ฉบับที่ 129 เปิ้ลไอริณโดนเต๊นท์หลอกขายรถ

จำได้ว่า เราเคยลงเรื่องการหลอกขายรถและวิธีการแก้ไขในคอลัมน์นี้มาแล้ว น่าเสียดายที่ดาราสาวอย่าง "เปิ้ล ไอริณ" ไม่มีโอกาสได้อ่าน ไม่เช่นนั้นคงจะไม่ประสบกับเหตุการณ์เช่นนี้อย่างแน่นอนเรื่องนี้เก็บมาจากข่าวที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 17 ตุลาคมที่ผ่านมานี้เองเนื้อข่าวเขาบอกว่า ประมาณบ่าย 2 โมงของวันนั้น  น.ส.ไอริณ ศรีแกล้ว หรือ “เปิ้ล ไอริณ” เข้าแจ้งความต่อ พล.ต.ต.พูลทรัพย์ ประเสริฐศักดิ์ ผู้บังคับการกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ให้ดำเนินคดีกับ นายลิขิต ชัยนะกุล เจ้าของเต๊นท์รถออโตเทรด เลียบทางด่วนรามอินทรา หลังจากที่ถูกหลอกให้ซื้อรถมือสองราคาเกือบ 1 ล้านบาทแต่ต้องจอดซ่อมหลายเดือนเปิ้ลไอริณ เธอเล่าว่า นายลิขิต อ้างว่าจะขายรถปี 2008 ให้ แต่ปรากฏว่าทางเต๊นท์ได้นำรถปี 2005 มาขายให้ จึงได้ติดต่อกลับไปยังนายลิขิต แต่นายลิขิตอ้างว่าซื้อไปแล้วไม่สามารถทำอะไรได้ จึงไปแจ้งความที่ สน.โชคชัย 4 ต่อมาเมื่อขับไปได้ประมาณ 7 เดือน รถก็ความร้อนขึ้น จนต้องจอดซ่อมมาแล้วกว่า 3 เดือน"ตอนซื้อมาหนูจ่ายไป 7 แสนบาท บวกค่าโอนอีก 1.5 แสนบาท รวมแล้วก็เกือบ 1 ล้านบาท ถ้าเอารถรุ่น 2005 นี้ไปขายก็ได้แค่ 4-5 แสนบาทเท่านั้น ซึ่งรถที่ต้องการเป็นปี 2008 ก็ไม่ได้ยังต้องมาจอดซ่อมอยู่ในศูนย์ ซ่อมจุดละ 5,000 บาท ตอนนี้หนูกลุ้มใจมาก ไปแจ้งความที่ สน.โชคชัย 4 ทางตำรวจก็บอกว่านายลิขิตให้ตำรวจชั้นผู้ใหญ่มาปิดคดีแล้ว หนูหมดเงินไปกับรถคันนี้เยอะมาก อยากจะร้องเรียนเพื่อขอความเป็นธรรมเพราะไม่รู้ว่าจะต้องไปพึ่งใคร แล้ว" เปิ้ล ไอริณ กล่าวขณะที่ พล.ต.ต.พูลทรัพย์ กล่าวว่า จะรับเรื่องไว้ โดยในเบื้องต้นจะเข้าไปดูเรื่องสัญญาการซื้อขาย ซึ่งมี พรบ.ควบคุมการขายรถยนต์ใช้แล้ว และเอาหลักฐานมาดูว่าจะเข้ากฎหมายประเภทใดที่สามารถดำเนินคดีได้ต่อไป แนวทางแก้ไขปัญหา ข่าวเขาว่ามาแค่นี้ล่ะครับ สรุปว่าน้องไอริณยังต้องรอตำรวจว่าจะดำเนินการยังไงอยู่ แต่มีประเด็นในเรื่องเกี่ยวกับการซื้อรถใช้แล้วที่เราจะเรียนรู้ซ้ำร่วมกันจากข่าวนี้ คือ...สัญญาในการซื้อรถใช้แล้ว เป็นสัญญาที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.)ได้มีประกาศควบคุมไว้ สัญญาการซื้อขายรถยนต์ใช้แล้ว สคบ.กำหนดให้เป็นสัญญาที่ต้องควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงินหรือใบเสร็จรับเงินนั่นเอง ซึ่งจะต้องมีการระบุรายละเอียดของรถยนต์ที่ตกลงซื้อขายกัน เกี่ยวกับ ยี่ห้อ รุ่น ปี สี หมายเลขเครื่องยนต์ หมายเลขตัวถัง หมายเลขทะเบียน ระยะทางการใช้รถยนต์ ภาระผูกพันของรถยนต์(ถ้ามี) และชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์หรือผู้ครอบครองรถยนต์ ทีนี้ก็มาตรวจสอบดูครับว่า ในสัญญาที่น้องไอรินไปทำนั้น รถยนต์คันที่ซื้อขายกันได้ระบุปีของรถไว้เป็นปี 2008 หรือไม่ ถ้าระบุไว้อย่างชัดแจ้งแล้วยังนำรถปี 2005 มายัดให้ลูกค้า อย่างนี้ถือว่าผู้ขายผิดสัญญา ผู้ซื้อสามารถบอกเลิกสัญญาขอเรียกเงินคืนได้ รวมทั้งความเสียหายต่างๆ ที่เกิดขึ้นด้วย อย่างเช่นค่าซ่อมที่ผ่านมา  เพราะถือว่าจัดรถมาให้ไม่ถูกต้องตามที่ได้ตกลงกัน แต่หากไม่มีการเขียนหรือไม่มีการทำสัญญากัน ผู้ขายรถจะมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับเมื่อโทษทางอาญาหนักระดับนี้ ผู้บริโภคที่ประสบกับเหตุการณ์เช่นนี้รวมทั้งคุณเปิ้ลไอริณด้วย ควรใช้แนวทางเรียกค่าเสียหายให้เต็มพิกัด คือทั้งราคารถ ค่าซ่อม ค่าเสียโอกาส จัดมาให้เต็ม หากจะมีการเจรจาไกล่เกลี่ยค่าใช้จ่ายที่จะยอมถอยให้ได้มีเพียงค่าเสียโอกาสเท่านั้น ส่วนค่าราคารถและค่าซ่อมไม่ควรยอมถอยครับ เพราะหากเจรจากันไม่ได้ผู้บริโภคยังสามารถยกเรื่องฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคได้ และคำพิพากษาหากเห็นว่าผู้ประกอบธุรกิจผิดจริง ยังเพิ่มดอกเบี้ยอีกร้อยละ 7.5 ให้กับผู้เสียหายอีกต่างหาก ส่วนเรื่องทางอาญานั้นปล่อยให้เป็นหน้าที่ของตำรวจกับ สคบ. ไปครับ    

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 129 แฟนคลับร้อง...อีซี่เอฟเอ็ม 105.5 เหนียวรางวัล

คุณสุเทพเป็นคนแรกที่เปิดแฟ้มร้องเรียนเรื่องนี้กับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เขาบอกว่าช่วงเดือนมีนาคม 2554 ทางสถานีวิทยุ EasyFM 105.5 ได้จัดรายการแจกรางวัลสำหรับผู้ส่ง sms เบอร์มือถือตัวเองเข้าลุ้นรางวัล 3,000 บาท ทุกๆ ชั่วโมง โดยจับหมายเลขสุดท้ายของเบอร์โทรมือถือ เป็น Lucky Number ของแต่ละชั่วโมง“หลังจากได้รางวัล ทางเจ้าหน้าที่ก็จะติดต่อมาเพื่อขอให้แฟกซ์สำเนาบัตรประชาชนเพื่อเตรียมออก เช็ค/หรือบัตรกำนัลให้ โดยแจ้งว่าจะได้รับประมาณปลายเดือนเมษายน หลังจบรายการโปรโมชั่นดังกล่าวแต่หลังจากนั้นก็ไม่มีการติดต่อกลับจากทางรายการแต่อย่างใด เมื่อลองเข้าไปในเว็บบอร์ด ของอีซี่เอฟเอ็ม ก็พบกระทู้ทวงถามของผู้ร่วมสนุกโดยไม่มีคำตอบจากผู้รับผิดชอบแต่อย่างใด”คุณสุเทพได้แนบลิ้งค์กระทู้ ที่มีแฟนคลับคลื่นวิทยุดังกล่าวเขียนเข้าไปติดตามทวงถามของรางวัลกันหลายราย“ตัวผมเองเป็นหนึ่งในผู้ร่วมสนุก ในการส่ง sms ไปลุ้นรางวัลกับเขาด้วยและได้รางวัลเมื่อ 24 มี.ค. ที่ผ่านมา ได้ส่งเอกสารให้ทางรายการตามเงื่อนไขแล้ว ก็เงียบไปเช่นกัน ดังนั้นเมือต้นเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ผมได้ไปยังอาคารมาลีนนท์ ทางเจ้าหน้าที่ก็บอกว่าเช็คยังไม่ออก ถ้าออกแล้วจะโทรกลับ จนป่านนี้(1 มิ.ย.) ก็ไม่ได้รับการติดต่อกลับแต่อย่างใด ครั้นโทรเข้าไปถาม สายก็ไม่ว่างตลอด อย่างนี้เข้าข่ายหลอกลวงไหมครับ เพราะการส่ง sms ก็ไม่ใช่จะฟรี charge ตั้ง 6 บาทต่อครั้ง จึงอยากให้มูลนิธิช่วยติดต่อสอบถามให้ทีครับ”อีกรายคือคุณภิญรดา เขียนเข้ามาในเว็บบอร์ดร้องทุกข์ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า “เหมือนกันเลยค่ะ ไม่รู้ว่าจะได้เมื่อไหร่ คนละเกมส์กันค่ะ เล่นเกมเมื่อเดือนที่แล้ว Easy Big Holiday ค่ะ ได้รางวัลเป็นที่พักที่เกาะเสม็ด “ติดต่อมาครั้งเดียวตอนให้ออกอากาศอ่ะค่ะ จากนั้นก็ไม่มีไรตามมา..” แนวทางแก้ไขปัญหา จากข้อร้องเรียนของทั้งสองท่าน เจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้โทรติดต่อตามเรื่องไปที่บริษัท บีอีซีเทโร เรดิโอ จำกัด ในฐานะผู้ดูแลคลื่นวิทยุ Easy FM 105.5 รายแรกคุณสุเทพร้องมาที่มูลนิธิฯเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2554 หลังจากที่ได้ติดต่อไปทางบีอีซีจึงได้จ่ายเช็คมูลค่า 3,000 บาท ให้กับคุณสุเทพภายในเดือนเดียวกันจากที่ได้เล่นเกมและบอกว่าจะได้รับรางวัลมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2554 สำหรับรายคุณภิญรดา ทางบีอีซีมีคำชี้แจงกลับมาว่า คุณภิญรดา ได้ร่วมกิจกรรมในวันที่ 28มิถุนายน 2554 เวลาประมาณ 12.00 น. และได้เป็นผู้โชคดีที่ได้รับรางวัลเป็นที่พักอ่าวพร้าว รีสอร์ท เกาะเสม็ดจริง เป็นรางวัลบัตรกำนัลห้องพักประเภท Deluxe Cottage Seaview 2 วัน 1 คืน พร้อมอาหารเช้าสำหรับ 2 ท่าน มูลค่ากว่า 10,500 บาท ซึ่งเมื่อจบกิจกรรมทางรายการได้โทรแจ้งไปที่หมายเลขโทรศัพท์ที่ได้รับแจ้งจากภิญรดาให้มารับของรางวัลถึง 3 ครั้ง แต่ไม่มีผู้รับสาย “ในกรณนี้ทางเรายินดีจะจบปัญหานี้ โดยยินดีให้สิทธิคุณภิญรดาสามารถรับของรางวัลได้ แต่เนื่องจากบัตรกำนัลที่พักอ่าวพร้าวจะหมดอายุในวันที่ 31 ตุลาคม 2554 ทางเราเกรงว่าคุณภิญรดาจะเข้าพักไม่ทัน จึงขออนุญาตเปลี่ยนของรางวัลเป็นที่พักที่ปานวิมานเกาะช้าง (2 วัน 1 คืน) มูลค่า 10,500 บาทแทน แต่ว่าทางเราต้องมีการเก็บภาษีหัก ณ ที่จ่าย 5% ของมูลค่าของรางวัลจำนวนเงิน 525 บาท...” เมื่อได้รับเงื่อนไขจากทางบริษัทบีอีซีแล้ว มูลนิธิจึงได้แจ้งให้คุณภิญรดาตัดสินใจอีกครั้งถือว่าเป็นการจบลงด้วยดี โชคดีได้ลี้ภัยน้ำท่วมกับทะเลสวยๆ แล้วอย่าลืมมาช่วยเหลือคนติดน้ำท่วมด้วยนะครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 129 ออมสินปฏิเสธบังคับลูกค้ากู้เงินต้องทำประกัน

 คุณวิชัยบอกว่า ถูกธนาคารออมสินบังคับให้ทำประกันชีวิตเพื่อค้ำประกันเงินกู้สินเชื่อประเภทสวัสดิการ ถ้าไม่ทำประกันก็ไม่อนุมัติ และวงเงินประกันสูงมาก รายละเอียดเป็นอย่างไร มาติดตามกันครับคุณวิชัยบอกว่า ไปกู้ยืมเงินกับธนาคารออมสิน สาขาวังสะพุง จ.เลย เป็นจำนวนเงิน 2.8 ล้านบาท โดยมีที่ดินเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ กำหนดชำระเงิน 17 ปี และธนาคารออมสินสาขาวังสะพุงให้ทำประกันชีวิตกับบริษัทอาคเนย์ประกันชีวิต จำกัด ค่าเบี้ยประกันเป็นเงิน 238,089.25 บาท และกับบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด ค่าเบี้ยประกันอีก 42,015.75 บาท รวมเบี้ยประกันทั้งสองบริษัทเป็นเงิน 280,105 บาท โดยต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันครั้งเดียวในวันทำสัญญากู้เงิน โดยให้ธนาคารเป็นผู้รับผลประโยชน์คุณวิชัยมีคำถามว่าเงินเบี้ยประกันตก 10% ของยอดเงินกู้ เมื่อชำระเงินกู้จนหมดตามสัญญาก็ไม่ได้คืน“ผมถือว่าผู้บริโภคไม่ได้รับความเป็นธรรมอย่างยิ่ง และสงสัยว่าธนาคารมีผลประโยชน์กับบริษัทประกันภัยหรือไม่” แนวทางแก้ไขปัญหา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้มีหนังสือสอบถามไปที่ท่านกรรมการผู้จัดการธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่ไปเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2554 ผลปรากฏว่าเงียบไม่มีคำตอบ เลยทำหนังสือไปติดตามความคืบหน้าอีกครั้งในเดือนมิถุนายน 2554 และได้พยายามติดต่อสอบถามทางโทรศัพท์อยู่หลายครั้ง ในที่สุดในวันที่ 7 กันยายน 2554 ธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่ จึงได้มีคำชี้แจงกลับมาอย่างเป็นทางการ บอกว่า... ฝ่ายวิเคราะห์สินเชื่อบุคคล ได้ตรวจสอบหลักเกณฑ์ เงื่อนไขการให้สินเชื่อสวัสดิการสำหรับข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ ในเรื่องการให้สินเชื่อบุคคล กรณีที่ผู้กู้ต้องการประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล และหรือประกันชีวิตเพื่อประกันสินเชื่อกับบริษัทผู้รับประกันที่ธนาคารกำหนด ให้รวมค่าเบี้ยประกันในจำนวนเงินให้กู้ได้ตามจำนวนเงินที่จ่ายจริง แต่จำนวนเงินให้กู้รวมทั้งหมดต้องไม่เกินตามเกณฑ์ที่ธนาคารกำหนด และระยะเวลาเอาประกันต้องไม่เกินระยะเวลาชำระเงินกู้ตามสัญญา สำหรับค่าเบี้ยประกันชีวิตให้เป็นไปตามอัตราเบี้ยประกันของบริษัทผู้รับประกัน “จากรายละเอียดดังกล่าวพิจารณาได้ว่า ธนาคารฯ ไม่มีนโยบายเกี่ยวกับการให้กู้ยืมเงินสินเชื่อสวัสดิการแก่ข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พร้อมกับการทำประกันชีวิต เพียงแต่หากผู้กู้มีความประสงค์ต้องการประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล และหรือประกันชีวิตเพื่อประกันสินเชื่อกับบริษัทผู้รับประกันที่ธนาคารกำหนดให้รวมค่าเบี้ยประกันในจำนวนเงินให้กู้ได้เท่านั้น” เมื่อมีคำตอบชัดเจนแบบนี้ ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค จึงมีความเห็นว่า คุณวิชัยน่าจะสามารถเรียกเงิน 280,105 บาท ที่ถูกหักไปเป็นเบี้ยประกันภัยคืนจากบริษัทประกันภัยได้ เหตุผลสำคัญเพราะคุณวิชัยไม่ได้มีความประสงค์ที่จะทำประกันมาตั้งแต่แรกแล้ว และยังได้มีการทักท้วงทั้งทางวาจาและลายลักษณ์อักษรมาโดยตลอด แต่ที่ต้องทำไปเพราะถูกหว่านล้อมชักชวนจากพนักงานธนาคาร และยังไม่มีการให้ข้อมูลที่ครบถ้วน จนทำให้ลูกค้าเข้าใจว่า ถ้าไม่ทำประกันภัยจะทำให้ขอสินเชื่อไม่ได้ การเข้าทำสัญญาจึงดูเหมือนการถูกบังคับจิตใจกันกลายๆเมื่อมีคำยืนยันจากธนาคารออมสินเช่นนี้อีกก็สามารถใช้เป็นหลักฐานในการเจรจาบอกเลิกสัญญากับบริษัทประกันภัยได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 129 ร่วมฝ่าวิกฤตน้ำท่วมครั้งนี้ไปด้วยกัน

  “ผมว่าน้ำท่วมครั้งนี้ พวกเราใช้โอกาสเปลืองนะ เราพยายามกันน้ำทุกอย่าง กัน กัน และกันหมด กันจนน้ำไม่มีที่ไป แล้วน้ำในปริมาณเยอะก็เหมือนกับคอขวด ที่พยายามบีบให้ไปตามทางที่จำกัดไว้ แต่น้ำที่เห็นไม่ใช่น้ำในขวด น้ำก็จะหาทางลงสู่ที่ต่ำโดยการไปตามคลอง ไปตามท่อน้ำ ผุดขึ้นมาตามท่อบ้าง...” ฉลาดซื้อคราวนี้เราจะมาคุยกับ คุณกำชัย น้อยบรรจง  ชายหนุ่มจากเครือข่ายผู้บริโภคจังหวัดสระบุรี ในฐานะผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคกลาง และอีกฐานะหนึ่งคือ อาสาสมัครช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ซึ่งจะได้สะท้อนถึงการแก้ไขปัญหาโดยกำลังของอาสาสมัครคนหนึ่งที่เปี่ยมด้วยจิตอาสา ผู้ประสบภัยกลายเป็นผู้ให้“ผมก็เป็นคนหนึ่งที่ประสบภัย ไม่คิดว่าจะหนักขนาดนี้นะ ทั้งที่มันไม่น่าท่วม อย่างปีก่อนไปช่วยที่นครราชสีมาซึ่งสูงกว่าสระบุรี  ช่วยเหลือเครือข่ายผู้บริโภคลพบุรี  น้ำท่วมที่ไม่ใช่เรื่องธรรมดาเหมือนโบราณ ไม่ใช่น้ำหลาก ที่คนโบราณมีภูมิปัญญาโบราณในการตั้งรับทั้งการดำเนินชีวิต การกิน การอยู่ แต่ปัจจุบันมันไม่ใช่  ส่วนหนึ่งที่เราต้องยอมรับก็คือการก่อสร้างบ้านเรือนขวางทางน้ำ และการจัดการน้ำไม่เป็นระบบ” กำชัยให้ความเห็นในฐานะคนธรรมดาคนหนึ่งของประเทศ  และจากบทเรียนการให้ความช่วยเหลือพี่น้องในปีที่ผ่านมา ทำให้เขามองเห็นแนวทางการแก้ปัญหาที่ควรจะทำเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยให้เร็วที่สุดก็คือ “ระบบเครือข่าย” และ “อาสาสมัคร” “ระบบการลำเลียงของช่วยเหลือผู้ประสบภัยเราใช้ระบบเครือข่าย และอาสาสมัครในพื้นที่ อาสาสมัครส่วนหนึ่งก็เป็นอาสาสมัครที่เราทำงานในแต่ประเด็น เช่นในจังหวัดสิงห์บุรี เราก็ได้อาสาสมัครที่ทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคมาเป็นอาสาสมัคร ช่วยประสานงานในพื้นที่ และส่งข้อมูลเข้ามาให้เราว่าในพื้นที่เป็นอย่างไร  ทีมงานของเราและอาสาสมัครก็จะประเมินสถานการณ์การให้ความช่วยเหลือว่าในส่วนของภาครัฐ ให้การช่วยเหลือถึงไหม หรือความช่วยเหลือเข้าไปเฉพาะบางจุด การให้ความช่วยเหลือเราก็ค่อยๆ เรียนรู้เหมือนกันนะ ช่วงแรกเราจะช่วยเหลือผู้อพยพตามศูนย์ผู้ประสบภัย เพราะเราเชื่อมั่นว่าหน่วยงานราชการไม่น่าจะตกสำรวจ แต่พอเราเข้าไปดูเราก็เห็นข้อจำกัด อย่างบางศูนย์ฯ รับคนได้ 500 คน พอคนเกินก็เกิดความแออัด  ผู้เดือดร้อนบางคนไม่ยอมออกมาเพราะความเป็นห่วงของในบ้าน หรือคนแก่ไม่ยอมออกจากบ้าน”   อาสาสมัครมีใจอย่างเดียวไม่พอเมื่อเริ่มเรียนรู้ ทีมงานของกำชัยก็กลับมาพูดคุย แลกเปลี่ยนถึงแนวทางและบทบาทการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยเพื่ออุดช่องโหว่ของรัฐในการให้ความช่วยเหลือ “พอเราเห็นช่องโหว่ก็กลับมาคุยกันในทีมทำงานในจังหวัดว่า ‘บทบาทของเราในการให้ความช่วยเหลือจะเป็นอย่างไร’ ต้องบอกว่านะว่าอาสาสมัครแค่มีใจอย่างเดียวไม่พอนะ หนึ่งต้องมีเพื่อน สองต้องหาของไปช่วย สามต้องรู้ความต้องการของผู้ประสบภัย จริงไหม น้ำ ข้าวสาร อาหารแห้งไว้ให้พวกเขาได้ใช้หุงหาเองได้ เพราะแต่ละพื้นที่แตกต่าง เราเริ่มที่จังหวัดสระบุรีก่อน ที่ดอนพุดซึ่งหนักมากนะ หลังจากนั้นเราก็เริ่มประสานงานกับเครือข่ายผู้บริโภคในแต่ละจังหวัดและให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย ในส่วนที่ความช่วยเหลือเข้าไปไม่ถึงได้จริง  ส่วนตัวผมนะ ผมมองว่าถึงกลุ่มเป้าหมายนะ เพราะพื้นที่ที่เราจะเข้าไปต้องขนของใส่รถทหาร ไปถ่ายใส่รถอีแต๋น ไปถ่ายของลงเรือและนั่งเรืออีก 2 – 3 ชั่วโมง เข้าไป 20 กิโลเมตร ทำให้เราเห็นว่าคนที่ตกสำรวจจริงๆมันมีเยอะ และเข้าไม่ถึงทรัพยากร เข้าไม่ถึงน้ำใจคนที่ร่วมบริจาคมาให้มีอีกเยอะ ทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่าการบริหารจัดการคน การบริหารจัดการของบริจาค ของหน่วยงานรัฐเข้าถึงผู้ประสบภัยแค่ไหน” กำชัยและทีมงานเป็นตัวประสานงานในการจัดหาของบริจาค ทั้งน้ำ ถุงยังชีพจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ข้าวสารจากชาวบ้าน ร่วมกับทีมทำงานช่วยกันแพ็กถุงยังชีพ บ้างก็ทำอาหารกล่องไปให้กับพี่น้องเครือข่ายผู้บริโภคที่จังหวัดสิงห์บุรี ลพบุรี ชัยนาท ปทุมธานี นอกจากนี้แล้วยังช่วยส่งน้ำ ให้กับเครือข่ายผู้บริโภคในกรุงเทพมหานครอีกด้วย “ถ้าเทียบการจัดการถึงพื้นที่ต้องบอกว่าภาคประชาชนทำงานได้คล่องตัวกว่ารัฐบาล แต่ถ้าจะต้องช่วยอีกให้ปีต่อๆไป ต้องมาวางแผนให้ชัด วางจังหวะ และจัดการความรู้ในการแก้ปัญหา อย่างในเครือข่ายผู้บริโภคที่เกิดปัญหาจะต้องรับมืออย่างไร  ที่ตามมาก็คือเครือข่ายฯจะช่วยเพื่อน ช่วยชาวบ้านได้อย่างไร เหมือนกับการขยายเครือข่ายความร่วมมือในหลายๆเครือข่ายก้าวไปพร้อมๆกัน ไม่ต้องรอคอยหน่วยงานรัฐว่าจะมาแจกของเมื่อไร ต้องเตรียมครับ ฟันธงว่า ‘มีแน่นอน’”   แก้ปัญหาน้ำต้องให้คนรู้มาทำกรมชลประทานต้องบริหารงานน้ำให้เป็น ถ้าสอบผมว่าก็ตก การให้ข้อมูลกับประชาชนโดยหลักที่นานาประเทศใช้ก็คือสันนิษฐาน ถึงความเร็วร้ายที่สุดที่มันจะเกิด  และวางแผนรับว่าถ้ามันเกิดเหตุการณ์แบบนี้จะมีแผงการตั้งรับแบบไหน ควรที่จะบอกประชาชนอย่างไร เขื่อนกำลังจะแตก น้ำจะไหลไปทางไหน ประชาชนจะต้องอพยพไปตรงไหน น้ำท่วมขนาดนี้คุณจะอยู่ได้กี่วัน จะต้องเตรียมตัวอย่างไร คือมันต้องชัดเจนในการให้คำตอบกับประชาชน ผมว่าน้ำท่วมครั้งนี้ พวกเราใช้โอกาสเปลืองนะ เราพยายามกันน้ำทุกอย่าง กัน กัน และกันหมด กันจนน้ำไม่มีที่ไป แล้วน้ำในปริมาณเยอะก็เหมือนกับคอขวด ที่พยายามบีบให้ไปตามทางที่จำกัดไว้ แต่น้ำที่เห็นไม่ใช่น้ำในขวด น้ำก็จะหาทางลงสู่ที่ต่ำโดยการไปตามคลอง ไปตามท่อน้ำ ผุดขึ้นมาตามท่อบ้าง น้ำท่วมครั้งนี้ผมไม่ถือว่าเป็นอุทกภัยนะผมมองว่าเป็นการบริหารจัดการน้ำที่ผิดพลาด จากคะแนนเต็ม 10 ในการแก้ปัญหาน้ำท่วมครั้งนี้ผมให้ 4 นะ มีอย่างที่ไหนเป็นศูนย์ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยแต่กลับต้องมาย้ายหนีน้ำ แบบนี้มีที่ไหน ชาวบ้านหรือโดยเฉพาะชาวกรุงเทพต้องการความเชื่อมั่นนะ เปรียบเทียบง่ายๆ ประเทศญี่ปุ่น ถูกสึนามิ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์รั่ว  เขาก็ให้ความเชื่อมั่นรัฐบาลว่าจะต้องแก้ไขได้ เขาก็ยอมอพยพ ถ้าเทียบความเชื่อมั่นในบ้านเราก็อาจจะเทียบกันไม่ได้เลย ผมว่าการบริหารจัดการน้ำต้องเป็นคนที่รู้และเข้าใจในการบริหารจัดการน้ำเข้ามาจัดการและควรทำให้รวดเร็ว   อยู่ย้อนยุคกำชัยสะท้อนถึงการใช้ชีวิตหลังน้ำท่วมว่าควรที่จะกลับมาใช้ชีวิตแบบไม่ทำร้ายธรรมชาติ กลับมาใช้วิถีการบริโภคอย่างยั่งยืน “ส่วนตัวผมนะผมว่าพวกเราต้องให้ความสำคัญกับการหันกลับมาใส่ใจวิถีการบริโภคที่ยั่งยืน การบริโภคที่ไม่ทำร้ายธรรมชาติ ไม่ทำประเทศ บริโภคอย่างรู้จักความว่าพอ ไม่ใช่เป็นอย่างทุกวันนี้ ซึ่งก็จะนำไปสู่แผนพัฒนาประเทศต่อไปว่าควรจะเป็นไปในทิศทางไหน ถ้าสมมุติว่ารัฐบาลจะมีแผนพัฒนาประเทศต่อไปในระบบแบบอุตสาหกรรม ก็ต้องมีการวางแผนที่จัดการกับสิ่งแวดล้อม ธรรมชาติและทางน้ำอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 129 กระแสต่างแดน

  น้ำนำเข้า สมาชิกฉลาดซื้อคงจะอึดอัดคับข้องใจ ว่าปีนี้บ้านเราน้ำมากซะเหลือเกิน มาเปลี่ยนบรรยากาศไปดูที่น้ำน้อยกันบ้างดีกว่า ในแต่ละปี ฮ่องกงซึ่งเป็นเขตการปกครองพิเศษของจีน ต้องนำเข้าน้ำจากแม่น้ำตงเจียง ในมณฑลกวางตุ้งประเทศจีนเป็นปริมาณหลายร้อยล้านลูกบาศก์เมตร ล่าสุดฮ่องกงทำสัญญาซื้อน้ำจากแหล่งดังกล่าวเป็นระยะเวลา 3 ปี ปีละ 820 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นมูลค่ารวมทั้งหมด 44,000 ล้านบาท ร้อยละ 80 ของน้ำที่ประชากรฮ่องกงใช้อยู่มาจากแม่น้ำตงเจียง มีเพียงร้อยละ 20 เท่านั้นที่มาจากอ่างเก็บน้ำในฮ่องกงเอง ถามว่าทำไมฮ่องกงซึ่งเป็นเกาะมีน้ำล้อมรอบมากมาย ถึงไม่ลงทุนตั้งโรงกรองเพื่อเปลี่ยนน้ำทะเลให้เป็นน้ำจืดไว้ใช้เอง ข่าวเขาบอกว่าการทำเช่นนั้นจะต้องใช้เงินลงทุนมหาศาลและต้นทุนในการผลิตก็ค่อนข้างสูง เรียกว่าถ้าจะให้คุ้มก็ต้องขายน้ำในราคาลูกบาศก์เมตรละ 47 บาท ปัจจุบัน ราคาน้ำที่ฮ่องกงนั้นอยู่ที่ 16 บาท ต่อ 1 ลูกบาศก์เมตร (12 ลูกบาศก์เมตรแรก รัฐให้ใช้ฟรี) นักเศรษฐศาสตร์บอกว่าสิ่งที่รัฐบาลฮ่องกงควรทำก่อนอื่นใดคือรณรงค์อย่างจริงจังให้ผู้คนใช้น้ำอย่างประหยัดกว่าที่เป็นอยู่ และอาจจะต้องขึ้นค่าน้ำกันบ้างเพื่อลดความอยากใช้ด้วย ทั้งนี้เพราะ ใดๆ ในโลกล้วนไม่แน่นอน มณฑลกวางตุ้งเองก็เริ่มพบกับความแห้งแล้งเป็นระยะ และเริ่มมีโควต้าของน้ำที่จะขายให้กับฮ่องกงแล้ว ไม่ใช่ว่ามีเงินก็จะซื้อได้เสมอไป เหตุการณ์นี้คุ้นๆ เหมือนเคยเจอที่ไหนมาก่อน ... แต่ถึงแม้กวางตุ้งจะหมดน้ำส่งออก เราก็ยังมีภาคกลางของประเทศไทย ที่มีน้ำเหลือเฟือเป็นพันล้านลูกบาศก์เมตร ให้ใช้กันได้เหลือเฟือทั้งเกาะเลยนะจะบอกให้   ไปรษณีย์โฉมใหม่ ยุคสมัยที่การส่งจดหมายลดลงเพราะใครๆ ก็พากันส่งแต่อีเมล์ อีการ์ด ฯลฯ บริการไปรษณีย์ของหลายๆประเทศในยุโรป จึงต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด ข่าวจากเมืองดูเซลดอร์ฟ เยอรมนีเขาบอกว่า ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ดอยทช์โพสต์ได้โละสถานที่ทำการไปรษณีย์ จาก 29,000 แห่ง เหลือเพียง 24 แห่ง แถมยังลดอัตราจ้างงานไปอีก 100, 000 คน แม้จะยังรับบริการส่งจดหมายหรือพัสดุ 6 วันต่อสัปดาห์ แต่ไปรษณีย์เยอรมันหรือ “ดอยทช์โพสต์” เขาปรับลดขนาดลงเหลือเพียงเคานท์เตอร์ในมุมหนึ่งของธนาคาร ร้านสะดวกซื้อ ร้านเครื่องเขียนเท่านั้น และถ้าเป็นในชุมชนที่ค่อนข้างเล็ก ก็อาศัยบ้านของชาวบ้านในพื้นที่เป็นศูนย์บริการไปเสียเลย โดยรวมแล้ว การใช้บริการออนไลน์นั้นส่งผลดีต่อผู้บริโภค ทั้งรวดเร็ว สะดวก ประหยัด และยังช่วยลดการสร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม แต่ก็มีคนอยู่กลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการปิดตัวลงของที่ทำการไปรษณีย์ได้แก่ บรรดาผู้สูงอายุในเขตที่เคยเป็น “เยอรมันตะวันออก” ที่นอกจากจะไม่คุ้นเคยกับเทคโนโลยีดิจิตัลแล้ว ยังขาดพื้นที่ ที่เคยได้ใช้เป็นแหล่งชุมนุมพบปะกันอีกด้วย ไม่ใช่มีแต่ไปรษณีย์ไทยเท่านั้นที่มีบริการเสริม เช่น การรับสั่งซื้อสินค้าโอท็อป ไปรษณีย์เยอรมันก็ทำกิจการร้านค้าออนไลน์คล้ายๆ eBay ในขณะที่ “Posten” หรือไปรษณีย์สวีเดน ก็มีบริการเปลี่ยนรูปภาพจากกล้องหรือโทรศัพท์มือถือให้เป็นโปสการ์ดให้บรรดานักท่องเที่ยวได้ส่งกลับบ้านกัน ส่วน “PostNord” หรือที่ทำกิจการไปรษณีย์ทั้งสวีเดนและเดนมาร์ก ก็หันมาทำธุรกิจส่งโบรชัวร์ขายสินค้าตามบ้านไปเสียเลย บ้านเสมือน (คุก)ในยุคเศรษฐกิจตกต่ำไปทั่วโลกอย่างนี้ จะไปอาศัยกินข้าวฟรีในคุกก็ยังเป็นเรื่องยาก หลายๆ ประเทศในยุโรปกำลังหาวิธีลดค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้กระทำความผิดสถานเบา ที่มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน เช่น เมาแล้วขับ หรือลักเล็กขโมยน้อย ด้วยการกักกันบริเวณให้อยู่ในบ้านตัวเอง วิธีที่ว่านั้นคือการให้ “นักโทษ” สวมกำไลอิเล็กทรอนิกส์ไว้ที่ข้อเท้าตลอดเวลา โดยมีเจ้าหน้าที่เรือนจำคอยควบคุม ผ่านทางสัญญาณที่อุปกรณ์ดังกล่าวส่งกลับมาที่ศูนย์บัญชาการนั่นเอง ในขั้นทดลองนี้มีนักโทษที่ถูก”คุมขัง” ด้วยวิธีดังกล่าวอยู่ 110 คน เขาบอกว่าด้วยระบบนี้ “นักโทษ” ที่มีหน้าที่ออกไปทำงานรับใช้สังคมเป็นเวลา 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ จะยังสามารถไปทำธุระ ไปทำงาน ไปเรียน ได้ตามปกติ หรือจะไปเข้าซาวน่า ก็ยังได้ แต่ถ้าออกนอกบริเวณที่ตกลงกันไว้ โดยไม่ขออนุญาตล่วงหน้าเมื่อไหร่ ก็จะถูกย้ายจากเรือนจำเสมือน ไปอยู่เรือนจำจริงๆ ทันที กรมราชทัณฑ์ของฟินแลนด์บอกว่า ระบบดังกล่าวซึ่งจะนำมาใช้จริงในปี ค.ศ. 2014 นั้น สามารถลดค่าใช้จ่ายในการดูแลนักโทษไปได้มากกว่าครึ่ง ปัจจุบันเรือนจำมีค่าใช้จ่ายต่อหัวในการดูแลนักโทษวันละ 200 ยูโร (8,600 บาท) ในขณะที่ระบบควบคุมผ่านกำไลข้อเท้านั้นใช้งบประมาณเพียง 60 ยูโร (2,500 บาท) ต่อคน เท่านั้น แต่ที่สำคัญที่สุดคือ มีสถิติที่ระบุว่านักโทษที่ถูกคุมขังทางไกล ในบ้านตัวเองนี้ มีแนวโน้มในการกระทำผิดซ้ำน้อยกว่านักโทษที่ถูกคุมขังในเรือนจำ นั่นเอง และที่ดียิ่งไปกว่านั้นคือแม้ที่บ้านจะน้ำท่วมก็ไม่เป็นปัญหา เพราะกำไลข้อเท้าที่ว่านั้นสามารถกันน้ำได้ที่ความลึกถึง 5 เมตรเลยเชียว   กินจุเกินไปต้องจ่ายเองสองสามปีมานี้ ที่ไต้หวันเขาจัดการแข่งขันกินจุกันบ่อยเหลือเกิน จนหน่วยงานเฝ้าระวังของรัฐ หรือ The Control Yuan ต้องออกมาเรียกร้องให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพ งดจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลให้กับบรรดาพวกที่เอาชีวิตตัวเองเข้าเสี่ยงกับการแข่งขันประเภทนี้ Control Yuan บอกว่า นอกจากผู้เข้าแข่งขันจะทำร้ายร่างกายตัวเองโดยไม่จำเป็นแล้ว การแข่งกินบะหมี่ กินลูกชิ้น หรืออะไรก็ตามในปริมาณมากๆ นั้นยังสร้างภาระให้กับระบบสาธารณสุขที่มีไว้รองรับคนทั้งประเทศอีกด้วย ซึ่งถือว่าไม่เป็นธรรมอย่างยิ่งกับคนที่ต้องเจ็บป่วยเพราะหลีกเลี่ยงไม่ได้ หน่วยงานดังกล่าวยังเรียกร้องให้ยกเลิกการเบิกจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลให้กับคนที่เข้ารับการรักษาตัวหลังจากเข้าร่วมการแข่งขันกระเพาะเหล็ก และให้รัฐเลิกจัด เลิกเป็นผู้สนับสนุนการแข่งขันดังกล่าว และต้องระบุให้สื่อมวลชนมีคำเตือนถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นเสมอเมื่อมีการเผยแพร่ชักชวนผู้คนมาร่วมแข่งขัน เจ้าหน้าที่จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพของไต้หวันบอกว่า ตอนนี้กำลังเจรจากับบรรดาผู้จัดการแข่งขันกินจุทั้งหลาย ให้เป็นผู้รับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลของผู้เข้าแข่งขันด้วย ไต้หวันเป็นอีกประเทศที่กำลังถูก “ภัยอ้วน” คุกคาม อัตราการเป็นโรคอ้วนของเด็กๆ ที่นั่นเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 6 เมื่อ 10 ปีก่อน มาเป็นร้อยละ 25 ในปี ค.ศ.2009 ด้วย สธ. ของไต้หวันคงต้องคิดหนัก เพราะมีผลการสำรวจออกมาว่ากิจกรรมยามว่างที่คนที่นั่นนิยมทำมากที่สุดคือการรับประทานอาหารนอกบ้านนั่นเอง   ไฟดับนานไป มีจ่ายชดเชยอินเดียเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ชาวบ้านต้องเจอกับไฟฟ้าดับกันแทบทุกวัน จนขณะนี้หลายๆ รัฐต้องประกาศให้มีการจ่ายค่าชดเชยกับผู้บริโภคที่ต้องพบกับภาวะไม่มีไฟฟ้าใช้เป็นเวลานานเกินควร มีตัวอย่างจากรัฐอุตตรประเทศ ที่เขาต่อสู้กันมาถึง 6 ปี ในที่สุดก็ผ่านกฎหมายที่ระบุให้มีการจ่ายค่าชดเชยเป็นเงิน 50 รูปี (35 บาท) ในกรณีที่ไฟฟ้าดับต่อเนื่องเกิน 6 ชั่วโมง แต่ถ้าผ่านไปแล้วเกิน 10 ชั่วโมงก็ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ เขาก็จะให้ 100 รูปี (70 บาท) เขาเน้นว่าต้องต่อเนื่องจริงๆ นะ เขายกตัวอย่างว่า ถ้าดับไป 5 ชั่วโมง แล้วซ่อมกลับมาได้ แม้จะเพียง 5 นาที แล้วดับต่อ ก็ต้องเริ่มนับหนึ่งกันใหม่ แต่ทั้งนี้จะไม่มีการจ่ายเงินชดเชยในกรณีที่ไฟฟ้าดับเนื่องจากพายุหรือฝนฟ้าคะนอง (น้ำท่วมก็คงจะไม่เข้าข่ายเช่นกัน) ข่าวบอกว่ายังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าแผนนี้จะดำเนินการอย่างไรในทางปฏิบัติ เพราะบริษัทผู้ผลิตไฟในแคว้นดังกล่าวออกมาบอกว่า ยังไม่ทราบเลยว่าขณะนี้มีจำนวนผู้ใช้ไฟฟ้าอยู่กี่ครัวเรือน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 129 กระแสในประเทศ

 ประมวลเหตุการณ์เดือนตุลาคม 2554 1 ตุลาคม 2554ใช้เครื่องสำอางให้ปลอดภัย ต้องมี “เลขที่ใบรับแจ้ง”สาวๆ ที่ใช้เครื่องสำอางเป็นประจำต้องอ่านข่าวนี้ รู้กันหรือยังว่า? เครื่องสำอางได้กลายเป็นสินค้าควบคุมตามประกาศของ อย. แล้วเรียบร้อย หลังจากที่มีข่าวคราวการตรวจจับเครื่องสำอางปลอมและไม่ได้คุณภาพออกมาอยู่เรื่อยๆ การกำหนดให้เครื่องสำอางเป็นสินค้าควบคุมน่าจะเป็นอีกหนึ่งวิธีในการช่วยให้สาวๆ ปลอดภัยจากเครื่องสำอางที่ไม่ได้คุณภาพ เพราะฉะนั้นจากนี้ไปผู้ผลิต ผู้นำเข้าเครื่องสำอางจะต้องแจ้งข้อมูลเบื้องต้นของผลิตภัณฑ์กับทาง อย. ตั้งแต่ชื่อหรือประเภทเครื่องสำอาง สารที่เป็นส่วนผสม ชื่อ – ที่อยู่ผู้ผลิตและนำเข้า จากนั้นจึงจะได้ใบรับแจ้งซึ่งจะมี “เลขที่ใบรับแจ้ง” เป็นหลักฐานว่าเป็นเครื่องสำอางที่ผ่านการจดแจ้งแล้วเรียบร้อย โดย อย. ได้ออกประกาศบังคับให้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางต้องแสดง “เลขที่ใบรับแจ้ง” บนฉลาก ซึ่งผู้ที่ใช้เครื่องสำอางสามารถนำเลขที่ใบรับแจ้งไปสืบค้นข้อมูลเครื่องสำอางก่อนตัดสินใจซื้อ หรือหากพบเครื่องสำอางที่น่าสงสัย ใช้แล้วมีผลข้างเคียง ก็สามารถใช้เลขที่ใบรับแจ้งในการตรวจสอบกับทาง อย. หรือสาธารณสุขจังหวัดได้ หรือตรวจสอบด้วยตัวเอง www.fda.moph.go.th ซึ่งนอกจาก เลขที่ใบรับแจ้งแล้ว ยังสามารถใช้ ชื่อทางการค้า ชื่อผู้ประกอบการ และชื่อเครื่องสำอาง ในการสืบค้นข้อมูลต่างๆ ได้ด้วยเช่นกัน พวกเครื่องสำอางที่หิ้วมาเอง หรือเหมาสายการบิน อันนี้ต้องบอกว่า ผิดกฎหมายไทยนะจ๊ะ------------   11 ตุลาคม 2554กินขนมปังระวังสารกันบูด!!! เรื่องน่าตกใจสำหรับคนชอบทานขนมปัง เมื่อผลทดสอบโดยกลุ่มศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทั้ง 14 แห่งทั่วประเทศ และสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์เบเกอรี่จากทั่วประเทศจำนวน 837 ตัวอย่าง เพื่อทดสอบหาสารกันบูด ซึ่งจากผลการทดสอบพบว่ามีถึง 658 ตัวอย่าง ที่พบว่ามีการใส่สารกันบูด สารกันบูดที่ทดสอบมีด้วยกัน 3 ชนิด คือ กรดเบนโซอิก กรดซอร์บิก และกรดโปรปิโอนิก ซึ่งผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ที่นำมาทดสอบก็มีหลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น ขนมปังแถว แซนด์วิช เบอร์เกอร์ พิซซ่า ขนมปังสอดไส้ เค้ก แครกเกอร์ ขนมปังกรอบ เวเฟอร์ ขนมปังแท่ง พัฟ พาย ครัวซองท์ โดนัท คุกกี้ และเอแคร์ ซึ่งสารกันบูดที่พบมีทั้งที่พบแบบ 1 ชนิดต่อ 1 ตัวอย่าง และแบบที่พบ 2 หรือ 3 ชนิดต่อ 1 ตัวอย่าง โดยจากผลทดสอบพบว่ามีมากกว่า 100 ตัวอย่าง ที่มีปริมาณสารกันบูดเกินกว่ามาตรฐาน แม้ปริมาณของสารกันบูดที่พบในผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ยังไม่ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่อันตราย แต่ในชีวิตประจำวันเรายังมีโอกาสได้รับสารกันบูดจากการทานอาหารอื่นๆ ซึ่งจากการพบการใช้วัตถุกันเสียมากกว่า 1 ชนิด หน่วยงานภาครัฐจึงควรทบทวนข้อกำหนดการใช้วัตถุกันเสียทั้งปริมาณที่อนุญาตให้ใช้ และชนิดวัตถุกันเสียที่อนุญาตให้ใช้ เนื่องจากกรดเบนโซอิกและซอร์บิกไม่ใช่วัตถุกันเสียที่ให้ใช้กับผลิตภัณฑ์ขนมอบโดยตรง นอกจากนี้เรื่องการควบคุมการผลิตของเบเกอรี่ทำได้ค่อนข้างยาก เพราะของเบเกอรี่ที่ทำขายหน้าร้านส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องแจ้ง อย.---------------------   19 ตุลาคม 2554น้ำท่วมต้องช่วยกัน ค่าโทรศัพท์-ค่าเน็ตงดเก็บช่วงน้ำท่วมสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ฝากถึงประชาชนผู้ใช้โทรศัพท์บ้านและอินเตอร์เน็ตที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม มีสิทธิ์ที่จะขอระงับการใช้บริการชั่วคราวได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย น.พ. ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช. กล่าวว่า ผู้บริโภคที่ใช้บริการโทรคมนาคมทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็น โทรศัพท์บ้าน โทรศัพท์มือถือและอินเตอร์เน็ต มีสิทธิ์ในการขอระงับบริการชั่วคราวได้ เนื่องจาก ตามประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรฐานของสัญญา ให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ.2543 ข้อ 25 ได้ระบุว่า ผู้ใช้บริการมีสิทธิในการระงับการใช้บริการโทรคมนาคมชั่วคราวได้ โดยบริษัทจะกำหนดระยะเวลาขั้นต่ำสุดหรือสูงสุดที่ยินยอมให้ระงับการใช้บริการชั่วคราวและผู้ให้บริการจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายใดๆ จากผู้ใช้บริการไม่ได้ นอกจากนี้ในกรณีที่ผู้บริโภคขอระงับบริการชั่วคราวแล้ว เมื่อครบกำหนดการขอระงับใช้บริการ บริษัทต้องเปิดบริการให้ผู้บริโภคทันทีโดยผู้ให้บริการ จะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายใดๆ จากผู้ใช้บริการไม่ได้ -------------------- มั่นใจน้ำดื่มปลอดภัยหลังน้ำท่วมในช่วงที่เกิดภาวะน้ำท่วม มีแหล่งน้ำและโรงงานผลิตน้ำดื่มหลายแห่งที่ได้รับผลกระทบ เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการและสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ได้เตรียมพร้อมแผนฟื้นฟูสถานประกอบการผลิตน้ำดื่ม และน้ำแข็งที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยครั้งนี้ หลังจากที่ต้องอยู่ในสภาพน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดการปนเปื้อนของเชื้อโรคและสารพิษต่างๆ ที่มาพร้อมกับน้ำ นอกจากนี้ยังอาจปนเปื้อนอยู่ในเครื่องมือ เครื่องจักร และอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตน้ำดื่มและน้ำแข็ง ซึ่งหากดำเนินการผลิตโดยไม่ได้ตรวจสอบแก้ไข เชื้อโรคต่างๆ ก็อาจปนเปื้อนไปสู่ผู้บริโภค โดยในการช่วยเหลือฟื้นฟูครั้งนี้ อย. จะประสานความร่วมมือกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ในการให้คำแนะนำในการฟื้นฟูสถานประกอบการ อาทิ การทำความสะอาดอาคารสถานที่ เครื่องมือ เครื่องจักร และอุปกรณ์การผลิตแก่ผู้ประกอบการ ขณะที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะให้บริการตรวจสอบคุณภาพความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์แก่ผู้ประกอบการโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค การันตีเรื่องความสะอาด ก่อนหน้านี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้สุ่มเก็บตัวอย่างน้ำดื่ม น้ำใช้ น้ำแข็ง และน้ำประปา จากศูนย์พักพิงผู้ประสบภัยน้ำท่วมและบ้านเรือนประชาชนในพื้นที่ประสบอุกทกภัยในจังหวัดพิษณุโลก นครสวรรค์ พระนครศรีอยุธยา นนทบุรี ปทุมธานี ราชบุรี และนครปฐม รวม 78 ตัวอย่าง พบมีที่ไม่ผ่านเกณฑ์คุณภาพรวม 28 ตัวอย่าง ส่วนใหญ่จะพบเป็นเชื้อที่ก่อโรค โดยตัวอย่างที่พบมากที่สุดคือ น้ำแข็ง สำหรับข้อแนะนำในการเลือกบริโภคน้ำดื่มและน้ำแข็ง ควรเลือกบริโภคน้ำดื่มที่บรรจุในภาชนะที่สะอาด ปิดสนิท ไม่รั่วซึม ไม่มีร่องรอยการเปิดใช้ ลักษณะของน้ำที่บรรจุอยู่ต้องใสสะอาด ไม่มีตะกอน ไม่มีกลิ่น และรสที่ผิดปกติ ส่วนการเลือกบริโภคน้ำแข็ง ควรเลือกน้ำแข็งบรรจุถุงที่มีการแสดงข้อความบนฉลากอย่างครบถ้วน โดยเฉพาะเครื่องหมาย อย. แต่ถ้าเป็นน้ำแข็งที่ตักแบ่งขายตามร้านค้าทั่วไป ควรสังเกตสถานที่เก็บและภาชนะบรรจุ ต้องไม่มีการใส่น้ำแข็งปนกับอาหารประเภทอื่น และก้อนน้ำแข็งต้องมีความใส สะอาด -------------------------------------   อย. ควอลิตี้ อวอร์ด 2554 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. มอบรางวัล “อย. ควอลิตี้ อวอร์ด ประจำปี 2554” ให้กับผู้ประกอบการผู้ผลิตสินค้าด้านอาหาร ด้านยา ด้านเครื่องสำอาง ด้านเครื่องมือแพทย์ และด้านวัตถุอันตรายที่ใช้ในบ้าน โดยหลักเกณฑ์ผู้ที่ได้รับรางวัลต้องเป็นผู้ประกอบที่ผลิตสินค้าจำหน่ายในประเทศไทย และดำเนินกิจการมาแล้วอย่างน้อย 5 ปี มีการรักษาคุณภาพและพัฒนามาตรฐานการผลิตของผลิตภัณฑ์ที่ออกสู่ท้องตลาด และที่สำคัญคือต้องไม่เคยถูกดำเนินคดี ถูกปรับ หรือถูกตักเตือนจาก อย. ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งมีระบบการดูแลผู้บริโภคและมีการรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งเป็นเรื่องของการมีคุณธรรมและจริยธรรมในการประกอบการที่ดี สำหรับผู้ประกอบการที่ได้รางวัลในแต่ละประเภทมีดังนี้ ด้านอาหาร จำนวน 11 ราย ได้แก่ 1. บริษัท จอมธนา 2. บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด 3. บริษัท ใบชาโชคจำเริญ จำกัด 4. บริษัท เพรซิเดนท์ เบเกอรี่ จำกัด 5. บริษัท แฟชั่นฟู้ด จำกัด 6. บริษัท วันไทยอุตสาหกรรมอาหาร จำกัด 7. บริษัท ศิริวานิช (เอส แอนด์ ดับเบิ้ลยู) จำกัด 8. บริษัท สุรพลฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน) 9. บริษัท เสริมสุข จำกัด (มหาชน) 10. บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) และ 11. ห้างหุ้นส่วนจำกัด อิสริยะผล ด้านยา จำนวน 9 ราย ได้แก่ 1. บริษัท ขายยาเพ็ญภาค จำกัด 2. บริษัท ขาวละออเภสัช จำกัด 3. บริษัท บางกอกแล็ป แอนด์  คอสเมติค จำกัด 4. บริษัท ไบโอแลป จำกัด 5. บริษัท ผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย จำกัด 6. บริษัท ฟาร์ม่า อินโนวา จำกัด 7. บริษัท สีลมการแพทย์  จำกัด 8. บริษัท อ้วยอันโอสถ จำกัด และ 9. บริษัท อาร์เอ็กซ์ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด ด้านเครื่องสำอาง จำนวน 5 ราย ได้แก่ 1. บริษัท คอลเกต – ปาล์มโอลีฟ (ประเทศไทย) จำกัด 2. บริษัท คาโอ อินดัสเตรียล (ประเทศไทย) จำกัด 3. บริษัท แพน ราชเทวี กร๊ป จำกัด 4. บริษัท ยูนิลีเวอร์ไทย โฮลดิ้งส์ จำกัด และ 5. บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล แลบบอราทอรีส์ จำกัด ด้านเครื่องมือแพทย์ จำนวน 4 ราย ได้แก่ 1. บริษัท ชัวร์เท็กซ์ จำกัด 2. บริษัท เยเนอรัล ฮอสปิตัล ดปรดัคส์ จำกัด (มหาชน) 3. บริษัท สยาม เซมเพอร์เมด จำกัด และ 4. บริษัท เอ็ม.อี. เมดิเทค จำกัด ด้านวัตถุอันตรายที่ใช้ในบ้านเรือน จำนวน 3 ราย ได้แก่ 1. บริษัท เชอร์วู้ด เคมิคอล จำกัด (มหาชน) 2. บริษัท ลัดดา จำกัด และ 3. บริษัท ไอ.พี. แมนูเฟคเจอริ่ง จำกัด -----------------------

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 129 ตรวจสอบมาตรการช่วยเหลือ กรณีการเช่าซื้อรถยนต์

ช่วงน้ำท่วมหนักๆ เราได้รับข่าวสารจาก สคบ. ว่าได้ขอความร่วมมือกับหน่วยงาน 5 แห่ง ได้แก่ สมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย   สมาคมอู่กลางแห่งประเทศไทย  สมาคมนายหน้าประกันวินาศภัย   สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน การไฟฟ้านครหลวง เพื่อหามาตรการช่วยเหลือผู้บริโภค ฉลาดซื้อจึงสอบถามเพิ่มเติมในกรณีช่วยเหลือผู้บริโภคที่ประสบอุทกภัยกรณีการเช่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับผู้บริโภคไว้ดูแลตนเองหลังน้ำท่วม   มาตรการน้ำท่วมของสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย มาตรการน้ำท่วม 7 ข้อ สำหรับผู้ประสบภัยและมีปัญหาเกี่ยวกับสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ เพื่อจะนำไปใช้เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาสินเชื่อได้อย่างเหมาะสม มาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยดังกล่าว สรุปได้ดังนี้   1. ให้มีการยกเว้นค่าติดตามทวงถามและเบี้ยปรับล่าช้าสำหรับลูกค้าที่ประสบภัยน้ำท่วมในช่วงระยะเวลาที่เกิดภาวะน้ำท่วม 2. มีแนวทางการพักชำระค่างวดเช่าซื้อ สำหรับลูกหนี้ปกติที่ประสบภัยน้ำท่วม 3. ให้มีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เช่น ขยายเวลาการผ่อนชำระค่างวดเช่าซื้อ ทั้งนี้แต่ละสถาบันจะพิจารณาความเหมาะสมของลูกค้าต่อไป 4. ในส่วนของผู้เช่าซื้อเพื่อการพาณิชย์หรือเช่าซื้อรถยนต์หลายคัน (Fleet Finance) จะพิจารณาช่วยเหลือตามความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้า 5. ให้มีมาตรการหยุดการทวงถามสำหรับลูกหนี้เช่าซื้อปกติที่ประสบภัยน้ำท่วมและอยู่ในพื้นที่ที่ประสบภัยน้ำท่วม 6. ในกรณีที่ลูกค้าต้องการวงเงินฉุกเฉินเพิ่มเติมหลายๆ สถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกสมาคมก็ได้จัดให้มีวงเงินกู้สำหรับลูกค้าที่มีความจำเป็นต้องใช้เงินฉุกเฉิน (สามารถติดต่อข้อมูลเพิ่มเติมได้จากสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย โทร 02 6550240-5) 7. มาตรการอื่นๆ ตามที่ลูกค้าเช่าซื้อร้องขอ โดยพิจาณาเป็นรายๆ ไป   หมายเหตุ: ทั้งนี้มาตรการต่างๆ ที่สมาคมและบริษัทสมาชิกได้สรุปแนวทางมานั้น จะใช้ตามความเหมาะสมและความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าของแต่ละสถาบันการเงิน ซึ่งอาจจะมีความแตกต่างกันออกไปบ้างตามปัญหาที่เกิดขึ้น พร้อมกันนี้สมาคมได้มีหนังสือเลขที่ ชซ.342/2554 ลงวันที่ 31 สิงหาคม 2554 เพื่อขอให้ทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคมีหนังสือประสานไปยังคณะกรรมการการคุ้มครองข้อมูลเครดิต และบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด เพื่อให้มีการปรับ Code สำหรับลูกค้าที่ได้รับการผ่อนผันหรือช่วยเหลือด้านการเงินจากการประสบภาวะน้ำท่วมเช่นเดียวกับครั้งที่ผ่านมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว   ทั้งนี้มาตรการน้ำท่วมดังกล่าวถือว่าเป็นครั้งที่ 4 ที่สมาคมและบริษัทสมาชิกได้ออกแนวทางช่วยเหลือผู้บริโภคนับตั้งแต่เกิดน้ำท่วมใหญ่ในภาคเหนือและภาคอีสานปี 2553 ที่ผ่านมา สำหรับมาตรการดังกล่าวเป็นนโยบายกว้างๆ ไม่เฉพาะเจาะจงเนื่องจากความจำเป็นด้านการเงินของผู้บริโภคและนิติบุคคล เนื่องจากฐานะของผู้บริโภคมีความแตกต่างกัน  ซึ่งผู้บริโภคสามารถร้องขอตามความจำเป็น พร้อมทั้งเป็นการเปิดกว้างให้บริษัทสมาชิกมีแนวทางในการช่วยเหลือให้เหมาะสมกับความเสี่ยงของบริษัทด้วย สำหรับขั้นตอนในการยื่นขอเข้ามาตรการน้ำท่วม 7 ข้อ ข้างต้น ทางผู้บริโภคสามารถติดต่อไปที่บริษัทลีสซิ่งหรือสถาบันการเงินพร้อมยื่นเอกสาร อาทิ -บัตรประชาชน -สำเนาทะเบียนรถ -รูปถ่ายหรือหลักฐานที่แสดงว่าผู้เช่าซื้อประสบภัยน้ำท่วม อย่างไรก็ตามในกรณีที่ผู้บริโภคผ่อนชำระกับบริษัทที่ไม่ใช่สมาชิกของสมาคมสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือผ่านสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้ที่หมายเลข 1166 ได้ ผู้ให้ข้อมูล นายบุญหนา จงถิ่นสุวรรณ ผู้จัดการสมาคมเบอร์โทรประสานงาน   สมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย   02 655 0240-5 --------------------------------- บริษัทสมาชิกสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทยปี 2553(THAI HIRE-PURCHASE ASSOCIATION) 1. บมจ. อะมานะฮ์ ลิสซิ่ง โทร. 0-2612-3233 แฟกซ์.0-2612-3255 Website:  www.navaleasing.co.th 2. บมจ.ธนาคารทิสโก้ โทร. 0-2633-6000 แฟกซ์. 0-2633-6800 Website:  www.tiscogroup.com 3. บจ. ตรีเพชรอีซูซุลิสซิ่ง โทร.0-2792-2000 แฟกซ์. 0-2966-2282-4 4. บมจ.ธนาคารเกียรตินาคิน โทร. 0-2680-3333 แฟกซ์.0-2256-9165 Website:  www.Kiatnakin.co.th 5. บมจ. เงินทุนสินอุตสาหกรรม โทร. 0-2263-2100 แฟกซ์. 0-2253-7086 Website:  www.sicco.co.th E-mail:     finance@mozart.inet.co.th 6. บจ. ซัมมิท แคปปิตอล ลีสซิ่ง โทร. 0-2637-5445-51 แฟกซ์. 0-2637-5442 7. บมจ. เอเชียเสริมกิจลีสซิ่ง โทร. 0-2679-6226 แฟกซ์. 0-2679-6241-3 Website:  www.bgpl-lease.com E-mail:     bgpl@bkk.loxinfo.co.th 8. บมจ. เมโทรโพลิส ลีสซิ่งโทร.0-2642-5031  0-2642-5043 9. บจ. โตโยต้า ลีสซิ่ง (ปทท.) โทร. 0-2634-6400 แฟกซ์.0-2636-1408 Website:  www.tlt.co.th   10. บจ. ยูไนเต็ดลีสซิ่ง โทร. 0-2318-4058 แฟกซ์.0-2314-2083 11. บมจ. ไทยพาณิชย์ลีสซิ่ง โทร. 0-2949-1800 12. บจ. ชยภาค โทร.0-2318-2000 แฟกซ์.0-2318-6677 13. บจ. พระนคร ยนตรการ โทร. 0-2561-4610 แฟกซ์. 0-2579-9826 14. บจ. ซิตี้คอร์ป ลิสซิ่ง (ปทท.) โทร. 0-2788-2000 แฟกซ์. 0-2788-4889 Website:  www.citibank.com 15. บจ. บีเอ็มดับเบิลยู ลิสซิ่ง (ปทท.) โทร.0-2305-8999 แฟกซ์.0-2305-8998 Website:  www.bmw.co.th 16. บมจ. ราชธานีลิสซิ่ง โทร. 0-2440-0844แฟกซ์. 0-2440-0848Website:  www.ratchthani.com E-mail:    info@ratchthani.com 17. บจ. ฮอนด้า ลีสซิ่ง (ปทท.)โทร. 0-2706-2800, 706-2900 แฟกซ์. 0-2744-7714 Website:  www.honda.co.th 18. บจ. เมอร์เซเดส-เบนซ์ ลีสซิ่ง (ปทท.)โทร. 0-2676-5900 แฟกซ์. 0-2676-5949 Website:  www.mercedes-benz-leasing.co.th 19. บมจ. ตะวันออกพาณิชย์ลีสซิ่ง โทร. 0-2641-5252 แฟกซ์.0-2641-5995 20. บมจ. อยุธยา แคปปิตอล ออโต้ ลีส โทร.0-2627-8000 แฟกซ์.0-2627-8001 Website:  www.krungsriauto.com 21. บจ. ไทยประกันชีวิตโทร. 0-2247-0247 แฟกซ์.0-2246-9688 Website:  www.thailife.com 22. บจ. คลังเศรษฐการ โทร. 0-2274-0111 แฟกซ์.0-2274-0311 23. บจ. กรุงไทย ออโต้ลีส โทร. 0-2969-7628-29 แฟกซ์.0-2968-5900 24. บจ. ลีสซิ่งกสิกรไทย โทร. 0-2696-9900 แฟกซ์. 0-2696-9988 25. บจ. เซ็นเตอร์ ออโต้ ลีส โทร. 0-2673-9111-8 แฟกซ์.0-2673-9092 26. บจ. ลีสซิ่งสินเอเชีย โทร.0-2626-8100 แฟกซ์. 0-2626-8190 27. บจ. นิสสัน ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) โทร. 0-2207-4000 แฟกซ์. 0-2207-4001 28. บมจ.ธนาคารธนชาต โทร. 0-2217-8000 แฟกซ์. 0-2217-9642 Website:  www.nfs.co.th 29. บจ. เคทีบี ลีสซิ่ง โทร. 0-2299-3888 แฟกซ์. 0-2299-3801 30. บมจ.ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย โทร.0-2697-5454 แฟกซ์. 0-2642-3048 Website:  www.tcrbank.com 31. ธนาคารไทยพาณิชย์  จำกัด (มหาชน) โทร. 0-2544-1111 32. ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยโทร. 0-2650-6999 แฟกซ์.0-664-3345 Website:  www.isbt.co.th 33. บริษัท แฟคเตอรี แอนด์ อีควิปเมนท์ กสิกรไทย จำกัด โทร. 0-2290-2900 แฟกซ์. 0-2277-3322 Website:  www.kasikornbankgroup.com

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 128 ยังต้องระวัง ไส้กรอกสีสด

  มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยังทำหน้าที่เฝ้าระวังเกี่ยวกับความปลอดภัยของอาหารอย่างต่อเนื่อง ปีที่แล้วถ้าจำกันได้ เราตรวจหาสีและวัตถุกันเสียในไส้กรอกหมูและไส้กรอกไก่ ทำให้รู้ว่า หลายยี่ห้อใส่วัตถุกันเสีย(สารกันบูด) เกินมาตรฐาน   ผ่านไปปีกว่าๆ  ฉลาดซื้อและมูลนิธิฯ เลยขอตามติดใกล้ชิดไส้กรอกกันอีกสักรอบว่า สถานการณ์ดีขึ้นหรือแย่ลง โดยเก็บตัวอย่างไส้กรอกกลุ่มพรีเมี่ยมทั้งแบบบรรจุถุงและแบบตักแบ่งขาย (ยี่ห้อเดิมที่เคยเก็บเท่าที่หาซื้อได้) จากห้างค้าปลีกสมัยใหม่ และตัวอย่างไส้กรอกสำหรับตลาดล่างจากตลาดสด รวมทั้งสิ้น 19 ตัวอย่าง แบ่งเป็นไส้กรอกหมู 9 ตัวอย่าง ไส้กรอกไก่ 6 ตัวอย่าง และไม่ระบุประเภทเนื้อที่ใช้ 4 ตัวอย่าง   ชื่อผลิตภัณฑ์ ผู้ผลิต / จำหน่าย ว.ด.ป. ผลิต / หมดอายุ ส่วนประกอบที่ระบุ การระบุฉลากเรื่องวัตถุกันเสีย ผลทดสอบ เบนโซอิค (มก./กก.) ซอร์บิค (มก./กก.) ไนเตรท* (มก./กก.) ไนไตรท์* (มก./กก.) สี (มก./กก.) ซีพี – แฟรงค์เฟริตเตอร์ บ.กรุงเทพโปรดิ้วส์ จำกัด (มหาชน) จำหน่าย ซีพีเอฟ เทรดดิ้ง 26/7/54 25/8/54 เนื้อสัตว์ น้ำตาล เกลือ เครื่องเทศ ไม่ระบุ ไม่พบ ไม่พบ - - ไม่พบ หมูตัวเดียว ไส้กรอกหมูคอกเทล บ.บางกอกแฮมโปรดักส์ ซิฟฟลาย จำกัด 22/7/54 22/8/54 เนื้อหมู เครื่องเทศ น้ำตาล ไม่ระบุ ไม่พบ ไม่พบ - - ไม่พบ S&P ไส้กรอกคอกเทล บ.S&P ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) 14/7/54 28/8/54 เนื้อหมู เครื่องปรุงรส น้ำ เครื่องเทศ ไม่ระบุ (บอกว่าไม่ใส่สีไม่ใส่ผงชูรส) ไม่พบ ไม่พบ - - ไม่พบ TGM ไส้กรอกเวียนนาหมู บ.ไทยเยอรมันมีทโปรดักท์ จำกัด จำหน่าย บ.ไทยซอสเซส มาร์เก็ตติ่ง จำกัด 20/7/54 19/8/54 เนื้อหมู 80% น้ำ 15% เครื่องปรุงรส 5%   ระบุ (ใช้โมโนโซเดียมกลูตาเมต) ไม่พบ ไม่พบ - - ไม่พบ คุ้มค่า tesco คอกเทลหมู บ.ซีพีเอฟ ผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด 22/7/54 3/8/54 เนื้อหมู น้ำตาล เกลือ เครื่องเทศ ไม่ระบุ   ไม่พบ ไม่พบ - - ไม่พบ หมู 2 ตัว คอกเทลหมู บ.ไทยเยอรมันมีทโปรดักท์ จำกัด 27/7/54 3/8/54 ไม่ระบุ ไม่ระบุ ไม่พบ ไม่พบ - - ไม่พบ หมู 2 ตัว ไส้กรอกไก่ (ตักขาย) บ.ไทยเยอรมันมีทโปรดักท์ จำกัด (โลตัส บางประกอก) 31/7/11 7/8/11 - - ไม่พบ ไม่พบ - - ไม่พบ หมูตัวเดียวคอกเทลไก่ (ตักขาย) ซื้อที่ โลตัส บางประกอก 31/7/11 7/8/11 - - ไม่พบ ไม่พบ - - ไม่พบ ซีพี คอกเทลไก่ (ตักขาย) ซื้อที่ โลตัส บางประกอก 31/7/11 7/8/11 - - ไม่พบ ไม่พบ - - ไม่พบ เทสโก้ ไส้กรอกเวียนนาหมู บ.กรุงเทพโปรดั๊กส์ จำกัด  (มหาชน) ผลิตให้เฉพาะเทสโก้ 24/7/11 17/8/11 เนื้อสัตว์ เครื่องเทศ เครื่องปรุงรส ใช้ผลชูรส ใช้วัตถุกันเสีย ไม่พบ ไม่พบ - - ไม่พบ BK Products ฮอทดอก กริลไก่ บ.กรุงเทพโปรดั๊กส์ จำกัด  (มหาชน) ซีพี เทรดดิ้ง จำกัด จัดจำหน่าย   27/7/54 11/8/54 เนื้อไก่ น้ำ เครื่องเทศ, เครื่องปรุงรส มีส่วนผสมของกลูเตนจากข้าวสาลี โปรตีนจากถั่วเหลือง แป้งมันสำปะหลังดัดแปลง ใช้วัตถุกันเสีย ไม่พบ ไม่พบ - - ไม่พบ PF foods (ไม่ได้แจ้งว่าเป็นไส้กรอกอะไร) บ.ฟลายฟูดส์ จำกัด 99/9 ม.3 ตำบลนาดี อ.เมืองสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร ไม่แจ้ง - -   ไม่พบ ไม่พบ - - ไม่พบ บีลัคกี้ เวียนนาหมู หจก.บีลัคกี้ 15/7/54 13/8/54 เนื้อหมู 80% น้ำ 15% เครื่องเทศ 5% ระบุว่าไม่ใส่สารกันบูด และไม่ใส่สี ไม่พบ ไม่พบ ไม่พบ ไม่พบ ไม่พบ แหลมทอง แฟรงค์ไก่ บ.แหลมทองโปรตีนฟู้ด จำกัด วันหมดอายุ 6/8/54 เนื้อไก่ เครื่องเทศ เครื่องปรุง ไม่ใช้วัตถุกันเสีย ไม่พบ ไม่พบ 0.77 0.173 ไม่พบ ซีพี มินิคอกเทล (ไม่แจ้งว่าเป็นเนื้ออะไร บ.กรุงเทพโปรดิ๊วส์ จำกัด (มหาชน) 30/7/54 11/8/54 เนื้อสัตว์ น้ำตาล เกลือ เครื่องเทศ - 742.61 339.90 - - ไม่พบ JPM ไส้กรอกหมู บ.เจพีเอ็ม ซอสเซส จำกัด 23/7/54 23/8/54 เนื้อหมู 83% ไขมัน  10% เครื่องปรุง 4% แป้ง 2% น้ำแข็ง 1%     ไม่ระบุ 895.68 ไม่พบ - - ไม่พบ M A ไส้กรอกเวียนนาหมู บ.เจ แอนด์ โอ โปรเซสซิ่ง จำกัด 23/7/11 23/8/11 เนื้อสัตว์ น้ำตาล เกลือ เครื่องเทศ - 977.90 ไม่พบ - - ไม่พบ Better food ไส้กรอกเวียนนารมควัน บ.อาหารเบทเทอร์ จำกัด   14/7/54 13/8/54 เนื้อสัตว์อนามัย ไขมัน น้ำตาล เกลือ เครื่องเทศ ไม่ระบุ ไม่พบ 648.54 - - ไม่พบ Better Food ไส้กรอกนม (ไส้กรอกไก่) บ.อาหารแบทเบอร์ จำกัด 27/7/11 16/8/11 เนื้อไก่ 78% เครื่องปรุงรส+เครื่องเทศ 5% น้ำแข็ง 10% แป้ง 4% หางนม 3% - ไม่พบ 1,953.99 - - 3.79   ผลทดสอบไส้กรอก ยังพบว่ามีการใช้วัตถุกันเสียที่เกินมาตรฐานในบางยี่ห้อ (บางยี่ห้อซ้ำเดิมกับที่เคยพบเมื่อครั้งก่อน)  ในบางยี่ห้อที่ตรวจพบวัตถุกันเสียโดยที่ ไม่มีการแสดงฉลากระบุว่า มีการใช้วัตถุกันเสีย ซึ่งถือเป็นการแสดงฉลากที่ไม่ถูกต้อง  จากการทดสอบในครั้งนี้ (19 ตัวอย่าง) พบว่า กลุ่มวัตถุกันเสียที่ใช้เป็นกลุ่มเบนโซอิคและซอร์บิค โดยกติกาของ อย. ยอมรับให้ใส่วัตถุกันเสียในกลุ่มเบนโซอิคได้ ไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัม/กิโลกรัม แต่ต้องขออนุญาตก่อน ส่วนซอร์บิคนั้น ไม่ได้รับการยอมรับให้นำมาใช้ในผลิตภัณฑ์ประเภทเนื้อสัตว์ จึงอาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย  ผลทดสอบวัตถุกันเสีย กลุ่มเบนโซอิคและซอร์บิค1. ไม่พบผลิตภัณฑ์ไส้กรอกที่ใส่กรดเบนโซอิคเกินมาตรฐาน แค่เฉียดๆ คือ M A ไส้กรอกเวียนนาหมู 977.90  มิลลิกรัม/กิโลกรัม (เกือบไป)  2. พบกรดซอร์บิคในตัวอย่าง 3 ยี่ห้อจาก 19 ยี่ห้อที่ส่งทดสอบ ได้แก่ Better Food ไส้กรอกนม(ไส้กรอกไก่) 1,953.99 มิลลิกรัม/กิโลกรัม, Better food ไส้กรอกเวียนนารมควัน 648.54 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และซีพี มินิคอกเทล(ไม่ระบุประเภทเนื้อสัตว์)  339.90  มิลลิกรัม/กิโลกรัม  3. พบผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทั้งกรดเบนโซอิคและกรดซอร์บิคร่วมกันจำนวน 1 ตัวอย่าง คือ ไส้กรอกซีพี มินิคอกเทล ปริมาณรวมที่พบคือ 1,082.51 มิลลิกรัม/กิโลกรัม แบ่งเป็นกรดเบนโซอิค 742.61 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และกรดซอร์บิค 339.90 มิลลิกรัม/กิโลกรัม  4. วัตถุกันเสีย กลุ่มไนเตรทและไนไตรท์ พบไนเตรทและไนไตรท์ ในแหลมทอง แฟรงค์ไก่ ในปริมาณน้อยมาก คือ 0.77 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และ 0.173 มิลลิกรัม/กิโลกรัม  การใช้สีผสมในอาหาร (ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ไส้กรอกห้ามใส่สี)  5. พบการใช้สีสังเคราะห์ใน Better Food ไส้กรอกนม (ไส้กรอกไก่)   3.79   มิลลิกรัม/กิโลกรัม   สรุป โดยภาพรวมต้องถือว่า ไส้กรอกในระดับยี่ห้อพรีเมี่ยม มีระดับความปลอดภัยจากเรื่องวัตถุกันเสีย และสี ค่อนข้างสูง จากการเฝ้าระวังในครั้งนี้ ต้องขอบคุณผู้ผลิตทุกรายที่รักษาคุณภาพมาตรฐานในผลิตภัณฑ์ของตน และหวังว่าจะทำได้ดีตลอดไป  ไส้กรอก เป็นเทคนิคการถนอมอาหารที่เก่าแก่อย่างหนึ่ง นับถอยหลังไปได้ถึง สมัยบาบิโลเนีย หรือเมื่อประมาณ 3,500 ปีมาแล้ว กุนเชียง ไส้อั่ว หมูยอ หม่ำ และไส้กรอกอีสาน ก็นับเป็นไส้กรอกชนิดหนึ่งเช่นกัน   ไส้กรอกอย่างฝรั่ง เรียกว่า sausage มีรากศัพท์จากภาษาละติน “salsus" หมายถึง เนื้อสัตว์ที่มีการเก็บรักษาโดยใช้เกลือ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 128 ถอนทะเบียนยา...ความปลอดภัยที่ยังมีช่องโหว่

  เพราะร่างกายของคนเราจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการดูแลรักษา ยิ่งในเวลาที่เจ็บไข้ได้ป่วยตัวช่วยสำคัญที่จะมาทำหน้าที่รักษาบรรเทาโรคภัยต่างๆ คงหนีไม่พ้น "ยา" 1 ในปัจจัย 4 ที่แม้หลายๆ คนจะแอบภาวนาว่าถ้าเป็นไปได้ในชีวิตนี้ก็ไม่อยากพึ่งพาหรือฝากความหวังไว้กับการกินยา เพราะว่าไม่อยากป่วย แต่ในยามที่โรคภัยไข้เจ็บถามหา ยาก็ถือเป็นตัวช่วยที่ดีเพราะคงไม่มีใครอยากจะต้องทนอยู่กับอาการเจ็บป่วยเป็นเวลานานๆ   เมื่อยารักษาโรค อาจกลายเป็นยาพิษ  แม้หน้าที่ของยา คือการบรรเทารักษาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ซึ่งนี่ก็คือหน้าที่ที่ถือเป็นคุณประโยชน์ของยา แต่ว่าบางครั้งการใช้ยาก็อาจกลายเป็นโทษได้เหมือนกัน ทั้งจากการใช้ยาไม่ถูกกับโรค การแพ้ยา การใช้ยาบางชนิดติดต่อกันเป็นเวลานานเกินไป การใช้ยาที่ไม่ได้คุณภาพหรือยาปลอม ซึ่งปัญหาที่เกิดจากการใช้ยาทั้งหมดที่กล่าวมาถือเป็นปัญหาที่ไม่ควรมองข้าม เพราะเรื่องของการใช้ยาเป็นเรื่องที่พูดได้เลยว่าเกี่ยวโยงกับความเป็นความตาย ยาดีก็ช่วยขจัดปัดเป่าโรคภัยต่างๆ แต่ถ้ายาไม่ดีหรือใช้ยาผิดวิธี ก็อาจเป็นอันตรายร้ายแรงถึงขั้นทำให้เสียชีวิต   การจัดการยาก่อนถึงมือผู้บริโภค การควบคุมดูแลเรื่องความปลอดภัยของยา เป็นหน้าที่ที่ภาครัฐต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ซึ่งในประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. จะคอยดูตรวจสอบและให้ข้อมูลกับประชาชน ในเรื่องของยาที่อาจเป็นอันตราย ซึ่ง อย.เองก็มีหน้าที่ทั้งการพิจารณาตรวจสอบเพื่อออกใบอนุญาตในการผลิต จำหน่าย หรือนำเข้า ยาชนิดต่างๆ ก่อนที่จะนำมาวางขายหรือใช้ในโรงพยาบาล คลินิก สถานพยาบาลต่างๆ รวมถึงตามร้านขายยาทั่วไป เพื่อความปลอดภัยและสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคหรือผู้ป่วยที่ต้องใช้ตัวยานั้นๆ ในการรักษาโรค ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อ อย.มีอำนาจในการออกใบอนุญาตให้กับยาชนิดต่างๆ การเพิกถอนทะเบียนยาที่เห็นว่าเมื่อนำมาใช้แล้วอาจเป็นอันตรายก็เป็นหน้าที่ของ อย. ซึ่ง อย. จะพิจารณาทบทวนเพื่อทำการเพิกถอนทะเบียนยานั้นๆ พร้อมไปกับการสร้างระบบมาตรฐานยาคุณภาพให้เกิดขึ้นในเมืองไทย ซึ่งเมื่อ อย. ได้มีการสั่งเพิกยาถอนยาตัวใดก็ตาม อย.ก็จะประกาศรายชื่อยาเหล่านั้นเผยแพร่สู่สาธารณะ หน้าที่ของผู้บริโภคจึงต้องคอยติดตามข่าวสาร เป็นการสร้างข้อมูลเรื่องยาให้กับตัวเอง   การเพิกถอนทะเบียนยา การเพิกถอนทะเบียนยา ถือเป็นหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขที่เป็นผู้ออกคำสั่งเพิกถอนทะเบียนตำรับยาที่เห็นว่าจะเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ หรือเป็นยาไม่มีคุณภาพไม่มีสรรพคุณตรงตามที่อ้าง หรือเมื่อใช้แล้วส่งผลร้ายกับร่างกายมากกว่าให้ผลในทางรักษาโรค หรือมีตัวยาใหม่ที่ให้ผลดีกว่า คณะกรรมการทบทวนตำรับยาแผนปัจจุบันสำหรับมนุษย์ สำนักคณะกรรมการอาหารและยา ก็จะนำตัวยาที่เห็นว่ามีปัญหาเข้าสู่การพิจารณาในการประชุม จากนั้นเมื่อที่ประชุมเห็นชอบให้มีคำสั่งให้เพิกถอนทะเบียนยาตัวดังกล่าว ก็จะมีการออกเป็นคำสั่งกระทรวงให้รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขเป็นคนลงนามรับรอง ก่อนจะนำไปประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เป็นอันครบถ้วนกระบวนความว่าตัวยานั้นๆ ได้กลายเป็นยาที่ถูกถอนทะเบียนออกจากระบบยาในประเทศ ห้ามขาย ห้ามผลิต ห้ามใช้ ใครฝ่าฝืนมีโทษตามกฎหมาย  แม้ขั้นตอนการถอนทะเบียนยาดูเหมือนจะมีไม่มาก แต่เมื่อมาดูถึงระยะเวลากว่าจะถึงในขั้นตอนสุดท้ายคือการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สามารถดำเนินเอาผิดทางกฎหมายได้นั้นต้องใช้เวลาพอสมควร ลองมาดูตัวอย่างระยะเวลาการดำเนินการในการถอนทะเบียนยาที่ผ่านมาว่าต้องใช้ระยะเวลาเท่าไหร่  ตัวอย่างข้อมูลแสดงระยะเวลาการถอนทะเบียนยา   ชื่อยาที่ถอนทะเบียน สาเหตุ คำสั่งเลขที่ วันที่ประชุมคณะกรรมการยา วันที่ประกาศเป็นคำสั่งกระทรวง วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ระยะเวลาตั้งแต่ประชุมถึงวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ยาสูตรผสมของยามีแธนดีโนน (Methandienone) กับ ยาไซโปรเฮปตาดีน (Cyproheptadine) สูตรยาไม่เหมาะสม เมื่อนำไปใช้ในเด็กอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ 736/2552 14 พฤษภาคม 2551 5 มิถุนายน 2552 31 สิงหาคม 2552 475 วัน ยาคาริโซโพรดอล (Carisoprodol) ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง สงบประสาทเป็นยานอนหลับและเสพติดได้ 547/2552 20 พฤศจิกายน 2551 23 เมษายน 2552 19 มิถุนายน 2552 212 วัน ยาผสมสูตรเมโธคาร์บามอล (Methocarbamol) และอินโดเมธาซิน (Indomethacin) ชนิดรับประทาน ไม่มีหลักฐานทางวิชาการสนับสนุนประสิทธิผลและความปลอดภัยในการใช้ยา 848/2552 11 กุมภาพันธ์ 2552 2 กรกฎาคม 2552 24 สิงหาคม 2552 195 วัน ยาคาสคารา ซากราดา (Cascara sagrada) เสี่ยงอันตรายจากสารที่เป็นส่วนประกอบ 859/2552 11 กุมภาพันธ์ 2552 2 กรกฎาคม 2552 19 มิถุนายน 2552 129 วัน *ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาก่อนรัฐมนตรีลงนาม ยาคลอร์ซ็อกซาโซน (Chlorzoxazone) ไม่มีประสิทธิผลในการคลายกล้ามเนื้อตามที่ขึ้นทะเบียนไว้ และได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีความเป็นพิษต่อตับ 1115/2552 8 เมษายน 2552 20 สิงหาคม 2552 26 มีนาคม 2553 353 วัน ยาฟีโนเวอรีน (Fenoverine) ตัวยาทำให้เกิดอาการข้างเคียงที่ร้ายแรง คือ เซลล์กล้ามเนื้ออ่อนแรง กล้ามเนื้อเกร็ง (rhabdomyolysis) ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ 1421/2552 12 มิถุนายน 2552 30 กันยายน 2552 21 กรกฎาคม 2553 405 วัน ยาฟีนอล์ฟธาลีน (Phenolphthalein) และแซนโตนิน (Santonin) | อาจทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้ยา โดยฟีนอล์ฟธาลีน เป็นสารก่อมะเร็งในสัตว์ทดลอง จึงอาจทำให้เกิดมะเร็งในคนจากการใช้ยาในระยะยาว ซึ่งเมื่อยาเข้าสู่ร่างกายจะถูกขจัดออกอย่างช้า ๆ จึงเพิ่มความเสี่ยงจากการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ เช่น ปฏิกิริยาที่ผิวหนัง และระดับโปแตสเซียมต่ำ เป็นต้น แซนโตนิน มีฤทธิ์เพิ่มพิษต่อระบบประสาท (neurotoxic) และมีรายงานการเกิดอาการข้างเคียงที่รุนแรงแม้ใช้ในขนาดต่ำ 985/2553 12 มิถุนายน 2552 20 พฤษภาคม 2553 23 มิถุนายน 2553 377 วัน ฟีนอล์ฟธาลีน (Phenolphthalein) เป็นสารก่อมะเร็งในสัตว์ทดลอง จึงอาจทำให้เกิดมะเร็งในคนจากการใช้ยาในระยะยาว และร่างกายของคนจะขจัดยาออกอย่างช้าๆ ซึ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงจากการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ อาจทำให้เป็นอันตรายต่อผู้ใช้ยา 1923/2553 12 มิถุนายน 2552 19 ตุลาคม 2553 30 พฤศจิกายน 2553 537 วัน ยาโรซิกลิทาโซน (Rosiglitazone) อาจทำให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด 447/2554 22 ธันวาคม 2553 4 เมษายน 2554 18 พฤษภาคม 2554 148 วัน อีนาลาพริล มาลีเอท (Enalapril maleate) ยา Paril 5 เลขทะเบียน 1C 173/51 และยา Paril 20 เลขทะเบียน 1C 174/51 มีปริมาณตัวยาสำคัญ คือ อีนาลาพริล มาลีเอท (Enalapril maleate) ต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนดไว้เกินกว่าร้อยละยี่สิบ เข้าข่ายเป็นยาปลอม 462/2554 22 ธันวาคม 2553 4 เมษายน 2554 8 มิถุนายน 2554 169 วัน ยาน้ำตราบีเวลล์ ตรวจพบตัวยาวาร์เดนาฟิล (Vardenafil) ซึ่งเป็นยาแผนปัจจุบันที่เป็นยาควบคุมพิเศษผสมอยู่ ยาดังกล่าวจึงไม่ใช่ยาแผนโบราณตามตำรับยาที่ขึ้นทะเบียนไว้และเป็นยาที่ไม่ปลอดภัยแก่ผู้ใช้ เข้าข่ายเป็นยาปลอม 506/2554 23 กันยายน 2553 12 เมษายน 2554 8 มิถุนายน 2554 259 วัน     ซึ่งหลังจากมีการลงนามโดยรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขเห็นชอบว่าควรเพิกถอนตัวยาดังกล่าว จะมีหนังสือแจ้งไปยังผู้ผลิตหรือนำเข้ายาที่เห็นว่าจะเป็นอันตรายตัวดังกล่าว ต้องหยุดการผลิตและเก็บสินค้าที่ได้ส่งไปวางขายตามร้านหรือสถานพยาบาลต่างๆ ให้เสร็จสิ้น ก่อนที่จะมีการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เพราะเมื่อถึงในขั้นตอนนี้ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายหากพบว่ายังมีการกระทำฝ่าฝืนคำสั่งอยู่ แต่หลังจากประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาแล้วผู้ผลิตยาที่ถูกคำสั่งให้เพิกถอนทะเบียนก็ยังสามารถยื่นคำโต้แย้งไปยังศาลปกครองได้อีกภายใน 90 วัน ซึ่งช่วงระยะเวลาหลังจากคณะกรรมการยาพิจารณาเห็นชอบให้มีการถอนทะเบียนยาที่เห็นว่าอาจจะเป็นอันตราย ไปจนถึงการรอให้รัฐมนตรีฯ ลงนามรับรอง เพื่อแจ้งให้ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้ายานั้นๆ ดำเนินการตามคำสั่งของกระทรวงนั้น เป็นช่วงที่ผู้บริโภคมีความเสี่ยงอันตรายจากการใช้ยาตัวที่เป็นปัญหา เพราะยาดังกล่าวยังคงมีอยู่ในท้องตลาด หากผู้ใช้ยาไม่ได้รับทราบข้อมูลข่าวสาร ขาดความรู้เรื่องข้อมูลยา ก็อาจหลงใช้ยาดังกล่าวจนเกิดอันตราย แม้แต่แพทย์ เภสัชกร ที่ไม่ทราบข้อมูลหรือนิ่งนอนใจรอการประกาศอย่างเป็นทางการหรือรอการดำเนินการจากผู้ผลิตยา ก็อาจสั่งจ่ายยาดังกล่าวให้กับผู้ป่วย   การเพิกถอนทะเบียนตำรับยานั้น เป็นไปในลักษณะที่ตรวจสอบทบทวนตำรับยาทั้งยาใหม่ที่รอการขึ้นทะเบียน และยาเก่าที่เคยได้รับการขึ้นทะเบียนไว้แล้ว ซึ่งการทบทวนทะเบียนยานั้นต้องทำในลักษณะต่อเนื่อง โดยต้องมีการตรวจสอบเป็นระยะ ประเมินดูสถานการณ์การใช้ยาทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งหมดก็เพื่อการใช้ยามีความปลอดภัยมากที่สุด   ------------------------------------------------------------------------------------------ การถอนทะเบียนยาโดยภาคประชาชน เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2552 ชมรมเภสัชชนบท ร่วมกับกลุ่มศึกษาปัญหายา กลุ่มเภสัชกรภาคกลาง มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข เพิกถอนทะเบียนตำรับยา 4 รายการ คือ 1.ยาแอสไพรินชนิดผง 75-375 มก. 2.ยาแก้ทางเดินปัสสาวะอักเสบ ยาขับปัสสาวะที่มี Methylene blue เป็นส่วนประกอบ 3.ยาแก้ท้องเสียที่มี Furazolidone และ/หรือมียาปฏิชีวานะเป็นส่วนประกอบ และ 4.ยา Amoxycillin powder 125 มก.ชนิดซอง เพราะเห็นว่าเป็นยาที่มีความไม่เหมาะสม อาจเป็นอันตรายกับผู้ใช้ แต่ยังพบเห็นยาดังกล่าวมีจำหน่ายทั้งในร้านยาและร้านขายของชำเป็นจำนวนมาก ------------------------------------------------------------------------------------------   สามารถตรวจสอบรายชื่อตำรับยาที่ถูกเพิกทอนทะเบียนทั้งหมดได้ที่เว็บไซต์ของ อย. http://wwwapp1.fda.moph.go.th/drug/zone_law/law010.asp ------------------------------------------------------------------------------------------ ขณะนี้มียาที่รอการทบทวนอยู่ทั้งหมดถึง 50 รายการ จากการประชุมของคณะอนุกรรมการทบทวนตำรับยาแผนปัจจุบันสำหรับมนุษย์ เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2554 ซึ่งทาง อย. ตั้งใจให้มีการทบทวนยาทั้งหมดเสร็จสิ้นภายในปี 2556 (หนึ่งในนั้นมียาที่มีส่วนผสมของ Methylene blue ที่ภาคประชาชนเสนอให้มีการทบทวนรวมอยู่ด้วย) ------------------------------------------------------------------------------------------   การรู้และเข้าถึงข้อมูลยา...ปัญหาใหญ่ของผู้บริโภค  เป็นเรื่องที่น่าเสียดายและน่าตกใจ ที่คนไทยเรายังเข้าถึงข้อมูลของยาต่างๆ ในระดับที่น้อยถึงน้อยมาก นั่นเป็นเพราะคนไทยเราค่อนข้างให้ความเชื่อถือในตัวสถานพยาบาล ตัวบุคลากร ซึ่งก็คือแพทย์ และเภสัชกร ว่าสามารถรักษาและดูแลเวลาเจ็บไข้ได้ป่วยได้เป็นอย่างดี ทำให้หลายคนมองข้ามที่จะศึกษาข้อมูลยาต่างๆ ที่ใช้อยู่หรือได้เวลาไปพบแพทย์ ซึ่งหากใช้แล้วอาการดีขึ้นหรือรักษาโรคให้หายได้ก็คงไม่มีปัญหา แต่หากเกิดผลในทางตรงกันข้าม คือกินยาแล้วกลับเจ็บป่วยมากกว่าเดิม ได้โรคเพิ่มขึ้น หรือรุนแรงไปจนถึงขั้นเสียชีวิต ซึ่งก็สายไปแล้วที่จะแก้ไข การรู้จักหรือเข้าถึงข้อมูลของยาที่ใช้จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม คำถามที่ตามมาคือแล้วผู้บริโภคธรรมดาๆ จะเข้าถึงข้อมูลยาได้ด้วยวิธีไหน ข้อมูลยาพื้นฐานที่เราทุกคนสามารถเข้าถึงได้ง่ายที่สุดก็คือ ข้อมูลบนฉลากยาและเอกสารกำกับยา ซึ่งต้องมีมาพร้อมกับยาที่เราซื้อมาใช้ หากไม่มีข้อมูลบนฉลากหรือเอกสารกำกับยาแนบมาให้ ก็ควรหลีกเลี่ยงอย่าซื้อมาใช้ ถ้าเป็นยาที่เราได้รับจากแพทย์ที่เราไปรับการรักษาตามสถานพยาบาลต่างๆ ที่มักจะจัดยามาเป็นชุด บรรจุอยู่ในซองยา ไม่ได้มีฉลากหรือเอกสารใดๆ แนบมา ผู้ที่รับยาก็ต้องสอบถามข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับผลของยา วิธีการใช้ยา ให้เข้าใจครบถ้วน เพื่อประโยชน์ของตัวเอง  แม้อาจจะมีอุปสรรคเรื่องภาษา ด้วยว่ายาที่เราใช้กันอยู่เป็นยาฝรั่ง นำเข้าหรือมีการผลิตคิดค้นในต่างประเทศ ชื่อสามัญทางยาชื่อจึงเป็นภาษาอังกฤษเป็นส่วนใหญ่ แถมยังเป็นคำศัพท์เฉพาะทาง อ่านยาก จดจำยาก แต่ก็ถือว่าเป็นหน้าที่ของผู้บริโภคอย่างเราที่อาจต้องใช้ความพยายามสักหน่อยในการทำความเข้าใจ ก็เพื่อความความปลอดภัยในการใช้ยาของตัวเราเอง  การเข้าถึงข้อมูลยาจึงมีประโยชน์ทั้งในเรื่องของความปลอดภัย เป็นข้อมูลสำคัญในการรักษาโรค โดยเฉพาะยิ่งเมื่อเรารู้ชื่อสามัญทางยา ไม่ยึดติดอยู่กับชื่อทางการค้าหรือชื่อยี่ห้อ ก็อาจช่วยให้เราได้ใช้ยาในราคาที่ถูกลง  นอกจากปัญหาที่คนขาดความสนใจ และขาดช่องทางในการเข้าถึงข้อมูลยาแล้ว อีกหนึ่งปัญหาเกี่ยวกับข้อมูลยาที่น่ากังวลไม่แพ้กันก็คือ การรับข้อมูลยาที่ไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสมที่ถูกเผยแพร่ผ่านทางสื่อต่างๆ ทั้ง ทีวี เคเบิ้ลท้องถิ่น วิทยุชุมชน และตามเว็บไซต์ต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการให้ข้อมูลเพื่อมุงหวังทางธุรกิจ คือเป็นการอวดอ้างสรรพคุณในทางรักษาโรคเกินจริง ซึ่งสร้างปัญหาให้กับผู้บริโภคอย่างมาก แม้ส่วนมากจะเป็นในลักษณะของอาหารเสริมแต่อ้างผลในการรักษาโรค สร้างความสับสันให้กับผู้บริโภคเป็นอย่างมาก แถมผลิตภัณฑ์เหล่านี้ก็จะอ้างเรื่องการรับรองจาก อย. ทำให้ผู้บริโภควางใจหาซื้อมารับประทาน จนเกิดผลร้ายกับร่างกายอย่างที่เคยปรากฏเป็นข่าวหรือที่เคยมีการบันทึกเอาไว้ เช่น กรณีของคุณยายวัยหกสิบกว่าคนหนึ่งที่ทานผลิตภัณฑ์กวาวเครือขาวและกวาวเครือแดงอัดแคปซูลที่สั่งซื้อมาหลังจากได้ยินประกาศโฆษณาทางวิทยุว่ากินแล้ว บำรุงสมอง บำรุงประสาท เสริมสมรรถภาพทางเพศ โดยกินนติดต่อกันมาเป็นเวลาเดือนกว่าๆ ก็ปรากฏว่ามีเลือดไหลออกมาจากช่องคลอดของคุณยายติดต่อกันถึง 14 วัน เมื่อมาหาหมอ พบว่าเกิดความผิดปกติที่ผนังมดลูก ต้องรักษาด้วยการขูดผนังมดลูก สาเหตุน่าจะมาจากการได้รับสาร Phytoestrogen ที่อยู่ในกวาวเครือมากเกินไป โดยตัวคุณยายแกก็บอกว่าเห็นผลิตภัณฑ์ตัวนี้ผ่าน อย. แล้ว ไม่น่าจะมีอันตราย  ซึ่งนี้ก็เป็นเพราะผู้บริโภคขาดความรู้ในเรื่องข้อมูลยา ไม่รู้ถึงสารที่อยู่ในตัวยา ไม่รู้สรรพคุณที่แท้จริง ไม่รู้ว่าตัวยาดังกล่าวมีความจำเป็นต่อร่างกายมากน้อยแค่ไหน แถมยังถูกป้อนข้อมูลที่ผิดๆ ฝากไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องรีบพัฒนาระบบและวิธีการที่จะช่วยให้ผู้บริโภคเข้าถึงและตระหนักในการรับรู้ข้อมูลยาให้มากขึ้น รวมถึงการเฝ้าระวังการโฆษณาที่มีผลต่อการใช้ยาที่ไม่ถูกต้องหรือมุ่งหวังแต่ผลทางการค้าเพียงอย่างเดียว ด้านผู้บริโภคเองก็ต้องสร้างทัศนคติเรื่องการใหม่ในการใช้ต้องให้ความสำคัญมากขึ้น ใช้ยาอย่างระมัดระวัง ให้คิดเสมอว่าการใช้ยาก็อาจให้โทษได้เช่นกัน และโทษของการใช้ยาที่ไม่ถูกต้องหรือผิดวิธีนั่นร้ายแรงมาก ซึ่งคนที่รับผลนั่นก็คือสุขภาพร่างกายของเราเอง  ใช้ยาอย่างไรให้ปลอดภัย  1.รู้จักยาที่จะใช้ ไม่ว่ายานั้นจะได้มาจากการจ่ายยาของแพทย์ หรือผู้ป่วยหาซื้อเองจากร้านขายยา สำคัญอย่างยิ่งที่ผู้ใช้ยาต้องศึกษายาที่จะใช้ให้ดีว่ามีความปลอดภัย เหมาะสม ถูกต้องตรงตามอาการป่วยที่เราต้องการรักษา  ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับยาที่ควรรู้ ก็คือ  -ชื่อสามัญทางยา การรู้จักชื่อสามัญทางยามีประโยชน์ เพราะเราจะสามารถทราบได้ว่ายาที่เราใช้ คือยาอะไร ตัวเรามีประวัติการแพ้ยาตัวนี้หรือไม่ หรือหากกำลังใช้ยาตัวนี้อยู่แล้วจะได้แจ้งกับแพทย์ที่จ่ายยาป้องกันการใช้ยาซ้ำซ้อน ซึ่งปกติยาที่ได้รับการรับรองอย่างถูกกฎหมายจะต้องมีการแจ้งชื่อสามัญทางยาไว้ในเอกสารกำกับยา หรือถ้าเป็นยาที่สั่งจ่ายโดยแพทย์หรือเภสัชกรก็ต้องมีการเขียนแจ้งไว้ที่หน้าซองที่ใช้บรรจุยา  -เมื่อรู้จักชื่อสามัญทางยาแล้ว ก็ต้องรู้จักชื่อทางการค้าด้วย เพื่อเป็นข้อมูลสำคัญหากพบว่าใช้ยาตัวดังกล่าวแล้วเกิดอันตราย -ลักษณะทางกายภาพของยา ทั้ง สี กลิ่น รูปร่าง เพราะหากวันหนึ่ง ยาตัวดังกล่าวเกิดมีลักษณะทางกายภาพผิดแปลก เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ให้หยุดใช้ยาตัวดังกล่าว เพราะการที่ยาเปลี่ยนแปลงลักษณะอาจเป็นสัญญาณบอกว่าชนิดนี้อาจเป็นอันตรายได้  -ข้อกำหนดในการใช้ยา ขนาดและวิธีใช้ ว่าต้องรับประทานในปริมาณเท่าไหร่ ทานเมื่อไหร่ อย่างไร และยาที่ทานอยู่สามารถทานได้นานแค่ไหน ไม่ควรทานติดต่อกันเป็นเวลาเท่าไหร่  -ต้องรู้ว่าในสถานการณ์ใดที่ควรหยุดใช้ยา เช่น ใช้ยาแล้วแสดงอาการไม่พึงประสงค์ หรือเกิดอาการแพ้ยา ซึ่งควรแจ้งลักษณะอาการด้วย เช่น ใจสั่น ปวดท้อง ฯลฯ  -คำเตือนและข้อห้ามในการใช้ยา  -ผลข้างเคียงของการใช้  -วิธีการเก็บรักษายา 2.อ่านฉลากและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด  ทำความเข้าใจยาที่จะใช้อย่างถูกต้องครบถ้วน หากอ่านฉลากหรือเอกสารกำกับยาแล้วยงมีส่วนที่สงสัยให้ปรึกษาแพทย์ เภสัชกร หรือสอบถามไปที่ อย.  3.ต้องให้ข้อมูลกับแพทย์ เภสัชกร หรือคนที่มีหน้าที่จ่ายยาให้กับเราให้มากที่สุด  ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลประวัติการแพ้ยา ข้อกำจัดในการใช้ยา เช่น รับประทานยาแคปซูลไม่ได้ หรือปกติต้องทำงานที่ต้องใช้ความระมัดระวังสูงต้องหลีกเลี่ยงยาที่รับประทานแล้วทำให้เกิดอาการง่วงนอน รวมทั้งหากในตอนนั้นมีการใช้ยาตัวอื่นหรือรับประทานอาหารเสริมอื่นๆ ร่วมอยู่ด้วยก็ต้องแจ้งให้กับผู้ที่จ่ายยาทราบ ที่สำคัญคือคือตัวเราเองมีข้อสงสัยในเรื่องใดๆ ที่เกี่ยวกับการใช้ยาต้องสอบถามให้เข้าใจก่อนใช้ยา  4.สอบถามถึงสาเหตุที่จะทำให้ปฏิกิริยาจากการใช้ยา  ต้องสอบถามกับแพทย์ เภสัชกร หรือคนที่มีหน้าที่จ่ายยาให้กับเรา ว่ายาที่เรารับประทานนั้นจะมีปฏิกิริยากับอาหาร อาหารเสริม หรือยาตัวอื่นๆ ที่เรารับประทานอยู่หรือไม่ อย่างไร แล้วหากทำปฏิกิริยากันจะแสดงอาการอย่างไร มีผลเสียหรือไม่ ต้องหยุดรับประทานยาหรืออาหารเสริมที่รับประทานอยู่หรือไม่  5.ต้องคอยสังเกตดูผลจากการใช้ยาและอาการข้างเคียง  หากเกิดอาการใดๆ ที่รู้สึกผิดปกติระหว่างใช้ยา ต้องปรึกษาแพทย์ทันที และควรมีข้อมูลการปฏิบัติตัวเมื่อเกิดอาการข้างเคียงจากการใช้ยา  ----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------ข้อมูลประกอบบทความ : ยาวิพากษ์ ปีที่ 2 ฉบับที่ 6 กันยายน 2553, แผนงานสร้างกลไกลเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยาวิพากษ์ ปีที่ 3 ฉบับที่ 9 เมษายน 2554, แผนงานสร้างกลไกลเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสิทธิผู้บริโภคเพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา, ผศ.ดร.วิทยา กุลสมบูรณ์ การใช้ยาอย่างปลอดภัย, กองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาร่างพระราชบัญญัติยา พ.ศ.... (ฉบับประชาชน), มูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา และคณะศูนย์ข้อมูลยาปลอมและยาลักลอบนำเข้า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาhttp://wwwapp1.fda.moph.go.th/counterfeit/public/index.aspxสำนักยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาhttp://wwwapp1.fda.moph.go.th/drug/zone_law/law010.asp  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 128 ป้องกันภัย...เด็กตกตึก

  ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก สังกัดภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี   กรณีข่าวการเสียชีวิตของเด็กเล็กที่ตกลงมาจากตึกสูง ไม่อาจมองเป็นเพียงแค่อุบัติเหตุที่น่าสลดใจเท่านั้น หากเมื่อได้ประมวลสถานการณ์และสภาพแวดล้อมแล้ว จะพบว่าเป็นอุบัติเหตุที่ป้องกันได้ ขอเพียงแต่ให้เป็นความรับผิดชอบร่วมกันของผู้ปกครอง ผู้ออกแบบ และเจ้าของอาคารสูงสำหรับพักอาศัย ตลอดไปถึงอาคารสูงสาธารณะ ที่พร้อมจะช่วยกันดูแลและปกป้องชีวิตน้อยๆ ให้อยู่รอด ปลอดภัย   เหตุการณ์จริง   กรณีที่ 1   คอนโดมิเนียมย่านเมืองทองธานี เด็กหญิง 4 ปี ตกระเบียงชั้น 12   เวลาราว 9 โมงเช้าของวันที่ 6  ก.พ. 2553  เด็กหญิงวัย 4 ปี ต้องอยู่ในห้องพัก(ชั้น12) โดยลำพัง เพราะคุณพ่อลงไปซื้อของกินของใช้ที่ร้านสะดวกซื้อ ที่ชั้นล่างของคอนโด ส่วนคุณแม่ซึ่งเป็นนางพยาบาลก็ต้องไปเข้าเวรตามกิจวัตร อาจเพราะด้วยความซุกซนตามวัย หรือตามหาคุณพ่อคุณแม่ จึงเดินไปเปิดประตูบานเลื่อนแล้วเข้าสู่ระเบียง(เพราะประตูห้องปิดล๊อกไว้)   แล้วเธอก็ปีนตู้แอร์(คอมเพรสเซอร์)ซึ่งจัดวางอยู่ติดระเบียง  พลัดตกลงมา บนพื้นปูนที่ชั้น 5 ซึ่งทำยื่นออกมาเพื่อเป็นที่ตั้งของสวนหย่อม –สระว่ายน้ำ-สนามเทนนิส   กรณีที่ 2   สถานที่คอนโดแห่งหนึ่ง ย่าน บางแค เด็กชาย 5 ปี ตกระเบียงชั้น 7  คุณพ่อปล่อยให้ลูกชายวัย 5 ปีนอนหลับโดยลำพัง โดยตนเองขับรถออกไปจากห้องพักเพื่อไปรับลูกสาวและภรรยาที่สถานีขนส่งหมอชิตใหม่  หลังจากคุณพ่อออกรถไปได้ไม่นาน เด็กชายตื่นขึ้น คาดว่าได้เดินไปเปิดที่ประตูกระจกบานเลื่อน แล้วออกมาที่หน้าระเบียง ซึ่งมีราวระเบียงสูงเพียง 70 ซ.ม. และมีช่องว่างระหว่างราวแต่ละช่องประมาณ 20 ซ.ม. เด็กได้ตกลงมาโดยไม่รู้ว่าเป็นการปีนป่าย หรือมุดลอดช่องห่างระหว่างราว  กรณีที่ 3   สถานที่คอนโดมิเนียมแห่งหนึ่ง ย่านพัทยา พ่อกินยาตาย หลังจากลูกชายวัย 4 ปีตกระเบียงชั้น 16   โค้ชสอนมวยไทย ชาวอเมริกัน วัย40 ปี ได้ตัดสินใจฆ่าตัวตายในห้องพัก โดยกินยาเกินขนาด 3 วันหลังจากลูกชายประสบอุบัติเหตุ เสียชีวิตจากการตกราวระเบียงจากห้องพักที่ชั้น 16 โดยทิ้งบันทึกไว้ว่า...I love my son   เหตุที่คล้ายคลึงกันและป้องกันได้ เมื่อเด็กพลัดตกจากที่สูงไม่ว่าจะบ้าน อาคารสูง คอนโด หรือที่สาธารณะ จุดที่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บรุนแรงในเด็ก คือ การบาดเจ็บบริเวณศีรษะ เนื่องจากเด็กมีน้ำหนักศีรษะมาก เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ใหญ่ ดังนั้นการตกลงมาของเด็กจะคล้ายลูกแบดมินตัน คือเอาส่วนหัวเป็นส่วนนำ หากไม่เสียชีวิตก็มีโอกาสพิการได้มาก ไม่เพียงแค่นั้น เด็กเล็กๆ คือศูนย์รวมจิตใจของพ่อ แม่ และผู้ดูแล การเสียชีวิตของเด็ก อาจก่อให้เกิดผลกระทบกระเทือนต่อสภาพจิตใจของผู้ปกครองอย่างรุนแรง เกิดความซึมเศร้า จนคิดทำร้ายตนเองตามมาได้ จะมีก็แต่ผู้ออกแบบ ผู้ประกอบการ ผู้รับผิดชอบควบคุมอาคารตามอำนาจหน้าที่ฝ่ายรัฐ เท่านั้น ที่อาจจะยังไม่รู้สึกเลยว่า การเสียชีวิตที่เกิดขึ้นนี้ ส่วนหนึ่งคือความรับผิดชอบของตนเองด้วย  จากการวิเคราะห์เหตุการณ์ตายของเด็กเล็กเหล่านี้พบว่า องค์ประกอบของเหตุมีจุดบกพร่องทั้งสามด้านคือพฤติกรรมของเด็ก การดูแลของผู้ปกครอง และการออกแบบสิ่งแวดล้อมไม่เหมาะสมกับเด็กที่เป็นผู้ใช้สถานที่ร่วมกับผู้ใหญ่  1.พฤติกรรมของเด็กเล็ก  เด็กวัยนี้ เป็นวัยซุกซน ชอบสำรวจ ขณะเดียวกันก็ยังไม่รับรู้ความเสี่ยงมากนักจนกว่าจะอายุหกปีขึ้นไป จึงเป็นเรื่องที่ป้องกันได้ยาก การดูแลของผู้ปกครองที่ประมาทแม้เพียงนิด เช่น การทอดทิ้งเด็กอายุน้อยกว่าหกปีให้อยู่ในสถานที่เสี่ยงตามลำพังนั้น ไม่เป็นไปตามมาตรฐานขั้นต่ำในการดูแลเด็ก จริงๆ แล้ว ถือว่า มีความผิดตาม พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก พ่อแม่ต้องเข้าใจเรื่องพัฒนาการเด็ก วิธีการดูแลที่ถูกต้องและสำคัญต้องไม่ปล่อยให้เด็กอยู่ตามลำพัง ในต่างประเทศมีการใช้กฎหมายเข้าแทรกแซงครอบครัวที่มีการเลี้ยงดูเด็กที่ไม่เหมาะสมเพื่อป้องกันปัญหาลักษณะนี้ แต่เมืองไทยยังไม่เคยเห็นการจัดการที่เป็นรูปธรรม  2. สถานที่  ความเสี่ยงสำคัญคือ  มีการออกแบบไม่เหมาะสมกับผู้ใช้ที่เป็นเด็ก ผิดพลาด โดยในประเทศเราไม่มีกฎหมายกำหนด แต่ในต่างประเทศมีการศึกษาและกำหนดสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยสำหรับเด็กอย่างชัดเจน ที่ประเทศออสเตรเลียมีงานวิจัยของ Dr. John F Culvenor ที่พบว่าในปี 1992-1993 มีเด็กได้รับบาดเจ็บจากการพลัดตกจากที่สูงถึง 6,642 คน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นเด็กอายุน้อยกว่า 4 ปีถึงร้อยละ 33 ของการบาดเจ็บทั้งหมด โดยเหตุการณ์การตกส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นจากการตกจากเครื่องกั้นหรือราวกันตกที่สูงไม่เกิน 90 เซนติเมตรเท่านั้น! หรือไม่ก็เป็นการมุดลอดตามช่องของซี่ราวกันตก  ซึ่งมีความกว้างมากจนเด็กสามารถมุดลอดได้ โดยระบุว่าช่องว่างระหว่างราวระเบียงเป็นจุดที่ดึงดูดให้เด็กเข้าไปเล่นมาก เพราะเนื่องจากมีขนาดที่เหมาะต่อการสอดแขน ขา หรือศีรษะ หรืออีกพฤติกรรมหนึ่งของเด็กคือการปีนราวกันตกหรือที่กั้นกันตก (ซึ่งไม่แตกต่างจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่บ้านเราเลย) เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวนี้ต้องเริ่มต้นที่การออกแบบอาคาร โดยให้คำนึงถึงความปลอดภัยที่สามารถป้องกันได้ ซึ่งมีวิธีการตรวจสอบความเสี่ยงและสิ่งที่ต้องคำนึงถึงดังนี้  1) ราวหรือแผ่นกั้นกันตกควรมีความสูงจากพื้นถึงขอบราวไม่ต่ำกว่า 100 เซนติเมตร โดยอาคารตั้งแต่สามชั้นขึ้นไป (ซึ่งพบว่ามีการบาดเจ็บรุนแรงจากการตก) ต้องมีความสูงราวหรือแผ่นกันตก ไม่ต่ำกว่า 120 เซนติเมตร จากพื้น 2) ไม่มีจุดที่สามารถปีนป่ายได้ หมายถึง ต้องไม่มีโครงสร้างลักษณะที่เป็นแท่งในแนวนอนและมีช่องรูให้วางเท้าที่เอื้อต่อการปีนป่าย รวมไปถึงตำแหน่งการวางของที่ใกล้ราวกันตก ที่ทำให้สามารถปีนป่ายได้ เช่น ตู้แอร์(คอมเพรสเซอร์) ที่วางไว้บริเวณระเบียง เป็นต้น  3) ราวกั้นกันตก ควรเป็นลักษณะแนวตั้ง โดยช่องว่างระหว่างราวควรมีระยะห่างที่พอเหมาะไม่กว้างเกินกว่า 9 เซนติเมตร ซึ่งเป็นระยะที่แคบที่สุดที่เด็กเล็กจะสามารถมุดลอดโดยเอาเท้า ขา และลำตัวสอดเข้าไปได้แต่ศีรษะติดค้างเกิดการเสียชีวิตในลักษณะแขวนคอได้ หรือออกแบบให้เป็นแผ่นทึบแทนเช่น คอนกรีต โดยไม่เจาะช่องลมให้เป็นที่สอดเท้าเหยียบแล้วปีนป่ายได้  4) ซี่ราวแนวนอนซึ่งเป็นคานล่างของซี่ราวแนวตั้งนั้นมีได้ แต่ต้องอยู่สูงจากพื้นไม่เกิน 9 เซนติเมตร เช่นเดียวกันซี่ราวที่สูงเกินกว่า 100 เซนติเมตร นั้นมีซี่ราวแนวนอนเป็นคานยึดซี่ราวแนวตั้งได้ที่ระดับ 100 เซนติเมตรเป็นต้นไปเท่านั้น   ในประเทศไทยขณะนี้ยังไม่กฎหมายบังคับที่แน่ชัด แต่ในพระราชบัญญัติควบคุมอาคารของกระทรวงมหาดไทยระบุไว้แต่เพียงว่า ความสูงจากพื้นถึงขอบหน้าต่างไม่ควรต่ำกว่า 90 เซนติเมตร ไม่มีการกำหนดลักษณะระเบียง ราวกันตก ช่องห่าง การวางเฟอร์นิเจอร์ที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการปีนป่าย ทั้งในบ้าน อาคาร และที่สาธารณะ  ซึ่งเรื่องดังกล่าวนี้สามารถแก้ไขได้ เพียงแค่ผู้บริหารบ้านเมืองกำหนดกฎหมายที่แน่ชัด ผู้ประกอบการให้ความสำคัญและคำนึงถึงความปลอดภัยควบคู่ไปกับผลประกอบการที่จะได้รับ และพ่อแม่ผู้ปกครองใสใจดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด เพียงเท่านี้ก็จะสามารถลดอัตราการบาดเจ็บจากการพลัดตกจากที่สูงได้ดีที่สุด   ข้อมูล จากการประชุมเวทีประชาชนเพื่อความปลอดภัยในเด็ก จัดโดย คณะแพทยศาสตร์สามสถาบัน (จุฬา-รามา-ศิริราช) ร่วมกับวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย และ สำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ วันที่ 18 มิถุนายน 2554 ณ อิมแพค คอนเวนชั่น เซนเตอร์ เมืองทองธานี

อ่านเพิ่มเติม >