ฉบับที่ 112-113 กระแสต่างแดน

ขึ้นฟรีแบบมีประเด็นที่ปารีสมีคนกลุ่มหนึ่งมุ่งมั่นอย่างยิ่งที่จะขึ้นรถโดยไม่ซื้อตั๋ว เพราะต้องการเรียกร้องให้รัฐจัดบริการขนส่งมวลชนในปารีสให้ฟรี เหมือนกับบริการการศึกษา หรือบริการสุขภาพ  กลุ่มนี้เขารวมตัวกันอย่างเหนียวแน่นเป็นระบบ ใครโดนจับได้และถูกเรียกเก็บค่าปรับ เขาก็มีกองทุนเอาไว้จ่ายให้ด้วย หนังสือพิมพ์ เลอ ปาริเซียง รายงานว่าปัจจุบันมีกองทุนแบบนี้อย่างน้อย 10 กองทุน โดยสมาชิกร่วมอุดมการณ์นั่งรถฟรีแต่ละคนจะร่วมลงขันคนละ 5 – 7 ยูโร (ประมาณ 200 - 300 บาท) เพื่อสำรองไว้จ่ายค่าปรับ ปารีสเมโทร หรือ ขนส่งมวลชนปารีส เขาบอกว่าปัจจุบันร้อยละ 4 ของคนที่ขึ้นรถนั้นไม่ได้ซื้อตั๋ว ถ้าแยกดูตามเส้นทางจะพบว่า อัตราการขึ้นรถฟรีอยู่ที่ร้อยละ 10 สำหรับรถทางไกล และร้อยละ 6 สำหรับรถที่วิ่งในปารีส แต่ทั้งนี้ขนส่งฯ เขาบอกว่ารายได้จากตั๋วโดยสารนั้นเป็นเพียงแค่ร้อยละ 30 ของต้นทุนการดำเนินงานเท่านั้น เรียกว่าแทบจะไม่พอสำหรับการจ่ายเงินเดือนให้กับนายตรวจซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 968 คน (กลุ่มที่รณรงค์เพื่อรถฟรีเขาตั้งข้อสังเกตว่าค่าใช้จ่ายในปฏิบัติการไล่ล่านั้นน่าจะแพงกว่าราคาตั๋วด้วยซ้ำ)  ชาวปารีสต้องจ่ายค่าตั๋วถึง 1.70 ยูโร (ประมาณ 68 บาท) ในขณะที่ค่าโดยสารเฉลี่ยของประเทศอื่นๆ ในยุโรปอยู่ที่ 1 ยูโร (40 บาท) เท่านั้น อันที่จริง หลายเมืองในฝรั่งเศสเขามีรถฟรีให้ขึ้นกัน เมืองกงปิแอง ก็มีรถฟรีมาแล้ว 33 ปี นอกจากนี้ยังมีเมือง โอบาง กูโลเมีย วิตร หรือชาโตรู ซึ่งทางเมืองเขาคำนวณแล้วว่ารายได้จากการขายตั๋วนั้นไม่ได้มากอะไรเลย เมื่อเทียบกับต้นทุนทั้งหมดของการจัดการขนส่ง  ไม่รู้ว่า ขสมก. ของเราสนใจจะไปเยี่ยมชมดูงานของเขาหรือเปล่า จะได้รู้กันไปว่าการจะขึ้น “รถเมล์ฟรี จากภาษีของประชาชน” ที่ฝรั่งเศสนี่มันต้องเตรียมตัวออกสตาร์ทกันให้ดีเหมือนที่บ้านเราหรือเปล่า --------------------------------------------------------------------- ของ (ไม่น่าจะ) เสีย ปัญหาที่อเมริกาและกลุ่มประเทศในทวีปอัฟริกามีเหมือนกันคือการสูญเสียอาหารปริมาณมหาศาลไปโดยเปล่าประโยชน์  อัฟริกายังขาดแคลนเทคโนโลยีในการเก็บเกี่ยวและเก็บรักษาพืชผล ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรกว่า 1 ใน 4 ต้องเน่าเสียไปก่อนจะได้กลายเป็นอาหาร เพราะสภาพอากาศที่รุนแรง โรคพืช และศัตรูพืช เป็นต้น ในแต่ละปีมีผลิตผลอย่างพืชไร่ ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ ปลา นมวัว เสียหายไปไม่ต่ำกว่า 100 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 48 ล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่ประชากรกว่า 265 คนอยู่ในภาวะอดอยาก  ส่วนอเมริกานั้น แม้จะมีเทคโนโลยีขั้นเทพก็ยังมีปัญหาเรื่องอาหารที่ต้องเสียไปโดยเปล่าประโยชน์เช่นกัน ในแต่ละวันคนอเมริกันหนึ่งคน จะทิ้งอาหารประมาณ 1.5 ปอนด์ (เช่น ผักกาดที่เฉาไปนิด เบอร์เกอร์ที่กินไปเพียงครึ่ง หรือแอปเปิ้ลที่ช้ำๆ ดูไม่น่ากิน) รวมๆ แล้วทำให้เกิดเป็นขยะปริมาณเท่ากับสะพานโกลเด้นเกท 74 สะพาน ที่ต้องเป็นธุระนำไปฝังกลบหรือไม่ก็เผาอีกต่างหาก  ร้อยละ 34 ของก๊าซมีเทนในสหรัฐฯ ก็เกิดจากขยะมหึมากองนี้  ถ้าย้อนกลับไปดูที่แหล่งผลิต จะพบว่ามีผลผลิตถูกทิ้งให้เสียไปไม่น้อยเหมือนกัน องค์กรการกุศลแห่งหนึ่ง ส่งอาสาสมัครไปตามฟาร์มต่างๆ เพื่อเก็บผลผลิตสภาพดีที่เหลือทิ้ง ปรากฏว่าเขาสามารถเก็บมาได้ถึง 15.7 ล้านปอนด์ (ข้อมูลปี 2552) ฟู้ด รันเนอร์ ก็เป็นอีกองค์กรหนึ่งที่จัดหาอาหารสัปดาห์ละ 10 ตัน ให้กับคนไม่มีบ้านอยู่ หรือบ้านพักคนชรา โดยอาหารเหล่านั้นคือของที่ ร้านกาแฟ ร้านอาหาร และซูเปอร์มาร์เก็ต ไม่ใช้แล้วนั่นเอง สถาบัน Worldwatch ฟันธงแล้วว่า อันตรายหมายเลขหนึ่งของโลกเราทุกวันนี้ ได้แก่ “วัฒนธรรมกินใช้อย่างเหลือเฟือ” นี่แหละ ซึ่งไม่ได้ระบาดเฉพาะในหมู่คนอเมริกัน ผู้บริโภคทุกคนต้องเรียนรู้ที่จะหย่าขาดจากมันให้ได้ --------------------------------------------------------------------- รถสะดวกขาย ในนิวยอร์กมีรถบรรทุกเร่ขายอาหารกว่า 3,000 คัน รถเร่เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมท้องถิ่นไปแล้ว และเทคโนโลยีอย่างทวิตเตอร์ก็ทำให้ธุรกิจนี้มีสีสันขึ้นด้วยการช่วยให้แฟนพันธุ์แท้สามารถติดตามความเคลื่อนไหวของรถเจ้าประจำได้ ว่าขณะนี้ไปจอดอยู่ที่ไหน   รถเร่เหล่านี้เป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคทั้งในด้านความหลากหลายและราคา เรียกว่ามีอาหารนานาชนิดขาย ตั้งแต่ ไอศกรีม ฮอทดอก วอฟเฟิล บราวนี่ และอื่นๆ ด้วยสนนราคาเฉลี่ยเพียง 10 เหรียญ แต่ปัญหาคือเดี๋ยวนี้รถเร่บางคัน กลับจอดปักหลักขายตามหัวมุมถนนที่คนจอแจเสียนี่ บางคันจอดยึดพื้นที่ตั้งแต่ 10.00 โมงเช้าจนถึงเที่ยงคืน บางเจ้าก็ถึงขั้นทำใบปลิวเมนูของร้านพร้อมระบุตำแหน่งที่จอดไว้ด้วย(มั่นใจขนาดนั้นเลย) หลังจากมีเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องขยะหรือคราบน้ำมันที่รถเร่เหล่านี้ทิ้งไว้ ปัญหาเรื่องที่จอดรถไม่เพียงพอ การถูกบดบังหน้าร้าน (สำหรับร้านที่ตั้งอยู่ริมฟุตบาธ) เป็นต้น สมาชิกสภาเทศบาลนิวยอร์ก เจสสิกา แลพพิน จึงนำเสนอร่างกฎหมายให้มีการเพิกถอนใบอนุญาตที่กรมสุขภาพออกให้รถเร่เหล่านี้ ถ้าพวกเขาได้รับใบสั่งจราจรมากกว่า 2 ใบ ในระยะเวลา 1 ปี จากการจอดติดเครื่องหรือหยอดเหรียญในมิเตอร์เพื่อซื้อเวลาจอดรถ ต้องรอดูกันต่อไปว่าร่างนี้จะผ่านเป็นกฎหมายหรือไม่ หรือจะมีการเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญอย่างไร ในวันที่มีการรับฟังความคิดเห็นนั้นมีกลุ่มผู้ค้ารถเร่และบรรดาขาประจำรวมตัวกันเพื่อยื่น 4,000 รายชื่อที่ไม่เห็นด้วยกับร่างดังกล่าว สมาชิกสภาฯ คนดังกล่าวยืนยันว่า ถ้ารถเร่เหล่านี้ต้องการพื้นที่ขายถาวร ก็ควรจะไปหาพื้นที่เปิดเป็นร้าน ถ้าจะเป็นรถเร่ ก็ต้องเร่ให้ตรงคอนเซ็ปต์ --------------------------------------------------------------------- ไม่ซ่อมก็จ่ายมา ที่อังกฤษนั้นถ้าคุณขับรถตกหลุมบนถนน สิ่งแรกที่ควรทำคือกลับบ้านไปเปิดคอมพิวเตอร์ เข้าเว็บไซต์ www.fixmystreet.com หรือ www.potholes.co.uk เพื่อตรวจสอบว่าหลุมที่ไปตกมานั้นมีคนแจ้งซ่อมเข้าไปหรือยัง ถ้ามีแล้ว ก็หมายความว่าคุณมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากรัฐได้ ทุกวันนี้มีผู้เดือดร้อนเพียง 1 ใน 10 เท่านั้นที่สามารถเรียกร้องค่าเสียหายได้จริงๆ เนื่องจากหน่วยงานของรัฐ เช่น Highways Agency หรือเทศบาลท้องถิ่นจ่ายค่าชดเชยให้โดยอ้างอิงจากหลุมบ่อที่ “ขึ้นทะเบียน” หรือมีการแจ้งซ่อมแซมไว้แล้วแต่รัฐยังไม่ดำเนินการให้เท่านั้น สถิติระบุว่าในเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา รัฐซ่อมไปแล้วกว่า 1.4 ล้านหลุม (ในลอนดอนอย่างเดียว ก็ปาเข้าไป 120,000 หลุม) ด้วยงบประมาณกว่า 100 ล้านปอนด์ บ้านเราน่าจะลองเอาไอเดียนี้มาใช้ดูบ้าง ดูท่าทางการแจ้งผ่านรายการทำนอง “ทุกข์ชาวบ้านชาวช่อง” หรือ “ช่วงนี้ชี้ให้ดูนะ” คงจะไม่พอเสียแล้ว ---------------------------------------------------------------------   เย็นอย่างพอเพียง เทศบาลเมืองไทเป ไต้หวัน ออกกฎหมายให้อาคารสำนักงานและห้างร้านใหญ่ๆ ที่บริโภคไฟฟ้าเป็นปริมาณมาก ตั้งอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศไว้ที่ 26 องศาเซลเซียส ใครเย็นไปกว่านี้มีปรับกฎหมายว่าด้วยการประหยัดพลังงานและการลดการปล่อยคาร์บอนจากภาคธุรกิจ จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมนี้ โดยจะมีช่วงเวลาให้ปรับตัว 6 เดือน หลังจากนั้นถ้าใครตั้งเครื่องปรับอากาศไว้ที่อุณหภูมิต่ำกว่า 26 องศาเซลเซียส ก็จะถูกปรับเป็นเงินระหว่าง 10,000 บาทถึง 50,000 บาท ช่วงแรกเขาจะบังคับใช้กับธุรกิจที่ใช้ไฟมากกว่า 100,000 กิโลวัตต์-ชั่วโมง ต่อเดือน หรือจ่ายค่าไฟเดือนละมากกว่า 300,000 บาท ปัจจุบันในเมืองหลวงของไต้หวันมีองค์กรประเภทนี้ (ซูเปอร์มาร์เก็ต ห้างค้าปลีก โรงแรม ห้างสรรพสินค้า อาคารสำนักงาน) 540 แห่ง ธุรกิจเหล่านี้บริโภคไฟร้อยละ 38 ของพลังงานไฟฟ้าในไทเป ถ้าแต่ละแห่งลดการบริโภคไฟลงร้อยละ 1 ก็จะสามารถประหยัดพลังงานไฟฟ้าในปริมาณที่สามารถใช้ได้กับ 7,000 ครัวเรือนต่อปีเลยทีเดียว ---------------------------------------------------------------------   หมูย้อมแมว บริษัท Primo SmallGood ทางตะวันตกของเมืองซิดนีย์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตอาหารจากเนื้อหมูที่ใหญ่ที่สุดในซีกโลกใต้ โดนปรับเป็นเงินประมาณ 6 ล้าน 7 แสนบาท โทษฐานที่ติดฉลาดผลิตภัณฑ์เบคอนของตนว่าเป็น “ผลิตภัณฑ์ของออสเตรเลีย” สาเหตุที่โดนค่าปรับแพงที่สุดตั้งแต่มีการใช้กฎหมายนี้มาก็เพราะเบคอนที่ว่านั้นทำจากเนื้อหมูที่นำเข้าจากเดนมาร์กและแคนาดา นี่เป็นอีกระดับของการคุ้มครองผู้บริโภค ..แม้สินค้าจะไม่ได้เป็นอันตราย แต่ก็ถือว่าได้ละเมิดสิทธิของผู้บริโภคที่จะได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง อย. ของนิวเซาท์เวลส์เขารู้เรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2008 เลยเริ่มทำการสืบสวนบริษัทผู้ผลิตอาหารภายในรัฐ และพบว่าบริษัทนี้มีผลิตภัณฑ์ที่ติดฉลากผิดทั้งหมด 100 ตัน จึงแจกไป 63 ข้อหาภายใต้กฎหมายอาหารของรัฐนิวเซาท์เวลส์ ทั้งนี้ข่าวเขาบอกว่ายังต้องพิสูจน์กันต่อไปว่าบริษัทดังกล่าวได้รับผลประโยชน์ทางการเงินจากการติด “ฉลากผิด” ที่ว่าด้วยหรือไม่

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 114 กระแสต่างแดน

      คนบ้านเดียวกันประเทศมั่งคั่งอย่างแคนาดาก็มีปัญหาเรื่องความมั่นคงทางอาหารกับเขาเหมือนกันหรือนี่   สมาพันธ์การเกษตรแห่งแคว้นโนวา สโกเชีย บอกว่าในทุกๆ 1 เหรียญที่คนแคนาดาใช้จ่ายกับการซื้ออาหารนั้น มีเพียง 13 เซ็นต์เท่านั้นที่เป็นรายได้ให้กับเกษตรกรในท้องถิ่น งานวิจัยที่ติดตามเรื่องนี้มาเป็นเวลากว่า 3 ปี พบว่าโดยเฉลี่ยแล้ว อาหารที่ประชากรของแคว้นนี้รับประทานกันอยู่นั้น ต้องเดินทางรอนแรมมาไม่ต่ำกว่า 4,000 กิโลเมตร โดยปกติแล้วครัวเรือนในแคนาดานั้นใช้จ่ายกับเรื่องอาหารค่อนข้างน้อยอยู่แล้ว  เมื่อเทียบกับประชากรในอเมริกา หรือออสเตรเลีย   แต่งานวิจัยเรื่องนี้ระบุว่าปรากฏการณ์ห้างค้าปลีกเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้เกษตรกรในแคว้นนี้ต้องปิดกิจการกันไปเป็นจำนวนมาก เช่นปัจจุบันแคว้นนี้มีฟาร์มหมูเหลืออยู่เพียง 4 ฟาร์มเท่านั้น จากที่เคยมีถึง 90 ฟาร์มเมื่อ 10 ปีก่อน อย่างที่รู้ๆ กัน ซูเปอร์มาเก็ตเจ้าใหญ่ๆ สามารถนำเข้าสินค้าเกษตรในปริมาณมากและในราคาที่ค่อนข้างต่ำทำให้สามารถขายให้กับผู้บริโภคในราคาที่ถูกกว่าผลผลิตในท้องถิ่นได้ เกษตรกรในพื้นที่จึงต้องหันไปทำอย่างอื่นแทน  พูดง่ายๆ แคว้นนี้กำลังสูญเสียความสามารถในการพึ่งพาตนเองในเรื่องอาหารนั่นเอง เพราะคนรุ่นใหม่ก็ไม่สนใจที่จะสานต่อกิจการของเกษตรกรรุ่นปัจจุบัน ซึ่งขณะนี้มีอายุเฉลี่ย 55 ปีแล้วด้วย แต่ทั้งนี้ก็ยังไม่ถึงกับหมดหวัง รายงานดังกล่าวประเมินว่าถ้าผู้คนในแคว้นโนวา สโกเชียหันมาอุดหนุนเนื้อวัวที่ผลิตในท้องถิ่น จะทำให้มีเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจถึง 65.5 ล้านเหรียญ และสร้างงานได้ถึง 1,300 ตำแหน่งทีเดียว นั่นไง ฮีโร่ตัวจริงก็ไม่ใช่ใครที่ไหน เป็นผู้บริโภคอย่างเราๆ ท่านๆ นี่เอง   นักศึกษาก็ผู้บริโภค ปัจจุบันมีเรื่องร้องเรียนจากนักศึกษาในอังกฤษและเวลส์เกี่ยวกับมหาวิทยาลัยตัวเอง มากขึ้นร้อยละ 50 รายงานของสำนักงานตุลาการอิสระระบุว่า สาขาวิชาที่มีนักศึกษาร้องเรียนมากที่สุดได้แก่ บริหารธุรกิจ กฎหมาย และแพทย์ศาสตร์ และส่วนใหญ่มักเป็นนักศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษาหรือนักศึกษาต่างชาติ รายงานดังกล่าวตั้งข้อสังเกตว่า การร้องเรียนที่เพิ่มขึ้นนี้แสดงให้เห็นว่านักศึกษาเริ่มมองเห็นตนเองในฐานะ “ผู้บริโภค”มากขึ้น และเริ่มรับ “การศึกษาที่ไม่ได้มาตรฐาน” ไม่ได้ เพราะนักศึกษาทุกวันนี้เริ่มมีหนี้สินมากขึ้น จึงทำให้มีความเครียด และความคาดหวังมากขึ้น   (แม้จะเป็นพียงแค่ร้อยละ 0.05 ของจำนวนนักศึกษาทั้งหมด ซึ่งอาจเป็นเพราะการร้องเรียนนั้นมีขั้นตอนค่อนข้างยุ่งยาก)   ปีที่ผ่านมามีเรื่องร้องเรียนเข้ามาทั้งหมด 1,007 เรื่อง และ 1 ใน 5 ของเรื่องร้องเรียนเหล่านี้   "เป็นเรื่องที่ฟังขึ้น" ข้อร้องเรียนส่วนใหญ่เกี่ยวกับการที่มหาวิทยาลัยไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนกระบวนการของตัวเองตามที่ได้แจ้งนักศึกษาไว้  ทั้งนี้สำนักงานตุลาการอิสระสามารถตรวจสอบว่ามหาวิทยาลัยได้ให้สิ่งที่สัญญาไว้กับผู้เรียนหรือไม่ แต่ไม่สามารถตรวจสอบเรื่องของการให้คะแนน การตัดเกรด หรือคุณภาพการสอนได้ในปี พ.ศ. 2552 มหาวิทยาลัยเหล่านี้ต้องจ่ายค่าชดเชยไปเป็นจำนวนทั้งสิ้น 163,000 ปอนด์  (ประมาณ 8 ล้านกว่าบาท) ซึ่งเป็นการจ่ายให้กับ การสูญเสียโอกาสในการได้งานทำ โอกาสในการก้าวหน้าทางการงานหรือความเครียด เป็นต้น   นักศึกษาคนหนึ่งได้รับเงินชดเชย 750 ปอนด์ (37,800 บาท) กับการที่ไม่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการนักเรียนแลกเปลี่ยนเพราะมีคุณสมบัติไม่ครบตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด เขาร้องเรียนว่ามหาวิทยาลัยไม่ได้แจ้งคุณสมบัตินั้นไว้ให้ชัดเจน อีกรายหนึ่งเป็นนักศึกษาปริญญาเอกที่ได้ค่าชดเชยไป 45,000 ปอนด์ (2 ล้าน 2 แสนบาท) จากการที่เขาต้องเสียเวลาไปกับกระบวนการตรวจสอบทางวินัยของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งไปถึง 3 ปีเต็ม -----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------   รถ ICE ที่ไม่เย็น คลื่นความร้อนที่เล่นงานประเทศต่างๆในยุโรป นั้นลุกลามเข้าไปถึงห้องโดยสารติดแอร์ของรถไฟความเร็วสูงที่วิ่งระหว่างเมืองของเยอรมนี Inter City Express (ที่เรียกย่อๆ ว่า ICE) กับเขาด้วยดอยท์ชบาห์น หรือการรถไฟเยอรมนี จึงต้องรับผิดชอบด้วยการจ่ายค่าชดเชยให้กับผู้โดยสารที่ต้องพบแพทย์เพราะอาการเจ็บป่วยอันสืบเนื่องมาจากความร้อนที่ว่า คนละ 500 ยูโร (20,000 บาท) พร้อมกับคืนเงินค่าตั๋วให้ด้วย ขณะนี้มีคนมารับเงินชดเชยไปแล้วถึง 2,200 คน   สื่อเยอรมันรายงานว่าอุณหภูมิในห้องโดยสารนั้นสูงกว่า 50 องศาเซลเซียส ในขณะที่ระบบเครื่องปรับอากาศของตู้โดยสารนั้นสามารถรับมือกับอุณหภูมิได้สูงสุดแค่ 32 องศาเท่านั้น รูดิเกอร์ กรูบ ซีอีโอ ของการรถไฟเยอรมันตั้งคำถามกับประสิทธิภาพของรถไฟที่บริษัทใช้วิ่งอยู่ แต่นายกสมาคมอุตสาหกรรมรถไฟเยอรมนี ปฏิเสธข้อสงสัยดังกล่าว โดยยืนยันว่าบริษัทผู้ผลิตไม่มีทางทำรถไฟไก่กาที่ระบบแย่ๆ ออกมาแน่นอน ปัญหาน่าจะเป็นเพราะการดูแลรักษาที่ไม่ดีพอมากกว่า   อย่างไรก็ตามข่าวเขาบอกมาว่า ด้วยอากาศที่เปลี่ยนไป รถไฟรุ่นหน้าที่จะเข้าประจำการปีหน้านั้นจะทำมาให้สามารถรับมืออุณหภูมิได้ถึง 40 องศาเซลเซียสกันไปเลย@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@   เบียดเบียนคนแก่ สถานีโทรทัศน์ Nos ของเนเธอร์แลนด์ ออกมาแฉว่าเดี๋ยวนี้บรรดาบ้านพักฟื้นหรือบ้านพักคนชราจะเรียกเก็บเงินจากผู้ใช้บริการมากขึ้น ด้วยการเรียกเก็บค่าบริการเล็กๆ น้อยๆ ประปราย เช่น ค่าผลไม้ ค่ากระดาษทิชชู ค่าพาไปเดินออกกำลัง เป็นต้น ที่ต้องแฉก็เพราะว่าบรรดาบริการเหล่านี้ถือเป็นบริการที่อยู่ภายใต้การคุ้มครองของระบบประกันสุขภาพอยู่แล้วนั่นเอง   Nos TV บอกว่า ผู้ป่วยหรือคนชราที่พักอยู่ในสถานบริการเหล่านั้น ต้องจ่ายเงินเพิ่มค่ากาแฟ น้ำอัดลมหรือขนมขบเคี้ยว บางคนถูกเรียกเก็บค่าต่อสัญญาณโทรทัศน์หรือการอาบน้ำเพิ่มอีกหนึ่งครั้ง มีรายหนึ่งที่ต้องจ่ายค่าถุงมือและน้ำยาฆ่าเชื้อที่พยาบาลใช้ด้วย  สำนักงานประกันสุขภาพของเนเธอร์แลนด์บอกว่าได้รับเรื่องร้องเรียนมากขึ้นเกี่ยวกับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นกับใบเรียกเก็บเงินของสถานบริการเหล่านี้ และได้ประกาศให้บรรดาศูนย์บริการเหล่านั้นรีบแก้ไข ไม่เช่นนั้นจะต้องจ่ายค่าปรับ แต่ยืนยันว่ายังไม่มีเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคถูกเก็บเงินเพิ่มเข้ามาเลย  ปัจจุบันในเนเธอร์แลนด์ มีคนที่ใช้บริการบ้านพักเหล่านี้อยู่ประมาณ 260,000 คน ประชาชนชาวดัทช์ทุกคนจะต้องทำประกันสุขภาพที่เรียกว่า AWBZ ที่ตนเองต้องจ่ายเบี้ยประกันในอัตราร้อยละ 12 ของเงินเดือน ซึ่งครอบคลุมการใช้บริการสถานพักฟื้นและบ้านพักคนชราด้วย ขณะนี้มีคน 600,000 คนภายใต้การดูแลของระบบประกันที่ว่านี้ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายประมาณ 22,000 ล้านยูโร (ประมาณ 920,000 ล้านบาท) ต่อปี@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@   สวยต้องเสี่ยงลิปสติกสีแดงนั้นท่านว่ามักมีการปนเปื้อนของสารตะกั่ว สาวปากแดงโปรดระวัง องค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ ได้ทดสอบหาปริมาณสารตะกั่วในลิปสติกสีแดงทั้งหมด 22 ยี่ห้อ และ พบว่า ลิปสติกยี่ห้อคัฟเวอร์เกิร์ลและลอรีอัล นั้นมีตะกั่วปนเปื้อนในปริมาณสูงที่สุด องค์กรผู้บริโภคของนิวซีแลนด์ ซึ่งเป็นประเทศที่ลิปสติกสองยี่ห้อที่ว่ามานั้น ได้รับความนิยมในระดับต้นๆ บอกว่า องค์กรนี้กำลังเรียกร้องให้มีกฎหมายที่บังคับให้มีการแสดงส่วนประกอบรอง (เช่นตะกั่ว) ในเครื่องสำอางไว้บนฉลากด้วย(กฎหมายปัจจุบันกำหนดให้มีการแสดงเฉพาะส่วนผสมหลักเท่านั้น) เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับรู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสารตะกั่วด้วย ผู้อำนวยการสมาคมน้ำหอมและเครื่องสำอาง การ์ธ วิลลี่ บอกว่าการทำลิปสติกสีแดงให้ปราศจากตะกั่วนั้นแทบจะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ และปริมาณสารตะกั่วที่เกิดขึ้นในแต่ละล็อตแตกต่างกันไป บางล็อตอาจไม่มีเลย ในขณะที่บางล็อตก็แทบจะสูงเกินมาตรฐานที่กำหนด   ด้านโฆษกพร็อกเตอร์แอนด์แกมเบิล ผู้ผลิตลิปสติกยี่ห้อคัฟเวอร์เกิร์ลบอกว่าไม่ได้ใช้สารตะกั่วในการผลิต แต่ที่ตรวจพบนั้นเป็นตะกั่วที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและมีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ไม่ใช่ปริมาณที่จะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ทางลอรีอัล ก็ยืนยันว่ามีตะกั่วในลิปสติกในปริมาณต่ำมากเช่นกัน นักพิษวิทยา ดร.ไมเคิล บีสลีย์ บอกว่าการจะระบุว่าปริมาณเท่าใดจึงจะเป็นอันตรายนั้นค่อนข้างยาก เพราะการเป็นพิษนั้นมีปัจจัยในเรื่องของการสะสมด้วย แต่ทั้งนี้ในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป ได้ประกาศห้ามใช้สารตะกั่วในลิปสติกทุกชนิดแล้ว อ้าว ... เรื่องสวยก็มีสองมาตรฐานกับเขาเหมือนกันหรือนี่

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 111 การรอนสิทธิคืออะไร.

ในการซื้อขายทรัพย์สินกันนั้นนอกจากผู้ขายจะต้องรับผิดชอบในความชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้นแก่ทรัพย์สินที่ขายแล้ว ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ยังได้กำหนดให้ผู้ขายจะต้องรับผิดในการ รอนสิทธิในทรัพย์สินที่ขายด้วย เพราะนอกเหนือจากการที่ผู้ซื้อมีความประสงค์ที่จะได้รับโอนกรรมสิทธิ์แล้ว ผู้ซื้อยังต้องการที่จะครอบครองทรัพย์สินที่ตนได้ซื้อมาโดยปกติสุขปราศจากการรบกวนของบุคคลอื่นด้วย  มาตรา 475 จึงบัญญัติว่า “หากว่ามีบุคคลผู้ใดมาก่อการรบกวนขัดสิทธิของผู้ซื้อในอันที่จะครองทรัพย์สินโดยปกติสุข เพราะบุคคลนั้นมีสิทธิเหนือทรัพย์สินที่ได้ซื้อขายกันนั้นอยู่ในเวลาซื้อขายก็ดี เพราะความผิดของผู้ขายก็ดี เพราะความผิดของผู้ขายก็ดี ท่านว่าผู้ขายจะต้องรับผิดในผลอันนั้น “ จากบทบัญญัติมาตรา 475 นี้ จึงกล่าวได้ว่าการรอนสิทธิ คือการที่มีบุคคลผู้ใดก็ตาม มาก่อการรบกวนขัดสิทธิของผู้ซื้อในอันจะครอบครองทรัพย์สินโดยปกติสุข เพราะบุคคลผู้นั้นมีสิทธิเหนือทรัพย์สินที่ได้ซื้อขายกันนั้น ไม่ว่าการรอนสิทธินั้นจะเป็นการรอนสิทธิทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ในทรัพย์สินที่ซื้อขายก็ตาม นอกจากบทบัญญัติ มาตรา 475 ที่วางหลักให้ผู้ขายต้องรับผิดในการรอนสิทธิไว้เบื้องต้นแล้ว มาตรา 479 ยังบัญญัติต่อมาอีกว่า “ ถ้าทรัพย์สินที่ซื้อขายกันหลุดไปจากผู้ซื้อทั้งหมดหรือแต่บางส่วน เพราะเหตุการณ์รอนสิทธิก็ดี หรือว่าทรัพย์สินนั้นตกอยู่ในบังคับแห่งสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่การที่จะใช้ หรือเสื่อมความสะดวกในการใช้สอย หรือเสื่อมประโยชน์อันจะพึงได้แต่ทรัพย์สินนั้น แลซึ่งผู้ซื้อหาได้รู้ในเวลาซื้อขายไม่ก็ดี ท่านว่าผู้ขายต้องรับผิด " สิทธิของบุคคลผู้รบกวนขัดสิทธินั้นจะต้องเป็นสิทธิที่มีโดยชอบด้วยกฎหมายอันจะทำให้ผู้ขายต้องรับผิด เช่น สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิการเช่า สิทธิอาศัย โดยสิทธินั้นไม่จำเป็นต้องเป็นทรัพย์สิทธิเสมอไป แม้เป็นบุคคลสิทธิ เช่น ตามสัญญาเช่า ก็ก่อให้เกิดการรอนสิทธิได้ อุทาหรณ์ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจมีดังนี้ คำพิพากษาฎีกาที่ 2053/2538 จำเลยผู้ขายต้องรับผิดในการรอนสิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 475 แม้จะไม่รู้ถึงสาเหตุแห่งการรอนสิทธิก็ตาม และเมื่อโจทก์ต้องจำยอมให้เจ้าพนักงานตำรวจยึดรถยนต์พิพาทซึ่งซื้อมาจากจำเลยไปเพราะเป็นรถยนต์ที่ถูกโจรกรรมมา ความรับผิดของจำเลยดังกล่าวจึงไม่อยู่ในบังคับอายุความฟ้องร้องตามมาตรา 481 แต่มีอายุความ 10 ปี ตาม มาตรา 193/10 คำพิพากษาฎีกาที่ 6472/2539 สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินแม้ไม่มีข้อตกลงให้ผู้ขายต้องรับผิดในการรอนสิทธิ แต่โดยผลของกฎหมายผู้ขายต้องรับผิด เมื่อปรากฏว่ามีการรอนสิทธิในที่ดินพิพาทอยู่ก่อนแล้วในเวลาทำสัญญาจะซื้อจะขาย แม้จำเลยผู้ขายจะไม่ทราบว่าที่ดินพิพาทถูกรอนสิทธิ แต่โจทก์ผู้ซื้อได้แจ้งให้จำเลยทราบก่อนถึงกำหนดจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ จำเลยมีหน้าที่ต้องขจัดเหตุที่ถูกรบกวนสิทธิไปเสียก่อนถึงกำหนดนัดจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ เมื่อจำเลยไม่ดำเนินการ โจทก์ย่อมมีสิทธิไม่รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทและยังไม่ตกเป็นฝ่ายผิดสัญญา การที่จำเลยบอกเลิกสัญญาจึงไม่มีผลผูกพันโจทก์และไม่มีสิทธิริบเงินที่โจทก์วางไว้ตามสัญญา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 112-113 หลักฐานนะ มีมั้ย

ฉบับนี้มีคดีผู้บริโภคตัวอย่างที่น่าสนใจใหม่ล่าสุดมาให้สมาชิกได้อ่านดู เป็นเรื่องที่ผู้บริโภคซื้อบ้าน แล้วบ้านไม่เสร็จเรียบร้อย แจ้งให้แก้ไขหลายครั้ง บริษัทฯ เลยบอกเลิกสัญญาริบเงิน แบบว่ารำคาญนั่นแหละ ดูกันซิว่าจะริบเงินได้หรือไม่ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 453/2552 คดีระหว่าง นายวีรวุฒิ พงศ์สุรพัฒน์ โจทก์ กับ บริษัทควอลิตี้ เฮ้าส์ จำกัด(มหาชน) จำเลย ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง  โจทก์คือนายวีรวุฒิยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีแก่โจทก์ จำเลยฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “....คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาหรือไม่ เห็นว่า ตามบันทึกข้อตกลงจำเลยจะต้องปลูกบ้านตามสัญญาจะซื้อจะขายให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2540 นั่นก็หมายความว่าบ้านจะต้องเสร็จทุกอย่างรวมทั้งรายละเอียดพร้อมที่จะโอนกรรมสิทธิ์ได้ แต่กลับปรากฏว่าภายในเดือนกันยายน 2540 ดังกล่าว บ้านหาได้แล้วเสร็จไม่ แต่โจทก์ก็ไม่ได้บอกเลิกสัญญาแก่จำเลย เพียงแต่ขอระงับการผ่อนชำระค่างวดไว้ก่อน แสดงให้เห็นว่าโจทก์ไม่ได้เคร่งครัดเรื่องระยะเวลา แต่ถือเอาความสำเร็จเรียบร้อยของบ้านเป็นสำคัญ ต่อมาเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2540 โจทก์ให้จำเลยแก้ไขงาน 9 รายการ จำเลยก็ไม่ได้ปฏิเสธว่าไม่มีรายการต้องแก้ไขเพียงแต่ขอให้โจทก์ชำระเงินดาวน์ที่ค้างอยู่ทั้งหมดก่อน จนกระทั่งเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2541  จำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปรับโอนกรรมสิทธ์ และชำระเงินงวดสุดท้ายในวันที่ 18 มีนาคม 2541 ปรากฏว่าก่อนวันนัดโอนกรรมสิทธ์ 1 วัน คือในวันที่ 17 มีนาคม 2541 โจทก์ให้จำเลยแก้ไขงานอีก 21 รายการ ครั้นต่อมาวันที่ 3 เมษายน 2541 จำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบว่า จำเลยสร้างบ้านให้โจทก์เสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้โจทก์ไปตรวจความเรียบร้อยของบ้านในวันที่ 16 เมษายน 2541 ซึ่งมีการตรวจความเรียบร้อยดังกล่าว โจทก์ให้จำเลยแก้ไขงานอีก 20 รายการ จากนั้นวันที่ 15 พฤษภาคม 2541 จำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปรับโอนกรรมสิทธิ์และชำระเงินงวดสุดท้ายในวันที่ 20 พฤษภาคม 2541 ปรากฏว่าโจทก์ไม่ไปตามกำหนดนัด แต่หลังจากวันนัด 3 วัน คือในวันที่ 23 พฤษภาคม 2541 โจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยทราบว่าบ้านยังไม่เสร็จเรียบร้อย ขอยกเลิกวันโอนกรรมสิทธิ์ในวันที่ 20 พฤษภาคม 2541 ดังกล่าว จนกระทั่งวันที่ 27 พฤษภาคม 2541 จำเลยมีหนังสือฉบับสุดท้ายแจ้งให้โจทก์ไปรับโอนกรรมสิทธิ์และชำระเงินงวดสุดท้ายในวันที่ 3 มิถุนายน 2541 แต่ในวันที่ 30 พฤษภาคม 2541 ก่อนวันนัด 3 วัน บิดาโจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยทราบว่า จำเลยยังแก้ไขงานไม่เสร็จเรียบร้อยเกือบ 30 รายการ เช่นนี้ แสดงให้เห็นว่าในทัศนะของโจทก์นั้น จำเลยยังก่อสร้างบ้านไม่เสร็จเรียบร้อย ดังนั้นเมื่อต่างฝ่ายต่างไม่ถือเอาระยะเวลาในการก่อสร้างบ้านเป็นสำคัญ แต่ถือเอาการก่อสร้างบ้านเสร็จเรียบร้อยเป็นสำคัญแล้ว เมื่อโจทก์ยังคงยืนยันว่าบ้านไม่เสร็จเรียบร้อย ก่อนที่จำเลยจะบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์จำเลยจะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าบ้านเสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่จำเลยก็ไม่มีเอกสารใดมานำสืบให้เห็นว่าบ้านเสร็จเรียบร้อยแล้ว ผิดวิสัยที่จำเลยเป็นถึงบริษัทมหาชนรับสร้างบ้านที่มีคุณภาพแต่ไม่ปรากฏเอกสารใดมายืนยันว่าที่โจทก์ให้มีการแก้ไขงานนั้นได้แก้ไขเสร็จสิ้นแล้ว โดยมีวิศวกรผู้ควบคุมงานเข้าไปตรวจสอบความถูกต้องเห็นว่าเสร็จเรียบร้อยจริง แม้จำเลยมีนายชาญรงค์ ทัพกฤษณ์ ผู้ควบคุมงานก่อสร้างของจำเลยเบิกความเป็นพยานว่า จำเลยได้แก้ไขงานครั้งสุดท้ายให้แก่โจทก์เรียบร้อยแล้วก็ตาม ก็เป็นคำเบิกความที่ไม่มีหลักฐานยืนยัน อันเป็นการผิดวิสัยของผู้รับสร้างบ้านที่มีคุณภาพพึงกระทำ โดยเฉพาะกรณีของโจทก์มีการขอให้แก้ไขงานหลายครั้งชี้ให้เห็นว่าลูกค้ารายนี้น่าจะมีปัญหา แต่จำเลยก็ไม่ได้ดำเนินการให้มีเอกสารหรือภาพถ่ายประกอบสัญญาไว้ เมื่อโจทก์ยังคงยืนยันว่าจำเลยยังก่อสร้างบ้านไม่เสร็จเรียบร้อย จำเลยกลับบอกเลิกสัญญาโดยที่ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าบ้านเสร็จเรียบร้อยแล้ว การบอกเลิกสัญญาของจำเลยจึงไม่ชอบด้วย ป.พ.พ.มาตรา 387 เมื่อปรากฏว่าจำเลยขายบ้านไปแล้ว และโจทก์ก็ไม่ประสงค์จะซื้อบ้านอีกต่อไปสัญญาจึงเป็นอันเลิกกันและต่างฝ่ายต่างกลับคืนสู่ฐานะเดิมตาม ป.พ.พ.มาตรา 391 วรรคหนึ่ง จำเลยจึงต้องคืนเงินจำนวน 2,343,000 บาท ให้แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่เวลาที่ได้รับไว้ ตามมาตรา 391 วรรคสอง ประกอบมาตรา 224 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อโจทก์เรียกดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 13 สิงหาคม 2542 จึงให้ตามที่โจทก์ขอ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกาแทนโจทก์ 5,000 บาท

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 114 รู้กฎหมายกับทนายอาสา รถยึดไป ข้าฯไม่ว่า แต่ซีดี ข้าฯ ใครอย่าแตะ

รถยึดไป ข้าฯไม่ว่า แต่ซีดี ข้าฯ ใครอย่าแตะ เวลาที่ผู้บริโภคถอยรถยนต์ใหม่สภาพป้ายแดงออกมา ก็มักจะชอบนำไปตกแต่งประดับยนต์ เปลี่ยนล้อแม็กซ์ เปลี่ยนวิทยุเครื่องเล่นเทป เครื่องเล่น ซีดี ลำโพงและอุปกรณ์เครื่องเสียง ถ้าซื้อรถยนต์ด้วยเงินสดก็คงไม่เป็นไร แต่ถ้าเป็นรถยนต์ที่เช่าซื้อมาจากบริษัทลิสซิ่งหรือไฟแนนซ์ หากเอาเงินไปตกแต่งรถยนต์จนค้างค่างวดแล้วถูกยึดรถยนต์คันนั้นไป ปัญหามีอยู่ว่าเครื่องเสียงที่ติดรถไปนั้นจะเป็นของใคร คำตอบอยู่ที่ว่า เครื่องเสียงนั้นเป็นอุปกรณ์ของรถยนต์หรือไม่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 147 บัญญัติว่า “ อุปกรณ์ หมายความว่า สังหาริมทรัพย์ซึ่งโดยปกตินิยมเฉพาะถิ่นหรือโดยเจตนาชัดแจ้งของเจ้าของทรัพย์ที่เป็นประธาน เป็นของใช้ประจำอยู่กับทรัพย์ที่เป็นประธานเป็นอาจิณเพื่อประโยชน์แก่การจัดดูแลใช้สอย หรือรักษาทรัพย์ที่เป็นประธาน และเจ้าของทรัพย์ได้นำมาสู่ทรัพย์ที่เป็นประธานโดยการนำมาติดต่อหรือปรับเข้าไว้ หรือทำโดยประการอื่นใดในฐานะเป็นของใช้ประกอบกับทรัพย์ที่เป็นประธานนั้น อุปกรณ์ที่แยกออกจากทรัพย์ที่เป็นประธานเป็นการชั่วคราวก็ยังไม่ขาดจากการเป็นอุปกรณ์ของทรัพย์ที่เป็นประธานนั้น อุปกรณ์ย่อมตกติดไปกับทรัพย์ที่เป็นประธาน เว้นแต่มีการกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น” มาดูตัวอย่างของจริงกันเลยดีกว่า คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1814/2545 จำเลยนำวิทยุ เครื่องเล่นเทป เครื่องเล่นซีดี ลำโพงและอุปกรณ์เครื่องเสียงมาสู่รถที่เช่าซื้อเพื่อประโยชน์ของจำเลยเอง หาใช่เพื่อประโยชน์แก่การจัดการดูแลใช้สอยหรือรักษาอันเป็นทรัพย์ประธานไม่ ทรัพย์ดังกล่าวจึงมิใช่อุปกรณ์อันจะตกติดไปกับทรัพย์ประธานตาม ป.พ.พ. 147 วรรคท้าย ส่วนข้อสัญญาที่กำหนดว่า “ หากผู้เช่าซื้อนำสิ่งของเข้ามาดัดแปลง ต่อเติมหรือตั้งอยู่ในตัวทรัพย์สินที่เช่าซื้อ สิ่งนั้นจะตกเป็นส่วนหนึ่งของทรัพย์สินที่เช่าซื้อและเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของทันที “ นั้น ก็เป็นแบบฟอร์มที่โจทก์ผู้ให้เช่าซื้อจัดทำขึ้นเพียงฝ่ายเดียว และเป็นข้อความที่มาจากปัญหาที่มักเกิดข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับผู้เช่าซื้อรายอื่นที่ผู้เช่าซื้อมักนำสิ่งของเข้าดัดแปลง ต่อเติมหรือติดกับทรัพย์ที่เช่าซื้อ และเมื่อต้องการเอาสิ่งของดังกล่าวคืนก็จะทำการรื้อไปอันทำให้ทรัพย์ที่เช่าซื้อของโจทก์เสียหาย แต่กรณีที่จำเลยนำทรัพย์ดังกล่าวมาสู่ตัวรถย่อมไม่ถึงขนาดที่จะก่อให้เกิดความเสียหายหากจะต้องรื้อออกไปจึงไม่อยู่ในขอบเขตแห่งสัญญาดังกล่าว โจทก์หาอาจจะยกข้อสัญญาที่ปรากฏว่าเป็นเหตุไม่คืนวิทยุ เครื่องเล่นเทป เครื่องเล่นเทป เครื่องเล่นซีดี ลำโพงและอุปกรณ์เครื่องเสียงให้แก่จำเลยหาได้ไม่ คำโบราณว่า ครกนั้นคู่กับสาก แต่เครื่องเสียงไม่จำเป็นต้องคู่กับรถยนต์เสมอไป ------------------------------------------------------------------------------

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 111 ภัยไม่คาดฝัน จากห้างค้าปลีกยักษ์

ในยามที่บ้านเมืองที่แสน...จะปั่นป่วนวุ่นวาย วังเวง ไร้ซึ่งจุดจบอย่างนี้ ก็ขอให้แฟนๆ ฉลาดซื้อ มีความสุขกับการอ่านหนังสือดีๆ เล่มนี้กันนะจ๊ะ วันนี้มีเรื่องเล่าแปลกๆ ที่เกี่ยวกับ การใช้สิทธิในห้างสรรพสินค้ากันหน่อย เรื่องนี้เกิดขึ้นที่ห้างเทสโก้โลตัส คือศูนย์พิทักษ์ผู้บริโภคจังหวัดสมุทรสงคราม ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภครายหนึ่ง กรณีซื้อสินค้าเครื่องเล่น ซีดี แล้วสินค้าชำรุดเสียหาย(ภายในระยะเวลาประกัน) จึงได้นำสินค้าไปที่ห้าง ห้างก็ๆ รับไว้และบอกว่าจะส่งซ่อมกับบริษัทผู้ผลิต ผู้บริโภคก็รอเกือบ 3 เดือนก็ยังไม่ได้รับการติดต่อจากห้างฯ จึงไปสอบถามพนักงานห้างฯ ท่านก็ตอบว่าอยู่ระหว่างส่งซ่อมเช่นเดิม ไปอีกหลายครั้งก็ได้คำตอบเหมือนเดิม จึงมาร้องเรียนให้ศูนย์ช่วยตรวจสอบ ศูนย์จึงได้ดำเนินการตรวจสอบไปทีห้าง และบริษัทผู้ผลิต เลยพบความจริงว่าบริษัทเจ้าของผลิตภัณฑ์ บอกไม่มีสินค้าชิ้นนี้ส่งซ่อม แต่ห้างยืนยันว่าส่งแล้วศูนย์ฯ จึงเดินหน้าพาผู้เสียหายไปเจรจากับผู้จัดการห้าง จนสุดท้ายผู้เสียหายได้เงินคืน(เรื่องก็จบไปไม่มีอะไรในกอไผ่) ถัดมาอีกไม่กี่วัน มีผู้บริโภคมาปรึกษาอีกว่าได้ไปซื้อโทรศัพท์ในห้างโลตัส(ที่เดิมอีก) มา ยังไม่ได้แกะใช้แต่รู้สึกอยากเปลี่ยนเป็นรุ่นอื่น จะขอเปลี่ยนได้ไหม เจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ ก็บอกว่า ลองไปคุยดูซิ แต่คิดว่าน่าจะเปลี่ยนได้เพราะยังไม่ได้ใช้สินค้า ผู้มาร้องเรียนจึงขอให้น้องในศูนย์ฯ ไปเป็นเพื่อน(ศูนย์ฯ กับห้างฯ อยู่ใกล้กัน) น้องที่เคยไปเจรจาครั้งที่แล้วเลยอาสาไปเป็นเพื่อน เพราะรู้ช่องทางและรู้จักผู้จัดการอยู่แล้ว เช่นเดิมคือไปเจรจากับร้านที่ซื้อโทรศัพท์ แล้วตกลงกันไม่ได้ น้องเจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ จึงพาไปเจรจากับผู้จัดการจนสามารถเปลี่ยนเป็นโทรศัพท์รุ่นที่ต้องการได้สำเร็จขณะกำลังเตรียมตัวจะกลับ ก็มีพนักงานห้างฯ เข้ามาคุยและแนะนำตนเองว่าเป็นผู้จัดการด้านรักษาผลประโยชน์ของห้างฯ เมื่อเห็นน้องเจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ จึงไม่ยอมให้น้องและผู้ซื้อสินค้าที่ไปด้วยกันออกจากห้างฯ และขอให้น้องแสดงบัตรเจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ให้ดู น้องบอกว่าศูนย์ฯ เป็นศูนย์ภาคประชาชนไม่มีบัตร และวันนี้ไม่ได้มาในนามเจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ แต่มาเป็นเพื่อนของลูกค้าห้าง และจะเดินออกจากห้างฯ เจ้าหน้าที่ห้างฯ มาขวางไม่ให้ออกจากห้างฯ และขอยึดบัตรประชาชนไว้ น้องเจ้าหน้าที่ศูนย์ไม่ยอม เกือบจะวางมวยกัน (ดีนะที่น้องยังยั้งใจไว้ได้) เจ้าหน้าที่ห้างฯ ขอเบอร์ศูนย์และโทรไปให้ผู้ประสานงานศูนย์มายืนยันความเป็นเจ้าหน้าที่ของน้องที่อยู่ที่ห้าง คุณเรณู ภู่อาวรณ์ ผู้ประสานงานศูนย์ฯ ตอบกลับไปว่า “ทำไมต้องไปยืนยัน ทุกคนมีสิทธิเข้าห้างฯ เพราะห้างฯ เปิดให้คนเข้าไปไม่ใช่หรือ และห้างฯ ก็ไม่มีสิทธิกักตัวประชาชนที่เข้าไปในห้างฯ ไม่ว่าจะเป็นใครทั้งนั้น ให้ปล่อยตัวทั้งเจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ และผู้ซื้อสินค้าออกมา ไม่อย่างนั้นจะแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจในข้อหากักขังหน่วงเหนี่ยว” พนักงานห้างฯ จึงยอมปล่อยตัวทั้ง 2 คนออกมา ซึ่งทั้งหมดของการเจรจากินเวลาเกือบชั่วโมง ตกลงว่า..นี่ห้างสรรพสินค้าหรือสถานีตำรวจ กันแน่เนี่ย...ห้างสรรพสินค้าเปิดไว้เพื่อให้ลูกค้าเข้าไปซื้อสินค้า เราเข้าไปแล้ว จะซื้อหรือไม่ซื้อสินค้าก็ได้ขึ้นอยู่กับความพอใจของเรา พอใจก็ซื้อไม่พอใจก็ไม่ซื้อไม่มีใครมาบังคับเราได้ และหากเราไม่ได้ขโมยสินค้าหรือทำข้าวของๆ แตกหักเสียหาย ห้างสรรพสินค้าจะมาใช้สิทธิกักขังหน่วงเหนี่ยวเราไม่ได้ และการซื้อสินค้าเราซื้อมาโดยมีใบเสร็จยืนยันการซื้อสินค้า ในเวลาไม่เกิน 3-7 วัน เรามีสิทธิเปลี่ยนสินค้าได้ ห้างสรรพสินค้าจะมาแสดงความยิ่งใหญ่ข่มขู่กักขังเราไม่ได้ ฝากผู้บริโภคแล้วกันว่าหากเจอเรื่องอย่างนี้ขอให้แจ้งตำรวจทันทีโดยไม่ต้องเจรจาให้เสียเวลานะจ๊ะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 112-113 ปฏิรูประบบการศึกษาไทยวันนี้ “เด็กยังถูกจับเป็นตัวประกัน”

 เมื่อวันก่อนประมาณกลางเดือน พฤษภาคม 2553 ช่วงเกือบ 1 ทุ่ม ผู้เขียนได้เห็นแม่กับลูกคู่หนึ่งมาหาคนข้างบ้าน(สมุทรสงคราม) หน้าตาเขาทุกข์โศกมาก โดยเฉพาะเด็กผู้หญิงที่เป็นลูก ผู้เขียนไม่รู้จักว่าเขาเป็นใคร แต่ด้วยหน้าตาที่อมทุกข์ของทั้ง 2  คนทำให้ผู้เขียนแวะเข้าไปทัก เพื่อถามว่าไปไหนกัน มืดค่ำแล้ว แม่เด็กก็บอกทั้งน้ำตาว่า มาหากู้เงิน มีเงินให้กู้บ้างไหม? ดอกเบี้ยเท่าไรก็ยอม(นั่น..งงไปเลยเรา) ก็เลยได้สอบถามถึงต้นสายปลายเหตุที่ต้องกู้เงินในครั้งนี้  ได้ความว่าที่ต้องมาหากู้เงินให้ได้ในวันนี้ เพราะหากกู้ไม่ได้ในวันนี้ลูกสาวที่มาด้วยจะต้องถูกตัดสิทธิในการเรียนต่อ   ซึ่งเด็กอยากเรียนต่อ แม่เด็กก็อยากให้ลูกเรียนเพราะไม่มีสมบัติอะไรจะให้ลูกนอกจากการศึกษาที่พอกัดฟันเพื่อลูกได้ผู้เขียนจึงถามต่อว่าทำไมเด็กถึงจะไม่ได้เรียน  ก็ได้คำตอบว่า เพราะลูกเรียนโรงเรียนเอกชนในจังหวัด ตอนที่เอาลูกเข้าโรงเรียนนี้ทั้งที่รู้ว่ามีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง เพราะตอนนั้นที่บ้านมีเรือประมงเป็นของตนเองจึงพอมีรายได้ในการส่งลูกเรียน แต่มาระยะหลังๆ เมื่อตอนน้ำมันแพง อาชีพนี้ก็เริ่มจะไปไม่ไหวมีหนี้สินเพิ่มขึ้นมาก จนสุดท้ายเรือก็ถูกยึดไปในที่สุด เมื่อเรือถูกยึดแม่ก็ออกไปรับจ้างในโรงงาน พ่อเด็กก็ไปสมัครเป็นยาม รายได้จึงไม่มากนัก  ทำให้หมุนค่าเทอมลูกไม่ทัน จึงติดหนี้ค่าเทอมอยู่กับโรงเรียนบางส่วน  ซึ่งปีนี้ลูกจบ ม. 3 แล้ว ลูกไปสมัครเรียนต่อที่ โรงเรียนเทคนิคสมุทรสงคราม และได้เข้าเรียนตามที่ต้องการแต่เมื่อ 2 วันก่อน โรงเรียนเทคนิคได้บอกให้เด็กมาเอาใบยืนยันจบ ม. 3 ที่โรงเรียนเดิม หากไม่ได้เด็กก็จะหมดสิทธิเรียนทันที  แม่เด็กจึงได้ไปประสานงานที่โรงเรียนเดิมเพื่อขอถ่ายเอกสารใบจบไปให้โรงเรียนใหม่  ปรากฏว่าโรงเรียนเดิมยื่นคำขาดมาว่า หากแม่เด็กหาเงินมาจ่ายค่าเทอมไม่ได้ โรงเรียนจะไม่ยอมถ่ายใบจบให้  ด้วยเหตุผลเหล่านี้จึงต้องออกหากู้เงินอย่างที่เห็น หากกู้ไม่ได้วันนี้ลูกคงหมดโอกาสเรียนต่อ ผู้เขียนได้ฟังแล้วรู้สึกสะท้อนใจนี่นะหรือการปฏิรูประบบการศึกษาไทย  ขนาดปฏิรูปแล้วเด็กก็ยังถูกจับเป็นตัวประกันอยู่เช่นเดิม ผู้เขียนไม่รู้ว่าใครถูกใครผิด  ไม่มีเงินแล้วให้ลูกเรียนโรงเรียนเอกชนทำไม?  จนแล้วไม่เจียมตัว  เว่อร์   ก็ว่ากันไป แต่ไม่ควรจับเด็กเป็นตัวประกันอย่างนี้ เห็นเงินสำคัญกว่าอนาคตเด็กปัญหาเหล่านั้นเป็นปัญหาของผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ต้องแก้กันเอง  แต่เด็กต้องมีโอกาสในการเข้าถึงการศึกษา เขาอยากเรียนเขาต้องได้เรียน เรื่องอื่นๆ ก็ไปตกลงกันเอง   ผู้เขียนจึงแนะนำให้แม่เด็กไปที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคจังหวัดสมุทรสงคราม  เพื่อขอให้เขาหาวิธีช่วยเหลือเบื้องต้นก่อน ส่วนเรื่องหากู้เงินไปใช้หนี้โรงเรียนค่อยมาว่ากันทีหลัง เมื่อแม่เด็กไปที่ศูนย์ฯ เจ้าหน้าที่ได้ประสานงานไปทั้ง 2 โรงเรียน ทั้งโรงเรียนเดิมและโรงเรียนใหม่ จากนั้นศูนย์ฯ ได้ประสานไปยังผอ.เขตพื้นที่การศึกษา เพื่อให้ช่วยประสานในการแก้ปัญหาให้เด็กได้เรียนอีกทางหนึ่ง  ผลการเจรจาโรงเรียนเดิมยอมให้ถ่ายเอกสารใบยืนยันการจบไปให้โรงเรียนใหม่  จนทำให้เด็กคนนี้ได้เรียนต่อ ส่วนเรื่องหนี้สินค่อยว่ากันไป วันก่อนได้เห็นข่าวว่าสภาผู้แทนราษฎรได้ผ่าน พรบ.การปฏิรูปการศึกษาไปแล้ว จึงขอให้คำนึงถึงปัญหาเหล่านี้ด้วยนะท่านผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย ไม่อย่างนั้นนโยบายการศึกษาอาจเป็นได้แค่เรื่องที่ได้แต่ ลูบๆ คลำๆ ไม่ไปถึงการปฏิรูปจริงๆ ซะที พับผ่าซิ.... 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 114 เรื่องของหมากับสัญญาหมา หมา

เห็นชื่อเรื่องแล้วอย่าคิดว่าเป็นเรื่องหยาบคายกันนะ เรื่องนี้เป็นเรื่องสัญญาซื้อขายหมาสายพันธุ์ที่คนรักหมาต้องอ่านจุดเริ่มต้นของเรื่องมาจากความสงสารหมา   เพื่อนรักของคุณอธิป เป็นคนขายหมา ได้เอาหมาแม่ลูกอ่อนพร้อมลูกหมาไปประกาศขายในเน็ต มีคนซื้อตัวลูกไปแต่ไม่มีคนซื้อตัวแม่ เพราะความสงสารหมาพอรู้เรื่องคุณอธิปเลยอาสารับเลี้ยงแม่หมาให้  ต่อมาอีกสามสี่เดือนเพื่อนรักก็เอาตัวผู้มาให้เลี้ยงอีกตัวและบอกกับคุณอธิปว่าจะยกตัวเมียให้เดี๋ยวเซ็นต์โอนให้เลย แต่คุณอธิปเห็นว่าเป็นเพื่อนสนิทกันไม่ต้องมานั่งเซ็นต์อะไรกันก็ได้จากนั้นได้เฝ้าคอยประคบประหงมป้อนข้าวป้อนน้ำป้อนยาให้หมาทั้งสองตัวจนเวลาล่วงไปเป็นปี เงินทุกบาททุกสตางค์เจ้าของตัวจริงไม่เคยมาจ่าย มีแต่โทรมาบอกว่าให้พาหมาไปเที่ยวที่บ้านบ้าง พอพาหมาตัวเมียไปเที่ยว เจอพี่เขยของเพื่อน หมาคงไม่ชอบหน้าเป็นทุนเดิมถูกหมาเห่าใส่ พี่เขยเลยตบหมาซะปากแตก “วันนั้นพาหมากลับบ้านเลยครับ หลังจากนั้นก็ไม่พาไปอีกเลยเค้าก็ไม่สนใจ” คุณอธิปบอกวันเวลาผ่านไปหมาทั้งสองตัวเกิดอารมณ์เสน่หากันตามธรรมชาติ คุณอธิปไม่คิดขัดขวางเพราะเห็นว่ารักกัน ปล่อยให้มันได้สมรสสมรักจนหมาตัวเมียสมหวังตั้งท้องในเวลาต่อมา พอรู้ว่าหมาตัวเมียตั้งท้องอีกครั้ง เพื่อนสุดที่รักนักขายหมาก็แวะมาหาบอกว่าถ้าหมาคลอดลูกจะแบ่งกันคนละตัว เมื่อครบกำหนดปรากฏว่าแม่หมาคลอดลูกได้สองตัวพอดี แต่แทนที่เพื่อนเลิฟจะรับไปเลี้ยงตามที่ได้ตกลงกัน เพื่อนเลิฟกลับเงียบหาย คุณอธิปจำได้ว่า ลูกหมาอายุได้หนึ่งเดือนเพื่อนเลิฟแวะมาเยี่ยมหนึ่งครั้งซื้อยาสีฟันหมามาให้แค่หลอดเดียวสองเดือนต่อมาคุณอธิปพาลูกหมาไปให้เพื่อนรักดูถึงบ้าน กะว่าเพื่อนคงจะรับเลี้ยงแน่คราวนี้ แต่พอเพื่อนเห็นลูกหมาก็ไม่ได้ว่าอะไร พูดคุยกันเล่นสักพักคุณอธิปจึงอุ้มลูกหมากลับเพราะเห็นว่าลูกหมาห่างนมแม่มาทั้งวัน วันรุ่งขึ้นเพื่อนรักโทรศัพท์มาหา แทนที่จะบอกว่าจะรับเลี้ยงแล้วจ้า กลับบอกให้คุณอธิปถ่ายรูปหมาส่งไปให้หน่อย จะเอาไปฝากขายที่สวนลุมไนท์คุณอธิปบอกเพื่อนว่ารอให้ลูกหมาโตหน่อยไม่ได้เหรอ สงสารมันเห็นมันอยู่กันพร้อมพ่อแม่ลูกทำไมต้องพรากลูกเขาไปด้วย สุดท้ายก็อ้อนวอนขอซื้อตัวที่จะขายซะเอง เพื่อนรักบอกว่า ถ้าจะซื้อก็ต้องซื้อลูกทั้งสองตัวราคา 70,000 บาท และตัวแม่อีก 30,000 บาท รวมเป็นหนึ่งแสน ไม่งั้นจะยึดหมาคืนไปทั้งหมดคุณอธิปกลัวเพื่อนจะพรากหมาไป สงสารและอยากได้หมาตัวแม่และตัวลูกๆ มาก เลยขอต่อรองราคาอีกครั้ง สุดท้ายจบด้วยความปราณีของเพื่อนสุดเลิฟที่ 60,000 บาท และจับคุณอธิปเซ็นต์สัญญาซื้อขายหมาโดยไม่ได้ให้อ่านรายละเอียดและคิดว่าเป็นสัญญาซื้อขายหมากันธรรมดาๆ จนต้องเจ็บกระดองใจ   เมื่อเห็นเนื้อหาในสัญญาของเพื่อนรัก คุณอธิปก็ได้แต่บ่นว่า   คนซื้อไม่ได้รับประโยชน์อะไรเลยจากสัญญา นอกจากความดีใจที่ได้รับหมากลับมา สาระสำคัญของสัญญาซื้อขายหมาที่เป็นประเด็นปัญหาหน้าตาเป็นอย่างนี้ครับ1. ผู้ซื้อสัญญาว่า จะให้สุนัขเพศเมียได้ตั้งท้องโดยสุนัขที่คลอดมานั้น จะต้องมีชีวิตและมีสภาพสมบูรณ์ครบทุกประการแล้วส่งมอบสุนัขให้แก่ผู้ขายทั้งหมดทุกตัวภายใต้สภาพสมบูรณ์เท่านั้น จำนวน 1 ครอกโดยผู้ซื้อสัญญาว่าจะไม่เก็บเงินค่าลูกสุนัขและค่าใช้จ่ายใดๆ กับผู้ขายทั้งสิ้น2. ผู้ขายจะโอนกรรมสิทธิ์การเป็นเจ้าของสุนัขทั้งสามตัวให้แก่ผู้ซื้อจนกว่าผู้ซื้อจะทำตามข้อ 13. ผู้ขายรับรองว่าสุนัขทั้งสามตัวที่ทำการส่งมอบมีความปกติสมบูรณ์ทุกประการโดยที่ผู้ซื้อรับทราบ โดยผู้ขายส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อไว้ในความดูแลได้ แต่ยังไม่โอนกรรมสิทธิจนกว่าจะสิ้นสัญญาในข้อหนึ่ง4. หากสุนัขตัวใดตัวหนึ่งเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตในระหว่างความดูแลของผู้ซื้อซึ่งยังไม่โอนกรรมสิทธิผู้ซื้อต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายรวมถึงต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ขายพร้อมทั้งผู้ขายไม่ต้องคืนเงินและหากตรวจสอบว่าผู้ซื้อได้บอกกล่าวเป็นเท็จไม่ว่าด้วยเหตุใดผู้ขายมีสิทธิเอาผิดจากผู้ซื้อได้ทุกประการโดยจะริบเงินดังกล่าวรวมถึงผู้ซื้อต้องส่งคืนสุนัขทั้งหมดแก่ผู้ขาย5. หากผู้ซื้อผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใดแล้ว ผู้ขายสามารถบอกเลิกสัญญาได้ทันทีและริบเอาเงินที่ผู้ซื้อได้ชำระมาแล้วเป็นของผู้ขายทั้งสิ้น และผู้ซื้อต้องส่งคืนสุนัขทั้งหมดแก่ผู้ขาย รวมถึงไม่ตัดสิทธิผู้ขายที่จะเรียกร้องเอาค่าเสียหายใดๆ อันเกิดจากการผิดสัญญานั้นด้วย6. สืบเนื่องจากข้อ 5  และให้ถือว่าการโอนกรรมสิทธิการเป็นเจ้าของสุนัขมาเป็นผู้ซื้อถือเป็นโมฆะคุณอธิปสอบถามว่า สัญญาออกมาแบบนี้ ทางผู้ขายยังจะมีสิทธิที่จะทำตามที่เขียนหรือไม่ และผู้ซื้อสามารถอ้างสิทธิในตัวสัตว์ แล้วแจ้งสมาคมพัฒนาสายพันธุ์สุนัขเพื่อเปลี่ยนแปลงชื่อเจ้าของได้หรือไม่แนวทางแก้ไขปัญหา ประเด็นที่คนอยากซื้อหมาควรทราบ1. การซื้อขายสัตว์เลี้ยงที่มีราคาต่ำกว่า 2 หมื่นบาทไม่จำเป็นต้องทำเป็นหนังสือก็ได้ หากฝ่ายไหนผิดสัญญาซื้อขายปากเปล่ากันก็สามารถนำเรื่องฟ้องต่อศาลได้ แต่หากมีราคาซื้อขายตั้งแต่ 2 หมื่นบาทขึ้นไป จะฟ้องร้องต่อศาลกันได้ต้องมีหลักฐานการซื้อขายที่ลงลายมือชื่อผู้ซื้อ ผู้ขายกันด้ว2. การซื้อขายสัตว์เลี้ยงอย่างหมา แมว หมู กระต่ายนั้น กรรมสิทธิในสัตว์เลี้ยงได้ถูกโอนตกเป็นของผู้ซื้อแล้วตั้งแต่ขณะทำสัญญาซื้อขายกัน โดยที่ไม่ต้องไปทำเรื่องจดโอนกับเจ้าพนักงานเหมือนสัตว์พาหนะพวกช้าง ม้า วัว ควายที่มีกฎหมายสัตว์พาหนะกำหนดไว้เป็นการเฉพาะ3. หากสัญญาซื้อขายสัตว์เลี้ยงมีเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาบังคับกันไว้ กรรมสิทธิ์ในสัตว์เลี้ยงที่ขายถือว่ายังไม่โอนให้ผู้ซื้อจนกว่าจะเป็นไปตามเงื่อนไขหรือถึงกำหนดเวลาตามที่ตกลงกันไว้ดังนั้นจากเรื่องราวและคำถามที่คุณอธิปถามมาแสดงว่า สัญญาซื้อขายหมาที่ทำกันนั้นเป็นสัญญาแบบมีเงื่อนไข ผู้ขายจึงยังมีสิทธิในตัวหมาอยู่ และผู้ซื้อจะต้องปฏิบัติตามสัญญา จนกว่าจะปลดล็อกเงื่อนไขที่ถูกวางไว้ ทางแก้ก็คือปล่อยให้คุณพ่อคุณแม่หมาทั้งสองเร่งสมรสสมรักกันอีกครั้ง เมื่อได้ลูกออกมาแล้วอีกรุ่นก็ยกให้เพื่อนสุดเลิฟโดยทำบันทึกกันให้ชัดเจน กรรมสิทธิ์ของหมาที่ซื้อมาทั้งหมดจึงจะตกเป็นของผู้ซื้อโดยสมบูรณ์ แล้วทีนี้จะนำไปเปลี่ยนชื่อเจ้าของ พาไปประกวดหมาสวยงามที่ไหน ก็เชิญตามสบายครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 114 ถูกปลอมลายเซ็นสมัครฟิตเนส

ณ สำนักงานชั่วคราว มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค อาคารเซนจูรี่มูฟวี่ ชั้น 6 ใกล้กับสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ พวกเราระเห็จเข้ามาปักหลักในสำนักงานชั่วคราวแห่งนี้ได้ประมาณเดือนเศษ หลังจากตึกมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคที่ซอยราชวิถี 7 ถูกไฟไหม้ไปบางส่วนอันเนื่องจากการลอบวางเพลิงในช่วงเหตุการณ์การเมืองชุลมุนคุณปราณีพร้อมลูกสาววัยยี่สิบเข้ามาร้องเรียนกับเราในวันนั้น เธอบอกว่าเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2552 เธอกับบุตรสาวได้ไปเดินเล่นในศูนย์การค้าแห่งหนึ่ง ขณะที่กำลังเพลิดเพลินกับการชอปอยู่นั้น ได้มีเซลล์ของสถานบริการฟิตเนสแห่งหนึ่ง สมมติชื่อว่าตุ๊ดตู่ฟิตเนสเข้ามาชักชวนให้สมัครเป็นสมาชิก ก็ตามสูตรของนักขายมืออาชีพเขาล่ะ คุยซะไม่มีเนื้อมีแต่น้ำ แต่ก็ได้ผลทำให้สองแม่ลูกเดินตามเข้าไปในฟิตเนสจนได้“ก็ไม่ตั้งใจจะเล่นจริงๆ จังๆ หรอกค่ะแต่เห็นเขาอัธยาศัยดี เขาถามว่าเราจะสมัครเป็นแบบ 6 เดือนหรือ 12 เดือนก็ได้ ก็บอกเขาว่าไม่อยากเล่นนานขนาดนั้น ขอทดลองเล่นสักครั้งได้มั้ย เขาก็บอกว่าได้จ่ายแค่ 2,399 บาท ก็เข้าเล่นได้เลยถ้าเรามีเวลาว่างมา ไม่ต้องสมัครเป็นปีก็ได้”“แล้วเค้าก็เอาใบสัญญาสมัครสมาชิกมาติ๊กมากรอกเองทั้งหมดโดยมีดิฉันกับลูกสาวนั่งดู โดยที่เราไม่ได้เซ็นชื่อในใบสมัครสมาชิกที่อยู่ส่วนหน้า ไม่ได้ให้ข้อมูลเลขบัตรเครดิตเพราะเป็นคนไม่มีบัตรเครดิตใช้อยู่แล้ว แต่ยอมรับว่าได้เซ็นชื่อในเอกสารที่แนบตามหลังใบสมัคร เช่น แบบทบทวนความเข้าใจสำหรับสมาชิกใหม่อะไรทำนองนี้ ส่วนลูกสาวตอนนั้นอายุก็ยังไม่ครบยี่สิบปี เราในฐานะแม่ก็ไม่ได้เซ็นยินยอมอะไรไป แต่ก็เห็นเซลล์เขานั่งติ๊กนั่งกรอกแบบฟอร์มให้ลูกสาวเราด้วยก็คิดว่าเป็นการทำเอกสารเพียงเพื่อให้เราเข้าไปใช้บริการหนึ่งครั้ง”จากนั้นคุณปราณีก็ได้จ่ายเงินค่าเข้าใช้บริการไปคนละ 2,399 บาท โดยได้ใบสำเนาใบสมัครสมาชิกที่ไม่มีลายเซ็นของตัวเองกลับมา หลังจากนั้นก็ได้เข้าไปใช้บริการเพียงหนึ่งครั้งและไม่ได้เข้าไปใช้บริการอีกเลยเพราะคิดว่าตัวเองมีสิทธิเล่นกันเพียงตามที่ได้จ่ายเงินไปเท่านั้น ข้ามเข้าปี 2553 เดือนกุมภาพันธ์มีจดหมายจากตุ๊ดตู่ฟิตเนสแจ้งเชิญชวนให้คุณปราณีสมัครเป็นสมาชิกสัญญาระยะสั้นเวลา 6 เดือนค่าสมัคร 9,000 บาท ที่สำคัญจะมีการเรียกเก็บค่าบริการสมาชิกที่คงค้างอยู่ หากได้เปลี่ยนเป็นสัญญาระยะสั้นนี้คุณปราณีได้รับเอกสารก็งงๆ แต่ไม่ใส่ใจอะไรมากนักเพราะไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องเข้าไปออกกำลังกายในฟิตเนส อีกทั้งยังแพงอีกด้วย จึงไม่ใส่ใจกับหนังสือเชิญชวนฉบับนั้นพอเข้าต้นเดือนมีนาคม 2553 ตุ๊ดตู่ฟิตเนสมีจดหมายเซอร์ไพรส์แจ้งกับคุณปราณีว่ามีหนี้ค้างค่าบริการรายเดือนจำนวน 2 เดือนเป็นเงินจำนวน 4,700 กว่าบาท พร้อมกำชับว่าถ้าอยากแก้ปัญหานี้ก็น่าจะเข้าไปทำสัญญาเป็นสัญญาระยะสั้น 6 เดือน“ดิฉันมั่นใจว่าดิฉันไม่ได้เป็นหนี้เขา และที่ฟิตเนสบอกว่า ไม่สามารถเรียกเก็บเงินบัตรเครดิตจากธนาคารได้ดิฉันก็งงมากค่ะเพราะดิฉันไม่เคยมีบัตรเครดิต”คุณปราณีคิดว่าตุ๊ดตู่ฟิตเนสคงจะเข้าใจผิดหรือส่งจดหมายผิดคนก็เลยเฉยๆ กับจดหมายฉบับนั้นไป ปรากฏว่าถึงเดือนมิถุนายน 2553 เจ้าตุ๊ดตู่ฟิตเนสมีหนังสือรังควานมาอีกฉบับ แต่จดหมายฉบับนี้เล่นซะคุณปราณีอยู่ไม่สุข เพราะแจ้งว่าคุณปราณีมีหนี้ค้างรวมเป็น 11,000 กว่าบาท และหากไม่ชำระหนี้นี้จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายจนถึงที่สุด ตัดสินใจหยิบมือถือโทรไปสอบถามที่ฟิตเนสว่าตัวเองเป็นหนี้อะไร“ได้คำตอบว่าเป็นหนี้ค่าบริการฟิตเนสสัญญา 12 เดือน เราก็แปลกใจก็บอกว่าสมัครแค่เดือนเดียวนี่ไม่ใช่ 12 เดือน แล้วของลูกสาวน่ะมีหนี้ด้วยหรือเปล่า”“อ๋อของลูกสาวไม่มีนะคะเพราะไม่ได้เซ็นชื่อสมัคร”“ดิฉันก็ไม่ได้เซ็นชื่อสมัครเหมือนกันนะคะวันนั้น”“มีนะคะลายมือชื่อของคุณพี่อยู่ในใบสมัครชัดเจนค่ะ”คุณปราณีแปลกใจหยิบใบสำเนาใบสมัครสมาชิกที่เก็บไว้ยกขึ้นมาดูในช่องลงชื่อผู้สมัคร/ผู้ซื้อ เห็นแต่ความว่างเปล่า“งั้นช่วยส่งแฟกซ์ใบสมัครมาให้ดูหน่อยได้มั้ยคะ” คุณปราณีอยากรู้ไม่นานเกินรอแฟกซ์ใบสมัครสมาชิกได้มาอยู่ในมือคุณปราณี มันมีลายเซ็นชื่อคุณปราณีชัดเจน แต่เมื่อเพ่งดูนิ่งและนานขึ้น เอ๊ะนี่ไม่ใช่ลายมือของเรานี่ ไม่ได้เรื่องแล้วคุณปราณีรวบรวมเอกสารทั้งหมดที่มีอยู่และเพิ่งได้ แจ้นมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอความช่วยเหลือทันทีแนวทางแก้ไขปัญหาหลังจากสอบถามรายละเอียดกันจนชัดแล้ว และให้คุณปราณีลองช่วยเซ็นลายมือชื่อของตัวเองให้เราดูกันหลายรอบก็พบความผิดปกติจนได้ในลายเซ็นที่ปรากฏในใบสมัครที่ตุ๊ดตู่ฟิตเนสส่งแฟกซ์มาว่ามันมีความผิดเพี้ยนในตัวอักษรหลายจุดแต่เพื่อไม่ให้กระต่ายตื่นตัว เราจึงช่วยร่างจดหมายปฏิเสธหนี้ให้กับคุณปราณีแล้วส่งไปให้กรรมการผู้จัดการของบริษัทตุ๊ดตู่ฟิตเนส เพื่อให้ตรวจสอบว่ามีพนักงานขายคนไหนเล่นไม่ซื่อบ้าง ปรากฏว่ามีโทรศัพท์อ้างว่ามาจากฝ่ายกฎหมายยืนยันให้คุณปราณีต้องชำระหนี้ ไม่งั้นจะดำเนินการฟ้อง คุณปราณีก็บอกว่างั้นก็ฟ้องมาเลย เพราะใจนั้นอยากเห็นบริษัทใช้ใบสมัครที่มีลายเซ็นที่ไม่ใช่ของตนเองถูกแสดงต่อหน้าศาล จะได้ดำเนินการขั้นเด็ดขาดให้โดนโทษอาญาให้เข็ดไปเลย มูลนิธิฯ ก็รออยู่เหมือนกันพร้อมจัดทนายอาสาเข้าช่วยทำคดี แต่จนถึงวันนี้ไม่มีวี่แววว่าตุ๊ดตู่ฟิตเนสจะรังควานมาอีกเลย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 114 ค่าโทรโผล่ที่ไอร์แลนด์

“ดิฉันโดนเรียกเก็บค่าบริการโทรทางไกลระหว่างประเทศไปประเทศไอร์แลนด์ 2 รอบบิลติด ทั้งที่ไม่มีคนรู้จักหรือเคยโทรออกไปประเทศนี้เลยค่ะ”คุณมนต์ชิตาลูกค้าทรูมูฟร้องทุกข์“ตอนที่ได้รับบิลแรกได้โทรกลับไปสอบถามที่คอลเซนเตอร์ เค้าบอกว่าตรวจสอบแล้วว่าเป็นเครื่องของเราโทรออกไป แต่เรายืนยันว่าไม่ได้โทรออกไปจริงๆ ให้ตรวจสอบอีกครั้ง เพราะเคยทำมือถือหาย ไม่รู้ว่าซิม เก่าโดนใช้หรือเปล่า แต่ถูกปฏิเสธทันที ว่าเป็นไปไม่ได้”“ดิฉันยุ่งๆ เลยไม่ได้ใส่ใจอะไรมาก พอบิลมาอีกครั้ง ก็มีโทรไปประเทศเดิม เบอร์เดิมอีก ดิฉันโมโหมาก โทรไปที่คอลเซนเตอร์ พนักงานถามว่า มือกดไปโดนรึเปล่าคะ หรือมีการโทรออกเองอัตโนมัติหรือเปล่าคะ”เจอคำถามแบบนั้นคุณมนต์ชิตาก็ได้แต่คิดใจว่า มือใครมันจะสามารถกดไปโดนเบอร์เดียวกันถึง 6 ครั้งในเวลาที่ต่างกัน และอีกอย่างก็ไม่มีเบอร์นี้บันทึกไว้อยู่ในเครื่อง ดังนั้นโทรศัพท์คงไม่มีทางโทรออกได้เองแน่“ดิฉันที่เป็นเจ้าของเครื่อง ยืนยันว่าไม่ได้โทร เขายังบอกว่าโทร ดิฉันเลยบอกว่าจะให้สาบานมั้ย เพราะไม่รู้ว่าจะบอกอย่างไรแล้ว เขายังถามต่ออีกว่า มีคนอื่นเอาไปใช้มั้ย คือวันๆ ได้แต่เลี้ยงลูกอยู่ในบ้าน ลูกอายุ 1 ขวบ 6 เดือน แถมยังไม่เคยมีเพื่อนอยู่ที่ประเทศไอร์แลนด์ หรือถ้าลูกเอาไปกดเล่น ก็คงจะไม่กดได้เบอร์เหมือนกันทุกครั้งใช่มั้ยคะ แล้วคงจะไม่รู้ว่าโทรไปต่างประเทศต้องเริ่มกดด้วย 006 แน่ๆ” เมื่อเซ็งสุดๆ กับผีคอลเซนเตอร์ คุณมนต์ชิตาจึงขอปิดบริการเบอร์มือถือเจ้าปัญหา แต่ผีคอลเซนเตอร์กลับโยกโย้เยกเย้แจ้งว่า จะต้องไปปิดที่ทรูชอปสาขาใดก็ได้ แต่บ้านของคุณมนต์ชิตาอยู่ต่างจังหวัด และไม่ได้อยู่ในอำเภอที่มีทรูชอป“แล้วดิฉันจะทำอย่างไรหล่ะคะ ถ้ารอบบิลหน้า มันมีโทรไปไอร์แลนด์อีก พวกพนักงานโง่ไม่สามารถตอบได้ จนดิฉันต้องบอกว่าทำไมไม่ระงับการโทรออกไปต่างประเทศให้ลูกค้า ถ้าเค้าบอกว่าไม่ได้โทร ทำไมพวกคุณไม่เสนอให้เค้าระงับสัญญาณโทรออกต่างประเทศ”“ดิฉันบอกพนักงานว่าดิฉันจะจ่ายแต่ยอดที่ดิฉันใช้จริง ที่ไม่ได้ใช้จะไม่จ่าย และตอนนี้มีจดหมายจากทนายมา ดิฉันควรทำอย่างไรคะ”แนวทางแก้ไขปัญหาตามกฎหมายโทรคมนาคมผู้บริโภคมีสิทธิปฏิเสธค่าใช้บริการที่ไม่ถูกต้องได้ แต่การแจ้งไปที่คอลเซนเตอร์มักไม่ค่อยได้เรื่องแถมยังทำให้รำคาญใจเสียอีก วิธีที่ได้ผลกว่าคือให้แจ้งเป็นหนังสือจะเป็นรูปของจดหมายลงทะเบียนไปรษณีย์ตอบรับหรืออีเมล์ก็ได้ส่งไปที่กรรมการผู้จัดการบริษัทผู้ให้บริการและให้จดหมายมีน้ำหนักมากขึ้นก็ให้สำเนาส่งมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคด้วยเมื่อส่งจดหมายออกไปแล้ว กฎหมายโทรคมนาคมจะบังคับให้เป็นหน้าที่ของผู้ให้บริการโทรศัพท์ต้องดำเนินการตรวจสอบอย่างเป็นทางการครับ และกฎหมายโทรคมนาคมได้บังคับให้ผู้ให้บริการต้องมีคำชี้แจงกลับมาเป็นลายลักษณ์อักษรเช่นกัน ถ้าไม่ตอบมาภายใน 60 วัน ผู้ให้บริการโทรศัพท์จะหมดสิทธิ์ในการเรียกเก็บเงินที่มีปัญหากันอยู่ทันทีคุณมนต์ชิตาใช้วิธีเขียนเรื่องร้องเรียนไปที่ www.truemove.com ไม่นานมีพนักงานของทรูมูฟติดต่อกลับมา แจ้งว่ายินดีจะยกเว้นการเรียกเก็บเงินจำนวนที่ทักท้วงให้ แต่ขอให้เซ็นเอกสารที่มีใจความว่าผู้ร้องไม่ติดใจเอาความกับบริษัททรูมูฟอีกต่อไป คุณมนต์ชิตาเห็นว่ายอดเงินตรงกันจึงตกลงเซ็นยินยอมยุติเรื่องโดยไม่คิดเรียกร้องค่าเสียหายต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >