ฉบับที่ 277 เปิดคลินิกในปั๊มน้ำมันแบบนี้ก็ได้หรือ

        ความปลอดภัยจากสินค้าและบริการ เป็นเรื่องที่ผู้บริโภคทุกคนต้องร่วมด้วยช่วยกัน เพราะหากปล่อยไว้วันหนึ่งความเสียหายอาจมาถึงตัวเราเองและคนใกล้ตัวเข้าสักวัน         วันหนึ่งเมื่อคุณกองฟางพบว่า ในปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่งในอำเภอเมืองสกลนครมีการเปิดคลิกนิกให้บริการทางการแพทย์ เขารู้สึกแปลกใจ เพราะไม่คิดว่า คลินิกจะสามารถตั้งอยู่ในสถานที่เช่นนี้ได้ เพราะโดยปกติในปั๊มน้ำมันจะพบเห็นร้านอาหาร ร้านกาแฟ และร้านสะดวกซื้อเท่านั้น        เมื่อความสงสัยและประหลาดใจเกิดขึ้นแล้ว มันต้องเคลียร์เพื่อไม่ให้คาใจคุณกองฟางจึงได้พยายามสอบถามข้อมูลจากผู้คนต่างๆ และได้รู้ข้อมูลต่อมาว่าในคลินิกแห่งนี้มีผู้อ้างตนว่าเป็นแพทย์ หรือ มีการทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นแพทย์ ทำการตรวจรักษาโรค จ่ายยา ฉีดยา เช่นเดียวกับแพทย์ ก็ยิ่งทำให้ไม่สบายใจมากขึ้น จากความสงสัยในตอนแรกว่าสถานที่ตั้งคลินิกถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ เพราะหน้าร้านมีเพียงป้ายระบุชื่อคลินิกขนาดเล็ก ไม่มีป้ายแสดงชื่อผู้ตรวจ ชื่อประเภทและลักษณะการให้บริการ ไม่มีเลขที่ใบอนุญาต จึงนำมาสู่การตั้งคำถามว่าผู้ตรวจรักษาโรค เป็นแพทย์จริงหรือไม่และคลินิกได้รับอนุญาตเปิดคลินิก ถูกต้องหรือไม่ คุณกองฟางจึงเข้ามาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคในเดือนมกราคมที่ผ่านมา เพื่อให้ช่วยตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่ม  แนวทางการแก้ไขปัญหา         เมื่อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนแล้ว ได้ขอข้อมูลเพิ่มเติมจากคุณกองฟาง พร้อมทำหนังสือถึงนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสกลนคร เพื่อให้ตรวจสอบว่าคลินิกดังกล่าวได้จดทะเบียนและเปิดให้บริการอย่างถูกต้องหรือไม่ แล้วการอนุญาตให้เปิดในปั๊มน้ำมันนั้นสามารถทำได้หรือไม่         ต่อมาวันที่ 21 มี.ค. 2567 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดได้รายงานผลการดำเนินการตรวจสอบการขออนุญาตของคลินิกว่าภายหลังจากที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสกลนครได้ลงพื้นที่ตรวจสอบในวันที่ 12 .ก.พ. พบว่า คลินิกที่ถูกร้องเรียนนี้มีปัญหาจริงหลายประการ เจ้าหน้าที่จึงให้การอนุญาตแบบมีเงื่อนไขโดยให้คลินิกปรับปรุงแก้ไขให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน แต่ต่อมาพบว่า คลินิกดังกล่าวไม่ได้ดำเนินการแก้ไขให้ครบถ้วนในระยะเวลาที่กำหนด  สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดจึงออกคำสั่งยกเลิกและคืนคำขออนุญาตทำให้คลินิกต้องปิดตัวลง           กรณีนี้มีข้อที่ประชาชนควรรู้คือการเปิดคลินิกให้บริการทางการแพทย์แก่ประชาชนอยู่ภายใต้การควบคุม กำกับดูแลตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2551 การเปิดให้บริการคลินิกแต่ละประเภทต่างๆ เช่น คลินิกทันตกรรม  คลินิกกายภาพบำบัด  คลินิกเวชกรรมต่างๆ กฎหมายได้กำหนดมาตรฐานที่ผู้ขอเปิดให้บริการต้องดำเนินการไว้แตกต่างกัน...หากประชาชนพบความผิดปกติ หวาดกลัวว่าจะไม่ปลอดภัยสามารถร้องเรียนเรื่องเข้ามาได้ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หรือร้องเรียนโดยตรงได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดของแต่ละพื้นที่เพื่อให้เจ้าหน้าที่ลงตรวจสอบ บังคับใช้กฎหมายเช่นกรณีนี้         สำหรับกรณีเรื่องสถานที่ตั้งในปั๊มน้ำมันนั้น กฎหมายไม่ได้ระบุชัดว่าได้หรือไม่ได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 275 ประกันมะเร็งต้องอ่านเงื่อนไขดีๆ

        มะเร็งเป็นโรคร้ายแรงที่การรักษานั้นค่อนข้างยาก ใช้เวลาและค่าใช้จ่ายสูง อีกทั้งมีสถิติที่พรากชีวิตคนไทยในแต่ละปีค่อนข้างสูง ทำให้บริษัทประกันภัยหลายแห่งจัดรูปแบบกรมธรรม์เพื่อคุ้มครองเรื่องการรักษามะเร็ง มาเป็นตัวเลือกสำหรับผู้บริโภค         เรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้ เป็นข้อเตือนใจจากคุณน้ำ ซึ่งเข้ามาขอคำปรึกษาในคดีหนึ่ง แต่เรื่องที่เล่านี้เป็นประสบการณ์เก่าที่เธอเคยประสบจากการทำประกันโรคมะเร็ง ซึ่งผ่านมาหลายปีแล้ว เมื่อมองย้อนไปคุณน้ำพบว่าตัวเองพลาดที่ไม่ได้อ่านเงื่อนไขให้ดีจึงเสียโอกาสที่จะได้รับการคุ้มครองจากการทำประกันมะเร็ง ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค จึงได้ขออนุญาตนำเรื่องนี้มีเล่าเพื่อฝากไว้ให้ผู้บริโภคได้ใช้เป็นบทเรียน         คุณน้ำ เริ่มต้นทำงานเป็นพนักงานบริษัทเอกชน เธอจึงวางแผนการใช้เงินอย่างรัดกุม นอกจากค่าใช้จ่ายรายเดือน เธอได้วางแผนการออมเงินด้วย ทั้งออมเงินแบบฝากกับธนาคาร และการทำประกันชีวิตหลายฉบับเพื่อคุ้มครองชีวิตและสุขภาพ โดยคาดการณ์ว่าเพื่อเป็นการใช้ชีวิตหลังเกษียณแบบไม่ลำบาก ทั้งนี้ ประกันชีวิต  1 ฉบับในหลายฉบับที่ทำคือ ประกันมะเร็ง เพราะคิดว่า มะเร็งเป็นโรคที่ต้องใช้เงินในการรักษาสูงมาก หากเป็นหนึ่งในความเสี่ยงก็ควรทำประกันไว้ก่อน แม้ว่าค่าเบี้ยประกันจะค่อนข้างแพง         จากวันแรกๆ ที่เริ่มงานผ่านมาจนถึงหลังวัยเกษียณ เมื่อเธอเกษียณได้ไม่นาน แพทย์ตรวจพบว่าเธอเป็นมะเร็งระยะเริ่มต้น คุณน้ำตกใจแต่ก็รู้สึกว่า เอาน่ายังดีนะที่เธอได้ทำประกันมะเร็งเอาไว้ เธอจึงติดต่อตัวแทนบริษัทประกันเจ้าของกรมธรรม์ ต่อมาตัวแทนประกันซึ่งได้ขอเอกสารรายละเอียดที่หมอตรวจพบโรคมะเร็งพร้อมกับรายละเอียดการรักษาต่างๆ ไปจากเธอได้ไม่นานนัก ก็แจ้งกับเธอว่า บริษัทไม่สามารถจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้ได้ เพราะมะเร็งระยะที่กรมธรรม์คุ้มครองคือ ระยะที่ 2          คุณน้ำได้ฟังก็ถึงขั้นตกใจมาก เพราะที่เข้าใจมาตลอดคือ เมื่อตรวจเจอว่าเป็นมะเร็ง บริษัทจะคุ้มครอง ทันที แต่ตัวแทนบริษัทได้อธิบายว่า ในเอกสาร/เงื่อนไขสัญญาเขียนว่า จะคุ้มครองในระยะที่สอง ซึ่งคุณน้ำก็ได้แต่คิดว่า เมื่อแพทย์ตรวจพบมะเร็งแพทย์ก็ต้องเริ่มรักษาทันที ซึ่งไม่น่าจะมีใครรอให้โรคพัฒนาเข้าสู่ระยะที่ 2  จึงเริ่มรักษาเพื่อหวังให้ประกันคุ้มครองแน่นอน         นี่เป็นบทเรียนที่คุณน้ำประสบมา จึงขอนำมาฝากเตือนผู้บริโภคท่านอื่นๆ ว่า เมื่อจะทำประกันโรคร้ายแรง อย่างเช่น มะเร็ง ต้องอ่านรายละเอียดของประกันมะเร็งด้วยว่า มีความคุ้มครองครอบคลุมถึงประเด็นไหนบ้าง  เช่น มะเร็งทุกอวัยวะไหม หรือเฉพาะบางอวัยวะ หรือเจอมะเร็งจ่ายทันที คุ้มครองมะเร็งทุกระยะ รักษามะเร็งทุกขั้นตอน ฯลฯ ถามต่อตัวแทนประกันให้อธิบายอย่างละเอียด ตลอดจนซักถามตัวแทนประกันให้ละเอียดรอบคอบถึงข้อจำกัดต่างๆ  รวมทั้งต้องปรึกษาแพทย์เมื่อพบคำศัพท์เฉพาะทางทางการแพทย์ด้วย         ที่ควรพิจารณต่อมาคือ เรื่องเบี้ยประกันและวงเงินคุ้มครองเหมาะสมหรือเปล่า โดยต้องประเมินวงเงินคุ้มครองว่า หากเจ็บป่วยขึ้นมาวงเงินที่จะได้รับนั้น เพียงพอต่อค่ารักษาพยาบาลหรือการใช้จ่ายระหว่างการรักษาตัวหรือไม่ เช่น หากต้องการรักษากับโรงพยาบาลเอกชนก็จะต้องประเมินว่าค่าใช้จ่ายย่อมสูงกว่าโรงพยาบาลรัฐ เพื่อจะได้เลือกแผนประกันที่วงเงินคุ้มครองเหมาะสมที่สุด เป็นต้น         เลือกด้วยความรอบคอบว่าเราอยากได้เงินคุ้มครองลักษณะไหน เช่น ในกรณีที่เป็นการคุ้มครองค่ารักษาพยาบาล อาจเหมาะกับผู้ที่ยังไม่มีประกันสุขภาพและต้องการให้ประกันคุ้มครองเฉพาะการรักษาพยาบาลตลอดการรักษา ขณะที่ประกันแบบจ่ายเงินทันทีที่ตรวจพบมะเร็งนั้น อาจเหมาะกับผู้ที่มีประกันสุขภาพอยู่แล้วแต่ต้องการเงินก้อน เพื่อนำไปใช้ในการรักษาส่วนเกินจากประกันสุขภาพหรือนำไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เป็นต้น         อย่างไรก็ดีสำคัญที่สุดคือ อย่าพลาดการอ่านเงื่อนไขสัญญาให้ละเอียดเพื่อให้สิทธิประโยชน์ที่เราจะได้รับนั้นคุ้มค่ากับการลงทุน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 274 สิริลภัส กองตระการ: จากวันที่หัวใจแบกรับความเจ็บปวดไม่ไหวสู่การเป็นเสียงเพื่อผู้ป่วยโรคซึมเศร้า

        โรคซึมเศร้าเป็นเรื่องส่วนบุคคลจริงหรือ? มันเป็นความอ่อนแอก็แพ้ไปของคนคนหนึ่งเท่านั้นหรือไม่? คนที่ฆ่าตัวตายเพราะโรคซึมเศร้าเป็นคนคิดสั้นหรือ? ฯลฯ ในสังคมไทยมีคำถามมากมายที่ผลักไสโรคซึมเศร้าให้เป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล ไม่เข้มแข็ง เปราะบาง เป็น loser เป็นคนที่ไม่ประสบความสำเร็จ ยังมีตราประทับอีกอย่างชิ้นที่สังคมและคนที่ไม่เข้าใจพร้อมจะแปะให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า         ถ้าเป็นอย่างที่กล่าวมาข้างต้น เหตุใดจึงยังมีมหาเศรษฐี ดารา นักร้องที่ประสบความสำเร็จฆ่าตัวตายเพราะโรคซึมเศร้า สิ่งนี้อาจบอกเป็นนัยๆ ว่าโรคซึมเศร้าไม่ใช่โรคของคนขี้แพ้หรืออ่อนแอ แต่มีปัจจัยที่ซับซ้อนกว่านั้นมาก         “คนไม่ป่วยไม่รู้ มันเป็นทั้งความรู้สึกที่ทั้งอัดอั้นทั้งเจ็บปวด” เป็นคำพูดของ สิริลภัส กองตระการ ส.ส.พรรคก้าวไกล กรรมมาธิการสาธารณสุขสภาผู้แทนราษฎร กล่าว         เธอคือผู้ที่ลุกขึ้นอภิปรายงบประมาณประจำปี 2567 ด้านสาธารณสุขโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าว่าจำนวนเงินไม่สอดคล้องกับขนาดของปัญหาที่ดำรงอยู่ เนื่องจากงบประมาณส่วนนี้มุ่งให้ความสำคัญกับผู้ป่วยจิตเวชจากยาเสพติด แต่ให้ความสำคัญกับผู้ป่วยจิตเวชอื่นๆ น้อยเกินไป สิริลภัสอภิปรายในสภาว่า ผู้ป่วยสุขภาพจิตที่เกิดจากสารเสพติดมีจำนวน 2 แสนกว่าคน ขณะที่ผู้ป่วยทางสุขภาพจิตอื่นๆ มีจำนวนมากกว่า 1 ล้านคน แตกต่างกันถึง 5 เท่า โดยในส่วนผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี ปีล่าสุดมีมากถึง 360,000 คน         อีกทั้งงบประมาณปี 2567 ของกรมสุขภาพจิตได้รับก็เป็นเพียงร้อยละ 1.8 ของงบกระทรวงสาธารณสุขทั้งหมด ทั้งที่กรมสุขภาพจิตของบประมาณไป 4,300 ล้านบาท แต่ได้รับจัดสรรงบมาเพียง 2,999 ล้านบาท เรียกว่าโดนตัดไปมากกว่าร้อยละ 69.4         ทำไมสิริลภัสผู้เคยครองตำแหน่งรองชนะเลิศอันดับ 2 มิสทีนไทยแลนด์ ประจำปี 2546 ผ่านเข้ารอบ 12 คนสุดท้ายบนเวทีการประกวดมิสไทยแลนด์ยูนิเวิร์ส 2552 และนักแสดง ก่อนจะผันตัวสู่สนามการเมืองจึงใส่ใจเรื่องนี้เป็นพิเศษ         นั่นก็เพราะเธอเคยผ่านประสบการณ์การเป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่พยายามฆ่าตัวตาย โรคที่คนไม่เป็น (อาจ) ไม่มีวันเข้าใจความเจ็บปวดของโรคนี้         “หมิวยังจำวันที่ทำร้ายตัวเอง วันที่พยายามจะจบชีวิตตัวเองได้เป็นอย่างดี เพราะเราไม่อยากเจ็บที่ใจอีกแล้ว เจ็บที่ใจไม่ไหวแล้ว หมิวขอไปโฟกัสความเจ็บตรงอื่นบ้างได้มั้ย เราแบกรับความรู้สึกอารมณ์ที่บีบอัดในใจเราไม่ไหวอีกแล้ว เราพยายามตะเกียกตะกายเอาชีวิตรอดจากความรู้สึกที่ดําดิ่งแล้ว เหมือนคนที่กําลังจมน้ำแล้วมีหินถ่วงตลอดเวลา แต่ ณ วันนั้นเรารู้สึกว่าเราแบบตะเกียกตะกายยังไงเราก็ขึ้นมาหายใจไม่ได้สักทีก็เลยอยากปล่อยทุกอย่างไปเลย” ในวันที่หม่นมืด         สิริลภัสได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่ามีแนวโน้มจะเป็นโรคซึมเศร้าจากกรรมพันธุ์ที่ถูกส่งต่อมาจากมารดา ในที่สุดเธอก็ต้องเผชิญกับมันด้วยตัวเองจริงๆ เธอเข้ารับการรักษามาเกือบ 10 ปีแล้ว นับจากวันที่เริ่มมีอาการนอนไม่หลับ ใจหวิว เครียดจนทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ หลังจากทานยาและรับการบำบัดผ่านไประยะหนึ่งอาการก็ดีขึ้นเธอจึงหยุดยาเอง ซึ่งนี่เป็นข้อห้ามที่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าไม่รู้หรือรู้แต่ก็เลือกที่จะหยุด มันทำให้อาการของเธอเหวี่ยงไหวกลับมาหนักหน่วงกว่าเดิม         “ภายในระยะเวลาประมาณหนึ่งปีก็ทําให้อาการแย่ลงกว่าเดิม แล้วก็ไปเจอกับสถานการณ์ต่างๆ ที่เข้ามาณตอนนั้น เลยทําให้อาการกลับมาค่อนข้างแย่ลงกว่าเดิมในช่วงประมาณสามถึงสี่ปีที่แล้ว ช่วงนั้นเป็นช่วงที่หนักมาก ไปหาหมอบ่อยมาก ค่าใช้จ่ายสูง”        เธอจึงหาคลินิกเอกชนที่คิดค่าบริการถูกลงเพื่อลดภาระส่วนนี้ ทานยาต่อเนื่อง รับการบำบัด สร้างแรงจูงใจโดยการหาเป้าหมายให้ชีวิต อาการของเธอจึงดีขึ้นถึงปัจจุบัน         “แต่ก็ยังต้องทานยาเพื่อที่จะเมนเทนตัวเองไปเรื่อยๆ แล้วก็พูดคุยกับจิตแพทย์เพื่อให้คอยประเมินเพราะบางทีเรามาทํางานการเมืองด้วยนิสัยเราเป็นคนชอบกดดันตัวเองว่าอยากให้ประสิทธิภาพของงานออกมาดี เราอยากแก้ปัญหานี้ให้ได้ มันก็จะมีความใจร้ายกับตัวเองอยู่บ้าง คุณหมอก็ให้ยามาเพื่อช่วยลดความเครียด คลายวิตกกังวล ซึ่งตอนนี้หมิวรู้สึกว่ามันค่อนข้างคงที่แล้ว ส่วน pain point ที่เราเจอน่าจะเป็นเรื่องค่ารักษานี่แหละเพราะว่าครั้งหนึ่งก็เกือบหลักหมื่น ต่ำสุดก็เป็นหลักหลายพัน” สวัสดิการสุขภาพเชื่องช้าและไม่ครอบคลุม         ‘ฉลาดซื้อ’ ถามว่าทำไมเธอจึงไม่ใช่สิทธิสวัสดิการสุขภาพที่มีอยู่ คำตอบที่ได้คงเหมือนกับผู้ป่วยคนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคใดนั่นคือต้องใช้ระยะเวลารอนานกว่าจะได้พบแพทย์เฉพาะทาง เธอยกตัวอย่างแม่ของเธอที่ใช้สิทธิข้าราชการในโรงพยาบาลรัฐ เมื่อพบจิตแพทย์ครั้งหนึ่งแล้ว นัดครั้งต่อไปคืออีก 6 เดือนข้างหน้า แต่ยาที่ได้รับมีผลข้างเคียงค่อนข้างมากจนต้องเลือกว่าจะหยุดยาหรือจะทานต่อไปอีก 6 เดือนเพื่อพบจิตแพทย์         จากประสบการณ์ข้างต้นเธอจึงเลือกใช้บริการคลินิกเอกชนที่ไม่ต้องรอนานและได้พบแพทย์เพื่อติดตามอาการทุกอาทิตย์ เพราะด้วยอาชีพนักแสดงสภาวะจิตใจย่อมส่งผลต่อการทำงาน เธอจึงไม่สามารถรอและอยู่กับยาที่ส่งผลข้างเคียงได้ ซึ่งต้องแลกด้วยค่ารักษาพยาบาลที่สูงกว่าเพื่อแลกกับประสิทธิภาพในการรักษา         แน่นอนว่าสำหรับคนที่ไม่มีกำลังพอก็ต้องเลือกรับการรักษาตามสิทธิที่ตนมี แต่สิทธิประโยชน์ที่ได้ก็ยังไม่ครอบคลุม สิริลภัสยกตัวอย่างสิทธิประกันสังคมว่า บางครั้งการรักษาที่มีประสิทธิภาพผู้ป่วยจะต้องพบจิตแพทย์และนักจิตวิทยาควบคู่กัน แต่สิทธิที่มีนั้นครอบคลุมเฉพาะการพบจิตแพทย์เท่านั้น ทำให้ผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาที่ออกแบบมาอย่างเหมาะสม         “หมิวอภิปรายให้เห็นตัวเลขไปแล้วว่าจํานวนผู้ป่วยจิตเวชที่เกิดขึ้นจากยาเสพติดกับจํานวนผู้ป่วยจิตเวชอื่นๆ มันต่างกันยังไง พอไปดูในงบโครงการต่างๆ ก็เป็นโครงการบําบัดรักษาฟื้นฟูผู้ป่วยที่เกี่ยวกับยาเสพติดโครงการป้องกันไม่ให้เยาวชนเค้าถึงยาเสพติด คือโครงการต่างๆ เน้นหนักไปที่ผู้ป่วยจิตเวชที่เกิดจากยาเสพติด แต่ผู้ป่วยจิตเวชอื่นๆ ก็เป็นปัญหาเหมือนกัน อย่างที่ได้อภิปรายไว้ว่าเหตุการณ์ความรุนแรงหลายหลายครั้งสาเหตุเกิดจากผู้ป่วยจิตเวชและผู้ป่วยคนนั้นขาดยา มีอาการหลอนแล้วก็ออกมาก่อความรุนแรง” โรคซึมเศร้าไม่ใช่เรื่องส่วนบุคคล         นอกจากนี้ ตัวเลขอัตราการฆ่าตัวตายสําเร็จก็สูงขึ้นทุกปี กลุ่มสํารวจที่พยายามฆ่าตัวตายจำนวนมากเป็นวัยรุ่นต่อด้วยคนวัยทํางาน         “กลุ่มคนเหล่านี้กําลังจะเป็นบุคลากรที่ทํางานจ่ายภาษีให้กับรัฐเพื่อนำเงินมาพัฒนาประเทศต่อไป เราเห็นรัฐบาลชุดนี้ส่งเสริมเรื่องการมีบุตรเพื่อเติบโตมาเป็นบุคลากรทางสังคม ทํางาน เสียภาษี ในขณะที่มีผู้สูงวัยเยอะขึ้น แต่ปัจจุบันคุณไม่ได้มองปัญหาว่าเรามีบุคลากรที่เป็นวัยรุ่น วัยทํางาน ที่กําลังเสียภาษีให้คุณอยู่ แต่กลุ่มคนเหล่าส่วนหนึ่งที่ป่วย มีปัญหาสุขภาพจิต และจํานวนหนึ่งมีความพยายามฆ่าตัวตาย”         สิริลภัสเสริมว่าในการสำรวจกลุ่มวัยรุ่นใช้เกณฑ์อายุที่ 15 ปี แต่ปัจจุบันเด็กอายุตั้งแต่ 14 ลงไปที่ต้องพบกับการกลั่นแกล้งรังแก ความรุนแรงในครอบครัว ความกดดันและความคาดหวังจากครอบครัว และสังคมรอบข้างที่ทุกคนต่างพยายามนำเสนอชีวิตด้านดี ด้านที่ประสบความสำเร็จของตนผ่านโซเชียลมีเดียต่างๆ ก็ยิ่งเพิ่มแรงกดดันลงบนบ่าของวัยรุ่นกลุ่มนี้โดยที่พวกเขาอาจไม่รู้ว่าเบื้องหลังภาพชีวิตกินหรูอยู่ดี 1 ภาพอาจไม่ได้สวยหรูดังที่เห็น         แต่ภาพที่เสพมันได้หล่อหลอมให้พวกเขาต้องพยายามผลักดันตัวเองให้เป็นเช่นภาพที่เห็น อยากมีชีวิตที่ดีขึ้น ตั้งเป้าหมายไว้สูง ตามค่านิยมต่างๆ ในสังคม กลุ่มวัยรุ่นที่อายุต่ำกว่า 15 ลงไปจึงอาจเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้าที่ตกสำรวจ หมายความว่าตัวเลขผู้ป่วยซึมเศร้าอาจมีมากกว่าที่ปรากฏในผลสำรวจ         “ส่วนวัยทํางานก็เช่นเดียวกัน ตื่นเช้ามาฝ่ารถติดไปทํางาน ทํางานเสร็จหมดวันต้องฝ่ารถติดกลับบ้าน แล้วก็วนลูปเป็นซอมบี้ในทุนนิยม แล้วบางคนต้องส่งเงินกลับไปเลี้ยงดูคุณพ่อคุณแม่ที่บ้าน อย่างหมิวมีครอบครัว เราต้องดูแลครอบครัวเราด้วย ดูแลพ่อแม่ด้วย นี่คือภาวะแซนด์วิช ทุกอย่างมันกดทับเราไว้หมดเลย สุดท้ายแล้วบางคนหมดแรงจูงใจในการใช้ชีวิต ไม่มีเวลาแม้กระทั่งนั่งนิ่งๆ แล้วหายใจกับตัวเองดูว่าวันนี้ฉันทําอะไรบ้าง ฉันเหนื่อยกับอะไร เพราะแค่ต้องฝ่าฟันรถติดกลับบ้านก็หมดพลังแล้ว”         เมื่ออยู่ในภาวะเครียด ซึมเศร้า วิตกกังวล และหมดไฟเป็นเวลานาน คนกลุ่มนี้ก็เสี่ยงต่อการเป็นผู้ป่วยจิตเวช แต่ถ้ารับการดูแล ป้องกัน และรักษาแต่เนิ่นๆ หรือมีความรู้สามารถดูแลตัวเองได้ก่อนย่อมเป็นทางเลือกที่ดีกว่า ปัญหาคือขณะนี้ระบบสาธารณสุขมีบุคลากรด่านหน้าไม่เพียงพอที่จะสร้างภูมิคุ้มกันทางใจ ด่านหน้ายังอ่อนแอ         แม้ทางภาครัฐจะพยายามพัฒนาและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้เข้าใจและเข้าถึงการใช้บริการแอปพลิเคชั่นอย่างหมอพร้อม มีแบบประเมินสุขภาพจิตด้วยตนเอง แต่จากประสบการณ์ของสิริลภัสพบว่าระบบไม่เป็นมิตรต่อการใช้งาน        “ขอโทษนะคะหมิวพยายามเข้าแอปหมอพร้อมแล้วนะ ต้องลงลงทะเบียน ใส่รหัสเลขประจําตัวประชาชน หมิวไม่รู้ว่าของคนอื่นเป็นยังไงนะ แต่จะต้องลงทะเบียนว่าแบบเกิดปีที่เท่าไหร่ต้องไปไล่ปีเอาเอง บางทีก็รู้สึกว่ามันตอบโจทย์หรือเปล่า มันออกแบบมาได้โอเคแล้วหรือยัง แต่เขาบอกว่ามีแบบประเมินในหมอพร้อมก็ถือเป็นเรื่องดี”นะคะอะย้อนกลับมาตรงบุคลากรสายด่วนสุขภาพจิต”         ส่วนสายด่วนสุขภาพจิต สิริลภัสเล่าว่าเคยให้ทีมงานที่ทําข้อมูลทดลองโทร กว่าจะมีคนรับสายต้องรอนานถึง 30นาที เธอบอกว่าคนกําลังจะตัดสินใจฆ่าตัวตายแล้ว แค่นาทีเดียวเขาอาจจะไม่รอแล้ว อีกทั้งค่าตอบแทนของบุคลากรสายด่วนสุขภาพจิตก็ได้รับเพียง 50 บาทต่อครั้งและเงื่อนไขว่าจะจ่ายเฉพาะรายที่สามารถพิสูจน์ตัวตนได้ หมายความว่าผู้ที่โทรเข้าไปต้องบอกชื่อนามสกุล หมายเลขบัตรประจําตัวประชาชนถ้าผู้ใช้บริการเพียงแค่ต้องการปรึกษา ไม่สะดวกแจ้งข้อมูล แสดงว่าบุคลากรด่านหน้าจะไม่ได้รับค่าตอบแทนใช่หรือไม่         ยังไม่พูดถึงประเด็นคุณภาพในการให้บริการ เพราะถ้าผู้ให้บริการให้คําปรึกษาแบบลวกๆ จะเกิดอะไรขึ้น จากการตรวจสอบเสียงสะท้อนการใช้บริการสายด่วนสุขภาพจิตพบปัญหาว่า หนึ่ง-รอนาน สอง-โทรไปแล้วรู้สึกดิ่งกว่าเดิมหรือได้รับการให้คําปรึกษาที่ไม่ได้ทําให้ดีขึ้น เธอจึงเสนอให้ต้องพัฒนาทักษะความสามารถของบุคลากรด่านหน้าและเพิ่มตอบแทนเพื่อสร้างแรงจูงใจ เพิ่มบุคลากร         “และมันไม่ควรจบแค่นี้ ควรจะมีเซสชั่นอื่นๆ ที่ทําให้คนที่รู้สึกว่าชั้นอยากจะได้รับการรักษาหรือได้รับการบําบัด มีทางเลือกให้เขาเข้าถึงด้วย ซึ่งปัจจุบันนี้ยังมีน้อยมาก ทีนี้พอผ่านบุคลากรด่านหน้าไปแล้วถ้าจะต้องส่งถึงจิตแพทย์จริงๆ ก็พบอีกว่าจิตแพทย์ในประเทศไทยก็มีน้อยมากและกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพ”         ตัดมาที่ภาพในต่างจังหวัด กรณีต้องส่งต่อไปยังโรงพยาบาลศูนย์ซึ่งอาจอยู่ไกลจากบ้านมาก ทำให้มีต้นทุนด้านค่าเดินทางสูงเพราะระบบขนส่งสาธารณะในต่างจังหวัดไม่ครอบคลุม         “เสียค่าเดินทางไม่พอยังเสียเวลาอีก กว่าจะหาหมอได้แต่ละครั้งคือรอคิวนานมาก ย้อนกลับไปที่ประเด็นแรกเลยว่าถ้ายามีเอฟเฟคก็ต้องเหมือนรีเซ็ตระบบการรักษาตัวเองใหม่ ซึ่งทําให้การเข้าถึงบริการการรักษาปัญหาสุขภาพจิตของประชาชนมีน้อยและจํากัดมาก ทําให้จํานวนตัวเลขผู้ป่วยที่มีอยู่เพิ่มมากขึ้น เพราะเราต้องมองว่าผู้ป่วยหนึ่งคนกว่าที่เขาจะเข้ารับการบําบัดรักษาฟื้นฟูมันไม่สามารถประเมิน เพราะมันคือเรื่องความรู้สึก มันต้องประเมินร่วมกันระหว่างผู้ป่วยกับแพทย์หรือนักจิตวิทยาที่จะต้องทํางานควบคู่กันไป ซึ่งต้องใช้เวลา”         ทันทีที่ผู้ป่วยหลุดออกจากระบบเท่ากับว่าอัตราการป่วยยังคงอยู่หรือแม้แต่ผู้ป่วยที่ได้รับการบำบัดฟื้นฟูจนสามารถใช้ชีวิตปกติได้ก็ใช่ว่าจะไม่กลับมาป่วยอีก เพราะหากเจอเหตุการณ์ที่กระตุ้น (trigger) อารมณ์ความรู้สึกก็สามารถป่วยซ้ำได้ สิริลภัสจึงเห็นว่าถ้าสามารถเพิ่มบุคลากรทางการแพทย์หรือบุคลากรด่านหน้าได้มากก็จะช่วยป้องกันไม่ให้จํานวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นและเพิ่มจำนวนผู้ที่กลับมาใช้ชีวิตปกติได้มากขึ้น โดยต้องคำนึงถึงว่าผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเองก็มีความหลากหลายทั้งด้านเพศ อายุ สถานภาพ ชาติพันธุ์ การศึกษา การมีบุคลากรที่เพียงพอจึงเป็นแนวทางแรกที่จะโอบรับความหลากหลายได้         สิริลภัสได้รับข้อมูลล่าสุดจากรองอธิบดีกรมสุขภาพจิตว่าจะมีทุนเพื่อผลิตจิตแพทย์เพิ่มขึ้นเป็น 50-70 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยเพิ่มจำนวนจิตแพทย์เป็น 1.8 คนต่อประชากรแสนคนจากเดิมที่อยู่ประมาณ 1.2 ต่อประชากรแสนคน อย่างไรก็ตาม ตัวเลขข้างต้นก็ยังต่ำกว่าเกณฑ์ที่ควรจะเป็น ยังไม่นับว่าต้องใช้ระยะเวลาค่อนข้างนานกว่าจะผลิตจิตแพทย์ได้ 1 คน         นอกจากปัญหาการผลิตบุคลากรสาธารณสุขแล้ว ปัจจุบันยังมีนักบำบัดที่สามารถดูแลสุขภาพจิตให้แก่ผู้มาใช้บริการได้ แต่ในประเทศไทยยังไม่มีการมอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพให้แก่คนกลุ่มนี้ทำให้ไม่สามารถตั้งสถานประกอบวิชาชีพเองได้ ทั้งที่นักบำบัดเหล่านี้ถือเป็นด่านหน้าอีกด่านหนึ่งที่ช่วยป้องกันปัญหาสุขภาพจิต         ถึงกระนั้น การบำบัดหลากหลายรูปแบบที่มีอยู่ตอนนี้ก็มีราคาค่อนข้างสูง สิริลภัสคิดว่าถ้าสามารถนำการบำบัดต่างๆ เข้าสู่ระบบสวัสดิการสุขภาพได้ย่อมดีที่สุดสําหรับผู้ป่วย เธอยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่าการที่ค่าบริการการบำบัดยังสูงอยู่เพราะผู้ให้บริการยังมีน้อย ขณะที่ผู้ต้องการใช้บริการมีมาก ราคาจึงเป็นไปตามกลไกตลาด         “หมิวเชื่อว่าราคาจะถูกลงกว่านี้ได้ถ้ามีมากขึ้น การออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพจะทําให้ซัพพลายเพิ่มมากขึ้น คือตอนนี้เรามีนักบําบัด แต่เขาต้องไปแปะตัวเองอยู่กับคลินิกหรือสถานที่ใดสักที่หนึ่งเพราะเขาไม่สามารถเปิดสถานที่บําบัดของตนได้ พอเป็นแบบนี้มันก็จะนําไปสู่การเกิดลัทธิต่างๆ เพราะเมื่อเข้าเซสชั่นบำบัดไปขุดเจอปมในใจเข้า ผู้ใช้บริการก็รู้สึกว่าคนนี้นี่แหละที่นําแสงสว่างมาให้ แล้วก็กลายเป็นลัทธิบูชาตัวบุคคลไปเลย” ความหวัง         สิริลภัสแสดงความเห็นอีกว่าต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดรับฟังเสียงจากประชาชน เพื่อตอบสนองให้ตรงกับความต้องการที่แท้จริง เช่น ควรเพิ่มยาที่มีประสิทธิภาพและมีอาการข้างเคียงน้อยกว่าเข้าไปในบัญชียาหลักแห่งชาติซึ่งจะช่วยลดภาระค่ายาของผู้ป่วย         จากทั้งหมดนี้จึงกล่าวได้ว่าระบบสวัสดิการสุขภาพที่มีอยู่เวลานี้ไม่เพียงพอในการรับมือปัญหาสุขภาพจิตของประชาชนที่กำลังเพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงต้องผลักดันทั้งเชิงนโยบายของภาครัฐและการสร้างความรู้ความเข้าใจแก่สังคมในวงกว้าง         “เราอยากเห็นการจัดสรรงบที่ตรงจุด ตอนนี้เราควรให้ความสําคัญกับการทํายังไงก็ได้ให้ประชาชนที่เป็นแล้วเข้าถึงการรักษาได้มากที่สุด ไม่เพิ่มจํานวนผู้ป่วย และลดจํานวนผู้ป่วยที่มีอยู่เดิม”         โรคซึมเศร้าไม่ใช่ปัญหาเชิงปัจเจกเพียงลำพัง หากมีปัจจัยแวดล้อมทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ระบบบริการสาธารณสุข หรือแม้กระทั่งระบบขนส่งสาธารณะ การจะจัดการปัญหาทั้งระบบพร้อมๆ กันย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย         สิ่งที่เราต้องการมากๆ เวลานี้อาจจะเป็น ‘ความหวัง’ เพราะหัวใจมนุษย์แตกสลายเองไม่ได้หากไม่ถูกทุบทำลายจากภายนอก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 271 แอปพลิเคชัน FoodiEat กินดีมีสุข

เคยได้ยินคำว่า ดัชนีมวลกาย กันไหม         ค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index : BMI) คือ มาตรการที่ใช้ประเมินภาวะอ้วนและผอมในผู้ใหญ่ ตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไป สามารถทำได้โดยการชั่งน้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม และวัดส่วนสูงเป็นเซนติเมตร แล้วนำมาหาดัชมีมวลกาย โดยเกณฑ์มาตรฐานอยู่ระหว่าง 23 - 24.90 kg/m2 ผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกาย (BMI) ตั้งแต่ 23.0 ขึ้นไป ถือว่าน้ำหนักเกินมาตรฐาน มีภาวะเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังขึ้นตามลำดับ ไม่ว่าจะเป็น โรคอ้วน โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ตามมาได้         การควบคุมอาหารมีส่วนสำคัญอย่างมาก ที่จะช่วยให้สามารถลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้ ดังนั้นเพื่อให้มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ห่างไกลจากโรคภัยไข้เจ็บ สิ่งที่สำคัญคือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหารของตนเอง โดยเลือกกินอาหารให้หลากกลาย แต่มีประโยชน์ และควรกำหนดปริมาณการกินที่เหมาะสมต่อความต้องการพลังงาน ทั้งนี้ก็ไม่ควรลด งด หรือ อดอาหารมากจนเกินไป โดยเฉพาะการรับประทานอาหารเช้าซึ่งมีความสำคัญอย่างมาก เพื่อสะสมไว้ใช้ทำกิจกรรมทั้งวัน ส่วนอาหารเย็นควรรับประทานไม่หนักมาก เนื่องจากจะมีโอกาสเผาผลาญพลังงานได้น้อย ทำให้พลังงานเหล่านั้นถูกสะสมในร่างกายกลายเป็นไขมันได้         ลองมาควบคุมพฤติกรรมการกินอาหารผ่านแอปพลิเคชัน FoodiEat กันดีกว่า แอปพลิเคชันนี้ถูกพัฒนามาโดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล มีวัตถุประสงค์เพื่อบันทึกและวิเคราะห์พฤติกรรมการกินอาหาร และการออกกำลังกาย         การใช้งานไม่ยาก เพียงดาวน์โหลดและกรอกข้อมูลชื่อผู้ใช้งาน รหัสผ่าน วันเกิด เพศ น้ำหนัก ส่วนสูง รอบเอว เพื่อลงทะเบียน ระบบจะเริ่มต้นโดยการคำนวณค่าดัชนีมวลกาย (BMI) และอัตราความต้องการเผาผลาญพลังงานของร่างกายในแต่ละวัน (BMR) หรือเรียกว่าค่าพลังงานที่ร่างกายต้องการต่อวันโดยไม่รวมการทำกิจกรรมต่างๆ ต่อจากนั้นกรอกข้อมูลประวัติการรับประทานอาหารในแต่ละมื้อและข้อมูลการออกกำลังกายของทุกวัน แอปพลิเคชันจะคำนวณพลังงานของอาหารหักลบอัตราความต้องการเผาผลาญพลังงานของร่างกายในแต่ละวัน เพื่อให้ผู้ใช้แอปพลิเคชันสามารถควบคุมและวางแผนการการรับประทานอาหารในแต่ละมื้อได้         นอกจากนี้แอปพลิเคชันจะรวบรวมประวัติในรูปแบบสถิติ เพื่อให้นำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบย้อนหลังได้ และยังมีข้อมูลความรู้ คำแนะนำ เป็นแนวทางในการปฏิบัติที่ถูกต้อง ดังนั้นเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารเป็นสิ่งที่ดีที่สุด รวมถึงการออกกำลังกายเพื่อส่งเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ถ้าอยากเปลี่ยนตัวเองให้กลับมามีรูปร่างสมส่วน ห่างไกลโรคร้าย ต้องเริ่มหันมาใส่ใจเรื่องนี้กันมากขึ้น โดยเริ่มต้นจากการใช้แอปพลิเคชัน FoodiEat เพื่อดูแลสุขภาพกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 269 ภาพลวงตาธุรกิจอาหารเสริม ลวงให้กินอาหารเสริมเหมือนเป็นยา

ผู้บริโภคที่ซื้ออาหารเสริมมากิน อาจแบ่งคร่าวๆได้เป็น 2 กลุ่มหลัก  กลุ่มแรกกินเพราะต้องการเสริมอาหารเพราะคิดว่าตัวเองกินไม่พอ ขาดสารอาหาร เช่น คนที่ทำงานหนัก พักผ่อนน้อย ไม่มีเวลากินข้าว หรือผู้ป่วยที่กินอาหารได้น้อย และอีกกลุ่มคือกลุ่มที่คาดหวังสรรพคุณบางอย่างจากอาหารเสริม โดยเฉพาะสรรพคุณในการรักษาโรคเหมือนการกินยา กลุ่มหลังเป็นกลุ่มที่มักจะตกเป็นเหยื่อของการโฆษณาหลอกลวงได้ง่ายมาก “ประสบการณ์ในพื้นที่ ผมเคยเจอการที่ผู้ขายพยายามทำให้อาหารเสริมมีสรรพคุณเป็นยารักษาโรค กรณีแรกเป็นข้าวสารธรรมดาๆ แต่กลับอ้างสรรพคุณช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดและรักษาโรคเบาหวานได้ คนขายพยายามนำผู้ป่วยเบาหวานที่กินข้าวนี้มาเป็นตัวอย่างและแอบอ้างเกินจริงว่ากินแล้วน้ำตาลลดลง จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า มันคือข้าวที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ คือกินแล้วน้ำตาลจะขึ้นช้ากว่าข้าวทั่วไป จึงอาจเหมาะกับผู้ป่วยเบาหวาน (แต่ไม่ได้ช่วยรักษาเบาหวาน) การกินข้าวแบบนี้โดยไม่ควบคุมนอกจากจะไม่ช่วยรักษาเบาหวานแล้วอาจจะทำให้น้ำตาลในเลือดสูงจนเบาหวานขึ้นได้ อีกกรณีเป็นการหลอกลวงให้ตรวจสุขภาพด้วยอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่อ้างว่าสามารถวิเคราะห์สุขภาพผู้ตรวจได้ทุกระบบ (โดยไม่ต้องเจาะเลือด ตรวจปัสสาวะ เพียงแต่ถืออุปกรณ์ที่นำมาแอบอ้าง แค่นั้นเอง) พอผลตรวจ (ที่ถูกอุปโลกน์) ออกมาก็หลอกขายอาหารเสริมให้กับชาวบ้านที่มาตรวจ” ที่ผ่านมาเราก็เคยพบว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบางอย่างจงใจปลอมปนยาแผนปัจจุบันเข้าไป เพื่อหวังสรรพคุณทางยา ที่ผู้ใช้บอกต่อกันปากต่อปาก ในชุมชนเรามักจะตรวจพบน้ำผลไม้สกัดเข้มข้นบางยี่ห้อที่แอบขายให้ชาวบ้านปลอมปนสเตียรอยด์ หรือ ข่าวใหญ่โตคือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ปลอมปนยาลดความอ้วน (ไซบูทรามีน) ที่กินแล้วผอมจริง ตายจริง ตามที่ปรากฏในข่าว จนต้องปราบปรามกันในระดับประเทศ  ภาพลวงตาเหล่านี้คืออุปสงค์ (demand) ของผู้บริโภคที่มาตรงกับอุปทาน (supply) ของธุรกิจอาหารเสริมพอดิบพอดี ธุรกิจอาหารเสริมเข้าใจตรงนี้ดี จึงมีความพยายามที่จะโฆษณา เพื่อเบี่ยงเบนหรือแม้กระทั่งชี้นำให้ผู้บริโภคคิดเอาเองว่า อาหารเสริมนั้นมีสรรพคุณเหมือนการกินยา  ข้อเท็จจริงคือ อาหารเสริมตามกฎหมายต้องขึ้นทะเบียนเป็นอาหารที่ต้องมีเลขสารบบอาหาร (เลข อย.) และห้ามโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณว่าเป็นยา และต้องมีคำเตือนว่าไม่ให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าสามารถกินแทนอาหารปกติได้ การไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย โดยเฉพาะการโฆษณาอ้างสรรพคุณทางยา มีความผิดตามกฎหมายหลายมาตราที่มีโทษทั้งจำคุกและปรับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 268 ควบคุมดูแลสุขภาพด้วย CalkCal

        ปัจจุบันเครื่องดื่มที่ให้ความสดชื่นกับร่างกายมีหลากหลายชนิดและเป็นที่ชื่นชอบกันมากโดยเฉพาะกลุ่มวัยเรียนและวัยทำงาน ซึ่งส่วนใหญ่เลือกที่จะบริโภคเครื่องดื่มที่มีความหวาน อาทิ ชานมไข่มุก ชาเย็น กาแฟเย็น เป็นต้น อีกทั้งการเลือกบริโภคเครื่องดื่มที่มีความหวานเหล่านี้อาจช่วยทำให้รู้สึกสดชื่นกระปรี้กระเปร่า จึงทำให้บริโภคจำนวนมากในแต่ละวัน         กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้เผยถึงสถิติคนไทยติดหวานกินน้ำตาลเฉลี่ยวันละ 25 ช้อนชา ซึ่งมากกว่าที่ องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดไว้ที่ไม่เกินวันละ 6 ช้อนชา ถึง 4 เท่า โดยพฤติกรรมเหล่านี้มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจ หลอดเลือดหัวใจ และฟันผุ ตามมาได้         นอกจากความเสี่ยงข้างต้น ยังมีความเสี่ยงที่เกิดจากอาหารประเภทอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายจนเกิดโรคต่างๆ ตามมาได้อีก ดังนั้นการดูแลสุขภาพเป็นสิ่งที่จำเป็น โดยการเลือกบริโภคอาหารที่เหมาะสมในแต่ละวัน และตรงตามความต้องการของร่างกาย เพื่อควบคุมดูแลสุขภาพให้แข็งแรงและห่างไกลจากโรคภัย ฉบับนี้มาแนะนำให้ลองมาใช้ตัวช่วยในการควบคุมอาหารกับแอปพลิเคชัน “CalkCal” กันดู ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่ไม่ยุ่งยาก ง่ายต่อการใช้งานเป็นอย่างมาก         แอปพลิเคชันนี้เน้นในเรื่องของการควบคุมอาหารเป็นหลัก ใช้งานในรูปแบบการบันทึกจำนวนแคลอรีโดยเลือกจากเมนูอาหารที่รับประทานในแต่ละมื้อ เมื่อดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน จะสอบถามข้อมูลส่วนตัว ได้แก่ เพศ ส่วนสูง น้ำหนัก รวมไปถึงเป้าหมายของการลดน้ำหนัก เพื่อนำมาคำนวณและหาค่าเฉลี่ยในการควบคุมพลังงานที่ควรได้รับในแต่ละวัน ภายในแอปพลิเคชันจะแบ่งหมวด 5 หมวด ได้แก่ หมวด Calories หมวด Statistic หมวด Exercise หมวด Setting และหมวด About Us         การใช้งานไม่มีความซับซ้อนใดๆ เมื่อผู้ใช้แอปพลิเคชันต้องการกรอกรายละเอียดมื้ออาหารที่รับประทานในแต่ละวัน ให้กดที่หมวด Calories จะปรากฎชื่อรายการอาหารพร้อมจำนวนแคลอรี เมื่อค้นหาเมนูอาหารเจอแล้ว จะต้องระบุจำนวนและเลือกมื้ออาหาร โดยจะแบ่งมื้ออาหารเป็น 4 มื้อ ได้แก่ มื้อเช้า มื้อกลางวัน มื้อเย็น และมื้ออาหารว่าง กรณีที่ไม่เจอเมนูอาหารที่ต้องการสามารถเพิ่มรายการได้เอง ซึ่งให้กดเลือกปุ่มเครื่องหมายบวกที่อยู่ด้านบนขวามือ         หมวด Statistic ช่วยคำนวณปริมาณแคลอรี่ในแต่ละวันว่าควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารอย่างไร เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ส่วนหมวด Exercise จะเป็นรายการการออกกำลังกายพร้อมจำนวนแคลอรีที่จะถูกเผาผลาญออกไป         เป้าหมายของการห่างไกลโรคภัยไข้เจ็บ ย่อมสัมพันธ์กับการเลือกรับประทานอาหาร ดังนั้นการควบคุมอาหารให้เหมาะสมกับความต้องการของร่างกายอย่างแท้จริง รวมถึงการออกกำลังกายจะช่วยให้ร่างกายแข็งแรงสุขภาพดีได้ เลิกติดหวานและหันมาติดการออกกำลังกายและควบคุมอาหารให้เหมาะสมกันดีกว่า

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 267 ใส่ใจสุขภาพ กับ Thaisook

        เมื่อเทคโนโลยีมาเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินชีวิตหลักในประจำวัน จนเหมือนเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งไปแล้ว จากที่เคยต้องออกจากบ้านเพื่อไปซื้อจับจ่ายซื้อของในตลาด เปลี่ยนมาเป็นกดเลือกสินค้าผ่านสมาร์ทโฟน เท่านี้สินค้าก็เดินทางมาถึงหน้าบ้าน โดยไม่ต้องเหนื่อย หรือจะสั่งอาหารจากร้านอาหารชื่อดัง ไม่ว่าจะอยู่มุมไหน ไกลแค่ไหน แต่เมื่อเราอยากกินเราต้องได้กิน แค่กดปุ๊ปจ่ายปั๊ป ใช้นิ้วมือในการบริหารจัดการได้ทันที        เทคโนโลยีทำประโยชน์ให้กับการใช้ชีวิตของพวกเราให้ง่ายขึ้นมากถึงมากที่สุด แต่ผลเสียด้านสุขภาพก็ตามมาเช่นกัน เมื่อไม่มีการขยับเขยื้อนร่างกาย ร่างกายก็จะไม่ได้รับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ สิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อสุขภาพได้มากทีเดียว         เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนแปลงขนาดนี้ เครื่องมือที่จะช่วยดูแลสุขภาพจึงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างแอปพลิเคชั่น “ไทยสุข” หรือ “thaisook” ได้พัฒนาขึ้นมาจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างสุขภาพที่ดีให้กับทุกคน โดยเฉพาะในช่วงวัยทำงาน ให้หันมาสนใจและดูแลสุขภาพของตนเอง ซึ่งใช้แอปพลิเคชั่นเป็นสื่อกลางช่วยกระตุ้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เป็นผลดีต่อสุขภาพ         ผู้อ่านที่สนใจสามารถดาวน์โหลดได้ทั้งระบบปฏิบัติการ iOS และ Android มีขั้นตอนการลงทะเบียนง่ายๆ โดยข้อมูลในการกรอกลงทะเบียนของแอปพลิเคชั่น “ไทยสุข” เริ่มต้นจะใช้หมายเลขโทรศัพท์ เพื่อรอรับ OTP ในขั้นตอนแรก และระบบจะให้กรอกชื่อนามสกุล วันเกิด เพศ ส่วนสูง การสูบบุหรี่ และกดยินยอมนโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อเข้าสู่แอปพลิเคชั่นนี้        การใช้งานภายในแอปพลิเคชั่นง่ายและไม่ซ้ำซ้อน โดยหน้าแรกจะปรากฎเมนูด้านล่างตามหมวด 4 หมวด ได้แก่ หมวดวันปัจจุบัน หมวดสถิติรายสัปดาห์ หมวดกลุ่ม และหมวดการแข่งขัน ซึ่งมุมขวาบนจะเป็นปุ่มการตั้งค่าที่มีสัญลักษณ์ 3 ขีด        หน้าแรกจะเป็นหมวดวันปัจจุบัน ที่ปรากฎให้เห็นการนับจำนวนก้าว เวลาการวิ่ง เวลาการเดิน โดยกิจกรรมเหล่านี้ ผู้ใช้แอปพลิเคชั่นสามารถเพิ่มข้อมูลได้ด้วยตนเอง ทั้งจำนวนเวลา ระยะทาง อัตราการเต้นของหัวใจ แคลอรี่ที่เผาผลาญ นอกจากการดูแลด้านกายภาพแล้ว ยังมีในส่วนของการดูแลสุขภาพภายใน ทั้งในเรื่องติดตามปริมาณการดื่มน้ำต่อวัน ค่าความดันโลหิต ค่าผลเลือด น้ำหนัก องค์ประกอบร่างกาย ระยะเวลาการนอนหลับ         ทั้งนี้ควรรับประทานอาหารผักผลไม้ให้เป็นไปตามสักส่วนที่เหมาะสม ซึ่งแอปพลิเคชั่นได้มีคู่มือไว้ให้อ่าน และเพื่อให้ข้อมูลครบถ้วนและสามารถวิเคราะห์พฤติกรรมได้ ผู้ใช้แอปพลิเคชั่นสามารถเพิ่มข้อมูลการรับประทานผักและผลไม้ลงไปด้วย         หมวดสถิติรายสัปดาห์เป็นการเก็บข้อมูลสถิติของการดูแลสุขภาพร่างกายที่เกิดขึ้นมาทั้งหมด เพื่อให้เห็นภาพรวมในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เหมาะสม หมวดกลุ่มเป็นหมวดที่มีไว้เป็นทางเลือกให้ผู้ใช้แอปพลิเคชั่นได้สร้างกลุ่มหรือเข้ากลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านสุขภาพ ส่วนหมวดการแข่งขันจะเป็น Challenge ให้ตนเองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ดูแลสุขภาพร่างกายให้ดียิ่งขึ้น         มาดูแลสุขภาพร่างกายของตนเองให้แข็งแรง โดยเริ่มจากการบริหารจัดการกับการกินอาหาร การพักผ่อน หรือการออกกำลังกาย เพื่อลดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นกันนะคะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 265 ถุงเท้าและการนอนหลับ

        ช่วงเดือนธันวาคม 2565 ติ๊กต๊อกเกอร์คนหนึ่งแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับ การใส่ถุงเท้านอนอาจส่งผลร้ายต่อร่างกาย เสี่ยงต่อโรคไหลตาย โดยอ้างถึงข้อมูลจากบทความของหมอชาวญี่ปุ่นคนหนึ่ง (ไม่ระบุแหล่งที่มา) กล่าวว่า “การใส่ถุงเท้านอนส่งผลเสียต่อร่ายกายในระยะยาวโดยเฉพาะเด็กทารก เนื่องจากเวลาที่มนุษย์นอนนั้นอุณหภูมิของร่างกายต้องลดลง แต่เมื่อใส่ถุงเท้าแล้วกลายเป็นการขวางทางการระบายความร้อนของร่ายกาย จึงอาจทำให้ไหลตายได้”         ข้อมูลดังกล่าวส่งผลให้เกิดการอภิปรายกันในโลกออนไลน์อย่างกว้างขวาง โดยมีแนวโน้มว่า ไม่น่าจะจริง สุดท้ายติ๊กต๊อกเกอร์คนนี้ได้ออกมาขอโทษที่นำข้อมูลที่ไม่ได้ตรวจสอบมาเผยแพร่ เนื่องจากเขาเห็นว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจและตรงกับตัวเขาที่โดนแม่คอยบอกด้วยความหวังดีเสมอว่า “ให้ใส่ถุงเท้านอนนะลูก”         ประเด็นการใส่ถุงเท้านอนนั้น จริงแล้วเป็นเรื่องจำเป็นต่อสุขภาพสำหรับคนที่มีเท้าเย็นกว่าส่วนอื่นของร่างกายเป็นประจำ สำหรับผู้เขียนซึ่งสังเกตตนเองมานานกว่า 30 ปีแล้วพบว่า คืนใดที่รู้ว่าเท้าเย็นมากกว่าปรกติ แม้ห่มผ้าที่ทำให้ร่างกายอุ่นแล้วก็ตาม (อุณหภูมิห้องนอนถูกปรับอากาศอยู่ที่ 26-27 องศาเซลเซียส) ตอนรุ่งเช้ามักปวดหัวไมเกรน ซึ่งเมื่อเป็นบ่อยเข้าผู้เขียนจึงตั้งสมมุติฐานว่า ความเครียดของร่างกายเนื่องจากเท้าเย็นน่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดไมเกรน ดังนั้นผู้เขียนจึงเริ่มใส่ถุงเท้านอน หลังจากนั้นก็ไม่มีอาการไมเกรนในตอนเช้าอีกเลย ส่งผลให้ปัจจุบันผู้เขียนซึ่งมีอายุย่างเข้า 70 ปีแล้วก็ใส่ถุงเท้าเกือบทั้งวัน ยกเว้นวันที่อากาศร้อนมากช่วงกลางวันหรือเวลาต้องมีกิจกรรมที่เท้าเปียกน้ำ เช่น รดน้ำต้นไม้ สำหรับการปวดหัวไมเกรนเนื่องจากปัจจัยอื่นนั้นยังมีอยู่บ้างจึงต้องคอยหลีกเลี่ยงปัจจัยที่เป็นเหตุกระตุ้นต่าง ๆ งานวิจัยเกี่ยวกับผลดีของการใส่ถุงเท้านอน         งานวิจัยที่อธิบายเกี่ยวกับการใส่ถุงเท้านอนแล้วส่งผลดีต่อร่างกายนั้นมีมากพอควร จึงขอยกตัวอย่างสัก 3 เรื่องที่น่าสนใจให้ผู้อ่านได้พิจารณา โดยงานวิจัยเรื่องแรกชื่อ Effects of Barefoot Habituation In Winter on Thermal and Hormonal Responses in Young Children - A Preliminary Study ในวารสาร Journal of Human Ergology นั้น เป็นการศึกษาร่วมกันระหว่างนักวิจัยชาวเกาหลี ญี่ปุ่นและฮ่องกง เกี่ยวกับผลของการใส่ถุงเท้าหรือไม่ใส่ถุงเท้าต่อการปรับตัวของร่างกายเมื่ออยู่ในอุณหภูมิต่ำ งานวิจัยนี้ให้ข้อมูลว่า พฤติกรรมการสวมถุงเท้าหรือการเดินเท้าเปล่าเป็นประจำในฤดูหนาวมีผลต่อระดับอุณหภูมิผิวหนังของปลายแขนและปลายขา และมีผลต่อการขับฮอร์โมนบางชนิดในเด็ก โดยในการทดลองที่ 1 นั้น ได้ทำการวัดอุณหภูมิผิวหนังเท้าและขาในเด็กก่อนวัยเรียนนาน 30 นาที ขณะอยู่ในห้องเรียนที่ควบคุมไว้ที่อุณหภูมิ 23±2°C และความชื้น 50±5% ซึ่งพบว่าอุณหภูมิของผิวหนังที่ขาในกลุ่มเท้าเปล่ามีแนวโน้มว่าต่ำกว่าที่ขาของกลุ่มที่ใส่ถุงเท้า         ส่วนการทดลองที่ 2 เป็นการศึกษาในเด็กประถมซึ่งถูกแบ่งกลุ่มให้สวมและไม่สวมถุงเท้า จากนั้นได้ทำการวิเคราะห์ปริมาณของฮอร์โมนที่ร่างกายหลั่งเมื่อเกิดความเครียดหรือความคับขันในสถานะการณ์ต่าง ๆ ระหว่างการนอนหลับตอนกลางคืนซึ่งพบว่า เด็กประถมในกลุ่มที่เท้าเปล่ามีแนวโน้มการขับนอร์อะดรีนาลีนและคอร์ติซอลออกมาในปัสสาวะ (ซึ่งขับออกมาในตอนเช้า) สูงกว่าเด็กประถมที่ใส่ถุงเท้า ทำให้สรุปได้ประมาณว่า เด็กเล็กที่มีนิสัยชอบเดินเท้าเปล่าต้องพยายามปรับตัวต่อความเย็นของอากาศให้ร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้นด้วยการเพิ่มอัตราการเผาผลาญในร่างกาย ซึ่งดูได้จากปริมาณฮอร์โมนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการสร้างพลังงานเมื่อร่างกายมีความเครียดที่ตรวจพบในปัสสาวะสูงกว่าเด็กที่ใส่ถุงเท้า (ข้อมูลส่วนนี้อาจพอช่วยอธิบายได้ว่า ทำไมเมื่อเท้าเย็นเกินไปเพราะไม่ใส่ถุงเท้าแล้วฮอร์โมนที่เกี่ยวกับการปรับตัวเมื่อเกิดความเครียดจากสิ่งแวดล้อมต่อร่างกายต้องเพิ่มขึ้นเพื่อเร่งการเผาผลาญให้เกิดความร้อนสูงขึ้น และถ้ากระบวนการดังกล่าวไม่สำเร็จหรือไม่เพียงพอ ผู้เขียนจึงเกิดอาการไมเกรน ดังนั้นการใส่ถุงเท้าเพื่อป้องกันความหนาวเย็นที่เท้าจึงเป็นเรื่องจำเป็น)        บทความที่สองเป็นงานวิจัยของนักวิจัยชาวดัทช์เรื่อง Skin temperature and sleep-onset latency: Changes with age and insomnia ในวารสาร Physiology & Behavior ของปี 2007 ซึ่งศึกษาถึงผลของอุณหภูมิที่เท้าก่อนนอนหลับ บทความนี้ให้ข้อมูลว่า โดยปรกติช่วงเวลาที่เริ่มนอนจนหลับนั้นมีการลดลงอุณหภูมิของเท้าซึ่งทำให้นักวิจัยสนใจว่า ช่วงเวลาที่เริ่มเข้าสู่การนอนหลับนั้นมีความสัมพันธ์กับอุณหภูมิผิวหนังก่อนนอนหรือไม่ โดยผู้เข้าร่วมการศึกษาทุกคนที่เลือกมานั้นไม่มีการใช้ยาที่ส่งผลต่อการนอนหลับหรือระบบนาฬิกาชีวิต ไม่ใช้ยารักษาโรคหัวใจและหลอดเลือดหรือยาที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท มีการแบ่งกลุ่มอาสาสมัครเป็น คนหนุ่มสาวที่มีสุขภาพดี 8 คนที่ไม่มีปัญหาเรื่องการนอนหลับ (อายุ 21-39 ปี เพศละ 4 คน) ผู้สูงอายุที่มีสุขภาพแข็งแรง 8 คนที่ไม่มีปัญหาเรื่องการนอนหลับ (อายุ 56–80 ปี เพศละ 4 คน) และผู้สูงอายุ 8 คนที่มีปัญหาเรื่องการนอนหลับแต่มีสุขภาพดี (อายุ 51–66 ปี เพศละ 4 คน) โดยผลการศึกษาพบว่า ตลอด 24 ชั่วโมงของแต่ละวันที่มีการนอนหลับและการตื่นนั้นมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิร่างกาย        การศึกษานี้นักวิจัยสามารถเพิ่มแนวโน้มในการทำให้อาสาสมัครนอนหลับเร็วขึ้นได้ด้วยการทำให้ผิวหนังอุ่นขึ้นจนถึงระดับที่ปกติเกิดขึ้นก่อนหลับและระหว่างการนอนหลับด้วยการทำให้เท้าอุ่นด้วยวิธีต่างๆ ได้แก่ การปรับอุณหภูมิเท้าด้วย 1. แช่เท้าในน้ำอุ่นก่อนเข้านอน 2. สวมถุงเท้าปรับความร้อนได้ (heatable bed socks) ก่อนปิดไฟนอน และ 3. สวมถุงเท้าปรับความร้อนได้หลังปิดไฟนอน ซึ่งผลการศึกษาพบว่า การกระตุ้นให้เท้าอุ่นหรือการใส่ถุงเท้าปรับอุณหภูมิหลังจากปิดไฟนอนสามารถเร่งการนอนหลับในผู้สูงอายุที่ไม่มีปัญหาการนอนหลับได้ ส่วนในผู้สูงอายุที่ปรกตินอนไม่ค่อยหลับนั้นไม่มีวิธีการใดในการศึกษานี้ที่ช่วยเร่งการนอนหลับ         ในการศึกษาถึงผลของการใส่ถุงเท้าต่อคุณภาพของการนอนหลับนั้น พบได้ในบทความเรื่อง Effects of feet warming using bed socks on sleep quality and thermoregulatory responses in a cool environment ในวารสาร Journal of Physiological Anthropology ของปี 2018 ซึ่งเป็นผลการศึกษาของนักวิจัยชาวเกาหลีที่ศึกษาในชายหนุ่ม 6 คน (อายุ 22.7 ± 2.0 ปี) ซึ่งไม่มีปัญหาการนอนหลับยากที่เข้าร่วมการทดลองถึงผลการทำให้เท้าอุ่นขึ้นระหว่างการนอนหลับ 7 ชั่วโมง ในห้องที่มีอุณหภูมิ 23°C ความชื้นสัมพัทธ์ 50% เพื่อวัดช่วงเวลาเข้าสู่การนอนหลับ (sleep-onset latency) คุณภาพของการนอนหลับ ช่วงเวลานอนหลับทั้งหมด จำนวนการตื่นกลางคันหลังจากนอนหลับแล้ว ลักษณะการเคลื่อนไหวร่างกาย อัตราการเต้นของหัวใจ อุณหภูมิเฉลี่ยของทวารหนักและผิวหนังระหว่างการนอนหลับ 7 ชั่วโมง และทำแบบสอบถามถึงคุณภาพการนอนหลังตื่นนอนตอนเช้า         ผลการวิจัยพบว่า ผู้ที่สวมถุงเท้าสำหรับใส่นอน (bed socks ทำด้วยเส้นใย polyester 98.6% และ polyurethane 1.4%.) เทียบกับผู้ที่นอนเท้าเปล่านั้น มีช่วงเวลาเข้าสู่การนอนหลับสั้นลงโดยเฉลี่ยคือ 7.5 นาที เวลานอนรวมนานขึ้น 32 นาที (กลุ่มไม่ใส่ถุงเท้าเฉลี่ยการนอนราว 7 ชั่วโมง) การตื่นนอนกลางดึกน้อยลง 7.5 เท่า และคุณภาพการนอนหลับดีขึ้น 7.6% โดยที่มีอุณหภูมิของเท้าสูงขึ้นโดยเฉลี่ย 1.3 °C ในขณะที่ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญของอัตราการเต้นของหัวใจ อุณหภูมิเฉลี่ยของผิวหนังและทวารหนัก หรือการตอบแบบสอบถามถึงคุณภาพการนอน ดังนั้นโดยสรุปแล้วการทำให้เท้าอุ่นโดยใช้ถุงเท้า (bed socks) ระหว่างการนอนหลับในสภาพแวดล้อมที่เย็นมีผลในเชิงบวกต่อคุณภาพการนอนหลับ แต่ไม่มีอิทธิพลอย่างมีนัยสำคัญต่ออุณหภูมิแกนกลางของร่างกายซึ่งชี้ว่าคุณภาพการนอนหลับสามารถปรับปรุงได้โดยการปรับอุณหภูมิเท้าให้อุ่นไว้ตลอดการนอน         ก่อนจบบทความนี้ผู้เขียนมีความสนใจระหว่างการเขียนว่า bed socks นั้นต่างจากถุงเท้าที่ใส่กันเป็นประจำอย่างไร ก็ได้พบข้อมูลประมาณว่า “Bed sock” นั้นส่วนใหญ่เป็นถุงเท้ายาวซึ่งเมื่อใส่แล้วมักพับลงมาที่ระดับข้อเท้าหรืออาจไม่พับแล้วปล่อยยาวถึงหัวเข่า เป็นถุงเท้าที่หนากว่าปรกติและส่วนที่พับลงมาที่ข้อเท้าบางรุ่นมีความปุกปุยด้วยวัสดุใยสังเคราะห์หรือวัสดุธรรมชาติ เช่น ฝ้ายหรือขนสัตว์         ราคาของถุงเท้าชนิดนี้ในประเทศไทยมีความหลากหลายมาก เช่น ถ้าซื้อบนแพลตฟอร์มที่มีสินค้าขายเกือบทุกอย่างนั้นมีราคาราว 25 บาท (4 คู่ 100) ซึ่งท่านผู้อ่านคงพอเดาคุณภาพและความประทับใจได้ว่าน่าจะเป็นอย่างไร ส่วนที่ขายบนแพลตฟอร์มในต่างประเทศนั้นเท่าที่เห็นคือ $10 สหรัฐขึ้นไป หรือหนักหน่อยที่เป็นแบรนด์เนมสำหรับคนไทยที่พอใจคำอธิบายคุณภาพว่า Adult Bed Socks in Organic Merino Wool, Natural White,...นั้นราคาของร้านที่เป็นสาขาในไทยคือ เกือบห้าพันบาท ซึ่งประหยัดได้เกือบ 40% (แสดงว่าราคาเดิมน่าจะเป็น 8 พันกว่าบาท) ดังนั้นผู้ที่สนใจในการดูแลสุขภาพเท้าเพื่อให้นอนหลับสบายขึ้นสามารถเลือกซื้อสินค้าได้ตามความเหมาะสมของเท้าและกระเป๋าสตางค์ของแต่ละคน ส่วนผู้เขียนนั้นถุงเท้าอเนกประสงค์ราคา 3 คู่ 100 ซึ่งจะหนาและมีขนาดใหญ่หน่อยก็พอเพียงต่อการป้องกันการเกิดไมเกรนหลังตื่นนอนแล้ว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 263 “สุขภาพดีมีชัยไปกว่าครึ่ง” ประโยคนี้ถูกต้องที่สุด

        ในยุคสมัยที่การดำเนินชีวิตประจำวันต้องขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี หันไปทางใดก็มีแต่การใช้เทคโนโลยีตลอดเวลา อย่างเช่น การสแกนจ่ายสินค้าต่างๆ ผ่าน QR Code ธนาคาร การโอนเงินเพื่อซื้อบัตรโดยสารรถไฟฟ้า การซื้อสินค้าผ่านแอปพลิเคชันออนไลน์ เป็นต้น         อันดับแรกขอพามารู้คำว่า AI กันก่อน AI ย่อมาจากคำว่า Artificial Intelligence แปลเป็นภาษาไทยว่า ปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งหมายถึง ระบบประมวลผลของคอมพิวเตอร์ หุ่นยนต์ เครื่องจักร หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ที่มีการวิเคราะห์เชิงลึกคล้ายความฉลาดของมนุษย์ และสามารถก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นการกระทำได้ หรือเครื่องจักรที่มีความสามารถในการทำความเข้าใจ เรียนรู้องค์ความรู้ต่างๆ จดจำ ตอบสนองต่อภาษา ตัดสินใจ และแก้ไขปัญหา โดยอาศัยข้อมูลจำนวนมากที่มีลักษณะซ้ำๆ เหมือนกัน         มากล่าวถึงเทคโนโลยีด้านสุขภาพที่ถูกพัฒนาขึ้นมาบ้าง อย่างแอปพลิเคชัน Agnos Health เป็นแอปพลิเคชันที่ให้บริการวิเคราะห์อาการป่วยเบื้องต้นด้วยระบบ AI ที่มีความละเอียดสูง และแม่นยำ ที่สำคัญคือไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ แอปพลิเคชันนี้สามารถใช้ได้กับสมาร์ทโฟนทั้งระบบปฏิบัติการ iOS และระบบปฏิบัติการ Android การทำงานของแอปพลิเคชันจะใช้วิธีการช่วยวิเคราะห์อาการของโรคให้กับผู้ใช้ก่อนจะประมวลผลความเสี่ยงโรคที่มี หรือความเป็นไปได้พร้อมบอกวิธีการรับมือโรคในขั้นต่อไปว่าสามารถรักษาให้หายเองได้หรือควรต้องไปพบแพทย์ต่อ         เมื่อดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Agnos Health ให้ลงทะเบียนเข้าใช้ จากนั้นภายในแอปพลิเคชันจะปรากฎเมนูต่างๆ ได้แก่ เมนูตรวจโรคด้วยตัวเองโดยระบบ AI เมนูตรวจโรคด้านจิตใจด้วย AI เมนูปรึกษาแพทย์ เมนูค้นหาแพทย์และผู้เชี่ยวชาญ เมนูซื้อยา เมนูกระทู้ถามแพทย์ เมนูคลินิกแนะนำ เมนูโรคที่พบบ่อย เมนูบทความแนะนำ         เมนูตรวจโรคด้วยตัวเองโดยระบบ AI และเมนูตรวจโรคด้านจิตใจด้วย AI จะเป็นเมนูคัดกรองอาการเบื้องต้นโดยการตอบคำถามและแอปพลิเคชั่นจะวิเคราะห์ผลลัพธ์ออกมา สำหรับเมนูปรึกษาแพทย์กรณีที่ต้องการสอบถามอาการเจ็บป่วย และสามารถปรึกษาเภสัชกรกรณีต้องการซื้อยารักษาโรค เพื่อให้สามารถรักษาได้ตรงตามโรคที่เป็นในเบื้องต้น ทั้งนี้ถ้าการวิเคราะห์จากแอปพลิเคชันมีความสุ่มเสี่ยง แอปพลิเคชันหรือแพทย์หรือเภสัชกรจะแนะนำให้ไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจเช็คร่างกายอย่างละเอียดต่อไป         สำหรับเมนูค้นหาแพทย์และผู้เชี่ยวชาญ เมนูซื้อยา แอปพลิเคชั่นจะค้นหาบริเวณที่ผู้ใช้อยู่ รวมถึงสามารถเข้าดูรายละเอียดตารางเวลาออกตรวจของแพทย์เฉพาะด้านแต่ละโรงพยาบาลได้ เช่น สูตินรีแพทย์ กุมารแพทย์ หูตาจมูก ตา กระดูก ระบบทางเดินอาหาร ระบบประสาท จิตเวช  ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกในการเลือกพบแพทย์ได้ล่วงหน้า

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 253 ทางเลือก? ทางรอด? หรือทางลวง? แต่เสียเงินไปแล้วสี่หมื่น

        ผู้ป่วยจำนวนมากที่เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง หรือโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ นอกจากจะมีความทุกข์จากอาการเจ็บป่วยทางกายแล้ว ยังมีผลกระทบต่อไปยังจิตใจทั้งความเครียดและความกังวลด้วย ผู้ป่วยเหล่านี้หลายรายจึงแสวงหาแนวทางการรักษาทุกช่องทางเพื่อบรรเทาความทุกข์จากการเจ็บป่วยของตน เมื่อได้ข่าวว่ามีแหล่งใดที่จะสามารถรักษาหรือบรรเทาอาการเจ็บป่วยได้ ผู้ป่วยและญาติจะรีบพากันพากันไปหาเพื่อรักษาทันที โดยที่อาจจะไม่ทันได้คิดไตร่ตรองว่าจะปลอดภัย ได้ผลจริงหรือไม่ หรือจะต้องเสียค่าใช้จ่ายมากน้อยแค่ไหน         เครือข่ายชมรมเภสัชชนบท พบกรณีประชาชนเข้าสู่ขบวนการรักษาและใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์สุขภาพจากการ  บอกเล่า ซักชวน จากผู้ที่ไม่ใช่บุคคลากรทางการแพทย์และไม่ใช่สถานพยาบาลตามกฎหมาย มีพฤติกรรมโอ้อวดโฆษณาสรรพคุณผลิตภัณฑ์เกินจริง โดยพบรายงานเป็นระยะๆจากหลายพื้นที่  เช่น เดือนกันยายน 2564 เกิดกับสมาชิกในครอบครัวหนึ่ง ซึ่งมีผู้ป่วยในบ้านหลายคน คนแรกแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็ง อยู่ระหว่างรักษาด้วยการฉายแสงที่โรงพยาบาลศูนย์ แต่เมื่อญาติทราบข่าวว่ามีสำนักสงฆ์แห่งหนึ่ง ให้การรักษาผู้ป่วยด้วยยาที่สั่งจากประเทศจีนร่วมกับการทำพิธีกรรม แล้วสามารถรักษาได้หายแทบทุกโรค มีผู้คนจากหลายพื้นที่เข้ามารับการรักษามากมาย ญาติจึงได้พาไปติดต่อเพื่อขอรับการรักษาบ้าง         เมื่อได้ตกลงเข้าสู่กระบวนการรักษาแล้ว ขั้นตอนการรักษา คือ ทำการดูดวงให้ผู้ป่วยก่อนว่าจะรอดหรือตาย ซึ่งรายนี้ได้รับแจ้งว่าดวงยังไม่ถึงตาย พระจึงสั่งยามาให้ การสั่งซื้อยาใช้เวลา 2 วัน ในช่วงระหว่างเวลาที่รอรับยานั้น มีการแจ้งให้ญาติไปจัดซื้ออุปกรณ์สำหรับทำพิธีกรรม ค่าอุปกรณ์รวมกับค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ใช้งบ 2,000 บาท โดยประมาณ  เมื่อยามาถึงแล้วจึงมาทำพิธีกรรมก่อนส่งมอบยา ในขั้นตอนนี้มีค่าใช้จ่ายอีก 2,999 บาท  ส่วนผลิตภัณฑ์ที่อ้างว่าเป็นยานั้น ลักษณะเป็นแคปซูลสีขาว ไม่มีฉลาก ไม่มีขวดบรรจุ แต่ให้ญาติผู้ป่วยนำกระป๋องบรรจุยาชนิดอื่น ขนาดบรรจุยาทั่วไปได้ 1,000 เม็ดมาบรรจุ ได้ 1 กระป๋อง ราคา 15,000 บาท ซึ่งรวมๆค่าใช้จ่ายต่างๆแล้ว ผู้ป่วยรายนี้เสียเงินไปประมาณสองหมื่นบาท ในระยะเวลาเดียวกัน ญาติคนที่สองมีอาการทางมดลูก ก็ได้เข้ารับการรักษาและสั่งซื้อยาในลักษณะเดียวกันด้วย และเสียค่าใช้จ่ายไปในจำนวนที่ใกล้เคียงกัน รวมๆแล้วครอบครัวนี้ เสียเงินไปประมาณสี่หมื่นบาท ซึ่งอาการป่วยของทั้งคู่ก็ยังไม่หาย         ต่อมาภายหลัง แกนนำคุ้มครองผู้บริโภคในชุมชนทราบเรื่องดังกล่าว เกรงว่าจะเป็นการหลอกลวงประชาชน เพราะมีการโอ้อวดโฆษณาสรรพคุณผลิตภัณฑ์เกินจริง และผลิตภัณฑ์ที่ได้ก็ไม่มีทะเบียนยา จึงได้ลงไปพูดคุยกับผู้ป่วยและญาติ พร้อมแจ้งหน่วยงานสาธารณสุขประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป ซึ่งขณะนี้กำลังดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายที่เกี่ยวข้อง             กรณีข้างต้นนี้ สะท้อนให้เห็นว่า เครือข่ายแกนนำคุ้มครองผู้บริโภคในชุมชน เป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญในการเฝ้าระวังเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคในชุมชนได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 252 เครื่องดื่มสุขภาพ..มีจริงหรือ

        วันที่ 5 ธันวาคม 2564 ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย มีบทความเรื่อง 3 เครื่องดื่มสุขภาพ ถ้าดื่มมากเกินไปหรือดื่มเป็นเวลานาน จะทำให้ภูมิตก เสี่ยงติดโควิด-19 ได้ง่าย จริงหรือ? โดยเนื้อข่าวสรุปแล้วกล่าวประมาณว่า ตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลในสื่อสังคมออนไลน์ในประเด็นของ 3 เครื่องดื่มสุขภาพนั้น ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับหน่วยราชการหนึ่งพบว่า เป็นข้อมูลจริง โดยหน่วยราชการนั้นอธิบายเหตุผลที่ข้อมูลดังกล่าวน่าเชื่อประมาณว่า “น้ำผักผลไม้สำเร็จรูปส่วนใหญ่เติม น้ำ น้ำตาล สารคงสภาพ ทำให้คุณประโยชน์ที่ได้น้อย แต่อาจได้น้ำตาลฟรุคโตสจำนวนมากแทน ส่วนการดื่มนมวัวโดยเฉพาะนมรสหวานในปริมาณมากอาจทำให้อ้วนได้จริง และเครื่องดื่มชูกำลังจัดเป็นเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง ซึ่งน้ำตาลนั้นหากกินมากไปเสี่ยงทำให้ภูมิคุ้มกันลด ควรเลี่ยง”         ผู้เขียนขอละที่จะกล่าวว่า ความเห็นของหน่วยราชการนั้นถูกหรือผิด แต่ขอแสดงความเห็นว่า น่าเสียดายมากที่หน่วยราชการนั้นอาจจำเป็นต้องประหยัดตัวหนังสือในการให้ข้อมูลการประเมินข่าวแก่ผู้บริโภคว่าข้อความนั้น จริงหรือเท็จ จึงไม่ได้อ้างการสนับสนุนข้อมูลนั้นด้วยหลักฐานทางวิชาการว่า มาจากแหล่งใดหรือจากบทความวิชาการที่เป็นงานวิจัยในวารสารใด เพื่อผู้บริโภคจะได้นำหลักกาลามสูตร 10 มาพิจารณา         จริงอยู่ที่ว่าเราควร ละ เลี่ยง เลิก ในการกินหวาน มัน เค็ม เพื่อลดภาวะการทำลายสุขภาพของไต ซึ่งส่งผลถึงความผิดปรกติอื่นๆ เช่น ความดันโลหิตสูง แต่ในกรณีของน้ำผักผลไม้รวมสำเร็จรูปนั้น สินค้ากลุ่มนี้น่าจะมีทั้งประโยชน์และโทษในตัวเอง เพราะดื่มน้อยอร่อยดีแต่ถ้าดื่มมากและบ่อยเกินไปปัญหาด้านสุขภาพอาจตามมา ดังนั้นสำหรับคนทั่วไปที่ดื่มบ้างเป็นครั้งคราวเพื่อเพิ่มรสชาติของชีวิต จำเป็นด้วยหรือที่ต้องเลิกดื่มผลิตภัณฑ์นี้ ในประเด็นว่าถ้าดื่มมากแล้วภูมิคุ้มกันต่ำจนเสี่ยงโควิด-19 ง่าย ถ้ามีข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์สนับสนุนว่า เครื่องดื่มที่มีรสหวานจากน้ำตาลทำอันตรายผู้บริโภคโดยเฉพาะเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันแล้ว ควรมีการเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเพิกถอนตำรับสินค้ากลุ่มนี้เสียเลย         ประเด็นที่ควรสนใจคือ ความหมายที่แท้จริงของคำว่า เครื่องดื่มสุขภาพนั้น..มีจริงหรือ เพราะเท่าที่พยายามสืบค้นทางอินเตอร์เน็ทแล้วนั้น ความหมายอย่างเป็นทางการหรือเป็นที่ยอมรับทางวิชาการโดยองค์กรที่น่าเชื่อถือนั้น ดูเหมือนจะไม่มี         โดยปรกติแล้วเครื่องดื่มทุกชนิดที่ขายในท้องตลาดและผ่านการขึ้นทะเบียนกับ อย. มักมีลักษณะตาม “ประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 356 พ.ศ.2556 เรื่อง เครื่องดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท” ซึ่งก็ไม่ได้พูดถึง เครื่องดื่มสุขภาพ ส่วนในกรณีที่สินค้าใดจะอ้างว่า องค์ประกอบของสินค้านั้นมีผลต่อสุขภาพ ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามรายละเอียดในเอกสารชื่อ คู่มือสำหรับประชาชน การขอประเมินการกล่าวอ้างทางสุขภาพ (ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้จากเว็บสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เพียงเข้าไปใน google แล้วลองค้นหาด้วยคำว่า “health claims on food labels ของ อย.”) ก็มิได้มีคำจำกัดความของคำว่า เครื่องดื่มสุขภาพ         เมื่อค้นหาโดยใช้ google ถึงความหมายของเครื่องดื่มสุขภาพนั้น เว็บไซต์หนึ่งได้ให้ความหมายตามใจเว็บเองว่า “หมายถึงเครื่องดื่มที่มีคุณประโยชน์ที่จับต้องได้และเป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ หรือเป็นเครื่องดื่มที่มีการบ่งบอกชัดเจนถึงคุณประโยชน์ เฉพาะเจาะจงเช่น น้ำผลไม้พร้อมดื่มที่มีส่วนผสมของแอล-คารนิทีน ชาเขียวผสมคอลลาเจน นมพร้อมดื่มผสม คอลลาเจน เครื่องดื่มธัญพืชที่ช่วยให้สุขภาพผิวดีขึ้น เครื่องดื่มที่ช่วยลดความอ้วนที่สกัดจากชาหรือสารอาหารจากธรรมชาติ” ซึ่งใครจะเชื่อก็ได้หรือไม่เชื่อก็ได้         มีบทความหนึ่งในอินเทอร์เน็ต ซึ่งผู้เขียนเป็นอาจารย์ของมหาวิทยาลัยหนึ่ง (ที่ชอบคิดค้นสินค้าที่อ้างว่าเป็นสินค้าเพื่อสุขภาพ) พยายามให้ความหมายประหนึ่งว่า เครื่องดื่มสุขภาพนั้นเป็น functional drink ซึ่งนำไปสู่คำถามต่อไปว่า แล้ว functional drink นั้นคืออะไร และเมื่อค้นหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตต่อก็พบว่า คำ ๆ นี้ยังไม่มีการให้คำจำกัดความทางวิชาการที่แท้จริงเช่นกัน มีแต่ที่จำกัดความกันเองตามใจชอบ เช่นบางเว็บไซต์บอกว่า “คือเครื่องดื่มที่ให้ Benefit กับร่างกายของผู้ดื่มไม่ว่าจะเพื่อช่วยย่อยอาหาร ผิวสวย บำรุงสมอง” ซึ่งเมื่อพิจารณาดีๆ ก็พบว่าเป็นคำจำกัดความที่ค่อนข้างแคบไปหน่อย         ผู้เขียนคิดว่า functional drinks นั้นคงล้อมาจากคำว่า functional foods ซึ่งในความเป็นจริงนั้นถ้าเขียนให้ถูกในความหมายที่มีการอธิบายความเป็นตัวตนของสินค้านี้ ควรใช้คำว่า physiologically functional foods ซึ่งคำๆ นี้น่าจะปรากฏเป็นครั้งแรกในบทความเรื่อง Studies on Functional Foods in Japan: State of the Art ในหนังสือ Food Factors for Cancer Prevention พิมพ์โดย Springer-Verlag Tokyo ในปี 1997 ซึ่งกล่าวถึงโครงการระดับชาติ 3 ปีที่ได้รับการสนับสนุนโดย the Ministry of Education, Science and Culture ของญี่ปุ่นที่มี Dr. Soichi Arai เป็นประธานซึ่งได้เริ่มโครงการชื่อ Analysis and Molecular Design of Physiologically Functional Foods จากบทความนี้ได้สรุปความหมายของ physiologically functional foods ว่าคือ อาหารที่ออกแบบมาให้มีประโยชน์ทางสรีรวิทยาและ/หรือลดความเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังเหนือกว่าอาหารที่มีหน้าที่เกี่ยวกับโภชนาการขั้นพื้นฐาน โดยอาจมีลักษณะภายนอกดูคล้ายกับอาหารทั่วไปและบริโภคโดยเป็นส่วนหนึ่งของการรับประทานอาหารปกติ อย่างไรก็ตาม คำว่า physiologically functional foods นั้นดูยาวเยิ่นเย้อ จึงมีการลดทอนคำไปเป็น functional foods แทน ซึ่งเป็นที่ยอมรับของสังคมวิชาการ         ดังนั้นสินค้าที่อ้างว่าเป็น functional drinks นั้น ควรเป็นเครื่องดื่มที่ดูไม่ต่างจากเครื่องดื่มธรรมดาแต่ถูกปรับให้มีศักยภาพในการส่งผลให้สุขภาพมนุษย์ดีขึ้นกว่าการดื่มเครื่องดื่มธรรมดา เช่นการเติมสารสกัดจากอะไรสักอย่างหนึ่งลงไปในเครื่องดื่ม แล้วทำการศึกษาจนได้เห็นว่า มีประโยชน์จริงในมนุษย์        อาจมีผู้บริโภคสงสัยว่า functional drinks นั้นเป็นอย่างไร ปรากฏว่าเมื่อพิจารณาจากโฆษณาทั้งทางวิทยุ โทรทัศน์และอินเทอร์เน็ตแล้วพบว่า น่าจะมีลักษณะเป็น เครื่องดื่มสำหรับนักกีฬา (Sport Drink ) ซึ่งมีองค์ประกอบเป็นเกลือแร่และน้ำตาลเพื่อชดเชยแร่ธาตุและพลังงานที่เสียไประหว่างออกกำลังกาย แต่ประเภทที่ดูว่าขายดีที่สุดคือ เครื่องดื่มให้พลังงาน (Energy Drink) ซึ่งเป็นเครื่องดื่มที่ผสมสารให้ความหวานพร้อมกลุ่มวิตามินและกรดอะมิโนในปริมาณหนึ่ง ซึ่งแม้มีประโยชน์บ้างก็ตามแต่จริงแล้วสารเคมีที่ต้องการขายจริงคือ คาเฟอีน ซึ่งช่วยให้คลายความง่วงนอนและมีความตื่นตัว สำหรับเครื่องดื่มเข้มข้น (Enriched Drink) นั้นเป็นเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมองค์ประกอบในอาหารและไม่ใช่อาหาร เช่น คอลลาเจน โคคิวเท็น สารสกัดจากเมล็ดหรือเปลือกหรือรากของพืช  โดยมักอ้างว่ามีสารต่อต้านอนุมูลอิสระหรือช่วยการเผาผลาญไขมัน ฯลฯ ซึ่งสินค้าเหล่านี้บางชนิดเป็นสินค้าเกิดใหม่ บรรพบุรุษเราไม่เคยพบเห็น         สำหรับงานวิจัยที่กล่าวว่า การกินน้ำตาลมากมีผลโดยตรงต่อระบบภูมิคุ้มกันนั้น เท่าที่หาได้จาก PubMed และ ScienceDirect คือ บทความเรื่อง A high-sugar diet affects cellular and humoral immune responses in Drosophila ในวารสาร Experimental Cell Research ของปี 2018 ซึ่งเป็นการเลี้ยงแมลงหวี่ด้วยอาหารที่มีน้ำตาลทรายสูงราว 6.7 เท่าของอาหารปรกติ ทำให้พบข้อบกพร่องของระบบภูมิคุ้มกันเกี่ยวกับความสามารถด้านฟาโกไซโทซิส* (phagocytosis) ของแมลงหวี่ในการจัดการกับสิ่งแปลกปลอมคือ เม็ดยางลาเท็กซ์และสปอร์ของเชื้อราบิวเวอเรีย (Beauveria bassiana เป็นเชื้อราใช้กำจัดแมลง โดยสปอร์งอกและแทงเส้นใยทะลุตัวแมลง ทำให้แมลงมีอาการผิดปกติ อ่อนแอ จนแมลงตายในที่สุด)         อีกทั้งยังพบว่า อาหารที่มีน้ำตาลทรายสูงกระตุ้นการพัฒนาของ lamellocytes (เซลล์ที่มีเฉพาะในตัวอ่อนแมลงที่สามารถต่อสู้เชื้อโรคที่บุกรุก) ในต่อมน้ำเหลืองและระบบเลือดมากเกินไป ซึ่งปรกติไม่เกิดขึ้นในแมลงที่แข็งแรง นั่นแสดงว่าการพัฒนาเพื่อเป็นแมลงตัวโตเต็มวัยนั้นถูกชะลอหรือชะงักด้วยการกินน้ำตาลทรายมากเกิน ซึ่งบทความเรื่องนี้โดยสรุปแล้วให้ข้อมูลว่า อาหารที่มีน้ำตาลสูงนั้นน่าจะส่งผลต่อความผิดปรกติของระบบภูมิคุ้มกันโดยธรรมชาติซึ่งรวมถึงการอักเสบด้วย         *ฟาโกไซโทซิสนั้นเป็นส่วนสำคัญของระบบภูมิคุ้มกัน เซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันหลายชนิดทำหน้าที่นี้เช่น นิวโทรฟิล แมคโครฟาจ เซลล์เดนไดรต์ เป็นต้น กระบวนการฟาโกไซโทซิสนั้นเป็นการกลืนเชื้อโรคเข้าในเซลล์แล้วย่อยทำลายทิ้งด้วยเอ็นซัม เซลล์ฟาโกไซต์บางชนิดได้นำโปรตีนที่ย่อยแล้วและมีส่วนที่เป็น epitope ซึ่งแสดงความสามารถในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน (antigenicity) ของเชื้อโรคไปแสดงบนผนังเซลล์ทำให้เม็ดเลือดขาวเข้ามาเรียนรู้เพื่อทำความรู้จักก่อนที่จะถูกกระตุ้นให้สร้างแอนติบอดีหรือเปลี่ยนไปเป็น T-killer cell

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 246 “มือแชร์ข่าวปลอมเลยพวกนี้ ต้องเอากลับมาแชร์ข่าวดีแทน”

        นิตยสารฉลาดซื้อ ฉบับนี้พาไปพบคนทำงานคุ้มครองผู้บริโภคอีกท่าน ภญ.ชโลม เกตุจินดา หลังจากเรียนจบสาขาวิชาเภสัชศาสตร์ ก็มุ่งมั่นมาทำงานคุ้มครองผู้บริโภค ด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ เพราะสนใจเรื่องอาหารสุขภาพ อาหารปลอดสารพิษ การดูแลสุขภาพ โดยเน้นเรื่องวัฒนธรรมชุมชน เธอบอกเราว่า “เราอยากจะเห็นสินค้าที่มันอยู่ในชุมชนได้รับการสนับสนุนและมีมาตรฐาน” ประสบการณ์และเรื่องเล่ามากมาย แต่ครั้งนี้จะเน้นถึงงานเรื่อง ข่าวปลอม ข่าวลวง ข่าวดี ว่ามีผลต่อผู้บริโภคอย่างไร และการทำงานด้วยพลังของอาสาสมัครนั้นสำคัญอย่างไร งานที่อาจารย์ให้ความสำคัญมากคือการเฝ้าระวังสินค้าออนไลน์         คืองานเฝ้าระวังออนไลน์ของเราตอนนี้ เราจะมุ่งไปที่การพัฒนาศักยภาพเครือข่ายอาสาสมัครคนทำงาน ซึ่งสินค้าออนไลน์ส่วนหนึ่งนี่มันก็จะมีการแชร์ โพสต์ขาย เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับสถานการณ์โควิดค่อนข้างเยอะ    ไม่ว่าจะเป็นเรื่องยารักษาหรือว่าชุดผลิตภัณฑ์ต่างๆ การตรวจพวกนี้หรือว่าสมุนไพร ซึ่งพอมีคนโพสต์แนะนำหรือให้ข่าวว่าสมุนไพรตัวนี้ใช้ดี สักพักเดี๋ยวก็จะมี “ตัวผลิตภัณฑ์” เกี่ยวกับสมุนไพรนั้นโผล่ขึ้นมาในกลุ่มไลน์ ซึ่งเป็นกลุ่มเฉพาะความที่เป็นกลุ่มเฉพาะมันก็จะทำให้การตรวจสอบจากข้างนอกมันเข้าไปไม่ถึง การที่เรามีอาสาสมัครที่เป็นกลไกอยู่ในกลุ่มไลน์ต่างๆ กลุ่มชุมชน กลุ่มวิสาหกิจ กลุ่ม อพม.อะไรอย่างนี้ พอเจอประเด็นอะไรเขาก็สามารถแคปหน้าจอกลับมาให้เราตรวจดูได้ อาจจะมีการแชร์เรื่องสมุนไพรที่โฆษณาเกินจริง มีการแชร์กันเกิดขึ้นอย่างนี้นะคะ เราจะมุ่งไปที่การพัฒนาศักยภาพอาสาสมัครในพื้นที่ ในการที่จะใช้สื่อออนไลน์แบบมีประสิทธิภาพ คนอายุเยอะส่วนใหญ่จะเป็นอาสาสมัครของเรา อายุประมาณ 50-60 หรือ 40 แถวๆ นี้         แต่ก็ยากตั้งแต่แคปหน้าจอเลย พอเราบอกว่าปัญหาของคนกลุ่มนี้คือ เชื่อง่าย แชร์ง่ายด้วย แชร์เร็ว แต่ว่าหาหลักฐานหาข้อมูลไม่ได้ เราก็จะให้เขาช่วยแคปข้อมูลกลับมาแล้วเราก็ตรวจสอบ หลักจากนั้นก็ทำกระบวนการให้เขาสามารถเชคเกอร์ (Checker) หรือตรวจข้อมูลจาก Application ของ อย. หรือ FDA ได้ อย่างน้อยๆ ตรวจเลข อย.เป็น ว่าอันนี้คือตัวผลิตภัณฑ์อาหารเสริมหรือว่าเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหรือว่าเป็นยาสามัญประจำบ้าน หรือว่าเป็นยาสมุนไพร เขาก็จะตรวจสอบผ่าน Application เป็นนะคะ อย่างนี้นะคะ ก็ค่อนข้างยากเพราะว่าแคปหน้าจอหลายยี่ห้อนะโทรศัพท์ มือถือหลายยี่ห้อมันก็จะแคปหน้าจอลำบาก พอแคปมาตัวหนังสือเขาก็จะเป็นฟอนต์ประมาณ 30 ตัวอักษรใหญ่ๆ ยาวๆ เต็มจอ มันก็จะมองไม่เห็นไม่ครบหน้าจอ ก็แคปได้ทีละจออะไรอย่างนี้ เราจะสอนให้เขาแคปแล้วก็แคปรูปแบบยาวๆ ให้มีข้อมูลครบ ก็จะเป็นเรื่องเทคนิค เพราะฉะนั้นอันนี้มันก็จะกลายเป็นเหมือนเราฝึกทักษะทางดิจิตอลให้กับอาสาสมัครผู้บริโภคในการเฝ้าระวังด้วย ตอนนี้มีอาสาสมัครกี่คนที่กระจายตามกลุ่มไลน์ต่างๆ         เราทำอบรมมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2562 ตอนนี้ก็จะมีของสงขลา ประมาณ 100 คน แล้วเราก็ขยายเฉพาะโครงการนี้เป็นการเฝ้าระวังสื่อออนไลน์ คือรวมถึงเรื่องการเคลียร์เรื่องข้อมูลเท็จ ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพด้วย แล้วก็จะมีประปรายไปว่าเอาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มันมีปัญหานะคะ ก็มีเริ่มไปอีก 5 จังหวัด แต่ก็ไม่ค่อยต่อเนื่องเพราะว่าสถานการณ์โควิด การฝึกอบรมที่จะต้องจับมือทำงาน  เลยจับไม่ได้เพราะว่าต้องใกล้ชิด โทรศัพท์เขาบางทีก็จะเป็นโทรศัพท์ที่มีปัญหาว่าข้อมูลเต็มเล่นอะไรไม่ได้แล้ว โทรศัพท์ลูกให้ ข้อมูลเต็มไปหมดแล้วก็ดี ไปกดรับอะไรก็ไม่รู้เป็นข้อความ SMS ยืมเงินอีก ก็เจอนะ ก็ต้องมานั่งช่วยเคลียร์ให้ เคลียร์แคช (Cache) เคลียร์อะไรให้ อันนี้ก็จะเป็นประเด็นหนึ่งเรื่องศักยภาพในเรื่องของการใช้พวกมือถือในการสื่อสาร         แต่ในช่วงโควิดนี้ อสม.ส่วนหนึ่งเขาก็จะได้รับหน้าที่ในเรื่องของการสำรวจข้อมูล ทำ Google from มันก็เลยทำให้งานแบบนี้มันได้รับความสนใจมากขึ้น เพราะฉะนั้นทุกคนก็จะรู้สึกว่ามันช่วยการทำงานของเขา อาสาสมัครเราส่วนหนึ่งส่วนมากก็จะเป็นแกนนำเป็น อสม.อยู่ในชุมชนที่ต้องใช้เรื่องพวกนี้ ขณะเดียวกันก็จะมีงานอีกชุดหนึ่งร่วมกับ กพย.กับทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ในเรื่องของการเฝ้าระวังยาชายแดน แล้วก็คิดงานในลักษณะเป็นยุทธศาสตร์เพื่อทำงานเสริมศักยภาพเครือข่ายการทำงานร่วมกัน         เครือข่ายภาคีทำงานร่วมกันก็จะมีตั้งแต่ สาธารณสุขจังหวัด หน่วยบริการที่มีเภสัชฯ อยู่ในโรงพยาบาลระดับชุมชน เพราะว่างานเรื่องการใช้ยาที่ไม่เหมาะสมส่วนหนึ่ง ก็จะมีกลุ่มเภสัชฯ ในโรงพยาบาลชุมชนที่เขาต้องลงไปดูเรื่องยาชุด ยาที่มีปัญหาสารสเตียรอยด์เกิดขึ้นในพื้นที่ หรือตัวอื่นๆ อย่างเช่น อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์ที่มันขายอยู่ตามตลาดนัด  ซึ่งตัวผลิตภัณฑ์นี้จะไม่มีฉลากภาษาไทย รวมถึงยาบางตัวที่อยู่ตามเขตชายแดนก็จะเป็นภาษามลายู ภาษารูมี ที่เป็นภาษาของทางมาเลเชียเขียนแบบภาษาอังกฤษแต่อ่านคำเป็นภาษามาเลเชีย ก็จะสอดคล้องกับในพื้นที่เองเขาก็มีกระบวนการทำงานของอีกด้านหนึ่ง ด้านงานคุ้มครองผู้บริโภคที่ไปเชื่อมกันที่เรียกว่า Border Health ที่เรียกว่าคณะกรรมการชายแดนเรื่องสุขภาพ ซึ่งเป็นข้อตกลงร่วมกัน คณะเภสัชฯ ซึ่งรับหน้าที่เป็นกลไกวิชาการประสานประชาคม ซึ่งพวกเราเองคือเครือข่ายผู้บริโภคในพื้นที่ ก็จะมีประเด็นทำงานร่วมกันมีการเฝ้าระวังผลิภัณฑ์ชายแดน ทำให้เกิดการทำงานร่วมกัน เพราะว่าปัญหาอยู่ในส่วนของชุมชน             “คือส่วนหนึ่งคนไม่ค่อยไปแจ้ง อย.หรือแจ้ง สสจ.แต่พอเราไป Survey สำรวจ มีกระบวนการเฝ้าระวัง เราก็จะไปถึงต้นตอปัญหาก็คือการใช้ยาในครัวเรือน” ครัวเรือนนี้ได้ยามาจากไหน ได้ยาจากคนที่เพิ่งไปกลับมาจากอินโดฯ กลับจากมาเลย์ แล้วก็มีการส่งต่อ รวบรวมมาแล้วก็ส่งให้ศูนย์วิทย์ฯ ก็เลยกลายเป็นการร่วมมือของภาคี ซึ่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เอง คณะเภสัชฯ ก็จะไปทำกระบวนการที่เรียกว่า ฝึกให้เราเป็นนักวิจัยร่วม คือเก็บข้อมูล แล้วก็ออกแบบสอบถามให้มันสามารถมาประมวลผลวิเคราะห์ได้ ฉะนั้นก่อนที่จะไปเก็บข้อมูลก็ต้องมานั่งออกแบบสอบถาม แบบ Survey ก่อนว่าเราต้องการข้อมูลแบบไหน มันก็จะทำให้เห็นทิศทางการจัดการปัญหา         เช่น ถ้าเกิดเจอแบบนี้แสดงว่าสเตียรอยด์ที่เราเจอ คือมันค่อนข้างที่จะชัดเจนแล้ว ทางศูนย์วิทย์ฯ ก็จะส่งไปตรวจสอบ แล้วก็หลังจากนี้เราก็จะดูว่าถ้าเกิดตัวนี้มีปัญหาเราก็จะพูดคุยผ่านใครล่ะ ก็ต้องส่งไปที่ Border Health ส่วนหนึ่งก็จะมีทางสาธารณสุขจังหวัดนราธิวาสนะคะ ที่ทำงานกับตรงนี้แล้วก็กับด่านสินค้า ด่านตรวจสินค้าก็จะมีด่านศูนย์วิทย์ฯ ของสงขลาด้วยส่วนหนึ่งนะคะ หลังจากนี้เราก็จะเอาข้อมูลพวกนี้มานั่งคุยกันว่าจะมีข้อเสนอต่อไปอย่างไรเพื่อจัดการตัวผลิตภัณฑ์นี้ อันนี้ก็จะเป็นกระบวนการทำงานและอาสาสมัครเองส่วนหนึ่งก็จะตรวจง่ายๆ เป็นสเตียรอยด์จะเป็นในกลุ่มที่เขาถ้าพัฒนาอีกนิดหนึ่งเขาก็จะเป็นอาสาสมัครผู้เชี่ยวชาญที่เขาเรียกว่า อาสาสมัครนักวิทย์ อสม.เขาจะมีกลุ่มนี้ก็จะตรวจสเตียรอยด์กันเป็นเบื้องต้นก่อน ศักยภาพของกลุ่มอาสาสมัครที่น่าสนใจ         คือกลุ่มไลน์พวกนี้ที่เขาเป็นสมาชิกกันเขาก็จะเกรงใจกันส่วนหนึ่ง แต่ว่าเขาก็จะมีศักยภาพคืออย่างน้อยๆ ตอนนี้เขาเริ่มพิมพ์เป็น คือกดพิมพ์ไม่ใช่กดแชร์อย่างเดียว พอเริ่มกดพิมพ์ได้เขาก็จะเริ่มถามว่าถ้าพูดไปอย่างนี้ดีไหม อย่างคนที่ส่งข้อมูลมามีวุฒิการศึกษานะเป็นอาจารย์โรงเรียนด้วย แต่อาจารย์คนนี้ส่งข้อมูลที่มันไม่น่าเชื่อถือ น่าสงสัย เรา (อาสาสมัคร) จะตอบกลับไปอย่างไร ก็จะมีกลุ่มไลน์เพื่อปรึกษาหารือกันเป็นกลุ่มไลน์เพื่อส่งข้อมูล คือแชร์หน้าจอมาแล้วเหล่าอาสาสมัครเขาก็จะถามว่าอันนี้จะตอบไปอย่างไรดี ให้ไม่หักหน้ากันมากนัก ปัจจุบันก็ยังมีข้อความที่แชร์เรื่องผิดๆ อยู่มาก มีวิธีจัดการอย่างไร         ใช่ค่ะ ถูก เพราะฉะนั้นตอนนี้ศักยภาพของอาสาสมัครเราที่เห็นได้ชัดเจนคือ ข่าวปลอมๆ พวกนี้ที่ได้รับมาบางส่วนมันเริ่มเป็นข่าววนซ้ำ เขา (อาสาสมัคร) จะจำได้ เช่น ข่าววนซ้ำว่าแชร์เรื่องคลิปที่อาจารย์มหิดลเขาทำวิจัยเรื่องกระชาย อาสาสมัครของเราก็สามารถบอกกันต่อได้ว่า “เออวิจัยนั้นเขาก็จะยังไม่เป็นยานะ เป็นแค่การทดลองในเซลล์ที่อยู่ข้างนอกที่เป็นในหลอดทดลองยังไม่ได้ใช้ในคน” เขาก็จะพิมพ์พวกนี้ได้เรียกว่ามีชุดข้อมูลที่ถูกต้อง  คือมีชุดคำที่พร้อมจะไปอธิบายว่า เห้ย ยังไม่ได้เป็นยาอันนี้อันนั้น หรือว่าอันนี้น้ำกระชายจริงๆ ยังไม่ควรกินแบบคั้นสด เพราะมันกินแล้วมันจะระคายเคืองปาก ปากคุณจะเป็นตุ่มนะและก็ไม่ได้รักษามีแค่เสริมภูมิ ก็จะชุดคำที่เขาเอาไปพูดได้แต่มันจะเริ่มวนซ้ำแล้ว เดี๋ยวสักพักจะมีคนในกลุ่มเขาก็จะแชร์เนื่องจากความยากในการเข้าถึงยาตอนนี้นะคะ          แต่ตอนนี้ก็อาจจะมีอีกประเด็นหนึ่งซึ่งยังเป็นความคลุมเครือยังไม่ลงตัวกันของข้อมูล เช่น ATK Antigen Test Kit ตอนนี้มันคืออะไรแน่มันต้องผ่าน WHO ก่อน หรือมันผ่าน อย.ก่อน ก็เป็นเรื่องประเด็นถกเถียงกัน ซึ่งการสื่อสารของ อย.ก็ไม่ชัด สื่อสารของหน่วยที่จัดซื้อก็ไม่ชัด อันนี้ก็จะลำบากนิดหนึ่ง จากประสบการณ์ของอาจารย์เห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างในเรื่องผลิตภัณฑ์สุขภาพ         คือเราเองความไว้เนื้อเชื่อใจเรื่องมาตรฐานหรือเรื่อง อย.เราก็คิดว่าเป็นเกณฑ์แรก แต่ในขณะที่ความเปลี่ยนแปลงเรื่องเทคโนโลยีโดยเฉพาะในเรื่องของไลฟ์สไตล์ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับเรื่องสุขภาพการบำรุงสุขภาพเป็นพวก Function Drink  อะไรพวกนี้ไปไกลมากกว่าการที่จะมารับรองมาตรฐาน  แล้วคนก็สนใจในเรื่องภูมิคุ้มกันเรื่องการสร้างความแข็งแรงมากกว่าการรักษา เพราะฉะนั้นตัวผลิตภัณฑ์พวกนี้มันค่อนข้างจะคลุมตลาดได้กว้างมากขึ้นนะคะ แล้วก็การให้ใบอนุญาตอะไรพวกนี้มันก็ง่ายขึ้นแต่ไม่มีใครยืนยันความชัดเจน คือมันขายเหมือนอาหารนั่นแหละแต่มันโฆษณามากเกินกว่าอาหาร อันนี้ก็เป็นปรากฏการณ์ที่เห็น         เรื่องพฤติกรรมของผู้บริโภค ปัจจุบันคนก็ชอบทางลัดคือกินอะไรง่ายๆ กินนิดเดียวก็ได้ผัก 2 กิโลกรัม อะไรอย่างนี้ก็จะยิ่งสอดรับกับวิถีแบบนี้ ซึ่งเราก็คงไปบอกเขาห้ามกินไม่ได้ แต่เราก็จะต้องทำเรื่องกำกับคุณภาพกับหน่วยงาน หน่วยงานรัฐให้เขาทำเรื่อง Post Marketing ให้เยอะขึ้น เพราะเขาอนุญาตไปแล้วแต่เขาไม่ได้มาตามดูคุณภาพหลังจากที่มีใบอนุญาตออกมาแล้ว ก็มีการขายในท้องตลาดแล้ว มันควรจะมีหน่วยงานต่างหากที่มาทำเรื่องนี้ ทำวิจัยที่เรียกว่า Out of Pocket ด้วย ก็คือเราจะสุขภาพเกินไปไหม คือบางคนพร้อมจะจ่ายนะ แต่การรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ที่มันเป็นการตลาดเหมือน Functional Drink ที่เราเห็นบางโครงการมันจะเปลี่ยนรูปแบบไปเรื่อยๆ และหน่วยงานก็ไม่ได้กำกับดูแล กลายเป็นเราต้องไปซื้อหาเพื่อดูแลสุขภาพมากเกินจำเป็น แต่ก็ยังเจ็บป่วยอยู่เหมือนเดิม อันนี้ก็เห็นอยู่ในประเด็นเรื่องสุขภาพ         สำหรับประเด็นเรื่องอื่นของผู้บริโภค เนื่องจากผู้บริโภคไม่มีแหล่งข้อมูลรีวิวสินค้าที่เป็นกลางมาก อันนี้ก็จะเห็นพัฒนาการว่าเรายังไม่มีหน่วยงานที่จะมาดูแลสินค้าที่น่าเชื่อถือ ก็คาดหวังว่าหน่วยงานรัฐเองจะสนับสนุนเรื่องเกณฑ์สินค้าที่เป็นมาตรฐานจริงๆ แล้วก็สินค้าบางตัวที่มันทำให้เสื่อมเร็ว ซึ่งมันไม่สอดคล้องกับวิถีที่เราจะต้องดูแลสิ่งแวดล้อม มันก็ควรจะมีข้อบ่งใช้ให้พวกบริษัท ร้านค้า ผู้ประกอบธุรกิจร่วมรับผิดชอบด้วยเกี่ยวกับขยะต่างๆ ที่มันจะเกิดขึ้น อันนี้ในแง่มุมผู้บริโภค ซึ่งอันนี้น่าจะเป็นประเด็นเรื่องผู้บริโภคยั่งยืนด้วยคะ ก้าวต่อไปที่คิด         ก็คิดว่าส่วนหนึ่งคือ เราต้องไปทำระบบที่มันเป็นระบบข้อมูลที่คนเข้าถึงได้ง่าย คือตอนนี้ Application มันเยอะ สแกน QR Code ก็ง่ายแต่มันไม่มีเครื่องมือสำหรับผู้บริโภคที่เราจะเข้าถึงได้ง่ายอย่างนี้นะ ก็คิดว่ามันควรจะมีใครมาทำเรื่องพวกนี้ เปรียบเทียบราคาสินค้าต่างๆ เปรียบเทียบคุณภาพจากการสแกน QR Code คือผู้บริโภคจะต้องทำได้ง่ายขึ้น ก็คงจะต้องไปพัฒนาเขาเรียกว่า Smart People ให้เท่าทันกับสถานการณ์ว่าเรารีวิวสินค้าไม่ได้ แต่เราควรจะต้องมีเครื่องมืออะไรที่เรารู้ว่าอันนี้มันมีคะแนนให้จากคนทั่วไป ชุมชนอื่นหรือ อสม. หรือเครือข่ายผู้บริโภคอื่นๆ ที่สนใจ มีคำแนะนำอย่างไร         คือเริ่มต้นจริงๆ อสม.ทำได้นะคะ มันมีกองทุนสุขภาพท้องถิ่นรวมตัวกันแล้วก็เขียนโครงการเป็นเรื่องพัฒนาศักยภาพผู้บริโภคได้เลยในเรื่องของสุขภาพในเรื่องของการตรวจสอบความเท่าทันข้อมูลสุขภาพที่เรียกว่า Health literacy อาจจะต้องให้ทางเจ้าหน้าที่ช่วยหน่อยเป็นเรื่องความฉลาดทางสุขภาพนะคะ Health literacy ซึ่งมันต้องใช้พวกเครื่องไม้เครื่องมือนี้นะคะ ไปเขียนโครงการพัฒนาศักยภาพและก็ขณะเดียวกันก็อาจจะต้องหาคนมาช่วยเรื่องพวกนี้ แต่ว่าติดต่อมาทางเราได้ ยินดีเลย

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 245 ร้านข้าวกล่องที่วางแผนการผลิต เพื่อลดขยะจากอาหาร

เดินทีละก้าว กินข้าวที-ละ-คำคุณๆ เลือกซื้อข้าวกล่องจาก...ราคา หน้าตา รสชาติ หรือกล่อง ?          ฉลาดซื้อฉบับนี้พาไปรู้จักร้านขายข้าวกล่องออนไลน์ในจังหวัดระยอง ชื่อ ที -ละ-คำ ร้านที่สมาชิกในครอบครัว รวมใจมาร่วมมือกันทำเมนูอาหารสุขภาพด้วยความพิถีพิถัน ตั้งราคาสมเหตุสมผลแต่ผู้บริโภคสามารถจับต้องได้และเลือกวัตถุดิบแบบรู้ที่มา ใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญวางแผนการผลิตทุกขั้นตอนเพื่อลดขยะจากอาหาร         คุณกิ๊บ-มณีรัตน์ นานาประเสริฐ เล่าย้อนว่า เมื่อราว 5 ปีก่อนตอนนั้นเธอทำงานเป็นออแกไนซ์ ที่ มักจะได้กินข้าวกล่องเมนูเดิมๆ ซ้ำๆ เช่น ข้าวผัด ผัดกะเพรา ในระหว่างทำงาน ทำให้เบื่อข้าวกล่องมากๆ พอดีร้านส้มตำของที่บ้านปิดตัวลง เธอก็เลยชวนคนในบ้านให้มารับทำข้าวกล่องขาย โดยเลือกเมนูประจำบ้านมาเสนอลูกค้า เช่น ข้าวน้ำพริกกะปิ ข้าวพริกเกลือกุ้ง ข้าวไก่ย่างน้ำจิ้มแจ่ว ข้าวคลุกกะปิ ข้าวผัดปลาสลิด ในราคา 50-60 บาท เบื่อข้าวกล่อง แต่มาทำข้าวกล่องขาย         กิ๊บมีโอกาสทำงานร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ก็เลยอินเรื่องอาหารปลอดภัย เรื่องสุขภาพ จึงตั้งใจทำข้าวกล่องที่เป็นข้าวหอมมะลิผสมข้าวไรซ์เบอรี่ เป็นกึ่งอาหารสุขภาพ แต่ยังคงรสจัดจ้านแบบที่เรากิน แล้วลูกค้ากลุ่มแรกๆ ของเราก็พอดีเป็นเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาล คุณหมอ พยาบาล เขาแนะนำว่าให้ใส่ผักให้ครบสี ไม่ว่าเมนูอะไรให้มีผักด้วย จะเห็นเลยว่าข้าวกล่องของเราจะมีผักสีสันสวยงาม ลูกค้าส่วนใหญ่มาจากการแนะนำบอกต่อกัน เพราะเราไม่มีหน้าร้าน มีเพจอย่างเดียว หลายคนเคยได้รับข้าวกล่องตอนไปร่วมงานประชุม งานสัมมนา แล้วถูกใจ เขาก็จะมาสั่งค่ะ กินอย่างไร ทำขายอย่างนั้น         ที่บ้านจะพิถีพิถันเรื่องอาหารการกินมากๆ โดยเฉพาะการเลือกใช้วัตถุดิบ ต้องสดและสะอาด อย่างหมูบด เราจะไม่ซื้อหมูที่บดไว้สำเร็จแล้ว แต่จะให้ร้านขายหมูเจ้าประจำล้างหมูเนื้อแดงชิ้นๆ และล้างเครื่องบดให้ก่อนแล้วค่อยบดหมูให้เรา พอมารับทำข้าวกล่องขาย เราก็ยังทำแบบเดิมอยู่ แม้ว่าราคาจะสูงกว่าซื้อหมูบดสำเร็จก็ตาม เพื่อมั่นใจในความสะอาดและเป็นความสบายใจของแม่ครัวด้วยค่ะ           เมนูประจำบ้านที่เราชอบและลูกค้าส่วนใหญ่ชอบจะเป็นข้าวน้ำพริกกะปิ ที่เราใช้กะปิระยองอย่างดี เอามาย่างไฟก่อน เพราะการตำน้ำพริกกะปิ จะเป็นเมนูที่ไม่ได้ผ่านความร้อนเลย เราจึงต้องเอากะปิมาย่างไฟ เพื่อให้มั่นใจว่ากะปิจะสะอาด ปลอดภัย เมนูแบบที่ร้านนำเสนอลูกค้าพอใจไหม           ก็มีขัดใจบ้าง อย่างช่วงหน้าฝน หน้ามรสุม พวกอาหารทะเลไม่สดมีแต่แบบแช่แข็ง เราเคยซื้ออาหารแช่แข็งมาลองทำกินเองก่อนแล้ว รู้สึกว่าไม่โอเค เราก็พยายามอธิบายให้ลูกค้าเข้าใจ บางคนก็ยอมเปลี่ยน เพราะเห็นว่าเราใส่ใจให้เขาจริงๆ แต่ก็มีที่ลูกค้าไม่ยอมเปลี่ยนเมนู เราก็ขออนุญาตไม่รับออเดอร์ ก็เสียดายนะ แต่รู้สึกว่าลูกค้าส่วนใหญ่เขาสั่งไปแจกต่อ บางที 100 กล่อง ถ้าวัตถุดิบไม่สดจะส่งผลกระทบกับคน 100 คน ถ้าเขากินแล้วท้องเสียขึ้นมา มันไม่คุ้มเลย เราก็เลือกไม่ทำดีกว่า แล้วเรื่องแผนการผลิตเพื่อลดขยะอาหารมีที่มาอย่างไร         เริ่มมาจากไอเดียที่เห็นว่าช่วงนี้ในสวนของที่บ้านมีหน่อไม้ผุดขึ้นเยอะ อ่อนๆ ชวนกินมาก จึงโพสต์พรีออเดอร์เมนูขนมจีนแกงเขียวหวานไก่ใส่หน่อไม้สด ซึ่งลูกค้าตอบรับดีมาก ดังนั้นส่วนใหญ่คือ เราจะเลือกใช้ผักในฤดูกาลมากกว่า เพราะเราเชื่อว่าการกินผักตามฤดู เกษตรกรจะไม่เร่งสารให้พืชผลโต วัตถุดิบหลายอย่างก็จะมาจากที่สวนเองด้วย เช่น หน่อไม้ มะเขือ กะเพรา พริก โหระพา สะระแหน่  เราปลูกแบบออแกนิก หรือถ้าใช้ผักที่สวนไม่มี เราก็ไปดูตามตลาดนัดที่ชาวบ้านเอามาขาย ถ้าไปตลาดใกล้ๆ แล้ววัตถุดิบไม่สด ไม่สวยถูกใจ ก็จะไปดูตลาดอื่นๆ ไปเรื่อยๆ จนพอใจ            แล้วทีนี้สมาชิกในครอบครัวแบ่งหน้าที่กันตามความถนัด ทุกเมนูต้องทดลองปรุงมาชิมก่อน แล้วคำนวณวัตถุดิบที่ต้องใช้ต่อกล่องก่อนถึงจะลงมือผลิตตามออเดอร์ลูกค้า เมื่อได้ออเดอร์ (มีทั้งแบบลูกค้ารีเควสมาและให้เราเสนอเมนูไป) พวกเราก็จะมานั่งดูว่าช่วงนี้มีเมนูอะไร ใครกินบ้าง มานั่งคุยกันในบ้าน อย่างเช่น ข้าวคลุกกะปิ เราจะลองทำกินกันก่อน ใช้ข้าวเท่าไหร่ ใช้กะปิเท่าไหร่ ใช้หมูเท่าไหร่ อะไรเท่าไหร่ต่อหนึ่งกล่อง ต้องเอามาคำนวณให้ได้ทั้งหมดก่อน แล้วก็มาคุยกันเรื่องรสชาติว่าแบบนี้เราชอบกันหรือเปล่า ส่วนใหญ่จะเอาแบบที่บ้านกินอร่อย ช่วยกันชิมช่วยกันติ เมื่อมีการคำนวณวัตถุดิบแต่ละเมนูมาอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเราจะไม่มีปัญหาวัตถุดิบส่วนเกินเยอะหรือวัตถุดิบเหลือเยอะ แล้วด้วยรูปแบบการรับทำตามออเดอร์ลูกค้านี้ ก็ทำให้เราวางแผนการซื้อวัตถุดิบได้ค่อนข้างเกือบพอดีกับออเดอร์ที่เข้ามา อาจมีบ้างที่เหลือ แต่ก็ไม่ได้เหลือมากจนเป็นปัญหาหรือกลายเป็นขยะ จัดการบรรจุภัณฑ์เพื่อลดขยะพลาสติกด้วย         กิ๊บสนใจเรื่องการจัดการขยะและการจัดการสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว พอมาทำข้าวกล่องก็พยายามเลือกว่าจะใช้กล่องอะไร กล่องแบบไหนที่ตอบโจทย์ความสะดวกลูกค้า ต้นทุนของเรา แล้วก็เรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย คือลูกค้าที่เขาอินเรื่องสิ่งแวดล้อมจริงๆ ก็มี ถ้าเป็นลูกค้าประจำก็จะเอากล่องมาฝากไว้ให้ใส่เลย แต่ช่วงนี้มีโควิด-19 เราก็ต้องงดรับภาชนะจากลูกค้าก่อน         “ ช่วง 2 ปีแรก กิ๊บเลือกใช้กล่องกระดาษเพื่อลดขยะพลาสติก แม้ต้นทุนจะสูงก็ยอมแบกไว้ เพราะถูกใจลูกค้าและแม่ค้าก็สบายใจด้วย แต่ต่อมาเมื่อได้รับรู้ข้อมูลอัปเดตว่าขยะพลาสติกไม่ได้ไร้ค่าอีกต่อไป เพราะใช้ผลิตเป็นเชื้อเพลิงได้ด้วย จึงเปลี่ยนมาใช้กล่องพลาสติกแทน ซึ่งช่วยลดต้นทุนลงได้ด้วย จริงๆ กล่องกระดาษที่เราใช้อยู่มันก็ไม่ใช่กระดาษ 100%  มันเคลือบพลาสติกไว้ด้วย การย่อยสลายก็ยังคงหลงเหลือเป็นนาโนพลาสติกอยู่ดี แล้วการจัดการขยะกล่องข้าวที่ทำจากกระดาษเคลือบพลาสติกนี้ ปลายทางคือถูกฝังกลบ เพราะเอาไปทำอะไรต่อไม่ได้ ซึ่งปัญหาคือพื้นที่การฝังกลบขยะของบ้านเราก็เหลือน้อยลงไปทุกที ”         พอดีได้มีโอกาสไปทำงานที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนขยะเป็นพลังงงาน (Waste-To-Energy) คือเป็นการนำขยะทั่วไป ขยะพลาสติกที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้แล้วมาเปลี่ยนให้เป็นพลังงานความร้อน พลังงานไฟฟ้า หรือเชื้อเพลิงแห้ง (RDF) โดยผ่านกระบวนการต่างๆ และได้รู้ว่าที่ระยองมีบริษัทที่พัฒนาระบบการจัดการขยะที่มุ่งไปสู่เทคโนโลยีการแปลงขยะมูลฝอยเป็นพลังงานไฟฟ้า ในรูปแบบเชื้อเพลิงแห้งอยู่ด้วย จึงสนใจ เพราะแม้ว่าหัวใจจริงๆ ของการจัดการขยะคือ การลดปริมาณหรือทำให้เกิดเป็นขยะน้อยที่สุด แต่เราก็มองว่าในสถานการณ์แบบนี้ ถ้าเปลี่ยนขยะเป็นพลังงานได้ก็น่าจะดีกว่าถูกฝังกลบ         กิ๊บคุยกับเพื่อนที่มีความรู้ว่าอยากเปลี่ยนมาใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบนี้  จะเอาไปทำ RDF ได้หรือเปล่า เขาก็ว่าแบบนี้ได้ แล้วสติ๊กเกอร์ที่ไม่ใช่กระดาษมันส่งผลต่อการเอาไปเผาหรือเปล่า เขาก็ว่าไม่ แบบนี้แหละ เป็นตัวเชื้อเพลิงอย่างดีเลย เราจะถามหาความรู้ก่อน เพื่อให้ชัวร์ว่าการตัดสินใจเปลี่ยนของเรามันไม่ใช่แบบคิดไปเอง เมื่อเราศึกษาจนได้คำตอบว่าขยะพลาสติกทั่วไปที่รีไซเคิลไม่ได้นั้นนำไปผลิตเชื้อเพลิง RDF เพื่อป้อนสู่เตาเผาขยะได้ เราก็เปลี่ยนมาใช้กล่องพลาสติกเลย         ก่อนหน้านี้ ลูกค้ารับรู้ว่าเราใช้กล่องกระดาษเพื่อลดพลาสติก พอเปลี่ยนมาใช้กล่องพลาสติก เขาก็จะถามว่า เฮ้ย ไม่รักษ์โลกแล้วเหรอ เราก็บอกว่าไม่ใช่ แต่ตอนนี้มีวิธีจัดการที่ทำให้ขยะพลาสติกมันไปต่อได้แล้วไง เราก็โพสต์อธิบายบนเพจ ส่วนใหญ่คนไม่ค่อยรู้ว่าบ้านเรามีโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ บ้านเรามีโรงแยกขยะพลาสติกที่รีไซเคิลไม่ได้ไปทำ RDF นะ พอหลายคนรู้แล้วก็บอกว่า ดีจังเลย กิ๊บเชื่อว่าทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคร่วมมือกันจัดการขยะพลาสติกจากกล่องข้าวได้         โรงไฟฟ้าพลังงานขยะ เขาจะเอาขยะขึ้นสายพาน แล้วดึงขยะที่เผาได้ออกมาทั้งหมด ปัญหาคือเศษอาหาร ความชื้น น้ำ ที่มีอยู่ในขยะพวกนี้ ในการคัดแยก ถ้าเขาเห็นว่ามีน้ำเยอะ มีความชื้น มันก็จะต้องผ่านหลายกระบวนการ ไปลดความชื้น หรือบางส่วนที่เขาแยกไม่ได้จริงๆ มันก็จะไม่ถูกนำไปใช้         พอคนไม่รู้ว่าขยะมันไปไหนต่อได้ เขาก็ไม่ทำ คือแยกไปก็เอาไปทิ้งรวมกัน คือถามว่าเขาเอาไปรวมกันไหม ใช่ รวมจริงๆ แต่พอรวมแล้วก็เอาไปแยกต่อจริงๆ เพราะฉะนั้นต่อให้เขาจะรวมหรือไม่รวม ถ้าเราแยก เขาจะทำงานง่ายขึ้น ตอนนี้เราชวนลูกค้าให้ช่วยกันแยกเศษอาหารออกจากกล่องพลาสติกหลังทานเสร็จ ในใจมีแพลนต่อไปว่าจะชวนลูกค้าประจำแยกกล่องพลาสติกแบบนี้เอาไว้ แล้วเราจะเก็บให้ค่ะ ในสถานการณ์วิกฤติปรับแผนธุรกิจอย่างไร         เมื่อโควิด-19 ระบาด จากเดิมที่รับออเดอร์ล็อตใหญ่ๆ 30-50 กล่องขึ้นไป ก็ต้องปรับมารับพรีออเดอร์ลูกค้ารายย่อย ส่วนใหญ่เป็นหมอ พยาบาล ครู พนักงานออฟฟิศ และคนทำงานที่บ้าน จัดส่งเองทุกออเดอร์ เพิ่งลงมือจริงจังเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา          แรกๆ บางวันได้ 10 กล่อง เราก็ทำ บางทีมันไม่ได้ยอดหรือไม่ได้กำไร ก็มองว่าอย่างน้อยเราก็ยังได้กิน ยังได้ค่ากับข้าวทำไปไม่ขาดทุนหรอกแม้ออเดอร์ไม่เยอะ แต่ก็ดีใจทุกครั้งที่ลูกค้าบอกว่าข้าวกล่องของเราไม่เคยทำให้ผิดหวัง จากประสบการณ์ที่ผ่านมาเรามั่นใจว่าลูกค้ารับข้าวกล่องของเราไป ถ้าไม่กินเที่ยง แล้วไปกินเย็น ไม่เสียแน่นอน ตรงนี้เป็นเคล็ดลับเฉพาะของเราเลย         กิ๊บมองว่าลูกค้าเลือกซื้อข้าวกล่องจากข้อมูล จากความพิถีพิถันของวัตถุดิบมากขึ้น สังเกตจากช่วงแรกๆ ที่โพสต์ว่าวันนี้มีเมนูนี้นะ เขาจะเฉยๆ แต่ถ้าเราโพสต์ไปว่าวันนี้เรามีเมนูนี้ และบอกด้วยว่าวัตถุดิบเรามาจากที่นี่ เราเลือกใช้อันนี้ เหมือนเราใส่คอนเทนต์เข้าไป ลูกค้าก็จะอินบ็อกซ์มาสั่งกันรัวๆ แล้วยิ่งเราอธิบายเรื่องการใช้กล่องพลาสติกให้เข้าใจ เขาก็จะรู้สึกว่าเราใส่ใจทุกอย่างจริงๆ เราใส่ใจด้วยใจจริงๆ ไม่ใช่ใส่ใจเพื่อโฆษณา แล้วลูกค้ารับรู้ได้ก็บอกต่อกันเองลูกค้าจะบอกว่าเราเป็นข้าวกล่องพรีเมี่ยมในราคาที่จับต้องได้          ตอนนี้พ่อค้าแม่ค้ามาขายข้าวกล่องกันเยอะ เราต้องรักษาคุณภาพมาตรฐานของเราเอาไว้ให้ดีๆ เรามองว่าคำติของลูกค้าคือของขวัญที่เขายอมพูดความจริงกับเรา แล้วเราเอามาปรับเราก็จะอยู่ได้ ตอนนี้มีคนสั่งข้าวกล่องของเราไปให้บุคลากรทางการแพทย์และชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เรื่อยๆ ซึ่งในสถานการณ์แบบนี้คิดว่า เราก็เดินกันไปทีละก้าว กินข้าวทีละคำ ค่อยๆ ปรับตัวกันไป เหมือนเป็นกำลังใจให้ทั้งตัวเองและลูกค้าด้วย  วันนี้คุณสั่งข้าวกล่องแล้วหรือยัง ? ที-ละ-คำ เราใส่ใจในวัตถุดิบและพิถีพิถันในทุกขั้นตอนการผลิต เพื่อให้ทุกเมนูเป็นมื้อพิเศษFacebook : ข้าวกล่องของว่างระยอง link :   www.facebook.com/TeeLaKam.Rayongโทร : 086-6555443

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 243 รู้เท่าทันการนำผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมาเป็นเครื่องดื่ม

        ทุกวันนี้ มีการนำผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ยา มาทำเป็นเครื่องดื่มที่จำหน่ายในร้านค้าทั่วไป โดยยึดความเชื่อของคนทั่วไปว่า เมื่อผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพและยามีประโยชน์ต่อร่างกายแล้ว การดื่มเครื่องดื่มที่ใส่สิ่งเหล่านี้ย่อมดีต่อร่างกายเช่นเดียวกัน ทำให้ขายได้มากและขายง่ายกว่าการขายยาและผลิตภัณฑ์ มารู้เท่าทันกันเถอะ โค้กก็มีต้นกำเนิดจากยาแก้ท้องอืดท้อเฟ้อ         ประวัติของโค้ก หรือโคคา โคลา ถือกำเนิดโดยยนายจอร์น เอส เพมเบอร์ตัน นักผสมยาชาวอเมริกัน ทำออกมาเป็นไวน์โคคาออกขายในปีค.ศ. 1884 ใช้ชื่อยี่ห้อว่า “Pemberton’s French Wine Coca” แต่ในปีต่อมา มีการออกกฎหมายห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จึงเปลี่ยนไวน์โคคาเป็นแบบที่ไม่มีแอลกอฮอลล์ โดยคิดค้นดัดแปลงใช้สารจากใบโคคา มาผสมกับสารสกัดจากเมล็ดของผลโคลาพบว่ารสชาติดี และขายเป็นไซรับ ในฐานะยาบำรุงรักษาอาการจากโรคติดมอร์ฟีน โรคท้องอืดท้องเฟ้อ แก้อ่อนเพลีย และปวดหัว และมีขายในบาร์จ่ายโซดา แต่ผสมน้ำเปล่าไม่ได้ผสมโซดาแบบปัจจุบัน         เมื่อมีการผสมไซรัปของโคคา-โคลา เข้ากับโซดาแทนน้ำเปล่า คนที่ดื่มรู้สึกชื่นชอบ ติดใจ เกิดความนิยมมากขึ้นจนกลายเป็นเครื่องดื่มบรรจุสำเร็จในขวดและได้รับความนิยมไปทั่วโลกจนถึงปัจจุบัน             นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของการเปลี่ยนจากยาแก้ท้องอืดท้องเฟ้อมาเป็นเครื่องดื่ม และกลายเป็นเครื่องดื่มที่มียอดขายมากที่สุดในโลก การเปลี่ยนวิธีการขายยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพมาเป็นเครื่องดื่มในชีวิตประจำวัน         จริงๆ แล้ว การโฆษณาขายยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพก็มีให้เห็นทุกๆ วัน ทั้งในสื่อทีวี วิทยุ และสื่อออนไลน์ เช่น เราจะเห็นการโฆษณาขายถั่งเช่า เห็ด โสม รังนกนางแอ่น คอลลาเจน วิตามินต่างๆ และอื่นๆ อีกมากมาย ถ้าเป็นเรื่องสุขภาพ ก็มักจะเน้นกลุ่มผู้สูงอายุ ถ้าเป็นเรื่องความสวยความงาม ก็เน้นวัยรุ่น หนุ่มสาวจนถึงวัยผู้สูงอายุ         ดังนั้น ถ้าสามารถนำผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ให้ประโยชน์ต่อสุขภาพ ป้องกันความเสื่อม และอาจมีส่วนในการชะลอความเสื่อม มาบรรจุในเครื่องดื่มที่สามารถหาดื่มได้ในร้านค้าทั่วไป เพียงแค่เปิดขวดก็ดื่มได้ทันที พร้อมกับมีความเชื่อเป็นทุนเดิมอยู่แล้วว่า สิ่งต่างๆ ที่อยู่ในขวดดีต่อสุขภาพ น่าจะดีกว่าการดื่มน้ำเปล่า         ดังนั้น การดื่มเครื่องดื่มที่ผสมวิตามินต่างๆ ก็ได้ประโยชน์ต่อร่างกายและได้น้ำด้วย การดื่มเครื่องดื่มที่ใส่คอลลาเจนก็ทำให้ร่างกายได้รับคอลลาเจนจะได้ดูอ่อนเยาว์ ป้องกันความเสื่อมของข้อต่อ การดื่มนมที่ใส่แคลเซียมหรือวิตามินดีก็น่าจะดีกว่าการดื่มน้ำเปล่าหรือนมธรรมดา เป็นต้น ร่างกายอาจได้รับสารต่างๆ เกินความต้องการ         เมื่อเชื่อว่าเครื่องดื่มที่ใส่ผลิตภัณฑ์สุขภาพจะดีกว่าน้ำเปล่าจะทำให้การบริโภคเครื่องดื่มเหล่านี้มากขึ้นหรือแทนการดื่มน้ำเปล่า ซึ่งร่างกายควรดื่มน้ำเปล่าประมาณวันละ 1,500-2,000 มิลลิลิตร การดื่มเครื่องดื่มเหล่านี้อาจเป็นภาระต่อไตในการปรับสมดุลแร่ธาตุในเลือด บางคนอาจได้รับน้ำตาลมากเกินไป         โดยสรุปแล้ว ร่างกายได้รับสารอาหาร วิตามิน และสารต่างๆ จากอาหารที่กินในแต่ละวันเพียงพอแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องดื่มเครื่องดื่มที่ใส่ผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆ เพราะอาจมีผลเสียต่อร่างกาย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 243 ร้านพลังรักษ์ เมื่อความรักทำงาน

มาค่ะ ฉลาดซื้อจะพาไปช็อปปิ้งในร้านค้าชุมชนแห่งหนึ่ง ที่สินค้ามี “ราคา” และ “คุณภาพ” ดีเท่าเทียมกัน เป็นร้านที่รับหน้าที่เป็นผู้คัดสรรของดีแทนผู้บริโภค แบบที่เรียกได้ว่า ” กินอย่างไร ขายอย่างนั้น ” หลายคนอาจเคยได้ยินชื่อ และหลายๆ คนคงคุ้นเคยกับร้านนี้ “พลังรักษ์”  ร้านอาหารมังสวิรัติ ย่านถนนนวมินทร์ (ปัจจุบันมี 3 สาขา ตั้งอยู่ระหว่างซอยนวมินทร์ 44 ถึง 46 แต่ละร้านจะจำหน่ายสินค้าที่แตกต่างกัน ร้านพลังรักษ์ สาขา 1 และสาขา 2 อยู่ในซอย 46 เป็นร้านอาหารและร้านขายวัตถุดิบ เครื่องปรุงอาหาร ส่วนสาขา 3 ตั้งอยู่ที่ปากซอยนวมินทร์ ซอย 44 เป็นร้านขายผักสด ผลไม้ และเครื่องปรุงรส รวมทั้งน้ำผักปั่นและนมอัลมอนด์)         สุวรรณา  สุมณฑา ผู้จัดการร้านพลังรักษ์  เล่าอย่างมีความสุขเมื่อเราถามว่าตั้งราคาเป็นมิตรแบบนี้มีกำไรบ้างไหม “เราก็เอากำไรบางส่วนไง เราสงสารเกษตรกร ท่านอุตส่าห์ทำลำบาก ตลาดก็ปิดหมดไม่มีที่ลง เราก็ให้ท่านลง ช่วยท่าน เราก็คิดเปอร์เซ็นต์ถูกไม่แพง เอาแค่ให้เราพออยู่ได้ เป็นค่าอะไรต่ออะไรของเรา” สินค้าที่ขายมาจากที่ไหน         ของตามฤดูกาลของญาติธรรม คือเราเป็นนักปฏิบัติธรรมนะ ที่เรามาตรงนี้เสียสละเพราะว่าเราเป็นลูกศิษย์ของพ่อครูสมณะโพธิรักษ์ ไหว้ครูก่อน คือท่านสอนให้เราพึ่งตนเองและก็ช่วยผู้อื่นเมื่อเราเต็มที่แล้ว เราเพียงพอแล้ว เราก็หัดอยู่แบบพอเพียงเหมือนพ่อหลวงแล้วเราก็ปลูกกินเอง ทั้งทำเองเสร็จแล้วเราก็มีเหลือ เรามีเหลือแล้ว บางคนเขาไม่มาค้าขายอย่างนี้เขาจะมีที่ดินของเขา เขาก็ปลูกอยู่ปลูกกินแล้วก็เอามาขาย สินค้าเป็นสินค้าสุขภาพ        ใช่ค่ะเราเน้นเลย โดยเฉพาะถ้าไม่มีสารพิษเลยยิ่งดี ดีกว่าปลอดสารฯ ปลอดสารนี่ยังมีระยะเวลาในการที่ฉีดแล้วรอเวลา ของเรานี่ไม่ใส่เลยเอาน้ำไปตรวจเอาดินไปตรวจบริสุทธิ์เพราะบางทีมันโกหกได้ไง พอเกิดโควิดมันก็เลยพลิกกลับว่าเราต้องมาพึ่งตนเอง ที่พ่อหลวงสอนก็เลยมีความสำคัญ พ่อครูก็เลยได้สอน 3 อาชีพที่ท่านบอก 3 อาชีพกู้ชาติ ต้องทำกสิกรรมไร้สารพิษ ต้องเอาขยะมาเป็นปุ๋ย มันก็เลยกลับมาสู่วิถีชีวิตดั้งเดิม เรากินแบบไหน ก็ขายแบบนั้น         ใช่ๆ ก็เป็นการขายสินค้าที่ปราศจากเนื้อสัตว์ เป็นมังสวิรัติของดีราคาถูก เพราะฉะนั้นตรงนี้ก็ถือว่าเป็นโมเดลหนึ่งนะ จะมีทั้งหมด 3 ร้านใหญ่ๆ ก็คือร้านผัก ผลไม้ แล้วมีน้ำปั่นเป็นโมเดลนะ น้ำปั่นคือสูตรผักพื้นบ้าน สูตรผลไม้และสมุนไพรเป็นผักพื้นบ้านของไทย เพราะฉะนั้นอันนี้ก็เป็นที่ตอบโจทย์ของลูกค้ามาก ลูกค้ามีสุขภาพดีได้ดื่มน้ำผัก         นอกจากนี้เรามีข้าวสวยจากเลิงนกทา ที่พวกเราเองที่เป็นเกษตรกร 5 กระสอบต่อสัปดาห์  บางคนต้องการกับข้าวเราก็ขายพวกนี้ด้วย พวกนี้เป็น Food for Health มีน้ำปั่นสูตรที่เราคิดขึ้นมากันเองเป็นสูตรผักพื้นบ้านเพราะเราว่ามันเหมาะกับคนไทย ผักพื้นบ้านยีนมันแข็งแรง ทานแล้วก็แข็งแรงแล้วต้นทุนราคาก็จะถูก จุดเด่นที่ให้เอาภาชนะมาใส่เอง         ลูกค้ามาครั้งแรกถ้าไม่ได้เอาภาชนะมาเราก็ให้บริการถุงกระดาษ แต่ว่าเราก็ขอคิดสตางค์ถุงละ  1-2  บาท เพราะถ้าไม่คิดลูกค้าจะไม่ยอมเอามาเลยแล้วก็มาหาข้างหน้าตลอดเวลา แต่พอเราคิดบาทหนึ่ง ครั้งต่อไปเขาก็จะเอาภาชนะของเขามา เป็นถุงอะไรของที่เขามีอยู่เขาก็จะเอามาใส่กัน มันลดปริมาณขยะไปโดยปริยาย สินค้าก็จะราคาไม่แพงเพราะมันไม่มี Package มันจะตอบโจทย์ลูกค้า โดยเฉพาะช่วงโควิดนะ แล้วเขาจะซื้อทีละเล็กทีละน้อย คนละนิดคนละหน่อย ยุคนี้เงินเขาน้อย         ทำไมพลังรักษ์ถึงขายดี ทำไมพลังรักษ์ถึงขายได้เยอะ ลูกค้าเยอะมาก ของดีราคาถูกแล้วก็ขายปริมาณน้อยก็ได้ ไม่อย่างนั้นเขาซื้อข้าวไปถุงหนึ่งบางทีนะแล้วมันก็เหลือก้นถุง อันนี้เขาซื้อแค่ต้มข้าว ต้มพอกิน เขาซื้อพอกินบางทีเขามีเงินมาสักห้าสิบบาท เขาพอซื้อได้เยอะเลย เขาตักเองได้ตามปริมาณที่เขาต้องการ อันนี้นะคือเป้าหมาย  เราหักปริมาณภาชนะก่อนนะ ชั่งแล้วเขียนปริมาณภาชนะไว้ แล้วพอไปชั่งมารวมแล้วก็หักภาชนะออก เครื่องมันจะหักโดยอัตโนมัติมันก็จะคิดราคาออกมาเลย เพราะฉะนั้นตรงนี้ถามว่าโควิดนี่ตอบโจทย์ได้ดีมาก ถ้าพูดตรงๆ นะ หลายร้านอาจจะบอกว่ายากๆ อย่างเช่นผลิตภัณฑ์ของถั่วพวกนี้ ธัญพืช ซึ่งมันเป็นโปรตีนจำเป็นมากสำหรับเรา แต่ทำไมอันนี้ขายได้ถูกเพราะเราซื้อปริมาณมากๆ แล้วเราอบเอง ก่อนอบล้างให้สะอาดแล้วอบเองจะตอบโจทย์ลูกค้าเช่นเดียวกับพวกน้ำยาซักผ้าล้างจาน น้ำยาขัดห้องน้ำ ผลิตเองแล้วก็ขายได้ในราคาถูกๆ เพราะฉะนั้นมันจะตอบโจทย์ลูกค้าตรงนี้ได้ ควบคุมคุณภาพสินค้าอย่างไรคะ         ตรวจสอบกันประจำและคนทำก็คือคนมีศีล วันต่อวันนะ ถั่วอบวันต่อวันคือถ้าไม่มีคุณภาพเราถือว่าเป็นบาปนะ เราเอาของไม่ดีให้กับลูกค้า เราเน้นเรื่องศีลเพราะฉะนั้นคนที่มาอยู่ที่นี่ก็ถามว่าพนักงานจะมี 3 ระดับ หนึ่งจิตอาสา สองจิตอาสาและก็มีรายได้บ้าง อย่างที่สามคือพนักงาน พนักงานก็คือรับเงินไปมีเงินเดือนอย่างเช่นเขาเป็นคนต่างด้าวเราอาศัยแรงงานเขา เราก็ไม่ได้จ้างแพงมาก แต่มีข้าวกิน เป็นอาหารมังสวิรัติ เรามีที่พักให้ มันจะลงตัวตรงที่ว่าพอสินค้าเราดูว่ามันจะเก่าแล้วอะไรแล้ว เราจะรีบนำมาทำอาหาร เพราะฉะนั้นมันจะมีของใหม่มาทดแทน ผักผลไม้เก็หมือนกัน เราขายเสร็จเหลือเราก็เอาไปเข้าโรงครัวเอามาปรับ ไม่ทิ้งมันจะไม่มีคำว่าเสียวัตถุดิบอะไร เหลือวันนี้เราออกอาหารที่มันเป็นเมนูนั้นเลย อะไรเยอะเราจะทำเมนูนั้นก่อนออกขาย แล้วอาหารของเราก็ไม่ใส่ชูรส เป็นอาหารสุขภาพ ( คุณสุวรรณาเสริมว่า  คนจีนเขานับถือนะถ้าทำแบบนี้เขาว่าคนไทยว่ากินทิ้งกินขว้างแต่เราไม่เลย ทุกอย่างของเราเป็นประโยชน์หมดเลย)  เครือแก้ว คุณะวัฒนา ผู้ช่วยผู้จัดการการลดขยะจากสินค้าไร้หีบห่อ         คือแต่ละคนก็จะเอาภาชนะของตนเองมา จะเอากล่องเอาถ้วยอะไรอย่างนี้แล้วก็มาตักของ เขาก็สนุก สนุกกับการที่จะได้ตักแต่ละอย่าง แต่ละอย่าง พอตรงนี้บางทีเรามีของมา มีของที่จะใช้ซ้ำได้พวกกล่องภาชนะต่างๆ เราก็มาใช้ซ้ำ อย่างขวดอย่างนี้ ลูกค้าบางทีลูกค้าก็เอาให้เรานะ อย่างขวดพอดีเห็นเราหิ้วมาอย่างนี้ ขวดไม่เอาเหรอ รับบริจาคไหม เราบอกรับค่ะ รับหมด พอมาซื้อก็กลายเป็นมีขวดมา ลูกค้าบางคนก็นอกจากมาซื้อของก็มาสละเหมือนกับที่เราสละ  บางทีอย่างนี้ตรงนี้จะเป็นมุมแบ่งปันก็จะมีคนเอาซอง เอาพลาสติก ถุง หรือเอาซองที่แบบว่ายังสะอาดอยู่เอามาให้เราใช้ซ้ำอีก ภาชนะที่เป็นซองอย่างนี้ เอามาใส่ถั่วดิบได้ มันก็ไม่ได้เลอะอะไร แล้วขวดก็เอามาใส่น้ำยาล้างจานซึ่งเป็นน้ำ ก่อนหน้านี้เราจะมีแชมพูด้วยนะคะ ลูกค้าชอบเพราะว่าเขาเอาขวดของเขามากรอกใช้ซ้ำ ลูกค้าประทับใจ         ขยะแต่ละชิ้นมันมีที่ไป มันมีที่ไปที่มันจะไปต่อได้หรือว่ามันเป็นประโยชน์อะไร ตอนนี้ปัญหาของโลกคือขวดเยอะที่สุดในโลก มันก็กลายเป็นแพขยะ ถ้าเราแยกและทำความสะอาดมันก็เอาไปขายได้ หรือตอนนี้เราใช้ขวดสะอาดมาเติมเป็น Refill ของให้ลูกค้าได้ คือมันมีหลายตัวที่มันสามารถจัดการกับเขาได้โดยที่ไม่ต้องทิ้งไป แล้วมันก็ยังได้ประโยชน์อีกหลายๆ อย่าง ล่าสุดยังแบ่งเอาไปบริจาคทำน้ำมัน และตัวเองเน้น Eco bricks ด้วย คือขยะพลาสติกบางตัวที่มันไม่สามารถจะใช้ได้อย่างพวกของที่มัน Refill ตัวนั้นขายไม่ได้ ราคาสุดท้ายถ้าไปอยู่ในทะเลก็จะเป็นอาหารปลาอาหารเต่า แต่ว่าถ้าเรามาลงขวดแล้วเรามาทำเป็นอัดใส่ขวดให้มันแน่นๆ เขาเรียกขวด Eco bricks  มันก็สามารถเอาไปต่อได้ทำเป็นชิ้นงานได้ ทำเก้าอี้ ทำเป็นโต๊ะ ทำเป็นจัดแต่งสวนสวยงาม สมมติถ้าไปปลูกผักก็ไม่ต้องไปซื้อล้อยางมาทำกระถาง เอาขวด Eco bricks วางเป็นกลมๆ หรือจะทำทางเดิน ทำอะไรได้หลากหลาย ที่ผ่านมาเราทำเรื่องนี้ เห็นว่าขยะทุกอย่างมันไม่ใช่ขยะเลย มันคือทรัพยากรแต่ละชนิดแต่ละชิ้นที่มันจะไปต่อได้ เป็นประโยชน์ต่อๆ ได้แม้กระทั้งกล่องโฟม กล่องโฟมถ้าเราล้างสะอาดเอามาทำเป็นหินเทียมก็ได้ ตรงนี้ส่วนใหญ่บางทีเราก็รวบรวมเอาทุกอย่างก็พยายามทำทุกอย่างให้มันเกิดประโยชน์สูง ประหยัดสุด สำคัญคือ เราปฏิบัติธรรมเราใช้ความประณีต ประณีตในทรัพยากรทุกๆ ตัวแล้วมันจะเกิดประโยชน์สูงสุด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 241 สิทธิบัตรทองต้องใช้ที่ไหน

        ย้อนไปเมื่อกันยายน พ.ศ. 2563 หลายคนคงได้ยินข่าว สปสช. หรือสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ยกเลิกสัญญาสิทธิบัตรทองของคลินิกและโรงพยาบาลหลายแห่ง “สปสช.ยกเลิกสัญญาคลินิกบัตรทองเพิ่ม 108 แห่ง รวมแล้ว 190 แห่งทุจริตงบ เสียหาย 198 ล้าน” ทำให้คนที่ใช้สิทธิบัตรทองต่างตกใจเป็นอย่างมาก ไม่รู้ว่าตัวเองต้องไปรักษาที่ไหน โดยเฉพาะคนที่ต้องรักษาตัวต่อเนื่อง เรื่องนี้มีคำแนะนำอย่างไร        คุณสกุลมีภาวะเครียดต้องรับการรักษาอยู่ที่คลินิกแห่งหนึ่งด้วยสิทธิบัตรทอง โดยต้องเข้ารับยาต่อเนื่องทุกเดือน แต่วันหนึ่งเจ้าหน้าที่คลินิกแจ้งเขาว่า คลินิกเปิดให้บริการถึงสิ้นเดือน ดังนั้นวันนี้ต้องขอเก็บค่าบริการและค่ายาสำหรับรับประทาน 1 เดือน เป็นจำนวน 700 บาท เนื่องจากทางคลินิกไม่สามารถเบิกเงินสิทธิบัตรทองจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้แล้ว เพราะคลินิกถูกยกเลิกสัญญา         คุณสกุลจ่ายไป 700 บาท ได้ยากลับบ้านพร้อมกับประวัติการรักษา หลังจากกลับมาถึงบ้านเขาก็รู้สึกกังวลใจเป็นอย่างมาก เพราะว่าต้องกินยาต่อเนื่องทุกเดือน จะต้องจ่ายเงินค่ายาทุกเดือนเองแบบนี้ไปเรื่อยๆ หรืออย่างไร แล้วไม่รู้ว่าต้องไปรักษาต่อที่ไหน แล้วจะใช้สิทธิบัตรทองได้อีกหรือเปล่า จึงมาขอคำปรึกษากับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา         เบื้องต้นได้อธิบายคุณสกุลว่า ขณะ สปสช. ยกเลิกสัญญาการให้บริการกับคลินิกหลายแห่งเนื่องจากเหตุทุจริต ดังนั้นทำให้คุณสกุลต้องชำระค่าบริการและค่ายาเองไปก่อน อย่างไรก็ตามสิทธิบัตรทองของคุณสกุลยังคงอยู่ เรียกว่า สิทธิว่าง ทำให้คุณสกุลสามารถเข้ารับบริการได้ที่โรงพยาบาลของรัฐใกล้บ้าน หรือศูนย์บริการสาธารณสุขทุกที่ หรือโรงพยาบาลเอกชนที่ทำสัญญาไว้กับ สปสช. โดยไม่ต้องชำระเงิน             โดยทาง สปสช. จะรีบดำเนินการย้ายสิทธิการรักษาให้กับผู้มีสิทธิว่างทุกคนโดยเร็วที่สุด คุณสกุลไม่ต้องกังวลใจ กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน สามารถเข้ารับการรักษาได้ที่โรงพยาบาลรัฐและเอกชนใกล้บ้านได้ โดยไม่ต้องจ่ายค่ารักษาภายใน 72 ชั่วโมง สำหรับการรักษาแบบต่อเนื่องเข้าใช้บริการได้ตามที่แจ้งข้างต้น หรือหากมีข้อสงสัย ติดต่อ สายด่วน 1330

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 241 สมัครคอร์สดูแลสุขภาพแล้วพบว่าป่วยจะบอกเลิกสัญญาได้ไหม

        ใครๆ ก็อยากมีสุขภาพดีแล้วถ้ามีวิธีไหนที่จะทำให้สุขภาพดีและมีรูปร่างดูดีด้วยแล้ว เราก็คงอยากจะทำ เช่น คอร์สดูแลสุขภาพพร้อมความงาม แต่ถ้าเราตกลงแล้วจ่ายเงินเป็นค่าคอร์สไปเรียบร้อยแล้ว แต่พบว่าเราป่วยเป็นโรคร้ายแรง และหากยังฝืนทำตามคอร์สที่ซื้อมาอาจทำให้อาการป่วยเราแย่ลงจะขอเงินที่จ่ายไปแล้วคืนได้ไหม         คุณนวล ได้รับโทรศัพท์เชิญชวนให้ “เขา” เข้าตรวจสุขภาพของศูนย์ดูแลสุขภาพแห่งหนึ่ง เขาตอบรับคำชวนและเข้ารับการตรวจสุขภาพเพราะฟังคำเชิญชวนแล้วรู้สึกดีมาก ผลการตรวจพนักงานวิเคราะห์ว่า เขาสุขภาพไม่ค่อยดีนักมีปัญหาหลายเรื่อง เช่น ซึมเศร้า ไตไม่ดี และอื่นๆ ถ้าอยากจะรักษาต้องมีการตรวจเลือดแล้วนำผลเลือดมาพบแพทย์เพื่อห้วินิจฉัยโรคต่อไปซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายในคอร์สนี้ 499,000 บาท         คุณนวลชะงักไปเมื่อได้ยินค่าใช้จ่าย บอกพนักงานไปว่าเขาเกษียณแล้วจะเอาเงินมากมายขนาดนั้นมาจากไหน พนักงานเสนอราคาพิเศษลดให้เหลือ 199,000 บาท แต่เขาก็ยังไม่มีเงินพออยู่ดี จึงต่อรองกับพนักงานและจ่ายไปก่อน 30% เป็นเงิน 59,700 บาท ด้วยบัตรเครดิตโดยรายละเอียดคอร์สนี้จะต้องได้รับการรักษา 17 ครั้ง เท่ากับเฉลี่ยครั้งละ 3,512 บาท         หลังจากพบคุณหมอที่ศูนย์ดูแลสุขภาพ เขาได้รับการฉีดวิตามิน 2 ตัว และ Zinc เมื่อฉีดวิตามินแล้วเขารู้สึกเหมือนว่าหน้าอกเขาเริ่มใหญ่ขึ้น(พองขึ้น) และเจ็บที่หน้าอก หลังจากนั้นเขาได้รับวิตามินอีก 4 ครั้ง มีอาการเจ็บหน้าอกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงกังวลใจรีบได้ไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาล ผลออกมาว่าเขาเป็นมะเร็งปอด ต้องรับการรักษาด่วน         เมื่อคุณนวลแจ้งกับแพทย์ของโรงพยาบาลว่า เขาสมัครคอร์สดูแลสุขภาพไว้ โดยรับการฉีดวิตามินและอื่นๆ  แพทย์บอกว่าให้หยุดการรักษาทุกอย่างก่อนเพราะถ้าเกิดอะไรขึ้นจะไม่รู้ว่าสาเหตุของอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้นมาจากสาเหตุใด         หลังจากนั้นเขาไปปรึกษาแพทย์ที่ศูนย์ดูแลสุขภาพ แพทย์เห็นด้วยว่า ควรหยุดการรักษาที่ศูนย์สุขภาพฯ ก่อน และเซ็นเอกสารให้ยกเลิกการรักษา คุณนวลจึงทำหนังสือยกเลิกสัญญาและขอเงินส่วนต่างที่ยังไม่ใช้บริการจำนวน 42,140 บาทคืน แต่ทางศูนย์ฯ โดยพนักงานยึกยักแจ้งว่าสามารถคืนได้เพียง 22,140 บาทเท่านั้น มิเช่นนั้นก็ให้ชวนคนอื่นเข้ามารักษาแทน (โอนสิทธิ) โดยเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย คุณนวลไม่สบายใจ เมื่อไม่อาจตกลงกันได้จึงมาขอคำปรึกษา แนวทางการแก้ไขปัญหา         เนื่องจากคุณนวลขอยกเลิกสัญญาและขอเงินคืนเพราะมีเหตุผลด้านสุขภาพ คุณนวลย่อมมีสิทธิได้รับเงินส่วนต่างคืนตามยอดที่ได้ใช้จ่ายไปจริง โดยการเข้าคอร์ส​ครั้ง​นี้​พนักงาน​ได้​เรียก​เก็บ​เงิน​ไป​เป็​นเงินจํานว​น ​59,700 บาท​ ซึ่ง​จะ​ต้อง​ได้​รับ​การ​รักษา​ทั้ง​หมด​ 17 ครั้ง​ เท่ากับเป็นการ​รักษา​ครั้ง​ละ​ 3,512 บาท​ แต่คุณนวลได้รับการ​รักษาไปเพียง 5 ครั้ง​ รวม​เป็น​เงิน​ทั้ง​สิ้น​จํานว​น 17,560 บาท​ ดังนั้นจึง​มี​จํานวน​ส่วน​ต่าง​ที่จะ​ต้องได้คืนคือ ​42,140 บาท         ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ แนะนำให้คุณนวลทำหนังสือแจ้งบอกเลิกสัญญาและขอคืนเงิน หลังจากที่หนังสือถึงศูนย์สุขภาพ ทางเจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ได้ติดต่อไปยังศูนย์สุขภาพโดยช่วยคุณนวลอธิบายเรื่องสิทธิของลูกค้าที่จะได้รับเงินคืนและนัดวันเวลาเพื่อเจรจาเรื่องจำนวนเงินส่วนต่างที่จะต้องคืนให้แก่คุณนวล          ต่อมาทราบจากคุณนวลว่า ศูนย์สุขภาพฯ จะคืนเงินส่วนต่างให้เขาจำนวน 37,000 บาท ซึ่งเป็นจำนวนที่คุณนวลพอใจจึงขอยุติเรื่องร้องเรียนไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 239 ความเคลื่อนไหวเดือนมกราคม 2564

         10 อันดับข่าวปลอมที่ถูกนำมาแชร์ซ้ำมากที่สุดในรอบปี 63        กระทรวงดิจิทัลฯ เผย 10 อันดับข่าวปลอมที่ถูกนำมาแชร์ซ้ำมากที่สุดในรอบปี 63 หมวดสุขภาพครองแชมป์ 3 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 ดื่มสไปรท์ใส่เกลือ แก้ท่องร่วง ท้องเสียได้ อันดับ 2 คลอรีนในน้ำประปาเปลี่ยนเป็นสารก่อมะเร็งเมื่อถูกความร้อน อันดับ 3 ใส่ผ้าอนามัยนาน ทำให้เป็นโรคมะเร็งปากมดลูก        อันดับ 4 งดใช้ตู้ ATM ที่ไม่มีไฟกระพริบตรงที่เสียบบัตร อันดับ 5 น้ำมันเบนซินมีสารระเหยดูดพิษจากแมลงกัดต่อยหายใน 3-5 นาที อันดับ 6 จัดตั้งจังหวัดในประเทศไทยเพิ่ม รวมเป็น 83 จังหวัด อันดับ 7 ผู้ประกอบการที่ใช้ตราฮาลาลบนสินค้าไม่ต้องเสียภาษี อันดับ 8 มหัศจรรย์น้ำปัสสาวะ รักษาโรคแก้ปวดเมื่อย ช่วยให้ตาใสมองเห็นชัด อันดับ 9 บริษัทชื่อดังฉลองวันพิเศษ แจกบัตรกำนัล สินค้า และรางวัลต่างๆ และอันดับ 10 กรอกแบบสอบถามจากหน่วยงานของรัฐลุ้นรับของรางวัลฟรี ขอเตือนผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อและแชร์ข่าวดังกล่าว         กสทช. เอาจริงปรับสูงสุดโฆษณาเกินจริงสินค้าสุขภาพ           กสทช. เผยสื่อมีโทษจับ-ปรับเงินสูงสุด 5 ล้านบาท เมื่อวันที่ 18 ม.ค. กสทช. มีมติเห็นชอบตามผลการพิจารณาของคณะอนุกรรมการกลั่นกรองงานของ กสทช. ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์  ให้สำนักงาน กสทช. มีคำสั่งเตือนทางปกครองให้บริษัท ทีวีดี เซอร์วิสเซส จำกัด ช่องรายการ TVD1 ระวังโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เข้าข่ายการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค กรณีการโฆษณาผลิตภัณฑ์ถังเช่า ผสมมัลติวิตามิน บี (ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร) เลขสารบบอาหาร 11-1-07356-1-0101 หรือการโฆษณาอื่นใดที่มีข้อความหรือเนื้อหาสาระในลักษณะเป็นการจูงใจให้ผู้บริโภคเลือกใช้บริการหรือสินค้าโดยหลอกลวงหรือกระทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับบริการหรือสินค้านั้น หรือโดยการใช้หรืออ้างอิงรายงานทางวิชาการ สถิติ หรือข้อมูลอันไม่เป็นความจริงหรือเกินความจริง         โดยทันทีที่ได้รับหนังสือแจ้งคำสั่ง ตามมาตรา 31 แห่ง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553  ประกอบข้อ 5(2) ข้อ 6(1)(2) และ (3) ของประกาศ กสทช. เรื่อง การกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2555 และมาตรา 37 แห่งพ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2553 ทั้งนี้ หากบริษัท ทีวีดีฯ ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว กสทช. จะใช้อำนาจกำหนดค่าปรับทางปกครองเป็นเงิน 500,000 บาท.สมอ.เร่งออก มอก. บังคับสินค้าเกี่ยวกับโควิด         นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ  สั่งบอร์ด สมอ. คุมเข้มรับโควิด เร่งออกมาตรฐานป้องกันให้สินค้าเกี่ยวกับโควิด ได้แก่ หน้ากากอนามัย ถุงมือสำหรับใช้ทางการแพทย์ เป็นมาตรฐานบังคับและเตรียมออก มอก.บังคับกับสินค้า ตู้น้ำเย็นและเครื่องเล่นสนาม ทั้งชิงช้า กระดานลื่น ม้าหมุน และอุปกรณ์โยก รวม 7 รายการ เพื่อความปลอดภัยของประชาชน        นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวว่า ปัจจุบันหน้ากากอนามัยยังเป็นมาตรฐานทั่วไป ซึ่งหมายความว่า ผู้ประกอบการจะมายื่นขอ มอก. หรือจะไม่ขอก็ได้ ล่าสุดมี 1 ราย ที่ได้ มอก. เรียบร้อยแล้ว โดยต่อจากนี้ สมอ. จะดำเนินการทางกฏหมายเพื่อประกาศใช้เป็นมาตรฐานบังคับ ดังนั้นทุกบริษัทจะต้องได้ มอก. เพราะเป็นสินค้าที่มีผลต่อประชาชน         แนะวิธีเช็กเว็บไซต์ผู้ค้าออนไลน์ ก่อนตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ         กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ก.พาณิชย์เตือนภัยผู้ใช้บริการผ่านช่องทางออนไลน์ ระวังตกเป็นเหยื่อแก๊งมิจฉาชีพ ดึงเข้าไปเว็บพนันออนไลน์         นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ตรวจพบการกระทำผิดของกลุ่มคนที่ไม่หวังดีที่มีจำนวนมากขึ้นและมีรูปแบบที่คล้ายคลึงกัน คือ การปลอมชื่อเว็บไซต์ให้ใกล้เคียงกับชื่อเว็บไซต์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (www.dbd.go.th) เพื่ออาศัยความน่าเชื่อถือ จากหน่วยงานราชการและดึงดูดผู้ใช้งานที่มีจำนวนมากให้เข้าสู่เว็บไซต์ปลอมที่เป็นการพนันออนไลน์หรือเว็บไซต์ตรวจสอบข้อมูลนิติบุคคลปลอม จึงขอเตือนประชาชนให้มีความระมัดระวังในการเข้าใช้งานมากขึ้น เพื่อความปลอดภัยและป้องกันการถูกหลอกลวงจากผู้ไม่หวังดี         ทั้งนี้ วิธีการเช็กว่าเป็นเว็บไซต์ปลอมหรือไม่ ต้องการเข้าระบบการให้บริการของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ทุกครั้ง ต้องเข้าผ่านทางหน้าเว็บไซต์หลักเท่านั้น คือ www.dbd.go.th โดยไม่ควรเข้าระบบผ่านทางลิงก์ที่มีการแชร์ต่อๆ กันมา หรือค้นหาผ่านระบบ Search engine ต่างๆ ซึ่งมีโอกาสที่จะเข้าสู่เว็บไซต์ปลอมได้ง่ายขึ้น         ‘ผิดนัดชำระหนี้’ พุ่งสูง จากพิษโควิด มพบ. เสนอ ธปท. ออกมาตรการช่วยเหลือ        นฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) กล่าวในช่วงเสวนา ‘วิกฤติหนี้ครัวเรือนหลัง Covid-19 ความท้าทายของธนาคารในการคุ้มครองผู้บริโภค’ ว่า สำหรับ ปัญหาผู้บริโภคที่มูลนิธิฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนเข้ามาในด้านการเงินการธนาคาร โดยเฉพาะช่วงโควิด - 19 พบปัญหาเรื่องหนี้สินในประเด็นที่หลากหลาย อาทิ เรื่องการผิดนัดชำระหนี้ เรื่องการถูกฟ้องคดี เรื่องการถูกทวงถามหนี้ที่ผิดกฎหมาย ในส่วนของเรื่องการผิดนัดชำระหนี้นั้นผู้บริโภคมักจะเข้ามาขอคำปรึกษาหรือขอความรู้เรื่องการจัดการกับปัญหาหนี้ของตัวเองจากปัญหาเศรษฐกิจจนไม่สามารถจัดการชำระหนี้ได้ และตามมาด้วยการถูกฟ้องคดีจากการผิดชำระหนี้ ซึ่งจากสถิติเรื่องร้องเรียน ธุรกิจที่มีการฟ้องคดีที่สุด คือ ธุรกิจเช่าซื้อรถ บางรายถูกยึดรถไปแล้วและมาเจอการฟ้องเรื่องส่วนต่าง บางรายนำรถไปคืนก็ยังเจอปัญหาเรื่องส่วนต่างอยู่ ไม่เพียงแต่เรื่องผู้เช่าซื้อถูกฟ้องคดี แต่ผู้ค้ำประกันบางรายก็ถูกฟ้องคดีด้วยเช่นกัน          “นอกจากนี้ยังรวมไปถึงปัญหาการกู้เงินผ่านแอปพลิเคชัน ซึ่งมีการคิดดอกเบี้ยสูงเกินจริงและผิดกฎหมาย และสิ่งที่ตามมาก็คือข้อมูลส่วนบุคคลของผู้บริโภคที่สมัครผ่านแอปฯ กู้เงินจะถูกเข้าถึงได้อย่างง่ายดายอีกด้วย”          จากปัญหาที่กล่าว จึงขอฝากถึงธนาคารแห่งประเทศไทยให้เร่งช่วยเหลือประชาชน คือ หนึ่ง ขอให้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย สอง ขอให้ออกมาตรการพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยจนถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2564 เนื่องจากคาดว่าสถานการณ์โควิด - 19 และเศรษฐกิจจะยังชะลอตัวไปอีกในช่วงดังกล่าว สาม ขอให้มีมาตรการจัดการกับธุรกิจการปล่อยสินเชื่อผ่านแอปพลิเคชันที่ผิดกฎหมาย และสุดท้าย ขอให้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการช่วยเหลือลูกหนี้ที่เริ่มมีปัญหาในการชำระหนี้โดยไม่ต้องรอให้เป็นลูกหนี้ NPL

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 238 ถูกชักชวนตรวจสุขภาพ พร้อมซื้อคอร์สรักษาโรค

        วันหนึ่งคุณพิสมัยและลูกสาวได้ไปเดินห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร ในขณะที่เดินช้อปปิ้งอยู่ก็มีพนักงานสาวสวยสองคนเดินออกจากบูธตรงมาหาคุณพิสมัย พร้อมชวนพูดคุยสอบถามข้อมูลด้านสุขภาพและโฆษณาโครงการสิทธิพิเศษโดยอ้างว่า ตนมาจากสถานพยาบาลชื่อดังแห่งหนึ่ง โดยยื่นข้อเสนอตรวจสุขภาพให้ฟรีมูลค่า 7,000 บาท พร้อมขอชื่อและเบอร์ติดต่อคุณพิสมัยไว้         วันถัดมาคุณพิสมัยได้รับโทรศัพท์จากพนักงานคนดังกล่าวเพื่อขอนัดตรวจสุขภาพ คุณพิสมัยเห็นว่าเป็นการตรวจฟรีจึงได้ตกลงและไปตามนัดในวันดังกล่าว โดยได้รับการตรวจเลือดและบริการอื่นๆ ทั่วไป ซึ่งหลังจากที่ได้รับการเจาะเลือดไปตรวจเพียงหยดเดียวด้วยวิธีการส่องกล้องจุลทรรศน์ คุณพิสมัยก็ได้รับแจ้งว่า พบไขมันจำนวนหนึ่งลอยเกาะกันอยู่ในเลือดและมีปริมาณเกินกว่าที่ควรจะมีอาจส่งผลให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือดในอนาคตได้ คุณพิสมัยตกใจที่ผลเลือดไม่ดี จึงถามกลับไปว่าควรจะทำอย่างไรดี ซึ่งทางพนักงานได้แนะนำโปรแกรมรักษาราคา 900,000 บาทให้แก่คุณพิสมัย         พอได้ยินราคาสำหรับการรักษา คุณพิสมัยปฏิเสธทันทีในใจคิดว่าน่าจะไปตรวจที่โรงพยาบาลจะดีกว่า แต่พนักงานก็ยื่นข้อเสนอใหม่ว่า ถ้าเช่นนั้นลดจำนวนครั้งการรักษาลง ราคาจะเหลือเพียง 69,000 บาท เมื่อเห็นว่าเป็นราคาที่พอจะรับได้จึงได้ตอบตกลงและชำระเงินมัดจำผ่านบัตรเครดิตไปจำนวน 40 เปอร์เซ็นต์         อย่างไรก็ตามเมื่อกลับถึงบ้าน คุณพิสมัยขอให้ลูกสาวช่วยตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับการตรวจรักษาแบบดังกล่าวจนพบข้อมูลว่า การตรวจวินิจฉัยโดยใช้เลือดเพียงหยดเดียวส่องกล้องจุลทรรศน์นั้น เป็นการตรวจที่ไม่ได้มาตรฐานและไม่เป็นที่ยอมรับทางการแพทย์ ทั้งเป็นการรักษาที่ยังไม่มีข้อพิสูจน์ใดๆ ว่าได้ผล จึงต้องการเงินคืนจะต้องทำอย่างไร แนวทางการแก้ไขปัญหา         เมื่อคอร์สการตรวจรักษาสุขภาพดังกล่าวยังไม่ได้รับการรับรองทางการแพทย์ และผู้ร้องไม่ยินดีที่จะเข้ารับบริการดังกล่าว ผู้ร้องสามารถทำหนังสือบอกเลิกสัญญาและขอเงินค่ามัดจำดังกล่าวคืนได้เต็มจำนวน         การทำหนังสือบอกเลิกสัญญาต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษร ส่งทางไปรษณีย์ตอบรับที่สามารถเก็บบันทึกตอบรับไว้เป็นหลักฐานได้ พร้อมทั้งโทรติดต่อกับธนาคารเจ้าของบัตรเครดิตเพื่อแจ้งกับพนักงานว่า ตนได้ขอยกเลิกสัญญาดังกล่าวกับผู้ประกอบธุรกิจแล้ว พร้อมแนบสำเนาหนังสือบอกเลิกสัญญาให้กับธนาคารด้วย กรณีของคุณพิสมัยขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจา แต่ฝากไว้ให้คิดว่า ก่อนเข้ารับบริการทางการแพทย์ควรตรวจสอบให้ถ้วนถี่ว่าผู้ให้บริการเป็นบุคลากรทางการแพทย์จริงหรือไม่ และก่อนตัดสินใจเข้าใช้บริการควรหาข้อมูลให้รอบด้าน

อ่านเพิ่มเติม >