ฉบับที่ 127 กระแสในประเทศ

  ประมวลเหตุการณ์เดือนสิงหาคม 25547 สิงหาคม 2554ไม่ถูกจริงมีสิทธิโดนฟ้อง ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ใครจะชอบของฟรีของถูก แต่ต้องศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนตัดสินใจซื้อ เพราะห้างสรรพสินค้าสมัยนี้ชอบใช้วิธีโฆษณาจูงใจให้คนออกมาซื้อสินค้า โดยบอกว่ามีการจัดโปรโมชั่น ลด แลก แจก แถม ที่มักเห็นบ่อยๆ ตามแผ่นโบรชัวร์ที่เดินแจกกันตามบ้าน หรือไม่ก็ลงโฆษณากันในหน้าหนังสือพิมพ์ แต่พอถึงเวลาไปซื้อสินค้าที่ห้างจริงๆ กลับไม่มีสินค้าที่บอกว่าแถมว่าถูกอย่างที่โฆษณาไว้วางขายอยู่ ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้ก็ถือว่าเข้าข่ายโฆษณาหลอกลวงผู้บริโภค งานนี้จึงเป็นหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ต้องออกโรงช่วยเหลือผู้บริโภค  สคบ.มีแนวคิดในการจัดทำร่างแนวทางการโฆษณาของการลด แลก แจก แถม หรือการจัดโปรโมชั่นของห้างสรรรพสินค้าใหม่ เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้บริโภค ซึ่งกลยุทธการโฆษณาจัดรายการโปรโมชั่น ลด แลก แจก แถม ที่ห้างสรรพสินค้าใช้นั้น จริงๆ ก็เป็นเพียงการตลาดอย่างหนึ่งเพื่อดึงลูกค้าให้มาใช้บริการ และซื้อสินค้าอื่นแทน ถือว่าเป็นการเอาเปรียบ และเข้าข่ายหลอกลวงผู้บริโภค   สคบ. ก็ได้หาวิธีการแก้ไข หลังจากเริ่มการร้องเรียนถึงปัญหาที่กล่าวมาเพิ่มมากขึ้น โดย สคบ. จะบังคับกับทางห้างสรรพสินค้าว่า ต้องระบุจำนวนของสินค้าที่มีจำหน่ายแต่ละสาขาลงในโฆษณา เพื่อให้ผู้บริโภคมีข้อมูลก่อนตัดสินใจไปซื้อคณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณา จะร่างแนวทางการโฆษณาสำหรับสินค้าที่จัดโปรโมชันในห้างสรรพสินค้า เพื่อขอความร่วมมือไปยังสินค้าและห้างสรรพสินค้าที่จัดรายการต่างๆ โดยคาดว่าจะสามารถประกาศเป็นกฎกระทรวงได้ภายในสิ้นปีนี้ เพื่อป้องกันการเอาเปรียบ ซึ่งหากฝ่าฝืนมีโทษปรับ 30,000 บาท รวมทั้งสื่อที่โฆษณาก็จะต้องถูกเทียบปรับกึ่งหนึ่งคือ 15,000 บาทด้วย--------------------     28 สิงหาคม 2554ขวดพลาสติกใช้ซ้ำ ต้องระวังเรื่องความสะอาด บ้านใครที่ใช้ขวดน้ำพลาสติกที่ใช้แล้วนำกลับมาใช้ซ้ำสำหรับใส่น้ำดื่มอีกรอบ คงต้องตั้งใจอ่านข่าวนี้ให้ดี เพราะกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ออกมาเตือนคนที่อยากประหยัดและช่วยลดโลกร้อนด้วยการนำขวดน้ำพลาสติกกลับมาใช้ซ้ำ อย่าลืมดูเรื่องความสะอาด ก่อนนำมาใช้ก็ต้องล้างทำความสะอาดให้ดี โดยเฉพาะบริเวณปากขวดและฝาขวด ที่เป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคจากการสัมผัสกับมือและปากเวลาที่เราดื่มน้ำจากขวด นอกจากนี้ขวดที่นำกลับมาใช้ซ้ำเมื่อใช้ไปนานๆ สีของขวดอาจมีการเปลี่ยนแปลง ต้องคอยสังเกตดูว่าหากมีคราบสีเหลือง มีสีขุ่น ขวดไม่ใสเหมือนเดิม ก็ไม่ควรนำมาใช้ต่อ  ขวดที่บุบ มีรอยร้าว รอยแตก ก็ไม่เหมาะสำหรับนำมาใส่น้ำดื่ม  สำหรับพลาสติกที่ใช้สำหรับผลิตขวดน้ำดื่มจะมีอยู่ 2 ประเภท คือ ขวดสีขาวขุ่น ทำจากพลาสติกชนิดพอลิเอทิลีน (Polyethylene) หรือ PE และขวดใสไม่มีสีทำจากพลาสติกชนิดพอลิเอทิลีน เทเรฟทาเลต (Poly Ethylene Terephthalate) หรือ ขวด PET ซึ่งนิยมใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ขวดที่แบบขวดใสควรเก็บในที่แสงสว่างส่องไม่ถึง เพราะน้ำในขวดอาจเสื่อมคุณภาพหรืออาจเกิดตะไคร่ขึ้นภายในขวดได้-----------------------     31 สิงหาคม 2554อย.ลงดาบ “ซันคลาร่า” แค่อาหารเสริม...ไม่ใช่ยารักษาโรคอาหารเสริมตัวร้ายยังสร้างเรื่องวุ่นวายได้เรื่อยๆ ล่าสุด คณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. เอาผิดผลิตภัณฑ์อาหารเสริม “ซันคลาร่า” ที่กำลังโฆษณาขายกันอย่างแพร่หลาย ทั้งใน เคเบิลทีวี วิทยุชุมชน และเว็บไซต์ ซึ่งอวดอ้างสรรพคุณครอบจักรวาล ทั้ง ดูแลผิวพรรณ ลดน้ำหนัก กระชับภายใน ต่อต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันโรคเบาหวาน พาร์กินสัน อัลไซเมอร์ ฯลฯ โดย อย. ตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นการโฆษณาอย่างผิดกฎหมาย เพราะผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นเพียงแค่ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไม่ใช่ยารักษาโรค การโฆษณาในลักษณะดังกล่าวเป็นการอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง สร้างความสับสนให้ผู้บริโภค ทาง อย. จึงได้ดำเนินคดีกับบริษัท สตาร์ ซันไชน์ จำกัด ผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ซึ่งรับว่าเป็นผู้จัดทำข้อความโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณ พร้อมทั้งมีหนังสือ ไปยังบริษัทฯ เพื่อระงับการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารดังกล่าวในทุกสื่อ  ผู้บริโภคต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเอง ก่อนซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารใดๆ ต้องศึกษาข้อมูลให้ดี อย่าได้หลงเชื่อสรรพคุณว่าสามารถป้องกันหรือรักษาโรค เพราะนอกจากกินแล้วจะไม่หายป่วย อาจจะซวยได้โรคอื่มเพิ่มมาแทน แถมบรรดาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่โฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริงที่ขายกันอยู่ทุกวันนี้ ล้วนแล้วแต่มีราคาแพง ใครที่หลงซื้อมารับประทานผลลัพธ์ที่ได้อาจไม่คุ้มค่ากับเงินที่เสียไป-----------------------------------------------------------------     คลีนิคสำหรับคนเป็น “หนี้” มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและชมรมหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล เปิดคลินิกให้คำปรึกษาปัญหาหนี้บัตรเครดิต รองรับนโยบายจากภาครัฐที่ใช้วิธีการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและปากท้องของประชาชนโดยการออกบัตรเครดิตให้กับประชาชนหลายกลุ่ม ทั้งบัตรเครดิตเพื่อเกษตรกร บัตรเครดิตพลังงาน รวมถึงนโยบายการเพิ่มฐานเงินเดือนขั้นต่ำปริญญาตรีเป็น 15,000 บาท ซึ่งเอื้อต่อการทำบัตรเครดิตเพิ่มมากขึ้น  นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า หากรัฐบาลเลือกใช้วิธีสนับสนุนให้ประชาชนใช้บัตรเครดิตเพื่อแก้ปัญหาความเป็นอยู่ รัฐบาลก็จำเป็นต้องมีมาตรการป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น ทั้งการกำหนดฐานรายได้และยอดวงเงินรวมของผู้ถือบัตรเครดิตให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำหนี้ได้อย่างเหมาะสม การแก้ไขอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมต้องไม่เกินร้อยละ 15 จึงจะถือว่าเป็นอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรม การมอบหมายให้มีหน่วยงานดูแลรับผิดชอบที่ชัดเจนในการรับเรื่องร้องเรียน ให้คำปรึกษา และให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับการใช้บัตรเครดิต และต้องมีกฎหมายทวงหนี้ที่เป็นธรรม ซึ่งปัจจุบันนี้ปัญหาหนี้บัตรเครดิตถือเป็นปัญหาที่มีการร้องเรียนและขอคำปรึกษาเข้ามาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมากเป็นอันดับหนึ่ง  ด้าน นายชูชาติ  บุญยงยศ ประธานชมรมหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล เล่าให้ฟังถึงสภาวะของลูกหนี้ในยุคปัจจุบันว่า ลูกหนี้บัตรเครดิตจำนวนมากต้องเจอกับวิธีการทวงหนี้ที่ไม่เป็นธรรม ถูกกดดันจนเกิดภาวะเครียด หวาดกลัว เนื่องจากมองไม่เห็นทางออกในการหาเงินมาชำระหนี้ บางคนก็คิดสั้นจนถึงขั้นพยายามฆ่าตัวตายหรือทำร้ายตัวเองหรือครอบครัวอย่างที่ได้ยินข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์อยู่เป็นประจำ ใครที่มีปัญหาเรื่องหนี้บัตรเครดิตหรืออยากรู้ข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับบัตรเครดิต สามารถขอคำปรึกษาได้ที่สำนักงานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ซอยราชวิถี 7 ในวันทำการจันทร์ถึงศุกร์ตั้งแต่เวลา 09.00 – 18.00 น. เบอร์โทรศัพท์ 02-2483734-37 หรือผ่านทางเว็บไซต์มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคในส่วนชมรมหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ที่ www.consumerthai.org/debt/ --------------------------------------     หน่วยพิทักษ์รถโดยสารปลอดภัย ต่อไปนี้ใครที่พบเจอปัญหาจากการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็น รถเมล์ รถทัวร์ รถตู้ รถไฟ แท็กซี่ ฯลฯ อย่าเก็บไว้ในใจ เมื่อมีปัญหาเราต้องแก้ไข คิดใหม่ทำใหม่ ด้วยการมาสมัครเป็น “หน่วยพิทักษ์รถโดยสารปลอดภัย” โครงการดีเพื่อสังคมโดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่เปิดตัวอย่างเป็นทางการในงานสัมมนาระดับชาติ “เรื่องความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 10 ทศวรรษแห่งการลงมือทำ : Time for Action” เมื่อวันที่ 25 - 26 สิงหาคมที่ผ่านมา โดย “หน่วยพิทักษ์รถโดยสารปลอดภัย” จะมีหน้าที่ในการช่วยกันแจ้งข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับความในปลอดภัยจากบริการรถโดยสารสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็น รถขับซิ่ง ขับประมาท คนขับหรือพนักงานเก็บเงินบริการไม่สุภาพ รวมทั้งเรื่องสภาพรถที่ไม่ปลอดภัย ผ่านมาที่สายด่วนคุ้มครองผู้โดยสารสาธารณะ 1584 และที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยทุกครั้งที่แจ้งข้อมูลมายังมูลนิธิฯ จะได้รับแต้มสะสมเพื่อลุ้นของรางวัลเล็กๆ น้อยๆ จากทางมูลนิธิฯ ซึ่งการบอกต่อปัญหาเหล่านี้ถือเป็นหนึ่งวิธีในการช่วยแก้ไขปัญหาบริการรถโดยสารสาธารณะซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่ระดับประเทศ ที่เราทุกคนต้องช่วยกันเปลี่ยนแปลง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ใครที่สนใจสมัครเป็น “หน่วยพิทักษ์รถโดยสารปลอดภัย” สามารถโหลดใบสมัครและสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.consumerthsi.org หรือที่ 02-248-3737

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 127 กระแสต่างแดน

  เมดไม่อยู่ คุณหนูต้องออกเที่ยว เทศกาลวันหยุดหลังการถือศีลอดของชาวมุสลิมที่อินโดนีเซีย เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ผู้คนก็พากันกลับต่างจังหวัด คล้ายๆ กับเทศกาลสงกรานต์บ้านเรา  และเมื่อสาวใช้ในบ้านพากันลากลับบ้านไปใช้เงินโบนัสให้สาสมใจนั้น บรรดาคนมีเงินที่นั่นเขาก็ต้องหาที่ไปเหมือนกันเพราะไม่ถนัดจะอยู่บ้านโดยไม่มีแม่บ้านคอยดูแลจัดการทุกอย่างให้สะอาดเข้าที่เข้าทาง  บ้างก็นิยมไปเที่ยวเมืองนอก เรื่องนี้สมาคมท่องเที่ยวของอินโดนีเซียเขายืนยันมา ว่าแพ็คเกจทัวร์ไป  ประเทศยอดฮิตของคนที่นั่นซึ่งได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย ไต้หวัน และฮ่องกง ขายหมดไปแล้วตั้งแต่สองสามเดือนก่อน แอร์เอเชียก็ยืนยันมาว่าขนาดเพิ่มเที่ยวบินเป็น 8 เที่ยวต่อวัน ก็ยังมีตั๋วไม่พอขาย บ้างก็ไม่อยากข้ามน้ำข้ามทะเลไปไกลเพราะเป็นห่วงบ้าน เลยใช้วิธียกครอบครัวไปพักที่โรงแรมแทน สมาคมโรงแรมเขาก็ยืนยันว่าอัตราการจองห้องพักของคนอินโดนีเซียในช่วงวันหยุดดังกล่าวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 85  อีกปรากฏการณ์ที่หนังสือพิมพ์จาการ์ตาโพสต์ เขารายงานไว้คือ ช่วงเทศกาลดังกล่าวเป็นช่วงที่โรงรับจำนำจะมีลูกค้าหนาแน่นเป็นพิเศษ แต่ไม่ใช่เพราะผู้คนพากันเอาของมีค่ามาจำนำหรอกนะ เขาบอกว่าร้อยละ 70 ของลูกค้าที่เดินเข้ามา จะมาไถ่เครื่องประดับออกมาไว้ใส่ไปอวดใครต่อใครตอนกลับไปเยี่ยมบ้านนี่แหละ หลายคนบอกว่าตอนนี้ทองราคาขึ้น เอาออกมาไว้กับตัวดีกว่า เผื่อจะได้ขายทำเงิน   ได้เวลา … ภาษีลดความอ้วนฮังการี ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่มีหนี้มากที่สุดในยุโรปตะวันออก ประกาศนโยบายหารายได้เข้ารัฐด้วยการเรียกเก็บภาษีจากผลิตภัณฑ์อาหารที่มีน้ำตาล ไขมัน หรือเกลือสูงเกินไป ว่ากันว่านี่คือนโยบายเก็บภาษีจากอาหารขยะแบบเข้มที่สุดเท่าที่เคยมีมา ทั้งนี้ก็แอบหวังเล็กๆ ว่า “ภาษีลดความอ้วน” ที่เริ่มบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา จะเป็นการช่วยปรับนิสัยการกินของคนฮังกาเรียน ที่หันมาเป็นโรคอ้วนกันมากขึ้น และนำไปสู่ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่รัฐบาลจะต้องรับผิดชอบเป็นจำนวนไม่น้อย  พูดง่ายๆ ใครเลือกที่จะกินผลิตภัณฑ์อาหารเจ้าปัญหาเหล่านี้ จะต้องเสียเงินเพิ่มจากเดิมประมาณ 1.50 บาทต่อชิ้น/ซอง ส่วนนักดื่ม (น้ำอัดลม) ก็จะต้องจ่ายในราคาที่เพิ่มจากเดิมร้อยละ 10 เป็นต้น ทางการเขาบอกมาว่ามาตรการนี้จะทำให้รัฐบาลมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างน้อยปีละ 100 ล้านเหรียญ (ประมาณ 3,000 ล้านบาท)  ด้านอุตสาหกรรมอาหารก็คัดค้านเป็นธรรมดา เขาอ้างว่าวิธีนี้ปรับปรุงนิสัยการกินไม่ได้หรอก เพราะขนาดประเทศเดนมาร์กที่เก็บ “ภาษีลูกกวาด” มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2465 ก็ยังมีอัตราการเป็นโรคอ้วนเพิ่มขึ้นอยู่ดี แถมยังบอกว่ามาตรการนี้เป็นการเลือกปฏิบัติและจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้มีรายได้น้อยอีกด้วย  ว่าแต่ผู้บริโภคก็มีทางเลือกที่จะไม่ซื้อขนม(ที่ไม่ดีต่อสุขภาพ) ในราคาที่แพงขึ้น และรัฐบาลเขาก็ไม่ได้ประกาศห้ามอุตสาหกรรมผลิตขนมที่ดีต่อสุขภาพออกมาขายนี่นา  สถิติบอกว่าคนฮังกาเรียน ใช้เงินประมาณร้อยละ 17 ของรายได้ครอบครัวในการซื้ออาหาร (มากกว่าคนอเมริกันถึงสองเท่า) ทั้งนี้เพราะอาหารและเครื่องดื่มที่นั่นมีภาษีร้อยละ 25 ยกเว้นผลิตภัณฑ์จากนมและผลิตภัณฑ์ขนมปังที่มีภาษีร้อยละ 12  อิสราเอล กด Like “ไม่ซื้อเนยแพง”ผู้คนจำนวนหลายแสนคนที่รวมตัวกันทางเครือข่ายสังคม Facebook ได้ช่วยกันบอยคอตเนยคอทเทจยี่ห้อ Tnuva ที่พวกเขาเห็นว่าราคาแพงขึ้นจนรับไม่ได้   นับตั้งแต่รัฐบาลประกาศเลิกควบคุมราคา คอทเทจชีสยี่ห้อนี้ก็แพงขึ้นกว่าเดิมถึงร้อยละ 25  เริ่มจากมีผู้บริโภคคนหนึ่งโพสต์กระทู้ลงในเฟสบุ๊ค ชักชวนเพื่อร่วมเครือข่ายให้หยุดซื้อเนยคอทเทจจาก Tnuva ซึ่งเป็นผู้ผลิตเจ้าใหญ่ที่สุดในอิสราเอล ปรากฏว่าเพียงไม่กี่วันมีคนมาร่วมแจมเป็นแสนคน และจำนวนก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะคอทเทจชีสนั้นถือเป็นอาหารสามัญประจำโต๊ะกับข้าวของคนที่นั่น  ผลก็คือในที่สุด Tnuva ซึ่งเจ้าของตัวจริงได้แก่ Apax Investment Fund ของอังกฤษ ถึงแม้จะไม่ยอมลดราคากลับมาเท่าเดิม แต่ก็ต้องยอมเพิ่มปริมาณเนยเข้าไปอีกร้อยละ 10  นี่คือผลของการรวมตัวกัน “ไม่ซื้อ” ของผู้บริโภคกว่า 450,000 คน(ซึ่งนับว่าไม่น้อยเลยสำหรับประเทศที่มีประชากรทั้งหมด 7 ล้านคน) คนกลุ่มนี้มีการศึกษา มีงานทำ และทำงานด้วยความทุ่มเท แต่กลับมีรายได้แทบไม่พอกับการใช้จ่ายพื้นฐานในครัวเรือน พวกเขาจึงรู้สึกว่าต้องลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างแล้ว  สถิติบอกว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เงินเดือนของคนอิสราเอลนั้นเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 2.6 ในขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคนั้นเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 25  และพลังผู้บริโภคยังไม่หยุดแค่นั้น การบอยคอตที่ว่ายังขยายไปยังสินค้าจำเป็นอื่นๆ อีกด้วย สมาชิกเครือข่ายนี้จะร่วมกันเสนอชื่อสินค้าที่พวกเขาเห็นว่าตั้งราคาอย่างไม่เป็นธรรม และทุกคนก็จะร่วมมือกันไม่ซื้อสินค้าดังกล่าว  ยอดเยี่ยมจริงๆ ฉลาดซื้อ ขอกด Like ด้วยคน   เอาชีวิตรอดบนถนนในเมืองหลวงการขับรถบนถนนในเมือง มอสโก (เมืองหลวงเก่า) ของรัสเซีย คงจะไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะเขาถึงกับต้องมีการเปิดสอนคอร์ส “การเอาตัวรอดบนถนนมอสโก” กันเลยทีเดียว   สภาพถนนส่วนใหญ่ในรัสเซียนั้นเขาว่ากันว่าแย่มากๆ แถมยังไม่ค่อยมีป้ายสัญญาณ และแทบจะไม่มีการวางแผนจราจรด้วย หนำซ้ำอุบัติเหตุส่วนใหญ่ยังเกิดจากการฝ่าฝืนกฎจราจรโดยผู้ใช้รถใช้ถนนนี่แหละ รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยของรัสเซียบอกว่า ปัญหาหลักอยู่ที่คนส่วนใหญ่เชื่อว่าตนเองสามารถทำผิดกฎหมายโดยไม่มีใครทำอะไรได้  เลยต้องเกิดสภาพตัวใครตัวมันขึ้นมาอย่างที่เป็นอยู่ สิบปีก่อน เซอเก้ โมเซเยฟ เป็นเซลส์แมนที่ต้องพบกับประสบการณ์ขนหัวลุกทั้งวันที่เขาต้องขับรถไปหาลูกค้า เขาเลยไปลงเรียนคอร์สดังกล่าว เซอเก้บอกว่าเป็นการตัดสินใจที่นอกจากจะช่วยชีวิตเขาไว้ได้แล้ว ยังช่วยประหยัดเงินและเวลาที่จะต้องไปทำเรื่องที่สถานีตำรวจอย่างน้อย 3 วัน และค่าเบี้ยประกันที่ต้องจ่ายเพิ่มอีกร้อยละ 10 กรณีที่เขาเป็นฝ่ายผิดอีกด้วย  พูดง่ายๆ ว่า แม้แต่การเฉี่ยวชนเล็กๆ น้อยๆ ก็ทำให้ต้องเสียโอกาสทำเงินไปไม่ต่ำกว่า 30,000 บาท  แล้วเซอเก้ก็ตัดสินใจเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส ด้วยการสมัครเป็นครูที่สถาบันแห่งนั้นเสียเลย    เพราะธุรกิจนี้ดูท่าจะรุ่งเพราะบรรดาบริษัทต่างๆ นิยมส่งพนักงานมาเรียนเพื่อให้สามารถตัดสินใจได้ถูกต้องทันท่วงที ในสถานการณ์คับขันบนท้องถนน แม้แต่พวกที่ซื้อใบขับขี่ในตลาดมืด ก็ยังต้องมาลงเรียนคอร์สนี้  พฤติกรรมแย่ๆ ในการขับรถระบาดมาถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วย ข่าวบอกว่าพักหลังนี่เกิดอุบัติเหตุรถยนต์ชนกันโดยมีรถตำรวจเข้าไปเป็นคู่ความบ่อยครั้ง จนกระทรวงมหาดไทยของรัสเซียต้องประกาศให้นายตำรวจทุกคนที่ใช้รถลาดตระเวน มาสอบขับรถกันใหม่ ภายใน 1 เดือนนับจากวันออกประกาศ  รัสเซียเป็นหนึ่งในประเทศที่มีสถิติการตายบนท้องถนนมากที่สุดในโลก ปีที่แล้วมีคนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุดังกล่าวถึง 26,000 คน ซึ่งถือว่าดีขึ้นมากจากเมื่อ 6 ปีก่อนที่ตัวเลขสูงกว่านี้เกือบร้อยละ 4  ข่าวบอกว่ามาตรการปราบปรามพวก “เมาไม่ขับ” ของที่นั่นก็ประสบความสำเร็จดีเกินคาด แต่หนังสือพิมพ์เซนต์ปีเตอร์สเบิร์กซึ่งอ้างแหล่งข่าวไม่เปิดเผยชื่อระบุว่า ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะมาตรการเข้มงวดที่ว่านั้นทำให้ “สินบน” ที่ต้องจ่ายให้ตำรวจนั้นถีบตัวขึ้นไปสูงถึง 300,000 บาททีเดียว  จริงเท็จอย่างไร เราพิสูจน์ไม่ได้ เพราะเขาไม่มีใบเสร็จรับรอง 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 126 “จะเท่ทั้งที ต้องป้องกัน UV ด้วยนะ”

  ผลทดสอบการป้องกันรังสี UV ในแว่นกันแดด เมื่อพูดถึง “แว่นกันแดด” สำหรับบางคนอาจให้ค่าว่าเป็นเพียงแค่เครื่องประดับชิ้นหนึ่ง หรืออาจใส่ไว้เพื่อบ่งบอกรสนิยม เชื่อว่าใส่แล้วจะดูเท่ความหล่อความน่ารักจะเพิ่มขึ้น บางคนก็อาจใช้แว่นกันแดดเพื่อปกปิดอำพรางความรู้สึกทางสายตา กลัวว่าคนอื่นมองตาแล้วจะรู้ความคิดที่อยู่ในใจ หรืออาจใส่เพื่อปลอมตัวแบบที่เคยเห็นบ่อยๆ ในละครทีวี ที่แย่กว่านั้นบางคนก็ใช้แว่นกันแดดแทนที่คาดผม ซึ่งก็ไม่ถือว่าผิดแต่ก็ดูเป็นการใช้งานที่ผิดหลักการไปสักหน่อย  เพราะความจริงแล้วแว่นกันแดดถือเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตของเรามาก เพราะเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยปกป้องดวงตาของเราจากอันตรายของรังสีอัลตร้าไวโอเลต (UV) ซึ่งเป็นวายร้ายคอยทำลายดวงตาของเรา ทั้งส่งผลเสียต่อจอประสาทตา และเป็นสาเหตุของโรคต้อหิน ดังนั้นการสวมแว่นกันแดดในช่วงเวลาที่ตาของเราต้องปะทะกับแสงแดดจ้าจึงเป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็นอย่างมาก   แว่นกันแดดที่ดีต้องป้องกันรังสี UV ไม่ใช่มีแค่ความเท่หน้าที่หลักของแว่นกันแดด คือการช่วยป้องกันอันตรายของรังสีอัลตร้าไวโอเลต (รังสี UV) โดยปกติแล้วแว่นกันแดดที่ดีต้องสามารถป้องกันรังสี ได้ไม่น้อยกว่า 95% (มาตรฐานความปลอดภัยของสินค้าในสหรัฐฯ The American National Standards Institute (ANSI)) นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันแสงที่เกิดจากการสะท้อนบนผิววัตถุที่มีความมันวาว เพราะแสงประเภทนี้ก็ทำอันตรายกับดวงตาของเราด้วยเช่นกัน อาจทำให้ตาพร่ามั่วชั่วขณะหนึ่ง  รังสี UV เป็นรังสีที่มองไม่เห็นและไม่สามารถรับรู้หรือรู้สึกได้ ซึ่งรังสี UV สามารถทำอันตรายกับดวงตาของเรา ทำให้จอประสาทตาเสื่อมและเป็นสาเหตุของโรคต้อกระจก ต้อหิน ซึ่งล้วนแล้วแต่ส่งผลทำให้ประสิทธิภาพในการมองเห็นของเราแย่ลง และอาจรุนแรงถึงขึ้นทำให้ตาบอดสนิทได้เลยทีเดียว   รังสี UV ถือเป็นภัยใกล้ตัวที่หลายคนอาจจะมองข้าม เพราะชีวิตประจำวันของเราต้องเสี่ยงกับรังสี UV ยิ่งโดยเฉพาะกับคนที่ต้องทำงานการกลางแดดจ้า คนที่ต้องขับรถ และคนที่ชอบเล่นกีฬากลางแจ้ง   นอกจากนี้แว่นกันแดดยังใช้สวมเพื่อปกปิดความผิดปกติของดวงตา ป้องกันดวงตาของเราจากฝุ่นละอองและลมด้วย เพราะฉะนั้นต่อไปนี้ถ้าเราไม่มีหมวก หรือร่ม เมื่อต้องออกเผชิญแดดจ้า เราควรต้องใส่แว่นกันแดด เพื่อช่วยดูแลปกป้องรักษาดวงตาให้อยู่กับเราไปนานๆ  เรื่องควรรู้ -สภาพอากาศ ฟ้าที่มีเมฆหรือหมอกไม่สามารถป้องกันรังสี UV ได้ -ยิ่งอยู่กลางแดดนานก็ยิ่งได้รับรังสี UV มากตามไปด้วย  -ช่วงเวลาที่แสงแดดมีรังสี UV มากคือประมาณ 10.00 น. – 16.00 น. มีมากที่สุดคือช่วงเที่ยงวัน  -ประเทศที่อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร (อย่างเช่นประเทศไทยของเรา) มีโอกาสได้รับรังสี UV มากกว่าพื้นที่ส่วนอื่นๆ ของโลก   -ยิ่งอยู่ที่สูงโอกาสที่เสี่ยงต่ออันตรายของแสง UV ก็ยิ่งมีมาก  -ความเข้มของสีเลนส์แว่นตากันแดดไม่ได้มีผลกับประสิทธิภาพในการการป้องกันรังสี UV  -แว่นตากันแดดที่ไม่ได้มาตรฐานไม่มีการเคลือบสารกรองหรือป้องกันรังสี UV นอกจากไม่ช่วยลดอันตรายของรังสี UV แล้ว กลับจะยิ่งทำอันตรายกับดวงตาของเรา เพราะเมื่ออยู่ในที่มืดหรือที่แสงสลัวรูม่านตาของเราจะขยายตัวมากขึ้น ยิ่งทำให้รังสี UV เข้าสู่นัยน์ตาเรามากขึ้นกว่าเดิม รวมถึงแว่นที่มีการหักเหของแสงที่ไม่เหมาะสม เมื่อใช้แล้วเกิดมุมมองภาพที่บิดเบี้ยวหรือผิดเพี้ยนไปจากปกติ ซึ่งทำให้ตาของเราทำงานหนัก อาจทำให้ปวดตาหรือเวียนหัว  -แว่นกันแดดชนิดโพลารอยด์ (polaroid) มีคุณสมบัติช่วยป้องกันแสงที่สะท้อนผ่านเลนส์ ไม่ทำให้สายตาพร่ามั่วและช่วยตัดแสงที่ทำมุม 45 องศาที่เข้ามากระทบ ช่วยตัดแสงไม่ให้เห็นภาพลวงตาที่เกิดจากการหักเหของแสงบนพื้นถนนและช่วยลดความเข้มของแสง ป้องกันไม่ให้กล้ามเนื้อตาและประสาทตาเกิดอาการอ่อนล้า  -แต่แว่นตากันแดดถึงดียังไง จะได้รับการรับรองว่ากันแสงหรือรังสี UV ได้มากสักแค่ไหน ก็ไม่สามารถป้องกันอันตรายจากการมองที่ดวงอาทิตย์โดยตรง  -การใส่หมวกที่มีปีกช่วยบังทิศทางของแสงที่เข้าหาดวงตา ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยลดอันตรายของรังสี UV ต่อดวงตาของเราได้  -แว่นสายตาใสๆ ธรรมดา ก็สามารถป้องกันรังสี UV ได้ด้วยเช่นกัน หากมีการรับรองจากผู้ผลิตหรือผู้ขายว่าป้องกันได้   ฉลาดซื้อแนะนำวิธีเลือกซื้อแว่นกันแดดการจะทดสอบเรื่องของประสิทธิภาพการป้องกันรังสี UV ในแว่นตากันแดด อาจเป็นเรื่องยากเกินไปสำหรับผู้บริโภคอย่างเรา แต่ก็ใช่ว่าเราจะมองข้ามเรื่องคุณภาพของแว่นกันแดดจนสนใจแต่เรื่องรูปทรงความสวยงามเท่านั้น เพราะยังมีวิธีง่ายๆ ในการเลือกซื้อแว่นกันแดดให้ได้คุณภาพที่คุ้มค่า   1.ถ้าหากแว่นกันแดดมีการระบุข้อความว่า “400 UV Protection” ก็น่าจะพอเชื่อใจได้ระดับหนึ่งว่า แว่นกันแดดที่เราจะซื้อมีการป้องกันรังสี UV ที่ระดับสูง (ตัวเลข 400 มาจาก 400 นาโนเมตร ซึ่งเป็นระยะปลอดภัยของรัสี UV หรือเป็นระยะที่ป้องกันรังสี UV ได้ 100% ซึ่งเป็นเกณฑ์มาตรฐานที่ใช้ใน ยุโรป อเมริกา และอีกหลายๆ ประเทศ)  2.ถ้ามีสัญลักษ์ CE ซึ่งเป็นตรารับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์จากยุโรป ก็ถือเป็นการการันตีคุณภาพได้เช่นกัน  3.ให้ลองมองแนวที่เป็นเส้นตรงผ่านเลนส์ข้างใดข้างหนึ่ง จากนั้นให้ขยับแว่นเลื่อนเข้าเลื่อนออกช้าๆ เลนส์ที่ดีต้องไม่ทำให้เส้นตรงที่มอง คดหรือเบี้ยวขณะขยับแว่น  4.รูปทรงของแว่นต้องเหมาะกับรูปหน้าของเรา ไม่คับเกินไปจนอึดอัดหรือเจ็บที่ขมับ และก็ต้องไม่หลวมมากจนเกินไปจนตกลงมาอยู่ที่ปลายจมูกทำให้ต้องเลื่อนสายตาลงมาเวลามอง  5.เวลาสวมแว่นกันแดดแล้วต้องให้แสงแดดลอดเข้ามาหาดวงตาน้อยที่สุด ทั้งจากด้านบนและด้านล่าง แต่ก็ไม่ถึงกับใกล้ขนาดใส่แล้วเลนส์มาชิดติดกับขนตา  6.แม้เรื่องราคาและยี่ห้อของแว่นจะไม่ใช่ตัวการันตีเรื่องคุณภาพในการป้องกันรังสี แต่การซื้อกับร้านที่มีที่อยู่แน่นอน ตัวแว่นกันแดดมีรายละเอียดข้อมูลที่อยู่ผู้ผลิต มีใบรับประกัน ก็น่าจะทำให้ผู้ใช้อย่างเรามั่นใจคุณภาพได้มากกว่า  7.ถ้าหากมีการรับประกันก็ต้องศึกษาให้ดี ยิ่งเป็นแบบที่ราคาแพงยิ่งต้องศึกษาและสอบถามจากร้านค้าหรือพนักงานขาย ดูว่ารับประกันกี่ปี อะไรบ้างที่อยู่ในข่ายรับประกันและไม่รับประกัน เช่น ถ้าซื้อมาใช้แล้วเกิดรอยขีดข่วนที่เลนส์สามารถเปลี่ยนหรือซ่อมให้ฟรีหรือเปล่า  8.อย่าลืมสอบถามกับพนักงานที่เราซื้อแว่นตากันแดดว่า แว่นที่เราซื้อต้องดูแลรักษายังไง มีขอควรระวังในการใช้อะไรบ้าง  9.แว่นกันแดดเองก็มีกำหนดอายุการใช้งานด้วยเช่นกัน (ซึ่งปกติจะอยู่ที่ 2 – 3 ปี) เพราะฉะนั้นเวลาซื้อก็ต้องอย่าลืมศึกษาข้อมูลวันที่ผลิตจากคู่มือหรือใบรับรอง หรือไม่ก็สอบถามจากพนักงานขาย -------------------------------------------------------------------------------- สีของเลนส์แว่นกันแดดที่ควรเลือกใช้คือ แดง เทา เขียว น้ำตาล เพราะสีที่เห็นจะเพี้ยนน้อย ซึ่งจะปลอดภัยเวลาต้องสังเกตสัญญาณไฟจราจรขณะขับรถ เลนส์ที่ออกโทนสีเทาและเขียว เป็นเลนส์ที่ให้การมองเห็นเป็นสีจริง ส่วนโทนสีน้ำตาล จะช่วยเพิ่มความคมชัดและการรับรู้ภาพแบบตื้นลึก ซึ่งเหมาะกับนักกีฬา นักบิน คนที่ต้องขับรถเป็นประจำ สำหรับคนที่ต้องทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ การใส่แว่นกันแดดก็ช่วยถนอมสายตาและเพิ่มความคมชัดในการมองได้ด้วยเช่นกัน แต่ต้องเลือกแว่นกันแดดเลนส์สีอ่อนๆ เพราะเมื่อใส่แล้วจะช่วยทำให้การมองเห็นดูนุ่มนวลขึ้น --------------------------------------------------------------------------------   อย่าลืมซื้อแว่นกันแดดป้องกัน UV ให้กับเด็กๆ ด้วยนะรังสี UV ไม่เป็นมิตรกับใครทั้งนั้นไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ แถมเด็กๆ ยังมีโอกาสเสี่ยงอันตรายจากรังสี UV มากกว่าผู้ใหญ่ เพราะดวงตาของเด็กๆ จะเปิดรับการมองเห็นได้มากกว่าผู้ใหญ่ เลนส์แก้วตาก็ยังมีความชัดเจนกว่า จึงเป็นเรื่องที่พ่อ – แม่ผู้ปกครองไม่ควรมองข้ามสุขภาพตาของเด็กๆ อย่าปล่อยให้ลูกของเราต้องเผชิญแสงจ้าโดยไม่ได้สวมแว่นกันแดด และที่สำคัญเวลาเลือกซื้อแว่นกันแดดให้กับเด็กๆ ก็ต้องดูที่ประสิทธิภาพการป้องกันรังสี UV เป็นอันดับแรก ไม่ใช่ดูแต่รูปลักษณ์ภายนอก เลือกซื้อแต่แบบที่น่ารักกุ๊กกิ๊กซึ่งอาจกันรังสี UV ไม่ได้   ผลทดสอบการป้องกันรังสี UV ในแว่นกันแดด Vans ราคา 700 บาท ค่าการผ่านของแสง                     17% ค่าการสะท้อนแสงภายนอก          3.7% ค่าการส่งผ่านรังสี UV                  0% ค่าการสะท้อนรัง UV                    3.7%     Ray Ban ราคา 6,000 บาท ค่าการผ่านของแสง                     14.5% ค่าการสะท้อนแสงภายนอก          4.3% ค่าการส่งผ่านรังสี UV                  0% ค่าการสะท้อนรัง UV                    4.6%     ไม่มียี่ห้อ (1) ราคา 60 บาท ค่าการผ่านของแสง                     22.5% ค่าการสะท้อนแสงภายนอก          3.4% ค่าการส่งผ่านรังสี UV                  0% ค่าการสะท้อนรัง UV                    3.6%     ไม่มียี่ห้อ (2) ราคา 39 บาท ค่าการผ่านของแสง                     6.0% ค่าการสะท้อนแสงภายนอก          3.6% ค่าการส่งผ่านรังสี UV                  0.2% ค่าการสะท้อนรัง UV                    3.8%     LE Club ราคา 590 บาท ค่าการผ่านของแสง                     11.8% ค่าการสะท้อนแสงภายนอก          4.3% ค่าการส่งผ่านรังสี UV                  0% ค่าการสะท้อนรัง UV                    4.6%     Action Eyewear (1) ราคา 299 บาท ค่าการผ่านของแสง                     13.1% ค่าการสะท้อนแสงภายนอก          4.7% ค่าการส่งผ่านรังสี UV                  0% ค่าการสะท้อนรัง UV                    5%     Estoffi ราคา 3,000 บาท ค่าการผ่านของแสง                     15.4% ค่าการสะท้อนแสงภายนอก          4.5% ค่าการส่งผ่านรังสี UV                  0% ค่าการสะท้อนรัง UV                    4.7%     Action Eyewear (2) ราคา 199 บาท ค่าการผ่านของแสง                     20.2% ค่าการสะท้อนแสงภายนอก          3.9% ค่าการส่งผ่านรังสี UV                  0% ค่าการสะท้อนรัง UV                    4.2%     Action Polarised ราคา 399 บาท ค่าการผ่านของแสง                     9.4% ค่าการสะท้อนแสงภายนอก          4.6% ค่าการส่งผ่านรังสี UV                  0% ค่าการสะท้อนรัง UV                    5.1%   ********************************************************************************* ผลการทดสอบ เมื่อราคาไม่ใช่ตัวการันตีประสิทธิภาพการป้องกันรังสี UV ฉลาดซื้อได้สุ่มซื้อตัวอย่างแว่นกันแดดจำนวน 9 ตัวอย่าง โดยเน้นที่ความหลากหลายของราคา เพื่อจะดูว่าราคามีผลกับประสิทธิภาพการป้องกันการส่งผ่านของรังสี UV หรือไม่ ซึ่งผลที่ออกมาถือว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะแว่นกันแดดทุกตัวอย่างที่เราส่งให้ทางกรมวิทยาศาสตร์บริการทดสอบนั้น มีค่าการส่งผ่านรังสี UV ที่ 0% คือไม่สามารถผ่านได้เลย เท่ากับว่าสามารถป้องกันรังสี UV ได้ 100% มีเพียง 1 ตัวอย่างเท่านั้นที่ยังมีการส่งผ่านของรังสี UV อยู่บ้างคือ ตัวอย่างที่ไม่มียี่ห้อซึ่งมีราคา 39 บาท ที่รูปร่างลักษณะออกจะเป็นแว่นกันแดดเฉพาะโอกาสไว้ใส่สนุกสนานดูเป็นแว่นแฟชั่นมากกว่า โดยรังสี UV สามารถส่งผ่านได้ 0.2% ซึ่งก็ถือว่าน้อยมาก   จากเกณฑ์มาตรฐานความปลอดภัยของสินค้าในสหรัฐฯ The American National Standards Institute (ANSI) รังสี UVB ซึ่งเป็นรังสีระยะสั้น 280 – 315 นาโนเมตร ค่าการส่งผ่านไม่ควรเกิน 0.1% ส่วนรังสี UVA ที่ระยะรังสีอยู่ที่ 315 – 380 นาโนเมตร ค่าการส่งผ่านไม่ควรเกิน 0.5% ซึ่งระยะปลอดภัยสูงสุดของรังสี UV อยู่ที่ 400 นาโนเมตร ค่าการส่งผ่านจะเท่ากับ 0% แม้การทดสอบของเราไม่ได้มีการประเภทของรังสี แต่การทดสอบก็อยู่ในเกณฑ์ที่น่าพึงพอใจเพราะเกือบทั้งหมดมีค่าการส่งผ่านของรังสี UV ที่ 0%   ผลทดสอบนี้สามารถบอกเราได้ว่าราคาไม่มีผลกับเรื่องประสิทธิภาพในการป้องกันรังสี UV จะถูกจะแพงก็ป้องกันรังสี UV ได้เหมือนกัน ส่วนเรื่องการทดสอบอื่นๆ ทั้งค่าการผ่านของแสง ค่าการสะท้อนของแสง และค่าการสะท้องรังสี UV ก็อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกันทุกตัวอย่าง   แต่การทดสอบนี้เป็นเพียงแค่ส่วนของการผ่านของแสงและรังสี UV เท่านั้น ซึ่งแว่นกันแดดที่ดียังมีต้องคุณสมบัติอื่นๆ ประกอบอีกหลายอย่าง ทั้งความคงทนของเลนส์ กรอบแว่น ขาแว่น ส่วนข้อต่อต่างๆ วัสดุที่ผลิต รวมทั้งเรื่องการออกแบบ และบริการหลังการขาย ซึ่งเรื่องพวกนี้แหละที่มาเป็นเงื่อนไขเรื่องของราคา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 126 ซอส

  ซอส (Sauce) ถือเป็นเครื่องปรุงรสที่ต้องมีในทุกครัวทั่วโลก ซอสที่เรารู้จักดีก็คงจะเป็นซอสมะเขือเทศ ซอสพริก หรือแม้แต่ ซีอิ๊ว ก็จัดเป็นประเภทหนึ่งของซอสเช่นกัน  ซอส มีบทบาทโดดเด่นมากในอาหารฝรั่ง ซึ่งต่างจากอาหารไทย เหตุที่ต่างกันเพราะวิธีปรุงอาหารไทยเรานั้นนิยมต้มยำ ทำแกง ซึ่งหมายถึงรวมรสชาติของเครื่องปรุงต่างๆ ลงไปเสร็จสรรพในอาหาร แต่สำหรับอาหารอย่างฝรั่งนั้นเขาจะมีวิธีปรุงต่างไป ชาวตะวันตกชอบที่จะกินเนื้อสัตว์ชิ้นโตๆ โดยที่ไม่ว่าจะปิ้งย่าง อบ หรือทอด มักไม่ปรุงรสจนเสร็จสรรพแต่ชอบจะปรุง “ซอส” มาราดบนอาหารเพื่อเพิ่มรสชาติมากกว่า  ซอสในอาหารฝรั่งแบ่งเป็นสองประเภทคือ ซอสที่กินกับอาหารคาว และซอสที่กินกับอาหารหวาน ซอสที่กินกับอาหารคาวจะมีลักษณะเป็นน้ำข้นหนืดได้จากการผสมน้ำสต๊อค(น้ำที่ได้จากการต้มน้ำกับกระดูกสัตว์) นม และแป้งสาลีแล้วปรุงรสชาติไปตามแต่เชฟแต่ละคนจะคิดประดิษฐ์ขึ้น หลักๆ จะแบ่งไปตามประเภทของเนื้อที่นำมาทำเป็นอาหารเช่น เนื้อเป็ดก็อาจเป็นซอสส้ม เนื้อวัว ก็เป็นซอสเห็ด เนื้อปลา ก็เป็นซอสขาว เป็นต้น  นอกจากเรื่องเพิ่มรสชาติแล้ว ซอสยังทำให้อาหารดูน่ารับประทานมากขึ้นด้วยเพราะช่วยเพิ่มความมันวาวชุ่มฉ่ำให้อาหารที่ส่วนใหญ่เวลาผ่านการปรุงด้วยความร้อน อาจมีลักษณะที่แห้งๆ ด้านๆ ไม่น่ากิน  ซอสที่ปรุงสุกใหม่ถือว่าเป็นสิ่งพิเศษสำหรับอาหาร แต่สำหรับซอสที่ปรุงสำเร็จเป็นขวดๆวางขายทั่วไป อย่างซอสมะเขือเทศ ซอสพริก จะใส่สารเคมีเพื่อความคงตัวของเนื้อซอสสี และวัตถุกันเสีย ดังนั้นจึงไม่ควรรับประทานมากเกินไป  ซอสที่ควรรู้จัก วูสเตอร์ซอส (worcestershire sauce) ซอสสีน้ำตาล รสเปรี้ยว นิยมใส่สตู ซุป และน้ำสลัดต่างๆแพร่หลายไปทั่วโลก  ซอสทาบาสโก้ (tabasco sauce) ผลิตจากพริกแดงชื่อทาบาสโก้ รสเปรี้ยวเผ็ด โดยบดพริกผสมกับเกลือแล้วหมักจนได้รสชาติ ใช้จิ้มกับอาหารทะเล  ซอสมะเขือเทศ ทำจากมะเขือเทศสด โดยมีระดับความเข็มข้นที่ต่างกัน แบบข้นเรียกว่า tomato paste ส่วน ketchup เป็นซอสมะเขือเทศปรุงรส

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 126 10 อย่างที่จำเป็นต้องมีองค์การอิสระผู้บริโภค

 มีคนกล่าวขานกันมากขึ้นว่า สังคมไทยทำงานยากขึ้นทุกวัน กลไกต่างๆ ที่ว่าดีก็ไม่สามารถทำงานได้ กลไกที่ถูกพิสูจน์ว่ามีประสิทธิภาพในต่างประเทศก็ไม่ทำงาน เมื่อนำมาปรับใช้ในประเทศไทย แต่สังคมต้องเดินไปข้างหน้า ต้องมีความฝัน มีจินตนาการถึงสังคมที่ดีงาม สำหรับทุกคนกลไกที่กำลังจะเกิดแต่ยังไม่เกิดและเป็นกลไกสำคัญสำหรับผู้บริโภคคงหนีไม่พ้นองค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระ มีความหวังและช่วยกันผลักดันกลไกนี้ ใครมีแนวคิดดีๆช่วยกันเสนอเข้ามา อย่างน้อยหากมีองค์กรนี้ควรทำ 10 อย่างที่สำคัญ1.คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในการได้รับข้อมูลที่เป็นความจริง เห็นได้จากกรณีปัญหาของเครื่องดื่มรังนกสำเร็จรูปที่มีรังนกแห้งเพียง 1 เปอร์เซ็นต์แต่กลับใช้คำรังนกแท้ 100 % และอีกหลากหลายชนิดที่สร้างความสับสนทำให้ไม่มีข้อมูล ข้อเท็จจริงของสินค้านั้นๆ2.เป็นปากเป็นเสียงของผู้บริโภคในทุกกรณีที่มีการเอารัดเอาเปรียบ เช่น กรณีการขึ้นค่าโทลเวย์จาก 55 บาทเป็น 85 บาท โดยไม่ต้องขออนุญาตใครเพียงแต่ติดประกาศแจ้งผู้ใช้รถทราบภายใน 30 วัน3.ให้ความเห็นเพื่อให้มีการคุ้มครองผู้บริโภคเพิ่มขึ้น กรณีแร่ใยหินที่พบข้อมูลชัดเจนว่าทำให้เกิดมะเร็งเยื่อหุ้มปอด แต่ประเทศไทยมีเพียงมาตรการฉลากแทนที่จะยกเลิกการใช้อย่างที่ประเทศพัฒนาแล้วมีการดำเนินการ4.ตรวจสอบหน่วยงานของรัฐให้คุ้มครองผู้บริโภคเป็นหลักดูแลผู้ประกอบการเป็นรอง นับตั้งแต่เรามีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือเริ่มพัฒนาประเทศ ประเทศไทยยึดหลักการสนับสนุนภาคธุรกิจมาก   จนละเลยการคุ้มครองผู้คนในสังคมที่เป็นพลเมือง5.สนับสนุนให้ผู้บริโภครู้เท่าทันการบริโภค หากใครฟังวิทยุชุมชน ดูเคเบิ้ลทีวีหรือใช้โซเชียลมีเดียทั้งหลาย ก็จะเห็นว่าการโฆษณาที่เกินจริงเป็นเท็จเต็มบ้านเต็มเมือง กรณีป้าเช็ง น้ำผลไม้รักษาโรค ยาลดความอ้วน สินค้าความงาม อาหารเสริมอ้างสรรพคุณเป็นยารักษาโรค ทางที่ดีที่สุดที่จะจัดการสิ่งเหล่านี้คือ ข้อมูลความรู้และความเท่าทัน6.เป็นหน่วยสนับสนุนผู้บริโภคแบบเบ็ดเสร็จ การคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แม้แต่อยากจะร้องเรียนปัญหาการละเมิดสิทธิก็ยากที่จะรู้ว่าต้องเดินไปที่ไหนโทรศัพท์สายด่วนเบอร์อะไร ยกตัวอย่างง่ายๆ หน่วยงานที่ทำเรื่องอาหารปลอดภัยมี 11 กระทรวง 13 หน่วยงาน7. สนับสนุนให้เกิดเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศอย่างน้อยทุกจังหวัด เพื่อสนับสนุนการทำงานขององค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคและทำให้ผู้บริโภครู้เท่าทัน8. ใช้ความรู้ ใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์ ในการพัฒนานโยบายและมาตรการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค และผลักดันให้บังคับใช้นโยบายและมาตรการที่เป็นประโยชน์กับผู้บริโภค เช่น บริษัทมือถือห้ามกำหนดวันหมดอายุบัตรเติมเงิน(แต่ความเป็นจริงปัจจุบันไม่มีบริษัทไหนเลยที่ไม่ทำผิด)9. องค์กรนี้แตกต่างจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) และไม่ใช่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคหรือสมาคม หรือองค์กรผู้บริโภคจังหวัดต่างๆ เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้เป็นองค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระจากหน่วยงานของรัฐ ดังนั้นไม่ใช่องค์กรพัฒนาเอกชน(NGOs) แต่เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ10.การฟ้องคดีสาธารณะแทนผู้บริโภค เป็นสิ่งสุดท้ายที่สำคัญมากหลายกรณีหากเราใช้การฟ้องเพื่อให้หยุดการการดำเนินการการละเมิดสิทธิผู้บริโภคจะช่วยป้องกันปัญหาและรักษาผลประโยชน์ของสาธารณะได้อีกมาก เช่น การเก็บเงิน 107 บาท ของการไฟฟ้าหากค้างชำระค่าไฟฟ้า บัตรเติมเงินโทรศัพท์ที่วันหมดแต่ยังมีเงิน  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 126 สเตียรอยด์ในยาสมุนไพร “เยอะ”

  ในระหว่างปี 2548 – 2552 ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์สมุทรสงคราม ได้ตรวจวิเคราะห์ยาแผนโบราณ เพื่อเฝ้าระวังการปลอมปนสารสเตียรอยด์ พบว่ายาแผนโบราณจำนวน 626 ตัวอย่าง มีสเตียรอยด์ปลอมปนอยู่ถึง 136 ตัวอย่าง และเมื่อได้นำยาที่เหลือมากพอมาทดสอบหา “ปริมาณ” สารสเตียรอยด์ที่ปลอมปน ปรากฏว่าพบข้อมูลที่น่าตกใจ เพราะสารสเตียรอยด์ที่ปลอมปนอยู่นั้น มีปริมาณที่ค่อนข้างสูงมาก จนอาจเสี่ยงทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้ และที่น่าทึ่งคือ บางชนิดแม้เป็นยี่ห้อเดียวกัน แต่กลับพบปริมาณสารสเตียรอยด์ปนอยู่ในปริมาณที่ไม่เท่ากันหรือพบการผสมสเตียรอยด์ต่างชนิดกัน  ดังข้อมูลในตัวอย่างต่อไปนี้   ยาผงสีน้ำตาลเหลือง ไม่ระบุชื่อ  จำนวน 3 ตัวอย่าง ตรวจพบว่ายานี้ปริมาณ 1 ช้อนโต๊ะ มี Dexamethasone (สารสเตียรอยด์) ผสมอยู่ในปริมาณตั้งแต่ 1 เม็ดครึ่ง ถึง 5 เม็ด และบางตัวอย่างยังพบ สเตียรอยด์ผสมถึง 2 ชนิด  คือผสมทั้ง Dexamethasone และ Prednisolone  ดังนั้นหากคิดง่ายๆ ว่า รับประทานยานี้วันละ 1 ช้อนโต๊ะ หลังอาหาร 3 มื้อ เราจะมีโอกาสได้รับ Dexamethasone  ถึง 15 เม็ดต่อวัน   ยาผงสีน้ำตาล ฉลากระบุชื่อ “ยาสมุนไพรไทย” จำนวน 8 ตัวอย่าง ตรวจพบว่ายานี้ปริมาณ 1 ช้อนโต๊ะ มี Dexamethasone  ผสมอยู่ในปริมาณตั้งแต่ ครึ่งเม็ด ถึง  3 เม็ด บางตัวอย่างยังพบว่ามี Prednisolone ผสมอยู่ด้วย โดยพบในปริมาณเทียบเท่ากับยาเม็ด  Prednisolone จำนวนครึ่งเม็ด  และบางตัวอย่างพบการผสมสเตียรอยด์ร่วมกันทั้ง  2 ชนิด   ยาเม็ดสีน้ำตาลแดง ฉลากระบุชื่อ “ยาสมุนไพรตามแนวทางโครงการพระราชดำริ” ซึ่งฉลากระบุ ให้รับประทาน 1 เม็ด หลังอาหาร ตรวจพบว่ายาชนิดนี้ 1 เม็ด มีปริมาณ Prednisolone ผสมอยู่ เทียบเท่ากับยาเม็ด Prednisolone 4 เม็ด   ดังนั้นหากเรารับประทานยานี้หลังอาหาร 3 มื้อ จะมีโอกาสได้รับ Prednisolone ถึง 12 เม็ดต่อวัน ยาจากสมุนไพร ฉลากระบุชื่อ “ยากษัยเส้นตราเทียนทองคู่” ระบุ รับประทานวันละ 3 ครั้ง ครั้งละ 2 ช้อนโต๊ะ ตรวจพบว่า ในยา 1 ช้อนโต๊ะ มีปริมาณ Dexamethasone  ผสมอยู่ เทียบเท่ายาเม็ด จำนวนครึ่งเม็ด ถึง 1 เม็ด และหากรับประทานวันละ 3 ครั้งตามที่ระบุบนฉลาก  เราจะได้รับ Dexamethasone ถึง 6 เม็ดต่อวัน (ยา Dexamethasone ชนิดเม็ดเท่ากับ 0.5 mg , ยา Prednisoloneชนิดเม็ดเท่ากับ 5 mg) จากการสอบถามผู้บริโภค ส่วนใหญ่ผู้ที่บริโภคยาเหล่านี้ มักจะรับประทานยาดังกล่าวเป็นเวลานานกว่า 3 เดือน หมายความว่า ร่างกายจะได้รับสารสเตียรอยด์ติดต่อกันในปริมาณสูงจนอาจเป็นอันตรายได้  ขอแนะนำว่าหากเราเจอยาแผนโบราณ ที่ไม่มีทะเบียนยา ไม่มีรายละเอียดบนฉลาก หรือเป็นยาที่รับประทานแล้วอาการป่วยหายอย่างรวดเร็วจนผิดสังเกต ขอให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขตรวจสอบโดยด่วน เพื่อป้องกันอันตรายนะครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 126 ซื้อบ้านที่สาธารณูปโภคยังไม่เสร็จ ไม่ยอมรับโอนได้หรือไม่

  ฉบับนี้เป็นเรื่องผู้บริโภคที่ไปซื้อบ้านจัดสรรในโครงการแห่งหนึ่ง ซึ่งสัญญาว่าจะมีสาธารณูปโภคที่โครงการจัดให้ตามแผ่นพับ ซึ่งพิมพ์โฆษณาว่า จะมีคลับเฮ้าส์ ทะเลสาบ ลู่วิ่ง และสวนหย่อม ผู้บริโภคชำระค่างวดไป 20 งวดแล้ว พอบ้านเสร็จแต่สาธารณูปโภคไม่เสร็จ โครงการจะให้รับโอนกรรมสิทธิ์บ้านและที่ดินไปก่อน โดยชำระค่าส่วนกลางไปด้วย ผู้บริโภคไม่ยอมรับโอนและบอกเลิกสัญญา ให้ผู้ประกอบธุรกิจคืนเงิน แต่ผู้ประกอบธุรกิจไม่ยอมคืนเงินอ้างว่า ผู้บริโภคไม่ยอมไปรับโอนบ้านและที่ดินเอง จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาก่อน ผู้บริโภคจึงฟ้องศาลเรียกเงินคืน เรามาดูกันว่าศาลจะว่าอย่างไรคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2415/2552 สาธารณูปโภคที่โครงการจัดให้ตามแผ่นพับที่พิมพ์โฆษณาว่า มีคลับเฮ้าส์ ทะเลสาบ ลู่วิ่ง และสวนหย่อมเป็นส่วนที่เป็นสาระสำคัญ แม้ตามสัญญาจะซื้อจะขายจะมีข้อตกลงเฉพาะเกี่ยวกับแบบแปลนสิ่งปลูกสร้าง กำหนดเวลาการก่อสร้าง กำหนดเวลาการตรวจรับอาคารสิ่งปลูกสร้างเฉพาะตัวบ้านตามที่โจทก์จองซื้อก็ตาม แต่ตามสัญญาข้อ 16 ได้กำหนดให้ผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ต้องจ่ายค่าบำรุงรักษาสาธารณูปโภคส่วนกลางจำนวน 30,000 บาท ซึ่งเมื่อดูจากแผ่นพับโฆษณาแล้ว ค่าบำรุงรักษาสาธารณูปโภคตามที่กำหนดไว้นั้นน่าจะหมายถึงค่าใช้จ่ายในการดูแลสวน ลู่วิ่งรอบทะเลสาบและทะเลสาบ ซึ่งเป็นสถานที่ที่ใช้ร่วมกัน   แต่ขณะที่จำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปรับโอนกรรมสิทธิ์ จำเลยสร้างบ้านเสร็จแต่พื้นที่รอบบ้านยังอยู่ในสภาพรกร้างว่างเปล่า ยังมิได้ดำเนินการสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ ซึ่งเป็นส่วนสาระสำคัญในการเอื้อต่อการเข้าอยู่อาศัยของผู้ซื้อบ้าน ซึ่งสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นสัญญาต่างตอบแทน คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งจะไม่ยอมชำระหนี้จนกว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะชำระหนี้หรือขอปฏิบัติการชำระหนี้ก็ได้ ดังนั้นเมื่อจำเลยยังมิได้ก่อสร้างสาธารณูปโภคอันเป็นส่วนสาระสำคัญของโครงการตามที่ได้โฆษณาในแผ่นพับ   ในขณะโจทก์เข้าทำสัญญาจองซื้อบ้าน โจทก์จึงยังไม่จำต้องรับโอนกรรมสิทธิ์บ้านพร้อมที่ดินและชำระราคาส่วนที่เหลือให้แก่จำเลย ทั้งกรณีถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาแก่จำเลย เมื่อโจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาแล้ว สัญญาจะซื้อจะขายบ้านและที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างโจทก์และจำเลยจึงเป็นอันเลิกกัน คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม จำเลยต้องคืนเงินที่โจทก์ชำระแล้วทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์  หมายเหตุผู้เขียน : คดีนี้ฟ้องก่อน พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 ใช้บังคับ และถึงแม้จะฟ้องคดีทำนองนี้ในปัจจุบันนี้ผลของคดีก็คงไม่เปลี่ยนแปลง แต่เหตุผลในการวินิจฉัยของศาลอาจอ้างถึงกฎหมายฉบับดังกล่าวเพราะ พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคฯ มาตรา 10 บัญญัติว่า   “ประกาศ โฆษณา คำรับรอง หรือการกระทำด้วยประการใดๆ ของผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งทำให้ผู้บริโภคเข้าใจได้ในขณะทำสัญญาว่าผู้ประกอบธุรกิจตกลงจะมอบให้ หรือจัดหาให้ซึ่งสิ่งของ บริการ หรือสาธารณูปโภคอื่นใด หรือจะดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งให้แก่ผู้บริโภคเพื่อเป็นการตอบแทนที่ผู้บริโภคเข้าทำสัญญา หรือข้อตกลงใดๆ ที่ผู้ประกอบธุรกิจจะให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้บริโภคเพิ่มเติมขึ้นจากที่ได้ทำสัญญาไว้ให้ถือว่าข้อความ การกระทำหรือข้อตกลงดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งผู้บริโภคสามารถนำสืบพยานบุคคล หรือพยานหลักฐานเกี่ยวกับข้อตกลงดังกล่าวได้ ถึงแม้ว่าการทำสัญญาเช่นว่านั้นกฎหมายจะกำหนดว่าต้องทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือและไม่ปรากฏข้อตกลงนั้นในหนังสือที่ได้ทำขึ้นก็ตาม”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 126 คนไทยกับหมอดู

ผู้เขียนได้มีโอกาสไปร่วมเวทีพัฒนาเครือข่ายผู้บริโภคในจังหวัดภาคกลาง  ก็มีการพูดคุยกันหลายเรื่องมีอยู่เรื่องหนึ่งที่ฟังแล้วสะดุดใจ คือมีคุณพี่ท่านหนึ่งมาเล่าให้ฟังว่าตัวเองเป็นแม่บ้านอยู่บ้านคนเดียว (สามีและลูกไม่อยู่)ก็มีแขกมาเสนอขายมุ้ง  พี่แกก็บอกไปว่าไม่ซื้อ บ้านแกมีมุ้งอยู่แล้วและไล่ให้ไปที่อื่น    แขกขายมุ้งก็เปลี่ยนวิธีใหม่ โดยบอกว่าดูหน้าตาของคุณพี่ท่านนี้แล้วรู้สึกว่ามีสง่าราศรี  และขออนุญาตดูลายมือ  เอาล่ะซิคนไทยกับโชคลาภ และหมอดู มันเป็นอะไรที่บอกได้คำเดียวว่า “โดน”จากขับไล่อย่างแข็งขัน ก็กลายเป็นอ่อนลงทันที  และยินยอมให้แขกดูลายมือให้แขกดูแล้วก็บอกว่าเธอมีโชคจริงๆ  โดยมีข้อเสนอว่าให้คุณพี่คนนี้เขียนเลขตามที่ชอบใส่มือตัวเองแล้วกำไว้  หากแขกทายถูกว่าคุณพี่เธอเขียนเลขอะไร แสดงว่าคุณพี่เป็นผู้มีโชคลาภต้องซื้อมุ้งแขกในราคาหลังละ 600 บาท  เมื่อคุณพี่เธอได้ฟังเธอบอกว่าใจหนึ่งก็อยาก ลองของ ใจหนึ่งก็อยากได้เลข(ไปแทงหวย)  แกก็เลยตกลงว่าแล้ว เธอก็แอบไปเขียนโดยไม่ให้แขกเห็นแล้วกำมือไว้ในแน่นเลย  จากนั้นแขกก็บอกว่าหากเรา(แขกกับคุณพี่ท่านนี้)หากมีโชคร่วมกันจริง คงทายถูก  จากนั้นแขกก็แบมือเลขที่แขกเขียนมาเทียบกับที่คุณพี่เธอเขียน   สิ่งที่เกิดขึ้นคือเลขตรงกันพอดิบพอดี  คุณพี่บอกว่าตอนนั้นไม่ได้คิดเลยว่าถูกแขกหลอกเพราะกำลังดีใจว่าได้ตัวเลขในการแทงหวยงวดหน้าเลยจ่ายเงิน 600 บาทซื้อมุ้งตามที่ตกลงกันไว้   แขกบอกว่าหากถูกหวยอย่าลืมบอกแขกนะ  คุณพี่เธอก็บอกว่า จะบอกแขกได้อย่างไรแขกไม่ให้เบอร์โทร  แขกตอบกลับมาว่าไม่ต้องใช้เบอร์โทร แขกรู้ทางจิตคุณพี่ท่านนี้บอกว่า เธอไม่ได้เสียดายเงินเลย  รอวันหวยออกอย่างเดียว มารู้ว่าถูกหลอกก็ต่อเมื่อหวยออกแล้วไม่โดนเลยซักตัวเดียว เธอก็เลยรู้ว่าถูกหลอก  ที่เจ็บใจไม่ใช่แค่เสียเงินซื้อมุ้ง  แต่เสียเงินซื้อหวยมากกว่า  แจ้งความก็ไม่ได้เพราะแขกไปนานแล้ว  บอกใครก็ไม่ได้เพราะอายที่ถูกหลอก มันเหมือนกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ได้แต่เจ็บใจอยู่คนเดียว ที่เขียนเรื่องนี้มาเล่าสู่กันฟัง เพียงเพื่อที่จะบอกว่า เดี๋ยวนี้มิจฉาชีพ มีวิธีแปลกๆ มาหลอกลวงผู้บริโภคอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะแม่บ้านตามต่างจังหวัด  ผู้เขียนไม่อาจตอบได้ว่าทำไมแขกทายเลขถูก  รู้แต่ว่าแขกจับจุดคนไทยได้ว่าเชื่อเรื่องดวงและชอบโชคลาภ  ใครได้อ่านบทความนี้ก็ช่วยกันบอกต่อกันหน่อย   เพราะไม่รู้จะพึ่งใคร นอกจากเราต้องพึ่งตนเอง  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 126 เจ็บใจอยากฟ้องบริษัทลิสซิ่ง สงสัยแกล้งขายรถทอดตลาดราคาต่ำ

ทั้งที่ตัดสินใจถวายรถคืนบริษัทเช่าซื้อไปแล้ว ก็ยังต้องถูกฟ้องให้ชดใช้หนี้ค่าเช่าซื้อที่ขาดอีก และมาชีช้ำซ้ำอีกครั้ง ที่บังเอิญไปเจอรถยนต์ตัวเองถูกขายต่อให้คนอื่นในราคาที่สูงกว่าราคาขายทอดตลาดเกือบแสนคุณภูวดล เขียนจดหมายมาถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคด้วยความขมขื่นใจเป็นล้นพ้นว่า เมื่อกลางปี 2551 ตนได้เช่าซื้อรถยนต์ฮอนด้าแอคคอร์ดมือสองกับบริษัท ราชธานี ลิสซิ่ง จำกัด(มหาชน) ในราคารวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วเป็นเงิน 475,000 บาทเศษ ผ่อน 48 งวด งวดละ 9,911 บาท(ในจดหมายไม่ได้บอกว่าผ่อนไปได้กี่งวด แต่เมื่อตรวจดูคำฟ้องที่บริษัทฟ้องเรียกค่าเสียหายกับคุณภูวดล ได้ความว่ามีการส่งค่างวดไปเพียงแค่สองงวดเท่านั้น จากนั้นก็ไม่ได้ส่งอีกเลย)หลังจากถูกติดตามทวงถามยึดรถคืนตั้งแต่ปลายปี 2551 ท้ายสุดคุณภูวดลตัดสินใจบอกบริษัทฯ ไม่ต้องส่งคนมายึดรถแล้ว เดี๋ยวจะเป็นคนส่งมอบรถยนต์คืนให้เอง ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2552 คุณภูวนัยส่งมอบรถยนต์คืนให้บริษัทลิสซิ่ง ต่อมาวันที่ 9 มีนาคม ปีเดียวกัน บริษัทฯ มีหนังสือบอกกล่าวการขายทอดตลาดรถยนต์คันที่ส่งคืนมาถึงคุณภูวดลด้วยจดหมายลงทะเบียนตอบรับ และได้นำรถออกขายทอดตลาดในวันที่ 13 มีนาคม 2552 หรืออีก 4 วันต่อมา ในราคา 300,000 บาท ให้กับบุคคลภายนอกรายหนึ่งไปจากนั้นบริษัทฯ ได้นำเงินในส่วนที่ขายรถได้มาหักลบกลบหนี้ค่าเช่าซื้อที่ขาดอยู่ ปรากฏว่าก็ยังขาดอยู่อีก 141,000 บาท บริษัทฯ จึงยื่นฟ้องคุณภูวดลเรียกค่าเสียหายในส่วนนี้ และมีลูกตามน้ำคือ ค่าติดตามทวงถาม 7,200 บาท ค่าขาดประโยชน์นับแต่วันที่ผิดนัดค่างวดจนถึงวันที่ได้รถคืนเป็นเวลา 5 เดือนอีก 45,000 บาท รวมเป็นเงินค่าเสียหายที่คุณภูวดลถูกฟ้อง 193,200 บาทเมื่อถูกฟ้องคุณภูวดลก็ไม่รู้ว่าจะต่อสู้คดียังไง ศาลจึงมีคำพิพากษาให้เขาชดใช้ค่าเสียหายให้กับบริษัทลิสซิ่งแห่งนี้ ในท้ายที่สุด แต่ที่ทำให้คุณภูวดลชีช้ำกะหล่ำปลีเพิ่มขึ้นก็คือ วันหนึ่งคุณภูวดลบังเอิญไปเจอรถยนต์คันที่ตัวเองเคยเช่าซื้ออยู่บนถนน ก็ตามไปจนได้พูดคุยกับผู้ที่ครอบครองรถอยู่ ผู้ครอบครองรถได้ให้สำเนาหนังสือสัญญาซื้อขายรถมาให้ดูพบว่า มีการขายในราคา 393,000 บาท เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2552 คุณภูวดลถึงกับอึ้งและคิดว่าการขายทอดตลาดเมื่อ 13 มีนาคม 2552 นั้นมีการฮั้วราคากันระหว่างบริษัทลิสซิ่งกับคนซื้อ จึงเขียนจดหมายมาถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเมื่อกุมภาพันธ์ 2554 สอบถามว่า จะฟ้องบริษัทลีสซิ่งแห่งนี้เป็นคดีผู้บริโภคได้หรือไม่ที่ขายรถทอดตลาดได้ในราคาถูกเกินไป ทำให้ตนได้รับความเสียหายต้องชดใช้หนี้ส่วนต่างที่สูงเกินสมควร แนวทางแก้ไขปัญหา ต้องบอกว่าผู้บริโภคท่านนี้ตื่นตัวช้าไปนิดนะขอรับ เหตุเกิดเมื่อปี 52 แต่มาเขียนถามกันในปี 54 เจออย่างนี้ก็ต้องบอก “อย่างนี้ก็มีด้วย” ก็คงให้ได้แต่คำแนะนำและชี้จุดบกพร่องผิดพลาดให้ทราบไว้เป็นบทเรียนสำหรับท่านอื่นๆ ครับ จุดที่หนึ่ง การที่ผู้เช่าซื้อรถยนต์จะขอบอกเลิกสัญญา และคืนรถที่เช่าซื้อนั้น ควรมีการตรวจสอบสภาพรถและประเมินราคารถก่อนทำการคืนเพื่อใช้เป็นหลักฐานจุดที่สอง การนำรถที่ยึดมาไปขายให้แก่บุคคลอื่นนั้น จากข้อเท็จจริงที่ได้รับทราบ พอที่จะบอกได้ว่าบริษัทลิสซิ่งแห่งนี้มีการกระทำที่ผิดสัญญาต่อผู้บริโภค คือระยะเวลาในการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือกับระยะเวลาที่นำรถออกขายทอดตลาดห่างกันแค่ 4 วันเท่านั้น อันนี้เป็นข้อพิรุธ ในขณะที่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้กำหนดสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์เป็นสัญญาควบคุมและกำหนดให้ระยะเวลาการบอกกล่าวก่อนนำรถออกขายจะต้องไม่น้อยกว่า 7 วัน เพื่อให้ผู้เช่าซื้อใช้สิทธิซื้อได้ตามมูลค่าหนี้ส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อ จุดที่สาม เมื่อมีการนำรถออกขายทอดตลาด ผู้เช่าซื้อควรเข้าไปดูการประมูลด้วยตนเองว่า เป็นการประมูลขายทอดตลาดที่เหมาะสมหรือไม่ ทั้งนี้เนื่องจากสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ ที่คณะกรรมการคุมครองผู้บริโภคควบคุมนั้นได้ระบุอย่างชัดเจนว่า การที่ผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดส่วนที่ขาดนั้น ก็เฉพาะกรณีการขายโดยวิธีประมูลหรือขายทอดตลาดที่เหมาะสมเท่านั้น ซึ่งหากผู้เช่าซื้อสามารถพิสูจน์ได้ว่าการประมูลหรือขายทอดตลาดรถเป็นไปในลักษณะที่ไม่เหมาะสม ละเมิดสัญญากับผู้เช่าซื้อตามที่ว่ามา ศาลก็อาจจะพิจารณายกฟ้องก็เป็นได้แต่เมื่อผู้บริโภคไม่ได้ทำอะไรเลยทั้งในขั้นตอนการตรวจสอบการประมูลหรือเข้าต่อสู้ในชั้นศาล ศาลก็จะพิพากษาไปตามข้อเท็จจริงที่ได้รับจากฝ่ายบริษัทฯ เท่านั้น และเป็นการยากที่จะดำเนินการฟ้องใหม่และอาจจะถูกพิจารณาว่าเป็นการรื้อร้องฟ้องซ้ำไม่มีประโยชน์ใดๆ เพราะไม่ได้เข้าไปค้านในเวลาที่บริษัทฯ ขายทรัพย์ และไม่ได้เข้าต่อสู้คดีเมื่อถูกฟ้องนั่นเอง ส่วนผู้ที่มาซื้อรถในการขายทอดตลาดโดยซื้อในราคาถูกเพื่อไปขายเอากำไรในภายหลังก็สามารถทำได้โดยชอบ ดังนั้นผู้บริโภคที่ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ หากพบว่าตนเองจะไม่สามารถผ่อนค่างวดรถต่อไปได้ และยังเหลือค่างวดอีกบานตะไท การขายดาวน์รถอาจเป็นทางเลือกหนึ่งแต่จะต้องไม่ทำการซื้อขายกันเองเด็ดขาด เพราะผู้ซื้อรถต่ออาจไม่ส่งค่างวดกับบริษัทเช่าซื้อตามที่รับปากก็ได้ ทางที่ดี...ควรจะจูงมือกันไปที่ไฟแนนซ์เปลี่ยนชื่อของผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำประกันในสัญญาเช่าซื้อให้เป็นชื่อและผู้ค้ำประกันของผู้ซื้อรถรายใหม่เสียให้เรียบร้อย อย่างนี้ปลอดภัยไม่โดนฟ้องร้องในภายหลังครับ  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 126 ร้องทรูมูฟโกงค่าบริการมือถือ

เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน 2553 โทรศัพท์มือถือของคุณโอภาส ได้รับข้อความเชิญชวนว่าเป็นผู้โชคดีให้เข้ารับโทรศัพท์มือถือยี่ห้อแบล็ค เบอร์รี่ มีเงื่อนไขง่ายๆ ว่า เพียงพิมพ์ตัวอักษร TA แล้วส่ง SMS มาที่หมายเลข 420XXXX X เสียค่าส่งข้อความ 3 บาท เท่านั้นก็มีสิทธิจะเป็นผู้โชคดีแล้วไม่ต้องใช้เวลาคิดนาน เสียแค่ 3 บาทเพื่อลุ้นมือถือราคาเป็นหมื่น คุณโอภาสกดส่งข้อความ TA ไปยังหมายเลขที่ได้รับแจ้งทันที แต่ส่งไปแล้วเงียบฉี่ ไม่มีการตอบรับข้อความแต่อย่างใด“เออ ก็แค่ถูกหลอกเสียเงิน 3 บาท ไม่ได้อะไร” คุณโอภาสคิดในใจแต่หลังจากนั้นไม่นานสักประมาณสี่โมงเย็นของวันเดียวกัน ปรากฏว่ามีข้อความเกี่ยวกับความรักส่งมาที่โทรศัพท์มือถือของคุณโอภาส ซึ่งเป็นเบอร์จดทะเบียนจ่ายเงินรายเดือนของค่ายทรูมูฟ นับจากครั้งนั้นคุณโอภาสจะได้รับข้อความ SMS ลักษณะนี้วันละสองข้อความด้วยความงงๆ ว่า “มันส่งมาทำไม”คุณโอภาสไม่เคยส่งข้อความตอบกลับเลยสักครั้งเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง มาเป็นเรื่องเอาตอนที่บริษัท ทรูมูฟ ส่งใบแจ้งหนี้รายเดือนมา คุณโอภาสจึงทราบว่าข้อความ ”รัก รัก” ที่ส่งมานั้น เขาจะต้องเป็นผู้ชำระเงิน เมื่อสอบถามไปที่ทรูมูฟก็เจอคำตอบเหมือนผู้บริโภคอีกหลายรายว่า ข้อความที่มีการส่งมานั้นไม่เกี่ยวข้องกับบริษัท ทรูมูฟแต่อย่างใด แต่ขอให้ผู้บริโภคจ่ายเงินมา “ผมมีข้อสงสัยจากพฤติการณ์ของบริษัท ทรูมูฟ ว่าเป็นการฉ้อโกงประชาชนหรือไม่ เพราะมีการหลอกลวงผู้ใช้บริการด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และการหลอกลวงนั้นก็อาจทำให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวง โดยการใช้อุบายในการส่งข้อความเชิญชวนให้ประชาชนที่เป็นผู้ใช้บริการหลงเชื่อทาง SMS แล้วอ้างว่าเป็นการกระทำของผู้อื่น โดยที่บริษัทไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยเลย” คุณโอภาสถามมา แนวทางแก้ไขปัญหา จะเข้าข่ายฉ้อโกงหรือไม่ก็ต้องมาดูกันที่องค์ประกอบในการกระทำผิด หากเป็นการหลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง ถ้าผู้ถูกหลอกลวงหลงเชื่อและส่งมอบทรัพย์หรือยอมให้ทรัพย์สินนั้นไปด้วยความเต็มใจ ถือเป็นความผิดฐานฉ้อโกง ในกรณีนี้ ข้อเท็จจริงมีว่า มีการส่งข้อความเชิญชวนให้ประชาชนทั่วไปที่เป็นกลุ่มผู้ใช้บริการหมายเลขโทรศัพท์แบบเหมาจ่ายรายเดือนเท่านั้น แล้วจึงมีการเรียกเก็บค่าบริการในภายหลัง ถ้ารายไหนไม่ทักท้วงยินยอมจ่ายไปโดยดีแล้วมารู้ตัวภายหลังว่าถูกหลอก ตรงนี้ก็อาจจะไปแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษกับผู้ประกอบการที่ส่ง SMS มาเชิญชวน และผู้ให้บริการมือถือที่มีส่วนได้รับประโยชน์จากการรับและส่ง SMS ในข้อหาฉ้อโกงประชาชนได้ ส่วนผลคดีจะเป็นอย่างไรก็ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเขาสืบสวนกันต่อไป แต่ที่แน่ๆ ผู้ให้บริการมือถือจะต้องคืนเงินที่เรียกเก็บไปแล้วในส่วนของการรับส่ง SMS ที่ไม่พึงประสงค์นี้โดยทันทีแต่หากยังไม่มีการชำระค่าใช้จ่ายตามบิลที่เรียกเก็บมา ผู้บริโภคสามารถทักท้วงได้ว่า บริการ SMS ดังกล่าว ตนมิได้มีความประสงค์ที่จะสมัครใช้บริการแต่เกิดจากการหลอกลวง ขอให้บริษัทผู้ให้บริการมือถือระงับการเรียกเก็บค่าบริการดังกล่าวโดยทันที แต่หากจะยังบังคับขืนใจให้ต้องจ่าย เช่น ขู่ว่าหากไม่จ่ายจะถูกตัดสัญญาณระงับการให้บริการ แล้วผู้บริโภคต้องจำยอมจ่าย มาถึงตรงนี้ก็จะเข้าองค์ประกอบความผิดของการกรรโชกทรัพย์ได้เพื่อป้องกันปัญหาด้านคดีความที่อาจจะเกิดขึ้น ผู้ให้บริการมือถือควรทราบถึงหน้าที่ของตนเอง เมื่อผู้บริโภคได้แจ้งว่าไม่ได้ประสงค์ที่จะใช้บริการ SMS ดังกล่าว ควรที่จะระงับการบริการนั้นทันทีและห้ามมิให้มีการเรียกเก็บเงินค่าบริการกับผู้บริโภค หรือหากมีการเรียกเก็บเงินไปแล้วจะต้องคืนให้กับผู้บริโภคทันทีโดยช่องทางใดทางหนึ่ง เช่น เป็นส่วนลดในรอบบิลถัดไป เป็นต้น

อ่านเพิ่มเติม >