเหล็กและวิตามินบี 12 เสริมด้วย เพราะในพืชมีธาตุเหล็กและวิตามินบี 12 น้อยกว่าเนื้อสัตว์         แม้ plant - based food จะเน้นคุณค่าทางโภชาการและความปลอดภัยเป็นสำคัญ คัดเลือกวัตถุดิบมาผลิตอย่างดีไม่ให้มีสารปนเปื้อนอันตราย เลี่ยงใช้พืชตัดต่อพันธุกรรม และพยายามคงคุณค่าของสารอาหารจากธรรมชาติไว้ให้ได้มากที่สุด แต่ถึงกระนั้นก็ยังได้ชื่อว่าเป็นอาหารแปรรูป หรือ Highly Process Food อย่างโบโลน่า เบอร์เกอร์ ไส้กรอก ที่ทำจากพืชนั้น ในบางผลิตภัณฑ์อาจมีสารปรุงแต่งรสสีผสมอาหาร และเกลือโซเดียมในปริมาณสูง          ลดก๊าซเรือนกระจก...ดีต่อโลก         ลดกินเนื้อสัตว์ ลดทำปศุสัตว์ ลดภาวะโลกร้อน         อุตสาหกรรมปศุสัตว์เป็นสาเหตุหนึ่งของการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อขยายพื้นที่เลี้ยงสัตว์ ทำให้โลกสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ การใช้ที่ดินเพื่อทำปศุสัตว์เป็นต้นทางของก๊าซเรือนกระจกถึง 1 ใน 4 ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยจากการใช้ที่ดินทั้งหมดในโลก เราต้องใช้พื้นที่เลี้ยงสัตว์ถึง 77% ของพื้นที่เกษตรทั้งหมด เพื่อผลผลิตเพียง 17% ของอาหารที่มนุษย์บริโภค         ในขณะที่การผลิตเนื้อที่ทำจากพืชใช้ที่ดินน้อยกว่าเนื้อสัตว์จริง 47%-99% ใช้น้ำน้อยกว่าเนื้อสัตว์จริง 72%-99% ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่ากระบวนการผลิตเนื้อสัตว์จริง 30%-90% ดังนั้นการเปลี่ยนแนวทางมาบริโภคอาหารจากพืชแทนเนื้อสัตว์ จะช่วยประหยัดทรัพยากรธรรมชาติ และลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกได้         องค์การสหประชาชาติก็มีแนวทางส่งเสริมให้อุตสาหกรรมอาหารใช้ส่วนประกอบของพืชแทนเนื้อสัตว์ ผลิตอาหารออแกนิค เพื่อลดการปล่อยมลพิษ ตั้งเป้าสู่ “Net Zero” ให้คาร์บอนไดออกไซค์เป็นศูนย์ เพราะอุตสาหกรรมอาหารนั้นปล่อยคาร์บอนฯออกมากว่า 30-40% ของปริมาณคาร์บอนฯทั้งหมด         หากการใช้ที่ดินเพื่อเลี้ยงสัตว์ถูกแทนที่ด้วยแปลงผักเกษตรอินทรีย์เพื่อเป็นวัตถุดิบให้ผู้ผลิตอาหารจากพืช จะช่วยฟื้นฟูให้สภาพแวดล้อมกลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง ทั้งยังรักษาความหลากหลายทางชีวภาพของโลกและสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ได้ด้วย         สร้างความมั่นคงทางอาหาร...ดีต่อใจ         การกินอาหารจากพืชเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหารไว้เป็นมรดกให้ลูกหลานได้         คาดการณ์กันว่าในปี พ.ศ.2593 ประชากรโลกจะมีจำนวนถึง 9.7 พันล้านคน ในขณะที่ทรัพยากรธรรมชาติมีจำกัดอยู่เท่าเดิม ซ้ำเติมด้วยภัยธรรมชาติร้ายแรงและโรคระบาดขั้นวิกฤติ การขาดแคลนอาหารจึงกลายเป็นความกังวลของคนทั่วโลก หลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องปากท้องจึงมองว่าการผลิตอาหารจากพืชที่มีคุณค่าทางโภชนาการดี ในปริมาณมากพอและราคาที่คนทั่วไปเข้าถึง โดยใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า น่าจะเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยแก้ปัญหาความมั่นคงทางอาหาร (food security) ได้         ผู้ผลิตอาหารส่วนใหญ่เริ่มคิดหาวิธีการทำให้อาหารเพียงพอต่อประชากรโลก พร้อมลดขั้นตอนการผลิตอาหารที่เป็นตัวทำลายสภาพแวดล้อม จนพบว่าการผลิตอาหารจากพืชทดแทนเนื้อสัตว์ การฟื้นฟูเกษตรกรรมตามวิถีธรรมชาติ และสนับสนุนการใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นนั้น น่าจะช่วยเพิ่มปริมาณอาหารที่มีประโยชน์และปลอดภัยให้มากขึ้นและยั่งยืนได้ในอนาคต         อีกแนวคิดหนึ่งที่สร้างเนื้อจากพืชขึ้นมาก็เพื่อจะได้ไม่ต้องไปเบียดเบียนผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ หรืออุตสาหกรรมที่สร้างความลำบากให้กับสัตว์ด้วย นอกจากนี้การกินอาหารจากสัตว์น้อยลงยังช่วยให้สุขภาพจิตดีขึ้นได้ โดยมีการวิจัยพบว่าผู้ที่เคยกินเนื้อสัตว์เป็นประจำทุกวันมีแนวโน้มอารมณ์ดีขึ้นและเครียดน้อยลงหลังจากกินมังสวิรัติได้เพียง 2 สัปดาห์ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะเนื้อสัตว์มีส่วนประกอบของกรดไขมันสายยาว (Long-chainofomega-6 fattyacid )ที่เกี่ยวข้องกับอาการซึมเศร้า จึงทำให้คนกินมังสวิรัติส่วนใหญ่มีสุขภาพจิตที่ดีกว่า (Nutrition Journal, 2010, 2012)        เมืองนวัตกรรมอาหาร หนุนผลิตภัณฑ์จากพืช        หลายหน่วยงานภาครัฐเองก็เข้ามาช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่สนใจผลิตอาหารจากพืช ให้คิดค้นและสร้างนวัตกรรมใหม่ได้ง่ายขึ้นในต้นทุนที่ลดลง         เมืองนวัตกรรมอาหารที่ตั้งขึ้นโดยสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ได้ออกแบบแพลตฟอร์มให้บริการภาคเอกชนไว้ค่อนข้างครบวงจร ตั้งแต่การวิจัยและพัฒนา การผลิต การขอขึ้นทะเบียนกับองค์การอาหารและยา(อย.) และปัจจัยเรื่องการตลาด รวมทั้งตั้งโรงงานขนาดเล็กที่ช่วยสนับสนุนการผลิตให้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่หรือสตาร์ทอัพด้วย โดยการผลิตอาหารโปรตีนทางเลือกนี้จะทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์         ทั้งนี้เพราะมองเห็นโอกาสของประเทศไทยที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ มีวัตถุดิบพื้นถิ่นอีกมากที่จะเลือกเป็นแหล่งโปรตีนใหม่จากพืชได้ เมื่อนำนวัตกรรมมาพัฒนาให้ตอบโจทย์เรื่องรสชาติ ลักษณะของผลิตภัณฑ์ การเก็บรักษา การนำไปทำอาหารได้สะดวก และถูกปากถูกใจผู้บริโภคแล้ว อุตสาหกรรมอาหารจากพืชนี้น่าจะเติบโตได้ดีทั้งตลาดในประเทศและตลาดโลก           ความปลอดภัยใน ‘อาหารใหม่’         อาหารจากพืชที่ผลิตด้วยนวัตกรรมใหม่นั้นส่วนใหญ่จัดเป็น ‘อาหารใหม่’ ซึ่งอาจมีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยในการบริโภค หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศจึงกำหนดให้ผู้ประกอบการต้องส่งอาหารที่เข้าข่ายว่าเป็นอาหารใหม่มาประเมินความปลอดภัยก่อนนำออกจำหน่าย         เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2559 กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศ ฉบับที่ 376 เรื่อง อาหารใหม่ หรือ Novel food โดยกล่าวว่าในปัจจุบันนี้มีการนำวัตถุที่ไม่เคยบริโภคเป็นอาหารมาใช้เป็นอาหารหรือส่วนประกอบอาหาร อีกทั้งมีการพัฒนากระบวนการผลิตอาหารโดยใช้เทคโนโลยีที่ไม่เคยใช้มาก่อน จึงสมควรมีมาตรการการประเมินความปลอดภัยรองรับเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค โดยมีการให้ความหมายของอาหารใหม่ไว้ 3 ข้อ ดังนี้         1) อาหารใหม่ หมายถึง อาหารหรือส่วนประกอบของอาหาร ที่ปรากฏหลักฐานทางวิชาการว่ามีประวัติการบริโภคเป็นอาหารน้อยกว่า 15 ปี         2) อาหารใหม่ หมายถึง อาหารหรือส่วนประกอบของอาหาร ที่ได้จากกระบวนการผลิตที่มิใช่กระบวนการผลิตโดยทั่วไปของอาหารนั้นๆ ที่ทำให้ส่วนประกอบ โครงสร้างของอาหาร รูปแบบของอาหารนั้นเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลต่อคุณค่าทางโภชนาการ กระบวนการทางเคมีภายในร่างกายของสิ่งมีชีวิต (Metabolism) หรือระดับของสารที่ไม่พึงประสงค์ (level of undesirable substances)         3) อาหารใหม่ หมายถึง ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีวัตถุตามข้อ 1) และ ข้อ 2) เป็นส่วนประกอบ ทั้งนี้ ไม่รวมถึงวัตถุเจือปนอาหารและอาหารที่ได้จากเทคนิคการดัดแปรพันธุกรรม อาหารที่เข้าข่ายเป็นอาหารใหม่นี้จะต้องผ่านการประเมินความปลอดภัยและต้องส่งมอบฉลากให้สํานักงานคณะกรรมการอาหารและยาตรวจอนุมัติก่อนนําไปใช้         หน่วยงานที่ประเมินความปลอดภัยของอาหารใหม่ ได้แก่        1) ศูนย์ประเมินความเสี่ยงประเทศไทย สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล        2) สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร สังกัดกระทรวงสาธารณสุข        3) สถาบันอาหาร สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม         อาหารใหม่ที่ผ่านการตรวจสอบและได้รับการรับรองจากหน่วยงานดังกล่าวแล้ว จะผลิตเพื่อจำหน่ายได้ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป ในบางกรณีอาจมีกฎระเบียบเพิ่มเติมสำหรับการแสดงฉลากของอาหารใหม่ เช่น คำเตือนที่แสดงว่าอาหารใหม่นั้นไม่เหมาะกับกลุ่มผู้บริโภคที่จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูง รวมถึงการกล่าวอ้างทางโภชนาการและสุขภาพต้องเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วยเช่นกัน          ในต่างประเทศ หน่วยงานความปลอดภัยด้านอาหารแห่งสหภาพยุโรป รวมถึงรัฐสภาและคณะกรรมการสหภาพยุโรป เป็นหน่วยงานต้นแบบที่ได้ออกกฎหมายเกี่ยวกับอาหารใหม่ มีหลักสำคัญในการสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ด้านอาหาร โดยที่ยังทำให้ผู้บริโภคชาวยุโรปยังคงมั่นใจได้ถึงความปลอดภัยของอาหารและเพิ่มประเภทอาหารให้หลากหลายเพื่อเป็นทางเลือกในการบริโภค         นอกจากนี้สมาคมอาหารจากพืช (Plant Based Foods Association) ในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบดูแลตลาดการค้าสินค้าอาหารจากพืชในสหรัฐฯ ยังได้ริเริ่มโครงการแสดงตราสินค้า “Certified Plant Based” เพื่อรับรองสินค้าและสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคตั้งแต่ปลายปี 2561 โดยผู้ประกอบการยื่นเอกสารเพื่อขอใช้ตราสัญลักษณ์ได้ที่ The Public Health and Safety Organization         ล่าสุดองค์กร Chinese Institute of Food Science and Technology (CIFST) ได้ร่างมาตรฐานกลุ่มสำหรับผลิตภัณฑ์เนื้อจากพืช (T/CIFST 001-2020) เป็นมาตรฐานแบบสมัครใจให้ภาคอุตสาหกรรมได้นำไปใช้ในธุรกิจของตน โดยมาตรฐานดังกล่าวได้นิยามและข้อกำหนดต่าง ๆ ทั้งในแง่องค์ประกอบผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์และการติดฉลาก กำหนดประกาศใช้ในวันที่ 25 มิถุนายน 2564          ดูฉลากอย่างฉลาด        ข้อมูลจาก Krungthai COMPASS สำรวจพฤติกรรมการกินอาหารของคนไทยปี 2561 พบว่า 53% ต้องการลดการบริโภคเนื้อสัตว์ ขณะที่อีก 45% สนใจที่จะปรับเปลี่ยนไปกินอาหารแบบมังสวิรัติ วีแกน และอาหารจากพืชมากขึ้น         ไม่ว่าผู้บริโภคจะเลือกกินผลิตภัณฑ์อาหารจากพืชนี้ด้วยเหตุผลใดก็ตาม นอกจากความอร่อยที่ต้องพิสูจน์ด้วยรสนิยมส่วนตัวแล้ว ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ให้คุณค่าทางโภชนาการและความปลอดภัยในราคาที่สมเหตุสมผล โดยพิจารณารายละเอียดบนฉลากสินค้าเป็นสำคัญ        1.ต้องมีสัญลักษณ์ อย. เพื่อแสดงว่าได้ผ่านมาตรฐานอาหารปลอดภัยมาแล้ว        2.ดูวันเดือนปีที่ผลิตและวันเดือนปีที่หมดอายุ โดยต้องเรียงวันเดือนปีตามลําดับ และมีข้อความว่า “ผลิต” “หมดอายุ” หรือ “ควรบริโภคก่อน” กํากับไว้ด้วย        3.ดูวัตถุดิบจากพืชที่นำมาผลิต ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นถั่วและเห็ดต่างๆ หากแพ้ควรเลี่ยง        4.ดูข้อมูลโภชนาการว่าให้ปริมาณโปรตีนมากพอที่ต้องการไหม มีพลังงานเท่าไหร่ รวมทั้งปริมาณโซเดียมและไขมันเท่าไร เพราะเนื้อสัตว์จากพืชก็มีโซเดียมและไขมันได้เหมือนกัน        5.ดูปริมาณคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาลประกอบด้วย พืชบางชนิดให้แป้งมากกว่าโปรตีน        6.ถ้าระบุว่ามีสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น แคลเซียม ไฟเบอร์ หรือเพิ่มวิตามินและแร่ธาตุที่มักขาดในวัตถุดิบจากพืชด้วย เช่น วิตามินบี 12 วิตามินดี โอเมก้า-3 สังกะสี และเหล็ก เป็นต้น ก็เป็นตัวเลือกดีที่ช่วยเสริมคุณค่าทางโภชนาการในอาหาร        7.ควรเลือกผลิตภัณ์ที่เติมสารปรุงแต่งหรือผ่านกระบวนการแปรรูปน้อยที่สุด        8.ควรเลือกวัตถุดิบจากเกษตรอินทรีย์ และกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ถ้ามีการตอบแทนต่อสังคมด้วยก็ดี เช่น ใช้วัตถุดิบที่เอื้อให้เกษตรกรในท้องถิ่นมีรายได้ เป็นต้น         ปัจจุบันตลาด plant-based food มีการแข่งกันเสนอผลิตภัณฑ์อาหารทางเลือกใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ถือเป็นโอกาสดีที่ผู้บริโภคจะได้เลือกซื้ออาหารจากพืชที่หลากหลาย มีคุณภาพและราคาถูกลง  ทั้งยังน่าจะช่วยชะลอความรุนแรงของผลกระทบจากปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างๆ เพื่อให้สิ่งมีชีวิตต่างๆ อยู่รอดปลอดภัยได้นานขึ้นอีกสักหน่อยด้วย    ข้อมูลอ้างอิงKrungthai COMPASS ฉบับตุลาคม 2020เว็บไซต์ สอวช. (https://www.nxpo.or.th)เว็บไซต์ สมอช. (https://warning.acfs.go.th)https://pharmacy.mahidol.ac.thhttps://workpointtoday.com/plant-based-food-warhttps://marketeeronline.co/archives/210350https://www.sarakadeelite.com/better-living/plant-based-meat/https://brandinside.asia/whole-foods-plant-based-protein/https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/945907

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 246 ความเคลื่อนไหวเดือนสิงหาคม 2564

ปรับเป็นแสน ห้ามนำ-ใช้ ครีมกันแดดที่มีสารเคมีอันตรายเข้าอุทยานแห่งชาติ        3 สิงหาคม ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ ประกาศกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เรื่อง ห้ามนำและใช้ครีมกันแดดที่มีส่วนประกอบของสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อปะการังเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ ใจความสำคัญระบุว่า ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวเข้าไปท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติทางทะเลเป็นจำนวนมาก รวมทั้งมีการนำและใช้ครีมกันแดดที่มีสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อปะการังเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ ทั้งนี้จากข้อมูลทางวิชาการพบว่า สารเคมีหลายชนิดที่พบในครีมกันแดดมีส่วนทำให้ปะการังเสื่อมโทรมลง มีส่วนทำลายตัวอ่อนปะการัง ขัดขวางระบบสืบพันธุ์และทำให้ปะการังฟอกขาว  ดังนั้นเพื่อเป็นการสงวน อนุรักษ์ คุ้มครองดูแลทรัพยากรและป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อปะการังและระบบนิเวศในอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติจึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 20 แห่ง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 ออกประกาศดังนี้         ห้ามนำและใช้ครีมกันแดด ที่มีส่วนประกอบของสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อปะการังเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ ได้แก่ Oxybenzone , Octinoxate ,4-Methylbenzylid Camphor และ Butylparaben หากผู้ใดฝ่าฝืนมีความผิดมาตรา 20 ประกอบมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2561 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท         ประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ซื้อยาฟ้าทะลายโจรระวังเจอของปลอม         23 สิงหาคม 2564 กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา แถลงผลการปฏิบัติกรณีบุกตรวจค้นโรงงานลักลอบผลิตยาฟ้าทะลายโจรโดยไม่ได้รับอนุญาต มูลค่าของกลางกว่า 200,000 บาท พร้อมจับแม่ลูกเจ้าของโรงงานที่ลักลอบผลิตยาฟ้าทะลายโจรปลอม  เนื่องจากมีกรณีผู้ร้องเรียนแจ้งว่า ได้สั่งซื้อยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจรที่มีการโฆษณาตามเพจเฟซบุ๊ก แล้วพบว่ายาไม่มีรสชาติขมซึ่งผิดปกติจากฟ้าทะลายโจรที่มีรสขมเป็นลักษณะเด่น จึงดูที่ฉลากพบระบุสถานที่ผลิตคือ “ผลิตโดย วิสาหกิจชุมชนบ้านคลอง เลขทะเบียน 03/1-20024 ควบคุมสูตรโดยแพทย์แผนไทย” แต่ไม่พบเลขการจดแจ้งผลิตภัณฑ์สมุนไพร และไม่สามารถตรวจสอบผู้ได้รับอนุญาตหรือผู้ผลิตได้ จึงเชื่อว่ายาฟ้าทะลายโจรดังกล่าวน่าจะเป็นของปลอม ต่อมา เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ร่วมกับเจ้าหน้าที่ อย. จึงทำการสืบสวนจนพบผู้ที่โพสขายยาฟ้าทะลายโจร บนเพจเฟซบุ๊ก และเข้าจับกุม ด้าน อย.ระบุ หากผู้บริโภคต้องการซื้อยาฟ้าทะลายโจรต้องดูฉลากที่ระบุเลขที่จดแจ้งและระบุสถานที่ผลิตชัดเจน โดยซื้อจากร้านค้าที่น่าเชื่อถือ “ขนส่งทางบกขอ” ตำรวจไม่จับใบขับขี่หมดอายุถึงสิ้นปี         ตามที่กรมการขนส่งทางบกมีประกาศงดให้บริการประชาชนด้านใบอนุญาตขับรถและใบอนุญาตเป็นผู้ประจำรถที่สำนักงานขนส่งทั่วประเทศจากสถานการณ์โควิดระบาด จนกว่าจะมีประกาศยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น กรมฯ จึงประสานสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อขอให้ผ่อนปรนการใช้กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง เกี่ยวกับกรณีใบขับขี่หมดอายุ ทั้งนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงได้พิจารณากฎเกณฑ์ขยายระยะเวลา ดังนี้         1.ใบขับขี่หมดอายุขับรถต่อไปได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564          2.เพิ่มการผ่อนปรนให้ผู้ที่มีใบอนุญาตขับรถยนต์ส่วนบุคคลและส่วนบุคคลชั่วคราว สามารถขับรถที่ใช้ในการรับจ้างขนส่งสินค้าได้ เช่น รถบรรทุกที่มีน้ำหนักรถไม่เกิน 2,200 กิโลกรัม โดยจดทะเบียนตามกฎหมายของการขนส่งทางบก และรถปิกอัพป้ายเหลือง         กรณีที่ประชาชนมีเอกสารคำขอต่ออายุใบอนุญาตขับรถหรือใบอนุญาตประจำรถ ได้แก่ เอกสารใบรับรองแพทย์ หนังสือรับรองการผ่านการอบรมและทดสอบ หรือคำขอที่ดำเนินการไม่สำเร็จภายใน 90 วัน กรมการขนส่งทางบกจะอนุโลมให้ใช้เป็นเอกสารประกอบการดำเนินการได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม  2564  พืชกระท่อมปลดออกจากยาเสพติดแล้ว ประชาชน ซื้อ-ขายได้        นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า กระท่อมเคยถูกจัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ แต่ตอนนี้พืชกระท่อมได้ถูกปลดออกจากยาเสพติดให้โทษแล้ว ทุกคนสามารถครอบครองซื้อขายได้         และ การปลดพืชกระท่อมออกจากยาเสพติด มีผลให้ต้องปล่อยตัวผู้กระทำความผิดตามกฎหมายพืชกระท่อมจำนวน 1,038 คน ซึ่งจะต้องไม่เป็นผู้ที่เกี่ยวกับคดีสารเสพติดอื่นนอกเหนือจากพืชกระท่อม และถือว่าเป็นผู้ไม่เคยกระทำความผิด หากในกรณีที่ผู้ต้องหาที่อยู่ระหว่างการสอบสวนให้ยุติปล่อยตัวทันที รวมถึงผู้ที่ถูกดำเนินคดีในศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา ต้องมีการจำหน่ายคดีออกจากสารบบของศาล โดยได้รับการพิพากษายกฟ้อง ผู้ที่ถูกกักขังแทนค่าปรับ จะต้องยกเลิกการเสียค่าปรับทันที ไม่รับเป็นคดีกลุ่ม กรณีคดีฟ้องกลุ่มเอไอเอสคิดค่าบริการปัดเศษวินาทีเป็นนาที         ตามที่มีตัวแทนผู้บริโภคได้ยื่นฟ้องคดีแบบกลุ่ม 3 ค่ายมือถือดัง เรื่องการคิดค่าโทรศัพท์แบบปัดเศษวินาทีเป็นนาทีเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2561 เหตุจากการคิดค่าบริการดังกล่าวทำให้ผู้บริโภคจ่ายค่าบริการเกินกว่าที่ใช้จริงนั้น  วันที่ 3 สิงหาคม 2564 ศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในการขอดำเนินคดีแบบกลุ่มคดีฟ้องกลุ่มเอไอเอสว่า ศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งไม่รับคำร้องอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มของโจทก์ ให้ดำเนินคดีแบบสามัญแทน โดยให้เหตุผลว่า การดำเนินคดีแบบกลุ่มมิได้เป็นธรรมและมีประสิทธิภาพมากกว่าการดำเนินคดีสามัญ ไม่มีข้อมูลว่าสมาชิกในกลุ่มถูกเรียกเก็บค่าบริการเกินการใช้งานจริงไปเท่าไร ค่าเสียหายในคำขอบังคับไม่ได้ระบุหลักการและวิธีการคำนวณเพื่อชำระเงินให้แก่สมาชิก ส่วนเรื่องการคิดค่าบริการปัดเศษของบริษัทเอไอเอส ผู้ให้บริการสามารถเปลี่ยนโปรโมชั่นหรือผู้ให้บริการได้ และหากดำเนินคดีแบบสามัญการคำนวณค่าเสียหาย ผู้บริโภคไม่ต้องคำนวณ เพราะอยู่ในความรู้เห็นของผู้ประกอบการ แต่หากเป็นการดำเนินคดีแบบกลุ่ม ให้โจทก์ชี้แจงมาให้หมดว่าค่าบริการที่เก็บเกินไปมีเท่าไร ดังนั้นหากดำเนินคดีแบบสามัญสะดวกกว่า         ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ระบุว่า จากคำตัดสินนี้ทางมูลนิธิฯ กำลังอยู่ในระหว่างตัดสินใจว่าจะยื่นฟ้องแยกเป็นรายคดีหรือฟ้องแบบเป็นโจทก์ร่วมกันในกระบวนการแบบสามัญ เช่น สมาชิก 30-40 คน อาจจะฟ้องแยก หรือถ้าเป็นโจทก์ร่วมกัน สมาชิกที่เหลืออาจจะเอาขึ้นมาเป็นโจทก์ทั้งหมด นอกจากโจทก์ 2 คนที่ฟ้องไปก็ต้องเปลี่ยนเป็นโจทก์ที่ 1 พร้อมกับพวกอีก 30 คน ทั้งนี้เพื่อให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์สูงสุด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 246 สำรวจอาการเจ็บป่วยฉบับ Agnos

        เชื่อได้เลยว่าทุกวันนี้คนในประเทศไทยส่วนใหญ่ ลืมตาตื่นขึ้นมาทุกวันในตอนเช้า สิ่งแรกที่อยากรู้ นั่นคือ ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด19 จากศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด19 หรือ ศบค. ว่ามีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด19 สูงขึ้นหรือลดลงจากเมื่อวานนี้หรือไม่ คอยติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิดและลุ้นให้สถานการณ์คลี่คลายโดยเร็วที่สุด เนื่องจากหลายคนมีผลกระทบกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างมาก ทั้งในแง่การทำงาน รายได้ การทำธุรกิจ การใช้ชีวิตประจำวัน สังคม เศรษฐกิจ เป็นต้น         จากสถานการณ์นี้ทำให้การเดินทางไปสถานที่แห่งใดก็ตาม ต้องมีการคิดทบทวนวางแผนเพื่อป้องกันตัวเองและครอบครัว ไม่ให้กลายเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคโควิด19 รวมถึงการเฝ้าระวังการเกิดอาการเจ็บป่วยที่อาจเกิดจากเชื้อไวรัสโควิด19 หรือเชื้อไวรัสชนิดอื่นๆ ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน ดังนั้นการมีเครื่องมือแยกแยะอาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นพร้อมทั้งวิธีแนะนำการดูแลสุขภาพตัวเองและคนในครอบครัวได้ ก็คงจะดีไม่น้อยเลยทีเดียว         งั้นมาเช็คอาการเจ็บป่วยจากแอปพลิเคชั่น Agnos นี้กันดีกว่า         แอปพลิเคชั่น Agnos เป็นระบบการตรวจอาการด้วยตัวเอง ผ่านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือที่เรียกว่า AI ทำให้สามารถวิเคราะห์อาการเจ็บป่วยเบื้องต้นด้วยตนเองก่อนที่จะไปโรงพยาบาล หรือร้านขายยา การวิเคราะห์โรคเบื้องต้น จะช่วยทำความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคและความเจ็บป่วยมากขึ้น ทำให้ทราบว่าอาการเจ็บป่วยดังกล่าวอาจเป็นผลจากโรคใดได้บ้าง ควรพบแพทย์หรือไม่ หรือสามารถทำตามคำแนะนำเพื่อดูแลตนเองได้เองที่บ้าน รวมทั้งแนะนำแหล่งจำหน่ายยาที่มีมาตรฐานโดยเภสัชกร         เมื่อดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นเรียบร้อยแล้ว จะสามารถเลือกการเข้าสู่ระบบในรูปแบบการใช้หมายเลขโทรศัพท์มือถือ และกรอกข้อมูลส่วนตัว บนแอปพลิเคชั่นจะมีการวิเคราะห์ 3 หมวด ได้แก่ หมวดตรวจโรคตัวเองได้ด้วยระบบ AI เป็นการใช้วิเคราะห์โรคทั่วไป หมวดตรวจความเสี่ยงโควิด19 โดยเฉพาะ หมวดตรวจอาการข้างเคียงวัคซีนโควิด19 โดยมีหมวดที่นอกเหนือจากการวิเคราะห์จะเป็นการรายงานอาการป่วยโควิด ระบบ Home Care ระบบการเชื่อมต่อกับร้านยา การเชื่อมต่อระบบเพื่อปรึกษาแพทย์ ระบบการกดโทรสายด่วน เพิ่มเติม         ในแต่ละหมวดของการวิเคราะห์จะให้ผู้ใช้แอปพลิเคชั่นตอบคำถามที่เกี่ยวข้องกับอาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้น โดยในเบื้องต้นจะให้ระบุอาการเจ็บป่วยที่พบบ่อย เพื่อนำไปสู่คำถามในแต่ละข้อ เพื่อนำไปวิเคราะห์และประมวลผลออกมาว่าอาการดังกล่าวนั้นอาจจะเกี่ยวข้องกับโรคใดได้บ้าง พร้อมคำแนะนำการดูแลตนเองที่เข้าใจง่ายปฏิบัติตามได้ ถ้าหากเป็นกรณีที่ควรพบแพทย์ก็สามารถกดเลือกปรึกษาแพทย์หรือกดเชื่อมต่อร้านยา เพื่อขอคำแนะนำและซื้อยาเพิ่มเติมได้ทันที โดยในส่วนของการซื้อยานั้นจะได้รหัสรับยาที่ใช้แสดงต่อเภสัชกรเพื่อนำมารับยาได้ที่ร้านยากรุงเทพทุกสาขา หรือจะนำผลวิเคราะห์ที่ได้รับจากแอปพลิเคชั่นมาปรึกษาเภสัชกรที่ร้านยากรุงเทพทุกสาขาก็ได้         การวิเคราะห์อาการเจ็บป่วยเบื้องต้นบนแอปพลิเคชั่น Agnos นี้ถือว่าช่วยประหยัดทั้งค่าใช้จ่าย เวลา และลดความเสี่ยงในการเดินทางออกไปข้างนอกในช่วงสถานการณ์โควิด19 แบบนี้ได้มาก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 246 มนต์รักหนองผักกะแยง : ดีใจจังใครต่อใครก็เป็นลาว

        วรรณกรรมท้ายรถแท็กซี่ เคยปรากฏข้อความสติ๊กเกอร์เขียนว่า “ดีใจจังคันข้างหลังก็เป็นลาว” วลีแบบนี้สะท้อนจิตสำนึกของคนอีสานผู้พลัดถิ่นมาใช้ชีวิตในเมืองหลวง ที่พยายามยึดโยงและภูมิใจในตัวตนของความเป็น “อีสานบ้านเฮา” แม้จะพลัดพรากมาพำนักในพื้นถิ่นดินแดนอื่นก็ตาม         แต่ดูเหมือนว่า ความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์คนอีสานพลัดถิ่นเช่นนี้ ไม่น่าจะใช่คำอธิบายที่ถูกต้องนักสำหรับพระเอกหนุ่มอย่าง “บักเขียว” ที่ “ละทิ้งแผ่นดินถิ่นอีสาน จากมิตรวงศ์วานบ้านป่า” เพื่อก้าวเข้ามาใช้ชีวิตอยู่ในศูนย์กลางแห่งเมืองหลวงอันทันสมัย         ในละครโทรทัศน์เรื่อง “มนต์รักหนองผักกะแยง” นั้น ได้ย้อนภาพกลับไปสัมผัสชีวิตของบักเขียวตั้งแต่เมื่อครั้งยังเป็นเด็กน้อยแห่งชุมชน “บ้านหนองผักกะแยง” โดยมีเด็กหญิงคู่หูคู่ปรับข้างบ้านชื่อ “ชมพู่” เป็นเพื่อนไม้เบื่อไม้เมากันมา ครั้นพอโตขึ้น บักเขียวได้ย้ายไปเรียนที่กรุงเทพ ทำให้เด็กน้อยสองคนต้องแยกจากกันไป         เมื่อมาอยู่มหานครอันศิวิไลซ์ จากนักเรียนดีเด่นของแดนดินถิ่นอีสานที่เว้าลาวพูดไทยไม่ชัด และกินปลาร้าปลาแดกเป็นนิจสิน บักเขียวได้ถูกเพื่อนร่วมชั้นกลั่นแกล้งบูลลี่กับวัตรปฏิบัติที่ต่างไปจากพวกเขาเหล่านั้น แถมยังล้อเลียนบักเขียวว่า เป็น “เด็กบ้านนอก” บ้าง หรือเป็น “เด็กลาวเด็กอีสาน” บ้าง ไปจนถึงทำให้เด็กชายพลัดถิ่นกลายเป็น “ตัวตลก” ในหมู่ผองเพื่อนชาวกรุงไป         ในห้วงจิตใจลึกๆ บักเขียวโทษความผิดว่า เป็นเพราะ “ยายเพียร” ที่เลี้ยงดูเขามาให้เป็น “คนอีสาน” เขาจึงบอกตัวเองว่า จักต้องลบประวัติศาสตร์หน้านี้ออกไปจากชีวิต และจะไม่กลับไปเหยียบบ้านหนองผักกะแยงอีกเลย         เพราะศักดิ์ศรีแห่งคนอีสาน ไม่ได้เริ่มต้นด้วยการที่ต้องให้คนกรุงเทพหรือ “คนอื่น” มาเชิดชูยอมรับ แต่ต้องมาจากจิตสำนึกของ “คนใน” เองที่ต้องมั่นอกมั่นใจในตัวตนความเป็นอีสานนั้นเสียก่อน ดังนั้น บักเขียวจึงเลือกจะรื้อถอนชื่อแซ่อัตลักษณ์ท้องถิ่นให้สลายหายไปในทุกวิถีทาง ถึงขนาดที่ว่า ก่อนอยู่บ้านนาเขาเรียกกันว่า “บักเขียว” มาอยู่กรุงเทพ เพียงประเดี๋ยวเดียว เปลี่ยนจากบักเขียวเป็น “ธรากร” กันเลย         บักเขียวในคราบไคลใหม่ เริ่มฝึกพูดภาษาไทยไม่ให้เหลือสำเนียงอีสานแต่อย่างใด เลิกกินและแสดงอาการรังเกียจปลาร้าปลาแดกอย่างออกหน้า เปลี่ยนลุคปรับวิธีเดินเหินและการแต่งตัวเสียใหม่ ไปจนถึงเลือกเรียนมหาวิทยาลัยในสาขาวิชาที่จะไม่ต้องเฉียดกรายกลับสู่วิถีเกษตรอันเป็นรากเหง้าที่ถีบตัวเองออกมา         กล่าวกันว่า พื้นที่ความเป็นเมืองเป็นดินแดนที่ปราศจากซึ่งความรัก แม้จะปรับตัวเข้ากับสังคมเมืองเพียงใด เมื่อบักเขียวเรียนจบ ได้กลายมาเป็นผู้กำกับละครโทรทัศน์และคบหากับ “อลิซ” แฟนสาว รวมทั้งทำงานหามรุ่งหามค่ำเพื่อผ่อนคอนโดเรือนหอหลักล้าน แต่แล้ว ภายใต้ความฝันที่จะก่อร่างสร้างชีวิตในเมืองมั่งคั่ง อลิซก็สะบั้นรักหักอกเขา แถมยังใช้เล่ห์กลโกงโฉนดสัญญาคอนโดไปเป็นของเธออีก         “เมืองหลวงควันและฝุ่นมากมาย พี่สูดดมเข้าไปร่างกายก็เป็นภูมิแพ้ ผู้หญิงที่กรุงเทพก็อันตราย เพราะพวกเธอหลายใจหัวใจพี่เองก็แพ้…” บักเขียวผู้ครวญเพลง “ภูมิแพ้กรุงเทพ” จึงได้แต่พกพาจิตใจอันบอบช้ำกลับไปเยียวยาบาดแผลยังบ้านหนองผักกะแยง ภูมิลำเนาบ้านเกิดที่ตนจากมากว่ายี่สิบปี         แม้ละครจะผูกปมให้เห็นว่า เขี้ยวเล็บที่บักเขียวลับคมมาจากเมืองกรุง ทำให้จิตสำนึกของเขาได้แต่มองที่ดินของยายเพียรเป็นเพียงสินทรัพย์ที่จะขายไปเพื่อต่อทุน และกลับไปตั้งหลักใช้ชีวิตในเมืองหลวงอีกคำรบหนึ่ง แต่ความรักและสายสัมพันธ์อันเป็นแรงเกาะเกี่ยวยึดโยงไว้ตั้งแต่ครั้งอดีต ก็ทำให้สายตาของบักเขียวค่อยๆ เห็นอีกด้านหนึ่งของชนบทอีสานบ้านเกิดที่ต่างออกไป         ในห้วงหลายๆ ทศวรรษที่ผ่านมา วิถีการพัฒนาแบบทันสมัยพยายามสร้าง “ภาพจำ” เพื่อเหมารวมอีสานให้กลายเป็นพื้นที่ที่ล้าหลัง แร้นแค้น เป็นดินแดนแห่งความยากจน ความทรงจำวูบแรกที่ผู้คนนึกถึงวิถีอีสานมักเกิดขึ้นบนผืนดินแตกระแหง และเป็นชีวิตที่ไม่สอดรับกับความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจใดๆ ภาพจำแบบนี้จึงเป็นแรงผลักให้เกิดแรงงานอีสานพลัดถิ่นที่ซัดเซพเนจรมาเสี่ยงโชคชะตาในมหานครเมืองกรุง         ดังนั้น เมื่อต้องพลัดถิ่นไปนาน และติดบ่วงอยู่ในภาพจำแบบเดิมเช่นนี้ จึงไม่น่าแปลกใจนักที่อาการบักเขียวผู้กลับมาหนองผักกะแยงช่วงแรกๆ จึงกอปรขึ้นจากความรังเกียจรังงอน สีหน้าขยะแขยงอาหารที่ปรุงรสด้วยปลาร้า ไปจนถึงอากัปกิริยาเหม็นขี้วัวที่ต้องโกยมาทำปุ๋ยคอก ดูจะสะท้อนภาพดังกล่าวได้เป็นอย่างดี         เพราะอีสานเป็นเบ้าหลอมที่บักเขียวใช้ชีวิตเติบโตมา และก็เหมือนกับความเชื่อมั่นที่ยายเพียรกล่าวถึงหลานชายว่า “คนเรามันเปลี่ยนกันได้ เบิ่งไป” เราจึงคาดเดาได้ไม่ยากว่า ในท้ายสุดบักเขียวก็ต้องล้มเลิกความคิดที่จะขายที่ดินของบรรพชนเพื่อแลกกับเม็ดเงินหลายสิบล้าน และเลือกจะใช้ชีวิตครองคู่กับชมพู่น้องนางบ้านนามากกว่าผู้หญิงกรุงเทพที่หักอกเขาแบบไม่ไยดี         แต่ที่น่าสนใจก็คือ ในยุคปัจจุบันที่คนอีสานในโลกความเป็นจริงมีความมั่นคงแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจสังคมมากขึ้น ภาพจำในแบบเดิมๆ จึงถูกบักเขียวรับรู้และตีความอีกครั้งให้กลายเป็น “อีสานใหม่” ผ่านโลกสัญลักษณ์แห่งละครโทรทัศน์ไปเสียเลย         จากผืนดินที่แตกระแหงก็กลายเป็นผืนนาอันเขียวขจี จากภาพอีสานที่ยากจนแร้นแค้นกลายเป็นชีวิตผู้คนที่หาอยู่หากินและร้องรำทำเพลงกันสนุกสนาน จากภูมิภาคที่ล้าหลังดิบเถื่อนกลายเป็นแอ่งอารยธรรมที่โอบอุ้มประเพณีพิธีกรรมอันน่าถวิลหา จากความแห้งแล้งและคราบน้ำตากลายเป็นดินแดนแห่งรักโรมานซ์ที่แม้แต่ฝรั่งต่างชาติยังชื่นชมและอยากใช้ชีวิตอยู่ และที่สำคัญ จากภาพคนอีสานตัวดำในห้วงคำนึงกลายเป็นพระเอกหนุ่มที่สวมบทบาทโดยคุณพี่ณเดชน์สามีแห่งชาติของสาวๆ รุ่นใหม่หลายคน         เพราะจิตสำนึกของคนเราเปลี่ยนได้แบบที่ยายเพียรมั่นใจในหลานชายของตน จากคนที่พลัดถิ่นไปอยู่ในวิถีบริโภคล้วนๆ เป็นหนุ่มเมืองหลวง เมื่อได้ย้อนกลับคืนบ้านเกิด บักเขียวได้ลงมือปลูกแตงกวาและเก็บเกี่ยวผลผลิตด้วยตนเองเป็นครั้งแรก เขาก็ค่อยๆ สำเหนียกเห็นคุณค่าของวิถีการผลิตแบบดั้งเดิม จนพูดกับตนเองว่า “คิดถึงแปลงแตงกวา ไม่เคยคิดถึงแตงกวามากขนาดนี้มาก่อนเลย”         หลังผ่านการรื้อถอนปอกเปลือกคราบไคลที่ห่อหุ้มตัวตนจริงๆ ออกไป ในท้ายที่สุด “จริต” ของบักเขียวที่เคย “ดัด” ให้ต้องพูดภาษาไทยชัดเจนด้วยสำเนียงแบบคนกรุงเทพ ก็กลับกลายมาเป็นคนอีสานบ้านเฮาที่เว้าภาษาบ้านเกิดเป็นไฟแลบโดยไม่รู้ตัว         หากในเมืองหลวงถิ่นอื่น คนอีสานมีแต่ต้องชะเง้อหาแนวร่วมที่จะตะโกนร้อง “ดีใจจังคันข้างหลังก็เป็นลาว” แต่ทว่าในถิ่นฐานภูมิลำเนาที่ตนภูมิใจในอัตลักษณ์ศักดิ์ศรีเท่านั้น บักเขียวก็พร้อมจะบอกทั้งตนเองและคนอื่นๆ ว่า ณ บ้านหนองผักกะแยงแห่งนี้ “ดีใจจังใครต่อใครก็เป็นลาว”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 246 รู้เท่าทันการฉีดวัคซีนโควิด-19 สลับชนิด

        ขณะนี้นโยบายการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของประเทศไทยให้ใช้การฉีดวัคซีนสลับชนิด โดยเข็มที่ 1 เป็นวัคซีนซิโนแวค เข็มที่ 2 เป็นวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า หรือ อาจเป็นวัคซีนทางเลือก เช่น ไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นา ทำให้ประชาชนจำนวนมากกังวลว่า การฉีดวัคซีนสลับชนิดจะเกิดประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ได้จริงหรือไม่ โดยเฉพาะมีหมอบางคนออกมาคัดค้านการฉีดวัคซีนสลับชนิดดังกล่าว เรามารู้เท่าทันกันเถอะ ประเทศทางยุโรปเริ่มใช้มาตรการฉีดวัคซีนสลับชนิด         ในขณะนี้ ทั่วโลกมีการฉีดวัคซีนไปกว่า 1.2 พันล้านโดสแล้ว และเริ่มมีบางประเทศแนะนำให้มีการฉีดวัคซีนสลับชนิด โดยเข็มแรกเป็นวัคซีนชนิดหนึ่ง และเข็มที่ 2 เป็นวัคซีนอีกชนิดหนึ่ง         มาตรการดังกล่าวเริ่มจากประเทศฝรั่งเศสและเยอรมัน ที่ผู้รับวัคซีนเข็มแรกเป็นแอสตร้าเซนเนก้าแล้วมีอาการของลิ่มเลือดอุดตัน จึงให้ฉีดวัคซีนเข็มสองเป็นวัคซีนอีกชนิดเพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงของวัคซีน พบว่า การฉีดวัคซีนสลับชนิดทำให้มีภูมิต้านทานเชื้อโควิด-19 เหมือนหรือสูงกว่าการฉีดวัคซีนชนิดเดียว และทำให้การกระจายการฉีดวัคซีนสามารถทำได้ง่ายและมากขึ้น การฉีดวัคซีนสลับชนิดไม่ใช่เรื่องใหม่ มีประโยชน์         การใช้วัคซีนสลับชนิดเริ่มมีมาตั้งแต่ทศวรรษในปีค.ศ. 1990-1999 โดยใช้ในนักวิจัยเรื่องเอชไอวี         นอกจากนี้ การใช้วัคซีนสลับชนิดยังช่วยหลีกเลี่ยงภูมิต้านทานที่มีต่อวัคซีน ทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลง และยังทำให้ภูมิต้านทานเชื้อโรคหรือโควิด-19 เพิ่มสูงขึ้นและอยู่ได้นานขึ้น         อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนสลับชนิดนั้นต้องมีการประเมิน เพราะในขณะนี้ ยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนโควิด-19 สลับชนิดมากเพียงพอ และต้องประเมินผลด้านความปลอดภัยในการใช้ โดยเฉพาะการใช้วัคซีน mRNA (ของไฟเซอร์และโมเดอร์นา) สลับกับวัคซีนที่ใช้อดีโนไวรัส (ของแอสตร้าเซนเนก้า) ซึ่งยังไม่เคยมีมาก่อน         การฉีดวัคซีนแบบสลับชนิด อาจช่วยในการต่อสู้กับการกลายพันธุ์ของไวรัส เพราะทำให้เกิดภูมิต้านทานกว้างขึ้น ซึ่งช่วยในการป้องกันไวรัสที่กลายพันธุ์ได้ดีขึ้น ประสิทธิผลของการฉีดวัคซีนสลับชนิด         มีการศึกษาเบื้องต้นในหลายประเทศ เช่น ในสเปน ศึกษาในอาสาสมัคร 600 คน  ในสหราชอาณาจักร ศึกษาในอาสาสมัคร 830 คน พบว่า มีภูมิต้านทานสูงกว่าการรับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเพียงอย่างเดียว แต่เนื่องจากเป็นการศึกษาในจำนวนอาสาสมัครที่น้อย และระยะเวลาสั้น จึงต้องติดตามผลต่อไป องค์การอนามัยโลกแนะนำให้หน่วยงานด้านสุขภาพเป็นผู้พิจารณา         องค์การอนามัยโลกแนะนำว่า ไม่ควรให้แต่ละคนเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะเลือกฉีดวัคซีนแบบสลับชนิดหรือไม่ด้วยตนเอง แต่ขอให้หน่วยงานด้านสุขภาพของแต่ละประเทศเป็นผู้พิจารณาและกำหนดแนวทางบนพื้นฐานข้อมูลที่มีอยู่ ขณะนี้ ยังต้องรอข้อมูลการประเมินผลการฉีดวัคซีนแบบสลับชนิด การศึกษาภูมิต้านทาน และความปลอดภัย         สำหรับประเทศไทย การฉีดวัคซีนสลับชนิดไม่ใช่เกิดจากวัคซีนที่ฉีดไม่มีคุณภาพ จึงต้องเปลี่ยนวัคซีน แต่เพราะมีการศึกษาว่า การฉีดวัคซีนสลับชนิดจะมีประสิทธิผลเพิ่มมากขึ้นจาการฉีดวัคซีนชนิดเดียว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 246 วิธีรับมือกับไรฝุ่นในห้องนอน

        “ไรฝุ่น”  เป็นแมลงขนาดเล็กที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น มีขนาดเพียง 0.3 มม. เติบโตได้ดีในอากาศชื้นที่อุณหภูมิระหว่าง 18.5 - 29 องศาเซลเซียส โดยไรฝุ่นนั้นมีอยู่ทุกที่ทั้งนอกและในบ้าน บริเวณที่มักพบไรฝุ่นคือ สิ่งของที่เป็นเส้นใยอย่างตุ๊กตา ม่าน ผ้าคลุม พรมปูพื้น กลุ่มเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ในบ้าน โดยเฉพาะเครื่องนอน ทั้งผ้าปูเตียง หมอน ผ้าห่ม โดยไรฝุ่นอาศัยเศษผิวหนังและรังแคบนศีรษะเป็นอาหาร  ทั้งนี้ไรฝุ่นสร้างปัญหาให้กับมนุษย์เราอย่างคาดไม่ถึง โดยเฉพาะผู้ที่เป็นภูมิแพ้และโรคหอบหืด         แม้ไรฝุ่นอาจจะไม่ใช่ปัญหาใหญ่ของทุกคน แต่เป็นปัญหาใหญ่สำหรับคนเป็นภูมิแพ้ เพราะอาการแพ้ เกิดจาก การที่ส่วนลำตัวและอุจจาระของไรฝุ่นที่เข้าสัมผัสหรือมนุษย์หายใจเข้าไป จะกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสารแปลกปลอม และผลิตสารภูมิต้านทาน (Antibody) ขึ้น จากนั้นเมื่อร่างกายจำได้ว่า สารดังกล่าวเป็นสารก่อภูมิแพ้ เมื่อเผชิญกับสารก่อภูมิแพ้ครั้งต่อไปร่างกายก็จะปล่อย “สารฮีสทามีน” ซึ่งทำให้เกิดอาการภูมิแพ้ เช่น จาม คัดจมูก น้ำมูกไหล ไอ หอบ หายใจลำบาก มีเสมหะมาก คันตา น้ำตาไหล หรือตาแดง คันที่ผิวหนัง ใต้ดวงตาบวมช้ำ ใครนอนแล้วตื่นมามีอาการเข้าข่ายเหล่านี้ ทั้งๆ ที่ไม่ได้สัมผัสสารก่อภูมิแพ้อื่น ให้ลองคิดถึงเรื่องไรฝุ่นไว้และหาวิธีรับมือ การรับมือกับไรฝุ่นในห้องนอน “ที่นอน” เป็นบริเวณที่ต้องพบเจอไรฝุ่นมากที่สุด เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่เราต้องใช้นอนเป็นเวลานานหลายชั่วโมง การเลือกผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน เพื่อป้องกันไรฝุ่น อาจจะเป็นวิธีที่ช่วยให้สุขภาพคุณดีขึ้นหรืออาการแพ้น้อยลงได้        1.การเลือกผ้าปูที่นอนกันไรฝุ่น ควรเลือกจากเนื้อผ้าที่มีการทอแน่น เนื้อผ้าไม่ฟู เพราะการทอผ้าที่ไม่แน่นมากพอจะทำให้ตัวไรฝุ่นเข้าไปอาศัยได้ง่าย        2.ถ้ามีการเคลมว่า ป้องกันไรฝุ่น ควรเป็นสินค้าที่ผ่านมาตรฐานที่มีสถาบันรองรับว่าผ่านการทดสอบและสามารถใช้ป้องกันไร่ฝุ่นได้จริง เนื่องจากปัจจุบันมีผ้าป้องกันไรฝุ่นหลายยี่ห้อ เราควรตรวจสอบก่อนซื้อเพื่อการนำไปใช้ให้มีประสิทธิภาพ        3.เครื่องนอนที่ใช้ควรทำจากใยสังเคราะห์ เช่น ผ้าฝ้าย ซึ่งสามารถซักทำความสะอาดด้วยน้ำอุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียสได้บ่อยครั้ง ชนิดผ้ากันไรฝุ่น         “ผ้ากันไรฝุ่นทำจากพลาสติก” สามารถใช้ป้องกันไรฝุ่นได้ดี แต่อาจไม่มีรูระบายอากาศถ่ายเท เวลาขยับอาจเกิดเสียงขณะนอน         “ผ้ากันไรฝุ่นทำจากชนิดผ้าทอแน่น” สามารถป้องกันไรฝุ่นได้ เนื่องจากการทอผ้าที่แน่นเป็นพิเศษเสริมด้วยการทอผ้าที่มีช่องว่างระหว่างเส้นด้ายที่มีขนาดเล็กกว่าตัวไรฝุ่น และสามารถถ่ายเทอากาศได้สะดวก         “ผ้ากันไรฝุ่นชนิดเคลือบฟิล์ม”  ผ้ามีประสิทธิภาพในการกันไรฝุ่นแต่มีราคาสูง ชั้นบนจะเป็นเนื้อผ้าและเคลือบสาร polyurethane ไว้อุดช่องว่างระหว่างเส้นด้าย และอาจไม่สามารถระบายอากาศได้ดีและอายุการใช้งานน้อย ผ้ากรอบแตกง่าย         “ผ้ากันไรฝุ่นชนิดเคลือบสารฆ่าไรฝุ่น” ผ้าชนิดนี้ไม่มีข้อมูลงานวิจัยที่แน่ชัดว่าสารที่ใช้เคลือบฆ่าไรฝุ่น จะส่งผลเสียในระยะยาวหรือไม่ หากซื้อควรศึกษาสารที่ใช้ในการเคลือบว่าเป็นสารอะไรก่อนนำมาใช้         “ผ้ากันไรฝุ่นชนิดผ้าอัดใย” เป็นผ้าที่ผลิตโดยการอัดของเส้นใย polypropyene ประสิทธิภาพกันไรฝุ่นได้ สามารถใช้แล้วทิ้ง ซักไม่ได้ เมื่อใช้ไปสักพักไรฝุ่นอาจสามารถเข้าไปฝังตัวสร้างรังได้ การกำจัดไรฝุ่น         ควรซักผ้าปู ผ้าคลุมที่นอน ผ้าห่ม หมอน ด้วยน้ำร้อนอุณหภูมิประมาณ 60 องศาเซลเซียส เพื่อให้สารที่ทำให้เกิดภูมิแพ้หลุดออกไป หากไม่สามารถซักด้วยน้ำร้อนควรใส่ลงในเครื่องปั่นแห้งอย่างน้อย 15 นาทีที่อุณหภูมิมากกว่า 60 องศาเซลเซียส  ควรผึ่งแดดที่นอนอย่างน้อยวันละ 1 ชั่วโมง เพื่อลดความชื้น จัดห้องนอนให้โล่งโปร่งเพื่อให้อากาศถ่ายเท ลดสิ่งของที่ทำจากผ้าหรือเส้นใย อย่างพรม ตุ๊กตาซึ่งกักเก็บไรฝุ่นได้ดี และหลีกเลี่ยงการใช้หมอนที่มีไส้ทำจากนุ่น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 246 คิดอย่างไร ประเทศไทยจะเป็นมหานครระบบรางติดอันดับโลก

        ไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมท่านหนึ่งประกาศชัดว่า ในปี 2566 ประเทศไทยจะเป็นมหานครระบบรางติดอันดับโลก !!! และไม่ใช่ติดอันดับโลกธรรมดา แต่เป็นอันดับสามของโลกเสียด้วย         สอดคล้องกับที่ไอเอ็มดี (International Institute for Management Development: IMD) ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาด้านการบริหารธุรกิจ และมีหน่วยงานในสังกัด คือ สถาบัน IMD World Competitiveness Center ที่เป็นหน่วยงานในระดับนานาชาติ ได้เผยแพร่ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันระบบรางทั่วโลกว่า ภายในปี 2566 หรืออีก 3 ปีข้างหน้าต่อจากนี้   กรุงเทพมหานครจะกลายเป็นมหานครระบบรางที่มีระยะทางยาวเป็นอันดับ 3 ของโลกระยะทาง 560 กิโลเมตร ทำให้ยิ่งตอกย้ำถึงภาพความสะดวกสบายของกรุงเทพมหานครที่เป็นเมืองของรถไฟฟ้าขึ้นมาทันที         แต่เดี๋ยวก่อน มองให้พ้นจากภาพสวยหรู เมื่อหันกลับมาดูความจริงที่ประเทศไทย คำถามก็ผุดขึ้นมากมาย แล้วตอนนี้รถไฟฟ้าที่เปิดใช้บริการทุกสายมีระยะทางกี่กิโลเมตรแล้ว         ข้อมูล ณ ธันวาคม 2563 ประเทศไทยมีรถไฟฟ้าวิ่งให้บริการผ่านกรุงเทพฯและปริมณฑลเป็นระยะทางยาวทั้งหมด 168 กิโลเมตร หรืออยู่ในอันดับที่ 25 ของโลก         ขณะที่อันดับ 1 และ 2 ของโลกอยู่ที่ประเทศจีน คือ กรุงปักกิ่ง 690.5 กิโลเมตร และเมืองเซี่ยงไฮ้ 676  กิโลเมตร อันดับ 3 อยู่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ 540.9 กิโลเมตร และอันดับ  4 อยู่ที่เมืองกวางโจว ประเทศจีนอีกเช่นกันที่ 531.1 กิโลเมตร ซึ่งจากข้อมูลนี้ 168 กิโลเมตรของประเทศไทยยังห่างจากเป้าหมายอันดับ 3 ที่ 560 กิโลเมตรอยู่มากเลยทีเดียว  (ดังนั้นน่าจะต้องเก็บคำคุยโวไว้ก่อนเพราะการที่ประเทศไทยจะเป็น HUB หรือเป็นมหานครระบบรางอย่างที่คิดในอีกสามปีข้างหน้าดูท่าจะยากเย็น)          แต่การที่ประเทศไทยวางแผนให้กรุงเทพมหานครมุ่งสู่การเป็นเมืองที่ขับเคลื่อนด้วยระบบรางนั้นไม่ใช่เรื่องผิด เพราะทุกวันนี้ระบบรางโดยเฉพาะรถไฟฟ้ากลายเป็นพาหนะที่อำนวยความสะดวกขนคนเดินทางได้ครั้งละจำนวนมาก ส่งผลดีให้เกิดกับคุณภาพชีวิต ทำให้ระบบเศรษฐกิจมีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น และต่อไปในอนาคต (ไม่รู้อีกกี่ปี) เมื่อรถไฟฟ้าทุกสายสร้างเสร็จสิ้น กรุงเทพมหานครจะมีรถไฟฟ้าหลากสีมากกว่า 10 สาย วิ่งให้บริการเต็มรูปแบบครอบคลุมทุกทิศทางจากชานเมืองมุ่งเข้ากรุงเทพชั้นใน ทำให้หลายคนมีความหวังว่า เมื่อประชาชนใช้ขนส่งสาธารณะประเภทรถไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น ปัญหาการจราจรรถติด การใช้รถยนต์ส่วนบุคคล และมลภาวะทางอากาศที่เป็นพิษจะลดน้อยลงตามไปด้วย         ดังนั้นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อไปสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้จึงเป็นเรื่องสำคัญ ที่ผ่านมารัฐบาลจึงมุ่งเน้นขับเคลื่อนนโยบายตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 - 2580) ที่รวมงานทุกด้านเอาไว้  ซึ่งในแผนยุทธศาสตร์ชาติจะมีแผนย่อยเพื่อใช้เป็นกรอบในการจัดทําแผนต่างๆ ให้สอดคล้องและบูรณาการกัน โดยมีประเด็นโครงสร้างพื้นฐาน ระบบโลจิสติกส์ และดิจิทัล อยู่ในด้านที่ 7 จากทั้งหมด 23 ด้าน ตามกรอบที่กําหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี           แล้วโครงสร้างพื้นฐาน ระบบโลจิสติกส์ และดิจิทัล เกี่ยวอะไรกับมหานครระบบรางที่บอกไป แน่นอนว่าการพัฒนาประเทศต้องบูรณาการหลายด้าน ซึ่งแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นที่ 7 โครงสร้างพื้นฐาน ระบบโลจิสติกส์ และดิจิทัล มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งที่ถือเป็นรากฐานสำคัญของการสร้างความสามารถในการแข่งขัน และให้ความสำคัญด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศในระยะ 20 ปีข้างหน้าให้บรรลุเป้าหมาย         โดยในแผนแม่บท ประเด็นที่ 7 นี้ยังแบ่งออกเป็น 10 เป้าหมายระดับแผนแม่บทย่อยอีก เช่น ต้นทุนด้านโลจิสติกส์ของในประเทศและต่างประเทศ การเพิ่มขึ้นของการขนส่งสินค้าทางราง การใช้พลังงานทดแทน ก๊าซธรรมชาติ และพลังงานไฟฟ้า การปรับปรุงและพัฒนาระบบไฟฟ้าของประเทศ ความสามารถในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของครัวเรือน ตลอดจนการเพิ่มสัดส่วนการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงเมืองหลักในภูมิภาค และการลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน         สำหรับประเด็นการเพิ่มสัดส่วนการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะในกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีเป้าหมายย่อยที่กำหนดไว้ 4 ระยะในเวลา 20 ปี คือ 1) ปี 2561-2565 ต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 30  2) ปี 2566-2570 ต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 3) ปี 2571-2575 ต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 และ 4) ปี 2576-2580 ต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ขณะที่สัดส่วนในส่วนภูมิภาคอยู่ที่ ร้อยละ 5 10 และ 20 ตามลำดับ         แต่เมื่อกลับมาดูข้อมูลเปรียบเทียบการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะพบว่า โอกาสที่ตัวชี้วัดเป้าหมายนี้จะทำได้มีโอกาสค่อนข้างน้อย หรืออาจจะเรียกได้ว่าต่ำกว่าค่าเป้าหมายขั้นวิกฤต สาเหตุสำคัญเพราะรัฐมีข้อมูลไม่เพียงพอ เนื่องจากขาดการพัฒนานโยบายอย่างต่อเนื่องที่จะทำให้ระบบขนส่งสาธารณะดำรงอยู่และเป็นหัวใจหลักของการเดินทางสำหรับประชาชนได้ เพราะข้อมูลสัดส่วนการใช้ขนส่งสาธารณะในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ปี 2560 – 2562 อยู่ที่ร้อยละ 20.62 , 17.90 และ 19.42 ตามลำดับ ซึ่งจากข้อมูลนี้ก็นับว่ายังมีความห่างจากเป้าหมายร้อยละ 30 ในปี 2565 อยู่พอสมควร และสำหรับข้อมูลในเมืองภูมิภาค ปัจจุบันยังไม่มีการรวบรวมข้อมูลดังกล่าวไว้ เห็นได้ชัดเจนว่าหลายปีที่ผ่านมาระบบขนส่งสาธารณะเป็นเรื่องที่ถูกปล่อยปละละเลย และยิ่งสถานการณ์โควิด 19 ในปัจจุบันที่ทำให้ระบบขนส่งสาธารณะทุกประเภทแทบล่มสลาย ยิ่งทำให้การเพิ่มสัดส่วนการใช้ขนส่งสาธารณะทำได้ยากกว่าเดิมอีกด้วย         แล้วการเพิ่มสัดส่วนการใช้ขนส่งสาธารณะในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และเมืองในภูมิภาค กับการเป็นมหานครระบบรางของประเทศไทยเกี่ยวพันกันอย่างไร ฉบับหน้าเรามาค้นคำตอบกันต่อนะครับ

อ่านเพิ่มเติม >