ฉบับที่ 114 อย่าลืมปฏิรูป

เมื่อประมาณปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสไปเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นเครือข่ายเพื่อนทีวีไทย (ผู้เขียนเป็นสมาชิกสภาผู้ชมผู้ฟังรายการทีวีไทย) ในหัวข้อรับฟังความคิดเห็นมีหัวข้อหนึ่งคือคนสุพรรณคิดว่ามีปัญหาอะไรบ้างในพื้นที่ที่ต้องพึ่งสื่อ และก็มีหลากหลายปัญหาที่ลั่งไหลออกมาจากเวทีนั้น แต่มีอยู่ปัญหาหนึ่งที่ฟังแล้วสะดุดหูมากเป็นเรื่องของคุณจันทร์(นามสมมุติ) เธอเล่าว่าเธอกำลังปลูกบ้านใหม่ เลยเข้าไปติดต่อที่ร้านโฮมโปรบางใหญ่และได้คุยกับเซลล์โดยตรง และมีการตกลงซื้อไม้รามิเนสซึ่งเซลล์บอกว่าเป็นไม้เยอรมัน และได้บอกขนาดของบ้านให้เซลล์ช่วยคำนวณไม้ให้ ว่าต้องซื้อจำนวนเท่าไร รวมถึงซื้อสินค้าอื่นๆ ในร้านด้วย รวมๆ แล้ววันนั้นคุณจันทร์จ่ายเงินล่วงหน้า ไปประมาณ 200,000 บาท โดยมีสัญญาว่าจะส่งมอบของให้ทั้งหมดภายใน 1 เดือน พอครบเดือนของยังไม่มาส่งคุณจันทร์ได้โทรทวงถาม คำตอบที่ได้คือ พี่ปรับพื้นหรือยัง(อ้าวทำไมไม่บอกว่าต้องปรับพื้นก่อนส่งของ)คุณจันทร์จึงตอบไปว่าอีก 15 วันมาส่งของได้เลย ผ่านไป 15 วันของก็ยังไม่มาส่ง จากนั้นก็โทรตามตลอด กว่าจะมาส่งของก็เล่นไป เกือบๆ 4 เดือน จึงมีความชัดเจนว่าจะนำของมาส่งและส่งช่างมาปูพื้นให้ตามสัญญา คุณจันทร์ก็บอกว่าไหนๆ จะมาส่งไม้ 80 ตารางเมตร จึงแล้วขอให้เอาไม้มาเพิ่มอีก 5 ตารางเมตร เผื่อไม่พอจะได้ไม่ต้องเทียวไปเทียวมา ปรากฎว่าของที่เอามาส่งไม่ตรงตามที่สั่งทั้งสีและลาย แต่ไหนๆ ก็มาส่งแล้วหยวนๆ แล้วกัน(นิสัยผู้บริโภคทั่วไป) และก็ไม่มีไม้มาเพิ่มตามที่ตกลงและสิ่งที่คุณจันทร์กังวลก็เกิดขึ้นจริงคือไม้ไม่พอ ขาด 5 ตารางเมตร ตรงนี้คุณจันทร์ร้องทุกข์ว่าอาจเป็นเทคนิคการขายสินค้าของร้านนี้ เพราะเมื่อไม่พอก็ต้องกลับไปเอาใหม่ และคิดค่าขนส่งเพิ่มอีกเที่ยวละ 1,500 บาท ฟังดูรู้สึกได้เลยว่าผู้บริโภคอย่างเราๆ เสียเปรียบไปทุกทาง เอาเงินเขาไปหมุนก่อนตั้ง 4 เดือน กว่าจะส่งของ(ผู้บริโภคเสียเปรียบตลอด) และยังมีการเอารัดเอาเปรียบเล็กๆ น้อยๆ ตอดนิดตอดหน่อยกันอีก แล้วเรื่องอย่างนี้เชื่อว่าไม่ได้เกิดขึ้นกับคุณจันทร์รายเดียว ผู้บริโภคอย่างเราๆ จะพึ่งใครได้ นอกจากต้องใฝ่คว้าหาความรู้เรื่องสิทธิผู้บริโภคด้วยตนเองเพิ่มขึ้นไม่อย่างนั้นก็ต้องตกเป็นเบี้ยล่างผู้ประกอบการอยู่อย่างนี้ร่ำไป คงต้องขอบอกดังๆ อีกครั้ง ว่าเราต้องการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ที่จ่อรอเข้าสภาผู้แทนมาตั้งแต่สมัยประชุมที่แล้ว(เป็นแม่สายบัวแต่งตัวเก้อไปแล้ว1สมัย)หวังว่า สมัยประชุมนี้จะไม่เบี้ยวกันอีกนะท่านนักการเมือง..... ไหนๆ ก็กำลังเข้าสู่กระแสการปฏิรูปฟีเวอร์กันแล้ว ก็ขอให้ ช่วยปฏิรูปให้เกิดความเป็นธรรมในทุกด้าน ด้วยนะ ท่าน นน....อะ-พิ-สิดดดดๆๆๆๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 111 ชาโอเว่อร์

ไม่รู้ผู้ขายผลิตภัณฑ์ต่างๆ เหล่านี้ไปหาอีเมล์ผมจากไหน วันๆ ผมต้องมาคอยลบเมล์ที่ส่งมาจากใครที่ไม่รู้จักมากมาย เนื้อหาก็ไม่มีอะไร นอกจากขายสินค้าอวดอ้างสรรพคุณต่างๆ มากมาย ล่าสุดนี้ผมได้รับเมล์จากใครก็ไม่รู้ ทีแรกนึกว่าเป็นเพื่อน เพราะชื่อคล้ายกันมาก พอเปิดเมล์ดู กลายเป็นเมล์แนะนำชาสมุนไพร ชนิดหนึ่ง ลองดูเนื้อหาที่เขาส่งมาทางเมล์ซิครับ โฆษณาซะระเบิดเถิดเทิงกันเลย “ ชาสมุนไพรลดเซลลูไลท์เพื่อสุขภาพ (Instant Beverage Green tea Extract) ประกอบด้วยส่วนผสมของหัวชาชั้นดี และสมุนไพรที่คัดเลือกแล้ว , ช่วยในการเผาผลาญไขมันส่วนเกินให้เปลี่ยนรูปเป็นพลังงาน ทั้งยังช่วยกระชับกล้ามเนื้อและผิวหนังไว้ไม่ให้เหี่ยวย่น , ช่วยชดเชยการออกกำลังกาย (ไม่ใช่ทดแทน) ร่างกายเราจะมีปริมาณการเผาผลาญที่สูงขึ้น ลดปริมาณไขมันในเส้นเลือด” “ดื่มชาชงกับน้ำร้อน 1 แก้ว จะเผาผลาญไขมันได้เท่ากับการวิ่งออกกำลังกาย 3 กิโล , ช่วยลดส่วนเกินได้อย่างง่ายดาย ไม่ว่าจะเป็นไขมันหน้าท้อง ต้นแขน ต้นขา , *ช่วยลดเซลลูไลท์ที่อยู่บริเวณใต้คางหรือข้างแก้ม ทำให้หน้าเรียวเล็กลงอย่างเห็นได้ชัด , ช่วยการขับสารพิษ และสิ่งสกปรกที่อาจตกค้างในร่างกาย และช่วยทำความสะอาดระบบภายใน” (เว่อร์กันเข้าไป) “ช่วยในกระบวนการกำจัดไขมัน โคเรสเตอรอลในหลอดเลือด ซึ่งทำให้ลดภาวะความเสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูง , จากการอุดตันของไขมันในหลอดเลือด , ช่วยในการขับสารพิษ และสารอนุมูลอิสระ จึงส่งผลในการป้องกันความเสี่ยงต่อภาวะมะเร็งและโรคความเสื่อมของเซลล์และอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย , ช่วยทำให้ร่างกายของเรารู้สึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่าเนื่องจากมีผลในการกระตุ้นการทำงานระดับเซลล์ , ให้สารคลอโรฟิลล์(Chlorophyll) ซึ่งมีประโยชน์ต่อขบวนการสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดงและขับสารพิษตกค้างออกจากร่างกาย” (ยังเว่อร์ไม่หยุด) มาอีกแล้วครับ การอ้างรับรองคุณภาพแบบไร้หลักฐาน “นำเข้าจากประเทศสหรัฐอเมริกา มีอย.รับรอง 70 ประเทศทั่วโลก” ยังไม่พอนะครับ เขายังนำรูปผู้คนต่างๆ มาโชว์ให้เห็นอีกด้วย โดยแสดงเปรียบเทียบก่อนและหลังการใช้ ผมเลยตามเข้าไปดูในเว็ปที่ให้มา ก็ไม่มีการแสดงภาพสินค้าอะไรนะครับ มีแต่แบบฟอร์มให้กรอกการสั่งซื้อและขอให้แจ้งความประสงค์ในการส่งข้อมูลต่างๆ (แสดงว่าหัวหมอไม่เบา เล่นเอาตัวเองปลอดภัยไว้ก่อนเลยนะ) และท่าทางจะยิ่งรู้มากพอสมควร จึงอาศัยลูกเล่นของการได้รับอนุญาตอาหารมาโฆษณาเอาดื้อๆ “จดทะเบียน อย.ในหมวดอาหาร ไม่ใช่ยา สามารถรับประทานได้ไม่จำกัดปริมาณ ยิ่งทานในปริมาณมากยิ่งเห็นผลเร็วขึ้น หมายเลข อย. : 10-3-07839-1-0001” แต่ทำไมไม่ยักรู้ว่าเมื่อเป็นอาหาร ต้องขออนุญาตโฆษณาในลักษณะอาหารเท่านั้น ไม่ใช่ดันทะลึ่งมาโฆษณาสรรพคุณแสนวิเศษจนเสมือนยา จนชาสมุนไพรกลายร่างเป็นชาโอเว่อร์ ไปซะแล้ว ใครเจอก็ช่วยกันแจ้ง อย.หรือกลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานสาธารณสุขจังหสัดด้วยนะครับ เผื่อจะได้ไปแนะนำแบบประชิดตัวให้ถูกกฎหมายซะที

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 112-113 เจ้าหน้าที่ก็เจอดี

เรื่อง เล่าฉบับนี้ขอเล่าเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพนะครับ แต่ดันมาเกี่ยวข้องกับวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคแทนครับ เป็นเรื่องของน้องผู้หญิงคนหนึ่งที่ทำงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์ สุขภาพของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดแห่งหนึ่ง จากที่ผมได้รู้จักกับเธอยอมรับว่าเธอมีเลือดเนื้อรวมทั้งจิตวิญญาณของการ คุ้มครองผู้บริโภคเต็มเปี่ยมเพราะจังหวัดของเธอดำเนินคดีกับผู้ผลิตแบบกัด ไม่ปล่อยมาหลายรายแล้ว วัน หนึ่งเธอเดินทางไปเที่ยวที่อเมริกา และได้ซื้อบัตรโทรศัพท์ระหว่างประเทศ Pin Phone เพื่อใช้ในยามติดต่อกลับประเทศ และเธอก็มีโอกาสได้ใช้มันจริงๆ โดยใช้โทรผ่านโทรศัพท์มือถือของเธอเครือข่ายหนึ่ง แต่ พอกลับมาเมืองไทย ยังไม่ทันจะได้ดื่มด่ำกับความสุขจากการเดินทาง เธอก็ได้รับบิลเรียกเก็บเงินค่าโทรศัพท์จากเครือข่ายนี้ 10,056.47 บาท โอ้...แม่เจ้า แต่ด้วยความที่เธอมีเลือดคุ้มครองผู้บริโภคอยู่เต็มตัว “ทีเรื่องคนอื่นเจ๊ยังดำเนินการเปรียบเทียบปรับมาหลายราย พอมาเจอกับตัวเอง เจ๊ทนไม่ด๊ายยย” (ฮา) เธอโทรไปที่บริษัทมือถือ สอบถามว่า เหตุอันใดจึงคิดค่าโทรซ้ำซ้อน เพราะเธอเข้าใจว่าเงินค่าโทรมันน่าจะหักจากบัตร Pin Phone แล้ว ทางบริษัท มือถือตอบเธอว่า จะลดค่าโทรให้ 1,941.10 บาท เล่นแบบนี้มีหรือที่เธอจะยอม ขอตรวจสอบเบอร์ที่โทรก่อนถึงจะยอมชำระเงิน(เพราะในบิลไม่ระบุเบอร์โทรนี่นา) แต่ทางบริษัทกลับตอบว่าไม่สามารถตรวจสอบเบอร์ได้เนื่องจากเป็นข้อตกลง ระหว่างประเทศที่ใช้บริการ แต่ในระหว่างนี้บริษัทได้เก็บเงินไปแล้ว โดยหักจากบัตรเครดิตของเธอไป 8,115.37 บาท (แหม..ทีเก็บเงินล่ะเร็ว...ฮา) เมื่อ สถานการณ์บังคับ เธอจึงร้องเรียนไปยัง สคบ. ซึ่ง สคบ.ก็ได้ทำหนังสือแจ้งไปถึงบริษัทมือถือให้พิจารณา และเมื่อได้ผลการพิจารณาจากบริษัท ก็ได้แจ้งกลับมาให้เธอทราบ สรุปผลการพิจารณาจากบริษัทแจ้งมาพร้อมข้อความรายละเอียดต่างๆ ที่คนทั่วไปอ่านแล้วคงงงๆ แต่พูดย่อๆ ง่ายๆ ว่า ไม่จ่ายคืน(จะทำไม?) ซึ่งเธอก็ได้ใช้สิทธิโต้แย้งกลับไป สุดท้าย เมื่อไม่ไหวจะเคลียร์ เธอเลยตัดสินใจสวมวิญญาณ จีจ้าราชินีหนังบู๊ ร้องเรียนไปยังศาลจังหวัด โดยยื่นคำขอฟ้องคดีตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค ปาฏิหารย์ มีจริงครับ เพราะที่ผ่านมาบริษัทอ้างโน้นอ้างนี้ตามระเบียบและเหตุผลต่างๆ ที่เราคนธรรมดาอ่านแล้วยังงงๆ แต่ปรากฏว่าพอเป็นเรื่องฟ้องคดีเท่านั้นแหละ บริษัทวิ่งให้ทนายมาขอไกล่เกลี่ย โดยจะชำระเงินคืนให้ 7,000 บาท ซึ่งเป็นยอดที่บริษัทไม่สามารถบอกเบอร์ปลายทางได้ และเมื่อบริษัทโอนเงินกลับมาให้ เธอจึงได้ถอนฟ้อง แบบเรียบร้อยโรงเรียนจีน (ไม่ใช่ซิโรงเรียนผู้บริโภคมากกว่า) เธอ ฝากผมมาบอกท่านผู้อ่านว่า หากผู้บริโภคถูกเอาเปรียบ อย่ายอม “เรายังมีทางเลือกที่เป็นตัวช่วยอีกทางหนึ่ง ลุกขึ้นมาใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคได้เลย” เพราะมันช่วยได้จริงดังกรณีเธอเป็นตัวอย่าง ขอบคุณน้องท่านนี้ผ่านคอลัมน์ด้วยนะครับ อย่างน้อยก็คงทำให้ทั้งผู้อ่านและบริษัทได้บทเรียนไปด้วยนะครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 114 แปลกจริงหนอ ... ขอเสี่ยงสักหน่อย

พฤติกรรมการบริโภคผิดๆ ยังคงเป็นสิ่งที่มีมาเรื่อยๆ พวกผมเลยต้องหาทางรณณงค์ชี้แจงเพื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจให้ถูกต้องและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เหมาะสม เพราะมิฉะนั้นอาจจะก่อให้เกิดอันตรายได้ แต่พฤติกรรมผิดๆ เหล่านี้ บางทีมันก็คาดไม่ถึงหากเราไม่ได้เข้าไปคลุกคลีในกลุ่มพวกเขา “ฉันรู้ว่าครีมหน้าขาวอันตราย แต่ฉันขอใช้” ผมเคยเก็บตัวอย่างครีมทาหน้าจากร้านเสริมสวยแห่งหนึ่งไปตรวจ ผลปรากฏว่าครีมทาหน้าขาวที่ร้านเสริมสวยแห่งนี้มีไว้จำหน่ายกลับไม่พบสารอันตราย แต่กระปุกที่เจ้าของร้านใช้เองกลับพบสารห้ามใช้ หลังจากพูดคุยสอบถามว่าไม่กลัวอันตรายหรือ เจ้าของร้านตอบว่า “แหม ก็ใช้แล้วหน้ามันขาวขึ้นจริงๆ แต่ก็กลัวอันตรายนะ ฉันเลยปรับวิธีการใช้เป็น 2 – 3 ครั้งต่อสัปดาห์ จะได้ไม่อันตราย” เป็นไงครับ เจอเหตุผลแบบนี้ เล่นเอาอึ้ง “หน้ายังขาว แล้วที่อื่นจะเหลือรึ” เรื่องนี้ทราบจากคุณครู อย.น้อย ที่พวกเราชวนท่านมาเป็นภาคีเครือข่ายในการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัยในโรงเรียน หลังจากคุณครูไปสำรวจพฤติกรรมการใช้ครีมทาหน้าขาวปรากฏว่าไม่พบการใช้ แต่คุณครูแอบสังเกตเห็นว่านักเรียนกลุ่มหนึ่งพกครีมดังกล่าว ซักไปซักมาเลยทราบว่า เด็กเขาไม่ได้เอาไปทาหน้า “หนูไม่ทาหน้าหรอก เพราะมันอันตราย แต่ทารักแร้คงไม่เป็นไรนะคะ มันขาวดี” หนูๆ เขาให้เหตุผล เฮ้อ เด็กหนอเด็ก มันก็อันตรายเหมือนกันล่ะจ้ะ “ลูกกลอนดีๆ ต้องมีคาถา” ชะรอยว่ากระทรวงสาธารณสุขจะรณรงค์การปลอมปนยาสเตียรอยด์ในยาลูกกลอนอย่างได้ผล ปรากฎว่าช่วงหนึ่งพวกผมไปตรวจสอบยาลูกกลอนแผนโบราณ เลยไม่พบสารสเตียรอยด์ แต่คล้อยหลังไม่เท่าไหร่ ดันตรวจเจอยาลูกกลอนสายพันธ์ใหม่มาจำหน่ายอีกแล้ว ยาลูกกลอนรุ่นนี้มีแผ่นทองคำเปลวปิดที่เม็ดยา แถมเอกสารกำกับยาที่แนบมา ก็มีคาถาให้บริกรรมก่อนรับประทานซะอีก เล่นกันแบบนี้เอง มิน่า ถึงได้ขายดีตีตลาด “ตรวจเท่าไหร่ก็ไม่เจอสเตียรอยด์” เจ้ายาลูกกลอนเม็ดนี้ เจ้าหน้าที่ใช้ชุดทดสอบตรวจสเตียรอยด์ตรวจเท่าไหร่ก็ไม่เจอ มาถึงบางอ้อตรงที่ไปตามข้อมูลจากผู้บริโภคที่ซื้อมารับประทาน เลยทราบว่าเขาแอบซื้อมารับประทานเพราะมันโฆษณาว่าลดไขมันได้ เจ้าหน้าที่เลยสุ่มตรวจยาแผนปัจจุบัน สุดท้ายพบยาลดไขมันชนิดแพงๆ ผสมอยู่ มิน่าไขมันถึงได้ลดเอาๆ “ประกายตาใสกิ๊งๆ” ยุคที่เลนส์ตาโต(บิ๊กอาย)กำลังฮิต ผมเข้าไปนั่งเก็บข้อมูลที่ร้านทำแว่นที่คุ้นเคย สังเกตเห็นเด็กนักเรียนวัยรุ่นมาซื้อน้ำตาเทียมหยอดตากันเยอะมาก สอบถามข้อมูลทราบว่าเด็กเหล่านี้ไม่ได้ใส่คอนแท็คเลนส์ อ้าว!แล้วหนูๆ ซื้อน้ำยาชนิดนี้ไปทำอะไร น้องๆ เขาซื้อไปหยอดตาครับ เขาบอกว่าสมัยนี้เขาฮิตตาที่เป็นประกายใสกิ๊งแวววาวสะดุดตา แต่ที่เล่นเอาผมงงคือ เด็กเขาไปเอาเกลือป่นผสมลงไปด้วย นัยว่ามันจะยิ่งให้ประกายตา โคตะระใสกิ๊งขึ้นกว่าเดิมอีก ไม่รู้มันใสเพราะแสบจนน้ำตาไหลออกมาหรือเปล่า เป็นไงครับ พฤติกรรมต่างๆ ของผู้บริโภคที่เล่ามานี้ บางทีมันก็ ทั้งแปลก ทั้งเสี่ยงจนเราคาดไม่ถึงเลยนะครับ เอาเป็นว่าใครเจออะไรที่มันแปลกๆ เสี่ยงๆ รีบเตือนกันด้วยนะครับ แล้วอย่าลืมมาแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบด้วยนะครับ จะได้รีบหาทางกระจายข่าวเพื่อป้องกันและเฝ้าระวังอันตรายไงครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 111 GMOs Turn Around ผู้บริโภคตัดสินใจอย่างไร

ภาคธุรกิจการเกษตรจากหลายกลุ่ม ได้เข้าพบอดีตนายกอานันท์ ปันยารชุน ประธานกรรมการแก้ไขปัญหาการปฏิบัติตามมาตรา 67 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เรื่ององค์การอิสระสิ่งแวดล้อม เพื่อยื่นหนังสือขอให้พิจารณาถอดถอน โครงการที่ 18 “การทำเกษตรกรรมเชิงการค้าเกี่ยวกับวัตถุดิบ การผลิตอาหารที่เกี่ยวเนื่องกับสิ่งมีชีวิตตัดต่อพันธุกรรม (GMO)” ออกจากบัญชีประเภทกิจการที่อาจก่อผลกระทบอย่างรุนแรงตาม ม.67 วรรค 2 แถมขู่ไว้ว่าหากยังไม่มีการถอดถอนหรือ เปลี่ยนแปลงใดๆทางกลุ่มจะดำเนินการเรียกร้องความเป็นธรรมต่อศาลปกครองต่อไป ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภค เห็นจะเป็นว่า หากปล่อยให้ โครงการหรือกิจกรรมเกี่ยวกับการทำเกษตรกรรมเชิงการค้าเกี่ยวกับ วัตถุดิบการผลิตอาหารที่เกี่ยวเนื่องกับ GMO (genetically modified) ไม่ต้องศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม(EIA)และสุขภาพ(HIA) ซึ่งแทนที่จะทำให้เกิดความชัดเจนทั้งสองฝ่าย จะทำให้เกิดความขัดแย้งทั้งกับเกษตรกร ชุมชน ผู้บริโภค และโอกาสที่โครงการเหล่านี้ จะหลุดลอด ปนเปื้อนกับพืชทั่วไป ย่อมเป็นไปได้ และมีหลักฐานเชิงประจักษ์ยืนยันมาแล้วกรณีการปนเปื้อนมะละกอจีเอ็มโอในหลายจังหวัด การอ้างว่า จีเอ็มโอ ปลอดภัย และไม่ต้องศึกษาผลกระทบดูจะฟังไม่ขึ้น เพราะความปลอดภัยของ GMO หากจะเถียงกัน คงจะไม่จบ เพราะยืนคนละมุมชัดเจน ต่างฝ่ายต่างมีข้อมูล บริษัทก็ทำงานวิจัยของตนเอง ถึงแม้จะมีนักวิชาการ (รับจ้าง) รับประกันเรื่องความปลอดภัย ว่าใช้สารเคมีน้อยลง แต่นักวิชาการอีกกลุ่มยืนยันการใช้สารเคมีไม่ลดลง แถมผูกขาดการใช้สารเคมีของบริษัทตนเองอีกต่างหาก ฟังอย่างนี้แล้วผู้บริโภคคงไม่กล้ายอมรับว่าปลอดภัยจริง เพราะทำไมบริษัทใหญ่ ๆ ถึงมีนโยบายไม่ใช้ผลิตภัณฑ์จีเอ็มโอในยุโรป นี่ยังไม่นับรวมถึงปัญหาการผูกขาดเมล็ดพันธุ์ ระบบทรัพย์สินทางปัญญา การทำลายความหลากหลายทางชีวภาพที่ยังไม่มีใครกล้าตอบเรื่องนี้ แม้แต่ล่าสุดต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา องค์กรผู้บริโภค (Consumers Union) ในประเทศสหรัฐอเมริกา ได้กดดัน รัฐบาลโอบามาให้ยอมรับหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ  (CODEX) และเรื่องนี้มีคนอเมริกาสนับสนุนมากถึง 110,000 คน http://www.consumersunion.org/pdf/Codex-comm-ltr-0410.pdf.  นอกจากโอกาสในการปนเปื้อนหากไม่ทำการศึกษาให้ดีแล้ว ย่อมส่งผลต่อทางเลือกของผู้บริโภคที่น่าจะน้อยลงไปเรื่อย ๆ รวมทั้งละเมิดสิทธิในการได้รับข้อมูลที่เป็นความจริง และสิทธิในการเลือกซื้อ ทำไมบริษัทธุรกิจการเกษตรเหล่านี้ จึงกลัวการทำ  HIA และ EIA ตามมาตรา 67 วรรค 2 แต่เลือกใช้การล๊อบบี้ จ้างนักวิชาการ มาตรการข่มขู่ หากแน่จริงและคิดว่าทำตามมาตรฐานสากลแล้วจะกลัวอะไรกับการทำ HIA หรือ EIA หรือที่แท้ไม่แน่จริงอย่างราคาคุย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 110 ชาโบราณยี่ห้อไหนใส่สีมากเกินไป

เสน่ห์ของ ชาโบราณ ที่มัดใจใครหลายๆ คนให้หลงใหล คงหนีไม่พ้นเรื่องของรสชาติที่สะดุดลิ้นกับกลิ่นหอมที่ดึงดูดใจ และคงรวมไปถึงสีสันที่เป็นเอกลักษณ์ ฉูดฉาดบาดใจ แต่นักดื่มชาโบราณทั้งหลายเคยสงสัยกันหรือไม่ว่า สีของชาเย็น ชาดำเย็นที่เราดื่มนั้นมันเป็นสีจากธรรมชาติหรือมาจากการเติมแต่งเข้าไป “ฉลาดซื้อ” ฉบับนี้มีความจริงเรื่อง “สีในชา” ที่น่าตกใจมาเปิดเผยให้ทุกคนได้รู้กัน ชาโบราณ จัดเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทชาปรุงสำเร็จพร้อมดื่ม ที่ทางการอนุญาตให้ใส่สีได้ โดยต้องมาจดแจ้งขออนุญาตกันก่อน เพื่อจำกัดปริมาณสีที่ผสมเข้าไปไม่ให้มากจนอาจเกิดอันตรายแก่ผู้บริโภค ดังนั้น “ฉลาดซื้อ” ได้ตระเวนเก็บตัวอย่างชาผงสำเร็จรูป แบบที่นำมาชงเป็นชาดำเย็นหรือชาเย็นใส่นมที่หลายๆ คนชอบซื้อดื่มจากร้านหรือรถเข็นขายชา-กาแฟทั่วๆ ไป ซึ่งชาชนิดนี้มีชื่อเรียกหลายๆ แบบ ไม่ว่าจะเป็น ชาโบราณ ชาแดง ชาซีลอน ชาดำ ---------------------------------------------------------------------------------------------------- ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 196) พ.ศ. 2543 ระบุเอาไว้ว่า ชาผงสำเร็จรูป ต้องมีคุณภาพและมาตรฐานดังนี้ คือ (1) มีความชื้นไม่เกินร้อยละ 6 ของน้ำหนัก (2) มีเถ้าทั้งหมดไม่เกินร้อยละ 20 ของน้ำหนักชาผงสำเร็จรูปแห้ง (3) มีกาเฟอีน (caffeine) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 4.0 ของน้ำหนัก เว้นแต่ชาผงสำเร็จรูปที่สกัดเอากาเฟอีนออกแล้ว ให้มีกาเฟอีนได้ในปริมาณที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และข้อที่ (4) ที่สำคัญมากๆ คือ เรื่อง สี ซึ่งในประกาศระบุไว้ว่า “ไม่ให้ใส่สี” แม้จะแต่งกลิ่นและรสได้ แต่ห้ามใส่สีเด็ดขาดทั้งในชาผงสำเร็จรูปและใบชา จะยกเว้นก็เฉพาะชาปรุงสำเร็จพร้อมดื่มที่ไม่ได้ระบุเรื่องการห้ามใส่สีเอาไว้ ---------------------------------------------------------------------------------------------------- ผลทดสอบ “สี” ในชาผงปรุงสำเร็จ- ในการทดสอบครั้งนี้ “ฉลาดซื้อ” ได้เก็บตัวอย่างชาผงปรุงสำเร็จทั้งหมด 13 ยี่ห้อ ซึ่งเลือกจากการบอกเล่าของแม่ค้า พ่อค้า ที่ขายชาโบราณว่า นิยมใช้ยี่ห้อใดในการขาย โดยฉลาดซื้อได้เก็บตัวอย่างของชาเขียว 1 ตัวอย่าง คือ ตรามือ สำหรับชงชาเขียวนม เพิ่มเติม นอกนั้นเป็นชาดำ ทั้งหมด - การทดสอบตัวอย่างชาผงปรุงสำเร็จทั้ง 13 ยี่ห้อ พบว่ามีเพียงแค่ 1 ตัวอย่างเท่านั้นที่ไม่พบการใส่สีสังเคราะห์เพิ่มเติม คือ Yoku ซึ่งที่ข้างซองไม่ได้แจ้งรายละเอียดใดๆ ไว้เลย แจ้งเพียงแค่ ใบอนุญาตนำหรือสั่งอาหารเข้ามาในราชอาณาจักรเลขที่ 10-3-13-13446 - สีผสมอาหารที่พบในการทดสอบครั้งนี้คือ ซันเซ็ต เย็ลโลว์ (Sunset yellow) และ ตาร์ตราซีน (Tartrazine) ซึ่งเป็นกลุ่มสีที่ให้สีเหลือง, ปองโซ 4 อาร์ (Ponceau 4R) และ คาร์โมอีซีน (Carmoisine) กลุ่มสีที่ให้สีแดง และ บริลเลียนท์ บลู (Brilliant blue) กลุ่มสีที่ให้สีน้ำเงิน ซึ่งทั้งหมดเป็นสีผสมอาหารที่เป็นสีสังเคราะห์ - ซันเซ็ต เย็ลโลว์ เป็นสีที่พบในทุกตัวอย่าง (ยกเว้น Yoku ที่ไม่พบสีผสมอยู่เลย) ตัวอย่างที่พบมากที่สุดคือ ยี่ห้อ ตราแพะ (ชาซีลอน) ซึ่งมีถึง 7356.70 มิลลิกรัมต่อ 1 กิโลกรัม ซึ่งในการชงชาดื่ม 1 แก้ว ปริมาณชาผงปรุงสำเร็จที่ใช้ชงจะอยู่ที่ 2 ช้อนชา หรือประมาณ 10 กรัม เมื่อคำนวณดูแล้ว ปริมาณสีสังเคราะห์ต่อการดื่มชาตราแพะ (ชาซีลอน) 1 แก้ว จะอยู่ที่ประมาณ 73.56 มิลลิกรัม ซึ่งถือเป็นปริมาณที่สูง เพราะโดยทั่วไปแล้วปริมาณที่ให้ใช้โดยปลอดภัยกำหนดไว้ไม่เกิน 1 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักร่างกาย 1 กิโลกรัม ต่อ 1 วัน (จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก. ภัยมืดจากสารพิษ. เชษฐ สตูดิโอ แอน กราฟิคดีไซน์ จำกัด : กรุงเทพฯ. 2537) - ตัวอย่างอื่นๆ ที่ตรวจพบสีในปริมาณที่สูงรองลงมา คือ ตรามังกรบิน (5091.60 มิลลิกรัม/ 1 กิโลกรัม), Racehorse (ตราม้าแข่ง) (4338.03 มล./ 1 กก.), ตรางูเห่า สูตรเข้มข้น (4012.31 มล./ 1 กก.) และ ตราเทพพนม (3191.35 มล./ 1 กก.) - Racehorse (ตราม้าแข่ง), ตราเทพพนม, ตรามือ สำหรับชงชาเขียวนม, ตราสามแพะ และ Kapak (ใบชาตราขวาน) ตรวจพบสีสังเคราะห์ปนเปื้อนมากกว่า 1 ชนิด คือ พบทั้ง ซันเซ็ต เย็ลโลว์ กับ ตาร์ตราซีน ซึ่งเป็นสีในกล่มสีเหลือง และ ปองโซ 4 อาร์ กับ คาร์โมอีซีน ซึ่งเป็นสีในกลุ่มสีแดง ยกเว้น ตรามือ สำหรับชงชาเขียวนม ที่ไม่ใส่สีสังเคราะห์ในกลุ่มสีแดง แต่พบสีในกลุ่มสีน้ำเงินคือ บริลเลียนท์ บลู - ชาโบราณ Finest Ceylontea Dust 999, ชาโบราณ Finest Ceylon Tea Dust 666 และ Racehorse (ตราม้าแข่ง) เป็นผลิตภัณฑ์ชาผงปรุงสำเร็จที่นำเข้ามาจากประเทศมาเลเซีย ซึ่งเมื่อหลายปีก่อนเคยมีข่าวว่า อย. เก็บตัวอย่างของทั้ง 3 ยี่ห้อมาทดสอบแล้วก็พบการเติมสีสังเคราะห์ในปริมาณสูงเช่นกัน ซึ่งแม้ อย. จะออกมาตรการคุมเข้มการนำเข้าสินค้าไม่มีคุณภาพ แต่ก็ยังมีสินค้าเหล่านี้เล็ดรอดเข้ามาได้อยู่ดี - ชาผงปรุงสำเร็จ ตรามือ สำหรับชงชาเขียวนม และ ตรามือ ฉลากแดง (ชนิดเติม) มีการระบุไว้ที่ฉลากว่า เจือสี ซึ่งทั้ง 2 ตัวอย่างมาจากผู้ผลิตเดียวกัน - นอกจากเรื่องสีผสมอาหารแล้ว ในการทดสอบชาผงปรุงสำเร็จครั้งนี้ “ฉลาดซื้อ”  ได้เลือกวิเคราะห์หาสารอะฟลาท็อกซิน (Aflatoxin) ด้วย ซึ่งผลที่ออกมาน่าจะทำให้ผู้บริโภคสบายใจขึ้นบ้าง เพราะไม่พบการปนเปื้อนสารอะฟลาท็อกซินในทุกตัวอย่างที่ทำการทดสอบ ฉลาดซื้อแนะ1.ตัวอย่างชาผงปรุงสำเร็จที่เรานำมาทดสอบในครั้งนี้ ส่วนใหญ่เป็นชนิดที่ร้านขายชา – กาแฟโบราณ ซื้อจากตลาดหรือร้านค้าส่งขนาดใหญ่ เพื่อไปต้มชงขายอีกที ซึ่งปกติเราก็ไม่ค่อยได้ทราบกันอยู่แล้วว่าร้านที่เราซื้อเขาใช้ชาแบบไหนมาชงให้เรา แบบนี้การหลีกเลี่ยงสีสังเคราะห์ที่อยู่ในชาก็เป็นเรื่องยาก นอกจากจะลดการดื่มชา ทั้งชาดำเย็นและชานมเย็น เพราะตอนนี้เรารู้แล้วว่าสีส้มสวยๆ ของชา มาจากสีสังเคราะห์ซึ่งถ้าเราได้รับเข้าสู่ร่างกายมากๆ ก็อาจเป็นอันตราย2.แต่ถ้าหากอยากดื่มชา แนะนำว่าให้ซื้อมาชงกินเอง โดยเลือกซื้อชาผงสำเร็จรูปที่มีบรรจุภัณฑ์สะอาดเรียบร้อย มีเลขที่อย.ถูกต้อง มีการแจ้งชื่อ-ที่อยู่ผู้ผลิต วันที่ผลิต วันหมดอายุ และส่วนประกอบต่างๆ ซึ่งนอกจากจะลดความเสี่ยงในการได้รับสีสังเคราะห์มากเกินไปแล้ว เรายังสามารถควบคุมเรื่องความหวานจากน้ำตาลและนมได้ด้วย---------------------------------------------------------------------------------------------------- สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้มีการกำหนดปริมาณสีที่อนุญาตให้ใช้ผสมในอาหารประเภท เครื่องดื่ม ไอศกรีม ลูกกวาด และขนมหวาน ดังนี้สีที่ใช้ได้ปริมาณไม่เกิน 70 มิลลิกรัมต่ออาหารในลักษณะที่ใช้บริโภค 1 กิโลกรัม * สีแดง ได้แก่ - เอโซรูบีน , เออริโทรซิน * สีเหลือง ได้แก่ - ตาร์ตราซีน , ซันเซ็ตเย็ลโลว์ เอ็ฟ ซี เอ็ฟ * สีเขียว ได้แก่ - ฟาสต์ กรีน เอ็ฟ ซี เอ็ฟ * สีน้ำเงิน ได้แก่ - อินดิโกคาร์มีน หรือ อินดิโกตินสีที่ใช้ได้ปริมาณไม่เกิน 50 มิลลิกรัมต่ออาหารในลักษณะที่ใช้ บริโภค 1 กิโลกรัม * สีแดง ได้แก่ - ปองโซ 4 อาร์ * สีน้ำเงิน ได้แก่ - บริลเลียนห์บลู เอ็ฟ ซี เอ็ฟ www.fda.moph.go.th/fda-net/html/product/.../candy.htm - ---------------------------------------------------------------------------------------------------- อันตรายของสีผสมอาหาร1.การรับประทานสีสังเคราะห์ในปริมาณมากร่างกายอาจได้รับอันตราย สีสังเคราะห์เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะไปเคลือบเยื่อบุกระเพาะอาหารและลำไส้ ทำให้น้ำย่อยอาหารทำงานไม่ปกติ ทำให้เกิดอาการท้องอืด ท้องผูก และยังมีผลทำให้การดูดซึมอาหารถูกขัดขวาง ซึ่งทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารไม่เต็มที่ ทำให้ร่างกายอ่อนแอ น้ำหนักลด อ่อนเพลีย และอาจส่งผลต่อการทำงานของไตและตับ 2.ในสีสังเคราะห์มักจะมีสารตกค้างอื่นๆ ปะปนมา ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสารประเภทโลหะหนัก เช่น แคดเมียม  ตะกั่ว สารหนู ปรอท พลวง  โครเมียม เป็นต้น ซึ่งสารเหล่านี้แม้จะได้รับในปริมาณเล็กน้อยแต่ก็จะสะสมอยู่ในร่างกาย ปล่อยไว้นานเข้าก็จะเป็นอันตรายต่อร่างกาย ---------------------------------------------------------------------------------------------------- ตารางแสดงผลทดสอบสีผสมอาหารในชาผงปรุงสำเร็จ     ผลวิเคราะห์เฉพาะตัวอย่างที่ส่งตรวจเท่านั้น วิเคราะห์ผลโดย สถาบันโภชนาการ ม.มหิดล

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 110 ก้าวให้พ้นความขัดแย้งและผลประโยชน์ทางการเมือง

ประเทศไทยมีความขัดแย้งทางการเมืองมากกว่าที่คิด เพราะไม่ว่าใครจะพูดจะเสนออะไรก็จะถูกจับเข้าพวกทั้งฝ่ายตัวเองและอีกฝ่ายโดยไม่สนใจเนื้อหาสาระ ข้อเท็จจริงที่กำลังคุยกัน หรือต่างอ้างข้อเท็จจริงที่เป็นของตนเอง เครือข่ายผู้บริโภค เครือข่ายผู้ติดเชื้อ และเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ ได้มีโอกาสเรียกร้องร่วมกันให้กระทรวงสาธารณสุข ปรับปรุงร่างกฎหมายคุ้มครองผู้เสียหายทางการแพทย์ ให้มีหน่วยงานที่รับผิดชอบกฎหมายฉบับเป็นหน่วยงานที่เป็นอิสระจากระทรวงสาธารณสุข เพราะกระทรวงสาธารณสุขมีโรงพยาบาลในสังกัดของตนเองเกือบพันแห่ง วันที่รณรงค์ร่วมกัน ได้มีผู้ร่วมกิจกรรมต่างดึงมือตบและตีนตบออกมาจากระเป๋าของตนเอง สะท้อนความร่วมมือของประชาชนที่พร้อมจะดำเนินการร่วมกันเมื่อเป็นปัญหาของประชาชน เราต่างเชื่อว่า ปัญหาของประชาชนที่แท้จริงไม่มีความขัดแย้ง ไม่มีแบ่งฝ่าย แต่รอการแก้ไขปัญหา เพราะขณะที่กรุงเทพ ฯ กำลังเลือดตกยางออก จังหวัดบุรีรัมย์ ก็ปรากฏข่าวชาวบ้านประท้วงการสร้างถนนผ่านที่ทำกิน ปัญหามาบตะพุดยังไม่มีทางออก องค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระยังไม่เกิด ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นทางนโยบายที่เข้มข้นในอดีตของรัฐบาลทักษิณ ปัญหาคอรัปชั่นในปัจจุบัน ปัญหาการบุกรุกที่สาธารณะของนายทุน การเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนและทำให้รัฐเสียหายมากมายและเป็นภาระผู้บริโภค โอกาสของคนจนในทางเศรษฐกิจ การเข้าถึงและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การแทรกแซงสื่อ ปัญหาหลายมาตรฐานแม้แต่เรื่องพื้นฐานของประชาชน เช่น การรักษาพยาบาล ต่างเป็นเรื่องจริงทั้งสิ้น เป็นต้น แต่เป็นปัญหาที่หยั่งรากลึก และประชาชนที่เป็นเพียงหมากทางการเมืองอย่างเราต้องอดทนและร่วมมือกันแก้และหาทางออกจากสิ่งเหล่านี้ และอาจจะไม่ได้มาจากคำตอบของความขัดแย้งทางการเมืองที่ยังดำรงอยู่ในปัจจุบัน เพราะเป็นเพียงวาทะกรรมและการช่วงชิงผลประโยชน์การนำในทางการเมือง และเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองล้วน ๆ ดังนั้นผู้บริโภคต้องเชื่อมั่นในพลังของตนเองที่จะร่วมกันอย่างเข้มแข็งในการปฏิรูประบบและกลไกทางการเมือง ระบบภาษี ระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ระบบสวัสดิการทางสังคม ระบบการศึกษา ระบบสุขภาพ เป็นต้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 110 ครูจ๋า อย่าประมาท (2)

ฉบับที่แล้ว ผมได้เกริ่นว่าสถานการณ์ปัญหาการบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่น่าไว้ใจ มันได้คืบคลานเข้าไปสู่สถานศึกษาแล้ว ล่าสุดผมได้รับแจ้งเรื่องจากอาจารย์ท่านหนึ่งพร้อมเอกสารเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ อาจารย์เล่าให้ฟังว่า วันหนึ่งมีบริษัทติดต่อมาทางโรงเรียน จะขอเข้ามาแนะนำความรู้ในโรงเรียน ทราบว่าตอนนี้ตระเวณเดินสายแบบคิวทองไปหลายต่อหลายโรงเรียนแล้ว ผมดูในเอกสารที่อาจารย์นำมาให้ปรากฏว่า เป็นจดหมายของบริษัท เรียน อาจารย์ใหญ่หรือผู้อำนวยการว่าจะขอเข้ามาแนะนำโครงการตรวจสุขภาพในโรงเรียน ชื่อโครงการ “รู้ก่อนเปื่อย” (ชื่อสมมุตินะครับ) แล้วก็อ้างว่าปัจจุบันนี้สังคมเต็มไปด้วยสารพิษสารเคมี ส่งผลให้ผู้คนเจ็บป่วย เสียชีวิตจากโรคร้ายแรงจำนวนมาก เช่น มะเร็ง หัวใจ แม้ว่าหน่วยงานจะมีสวัสดิการให้กับข้าราชการและเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสุขภาพประจำปี ปีละ 1-2 ครั้ง แต่ก็ยังไม่สามารถป้องกันได้ดีพอ เนื่องจากเครื่องมือที่ตรวจสุขภาพโดยทั่วไปจะเป็นเครื่องมือเบื้องต้น หากต้องการรู้ลึกรู้จริงจะเสียค่าใช้จ่ายสูง (อูยยย...ตอนต่อไปเดาได้เลยครับว่าเขาจะต้องบอกว่า ของดีอยู่ที่บริษัทเขา...ฟันธง!) จริงดังคาดครับ เพราะเขาบอกต่ออีกว่า “แต่วันนี้เป็นข่าวดีของหน่วยงาน เพราะบริษัท (ระบุชื่อ) ซึ่งเป็นผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชั้นนำจากต่างประเทศ สหรัฐ ยุโรปและญี่ปุ่น ได้จัดทำโครงการ “รู้ก่อนเปื่อย” (นามสมมุติอีกครั้งนะครับ) เน้นการให้ความรู้และบริการตรวจสุขภาพแบบแพทย์ทางเลือก ด้วย เครื่องมือทันสมัยจากประเทศญี่ปุ่น โดยผู้รับบริการไม่ต้องเจาะเลือดและไม่ต้องอดอาหาร สามารถรู้ถึงความผิดปกติของระบบภายในร่างกายได้ถึง 12 จุด เช่น หัวใจ หลอดเลือด ม้าม ตับ ไต ฯลฯ นอกจากนี้ยังสามารถตรวจวัดความหนาแน่นของมวลกระดูกและปริมาณไขมันในร่างกาย” ท้ายจดหมายยังระบุว่า “หากท่านมีความประสงค์จะรับบริการ กรุณากรอกรายละเอียดในแบบฟอร์มและส่งกลับมายังชื่อในท้ายจดหมาย” (นั่นแน่...โยนให้คนอื่นรับผิดชอบนี่นา)  ผมพลิกไปดูแบบฟอร์มตอบรับ มันก็ช่างเย้ายวนเหลือเกิน เพราะนอกจากให้ผู้สนใจต้องแสดงความประสงค์เองแล้ว ยังบอกว่าโอกาสพิเศษครบรอบหลายปีของบริษัทจะลดค่าบริการการตรวจจาก 500 บาท หรือเพียง 100 บาทต่อท่าน แต่ที่แสบสันต์คือในแบบฟอร์มนี้เขาให้เราระบุด้วยว่า “ยินดีให้บริษํท นำเสนอสินค้าให้กับพนักงานเพื่อประโยชน์ในการดูแลสุขภาพ” เท่าที่ทราบบริษัทนี้ตระเวณไปหลายโรงเรียน ทั้งในต่างจังหวัดและกรุงเทพ และอาจารย์ก็ยอมเสียเงินกันหลายคนแล้ว แต่ผมอยากให้สังเกตดีๆ เห็นมั้ยครับ แม้กระทั่งในแบบฟอร์ม ทางบริษัทเขาก็อุดช่องโหว่ที่จะเอาผิดเขาไว้ล่วงหน้าด้วย เพราะเล่นให้คุณครูกรอกแสดงความจำนงเอง หากมีปัญหาก็คงจะเข้ารูปทางที่ว่า “บริษัทเปล่าหนา ครูดันมาเอง” งานนี้อ้าปากก็เห็นลิ้นไก่ เบ้อเริ่ม ขอเตือนสติครูอาจารย์ทั้งหลายนะครับ การกระทำแบบนี้มันไม่ค่อยชอบมาพากล หากเจอแบบนี้รีบแจ้งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือกลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดของแต่ละจังหวัดทราบ เพื่อร่วมตรวจสอบโดยด่วนเลยครับ จะได้ไม่พลาดพลั้งเสียใจภายหลัง ครูจ๋า...อย่าประมาทนะครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 110 สื่อวันนี้อิสระจริงหรือ?

วันนี้เราคงต้องยอมรับกันว่า สื่อมีอิทธิพลสูงสุดในภาวะสงครามสีของประเทศไทย ทั้งสื่อทีวี สื่อสิ่งพิมพ์และสื่อไอที ซึ่งการส่งข่าวสารในปัจจุบันว่องไวปานสายฟ้าแลบก็ไม่ปาน ดังนั้นข่าวสารจึงหลั่งไหลไปทุกทิศทุกทางอย่างยากจะหยุดยั้ง คนไทยส่วนใหญ่หันมาสนใจข่าวสารบ้านเมืองมากขึ้น และที่สนใจมากขึ้นเพราะอยากรู้ว่าเรื่องราวจะเป็นไปอย่างไร จะรุนแรงมั้ยและจะจบอย่างไร นี่เป็นคำถามที่คนไทยทุกคนอยากรู้แต่ไม่มีใครตอบได้(แฮะๆ ผู้เขียนก็ตอบไม่ได้จ้ะ) และที่สำคัญคือสื่อยังสามารถโน้มน้าวให้เกิดความเชื่อไปทางใดทางหนึ่งได้โดยง่าย ยิ่งเป็นรายงงานข่าวที่มีการวิเคราะห์แง่มุมของเนื้อข่าวอย่างละเอียดด้วยแล้วจะได้รับความสนใจจากคอข่าวชาวไทยอย่างมาก ดังนั้นจึงปฏิเสธไม่ได้ว่าสื่อมีอิทธิพลมหาศาลในสังคมไทยจริงๆวันนี้คนไทยทุกคนรับรู้ว่าสื่อมีความเป็นอิสระเป็นอย่างมาก ขนาดบัญญัติความอิสระของสื่ออยู่ในรัฐธรรมนูญปี 50 เลยทีเดียวเชียว โดยคนไทยก็ชูจั๊กกะแร้เชียร์ ขอให้สื่อมีความอิสระจริงๆ เพราะคนไทยอยากเห็นข่าวสารที่ตรงไปตรงมาบนข้อเท็จจริง โดยไม่ต้องผ่านการปรุงแต่ง แต่เอาเข้าจริงก็อยากตั้งคำถามเหมือนกันว่าวันนี้สื่อเป็นอิสระจริงหรือ? อาจจะมีคำตอบว่าขนาดบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแล้วจะมาถามทำไม? ที่ต้องถามเพราะผู้เขียนมีข้อสงสัยในความอิสระของสื่อจริง ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อทีวี ที่สงสัยเพราะสื่อทั้งสองชนิดนี้ก็ยังผูกติดอยู่กับโฆษณา เพราะการมีโฆษณาคือการอยู่รอดของสื่อ หรือที่เรียกกันว่าผู้มีอุปการะคุณนั่นเอง และเมื่อสื่อยังต้องพึ่งโฆษณา โดยเฉพาะสื่อทีวีอาจจะมีบางรายการที่ได้รับความนิยมมากๆ บริษัทที่ซื้อโฆษณาก็มีบทบาทน้อยหน่อย แต่รายการกลางๆ ที่ต้องพึ่งโฆษณาเพื่อความอยู่รอดของรายการบริษัทที่ซื้อโฆษณา สามารถสั่งได้ว่าต้องการให้รายการนั้นๆ ออกมาในรูปแบบใด และที่สำคัญคือสื่อสิ่งพิมพ์(หนังสือพิมพ์)ที่บริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการปิโตรเลียมทุ่มซื้อโฆษณาในหลายฉบับ เรียกว่าคุมได้หมดก็ว่าได้ที่พูดได้อย่างนี้เพราะเคยมีประสบการณ์มาหลายครั้ง เพราะบางครั้งเราแถลงข่าวเกี่ยวกับความไม่ชอบมาพากลในวงการปิโตรเลียมของไทยเพื่อให้คนไทยได้ร่วมรับรู้ ข่าวเหล่านั้นไม่เคยได้ปรากฎในสื่อทีวีและสื่อสิ่งพิมพ์เลย ถามนักข่าวไปก็ได้คำตอบมาว่าลงให้ไม่ได้เพราะจะกระทบบริษัทที่เป็นลูกค้ารายใหญ่ของสื่อแต่ละสำนัก (ไหนว่าสื่ออิสระไงทำไมไม่กล้าลงข่าวที่เป็นข้อเท็จจริงล่ะ ?) ยกตัวอย่างกรณีศาลตัดสินให้ปตท.คืนส่วนต่าง(ค่าวางท่อก๊าซ)คืนคลัง โดยให้สตง.ร่วมประเมินราคาท่อที่ปตท.ต้องคืน แต่ปตท.รีบร้อนคืนมาประมาณหมื่นหกพันล้านบาท ทั้งที่จริงสตง.ตรวจสอบแล้วพบว่าปตท.ต้องคืนส่วนต่างให้คลังเกือบแสนล้านบาท แต่ปตท.คืนหมื่นกว่าล้านแล้วบอกจบ เราในฐานะคนไทยก็ควรได้รับรู้เรื่องนี้บ้าง แต่สื่อไม่กล้าลงเพราะกลัวกระทบกับโฆษณา สิ่งที่เราทำได้คือเรารวมตัวกันไปยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้เร่งตรวจสอบและเรียกร้องให้ปตท.คืนเงินให้ครบตามจำนวนที่สตง.ตรวจพบไม่อย่างนั้นพวกจะฟ้องว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ แต่เหมือนเดิมคือมีข่าวลงน้อยมาก ทีวีที่เราได้ออกมีช่องเดียวคือ ทีวีไทย ส่วนสื่อสิ่งพิมพ์แทบหาไม่เจอเลย ที่เขียนมานี้ไม่ได้มีอคติกับสื่อ เพียงอยากจะแค่ถามว่า วันนี้สื่อมีอิสระแล้วจริงๆ หรือ?  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 110 ชอบทีวีซัมซุง ถึงเสียก็ไม่อยากเปลี่ยนใจ

เรียน ผู้จัดการ บริษัท ซัมซุงประเทศไทย จำกัดดิฉันนางสาวดวงพร ได้ซื้อทีวี LCD 32 นิ้ว Model code LA32 ………Serial No…….Version…….(อยู่ในช่วงประกัน) เมื่อต้นปี (มกราคม 2552) และจอภาพได้เสียเมื่อต้นเดือนธันวาคม 2552 ดิฉันจึงได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่ของบริษัทซัมซุงทราบ และจากนั้น 3 วัน เจ้าหน้าที่ได้ให้ช่างมาตรวจที่บ้าน และได้บอกว่าจอภาพเสียต้องเปลี่ยนและต้องรออะไหล่ ดิฉันถามว่านานเท่าไร ช่างตอบว่านานเพราะต้องรอบริษัทแม่ส่งมาดิฉันรอจนสิ้นเดือนมกราคม 2553 และได้ติดต่อกลับไปสอบถามได้ความว่าอะไหล่ไม่มี ได้ส่งเรื่องให้สำนักงานใหญ่ (เจ้าหน้าที่เรียกว่า VOC) และรออีก 1 อาทิตย์ เจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้ติดต่อกลับมา ดิฉันจึงติดต่อกลับไป แต่ทุกครั้งที่ติดต่อเจ้าหน้าที่จะบอกแบบถ่วงเวลาว่าจะติดต่อกลับไปแต่ไม่เคยเห็นจะติดต่อกลับมาสักครั้งเลย และครั้งนี้เจ้าหน้าที่ได้พูดจาไม่สุภาพเลย ใช้คำพูดว่า “อ๋อเรื่องของคุณ....... คุณพัช(นามสมมติ)รับเรื่องไว้เดี๋ยวจะติดต่อกลับมาดิฉันก็กลัวว่าจะไม่มีการติดต่อกลับเหมือนทุกครั้ง ดิฉันจึงขอทราบนามสกุลของคุณพัช แต่เจ้าหน้าที่ไม่บอกได้แต่รับปากว่าจะโทรติดต่อกลับแน่นอน และตอนบ่ายของวันนั้นคุณพัชก็โทรกลับมา (ดิฉันดีใจมาก) และคุณพัชได้บอกว่า ทางบริษัทจะรับซื้อคืน เพราะทางบริษัทไม่มีอะไหล่แต่ดิฉันคิดว่าถึงเงินมาก็ต้องไปซื้อทีวีอยู่ดี และชอบทีวีของซัมซุง จึงขอให้เขาเปลี่ยนเครื่องแทนไม่รับเงินแต่คุณพัชได้บอกว่าเปลี่ยนให้ไม่ได้ เพราะเครื่องไม่เสถียรจะขอเป็นซื้อคืนและขอใบเสร็จรับเงิน และถ่ายสำเนาบัตรประชาชนเขียนชื่อภาษาอังกฤษ เดี๋ยวจะส่งเงินมาโดยจะติดต่อกลับมาอีกครั้งว่าจะโอนเงินทางใด ดิฉันไม่ได้เก็บใบเสร็จไว้ คุณพัชก็ไม่ได้ว่าอะไรก็ใช้วิธีเขียนจำนวนเงินแทนว่าซื้อมาเท่าใด ดิฉันเขียนราคา 19,000 บาท และส่งแฟกซ์ไปเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2553 และขอเบอร์ติดต่อกับคุณพัชโดยตรง และรอตามที่คุณพัชบอกจะติดต่อกลับจนวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2553 ดิฉันโทรกลับไปที่เบอร์ที่ได้รับไว้ แต่ไม่มีใครรับสายทั้งวันพออีกวันดิฉันจึงโทรเข้าศูนย์ซัมซุงและเล่าเรื่องทั้งหมดให้เจ้าหน้าที่ฟังและขอสายคุณพัช จากนั้นคุณพัชโทรกลับมาและบอกว่าเรื่องต้องรอผู้ใหญ่อนุมัติต้องรออีกประมาณต้นเดือนมีนาคม 2553 จึงจะได้คำตอบ ดิฉันจึงอยากทราบว่าทางบริษัทจะดำเนินการอย่างไร เพราะดิฉันรอมาหลายเดือนแล้ว โปรดติดต่อกลับทางดิฉันด้วยแนวทางการแก้ไขปัญหาเอาจดหมายฉบับนี้มาให้อ่าน เป็นแนวทางกัน สำหรับคนที่มีปัญหาซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้ามาแล้วเสียใช้ไม่ได้ในระยะเวลารับประกัน เรียกช่างมาซ่อมแล้วโยกโย้ ติ๊ดชึ่งดึงเวลา ให้ขาดระยะประกันหรือขาดอายุความในการฟ้องร้อง(อายุความ 1 ปี นับแต่วันที่รู้ถึงความเสียหาย)คุณดวงพรได้ร้องเรียนเข้ามาที่มูลนิธิฯ ว่า หลังจากที่โทรทัศน์ซัมซุง จอแอลซีดี 32 นิ้ว มูลค่า 19,000 บาทเสียดูไม่ได้มาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2552 ติดตามเรื่องผ่านทางโทรศัพท์ให้บริษัทแก้ไขปัญหาจนถึงเดือนมีนาคม 2553 รวมเวลากว่า 3 เดือนแล้วก็ยังไม่มีทีวีให้ดูรายการโปรดซักที โทรตามเรื่องจนขี้เกียจโทรแล้ว อยากให้มูลนิธิฯช่วยเหลือหน่อยมูลนิธิฯ จึงได้แนะนำว่าเรื่องนี้ไม่ยาก ให้ผู้บริโภคใช้คาถา “จดหมายดีกว่าโทรศัพท์” จดหมายร้องเรียนที่เราได้อ่านข้างบนจึงเป็นฝีมือของคุณดวงพรล้วนๆ ซึ่งผู้บริโภคท่านอื่นที่ประสบปัญหาในทำนองเดียวกันเอาไปปรับใช้ได้ครับผลที่ได้รับ เพียง 5 วันหลังจากที่ออกจดหมายไปถึงผู้บริหารของบริษัทซัมซุง คุณดวงพรก็ได้รับเช็คจำนวน 19,000 บาท และส่งคืนทีวีจอดับไปให้บริษัทซัมซุงทำลายเป็นที่เรียบร้อย

อ่านเพิ่มเติม >