ฉบับที่ 248 กองทุนลดหย่อนภาษี ยิ่งลด ยิ่งเหลื่อมล้ำ

        ตอนนี้ขอพูดถึงเรื่องการออมผ่านกองทุนและส่วนที่เกี่ยวข้องกัน ซึ่งส่วนหลังนี่เหมือนจะไม่ใช่เรื่องการออมสักเท่าไหร่ เพราะมันต่อกับภาพใหญ่กว่านั้น มาเริ่มกันเลย         เชื่อว่าหลายคนลงทุนผ่านกองทุนรวมแบบ SSF หรือ Super Savings Fund (ซึ่งของเดิมก็คือ LTF Long Term Equity Fund) และ RMF หรือ Retirement Mutual Fund เพราะนอกจากจะเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนดีกว่าฝากธนาคารให้เงินเฟ้อกัดแทะเล่นแล้ว ยังสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ด้วย         จะว่าไปมันคือการสร้างแรงจูงใจให้คนออมเงินนั่นแหละ แถมยังส่งผลดีต่อตลาดทุนอีก คนส่วนใหญ่เลือกลงทุนในกองทุน 2 ประเภทนี้ก็หวังจะเอาไปลดหย่อนภาษี โดย SFF สามารถซื้อได้ไม่เกิน 30 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ที่ต้องเสียภาษีหรือไม่เกิน 200,000 บาท ส่วน RMF ก็คล้ายคลึงกันคือซื้อได้ไม่เกิน 30 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ แต่ไม่เกิน 500,000 บาท         จำนวนเงินที่ซื้อนี่แหละสามารถเอาไปลดหย่อนภาษีได้ตามจริง แต่เมื่อรวมกับค่าลดหย่อนตัวอื่นๆ แล้วจะต้องไม่เกิน 500,000 บาท         สำหรับคนที่รายได้ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี อยากได้ลดหย่อนเยอะๆ หรือไม่อยากจ่ายภาษีให้รัฐบาลประยุทธ์เอาไปถลุงเล่นกับเรือดำน้ำ มันก็เป็นเรื่องดีนั่นแหละ อย่างไรก็ตาม มันมีอีกแง่มุมที่เราต้องตระหนักเนื่องจากผลร้ายของมันกำลังทำให้ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยที่สูงอยู่แล้ว สูงมากขึ้นๆ ไปอีก         จากบทความ ‘ยิ่งลดหย่อน…ยิ่งเหลื่อมล้ำ?: บทเรียนจากการให้สิทธิลดหย่อนภาษี LTF และ RMF’ โดย นรชิต จิรสัทธรรม และ กฤตยาณี กิตติพัฒน์พาณิช ที่เผยแพร่ใน https://www.the101.world/ltf-rmf-and-inequality/#_ftn1 ระบุว่า ยิ่งมีช่วงห่างระหว่างอัตราเติบโตของการลดหย่อนกับรายรับภาษีเงินได้มากขึ้น ผลที่ตามมาคือความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ โดยสรุปออกมาได้ 3 ประเด็นคือ         ประการแรก มาตรการลดหย่อนภาษีในการลงทุน LTF และ RMF สร้างต้นทุนค่าเสียโอกาสของรายรับทางการคลังของประเทศหรือตัดโอกาสในการสร้างรายได้ทางการคลังเพื่อใช้ปันส่วนใหม่ให้เกิดการกระจายรายได้ที่เท่าเทียมมากขึ้น        ประการที่สอง สิทธิประโยชน์ของ LTF และ RMF เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มคนที่มีรายได้สูงมากกว่าผู้มีรายได้น้อย         ประการที่สาม ผลตอบแทนเฉลี่ยที่เกิดจาก LTF และ RMF เติบโตสูงกว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจประมาณ 4 เท่า คนที่ถือสินทรัพย์นี้ไว้ในมือ เมื่อเวลาผ่านไปจะยิ่งมีรายได้จากผลตอบแทนเพิ่มมากกว่าผู้ที่มีรายได้จากแค่เงินเดือนและไม่ได้ถือสินทรัพย์ทางการเงิน         แต่มาตรการออกมาแล้ว ห้ามคนลงทุนก็ไม่ได้ แล้วจะทำยังไง         คิดแบบเร็วคงหนีไม่พ้นการผลักดันให้เกิดรัฐสวัสดิการที่ดูแลประชาชนตั้งแต่เกิดจนตาย มีสวัสดิการผู้สูงอายุ มีบำนาญแห่งชาติ มีระบบการตรวจสอบให้ภาษีทุกบาททุกสตางค์ถูกใช้อย่างคุ้มค่า ไม่ใช่ต้องหมดไปกับการซื้ออาวุธ จ่ายเงินเดือนนายพลที่วันๆ ไม่มีงานทำ หรือเอาไปให้ใครถลุงเล่นฟรีๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 248 ความเคลื่อนไหวเดือนตุลาคม

10 อันดับรูปแบบการหลอกลวงทางออนไลน์ ปี 2564 เฟซบุ๊กถูกร้องสูงสุด        10 ตุลาคม 2564 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมกับตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หน่วยงานอื่น ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ได้เร่งดำเนินการสืบสวนเอาผิดมิจฉาชีพออนไลน์ ในคดีฉ้อโกงและหลอกลวงประชาชน พบว่า ในรอบ 10 เดือนมีร้องเรียนผ่านสายด่วนเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าวตั้งแต่เดือน มกราคม – ตุลาคม 2564 โดยส่วนมากเจอกลลวงหลอก ดังนี้ 1.หลอกโอนเงิน ไม่มีสินค้าส่งจริง 2. สินค้าไม่ตรงตามโฆษณา  3.จ่ายซื้อแบรนด์เนมแท้ แต่ได้ของปลอม 4.รับหิ้วของ 5.หลอกให้เซ็นรับพัสดุผิดกฎหมาย 6.ได้รับของชำรุดเสียหาย 7.หลอกซื้อลอตเตอรี่ออนไลน์ 8.หลอกเช่าพระบูชา 9.ตุ๋นขายแบบผ่อนชำระ 10.หลอกขายไม่ตรงรูป โดยสัดส่วนจากการถูกหลอกขายออนไลน์จากทางเฟซบุ๊ก มีสูงสุดคิดเป็น 82.4% ตามด้วยเว็บไซต์ 4.6% อินสตาแกรม 4.3% และพบว่าข้อมูลการถูกหลอกขายออนไลน์เพิ่มจากปีที่แล้วเป็นเฉลี่ย 2,221 ครั้ง ต่อเดือน         การกระทำดังกล่าวข้างต้นเข้าข่ายความผิดฉ้อโกงต่อประชาชน มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และทั้งเป็นความผิดพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 11 อีกด้วย กรมปศุสัตว์แจ้งนมโรงเรียนห้ามซื้อขาย        จากกรณีที่มีกระแสดราม่าในโลกออนไลน์เกี่ยวกับการโพสต์ขายนมโรงเรียน น.สพ.สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการบริหารกลางโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ได้เปิดเผยว่า ห้ามจำหน่ายนมโรงเรียนนอกโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ทุกกรณี ซึ่งตามประกาศคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ประจำปีการศึกษา 2564 หมวด 2 ข้อ 9 ได้กำหนดหน้าที่ของผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมที่เข้าร่วมโครงการ โดยระบุว่า ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมที่เข้าร่วมโครงการ ต้องผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมในโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน และต้องจำหน่ายเฉพาะภายในประเทศไทยเท่านั้น หากนำมาจำหน่ายนอกเหนือถือว่าเป็นการกระผิด มีโทษถูกตัดสิทธิการจำหน่ายในส่วนที่เหลือในปีการศึกษานั้น หากพบเป็นการทุจริตของหน่วยงานราชการเอง จะต้องรับผิดชอบตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 โดยจะมีโทษทั้งทางวินัยและอาญาขั้นร้ายแรงเด็ดขาด สั่งปิด “บริษัท เอเชียประกันภัย 1950”        15  ตุลาคม 2564  คปภ.ได้มีคำสั่งนายทะเบียนเพิกถอนประกอบกิจการ บริษัท เอเชียประกันภัย 1950 โดยนายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า มีคำสั่งนายทะเบียนปิดบริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน) จากการตรวจสอบของทาง คปภ.ได้ตรวจสอบสถานะทางการเงินของบริษัทและได้มีคำสั่งหยุดรับประกันภัยชั่วคราว เนื่องจากพบว่า บริษัทมีหนี้สินเกินกว่าทรัพย์สิน โดยระบุ วันที่ 30 กันยายน 2564 มีหนี้สินติดลบ 1,543 ล้านบาท จากปัญหามีผู้ติดเชื้อสูงโควิด-19 ขึ้นต่อเนื่อง จนกระทบต่อสภาพคล่องและมีค่าสินไหมทดแทนค้างจ่ายจำนวนมาก ทำให้บริษัทไม่มีความพร้อมในการประกอบธุรกิจวินาศภัยและยังฝ่าฝืนกฎหมายหลายประการ จึงเพิกถอนใบอนุญาต ให้มีผลวันที่ 15 ตุลาคม 2564 โดยผู้เอาประกันจะได้รับความช่วยเหลือและคุ้มครอง จากกองทุนประกันวินาศภัยทันที โดยมีสมาชิก 13 บริษัทประกัน จะรับโอนกรมธรรม์ที่ยังไม่หมดอายุทุกกรมธรรม์ และหากผู้เอาประกันภัยต้องการยกเลิกกรมธรรม์ ทางกองทุนประกันวินาศภัย จะเข้ามาช่วยเหลือและคุ้มครองในการรับค่าสินไหมและค่าเบี้ยคืน แพทย์สมาคมแห่งประเทศไทยค้านดีอีเอสดึงบุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย        จากกรณีภาคเครือข่ายชาวไร่ยาสูบแห่งประเทศไทยและกลุ่ม ECST ที่สนับสนุนผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้าและแอดมินเพจเฟซบุ๊ก “มนุษย์ควัน”  เข้าพบนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อหารือแนวทางผลักดันบุหรี่ไฟฟ้าให้จำหน่ายได้ตามกฎหมายนั้น ทางนายชัยวุฒิ บอกว่า ได้กำลังศึกษาข้อกฎหมายเพื่อดึงบุหรี่ไฟฟ้าเข้ามาอยู่ในระบบให้ถูกต้องตามกฎหมายและมีประเด็นติดขัดเรื่องอะไรบ้าง ต่อมาทางแพทย์สมาคมแห่งประเทศไทยจึงได้ออกแถลงการณ์ ระบุว่าคณะแพทย์จากราชวิทยาลัย 14 แห่ง ขอชี้แจงข้อมูลดังกล่าวพร้อมขอบคุณนายกรัฐมนตรี ที่ไม่เปิดโอกาสให้มีการพิจารณาเรื่องที่ รมว.ดีอีเอส เสนอ และกรณีที่อ้างว่ามี 67 ประเทศ อนุญาตนั้น ขอให้กลับไปทบทวนคำอนุญาตของแต่ละประเทศ ว่ามีข้อแม้และข้อบ่งชี้ในการใช้ทั้งสิ้น ไม่ใช่ขายได้อย่างอิสระ ด้วยคำนึงเหตุผลที่ว่าประเทศเหล่านั้นต้องการปกป้องสุขภาพของประชาชนของเขาด้วยกระบวนการ “ป้องกัน ดีกว่าแก้” มพบ. เร่งกระทรวงดิจิทัลออกกฎหมายควบคุมแพลตฟอร์มธุรกิจออนไลน์ต่างประเทศ         จากกรณีที่มีผู้บริโภคกว่า 10,700 ราย ได้รับความเสียหายจากการที่เงินหายจากบัญชีโดยไม่ทราบสาเหตุ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงเร่งรัดให้กระทรวงดิจิทัล ออกกฎหมายควบคุมแพลตฟอร์มธุรกิจออนไลน์ ซึ่งมีสาเหตุจากที่แบงก์ชาติได้ออกมาชี้แจงว่า ไม่ได้เกิดจากการรั่วไหลข้อมูลของระบบธนาคาร แต่เกิดจากมิจฉาชีพสุ่มข้อมูลบัตร และนำไปสวมรอยทำธุรกรรมผ่านร้านค้าออนไลน์ต่างประเทศที่ไม่มีการใช้ One Time Password (OTP) และออกมาตรการแก้ไข 4 ข้อในวันที่ 19 ตุลาคม 2564 นั้น         ด้านนางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้กล่าวว่า เครื่องรูดบัตร EDC หรือเครื่องแสกนจ่ายโดยแอปพลิเคชันที่ผูกกับบัญชีธนาคาร จะมีการยืนยันตัวตนด้วยการเซ็นสลิป หรือใส่รหัสผ่าน แต่การทำระบบธุรกรรมออนไลน์ที่ใช้การผูกบัญชี ใช้แค่เลขบัตรและเลขหลังบัตรเท่านั้น ซึ่งธนาคารอาจจะต้องไปตรวจสอบว่าข้อมูลรั่วไหลได้อย่างไร  เนื่องจากผู้เสียหายบางรายไม่ได้ผูกบัญชีกับร้านค้าออนไลน์ และรัฐต้องตอบคำถามว่าจะออกมาตรการจัดการปัญหาเรื่องนี้ไม่ให้เกิดขึ้นอีกอย่างไร หากปัญหาเกิดจากแพลตฟอร์มร้านค้าออนไลน์ต่างประเทศตามที่หน่วยงานรัฐชี้แจง แสดงว่ารัฐยังไม่มีมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคและควบคุมแพลตฟอร์มต่างประเทศที่ทำธุรกิจออนไลน์ในพื้นที่ประเทศไทย อาจทำให้เกิดปัญหาแบบเดิมในอนาคต หากไม่มีกฎหมายมาควบคุมธุรกิจและคุ้มครองผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าจากแพลตฟอร์มต่างประเทศ โดยขอให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเร่งออกกฎหมายควบคุมแพลตฟอร์มธุรกิจออนไลน์ต่างประเทศและคุ้มครองผู้บริโภคในการซื้อสินค้าออนไลน์ เพื่อป้องกันปัญหาเรื่องระบบข้อมูลของผู้บริโภคที่รั่วไหลออกไปต่างประเทศและสามารถตรวจสอบตัวตนของผู้ที่ทำธุรกิจออนไลน์ได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 248 ทฤษฎีสมคบคิด โควิด-19 มาจากไหน

        ช่วงเวลาที่คนอเมริกันกำลังติดเชื้อโควิด-19 จำนวนมากในปี 2020 นั้น อดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ได้เริ่มเผยแพร่ทฤษฎีสมคบคิดว่า โควิด-19 หลุดรอดออกมาจากห้องแล็บในหวู่ฮั่น ส่งผลให้ WHO ต้องส่งทีมงานไปพิสูจน์เรื่องนี้ที่ประเทศจีน แต่สุดท้ายก็ยังไม่สามารถสร้างความกระจ่างในเรื่องนี้ได้ อย่างไรก็ตามมีรายงานข่าวแบบไม่เป็นทางการในขณะนั้นว่า นักวิจัยหลายคนของสถาบันไวรัสวิทยาที่หวู่ฮั่นของจีนล้มป่วยจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลในเดือนพฤศจิกายน 2019 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่นานก่อนที่ทางการจีนยืนยันการพบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่รายแรกในเมืองหวู่ฮั่น         กลางเดือนกันยายน 2020 มีข่าวหนึ่งซึ่งแพร่หลายแทบทุกสื่อคือ Yan Li-Meng ออกเสียงแบบจีนว่า เหยียน ลี่-ม่อง ซึ่งเป็นแพทย์ (MD.) และนักจักษุวิทยา (Ph.D.) ชาวฮ่องกงซึ่งลี้ภัยออกจากฮ่องกงไปสหรัฐอเมริกาได้ให้สัมภาษณ์แก่สถานีโทรทัศน์ฟ็อกซ์นิวส์ว่า รัฐบาลจีนรู้เรื่องเกี่ยว covid-19 ตั้งแต่ก่อนมีการระบาด แต่ปกปิดเอาไว้จนเกิดการระบาดไปทั้งโลก นอกจากนี้เธอยังกล่าวหาหัวหน้าของเธอซึ่งเป็นที่ปรึกษาองค์การอนามัยโลกว่า ไม่นำพากับคำเตือนที่เธอบอกให้ระวังเชื้อไวรัสตัวใหม่เกี่ยวกับการติดต่อจากคนสู่คนได้ โดยหัวหน้าของเธออ้างว่า รัฐบาลจีนไม่อนุญาตให้เผยแพร่ข้อมูล ซึ่งทำให้แพทย์ตามโรงพยาบาลไม่กล้าให้ข้อมูลอะไรเกี่ยวกับคนไข้ที่มีอาการโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันอย่างรุนแรง ส่งผลให้เธอต้องหนีออกไปสหรัฐอเมริกาเพื่อเปิดเผยให้คนทั้งโลกได้รู้ อย่างไรก็ดีข่าวดังกล่าวได้ถูกด้อยค่าลงโดยนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำจากหลายประเทศ เนื่องจากหลักฐานที่ เหยียน ลี่-ม่อง อ้างถึงนั้นเป็นบทความวิชาการที่ตีพิมพ์ในวารสารซึ่งเป็นประเภท preprint ที่ต้องการความรวดเร็วในการเผยแพร่ข้อมูล จึงไม่มีการตรวจทานความถูกต้อง (no peer review)         ครั้นถึงวันที่ 15 สิงหาคม 2021 เว็บไซต์สำนักงานข่าว Global Times ของจีนได้มีบทความเรื่อง Conspiracy theory or reasonable skepticism? Why we should demand an investigation into US labs for origins of COVID-19 (ประมาณว่า...ทฤษฎีสมคบคิดหรือความสงสัยที่สมเหตุสมผล? ทำไมเราจึงควรเรียกร้องให้มีการสอบสวนห้องทดลองของสหรัฐฯ เพื่อหาที่มาของ COVID-19) ซึ่งกล่าวว่า ชาวจีนกว่า 25 ล้านคนได้ลงนามเพื่ออุทธรณ์ให้มีการสอบสวนห้องปฏิบัติการทางชีววิทยาใน Fort Detrick สังกัดกองทัพบกในสหรัฐอเมริกาในลักษณะเดียวกับที่ WHO ทำกับสถาบันไวรัสวิทยาหวู่ฮั่นของจีน         ในบทความของ Global Times นั้นนักข่าวได้ชี้ถึงเบาะแสและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเอกสารทางวิชาการและรายงานสาธารณะส่วนหนึ่งจากสื่ออเมริกัน ก่อให้เกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับห้องปฏิบัติการใน Fort Detrick ซึ่งโยงไปถึงความเกี่ยวข้องกับ ดร. ราล์ฟ แบริค (Ralph Baric) ศาสตราจารย์ในภาควิชาระบาดวิทยาและศาสตราจารย์ในภาควิชาจุลชีววิทยาและภูมิคุ้มกันวิทยาที่ University of North Carolina at Chapel Hill ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในการปรับแต่งไวรัสให้เปลี่ยนแปลงได้ตามต้องการด้วยเทคนิคการตัดแต่งพันธุกรรม         ในบทความวิจัยเรื่อง Reverse genetics with a full-length infectious cDNA of severe acute respiratory syndrome coronavirus (ประมาณว่า...การย้อนกลับของระบบพันธุกรรมทำให้ได้ cDNA ที่ก่อการติดเชื้อได้ของไวรัสโคโรนาซึ่งก่อโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันอย่างร้ายแรง) ในวารสาร PNAS หรือ Proceedings of the National Academy of Sciences of the United States of America ของปี 2003 โดยคำว่า cDNA ย่อนั้นมาจาก complementary DNA ซึ่งเป็น DNA สายเดี่ยวที่สร้างจาก RNA template โดยอาศัยเอ็นซัม reverse transcriptase ช่วยเร่งปฏิกิริยา งานวิจัยนี้ได้แสดงศักยภาพของเทคนิคที่คิดค้นชื่อ reverse genetics system จนสามารถสังเคราะห์ cDNA แบบเต็มความยาวจากหน่วยพันธุกรรมคือ RNA ของ SARS-CoV สายพันธุ์ Urbani จากเทคนิคดังกล่าวทำให้ทีมวิจัยสามารถสังเคราะห์ไวรัสโคโรนาในกลุ่ม SARS ที่มีการกลายพันธุ์ตามตำแหน่งที่ต้องการขึ้นมาได้ และสุดท้ายผู้เกี่ยวข้องในการทำวิจัยได้ยื่นขอสิทธิบัตรสิ่งที่ค้นพบสำเร็จในปี 2007 (patent code US7279327B2)         นิตยสาร MIT Technology Review ฉบับวันที่ 29 มิถุนายน 2021 มีบทความเรื่อง Inside the risky bat-virus engineering that links America to Wuhan (ประมาณว่า...ความเสี่ยงที่เชื่อมโยงให้อเมริกาเกี่ยวข้องกับหวูฮั่นนั้นเกิดเนื่องจากไวรัสในค้างคาวที่ถูกตัดแต่งพันธุกรรม) ได้กล่าวว่า หลังตีพิมพ์ผลงานเกี่ยวกับวิธีสำคัญในการสังเคราะห์ไวรัสได้ในปี 2007 แล้ว ดร.แบริค ได้เริ่มสะสมตัวอย่างไวรัสโคโรนาจากทั่วโลกโดยหวังสร้างไวรัสโคโรนาที่เป็นต้นแบบที่นำไปสู่การพัฒนายาและวัคซีนที่ต่อต้านไวรัสโคโรนาทั้งหลายที่ออกฤทธิ์คล้ายเชื้อไวรัสก่อโรค SARS (ในปี 2013)         เว็บ www.justia.com ให้ข้อมูลว่า (ณ เดือนสิงหาคม 2021 ) ดร.แบริค นั้นถือสิทธิบัตร 13 เรื่องที่เป็นรายละเอียดเกี่ยวกับไวรัสที่เป็นอันตราย 3 ชนิด โดยสิทธิบัตรต่างๆ นั้นน่าจะนำไปสู่การสร้างวัคซีนต่อต้านและวิธีการวินิจฉัยโรคเกี่ยวกับไวรัสเช่น สิทธิบัตรเกี่ยวกับ Dengue virus ซึ่งก่อให้เกิดไข้เลือดออก สิทธิบัตรเกี่ยวกับ Zika virus ซึ่งก่อโรคที่มีอาการคล้ายไข้เลือดออกแต่อันตรายน้อยกว่า ยกเว้นในหญิงมีครรภ์ที่ติดเชื้อนี้จะคลอดลูกออกมามีสมองเล็กกว่าปรกติ และสิทธิบัตรการสร้างหนามโปรตีนของไวรัสโคโรนา         ในช่วงปลายปี 2019 มีข่าวซึ่งเป็นที่สนใจไปทั่วโลกว่า ทีมของนักวิทยาศาสตร์จีนนำโดย ดร.ฉี เจิ้งลี่ (Dr. Shi Zhengli) ซึ่งเป็นนักไวรัสวิทยาและรองผู้อำนวยการสถาบันไวรัสวิทยาที่หวู่ฮั่น ในมณฑลหูเป่ยทางตอนกลางของจีน ได้ประกาศถึงความสำเร็จในการถอดรหัสพันธุกรรมของ coronavirus ในค้างคาวถ้ำ (Chinese horseshoe bat) ที่จับได้ในมณฑลยูนนาน ซึ่งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีนและพบว่า เป็นไวรัสสายพันธุ์ใหม่         มีคลิปวิดีโอใน YouTube เรื่อง Wuhan Lab Scientist Warns Coronavirus Is Just The Tip Of An Iceberg ซึ่งมีใจความสำคัญในการกล่าวเตือนต่อสาธารณะว่า การพบไวรัสโคโรนาชนิดใหม่นี้จำเป็นต้องมีการศึกษาให้ดีเพราะจะต้องหาหนทางป้องกันหากเกิดการระบาดครั้งใหญ่ นอกจากนี้ในการให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ CGTN นั้น ดร.ฉี กล่าวว่า ตัวอย่างไวรัสที่ศึกษานั้นได้รับในวันที่ 30 ธันวาคม 2019 จากนั้นจึงทำการถอดรหัสพันธุกรรมและตั้งชื่อชั่วคราวว่า ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (novel coronavirus) พร้อมทั้งแจ้งข้อมูลไปยัง WHO ในวันที่ 12 มกราคม 2020 ซึ่งต่อมาในต้นเดือนกุมภาพันธ์จึงเริ่มพบว่า ไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้มีความเชื่อมโยงกับอาการปอดบวมอย่างหนักของคนไข้ของโรงพยาบาลที่หวู่ฮั่น         กลับไปที่นิตยสาร MIT Technology Review ฉบับวันที่ 29 มิถุนายน 2021 ซึ่งให้ข้อมูลย้อนหลังถึงการเกี่ยวข้องของ ดร. แบริค ที่นำมาสู่ความน่าสงสัยเกี่ยวกับต้นตอของ SARS-CoV-2 โดยกล่าวว่า ดร.แบริค เคยติดต่อกับ ดร.ฉี เพื่อขอตัวอย่างข้อมูลพันธุกรรมของไวรัสโคโรนาที่ถูกสะสมในห้องปฏิบัติการของสถาบันฯ เพื่อนำไปใช้ในการวิจัยและทดลองสร้างไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ภายในห้องปฏิบัติการที่อาจแพร่เชื้อสู่มนุษย์ได้ และสุดท้ายได้มีการตีพิมพ์ข้อมูลความสำเร็จโดยมี ดร.แบริคและ ดร.ฉี เป็นผู้ร่วมวิจัย บทความนั้นชื่อ A SARS-like cluster of circulating bat coronaviruses shows potential for human emergence (ประมาณว่า...ไวรัสโคโรนาที่มีลักษณะคล้ายกลุ่มไวรัสที่ก่อให้เกิดโรค SARS ในค้างคาวได้แสดงศักยภาพในการก่อโรคในมนุษย์) ในวารสาร Nature Medicine ของปี 2015           บทความใน Nature Medicine ดังกล่าวเป็นการร่วมงานของทีมนักวิจัยจาก University of North Carolina at Chapel Hill และหน่วยงานสำคัญอื่นๆ ในสหรัฐอเมริกา รวมถึงห้องปฏิบัติการของ US.FDA ตลอดถึงนักวิจัยจาก Wuhan Institute of Virology, Chinese Academy of Sciences ซึ่งเมื่อพิจารณาจากการค้นพบและการตีพิมพ์ผลงานแบบเปิดเผยนั้น อาจสื่อได้ถึงความบริสุทธิ์ใจในการเผยแพร่ข้อมูลทางวิชาการเกี่ยวกับโอกาสของเชื้อไวรัสโคโรนาที่อาจกลายพันธุ์แล้วระบาดในมนุษย์ โดยทีมนักวิจัยได้อธิบายถึงการดัดแปลงรหัสพันธุกรรมของ RNA ส่วนที่สร้างหนามโปรตีนของไวรัส SARS-CoV (ชนิดที่ก่อการติดเชื้อทางเดินหายใจในหนูเม้าส์) ไปเป็นรหัสทางพันธุกรรมที่สร้างหนามโปรตีนของไวรัสสายพันธุ์ SHC014 (ซึ่ง ดร.ฉี ส่งให้ ดร.แบริค) ส่งผลให้ได้ไวรัสสังเคราะห์ชนิดใหม่ (synthetic virus) ซึ่งมีศักยภาพในการก่อการติดเชื้อในคนได้ เพราะไวรัสใหม่มีหนามโปรตีนที่สวมเข้าพอดีกับตัวรับ ACE2 ของเซลล์ซึ่งแยกจากทางเดินหายใจของมนุษย์แล้วเลี้ยงในห้องทดลอง สิ่งที่น่ากังวลประการหนึ่งจากบทความนี้คือ ได้มีการประเมินวิธีการบำบัดการติดเชื้อไวรัสใหม่ด้วยระบบภูมิคุ้มกันชนิดโดยโมโนโคลนัลแอนติบอดีและแนวทางการใช้วัคซีนตลอดจนถึงการใช้ยาที่มีอยู่ในขณะนั้นต่อการต้านเชื้อใหม่แล้ว พบว่าแนวทางที่มีอยู่ขณะนั้นมีประสิทธิภาพต่ำจนถึงล้มเหลวในการจัดการและป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนาที่ถูกสังเคราะห์ให้มีโปรตีนหนามแบบใหม่         งานวิจัยที่กล่าวถึงในวารสาร Nature Medicine ของปี 2015 นั้น ได้รับการสนับสนุนเงินทุนวิจัยจากหลายแหล่งคือ National Institute of Allergy & Infectious Disease (ซึ่งมี ดร. Anthony S. Fauci เป็นผู้อำนวยการ และมีห้องปฏิบัติการด้านโรคติดเชื้อร้ายแรงในค่ายทหารบก Fort Detrick), National Institute of Aging of the US National Institutes of Health, National Natural Science Foundation of China และ EcoHealth Alliance ซึ่งเป็นองค์กรเอกชน (ที่ได้เงินสนับสนุนจากหน่วยงานที่มีภารกิจในการป้องกันประเทศของสหรัฐฯ) โดยมีบทบาทในการปกป้องผู้คน สัตว์ และสิ่งแวดล้อมจากโรคติดต่ออุบัติใหม่          ดังนั้นโดยสรุปแล้วจะเห็นได้ว่า สองประเทศยักษ์ใหญ่ที่มีเทคโนโลยีด้านชีวภาพสูงนั้นได้มีความร่วมมือในการทำวิจัยเพื่อให้ได้ความรู้เกี่ยวกับไวรัสสายพันธุ์ที่ถูกทำนายว่า น่าจะก่อหายนะแก่มนุษย์ ก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 แล้วถึง 4 ปี ผู้เขียนคาดเอาเองว่า อีกไม่นานอาจมีภาพยนตร์ที่สร้างตามพล็อตเรื่องของทฤษฎีสมคบคิดนี้ในแนวทางเดียวกับภาพยนต์เรื่อง Contagion ซึ่งฉายในปี 2011 และมีชื่อไทยว่า สัมผัสล้างโลก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 248 กระแสต่างแดน

ต้องดมก่อน         กฎหมายเยอรมนีกำหนดว่าก่อนเริ่มงานก่อสร้าง เจ้าของโครงการต้องตรวจสอบว่ามีสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ในบริเวณนั้นหรือไม่ หากพบก็ให้ดูแลพวกมันให้ปลอดภัยหรือย้ายถิ่นฐานให้ด้วย                 Deutsche Bahn หรือการรถไฟเยอรมนี ซึ่งต้องขยายระบบรางให้ครอบคลุมทั่วประเทศจึงมี “ทีม” ที่ทำหน้าที่นี้โดยเฉพาะ นอกจากผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์สงวน ทีมนี้ยังประกอบด้วยน้องหมาที่ผ่านการฝึกอบรมให้ทำงานได้อย่างแม่นยำและทั่วถึง         เมื่อเจอ งู เขียด ค้างคาว กิ้งก่า หรือสัตว์สงวนอื่นๆ สุนัขเหล่านี้เรียนรู้ว่าต้องไม่ตะปบหรือพยายามไล่ตาม มันจะนั่งลงทันทีเพื่อรอรับ “รางวัล” จากผู้ดูแล พวกมันไม่เกี่ยงฤดูกาลหรือสภาพอากาศจึงทำงานเสร็จในเวลาเพียง 2 เดือน (จากปกติ 1 ปี)          เรื่องนี้เยอรมนีเขาจริงจัง ปีที่แล้วโครงการก่อสร้างโรงงานของเทสลา ในเขตใกล้กรุงเบอลิน ก็เคยถูกสั่งหยุดชั่วคราวมาแล้ว หลังพบสัตว์เลื้อยคลานที่ใกล้สูญพันธุ์ในพื้นที่โครงการ   หยุดหลอกขายถัง          บริษัท Fire Safety & Prevention (SG) ผู้จำหน่ายและติดตั้งถังดับเพลิง ถูกคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าและคุ้มครองผู้บริโภคของสิงคโปร์ สั่งให้หยุดพฤติกรรมหลอกลวงผู้บริโภค         หลังผลการสืบสวนพบว่าบริษัทนี้ให้ข้อมูลที่ทำให้เข้าใจผิด เช่น เบื้องต้นแจ้งราคาถังดับเพลิงว่าถังละ 17.90 เหรียญ แต่ต่อมากลับเรียกเก็บ 179 เหรียญ  และผู้ซื้อจะไม่สามารถขอเงินคืนได้ (ทั้งๆ ที่การยกเลิกและขอเงินคืนเป็นเรื่องที่ทำได้ตามปกติตามกฎหมายผู้บริโภค)         นอกจากนี้ยังทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดว่าบริษัทได้รับการรับรองจากหน่วยงานรัฐหรือคณะกรรมการชุมชน และจะได้รับส่วนลดพิเศษหากเป็นผู้ถือบัตรสมาชิกบางชนิด แถมยังจะมีช่างเข้ามาดูแล/เปลี่ยนอุปกรณ์ให้ฟรีปีละครั้ง (แน่นอนว่าทั้งหมดนี้ไม่เป็นความจริง)         หนักที่สุดคือการอ้างว่าสิงคโปร์กำลังจะมีกฎหมายบังคับให้ทุกบ้านติดตั้งอุปกรณ์ดับเพลิง         ระหว่างมกราคม 2019 ถึง กุมภาพันธ์ 2020 มีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับบริษัทขายถังดับเพลิง49 เรื่อง โดย 8 เรื่องเป็นการร้องเรียนบริษัทนี้ เรื่องปวดหัว        นักวิจัยอินโดนีเซียพบว่าตัวอย่างน้ำจากเขตอังเก้ ซึ่งเป็นย่านที่มีคนอยู่หนาแน่นในจาการ์ตา และเขตอังกอล ทางเหนือของเมือง ตรงปากแม่น้ำจิลีวุง มีปริมาณพาราเซตามอลสูงถึง 610 และ 420 นาโนกรัม/ลิตร ตามลำดับ         งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Marine Pollution Bulletin เมื่อเดือนสิงหาคมไม่ได้ระบุแหล่งที่มาของมัน แต่นักสิ่งแวดล้อมเชื่อว่าตัวการคือ ของเสียจากการขับถ่ายของมนุษย์ โรงงานผลิตยา (ซึ่งมีอยู่ถึง 27 แห่งรอบอ่าวจาการ์ตา) รวมถึงโรงพยาบาลและคลินิก           จึงนำไปสู่คำถามว่าเมืองนี้มีระบบจัดการของเสียของที่ดีพอหรือยัง ขยะจากโรงพยาบาล หรือยาหมดอายุถูกกำจัดอย่างไร โครงการก่อสร้างในเขตอ่าวมีผลกระทบแค่ไหนต่อการไหลเวียนของน้ำ เป็นต้น         นักวิจัยระบุว่าการได้รับพาราเซตามอลอย่างต่อเนื่อง (ไม่ว่าจะน้อยหรือมาก) ส่งผลต่อการขยายพันธุ์ของสัตว์น้ำประเภทมีเปลือก ซ้ำเติมการทำมาหากินของชาวประมงที่ได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอยู่แล้วด้วย กังหันต้องไป         ศาลสูงสุดของนอร์เวย์ตัดสินว่าฟาร์มกังหันลมสองแห่งทางตะวันตกของประเทศ ละเมิดวิถีชีวิตชนกลุ่มน้อยชาวซามิที่เลี้ยงกวางเรนเดียร์เป็นอาชีพ ด้วยการรุกล้ำเข้าไปในถิ่นที่พวกเขาทำมาหากิน         ศาลตัดสินว่าใบอนุญาตต่างๆ ที่กระทรวงน้ำมันและพลังงานของนอร์เวย์ออกให้กับบริษัท Fosen Vind นั้นถือเป็นโมฆะ เนื่องจากละเมิดกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR: International Covenant on Civil and Political Rights) และวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมของชาวซามิ ซึ่งเป็นสิ่งที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย         แม้จะยังไม่ชัดเจนว่าจะเกิดอะไรขึ้น ทนายความของพวกเขาบอกว่าอาจจะได้เห็นการรื้อกังหันลม 151 ตัว ที่ติดตั้งเสร็จในปี 2020 บทคาบสมุทรโฟเซน (ส่วนหนึ่งของฟาร์มกังหันลมบนดินที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป) เมื่อการ “สร้าง” กังหันเหล่านี้เป็นสิ่งผิดกฎหมาย การ “ใช้งาน” ก็ย่อมผิดเช่นกัน         ปัจจุบันมีชาวซามิประมาณ 100,000 คนใช้ชีวิตอยู่ในเขตสวีเดน ฟินแลนด์ นอร์เวย์ และรัสเซีย  กู๊ดบาย 162             ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนนี้เป็นต้นไป สวิตเซอร์แลนด์จะยกเลิกบริการสายด่วนหมายเลข 162 สำหรับสอบถามสภาพอากาศ หลังเปิดให้บริการมาแล้วกว่า 30 ปี             ตามหลักการแล้วบริการเลขสามตัวแบบนี้จะยังให้บริการต่อไปได้ หากมีผู้ใช้ไม่ต่ำกว่าสองล้านคนต่อปี แต่จากสถิติในปี 2020 มีผู้โทรเข้ามาเพียง 350,000 สาย (ลดลงจากที่เคยสูงถึงเจ็ดล้านสายในช่วง 20 ปีก่อน)             MeteoSchweiz ผู้ให้บริการ ตัดสินใจเลิกบริการนี้เพราะค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานค่อนข้างสูง ไม่คุ้มที่จะทำต่อไป คนสวิสทุกวันนี้นิยมใช้ช่องทางอื่น อย่างเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชัน MeteoSwiss เป็นต้น และจากข้อมูลของ Statista ร้อยละ 84 ของคนสวิสเป็นเจ้าของสมาร์ตโฟน             ทั้งนี้สำนักงาน OFCOM ของสวิตเซอร์แลนด์มีกำหนดให้บริการเลขสามตัวทั้งหมด (ยกเว้นหมายเลขฉุกเฉิน) ดำเนินการได้ถึงวันที่ 1 มกราคม 2523 เท่านั้น 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 248 รวมพลังกินให้เรียบ

        รายงาน Food Waste Index Report 2021 ของ UNEP ประเมินว่าในปี 2019 ทั่วโลกมีขยะอาหารประมาณ 931 ล้านตัน (ร้อยละ 61 มาจากครัวเรือน ร้อยละ 26 มาจากกิจการร้านอาหาร อีกร้อยละ 13 มาจากซูเปอร์มาร์เก็ตหรือร้านค้าปลีก) นั่นหมายความว่าร้อยละ 17 ของ “อาหาร” ที่ผลิตได้ ต้องถูกทิ้งไปเฉยๆ  ตัวเลขจากสหรัฐอเมริการะบุว่าผักผลไม้ที่ “เสีย” ไปในช่วงระหว่างการเก็บเกี่ยวมาจนถึงร้านค้านั้นมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 400,000 ล้านเหรียญ  นักวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศยังระบุอีกว่า ร้อยละ 10 ของก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นทั่วโลกก็มีที่มาจากขยะอาหารเหล่านี้         นอกจากผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม “อาหารเหลือทิ้ง” ยังเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจของครัวเรือนด้วย เช่น สำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจสหรัฐฯ (U.S. Bureau of Economic Analysis) พบว่ามลรัฐที่ผู้คน “เสียเงินซื้อของกินมาทิ้ง” มากที่สุดในอเมริกาคือรัฐเวอร์มอนต์ ที่อัตราคนละ 1,374.24 เหรียญ (ประมาณ 45,800 บาท) ต่อปี ขณะที่ประชากรในรัฐโอคลาโฮมา ซึ่ง “ทิ้งของกิน” น้อยที่สุดในประเทศ ก็ยังทิ้งเงินไปถึง 743.58 เหรียญ (ประมาณ 24,800 บาท) ต่อคนต่อปี         ยังไม่นับเรื่องความย้อนแย้งที่เรามี “อาหารถูกทิ้ง” ปริมาณมหาศาล ในขณะที่ประชากรไม่ต่ำกว่า 690 ล้านคนทั่วโลก (อ้างอิงสถิติล่าสุดของสหประชาชาติ) อยู่อย่างอดอยาก         ปัญหาเรื่องการกินทิ้งกินขว้างนี้เกิดขึ้นทั้งในประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา  ในอเมริกา ร้อยละ 30 – 40 ของสิ่งที่ควรจะเป็นอาหารกลับกลายไปเป็นขยะ ด้านสหภาพยุโรปก็มีขยะอาหารถึงร้อยละ 20 ของขยะมูลฝอยทั้งหมด แต่นั่นยังไม่เท่าเมืองไทยใหญ่อุดมของเราที่มีขยะจากอาหารเหลือทิ้งถึงร้อยละ 64 ของขยะทั้งหมด ข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ เมื่อปี พ.ศ. 2560 ระบุว่า คนไทยหนึ่งคนสร้างขยะอาหารถึงปีละ 254 กิโลกรัมเลยทีเดียว         สิ่งที่หลายประเทศลงมือทำ หรือกำลังจะทำเพื่อแก้ไขปัญหานี้อย่างยั่งยืน คือการใช้กฎหมายเพื่อลดปริมาณอาหารเหลือทั้งจากครัวเรือน ร้านอาหาร และร้านค้าปลีก ลงให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 50 ภายในปี 2025 (สหภาพยุโรป) หรือภายในปี 2030 (อเมริกาและไทย เป็นต้น)           ระหว่างที่บ้านเรากำลังศึกษาจัดทำมาตรการและแนวทางในการลดขยะอาหาร เราขอชวนคุณมาส่องกฎหมายหรือข้อบังคับของประเทศอื่นไปพลางๆ ก่อน ไอร์แลนด์         ประเทศนี้มีกฎหมายว่าด้วยการจัดการขยะอาหารมาตั้งแต่ปี 2009 เขากำหนดข้อห้ามหรือข้อปฏิบัติสำหรับกิจการโรงแรม ร้านอาหาร ซูเปอร์มาร์เก็ต โรงพยาบาล สถานรับเลี้ยงดูเด็กหรือคนชรา รวมถึงโรงอาหารของสถานประกอบการประเภทโรงงานไว้อย่างชัดเจน เช่น ห้ามนำขยะอาหารไปฝังกลบ ต้องใช้บริการ “รถเก็บขยะ” จากหน่วยงานที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น หากต้องการทำปุ๋ยหมักก็ต้องทำเรื่องขอใบอนุญาตก่อน แม้แต่การนำอาหารเหลือไปเลี้ยงสัตว์ก็ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดอย่างเคร่งครัด เกาหลีใต้         เกาหลีใต้มีกฎหมาย “จ่ายตามปริมาณที่ทิ้ง” มาตั้งแต่ปี 2013  เขากำหนดให้ครัวเรือนเก็บขยะอาหารลงในถุงที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ แล้วนำไปทิ้งในถังอลูมิเนียมซึ่งสามารถชั่งน้ำหนัก คำนวณค่าธรรมเนียม แล้วส่งบิลไปเรียกเก็บถึงบ้านทุกเดือน ด้วยเทคโนโลยี RFID         วิธีนี้ได้ผลดีมาก นอกจากชาวบ้านจะ “รีดน้ำ” ออกจากขยะเพื่อประหยัดค่าธรรมเนียม (ร้อยละ 80 ของน้ำหนักขยะมาจาก “ความชื้น”) ทำให้โรงงานจัดการขยะไม่ต้องนำ “น้ำขยะ” ไปเทลงชายฝั่งถึงวันละ 3,800 ตันอย่างที่เคย ปัจจุบันเกาหลียังสามารถเปลี่ยนขยะอาหารให้เป็นปุ๋ยได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 95 จากที่เคยทำได้เพียงร้อยละ 2 เมื่อปี 1995         เกาหลีเคยเป็นหนึ่งในประเทศอันดับต้นๆ ที่มีขยะอาหารเหลือทิ้งมากที่สุด เมื่อปี 2005 เขามีขยะอาหารถึงวันละ 17,100 ตัน สาเหตุหนึ่งคือวัฒนธรรมการกินแบบที่ต้องมี “บันชัน” หรือเครื่องเคียงถ้วยเล็กๆ ในทุกมื้อ บ้านไหนมีฐานะ เครื่องเคียงก็ยิ่งต้องหลากหลายมากขึ้น ของเหลือจึงเพิ่มตามไปด้วย ฝรั่งเศส         ในปี 2016 ฝรั่งเศสออกกฎหมายให้ซูเปอร์มาร์เก็ตนำอาหารที่ขายไม่หมดไป “บริจาค” เท่านั้น หากยังดื้อดึงจะ “ทำลาย” อาหารที่ยังอยู่ในสภาพที่รับประทานได้ ห้างเหล่านี้จะถูกปรับในอัตราร้อยละ 0.1 ของยอดขายในปีนั้น (นโยบายทำนองนี้มีใช้ในนอร์เวย์ เดนมาร์ก ญี่ปุ่น และเกาหลี เช่นกัน)         นอกจากนี้ยังกำหนดให้บริการจัดเลี้ยง จัดเตรียมถุงให้กับแขกที่มาในงานได้นำอาหารเหลือกลับไปรับประทานด้วย         ในขณะเดียวกันก็กำหนดให้ผู้ผลิตอาหารทบทวน “วันที่ควรบริโภค” ที่แจ้งต่อลูกค้า โดยคำนึงถึงเรื่องการลดขยะอาหารด้วย    สิงคโปร์         สิงคโปร์สามารถจัดการกับขยะได้ดีอย่างที่เรารู้กัน แม้ขยะอาหารในประเทศเขาจะมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 11 ของขยะมูลฝอยทั้งหมด แต่สิงคโปร์ตั้งเป้าไว้สูงกว่านั้น เขามีสิ่งที่เรียกว่า Zero Waste Masterplan ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายว่าด้วยความยั่งยืนของทรัพยากร ที่ประกาศใช้เมื่อปี 2019         ภายใต้แผนดังกล่าว ตั้งแต่ปี 2021 เป็นต้นไป ผู้ประกอบการ เช่น ห้าง โรงแรม หรือโรงอาหาร จะต้องจัดให้มี “พื้นที่สำหรับจัดการขยะอาหาร” และเมื่อถึงปี 2024 ผู้ประกอบการจะต้องมีการคัดแยกขยะเพื่อนำไปจัดการ โดยรัฐบาลจะสนับสนุนค่าใช้จ่าย  ขณะเดียวกันก็มีการฝึกอบรมอาสาสมัครเพื่อให้เป็นตัวแทนออกไปให้ความรู้กับชุมชนด้วย จีน         จีนผ่านร่างกฎหมายว่าด้วยการห้ามทิ้งอาหารออกมาหมาดๆ เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา นอกจากจะสั่งแบนคลิปวิดีโอประเภท “โชว์กินแหลก” แล้ว (ฝ่าฝืนมีค่าปรับ 100,000 หยวน หรือประมาณ 520,000 บาท)  เขายังมีบทลงโทษร้านอาหารที่ให้พนักงานมาคอย “เชียร์” ให้ลูกค้าสั่งอาหารเยอะๆ (ค่าปรับ 10,000 หยวน หรือประมาณ 52,000 บาท) หรือร้านที่มีอาหารเหลือทิ้งมากเกินไป (ปรับ 5,000 หยวน หรือประมาณ 26,000 บาท)         ทั้งนี้เขาอนุญาตให้ร้านอาหารคิดเงินเพิ่มเพื่อเป็นค่าจัดการกับอาหารที่เหลือได้ โดยต้องมีการติดป้ายบอกลูกค้าให้ชัดเจน         ในปี 2020 มีการรณรงค์ให้ประชาชนช่วยกัน “กินให้เกลี้ยงจาน” เพื่อลดขยะจากอาหาร และให้ร้านอาหารยอมให้ลูกค้าสั่งอาหารไม่ครบคนได้ (เช่น มากัน 5 คน แต่สั่งเพียง 4 จาน)  สเปน         กฎหมายของสเปนที่ออกมาในปีนี้ (2021) เจาะจงไปที่ร้านค้าปลีก ด้วยการกำหนดให้ทางร้านนำผักผลไม้หน้าตาไม่ดีออกมาจำหน่าย แทนที่จะคัดทิ้งไป และสำหรับห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ (พื้นที่เกิน 400 ตารางเมตร) ห้างต้องจัดโปรแกรม “ส่งเสริมการขาย” เพื่อจูงใจให้ลูกค้าอยากซื้อผักผลไม้ดังกล่าวด้วย          ในกรณีที่ขายไม่ได้จริงๆ เขากำหนดให้นำไปบริจาคให้กับองค์กรการกุศลหรือธนาคารอาหาร หากฝ่าฝืนมีค่าปรับระหว่าง 6,000 – 150,000 ยูโร (ประมาณ 230,000 – 5,800,000 บาท)         ฟิลิปปินส์เพื่อนบ้านเราก็กำลังลุ้นร่างกฎหมาย พ.ร.บ.ลดขยะอาหาร ที่มีสาระสำคัญคล้ายกับกรณีของสเปน เช่นกัน     เวียดนาม         กฎหมายที่จะเริ่มใช้ในปี 2022 ตามแผนการลดขยะครัวเรือนของเวียดนาม กำหนดให้แต่ละบ้านแยกขยะออกเป็น 3 ประเภท (ขยะรีไซเคิล ขยะอาหาร และขยะอื่นๆ )  จัดเก็บในถุงบรรจุชนิดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และจ่ายค่าธรรมเนียมการจัดการขยะตามจำนวนถุงที่ใช้ โดยผู้ให้บริการเก็บขยะมีสิทธิที่จะปฏิเสธการเก็บได้ หากผู้ทิ้งไม่ทำตามเงื่อนไข    รายละเอียดเรื่องค่าธรรมเนียมอยู่ระหว่างการพิจารณาโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ปัจจุบันครัวเรือนในเขตเมืองของเวียดนามจ่ายค่าธรรมเนียมการเก็บขยะเดือนละ 25,000 – 30,000 ดอง (ประมาณ 35 - 45 บาท)https://www.un.org/en/global-issues/foodhttps://www.bloomberg.com/news/articles/2021-07-21/food-waste-problem-is-even-bigger-than-we-thought#:~:text=An%20estimated%202.5%20billion%20tons,and%20U.K.%20retailer%20Tesco%20Plc.https://uspackagingandwrapping.com/blog/which-states-waste-the-most-food.html?fbclid=IwAR21gG1TcjzjEbZn6ysS4NcCRouWLqKsjWfrWoJ3-zLaWoX9brFmSeYObGchttps://www.unep.org/resources/report/unep-food-waste-index-report-2021https://www.bworldonline.com/food-waste-not-want-not/?fbclid=IwAR193Pe4ZQF1VYMdb0tjZ5nEKwuQmbwq97KpvaF78imj3fl7iEZ3Uh-rMfohttps://www.nycfoodpolicy.org/food-policy-snapshot-south-korea-food-waste/https://www.globaltimes.cn/page/202104/1222490.shtmlhttps://stopfoodwaste.ie/resource/food-waste-the-lawhttps://ec.europa.eu/food/safety/food-waste/eu-actions-against-food-waste_enhttps://www.pewtrusts.org/en/research-and-analysis/blogs/stateline/2021/07/08/waste-not-some-states-are-sending-less-food-to-landfillshttps://www.fda.gov/food/consumers/food-loss-and-wastehttps://www.thaihealth.or.th/Content/50924   https://e.vnexpress.net/news/news/vietnam-to-apply-pay-as-you-throw-model-by-2025-4193441.html

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 248 เสียงอะไรใต้หลังคา

        ปัญหาจากการซื้อบ้านแล้วเข้าไปอยู่อาศัยไม่ได้เพราะเหตุการณ์ประหลาดนี้ หากเกิดขึ้นกับใครก็คงปวดหัวไม่น้อย มาดูกันว่าผู้เสียหายประสบปัญหาอะไรและมีแนวทางการแก้ไขอย่างไร         เมื่อปี 2562 คุณชัดเจนซื้อบ้านในโครงการของ บริษัท A ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ หลังจากเข้าพักอาศัยได้ไม่กี่วัน คุณชัดเจนพบว่า ทุกวันจะได้ยินเสียงดัง “ตึงๆ” จากใต้หลังคาเป็นระยะตลอดทั้งวัน เสียงดังรบกวนจนไม่สามารถทนอยู่ต่อไปได้ เพราะทั้งรำคาญและกลัวว่าจะเกิดปัญหาเรื่องความปลอดภัย เพราะตอนที่เขาตรวจรับบ้านเพื่อโอนกรรมสิทธิ์นั้น เขาพบว่า ทางโครงการฯ เก็บงานไม่เรียบร้อย หลายรายการ ไม่พร้อมให้เข้าอาศัยได้ทันที ซึ่งเขาต้องเรียกร้องให้ทางโครงการฯ จัดการเก็บงานอยู่หลายต่อหลายครั้งและใช้เวลาหลายเดือนกว่าจะพอเข้าอาศัยได้         เมื่อเกิดปัญหาเสียงดังจากใต้หลังคาคุณชัดเจนแจ้งให้ทางโครงการฯ รีบเข้ามาแก้ไข ครั้งแรกทางช่างแจ้งว่า เพราะหลังคาเป็นเมทัลชีทดังนั้นเป็นเรื่องปกติที่อาจมีเสียงดังเกิดขึ้นได้ เนื่องจากการขยายตัวของโลหะ ทางช่างจะดูแลให้ สองเดือนต่อมาปัญหาไม่หายไป และคุณชัดเจนก็คิดว่า หากเป็นเสียงดังจากเมทัลชีทจริง ก็น่าจะเป็นกับบ้านทุกหลังในโครงการฯ ทำไมต้องมาเป็นเฉพาะบ้านของเขา ซึ่งเรื่องนี้เขาได้สอบถามเพื่อนบ้านทุกคนแล้ว ไม่มีใครเกิดปัญหาแบบบ้านเขาเลย         สองเดือนต่อมาเขาเร่งให้โครงการเข้าจัดการปัญหา เรื่องก็เงียบจนอีกสามสี่เดือนถัดมา ทางโครงการฯ นำผู้รับเหมาเข้ามาสำรวจและทดสอบเสียง พร้อมบอกว่าเกิดจากการขยายตัวของแผ่นหลังคาจริง ดังนั้นจะทำการรื้อและติดตั้งหลังคาให้ใหม่ หลังจากช่างแก้ไขให้แล้ว เสียงดังตึงก็ยังหลอนโสตประสาทเช่นเดิม         จนเข้าปลายปี 2563 เขาพยายามให้ทางโครงการฯ แก้ไขปัญหานี้ให้ได้ เพราะเขาขาดประโยชน์ต้องไปพักอาศัยที่อื่น ไม่สามารถอยู่บ้านหลังนี้ได้ ซึ่งต่อมาทางโครงการนำผู้เชี่ยวชาญมาตรวจและเทสเสียงพร้อมแจ้งว่า เสียงที่ดังนี้ไม่เกินค่ามาตรฐาน ซึ่งเขาเห็นว่า มันไม่ใช่การแก้ไขปัญหา การบอกว่าเสียงไม่เกินมาตรฐานกำหนดมันไม่ได้ทำให้เขาพักอาศัยได้ ทั้งกลัวว่าอาจมีปัญหาโครงสร้างของหลังคา อยู่ๆ เกิดพังถล่มลงมาจะทำอย่างไร           ล่าสุดก่อนตัดสินใจปรึกษากับทางศูนย์พิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค คุณชัดเจนระบุว่าทางโครงการฯ ได้นำวัสดุลดเสียงเข้ามาติดตั้งใต้หลังคาแต่ปัญหาก็ไม่หายไป และทางโครงการฯ ไม่พยายามเข้ามาสนใจติดตามผลงานเลย ทิ้งเรื่องเงียบหาย  เขาจะใช้สิทธิทางกฎหมายอย่างไรได้บ้าง คือสิ่งที่คุณชัดเจนปรึกษา แนวทางแก้ไขปัญหา         หลังให้คำแนะนำเรื่องการดำเนินการใช้สิทธิ เบื้องต้นผู้ร้องได้เข้าร้องเรียนปัญหานี้กับทางโยธาจังหวัดสมุทรปราการเพื่อให้เข้ามาตรวจสอบหาสาเหตุของเสียงดังใต้หลังคา และเปิดเจรจากับทางโครงการฯ อีกครั้ง โดยทางศูนย์ฯ จะเข้าช่วยเหลือเรื่องการเจรจาเพื่อให้แก้ไขปัญหา หากไม่สามารถแก้ไขได้ก็ใช้สิทธิฟ้องร้องดำเนินคดีต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 248 สาวหลงซื้อคอร์สความงาม เกือบสูญเงินแสน

        หลายปีมานี้ มีคำเตือนสำหรับคุณผู้หญิงที่ใจอ่อนและขี้เกรงใจว่า อย่าเดินห้างสรรพสินค้าเพียงลำพัง ระวังอาจหลงคารมโน้มน้าวของพนักงานจากสถานเสริมความงามต่างๆ ที่มักแข่งกันงัดกลเม็ดเด็ดพรายมาละลายใจให้คุณๆ ยอมเซ็นสัญญาจ่ายซื้อคอร์สเสริมความงามราคาแพงลิ่ว         เช่นเดียวกับคุณเอมมี่ ที่วันหนึ่งขณะเดินเที่ยวในห้างสรรพสินค้าย่านบางกะปิเพลินๆ ก็มีหญิงสาวหน้าใสในชุดยูนิฟอร์มของคลินิกเสริมความงามมีชื่อแห่งหนึ่งเดินมาดักหน้า พร้อมเผยยิ้มกว้างและเอ่ยเสียงหวานไพเราะ          “ขอโทษนะคะ ขอรวบกวนเวลาแป๊บนึง วันนี้คลินิกเรามีบริการคอร์สทดลอง เชิญเลยนะคะ” คุณเอมมี่เคยได้ยินชื่อเสียงของคลินิกแห่งนี้ก็เลยเผลอคิดว่า ทดลองใช้ดูก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรจึงตามพนักงานไปทดลองคอร์สดังกล่าว         หลังจากคุณเอมมี่ใช้บริการทดลองในร้านแล้ว พนักงานก็กุลีกุจอเข้ามาแนะนำให้เธอซื้อคอร์ส VIP ในราคา 100,000 บาท ซึ่งมีข้อเสนอเด็ดคือสามารถแบ่งจ่ายได้ เริ่มต้นเป็นเงินสด 35,000 บาท และจ่ายผ่านบัตรเครดิต 65,000 บาท ยังไม่ทันได้คิดละเอียดอะไรเพราะพนักงานพูดเก่งมาก และมีการขอดูบัตรเครดิตของเธอเพื่อจะดูว่าเธอจะได้สิทธิพิเศษอะไรอีกบ้างเพราะทางคลินิกทำโปรโมชั่นไว้กับหลายธนาคาร จนเมื่อเธอหยิบบัตรเครดิตส่งให้ พนักงานก็คว้าหมับไป และหน่วงเหนี่ยวไม่ยอมคืนบัตรเครดิตให้เธอ         พอถูกรุกหนักเข้า คุณเอมมี่เริ่มรู้สึกถึงความไม่ชอบมาพากล ในระหว่างนั้นก็มีพนักงานชายพยายามมาทำให้เธอรู้สึกถูกคุกคามทางเพศด้วย จึงยิ่งไม่พอใจอย่างมาก  ต่อมาภายหลังเมื่ออ่านรายละเอียดในสัญญาก็พบว่าเงื่อนไขในนั้นไม่เป็นไปตามที่เสนอขายไว้เลย เธอจึงอยากจะยกเลิกสัญญา  เพราะยังไม่ได้ใช้บริการ  จึงร้องเรียนมาทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอให้ช่วยเหลือ แนวทางการแก้ไขปัญหา         เมื่อทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคขอทราบรายละเอียดทราบว่า คุณเอมมี่เองกำลังเจรจาไกล่เกลี่ยเพื่อยกเลิกสัญญาและขอเงินคืนจากคลินิกเสริมความงามคู่กรณีอยู่ ซึ่งภายหลังคุณเอมมี่แจ้งว่าทางคลินิกยอมยกเลิกสัญญาและจ่ายเงินค่าสมัครคืนให้ทั้งหมดแล้ว เรื่องนี้ก็จบแบบไม่เสียแรงเกินไป         อย่างไรก็ตาม มีหลายเคสในลักษณะคล้ายกันนี้ที่ไม่ได้จบง่าย บางรายต้องเสียเงินฟรี บางรายเสียเวลาไปฟ้องร้อง แต่ที่แน่ๆ คือทุกคนต่างเสียความรู้สึก ดังนั้นการป้องกันตนเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อในเหตุการณ์เช่นนี้ คือ หากพบการเสนอขายแบบคะยั้นคะยอให้คล้อยตาม ผู้บริโภคต้องใจแข็ง พิจารณาให้ถ้วนถี่ก่อนการตัดสินใจทำสัญญา และอย่ายื่นบัตรเครดิตให้พนักงานไปง่ายๆ จนกว่าจะตัดสินใจดีแล้ว สอบถามรายละเอียดพร้อมอ่านสัญญาให้รอบคอบ พิจารณาว่าสัญญาครอบคลุมทั้งเรื่องการขอยกเลิกหากไม่พอใจหรือไม่ เหตุแห่งการยกเลิกมีอะไรบ้าง ตลอดจนแนวทางปฏิบัติหากเกิดความเสียหายจากการเข้ารับบริการ  ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า การทำสัญญานี้จะไม่ผิดพลาดจนต้องมายุ่งยากในภายหลัง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 248 ไม่มีทรัพย์สินจะถูกบังคับคดีได้ไหม

        ภูผา เช่าซื้อรถยนต์ ราคา 265,000 บาท โดยต้องผ่อนชำระทั้งหมด 74 งวด งวลละ 7,400 บาท เขาชำระไปได้เพียง 36 งวด แต่ไปต่อไม่ไหว เพราะเขาตกงาน สุดท้ายก็ต้องปล่อยให้ไฟแนนซ์ยึดรถไป ต่อมาไฟแนนซ์ฟ้องคดีให้เขาชำระค่าส่วนต่าง เพราะรถที่ยึดไปขายทอดตลาดนั้นได้เงินมา 90,000 บาท ขาดไป 175,000 บาท ถึงจะเท่ากับราคาของรถยนต์ที่ได้เช่าซื้อมา         ภูผาได้ไปทำสัญญาประนอมหนี้กับไฟแนนซ์ที่ศาลว่าจะผ่อนกับไฟแนนซ์เป็นจำนวนเงิน 6,8000 บาท ทุกเดือน แต่ผ่อนได้แค่ 1 ปี ก็ผ่อนต่อไม่ไหวเพราะสถานการณ์โควิดทำให้แทบไม่มีรายได้เหลือพอผ่อนหนี้ ทางไฟแนนซ์เร่งให้เขาหาเงินมาจ่าย มิฉะนั้นจะทำเรื่องบังคับคดีเพื่อยึดทรัพย์ของเขาเสีย ภูผาคิดว่าตนเองก็ไม่มีทรัพย์สินอะไร แต่ก็ไม่อยากให้เรื่องค้างคาหรือมีปัญหาในอนาคต เมื่อไม่รู้จะทำอย่างไร จึงมาปรึกษาศูนย์พิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา         ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคอธิบายให้คุณภูผาฟังว่า เมื่อผู้ร้องไม่มีทรัพย์สินที่เป็นชื่อของผู้ร้องเอง เช่น บ้าน ที่ดิน รถยนต์และเงินเดือนเกิน 20,000 บาท ขึ้นไป ผู้ร้องไม่ต้องรู้สึกกดดันในเรื่องของการบังคับคดี เพราะถึงแม้ว่าเจ้าหนี้จะทำการสืบทรัพย์อย่างไรก็จะไม่พบ เนื่องจากผู้ร้องไม่มีทรัพย์สิน เมื่อไม่พบทรัพย์สินที่เป็นชื่อของผู้ร้อง เจ้าหนี้ก็ต้องแขวนหนี้ไว้ 10 ปี นับแต่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด ซึ่งภายใน 10 ปี ผู้ร้องไม่สามารถมีทรัพย์สินเป็นชื่อของผู้ร้องได้ ถ้าผู้ร้องมีทรัพย์สินเป็นชื่อของผู้ร้องและเจ้าหนี้ทราบ เจ้าหนี้จะแจ้งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมายึดเพื่อนำไปขายทอดตลาดมาชำระหนี้ต่อไป         อีกวิธีหนึ่งที่ผู้ร้องสามารถทำได้ ในช่วงเวลา 10 ปี ผู้ร้องต้องสะสมเงินเพื่อที่จะปิดบัญชี (หนี้) ในอนาคต โดยอาจปิดด้วยเงินก้อนเดียวและเจรจาต่อรองเพื่อขอลดยอดหนี้ลงมา แต่ถ้าไม่สามารถเก็บเงินได้ เมื่อใกล้ระยะเวลาในการบังคับคดีจะหมดลง  ผู้ร้องก็อาจจะต่อรองขอปิดบัญชีตามจำนวนเงินที่ผู้ร้องสามารถจะปิดได้ในขณะนั้น ซึ่งส่วนมากเจ้าหนี้ก็จะรับไว้ เพราะถ้าไม่รับเงื่อนไขที่ผู้ร้องเสนอให้ เมื่อครบระยะเวลาในการบังคับคดีเจ้าหนี้ก็อาจจะไม่ได้อะไรจากผู้ร้องเลย          และเมื่อพ้นระยะเวลา 10 ปีไปแล้วผู้ร้องก็สามารถมีทรัพย์สินที่เป็นชื่อของผู้ร้องได้ โดยที่เจ้าหนี้ไม่สามารถฟ้องบังคับคดีได้ เนื่องจากหมดระยะเวลาในการบังคับคดีแล้ว แต่หนี้ยังคงอยู่ไม่ได้หมดไปพร้อมกับระยะเวลาในการบังคับคดี

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 248 อาหารเป็นพิษ ร้านค้ารับผิดชอบอะไรบ้าง

        ช่วงล็อคดาวน์ในสถานการณ์โควิด รัฐบาลขอความร่วมมืองดการเดินทาง ใช้ชีวิตอยู่บ้าน Work From Home กันไป หรือถ้าต้องการจะรับประทานอะไรที่ต้องเดินทางไปที่ร้านก็ต้องเปลี่ยนมาพึ่งบริการเดลิเวอรี่แทน           คุณดิน เป็นอีกคนที่ทำงานจากที่บ้าน วันหนึ่งไม่อยากทำอาหารเอง จึงสั่งไก่ย่างจากฟาสต์ฟู้ดส์ดังยี่ห้อหนึ่งซึ่งมีบริการเดลิเวอรี่ของตนเอง มารับประทานกับแฟนของเขา หลังจากอิ่มหนำสำราญผ่านไปได้ประมาณ 2 ชั่วโมง ทั้งสองก็เกิดอาการอาหารเป็นพิษ อาเจียน ท้องเสียอย่างหนัก จึงรีบพากันไปโรงพยาบาล         เมื่อแพทย์วินิจฉัยและให้การรักษา ผลคืออาการอาหารเป็นพิษจากชุดไก่ย่างที่สั่งมารับประทาน ทั้งเขาและแฟนต้องนอนโรงพยาบาล 2 คืน รวมค่าใช้จ่ายในการรักษาทั้งสองคนคือ 75,000 บาท เป็นค่ารักษาพยาบาลของเขา 36,000 บาท และส่วนของแฟน 39,000 บาท ซึ่งในระหว่างรักษา คุณดินได้แจ้งเรื่องไปที่ร้านฟาสต์ฟู้ดส์ที่เป็นต้นเหตุของการเจ็บป่วย ทางร้านจึงได้ส่งตัวแทนมาเยี่ยม พร้อมให้ฝ่ายกฎหมายของทางร้านมาเจรจา พอต้องเจอทนาย คุณดินไม่แน่ใจว่าจะต้องเจรจาอย่างไรเพื่อให้สิทธิของตนเองไม่ถูกลดทอน  จึงโทรมาสอบถามศูนย์พิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อขอคำแนะนำ แนวทางการแก้ไขปัญหา         ศูนย์พิทักษ์สิทธิให้คำแนะนำว่า ผู้ร้องสามารถเจรจากับทางร้านได้ โดยต้องกำหนดค่าชดเชยที่ครอบคลุมเรื่องความเสียหายทั้งหมดไว้ก่อน  ผู้ร้องประสงค์ให้ทางร้านรับผิดชอบสิ่งใดบ้าง เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าขาดประโยชน์ ค่าเสียเวลา เป็นต้น  และต้องเก็บเอกสารหลักฐานต่างๆ ไว้กับตนเอง หากทางร้านต้องการเอกสารควรสำเนาไว้กับตนหนึ่งชุดด้วย เช่น ใบรับรองแพทย์ ใบเสร็จค่าอาหาร เป็นต้น         หลังจากการให้คำปรึกษา ต่อมาผู้ร้องได้แจ้งกลับมาว่าตนได้เจรจากับทางร้านเรียบร้อยแล้ว โดยเรียกให้ทางร้านรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลของผู้ร้องและแฟน รวมทั้งเรียกค่าชดเชยจำนวน 5,000 บาท เนื่องจากผู้ร้องไม่สามารถปฏิบัติงานได้ช่วงที่ต้องรักษาตัว อย่างไรก็ตามทางร้านแจ้งว่าจะรับผิดเฉพาะค่ารักษาพยาบาลจำนวน 36,000 บาทและของแฟนผู้ร้องจำนวน 39,000บาท เท่านั้น ทางศูนย์ฯ จึงแจ้งว่าหากผู้ร้องไม่พอใจกับข้อเสนอของบริษัท มูลนิธิฯ จะเป็นคนกลางช่วยเจรจาให้ ซึ่งถ้ายังไม่สามารถตกลงกันได้ ก็สามารถฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคต่อไป         ภายหลังทางร้านได้รับผิดชอบทั้งค่ารักษาพยาบาลของผู้ร้องและแฟนเป็นจำนวนเงิน 75,000 บาท และมอบค่าชดเชยให้แก่ผู้ร้องอีกจำนวน 2,000 บาท เรื่องเป็นอันยุติ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 248 โควิด 19 น่ะของจริง แต่ผลิตภัณฑ์บางอย่างอาจจะปลอม?

        ข่าวผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ในการรักษาผู้ติดเชื้อโควิด19 จะมีการเผยแพร่ออกมาเรื่อยๆ ล่าสุดมีการนำผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพรที่ใช้ในผู้ป่วยจากประเทศจีนเข้ามาขออนุญาตจำหน่ายในไทย โดยยานี้ได้รับอนุญาตในประเทศไทยแล้ว โดยให้สรรพคุณบรรเทาอาการจากไข้หวัดใหญ่ เช่น ไข้ ปวดเมื่อยร่างกาย บรรเทาอาการไอ เจ็บคอ ปวดหัว และเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงทำให้ประชาชนต้องการยาสมุนไพรชนิดนี้มาก จึงมีผู้ฉวยโอกาสนำยาปลอมลักลอบมาจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์จำนวนมาก และยังขายในราคาแพงกว่ายาจริงอีกด้วย        จากข้อมูลที่ได้รับแจ้งจากผู้บริโภคพบว่าจำหน่ายถึงราคากล่องละ 350-380 บาท ในขณะที่ผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพรของแท้ราคากล่องละ 279 บาทเท่านั้น ซึ่งล่าสุดผู้นำเข้ายาสมุนไพรนี้ได้แจ้งความเพื่อให้ตำรวจติดตามดำเนินคดีแล้ว         สมุนไพรจากจีนยังมีมาอีกเรื่อยๆ ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา พบการโฆษณาขายผลิตภัณฑ์สเปรย์พ่นจมูกต้านเชื้อแบคทีเรีย ทางสื่อออนไลน์ โดยระบุสรรพคุณว่า สมุนไพรชนิดนี้ ใช้สเปรย์พ่นจมูกต้านเชื้อแบคทีเรีย ป้องกันและรักษาโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ จมูกตัน น้ำมูกไหล จมูกคัน แห้งตึง สูตรสมุนไพรบริสุทธิ์ สเปรย์ฆ่าเชื้อป้องกันไวรัส และต้านการอักเสบที่มีประสิทธิภาพ 10 วินาทีผ่านโพรงจมูกและหายเร็วโดยไม่เกิดซ้ำ” จนบางคนนำไปใช้กับผู้ป่วยโควิด 19         สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่าผลิตภัณฑ์นี้ยังไม่ได้รับอนุญาตจาก อย. จึงไม่สามารถประเมินความปลอดภัยและประสิทธิผลตามที่กล่าวอ้างได้ และพบว่าผู้จำหน่ายมีลูกเล่นในการหลบเลี่ยงให้ดำเนินการตามกฎหมายได้ยาก โดยเมื่อจะสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ ผู้ซื้อจะต้องกรอกข้อมูลชื่อผู้ซื้อและเบอร์โทรศัพท์ของตนลงในเว็บไซต์ หลังจากนั้นผู้ขายจึงจะติดต่อกลับเพื่อส่งสินค้าโดยการเก็บเงินปลายทาง ทำให้โฆษณานี้จะไม่สามารถเชื่อมโยงกับผู้ขายได้ และหากผู้บริโภคใช้ผลิตภัณฑ์แล้วไม่ได้ผลตามที่กล่าวอ้างหรือได้รับอันตราย การเอาผิดใดๆ กับผู้ขายก็ทำได้ยาก        นอกจากสมุนไพรจีนแล้ว ยังมีผู้นำผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพรทางเลือกในไทย ไปมอบให้ตามโรงพยาบาลสนามหรือศูนย์พักคอยผู้ป่วยโควิด 19 โดยแนะนำว่าให้ใช้รักษาโควิด มีการนำเสนอภาพการรับมอบผลิตภัณฑ์ หรือคลิปประสบการณ์ของผู้ติดเชื้อโควิด 19 ที่ใช้ผลิตภัณฑ์ชนิดนี้แล้วหายจากการป่วย ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีการโฆษณาอ้างว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบจากสมุนไพรหลายชนิด ได้แก่ ฟ้าทะลายโจร แก่นจันทน์แดง แก่นจันทน์ขาว หัวคล้า รากฟักข้าว รากมะนาว รากสะแก รากกระทุงหมาบ้า รากย่านาง บอระเพ็ด แต่เมื่อตรวจสอบจากสูตรที่ขึ้นทะเบียนตํารับแล้ว พบว่าไม่มีฟ้าทะลายโจรเป็นส่วนประกอบ และมิได้มีสรรพคุณหรือมีฤทธิ์ในการช่วยรักษาการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่อย่างใด และไม่พบหลักฐานข้อมูลการวิจัยถึงประสิทธิผลและความปลอดภัยในการใช้เพื่อข้อบ่งใช้เพื่อรักษาโรคโควิด-19  นอกจากนี้ยังพบว่าผลิตภัณฑ์สมุนไพรดังกล่าวขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์ยาแผนไทย มีข้อบ่งใช้เป็นยาแก้ไข้ ดังนั้นการนำเอาผลิตภัณฑ์สมุนไพรดังกล่าวมาใช้เพื่อรักษาโรคโควิด-19 จึงไม่สอดคล้องตามสรรพคุณที่ขึ้นทะเบียนไว้         ในยุคที่ผู้คนกำลังตื่นตัวในการดูแลสุขภาพเพื่อป้องกันและรักษาโควิด 19 แม้การใช้ผลิตภัณฑ์ทางเลือกต่างๆ จะเป็นสิ่งที่หลายคนอยากลองนำมาใช้ แต่หากเราผลีผลามนำมาใช้โดยไม่หาข้อมูลอย่างรอบคอบแล้ว เราอาจจะเสียทั้งเงิน และอาจเสี่ยงต่ออาการป่วยที่ลุกลามไปได้ ดังนั้นควรปรึกษาหรือติดตามตรวจสอบข้อมูลจากหน่วยงานของสาธารณสุขก่อนจะดีกว่า

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 248 การบอกเลิกสัญญาโดยปริยาย

        สวัสดีครับ ในฉบับนี้จะขอหยิบยกเรื่องใกล้ตัวพวกเรา ที่หลายคนอาจไม่ได้สนใจมากนัก มาเล่าสู่กันฟัง นั่นคือเรื่องของการบอกเลิกสัญญา แน่นอนว่าเมื่อเราต้องการผูกพันเรื่องใดเรื่องหนึ่งและต้องการให้เกิดความชัดเจน มีหลักฐานยืนยันกันได้ และกฏหมายยอมรับ ก็ต้องทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร แต่หลังจากทำสัญญาไปแล้ว บ่อยครั้งที่มักเกิดปัญหา ไม่ปฏิบัติตามที่ตกลงกันไว้ ก็อาจมีเหตุที่อยากจะเลิกสัญญากัน ซึ่งหลายคนคงเข้าใจว่าการบอกเลิกสัญญาก็ต้องทำเป็นหนังสือแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษร เช่นกัน แต่ความจริง การบอกเลิกสัญญาอาจเกิดจากพฤติการณ์บางอย่าง ซึ่งศาลก็เคยวินิจฉัยไว้แล้วว่า หากเป็นกรณีใดที่ถือว่ามีผลบอกเลิกสัญญาโดยปริยายบ้าง เช่น  เจ้าของทางพิพาทนำลวดหนามขึงกั้นทางพิพาท ไม่ให้ใช้ทางอีกต่อไป ก็ถือว่าเป็นการบอกเลิกสัญญาให้ใช้ทางโดยปริยาย  หรือทำสัญญาซื้อขายที่ดิน เมื่อผู้ขายส่งมอบที่ดินขาดตกบกพร่อง ผู้ซื้อจึงไม่รับโอน และไม่ชำระราคาที่ดินส่วนที่เหลือ พฤติการณ์เช่นนี้ ถือเป็นการบอกเลิกสัญญาโดยปริยายแล้ว โดยไม่ต้องทำเป็นหนังสือบอกเลิกสัญญา และผลของการบอกเลิกสัญญาทำให้คู่สัญญาต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม กล่าวคือ คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายเสมือนไม่เคยทำสัญญากันมาก่อน ฝ่ายที่รับเงินไว้ก็ต้องคืนเงินหรือส่งมอบทรัพย์คืนแก่คู่สัญญา         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4645/2540           จำเลยยินยอมให้โจทก์ใช้ทางพิพาทได้ แต่เมื่อไม่มีข้อกำหนดเวลากันไว้ โจทก์จึงใช้ทางได้ตราบเท่าที่จำเลยยินยอม หากจำเลยไม่ยินยอมโจทก์ก็ไม่มีสิทธิใช้ทาง เพราะสิทธิของโจทก์เกิดจากความยินยอมของจำเลย แม้การที่จำเลยอนุญาตให้โจทก์สร้างทางได้ทำสัญญากันไว้เป็นหนังสือ แต่ในกรณีบอกเลิกสัญญาเช่นนี้ ไม่มีกฎหมายบังคับไว้ว่าจะต้องบอกเลิกสัญญาเป็นหนังสือจำเลยจะบอกเลิกสัญญาเป็นหนังสือหรือไม่ก็ได้ ดังนั้นการที่จำเลยนำลวดหนามขึงกั้นทางพิพาทไว้จึงเป็นการบอกเลิกสัญญาโดยปริยายแล้ว         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5228/2539           จำเลยที่ 1 ส่งมอบที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์น้อยกว่าจำนวนเนื้อที่ที่ตกลงซื้อขายกันตามสัญญาถึงเกือบครึ่ง เป็นการส่งมอบที่ดินที่ขาดตกบกพร่องถึงขนาดซึ่งหากโจทก์ได้ทราบก่อนแล้วคงจะมิได้เข้าทำสัญญากับจำเลยที่ 1 อย่างแน่นอนโจทก์จึงมีสิทธิบอกปัดเสียหรือเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 1 การที่โจทก์บอกปัดไม่ยอมรับโอนที่ดินพิพาทและไม่ชำระราคาที่ดินพิพาทส่วนที่เหลือให้จำเลยที่ 1 ตามสัญญากรณีจึงต้องถือว่าโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 466 วรรคสอง แล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจึงจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งกลับคืนสู่ฐานะเดิมตามมาตรา 391 จำเลยที่ 1 จึงต้องคืนเงินมัดจำให้โจทก์                 อีกประเด็นที่สำคัญคือ เมื่อมีการบอกเลิกสัญญาแล้ว ทำให้มีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ แม้ตามสัญญาจะซื้อจะขายจะไม่ได้กำหนดเรื่องดอกเบี้ย ในกรณีที่ผิดสัญญาไว้ก็ตาม แต่ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ตามมาตรา 391 วรรคสอง         คำพิพากษาฎีกาที่ 5196/2548               โจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายและพัฒนาที่ดินกับจำเลย โจทก์ผ่อนชำระเงินดาวน์แก่จำเลยครบถ้วนตามสัญญาและต่อมาจำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมทั้งให้นำเงินที่เหลือไปชำระ แสดงว่าจำเลยได้ยืนยันต่อโจทก์ว่าจำเลยได้พัฒนาที่ดินเสร็จเรียบร้อยแล้ว จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้แก่โจทก์ตามกำหนดนัด ส่วนที่หนังสือของจำเลยระบุว่าก่อนถึงวันนัดให้โจทก์มีหนังสือแจ้งแก่จำเลยก่อนวันที่กำหนดในหนังสือเพื่อเป็นการยืนยันว่าจะไปรับโอนกรรมสิทธิ์นั้นเป็นเรื่องที่จำเลยกำหนดขึ้นเองฝ่ายเดียว โดยไม่มีเงื่อนไขดังกล่าวระบุในสัญญา อย่างไรก็ตามการที่โจทก์มีหนังสือแจ้งไปยังจำเลยว่าจำเลยยังพัฒนาที่ดินไม่เรียบร้อย แต่โจทก์ก็พร้อมที่จะไปรับโอนกรรมสิทธิ์ตามวันเวลาที่จำเลยกำหนดนัด เพียงพอที่จะถือได้ว่าโจทก์มีหนังสือตอบรับยืนยันไปยังจำเลยแล้ว เมื่อจำเลยมิได้ไปตามกำหนดนัดจึงถือว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและเรียกร้องค่าเสียหายได้         การบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินในกรณีเช่นนี้ไม่มีบทกฎหมายใดบังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือ การมอบอำนาจให้บอกเลิกสัญญาจึงไม่ต้องทำเป็นหนังสือเช่นกัน การที่โจทก์ได้เบิกความยืนยันในชั้นพิจารณาว่าได้มอบหมายให้ทนายโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวและบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลย แสดงให้เห็นถึงเจตนาของโจทก์ว่าได้ยอมรับการกระทำของทนายความที่กระทำแทนโจทก์ในกรณีดังกล่าว ย่อมถือได้ว่าโจทก์ได้ให้สัตยาบันตาม ป.พ.พ. มาตรา 823 การบอกเลิกสัญญาจึงชอบแล้ว         โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาและการบอกเลิกสัญญาของโจทก์มีผลสมบูรณ์แล้ว แม้ต่อมาจำเลยจะมีหนังสือนัดโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินอีกครั้งหนึ่งและโจทก์ไปที่สำนักงานที่ดินตามกำหนดนัดดังกล่าว ก็เป็นเพียงการให้โอกาสแก่จำเลยในการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่โจทก์เพื่อจะได้ไม่มีปัญหาข้อพิพาทกันอีกต่อไป แต่ปรากฏว่าฝ่ายจำเลยก็ยังผิดนัดอีก พฤติการณ์ดังกล่าวถือไม่ได้ว่าโจทก์ไม่ติดใจที่จะเลิกสัญญากับจำเลยอีกต่อไป         เมื่อเลิกสัญญาต่อกันแล้วคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจึงต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง ซึ่งจำเลยมีหน้าที่ต้องคืนเงินที่ได้รับให้แก่โจทก์และต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์นับแต่วันที่รับไว้ด้วย ซึ่งการคิดดอกเบี้ยในกรณีเช่นนี้ไม่ใช่เป็นการคิดดอกเบี้ยระหว่างผิดนัด แต่เป็นเรื่องที่จำเลยประพฤติผิดสัญญา และโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ แม้ตามสัญญาจะซื้อจะขายจะไม่ได้กำหนดเรื่องดอกเบี้ยที่โจทก์จะคิดจากจำเลยในกรณีที่จำเลยผิดสัญญาไว้ก็ตาม แต่โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ตามมาตรา 391 วรรคสอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 248 Whoscall ตัวช่วยป้องกันมิจฉาชีพ

        เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมามีข่าวเรื่องมิจฉาชีพเลือกใช้ช่องทางการโทรศัพท์มายังสมาร์ทโฟนเพื่อหลอกขอข้อมูลส่วนตัว บางครั้งอ้างเป็นตำรวจ เป็นเจ้าหน้าที่ศาล เป็นเจ้าหน้าที่กรมศุลกากร และอ้างอีกหลากหลายรูปแบบ ซึ่งมีหลายคนที่หลงเชื่อและตกเป็นเหยื่ออย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เพราะตกใจกับความน่ากลัวและความสมจริงของมิจฉาชีพเหล่านี้ จนให้ข้อมูลส่วนตัวและทำให้เสียทรัพย์สินไปโดยไม่รู้ตัว แม้ว่าข่าวจะเป็นกระแสมากแค่ไหน แต่ก็ยังมีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ยังตกเป็นเหยื่อ         ถึงแม้บางคนอาจจะรู้ข่าวที่เกิดขึ้น แต่ก็ไม่สามารถเลี่ยงที่จะไม่รับสายหรือโทรกลับเบอร์แปลกได้ เนื่องจากปลายสายอาจจะคนรู้จัก อาจจะเป็นเรื่องงาน หรืออาจจะเป็นขนส่งที่สั่งสินค้าออนไลน์ไว้ ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรพลาดก็ได้ ในบางครั้งพอตัดสินใจรับสายกลับกลายเป็นสายที่สร้างความน่ารำคาญใจ จึงต้องเสี่ยงเพื่อที่จะรับสายจากเบอร์ที่ไม่รู้จักตลอด ซึ่งส่งผลกระทบทำให้เกิดอารมณ์หงุดหงิด เสียเวลาเดินออกมาจากห้องประชุมเพื่อมารับสาย เสียเวลาคุยเรื่องสำคัญ และสร้างความอึดอัดได้มากทีเดียว         ดังนั้นการมีแอปพลิเคชั่นที่คอยช่วยเตือนและโชว์เบอร์แปลกก่อนรับสายเป็นตัวช่วยที่ดีมากที่สุดในช่วงสถานการณ์แบบนี้ ช่วยทำให้การดำเนินชีวิตในประจำวันราบรื่นยิ่งขึ้น ลองดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นที่ชื่อว่า Whoscall มีทั้งระบบปฏิบัติการ Android และระบบปฏิบัติการ ‎iOS สามารถดาวน์โหลดได้ฟรี         คุณสมบัติของแอปพลิเคชั่น Whoscall สามารถบอกผู้ใช้แอปพลิเคชั่นถึงรายละเอียดข้อมูลโดยจะปรากฎขึ้นบนหน้าจอโทรศัพท์ในขณะที่มีสายเรียกเข้าทาง ซึ่งสามารถทำให้ตัดสินใจเลือกรับสายที่ต้องการรับและไม่ต้องการรับได้ เช่น แจ้งว่าเป็นเบอร์ของขนส่งสินค้า เบอร์จากธนาคาร เบอร์ขายประกัน เบอร์หลอกลวง เบอร์ก่อกวน หรือทุกเบอร์ที่มีข้อมูลอยู่ในฐานข้อมูล รวมไปถึงการค้นหาเบอร์แบบออฟไลน์ที่ไม่ใช้อินเทอร์เน็ตว่าเป็นเบอร์จากที่ไหน มีข้อมูลรายงานไว้หรือไม่ นอกจากนี้ยังสามารถเลือกบล็อกเบอร์โทรเข้าที่เป็นที่สายรบกวน หรือเบอร์มิจฉาชีพที่ไม่พึงพอใจได้อีกด้วย         เมื่อดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นมาไว้ที่เครื่องสมาร์ทโฟนแล้ว กดอนุญาตให้แอปพลิเคชั่นเข้าถึงรายชื่อและข้อความได้ หลังจากนั้นจะให้ log in เพื่อเข้าสู่ระบบผ่านทาง Facebook หรือ Google ซึ่งในขั้นตอนนี้สามารถเลือกได้ว่าจะ log in หรือไม่ก็ได้ และอย่าลืมกดเปิดการอัพเดตฐานข้อมูลไว้ เพื่อให้แอปพลิเคชั่นอัพเดตข้อมูลให้อัตโนมัติ โดยเบื้องต้นแอปพลิเคชั่นนี้มีฐานข้อมูลมากกว่า 1.6 พันล้านหมายเลขจากทั่วโลก ที่สำคัญสามารถรายงานเบอร์ใหม่ๆ เข้าไปในระบบได้ว่าเบอร์ที่ต้องการใส่ไปในระบบเป็นเบอร์ของบริษัทอะไร เกี่ยวกับเรื่องอะไร หรือเป็นเบอร์มิจฉาชีพโทรมาหลอกลวงแบบไหน เพื่อให้เบอร์เหล่านั้นเข้าไปอยู่ในฐานข้อมูลเบอร์โทรศัพท์ต่อไป         แอปพลิเคชั่นนี้ยิ่งมีผู้ใช้งานมากก็จะช่วยให้มีฐานข้อมูลมากขึ้นเช่นกัน แถมยังช่วยคัดกรองเบอร์โทรให้ทราบล่วงหน้าว่าต้องรับมืออย่างไรกับเบอร์ในกลุ่มมิจฉาชีพ และการใช้งานของแอปพลิเคชั่นนี้ไม่ยุ่งยากเลย ดังนั้นขอแนะนำให้ดาวน์โหลดให้กับผู้สูงอายุ เด็ก หรือผู้ที่ไม่ได้ติดตามข่าวสาร เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 248 รู้เท่าทันการหุงข้าวแบบลดน้ำตาลอย่างง่ายๆ

        ฉบับที่แล้วได้กล่าวถึงหม้อหุงข้าวลดน้ำตาลว่า ไม่สามารถลดน้ำตาลได้ร้อยละ 70 ตามโฆษณา ฉบับนี้เราจะบอกถึงวิธีหุงข้าวแบบธรรมดาที่สามารถลดน้ำตาลได้ง่ายๆ เพียงแค่เปลี่ยนวิธีหุงข้าว เรามารู้เท่าทันกันเถอะวิธีการหุงข้าวแบบธรรมดาที่สามารถลดน้ำตาลในข้าวได้        การหุงข้าวแบบที่ช่วยลดน้ำตาลนั้น มีงานวิจัยใน Pubmed ปี ค.ศ. 2015 ว่า ข้าวที่หุงสุกแล้ว เมื่อนำมาทำให้เย็นลง จะทำให้แป้งของข้าวเกิดการคืนตัว (retrogration) ทำให้เพิ่มปริมาณของแป้งและผลิตภัณฑ์ของแป้งที่ทนต่อการย่อยด้วยเอนไซม์หรือแป้งที่ให้พลังงานต่ำ (resistant starch) ซึ่งจะไม่สามารถถูกย่อยด้วยเอนไซม์และถูกดูดซึมในลำไส้เล็กของมนุษย์ แป้งที่ทนต่อการย่อยจึงเป็นเหมือนเส้นใยอาหาร สามารถผ่านเข้าไปถึงลำไส้ใหญ่และถูกย่อยโดยจุลินทรีย์ในลำไส้ใหญ่ ได้ผลิตภัณฑ์เป็นกรดไขมันสายสั้นๆ ที่เอื้อต่อการเจริญของจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อลำไส้ ช่วยสร้างความแข็งแรงให้แก่เซลล์ผนังลำไส้ใหญ่  ผลจากการย่อยที่เกิดขึ้นอย่างช้าๆ ทำให้ร่างกายได้รับปริมาณพลังงานในระดับต่ำกว่าปกติ หรือทำหน้าที่คล้ายกับใยอาหาร ซึ่งหากบริโภคเป็นประจำจะช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคต่างๆ เช่น เบาหวาน อ้วน หัวใจ และมะเร็ง เป็นต้น         งานวิจัยได้ศึกษา ข้าวขาวที่หุงสุกใหม่ๆ (ข้าวควบคุม) ข้าวขาวที่หุงสุกแล้วทิ้งให้เย็นในอุณหภูมิห้องเป็นเวลา 10 ชั่วโมง (ข้าวทดลอง I) และข้าวขาวที่หุงสุกแล้วแช่ตู้เย็นอุณหภูมิ 4 องศาเซนติเกรด เป็นเวลา 24 ชั่วโมง แล้วนำมาอุ่นใหม่ (ข้าวทดลอง II)  ผลการศึกษาพบว่า แป้งที่ทนต่อการย่อยในข้าวควบคุม ข้าวทดลอง I และข้าวทดลอง II เป็น 0.64 กรัม/100 กรัม, 1.30 กรัม/100 กรัม และ 1.65 กรัม/100 กรัม ตามลำดับ และเมื่อทำการศึกษาผลต่อการขึ้นของระดับน้ำตาลในเลือดได้รวดเร็วเพียงใดภายใน 2-3 ชั่วโมง หลังการบริโภคอาหารชนิดนั้น ในอาสาสมัครที่มีสุขภาพดีจำนวน 15 คน พบว่า ข้าวทดลอง II จะมีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำกว่าข้าวควบคุมและข้าวทดลอง I อย่างมีนัยสำคัญ         โดยสรุป การทำให้ข้าวที่หุงสุกเย็นลงจะทำให้เกิดแป้งที่ทนต่อการย่อย การแช่ข้าวที่หุงสุกในตู้เย็น (อุณหภูมิ 4 องศาเซนติเกรด) เป็นเวลา 24 ชั่วโมง ก่อนนำมาอุ่นให้ร้อน จะช่วยลดดัชนีน้ำตาลของข้าวเมื่อเทียบกับข้าวที่หุงสุกใหม่ๆ หุงข้าวด้วยน้ำมันมะพร้าวช่วยลดพลังงานจากข้าวได้         นอกจากนี้ ยังมีรายงานจากสถานีวิทยุบีบีซี ว่า นักวิจัยชาวศรีลังกาสามารถลดแคลอรี่ในข้าวได้ร้อยละ 60 โดยการหุงข้าวในน้ำมันมะพร้าวเป็นเวลา 40 นาที ทิ้งให้เย็นและแช่ข้าวในตู้เย็นเป็นเวลา 12 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม คงต้องรอผลการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการที่เชื่อถือได้        สรุป     ข้าวที่หุงสุกแล้ว เมื่อนำไปแช่ในตู้เย็นเป็นเวลา 24 ชั่วโมง จะทำให้แป้งของข้าวกลายเป็นแป้งที่ทนต่อการย่อย และถูกดูดซึมน้อยลงในลำไส้เล็ก มีผลทำให้ระดับน้ำตาลในร่างกายลดน้อยลงเมื่อเทียบกับการกินข้าวที่หุงสุกใหม่ๆ ผู้ที่เป็นเบาหวาน อ้วน จึงควรลองเปลี่ยนวิธีเป็นรับประทานข้าวหุงสุกที่แช่ตู้เย็น และนำมาอุ่นร้อนหรือเปลี่ยนวิธีการหุงข้าวเพื่อช่วยลดน้ำตาล

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 248 ให้รักพิพากษา : ใครอยากกินเด็ก…ยกมือขึ้น

                ชีวิตทางสังคมของคนเรานั้น เป็นประหนึ่งสนามรบที่ประลองพลังกันระหว่างอำนาจของโครงสร้างกฎเกณฑ์แห่งสังคมกับการดำรงอยู่ซึ่งความปรารถนาและตัวตนของปัจเจกบุคคล         และหากเป็นชีวิตทางสังคมของผู้หญิงแล้ว ทั้งชีวิตส่วนตัวและชีวิตการทำงานก็คือสนามทดสอบพลังของสังคมและปัจเจกอันเข้มข้นเช่นเดียวกัน ยิ่งเมื่ออิสตรีต้องผกผันเข้าไปใช้ชีวิตในสนามทางสังคมที่บุรุษเพศยึดกุมมาก่อนด้วยแล้ว บททดสอบที่ผู้หญิงต้องเผชิญก็ดูจะยิ่งเข้มข้นดุเด็ดเผ็ดมันทับทวีคูณมากขึ้นไปอีก         และสนามทดสอบพลังทางสังคมเฉกเช่นนี้ก็คือ ส่วนเสี้ยวหนึ่งในชีวิตของนางเอกสาวอย่าง “ทิชากร” หรือที่ใครต่อใครก็เรียกชื่อเล่นของเธอว่า “ทิชา” ทนายความเวิร์คกิ้งวูแมนแห่งบริษัทข้ามชาติด้านกฎหมายอย่าง “รอสแอนด์ฮาร์วีย์”         เพราะเป็นสาวสวย เก่ง และทุ่มเทให้กับงาน…งาน…และงาน ชีวิตส่วนตัวของทนายทิชาจึงดำรงสถานภาพโสดมานาน แม้จะมีผู้ชายมากหน้าหลายตาวนเวียนเข้ามาในชีวิต แต่เพราะความผิดหวังจากอัยการหนุ่ม “นรา” อดีตคนรักเก่าของเธอ ทิชาก็เลือกที่จะไม่ผาดตามองหรือคบหากับผู้ชายคนใดอีก         หากในสนามกีฬามีกฎกติกามารยาทซึ่งกำหนดให้ผู้แข่งขันต้องเล่นไปตามเกมฉันใด ในสนามชีวิตของผู้หญิง ก็มีข้อกำหนดต่างๆ ที่สังคมขีดเขียนให้ปัจเจกบุคคลอย่างทิชาต้องเดินไปตามเกมเฉกเช่นเดียวกันฉันนั้น         ในสนามของหน้าที่การงานนั้น เมื่อผู้หญิงอย่างทิชาต้องย่างก้าวเข้าสู่โลกแห่งวิชาชีพทนายความ อันเป็นปริมณฑลที่ผู้ชายได้ยึดกุมและเขียนกฎกติกาการเล่นในพื้นที่ดังกล่าวมาอย่างยาวนาน ดังนั้นจึงเลี่ยงไม่ได้ที่ทนายทิชาต้องถูกทดสอบจากอำนาจแห่งกฎหมาย สถาบันศาลสถิตยุติธรรม หรือรวมไปถึงภาระงานที่เธอต้องรับผิดชอบไปตามวัฒนธรรมองค์กรของบริษัทต้นสังกัด        บททดสอบลำดับแรกสุดนั้น เมื่อทิชาตัดสินใจว่าจะก้าวเดินหน้าสู่แวดวงอาชีพทนายความ เธอไม่เพียงแต่ต้องอดทนกับเสียงคัดค้านอย่างแข็งขันจาก “คุณนายชุมพร” ผู้เป็นมารดา ซึ่งคาดหวังให้บุตรสาวได้แต่งงานกับผู้ชายดีๆ สักคนมากกว่า         และในขณะเดียวกัน เมื่อการลงโรงว่าความในศาลครั้งแรกที่นางเอกคนสวยต้องพบกับความปราชัยแบบยับเยิน ทิชาก็ยังต้องเผชิญกับคำปรามาสสบประมาทจากนราแฟนเก่าซึ่งตัดสินวินิจฉัยว่า เธอไม่มีคุณสมบัติใดเลยที่เหมาะสมกับอาชีพนักกฎหมาย จนกลายเป็นเสียงก้องเอคโค่ไปมาในห้วงสำเหนียกของทิชาว่า “ผู้หญิงอย่างเธอเป็นทนายไม่ได้…!!!”         ลำดับถัดมา แม้ในเวลาต่อมาทิชาจะพิสูจน์ตนเองว่าเป็นทนายความที่ผู้คนยอมรับในความรู้ความสามารถในคดีครอบครัวก็ตาม แต่สำหรับเกมที่ผู้หญิงต้องเล่นในสนามแห่งวิชาชีพนักกฎหมายนั้น ทิชาก็ต้องแข่งขันห้ำหั่นเพื่อเอาชนะการว่าความในคดีต่างๆ ควบคู่ไปกับการลงช่วงชิงชัยเหนือเพื่อนร่วมงานสาวคู่แข่งอย่าง “คามีเลีย” เพื่อให้ได้ตำแหน่งหุ้นส่วนเลือดใหม่หรือพาร์ตเนอร์ยังบลัดของต้นสังกัดบริษัทแม่         ไม่เพียงเท่านั้น แวดวงอาชีพทนายความยังได้สร้างธรรมเนียมปฏิบัติให้ตัวละครหญิงผู้เล่นอยู่ในสนามนี้ ต้องละทิ้งอารมณ์ความรู้สึกแบบที่อิสตรีทั้งหลายพึงมี ด้วยเหตุฉะนี้ ทิชาจึงถูกคาดหมายให้คิดและกระทำอยู่บนตรรกะของเหตุผลกับพยานหลักฐานเชิงประจักษ์เท่านั้น และไม่ว่าเบื้องลึกของผู้หญิงจะเป็นเพศซึ่งผูกพันเอื้ออาทรกับความเป็นมนุษย์มากเพียงไร แต่ท้ายที่สุด “เหตุผล” ก็จะเป็นสิ่ง “พิพากษา” หาใช่ “อารมณ์” ของปัจเจกบุคคลแต่อย่างใด         ถ้าหากโลกแห่งหน้าที่การงานเป็นเวทีประลองยุทธ์อันเข้มข้นระหว่างสตรีเพศกับกฎกติกาของสังคมแล้ว สนามแห่งชีวิตส่วนตัวของผู้หญิงก็ถือเป็นพรมแดนแห่งการเผชิญหน้าต่อกรกันระหว่างปัจเจกกับความคาดหวังของสังคมที่คุกรุ่นไม่ยิ่งหย่อนกันเลย         ทั้งนี้ ในขณะที่ความรักและการมีชีวิตคู่ถูกทำให้เป็นอุดมคติของหญิงชายทั่วไป แต่อันที่จริงแล้ว สังคมเองก็ได้ผลิตชุดมายาคติหรือกรอบวิธีคิดหลักที่ให้คำอธิบายด้วยว่า การครองคู่ที่ถูกต้องของผู้หญิง (เยี่ยงนางเอกละครแทบจะทุกเรื่อง) นั้น ควรลงเอยกับผู้ชายที่เหมาะสมทั้งฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม วุฒิภาวะ และที่สำคัญคือ อายุของผู้ชายคนนั้นก็ควรจะสูงวัยกว่าผู้หญิงด้วยเช่นกัน         ดังนั้น เมื่อมีตัวเลือกเป็นชายหนุ่มอย่าง “เบนจามิน” หรือ “บอสเบน” ผู้เป็น MD ใหม่ของบริษัท มาคอยตาม “ขายขนมจีบ” ให้กับทิชา หนุ่มหล่อภูมิฐาน การศึกษาดี และมีตำแหน่งหน้าที่ที่สูงกว่าเฉกเช่นบอสเบนนี้ ก็ทำให้ใครต่อใครพากันมองว่า เคมีของทั้งคู่ช่างเหมาะเจาะลงตัวเสียนี่กระไร         แต่สำหรับทิชาแล้ว เหตุผลกับความคาดหวังของสังคมก็อาจจะเป็นเรื่องหนึ่ง ทว่าอารมณ์ความรู้สึกจริงๆ ของเธอกลับเลือกมีใจให้กับเด็กฝึกงานหนุ่มรุ่นน้องหน้าตาดูมึนๆ อย่าง “คิว” ที่ทั้งคุณวุฒิและวัยวุฒิช่างเป็นรองบอสเบนแบบไม่เห็นฝุ่นกันเลยทีเดียว         แม้อำนาจของสังคมจะกำหนดนิยามให้ผู้หญิงที่รักใคร่และคบหากับชายหนุ่มที่อ่อนวัยกว่า ว่าเป็นพวก “ไก่แก่แม่ปลาช่อน” บ้าง หรือ “โคแก่ริจะกินหญ้าอ่อน” บ้าง หรือเป็นพวก “กินเด็กเพื่อให้ตนเป็นอมตะ” บ้าง แต่เพราะคิวเป็นเด็กหนุ่มที่ทิชาบอกมารดาว่า “คิวเป็นคนเดียวที่ไม่เคยเลิกเชื่อมั่นในตัวหนู ในวันที่หนูหมดความเชื่อมั่นในชีวิต คิวเป็นคนคนเดียวที่อยู่เคียงข้างในวันที่แย่ที่สุด” จึงไม่ยากนักที่ทิชาจะเลือกเขียนใบสมัครเข้า “แก๊งกินเด็ก” แม้ในส่วนลึกจะหวั่นๆ กับสายตาของสังคมที่จับจ้องครหาเธออยู่ก็ตาม         จนกระทั่งมาถึงการตัดสินใจครั้งสำคัญกับจุดพลิกผันที่ชีวิตส่วนตัวกับชีวิตการงานของทิชาได้ผูกเกลียวเข้าหากัน เมื่อ “พงษ์” บิดาของคิว ถูกจัดฉากโดย “เรวัติ” ว่าเป็นผู้ต้องหาฆ่า “พิม” อดีตภรรยาของตน และบริษัทรอสแอนด์ฮาร์วีย์ได้รับมอบหมายให้เป็นทีมทนายความของคู่กรณี โดยมีกฎของวิชาชีพทนายความที่ต้องเลือกยืนอยู่บนผลประโยชน์ของลูกความ แม้ว่านั่นจะทำให้คนบริสุทธิ์ต้องติดคุกก็ตาม         เมื่อต้นสังกัดบีบให้ทิชาต้องสั่งฟ้องพ่อของคิว เธอก็ได้ตระหนักรู้ว่า บ่อยครั้งกฎของสังคมก็บิดเบี้ยวไปจาก “เหตุผล” ความถูกต้องชอบธรรมแบบที่ควรจะเป็น แต่มันกลับเป็นอำนาจที่มีพลานุภาพ “พิพากษา” ชะตากรรมของคนเราได้อีกต่างหาก ทิชาจึงตกลงใจรับเป็นทนายความสู้คดีให้กับพงษ์ และยื่นใบลาออกจากบริษัท พร้อมกับคำพูดที่เธอบอกกับใครต่อใครว่า “นี่เป็นครั้งแรกที่ทิชามั่นใจว่าใช้อารมณ์ตัดสินใจได้ถูกต้อง”         ในตอนจบของเรื่อง หลังจากทิชาได้สมาทานตนเข้าสังกัด “แก๊งกินเด็ก” ตอบรับรักกับหนุ่มรุ่นน้องอย่างคิวแล้ว ฉากที่ทั้งคู่เดินถือชุดครุยทนายความขึ้นบันไดเข้าศาลอาญา เหมือนจะถามเป็นนัยได้ว่า ระหว่างศาลหรือเหตุผลความคาดหวังที่สังคมกำหนด กับความปรารถนาและอารมณ์ของปัจเจกบุคคล ในบางครั้งและบางกรณีการเลือก “ให้รักพิพากษา” ก็อาจจะเป็นคำตอบให้ผู้หญิงฉุกคิดมาเป็นตัวเลือกของชีวิตได้เช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 248 คุณหมอเตือนภัย กล่องสวยซ่อนคม ชวนสังคมเรียกร้องมาตรฐานผลิตภัณฑ์ปลอดภัย

...เช้าวันหนึ่งในห้องทำงาน คุณหมอแคนหยิบกล่องเหล็กลายน่ารักออกมาจากกระเช้าของขวัญ นึกชมว่ากล่องหนาดี ลายน่ารักน่าเก็บ ก่อนจะตัดสินใจเปิดออกดูว่าข้างในมีอะไร โดยไม่คาดคิดว่าจะโดนฝากล่องด้านในที่คมราวมีดคัตเตอร์นั้นบาดจนนิ้วโป้งขวาต้องพิการชั่วคราว...         ฉลาดซื้อฉบับนี้พาไปพบกับหมอแคนหรือผู้ช่วยศาสตราจารย์แพทย์หญิงสายพิณ หัตถีรัตน์ หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เจ้าของเรื่องชวนหวาดเสียวนี้ ในฐานะผู้เสียหายที่พร้อมเปิดใจเล่าถึงเหตุการณ์วันนั้นเพื่อเตือนภัยผู้บริโภค และเรียกร้องให้ผู้ประกอบการเข้มงวดในมาตรฐานผลิตภัณฑ์ปลอดภัยมากขึ้นด้วย   ตอนโดนบาดยังงงว่าบาดได้ยังไง         เช้าวันศุกร์ที่ 25 มิถุนายน หมอหยิบกล่องเหล็กใส่เครื่องดื่มซองที่เป็นสี่เหลี่ยมลายการ์ตูนน่ารักๆ มาเปิด เห็นฝาหนาๆ เหมือนจะปลอดภัย แต่ฝาที่ทำหนาๆ นี่คือเป็นสองชั้นที่งับกันอยู่ แล้วคงจะประกอบมาไม่ดี ฝาที่ดูหนาๆ นี้ไปติดกับตัวกล่องเอง จึงเปิดไม่ออก พอพยายามจะเปิด ฝามันเลยแยกออกจากกัน ฝาท่อนล่างก็สะบัดมาบาดนิ้วโป้งขวาเป็นแผล ตอนนั้นยังงงๆ อยู่ว่าบาดได้ยังไง แล้วก็เพิ่งมาเห็นว่าฝาชั้นล่างนี้คมบางเหมือนมีดเลย        ตอนแรกก็คิดว่าโดนบาดธรรมดา แผลประมาณ 1 เซนติเมตร ก็ไปล้างน้ำแล้วกดไว้ พอดีอยู่โรงพยาบาลก็เลยลงไปห้องพยาบาลทำแผล แล้วรีบไปตรวจคนไข้ครึ่งวันเช้าก่อน เสร็จแล้วก็ไปเปิดแผลดูว่าหายหรือยัง ปรากฏว่าเลือดก็ยังออกอยู่ เอ๊ะ ชักยังไง คราวนี้ไปห้องฉุกเฉินเลย คุณหมอมาตรวจ เลือดยังออกอยู่ แล้วพอกระดกปลายนิ้วไม่ได้ ก็เลยรู้ว่าเอ็นขาด ขาดเกือบ 90% เหลือติ่งอยู่นิดเดียว คุณหมอศัลกรรมพลาสติกก็มาเย็บเอ็นให้ หลังจากเย็บแล้วต้องให้เอ็นกระดกขึ้น ไม่ให้ขยับจนกว่าเอ็นจะติด จึงต้องใส่เฝือกนิ้วโป้งอยู่ 2 เดือน        จริงๆ อยากแนะนำว่าต่อไปถ้าใครโดนบาดในลักษณะแบบนี้ ให้สังเกตว่าหากเลือดไม่หยุด หรือกระดกนิ้วไม่ได้ ควรหาหมอเพื่อประเมินว่าแผลนั้นลึกขนาดไหน อย่าชะล่าใจ เพราะเห็นแค่แผลเล็กๆ แล้วปิดไว้เฉยๆ อาจช้าเกินไป ถ้าเกิดบาดลึกจนเอ็นขาด เอ็นจะหดแล้วเย็บไม่ได้         หลังจากถอดเฝือกออกแล้ว หมอเวชศาสตร์ฟื้นฟูกับทางกายภาพบำบัด เขาก็มีวิธีรักษาหลายอย่าง มีอัลตราซาวด์เพื่อให้แผลไม่ตึงมากไป ทำเลเซอร์ที่ใต้ชั้นผิวหนังเพื่อไม่ให้พังผืดมาเกาะจนนิ้วขยับไม่ได้ ต้องมีแช่น้ำร้อน มีดัด ขยับข้อ หมอให้ทำอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ  2-3 ครั้งต่ออาทิตย์ ครั้งละราว 2 ชั่วโมง เจ็บนิ้วเดียว สะเทือนถึงงานและชีวิตหลายอย่าง         แคนเป็นหมอเวชศาสตร์ครอบครัวค่ะ ตรวจคนไข้ทั่วไป แล้วช่วงนั้นโควิดกำลังระบาดพอดี ใครๆ ก็แบบว่ามะรุมมะตุ้ม แต่มือขวาเราใส่เฝือกอยู่ เขียนหนังสือไม่ได้เลย ไปโรงพยาบาลบ้างแต่ว่าตรวจคนไข้ไม่ได้ ทำให้ช่วยทีมงานได้ไม่ค่อยเต็มที่ ทำได้แต่งานเอกสารหรืองานอะไรที่ใช้คอมพิวเตอร์แทน ช่วงนั้นแคนใช้เป็นวันลาป่วย แล้วต้องยกให้อาจารย์คนอื่นทำหน้าที่รักษาการหัวหน้าภาคแทนด้วย เพราะลงลายเซ็นไม่ได้ เซ็นสั่งการอะไรไม่ได้เลย         การใช้ชีวิตประจำวันยากมาก เวลาจะทำอะไรก็ต้องใช้มือซ้ายที่ไม่ถนัดเป็นหลัก หัวไหล่ทั้งสอง ข้างก็เจ็บอยู่ก่อนแล้วด้วย ยิ่งจำเป็นต้องใช้หัวไหล่ซ้ายมากขึ้น ก็ยิ่งเจ็บเพิ่มอีก ทีนี้พอใส่เฝือกแล้วข้อมือมันต้องแอ่นๆ เพื่อให้เอ็นที่เย็บไว้ไม่ตึง เฝือกก็จะอยู่ในท่าที่ไม่ปกติ ก็ทำให้มือเราเจ็บเป็นทีๆ นอนไม่ค่อยได้ขับรถก็ไม่ได้ เวลาไปไหนมาไหนต้องรบกวนคนอื่นเขา อย่างถ้าเจ้าหน้าที่เขาจะไปโรงพยาบาลแล้วทางเดียวกัน ก็ให้เขาช่วยมารับเราไปด้วยกัน         แม้ตอนนี้จะถอดเฝือกออกมาสักระยะแล้ว แต่นิ้วโป้งก็ยังงอได้ไม่เต็มที่ หยิบของชิ้นใหญ่ๆ พอได้ จับปากกาได้แต่ยังเขียนหนังสือไม่ค่อยคล่อง อยากเตือนภัยเรื่องนี้ เรื่องที่เหมือนจะไม่มีอะไร         วันหนึ่งได้คุยกับเจ้าหน้าที่ที่มาทำกายภาพให้ เขาก็บอกว่าเคยโดนกล่องแบบนี้บาดเหมือนกัน แต่เขาโดนอีกด้านหนึ่งของนิ้วโป้ง เป็นแค่แผลเฉยๆ ไม่โดนเอ็น อ้าวแสดงว่าเรื่องนี้ไม่ธรรมดาแล้วก็เลยฉุกคิดว่านี่ไม่ใช่แค่เราโดนคนเดียวนะ คนอื่นก็โดนมาแล้วด้วย น่าจะต้องเตือนกันแล้วล่ะ โดยเฉพาะที่เป็นห่วงคือเด็กๆ เพราะกล่องดีไซน์น่ารัก เด็กๆ น่าจะไปหยิบจับได้บ่อย แล้วขนาดมือเรายังเจ็บขนาดนี้ ถ้ามือเด็กนี่ขาดแน่นอน จึงรู้สึกว่ากล่องแบบนี้ไม่ปลอดภัย การออกแบบการผลิตน่าจะมีปัญหา         ทีแรกนั้นแคนจะทิ้งกล่องใบนี้ไปแล้วนะ แต่นึกได้ว่าน่าจะต้องเก็บเอาไว้เตือน ใครมาถามก็เอาให้ดูว่ากล่องหน้าตาแบบนี้ระวังด้วยนะ เพราะหลังจากโดนบาด ทุกคนในภาควิชาก็ตกใจว่าโดนบาดได้ไงเนี่ย แต่พอมาดูกล่อง ทุกคนก็บอกว่ามันคมยังกับมีดโกน การประกอบแบบนี้ไม่ค่อยดีเลย น่าจะต้องแก้ไข        แคนคิดว่าถ้าเราเจอผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัย ก็ควรจะมีช่องทางแจ้งกลับไปที่บริษัทผู้ผลิต เพื่อให้เขาแก้ไขให้ดีขึ้น ไม่อย่างนั้นถ้าเกิดผลิตมาในจำนวนมหาศาล ก็ยิ่งมีโอกาสเกิดอันตรายกับผู้บริโภคคนอื่นๆ มากขึ้นไปอีก           ในเคสนี้ แคนเป็นหมอจึงเข้าถึงการตรวจรักษาได้เร็ว แล้วก็ใช้สิทธิ์ข้าราชการเบิกค่ารักษาได้ แต่ก็ยังคิดว่าจริงๆ แล้วผู้ประกอบการควรชดเชยความเสียหายให้ด้วยไหม เพราะแคนก็ถามกับตัวแทนประกันที่ทำไว้ เขาก็บอกว่าอาจารย์ไม่ได้แอดมิด ก็เบิกไม่ได้ เพราะฉะนั้นคนที่คิดว่าประกันจะจ่าย ก็อาจไม่จ่าย ซึ่งแคนไม่ได้ติดใจเรื่องเงินนะ แต่หมายความว่าถ้าเป็นคนอื่นที่เขาไม่มีเงินเดือน ไม่มีอะไรอื่น แล้วเขาไม่สามารถทำงานได้ตั้ง 2 เดือนอย่างนี้ มันก็จะยาก ของแคนไม่เป็นไรก็อยู่บ้านไป รู้ว่าตัวเองใช้สิทธิผู้บริโภคได้ แต่ไม่รู้จะเริ่มยังไง         แคนคิดว่าน่าจะมีผู้บริโภคอีกหลายคนที่บาดเจ็บจากการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัย บางคนเจ็บน้อยก็ปล่อยผ่านไป แม้บางคนเจ็บมากก็ยังเงียบ ไม่ใช่ว่าเขากลัวอะไรหรอก แต่เพราะว่าไม่อยากยุ่งยากมากกว่า แคนเองก็ต้องการเรียกร้องตามสิทธิ์ แต่ไม่รู้ขั้นตอนว่าต้องทำยังไงบ้าง ก็เลยรู้สึกว่าขนาดเรายังไม่รู้ แล้วคนอื่นเขาจะรู้ไหม ถ้าเป็นคนอื่นก็คงจะรู้สึกว่า ช่างมันเถอะ เย็บแล้วก็เย็บไป เบิกค่ารักษาก็เบิกได้ แต่ว่ามันไม่ถูกไหม ไม่ควรจะต้องให้เป็นภาระของเราอยู่คนเดียว                  จริงๆ แล้วควรมีการส่งเสริมให้ผู้บริโภคมีความรู้เรื่องการใช้สิทธิ์ของตนมากขึ้นว่า ถ้าเขาใช้ผลิตภัณฑ์แล้วไม่ปลอดภัย เขาควรจะต้องทำยังไง หนึ่ง-เก็บวัตถุที่เป็นอันตรายไว้ก่อน สอง-ใบรับรองแพทย์ หรือว่าอะไรที่จะมารับรองเหตุการณ์ว่ามีความเสียหายที่เกิดขึ้น การรักษาต่อเนื่องต้องยาวนานแค่ไหน อะไรอย่างนี้ ซึ่งแคนก็เก็บไว้หมดนะ ทีนี้พอเก็บแล้วจะให้ร้องเรียนไปที่ไหนยังไงล่ะ         ตอนนี้แคนก็กำลังปรึกษากับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่าจะมีช่องทางดำเนินการอย่างไรต่อไป ผู้ประกอบการน่าจะเข้มงวดในมาตรฐานผลิตภัณฑ์ให้ปลอดภัยมากขึ้น        หากลองไปเทียบกับกล่องเหล็กอื่นๆ คือความจริงถ้าเป็นฝาชั้นเดียว เปิดแล้วก็จบกันไป แต่ว่าอันนี้ตอนแรกยังชมเลยว่าอุตส่าห์ทำฝาหนาน่าจะดี ดูปลอดภัย แล้วก็น่าเก็บด้วย         ถ้าจะถามว่าอุบัติเหตุครั้งนี้เกิดจากความประมาทของเราหรือเปล่า ตอบเลยว่าไม่ใช่แน่นอน        เพราะดูจากภายนอกกล่องไม่เห็นเลยว่าจะมีส่วนไหนที่คมหรืออันตรายจนต้องระวัง เราก็เปิดเหมือนเปิดฝากล่องธรรมดา ไม่ได้เปิดพิสดารตรงไหน ไม่ได้ไปงัดมุมอะไร เมื่อเราเปิดปกติ มันก็ควรจะเปิดออกได้ปกติ แต่ทีนี้พอผลิตภัณฑ์มันประกอบมาไม่แน่นหนา หรือไม่รู้อะไรที่มันทำให้เปิดแล้วฝามันแยกออกจากกัน แล้วมางับมือเราได้อย่างนี้ แถมข้างล่างมันคมมากไง ถ้าเขาจะทำฝาหนาขนาดนี้ ตัวชั้นล่างเขาอาจจะไม่ทำขอบคมก็ได้         เราจะต้องเตือนผู้ประกอบการ ไม่งั้นผู้ประกอบการจะไม่แก้ไขผลิตภัณฑ์ รอให้มีคนบาดเจ็บรายถัดๆ ไปนี่มันก็อาจไม่ได้เป็นแค่แบบแคนไง ถ้าเขาสูญเสียนิ้วโป้ง จะเสียหายมาก ยิ่งถ้าเป็นนิ้วโป้งข้างที่ถนัดด้วย         ตอนที่แคนใส่เฝือกอยู่ก็คิดว่าจะบอกบริษัทยังไง บางทีเขาอาจไม่รู้ว่าของๆ เขาไม่ปลอดภัย เราก็อยากจะบอกพร้อมแสดงให้เห็นถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นด้วยว่า ผลิตภัณฑ์ที่คุณคิดว่าปลอดภัย แต่จริงๆ แล้วมันไม่ปลอดภัยนะ คุณควรจะปรับปรุงแก้ไขผลิตภัณฑ์ให้ปลอดภัยมากขึ้น จริงๆ ถ้าผลิตออกมาให้ปลอดภัยตั้งแต่ต้นทางได้ก็จะดีที่สุด ผู้บริโภคทุกคนควรได้รับความปลอดภัยจากการใช้ผลิตภัณฑ์         เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ทำให้แคนคิดว่า        หนึ่ง ทุกคนควรจะช่วยกันดูผลิตภัณฑ์เหล่านี้เพื่อให้สังคมปลอดภัยขึ้น อะไรที่เราประสบเหตุ เราต้องสามารถเรียกร้องได้ว่ามันไม่ควรจะเกิดไหม สังคมควรปลอดภัยกว่านี้        สอง ทางบริษัทต่างๆ ควรจะมีช่องทางที่เป็นสาธารณะ ให้ผู้บริโภคบอกได้ว่า ถ้าคุณเจออะไรแบบนี้ให้คุณบอกมาที่ตรงไหน พร้อมพยานหลักฐานอะไรบ้าง หรือว่าพร้อมรูปถ่าย หรือว่าพร้อมรายละเอียดอะไรบ้างที่ต้องการ เพื่อให้เป็นกิจจะลักษณะมากขึ้น แล้วก็ทำให้สังคมดีขึ้น         แคนเชื่อว่าทุกเสียงสะท้อนของผู้บริโภคมีพลังพอที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นได้ และผู้บริโภคทุกคนควรได้รับความปลอดภัยจากการใช้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ มากขึ้นด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 248 #ถ้าการเมืองดี

        ในช่วงเวลาหนึ่งของปี 2563 มีแฮชแท็กในโลกออนไลน์ว่า #ถ้าการเมืองดี เกิดเป็นกระแส ซึ่งเป็นเสมือนการแชร์ไอเดียกันว่าหากประเทศไทยการเมืองดี คุณภาพชีวิตและสังคมไทยจะเป็นอย่างไร         ทันทีที่แฮชแท็กนี้ถูกนำเข้าสู่โลกออนไลน์ ชาวโซเชียลจำนวนมากช่วยกันดันจนแฮชแท็กนี้ติดอันดับต้นๆ ของทวิตเตอร์ และกับเรื่องเด่นหลายเรื่อง เช่น การศึกษาที่เด็กควรได้เรียนอย่างอิสระไม่ต้องถูกบังคับด้วยกฎหมายของคนยุคเก่า การรักษาพยาบาลควรดีกว่านี้คนจะได้ไม่ต้องมาเข้าคิวรอหมอนัดข้ามคืน รวมถึงถ้าการเมืองดีคนไทยจะได้ไม่ต้องทนใช้รถโดยสารเก่า มีระบบขนส่งสาธารณะที่ดี มีฟุตบาททางเท้าได้มาตรฐาน เดินได้ปลอดภัย ซึ่งสิ่งเหล่านี้คงเป็นความเชื่อและความฝันของคนจำนวนมากที่คิดว่า ถ้ากรุงเทพมีระบบขนส่งสาธารณะดีบริการทั่วถึงเพียงพอ การจราจรบนท้องถนนเบาบางลง ผู้คนยอมจอดรถยนต์ส่วนตัวไว้ที่บ้านแล้วออกมาใช้บริการขนส่งสาธารณะอย่างที่ในต่างประเทศนิยมใช้กัน ผลประโยชน์ที่ตามมาคือ มลภาวะเป็นพิษทางอากาศจะลดน้อยลง คุณภาพชีวิตคนเมืองและสิ่งแวดล้อมจะดีขึ้น ระบบเศรษฐกิจจะเดินไปข้างหน้าอย่างไร้รอยต่อ ผู้คนจะมีความสุข ได้เดินบนฟุตบาทอย่างปลอดภัย ปั่นจักรยานโดยไม่ต้องกลัวรถมาชนท้าย นั่งรถเมล์ต่อรถไฟฟ้าไปทำงานแบบมีโปรโมชั่นส่วนลด ที่สำคัญจะไม่มีใครต้องมาเสียเวลารถติดเปลืองพลังงานอยู่บนถนนแบบไร้คุณค่าเหมือนทุกวันนี้         แล้วสิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นจริงได้ไหม? เพราะปัจจุบันระบบขนส่งสาธารณะยังไม่สามารถทำให้ไร้รอยต่อได้จริง อีกทั้งคนส่วนใหญ่ก็ยังต้องเดินออกจากที่พักในระยะทางมากกว่า 1,000 เมตร เพื่อมาที่ป้ายรถเมล์ คุณภาพรถเมล์ยังสวนทางกับราคาค่าบริการ คนรายได้น้อยที่ต้องการใช้รถไฟฟ้ายังไม่มีโอกาสได้ใช้บริการเพราะสู้ราคาไม่ไหว เพราะค่าโดยสารรถไฟฟ้าเมืองไทยนั้นติดอันดับแพงที่สุดในโลกเมื่อเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำกับค่าครองชีพ          ในบรรดาของที่แพงขึ้นๆ นั้น ค่ารถไฟฟ้าเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนเพราะขึ้นราคามาตั้งแต่ต้นปี และยิ่งซ้ำเติมความเดือดร้อน เมื่อผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอสประกาศแจ้งยกเลิกตั๋วรายเดือน 30 วัน อ้างว่าเป็นโปรโมชั่นส่วนลดของบริษัทมานาน 15 ปีแล้ว และได้สำรวจพฤติกรรมของผู้บริโภคมาแล้ว พบว่า พฤติกรรมการเดินทางของผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลง การเดินทางที่หลากหลายขึ้น อีกทั้งที่ผ่านมาสถานการณ์โควิด 19 ส่งผลให้ผู้โดยสารไม่สามารถวางแผนการเดินทางล่วงหน้าได้นานแบบเมื่อก่อน ทำให้ไม่ตอบโจทย์ผู้บริโภค จึงต้องยกเลิกโปรโมชั่นนี้        ฟังเหตุผลของบีทีเอสแล้วคงต้องซาบซึ้งใจในความห่วงใยที่มีต่อผู้โดยสาร แต่การอ้างถึงผลกระทบจากพฤติกรรมการเดินทางของผู้โดยสารที่เปลี่ยนแปลงในช่วงสถานการณ์โควิด 19 นั้นไม่น่าจะฟังขึ้น เพราะภายใต้สถานการณ์โควิด 19 ทุกชีวิตทุกระบบของระบบขนส่งสาธารณะล้วนได้รับผลกระทบเหมือนกัน ประกอบกับมาตรการล็อคดาวน์กรุงเทพทำให้อัตราการใช้ขนส่งสาธารณะมีจำนวนน้อยลดลง แต่เมื่อรัฐบาลประกาศคลายมาตรการล็อคดาวน์จำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้าก็เริ่มกลับมาคึกคักเพิ่มมากขึ้น การอ้างพฤติกรรมของผู้โดยสารช่วงล็อคดาวน์จึงไม่น่าจะเป็นเหตุผลเพียงพอ หรือการตัดสินใจครั้งนี้อาจจะมีเหตุผลอื่นแฝงซ่อนอยู่….?         การยกเลิกโปรโมชั่นตั๋วรายเดือนนี้ นอกจากไม่ได้ช่วยเหลือลูกค้าประจำของบีทีเอสเองแล้ว ยังเป็นการผลักให้มิตรกลายเป็นศัตรู ซ้ำเติมสร้างวิกฤตใหม่ ผลักภาระให้กับประชาชนต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่เพิ่มขึ้น เพราะคนที่เลือกใช้บริการตั๋วรายเดือนส่วนใหญ่ คือ ลูกค้าประจำหรือคนที่เดินทางบ่อยเกือบทุกวัน ซึ่งถือว่าค่าโดยสารบีทีเอสเป็นหนึ่งในรายจ่ายประจำวันอยู่แล้ว ที่สำคัญการยกเลิกตั๋วรายเดือนส่งผลโดยตรงให้คนส่วนใหญ่ต้องเสียค่าโดยสารเพิ่มขึ้น บางรายเพิ่มขึ้นเกือบ 100% จนหลายคนเริ่มตั้งคำถามว่า “บีทีเอสกำลังจับผู้บริโภคเป็นตัวประกันต่อรองรัฐบาลเพื่อต่อสัญญาสัมปทานใช่หรือไม่” เพราะที่ผ่านมาบีทีเอสได้พยายามออกมาทวงหนี้กรุงเทพมหานครที่ยังไม่ต่อสัญญาสัมปทาน (ตามที่คุยกันไว้แล้ว) จนโด่งดังไปทั่วโลก และกดดันรัฐบาลให้เร่งรีบพิจารณาเรื่องนี้โดยเร็วที่สุด แต่เรื่องก็ยังไม่ไปไหน         แม้ต่อมาผู้บริหารบีทีเอสจะออกมาปฏิเสธทันทีว่า การยกเลิกตั๋วรายเดือนไม่เกี่ยวข้องกับปัญหาการต่อสัญญาสัมปทานกับกรุงเทพมหานครที่ยังไม่มีข้อยุติ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการยกเลิกตั๋วรายเดือนมีผลเชื่อมโยงกับปัญหาการต่อสัญญาสัมปทานจริง และเป็นเรื่องผลประโยชน์ทางการเมืองใช่หรือไม่?  โดยมีข้อเท็จจริงที่กรุงเทพมหานครติดหนี้ค้างจ่ายบีทีเอสเป็นเงินกว่า 32,000 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าจ้างเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว หมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต และแบริ่ง – เคหะสมุทรปราการ จำนวนมูลหนี้รวม 1.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางแล้ว และยอดหนี้ค่าจ้างก่อสร้างงานระบบอีกกว่า 20,000 ล้านบาท ที่ยังไม่ได้ฟ้องต่อศาลแต่คาดหมายว่าจะต้องฟ้องต่อในอนาคต        ล่าสุดกระทรวงมหาดไทยตัดสินใจถอนเรื่องการต่อสัญญาสัมปทานบีทีเอสออกจากวาระเพื่อพิจารณาของคณะรัฐมนตรี โดยมีสาเหตุสำคัญ คือ กระทรวงมหาดไทยยังไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขระเบียบมติคณะรัฐมนตรี อีกทั้งกรุงเทพมหานครยังไม่สามารถชี้แจงหรือตอบคำถามกระทรวงคมนาคมและสังคมได้ว่า เหตุใดจึงต้องยอมเสียเปรียบเอกชนต่อสัญญาสัมปทานให้กับบีทีเอสทั้งที่ยังเหลือเวลาอีก 8 ปี และทำไมต้องเก็บอัตราค่าโดยสารที่ 65 บาท รวมถึงรายละเอียดในสัญญาสัมปทานฉบับใหม่มีผลกระทบต่อรัฐและประชาชนอย่างไร          ถ้าประเด็นคำถามข้อสงสัยต่างๆ ยังไม่ชัดเจน ผลประโยชน์นับแสนล้านจากการต่อสัญญาสัมปทานครั้งนี้ คณะรัฐมนตรี มหาดไทย คมนาคม ก็ยังไม่ควรต้องเร่งรีบพิจารณาอนุมัติ จากเรื่องขนส่งสาธารณะกลายเป็นเรื่องวุ่นๆ ของนักการเมือง สรุปแล้วแบบนี้ประเทศไทยเราการเมืองดีแล้วหรือยัง ?

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 248 ดูแลป้องกันไม่ให้เท้าเกิดเล็บขบ

    ธรรมดาเท้าคนเรานั้นถูกออกแบบมาให้แข็งแรงมาก แต่หากละเลยดูแลได้ไม่ดีพอ เมื่อเกิดปัญหาขึ้นมาก็ทำให้ทรมานและรบกวนการใช้ชีวิตปกติได้อย่างคาดไม่ถึง หนึ่งในปัญหาที่พบบ่อยคือ “เล็บขบ”  ซึ่งสร้างความเจ็บปวดให้ผู้ที่เป็นตั้งแต่เจ็บปวดเล็กน้อยจนอาจอักเสบลุกลามใหญ่โต ทั้งนี้หากดูแลเล็บเท้าได้ดีปัญหานี้จะไม่เกิดขึ้น แต่เชื่อไหมว่าหลายครั้งเกิดจากทำตัวเองแท้ๆ         “เล็บขบ” สาเหตุหลักเกิดจากเล็บที่งอกออกมาใหม่ทิ่มเข้าไปในเนื้อใต้เล็บจนทำให้เกิดอาการเจ็บปวด โดยอาจเกิดจากการตัดเล็บที่ผิดวิธีหรือตัดเล็บที่สั้นเกินไป หรือสาเหตุอื่น เช่น การสวมถุงเท้ารองเท้าที่แน่นเกินไปจนกดเล็บเท้า หรือลักษณะนิ้วเท้าที่โค้งผิดรูปร่างปกติอยู่แล้ว  หรืออุบัติเหตุสิ่งของตกหล่นใส่นิ้วเท้าและไม่ดูแลสุขอนามัยนิ้วเท้าให้ดีจนเกิดเชื้อรา อาการของเล็บขบที่เท้า    - ระยะแรก จะมีอาการปวดและกดเจ็บบริเวณนิ้วเท้าที่มุมริมขอบเล็บข้างใดข้างหนึ่งหรืออาจปวดรอบๆ เล็บทั้ง 2 ข้าง    - ระยะที่สอง เริ่มมีอาการมากขึ้น มีภาวะบวมและแดงรอบๆ บริเวณนิ้วเท้า มีเลือดซึมและเริ่มติดเชื้อ เวลาเดินมีอาการเจ็บที่บริเวณนั้น    - ระยะที่สาม  มีอาการบวมแดง เลือดออก และเจ็บมาก  อาจเกิดหนองซึ่งแสดงถึงอาการติดเชื้อรุนแรงและอาจจะมีกลิ่นเหม็น ผิวบริเวณนิ้วที่อักเสบจะหนาขึ้น วิธีดูแลป้องกันเล็บขบ     เล็บขบสามารถป้องกันได้ ด้วยการดูแลป้องกันตนเอง ดังนี้        1.เปลี่ยนพฤติกรรมการตัดเล็บ คือ ไม่ตัดเล็บโดยเฉพาะเล็บเท้าให้สั้นเกินไป และตัดให้ตรงไม่ตัดให้โค้งและลึกลงขอบหรือซอกของเล็บ งดการตัดที่จมูกเล็บ                         2.อุปกรณ์ที่ใช้ในการตัดเล็บควรฆ่าเชื้อด้วยแอลกอฮอล์หรือไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์อย่างสม่ำเสมอ ทิ้งไว้ให้แห้งก่อนใช้และอาจเช็ดแอลกอฮอล์ที่นิ้วเท้าก่อนลงมือตัด                          3.หลีกเลี่ยงการสวมรองเท้าที่บีบรัดเท้า ใส่รองเท้าให้พอดีไม่คับเกินไปรวมทั้งถุงเท้ากับถุงน่องด้วย และหากเป็นบุคคลที่ต้องทำงานนอกบ้านในพื้นที่เสี่ยง ควรสวมรองเท้านิรภัย        4.หมั่นดูแลทำความสะอาดเท้า และบำรุงด้วยครีมบำรุงผิวสม่ำเสมอ เป็นเล็บขบรักษาอย่างไร ต้องผ่าตัดไหม?     การรักษาเล็บขบในภาวะที่มีการติดเชื้อแล้วต้องมีการผ่าตัดเล็กเพื่อเอาเล็บที่ทิ่มอยู่ใต้ผิวหนังออกเพื่อรักษาเล็บขบ การกำจัดเล็บบางส่วนสามารถป้องกันเล็บขบที่จะเกิดขึ้นได้อีกครั้งในภายหลังถึง 98%  วิธีแรกคือ การเอาเล็บเท้าออกบางส่วน วิธีที่สอง คือ รักษาโดยเอาเล็บเท้าออกทั้งหมด วิธีหลังนี้ใช้สำหรับเล็บขบที่มีเล็บหนาและกดลงไปในผิวหนัง เรียกว่าการรักษาแบบ Matrixectomy และอีกวิธีคือ การยกเล็บขึ้น ใช้สำหรับเคสที่มีอาการน้อย เพียงบวมแดง ไม่มีหนอง โดยใช้ไหมหรือสำลียกขอบเล็บให้พ้นขอบของผิวหนัง เพื่อไม่ให้เล็บงอกเข้าไปในเนื้ออีก               ทั้งนี้ อาการที่บ่งบอกว่าควรจะไปพบแพทย์ คือ ลักษณะอาการเล็บเท้าทิ่มลงไปที่ผิวหนังจนมีสัญญาณขั้นรุนแรง คือ บวมแดงและมีหนอง ควรไปพบแพทย์ทันที ไม่ควรหาวิธีรักษาเองหรือปล่อยไว้ เพราะอาจเสี่ยงต่อการลุกลามไปจนเกิดการติดเชื้อที่กระดูกนิ้วเท้าได้ กรณีผู้ป่วยโรคเบาหวานก็อาจจะเกิดการลุกลามที่รวดเร็วได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 247 รองเท้าเดินป่าแบบหุ้มข้อ

        การมาเยือนของโควิด-19 อาจทำให้หลายคนรู้สึกว่าการเดินห้างมัน “เอ้าท์” และการใช้เวลากับครอบครัวหรือเพื่อนฝูงด้วยการบุกป่าฝ่าลำธารน่าจะเป็นทางเลือกที่น่าสนใจกว่า ฉลาดซื้อฉบับนี้ขอเอาใจ “ขาลุย” อีกครั้งด้วยผลทดสอบเปรียบเทียบรองเท้าเดินป่าแบบหุ้มข้อ สำหรับคนที่กังวลเรื่องความเสี่ยงจากอาการเท้าแพลงเพราะสะดุดรากไม้หรือก้อนหิน (ก่อนหน้านี้เราได้นำเสนอผลการทดสอบรองเท้าเดินป่าแบบธรรมดาไว้ในฉบับที่ 222 แถมด้วย “เป้เดินป่า” ในฉบับที่ 216 และ 245)          ครั้งนี้มีรองเท้าถูกส่งเข้าแข่งขันทั้งหมด 16 รุ่น (สนนราคาตั้งแต่ประมาณ 2,300 ไปจนถึง 11,200 บาท)* โดยองค์กรผู้บริโภคจากออสเตรีย สวีเดน สโลเวเนีย และ สาธารณรัฐเช็ค ข้อตกลงเบื้องต้นคือต้องเป็นรองเท้าเดินป่าที่เหมาะกับการสวมใส่ในทุกฤดูกาล  และมีทั้งรุ่นสำหรับผู้หญิงและผู้ชายคะแนนจากการทดสอบแบ่งออกเป็น 2 ด้านคือ        1. คะแนนจากการทดสอบในห้องปฏิบัติการ (ร้อยละ 70)             - การกันน้ำ (ทดสอบโดยการแช่รองเท้าที่ระดับความลึกของน้ำถึงกึ่งกลางระหว่างรูร้อยเชือกที่หนึ่งและสอง เป็นเวลา 4 ชั่วโมง แล้วนำมาชั่งน้ำหนัก) การรักษาอุณหภูมิ และการระบายอากาศ              - ความทนทานต่อการขีดข่วนหรือสึกหรอ (กาว เชือกผูก พื้นรองเท้าด้านในและด้านนอก)             - ประสิทธิภาพในการกันลื่น บนพื้นผิวเซรามิกและกระเบื้องดินเผา ทั้งขณะเปียกและแห้ง (วัดค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทาน)            - การดูดซับแรงกระแทก         2. คะแนนจากความเห็นของผู้ทดลองสวมใส่  (ร้อยละ 30)ใส่/ถอดสะดวก ผูกเชือกง่าย สวมใส่สบาย กระชับ ไม่กัดเท้า เดินได้อย่างมั่นใจทั้งบนพื้นผิวที่เปียกและแห้ง ใส่แล้วรู้สึกไม่ร้อน ไม่อับชื้น และทำความสะอาดง่าย เป็นต้น          * อ้างอิงจากราคาที่ซื้อเป็นหน่วยยูโร          * ในการทดสอบครั้งนี้ใช้รองเท้ารุ่นละ 5 คู่ (1 คู่ ส่งเข้าห้องแล็บ  2 คู่สำหรับอาสาสมัครหญิง และอีก 2 คู่ สำหรับอาสาสมัครชาย) อัตราค่าทดสอบอยู่ระหว่าง 312.42 – 356.42 ยูโร (ประมาณ 12,000 – 14,000 บาท) ต่อตัวอย่าง รุ่นที่มีหนังเป็นส่วนประกอบจะมีค่าใช้จ่ายมากกว่า

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 247 จี้ธนาคารคืนเงินให้ผู้บริโภคทันที

จี้ธนาคารคืนเงินให้ผู้บริโภคทันทีเพิ่มมาตรการยืนยันตัวตน พร้อมรับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมให้ผู้บริโภค หลังผู้บริโภคหลายรายถูกหักเงินจากบัญชีโดยไม่ทราบสาเหตุ- - - - -        จากกรณีที่มีผู้บริโภคจำนวนมากถูกหักเงินหรือถูกเรียกเก็บเงินจากบัญชีธนาคาร เนื่องจากบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตถูกลักลอบใช้โดยไม่ทราบสาเหตุในช่วงที่ผ่านมา หลังจากนั้นธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสมาคมธนาคารไทยได้ออกมาชี้แจงและปฏิเสธ ว่ากรณีดังกล่าวไม่ได้เกิดจากการรั่วไหลของข้อมูลจากธนาคาร ขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบร้านค้าที่มีธุรกรรมที่ผิดปกติและจะเร่งคืนเงินให้กับลูกค้าที่ได้รับความเสียหายตามขั้นตอนของธนาคารนั้น        บริการบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต ถือเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญาโดยคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจบัตรเครดิตเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2542 ที่ระบุว่า ธนาคารหรือสถาบันการเงินที่ออกบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตให้กับผู้บริโภคไม่มีสิทธิเรียกเก็บเงินจากบัญชีธนาคารของผู้บริโภค หรือกรณีที่ผู้บริโภคถูกหักเงินจากบัญชีธนาคาร จะต้องคืนเงินให้กับผู้บริโภคทันที รวมทั้งกรณีที่ผู้บริโภคทักท้วงว่าไม่ได้เป็นผู้สั่งซื้อสินค้าหรือแจ้งว่าบริการที่ถูกหักเงินไปเกิดจากการลักลอบใช้บัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต ทั้งในออนไลน์หรือออฟไลน์อีกด้วย         “ธนาคารไม่ควรอ้างเหตุผลการตรวจสอบเพื่อประวิงเวลาในการคืนเงินให้กับผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากการถูกหักเงินจากบัญชี และต้องรับผิดชอบคืนเงินผู้บริโภคเต็มจำนวนทันที เนื่องจากเป็นหน้าที่ของธนาคารในการดูแลรักษาเงิน นอกจากธนาคารจะพิสูจน์ได้ว่าภาระหนี้ที่เกิดขึ้นเป็นการกระทำของผู้บริโภคเองและใช้สิทธิเรียกคืนจากผู้บริโภคในภายหลังได้”โดยปกติการทำธุรกรรมทางการเงินจะต้องมีการยืนยันตัวตนก่อนทุกครั้ง แต่ปัจจุบันธุรกรรมที่เกิดจากการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์จำนวนมากไม่มีการแจ้งยืนยันตัวตนก่อนการสั่งจ่าย จึงอาจเป็นช่องว่างให้เกิดกรณีดังกล่าวขึ้นได้ จึงต้องการให้ ธปท. และสมาคมธนาคารฯ เพิ่มมาตรการยืนยันตัวตนในการโอนเงินทุกครั้ง เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต ส่วนกรณีผู้เสียหายที่ได้รับผลกระทบจากการที่เงินหายไปจากบัญชีจนหมดนั้นอาจจะกระทบกับชีวิตประจำวันของผู้บริโภค จนสร้างความเสียหายให้กับผู้บริโภค ธนาคารผู้รับฝากเงินของผู้เสียหายควรต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพิ่มเติมต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น เพื่อประโยชน์และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในการแสดงความรับผิดชอบของธนาคารผู้รับฝากเงินเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 247 ความเคลื่อนไหวเดือนกันยายน 2564

อนุทินแจงสาธารณสุขโดนแฮกข้อมูลคนไข้จริงสั่งเร่งแก้ปัญหา        จากกรณีเพจเฟซบุ๊กน้องปอสาม ได้เปิดเผยถึงการถูกแฮกข้อมูลผู้ป่วย 16 ล้านราย ของกระทรวงสาธารณสุขไทย วันที่ 7 กันยายน 2564  นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เผยว่า ยอมรับว่าข้อมูลผู้ป่วยถูกแฮกจริง โดยข้อมูลที่ถูกแฮกเกิดขึ้นใน จ.เพชรบูรณ์ และเคยเกิดที่ จ.สระบุรี แต่เป็นข้อมูลทั่วไป ไม่ใช่ข้อมูลที่เป็นความลับแต่ประการใด ทั้งนี้ ได้สั่งให้ปลัด สธ. เร่งดำเนินการแก้ไข ด้าน นพ. ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้แถลงการณ์กรณีการแฮกข้อมูลผู้ป่วยว่า ข้อมูลที่โดนประกาศขายมาจากฐานข้อมูลย่อยที่ทางเจ้าหน้าที่ของ รพ. ต้นทาง ไม่ได้เป็นข้อมูลเชิงลึกที่อยู่ในระบบฐานข้อมูลของโรงพยาบาล ซึ่งแฮกเกอร์ได้เพียงข้อมูลชื่อนามสกุล เบอร์โทรศัพท์ สิทธิในการรักษา อาทิ ประกันสังคม ข้าราชการ บัตรทอง ประวัติการนัดคนไข้ของแพทย์ ข้อมูลการแอดมิท ตารางเวรของแพทย์และการคำนวณรายจ่ายการผ่าตัดราว 692 ราย เพื่อซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นต้น ส่วนการดำเนินการตรวจสอบเรื่องความเสี่ยงได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการรักษามั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์แห่งชาติ สธ. และกระทรวงดีอีเอส ได้มีการแบ็กอัพข้อมูลทั้งหมด ว่ายังมีสิ่งใดซ่อนอยู่ในเซิร์ฟเวอร์หรือไม่” องค์การเภสัชกรรมเตือน “ฟาวิพิราเวียร์” ขายออนไลน์ผิดกฎหมาย        วันที่ 8 กันยายน 2564  ภญ.ศิริกุล เมธีวีรังสรรค์ รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า มีผู้แอบอ้างประกาศขายยาฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งเป็นยาต้านไวรัสโควิด-19 ขององค์การเภสัชกรรมที่ได้ทำการผลิตวิจัยและพัฒนาเองผ่านทางอินเทอร์เน็ต โดยระบุเป็นยาขององค์การเภสัชฯ จึงขอเตือนผู้บริโภคระวังอาจได้ยาปลอมและการขายผ่านอินเทอร์เน็ตเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เนื่องจากยาฟาวิพิราเวียร์จัดอยู่ในกลุ่มยาควบคุมพิเศษ โดยสั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้นและต้องติดตามผลการรักษาตลอด ซึ่งปัจจุบันยังไม่สามารถวางขายทั่วไปและออนไลน์ได้ กระท่อม "ต้ม-ปรุงอาหารขาย" ยังผิดกฎหมาย        กรณีพืชกระท่อมถูกปลดออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 และประชาชนเริ่มค้าขายใบกระท่อมได้นั้น เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2564 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า หลังจากรัฐสภาได้เห็นชอบ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 8) ซึ่งเป็นการถอดพืชกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษประเภท 5 ยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้พืชกระท่อมว่าสามารถทำในส่วนใดได้บ้าง ขอชี้แจงว่า ส่วนของการเคี้ยวใบ การปลูก การครอบครองและขายใบสด โดยไม่ได้ปรุงหรือทำเป็นอาหารสามารถทำได้อย่างเสรีไม่ผิดกฎหมาย แต่หากนำไปทำผลิตภัณฑ์สมุนไพรและแจ้งว่ามีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการต่างๆ จะต้องไปขออนุญาตตามกฎหมายของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพราะมีกฎหมาย พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ.2562 ควบคุม        หรือการนำไปทำเป็นอาหารหรือเป็นส่วนผสมในอาหารเพื่อขายนั้น  พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 ยังไม่ปลดล็อคให้สามารถนำพืชกระท่อมไปทำอาหารหรือผสมในอาหารเพื่อจำหน่ายได้ แม้กระทั่งน้ำต้มกระท่อมที่ไม่ได้ผสมกับสิ่งใดเลย ก็เป็นสิ่งที่ห้ามผลิตเพื่อจำหน่าย โดยประกาศของกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 424 ) พ.ศ.2564 ออกตามความใน พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้าหรือจำหน่าย ซึ่งกำหนดให้อาหารที่ปรุงจากพืชกระท่อมนั้น เป็นอาหารที่ห้ามผลิตนำเข้าหรือจำหน่าย การฝ่าฝืน ผลิต และขาย อาหาร ที่ พ.ร.บ.อาหาร ห้ามมีโทษตามมาตรา 50 จำคุก 6 เดือน-2 ปี ปรับ 5,000-20,000 บาท ตรวจสอบผ้าก่อนอบแห้ง        จากกรณีมีคลิปวิดีโอเผยแพร่เครื่องอบผ้ามีไฟลุกท่วมของร้านสะดวก Otteri wash & dry ซึ่งทางต้นคลิปได้ระบุว่า เจ้าของน่าจะเป็นการลืมไฟแช็กไว้ในกระเป๋าเสื้อผ้า  ทางบริษัท อ๊อตเทริ วอช แอนด์ ดราย จำกัด เจ้าของแบรนด์แฟรนด์ ได้ชี้แจ้งสาเหตุว่า ไม่มีการลืมไฟแช็คในผ้าและเกิดจากการนำผ้าที่ไม่ควรนำเข้าอบใส่ในเครื่องอบ หลังบริษัทลงพื้นที่ตรวจสอบระบบแก๊สและระบบไฟฟ้า พบว่ามีการทำงานปกติ และได้มีการตรวจสอบ ณ จุดเกิดเหตุไฟไหม้ที่เครื่องอบผ้า พบว่า ซากของผ้าที่อยู่ด้านในกลายสภาพเป็นพลาสติกแข็ง ซึ่งเป็นชุดกีฬา ชุดผ้าร่ม ซึ่งเป็นผ้าที่ไม่ควรนำเข้าเครื่องอบ เพราะเส้นใยผ้าที่ผ่านสภาพการใช้งานพักหนึ่งจะไม่สามารถทนต่อความร้อนได้ จึงจะดำเนินการเพิ่มคือ มีป้ายประกาศเรื่องของชนิดผ้าที่ห้ามนำเข้าเครื่องอบติดตั้งอยู่ภายในร้าน ศาลตัดสิน “จ่ายค่าเสียหายผู้พิการ”กรณีสร้างลิฟต์ระบบไฟฟ้าบีทีเอสล่าช้า 5 ปี        จากกรณีภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้และภาคีคนพิการ ร่วมกันฟ้องยื่นฟ้อง กทม. ปี 2550 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาวันที่ 20 มกราคม 2558 ให้ กทม. จัดทำลิฟต์และสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานตามกฎหมายในระบบรถไฟฟ้าบีทีเอส สายแรกที่อยู่ในสัมปทานให้ครบทั้ง 23 สถานี ภายในวันที่ 21 มกราคม 2559 แต่จนถึงปี 2564  ยังไม่ดำเนินการสร้างลิฟต์และสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานให้เสร็จได้ เป็นเวลา 5 ปีแล้ว วันที่ 15 กันยายน 2564 ศาลปกครองสูงสุดได้นัดฟังคำพิพากษา กรณีเรียกร้องค่าเสียหายที่ กทม. ไม่สามารถสร้างลิฟต์บนระบบรถไฟฟ้าบีทีเอสให้เสร็จภายใน 1 ปี ด้านนายสว่าง ศรีสม ผู้จัดการโครงการและแผนงานภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ กล่าวว่า ศาลปกครองสูงสุดตัดสินให้ กทม. ซึ่งเป็นผู้ให้สัมปทาน รับผิดชอบค่าเสียหายให้แก่ผู้พิการที่ร่วมฟ้องกว่า 500 คนที่ได้รับความเสียหาย โดยต้องมีภูมิลำเนาใน กทม. และพิสูจน์ได้ว่าทำงาน/อยู่อาศัยใน กทม. ต้องใช้ขนส่งสาธารณะในกรุงเทพฯ เป็นประจำ เป็นค่าชดเชยค่าเสียหายจำนวน 5,000 บาทต่อคน รวมดอกเบี้ย ร้อยละ 7 ต่อปี นับตั้งแต่ปี 2559 ที่ควรจะทำให้แล้วเสร็จ เป็นเวลา 5 ปี และให้กทม.จ่ายค่าชดเชยค่าเสียหายภายใน 6-7 วัน   เคลมประกันโควิดเกิน 15 วัน เร่งใช้สิทธิร้องทุกข์        มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเผย ผู้ร้องเรียนกรณีเคลมประกันโควิด-19 ล่าช้าเกิน 15 วัน บางส่วนได้รับค่าสินไหมแล้ว หลังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคพายื่นเรื่องที่ คปภ. เมื่อวันที่ 10 กันยายน แม้ยังมีผู้ที่ไม่ได้รับค่าสินไหมกว่าครึ่งของรายชื่อที่ส่งไป แต่คาดว่าคงได้รับการแก้ไขปัญหาทุกราย         นางสาวฟิตรีนา อาลี เจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ผู้บริโภคที่พบปัญหาเรื่องบริษัทประกันจ่ายค่าสินไหมประกันโควิด-19 ล่าช้า เกิน 15 วัน สามารถร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยเตรียมเอกสารดังนี้ 1. ใบรับรองแพทย์ 2. รายงานการตรวจ RT-PCR (ถ้ามี)  3. สำเนากรมธรรม์  4. สำเนาหน้าบัญชีธนาคาร  5. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน  ส่งมาให้ทางมูลนิธิฯ ซึ่งจะรวบรวมและทยอยส่งให้ทาง คปภ.ดำเนินการ เนื่องจากมีผู้เสียหายทยอยร้องเรียนเข้ามาเรื่อยๆ

อ่านเพิ่มเติม >