ฉบับที่ 112-113 ปลาหมึกแห้ง ของดีแต่มีเสี่ยง

ปลาหมึกแห้ง จัดเป็นอาหารแปรรูปที่ขายดีอันดับหนึ่ง หาซื้อไม่ยากจะเอามาทำอะไรกินก็ง่ายจะทอดหรือย่างก็อร่อย ปลาหมึกที่นำมาทำปลาหมึกแห้งมีหลายชนิด แต่ที่นิยมกันมากๆ ก็คือ  ปลาหมึกกล้วย และปลาหมึกสาย ผลการทดสอบที่นำเสนอนี้เป็นผลจากการทดสอบตัวอย่างอาหารจำนวน 8 ตัวอย่างจาก 8 จังหวัด ซึ่งดำเนินการภายใต้โครงการพัฒนากลไกการเฝ้าระวังฯ โดยเก็บตัวอย่างในเดือนมกราคม 2553 ครับ   ปลาหมึกแห้งที่เก็บตัวอย่างนี้เรานำมาทดสอบหาสิ่งปนเปื้อนในอาหาร 3 กลุ่ม คือ สารพิษจากเชื้อรา-อะฟลาท็อกซิน ซึ่งอาจจะมาจากการเก็บรักษาที่ไม่สะอาด โลหะหนักในอาหาร ซึ่งมักปนเปื้อนในอาหารทะเลและสารปรุงแต่งรส สีผสมอาหาร และสารเคมีทางการเกษตรที่พ่อค้า-แม่ค้าบางรายมักฉีดพ้นเพื่อป้องกันแมลงมาตอมปลาหมึกแห้งในร้านครับ   ผลการทดสอบ - ข่าวดี ไม่พบการปนเปื้อนของสารพิษจากเชื้อรา-อะฟลาท็อกซินในทุกตัวอย่างที่ทดสอบ (8 ตัวอย่าง) - ข่าวร้าย พบการปนเปื้อนของโลหะหนักประเภทแคดเมียมในทุกตัวอย่างที่ทดสอบ คิดเป็นร้อยละ 100 โดยมีค่าเฉลี่ยของแคดเมียมที่พบอยู่ที่ 3.43 มิลลิกรัม/กิโลกรัม (ค่ามาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ-CODEX อยู่ที่ 2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) และหากนำค่ามาตรฐานอาหารระหว่างประเทศมาเป็นตัวชี้วัดจะพบว่ามีตัวอย่างที่พบค่าแคดเมียมเกินกว่า 2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม จำนวน 4 ตัวอย่าง ได้แก่ (1) ตัวอย่างจากร้านเจ๊ต้อย ซึ่งเก็บจากตลาดสดมหาสารคาม พบแคดเมียมที่ปริมาณ 13 มิลลิกรัม/กิโลกรัม (2) ตัวอย่างจากร้านเจ๊ดม ซึ่งเก็บตัวอย่างจากร้านพรพัฒนา จังหวัดสมุทรสงคราม พบแคดเมียมที่ปริมาณ 4.77 มิลลิกรัม/กิโลกรัม (3) ตัวอย่างจากตลาดเมืองใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ พบแคดเมียมที่ปริมาณ 3.36 มิลลิกรัม/กิโลกรัม (4) ตัวอย่างจากตลาดสดเทศบาล 3 จังหวัดขอนแก่น พบแคดเมียมที่ปริมาณ 2.05 มิลลิกรัม/กิโลกรัม -พบการปนเปื้อนของโลหะหนักประเภทตะกั่วในทุกตัวอย่าง (8 ตัวอย่าง) คิดเป็นร้อยละ 100 โดยมีค่าเฉลี่ยของปริมาณตะกั่วที่พบเท่ากับ 0.137 มิลลิกรัม/กิโลกรัม อย่างไรก็ตามไม่มีตัวอย่างใดที่มีการปนเปื้อนสูงเกินกว่ามาตรฐานกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 98 (พ.ศ. 2529) กำหนดที่ 1 มิลลิกรัม/กิโลกรัม โดยมีปริมาณตะกั่วสูงสุดที่พบในตัวอย่างที่เก็บจากตลาดสดตำบลจำปาหวาย จังหวัดพะเยาที่ปริมาณ 0.46 มิลลิกรัม/กิโลกรัม - พบการปนเปื้อนของโลหะหนักประเภทปรอทในทุกตัวอย่าง (8 ตัวอย่าง) คิดเป็นร้อยละ 100 โดยมีค่าเฉลี่ยของปริมาณที่พบเท่ากับ 0.03 มิลลิกรัม/กิโลกรัม อย่างไรก็ตามไม่มีตัวอย่างใดที่มีการปนเปื้อนสูงเกินกว่ามาตรฐานกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 98 (พ.ศ. 2529) กำหนดที่ 0.5 มิลลิกรัม/กิโลกรัม สำหรับอาหารทะเล โดยมีปริมาณปรอทที่พบสูงสุดในตัวอย่างที่เก็บจากตลาดสดเทศบาล 3 จังหวัดขอนแก่นที่ปริมาณ 0.06 มิลลิกรัม/กิโลกรัม - พบการปนเปื้อนของสารตกค้างทางการเกษตรกลุ่มไพรีทอยด์ (ยาฆ่าแมลง) จำนวน 5 ตัวอย่างจาก 8 ตัวอย่างที่ทดสอบ คิดเป็นร้อยละ 62 โดยพบสารตกค้างชนิดเพอร์เมทริน (Permethrin) ในตัวอย่างจากตลาดสดตำบลจำปาหวาย จังหวัดพะเยา และ ตัวอย่างจากผู้ผลิต บมจ.สยามแมคโคร กรุงเทพฯ โดยมีปริมาณที่พบเท่ากับ 0.18 และ 0.15 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ตามลำดับ นอกจากนั้นยังพบสารตกค้างชนิดไซไฟทริน (Cyflythrin) ในตัวอย่างจากร้านเจ๊ดม จังหวัดสมุทรสงครามและตัวอย่างจากตลาดเมืองใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ที่ปริมาณ 0.12 และ 0.10 มิลลิกรัม/กิโลกรัมตามลำดับ ท้ายที่สุด พบสารพิษตกค้างชนิดไบเฟนทริน (Bifenthrin) ในตัวอย่างเก็บจากร้านป้าอร ตลาดสดละงู จังหวัดสตูล ที่ปริมาณ 0.03 มิลลิกรัม/กิโลกรัม - พบการปนเปื้อนของสารตกค้างทางการเกษตรประเภทคาเบนดาร์ซิม (ยากันรา) ในตัวอย่างจำนวน 3 ตัวอย่างจาก 8 ตัวอย่างที่ทดสอบ คิดเป็นร้อยละ 37.5 โดยมีค่าเฉลี่ยของปริมาณที่พบเท่ากับ 0.2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ปริมาณสูงสุดของสารเคมีที่พบคือ 0.44 มิลลิกรัม/กิโลกรัม จากตัวอย่างที่เก็บในตลาดเมืองใหม่ จังหวัดเชียงใหม่   ข้อสังเกต- ตัวอย่างที่เก็บจากตลาดเมืองใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ และตัวอย่างที่เก็บจากห้างแมคโคร กรุงเทพฯ พบการปนเปื้อนทั้งแคดเมียม สารตกค้างทางการเกษตรกลุ่มไพรีทอยด์ และยากันรา-คาร์เบนดาซิมในปริมาณที่ค่อนข้างสูงและอาจก่อให้เกิดอันตรายหากมีการบริโภคติดต่อกันเป็นระยะเวลานานได้ - ตัวอย่างที่เก็บจากร้านเจ๊ดม จังหวัดสมุทรสงคราม พบการปนเปื้อนของแคดเมียมในปริมาณที่สูงเกินกว่าที่มาตรฐานอาหารสากล (CODEX) กำหนด (2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) โดยพบในปริมาณที่สูงถึง 4.77 มิลลิกรัม/กิโลกรัม นอกจากนี้ยังพบการปนเปื้อนของตะกั่วและปรอทในระดับพอสมควร อีกทั้งยังพบการปนเปื้อนของสารเคมีทางการเกษตรกลุ่มไพรีทอยด์ในตัวอย่างอีกด้วย - ตัวอย่างกว่าร้อยละ 90 ที่ทำการทดสอบไม่ระบุยี่ห้อ ไม่ทราบผู้ผลิต และไม่ทราบวันผลิตและวันหมดอายุ ----------------------------------------------------------------------------------------------------- อันตรายของโลหะหนักที่ปนเปื้อนในปลาหมึกแห้งอันตรายจากแคดเมียม – ทำให้เกิดความเจ็บปวดตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายอย่างมาก ทำให้กระดูกและไตพิการ อันตรายจากตะกั่ว – จะทำให้เบื่ออาหาร ปวดท้อง มือเท้าอ่อนแรง เลือกจาง ถ้าเป็นเด็กจะทำให้สมองพิการได้ การเรียนรู้ด้อยลงอันตรายจากปรอท – เกิดอาการชาตามปลายมือปลายเท้า รวมไปถึงแขน ขา ริมฝีปากและเป็นอัมพาตในที่สุด ---------------------------------------------------------------------------------------------------- *จากผลทดสอบจะเห็นว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดในปลาหมึกแห้งก็คือ การปนเปื้อนของแคดเมียม และสารเคมีในกลุ่มไพรีทอยด์ ซึ่งเป็นสารเคมีในกลุ่มยากำจัดศัตรูพืช การปนเปื้อนของแคดเมียมส่วนหนึ่งก็มาจากเหตุผลเรื่องธรรมชาติความสะอาดในท้องทะเล เพราะมนุษย์เรานี่แหละที่ทำร้ายธรรมชาติชอบทิ้งสารเคมีลงในทะเล ถ้าอยากกินอาหารทะเลดีๆ ที่ปลอดภัยก็ต้องช่วยกันดูแลรักษาท้องทะเล ส่วนเรื่องสิ่งปนเปื้อนอื่นๆ ก็ต้องฝากวอนไปถึงพ่อค้า-แม่ค้าอย่าได้ใส่อะไรไม่พึ่งประสงค์ลงไปเลย ผู้บริโภคเราอยากรับประทานของสะอาดและมาจากธรรมชาติจริงๆ ครับ ------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- -ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 (พ.ศ.2529) เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อนข้อ 4 (2) ระบุการปนเปื้อนของ อฟลาทอกซิน ได้ไม่เกิน 20 ไมโครกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัมข้อ 4 (1) (ง) ระบุการปนเปื้อน ตะกั่ว ได้ไม่เกิน 1 มิลลิกรัม ต่ออาหาร 1 กิโลกรัม เว้นแต่อาหารที่มีสารตะกั่วปนเปื้อนตามธรรมชาติในปริมาณสูง ให้มีได้ตามที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาข้อ 4 (1) (ฉ) ระบุการปนเปื้อน ปรอท   ได้ไม่เกิน 0.5 มิลลิกรัม ต่ออาหาร 1 กิโลกรัม สำหรับอาหารทะเล และไม่เกิน 0.02 มิลลิกรัม ต่ออาหาร 1 กิโลกรัม สำหรับอาหารอื่น -ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่288  (พ.ศ. 2548) เรื่องอาหารที่มีสารพิษตกค้าง ไม่ระบุว่าอนุญาติให้มีการปนเปื้อนของสารเคมีทางการเกษตรในอาหารทะเลแห้ง ดังนั้นจึงไม่ควรมีปนเปื้อนมาในอาหาร -ค่ามาตรฐานอาหารสากล (CODEX)กำหนดค่าการปนเปื้อนของ แคดเมียม ในอาหารประเภทปลาหมึก อยู่ที่ไม่เกิน 2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม(ผลรายงานเฉพาะตัวอย่างที่ส่งวิเคราะห์เท่านั้นโดย สถาบันโภชนาการ ม.มหิดล ภาควิชาเทคโนโลยีอาหาร คณะเทคโนโลยี ม.ขอนแก่น คณะอุตสาหกรรมการเกษตร ม.สงขลานครินทร์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ ม.เชียงใหม่) วิธีการทำปลาหมึกแห้ง ไม่ยากแต่อาจจะมีหลายขั้นตอนอยู่สักหน่อย เอาปลาหมึกไปตากแดดแล้วก็คอยพลิกกลับตัวปลาหมึกเพื่อให้ปลาหมึกแห้งทั่วกัน ถ้าแดดดีๆ 20 -30 ชั่วโมงก็ถือว่าใช้ได้ แต่ยังกินไม่ได้นะ ต้องนำปลาหมึกที่ตากแล้วนำมาวางซ้อนทับกันแล้วใช้ผ้าใบหรือพลาสติกคลุมไว้แล้วหาอะไรหนักๆ ทับไว้ ทิ้งไว้ 2 – 3 วัน ปลาหมึกจะยืดหยุ่นมากขึ้นเพราะความชื้นเกิดขึ้นในเนื้อปลาหมึก หลังจากนั้นก็นำมาตากแดดให้แห้งอีกครั้งประมาณอีก 2-3 วัน ที่นี้ก็นำมาทำอาหารรับประทานได้แล้ว

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 112-113 กุ้งแห้ง แดงนี้อาจมีปัญหา

เมนูยอดฮิตอย่าง ส้มตำ ผัดไทยและยำรสเด็ด กุ้งแห้งตัวแดงๆ นี้ถือเป็นส่วนประกอบที่ขาดไม่ได้เชียว เพราะมันทั้งช่วยเพิ่มรสชาติและสีสันให้อาหารชวนรับประทานมากยิ่งนัก กุ้งแห้งที่เรารับประทานกันทุกวันนี้มีหลายไซด์หลายราคา เกรดดีเกรดไม่ดี ก็แล้วแต่กำลังทรัพย์ ยิ่งกุ้งตัวใหญ่อ้วนท้วนสมบูรณ์ราคาก็จะสูงตามไปด้วย กุ้งแห้งที่ขายกันอยู่ในตลาดนั้นมีราคาตั้งแต่กิโลกรัมละร้อยกว่าบาทไปจนถึงพันบาท ปัจจัยในการซื้อไม่เพียงแค่เรื่องราคา ขนาด ความสะอาดและแหล่งผลิตแล้ว เราต้องไม่มองข้ามเรื่อง “สี” นะครับเพราะกุ้งแห้งที่ดีไม่ควรผสมสีใดๆ ลงไปทั้งสิ้น ผลการทดสอบที่นำมาเสนอนี้เป็นการเก็บตัวอย่างอาหารครั้งที่ 3 ของโครงการพัฒนากลไกการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารของผู้บริโภคเช่นเคยครับ มีจำนวนตัวอย่างที่เก็บทั้งสิ้นจำนวน 8 ตัวอย่าง เมื่อเดือนมกราคม 2553 จากพื้นที่ดำเนินงานโครงการ ใน 8 จังหวัดจาก 4 ภูมิภาค ดังนี้ ภาคกลาง ได้แก่ กรุงเทพฯ และจังหวัดสมุทรสงคราม ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดขอนแก่นและจังหวัดมหาสารคาม ภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดพะเยา และภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดสงขลาและจังหวัดสตูล กุ้งแห้งที่นำมาทดสอบเป็นกุ้งแห้งขนาดเล็กไม่แกะเปลือกสำหรับใช้ประกอบอาหาร และมีสิ่งที่ต้องการทดสอบคือตรวจหาสิ่งปนเปื้อนในอาหาร 3 ชนิดได้แก่ สารพิษจากเชื้อรา-อะฟลาทอกซิน สีปรุงแต่งอาหาร และสารเคมีทางการเกษตรกลุ่มไพรีทอยด์   ผลการทดสอบ - ข่าวดี ไม่พบการปนเปื้อนของสารพิษจากเชื้อรา-อะฟลาทอกซินในทุกตัวอย่างที่ทดสอบ (8 ตัวอย่าง) - ข่าวร้าย พบสีสังเคราะห์ในตัวอย่างจำนวน 2 ตัวอย่าง จาก 8 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 25 ของตัวอย่างทั้งหมดที่เก็บ โดยตัวอย่างที่เก็บจากร้านเจ๊รัตนา ในตลาดสดจังหวัดมหาสารคามพบสีตระกูลสีส้ม ซึ่งไม่ใช่สีสังเคราะห์ที่กฎหมายอนุญาตให้ใส่ในอาหาร และตัวอย่างที่เก็บจากตลาดสดจังหวัดพะเยา พบสีสังเคราะห์ชนิดสีแดง-ปองโซ 4 อาร์ และชนิดสีเหลือง-ซันเซ็ตเยลโลว์ เอฟซีเอฟ อันนี้อนุญาตให้ใช้กับอาหารแต่ไม่อนุญาตในกุ้งแห้งครับ   - พบการปนเปื้อนของสารเคมีทางการเกษตรกลุ่มไพรีทอยด์ในตัวอย่างจำนวน 4 ตัวอย่างจาก 8 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 50 ของตัวอย่างทั้งหมดที่เก็บ คือ 1. กุ้งแห้งใหญ่ ยี่ห้อ BDMP ของบริษัทบางกอกดีไฮเดรทมารีนโปรดักส์ จำกัด เก็บตัวอย่างจากห้างสยามพารากอน กรุงเทพฯ พบแลมบ์ดาไซแฮโลทริน (Lambda cyhalothrin )ที่ปริมาณ 0.098 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และพบไซเปอร์เมทริน (cypermethrin) ที่ปริมาณ 0.131 มิลลิกรัม/กิโลกรัม2. กุ้งแห้งจากร้านเจ๊ดม ณ ตลาดเทศบาลเมืองสมุทรสงครามพบแลมบ์ดาไซแฮโลทริน (Lambda cyhalothrin ) ที่ปริมาณ 0.052 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และพบไซเปอร์เมทริน (cypermethrin) ที่ปริมาณ 0.235 มิลลิกรัม/กิโลกรัม3. กุ้งแห้งที่เก็บตัวอย่างจากตลาดเมืองใหม่ จังหวัดเชียงใหม่พบแลมบ์ดาไซแฮโลทริน (Lambda cyhalothrin ) ที่ปริมาณ 0.031 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และพบไซเปอร์เมทริน (cypermethrin) ที่ปริมาณ 0.061 มิลลิกรัม/กิโลกรัม 4. กุ้งแห้งนำเข้าจากประเทศจีนที่เก็บตัวอย่างจากตลาดสดจังหวัดพะเยา พบแลมบ์ดาไซแฮโลทริน (Lambda cyhalothrin ) ที่ปริมาณ 0.048 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และพบไซเปอร์เมทริน (cypermethrin) ที่ปริมาณ 0.33 มิลลิกรัม/กิโลกรัม   ข้อสังเกต• ตัวอย่างที่เก็บจากตลาดสดจังหวัดพะเยา พบการปนเปื้อนทั้งสีสังเคราะห์สีแดงและสีเหลืองและพบการปนเปื้อนของสารเคมีทางการเกษตรกลุ่มไพรีทอยด์ (ยาฆ่าแมลง) • ผลิตภัณฑ์ที่ทำการทดสอบกว่าร้อยละ 90 ไม่ระบุยี่ห้อ ไม่ทราบวันผลิตและวันหมดอายุ และไม่ทราบผู้ผลิต ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 (พ.ศ.2529) เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อน ข้อ 4 (2) ระบุว่าให้พบการปนเปื้อนของ อฟลาทอกซิน ได้ไม่เกิน 20 ไมโครกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม สาระน่ารู้เกี่ยวกับสิ่งปนเปื้อนที่พบในกุ้งแห้ง สีผสมอาหาร นิยมใส่ในอาหารเพื่อทำให้อาหารมีสีสันสดใสดึงดูดใจให้รู้สึกอยากรับประทาน ซึ่งสีที่ใส่ในอาหารมีทั้งสีจากธรรมชาติและสีที่สังเคราะห์ขึ้นมา แน่นอนสีผสมอาหารไม่มีคุณค่าทางอาหารแถมถ้าสะสมอยู่ในร่างกายในปริมาณมากๆ ก็อาจเป็นอันตรายต่อตัวเราได้ โดยเฉพาะกับระบบการทำงานของกระเพาะอาหาร เพราะสีผสมอาหารจะเข้าไปเคลือบกระเพาะอาหารการดูดซึมสารอาหารก็จะมีปัญหา และอาจลุกลามไปกระทบต่อการทำงานของไตด้วย สำหรับวิธีง่ายๆ เพื่อจะดูว่ากุ้งแห้งที่เราจะซื้อใส่สีหรือเปล่า แม่ค้าอาหารทะเลแห้งจากตลาดมหาชัยแนะนำว่าให้ดูที่ท้องกุ้ง ถ้ากุ้งแห้งไม่ใส่สีท้องกุ้งจะขาว แต่ถ้าเกิดเป็นสีแดงหรือส้มก็ให้สงสัยได้เลยว่าใส่สี สารเคมีทางการเกษตรกลุ่มไพรีทอยด์ เป็นสารเคมีในกลุ่มยาจำกัดแมลงซึ่งสารพิษชนิดนี้จะทำอันตรายกับคนเราไม่มาก แต่ก็ไม่ควรให้ร่างกายสัมผัสหรือหายใจเข้าไป ยิ่งถ้าหากเข้าสู่ร่างกายโดยการดื่มกินเข้าไปก็ต้องระวัง โดยเฉพาะคนที่เป็นและเคยเป็นโรคหอบหืด เพราะจะทำให้อาการหอบหืดปรากฏขึ้นมาได้ อาการเบื้องต้นก็มีทั้ง คลื่นไส้ อาเจียน ไปจนถึงชีพจรเต้นช้า หายใจติดขัด ผิวหนังซีด เหงื่อออก กล้ามเนื้อกระตุก ซึ่งเหตุผลที่สารเคมีกำจัดศัตรูพืชมาปนเปื้อนอยู่ในกุ้งแห้งก็เพราะพ่อค้า-แม่ค้าบางคนนำเจ้าสารเคมีดังกล่าวมาฉีดลงบนกุ้งแห้งเพราะไม่อยากให้มีแมลงวันมาตอมกลัวจะดูไม่ดีลูกค้าไม่มาซื้อ อะฟลาทอกซิน เป็นสารพิษที่เกิดจากเชื้อราซึ่งมักเกิดกับพืชตระกูลถั่ว ข้าว และอาหารแห้งต่างๆ โดยเฉพาะยิ่งเมื่ออยู่ในสภาพอาการที่ร้อนชื้น สำหรับพิษของอะฟลาทอกซินจะไปทำอันตรายกับตับ คือทำให้เกิดโรคต่างๆ ที่เกี่ยวกับตับ ไม่ว่าจะเป็นมะเร็งตับ ตับอักเสบ ตับแข็ง รวมทั้งอาจทำให้เกิดอาการสมองอักเสบ วิธีหลีกเลี่ยงสารอะฟลาทอกซินอย่างแรกก็คือ ไม่ทานอาหารที่มีเชื้อราขึ้น สังเกตง่ายๆ ก็คือถ้ามีรอยสีดำหรือสีเขียวเข้มๆ เกิดที่อาหาร ให้สงสัยได้เลยว่าเป็นเชื้อรา วิธีทำกุ้งแห้ง บ้านเราแดดจัดดี ถ้าพอมีพื้นที่โล่ง ทำกุ้งแห้งกินเองก็ดีนะครับ กุ้งที่นิยมนำมาทำกุ้งแห้งคือกุ้งทะเลเปลือกบางครับ นำมาต้มหรือนึ่งจนสุก โดยเคล้าเกลือพอให้มีรสเค็ม จากนั้นก็นำไปตากแดด ถ้าแดดดี ๆ แค่วันเดียวก็แห้งใช้ได้แล้วครับ จากนั้นก็หาถุงผ้าใส่กุ้งลงไปแล้วบุบหรือทุบด้วยไม้ตีพริก จะทำให้เปลือกร่อนออกมา แกะส่วนเปลือกทิ้งไป เราก็จะได้กุ้งแห้งอย่างดี รสชาติอร่อย ไม่ปนเปื้อนสารเคมีครับ อ้อสำหรับบ้านที่ไม่มีพื้นที่สำหรับตากแดด ลองนำกุ้งสดหรือกุ้งแช่แข็ง(ละลายก่อนนะครับ) เคล้าเกลือแล้วอบด้วยเตาอบไฟฟ้า ก็พอจะเป็นกุ้งแห้งแบบบ้านๆ ได้แล้วครับ กุ้งขนาดกลาง 1 กิโลกรัม พอตากแดดแห้งแล้วจะเหลือน้ำหนักประมาณ 250 กรัมครับ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 281( พ.ศ.2547) เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร ระบุว่า เนื้อสัตว์ทุกชนิด ที่ปรุงแต่ง รมควัน ทำให้แห้ง ห้ามใส่สี ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่288 (พ.ศ. 2548) เรื่องอาหารที่มีสารพิษตกค้าง ไม่ระบุว่าอนุญาติให้มีการปนเปื้อนของสารเคมีทางการเกษตรในอาหารทะเลแห้ง ดังนั้นจึงไม่ควรมีปนเปื้อนมาในอาหาร (ผลรายงานเฉพาะตัวอย่างที่ส่งวิเคราะห์เท่านั้นโดย สถาบันโภชนาการ ม.มหิดล ภาควิชาเทคโนโลยีอาหาร คณะเทคโนโลยี ม.ขอนแก่น คณะอุตสาหกรรมการเกษตร ม.สงขลานครินทร์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ ม.เชียงใหม่)

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 111 ผลทดสอบ เห็ดหอม เห็ดหูหนูขาวและสาหร่ายทะเล

ฉลาดซื้อฉบับนี้ขอรายงานผลการทดสอบของแห้งสำหรับปรุงอาหารยอดนิยม 3 ชนิดคือ เห็ดหอมแห้ง เห็ดหูหนูขาว และสาหร่ายทะเลแห้ง ครับผลการทดสอบที่จะนำเสนอคราวนี้มาจากการเก็บตัวอย่างจำนวน 2 ครั้ง ครั้งแรกเดือนกันยายน และครั้งที่สอง เดือนพฤศจิกายน 2552 โดยเก็บตัวอย่างจากทั้งในห้างสรรพสินค้าและในตลาดสด ของพื้นที่ดำเนินงานโครงการฯ 8 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรสงคราม ขอนแก่น มหาสารคาม เชียงใหม่ พะเยา สตูล และสงขลา เห็ดหอมแห้ง จำนวนรวมของตัวอย่างที่ทดสอบ คือ 17 ตัวอย่าง แบ่งเป็น ครั้งที่ 1 จำนวน 9 ตัวอย่าง และ ครั้งที่ 2 จำนวน 8 ตัวอย่าง 1. การทดสอบสารตกค้างทางการเกษตรประเภทยากันรา พบยากันรา (คาร์เบนดาซิม: Carbendazim) 12 จาก 17 ตัวอย่าง จากการทดสอบครั้งที่ 1 จำนวน 5 ตัวอย่าง + ทดสอบครั้งที่ 2 จำนวน 7 ตัวอย่าง คิดเป็น 2 ใน 3 ของตัวอย่างทั้งหมด ค่าเฉลี่ยของสารเคมีที่พบเท่ากับ 0.33 มิลลิกรัม/กิโลกรัม โดยมีปริมาณที่พบสูงสุด 3 อันดับแรก ดังนี้ (1) 1.71 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ไม่มียี่ห้อและไม่ระบุผู้ผลิต เก็บตัวอย่างจากตลาดสดเทศบาล 2 จังหวัดขอนแก่น (2) 0.67 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ไม่มียี่ห้อ และไม่ทราบผู้ผลิต เก็บตัวอย่างจากตลาดสดเมืองสตูล (3) 0.54 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ตราตะวัน บ. ตะวันพืชผล จำกัด จังหวัดสมุทรปราการ เก็บตัวอย่างจากบิ๊กซี จังหวัดมหาสารคาม 2. การทดสอบสารเคมีตกค้างทางการเกษตรกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต (Organophosphate) พบตัวอย่างที่ปนเปื้อนสารตกค้างทางการเกษตรกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต 9 จาก 17 ตัวอย่าง จากการทดสอบครั้งที่ 1 จำนวน 5 ตัวอย่าง และ จากการทดสอบครั้งที่ 2 จำนวน 4 ตัวอย่าง ค่าเฉลี่ยของสารเคมีที่พบเท่ากับ 0.016 มิลลิกรัม/กิโลกรัม โดยมีปริมาณสารเคมีที่พบซึ่งมีค่าสูงกว่า 0.02 มิลลิกรัม/กิโลกรัม จำนวน 2 ตัวอย่าง คือ (1) ยี่ห้อเทสโก้ โลตัส ปริมาณที่พบ 0.04 มิลลิกรัม/กิโลกรัม เก็บตัวอย่างจากห้างเทสโก้ โลตัส สาขาจังหวัดสมุทรสงคราม และ (2) ยี่ห้อ บิ๊กซี ปริมาณที่พบ น้อยกว่า 0.035 มิลลิกรัม/กิโลกรัม เก็บตัวอย่างจากห้างบิ๊กซี สาขาพระราม 2 กรุงเทพฯ 3. การทดสอบการปนเปื้อนของสารพิษจากเชื้อรา อะฟลาทอกซิน (Aflatoxin) พบตัวอย่างที่มีการปนเปื้อนอะฟลาทอกซิน จำนวน 5 จาก 17 ตัวอย่าง จากการทดสอบครั้งที่ 1 จำนวน 3 ตัวอย่าง และ จากการทดสอบครั้งที่ 2 จำนวน 2 ตัวอย่าง หรือประมาณ 1 ใน 4 ของตัวอย่างทั้งหมด มีปริมาณเฉลี่ยที่พบเท่ากับ 5.42 ไมโครกรัม/กิโลกรัม (เทียบเท่ากับ 1 ใน 4 ของปริมาณสูงสุดที่กำหนดให้มีได้ในประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 พ.ศ. 2529 เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อน ซึ่งระบุไว้ว่าไม่เกิน 20 ไมโครกรัม/กิโลกรัม) โดยมีปริมาณอะฟลาทอกซินทั้งหมดที่พบสูง 3 อันดับดังนี้ (1) ตราคุ้มค่า ของ บ. ตะวันพืชผล จำกัด จังหวัดสมุทรปราการ ปริมาณที่พบ 11.0 ไมโครกรัม/กิโลกรัม เก็บตัวอย่างจาก ห้างเทสโก้ โลตัส สาขาบางประกอก กรุงเทพฯ (2) ยี่ห้อ บิ๊กซี ของ บมจ.บิ๊กซี ซูเปอร์มาร์เก็ต ปริมาณที่พบ 8.1 ไมโครกรัม/กิโลกรัม เก็บตัวอย่างจากห้างบิ๊กซี สาขาพระราม 2 กรุงเทพฯ (3) ยี่ห้อ เทสโก้ โลตัส ของบริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด กรุงเทพฯ ปริมาณที่พบ 5.0 ไมโครกรัม/กิโลกรัม เก็บตัวอย่างจากห้างเทสโก้ โลตัส สาขาสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม ข้อสังเกต1. มีผลิตภัณฑ์จำนวน 7 ตัวอย่าง จาก 17 ตัวอย่าง ที่ไม่ผ่านเกณฑ์เชื้อรา (Mold) ซึ่งแสดงถึงความไม่สะอาดในกระบวนการผลิต และมีอัตราเฉลี่ยของปริมาณที่พบเท่ากับ 1,764.3 โคโลนี/กรัม (เกณฑ์มาตรฐานกรมวิทย์ฯ เท่ากับ 500 โคโลนี/กรัม)2. มีผลิตภัณฑ์จำนวน 2 ตัวอย่างจาก 2 ตัวอย่าง (อีก 15 ตัวอย่าง ไม่ได้วิเคราะห์) ที่ตรวจพบการปนเปื้อนของซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เกินมาตรฐาน โดยทั้งสองตัวอย่างเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่มียี่ห้อ เก็บตัวอย่างจากห้างเทสโก้ โลตัส จังหวัดพะเยา ปริมาณที่พบ 2,379.6 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และผลิตภัณฑ์ที่เก็บตัวอย่างจากตลาดเมืองใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่พบเท่ากับ 2,065.3 มิลลิกรัม/กิโลกรัม3. ผลิตภัณฑ์กว่า 3 ใน 4 ของที่เก็บตัวอย่างไม่สามารถระบุวันผลิตและวันหมดอายุได้ทำให้ไม่สามารถทราบได้ว่าผลิตภัณฑ์นั้น ๆ มีอายุแค่ไหน เหมาะสมแก่การบริโภคหรือไม่4. ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่เก็บตัวอย่างจากห้างค้าส่งหรือค้าปลีกขนาดใหญ่หรือผลิตภัณฑ์ที่เก็บตัวอย่างจากตลาดสด ล้วนมีความเสี่ยงจากสารเคมีตกค้างทางการเกษตร อะฟลาทอกซิน หรือแม้กระทั่งซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ไม่แตกต่างกัน ** อย่างไรก็ตามปริมาณการปนเปื้อนในเห็ดหอมแห้งที่พบโดยภาพรวมยังถือว่ามีปริมาณไม่มากนัก และไม่น่าจะก่อให้เกิดอันตรายฉับพลันจากการบริโภค ยกเว้น แต่ในผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ อาจจะพบอาการระคายเคืองของระบบทางเดินหายใจจากการบริโภคเห็ดหอมแห้งที่มีการปนเปื้อนของซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในปริมาณสูงได้   เห็ดหูหนูขาว เก็บตัวอย่างทั้งสิ้น 16 ตัวอย่าง (ครั้งที่ 1 เดือนกันยายน และครั้งที่ 2 เดือนพฤศจิกายน 2552 ครั้งละ 8 ตัวอย่าง) 1.พบการปนเปื้อนของยากันรา – คาร์เบนดาซิม 2 จาก 16 ตัวอย่างที่ทดสอบ ทั้งหมดพบในการเก็บตัวอย่างครั้งที่ 1 เดือนกันยายน 2552 คิดเป็นร้อยละ 12.5 โดยตัวอย่างที่พบ ได้แก่ ยี่ห้อปลาทอง ของ บ. เฮอริเทจ สแน็ค แอนด์ฟู้ด จำกัด เก็บตัวอย่างจากห้างเทสโก้ โลตัส สาขาสตูล ปริมาณที่พบ 0.282 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และผลิตภัณฑ์จากประเทศจีน ที่เก็บตัวอย่างจากตลาดสดพะเยา ปริมาณที่พบ น้อยกว่า 0.05 มิลลิกรัม/กิโลกรัม 2.พบการปนเปื้อนของสารเคมีทางการเกษตร กลุ่ม ออร์กาโนฟอสเฟต 6 จาก 16 ตัวอย่าง โดยทั้งหมดเป็นผลิตภัณฑ์ที่เก็บจากการเก็บตัวอย่างครั้งที่ 2 เดือนพฤศจิกายน คิดเป็นร้อยละ 37.5 ค่าเฉลี่ยของสารเคมีที่พบเท่ากับ 0.073 มิลลิกรัม/กิโลกรัม สารเคมีที่พบ มี 2 ชนิดคือ Methamidophos (จำนวน 2 ตัวอย่าง ปริมาณที่พบ 0.28 และ 0.15 มิลลิกรัม/กิโลกรัม โดยเป็นตัวอย่างที่เก็บจาก จังหวัดสงขลา และจังหวัดสตูล ตามลำดับ) และ Chlorpyrifos (จำนวน 4 ตัวอย่าง ปริมาณที่พบอยู่ระหว่าง 0.0037 – 0.0027 มิลลิกรัม/กิโลกรัม โดยเป็นตัวอย่างที่เก็บจาก ห้างเทสโก้ โลตัส สมุทรสงคราม, ตลาดเก่าเยาวราช กรุงเทพฯ, ห้างแมคโคร เชียงใหม่, และตลาดเมืองพะเยา 3.พบการปนเปื้อนของสารฟอกขาว-ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ในตัวอย่างทั้งสิ้น 12 จาก 16 ตัวอย่างที่ทดสอบ ปริมาณเฉลี่ยที่พบ 1,638.1 มิลลิกรัม/กิโลกรัม มี 8 ตัวอย่างที่พบมีการปนเปื้อนเกินมาตรฐานวัตถุเจือปนอาหาร (1,500 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) ดังนี้ (1) ตัวอย่างนำเข้าจากประเทศจีนไม่ทราบยี่ห้อ ที่เก็บจากตลาดนิวกิมหยง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ในการเก็บตัวอย่างครั้งที่ 1 เดือน กันยายน 52 มีปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ 3,588 มิลลิกรัม/กิโลกรัม (2) ยี่ห้อ Tai Liang Yao เก็บตัวอย่างจากตลาดเก่าเยาวราช กรุงเทพ ฯ ในการเก็บตัวอย่างครั้งทื่ 2 เดือนพฤศจิกายน 2552 มีปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ 2,978.7 มิลลิกรัม/กิโลกรัม(3) ตัวอย่างที่เก็บจากตลาดเทศบาล 3 อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ในการเก็บตัวอย่างครั้งที่ 1 เดือน กันยายน 52 มีปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ 2,585 มิลลิกรัม/กิโลกรัม(4) ผลิตภัณฑ์ของ บ. ทริปเปิ้ลทู มาร์เก็ตติ้ง จำกัด เก็บตัวอย่างจากห้างคาร์ฟูร์ สาขารังสิต ในการเก็บตัวอย่างครั้งที่ 1 เดือน กันยายน 52 มีปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ 2,226.6 มิลลิกรัม/กิโลกรัม(5) ผลิตภัณฑ์จากประเทศจีน ที่เก็บตัวอย่างจากตลาดสดละงู จังหวัดสตูล ในการเก็บตัวอย่างครั้งทื่ 2 เดือนพฤศจิกายน 2552 มีปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ 2,250.49 มิลลิกรัม/กิโลกรัม (6) ผลิตภัณฑ์จากประเทศจีน ที่เก็บตัวอย่างจากตลาดเมืองพะเยา ในการเก็บตัวอย่างครั้งทื่ 2 เดือนพฤศจิกายน 2552 มีปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ 2,183.9 มิลลิกรัม/กิโลกรัม(7) ผลิตภัณฑ์จากประเทศจีน ที่เก็บตัวอย่างจากตลาดพลาซ่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ในการเก็บตัวอย่างครั้งทื่ 2 เดือนพฤศจิกายน 2552 มีปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ 2,038.9 มิลลิกรัม/กิโลกรัม(8) ตัวอย่างที่เก็บจากตลาดเทศบาล 2 อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ในการเก็บตัวอย่างครั้งที่ 2 เดือน พฤศจิกายน 52 มีปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ 1526.9 มิลลิกรัม/กิโลกรัม 4.พบสารพิษจากเชื้อรา อะฟลาท็อกซิน 1 จาก 16 ตัวอย่างที่ทดสอบ โดยเป็นตัวอย่างที่เก็บจากการเก็บต้วอย่างครั้งที่ 2 เดือน พฤศจิกายน 52 ยี่ห้อตะวัน ของ บริษัท บ.เอกชัยดิสทริ บิวชั่นซิสเทม เก็บตัวอย่างจากห้างเทสโก้ โลตัส สมุทรสงคราม สารพิษที่พบ คือ อะฟลาทอกซิน ชนิด B1 ปริมาณที่พบ 0.3 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม ข้อสังเกต1. มีผลิตภัณฑ์จำนวน 1 ตัวอย่างจากทั้งหมด 16 ตัวอย่างที่พบค่าเชื้อรา (Mold) ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดความสะอาดจากการผลิตเกินมาตรฐานกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ (ไม่เกิน 500 โคโลนี/ต่อกรัม) ที่จำนวน 5,800 โคโลนี/กรัม โดยเป็นตัวอย่าง ยี่ห้อตะวัน ของ บริษัท บ.เอกชัยดิสทริ บิวชั่นซิสเทม เก็บตัวอย่างจากห้างเทสโก้ โลตัส สมุทรสงคราม2. ผลิตภัณฑ์ที่เก็บส่วนใหญ่ ( 14 จาก 16 ตัวอย่าง คิดเป็น ร้อยละ 87.5) ไม่มีการระบุวันผลิตและวันหมดอายุ สาหร่ายทะเลแห้ง เก็บตัวอย่างทั้งสิ้น 22 ตัวอย่าง (ครั้งที่ 1 เดือนกันยายน 52 จำนวน 7 ตัวอย่าง และ ครั้งที่ 2 เดือนพฤศจิกายน 52 จำนวน 15 ตัวอย่าง) ผลทดสอบ1.ไม่พบการปนเปื้อนของสารกันรา – คาร์เบนดาซิม ในทุกตัวอย่างที่ทดสอบ2.พบการปนเปื้อนของสารตกค้างทางการเกษตรกลุ่ม ออร์กาโนฟอสเฟต 10 จาก 22 ตัวอย่าง เป็นตัวอย่างที่เก็บเมื่อเดือนกันยายน 52 จำนวน 2 ตัวอย่างและตัวอย่างที่เก็บเมื่อเดือนพฤศจิกายน 52 จำนวน 8 ตัวอย่าง ปริมาณเฉลี่ยของสารเคมีที่พบเท่ากับ 0.005 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ซึ่งเป็นปริมาณที่น้อยมากเมื่อเทียบกับปริมาณบริโภคปกติจึงไม่น่าจะก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย3.ไม่พบการปนเปื้อนของสารพิษจากเชื้อรา-อะฟลาท็อกซิน ในทุกตัวอย่างที่ทดสอบ 4.พบการปนเปื้อนของโลหะหนัก ตะกั่ว (Lead) ทุกตัวอย่าง โดยมีปริมาณเฉลี่ยของตะกั่วที่พบเท่ากับ 0.57 มิลลิกรัม/กิโลกรัม หรือเท่ากับครึ่งหนึ่งของ ค่ามาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 (พ.ศ. 2529) กำหนด (ไม่เกิน 1 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) เมื่อนำมาตรฐานมาเทียบพบว่ามีผลิตภัณฑ์จำนวน 3 ตัวอย่างมีค่าตะกั่วสูงเกินกว่ามาตรฐาน (ร้อยละ 13.6) โดยเป็นผลิตภัณฑ์ที่เก็บเมื่อเดือนกันยายน 2552 จำนวน 1 ตัวอย่าง ได้แก่ยี่ห้อ เขียวธรรมชาติ เก็บตัวอย่างจาก เทสโก้ โลตัส สมุทรสงคราม ปริมาณที่พบ 1.31 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และเป็นผลิตภัณฑ์ที่เก็บเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2552 จำนวน 2 ตัวอย่าง ได้แก่ ยี่ห้อ Seaweed ผลิตโดย Poo tradind and export ,Pinang , Malaysia เก็บตัวอย่างจากอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ปริมาณตะกั่วที่พบเท่ากับ 1.88 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และยี่ห้อ ใบเขียว ที่เก็บตัวอย่างจากตลาดเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา ปริมาณที่พบเท่ากับ 1.06 มิลลิกรัม/กิโลกรัม 5.พบการปนเปื้อนของโลหะหนัก แคดเมียม (Cadmium) ทุกตัวอย่าง โดยมีปริมาณเฉลี่ยของแคดเมียมที่พบเท่ากับ 1.86 มิลลิกรัม/กิโลกรัม หรือ เกือบสิบเท่าของมาตรฐานอาหารสากลกำหนด (CODEX ใบผัก – 0.2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) ผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณแคดเมียมสูงกว่า 2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม มีทั้งสิ้น 9 ตัวอย่าง ได้แก่ (1) ผลิตภัณฑ์ที่เก็บจากตลาดสดมหาสารคาม ในการเก็บตัวอย่างครั้งที่ 2 เดือนพฤศจิกายน 52 ปริมาณที่พบเท่ากับ 5.06 มิลลิกรัม/กิโลกรัม (2) สาหร่ายทะเลแห้งยี่ห้อปลาทองของ บ.เฮอริเทจ สแน็ค แอนด์ฟู้ด เก็บตัวอย่างจากห้างคาร์ฟูร์ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2552 ปริมาณแคดเมียมที่พบ เท่ากับ 4.66 มิลลิกรัม/กิโลกรัม (3) ผลิตภัณฑ์ยี่ห้อ Donghu seaweed เก็บตัวอย่างจากตลาดสดเมืองสตูลเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2552 ปริมาณที่แคดเมียมที่พบ เท่ากับ 3.93 มิลลิกรัม/กิโลกรัม(4) ผลิตภัณฑ์ที่เก็บตัวอย่างจากตลาดสดเมืองพะเยาเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2552 ปริมาณแคดเมียมที่พบเท่ากับ 3.26 มิลลิกรัม/กิโลกรัม(5) ผลิตภัณฑ์ที่เก็บตัวอย่างจากตลาดเทศบาล 2 จังหวัดขอนแก่น เดือนกันยายน 2552 ปริมาณแคดเมียมที่พบเท่ากับ 2.34 มิลลิกรัม/กิโลกรัม(6) สาหร่ายทะเลแห้งยี่ห้อปลาทองของ บ.เฮอริเทจ สแน็ค แอนด์ฟู้ด เก็บตัวอย่างจากเทสโก้ โลตัส สาขาสมุทรสงคราม เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2552 ปริมาณแคดเมียมที่พบเท่ากับ 2.3 มิลลิกรัม/กิโลกรัม(7) ผลิตภัณฑ์ยี่ห้อเป็นภาษาจีน เก็บตัวอย่างจากตลาดสดเทศบาล 3 จังหวัดขอนแก่น เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2552 ปริมาณแคดเมียมที่พบเท่ากับ 2.11 มิลลิกรัม/กิโลกรัม(8) ผลิตภัณฑ์นำเข้าจากประเทศมาเลเซีย เก็บตัวอย่างจากตลาดสดละงู อำเภอละงู จังหวัดสตูล เมื่อเดือนกันยายน 2552 ปริมาณแคดเมียมที่พบเท่ากับ 2.09 มิลลิกรัม/กิโลกรัม(9) สาหร่ายทะเลแห้งตราแมกซ์ นำเข้าโดย บจก.แมกซ์เมริตี้ เก็บตัวอย่างจากห้างสยามพารากอน กรุงเทพฯ เมื่อเดือนกันยายน 2552 ปริมาณแคดเมียมที่พบ เท่ากับ 2.04 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ข้อมูลที่ต้องลงกำกับไปพร้อมกับตาราง • ผลรายงานเฉพาะตัวอย่างที่ส่งวิเคราะห์เท่านั้นโดย สถาบันโภชนาการ ม.มหิดลภาควิชาเทคโนโลยีอาหาร คณะเทคโนโลยี ม.ขอนแก่นคณะอุตสาหกรรมการเกษตร ม.สงขลานครินทร์สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ ม.เชียงใหม่ -------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------ฉลาดซื้อ “ของแห้ง”1. ทั้ง เห็ดหอมแห้ง เห็ดหูหนูขาวและสาหร่ายแห้ง ส่วนมากเป็นอาหารที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ จึงยากที่เราจะทราบเรื่องวันเดือนปีที่ผลิต ดังนั้นวิธีการง่ายๆ ที่เราพอจะทำได้ในการสังเกตคุณภาพของอาหารแห้งเหล่านี้ก็คือ ดูที่บรรจุภัณฑ์ว่าอยู่ในสภาพดีหรือไม่ ไม่มีร่องรอยฉีกขาด หรือดูไม่สะอาดจนน่าสงสัย2. ขึ้นชื่อว่าอาหารแห้ง ตัวผลิตภัณฑ์ก็ต้องอยู่ในสภาพที่แห้งจริงๆ ไม่มีความชื้น เพราะถ้าหากมีความชื้นปนเปื้อนมาในอาหารแห้งที่เราซื้อ ให้สงสัยไว้ก่อนเลยว่าสินค้าตัวนั้นไม่มีคุณภาพ3. เห็ดหอมแห้ง เห็ดหูหนูขาว และสาหร่ายแห้ง ที่ซื้อมาควรล้างทำความสะอาดให้เรียบร้อย แช่น้ำให้นานๆ ก่อนนำไปปรุงอาหาร ช่วยกำจัดได้ทั้งฝุ่นและแมลงตัวเล็กๆ ที่มักปนเปื้อนมากับอาหารแห้ง รวมทั้งยังช่วยชะล้างสารเคมีบางชนิดได้ด้วย 4. ไม่เลือกผลิตภัณฑ์ที่ดูขาวจนผิดธรรมชาติ เพราะมีการปนเปื้อนของซัลเฟอร์ไดออกไซด์หรือสารฟอกขาวแน่ๆ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 110 ชาโบราณยี่ห้อไหนใส่สีมากเกินไป

เสน่ห์ของ ชาโบราณ ที่มัดใจใครหลายๆ คนให้หลงใหล คงหนีไม่พ้นเรื่องของรสชาติที่สะดุดลิ้นกับกลิ่นหอมที่ดึงดูดใจ และคงรวมไปถึงสีสันที่เป็นเอกลักษณ์ ฉูดฉาดบาดใจ แต่นักดื่มชาโบราณทั้งหลายเคยสงสัยกันหรือไม่ว่า สีของชาเย็น ชาดำเย็นที่เราดื่มนั้นมันเป็นสีจากธรรมชาติหรือมาจากการเติมแต่งเข้าไป “ฉลาดซื้อ” ฉบับนี้มีความจริงเรื่อง “สีในชา” ที่น่าตกใจมาเปิดเผยให้ทุกคนได้รู้กัน ชาโบราณ จัดเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทชาปรุงสำเร็จพร้อมดื่ม ที่ทางการอนุญาตให้ใส่สีได้ โดยต้องมาจดแจ้งขออนุญาตกันก่อน เพื่อจำกัดปริมาณสีที่ผสมเข้าไปไม่ให้มากจนอาจเกิดอันตรายแก่ผู้บริโภค ดังนั้น “ฉลาดซื้อ” ได้ตระเวนเก็บตัวอย่างชาผงสำเร็จรูป แบบที่นำมาชงเป็นชาดำเย็นหรือชาเย็นใส่นมที่หลายๆ คนชอบซื้อดื่มจากร้านหรือรถเข็นขายชา-กาแฟทั่วๆ ไป ซึ่งชาชนิดนี้มีชื่อเรียกหลายๆ แบบ ไม่ว่าจะเป็น ชาโบราณ ชาแดง ชาซีลอน ชาดำ ---------------------------------------------------------------------------------------------------- ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 196) พ.ศ. 2543 ระบุเอาไว้ว่า ชาผงสำเร็จรูป ต้องมีคุณภาพและมาตรฐานดังนี้ คือ (1) มีความชื้นไม่เกินร้อยละ 6 ของน้ำหนัก (2) มีเถ้าทั้งหมดไม่เกินร้อยละ 20 ของน้ำหนักชาผงสำเร็จรูปแห้ง (3) มีกาเฟอีน (caffeine) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 4.0 ของน้ำหนัก เว้นแต่ชาผงสำเร็จรูปที่สกัดเอากาเฟอีนออกแล้ว ให้มีกาเฟอีนได้ในปริมาณที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และข้อที่ (4) ที่สำคัญมากๆ คือ เรื่อง สี ซึ่งในประกาศระบุไว้ว่า “ไม่ให้ใส่สี” แม้จะแต่งกลิ่นและรสได้ แต่ห้ามใส่สีเด็ดขาดทั้งในชาผงสำเร็จรูปและใบชา จะยกเว้นก็เฉพาะชาปรุงสำเร็จพร้อมดื่มที่ไม่ได้ระบุเรื่องการห้ามใส่สีเอาไว้ ---------------------------------------------------------------------------------------------------- ผลทดสอบ “สี” ในชาผงปรุงสำเร็จ- ในการทดสอบครั้งนี้ “ฉลาดซื้อ” ได้เก็บตัวอย่างชาผงปรุงสำเร็จทั้งหมด 13 ยี่ห้อ ซึ่งเลือกจากการบอกเล่าของแม่ค้า พ่อค้า ที่ขายชาโบราณว่า นิยมใช้ยี่ห้อใดในการขาย โดยฉลาดซื้อได้เก็บตัวอย่างของชาเขียว 1 ตัวอย่าง คือ ตรามือ สำหรับชงชาเขียวนม เพิ่มเติม นอกนั้นเป็นชาดำ ทั้งหมด - การทดสอบตัวอย่างชาผงปรุงสำเร็จทั้ง 13 ยี่ห้อ พบว่ามีเพียงแค่ 1 ตัวอย่างเท่านั้นที่ไม่พบการใส่สีสังเคราะห์เพิ่มเติม คือ Yoku ซึ่งที่ข้างซองไม่ได้แจ้งรายละเอียดใดๆ ไว้เลย แจ้งเพียงแค่ ใบอนุญาตนำหรือสั่งอาหารเข้ามาในราชอาณาจักรเลขที่ 10-3-13-13446 - สีผสมอาหารที่พบในการทดสอบครั้งนี้คือ ซันเซ็ต เย็ลโลว์ (Sunset yellow) และ ตาร์ตราซีน (Tartrazine) ซึ่งเป็นกลุ่มสีที่ให้สีเหลือง, ปองโซ 4 อาร์ (Ponceau 4R) และ คาร์โมอีซีน (Carmoisine) กลุ่มสีที่ให้สีแดง และ บริลเลียนท์ บลู (Brilliant blue) กลุ่มสีที่ให้สีน้ำเงิน ซึ่งทั้งหมดเป็นสีผสมอาหารที่เป็นสีสังเคราะห์ - ซันเซ็ต เย็ลโลว์ เป็นสีที่พบในทุกตัวอย่าง (ยกเว้น Yoku ที่ไม่พบสีผสมอยู่เลย) ตัวอย่างที่พบมากที่สุดคือ ยี่ห้อ ตราแพะ (ชาซีลอน) ซึ่งมีถึง 7356.70 มิลลิกรัมต่อ 1 กิโลกรัม ซึ่งในการชงชาดื่ม 1 แก้ว ปริมาณชาผงปรุงสำเร็จที่ใช้ชงจะอยู่ที่ 2 ช้อนชา หรือประมาณ 10 กรัม เมื่อคำนวณดูแล้ว ปริมาณสีสังเคราะห์ต่อการดื่มชาตราแพะ (ชาซีลอน) 1 แก้ว จะอยู่ที่ประมาณ 73.56 มิลลิกรัม ซึ่งถือเป็นปริมาณที่สูง เพราะโดยทั่วไปแล้วปริมาณที่ให้ใช้โดยปลอดภัยกำหนดไว้ไม่เกิน 1 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักร่างกาย 1 กิโลกรัม ต่อ 1 วัน (จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก. ภัยมืดจากสารพิษ. เชษฐ สตูดิโอ แอน กราฟิคดีไซน์ จำกัด : กรุงเทพฯ. 2537) - ตัวอย่างอื่นๆ ที่ตรวจพบสีในปริมาณที่สูงรองลงมา คือ ตรามังกรบิน (5091.60 มิลลิกรัม/ 1 กิโลกรัม), Racehorse (ตราม้าแข่ง) (4338.03 มล./ 1 กก.), ตรางูเห่า สูตรเข้มข้น (4012.31 มล./ 1 กก.) และ ตราเทพพนม (3191.35 มล./ 1 กก.) - Racehorse (ตราม้าแข่ง), ตราเทพพนม, ตรามือ สำหรับชงชาเขียวนม, ตราสามแพะ และ Kapak (ใบชาตราขวาน) ตรวจพบสีสังเคราะห์ปนเปื้อนมากกว่า 1 ชนิด คือ พบทั้ง ซันเซ็ต เย็ลโลว์ กับ ตาร์ตราซีน ซึ่งเป็นสีในกล่มสีเหลือง และ ปองโซ 4 อาร์ กับ คาร์โมอีซีน ซึ่งเป็นสีในกลุ่มสีแดง ยกเว้น ตรามือ สำหรับชงชาเขียวนม ที่ไม่ใส่สีสังเคราะห์ในกลุ่มสีแดง แต่พบสีในกลุ่มสีน้ำเงินคือ บริลเลียนท์ บลู - ชาโบราณ Finest Ceylontea Dust 999, ชาโบราณ Finest Ceylon Tea Dust 666 และ Racehorse (ตราม้าแข่ง) เป็นผลิตภัณฑ์ชาผงปรุงสำเร็จที่นำเข้ามาจากประเทศมาเลเซีย ซึ่งเมื่อหลายปีก่อนเคยมีข่าวว่า อย. เก็บตัวอย่างของทั้ง 3 ยี่ห้อมาทดสอบแล้วก็พบการเติมสีสังเคราะห์ในปริมาณสูงเช่นกัน ซึ่งแม้ อย. จะออกมาตรการคุมเข้มการนำเข้าสินค้าไม่มีคุณภาพ แต่ก็ยังมีสินค้าเหล่านี้เล็ดรอดเข้ามาได้อยู่ดี - ชาผงปรุงสำเร็จ ตรามือ สำหรับชงชาเขียวนม และ ตรามือ ฉลากแดง (ชนิดเติม) มีการระบุไว้ที่ฉลากว่า เจือสี ซึ่งทั้ง 2 ตัวอย่างมาจากผู้ผลิตเดียวกัน - นอกจากเรื่องสีผสมอาหารแล้ว ในการทดสอบชาผงปรุงสำเร็จครั้งนี้ “ฉลาดซื้อ”  ได้เลือกวิเคราะห์หาสารอะฟลาท็อกซิน (Aflatoxin) ด้วย ซึ่งผลที่ออกมาน่าจะทำให้ผู้บริโภคสบายใจขึ้นบ้าง เพราะไม่พบการปนเปื้อนสารอะฟลาท็อกซินในทุกตัวอย่างที่ทำการทดสอบ ฉลาดซื้อแนะ1.ตัวอย่างชาผงปรุงสำเร็จที่เรานำมาทดสอบในครั้งนี้ ส่วนใหญ่เป็นชนิดที่ร้านขายชา – กาแฟโบราณ ซื้อจากตลาดหรือร้านค้าส่งขนาดใหญ่ เพื่อไปต้มชงขายอีกที ซึ่งปกติเราก็ไม่ค่อยได้ทราบกันอยู่แล้วว่าร้านที่เราซื้อเขาใช้ชาแบบไหนมาชงให้เรา แบบนี้การหลีกเลี่ยงสีสังเคราะห์ที่อยู่ในชาก็เป็นเรื่องยาก นอกจากจะลดการดื่มชา ทั้งชาดำเย็นและชานมเย็น เพราะตอนนี้เรารู้แล้วว่าสีส้มสวยๆ ของชา มาจากสีสังเคราะห์ซึ่งถ้าเราได้รับเข้าสู่ร่างกายมากๆ ก็อาจเป็นอันตราย2.แต่ถ้าหากอยากดื่มชา แนะนำว่าให้ซื้อมาชงกินเอง โดยเลือกซื้อชาผงสำเร็จรูปที่มีบรรจุภัณฑ์สะอาดเรียบร้อย มีเลขที่อย.ถูกต้อง มีการแจ้งชื่อ-ที่อยู่ผู้ผลิต วันที่ผลิต วันหมดอายุ และส่วนประกอบต่างๆ ซึ่งนอกจากจะลดความเสี่ยงในการได้รับสีสังเคราะห์มากเกินไปแล้ว เรายังสามารถควบคุมเรื่องความหวานจากน้ำตาลและนมได้ด้วย---------------------------------------------------------------------------------------------------- สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้มีการกำหนดปริมาณสีที่อนุญาตให้ใช้ผสมในอาหารประเภท เครื่องดื่ม ไอศกรีม ลูกกวาด และขนมหวาน ดังนี้สีที่ใช้ได้ปริมาณไม่เกิน 70 มิลลิกรัมต่ออาหารในลักษณะที่ใช้บริโภค 1 กิโลกรัม * สีแดง ได้แก่ - เอโซรูบีน , เออริโทรซิน * สีเหลือง ได้แก่ - ตาร์ตราซีน , ซันเซ็ตเย็ลโลว์ เอ็ฟ ซี เอ็ฟ * สีเขียว ได้แก่ - ฟาสต์ กรีน เอ็ฟ ซี เอ็ฟ * สีน้ำเงิน ได้แก่ - อินดิโกคาร์มีน หรือ อินดิโกตินสีที่ใช้ได้ปริมาณไม่เกิน 50 มิลลิกรัมต่ออาหารในลักษณะที่ใช้ บริโภค 1 กิโลกรัม * สีแดง ได้แก่ - ปองโซ 4 อาร์ * สีน้ำเงิน ได้แก่ - บริลเลียนห์บลู เอ็ฟ ซี เอ็ฟ www.fda.moph.go.th/fda-net/html/product/.../candy.htm - ---------------------------------------------------------------------------------------------------- อันตรายของสีผสมอาหาร1.การรับประทานสีสังเคราะห์ในปริมาณมากร่างกายอาจได้รับอันตราย สีสังเคราะห์เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะไปเคลือบเยื่อบุกระเพาะอาหารและลำไส้ ทำให้น้ำย่อยอาหารทำงานไม่ปกติ ทำให้เกิดอาการท้องอืด ท้องผูก และยังมีผลทำให้การดูดซึมอาหารถูกขัดขวาง ซึ่งทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารไม่เต็มที่ ทำให้ร่างกายอ่อนแอ น้ำหนักลด อ่อนเพลีย และอาจส่งผลต่อการทำงานของไตและตับ 2.ในสีสังเคราะห์มักจะมีสารตกค้างอื่นๆ ปะปนมา ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสารประเภทโลหะหนัก เช่น แคดเมียม  ตะกั่ว สารหนู ปรอท พลวง  โครเมียม เป็นต้น ซึ่งสารเหล่านี้แม้จะได้รับในปริมาณเล็กน้อยแต่ก็จะสะสมอยู่ในร่างกาย ปล่อยไว้นานเข้าก็จะเป็นอันตรายต่อร่างกาย ---------------------------------------------------------------------------------------------------- ตารางแสดงผลทดสอบสีผสมอาหารในชาผงปรุงสำเร็จ     ผลวิเคราะห์เฉพาะตัวอย่างที่ส่งตรวจเท่านั้น วิเคราะห์ผลโดย สถาบันโภชนาการ ม.มหิดล

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 110 ‘สารกันบูด’ สูตรอร่อยเสี่ยงในลูกชิ้น

ลูกชิ้น หนึ่งในอาหารยอดนิยม ทั้งกินเล่นกินจริง นำไปปรุงเป็นอาหารต่างๆ ได้หลายเมนู ทั้งใส่ ก๋วยเตี๋ยว ปิ้ง ทอด หรือยำลูกชิ้นก็มี ลูกชิ้นมีขายทั่วไปทั้งหน้าโรงเรียน หน้าปากซอย ตลาดสด ร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาเก็ตในห้างสรรพสินค้า และห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ ด้วยความหลากหลายในการนำไปประกอบอาหารนี้เอง ทำให้โครงการพัฒนากลไกการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารสนใจและอยากรู้ว่าจะมีการปนเปื้อนอะไรบ้างในลูกชิ้น ทางโครงการฯ ร่วมกับนิตยสารฉลาดซื้อ และพื้นที่ดำเนินงานอีก 7 จังหวัด ของโครงการพัฒนากลไก ฯ จึงได้ดำเนินการเก็บตัวอย่างลูกชิ้นหมู ลูกชิ้นไก่ และ ลูกชิ้นปลา จากทั้งตลาดสด ร้านค้าปลีกในจังหวัด และ ห้างค้าปลีกและค้าส่งขนาดใหญ่ (โลตัส แมคโคร คาร์ฟูร์) ในเดือนพฤศจิกายน 2552 เพื่อตรวจหาสารกันบูด 4 ประเภท คือ กรดเบนโซอิค กรดซอร์บิค ไนเตรท และไนไตรท์ นอกจากนั้นยังตรวจหาน้ำประสานทองหรือ บอแรกซ์ อีกด้วย โดยเก็บตัวอย่างลูกชิ้นหมูจากพื้นที่กรุงเทพฯ สมุทรสงคราม ขอนแก่น มหาสารคาม เชียงใหม่ และ พะเยา จำนวน 22 ตัวอย่าง (22 ยี่ห้อ) เก็บตัวอย่างลูกชิ้นไก่จากจังหวัดสงขลา และ จังหวัดสตูล จำนวน 8 ตัวอย่าง (8 ยี่ห้อ) และ เก็บตัวอย่างลูกชิ้นปลา จากจังหวัดพะเยา จำนวน 2 ตัวอย่าง (2 ยี่ห้อ) รวมตัวอย่างลูกชิ้นที่เก็บ ทั้งสิ้น 32 ตัวอย่าง (32 ยี่ห้อ) ผลการทดสอบ1. การทดสอบวัตถุเจือปนอาหาร ประเภทสารกันบูด – กรดเบนโซอิค1.1. พบว่าลูกชิ้นหมูทุกยี่ห้อ (22 ยี่ห้อ) ที่เก็บตัวอย่างใส่สารกันบูดประเภทกรดเบนโซอิค โดยมีค่าเฉลี่ยของปริมาณที่พบอยู่ที่ 2,206.97 มิลลิกรัม/กิโลกรัม การแบ่งกลุ่มตัวอย่างตามผลที่พบออกเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มตัวอย่างที่มีปริมาณกรดเบนโซอิคต่ำกว่า 1,000 มิลลิกรัม/กิโลกรัม จำนวน 7 ตัวอย่าง (ร้อยละ 32) และกลุ่มตัวอย่างที่มีปริมาณกรดเบนโซอิคสูงกว่า 1,000 มิลลิกรัม/กิโลกรัม จำนวน 15 ตัวอย่าง (ร้อยละ 68) ปริมาณกรดเบนโซอิคที่พบสูงสุด 5 ตัวอย่าง ได้แก่ (1) ยี่ห้อกวางตุ้ง 9536.19 มิลลิกรัม/กิโลกรัม เก็บตัวอย่างจากห้างโลตัสจังหวัดเชียงใหม่ (2) ยี่ห้อหมูรวมดาว 3,572 มิลลิกรัม/กิโลกรัม เก็บตัวอย่างจากจังหวัดมหาสารคาม (3) ยี่ห้อหมูสยาม 3317.59 มิลลิกรัม/กิโลกรัม เก็บตัวอย่างจากตลาดยิ่งเจริญ กรุงเทพฯ (4) ยี่ห้อคุณหมอ 3,163.27 มิลลิกรัม/กิโลกรัม เก็บตัวอย่างจากตลาดห้วยขวาง กรุงเทพฯ และ (5) ยี่ห้อน้องเพียร 3,152 มิลลิกรัม/กิโลกรัม เก็บตัวอย่างจากจังหวัดมหาสารคาม 1.2. พบว่าลูกชิ้นไก่ทุกยี่ห้อ (8 ยี่ห้อ) ที่เก็บตัวอย่างใส่สารกันบูดประเภทกรดเบนโซอิค โดยมีค่าเฉลี่ยของปริมาณที่พบอยู่ที่ 2,243.668 มิลลิกรัม/กิโลกรัม โดยกลุ่มตัวอย่างที่มีปริมาณกรดเบนโซอิคต่ำกว่า 1,000 มิลลิกรัม/กิโลกรัม จำนวน 3 ตัวอย่าง (ร้อยละ 37.5) ส่วนกลุ่มตัวอย่างที่มีปริมาณกรดเบนโซอิคสูงกว่า 1,000 มิลลิกรัม/กิโลกรัม จำนวน 5 ตัวอย่าง (ร้อยละ 62.5) ปริมาณกรดเบนโซอิคที่พบสูงสุด 3 ตัวอย่างได้แก่ (1) ยี่ห้ออร่อย 5 ดาว 5,796 มิลลิกรัม/กิโลกรัม เก็บตัวอย่างจากตลาดพลาซ่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา (2) ยี่ห้อบีบี 4,371.04 มิลลิกรัม/กิโลกรัม เก็บตัวอย่างจากตลาดสดละงู อำเภอละงู จังหวัดสตูล และ (3) ยี่ห้อจงหยวน 2,672 มิลลิกรัม/กิโลกรัม เก็บตัวอย่างจากตลาดพลาซ่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา 1.3. พบว่าลูกชิ้นปลาจำนวน 1 ตัวอย่างจาก 2 ตัวอย่างที่ทำการสำรวจในจังหวัดพะเยาใส่สารกันบูดประเภทกรดเบนโซอิค คือยี่ห้อห้าดาว ซึ่งเก็บจากตลาดสดแม่ต๋ำ โดยพบที่ปริมาณ 167.37 มิลลิกรัม/กิโลกรัม 2. การทดสอบวัตถุเจือปนอาหารประเภทสารกันบูด – กรดซอร์บิคพบว่ามีลูกชิ้นจำนวน 5 ตัวอย่างที่ใช้กรดซอร์บิคในผลิตภัณฑ์ แบ่งเป็นลูกชิ้นหมูจำนวน 3 ตัวอย่าง ได้แก่ (1) ยี่ห้อแชมป์ 138.07 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ที่เก็บจากห้างแม็คโคร จังหวัดเชียงใหม่ (2) ยี่ห้อหมูดี 61.34 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ที่เก็บจากห้างคาร์ฟูร์ จังหวัดเชียงใหม่ และ (3) ยี่ห้อเทสโก้ 103.05 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ที่เก็บจากห้างโลตัสจังหวัดพะเยา อีก 2 ตัวอย่างที่พบกรดซอร์บิค ได้แก่ลูกชิ้นไก่ที่เก็บตัวอย่างจากจังหวัดสตูล ประกอบด้วยยี่ห้อบีวัน 406 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และ ยี่ห้อไก่ยิ้ม 143.4 มิลลิกรัม/กิโลกรัม 3. การทดสอบวัตถุเจือปนอาหารประเภทสารกันบูด – ไนเตรทจากการทดสอบทั้งสิ้น 28 ตัวอย่าง พบการใช้ไนเตรทในลูกชิ้นทั้งสิ้น 11 ตัวอย่าง แบ่งเป็นลูกชิ้นหมู 7 ตัวอย่าง (กรุงเทพ ฯ 4 ตัวอย่าง สมุทรสงคราม 2 ตัวอย่าง และมหาสารคาม 1 ตัวอย่าง) และลูกชิ้นไก่ 4 ตัวอย่าง (ทั้งหมดจากจังหวัดสงขลา) โดยมีปริมาณที่พบอยู่ระหว่าง 2.5 – 35 มิลลิกรัม/กิโลกรัม 4. การทดสอบวัตถุเจือปนอาหารประเภทสารกันบูด – ไนไตรท์จากการทดสอบทั้งสิ้น 28 ตัวอย่าง พบการใช้ไนไตรท์ในลูกชิ้นทั้งสิ้น 11 ตัวอย่าง แบ่งเป็น ลูกชิ้นหมู 7 ตัวอย่าง (กรุงเทพฯ 3 ตัวอย่าง และ สมุทรสงคราม 4 ตัวอย่าง) และลูกชิ้นไก่ 4 ตัวอย่าง (ทั้งหมดจากจังหวัดสงขลา) โดยมีปริมาณที่พบอยู่ระหว่าง 0.2 – 4.2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม 5. การทดสอบวัตถุเจือปนอาหาร – น้ำประสานทอง หรือ บอแรกซ์ไม่พบน้ำประสานทอง (บอแรกซ์) ในทุกตัวอย่างที่ทำการทดสอบ ข้อสังเกต1. มีลูกชิ้นหมูทั้งสิ้น 3 ยี่ห้อ ที่ใช้สารกันบูด 2 ชนิด คือกรดเบนโซอิค และกรดซอร์บิคร่วมกันในผลิตภัณฑ์เดียว ได้แก่ ยี่ห้อหมูดีและยี่ห้อแชมป์ที่เก็บตัวอย่างจากจังหวัดขอนแก่น และยี่ห้อเทสโก้ ที่เก็บตัวอย่างจากจังหวัดพะเยา 2. มีลูกชิ้นไก่จำนวน 2 ยี่ห้อ ที่ใช้สารกันบูด 2 ชนิด คือกรดเบนโซอิค และกรดซอร์บิคร่วมกันในผลิตภัณฑ์เดียว ได้แก่ ยี่ห้อ บีวันของบริษัทอาหารเบทเทอร์ และ ยี่ห้อไก่ยิ้มของบริษัท ซีพี ที่เก็บตัวอย่างจากจังหวัดสงขลา 3. มีลูกชิ้นหมูจำนวน 5 ยี่ห้อ ที่ใส่สารกันบูดตั้งแต่ 3 ชนิดขึ้นไป (กรดเบนโซอิค ไนเตรท และไนไตรท์) ในผลิตภัณฑ์เดียว ได้แก่ ยี่ห้อหมูสยาม วีไอพี และคุณหมอ ซึ่งเก็บจากตลาดสดในกรุงเทพฯ และ ยี่ห้อ พีพีเอ็น และ ศรีปทุม ซึ่งเก็บจากร้านค้าในจังหวัดสมุทรสงคราม 4. มีลูกชิ้นไก่จำนวน 4 ยี่ห้อ ที่ใส่สารกันบูดตั้งแต่ 3 ชนิดขึ้นไป (กรดเบนโซอิค ไนเตรท และไนไตรท์) ในผลิตภัณฑ์เดียว ได้แก่ ยี่ห้อจงหยวน อร่อย 5 ดาว บอลลูน และดิสโก้ ซึ่งเก็บตัวอย่างจากตลาดสดในจังหวัดสงขลา สรุปผลในการทดสอบครั้งนี้ พบว่าตัวอย่างลูกชิ้นเกือบทุกยี่ห้อที่เรานำมาทดสอบครั้งนี้มีการใช้สารกันบูด โดยเฉพาะกรดเบนโซอิค ซึ่งถึงแม้ อย. จะอนุญาตให้ใช้ได้ แต่ปริมาณที่ตรวจพบอยู่ในเกณฑ์ที่สูงมาก เมื่อเทียบมาตรฐานอาหารสากล (Codex Alimentarius Commission) ซึ่งกำหนดปริมาณการใช้กรดเบนโซอิคในอาหารไว้ว่าไม่ควรเกิน 1,000 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม สำหรับคนที่ชอบลูกชิ้น เห็นตัวเลขของสารกันบูดจากผลการทดสอบครั้งนี้แล้วอาจตกใจ แต่ก็ต้องทำความเข้าใจว่า สารกันบูดสามารถใส่ลงในลูกชิ้นได้แต่ต้องอยู่ในปริมาณที่กำหนด ซึ่งเราในฐานะผู้บริโภคก็ต้องรู้จักเลือกที่จะรับประทาน คือเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากแสดงข้อมูลส่วนผสมต่างๆ ชัดเจน แสดงแหล่งที่ผลิต วันเดือนปีที่หมดอายุ ล่าสุด อย. ก็ได้ออกกฎระเบียบใหม่ให้ผู้ผลิตลูกชิ้นต้องติดฉลากแสดงข้อมูลสำคัญต่างๆ ลงบนสินค้าของตัวเอง ซึ่งตรงนี้ก็จะเป็นประโยชน์กับผู้บริโภคในการตัดสินใจเลือกซื้อ นอกจากนี้คนที่ชอบทานลูกชิ้นก็ต้องรู้จักควบคุมปริมาณการรับประทาน คือทานแต่พอดี เพราะถ้าทานมากไปก็ยิ่งเสี่ยงอันตราย ตารางแสดงผลการทดสอบสารกันบูดในลูกชิ้น    

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 95 หมูยอ ก็ไม่พ้นสารกันบูด

หมูยอ อาหารพื้นบ้านที่คนส่วนใหญ่นิยมชมชอบรับประทานและนิยมซื้อเป็นของฝากเวลาไปแอ่วเมืองเหนือหรือเยือนถิ่นอีสาน ซึ่งเป็นภูมิภาคที่ได้ชื่อว่า มีผลิตภัณฑ์แหนมและหมูยอ เป็นของดีของฝากประจำจังหวัดเดิมเวลาอยากกินหมูยอ เราอาจต้องรอให้คนซื้อมาฝาก แต่ตอนนี้แค่เดินเข้าร้านสะดวกซื้อก็มีขายแล้ว เพราะเขาพัฒนาให้หมูยอกลายเป็นสินค้าที่สามารถส่งขายได้ทั่วประเทศ แต่ผู้บริโภคก็ต้องระวังไว้นะคะ เพราะหมูยอ จำเป็นมากที่ต้องใส่สารกันบูด เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำจากเนื้อหมู ที่เอามาปั่นให้ละเอียดและผสมเครื่องปรุงตามสูตร ตีให้เหนียวหนับจนสามารถปั้นเป็นแท่งกลมๆ ได้ ก่อนจะทำให้สุก  แม้เป็นอาหารที่สุกแล้ว แต่ก็อย่างที่ทราบกันว่า อากาศบ้านเรานั้นเหมาะสมกับการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์สุดๆ ดังนั้นอาหารชนิดนี้หากจะส่งขายทั่วประเทศหรือแม้แต่เจ้าดังที่ขายในท้องถิ่นหรือตลาดสดประจำเมืองท่องเที่ยวทั้งหลาย ก็จำเป็นต้องผสมสารกันบูดกันไว้ก่อน ซึ่งส่วนใหญ่นิยมใช้กรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิก เพื่อถนอมรักษาให้ผลิตภัณฑ์ไม่บูดเน่าเสียก่อนจะเข้าปากผู้บริโภค  ------------------------------------------------------------------------------------------------------- กรดเบนโซอิกหรือเกลือเบนโซเอทมีคุณสมบัติในการละลายน้ำได้ดี เมื่อใส่ลงในอาหาร ทำให้รสชาติไม่เปลี่ยนแปลง และมีราคาถูก ประสิทธิภาพของกรดเบนโซอิก คือสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตและทำลายเชื้อจุลินทรีย์จำพวกยีสต์และแบคทีเรียได้ดี โดยปกติร่างกายของคนเรา สามารถกำจัดกรดเบนโซอิกออกได้โดยขับออกมาทางปัสสาวะ ------------------------------------------------------------------------------------------------------- การผสมสารกันบูดทั้งสองชนิดที่กล่าวมา ไม่ใช่เรื่องต้องห้าม สามารถทำได้ค่ะ ทางกระทรวงสาธารณสุขเขาอนุญาต แต่มีมาตรฐานกำหนดไว้ว่าต้องไม่เกิน 1000 มิลลิกรัม/กิโลกรัม  เพราะถ้ามากกว่านี้เราก็เสี่ยงกับการรับสารเคมีที่อาจเป็นอันตรายต่อร่างกายมากเกินไป (ต้องไม่ลืมว่าวันหนึ่งเรากินอะไรสารพัดอย่าง อาจไปเจอเอาสารกันบูดสองตัวนี้เข้าอีกก็ได้)ฉลาดซื้อจึงไปเดินตลาด เดินซูเปอร์มาร์เก็ตในห้างและร้านสะดวกซื้อ แล้วได้หมูยอชนิดที่วางขายทั่วประเทศจำนวน  5 ยี่ห้อ ได้แก่ 1.เจ๊หงษ์  หมูยอ 2.เจ้าสัว เตียหงี่เฮียง 3.เวียงเหนือ หมูยอ 4.บ้านไผ่ หมูยอ  5.ส.ขอนแก่น หมูยอเล็ก แล้วยังได้หมูยอที่จำหน่ายใน กาดวโรรส ตลาดดังเมืองเชียงใหม่ มาอีก 3 ยี่ห้อ คือ ป้าย่น หมูยอตำรับจีนไหหลำ วิมลรัตน์ หมูยอพริกไทยดำและสมพัตร หมูยอ ตำรับอุดร ซึ่ง 3 ตัวหลังนี้ไม่มีวันหมดอายุระบุ เพราะแม่ค้าเขาแจ้งว่า “ขายหมดวันต่อวันจ้า” ตารางทดสอบ สารกันบูด Benzoic and Sorbic acid ;ในผลิตภัณฑ์หมูยอ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 94 มีถั่วลิสงที่ไหน มีอะฟลาท็อกซินที่นั่น ?

ถั่วลิสงเป็นพืชที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจชนิดหนึ่งของไทย เนื่องจากเป็นพืชที่สามารถปลูกได้ทั่วทุกภาคของประเทศ และใช้บริโภคได้หลายรูปแบบ ทั้งแบบสด หรือนำไปประกอบอาหารอื่นๆ อีกทั้งเป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่ดีและราคาไม่แพง แต่ก็นั่นแหละ เวลาที่กระทรวงสาธารณสุขสำรวจอาหารทั่วประเทศทีไร ปัญหาที่เกิดขึ้นเสมอๆ ก็คือ การปนเปื้อนของสารพิษอะฟลาทอกซิน ที่มักตรวจพบในถั่วลิสงมากที่สุด โดยเฉพาะถั่วคั่วที่นำมาปรุงอาหารหลายชนิด อย่างก๋วยเตี๋ยวผัดไท ก๋วยเตี๋ยวต้มยำหรือส้มตำไทยที่คนนิยมกันทุกหัวระแหงนั่นแหละตัวดีเลย ตรวจเจอเป็นประจำ ผู้บริโภคจึงไม่ควรรับประทานให้บ่อยมากนัก ในส่วนของถั่วคั่วเราอาจพอคาดเดาได้ว่า มีสารอะฟลาท็อกซินอยู่มากและควรหลีกเลี่ยง แต่ในกรณีของผลิตภัณฑ์อาหารที่มีถั่วเป็นตัวชูโรง อย่างถั่วลิสงอบเกลือ หรือถั่วลิสงเคลือบแป้ง ตลอดจนถั่วลิสงที่อบกรอบทั้งเปลือกที่บรรจุซองขายในลักษณะของอาหารว่างนั้น ก็เข้าข่ายต้องสงสัยเหมือนกันว่า มีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหนต่อการปนเปื้อนสารพิษอะฟลาท็อกซิน ตารางทดสอบถั่วลิสงอบเกลือ/ถั่วลิสงเคลือบแป้ง/ถั่วลิสงอบกรอบทั้งเปลือก ทดสอบที่สถาบันวิจัยโภชนาการ ม.มหิดลส่งตัวอย่างวิเคราะห์เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2551ผลการวิเคราะห์เฉพาะตัวอย่างที่ส่งตรวจเท่านั้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 94 พริกป่น…เสี่ยงอะฟลาท็อกซินไม่แพ้ถั่วลิสง

เกิดเป็นไทยกินอาหารอะไรก็ต้องให้แซ่บไว้ก่อน พริกเลยเป็นเครื่องเทศที่เกือบขาดไม่ได้ในอาหารไทย นอกจากเรื่องกินแล้ว พริกยังจัดเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญระดับประเทศ เพราะสามารถนำไปพัฒนาในระดับอุตสาหกรรมได้อีกหลายอย่างนอกจากเรื่องอาหาร ได้แก่ ยา ผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพ ผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์ ยาฆ่าแมลง ผลิตภัณฑ์กำจัดแมลง ปลวก หนู ส่วนผสมของสายเคเบิล ผลิตภัณฑ์แก้ง่วง รวมไปถึงผลิตภัณฑ์ป้องกันตนเองในกลุ่มของผลิตภัณฑ์อาหารนอกจากน้ำพริก ซอสพริกแล้ว พริกแห้ง พริกป่น ก็เป็นที่นิยมไม่แพ้กัน ดูอย่างก๋วยเตี๋ยวถ้าสั่งใส่ถุงกลับบ้าน ทุกถุงก็จะได้รับพริกป่นในแบบซองเล็กๆ ใส่ให้ด้วย ถ้าเป็นแบบเดิมคนขายจะตักแยกใส่ถุงพลาสติกแบ่งครึ่งกับน้ำตาลทรายให้ลูกค้า แต่แบบซองเล็กๆ นี้ก็สะดวกมากขึ้นเพราะดูผนึกเรียบร้อยมิดชิดดี พริกป่นนั้นควรต้องเก็บในที่แห้งสนิท เพราะเชื้อราจะขึ้นได้ง่ายมาก และหากเกิดเชื้อราขึ้นแล้วเราก็จะได้รับสารพิษ “อะฟลาท็อกซิน” เป็นของแถม จากข้อมูลที่ผ่านมา พริกป่น จัดว่าเป็นอาหารที่เสี่ยงต่ออะฟลาท็อกซินไม่แพ้ถั่วลิสง ยิ่งปัจจุบันประเทศไทยมีการนำเข้าพริกป่นจากต่างประเทศมากขึ้น ความเสี่ยงก็มีมากขึ้น เพราะผู้บริโภคจะขาดข้อมูลในเรื่องแหล่งผลิตสินค้า ทำให้ไม่อาจมั่นใจได้ว่าวัตถุดิบที่นำมาผลิตพริกป่นนั้นมีการควบคุมคุณภาพ และความปลอดภัยมากน้อยแค่ไหน ฉลาดซื้อทดสอบเพื่อเฝ้าระวังปัญหาเรื่อง อะฟลาท็อกซินในพริกป่น ฉลาดซื้อ ได้เก็บตัวอย่างพริกป่นที่บรรจุในซองสำเร็จรูปที่แถมกับอาหารตามสั่งหรือก๋วยเตี๋ยว ยี่ห้อยอดนิยมสองยี่ห้อได้แก่ ไร่ทิพย์และข้าวทอง พร้อมด้วยพริกป่นที่บรรจุซองขายในห้างสรรพสินค้าอีก 5 ยี่ห้อ ได้แก่ พริกขี้หนูป่นตรา เจเจ พริกขี้หนูป่นตราบางช้าง พริกขี้หนูป่น ตรามือที่ 1 พริกขี้หนูป่น ตรานักรบ และพริกขี้หนูป่น ตราศาลาแม่บ้าน และพริกขี้หนูแบบแบ่งขายในตลาดสดพระประแดงและตลาดสดดินแดง แล้วมอบให้ห้องทดสอบของสถาบันวิจัยโภชนาการ ม.มหิดล ตรวจหาสารพิษอะฟลาท็อกซิน ผลทดสอบพบว่า มีการปนเปื้อนของอะฟลาท็อกซินในพริกป่นเกือบทุกตัวอย่าง แต่ในปริมาณที่ไม่มากจนน่าห่วง พบน้อยกว่าที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยากำหนดไว้ คือ ไม่เกิน 20 ไมโครกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม อีกอย่างพริกนั้นเรากินไม่มาก แค่พอชูรสให้อร่อย จากผลทดสอบจึงไม่น่าจะมีปัญหาต่อการบริโภค แต่ก็ไม่ควรประมาทเพราะวันหนึ่งๆ เราก็กินอาหารอื่นที่เสี่ยงต่อการปนเปื้อนอะฟลาท็อกซินด้วยเช่นเดียวกัน ให้ดีที่สุดก็คือ เลือกพริกแห้งมาคั่วทำพริกป่นกินเองจะดีที่สุด ส่วนแม่ค้าแม่ขายที่ซื้อพริกป่นจากตลาดสด ควรเลือก เจ้าที่เชื่อถือได้และมีการหมุนเวียนขายพริกได้ไว อย่างที่ตลาดพระประแดง ฉลาดซื้อไม่พบอะฟลาท็อกซินในตัวอย่างพริกป่นเลย เพราะของเขาขายดีมาก หมดไวมาก ขณะที่ตัวอย่างอื่นๆ พบอะฟลาท็อกซินกันอย่างละเล็กละน้อย  (ดูตาราง) ตารางผลทดสอบปริมาณอะฟลาท็อกซินในพริกป่น

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 92 เมลามีน ที่ไม่ได้อยู่แค่ในจาน

นอกจาก อย.ที่เก็บตัวอย่างอาหารเพื่อตรวจหา “เมลามีน” ปนเปื้อนกันวันต่อวันแล้ว ฉลาดซื้อก็นำตัวอย่างสินค้าบางรายการที่แอบสงสัยว่า มีเมลามีนปะปนอยู่หรือไม่ เข้าทดสอบที่ ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด ด้วยเช่นกัน ซึ่งผลที่ออกมา…เป็นข่าวดี ถึงตอนนี้ “เมลามีน” คงเป็นคำที่คุ้นเคยกันแล้ว  แต่ขอกล่าวถึงสักหน่อยล่ะกันเผื่อใครยังค้างใจอยู่ เมลามีนเป็นสารที่ใช้ทำพลาสติกและปุ๋ย มีสารฟอร์มาลดีไฮด์เป็นองค์ประกอบสำคัญ เมลามีนบริสุทธิ์ยังมีองค์ประกอบของไนโตรเจนสูงมาก 66.67% คิดเป็นปริมาณโปรตีนได้ 416.66% ดังนั้นเมื่อนำเมลามีนมาผสมในน้ำนมหรือนมผงก็ทำให้ผลการตรวจพบเปอร์เซ็นต์ไนโตรเจนสูงขึ้นด้วย ทำให้เข้าใจผิดได้ว่า ผลิตภัณฑ์ที่ตรวจนั้นมีโปรตีนสูง คุณภาพดีได้มาตรฐานด้วย (ทั้งนี้ก็เพราะการตรวจหาปริมาณโปรตีนในนมผงปัจจุบันยังไม่สามารถทำได้โดยตรง แต่จะทำทางอ้อมด้วยการตรวจหาปริมาณไนโตรเจนแทน เนื่องจากโปรตีนมีไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบเช่นเดียวกัน) กรณีนมผงปนเปื้อนเมลามีนนี้เป็นนวัตกรรมใหม่ล่าสุดของอาหารปลอมปน ที่แม้แต่คนในแวดวงอุตสาหกรรมนมยังงงๆ กันอยู่ เนื่องจากไม่มีใครคาดคิดว่าจะมีคนนำมาใส่ในอาหารได้ โดยเฉพาะนม เลยไม่จัดเป็นสารต้องห้ามที่ต้องตรวจสอบในขั้นตอนควบคุมคุณภาพตามปกติ กระทรวงสาธารณสุขไทยก็เพิ่งออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ฉบับที่ 311 พ.ศ. 2551 เมื่อวันที่ 8 ต.ค. 2551เรื่องควบคุมอาหารปนเปื้อนสารเมลามีน โดยห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 10 ต.ค.2551 จริงๆ เมื่อสองปีที่แล้ว ก็มีข่าวพบเมลามีนในอาหาร แต่เป็นอาหารของน้องแมว น้องหมา ที่ทางการสหรัฐตรวจพบในอาหารสัตว์ที่มาจากประเทศจีน เนื่องจากมีหมาแมวจำนวนมากในสหรัฐฯ ที่เจ็บป่วย ตายจากภาวะไตวาย ทำนองเดียวกัน สารเมลามีน ที่ปนอยู่ในอาหารหากเรารับประทานเข้าไป ร่างกายจะไม่ย่อยสลาย แต่จะถูกขับออกมาทางปัสสาวะ หากกรณีสารเมลามีนเข้าไปในร่างกายปริมาณมากจึงจะก่อให้เกิดพิษ โดยเฉพาะที่ไต กรณีทารกเสียชีวิต 4 คนที่ประเทศจีน ก็เกิดจากสาเหตุไตวายเฉียบพลัน ทั้งนี้เพราะอาหารหลักของเด็กทารกคือ นม ขณะที่ผู้ใหญ่จะรับประทานอาหารหลากหลายกว่า โอกาสได้รับสารเมลามีนเข้าไปจึงมีปริมาณไม่มาก ในสหรัฐอเมริกากำหนดค่าการได้รับสัมผัสหรือการกิน เท่ากับ 0.63 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวหนึ่งกิโลกรัมต่อวัน และสหภาพยุโรปกำหนดไว้ที่ 0.5 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวหนึ่งกิโลกรัมต่อวัน ต่อไปก็ไม่รู้ว่าจะมีการนำสารตัวอื่นที่เป็นอันตรายมาปลอมปนกับอาหารในทำนองเดียวกับเมลามีนอีกหรือไม่ ดังนั้นคงถึงเวลาแล้วที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมาคุยกันเรื่องระบบเฝ้าระวังอาหารที่ปลอดภัยและรัดกุม เพื่ออย่างน้อยก็ให้สามารถควบคุมสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที ฉลาดซื้อทดสอบ ในวันประชุมกองบรรณาธิการเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2551 ฉลาดซื้อสนใจข่าวเรื่องเมลามีนอย่างมาก โดยเราไม่ค่อยเชื่อมั่นว่า บรรดานมผงสำหรับเด็กแม้ว่าจะมาจากประเทศอื่นที่ไม่ใช่เมืองจีน จะปลอดจากสารเมลามีน หรือผลิตภัณฑ์ที่มีนมเป็นส่วนผสมภายในประเทศหลายตัว เราก็กังวลว่าอาจมีการนำนมจากเมืองจีนมาใช้  ประกอบกับมีหลายคนโทรศัพท์มาถามที่ฉลาดซื้อกันมาก ว่ายี่ห้อนั้นยี่ห้อนี้เป็นอย่างไรบ้าง ปลอดภัยไหม (ส่วนใหญ่เป็นยี่ห้อดังๆ ที่นำเข้านมผงจากประเทศอื่นที่ไม่ใช่จีน) เผอิญว่าเรามีผลิตภัณฑ์นมผงที่นำมาวิเคราะห์ฉลาก (เรื่องเด่นฉบับนี้) ซึ่งเป็นลอตการผลิตที่เข้าข่ายต้องสงสัย จึงทยอยส่งห้องทดสอบพร้อมๆ กับสินค้าอาหารหลายรายการที่เก็บจากห้างสรรพสินค้า (เก็บตัวอย่างวันที่ 23 กันยายน)  เพื่อส่งตรวจหาเมลามีนพร้อมๆ กัน ผลทดสอบปรากฏว่า ไม่มีผลิตภัณฑ์ใดที่ปนเปื้อนสารเมลามีนหรือสารในกลุ่มเดียวกัน เป็นอันว่าปลอดภัยและเชื่อมั่นได้ อย่างที่ผู้ผลิต โดยเฉพาะกลุ่มสมาชิกผลิตภัณฑ์อาหารนมไทย ระบุว่า ผลิตภัณฑ์นมของพวกเขาปลอดภัยจากสารเมลามีน รวมทั้ง อย.เองก็ขยันขันแข็ง ยิ่งช่วงอาทิตย์สุดท้ายของเดือนกันยายน อย.ตรวจสินค้าอาหารกันวันต่อวันมากกว่า 90 รายการ ซึ่งไม่พบการปนเปื้อนแต่อย่างใด เว้นนมผงนำเข้าจากจีนของบริษัทดัชมิลล์บางรายการที่พบ แต่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่ง อย.บอกว่าสกัดไว้ได้ทันก่อนนำมาผลิตเป็นอาหารวางจำหน่าย ผลทดสอบรายชื่อผลิตภัณฑ์ที่ทดสอบการปนเปื้อนเมลามีน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 91 ปลาเส้นปรุงรส รสยิ่งเข้มยิ่งมีปัญหา

ปลาเส้นปรุงรส เป็นอาหารว่างอีกชนิดหนึ่งที่นิยมรับประทานกันมาก โดยเฉพาะเด็กๆ และสาวกลัวอ้วนทั้งหลาย เพราะนักโฆษณาเขานำจุดขายไขมันต่ำ โปรตีนสูงมาเรียกความสนใจจากผู้บริโภค เพื่อให้แทนที่ขนมขบเคี้ยวที่มีทั้งแป้ง น้ำตาลและไขมัน ซึ่งล้วนส่งเสริมความอ้วนและโดนโจมตีหนักว่าทำให้เด็กไทยกลายเป็นเด็กอ้วน แต่…ข้อด้อยสำคัญของปลาเส้นปรุงรส ที่ถูกละเลยไปจากโฆษณาคือ ปริมาณโซเดียมที่สูงจนน่าเป็นห่วง ยิ่งประเภทรสจัดจ้าน รสเข้มข้นยิ่งมีปัญหา หลายคนอาจมองว่า ปลาเส้นก็เป็นอาหารว่างประเภทหนึ่ง มันคงไม่มีอะไรนักหนา อย่าประมาทไปนะ ถ้าลองพลิกดูฉลากด้านหลังซองแล้วเพ่งมองดูปริมาณโซเดียมตรงฉลากโภชนาการสักนิด จะรู้สึกถึงความไม่ธรรมดาของมัน เพราะอาหารชนิดนี้มีปริมาณโซเดียมสูงมากๆ ความจริงแล้วถ้ามีการระบุทุกฉลากก็น่าจะดีใช่ไหมคะ เพราะเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจให้ผู้บริโภคได้ แต่บางฉลากก็ละเลยไม่มีรายละเอียดอะไรเลย นอกจากแสดงวิธีกินและการดัดแปลงเป็นอาหารแบบต่างๆ ฉลาดซื้อเลยนำผลิตภัณฑ์ปลาเส้นปรุงรส ยี่ห้อยอดนิยมบวกด้วยยี่ห้อของห้างสรรพสินค้าที่เรียกว่า โลคอลแบรนด์ มาทดสอบหาปริมาณโซเดียม พร้อมกับปริมาณโปรตีนที่อ้างว่ามีสูง และแถมด้วยผลิตภัณฑ์ที่ใกล้เคียงกันได้แก่ ปลาหมึกปรุงรส อีก…  ตัวอย่างเพราะเห็นว่ามีคนนิยมชมชอบไม่แพ้กัน ผลทดสอบปริมาณโปรตีนและโซเดียมในผลิตภัณฑ์ ปลาเส้นปรุงรสและปลาหมึกปรุงรส 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 90 สำรวจ : นวดไทย โดนใจอย่างแรง

“แพทย์แผนไทย” ไม่ว่าจะเป็นการใช้ยาไทย ยาสมุนไพร อบ ประคบหรือนวด จัดเป็นบริการทางการแพทย์สาขาหนึ่งที่แทรกอยู่ในสถานพยาบาลของรัฐ ทั้งโรงพยาบาลระดับศูนย์ โรงพยาบาลชุมชนและสถานีอนามัย  แม้จะไม่ทุกแห่งแต่ก็ครอบคลุมทั่วประเทศ คุณที่มีบัตรทองหรือสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลอื่นสามารถขอใช้บริการได้ หรือไม่มีสิทธิหลักประกันก็ร่วมจ่ายค่ารักษาได้ในราคาไม่แพง เรียกว่า ถูกและดี ทั้งเป็นการส่งเสริม “คุณค่าแบบไทย” อีกด้วย ก่อนปี พ.ศ.2551 รู้ไหมว่า “นวดไทย” ครองใจชาวบ้านมากที่สุด จาก “รายงานสถานการณ์การแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์ทางเลือก ประจำปี พ.ศ.2548-2550” โดยคณะกรรมการพัฒนาระบบข้อมูลเชิงยุทธศาสตร์ การพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ในรายงานฉบับนี้ระบุว่า เมื่อสำรวจข้อมูลจากศูนย์ส่งเสริมสุขภาพการแพทย์แผนไทย 57 แห่ง จากทั้งหมด 70 แห่ง พบว่า ปี 2546 มีผู้ใช้บริการแพทย์แผนไทย ทั้งเพื่อการบำบัดรักษา การฟื้นฟูสมรรถภาพ การส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค รวม 407,651 ครั้ง โดย นวดไทย ได้รับความนิยมเป็นอันดับหนึ่ง คิดเป็นร้อยละ 48 ประคบ ตามมาห่างๆ ที่ร้อยละ 19.3 การใช้ยาไทยและยาสมุนไพร ร้อยละ 17.8 อบไอน้ำสมุนไพร ร้อยละ 10.2 ที่เหลือก็เป็นนั่งสมาธิ การขอความรู้ หรือแม้แต่การทำฤาษีดัดตน ปวดหลัง ปวดไหล่นวดไทยช่วยคุณได้ ทำไมนวดไทยมาแรง เรามาดูสาเหตุของการเจ็บป่วยกันก่อน ในรายงานสถานการณ์การแพทย์แผนไทยฯ อาการเจ็บป่วยที่พึ่งแพทย์แผนไทย สูงสุดอันดับหนึ่งร้อยละ 59.3 คือ เจ็บป่วยเกี่ยวกับกล้ามเนื้อและกระดูก ทายสิว่า ปวดอะไรมากที่สุด เฉลย…ปวดหลังมากที่สุด รองลงมาก็ปวดเมื่อย/เคล็ดขัดยอก ปวดขา/ข้อเท้าแพลง ปวดไหล่/สะบัก/บ่า   และปวดเข่า/เข่าอักเสบ อันนี้สอดรับกับข้อมูลของ สำนักงานสถิติแห่งชาติ ในปี 2546 ซึ่งพบว่า คนไทยที่เจ็บป่วยและเลือกใช้การรักษาในแนวทางแพทย์แผนไทย แพทย์พื้นบ้าน ส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตรกรรม ทั้งเกษตรและประมง โดยกลุ่มโรคที่พบมากสุดคือ  โรคระบบกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูกและข้อ ซึ่งโรคกลุ่มนี้จัดเป็นอาการแบบเรื้อรัง เป็นๆ หายๆ เพราะรู้กันอยู่ว่า คนในภาคเกษตรกรรมนั้น ทำงานหนักใช้แรงกายมาก อาการปวดเมื่อยหลังไหล่เลยพบได้บ่อย นวดนี่แหละช่วยได้มาก ไม่ต้องกินยาให้เสี่ยงกับอาการไม่พึงประสงค์จากยา  แต่บริการนวดเขาก็ไม่ได้ปิดกั้นคนทำงานออฟฟิสนะ เดี๋ยวนี้โรคปวดหลัง ปวดไหล่ ไม่เข้าใครออกใคร ไม่เฉพาะคนสูงอายุ วัยทำงานแหละตัวดี ดังนั้นหากปวดหลังไหล่ เมื่อยเนื้อเมื่อยตัว แล้วกินแต่ยากันจนเคย ลองเปลี่ยนมาใช้บริการนวดไทยในโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลเอกชนที่เปิดให้บริการนวด ก็เป็นทางเลือกที่ไม่เลวเลย  นวดไทยเป็นสิทธิประโยชน์ในบัตรทองตอนปี 2549 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประกาศนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนการแพทย์แผนไทย โดยการเพิ่มการรักษาพยาบาลด้วยระบบนี้ไว้ในชุดสิทธิประโยชน์ของผู้ถือ “บัตรทอง” และเพิ่มเงินสนับสนุนอย่างจริงจังในปี 2551 ให้กับการจัดบริการแพทย์แผนไทย เน้นการนวดเพื่อการรักษาพยาบาลและการฟื้นฟูสภาพ   ปรากฏว่า ผ่านมา 6 เดือน (มกราคม – มิถุนายน 2551) ผู้ถือบัตรทองนิยมบริการนวดแผนไทยเพื่อรักษาโรคและฟื้นฟูสุขภาพ ถึง 60,000 ครั้ง โดยเขตเชียงใหม่ใช้บริการมากสุด 17,000 ครั้ง จากหน่วยบริการ 122 แห่ง ส่วนเขตพื้นที่ที่มีการใช้บริการน้อยที่สุดคือ เขตพื้นที่สุราษฎร์ธานี ใช้บริการ 600 ครั้ง จากหน่วยบริการ 13 แห่ง โดยขณะนี้มีสถานพยาบาลทั่วประเทศ ทั้งโรงพยาบาล สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ สถานีอนามัย และศูนย์สุขภาพชุมชน ที่ให้บริการแพทย์แผนไทย ที่เกี่ยวกับการนวด ประคบ อบสมุนไพร เพื่อการรักษาพยาบาลและฟื้นฟูสภาพทั้งสิ้น 708 แห่ง นวดไทย เสน่ห์ไทย นวดไทยนับว่าเป็นอีกทางเลือกหนึ่งซึ่งเป็นที่ยอมรับแล้วว่าสามารถผ่อนคลายบรรเทาอาการเจ็บป่วยได้หลายกลุ่มอาการโรค ปัจจุบันจึงมีการพัฒนาการเรียนการสอนด้านการนวดไทยอย่างเป็นระบบ มีมาตรฐานถูกต้องตามหลักวิชาการ ประโยชน์ของการนวด มีมากมาย ทั้งลดการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ เพิ่มระบบการไหลเวียนโลหิตและน้ำเหลือง กระตุ้นระบบประสาท เพิ่มประสิทธิภาพของระบบทางเดินหายใจ ฟื้นฟูสภาพของระบบกล้ามเนื้อ ระบบไหลเวียนโลหิตและระบบประสาท และทำให้รู้สึกสบายคลายเครียด แล้วคุณล่ะ จะลองไปนวดกันสักครั้งดีไหม 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 90 นมแคลเซียมสูง คุ้มค่าแค่ไหน

นมโคเป็นแหล่งของแคลเซียมที่ดี ในนมสดหนึ่งแก้ว (200 มิลลิลิตร) มีปริมาณแคลเซียม 240 มิลลิกรัม ซึ่งนับว่าสูงมากแล้ว แต่ทำไมยังต้องมีนมแคลเซียมสูงออกมาวางขายอีก เรื่องนี้วารสารฉลาดซื้อเคยสำรวจมาครั้งหนึ่งเมื่อปี 2542 ตอนนั้นมีผลิตภัณฑ์นมที่ระบุว่า แคลเซียมสูงอยู่ 9 ยี่ห้อ  ฮือฮาสุดก็เห็นจะเป็นแอนลีน นมผงแคลเซียมสูงที่เน้นกลุ่มผู้สูงวัยเป็นหลัก แต่ตอนนี้ทำบรรจุภัณฑ์พร้อมดื่มเพื่อขายทุกกลุ่มวัยแล้ว แสดงว่าการสื่อสารประชาสัมพันธ์ได้ผลดี กิจการจึงต่อมาอีกยาว พลอยทำให้นมยี่ห้ออื่นแห่กันมาเติมแคลเซียมสูงตามไปด้วย แม้แต่นมถั่วเหลือง ที่โดนโจมตีว่าแคลเซียมต่ำ ก็เติมแคลเซียมลดจุดอ่อนตัวเองเพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดนมแคลเซียมสูงได้ด้วย เลยกลายเป็นว่า อะไรๆ ก็ต้องแคลเซียมสูง แต่จะมีสักกี่คนที่จะเข้าใจว่า แคลเซียมสูงนั้น ไม่สำคัญเท่ากับว่า “ร่างกายดูดซึมเอาไปใช้ประโยชน์” ได้ทั้งหมดหรือเปล่า เรื่องนี้ต่างหากที่ต้องมาสร้างความเข้าใจกันให้มากขึ้น ฉลาดซื้อทดสอบหลังจากเดินซูเปอร์มาร์เก็ตหลายรอบ ฉลาดซื้อก็หยิบนมพร้อมดื่มและนมถั่วเหลืองพร้อมดื่ม รวมทั้งสิ้น 19 ผลิตภัณฑ์ แบ่งเป็นนมโค 3 ยี่ห้อ (แต่ทำออกมาหลายสูตร) ได้แก่ แอนลีน นูต้าแม็กซ์ ฟาร์มโชคชัยและโฟรโมสต์ แคลซีแม็กซ์   นมถั่วเหลือง 4 ยี่ห้อ ได้แก่ แลคตาซอย ดีน่า ไวตามิ้ลค์และวีซอย ซึ่งต่างอ้างว่า “แคลเซียมสูง” ส่งเข้าไปทดสอบหาปริมาณแคลเซียมในนมแต่ละผลิตภัณฑ์ จากการทดสอบ • นมโคยี่ห้อแอนลีนและโฟร์โมสต์ แคลซีแม็กซ์ มีปริมาณแคลเซียมสูงกว่านมธรรมดา ยกเว้นยี่ห้อนูต้าแม็กซ์ที่มีปริมาณแคลเซียมน้อยกว่า  นมโคธรรมดามีปริมาณแคลเซียม 120 มก./100 มล.นมแคลเซียมสูงที่นำมาทดสอบ มีปริมาณแคลเซียมระหว่าง 97-428 มก./100 มล. •    ส่วนนมถั่วเหลืองมีปริมาณแคลเซียมทั้งต่ำกว่า สูงกว่าและใกล้เคียงกับนมโคธรรมดา โดยยี่ห้อวีซอย สูตรน้ำตาลน้อย พบมากสุดคือ 173 มก./100 มล. และแลคตาซอยน้อยที่สุด 66 มก./100 มล.นมโคธรรมดามีปริมาณแคลเซียม 120 มก./100 มล.นมถั่วเหลืองแคลเซียมสูงที่นำมาทดสอบมีปริมาณแคลเซียมระหว่าง 66 – 173 มก./100 มล. •    ปริมาณแคลเซียม ส่วนใหญ่ใกล้เคียงกับฉลากโภชนาการที่ระบุไว้ข้างกล่อง (บวก ลบ  5) เว้นยี่ห้อนูต้าแม็กซ์ ทั้งสองสูตร ที่มีปริมาณแคลเซียมน้อยกว่าที่ระบุในฉลากค่อนข้างมาก ส่วนนมถั่วเหลืองที่ปริมาณแคลเซียมมีน้อยกว่าที่ระบุในฉลากได้แก่ ดีน่า สูตรผสมน้ำแครอท และวีซอย สูตรไม่มีน้ำตาล แคลเซียมสูงไม่สำคัญเท่าการดูดซึมก่อนเขียนบทความได้เรียนถาม ผศ.ดร.สมศรี เจริญเกียรติกุล รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย สถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องและสร้างความเข้าใจให้กับผู้บริโภคในเรื่องของนมแคลเซียมสูง อาจารย์ได้กรุณาอธิบายอย่างละเอียด ซึ่งสรุปเป็นใจความสำคัญได้ว่า ดื่มนมแคลเซียมสูงหรือนมถั่วเหลืองแคลเซียมสูง ไม่ได้พิเศษไปกว่าดื่มนมธรรมดา เพราะถึงแม้จะมีปริมาณแคลเซียมสูงจริง แต่แคลเซียมที่เข้าสู่ร่างกายในการดื่มนมแต่ละครั้ง ร่างกายจะไม่ดูดซึมเอาแคลเซียมไปใช้ได้ทั้งหมด ร่างกายมีกลไกเฉพาะในการดูดซึมธาตุแคลเซียม กล่าวคือหากเข้าไปมากในครั้งเดียวร่างกายจะดูดซึมน้อย แต่หากทยอยเข้าไปทีละน้อย ร่างกายจะดูดซึมมาก ดังนั้นสมมติว่าคุณดื่มนมแอนลีน สูตรเข้มข้น 1 กล่องปริมาณ 110 มล. มีแคลเซียมเข้าไปทันที 428 มก. แต่ร่างกายจะดูดซึมไว้แค่ประมาณร้อยละ 30 – 40 ส่วนที่เหลือก็ถูกร่างกายขับออกไป นอกจากนี้ในกระบวนการดูดซึมแคลเซียมยังขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ ด้วย เช่น ดื่มตอนท้องว่างหรือเปล่า เพราะตอนท้องว่างร่างกายจะดูดซึมแคลเซียมได้น้อยกว่าตอนที่มีอาหารอื่นอยู่ด้วย  แต่อาจารย์ก็บอกมาว่า ถ้ามีเงินพอและสบายใจว่าได้ดื่มนมแคลเซียมสูง ก็ไม่ว่ากัน แต่ท่านที่ต้องการประหยัด ให้ดื่มนมธรรมดาที่ราคาถูกกว่าหลายบาท เพียงแต่ว่าดื่มให้บ่อยหน่อยโดยทิ้งช่วงห่างพอสมควรก็จะได้ปริมาณแคลเซียมมากกว่าการดื่มนมแคลเซียมสูงที่อัดไว้ในกล่องเดียว ครั้งเดียว นอกจากนี้แคลเซียมไม่ได้มีอยู่แต่ในนม ในอาหารอย่างเต้าหู้แข็ง ถั่ว งา ปลาเล็กปลาน้อย ปลากรอบ ปลาป่น กะปิ กุ้งแห้ง หรือผักอย่างคะน้า กวางตุ้ง ก็มีแคลเซียมสูง เช่นกัน ความจริงเกี่ยวกับแคลเซียมและเรื่องคลุมเครือในโฆษณา •    แคลเซียม –10 มีขนาดเล็กกว่าแคลเซียมธรรมดาถึง  10 เท่า อันนี้ประมาณว่าลวงให้คิดว่าเล็กแล้วดูดซึมได้ดี ซึ่งจริงๆ การดูดซึมมีกฎของร่างกายดังที่กล่าวไว้ข้างต้นควบคุมอยู่แล้ว และขนาดของธาตุแคลเซียมมีขนาดเดียว ถ้าจะโฆษณาว่าดีกว่ายี่ห้ออื่นต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าดูดซึมดีกว่าจริง อันนี้ อย.ควรจัดการ•    แคลเซียมสูงอย่างเดียวไม่พอ ต้องวิตามิน เค สูง ด้วย อันนี้เอางานวิจัยบางชิ้นมาขยายให้ใหญ่โต ประมาณว่า วิตามิน เค อาจมีส่วนช่วยในการป้องกันการสลายตัวของแคลเซียม แต่ วิตามิน เค ร่างกายสร้างได้เอง ไม่ต้องรับจากอาหารข้างนอก และยังต้องหางานวิจัยมาพิสูจน์อีกมากว่า อะไรบ้างที่ป้องกันการสลายตัวของแคลเซียม •    1 กล่องมีปริมาณแคลเซียมมากกว่าสูตรปกติ 4 เท่า คือปริมาณแคลเซียมเยอะจริง อันนี้ไม่เถียง แต่มันไม่สำคัญเท่ากับเรื่องการดูดซึม ตามที่เขียนบอกไปข้างต้น สูตรเข้มข้นจึงเป็นเรื่องของการสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ•    ผสมโอลิโก ฟรุกโตส มาแบบเดียวกับวิตามิน เค เพราะว่ามีการนำผลวิจัยมาขยายว่า โอลิโก ฟรุกโตส อาจช่วยเรื่องการดูดซึมแคลเซียม แต่มันยังไม่ชัดเจน ยังต้องการงานวิจัยรองรับอีกมากๆ โดยสรุปคือ การขายจำเป็นต้องมีการสร้าง "นวัตกรรม" ที่เข้ามาเปลี่ยนโฉมใหม่ให้สินค้า ทั้งบรรจุภัณฑ์ใหม่ รีแบรนด์ใหม่ เพิ่มรสชาติใหม่ หรือแม้แต่การเติมส่วนผสมใหม่เพื่อสุขภาพเข้าไป ก็เป็นหนทางในการเติมความคุ้มค่าให้สินค้า เพื่อแลกกับราคาใหม่ที่ผู้บริโภคต้องจ่ายเพิ่มขึ้น  ดังนั้นจะกินอะไรก็ต้องรู้หลักการเบื้องต้นไว้บ้าง อย่าให้เขา “ชวนเชื่อ” ได้ง่ายๆ นะพวกเราตลาดนมไฮแคลเซียม ปัจจุบันมีมูลค่าตลาดรวม 1,600 ล้านบาท แต่มีอัตราการเติบโตปีละกว่า 10%

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 89 เมื่อน้ำส้มจะทำร้ายนางเอก

น้ำผลไม้ในความคิดของผู้บริโภคส่วนใหญ่ คือเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ เพราะต่างก็รู้ว่า ผลไม้นั้นมีคุณค่าทางโภชนาการสูง โดยเฉพาะน้ำส้มคั้นเป็นน้ำผลไม้ที่นิยมกันมาก ขนาดนางเอกหนังไทยต้องสั่งมาดื่มทุกครั้งที่มีฉากในร้านอาหาร จึงถูกเรียกอย่างน่ารักๆ ว่า “น้ำนางเอก” น้ำส้มหากคั้นสดแล้วดื่มเลยทันที ย่อมมีคุณค่าทางโภชนาการสูง แต่เพียงเวลาผ่านไปไม่นาน วิตามินและเกลือแร่ต่างๆ ในน้ำส้มจะเสื่อมคุณภาพอย่างรวดเร็ว ดังนั้นเพื่อให้น้ำส้มคงคุณภาพได้นานขึ้นและสะดวกในการขนส่ง จึงได้มีการผลิตน้ำส้มพร้อมดื่ม (น้ำส้มบรรจุในภาชนะปิดสนิท) ออกมาจำหน่ายเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค ทุกวันนี้ตามชั้นวางเครื่องดื่มในร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า เราจะพบน้ำส้มพร้อมดื่มหลากหลายยี่ห้อ มีทั้งที่เป็นน้ำส้มแท้ (100%) น้ำส้มผสม ที่มีปริมาณน้ำส้มตั้งแต่ 25% ขึ้นไป และอีกหลายยี่ห้อมีน้ำส้มผสมเป็นหัวเชื้ออยู่ประมาณ 10 – 15% แล้วแต่งสี กลิ่น รส สังเคราะห์ให้คล้ายน้ำส้ม ซึ่งผลิตภัณฑ์ประเภทหลังนี้ อย.ไม่ให้เรียกว่า “น้ำส้ม” แต่ต้องเรียกว่า “น้ำรสส้ม” (จริงๆ ฉลาดซื้ออยากเรียกว่า “น้ำสีส้ม” มากกว่า เพราะสีส้มได้ใจมาก) แม้ว่าในระยะสองสามปีที่ผ่านมานี้ น้ำส้มพร้อมดื่มอาจจะถูกตีตลาดด้วย “ชาเขียว” ทำให้ซบเซากันไประยะหนึ่ง แต่เมื่อมาถึงวันนี้ที่ชาเขียว out ไปแล้ว น้ำส้มกำลังกลับมาผงาดอีกครั้ง ลองสังเกตปรากฏการณ์น้ำส้มฟีเวอร์ได้จากโฆษณาและชั้นวางสินค้าเครื่องดื่ม ลองดูสิ คุณจะเห็นขวดและกล่องสีส้มละลานตาไปหมด กับสินค้าสุดฮิต ฉลาดซื้อย่อมไม่พลาดที่จะหยิบมาทดสอบ เราเก็บตัวอย่างน้ำส้มและน้ำรสส้มพร้อมดื่ม จำนวน 22 ยี่ห้อ จากชั้นวางเครื่องดื่มในห้างสรรพสินค้า มาทดสอบหาปริมาณ “น้ำตาล” และ “วิตามิน ซี” ที่คนส่วนใหญ่มักเชื่อกันไปเองว่า ส้มเป็นผลไม้ที่มีวิตามิน ซี สูง เมื่อทำให้เป็นน้ำส้มแล้ววิตามิน ซี ย่อมสูงตามไปด้วย  ซึ่งเป็นความเชื่อที่เกือบถูก แต่ไม่ถูกต้อง เพราะคนส่วนใหญ่จะยังขาดความเข้าใจอีกมากเกี่ยวกับวิตามินตัวนี้ ผลทดสอบน้ำส้มและน้ำรสส้มพร้อมดื่ม จำนวน 22 ยี่ห้อ •    น้ำส้ม น้ำรสส้ม สามอันดับแรกที่มีปริมาณน้ำตาลสูง ได้แก่ น้ำรสส้ม ฟรุ้ตฟิตฟอร์ฟัน มีปริมาณน้ำตาลถึง 15 ช้อนชาต่อขวด ขนาด 330 มล.(19.3 กรัม/100 มล.) อันดับสอง มาลี จู๊ซมิกซ์ 13 ช้อนชาครึ่งต่อขวด ขนาด 350 มล.(16.4 กรัม/100 มล.) และน้ำส้ม 30% ทิบโก้ คูลฟิต 11 ช้อนชาครึ่งต่อขวด ขนาด 300 มล.(16.3 กรัม/100 มล.)•    น้ำส้ม 100% ที่ไม่เติมน้ำตาลจะมีปริมาณน้ำตาลอยู่ที่ประมาณ 5.5 ช้อนชา ต่อ 200 มล.(1 แก้ว) ส่วนน้ำส้มผสมจะมีปริมาณน้ำตาลโดยเฉลี่ยที่ 12.8  กรัมต่อ 100 มล.หรือประมาณ 6 ช้อนชา ต่อ 1 แก้ว (200 มล.)   •    เมื่อนำน้ำส้ม น้ำรสส้มมาทดสอบหาวิตามิน ซี พบว่า ส่วนใหญ่ไม่มีวิตามิน ซี เหลืออีกแล้ว หรือไม่ก็เหลือในปริมาณที่น้อยมาก บางผลิตภัณฑ์ที่ระบุว่า มีการเติมวิตามิน ซี ก็ไม่พบ ได้แก่ น้ำส้ม 25% ฟิวเจอร์ น้ำรสส้ม 20 % โออิชิ เซกิ •    จากการทดสอบ มีผลิตภัณฑ์อยู่สามยี่ห้อที่พบว่ามีวิตามิน ซี อยู่มากกว่า 20 มก./100 มล. ได้แก่ น้ำรสส้ม แบร์รี่ ซันเบลสท์ มีปริมาณวิตามิน ซี 24 มก. น้ำส้ม 40% ยูเอฟซี มีวิตามิน ซี 23 มก. น้ำรสส้ม อะมิโนโอเค มีวิตามิน ซี 20 มก. ปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่มน้ำอัดลมมีน้ำตาลเป็นส่วนผสม 7 ช้อนชา ต่อ 1 กระป๋อง น้ำหวาน 1 แก้ว (200 มิลลิลิตร) มีน้ำตาลเฉลี่ย 6 ช้อนชา นมถั่วเหลือง1 แก้ว (200 มิลลิลิตร) มีน้ำตาลเฉลี่ย 5 ช้อนชาชาเขียว 1 แก้ว (200 มิลลิลิตร) มีน้ำตาลเฉลี่ย 5 ช้อนชา ฉลาดซื้อแนะ•    ภาชนะบรรจุน้ำส้ม น้ำรสส้มพร้อมดื่มที่นำมาทดสอบมีขนาดตั้งแต่ 180 – 500 มล. โดยขนาดบรรจุที่ปริมาณ 180 – 350 มล. จะเป็นขนาดที่ดื่มได้หมดภายในครั้งเดียว ทำให้ปริมาณน้ำตาลที่ดื่มเข้าไปในแต่ละครั้งมีปริมาณที่ค่อนข้างสูง แต่ปริมาณน้ำตาลที่นักโภชนาการแนะนำต่อวัน คือระหว่าง 6 - 8 ช้อนชา ดังนั้นน้ำส้มพร้อมดื่ม จึงไม่น่าจะใช่เครื่องดื่มที่เป็นทางเลือกเพื่อสุขภาพสำหรับนางเอกหรือผู้ที่รักสุขภาพ  •    บางครั้งคนเราก็ต้องการดื่มอะไรที่หวานเย็นชื่นใจบ้าง ดังนั้นหากคิดจะดื่มน้ำส้มหรือน้ำรสส้มจึงไม่ใช่เรื่องผิดอะไร เพียงแต่ควรจะเลือกขวดหรือกล่องขนาดเล็กหรือแบ่งดื่มเพื่อไม่ให้ร่างกายรับความหวานมากเกินไป เพราะคุณต้องไม่ลืมว่าวันหนึ่งคุณยังต้องกินอาหารที่มีน้ำตาลผสมอยู่อีกหลายชนิด รวมๆ กันแล้วต่อวันก็ส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ •    น้ำรสส้มที่ผลิตโดยค่ายน้ำอัดลมยักษ์ สแปลช (ลิขสิทธิ์โคค่า โคล่า) และทรอปิคานา ทวิสเตอร์ (ลิขสิทธิ์เป๊ปซี่) ยังเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความหวานไม่ต่างจากน้ำอัดลม โดยที่ สแปลช มีปริมาณน้ำตาล 6 ช้อนชาต่อขนาดกล่อง 180 มล.(14 กรัม/100 มล.) และ ทรอปิคานา มีปริมาณน้ำตาล ประมาณ 12 ช้อนชาต่อขนาดขวด 350 มล.(14.3 กรัม/100 มล.) พอๆ กับน้ำอัดลมหรือมากกว่า โดยน้ำอัดลมมีปริมาณน้ำตาลอยู่ที่ประมาณ 7 ช้อนชาต่อ 1 กระป๋อง •    ข้อแตกต่างระหว่างผลไม้สดกับน้ำผลไม้ คือเส้นใยอาหาร เมื่อผลไม้ถูกสกัดมาเป็นน้ำผลไม้ กากใยอาหารถูกแยกออกไป ทำให้ร่างกายดูดซึมน้ำตาลได้เร็ว แต่ไม่ช่วยเรื่องการขับถ่าย  ส่วนการกินผลไม้สดซึ่งมีใยอาหารสูง การดูดซึมน้ำตาลในกระแสเลือดจะช้ากว่าและเนื้อของผลไม้จะช่วยให้เราไม่รับประทานน้ำตาลมากจนเกินไป อีกทั้งยังช่วยในเรื่องการขับถ่ายอีกด้วย•    อย่าเข้าใจผิดว่า น้ำส้มหรือน้ำรสส้มพร้อมดื่มจะมีวิตามิน ซี สูง เสมอไป อย่างที่ฉลาดซื้อได้ทดสอบให้เห็นแล้วว่า ขนาดผลิตภัณฑ์ที่ระบุว่า เติมวิตามิน ซี ลงไปด้วยหรือผลิตด้วยเทคโนโลยีสุดทันสมัยก็ยังหาแทบไม่เจอ ทั้งนี้คุณต้องมีความเข้าใจในเรื่องจริงที่ว่า วิตามิน ซี นั้นถูกทำลายได้ง่ายมาก และกว่าที่เครื่องดื่มจะมาถึงผู้บริโภคก็ต้องผ่านการขนส่ง ผ่านการจัดเก็บในสถานที่ต่างๆ อาจโดนทั้งแสง ความร้อน ทำให้ปริมาณวิตามิน ซี (ที่เหลือมาบ้างจากกระบวนการผลิต) ลดลงไปเรื่อยๆ จนไม่เหลือค่าอะไรให้วัดได้อีก•    น้ำส้มที่ผสมวิตามิน ซี ไม่ควรมาพร้อมกับวัตถุกันเสีย(เบนโซอิก) เพราะมีข้อมูลที่ชวนให้สงสัยว่า เมื่อทั้งสองมาอยู่รวมกันอาจเกิดเป็นสารพิษที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ (หาอ่านได้จากเรื่อง วันนี้คุณดื่มน้ำอัดลมแล้วหรือยัง ในฉลาดซื้อฉบับที่ 80)  •    น้ำส้มเสื่อมคุณภาพได้ง่าย ดังนั้นควรเลือกซื้อจากผู้ผลิตที่ได้มาตรฐาน ได้รับการรับรองจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา •    ไม่แนะนำสำหรับเด็กและสาวๆ ที่ต้องการมีหุ่นแบบนางเอก เนื่องจากเป็นเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลค่อนข้างสูง เสี่ยงต่อโรคอ้วนและเบาหวาน ตลาดน้ำผลไม้มีมูลค่าประมาณ 6,000 ล้านบาท เป็นน้ำผลไม้ 100% มูลค่า 2,500 ล้านบาท ส่วนน้ำผลไม้ต่ำกว่า 25% มีมูลค่าอยู่ที่ 3,000 ล้านบาท ที่เหลือเป็นน้ำผลไม้ 40% รสชาติที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ "น้ำส้ม" ที่มีสัดส่วนกว่าครึ่งหนึ่งของตลาดน้ำผลไม้ปริมาณวิตามินซีในผัก ผลไม้และน้ำผลไม้คั้นสด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 88 อร่อยกับซอสมะเขือเทศอย่างปลอดภัย

ปัจจุบันซอสมะเขือเทศนั้น ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ  ตามลักษณะของอาหารการกินที่ได้รับค่านิยมมาจากฝรั่ง แฮมเบอร์เกอร์ พิซซ่า สเต็ก สปาเก็ตตี้ ฯลฯ  และครอบครัวรุ่นใหม่ก็จะต้องมีไว้ติดครัวกันเกือบทุกบ้าน การตลาดของซอสมะเขือเทศแม้มีกลุ่มเป้าหมายค่อนข้างกว้างตั้งแต่เด็กจนถึงผู้ใหญ่ แต่ส่วนใหญ่แล้วเชื่อหรือไม่ว่า การตัดสินใจซื้อกลับตกไปที่เด็กๆ ในบ้าน เนื่องจากเด็กๆ ต่างล้วนติดใจในความอร่อยของรสชาติหวานๆ เปรี้ยวๆ ของซอสมะเขือเทศ ซึ่งนิยมเป็นเครื่องจิ้มอาหารโดยเฉพาะของทอดต่างๆ อย่างไข่เจียว ไส้กรอกหรือลูกชิ้น ปกติเครื่องปรุงรสอาหารหรือเครื่องจิ้มในอาหารไทยไม่ว่าจะเป็นน้ำปลา ซอสปรุงรส ซีอิ้ว เราจะรับประทานกันในปริมาณไม่มากเพราะความเค็ม แต่ซอสมะเขือเทศเป็นอะไรที่แตกต่างเพราะเวลาจิ้มกินกับอาหารเราจะกินกันในปริมาณมากพอสมควร เพราะมีรสหวานนำ ทำให้โอกาสที่จะรับส่วนผสมที่อาจมองข้ามอย่างน้ำตาลหรือเกลือ(โซเดียม) เข้าไปในร่างกายต่ออาหารมื้อหนึ่งๆ ก็สูงตามไปด้วย ซอสมะเขือเทศเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผ่านกระบวนการแปรรูปหลายขั้นตอน จึงเป็นอาหารที่ต้องมีการกำกับดูแลตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 201) พ.ศ.2543 เรื่อง ซอสบางชนิด การรับประทานซอสมะเขือเทศแม้เราจะได้ประโยชน์จากส่วนผสมที่เป็นมะเขือเทศ ซึ่งเป็นพืชที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง แต่เมื่อผ่านความร้อนระดับอุณหภูมิเกิน 72 องศาเซลเซียส ย่อมทำให้สารอาหารหลายชนิดได้สูญเสียไปในกระบวนการผลิตแล้ว ดังนั้นควรรับประทานแต่พอเหมาะไม่มากเกินไป โดยเฉพาะกับเด็กๆ และผู้ที่มีปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับความดันโลหิต เบาหวาน โรคหัวใจ ทั้งเพื่อเลี่ยงน้ำตาล โซเดียม ตลอดจนสารกันบูดที่เป็นส่วนผสมสำคัญในซอสมะเขือเทศ จากการทดสอบของฉลาดซื้อพบว่า ซอสมะเขือเทศ 10 ยี่ห้อ มีปริมาณน้ำตาลโดยเฉลี่ยคือ 25.95 กรัม/น้ำหนัก 100 กรัม โดย ไฮนซ์ มีปริมาณน้ำตาลสูงสุด 28.4 กรัม ตามด้วยโรซ่าและภูเขาทอง คือ 27.4 กรัมและ 27.2 กรัม สำหรับโซเดียม พบว่ามีปริมาณค่าเฉลี่ยคือ 741 มิลลิกรัม/น้ำหนัก 100 กรัม โดยยี่ห้อไฮนซ์ยังครองอันดับหนึ่งด้วยโซเดียมที่สูงถึง 1,035 มิลลิกรัม (เกือบครึ่งหนึ่งของปริมาณที่แนะนำให้บริโภคต่อวันคือ ไม่เกิน 2,400 มิลลิกรัม) ตามมาด้วย เทสโก้และโรซ่า คือ 940 มิลลิกรัมและ 894 มิลลิกรัม ผลทดสอบน้ำตาลและโซเดียมในซอสมะเขือเทศ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 87 เด็กไทยกินอะไรกันหน้าโรงเรียน

เพื่อเป็นการต้อนรับเปิดเทอม ฉลาดซื้อฉบับนี้ชวนผู้อ่านไปป้วนเปี้ยนแถวหน้าโรงเรียนกันอีกแล้ว เราได้ยินข่าวกันบ่อยครั้งเรื่องภาวะโภชนาการเกินของเด็กไทยสมัยนี้  จึงทำการสำรวจว่าเด็กๆของเราเลือกรับประทานอาหารว่าง (หรือบางครั้งก็อาจเป็นอาหารหลัก) อะไรกันบ้างจากร้านหรือรถเข็นบริเวณรอบๆโรงเรียนและเช่นเคยเราได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคในจังหวัดสระบุรี ลพบุรี กาญจนบุรี  สมทรสงคราม ตราด อำนาจเจริญ เพชรบูรณ์ ขอนแก่น ลำปาง มหาสารคาม สตูล และยะลา กลุ่มตัวอย่างเป็นเด็กนักเรียนระดับชั้น ประถมศึกษาปีที่ 1 ถึง มัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 465 คน เป็นเด็กหญิงร้อยละ 65 เด็กชายร้อยละ 35ร้อยละ 63 มีอายุระหว่าง 13 –16 ปี และประมาณร้อยละ 63 เช่นกัน ที่กำลังศึกษาอยู่ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึง 4เด็กๆได้เงินมาโรงเรียนวันละกี่บาทค่าขนม    ร้อยละไม่เกิน 10 บาท    4.511 - 20 บาท    15.121 -30 บาท    12.931 - 40 บาท    16.641 - 50 บาทt    22.251 - 60 บาท    18.7มากกว่า 60 บาท    10.1เกือบร้อยละ 40 ใช้จ่ายไม่เกิน 10 บาท ต่อครั้ง มีประมาณร้อยละ 22 ที่ใช้จ่ายมากกว่า 20 บาทต่อครั้ง เด็กๆ กินอะไรกันเราพบว่าเมนูยอดฮิตหน้าโรงเรียน 5 อันดับต้น ได้แก่ (ตามลำดับ)1.    น้ำอัดลม/น้ำหวาน2.    ไอศกรีม3.    ลูกชิ้นทอด/ปิ้ง4.    ผลไม้5.    ขนมขบเคี้ยว    ซื้อทุกวันเลยหรือเปล่าร้อยละ 43.4 บอกว่าซื้อทุกวันอีกร้อยละ 35.5 ซื้อสัปดาห์ละหลายครั้งมีเพียงร้อยละ 14 เท่านั้นที่ตอบว่า นานๆจะซื้อสักครั้งสาเหตุที่ซื้อทาน1.    หาซื้อได้ง่าย2.    หิว3.    อร่อยเรื่องนี้สอดคล้องกับผลการสำรวจโดยองค์กรต่างๆก่อนหน้านี้ เรื่องสภาวะโภชนาการเกินในเด็กไทย อย่างน้อยๆ เมื่อโรงเรียนเลิกปุ๊ป เด็กออกมาหน้าโรงเรียนก็หาอาหารรับประทานปั๊ป และที่รับประทานกันเป็นส่วนใหญ่ก็ดูจะเป็นอาหารพวกที่มีแป้ง น้ำตาล และน้ำมัน ในปริมาณสูง (น่าจะดีเหมือนกันถ้าผลไม้ ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเป็นอันดับหนึ่ง) แต่คงจะต้องมีการปรับปรุงเรื่องของความสะอาด และการปนเปื้อนในอาหาร เพราะในกลุ่มนักเรียนที่ซื้อทุกวันหรือซื้ออาทิตย์ละหลายครั้งนั้น มีมากกว่าร้อยละ 40 ที่เคยมีอาการเจ็บป่วยจากการรับประทานอาหารดังกล่าวเด็กๆอยากให้ ร้าน/ รถเข็น/ แผงลอย บริเวณรอบโรงเรียน ปรับปรุงอะไรบ้างเรื่องความสะอาดเป็นเรื่องที่เด็กๆ อยากให้มีการปรับปรุงมากที่สุดรองลงมาได้แก่ปริมาณ  ราคา และรสชาติตามลำดับคิดยังไงกับจำนวน ร้าน/ รถเข็น/ แผงลอย รอบๆโรงเรียนร้อยละ 57 คิดว่าเท่าทีมีอยู่ก็เหมาะสมแล้วร้อยละ 31 บอกว่า ยังมีน้อยไป น่าจะมีร้านมาเปิดเพิ่มอีกมีร้อยละ 12 ที่บอกว่ามีร้านมาตั้งหน้าโรงเรียนมากเกินไปพ่อแม่/ ผู้ปกครองหรือครูเคยเตือนหรือเปล่ามากกว่าร้อยละ 50 ของเด็กที่ตอบคำถามบอกว่า พ่อแม่/ ผู้ปกครอง / ครู เคยห้ามหรือเตือนเรื่องอาหารจากร้าน/ รถเข็น/ แผงลอย บริเวณรอบโรงเรียนแต่การห้ามหรือตักเตือนยังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเด็กๆได้ เพราะ ในกลุ่มที่ตอบว่าได้รับการห้ามหรือเตือนเรื่องอาหารหน้าโรงเรียนนี้ มีมากกว่าร้อยละ 40 ที่ยังซื้ออาหารดังกล่าวรับประทานทุกวัน อีกไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ซื้อทานสัปดาห์ละหลายครั้ง มีเพียงไม่เกินร้อยละ17 เท่านั้นที่ลดการบริโภคลงเป็นนานๆครั้ง ปัญหาที่เด็กๆ เคยพบจากการรับประทานอาหาร จากร้าน/ รถเข็น/ แผงลอย บริเวณรอบโรงเรียน ตามลำดับ1.    ภาชนะไม่สะอาด2.    อาหารไม่สดใหม่    3.    ผู้ขายมารยาทไม่ดี    4.    ผู้ขายมีการเลือกปฏิบัติ (เช่น ถ้าเป็นคนรู้จักกันไม่ต้องต่อคิว) 5.    เคยเจอสิ่งแปลกปลอม ในอาหาร เช่น หนอน แมลงสาบเคยมีอาการเจ็บป่วยที่เกิดจากการรับประทานอาหารดังกล่าวหรือไม่ร้อยละ 43.4 ตอบว่าเคยเกิดขึ้น นานๆครั้ง ร้อยละ 3.4 ตอบว่าเคยเกิดขึ้นบ่อยๆร้อยละ 53.1 ตอบว่าไม่เคยเกิดขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 87 กินน้ำพริกปลอดสารกันบูด

น้ำพริกเป็นอาหารที่ได้รับความนิยมมากชนิดหนึ่ง ความนิยมน้ำพริกก็ดูได้จากที่มีผู้ผลิตจำนวนหลายรายหันมาทำน้ำพริกขายให้เรากินกันได้ง่ายขึ้นไม่ต้องเสียเวลาทำ ซึ่งน้ำพริกยอดนิยมได้แก่ น้ำพริกกะปิ น้ำพริกปลาร้า ซึ่งเป็นของสดต้องกินวันต่อวัน ส่วนน้ำพริกประเภทผัดที่สามารถเก็บไว้กินได้หลายวันก็มีคนทำออกมาให้เลือกซื้อกันมากมายทั้งแบบโรงงานและผู้ผลิตรายย่อย รวมไปถึงที่เห็นขายในซูเปอร์มาเก็ตของห้างสรรพสินค้าหรือตามงานแสดงสินค้าราคาประหยัดทั้งหลาย (แบบที่ใส่เป็นกะละมังใหญ่ๆ) น้ำพริกประเภทผัดอย่างน้ำพริกนรก น้ำพริกปลาย่าง น้ำพริกตาแดง เป็นน้ำพริกที่ต้องการให้เก็บไว้กินได้นานๆ ผู้ผลิตส่วนใหญ่นิยมใช้วัตถุกันเสียหรือสารกันบูดมาช่วยถนอมอาหาร ซึ่งก็ไม่ได้เป็นสิ่งเสียหายเพราะทางกระทรวงสาธารณสุขก็อนุญาตให้ใช้ได้ แต่ให้เหมาะสม ฉลาดซื้อจึงทำทดสอบหาปริมาณวัตถุกันเสียที่นิยมใช้ ได้แก่ กรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิก เพื่อเป็นการเฝ้าระวังให้กับผู้บริโภค ฉลาดซื้อพบว่ามีน้ำพริกหลายตัวอย่างที่มีวัตถุกันเสียทั้งสองชนิดในปริมาณสูงจนน่าเป็นห่วง   ผลิตภัณฑ์น้ำพริก      

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 86 พริกแกงเผ็ด แน่ใจ? ว่าไม่มีของแถม

พริกแกงเผ็ด เป็นเครื่องปรุงสำคัญในอาหารไทยหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นแกงเผ็ดต่างๆ ทอดมัน ห่อหมก ผัดพริกแกง ฯลฯ ซึ่งอาหารเหล่านี้ล้วนเป็น กับข้าวยอดนิยม ที่ทุกคนต้องเคยรับประทาน แต่พริกแกงเผ็ดที่มาจากฝีมือโขลกเองกับมือ หาได้ยากเต็มที่ ส่วนใหญ่เรานิยมซื้อหาเอาจากตลาดใกล้บ้านหรือซูเปอร์มาร์เก็ต เพราะราคาไม่แพงและไม่เสียแรงมากด้วย แต่…คุณจะแน่ใจได้อย่างไรว่า พริกแกงฝีมือคนอื่นนั้นจะไม่มีของแถม “ไม่พึงประสงค์” ปะปนเข้ามาด้วย ฉลาดซื้อเลยส่งอาสาสมัครไปตลาดสด 5 แห่ง ได้แก่ ตลาดยิ่งเจริญ ตลาดมหานาค ตลาดบางกะปิ ตลาดเทเวศน์และตลาดคลองเตย ซื้อพริกแกงเผ็ดมาทดสอบหาของ “ไม่พึงประสงค์” 3 อย่าง ได้แก่  สารกันรา (ซาลิไซลิค แอซิด) ผงชูรส (โมโนโซเดียม กลูตาเมต) และอะฟลาท็อกซิน สารพิษตัวร้ายที่มาจากเชื้อรา โชคดีที่พบว่า พริกแกงที่เราสุ่มตัวอย่างมา ไม่พบทั้งสารกันราและผงชูรส แต่มีอยู่ 2 เจ้า ที่พบ อะฟลาท็อกซิน แม้จะมีปริมาณไม่มากเกินกว่ามาตรฐานกำหนดไว้ แต่ก็ต้องขอเตือนให้ระวัง เพราะการสะสม อะฟลาท็อกซินไว้ในร่างกาย ก็เพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อโรคร้าย อย่างมะเร็งตับได้เช่นกัน  พริกแกงเผ็ดพริกแกงอยู่กับสังคมไทยมานานหลายร้อยปี สืบสาวไปก็คงประมาณสมัยอยุธยา โดยมีพ่อค้าชาวตะวันตกหอบหิ้ว พริกเทศ เข้ามาในดินแดนสุวรรณภูมิแห่งนี้ ก่อนหน้านั้นเรามีพริกไทย เป็นเครื่องปรุงรสเผ็ดร้อน ส่วนพริกที่เรากินกันอยู่ทุกวันนี้นั้น มีถิ่นกำเนิดแท้จริงอยู่ที่ทวีปอเมริกาใต้ แต่เราก็รับพริกเทศเข้ามาปรับแปลงเป็นอาหารไทย จนถึงชนิดที่ขาดไม่ได้กันไปเสียแล้ว สุดท้ายจึงเหลือเพียงคำว่า “พริก” เท่านั้นอาหารไทยขาดพริกไม่ได้ ทุกวันนี้ปริมาณการผลิตพริกในประเทศก็ไม่เพียงพอต้องนำเข้าจากอินโดนีเซีย พม่าและจีน ปีละมากๆ สถิติการส่งออกและการนำเข้าของกรมศุลกากรปี 2549 พบว่า การส่งออกพริกมีทั้งรูปผลสด ซอสพริก พริกแห้ง เครื่องแกงสำเร็จรูป และพริกป่น เป็นปริมาณรวม 34,653 ตัน มูลค่า 2,139 ล้านบาท สถิติส่งออกเป็นมูลค่ามาก 3 ลำดับแรก คือ พริกแกง (1,082 ล้านบาท) ซอสพริก (866 ล้านบาท) และพริกสดหรือแช่เย็น (86 ล้านบาท) แต่ขณะเดียวกันประเทศไทยก็ต้องนำเข้าพริกเป็นมูลค่าสูงถึง 693 ล้านบาทด้วยเช่นกันแกงไทยทุกชนิดใส่พริก ในน้ำพริกและเครื่องจิ้มต่างๆ ก็ใส่พริก ซึ่งไม่เพียงพริกสดเท่านั้น เรายังนิยมพริกแห้งด้วยเช่นกัน กินก๋วยเตี๋ยวไม่ใส่พริกป่นนี่ หมดอร่อยกันทีเดียว แกงเผ็ด ก็เป็นหนึ่งในอาหารยอดนิยม แน่นอนว่า ส่วนประกอบสำคัญคือ พริกแกงเผ็ด ซึ่งมีสูตรที่ไม่ยาก ตำกินเองได้ง่าย (ส่วนประกอบพริกแกงเผ็ด ได้แก่ พริกแห้ง กระเทียม ตะไคร้ ข่า กะปิ เกลือและผิวมะกรูด) แต่ด้วยสภาพการใช้ชีวิตปัจจุบันที่เร่งรีบไปทุกอย่าง ทำให้มีคนหัวใสทำพริกแกงสำเร็จรูปมาวางขายในตลาดจนกลายเป็นธุรกิจที่ทำรายได้งาม ทุกตลาด ทุกรถเร่ขายกับข้าว ต้องมีพริกแกงสำเร็จขาย  ผู้บริโภคอย่างเราก็แค่ซื้อมาทำกับข้าวเท่านั้น ช่างสะดวกสบายจริงๆ     แต่ความสะดวก อาจทำให้เสี่ยงอันตราย เพราะไม่ใช่ผู้ผลิตทุกคนจะรับผิดชอบกับผู้บริโภค “ผมเห็นกับตาว่าเขาเทพริกจากกระสอบใส่ลงในเครื่องบด ไม่มีล้างหรือคัดเอาที่เสียๆ ออกเลย” นั่นเป็นหนึ่งในหลายเสียงที่ผู้บริโภคบอกมากับฉลาดซื้อ ดังนั้นเพื่อเป็นการเฝ้าระวัง ฉลาดซื้อจึงเลือกสุ่มตัวอย่างพริกแกงเผ็ดจากตลาดสดที่มีประชาชนไปจับจ่ายซื้อของจำนวนมาก 5 แห่ง ได้แก่ ตลาดยิ่งเจริญ ตลาดมหานาค ตลาดบางกะปิ ตลาดเทเวศน์และตลาดคลองเตย เพื่อทดสอบดูว่าพริกแกงเผ็ดนั้นมีอะไรที่ไม่พึงประสงค์ซ่อนอยู่หรือเปล่า 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 85 โยเกิร์ต

สนับสนุนข้อมูลทางวิชาการโดย สถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล โยเกิร์ต (Yogurt) เป็นผลิตภัณฑ์นม ประเภทหนึ่งที่ได้รับความนิยมมาก โดยเฉพาะในวัยรุ่นและสาวๆ วัยทำงาน เพราะเชื่อว่า ดีต่อสุขภาพ ทำให้อายุยืน ผอมหรือเอาไปใช้พอกหน้าเพื่อบำรุงผิวพรรณ โยเกิร์ต ได้มาจากการนำน้ำนมสัตว์ เช่น นมโค นมแพะ มาผ่านการทำลายจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค แล้วหมักด้วยจุลินทรีย์ที่ไม่ทำให้เกิดโรคหรืออันตราย ทำให้ค่าความเป็นกรดเพิ่มขึ้น (รสเปรี้ยว) และอาจปรุงแต่งเพิ่มเติมเพื่อให้รับประทานได้อร่อยขึ้น สำหรับบางคนที่อาจไม่ชอบรสชาติและกลิ่นที่เกิดจากการหมักนมเปรี้ยว เชื้อจุลินทรีย์ที่นำมาหมักให้เป็นนมเปรี้ยว เป็นเชื้อจุลินทรีย์ชนิดไม่ก่อให้เกิดโรค ส่วนใหญ่ได้แก่ แบคทีเรีย สเตรปโทค็อกคัส เทอร์โมฟิลัส และแล็กโทบาซิลลัส เดลบรึคคิไอ ซับสปีชีส์ บัลแกริคัส เราเรียกมันว่า แลกติก แอซิด แบคทีเรีย ก็ได้ เชื่อกันว่า แลกติก แอซิด แบคทีเรีย ช่วยทำให้ระบบทางเดินอาหารทำงานได้ดียิ่งขึ้น ช่วยในเรื่องระบบขับถ่าย ซึ่งน่าจะจริงอยู่เพราะคนที่ท้องผูก บางครั้งได้โยเกิร์ตสักถ้วย ก็ช่วยให้ระบายท้องได้ แต่อย่าเพิ่งไปเชื่อถึงขนาดว่า มันจะป้องกันมะเร็งในระบบทางเดินอาหารได้ ผลทดสอบโยเกิร์ต รสธรรมชาติ (Plain Yogurt) 7 ยี่ห้อ (เก็บตัวอย่าง 11 กุมภาพันธ์ 2551)•    ปริมาณแคลเซียมในผลิตภัณฑ์โยเกิร์ตทุกยี่ห้อ ไม่ได้มีค่าต่างกันมากนัก แม้หลายยี่ห้อจะกล่าวอ้างว่า แคลเซียมสูง ก็ตาม (ดูตารางเปรียบเทียบเรื่องปริมาณแคลเซียมกับผลิตภัณฑ์นมอื่นๆ) •    ยี่ห้อ ริชเชส พบปริมาณโปรตีน 2.6 กรัม / 100 กรัม ซึ่งน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนด 0.1  (ตามกฎหมายต้องมีโปรตีนไม่น้อยกว่าร้อยละ 2.7 ของน้ำหนัก) เป็นไปได้ว่า เกิดจากปริมาณน้ำนมโคที่ต่ำกว่ายี่ห้ออื่น ริชเชส นมโคร้อยละ  91.5 ดัชชี่ ร้อยละ 98 เมจิ ร้อยละ 100 (ตามที่ระบุบนฉลาก) •    ยี่ห้อ ดัชชี่ แฟตฟรี ระบุบนฉลากว่า น้ำตาลน้อยกว่า ไม่รู้จะหมายความว่า น้อยกว่ายี่ห้ออื่นหรือไม่ อย่างไร เพราะทดสอบพบว่า มีน้ำตาล 11.1 กรัม / 100 กรัม แต่บนฉลากบอกว่า มีน้ำตาล 9 กรัม / น้ำหนัก 150 กรัม (หนึ่งหน่วยบริโภค) •    ยี่ห้อ เมจิ ระบุอยู่บนฉลากว่า มีน้ำตาล 4 กรัม (จากหน่วยบริโภค 150 กรัม) แต่ฉลาดซื้อทดสอบได้ 7 กรัม (ต่อ 100 กรัม) ถ้าปริมาณโยเกิร์ตต่อหน่วย 150 กรัม น่าจะมีน้ำตาลอยู่ที่ 10.5 กรัม•    จุลินทรีย์ที่มีชีวิต ยิ่งมีจำนวนมากยิ่งมีประโยชน์ จากการทดสอบพบว่า ยี่ห้อดัชชี่ ไบโอ ดัชชี่ แฟต ฟรี และโฟร์โมสต์ พรี โพร บาลานซ์ มีปริมาณจุลินทรีย์ที่มีชีวิตจำนวนมากใน 3 ลำดับแรก  แต่…เนื่องจากฉลาดซื้อมีข้อจำกัดที่ไม่สามารถเก็บผลิตภัณฑ์ทุกยี่ห้อให้มีวันผลิตใกล้เคียงกันหรือวันเดียวกันได้  ค่าของจุลินทรีย์ที่มีชีวิตจึงไม่อาจเปรียบเทียบได้อย่างชัดเจน เพราะการมีอยู่ของจุลินทรีย์ที่มีชีวิตในโยเกิร์ต จะขึ้นอยู่กับอายุของผลิตภัณฑ์ ยิ่งผลิตใหม่สดเท่าไร จุลินทรีย์ที่มีชีวิตก็จะมีปริมาณสูง และจะลดลงไปเรื่อยๆ จนถึงวันหมดอายุ ดังนั้นยี่ห้อ บีทาเก้น ที่มีปริมาณจุลินทรีย์ที่มีชีวิตน้อยกว่ายี่ห้ออื่น ก็อาจเนื่องมาจากผลิตก่อนยี่ห้ออื่นนั่นเอง (โยเกิร์ตมีอายุการบริโภคไม่เกิน 30 วัน เก็บที่อุณหภูมิต่ำกว่า 8 องศาเซลเซียส)•    ทุกยี่ห้อไม่พบแบคทีเรียชนิดก่อโรค (โคลิฟอร์ม) เกินกฎหมายกำหนด (น้อยกว่า 3 ต่อนมเปรี้ยว 1 กรัม โดยวิธี เอ็ม พี เอ็น)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 85 อาหารแผงลอย อีกหนึ่งที่พึ่งของคนกรุงเทพฯ

แม้กรุงเทพฯ จะไม่ใช่เมืองน่าอยู่ติดอันดับโลกอย่าง เมลเบิร์น เวียนนา หรือ แวนคูเวอร์ แต่ข้อดีอย่างหนึ่ง ที่คนกรุงเทพฯ หรือผู้ที่มาเยี่ยมเยียนปฏิเสธไม่ได้เลยคือ  ความมั่นใจว่าดึกดื่นแค่ไหน ซอยจะลึกเพียงใด ก็จะมีอาหารให้เราสามารถซื้อรับประทานได้ เพราะเรามีแผงลอย/รถเข็นขายอาหารที่คอยบริการผู้บริโภคอยู่ทุกตรอกซอกซอย ในระยะทางที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย ด้วยสนนราคาที่เป็นมิตรต่อกระเป๋าเงินของคนส่วนใหญ่ด้วย สำหรับหลายๆคน อาหารแผงลอย/ รถเข็น เป็นเหมือนที่พึ่ง ให้เราได้ฝากท้องกัน ลองมาดูกันว่าคนกรุงเทพฯ มีความคิดอย่างไรกันบ้างในเรื่องการบริโภคอาหารจากแผงลอย วารสารฉลาดซื้อร่วมกับ สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของคนในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ต่อการใช้บริการอาหารจากร้านแผงลอย / รถเข็น ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้ผลที่สรุปได้ดังต่อไปนี้•    แชมป์อาหารรถเข็น ยอดฮิตได้แก่ ก๋วยเตี๋ยว และส้มตำ โดยมีอาหารประเภท ของปิ้ง/ทอด ตามมาติดๆ •    แผงลอย/รถเข็นอาหาร ยังคงเป็นที่ฝากท้องของคนในเขตกรุงเทพและปริมณฑล  ร้อยละ 30 ของกลุ่มตัวอย่างซื้อทุกวัน และอีกเกือบร้อยละ 40 แม้จะไม่ซื้อทุกวันแต่ก็ซื้อสัปดาห์ละหลายครั้ง•    เหตุผลที่ซื้ออาหารจากแผงลอย/รถเข็น อันดับหนึ่งคือ เพราะหาซื้อได้ง่าย  รองลงมาได้แก่เรื่องของราคา และเวลาที่มีจำกัดของคนเมืองนั่นเอง  •    ครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่างมีค่าใช้จ่ายในการซื้ออาหารจากแผงลอย / รถเข็น ครั้งละ 50 - 100 บาท อีกประมาณร้อยละ 40 ใช้น้อยกว่า 50 บาท •    ประมาณร้อยละ 70 ของกลุ่มตัวอย่าง ค่อนข้างพอใจในความสะอาดของแผงลอย/รถเข็นอาหาร ในขณะที่ ร้อยละ 25 คิดว่ายังต้องมีการปรับปรุง•    ปัญหาที่เคยประสบจากการรับประทานอาหารแผงลอย / รถเข็น มากที่สุดได้แก่ สถานที่ขายสกปรก หรือมีฝุ่นละอองมาก  รองลงมาเป็นปัญหาอาหารไม่สด / มีกลิ่น  และการพบสิ่งแปลกปลอมในอาหาร•    มีถึงร้อยละ 60 ของกลุ่มตัวอย่าง ที่เคยมีอาการเจ็บป่วยจากการรับประทานอาหารจากแผงลอย / รถเข็น ในขณะที่ร้อยละ 36 ไม่เคยมีอาการเจ็บป่วยเลยความเปลี่ยนแปลงที่ผู้บริโภคต้องการเห็นจากร้านแผงลอย/รถเข็นสิ่งที่กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ คาดหวังมากที่สุดสามอันดับต้นในเรื่องของบริเวณขายอาหารของแผงลอย / รถเข็น ได้แก่ เรื่องความสะอาด อากาศถ่ายเทได้ดี  การตั้งจุดขายในบริเวณที่ไกลจากถังขยะหรือท่อระบายน้ำ และการอยู่ในบริเวณที่ไม่มีฝุ่นละอองเรื่องของสุขอนามัยของผู้ขายนั้น  ประมาณร้อยละ 60 ค่อนข้างพอใจ อีกร้อยละ 30 ยังไม่พอใจเท่าไรนัก ส่วนในเรื่องบุคคลิกลักษณะของผู้ปรุงอาหารและผู้ช่วยนั้น กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ มีความคาดหวังเรื่อง เล็บตัดสั้นและสะอาดมากที่สุด รองลงมาคือเรื่องเสื้อผ้าที่สะอาดเรียบร้อย และการไม่ใส่เครื่องประดับ ความคาดหวังในเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวก ณ ร้านแผงลอย สามอันดับต้นได้แก่ การมีสถานที่ล้างมือ รองลงมาคือการมีน้ำล้างจานพอเพียง และโต๊ะ เก้าอี้ ที่สะอาดสะอาด   นอกจากนี้ลูกค้าเห็นว่า ควรมีการปรับปรุงเรื่องความสะอาด และสิ่งที่ต้องการเห็นมากที่สุดสามอันดับต้นได้แก่ การปิดคลุมอาหาร  รองลงมาคือภาชนะที่สะอาด และไม่มีกลิ่นความจริงแล้วหาบเร่แผงลอยอาหารเหล่านี้ สะท้อนให้เราเห็นอะไรที่นอกเหนือไปจากวัฒนธรรมการกินของคนเมือง งานวิจัยชิ้นหนึ่งของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ทำไว้เมื่อปี 2547 ก็พบว่ากิจการอาหารแผงลอยนั้นมีส่วนช่วยให้เกิดการสร้างรายได้กับคนจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เข้ามาหางานทำในกรุงเทพ ฯ เพราะร้อยละ 90 ของผู้ประกอบการเหล่านี้ไม่ได้มีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพมหานคร  

อ่านเพิ่มเติม >