ฉบับที่ 105 กับดักความจริงกับงบโฆษณา

โตโยต้าเรียกคืนรถยนต์ครั้งใหญ่สุดในตลาดสหรัฐจำนวน 3.8 ล้านคัน หลังพบปัญหาเกี่ยวกับพรมปูพื้น ที่อาจขัดคันเร่ง ทำให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงได้ (29 ก.ย. 2009) โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ป จะเรียกคืนรถยนต์ "วิตซ์ "(Vitz) ประมาณ 82,00 คันในญี่ปุ่น หลังจากพบปัญหาขัดข้องที่สวิทช์หน้าต่างไฟฟ้าข้างคนขับ ซึ่งอาจทำให้เกิดไฟไหม้ได้( 21 ตุลาคม 2009) บริษัทร่วมทุนระหว่างตงเฟง มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ของจีน และนิสสัน มอเตอร์ส ของญี่ปุ่น เตรียมเรียกคืนรถเกือบ 52,000 คันในจีน เนื่องจากความบกพร่องเรื่องความปลอดภัยของระบบพวงมาลัย ขณะที่ก่อนหน้านี้เพียง 1 วัน "ฟอร์ด มอเตอร์" ก็เรียกคืนรถยนต์ 4.5 ล้านคัน จากระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ (cruise control) ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของการเกิดเพลิงไหม้ บริษัท ฮอนด้า ประกาศเรียกคืนรถ 440,000 คัน ในสหรัฐ หลังจากพบข้อบกพร่อง ในถุงลมนิรภัย ที่อาจทำให้มีผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บ หากเกิดอุบัติเหตุ(1 ก.ค.) ฮอนด้า เรียกคืนรถเพิ่มเป็น 1.14 ล้านคันจากสหรัฐ แคนาดาและญี่ปุ่น หวังแก้ไขระบบส่งกำลัง และถังน้ำมัน บริษัทวอลโว่เรียกคืนรถครั้งที่ใหญ่ที่สุดของบริษัท แม้ที่ผ่านมาจะมีรายงานอุบัติเหตุไฟไหม้รถ รวม 7 กรณี แต่จนถึงขณะนี้จะยังไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ การเรียกคืนรถของวอลโว่ครั้งนี้ เพื่อทำการติดตั้งระบบพัดลมระบายความร้อนให้กับลูกค้าใหม่โดยไม่คิดมูลค่า ด้านนางฉันทนา วัฒนารมย์ รองประธานฝ่ายการตลาด บริษัทวอลโว่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า สำหรับรถวอลโว่ในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นรถที่นำชิ้นส่วนเข้ามาประกอบในประเทศไทย ปัญหาความชำรุดบกพร่องของรถยนต์ข้างต้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ และพบตัวอย่างเกิดขึ้นบ่อยๆ ในต่างประเทศซึ่งมักจะปรากฏเป็นข่าวให้ได้รับรู้ในเมืองไทย แต่เราแทบจะไม่เห็นข่าวเหล่านี้เกิดขึ้นในประเทศไทย เป็นเพราะรถยนต์ที่ผลิตในประเทศดี ไม่มีปัญหา หรือไม่เคยพบความชำรุดบกพร่องเลยหรือ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงกับผู้บริโภคคนเล็กคนน้อยในเรื่องนี้ กลับพบว่า หนังสือพิมพ์แทบทั้งหมด สถานีโทรทัศน์รายการข่าวต่างๆ ของแทบทุกช่องยกเว้น โทรทัศน์สาธารณะ (TPBS) ไม่สามารถเสนอข่าวได้เลย เพราะกลัวอิทธิพลของเอเจ็นซี่โฆษณาที่มีมากกว่าความเสียหายของผู้บริโภค ซึ่งส่งผลให้บริษัทรถยนต์ต่างๆ เลือกที่จะซื้อใจบริษัทโฆษณา หรือสถานีโทรทัศน์ แทนความรับผิดชอบของตนเองในฐานะผู้จำหน่ายรถยนต์ในประเทศไทย ความรับผิดชอบมีแบบจำกัด และผู้บริโภคต้องใช้กำลังมากมายกว่าจะรับผิดชอบต่อความชำรุดบกพร่องหรือความเสียหายกับผู้บริโภคที่สำคัญ ๆ หรือไม่อย่างนั้นผู้บริโภคต้องมีลูกบ้า ขับรถของตนเองติดป้ายประจานความเสียหาย ตระเวนไปทั่วบ้านทั่วเมือง หรือทุบรถให้เห็นเป็นขวัญตานักข่าว จึงจะเกิดความตื่นตัวของทั้งผู้ประกอบการและหน่วยงาน บอกว่าเราต้องมีกฎหมายมะนาว(Lemon Law) เมื่อข่าวนั้นเงียบหายไป การแก้ปัญหาในทางระบบ การมีมาตรการ การมีกฎหมายก็เงียบเข้ากลีบเมฆไปเช่นกัน สังคมทุนนิยมแบบไทยๆ มีกับดักความจริงกับงบโฆษณา แถมความไม่รู้ร้อนรู้หนาวของหน่วยงานต่อความเสียหายของคนเล็กคนน้อย และความเสียหายต่อรัฐ ผู้บริโภคอย่างเราต้องทำหน้าที่เป็นลูกแมกซ์ที่ติดไปในเครื่องถ่ายเอกสารแล้วทำให้เครื่องถ่ายเอกสารพัง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 105 เซ็นยอมความไป ก็ใช่ว่าต้องยอมให้ถูกเอาเปรียบไปด้วย

มาตรา 887 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติว่า “ อันว่าประกันภัยค้ำจุนนั้น คือสัญญาประกันภัยซึ่งผู้รับประกันภัยตกลงว่าจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัยเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลอีกบุคคลหนึ่งและซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบบุคคลผู้ต้องเสียหายชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนตามที่ตนควรจะได้นั้นจากผู้รับประกันภัยโดยตรง แต่ค่าสินไหมทดแทนเช่นว่านี้ หาอาจจะคิดเกินไปกว่าจำนวนอันผู้รับประกันภัยจะพึงต้องใช้ตามสัญญานั้นได้ไม่ ในคดีระหว่างบุคคลผู้ต้องเสียหายกับผู้รับประกันภัยนั้น ท่านให้ผู้ต้องเสียหายเรียกตัวผู้เอาประกันภัยเข้ามาในคดีด้วย" คดีตัวอย่าง รถยนต์แท็กซี่ของโจทก์(ผู้ต้องเสียหาย) ถูกรถยนต์ของจำเลยที่ 2 ที่จำเลยที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ขับไปในทางการที่จ้างชนท้ายได้รับความเสียหาย รถยนต์ของจำเลยที่ 2 เอาประกันภัยไว้กับบริษัท ท. ต่อมาโจทก์ได้ใช้สิทธิเรียกร้องเอาเงินค่าเสียหาย 18,000 บาท โดยทำสัญญาประนีประนอมยอมความไว้กับบริษัท ท. ว่าจะไม่ติดใจเอาความทั้งทางแพ่งและทางอาญาต่อบริษัทและผู้เกี่ยวข้องอื่น ต่อมาโจทก์(ผู้ต้องเสียหาย) เอารถยนต์เข้าซ่อม อู่ใช้เวลาซ่อม 32 วัน โจทก์ขาดรายได้จากการเอารถยนต์ออกขับรับจ้าง จึงมาฟ้องศาลเรียกค่าขาดรายได้ดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 อีก จำเลยทั้งสอง(ผู้เอาประกันภัย) ก็ยกเรื่องโจทก์ทำสัญญาประนีประนอมกับบริษัท ท.ไปแล้วขึ้นต่อสู้  ปัญหาจึงมีว่าสัญญาประนีประนอมดังกล่าวทำให้หนี้ในมูลละเมิดระงับไปแค่ไหน คดีนี้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยทั้งสองรับผิด จำเลยทั้งสองฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยไว้อย่างน่ารับฟังไว้ในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3074/2551 ว่า  “ เมื่อจำเลยทำประกันภัยรถยนต์ไว้กับบริษัท ท. ความรับผิดของบริษัท ท. ต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ต้องเสียหายและเป็นบุคคลภายนอก เป็นความรับผิดตามสัญญาที่บริษัท ท. ทำไว้กับจำเลย อันมีลักษณะเป็นสัญญาประกันภัยค้ำจุน ซึ่งโจทก์ชอบที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากบริษัท ท.ได้โดยตรง แต่จะเรียกร้องเกินไปกว่าจำนวนที่บริษัท ท. จะพึงต้องใช้ตามสัญญาไม่ได้ การที่โจทก์กับบริษัท ท.ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน ย่อมมีผลทำให้หนี้ของบริษัท ท. ที่ต้องรับผิดต่อโจทก์ดังกล่าวระงับสิ้นไปและเกิดหนี้ใหม่ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ แต่หนี้ซึ่งระงับไปเพราะเหตุดังกล่าวนี้คงมีผลทำให้หนี้ในมูลละเมิดที่จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์ระงับไปด้วยเพียงเท่าที่บริษัท ท. ชำระให้แก่โจทก์เท่านั้น เพราะถือว่าเป็นการชำระในนามของจำเลยผู้เอาประกันภัย ดังนั้นหากมีความเสียหายในส่วนอื่นอันเกิดจากการทำละเมิด โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยรับผิดได้ หาใช่ว่าสิทธิของโจทก์จะถูกจำกัดให้มีเพียงเท่าที่ปรากฏในสัญญาประนีประนอมยอมความที่โจทก์ได้ทำไว้กับบริษัท ท. เท่านั้นไม่ “ พิพากษายืน และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 400 บาท แทนโจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 852 บัญญัติว่า “ ผลของสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นทำให้การเรียกร้องซึ่งแต่ละฝ่ายได้ยอมสละนั้นระงับสิ้นไป และทำให้แต่ละฝ่ายได้สิทธิตามที่แสดงในสัญญานั้นว่าเป็นของตน “

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 105 ฮีโร่วัยเด็ก

ใช่จะมีแต่เจ้าหน้าที่และผู้ใหญ่ที่ช่วยกันสอดส่องดูแลผลิตภัณฑ์อันตรายรอบๆ ตัวเรานะครับ เดี๋ยวนี้เด็กไทยเขาพัฒนาแล้วครับ ล่าสุดที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีเรื่องแตกตื่นกัน แต่ไม่ใช่แตกตื่นเพราะกรุแตกนะครับ แต่แตกตื่นเพราะมีของเล่นมหัศจรรย์แพร่ออกมา เด็กๆ ในจังหวัดนี้เขาไปซื้อหามาเล่นตามประสาน่ะครับ ของเล่นชนิดนี้เป็นชิ้นเล็กๆ รูปร่างต่างๆ เช่น กลม สี่เหลี่ยม ผัก ผลไม้ จิ้งจก จระเข้ เต่า กบ ฯลฯ แต่ที่เด็กๆ ชอบคือ พอนำมาแช่น้ำ ก็จะจองหองพองขน ขยายใหญ่โตขึ้นมาทันตาเห็น (ทำตัวอย่างกับนักการเมืองตอนได้ตำแหน่ง..ฮา) ไม่พองธรรมดานะครับ มันพองคับบ้านคับเมือง มากขึ้นหลายร้อยเท่า และเมื่อนำมาตากแห้งทิ้งไว้ ก็สามารถกลับคืนสู่สภาพเดิมได้ งานนี้เด็กๆ นักเรียน อย.น้อยในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ก็เลยนำข้อมูลมาบอก เภสัชกร สันติ โฉมยงค์ เภสัชกรประจำสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดฯ ซึ่งเป็นเสมือน อย.ใหญ่(หมายถึงเภสัชกรที่เป็นผู้ใหญ่แต่ใจยังเด็ก..ฮา) เรื่องราวถึงได้ดังระเบิดระเบ้อ จนมีการออกข่าวเตือน และมีการกวดขันไม่ให้จำหน่ายในที่สุด ในส่วนของจังหวัดสมุทรสงครามก็มีเหตุการณ์แบบนี้ โดยผมได้รับแจ้งจาก พี่อัญชลี เจ้าหน้าที่ฝ่ายเวชกรรมสังคมของโรงพยาบาลสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า ซึ่งได้ข่าวมาจากพยาบาลที่ได้ข้อมูลมาจากลูกอีกทอดหนึ่ง รวมทั้งมีข่าวว่าเด็กเผลอกลืนเข้าไป จนนำไปสู่การเตือนผู้บริโภคในที่สุด ความจริงไอ้เจ้าตัวเขมือบน้ำชนิดนี้ มีชื่อเรียกต่างๆ เช่น ตัวดูดน้ำ ตัวเลี้ยง ตัวกินน้ำ หรือน้ำตานางเงือก เป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากวัสดุโพลิเมอร์ที่มีคุณสมบัติในการดูดซับน้ำได้อย่างมหาศาล (Super Absorbent Polymer ; SAP) เช่น Polyacrylic acid , Sodium polyacrylate ฯลฯ วัสดุโพลิเมอร์เหล่านี้ถูกนำมาใช้ประโยชน์อย่างแพร่หลายในปัจจุบัน เช่น ดินวิทยาศาสตร์ ผลิตภัณฑ์ผ้าอ้อมสำเร็จรูป และผ้าอนามัย ฯลฯ สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดสำหรับของเล่นวิทยาศาสตร์ชนิดนี้ก็คือ อันตรายจากการกลืนกินเข้าไป เพราะจะทำให้เกิดการพองตัวกีดขวางทางเดินอาหาร หากไม่สามารถนำออกมาได้ อาจทำให้เสียชีวิตในที่สุด นอกจากนี้สีที่ใช้ผสมในของเล่น ฯ ดังกล่าว ไม่ใช่สีผสมอาหาร เป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างมาก จึงจำเป็นต้องมีมาตรการในการควบคุมต่างๆ อย่างเหมาะสม โดยเฉพาะการนำมาจำหน่ายในลักษณะของเล่นของในกลุ่มเด็กเล็กๆ เพราะมีความเสี่ยงสูงที่เด็กจะกลืนกินเข้าไป งานนี้ต้องยกให้เด็กเขาเป็นฮีโร่ล่ะครับ ถ้าเขาไม่นำเรื่องนี้มาบอกผู้ใหญ่ พวกเราคงไม่รู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 105 กระแสต่างแดน

มือถือรุ่นสกัดบริการเสริมปัญหาเรื่องค่าธรรมเนียมบริการเสริมในโทรศัพท์มือถือนี่ไม่ใช่มีแต่ในเมืองไทยกันนะพี่น้อง ผู้บริโภคชาวออสซี่เขาก็สุดทนกับรายจ่ายอันไม่คาดฝันที่โผล่มาพร้อมบิลค่าบริการโทรศัพท์มือถือเหมือนกันล่าสุดทางการเขาก็คิดทางเลือกกันขึ้นมาสองทาง หนึ่งคือออกข้อบังคับให้เครื่องรับโทรศัพท์ทุกเครื่องถูกตั้งมาให้ไม่สามารถรับบริการเสริม (ที่คิดเงินเพิ่ม) จนกว่าเจ้าของจะไปแจ้งว่าตนเองต้องการใช้บริการดังกล่าว หรืออย่างที่สอง คือ ไม่ต้องไปทำอะไรกับเครื่องโทรศัพท์ แต่ให้ผู้บริโภคเป็นฝ่ายแจ้งมาเองถ้าต้องการให้เครื่องรับของตนเองบล็อกบริการสิ้นเปลืองดังกล่าวท้ายสุดคณะกรรมาธิการการแข่งขันและคุ้มครองผู้บริโภคแห่งออสเตรเลีย (Australian Competition and Consumer Commission: ACCC) เห็นด้วยอย่างยิ่งกับทางเลือกที่หนึ่งที่จะมีโทรศัพท์ชนิดที่ “ไม่รับ” บริการเสริมออกมาจำหน่าย และถ้าผู้บริโภคสนใจบริการเสริมใดๆ ก็โทรไปแจ้งขอเปิดรับบริการ ซึ่งจะดีอย่างยิ่งสำหรับผู้ปกครองที่ต้องการควบคุมค่าใช้จ่ายและการเข้าถึงสื่อของลูกๆACCC ฟันธงแล้วว่าจะนำเสนอรูปแบบนี้ต่อคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม ในขณะที่วิจารณ์ว่าทางเลือกที่สองนั้นค่อนข้างจะอ่อนไปหน่อย เพราะผู้บริโภคส่วนใหญ่อาจไม่รู้ว่าพวกเขาสามารถโทรไปขอให้มีการบล็อคโทรศัพท์ได้   เมื่อขยะเดินทางไกลปัจจุบันขยะอิเล็กทรอนิกส์ในยุโรปนิยมเดินทางไปต่างประเทศกันมากขึ้น ทำให้ธุรกิจขนส่งขยะอิเล็กทรอนิกส์ไปยังปลายทางอย่าง จีน อินเดีย อินโดนีเซีย หรืออัฟริกา นั้นเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วเหตุที่ขยะเหล่านั้นต้องเดินทางกันมากขึ้นก็เพราะกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดมากขึ้นของยุโรปนั่นเอง ตั้งแต่การรีไซเคิลหรือการกำจัดอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นภาคบังคับ การเก็บภาษีการเผาขยะ (ซึ่งแพงมากๆ) ไปจนถึงการห้ามเด็ดขาดเรื่องการเอาขยะไปถมที่ยกตัวอย่างเช่น การเผาขยะในเนเธอร์แลนด์นั้น แพงกว่าการส่งขยะลงเรือไปประเทศจีนถึง 4 เท่า นี่คิดเทียบกับการส่งออกขยะแบบถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น ความจริงแล้วสามารถถูกลงกว่านั้นได้อีกถ้าเป็นการดำเนินการแบบใต้ดิน (หรือจะเรียกว่าใต้น้ำดี) ที่คุณสามารถส่งขยะของคุณไปยังประเทศอันห่างไกลแล้วทำให้มันสาบสูญไร้ร่องรอยไปโดยไม่ต้องใช้ทุนมากข่าวบอกว่าในบรรดาขยะที่ส่งออกไปจากยุโรปนั้น มีถึงร้อยละ 16 ที่เป็นการส่งไปแบบผิดกฎหมาย แต่ขยะที่ไม่มีทั้งพาสปอร์ตและวีซ่าเหล่านี้สามารถผ่านออกไปได้ฉลุยเพราะท่าเรือส่วนใหญ่ไม่ค่อยเข้มงวดกับสินค้าที่ส่งออกมากเท่ากับสินค้านำเข้า ที่สำคัญยังมีเรือที่นำเสื้อผ้าราคาถูกเข้ามาส่งในยุโรปแล้วไม่อยากกลับบ้านเรือเปล่าอีกจำนวนไม่น้อยด้วยปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ในยุโรปนั้นลดลงมากกว่าครึ่งจากที่คาดการณ์ไว้ แต่องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมของยุโรป (European Environment Agency) บอกว่า ดูท่าแล้วคงจะลดลงเพราะถูกลักลอบส่งออกไปมากกว่าปัจจุบันท่าเรือร็อตเตอร์ดัม ซึ่งเป็นท่าเรือที่จอแจที่สุดในยุโรป ทำหน้าที่เป็นชุมทางเรือบรรทุกขยะไปโดยปริยาย ขยะกระดาษ พลาสติก หรือโลหะจากยุโรปจะถูกส่งไปยังประเทศจีน ในขณะที่ขยะอิเล็กทรอนิกส์จะไปที่ปลายทางในอัฟริกาที่ กาน่า อียิปต์ และไนจีเรียณ ประเทศปลายทางของเรือที่ออกจากท่านี้จะมีเด็กๆ คอยทำหน้าที่แยกชิ้นส่วนต่างๆ (ซึ่งเป็นไปได้อย่างยิ่งที่จะมีสารพิษ) ที่สามารถนำกลับไปใช้ได้ ส่วนขยะอีกจำนวนหนึ่ง (ที่กฏหมายยุโรประบุว่า ต้องนำไปรีไซเคิล) ก็จะถูกเผาหรือปล่อยไว้ให้ผุพังไปตามอัธยาศัยที่ท่าเรือร็อตเตอร์ดัมนั้นมีการใช้เครื่องเอ็กซ์เรย์ และการวิเคราะห์ด้วยคอมพิวเตอร์เพื่อหาตู้สินค้าน่าสงสัยและจัดการปรับผู้กระทำผิด และส่งขยะเหล่านั้นกลับไปยังประเทศต้นตอ แต่ฝ่ายที่แอบส่งขยะไปประเทศที่สามอย่างผิดกฎหมายนี้มองว่าค่าปรับแค่ 22,000 เหรียญ (เจ็ดแสนกว่าบาท) นั้นถือว่าคุ้มมาก ซึ่งยังถือว่าเป็นอัตราที่ผู้ลักลอบส่งขยะเหล่านั้นมองว่าน่าเสี่ยงไปไม่พ้น จีเอ็มโอผู้บริโภคทั่วโลกนั้นชัดเจนมานานแล้วว่าไม่ต้องการอาหารที่ผ่านการดัดแปรพันธุกรรม แต่ดูเหมือนว่า แม้ในประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่ปฏิเสธอาหารดัดแปรพันธุกรรมอย่างเป็นทางการไปเมื่อ 10 ปีที่แล้วอย่างประเทศอังกฤษก็กำลังเผชิญกับปัญหา หนีไม่พ้นจีเอ็มโอปัจจุบันสองในสามของถั่วเหลือง 2.6 ล้านตันที่อังกฤษนำเข้านั้น เป็นถั่วเหลืองที่ดัดแปรพันธุกรรมที่ส่วนใหญ่ส่งมาจากประเทศในทวีปอเมริกาและระบุว่าใช้เพื่อเป็นอาหารสัตว์ นอกจากนี้น้ำมันจากถั่วเหลืองที่ดัดแปรพันธุกรรม ก็ใช้กันแพร่หลายในธุรกิจอาหารในประเทศด้วยเมื่อดูจากปริมาณการนำเข้าแล้วก็ดูจะเชื่อได้ยากเหลือเกินว่าอาหารที่วางขายอยู่ทั่วไปในอังกฤษนั้นจะปลอดจากพืชดัดแปรพันธุกรรม และการตรวจสอบต้นตอที่มาของมันก็ยากขึ้นทุกที เจ้าหน้าที่ระดับสูงคนหนึ่งให้สัมภาษณ์ว่าถ้านำอาหารพวกนั้นไปตรวจก็มีความเป็นไปได้อย่างยิ่งที่จะพบพืชดัดแปรพันธุกรรมเป็นส่วนผสมปัญหาอีกอย่างหนึ่งของพืชพันธุ์จีเอ็มโอก็คือ การผูกขาดเมล็ดพันธุ์ จะว่าไปแล้ว อำนาจของธุรกิจในการควบคุมเมล็ดพันธุ์เพื่อการค้าและการผลิตสารเคมีการเกษตรไม่เคยมากเท่านี้มาก่อน ปัจจุบันร้อยละ 82 ของเมล็ดพันธุ์ในตลาดโลกเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ “มีเจ้าของ” ที่สำคัญเกือบครึ่งหนึ่งของเมล็ดพันธุ์อันมีลิขสิทธิ์ในตลาดโลกซึ่งมีมูลค่าถึง 22,000 ล้านเหรียญสหรัฐนั้น ถูกยึดครองโดยสามบริษัทใหญ่ ได้แก่ มอนซานโต และดูปองท์ จากสหรัฐฯ และ ซินเจนต้าจากสวิตเซอร์แลนด์ เท่านั้นและสามบริษัทที่กล่าวมารวมกับ Bayer BASF และ DowAgro Sciences ก็ครองตลาดสารเคมีการเกษตรไปถึง 3 ใน 4 ของโลกแล้วเช่นกัน เอาอะไรมาแลก ก็ไม่ยอมสองในสามของผู้บริโภคชาวอเมริกัน ไม่เห็นด้วยกับการถูกบริษัทโฆษณาเฝ้าติดตามพฤติกรรมออนไลน์ แม้ว่ามันจะหมายถึงการได้คูปองส่วนลดหรือการได้รับข่าวสารเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่ตนเองสนใจก่อนใครโดยอัตโนมัติก็ตามการสำรวจครั้งนี้พบว่าร้อยละ 66 ของผู้ตอบคำถาม (ซึ่งได้แก่ผู้ใช้อินเตอร์เน็ท ที่อยู่ในวัยระหว่าง 18 ถึง 24 ปี ทั้งหมด 1,000 คน) ไม่เห็นด้วยกับการที่บริษัทต่างๆ ส่งโฆษณามาให้ โดยอ้างอิงจากพฤติกรรมการใช้อินเตอร์เน็ทในการหาข้อมูลของตนเองก่อนหน้านั้น และเมื่อได้ทราบถึงวิธีการต่างๆ ที่เว็บไซต์ใช้ในการติดตามเก็บข้อมูลเกี่ยวกับตนเอง ทั้งทางออนไลน์ และออฟไลน์ (เช่น ณ จุดขาย) อัตราส่วนของผู้ที่ไม่เห็นด้วยกลุ่มผู้ใช้อินเตอร์เน็ทเหล่านี้ ก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วยเรื่องนี้ค้านกับข้อสรุปของนักการตลาดที่ทึกทักเอาว่าการติดตามพฤติกรรมผู้บริโภคทางอินเตอร์เน็ทเป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ต้องเกรงใจ เพราะบรรดาวัยรุ่นใน Facebook นั้นไม่มีปัญหากับการเปิดเผยข้อมูลของตนเองให้คนทั่วไปได้รับรู้แต่อย่างใด และโฆษณานี่แหละคือสิ่งที่ทำให้ผู้บริโภคสามารถหาข้อมูลได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายประมาณร้อยละ 70 ของผู้ตอบบอกว่าเห็นด้วยกับการมีกฎหมายที่ให้สิทธิกับผู้ใช้อินเตอร์เน็ทได้รับรู้ว่าเว็บไซต์รู้อะไรเกี่ยวกับพวกเขาบ้าง ในขณะที่มีเสียงอีกท่วมท้น (มากกว่าร้อยละ 90) บอกว่าน่าจะมีกฎหมายที่ระบุให้ทางเว็บไซต์ลบข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับบุคคลใดบุคคลหนึ่งทันทีที่ได้รับการร้องขอที่สำคัญการสำรวจครั้งนี้ยังพบว่า มีผู้ตอบแบบสอบถามน้อยกว่าครึ่งที่เข้าใจถูกต้องว่าถึงแม้เว็บไซต์จะมีสิ่งที่เรียกว่า “นโยบายเรื่องความเป็นส่วนตัว” แต่ก็ยังสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลของเว็บตัวเองกับบริษัทอื่นๆ ได้อยู่ดี 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 105 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนตุลาคม 2552 21 ต.ค. 52 ระวัง!!! อาหารกระป๋องของ “บ.กิ่งแก้วฟู้ดส์” และ “บ.ไทย เอ ดี ฟู้ดส์ เทรดดิ้ง” นพ.พงศ์พันธ์ วงศ์มณี รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่าจากการเฝ้าระวังสถานการณ์ผลิตภัณฑ์อาหารกระป๋อง ยังคงพบผลิตภัณฑ์ ลิ้นจี่กระป๋อง ตราชาวดอย เน่าเสียก่อนหมดอายุ และพบผลิตภัณฑ์อาหารกระป๋องลำไยในน้ำเชื่อมตราชาวดอย ผลิตโดย หจก.ไทย เอ ดี ฟู้ดส์เทรดดิ้ง จ.เชียงราย วางจำหน่ายอยู่ในท้องตลาด ซึ่งบริษัทดังกล่าวยกเลิกใบอนุญาตผลิตอาหารไปแล้วตั้งแต่วันที่ 25 ก.พ.ที่ผ่านมา รวมทั้งบริษัททองกิ่ง-แก้วฟู้ดส์ จำกัด จ.สมุทรสาคร ได้ขาดการต่ออายุใบอนุญาตไปแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2552 ซึ่งมีผลให้เลขทะเบียนตำรับอาหารทั้งหมดของบริษัทสิ้นสภาพไปด้วย ดังนั้น อย.จึงประกาศเตือนผู้บริโภคอย่าซื้อผลิตภัณฑ์อาหารกระป๋องและผลิตภัณฑ์อื่นๆ จากทั้ง 2 บริษัทนี้มารับประทาน เพื่อความปลอดภัยในการบริโภค และหากพบเห็นผลิตภัณฑ์อาหารของบริษัทดังกล่าววางจำหน่าย สามารถร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย. โทร.1556 หรือที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ   27 ต.ค. 52ทดสอบ “เน็ต” เร็วแค่ 70% ของโฆษณาหลังจากที่สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) ร่วมกับสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย เปิดตัวโครงการสำรวจและทดสอบคุณภาพความเร็วอินเตอร์เน็ต ปี 2552 หรือ ‘สปีดเทสต์’ ขึ้น ตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค. – 25 ต.ค. ที่ผ่านมา เพื่อศึกษาข้อมูลการให้บริการอินเตอร์เน็ตของผู้ประกอบการ (ไอเอสพี) ผ่านเว็บไซต์หลักของโครงการคือ www.speedtest.or.th จากผลการทดสอบที่ความเร็วต่ำกว่า 12 เมกะบิตต่อวินาทีลงมา และเป็นการให้บริการผ่านเทคโนโลยี ADSL คิดเป็นจำนวน 7.5 แสนราย พบว่าความเร็วที่ได้ประมาณ 70% จากที่โฆษณา โดยอินเตอร์เน็ตในเครือสามารถ คอร์ปอเรชั่น ให้บริการได้ดีที่สุด นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผู้อำนวยการสบท.กล่าวว่า หากไอเอสพีต้องการใช้ความเร็วเป็นจุดขาย ก็ควรปรับคุณภาพให้ได้ตามที่โฆษณาจริงๆ แต่หากทำไม่ได้จริงก็ควรลดค่าบริการลงให้เหมาะกับคุณภาพพ.ต.อ.ญาณพล ยั่งยืน นายกสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย กล่าวว่า สิ่งที่สมาคมฯ กับสบท.เปิดเผยในครั้งนี้ เป็นข้อมูลเชิงสถิติ เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องนำไปปรับปรุงแก้ไขซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการคุ้มครองผู้บริโภคในภาพรวมด้วย ทั้งนี้ผู้ใช้บริการควรให้ความสำคัญกับการตรวจวัดความเร็ว หมั่นตรวจสอบความเร็วอินเตอร์เน็ตที่ใช้อยู่เป็นประจำ  29 ต.ค. 52มายังไง?! “เศษลวด” ในยาพารานายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากการที่มีผู้บริโภคพบเศษลวดในยาพาราเซตามอลขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) ซึ่งหลังจากตรวจสอบเศษลวดดังกล่าว คาดว่าน่าจะเกิดจากตะแกรงหรือแร่งสำหรับร่อนยา รวมทั้งการตั้งระบบการไหลของยาที่ผลิตเสร็จแล้วเร็วเกินไป จึงทำให้เกิดข้อผิดพลาด อย่างไรก็ตามได้เรียกเก็บยาล็อตดังกล่าวจากทั่วประเทศแล้ว ส่วนจะให้บริษัทเอกชนผลิตยาพาราเซตามอลต่อหรือไม่ อยู่ที่องค์การเภสัชจะพิจารณาต่อไป ขณะเดียวกันหลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)ของสหรัฐอเมริกา ได้มีการทบทวนเพื่อลดปริมาณพาราเซตามอลในตัวยา จากเดิมคือ 500 มล./เม็ด ให้เหลือเพียง 325 มล./เม็ด เพื่อช่วยลดความแรงของฤทธิ์ยาลง ซึ่งมีงานวิจัยยืนยันว่ายังคงประสิทธิภาพในการรักษาอาการปวดได้ ทำให้อย.ของไทยเร่งทบทวนการใช้ยาพาราเซตามอลอย่างเหมาะสม 31 ต.ค. 52อย.เตือนอย่าเชื่อโฆษณากาแฟลดความอ้วนปัจจุบันมีการโฆษณาผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูปจำนวนมากที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริงว่ามีผลในการลดน้ำหนัก ผิวสวย รูปร่างดี ฯลฯ นพ.นรังสันต์ พีรกิจ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า แม้ที่ฉลากจะระบุส่วนประกอบว่า มีไฟเบอร์ คอลลาเจน แอลคาร์นีทีน หรือโครเมียม แต่ยังไม่มีข้อมูลทางการวิจัยยืนยันว่า สารดังกล่าวมีผลในการลดน้ำหนัก ทำให้ผิวสวย หรือเพิ่มความงามแต่อย่างใด ส่วนเลขสารบบอาหารที่แสดงบนฉลากอาหารนั้นเป็นเพียงการประเมินความปลอดภัยเบื้องต้นเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ สถานที่ผลิต และส่วนประกอบเท่านั้น ไม่ได้รับรองการโฆษณาใดๆ และอย.ก็ไม่อนุญาตให้กล่าวอ้างสรรพคุณลดความอ้วนหากพบเห็นการโฆษณาผลิตภัณฑ์กาแฟที่โอ้อวดเกินจริง สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน อย.โทร.1556  สภาผู้บริโภคฯ ร้องสคบ.คุมบริการมือถือเติมเงินสภาผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมและเครือข่ายผู้บริโภค ยื่นข้อเสนอต่อ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ขอให้แก้ไขประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่องให้ธุรกิจการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2543 เพื่อควบคุมโทรศัพท์แบบเติมเงิน โดยประเด็นหลักๆ ที่เครือข่ายผู้บริโภคต้องการให้แก้ไข ประกอบด้วย การให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบเติมเงินต้องไม่มีลักษณะบังคับให้ผู้ใช้ใช้ภายในเวลาจำกัด ซึ่งระยะเวลาในการใช้บริการขั้นต่ำต้องไม่น้อยกว่า 180 วัน และต้องมีระบบคืนเงินส่วนที่เหลือที่ไม่ได้ใช้ให้กับผู้ใช้บริการ นอกจากนี้ผู้ให้บริการต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อการให้บริการเสริมใดๆ บนเครือข่ายของตัวเอง โดยมีการชี้แจงค่าบริการและข้อมูลอื่นๆ เกี่ยวกับบริการอย่างชัดเจนซึ่งเหตุผลที่เครือข่ายผู้บริโภคเข้ามาร้องต่อสคบ. ในครั้งนี้เพราะเห็นว่า สคบ. สามารถเอาผิดกับผู้ให้บริการได้ทั้งทางแพ่งและอาญา ซึ่งดีกว่าประกาศของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เรื่องมาตรฐานสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 ที่มีอำนาจเพียงการบอกเลิกสัญญาผู้ประกอบการเท่านั้นด้าน นายพิฆเนศ ต๊ะปวง ผู้อำนวยการกองคุ้มครองผู้บริโภคด้านสัญญา กล่าวว่า สคบ. ยินดีรับข้อเสนอ และนำไปศึกษาต่อว่าอยู่ในส่วนที่ สคบ. สามารถดำเนินการได้หรือไม่ พร้อมแนะให้ สภาผู้บริโภครวบรวมผู้ใช้โทรศัพท์ที่ถูกเอาเปรียบส่งให้ สคบ. ฟ้องผู้ประกอบการ เพื่อให้เห็นผลที่ชัดเจนในทางปฏิบัติ เมื่อศาลตัดสินจะได้นำมายกเป็นกรณีตัวอย่าง แต่ที่ผ่านมาการฟ้องร้องไม่ค่อยจริงจัง เพราะสามารถไกล่เกลี่ยชดเชยค่าเสียหายกันได้ เครือข่ายผู้บริโภคร่วมพลัง! ส่งตรงข้อเสนอถึง กทช. ก่อนประมูล 3Gมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จัดโครงการปฏิบัติการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคขึ้น ณ ศูนย์ประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เมื่อวันที่ 5 พ.ย. ที่ผ่านมา เพื่อประชุมผู้แทนองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศครั้งที่ 1 ในการทำหน้าที่ให้ความเห็นประกอบการพิจารณาของหน่วยงานรัฐในการบังคับใช้กฎหมายรวมทั้งตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคกรณีการประมูลคลื่น 3G ของคณะกรรมการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.)นางสาวจุฑา สังคชาติ ตัวแทนเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคใต้ กล่าวถึงประเด็นราคาประมูลและจำนวนใบอนุญาตว่า ต้องมีการออกมาตรการเรื่องการแข่งขัน การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และการส่งข้อมูลหรือภาพ โดยนำมาตรการดังกล่าวไปเปิดรับฟังความคิดก่อนเปิดประมูล และควรกำหนดคุณสมบัติผู้ประมูลให้ชัดเจน เช่น ต้องเป็นผู้ประกอบการที่เป็นคนไทยเท่านั้น ต้องทำให้เกิดการแข่งขันในการประมูลใบอนุญาตและผู้ให้บริการควรคิดค่าบริการอย่างเป็นธรรมนางสาวบุญยืน ศิริธรรม ตัวแทนเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ภาคตะวันตก กล่าวถึงเรื่องเงื่อนไขการประมูลระยะเวลาใบอนุญาตและความครอบคลุมการให้บริการ ในเชิงพื้นที่และกลุ่มเป้าหมายว่า ต้องมีการกำหนดเงื่อนไขการประมูลให้ชัดเจน เช่น ต้องจัดบริการให้เข้าถึงอย่างครอบคลุมทุกพื้นที่และกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ เช่น คนพิการ ต้องแจ้งโครงสร้างต้นทุนการให้บริการ เพื่อกำหนดราคาการให้บริการที่มีมาตรฐาน กทช.ต้องดูแลสัดส่วนของกองทุนบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึง โดยเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายย่อยสามารถเข้ามาในตลาดการแข่งขัน และสัมปทานต้องไม่มีข้อกำหนดที่ปิดโอกาสในการขอสัมปทานในระบบอื่นในครั้งต่อไปดร.เรืองชัย ตันติยนนท์ สมาคมคุ้มครองผู้บริโภคสงขลา เสนอประเด็นการติดตาม ตรวจสอบการดำเนินงานตามใบอนุญาตหรือเงื่อนไขการให้บริการว่า จะต้องมีกลไกการติดตามตรวจสอบการดำเนินงาน ทั้งก่อนและหลังการประมูล อีกทั้งต้องมีกติกากำกับการดำเนินงานของผู้ประกอบการอย่างเข้มแข็งและจริงจัง มีบทลงโทษที่สามารถปฏิบัติได้จริง ทั้งนี้ กทช. ต้องสนับสนุนให้องค์กรผู้บริโภคเป็นกลไกเฝ้าระวังเพื่อติดตามตรวจสอบการดำเนินงาน และรัฐบาลต้องเร่งให้มีองค์การอิสระเพื่อผู้บริโภคตามรัฐธรรมนูญมาตรา 61ด้านนายสวัสดิ์ เฟื่องฟู ตัวแทนเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคเหนือ กล่าวถึงประเด็นกลไกการกำกับเนื้อหาในระบบ 3G ว่า ต้องจัดให้มีคณะกรรมการกำกับดูแลระดับประเทศ มีองค์ประกอบจากทั้ง 3 ฝ่าย คือ ผู้ให้บริการ ผู้กำกับดูแล ผู้บริโภค เข้าไปกำกับดูแลและมีบทบาททั้งเชิงการให้คุณและให้โทษ โดยทำงานร่วมกับศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคภาคประชาชน รวมทั้งผู้ได้รับใบอนุญาตต้องกำหนดหรือสร้างเงื่อนไข สำหรับผู้ให้บริการเสริม ทั้งเนื้อหา ภาพ ข้อมูลให้ชัดเจนขณะที่ นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวเพิ่มเติมว่า จะนำข้อเสนอ ไปยื่นต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อเร่งผลักดันให้มีการออกกฎหมายองค์การอิสระผู้บริโภคตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 61 หลังจากนั้นจะนำเสนอข้อมูลให้กับคณะกรรมการโทรคมนาคมแห่งชาติในวันที่ 12 พ.ย. และจะส่งข้อเสนอต่อคณะกรรมการไอซีที สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภค และนักสิทธิมนุษยชนของวุฒิสภา เพื่อตรวจสอบว่าข้อเสนอดังกล่าวจะสามารถดำเนินการได้มากน้อยเพียงใด นอกจากนี้จะนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินงานของ กทช. เกี่ยวกับกรณี 3G ให้ประชาชนทราบ ทั้งนี้หากข้อเสนอไม่ได้รับการปฏิบัติและดำเนินการ หรือการประมูลเกิดความไม่ชอบมาพากล อาจจะใช้ มาตรา 11 ตามพระราชบัญญัติฮั้วการประมูลมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการดำเนินการต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

คุณรู้หรือว่าเครื่องสำอางที่ใช้อยู่มีสารรบกวนฮอร์โมน

นิตยสารฉลาดซื้อ ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมมือกับนิตยสารโซบิจาขององค์กรผู้บริโภคของเกาหลี ทำการสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคในการใช้เครื่องสำอางสำหรับแต่งหน้า และการรับรู้เรื่องพาราเบน (หนึ่งในสารที่รบกวนระบบฮอร์โมน) คลิก ร่วมตอบแบบสอบถามที่นี่ค่ะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 104 ประมูล 3 G อย่างไรผู้บริโภคได้ประโยชน์

ตื่นเต้นไปตามๆ กันเมื่อทุกคนเริ่มเห็นว่า ประเทศไทยน่าจะมีโอกาสประมูลให้ใบอนุญาต 3 G ทั้งๆ ที่ไม่ค่อยเข้าใจกันนักว่าเจ้า 3G นี้แตกต่างจากระบบปัจจุบันที่เป็น 2 G อย่างไร  ฟังแนวทางจากคณะกรรมการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) หรือแม้แต่นายกรัฐมนตรีก็บอกว่าไม่อยากให้ประมูลราคาสูงมาก เพราะจะเป็นภาระแก่ผู้บริโภคประมูลสูงเป็นภาระผู้บริโภคจริงเหรอ ?? ลองดูรูปข้างล่างเรื่องนี้กันเล่นๆ แล้วให้ทายว่า มีความแตกต่างกันอย่างไร เหตุที่มูลค่าการประมูลที่ราคาสูงไม่เกี่ยวข้องกับภาระกับผู้บริโภคในกรณีนี้เนื่องจาก หากราคาประมูล 3 G ได้ไม่เกิน 6,500 ล้านบาท หรือถึงแม้จะสูงแต่หากยังไม่เกินมูลค่าการจ่ายสัมปทานให้กับรัฐ (ระบบ 2 G) แสดงว่าค่าใช้จ่ายบริษัทลดลง เพราะเดิมค่าใช้จ่ายส่วนนี้คงที่ตลอดอายุสัญญาสัมปทานและหากประมูลใบอนุญาต 4 ใบจริง ผู้ให้บริการแทบจะไม่ต้องแข่งขันเพราะปัจจุบันมีเจ้าใหญ่ 3 ราย หากรวมทศท. และกสท. เป็น 5 ราย แต่หากทศท.ไม่ได้รับอนุญาตให้ประมูลก็จะเหลือเพียง 4 ราย ทุกบริษัทก็จะได้รับใบอนุญาตกันถ้วนหน้า เพราะกติกากำหนดไว้ว่าบริษัทหนึ่งจะได้รับใบอนุญาตไม่เกิน 1 ใบ โอกาสฮั้วให้ประมูลไม่สูงเกินราคาที่ตั้งไว้ ย่อมน่าจะเป็นไปได้จริงหรือไม่  การประมูลในครั้งนี้หากจะให้รัฐได้ประโยชน์ก็ควรตั้งราคาที่จะทำให้รายได้รัฐไม่ลดไปจากเดิมมากนัก หรือไม่อย่างนั้นก็ต้องรับประกันคุณภาพและราคาให้กับผู้บริโภคว่า ระบบ 3 G ราคาต้องไม่สูงกว่าระบบ 2 G ในปัจจุบัน หรือห้ามคิดเกินนาทีละบาท ทั้งเสียง ข้อความและภาพ ซึ่งก็มีกำไรมากกว่าระบบเดิมแล้ว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 104 ผัก ผัก ผัก ไม่กินผักทำไม(เรา)ต้องบอก

ที่จั่วหัวอย่างนี้ไม่ได้จะมารีวิวหนังแต่อย่างใดหรอกนะครับ เพียงแต่ได้รับคำสั่งจากทาง บก. ของนิตยสารฉลาดซื้อให้ไปเขียนสรุปเนื้อหาที่เคยออนแอร์ทางรายการ “กระต่ายตื่นตัว” ที่ทำกันอยู่ให้ออกมาเป็นบทความเกี่ยวกับ “ผักปลอดสารพิษ” ให้คุณผู้อ่านได้ย่อยง่ายๆ กันอีกครั้งหนึ่ง เพื่อต้อนรับเทศกาลกินเจ ให้ได้บุญกันทั้งคนกินและคนปลูก ไอ้กระผมก็คันไม้คันมืออยากจะเขียนใจแทบขาดแล้วสิครับ เพราะปกติทำแต่รายการโทรทัศน์ไม่เคยเขียนบทความกับเขาเสียที เชื่อว่าคุณผู้อ่านหลายๆ ท่านคงจะเคยมีประสบการณ์เดินเลือกซื้อผักในซูเปอร์มาเก็ตกันมาบ้างแล้วใช่ไหมล่ะครับ ทีนี้เคยผ่านตากับคำว่า “ผักปลอดสาร” หรือ “ผักอนามัย” ที่ติดอยู่ตามฉลากหรือแพ็คเกจจิ้งกันบ้างหรือเปล่าเอ่ย ขอเดาต่อเลยแล้วกันนะครับว่าเมื่อวิญญาณทางตาของคุณผู้อ่านได้เห็นรูปดังนั้น สัญญาก็พลันจดจำคำว่า “ปลอด” หรือ “อนามัย” ได้ สังขารก็เลยปรุงแต่งต่อไปว่า “ผักนี้ต้องปลอดภัยไร้สารพิษใดๆ แน่ๆ เลย” เอาล่ะสิครับ ชงมาซะขนาดนี้ ท่านผู้มีญาณทั้งหลายพึงเกิดคำถามขึ้นมาแล้วใช่ไหมล่ะครับว่า “อ้าว แล้วอย่างนี้มันปลอดภัยจริงหรือ?”    ขออนุญาตปรับความเข้าใจให้ตรงกันก่อนนะครับ คือคำว่า “ปลอด” เนี่ย ความหมายตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถานคือ พ้นจาก, ปราศจาก ฉะนั้น ผักปลอดสาร (พิษ) ก็ควรที่จะหมายความว่า “ผักที่ปราศจากสารพิษทั้งหลายทั้งปวง” หรือมีค่าสารพิษที่เป็นอันตรายต่อร่างกายเท่ากับ “ศูนย์” ในทางคณิตศาสตร์ แต่เอาเข้าจริงแล้วคุณผู้อ่านเชื่อไหมครับว่าเจ้าผักเหล่านี้ยังมีสารเหล่านั้นเจือปนอยู่ “อ้าว ทำไมถึงเป็นอย่างนั้นไปได้ล่ะ นี่ผู้ผลิตโกหกเราอย่างนั้นรึ?”... ผมขออธิบายให้ฟังดังนี้ครับ   ผักสวยๆ งามๆ ที่เรามักจะพบเห็นได้ทั่วไปตามห้างสรรพสินค้าซูเปอร์มาเก็ตตลาดนัดแผงลอยต่างๆ ไม่ว่าจะมีฉลากติดตรงแพ็คเกจพร้อมเขียนตัวเบ้อเร่อว่าปลอดสาร, ไร้สาร, ผักอนามัย หรืออะไรก็ตามแต่หรือจะเป็นแค่ผักเปลือยๆเปล่าๆที่แม่ค้าจัดเป็นกองมัดเป็นกำใส่ตะกร้าโชว์ไว้ ถ้าไม่ใช่ผักอินทรีย์หรือผักสวนครัวที่ปลูกเอง ก็ล้วนแล้วแต่ใช้สารเคมีในกระบวนการผลิตทั้งสิ้นครับ อาทิ ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง เอนไซม์เร่งการเจริญเติบโตต่างๆ ฯลฯ ถึงตรงนี้หลายท่านคงเกิดเครื่องหมายคำถามขึ้นมาอีกเป็นแน่แท้ ว่าอย่างนั้นทำไมถึงเรียกว่าผักปลอดสารทั้งๆ ที่มันยังมีการใช้สาร (พิษ) อยู่ล่ะ วิสัชนาว่า...ก็ปริมาณสารที่ใช้อยู่นั้นเมื่อนำมาสุ่มทดสอบแล้ว พบว่าอยู่ในเกณฑ์ที่บริโภคเข้าไปแล้วไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายน่ะขอรับครับผม ซึ่งวิธีที่เขาใช้ทดสอบกันนั้นก็หาใช่วิธีอื่นไกลครับ หนูทดลอง (อีกแล้ว) นี่เอง โดยจะนำสารเคมีแต่ละชนิดมาทดสอบกับหนู เพื่อนร่วมโลกผู้น่าสงสารดูว่าปริมาณแค่ไหนจึงจะไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย (ของหนู) จากนั้นจึงคำนวณสัดส่วนปริมาณสารเคมีที่ร่างกายได้รับแล้วไม่เป็นอันตรายระหว่างหนูกับคน บันทึกเอาไว้เป็นค่ามาตรฐานสำหรับการสุ่มตรวจผักตามแหล่งที่มาต่างๆ ย้ำว่า “สุ่ม” ตรวจนะครับ เพราะไม่มีทางที่จะนำเอาผักทุกต้นทุกแปลงจากทุกไร่ทั่วประเทศมาทดสอบได้ทันในแต่ละวัน อีกทั้งงบประมาณยังสูงลิบลิ่วอีกด้วย นอกจากนี้ อย่าลืมนะครับว่าค่ามาตรฐานความปลอดภัยสำหรับคนนั้นก็ได้มาจากการคำนวณ ตัวเลขที่ไม่เป็นอันตรายสำหรับหนู(ทดลอง) มิได้หมายความว่าพอนำมาคำนวณด้วยสูตรคณิตศาสตร์วิทยาศาสตร์แปลงค่าหาผลลัพธ์ออกมาแล้ว จะสามารถยืนยันการันตีได้ว่าไม่มีอันตรายต่อคน อีกทั้ง สารเคมีที่นำมาใช้ทดลองก็ไม่ได้ทดลองพร้อมกันทีเดียวหลายๆ สาร เพียงแต่แยกสารเพื่อทดสอบทีละครั้ง อย่างนี้ เราจะมั่นใจได้หรือว่าสารเคมีเมื่ออยู่รวมกันในผักจะไม่ทำปฏิกิริยาในเชิงเสริมประสิทธิภาพในการทำลายตับ ไต ไส้ พุง ของเรา แหม..สาธยายมาซะขนาดนี้ คุณผู้อ่านหลายท่านคงจะมีแวบคิดขึ้นมาบ้างใช่ไหมครับว่า “แล้วอย่างนี้จะเหลืออะไรให้กูกินล่ะ? ต้องไปปลูกผักสวนครัวเองเลยมั้ย?” ใจเย็นๆ ครับ ลองย้อนกลับไปดูย่อหน้าที่ 4 ก่อน คุณจะพบกับคำว่า... ใช่แล้วครับ “ผักอินทรีย์” นั่นเอง บางท่านที่เคยผ่านการเรียนวิชาเกษตรตอนประถมอาจจะพอจำได้คลับคล้ายคลับคลา ส่วนบางท่านที่ลืมไปแล้วก็ไม่เป็นไรครับ เดี๋ยวจะอธิบายให้โดยละเอียดเลย ผักอินทรีย์ ก็คือผักที่อาศัยกระบวนการผลิตโดยวิธีทางธรรมชาตินั่นเอง ปราศจากการใช้วัตถุสังเคราะห์ใดๆ ทั้งปวง เอาล่ะครับ...โผล่มาแล้วพระเอกตัวจริงของเรา ซึ่งการจะจัดว่าเป็นผักอินทรีย์หรือไม่นั้น เขาไม่ได้วัดกันที่ผลผลิตแบบสุ่มๆ ผักมาตรวจนะครับ แต่เขาจะวัดกันที่ขั้นตอนกระบวนการ คือ 1) จะต้องปราศจากสารเคมีในปัจจัยการผลิตแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ และ 2) บริเวณแปลงหรือไร่ที่ทำการเพาะปลูกนั้น เมื่อตรวจสอบแล้วจะต้องพบว่าไม่มีร่องรอยการใช้สารอย่างน้อย 3-4 ปีเลยทีเดียว ทีนี้มาว่าด้วยเรื่องหลักการกันบ้าง แน่นอนครับว่ากระบวนการผลิตผักอินทรีย์นั้นไม่มีคำตอบสำเร็จรูปตายตัว เนื่องจากแต่ละพื้นที่แต่ละดินแดนก็จะมีระบบนิเวศที่แตกต่างกัน เกษตรกรจะต้องใส่ใจศึกษาเรียนรู้ภายในระบบนิเวศของตนเอง (Knowledge Intensive) เช่น ลักษณะดินฟ้าอากาศเป็นอย่างไร แมลงที่พบได้บ่อยคือตัวอะไร ให้คุณหรือให้โทษมากกว่ากัน หรือต้องใช้สมุนไพรชนิดใดจัดการ ฯลฯ เกษตรกรอาจต้องใช้เวลาอยู่ในแปลงปลูกมากขึ้น ไม่ใช่ขาดอะไรก็หามาใส่ๆๆ (Input Intensive) ปุจฉาต่อมาคือ...ถ้ามันทำกันได้ง่ายๆ ขนาดนั้น แล้วใยจะต้องใช้สารเคมีอีกล่ะครับ... นี่แหละที่นักวิชาการรวมถึงพวกหัวการค้าเสรีเขาไม่เชื่อว่ามันจะทำได้ คุณผู้อ่านก็เช่นกันนะครับอย่าเพิ่งปักใจเชื่อข้อมูลที่ผมเขียนทีเดียวเชียวล่ะ ใช้หลักกาลามสูตรของพระสมณโคดมบรมครูเจ้าของเราพิจารณาเหตุและผลกันก่อน เอาเป็นว่า...ถ้าอยากพิสูจน์ให้เห็นจะๆ กับตา ผมก็จะขออาสาทำหน้าที่เป็นมัคคุเทศก์นำทางคุณผู้อ่านทุกๆ ท่านไปดูไร่ผักเกษตรอินทรีย์ของจริงกันเลยดีกว่านะครับ ตะลุยแปลงผักอินทรีย์กระผมและเพื่อนทีมงานรายการ “กระต่ายตื่นตัว” ก็ได้ลงพื้นที่ไปสำรวจไร่เกษตรอินทรีย์กันที่บ้านป่าคู้ล่าง จังหวัดสุพรรณบุรีครับ โดยมีพี่ปัญญา งามยิ่ง เกษตรกรยุคบุกเบิกของที่นี่เป็นคนพาเดินทัวร์และให้ข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับการทำเกษตรกรรมแบบปลอดสาร 100 เปอร์เซ็นต์ว่าเขาทำกันอย่างไร ก่อนอื่นเลยต้องขอเกริ่นก่อนนะครับว่าชาวบ้านที่นี่เขามีวิถีชีวิตพอเพียงทำกันแบบพอมีพออยู่ ใครใคร่ปลูกอะไรก็ปลูกอันนั้น ไม่มีการบังคับกันแต่ประการใด ดังนั้น ไร่ของแต่ละท่านจึงมีความปัจเจกแตกต่างกันออกไป อย่างไร่ของพี่ปัญญาเองก็จะใช้วิธีการแบ่งโซนตามความต้องการน้ำครับ พืชชนิดไหนต้องการน้ำเยอะน้ำน้อยจัดสรรปันส่วนกันออกไป อย่างเช่น คะน้าต้องการน้ำเยอะหน่อยก็ไว้โซนนึง ไชเท้าได้รับน้ำเยอะไปไม่ดีก็ไว้อีกโซนหนึ่ง ส่วนปริมาณของผักแต่ละชนิดที่จะปลูกก็จะดูจากความยากง่ายในการดูแลรักษา เช่น คะน้านี่ดูแลยากเพราะกินปุ๋ยมากกินน้ำมากก็ให้ลงเยอะหน่อย สมมติว่าลง 2 แปลงเทียบกับผักกวางตุ้งที่ดูแลรักษาไม่ยากเท่าไหร่ใช้พื้นที่แปลงเดียว พอเก็บเกี่ยวก็จะได้ปริมาณน้ำหนักเท่ากัน ดังนี้เป็นต้น และที่สำคัญก็จะเวียนพืชผักตามแต่ละแปลงเพื่อไม่ให้ดินเสื่อมสภาพด้วยครับ อ๊ะ...จะกลายเป็นสอนปลูกผักซะแล้วสิเนี่ย ตัดกลับมาที่เรื่องเกษตรอินทรีย์ต่อนะครับ ซึ่งด้วยเหตุที่ว่าอาศัยธรรมชาติเป็นปัจจัยในการผลิตเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ (ที่เหลือคือการเอาใจใส่ดูแลของเกษตรกร) ผลก็เลยทำให้ไม่สามารถควบคุมปริมาณผลผลิตตามต้องการได้ อย่างเช่น หน้าหนาวก็จะได้ผลผลิตในปริมาณมากหน่อย หน้าฝนหรือหน้าแล้งก็จะได้ผลผลิตลดหลั่นกันลงมา หรือพืชบางชนิดอาจไม่ออกผลเลยในบางช่วงฤดูกาล อีกทั้งปัญหาแมลงศัตรูพืชก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่เกษตรกรต้องให้ความสำคัญ โดยการเรียนรู้วิธีที่จะทำให้พืชและสัตว์อยู่ในอัตราส่วนที่สมดุลกัน ซึ่งอาจจะเลือกใช้สมุนไพร อาทิ สะเดา, หางไหล เป็นตัวขับไล่แมลง แต่กระนั้นผักที่ได้ออกมาก็อาจจะมีร่องรอยถูกกัดกินรวมไปถึงรูปทรงก็คงไม่สวยงามเท่าใดนักเมื่อเทียบกับผักที่อุดมไปด้วยสารเคมียาฆ่าแมลง เริ่มเห็นภาพกันแล้วใช่ไหมครับ ก็ไอ้ผักแคระๆ แกร็นๆ ที่ดูเหมือนไม่สมประกอบบ้างมีรูแหว่งรูโหว่เล็กบ้างใหญ่บ้างที่เรามักจะร้อง “ยี้” เวลาที่พบเห็นตามแผงขายผักทั่วไปนั่นล่ะครับ ปลอดภัยยิ่งนักแล แต่เมื่อจิตมันเคยชินกับความพอใจในรูปสวยงามจนติดเป็นนิสัย แล้วแม่ค้าที่ไหนเขาอยากจะเอาผักซีดๆเหี่ยวๆ มานั่งขายให้เมื่อยกันล่ะครับ ทีนี้พอบริโภคผักสวยๆ งามๆ ที่เปี่ยมด้วยสารพิษเข้าไปนานเข้าๆสะสมไปเรื่อยๆ จนโรคนู้นโรคนี้ถามหาเป็นว่าเล่นแล้วก็กลับมาไม่พอใจกันอีก แบบนี้มันก็ไม่ยุติธรรมเหมือนกันนี่จริงไหมครับ? ทีนี้เริ่มเห็นพิษภัยของรูปสวยๆ งามๆ กันบ้างหรือยัง? ซื้อผักห้างหรือซื้อผักของเกษตรกรโดยตรง ต่างกันตรงไหนเอาล่ะครับ ในเมื่อเริ่มมีคนเห็นโทษภัยจากการใช้สารเคมี ก็เลยเริ่มเกิดการหันมาบริโภค “ผักปลอดสารอย่างแท้จริง” ในวงเล็กๆ ขึ้นมา อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคกลุ่มนี้ก็ยังมีสัดส่วนเพียงกะจิริดเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรทั้งประเทศ แล้วห้างสรรพสินค้ารายใหญ่ซูเปอร์มาเก็ตทั้งหลายจำเป็นด้วยหรือที่จะต้องหันมาสนใจนีชมาร์เก็ต (Niche Market) กลุ่มนี้... โอเค อาจจะมีผู้ประกอบการบางรายใส่ใจและคำนึงถึงผลเสียที่จะเกิดกับตัวผู้บริโภคอันจะตามมาภายหลัง แต่จะให้ทำอย่างไรล่ะ ในเมื่อฉันต้องการผักจำนวน 100 กิโลกรัมเพื่อวางบนชั้นให้ลูกค้าเลือกหยิบเลือกซื้อ แต่คุณกลับมีให้ฉันแค่ 50 หรือบางวันก็ 30, 20... มันคาดการณ์ไม่ได้... แบบนี้จะให้เกษตรกรแบกรับภาระความรับผิดชอบส่วนที่เหลือแต่ฝ่ายเดียวมันก็ไม่ไหว ดังนั้น เพื่อความเข้มแข็งของกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิต เขาจึงรวมตัวกันและสร้างสรรค์ระบบ CSA (Community Supported Agriculture) ขึ้นมา หมายความว่าผู้บริโภคจะต้องเป็นฝ่ายที่เข้ามาสนับสนุนเกษตรกร และจะต้องร่วมรับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากความไม่แน่นอนไปพร้อมๆกัน ผู้บริโภคที่เป็นสมาชิก (หมายถึงผู้สนใจซื้อผักอินทรีย์จากไร่โดยตรงโดยไม่ผ่านคนกลาง) จะต้องจ่ายเงินล่วงหน้าอย่างน้อย 6 เดือนหรือ 1 ปีเพื่อเป็นค่าพักค่าแรงค่าดำเนินการ โดยให้สมาชิกระบุเลยว่าต้องการผักอินทรีย์อาทิตย์ละกี่กิโล แต่ต้องเข้าใจก่อนนะว่าความไม่แน่นอนคือ คุณมิอาจ “เลือก” ผักได้ตามใจชอบ (ต้องแล้วแต่ว่าช่วงนี้ผักชนิดใดเจริญเติบโตได้ดี) และอาจจะไม่ได้รับปริมาณผักตรงตามที่ระบุ (ซึ่งเป็นไปได้ทั้งมากกว่าและน้อยกว่า) หลังจากนั้นก็จะมีรถขนผักส่งตรงให้คุณถึงบ้านอาทิตย์ละ 2 วัน อ่านถึงบรรทัดนี้แล้ว คุณผู้อ่านอาจจะมีความรู้สึกว่าเกษตรกรเอารัดเอาเปรียบเกินไปรึเปล่า? ตรงนี้อยากให้ลองถามใจตัวเองกันดูสักหน่อย ว่าที่ผ่านมา “เขา” หรือ “เรา” ที่เป็นฝ่ายเอาเปรียบ ยกตัวอย่างง่ายๆ เลย คนไทย 60 กว่าล้านคนบริโภคข้าวเป็นอาหารหลักทุกวัน แต่ทำไมชาวนาส่วนใหญ่กลับเป็นหนี้ มันตลกไหมล่ะครับ?... นี่ก็เช่นกัน มีสมาชิกที่เลิกรับผักเพราะไม่พอใจและไม่เข้าใจระบบ โดยเห็นว่าผักอินทรีย์นี้มีราคา แพงกว่าผักที่ขายอยู่ในท้องตลาด ผมขอยกราคาจริงมาเลยแล้วกันนะครับนั่นคือ กิโลกรัมละ 70 บาทถามว่าแพงไหมครับ?... ถ้าแพงแล้วมันแพงจากอะไรล่ะ? เทียบกับราคาที่แพ็คขายในห้าง 1 ขีด 2 ขีด 20 บาท ดีไม่ดีจะถูกกว่าเอาด้วย จริงอยู่ที่พอไปห้างแล้วเราได้ผักตามต้องการ แต่คุณรู้ไหมว่าหอมกระเทียมที่คุณหยิบใส่ตะกร้านั้นมาจากไหน? ผักคะน้าที่เตรียมจะนำไปทำกับข้าวเย็นนี้มีกระบวนการผลิตอย่างไร? แน่นอนว่าคุณไม่รู้ แต่ถ้าเป็น CSA คุณจะรู้จักกระบวนการผลิตทั้งหมดรวมไปถึงสามารถเข้าไปเยี่ยมชมได้ถึงแปลงปลูกให้เห็นกับตาตัวเองเหมือนอย่างที่ผมและทีมงานได้แวะไปเยี่ยมชมที่บ้านป่าคู้ล่างมายังไงล่ะครับโดยส่วนตัวผมมีความรู้สึกว่าปัญหาของบ้านเราคือราคาพืชผลทางการเกษตรค่อนข้างต่ำกว่าความเป็นจริงอยู่มาก ผมขอยกตัวอย่างที่ประเทศญี่ปุ่น กล้วยหอม 1 ลูกของเขาเทียบเป็นเงินไทยแล้วตกลูกละประมาณ 50 บาทเชียวนะครับ (บ้านเราได้เป็นหวีเลย) ถามว่าทำไมถึงเป็นอย่างนั้นล่ะ?... วิสัชนาว่า...ก็เพราะเราดันไปลอกเลียนวัฒนธรรมการผลิตตลอดจนการค้าแบบตะวันตกมาน่ะสิครับ อย่าลืมว่าตั้งแต่อดีตกาลนานมาใครๆ เขาก็รู้ว่าประเทศเราเป็นประเทศเกษตรกรรม มีทรัพยากรน้ำ ทรัพยากรดินอุดมสมบูรณ์ รวมไปถึงสภาพอากาศก็เหมาะสมเป็นใจให้แก่การทำไร่ ทำนา ปลูกผัก ปลูกข้าว ฯลฯ ด้วยประการทั้งปวง แต่ละบ้านแต่ละพื้นที่ก็จะมีแปลงเกษตรไว้ปลูกพืชพันธุ์ต่างๆ หมุนเวียนสับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามแต่ละฤดูกาล อย่างไรก็มีผลผลิตตลอดทั้งปีแน่ๆ ไม่อดตาย แล้วอยู่ดีๆ วันหนึ่งก็ไม่รู้ว่าไอ้ทฤษฎีเกษตรเชิงเดี่ยวปลูกพืชผลชนิดเดียวเป็นไร่ใหญ่ๆ มันเข้ามาได้อย่างไร? จากสังคมเกษตรแบบพออยู่พอกินกลับกลายมาเป็นสังคมอุตสาหกรรมที่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีในการผลิตไม่ว่าจะเป็นสารเคมียาฆ่าแมลงหรือรถแทร็คเตอร์ จากการผลิตเพื่อบริโภคภายในครัวเรือนกลายเป็นการผลิตเพื่อแข่งขันเพื่อค้าขาย ใครปลูกมากก็รวยมากก็อยู่ได้ ทีนี้พอมีผู้ผลิตปริมาณมากเข้าๆราคาสินค้าก็ตกลงฮวบฮาบ อย่างหน้าฝนนี่ผักกาดหอมหายากเพราะเจริญเติบโตได้ไม่ค่อยดี ทุกคนก็จะเร่งผลิตแต่ผักกาดหอม ที่มีอยู่เท่าไหร่ก็ใส่แต่เมล็ดพันธุ์ผักกาดหอม เก็บเกี่ยวได้เท่าไหร่ไปวางขายที่ตลาดทั้งตลาดก็มีแต่ผักกาดหอมแล้วราคาผักกาดหอมจะไม่ตกได้อย่างไร? เช่นกันครับเมื่อพวกคนกลางห้างร้านต่างๆ มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ตลาดการค้าเสรีเปิดกว้าง ผลคือต่างฝ่ายต่างแย่งกันลดราคาเพื่อดึงดูดผู้บริโภคให้เข้าไปจับจ่ายใช้สอยยังพื้นที่ของตน ห้างร้านไหนขายของถูกกว่าผู้บริโภคก็จะไปแออัดกันอยู่ ณ ที่นั้น แต่มันก็ไม่ลำบากอะไรนี่ครับในเมื่อกำไรยังเท่าเดิม เนื่องจากไปลดทางฝั่ง “ต้นทุน” เอา ยิ่งคนกลางห้างร้านตัวใหญ่เท่าไหร่ก็ยิ่งมีอำนาจต่อรองกับผู้ผลิตมากขึ้นเท่านั้น ถ้ายังไม่เข้าใจผมจะสมมติเล่นๆดูนะครับ สมมติว่าราคาผักที่คุณต้องจ่ายคือ 10 บาท ห้างได้กำไร 7 บาท ผู้ผลิตหรือเกษตรกรได้ส่วนแบ่ง 3 บาท วันต่อมาราคาผักตกลงมาอยู่ที่ 9 บาท แต่ห้างก็ยังคงกำไร 7 บาทเช่นเดิมในขณะที่เกษตรกรผู้ผลิตรายได้หดลงเหลือ 2 บาท... ฉะนั้นแล้ว ไม่ใช่ว่าผักที่มาจากระบบเกษตรอินทรีย์จะ “แพง” กว่าผักที่วางอยู่ตามห้างร้านแผงขายในซูเปอร์ฯ ทั่วไปหรอกนะครับ แต่มันสะท้อนให้เราเห็นถึงต้นทุนในการผลิตจริงๆ ที่เกษตรอยู่ได้โดยไม่ลำบากต่างหากล่ะ คุณผู้อ่านผู้มีญาณทั้งหลายพึงเห็นด้วยกับผมไหมล่ะครับว่าเราควรที่จะร่วมมือกันเลิกผลิตสินค้าเกษตรที่เน้นแต่ปริมาณจนราคามัน “ต่ำ” กว่าความเป็นจริง เพราะหากจะเน้น “ถูก” เอาใจผู้บริโภคอย่างไรก็ตามเราก็มิอาจสู้จีนหรือเวียดนามได้อยู่แล้ว สิ่งที่ต้องทำคือหันมายกระดับการผลิตภาคเกษตรกรรมให้เน้นไปที่คุณภาพดีกว่า อย่างผักอินทรีย์ปลอดสารที่กระผมได้กล่าวมาแล้วเป็นตัวอย่าง เกษตรกรบ้านเราก็จะได้มีรายได้ที่ดีขึ้น มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อีกทั้งผู้บริโภคอย่างเราๆ ก็จะได้บริโภคแต่สินค้าที่มีคุณภาพด้วย ไม่ดีหรือครับ? สำหรับผู้บริโภคที่สนใจซื้อผักจากเกษตรกรโดยตรง สามารถติดต่อที่โครงการผักประสานใจตู้ ปณ.15 อำเภอด่านช้าง สุพรรณบุรี 72180 คุณระวีวรรณ ศรีทอง โทรศัพท์ 081-981-8581  แหล่งซื้อผักปลอดสารนอกซูเปอร์มาร์เก็ตคลังเกษตรอินทรีย์ (Organic’s Warehouse)โดยสถาบันชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืน สนับสนุนโดย Oxfam GBที่อยู่ : เจเจ มาเก็ต ถ.อัษฎาธร ต.ป่าตัน อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50000โทรศัพท์/โทรสาร : 053-233694  สหกรณ์เกษตรอินทรีย์กองทุนข้าว จำกัดเลขที่88 หมู่ 7 บ้านทนง ต.แกใหญ่ อ.เมือง จ.สุรินทร์ ติดต่อคุณธัญญา แสงอุบล โทรศัพท์ 044 - 514206 ชมรมรักษ์ธรรมชาติเลขที่ 52 ต.น่าโส่ อ.กุดชุม จ.ยโสธรติดต่อคุณชุธิมา ม่วงมั่น โทรศัพท์ 089-0370094 , 045-738429หรือดูรายชื่อผู้ผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์อื่นๆ เช่น ข้าว ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ที่ผ่าน มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ได้ที่ http://www.actorganic-cert.or.th

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 104 กระทะเทฟลอน

>>>อ่านแล้วอยากสนับสนุนให้เรามีเงินทุนต่อเนื่อง >>> ร่วมอ่านonline 200 บาท/ ต่อปี >>> โอนเงินแล้ว +แนบรูปการโอน พิมพ์ชื่อ - ที่อยู่ + ส่งมาที chaladsue@gmail.com >>> เปิดอ่าน full Version  ทันทีจ้าาาาาา(เลข บช. ด้านล่างบทความ) ผลการทดสอบกระทะก้นแบนชนิดเคลือบผิว ปัจจุบันสินค้าประเภทกระทะก้นแบนหรือหม้อที่วางขายอยู่ในท้องตลาด มีให้เลือกใช้หลากหลายยี่ห้อ โดยเฉพาะกระทะก้นแบนชนิดมีการเคลือบผิว มีหลายชนิดและมีความแตกต่างทางด้านราคามากทำให้ผู้บริโภคเกิดความไม่แน่ใจ ส่วนหนึ่งตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าชนิดนี้ โดยพิจารณาจากราคา การออกแบบ รูปลักษณ์ความสวยงามเป็นหลัก ฉลาดซื้อและเครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภคจึงได้ทำการทดสอบกระทะก้นแบนชนิดมีการเคลือบผิว(เทฟลอน) โดยใช้หลักการและข้อมูลทางด้านเทคนิค เพื่อนำผลการทดสอบมาใช้เป็นข้อมูลเพิ่มเติมประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อกระทะที่สามารถตอบสนองความต้องการการใช้งานในครัวเรือนได้อย่างมีประสิทธิภาพคุ้มค่ามากยิ่งขึ้น   การทดสอบครั้งนี้ ได้สุ่มซื้อกระทะเคลือบ ชนิดก้นแบน ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของกระทะ 26 เซนติเมตร จำนวน 13 ยี่ห้อ จากห้างสรรพสินค้าและไฮเปอร์มาร์เก็ตในกรุงเทพมหานคร ราคาตั้งแต่ 500 บาท ถึง 2,000 กว่าบาท โดยทดสอบเปรียบเทียบในเรื่องความเร็วในการถ่ายเทความร้อน การใช้พลังงาน การกระจายตัวของอุณหภูมิที่บริเวณก้นกระทะ และความสะดวกในการทำความสะอาด ตลอดจนความหนาของวัสดุที่เคลือบ โดยแสดงผลตามตารางที่ 1 การทดสอบความเร็วในการถ่ายเทความร้อน ทดสอบโดยต้มน้ำปริมาตร 1 ลิตร โดยอุณหภูมิเริ่มต้นของน้ำ คือ 26 องศาเซลเซียส เปิดฝา จับเวลา และวัดพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ตั้งแต่เริ่มต้มจนกระทั่งน้ำเดือด โดยต้มบนเตาไฟฟ้า ผลจากการทดสอบสามารถแบ่งกระทะ 4 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ให้ความร้อนได้เร็วมาก ได้แก่ กระทะยี่ห้อ Tefal และยี่ห้อ Tesco Lotus โดยกระทะ Tefal  ใช้เวลา 7 นาที 15 วินาที และ ยี่ห้อ Tesco Lotus ใช้เวลาเพียง 7 นาที 9 วินาที ในการต้มจนน้ำเดือด กลุ่มที่ให้ความร้อนเร็ว ได้แก่ กระทะยี่ห้อ Dream Chef ใช้เวลา 7 นาที 46 วินาที ยี่ห้อ Calphalon โดย ใช้เวลา 7 นาที 54 วินาที ยี่ห้อ Meyer ใช้เวลา 7 นาที 50 วินาที ยี่ห้อ Sehaming ใช้เวลา 7 นาที 45 วินาที ในการต้มจนน้ำเดือด กลุ่มที่ให้ความร้อนเร็วปานกลาง ได้แก่ กระทะยี่ห้อ Kosy ใช้เวลา 8 นาที 52 วินาที ยี่ห้อ Egg Dance ใช้เวลา 8 นาที 49 วินาที และยี่ห้อ คาร์ฟู ใช้เวลา 8 นาที 50 วินาที กลุ่มที่ให้ความร้อนช้า ได้แก่ กระทะยี่ห้อ Seagull ใช้เวลา 9 นาที 44 วินาที ยี่ห้อ Circulon และยี่ห้อ Zebra ใช้เวลาเท่ากันคือ 9 นาที 59 วินาที และยี่ห้อ Supor ใช้เวลา 10 นาที 20 วินาที การทดสอบการกระจายตัวของอุณหภูมิ วิธีการนี้ใช้กล้องรังสีอินฟราเรด ตรวจวัดอุณหภูมิของก้นกระทะที่ตั้งวางไว้บนเตาไฟฟ้า โดยที่มีอุณหภูมิของเตาไฟฟ้าที่วัดได้สูง ประมาณ 370 องศาเซลเซียส แล้วทำการบันทึกอุณหภูมิ ณ เวลาต่างๆ กัน โดยจะทำการบันทึกอุณหภูมิตั้งแต่เริ่มตั้งกระทะไว้บนเตาจนกระทั่งก้นกระทะมีอุณหภูมิสูงสุด การทดสอบนี้จะทำให้ทราบถึงสมบัติหรือความสามารถในการกระจายความร้อนที่ก้นกระทะ ซึ่งหากกระทะยี่ห้อใดมีบริเวณที่มีอุณหภูมิสูงสุด เป็นบริเวณกว้าง ก็จะทำให้ความร้อนส่งผ่านไปยังอาหารที่ปรุงได้เร็วขึ้นจากการวัดอุณหภูมิได้ผลการกระจายตัวของอุณหภูมิดังนี้ (ดูตารางที่ 2) กระทะที่มีการกระจายตัวของอุณหภูมิที่ดี ได้แก่ ยี่ห้อ Circulon, ยี่ห้อ Zebra, ยี่ห้อ Calphalon, ยี่ห้อ Tefal, ยี่ห้อ Meyer, และยี่ห้อ Egg dance กระทะที่มีการกระจายตัวของอุณหภูมิ ระดับดีปานกลาง ได้แก่ ยี่ห้อ Dream Chef, ยี่ห้อ Seagull, ยี่ห้อ Supor, และยี่ห้อ Tesco กระทะที่มีการกระจายตัวของอุณหภูมิ ระดับพอใช้ ได้แก่ ยี่ห้อ Sahaming, ยี่ห้อ Kosy และยี่ห้อ Carrefour   การวัดความหนาของผิวเคลือบบนก้นกระทะ ความหนาของชั้นเคลือบบนก้นกระทะ เป็นตัวชี้วัดถึงคุณภาพของกระทะอีกเช่นกัน ดังนั้นเราจึงทำการผ่ากระทะ แล้วจึงนำมาส่องกล้องจุลทรรศน์ (Light Microscope) เพื่อ วัดความหนาของชั้นเคลือบ (ดูรูปที่ 1) จากผลการวัดพบว่า กระทะที่มีการเคลือบผิวโดยที่ความหนาของผิวเคลือบ มากกว่า 60 ไมครอน ได้แก่ ยี่ห้อ Zebra     (หนา 75 ไมครอน)ยี่ห้อ Tefal      (หนา 90 ไมครอน) ยี่ห้อ Egg dance (หนา 60 ไมครอน) กระทะที่มีการเคลือบผิวโดยที่ความหนาของผิวเคลือบ ระหว่าง 50- 60 ไมครอนได้แก่ ยี่ห้อ Dream Chef    (หนา 55 ไมครอน), ยี่ห้อ Circulon        (หนา 55 ไมครอน)ยี่ห้อ Kosy             (หนา 50 ไมครอน)  กระทะที่ผิวเคลือบหนาน้อยกว่า 50 ไมครอน ได้แก่ ยี่ห้อ Seagull         (หนา 30 ไมครอน)ยี่ห้อ Supor           (หนา 30 ไมครอน) ยี่ห้อ Calphalon     (หนา 40 ไมครอน)ยี่ห้อ Meyer          (หนา 35 ไมครอน) ยี่ห้อ Sahaming     (หนา 45 ไมครอน) ยี่ห้อ Tesco           (หนา 30 ไมครอน) ยี่ห้อ Carrefour      (หนา 30 ไมครอน)     รูปที่ 1 แสดงภาพตัดขวางของกระทะเพื่อวัดชั้นความหนาของชั้นเคลือบการทดสอบทำความสะอาดการทดสอบการทำความสะอาด ใช้วิธีการต้มนมสดจนกระทั่งนมสดแห้ง ติดก้นกระทะ แล้วจึงนำกระทะไปทำความสะอาด เพื่อดูว่ากระทะยี่ห้อใด สามารถล้างคราบไหม้ของนมที่ติดอยู่บนก้นกระทะออกได้ง่าย ผลการทดสอบในประเด็นนี้พบว่า กระทะที่สามารถล้างคราบไหม้ของนมก้นกระทะออกได้ง่าย ได้แก่ กระทะยี่ห้อ Dream Chef ยี่ห้อ Seagullยี่ห้อ Suporยี่ห้อ Calphalonยี่ห้อ Tefalยี่ห้อ Meyer.ยี่ห้อ Sahamingยี่ห้อ Kosy ยี่ห้อ Eggdance กระทะที่ล้างคราบไหม้ของนมก้นกระทะออกได้ยาก เนื่องจากคราบไหม้ติดแน่นที่ก้นกระทะ ได้แก่  ยี่ห้อ Circulonยี่ห้อ Tesco ยี่ห้อ Carrefour ตารางที่ 2 การกระจายตัวของความร้อน เปรียบเทียบอุณหภูมิเริ่มต้น และอุณหภูมิสูงสุดและเวลาที่ใช้ หมายเหตุ: เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภคขอขอบคุณภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีที่ให้ความอนุเคราะห์การถ่ายภาพกล้องตรวจวัดอุณหภูมิ ด้วยรังสีอินฟราเรดในการทดสอบครั้งนี้คำแนะนำการใช้กระทะเคลือบเทฟลอน การเลือกซื้อกระทะเบื้องต้นเลือกซื้อกระทะที่ก้นกระทะเรียบ ได้ระนาบ ไม่โค้งงอสู่ด้านล่าง เพราะจะทำให้การถ่ายเทความร้อนไม่ดี และอาจทำให้กระทะพลิกคว่ำได้ การใช้งานทั่วไป กระทะเคลือบเทฟลอนไม่ควรให้ความร้อนสูงมากเกินไป เพราะจะทำให้วัสดุเคลือบที่ทำมาจากเทฟลอน เสื่อมสลาย ได้ง่าย และอายุการใช้งานสั้นลง ไม่ควรใช้ตะหลิวที่ทำจากโลหะเพราะจะทำให้ผิวเทฟลอนเป็นรอยขีดข่วนได้ง่าย นอกจากนี้ไม่ควรใช้แผ่นโลหะ หรือ สารเคมีที่มีส่วนผสมของผงโลหะทำความสะอาด เพราะจะทำให้กระทะเป็นรอยเช่นกัน การทำความสะอาด ใช้น้ำอุ่น หรือ น้ำยาล้างจานล้างกระทะ โดยใช้ฟองน้ำขัดถู คราบสกปรกที่ติดบนผิวกระทะ กระทะบางรุ่นสามารถนำไปล้างในเครื่องล้างจานได้ แต่ถ้าเป็นกระทะที่ทำจากอลูมิเนียม ไม่ควรจะใช้เครื่องล้างจานเพราะจะทำให้ผิวของกระทะหมองลงได้ และถ้าหากบ้านใครมีเครื่องล้างจาน และอยากจะใช้ล้างกระทะ ก็ให้ใช้น้ำมันพืช ทาที่ผิวเคลือบบ้างเพราะจะทำให้เทฟลอนรักษาความมันลื่นได้นานขึ้น กระทะเคลือบเทฟลอน จะมีอายุการใช้งานของมัน หากเราสังเกตเห็นว่าผิวเคลือบมีรอยขีดข่วน หรือหลุดล่อนออกมาควรเปลี่ยนกระทะใหม่   ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับวัสดุที่ใช้ในการผลิตกระทะปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพของกระทะนอกจาก การออกแบบที่ต้องคำนึงถึงความสวยงามน่าใช้ และการถ่ายเทความร้อนจากก้นกระทะไปสู่อาหารที่กำลังผัดหรือทอด แล้วก็คือวัสดุที่ใช้ในการผลิตกระทะ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะใช้วัสดุดังต่อไปนี้ในการผลิต อลูมิเนียม จัดเป็นโลหะเบา ที่มีความหนาแน่น 2.7 กรัมต่อลูกบาศก์เซนติเมตร เบากว่าเหล็กมาก (เหล็กมีความหนาแน่น 7.8 กรัมต่อลูกบาศก์เซนติเมตร) ซึ่งกระทะที่ทำจากอลูมิเนียมไม่ควรนำไปใช้งานที่มีอุณหภูมิสูงมากๆ เพราะจะทำให้สีผิวและรูปทรงของกระทะเปลี่ยนไป อาหารที่เหมาะกับการปรุงโดยใช้กระทะอลูมิเนียมคือ อาหารประเภทไข่ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นไข่เจียว ไข่ดาว หรือไข่คน หรือใช้ในการปรุงอาหารที่ทำจากปลาก็ได้ เพราะใช้ความร้อนไม่สูงมากนัก เหล็กสเตนเลส (Stainless steel) กระทะที่ทำจากวัสดุประเภทนี้ มีข้อดีคือ ดูแลรักษาง่าย ทนทาน แข็งแรง รักษารูปทรงไว้ได้ดีเมื่อใช้งานไปนานๆ แต่ข้อเสียคือ มีน้ำหนักมาก นอกจากนี้ยังสามารถแบ่งกระทะได้อีก คือ ชนิดเคลือบเทฟลอน กับชนิดไม่เคลือบเทฟลอน ชนิดที่ไม่เคลือบเทฟลอน เหมาะสำหรับการทอดกรอบ ซึ่งถ่ายเทความร้อนได้ดี ให้ความร้อนสูง ข้อควรระวังสำหรับคนที่มีอาการแพ้โลหะนิกเกิล เพราะนิกเกิลเป็นธาตุผสมที่มีอยู่ในเหล็กสเตนเลส ควรจะหันไปใช้กระทะที่ทำจากวัสดุอื่นแทน   เหล็กหล่อ (Cast Iron) ให้ความร้อนสูง ทนทาน แข็งแรง แต่มีน้ำหนักมาก การถ่ายเทความร้อนดี เหมาะสำหรับการทอดชิ้นเนื้อหนา เช่น สเต็ก  เหล็กหล่อเคลือบอีนาเมล ก้นกระทะเรียบและปราศจากรูพรุน (Micro Pore) ทำความสะอาดง่าย ทนความร้อนได้ดี แต่ต้องระวังการกระแทกที่ผิวเคลือบ เพราะจะทำให้ผิวเคลือบแตกล่อนออกมาได้ ทองแดง (Copper) เป็นกระทะระดับพรีเมียม ราคาแพง ถ่ายเทความร้อนได้ดี ความร้อนกระจายตัวสม่ำเสมอ และเย็นตัวได้เร็ว สามารถนำวัสดุอื่นมาเคลือบที่ผิวได้ เช่น เหล็กสเตนเลส สังกะสีและเทฟลอน เพื่อป้องกันไม่ให้ทองแดงปนเปื้อนลงไปในอาหาร การดูแลรักษาค่อนข้างยุ่งยาก และต้องทำการขัดผิวละเอียด (Polishing) บ่อยๆ จึงจะดูสวยงามน่าใช้อยู่เสมอ กระทะหมายเลข 1 ยี่ห้อ Dream Chefเป็นกระทะอลูมิเนียมเคลือบด้วยเทฟลอนผสมหินอ่อน การถ่ายเทความร้อนจากก้นกระทะไปสู่น้ำเป็นไปอย่างรวดเร็ว การกระจายตัวของความร้อนดีปานกลาง ความหนาของก้นกระทะปานกลาง และความหนาของชั้นเคลือบปานกลาง ก้นกระทะทำความสะอาดง่าย  กระทะหมายเลข 2 ยี่ห้อ Seagull รุ่น Gladiatorเป็นกระทะอลูมิเนียมเคลือบ เทฟลอน มีก้นลึก เหมาะกับการทอดและผัด นอกจากนี้ ยังมีการเคลือบสาร Microban ป้องกันและยับยั้งการเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย (ข้อมูลตามที่ผู้ผลิต ได้โฆษณา) การถ่ายเทความร้อนจากก้นกระทะไปสู่น้ำที่ทดสอบ ใช้เวลานาน ซึ่งเป็นจุดด้อยของกระทะรุ่นนี้ และหากพิจารณาดูความหนาของก้อนกระทะและความหนาของชั้นผิวเคลือบกระทะรุ่นนี้ค่อนข้างบาง ก้นกระทะทำความสะอาดง่าย จุดเด่นของกระทะรุ่นนี้ คือ ผู้ผลิตรับประกัน 1 ปี อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขของประกันนั้น ไม่คลอบคุมถึงการใช้งานในเชิงพาณิชย์ และการใช้งานผิดประเภท กระทะหมายเลข 3 ยี่ห้อ Circulon เป็นกระทะที่ทำจากอลูมิเนียม โดยก้นกระทะทำจากเหล็กหล่อ เคลือบเทฟลอน ด้ามจับทำจากเหล็กสเตนเลส ออกแบบสวยงาม แต่มีน้ำหนักมาก ที่ก้นกระทะทำเป็นรูปก้นหอย ป้องกันการการติดแน่น แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อทดสอบต้มนมสด คราบไหม้ที่เกิดขึ้น เกาะติดแน่นกับก้นกระทะ ทำความสะอาดลำบาก การถ่ายเทความร้อนจากก้นกระทะไปสู่น้ำใช้เวลานาน แต่การกระจายตัวของความร้อนสม่ำเสมอดีมาก ความหนาของก้นกระทะสูง แต่ความหนาของชั้นเคลือบปานกลาง ข้อดีอีกอย่างหนึ่งคือสามารถใช้กับเตาไฟฟ้าอินดัคชันได้ กระทะหมายเลข 4 ยี่ห้อ Zebra รุ่น Gladiatorเป็นกระทะที่ทำจากอลูมิเนียมหล่อเคลือบเทฟลอน เสริมก้นกระทะด้านล่างด้วยเหล็กเสตนเลส ก้นกระทะลึก เหมาะสำหรับการทอดและผัด เมื่อทดสอบการให้ความร้อนด้วยเตาไฟฟ้า จะให้ความร้อนช้ามาก แต่เนื่องจากที่ก้นกระทะเสริมเหล็กสเตนเลส สามารถนำไปใช้งานกับเตาไฟฟ้าอินดัคชันได้ ซึ่งจะทำให้การถ่ายเทความร้อนรวดเร็วขึ้น ข้อดีของกระทะรุ่นนี้คือ การกระจายความร้อนที่ก้นกระทะสม่ำเสมอ ก้นกระทะทำความสะอาดง่ายก้นกระทะด้านบนทำจากวัสดุอลูมิเนียมเคลือบเทฟลอน ด้านล่างเสริมเหล็กสเตนเลสกระทะหมายเลข 5 ยี่ห้อ Suporเป็นกระทะที่ทำจากอลูมิเนียมหล่อเคลือบเทฟลอน เสริมก้นกระทะด้านล่างด้วยเหล็กสเตนเลส ก้นกระทะลึก เหมาะสำหรับการทอดและผัด เมื่อทดสอบการให้ความร้อนด้วยเตาไฟฟ้า จะให้ความร้อนช้ามาก แต่เนื่องจากที่ก้นกระทะเสริมเหล็กสเตนเลส สามารถนำไปใช้งานกับเตาไฟฟ้าอินดัคชันได้ ซึ่งจะทำให้การถ่ายเทความร้อนรวดเร็วขึ้น ก้นกระทะทำความสะอาดง่าย ก้นกระทะด้านบนเคลือบเทฟลอน และมีผิวนูนออกมาเป็นรูป รังผึ้ง ป้องกันการติดที่ก้นหม้อ ด้านล่างเสริมเหล็กสเตนเลส  กระทะหมายเลข 6 ยี่ห้อ Caphalonเป็นกระทะที่ทำจากอลูมิเนียมหล่อเคลือบเทฟลอน ทดสอบการให้ความร้อนด้วยเตาไฟฟ้า จะให้ความร้อนเร็ว แต่เนื่องจากกระทะทำจากวัสดุอลูมิเนียมหล่อ จึงไม่สามารถนำไปใช้งานกับเตาไฟฟ้าอินดัคชันได้ ก้นกระทะตื้น ทำความสะอาดง่าย ก้นกระทะด้านบนเคลือบเทฟลอน ก้นกระทะด้านล่างเคลือบอีนาเมล     กระทะหมายเลข 7 ยี่ห้อ Tefalเป็นกระทะที่ทำจากอลูมิเนียมหล่อเคลือบเทฟลอน จึงไม่สามารถนำไปใช้งานกับเตาไฟฟ้าอินดัคชันได้ ผิวก้นกระทะด้านบนพิมพ์ลายนูน ป้องกันอาหารติดแน่น มี Thermo spot เพื่อให้ทราบ อุณหภูมิที่พอเหมาะในการทอดหรือผัด โดยจะเปลี่ยนสีจากสีส้มอ่อน เป็นสีแดงเข้ม การถ่ายเทความร้อนจากก้นกระทะดีมาก การกระจายตัวของอุณหภูมิดีมาก ก้นกระทะไม่ลึก ทำความสะอาดง่าย ก้นกระทะด้านบนเคลือบเทฟลอน ก้นกระทะด้านล่างเคลือบอีนาเมล   กระทะหมายเลข 8 ยี่ห้อ Meyerเป็นกระทะที่ทำจากอลูมิเนียมหล่อเคลือบเทฟลอน จึงไม่สามารถนำไปใช้งานกับเตาไฟฟ้าอินดัคชัน การถ่ายเทความร้อนจากก้นกระทะดี การกระจายตัวของอุณหภูมิดี ก้นกระทะลึก ทำความสะอาดง่าย ก้นกระทะด้านบนเคลือบเทฟลอน ก้นกระทะด้านล่างเคลือบอีนาเมล      กระทะหมายเลข 9 ยี่ห้อ Sahamingเป็นกระทะที่ทำจากอลูมิเนียมหล่อเคลือบเทฟลอน การถ่ายเทความร้อนจากก้นกระทะดี การกระจายตัวของอุณหภูมิปานกลาง ก้นกระทะลึกปานกลาง ทำความสะอาดง่าย ก้นกระทะด้านบนทำจากวัสดุอลูมิเนียมหล่อ เคลือบเทฟลอน   กระทะหมายเลข 10 ยี่ห้อ Tescoเป็นกระทะที่ทำจากอลูมิเนียมหล่อเคลือบเทฟลอน การถ่ายเทความร้อนจากก้นกระทะดีมาก การกระจายตัวของอุณหภูมิปานกลาง ก้นกระทะไม่ลึก ทำความสะอาดยาก (คราบนมติดแน่น หลังจากทดสอบต้มนมสดจนแห้ง) ก้นกระทะด้านบนเคลือบเทฟลอน ก้นกระทะด้านล่างเคลือบอีนาเมล     กระทะหมายเลข 11 ยี่ห้อ Kosyเป็นกระทะที่ทำจากอลูมิเนียมหล่อเคลือบเทฟลอน การถ่ายเทความร้อนจากก้นกระทะปานกลาง การกระจายตัวของอุณหภูมิพอใช้ ก้นกระทะไม่ลึก ทำความสะอาดง่าย ก้นกระทะด้านบนเคลือบเทฟลอน ก้นกระทะด้านบนเคลือบเทฟลอน      กระทะหมายเลข 12 ยี่ห้อ Egg Dance (ขออภัย..ไฟล์ภาพเสียหาย) เป็นกระทะที่ทำจากอลูมิเนียมหล่อเคลือบเทฟลอน ด้านล่างเสริมเหล็กสเตนเลส สามารถใช้กับเตาไฟฟ้าอินดัคชันได้ การถ่ายเทความร้อนจากก้นกระทะปานกลาง การกระจายตัวของอุณหภูมิดี ก้นกระทะลึก ทำความสะอาดง่าย กระทะหมายเลข 13 ยี่ห้อ Carrefour (ขออภัย..ไฟล์ภาพเสียหาย)เป็นกระทะที่ทำจากอลูมิเนียม ที่ผ่านกระบวนการผลิตด้วยวิธีการขึ้นรูป มีความหนาน้อยมาก เคลือบเทฟลอน ซึ่งความหนาของชั้นเคลือบบาง ถ่ายเทความร้อนจากก้นกระทะได้ดี การกระจายตัวของอุณหภูมิ พอใช้ ก้นกระทะไม่ลึก ทำความสะอาดยาก---------------------------------ชื่อ บช. "มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค"กสิกรไทย : 058-2-86735-6ไทยพาณิชย์ : 319-2-62123-1กรุงไทย : 141-1-28408-9ทหารไทย : 026-2-40760-4กรุงเทพ : 088-0-38742-8กรุงศรีอยุธยา : 463-1-10884-6--------------------------------->>> อ่านย้อนหลังได้กว่า 90 ฉบับ ผลทดสอบเพียบ! >>> นิตยสารนี้ไม่มีโฆษณา...เพื่อข้อมูลที่เป็นกลางและตัดสินใจได้ สำหรับผู้บริโภค>>> รายได้ทั้งหมดมาจากทุกท่านบริจาคสนับสนุน...ขอบคุณมากครับ --------------------------------

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 104 “รถเปลี่ยนเป็นเงิน” อันตรายติดเสาไฟฟ้า

“หนูจ๋า ช่วยป้าด้วยจ้ะ...!”“มีอะไรหรือคะป้า” เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคถาม“คืออย่างนี้...”ต่อจากนั้นเจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคก็ได้รับฟังความทุกข์จากป้าอารีย์ที่หลั่งไหลออกมาอย่างไม่ขาดสาย“สามีป้ามีปัญหาสุขภาพ เจ็บป่วยออดๆ แอดๆ ป้าต้องทำงานหาเงินคนเดียว ทำทุกอย่างทั้งเย็บมุ้งขาย ทั้งทำสวนอยู่ต่างจังหวัด ยังไม่พอนะหนู แม่สามีของป้าแกก็มาป่วยเข้าอีกคน ป้าแทบหมดหนทางไม่รู้จะหาเงินที่ไหนมาใช้จ่ายจุนเจือครอบครัว”ที่เล่ามาเป็นเพียงจุดเริ่มต้น แต่ปัญหาจริง ๆ ของป้าอารีย์เกิดขึ้นเมื่อ...“ป้าต้องใช้เงินมากไม่รู้จะไปกู้ที่ไหน เห็นเบอร์ตามเสาไฟฟ้าที่บอกว่า ให้นำรถไปเปลี่ยนเป็นเงินได้ พอดีสามีป้ามีรถกระบะอยู่คันหนึ่ง ก็ตัดสินใจวินาทีนั้นล่ะ กะจะเอารถไปจำนำเปลี่ยนเป็นเงินมาใช้กันก่อน มีเงินเมื่อไหร่ค่อยไปไถ่ถอนคืนทีหลัง”ป้าอารีย์จึงโทรไปขอความช่วยเหลือตามเบอร์โทรศัพท์ที่แจ้งไว้ในป้ายข้างเสาไฟฟ้าทันที“ตอนนั้นประมาณเดือนกรกฎาคม ปี 2548 เขาบอกคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อเดือน ใช้สมุดรถยนต์ค้ำประกัน ก็นัดหมายทำสัญญากันเลย” “ไปทำสัญญากันที่ปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่งแถวถนนเพชรเกษม ช่วงบางแค วันนั้นเห็นมีพนักงานแค่ 2 คน ก็เอารถเราไปให้เขาดูด้วย เขาตีราคาบอกว่าได้แค่ 70,000 บาท และให้วางสมุดทะเบียนรถไว้กับเขาแต่รถเอาไปใช้ได้ป้าก็ลังเลอยู่แต่สามีป้า ซึ่งเป็นเจ้าของรถตกลงเซ็นสัญญาทันที ก็ไม่ได้อ่านเอกสารหรอกเพราะตัวเล็กมาก แล้วพนักงานก็ให้ป้าเซ็นกำกับในสัญญานี้ด้วย โดยบอกว่าป้าเป็นเจ้าบ้านต้องเซ็นอนุญาตให้รถที่จำนำทะเบียนนั้นจอดได้ ป้าก็งง ๆ อยู่แต่ก็เซ็นไป”“เมื่อทำสัญญาเสร็จป้ากับสามีได้รับเงินแค่ 64,000 บาท เพราะพนักงานแจ้งว่ามีค่าใช้จ่าย 6,000 บาท หลังจากนั้นเขาก็ให้ป้ากับสามีเดินทางไปโอนทะเบียนรถให้เขา โดยให้พนักงานอีกคนขับรถของสามีป้าตามไปที่ขนส่งเขาเอารถไปทำเรื่องอยู่นานมาก แล้วเมื่อทำเรื่องโอนรถเสร็จป้ายังต้องเสียค่าโอนอีก 1,050 บาท”สรุปว่าวันนั้น ป้าอารีย์กับสามีได้รับเงินเพียงแค่ 62,950 บาท เท่านั้น จากการจำนำรถ 70,000 บาทและไม่ได้รับเอกสารใดๆ กลับบ้านเลยหลังจากนั้นไม่นานป้าอารีย์ได้รับเอกสารสัญญาส่งมาทางไปรษณีย์ เมื่อแกะเปิดดูแบบเต็มๆ ถึงได้รู้ว่าสัญญาที่ได้ทำไปนั้นแทนที่จะเป็นสัญญาจำนำรถกลับเป็นสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ของตัวเอง โดยมีหนี้เช่าซื้อรถจำนวน 137,700 บาท ผ่อนงวดละ 3,825 บาท ระยะเวลาผ่อน 36 งวด ได้รับเอกสารสัญญาแล้วป้าอารีย์ก็น้ำตาตกใน แต่ไม่ได้ทักท้วงอะไรตั้งหน้าตั้งตาผ่อนรถของตัวเองไปโดยไม่ปริปาก มีบางงวดที่ขาดส่งหรือล่าช้าไปบ้างจึงถูกเรียกเบี้ยปรับและค่าติดตามทวงถามเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ แต่ก็กัดฟันสู้ จนเมื่อประมาณเดือนตุลาคม 2551 คราวนี้ป้าอารีย์และสามีไม่มีเงินกันจริงๆ จึงไม่ได้ชำระเงินค่างวดอีก“พอถึงต้นเดือนพฤศจิกายน 2551 มีคนของไฟแนนซ์มาทวงหนี้ถึงที่บ้านแจ้งว่าให้ชำระหนี้ค่าเช่าซื้อทั้งหมด 50,000 กว่าบาทไม่เช่นนั้นจะยึดรถทันที แต่อีกไม่กี่วันป้าได้โทรไปถามยอดหนี้ให้แน่ใจอีกครั้งกลับได้รับแจ้งว่ามีหนี้เช่าซื้อถึง 70,000 กว่าบาทและถ้าจ่ายไม่ได้จะถูกยึดรถ”“ป้ากับสามีไม่รู้จะทำอย่างไรจากที่ไปขอกู้เงินเขาแค่ 70,000 บาท จ่ายคืนหนี้มาตั้ง 2-3 ปีก็ยังไม่หมด ตอนนี้เอารถยนต์ไปหลบที่ต่างจังหวัดอยู่ อยากให้มูลนิธิฯ ช่วยเหลือป้าด้วย”แนวทางแก้ไขปัญหาน่าเห็นใจครับกับปัญหาเศรษฐกิจระดับครัวเรือนที่ไม่มีทางออก เมื่อไม่มีแหล่งเงินกู้ในที่สว่างก็ต้องไปหาเก็บเอาตามเสาไฟฟ้ากันอย่างนี้ล่ะครับชีวิตคนไทยเมื่อเสียรู้เข้าทำสัญญาเช่าซื้อรถของตัวเองไปแล้วก็คงต้องเดินหน้าต่อไปล่ะครับ เมื่อดูใบเสร็จรับเงินที่ป้าอารีย์จ่ายค่างวดไปแล้วพบว่าค้างเหลืออยู่อีกแค่ 7 งวด เป็นเงิน 26,775 บาท เพื่อไม่ให้เป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าซื้อจึงแนะนำให้ป้าอารีย์ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างอยู่ให้ครบ โดยใช้วิธีโอนเงินเข้าบัญชีไฟแนนซ์ไป ไม่ต้องสนใจว่าใบเสร็จที่ได้รับจะถูกหักเป็นเบี้ยปรับล่าช้าหรือไม่ เพราะธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ถือเป็นธุรกิจที่ถูกคณะกรรมกาคุ้มครองผู้บริโภคเขาควบคุมสัญญาไว้ แม้จะให้ผู้ประกอบธุรกิจมีสิทธิคิดเบี้ยปรับ เบี้ยล่าช้า ได้แต่สัญญาควบคุมก็ห้ามคิดอัตราดอกเบี้ยแบบลูกค้าชั้นดีรายย่อยของธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน) บวกสิบ(MRR. + 10) อย่างที่หลาย ๆ ไฟแนนซ์ชอบเขียนกันไว้ในสัญญา หรือค่าทวงถามก็ให้คิดได้แต่ต้องอยู่ในอัตราที่เหมาะสมสามารถพิสูจน์ได้ว่ามีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นตามนั้นจริง ที่สำคัญสัญญาควบคุมเขาถือว่าเมื่อผู้เช่าซื้อชำระค่างวดและค่าใช้จ่ายอื่นใดที่ปรากฏในสัญญาและไม่ขัดต่อสัญญาควบคุมของ สคบ.แล้วถือว่ากรรมสิทธิ์ในรถยนต์ที่เช่าซื้อนั้นตกเป็นของผู้เช่าซื้อโดยทันที และผู้ประกอบธุรกิจมีหน้าที่ต้องดำเนินการโอนทะเบียนรถให้ผู้เช่าซื้อโดยทันทีภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับเอกสารที่เกี่ยวกับการโอนทะเบียนจากผู้เช่าซื้อครบถ้วนดังนั้นเมื่อป้าอารีย์ได้ชำระค่างวดรถไปครบถ้วนหลังจากนั้นมูลนิธิฯ จึงได้ช่วยทำหนังสือแจ้งไฟแนนซ์ให้ทำการโอนเปลี่ยนชื่อในสมุดคู่มือจดทะเบียนรถ ตอนแรกไฟแนนซ์ก็ทำทีอิดเอื้อนจะขอเรียกเก็บเบี้ยปรับอยู่แต่ด้วยไม่มีข้อต่อสู้ทางกฎหมายเนื่องจากสัญญาที่ทำขึ้นได้กำหนดค่าเบี้ยปรับที่ขัดต่อสัญญาควบคุมท้ายที่สุดจึงต้องทำการโอนเปลี่ยนชื่อรถโดยไม่มีเงื่อนไขครับ

อ่านเพิ่มเติม >