ฉบับที่ 249 ภัยโควิดกับรถรับส่งนักเรียน

        การเข้ามาของโควิด-19 เกือบสองปีที่ผ่านมา ทำให้ทุกชีวิตบนโลกต้องเปลี่ยนแปลงแบบพลิกฝ่ามือ   ซึ่งอาจจะมีบางส่วนที่เตรียมตัวตั้งรับอยู่บ้าง แต่ส่วนใหญ่ตั้งตัวรับไม่ทัน หลายธุรกิจต้องล้มพับแทบสิ้นเนื้อประดาตัว ขณะที่อีกหลายธุรกิจทั้งเล็กและใหญ่ต่างต้องกัดฟันสู้ต่อ ทั้งที่มองไม่เห็นอนาคตว่าสิ่งที่เคยรุ่งโรจน์จะกลับมาได้หรือเปล่า ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุด คือ ระบบขนส่งสาธารณะที่แทบจะล่มสลายลงในช่วงเวลาเพียงสองปีที่โควิด-19 คืบคลานเข้ามา         ผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่เพียงทำให้ระบบขนส่งสาธารณะในทุกมิติต้องรีเซ็ตจัดระบบตัวเองใหม่เท่านั้น ระบบการศึกษาของชาติที่มีนักเรียนนับล้านคนอยู่ในระบบก็ได้รับผลกระทบที่ไม่น้อยไปกว่ากันด้วย อีกทั้งการไม่มีมาตรการป้องกันโรคระบาดโควิด-19 สำหรับนักเรียนทั่วประเทศของรัฐบาล ยิ่งส่งผลให้ระบบการศึกษาต้องหยุดชะงัก กระทรวงศึกษาธิการต้องสั่งการให้โรงเรียนทุกแห่งปรับการเรียนการสอนนักเรียนเป็นออนไลน์แทนการเรียนแบบออนไซต์หรือการไปโรงเรียนตามปกติ นัยนึงเพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและแพร่ระบาดของโควิด 19 แต่อีกนัยนึงก็สะท้อนถึงความล้มเหลวของรัฐบาลที่ไม่รู้จะจัดการป้องกันให้ปลอดภัยได้อย่างไร         แม้การเรียนออนไลน์จะลดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดและติดเชื้อโควิด 19 ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ระหว่างการเรียนการสอนในโรงเรียนและการเดินทางระหว่างบ้านไปโรงเรียนของนักเรียน แต่ข้อจำกัดที่สำคัญของการเรียนออนไลน์ คือ การมุ่งสนองนโยบายรัฐเพียงอย่างเดียว โดยไม่คำนึงถึงความพร้อมของนักเรียนส่วนใหญ่ เพราะนักเรียนจำนวนมากยังมีความไม่พร้อม และเข้าไม่ถึงหรืออุปกรณ์ที่จำเป็นในการเรียนออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นระบบอินเตอร์เน็ต หรืออุปกรณ์จำเป็น เช่น โทรศัพท์มือถือ หรือคอมพิวเตอร์ ฯลฯ          แน่นอนว่าคงจะมีนักเรียนในเมืองหลวงหรือเมืองใหญ่ตามภูมิภาคเท่านั้นที่มีศักยภาพพอจะเข้าถึงการเรียนสอนออนไลน์ แต่ยังมีนักเรียนอีกจำนวนมากในเกือบทุกพื้นที่ของประเทศที่เข้าไม่ถึงสิ่งเหล่านี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นจึงกลายเป็นการสะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำ ซ้ำเติม และเพิ่มช่องว่างทางสังคมให้เด่นชัดมากขึ้น  โดยการตอกย้ำผ่านมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลที่ไม่มีความชัดเจนหรือแนวทางแก้ไขปัญหา เหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่รัฐบาลยังไม่กล้าให้ความมั่นใจในความปลอดภัยนักเรียนทั่วประเทศจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 คือ ก่อนหน้านี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกันสำหรับเด็กและนักเรียน แต่เมื่อรัฐบาลเริ่มจัดสรรวัคซีนสำหรับนักเรียนและกำหนดมาตรการให้วัคซีนกับนักเรียนอายุตั้งแต่ 12-18 ปีแล้ว ก็คาดหวังว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการสร้างความเชื่อมั่นให้นักเรียนสามารถกลับมาเรียนที่โรงเรียนได้เหมือนเดิม         เพราะอย่างไรก็ดีชีวิตการเรียนของนักเรียนก็คือ การได้พบปะเพื่อนฝูง ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนสนธนาระหว่างกัน นี่คือชีวิตวัยเรียนที่มีคุณค่าที่มีข้อบ่งชี้ถึงการพัฒนาการของเด็กนักเรียนวัยนี้ มากกว่าการนั่งเรียนกับคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือที่ไม่มีตัวตน        เมื่อรัฐบาลประกาศให้ทุกคนต้องอยู่ร่วมกับโควิด-19 ให้ได้ ถึงเวลาต้องเปิดประเทศและเปิดเรียนสำหรับนักเรียนทุกคนแล้ว โดยยืนยันแล้วว่า 1 พ.ย. 2564 คือ วันเปิดภาคเรียนเทอมสองของโรงเรียนทั่วประเทศ ท่ามกลางความวิตกกังวลของผู้ปกครองที่ห่วงว่า ถ้านักเรียนไปโรงเรียนแล้วจะโชคร้ายติดโควิด-19 หรือไม่ แม้กระทรวงศึกษาธิการจะออกประกาศเพิ่มความเชื่อมั่นว่า โรงเรียนและสถาบันการศึกษาสามารถดำเนินกิจกรรมได้ตามหลักเกณฑ์ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้สถานการณ์ความไว้วางใจดีขึ้นแม้แต่น้อย         เพราะการเปิดเทอมครั้งนี้ หมายถึง การเดินทางของนักเรียนทั่วประเทศ โดยที่ยังมีนักเรียนจำนวนมากที่มีทางเลือกจำกัด ไม่มีพ่อแม่ไปส่งหรือไม่มีรถจักรยานยนต์ขับขี่ไปเอง นักเรียนเหล่านี้ต้องเดินทางไปโรงเรียนด้วยรถรับส่งนักเรียนหรือรถโดยสารสาธารณะที่มีโอกาสต้องพบเจอเพื่อนนักเรียนจากโรงเรียนอื่นหรือบุคคลอื่นที่โดยสารมาในรถคันเดียวกัน โดยที่ไม่รู้ว่าคนเหล่านี้มีการติดเชื้อมาแล้วหรือไม่ ซึ่งอาจทำให้เกิดเป็นจุดเสี่ยงหรือคลัสเตอร์ใหม่สำหรับการติดเชื้อและแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ได้ทุกเวลา และก็เป็นอย่างที่หลายคนคาดการณ์ไว้ ภายหลังเปิดเทอมสองได้ไม่นาน หลายพื้นที่ทั้งในกรุงเทพมหานครและส่วนภูมิภาคต่างก็พบว่ามีนักเรียนที่ติดเชื้อโควิด-19 กันแล้ว เช่น โรงเรียนที่นครราชสีมา หรืออุบลราชธานีที่เกิดคลัสเตอร์รถรับส่งนักเรียน ส่งผลให้ต้องปิดโรงเรียนแล้วอย่างน้อย 2 แห่ง และอยู่ระหว่างการควบคุมอีก 3 แห่ง ซึ่งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในกลุ่มนี้ เกิดจากนักเรียนหลายพื้นที่มาใช้รถรับส่งนักเรียนคันเดียวกัน ทำให้การระบาดแพร่เชื้อเป็นไปอย่างรวดเร็ว นักเรียนจำนวนมากจึงกลายเป็นกลุ่มเสี่ยงตามไปด้วย         สิ่งเหล่านี้คือข้อเรียกร้องที่อยากสะท้อนไปถึงกระทรวงศึกษาและกรมการขนส่งทางบก ในฐานะสองหน่วยงานหลักที่ต้องกำกับและจัดการความปลอดภัยของนักเรียนในทุกกลุ่ม และโดยเฉพาะกลุ่มที่ต้องเดินทางด้วยรถรับส่งนักเรียนที่ยังเป็นช่องว่างของปัญหาที่รอการแก้ไข เพราะการป้องกันที่ยากที่สุด คือ การป้องกันในที่สาธารณะที่อยู่นอกเขตโรงเรียนนั่นเอง         ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของกระทรวงศึกษาและกรมการขนส่งทางบกที่ต้องเป็นเจ้าภาพร่วมกันกำหนดมาตรการป้องกันและลดความเสี่ยงให้กับนักเรียนที่ต้องเดินทางด้วยรถรับส่งนักเรียนหรือรถโดยสารสาธารณะอย่างเป็นขั้นตอนที่เข้าใจง่ายและปฏิบัติได้จริง โดยความยินยอมร่วมมือของทุกฝ่าย (ถ้าขอความร่วมมือแล้วไม่ยอมก็ต้องมีมาตรการบังคับ) ทั้งโรงเรียน สำนักงานขนส่งจังหวัด ตำรวจ ผู้ปกครอง และคนขับรถรับส่งนักเรียน  เพื่อให้มั่นใจว่าการเดินทางไปกลับบ้านและโรงเรียนของนักเรียนทุกคนจะต้องปลอดภัยจากการติดเชื้อโควิด-19 และจากอุบัติเหตุรถรับส่งนักเรียนที่ยังเป็นปัญหาใหญ่หลอกหลอนอยู่จนวันนี้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 249 ติดโควิด ชีวิตเปลี่ยน บทเรียนการเยียวยาจิตใจหลังติดโควิด-19

        เกือบ 2 ปีแล้วที่คนทั่วโลกต้องผวากับโรคโควิด-19 ล่าสุดองค์การอนามัยโลกประกาศยืนยันว่าพบเชื้อกลายพันธุ์ชนิดใหม่ทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกา ตั้งชื่อว่า โอไมครอน ซึ่งระบาดเร็วและรุนแรงกว่าที่ผ่านมา แสดงว่าเชื้อโควิดคงจะอยู่กับพวกเราไปอีกนานและทุกคนมีสิทธิ์ที่จะติดได้         เช่นเดียวกับคุณเกวรินทร์ ศิลาพัฒน์ นักวิชาการด้านการพัฒนาระบบสื่อ และรองผู้จัดการแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ แม้เธอจะคลุกคลีกับข้อมูลด้านสุขภาพ ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19 เคร่งครัด รวมทั้งทำอาหารกินเอง เน้นสั่งซื้อของทางออนไลน์ แต่สุดท้ายก็ติดโควิด-19 จากคนใกล้ชิด ประสบการณ์ที่เธอนำมาบอกเล่านี้จึงคล้ายกระจกสะท้อนให้ทุกคนเตรียมรับมือไว้ให้พร้อมเสมอ      เตรียมพร้อมรับมือโควิด-19 ไว้ก่อนที่จะติดแล้ว         ตั้งแต่โควิด-19 ระบาด เนกับแฟนก็ระวังตัวตลอด เนเป็นโรคหอบกับภูมิแพ้ แฟนมีความดันและโรคอ้วน แล้วเรายังต้องเดินทางไปทำงานเราก็กลัว เนตรวจ ATK ทุกๆ 7 วันอยู่แล้ว ก่อนจะระบาดหนักๆ เนซื้ออุปกรณ์และยาที่ต้องใช้เก็บไว้อย่างละ 2 ชุด ทั้งเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิ เครื่องวัดความดัน ฟ้าทะลาย ยาแก้ปวด ยาแก้ไอ แผ่นเจลลดไข้ พร้อมใช้ยามฉุกเฉินทันที         พอวันที่ 8 สิงหาคม แฟนตรวจที่บริษัทแล้วพบว่าติด ยังไม่มีอาการอะไร เนแจ้งกับทางคอนโด และขอเช่าห้องเปล่าให้แฟนนอนแยกต่างหาก เขาปวดหัวมากและเริ่มมีไข้วันที่ 9 ช่วงกลางคืน ก็ให้กินยา ตอนนั้นคิดว่าทำอย่างไรให้เข้าสู่ระบบการรักษาได้เร็วที่สุด ก็ไปลงทะเบียนในไลน์ของ สปสช. ไว้ พอเขาแจ้งว่าจะมีโรงพยาบาลติดต่อกลับมาวันที่ 10 ซึ่งเราฟังมาจากหมอว่าอาการคนไข้จะหนักขึ้นในวันที่ 3 นับจากเริ่มมีอาการ พอถึงตอนนั้นเขาอาจจะไม่ไหวแล้ว เนจึงให้แม่ประสานกับโรงพยาบาลที่สุราษฎร์ธานี ฉุกละหุกมาก แต่โชคดีได้ติดรถมูลนิธิกุศลศรัทธาของจังหวัดสุราษฎร์ธานีกลับไปด้วยกัน         แฟนได้ไปรักษาที่โรงพยาบาล เนถูกแยกไปอยู่ LQ ตอนนั้นผลตรวจยังเป็นลบ แต่พอวันที่ 11 ปวดหัวมาก กินยาก็ไม่หาย พอกลางคืนข้ามจะวันที่ 14 สรุปผลตรวจออกมาเป็นบวก จึงต้องเข้าโรงพยาบาล หมอให้ยาฟาวิพิราเวียร์ เนไอจนอ้วก ปวดหัวมาก และท้องร่วงหนักจนหมอต้องให้น้ำเกลือกับออกซิเจน หลังจากรักษาอยู่ 2-3 สัปดาห์ เราทั้งคู่ก็ค่อยๆ อาการดีขึ้น แต่ต้องอยู่กักตัวต่อ 7 วัน ต้องทำหนังสือขอจังหวัดเพื่อจะกลับกรุงเทพฯ แล้วเราก็ตัดสินใจนั่งรถไฟกลับมาวันที่ 31 สิงหาคมรักษาโรคโควิด-19 หาย แต่กลายเป็นโรคแพนิก         ตอนที่อยู่โรงพยาบาล เนอยู่คนเดียวในห้องเปล่าๆ ไม่เจอโลกข้างนอกเลยตลอด 15 วัน เครียด จิตตก พอออกมากลายเป็นกลัวคนไปเลย แม้แต่ตอนนั่งรถไฟกลับมา เนก็กลัว ไม่กล้ากินข้าว ไม่กล้าไปห้องน้ำ ไม่กล้านั่งเก้าอี้ เพราะไม่รู้ว่าคนในรถไฟติดหรือเปล่า ต้องเอาแอลกอฮอล์ฉีด เอาผ้าเช็ดทุกอย่าง รู้สึกว่าให้มันปลอดภัย จนพอกลับมาบ้านอาการนี้ก็ยังเป็นอยู่         ตั้งแต่กลับมาบ้าน เนนอนข้างนอกที่โซฟาคนเดียวเพราะกลัวว่าจะติดซ้ำ แล้วก็ยังไปเข้มงวดกับแฟนด้วยว่าอย่าทำแบบนั้นอย่าทำแบบนี้เดี๋ยวติดอีกหรอก ตอนนั้นหนึ่งคือเราฟังเยอะไปว่าถ้าติดซ้ำจะหนักกว่าเดิม สองคือกังวลว่าเขากลับไปทำงานแล้วจะไปเอาเชื้อมาติดเราอีก พอเนพูดทุกวันๆ เป็นอาทิตย์สองอาทิตย์ไม่หยุด เขาเริ่มรำคาญว่าทำไมต้องพูดย้ำนักหนา แล้วเราก็ทะเลาะกัน ทั้งๆ ที่ก็รู้ว่าเขาติดมาจากที่ทำงาน ไม่มีใครอยากติดหรอก เขาเองก็เซฟตัวเองสุดๆ แล้ว แต่เหมือนเรากลัว หวาดระแวงไปหมด         จริงๆ เนเริ่มมีปัญหาสุขภาพจิตตั้งแต่ตอนอยู่ที่โรงพยาบาลแล้ว พยาบาลเห็นเนเริ่มเงียบๆ แปลกๆ ก็เลยให้ทำแบบประเมิน แล้วเหมือนเราเข้าข่ายต้องปรึกษาหมอ หลังจากที่กลับมาแล้วหมอก็ถามว่าได้คุยกับแฟนหรือยัง ก็บอกว่ายัง คือกลัวติด กลัวไม่หาย โน่น นี่ นั่น หมอบอกว่านี่คืออาการ Panic เป็นผลจากภาวะ Long COVID คือภาวะที่เป็นการกระทบทางจิตใจจากการติดโควิดจากคนรอบข้าง แม้ไม่ได้เกิดการสูญเสีย แต่ทำให้เป็นปัญหาครอบครัวระยะยาว คือถ้าไม่รักษา หรือคิดว่าเดี๋ยวก็หาย บอกเลยว่าไม่หาย แล้วยิ่งจะสะกิดความรู้สึกไปเรื่อยๆ อย่างพอใครเริ่มไอก็กลายเป็นหวาดระแวงกันเอง หมอแนะนำว่าควรปรึกษานักจิตวิทยา ขอคำปรึกษาเยียวยาจิตใจเพื่อคนในครอบครัว         เนไปเจอแอปพลิเคชั่นที่ให้ปรึกษาด้านจิตวิทยาของสมาคมนักจิตวิทยาแห่งหนึ่ง จองคิวปรึกษาไว้สัปดาห์ละครั้ง ใช้วิดีโอคอลคุยกัน ครั้งแรกเขาก็ถามว่าเป็นอย่างไร รู้สึกอย่างไร เนก็เล่าไป หมอบอกว่านั่นคือรีเฟล็ก ที่เราแสดงออกมาว่าเราไม่เข้าใกล้เขา คือนั่งก็นั่งห่างกัน ไม่จับ ไม่แตะ ไม่ต้อง แล้วก็จะฉีดแอลกอฮอล์ทุกอย่างในบ้าน วันแรกหมอแนะให้ลองจับมือกัน สวมแมสก์แล้วเข้าไปกอดกันสักครั้ง เนลองทำแล้ว แต่ก็ไม่หาย มันกลัว พอครั้งที่สองหมอก็แนะนำว่าลองกลับไปนั่งคุยกันดีๆ หาวิธีการว่ทำอย่างไรก็ได้ต้องมาจูนกันใหม่ ซึ่งพอเราคุยกันไปสักพัก สมองเนจะคิดเชิงตำหนิว่าเขาทำแบบนี้ๆ อีกแล้ว         ครั้งที่สาม หมอก็ประเมินว่าน่าจะมีอะไรแปลกๆ อยู่สักอย่างหนึ่งที่ตัวเนไม่ใช่ตัวแฟน หมอก็มีให้เลือกสองทาง หนึ่งคือแยกกันอยู่จนกว่าจะดีขึ้นและคิดถึงกัน สองคือเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมทั้งหมดในบ้าน เพราะถ้ายังอยู่ในสิ่งแวดล้อมเดิมๆ เราจะคิดแต่เรื่องเดิมๆ เนเลยว่าจะลองจัดบ้านใหม่ หมอบอกว่าให้ชวนแฟนมาช่วยเราเลือกด้วยว่าอยากจะเปลี่ยนตรงไหนยังไง         พอเข้าสู่กระบวนการนี้ กลายเป็นเราได้อยู่ใกล้กันมากขึ้น ได้คิดด้วยกันว่าเราเปลี่ยนมุมห้องแบบนี้ดีไหม ทำให้ลืมเรื่องโควิดไปเลย เราช่วยกันจัดของ ช่วยกันประกอบเฟอร์นิเจอร์ที่สั่งมาใหม่ ทำให้เริ่มไม่มีระยะห่าง แต่เนจะติดอยู่อย่างเดียวคือทุกครั้งที่เขาไปทำงาน สมองจะเริ่มคิดอีกแล้วว่าเขาต้องไปเจอคนเยอะ แล้วเขาต้องติดกลับมาแน่เลย         อันนี้คุณหมอบอกให้ปล่อยวาง โดยก่อนหน้านั้นเนไม่ได้เข้าไปนอนในห้อง จนจัดห้องใหม่เสร็จ หมอก็บอกลองเข้าไปนอนในห้องสิ แล้วก็ทำกิจวัตรเหมือนที่เราเคยทำคือตรวจ ATK ดูอาการ สังเกตอาการ แล้วแนะนำว่าเวลานอนให้เอามือสัมผัสให้เรารู้สึกว่าเรามั่นใจในตัวเขา จะช่วยลดความหวาดระแวงนี้ได้พอสัปดาห์ที่ห้ามาประเมินก็ดีขึ้น แต่ยังรู้สึกติดอยู่นิดๆ ก็คิดว่ายังโชคดีที่เราไม่ถึงขั้นสูญเสีย กระบวนการเหล่านี้ช่วยรักษาความสัมพันธ์ในชีวิตคู่ให้เรา แล้วยังกลับไปชาร์จความรู้สึกให้พ่อกับแม่ของเนด้วย         เนรู้สึกผิดที่เห็นพ่อแม่ต้องลำบากและร้องไห้เพราะเป็นห่วงเรา จึงพยายามเอาวิธีการที่หมอแนะนำนี้ไปใช้ปลอบประโลมพ่อกับแม่ด้วย หมอบอกให้โทรไลน์ โทรคุยวิดีโอคอลกับพ่อแม่ให้เห็นหน้ากันทุกวันว่าเราปกติสมบูรณ์ดีและจิตใจเขาจะดีขึ้น วิธีการคือให้เราบอกเขาก่อนเลยว่าวันนี้เรารู้สึกดีอย่างไร คือต้องบอกเขาก่อนที่เขาจะถาม เพราะถ้าเขาถามแปลว่านั่นคือเขากังวล พอเราบอกเขาก่อนเขาก็รู้สึกคลายกังวล และให้ชวนคุยเรื่องอื่นๆ ที่สบายใจ ซึ่งพอทำตามวิธีนี้แล้วแม่กับพ่อก็ค่อยๆ ดีขึ้น เมื่อกลับมาทำงานก็ต้องปรับตัวต่อสังคม         หลังจากกลับมากรุงเทพฯ เนกลับมาทำงานในสัปดาห์ที่สอง ประเด็นก็คือเราทำงานสายสุขภาพด้วยเราคิดเยอะ เราก็เลยนอยด์ กลัว ไม่ใช่คิดว่าเขากลัวเรา แต่เรากลัวเขา แล้วก็เพิ่งกล้านั่งรถไฟฟ้าได้ไม่นานนี้เอง        ข่าวก็มีอิทธิพลต่อความรู้สึกมาก ในด้านลบทำให้เราหวาดระแวงว่าคนโน้นติดคนนี้ติด ไปตรงนั้นติดตรงนี้ติด เราก็เลยไม่มั่นใจว่าถ้ากลับไปใช้ชีวิตปกติ เราจะติดอีกไหม พอมีคนพูดว่าภายในหนึ่งเดือนติดซ้ำได้นะ ติดซ้ำแล้วอาการหนักขึ้น เราก็ยิ่งกลัว ส่วนในด้านบวกก็ทำให้เรามีข้อมูลข่าวสารว่าถ้าเราติดแล้วจะไปอยู่ที่ไหน ทำอย่างไร จะเข้ากระบวนการอย่างไร อันนี้จะช่วยได้เยอะ อยากให้แนะนำว่าถ้าติดโควิด-19 แล้วควรทำยังไง        ให้คุณทำใจไว้ได้เลยว่าโควิดไม่ได้หายไป แต่จะเป็นเมื่อไหร่ไม่รู้ เราต้องพร้อมเสมอ หนึ่งคือต้องมียาเอาไว้จะปลอดภัยสุด เพราะถ้าเริ่มมีอาการคุณกินก่อนได้เลย สองคือถ้าคุณมีอาการไข้ มีปรอท มีเครื่องวัดออกซิเจน คุณจะรู้ตัวเองว่าอาการหนักหรือไม่หนัก ฉะนั้นอุปกรณ์พวกนี้ควรมีติดบ้าน สามคือถ้าติดแล้วต้องมีสติให้มากๆ เพราะว่าบางคนพอติดแล้วแพนิกเตลิดไปเลย เนบอกเลยว่าตัวเองก็ตกใจมาก แต่ก็ดึงสติไว้ได้ ไม่ต้องหาสาเหตุว่าทำไมถึงติด ติดที่ไหนไม่ต้องหา ให้คิดไปข้างหน้าว่าติดแล้วเราจะไปที่ไหน         ถ้าเริ่มมีอาการไม่ดี ตรวจเลยอย่ารอ ควรจะมีชุดตรวจแบบ ATK ติดบ้านไว้ ถ้าติด ให้รีบเตรียมตัวเองเพื่อไปเข้ารับการรักษาให้เร็วที่สุด เพราะนั่นเท่ากับว่าคุณจะไม่มีเชื้อลงปอด คุณรอดตาย แต่ถ้าคุณมีเชื้อลงปอดเมื่อไหร่คุณนับระยะเวลาไปได้เลย 1 ปี กว่าคุณจะหาย อีกอย่างที่สำคัญคือหมอบอกว่าเนฟื้นตัวเร็วคือหนึ่งเนได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ สองคือเนได้รับวัคซีนแอสตร้าซิเนก้ามาแล้วเข็มหนึ่ง เท่ากับว่าเรามีภูมิอยู่แล้วในระดับหนึ่งที่จะต่อต้านการลงปอดและต่อต้านอาการหนักได้         ช่วงมีอาการวันที่ 1 ถึงวันที่ 5 มันยากมากที่จะประคองตัวเอง แต่ขอให้ต่อสู้กับตัวเองให้ได้ คือโควิคมันมีไทม์ไลน์ จะหนักแค่ช่วงมีอาการวันที่ 3 ถึงวันที่ 5 แล้ววันที่ 6,7 จะดีขึ้น ถ้าคุณพ้นจากวันที่ 7 ไปได้ คุณคือคนใหม่ที่แข็งแรงขึ้นทั้งใจทั้งกาย อยากบอกคนที่เป็นโควิดว่าต้องมีสุขภาพใจที่แข็งแรง อย่าคิดว่าจะตนเป็นที่รังเกียจ ถ้าเป็นโควิดแล้วอยู่คนเดียว ไม่บอกใคร จะยิ่งแย่ถ้าใจเราอ่อนแอ เราต้องมีจิตใจเข้มแข็งมากๆ สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการป่วยโควิดครั้งนี้         หลังจากวันที่ 7 จะเป็นช่วงฟื้นตัว ทำให้เนมีเวลาอยู่กับตัวเองมากขึ้น ได้ทบทวนตัวเอง ได้อ่านหนังสือเยอะมาก แล้วก็เรียนวาดรูปออนไลน์จบไปคอร์สหนึ่งด้วย แต่บางทีก็เหงา ดีที่เพื่อนๆ โทรมาชวนคุยบ่อยๆ ตอนนี้เราก็ใช้วิธีนี้กับน้องๆ เพื่อนๆ ที่ติดโควิดอยู่นราธิวาส ยะลา คือโทร.ถามทุกวันว่าเป็นอย่างไรบ้าง โอเคไหม เพราะเรารู้ว่าการต้องอยู่คนเดียวแบบนั้นมันทรมาน         โควิดมีทั้งโทษและประโยชน์ ถ้าบางคนใจสู้ ก็ไหว แต่ถ้าบางคนไม่สู้ ก็คือยอมแพ้ไปเลย แล้วบางคนก็คิดว่าคือไม่ไหวแล้วไม่มีทางรักษาแล้ว อันนั้นเป็นเพราะว่าคุณกลัว ยังมีทางออกอื่นอีกเยอะมาก ถ้าเราเตรียมตัวดีเราจะรับมือกับมันได้ ตอนนั้นก็พยายามจะโพสต์เล่าว่าตัวเองเป็นอย่างไร เพราะคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับคนอื่น ถ้าเขามีอาการแบบนี้เขาต้องสังเกตอาการอย่างไร         อยากจะฝากบอกทุกคนว่าอย่ารังเกียจคนเป็นโควิด คนเป็นโควิดคือคนที่ต้องการกำลังใจมากที่สุด เพราะเขาต้องต่อสู้ด้วยตัวเองอย่างโดดเดี่ยว          โควิดไม่ได้เป็นแค่โรค แต่เป็นเหมือนแผลเป็นที่ทิ้งร่องรอยไว้ ให้เรายังรู้สึกติดอยู่ในใจตลอด

อ่านเพิ่มเติม >

ผลสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับผู้บริโภคเรื่องสินค้าและบริการที่ต้องการให้ทดสอบ

โพลล์เผย 54.7% ถูกละเมิดสิทธิจากการซื้อสินค้าบริการ โฆษณาเกินจริงขึ้นแท่นปัญหาอันดับหนึ่ง ด้านมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเปิดสถิติปี 64 ร้องเรียนสินค้าบริการมากเป็นอันดับสองโพลล์เผยผู้บริโภคถูกละเมิดสิทธิจากการซื้อสินค้าและบริการ ถึงร้อยละ 54.7 การโฆษณาเกินจริงเป็นปัญหาอันดับหนึ่ง โดยประชาชน ร้อยละ 77.2 อยากให้สภาองค์ของผู้บริโภคทดสอบสินค้า มากที่สุดคือ เครื่องใช้ไฟฟ้า ด้านมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดสถิติ ม.ค. - ก.ย. 64 พบผู้ร้องเรียนปัญหาหมวดสินค้าบริการทั่วไปเป็นอันดับสอง ร้อยละ 27.18 เรื่องร้องเรียนอันดับหนึ่งคือ สินค้าชำรุดบกพร่อง/ไม่ได้มาตรฐาน ร้อยละ 20.06  เรื่องโฆษณาเกินจริงที่เป็นปัญหาอันดับหนึ่ง พบผู้ร้องเรียนกับทางมูลนิธิฯ อยู่ที่อันดับที่สี่ ร้อยละ 16.05         วันที่ 2 ธันวาคม 2564 สภาองค์กรของผู้บริโภค นิตยสารฉลาดซื้อ ร่วมกับ ศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับผู้บริโภคเรื่องสินค้าและบริการที่ต้องการให้ทดสอบ ในกรุงเทพมหานครโดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,143 กลุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลในวันที่ 22 - 26 กันยายน 2564         ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ กล่าวว่า ผลการสำรวจในครั้งนี้เรื่องผู้บริโภคเรื่องสินค้าและบริการที่ต้องการให้ทดสอบ เนื่องจากสภาองค์กรของผู้บริโภค เป็นส่วนหนึ่งที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 46 บุคคลย่อมมีสิทธิรวมกันจัดตั้งองค์กรของผู้บริโภคเพื่อคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค องค์กรของผู้บริโภคตามวรรคสองมีสิทธิรวมกันจัดตั้งเป็นองค์กรที่มีความเป็นอิสระเพื่อให้เกิดพลัง ในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคโดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐ และยังมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภค ในมาตรา 61 รัฐต้องจัดให้มีมาตรการหรือกลไกที่มีประสิทธิภาพในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการรู้ข้อมูลที่เป็นจริง ด้านความปลอดภัย หรือด้านอื่นๆ อีกทั้ง ตามพ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 สภาองค์กรของผู้บริโภคเป็นองค์กรอิสระที่ได้รับงบประมาณสามร้อยห้าสิบล้านบาทในการดำเนินการ และสามารถใช้สิทธิแทนผู้บริโภคในการดำเนินคดีเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค ซึ่งจะเป็นองค์กรอิสระที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคหรือประชาชนเป็นอย่างมาก โดยผลการสำรวจในครั้งนี้ต่อเรื่องผู้บริโภคเรื่องสินค้าและบริการที่ต้องการให้ทดสอบ โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ทราบว่า “สภาองค์กรของผู้บริโภค” มีการจัดตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่เป็นผู้แทนของผู้บริโภคในทุกด้าน ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 ร้อยละ 61.7 และทราบว่า “สภาองค์กรของผู้บริโภค” เป็นตัวแทนผู้บริโภคและมีอำนาจคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคในทุกด้าน มีหน้าที่รวบรวม และเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการอันจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคในการตัดสินใจซื้อสินค้าหรือใช้บริการ ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้โดยสะดวก ร้อยละ 57.6         โดยใน 1 ปีที่ผ่านมาประชาชนเคยถูกละเมิดสิทธิจากการซื้อสินค้าและบริการ ร้อยละ 54.7 และเรื่องที่ประสบปัญหามากที่สุด อันดับที่หนึ่งคือ การโฆษณาเกินจริง ร้อยละ 26.4 อันดับที่สองคือ ขนาดของสินค้าไม่ตรง ร้อยละ 23.9 อันดับที่สามคือ สินค้าไม่ได้คุณภาพ ร้อยละ 22.2 อันดับที่สี่คือ สินค้าหมดอายุ ร้อยละ 12 อันดับที่ห้าคือ ซื้อแล้วไม่ได้สินค้า ร้อยละ 7.7 และอันดับสุดท้ายคือ สินค้าไม่มีฉลากกำกับ ร้อยละ 7.5         สินค้าหรือบริการพบว่าไม่ได้คุณภาพ อันดับที่หนึ่งคือ เครื่องใช้ไฟฟ้า ร้อยละ 22.4 อันดับที่สองคือ เครื่องสำอาง ร้อยละ 20.4 อันดับที่สามคือ อาหาร ร้อยละ 18 อันดับที่สี่คือ เครื่องดื่ม ร้อยละ 9.4 อันดับที่ห้าคือ เครือข่ายอินเทอร์เน็ต ร้อยละ 7.8 อันดับที่หกคือ บริการขนส่งมวลชน ร้อยละ 7.4 อันดับที่เจ็ดคือ เครือข่ายโทรศัพท์ ร้อยละ 6.6 อันดับที่แปดคือ บริการจัดส่งสินค้า ร้อยละ 4.5 และอันดับสุดท้ายคือ บริการนำส่งอาหาร ร้อยละ 3.3         กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่อยากให้ “สภาองค์กรของผู้บริโภค” ทดสอบสินค้าและบริการเพื่อเป็นข้อมูลในการเลือกซื้อสินค้าและบริการ ร้อยละ 77.2 และคิดว่าท่านจะสามารถใช้ผลการทดสอบสินค้าและบริการของ “สภาองค์กรของผู้บริโภค” เพื่อเป็นข้อมูลในการเลือกซื้อสินค้าและบริการ ร้อยละ 67.2        โดยต้องการให้ “สภาองค์กรของผู้บริโภค” ทดสอบสินค้าและบริการ อันดับที่หนึ่งคือ เครื่องใช้ไฟฟ้า ร้อยละ 45.6 อันดับที่สองคือ อาหาร ร้อยละ 42.8 อันดับที่สามคือ เครื่องสำอาง ร้อยละ 41.7 อันดับที่สี่คือ เครื่องดื่ม ร้อยละ 34.9 อันดับที่ห้าคือ เครือข่ายอินเทอร์เน็ต ร้อยละ 32.8 อันดับที่หกคือ บริการจัดส่งสินค้า ร้อยละ 29 อันดับที่เจ็ดคือ บริการขนส่งมวลชน ร้อยละ 25 อันดับที่แปดคือ เครือข่ายโทรศัพท์ ร้อยละ 24.8 และอันดับสุดท้ายคือ บริการนำส่งอาหาร ร้อยละ 22.7         อยากให้สภาองค์กรของผู้บริโภค ทดสอบประเภทของสินค้าอาหาร อันดับที่หนึ่งคือ อาหารเสริม ร้อยละ 38.5 อันดับที่สองคือ อาหารกึ่งสำเร็จรูป ร้อยละ 18.5 อันดับที่สามคือ อาหารปรุงสุก ร้อยละ 15.7 อันดับที่สี่คือ อาหารสด ร้อยละ 11.2 อันดับที่ห้าคือ ขนมอบกรอบ ร้อยละ 9.7 และอันดับสุดท้ายคือ ผัก ผลไม้ ร้อยละ 6.5         อยากให้สภาองค์กรของผู้บริโภค ทดสอบประเภทของเครื่องดื่ม อันดับที่หนึ่งคือ เครื่องดื่มผสมวิตามิน ร้อยละ 40.4 อันดับที่สองคือ เครื่องดื่มชูกำลัง ร้อยละ 15 อันดับที่สามคือ นม UHT ร้อยละ 12.2 อันดับที่สี่คือ ชา กาแฟ ร้อยละ 11.8 อันดับที่ห้าคือ น้ำผลไม้ ร้อยละ 10.8 และอันดับสุดท้ายคือ น้ำดื่ม ร้อยละ 9.6         อยากให้สภาองค์กรของผู้บริโภค ทดสอบประเภทของเครื่องสำอาง อันดับที่หนึ่งคือ ครีมบำรุงผิว ร้อยละ 23.6 อันดับที่สองคือ สบู่ / ครีมอาบน้ำ ร้อยละ 18.5 อันดับที่สามคือ โฟมล้างหน้า ร้อยละ 17.7 อันดับที่สี่คือ แชมพู ครีมนวดผม ร้อยละ 14.8 อันดับที่ห้าคือ ผงซักฟอก / น้ำยาซักผ้า ร้อยละ 13 และอันดับสุดท้ายคือ ลิปสติก ร้อยละ 11.9         อยากให้สภาองค์กรของผู้บริโภค ทดสอบประเภทของเครื่องใช้ไฟฟ้า อันดับที่หนึ่งคือ เครื่องปรับอากาศ ร้อยละ 27.9 อันดับที่สองคือ เครื่องฟอกอากาศ ร้อยละ 17.6 อันดับที่สามคือ เครื่องกรองน้ำ ร้อยละ 16.7 อันดับที่สี่คือ เตาอบ ร้อยละ 13.7 อันดับที่ห้าคือ ทีวี ร้อยละ 12.5 และอันดับสุดท้ายคือ ตู้เย็น ร้อยละ 10.9         อยากให้สภาองค์กรของผู้บริโภคทดสอบ/สำรวจบริการเครือข่ายโทรศัพท์ อันดับที่หนึ่งคือ ความปลอดภัยของข้อมูลส่วนตัว ร้อยละ 30.4 อันดับที่สองคือ บริการ SMS ที่เก็บค่าบริการ ร้อยละ 20.6 อันดับที่สามคือ ค่าบริการ ร้อยละ 13.6 อันดับที่สี่คือ การชดเชยเมื่อเกิดความผิดพลาดของผู้ให้บริการ ร้อยละ 12.5 อันดับที่ห้าคือ บริการ Call center ร้อยละ 12.1 และอันดับสุดท้ายคือ พื้นที่ให้บริการ ร้อยละ 10.8         อยากให้สภาองค์กรของผู้บริโภค ทดสอบ/สำรวจบริการอินเทอร์เน็ต อันดับที่หนึ่งคือ ความปลอดภัยของข้อมูลส่วนตัว ร้อยละ 32 อันดับที่สองคือ ความเร็วอินเทอร์เน็ต ร้อยละ 24.2 อันดับที่สามคือ พื้นที่ให้บริการ ร้อยละ 12.1 อันดับที่สี่คือ ค่าบริการ ร้อยละ 11.8 อันดับที่ห้าคือ บริการ Call center ร้อยละ 10.3 และอันดับสุดท้ายคือ การชดเชยเมื่อเกิดความผิดพลาดของผู้ให้บริการ ร้อยละ 9.5         อยากให้สภาองค์กรของผู้บริโภค ทดสอบ/สำรวจบริการขนส่งสินค้า อันดับที่หนึ่งคือ การดูแลพัสดุไม่ให้เกิดความเสียหาย ร้อยละ 24 อันดับที่สองคือ การชดเชยกรณีพัสดุเสียหาย ร้อยละ 22 อันดับที่สามคือ ความปลอดภัยของข้อมูลส่วนตัว ร้อยละ 17.6 อันดับที่สี่คือ การชดเชยกรณีพัสดุสูญหาย ร้อยละ 15.2 อันดับที่ห้าคือ ความเร็วในการจัดส่ง ร้อยละ 12.6 และอันดับสุดท้ายคือ ค่าบริการ ร้อยละ 8.7         อยากให้สภาองค์กรของผู้บริโภค ทดสอบ/สำรวจบริการขนส่งมวลชน อันดับที่หนึ่งคือ รถเมล์ ร้อยละ 26 อันดับที่สองคือ รถแท็กซี่ ร้อยละ 18.5 อันดับที่สามคือ จักรยานยนต์รับจ้าง ร้อยละ 16 อันดับที่สี่คือ รถรับจ้างสาธารณะ (สองแถว) ร้อยละ 15 อันดับที่ห้าคือ รถไฟฟ้า ร้อยละ 13.3 และอันดับสุดท้ายคือ เรือโดยสาร ร้อยละ 11.2         นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า สถิติการร้องเรียนของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงกันยายน ปี 2564 มีเรื่องร้องเรียนทั้งหมด 1,192 เรื่อง มีผู้ร้องเรียนปัญหาหมวดสินค้าบริการทั่วไป เป็นอันดับสอง จำนวน 324 เรื่อง ร้อยละ 27.18 รองจากอันดับหนึ่ง หมวดการเงินการธนาคาร/ประกัน จำนวน 516 เรื่อง ร้อยละ 43.29 ในหมวดสินค้าบริการทั่วไป ประเภทสินค้าที่ร้องเรียนที่พบมากที่สุด คือ สินค้า 248 เรื่อง ร้อยละ 76.54 รองลงมา คือ บริการ 76 เรื่อง ร้อยละ 23.46         เมื่อแบ่งประเภทปัญหาที่ร้องเรียนในหมวดสินค้าบริการทั่วไป อันดับที่หนึ่งคือ สินค้าชำรุดบกพร่อง/ไม่ได้มาตรฐาน จำนวน 65 เรื่อง ร้อยละ 20.06 อันดับที่สองคือ มีปัญหาการขอคืนเงิน จำนวน 56 เรื่อง ร้อยละ 17.28 อันดับที่สามคือ ไม่พอใจบริการ จำนวน 56 เรื่อง ร้อยละ 17.28 อันดับที่สี่คือ โฆษณาเป็น         เท็จ/หลอกลวง/เกินจริง จำนวน 52 เรื่อง ร้อยละ 16.05 อันดับที่ห้าคือ ไม่ได้รับสินค้า/สินค้าไม่ถูกต้อง จำนวน 33 เรื่อง ร้อยละ 10.19 อันดับที่หกคือ ฉ้อโกง/หลอกลวง จำนวน 21 เรื่อง ร้อยละ 6.48         ในปี 2564 พบว่าผู้บริโภคเคยถูกละเมิดสิทธิจากการซื้อสินค้าและบริการถึงร้อยละ 54.7 แต่มีผู้ที่มาร้องเรียนกับมูลนิธิฯ ในหมวดสินค้าบริการทั่วไปเป็นอันดับสอง ร้อยละ 27.18 เป็นจำนวนค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ที่พบปัญหาถูกละเมิดสิทธิ เมื่อเทียบปัญหาที่พบกับการร้องเรียนปัญหาเรื่องสินค้าและบริการทั่วไปแล้วยังพบว่ามีผู้ที่พบปัญหาแต่ไม่ได้ร้องเรียนอยู่มาก โดยเฉพาะเรื่องของการโฆษณาเกินจริง ที่พบปัญหามากเป็นอันดับที่หนึ่งแต่ร้องเรียนกับมูลนิธิฯ เป็นอันดับที่สี่ อาจจะเพราะผู้บริโภคยังไม่รู้ว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาที่สามารถร้องเรียนได้ ฉะนั้นเมื่อพบปัญหาแล้วเกิดความสงสัยหรือไม่แน่ใจ ควรสอบถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และอยากให้ผู้บริโภคร้องเรียนปัญหาเพื่อรักษาสิทธิของตนเอง         หากพบปัญหาเรื่องสินค้าและบริการต่างๆ สามารถสอบถามเพิ่มเติม หรือแจ้งเรื่องร้องเรียนได้ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โทรศัพท์ : 02-2483734-7 Line id : @ConsumerThai หรือร้องทุกข์ออนไลน์ที่ https://www.consumerthai.com/

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 248 ขนมเวเฟอร์หวานมันกรอบๆ ก็มีโซเดียมนะ

        ใกล้เทศกาลปีใหม่แบบนี้ หากลองสังเกตขนมขบเคี้ยวยอดฮิตที่ใครๆ มักนำมาจัดในกระเช้าของขวัญแล้ว หนึ่งในนั้นน่าจะต้องมี ”ขนมเวเฟอร์” รวมอยู่แน่นอน ด้วยแผ่นแป้งพิมพ์ลายไขว้กันเหมือนรังผึ้งที่กรอบบางเบาเคี้ยวเพลิน ผสานกับเนื้อครีมสอดไส้หรือเคลือบไว้ที่หอมหวานมันอร่อยลิ้น จึงเป็นขนมที่ถูกปากถูกใจทั้งเด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ รวมถึงผู้สูงอายุมานาน ทั้งยังกินง่าย หาซื้อง่าย มีหลายรสชาติหลากรูปแบบให้เลือกตามชอบ แต่ถ้ากินเยอะๆ บ่อยๆ ก็อ้วนง่ายด้วย เพราะมีทั้งแป้ง น้ำตาล และไขมันที่ให้พลังงานสูง แถมยังพ่วงโซเดียมมาอีก         ทางสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย ได้สุ่มสำรวจปริมาณโซเดียมบนฉลากโภชนาการกลุ่มขนมขบเคี้ยวจำนวน 400 ตัวอย่าง สำหรับเป็นข้อมูลให้ผู้ป่วยโรคไต ความดันโลหิตสูง และผู้บริโภคทั่วไป ได้ใช้ประกอบการตัดสินใจเลือกเพื่อเลี่ยงขนมที่มีโซเดียมสูง         ฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนฯ ซึ่งได้มีส่วนร่วมในการให้คำปรึกษาจึงขอนำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์ชุดนี้ โดยฉบับนี้เลือกขนมเวเฟอร์ทั้งที่สอดไส้และเคลือบด้วยครีมรสชาติต่างๆ ในรูปแบบสี่เหลี่ยม แบบโรลและแบบสติ๊ก จำนวน 27 ตัวอย่าง 10 ยี่ห้อ เก็บตัวอย่างจากร้านสะดวกซื้อและซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป ในช่วงเดือนมีนาคม 2564           ผลการสำรวจฉลากดูปริมาณโซเดียมในขนมเวเฟอร์        -ขนมเวเฟอร์ทั้งหมด 27 ตัวอย่างนี้ มีราคาขายซองละ 5 - 45 บาท และมีน้ำหนักสุทธิตั้งแต่ 25 - 86 กรัม        -เมื่อดูปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคบนฉลาก พบว่า ยี่ห้อล็อคเกอร์ ครีมคาเคา (เวเฟอร์สอดไส้ครีมโกโก้) มีโซเดียมน้อยที่สุดคือ 25 มิลลิกรัม ส่วนยี่ห้อริทซ์ ชีส เวเฟอร์โรล (เวเฟอร์โรลสอดไส้ครีม รสชีส) มีโซเดียมมากที่สุดคือ 150 มิลลิกรัม        -เมื่อดูขนาดบริโภคหรือปริมาณหนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำบนฉลาก พบว่าปริมาณน้อยที่สุดคือ 23 กรัม ได้แก่ ยี่ห้อล็อคเกอร์ 3 ตัวอย่างคือ ครีมคาเคา (เวเฟอร์สอดไส้ครีมโกโก้),นาโปลิเทนเนอร์ (เวเฟอร์สอดไส้ครีมเฮเซลนัต) และมิลค์ (เวเฟอร์สอดไส้ครีม รสนม) ส่วนปริมาณที่มากที่สุดคือ 45 กรัม ได้แก่ ยี่ห้อเดลฟี่ท็อป 4 ตัวอย่างคือ เวเฟอร์เคลือบช็อกโกแลต ข้าวพองและคาราเมล, ทริปเปิ้ล ช็อก, คาปูชิโน และสตอเบอร์รี่ กับยี่ห้อล็อคเกอร์ 2 ตัวอย่างคือ วานิลลา (เวเฟอร์สอดไส้ครีมวานิลลา) และโกโก้ แอนด์ มิลค์ (เวเฟอร์รสโกโก้สอดไส้ครีมนม)         ข้อสังเกต        -หากพิจารณาถึงความคุ้มค่า เมื่อคำนวณราคาต่อปริมาณ 1 กรัม พบว่า ยี่ห้อบิสชิน เวเฟอร์ไส้ครีม กลิ่นส้ม และ รสมะพร้าว มีราคาถูกสุดคือ 0.17 บาท ส่วนยี่ห้อล็อคเกอร์ ฟอนแดนท์ (เวเฟอร์สอดไส้ครีมดาร์กช็อกโกแลต มีราคาแพงสุดคือ 1.2 บาท        - จากตัวอย่างขนมขบเคี้ยวทั้งหมดที่สมาคมเพื่อนโรคไตฯ สำรวจ ซึ่งแบ่งเป็น 9 ประเภทตามวัตถุดิบนั้นเมื่อเรียงลำดับปริมาณโซเดียมต่อหน่วยบริโภคมากที่สุดในขนมแต่ละประเภทแล้ว พบว่าขนมเวเฟอร์อยู่รั้งท้าย (150 มก.) โดยลำดับที่หนึ่งคือมันฝรั่ง (1,080 มก.) รองลงมาคือปลาเส้น (810 มก.) ข้าวเกรียบและขนมอบกรอบ (560 มก.) สาหร่าย (510 มก.) ข้าวโพด (390 มก.) ถั่วและนัต ( 380 มก.) แครกเกอร์และบิสกิต (230 มก.) และคุกกี้ (220 มก.)        - จากที่ฉลาดซื้อเคยสำรวจฉลากเวเฟอร์ช็อกโกแลตมาแล้ว ในครั้งนั้นได้ผลออกมาว่ามีปริมาณโซเดียมต่อหน่วยบริโภคอยู่ที่ 10 – 120 มิลลิกรัม และมี 6 ตัวอย่างที่นำมาสำรวจในครั้งนี้ด้วย ซึ่งพบว่ายี่ห้อกัสเซ็น เวเฟอร์สอดไส้ครีม รสช็อกโกแลต มีปริมาณโซเดียมต่อหน่วยบริโภคจากเดิม 35 มิลลิกรัม ลดลงเป็น 30 มิลลิกรัม ส่วนอีก 5 ตัวอย่างนั้นยังเท่าเดิม        - จากเกณฑ์การพิจารณาใช้สัญลักษณ์โภชนาการ”ทางเลือกเพื่อสุขภาพ” ของ อย.ที่กำหนดว่าขนมขบเคี้ยวต้องมีโซเดียมไม่เกิน 500 มิลลิกรัม/100 กรัม (หรือ 150 มิลลิกรัม/ 30 กรัม) เมื่อลองคำนวณหาปริมาณโซเดียมใน 1 หน่วยบริโภคที่ 30 กรัมเท่ากัน พบว่าขนมเวเฟอร์ทุกตัวอย่างผ่านเกณฑ์ปริมาณโซเดียมนี้แต่อย่างไรก็ตามยังต้องพิจารณาปริมาณพลังงาน น้ำตาล และไขมันควบคู่ไปด้วย        - เมื่อคำนวณปริมาณโซเดียมของขนมเวเฟอร์ทั้งซอง พบว่ายี่ห้อบิสชิน เวเฟอร์ไส้ครีม กลิ่นส้ม มีโซเดียมน้อยที่สุดคือ 45 มิลลิกรัม ยี่ห้อริทซ์ ชีส เวเฟอร์โรล (เวเฟอร์โรลสอดไส้ครีม รสชีส) มีโซเดียมมากที่สุดคือ 225 มิลลิกรัม        - มี 13 ตัวอย่าง ที่มีปริมาณต่อหน่วยบริโภคเท่ากับน้ำหนักสุทธิ โดยมีปริมาณโซเดียมที่ 45 - 95 มิลลิกรัม        - ขนมเวเฟอร์รสโกโก้หรือช็อคโกแลต (แบบเคลือบ/สอดไส้) มีมากที่สุดคือ 10 ตัวอย่าง        - เวเฟอร์แบบสี่เหลี่ยมส่วนใหญ่จะมีปริมาณโซเดียมน้อยกว่าเวเฟอร์โรลและเวเฟอร์สติ๊กที่เป็นแบบแท่งๆ คำแนะนำ-บางคนอาจสงสัยว่าขนมเวเฟอร์ไม่เค็มแล้วทำไมถึงมีโซเดียมได้ เพราะยังเข้าใจว่าอาหารรสเค็มเท่านั้นที่มีโซเดียม แต่จริงๆ แล้วขนมอบรสหวานมันที่มีส่วนผสมของผงฟู เช่น ขนมเค้ก คุกกี้ แพนเค้ก ขนมปัง ต่างก็มีโซเดียมอยู่ เพราะผงฟูมีโซเดียมไบคาร์บอเนตเป็นส่วนประกอบ นั่นเอง ดังนั้นอย่าชะล่าใจกินขนมหวานซ่อนเค็ม(โซเดียม)เพลิน ทำให้ได้รับโซเดียมเกินโดยไม่รู้ตัว- ผู้บริโภคควรพิจารณาข้อมูลบนฉลากโภชนาการก่อนซื้อทุกครั้ง โดยเฉพาะหากซื้อให้เด็กและผู้สูงอายุ- ผู้ปกครองหรือคุณครูควรฝึกให้เด็กๆ ดูและเปรียบเทียบฉลากหวาน มัน เค็ม ให้เข้าใจพอจะเลือกเองได้  -ในแต่ละวัน ผู้ใหญ่ไม่ควรกินขนมขบเคี้ยวที่มีโซเดียมเกิน 200 มิลลิกรัม เด็กอายุ 6-8 ปี ไม่ควรเกิน 32.5-95  มิลลิกรัม  อายุ 9-12 ปี ไม่ควรเกิน  40-117.5 มิลลิกรัม อายุ 13-15 ปี ไม่ควรเกิน  50-150 มิลลิกรัมหรือคิดเป็นร้อยละ 10 ของปริมาณโซเดียมที่ควรได้รับต่อวัน และไม่ควรกินขนมเกินวันละ 2 มื้อด้วย    - หลายคนมักกินเวเฟอร์ที่บรรจุในซองเแยกเป็นชิ้นๆ ให้หมดในคราวเดียว เพราะขนมเวเฟอร์ไวต่อความชื้น ถ้าแกะซองแล้วกินไม่หมด ขนมที่เหลือก็จะนิ่มเหนียวไม่อร่อย จึงอาจเสี่ยงได้รับโซเดียมเกินปริมาณที่แนะนำได้หากในฉลากระบุว่าควรแบ่งกินมากกว่า 1 ครั้ง ดังนั้นถ้าเผลอกินไปแล้วก็ต้องมาลดอาหารเค็มๆ อย่างอื่น และออกกำลังกายควบคู่ไปด้วย- ขนมเวเฟอร์แบบห่อ/กล่องใหญ่ ควรแบ่งขนมใส่จานไว้พอประมาณ แล้วปิดห่อ/กล่องให้สนิท- สำหรับขนมเวเฟอร์แบบแบ่งขายที่ไม่มีฉลากโภชนาการกำกับ หากเลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยง หรือกินแต่น้อย- ใครชอบกินเวเฟอร์กับเครื่องดื่ม หากไม่อยากให้ร่างกายได้รับน้ำตาลและไขมันเพิ่มอีก ควรดื่มเป็นน้ำเปล่า ชาร้อน กาแฟดำ หรือน้ำผลไม้คั้นสดเพื่อเลี่ยงโซเดียมจากน้ำผลไม้สำเร็จรูป- อย่าปักใจเชื่อว่าขนมเวเฟอร์ซองเล็กมีปริมาณโซเดียมต่ำกว่าซองใหญ่เสมอไป จริงๆ แล้วยังมีเวเฟอร์ซองเล็กบางยี่ห้อที่กินหมดแล้วกลับได้โซเดียมมากกว่าซองใหญ่ซะอีกข้อมูลอ้างอิงฉลาดซื้อฉบับที่ 160 เรื่องทดสอบ “เวเฟอร์ช็อกโกแลต เผลอเคี้ยวเพลิน อ้วนแน่”ฉลาดซื้อฉบับที่ 243 เรื่องทดสอบ “สำรวจฉลากโภชนาการผลิตภัณฑ์คุกกี้เนย”http://healthierlogo.com

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 249 ฝากไว้ให้คิดการซื้อซิมมือถือจากร้านสะดวกซื้อ

        เมื่อเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา คุณเอนกได้แจ้งข้อความมาที่ฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ที่ consumerthai.org ว่า ตนเองได้สั่งซื้อซิมทรูมูฟเอชจาก  7- 11 Dilivery สาขามวกเหล็ก-เขาใหญ่ ซึ่งซิมมือถือนั้น จะยังไม่สามารถใช้งานได้ หากไม่มีการลงทะเบียน         แต่เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน คุณเอนกนำซิมที่ได้รับ ไปที่ร้านเซเว่นสาขาดังกล่าวเพื่อลงทะเบียน ปรากฏว่า พนักงานแจ้งว่า ซิมนี้ได้มีการลงทะเบียนแล้ว ขณะนั้นผู้ร้องไม่ได้นึกสงสัย เพราะคิดไป (เอง) ว่า คงเนื่องจากทางร้านค้าหรือ 7- 11 Dilivery อาจจะมีข้อมูลของผู้ร้องอยู่แล้วผ่านระบบ All Member จึงอำนวยความสะดวกโดยทำการลงทะเบียนให้เรียบร้อย พอคิดไปเช่นนั้นก็เลยทำให้เผลอประมาทไม่ได้ถามไถ่ให้เรียบร้อยว่าชื่อบุคคลที่ลงทะเบียนนั้นเป็นชื่อของตนเองหรือไม่ เพราะเข้าใจว่าเป็นชื่อตัวเองแล้วและทางพนักงานเซเว่นก็ไม่ได้ช่วยบอกอะไรนอกจากบอกว่า ซิมลงทะเบียนแล้ว ผู้ร้องจึงใช้ซิมดังกล่าวมาโดยตลอดกว่า 5 เดือน         จนเข้าตุลาคม 2564 ผู้ร้องซื้อโทรศัพท์เครื่องใหม่จึงโหลดแอพพลิเคชัน TRUE 4 U มาโดยแอพดังกล่าวเป็นแอพเฉพะสำหรับผูกกับเบอร์โทรศัพท์ ซึ่งจะสามารถสะสมแต้มเพื่อแลกและลุ้นรางวัลต่างๆได้ คราวนี้เมื่อผู้ร้องเช็ครายละเอียดเจ้าของบัญชีปรากฏว่า อ้าว ! ไม่ใช่ชื่อเรานะที่เป็นผู้ลงทะเบียนซิมนี้ โดยชื่อผู้ลงทะเบียนกลายเป็นชื่อใครก็ไม่รู้ ที่คุณเอนกไม่รู้จัก เป็นเรื่องแล้วงานนี้        คุณเอนกจึงรีบไปที่เซเว่นสาขาที่ซื้อซิม  แต่ทางพนักงานบ่ายเบี่ยงไม่ตอบปัญหา ไม่แก้ปัญหา แจ้งให้ผู้ร้องไปติดต่อที่ศูนย์ทรูช้อปเอง ผู้ร้องจึงไปศูนย์ทรูสาขาเซนทรัล ปิ่นเกล้า เพื่อขอข้อมูลและเล่าเหตุการณ์ที่เกิดให้พนักงานทราบ แต่ทางพนักงานไม่สามารถให้ข้อมูลแก่ผู้ร้องได้เนื่องจากชื่อที่ใช้ลงทะเบียนไม่ได้เป็นชื่อผู้ร้อง โชคดีที่ผู้ร้องยังเก็บซองซิมไว้  จึงนำซองไปติดต่อเซเว่นอีกรอบเพื่อยืนยันว่าได้มีการซื้อซิมหมายเลขดังกล่าวจริง         คราวนี้พนักงานได้โทรศัพท์มาขอโทษและแจ้งว่าจะทำการติดต่อไปที่ศูนย์ทรูเพื่อระงับหมายเลขดังกล่าว แต่จนถึงปัจจุบันซิมดังกล่าวก็ยังไม่ถูกระงับ ผู้ร้องจึงตัดสินใจจะไปลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานเพื่อดำเนินการให้ทางร้านสะดวกซื้อรับผิดชอบต่อปัญหาที่เกิดขึ้น แนวทางการแก้ไขปัญหา         ทางผู้ร้องแจ้งว่าขณะนี้กำลังเจรจากับทางร้านสะดวกซื้ออยู่ ที่ส่งเรื่องเข้ามาเพื่อให้ทางมูลนิธิฯ ได้นำเรื่องของตนมาเป็นข้อเตือนใจสำหรับผู้บริโภคท่านอื่น ให้รอบคอบอย่าเผลอคิดไปเองอย่างที่เกิดขึ้นกับตน  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 249 แม่อุ๊ยป่วยหลังฉีดวัคซีนโควิด-19 ขอเยียวยาค่ารักษา

        ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้ข้อมูลว่าหากใครฉีดวัคซีนโควิด-19 ยี่ห้อที่รัฐบาลจัดสรรให้แล้วเกิดอาการแพ้และอาการไม่พึงประสงค์ ตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงขั้นเสียชีวิต ในทุกกรณีที่สงสัยว่าได้รับผลกระทบจากวัคซีนนี้ ให้ยื่นคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นไปก่อนได้ แต่อาจไม่ได้รับการเยียวยาทุกกรณี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับมติของคณะอนุกรรมการฯ ที่จะพิจารณาโดยใช้ความเชี่ยวชาญของแพทย์ ดูจากประวัติ จากข้อมูลต่างๆ ประกอบกันด้วย         แม่อุ๊ยวันดี อยู่ที่ อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ เป็นหนึ่งในผู้ที่มีอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีนเข็มแรกที่โรงพยาบาลฮอดไปได้ประมาณ 2 สัปดาห์ วันนั้นแม่อุ๊ยเริ่มรู้สึกเวียนหัว ร้อนตามตัว พอลุกมาเข้าห้องน้ำตอน 3 ทุ่ม ก็เป็นลมล้มหมดสติไป หลานจึงพาไปโรงพยาบาลฮอด แต่อาการแม่อุ๊ยไม่ดีขึ้นจึงถูกส่งตัวไปที่โรงพยาบาลมหาราชทันที และนอนรักษาตัวอยู่ 2 คืน คุณหมอวินิจฉัยว่าแม่อุ๊ยวันดีเป็นเส้นเลือดตีบที่หัวใจ ต้องเจาะที่ต้นคอและต้นขา และกินยาต่อเนื่อง จากนั้นก็ถูกส่งตัวมานอนรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลจอมทองอีกคืนหนึ่งจึงกลับบ้านได้ โดยหมอนัดมาตรวจอาการอีกทุกๆ 2 อาทิตย์ เป็นเวลา 1 ปี           ทุกวันนี้แม่อุ๊ยวันดีได้เงินเบี้ยผู้สูงอายุ 700 บาทและหลานให้อีก 500 บาทเท่านั้น อาการเจ็บป่วยทำให้แม่อุ๊ยได้รับความเดือดร้อนมาก เพราะไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ดีอย่างเมื่อก่อน และยังต้องเสียค่ารักษาพยาบาลต่อเนื่องด้วย  จึงได้ให้หลานร้องเรียนมายัง เครือข่ายผู้บริโภคจังหวัดเชียงใหม่ ว่า ตนเองจะเรียกร้องค่าเยียวยาจากไหนได้บ้างไหม เพื่อมาจ่ายค่ารักษาอาการป่วยต่อเนื่องนี้ แนวทางการแก้ไขปัญหา         เครือข่ายผู้บริโภคจังหวัดเชียงใหม่ แนะนำให้ ครอบครัวแม่อุ๊ยวันดีเตรียมข้อมูลสำหรับยื่นขอรับเงินช่วยเหลือจากการได้รับผลกระทบหลังฉีดวัคซีนแล้ว โดยทำตามขั้นตอนที่ สปสช.ประกาศไว้ในเอกสารวิธียื่นคำร้องขอรับ “เงินช่วยเหลือเบื้องต้น” ที่ต้องยื่นภายใน 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ทราบความเสียหาย         ผู้มีสิทธิยื่นคำร้อง คือ ผู้เสียหายหรือทายาท ถ้าไม่มีทายาท ผู้อุปการะหรือผู้ดูแลใกล้ชิดกันมาต่อเนื่องพอสมควร หรือหน่วยบริการที่ให้บริการ สามารถยื่นคำร้องแทนได้ โดยต้องเตรียมเอกสารประกอบ ได้แก่ สำเนาบัตรประชาชน  ความเห็นจากแพทย์ที่รักษาและการหยุดพักงาน  บันทึกเหตุการณ์ก่อนและหลังฉีดจนมีอาการข้างเคียง หรือสำเนาใบมรณบัตร(กรณีที่เสียชีวิต) ไปยื่นได้ที่โรงพยาบาลที่ให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19  สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) หรือสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สาขาเขตพื้นที่ (13 เขต ทั่วประเทศ)         หลังจากยื่นคำร้องแล้ว หากคณะอนุกรรมการฯ ภายใต้ สปสช. พิจารณาลงมติว่าเห็นชอบที่จะจ่ายเงินช่วยเหลือให้ ทางสปสช.จะโอนเงินเข้าบัญชีภายใน 5 วัน หลังจากมีมติ โดยอัตราการจ่ายช่วยเหลือเบื้องต้น คือ เสียชีวิต/ทุพพลภาพถาวร ไม่เกิน 400,000 บาท เสียอวัยวะ/พิการ ไม่เกิน 240,000 บาท บาดเจ็บ/บาดเจ็บต่อเนื่อง ไม่เกิน 100,000 บาท ทั้งนี้หากไม่เห็นด้วยกับผลการวินิจฉัย สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 249 ซื้อรถยนต์มือสองชำรุดใครต้องรับผิดชอบ

        รถยนต์มือสอง ตัวเลือกที่หลายคนเลือก อาจเป็นเพราะราคาที่ถูกกว่ารถใหม่มาก เรียกว่าเป็นราคาที่เอื้อมถึง และหลายคนก็พบว่า หากเลือกได้ดีการมีหรือซื้อรถยนต์มือสองที่สภาพดีไว้ใช้งานก็คุ้มค่า อย่างไรก็ตาม กรณีที่ใช้ไปนานๆ แล้วเกิดปัญหาของสภาพเครื่องยนต์ขึ้นมา ค่าซ่อมอาจมากกว่าราคาที่ซื้อมาก็เป็นได้ ดังนั้นต้องพิจารณาให้ดี เรามาดูกรณีของผู้บริโภคท่านนี้เผื่อจะได้ไว้เป็นข้อคิดเตือนใจ           คุณอำพนเป็นอีกคนที่เลือกซื้อ รถยนต์มาสด้ามือสอง จากเต็นท์ขายรถยนต์มือสองแห่งหนึ่งไว้ใช้งาน ซึ่งตอนไปเลือกซื้อรถ เขาเจอรถที่ถูกใจและรุ่นที่ต้องการอยู่พอดี จึงตกลงซื้อรถด้วยเงินสดในราคา 290,000 บาท เขาตรวจสอบสภาพตัวรถยนต์และเครื่องยนต์ระดับหนึ่งก็ไม่เห็นมีปัญหาอะไร สภาพดูดีพร้อมใช้งานเลยแหละว่างั้นเถอะ         แต่...เมื่อได้รับรถยนต์มาแล้วปัญหาที่คาดไม่ถึงก็ปรากฎ คุณอำพนนั้นเมื่อได้ใช้รถยนต์คันนี้ไปได้สักพัก เขาก็พบว่ารถคันนี้มีอาการผิดปกติ คือเมื่อเข้าเกียร์ว่างแต่รถกลับเคลื่อนที่ได้เองโดยเคลื่อนที่ถอยหลัง และเครื่องยนต์มีอาการสั่นรุนแรง  เขาเริ่มไม่แน่ใจกับสภาพรถยนต์มือสองคันนี้ว่าจะปลอดภัยต่อการใช้งานหรือไม่  จึงนำไปรถเข้าเช็คที่ศูนย์รถยนต์มาสด้า เบื้องต้นช่างระบุว่า ตัวหัวฉีดและกระบอกสูบของรถยนต์มีปัญหา ส่วนเกียร์ก็มีปัญหาแต่ต้องใช้เวลาเพื่อตรวจดูอย่างละเอียดอีกรอบหนึ่งก่อน         เมื่อรู้ถึงปัญหาความชำรุดบกพร่อง คุณอำพนรีบแจ้งไปยังเต็นท์รถทันทีเพราะมองว่าควรเป็นความรับผิดชอบของทางเต็นท์ ที่รถยนต์มีสภาพผิดปกติ แต่ทางเต็นท์ได้แจ้งว่า ไม่ขอรับผิดชอบในความชำรุดที่เกิดขึ้น เพราะรถยนต์คันดังกล่าวได้มีการขายเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว  อ้าว..ไหงงั้นล่ะ จะทำอย่างไรดี เมื่อคุณอำพนเจอคำปฏิเสธของเต็นท์รถมือสอง เขาจึงได้มาปรึกษามูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าว แนวทางการแก้ไขปัญหา    มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนะนำแนวทางการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นดังนี้        1. ให้ผู้ร้องไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานที่สถานีตำรวจในท้องที่ที่ทำการซื้อขายรถยนต์ เพื่อแสดงเจตนาบริสุทธิ์ว่าสิ่งที่ผู้ร้องได้พูดมานั้นเป็นความจริง เพราะถ้าไม่จริงก็ถือว่าแจ้งความเท็จซึ่งผู้ร้องจะต้องมีความผิดทางกฎหมาย        2. ทำจดหมายหรือหนังสือไปยังเต็นท์รถยนต์มือสองที่ผู้ร้องซื้อรถมา ให้รับผิดชอบกับความชำรุดบกพร่องของรถยนต์ โดยส่งจดหมายแบบไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ        3. ถ้าเต็นท์ขายรถยนต์มือสองไม่ตอบรับหรือไม่แสดงความรับผิดชอบ ไม่เยียวยาแก้ไขปัญหาผู้ร้องสามารถฟ้องคดีต่อศาลได้ โดยนำหลักฐานการตรวจสภาพรถ บันทึกประจำวัน จดหมายขอให้รับผิดชอบ มาใช้เป็นพยานในการดำเนินคดี เพื่อให้ผู้ขายรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น         เมื่อดำเนินการในข้อ 1 และ 2 แล้ว ทางมูลนิธิฯ จะช่วยผู้บริโภคในเรื่องการไกล่เกลี่ยเพื่อหาข้อยุติต่อไป ก่อนเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้อง  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 249 ซื้อเครื่องอบผ้าจากออนไลน์ แต่เสียงดังเกินไป ทำอย่างไรดี

ธุรกิจแพลตฟอร์มซื้อของออนไลน์ ในปัจจุบันนอกจากจะสะดวกสบายในการซื้อแล้ว สิ่งหนึ่งที่ทำให้หลายคนติดกับดักหลุมพรางจนต้องเสียเงิน ก็คงหนีไม่พ้นการขยันออกโปรโมชันกระตุ้นยอดขายของบริษัทต่างๆ ไม่ว่าจะโปรโมชัน  9.9 , 10.10 , 11.11 ที่ขยันออกมา ล่อตา ล่อใจ ล่อเงินในกระเป๋าสตางค์อยู่เรื่อย ทำให้หลายคนที่มีแอปพลิเคชันธนาคารอยู่ในมือคงสั่นไม่น้อย พร้อมจะเสียเงินไปกับร้านค้าต่างๆ ที่จัดโปรโมชันเอาใจลูกค้าอย่างแรง ไม่ว่าจะเป็นลด แลก แจก แถม ลดแล้วลดอีก ก็แหมใครจะไปทนไหวกับโปรโมชัน ล่อตา ล่อใจ ขนาดนี้ล่ะเนอะ        ในกรณีนี้ คุณภูผาก็เป็นอีกหนึ่งคนที่ซื้อสินค้าในช่วงโปรโมชันนี้เช่นกัน แถมเขายังอยู่ในกลุ่มเฟซบุ๊ก “งานบ้านที่รัก”อีกด้วย พอดีช่วงหน้าฝน มีคนในกลุ่มเฟซบุ๊กมาโพสต์รีวิวเครื่องอบผ้ายี่ห้อหนึ่งว่า “ของมันต้องมี มีแล้วชีวิตดีมาก ผ้าแห้งเร็ว ไม่ต้องง้อแดด ผึ่งแปบเดียวแห้ง ยิ่งหน้าฝนด้วยแล้วจำเป็นต้องมีอย่างยิ่ง” เมื่อคุณภูผาเห็นโพสต์รีวิว พร้อมข้อความรีวิวดังกล่าวดูน่าสนใจมากเลยทีเดียว จึงได้ตัดสินใจสั่งซื้อเครื่องอบผ้ายี่ห้อ G จากร้าน Power Buy ทางออนไลน์ ราคาประมาณ 20,000 บาท ชำระเงินผ่านบัตรเครดิตทันที สินค้ามาส่งทันใจไม่รอนาน แต่...         เมื่อใช้งานโดยหวังว่าจะตากผ้าโดยไม่ต้องง้อแดดอย่างคำโฆษณา เพราะช่วงนี้ฝนตกทุกวันหากไม่อบผ้าผ้าก็อาจจะไม่แห้งและเหม็นอับจากการตากในที่ร่ม แต่แล้วก็เกิดปัญหาขึ้นจนได้ ผ้าที่อบได้นั่นโอเคไม่มีปัญหา ที่ไม่โอเคคือ เจ้าเครื่องอบผ้าที่เขาซื้อมาตอนปั่นหมาดนั้นมีเสียงดังมาก ดังราวกับจะพัง แก้อย่างไรก็ไม่หายสักที “จะทำยังไงดีล่ะเนี้ย” ภูผาปวดหัวตึ้บ จึงได้มาปรึกษามูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่าต้องการขอเงินคืนจากทางบริษัทจะต้องทำอย่างไร ทำได้ไหม แนวทางการแก้ไขปัญหา         มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนะนำผู้ร้องเบื้องต้นให้ทำหนังสือไปยังสามบริษัท ได้แก่ บริษัทบัตรเครดิต บริษัท G ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตเครื่องอบผ้า และบริษัท Power Buy ซึ่งเป็นผู้ขาย โดยเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคร่าวๆ และแจ้งความต้องการว่าต้องการขอเงินคืน พร้อมส่งไปรษณีย์แบบลงทะเบียนตอบรับ และระบุในหนังสือว่าผู้ร้องสำเนาถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคด้วย         เมื่อผู้ร้องได้ทำตามคำแนะนำของฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ต่อมาผู้ร้องหรือคุณภูผาแจ้งกลับมาว่าได้รับเงินคืนเป็นยอดในบัตรเครดิตเรียบร้อยแล้ว และขอบคุณที่ทางฝ่ายพิทักษ์สิทธิ มูลนิธิฯ ได้ให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์และช่วยเหลือผู้บริโภค วิธีการนี้สามารถนำไปใช้ได้ในกรณีใกล้เคียงกันหรือปรึกษามาที่มูลนิธิฯ เมื่อท่านประสบปัญหาถูกละเมิดสิทธิ

อ่านเพิ่มเติม >

เปิดคะแนนซูเปอร์ฯ ไทย ปี 2021 ปลายภาคนี้ ใครคือตัวท็อป?

        แคมเปญผู้บริโภคที่รัก ชี้คะแนนการสำรวจนโยบายสาธารณะฯ ซูเปอร์มาร์เก็ตไทยสูงขึ้น ย้ำพลังเสียงผู้บริโภคมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงธุรกิจห้างค้าปลีกฯ ไปในทิศทางที่ดีขึ้น ชวนหมอตั้ม เซเลบริตี้เชฟชื่อดัง ร่วมเผยมุมมองผู้บริโภคเกี่ยวกับประโยชน์ ที่ผู้บริโภคจะได้รับจากการเปลี่ยนแปลงผลคะแนนปีนี้ ในงาน     “เปิดคะแนนซูเปอร์ฯ ไทย ปี 2021 ปลายภาคนี้ ใครคือตัวท็อป?”          แคมเปญผู้บริโภคที่รัก โดยมูลนิธิชีววิถี มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ Oxfam (อ็อกแฟม) ประเทศไทย จัดงาน “เปิดคะแนนซูเปอร์ฯ ไทย ปี 2021 ปลายภาคนี้ ใครคือตัวท็อป?” เผยภาพรวมของการประเมินนโยบายและแนวทางปฏิบัติที่เปิดเผยต่อสาธารณะของผู้ประกอบการซูเปอร์มาร์เก็ต 8 รายใหญ่ของไทย มีคะแนนเพิ่มสูงขึ้นในทุกหัวข้อตัวชี้วัด ชี้ให้เห็นถึงพลังของผู้บริโภคที่มีผลต่อการพัฒนาและปรับปรุงแก้ไขการดำเนินกิจการของซูเปอร์มาร์เก็ตในประเทศไทยให้ตอบโจทย์ผู้บริโภค ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมได้ดียิ่งขึ้น พร้อมร่วมเผยมุมมองเกี่ยวกับประโยชน์ที่ผู้บริโภคจะได้รับจากผลคะแนนที่เปลี่ยนแปลงไปในปีนี้อย่างเจาะลึก โดยหมอตั้ม -     นายแพทย์ดิษกุล ประสิทธิ์เรืองสุข เซเลบริตี้เชฟชื่อดัง ในฐานะตัวแทนผู้บริโภคที่ใช้บริการซูเปอร์มาร์เก็ตเป็นประจำ         คุณภานุพันธุ์ สมพงษ์ ที่ปรึกษาโครงการผู้บริโภคที่รัก กล่าวว่า “ซูเปอร์มาร์เก็ตมีความใกล้ชิดกับผู้บริโภคมากที่สุด โดยทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภคให้สามารถเข้าถึงสินค้าและบริการที่มีคุณภาพได้อย่างสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้ซูเปอร์มาร์เก็ตจึงต้องคำนึงถึงเรื่องความรับผิดชอบที่มีต่อผู้บริโภค สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก ซึ่งเป็นสาเหตุที่แคมเปญผู้บริโภคที่รักจึงมีการจัดทำ “รายงานการประเมินนโยบายและแนวทางปฏิบัติของห้างค้าปลีกที่เปิดเผยต่อสาธารณะ” ซึ่งถูกจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 แล้วในปีนี้ ซึ่งจะเห็นได้ว่าภาพรวมในเชิงสถิติมีพัฒนาการที่ดีขึ้นตลอดทุกปี  โดยหลักเกณฑ์การประเมินในปี 2564 แบ่งออกเป็น 7 ตัวชี้วัดหลัก ได้แก่ นโยบายด้านความโปร่งใสและความรับผิด, นโยบายแรงงาน ,นโยบายด้านผู้ผลิตรายย่อย, นโยบายด้านความเท่าเทียมทางเพศ, นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม, นโยบายด้านความปลอดภัยทางอาหาร และ นโยบายที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภค โดยมีผู้ประกอบการค้าปลีกชั้นนำของไทย 8 ราย ได้แก่ โลตัส, แม็คโคร, บิ๊กซี, ท็อปส์, ฟู้ดแลนด์, ซีพี เฟรชมาร์ท, กูร์เมต์ มาร์เก็ต และวิลล่า มาร์เก็ต”         “ผลจาก “รายงานการประเมินนโยบายและแนวทางปฏิบัติของห้างค้าปลีกที่เปิดเผยต่อสาธารณะ” พบว่าภาพรวมของคะแนนการประเมินเฉลี่ยในทุกตัวชี้วัดเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการห้างค้าปลีกหลายราย ได้ประกาศนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะมากขึ้น เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านๆ มา เช่น มีการประกาศนโยบายการจรรยาบรรณคู่ค้า (Supplier Code of Conduct) และนโยบายที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น”         โดยเมื่อรวมคะแนนทั้ง 7 ตัวชี้วัด โลตัสได้อันดับหนึ่ง ด้วยคะแนน 35.83 คะแนน จาก 165 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 21.72 บิ๊กซีตามมาเป็นอันดับ 2 ด้วยคะแนน 24 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 14.54 และซีพี  เฟรชมาร์ท ตามมาเป็นอันดับ 3 ด้วยคะแนน 20 คะแนน หรือคิดเป็นร้อยละ 12.12         สำหรับหมวดที่ห้างค้าปลีกได้คะแนนมากที่สุด คือ หมวดสิ่งแวดล้อม ได้คะแนนค่าเฉลี่ย 25.54% ขณะที่หมวดเพศเป็นหมวดที่ห้างค้าปลีกได้คะแนนน้อยที่สุด ได้คะแนนค่าเฉลี่ย 3.00% โดยมีเพียง โลตัส ท็อปส์ และแม็คโคร ที่ได้คะแนนบางส่วนในหมวดนี้        อย่างไรก็ดี ถ้าเทียบคะแนนค่าเฉลี่ยตั้งแต่เริ่มดำเนินการโครงการประเมินนโยบายสาธารณะของห้างค้าปลีกในปี 2561 (หมวดด้านสังคม) และ ปี 2562 (หมวดด้านสิ่งแวดล้อมและผู้บริโภค) จะพบว่าคะแนนเฉลี่ยโดยรวมเพิ่มขึ้น โดยหมวดด้านสังคมคะแนนเฉลี่ยโดยรวมเพิ่มขึ้นจาก 2.58% ในปี 2561 เป็น 5.45% ในปี 2564 ส่วนหมวดด้านสิ่งแวดล้อมและผู้บริโภคเพิ่มจาก 5.79% ในปี 2562 เป็น 13.29% ในปี 2564         “โดยการประเมินในครั้งนี้ เป็นเพียงเส้นทางที่จะยกระดับอุตสาหกรรมค้าปลีกไทยไปสู่ความยั่งยืนในอนาคตเท่านั้น ชี้ให้เห็นว่าซูเปอร์มาร์เก็ตใดบ้างที่กำลังเดินหน้าอยู่ในเส้นทางนี้ ซึ่งเราเชื่อมั่นว่าพลังของผู้บริโภคในการจัดกิจกกรมในครั้งนี้จะเป็นกระจกสะท้อนไปยังผู้ประกอบการ และก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงทางสังคม (Social Movement) นำไปสู่สัญญาประชาคม (Social Commitment) ที่จะ  สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงของซูเปอร์มาร์เก็ต ทั้งการต่อยอดสิ่งที่ทำได้ดีอยู่แล้วในปัจจุบัน รวมถึงการปรับปรุงแก้ไขในจุดที่บกพร่องเพื่อสร้างความยั่งยืนในห่วงโซ่ อุปทานอาหารของเรา” คุณภานุพันธุ์ สมพงษ์ กล่าวเสริม         ในส่วนของมูลนิธีชีววิถี ภาคีเครือข่ายของแคมเปญผู้บริโภคที่รัก โดย คุณกิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยากล่าวว่า “หลายๆ ปีที่ผ่านมามูลนิธีชีววิถีมีความมุ่งมั่นในการ สร้างการรับรู้เรื่องผลกระทบต่าง ๆ เกี่ยวกับอาหารผ่านแคมเปญ “กินเปลี่ยนโลก”   ไม่ใช่แค่เรื่องของความปลอดภัยในอาหารเท่านั้น แต่ยังรวมถึงปัญหาแวดล้อมในเชิงโครงสร้าง ไม่ว่าจะเป็นที่มา และกระบวนการผลิต ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนของการเพาะปลูก การเลี้ยง การขนส่ง การแปรรูป การจัดจำหน่าย ที่สามารถสร้างผลกระทบตามมาหลังจากการบริโภค เช่น ปัญหาสุขภาพ ปัญหาสิ่งแวดล้อม การปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชน สิทธิแรงงาน ความเหลื่อมล้ำทางเพศ และความอยุติธรรมในสังคม ซึ่งซูเปอร์มาร์เก็ตถือเป็นอีกหนึ่งสมาชิกในวงจรของการอุปโภค บริโภค ที่ต้องให้ความสำคัญกับการกำหนดทิศทางและนโยบายการดำเนินงานของบริษัทเอง รวมถึงการคัดเลือกสินค้า ผู้ผลิต และคู่ค้า ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค และคุณธรรม     จริยธรรมทางสังคมได้มากที่สุด ซึ่งการ “รายงานการประเมินนโยบายและแนวทาง ปฏิบัติของห้างค้าปลีกที่เปิดเผยต่อสาธารณะ” ถือเป็นตัวชี้วัด ที่จะช่วยเพิ่มข้อมูลข่าวสาร และสร้างทางเลือกให้กับผู้บริโภคในการเลือกใช้บริการซูเปอร์มาร์เก็ตที่มี นโยบายและแนวทางในการดำเนินกิจการที่สอดคล้องกับความต้องการ และอุดม-การณ์ ของตนเองได้ง่ายยิ่งขึ้น”         ด้านคุณทัศนีย์ แน่นอุดร มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ภาคีเครือข่ายของแคมเปญผู้บริโภคที่รัก กล่าวว่า “พลังของผู้บริโภคมีส่วนอย่างยิ่ง ในการกำหนดนโยบายของ ซูเปอร์มาร์เก็ต ยิ่งผู้บริโภค มีส่วนร่วมมากเท่าไหร่ ยิ่งมีพลังในการทำให้ซูเปอร์มาร์เก็ตหันมารับฟังได้ง่ายขึ้น การออกนโยบายและแนวทางปฏิบัติเพื่อความยั่งยืนในแง่มุมต่างๆ เป็นสิ่งที่ซูเปอร์มาเก็ตทำอยู่แล้ว แคมเปญของเราแค่เป็นการกำหนดกรอบ และนำเสนอผลคะแนนจากการประเมินเพื่อให้ซูเปอร์มาร์เก็ตตระหนักถึงความต้องการของผู้บริโภคได้ชัดเจน และนำไปสู่การต่อยอดพัฒนา และปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการดำเนินงานของตนเองได้รวดเร็วและตรงจุดมากขึ้น ซึ่งจากผลคะแนนที่ปรากฏในปีนี้ทางแคมเปญผู้บริโภคที่รัก อยากขอเรียกร้องให้ผู้ประกอบการค้าปลีกให้ความสนใจมิติด้านความเหลื่อมล้ำ และปัญหาเรื่องเพศ และสตรีมากขึ้น ในส่วน  มิติด้านอาหารปลอดภัยขอให้ผู้ประกอบการให้ความสำคัญในเรื่องการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ซึ่งถือเป็นแน้วโน้มที่ดีที่ปัจจุบัน มีห้างค้าปลีกหลายแห่งกำลังพัฒนาหรือนำไปใช้แล้วแต่ยังมีปัญหาในด้านการนำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคอาจไม่ครบถ้วน จึงขอให้ห้างค้าปลีกมีการเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะมากขึ้น เช่น ข้อมูลของคู่ค้า, แหล่งการผลิต ครอบคลุมไปยังอาหารประเภทต่างๆ ให้ได้มากยิ่งขึ้น”         นายแพทย์ดิษกุล ประสิทธิ์เรืองสุข หรือหมอตั้ม เซเลบริตี้เชฟชื่อดังในฐานะตัวแทนของผู้บริโภคให้ความเห็นว่า “ในอดีตที่ผ่านมาผู้บริโภคอาจจะไม่ได้สนใจเรื่องของนโยบายและแนวทางการปฏิบัติของผู้ประกอบการค้าปลีกมากเท่าที่ควร ถึงแม้จะมีการไปใช้บริการซูเปอร์มาร์เก็ตอยู่เป็นประจำในฐานะของเชฟ แต่หลังจากรับฟังการเปิดเผยผลคะแนนในวันนี้ทำให้ทราบว่า ที่มาของอาหารสามารถสร้างผลกระทบได้ต่อหลายภาคส่วนได้มากมายจริงๆ นอกเหนือจากแง่มุมขอความปลอดภัยของอาหาร หลังจากนี้ผู้บริโภคอาจจะต้องมองให้รอบถึงปัจจัยต่างๆ ในการใช้บริการซูเปอร์มาร์เก็ตนอกเหนือจากปัจจัยด้านความสะดวก เรื่องของผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคอย่างเราไม่ควรมองข้าม นอกจากนี้ความโปร่งใสของข้อมูล และที่มาของอาหารก็ถือเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ผู้บริโภคสามารถมั่นใจได้ในเรื่องความปลอดภัยเช่นกัน ซึ่งหากทุกคนให้ความสำคัญสิ่งเหล่านี้ จะก่อให้เกิดเป็นพลังที่สร้างการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีให้กับอุตสาหกรรมค้าปลีกไทยโดยรวมอย่างแน่นอน”         ผู้ที่สนใจสามารถรับชมวิดิโอจากงาน “เปิดคะแนนซูเปอร์ฯ ไทย ปี 2021 ปลายภาคนี้ ใครคือตัวท็อป?” ย้อนหลังแบบเต็มๆ ได้ทางเฟสบุ๊คแฟนเพจ ผู้บริโภคที่รัก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 249 โควิดก็ยังไม่หมด และข้อมูลมั่วๆก็ยังมา (1)

        โควิด19 ยังไม่หมด ข้อมูลเกี่ยวกับโควิด 19 ที่ไม่ถูกต้องก็ยังคงถาโถมมาเรื่อยๆ ยิ่งคนในยุคนี้ที่มีอะไรๆ ก็ต้องรีบแชร์ไว้ก่อนโดยไม่ตรวจสอบ ยิ่งเป็นการสนับสนุนให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องนี้แพร่กระจายไปได้เร็ว และมันก็จะหมุนเวียนกลับมาอีกในอนาคต ดังนั้นขอรวบรวมข้อมูลมั่วๆ ที่เคยเจอ พร้อมกับคำชี้แจงที่ถูกต้องมาให้ผู้บริโภคได้เข้าใจจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อและหลงเป็นเครื่องมือกระจายข่าวโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์          กินยาแอสไพริน ช่วยรักษาโควิด 19 ให้หายได้         แชร์กันไปเยอะ จนสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ต้องออกมาบอกว่าข้อมูลนี้ไม่จริง การรักษาโรคโควิด 19 ต้องให้การรักษาตามแนวทางของ ศบค. เป็นหลัก ส่วนการรักษาภาวะแทรกซ้อนของโรค อยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ผู้ให้การรักษาเท่านั้น ผู้ป่วยโควิด 19 จึงไม่ควรซื้อยาแอสไพรินมารับประทานเอง การนำมารับประทานโดยไม่จำเป็นนอกจากจะไม่ช่วยรักษาอาการป่วยโควิด 19 แล้ว ยังอาจมีผลข้างเคียงจากแอสไพรินได้          ใช้น้ำเกลือ น้ำมะนาว หรือน้ำขิง ล้างคอ ต้านโรคโควิด 19         มีการแชร์คลิปเสียงอ้างว่าเป็นคณบดีคณะแพทย์ศิริราช แนะนำให้ใช้น้ำเกลือ น้ำมะนาว หรือน้ำขิง มาล้างคอ เพื่อต้านทานโควิด 19 ในเรื่องนี้คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลเคยออกมาแจ้งว่า เป็นข้อมูลเท็จ เสียงในคลิปนั้นก็ไม่ใช่เสียงของคณบดีคณะแพทย์ศิริราชแต่อย่างใด และยังชี้แจงเพิ่มเติมว่า การใช้น้ำเกลืออุ่นๆ น้ำมะนาวอุ่นๆ หรือน้ำขิงอุ่นๆ บ้วนปากและล้างคอ ก็ไม่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้         น้ำยาบ้วนปาก ป้องกันการติดเชื้อโควิด 19         กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงว่าตามที่มีการแชร์ข้อมูลน้ำยาบ้วนปาก ป้องกันการติดเชื้อโควิด 19 โดยอ้างว่าเป็นผลการศึกษาวิจัยชิ้นใหม่ของคณะนักวิทยาศาสตร์นานาชาติ ที่พบว่าน้ำยาบ้วนปากอาจมีประสิทธิภาพป้องกันการติดโควิด 19 ได้ด้วย เพราะสามารถทำลายเชื้อไวรัสโควิด 19 ก่อนที่มันจะสามารถเข้าสู่เซลล์ร่างกายมนุษย์         ข้อมูลดังกล่าวนี้เป็นเท็จ เพราะ น้ำยาบ้วนปากถูกผลิตให้ฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้มีกลิ่นปาก แม้น้ำยาบ้วนปากบางชนิดจะมีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ แต่ความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ จะไม่ถึงร้อยละ 20 ในขณะที่การฆ่าโควิดต้องใช้เอทิลแอลกอฮอล์ หรือเอทานอล ที่มีความเข้มข้น 70% ขึ้นไป หรือใช้โซเดียมไฮโปคลอไรท์ (NaOCl) ในการฆ่าเชื้อ ดังนั้นการใช้น้ำยาบ้วนปากฆ่าเชื้อโควิด 19 จึงไม่ได้ผล         รับประทานกล้วย ช่วยต้านโควิด 19         ข่าวนี้คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่าเป็นข้อมูลเท็จ ไม่มีผลในการช่วยต้านโควิดแต่อย่างใด นอกจากนี้ในผู้ป่วยโรคเบาหวานและผู้ป่วยโรคไต ก็ไม่ควรรับประทานกล้วยในปริมาณมากเพราะในกล้วยจะมีน้ำตาลและโพแทสเชียมสูง            กลั้นหายใจตรวจการติดเชื้อด้วยตัวเอง         มีการส่งต่อข้อมูลว่าสามารถตรวจสอบความเสี่ยงการติดโควิดด้วยตัวเอง โดยการหายใจเข้าลึกๆ แล้วกลั้นหายใจไว้ 10 วินาที รอดูว่ามีอาการไอ แน่นหน้าอกหรือไม่ หากไม่มีอาการแสดงว่าไม่ติดเชื้อ กระทรวงสาธารณสุข ออกมาชี้แจงว่าข้อมูลไม่เป็นความจริง ขณะนี้ยังไม่มีผลวิจัยทางการแพทย์ที่ออกมายืนยันว่าวิธีดังกล่าวสามารถใช้ตรวจการติดเชื้อโควิด 19 ได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 249 แฝงสัญญาค้ำประกันในการเช่าซื้อข้อตกลงให้รับผิดแบบลูกหนี้ร่วม ใช้บังคับได้หรือไม่

        สวัสดีทุกท่านครับ  ในฉบับนี้มีเรื่องน่าสนใจเป็นเรื่องใกล้ตัวเกี่ยวกับการทำสัญญาเช่าซื้อที่มีรูปแบบการทำสัญญาที่แปลกและน่าสนใจ คือผู้ให้เช่าซื้อทำสัญญากับผู้เช่าซื้อที่เป็นผู้บริโภครายหนึ่ง แต่มีการให้บุคคลที่มิใช่ผู้เช่าซื้ออีกคนหนึ่งมาร่วมทำสัญญาและให้ร่วมรับผิดด้วย         โดยบุคคลนี้ไม่ได้รับประโยชน์ใดๆ ตามสัญญา แต่หากเกิดการผิดนัด ผิดสัญญาต้องมาร่วมรับผิดกับผู้เช่าซื้อด้วย เมื่อเกิดกรณีพิพาทขึ้นสู่ศาล ฝ่ายผู้ให้เช่าซื้อก็มาฟ้องบุคคลที่ร่วมทำสัญญาคนดังกล่าวมาร่วมรับผิดโดยอ้างว่ามีข้อตกลงในสัญญา คดีนี้ศาลมองเจตนาของการทำสัญญา ปกติประเพณีการทำสัญญาเช่าซื้อโดยทั่วไป ก็ไม่มีการทำสัญญาลักษณะแบบนี้และตั้งข้อสงสัยว่า เป็นเรื่องที่ผู้ให้เช่าซื้อต้องการหลีกเลี่ยงข้อกฎหมายค้ำประกันที่แก้ไขใหม่หรือไม่ ซึ่งกำหนดห้ามมิให้มีข้อสัญญาให้ผู้ค้ำประกันรับผิดแบบลูกหนี้ร่วม และเมื่อมีข้อสงสัย ศาลก็ต้องตีความไปในทางที่เป็นคุณกับคนที่อาจเสียหาย คือคนที่ทำสัญญาร่วมรับผิด โดยเห็นว่าสัญญาตกลงยินยอมร่วมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ในการหลบเลี่ยงกฎหมายที่บัญญัติขึ้นเพื่อคุ้มครองและให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ค้ำประกัน ยังเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ของสัญญาขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน สัญญาจึงตกโมฆะไปทั้งฉบับ มาฟ้องให้รับผิดไม่ได้         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8418/2563         ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 681/1 บัญญัติว่า “ข้อตกลงใดที่กำหนดให้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดอย่างเดียวกับลูกหนี้ร่วมหรือในฐานะลูกหนี้ร่วม ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ” มีเจตนารมณ์เพื่อคุ้มครองสิทธิและให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ค้ำประกันซึ่งมิใช่ลูกหนี้ชั้นต้น แต่เป็นเพียงบุคคลภายนอกที่ยอมผูกพันตนต่อเจ้าหนี้ ในการที่จะชำระหนี้ แทนลูกหนี้เท่านั้น สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ที่แสดงเจตนาต่อกันเป็นสัญญายินยอมร่วมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 นั้น แม้ชื่อและลักษณะของสัญญาจะมิใช่สัญญาค้ำประกัน แต่ในการตีความการแสดงเจตนา ให้เพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษร เมื่อจำเลยที่ 2 ทำสัญญาตกลงยินยอมร่วมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 โดยเนื้อหาของสัญญามิได้ระบุให้จำเลยที่ 2 มีสถานะเป็นผู้เช่าซื้อ    อย่างเดียวกับจำเลยที่ 1 สัญญาดังกล่าวคงมีเพียงข้อกำหนดหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ที่ต้องร่วมรับผิดชำระหนี้ กับจำเลยที่ 1 จนสิ้นเชิง จำเลยที่ 2 มิได้รับสิทธิประโยชน์ใดๆ อย่างผู้เช่าซื้อด้วย สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ที่ทำขึ้นในลักษณะนี้ จึงเพ่งเล็งให้เห็นเจตนาและวัตถุประสงค์ของโจทก์ผู้ประกอบธุรกิจได้ว่า โจทก์ต้องการให้จำเลยที่ 2 เข้ามาผูกนิติสัมพันธ์กับตนเพื่อเป็นประกันร่วมรับผิดในกรณีจำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อเพิกเฉยไม่ชำระหนี้  อันเป็นสัญญาที่ก่อประโยชน์แก่โจทก์ไม่แตกต่างจากการที่บุคคลภายนอกทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมต่อเจ้าหนี้เพื่อชำระหนี้ เมื่อลูกหนี้ผิดนัดตามกฎหมายค้ำประกัน ก่อนการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 681/1         นอกจากนี้หากพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีในการทำสัญญาเช่าซื้อที่ถือปฏิบัติกันมา ไม่ปรากฏว่าโจทก์หรือผู้ให้เช่าซื้อโดยทั่วไปมีวิธีการทำสัญญาโดยให้ผู้เช่าซื้อทำสัญญาเช่าซื้อฉบับหนึ่ง แล้วให้บุคคลอื่นเข้าทำสัญญาค้ำประกันยินยอมร่วมรับผิดชำระหนี้ กับผู้เช่าซื้อเป็นอีกฉบับ หรือมีการทำสัญญาโดยให้ผู้เช่าซื้อทำสัญญาเช่าซื้อ แล้วให้บุคคลอื่นเข้าทำสัญญายินยอมร่วมรับผิดชำระหนี้ อย่างลูกหนี้ร่วมกับผู้เช่าซื้ออีกฉบับหนึ่งดังเช่นคดีนี้ จึงนับว่ามีข้อสงสัยเกี่ยวกับสัญญาว่า สัญญาตกลงยินยอมร่วมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 เป็นสัญญาที่คู่สัญญากระทำเพื่อหลบเลี่ยงประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 681/1 ที่ห้ามตกลงกันให้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดอย่างเดียวกับลูกหนี้ร่วมหรือในฐานะลูกหนี้ร่วมหรือไม่ เมื่อมีข้อสงสัยย่อมต้องตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่จำเลยที่ 2 คู่กรณีฝ่ายซึ่งจะเป็นผู้ต้องเสียในมูลหนี้นั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 11         ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 จึงตีความและรับฟังได้ว่าโจทก์ต้องการให้จำเลยที่ 2  ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วม แต่ไม่อาจทำเป็นสัญญาค้ำประกันให้มีข้อตกลงเช่นนั้นได้    จึงหลบเลี่ยงการทำสัญญาค้ำประกันที่มีข้อจำกัดมิให้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดอย่างเดียวกับลูกหนี้ร่วมหรือในฐานะลูกหนี้ร่วม สัญญาตกลงยินยอมร่วมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ที่มีวัตถุประสงค์ในการหลบเลี่ยงกฎหมายที่บัญญัติขึ้นเพื่อคุ้มครองและให้เป็นธรรมแก่ผู้ค้ำประกัน ยังเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ของสัญญาขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เมื่อไม่มีส่วนใดที่สมบูรณ์แยกส่วนออกมาได้จึงตกเป็นโมฆะทั้งฉบับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 โจทก์ไม่อาจอาศัยสัญญาตกลงยินยอมร่วมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ที่ตกเป็นโมฆะมาฟ้องบังคับจำเลยที่ 2 ให้รับผิดได้         จากคำพิพากษาของศาล ก็เป็นข้อบ่งชี้อย่างหนึ่งว่า เมื่อมีการปรับแก้กฎหมายเพื่อคุ้มครองให้ความเป็นธรรมกับผู้ค้ำประกันมากขึ้น ฝั่งผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจที่เกี่ยวกับการต้องมีผู้ค้ำประกัน ก็พยายามหาทางหลีกเลี่ยงกฎหมาย กำหนดข้อสัญญาเพื่อประโยชน์ของตนเอง ซึ่งเมื่อเจอพฤติกรรมเช่นนี้และศาลได้ตัดสินไว้เป็นแนวทาง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการควบคุมสัญญาให้เกิดความเป็นธรรม โดยเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. ที่มีคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาที่ดูแลธุรกิจเช่าซื้อ เช่าห้องชุด เช่าที่อยู่อาศัย และสัญญาอื่นๆ ก็ควรพิจารณาเรื่องมาตรการควบคุมสัญญาเพื่อคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 249 ทีวีดิจิทัล ทำเลทองของโฆษณาในยุคโควิด-19

        คุณเคยรู้สึกไหมว่าทุกวันนี้โฆษณาทางโทรทัศน์มีจำนวน “มาก” และกินเวลา “นาน” เสียเหลือเกิน ชนิดที่ว่าลองกดรีโมทไปกี่ช่องก็ต้องเจอโฆษณา         บางกรณีแทบจะแยกไม่ออกด้วยซ้ำว่าสิ่งที่กำลังรับชมอยู่นั้นคือ “โฆษณา” หรือ “รายการโทรทัศน์” เนื่องจากการปรับตัวของผู้ผลิต ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของสินค้า/บริการ เจ้าของรายการโทรทัศน์หรือเจ้าของสถานีโทรทัศน์ ที่สร้างสรรค์โฆษณาให้มีความแตกต่างออกไปจากเดิม และหลีกเลี่ยงได้ยากกว่าเดิม         ถ้ามองในแง่การตลาดอาจเป็นผลเชิงบวก แต่หากมองในแง่ของผู้บริโภค ก็อดตั้งคำถามไม่ได้ว่า         เรากำลังเสียเวลาไปกับเนื้อหาที่ไม่ต้องการรับชมอยู่หรือไม่ ?ทีวีดิจิทัลในช่วงโควิด-19         แม้ว่าสื่อออนไลน์จะได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในยุคสมัยนี้ มีการเปิดรับข่าวสาร สาระความรู้ และความบันเทิงผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ที่มีอย่างแพร่หลาย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าโทรทัศน์ระบบดิจิทัล หรือทีวีดิจิทัล ยังคงเป็นอีกหนึ่งช่องทางสำคัญในการรับชมเนื้อหาต่างๆ ของประชาชน โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งมาตรการของภาครัฐส่งผลให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลง เช่น การรณรงค์ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” การทำงานที่บ้าน (work from home) การปิดพื้นที่เสี่ยงต่างๆ ทั้งห้างสรรพสินค้า ร้านค้า โรงภาพยนตร์ เป็นต้น ทำให้ผู้คนมีการใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านและเลือกซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์และโฮมชอปปิ้งมากขึ้น         ฐานเศรษฐกิจรายงานตัวเลขการเติบโตของธุรกิจโฮมชอปปิ้งในปี 2563 สูงขึ้นกว่าร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 โดยสินค้าที่ได้รับความนิยมสูงสุด ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร บำรุงสุขภาพ บำรุงสมอง ปอด เพิ่มภูมิคุ้มกันร่างกาย         ขณะที่ณิชาปวีณ์ กกกำแหง และเบญญาทิพย์ ลออโรจน์วงศ์ สำรวจสถานการณ์ภาพรวมของสื่อโทรทัศน์ในเดือนมกราคม-ธันวาคม 2563 พบว่า สื่อโทรทัศน์ยังคงเป็นสื่อหลักที่มีการใช้งานต่อวันสูงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับสื่อวิทยุและสื่อดิจิทัล ผู้ชมนิยมรับชมโทรทัศน์ในช่วงไพรม์ไทม์ เวลา 18.00-22.30 น. โดยเฉพาะผู้ชมที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป ซึ่งรายการที่มีค่าความนิยมโดยเฉลี่ยหรือเรตติ้งรายการสูงขึ้น ได้แก่ รายการประเภทภาพยนตร์เรื่องยาว (Feature Film) รายการประเภทบันเทิงแบบเบ็ดเตล็ด (Light Entertainment) และรายการข่าว         แรกเริ่มนั้นทีวีดิจิทัลมีจำนวน 28 ช่อง แต่ในปัจจุบันเหลือเพียง 19 ช่อง เมื่อสถานีโทรทัศน์ที่เป็นพื้นที่สำหรับลงโฆษณาสินค้า/บริการมีจำนวนน้อยลง นั่นย่อมหมายความว่าโฆษณาสินค้า/บริการมีโอกาสกระจายตัวไปตามสถานีโทรทัศน์ต่างๆ ได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น จากเดิมที่กระจุกตัวอยู่เพียงไม่กี่ช่อง และอาจเป็นเพราะเหตุนี้ที่ทำให้เราพบโฆษณาทีวีในปริมาณที่มากขึ้น         กรุงเทพธุรกิจรายงานว่า เมื่อเดือนกันยายน 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ส่งสารแสดงความห่วงใยผ่านรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กรณีของรายการขายสินค้าที่เผยแพร่ผ่านช่องทางการสื่อสารต่างๆ จำนวนมาก โดยเฉพาะทางทีวีดิจิทัล ทั้งเครื่องใช้ในบ้าน เครื่องสำอาง อาหารเสริม แม้จะเป็นทางเลือกในการซื้อสินค้าของประชาชน ในช่วงที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านมากขึ้น เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 แต่การนำเสนอสินค้าบางรายการมีลักษณะแจ้งสรรพคุณที่อาจเกินความจริง จึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) องค์การอาหารและยา (อย.) ฯลฯ ทำงานในเชิงรุก เพื่อตรวจสอบว่าสินค้าที่นำเสนอผ่านรายการส่งเสริมการขายต่างๆ นั้นได้มาตรฐาน ผ่านการรับรองตรวจสอบแล้วหรือไม่ เพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชนเป็นสำคัญ แนวทางการกำกับโฆษณาในไทย        พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 23 ระบุว่า การประกอบกิจการทางธุรกิจ ให้ดำเนินการหารายได้โดยการโฆษณา การบริการธุรกิจ การจัดเก็บค่าสมาชิก หรือโดยวิธีอื่นใดได้ แต่ทั้งนี้จะกำหนดการโฆษณาและการบริการธุรกิจได้ไม่เกินชั่วโมงละสิบสองนาทีครึ่ง โดยเมื่อรวมเวลาโฆษณาตลอดทั้งวัน เฉลี่ยแล้วต้องไม่เกินชั่วโมงละสิบนาที         ในส่วนของประกาศ กสทช. เรื่อง การกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2555 ข้อ 2 และข้อ 5 ระบุลักษณะของการเอาเปรียบผู้บริโภค ได้แก่ การออกอากาศรายการหรือการโฆษณาที่มีเนื้อหาสาระในลักษณะเป็นการจูงใจให้ผู้บริโภคเลือกใช้บริการหรือสินค้า โดยหลอกลวงหรือกระทําให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสําคัญเกี่ยวกับบริการหรือสินค้านั้น หรือโดยการใช้หรืออ้างอิงรายงานทางวิชาการ สถิติ หรือข้อมูลอันไม่เป็นความจริงหรือเกินความจริง รวมทั้งการออกอากาศรายการโดยมีการโฆษณาบริการหรือสินค้าเกินกว่าระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด หรือบ่อยครั้งที่เป็นผลให้ผู้บริโภครับชมรายการอย่างไม่ต่อเนื่อง สำรวจโฆษณาทีวี         เมื่อทำการศึกษาโฆษณาที่ปรากฏทางช่องรายการโทรทัศน์ระบบดิจิทัลที่ออกอากาศตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม – 30 เมษายน 2564 โดยพิจารณาจากปัจจัยด้านประเภทสถานีโทรทัศน์ ได้แก่ ช่องบริการทางสาธารณะและช่องบริการทางธุรกิจ ปัจจัยด้านประเภทรายการโทรทัศน์ ได้แก่ รายการที่นำเสนอข้อเท็จจริง (Non-Fiction) รายการที่นำเสนอเรื่องแต่ง (Fiction) และรายการที่นำเสนอความบันเทิง (Light Entertainment) และปัจจัยด้านช่วงเวลาในการออกอากาศ         จากเกณฑ์ข้างต้น สามารถคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างจำนวน 34 กลุ่มตัวอย่าง โดยการนับเวลารายการ 1 ชั่วโมง หรือ 60 นาที จะเริ่มนับตั้งแต่ต้นชั่วโมง เช่น 00.01-01.00 น. ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวอาจมี 1 รายการหรือมากกว่า 1 รายการก็ได้ แต่จะนับเป็น 1 กลุ่มตัวอย่างเท่านั้น รายละเอียดของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด ประกอบด้วย        1. รายการประเภทข้อเท็จจริง (Non-Fiction) 20 กลุ่มตัวอย่าง        2. รายการประเภทเรื่องแต่ง (Fiction) 8 กลุ่มตัวอย่าง        3. รายการประเภทความบันเทิง (Light Entertainment) 6 กลุ่มตัวอย่าง          โฆษณาเกินเวลาที่กำหนด ?         ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่า ค่าเฉลี่ยโดยรวมของเนื้อหารายการในกรณีหักลบโฆษณา 52 นาที 36 วินาที ซึ่งไม่เกินเกณฑ์ที่ กสทช. กำหนด แต่เมื่อพิจารณารายกลุ่มตัวอย่างพบว่า กลุ่มตัวอย่างที่มีเนื้อหารายการน้อยกว่า 47 นาที 30 วินาที มีจำนวน 4 กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ กลุ่มตัวอย่างที่ 22 (วันทอง) 38 นาที 35 วินาที รองลงมาคือ กลุ่มตัวอย่างที่ 28 (ทุบโต๊ะข่าว + ซุปตาร์พาตะลุย) 44 นาที 14 วินาที, กลุ่มตัวอย่างที่ 31 (ฟ้าหินดินทราย + ข่าวภาคค่ำ) 46 นาที 45 วินาที และกลุ่มตัวอย่างที่ 15 (แฉ) 47 นาที ตามลำดับ         ค่าเฉลี่ยโดยรวมของเนื้อหารายการในกรณีหักลบโฆษณาและโฆษณาแฝง 50 นาที 16 วินาที ค่าเฉลี่ยโดยรวมของเนื้อหารายการในกรณีหักลบโฆษณา โฆษณาแฝง และรายการแนะนำสินค้า 46 นาที 27 วินาที ค่าเฉลี่ยโดยรวมของเนื้อหารายการในกรณีหักลบโฆษณา โฆษณาแฝง รายการแนะนำสินค้า และสปอตโปรโมตรายการ 43 นาที 55 วินาที ซึ่ง 2 กรณีหลังถือว่ามีเนื้อหารายการน้อยกว่าเกณฑ์ที่กำหนด         เมื่อหาค่าเฉลี่ยของเนื้อรายการโดยจำแนกตามประเภทรายการโทรทัศน์ ซึ่งแบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ รายการที่นำเสนอข้อเท็จจริง (Non-Fiction) รายการที่นำเสนอเรื่องแต่ง (Fiction) และรายการที่นำเสนอความบันเทิง (Light Entertainment) พบว่า รายการที่นำเสนอข้อเท็จจริง (Non-Fiction) เช่น รายการข่าว รายการกีฬา รายการสารคดี ฯลฯ มีค่าเฉลี่ยเนื้อหารายการ 44 นาที 58 วินาที (กรณีหักลบโฆษณา โฆษณาแฝง และรายการแนะนำสินค้า) และค่าเฉลี่ยเนื้อหารายการ 42 นาที 33 วินาที (กรณีหักลบโฆษณา โฆษณาแฝง รายการแนะนำสินค้า และสปอตโปรโมตรายการ)         เมื่อหาค่าเฉลี่ยของเนื้อรายการโดยจำแนกตามประเภทสถานีโทรทัศน์ ซึ่งแบ่งเป็น 4 ประเภท ได้แก่        1) ช่องบริการทางสาธารณะ        2) ช่องบริการทางธุรกิจ หมวดหมู่ข่าวสารและสาระ        3) ช่องบริการทางธุรกิจ หมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดปกติ (SD) และ        4) ช่องบริการทางธุรกิจ หมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดสูง (HD)          พบว่า กรณีที่หักลบโฆษณา โฆษณาแฝง และรายการแนะนำสินค้า ค่าเฉลี่ยของช่องบริการทางธุรกิจ หมวดหมู่ข่าวสารและสาระ 46 นาที 57 วินาที ช่องบริการทางธุรกิจ หมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดปกติ (SD) 44 นาที 6 วินาที และช่องบริการทางธุรกิจ หมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดสูง (HD) 46 นาที 15 วินาที ส่วนกรณีหักลบโฆษณา โฆษณาแฝง รายการแนะนำสินค้า และสปอตโปรโมตรายการ ค่าเฉลี่ยของช่องบริการทางธุรกิจ หมวดหมู่ข่าวสารและสาระ 43 นาที 36 วินาที ช่องบริการทางธุรกิจ หมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดปกติ (SD) 42 นาที 4 วินาที และช่องบริการทางธุรกิจ หมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดสูง (HD) 43 นาที 37 วินาที มุมมองผู้บริโภค         ขณะที่การสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคด้วยแบบสอบถามออนไลน์ จำนวน 350 ชุด เก็บข้อมูลตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม – 15 กรกฎาคม 2564 กับผู้ที่เปิดรับรายการโทรทัศน์ระบบดิจิทัล พบว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการมี “โฆษณา” ทางโทรทัศน์ ในแง่ของการเป็นช่องทางหารายได้ที่เหมาะสมสำหรับผู้ผลิตรายการหรือเจ้าของสถานีโทรทัศน์ (2.55) และเป็นประโยชน์ต่อผู้ชมในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าหรือบริการ (2.53)         อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคส่วนใหญ่กลับไม่เห็นด้วยต่อการมี “โฆษณาแฝง” และ “รายการแนะนำสินค้า” ในรายการโทรทัศน์ เนื่องจากเป็นการรบกวนการรับชมรายการโทรทัศน์ (3.13, 3.19 ตามลำดับ) โดยมองว่ารายการที่นำเสนอข้อเท็จจริง เช่น รายการข่าว สาระความรู้ สารคดี ไม่ควรมีโฆษณาแฝงหรือรายการแนะนำสินค้า (3.25)         และมีความเห็นด้วยน้อยกับการที่นักแสดงหรือคนดังบอกเล่าและเชิญชวนให้ผู้ชมซื้อสินค้าหรือบริการ ในรายการสัมภาษณ์ต่างๆ (1.94)        หากพบว่า “โฆษณา” และ “โฆษณาแฝง” ของสินค้าหรือบริการใดที่รบกวนการรับชม ผู้บริโภคจะไม่ซื้อหรือสนับสนุนสินค้าเหล่านั้นโดยเด็ดขาด (3.03, 3.07 ตามลำดับ) ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ         จากผลการศึกษาสะท้อนให้เห็นว่า สถานีโทรทัศน์มีการหารายได้จากโฆษณาและโฆษณาแฝงอย่างมากจนทำให้เวลาของเนื้อหารายการในกลุ่มตัวอย่างบางส่วนน้อยกว่าเกณฑ์ที่ กสทช. กำหนดไว้ เนื่องมาจากสถานการณ์การแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการที่สูงขึ้นและช่องว่างทางกฎระเบียบของ กสทช. ที่มุ่งเน้นการกำกับดูแลเฉพาะโฆษณา (TV Commercial - TVC) เป็นหลัก ทำให้เกิดช่องว่างที่ผู้ประกอบการสามารถหารายได้เพิ่มเติมโดยหลีกเลี่ยงการทำผิดกฎได้ ซึ่งล้วนแต่เป็นการเบียดบังเวลาในการรับชมรายการโทรทัศน์ของผู้บริโภค         อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคมีทัศนคติที่ยอมรับได้กับ “โฆษณา” แต่รับไม่ได้กับ “โฆษณาแฝง” และหากรู้สึกว่าถูกรบกวนก็จะนำไปสู่พฤติกรรมการเปลี่ยนช่อง การไม่สนับสนุนสินค้าหรือบริการนั้นๆ ตลอดจนการแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบทันที         ข้อเสนอแนะจากการวิจัยในครั้งนี้คือ ควรมีแนวทางการกำกับโฆษณาที่ชัดเจนและครอบคลุม เช่น กำหนดขอบเขตของโฆษณาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน หากจะอนุโลมให้มีโฆษณาแฝงอาจต้องจำกัดช่วงเวลาในการเผยแพร่ หรือจำกัดประเภทสถานีโทรทัศน์และประเภทรายการ โดยพิจารณาจากกลุ่มเป้าหมายที่รับชม ซึ่งอาจเป็นเยาวชนหรือคนสูงอายุที่ถูกโน้มน้าวใจได้ง่ายกว่าคนวัยอื่นๆ         รวมทั้งควรมีหน่วยงานสอดส่องเฝ้าระวังโฆษณาในเชิงรุก โดยมีการทำงานอย่างต่อเนื่อง มีระบบการจัดการข้อมูลที่เป็นรูปธรรม ที่สำคัญคือสามารถเข้าถึงภาคประชาชนและภาครัฐ สร้างการรับรู้ในฐานะของศูนย์กลางการเฝ้าระวังโฆษณา         ขณะเดียวกันอาจสร้างแรงจูงใจให้แก่ผู้บริโภคด้วยการให้ค่าตอบแทนหรือค่าเสียเวลา สำหรับผู้บริโภคที่ช่วยสอดส่องโฆษณาที่ผิดกฎหมายหรือเอาเปรียบผู้บริโภค แล้วร้องเรียนไปยัง กสทช.        หากสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ย่อมส่งผลดีทั้งต่อผู้บริโภคและผู้ผลิต รวมทั้งสร้างบรรทัดฐานที่สำคัญของการโฆษณาในทีวีดิจิทัลอีกด้วย        (เนื้อหาข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยเรื่อง “งานศึกษาโฆษณาแฝงและการโฆษณาเกินเวลาทางช่องรายการโทรทัศน์ระบบดิจิทัล” (2564) โดย น.ส.บุณยาพร กิตติสุนทโรภาศ นักวิจัยอิสระ)อ้างอิงhttp://bcp.nbtc.go.th/th/detail/2020-06-16-11-48-20 www.nbtc.go.th/law/พระราชบัญญัติ/พระราชบัญญัติ/พรบ-การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์-พ.aspxwww.nbtc.go.th/Business/กจการวทย/เอกสารที่เกี่ยวข้อง-(1)/กฎหมาย-(1)/ประกาศ-กสทช-เรื่อง-การกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บ.aspxhttp://www.supinya.com/2016/06/7578https://www.thansettakij.com/content/428726https://broadcast.nbtc.go.th/data/bcj/2564/doc/2564_02_2.pdf

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 249 ยุงกัดต้องจัดการ

        ยุง เป็นสัตว์อยู่คู่บ้านคู่เมืองคนในประเทศแถบร้อนมาตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์แล้ว เห็นได้จากการที่มุ้งนั้นถูกใช้เป็นเครื่องใช้ประจำบ้าน ยกเว้นบ้านคนที่ทันสมัยหน่อยมีการติดมุ้งลวดพร้อมเครื่องปรับอากาศ ยุงก็ได้แต่คอยกัดเมื่อคนหรือสัตวเลี้ยงเดินพ้นเขตมุ้งลวด ส่วนสัตว์ที่ใหญ่กว่าหมาและแมวนั้นการถูกยุงกัดดูเป็นเรื่องธรรมดา อย่างไรก็ดีความที่คนไทยเป็นคนมีเมตตา จึงหาทางไล่ยุงให้สัตว์เลี้ยงด้วยควันที่ก่อจากเชื้อเพลิงเช่น ฟางข้าว ซึ่งน่ารำคาญมากและจริงแล้วเราไม่รู้เลยว่าได้ผลจริงในการใช้ควันไล่ยุงหรือไม่         การถูกยุงกัดนั้นไม่ได้เป็นเพียงการก่อความรำคาญเท่านั้น แต่นำความตายมาสู่ผู้ถูกกัดได้ เพราะยุงหลายชนิดเป็นพาหะของการก่อโรคร้ายแรง เช่น มาลาเรีย ไข้เลือดออก โรคเท้าช้าง ไข้ปวดข้อชิคุนกุนยา ไข้สมองอักเสบ เป็นต้น ด้วยเหตุนี้เราจึงมักได้รับคำแนะนำว่า ถ้าต้องใช้เวลาทำกิจกรรมนอกบ้านในเวลากลางคืน ควรหาวิธีป้องกันตัวเองจากการถูกยุงกัด ด้วยการแขวนเครื่องดักแมลง (bug zapper) ชนิดที่ใช้แสงจากหลอดแบล็คไลท์ (black light) ไว้ในบริเวณที่ยุงชุม คำแนะนำนี้คือ คำโฆษณาขายสินค้าในโทรทัศน์ที่คนส่วนใหญ่ (รวมทั้งผู้เขียน) เชื่อ         หลักการทำงานของเครื่องดักแมลงชนิดใช้แบล็คไลท์นั้น เมื่อถามอากู๋ (google) แล้วจะได้คำตอบประมาณว่า โดยทั่วไปแล้วมนุษย์เห็นแสงในช่วงความยาวคลื่น 400-800 นาโนเมตร ในขณะที่แมลงเห็นแสงในช่วง 300-600 นาโนเมตร (ซึ่งรวมเอาแสงอัลตราไวโอเลตที่เป็นหลอดแบล็คไลท์สร้างเข้าไปด้วย) ดังนั้นแมลงจึงมองไม่เห็นแสงสีเหลือง ส้ม และแดง ซึ่งเป็นแนวทางว่า ถ้าต้องการใช้แสงสว่างที่ไม่ล่อยุงก็ควรซื้อหลอดไฟสีเหลือง ส้ม หรือแดง ซึ่งมีความสว่างค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับหลอดไฟให้แสงสีขาว ดังนั้นเครื่องดักแมลงจึงใช้หลักการดึงดูดแมลงด้วยแสงอัลตราไวโอเลตที่สร้างจากหลอดแบล็คไลท์ (ราคาไม่แพงนัก) ที่ถูกล้อมรอบด้วยกรงตาข่ายมีกระแสไฟฟ้าแรงดันต่ำแต่พอจะฆ่าแมลงได้ แมลงต่าง ๆ จึงถูกดึงดูดเข้าหาแสงยูวีโดยบินผ่านตาข่ายไฟฟ้าจนถูกไฟฟ้าช็อตตาย ดังนั้นตั้งแต่พลบค่ำจนถึงรุ่งเช้า เจ้าของบ้านที่มีเครื่องดักแมลงวางไว้นอกบ้าน จะได้ยินเสียงแมลงถูกไฟช็อตดังเปรี้ยะ ๆ ก้องกังวานต่อเนื่องอย่างน่าพอใจว่า ได้กำจัดยุงตัวแสบไปบ้างแล้ว         มีข้อมูลมากพอสมควรที่แสดงให้เห็นว่า เครื่องดักแมลงส่วนใหญ่นั้นมีประสิทธิภาพเพียงเล็กน้อยในการล่อยุงมากำจัด และที่แย่กว่านั้นเครื่องดักแมลงมักจะกำจัดแมลงที่เป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม เช่น แมลงที่เป็นอาหารแก่นก ค้างคาว และปลา เป็นต้น ดังมีบทความเรื่อง Snap! Crackle! Pop! Electric Bug Zappers Are Useless For Controlling Mosquitoes, Says UF/IFAS Pest Expert ในเว็บ https://news.ufl.edu ของ University of Florida ให้ข้อมูลว่า ในช่วงปี 1977 นั้นมีแมลงราว 71 พันล้านตัวซึ่งไม่ใช่แมลงก่อความรำคาญต้องตายไปด้วยเครื่องดักแมลงโดยใช่เหตุทุกปี ซึ่งมีบทความเรื่อง A field evaluation of electrocutors for mosquito control in southern Ontario. ซึ่งพิมพ์แจกจ่ายเป็นเอกสารประกอบการประชุมชื่อ Proceedings of the Entomological Society of Ontario ในปีเดียวกันให้ข้อมูลว่า นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Guelph ได้ทำการศึกษาเพื่อพิจารณาว่า เครื่องดักแมลงมีประสิทธิภาพในการฆ่ายุงและลดจำนวนยุงในจุดที่วางเครื่องหรือไม่ ผลปรากฏว่ามีเพียงร้อยละ 4.1 ของแมลงที่ถูกฆ่าในเครื่องดักแมลงเท่านั้นที่เป็นยุงตัวเมีย (ที่กัดและดูดเลือดมนุษย์) นอกจากนี้ในการศึกษายังพบว่า อุปกรณ์ดังกล่าวได้เชื้อเชิญให้ยุงตัวเมียเข้ามาในบริเวณนั้นมากกว่าพื้นที่ที่ไม่มีอุปกรณ์         ต่อมาในปี 1982 นักวิจัยของ University of Notre Dame สหรัฐอเมริกาได้ทำการศึกษาที่คล้ายคลึงกับงานวิจัยในปี 1977 แล้วตีพิมพ์ผลงานเป็นบทความเรื่อง Failure of an insect electrocuting device to reduce mosquito biting. ในวารสาร Mosquito News ของปี 1983 ซึ่งให้ข้อมูลประมาณว่า เมื่อวางเครื่องดักแมลง 1 เครื่องในเมืองเซาท์เบนด์ รัฐอินเดียนา พบว่าในคืนหนึ่งสามารถฆ่าแมลงได้ 3,212 ตัว แต่ปรากฏว่ามีเพียงร้อยละ 3.3 เท่านั้นที่เป็นยุงตัวเมีย และนักวิจัยยังพบอีกว่า แสงยูวีนั้นดูเหมือนจะดึงดูดยุงต่างๆ เข้าสู่บริเวณนั้นมากขึ้น ซึ่งนำไปสู่การถูกยุงกัดมากขึ้นทั้งคนและสัตว์ที่ต้องอยู่บริเวณนั้น ทำให้ดูเสมือนว่า ยุงได้เลือกให้ความสำคัญต่อปัจจัยอื่นที่ล่อมันจากคนและสัตว์มากกว่าแสงจากหลอดแบล็คไลท์         จริงแล้วยุงตัวเมียหาแหล่งอาหารได้อย่างไร คำตอบนั้นพบได้ในบทความเรื่อง Mosquito receptor for human-sweat odorant ตีพิมพ์ในวารสาร Nature ในปี 2004 ให้ข้อมูลว่า มนุษย์ สุนัข ม้า นก ตลอดจนสัตว์อื่น ๆ ที่มีอุณหภูมิร่างกายอุ่นคงที่นั้นเป็นแหล่งอาหารของยุงตัวเมีย เนื่องจากในการหายใจออกนั้นได้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา ดังนั้นเมื่อยุงตัวเมียได้กลิ่นของคาร์บอนไดออกไซด์ผสมกับสารระเหย 1-octen-3-ol หรือ octenol ซึ่งเป็นอัลกอฮอลที่พบได้ในลมหายใจออกและเหงื่อของมนุษย์ในอากาศจึงบินเข้าหา นี่น่าจะเป็นเหตุผลว่าทำไมยุงตัวเมียจึงชอบเข้าหาคนที่มีเหงื่อเยอะเป็นพิเศษ โดยเฉพาะขี้เมาที่โดนเมียไล่ให้ออกไปนอนนอกบ้าน และมีข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า ยุงที่กระหายเลือดสามารถตรวจจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากแหล่งกำเนิดคือ มนุษย์ซึ่งอยู่กลางแจ้งได้ไกลถึง 35 เมตร         ในกรณีของกลิ่นเหงื่อนั้นผู้เขียนมีประสบการณ์เองว่า เสื้อผ้าที่ใส่ออกกำลังกายแล้วไม่สามารถซักได้ในวันนั้น ต้องตากค้างคืนในโรงรถเพื่อให้เหงื่อแห้งก่อนหาวันเหมาะๆ ซักนั้น ในตอนเช้าจะพบยุงตอมที่เสื้อผ้าเยอะมากจนต้องเอาไม้ตียุงไปจัดการเป็นประจำ         จากความรู้เกี่ยวกับกลิ่นล่อยุงนั้น ส่งผลให้นักผลิตเครื่องดักแมลงได้ออกแบบสร้างเครื่องดักแมลงชนิดใหม่ที่มีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์และออกทีนอลออกมาเพื่อดึงดูดยุงให้บินเข้าหาเครื่องดักแมลงมากขึ้น แต่น่าเสียดายที่มีข้อมูลไม่เป็นทางการกล่าวว่า คาร์บอนไดออกไซด์และออกทีนอลนั้นช่วยเพิ่มจำนวนยุงที่ฆ่าต่อคืนได้เพียงเล็กน้อย แต่กลับดึงดูดยุงเข้าสู่บริเวณวางเครื่องกำจัดแมลงมากขึ้น ดังนั้นหมาที่ต้องนอนนอกบ้านที่วางเครื่องดักยุง จึงถูกยุงกัดมากขึ้น ผู้เขียนได้เห็นโฆษณาทางโทรทัศน์บ้านเราซึ่งอธิบายถึงเครื่องดักยุงแบบที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แล้วเช่นกัน ในตอนแรกที่ได้เห็นก็คิดเช่นกันว่า น่าลองซื้อมาใช้ดู แต่สุดท้ายคิดว่าลองตากเสื้อผ้าที่เปียกเหงื่อไปวางข้างเครื่องดักแมลงในตอนกลางคืนดีกว่า         จากเอกสารชื่อ Biopesticides Fact Sheet for 1-Octen-3-ol ซึ่งพบได้ในเว็บของ US.EPA นั้น ได้แบ่งรับแบ่งสู้ในประสิทธิภาพของเครื่องดักแมลงแนวใหม่นี้ โดยบอกเพียงว่า สารเคมี (ซึ่งคงหมายถึงก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และออกทีนอล) นั้นไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคในปริมาณที่มีการใช้และห้ามโฆษณาว่า ควบคุมปริมาณยุงได้ แต่ยอมให้กล่าวว่า ช่วยกำจัดยุงเพิ่มได้ (The statements do not claim to control mosquitoes, only to make the electronic insect killers more effective.)         ดังนั้นเรายังคงควรเป็นลูกค้าเครื่องดักแมลงหรือไม่ สำหรับผู้เขียนแล้ว เนื่องจากหลายครั้งขณะที่ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ไม่ว่าเป็นกลางวันหรือกลางคืน มักมีแมลงที่หลุดรอดจากมุ้งลวดเข้ามาก่อกวนการทำงานเป็นประจำ เพราะแมลงมันคงต้องการอ่านข้อมูลที่ผู้เขียนสืบเสาะจากโลกอินเทอร์เน็ตกระมัง ที่สำคัญคือ เวลาแมลงบินผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์นั้นมันมักทำขนจากขา ลำตัวและปีกหลุดลอยในอากาศ ทำให้ผู้เขียนเกิดอาการแพ้โดยเฉพาะตอนหัวค่ำซึ่งแมลงออกมาเยอะมาก ดังนั้นผู้ค้าเครื่องดักแมลงจึงยังได้ผู้เขียนเป็นลูกค้าราวปีละครั้ง เนื่องจากหลอดที่สร้างแสงยูวีนั้นมีอายุใช้งานจำกัด เวลาผ่านไปแมลงมันก็เมินเพราะความเข้มของแสงยูวีลดลง จึงต้องซื้อใหม่เพราะไม่มีปัญญาไปหาหลอดมาเปลี่ยนใหม่ได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 248 ปัญหาโครงสร้างน้ำมัน ไม่ใช่รถบรรทุกหยุดวิ่ง

        โครงสร้างราคาน้ำมันที่ซับซ้อน หรือทำให้ซับซ้อน ถูกพูดถึงน้อยจากทุกฝ่าย เพราะหากติดตามการรณณงค์ของสมาพันธ์ขนส่งแห่งประเทศไทย แสดงจุดยืนชัดเจน ว่า ทางกลุ่มสมาพันธ์ ฯ ต้องการให้รัฐบาลลดราคาน้ำมัน และไม่ต้องการผลักภาระค่าน้ำมันให้กับผู้ผลิตสินค้า ซึ่งท้ายที่สุดส่งผลต่อราคาสินค้าและค่าบริการของผู้บริโภค ตามที่ประธานสมาพันธ์ ฯ ยืนยันมาโดยตลอด        กลุ่มผู้บริโภคต้องขอบคุณและอยากให้ผู้บริโภค ช่วยสื่อสารทำความเข้าใจเรื่องราคาน้ำมันและโครงสร้างราคาน้ำมันที่เป็นธรรมกับทุกฝ่ายทุกส่วน ทั้งกิจการขนส่ง กิจการการเกษตร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้บริโภค         หากพิจารณาจากโครงสร้างราคาน้ำมัน เห็นความไม่ถูกต้องจากหลายส่วน อาทิเช่น ราคาน้ำมันดิบตั้งต้นที่เป็นปัญหาต้นทาง ที่ใช้ราคาน้ำมันบวกค่าขนส่งเทียมหรือขนส่งทิพย์นำเข้าจากสิงคโปร์ทั้งที่ไม่ได้มีการนำเข้าจากสิงคโปร์จริงซึ่งในส่วนนี้รัฐบาลไม่เคยแก้ปัญหาทำให้ราคาน้ำมันแพงไปอย่างน้อยอีก 1 บาท         มาพิจารณากันว่า 25 บาทที่องค์กรผู้บริโภคเสนอมาจากอะไร และรัฐบาลสามารถทำได้จริง            +ต้นทุนน้ำมันหน้าโรงกลั่นตามราคาตลาดโลก ราคา 18.45 บาท            +ค่าการตลาด ราคา 1.40 บาท            +ส่วนต่างกำไรที่เป็นเงินเหลืออีก (รายได้ของรัฐบาล) 5.15 บาท หากรวมต้นทุนเทียมเท่ากับรัฐบาลมีกำไรมากถึง 6.15 บาทจากต้นทุนเทียมขนส่งจากสิงคโปร์         โครงสร้างราคาน้ำมันที่บิดเบี้ยวจากข้อมูลข้างต้น และไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง สร้างภาระให้กับทุกส่วนยกเว้นบริษัทน้ำมัน โรงกลั่นน้ำมันและกิจการพลังงาน ซึ่งควรได้รับการแก้ไข ทางออกคงไม่ใช่จัดหาบริการขนส่ง แทนรถบรรทุก แต่ต้องการการออกแบบโครงสร้างราคาน้ำมันที่เป็นธรรม ซึ่งท้ายที่สุดส่งผลต่อราคาสินค้าและบริการของประชาชนทั้งระบบ ถึงเวลาที่รัฐบาลต้องจัดการปัญหาโครงสร้างราคาน้ำมันที่ไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภคสักที

อ่านเพิ่มเติม >




ฉบับที่ 248 ประกันโควิด ‘เจอ จ่าย (ไม่) จบ’ บทเรียนและความเสียหายที่ (ยัง) ไม่จบ

สถานการณ์โควิด-19 สร้างความเสียหายอย่างมากต่อชีวิตและเศรษฐกิจ ประชาชนจำนวนไม่น้อยจึงต้องบริหารความเสี่ยงด้วยการซื้อประกันสุขภาพจากบริษัทประกันภัย เพื่อหวังเป็นอีกหนึ่งที่พึ่งหากเจ็บป่วยด้วยไวรัสร้ายนี้         ผลิตภัณฑ์ที่ออกมาในช่วงต้นๆ ของการแพร่ระบาดเป็นประเภท ‘เจอ จ่าย จบ’ หมายความว่าหากผู้เอาประกันตรวจพบว่าตนเองติดเชื้อก็สามารถเคลมค่าสินไหมได้ทันที สินมั่นคงประกันภัยเป็นเจ้าแรกๆ ที่จับจองตลาดประกันภัยแนวนี้ก่อนที่เจ้าอื่นๆ จะทยอยตามมา        แต่บริษัทประกันภัยคงไม่คิดว่าสถานการณ์ที่เหมือนกำลังคลี่คลายจะกลับมารุนแรงจากการระบาดระลอก 3 และ 4 ที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นถึงวันละหมื่นกว่าราย กลางปี 2564 สินมั่นคงประกาศยกเลิกประกันภัยโควิด-19 แบบเจอ จ่าย จบ โดยจะคืนเบี้ยประกันให้กับผู้ซื้อประกัน ทำให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ต้องยื่นมือเข้ามาจัดการ สินมั่นคงประกันภัยจึงกลับไปให้การคุ้มครองตามเดิม และนั่นคือสัญญาณแรกของความเสียหาย         เจอ จ่าย (ไม่) จบ แต่เอเชียประกันภัยจบไปแล้ว         ข้อมูลจาก คปภ. ที่ปรากฏในสื่อระบุว่า ถึงต้นเดือนกันยายนปี 2564 ทั่วประเทศมีการร้องเรียนเกี่ยวกับประกันภัยโควิดสูงถึงถึง 1,671 กรณี ขณะที่ปี 2563 มีเพียง 366 กรณีเท่านั้น โดยเรื่องร้องเรียน 5 อันดับแรก ประกอบด้วย         1. บริษัทประกันไม่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 แบบเจอ จ่าย จบ        2. บริษัทบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโควิดและคืนค่าเบี้ยประกันภัย        3. ผู้เอาประกันภัยไม่ได้รับกรมธรรม์        4. บริษัทปฏิเสธการจ่ายค่าชดเชยรายวันหรือจ่ายไม่เป็นไปตามระยะเวลาที่พักรักษาตัว        5. ประเด็นอื่นๆ เช่น การขอแก้ไขข้อมูลในกรมธรรม์ การหักเบี้ยประกันภัยซ้ำซ้อน ร้องเรียนตัวแทนขาย         ต่อมาเราจึงได้เห็นภาพผู้ซื้อประกันที่ไม่มั่นใจสถานะการเงินของบริษัทประกันภัยไปรวมตัวเรียกร้องที่หน้าบริษัทตามที่เป็นข่าว         กระทั่งวันที่ 15 ตุลาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังก็ออกคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน) เนื่องจากมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน ไม่สามารถดำรงเงินกองทุนให้ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด ขาดสภาพคล่องจนไม่สามารถจ่ายค่าสินไหมทดแทน ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 27 กันยายนถึง 14 ตุลาคม ทางบริษัทต้องจ่ายค่าสินไหมให้กับผู้เอาประกันถึง 13,000 คน คิดเป็นเงินกว่า 800 ล้านบาท ถ้าปล่อยให้ประกอบธุรกิจต่อไปผู้บริโภคจะได้รับความเสียหาย         “บริษัทประกันที่แบกรักความเสี่ยงสามารถจ่ายค่าเคลมประกันให้ผู้บริโภคทุกรายหรือไม่” นฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ตั้งคำถาม “เนื่องจากซื้อประกันหลักร้อยบาท แต่เวลาเคลมคือหลักหมื่นกับหลักแสนบาท มันแบกรับความเสี่ยงไว้หลายร้อยเท่า บริษัทประกันต้องมีตัวเลขว่าขายไป 100 กรมธรรม์ คุณได้เท่าไหร่ คุ้มไหม ดังนั้น เขาจะคำนวณจากพื้นฐานการเคลมประกัน แต่ด้วยมันเป็นวิกฤตโรคระบาด มันคุมสถานการณ์ไม่ได้ แล้วทุกคนก็มีความเสี่ยงติดเชื้อ ไม่รู้ว่าบริษัทประกันประเมินความเสี่ยงอย่างไร”         คปภ. ออกมาตรการเยียวยาผู้บริโภค         การล้มครืนของเอเชียประกันภัยทำให้กองทุนประกันวินาศภัยต้องเข้ามารับบทบาทเป็นผู้ชำระบัญชีและจ่ายค่าสินไหมให้แก่ผู้เอาประกัน โดยทาง คปภ. ได้ออกมาตรการเยียวยารองรับ ชนะพล มหาวงษ์ รองเลขาธิการ ด้านกฎหมาย คดี และคุ้มครองสิทธิประโยชน์ กลุ่มงาน: ด้านกฎหมายคดี และคุ้มครองสิทธิประโยชน์ ยืนยันกับ ‘ฉลาดซื้อ’ ว่า ทางกองทุนจะมีกระบวนการทำงานและจ่ายค่าสินไหมให้กับทุกรายแน่นอน         “การประกันภัยโควิดเท่าที่ผ่านมาช่วงที่หนักคือระลอก 3 และ 4 ในปีนี้ บริษัทประกันภัยก็พยายามหาผลิตภัณฑ์ที่จะตอบโจทย์การบริหารความเสี่ยงให้กับประชาชน มีเงื่อนไขการคุ้มครองหลากหลายแตกต่างกัน แต่ที่มีปัญหาคือเงื่อนไขเจอ จ่าย จบ ซึ่งทำให้เกิดอุบัติเหตุทางธุรกิจประกันกับบริษัทเอเชียประกันภัย         “โดยปกติแล้วกรมธรรม์ที่ขายจะมีเงื่อนไขการคุ้มครอง เช่น การเสียชีวิตจากโควิด-19 หรือได้รับเชื้อแล้วมีอาการโคมา ค่ารักษาพยาบาล ค่าชดเชยรายวัน แต่การคุ้มครองแบบเจอ จ่าย จบ มีประมาณสี่ห้าบริษัทที่ขายประกันแบบนี้เยอะ ทำให้ค่าสินไหมที่ต้องจ่ายกับเบี้ยประกันไม่สัมพันธ์กัน ซึ่ง คปภ. ก็ดูแลใกล้ชิดมาตลอดและพยายามแก้ไข แต่เนื่องจากว่าบริษัทประกันที่ขายประกันลักษณะนี้ขายเร็วมาก ประชาชนทำประกันเร็วมากทุกช่องทาง”         ทั้งนี้มาตรการเยียวยาที่ คปภ. ออกมากรณีที่กรมธรรม์ยังคุ้มครอง แต่ยังไม่เกิดภัย ทาง คปภ. ได้ร่วมกับสมาคมประกันวินาศภัยไทยและกองทุนประกันวินาศภัยจัดหาบริษัทประกันภัยที่ยินดีเข้าโครงการรับกรมธรรม์ต่อจากเอเชียประกันภัยประมาณ 15 บริษัท โดยกรณีกรมธรรม์โควิด-19 แบบเจอ จ่าย จบ ทางบริษัท ทิพยประกันภัย จะรับต่อ โดยปรับเปลี่ยนเงื่อนไขว่าเมื่อพบการติดเชื้อและมีอาการโคม่าจึงจะจ่ายค่าสินไหมในจำนวนที่เพิ่มขึ้นจากกรมธรรม์เดิม เช่น ถ้ามีความคุ้มครองที่ 50,000 บาท ทางบริษัทจะเพิ่มเป็น 300,000 บาท เบี้ยประกันที่ต้องจ่ายคือ 300 บาท         ในกรณีที่ไม่ต้องการต่ออายุกรมธรรม์ทางกองทุนจะคืนเบี้ยประกันให้ หรือหากต้องการทำกรมธรรม์ประเภทอื่นก็สามารถนำเบี้ยที่เหลือจากกรมธรรม์โควิดไปชำระและได้ส่วนลด 500 บาท         ในส่วนของประกันภัยอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับโควิด-19 เช่น ประกันรถยนต์ อัคคีภัย บริษัทประกันภัยที่เข้าร่วมโครงการจะรับช่วงต่อ ทั้งนี้ชำระเบี้ยเฉพาะส่วนต่าง เช่นมีความคุ้มครองเหลืออยู่ 6 เดือนคิดเป็นเบี้ยประกัน 6,000 บาท ถ้าบริษัทประกันภัยที่มารับต่อคิดเบี้ยประกันทั้งปีที่ 12,000 บาท ผู้เอาประกันจะชำระเพียง 6,000 บาท แล้วทางบริษัทประกันภัยที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับส่วนต่าง 6,000 บาทจากกองทุนฯ         “ส่วนกรณีที่บางบริษัทมีเงื่อนไขเจอ จ่าย จบ แล้วยังมีการเคลมอยู่มากและกำลังทยอยจ่ายค่าสินไหมทดแทน ทาง คปภ. ก็ดูแลอย่างใกล้ชิด พูดคุยปรึกษาหารือกับผู้บริหารบริษัทซึ่งรับปากว่าไม่น่าจะมีปัญหา ส่วนเงื่อนไขอื่นๆ โดยทั่วไปแล้วในเชิงระบบก็ไม่มีปัญหาอะไร มีความมั่นคงทุกบริษัท” ชนะพล กล่าว         ด้าน อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยืนยันว่า กองทุนประกันวินาศภัยไม่มีปัญหาสภาพคล่องแต่อย่างใด แม้จะต้องจ่ายชดเชยให้กับผู้เอาประกันของเอเชียประกันภัย         ความเสียหายที่ (ยัง) ไม่จบ         บริษัทเอเชียประกันภัยฯ เป็นแค่หนังตัวอย่าง บริษัทหลายแห่งที่ระดมขายประกันโควิด-19 แบบเจอ จ่าย จบ ไปก่อนหน้านี้ก็อยู่ในภาวะลูกผีลูกคน เมื่อยอดเคลมประกันโควิด-19 ทั้งระบบมีมูลค่ากว่า 20,000 ล้านบาท จากเบี้ยประกันที่ 6,000 ล้านบาท ซ้ำเติมด้วยเงื่อนไขกรมธรรม์ที่ต้องจ่ายค่าสินไหมภายใน 15 วัน หากสภาพคล่องไม่เพียงพอก็อาจต้องเดินตามรอยเอเชียประกันภัยฯ         คาดการณ์ว่ายอดค่าสินไหมจะสูงกว่า 35,000 ล้านบาทเมื่อถึงสิ้นปี เนื่องจากยังมีกรมธรรม์ประเภทนี้ตกค้างในระบบประมาณ 13-14 ล้านกรมธรรม์ ซึ่งการประกาศเปิดประเทศของรัฐบาลทำให้หลายภาคส่วนกังวลว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดจะกลับมารุนแรงอีกครั้ง หมายความว่ายอดเคลมประกันมีโอกาสเพิ่มเป็น 40,000  ถึง 50,000 ล้านบาท         ทำให้มีการประเมินว่าความเสียหายจากประกันโควิด-19 แบบเจอ จ่าย จบ อาจไม่จบง่ายๆ และลุกลามต่อเนื่อง คณะกรรมาธิการ (กมธ.) กิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน สภาผู้แทนราษฎร จึงมีการเรียกให้ผู้เกี่ยวข้องมาชี้แจงและเรียกร้องให้กระทรวงการคลังเปิดเผยข้อมูล         จากเว็บไซต์มติชน วันที่ 26 ระบุว่า ทาง กมธ. ได้สอบถามตัวแทน คปภ. ว่า เหตุการณ์จะลุกลามเป็นโดมิโนหรือไม่ ก็ได้รับคำตอบว่าไม่แน่ใจ และ...         ‘อาจจะมี ซึ่งน่าจะมีประมาณ 5 บริษัท รวมบริษัทเอเชียประกันภัยแล้ว เท่ากับว่าเหลือให้ประชาชนลุ้นกันเองตามยถากรรมอีก 4 บริษัท ทั้งนี้ กมธ. ได้ขอให้ คปภ.เปิดเผยว่ารายชื่อกว่า 40 บริษัท 16 ล้านกรมธรรม์นั้น ใครไปทำประกันโควิดกับบริษัทไหนจะได้เปลี่ยนบริษัท ซึ่งก็ไม่ได้รับคำตอบ เนื่องจากไม่ได้อยู่ในอำนาจที่จะบอกได้ว่าอีก 4 บริษัทที่ทำท่าจะล่อแล่ จะอยู่รอดปลอดภัยหรือไม่’         เฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค แนะนำกับผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากเอเชียประกันภัยว่า         “ถ้าคุณป่วยหลังบริษัทถูกเพิกถอน คุณก็ไปเคลมกับกองทุนฯ สมมติว่าเขาจ่ายแล้วแต่คุณเห็นว่าควรได้รับตามเงื่อนไขมากกว่านี้ คุณก็อาจต้องคุยกับกองทุนฯ ถ้าเขายังยืนยันตามนี้ คุณก็ต้องฟ้องกองทุนฯ ในฐานะผู้ชำระบัญชีของบริษัทเอเชียประกันภัย แต่ถ้าโอเคก็จบ”         บทเรียน         นฤมล กล่าวว่า กรณีนี้เป็นบทเรียนของหน่วยงานกำกับดูแลที่ควรเข้าไปตรวจสอบสภาพคล่อง ฐานะการเงิน ผลิตภัณฑ์และเงื่อนไขการเคลมของบริษัทว่าเบี้ยประกันกับค่าสินไหมทดแทนที่ต้องจ่ายมีความสัมพันธ์กันหรือไม่         “คปภ. ต้องออกหลักเกณฑ์ใหม่เพราะบางทีไม่ใช่เจอจ่ายจบ เพราะเงื่อนไขนี้ไม่จำเป็นต้องรักษาพยาบาล แค่เจอ ก็ต้องจ่ายแล้ว แต่จะจ่ายชดเชยกรณีต้องนอนรักษาตัว ซึ่งตอนนี้ไม่ใช่แค่ในโรงพยาบาล มีการไปพักตามโรงแรม มี Community Isolation มี Home Isolation เวลาซื้อประกันง่ายมากเลย แต่ตอนเคลมยุ่งยากมาก เพราะส่วนใหญ่ซื้อแบบเจอ จ่าย จบกับชดเชยรายวัน คนที่เจอไม่มีคนไหนหรอกที่ไม่ต้องรักษาตัว คนที่ซื้อประกันเจอจ่ายจบและมีชดเชยควรได้รับชดเชยด้วย มาตรการในอนาคตคือเอกสารการเคลมประกันต้องไม่ตึงเกินไปจนทำให้ผู้บริโภคกระดิกตัวไม่ได้         “เช่น กรณี Home Isolation ไม่ได้ไปอยู่โรงพยาบาลจะเอาใบรับรองแพทย์ที่ไหน แต่โรงพยาบาลเป็นคนตรวจให้ก็ควรจบ แต่บริษัทประกันใช้ช่องนี้ในการประวิงเวลาจ่าย บริษัทต้องเอาเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ที่ผู้บริโภคส่งมาไปตรวจสอบกับโรงพยาบาลหรือประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ให้ชัดเจน เพราะโรงพยาบาลมีระบบที่ดูแลเรื่องประกันสุขภาพอยู่แล้ว ไม่ควรปล่อยให้เป็นภาระของผู้บริโภค”         ด้านชนะพลเห็นด้วยในแง่ที่ว่ากรณีนี้ถือเป็นบทเรียนของอุตสาหกรรมประกันภัยและ คปภ. ซึ่งทาง คปภ. จะทำแนวทางปฏิบัติออกมาในหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การตรวจสอบ กฎหมาย         “ขณะนี้มีการริเริ่มดำเนินการแล้วว่าต่อไปลักษณะของกรมธรรม์บางประเภทหรือเพื่อรองรับเหตุการณ์ต่างๆ อาจต้องมีความรอบคอบในการอนุมัติกรมธรรม์ คุณสมบัติ เงื่อนไข หรือความมั่นคงของบริษัท ผมเข้าใจว่าถ้าเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีกคงจะไม่มีลักษณะนี้อีก เครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงก็ควรปรับปรุงให้สามารถรองรับสถานการณ์ต่างๆ ได้โดยไม่เพลี้ยงพล้ำหรือไม่ให้เกิดอุบัติเหตุขึ้น         “ฐานะการเงินของบริษัทเรามอนิเตอร์ใกล้ชิดมาก ไม่ว่าจะเป็นการจัดสรรทรัพย์สิน เรามีมาตรฐานการกำกับเป็นระบบสากลเหมือนกัน ตรงนี้ไม่น่าห่วง ที่น่าห่วงคือบริษัทประกันในบ้านเรามีหลายขนาด ฐานะการเงินก็จะแตกต่างกันจากขนาด เพียงแต่ว่าในอนาคตถ้ามันจะมีโรคระบาดอีก กรมธรรม์ในลักษณะนี้อาจจะต้องคำนึงถึงความมั่นคงของบริษัทประกันภัยด้วย”         ในส่วนของเอเชียประกันภัย ชนะพล กล่าวว่า เนื่องจากกองทุนส่วนหนึ่งเป็นเงินหลวงที่ต้องนำมาจ่ายให้ประชาชน คปภ. กำลังตรวจสอบพฤติกรรมความผิดต่างๆ ว่ามีหรือไม่ เช่น ผู้บริหารบริษัทมีนโยบายเร่งรัดการขาย มีการวิเคราะห์ ประเมินสถานการณ์รอบคอบเพียงพอหรือไม่ บางทีอาจจะไม่ประสงค์ต่อผล แต่พอเกิดการแพร่ระบาดจำนวนมากยังเร่งขายกรมธรรม์เจอ จ่าย จบ โดยเล็งเห็นผลหรือไม่ว่าถ้ามีคนติดเชื้อจำนวนมากจะไม่มีเงินจ่ายค่าสินไหมทดแทน ซึ่งหากเล็งเห็นก็จะมีการดำเนินคดีต่อไป         อาจบางที การวิเคราะห์ของบริษัทประกันภัยไม่ได้นำความเสี่ยงอันเนื่องจากรัฐบาลเข้ามาคิดด้วยหรือไม่ก็ประเมินรัฐบาลไว้สูงเกินไปมากจนนำมาสู่บทสรุปเช่นที่เป็นอยู่

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 248 เครื่องทำกาแฟดริปอัตโนมัติ

        ฉลาดซื้อขอเอาใจคอกาแฟอีกครั้ง ด้วยผลทดสอบเปรียบเทียบเครื่องทำกาแฟดริปแบบอัตโนมัติ ที่สมาชิกองค์กรทดสอบระหว่างประเทศในเนเธอร์แลนด์ (Consumentenbond) และเบลเยียม (Test-Achats) เป็นผู้เก็บตัวอย่างส่งเข้าทดสอบไว้ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา ด้วยเนื้อที่อันจำกัดเราจึงขอคัดมาแค่ 21 รุ่นที่ได้คะแนนระหว่าง 61 – 81 จากคะแนนเต็ม 100 สนนราคาที่จำหน่ายในเว็บไซต์มีตั้งแต่ 550 ถึง 9,400 บาท*          จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน ทีมทดสอบได้สัดส่วนออกเป็นด้านต่างๆ ดังนี้           35 คะแนน      ประสิทธิภาพการทำงานของเครื่อง (ทดสอบตามมาตรฐาน EN 60661: 2001) เช่น ประสิทธิภาพและเวลาที่ใช้ในการสกัดกาแฟเมื่อใช้น้ำในปริมาณมาก/น้อยที่สุด อุณหภูมิของกาแฟหลังทำเสร็จทันทีและเมื่อเวลาผ่านไป 15 และ 30 นาที (กรณีที่เหยือกเป็นแบบเก็บอุณหภูมิ จะวัดอุณหภูมิเมื่อเวลาผ่านไป 1, 2, หรือ 4 ชั่วโมงด้วย)         30 คะแนน      รสชาติของกาแฟ เป็นการให้คะแนน (จาก 1 – 10) โดยนักชิมมืออาชีพ 10 คน กาแฟจากเครื่องแต่ละรุ่นจะต้องมีผู้ทดสอบรสชาติอย่างน้อย 8 คน น้ำที่ใช้เป็นน้ำประปาที่อุณหภูมิห้อง (20 องศาเซลเซียส) กระดาษกรอง Melitta Original และเมล็ดกาแฟ Norvid Arqvist โดยใช้กาแฟในสัดส่วน 50 กรัม/น้ำ 1 ลิตร และเลือกระดับ Medium ในฟังก์ชัน Aroma         30 คะแนน      ความสะดวกในการใช้งาน เป็นผลการประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญ 3 คนที่ทดลองใช้เครื่อง เช่น เติมน้ำ เลือก/ปรับโปรแกรมการใช้งาน  ใส่/ถอดอุปกรณ์  เทกาแฟใส่แก้ว ทำความสะอาด และจัดเก็บเครื่อง เป็นต้น           5 คะแนน        การประหยัดพลังงาน วัดจากพลังงานที่ใช้ขณะทำกาแฟขณะอุ่นร้อน 30 นาที ขณะอยู่ในโหมดสแตนด์บายเป็นเวลา 1 ชั่วโมง รวมถึงระยะเวลาก่อนปิดตัวเองอัตโนมัติเมื่อไม่มีการใช้งาน          ข่าวดีคือเราสามารถมีเครื่องทำกาแฟแบบดริปไว้ใช้ที่บ้านได้โดยไม่ต้องจ่ายแพง ใครชอบรูปลักษณ์ของเครื่องแบบไหน ชอบเหยือกกาแฟแบบแก้วหรือสแตนเลส หรือมีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่จัดวางอย่างไร เชิญพลิกดูรายละเอียดประกอบการตัดสินใจในหน้าต่อไปได้เลย

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 248 สำรวจฉลากแป้งทอดกรอบสำเร็จรูป

        อาหารชุบแป้งทอดกรอบเป็นที่ชื่นชอบของใครหลายๆ คน ด้วยรสชาติอร่อย เนื้อสัมผัสกรอบฟูเคี้ยวเพลิน ยิ่งกัดแล้วได้ยินเสียง “กร๊อบ กร๊อบ” ก็ช่วยให้เจริญอาหารมากขึ้น ซึ่งอาหารทอดจะกรอบโดนใจได้นั้น สิ่งสำคัญคือ แป้งที่ใช้ชุบอาหารก่อนนำไปทอด ซึ่งปัจจุบันมี ”แป้งทอดกรอบสำเร็จรูป” หลากหลายยี่ห้อ ที่ใช้ง่ายสามารถนำมาสร้างสรรค์เมนูชุบทอดได้ทั้งเนื้อสัตว์ อาหารทะเล เห็ด ผัก ผลไม้ รวมถึงดอกไม้ ทำให้อาหารจานทอดนั้นฟูกรอบนานขึ้นด้วย         ชนิดและส่วนประกอบของแป้ง มีผลต่อลักษณะเนื้อสัมผัสและการพองตัวของผลิตภัณฑ์ชุบทอดที่แตกต่างกันไป เช่น เบานุ่ม (light) เปราะง่าย (fragiles) พองมาก (highly puffed) และแข็ง (dense) โดยผู้บริโภคส่วนใหญ่มักจะชอบอาหารที่มีลักษณะเนื้อความกรอบ (crispy) มากกว่าลักษณะอื่นๆ ซึ่งแป้งทอดกรอบแต่ละยี่ห้อก็มีส่วนผสมของแป้งที่ตอบโจทย์ความกรอบแตกต่างกันไป นอกจากนี้บางสูตรยังมีการปรุงแต่งเพิ่มรสชาติด้วยผงชูรสและใช้สารช่วยเพิ่มความฟู ซึ่งมีโซเดียมเป็นส่วนประกอบอยู่ด้วย         เพื่อเป็นการเฝ้าระวังเรื่องความปลอดภัย นิตยสารฉลาดซื้อ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างแป้งทอดกรอบสำเร็จรูปทั้งหมด 14 ตัวอย่าง 13 ยี่ห้อ จากร้านสะดวกซื้อและห้างค้าปลีก ในช่วงเดือนกันยายน 2564 เพื่อดูว่ามีส่วนประกอบของแป้งชนิดใดบ้าง และเปรียบเทียบปริมาณโซเดียมบนฉลากโภชนาการ เพื่อนำเสนอไว้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ                                                                        ผลการสำรวจฉลากแป้งทอดกรอบสำเร็จรูป             ชนิดของแป้ง พบว่ามีแป้งที่ใช้เป็นส่วนประกอบอยู่ 6 ชนิด ได้แก่ 1.แป้งสาลี(13 ตัวอย่าง)  2.แป้งข้าวเจ้า( 9 ตัวอย่าง) 3.แป้งมันสำปะหลัง (8 ตัวอย่าง)  4.แป้งข้าวโพด (8 ตัวอย่าง) 5.แป้งข้าวเหนียว (2 ตัวอย่าง)  6.แป้งดัดแปร (1 ตัวอย่าง)         เมื่อเปรียบเทียบริมาณของแป้งสาลีที่มีอยู่ในส่วนประกอบทั้ง 13 ตัวอย่าง พบว่ายี่ห้อบิ๊กซี แป้งชุบทอด มีมากที่สุดคือ 89% และยี่ห้อโลโบ แป้งทอดกรอบ มีน้อยที่สุดคือ 34.6%         ยี่ห้อ สิงห์ดาว แป้งทอดกรอบ รสกระเทียมพริกไทย เป็นตัวอย่างเดียวที่ไม่มีส่วนประกอบของแป้งสาสี และระบุว่า Gluten Free ไว้บนฉลากชัดเจน         เมื่อนับจำนวนชนิดของแป้งที่อยู่ในส่วนประกอบ พบว่า แป้งทอดกรอบสำเร็จรูปที่มีส่วนผสมของแป้ง 3 ชนิด มีจำนวนมากที่สุดคือ 7 ตัวอย่าง รองลงมามีแป้ง 2 ชนิด (4 ตัวอย่าง) และมีแป้ง 4 ชนิด (3 ตัวอย่าง)         สูตรส่วนผสมที่พบมากที่สุดคือ แป้งสาลี + แป้งข้าวเจ้า + แป้งข้าวโพด (4 ตัวอย่าง)         รองลงมาคือสูตรแป้งสาลี + แป้งมันสำปะหลัง (3 ตัวอย่าง)         ปริมาณโซเดียม   มี  4 ตัวอย่างที่ไม่ระบุปริมาณโซเดียมต่อหน่วยบริโภคไว้บนฉลาก ได้แก่ ยี่ห้อสิงห์ดาว แป้งทอดกรอบ รสกระเทียมพริกไทย, รสดีเมนู แป้งชุบทอดปรุงรสสำเร็จ รสต้นตำรับ, โลโบ แป้งทอดกรอบ และยูเอฟเอ็ม แป้งทอดกรอบ           เมื่อเปรียบเทียบปริมาณโซเดียมต่อหน่วยบริโภคที่ระบุไว้บนฉลากโภชนาการทั้งหมด 10 ตัวอย่าง พบว่ายี่ห้อบิ๊กซี แป้งชุบทอด มีปริมาณโซเดียมสูงที่สุดคือ 780 มิลลิกรัม และยี่ห้อเหรียญทองคู่ แป้งทอดกรอบ สูตรกรอบนาน มีปริมาณโซเดียมต่ำที่สุดคือ 4 มิลลิกรัม         ราคา  เมื่อคำนวณราคาต่อปริมาณ 1 กรัม พบว่ายี่ห้อโลโบ แป้งทอดกรอบ มีราคาแพงที่สุดคือประมาณ 0.16 บาทต่อกรัม ส่วนยี่ห้อยูเอฟเอ็ม แป้งทอดกรอบ และโกกิ กุ้งทอง แป้งทอดกรอบ มีราคาถูกที่สุดคือประมาณ 0.04 บาทต่อกรัม ข้อสังเกต         - แป้งทอดกรอบสำเร็จรูปทุกตัวอย่างมีโซเดียมอยู่ โดยมาจากเกลือ ผงชูรส (โมโนโซเดียมกลูตาเมต) และสารที่ช่วยให้ฟูซึ่งมีโซเดียมเป็นส่วนประกอบ แม้บางตัวอย่างจะระบุว่าไม่มีผงชูรส หรือไม่แสดงปริมาณโซเดียมไว้บนฉลากก็ตาม         - ยี่ห้อสิงห์ดาว แป้งทอดกรอบ รสกระเทียมพริกไทย ระบุว่าไม่มีผงชูรส และไม่แสดงปริมาณโซเดียมไว้บนฉลาก หากผู้บริโภคไม่สังเกตว่ามีผงฟู(โซเดียมไบคาร์บอเนต)ในส่วนประกอบ อาจทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อนได้ว่าผลิตภัณฑ์นี้ไม่มีโซเดียม         - 13 ตัวอย่างที่มีแป้งสาลีเป็นส่วนประกอบ ระบุข้อมูลสำหรับผู้แพ้อาหาร (แป้งสาลี/กลูเตน)ไว้ชัดเจน         - ในตัวอย่างที่มีแป้งสาลีเป็นส่วนประกอบ จะมีสัดส่วนของแป้งสาลีมากกว่าแป้งชนิดอื่นๆ ทั้งหมด ยกว้นยี่ห้อโลโบ แป้งทอดกรอบ ที่มีสัดส่วนแป้งข้าวโพด(44.4%) มากกว่าแป้งสาลี (34.6%)         - ยี่ห้ออิมพีเรียล แป้งชุบทอดกรอบ เป็นตัวอย่างเดียวที่ใช้บรรจุภัณฑ์เป็นถุงซิปล็อค เพิ่มความสะดวกในการเก็บ เมื่อเปิดแล้วใช้ไม่หมดก็ปิดซิปไว้ได้         - ยี่ห้อโกกิ  แป้งประกอบอาหาร เป็นตัวอย่างเดียวที่ใช้แป้งดัดแปร (modified starch) เป็นส่วนประกอบ ซึ่งเป็นแป้งที่ได้จากการนำแป้งธรรมชาติ อย่างแป้งมันสำปะหลัง แป้งข้าวเจ้า หรือแป้งข้าวโพด มาผ่านกรรมวิธีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง ทำให้มีสมบัติเปลี่ยนไปตามที่ต้องการ เช่น ความหนืดลดลง เพิ่มความกรอบ โดยมีทั้งวิธีทางเคมี กายภาพ เอนไซม์ และจุลินทรีย์คำแนะนำการใช้แป้งทอดกรอบสำเร็จรูป        - ควรใช้ปริมาณแป้งและน้ำตามสัดส่วนที่แนะนำบนฉลาก เพื่อให้ได้ลักษณะความกรอบตรงตามสูตรนั้น ๆ         - แป้งทอดกรอบสำเร็จรูปนั้นส่วนใหญ่จะมีส่วนผสมของแป้งสาลีเป็นหลัก ผู้บริโภคที่แพ้กลูเตนต้องระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการซื้ออาหารชุบแป้งทอดมารับประทาน ควรทำเองจะปลอดภัยกว่า โดยเลือกใช้แป้งทอดกรอบสำเร็จรูปที่ไม่มีแป้งสาลี หรือระบุว่ากลูเตนฟรี หรือจะใช้แป้งอื่นๆ เช่น แป้งข้าวโพด ชุบทอดแทนก็ได้         - สำหรับคนที่อยากลองชุบทอดวัตถุดิบหลายๆ อย่างในคราวเดียว เลือกแป้งทอดกรอบอเนกประสงค์ที่ใช้ชุบทอดอาหารได้ทั้งเนื้อสัตว์ ผักและผลไม้ จะคุ้มกว่า เป็นตัวช่วยที่ดีสำหรับพ่อครัวแม่ครัวมือใหม่ และมีสูตรแป้งให้เลือกตามความต้องการ เช่น สูตรกรอบฟู กรอบนาน และไม่อมน้ำมัน เป็นต้น        - หากต้องการประหยัดเวลา จะเลือกใช้แป้งทอดกรอบสูตรผสมเครื่องปรุงรสก็ง่ายดี แต่ถ้าใครแพ้ผงชูรสหรือเป็นโรคไต ไม่ควรใช้แป้งสูตรนี้ เพราะมีโซเดียมสูง        - อาหารทอดจะกรอบอร่อย กรอบนาน และไม่อมน้ำมัน นอกจากจะขึ้นอยู่กับส่วนผสมของแป้งทอดกรอบแล้ว ยังขึ้นอยู่กับอุณหภูมิของน้ำที่ใช้ผสมแป้ง ชนิดของน้ำมัน และวิธีการทอดด้วย ซึ่งก็มีหลายเทคนิคหลากเคล็ดลับให้เลือกทดลองทำได้ตามถนัด เช่น ใช้น้ำเย็นจัดผสมแป้ง ทอดด้วยน้ำมันปาล์มเดือด ตักพักขึ้นไว้บนตะแกรงพึ่งลมไล่ความชื้น หรือใช้กระดาษซับน้ำมันเพื่อไม่ให้ซึมกลับเข้าไปที่แป้งด้านใน เป็นต้น         สรุป แม้แป้งทอดกรอบสำเร็จรูปจะช่วยให้เราทำอาหารชุบแป้งทอดได้กรอบอร่อยและสะดวกขึ้น แต่อย่าลืมว่าในกระบวนการผลิตนั้นต้องผ่านการแต่งเติมเสริมเพิ่มสารเจือปนอาหารต่างๆ นานา เพื่อให้ได้คุณสมบัติตามสูตรความกรอบอร่อยที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคมากที่สุด หากบริโภคเข้าไปบ่อยๆ สารสังเคราะห์เหล่านั้นอาจเข้าไปสะสมในร่างกาย จนเกิดผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาวได้ ดังนั้นการผสมแป้งทอดกรอบและปรุงรสตามชอบเอง ก็น่าจะได้รสชาติถูกปาก ปลอดภัย และประหยัดขึ้นอีกด้วย         .....................ข้อมูลอ้างอิงhttps://specialfood.co.th/http://www.foodnetworksolution.com/https://cheechongruay.smartsme.co.th/content/25288https://somsaha.comhttps://goodlifeupdate.com

อ่านเพิ่มเติม >