ฉบับที่ 99 อยากเปรี้ยวอย่างมีคุณค่า ต้องถามหา “จุลินทรีย์”

เรื่องทดสอบ 2กองบรรณาธิการ  คนรุ่นใหม่อย่างเราๆ คงรู้กันดีอยู่แล้วว่า “นมเปรี้ยว” คืออะไร ถูกผลิตขึ้นมาได้อย่างไร แต่ถ้าใครยังไม่เคยรู้ถึงที่มาที่ไปของความอร่อยและคุณประโยชน์ของนมเปรี้ยวมาก่อนล่ะก็ ลองเขยิบ (สายตา) เข้ามาใกล้ๆ วันนี้เรามีเรื่องดีๆ เกี่ยวกับนมเปรี้ยวมาบอกกันนมเปรี้ยว เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการนำน้ำนมสัตว์ปกติมาหมักด้วยจุลินทรีย์ที่ไม่ทำให้เกิดโรคหรือที่เป็นอันตราย จุลินทรีย์ที่สำคัญในการหมักคือจุลินทรีย์ที่ผลิตกรดแลคติก โดยทำให้น้ำตาลแลคโตสในนมเปลี่ยนเป็นกรดแลคติกทำให้นมมีรสเปรี้ยว ก่อนจะนำมาเติมแต่งปรุงรสชาติให้อร่อยด้วยน้ำผลไม้ เป็นนมเปรี้ยวแบบที่เราได้ดื่มกันเป็นประจำทุกวัน มาทำความรู้จักประเภทของนมเปรี้ยว1. นมเปรี้ยว (fermented milk) หมายถึง ผลิตภัณฑ์นมที่ได้จากนมหรือผลิตภัณฑ์นมซึ่งเกิดจากการหมักบ่มด้วยจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดกรดแล็กติกเป็นหลัก เช่น แล็กโตบาซิลลัส เดลบรูคิอิ ซับส์ บัลการิคัส (Lactobacillus delbrueckii subsp bulgaricus) สเตรปโตค็อกคัส เทอร์โมฟิลัส (Streptococcus thermophilus) ไบฟิโดแบคทีเรียม (Bifidobacterium) แล็กโตบาซิลลัส อะซิโดฟิลัส (Lactobacillus acidophilus) หรือจุลินทรย์อื่นที่ใช้ในการผลิตนมเปรี้ยว ทั้งจะมีจุลินทรีย์ที่ใช้ในการหมักบ่มที่มีชีวิตคงเหลืออยู่หรือไม่ก็ได้2. โยเกิร์ต (yoghurt) หมายถึง นมเปรี้ยวซึ่งมีจุลินทรีย์ใช้ในการหมักบ่มที่มีชีวิตคงเหลืออยู่3. โยเกิร์ตปรุงแต่ง (flavoured yoghurt or composite fermented milk) หมายถึงโยเกิร์ตที่ผ่านการปรุงแต่งกลิ่น รส สี หรือวัตถุอื่นที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เช่น ผลไม้ แยม เป็นต้น ซึ่งอาจแยกชั้นในภาชนะบรรจุ (set yoghurt) หรือผสมรวมเข้าด้วยกัน (stirred yoghurt) และมีจุลินทรีย์ใช้ในการหมักบ่มที่มีชีวิตคงเหลืออยู่4. นมเปรี้ยวพร้อมดื่ม (fermented milk drink or drinking yoghurt) หมายถึง นมเปรี้ยวที่ผ่านการเจือจางและปรุงแต่งกลิ่น รส สี หรือวัตถุอื่นที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เช่น น้ำผลไม้ น้ำผึ้ง เป็นต้น สำหรับดื่มโดยตรง และมีจุลินทรีย์ใช้ในการหมักบ่มที่มีชีวิตคงเหลืออยู่5. นมเปรี้ยวพร้อมดื่มพาสเจอไรซ์ (pasteurized fermented milk drink or pasteurized drinking yoghurt) หมายถึง นมเปรี้ยวพร้อมดื่มที่ผ่านการทำลายจุลินทรีย์ ด้วยความร้อนโดยกระบวนการพาสเจอไรซ์ และมีจุลินทรีย์ใช้ในการหมักบ่มที่มีชีวิตจำนวนหนึ่ง6. นมเปรี้ยวพร้อมดื่ม ยูเอชที (UHT fermented milk drink or UHT drinking yoghurt) หมายถึง นมเปรี้ยวพร้อมดื่มที่ผ่านการทำลายจุลินทรีย์ด้วยความร้อนโดยกระบวนการ ยูเอชที ข้อแตกต่างระหว่าง นมเปรี้ยวพร้อมดื่ม, นมเปรี้ยวพร้อมดื่มพาสเจอไรซ์ และ นมเปรี้ยวพร้อมดื่ม ยูเอชที - นมเปรี้ยวพร้อมดื่ม เป็นนมที่เน้นให้คนที่ดื่มได้รับประโยชน์ของเชื้อแบคทีเรีย ที่เติมลงไปมากกว่าประโยชน์จากนมสด เนื่องจากมีส่วนประกอบของนมขาดมันเนยเพียงร้อยละ 50 เท่านั้น นมเปรี้ยวชนิดนี้มีอายุการรักษาที่อุณหภูมิตู้เย็นประมาณ 2 – 3 สัปดาห์ ซึ่งน้อยที่สุดใน 3 ประเภท- นมเปรี้ยวพร้อมดื่มพาสเจอไรซ์ ด้วยกระบวนการพาสเจอไรซ์ทำให้อายุการเก็บรักษายาวนานขึ้น คือสามารถเก็บไว้ได้ในอุณหภูมิตู้เย็นประมาณ 1 เดือน แต่การเนื่องจากกระบวนการนี้ต้องผ่านความร้อน จึงทำให้เอ็นไซม์กาแลคโตชิเอส และแบคทีเรียถูกทำลายหมดไป ประโยชน์ที่ได้จึงเป็นเรื่องของปริมาณน้ำตาลแลคโตสลดลง - นมเปรี้ยวพร้อมดื่ม ยูเอชที คือนมเปรี้ยวพร้อมดื่มที่ผ่านการฆ่าเชื้อแบบยูเอชที สามารถเก็บไว้ในอุณหภูมิห้องได้นานมากกว่า 6 เดือน สำหรับประโยชน์ที่จะได้รับจากการดื่มนมเปรี้ยวพร้อมดื่ม ยูเอชที นั้น จะเหมือนกับนมเปรี้ยวพร้อมดื่มพาสเจอไรซ์ จุลินทรีย์ สิ่งที่ดีที่สุดในนมเปรี้ยว- จุลินทรีย์ ช่วยรักษาสมดุลให้กับระบบการทำงานของลำไส้ ซึ่งในลำไส้ของคนเรามีจุลินทรีย์มากมายหลายชนิด มีทั้งที่เป็นประโยชน์และให้โทษ ซึ่งเมื่อคนเราอยู่ในช่วงสุขภาพไม่แข็งแรง ระบบการทำงานของลำไส้ก็จะเกิดปัญหา จุลินทรีย์ที่ให้โทษก็จะขยายตัวมากขึ้นจนมีมากกว่าจุลินทรีย์ที่ดี เพราะระบบการทำงานในลำไส้เสียสมดุล ซึ่งทำให้เกิดอาการท้องเสีย จุลินทรีย์ที่มีชีวิตในนมเปรี้ยวเมื่อดื่มเข้าสู่ร่างกาย จะเข้าไปช่วยปรับสภาพของลำไส้ให้กลับมาสู่ภาวะสมดุล- จุลินทรีย์ ในนมเปรี้ยวมีคุณสมบัติช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกาย ช่วยผลิตสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย อย่าง กรดแลคติก กรดอะมิโน- จุลินทรีย์ ช่วยในระบบการย่อยอาหาร ซึ่งส่งผลดีต่อมายังระบบขับถ่าย - จุลินทรีย์ ช่วยยับยั้งมะเร็ง และกำจัดสารก่อมะเร็งบางชนิด เพราะเชื้อแลคโตบาซิลัสสามารถจับกับสารก่อมะเร็ง โลหะหนัก และกรดน้ำดีซึ่งมีพิษ ยับยั้งการเจริญเติบโตของกลุ่มแบคทีเรียในลำไส้ที่สร้างสารไนเตรท ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งชนิดหนึ่งได้ ตารางแสดงคุณลักษณะทางเคมีและทางจุลชีววิทยาในนมเปรี้ยว ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม   รายการ โยเกิร์ต โยเกิร์ตปรุงแต่งพร้อมดื่ม นมเปรี้ยวพร้อมดื่ม นมเปรี้ยวพร้อมดื่มพาสเจอไรซ์ นมเปรี้ยวพร้อมดื่ม ยูเอชที     จุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดกรดไม่น้อยกว่า โคโลนี*ต่อกรัมหรือโคโลนีต่อลูกบาศก์เซนติเมตร     107     107     107     104     น้อยกว่า 10     *โคโลนี หมายถึง กลุ่มเซลล์จุลินทรีย์ที่สามารถมองเห็นได้ โดยหนึ่งโคโลนีเจริญมาจากหนึ่งเซลล์ ผลทดสอบ- อย่างที่บอกว่าจุลินทรีย์ที่มีชีวิตในนมเปรี้ยว ถือเป็นประโยชน์หลักที่เราจะได้รับจากการดื่มนมเปรี้ยว แต่ด้วยข้อจำกัดที่ไม่สามารถเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์แต่ละยี่ห้อให้มีวันผลิตให้ใกล้เคียงกัน จึงอาจทำตัวเลขจำนวนของจุลิทรีย์มีชีวิตแต่ละยี่ห้ออาจมีการเปลี่ยนด้วยปัจจัยของวันที่ผลิตและอุณหภูมิที่ใช้เก็บรักษา- บีทาเก้น สูตรนมพร่องมันเนย เป็นผลิตภัณฑ์ที่ปริมาณจุลินทรีย์ที่มีชีวิตมากที่สุด เมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์นมเปรี้ยวยี่ห้ออื่นๆ ในการทดสอบครั้งนี้ ซึ่งบนฉลากผลิตภัณฑ์ระบุว่าใช้จุลินทรีย์แลคโตบาซิลลัส คาเซอิ- จุลินทรีย์ แอล.คาเซอิ ชิโรต้า เป็นชนิดของจุลินทรีย์ที่พบเฉพาะในยาคูลท์เท่านั้น ซึ่งชื่อนี้มีที่มาจาก ดร.ชิโรตะ มิโนรุ ซึ่งเป็นผู้ค้นพบแบคทีเรียชนิดนี้ ในปี 1930- ชนิดของจุลินทรีย์ที่นมเปรี้ยวที่ใช้ทดสอบครั้งนี้ระบุไว้ที่ฉลากได้แก่ แอล.คาเซอิ ชิโรต้า, แลคโตบาซิลลัส คาเซอิ, แลคโตบาซิลลัส บัลแกริคัส, สเตร็ปโทค็อกคัส เทอร์โมฟิลัส, บิฟิโดแบคทีเรียม อะนิมาลิส-ดีเอ็ม173010 และ แลคโตบาซิลลัส เดลบรีคคิโอซัมสปีชีส์ บัลแกริคัส- มี 6 ยี่ห้อ ที่มีจำนวนจุลินทรีย์ที่มีชีวิตตามคุณลักษณะทางเคมีและทางจุลชีววิทยา ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ที่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมกำหนด ซึ่งได้แก่ บีทาเก้น สูตรนมพร่องมันเนย (9.0 x 108 cfu), โฟร์โมสต์ โอเมก3 นมเปรี้ยวไขมันต่ำ (1.2 x 107 cfu), ดีไลท์ ดัชมิลล์ (ฉลากสีฟ้า) นมเปรี้ยวปราศจากไขมัน น้ำตาลน้อยกว่า (3.0 x 107 cfu), เคซีไอ (casei) นมเปรี้ยวปราศจากไขมัน ผสมใยอาหารอินนูลิน (5.5 x 107 cfu), เคซีไอ (casei) ฉลากโดราเอมอน นมเปรี้ยวปราศจากไขมัน ผสมใยอาหารอินนูลิน (2.4 x 107 cfu) และ ดานอน แอคทีเวีย นมเปรี้ยวโยเกิร์ต กลิ่นสตอร์เบอรี่ (1.4 x 107 cfu)- เมจิ บิวติ ดีโทซี่ โยเกิร์ตพร้อมดื่มไม่มีไขมัน ทั้ง 2 รส คือ ชนิดผสมน้ำผึ้งและนาว กับ ชนิดผสมน้ำผึ้งและแอปเปิลไซเดอร์ ทดสอบพบจุลินทรีย์น้อยกว่า 10 cfu ด้วยกันทั้งคู่- ดานอน แอคทีเวีย นมเปรี้ยวโยเกิร์ต กลิ่นสตอร์เบอรี่ เป็นยี่ห้อที่ทดสอบพบปริมาณแคลเซียมมากที่สุด ซึ่งมากกว่ายี่ห้ออื่นถึงเกือบเท่าตัว ขณะที่นมเปรี้ยวยี่ห้ออื่นๆ มีปริมาณแคลเซียมเฉลี่ยใกล้เคียงกัน- ปริมาณน้ำตาลที่พบในนมเปรี้ยวในการทดสอบครั้งนี้อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน เฉลี่ยอยู่ที่ 14 -15 กรัม หรือ 4 ช้อนชา ซึ่งปริมาณน้ำตาลที่แนะนำให้รับประทานในแต่ละวันคือไม่เกิน 6 ช้อนช้า ดังนั้นการรับประทานนมเปรี้ยวจึงไม่ช่วยทำให้ผอมลงได้อย่างแน่นนอน สาวๆ ที่ยังเข้าใจผิดต้องรีบเปลี่ยนความคิดโดยด่วน ตารางแสดงผลทดสอบนมเปรี้ยว  *cfu = Colony Forming Unit หรือ หน่วยก่อรูปเป็นโคโลนีวิเคราะห์โดยสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยามหิดล ผลวิเคราะห์เฉพาะตัวอย่างที่ส่งตรวจเท่านั้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 98 รับร้อนกับชานมเย็นๆ สักแก้ว??

ชานมพร้อมเสิร์ฟชานม ไม่ว่าจะแบบร้อนหรือแบบเย็น จะรสต้นตำรับไทยแบบโบราณหรือแบบฝรั่งตะวันตก ต่างก็ให้รสชาติหวานหอม กลมกล่อมและชวนดื่มยิ่งนัก ยิ่งอากาศร้อนๆ อย่างนี้ หากเป็นชานมเย็นๆ สักแก้วก็จะยิ่งทำให้ชื่นใจกันไปใหญ่โดยเฉพาะคอชา แต่ยังไงก็ตามเพื่อให้ดื่มได้อย่างรู้จริงและมั่นใจว่าปลอดภัย ฉลาดซื้อจึงนำชานมสำเร็จรูปทั้งชนิดผงพร้อมชงและแบบบรรจุกล่อง/ขวดสำเร็จรูปพร้อมดื่ม ส่งเข้าห้องทดสอบเพื่อลองดูว่า ชานมประเภทนี้มีความเสี่ยงเรื่องไขมันสูงหรือไม่ โดยเฉพาะไขมันชนิดทรานส์ ที่ว่ากันว่า เป็นผู้ร้ายตัวฉกาจไม่แพ้ไขมันอิ่มตัว ผลการทดสอบพบว่า มีอยู่ 4 ผลิตภัณฑ์ที่มีกรดไขมันทรานส์ คือ ชานมลิปตันมิลค์ที รสวานิลลา ชานมลิปตันมิลค์ที รสต้นตำรับไทย ซุปเปอร์ ชานมสำเร็จรูปและมะลิ ชาไทยผสมนม โดยลิปตันมิลค์ที รสวานิลลามีปริมาณกรดไขมันชนิดทรานส์ 0.36 กรัมต่อ 100 กรัม รองมาคือ ลิปตันรสต้นตำรับไทย 0.28 กรัมต่อ 100 กรัม ซึ่งน่าจะมาจากส่วนประกอบที่มีครีมเทียมผสมลงไปด้วย (ดูในตารางผลทดสอบ) ส่วนผลิตภัณฑ์ที่พบว่า มีปริมาณไขมันอิ่มตัวสูงได้แก่ ซุปเปอร์ ชานมปรุงสำเร็จ คือ 6.1 กรัม/ 100 กรัม   แต่เดี๋ยว…ช้าก่อน อย่าเพิ่งตกอกตกใจไป เนื่องจากเวลาที่เราดื่มจริงๆ เราก็คงดื่มไม่ถึง 100 กรัม(นอกจากจะชอบเอามากจริงๆ) ฉลาดซื้อจึงลองคำนวณโดยใช้น้ำหนักจากขนาด 1 ซองเป็นตัวตั้ง ได้ข้อมูล ดังนี้ ปริมาณกรดไขมันอิ่มตัวเมื่อเทียบหนึ่งหน่วยบริโภค ผลิตภัณฑ์ หน่วยบริโภค กรดไขมันอิ่มตัว (กรัม) 1. ซุปเปอร์ ชานมปรุงสำเร็จ 1 ซอง 17 กรัม 1 2. ลิปตัน มิลค์ที รสวานิลลา 1 ซอง 20 กรัม 0.9 ปริมาณกรดไขมันชนิดทรานส์เมื่อเทียบหนึ่งหน่วยบริโภค ผลิตภัณฑ์ หน่วยบริโภค กรดไขมันอิ่มตัว (กรัม) 1. ลิปตัน มิลค์ที รสวานิลลา 1 ซอง 20 กรัม 0.07 2. ลิปตัน มิลค์ที รสต้นตำรับไทย 1 ซอง 15 กรัม 0.04 สรุปว่าการดื่มชานม 1 แก้ว ไม่มีความเสี่ยงมากในเรื่องของไขมัน เพราะมีปริมาณไขมันทรานส์และไขมันอิ่มตัวน้อย แต่ที่ต้องระวังคือ เรื่องน้ำตาลหรือความหวาน ซึ่งมีปริมาณสูงพอสมควร ยิ่งประกอบกับคำแนะนำที่ข้างฉลากของผลิตภัณฑ์ชนิดผงที่ระบุว่า ชงเพิ่มเป็น 2 ซอง เมื่อต้องการดื่มกับน้ำแข็ง ก็จะเสี่ยงได้รับน้ำตาลมากเกินไป ส่วนชนิดพร้อมดื่ม ดูจากปริมาณ 1 หน่วยบริโภคคือขวดหรือกล่องแล้ว ก็พบว่า ยังไม่เข้าข่ายเสี่ยงมากในเรื่องปริมาณของไขมันเช่นกัน หลายยี่ห้อก็ไม่พบกรดไขมันชนิดทรานส์ แต่เรื่องน้ำตาลถือว่าแรงอยู่ บางยี่ห้อก็หวานเกินไป เช่น ไอวี่ ชาเย็นสูตรโบราณที่มีน้ำตาล 13.9 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร ถ้าดื่ม 1 กล่อง 180 มิลลิลิตรก็จะได้น้ำตาลไปถึง 25 กรัม หรือคิดเป็นน้ำตาลประมาณ 6 ช้อนชาทีเดียว (พอๆ กับดื่มน้ำอัดลมหนึ่งกระป๋อง)ปริมาณน้ำตาลเมื่อเทียบหนึ่งหน่วยบริโภค ผลิตภัณฑ์ หน่วยบริโภค กรดไขมันอิ่มตัว (กรัม) ไอวี่ 1 กล่อง 180 มิลลิลิตร 25 กรัม ลิปตัน มิลค์ที รสวานิลลา 1 ซอง 20 กรัม 10 กรัม (20 กรัมเมื่อทำเป็นชาเย็น) ลิปตัน มิลค์ที รสต้นตำรับไทย 1 ซอง 15 กรัม 9 กรัม (18 กรัมเมื่อทำเป็นชาเย็น) ผลทดสอบชานมสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์ น้ำหนัก ราคาต่อหน่วย (บาท) วันผลิต-วันหมดอายุ ผลทดสอบ น้ำตาล (กรัม/100 กรัม) กรดไขมันอิ่มตัว (กรัมต่อ 100 กรัม) กรดไขมันชนิดทรานส์ (กรัมต่อ 100 กรัม) ซุปเปอร์ ชานมปรุงสำเร็จ 510 กรัม (30 ซอง ซองละ 17 กรัม) 79 หมดอายุ 18-05-2010 51.20 6.10 0.08 ลิปตัน มิลค์ที รสต้นตำรับไทย 150 กรัม (10 ซอง ซองละ 15 กรัม) 46 07-08-2008 07-02-2010 57.60 4.00 0.28 ลิปตัน มิลค์ที รสวานิลลา 100 กรัม (5 ซอง ซองละ 20 กรัม) 27 20-10-2008 20-04-2010 52.40 4.70 0.36 ไอวี่ ชาเย็น สูตรโบราณ 180 มล. 13 ผลิต 27-11-2009 13.90 0.40 0 ยูนิฟ บาเล่ ชานมและข้าวบาร์เลย์ 350 มล. 17.50 18-12-2008 18-10-2009 7.40 0.20 0 มะลิ ชาไทยเย็นยูเอชทีผสมนมปรุงสำเร็จ 180 มล. 11 หมดอายุ 22-09-2009 8.80 0.70 0.02 นะมาชะ กรีนลาเต้น้ำชาเขียวญี่ปุ่น ผสมนม 280 มล. 18 03-09-08 03-07-09 8.0 0.2 0   ดื่มชาเพียวๆ ดีกว่าชานมจริงหรือมีงานวิจัยที่ระบุว่า ชาที่เติมนมจะมีดีที่รสชาติอร่อยเท่านั้น แต่คุณประโยชน์ที่ควรจะได้รับจากชาจะหายไป เพราะนมจะไปหยุดสารที่ให้ประโยชน์แก่ร่างกายทันทีที่ผสมกับน้ำชา นักวิจัยได้ทดลองจนพบว่า โปรตีนในนมจะเข้าไปจับกับสารประกอบในน้ำชาที่ช่วยป้องกันการเกิดโรคหัวใจ (รวมทั้งบรรดาสารต้านอนุมูลอิสระต่างๆ ในน้ำชา) ทำให้สารประกอบนั้นไม่สามารถออกฤทธิ์ได้อีกต่อไป ผลการทดลองดังกล่าวช่วยให้ข้อสรุปได้ว่า หากจะรับประโยชน์จากการดื่มชา ให้ดื่มชาแท้ๆ ไม่ผสมนม แต่หากใจมันชอบจะเติมนมหรือครีมผสมกับน้ำชา ก็ให้รู้ไว้ว่า มันไม่ค่อยมีประโยชน์อะไร ท่านจะได้แค่ความอร่อยหวานมันเท่านั้น อย่างไรก็ตามเรื่องอย่างนี้มันก็แล้วแต่ความชอบของแต่ละคน ห้ามกันไม่ได้อยู่แล้ว   กรดไขมันชนิดทรานส์กรดไขมันชนิดทรานส์ (Trans Fatty acid ) เป็นกรดไขมันที่เกิดจากกระบวนการเติมไฮโดรเจน (Partial hydrogenation) ลงในน้ำมันที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง ทำให้น้ำมันที่อยู่ในสภาพของเหลวเปลี่ยนเป็นไขมันที่มีสภาพแข็งขึ้นหรือเป็นของกึ่งเหลว พบในอุตสาหกรรมเนยเทียม (margarine) หรือเนยขาว (shortening) ครีมเทียม เป็นต้น   จากการศึกษาวิจัยพบว่ากรดไขมันชนิดทรานส์ให้ผลร้ายเช่นเดียวกับกรดไขมันอิ่มตัว คือทำให้ไขมันไม่ดีชนิดอื่นเพิ่มปริมาณมากขึ้นในร่างกาย ขณะเดียวกันก็ไปลดไขมันชนิดดี ส่งผลให้หลอดเลือดในร่างกายอักเสบ เสื่อม จนตีบตัน เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด ประเทศที่นิยมรับประทานอาหารที่ต้องใช้กรดไขมันชนิดทรานส์เข้าไปอยู่ในกระบวนการผลิต จึงต้องออกประกาศ ให้ผลิตภัณฑ์อาหารที่จำหน่ายในประเทศทั้งหมดระบุปริมาณไขมันทรานส์บนฉลากโภชนาการ เช่น แคนาดาและสหรัฐอเมริกา สำหรับอาหารที่มีความเสี่ยงมาก ต้องระวังในการรับประทานคือ อาหารที่มีปริมาณกรดไขมันชนิดทรานส์มากกว่า 0.7 กรัมต่อมื้อ และมีกรดไขมันชนิดทรานส์บวกกับกรดไขมันอิ่มตัว มากกว่า 4 กรัมต่อมื้อ อาหารที่เป็นที่นิยมของคนไทยก็พบว่ามี กรดไขมันชนิดทรานส์ด้วยเช่นกัน ได้แก่พวก ขนมอบหรือเบเกอรีที่มีมาการีนเป็นส่วนประกอบ อย่างคุกกี้ พาย หรืออาหารที่ใช้มาการีนในการทอด อย่าง โรตี โดนัท แฮมเบอร์เกอร์ เป็นต้น  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 97 ข้าวพันธุ์พื้นบ้าน สมบูรณ์ด้วยสารอาหารป้องกันโรค

ทดสอบมูลนิธิชีววิถี มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืนเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกและโครงการข้าวปลาอาหารอีสานมั่นยืน ถ้าเห็นคนเฒ่าคนแก่อายุแปดสิบ เก้าสิบที่ยังแข็งแรงมากๆ ไปถามดูเถอะว่ากินอะไรถึงแข็งแรงอายุยืน รายไหนๆ ก็ตอบว่ากินข้าวทั้งนั้น ไม่ได้กินอะไรวิเศษ วิโส อย่างที่มีคนนำมาอวดอ้างขายของกันให้เกร่ออย่างในเวลานี้ ข้าว อาหารหลักของไทยนี่แหละ สุดยอดอาหารที่อุดมด้วยโภชนาการล้นเหลือ โดยเฉพาะ ข้าวพันธุ์พื้นบ้านที่ถูกลืมเลือนกันไปช่วงเวลาหนึ่ง แต่ตอนนี้ก็มีคนดีที่พยายามอนุรักษ์ไว้ และยังหาทางให้เกิดความยั่งยืนด้วยการแนะนำของดีให้แก่ผู้คนที่เห็นคุณค่าด้วย วิธีหนึ่งที่จะทำให้คนเห็นคุณค่าของข้าวพันธุ์พื้นบ้านก็คือ เปิดเผยข้อมูลสำคัญในเรื่องสรรพคุณที่สุดแสนจะวิเศษของข้าวพันธุ์พื้นบ้านให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณะ โดยแผนงานฐานทรัพยากรอาหาร สสส.ร่วมกับ มูลนิธิชีววิถี มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกและโครงการข้าวปลาอาหารอีสานมั่นยืน ได้รวบรวมพันธุ์ข้าวพื้นบ้านที่ชาวบ้านเชื่อกันว่า สามารถช่วยป้องกันและรักษาโรคได้ ไปวิเคราะห์หาคุณค่าทางโภชนาการ ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล สารอาหารชนิดต่างๆ ที่พบในข้าวพันธุ์พื้นบ้านเบต้าแคโรทีน : ต้านอนุมูลอิสระ ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ป้องกันมะเร็งบางชนิด เบต้าแคโรทีนเป็นสารตั้งต้นของวิตามินเอ โดยจะเปลี่ยนเป็นวิตามินเอเมื่อดูดซึมเข้าร่างกาย แล้ว ปกติคนไทยที่เป็นผู้ใหญ่ต้องวิตามินเอประมาณวันละ 800 ไมโครกรัม ข้าวที่มีเบต้าแคโรทีนมาก ได้แก่ข้าวเหนียวก่ำเปลือกดำ ใน 100 กรัม มีเบต้าแคโรทีน 11.75 ไมโครกรัม รองลงมาได้แก่ ข้าวหน่วยเขือ และ ข้าวเล้าแตก 5.17 ไมโครกรัม และ 4.93 ตามลำดับ ส่วนข้าวเจ้ากล้องทั่วไป ไม่มีเบต้าแคโรทีนจ้ะ แหล่งอาหารที่จะพบเบต้าแคโรทีนมากๆ อีก ได้แก่ พืชผักที่มีสีเขียวเข้ม สีเหลืองหรือสีส้ม เช่น ใบตำลึง แครอท ฟักทอง ผักบุ้ง ยอดแค ส่วนผลไม้มีมากในแตงโมจินตหรา มะละกอ มะม่วงน้ำดอกไม้ วิตามินอี : เป็นสารต้านอนุมูลอิสระตัวสำคัญ ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดหัวใจวาย ช่วยขยายหลอดเลือด เสริมระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยให้ผิวพรรณสดใสและช่วยสมานผิวที่เป็นแผลให้หายเร็วขึ้น ปกติคนไทยที่เป็นผู้ใหญ่ต้องวิตามินอีวันละ 10 มิลลิกรัม>ข้าวที่มีวิตามินอีมาก ได้แก่ข้าวหน่วยเขือ 787.31 ไมโครกรัม/ 100 กรัม รองลงมาคือ ข้าวมะลิดั้งเดิม 376.58ไมโครกรัม/100กรัม ข้าวโสมาลี382.60ไมโครกรัม/100กรัม ข้าวหอมมะลิแดง336.62ไมโครกรัม/100กรัม และข้าวเล้าแตก 309.10ไมโครกรัม/ 100กรัม ส่วนข้าวทั่วไปที่ขัดขาว วิตามินอี แทบไม่มีเหลืออีกแล้ว แหล่งอาหารที่จะพบวิตามินอีมากๆ อีก ได้แก่ น้ำมันพืชชนิดต่างๆ ธัญพืชที่ไม่ขัดสีและผักใบเขียว สำหรับผลไม้ที่มีวิตามินอีสูงๆ ได้แก่ ทุเรียน มะม่วงเขียวเสวยและมะม่วงน้ำดอกไม้ลูทีน : ช่วยป้องกันโรคต้อกระจกที่มักจะเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุข้าวที่มีลูทีนมาก ได้แก่ข้าวก่ำเปลือกดำข้าวหน่วยเขือ 14.37ไมโครกรัม/100 กรัม ข้าวช่อขิง10.29 ไมโครกรัม/100 กรัม ข้าวมะลิดั้งเดิม 9.48 ไมโครกรัม/100 กรัม และข้าวเล้าแตก 8.51 ไมโครกรัม/100 กรัม 240.09 ไมโครกรัม/100 กรัม รองลงมาได้แก่ แหล่งอาหารที่จะพบลูทีนได้อีก จริงๆ ลูทีนมีมากในนมแม่ เด็กที่ดื่มนมแม่จะมีสุขภาพตาที่ดีมาก นมผงไม่มีเลยต้องพยายามหามาใส่ลงไปทดแทน สำหรับผู้ใหญ่นอกจากข้าวพื้นบ้าน ลูทีนยังพบในผักใบเขียวอย่างผักคะน้า ผลไม้ที่มีสีส้ม สีเหลือง ใช่แล้ว...ลูทีนเขาก็อยู่ในผัก ผลไม้กลุ่มเดียวกับเบต้าแคโรทีนนั่นเอง เหล็ก: มีบทบาทสำคัญในการสร้างเม็ดเลือดแดง ช่วยป้องกันภาวะโลหิตจาง เสริมระบบภูมิคุ้มกัน และยังมีผลต่อระดับสติปัญญาด้วย ร่างกายต้องการธาตุเหล็กไม่มาก วันหนึ่งประมาณ 15 มิลลิกรัม แต่ก็สำคัญขาดไม่ได้ ข้าวที่พบว่ามีธาตุเหล็กสูง ได้แก่ ข้าวหน่วยเขือ1.22 มิลลิกรัม/100 กรัม ข้าวมะลิแดง 1.2 มิลลิกรัม/100 กรัม ข้าวเหนียวก่ำเปลือกดำ 0.95 มิลลิกรัม/100 กรัม และข้าวเล้าแตก 0.91 มิลลิกรัม/100 กรัม ส่วนข้าวเจ้ากล้องทั่วไปมีธาตุเหล็ก 0.42 มิลลิกรัม/100 กรัม แหล่งอาหารที่พบ ก่อนอื่นทำความเข้าใจก่อน เหล็กในอาหารมีสองรูปแบบ คือ ฮีมกับไม่ใช่ฮีมความสำคัญคือ เหล็กในรูปฮีม ดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ดีกว่า เหล็กในรูปฮีมมีอยู่ในเลือด ตับและเนื้อสัตว์ต่างๆ อาหารทะเล ส่วนเหล็กในพืชจะอยู่ในรูปที่ไม่ใช่ฮีม ร่างกายดูดซึมได้น้อยทองแดง : เป็นส่วนประกอบสำคัญของเอนไซม์จำนวนมากในร่างกาย ทำงานคู่กับเหล็กในการสร้างเม็ดเลือดแดง สร้างเนื้อเยื่อระบบประสาท สร้างเสริมภูมิคุ้มกัน และเป็นสารต้านอนุมูลอิสระด้วยปกติคนเราต้องการทองแดงไม่มาก แค่วันละ 2 มิลลิกรัมเท่านั้นข้าวที่พบทองแดงมาก ได้แก่ ข้าวหน่วยเขือ มีทองแดง 0.5 มิลลิกรัม/100 กรัม หอมมะลิแดง 0.43 มิลลิกรัม/100 กรัม และข้าวเหนียวหอมทุ่ง (ขัดขาว) 0.38 มิลลิกรัม/100 กรัม ส่วนข้าวเจ้ากล้องทั่วไปมีอยู่ 0.1 มิลลิกรัม/100 กรัมเท่านั้นผลไม้ที่มีทองแดงมาก ได้แก่ องุ่นเขียว ทุเรียน ขนุน ลิ้นจี่ ศักยภาพในการป้องกันและรักษาโรคข้าวหอมมะลิแดงเหมาะสุดกับคนเป็นเบาหวานจากการทดสอบพบว่า ข้าวหอมมะลิแดงที่หุงสุกแล้ว มีการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำตาลกลูโคสในช่วงเวลา 20 นาทีแรกค่อนข้างช้า คือ 10.60 กรัมต่อ 100 กรัม และเมื่อย่อยแล้วผ่านไป 120 นาที ก็มีค่าของน้ำตาลกลูโคสเพียง 8.59 กรัมต่อ 100 กรัม ซึ่งอัตรานี้เหมาะสมสำหรับคนที่มีภาวะเบาหวาน ชนิดที่ 2 (เบาหวานที่หาสาเหตุไม่ได้แน่ชัด) เพราะข้าวหอมมะลิแดงไม่ได้ทำให้น้ำตาลขึ้นพรวดพราดเหมือนข้าวเจ้าทั่วไป ข้าวพื้นบ้านมีแอนติออกซิแดนซ์ มากกว่าข้าวทั่วไปคำว่า แอนติออกซิแดนซ์ ก็เรียกแบบไทยๆ ว่า สารต้านอนุมูลอิสระ นั่นเอง อนุมูลอิสระว่ากันว่าอาจเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดมะเร็ง เป็นสาเหตุที่ทำให้ผิวไม่ผ่องใส แก่ไว แผลหายช้า หลอดเลือดและระบบหัวใจทำงานไม่ดี เพราะอนุมูลอิสระเป็นผู้ร้าย ก็เลยมีคนผลิตพวกสารต้านอนุมูลอิสระออกมาขาย ไม่ว่าจะเป็น วิตามินเอ วิตามินอี ทองแดง สังกะสี เบต้าแคโรทีน เพื่อกำจัดอนุมูลอิสระออกไป แต่จริงๆ นั้น หากรับประทานข้าวพื้นบ้านร่วมกับอาหารธรรมชาติอื่นๆ ตามที่ได้แนะนำไป ก็แทบไม่จำเป็นต้องเสียเงินซื้อพวกผลิตภัณฑ์เสริมอาหารประเภทนี้มารับประทานเลย เปลืองโดยใช่เหตุ กินข้าว ปลา อาหารธรรมชาติดีกว่าเยอะ และยังส่งเสริมเกษตรกรดีๆ ที่พยายามอนุรักษ์พันธุ์ข้าวอันแสนวิเศษที่ปู่ย่าตาทวดของเราได้สั่งสมประสบการณ์ คัดเลือกและปรับปรุงสายพันธุ์กันมานับร้อยๆ ปี ซื้อได้ที่ไหนบ้างล่ะ อุตส่าห์พามาแนะนำตัวกันขนาดนี้ ถ้าไม่บอกว่ามีขายที่ไหน เห็นจะอึดอัดใจตายกันแน่ๆ ติดต่อได้ตามนี้เลยนะคะ ใกล้ที่ไหนใช้บริการที่นั่น เพื่อลดการสูญเสียจากค่าการขนส่งค่ะ เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก จ.ยโสธร - 081-470-0864 เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก จ.สุรินทร์ - คุณนก โทร. 081-718-4220 เครือข่ายเกษตรทางเลือกพัทลุง - คุณสวาท 084-748-9204 ประพัฒน์ จันทร์อักษร 074-615-314 กลุ่มหวันอ้อมข้าว - คุณโต 089-657-0718 คุณสาว 084-583-6127 เครือข่ายเกษตรทางเลือก จ.ฉะเชิงเทรา - คุณพลูเพชร 081-431- 6690 มูลนิธิข้าวขวัญ จ.สุพรรณบุรี - คุณอณัญญา 084-646-5908 มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) นนทบุรี ติดต่อ - คุณนวล 02-591-1195 ถึง 6 คุณค่าทางโภชนาการของข้าวกล้องพื้นบ้านเปรียบเทียบกับข้าวกล้องทั่วไป   พันธุ์ข้าว   คุณค่าทางโภชนาการ (หน่วย มิลลิกรัม/100 กรัม)   เหล็ก   ทองแดง   เบต้าแคโรทีน   ลูทีน   วิตามินอี   ข้าวทั่วไป (คำนวณโดยเฉลี่ย)   0.42   0.1   ไม่พบ   ไม่พบ   0.03   ข้าวหน่วยเขือ (นครศรีธรรมราช)   1.22   0.5   0.0052   0.0144   0.7873   ข้าวก่ำเปลือกดำ (ยโสธร)   0.95   0.08   0.0118   0.2401   0.1946   หอมมะลิแดง (ยโสธร)   1.2   0.43   0.0033   0.0091   0.3366   หอมมะลิ (ทุ่งกุลาร้องไห้)   1.02   ไม่พบ   0.0031   0.0095   0.3766   เล้าแตก (กาฬสินธุ์)   0.91   0.06   0.0049   0.0085   0.3092   หอมทุ่ง*(กาฬสินธุ์)   0.26   0.38   ไม่พบ   ไม่พบ   0.0118   ป้องแอ๊ว* (มหาสารคาม)   0.24   ไม่พบ   ไม่พบ   ไม่พบ   0.0089   ช่อขิง (สงขลา)   0.8   ไม่พบ   0.0041   0.0103   0.1788   มันเป็ด *(อุบลราชธานี)   0.2   ไม่พบ   ไม่พบ   0.0045   0.026   ปกาอำปีล*   0.46   ไม่พบ   ไม่พบ   0.0036   0.0226   สถาบันวิจัยโภชนาการ ม.มหิดล *ข้าวขัดขาว   รู้ไหมว่า การผลิตข้าว 1 กิโลกรัม ด้วยวิธีการทันสมัย ใช้พลังงานมากกว่าวิธีดั้งเดิมถึง 8 เท่า การผลิตข้าวแบบดั้งเดิม แค่อาศัยแรงงานสัตว์ ปุ๋ยจากธรรมชาติและปัจจัยจากธรรมชาติ ใช้พลังงาน เพียง 1,465.3 กิโลแคลอรี่/ผลผลิตข้าว 1 กิโลกรัม ขณะที่การผลิตแบบใหม่ต้องใช้พลังงานมากถึง 11,715.2 กิโลแคลอรี่/ผลผลิตข้าว 1 กิโลกรัม ข้อมูล : พลัง+งาน ปฏิบัติการพลังงานเพื่อชุมชน ฉบับที่ 1หน้า 26

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 96 ทดสอบเป้โรงเรียนของใครโอเคกว่ากัน

กระเป๋าสะพายหลังหรือที่เราเรียกกันติดปากว่าเป้นั้นเป็นอุปกรณ์ที่ขาดไม่ได้สำหรับเด็กนักเรียนที่แต่ละวันมีสัมภาระต้องนำติดตัวไปด้วยจำนวนไม่น้อย ตั้งแต่สมุด หนังสือ กระติกน้ำ กล่องข้าว และอื่นๆอีกมากมาย   สมาชิกของฉลาดซื้อคงจำกันได้ว่าในฉบับที่ 76 เมื่อปี 2550 เราเคยทำสำรวจน้ำหนักที่เด็กๆวัยประถมต้องแบกไปโรงเรียนกันในแต่ละวันและ พบว่ากว่าร้อยละ 80 ของนักเรียนจำนวน 368 คนที่เราไปสำรวจนั้น แบกน้ำหนักกระเป๋าเกินกว่าร้อยละ 10 ของน้ำหนักตัวเอง เนื่องจากเป้สะพายหลังเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับเด็กในการบรรจุสิ่งของต่างๆไปโรงเรียน เพราะมันสามารถช่วยกระจายน้ำหนักของสิ่งของได้ดีกว่ากระเป๋าชนิดอื่นๆ ฉลาดซื้อฉบับนี้จึงกลับมาอีกครั้งด้วยการสุ่มนำกระเป๋าสะพายหลังที่โรงเรียนต่างๆเป็นผู้จ้างผลิตและจัดจำหน่ายให้กับนักเรียน มาลองทดสอบดูว่าจะมีความแข็งแรงทนทานเพียงใด โดยตัวอย่างที่นำมาทดสอบนั้นเป็นเป้จากโรงเรียนในกรุงเทพมหานครและอีก 7 จังหวัดคือ ลพบุรี สระบุรี กาญจนบุรี ตราด สมุทรสงคราม ยะลา และลำปาง จำนวนทั้งหมด 23 โรงเรียน ซึ่งมีราคาตั้งแต่ 180 -250 บาท ผู้ปกครองโปรดทราบ ไม่ควรให้เด็กๆถือหรือสะพายกระเป๋าที่มีน้ำหนักเกิน ร้อยละ 10 ของน้ำหนักตัวของพวกเขา เช่นเด็กที่มีน้ำหนัก 30 กิโลกรัม ก็ไม่ควรแบกกระเป๋าหนักที่หนักเกินกว่า 3 กิโลกรัม เป็นต้น สายสะพายเป้นั้นควรปรับให้ได้ระดับที่เหมาะสม คือให้เป้แนบกับหลัง และตัวเป้ไม่ห้อยอยู่ในระดับต่ำกว่าบั้นเอวของเด็ก ที่สำคัญหัดให้เด็กๆเคยชินกับการสะพายเป้ด้วยสายทั้งสองข้าง เพราะการสะพายเพียงข้างใดข้างหนึ่งอาจส่งผลให้เกิดอาการปวดที่ต้นคอ ไหล่และหลังได้ ที่มา: ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บใน เด็ก คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี นักเรียนไทยได้เริ่มใช้เป้สะพายหลังแทนการหิ้วกระเป๋าเมื่อปีพ.ศ. 2527 โดยรมว.ศึกษาธิการซึ่งขณะนั้นคือนาย ชวน หลีกภัย ได้สนองพระดำริสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในการให้องค์การค้าของคุรุสภาผลิตกระเป๋าสะพายหลังตามแบบจากต่างประเทศ เพื่อขายให้กับนักเรียนในราคาถูกมติชน วันที่ 5 มกราคม 2551 เป้ของใครจะทนทานกว่ากัน ฉลาดซื้อร่วมกับห้องปฏิบัติการของบริษัท เอส จีเอส ได้ทำการทดสอบกระเป๋าเป้นักเรียนทั้ง 23 ใบใน 5 ประเด็นต่อไปนี้ 1. ความต้านทานแรงดึง 2. ความต้านทานแรงฉีกขาด3. ความแข็งแรงของสายสะพายบ่า4. ความคงทนต่อการขัดถู5. ความสามารถในการบรรจุ ผลทดสอบความแข็งแรงของกระเป๋าเป้นักเรียนในด้านต่างๆ มีดังนี้ เป้ทุกใบที่ทดสอบมีความคงทนต่อการขัดถูก มากกว่า 20,000 ครั้ง (โดยเครื่องทดสอบ Martindale wear & abrasion ที่ขัดถูชิ้นผ้าทดสอบจนขาดด้วยค่าความดัน 12 กิโลปาสคาล) และเมื่อเราทดลองบรรจุน้ำหนัก 5 กิโลกรัม เป็นเวลานาน 30 นาที พบว่าไม่มีเป้จากโรงเรียนไหนปริแตก ทั้งในบริเวณของตะเข็บก้นกระเป๋าและตะเข็บสายสะพายบ่า น่าเสียดาย เรายังไม่พบเป้ที่ดีพร้อมในทุกๆด้าน เป้ที่ใช้วัสดุที่มีความทนทานต่อแรงดึงและแรงฉีกขาดสูงกลับมีสายสะพายที่ไม่แข็งแรงเท่าไรนัก (บ้างก็ด้ายที่เย็บฉีกขาด บ้างก็วัสดุที่ใช้ทำตัวเป้ขาดบริเวณตะเข็บ) ที่สำคัญเป้เหล่านี้มีสายสะพายที่ความกว้างน้อยกว่า 6 เซนติเมตร เช่นเป้ของโรงเรียนพินิจวิทยา โรงเรียนวัดลาดเป้ง และโรงเรียนเทพมงคลรังสี เป็นต้น และในทางกลับกัน เป้ที่มีสายสะพายขนาดที่เหมาะแก่การสะพายของเด็กๆ (ประมาณ 6 เซนติเมตรขึ้นไป ซึ่งจะไม่ทำให้เกิดการกดทับบริเวณไหล่ และไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อกล้ามเนื้อและเส้นประสาท) กลับมีวัสดุที่มีความทนทานต่อแรงดึงหรือการฉีกขาดต่ำ เช่น เป้ของโรงเรียนสตรียะลา และโรงเรียนอัสสัมชัญลำปาง เป็นต้น ผลทดสอบความแข็งแรงของกระเป๋าเป้นักเรียน   หมายเหตุ: 1. ความต้านทานแรงดึง (Tensile Strength) โดยวิธีทดสอบหาค่าแรงดึงขาดแบบแกรบ (BS EN ISO 13934-2 : 1999; Instron CRE-Grab method) ประเภทของเครื่องทดสอบ Instron CRE แบบอัตราการยืดตัวคงที่ (CRE: Constant-rate-of-extension) ระยะห่างของปากจับ 100 มิลลิเมตร ความเร็วในการทดสอบ 50+/- มิลลิเมตร/นาที ในทิศทางการดึงออกตรงๆ โดยจะวัดแรงต้านทานแรงดึงทั้งทางด้านเส้นยืน (ด้านแนวตั้ง) และด้านเส้นพุ่ง (ด้านแนวนอน) ของชิ้นผ้าทดสอบมีหน่วยการวัดเป็นกิโลแรง (Kgf: Kilogram-force)2. ความต้านทานแรงฉีกขาด (Tearing Strength) โดยวิธีทดสอบการฉีกขาดแบบ single tear (BS EN ISO 13937-2 : 2000; Single tear method) ประเภทของเครื่องทดสอบ Instron CRE แบบอัตราการยืดตัวคงที่ (CRE: Constant-rate-of-extension) ระยะห่างของปากจับ 100 มิลลิเมตร ความเร็วในการทดสอบ 100 มิลลิเมตร/นาที ในทิศทางการดึงเพื่อทำให้ผ้าฉีกขาด ในทิศทางการดึงออกตรงๆ โดยจะวัดแรงต้านทานแรงดึงทั้งทางด้านเส้นยืน (ด้านแนวตั้ง) และด้านเส้นพุ่ง (ด้านแนวนอน) ของชิ้นผ้าทดสอบมีหน่วยการวัดเป็นกิโลแรง (Kgf: Kilogram-force)3. ความแข็งแรงของสายสะพายบ่า (Attachment Strength of Handle/Shoulder Strap) เป็นวิธีทดสอบของบริษัท SGS เป็นเครื่องทดสอบแบบ Instron CRE (SGS In-House Method ; Instron CRE Tester) ระยะห่างของปากจับ 75 มิลลิเมตร ความเร็วในการทดสอบ 300 มิลลิเมตร/นาที ปากจับขนาด 3x2 นิ้ว (Jaw face) ความแข็งแรงของสายสะพายบ่าจะวัดจากแรง ที่ทำให้เกิดการปริขาดเกิดจาก 2 สาเหตุ ซ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 96 ทดสอบ ระวังสีสวยๆ ในแหนม

แหนมกับหมูยอเป็นของขายคู่กัน ฉบับก่อนว่าด้วยเรื่องหมูยอไป ฉบับนี้เลยตามประกบด้วยเรื่อง แหนม ของฝากของดีจากถิ่นอีสานและย่านเมืองเหนือ แหนมมีหลากรูปแบบทั้งแหนมเนื้อหมู แหนมหูหนู แหนมซี่โครง แต่ทั้งหมดล้วนเป็นอาหารดิบ ที่เกิดจากการนำเนื้อสัตว์หมักกับข้าว น้ำตาล เกลือ ดินประสิว (โปตัสเซียมไนเตรท) โดยรสเปรี้ยวของแหนมจะมาจากเชื้อจุลินทรีย์กลุ่มแล็กโตบาซิลลัส (Lactobacillus) เห็นคำว่า ดินประสิว อย่าไปนึกโยงว่าทำระเบิดแต่อย่างเดียว มันยังเป็นวัตถุที่นำมาใช้ในอุตสาหกรรมอาหารด้วยเช่นกัน ในธุรกิจอาหารเขาใช้ดินประสิวเป็นสารกันบูดและสารถนอมสีเนื้อสัตว์ให้ดูสดอยู่เสมอ จริงๆ แล้วผลของการกันบูดนั้น มาจากอนุพันธ์ไนเตรทนั่นเอง นอกจากไนเตรทแล้ว ยังมีสารอีกชนิดหนึ่งที่คนชอบใช้เป็นสารกันบูดก็คือ ไนไตรท์ วัตถุกันเสียตระกูลนี้ป้องกันเชื้อแบคทีเรียได้หลายชนิดและช่วยในเรื่องของสีสันสดใสของเนื้อสัตว์ ดังนั้นจึงนิยมกันมากแต่ต้องใช้ในปริมาณที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น เพราะเป็นสารที่มีอันตรายสูง เรียกว่า กินเข้าไปมากๆ เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งได้ ฉลาดซื้อเห็นสีสวยๆ ของแหนมแล้วก็เลยอดไม่ได้อยากรู้ว่า แหนมจะมีปริมาณไนเตรท ไนไตรท์มากน้อยแค่ไหน เลยไปหยิบเอาแหนมในตลาดวโรรสมาได้ 2 เจ้าดัง ได้แก่ แหนมป้าย่นและแหนมหม้อกระเทียมร้านศรีพรรณ และอีก 10 ยี่ห้อจากห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อ ได้แก่ 1.วนัสนันท์ แหนมหูหมูไบโอเทค 2.แหนมสุนิสา 3.สุทธิลักษณ์ แหนมฉายรังสี 4.ส.ขอนแก่น แหนมแท่งกลาง 5.จีรศักดิ์ แหนมแท่งใบมะยม 6.สามเหรียญทอง แหนมฉายรังสี 7.หมูดี แหนมตุ้มจิ๋ว 8.แหนมรสทิพย์ เจ๊หงษ์ 9.เจ้าสัว เตีย หงี่ เฮียง 10.แหนมแซ่บ เจ๊หงษ์ รวม 12 ตัวอย่างส่งสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ผลทดสอบ1. พบว่า มีปริมาณไนเตรทสูงถึง 1259.81 มิลลิกรัม/กิโลกรัมในแหนมศรีพรรณ แหนมหม้อกระเทียม ซึ่งจัดว่า เกินว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดคือ สารไนเตรทมีได้ไม่เกิน500มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมและรองลงมาได้แก่ 309.91 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ในยี่ห้อวนัสนันท์ แต่ก็ถือว่าผ่านเกณฑ์ 2. ไม่พบสารไนไตรท์เกินเกณฑ์ที่กำหนดไว้คือ มีได้ไม่เกิน 125 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ในทุกผลิตภัณฑ์ "โปตัสเซียมไนเตรท" หรือ ดินประสิว ลักษณะเป็นผงสีขาว ละลายน้ำได้ดี ไม่มีกลิ่น มีรสเค็มเล็กน้อยหรือแทบจะไม่มีรสอะไร มีความคงตัวดี แต่อาจมีการเปลี่ยนรูประหว่างไนเตรทกับไนไตรท์กลับไปมาได้ ขึ้นอยู่กับสภาวะแวดล้อมสารไนเตรท/ไนไตรท์ มีการรายงานว่าเมื่อรวมกับโปรตีนชนิดทุตติยภูมิ และตติยภูมิสามารถเปลี่ยนเป็นไนโตรซามีนซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งได้ ฉลาดซื้อ 1. เลือกซื้อแหนมที่สีไม่แดงจัดจนผิดธรรมชาติ แหนมที่ทำไว้นานเกินไป จะมีกลิ่นเปรี้ยวมากและมีเมือกไม่น่ารับประทาน เลือกที่เนื้อมีลักษณะไม่เปื่อยยุ่ย หรือมีน้ำเยิ้มจากก้อนเนื้อ ไม่มีสิ่งปนเปื้อน2. แหนมฉายรังสีก็เป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้บริโภค ควรเลือกที่ผ่านเกณฑ์การรับรองจาก อย. ซึ่งปัจจุบันมีหลายยี่ห้อ แต่ราคาจะแพงกว่าแหนมธรรมดา3. แหนมอย่างไรก็เป็นอาหารดิบ อาจมีพยาธิและแบคทีเรียก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้จึงควรปรุงให้สุกก่อนรับประทาน 4. แหนมโดยปกติแล้ว ถ้าเก็บที่อุณหภูมิห้องจะมีอายุการเก็บประมาณ 1 สัปดาห์ แต่ถ้าเราเก็บไว้ในตู้เย็นจะสามารถเก็บไว้ได้ประมาณ 1 เดือน ตารางทดสอบ Nitrite ในผลิตภัณฑ์แหนม รายชื่อผลิตภัณฑ์ น้ำหนัก (กรัม) ราคา (บาท) ผู้ผลิต วันผลิต-วันหมดอายุ ปริมาณ Nitrate ที่ตรวจพบ (มก/กก.) ปริมาณ Nitrite ที่ตรวจพบ (มก./กก.) 1.วนัสนันท์ แหนมหูหมูไบโอเทค 200 60 บ.แหนมไบโอเทค จำกัด เชียงใหม่ 05-11-51 05-01-52 309.91 4.34 2.แหนมสุนิสาดอนเมืองแหนมแท่ง 60 17 บ.ผลิตภัณฑ์อาหารสุนิสา จำกัด กรุงเทพฯ 29-10-51 14-12-51 3.42 2.52 3.สุทธิลักษณ์แหนมฉายรังสี 120 40 บ.สุทธิลักษณ์ อินโนฟู้ด จำกัด กรุงเทพฯ 16-10-51 15-12-51 - 2.87 4.ส.ขอนแก่นแหนมแท่งกลาง 130 49 บ.อุตสาหกรรมอาหาร ส.ขอนแก่น จำกัด(มหาชน) กรุงเทพฯ 18-11-08 28-12-08 2.94 2.92 5.จีรศักดิ์แหนมแท่งใบมะยม 120 35 บ.จีรศักดิ์ โปรดักส์ จำกัด สมุทรปราการ 08-10-08 08-12-08 - 4.26 6.สามเหรียญทองแหนมฉายรังสี 180 66 บ.อุตสาหกรรมอาหาร ส.ขอนแก่น จำกัด(มหาชน) กรุงเทพฯ 14-11-08 24-12-08 15.85 3.71 7.หมูดีแหนมตุ้มจิ๋ว 70 25.25 โรงงานเจ๊หงษ์ นครราชสีมา 03-11-08 03-12-08 - 3.72 8.แหนมรสทิพย์ เจ๊หงษ์ 180 32 หจก.ดีฟู้ด มาร์เก็ตติ้ง 2008 นครราชสีมา 20-11-51 20-02-52 - 5.10 9.เจ้าสัวเตีย หงี่ เฮียง 155 54 บ.เตียหงี่เฮียง(เจ้าสัว) จำกัด นครราชสีมา 07-11-08 06-01-09 5.41 4.65 10.แหนมแซ่บ เจ๊หงษ์ 100 16 โรงงานเจ๊หงษ์ นครราชสีมา 20-11-51 20-02-52 3.04 3.10 11.ป้าย่น*แหนมชีวภาพ 250 35 บ.อุ๊ยย่น จำกัด เชียงใหม่ ไม่มีซื้อที่ตลาดวโรรส เชียงใหม่ 25/11/51 50-2-06645-2-0004 0.78 3.70 12.ร้านศรีพรรณ*แหนมหม้อกระเทียม - 35 053-422550 ไม่มีซื้อที่ตลาดวโรรส เชียงใหม่ 25/11/51 ไม่มีอย. 1259.81 7.53 * สินค้าขายในตลาดสด ไม่มีการระบุวันผลิต วันหมดอายุ คงเนื่องจากผลิตและจำหน่ายวันต่อวัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 186 ทะเลไฟ : เพราะไม่คิด ฉันจึงเป็น

    นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสที่ชื่อ เรอเน่ เดการ์ตส์ เคยประกาศคำขวัญคำคมเอาไว้ตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 17 อันเป็นการวางศิลาฤกษ์ให้กับห้วงสมัยแห่งการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ยุคใหม่ว่า “I think, therefore I am” หรือแปลเป็นภาษาไทยว่า “เพราะฉันคิด ฉันจึงเป็น”     สังคมตะวันตกที่ก่อรูปก่อร่างมากับกรอบวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ เชื่อในหลักการที่ว่า การเข้าถึง “ความจริง” ในชีวิตของมนุษย์ จะเกิดจากการนั่ง “มโน” หรือดำริคิดเอาเองไม่ได้ หากแต่ต้องคิดอย่างแยบคายและมีเหตุผลบนหลักฐานที่จับต้องรองรับได้แบบเป็นรูปธรรมเท่านั้น    ดังนั้น ข้อสรุปของเดการ์ตส์จึงถูกต้องที่ว่า “เพราะฉันคิด” แบบมีหลักการเหตุผลเชิงวิทยาศาสตร์ และมีหลักฐานอ้างอิงพิสูจน์ได้ “ฉันจึงเป็น” หรือกลายมาเป็น “มนุษย์” ที่มีตัวตนอยู่ตราบถึงทุกวันนี้    แต่อย่างไรก็ดี เมื่อได้นั่งชมละครโทรทัศน์เรื่อง “ทะเลไฟ” อยู่นั้น คำถามแรกๆ ที่ผุดขึ้นมาในหัวสมองก็คือ ตรรกะหรือคำอธิบายแบบวิทยาศาสตร์ที่กล่าวมาข้างต้นนี้ จะใช้ได้หรือไม่กับสังคมไทยที่ไม่ได้ผ่านการปฏิวัติวิทยาศาสตร์มาอย่างเข้มข้นแบบเดียวกับโลกตะวันตก    หาก “ทะเลไฟ” คือภาพวาดที่สะท้อนมาจากความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในสังคมไทยแล้ว ดูเหมือนว่า ความคิดเชื่อมโยงแบบมีเหตุมีผล และความคิดที่ใช้ตรรกะจากประจักษ์พยานหลักฐานมาพิสูจน์ อาจไม่ใช่สิ่งที่ฝังรากลึกอยู่ในระบบคิดของตัวละครหลักที่ชื่อ “พศิกา” และ “เตชิน” เท่าใดนัก    ด้วยเพราะผิดหวังในความรักเป็นจุดเริ่มเรื่อง บุตรสาวของปลัดกระทรวงใหญ่อย่างพศิกาจึงตัดสินใจหนีไปทำงานเป็นเลขานุการที่รีสอร์ตบนเกาะไข่มุกของ “อนุพงศ์” ผู้เป็นบิดาของพระเอกเตชิน ก่อนที่อนุพงศ์จะส่งเธอไปเรียนต่อยังต่างประเทศ     อันที่จริงแล้ว เมื่อเริ่มต้นเรื่อง พศิกากับเตชินได้เคยพบเจอกันมาก่อนในต่างแดน และต่างก็แอบชอบพอกัน เพราะประทับใจในตัวตนจริงๆ ที่ได้รู้จักกันในครั้งนั้น แต่ทว่า เหตุการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไปเมื่อทั้งคู่มีเหตุให้ต้องกลับมาเมืองไทยโดยไม่ได้ร่ำลา และได้โคจรมาพบกันอีกที่เกาะไข่มุก    กับการพบกันใหม่อีกครั้ง เตชินเกิดความเข้าใจผิดว่า ผู้หญิงที่เขาแอบรักอย่างพศิกามีสถานะเป็นภรรยาน้อยของบิดาตนเอง กอปรกับการถูกเป่าหูโดยคุณแม่แห่งปีอย่าง “นลินี” ที่หวาดระแวงตลอดเวลาว่า สามีของเธอจะแอบซุกกิ๊กนอกใจเป็นหญิงสาวรุ่นลูกอย่างพศิกา    เพราะหูสองข้างที่ต้อง “หมุนวนไปตามลมปาก” ของมารดา ทำให้เตชินโกรธเคืองพศิกาโดยไม่ต้องสืบสาวหรือค้นหาเหตุผลความเป็นจริงใดๆ มาอธิบาย และกลายเป็นชนวนแห่งความชิงชังในแบบละครแนว “ตบๆ จูบๆ” ที่พระเอกต้องทารุณกรรมนางเอก (แม้จะหลงรักหล่อนอยู่ในห้วงลึก) ทั้งกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม จนสาแก่ใจ    ในขณะเดียวกัน “อันอารมณ์หากเหนือเหตุผล ความแค้นก็แน่นกมล กลายเป็นคนคิดสั้นไปได้” นลินีจึงยังคงติดตามราวี และจ้างวานบุคคลรอบข้างหรือใครต่อใครให้ระราน และลงมือทำทุกอย่างเพื่อเขี่ยพศิกาออกไปจากเกาะไข่มุก และออกไปจากชีวิตของเตชิน ที่ต่อมาภายหลังก็เริ่มมีสติที่จะเรียนรู้ว่า พศิกาอาจไม่ใช่ผู้หญิงร้ายกาจแบบที่มารดาคอยเสี้ยมหูยุแยงเขาอยู่ตลอด    และที่สำคัญ เมื่ออคติเข้ามาบดบังนัยน์ตา คุณแม่ดีเด่นอย่างนลินีจึงมองข้ามข้อเท็จไปว่า บรรดาตัวละคร “บ่างช่างยุ” ที่อยู่รายรอบชีวิตของเธอ ไม่ว่าจะเป็นคนสนิทที่เป็นผู้จัดการแผนกต้อนรับอย่าง “สุดารัตน์” หรือเครือญาติที่สุดารัตน์เอามาช่วยงานอย่าง “สง่า” รวมไปถึงพนักงานในรีสอร์ตคนอื่นๆ อย่าง “ทรงศักดิ์” “นวลพรรณ” “เอกรัตน์” และอีกหลายคน แท้จริงแล้วคนเหล่านี้ต่างหากที่ไม่เคยหวังดี และเบื้องหลังก็แอบคอร์รัปชั่น พร้อมกับทำลายกิจการเกาะไข่มุก เพราะเคียดแค้นอนุพงศ์มาตั้งแต่ครั้งอดีต    ปัญหาจริงที่เกิดขึ้นและฝังลึกอยู่ในโครงสร้างใหญ่ของสังคม ดูจะไม่ใช่ปัญหาที่เคยเข้ามาอยู่ในสายตาหรือห้วงสำนึกของตัวละครคนชั้นกลางกลุ่มนี้เสียเลย ตรงกันข้าม ปัญหาจุกจิกแบบเรื่องรักๆ ใคร่ๆ หรือชิงรักหักสวาทต่างหาก ที่คนเหล่านี้สนใจและมองว่าเป็นปัญหาใหญ่ยิ่งในชีวิตเสียนี่กระไร    กว่าที่เตชินและนลินีจะค่อยๆ หวนกลับมาเจริญสติ และคิดใคร่ครวญด้วยปัญญา เหตุผล และการใช้หลักฐานต่างๆ พิสูจน์สัจจะความจริง และกว่าที่ทั้งคู่จะพบกับคำตอบจริงๆ ว่า เรื่องราวของพศิกากับอนุพงศ์ที่เกิดขึ้น เป็นเพียงการ “มโน” และ “ฟังความไม่ได้ศัพท์ แต่ดันจับไปกระเดียด” ขึ้นเท่านั้น เกาะไข่มุกที่อยู่กลางสมุทรก็แทบจะลุกฮือกลายเป็น “ทะเลไฟ” ไปจนเกือบจะจบเรื่อง    หากภาพในละครจำลองมาจากภาพใหญ่ที่ฉายมาจากฉากสังคมจริงๆ แล้ว ความสัมพันธ์ของตัวละครในเรื่องเหล่านี้ ก็เผยให้เห็นว่า สำหรับสังคมไทยที่ “เพราะไม่คิด ฉันจึงเป็น” นั้น “เหตุและผล” ไม่ได้เป็นระบบคิดที่หยั่งลึกในสำนึกของคนไทย เพราะวิธีการได้มาซึ่งความรู้หรือความจริงของสังคมเรานั้น มักจะเป็นแบบ “คิดไปเอง” “เชื่อไปเอง” “มโนไปเอง” หรือแม้แต่ “ฟังเขาเล่าว่าต่อๆ กันมา”     และผลสืบเนื่อง “เพราะไม่คิด ฉันจึงเป็น” เช่นนี้เอง การแก้ไขปัญหาในสังคมไทยจึงมักเป็นการสาละวนอยู่กับปัญหาแบบปลอมๆ ปัญหากระจุกกระจิก และไม่ใช่แก่นสาระหลักในชีวิตแต่อย่างใด     ในทางตรงกันข้าม การตั้งคำถามเชิงพินิจพิเคราะห์ไปที่ปัญหาแท้จริง ซึ่งฝังรากลึกๆ อยู่ในโครงสร้างของสังคมอย่างปัญหาคอร์รัปชั่น หรือปัญหาความขัดแย้งระหว่างกลุ่มผลประโยชน์ เหล่านี้มักกลายเป็นสิ่งที่ถูกมองข้าม และทิ้งให้ปัญหานั้นยังคงเป็นปัญหาเรื้อรังสืบต่อมา    ก็อย่างที่บทเพลงเพื่อชีวิตเขาเคยกล่าววิจารณ์สังคมไทยในท่ามกลางความสับสนว่า “คืนนั้นคืนไหนใจแพ้ตัว คืนและวันอันน่ากลัวตัวแพ้ใจ ท่ามกลางแสงสีศิวิไลซ์ อาจหลงทางไปไม่ยากเย็น...”    ตราบเท่าที่ตัวละครอย่างเตชินและนลินียังคง “แพ้ตัวและแพ้ใจ” หรือ “ฝันไกลไปลิบโลก” และตราบเท่าที่สังคมไทยไม่ลองหันมาขบคิดถึง “ความจริง” รอบตัวกันด้วย “เหตุและผล” และเบิ่งตาดู “ความเป็นจริงที่แท้จริง” แล้ว สังคมเราก็คงต้องว่ายเวียน “อับโชค” และตกลงกลาง “ทะเลไฟ” อยู่นั่นเอง

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 185 เพียงชายคนนี้ไม่ใช่ผู้วิเศษ : สามีดีๆ ไม่มีขาย อยากได้ต้องสร้างเอง

ในระบอบทุนนิยมนั้น วัตถุที่เรียกว่า “เงิน” เป็นสิ่งที่มนุษย์เราสร้างขึ้นมาให้กลายเป็นข้อตกลงร่วมกันในการแลกเปลี่ยนมูลค่าของสิ่งของต่างๆ     ประโยคในบทเพลงที่บอกว่า “มีเงินเดินซื้อสินค้าได้...” หรือ “คนเราเคารพคบกันที่เงิน...” เป็นภาพสะท้อนให้เห็นว่า แม้มนุษย์จะสร้างเงินขึ้นมา แต่ท้ายที่สุด มนุษย์เราก็กลับก้มหัวยอมสยบให้กับอำนาจของ “พระเจ้าเงินตรา” ได้ด้วยเช่นกัน    ไม่เพียงแต่เงินจะใช้เพื่อจับจ่ายซื้อวัตถุหรือสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ ได้เท่านั้น ทุกวันนี้เงินยังมีอำนาจซื้อได้แม้แต่กับจิตใจ จิตวิญญาณ ไปจนกระทั่งชีวิตของมนุษย์ด้วยกัน ดุจเดียวกับที่ “อนุศนิยา” ลูกสาวทายาทมหาเศรษฐีรายใหญ่ ได้ใช้เงิน 60 ล้านบาทซื้อ “คุณหมอศตวรรษ” มาเป็น “สามีเงินผ่อน” ครอบครองเป็นคู่ชีวิตของเธอ    เพราะเกิดมาบนกองเงินกองทอง หรือถือกำเนิดในครอบครัวของมหาเศรษฐีรายใหญ่ อนุศนิยาจึงเป็นผู้หญิงที่เหมือนจะเลิศเลอเพอร์เฟ็คในทุกทาง รูปสวย รวยทรัพย์ การศึกษาดี ฐานะทางสังคมไม่ด้อยกว่าใคร แต่ทว่าลึกๆ แล้ว แม้ว่าฉากหน้าจะมีความสุขจากการเสพวัตถุต่างๆ แต่ฉากหลังของอนุศนิยากลับถูกทดสอบด้วยคำถามว่า วัตถุและเงินทองเป็นเพียง “ของมายา” หรือเป็นความสุขที่แท้จริงในชีวิตของเธอกันแน่?    กับบททดสอบแรก อนุศนิยาต้องเรียนรู้ว่า แม้จะ “คาบช้อนเงินช้อนทอง” ติดตัวมาเกิดเป็นทายาทมหาเศรษฐี แต่เรื่องบางเรื่องก็ไม่สามารถซื้อหาได้ด้วยเงินทอง เหมือนกับที่ “นันทพล” บิดาของเธอซึ่งป่วยเป็นโรคไต ก็เป็นโรคสมัยใหม่ที่มักจะเกิดในบรรดาหมู่ผู้มีอันจะกินทั้งหลาย และก็มักต้องมีรายจ่ายให้กับค่าซ่อมบำรุงร่างกายแบบแพงแสนแพงเช่นกัน     แต่ที่เหนือสิ่งอื่นใด เพราะเงินทองไม่เข้าใครออกใคร อนุศนิยาจึงยังต้องวุ่นวายกับปัญหาการช่วงชิงทรัพย์สินในกองมรดกจากบรรดาคุณอาผู้หญิงทั้งสี่ ที่ทุกคนต่างคอยตอดเงินกงสีของตระกูลอยู่เป็นประจำ จนไปถึงปัญหาระหว่างเธอกับอาแท้ๆ อย่าง “ชยากร” ที่คิดกับเธอมากไปกว่าความสัมพันธ์แบบอากับหลาน    ส่วนบททดสอบที่สองนั้นก็คือ “โสมมิกา” คาสโนวี่สาวประจำแวดวงไฮโซ ที่แม้ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมรุ่นกับอนุศนิยามาตั้งแต่สมัยเรียนอนุบาลจนถึงระดับมหาวิทยาลัย แต่เพราะทั้งคู่ต่างก็มั่งคั่งร่ำรวยและโดดเด่นในวงสังคมไม่แพ้กัน ต่างคนจึงหมั่นไส้และอิจฉาตาร้อนจนไม่เคยมีมิตรภาพที่แท้จริงให้แก่กันแต่อย่างใด     แต่ทว่า บททดสอบเรื่องสายสัมพันธ์ที่เปราะบางในครอบครัว หรือความขัดแย้งแบบ “เพื่อนที่ไม่รัก แถมหักเหลี่ยมโหด” ก็ยังไม่เทียบเคียงกับบททดสอบสุดท้าย ที่ไม่เพียงสำคัญยิ่ง แต่ถือเป็นจุดเปลี่ยนหลักในชีวิตของอนุศนิยา    บทเรียนดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อ “เสาวรส” มารดาของหมอศตวรรษ ได้เล่นการพนันเกินตัว จนติดหนี้ครอบครัวของอนุศนิยาถึง 60 ล้านบาท และได้ยื่นข้อเสนอให้บุตรชายของเธอมาแต่งงานเป็นสามีในนามกับอนุศนิยา เพียงเพื่อขัดดอกผ่อนชำระหนี้ก้อนโตดังกล่าว    ในแง่หนึ่งหมอศตวรรษเองก็อาจ “ไม่ใช่ผู้วิเศษที่จะเสกปราสาทงามให้เธอ” และ “ไม่ใช่คนยิ่งใหญ่ร่ำรวยจ่ายเงินเร็วร้อนแรง” เพราะเขาก็เป็น “เพียงผู้ชายคนนี้ที่มีใจมั่นรักเธอ” ดังนั้น จากจุดเริ่มต้นที่อนุศนิยาเห็นว่าหนี้สิน 60 ล้านบาทเป็นตัวกั้นกลางความสัมพันธ์แบบสามีภรรยา เธอจึงตั้งแง่ดูถูกและรังเกียจเขาที่ยินยอมเสียศักดิ์ศรีมาแต่งงานเป็นสามีขัดดอกแลกเปลี่ยนกับหนี้ที่มารดาของเขาได้ก่อเอาไว้    จนเมื่อภายหลัง เพราะคุณงามความดีของหมอศตวรรษ ผู้เป็นลูกที่ดีของมารดา เป็นชายหนุ่มที่รักษาสัญญาและมุ่งมั่นทำงานเพื่อปลดหนี้ให้แม่ เป็น “สามีแห่งชาติ” ในสายตาของผู้หญิงทั้งหลายทั้งในจอและนอกจอ และอาจเป็นชายที่ “ไม่ใช่ผู้วิเศษ” แต่ความดีที่เขาแสดงให้ประจักษ์จริง ก็สามารถพิชิตหัวใจของอนุศนิยาได้ในที่สุด    แต่แน่นอน บททดสอบเรื่องอำนาจของเงินกับคุณงามความดีของมนุษย์ย่อมต้องมีคลื่นมากระทบแบบระลอกแล้วระลอกเล่า เมื่อในอีกฟากความคิดของอนุศนิยาก็ยังเชื่ออยู่ลึกๆ ว่า “แข็งดังเหล็กเงินก็มักจะง้างได้เสมอ” เธอจึงถูกทั้งชยากรและโสมมิการ่วมกันวางแผนปั่นหัวทำลายความรักและสร้างความร้าวฉาน จนทำให้ความไว้เนื้อเชื่อใจที่เสมือนแก้วอันเปราะบางอยู่แล้วนั้น แทบจะล่มสลายภินท์พังลงไป    มีคำอธิบายที่น่าสนใจข้อหนึ่งว่า ในอดีตนั้น มนุษย์เราสร้างวัตถุสิ่งของขึ้นมา และมักใช้วัตถุนั้นเป็นสะพานเชื่อมโยงสายสัมพันธ์ระหว่างคนกับคนให้พันผูกกันในทางความรู้สึก เช่น เวลาผู้ใหญ่ให้วัตถุสิ่งของแก่เด็กหรือลูกหลาน หรือเวลาคนเราให้ของขวัญที่ระลึกแก่กันและกัน เป้าหมายของการใช้วัตถุสิ่งของแบบนี้ก็เพื่อผูกสัมพันธ์ให้ผู้คนได้รู้สึกใกล้ชิดแนบแน่นเข้าไว้ด้วยกัน    แต่ดังที่กล่าวมาแล้วในตอนต้น ทุกวันนี้ระบอบทุนนิยมได้ทำให้วัตถุไม่ได้ทำหน้าที่ถักทอความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคนอีกต่อไป หากแต่กลายเป็นคนเราที่ทำหน้าที่เป็นเพียงทางผ่านให้วัตถุชนิดหนึ่ง (หรือเงิน) เชื่อมโยงความสัมพันธ์กับวัตถุชนิดอื่นเป็นการทดแทน แบบที่ทั้งอนุศนิยาและโสมมิกาต่างก็คิดว่า การมีเงินในมือเป็นสิบๆ ล้านนั้น สามารถใช้ซื้อวัตถุหรือแม้แต่คนมาครอบครองได้นั่นเอง    บนสายสัมพันธ์ที่คนไม่ได้เชื่อมโยงคนผ่านวัตถุสิ่งของ แต่กลับเป็นสิ่งของที่ใช้คนเป็นทางผ่านเชื่อมโยงไปสู่วัตถุหรือเป้าหมายใดๆ เช่นนี้ ความสัมพันธ์และความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างมนุษย์จึงเกิดขึ้นได้ยาก หรือแม้จะมีอยู่บ้าง ก็พร้อมจะล่มสลายไปได้ไม่ยากนัก เพียงเพราะเงินได้กลายเป็นวัตถุที่มีอำนาจเข้ามาครอบงำความคิด ความรู้สึก และความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์เรา    ต้องผ่านบททดสอบหลายข้อกว่าถึงฉากจบที่อนุศนิยาจะเข้าใจว่า เฉพาะคนที่เชื่อมั่นว่า “เงินคือพระเจ้า” เท่านั้นจึงยอมก้มหัวสยบให้กับอำนาจของพระเจ้าเงินตรา     จนเมื่ออนุศนิยาตระหนักได้ว่า “ผู้ชายดีๆ เขาไม่ได้มีไว้ขาย อยากได้เธอต้องสร้างเอง” หรือเริ่มเรียนรู้ว่า เงิน 60 ล้านก็เป็นเพียงวัตถุที่ถูกอุปโลกน์ขึ้นมาเป็นมูลค่าแลกเปลี่ยนให้กับคนเรา ความรักของเธอที่มีต่อผู้ชายธรรมดาและ “ไม่ใช่ผู้วิเศษ” อย่างหมอศตวรรษ ก็สามารถทำให้เธอใช้ชีวิตอยู่ใน “ปราสาทงามเลิศเลอ” ได้ไม่แพ้กัน                                    

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 184 เจ้าบ้านเจ้าเรือน : เมื่อหนุ่มรูปหล่อกลายมาเป็น “โสนน้อยเรือนงาม”

สังคมไทยเรามีระบบคิดเรื่อง การเคารพนับถือผู้อาวุโสและบรรพบุรุษในสายเครือญาติ ระบบคิดดังกล่าวไม่เพียงแต่ฝังรากอยู่ลึก หากแต่ยังแปรรูปแปลงร่างกลายมาเป็นความเชื่อในชีวิตประจำวันเรื่องการเคารพบูชาผีบรรพบุรุษ โดยผีที่ดำรงอยู่ในสถาบันครัวเรือนและมีบทบาทใกล้ชิดกับเรามากที่สุด ก็คงหนีไม่พ้นผีบรรพบุรุษที่เรียกว่า “เจ้าบ้านเจ้าเรือน”     “เจ้าบ้านเจ้าเรือน” หรือเราอาจเรียกต่างกันไปว่า “ผีเหย้าผีเรือน” หรือ “ผีพ่อเฒ่าเจ้าเรือน” นั้น เป็นรูปแบบความสัมพันธ์แบบซึ่งกันและกัน ที่ด้านหนึ่งสมาชิกสังคมรุ่นหลังต้องแสดงกตเวทิตาต่อบรรพชนของตนเอง โดยมีวัตรปฏิบัติที่ลูกหลานต้องกระทำกันสืบเนื่องอย่างการเซ่นไหว้และบวงสรวงเคารพบูชา เพื่อที่อีกด้านหนึ่งผีบ้านผีเรือนท่านก็จะได้คุ้มครองและนำพาความสุขความเจริญมาให้กับสมาชิกครัวเรือนนั้นๆ    อย่างไรก็ดี เมื่อกาลเวลาผ่านไป แม้ว่าผีบ้านผีเรือนจะเป็นความเชื่อที่ยังคงดำรงอยู่ในสังคมไทยจวบจนปัจจุบัน แต่ก็ใช่ว่าการรับรู้ความเชื่อดังกล่าวจะสถิตเสถียรโดยไร้ซึ่งความเปลี่ยนแปลง และหากเราอยากรู้ว่าผีบ้านผีเรือนยุคใหม่ได้ปรับเปลี่ยนลุคโฉมโนมพรรณกันไปอย่างไร ก็คงต้องสัมผัสผ่านภาพตัวละคร “ไรวินท์” ในละครโทรทัศน์เรื่อง “เจ้าบ้านเจ้าเรือน”    จับความตามท้องเรื่องของละคร เริ่มต้นจากนางเอก “แพรขาว” ที่สามี “พัสกร” ไปคว้าผู้หญิงอื่นมาเป็นอนุภรรยา เธอจึงตัดสินใจหอบ “ชมพู” ผู้เป็นลูกสาวมาเช่าบ้านริมน้ำเพื่ออยู่กันเพียงลำพังสองแม่ลูก และเป็นที่บ้านริมน้ำแห่งนี้เองที่วิญญาณเจ้าบ้านเจ้าเรือนของไรวินท์ ได้ออกมาปกป้องแพรขาวทั้งจากสามีและภยันตรายต่างๆ และก็เป็นที่นี่อีกเช่นกัน ที่แพรขาวได้เรียนรู้เรื่องราวในอดีตชาติว่า ทำไมไรวินท์จึงกลายมาเป็นเจ้าบ้านเจ้าเรือนติดอยู่ในเรือนริมน้ำหลังนั้น    ในอดีต ไรวินท์เป็นชายหนุ่มรูปงาม แต่มีบิดาที่เจ้าชู้และทิ้งมารดาของเขาไปอยู่กินกับภรรยาใหม่ แม้จะมีบทเรียนจากชีวิตคู่ของบิดามารดามาก่อน แต่ก็เข้าตำราที่ว่า “เกลียดสิ่งใดก็กลับเลือกเป็นสิ่งนั้น” เมื่อไรวินท์ตกลงตามใจมารดาโดยยอมแต่งงานกับ “สีนวล” เขากลับเลือกเจริญรอยตามประวัติศาสตร์ความผิดพลาดของบิดา อันเป็นปมปัญหาใหญ่ตามมาในภายหลัง    เพราะถูกจับคลุมถุงชน กับเพราะผู้หญิงอย่างสีนวลก็ไม่ใช่คนที่เขารัก ดังนั้นภายหลังแต่งงานกัน ไรวินท์จึงยังคงเลือกคบและมีความสัมพันธ์กับผู้หญิงอีกมากหน้าหลายตา ตั้งแต่สาวน้อยแรกรุ่นอย่าง “บัวน้อย” น้องสาวของเพื่อนรักอย่าง “รำไพ” หญิงสาวมีหน้ามีตาทางสังคมอย่าง “สุดสวาท” และผู้หญิงที่เขาหลงใหลหัวปักหัวปำยิ่งอย่าง “มาลาตี”     ชะตากรรมของสีนวลที่แม้จะเป็นเมียแต่งอยู่ในเรือนหลังงาม จึงไม่ต่างจากการตกอยู่ในบ่วงพันธนาการที่มีเสียงเพลง “จำเลยรัก” ก้องอยู่ในห้วงจิตใจตลอดเวลาว่า “เจ็บแค้นเคืองโกรธโทษฉันไย ฉันทำอะไรให้เธอเคืองขุ่น กักขังฉันเป็นจำเลยของคุณ นี่หรือพ่อนักบุญ แท้จริงคุณคือคนบาป...”     จนเมื่อลูกสาวของทั้งคู่จมน้ำเสียชีวิต ไรวินท์จึงสบโอกาสขอแยกทางกับสีนวล โดยยกเรือนหลังใหญ่และสมบัติทั้งหมดให้เธอครอบครอง จวบจนวาระสุดท้ายของสีนวลผู้ที่ภักดีแต่มีจิตใจแหลกสลาย เธอก็ได้แต่เอามีดกรีดข้างเสาเรือนเพื่อรอคอยเขาแบบนับวันนับคืน จนตรอมใจตายในที่สุด    ดังนั้น เมื่อไรวินท์ที่ชีวิตบั้นปลายถูกผู้หญิงที่เขาหลงใหลอย่างมาลาตีหลอกลวงจนสิ้นเนื้อประดาตัว ได้กลับมาที่เรือนงามหลังใหญ่อีกครั้ง เขาจึงเสียชีวิตลงโดยถูกพันธนาการไว้ด้วยแรงแค้นของวิญญาณสีนวล และกลายมาเป็นเจ้าบ้านเจ้าเรือนที่แพรขาวมาพำนักอาศัยอยู่นั่นเอง    ด้วยโครงเรื่องที่ดูซับซ้อนซ่อนปม แต่อีกด้านหนึ่ง ละครก็ได้ผูกเรื่องให้สะท้อนความเปลี่ยนแปลงในระบบความเชื่อเรื่องผีของคนไทยไว้อย่างน่าสนใจ ทั้งนี้ ตามจินตกรรมของคนไทย ผีบรรพบุรุษมักถูกรับรู้ว่ามีรูปลักษณ์เป็นชายแก่สูงวัย ปรากฏตัวในชุดไทยโบราณ นุ่งโจงกระเบนบ้างหรือก็อาจเป็นผ้าม่วง และสถิตอยู่ในศาลพระภูมิที่ผ่านกาลเวลายาวนานของบ้านแต่ละหลัง    แต่เพราะไรวินท์เป็นเจ้าบ้านเจ้าเรือนที่สืบต่อมาถึงยุคปี 2016 เยี่ยงนี้ เขาจึงเป็นผีเจ้าเรือนที่มีภาพลักษณ์เป็นชายหนุ่มรูปงาม ปรากฏร่างในชุดสูทสีขาวตลอดเวลา สถิตพำนักในศาลพระภูมิที่ดูโอ่อ่าหรูหรา ไปจนถึงมีกิจกรรมยามว่างที่คอยเล่นเปียโนขับกล่อมแพรขาวและคนในบ้านให้รู้สึกรื่นรมย์    แม้จะมีรูปลักษณ์ที่ทันสมัยมากขึ้นเช่นนี้ แต่ที่น่าสนใจยิ่งก็คือ ละครได้ทดลองสลับบทบาทและความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างหญิงชายให้กับตัวละครหลักของเรื่องไปด้วยในเวลาเดียวกัน    หากย้อนกลับไปดูเรื่องเล่าในนิทานพื้นบ้านอย่าง “โสนน้อยเรือนงาม” ที่ถูกนางกุลากักขังให้เป็นข้าทาสทอผ้าย้อมผ้าอยู่ในเรือนหลังงาม จนมาถึงนางเอก “โสรยา” ในละคร “จำเลยรัก” หรือ “ภัทรลดา” ในละคร “ทางผ่านกามเทพ” นั้น ตัวละครผู้หญิงมักถูกนำเสนอให้กลายเป็นผู้ถูกขูดรีดและถูกกระทำทั้งกายวาจาใจ และคอย “เชิญคุณ(ผู้ชาย)ลงทัณฑ์บัญชา จนสมอุราจนสาแก่ใจ...”    แต่สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างไรวินท์กับสีนวลแล้ว เมื่อทั้งคู่ได้สิ้นใจวายปราณลง อำนาจที่ผกผันทำให้ผีสีนวลได้พันธนาการวิญญาณของไรวินท์หนุ่มรูปงามได้กลายมาเป็นเจ้าบ้านเจ้าเรือน และทำให้เขาซาบซึ้งความรู้สึกของการถูกกักขังในเรือนริมน้ำ แบบที่ครั้งหนึ่งสีนวลเคยสัมผัสมาแล้วเมื่อยังมีชีวิตอยู่    ไม่เพียงเท่านั้น ในขณะที่ละครมอบหมายบทบาทให้แพรขาวต้องออกไปทำงานนอกบ้าน หรือเป็นผู้หารายได้ต่างๆ เข้ามาในครัวเรือน ผีเจ้าเรือนอย่างไรวินท์ก็ต้องปรับตัวและเรียนรู้ที่จะทำหน้าที่เลี้ยงเด็กและเป็นเพื่อนเล่นของลูกสาวแพรขาว อันเป็นพันธกิจที่เขาไม่เคยทำมาก่อน โดยมีวิญญาณของสีนวลคอยใช้อำนาจจับตามองและประเมินผลดูว่า พฤตินิสัยและการปฏิบัติตัวของอดีตสามีเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ อย่างไร    จนเมื่อผู้ชายอย่างไรวินท์เริ่มเข้าอกเข้าใจและค่อยๆ เปลี่ยนทัศนะจาก “คนบาป” มาเป็น “พ่อนักบุญ” แบบที่เขาได้กล่าวกับแพรขาวว่า “นี่เป็นครั้งแรกที่ฉันคิดถึงผู้อื่นมากกว่าตัวเอง ยอมสละตนอย่างถึงที่สุดเพื่อช่วยชีวิตผู้อื่นโดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทน” เมื่อนั้นวิญญาณของไรวินท์ก็ได้หลุดพ้นบ่วงกรรมและการถูกกักกันเอาไว้ในเรือนงาม    บนความสัมพันธ์ของหญิงชายในชีวิตจริงนั้น คงไม่ต้องรอกักขังบุรุษเพศให้เป็นผีเจ้าบ้านเจ้าเรือนแต่อย่างใด หากเพียงผู้ชายได้ตระหนักว่าผู้หญิงไม่ใช่ “โสนน้อยเรือนงาม” หรือ “จำเลยรัก” ที่อยู่ใต้อาณัติบงการแต่อย่างใด ความสัมพันธ์ที่เคียงคู่เท่าเทียมกันระหว่างผู้หญิงผู้ชาย ก็จะเกิดขึ้นได้ในเรือนหลังงามเช่นเดียวกัน                                

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 183 กำไลมาศ : ฉันก็รักของฉันเข้าใจบ้างไหม

    เมื่อราวช่วงต้นศตวรรษที่ 21 ในภาพยนตร์เลื่องชื่ออย่าง “เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์” ฮอลลีวูดเคยสร้างตัวละคร “สมีโกล” ที่ลุ่มหลงอำนาจของแหวน และพยายามจะตามหาเพื่อเป็นเจ้าของแหวนแห่งอำนาจ จนกระทั่งเกิดวลีอมตะที่สมีโกลมักพูดเสมอว่า “แหวนของข้า!!!”     สิบกว่าปีให้หลัง ในละครโทรทัศน์เรื่อง “กำไลมาศ” เราก็ได้เห็นภาพจำลองการทวงสิทธิและอำนาจคำรบใหม่ แต่ในครั้งนี้เป็นตัวละครผีนางรำอย่าง “ริ้วทอง” ที่รอคอยชายคนรัก และตามหากำไลทอง จนเป็นจุดเริ่มต้นของประโยคที่ผีตนนี้กล่าวว่า “กูขอสาบาน...ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ภพกี่ชาติ กูจะกลับมาเอากำไลและชีวิตของกูคืนจากมึง...”    การแย่งสิทธิและอำนาจเหนือกำไลครั้งนี้ ถูกเล่าผ่านเรื่องราวข้ามภพชาติที่ตัวละครซึ่งต่างมี “บ่วงกรรม” ร่วมกันจากชาติก่อน ต้องโคจรมาพบกันอีกครั้งในชาติภูมิปัจจุบัน    ในชาติก่อนนั้น ริ้วทองซึ่งเป็นนางรำลูกเจ้าของคณะหุ่นกระบอก เคยได้รับความช่วยเหลือจาก “ท่านชายดิเรก” เมื่อครั้งที่เธอถูกคนร้ายฉุดตัวไป และกลายเป็นจิตปฏิพัทธ์กันจนท่านชายได้ทำ “กำไลมาศ” มอบให้ริ้วทองเป็นตัวแทนความรักความผูกพันระหว่างคนทั้งสอง ด้วยคำกลอนที่ท่านชายเอ่ยให้ริ้วทองฟังว่า “กำไลมาศวงนี้พี่ให้น้อง แทนบ่วงคล้องใจรักสมัครหมาย...”    แต่เพราะครอบครัวของริ้วทองมีฐานะยากจน เธอและพ่อแม่จึงมีเหตุให้ต้องลี้ภัยโจรมาขอพึ่งใบบุญของ “เสด็จในกรมฯ” เจ้าของวังติณชาติ และยังเป็นบิดาของ “ท่านหญิงรัมภา” ซึ่งก็เป็นคู่หมั้นหมายกับท่านชายดิเรกนั่นเอง    และเมื่อทรัพยากรมีน้อย แต่ความปรารถนามีเกินกว่าปริมาณทรัพยากรนั้น หรือพูดในภาษานักเศรษฐศาสตร์ว่า เพราะอุปทานหรือซัพพลายมีผู้ชายเพียงคนเดียว แต่อุปสงค์หรือดีมานด์กลับมาจากความต้องการของทั้งริ้วทองและท่านหญิงรัมภา สงครามต่อสู้เพื่อช่วงชิงทรัพยากรบุรุษเพศคนเดียวกันจึงเกิดขึ้นกับสตรีทั้งสองคน    ในยกแรกนั้น เพราะริ้วทองต้องมาพึ่งชายคาอาศัยวังของท่านหญิงรัมภาอยู่ แม้จะถูกทารุณกรรมทั้งกาย วาจา และจิตใจ ริ้วทองจึงทนอยู่กับสภาวะจำยอมที่ทั้งถูกถากถาง เฆี่ยนตี และลงทัณฑ์ เพียงเพราะอำนาจที่เธอมีน้อยกว่าท่านหญิงผู้เป็นเจ้าของวังและมีศักดิ์ชั้นที่สูงกว่าในทุกๆ ทาง     แต่เพราะริ้วทองคือหญิงคนแรกที่พานพบสบรักกับท่านชายดิเรกมาก่อนท่านหญิงรัมภา ดังนั้น ลึกๆ แล้ว ริ้วทองจึงเชื่อว่า “ฉันก็รักของฉันเข้าใจบ้างไหม ฉันมีสิทธิ์จะรักไม่ผิดใช่ไหม” ในขณะเดียวกับที่กลุ่มชนชั้นนำอย่างท่านหญิงรัมภาและคนรอบข้างอย่าง “ท่านหญิงภรณี” “ท่านชายอรรถรัตน์” และสาวใช้อย่าง “เจิม” ยังพยายามวางแผน “มาทำลายความรักเรา” จนเป็นเหตุให้พ่อแม่ของริ้วทองต้องถึงแก่ความตาย ริ้วทองจึงเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่เธอต้องลุกขึ้นมาเรียกร้องความยุติธรรมจากตระกูลติณชาติให้ได้    ด้วยเหตุนี้ ภายหลังเมื่อท่านหญิงรัมภาได้ปรามาสริ้วทองว่า “เจ้าพี่ไม่ได้รักเธอ เขาก็แค่ลุ่มหลงที่เปลือกภายนอกของเธอเท่านั้น” ริ้วทองจึงไม่คำนึงถึงอำนาจศักดิ์ชั้นที่แตกต่างกันอีกต่อไป แล้วกล่าวโต้ตอบท่านหญิงสูงศักดิ์กลับไปว่า “แต่ถ้าเลือกได้ ท่านหญิงก็อยากจะให้ท่านชายลุ่มหลงที่เปลือกบ้าง ใช่หรือไม่ล่ะเพคะ”     การตอบโต้เพื่อทวงสิทธิพึงมีพึงได้ในครั้งนี้ ยังรวมไปถึงฉากที่ริ้วทองได้ตบหน้าเจิมซึ่งร่วมกับท่านหญิงรัมภากดขี่จิตใจผู้หญิงต่ำศักดิ์ชั้นอย่างเธอ และบอกกับสาวใช้ของท่านหญิงว่า “จำไว้...ถึงกูจะจน แต่กูก็เป็นคนเหมือนกัน” อันเป็นการสื่อความว่า มนุษย์ควรกระทำกับคนอื่นในฐานะของมนุษย์ไม่แตกต่างกัน    แม้จิตสำนึกที่เปลี่ยนไป จะทำให้ริ้วทองลุกขึ้นมาปฏิวัติตอบโต้ต่อกรเพื่อทวงสิทธิ์อันชอบธรรมในการครอบครองท่านชายดิเรก แต่ถึงที่สุดแล้ว ด้วยอำนาจที่น้อยกว่าท่านหญิง พร้อมๆ กับที่ผู้ชายคนเดียวกันนี้ก็ยังมีอุปสงค์จากตัวแทนของกลุ่มทุนใหม่อย่าง “ล้อมเพชร” เข้ามาร่วมแย่งชิงทรัพยากรครั้งนี้ด้วย ริ้วทองผู้ที่ไม่มีทุนใดๆ ติดตัวมาแต่กำเนิด จึงมีสถานะเป็นผู้ถูกกระทำจากตัวละครอื่นๆ ที่มีฐานานุภาพสูงกว่าเธอทั้งสิ้น     ภาพฉากเปิดเรื่องที่ริ้วทองถูกท่านหญิงรัมภาทำร้ายฟันแขนจนขาด และถูกฆ่าตายกลายเป็นผีนางรำที่โดนกักขังไว้ในบึงบัวของวังติณชาติ จึงเป็นภาพที่ให้คำอธิบายและความชอบธรรมว่า ทำไมผีนางรำตนนี้จึงเต็มไปด้วยความเคียดแค้น และรอวันเพื่อกลับมาทวงความยุติธรรมและสิทธิเหนือ “กำไลมาศ” อีกครั้งหนึ่ง     เมื่อมาถึงชาติภพใหม่ ด้วยเหตุปัจจัยของ “บ่วงกรรม” ที่พันธนาการให้ตัวละครทั้งหมดในเรื่องได้กลับมาพบกันใหม่อีกครั้ง พร้อมๆ กับที่ “อินทวงศ์” ได้ถูกลบเลือนไฟล์ความทรงจำที่เขาเป็นท่านชายดิเรกในชาติปางก่อน แถมยังกลับมาตกหลุมรักท่านหญิงรัมภาที่กลับมาเกิดใหม่เป็น “เกล้ามาศ” ในปัจจุบัน ริ้วทองที่ถูกขังไว้พร้อมกับความ “รักจนจะเป็นจนจะตาย” จึงรู้สึก “เหมือนโดนกรีดหัวใจเพราะเธอแย่งไปครอง” ความแค้นหรือความขัดแย้งที่ทับทวีในการช่วงชิงทรัพยากรแบบข้ามภพข้ามชาติจึงกลับมาปะทุอีกคำรบหนึ่ง    ทว่า โดยหลักของละครโทรทัศน์แล้ว แม้ช่วงต้นจะต้องเปิดฉากให้เห็นความขัดแย้งระหว่างตัวละครไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แต่ในท้ายที่สุด ละครก็ต้องหาทางคลี่คลายความขัดแย้งดังกล่าวนั้นลงไป    ด้วยเหตุฉะนี้ ละครจึงเลือกใช้วิธีรอมชอมด้วยการจัดสรรทรัพยากรกันเสียใหม่ให้ลงตัว โดยให้ริ้วทองยอมเชื่อในคำเทศนาของ “พระปราบ” และยอมรับการอโหสิกรรมที่เกล้ามาศและตัวละครต่างๆ มีให้แก่วิญญาณที่เคยถูกกักขังไว้อย่างเธอ     ภาพการอโหสิกรรมที่ตัวละครต่างมีให้กันและกันในฉากจบนั้น ก็คงไม่ต่างจากการบอกเป็นนัยกับคนดูว่า แม้ความขัดแย้งเรื่องการช่วงชิงทรัพยากรจะเกิดขึ้นมาได้ในสังคม แต่ความขัดแย้งนั้นก็คลี่คลายได้ในโลกจินตนาการ    แต่อย่างไรก็ดี ถ้าอโหสิกรรมเป็นคำตอบแบบที่ริ้วทองยอมลดละเลิกความแค้นที่สลักฝังอยู่ในวง “กำไลมาศ” ได้จริงๆ ในโลกของละครแล้ว คำถามที่ชวนให้น่าคิดต่อมาก็คือ ทำไมเราจึงยังคงเห็นภาพการต่อสู้เพื่อทวงสิทธิและความยุติธรรมของบรรดาคนที่มีอำนาจน้อยอยู่อย่างต่อเนื่องในโลกความจริง

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 182 ปดิวรัดา : ความหมายของภรรยาก่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ

มนุษย์ไม่เคยกำหนดความหมายของสิ่งใดๆ ไว้เพียงชุดเดียว แต่เรามักให้นิยามความหมายของสิ่งต่างๆ ไว้มากมายกว่าหนึ่งชุดนิยามเสมอ เพียงแต่ว่าเรามักจะมีข้อตกลงร่วมกันว่า ความหมายชุดใดจะกลายเป็นนิยามหลักที่คนทั่วไปในสังคมยอมรับ และข้อตกลงของนิยามดังกล่าว ก็จะมีผลมากำหนดความคิดและการกระทำของคนในสังคมนั้นในที่สุด เช่นเดียวกับนิยามของคำว่า “ภรรยา” หรือ “ความเป็นเมีย” นั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นผู้กำหนด และกำหนดความหมายของคำนี้ว่าอย่างไร ในท่ามกลางความเป็นจริงของภรรยาที่มากมายหลายประเภทนั้น ไม่ว่าจะเป็นภาพเมีย(หลวง)อย่าง “นพนภา” ในละครโทรทัศน์เรื่อง “แรงเงา” ที่ทั้งขี้หึงและระรานผู้หญิงคนอื่นของสามี จนถึงภาพของผู้หญิงขี้เมาอย่าง “ลำยอง” เมียที่ทอดทิ้งทั้งสามีและไม่สนใจดูแลลูกๆ เลย ในละครเรื่อง “ทองเนื้อเก้า” แต่ทว่า เมื่อไม่นานมานี้ เราก็ยังได้เห็นภาพที่ผิดแผกแตกต่าง แต่ถือเป็นอุดมคติของหญิงสาวแบบ “ริน ระพี” ภรรยาที่ดีแสนดีของ “ปลัดศรัณย์” แห่งละครเรื่อง “ปดิวรัดา” ละครเรื่องนี้เริ่มต้นจากเสียงพูดของนางเอกริน ระพี ที่ให้นิยามว่า “ปดิวรัดา หมายถึงภรรยาผู้ซื่อสัตย์และภักดีต่อสามี” โดยเปิดฉากย้อนยุคพีเรียดไปเมื่อปี พ.ศ. 2502 หรือสองปีก่อนที่สังคมไทยจะรู้จักกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 1 ซึ่งประกาศใช้ในปี พ.ศ. 2504 ที่ผู้ใหญ่ลีได้ตีกลองประชุมจนลือลั่น ในห้วงก่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯนั้น ริน ระพี ซึ่งมีฐานะเป็นลูกเลี้ยงของ “ท่านเจ้าคุณบำรุงประชากิจ” และ “เพ็ญแข” ตัดสินใจทดแทนบุญคุณของพ่อแม่บุญธรรม ด้วยการแต่งงานกับศรัณย์ชายหนุ่มที่เธอไม่เคยพบหน้าค่าตามาก่อน แถมเขายังเคยบอบช้ำกับความรักครั้งเก่ากับ “ดวงสวาท” ผู้หญิงที่ปฏิเสธเขา เพื่อไปแต่งงานกับ “คุณชายนริศ” เพียงเพราะชื่อเสียงเกียรติยศและความมุ่งหวังในทรัพย์สินเงินทองมากกว่า   แม้ลึกๆ รินจะหวั่นใจกับสภาพที่ต้องแต่งงานคลุมถุงชนกับศรัณย์ แต่เธอก็กล่าวกับบิดามารดาบุญธรรมว่า “ชีวิตที่นำด้วยอารมณ์ อารมณ์จะพาไปขึ้นสวรรค์ พาไปลงนรก เป็นได้ทั้งสองทาง แต่ชีวิตที่นำด้วยหน้าที่ หน้าที่ความรับผิดชอบจะพาไปทิศทางเดียว คือพาไปสู่สิ่งที่ดีงาม...หน้าที่ของเด็กที่แม่เอามาทิ้งอย่างรินมีเพียงอย่างเดียวคือ ตอบแทนพระคุณท่านทั้งสอง” ด้วยยึดมั่นที่จะทำ “หน้าที่” และมี “ความรับผิดชอบ” ในฐานะภรรยาที่ดี รินจึงเก็บกระเป๋าไปเป็นคุณนายปลัดในจังหวัดทางภาคใต้ และยอมที่จะเผชิญบททดสอบมากมายที่เธอไม่เคยพานพบมาก่อนในชีวิต สำหรับบททดสอบแรกสุดนั้น ก็คือสามีอย่างศรัณย์ที่คอยกลั่นแกล้งริน เพราะรู้ความจริงว่าเธอแอบสวมรอยมาเป็นบุตรีแท้ๆ ของท่านเจ้าคุณบำรุงประชากิจ เพื่อคลุมถุงชนแต่งงานกับเขา ศรัณย์จึงหมางเมิน และกระทำต่อเธอประหนึ่งเป็นอากาศธาตุที่ไม่มีตัวตนอยู่ในบ้านแต่อย่างใด แต่เพราะยึดหลักที่ว่า “เป็นเมียเราต้องอดทน” ประหนึ่งนางสีดาที่เดินลุยไฟพิสูจน์คุณงามความดีของตน รินจึงยืนหยัดที่จะลุยไฟพิสูจน์คุณงามความดีแห่งความเป็นศรีภรรยาไม่แตกต่างกัน เพราะ “หน้าที่” เป็นหัวใจหลักของความเป็นภรรยา รินจึงทำหน้าที่ดูแลบ้านเรือนให้เรียบร้อยไร้ที่ติ สำรับอาหารคาวหวานและฝีมือทำน้ำพริกลงเรือก็ปรุงได้รสเลิศถูกปาก และเสื้อผ้าของสามีก็ถูกซักรีดอบร่ำน้ำปรุงจนหอมกรุ่นชื่นใจ ความเป็นเบญจกัลยาณีและเสน่ห์ปลายจวักของเธอค่อยๆ มัดใจศรัณย์จนเริ่มคลายความเย็นชา กลับกลายมาเป็นความรู้สึกพึงใจกับผู้หญิงที่เขาเคยตั้งแง่เอาไว้ตั้งแต่แรก นอกจากบททดสอบจากปลัดหนุ่มผู้เป็นสามีแล้ว รินยังต้องปรับตัวให้เข้ากับดินแดนชนบท ที่ในยุคก่อนแผนพัฒนาฯนั้นช่างเต็มไปด้วยภยันตราย เพราะมีกลุ่มโจร “เสือขาว” ออกอาละวาดปล้นสะดมทรัพย์สินชาวบ้าน แต่ที่เหนือไปกว่ากลุ่มโจรนั้น รินก็ยังต้องถูกทดสอบความอดทนจากดวงสวาท หญิงคนรักเก่าที่ย้อนกลับมาขอคืนดีกับปลัดศรัณย์อีกครั้งหนึ่งด้วย แต่กระนั้น ด้วยธีมหลักของละครที่ยืนยันอยู่ตลอดว่า “ภรรยาที่ดีย่อมตกน้ำไม่ไหลตกไฟไม่ไหม้” การทำหน้าที่เป็น “ภรรยาที่ซื่อสัตย์และภักดี” และยืนเคียงข้างสามีอย่างไม่กลัวอันตรายใดๆ ก็ได้รับการพิสูจน์และกลายเป็น “รางวัลแด่คนช่างฝัน” ที่เป็นสุขของรินในตอนจบเรื่อง และในขณะเดียวกัน เป็นเพราะนิยามของ “ภรรยา” อาจไม่ได้มีแค่คำนิยามว่าเป็นผู้ที่ซื่อสัตย์และภักดีต่อสามีเท่านั้น ละครจึงได้สร้างภาพภรรยาในแบบอื่นๆ อีกสามคนขึ้นมาเทียบเคียงกับตัวละครอย่างริน ดวงสวาทเป็นภาพเมียแบบแรก ที่แม้จะแต่งงานออกเรือนไปกับคุณชายนริศ แต่เพราะไม่ซื่อสัตย์ต่อสามี บทลงโทษของเธอก็คือชีวิตที่ตกต่ำลง และการตัดสินใจฆ่าตัวตายของสามีที่ยอมรับสภาพความล้มเหลวในชีวิตคู่ของเขาไม่ได้ ส่วนภรรยาแบบที่สองก็คือ “บราลี” ที่ไม่ใช่ความภักดี แต่เป็นความลุ่มหลงสามีอย่าง “พณิช” ที่แม้จะคอร์รัปชั่นโกงกิน เธอเองกลับมิได้ห้ามปรามขัดขวางเขา จนถูกสามีทอดทิ้งไปในตอนท้ายที่สุดของเรื่อง หรือภรรยาแบบที่สามก็คือ “นิ่ม” ที่เลือกเป็นเมียโจรอย่าง “เสือบาง” ก็ภักดีต่อผัวจนยอมทรยศพ่อแม่และทุกๆ คน และท้ายสุดก็ต้องตายตกไปตามกันกับผัวโจรของตน บทลงโทษเชิงสัญลักษณ์ที่มีต่อดวงสวาท บราลี และนิ่ม ก็ไม่ต่างจากการขับเน้นให้เห็นว่า ในท่ามกลางภาพของเมียหลายๆ แบบในสังคมไทยยุคก่อนก้าวสู่ความทันสมัย แต่ความหมายของเมียที่เปรียบเป็น “เพชรงามน้ำหนึ่ง” ซึ่งสังคมยอมรับ ก็ยังต้องเป็นเฉพาะภรรยาที่ซื่อสัตย์ ภักดี และส่งเสริมให้ชีวิตสามีดำเนินไปในทางที่ดีงามเท่านั้น จากโลกสัญลักษณ์ของละคร เมื่อย้อนกลับมามองดูรอบตัวในปัจจุบัน ภายใต้กระแสที่ผู้หญิงไทยจำนวนมากได้ออกไปก้าวหน้าโลดแล่นในโลกกว้างเกินกว่าแค่ในปริมณฑลของบ้านและชีวิตครอบครัว แต่ความหมายของ “ปดิวรัดา” แบบริน ระพี ก็ยังถูกผูกเอาไว้กับ “หน้าที่” ของอิตถีเพศที่ต้อง “ซื่อสัตย์และภักดีต่อสามี” ซึ่งเผลอๆ อาจจะไม่ใช่นิยามชุดแรกๆ ที่ภรรยายุคนี้จะบอกกับตนเองเท่าใดนัก คำถามที่น่าสงสัยยิ่งก็คือ แล้วเหตุไฉนโลกสัญลักษณ์จึงยังเลือกเก็บภาพอุดมคติของภรรยาก่อนแผนฯ มาเป็นกระจกสะท้อนให้ผู้หญิงหลังแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯได้เสพและชื่นชมกันเยี่ยงนี้หนอ?

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 181 อตีตา : ประวัติศาสตร์ชาตินิยมในประชาคมอาเซียน

“ประวัติศาสตร์” คืออะไร สำคัญอย่างไร และทำไมตั้งแต่เรายังเด็ก จึงถูกโรงเรียนบังคับให้ศึกษาเล่าเรียนวิชาประวัติศาสตร์กันด้วย     นิยามของประวัติศาสตร์นั้น ดูจะตั้งอยู่บนทางสองแพร่งของความหมาย โดยในทางแพร่งแรกได้แก่นิยามของกลุ่มนักคิดที่เชื่อว่า ประวัติศาสตร์คือความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในอดีต และเพราะอดีตนั้นมีอยู่จริงๆ หน้าที่ของนักประวัติศาสตร์จึงเป็นการขุดค้นให้เห็นว่า ข้อเท็จจริงและการใช้ชีวิตของผู้คนในอดีตเป็นเยี่ยงไร     ส่วนในทางอีกแพร่งหนึ่งนั้น กลับอธิบายว่า ประวัติศาสตร์เป็นบทสนทนาระหว่าง “คนในปัจจุบัน” กับ “เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต” หรือกล่าวแบบชิคๆ กิ๊บเก๋ว่า ประวัติศาสตร์มีสถานะเป็นเพียงเรื่องเล่าที่ “based on a true story” เท่านั้น     และเพราะประวัติศาสตร์เป็นเรื่องเล่าที่มีเค้าจากเรื่องจริง ข้อเท็จจริงจากอดีตจึงอาจจะมีอยู่บ้างในระดับหนึ่ง (หรือในบางครั้งก็อาจไม่มีข้อเท็จจริงบ้างเลยด้วยซ้ำ!!!) และนักประวัติศาสตร์ก็คือผู้ที่สร้างเรื่องเล่าที่คนปัจจุบันกำลังสนทนา รับรู้ และตีความเพื่อบอกเล่าเก้าสิบถึงเหตุการณ์ในอดีตสู่บุคคลอื่น     ทัศนะต่อประวัติศาสตร์แบบทางแพร่งที่สองนี้เอง ที่ดูจะเหมาะกับการทำความเข้าใจบรรดาเรื่องแต่งที่ “based on a true story” อย่างละครพีเรียดและละครแนวอิงประวัติศาสตร์ อันหมายรวมถึงละครโทรทัศน์เรื่อง “อตีตา” ที่ฝ่ากระแสประชาคมอาเซียนด้วยการย้อนภาพสงครามไทยกับประเทศเพื่อนบ้านในช่วงศึกคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง     ภายใต้นิยามที่ว่า ประวัติศาสตร์คือบทสนทนาที่คนปัจจุบันมีต่ออดีตของตนเอง ละคร “อตีตา” จึงวางพล็อตเรื่องให้เกิดการซ้อนทับในมิติของเวลาระหว่างอดีตกาลกับปัจจุบันกาล โดยให้ตัวละครในอดีตได้มาสัมผัสชีวิตที่ผันเปลี่ยนไปของผู้คนในปัจจุบัน และให้ตัวละครอนุชนยุคปัจจุบันได้ย้อนกลับไปสัมผัสบทเรียนชีวิตของบรรพชนรุ่นก่อน     หากลึกๆ แล้วมนุษย์เชื่อว่า จังหวะเวลาของอดีตกับปัจจุบันจะมีวงโคจรมาบรรจบกันได้ “เมืองใจ” หนึ่งในวีรชนบ้านบางระจันในยุคกรุงศรีอยุธยา ก็ได้ก้าวผ่านมิติของเวลา 200 กว่าปีมาสู่ห้วงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ และเพราะมีมิสชั่น (ที่ดูจะอิมพอสสิเบิ้ล) ในการตามหาปืนใหญ่เพื่อไปใช้รบกับ “ข้าศึก” ทำให้เมืองใจมีเหตุบังเอิญทะลุมิติเวลา จนมาพบกับ “ศิโรตม์” หนุ่มหัวสมัยใหม่ทายาทเจ้าของบริษัทออร์แกไนเซอร์ใหญ่ของเมืองไทย     แม้จะก้าวข้ามเวลามาสู่ยุคกาลสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป แต่สำหรับเมืองใจแล้ว ความทันสมัยสะดวกสบายนั้นไม่อาจยั่วยวนล่อใจให้เขาดื่มด่ำหลงใหลไปได้ เหมือนกับที่เมืองใจเคยกล่าวว่า “เมืองสวรรค์ อะไรก็ดี อยู่สบาย จะกินก็ไม่ต้องออกไปหว่านไถเอง เสกมาได้ทั้งนั้น ผู้คนก็หามีใครเป็นศัตรูกันไม่ หากใจข้า กลับหาความสุขมิได้เลย...”     เพราะความสะดวกสบายทันสมัยไม่อาจแทนที่จิตสำนึกรักชาติยิ่งชีพของชาวบ้านบางระจันได้เลย เมืองใจจึงยังคงเพียรปฏิบัติการตามล่าหาปืนใหญ่ เพื่อเอาไปกอบกู้บ้านเมืองและรบทานข้าศึกศัตรู     และเพราะประวัติศาสตร์เป็นบทสนทนาระหว่างกันของอดีตกับปัจจุบัน เมื่อเมืองใจก้าวข้ามประตูกาลเวลามาด้วยสำนึกรักชาติยิ่งชีพ อีกด้านหนึ่งละครก็ผูกเรื่องให้ศิโรตม์ต้องมีอันหลุดทะลุมิติเวลา กลับไปสู่ช่วงปลายกรุงศรีอยุธยายุคสมัยเดียวกับที่เมืองใจและวีรชนบ้านบางระจันกรำศึกสงครามอยู่     อาจด้วยเพราะต้องการโหนกระแสที่รัฐร่วมสมัยชวนคนไทยร้องเพลงว่า “บ้านเมืองจะเดินต่อไป จะมีหวังได้เพราะสามัคคี” สายตาที่ศิโรตม์สัมผัสภาพวีรกรรมของตัวละครต่างๆ ในอดีต ไม่ว่าจะเป็นเมืองใจ หรือขุนพลผู้นำศึกบ้านบางระจันทั้งหลาย ไปจนถึง “จันกะพ้อ” และ “กาหลง” สองสาวพี่น้อง ที่ทุกคนต่างฮึกเหิมด้วยความรักชาติ ทำให้คนยุคปัจจุบันอย่างศิโรตม์สามารถหลอมหล่อสำนึกความรักชาติของตนเข้ากับวีรชนบ้านบางระจันได้ในที่สุด     แม้ว่าศิโรตม์ (รวมทั้งคนปัจจุบันทั่วไปที่เรียนวิชาประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยากันมาตั้งแต่เด็ก) จะรับรู้บทสรุปสุดท้ายของศึกบางระจันว่า จบลงด้วยโศกนาฏกรรมและการเสียสละชีวิตเพื่อรักษาอธิปไตยแห่งสยามประเทศ แต่ฉากจบแบบนี้ก็คือ การขีดเส้นใต้ย้ำเตือนให้คนยุคนี้ตระหนักในสำนึกชาตินิยมที่ละครนำเสนอสืบเนื่องให้เห็นตั้งแต่ยุคบรรพชน     แต่ที่น่าสนเท่ห์ใจยิ่งเห็นจะเป็นว่า เพราะประวัติศาสตร์เป็นเรื่องที่ “based on a true story” ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น คำถามก็คือ “a true story” ที่ประวัติศาสตร์แบบ “อตีตา” เขียนขึ้นมาหรือ “based on” นั้น เป็นมุมมองจากสายตาแบบใด     ในกรณีนี้ หากเป็นประวัติศาสตร์ที่ผ่านสายตาแบบ “ชาตินิยม” ที่ถ่ายทอดผ่านตัวละครเมืองใจ มาสู่คนร่วมสมัยแบบศิโรตม์ คำว่า “ชาติ” หรือ “ความรักชาติ” เยี่ยงนี้ จึงเป็นรูปธรรมที่ชี้ให้เห็นว่า ผู้สร้างประวัติศาสตร์ชาตินิยมก็น่าจะมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจการเมืองบางอย่างกำหนดอยู่เบื้องหลัง     และที่แน่ๆ การสร้างชาติหรือเขียนประวัติศาสตร์ชาตินิยมแบบที่สังคมไทยทำกันอยู่เนืองๆ ก็มักจะใช้การแบ่ง “เรา” และ “เขา” ออกจากกัน ไปจนถึงการสร้าง “เขา” ให้เป็นตัวละครศัตรูร่วมของ “เรา” ขึ้นมา เพื่อให้สำนึกของ “เรา” มีความเป็นปึกแผ่นมั่นคงหนึ่งเดียวไปโดยปริยาย     ภายใต้ประวัติศาสตร์ชาตินิยมเช่นนี้ บทสนทนากับอดีตของศิโรตม์กับคนทั่วไป จึงเลือกย้อนกลับไปยังช่วงสงครามกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีตะเข็บชายแดนติดกับเมืองไทย และกลายเป็นเรื่องเล่าที่สืบต่อกันมาซ้ำแล้วซ้ำเล่าแม้แต่กับยุคกระแสอาเซียนภิวัตน์ ที่ไปที่ไหนหรือทำอะไร ใครๆ ก็ต้องกล่าวขานกันถึงแต่การรวมตัวของชาติต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียนให้เป็นหนึ่งเดียว แต่ทว่าประวัติศาสตร์ชาตินิยมแบบ “อตีตา” และตัวละครเมืองใจกับศิโรตม์ก็มิได้เลือนหายไปเลย     หลังศึกบางระจันจบลงด้วยชีวิตและเลือดเนื้อของหลากหลายตัวละคร คำถามที่ชวนสงสัยก็คือ แล้ววิสัยทัศน์อาเซียนแบบ “One Vision, One Identity, One Community” กับสำนึกลึกๆ ที่ยังคงแบ่ง “เรา” และ “เขา” ในประวัติศาสตร์ชาตินิยม จะหาจุดลงตัวมาบรรจบลงได้ ณ ตำแหน่งแห่งที่แบบใดกันหนอ         

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 180 ตามรักคืนใจ : ใต้ต้นไม้ที่ไม่มีร่มเงา กิ่งก้านมันไม่ได้สูงสักเท่าไร

ว่ากันว่า หากคนกลุ่มใดขึ้นมามีอำนาจเป็นชนชั้นนำ และมีพลังขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจสังคมแห่งยุคสมัยด้วยแล้ว พื้นที่ของละครโทรทัศน์จะกลายเป็นช่องทางสำคัญที่ทบทวนความเป็นอยู่และความเป็นไปของคนกลุ่มนี้ ก่อนที่จะฉายเป็นภาพผ่านหน้าจอทีวีช่วงไพรม์ไทม์     ด้วยคำอธิบายข้างต้นนี้ ก็ไม่ต่างจากภาพที่ส่องให้เราได้สำรวจตรวจสอบความเป็นจริงในชีวิตของกลุ่มทุนที่เป็นคนชั้นกลางกลุ่มหนึ่งผ่านละครโทรทัศน์เรื่อง “ตามรักคืนใจ” นั่นเอง     โดยโครงของเรื่องละคร ได้ฉายภาพชีวิตของ “นายวรรณ วรรณพาณิชย์” ประธานธนาคารอันดับต้นๆ ของประเทศ แม้นายวรรณจะประสบความสำเร็จในการสั่งสมทุนเศรษฐกิจจนมีฐานะมั่งคั่งเป็นที่ยอมรับของคนทั่วไป แต่กับชีวิตครอบครัวแล้ว นายวรรณ (หรืออาจจะอนุมานได้ถึงคนชั้นนำทางเศรษฐกิจคนอื่นๆ ในโลกจริง) กลับล้มเหลวโดยสิ้นเชิง     นอกจากนายวรรณแล้ว ละครยังได้จำลองภาพตัวละครอีกสองเจนเนอเรชั่นถัดมาคือ รุ่นลูกและรุ่นหลานของท่านประธานธนาคารใหญ่ด้วยเช่นกัน     ในขณะที่นายวรรณมีเป้าหมายและความมุ่งมั่นสร้างสมทุนเศรษฐกิจ เพราะคิดว่าความมั่นคงทางการเงินและธุรกิจเท่านั้นคือคำตอบของชีวิต แต่ทว่า ผลิตผลของความมุ่งมั่นดังกล่าวกลับกลายเป็นบุตรสาวอย่าง “รัศมี” ที่ไม่เพียงถูกเลี้ยงมาอยู่ในกรอบ แต่กลับเติบโตขึ้นด้วยจิตใจที่แห้งแล้งต่อคนรอบข้างและโลกรอบตัว     เมื่อยังสาว รัศมีได้พบรักกับ “ราม” และความรักของทั้งคู่ก็สุกงอมอย่างรวดเร็วท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของคนในตระกูลวรรณพาณิชย์ เพราะด้านหนึ่งนายวรรณก็เดียดฉันท์รามที่เป็นแค่หนุ่มชาวสวนธรรมดา ซึ่งฐานะไม่อาจเทียบเคียงความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจกับลูกสาวของนายธนาคารใหญ่อย่างเขาได้เลย     แม้ในช่วงแรกที่รัศมีตัดสินใจหนีออกจากบ้านไปอยู่กับราม เธอจะมีความสุขกับชีวิตคู่ และมีลูกสาวด้วยกันคือ “นารา” หรือ “หนูนา” แต่เพราะจริงๆ แล้ว เธอก็ไม่คุ้นเคยกับชีวิตลำบากแบบชาวสวน รัศมีจึงทิ้งรามและบ้านสวน โดยพรากหนูนาไปจากราม และบอกกับลูกสาวว่าบิดาของเธอได้ตายจากไปแล้ว     ภาพที่ถูกฉายออกมาในตอนต้นเรื่องดังกล่าว ก็คือการบอกผู้ชมเป็นนัยๆ ว่า เมื่อกลุ่มทุนเรืองอำนาจทางเศรษฐกิจขึ้นมา คนกลุ่มนี้ได้ละเลยและถีบตัวเองออกจากสถาบันที่เคยเป็นแรงเกาะเกี่ยวบางอย่างในชีวิตเอาไว้ด้วยเช่นกัน     หากสถาบันครอบครัวคือหน่วยเล็กที่สุด แต่มีความสำคัญที่สุดในสังคม คนกลุ่มดังกล่าวก็ได้ผลักให้สถาบันครอบครัวเปราะบางและอ่อนแอลง จนเข้าอยู่ในสภาวะความเสี่ยง เหมือนกับที่นายวรรณเองก็ได้สารภาพกับรัศมีในตอนท้ายเรื่องว่า “พ่อผิดเองที่เคยเห็นว่าการหาเงินทองมาให้ มันสำคัญกว่าการให้ความรักความเอาใจใส่ แล้วพอแกผิดพลาดไป พ่อก็ทำร้ายแก เพราะไม่อยากจะเห็นแกทำผิดพลาด แล้วต้องตกนรกทั้งเป็นอีก...”     เช่นเดียวกัน หากชุมชนชนบทคือรากที่ยึดเหนี่ยวสังคมไทยโดยรวมเอาไว้ วิถีชีวิตที่เติบโตมาในเมืองใหญ่ และยึดการสั่งสมความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจเป็นสรณะ คนกลุ่มเดียวกันนี้ก็ได้ทอดทิ้งชนบทและชุมชนหมู่บ้าน ไม่ต่างจากอารมณ์ความรู้สึกที่นายวรรณตั้งแง่กับลูกเขยชาวสวนอย่างราม หรือรัศมีที่ลึกๆ ก็รังเกียจสถานะความเป็นภรรยาชาวไร่ชาวสวนที่จารึกอยู่ในเสี้ยวประวัติศาสตร์ชีวิตของเธอ     ดังนั้น เมื่อมาถึงรุ่นของหลานสาวนายวรรณ หนูนาผู้ที่เติบโตมาโดยไร้รากยึดเกี่ยว จึงมีสภาพไม่ต่างจากชีวิตที่อยู่ “ใต้ต้นไม้ที่ไม่มีร่มเงา กิ่งก้านมันไม่ได้สูงสักเท่าไร” หนูนาจึงเกิดความโหยหาและปรารถนาที่จะ “ตามรักคืนใจ” และตามรากที่หายไปให้กลับคืนสู่ชีวิตที่แห้งแล้งของเธอ     หลังจากที่หนูนารู้ความจริงว่าบิดายังไม่ตาย เธอก็ต้องการทราบเหตุผลว่าทำไมพ่อจึงทอดทิ้งตนและแม่ไป หนูนาจึงเดินทางมาที่ไร่บัวขาวของ “สีหนาท” หรือ “นายสิงห์” พระเอกของเรื่อง และสมัครเป็นคนงานของเขา เพื่อที่จะได้ใกล้ชิดกับรามซึ่งทำงานอยู่ในไร่เดียวกัน     แต่ทว่า เมื่อเติบโตมาในสังคมไร้รากหรือเป็น “ใต้ร่มไม้ที่ไร้ร่มเงา” หนูนาจึงเผชิญบททดสอบต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการต้องพยายามปรับตัวเข้ากับบรรยากาศวิถีการผลิตแบบเกษตรซึ่งไม่คุ้นเคยมาก่อน การได้เรียนรู้ชีวิตของบรรดาคนงานและความขัดแย้งอันต่างไปในสังคมชนบทที่เธอไม่เคยพบมาในสังคมเมืองใหญ่ ตลอดจนการพยายามประสานรอยร้าวในครอบครัวระหว่างพ่อ แม่ และคุณตา     แก้วที่มีรอยร้าว หรือสังคมที่เคยไร้ร่มเงา ใช่ว่าจะเยียวยาไม่ได้ เมื่อผ่านบททดสอบมากมาย คนชั้นกลางอย่างหนูนาที่เติบโตมาในบรรยากาศการมุ่งมั่นสั่งสมทุนทางเศรษฐกิจเป็นเป้าหมายชีวิต ก็สามารถ “ตามรักคืนใจ” และกอบกู้สายสัมพันธ์ที่เคยเปราะบางและขาดสะบั้นไปแล้วจากชีวิตและจิตใจของตัวละครต่างๆ ในท้องเรื่องได้เกือบทั้งหมด     ในขณะที่หนูนาได้ตกหลุมรักกับนายสิงห์ ได้บิดาที่พลัดพรากจากกันกลับคืนมา และได้รักษาบาดแผลความไม่เข้าใจระหว่างแม่กับคุณตา รัศมีเองก็ได้เรียนรู้ที่เห็นคุณค่าของครอบครัว และรู้จักที่จะไปคิดและยืนอยู่ในที่ที่คนอื่นเขาคิดและยืนอยู่กัน     และแม้แต่ตัวละครอย่างนายวรรณ ก็ได้ทบทวนบทเรียนความผิดพลาด และได้คำตอบในมุมมองใหม่ของชีวิตว่า “ความมั่นคงภายนอก” อย่างทรัพย์สินศฤงคารมากมาย อาจไม่ใช่เป้าหมายสูงสุดของชีวิต เมื่อเทียบกับ “ความมั่นคงทางใจ” ซึ่งหมายถึงความรักและความเอาใจใส่ระหว่างกันและกันของคนในครอบครัวหรือของเพื่อนมนุษย์มากกว่า     ภายใต้สังคมที่กำลังไร้รากไร้กิ่งไร้ก้านและไร้ร่มเงาแบบนี้ ถ้าเรายังพอเหลือตัวเลือกอยู่บ้างระหว่าง “ความมั่นคงภายนอก” กับ “ความมั่นคงทางใจ” ภาพที่ละครฉายให้เราเห็นผ่านคนสามเจนเนอเรชั่นของตระกูลวรรณพาณิชย์ก็คงถามพวกเราเช่นกันว่า วันนี้เราจะเลือกสร้างความมั่นคงแบบใด เพื่อที่อนุชนรุ่นหลังๆ จะได้ไม่ต้องคอยวิ่ง “ตามรัก” กลับมา “คืนใจ” ในวันหน้ากันอีก                            

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 179 สะใภ้จ้าว : ผู้หญิงอ่านหนังสือ เพื่อรื้อสร้างประวัติศาสตร์ของตน

มนุษย์เราเปลี่ยนแปลงหน้าประวัติศาสตร์ของตนได้หรือไม่?     นักคิดหลายคนที่เชื่อในพลังสองมือมนุษย์ต่างเห็นพ้องต้องกันว่า การเปลี่ยนแปลงหน้าประวัติศาสตร์ของมนุษย์นั้นเป็นไปได้ แต่มิใช่เป็นไปตามยถากรรม หากแต่ต้องมี “ตัวกลาง” หรือปัจจัยบางอย่างที่จะผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวขึ้นมา     และหากมนุษย์ที่ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าประวัติศาสตร์ชีวิตของตนเอง เกิดเป็น “มนุษย์ผู้หญิง” ด้วยแล้ว แม้จะเป็นเรื่องที่ยาก แต่ผู้หญิงก็สามารถขีดแต่งแปลงหน้าประวัติศาสตร์ของตนเองได้ แต่ก็ต้องมี “ตัวกลาง” ที่เป็นตัวแปรเอื้ออำนวยด้วยเช่นกัน     ประจักษ์พยานต่อข้อคำถามนี้ เห็นได้จากปมเรื่องหลักที่สองสาวพี่น้องตระกูลบ้านราชดำริอย่าง “ศรีจิตรา” กับ “สาลิน” ได้ถูกผูกโยงให้ต้องคลุมถุงชนเพื่อเป็น “สะใภ้จ้าว” ของ “คุณชายรอง” หรือ “ม.ร.ว.กิติราชนรินทร์” และ “คุณชายเล็ก” หรือ “ม.ร.ว.บดินทราชทรงพล” ตามลำดับ     เรื่องราวของละครเริ่มต้นจาก “สอางค์” และ “สร้อย” ผู้มีศักดิ์เป็นป้าของสองสาว พยายามผลักดันให้ศรีจิตราถูกคลุมถุงชนร่วมหอลงโรงกับ “คุณชายโต” หรือ “ม.ร.ว.ดิเรกราชวิทย์” แต่ทว่าคุณชายโตกลับรักใคร่ชอบพอและตกแต่งมีลูกกับ “จรวย” เมียบ่าวในวังวุฒิเวสน์แทน     เมื่อเป็นหม้ายขันหมากพลาดหวังจากคุณชายโต ศรีจิตราก็ถูกจับคู่ครั้งใหม่ให้กับคุณชายรอง ผู้ที่อีกด้านหนึ่งก็เพิ่งจะผิดหวังความรักจาก “หญิงก้อย ม.ร.ว.เทพีเพ็ญแสง” ซึ่งเลือกหนีแต่งงานไปอยู่ต่างประเทศกับ “อัศนีย์” มหาเศรษฐีผู้มั่งคั่งและร่ำรวยกว่า     แม้ในยุคหนึ่งนั้น การคลุมถุงชนจะถูกใช้อธิบายถึงการประสานประโยชน์และความเหมาะสมลงตัวในความสัมพันธ์ของบ่าวสาว แต่นั่นกลับไม่ใช่ชุดคำอธิบายเดียวกับที่สาลินนิยามเอาไว้ เพราะสาลินเห็นว่าการที่พี่สาวถูกโยนกลิ้งไปมาเป็นลูกบอลเพื่อจับคู่กับคนโน้นทีคนนี้ที ก็คือการที่สังคมพยายามเข้าไปกำหนดชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่ง โดยที่ผู้หญิงคนนั้นไม่อาจมีปากเสียงหรือต่อสู้ได้แต่อย่างใด     เพราะสาลินเกิดในครอบครัวบ้านสวนที่บ่มเพาะให้เธอรักการอ่านหนังสือตั้งแต่เด็ก และโตขึ้นเธอก็ได้มาทำงานเป็นบรรณารักษ์ของห้องสมุดประชาชนอีก สาลินจึงเรียนรู้ว่า นางเอกในนวนิยายก็ไม่จำเป็นต้องลงเอยกับคู่หมายที่สังคมกำหนดหรือเชื่อว่าเหมาะสมเสมอไป นางเอกก็มีสิทธิและอำนาจที่จะเป็นผู้ “เลือก” หรือ “มีโอกาสเลือก” ในชีวิตได้เช่นกัน     ดังนั้น เมื่อพี่สาวต้องถูกบังคับให้แต่งงานครั้งแล้วครั้งเล่ากับผู้ชายที่ไม่เคยรู้จักมักจี่กันมาก่อน (แม้จะเป็นคุณชายก็เถิด) จนมาถึงคู่หมายคนล่าสุดที่เป็นคุณชายรอง (หรือที่เธอเรียกเขาแบบกระแนะกระแหนว่า “คุณชายชื่อยาว”) การคลุมถุงชนที่มีอีกด้านของเหรียญเป็นเสมือนการบังคับขืนใจผู้หญิงอย่างศรีจิตราให้จำยอม จึงเป็นสิ่งที่สาลินมิอาจรับได้เลย     ด้วยเหตุนี้ สาลินจึงขัดขวางการแต่งงานนี้ในทุกๆ ทาง และพยายามที่จะส่งเสริมให้คุณชายรองกลับไปคืนดีกับหญิงก้อย ด้วยหวังจะให้พี่สาวหลุดพ้นจากพันธการแห่งการคลุมถุงชนโดยไม่ยินยอม     แต่ก็เหมือนกับที่คำโบราณกล่าวไว้ว่า “เนื้อคู่กันแล้วก็คงไม่แคล้วกันไปได้” ถ้าสาลินถูกฟ้ากำหนดมาแล้วให้ต้องลงเอยกับคุณชายรอง จากที่เคยคิดว่าเขาเป็นพวกเจ้าชู้ไก่แจ้ หรือจากที่เคยเป็นพ่อแง่แม่งอนในยกแรกๆ ของความสัมพันธ์ สาลินก็เริ่มเรียนรู้และเข้าใจคำพูดของ “เสด็จพระองค์หญิง” ว่า “เวลาอ่านหนังสือ อย่าดูแต่เพียงหน้าปก” เพราะเนื้อในของคนก็เหมือนกับหนังสือที่ต้องใช้เวลาศึกษาเรียนรู้ทีละหน้าตั้งแต่ต้นจนกว่าจะอ่านจบเล่ม     ส่วนกรณีของศรีจิตรานั้น แม้เธอจะเป็นผู้หญิงเงียบๆ ที่ดูแล้วเหมือนจะไม่มีปากเสียงและยอมจำนนอยู่ใต้อาณัติความเป็นไปของสังคม แต่แท้จริงแล้ว ศรีจิตราก็ใช่ว่าจะไม่รู้สึกรู้ร้อนรู้หนาวกับการคลุมถุงชนแต่ละครั้งในชีวิตของเธอ     ดังนั้น เมื่อศรีจิตราค้นพบหัวใจของตัวเองแล้วว่า ถึงแม้จะถูกปฏิเสธและตกเป็นหม้ายขันหมากมาแล้วถึงสองครา เธอก็ไม่ได้เศร้าโศกเสียใจแต่อย่างใด เพราะลึกๆ แล้ว เธอเองก็หลงรักคุณชายเล็กคนสุดท้องของวังวุฒิเวสน์ หาใช่คุณชายโตหรือคุณชายรองไม่     ประโยคที่ศรีจิตราพูดกับ “อุ่นเรือน” ผู้เป็นมารดาว่า “จะผิดไหมถ้าหนูจะต่อสู้เพื่อหัวใจของหนูเอง” จึงเป็นวลีที่บอกเป็นนัยกับผู้ชมว่า ภายใต้อำนาจกฎเกณฑ์ทางสังคมที่เข้ามาขีดวงชีวิตของตัวละครหญิงผู้นี้ ศรีจิตราก็พร้อมจะลุกขึ้นมารื้อถอนและรื้อสร้างเพื่อขีดเขียนหน้าประวัติศาสตร์ชีวิตของเธอเองบ้างแล้ว     และเพราะอ่านหนังสืออยู่เป็นอาจิณ ศรีจิตราจึงลงมือทำตัวเป็นนางเซฮาราซาดผู้เล่านิทานอยู่ถึงพันหนึ่งราตรี ก็เพียงเพื่อพิชิตใจของคุณชายเล็ก ไล่เรียงตั้งแต่ตำนานของนางมัทนาผู้เจ็บช้ำจากความรักจนถูกสาปเป็นดอกกุหลาบในเรื่องมัทนะพาธา นางเงือกน้อยแอเรียลผู้พบจุดจบจากความรักในเรื่องลิตเติ้ลเมอร์เมด จนมาถึงการเผด็จศึกคุณชายเล็กด้วยฉากคาบดอกบัวจากวรรณกรรมนิทานเวตาล     บทบาทของการอ่านหนังสือ ที่แม้จะเป็นเพียงกระดาษเล่มเล็กๆ ที่ร้อยเรียงเรื่องราวของโลกเอาไว้ แต่ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ช่วยขยายประสบการณ์และอำนาจของผู้หญิงอย่างศรีจิตราและสาลิน ให้รู้ทันโลกและเข้าใจชีวิตมากยิ่งขึ้น ไม่ต่างไปจากตัวละครผู้หญิงอีกหลายๆ คนในท้องเรื่องอย่างเสด็จพระองค์หญิง อุ่นเรือน คุณยาย จนถึงคุณแม่นม ที่ต่างก็มีโลกทัศน์กว้างไกลออกไปเพราะการอ่านหนังสือนั่นเอง     แม้การจะได้เป็น “สะใภ้จ้าว” ในชีวิตจริง อาจเป็นเพียงโอกาสของผู้หญิงไม่กี่คนที่จะสมหวังได้เหมือนกับศรีจิตราและสาลิน แต่ทว่า โอกาสแห่งผู้หญิงที่จะลุกขึ้นมาขีดเขียนเปลี่ยนแปลงหน้าประวัติศาสตร์ชีวิตของตนเองนั้น สามารถบังเกิดขึ้นได้ เพียงแต่ว่าผู้หญิงเหล่านั้นจะอ่านหนังสือหรือเปิดหน้าต่างประสบการณ์ใหม่ๆ ผ่านโลกสัญลักษณ์และตัวอักษรที่บรรจงเขียนไว้ในทุกเส้นบรรทัด          

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 178 ห้องหุ่น : การบริหารจัดการองค์กรในแบบผีๆ

คนเราโดยทั่วไปมักเชื่อว่า “ความเป็นจริง” ต้องเป็นสิ่งที่เราเห็น หรือจับต้องได้ด้วยสัมผัสของเราโดยตรง แต่ทว่า ยังมีวิธีอธิบายอีกแบบหนึ่งที่ว่า “ความเป็นจริง” ของมนุษย์ อาจมีบางอย่างมากไปกว่าแค่ที่เราสัมผัสจับต้องโดยตรงเท่านั้น ตามคำอธิบายข้อหลัง ความเป็นจริงอาจแบ่งได้เป็นสองประเภท ประเภทแรกคือ “ความเป็นจริงเชิงวัตถุ” ที่เรารับรู้และจับต้องได้แบบเป็นรูปธรรม เช่น รู้เห็นได้ด้วยรูปรสกลิ่นเสียงและกายสัมผัส กับอีกประเภทหนึ่งคือ “ความเป็นจริงเชิงจิตวิญญาณ” หรือความเป็นจริงที่อยู่นอกเหนือสัมผัสทั้งห้า และเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่เหนือธรรมชาติซึ่งมนุษย์เราจะหยั่งรู้ได้ ทั้งความเป็นจริงเชิงวัตถุและความเป็นจริงเชิงจิตวิญญาณนี้ ต่างก็ดำเนินไปแบบคู่ขนานกันบ้าง หรือคู่ไขว้สลับซ้อนทับกันไปมาบ้าง เหมือนกับที่ตัวละครทั้งคนและผีที่หลากหลายได้มามีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกันในพื้นที่ของ “ห้องหุ่น” ในทางหนึ่ง ในโลกของมนุษย์ ตัวละครอย่าง “สันติ” “อัมรา” “พรรณราย” “เดช” “อารีย์” และอีกหลายคน อาจจะมีชีวิตและวิถีปฏิบัติที่ขับเคลื่อนไปในความเป็นจริงเชิงวัตถุของเขาและเธอ แต่ในห้องหุ่นอันเป็นโลกที่เหนือกว่าสัมผัสทั้งห้าของมนุษย์ หุ่นที่มีดวงวิญญาณสถิตอยู่แต่ละตน ตั้งแต่หุ่นท่านเจ้าคุณ หุ่นชาวนา หุ่นนางรำ หุ่นนักดาบ หุ่นนักยิงธนู หุ่นนางพยาบาล และหุ่นเด็ก ต่างก็อาจมีแบบแผนการดำเนินชีวิตในความเป็นจริงเชิงจิตวิญญาณของตนไปอีกทางเช่นกัน   อย่างไรก็ดี จะมีบางเงื่อนไขหรือบางจังหวะเหมือนกัน ที่คนกับหุ่น (หรือกล่าวให้ชัดๆ ก็คือ ระหว่างมนุษย์กับผี) จะได้โคจรมาเจอกัน แบบเดียวกับที่ธีมของละคร “ห้องหุ่น” พยายามบอกคนดูว่า “คนดีผีย่อมคุ้ม” โดยเฉพาะผีบรรพบุรุษหรือผีประจำตระกูลที่จะคอยปกป้องคุ้มครองลูกหลานที่มุ่งมั่นทำกรรมดี และเพราะความสัมพันธ์ของหุ่นแต่ละตนดำรงอยู่ในอีกโลกของจิตวิญญาณ เพื่อให้ความสัมพันธ์นั้นดำเนินไปโดยเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด สมาชิกหุ่นที่อยู่ในห้องหุ่นของคฤหาสน์ตระกูล “สัตยาภา” จึงต้องพัฒนาองค์ความรู้และใช้เทคนิคการออกแบบและบริหารจัดการองค์กรแบบหุ่นๆ ขึ้นมา ซึ่งจะว่าไปแล้วก็ดูไม่แตกต่างจากเทคนิคการบริหารองค์การสมัยใหม่ในโลกของมนุษย์เท่าใดนัก เริ่มตั้งแต่องค์กรของหุ่นต้องเคลื่อนไปโดยมี “พันธกิจ” หรือ “mission” เป็นตัวกำหนดไว้อย่างชัดเจนแน่นอน เพราะฉะนั้น หากเป้าหมายของสมาชิกหุ่นต้องทำหน้าที่ดูแลสมาชิกในครอบครัวสัตยาภาให้แคล้วคลาดปลอดภัย หุ่นทั้งหลายก็ต้องอุทิศตนและทำทุกอย่างเพื่อขจัดตัวละครร้ายๆ อย่าง “พิไล” “เทิด” “ผอบ” “พงษ์” และ “หมอผีเวทย์” ให้หลุดออกไปจากวงจรชีวิตของบุตรหลานในครัวเรือน ภายใต้หลักการบริหารห้องหุ่นให้เกิดประสิทธิภาพ สมาชิกหุ่นได้ออกแบบองค์กรที่ต้องมีนโยบายการวางแผนอัตรากำลังคน การจัดวางลำดับชั้น และการสั่งการตามสายงานบังคับบัญชาที่ชัดเจน ในแง่นี้ เพื่อให้บรรลุพันธกิจในแต่ละวาระ “หุ่นท่านเจ้าคุณนรบดินทร์” ในฐานะประธานของโครงสร้างองค์กรหุ่น ได้เรียนรู้และเลือกใช้การวิเคราะห์สถานการณ์ของคู่ต่อสู้ ก่อนที่จะบัญชาการรบโดยเลือกวิธี “put the right หุ่น on the right job” และออกคำสั่งไล่เรียงตามสายงานบังคับบัญชาลดหลั่นกันลงไป หุ่นเด็กอาจถูกส่งออกไปสู้รบปรบมือในลำดับแรกก่อน แต่เมื่อภารกิจเริ่มซับซ้อนและยากลำบากขึ้น หุ่นผู้ใหญ่ตนอื่นๆ ก็อาจจะได้รับมอบหมายให้ไปจัดการปัญหาต่างๆ แทน และเมื่อถึงภารกิจที่ต้องอาศัยประสบการณ์และความชำนาญการขั้นสูง ก็จะถึงลำดับของหุ่นท่านเจ้าคุณกับไม้เท้าศักดิ์สิทธิ์ของท่านที่จะไปจัดการให้กิจดังกล่าวบรรลุเป้าหมายในที่สุด ขณะเดียวกัน เมื่อมีโครงสร้างองค์กรที่ชัดเจนเช่นนี้ ห้องหุ่นจึงต้องมีระบบการคัดเลือกสมาชิกใหม่ โดยเกณฑ์ในการพิจารณาเปิดรับสมัครสมาชิก จะตัดสินใจจากคุณธรรมความดี และดวงวิญญาณที่จะมาสถิตอยู่ในหุ่นประจำคฤหาสน์ได้ ต้องมีความมุ่งหมายร่วมในพันธกิจที่จะดูแลคุ้มครองบุตรหลานในตระกูลสัตยาภา เมื่อดวงวิญญาณของผู้เสียชีวิตใหม่ได้เข้ามาเยือนห้องหุ่น และผ่านการตรวจสอบ profiles และผ่านการสอบสัมภาษณ์โดยหุ่นท่านเจ้าคุณแล้ว ท่านเจ้าคุณก็จะประกาศว่า “ขอต้อนรับเข้าสู่ห้องหุ่น” เป็นการเชิญให้ดวงวิญญาณนั้นๆ เข้ามาสถิตในหุ่นปั้นที่อยู่ ณ ห้องหุ่นได้ และร่วมภารกิจขับเคลื่อนองค์กรของห้องหุ่นให้ดำเนินต่อไป เหมือนกับวิญญาณอารีย์และเดชที่เมื่อเสียชีวิต ก็ได้เข้ามาร่วมภารกิจดูแลลูกหลานในบ้านนั่นเอง แต่หากระบบองค์กรตรวจสอบดวงวิญญาณใหม่และพบว่า คุณธรรมความดีไม่ผ่านตามเกณฑ์ พันธกิจไม่ได้ยึดถือร่วมกัน แถมดวงวิญญาณนั้นก็มีความอาฆาตมาดร้ายต่อสมาชิกครอบครัวสัตยาภาด้วยแล้ว องค์กรห้องหุ่นก็จะขับไล่ดวงวิญญาณนั้นออกจากบ้านไป เหมือนกับกรณีของวิญญาณผีดาวโป๊อย่าง “เพทาย” ที่ไม่ผ่านระบบ QC และถูกอัปเปหิออกไปเป็นสัมภเวสีอยู่นอกเรือน และที่สำคัญ เมื่อโลกความจริงของมนุษย์ได้ก้าวเข้าสู่สังคมสารสนเทศ ที่ข้อมูลข่าวสารมีผลต่อการตัดสินใจและการกระทำใดๆ ของผู้คน โลกเหนือธรรมชาติอย่างห้องหุ่นก็ผันตัวเข้าสู่สังคมสารสนเทศไม่ต่างกัน สมาชิกต่างๆ ในห้องหุ่น จะมีระบบการไหลเวียนของข้อมูลข่าวสาร และตรวจสอบข้อมูลข่าวสารกันอย่างเข้มข้น เพราะฉะนั้น หากตัวละครผู้ร้ายเริ่มวางแผนจะเข้ามาทำร้ายลูกหลานในบ้านแล้ว หุ่นทั้งหลายก็จะใช้ข้อมูลข่าวสารดังกล่าวมาออกแบบกลยุทธ์เพื่อจัดการกับภยันตรายเหล่านั้น เมื่อย้อนกลับไปสู่ทัศนะที่ว่า ความเป็นจริงรอบตัวเรามีสองโลกที่ดำเนินควบคู่กันไปแล้ว คำถามที่สำคัญก็คือ ตกลงแล้วการบริหารองค์กรในแบบผีกับแบบคนที่แทบจะดูไม่ต่างกันเลยเช่นนี้ เป็นคนที่เลียนแบบผี หรือเป็นผีที่เลียนแบบคนกันแน่ และในเวลาเดียวกัน แม้เมื่อตอนจบ เราจะเห็นภาพหลวงตามาสวดปลดปล่อยวิญญาณของผีหุ่นในห้องไปสู่สุคติโดยถ้วนหน้า แต่พลันที่ประตูของห้องหุ่นปิดลงอีกครั้ง ความเป็นจริงเชิงจิตวิญญาณให้ห้องหุ่นก็ดำเนินไปอีกคำรบหนึ่ง ซึ่งบอกเป็นนัยๆ กับเราว่า ระหว่างสองโลกแห่งความเป็นจริงทางกายภาพและความเป็นจริงทางจิตวิญญาณต่างไม่เคยแยกขาด หากแต่ดำรงอยู่คู่กันเช่นนี้เรื่อยมาและตลอดไป :) 

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 177 ขอเป็นเจ้าสาวสักครั้งให้ชื่นใจ : ในโลกนี้ไม่มีความจริงแบบสมบูรณ์

นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 เป็นต้นมา กรอบความคิดแบบ “วิทยาศาสตร์” ดูเหมือนจะเข้ามาครอบงำ และให้คำอธิบายความจริงในชีวิตของมนุษย์เราเอาไว้อย่างเข้มข้น     หลักการทางวิทยาศาสตร์เชื่อว่า ในโลกนี้มี “ความจริงแบบสมบูรณ์” หรือที่ภาษาอังกฤษอาจเรียกว่า “absolute truth” ดังนั้น หน้าที่ของนักวิทยาศาสตร์ก็คือ ต้องพยายามพิสูจน์ถึงสัจจะความจริงแบบสมบูรณ์และเป็นความจริงเพียงหนึ่งเดียวนี้ โดยปราศจากอคติใดๆ เข้ามาแปดเปื้อนปะปน     ภายใต้หลักการดังกล่าว หากความจริงมีเพียงหนึ่งเดียว คำตอบต่อสรรพสิ่งจึงต้องเป็นหนึ่งเดียว ถ้าไม่ใช่คำตอบว่า “yes” ก็ต้องเป็น “no” หรือถ้าไม่ใช่ “ขาว” ก็ต้องเป็น “ดำ” อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยมิอาจย้อนแย้งเป็นสองอย่างได้ในเวลาเดียวกัน และนักวิทยาศาสตร์ก็ต้องพิสูจน์ความจริงแท้ข้อนี้ออกมาให้เห็นเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์แจ้งแก่สายตาให้ได้เท่านั้น     แม้วิธีคิดเช่นนี้จะครอบงำโลกทัศน์ของมนุษย์มานานหลายศตวรรษ แต่ทว่า ทฤษฎีความจริงแบบสมบูรณ์นี้ก็ถูกท้าทายเรื่อยมาโดยตลอด และที่สำคัญ ก็ยังถูกตั้งคำถามผ่านสายตาของตัวละครอย่าง “วีว่า” สาวนักเรียนนอกเจ้าของ “วรรณวิวาห์เวดดิ้ง” บริษัทรับจัดงานแต่งงานแบบครบวงจรด้วยเช่นกัน     ด้วยความใฝ่ฝันตั้งแต่วัยเด็ก วีว่าปรารถนาที่จะโตขึ้นด้วยกราฟชีวิตที่มุ่งไปข้างหน้า และเมื่อถึงเวลาอันเหมาะสม เธอก็อยากจะสวมชุดเจ้าสาวสุดหรู และมีพิธีแต่งงานที่สุดแสนจะโรแมนติก โดยเฉพาะกับคำมั่นสัญญาของคู่หมั้นอย่าง “ลาภิศ” ที่ให้ไว้ว่า เมื่อเขาเรียนจบจากเมืองนอกกลับมา จะขอเธอแต่งงานทันที     จากความฝันวัยเยาว์และคำสัญญาของคู่หมั้น วีว่าจึงคิดเสมอว่า คำตอบในชีวิตของคนเราจะต้องเป็นเส้นตรงเท่านั้น และมีสิ่งนี้เป็นสัจจะความจริงแบบสมบูรณ์เพียงหนึ่งเดียว     แต่ทว่า โชคชะตาก็ไม่ได้ขีดเส้นตรงเส้นเดียวให้กับมนุษย์อย่างวีว่าได้เดินเสมอไป หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ในขณะที่หลักการวิทยาศาสตร์มีแนวโน้มจะเชื่อว่า เหตุผลของมนุษย์ย่อมมีเหตุผลหลักได้เพียงข้อเดียว แต่วีว่าเองกลับพบว่า ถ้ามีเหตุผลข้อ ก.ไก่ เกิดขึ้นได้ ก็ใช่ว่าเหตุผลแบบ ข.ไข่ ค.ควาย หรือ ง.งู จะอุบัติขึ้นไม่ได้เช่นกัน     ดังนั้น ภายหลังจากการสิ้นลมของ “คุณปู่จรัส” โดยไม่คาดฝัน ทำให้เหตุผลและเส้นกราฟชีวิตของวีว่ากลับตาลปัตรไปจนหมด วีว่าผู้ที่ทุกคนคาดว่าจะได้ครอบครองทรัพย์สินของวงศ์ตระกูล กลับพบว่าคุณปู่ของเธอได้ยกมรดกและกิจการทั้งหมดให้กับลูกบุญธรรมอย่าง “ปูรณ์” ผู้มีศักดิ์เป็นอาของวีว่าในอีกทางหนึ่ง     เมื่อมรดกในพินัยกรรมเปลี่ยนมือไป ทั้งลาภิศและ “คุณหญิงแขอุไร” ผู้เป็นมารดาจึงเป็นเดือดเป็นร้อน เพราะหมายหมั้นปั้นมือที่จะเป็นเจ้าของกองมรดกและธนาคารไทยธนกิจ ลาภิศจึงตัดสินใจล้มเลิกการแต่งงานกับวีว่า ในขณะที่คุณหญิงแขอุไรก็สะบั้นความสัมพันธ์กับตระกูลวรรณดำรงไปในทุกๆ ทาง     ความจริงบางอย่างที่เราเห็นอยู่ใน “หน้าฉาก” ว่าบริสุทธิ์และเบ็ดเสร็จสมบูรณ์ ก็อาจจะมีความจริงอีกชุดหนึ่งซึ่งเป็น “หลังฉาก” และปนเปื้อนไปด้วยอคติกับผลประโยชน์อยู่ ซึ่งนั่นก็คือสัจธรรมที่วีว่าค่อยๆ ได้เรียนรู้ แบบที่เธอประกาศกับ “คุณย่าพริ้มเพรา” และญาติผู้ใหญ่ภายหลังจากถูกยกเลิกงานวิวาห์ว่า “ก็อย่างที่วีว่าบอก...เรื่องมรดกทำให้วีว่าได้รู้ว่า ใครที่รักวีว่าจริงๆ หรือใครที่รักวีว่าเพราะเงิน...”     ไม่เพียงแต่วีว่าจะได้เข้าใจว่า ความจริงโดยสมบูรณ์หรือจริงแท้โดยปราศจากอคติเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลยนั้น อีกด้านหนึ่ง การปรากฏตัวของ “คุณลึกลับ” ชายในชุดสีขาว ที่จะเป็นเทพก็ไม่ใช่ ผีก็ไม่เชิง หรือเป็นนิมิตมายาอะไรบางอย่าง ก็ยิ่งตอกย้ำให้วีว่าได้พบความเป็นไปไม่ได้ของสิ่งที่เธอเคยเข้าใจว่าเป็น “ความจริงหนึ่งเดียว” อย่างชัดเจนยิ่งขึ้นอีก     เพราะพลันที่วีว่าถูกมือปืนยิงจนนอนสลบเป็นเจ้าหญิงนิทรา ในจังหวะเดียวกับดารานางแบบอย่าง “มุกริน” ที่ฆ่าตัวตายเพราะผิดหวังจากความรักที่มีต่อลาภิศ วิญญาณของมุกรินได้หลุดพ้นไปสู่สัมปรายภพ แต่ทว่าไฟล์ดวงจิตของวีว่ากลับถูก “install” เข้ามาอยู่ในร่างของ “มุกริน แม็กซ์เวลล์” แทน จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นแห่งปมปัญหาใหม่ในชีวิตของวีว่าขึ้นมา     ในด้านหนึ่ง วีว่าในร่างของมุกรินอาจจะได้ค้นพบความจริงในชีวิตของตัวละครอื่นๆ ที่มีบางด้านซ่อนเร้นอยู่เป็นเบื้องหลัง ไม่ว่าจะเป็นลาภิศผู้มีบาดแผลจากการถูกมารดากำหนดชะตาชีวิตจนแทบเดินไปทางอื่นไม่ได้ มุกรินที่เบื้องหน้าของชีวิตดาราซึ่งต้องยิ้มสู้กล้องอยู่ตลอดเวลา แต่ด้านหลังก็เคยดำเนินชีวิตผิดพลาดเพราะทำแท้งมาก่อน ไปจนถึงคุณย่าพริ้มเพราที่เกลียดหลานบุญธรรมอย่างปูรณ์ เพียงเพราะความเจ็บปวดจากความรักที่ฝังรากมาตั้งแต่วัยสาว     แต่ในเวลาเดียวกัน วีว่าก็ยังได้เข้าใจอีกข้อเท็จจริงด้วยว่า ในขณะที่มนุษย์เรามี “โลกความจริงทางกายภาพ” แบบที่วิทยาศาสตร์พยายามพิสูจน์จับต้องออกมาให้ได้ แต่ก็ยังมี “โลกความจริง” อีกชุดหนึ่ง (หรืออาจจะเรียกว่า อีกภพหนึ่ง) ของคุณลึกลับที่ดำเนินคู่ขนานไป และวิทยาศาสตร์ก็มิอาจหยั่งรู้ถึงความจริงดังกล่าวได้เลย     เมื่อวีว่าพยายามจะขอความช่วยเหลือจากอาปูรณ์ให้กู้ไฟล์ดวงจิตของเธอกลับคืนสู่ร่างจริงๆ เขาเองก็แสดงให้เห็นว่าตนเชื่อมั่นอยู่ตลอดว่า เหตุผลและโลกความจริงต่างภพที่คู่ขนานกับโลกทางกายภาพแบบนี้คือสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย     จนกระทั่งวีว่าในร่างมุกรินเลือกที่จะกระโดดลงน้ำประหนึ่งจะฆ่าตัวตาย เธอก็ได้ “พิสูจน์” ให้อาปูรณ์ประจักษ์เห็นว่า โลกความจริงที่เราสัมผัสด้วยสายตา ก็เป็นเพียงความจริงชุดหนึ่งๆ เท่านั้น และเป็นชุดความจริงหนึ่งที่อยู่ท่ามกลางความจริงอีกมากมายหลายชุด ซึ่งมนุษย์อาจจะเข้าถึงด้วยอายตนะแห่งตนได้ยากยิ่งนัก     จนเมื่อมาถึงบทสรุปของเรื่องที่วีว่าได้บรรลุการ “ขอเป็นเจ้าสาวสักครั้งให้ชื่นใจ” ของอาปูรณ์ ภาพฉากความจริงที่ทั้งคู่ฮันนีมูนสวีทหวานบนเรือสำราญกลางทะเล ซึ่งละครบรรจงตัดสลับกับภาพความจริงของลาภิศและมุกรินที่ได้ลงเอยเคียงคู่ความรักกันในอีกภพหนึ่ง ก็ไม่ต่างจากการให้คำตอบกับคนดูอย่างเราๆ ว่า ในโลกที่เราเห็นและจับต้องกันอยู่ทุกวันนี้ อาจไม่มีความจริงใดๆ ที่จะกลายเป็นความจริงแบบสมบูรณ์หนึ่งเดียวได้เลย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 176 เลื่อมสลับลาย : ไม่เจ็บอย่างฉันใครจะเข้าใจ

มนุษย์เป็นสัตว์สังคม แต่ทว่า ในสังคมของมนุษย์นั้น คนเรามักจะรับรู้ความสัมพันธ์ระหว่างตัวเรากับคนอื่นหรือโลกรอบตัวแตกต่างกันไป     ตามหลักทฤษฎีทางสังคมเชื่อกันว่า วิธีการรับรู้โลกที่แตกต่างกันของคนเราดังกล่าว อาจจำแนกได้เป็นสามแบบแผนใหญ่ๆ ได้แก่ แบบแผนแรกคือ การที่เรารับรู้โลกแบบ “คนใน” ที่เราสัมผัสด้วยตัวเอง หรือเกิดเนื่องมาแต่ “ประสบการณ์ตรง” ของเราเอง เพราะฉะนั้นก็ต้องเป็นคนจนหรือคนชายขอบเท่านั้น จึงจะรู้ว่าคนจนที่อยู่ชายขอบจะคิดจะอยู่กันเช่นไร     แบบแผนที่สอง ซึ่งเป็นแบบแผนการรับรู้โลกของคนส่วนใหญ่ก็คือ การรับรู้จากสายตาของ “คนนอก” หรือเป็นการมองจากตัวเราออกไป แล้วจึงตัดสินว่าโลกรอบตัวและคนอื่นๆ คืออะไรหรือมีลักษณะเช่นไร โดยที่เขาเองก็อาจไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย หรือหากจะกล่าวง่ายๆ ก็คือ เป็นการรับรู้ที่ “เอาใจเราไปคิดแทนใจเขา” นั่นเอง     ส่วนแบบแผนสุดท้ายที่เกิดขึ้นได้ยากยิ่งก็คือ แม้เราจะไม่ได้มีประสบการณ์ตรงต่อเรื่องใดๆ หรือต่อชีวิตของใคร แต่เราที่เป็น “คนนอก” ก็พยายามเขยิบจุดยืนมาคิดแบบ “คนใน” โดยรับรู้โลกของคนอื่นแบบ “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” และมองความเป็นจริงของคนอื่นจากมุมมองของเขาให้ใกล้เคียงที่สุด     การที่มนุษย์มีจุดยืนหรือตำแหน่งแห่งที่ในการรับรู้โลกต่างกันไปนี้ ก็คือปมปัญหาความขัดแย้งที่อยู่เบื้องลึกของละครโทรทัศน์เรื่อง “เลื่อมสลับลาย” นั่นเอง     โครงเรื่องเปิดฉากผูกเนื้อหาให้ตัวละครเพื่อนในอดีตสองคนถูกโชคชะตาให้ต้องมาสานโยงความสัมพันธ์ และเรียนรู้พร้อมกับรับรู้ความเป็นจริงของอีกฝ่ายหนึ่ง “พาไล” คือตัวละครแรกที่เป็นสาวน้อยจากครอบครัวผู้ดีเก่า แต่เนื่องเพราะอารมณ์ชั่ววูบและความเข้าใจผิดต่อบิดามารดาบุญธรรม พาไลจึงหนีออกจากบ้านและเลือกใช้ชีวิตในด้านมืด เปลี่ยนผู้ชายไม่ซ้ำหน้า จนครั้งหนึ่งเธอต้องแท้งลูกแม้ว่าจะอยู่ในวัยสาวแรกรุ่นเท่านั้น     สลับเลื่อมลายกับตัวละครผู้หญิงอีกคนอย่าง “ปิ่นปัก” ที่ฐานะทางเศรษฐกิจสังคมแตกต่างกันมากกับพาไล ปิ่นปักเรียนจบปริญญาเอกจากอเมริกา มีหน้าที่การงานก้าวหน้าเป็นที่ยอมรับสูงในวงสังคม และถูกวางแผนชีวิตให้แต่งงานกับ “ศก” คู่หมั้นหนุ่มระดับลูกมหาเศรษฐีอันดับต้นๆ ของเมืองไทย     ชีวิตของตัวละครที่มาจากคนละโลกและแตกต่างกันประหนึ่ง “ด้านมืด” กับ “ด้านสว่าง” ที่ไม่น่าจะมาบรรจบกันได้เช่นนี้ กลับถูกละครผูกโยงให้โคจรมาพบกัน เพราะรั้วบ้านหลังงามของปิ่นปักมาปลูกติดกับคอนโดที่พาไลอาศัยเช่าอยู่     และเพราะ “บ้านก็ปลูกติดกัน ปลูกติดกันพอดี” เมื่อ “เปิดหน้าต่างทุกที ทุกทีหน้าของตัวละครทั้งสองก็ต้องมาเจอกัน” ดังนั้น ทั้งพาไลและปิ่นปักจึงมีโอกาสจะได้สัมผัสเห็นภาพการดำเนินชีวิตของกันและกัน     แต่ที่สำคัญ เพราะอีกด้านหนึ่งวิถีทางสังคมของตัวละครทั้งคู่ที่มีรั้วบ้านกับคอนโดเป็นตัวกั้นกลาง ผนวกกับตัวละครเองก็ได้สร้าง “รั้วในใจ” ขึ้นมาขีดวงความเป็นเรากับความเป็นอื่นให้ถ่างออกจากกันอีก การรับรู้กันและกันของผู้หญิงสองคน จึงเกิดจากมุมมองหรือจุดยืนที่ต่างคนต่างคิดต่างตัดสินอีกฝ่ายกันไปเอง     เมื่อปิ่นปักเห็นการใช้ชีวิตของพาไล ที่ทั้งเธอและ “คุณโปรย” ผู้เป็นมารดานิยามไว้ตั้งแต่ต้นแล้วว่า เป็น “ชีวิตของผู้หญิงที่ไม่ดี” ปิ่นปักจึงดูถูกเหยียดหยามการกระทำและพฤติกรรมของพาไลกับผองเพื่อนในทุกๆ ทาง     แม้เมื่อพาไลพยายามที่จะกลับตัวมาตั้งหน้าตั้งตาทำมาหากิน โดยเฉพาะภายหลังที่เธอได้กำลังใจจากชายหนุ่มคนรักอย่าง “นครินทร์” ที่อีกด้านหนึ่งก็เป็นพี่ชายแท้ๆ ของปิ่นปักเอง ทั้งปิ่นปักและคุณโปรยจึงตั้งป้อมรังเกียจพาไลมากยิ่งขึ้น เพราะเชื่อว่าผู้หญิงใจแตกที่ใช้ชีวิตไม่ดีเยี่ยงนั้น ไม่มีวันจะกลับเนื้อกลับตัวได้เลย     การรับรู้และตัดสินคนอื่นไปล่วงหน้าจากพฤติกรรมที่แสดงออกมา จึงเกิดขึ้นเมื่อเราเอาตัวเองไปยืนอยู่เป็น “คนนอก” โดยไม่พยายามเขยิบเข้าไปใกล้เหตุผลและความเป็นจริงในชีวิตของคนอื่นบ้างเลย     แต่อย่างไรก็ดี หากความไม่แน่นอน (หรือกฎอนิจจัง) เป็นสัจธรรมที่สำคัญของชีวิตมนุษย์ แม้แต่ชีวิตของปิ่นปักผู้เลิศเลอเพอร์เฟ็กต์ในทุกทาง ก็จึงมิอาจหลีกพ้นไปจากกฎเกณฑ์ความจริงข้อนี้ไปได้     หลังจากแต่งงานไป ชีวิตคู่ของปิ่นปักกับศกก็เริ่มเผชิญปัญหามากขึ้น จนในที่สุดก็แตกแยกภินท์พังจนถึงกับหย่าร้างและเกิดเป็นสงครามแย่งลูกกัน หม้ายสาวปิ่นปักที่เคยดำเนินชีวิตตามจารีตปฏิบัติก็ผันตัวออกเที่ยวเตร่ประชดชีวิตคู่ที่พังพินาศ แถมยังคบหากับผู้ชายมากหน้าหลายตา รวมทั้งไปมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับ “เพรียว” ผู้ชายอีกคนที่แอบหลงรักปิ่นปักมาตั้งแต่เด็ก     และพลันที่ดอกฟ้าต้องมีอันหล่นร่วงมาจากสรวงสวรรค์ แม้ปิ่นปักจะตัดสินใจกลับตัวกลับใจจะมาลงเอยใช้ชีวิตคู่ครั้งใหม่กับเพรียวก็ตาม แต่เธอก็ถูกเลือกปฏิบัติแบบดูถูกเหยียดหยามศักดิ์ศรีจาก “คุณอร” มารดาของเพรียว ไม่แตกต่างจากภาพในอดีตที่ครั้งหนึ่งปิ่นปักกับมารดาเคยกระทำต่อพาไลในช่วงที่เธอเริ่มต้นคบหาดูใจกับนครินทร์เช่นกัน     “เลื่อม” ที่ค่อยๆ “สลับลาย” ไขว้กันไปมาระหว่างชีวิตของปิ่นปักกับพาไล จึงทำให้ตัวละครทั้งสองเริ่มเข้าใจว่า ถ้าไม่ลองเข้าใจคนอื่นด้วยมุมมองที่ “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” จริงๆ กันบ้าง อคติและทัศนะที่เลือกเอาตนเองเป็นศูนย์กลาง ก็อาจจะเข้ามาเบียดบังการรับรู้ผู้คนและโลกรอบตัวแบบที่เขาอาจไม่ได้เป็นเช่นนั้นจริงๆ ก็ได้     ทุกวันนี้ หากมนุษย์เราจะลดทิฐิ และหัดที่จะลด “กำแพงรั้ว” ที่กั้นอยู่ในใจของตนลง หรือหัดย้ายตำแหน่งแห่งที่มาครวญเพลง “ไม่เจ็บอย่างฉันใครจะเข้าใจ” กันเสียบ้าง บางทีคนเราที่ใช้ชีวิตบนความแตกต่างหลากหลาย ก็อาจจะได้รับรู้และอาศัยอยู่กับเพื่อนร่วมโลกบนความเข้าใจกันและกันได้มากยิ่งขึ้น                             

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 175 ผู้กองยอดรัก : ไม่มีเส้นแบ่งและศักดิ์ชั้นในความบันเทิงสนุกสนาน

นักมานุษยวิทยาชาวอเมริกันที่ชื่อ วิลเลียม เคลาสเนอร์ ได้เคยเข้ามาศึกษาสังคมไทยในช่วงทศวรรษที่ 1950 และได้ค้นพบข้อสรุปที่เขาเองก็สนเท่ห์ใจว่า สังคมไทยเป็นสังคมที่รักความบันเทิงสนุกสนาน จนกลายเป็นมนต์เสน่ห์ที่ยากจะหาสังคมอื่นมาเทียบเคียงได้    และหากความบันเทิงเป็นเบื้องลึกเบื้องหลังที่วัฒนธรรมไทยก่อร่างขึ้นมา ความบันเทิงก็คงทำหน้าที่สนองต่อความต้องการหลายๆ ด้านให้กับคนไทยด้วยเช่นกัน     บทบาทหน้าที่ของความบันเทิงต่อมนุษย์เราอาจมีได้หลายประการ ตั้งแต่การช่วยให้เราได้หย่อนใจคลายเครียด ช่วยปลดปล่อยมนุษย์จากความทุกข์ ช่วยให้ปัจเจกบุคคลมีพลังในการเผชิญกับปัญหาต่างๆ ในชีวิต และอื่นๆ อีกมากมาย แต่ที่สำคัญ ความบันเทิงสนุกสนานยังช่วยลดทอนความขัดแย้งตึงเครียดที่เกิดขึ้นและธำรงอยู่ในระหว่างกลุ่มสังคม    เชื่อหรือไม่ว่า แม้แต่ในพื้นที่ที่มีการใช้อำนาจเข้มข้นที่สุดในสังคม แต่ทว่า ความบันเทิงสนุกสนานก็สามารถชำแรกแทรกเข้าไปในห้วงอณูแห่งอำนาจได้เช่นกัน และนี่ก็คือภาพที่ฉายให้เราเห็นผ่านความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครต่างๆ ในเรื่อง “ผู้กองยอดรัก” นั่นเอง     จะว่าไปแล้ว ด้านหนึ่งละครเรื่อง “ผู้กองยอดรัก” ก็คือโลกแฟนตาซีที่มาเติมเต็มความฝันของกลุ่มคนที่มีอำนาจน้อยอย่างบรรดาทหารเกณฑ์ ที่ริอยากจะสอยดอกฟ้าหรือผู้กองหญิง ที่ไม่เพียงแต่สูงฐานะศักดิ์ชั้นกว่าเท่านั้น หากแต่ยังเป็นผู้หญิงที่มีสถานภาพทางอำนาจ ยศ และตำแหน่งที่เหนือกว่าพวกเขาในทุกๆ ทาง     ด้วยพล็อตเรื่องที่เปิดฉากให้ “พัน น้ำสุพรรณ” หนุ่มบ้านนอก (แต่มีดีกรีการศึกษาจบปริญญาโทด้านกฎหมายจากอังกฤษ) มาตกหลุมรักแบบ “love at first sight” กับ “ผู้กองฉวีผ่อง” ร้อยเอกแพทย์หญิงผู้เป็นลูกสาวของ “ผู้พันผวน” กับ “คุณนายไฉววงศ์” พันจึงเลือกสมัครเป็นทหารเกณฑ์มากกว่าต้องรอจับใบดำใบแดง เพื่อจะได้รับใช้ชาติและใกล้ชิดกับผู้กองฉวีผ่องไปในเวลาเดียวกัน    แน่นอน เมื่อทหารเกณฑ์หนุ่มคิดหวังจะเด็ดดอกฟ้า จึงสร้างความไม่พอใจให้กับว่าที่พ่อตาอย่างผู้พันผวน รวมทั้ง “พันตรีสุทธิสาร” ทหารหนุ่มอีกคนที่มาแอบติดพันผู้กองฉวีผ่องอยู่ ผู้พันทั้งสองคนต่างดูถูกว่าพันเป็นแค่ทหารเกณฑ์ เพราะฉะนั้น เมื่อพันต้องเข้ามาเป็นทหารรับใช้อยู่ในบ้านของผู้พันผวน คุณผู้พันทั้งสองจึงต้อง “จัดเต็ม” เพื่อสั่งสอนและกีดกัน “สุนัข” ที่ไม่บังควรแหงนมอง “เครื่องบิน” ที่ลอยอยู่บนฟ้าเอาเสียเลย    จากโครงเรื่องที่กล่าวมานี้ ละครได้เผยให้เห็นว่า วิธีคิดของสังคมไทยยังมีระบบการแบ่งแยกและจัดลำดับชั้นขึ้นระหว่างเจ้านายกับลูกน้อง ระหว่างผู้บังคับบัญชากับผู้ใต้บังคับบัญชา ระหว่างผู้ใหญ่กับผู้น้อย ระหว่างคนที่ต่างวุฒิการศึกษา ไปจนถึงระหว่างความเป็นเมือง (ที่พูดวาจาชัดถ้อยชัดคำ) กับชนบท (ที่สะท้อนผ่านสำเนียงเหน่อสุพรรณของตัวละครเอก)    และที่สำคัญ เส้นกั้นกับความแตกต่างระหว่างศักดิ์ชั้นเหล่านี้ ก็ยังคงสืบต่อและดำรงอยู่แม้แต่ในโลกสัญลักษณ์ของสถาบันใหญ่ๆ ในสังคมอย่างกองทัพด้วยเช่นกัน    ในแง่หนึ่ง สถาบันทหารอาจถูกมองได้ว่าเป็นสถาบันรูปธรรมที่สุดของการบริหาร “อำนาจ” เพื่อควบคุมชีวิตและร่างกายของมนุษย์อย่างเข้มข้น เพราะตั้งแต่ฉากแรกที่พันและผองเพื่อนอย่าง “อ่ำ” “นุ้ย” “บุญส่ง” และ “พรหมมา” ได้เข้ามาใช้ชีวิตในกองทหาร พวกเขาก็ถูก “หมู่ทอง” จัดวินัยในหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่จับทหารใหม่ตัดผมเสีย จับร่างกายของพวกเขามาอยู่ในชุดยูนิฟอร์มเหมือนกัน จนถึงเปลี่ยนแปลงวัตรปฏิบัติต่างๆ ให้ต่างไปจากที่เคยใช้ชีวิตมาก่อนหน้านั้น (แม้ตัวละครจะยังคงพูดสำเนียงท้องถิ่นอยู่เหมือนเดิมก็ตาม)    แต่ในอีกแง่หนึ่ง หากเราเชื่อว่าความบันเทิงสนุกสนานช่วยลดทอนเส้นแบ่งระหว่างความแตกต่างทางสังคม และหากเรื่องของอำนาจเป็นสิ่งที่ไม่เข้าใครออกใคร ละครก็เลือกใช้อารมณ์บันเทิงขบขันมาผูกเล่าเรื่องของทหารเกณฑ์กลุ่มหนึ่งที่ลุกขึ้นมาเสียดสีท้าทายอำนาจของระบบศักดิ์ชั้นได้อย่างแยบยล    ภาพลักษณะนี้เห็นได้ทั้งจากการที่พันและสหพรรคพวกคอยเล่น “ลิงหลอกเจ้า” ล่อเอาเถิดกับครูฝึกอย่างหมู่ทอง หรือการจับเอาทั้งผู้พันผวนกับผู้พันสุทธิสารมาล้อเลียนล้อเล่นเพื่อเรียกเสียงฮา ไปจนถึงการเสียดสีไปถึงหลังบ้านของผู้พันผวนที่มีศรีภรรยาอย่างคุณนายไฉววงศ์ ผู้แสนจะเค็มแสนเค็มและงกเงินจน “ทะเลเรียกพี่” ได้เลย    การใช้ความขบขันที่เอื้อให้ทหารเกณฑ์ได้ล้อเล่นเสียดสีตั้งแต่กับเจ้านาย นับตั้งแต่คุณหมู่คุณจ่า ผู้กอง ผู้พัน ไปจนถึงคุณนายหลังบ้านผู้พัน (แต่ไม่ยักกะมีท่านนายพล???) คงย้อนกลับไปสะท้อนให้เราเห็นว่า ความบันเทิงสนุกสนานนี่เองที่เป็นพื้นที่ให้โครงสร้างอำนาจต่างๆ ของสังคมได้รับการตรวจสอบและตั้งคำถามอยู่ในเวลาเดียวกัน    ตามหลักทฤษฎีแล้วเชื่อว่า เฉพาะในพื้นที่ของความบันเทิงเริงรมย์เท่านั้น ที่เส้นกั้นระหว่างเจ้านาย-ลูกน้อง ผู้ใหญ่-ผู้น้อย และผู้มีอำนาจ-ผู้ด้อยอำนาจ จะได้มาพบปะแลกเปลี่ยนปรับความสัมพันธ์ระหว่างกัน    เพราะฉะนั้น ในท้ายที่สุด ถึงแม้จะเป็น “เจ้าที่ถูกลิงหลอก” มาแทบตลอดทั้งเรื่อง แต่บรรดาผู้มีอำนาจทั้งหลายก็เรียนรู้ที่จะมองเห็นอีกด้านหนึ่งของกลุ่มคนที่ถูกมองว่าด้อยอำนาจวาสนากว่าตน    หมู่ทองเองก็เรียนรู้ที่จะรักใคร่พันและผองเพื่อน หรือแม้แต่จะยอมรับอ่ำให้มาเป็นลูกเขยของตนเอง ผู้พันสุทธิสารก็เข้าใจว่าคุณค่าของคนไม่ได้พิสูจน์กันด้วยยศถาบรรดาศักดิ์แต่อย่างใด เฉกเช่นเดียวกับผู้พันผวนที่ได้ทบทวนตัวเองว่า ลำดับชั้นและการตัดสินคนที่อำนาจนั้น ก็อาจเป็นเพียงเปลือกนอก มากกว่าการมองเข้าไปเห็นตัวจริงและแก่นแท้ที่เป็น “เนื้อทองผ่องอำไพ” ซึ่งอยู่ในจิตใจของผู้ใต้อำนาจการบังคับบัญชา    เมื่อโลกแห่งความบันเทิงสนุกสนานได้กรุยทางการตั้งคำถามเรื่องเส้นกั้นกับศักดิ์ชั้นระหว่างทหารเกณฑ์กับผู้กองสาวที่อาจลางเลือนลงไปได้ในละครเช่นนี้แล้ว คำถามก็คือ แล้วเส้นกั้นแบ่งที่อยู่ในโลกจริงจะมีโอกาสสลายลงไปได้บ้างหรือไม่? เป็นผู้กองยอดรักแบบร้อยเอกแพทย์หญิงฉวีผ่อง กับเป็นทหารเกณฑ์แบบพัน น้ำสุพรรณ น่าจะได้อะไรมากกว่าที่คุณคิดเยี่ยงนี้แล!!!  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 174 เลือดมังกร เสือ สิงห์ กระทิง แรด หงส์ : “Looking East” ไปสู่จีนาภิวัตน์

กว่าครึ่งศตวรรษผ่านไป นับแต่มีการประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 1 พ.ศ. 2504 (ปีเดียวกับที่ผู้ใหญ่ลีเคยตีกลองประชุม) สังคมไทยได้ปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์จากที่เคย “looking west” หรือปลาบปลื้มกับอารยธรรมความทันสมัยตามรีตตามรอยชาติตะวันตก หันมา “looking east” หรือมองอะไรใกล้ๆ ภายใต้ยุคสมัยที่ความเป็นตะวันตกถูกมองว่า อาจเป็นแค่ “ทันสมัย” แต่ “ไม่พัฒนา” จริงๆ     และคำตอบในการ “looking east” ของคนไทย ก็คือ การเปลี่ยนจากการชื่นชมลัทธิตลาดเสรีและจักรวรรดินิยมแบบตะวันตก มาสู่การเติบโตของทุนไทยที่หันไปจูบปากประสานมือกับทุนจีนกันอย่างเป็นล่ำเป็นสันในยุคนี้ หรือที่บางคนอาจเรียกว่าเป็นการก่อร่างของกระแส “จีนาภิวัตน์” กันอย่างเข้มข้น    ความปรองดองกับกระแสจีนาภิวัตน์ เห็นได้จากประจักษ์พยานที่ทุนจีนขยายตัวเข้ามาในแทบจะทุกอณูของสังคมไทย ตั้งแต่กิจกรรมเศรษฐกิจการเมืองที่ไทยต้องอิงไปกับการขยับตัวของทุนจีน ภาคธุรกิจใหญ่น้อยที่มีทุนจีนสนับสนุนอยู่ด้านหลัง ประเพณีพิธีกรรมแบบจีนที่เข้ามามีบทบาทในวิถีชีวิตผู้คน หรือแม้แต่รายการสอนภาษาทางโทรทัศน์ ที่สอนแค่ภาษาอังกฤษอย่างเดียวไม่ได้อีกแล้ว ต้องฝึกพูดและ “ดูปาก” การออกสำเนียงภาษาจีนของน้องพรีเซ็นเตอร์ไปด้วย    ริ้วรอยการเติบโตของกระแสจีนาภิวัตน์แบบนี้ ก็ได้รับการขานรับเข้าสู่โลกของละครโทรทัศน์ด้วยเช่นกัน และอาจถือเป็นครั้งแรกที่หน้าประวัติศาสตร์ละครไทย มีการผลิตซีรีส์เนื้อหาของกลุ่มทุนจีนเป็นตัวละครเอกแบบยาว 5 เรื่อง 5 รส กันเลยทีเดียว    ซีรีส์ละครชุด “เลือดมังกร” 5 ตอน คือ เสือ สิงห์ กระทิง แรด และหงส์ นั้น ผูกโครงเรื่องขึ้นจากชีวิตของเพื่อนรัก 5 คน ที่มีเชื้อสายจีนหรือเติบโตมาในขนบประเพณีแบบจีนในช่วงยุคปี 2500 หรือช่วงของการเริ่มใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับแรกนั่นเอง ด้วยเหตุนี้ ตัวละครหลักทั้ง 5 ไม่ว่าจะเป็น “ภรพ” จากแก๊งเสือ “ทรงกลด” แห่งแก๊งเขี้ยวสิงห์ “ธาม” จากแก๊งกระทิง “คณิน” จากแก๊งเหยี่ยวแดง และ “หงส์” จากแก๊งหงส์ดำ ก็คือตัวแทนของกลุ่มทุนจีนรุ่นใหม่ ที่เติบโตและมีบทบาททางเศรษฐกิจของไทยมาจนถึงปัจจุบัน    เมื่อเทียบกับการเข้ามาของกลุ่มชาวจีนรุ่นแรกหรือจีนโพ้นทะเล ที่เริ่มต้นด้วยทุนติดตัวอันน้อยนิดเพียงแค่ “เสื่อผืนหมอนใบ” พอสังคมไทยเข้าสู่ยุคการพัฒนาประเทศให้ทันสมัย คนจีนในเจนเนอเรชั่นถัดๆ มา ได้มีการสั่งสมทุนเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นผ่านกิจการและธุรกิจภาคต่างๆ     ในแง่นี้ ละครก็ได้ชี้ให้เห็นว่า รากฐานหลักที่เป็นต้นทุนการผลิตที่สำคัญของชาว “เลือดมังกร” กลุ่มนี้ ก็อยู่ที่การเข้าไปจับจองธุรกิจใหญ่หลายประเภทในระบบเศรษฐกิจไทย นับตั้งแต่การถือครองสัมปทานธุรกิจรังนก การเป็นเจ้าของธุรกิจเซียงกงหรืออุตสาหกรรมยานยนต์ การยึดครองธุรกิจการค้าขายทองคำแท่ง การผูกขาดธุรกิจค้าข้าวและโรงสีข้าว และการเป็นเจ้าของกิจการโรงงิ้วและศาลเจ้าที่เยาวราช    ภายใต้การถือครองทุนและตัวอย่างกิจการใหญ่ๆ ในมือของกลุ่มชาวจีนเช่นนี้ ละครได้เซาะให้เห็นเบื้องหลังว่า อำนาจของกลุ่มทุนจีนอาจไม่ได้ดำเนินไปตามสัมมาอาชีวะเสมอไป เพราะบ่อยครั้งอำนาจดังกล่าวก็ตั้งอยู่บนพื้นฐานของมิจฉาทิฐิ เช่น การใช้ความรุนแรง การขูดรีดเพื่อช่วงชิงผลประโยชน์บนความขัดแย้งระหว่างกัน     จากคนรุ่นบุพการีของตัวละครทั้ง 5 ที่มารวมตัวกันเป็น “สมาคมเลือดมังกร” ด้านหนึ่งก็คือการผนวกผสานทุนและผลประโยชน์เอาไว้ในมือของกลุ่มตน แต่อีกด้านหนึ่ง ก็สะท้อนการได้มาซึ่งผลประโยชน์ที่มีการใช้อาวุธและความรุนแรงประหัตประหารไม่ต่างจากมาเฟียหรืออั้งยี่แต่อย่างใด    แต่เมื่อมาถึงคนรุ่นลูก ละครเองก็กำลังบอกเราว่า ลึกๆ แล้วคนรุ่นหลังก็ไม่ได้เห็นพ้องกับการสั่งสมทุนที่เกิดจากวิถีการขูดรีดบนกองเลือดเท่าใดนัก ตัวละครอย่างภรพ ทรงกลด หรือคณิน ที่ขัดแย้งกับบิดาเพราะไม่อยากสืบต่อธุรกิจของสายตระกูล หรือตัวละครอย่างธามและหงส์ที่มีบาดแผลอันเนื่องมาแต่สถาบันครอบครัว สะท้อนให้เห็นแรงบีบคั้นของกลุ่มทุนจีนรุ่นใหม่ว่า เป็นภาวะจำยอมเข้าสู่อำนาจ มากกว่าจะมาจากความปรารถนาจริงๆ ของปัจเจกบุคคลเหล่านั้น    ในฟากหนึ่ง ละครก็มีมุมเล็กๆ เรื่องปมความรักของตัวละครอย่างภรพกับ “วันวิสา” ทรงกลดกับ “อาจู” ธามกับ “ย่าหยา” คณินกับ “แพน” และหงส์กับ “อาหลง” ซึ่งนั่นก็เป็น “จุดขาย” ของละครที่ต้องใช้โรมานซ์เป็นกลไกของการดำเนินเรื่องให้มีปมขัดแย้งและดึงดูดความสนใจของผู้ชม    แต่ในอีกฟากหนึ่ง การที่ตัวละครต้องเข้าไปอยู่ในสนามการแข่งขันเพื่อสร้างความจำเริญเติบโตของทุนจีนรุ่นใหม่ ก็ยังมีด้านที่ใช้ความรุนแรงและอาวุธประหัตประหารไม่ต่างจากหัวหน้าแก๊งในรุ่นพ่อ แต่ทว่า “เลือดมังกร” รุ่นหลังก็พยายามสร้างความชอบธรรมขึ้นมาใหม่ว่า ไม่เพียงแต่พวกเขาและเธอจะไม่มีทางเลือกอื่นที่จะหลุดพ้นไปจากอำนาจ แต่การขึ้นสู่อำนาจของคนกลุ่มนี้ก็พยายามสถาปนาโฉมหน้าใหม่จากระบอบทุนนิยมเดิมไปสู่ระบอบทุนนิยมแบบ CSR    ถึงแม้จะก่อรูปอำนาจของทุนขึ้นมาจากการใช้อาวุธ ใช้ความรุนแรง หรือใช้การขูดรีดอันเป็นพื้นฐานของระบอบทุนไม่ว่าจะที่ใดก็ตาม แต่กลุ่มสหายทั้ง 5 คนกลุ่มนี้ก็คือ ทุน “เลือดมังกร” ที่ใช้อำนาจดังกล่าวเพื่อผดุงคุณธรรม มีความรับผิดชอบต่อสังคม และมีพื้นฐานเพื่อตอบแทนคุณแผ่นดินที่ให้ข้าวให้น้ำกับบรรพชนของคนเหล่านี้ตั้งแต่ยุค “เสื่อผืนหมอนใบ”    ขณะเดียวกัน การตัดสินใจขึ้นสู่อำนาจของพวกเขาก็ถูกประเมินว่า น่าจะดีเสียกว่าที่จะปล่อยให้มาเฟียในกลุ่มก๊วนและแก๊งอื่นๆ ขึ้นมามีอำนาจแทน เพราะไม่ว่าจะเป็นตัวละครอย่าง “เถ้าแก่เฮ้ง” “เสี่ยเคี้ยง” “เสี่ยเล้ง” “เสี่ยบุ๊ง” และสหพรรคพวกลิ่วล้อและตัวร้ายอีกมากมาย ก็คือตัวแทนอีกปีกหนึ่งของทุนจีนที่ขาดซึ่งคุณธรรมใดๆ     ภายใต้วิถีการเติบโตของทุนจีนในกระแสจีนาภิวัตน์เยี่ยงนี้ ละคร “เลือดมังกร” ก็คือภาพสัญลักษณ์ที่ไม่เพียงฉายให้เราเห็นการสั่งสมอำนาจของคนกลุ่มนี้ แต่ละครก็ยังมีนัยอีกด้านหนึ่งว่า ถึงแม้กลุ่มทุน “เลือดมังกร” รุ่นใหม่จะดำเนินชีวิตไปด้วยอำนาจเศรษฐกิจที่สั่งสมอยู่ในมือ แต่นั่นก็เป็นอำนาจที่ “ฟอกขาว” ไว้ด้วยสำนึกแห่งความรับผิดชอบและคุณธรรมแบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในระบอบเศรษฐกิจยุคใดสมัยใด                                 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 173 สุดแค้นแสนรัก : มนุษย์เราล้วนมีบาดแผลด้วยกันทุกคน

“ความรัก” กับ “ความแค้น” อาจไม่ใช่สองเรื่องที่อยู่ตรงข้ามกันเสียทีเดียว แต่น่าจะเป็นประดุจเหรียญหนึ่งเหรียญที่มีทั้งสองด้านพันผูกเอาไว้ด้วยกันมากกว่า    ปรมาจารย์ต้นตำรับทฤษฎีจิตวิเคราะห์ผู้เลื่องชื่ออย่าง ซิกมันด์ ฟรอยด์ เคยกล่าวไว้ว่า มนุษย์เราต่างก็มีปมแบบ “love-and-hate complex” หรือปมในจิตใจแบบที่ความรักกับความแค้นมักเกิดควบคู่กัน คล้ายๆ กับที่คนไทยมีความเปรียบเปรยว่า “ทั้งรักทั้งแค้นแน่นอุรา” หรือ “รักมากก็แค้นมาก” ซึ่งสะท้อนปมคู่ที่ไขว้กันของรักและแค้นนั่นเอง    ทัศนะเรื่องปมเหรียญสองด้านของความรักกับความแค้นแบบนี้ ก็คือภาพจำลองที่ฉายออกมาผ่านตัวละครมากมายในหมู่บ้าน “หนองนมวัว” ซึ่งเธอและเขาต่างก็มีมุมสองด้าน ที่เป็นมุม “สุดแค้น” ในเวลาหนึ่ง แต่ก็มีมุมแบบ “แสนรัก” ในเวลาเดียวกัน    หากขยายความตามทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์ ในช่วงพัฒนาการบุคลิกภาพของปัจเจกบุคคลในสังคมทุกวันนี้นั้น มนุษย์ทุกผู้ทุกนามล้วนแต่ถูกสังคมมอบ “บาดแผล” บางอย่างขึ้นมาเป็นปมภายในจิตใจของตนด้วยกันทั้งสิ้น ไม่ต่างจากตัวละครอย่าง “แย้ม” ที่เปิดฉากมากับความโกรธเกลียดและแค้นครอบครัวของ “อัมพร” ผู้เป็นลูกสะใภ้ ซึ่งอีกด้านหนึ่งก็เป็นบุตรสาวของ “ขัน” ผู้ที่พลั้งมือฆ่า “เทือง” สามีของแย้มจนเสียชีวิต    ความแค้นที่อยู่ในใจของแย้ม ชนิดเผาพริกเผาเกลือสาปส่งกันระหว่างสองตระกูล ได้กลายมาเป็น “บาดแผล” ที่มิอาจใช้ยาทิงเจอร์ไอโอดีนเยียวยาได้ ซ้ำยังกลับปะทุเป็นเชื้อฟืนเผาไหม้ไปสู่ตัวละครอื่นๆ ในท้องเรื่องเสียอีก     เริ่มจากตัวละครในครอบครัวของแย้มเอง ลูกชายคนโตอย่าง “ประยงค์” ก็ถูกโทสะจริตของมารดาผลักให้เขาต้องยืนอยู่บนทางสองแพร่งแบบ “ทางหนึ่งก็แม่ ทางหนึ่งก็เมีย” หรือลูกชายคนรองอย่าง “ประยูร” ที่แม้จะรู้สึกผิด แต่ก็ต้องเลือกเข้าข้างมารดา และยอมแต่งงานกับ “สุดา” ซึ่งลึกๆ ก็หวังฮุบสมบัติของแย้มเอาไว้เป็นของตน ในขณะที่ลูกสาวคนเล็กอย่าง “พะยอม” ก็ต้อง “ยอมฉันยอมเจ็บปวด” ด้วยการแต่งงานโดยปราศจากความรักกับ “ลือพงษ์” เพียงเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในแผนการแก้แค้นกับครอบครัวของศัตรู    ทางฝ่ายตัวละครในอีกครอบครัวหนึ่งนั้น ก็ถูกผูกโยงเข้าสู่วัฏจักรแห่งบาดแผล อันเกิดมาแต่ความแค้นของแย้มไม่แตกต่างกัน นับตั้งแต่กรณีของอัมพรที่แย้มกลั่นแกล้งพรากเอา “ยงยุทธ” ลูกชายคนโตมาจากอ้อมอก จนเธอต้องจำใจกลับมาใช้ชีวิตอยู่กับ “อ่ำ” ผู้เป็นมารดา ในขณะที่น้องสาวของอัมพรหรือ “อุไร” ซึ่งเป็นคนรักของลือพงษ์ นอกจากจะไม่อาจสมหวังในรักแล้ว เธอยังต้องแบกหน้าอุ้มท้องเลี้ยงดูลูกในครรภ์แต่เพียงลำพัง    สิ่งที่เรียกว่า “ความแค้นของคนรุ่นหนึ่ง” ดูเหมือนจะไม่ได้จบลงแค่ในคนรุ่นนั้น หากแต่บาดแผลมีการสืบทอดเป็นวังวนผ่านคนแต่ละรุ่น และมนุษย์ที่อยู่ในวังวนดังกล่าวก็มีสถานะเป็นเพียงแค่ “ร่างทรง” ที่สืบต่อและรองรับปมบาดแผลต่างๆ ของคนรุ่นก่อนเอาไว้เท่านั้น เหมือนกันกับความเจ็บปวดจากคนรุ่นแย้มและอ่ำที่ได้สืบทอดมาสู่รุ่นลูก และมีแนวโน้มจะส่งต่ออีกคำรบหนึ่งมายังรุ่นหลานๆ ในเจนเนอเรชั่นถัดมา    และภายใต้บาดแผลความเจ็บปวดในจิตใจของเรา ฟรอยด์เองก็ได้กล่าวว่า เพื่อให้มนุษย์มีชีวิตอยู่รอดและดำรงตัวตนต่อไปได้นั้น จิตของเราจะสร้างกลไกบางอย่างขึ้นมาเพื่อเยียวยาบาดแผลให้บรรเทาทุเลาลง หรือที่รู้จักกันว่าเป็น “กลการป้องกันตนเองทางจิต” หรือ “defensive mechanism” ที่คนแต่ละคนจะเลือกใช้วิถีการรักษาบาดแผลของตนแตกต่างกันไป    ในขณะที่แย้มเลือกใช้วิธีการ “ไขว่คว้า” ความสุขของหลานชายมาเป็นเครื่องมือการแก้แค้นของตน และ “ถ่ายโอน” ความเจ็บปวดของตนไปยังตัวละครอื่นๆ สำหรับตัวละครอย่างอ่ำกลับเลือกใช้กลยุทธ์การ “ข่มใจ” หรือปิดกั้นบาดแผลเอาไว้ด้วยธรรมะและพระศาสนา     ส่วนในรุ่นลูกๆ ของแย้มและอ่ำนั้น ในขณะที่ทั้งประยูรและพะยอมเลือกใช้กลไก “สองจิตสองใจ” ไม่ทำเพื่อแม่ก็ไม่ได้ แต่ถึงทำก็รู้สึกผิดอยู่ลึกๆ แต่ประยงค์พี่ชายคนโตกลับใช้วิธี “ถอนตัว” จากความเจ็บปวดและตรอมใจตายตั้งแต่ต้นเรื่องไปเสียเลย     ทางฝ่ายของอัมพรที่ถูกพรากลูกชายไปตั้งแต่ยังเล็ก ก็เลือกใช้กลไกการ “ถอยหลัง” กลับไปหาความปลอดภัยจากมารดา และเริ่มต้นชีวิตคู่ครั้งใหม่กับ “ทวี” นายตำรวจแสนดีมีคุณธรรม ส่วนอุไรผู้เป็นน้องสาวก็ใช้กลยุทธ์ “ตาต่อตาฟันต่อฟัน” กับครอบครัวของแย้ม เพียงเพื่อปิดกั้นปกป้องตนเองจากความเจ็บปวดทางใจ ซึ่งตรงข้ามกับลือพงษ์ ที่ใช้วิธีเลือก “ปลีกตัว” ออกไปจากสนามรบความรักความแค้นของทั้งสองตระกูล แต่ก็ไม่อาจสลัดหลุดจากความรู้สึกเจ็บปวดนั้นได้จริง    ไม่ว่าตัวละครต่างๆ จะเลือกหยิบกลไกป้องกันตนเองแบบใดมาบำบัดเยียวยาบาดแผลในจิตใจ แต่คำตอบที่แน่ๆ ก็คือ กลไกมากมายหลายชนิดดังกล่าวก็มิอาจสลายความเจ็บปวดให้มลายหายไปจนหมด หากแต่ทำได้เพียงบรรเทาโลภะโทสะโมหะของมนุษย์ให้ลดลงได้บ้างชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น     ครั้นมาถึงรุ่นของหลานๆ บุญคุณความแค้นที่ตอกย้ำสืบทอดมาจากบรรพชน ก็เริ่มเห็นริ้วรอยความขัดแย้งที่ส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่น เมื่อพี่น้องอย่างยงยุทธและ “ธนา” ต้องเข้ามาสู่เกมแย่งชิงพิชิตหัวใจของผู้หญิงคนเดียวกันอย่าง “คุณหมอหทัยรัตน์” หรือในกรณีของความรักระหว่าง “ระพีพรรณ” กับ “ปวริศ” ก็ต้องเจ็บปวดและมิอาจสมหวังได้ เนื่องมาจากทิฐิความแค้นของบุพการีเพียงอย่างเดียว    ในท้ายที่สุดของเรื่อง เมื่อตัวละครทั้งหลายเริ่มเรียนรู้ที่จะเข้าใจความจริงของชีวิต และรู้จักที่จะอโหสิกรรมให้อภัยกันและกัน ละคร “สุดแค้นแสนรัก” เองก็ได้ให้คำตอบกับเราไปพร้อมๆ กันว่า ถ้า “ความรัก” กับ “ความแค้น” เป็นสองคำที่อยู่บนเหรียญสองด้านในจิตใจแล้ว หากมนุษย์เราไม่หัดรู้จักตัดวงจรของความโกรธที่ “สุดแค้น” ลงให้ได้ บาดแผลในจิตใจของเราก็มิอาจสูญสลายหายไป และอีกด้านหนึ่งของเหรียญที่เรียกว่า “แสนรัก” ก็คงมิอาจเกิดขึ้นได้จริง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 172 นางชฎา : จาก “ผีนางนาก” สู่ “ผีนางรำ”

ในบรรดาผีที่ออกอาละวาดผ่านโลกของสื่อมวลชนมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน และเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ผู้ชมละครโทรทัศน์ชาวไทย ชื่อแรกคงหนีไม่พ้น “ผีนางนาก” หรือบ้างก็เรียกว่า “แม่นาคพระโขนง” นั่นเอง    จับความตามท้องเรื่องของนางนากนั้น เป็นเรื่องเล่าตำนานกล่าวขานมาตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์ตอนต้น ที่ระบบการแพทย์และสาธารณสุขในสยามประเทศยังล้าหลังอยู่ เมื่อ “อ้ายมาก” ต้องถูกเกณฑ์ทหารไปร่วมสงคราม “นางนาก” ที่คลอดลูกตามวิถีแบบโบราณ ก็เกิดเสียชีวิตตายทั้งกลม    ด้วยความรักและผูกพันกับสามีนั้น นางนากจึงไม่ยอมไปผุดไปเกิด และกลายเป็นผีอุ้มลูกในตำนาน ที่คอยปรนนิบัติพัดวีตำน้ำพริกดูแลอ้ายมากอยู่หลายเพลา กว่าที่เธอจะถูกสมเด็จพระพุฒาจารย์มาปลดปล่อยวิญญาณ และเรื่องจบลงในท้ายที่สุด    นับกว่าศตวรรษผ่านไป เมื่อระบบสาธารณสุขไทยก้าวหน้าขึ้น และสูตินารีเวชศาสตร์กลายเป็นองค์ความรู้ที่เข้ามาจัดการดูแลความปลอดภัยให้กับสตรีมีครรภ์ หลายคนอาจจะตั้งข้อสงสัยว่า แล้วตำนานความเชื่อแนวผีสาวเฝ้ารอความรักแบบนางนากนั้น จะสูญหายกลายกลืนไปกับกระแสธารแห่งอารยธรรมสมัยใหม่ด้วยหรือไม่?    คำตอบก็คือ ผีนางนากอุ้มลูกที่อยู่ท่าน้ำริมคลองอาจจะไม่ได้หายไปหรอก หากทว่าเปลี่ยนรูปจำแลงร่างให้ดูเป็นผีสาวที่เข้ากับยุคสมัยใหม่มากขึ้น ไม่ต่างจากตัวละครผีนางรำสวมชฎาอย่าง “ริลณี” ที่รอคอยการกลับมาของหนุ่มหล่อคนรักในวัยเรียนอย่าง “เตชิน”         ถ้าหากผีนางนากต้องพลัดพรากจากสามีเพราะระบบการจัดการสุขภาพที่ล้าหลังและไม่ปลอดภัย แล้วเหตุอันใดที่ทำให้ผีริลณีจึงมีอันต้องพลัดพรากจากเตชินชายคนรักของเธอ?     ในสังคมสมัยใหม่นั้น แม้วิถีการผลิตทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของพลเมืองจะก้าวหน้าไปเพียงไร แต่อีกด้านที่ล้าหลังของสังคมดังกล่าวก็คือ การธำรงอยู่ของความขัดแย้งระหว่างชนชั้นที่ยังคงคุกรุ่นและทับทวีความรุนแรงให้เห็นเข้มข้นยิ่งขึ้น     นี่เองที่เป็นเหตุผลหลักที่รักระหว่างริลณีกับเตชินมิอาจลงเอยแฮปปี้เอนดิ้งไปได้ เพราะเธอเป็นเด็กสาวที่เติบโตมาในสถานกำพร้า และต้องรับจ้างเป็นนางรำ “เต้นกินรำกิน” เพื่อเลี้ยงชีพ และเพราะเขาคือนักศึกษารุ่นพี่ที่เติบโตมาในครอบครัวผู้มีอันจะกิน และมีอนาคตอาชีพการงานที่ก้าวไกล ความสมหวังในความรักของทั้งคู่จึงเป็นไปไม่ได้เลย     แบบที่ “จิตรา” ผู้เป็นมารดาของเตชิน เคยกล่าวปรามาสถากถางริลณีที่กำลังคบหาดูใจกับบุตรชายว่า “ฉันจะไม่ยอมให้ผู้หญิงชั้นต่ำไม่มีหัวนอนปลายเท้าอย่างเธอเข้ามาเกี่ยวดองกับคนในตระกูลอย่างแน่นอน”     และบทเรียนที่จิตราสั่งสอนให้กับริลณีในระลอกแรกก็คือ ทั้งการข่มขู่คุกคาม การพยายามใช้เงินซื้อ การส่งคนไปเพื่อหวังจะทำร้าย ไปจนถึงการว่าจ้างคนร้ายให้ไปเผาสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าที่ริลณีกับเพื่อนๆ เติบโตมา     ส่วนในระลอกถัดมา ริลณีก็ถูกทดสอบบทเรียนจากบรรดาเพื่อนๆ ในสถาบันการศึกษา ซึ่งในขณะที่เธอเป็นกำพร้าและไม่มีทุนอันใดติดตัวมาแต่กำเนิดเลย แต่เพื่อนรอบข้างกลับเป็นผู้ที่ทั้งมีและเพียบพร้อมไปในทุกด้าน     ไม่ว่าจะเป็น “ปริมลดา” ที่รูปร่างหน้าตาสวยกว่า “เอกราช” ที่มีฐานะมั่งคั่ง “ตุลเทพ” ที่มีความสามารถและชื่อเสียง “ประวิทย์” ที่เรียนหนังสือเก่ง “เชิงชาย” ที่เป็นคนเจ้าเสน่ห์ “หงส์หยก” ที่เป็นลูกสาวพ่อค้าผู้มั่งมี และรวมไปถึงเพื่อนรักที่เป็นนางรำคู่ของริลณีอย่าง “ชมพู” ที่เกิดมาในครอบครัวที่มีฐานานุรูป จึงถูกญาติผู้ใหญ่จับให้เป็นคู่หมั้นหมายกับเตชิน    เพราะปมขัดแย้งระหว่างชนชั้นที่หยั่งรากลึกเกินกว่าความสัมพันธ์เชิงมิตรภาพใดๆ ริลณีจึงถูกเลือกปฏิบัติจากบรรดาเพื่อนๆ ที่หล่อสวยรวยทรัพย์กว่าเหล่านี้ ตั้งแต่ได้รับการดูถูกเหยียดหยาม การใส่ร้ายป้ายสี การกระทำทารุณทางกายและใจ การถูกคุกคามทางเพศ ไปจนถึงการที่ผองเพื่อนร่วมสมคบกันวางแผนที่จะข่มขืนเธอ จนนำมาซึ่งความตายและการพลัดพรากจากชายคนรัก    และเพราะ “อำนาจ” ในสมรภูมิขัดแย้งระหว่างชนชั้นนั้น เป็นสิ่งที่ไม่เข้าใครออกใคร ริลณีจึงเรียนรู้ว่าถ้าเธอไม่รู้จักที่จะใช้อำนาจ ในที่สุดเธอก็จะถูกใช้อำนาจจากคนที่สูงสถานะกว่า    ดังนั้น แม้เมื่อตอนมีชีวิต ริลณีจะถูกกระทำโดยที่เธอเองไม่มีทางต่อกร แต่หลังจากสิ้นสังขารกลายเป็นผีไปแล้ว ริลณีก็ใช้อำนาจเหนือธรรมชาติมาล้างแค้นและจัดการกับผองเพื่อนไปทีละราย เพื่อให้ตัวละครเหล่านั้นได้เรียนรู้ว่า หากต้องมาตกอยู่ในสถานะที่ถูกกระทำอย่างเธอบ้างแล้ว เขาและเธอจะมีความรู้สึกเช่นไร ไม่เว้นแม้แต่จิตราผู้เป็นมารดาของเตชิน ริลณีก็ใช้อำนาจของผีหลอกจนจิตราหวาดกลัวแทบไม่เป็นผู้เป็นคน    เมื่อเทียบกับผีนางนากที่แก้แค้นกับทุกคนที่เข้ามาขัดขวางเป็นอุปสรรคความรักของอ้ายมากกับเธอ ผีสาวริลณีก็ใช้วิธีจัดการกับตัวละครทุกคนที่ไม่เพียงขัดขวางความรักเท่านั้น แต่ยังล้างแค้นกลุ่มคนที่มีสถานะทางชนชั้นเหนือกว่า แต่กลับพรากเอาชีวิตของเธอไปอย่างไม่ยุติธรรม     ในทางหนึ่ง ละครเรื่อง “นางชฎา” ได้มอบอุทาหรณ์ว่า ใครทำกรรมใดไว้ก็ต้องได้รับผลกรรมนั้นตอบแทน หรือการอโหสิกรรมและการไม่ยึดติดต่อกรรมใดๆ จะช่วยปลดปล่อยให้เราหลุดพ้นและเป็นสุขในสัมปรายภพ     แต่ในอีกทางหนึ่ง ตราบใดที่ความขัดแย้งทางชนชั้นยังคงดำรงอยู่ ข้อคิดที่พระอาจารย์คงได้เทศน์สอนใจตัวละครทั้งหลาย ก็ยังคงถูกต้องเสมอว่า “ถึงเราจะคิดว่าผีร้าย แต่ก็อาจไม่ร้ายเท่ากับคน” ตราบเท่าที่คนเหล่านั้นยังมีรักโลภโกรธหลงและเดียดฉันท์กันข้ามชั้นชนระหว่างคนด้วยกันเอง                                 

อ่านเพิ่มเติม >