ฉบับที่ 167 ตรุษจีน : กินดี อยู่ดี ชีวีมีสุข

น่าจับตาดูเทศกาลตรุษจีนในเดือนกุมภาพันธ์ที่ใกล้จะมาถึงนี้  ลูกหลานจากแดนมังกรไม่ว่าจะอยู่มุมไหนของโลก โดยเฉพาะชาวไทยเชื้อสายจีน ต้องมีการเซ่นไหว้เทพเจ้าและบรรพบุรุษ เอาฤกษ์เอาชัยเสริมสิริมงคลกัน ยกใหญ่ตั้งแต่ต้นปีและที่พลาดไม่ได้บรรยากาศแผงตลาดพืชผักผลไม้และเนื้อสัตว์ ในช่วงเทศกาลตรุษจีนนี้น่าจะคึกคักไม่แพ้ในปีที่ผ่านมา ! ด้วยเหตุที่พิธีกรรมเซ่นไหว้ทั้งเทพเจ้าและบรรพบุรุษ จะพิถีพิถันประกอบไปด้วยของคาวและหวานนานาชนิด อย่างน้อยๆ 10 อย่าง ซึ่งมีการไหว้ 3-4 ชุด พร้อมด้วยน้ำชา สุรา และกระดาษเงิน กระดาษทองต่างๆ แถมยังมีผลไม้มงคลอีกทั้ง กล้วย แอปเปิล สาลี่ ส้ม องุ่น และสับปะรด ซึ่งล้วนแต่ให้ความเป็นมงคลกับชีวิต และนำโชคลาภ ความสงบร่มเย็นและความเจริญรุ่งเรืองมาให้กับลูกๆ  หลานๆ (เชื่อกันว่ากล้วย หมายถึง กวักโชคกวักลาภเข้ามา  ส้ม หมายถึง ความสวัสดีมหามงคล สาลี่ หมายถึง โชคลาภมาถึง องุ่น คือความเพิ่มพูน และสับปะรด หมายถึง มีโชคลาภมาหา) ลองมาดูกันว่า อาหารคาวไหว้ตรุษจีน มีอะไรบ้าง... ที่ขาดไม่ได้คือ ไก่ต้ม เป็ดต้ม แบบเต็มตัว มีหัว ปีก ลำตัวและขาครบทุกส่วน ซึ่งจะให้ความอุดมสมบูรณ์  และเท่าที่สำรวจราคาในสองปีที่ผ่านมาทั้งจากกระทรวงพาณิชย์และตามหน้าหนังสือพิมพ์ ได้เผยตัวเลขสินค้าไก่และเป็ดในช่วงเทศกาลราคาจะอยู่ที่ราวๆ 300 – 400 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนเนื้อปลาขึ้นอยู่กับขนาดว่าคนซื้อชอบตัวใหญ่หรือตัวเล็ก แต่ราคาเฉลี่ยตัวละประมาณ 200 -300 บาทต่อกิโลกรัม และอาหารทะเลทั้งปลาหมึก กุ้ง ราคาจะสูงแน่นอนซึ่งปีที่ผ่านมาพุ่งไปถึง 650 -700 บาทต่อกิโลกรัม จึงควรเตรียมทรัพย์ไว้ให้พร้อม ไม่เพียงแค่มีอาหารคาวอย่างเดียว...วัฒนธรรมของคนจีนยังไหว้ด้วยขนมและผลไม้อีกด้วย โดยขนมหวานที่เห็นผู้หลักผู้ใหญ่ไหว้กันบ่อยๆ ก็เน้นขนมเทียนและขนมเข่ง ที่ให้ความหมายหวานชื่น ราบรื่น และอุดมสมบูรณ์ ซึ่งมีราคาย่อมเยาเหมือนปีที่ผ่านมา เฉลี่ยอยู่ที่ชิ้นละ 10 บาท บางบ้านก็จะมี ขนมไข่ ขนมถ้วยฟู และขนมสาลี่ ที่ให้ความหมายในเชิงความเจริญรุ่งเรือง เฟื่องฟู ร่ำรวย ราคาก็แล้วแต่จำนวนชิ้นในแต่ละแพ็คเกจที่บรรจุขนมไว้ ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วจะมี 4 – 6 ชิ้นต่อแพ็ค ราคาราวๆ 30 – 40 บาท ส่วนผลไม้เซ่นไหว้ราคาในช่วงเทศกาลแต่ละปีจะสูงขึ้นใกล้เคียงกันทุกปี เช่น  ส้ม 80 บาทต่อกิโลกรัม แอปเปิล สาลี่ ทับทิม กองละ 100 บาท เป็นต้น หากจะประเมินภาพรวมของเศรษฐกิจในช่วงเทศกาลตรุษจีนแล้ว ก็ต้องยิ้มรับกับความ เฮง เฮง เฮง อย่างที่คนไทยเชื้อสายจีนชอบพูดเสมอ เพราะในช่วงเทศกาลนี้ในหลายๆ ปีที่ผ่านมาได้สร้างเม็ดเงินสะพัดให้กับประเทศไทยอยู่ที่ราว ๆ 4 – 5 พันล้านบาท ถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสแรกของปีได้เป็นอย่างดี แต่ช่วยเหลือเศรษฐกิจแล้ว ก็อย่างลืมดูแลสุขภาพกันด้วย เพราะอาหารที่ใช้ไหว้บรรพบุรุษส่วนใหญ่เป็นของมัน แบบผัดๆ ทอด ๆ เนื้อสัตว์เป็นตัวๆ และขนมหวานเป็นชิ้นใหญ่ กินก็ระวังโรคอ้วนถามหาด้วย เพราะมีทั้ง ไขมันสูงและน้ำตาลสูง เรื่องนี้ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์(องค์การมหาชน) ออกโรงมาเตือนเองว่า ให้ลดแป้งและน้ำตาล รับประทานในปริมาณที่พอเหมาะ และอย่าลืมจิบชาเพื่อล้างไขมัน ลดการกินเป็ดไก่ รับประทานเห็ดแทนเนื้อสัตว์ และเพิ่มเมนูปลาแทนน่าจะดีกว่า เพราะถึงแม้ว่าเทศกาลตรุษจีนจะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ แต่ก็ควรใส่ใจสุขภาพ รักษาและดูแลร่างกายให้ห่างไกลจากโรคภัยอยู่เสมอ “สุขภาพดีไม่มีขาย ใครอยากได้คงต้องดูแลกันเอง” นอกจากนี้ในเทศกาลตรุษจีน จะไม่ได้เป็นเพียงวันเทศกาลวันหนึ่งเท่านั้น แต่จะเป็นวันแห่งการเริ่มต้นสิ่งใหม่ให้ชีวิต ด้วยความ มั่ง มี ศรี สุข อย่างแท้จริง หากชาวไทยเชื้อสายจีนได้มีโอกาสทำบุญกับบรรพบุรุษ เหมือนกับหลักขงจื้อที่ว่า “ร้อยความดี..ความกตัญญูมาเป็นที่หนึ่ง” แล้วจะดียิ่งขึ้นกว่านี้เมื่อทุกคนในครอบครัวได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตา นึกถึงแต่สิ่งดีๆ ทำแต่สิ่งดีๆ ที่เป็นมงคล แล้วความเป็นสิริมงคลก็จะเข้ามาในชีวิตตลอดทั้งปี

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 165 Code นมสิ่งสำคัญในการปกป้องสุขภาพเด็กไทย

Code นม หรือ หลักเกณฑ์สากลว่าด้วยการตลาดอาหารทดแทนนมแม่ (International Code of Marketing of Breast  Milk Substiututes ) ณ ปัจจุบันหลักเกณฑ์นี้ยังไม่มีกฎหมายเป็นข้อบังคับ จึงทำให้เกิดปัญหาความเข้าใจผิดต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และส่งผลให้สถิติการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของประเทศไทยอยู่ภาวะที่ต่ำมากในเอเชีย นั่นหมายถึงสุขภาพของเด็กไทยที่จะต้องเติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพในอนาคต นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล ที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข และอดีตเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา  กล่าวว่า  Code นม ที่ประเทศต่างๆ ได้มีมติรับรองตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524  เป็นกฎเกณฑ์ปกป้องสุขภาพเด็ก เพื่อให้เด็กได้กินนมแม่  ซึ่งถือเป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก และเพื่อให้มั่นใจว่าเมื่อจำเป็นต้องใช้อาหารอื่นแทนนมแม่ แม่จะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและครบถ้วนผ่านวิธีการตลาดที่เหมาะสม สำหรับประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศ เรื่อง “หลักเกณฑ์สากลว่าด้วยเรื่องการตลาดอาหารทดแทนนมแม่ตั้งแต่ พ.ศ. 2524  แต่ด้วยประเทศไทยไม่มีกฎหมายเพื่อบังคับใช้อย่างจริงจัง  ทำให้ผู้ผลิต ผู้จำหน่ายอาหารทารกและเด็กเล็ก ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงนี้ มีหลักฐานจากหลายประเทศแสดงให้เห็นว่า การตรากฎหมายเพื่อควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็กนั้น มีประสิทธิภาพในการส่งเสริมปัจจัยที่เอื้อต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่  อย่างเช่นการวิจัยในประเทศฟิลิปปินส์ พบว่า การออกกฎหมายควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็กในปี 1986 ส่งผลให้มีการแจกตัวอย่างผลิตภัณฑ์ในโรงพยาบาลลดลง จากร้อยละ 57.5  ในปี ค.ศ. 1986 เหลือเพียงร้อยละ 2.8 ในปี ค.ศ. 1988  ประเทศไทยของเราน่าเป็นห่วงมากว่า ถึงแม้เราจะประกาศใช้หลักเกณฑ์ว่าด้วยการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องมานานถึง 30 ปีแล้ว แต่เราไม่สามารถป้องกันหรือบังคับใช้ได้ เพราะไม่มีการลงโทษผู้ที่ฝ่าฝืน การมีหลักเกณฑ์จึงไม่สามารถควบคุมการส่งเสริมการตลาดที่ดำเนินการอยู่ได้ ในทัศนะของ ดร.บวรสรรค์ เจี่ยดำรง นักวิชาการนิเทศศาสตร์อิสระ ผู้ติดตามการส่งเสริมการตลาดของอุตสาหกรรมนมผงในประเทศไทย เห็นว่า มีกลยุทธ์ในหลากหลายรูปแบบ ได้แก่ การโฆษณาในสื่อโทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ และสื่อโฆษณาอื่นๆ  มีการแจกตัวอย่างผลิตภัณฑ์เป็นของขวัญฟรีแก่แม่  การใช้ข้อความ รูป หรือสัญลักษณ์บนฉลากผลิตภัณฑ์ที่ทำให้เข้าใจว่าสร้างพัฒนาการที่ดีให้กับเด็ก และมีสารอาหารที่ส่งผลดีต่อสุขภาพ  การอบรมคุณแม่ตั้งครรภ์ผ่านสถานประกอบการ หรือผ่านกิจกรรมในโรงพยาบาล  การทำตลาดผ่านสื่อ Call Center  จดหมาย หรือ SMS  เพื่อติดต่อกับแม่และครอบครัวโดยตรง  การส่งเสริมผลิตภัณฑ์ผ่านโรงพยาบาลและคลินิก ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งแจกของขวัญให้กับบุคลากรในโรงพยาบาล “เครื่องมือส่งเสริมการตลาดเหล่านี้ ได้สร้างมายาคตินมผงเท่ากับนมแม่ ชวนให้แม่เชื่อผิดๆ ว่านมผงมีสารอาหารเทียบเท่านมแม่ ภายใต้กรอบความเชื่อที่ผิดๆ เช่นนี้จะมีผลต่อการตัดสินใจเลือกทางเลือกในการเลี้ยงลูกด้วยนมผงร่วมกับนมแม่ ซึ่งเป็นกลยุทธ์อันแยบยลที่อุตสาหกรรมนมผงใช้ในการขัดขวางการผลิตน้ำนมของแม่  เมื่อแม่ไม่ได้ให้นมลูก กระบวนการผลิตน้ำนมก็ไม่ได้ถูกกระตุ้น  ทำให้น้ำนมแม่ก็แห้งไปจากอกแม่  แม่จึงเข้าใจว่าน้ำนมไม่พอ ในที่สุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือนก็ไม่สำเร็จ” เมื่อทารกไม่ได้กินนมแม่หรือได้รับนมแม่ไม่เพียงพอในช่วง 6 เดือนแรก ทารกก็สูญเสียสิทธิที่จะได้รับสารอาหารที่ดีสุดในชีวิตไป ซึ่งทารกที่ไม่ได้กินนมแม่หรือกินไม่เพียงพอก็เสี่ยงที่จะเป็นโรคภูมิแพ้ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยพบเด็กวัยแรกเกิด-5 ปี ป่วยเป็นโรคภูมิแพ้สูงถึง 6 ล้านคน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่แม่จะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซื้อนมผงเลี้ยงลูกสูงถึงปีละกว่า 7 หมื่นบาท นี่ยังไม่รวมค่ารักษาพยาบาลโรคภูมิแพ้อีกปีละเกือบ 7 หมื่นบาท ขณะเดียวกันกระทรวงสาธารณสุขมีต้นทุนค่ารักษาพยาบาลปีละกว่า 7,500 ล้านบาท ท่ามกลางความเสียหายต่อสุขภาพทารกและระบบสาธารณสุขของประเทศ การดำเนินธุรกิจที่ไร้จริยธรรมทำให้อุตสาหกรรมนมผงได้กำไรต่อปีกว่าพันล้านบาท ทางด้านเครือข่ายคุณแม่ออนไลน์ ซึ่งเกิดจากการรวมกลุ่มคุณแม่ ที่มีความตระหนักร่วมกันไม่ต้องการให้การตลาดนมผงมาสร้างมายาคติ หรือความเชื่อที่ผิดๆ ให้กับคุณแม่ทั้งหลาย โดยเฉพาะคุณแม่ที่มีฐานะการเงินที่ไม่ดี เพราะนมมีคุณค่าที่สุดที่จะเลี้ยงลูกของตนเอง  จากคุณแม่ไม่กี่คนที่เชื่อมั่น และต้องการเห็นเด็กๆ คนอื่น มีความเท่าเทียมในการเติบโตอย่างมีสุขภาพ จึงเริ่มต้นแนะนำให้ความรู้กับคุณแม่มือใหม่ด้วยสื่อออนไลน์เพราะเข้าถึงคนได้ง่าย จากเว็บไซต์ และปัจจุบันยังอาสาทำงานให้ความรู้คุณแม่เท่าทันการตลาด ล่าสุดเข้าเพื่อความรวดเร็วและเข้าถึงผู้คนได้ง่ายและขยายผลได้ดี ปัจจุบันจึงเป็นเฟสบุ๊ค “นมแม่ แบบแฮปปี้” พญ.ศศินุช รุจนเวช  ตัวแทนเครือข่ายคุณแม่ออนไลน์ ยังเล่าให้ฟังว่า ตนเองไม่ใช่กุมารแพทย์ เหมือนกับคุณแม่ทั่วไป ที่กังวลกับการมีลูก ตอนที่มีลูกก็มีปัญหาน้ำนมไม่มี แต่ได้รับการดูแลจากโรงพยาบาลที่เข้ามาสนับสนุนนมแม่ จึงเริ่มสนใจเข้าใจเรื่องเหล่านี้ และเริ่มต้นจากแม่ๆ มาเริ่มพูดคุยแชร์เรื่องเหล่านี้ร่วมกัน  จึงเกิดความต้องการอยากให้คุณแม่ทุกคนให้นมแม่สำเร็จ เห็นลูกเราแข็งแรง แต่เด็กอื่นๆ ที่กินนมผง กินนมแม่น้อย มีความเจ็บป่วยมากกว่า มีสุขภาพไม่แข็งแรง จึงทำให้สนใจเรื่องการตลาด และข้อเท็จจริงก็คือคนส่วนใหญ่สามารถให้นมแม่ได้สำเร็จอยู่แล้ว แต่พอมีการตลาดเข้ามาก็ไปขัดขวางให้คุณแม่เข้าใจเรื่องนี้ผิดๆ  เราเป็นห่วงว่าอัตราการให้นมแม่ของประเทศไทยน้อยกว่าประเทศอื่นๆ ในเอเชีย อย่างคุณแม่ในทีมที่แข็งขันท่านหนึ่ง ที่มีสามีเป็นแพทย์ก็ได้ศึกษาหาข้อมูลตรงนี้มาเผยแพร่ พวกเราช่วยกันทำงานนี้ทั้งทางตรงและทางอ้อม คุยกับคนใกล้ตัว แล้วก็เจอปัญหาที่โดนคนรอบข้างกดดันเพราะอิทธิพลของการโฆษณา หลายคนเจอว่าทำไมไม่ให้ลูกกินนมผง มีสารดีๆ อยู่ในนมผงเยอะนะ  เราจึงเห็นว่านี่คือผลของอิทธิพลการโฆษณา ทำให้คนรอบข้างไม่เข้าใจและส่งผลต่อแม่ที่อยากให้ลูกทานนมแม่ ประเทศไทยจึงควรขจัด “มายาคติ” เหล่านี้ จึงอยากฝากคุณแม่ทุกท่านให้ลูกได้กินนมแม่อย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือน และอยากให้มีเครือข่ายกว้างขวางช่วยกันเผยแพร่ความรู้ ถ้าเครือข่ายเราเข้มแข็งการป้องกันเด็กทารกจะดีขึ้น และท้ายที่สุดหวังว่าจะมีการสนับสนุนให้มีกฎหมายที่ช่วยคุ้มครองสุขภาพเด็กไทยจากอิทธิพลของการตลาดนมผง   ข้อมูลจาก เวทีชี้แจงกับสื่อมวลชน ในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2557 ในประเด็น “ความสำคัญของ Code นม เพื่อปกป้องสุขภาพเด็กไทย”  ที่ โรงแรมแรมเอเชีย  จัดโดยโครงการสื่อสารเพื่อสนับสนุนนมแม่ฯ  ได้รับการสนับสนุน โดย องค์การยูนิเซฟ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 110 คนไข้ไทย..กับทางตัน

ทุกครั้งที่สื่อมวลชนนำเสนอข่าวของคนไข้ ที่ได้รับความเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์ ผู้คนส่วนใหญ่มักคิดว่าการเรียกร้องสิทธิผ่านสื่อจะได้รับความเป็นธรรมเร็วกว่าปกติ แต่ในความเป็นจริงการรู้จักใช้สิทธิหรือได้ใช้สิทธิ กับการจะได้รับความเป็นธรรมตามสิทธิหรือไม่นั้น เป็นคนละเรื่องราวฟ้ากับเหว จากประสบการณ์ส่วนตัว ที่ใช้เวลายาวนานถึง 19 ปีเรียกร้องหาความเป็นธรรมให้ลูกที่พิการจากการทำคลอด ก็ยังไม่ได้รับความเป็นธรรมตามสิทธิจนกระทั่งทุกวันนี้ อีกทั้งนานเกือบ 8 ปีที่ก่อตั้งเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ รับเรื่องร้องเรียนจากผู้เสียหายนับจำนวนไม่ถ้วน เห็นว่าทุกครั้งที่สื่อมวลชนนำเสนอข่าวหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมักแสดงตัวออกมารับปากต่อสังคมว่าจะให้ความเป็นธรรมโดยเร็ว แต่จากนั้นผู้เสียหายก็นับวันรอโดยไม่รู้จุดหมาย ทุกกรณีล้วนเดินตามรอยผู้เสียหายรุ่นพี่ที่เคยรอกันนานสามถึงแปดปีมาแล้ว คนไข้ที่ตกเป็นผู้เสียหาย ไม่ว่าจะยากดีมีจนอย่างไรหรือร้องเรียนเก่งแค่ไหน ล้วนตกอยู่ในสภาพที่ถึงทางตัน...และไร้ทางออก เมื่อเรื่องไปสิ้นสุดที่หน่วยงานชื่อ “แพทยสภา” และ “กองการประกอบโรคศิลปะ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ” หน่วยงานที่ล้าหลังและเป็นไม้เบื่อไม้เมากับชาวบ้านมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เมื่อมีคำถามว่าร้องเรียนแล้วต้องรอนานแค่ไหน หรือเมื่อไหร่จะได้รับความเป็นธรรม ข้าพเจ้ามักรู้สึกยากลำบากใจที่ต้องตอบว่าเราคือคนไข้ไทยหัวก้าวหน้าที่รู้จักคำว่า ”สิทธิผู้ป่วย” แต่ระบบต่างๆ ยังล้าหลังอยู่ต้องทำใจรอเพียงอย่างเดียว เนื่องจากรู้ดีว่าแทบทุกกรณีล้วนถูกดึงเวลาให้หมดอายุความทางแพ่ง 1 ปี การที่หน่วยงานจะแจ้งมติให้ชาวบ้านทราบภายใน 1-3 เดือนนั้นเป็นเพียงความฝันที่ไม่เคยเป็นจริง แพทยสภาจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ยังคงประกอบไปด้วยแพทย์ทั้งสิ้นไม่มีคนนอกอยู่เลย มิหนำซ้ำกรรมการส่วนใหญ่เป็นเจ้าของหรือผู้มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับโรงพยาบาลเอกชน เคยมีเหตุการณ์ที่คู่กรณีของผู้เสียหายนั่งเป็นประธานสอบสวนเรื่องร้องเรียนโรงพยาบาลของตนเอง ดูเป็นเรื่องธรรมดาที่ปฏิบัติกันได้อย่างไม่อายฟ้าดิน ส่วนกองการประกอบโรคศิลปะนั้นก็ไม่ได้ต่างจากแพทยสภาแต่อย่างใด เคยมีเหตุการณ์ที่ผู้อำนวยการกองละเมิดสิทธิผู้ป่วยเรื่องเวชระเบียนเสียเอง มิหนำซ้ำยังมีเจ้าหน้าที่บางคนออกหน้าเจรจาต่อรองค่าเสียหายกับผู้เสียหายแทนโรงพยาบาล ทั้งที่หน่วยงานนี้มีหน้าที่ต้องตรวจสอบโรงพยาบาลเอกชนผู้เสียหายส่วนใหญ่สิ้นหวังกับการรอคอยและหันไปพึ่งศาล แต่นั่นเท่ากับพาตัวเองไปพบศึกอันใหญ่หลวง เนื่องจากต้องไปเผชิญหน้ากับนายกแพทยสภา ที่นำทีมผู้เชี่ยวชาญจากราชวิทยาลัยไปเบิกความช่วยแพทย์ ขณะที่พยานทางการแพทย์ของฝั่งผู้เสียหายนั้นหายากยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทร ขณะที่ผู้เสียหายพบทางตัน และความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยถูกตอกลิ่มให้ห่างออกจากกันมากขึ้น พลันแสงสว่างในปลายอุโมงค์ก็ปรากฏ เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประกาศจะผลักดันร่างพรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ให้มีผลบังคับใช้ในเร็ววัน นั่นหมายถึงต่อไปจะมีกองทุนชดเชยความเสียหายให้คนไข้ไทยโดยไม่ต้องไปฟ้องศาล และคนไข้ไทยจะได้ปลดแอกออกจากหน่วยงานที่ไร้ประสิทธิภาพเสียที แต่แล้ว...ความฝันของคนไข้ไทยแทบสลาย เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขยืนยันให้นำ สำนักงานกองทุนไปอยู่กับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ผู้ซึ่งมีฐานะเป็นผู้ให้บริการและที่ผ่านมาหน่วยงานแห่งนี้เป็นคู่กรณีกับผู้เสียหายทางการแพทย์มาโดยตลอด กลุ่มผู้เสียหายคือคนไข้ที่โชคร้ายประสบเคราะห์กรรม พวกเราถูกหน่วยงานซ้ำเติมความทุกข์มาอย่างต่อเนื่องยาวนานโดยไม่มีทางต่อสู้ พรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข คือความหวังเดียวที่พวกเราจะได้รับความเป็นธรรม แต่การนำสำนักงานกองทุนไปอยู่กับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพนั้น ใครก็ได้โปรดอธิบายให้พวกเราสบายใจด้วยเถิดว่า เหตุผลใดถึงทำให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพเป็นหน่วยงานที่เหมาะสมที่สุด อีกทั้งใครจะเป็นผู้รับประกันว่าหน่วยงานนี้จะไม่ใช้อำนาจรัฐในการซ้ำเติมความทุกข์ของผู้เสียหายเหมือนอย่างที่เคยทำ ฤา..พฤติกรรมที่ฉ้อฉลของหน่วยงานเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ของสังคมไทย...ฤา...ชะตากรรมของคนไข้ไทย..กับทางตันคือของคู่กัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 124 ความสุขของเรา...กับใครที่เป็นคนสร้าง?

  พุทธศาสนาเคยมีคำกล่าวว่า “ความสุขแท้จริงนั้นอยู่ที่ใจ” และดูเหมือนว่า โฆษณาในสังคมบริโภคทุกวันนี้ก็พยายามจะให้คำตอบแก่เราเหมือนกันว่า “ความสุขนั้นอยู่ที่ตัวเราจริงๆ” หลังจากที่ผู้ชมโทรทัศน์เคยเห็นภาพของคุณเรย์ แมคโดนัลด์ สะพายเป้แบ็คแพ็คเดินทางถือวีซ่าไปที่นั่นที่นี่แบบ around the world กันมาหลายปีดีดักแล้ว โฆษณากาแฟผงยี่ห้อหนึ่งก็จับเอาคุณเรย์ แบ็คแพ็คเกอร์ มาเดินทางท่องเที่ยวเมืองไทยกันบ้าง พร้อมกับประโยคที่เขาพูดเปิดต้นเรื่องโฆษณาขึ้นว่า “ไม่ต้องไปไกลถึงซีกโลก ความสุขก็มาหาเราได้เสมอ...”   ว่าแล้ว ภาพก็ตัดมาที่คุณเรย์กำลังพายเรือแคนนูอยู่ท่ามกลางทะเลที่เงียบสงบ และสะท้อนประกายแดดอยู่กลางหมู่เกาะน้อยใหญ่ สลับมาที่ภาพของคุณเรย์ที่หยิบขวดกาแฟผงขึ้นมาสูดดม ก่อนจะตักกาแฟมาชงและคนในถ้วย พร้อมกับมีไอควันกรุ่นๆ ลอยออกมาจากถ้วยกาแฟ   คุณเรย์ แบ็คแพ็คเกอร์ กล่าวต่อไปว่า “แค่ได้อยู่กับสิ่งที่เราชอบ อยู่กับกลิ่นหอมๆ อยู่กับรสชาติกาแฟ xxx ที่เป็นตัวเรา แค่นี้ความสุขก็มาอยู่ตรงหน้า”   คุณเรย์ยกถ้วยกาแฟสีแดงขึ้นมาจิบ และมองออกไปที่ฉากหลังของท้องทะเลที่ไกลสุดลูกหูลูกตา ก่อนจะแสดงสีหน้าเอมอิ่ม แล้วเดินออกไปชื่นชมชะง่อนผาริมทะเล   ภาพตัดมาที่คุณเรย์ว่ายน้ำเล่นกับฝูงปลาทะเลหลากสี แล้วก็โคลสอัพถ้วยกาแฟสีแดงวางอยู่ข้างเคียงกับหนังสือหนึ่งเล่ม และมีแว่นกันแดดวางอยู่บนชายหาด ก่อนที่จะฉายให้เห็นภาพคุณเรย์นอนแช่น้ำทะเลอยู่ริมหาด พร้อมกับเสียงของเขาที่พูดด้วยว่า “ถ้าถามผมว่า ที่ไหนสวยที่สุดในโลก ผมว่าที่นี่...ความสุขที่เราสร้างเอง”   แล้วโฆษณาก็จบลงด้วยภาพกว้างของเวิ้งทะเลของหาดไร่เลย์ จังหวัดกระบี่ ก่อนจะตัดมายังภาพของนักเดินทางอย่างคุณเรย์ นั่งจิบกาแฟบนแพ มีขวดกาแฟและขวดครีมเทียมวางอยู่เคียงข้าง โดยมีข้อความเป็นตัวอักษรขึ้นว่า “ความสุขที่เราสร้างเอง...”  เพื่อนๆ หลายคนของผมบอกว่า ดูโฆษณาชิ้นนี้แล้วรู้สึกชอบ เพราะว่าให้ความรู้สึกอบอุ่นสบายใจ ซึ่งผมเองก็คิดเช่นนั้นเหมือนกัน เพราะไม่เพียงแต่การได้เห็นท้องทะเลและธรรมชาติไกลๆ ที่โอกาสน้อยมากสำหรับชีวิตคนเมืองอย่างผมจะได้สัมผัสภาพแบบนี้แล้ว การได้เห็นภาพวิวสวยๆ ของเมืองไทย โดยที่ “ไม่ต้องไปไกลถึงซีกโลก” แบบที่คุณเรย์บอกแก่เรา ก็ให้ความรู้สึกดีๆ ไม่น้อยทีเดียว ยิ่งได้ยินเสียงดนตรีประกอบ และภาพกิจกรรมของตัวละครแบบที่สร้างความแปลกตาแปลกใจไปจากชีวิตประจำวันด้วยแล้ว ภาพของการพายเรือแคนนูหรือภาพการว่ายน้ำเริงเล่นกับฝูงปลาเล็กปลาน้อยในทะเลเหล่านี้ ก็คงเป็นสิ่งที่ผู้ชมหลายๆ คนอยากจะปลีกวิเวกไปใช้ชีวิตแบบนั้นเป็นบางครั้งบางคราว   อย่างไรก็ดี ผมอาจจะเห็นด้วยกับสิ่งที่โฆษณาบอกไว้แค่ครึ่งเดียวว่า “ความสุขนั้นไม่ต้องไปแสวงหาให้ไกลถึงอีกซีกโลก” แต่ทว่า ความคิดเรื่อง “ความสุขมาหาตัวเราได้เสมอ” นั้น กลับเป็นเรื่องที่ผมเองก็สงสัยเหมือนกันว่าจะเป็นจริงได้เยี่ยงนั้นเลยหรือ??? หากเทียบสิ่งที่โฆษณานำเสนอกับชีวิตของตนเองดูแล้ว ผมว่า ในวันหนึ่งๆ นั้น คงเป็นไปไม่ได้กระมังที่อยู่ดีๆ เราจะได้แว่บไปพายเรือแคนนูหรือนอนแช่น้ำทะเลเล่นอยู่ที่จังหวัดกระบี่ หรือคงเป็นไปได้ยากที่อยู่ดีๆ เราจะมีฝูงปลาการ์ตูนมาแหวกว่ายอยู่รอบตัวเรา หรือแม้แต่ว่าอยู่ดีๆ เรามีจะมีกาแฟสักถ้วยมายกดื่ม   วัตถุแห่งการบริโภคมากมายหลายหลากนี้ ไม่ใช่ว่า “อยู่ดีๆ” วัตถุดังกล่าวจะกลายเป็น “ความสุขที่เข้ามาหาเราได้เสมอ” แต่ตรงกันข้าม วัตถุเหล่านั้นจะมอบ “ความสุข” ให้แก่เราได้ ก็ต่อเมื่อเราเองต้องไปเสาะแสวงซื้อหามาเสพมาบริโภคดื่มกิน นั่นก็หมายความว่า หากนักเดินทางอย่างคุณเรย์จะได้อยู่กับ “สิ่งที่เราชอบ” อยู่กับ “กลิ่นหอมๆ” หรืออยู่กับ “รสชาติกาแฟแบบที่เป็นตัวเรา” ก็คงต้องเป็นตัวของคุณเรย์เองที่ออกไปสืบเสาะค้นหาเอาสิ่งเหล่านั้นมาให้กับตัวเสียก่อน แล้วจึงค่อยผันเปลี่ยนรสนิยมในการบริโภควัตถุต่างๆ เหล่านี้ให้กลายมาเป็น “ความสุขที่วางไว้ตรงหน้า” ท่ามกลางเวิ้งทะเลครามแห่งคาบสมุทรอันดามัน เมื่อย้อนกลับไปสู่วิธีคิดแบบศาสนาพุทธที่ว่า “ความสุขแท้จริงนั้นอยู่ที่ใจ” แล้ว และดูเปรียบเทียบกับสิ่งที่โฆษณาสื่อสารให้กับเรา ผมก็เลยเริ่มสงสัยว่า อัน “ความสุขที่วางไว้ตรงหน้า” ดังกล่าว ก็อาจจะเริ่มไกลห่างไปจากความหมายของ “ความสุขที่แท้จริง” ตามหลักแห่งพุทธธรรมเสียแล้ว   ทำไมน่ะหรือครับ? เพราะในขณะที่ทางพุทธศาสนาเห็นว่า “ใจ” เป็นที่มาของความสุขอันเกิดมาแต่ “ภายใน” แต่ทว่า หากเป็นกาแฟผงชงดื่มผสมครีมเทียมแล้วนั้น กลับถือเป็นความสุขอันเกิดมาแต่การเสพวัตถุที่มาจาก “ภายนอก” ตัวของเรามากกว่า ดังนั้น แม้ในโฆษณาจะบอกว่า การดื่มกาแฟเป็น “ความสุขที่เราสร้างเอง” แต่ก็ดูเหมือนว่า เป็นความสุขที่เราสร้างผ่านการบริโภควัตถุที่จัดสรรไว้ให้โดยเจ้าของสินค้าบางกลุ่ม ที่จะหยิบยื่นให้เราทั้งกลิ่นอาย รสชาติ และทัศนียภาพบางอย่างที่เราควรจะเสพไปพร้อมกับซึมซับผลิตภัณฑ์กาแฟที่ “เป็นตัวเรา” ยิ่งไปกว่านั้น หากความสุขจากกาแฟที่เสพเป็นความสุขที่มาจาก “ภายนอก” ความสุขเยี่ยงนี้ก็มีแนวโน้มจะเป็นความสุขแบบ “ชั่วครั้งชั่วคราว” หรือพูดง่ายๆ ก็คือ เป็นความสุขตราบเท่าที่กาแฟยังไม่ได้หมดไปจากถ้วย เพราะฉะนั้น เมื่อกาแฟหยดสุดท้ายถูกจิบเข้าคอไปแล้ว ทั้งกลิ่นอายและรสชาติแห่งความสุข ก็อาจจะมีอันต้องดับไปตามการเกิดแก่เจ็บตายของกาแฟในถ้วย จนกว่าเราจะชงกาแฟถ้วยใหม่ขึ้นมาซดดื่มแทนนั่นเอง ในยุคหนึ่ง โฆษณาสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยี่ห้อหนึ่ง เคยนำเสนอสโลแกนทางการตลาดที่ว่า “ความสุขที่คุณดื่มได้” มาถึงทุกวันนี้ โฆษณากาแฟได้เริ่มตั้งคำถามต่อไปด้วยว่า ความสุขที่เราจะดื่มเข้าไปได้จริงๆ นั้น อาจจะเป็นใครบางคนกันหนอที่มีอำนาจสร้างให้เราดื่มสินค้านั้นด้วยความสุขจริงๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 108 ความสุขที่คุณนับได้

คุณคิดว่า “ความสุข” อยู่ที่ไหน และจับต้องได้หรือไม่ ? ความคิดความเชื่อที่เป็นรากฐานมาอย่างยาวนานในสังคมไทย อย่างความเชื่อในโลกศาสนา เคยอธิบายว่า จริงๆ แล้ว “ความสุข” นั้นอยู่ที่ใจ อันแปลความได้ว่า เราไม่ต้องไปดิ้นรนขวนขวายหาความสุขจากภายนอกตัวเองหรอก ความสุขอยู่ที่ตัวของเรานั่นแหละ ที่จะบอกว่าเรากำลังสุขหรือทุกข์อยู่ หรือเราจะจัดการชีวิตให้เป็นสุขได้เยี่ยงไร และหากว่าความสุขเกิดมาแต่ภายในใจแล้วไซร้ การจับต้องความสุขก็ต้องเป็นแบบ “ใจใครใจมัน” โดยจะมาใช้สถิติหาค่าถัวเฉลี่ยหรือเทียบร้อยละสัดส่วนของความสุขเป็นตัวเลขแจงนับนั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้เลย เพราะจิตใจของคนเป็นนามธรรม จับต้องไม่ได้ และเป็นเรื่องที่ “ต่างคนต้องยลตามช่อง” ของตนเองเท่านั้น แล้วจะมีความเป็นไปได้บ้างหรือไม่ ที่มนุษย์เราอยากจะจับตัว “ความสุข” มาตวงชั่งวัดเป็นร้อยละตัวเลข ? สำหรับผมแล้ว โฆษณาดูจะเป็นด่านหน้าที่สำคัญที่ให้คำตอบกับเราว่า สังคมอดีตอาจจะให้นิยามของความสุขเอาไว้แบบหนึ่ง แต่ในโลกของโฆษณาปัจจุบัน ผู้คนร่วมสมัยเริ่มปรับวิธีคิดเสียใหม่แล้วว่า แม้แต่เรื่องนามธรรมอย่างความสุขและจิตใจ เดี๋ยวนี้เราก็สามารถจับมาเทียบบัญญัติไตรยางค์หาค่าเฉลี่ยร้อยละได้แล้วเช่นกัน ก็อย่างที่เราเห็นๆ กันอยู่ในโฆษณามันฝรั่งสไลด์แผ่นยี่ห้อหนึ่ง ที่ผูกเรื่องราวของกลุ่มวัยรุ่นหนุ่มสาวที่เดินทางไปท่องเที่ยวในรีสอร์ตบ้านไร่มันฝรั่ง หลังจากที่วัยรุ่นกลุ่มนี้ติดนิสัยเป็นผู้บริโภคมันสไลด์แผ่นมาเสียนาน โฆษณาก็เลยจับให้พวกเขาได้มาสัมผัสเบื้องหลังของการผลิตและการปลูกมันฝรั่ง ที่มีลุงกับป้าเป็นเจ้าของบ้านไร่กันเสียเลย โฆษณาเปิดฉากด้วยภาพ caption เป็นข้อความขึ้นในจอว่า “เชื่อไหมความสุขเติมเต็มกันได้” และมีเสียงกีตาร์คลอเบาๆ ประกอบเป็นแบ็คกราวนด์ ภาพตัดมาที่มือของชายหนุ่มคนหนึ่งหยิบยื่นถุงมันสไลด์แผ่นอยู่ริมระเบียงของบ้านพัก สักพักหนึ่งวัยรุ่นหญิงหน้าตาน่ารักอีกคนหนึ่งก็เดินมายืนอยู่ริมระเบียงเพื่อพูดคุยกับเขา ด้านข้างของสาวเจ้ามีตัวเลขกราฟฟิกบ่งบอกดัชนีความสุขในใจของเธอ เขียนว่า “ความสุข 80%” น้องผู้หญิงผาดตามองออกไปจากนอกชาน เห็นลุงกับป้ากำลังช่วยกันเก็บมันฝรั่งอยู่ในไร่ และใช้ชีวิตคู่อย่างมีความสุข ณ กระท่อมน้อยกลางไร่มัน น้องผู้หญิงพูดขึ้นว่า “ฉันอยากเป็นแบบคุณป้าคนนั้นจังเลย เขาคงมีความสุขนะ...แล้วแกล่ะ” จากนั้น น้องวัยรุ่นชายก็หันมาพูดตอบเธอด้วยใบหน้ายิ้มกริ่มว่า “เราน่ะ อยากเป็นคุณลุงคนนั้นไง” พร้อมกับมีกราฟฟิกตัวเลขขึ้นข้างๆ ใบหน้าของเขาว่า “ความสุข 80%” ฝ่ายน้องผู้หญิงก็นิ่งเงียบไปในบัดดล ในขณะที่ฝ่ายชายหนุ่มก็ทำหน้าปูเลี่ยนๆ เพราะไม่แน่ใจว่าสาวเจ้าจะรับรักเขาหรือไม่ พร้อมๆ กับตัวเลขดัชนีชี้วัดความสุขก็หมุนวิ่งลงอย่างรวดเร็วเหลือเพียง “20%” ว่าแล้ว ชายหนุ่มก็เตรียมจะลุกผละเดินหนีจากไป หญิงสาวก็เอื้อมมือไปจับข้อมือของชายหนุ่มที่ถือถุงมันฝรั่งสไลด์แผ่น เธอเอ่ยขึ้นว่า “เดี๋ยวลุง...จะไปไหนล่ะ...เอามาให้กินไม่ใช่เหรอ” เพียงเท่านั้น ภาพกราฟฟิกตัวเลขดัชนีความสุขของทั้งสองคนก็หมุนปรู๊ดขึ้นมาเป็น “100%” ในทันที โดยมีเสียงกีตาร์จากเพื่อนๆ ขับกล่อมร้องคลอขึ้นมาว่า “เธอเข้ามา ทำชีวิตฉันให้เต็ม...รักเธอ...รักจริง...” ก่อนจะปิดท้ายด้วยภาพระยะไกลของไร่มันฝรั่งท่ามกลางสายหมอก ที่มีถุงมันสไลด์แผ่นลอยเด่นอยู่ตรงกลางจอโทรทัศน์ และมีเสียงบรรยายพูดว่า “มันฝรั่งสไลด์แผ่น เติมความสุขเต็ม 100%” ในขณะที่โลกทัศน์เดิมๆ แบบของไทย (ซึ่งมีรากฐานมาจากวิธีอธิบายตามหลักศาสนา) มักเชื่อกันว่า “ความสุขนั้นแท้จริงอยู่ที่ใจ” แต่สำหรับผมเองนั้น ก็เห็นด้วยกับโฆษณาในระดับหนึ่งว่า ความสุขที่เกิดมาจากใจล้วนๆ อาจจะเป็นไปได้ยากเสียแล้วสำหรับคนสมัยใหม่ที่สัมผัสชีวิตทางโลกย์อยู่อย่างทุกวันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับบรรดาผู้คนที่วนเวียนว่ายชีวิตอยู่ในสังคมเมืองใหญ่ๆ ทั้งหลาย เพราะฉะนั้น นอกจากจะสร้างสุขมาแต่ “ภายใน” หรือมาจากจิตใจของเราเองแล้ว อีกเส้นทางหนึ่งที่คนสมัยนี้ได้ตัดทางลัดเข้าไปหาก็คือ ความสุขที่มาจาก “ภายนอก” ตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นสุขแต่การออกไปสัมผัสบรรยากาศชีวิตชนบทและรีสอร์ตไร่มันที่เราค่อนข้างจะห่างเหิน สุขจากการนั่งเกากีตาร์ท่ามกลางสายลมสายหมอก สุขอันเนื่องมาจากการได้เห็นชีวิตคนอื่น(อย่างลุงกับป้า) แล้วนึกฝันอยากจะมีชีวิตแบบนั้นบ้าง ไปจนถึงความสุขอันมาแต่การเสพและบริโภควัตถุต่างๆ อย่างเช่น การได้ขบเคี้ยวมันฝรั่งสไลด์แผ่น โดยมีคนรักมายืนเคียงข้าง ความสุขอันมาจาก “ภายนอก” แบบนี้ เป็นสุขที่เริ่มเข้ามาแทนที่ ในสังคมซึ่งสุขที่มาจากแก่นแท้ของจิตใจช่างค้นพบได้ลำบากและยากที่หยั่งเข้าไปถึง และที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น เมื่อความสุขจาก “ภายใน” เริ่มถูกทดแทนด้วยความสุขจาก “ภายนอก” มากขึ้น ก็ดูเหมือนว่า คนยุคนี้ก็มีแนวโน้มจะหามาตรการชั่งตวงวัดและเทียบบัญญัติไตรยางค์ความสุข แจกแจงออกมาเป็นตัวเลขที่นับและจับต้องได้ ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับความสุขภายในอันเกิดมาจากใจ สุขแบบนี้มองไม่เห็นเป็นรูปธรรม และคนรุ่นเรา ๆ ก็อาจจะเริ่มรู้สึกว่า ในเมื่อเป็นสุขที่จับต้องไม่ได้ แล้วเราจะประเมินค่าได้อย่างไรว่า ความสุขเช่นนั้นเกิดขึ้นและดำรงอยู่จริง ถ้าเช่นนั้น ทางออกก็ต้องทำแบบน้อง ๆ วัยรุ่นในรีสอร์ตไร่มันฝรั่งนั่นแหละ ที่ไม่ว่าจะอยู่ในพฤติกรรม ความคิด หรือแสดงพฤตินิสัยอันใดออกมา ต้องมีตัวเลขดัชนีชี้วัดมวลรวมแห่งความสุขอยู่ตลอดว่า ตอนนี้ความสุขของเราไต่เพดานขึ้นมากี่เปอร์เซ็นต์แล้ว หรือมิเช่นนั้น ก็ต้องคิดคำนวณว่า ตอนนี้ความสุขของเราลดระดับลงมาเหลืออัตราส่วนเท่าไรแล้ว เมื่อเทียบกับผลรวมความสุข/ความทุกข์ทั้งหมด จะว่าไปแล้ว ความคิดที่ว่า ความสุขนั้นไม่ใช่อะไรที่เป็นนามธรรม แต่แจงวัดเป็นตัวเลขได้เช่นนี้ ก็มีที่มาที่ไปของมันเหมือนกัน ถ้าจะให้ผมเดา ก็คงต้องย้อนกลับตั้งแต่หลังจากยุคแห่งการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ในโลกตะวันตกเมื่อราวศตวรรษที่ 15 โน่นเลยเพราะในขณะที่โลกก่อนหน้าศตวรรษดังกล่าวจะเชื่อว่า มนุษย์แต่ละคนล้วนสร้างความหมายต่างๆ ขึ้นได้ในตนเอง ความหมายของสิ่งต่างๆ ก็สุดแท้แต่ว่าใครจะเป็นคนกำหนด เหมือนกับที่ความสุขก็ต้องขึ้นอยู่กับว่า ใครจะเป็นคนกำหนดนิยามเอาไว้ต่างกันอย่างไร แต่ทว่าโลกทัศน์แบบวิทยาศาสตร์กลับคิดไปอีกทางหนึ่งว่า มนุษย์เราไม่ได้มีความหมายใดๆ เฉกเช่นเดียวกับวัตถุต่างๆ อย่างก้อนหิน ก้อนดิน ก้อนกรวด และเม็ดทราย เพราะฉะนั้น หากเรานับหินเป็นก้อนๆ ได้ฉันใด เราก็สามารถนับมนุษย์และความคิด/พฤติกรรมของแต่ละคนได้ไม่แตกต่างกันหรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง หากคุณลุงคุณป้าสามารถนับมันฝรั่งเป็นหัวๆ หรือชั่งตวงวัดมันในไร่ได้ด้วยหน่วยเป็นกิโลกรัมได้ฉันใด เราเองก็สามารถจะออกแบบหลักสถิติมาชั่งตวงวัดความสุขให้ออกมาได้เป็นร้อยละเปอร์เซ็นต์ฉันนั้น แล้วผลที่ตามมาก็คือ หากน้องๆ วัยรุ่นจับความสุขมาวัดสัดส่วนร้อยละเป็นเปอร์เซ็นต์ นั่นก็เท่ากับว่า วัยรุ่นกลุ่มนี้ก็เริ่มจะสร้างมาตรฐานให้กับ “ความสุข” ของคนทุกผู้ทุกนามให้มาอยู่บนแกนเส้นกราฟเดียวกัน ความสุขของน้องๆ ที่อาจจะมีมากอยู่แล้ว จึงอาจจะยังดู “น้อยเกินไป” เมื่อเทียบกับสุขแบบคุณลุงคุณป้าที่เพียรเก็บหัวมันมาชั่งกิโลขาย มันฝรั่งที่งอกมาแต่ละหัวในท้องไร่ อาจจะมีขนาดและรูปทรงที่ผิดแผกแตกต่างกันไป เพราะเป็นหัวมันที่งอกออกมาตามธรรมชาติ แต่ก็อย่างว่าแหละครับ เมื่อโรงงานเริ่มหั่นหัวมันออกเป็นชิ้นเป็นแผ่นเพื่อบรรจุถุงขายนั้น มันฝรั่งที่สไลด์เป็นแผ่น ๆ ก็จะมีขนาด รูปร่าง และมิลลิเมตรของความหนาที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพราะถึงที่สุดแล้ว การกำหนดมาตรฐานความบางหนาของมันสไลด์แผ่นแบบนี้ ก็คงไม่ต่างจากการวัดเปอร์เซ็นต์ความสุขของผู้บริโภคยุคนี้เท่าใดนัก !!!

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 153 นโยบายเรื่องพลังงานแสงอาทิตย์เป็นจริงได้แค่ไหน กับ ดร.เดชรัต สุขกำเนิด

ลมหนาวพัดมาแบบนี้ เช้าๆ แดดอาจจะพออุ่น แต่สายๆ  เมื่อลมหนาวจางมีแสงแดดเข้าแทนที่ แดดแรงแบบนี้ทำให้คิดถึงพลังงานโซล่าร์เซลล์ พลังงานแสงอาทิตย์ที่เป็นมิตรทั้งกับสิ่งแวดล้อมเพราะเป็นพลังงานสะอาด แถมบ้านเราก็มีแดดมากมายเหลือเฟือ ล่าสุดกระทรวงพลังงาน ส่งเสริมให้มีการติดตั้งโซล่าร์เซลล์และเปิดรับซื้อไฟฟ้า ได้รับความสนใจจากผู้บริโภคไฟฟ้าที่คิดจะผันตัวเองไปเป็นผู้ขายไฟฟ้ากันอย่างมากมาย   ภาพฝันกับความเป็นจริงของเรื่องพลังงานแสงอาทิตย์จะเป็นอย่างไร ฉลาดซื้อจึงอาสาพาไปหาความรู้ต่อกับ ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์   ทำอย่างไรเราจึงจะลดค่าไฟฟ้าโดยหันมาพึ่งพาพลังงานทดแทนอย่างโซล่าร์เซลล์ ไม่ คือทำอย่างไรเราจึงจะลดการพึ่งพาค่าใช้จ่ายของเราจากที่มันพึ่งพาหลวงนะใช้คำกว้างๆ แบบนี้ หรือเราต้องจ่ายให้การไฟฟ้าเราจะลดลงได้อย่างไร อันนี้คือแนวคำถามมันมาแนวนี้ แต่แนวที่หลวงให้การสนับสนุนอยู่นั้นเป็นคนละคำถามเลยมันกลายเป็นว่าจะขายไฟให้หลวงไหม เพราะฉะนั้นระบบ Solar cell ปัจจุบันนั้น มันคือระบบที่ผลิตได้เท่าไรก็ขายให้หลวงไปหมด ขายให้หลวงไปหมดแล้วได้เท่าไรก็เป็นเงินกลับมาที่เราแล้วเราจะซื้อไฟเท่าไรก็เป็นเรื่องของเรามันไม่ได้สัมพันธ์กันโดยตรงกับไฟที่เราขายให้หลวงนึกอออกไหมครับ เพราะฉะนั้นสมมติบ้านผมไม่มีใครใช้ไฟเลย ผมจะติด Solar cell ได้ไหม ผมก็ติดได้เพราะผมติดเพื่อหารายได้ มันเป็นระบบ Solar cell เพื่อหารายได้ ไม่ใช่ Solar cell เพื่อลดรายจ่ายเพราะฉะนั้นมันเลยกลายเป็นคนละโจทย์กันเลย   สมมติว่าเราไม่มีแอร์สักเครื่อง เราใช้ไฟน้อยมากแต่ถ้าเราอยากลงทุน อันที่จริงมันเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าหรือไม่ มันเลยไม่ได้ตั้งคำถามที่ว่าเป็นการประหยัดที่คุ้มค่าหรือไม่ มันเลยกลายเป็นคนละโจทย์กัน เพราะรัฐบาลไม่ให้การสนับสนุนผู้ที่ซื้อ Solar cell เพื่อที่จะลดค่าใช้จ่าย เขาสนใจคนขายให้เขามากกว่า สมมติคุณไปซื้อ Solar cell มาติดนะ แล้วปรากฏว่าคุณไม่ต้องใช้ไฟหลวงเลยสักหน่วยเดียว โอเคมันเป็นเรื่องของคุณ แต่ที่เขาช่วยอยู่นั้นคือคุณได้มาเท่าไรคุณขายให้หลวงคุณได้ 7 บาทต่อหน่วย เสร็จเรียบร้อยเวลาคุณซื้อไฟหลวงก็แล้วแต่ว่าค่าไฟของการไฟฟ้าในขณะนั้นมันราคาเท่าไร ปัจจุบันก็ 3.7 บาทต่อหน่วย เพราะฉะนั้นมันกลายเป็นคนละระบบความคิด มันเลยกลายเป็นว่าบ้านนี้มีคนอยู่เท่านี้ๆ มันไม่เกี่ยวนะ คุณมีเงินสัก 2 แสนไหมแล้วคุณอาจจะได้เงินสักประมาณ 6 หมื่นคุณจะขายไหม รัฐบาลเขาอยากจะได้รูปแบบหน่อย เขาต้องการติดบนหลังคา ความจริงคือตามคอนเซ็ปวางบนพื้นก็ได้ แต่รัฐบาลอยากได้ภาพเขาก็เลยบอกว่าต้องติดบนหลังคา โจทย์มันขึ้นอยู่กับ 2 อย่าง หนึ่งคือมีเงินลงทุน อันที่สองคือมีหลังคาใหญ่แค่นั้นเอง ถ้าเกิดคุณมีหลังคาใหญ่คุณก็ติดไป ถ้าคุณมีเงินลงทุนคุณก็ติดไป โดยที่ไม่ต้องเกี่ยวกับเรื่องการใช้ไฟเลย   ทีนี้ถ้าเกิดถามว่าจะให้มันเกี่ยวมันก็มี 2 ประเด็นนะ มันเกี่ยวไม่ได้โดยตรงความหมายคือว่า เราก็ทำบัญชีของเราเองว่าเราเคยใช้เท่าไร จริงๆ มันใช้เท่าเดิมนะแต่ว่าเราขายได้เท่าไรแต่ที่ไม่ตรงคือถ้ามองเป็นตัวเงินตอนที่เราขายไปเราจะได้เงินมากกว่าตอนที่เราซื้อกลับมาซึ่งมันก็ชักแปลกๆ นะแต่เนื่องจากรัฐบาลให้การสนับสนุน เพราะฉะนั้นมองในแง่นี้มันไม่ใช่คำถาม คุณขายได้เท่าไรคุณขายไปเลยโดยไม่ต้องสนใจว่าใช้ไฟเท่าไร เพราะคุณทำขึ้นมาเพื่อต้องการจะขายคุณก็ขายให้ได้มากที่สุด ทำเท่าที่เงินคุณมี เท่าที่หลังคาคุณมีแล้วคุณก็ผลิตไปเลย สุดท้ายจะซื้อมาเท่าไรก็อีกเรื่องหนึ่ง เพราะฉะนั้นก็ตอบได้ว่ามันเกี่ยวแต่ไม่โดยตรง อันนี้ต้องปรึกษากันแล้วว่าเราจะเขียนโพลไปทางไหน คือถ้าเขียนไปทางเดิมก็ได้แต่กลัวว่าคล้ายๆ กึ่งๆ ไม่จริงที่ถ้าคุณมีอย่างนี้แล้วคุณไปลงทุน Solar cell ก็ไม่ได้ถ้าพูดแบบสุดขั้วเลยนะถ้าคุณมีเงิน 2 แสนแล้วไปเช่าหลังคาใครก็ได้คุณก็ลงทุนได้   อย่างที่อาจารย์เล่าว่ามันไม่ใช่เหมือนภาพฝันที่บางคนคิด อย่างเช่นร้านกาแฟที่เชียงรายคือเขาไม่มีไฟฟ้าใช้เขาก็มีแผง Solar cell 8 แผงซึ่งใช้ได้จริงๆ แต่เขาก็ไม่ได้มีอะไรเยอะ มีหลอดไฟ เครื่องชงกาแฟ พัดลม ซึ่งเขาก็ไม่ต้องจ่ายค่าไฟเลยสักบาทเดียว ถ้าพูดในระบบนี้นะกลายเป็นว่าเขาไม่ควรเอาไฟมาใช้ เขาควรขายเข้าระบบเพราะว่าเขาจะได้เงินเพิ่มอีก คือระบบของรัฐบาลมันพิสดารนะ กลายเป็นว่าวิธีคิดพึ่งพาตนเองเป็นเรื่องรองจากวิธีคิดที่หากำไร ซึ่งผมไม่ได้ว่าวิธีวิธีการหากำไรของรัฐฯ นี่มันเสียหายนะ ผมเสียดายวิธีคิดของคนที่จะพึ่งพาตนเอง รัฐบาลเขาไม่สนใจมันก็เหมือนเขาซื้อของ เขามีงบประมาณเขาก็ซื้อของกันไป จะเป็นใคร จะคิดอย่างไร เขาไม่สนใจขอให้จ่ายไฟเข้ามาสู่ระบบเขาได้ก็ได้   อย่างนี้ก็เหมือนกับไปเอื้อประโยชน์กับการขายแผง มันก็เป็นผลจากข้อเรียกร้องของเรานะ คือแต่ก่อนเขาทำแบบนี้มาประมาณ 4-5 ปีแล้ว แต่เขาเน้นเฉพาะรายใหญ่คนก็ด่ากันมากว่าทำไมไม่สนับสนุนบ้านเรือน เขาก็เลยมาเน้นบ้านเรือน แต่เน้นโดยใช้ระบบเดียวกับรายใหญ่โดยไม่สนใจว่าบ้านเรือนจะคิดอย่างไร มันก็เลยกลายเป็นว่าคุณจะติด Solar cell เพื่อจะขายไหม จริงๆ เราก็ปฏิบัติเช่นเดียวกันกับรายใหญ่เพียงแต่ว่าเราปฏิบัติในสากลที่ย่อลงมาเป็นหลังคาบ้านเราเท่านั้นเองเลยไม่ได้เป็นเหมือนร้านกาแฟที่พูดถึง ประเด็นต่อมาคือแล้วมันเอื้อกับการทำแผงไหม คือเรื่องที่รัฐบาลทำอยู่ที่ต่างประเทศเขาทำอยู่นะ แต่ฝั่งที่เขาทำคือผู้ที่ทำขายไอ้ที่เราคิดว่าทำขายเราก็ทำขายแต่ต่างประเทศเขามีการสนับสนุน อีกแบบหนึ่งที่ไม่ใช่ทำขายเขาก็สนับสนุนด้วย แต่ของเราประเภทที่สองจะไม่มี ต้องเคลียร์ก่อนว่าการสนับสนุนแบบนี้ไม่ใช่การสนับสนุนที่ผิดแต่ผมคิดว่าคนมีวิธีการจะช่วยเหลือ 2 วิธี วิธีที่ 1 คือลดของเราเอง อันที่ 2 คือขายไปเลย เพราะฉะนั้นควรช่วยทั้ง 2 วิธีแต่รัฐบาลเลือกเฉพาะเป็นการลงทุนขายเข้าระบบเท่านั้น อันต่อมาคือเรากำหนดขอบเขตของวันผมจำไม่ได้ว่าวันที่เท่าไรคือรับไม่เกิน 1 เดือนเองว่าให้มาสมัคร อันนี้คุณทำไปเพื่ออะไร ต่างประเทศไม่มีนะที่เขารับซื้อที่ 6.96 เขาก็จะประกาศเลยต่อจากนี้เป็นต้นไปถึงปีหน้าและปีถัดไป ถ้าคุณมาช้าก็ช่วยไม่ได้นะเหลือ 6.80 เขาก็ประกาศล่วงหน้าไปเลย เขาประกาศล่วงหน้าหลายปีคุณก็เลือกเอาเลยว่าคุณจะเข้าปีไหนแล้วแต่กำลังของคุณ แต่ว่าของเรารับซื้อแค่นี้ให้มาในเวลาเท่านี้ก็คืออยากได้ไหม 6.96 ถ้าอยากได้ให้ไปหาบริษัทที่ทำแผง บริษัทที่ทำแผงเค้าเป็นคนขายของเขาไม่สนใจหรอกว่าตอนนี้ราคาเท่าไร เขาก็ขึ้นราคาก่อนเพราะว่ามันขึ้นได้เต็มที่ แผงมันราคาเท่านี้คนที่ติดมันจะได้ราคาเท่าไรเขาก็ขึ้นราคาของเขาขึ้นมาเพราว่าทุกคนต้องรีบแล้ว เวลา 1 เดือนทุกคนรีบกันหัวขวิดเลย ผมคิดว่าวิธีนี้มันไม่ถูกแนวคิดที่ว่ามันต้องภายในเวลาเท่านี้ในที่สุดปรากฏว่าคนไทยด้วยความที่เราไม่คุ้นเคยคนจำนวนไม่น้อยก็เลยไม่เอาก็ได้ คือเงินมันก็ไม่ได้ดีขนาดว่ารถคันแรกที่ถ้าเราไม่เอาเราจะเสียสิทธิ คนไม่รู้สึกอย่างนั้นเลยเขาก็เลยไม่ได้บ้านตามเป้าไม่รู้เลยว่าเขาจะเปิดรอบใหม่เมื่อไร ปัญหาของเมืองไทยมันเป็นอย่างนี้คุณไม่จำเป็นต้องมีรอบเวลาเลยคุณเปิดไปยาวๆ ไปเลย การที่เปิดสั้นๆ แบบนี้ผมเข้าใจว่าเป็นตลาดเปิดยาวๆ ไปเลยจะรีบทำไมคุณก็เช็คบริษัทนั้น บริษัทนี้แต่นี่ไม่มีเลยทุกคนต้องรีบหัวขวิดเลย   ตอนนี้เขาขายไฟกันได้จริงใช่ไหม จริงครับเป็นนโยบายของรัฐ เขาพูดเลยในทางอ้อมว่าถ้าไม่ติดต่อบริษัทพวกนี้ทำเอกสารเองคุณอย่าหวังคือเขาไม่ได้ประกาศแบบนั้นนะแต่เป็นที่รู้กัน บริษัทที่ทำแผงเขาก็โฆษณาอย่างนั้น ลองไปทำเองได้แต่นานแน่ ผมก็เลยมีความรู้สึกว่ามันไม่ค่อยดีอย่างที่ควรจะเป็น ให้บริษัททำเอกสารให้ไม่มีปัญหาแต่อย่าล็อคเรื่องวัน ติดเรื่องวันเรื่องเดียวเพราะว่าถ้าไม่ล็อคเรื่องวันคุณก็ไปหาได้หลายบริษัท การทำเอกสารก็เหมือนบริการเสริมพอคุณล็อคเรื่องวันการทำเอกสารมันกลายเป็นเงื่อนไขทำให้คนอื่นไปทำไม่ได้ก็ต้องเข้ากับบริษัทไป เพราะฉะนั้นโครงการนี้จะเห็นว่ากระแสไม่ค่อยดีเหมือนที่หวังเพราะมันเป็นปัญหาของรัฐบาลเอง   อย่างนี้เราจะแนะนำคนที่เขาจะใช้พลังงานทดแทนอย่างไรดี แนะนำนักลงทุน ถ้าลงทุนขนาดนี้จะคุ้มหรือไม่คุ้มอย่างไร สมมติถ้าเราแนะนำคนอ่านไปอย่างที่เราอยากจะให้เป็น ขั้นที่ 1 คือ สนับสนุนให้เอา Solar cell มาเพื่อลดการใช้ในครัวเรือน ถามว่าลดอย่างไรก็คือลดง่ายๆ นะ ไฟแสงสว่างโดยเฉพาะส่วนที่อยู่ไกลบ้านค่าเดินสายไฟในกรุงเทพฯ เป็นหมื่นเลยแพงมาก ถ้าเราเอาแผง Solar cell เราเดินสายเองได้เลยเพราะมันเป็นไฟกระแสตรงแล้วมันติดอิสระ อันนี้ Solar cell อันนี้หลอดแค่นี้ ถ้าเราส่งเสริมลักษณะแบบนี้จะใช้ได้นะครับ ต่อมา Solar cellสำหรับเครื่องสูบน้ำ เครื่องสูบน้ำนี่กินไฟเยอะเลย ถ้าเรามี Solar cell อันหนึ่งแล้วเอาไว้ใช้ในการสูบน้ำ ปั๊มน้ำ รดน้ำต้นไม้อะไรประมาณนี้ ปัจจุบันบ้านผมถ้าต้องใช้น้ำประปามารดน้ำมันต้องใช้เครื่องสูบน้ำก็กินไฟอีก แต่ถ้าเราใช้ Solar cell เราก็ไม่จำเป็นที่เราจะต้องใช้ไฟฟ้าในการใช้เครื่องสูบน้ำ นี่คือสิ่งที่ทำได้ ถามว่าแล้วไอ้พวกนี้จะได้เยอะไหมคำตอบก็คือจริงๆ แล้วก็ไม่ถึงกับเยอะนะ Solar cell ที่ใช้ในบ้านเป็นเรื่องของกระแสตรงและกระแสสลับ ปัญหานี้เป็นปัญหาระดับพื้นฐานเหมือนยกตัวอย่างแบตเตอรี่มือถือเป็นกระแสตรงหรือกระแสสลับ เราใช้กระแสตรงแต่ว่าเวลาเราไปเสียบบางบ้านต้องทำออกมาเป็นบ้านกระแสตรงเหมือนกับมีมีปลั๊กอะไรที่เป็นกระแสตรงก็ต้องเป็นกระแสตรง ทีวีข้างในก็เป็นกระแสตรง คอมพิวเตอร์ข้างในก็เป็นกระแสตรง มีที่ไม่เป็นกระแสตรงก็มีตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ พัดลม ที่ไม่เป็นกระแสตรง อย่างอื่นถ้าไม่ใช่พวกเกี่ยวกับความร้อนเป็นกระแสตรงหมดเลย บ้านจะลดได้เยอะก็ต่อเมื่อเราเปลี่ยนระบบไฟฟ้าให้มันเป็นกระแสตรง แสงสว่างก็เป็นกระแสตรง เป็นกระแสสลับที่สุดท้ายเปลี่ยนตรงขั้วหลอดให้เป็นกระแสตรงถ้าเป็นหลอดไฟแบบนี้เป็นกระแสตรงหมดแล้ว ในระยะยาวต้องมีการสร้างบ้านที่มีกระแสตรงในขณะเดียวกันก็อาจมีกระแสสลับเพียงแต่ว่าเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้าบางส่วนเท่านั้นเองที่เสียบกระแสสลับ ถ้าแบบนั้น Solar cell จะได้ประโยชน์เยอะเลย ถ้าเป็นระบบนี้เราก็ต้องมาแปลงอีกเหมือนเราจะเปิดทีวี บ้านเรามี Solar cell เราก็ต้องเอา Solar cell ไปแปลงเป็นกระแสสลับแล้วเอาปลั๊กไฟทีวีไปเสียบไว้มันก็เป็นกระแสสลับเข้ามาแล้ว พอมันเข้ามาก็แปลงให้เป็นกระแสตรงอีก   พวกบริษัทขายแผง Solar cell เขาก็ไม่ได้แนะนำนะว่าบ้านใหม่จะติดแผงควรต้องต่อไฟอย่างไร ไม่ต้องแนะนำเพียงแต่ว่าคุณต้องเชื่อมต่อระบบไปเลย พูดง่ายๆ คือเขาไม่ได้ทำเหมือนมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคทำ มันเหมือนกับคุณมีเครื่องกำเนิดไฟฟ้ามาติดไว้ที่บ้านเฉยๆ แล้วคุณก็ขายไฟฟ้าเข้าระบบไปทุนที่เหลือก็ยังเป็นเหมือนเดิมทุกประการ ก่อนหน้าที่เขาจะเปิดรับซื้อมีบ้านที่เขาติดในกรณีอย่างนั้นคือเขาติดเพื่อจะลดการใช้ของเขาแต่มีบางบ้านที่เขาติดเพราะไม่ได้รับการสนับสนุนมันก็ลงทุนแพง อย่างมูลนิธิฯ ติดไปแล้วก็ซื้อไฟน้อยลงก็มีจำนวนหนึ่งที่เขาใช้อยู่ พอเขารับซื้อแบบนี้ทุกอย่างก็เปลี่ยนหมดคือเราไม่ต้องสนใจแล้วว่าเราจะใช้อะไร เราก็ขายไปส่วนลดของเราก็ลดรายจ่ายไม่เกี่ยวกับรายได้ที่อยู่บนหลังคา คนที่จะติดได้ก็ต้องมีเงินนอนรอ 2 แสนโดยประมาณ 2 แสนนี้จริงๆ แล้วถ้าเทียบกับการใช้ไฟฟ้าในบ้านก็ประมาณนั้นเหมือนกัน ถ้าสมมติเราทำเพื่อที่จะใช้เองในบ้านประมาณ 2 แสนนี้ก็ถือว่าน่าจะพอได้เพราะก็ต้องทำเชื่อมกับระบบอีกอยู่ดี เพราะบางช่วงที่ไม่มีแสงแดดเราก็ต้องใช้จากระบบ ถ้าช่วงที่แดดเยอะเกินแต่เราไม่ได้อยู่บ้านเราก็ขายให้กับระบบเพราะฉะนั้นในช่วง 2 แสนก็ประมาณ 3 กิโลวัตต์นั้นก็เพียงพอสำหรับบ้านซึ่งไม่ได้ใช้แอร์ ถ้าใช้แอร์ก็ต้องดูว่าเครื่องใหญ่แค่ไหน มีกี่เครื่อง จำนวนคนไม่สำคัญเท่ากับแอร์นะครับเพราะว่าแอร์ส่วนใหญ่กินไฟอย่างน้อยเกือบครึ่งหนึ่งของไฟฟ้าในบ้าน เพราะฉะนั้นถ้ามีแอร์ปุ๊บโจทย์ก็จะเป็นอีกโจทย์หนึ่งเลย แอร์นั้นจริงๆแล้ว 2 กิโลวัตต์ก็น่าจะพอ ส่วนใหญ่ตอนนี้ที่เขาติดๆกันก็ประมาณ 3 กิโลวัตต์แต่มันมักไม่ใช่เป็นโจทย์ในเรื่องการใช้ แต่มันเป็นโจทย์ว่า 2 แสนคนชนชั้นกลางที่รายได้ดีหน่อยก็พอจะลงทุนแต่ถ้าจะลงทุน 4 แสน 5 แสนก็ได้หมด   ส่วนถ้าเป็นต่างจังหวัดที่เราทำงานด้วยที่เป็นเกษตรกรจริงๆ นั้นเขาใช้เยอะก็คือเครื่องสูบน้ำเพื่อการเกษตร แต่การสูบน้ำเพื่อการเกษตรกับการสูบน้ำของคนกรุงเทพฯมันต่างกันนะ การสูบน้ำเพื่อการเกษตรมันไม่ใช้กำลังเยอะเขาต้องการแค่ปั๊มยกขึ้นไปที่สูงไปเก็บไว้ พอตอนเช้ากับตอนเย็นที่เขาเปิดน้ำเขาก็จะให้น้ำมันไหลลงมาเพื่อให้มันมีแรงดันไปตามระบบชลประทานของเขาจึงง่ายมากที่จะทำ Solar cell ที่ไม่ต้องใช้กำลังที่ไม่ต้องใช้กำลัง Solar cell เยอะก็เหมือนกับไม่ต้องลงทุนเยอะ อีกอันหนึ่งที่ผมคิดว่าจำเป็นโดยปริยายคืออนาคตในสถานะเครื่องมือช่วยเรื่องของภัยพิบัติก็น่าจะใช้อันนี้ได้เพียงแต่ว่าเรายังไม่มีเซ็ตสำเร็จรูปว่าบ้าน 1 หลังชาร์จแบตฯ ได้อะไรประมาณนี้ อยู่ที่ถูกน้ำท่วมมันควรจะเป็นอย่างไร เครื่องปั๊มน้ำบ้านถ้าขายพ่วงแบบนี้แม้จะเป็นการขายเข้าระบบ แต่ถ้ามีตรงนี้ได้ถ้าถึงวันนั้นคุณจะขายเข้าระบบทำไม ไฟจากระบบไม่จ่ายมาคุณก็ไม่ต้องขายเข้าระบบคุณก็ตัดใช้ในบ้านคุณ ในวันที่น้ำท่วมถ้าคุณยังขายเข้าระบบแล้วระบบเขากลัวน้ำท่วมเกิดตัดไฟหรือระบบเกิดล่มคุณก็ต้องตัดไฟที่คุณขายให้มันมาลงที่บ้าน ทีนี้เรามีอุปกรณ์เสริมถ้าเราทำลักษณะแบบนี้คนที่อยู่บ้านก็จะใช้ประโยชน์ได้ เราไม่ได้เอาความคิดชุดนี้ไปร่วมด้วยเราก็จะใช้ความคิดว่าขายเพื่อไปเอาเงินมาอย่างเดียว แต่จริงๆ แล้วการมี Solar cell มันแปลว่าไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นมันจะอย่างนี้ได้ แต่คุณต้องแนะนำอย่างนี้ติดต่อกับเร้าเตอร์ได้เลย ถ้าเกิดเหตุอะไรเกิดขึ้นคุณก็สั่งอินเตอร์เน็ตได้เลยโดยที่คุณไม่ต้องไปพึ่งหรือมันมีอะไรสักอย่าง ผมไม่ได้เชี่ยวชาญการสื่อสารนะแต่ว่าคุณจะสื่อสารได้แน่นอน 100 เปอร์เซ็นต์ ถ้าคุณมีแผง Solar cell แบบนี้เขาเรียกคล้ายๆตัว Hub ของ Wifi  ถ้าคุณขายคอนเซ็ปต์แบบนี้มันจะช่วยการใช้มันไปได้ดีกว่าการมองเรื่องการลงทุนอย่างเดียว

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 135 หนึ่งบทเรียนจากการทำประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์

“ผมยังมองว่าหลักการประกันชีวิตเป็นเรื่องที่ดี  ที่ผมฟ้องก็เพราะต้องการปกป้องตัวแทนประกันชีวิต เพื่อที่จะได้มีอาชีพทำต่อไป  ปกป้องหลักการประกันชีวิตซึ่งผมเชื่อว่าดี แต่การทำแบบนี้ทำให้หลักการประกันชีวิตเสียหาย  จึงต้องสู้กันในเรื่องกฎหมายเพื่อยกระดับมาตรฐาน...” ทุกคนมีสิทธิฉบับนี้สมาชิกนิตยสารฉลาดซื้อท่านหนึ่ง ได้แนะนำบุคคลน่าสนใจเข้ามา เพราะไปพบเรื่องราวการต่อสู้ที่เว็บไซต์ของ  www.pantip.com เขาเป็นผู้บริโภคอีกคนหนึ่งที่ลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิตนเองในกรณีเกี่ยวกับการประกันชีวิต เชิญมาติดตามกันค่ะ คุณทรงกฤษณ  ศรีสุขวัฒนา  เป็นอีกคนที่วางแผนและมองการณ์ไกลเรื่องอนาคต หลังการฟังคำแนะนำ ของตัวแทนบริษัทประกันชีวิต AIA (บริษัท อเมริกันอินเตอร์แนชชั่นแนลแอสชัวรันส์ จำกัด) โดยใช้แผ่นพับแนะนำที่เรียกว่า  21 TMAE เรื่องแผนการออมเงินในรูปแบบของการทำประกันชีวิต เขาจึงตกลงใจทำสัญญาประกันชีวิต 21 ปี วงเงินประกัน 300,000 บาท เมื่อวันที่  4  สิงหาคม 2532 ในขณะที่เขาอายุ 31 ปี  โดยมีเงื่อนไขว่าเมื่อครบกำหนดสัญญา  21  ปี  ผู้เอาประกันจะได้รับเงินคืนตามเอกสารแนะนำดังนี้   1.ผู้เอาประกันจะได้รับเงินคืน  10  %  ของวงเงินประกัน  ทุก  3  ปี  รวม 6 ครั้ง โดยจะได้รับเงิน  สิ้นปีที่ 3, 6, 9, 12, 15, และ 18  และได้รับเงินคืน  เมื่อครบกำหนดสัญญาสิ้นปีที่ 21  เป็นเงิน  40 %  ของวงเงินประกัน 2. เมื่อครบกำหนดสัญญาสิ้นปีที่ 21   ผู้เอาประกันจะได้รับทุนประกันเพิ่มประมาณ 10  %  ของวงเงินประกันทุก  3  ปี  สะสมรวม  7  ครั้ง  เป็นเงินประมาณ  70 %  ของวงเงินประกัน 3.เมื่อครบกำหนดสัญญาสิ้นปีที่ 21   ผู้เอาประกันจะได้รับเงินปันผลเมื่อครบกำหนดสัญญาประมาณ 30  % ซึ่งเมื่อครบกำหนดสัญญา  21  ปี  ผู้เอาประกันจะได้รับเงินคืน  รวมประมาณ  140 %  ของวงเงินประกัน  (40%+70%+30% = 140%)  (วงเงินประกัน  300,000 X 140 % = 420,000 บาท) ซึ่งเขาต้องจ่ายเบี้ยฝากสะสมเป็นรายปี  ปีละ  20,301 บาท  เป็นเวลา  21  ปี  เป็นเงินเบี้ยฝากสะสม  รวมทั้งสิ้น  426,321 บาท ซึ่งเมื่อเทียบกับเงินที่จะได้รับแล้ว เขาจ่ายเงินส่วนต่างไป 6,321 บาท แต่เมื่อครบกำหนดสัญญาของกรมธรรม์   21 ปี เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2553 ทางบริษัทฯ ทำจดหมายแจ้งคุณทรงกฤษณมาว่า จะจ่ายเงินให้  405,000 บาท  ซึ่งน้อยกว่าในสัญญาที่ควรจะได้ 15,000 บาท คุณทรงกฤษณจึงทำหนังสือทวงถามทางบริษัทให้ชำระเงินส่วนที่เหลือตามกรมธรรม์  ต่อมาบริษัทฯได้ทำหนังสือชี้แจงการจ่ายเงินเบี้ยประกันให้กับคุณทรงกฤษณ  จึงทำให้ทราบว่ากรมธรรม์ ที่  บริษัท  AIA  ออกให้เมื่อวันที่  8  สิงหาคม  2532  นั้น  บริษัท  AIA  จำกัดความรับผิดจ่ายเงินส่วนเพิ่มจากทุนประกัน เป็นไม่น้อยกว่า  6 %  ซึ่งเป็นการระบุความรับผิดชอบจ่ายเงินในส่วนนี้น้อยกว่าในแผ่นพับแบบ  21 TMAE ซึ่งระบุไว้ว่าจะจ่ายประมาณ  10  %  ทุก 3 ปี สุดท้ายจึงฟ้องบริษัท อเมริกันอินเตอร์แนชชั่นแนลแอสชัวรันส์ จำกัด เป็นคดีผู้บริโภค ในคดีผิดสัญญา(ประกันชีวิต)  ที่ศาลแขวงพระนครใต้ เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2553 เรียกค่าเสียหาย 40,894.52 บาท  พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี  โดยอ้างอิงแผ่นพับการเสนอขายประกัน 21 TMAE ที่ตัวแทนบริษัทประกันยื่นขาย เป็นหลักฐาน ภายหลังการพิจารณาคดีศาลพิพากษา เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2554 ศาลมีคำพิพากษาให้บริษัทอเมริกันอินเตอร์แนชชันแนลแอสชัวรันส์ จำกัด ต้องจ่ายเงินคืนให้คุณทรงกฤษณ จำนวน 40,894.52 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันทวงถาม จนถึงวันยื่นฟ้อง ฟ้องเพื่อยกเป็นมาตรฐาน “ทางบริษัท AIA เขายื่นอุทธรณ์ผมเขียนยื่นอุทธรณ์ไปแล้ว  การต่อสู้ในศาลทางบริษัทจะต่อสู้ว่าโบรชัวร์ไม่ใช่ของบริษัทของเขา แต่ผลสุดท้ายศาลก็ตัดสินให้ผมชนะ การต่อสู้ของผมครั้งนี้ ไม่ใช่เป็นการต่อสู้เพื่อตัวเองเลย เพราะการเสนอขายประกันของบริษัท AIA  ที่เรียกว่า แบบ  21 TMAE นั้น  นอกจากจะขายให้ผมแล้วน่าจะขายให้กับคนอีกมาก และอาจจะเกิดปัญหาคล้ายๆ กับผม ก็น่าจะใช้เกณฑ์นี้ยื่นฟ้องศาลได้เช่นกัน ตอนแรกบริษัททำจดหมายแจ้งว่าเมื่อครบกำหนดสัญญาจะได้รับเงิน 405,000 บาท แทนที่จะเป็น 420,000 บาท แบบที่คิดคำนวณ  ก็มีส่วนต่างอยู่ 15,000  บาท  พอผมทำจดหมายทวงถามไปก็ได้จดหมายชี้แจงมาทำให้ผมรู้ว่า บริษัท  AIA  จำกัดความรับผิดจ่ายเงินส่วนเพิ่มจากทุนประกันเป็นไม่น้อยกว่า  6   %  ซึ่งเป็นการระบุความรับผิดชอบจ่ายเงินในส่วนนี้  น้อยกว่าในแผ่นพับ แบบ  21 TMAE  ซึ่งระบุไว้ว่าจะจ่ายประมาณ  10  %  ทุก 3 ปี ในปีแรกๆ จะจ่ายให้ 10.5 % ซึ่ง 0.5 % ที่เกินมาเป็นการกระตุ้นการขาย แต่พอช่วงหลังใกล้หมดสัญญาประกัน ก็จ่ายที่อัตราขั้นต่ำ 6%  เป็นระยะเวลา 3 งวด ผมจึงคิดส่วนต่างตรงนี้ เป็น 12% แล้วยื่นฟ้องต่อศาล การทำธุรกิจประกันภัยต้องคำนึงถึงคุณธรรม จริยธรรมในการประกอบธุรกิจเป็นหลัก  แผนทางการเงินในเอกสารเสนอขายประกันกับสัญญากรมธรรม์ต้องเป็นตัวเดียวกัน ซึ่งการที่ตัวแทนขายประกันหรือแผนทางการเงิน  ที่ไม่ได้บอกความรับผิดชอบสูงสุดในการจ่ายคืนเบี้ยประกันไว้ ก็หมายความว่าเสนอขายเท่าไรก็ได้  แต่สุดท้ายเมื่อครบกำหนดกรมธรรม์กลับบอกว่ารับประกันขั้นต่ำตามกรมธรรม์  ซึ่งถือเป็นการตีความฝ่ายเดียว แล้วประชาชนจะทำอย่างไรล่ะ ก็ต้องฟ้อง คำพิพากษาจะมีค่ามากเพราะประชาชนได้ประโยชน์ และเป็นหัวใจในการต่อสู้ครั้งนี้  ที่สำคัญคือผมต้องชนะ  ไม่ใช่เพื่อตัวผมเอง  แต่เพื่อสร้างบรรทัดฐาน  และสร้างมาตรฐานให้ระบบประกันถ้าปล่อยไปแบบนี้มีปัญหาแน่นอน  ต่อไปถ้าตัวแทนเดินเข้าบ้านใครก็คงต้องถูกด่า เพราะคนขาดความเชื่อมั่นในระบบประกัน ส่วนตัวผมยังมองว่าหลักการประกันชีวิตเป็นเรื่องที่ดี  ที่ผมฟ้องก็เพราะต้องการปกป้องตัวแทนประกันชีวิต เพื่อที่จะได้มีอาชีพทำต่อไป  ปกป้องหลักการประชีวิตซึ่งผมเชื่อว่าดี แต่การทำแบบนี้ทำให้หลักการประกันชีวิตเสียหาย  จึงต้องสู้กันในเรื่องกฎหมายเพื่อยกระดับมาตรฐาน   บริษัทประกันต้องมีจริยธรรมในการทำธุรกิจ การแก้ปัญหานั้นต้นตอมันอยู่ที่บริษัทประกัน  ต้องมีจริยธรรม  บางทีพอเรารู้เรื่องการคืนเบี้ยประกันไม่ตรงกับแผนทางการเงินในแผ่นพับแล้ว  แต่ยังไม่ครบกำหนดกรมธรรม์เราจะหยุดจ่ายก็จะกลายเป็นว่าเราผิดสัญญา  แต่ถ้าเราจ่ายต่อจนครบสัญญากรมธรรม์แล้วไปฟ้องศาล  ก็จะเป็นข้อต่อสู้คดีของเขาว่ารู้มาตั้งหลายปีแล้วยังยอมจ่ายก็จะมีการอ้างว่าเรายอมรับในเงื่อนไขนั้นแล้ว  ก็กลายเป็นว่าภาระตกอยู่ที่เราอีก การฟ้องศาลจึงดูจะเป็นทางออกในการสู้  ใครที่เกิดปัญหาต้องสู้เพื่อให้บริษัทเกิดคุณธรรม  จริยธรรม ยิ่งมีการฟ้องมากขึ้น  ภาพและคำถามที่ตามมาว่าเกิดอะไรขึ้นกับบริษัทนี้  ก็จะช่วยสร้างทางออกได้   ศาลผู้บริโภค คุณทรงกฤษณ  ฝากบอกขอบคุณและชื่นชมการทำงานของเจ้าหน้าที่ศาลแขวงพระนครใต้ว่าให้ความช่วยเหลือด้านการเขียนคำฟ้องคดีผู้บริโภคอย่างดี “ต้องขอชื่นชมครับ ที่ให้ความช่วยเหลือดีมากในการยื่นฟ้องคดี  ใครที่มีปัญหานี้สามารถเข้ายื่นเรื่องฟ้องศาลที่นี่ได้เลยครับ กฎหมายฉบับนี้(พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค) ถือว่ามีประโยชน์กับผู้บริโภคมาก  ลดภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการฟ้องคดีได้  และไม่ต้องใช้ทนาย  ไม่ต้องมีเงินวางศาล แต่สิ่งหนึ่งที่ยังเป็นหน้าที่ของผู้บริโภคก็คือภาระการพิสูจน์ยังคงตกอยู่กับผู้บริโภคในการต่อสู้คดี” สำหรับใครที่เกิดปัญหาคล้ายๆ คุณทรงกฤษณนั้น สามารถยื่นเรื่องฟ้องได้ที่ศาลแขวงพระนครใต้ได้ค่ะหรือจะโทรปรึกษา คุณทรงกฤษณได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 089 – 494 – 7335 ค่ะ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 134 คนรักหลักประกันสุขภาพ

  สร้างความเท่าเทียมมาตรฐานรักษาพยาบาล ดีกว่าร่วมจ่ายเพื่อการสร้างความเท่าเทียมในการจ่ายรักษา หลังการแถลงข่าวของกลุ่มคนรักหลักประกันเมื่อวันที่ 22 ก.พ.55 ถึงเหตุผลในเรื่องที่รัฐไม่ควรกลับไปใช้นโยบายร่วมจ่าย 30 บาท ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โดยนำเสนอ ผลการศึกษาของสำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนา หลักประกันสุขภาพไทย (สวปก.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ที่พบว่า การกลับมาเก็บ 30 บาท มีเหตุผลที่ไม่เชื่อมโยงหลายประการ โดยเฉพาะหากต้องการรีแบรนด์เพื่อช่วยสถานพยาบาลที่ประสบภาวะขาดทุน ยิ่งไม่ใช่ เนื่องจากข้อมูลพบว่าสาเหตุหลักของโรงพยาบาล (รพ.) ขาดทุนมาจากปัญหาค่าตอบแทน ซึ่งมีอัตราการเพิ่มขึ้นถึง 30-40% ของปีงบประมาณ 2552 ซึ่งค่าตอบแทนนี้เป็นค่าตอบแทนในการให้บริการด้านสาธารณสุขแก่ประชาชน แต่การจะมาผลักภาระโดยให้ประชาชนในสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง เป็นผู้แบกโดยการร่วมจ่าย 30 บาท ถือว่าไม่ถูกต้อง แต่ท้ายที่สุด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวในงานการประชุมวิชาการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในศตวรรษที่ 2 จัดขึ้น ณ โรงแรมรามาการ์เด้น วันที่ 22 มี.ค.55 ว่า ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นระบบที่รัฐบาลตั้งใจดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนได้รับการดูแลยามเจ็บป่วย โดยไม่ต้องห่วงเรื่องการล้มละลาย ซึ่งตลอดมาระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ครอบคลุมประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ คือกว่า 47 ล้านคน ช่วยลดความยากจนจากการจ่ายค่ารักษาประกันสุขภาพได้กว่า 76,000 ครัวเรือน ซึ่งก้าวต่อไปของการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จะยกเป็นนโยบายเร่งด่วน ที่จะลดความเหลื่อมล้ำ และบริการที่ดี ครอบคลุม โดยจะกลับมาเก็บเงินสมทบ 30 บาท เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วม และรู้สึกเป็นผู้ซื้อบริการ ไม่ใช่เป็นผู้มาขอรับบริการเท่านั้น   ฉลาดซื้อจึงขอพาคุณไปคุยกับกลุ่มผู้ป่วยเรื้อรังอย่างชมรมเพื่อนโรคไต เครือข่ายโรคมะเร็ง กันค่ะว่า จะได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง ควรจะเพิ่มหรือพัฒนาการอะไรบ้าง หรือทางออกที่ดีของการสร้างหลักประกันสุขภาพควรจะเป็นอย่างไร สหรัฐ ศราภัยวานิช อาสาสมัครชมรมเพื่อนโรคไต ให้ความเห็นที่น่าสนใจว่า การเก็บค่าบริการ 30 บาท ใครอื่นอาจจะมองดูเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่คนที่ใช้สิทธิอยู่มันไม่มี 100 บาทก็ไม่มี 30 บาท ก็ดูจะยาก “การที่จะเก็บ 30 บาทแล้วบอกว่าเพื่อให้ประชาชนเป็นผู้ใช้บริการ ไม่ให้ประชาชนมาหาหมอพร่ำเพรื่อ แต่ถ้ามองในความจริงแล้ว ไม่มีใครอยากไปหาหมอหรอกครับถ้าไม่เจ็บป่วยจริงๆ” สหรัฐมองต่อประเด็นเรื่องค่าใช้จ่ายในการเข้าไปรับบริการสุขภาพซึ่ง เขาเองใช้สิทธิประกันสังคม เขาเองก็ยอมรับว่าสิทธิของประกันสังคมในเรื่องค่าใช้จ่ายนั้นค่อนข้างครอบคลุม แต่กระนั้นก็ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นเข้ามา “ค่าเดินทางไปฟอกเลือดทีก็ 200 บาท ค่าอาหาร บางอย่างก็มีการเก็บเพิ่มเช่น ค่ากระดาษรองแขน คิดอาทิตย์ละ 100 บาท อย่างผมไปฟอกไตอาทิตย์ละ 3 ครั้ง เรื่องยาก็สำคัญนะครับ บางตัวหมอไม่ได้จ่ายให้ แต่เราจำเป็นต้องกิน ก็ต้องซื้อกินเองเดือนละ 300 บาท รวมประมาณการ เดือนละ 1,000 บาทครับ” แต่ค่าใช้จ่ายข้างต้น สหรัฐให้ความเห็นว่าเพราะเขารู้ช่องทางการไปฟอกไต จึงทำให้ค่าใช้จ่ายถูก แต่บางคนต้องเดินทางมาจากสมุทรปราการ บางทีมาจากประจวบฯ เพื่อมาฟอกไตที่ รพ.สงฆ์ “ก่อนที่จะมีโครงการฟอกไต ต้องบอกว่าตกเดือนละ 30,000 บาท ทั้งค่าฟอกไต ค่ายาฉีดเพิ่มเลือด ค่าเดินทาง ค่าใช้จ่ายมากครับ มากจนบางคนล้มละลายไปเลยก็มี ต้องขายที่ดินเพื่อรักษาตัวเอง แต่พอการรักษาครอบคลุม ทุกอย่างดีขึ้นเยอะครับ แต่ถ้ามองดูสิทธิการรักษาระหว่างสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ให้สิทธิในการล้างช่องท้อง สำหรับคนเป็นโรคไต หลังปี 51 จะเลือกการรักษาโดยการฟอกเลือดไม่ได้ ต้องจ่ายเงินเองทั้งหมด บางคนกลัวว่าล้างช่องท้องแล้วจะติดเชื้อ ก็ยอมจ่ายค่าฟอกเลือด 1,000 ถึง 1,500 บาทก็ยอมจ่าย” การไปฟอกเลือดแต่ละครั้งจะใช้เวลา 4 ชั่วโมงในการฟอกเลือด แต่ยังไม่ได้รวมเวลาในการเข้าคิวรอ บางรายมารอตั้งแต่ตี 4 เพื่อที่จะได้ฟอกเลือด 6 โมงเช้า จะได้กลับบ้านก็ 11 โมง   ส่งเสริมสิทธิการรักษาให้เท่าเทียม การรักษาโรคไตมี 2 มาตรฐานนั่นคือ คนที่ได้รับสมุดฟอกเลือด กลุ่มแรกเป็นก่อนแล้วค่อยมาทำบัตรประกันสังคม กลุ่มที่สองทำบัตรประกันสังคมก่อนแล้วถึงเป็นโรคไต ซึ่งกลุ่มที่สองนั้นสิทธิจะครอบคลุมหมดเลยการฟอกเลือด 1 ครั้งประกันสังคมจะจ่ายให้ 1,500 บาท “ส่วนกลุ่มแรกนั้น ประกันสังคมจ่ายให้ 1,000 บาท ในเรื่องสิทธิของการเปลี่ยนไตนั้นเท่าเทียมกัน สามารถยื่นคำขอเปลี่ยนไตได้ แต่จะมีความแตกต่างกันในเรื่องค่าใช้จ่ายในการฟอกเลือด แต่ถ้าเทียบกับสิทธิผู้ป่วยไตของกลุ่มหลักประกันสุขภาพนั้นในเรื่องค่ายากดภูมิ ไม่จำกัดเรื่องวงเงิน ซึ่งชมรมเพื่อนโรคไตพยายามผลักดันให้เกิดความเท่าเทียมกันในเรื่องการรักษาพยาบาล” อีกเรื่องที่สหรัฐชี้ให้เห็นก็คือเรื่องยาในบัญชียาหลัก ที่มีความแตกต่างการจ่ายยาของแต่ละโรงพยาบาลแตกต่างกัน ส่งผลต่อการรักษาของผู้ป่วย “ในเรื่องของผู้ป่วยที่ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้น ผู้ที่เป็นโรคไตตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2551 ผู้ป่วยไม่ต้องร่วมจ่าย สำหรับบริการทดแทนไตด้วยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ซึ่งบริการทดแทนไตด้วยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมนั้น เริ่มให้บริการในวันที่ 1 ตุลาคม 51 ซึ่งจะให้บริการฟอกเลือดสำหรับผู้ป่วยรายเก่าที่เลือกวิธีการฟอกเลือดต่อไป จะได้รับความคุ้มครองโดยร่วมจ่ายไม่เกิน 500 บาท สปสช.ชดเชยให้หน่วยบริการ 1,000 บาท ส่วนผู้ป่วยรายใหม่ที่ยืนยันจะใช้วิธีฟอกเลือดต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด ซึ่งชมรมเพื่อนโรคไตกำลังพยายามผลักดันให้เกิดความเท่าเทียมกัน คือถ้าหากมีการรวมกองทุนและสร้างความเท่าเทียมกันในเรื่องมาตรฐานการรักษา จะดีมากเลย คือเรื่องความสะดวกสบายน่ะไม่เป็นไร เราต้องการความเท่าเทียมกันด้านมาตรฐานการรักษามากกว่า” การรวม 3 กองทุน สู่มาตรฐานสุขภาพ ดาราณี โพธิน อาสาสมัครเครือข่ายโรคมะเร็ง เป็นอีกหนึ่งที่ใช้สิทธิประกันสังคมในการรักษาโรคมะเร็ง และเป็นผู้ประกันตนที่ร่วมส่งเงินสมทบตามมาตรา 39 นั่นคือเงินบำนาญ ซึ่งเธอให้ความเห็นว่าประกันสังคมน่าจะนำเงินส่วนกองทุนสุขภาพ มาเพิ่มในส่วนของเงินบำนาญ เพราะเมื่อชราภาพลงก็น่าจะมีกองทุนที่ช่วยเยียวยา “เราเห็นสิทธิการรักษาพยาบาลแล้ว มองว่ามันยังไม่ครอบคลุมเหมือนสิทธิหลักประกันสุขภาพ และเป็นกลุ่มเดียวที่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาล ในเรื่องสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเอง หากจะมีการกลับมาเก็บ 30 บาทอีกนั้น ก็น่าจะมีการพัฒนาในเรื่องมาตรฐานการรักษาพยาบาลที่ดีขึ้น ทั้งเวลาที่รวดเร็วขึ้น ไม่ใช่ต้องออกจากบ้านตั้งแต่ 6 โมงเช้า เพื่อไปรอหมอ กว่าจะได้พบหมอ ได้รักษาก็ครึ่งค่อนวัน คนในชุมชนเองซึ่งก็ทำงานรายวัน อย่างขายน้ำ พอไปหาหมอ 1 วัน วันนั้นรายได้ก็จะไม่มีเข้ามาแล้ว ไหนจะค่ารถ ค่าอาหาร หากจะกลับมาเก็บ 30 บาท ต้องมีอะไรที่ดีขึ้นกว่าเดิม ในส่วนตัวแล้วมองว่า 3 กองทุนสุขภาพ นั่นคือกองทุนสวัสดิการข้าราชการ กองทุนประกันสังคมและกองทุนประกันสุขภาพแห่งชาติ ยังมีความเหลื่อมล้ำกันมาก อย่างคนในชุมชนใช้สิทธิประกันสุขภาพนอนดูอาการ อยู่หลายวัน แต่สิทธิข้าราชการ สามารถเข้ารับการตรวจได้เลย อีกส่วนหนึ่งที่เจ็บใจก็คือสิทธิของประกันสังคม ด้อยกว่าสิทธิหลักประกันสุขภาพ ทั้งที่ประกันสังคมต้องจ่ายเงิน แต่สิทธิด้านการรักษาโรคยังครอบคลุมน้อยกว่าสิทธิหลักประกันสุขภาพซะอีก เลยอยากให้นำส่วนที่เราจ่ายเงินไปสบทบในส่วนกองทุนชราภาพให้เราใช้ตอนแก่ยังจะดีกว่า เพราะสภาพสังคมแบบนี้จะมัวไปพึ่งลูกหลานอยู่ก็ไม่ได้ หากเป็นไปได้การจะพัฒนาเรื่องสุขภาพจริงๆ ก็ควรที่จะพัฒนาในเรื่องมาตรฐานการรักษาพยาบาลให้เท่าเทียมกัน ดูจะเป็นทางออกที่ดีกว่า”  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 179 ไม่เหมือนที่คุยกันไว้

กรณีนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการขายประกันภัยอีกแล้ว โดยเป็นการขายประกันสุขภาพผ่านทางโทรศัพท์ ซึ่งพูดคุยเข้าใจตรงกันเรียบร้อย เกี่ยวกับเงื่อนไขการเอาประกันภัยต่างๆ แต่สุดท้ายสิ่งที่ผู้บริโภคคิด กับสิ่งที่ตัวแทนบอกไม่หมดก็ยังเกิดขึ้นอยู่ดีผู้ร้องถูกชักชวนให้ทำประกันภัยของบริษัท พรูเด็นเซียล ประกันชีวิต ผ่านทางโทรศัพท์ ซึ่งภายหลังตัวแทนขายประกันภัยได้บอกเงื่อนไขการเอาประกันภัยต่างๆ ผู้ร้องจึงตกลงสมัคร โดยให้มีการหักเงินผ่านบัตรเครดิต อย่างไรก็ตามหลังจากที่ได้รับกรมธรรม์ ก็พบว่าเนื้อหาไม่ได้ครอบคลุมการรักษาอย่างที่เธอต้องการ และราคาก็ไม่คุ้มค่ากับการคุ้มครองดังกล่าว จึงต้องการยกเลิกการทำสัญญา แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำให้ผู้ร้องส่งหนังสือบอกเลิกสัญญา ซึ่งสามารถดาวโหลดแบบฟอร์มเอกสารฟรีได้ที่เว็บไซต์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (www.consumerthai.org) และส่งไปยังสำนักงานใหญ่ของบริษัทประกันภัยดังกล่าว ซึ่งสามารถส่งข้อมูลที่เขียนแล้ว มาให้ศูนย์ฯ ช่วยตรวจสอบความถูกต้องก่อนได้ ทั้งนี้หลักการในการยกเลิกการสมัครประกันภัยนั้น สามารถยกเลิกได้เมื่อเราพบว่าเนื้อหาในกรมธรรม์ ไม่เป็นไปตามที่ตัวแทนเคยบอกไว้ ซึ่งต้องยกเลิกภายใน 30 วัน นับจากวันที่ได้รับกรมธรรม์ดังกล่าว ด้านบริษัทฯ เมื่อได้รับเรื่องก็ทำการยกเลิกสัญญา และคืนเงินให้ผู้ร้องเรียบร้อย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 176 สูงวัย ไม่โอเค...สักนิด

ผลจากที่องค์กรผู้บริโภคและผู้บริโภค  ร่วมกันส่งเสียงถึงความไม่เป็นธรรมในหลายเรื่อง  ทำให้ช่วงนี้มีข่าวที่น่าพอใจของผู้บริโภคปรากฏในสื่อต่างๆ หลายเรื่อง  เช่น  คำตัดสินของศาลปกครองกลาง    “กรณีมูลนิธิผู้บริโภคและเครือข่ายชนะคดีที่ฟ้องการขึ้นค่าทางด่วนโทลล์เวย์  ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค”  และ  “การระงับโฆษณาประกันสุขภาพผู้สูงอายุที่โฆษณา ไม่ตรงกับสัญญากรมธรรม์”   ต้องยอมรับว่านี่คือความก้าวหน้าของประเด็นผู้บริโภค  แต่ประเด็นที่เกิดขึ้นนี้  จะไม่มีประโยชน์เลย ถ้าผู้บริโภคไม่ร่วมมือลุกขึ้นมาปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง  เพราะยังมีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับประกันภัยด้านสุขภาพเกิดขึ้นอยู่เนือง ๆ   ต้นเดือน กันยายน 2558  คุณอี๊ด(นามสมมุติ)มาหารือว่า  ได้ทำประกันชีวิตแบบออมทรัพย์ คุ้มครองสุขภาพด้วย  ส่งเงินปีละประมาณ 2 หมื่นบาท ต่อเนื่องมา 2 ปี  พอเข้าปีที่ 3 มีปัญหาปวดไหล่มาก  หมอตรวจแล้วบอกว่า ต้องผ่าเพื่อรักษา  เขาจึงไปปรึกษากับตัวแทน ที่ขายประกันภัยให้เขา  ตัวแทนแนะนำให้ไปผ่าที่กรุงเทพฯ เลย”เรามีประกัน” เมื่อตัวแทนแนะนำเขาก็เข้าไปผ่าที่ รพ.ใน กทม. นอนพักฟื้นอยู่ 5 วันมีค่าใช้จ่าย  1 แสนบาทเศษ  พอประสานงานกับตัวแทนประกันฯ เพื่อใช้สิทธิ ตัวแทนไม่พูดอะไรเมื่อฟังว่าค่ารักษาเท่าไหร่  เงียบไปเลย  โทรไปก็ไม่คุยด้วย  สรุปจ่ายเงินเองไปก่อน   พอกลับมาสมุทรสงครามได้ไปประสานกับบริษัทประกันเพื่อเคลียร์ค่าใช้จ่าย   ปรากฏว่า บริษัทปฏิเสธการจ่ายสินไหมทดแทน  ด้วยเหตุผล ผู้เอาประกันมีประวัติเกี่ยวกับแขนข้างที่ผ่าตัดที่ “เคยตกต้นไม้ มาก่อน” แต่ไม่แจ้งต่อผู้ขายประกัน  คุณอี๊ดบอกต่ออีกว่า  จริงๆ บอกตัวแทน(ขนาดโฆษณาบอกว่าไม่ถามเรื่องสุขภาพนะ อันนี้บอกเองเลย) แล้วตัวแทนบอกไม่เป็นไร ทำได้ เขาก็จ่ายเงินซื้อประกันมาอย่างต่อเนื่อง   สุดท้ายยังตกลงกันไม่ได้  ต้องดำเนินการขั้นตอนต่อไปบทเรียนเรื่องนี้ชี้ให้เห็นชัดเจนว่าผู้บริโภค  ให้ความสำคัญกับคำบอกเล่าของตัวแทนขายประกันมากกว่า  “การอ่านกรมธรรม์” เพราะถ้าอ่านเขาจะทราบ “วงเงินในการรักษา”แต่ละครั้งในกรมธรรม์กำหนดไว้เท่าไร  เพราะถ้ามีค่าใช้จ่ายมากกว่าที่กำหนดในกรมธรรม์  ส่วนต่างนั้นผู้เอาประกันต้องรับผิดชอบเอง   รวมถึงข้อยกเว้นต่างๆ ที่ระบุไว้ในกรมธรรม์  เพื่อให้ทราบว่าเขาคุ้มครองอะไรเราบ้าง  และการคุ้มครองนั้นคุ้มค่าเงินที่เราต้องจ่ายไปหรือไม่    การอ่านกรมธรรม์ จึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง  อ่านแล้วพบว่า ไม่โอเค ผู้บริโภคสามารถใช้สิทธิขอยกเลิกกรมธรรม์ได้    

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 175 ประกันสุขภาพ อยากได้แต่ไม่อยากเสีย

แม้โฆษณาการประกันภัยของบริษัทต่างๆ จะมุ่งเน้นให้ผู้ซื้อบริการเห็นถึงการรับประกันความเสี่ยงให้กับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน เพราะอย่างน้อยหากเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตหรือทรัพย์สิน ผู้ซื้อก็จะไม่ต้องเป็นคนรับผิดชอบค่าเสียหายต่างๆ เหล่านั้นเพียงผู้เดียว แต่อีกด้านหนึ่งที่ผู้ซื้อไม่ค่อยได้รู้หรือบริษัทไม่เคยบอกอย่างชัดเจนก็คือ รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่แฝงอยู่ในข้อสัญญากรมธรรม์ต่างๆ ที่ทำให้ใครหลายคนเคยต้องผิดหวังกับความไม่เป็นธรรมดังกรณีของผู้ร้องรายนี้“บริษัทฯ ใคร่ขอแจ้งให้ท่านทราบว่า บริษัทฯ ขออภัยที่จะต้องขอบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยฉบับดังกล่าวตามเงื่อนไขทั่วไปและข้อกำหนด โดยกรมธรรม์มีผลบังคับสิ้นสุดลงวันที่…”ข้อความดังกล่าวถูกส่งมาในจดหมาย เพื่อระงับการเอาประกันของภรรยาผู้ร้องที่ซื้อประกันภัย “HIP MediCare1” ของบริษัทกรุงไทยพาณิชย์ประกันภัย โดยผู้ร้องได้ชี้แจงว่าเขาซื้อประกันภัยแบบเหมาจ่ายให้กับตนเอง ภรรยาและลูก 1 คน ตั้งแต่เมื่อปี 2554 ซึ่งจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยปีละ 6 งวด งวดละ 1,102 บาท (รวมภาษีและอากรแล้ว) มีข้อตกลงและความคุ้มครองที่สำคัญคือ การชดเชยรายได้ระหว่างการเข้าพักรักษาตัวแบบผู้ป่วยในโรงพยาบาลเนื่องจากอุบัติเหตุหรือการเจ็บป่วยต่อวัน สูงสุดไม่เกิน 365 วัน ต่ออุบัติเหตุหรือการเจ็บป่วยแต่ละครั้ง จำนวน 3,000 บาท ซึ่งในระหว่างที่ทำประกันภัยนั้น ภรรยาของเขาได้มีการเบิกเคลมค่าสินไหมจำนวน 4 ครั้ง รวมทั้งสิ้นจำนวน 26,000 บาท สำหรับการป่วยที่เกิดจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงตามฤดูกาลซึ่งเป็นโรคทั่วไปที่ไม่ใช่โรคร้ายแรง ได้แก่ อาการจากเยื่อบุจมูกอักเสบ กระเพาะอักเสบและน้ำในหูไม่เท่ากัน ประเด็นที่สำคัญ คือภรรยาของผู้ร้องไม่ได้เบิกเคลมเกินกว่าจำนวนเงินที่ระบุไว้ในสัญญากรมธรรม์ และไม่ได้ผิดสัญญาการชำระเบี้ยประกันเลย ดังนั้นเมื่อได้รับหนังสือแจ้งการบอกเลิกจากบริษัทและให้กรมธรรม์มีผลสิ้นสุดโดยไม่ได้แจ้งเหตุผล จึงทำให้ผู้ร้องไม่เข้าใจว่าตนเองผิดสัญญาข้อไหน และรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม แนวทางการแก้ไขปัญหาหลังจากผู้ร้องได้ทำหนังสือสอบถามสาเหตุการยกเลิกประกันภัย แต่ไม่ได้รับการติดต่อกลับ ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงนัดเจรจา โดยบริษัทประกันภัยนำเอกสารใบกรมธรรม์มาชี้แจงว่า สามารถบอกยกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยได้ตามสัญญาข้อ 12.1 ที่ระบุว่า “บริษัทจะบอกเลิกกรมธรรม์ฉบับนี้ได้ด้วยการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษรไม่น้อยกว่า 15 วัน โดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนถึงผู้เอาประกันภัย ตามที่อยู่ครั้งสุดท้ายที่แจ้งให้บริษัททราบ และกรมธรรม์ประกันภัยจะสิ้นสุดโดยอัตโนมัติในวันสุดท้ายที่เบี้ยประกันภัย ซึ่งได้รับชำระมาแล้วสามารถซื้อความคุ้มครองได้ โดยบริษัทไม่ต้องคืนเบี้ยประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัยแต่อย่างใด”อย่างไรก็ตามจากข้อความในสัญญากรมธรรม์ รวมทั้งตัวแทนของบริษัทดังกล่าวก็ยังไม่สามารถชี้แจงให้ผู้ร้องทราบถึงเหตุผลที่ชัดเจนว่า เพราะเหตุใดถึงต้องบอกยกเลิกการเอาประกันของภรรยาเขาได้ ทางศูนย์ฯ จึงต้องดำเนินการหาช่องทางกฎหมายเพื่อดำเนินคดีต่อไป เพราะการที่บริษัทฯ บอกยกเลิกสัญญาโดยไม่มีเหตุผลที่ชัดเจน ถือเป็นการกระทำที่สร้างความไม่เป็นธรรมกับผู้ร้อง และอาจเข้าข่ายเรื่องข้อสัญญาไม่เป็นธรรม ที่กำหนดว่าการบอกเลิกสัญญาต้องมีเหตุผลให้บอกเลิก รวมทั้งต้องไม่เป็นการบอกเลิกฝ่ายเดียวดังเช่นในกรณีนี้ด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 169 การใช้สิทธิตามมาตรา 41 ในกฎหมายหลักประกันสุขภาพ

คุณหนึ่ง(นามสมมติ) ได้เข้ามาร้องเรียนกับทางศูนย์พิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เนื่องจากกรณีการใช้สิทธิรักษาพยาบาล โดยเรื่องมีอยู่ว่า แม่ของคุณหนึ่ง เกิดอาการผิดปกติ โดยอาเจียนอย่างรุนแรงถึง  4 ครั้ง มีอาการอ่อนเพลีย อ่อนแรง พูดไม่ชัด ผู้ร้องจึงรีบนำส่งโรงพยาบาล แต่กว่าจะได้พบแพทย์ใช้เวลาร่วมชั่วโมง และเมื่อแพทย์ฟังอาการของคุณแม่ ที่คุณหนึ่งเล่า ก็สั่งจ่ายยาและให้กลับบ้านได้ โดยไม่ได้ตรวจร่างกายผู้ป่วยแต่อย่างใด แม้จะทักท้วงเพื่อขอให้ผู้ป่วยนอนโรงพยาบาลหรือให้น้ำเกลือ แต่ทางแพทย์ก็ปฏิเสธทั้งสองกรณีเมื่อกลับมาบ้านได้ประมาณ 2 ชั่วโมง ก็ต้องกลับไปที่โรงพยาบาลอีกครั้ง เพราะอาการอาเจียนยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง ต้องเข้าห้องฉุกเฉินและแพทย์ได้ตรวจเลือดพบว่า มีเม็ดเลือดขาวสูงกว่าปกติ แต่แพทย์ก็ไม่ได้ตรวจหาสาเหตุว่าอาเจียนเพราะเหตุใด ผู้ร้องปรึกษาว่าควรให้คนไข้นอนที่นี่ไหมเพื่อเฝ้าติดตามประเมินอาการคนไข้อย่างใกล้ชิดแต่แพทย์ปฏิเสธเป็นครั้งที่ 22 วัน ต่อมา คุณแม่อาการรุนแรงขึ้น จึงนำส่งโรงพยาบาลอีก แต่เช่นเดิม กว่าจะได้ตรวจเสียเวลามาก ผู้ป่วยเริ่มมีอาการแย่ลง มีไข้สูงแต่พยาบาลก็ไม่ทำอะไร แพทย์กลับมาดูอีกครั้งผู้ป่วยนอนหลับไม่รู้สึกตัวและไม่ตอบสนอง ในที่สุดต้องช่วยปั๊มหัวใจ แต่ไม่สำเร็จผู้ป่วยได้เสียชีวิต แนวทางแก้ไขปัญหา ในเบื้องต้นนั้น ได้แนะนำให้ทางผู้ร้องคือคุณหนึ่ง ร้องเรียนต่อสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตามมาตรา 41 ซึ่งว่าด้วยการเยียวยาความเสียหายเบื้องต้น ซึ่งผู้ร้องได้ทำการร้องเรียนและได้รับเงินชดเชยมาทั้งหมด 360,000 บาท แล้ว แต่ผู้ร้องเห็นว่า หากโรงพยาบาลมีการให้บริการที่ดีผู้ป่วยคงไม่เสียชีวิต จึงต้องการเรียกร้องค่าเสียหาย ซึ่งตอนนี้อยู่ในกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริง หลักเกณฑ์พิจารณาความช่วยเหลือตามมาตรา 41 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติกำหนดไว้ ดังนี้1. เสียชีวิต หรือทุพพลภาพอย่างถาวร หรือเจ็บป่วยเรื้อรังที่ต้องได้รับการรักษาตลอดชีวิตและมีผลกระทบรุนแรงต่อการดำรงชีพ จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นได้ ตั้งแต่ 240,000 บาท แต่ไม่เกิน 400,000 บาท2. สูญเสียอวัยวะหรือพิการ ที่มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต จ่ายเงินช่วยเหลือเบี้องต้นได้ ตั้งแต่ 100,000 บาท แต่ไม่เกิน 240,000 บาท3. บาดเจ็บหรือเจ็บป่วยต่อเนื่อง จ่ายเงินช่วยเหลือได้ไม่เกิน 100,000  บาทผู้รับบริการที่ได้รับความเสียหายที่เกิดจากการรักษาพยาบาลของหน่วยบริการทายาทหรือผู้อุปการะ หรือหน่วยบริการที่ให้บริการ มีสิทธิยื่นคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นได้ที่ สำนักงานสาขาของสำนักงานหลักประกันสุขภาพในจังหวัดนั้น หรือหน่วยรับเรื่องร้องเรียนตามมาตร 50 (5)การพิจารณาวินิจฉัยของคณะอนุกรรมการจะต้องทำให้เสร็จโดยเร็ว ไม่เกิน 30 วัน นับตั้งแต่ได้รับคำร้องขอในกรณีที่ผู้รับบริการหรือทายาทหรือผู้อุปการะของบุคคลดังกล่าว ไม่เห็นด้วยกับผลการวินิจฉัยของคณะอนุกรรมการที่สั่งจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นไม่เต็มตามอัตราที่กำหนดไว้ หรือ ไม่จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้ผู้นั้นมีสิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข ทั้งนี้ต้องยื่นอุทธรณ์ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่ได้รับทราบผลการวินิจฉัย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 150 ตรวจสุขภาพฝากครรภ์ ใครๆ ก็ใช้บัตรทองได้

เราอาจเคยได้ยินว่าสิทธิด้านสุขภาพต่างๆ ที่รัฐจัดให้ ทั้งสิทธิประกันสังคม สิทธิข้าราชการ หรือสิทธิตามหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า(บัตรทอง) หากใครมีสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว จะไปใช้สิทธิอีกอย่างหนึ่งไม่ได้ ด้วยความรู้แบบนี้และความอ่อนแอในการสื่อสารของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็ทำให้ประชาชนพลาดสิทธิที่มีอยู่ได้เช่นกันสุพัตรา เป็นพนักงานของบริษัทแห่งหนึ่งมีสิทธิประกันสังคม เธอตั้งครรภ์อยากจะฝากครรภ์พอเปิดไปดูรายละเอียดความคุ้มครองเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ในประกันสังคม ก็พบแต่เงินช่วยเหลือเหมาจ่าย 13,000 บาทให้ค่าคลอดบุตรเท่านั้น ซึ่งหมายความว่าต้องควักเงินสำรองจ่ายไปก่อนจนคลอดบุตรแล้วถึงจะไปขอเบิกคืนได้ ก็อยากจะประหยัดเงินมากที่สุดเท่าที่จะทำได้  เธอจึงขวนขวายหาความรู้เพิ่มเติมจนทราบว่า ในสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง ได้ให้สิทธิแก่ผู้ถือบัตรประกันสังคมและคนไทยทุกคนให้มาใช้สิทธิบัตรทองได้ในการรับบริการสาธารณสุขเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคได้ซึ่งรวมถึงการฝากครรภ์ด้วย โป๊ะเช่ะ...ไม่ต้องควักเงิน ลุย !สุพัตรา เดินเข้าไปที่โรงพยาบาลราชวิถีเพื่อขอฝากครรภ์และขอใช้สิทธิบัตรทอง เรื่องการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลเป็นงง  บอกใช้ไม่ได้มีสิทธิประกันสังคมอยู่แล้วก็ให้ไปเบิกเงินกับทางนั้นซะ คนถือบัตรประกันสังคมจะใช้สิทธิส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคได้เพียงเรื่องการคุมกำเนิดเท่านั้น รอคลอดก่อนแล้วค่อยใช้สิทธิทำตอนทำหมันนะจ๊ะซึมเล็กๆ เมื่อได้รับคำตอบแบบนั้น สุพัตราหยิบมือถือโทรไปที่ call center สปสช. 1330 ถามความชัดเจนว่ามันเป็นยังไงกันแน่ เห็นใบประชาสัมพันธ์บอกว่าใช้ได้ไง call center สปสช. ยืนยันว่า ผู้ถือบัตรประกันสังคมสามารถใช้สิทธิส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคเรื่องการฝากครรภ์ได้ และแนะนำให้สุพัตราไปคุยกับทางศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพของโรงพยาบาลราชวิถีอีกครั้ง สุพัตราอุ้มท้องอ่อนๆ แล้วค่อยๆ เดินไปที่ศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพของโรงพยาบาลราชวิถีเพื่อขอยืนยันการใช้สิทธิอีกคำรบ“ไม่ได้ค่ะ เราเคยมีผู้ถือบัตรประกันสังคมมาขอใช้สิทธิแบบน้องนี่แหละค่ะ ก็ต้องแจ้งว่าผู้ที่ใช้สิทธิได้จะเป็นผู้ที่ส่งประกันสังคมไม่ครบ 7 เดือนเท่านั้นค่ะ” เจ้าหน้าที่ศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพของโรงพยาบาลอธิบาย สุพัตราจึงกดโทรศัพท์และขอให้เจ้าหน้าที่ สปสช. ได้เจรจากับเจ้าหน้าที่ศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพ คุยกันอยู่พักใหญ่สุดท้ายศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพของโรงพยาบาลก็ยังยืนยันไม่ให้เธอใช้สิทธิ แถมยังบอกว่า ไม่มีนโยบาย หากต้องการใช้สิทธิส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคให้ไปขอใช้สิทธิที่สถานพยาบาลอื่นแทน  จะเรียกว่าเป็น “ไล่” อย่างสุภาพก็ว่าได้เมื่อการใช้สิทธิล้มเหลว สุพัตราจึงโทรคุยกับเจ้าหน้าที่ สปสช. อีกครั้ง เจ้าหน้าที่แจ้งว่าแม้ สปสช.จะมีนโยบายดังกล่าว แต่ สปสช. ไม่มีอำนาจบังคับให้โรงพยาบาลทำตามนโยบายดังกล่าวได้“เอ้า...แล้วมันจะเรียกว่านโยบายได้ไงน่ะ เที่ยงนี้ขนมจีนอย่ากินดีกว่า มันคงไม่มีน้ำยาเหมือนกัน” สุพัตราบ่นกับตัวเองพร้อมควักเงิน 760 บาทเป็นค่าดำเนินการฝากครรภ์ให้กับโรงพยาบาล ก่อนนำเรื่องมาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางแก้ไขปัญหาหลังรับเรื่องร้องเรียน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ตรวจสอบที่มาที่ไปในสิทธิการรับบริการสาธารณสุข การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ได้พบความเป็นมาว่าสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 13 กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ดำเนินงานภายใต้นโยบายสาธารณสุขที่ต้องการให้ประชาชนได้รับบริการทางสุขภาพทั้งด้านการรักษาพยาบาล การฟื้นฟูสภาพ การส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคอย่างมีมาตรฐาน เสมอภาค และเท่าเทียมกัน รวมถึงการพัฒนาสุขภาพโดยเฉพาะเรื่องการลดอัตราตายของเด็กและทารก อัตรามารดาตาย การป้องกันและควบคุมโรคติดต่อที่สำคัญ เป็นต้น จึงได้ดำเนินการแปลงนโยบายที่ว่าสู่การปฏิบัติเพื่อให้มีการดูแลประชาชนในพื้นที่อย่างทั่วถึง มีระบบบริการเน้นการดูแลในระดับ Primary care และในชุมชน โดยจัดให้มีบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคตั้งแต่ระยะตั้งครรภ์จนถึงวัยสูงอายุโดยการจัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัว/ตามกิจกรรมหรือตามผลงานบริการ ภายใต้ชุดสิทธิประโยชน์ที่กำหนด นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดการปรับปรุงสิทธิประโยชน์ด้านส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคแก่ผู้มีสิทธิอื่นๆ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณสุขมากขึ้น และช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขในอนาคต  โดยเปิดให้ผู้ที่ใช้สิทธิประกันสังคมและสิทธิราชการ สามารถใช้สิทธิประโยชน์ดังกล่าวได้จากเอกสารเผยแพร่ในสิทธิหลักประกันสุขภาพยังยืนยันว่า ผู้มีสิทธิประกันสังคมสามารถเข้าขอใช้สิทธิการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ ไม่ใช่แค่การฝากครรภ์ แต่ยังรวมไปถึงการวางแผนครอบครัวแบบชั่วคราว ทั้งการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด ยาฉีดคุมกำเนิด ยาฝังคุมกำเนิด ห่วงอนามัย แม้กระทั่งการจะขอรับการตรวจหามะเร็งปกมดลูก ผู้ใช้สิทธิประกันสังคมสามารถใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพได้เมื่อได้ทราบข้อเท็จจริงดังกล่าว มูลนิธิฯจึงได้ทำหนังสือเรียนถึง ประธานคณะกรรมการคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขเพื่อให้ตรวจสอบและแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทำให้ในเวลาต่อมาได้มีการประสานงานระหว่าง สปสช. กับโรงพยาบาลราชวิถีอีกครั้ง และมีการยินยอมให้สุพัตราสามารถใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพได้ เนื่องจากการฝากครรภ์อยู่ในบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่ให้ความคุ้มครองแก่คนไทยทุกคน โดยต้องเข้ารับบริการที่โรงพยาบาลรัฐและเอกชนที่เข้าร่วมโครงการหลักประกันสุขภาพประเด็นนี้ทำให้เห็นจุดอ่อนใหญ่ๆ 2 จุด คือ ความคุ้มครองด้านสุขภาพของประกันสังคมใครอยากใช้สิทธิต้องควักเงินก่อนและมีข้อจำกัดของวงเงินซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง และเน้นให้ความคุ้มครองด้านการรักษาแต่ไม่เน้นด้านการป้องกัน ขณะที่นโยบายในความคุ้มครองของหลักประกันสุขภาพแม้จะมีนโยบายที่ดีมุ่งหวังดูแลประชาชนถ้วนหน้าแต่ยังมีการปฏิบัติที่ไม่ถ้วนหน้าจากสถานพยาบาลบางแห่งหรือบางครั้งอยู่ จำเป็นที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะต้องวางกรอบระเบียบแนวทางการปฏิบัติเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิได้อย่างแท้จริงต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 148 ซื้อประกันสุขภาพ แค่ป่วยครั้งเดียว ถูกบอกเลิกสัญญาแล้ว

เป็นที่ยอมรับกันว่าประเทศไทยประสบผลสำเร็จในด้านทั้งการคุมกำเนิด  การสาธารณสุข  จนส่งผลให้อัตราการเกิดใหม่ลดลง   และผู้สูงอายุ   อายุยืนมากขึ้น  จนทำให้หลายฝ่ายออกมาแสดงความกังวลเรื่องที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเมื่อมีผู้สูงอายุมากขึ้น สิ่งที่ตามมาด้วยคือ ธุรกิจเกี่ยวกับผู้สูงอายุ เติบโตอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะธุรกิจด้านการประกันสุขภาพ  เราๆ ท่านๆ ก็คงเห็นเหมือนกันว่ามีการโฆษณาเกี่ยวกับธุรกิจประกันสุขภาพมากมาย  โดยแต่ละบริษัทออกแบบโฆษณาเพื่อเรียกลูกค้ากันแบบหมัดต่อหมัด เช่น ประกันสุขภาพไม่ต้องตรวจสุขภาพ  วงเงินที่จะได้รับสูงขึ้น  มีการกำหนดเวลา  หากไม่เป็นโรคคืนเงินปีสุดท้าย  เป็นต้นฟังแล้วก็ดีนะ! ประกันไว้เมื่อเจ็บป่วยจะได้ไม่เดือดร้อนลูกหลาน   แต่เรื่องจริงไม่เป็นเช่นนั้น   มีกรณีร้องเรียนการประกันสุขภาพเข้ามาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคในภาคตะวันตก หลายเรื่องและเรื่องร้องเรียนคล้ายๆ กันคือ   ตอนจะซื้อประกันสะดวกมาก สามารถซื้อติดต่อกันได้ในหลายปี(หากยังไม่ป่วย)เหตุจะเกิดต่อเมื่อผู้ซื้อประกันเจ็บป่วยต้องเข้ารับการรักษาตัว(ซึ่งผู้สูงอายุเมื่ออายุสูงขึ้นก็ต้องป่วยมากขึ้น)และเมื่อเจ็บป่วยบริษัทประกันก็บริการจ่ายสินไหมค่ารักษาดีตามที่สัญญากำหนด  แต่...เหตุเกิดหลังจากนั้นคือ  หลังจากบริษัทจ่ายเงินค่ารักษาแล้ว ก็ตามมาด้วยเอกสารขอเลิกสัญญาการเอาประกันของผู้ซื้อประกัน  พร้อมข้อเสนอขอคืนเงินต้นที่ซื้อประกันในปีนั้นให้ทั้งหมด  ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกัน   ทำให้ผู้ซื้อประกันมีความรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม  เพราะจ่ายเงินซื้อประกันไปฟรีๆหลายปีเพื่อต้องการการคุ้มครองยามเจ็บป่วย กลับถูกบอกเลิกสัญญาผู้เขียนได้มีโอกาสคุยกับ “ป้าประเทือง  พูลทั่วญาติ”  ก่อนจะคุยกันรู้เรื่องก็ได้เหนื่อย...กันเลยที่เดียว  คำพูดหนึ่งที่ป้าประเทืองพูดซ้ำหลายครั้งคือ  “ตอนนี้ใครมาชวนฉันซื้อประกัน ฉันจะด่ามันให้เจ๊ง..เลย.. ไม่เอาอีกแล้วประกันเนี่ย..มันเอาเปรียบ..ทีเงินเรามันจะเอา พอมันจะเสีย เสือก...บอกเลิกสัญญา” ดังนั้นเมื่อปัญหาคือบริษัทบอกเลิกสัญญา เมื่อผู้เอาประกันเริ่มเจ็บป่วย..    มันไม่น่าจะเป็นธรรม จึงลองหาข้อมูล  โดยโทรไปที่สายด่วน คปพ.(คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย) 1186   ก็ได้ข้อมูลมาว่า   การที่บริษัท บอกเลิกสัญญา กับผู้เอาประกันนั้น  ไม่ผิด บริษัทมีสิทธิบอกเลิกสัญญากับผู้ซื้อประกันได้ ทันทีที่บริษัทเห็นว่า “จะเกิดความเสี่ยงกับบริษัท”   โดยข้อกำหนดนี้เป็นไปตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ทั่วไปเขียนถึงตรงนี้ยิ่งรู้สึกรันทดใจ กับผู้ที่มาร้องเรียน   เพราะการโฆษณาไม่ได้บอกเหตุผลในการบอกเลิกสัญญา(มันผิด พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค  คือผู้บริโภคต้องได้รับข้อมูลที่ครบถ้วน) แต่ปัจจุบัน  มีแต่การโฆษณาชักจูง เพียงอย่างเดียว  เรื่องนี้ผู้เขียนได้หารือนอกรอบกับเลขา สคบ.คนปัจจุบัน  ถึงแนวทางการแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง      ว่าการทำสัญญาในลักษณะนี้   เข้าข่ายสัญญาเป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรม หรือไม่  ทำอย่างไรผู้บริโภคจะไม่ถูกหลอกลวงเช่นปัจจุบัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 58 ร้านยาไซเบอร์ มหันตภัยยุคออนไลน์

  ในขณะที่หลายคนยังงงสับสนอยู่ว่าทิศทางการขายยาตามรูปแบบกฎหมายยาฉบับใหม่จะไปทางไหน แพทย์จะขายยาได้อีกหรือเปล่า จะให้นั่งเขียนใบสั่งยาอย่างเดียวแล้วคลินิกที่เปิดจะอยู่ได้อย่างไร เภสัชกรจะวินิจฉัยโรคและสั่งยาได้เก่งกว่าแพทย์แค่ไหน ก็ปรากฏว่าโลกของการขายยาในยุคปัจจุบันไปไกลกว่าที่เราคาดถึงเสียแล้ว เมื่อร้านขายยาถูกยกระดับเป็นร้านขายยาไซเบอร์ขายกันทางออนไลน์ ซื้อขายกันได้ข้ามโลก คำถามคือว่ากฎหมายที่เรามีอยู่หรือแม้แต่กำลังจะออกมาใหม่จะคุ้มครองผู้บริโภคได้แค่ไหนกัน ...................................................ฉลาดซื้อฉบับนี้ได้ทำการรวบรวมข้อมูลของปัญหาที่เกิดขึ้นจากร้านขายยาทางอินเทอร์เน็ตที่เกิดขึ้นใน 2 ประเทศ หนึ่งคือสหรัฐอเมริกาเจ้าแห่งโลกออนไลน์และเจ้าแห่งบริโภคนิยม สองคือประเทศไทย ประเทศที่มีประชากรใช้ยาในปริมาณที่ประเทศใหญ่ ๆ อย่างสหรัฐอเมริกายังอายและกำลังเดินเข้าหาโลกออนไลน์อย่างไม่ครั่นคร้าม พฤติกรรมการซื้อการขายยาของทั้งสองประเทศอาจจะมีจุดแตกต่าง แต่เมื่อพิจารณาให้ดีก็จะเห็นแนวทางอันตรายที่มีแนวโน้มไปในทางเดียวกันมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งผู้มีหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องขบคิดว่าจะจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร ในขณะที่ผู้บริโภคเองก็ต้องตระหนักให้ทันว่าร้านยาไซเบอร์คือความก้าวหน้าหรือมหันตภัยของชีวิตและสุขภาพของตัวเองกันแน่   เหตุเกิดที่ประเทศไทย ในปัจจุบันคนไทยมีความเสี่ยงที่จะได้รับยาด้อยคุณภาพอยู่แล้วในหลายลักษณะ เช่น ยาผิดมาตรฐาน ยาปลอม หรือยาเสื่อมคุณภาพ ทั้งจากทางบุคลากรทางการแพทย์ จากร้านขายยา หรือร้านขายของชำต่าง ๆ และเมื่อโลกออนไลน์สำหรับคนไทยขยายตัวกว้างขึ้น ใหญ่ขึ้น สภาพปัญหาที่เกิดจากการซื้อยาผ่านทางร้านยาอินเทอร์เน็ตก็มีมากขึ้นตามลำดับปัญหาที่เกิดจากการขายยาผ่านทางอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย มีการขายยาแผนปัจจุบัน ระบุชื่อการค้า และสรรพคุณ บางเว็บไซต์มีการโฆษณารูปภาพแสดงความทุกข์ทรมานและมีการลด แถม ให้ของสัมมนาคุณ มีการขายยาที่อ้างว่าเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ โดยขึ้นทะเบียนเป็นยาแผนโบราณและมีสรรพคุณเป็นยาบำรุง มีการขายยาโดยอ้างว่าเป็นการขายแบบธุรกิจสู่ธุรกิจ แต่ผู้บริโภคทั่วไปก็สามารถเข้าถึงได้โดยมีการขายยาอันตราย ยาควบคุมพิเศษ มีการโฆษณายาโดยบุคลากรวิชาชีพ ผู้ประกอบวิชาชีพใช้ชื่อของตนและอธิบายคุณประโยชน์ของผลิตภัณฑ์ โดยระบุชื่อการค้า โดยเฉพาะการโฆษณายาเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ เหตุเกิดที่สหรัฐอเมริกา ในสหรัฐอเมริกาผู้บริโภคจำนวนหนึ่งได้เปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อยาจากร้านยามาเป็นซื้อยาผ่านทางอินเทอร์เน็ต เว็บไซต์จำนวนนับร้อยมีบริการจำหน่ายยาโดยไม่ต้องใช้ใบสั่งแพทย์ ทั้งที่โดยกฎหมายของสหรัฐอเมริกาแล้ว ยาเหล่านี้จะขายให้แก่ผู้ป่วยได้จะต้องมีการตรวจวินิจฉัยโรคก่อนโดยแพทย์และจะต้องมีใบสั่งยา ปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะ ผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยมองไม่เห็นข้อเสียของการซื้อยาผ่านทางอินเทอร์เน็ตเปรียบเทียบกับวิธีเดิมที่ต้องไปพบแพทย์และไปรับยากับเภสัชกรที่ร้านยา เหตุผลที่สำคัญไม่แพ้กันที่ทำให้ผู้บริโภคหันไปใช้บริการร้านยาทางอินเทอร์เน็ตคือรู้สึกว่าได้รับความสะดวก ไม่ต้องเสียเวลา และให้ความเป็นส่วนตัว ทั้งยังคิดว่าน่าจะเชื่อถือได้เนื่องจากเว็บไซต์หลายแห่งมีการระบุ สถานที่ และที่ติดต่อให้ไว้ อย่างไรก็ดีปัญหาจากการซื้อยาผ่านทางอินเทอร์เน็ตก็มีแนวโน้มสูงขึ้นจนนำไปสู่การเรียกร้องให้ฝ่ายบริหารของรัฐบาลกลางของสหรัฐอเมริกาดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ปัญหาที่เกิดจากการซื้อยาผ่านทางอินเทอร์เน็ต การขายยาให้ผู้ป่วยโดยไม่ผ่านการตรวจวินิจฉัยโดยแพทย์ หรือการให้ผู้ป่วยกรอกแบบสอบถามแล้วจ่ายยาให้ การขายยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ รวมทั้งเครื่องมือตรวจวินิจฉัย และให้การบำบัดรักษาทางการแพทย์ที่โอ้อวดเกินจริง มีการขายยาบางชนิดที่เข้าข่ายวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทหรือสารเสพติด ลักษณะของร้านขายยาไซเบอร์Cybermedicine หรือ Cyberpharmacy เป็นชื่อที่ถูกใช้เรียกเว็บไซต์ขายยาในสหรัฐอเมริกา ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม 1.    PHARMACY BASED SITES เว็บไซต์ขายยากลุ่มนี้มีแบบแผนเช่นเดียวกับร้านยาปกติโดยทั่วไปเพียงแต่ย้ายมาตั้งบนเว็บไซต์ เว็บไซต์เหล่านี้จะขายยาให้แก่ผู้ป่วยที่มีใบสั่งแพทย์เท่านั้น ร้านขายยากลุ่มนี้จึงไม่ได้สร้างปัญหาในเรื่องความพยายามที่จะขายยา ปัญหาที่พบในทางกฎหมายจะเป็นในลักษณะที่บางเว็บไซต์ไม่มีใบอนุญาตจำหน่ายยาจากรัฐที่เว็บไซต์ดำเนินธุรกิจขายยาอยู่2.    PRESCRIBING BASED SITES ในสหรัฐอเมริกามีเว็บไซต์จำนวนนับพันแห่งที่มีแพทย์และเภสัชกรบริการให้คำแนะนำทางการแพทย์หรือให้ข้อมูลทางสุขภาพโดยไม่ได้จ่ายยาให้กับผู้ป่วยซึ่งนับเป็นเรื่องดี แต่กับ PRESCRIBING BASED SITES เว็บไซต์กลุ่มนี้จะให้ผู้ป่วยปรึกษากับแพทย์ทางอินเทอร์เน็ต (online doctor visit) โดยผู้ป่วยอาจจะตอบแบบสอบถามที่จัดไว้ให้ในเว็บไซต์ หรืออาจใช้รูปแบบของ Video Conference ระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย คิดค่าบริการให้คำปรึกษาอยู่ระหว่าง 30 - 150 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 1,200 - 6,000 บาท) เมื่อให้คำปรึกษาแล้วแพทย์ก็จะสั่งจ่ายยาผ่านทางเว็บไซต์ขายยา หรือ online pharmacy ซึ่งอาจจะไม่เป็นที่เดียวกันกับที่ตั้งของแพทย์ผู้ให้คำปรึกษา แพทย์ ร้านยา และผู้ป่วยอาจจะอยู่กันคนละรัฐก็ได้ ข้อเสียสำคัญคือ เนื่องจากเว็บไซต์ขายยาระบบนี้จะให้ผู้ป่วยตอบแบบสอบถามผ่านเว็บไซต์เท่านั้น แพทย์จึงไม่ได้พบผู้ป่วยเพื่อตรวจร่างกาย และอาจจะไม่พบโรคของผู้ป่วยเพราะโรคบางโรคจะพบได้ก็จะต้องมีการตรวจร่างกาย การรับบริการผ่านทาง PRESCRIBING BASED SITES ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการที่แพทย์จะตรวจโรคได้ไม่ครอบคลุมทั่วถึง พฤติกรรมของเว็บไซต์ขายยากลุ่มนี้ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในสหรัฐอเมริกาว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมละเมิดจริยธรรมและวิธีปฏิบัติของการประกอบวิชาชีพของแพทย์3. Online drug shop  เป็นร้านขายยาบนอินเทอร์เน็ตที่ผิดกฎหมายอย่างชัดเจน กลุ่มร้านยาออนไลน์เหล่านี้เน้นการขายยาอย่างเดียวไม่มีการตรวจร่างกาย ไม่มีการให้คำปรึกษาหรือแม้แต่การกรอกแบบสอบถามผู้ป่วย ยาที่ขายมีทั้งยาควบคุมพิเศษ , ยาอันตรายที่ต้องการใบสั่งแพทย์ และขายยาที่ไม่ผ่านการอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา ผู้ซื้อสามารถเลือกยาอะไรก็ได้ที่ต้องการโดยจ่ายเงินผ่านทางเครดิตการ์ด เว็บไซต์เหล่านี้ส่วนใหญ่จะอยู่นอกประเทศสหรัฐอเมริกาและสร้างปัญหาอย่างมากในการควบคุมให้เป็นไปตามกฎหมาย ผู้บริโภคที่ซื้อยาจากร้านยาไซเบอร์กลุ่มนี้มักไม่รู้ว่าร้านยาเหล่านี้กระทำการละเมิดกฎหมายโดยตรง รัฐบาลสหรัฐฯถือว่าเว็บไซต์ในกลุ่มนี้คือกลุ่มที่มีปัญหามากที่สุด เนื่องจากเว็บไซต์เหล่านี้ไม่เปิดเผยที่อยู่และมักจะตั้งอยู่นอกประเทศ ดังนั้นการจัดการทางกฎหมายเพื่อให้เว็บไซต์เหล่านี้หยุดขายยานับเป็นเรื่องยากมาก แม้จะมีการปิดเว็บไซต์เหล่านี้ได้แต่เพียงไม่กี่วันก็จะเปิดขึ้นใหม่อีกโดยใช้ชื่อหรือที่อยู่ที่แตกต่างไปจากเดิม ผลเสียจากการขายยาผ่านทางอินเทอร์เน็ต เป็นการทำลายระบบคุ้มครองสุขภาพที่ผู้ป่วยควรจะได้รับจากการให้บริการของแพทย์หรือเภสัชกร ผู้ป่วยอาจได้รับอันตรายจากยาที่ได้รับ เนื่องจากไม่มีการตรวจสอบของเภสัชกรในระหว่างการจ่ายยา ยาจากเว็บไซต์ที่ไม่ระบุสถานที่แน่นอน อาจเป็นยาปลอม อาจมีสารปนเปื้อนที่เป็นอันตราย เป็นยาที่หมดอายุ หรือไม่ได้มาตรฐาน การซื้อยาผ่านทางอินเตอร์เน็ตทำให้ผู้ป่วยอาจไม่ได้รับการวินิจฉัยอย่างถูกต้อง และไม่น่าจะได้รับยาที่ถูกต้องตรงตามโรค   เว็บไซต์ขายผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ควรหลีกเลี่ยง โลกออนไลน์เป็นโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การหวังว่าจะได้รับการคุ้มครองเป็นอย่างดีจากมาตรการต่าง ๆ ของรัฐคงจะเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากและอาจจะช้าเกินการณ์ การหมั่นศึกษาหาความรู้อยู่ตลอดเวลาจึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับผู้บริโภคในยุคออนไลน์ ในที่นี้ฉลาดซื้อขออนุญาตแนะนำหลักในการพิจารณาเว็บไซต์ขายยารวมถึงผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่น ๆ ที่ควรหลีกเลี่ยงเพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของท่าน เว็บไซต์ที่ไม่ให้ความสำคัญกับการพบแพทย์เพื่อการตรวจวินิจฉัยโรค เว็บไซต์ขายยาที่ไม่ได้รับการอนุมัติจาก อย. หรือพยายามเชื่อมโยงให้ซื้อยาขากเว็บไซต์อื่น เว็บไซต์ที่มีแต่เพียงเบอร์โทรศัพท์ ชื่อบุคคลสมมติ ไม่มีที่อยู่ที่เป็นหลักแหล่งแสดงไว้อย่างชัดเจน เว็บไซต์ที่ขายผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ใช่ยา แต่อวดอ้างสรรพคุณรักษาโรคต่าง ๆ ได้มากมายข้อมูลจาก"สถานการณ์ แนวโน้ม และการแก้ไขปัญหาการขายยาผ่านทางอินเทอร์เน็ตในสหรัฐอเมริกา" โดย ภก.ดร.วิทยา  กุลสมบูรณ์ หน่วยปฏิบัติการวิจัยเภสัชศาสตร์สังคม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 185 น้ำตาลในน้ำผักผลไม้

เครื่องดื่มประเภทน้ำผักผลไม้ สามารถสร้างทัศนคติเชิงบวกให้กับผู้บริโภคได้เสมอ เพราะมักโฆษณาว่ามีประโยชน์ต่อสุขภาพ ซึ่งมันคงเป็นเช่นนั้นจริงๆ หากเครื่องดื่มเหล่านั้นไม่ผสมน้ำตาลในปริมาณที่มากเกินกว่าที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน หรือตามที่นักโภชนาการแนะนำคือ 24 กรัม/วัน หรือ 6 ช้อนชา/วัน เพราะน้ำตาลเป็นคาร์โบไฮเดรตประเภทหนึ่งที่ให้พลังงานแก่ร่างกาย ซึ่งหากเราบริโภคมากเกินไป สามารถเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ ได้ เช่น โรคอ้วนหรือฟันผุ ทั้งนี้ไม่ว่าน้ำตาลนั้นจะมาจากการสกัดหรือเป็นน้ำตาลฟรักโทสที่อยู่ในผลไม้ก็ตาม เพราะร่างกายของเราสามารถเปลี่ยนน้ำตาลฟรักโทสให้กลายเป็นกลูโคส เพื่อใช้เป็นพลังงานได้เช่นกันฉลาดซื้อฉบับนี้จึงขอเสนอผลทดสอบ ปริมาณน้ำตาลในน้ำผักผลไม้จำนวน 27 ตัวอย่างจาก 8 ยี่ห้อยอดนิยม เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ที่ต้องการรักษาสุขภาพ และป้องกันการบริโภคน้ำตาลมากเกินความต้องการโดยไม่รู้ตัว ซึ่งยี่ห้อไหนจะมีน้ำตาลมากหรือน้อยกว่ากัน ไปดูกันเลย    ตารางผลทดสอบ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 181 สารในโรลออนเสี่ยงมะเร็งเต้านมจริงหรือ?

เพราะเหงื่อมักออกมากในบริเวณใต้วงแขนหรือรักแร้ ซึ่งเอื้อต่อการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ ทำให้เราต้องเผชิญกับปัญหากลิ่นตัวที่ไม่พึงประสงค์ คนส่วนใหญ่จึงเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยระงับเหงื่อหรือกลิ่นกายอย่าง “โรลออน” เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว แต่ในทุกครั้งที่เราปาดหรือทาลงใต้วงแขน เรามั่นใจหรือเปล่าว่าจะไม่มีสารที่อาจก่อให้เกิดอันตรายอย่างมะเร็งเต้านมได้ แม้ว่าการถกเถียงหรือความสงสัยในประเด็นนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะที่ผ่านมาเคยมีข่าวว่าสารอลูมิเนียมคลอไฮเดรท (Aluminum chlorohydrate) ที่เป็นส่วนประกอบหลักในผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอาจจะทำให้เกิดมะเร็งเต้านม โดย รศ.ดร.ภญ.พิมลพรรณ พิทยานุกุล ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เคยระบุไว้ในคอลัมน์สวยอย่างฉลาด นิตยสารฉลาดซื้อว่า กลไกการระงับเหงื่อของสารดังกล่าวคือ ตัวสารจะเข้าไปอุดรูขุมขนเพื่อไม่ให้เหงื่อไหล ซึ่งหากมีการใช้ผลิตภัณฑ์เป็นประจำ จะมีผลทำให้เกิดการสะสมและตกค้างของสารในบริเวณใต้วงแขนเป็นจำนวนมาก ทำให้เห็นเป็นรอยด่างดำ และจากงานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ พบว่า สารตกค้างเหล่านี้อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับสาเหตุที่เกิดมะเร็งเต้านมในหญิงหรือชายบางรายได้ เนื่องจากท่อและต่อมต่างๆ ของบริเวณเต้านมมีส่วนเชื่อมต่อกับต่อมเหงื่อและรูขุมขนใต้วงแขน โดยเฉพาะเกลือโลหะหนักอลูมิเนียมจะไปจับกับดีเอ็นเอ (DNA) ของเซลล์ทำให้เกิดความผิดปกติ และมีการตรวจพบสารตกค้างของอลูมิเนียมในเนื้อเยื่อมะเร็งจากเต้านมของคนไข้ ซึ่งต่อมาภายหลังได้มีหลายสถาบันที่วิจัยเกี่ยวกับด้านมะเร็ง ออกโรงคัดค้านงานวิจัยนี้ โดยย้ำว่าการใช้เครื่องสำอางระงับกลิ่นกายไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านม อย่างไรก็ตามเมื่อไม่นานมานี้ได้มีกรณีที่น่าสนใจของสุภาพสตรี จากเมืองเซนต์หลุยส์ รัฐมิสซูรี สหรัฐอเมริกา ที่ใช้แป้งเด็กยี่ห้อจอห์นสันทาบริเวณจุดซ่อนเร้นมาตลอดกว่า 30 ปีแล้วตรวจพบภายหลังว่าเธอเป็นมะเร็งรังไข่ โดยแพทย์ระบุสาเหตุว่ามาจากแป้งดังกล่าวที่มีส่วนประกอบของแร่หินชนิดหนึ่งที่เรียกว่า ทัลค์ (Talc) หรือเรียกว่า "แป้งทัลคัม" (Talcum Powder) ซึ่งเป็นสารที่อาจก่อให้เกิดมะเร็งได้ ภายหลังการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย ทางบริษัทแป้งดังกล่าวก็ยินดีจ่ายเงินชดเชยให้ พร้อมยังคงโฆษณาขายผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของแร่ทัลก์ต่อไป และยืนยันว่าส่วนผสมที่ใช้มีความปลอดภัย ฉลาดซื้อฉบับนี้จึงขอพาผู้อ่านร่วมเฝ้าระวัง สารอลูมิเนียมคลอไฮเดรทในโรลออนกันอีกครั้ง ซึ่งถึงตรงนี้เราอาจยังมีข้อสงสัยในสารดังกล่าวว่า มีหรือไม่มีความเกี่ยวข้องกับภาวะมะเร็งเต้านม ฉลาดซื้อจึงขออาสาพาไปดูฉลาก “ผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นใต้วงแขน” ทั้งหมด 20 ยี่ห้อ ว่ายี่ห้อไหนมีส่วนประกอบของสารอลูมิเนียมคลอไฮเดรท บ้าง *หมายเหตุ ราคาอาจแตกต่างกันตามแหล่งซื้อต่างๆ**เก็บตัวอย่าง กุมภาพันธ์ - มีนาคม 2559   ผลทดสอบฉลาก   "ไม่มีบนฉลาก"  คือ ไม่แสดงว่ามีส่วนผสมหรือไม่"ไม่แจ้งส่วนประกอบ" คือ ไม่มีรายละเอียดบนขวดว่าผสมอะไร"มีแสดงบนฉลาก" คือ แสดงส่วนประกอบว่ามีสารดังกล่าว ทั้งนี้  "ไม่มีบนฉลาก" และ  "ไม่แจ้งส่วนประกอบ"  ทางเราไม่สามารถบอกได้ว่ามีหรือไม่มี เพราะการเสนอครั้งนี้เราสำรวจจากฉลาก ที่เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยผู้บริโภคตัดสินใจในซื้อมาใช้ และการมีฉลากที่แจ้งข้อมูลก็จะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค ผลจากการเปรียบเทียบฉลาก- โรลออนทุกยี่ห้อเกือบทุกยี่ห้อที่สำรวจมีสารอลูมิเนียมคลอไฮเดรทเป็นส่วนประกอบ แต่มี 3 ยี่ห้อ คือ Nivea Rexona และ Dove ที่ไม่ระบุส่วนประกอบบนฉลาก- สารส้มแบบแท่งและแบบโรลออน ไม่มีส่วนประกอบของสารดังกล่าว- ทุกยี่ห้อจะมีคำโฆษณาคล้ายกัน โดยเน้นเรื่องการระงับเหงื่อ ให้กลิ่นกายหอมสดชื่นยาวนาน และบางยี่ห้ออาจเพิ่มเติมว่าปราศจากแอลกอฮอล์ รู้จักสารอลูมิเนียมคลอไฮเดรทกันอีกสักหน่อยสารอลูมิเนียมคลอไฮเดรท มีชื่อพ้องหรือชื่อเรียกอื่นที่อาจพบได้อีกคือ Aluminum hydroxychloride, Aluminium chlorhydroxide, Aluminium chloride basic, Aluminium chlorohydrol, Polyaluminium chloride เมื่อนำมาใช้เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกายอย่างโรลออน จะสามารถช่วยลดเหงื่อหรือทำให้เหงื่อออกน้อยลงได้ เพราะทำให้ผิวหนังและรูขุมขนในบริเวณที่ทาหดตัว ผลิตภัณฑ์ระงับเหงื่อและกลิ่นกาย มักจะมีส่วนประกอบของสารอะลูมิเนียมคลอไฮเดรท ที่เข้มข้นสูงถึง 30-50% เมื่อใช้ไปเรื่อยๆ จึงเป็นผลให้เกิดเป็นรอยด่างดำที่ใต้วงแขนเนื่องมาจากการสะสมของสารชนิดนี้ แม้ในส่วนโรลออนที่เป็นแบบไวท์เทนนิ่ง (whitening) หรือช่วยให้ผิวใต้วงแขนดูกระจ่างใสขึ้น ก็พบว่ามีสารตัวนี้เป็นองค์ประกอบอยู่ด้วยเช่นกัน แต่จะมีสารตัวอื่นๆ ผสมเข้ามาเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดรอยด่างดำที่เป็นผลมาจากสารอะลูมิเนียมคลอไฮเดรท

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 181 ผลิตภัณฑ์เพื่อวงแขนที่แห้งสบายไร้กลิ่น

ฉลาดซื้อฉบับรับหน้าร้อนเล่มนี้ขอนำเสนอผลการทดสอบผลิตภัณฑ์สำหรับควบคุมเหงื่อและกลิ่นใต้วงแขน ที่องค์กรผู้บริโภคของประเทศฝรั่งเศสส่งเข้าทดสอบร่วมกับองค์การทดสอบระหว่างประเทศ ICRT ในปีที่ผ่านมา มีทั้งผลิตภัณฑ์สำหรับคุณผู้หญิงและคุณผู้ชายทั้งในรูปแบบของลูกกลิ้งและสเปรย์   การทดสอบครั้งนี้ใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่า 70,000 บาทต่อผลิตภัณฑ์ เขาเน้นการวัดประสิทธิภาพที่อวดอ้างในโฆษณา -- ความสามารถในการระงับกลิ่น ความสมารถในการระงับเหงื่อ และการไม่ทิ้งคราบขาวบนเสื้อ นอกจากนั้นก็ยังสำรวจความพึงพอใจของผู้ใช้ (เช่นกลิ่น ความรู้สึกแห้งสบาย) และให้คะแนนการติดฉลากแจ้งข้อมูลแก่ผู้บริโภคด้วย   คะแนนเต็มแต่ละด้านอยู่ที่ 100 และคะแนนด้านประสิทธิภาพสูงที่สุด 80 คะแนนเป็นของ REXONA MEN COBALT DRY MOTION SENSE SYSTEM ในขณะที่ VICHY DEODORANT ANTITRANSPIRANT 48H รั้งท้ายด้วยคะแนนประสิทธิภาพเพียง 49 คะแนนเท่านั้นติดตามรายละเอียดในหน้าถัดไปว่าผลิตภัณฑ์ไหนจะคู่ควรกับพื้นที่ใต้วงแขนของคุณมากที่สุด ...           ----------------------------------------------------------------------------------------------------------------- มนุษย์ทุกคนไม่ได้เกิดมาตัวเหม็น ...บางคนโชคร้าย ไม่สามารถผลิตสารเคมีที่เป็นอาหารอันโอชะของแบคทีเรีย เหงื่อของคนพวกนี้จึงไม่สามารถสร้างกลิ่นอันไม่พึงประสงค์ได้ และการสำรวจพบว่าคนจำนวนมากยังไม่ตระหนักเรื่องนี้ จากการสัมภาษณ์ผู้หญิงที่ “ไม่สามารถมีกลิ่นตัว” จำนวน 117 คน นักวิจัยของมหาวิทยาลัยบริสตอล ในอังกฤษพบว่า ร้อยละ 75 ของพวกเธอใช้ผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกายเป็นประจำ หัวหน้าคณะวิจัยให้ความเห็นว่า เหตุที่พวกเธอใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวทั้งๆ ที่ไม่จำเป็นนั้น คงเป็นเพราะความกดดันทางสังคม -----------------------------------------------------------------------------------------------------------------เหตุผลที่เราไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกายเป็นประจำอาจมีหลายเรื่องที่ยังพิสูจน์ไม่ได้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์พวกนี้ แต่ที่ยืนยันได้คือ การหยุดใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว หลังจากใช้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน จะทำให้แบคทีเรียตัวร้ายใต้วงแขนฟื้นคืนชีพและเติบโตได้เร็วกว่าเดิมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนอร์ทคาโรไลนาเซ็นทรัล พบว่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้ (ทั้งแบบระงับเหงื่อ และระงับกลิ่น) จะไปเปลี่ยนแปลงสภาพ “ชุมชน” ของจุลินทรีย์ต่างๆ ที่อาศัยอยู่ใต้วงแขนเรา ด้วยการกำจัดแบคทีเรียฝ่ายธรรมะออกไป เท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้แบคทีเรียฝ่ายอธรรมได้รุ่งเรืองเฟื่องฟู -----------------------------------------------------------------------------------------------------------------ตกงานแล้วไม่แคร์กลิ่นตัวการสำรวจโดย The Grocer วารสารวงการค้าปลีกของอังกฤษเมื่อ 3 ปีก่อนพบว่า ภาวะว่างงานมีผลต่อการใช้ผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกายของหนุ่มเมืองผู้ดี นักวิเคราะห์มองว่าการใช้ผลิตภัณฑ์นี้หมายถึงการ “เตรียมพร้อมสำหรับวันทำงาน” เมื่อไม่มีงาน ผลิตภัณฑ์นี้จึงไม่จำเป็นสำหรับพวกเขาย้อนไปในปี 2013 ปัญหาการว่างงานเป็นเรื่องใหญ่ของอังกฤษ ด้วยสถิติ 1 ใน 10 ของบัณฑิตหางานทำไม่ได้ในช่วง 6 เดือนหลังจบการศึกษา และผู้ชายมีความเสี่ยงที่จะว่างงานมากกว่าผู้หญิง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 179 เครื่องวัดความดันโลหิต

คาดว่าสมาชิกฉลาดซื้อหลายท่านกำลังคิดอยากจะเป็นเจ้าของเครื่องตรวจวัดความดันโลหิตชนิดที่ใช้ในบ้านเพื่อการดูแลสุขภาพตนเอง และสังเกตการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ... ถ้าออกกำลังกายแล้วความดันลด เราก็มีกำลังใจ อยากไปออกกำลังกายทุกวัน ... ปัจจุบันเราสามารถหาซื้อผลิตภัณฑ์นี้ได้ตามร้านค้าอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ทั่วไปและร้านค้าออนไลน์ มีหลากหลายรุ่นและยี่ห้อให้เลือก แต่จะรู้ได้อย่างไรว่ามันดีจริง อย่าเพิ่งวิตกจนความดันขึ้น ... ฉลาดซื้อฉบับนี้มีผลทดการสอบเครื่องวัดความดันโลหิตทั้งแบบที่ใช้กับข้อมือและต้นแขน ที่ CHOICE องค์กรผู้บริโภคของออสเตรเลียได้ทำไว้ทั้งหมด 24 รุ่น ขอบอกเลยว่างานนี้ของดีไม่จำเป็นต้องมีราคาสูง สนนราคาของรุ่นที่ได้คะแนนรวมมากกว่า 80 จากคะแนนเต็ม 100 มีตั้งแต่ 1,650 ถึง 5,300 บาท (คะแนนรวมคิดจาก คะแนนความเที่ยงตรงร้อยละ 80 และความสะดวกในการใช้งานร้อยละ 20) ถ้าอยากทราบว่ารุ่นไหนใช้ง่าย วัดได้เที่ยงตรง เชิญพลิกอ่านหน้าถัดไป ------------------------------------------------------------------------------------------------โดยเฉลี่ยทั่วโลก ประมาณร้อยละ 40 ของประชากรในวัย 25 ปีขึ้นไปเป็นโรคความดันโลหิตสูงแล้ว และในหลายๆประเทศ 1 ใน 5 ของประชากรกลุ่มนี้ก็เริ่มมีความเสี่ยงที่จะมีภาวะความดันโลหิตสูงเช่นกัน ปัจจุบันกลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดได้แก่ ประเทศที่มีรายได้ปานกลางและประเทศที่มีรายได้ต่ำ สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้คนเราเป็นโรคความดันโลหิตสูงนั้นมี 4 อย่าง   1.    น้ำหนักมากเกินไป (ร้อยละ 30) 2.    ได้รับโซเดียมมากเกินไปจากการทานอาหารรสเค็ม  (ร้อยละ 30)3.    ได้รับโปแตสเซียมจากผัก ผลไม้น้อยเกินไป (ร้อยละ 20)4.     เคลื่อนไหวร่างกายไม่มากพอ (ร้อยละ 20) สหประชาชาติตั้งเป้าที่จะลดภาวะความดันเลือดสูงของประชากรโลกลงให้ได้ ร้อยละ 25 และลดการบริโภคอาหารที่มีโซเดียวสูงเกินไปให้ได้ร้อยละ 30ข้อมูลจาก สมาพันธ์ความดันโลหิตสูงโลก World Hypertension League http://www.worldhypertensionleague.org ------------------------------------------------------------------------------------------------ *    ราคาที่นำเสนอนั้นแปลงจากหน่วยเงินดอลลาร์ออสเตรเลีย กรุณาตรวจสอบราคาอีกครั้งก่อนตัดสินใจ                                                    

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 176 ปลอกหมอนใบนี้ดีจริงหรือ

ได้ฤกษ์เปลี่ยนปลอกหมอนใหม่สักที เราจะเลือกซื้อจากอะไรดีนะในทุกๆ คืนจะต้องมีสักหนึ่งท่านอนที่ทำให้หน้าของเราแนบไปกับหมอน ซึ่งคงไม่มีใครอยากแนบหน้ากับเนื้อผ้าสากๆ หรือระบายความร้อนได้ไม่ดีไปตลอดทั้งคืนหรอกจริงไหม คนส่วนใหญ่จึงมักให้ความสำคัญในการเลือกชนิดเส้นใย หรือจำนวนของเส้นใยที่นำมาทอปลอกหมอนนั้น ซึ่งจำนวนเส้นใยเป็นตัวชี้วัดราคาเลยก็ว่าได้ เพราะหากมีเส้นใยต่อตารางนิ้วมาก ราคาก็สูงมากตามไปด้วย อย่างไรก็ตามหลังจากพิจารณาอย่างถี่ถ้วนและตกลงใจซื้อมาแล้ว เราจะรู้ได้อย่างไรว่าข้อมูลคุณสมบัติต่างๆ ที่ระบุไว้บนฉลากจะตรงกับความเป็นจริง ฉลาดซื้อฉบับนี้จึงขอพาผู้อ่านไปทดสอบ* ปลอกหมอนทั้งหมด 11 ยี่ห้อว่า มีคุณสมบัติตรงกับที่ระบุไว้บนฉลาก และมีประสิทธิภาพคุ้มค่ากับราคามากน้อยแค่ไหนกัน* หมายเหตุ ปลอกหมอนทั้งหมดถูกทดสอบโดย สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ และอ้างอิงคุณภาพตามมาตรฐาน มอก. 962 – 2552 (ไม่ใช่ภาคบังคับ) ที่กำหนดให้ฉลากแสดงจำนวนเส้นด้ายเป็นตารางนิ้ว และจำนวนรวมของเส้นด้ายมีความคลาดเคลื่อนจากที่ระบุไว้ในฉลากได้ ± ร้อยละ 5 แต่ผู้ผลิตส่วนใหญ่มักแสดงฉลากเป็นตารางเซนติเมตร เราจึงต้องทดสอบเป็นตารางเซนติเมตรด้วย เพื่อดูว่าฉลากกับความจริงตรงกันหรือไม่       สรุปผลทดสอบ - มีเพียง 2 ยี่ห้อที่ระบุ “จำนวนเส้นใย” ได้ตามมาตรฐาน มอก. คือ Ikea รุ่น Gaspa และ Exotica ลาย Outlook Blue- ทุกยี่ห้อระบุ “ชนิดเส้นใย” ตรงตามฉลาก มีเพียงยี่ห้อ Lotus รุ่น อิมเพรสชั่น STRIPIES ที่ไม่มีฉลากระบุชนิดเส้นใย ซึ่งทดสอบได้เป็นเส้นใย Polyester 100%- ความคงทนของสีต่อการซัก และความคงทนต่อเหงื่อทั้งสภาวะกรด/ด่าง ทุกยี่ห้อได้มาตรฐาน มอก.- การขึ้นขนและเม็ด ส่วนใหญ่เฉลี่ยที่ระดับปานกลาง (ระดับ 3) มีเพียงยี่ห้อ LUXURIOUS รุ่น AMBIA ที่ได้ระดับชัดเจน – ปานกลาง (ระดับ 2 - 3) - ปลอกหมอนที่ได้มาตรฐานมากที่สุดในการทดสอบครั้งนี้คือ ยี่ห้อ Ikea รุ่น Gaspa   ตารางที่ 1 แสดงผลทดสอบด้านคุณสมบัติทั่วไปของปลอกหมอน    สรุปผลทดสอบ- จากตัวอย่างที่นำมาทดสอบ ปลอกหมอนยี่ห้อ Lotus รุ่น อิมเพรสชั่น STRIPIES แสดงฉลากระบุจำนวนเส้นใยเกินจริงมากที่สุด   *หมายเหตุ- มาตรฐาน มอก. กำหนดให้ ความคงทนของสีต่อการซัก และ ความคงทนของสีต่อเหงื่อทั้งสภาพกรดและสภาพด่าง  สำหรับประเภทใช้งานทั่วไปตามบ้านเรือน ไม่น้อยกว่า การเปลี่ยนสีระดับ 4 , การเปื้อนสีระดับ 3- ความคงทนของสีต่อการซัก ใช้วิธีการทดสอบ: น้ำสบู่ที่ใช้ (150 มล.) 1993 AATCC STANDARD REFERENCE DETERGENT WOB ความเข้มข้น 4 กรัม / ลิตร - การขึ้นขนและเม็ด ใช้เครื่องทดสอบ: ICI PILLING & SNAGGING TESTER (SDL ATLAS MODEL M227) / เวลาในการทดสอบ: 10 ชั่วโมง / จำนวนรอบการหมุน: 60 ± 2 รอบต่อนาทีฉลาดซื้อแนะ การเลือกซื้อปลอกหมอน- ราคา ชุดเครื่องนอนส่วนใหญ่มักจัดโปรโมชั่นลดราคาบ่อยๆ ผู้บริโภคจึงควรเปรียบเทียบราคาจากหลายๆ แหล่งก่อนตัดสินใจซื้อ- เส้นใย ความแตกต่างระหว่างชนิดเส้นใยที่นำมาทอ 1. ผ้าฝ้าย (Cotton) เป็นเส้นใยที่ทำมาจากฝ้ายธรรมชาติ ผิวของผ้าจะเรียบเนียน ทนทาน ระบายอากาศได้ดี ราคาค่อนข้างสูง 2. ผ้าที่ได้จากเส้นใยสังเคราะห์โพลีเอสเตอร์ (Polyester)เนื้อผ้าจะไม่ค่อยยับ ราคาค่อนข้างถูก แต่การดูดซับน้ำและการระบายอากาศไม่ค่อยดีนัก นอกจากนี้เมื่อใช้ไปนานๆ มักมีปุ่มขนขึ้นมาบนเนื้อผ้า 3. ผ้าทอผสมระหว่าง Cotton และ Polyester (หรือผ้า TC)ส่วนใหญ่มักผสมกันในอัตราส่วน 65 : 35 ทำให้ได้ผ้าที่มีคุณสมบัติ ไม่ยืด ไม่ย้วยหรือมีความยืดหยุ่นปานกลาง ทนทานต่อการซักได้ดี และสามารถระบายอากาศได้ปานกลาง - จำนวนเส้นใย จากผลทดสอบพบว่าฉลากส่วนใหญ่ที่บอกจำนวนเส้นใยยังไม่มีความน่าเชื่อถือ- เมื่อเรานำปลอกหมอนมาใช้งานจริง ก็ไม่อาจหลีกเหลี่ยงคราบเหงื่อไคลทั้งในสภาวะกรดและด่าง ซึ่งส่งผลให้คุณภาพและสีของปลอกหมอนมีความเปลี่ยนแปลง การทดสอบประสิทธิภาพความคงทนต่อเหงื่อจึงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งก็เป็นเรื่องน่ายินดีที่ตัวอย่างทั้งหมดที่เรานำมาทดสอบ มีคุณภาพได้ตามมาตรฐาน แนะนำการดูแลรักษาชุดเครื่องนอน- ควรซักก่อนการใช้งานครั้งแรก โดยไม่ใช้สารฟอกขาว และควรผสมน้ำยาปรับผ้านุ่มกับน้ำก่อนเทลงไป นอกจากนี้ควรแยกผ้าสีเข้มและสีอ่อนก่อนซัก กรณีซักเครื่องควรปั่นแห้งในระดับต่ำ หรือใช้ถุงถนอมผ้า และไม่ควรแช่ผ้าทิ้งไว้ข้ามคืนเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับข้อมูลบนฉลากตามที่ มอก. กำหนดที่ภาชนะบรรจุผ้าปูที่นอน ปลอกหมอนทุกหน่วย อย่างน้อยต้องมีเลข อักษร หรือเครื่องหมายแจ้งรายละเอียดต่อไปนี้ และต้องให้เห็นได้ง่าย ชัดเจน1.    ชื่อผลิตภัณฑ์ตามมาตรฐานนี้2.    ประเภท และ / หรือแบบ3.    ชนิดเส้นใยและส่วนผสมของเส้นใยเป็นร้อยละ4.    จำนวนเส้นด้ายต่อ 546 ตารางมิลลิเมตร (1 ตารางนิ้ว)5.    ด้านกว้าง x ด้านยาวเป็นหน่วยเมตริก สำหรับผ้าปูที่นอนแบบไม่รัดมุม6.    ด้านกว้าง x ด้านยาว x ความยาว ของส่วนรัดมุม เป็นหน่วยเมตริก สำหรับผ้าปูที่นอนแบบรัดมุม7.    คุณลักษณะพิเศษ (ถ้ามี)8.    คำแนะนำหรือคำเตือนในการดูแลรักษาที่เหมาะสม อาจใช้สัญลักษณ์ตาม มอก.7669.    เดือนและปีที่ทำ10.    ชื่อผู้ทำหรือโรงงงานที่ทำ หรือเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียน11.    ประเทศที่ทำ ที่ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอนทุกหน่วย อย่างน้อยต้องมีเลข อักษรหรือเครื่องหมาย แจ้งรายละเอียดต่อไปนี้ ให้เห็นได้ง่าย ชัดเจน1.    ชนิดเส้นใยและส่วนผสมของเส้นใยเป็นร้อยละ2.    คำแนะนำหรือคำเตือนในการดูแลรักษาที่เหมาะสม อาจใช้สัญลักษณ์ตาม มอก.766* ในกรณีที่ใช้ภาษาต่างประเทศด้วย หรือใช้ภาษาต่างประเทศเพื่อการส่งออก ต้องมีความหมายตรงกับภาษาไทยที่กำหนดไว้ข้างต้น    

อ่านเพิ่มเติม >