ฉบับที่ 104 ขอแก้ด้วยคน

และแล้ว เหตุการณ์น่าระทึกใจจากการชุมนุมประท้วงต่างๆ ทั้งเรื่องสีเสื้อ เรื่องทวงคืนเขาพระวิหาร ก็ผ่านพ้นไปด้วยดี ตามมาด้วยเสียงถอนหายใจดังๆ ที่แสดงถึงความโล่งอกโล่งใจ ของหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงพ่อแม่พี่น้องประชาชนทั่วประเทศ ก็หายใจได้ชื่นปอดมากขึ้น เพราะอย่างน้อยก็ทำให้เชื่อได้ว่ารัฐบาลยังน่าจะยืนระยะต่อไปได้อีกพักหนึ่งแน่ๆทันทีที่สิ้นเสียงปี่กลองของการชุมนุม พลันก็มีเสียงโหยหวนจากเหล่านักการเมือง เรื่องการขอแก้รัฐธรรมนูญดันแทรกขึ้นมาทันทีทันใด โดยการขอแก้ครั้งนี้มีนัยยะสำคัญว่า คราวนี้ต้องแก้ให้ได้ ใครเอาช้างมาฉุดก็น่าจะยาก หากมีการแก้รัฐธรรมนูญสำเร็จก็หมายความว่า ปี่กลองการเลือกตั้งต้องดังขึ้นมาอีกครั้งอย่างแน่นอน ดังนั้นหากจะพูดว่าการแก้รัฐธรรมนูญกับการเลือกตั้งเกือบๆ จะเป็นเรื่องเดียวกันก็ไม่ผิดเมื่อพูดถึงการเลือกตั้งสำหรับผู้เขียนนั่นหมายถึงการไม่มีทางเลือก เพราะคำว่าเลือกตั้งควรจะหมายถึงสิทธิที่เราจะเลือกใครก็ได้ที่เราชอบ แต่ความจริงคือเราเลือกคนที่เราชอบไม่ได้(ไม่มีคนชอบให้เราเลือก) เราต้องเลือกคนที่พรรคการเมืองจัดมาให้(ผู้ผลิตสินค้า) ถ้าเปรียบนักการเมืองเป็นสินค้าก็เป็นสินค้าที่ผู้บริโภคเลือกไม่ได้ เหมือนถูกบังคับให้ต้องซื้อสินค้าที่คุณภาพต่ำ และไร้มาตรฐานแบบไม่มีทางเลือก และเมื่อเลือกไปแล้วรู้ว่าสินค้าไม่ดี การขอคืนสินค้าขั้นตอนการคืนก็ยุ่งยาก สรุปคือมันคืนไม่ได้ (จริงอยากใช้พรบ.ขายตรงที่บอกว่าสินค้าซื้อแล้วไม่พอใจสามารถคืนเงินได้ใน 7 วัน แฮ่ๆ แต่มันก็ใช้ไม่ได้ง่ะ..)ครั้นเราจะไม่ไปเลือกก็อาจถูกประณามว่านอนหลับทับสิทธิ ไม่ใช่นักประชาธิปไตยอีก(อึดอัดว่ะ) การตัดสินใจเลือกของเราที่มุ่งหวังจะเลือกคนที่เราชอบจึงเป็นไปไม่ได้ จากที่ต้องการเลือกคนที่ดีที่สุด กลายมาเป็นว่าเราต้องเลือกคนที่คิดว่าพอมีความดีหลงเหลือหน่อย(เลวน้อยที่สุด) บางคนใช้วิธีอารยะขัดขืน โดยการฉีกบัตรเลือกเพื่อแสดงให้เห็นว่าเราไม่ต้องการสินค้าที่เขาส่งมา หรือไม่ออกไปใช้สิทธิมันซะเลย ให้มันสิ้นเรื่องสิ้นราวกันไป หรือทางออกสุดท้ายของการใช้สิทธิคือการกาช่องไม่ประสงค์จะเลือกผู้ใด (โนโหวต) และตรงนี้เองคือปัญหา เพราะคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ให้สิทธิตรงนี้ไว้ แต่จริงๆ คือไม่มีสิทธิ เพราะผลที่เกิดขึ้นคือ การกาช่องไม่ใช้สิทธิ มีผลเท่าบัตรเสียเท่านั้น คือไม่มีผลใดๆ ต่อการนับคะแนนเลือกตั้งเลย ไม่รู้ว่าให้สิทธิตรงนี้ไว้ทำไม ? ดังนั้นหากต้องมีการแก้รัฐธรรมนูญจริงๆ ก็อยากจะเสนอให้ มีการแก้เรื่องผลการโนโหวต ให้มีศักดิ์และสิทธิเทียบเท่ากับการกาช่องลงคะแนน เพราะประชาชนจำนวนหนึ่งก็อึดอัดกับการที่ต้องเลือกคนที่พรรคการเมืองต่างๆ เสนอมา และต้องกล้ำกลืนฝืนทนเลือกทั้งๆ ที่ไม่เต็มใจ และเมื่อหากจะแก้รัฐธรรมนูญกันทั้งที ก็เลยอยากขอแก้ด้วยคนโดยขอเสนอแก้ไขให้ผลการโนโหวต จำนวนกี่ % ก็ว่ากันไป ให้มีผลให้การเลือกตั้งครั้งนั้นเป็นอันโมฆะ เพื่อแสดงให้เห็นว่าเราไม่ต้องการสินค้าที่พรรคการเมืองส่งมาให้เลือก โดยให้พรรคการเมือง ส่งคน มาให้เราเลือกใหม่อีกครั้ง...หากอยากจะแก้กันจริงๆ กล้าแก้ตามที่เราเสนอมั้ยล่ะ..ท่านนักการเมือง .......................

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 104 สร้างบ้านบกพร่อง แล้วไม่แก้ไข บอกเลิกสัญญาได้

ในการซื้อบ้านเพื่ออยู่อาศัยนั้นเราต้องตรวจสอบดูให้รอบคอบว่า บริษัทที่ประกอบกิจการโครงการบ้านนั้นเป็นบริษัทที่ดีมีชื่อเสียงในด้านซื่อตรงในการดำเนินกิจการหรือไม่ อีกทั้งในการเข้าทำสัญญาจะซื้อจะขาย หากเห็นว่าสัญญาดังกล่าวมีข้อความเอารัดเอาเปรียบไม่เป็นธรรมในตอนใดก็ควรขอแก้ไขเสีย หากเขาไม่ยอมแก้ไขให้ก็ควรจะหาซื้อที่โครงการอื่นๆ ดีกว่า  สัญญาที่เป็นธรรมอย่างน้อยควรมีระยะเวลาก่อสร้างและระยะเวลาสร้างเสร็จ วัสดุก่อสร้างควรจะชัดเจนว่าจะใช้อะไรก่อสร้างและหากวัสดุดังกล่าวไม่มีจะใช้อะไรทดแทนในคุณภาพที่เท่ากัน มีข้อกำหนดให้ผู้จะซื้อตรวจสอบความเรียบร้อยของบ้านก่อนรับโอนได้ และหากมีข้อบกพร่องใดๆ ก็จะต้องแก้ไขให้เรียบร้อยก่อน สำหรับกรณีศึกษาในฉบับนี้ เป็นเรื่องที่ผู้จะขายสร้างบ้านโดยใช้วัสดุไม่เหมือนกับบ้านตัวอย่าง และมีข้อบกพร่องที่ยังต้องแก้ไขหลายรายการ ผู้จะซื้อแจ้งให้แก้ไขหลายรายการ แต่ผู้จะขายแก้ไขเพียงบางรายการ เท่านั้น ผู้จะซื้อจึงไม่ยอมรับโอนกรรมสิทธิ์ ผู้จะขายหาว่าผู้จะซื้อผิดสัญญาแล้วริบเงินที่ได้ส่งไปแล้ว ผู้จะซื้อจึงบอกเลิกสัญญาแล้วมาฟ้องเรียกเงินดาวน์และเงินที่ผ่อนไปแล้วบางส่วนคืนพร้อมดอกเบี้ย มาดูกันสิว่าผู้บริโภคจะเรียกคืนได้หรือไม่ คำ พิพากษาศาลฎีกาที่ 8509/2551 โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 725,078.36 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 622,700 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 725,078.36 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 622,700 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสองกับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 2,000 บาท แทนโจทก์ทั้งสอง จำเลยฎีกาศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ในการขายที่ดินพร้อมบ้านในโครงการ จำเลยได้ปลูกสร้างบ้านตัวอย่างให้ลูกค้าดู บ้านตัวอย่างจึงมีส่วนประกอบในการตัดสินใจซื้อ เชื่อว่าที่โจทก์ทั้งสองซื้อเพราะพอใจในคุณภาพการก่อสร้าง แม้วิธีการก่อสร้างบ้านที่จะส่งมอบแก่ลูกค้าอาจไม่เหมือนกับการสร้างบ้านตัวอย่างไปบ้างดังเช่น การเปลี่ยนวิธีการสร้างจากก่ออิฐฉาบปูนตามบ้านตัวอย่างมาเป็นการใช้วัสดุสำเร็จรูป แต่คุณภาพการก่อสร้างในส่วนอื่นก็ควรจะใกล้เคียงกับบ้านตัวอย่าง และเมื่อโจทก์ทั้งสองพบเห็นการก่อสร้างบกพร่องก็เป็นสิทธิของโจทก์ทั้งสองที่จะขอให้จำเลยแก้ไข อันเป็นเรื่องปกติที่ผู้ต้องการจะซื้อบ้านเพื่ออยู่อาศัยย่อมต้องการบ้านที่มีคุณภาพพร้อมจะเข้าอยู่อาศัยโดยมิพักต้องมาแก้ไขอีกหลังจากที่ตนเข้าอยู่อาศัยแล้ว จึงเป็นหน้าที่ของจำเลยที่จะต้องดำเนินการให้ก่อนโอนกรรมสิทธิ์ แม้การแก้ไขจะทำให้จำเลยมีภาระต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอันเป็นไปตามข้อสัญญาที่โจทก์ทั้งสองกับจำเลยตกลงกันให้โจทก์ทั้งสองมีโอกาสตรวจสอบบ้านที่จะส่งมอบ ก่อนที่จะมีการโอนกรรมสิทธิ์กัน ดังนี้ เมื่อจำเลยรับว่าจำเลยยังไม่แก้ไขข้อบกพร่องให้โจทก์ทั้งสองเท่ากับยังมิได้ปฏิบัติการชำระหนี้ของตนให้ครบ จำเลยทั้งสองจึงไม่อยู่ในฐานะที่จะเรียกให้โจทก์ทั้งสองรับโอนกรรมสิทธิ์บ้านและที่ดินตามสัญญา โจทก์ทั้งสองชอบที่จะบอกเลิกสัญญากับจำเลยได้ “ พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 3,000 บาทแทนโจทก์ทั้งสอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 104 ปวดร้าวเพียงใด

ฉบับที่แล้วผมให้ข้อมูลไปว่า ยาสมุนไพรหากจะผลิต แปรรูปเป็นยาแผนโบราณ ก็ต้องนำมาขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อที่ทางกระทรวงสาธารณสุขจะได้ช่วยตรวจสอบว่ามันเป็นยาที่มีความเป็นไปได้ในแง่ผลการรักษาเพียงใด โดยจะเปรียบเทียบอ้างอิงกับตำรับยาแผนโบราณเพื่อจะพิสูจน์ว่ามันไม่มีอันตรายต่อผู้ป่วย แต่ในท้องตลาดยังมีผลิตภัณฑ์อื่นๆ จำหน่ายในทำนองนี้ด้วย เช่น เครื่องดื่มสมุนไพร หากเราสังเกตชื่อที่ระบุประเภทว่า “เครื่องดื่ม” เราจะทราบว่ามันคือเครื่องดื่ม ไม่ใช่ยา ดังนั้นมันจึงไม่สามารถ บำบัด บรรเทา รักษาโรคได้ ล่าสุดเภสัชกรสาวสวยคนเดิมจากโรงพยาบาลสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า ได้ส่งข้อมูลมาอีกแล้ว เธอเล่าว่าผู้ป่วยชาย อายุ 60 ปี ได้ซื้อเครื่องดื่มสมุนไพรจีน มิทเชลล์ฉาง มารับประทาน โดยดื่มวันละ 2 อึก แก้พังผืด ข้อตึง (สรุปง่ายๆ คือซื้อมากินเพื่อรักษาโรคนั่นแหละ) หลังจากรับประทานมาประมาณ 1 เดือน ก็มีอาหารผิดปกติเกิดขึ้นจนต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล เภสัชกรสาวสวยขี้สงสัยคนนี้ จึงได้ส่งเครื่องดื่มชนิดนี้ไปตรวจที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์สมุทรสงคราม ผลปรากฏว่าคราวนี้เธอร้องกรี๊ดดดดด ดังกว่าเดิม (ไม่รู้ตกใจหรือโกรธ) เพราะผลการตรวจปรากฏว่าพบยาแก้ปวด ลดไข้ พาราเซตามอล ผสมอยู่ด้วย เธอจึงรีบแจ้งมายังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสงครามให้ติดตามตรวจสอบต่อไป ในเบื้องต้นพบว่า เครื่องดื่มสมุนไพรชนิดนี้มีวางขายแพร่หลายตามท้องตลาด ในราคา ขวดละพันกว่าบาท โดยโฆษณาว่าเป็นเครื่องดื่ม สูตรสมุนไพรแบบองค์รวม ปรุงขึ้นตามตำรับจีนโบราณ โดยเน้นความสมดุลของระบบหยิน-หยาง และธาตุทั้ง 5 (ดิน น้ำ ทอง ไม้ ไฟ) ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการดูแลสุขภาพ สามารถขจัดอนุมูลอิสระ(Antioxidant) อันเป็นเหตุของความชราภาพและโรคภัยต่างๆ มากมาย(ในโฆษณาไม่มีส่วนผสมของยาแผนปัจจุบันนะครับ) ตอนนี้ยังอยู่ระหว่างการติดตามตรวจสอบเชิงลึกอยู่นะครับว่า ยาแก้ปวดลดไข้ พาราเซตามอล มันเข้ามาอยู่ในขวดได้อย่างไร แต่เผอิญเมื่อวานได้มีโอกาสนั่งประชุมกับน้องๆ เจ้าหน้าที่จากศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์สมุทรสงคราม น้องเล่าว่าผลการตรวจยาสมุนไพรมันเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมๆ ที่พบแค่สารสเตียรอยด์โดยพบว่าเริ่มมีการผสมยาแผนปัจจุบันบางชนิดแล้ว และยังพบในผลิตภัณฑ์รูปแบบอื่นๆ ที่ไม่ใช่ยาลูกกลอนด้วย เช่น พบในยาผงสมุนไพร หรือยาน้ำหรือเครื่องดื่มอีกด้วย {xtypo_info}เรื่อง ที่เล่ามานี้คงเป็นข้อมูลเตือนภัยอีกทางหนึ่งว่า แม้การดูแลสุขภาพจะเป็นสิ่งสำคัญ แต่การเลือกผลิตภัณฑ์มาใช้อย่างรอบคอบระมัดระวัง ย่อมเป็นสิ่งที่ต้องกระทำอย่างยิ่ง และถ้าเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆที่ไม่ใช่ยา (เช่น เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ฯลฯ) ยิ่งต้องระวัง ไม่ใช้อย่างสับสน ต้องท่องให้ขึ้นใจว่า “มันคืออาหาร ไม่ใช่ยา มันจึงรักษาโรคไม่ได้” เราจะได้ปลอดภัยทั้งตัวและปลอดภัยทั้งตังค์นะครับ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 104 กระแสต่างแดน

บล็อกเกอร์ต้องสำแดง ออสเตรเลียเกิดปิ๊งไอเดียจัดระเบียบการทำการตลาดทางอินเตอร์เน็ตด้วยการออกข้อบังคับให้เจ้าของบล็อกประเภท “วิจารณ์ผลิตภัณฑ์” หรือ “ใช้ดีแล้วบอกต่อ” แสดงที่มาที่ไปของสินค้าที่ตัวเองพูดถึงด้วย   เงินค่าจดทะเบียนน่ะมีไหม เดนมาร์กนั้นนอกจากจะเป็นประเทศที่รถมีราคาแพงจนน่าตกใจแล้ว ยังเป็นประเทศที่การจดทะเบียนรถก็แพงไม่แพ้กันอีกด้วย เดนมาร์กมีค่าจดทะเบียนรถยนต์สูงที่สุดในยุโรป ที่ประมาณ 1,180 โครเนอร์ (ประมาณ 7,800 บาท) ซึ่งองค์กรผู้บริโภคลงความเห็นว่าราคานี้ไม่สมเหตุสมผลอย่างยิ่ง และเป็นการเก็บเงินเกินไปถึง 1,000 โครเนอร์ (ประมาณ 6,500 บาท) เลยทีเดียว เขาอ้างอิงจากข้อมูลของสรรพากรที่บอกว่าค่าภาษีอยู่ที่ 160 โครเนอร์ (1,055 บาท) ส่วนตัวป้ายทะเบียนก็ราคาประมาณ 22 โครเนอร์ (145 บาท) แล้วที่เหลือนี่น่าจะเป็นค่าอะไร??? สมาคมผู้เป็นเจ้าของรถยนต์แห่งเดนมาร์กและสหพันธ์ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ก็เห็นด้วยว่าหลักการคิดค่าธรรมเนียมดังกล่าวดูไม่ค่อยจะโปร่งใสสักเท่าไร รัฐบาลเดนมาร์กมีรายได้จากการค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจดทะเบียนและการโอนรถถึงปีละ 780 ล้านโครเนอร์ (ประมาณ 5 พันกว่าล้านบาท) อังกฤษ เปิดเสรีโฆษณาแฝง การโฆษณาแฝงในรายการโทรทัศน์เคยเป็นเรื่องผิดกฎหมายในอังกฤษ แต่หลังจากเดือนกันยายนที่ผ่านมาสถานีโทรทัศน์ที่เอกชนเป็นเจ้าของสามารถอนุญาตให้มีโฆษณาแฝงได้ สภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ทำให้รัฐบาลอังกฤษเปลี่ยนใจ เพราะการอนุญาตให้มีโฆษณาแฝงได้จะทำให้สถานีโทรทัศน์ของเอกชนมีรายได้เพิ่มขึ้นถึงปีละ 100 ล้านปอนด์ (5,000 กว่าล้านบาท) แค่สถานีไอทีวีสถานีเดียวก็สามารถหาเงินเพิ่มได้ถึง 72 ล้านปอนด์ (ประมาณ 3,800 ล้านบาท) แล้ว ฝ่ายที่สนับสนุนเรื่องนี้อ้างว่าจะเป็นผลดีต่อผู้ชม เพราะการที่สถานีมีทุนมากขึ้น ก็จะสามารถจัดหารายการดีๆ มาให้ดูกันมากขึ้น สตีเฟ่น บาร์เน็ท อาจารย์ด้านนิเทศศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเวสมินสเตอร์ บอกว่าคนดูอาจเกิดอาการสับสนระหว่างเนื้อหาของละครกับเนื้อหาส่วนที่เป็นโฆษณาได้ และเป็นไปได้อย่างยิ่งที่ผู้จัดละครจะสร้างเนื้อหามารองรับการโฆษณาแฝง เพื่อหารายได้เสริมเข้ารายการมากกว่าการเขียนบทเพื่อสร้างอรรถรสตามที่ควรจะเป็น ปีเตอร์ บาซาลเกต ผู้สร้างรายการบิ๊กบราเธอร์ที่เรารู้จักกันดีก็ออกมาบอกว่า เรื่องนี้ควรปล่อยให้ผู้บริโภคเป็นคนตัดสิน ถ้าคนดูรู้สึกเลี่ยนกับโฆษณาแฝงเหล่านี้พวกเขาก็จะปิดทีวีหนีไปเอง แถมยังบอกว่าทุกวันนี้อังกฤษก็ซื้อรายการจากอเมริกาที่มีโฆษณาแผงพ่วงมาด้วยมากมายอยู่แล้ว แล้วไหนจะบรรดาเสื้อยืดพร้อมโลโก้ที่เป็นสปอนเซอร์ให้กับนักกีฬาอีก มีเพิ่มมาอีกนิดหน่อยก็ไม่น่าจะมีใครเดือดร้อนก็คงจับตาต้องดูกันต่อไปว่าคนอังกฤษจะได้ดูรายการที่ดีขึ้นจริงๆ หรือจะมีแต่รายการที่เต็มไปด้วยโฆษณาแฝงที่อยู่ดีๆ ผู้ชมก็ได้เห็นสินค้าอย่างใดอย่างหนึ่งโดยไม่มีเหตุผลเหมือนซิทคอมในบางประเทศหรือไม่หมายเหตุ การห้ามโฆษณาแฝงในอังกฤษยังคงมีอยู่สำหรับสถานีบีบีซี และรายการสำหรับเด็กในโทรทัศน์ทุกช่อง   ของมันมีจริงๆ นะเคยไหมที่เราตั้งใจไปซื้อของลดราคา ตามที่เห็นในโฆษณา แต่ต้องผิดหวังเพราะทางร้านบอกว่าของหมดแล้ว ที่เดนมาร์กเขามีการทำสำรวจไว้ เขาบอกว่ามีผู้บริโภคที่ผิดหวังกลับบ้านมือเปล่าไปถึง 1 ใน 10 อันนี้เป็นการสำรวจกับผู้บริโภคจำนวน 500 คน เมื่อคำนวณดูแล้วพบว่าในแต่ละปีจะมีประชากรชาวเดนมาร์กที่พลาดหวังถึง 250,000 คนเชียว ข่าวบอกว่าต่อไปนี้รัฐบาลจะเอาจริงแล้ว กับของที่โฆษณาว่าลดสุดๆ ลดล้างสต็อก หรือลดพลีชีพนั้น ต้องมีอยู่ที่ร้านจริงๆ และอีกหน่อยอาจจะมีกฎหมายระบุไปเลยว่าต้องมีของในสต็อกอย่างน้อยกี่ชิ้นด้วย มองในมุมกลับหรือมองในแง่ดีก็หมายความว่า มีถึง 9 ใน 10 เชียวนะที่มาซื้อแล้วได้ของกลับไปจริงๆ   โรคระบาดหลังหวัดสายพันธุ์ใหม่ข่าวนี้เก็บตกจากเกาหลีใต้ ในขณะที่ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ยังคงแพร่ระบาด และเรายังคงต้องปฏิบัติตามหลักการ “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” กันอยู่ ที่เกาหลีใต้นั้นหลายคนร่ำรวยอู้ฟู่ขึ้นตั้งแต่มีข่าวการแพร่ระบาด เพราะทั้งหน้ากากอนามัย น้ำยาทำความสะอาดมือ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันทั้งหลายล้วนแล้วแต่ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า อย.ของเกาหลีเลยต้องออกมาให้สติกับผู้บริโภค เพราะการแข่งขันที่สูงมากนั้นหมายถึงเจ้าของสินค้าจะต้องโฆษณาสินค้าของตัวเองว่าเลิศเกินใครและโดยมากจะเกินจริง เพื่อดึงดูดใจผู้บริโภค เช่น ตามกฎหมายของเกาหลีนั้น หน้ากากที่ไม่ผ่านเกณฑ์ KF94 ขององค์การอนามัยโลกไม่สามารถจะโฆษณาว่า “ป้องกันการติดเชื้อ” ได้ แต่ก็มีหน้ากากดังกล่าววางขายอยู่เกลื่อน นอกจากนี้ยังมีการจงใจสร้างความสับสนระหว่าง น้ำยาล้างมือ (ธรรมดา) กับน้ำยาฆ่าเชื้อโรค ในขณะที่น้ำยาล้างมือนั้น จัดเป็นเครื่องสำอางซึ่งตามกฎหมายก็หมายความว่าไม่อาจนำมาโฆษณาว่าสามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้ แม้แต่โรงพยาบาลก็ยังกลัวตกรถไฟต้องหาประโยชน์จากความตื่นกลัวของผู้บริโภคเสียหน่อย ด้วยการแนะนำให้คนไข้รับการตรวจที่เรียกว่า Rapid Antigen Test เพื่อการยืนยันว่าเป็นไข้หวัดใหญ่ชนิด A ซึ่งมีค่าใช้จ่ายประมาณ 20,000 – 40,000 วอน (600 -1,200 บาท) โดยบอกว่าจะรู้ผลเร็วกว่าการตรวจ RT-PCR ซึ่งต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 วัน ทางอย.ที่นั่นออกมาประณามโรงพยาบาลเหล่านี้ว่าไม่มีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค เพราะการตรวจดังกล่าวนั้นแม้จะรวดเร็วกว่าแต่ให้ความแม่นยำน้อยมาก และทำให้สูญเสียโอกาสในการได้รับการรักษาอย่างทันเวลาด้วย   นาทีนี้คนที่มีคอมพิวเตอร์และสามารถเชื่อมต่อกับโลกออนไลน์ได้มักจะหาข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตอยู่เสมอก่อนการตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการใดๆ ก็ตาม และผู้บริโภคก็มักจะพบกับบล็อกประเภทที่ดูเหมือนเขียนขึ้นจากใจจริงโดยผู้บริโภคด้วยกันที่อยากแบ่งปันเรื่องดีๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวเอง แต่ผู้บริโภคอาจยังไม่รู้แน่ชัดคือ บล็อกเกอร์เหล่านั้นได้รับค่าตอบแทนให้มาพูดถึงผลิตภัณฑ์ดังกล่าวหรือไม่ เพราะปัจจุบันการกระทำดังกล่าวเป็นหนึ่งในยุทธวิธีการตลาดของบริษัทต่างๆ โดยการอาศัยช่องว่างที่ขณะนี้ยังไม่มีการควบคุมการทำการตลาดบนอินเตอร์เน็ตอย่างชัดเจน คณะกรรมการการค้าแห่งออสเตรเลียบอกว่า การใช้วิธีขายแบบนี้มีผลทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดอย่างยิ่ง จึงออกกฎว่าตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2552 ปีนี้เป็นต้นไป ขอให้บล็อกเกอร์ที่วิจารณ์หรือให้คะแนนผลิตภัณฑ์ในเน็ตนั้น ระบุให้ชัดเจนว่าสินค้าที่พวกเขาพูดถึงนั้น เป็นสินค้าที่บริษัทให้มาฟรีหรือไม่ และได้รับค่าตอบแทนเท่าไรจากบริษัทในการพูดถึงผลิตภัณฑ์ดังกล่าว คณะกรรมการฯ บอกว่ากฎนี้มีเจตนาจะจัดระเบียบการทำการตลาดของบริษัทต่างๆ โดยไม่ได้มีเจตนาที่จะจำกัดเสรีภาพบล็อกเกอร์แต่อย่างใด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 104 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนกันยายน 255213 กันยายน 2552ระวังหมอฟันเถื่อนเกลื่อนเมือง!กรณีที่มีหญิงสาวคนหนึ่งออกมาร้องเรียนกับสื่อมวลชนว่าถูกหมอฟันในคลินิกแห่งหนึ่งย่านรามคำแหงทำอนาจาร พร้อมทั้งตั้งข้อสงสัยว่าภรรยาของหมอฟัน ที่แต่งชุดและทำงานคล้ายกับทันตแพทย์นั้น จริงๆ แล้วอาจไม่ได้เป็นทันตแพทย์จริง ศาสตราจารย์พิเศษ พลโท พิศาล เทพสิทธา นายกทันตแพทยสภา กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบสำหรับกรณีทันตแพทย์ชายลวนลามคนไข้ ส่วนเรื่องภรรยาของทันตแพทย์ซึ่งตรวจสอบแล้วว่าไม่มีใบประกอบวิชาชีพ หากพบว่ามีการรักษาคนไข้จริง ทันตแพทย์ที่อนุญาตถือว่ามีความผิด ซึ่งกรณีนี้ทันตแพทยสภาสามารถเข้าไปดำเนินการเอาผิดได้ แต่ในกรณีของตัวภรรยานั้น ทันตแพทยสภาไม่สามารถเอาผิดได้ต้องเป็นหน้าที่ของตำรวจและกองการประกอบโรคศิลปะ แต่ต้องมีคนออกมาร้องทุกข์กล่าวโทษเจ้าหน้าที่จึงจะเข้าไปจัดการได้ “ปัจจุบันมีทันตแพทย์เถื่อนเป็นจำนวนมาก แต่ทางทันตแพทยสภาจับไม่ได้ไล่ไม่ทัน เพราะเมื่อทราบเบาะแสและร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อเข้าจับกุม คนกลุ่มนี้จะรู้ตัวและหลบหนีไปทันที ที่ผ่านมาพบบ่อยบริเวณท่าพระจันทร์ล่าสุดกระจายไปทั่วแล้ว” แนะนำหากจำเป็นต้องพบทันตแพทย์ควรเลือกสถานพยาบาลที่เปิดประจำ มีใบอนุญาตให้เปิดบริการและมีใบประกอบวิชาชีพ 19 กันยายน 2552อย.ลงดาบสื่อ! โฆษณายา-อาหารสุขภาพเกินจริงทีวี เคเบิ้ลทีวี วิทยุ หรือแม้แต่นิตยสารต้องระวัง หากเผยแพร่โฆษณาผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพ อาหารเสริมที่มีการอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง ไม่ว่าจะจงใจหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ มีสิทธิถูกลงโทษตามกฎหมายทั้งจำทั้งปรับ อย. เปิดเผยว่า ด้วยมีผู้ประกอบการจำนวนหนึ่งที่คิดเอาเปรียบผู้บริโภค อาศัยกระแสการใส่ใจเรื่องสุขภาพของผู้คนมาเป็นช่องทางในการทำธุรกิจ โดยนำผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆ ทั้ง อาหาร ยา และเครื่องมือแพทย์ ไปโฆษณาตามสื่อต่างๆ ซึ่งถ้าหากมีการตรวจสอบพบว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่ได้ผ่านการตรวจสอบและได้รับใบอนุญาตจาก อย. นอกจากผู้ผลิตจะมีความผิดแล้ว สื่อที่ทำการเผยแพร่โฆษณาผลิตภัณฑ์ดังกล่าวก็มีความผิดด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ อย. ได้ดำเนินคดีกับบรรณาธิการนิตยสาร Gossip Star, นิตยสารทีวีพูล และ นิตยสาร OHO ซึ่งเผยแพร่โฆษณาที่ไม่ได้รับอนุญาตจาก อย. โดยเป็นโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริงของบริษัท ธัญญาพรสมุนไพร จำกัด และ บริษัท ไบโอพลัส จีเอ็มพี จำกัด ซึ่ง อย. ได้สั่งปรับเงินทั้งบริษัทเจ้าของผลิตภัณฑ์และนิตยสารทั้ง 3 ฉบับแล้ว 21 กันยายน 2552ผู้บริโภคอีสานพบเสาโทรศัพท์ใกล้ชุมชนมากไป หวั่นผลกระทบในงานเวทีสภาผู้บริโภคภาคอีสาน ประจำปี 2552 มีการนำเสนอผลการสำรวจ “ข้อมูลพื้นที่ใกล้เคียงเสาส่งสัญญาณโทรคมนาคมที่อาจเกี่ยวข้องกับผลกระทบจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า” โดยได้สำรวจเสาส่งสัญญาณโทรคมนาคม จาก 5 จังหวัด คือ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ดและสกลนคร พบว่าเสาสัญญาณส่วนใหญ่ตั้งอยู่ใกล้กับแหล่งชุมชนไม่ถึง 20 เมตร ซึ่งเสาเจ้าปัญหา 3 อันดับแรก คือ เอไอเอส ทรูมูฟ และดีแทค ตามลำดับ โดย ร้อยละ 48.1 ของเสาสัญญาณที่สำรวจนั้นพบว่า ตั้งอยู่ห่างจากโรงเรียนน้อยกว่า 200 เมตร ร้อยละ 15.2 พบว่า เสาสัญญาณอยู่ใกล้โรงพยาบาลมากไป และร้อยละ 18.4 อยู่ใกล้สถานีอนามัยมาก นายปฏิบัติ เฉลิมชาติ ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม ได้ยื่นข้อเสนอต่อ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ให้มีการบังคับใช้ระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการตั้งเสาส่งสัญญาณโทรคมนาคมอย่างเข้มงวดและจริงจัง กทช.ต้องมีหน่วยติดตามตรวจสอบความเข้มของสนามแม่เหล็กในบริเวณที่มีการตั้งเสาสัญญาณโทรคมนาคม พร้อมทั้งคอยสนับสนุนสถาบันการศึกษา นักวิชาการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการศึกษาค้นคว้าทำการวิจัยอย่างจริงจัง เกี่ยวกับผลกระทบและอันตรายจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า 22 กันยายน 2552“พริกน้ำปลา” ภัยร้ายใกล้ตัวนางอรพินท์ บรรจง จากสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจจากการทำโครงการพัฒนาตำรับอาหารท้องถิ่นสำหรับผู้สูงอายุ พบว่าถ้วยพริกน้ำปลาซึ่งไม่ได้จัดเป็นเมนูอาหาร แต่มักจะถูกไว้อยู่บนโต๊ะที่เรารับประทานอาหารเสมอนั้น อาจทำให้ร่างกายของเราได้รับปริมาณโซเดียมมากเกินความจำเป็น การเติมพริกน้ำปลาเพิ่มลงในอาหารจัดเป็นพฤติกรรมปกติของสังคมไทย แต่การรับประทานอาหารรสเค็มมากๆ และบ่อยๆ ทำให้เกิดมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมองแตก โรคหัวใจและไตวาย รวมทั้งโรคกระดูกพรุนเพิ่มขึ้น และผู้ที่เป็นโรคเหล่านี้จะต้องระมัดระวังอาหารที่มีโซเดียมสูงเป็นพิเศษ เพราะไม่เช่นนั้นจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนในโรคที่เป็นอยู่ ค่าปกติในการรับประทานทานอาหารที่มีโซเดียม แนะนำว่าบริโภคได้ไม่เกินวัน 2,400 มิลลิกรัม ซึ่งเทียบได้กับน้ำปลา 1 ช้อนโต๊ะหรือเกลือประมาณครึ่งช้อนชา ดังนั้นเลี่ยงพฤติกรรมการเติมพริกน้ำปลาตามความเคยชิน ควรชิมก่อนเพื่อตัดสินใจว่าจะปรุงเพิ่มดีหรือไม่ ---------------------------------------------------------------------------------------------- ครบรอบ 1 ปี พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม ได้จัดสัมมนา “1 ปี พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค” เพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ย้อนมองถึงการทำงานของกฎหมายนี้ตลอดระยะเวลา 1 ปีตั้งแต่ที่เริ่มประกาศใช้ โดยได้นักวิชาการ นักกฎหมาย และผู้ที่เคยใช้กฎหมายมาร่วมพูดคุยและแสดงความคิดเห็น ศ.จรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญกล่าวว่า “การมี พ.ร. บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคออกมานั้นถือเป็นเรื่องดี แม้ว่าจะสร้างภาระให้กับผู้ประกอบการมากขึ้นกว่าเดิมแต่ก็ถือว่าน้อยมากถ้าเทียบกับความปลอดภัยที่ผู้บริโภคพึงได้รับ อย่างไรก็ตามเนื่องจากกฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคยังเป็นการนำปัญหาไปวางไว้ที่ศาล ซึ่งอยู่ตอนปลายของกระบวนการยุติธรรม ถึงแม้จะมีการตัดสิน แต่ก็ไม่ได้มีผลในเรื่องการป้องกันปัญหาไม่ให้เกิดขึ้นได้ ปัจจุบันกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคเน้นอยู่ 3 ด้านหลัก คือ โฆษณา ฉลากและสัญญา ซึ่งถ้าสามารถควบคุมใน 3 ส่วนนี้ให้ถูกต้องได้ เชื่อว่าปัญหาการฟ้องร้องระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบการก็จะลดลงไปได้ไม่น้อย” ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีตสมาชิกวุฒิสภาผู้ที่เคยใช้ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค ฟ้องร้องชนะคดีเรียกร้องค่าชดใช้เป็น "รายแรก" ของเมืองไทย หลังกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้เมื่อ 23 ส.ค.2551 ในกรณีร้องสิทธิผู้บริโภคกับ "นกแอร์" บกพร่องในหน้าที่การให้บริการโดย "ไม่ใช้" เครื่องตรวจสแกนระเบิดวัตถุโลหะแก่ผู้โดยสาร กล่าวว่า "กฎหมายนี้ถือว่าเป็นประโยชน์กับผู้บริโภคอย่างมาก ซึ่งช่วยลดขั้นตอนต่างๆ ในการดำเนินคดีให้สั้นลง แต่อย่างไรก็ดีกฎหมายนี้ต้องมีการพัฒนาต่อไปทั้งทางด้านการเผยแพร่ข้อมูล ให้ผู้บริโภคได้เข้าถึงกฎหมาย และทางศาลเองก็ต้องมีเจ้าพนักงานที่ให้ความช่วยเหลือผู้บริโภคอย่างแท้จริง เพราะถึงแม้ว่าการฟ้องคดีนั้นไม่ต้องใช้ทนาย แต่เมื่อต้องขึ้นศาลจริงๆ ตัวผู้บริโภคเองก็ต้องมีข้อมูลและต้องมีความรู้เพื่อไปต่อสู้ในชั้นศาล” นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมถึงบทเรียนการใช้กฎหมายว่า “ปัญหาจากการฟ้องโดยใช้กฎหมายดังกล่าวตามหลักการนั้นมีประโยชน์ แต่เมื่อมาใช้จริงกลับมีความยุ่งยากและล่าช้าทั้งในการฟ้องร้อง การนัดสืบคำร้อง ศาลไม่มีทนายที่มีความรู้ในการอ่านเวชระเบียน และเมื่อมีการสืบพยาน กรณีคดีผู้เสียหายทางการแพทย์ การหาพยานที่อยู่ฝั่งผู้เสียหายทำได้ยากมาก ในขณะที่อีกฝ่ายมีพยานเยอะ รวมถึงเมื่อต้องอยู่ในศาล ฝ่ายจำเลยมีทนาย มีอำนาจ มีทุกอย่าง ขณะที่โจทก์ไม่มีอะไรเลย และการนัดไกล่เกลี่ยของตัวแทนแต่ละฝั่งทำงานไม่สมดุลกัน” นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกล่าวว่า “กฎหมายนี้มีประโยชน์ช่วยให้ผู้บริโภคฟ้องร้องดำเนินคดีได้จริง ตอนนี้มีมากกว่า 150 คดีที่อยู่ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและที่ได้ยื่นฟ้องไปแล้วกว่า 100 คดี ซึ่งทำให้เห็นว่าผู้บริโภคเข้าถึงกฎหมายได้มากขึ้น แม้จะยังมีอุปสรรคหลายประการ ตัวอย่างที่ชัดเจนคือเจ้าพนักงานคดียังขาดความเข้าใจต่อกฎหมาย และอยากจะให้ศาลมีกลไกในการรวบรวมปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้กฎหมายฉบับนี้และต้องทำให้ผู้บริโภคเข้าใจมากยิ่งขึ้นเช่นกัน ด้าน นายชาญณรงค์ ปราณีจิตต์ ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ กล่าวว่า “กฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคถือว่าเป็นกฎหมายที่พัฒนาการมาก แต่ก็ยังต้องมีการพัฒนาต่อไป คดีผู้บริโภคมี 2 ด้าน คือด้านที่ผู้ประกอบการฟ้องกับด้านที่ผู้บริโภคฟ้อง ซึ่งก่อนหน้านี้จะเป็นคดีที่ผู้ประกอบการฟ้องผู้บริโภคซะเป็นส่วนใหญ่ แต่เชื่อว่าในอนาคตข้างหน้าผู้บริโภคที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการใช้สินค้าและบริการต่างๆ จะได้รับประโยชน์จากกฎหมายนี้เพิ่มมากขึ้น แต่ทั้งนี้ก็ยังต้องอาศัยความรู้ความสามารถของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ทั้งจาก สคบ. หรือองค์กร มูลนิธิที่คอยดูแลในเรื่องนี้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าพนักงานที่ทำหน้าที่ในศาลที่ต้องช่วยเหลือผู้บริโภคในการเขียนคำฟ้อง และตัวผู้บริโภคเองก็ต้องเก็บรวบรวมหลักฐานต่างๆ ให้ครบถ้วนและมากที่สุด เพื่อเป็นประโยชน์ในการพิจารณาคดี --------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- รุมค้าน อย. ปล่อยบริษัทยาต่างชาติขายยาโดยไม่ต้องตรวจคุณภาพในไทยกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เตรียมออกประกาศเรื่อง การขึ้นทะเบียนยาสามัญ การศึกษาชีวสมมูลของยาสามัญ พ.ศ. ... ตามข้อตกลงของกลุ่มประเทศอาเซียนว่า ด้วยการจัดระเบียบการขึ้นทะเบียนตำรับยา โดยบริษัทยาสามารถใช้รายงานผลการศึกษาชีวสมมูลของยาสามัญที่ดำเนินการศึกษาในต่างประเทศตามหลักเกณฑ์และคุณภาพมาตรฐานที่ อย.กำหนดเรียบร้อยแล้ว โดยไม่ต้องนำมาศึกษาชีวสมมูลในประเทศไทยอีก รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกล่าวว่า “ประกาศนี้เอื้อต่อบริษัทยาสามัญของต่างชาติที่ต้องการนำเข้ายา ซึ่งขณะนี้รอคิวขึ้นทะเบียนยาอยู่เป็นจำนวนมาก หากใช้รายงานศึกษาชีวสมมูลที่บริษัทแม่ในต่างประเทศศึกษามาใช้ขึ้นทะเบียนได้ทันทีก็ทำให้บริษัทเหล่านี้ได้ประโยชน์ แม้ว่าการไม่ต้องศึกษาชีวสมมูลใหม่จะช่วยลดทอนขั้นตอนระยะเวลาการขึ้นทะเบียนยาสามัญ ทำให้ขึ้นทะเบียนยาได้รวดเร็วขึ้นแต่บริษัทยาไทยจำเป็นต้องมีการศึกษาชีวสมมูลอยู่ดี เท่ากับเป็นกลยุทธ์ในการตัดกำลังศักยภาพการผลิตยาของไทย “การออกประกาศดังกล่าวไม่ผ่านความเห็นจากคณะกรรมการยา โดย อย.เห็นว่าเป็นเรื่องการปฏิบัติงานภายในของอย.จึงไม่จำเป็นต้องผ่านคณะกรรมการยาทั้งที่เรื่องดังกล่าวนี้ จริงๆแล้วไม่ใช่เรื่องเชิงปฏิบัติการแต่เป็นเรื่องเชิงนโยบายที่เป็นทิศทางของยาสามัญในประเทศไทยในอนาคต ซึ่งต้องเข้าสู่วาระการประชุมของคณะกรรมการยาด้วยเช่นกัน” ด้าน ภญ.ศศิธร กิตติวรวิทย์กุล ผู้ช่วยเลขาธิการสมาคมไทยอุตสาหกรรมการผลิตยาแผนปัจจุบัน กล่าวว่า “ในร่างประกาศฯ ระบุว่า บริษัทยาสามัญข้ามชาติสามารถใช้รายงานการศึกษาชีวสมมูลจากประเทศต้นทางได้โดยไม่ต้องมาศึกษาชีวสมมูลในไทยอีก แต่ศูนย์ที่ศึกษาในต่างประเทศจะต้องมีมาตรฐาน ซึ่งอย.สามารถขอไปตรวจสอบได้หากมีข้อสงสัยแต่ไม่ใช่ทุกกรณี การให้บริษัทยาสามัญข้ามชาติที่จะนำยาสามัญเข้าประเทศจะต้องศึกษาชีวสมมูลในประเทศอีกครั้งถือว่าเป็นการตรวจสอบที่ทุกประเทศในโลกนี้ทำกัน เพื่อป้องกันไม่ให้อุตสาหกรรมยาในประเทศตาย แต่การออกประกาศฉบับนี้ของ อย.นอกจากจะเอื้อต่อบริษัทยาข้ามชาติแล้วยังเป็นการลดทอนศักยภาพอุตสาหกรรมยาและศูนย์ศึกษาชีวสมมูลในประเทศไทยอีกด้วย”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 103 เบื่อจานดาวเทียม

เมืองไทยเป็นเมืองแห่งมือใครยาวสาวได้สาวเอาจริงๆ รูปธรรมหนึ่งที่เห็นได้ชัดจากการแข่งขันกันอย่างดุเดือดของธุรกิจจานดาวเทียม จากผู้ริเริ่มเล่นที่สำคัญคือ บริษัท ชินบรอดแบนด์ อินเตอร์เน็ต(ประเทศไทย) จำกัด ในเครือกลุ่มชินคอร์ป ที่เข้ามาเป็นผู้จัดจำหน่ายจานดาวเทียมเหลืองภายใต้ชื่อ DTVผลปรากฏว่าภายใน 6 เดือนสามารถหน่ายได้ถึง100,000 ชุด ทำให้ บริษัท ทรูวิชั่นส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ได้รับสัมปทานจากบริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน) ในการให้บริการธุรกิจบอกรับสมาชิก หรือ เคเบิลทีวี ต้องปรับตัวด้วยการขายพรีเพดจานดาวเทียม โดยไม่ต้องเสียค่าบริการรายเดือนแข่งกับเจ้าเดิมบริษัท โพลี เทเลคอมจำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์จานดาวเทียมภายใต้ชื่อ PSI และบริษัท สามารถ เอนจิเนียริ่ง จำกัด ของกลุ่มสามารถคอร์ป การปลดล็อกค่าบริการรายเดือน ผนึกกำลังทรูวิชั่นส์และบริษัท ทรูมูฟ ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่โดยผู้ที่เป็นลูกค้าโทรศัพท์ระบบเติมเงินของ ทรูมูฟสามารถซื้อจานแดงทรูวิชั่นส์ราคาพิเศษและมีสิทธิดูทรูวิชั่นส์อีกจำนวน 7 ช่อง ไม่ว่าใครจะเก่งกาจกว่าใครในทางการตลาดแค่ไหนก็ตาม แต่สิ่งที่เราทุกคนเสียร่วมกัน คือ ทัศนอุจาดตึกที่ไม่มีความงามอยู่แล้ว ยิ่งหมดความงาม มองไปสองข้างทาง หากเจอตึกไม่ว่าจะซ้ายจะขวาจะเดินหรือนั่งรถก็จะสบสายตากับจานดาวเทียม จานดาวเทียม ๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ เต็มบ้านเต็มเมืองในปัจจุบันเห็นแล้วก็พาลให้หงุดหงิดว่า ตึกต่าง ๆ ไม่ต้องรับผิดชอบจัดบริการไว้ให้กับลูกค้าเลยหรือทำให้ลูกค้าต้องซื้อบริการด้วยตนเอง หรือ บริการแบบนี้ไม่ต้องจ่ายสตางค์ ได้มาฟรีเหมือนกับที่ได้รับแจกซิมฟรี เลยไม่ต้องคิดกัน ว่า “ซิม” มาจากไหน พูดเรื่องแบบนี้ คงมีคนหมั่นไส้ว่า ทีป้ายโฆษณาขนาดใหญ่และมีปัญหาทับคนตาย ไม่เสนอให้ทำอะไรต้องบอกว่า หากเป็นผู้ว่ากรุงเทพมหานครจะยกเลิกป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ทันที แม้แต่เสาไฟ สายไฟ รกรุงรังก็ต้องบอกว่า ไม่ชอบเหมือนกัน และจะหาทางยกเลิกอยากเห็นการแก้ไขปัญหา แต่จะให้ทำเสาไฟเองตอนนี้ยังทำไม่ได้ จะบังคับให้เขาวางใต้ดินก็อ้างว่าไม่มีงบประมาณ แต่สำหรับจานดาวเทียม (ที่น่าเบื่อ) สิ่งสำคัญบริษัทได้โฆษณาสินค้าของตนเองสบายโดยไม่ต้องลงทุนเห็นทีกรุงเทพมหานครหรือเทศบาลจังหวัดต่างๆ น่าจะเก็บภาษีโฆษณาที่เข้าข่ายภาษีป้ายซะให้เข็ด เพราะไม่อย่างนั้น แนวการจัดการให้เมืองมีความงาม การใช้ประโยชน์ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นจานดาวเทียม เสาโทรศัพท์มือถือ คงไม่มีใครคิดเรื่องนี้กันอย่างจริงจังแม้แต่ปัญหาใหญ่เรื่องการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารโดยการแบ่งกลุ่มประชาชนตามประเภทสีของจานดาวเทียม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 103 อุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ “เรา” ป้องกันได้

เรื่องสถานีขนส่งผู้โดยสารก็เป็นอีกเรื่อง ไม่รู้คิดหรือเปล่าก่อนสร้างน่ะ พอคนลงรถ ขสมก.แล้วเนี่ยจะเดินอีกไกลไหมกว่าจะไปถึงที่ขายตั๋ว ที่ขายตั๋วไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมต้องให้คนภาคอีสานขึ้นไปซื้อตั๋วที่ชั้น 3 ดูข้าวของเขาสิ กลับบ้านทีข้าวของเต็มไปหมด ก็แบกกระเป๋าขึ้นไปซื้อตั๋วแล้วก็แบกกระเป๋าลงมาหรือไม่ก็ต้องจ้างรถเข็น การจะสร้างเราก็ต้องดูพฤติกรรมคนด้วยไม่ใช่สักแต่ว่าสร้าง พอขึ้นรถได้ก็มาเจอรถที่เอาเปรียบอีก  ทราบหรือไม่ว่า แต่ละปีประชากรโลกสังเวยชีวิตด้วยอุบัติเหตุบนท้องถนนกว่า 1.2 ล้านคน รวมทั้งบาดเจ็บสาหัสและทุพพลภาพอีกหลายสิบล้าน เฉพาะในประเทศไทยมีสถิติผู้เสียชีวิตในปี 2550 กว่า 1.3 หมื่นคน การสูญเสียเช่นนี้สามารถลดลงได้ ด้วยมาตรการที่เราคุ้นชิน ได้แก่ การสวมหมวกกันน็อค การคาดเข็มขัดนิรภัย การจำกัดความเร็ว การรณรงค์เมาไม่ขับ เป็นต้น ซึ่ง ผศ.ดร. สมประสงค์ สัตยมัลลี สาขาวิชาวิศวกรรมขนส่ง สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ก็เป็นอีกหนึ่งเสียงที่เชื่อว่าอุบัติเหตุเป็นเรื่องที่ป้องกันได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุบัติเหตุจากรถโดยสารสาธารณะ ผศ.ดร. สมประสงค์ สัตยมัลลี จบปริญาเอกด้านวิศวกรรมจราจรและการขนส่ง และทำงานด้านการวางแผนจราจรการขนส่งเป็นหลัก โดยทำงานร่วมกับกรมทางหลวง งานจราจร กรมขนส่ง หลังจากทำไปสักพักก็เริ่มมองเห็นปัญหาการเพิกเฉยต่อความปลอดภัย ซึ่งมีมูลค่าความเสียหายเป็นจำนวนมาก จึงตั้งหน่วยหน่วยสืบสวนอุบัติเหตุทางถนนขึ้น ซึ่งจะทำหน้าที่เก็บข้อมูลและวิเคราะห์ การเกิดอุบัติเหตุว่าเกิดขึ้นได้อย่างไรเพื่อหาแนวทางในการป้องกัน ซึ่งใครหลายๆ คนอาจมองว่าไม่สำคัญเพราะมักคิดว่าอุบัติเหตุพอเกิดขึ้นแล้ว เกิดการเสียชีวิตแล้วเรื่องก็จบ ความจริงมันไม่ใช่ อุบัติเหตุเราวางแผนล่วงหน้าได้ ป้องกันได้ ทำไมอาจารย์ถึงสนใจเรื่องรถโดยสารสาธารณะเพราะผมใช้รถโดยสารสาธารณะมาตั้งแต่เล็กจนโต จนปัจจุบันก็ยังใช้อยู่เพราะเดินทางจากบ้านที่กรุงเทพฯ ไปสอนที่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ซึ่งอยู่โคราช ที่ใช้รถโดยสารสาธารณะก็เพราะคิดว่านั่นคืออาชีพของเขา น่าจะขับได้ดีกว่าที่ผมขับเอง ถ้าเทียบสถิติการขับในระยะทางเท่าๆกัน ระหว่างผมกับคนขับรถโดยสาร อัตราการเกิดอุบัติเหตุของเขาน่าจะน้อยกว่า เพราะเขาขับเส้นทางนี้ประจำ ระบบรถโดยสารสาธารณะของไทยในปัจจุบันเป็นอย่างไรผมคิดว่าคนให้บริการเองก็ยังไม่เข้าใจการให้บริการ เคยกระโดดขึ้นรถเมล์ไหม ขสมก.ไหม ไม่ใช่ว่าเราอยากกระโดดนะ แต่รถเขาไม่ยอมจอด เขาเพียงชะลอ เพื่อที่จะไปต่อเท่านั้นเอง เขาไม่รู้หรอกว่า การจอดรถอยู่กับที่ให้คนขึ้นลงโดยสะดวกนั้น ใช้เวลาไม่มากหรอก แต่ความปลอดภัยที่ได้จะสูงขึ้น เห็นไหมว่าคนที่ตกรถเมล์ ถูกรถทับ ส่วนหนึ่งก็เพราะคนขับขาดความเข้าใจว่าหน้าที่ หรืออาชีพของเขาคืออะไร นอกจากแค่วันหนึ่งๆ ได้เงินเยอะ ระบบให้ผลตอบแทนกับพนักงานอย่างคนขับรถ บ้านเราไม่เอื้อด้านการบริการ แต่กลับไปเอื้อที่ระบบการแข่งขันมากกว่า ใครทำเงินได้มาก รับผู้โดยสารได้มากถึงได้มาก มันก็ทำให้คนขับแข่งขันกันเอง แข่งกันทำรอบ กลายเป็นว่าไปเน้นที่ความเร็วไปการให้รางวัลหรือค่าแรงจึงไม่สมดุลกัน รถโดยสารบ้านเรายังไม่มีการพัฒนาด้านการผลิตเพื่อยกระดับมาตรฐาน ถ้าไปดูในต่างประเทศผู้ประกอบการจะมีการแข่งขันกันด้านเทคนิค มีระเบียบ มีมาตรการขึ้นมารองรับอย่างชัดเจนในการผลิตรถขึ้นมา การพัฒนาก็จะมีคุณภาพขึ้นเรื่อยๆ เจ้าของรถก็เลือกรถที่มีคุณภาพดี แต่บ้านเรากลับไปแข่งขันกันที่ราคา ยิ่งถูกเท่าไรยิ่งดี ผู้ประกอบการเองก็พยายามที่จะลดค่าใช้จ่ายตัวเองลงให้เหลือน้อยลงเช่นกัน คือใช้วัสดุอะไรก็ได้ในการทำรถเพื่อให้ต้นทุนต่ำ รถบ้านเราจึงไม่ค่อยสมบูรณ์แบบ ความปลอดภัยก็น้อยลง เรื่องสถานีขนส่งผู้โดยสารก็เป็นอีกเรื่อง ไม่รู้คิดหรือเปล่าก่อนสร้างน่ะ พอคนลงรถ ขสมก.แล้วเนี่ยจะเดินอีกไกลไหมกว่าจะไปถึงที่ขายตั๋ว ที่ขายตั๋วไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมต้องให้คนภาคอีสานขึ้นไปซื้อตั๋วที่ชั้น 3 ดูข้าวของเขาสิ กลับบ้านทีข้าวของเต็มไปหมด ก็แบกกระเป๋าขึ้นไปซื้อตั๋วแล้วก็แบกกระเป๋าลงมาหรือไม่ก็ต้องจ้างรถเข็น การจะสร้างเราก็ต้องดูพฤติกรรมคนด้วยไม่ใช่สักแต่ว่าสร้าง พอขึ้นรถได้ก็มาเจอรถที่เอาเปรียบอีก อย่างเอาเก้าอี้หัวกลมมาวางตรงกลางซึ่งมันไม่มีความปลอดภัยอะไรเลย เข็มขัดนิรภัยซึ่งในกฎกระทรวงกำหนดไว้ชัดเจนว่าต้องมี แต่จะมีเพียงบางคันเท่านั้นที่ผู้ประกอบการมีจิตสำนึกต่อสังคม รู้ไหมว่าการติดเข็มขัดนิรภัยช่วยลดค่าใช้จ่ายเงินค่าชดเชยการบาดเจ็บของคนต่างๆ ได้เยอะ ต้นทุนลดลงได้มากกว่าถ้าเขาลงทุนติดเข็มขัดนิรภัย อีกอย่างที่เป็นปัญหาของระบบขนส่งก็คือการจัดสัมปทานรถ บางรายมีแค่รถไม่กี่คันก็เอารถมาวิ่ง จริงๆ แล้วผู้ถือสัมปทานน่าจะเป็นรายใหญ่เพราะเขามีรถเยอะ แล้วมีงบประมาณที่จะพัฒนาคุณภาพรถให้ดีขึ้น ในต่างประเทศผู้ถือสัมปทานกับบริษัทรถจะเป็นเจ้าเดียวกัน แต่บ้านเราไม่ ผู้ถือสัมปทานเป็นอีกเจ้า แต่รถที่มาวิ่งกลายเป็นอีกผู้ประกอบการไป ก็เก็บกินค่าหัวคิวกันไป ระบบขนส่งบ้านเราจึงยังไม่พัฒนา ยังไม่มีหัวใจของการให้บริการ นอกจากบริการผู้โดยสารแล้วก็ต้องบริการคนของตัวเองด้วย อย่างคนขับรถเวลาถึงที่หมายแล้วก็ต้องมีห้องให้เขาพัก แต่ของไทยนี่นอนอยู่บนรถ อะไรแบบนี้ บริการต่างๆ ของสถานีขนส่ง เช่น ห้องน้ำ ก็เก็บค่าบริการเอากับผู้โดยสาร ทั้งที่ควรไปเก็บกับผู้ประกอบการรถโดยสารโน้นคิดเป็นรายเดือนกันไป หรือแม้แต่ห้องน้ำบนรถก็เถอะ ต้องปรับปรุงเพราะมันเหม็นมาก ต้องให้ผู้บริหารงานหรือผู้คิดแผนงานมานั่งมาใช้บริการแล้วเขาจะรู้ทันทีว่าจะต้องแก้ปัญหาอะไรบ้าง การควบคุมของรัฐเองก็เป็นปัญหา บ้านเราก็กรมการขนส่ง เพราะเมื่อไรที่รัฐยังดูแลค่าโดยสารโดยที่ไม่มองต้นทุนที่แท้จริงก็ลำบากเช่นกัน ผู้ประกอบการเองก็พัฒนาต่อไปได้ยาก แต่ผมเชื่อว่าผู้ประกอบการปัจจุบันก็มีกำไร เพราะไม่งั้นคงเลิกกันไปหมดแล้วล่ะ รถโดยสารที่ดีควรมีลักษณะอย่างไรตามกฎกระทรวงฉบับที่ 9 (พ.ศ.2524) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 หมวดที่ 1 ส่วนที่ 1 เครื่องอุปกรณ์ และส่วนควบของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารมาตรฐาน 1 มาตรฐาน 2 มาตรฐาน 3 มาตรฐาน 4 มาตรฐาน 6 มาตรฐาน 7 และรถขนาดเล็ก ข้อแรกก็คือ ต้องเป็นคัสซี (chassis) ตามแบบที่กรมการขนส่งทางบกเห็นชอบให้ใช้เป็นคัสซีรถโดยสาร ซึ่งประกอบด้วยโครงคัสซีต้องทำด้วยโลหะแข็งแรงตลอดความยาวของตัวรถ เมื่อต่อตัวถังรถ ต้องมีกันชนทั้งกันชนหน้าและกันชนท้ายที่ติดตั้งเสมอกับหน้ารถและท้ายรถ หรือยื่นจากหน้ารถ และท้ายรถระยะห่างพอสมควร และต้องผ่านขั้นตอนในการทดสอบ 7 ขั้นตอนนั่นคือการบิดตัวของโครงสร้าง การดึงขณะอยู่นิ่ง และเคลื่อนที่ การยก การแขวน และความทนทานของโครงสร้าง ข้อสองจะเป็นการกำหนดเรื่องตัวถังรถ ต้องยึดติดกับโครงคัสซี (Chassis) อย่างมั่นคงแข็งแรงสามารถรับน้ำหนักเต็มอัตราบรรทุกได้ทุกสภาพการใช้งานของรถ รูปร่างภายนอกต้องไม่มีส่วนยื่นที่แหลมหรือคมจนอาจก่อให้เกิดอันตราย ซึ่งแบบตัวถังของรถก็ต้องเป็นไปตามแบบที่กรมการขนส่งประกาศกำหนด เช่นเรื่อง หลังคาทำด้วยวัสดุที่มั่นคงแข็งแรง สามารถกันแดดกันฝนได้ พื้นรถต้องมั่นคงแข็งแรง หน้าต่างด้านข้างรถ มีขนาด และจำนวนตามสมควร ทำด้วยวัสดุที่ แข็งแรง ที่นั่งผู้โดยสารตรึงแน่นกับพื้นรถซึ่งในบ้านเราพบกว่าหลังเกิดอุบัติเหตุเบาะรถหลุดและมาทับผู้โดยสารเป็นส่วนใหญ่นะ กลายเป็นว่าเป็นส่วนที่ทำให้ผู้โดยสารบาดเจ็บหนักขึ้น อีกส่วนที่ขาดไม่ได้ก็คือเข็มขัดนิรภัย ตามประเภทของรถ และแบบที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนดไว้ ซึ่งเข็ดขัดนิรภัยจะช่วยให้ตัวผู้โดยสารยึดติดกับเก้าอี้ ไม่กระเด็นออกนอกตัวรถ และช่วยลดการสูญเสียได้มาก มีแนวทางไหนที่จะพัฒนารถโดยสารสาธารณะให้ดีขึ้นอีกบ้างในความคิดของผมนะ ตราบใดที่คนที่ทำเรื่องระบบรถโดยสารสาธารณะ ไม่ได้เป็นผู้ใช้บริการเอง เขาไม่มีทางรู้หรอกว่าคนที่ใช้รถน่ะเขาลำบากขนาดไหน รถโดยสารสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นรถวิ่งประจำทาง รถวิ่งไม่ประจำทาง รถรับพนักงาน ถือว่าเป็นรถโดยสารสาธารณะหมดรัฐเองก็ต้องเข้ามาดูแล ทั้งทางด้านอุปกรณ์นิรภัยต่างๆ ร่างแบบรถโดยสารสาธารณะให้ได้มาตรฐาน พร้อมบังคับให้รถทุกคันต้องติดเข็มขัดนิรภัยเพราะจะช่วยลดการบาดเจ็บได้มาก ระยะห่างของเบาะรถก็ต้องได้มาตรฐานเพราะไม่เช่นนั้นจะเกิดการกระแทกกันของผู้โดยสารได้ ซึ่งแค่กระแทกกันก็อาจตายได้ อู่หรือตัวแทนการตรวจสอบของรัฐมีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสภาพของอุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัยภายในรถโดยสารเป็นประจำอย่างน้อย 6 เดือน/ครั้ง เช่น ตรวจพบน็อตเบาะไม่แน่น 3 ใน 24 เบาะของผู้ประกอบการรายนั้น จะต้องถูกพักใบอนุญาตวิ่งรถกี่วัน จนกว่าจะแก้ไขปัญหาต่างๆ เพื่อให้รถตัวเองพร้อมก่อนจะให้บริการ แค่ดูเบาะกับเข็มขัดนิรภัย ผมว่าให้ดูแลเข้ม 2 เรื่องนี้การสูญเสียก็จะน้อยลง รวมถึงหาทางให้คนพิการเข้าถึงบริการสำคัญกว่า ทำไมบันไดรถเมล์บ้านเราต้องปีนบันไดขึ้นสูงขนาดนั้น อย่าไปคิดว่าคนพิการมีจำนวนน้อย ถึงแม้จะมีมาตรการหรือมีจัดวางแผนการช่วยชีวิตให้เป็นระบบหลังเกิดอุบัติเหตุออกมา แต่ก็ออกมาตรการมาค่อนข้างช้า อย่างเรื่องเข็มขัดนิรภัยประกาศออกไปเลยว่า รถทุกคันต้องมีเข็มขัดนิรภัย เบาะต้องยึดโยงอย่างแน่นหนา และต้องควบคุมดูแลอย่างจริงจัง แม้จะมีการป้องกันต่างๆ แล้วก็ตาม แต่หากเกิดอุบัติเหตุก็ต้องมีการจัดการวางแผนการช่วยชีวิตที่รวดเร็ว รวมถึงจัดให้ผู้ที่รับผิดชอบสั่งการในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุหมู่ เช่น หัวหน้าหน่วยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย (ปภ.) ในพื้นที่หรือตำรวจร้อยเวร และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดเตรียมอุปกรณ์หรือจัดหน่วยงานที่สามารถประสานงานขออุปกรณ์มาใช้งานได้อย่างรวดเร็ว เราจะเลือกนั่งรถโดยสารอย่างไรให้ปลอดภัยเรื่องแบบนี้เราต้องติดตามข่าวด้วยว่ารถบริษัทไหนเกิดอุบัติเหตุบ่อยเราก็ไม่นั่ง ก่อนซื้อตั๋วก็คิดก่อน แล้วเวลาจะขึ้นรถก็ต้องสังเกตดูยางรถยนต์หน่อยว่ามีดอกยางไหม ถ้าไม่มีก็อย่าขึ้นจะดีกว่า ให้ดูหน้าคนขับหน่อยว่าหน้าตาเขาสดชื่นดีหรือเปล่า เพราะเขาคือคนที่จะขับรถ พอไปถึงเบาะก็ให้ดูเข็มขัดนิรภัย แล้วก็ต้องคาดด้วยนะเพราะจะช่วยลดอุบัติเหตุได้มาก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 103 จองรถไม่ได้รถ ต้องได้เงินจองคืน

เรียน ผู้จัดการ บริษัท พระนครออโต้เซลล์เรื่อง ขอเงินค่าจองรถป้ายแดงคืนจากที่ได้ตกลงกันกับทางบริษัทไปแล้วนั้นว่าดิฉันจะรับเงื่อนไขจากบริษัท คือรับเงินคืนจำนวน 3,000 บาท จากที่ได้จองทั้งสิ้นเป็นเงิน 5,000 บาท โดยในการรับเงื่อนไขระบุในเอกสารการจองว่า ให้โอนเงิน 1,000 บาท เข้าบัญชีเลขที่ 688-000000-0 อีก 2,000 บาททางบริษัทยืนยันว่าจะจ่ายเป็นเช็คและแฟกซ์หน้าเช็คที่สั่งจ่ายเข้าบัญชีภายในวันที่ตกลงกัน แต่หลังจากนั้นดิฉันได้รอแฟกซ์แต่ก็ไม่มีแฟกซ์หน้าเช็คกลับมาดิฉันจึงอยากเรียนมา จริง ๆ แล้ว ดิฉันเช็คดูแล้วว่าทางบริษัท ผิดนัด ซ้ำแล้วซ้ำอีก นับตั้งแต่วันจองจนหาบริษัทไฟแนนซ์ให้ไม่ได้ และพยายามทำให้เรื่องยืดเยื้อและล่าช้า การกระทำดังกล่าวทำให้ดิฉันอดคิดไม่ได้ว่า ทางบริษัทจะริบเงินจองทั้งหมดจริง...นี่เป็นส่วนหนึ่งของจดหมายที่คุณกฤชญากรส่งถึงบริษัทขายรถยนต์แห่งหนึ่งเพื่อทวงถามเงินจองที่ได้จ่ายไปจำนวน 5,000 บาท แต่บริษัทรถอ้างว่าคุณกฤชญากรติดเครดิตบูโร ไฟแนนซ์ไม่อนุมัติสินเชื่อเช่าซื้อให้สักราย และได้เสนอเปลี่ยนรถที่จะขายให้เป็นคันใหม่ คุณกฤชญากรเห็นว่าไม่ได้รถตามที่ต้องการไว้แต่แรก จึงบอกเลิกสัญญาการจองและขอเงินค่าจองรถคืน แต่เกือบร้อยทั้งร้อยล่ะครับที่จะเจอการโยกโย้ โยกเย้ ประวิงเวลา เตะถ่วงไปเรื่อย ๆ ไม่คลายเงินจองออกมาง่าย ๆ จนผู้จองรถโดยส่วนใหญ่จำต้องทิ้งเงินจองไป ที่ผ่านมา ธุรกิจกินเงินจองรถนี่บรรดาเต้นท์รถเบิกบานมาก เพียงแค่ลงทุนค่าโฆษณาผ่านหนังสือขายฝากรถยนต์ แจ้งโฆษณาว่ามีรถทุกรุ่น ทุกเฉดสี ไม่ว่าใหม่หรือเก่า ก็สามารถหาให้ได้ แถมราคาย่อมเยากว่าศูนย์ตัวแทนของบริษัทผู้ผลิตเป็นหมื่น แค่นี้ก็มีลูกค้ามาถวายเงินจองให้ตรึม พอลูกค้ามาติดต่อก็บอกว่าหารถให้ได้แน่ ไฟแนนซ์ก็ผ่านแน่ ๆ ขอแค่วางเงินจองไว้ 5,000 บาท พอถึงจังหวะที่จะกินเงินจองกับลูกค้าก็จะมีสูตรตายตัวในทำนองว่า ลูกค้าปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับเครดิตบูโร เลยไม่สามารถจัดไฟแนนซ์ให้ได้ เมื่อลูกค้าเป็นคนผิดสัญญาการจองเอง ดังนั้นจึงต้องถูกยึดเงินจอง ลูกค้ากลับไปดูสัญญาก็เห็นเป็นจริงเช่นนั้นเสียด้วยแต่เขียนซะตัวเล็กกระจ้อยร่อย ท้ายสุดต้องยอมเสียเงินไป เรื่องทำนองนี้เคยนำลงในฉลาดซื้อมาครั้งสองครั้งแล้ว แต่ครั้งนี้มีข้อกฎหมายเด็ดสะระตี่ไว้ให้ผู้บริโภคใช้เรียกเงินจองคืนได้แบบสมบูรณ์แบบครับแนวทางแก้ไขปัญหาด้วยท่วงทำนองการประกอบธุรกิจที่ทุจริตของบรรดาเต้นท์รถทั้งหลายทำให้คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคนิ่งเฉยไม่ได้ ในที่สุดจึงได้ใช้แผนเผด็จศึกที่ได้ผลมาแล้วกับหลายๆ ธุรกิจ คือการประกาศให้ธุรกิจการขายรถยนต์ที่มีการจองเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา หลายคนยังไม่รู้จักเพราะประกาศฉบับนี้เพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ.2551 นี่เอง ถือเป็นประกาศควบคุมสัญญาล่าสุดที่ สคบ. มีออกมาประกาศฉบับนี้ใช้ควบคุมการประกอบกิจการขายรถยนต์ที่ผู้ประกอบธุรกิจนำเอารถยนต์ออกขายโดยให้ผู้บริโภคทำการจองซื้อ และผู้ประกอบธุรกิจได้รับเงินหรือรับสิ่งใดไว้เป็นมัดจำ และให้คำมั่นว่าจะส่งมอบรถยนต์ให้ผู้บริโภคตามเวลาที่กำหนดในสัญญาทีนี้ในเรื่องของการซื้อขายรถยนต์ที่มีการจอง ประกาศฉบับนี้ได้เขียนข้อสัญญาที่ควบคุมไว้อย่างชัดเจนว่า ผู้บริโภคมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเมื่อผู้ประกอบธุรกิจไปปรับเปลี่ยนราคารถยนต์ที่จองไว้สูงขึ้น หรือไม่ส่งมอบรถยนต์ให้ผู้บริโภคภายในระยะเวลาที่กำหนด หรือไม่ส่งมอบรถยนต์ที่มียี่ห้อ รุ่น ปีที่ผลิต สี และขนาดกำลังเครื่องยนต์ตรงตามที่กำหนดในสัญญา หรือ ไม่ส่งมอบรถยนต์ที่มีรายการอุปกรณ์ติดตั้งเพิ่มเติมและของแถม หรือสิทธิประโยชน์ต่างๆ ตามที่กำหนดในสัญญานอกจากนี้ยังมีการควบคุมสัญญาที่สำคัญอีกข้อหนึ่งว่า หากมีข้อเท็จจริงที่ผู้ประกอบธุรกิจได้รับทราบว่า ผู้บริโภคต้องขอสินเชื่อเพื่อการซื้อรถยนต์ และผู้บริโภคไม่ได้รับสินเชื่อตามที่ขอภายในกำหนดเวลาการส่งมอบรถยนต์ ผู้บริโภคหรือผู้ประกอบธุรกิจฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีสิทธิบอกเลิกสัญญากันได้ผลของการบอกเลิกสัญญากันตามเงื่อนไขที่ได้ว่ามา คือ ผู้ประกอบธุรกิจต้องคืนเงินหรือสิ่งใดที่รับไว้เป็นมัดจำทั้งหมดแก่ผู้บริโภคภายใน 15 วันแม้ผู้ประกอบธุรกิจอาจจะหัวหมออ้างว่า สัญญาที่ทำกับผู้บริโภคไม่มีข้อสัญญาเหล่านี้ แต่ไม่สามารถจะใช้ยกเป็นเหตุในการไม่ยอมคืนเงินจองเงินมัดจำให้กับผู้บริโภคได้ครับ เนื่องจาก ตามหลักกฎหมายควบคุมสัญญาของ สคบ. นั้นมีหลักการสำคัญคือ หากสัญญาที่ผู้ประกอบธุรกิจทำขึ้นไม่มีข้อสัญญาตามที่ สคบ. ได้กำหนดไว้ กฎหมายจะถือว่าสัญญาของผู้ประกอบธุรกิจมีข้อสัญญาที่ สคบ. กำหนดไว้อยู่ด้วยแล้ว และหากสัญญาข้อใดของผู้ประกอบธุรกิจที่เขียนแล้วไปฝ่า ไปฝืนข้อสัญญาที่ สคบ. ได้กำหนดไว้ กฎหมายควบคุมสัญญาจะถือว่าไม่มีข้อสัญญานั้นปรากฏอยู่ในข้อสัญญาของผู้ประกอบธุรกิจ พูดง่ายๆ คือ ข้อสัญญาใดที่ไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภคจะเอามาบังคับใช้กันไม่ได้หลักการนี้จึงเป็นที่มาของคำว่า “ธุรกิจที่ควบคุมสัญญา” ของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสัญญานั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 103 แม็กซ์เนต ของทีทีแอนด์ทีจ่ายเต็มเดือนแต่ใช้ได้แค่ครึ่งเดือน

สวัสดีค่ะ ดิฉันเปิดใช้บริการอินเทอร์เน็ตของ Maxnet หมายเลข 038-727-000 แต่ในทุกๆ เดือนจะเกิดปัญหาค่ะ“ทุกๆ เดือนจะเกิดปัญหาคืออินเทอร์เน็ตจะใช้ไม่ได้ประมาณ 2 อาทิตย์ จนมาถึงเดือนนี้(กรกฎาคม 2552) ทุกวัน ดิฉันโทรแจ้งทางศูนย์ เขาบอกดิฉันเดี๋ยวทางเราจะแจ้งช่างให้ไปดูแล แต่จนป่านนี้ยังไม่มีใครมาสนใจ แล้วทุกเดือนดิฉันเขียนเรื่องขอลดยอด แต่ใบแจ้งค่าใช้บริการยังคงเรียกเก็บในราคาเต็มคือ 1,166.30 บาท/เดือน การที่อินเทอร์เน็ตใช้ได้ 2 อาทิตย์แล้วปัญหาเกิด 2 อาทิตย์ ดิฉันไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร ทำไมเขายังกล้าเก็บเงินกับลูกค้าอยู่อีก...”เป็นเนื้อหาจากจดหมายที่คุณอุไรส่งมาบอกเล่าเรื่องร้องเรียนในปัญหาอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่ให้บริการโดยบริษัท ทีทีแอนด์ที ซับสไครเบอร์ เซอร์วิสเซส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัท ทีทีแอนด์ที จำกัด(มหาชน) เราได้รับจดหมายฉบับนี้ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาแนวทางแก้ไขปัญหาด้วยความอยากรู้ว่าบริการอินเทอร์เน็ตของแม็กซ์เนตเป็นอย่างไร จึงได้ท่องเข้าไป www.maxnet.co.th ซึ่งเป็นเว็บไซต์ของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเจ้านี้ พบข้อความโฆษณาที่เกี่ยวกับคุณภาพของอินเตอร์เน็ตที่จัดให้บริการกับลูกค้าหลายจุด ตัวอย่าง“ทีทีแอนด์ทีรุกตลาดอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เปิดตัวแคมเปญใหม่ "ติด Maxnet ติดสปีดให้ชีวิต" หวังเจาะ 3 กลุ่มเป้าหมายหลักทั้งนักเรียน คนวัยทำงาน และธุรกิจขนาดเล็ก หวังขยายฐานลูกค้าทั่วประเทศ ตั้งเป้าผู้ใช้บริการสิ้นปี 2549 ที่ 300,000 ราย และจะขยายเป็น 500,000 รายภายในปี 2550นายประจวบ ตันตินนท์ กรรมการ บริษัท ทีทีแอนด์ที ซับสไครเบอร์ เซอร์วิสเซส จำกัด บริษัทในเครือ บมจ. ทีทีแอนด์ทีกล่าวว่า "แนวคิดของการออกแคมเปญใหม่ "ติด Maxnet ติดสปีดให้ชีวิต" คือการทำอย่างไรให้กลุ่มเป้าหมายใช้เวลาได้อย่างคุ้มค่าที่สุด และสามารถทำงานให้สำเร็จลุล่วงได้ด้วยอินเทอร์เน็ตที่มีคุณภาพ ซึ่งบริษัทเชื่อมั่นว่าแม็กซ์เน็ตจะสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคทุกกลุ่มได้อย่างลงตัว โดยเราได้นำเสนอผ่านภาพยนตร์โฆษณาชุด Run ซึ่งจะแสดงให้เห็นว่าแม็กซ์เน็ตช่วยขจัดความล่าช้าและข้อจำกัดต่างๆ ของกลุ่มเป้าหมายได้อย่างราบรื่น"ที่มา :ข่าวเด่น TT&T “TT&Tรุกเน็ตไฮสปีด ส่ง Maxnet เจาะกลุ่มผู้ใช้ทั่วประเทศ” วันที่ 10/11/2549แต่ไม่ว่าจะโฆษณาอย่างไร ไฮสปีดยี่ห้อนี้ก็ยังมีเงื่อนไขในการให้บริการไม่ต่างจากไฮสปีดยี่ห้ออื่น1. บริการ Hi Speed Internet เป็นบริการแบบแชร์สปีด ความเร็วที่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ใช้บริการในขณะนั้น (Non Guarantee Speed)2. ความเร็วในการเชื่อมต่อ คือ ความเร็วของคอมพิวเตอร์กับโครงข่ายของ ทีทีแอนด์ที ไม่ใช่ความเร็วในการดาวน์โหลดข้อมูล ความเร็วในการดาว์นโหลดที่แท้จริงอาจต่ำกว่าความเร็วสูงสุดในการเชื่อมต่อที่ผู้ใช้บริการเลือกไว้ โดยเฉพาะเว็บไซด์ที่อยู่ต่างประเทศ อาจมีผลมาจากหลายปัจจัย เช่น สภาพของคอมพิวเตอร์ สภาพและระยะทางของสายโทรศัพท์คู่สายภายในของผู้เช่า และการติดขัดของข้อมูลอินเทอร์เน็ต รวมถึงอุปกรณ์ Server และ Router ของเว็บไซด์ที่เข้าชม และปัจจัยอื่น ๆ อีกหลายประการ ที่มา : ข้อควรรู้ http://www.maxnet.co.th/knowledge.phpคำถามคือว่าจะนำข้ออ้างดังกล่าวมาปฏิเสธความรับผิดชอบกับลูกค้าได้หรือไม่คำตอบคือ ไม่ได้ครับ เพราะว่าประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 ซึ่งออกตาม พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคม พ.ศ.2544 กำหนดไว้อย่างชัดแจ้งว่า ผู้ให้บริการ(โทรคมนาคมทั้งหมด เช่น โทรศัพท์บ้าน โทรศัพท์เคลื่อนที่ หรืออินเทอร์เน็ต) มีหน้าที่ต้องให้บริการโทรคมนาคมตามมาตรฐานและคุณภาพการให้บริการตามที่ได้โฆษณาหรือแจ้งให้ผู้ใช้บริการทราบ โดยมาตรฐานและคุณภาพ การให้บริการดังกล่าวต้องไม่ต่ำกว่าหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.) ประกาศกำหนด ดังนั้นเกณฑ์คุณภาพการให้บริการโทรคมนาคมจึงมิใช่เกณฑ์ที่ผู้ประกอบธุรกิจจะมานึกเอาตามใจชอบได้ส่วนกรณีที่เกิดเหตุขัดข้องขึ้นกับการให้บริการโทรคมนาคมของผู้ให้บริการจนทำให้ผู้ใช้บริการไม่สามารถใช้งานได้ตามปกติ กฎหมายฉบับเดียวกันกำหนดให้เป็นหน้าที่ของผู้ให้บริการที่จะต้องดำเนินการแก้ไขเพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถกลับมาใช้บริการได้โดยเร็ว และผู้ให้บริการไม่มีสิทธิเรียกเก็บค่าบริการในช่วงเวลาที่เกิดเหตุขัดข้องดังกล่าวได้ เว้นแต่ผู้ให้บริการพิสูจน์ได้ว่าเหตุขัดข้องนั้นเกิดจากผู้ใช้บริการหากผู้ให้บริการยังคงเรียกเก็บค่าบริการอยู่ผู้ใช้บริการสามารถเรียกร้องค่าเสียหายในส่วนที่เกิดขึ้นได้กับผู้ให้บริการหรือผ่านทางสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม โทร.สายด่วน 1200 หรือจะให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคช่วยฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคเรียกค่าเสียหายและดอกเบี้ยด้วยก็ได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 103 เจ้าหนี้อายัดเงินเดือน ทำไมไม่มีบอกกล่าว

 คุณธิดา ลูกหนี้นามสมมติ ได้ร้องทุกข์ออนไลน์มาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่าขอร้องเรียนเกี่ยวกับการอายัดเงินเดือนของธนาคารฮ่องกงแบงค์ โดยคุณธิดาได้ให้รายละเอียดว่าเนื่องจากได้เป็นหนี้กับธนาคารแห่งนี้และถูกฟ้องและไปขึ้นศาลเรียบร้อยแล้ว โดยมีการทำยอมที่ศาลโดยกำหนดชำระคืน 30 งวดๆ ละ 3,400 บาท คุณธิดาแจ้งว่าได้ชำระตามสัญญาประนีประนอมไปประมาณ 7 งวดแล้ว โดยงวดที่ 1 ถึงงวดที่ 4 ชำระเงินตรงตามที่ทำยอมไว้ แต่ในงวดที่ 5-7 ชำระไม่ตรงตามจำนวน โดยชำระได้แค่งวดละ 2 พันกว่าบาทเท่านั้น เนื่องจากมีเหตุจำเป็นไม่สามารถหาเงินมาชำระได้ พอไม่ชำระตรงตามจำนวนในงวดที่ 5 มีเจ้าหน้าที่ติดต่อมาแจ้งให้ชำระให้เป็นไปตามสัญญาประนีประนอม แต่ในงวดที่ 6 และ 7 พอจ่ายไปงวดละ 2 พันกว่าบาท ก็ไม่มีเจ้าหน้าที่ติดต่อมาอีก ก็คิดว่าไม่มีปัญหาอะไร แต่อีกไม่กี่วันต่อมาได้มีหมายอายัดเงินเดือนมาที่บริษัทที่ทำงานอยู่คุณธิดาได้พยายามติดต่อเจรจากับสำนักงานกฎหมายที่ดำเนินการอายัดเงินเดือน โดยสัญญาว่าจะเคลียร์ยอดที่ค้างจ่ายให้ครบและขอจ่ายในงวดต่อไปตามปกติที่ 3,400 บาท แต่สำนักงานกฎหมายปฏิเสธแจ้งว่าคุณธิดาได้ทำผิดสัญญาประนอมยอมความแล้ว ต้องบังคับคดีด้วยการอายัดเงินเดือนเพื่อนำมาชำระหนี้ก่อนทำสัญญาประนีประนอมคุณธิดาจึงถามมาว่า ทำไมการอายัดเงินเดือนถึงไม่มีเรียกไกล่เกลี่ยก่อน   แนวทางแก้ไขปัญหาการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันที่ศาลระหว่างลูกหนี้กับเจ้าหนี้ ลูกหนี้จะต้องมั่นใจว่าตนจะสามารถชำระหนี้ได้ เพราะโดยทั่วไปแล้วทางเจ้าหนี้มักจะขอให้ศาลมีคำพิพากษาตามยอมโดยมีเงื่อนไขว่าหากลูกหนี้ผิดสัญญาประนีประนอมที่ได้ทำกันขึ้นให้เจ้าหนี้สามารถบังคับคดีให้ลูกหนี้ต้องชำระหนี้ตามจำนวนที่ได้ฟ้องแต่แรกได้ มิใช่หนี้ที่เหลือจากการชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมกันดังนั้นเมื่อลูกหนี้ผิดสัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ ไม่ชำระหนี้เต็มตามจำนวนที่ได้ตกลงกันไว้ในแต่ละงวด หรือชำระหนี้คลาดเคลื่อนไปจากกำหนดเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา เจ้าหนี้อาจถือว่าลูกหนี้ผิดสัญญาได้ทันทีและสามารถนำสัญญาไปขอบังคับคดีได้โดยไม่ต้องฟ้องศาลอีกหรือต้องมีการบอกกล่าวหรือต้องมานั่งไกล่เกลี่ยกันอีก เพราะถือว่าลูกหนี้ทราบเป็นอย่างดีแล้วจากการทำสัญญาและยังกระทำผิดสัญญาอีกแต่ลูกหนี้อย่าเพิ่งวิตกเกินการณ์ เพราะการอายัดเงินเดือนจากลูกหนี้นั้นกฎหมายอนุญาตให้อายัดได้เพียงร้อยละ 30 จากยอดเงินเดือนเต็มก่อนหักภาษีหรือประกันสังคม หากใครมีเงินเดือนเกินหมื่นนิด ๆ กฎหมายยังช่วยลูกหนี้อีกเล็กน้อยด้วยการกำหนดว่า การอายัดเงินเดือนจะต้องเหลือเงินให้ลูกหนี้ไว้อย่างน้อย 10,000 บาทเพื่อการดำรงชีพ จึงหมายความว่าลูกหนี้รายใดที่มีเงินเดือนต่ำกว่าหมื่นบาทจึงไม่มีสิทธิถูกอายัดเงินเดือนได้ และหากลูกหนี้มีเจ้าหนี้หลายราย ก็ไม่สามารถถูกอายัดเงินเดือนในคราวเดียวกันได้หากเจ้าหนี้รายแรกได้อายัดเต็มตามวงเงินที่กฎหมายอนุญาตแล้ว

อ่านเพิ่มเติม >