ฉบับที่ 108 หัวล้านได้หวี

เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาผู้เขียนได้มีโอกาสเดินทางไปเยี่ยมศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดเพชรบูรณ์  เพื่อให้กำลังใจคนทำงาน และดูความก้าวหน้างานด้านการคุ้มครองผู้บริโภค    รวมถึงได้มีโอกาสตั้งวงคุยกับคณะทำงานของเพชรบูรณ์  เรื่องหนึ่งที่คุยแล้วรู้สึกตกใจ เฮ้ย..มีเรื่องยังงี้ด้วยหรือ   แถมเป็นเรื่องที่ใครได้ฟังก็ขำไม่ออกก็เรื่องมันมีอยู่ว่า ศูนย์ฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนจากกลุ่มผู้พิการในจังหวัดเพชรบูรณ์   กรณีเขาได้รับแจกบัตรโทรศัพท์  ที่มีมูลค่าในบัตร 100  บาท  โดยสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นผู้แจกให้ เราก็ว่าก็ดีแล้วเขาแจกให้ทำไมเขายังมาร้องเรียนอีก ศูนย์บอกว่า บัตรที่แจกไม่ใช่บัตรเติมเงินโทรศัพท์มือถืออย่างที่เราๆ คุ้นเคย  แต่มันเป็นบัตรที่ต้องใช้กับตู้โทรศัพท์สาธารณะของTOT  เท่านั้น   และที่ขำไม่ออกสุดๆ คือ  มันมีแต่บัตร แต่ตู้โทรศัพท์ของ TOT ยังไม่มีในพื้นที่เลยสักตู้เดียว (ขำไหมล่ะทีนี้)ผู้พิการเขามาบอกว่าแจกมาทำไมบัตรเนี่ย…ยังไงเขาก็ไม่ได้ใช้ ถึงแม้จะมีตู้ก็ตามเพราะถึงมีตู้มันก็เป็นตู้ที่คนพิการใช้ไม่ได้อยู่ดี  เขามีเหตุผลฟังแล้วน่าสนใจคือ ถ้าเป็นผู้พิการที่ต้องนั่งรถเข็น ตู้มันชอบอยู่บนฟุตบาท ทั้งแคบและสูงกว่ารถเข็นคนพิการจะเข้าถึง  เขาก็ใช้ไม่ได้อยู่ดี   ส่วนผู้พิการทางสายตาตู้โทรศัพท์ก็เป็นตู้แบบไม่มีเสียงนำคนตาบอดก็ใช้ไม่ได้    สำหรับผู้พิการทางหู เขาพูดไม่ได้ต้องสื่อสารเป็นข้อความหรือภาพ  แต่ตู้สาธารณะมันก็ไม่มีภาพก็ใช้ไม่ได้อยู่ดี  สรุปบัตรที่แจกผู้พิการใช้ไม่ได้เลยซักกลุ่ม    เขาทำนองหัวล้านได้หวี เออ....นั่นสิ  แล้วเขาแจกมาทำไมมันไม่มีประโยชน์เลย ผู้เขียนก็เลยสอบถามข้อมูลกับผู้ที่เกี่ยวข้องก็ได้รู้ว่า  ไอ้ที่เราๆ เสียค่าโทรศัพท์ทั้งพื้นฐานและเคลื่อนที่นั้น มีอยู่ส่วนหนึ่งที่บริษัทต้องส่งเงินเข้ากองทุน UFO (กองทุนพัฒนากิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ)ให้กับสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.)  ซึ่งมีวงเงินนับหมื่นล้านบาทกันเลยทีเดียวเชียว โดยมีสำนักงานการบริการอย่างทั่วถึง ซึ่งเป็นสำนักงานหนึ่งในกทช.เป็นผู้รับผิดชอบ สำนักนี้ก็มอบให้ TOT เป็นเจ้าภาพในการจัดการบริการตามวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ  แทนที่ TOT จะคิดวิธีจัดให้มีบริการอย่างทั่วถึงแต่กลับแปลงกายเป็นช่างตัดรองเท้า และก็ตัดเบอร์เดียวทั้งประเทศ แล้วมาบังคับให้ทุกตีนใส่รองเท้าที่เขาตัดให้   โดยใช้วิธีสะดวกคือแจกบัตรโทรศัพท์ให้ผู้พิการทั่วประเทศผ่าน พมจ.จังหวัด  เรื่องมันก็กลายเป็นว่า TOT ให้บัตรแล้วจบ พมจ.มีหน้าที่แจกแล้วจบ   คนที่เจ็บแล้วเจ็บอีกก็เลยกลายเป็นผู้พิการ   เฮ้อ....ประเทศไทยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเขาคิดกันได้แค่นี้  แต่ใช้เงินเป็นหมื่นล้าน เราเจ้าของเงินจะนั่งกันตาปริบๆ ทำอะไรไม่ได้อย่างนี้ แล้วปล่อยให้พวกเขาผลาญเงินให้หมดไปวันๆ โดยใช้กลุ่มผู้พิการเป็นเหยื่อกระนั้นหรือ  กทช.ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องนี้แบบเต็มๆ ทราบบ้างไหม ว่ามีเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นถ้ายังไม่ทราบก็ควรทราบเสียที  ผู้บริโภคอย่างเราๆ ก็ไม่ควรอยู่เฉย ต้องลุกขึ้นมาร่วมกันตรวจสอบและกระตุ้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง(ที่บ้า บอด ใบ้ ทางปัญญา)  เพื่อช่วยทำให้เงินของเราเกิดประโยชน์กับผู้ด้อยโอกาสจริงๆ  ไม่ใช่ปล่อยไว้อย่างนี้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 99 ทีโอที ยังเรียกเก็บค่าต่อคู่สายโทรศัพท์

เป็นเรื่องที่มีการร้องเรียนมานานแล้วว่าผู้ให้บริการโทรศัพท์ค่ายต่างๆ จะสามารถเรียกเก็บค่าต่อคู่สายโทรศัพท์ใหม่ได้หรือไม่หลังจากที่ผู้ใช้บริการค้างชำระค่าบริการตั้งแต่ 2 งวดขึ้นไป ทั้งๆ ที่เวลาเปิดบริการใช้ครั้งแรกไม่ยักมีการเรียกเก็บค่าต่อคู่สายแต่อย่างใด คุณจิรอร พนักงานขายประกันจากจังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นเหยื่ออีกรายหนึ่งของผู้ให้บริการโทรศัพท์ที่มีการเรียกเก็บค่าต่อคู่สายใหม่หลังผิดนัดชำระค่าบริการเกิน 2 งวด คุณจิรอรขอเปิดใช้บริการโทรศัพท์บ้านมาตั้งแต่เป็นองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยจนปัจจุบันกลายเป็นกับบริษัท ทีโอที จำกัด(มหาชน) แต่ด้วยความที่มีภารกิจการงานมากมายในแต่ละวันทำให้เกิดอาการผัดวันประกันพรุ่งไม่มีโอกาสไปจ่ายค่าโทรศัพท์เสียที จนล่าช้าไปถึง 2 เดือน พอไม่จ่ายค่าโทรศัพท์เป็นเดือนที่สองก็เป็นเรื่องล่ะทีนี้ เพราะถูกทีโอทีตัดสัญญาณให้บริการโทรศัพท์ทันทีโดยไม่ต้องมีการบอกกล่าวล่วงหน้า คนขายประกันอย่างคุณจิรอรเลยต้องเดือดร้อนเป็นธรรมดาเพราะไม่มีโทรศัพท์ไว้ใช้งานติดต่อกับลูกค้า“ตายแล้วนี่ฉันลืมจ่ายค่าโทรศัพท์หรือเนี่ย” คุณจิรอรอุทานออกมาหลังจากใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่โทรไปสอบถามถึงสาเหตุสัญญาณโทรศัพท์บ้านขาดหายไปหลายวัน“ก็ไม่ได้ตั้งใจจะไม่จ่ายเขาหรอกค่ะ แต่มันลืมจริง ๆ ก็ขอโทษขอโพยเขาไปและคิดว่าแค่จ่ายเงินค่าโทรศัพท์ที่ค้างอยู่เรื่องน่าจะจบและได้กลับมาใช้โทรศัพท์ใหม่ แต่ทางพนักงานเขาบอกว่าเราต้องจ่ายค่าต่อคู่สายโทรศัพท์ใหม่ด้วยอีก 107 บาทรวมแวต เราก็เลยถามไปว่าการต่อสัญญาณโทรศัพท์ใหม่สมัยนี้เนี่ยมันยุ่งยากอะไรแค่ไหนถึงต้องเรียกค่าใช้จ่ายกันเป็นร้อย ตามจริงแล้วเงินค่ารักษาเลขหมายที่จ่ายให้ทุกๆ เดือนก็เกินพอแล้วมั้ง ก็ถามเขาไปอย่างนี้” “เขาบอกไงรู้ไหมคะ ยังไงก็ต้องจ่ายถ้าไม่จ่ายก็ไม่ต่อโทรศัพท์ให้ เจอมุขนี้เข้าเราก็เลยต้องจ่ายให้เขาไปด้วยความจำยอม แต่พอกลับมาถึงบ้านเปิดดูหนังสือพิมพ์เจอข่าวว่า กทช. ว่าเขาห้ามเรียกเก็บค่าต่อคู่สายโทรศัพท์แบบนี้ไปแล้ว เราก็เลยเป็นงงค่ะ อ้าว...แล้วทำไมทีโอทียังมาเรียกเก็บเงินกับเราอยู่ มันยังไงกัน” คุณจิรอรจึงร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอความช่วยเหลือเรียกเงิน 107 บาทคืนจากทีโอทีแนวทางแก้ไขปัญหาข่าวที่คุณจิรอรได้อ่านคงเป็นข่าวนี้ครับ ...เมื่อวันที่ 12 มีนาคมทีผ่านมา (12 มี.ค. 2552) คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.) ได้มีมติชี้ชัดในเรื่องการเรียกเก็บค่าต่อคู่สายโทรศัพท์ หลังจากที่เรื่องนี้ยืดเยื้อมาระยะหนึ่ง โดย กทช. มีมติให้ทุกบริษัทงดเว้นการเรียกเก็บค่าต่อคู่สายโทรศัพท์ในกรณีที่ผู้ใช้บริการผิดนัดหรือค้างชำระค่าบริการเป็นเวลา 2 เดือนมตินี้จะมีผลให้ผู้ใช้บริการหรือผู้บริโภคซึ่งถูกตัดบริการโทรออกเพราะชำระค่าบริการล่าช้า และเมื่อนำเงินไปชำระต้องถูกเรียกเก็บค่าต่อคู่สายโทรศัพท์ใหม่เป็นจำนวน 107 บาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือในบางรายเรียกเก็บ 214 บาท ต่อไปนี้ผู้ให้บริการโทรศัพท์จะไม่สามารถทำเช่นนั้นได้อีก ไม่ว่าจะเป็นกรณีของโทรศัพท์บ้านหรือโทรศัพท์เคลื่อนที่ก็ตาม มตินี้จะใช้บังคับทั้งกับ บมจ.ทีโอที บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส บจก.ฮัทชิสัน ซีเอที ไวร์เลส มัลติมิเดีย บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซส คอมมูนิเคชั่น บมจ.ทีทีแอนด์ที บจก.เอเซีย ไวร์เลส คอมมิวนิเคชั่นอย่างไรก็ดี แม้จะมีมติ กทช. ชี้ชัดออกมาอย่างนี้ ทางมูลนิธิฯ ก็ยังคงได้รับเรื่องร้องเรียนอยู่เป็นระยะๆ จากผู้บริโภคว่ายังคงถูกเรียกเก็บค่าต่อคู่สายโทรศัพท์ใหม่ แม้ผู้บริโภคบางรายได้พยายามทักท้วงด้วยการอ้างถึงมตินี้แต่ก็ไม่เป็นผล พนักงานของผู้ให้บริการโทรศัพท์ตามสาขาต่าง ๆ ได้อ้างว่ายังไม่มีคำสั่งโดยตรงมาจากสำนักงานใหญ่ จึงต้องมีการเรียกเก็บไปก่อนข้อแนะนำสำหรับผู้บริโภคที่ประสบปัญหาแบบนี้ คือให้จ่ายเงินค่าโทรศัพท์ที่ค้างชำระให้เรียบร้อย หากยังไม่มีการต่อสัญญาณโทรศัพท์ให้และมีการเรียกเก็บค่าต่อคู่สายโทรศัพท์ใหม่ ผู้ใช้บริการควรเขียนเป็นหนังสือแจ้งถึงกรรมการผู้จัดการใหญ่ของผู้ให้บริการโทรศัพท์นั้นๆ ว่า ขอทักท้วงและปฏิเสธการเรียกเก็บค่าต่อคู่สายโทรศัพท์ดังกล่าวเพราะเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนในมติของ กทช. และขอให้ผู้ให้บริการดำเนินการต่อสัญญาณโทรศัพท์โดยทันที ไม่เช่นนั้นจะถือว่าผู้ให้บริการผิดสัญญาการให้บริการ เราในฐานะผู้ใช้บริการมีสิทธิเรียกค่าเสียหายที่เกิดขึ้นได้เป็นรายวันเลยล่ะครับ จะเรียกร้องค่าเสียหายผ่านทางสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม(สบท.) ซึ่งเป็นหน่วยงานรับเรื่องร้องเรียนของ กทช. ก็ได้ หรือจะเล่นลูกหนักฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคต่อศาลก็ได้ทั้งนั้นครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 97 ประกันภัยสินค้าใหม่ผ่านสายโทรศัพท์

เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ผู้เขียนกำลังจะตักข้าวใส่ปาก(มื้อเช้า) เสียงโทรศัพท์ก็ดังขึ้น(เล่นเอาสะดุ้ง) จึงวางช้อนลงหยิบโทรศัพท์ขึ้นมารับสายเพราะคิดว่าอาจมีเรื่องสำคัญ เมื่อรับสายจึงรู้ว่าเป็นการโทรมาเพื่อขายประกัน (โอ้ย..รำคาญจริงๆ) แต่ก็ทนฟังเพราะอยากรู้ว่าเขาจะให้ข้อมูลอะไรบ้าง โอ้ย..จะบอกให้นะ หากใครตัดสินใจฟังคำบรรยายสรรพคุณความดีงามของการประกันภัย ถ้าจิตไม่แข็งพอ ต้องตกหลุมทำประกันกับเขาแน่ๆ เสียงก็เพราะแล้วยังพูดหวานหว่านล้อมสารพัด แต่ผู้เขียนฟังแล้วรู้สึกว่ามันเป็นการให้ข้อมูลฝ่ายเดียวแล้วยังเป็นการละเมิดสิทธิ สิทธิส่วนบุคคลของเราชัดๆ เพราะเราไม่เคยแสดงความจำนงว่าต้องการซื้อประกัน แล้วมาเสนอขายเราทำไม นอกจากนั้นระหว่างสนทนายังบันทึกเสียงเราอีก นึกๆ แล้วก็ควันออกหู คนจะกินข้าว ดันดั้นๆๆๆๆ โทรมาขายของน่าเกลียดจริงไอ้ธุรกิจพรรค์นี้ ก็เลยตอบกลับไปว่า “ไม่สนใจแล้วอย่าโทรมาอีกเป็นอันขาดเดี๋ยวจะหาว่าไม่เตือน” (โทรมาจะด่าให้) หันกลับมาที่จานข้าวใหม่เสียงโทรศัพท์ก็ดังขึ้นอีก (ไงเนี่ย..ตกลงจะได้กินข้าวไหม) แต่เห็นเบอร์โทรแล้วแสนจะดีใจ เพราะเป็นเบอร์ของเพื่อน และเพื่อนคนนี้เราไม่ค่อยมีเวลาเจอกันซักเท่าไร เพราะต่างคนต่างมีงาน เมื่อเพื่อนโทรหาเราก็พร้อมจะคุย เพื่อนบอกว่าพอดีได้อ่านหนังสือฉลาดซื้อเมื่อเดือนที่แล้ว ในกรณีเสาไฟฟ้าบ้านลุงชุบ พอดีมีเรื่องจะขอปรึกษาเรื่อง การขายประกันทางโทรศัพท์หน่อยได้ไหม(ทำไมจะไม่ได้ช่วยเหลือผู้อื่นร้อยพันยังช่วยได้นี่เพื่อนเรานะทำไมจะช่วยไม่ได้) จากการพูดคุยก็ได้รายละเอียดว่า เมื่อต้นเดือนมกราคม ตัวเพื่อนและภรรยา(โทรคนละครั้งเพราะใช้โทรศัพท์คนละเบอร์) ได้รับโทรศัพท์จากเจ้าหน้าที่บริษัทประกันกรุงเทพประกันภัย จำกัด มาชักชวนให้ลงประกัน เพื่อนและภรรยาปฏิเสธไป แล้วก็คิดว่าคงไม่มีอะไรอีกแล้ว แต่เรื่องไม่เป็นเช่นนั้น ปรากฏว่าไปรษณีย์ได้นำจดหมายมาส่งวันที่ 26 มาราคม 2552 หัวจดหมายเป็นชื่อของบริษัทที่เคยโทรมาชวนให้เขาและภรรยาลงประกัน จึงรีบเปิดซองออกดูปรากฎว่า เป็นกรมธรรม์ประกันภัยระบุชื่อผู้เอาประกัน คือลูกสาวของเขาเอง และระบุวันคุ้มครอง วันที่ 23 มกราคม 2552 ด้วยความตกใจ จึงเรียกลูกสาวมาสอบถาม จึงได้ทราบว่าบริษัทประกันนอกจากจะโทรหาเขาและภรรยาแล้ว ยังโทรหาลูกสาวเขาอีก (อุแม่เจ้า นี่มันอะไรกันนี่มันเล่นโทรขายทั้งบ้านเลยหรือเนี่ย....) จึงถามลูกสาวว่าทำอย่างไรเขาถึงส่งกรมธรรม์มาให้ถึงบ้านได้ ลูกสาวก็บอกว่าก็ “เขาบอกว่าทำแล้วดีตั้งหลายอย่างก็เลยตอบตกลงเขาไป ก็ไม่รู้ว่าตกลงปากเปล่าทางโทรศัพท์นี่ จะเป็นจริงเป็นจังขนาดนี้” เพื่อนยังบอกต่ออีกว่าเมื่อเห็นว่าลูกสาวไม่ได้ลงนามในสัญญา สัญญากรมธรรม์ก็ไม่น่าจะมีผลอะไร เพราะการทำสัญญาต้องมีการลงนามทั้งสองฝ่ายหากขาดฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดสัญญานั้นก็ไม่น่าจะสมบูรณ์ เมื่อคิดอย่างนั้นก็เลยปล่อยเรื่องไว้เฉยๆโดยไม่คิดว่าจะมีปัญหาอะไรตามมา แต่หลังจากนั้นเพียงไม่กี่วันเจ้าหน้าที่บริษัทประกันได้โทรติดต่อกลับมาหาลูกสาวเขาอีกพร้อมบอกให้ลูกสาวโอนเงินงวดแรกจำนวน 1,000 บาท (3 งวด)ไปยังบริษัท ลูกสาวได้ตอบไปว่า พ่อไม่ยอมให้ทำจึงขอยกเลิกการทำประกัน บริษัทตอบกลับมาว่ายกเลิกไม่ได้เพราะบริษัทได้ส่งกรมธรรม์มาให้แล้ว ตามคำยืนยันของลูกค้าที่ทางบริษัทได้บันทึกเสียงไว้ที่ตกลงไว้แล้วทางโทรศัพท์ และจากนั้นก็ได้รับโทรศัพท์ข่มขู่ว่าหากไม่จ่ายเงินบริษัทจะฟ้องเพราะถือว่าลูกค้าทำผิดสัญญา จึงได้โทรมาเพื่อขอคำปรึกษาว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ ต้องทำอย่างไรจึงจะสามารถยกเลิกการทำประกันได้ เมื่อได้รับรู้เรื่องราวทั้งหมดแล้ว จึงได้ส่งเรื่องไปยังศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคจังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อให้ค้นหาข้อมูลเพื่อช่วยเหลือและตอบข้อหารือ ในเบื้องต้นศูนย์ฯ ได้แนะนำผู้ร้องไปว่า ถ้าผู้ซื้อไม่พอใจ ผู้บริโภคมีสิทธิปฏิเสธได้หรือบอกเลิกสัญญาได้ ภายใน 15 วัน นับตั้งแต่ได้รับแจ้ง ดังนั้นเรามีสิทธิยกเลิกการเอาประกันได้ และไม่ต้องกลัวคำขู่ของบริษัทที่ขู่จะฟ้องร้อง แน่จริงก็ให้เขาฟ้องมาเลยศูนย์ฯ จะดำเนินการให้ไม่ต้องกลัวจากนั้นศูนย์ฯได้ดำเนินการสืบค้น พบว่าการที่บริษัทประกันโทรมาขายประกันผ่านโทรศัพท์ได้ เป็นเพราะคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ) กรมการประกันภัยเดิม ได้ออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยผ่านทางโทรศัพท์ พ.ศ. 2551 จึงได้ข้อสรุปว่า คปภ. คือต้นเหตุของความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น เรื่องนี้ คปภ ต้องรับผิดชอบ เพราะเป็นผู้ออกประกาศมาสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน ซึ่งประชาชนสามารถใช้สิทธิตาม พรบ.วิธีพิจารณาความผู้บริโภคฟ้องบริษัทและ คปภ. ต่อศาลประจำจังหวัด ฐานที่ส่งเสริมให้บริษัทสร้างความเสียหายต่อจิตใจ และสร้างความเดือดร้อนรำคาญใจ รบกวนสิทธิส่วนบุคคล

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 96 สิทธิของคนใช้โทรศัพท์

เคยเขียนแต่เรื่องที่มีคนมาร้องทุกข์ วันนี้เลยจะคุยเรื่องวีรกรรมของคนเขียนเองบ้าง ในฐานะคนทำงานด้านการคุ้มครองสิทธิ และก็เป็นคนหนึ่งที่ตกเป็นทาสของเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่ นั่นคือโทรศัพท์เคลื่อนที่(มือถือ) ซึ่งเป็นธุรกิจที่กำลังเบ่งบานสุดๆ ในประเทศไทย และทั่วโลก ที่น่าตกใจ(หลังจากอ่านบทความการวิจัย) ว่าวัยรุ่นไทยใช้โทรศัพท์มากที่สุดติดอันดับต้นๆของโลกและค่าใช้โทรศัพท์ มากกว่ากินข้าวปลาอาหารบวกเสื้อผ้าเสียอีก อุแม่เจ้า..อะไรจะขนาดน้านนน... ไม่เชื่อก็ไม่ได้ในเมื่อมีข้อมูลว่าประชากรในประไทยมีประมาณ 73 ล้านคน แต่พี่ท่าน..(ผู้ให้บริการ) ขายเบอร์โทรเคลื่อนที่ไปแล้วกว่า 75 ล้านเลขหมาย นั่นหมายความว่าต้องมีคนใช้โทรมากกว่า 1 เลขหมายอยู่หลายคนอย่างแน่นอน (อู้ฮู.....เงินมหาศาลเลย...) แต่ปัญหาของผู้บริโภคคือเรามีหน้าที่ แค่ซื้อ แค่ใช้และจ่ายเงินเท่านั้น โดยไม่ได้คิดถึงสิทธิหน้าที่ ที่พึงมีพึงได้ของผู้บริโภคเอง ผู้บริโภคเรามีหน้าที่เป็นผู้ยอมสยบแต่โดยดี ทั้งๆ ที่เราเป็นผู้จ่ายเงินเข้าระบบธุรกิจการสื่อสาร (ถ้าไม่มีเราเขาก็ไม่รวย) โดยไร้ซึ่งปากเสียง เช่น เขาบอกให้เราเสียเงินค่าต่อสัญญาณกรณีที่ผิดนัดชำระค่าโทรศัพท์ 107 บาท เราก็จ่าย เขากำหนดว่าเติมเงิน 200 บาท ใช้งานได้แค่ 30 วัน เติม 50 บาทใช้แค่ 3 วัน เราก็ยอม ช่างเป็นผู้จ่ายที่ว่าง่ายอย่างเหลือเชื่อ ใช้ๆ ไปก็มีบริการอื่นๆ ที่เราไม่ต้องการเข้ามาในเครื่องโทรศัพท์เรา แถมบอกอีกว่า ถ้าไม่เอาให้โทรกลับ (โทรกลับใครเสียเงิน)ไม่โทร ครบ 15 วันเขาก็คิดสตางค์เรา เราก็ยอม เคยถามตัวเองว่าทำไมเราต้องยอม หลายคนบอกว่าเราอยากใช้บริการเขาเราก็ต้องยอมซิ.. เมื่อผู้บริโภคว่าง่ายขนาดนั้น การโฆษณา โปรโมชั่นหลากหลาย สารพัดรูปแบบอกมาเป็นชุดๆ เลย เราก็ซื้อ เอาเปรียบหรือเปล่าเราไม่เคยรู้ รู้แต่เขาว่าดีเราก็ซื้อแล้วโดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของผู้ให้บริการ แต่ในฐานะคนจ่ายสตางค์ อย่างผู้เขียน ที่คิดเสมอว่าผู้จ่ายสตางค์(คือพระเจ้า คือผู้มีพระคุณของผู้ให้บริการ) มันต้องมีสิทธิบ้างซิ! เพราะจริงๆ มันก็เป็นสิทธิ และเมื่อเป็นสิทธิเราก็ต้องใช้ ดังนั้นกระบวนการร้องเรียนจึงเกิดขึ้น เริ่มที่ ร้องเรียนเรื่องการยกเลิกการใช้บริการยาก เหตุผลคือเวลาเราซื้อโทรศัพท์ ซื้อเลขหมาย(ซิม)จ่ายสตางค์ค่าใช้บริการ จ่ายที่ไหนก็ได้ จ่ายที่ศูนย์/ร้านสะดวกซื้อ/ไปรษณีย์ และอื่นๆอีกมากมาย เรียกว่าเรื่องจ่ายสตางค์ให้เขามันง่ายจริงๆ แต่เวลาเราจะเลิกใช้บริการมันก็ยากจริงๆ เหมือนไอ้ร้านต่างๆ ที่เราจ่ายสตางค์สะดวกน่ะ ยกเลิกการใช้บริการไม่ได้ เพราะเขาจะสร้างข้อแม้ไว้ให้เรายกเลิกได้ยากมาก คือหากอยู่สมุทรสงครามก็ต้องมายกเลิกที่ เซ็นทรัลพระราม 2 อยู่ลำปางต้องไปยกเลิกเชียงใหม่ เป็นต้น สรุปคือการยกเลิกการใช้บริการมีแต่ในหัวเมืองใหญ่ๆ เห็นไหม ช่องจ่ายสตางค์ ง่ายแสนง่าย ยกเลิกการจ่ายสตางค์ ยากแสนยากแค่ไหน ผู้เขียนร้องเรียนบริษัท ดีแทกซ์ ปรากฏว่าปัจจุบันผู้ใช้บริการของบริษัทนี้สามารถยกเลิกบริการได้แค่เพียงโทรศัพท์บอกก็สามารถยกเลิกได้เลย หรือการยัดเยียดบริการ(โฆษณาผ่านมือถือ) ทั้งๆ ที่เราไม่ต้องการ เช่น ส่งข่าวดูดวง ทายผลฟุตบอล คลิปท์ดารา ฯลฯ ที่สำคัญคือการที่ ส่งข่าวมาให้อ่าน แล้วบอกว่า ให้อ่านฟรี 15 วัน หากไม่ต้องการให้โทรกลับ ทำไมไม่เขียนว่าเอาให้โทรกลับ เพราะโทรกลับเราก็เสียสตางค์ พอไม่โทรกลับก็ถือโอกาสเก็บเงินรายเดือนเราเลย ผู้เขียนก็ร้องเรียนว่าไม่ต้องการรับการยัดเยียดบริการ ปรากฏว่า ปัจจุบันไม่มีข้อความยัดเยียดบริการส่งมาให้อีกเลย (3 เดือนแล้ว) หรือแม้แต่กรณีเราชำระค่าบริการไม่ตรงเวลา แล้วถูกเรียกเก็บค่าต่อสัญญาณ 107 บาท (ไม่รวมค่ารักษาเลขหมาย) ผู้เขียนได้อ่านประกาศของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ( กทช.) เขียนไว้ในมาตรฐานสัญญา สรุปว่าไม่น่าจะเรียกเก็บกรณีนี้ได้ เมื่อรู้ก็เลยลองร้องทุกข์ไปที่สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม(สบท.สายด่วน 1200) ผลสรุปมติ กทช.ตัดสินมาว่าให้คืนเงิน 107 บาท ให้ผู้เขียน และห้ามเก็บเงินค่าต่อสัญญาณ 107 บาท กับผู้อื่นอีกต่อไป (บริษัทกำลังดำเนินการอุทธรณ์คำตัดสินอยู่) และมีอีกหลายเรื่องที่ผู้บริโภคถูกละเมิดสิทธิและถูกเอาเปรียบอยู่จริงๆ เห็นไหมว่าเรามีสิทธิแต่ยังใช้มันไม่เป็น จึงเขียนมาเล่าสู่กันฟัง และเชิญชวนให้ผู้บริโภคลุกขึ้นมาช่วยกันปกป้องคุ้มครองสิทธิของตนเอง อย่าสยบยอมให้ใครมาละเมิดสิทธิและเอาเปรียบเราลุกขึ้นมาเถอะเพื่อร่วมสร้างความเป็นธรรมให้กับสังคมเพื่ออนาคตของลูกหลานเรา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 183 ผลทดสอบการป้องกัน “แสงยูวี” แผ่นกันรอยติดหน้าจอโทรศัพท์มือถือ

เดี๋ยวนี้ “แผ่นกันรอยหน้าจอโทรศัพท์มือถือ” ที่จำหน่ายอยู่ทั่วไปไม่ได้มีคุณสมบัติแค่การป้องกันรอยขีดข่วนที่จะเกิดกับหน้าจอมือถือของเราเท่านั้น แต่ยังมีคุณสมบัติอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์กับคนใช้งานโทรศัพท์มือถือ 1 ในนั้นก็คือ คุณสมบัติในการป้องกัน “แสงยูวี” และ “แสงสีฟ้า” ซึ่งเป็นแสงที่ถูกส่งผ่านมาจากหน้าจอมือถือ เป็นแสงที่อาจเป็นอันตรายต่อดวงตา ยิ่งทุกวันนี้หลายคนใช้ชีวิตแบบติดหน้าจอ ใช้เวลาอยู่กับการจิ้มและสไลด์ไปบนหน้าจอมือถือสมาร์ทโฟนเกือบตลอดทั้งวัน นั้นเท่ากับว่าดวงตาของเรากำลังถูกแสงจากหน้าจอมือถือทำร้ายไปเรื่อยๆแต่อย่างที่บอกว่าปัจจุบันเรามีแผ่นกันรอยหน้าจอมือถือที่มีคุณสมบัติในการช่วยป้องกันอันตรายจากแสงยูวีวางจำหน่ายให้คนใช้สมาร์ทโฟนได้เลือกซื้อหามาใช้งาน หลายคนอาจจะสงสัยว่าแล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าแผ่นกันรอยหน้าจอมือถือที่เราซื่อมาป้องกันแสงยูวีได้จริง ฉลาดซื้อจึงขอรับอาสานำตัวอย่างแผ่นกันรอยหน้าจอมือถือไปทดสอบดูสิว่า มีคุณสมบัติป้องกันแสงยูวีและแสงสีฟ้าได้จริงตามที่โฆษณาหรือไม่ และแต่ละยี่ห้อมีประสิทธิภาพในการป้องกันแตกต่างกันมากน้อยแค่ไหนการทดสอบเราได้เลือกตัวอย่าง แผ่นกันรอยหน้าจอโทรศัพท์มือถือจำนวน 5 ตัวอย่าง โดยทั้ง 5 ตัวอย่างเป็นแผ่นกันรอยชนิดที่เป็นกระจกนิรภัย รุ่นที่ใช้สำหรับโทรศัพท์สมาร์ทโฟน iPhone6 ประกอบด้วย1.    Hishield รุ่น Blue Light Cut Tempered Glass2.    CESSORY รุ่น Glass Protector 9H3.    Focus BC รุ่น Premium Tempered Glass 9H Hardness4.    Dapad รุ่น Glass screen protector Blue light cut5.    Dr. eyes Film by VOX. รุ่น Tempered Glassใช้วิธีการทดสอบโดยนำแสงจากแหล่งกำเนิดที่ทราบค่า (ความยาวคลื่น 380-780 นาโนเมตร) ส่องผ่านฟิล์มตัวอย่างเพื่อวิเคราะห์ผลของสเปคตรัมของแสงที่ผ่านออกมาว่ามีองค์ประกอบของแสงอย่างไร เครื่องมือที่ใช้ในการทดสอบ1.Spectrometer2.Integrating Sphere3.Light sourceวิธีการทดสอบ1.เตรียมกระจกเพื่อใช้ติดฟิล์มกันรอยใช้กระจกใสขนาด 2 มิลลิเมตร ตัดให้ได้ขนาดเท่ากับฟิล์มกันรอย โดยเตรียมกระจกเปล่าที่ไม่ได้ติดฟิล์มเป็นตัวควบคุมด้วย2.วัดสเปคตรัมของแสงของแผ่นกระจกเปล่าที่ไม่ได้ติดฟิล์มกันรอย เปรียบเทียบกับกระจกที่ติดฟิล์มกันรอยทั้ง 5 ตัวอย่าง แล้วนำผลที่ได้มาวิเคราะห์สเปคตรัมของแสงที่ผ่านกระจกที่ติดฟิล์มกันรอยออกมาหา ค่าเฉลี่ยของ % การส่องผ่านของแสงยูวีในช่วง 380 – 400 นาโนเมตร ผลการทดสอบ   เส้นกราฟแสดงผลการทดสอบการกรองแสงยูวีช่วงความยาวคลื่น 380-400 นาโนเมตร           ตัวอย่างแผ่นกันรอยหน้าจอมือถือที่นำมาทดสอบมีความสามารถในการกรองแสงยูวี A, B, C (ความยาวคลื่นของแสง UV-C  100-280 nm, UV-B 280-315 nm และ UV-A 315-400 nm)ได้สูงสุดเกือบ 90 % คือ  CESSORY รุ่น Glass Protector 9H เพียงตัวเดียวที่กรองได้เพียง ประมาณ 85 %   ส่วนแสงที่อยู่ในช่วงมากกว่า 400 nm ขึ้นไป ซึ่งแสงสีฟ้าก็อยู่ในช่วงคลื่นนี้ ตัวอย่างที่นำมาทดสอบยังป้องกันการผ่านของแสงได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้นอย่างไรก็ตามการติดแผ่นกันรอยป้องการแสงยูวี ก็ยังเป็นสิ่งที่ช่วยลดอันตรายจากการใช้งานสมาร์ทโฟนที่อาจส่งผลกับสายตาของเราได้ หากจำเป็นต้องใช้งานสมาร์ทโฟนเป็นประจำและต่อเนื่องครั้งละนานๆ ก็ควรหาซื้อแผ่นกันรอยที่ช่วยป้องกันแสงยูวีมาติดไว้เพื่อช่วยถนอมดวงตาของเรา กลุ่มคลื่นแสงที่สายตามองเห็นได้กลุ่มคลื่นแสงที่ตามองเห็น (Visible light) ซึ่งมีความยาวคลื่น 400 – 800 นาโนเมตร เป็นกลุ่มคลื่นแสงสีต่างๆ จำนวน 7 สีตั้งแต่คลื่นแสง สีม่วง สีคราม สีน้ำเงิน สีเขียว สีเหลือง สีแสด และสีแดง เรียงตามความยาวของคลื่นจากน้อยไปหามาก คลื่นแสงกลุ่มนี้เป็นคลื่นแสงที่ประสาทตาของมนุษย์สามารถรับรู้ได้ทำให้เราสามารถมองเห็นสิ่งต่างๆ ได้  กลุ่มแสงที่สายมองเห็นไม่ว่าจะอยู่ที่คลื่นใด ก็มีผลกระทบต่อดวงตาของเราทั้งสิ้น หากดวงตาเขาเราสัมผัสกับแสงเหล่านั้นนานเกินไปส่วนแสงยูวี A B C เป็นกลุ่มแสงที่อยู่ในช่วงคลื่นที่ต่ำกว่า 400 – 280 nm เป็นกลุ่มแสงที่เรามองไม่เห็น แต่ก็มีอันตรายต่อดวงตาเช่นกัน เพราะดวงตาของเราจะดูดซับเอารังสียูวีเอาไว้แบบเดียวกับผิวหนังของเรา ส่งผลทำให้จ่อประสาทตาเสื่อมอันตรายของแสงจากหน้าจอสมาร์ทโฟนแสงจากหน้าจอโทรศัพท์มือถือ เป็นแสงที่มีผลต่อดวงตาของเรา เมื่อดวงตาของเราต้องจ้องอยู่กับหน้าจอมือถือ แท็บเล็ต หรือหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ อาการที่เกิดขึ้นทันทีก็คือ ดวงตามีอาการล้า ตาแห้ง อาจมองเห็นไม่ชัดชั่วคราว นอกจากนี้ในระยะยาวอาจส่งผลทำให้จอประสาทตาเสื่อมวิธีดูแลดวงตาของเราให้อยู่กับเราไปนานๆการติดแผ่นกันรอยป้องกันแสงยูวีจากหน้าจอโทรศัพท์มือถือเป็นเพียงแค่วิธีหนึ่ง ในการลดอันตรายของแสงต่อดวงตาของเรา แต่วิธีการดูแลรักษาดวงตาของเราที่ดีที่สุดต้องเริ่มจากพฤติกรรมการใช้งาน1.ใช้แต่พอดี ไม่ว่าจะเป็นมือถือ แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์ ไม่ใช้งานต่อเนื่องกันเกิน 2 ชั่วโมง ควรให้สายตาของเราได้พักบ้าง อย่าจ้องอยู่แต่ถ้าจอ ควรพักสายตาด้วยมองไปยังออกไปไกลๆ ที่จุดอื่น กะพริบตาบ่อย อย่าจ้องหน้าจอจนตาแห้ง2.ใช้งานในที่ที่มีแสงสว่างเพียงพอ แสงสว่างที่เพียงพอ ไม่มากและน้อยเกินไป มองแล้วสบายตา และควรอยู่ในระยะห่างที่พอดี ประมาณ 30 ซม.จะช่วยให้สายตาของเราไม่ต้องทำงานหนักจนเกินไป2.ให้ดวงตาได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ การพักผ่อนที่ดีที่สุดก็คือการนอนหลับ ให้ดวงตาที่เมื่อยล้าของเราได้พักอย่างเต็มที่3.ดื่มน้ำเยอะๆ การดื่มน้ำช่วยให้ดวงตาของเราชุ่มชื้นขึ้น เพราะการที่ต้องจ้องอยู่กับหน้าจอนานๆ จะทำให้ตาแห้ง4.กินอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะผัก-ผลไม้ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ และวิตามินเอสูง เช่น ฟักทอง แครอท มะเขือเทศ มะละกอสุก กล้วย ฯลฯ รวมทั้งอาหารในกลุ่มโปรตีนที่ช่วยซ่อมแซมและบำรุงสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็น ไข่ นม ปลา เป็นต้นขอขอบคุณ ห้องปฏิบัติการแสงและอุณหภูมิ ศูนย์ทดสอบและมาตรวิทยา                 สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 145 โทรโปรฯไหน? ไม่เกิน 99 สต.

  ข่าวเรื่องการประมูล 3G อาจจะเป็นข่าวใหญ่ในแวดวงการสื่อสารในรอบปี 2555 ที่ผ่านมา แต่ก็ยังมีอีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญที่ผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือทุกคนต้องให้ความสนใจ เพราะเกี่ยวข้องกับสิทธิประโยชน์ของคนใช้โทรศัพท์มือถือโดยตรง นั่นก็คือการประกาศของคณะกรรมการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เรื่อง “อัตราขั้นสูงของค่าบริการโทรคมนาคมสำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทเสียงภายในประเทศ พ.ศ. 2555” ที่มีเนื้อหาว่าด้วยการกำหนดค่าโทรสูงสุด โดยตามประกาศฉบับนี้ได้บังคับไว้ว่า ห้ามบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือกำหนดค่าโทรเกินนาทีละ 99 สตางค์ ประกาศฉบับนี้เริ่มมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2555 แต่ว่าทาง กสทช. ก็ผ่อนผันให้กับบรรดาค่ายโทรศัพท์มือถือจนถึงสิ้นปี 2555 ซึ่งเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2556 ที่ผ่าน ถือเป็นวันดีเดย์ที่ทาง กสทช.จะเริ่มบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้อย่างจริงจังและจะมีบทลงโทษกับค่ายมือถือที่ไม่ปฏิบัติตามกฎ   แม้ค่ายโทรศัพท์มือถือดูเหมือนจะตื่นตัวรับประกาศฉบับนี้ ด้วยการออกโปรโมชั่นใหม่ๆ รับค่าโทรนาทีละไม่เกิน 99 สตางค์ แต่ว่าก็ยังมีโปรโมชั่นค่าบริการทั้งแบบเติมเงินและแบบรายเดือนอีกเป็นจำนวนมากที่ยังคิดค่าโทรเกินนาทีละ 99 สตางค์   ฉลาดซื้อจึงขออาสาสำรวจโปรโมชั่นโทรศัพท์มือถือว่าตอนนี้มีโปรโมชั่นไหนที่ทำตามประกาศและยังมีโปรโมชั่นไหนยังคิดค่าโทรเกินนาทีละ 99 สตางค์ เพื่อเป็นข้อมูลให้สำหรับคนที่กำลังมองหาโปรโมชั่นค่าโทรมือถือที่น่าจะคุ้มค่าและเหมาะสมกับการใช้งานของแต่ละคนมากที่สุด   โปรโมชั่นค่าโทรแบบเติมเงินที่คิดค่าโทรไม่เกินนาทีละ 99 สตางค์ เครือข่าย  ชื่อโปรโมชั่น ค่าโทรหาเบอร์เครือข่ายเดียวกัน ค่าโทรหาเบอร์ต่างเครือข่าย โปรโมชั่นพิเศษที่เกี่ยวข้องกับค่าโทร         ดีแทค ซิมปาท่องโก๋ นาทีละ 66 สต. นาทีละ 99 สต. โทรหาอีก 1 เบอร์พิเศษ นาทีละ 2 สตางค์ ซิม 2499 แฮปปี้ทั่วเมือง นาทีแรก 99 สต. นาทีต่อไป 24 สต. นาทีละ 99 สต. - ซิม 15 หยกๆ 16 หย่อนๆ นาทีละ 15 สต. ช่วง 4 ทุ่ม - 10 โมงเช้า นอกช่วงเวลา นาทีละ 99 สต. นาทีละ 99 สต. - ซิมสามก๊ก นาทีละ 49 สตางค์ ช่วงตี 5 – 5 โมงเย็น นอกช่วงเวลา นาทีละ 99 สตางค์ - ซิมคงกระพัน นาทีละ 99 สต. - เอไอเอส โปร 30 กำลังดี นาทีละ 99 สต. -         ทรูมูฟ ซิมฮักกัน นาทีละ 75 สต. เพิ่มค่าโทรให้ตามจำนวนเงินที่เติม ซิมถูกใจ นาทีละ 99 สต. เพิ่มค่าโทรให้ตามจำนวนเงินที่เติม ซิมอะเมซิ่ง นาทีละ 24 สต. นาทีละ 99 สต. - โปรเบิ้ลเบิ้ล นาทีละ 99 สต. เพิ่มค่าโทรให้ตามจำนวนเงินที่เติม     โปรโมชั่นค่าโทรแบบเติมเงินที่คิดค่าโทรเกินนาทีละ 99 สตางค์ เครือข่าย   ชื่อโปรโมชั่น ค่าโทรหาเบอร์เครือข่ายเดียวกัน ค่าโทรหาเบอร์ต่างเครือข่าย โปรโมชั่นพิเศษที่เกี่ยวข้องกับค่าโทร           ดีแทค ซิมม่วนซื่นทั้งปี ตี 5 – 5 โมงเย็น นาทีละ 50 สต. เมื่อโทรเบอร์ในเครือข่ายที่เปิดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นาทีแรก 2 บ. นาทีต่อไป 1 บ. โทรฟรีช่วงเทศกาล 500 นาที ซิมแฮปปี้นาทีละ 40 สต. นาทีแรก 1.80 บ. นาทีต่อ 40 สต. - ซิมเปิ้ล นาทีละ 2 บ. โทร 1 เบอร์พิเศษในเครือข่าย นาทีละ 50 สตางค์                 เอไอเอส   โปร รักทุกค่าย อัตรานาทีแรก 2 บ.ต่อไปนาทีละ 50 สต. - โปร One-2-Call! Grammy Music SIM ชั่วโมงละ 1 บ. ในเครือข่าย AIS ช่วงเวลา 23.00 น.-17.00 น. (นอกเวลานาทีละ 1 บ.) นาทีละ 1 บ. มีค่าบริการสัปดาห์ละ 29 บ. โปร หวานเย็น ตั้งแต่ 22.00-18.00 น. นาทีแรก 2 บ. นาทีต่อไป 25 สต. นอกช่วงเวลา นาทีแรก 2 บ. นาทีต่อไป 1 บ. - โปร โทรยกแก๊งค์ โทรระหว่างหมายเลขในโปรโมชั่น นาทีแรก 1 บ. นาทีต่อไป 25 สต. โทรหมายเลขอื่น ทุกเครือข่าย นาทีแรก 2 บ. นาทีต่อไป 1 บ. มีค่าบริการเดือนละ 19 บ. โปร รักทุกค่าย นาทีแรก 2 บ. นาทีต่อไป 50 สต. -             ทรูมูฟ ซิมสุดคุ้ม นาทีละ 1 บ. นาทีแรก 3 บ. นาทีต่อไป  1 บ. เพิ่มค่าโทรให้ตามจำนวนการใช้ ซิมว้าวว์ นาทีแรก 1.80 บ. นาทีต่อไป 39 สต.   - โปรโทรฟรียกก๊วน 24 ชั่วโมง นาทีแรก 1 บ. นาทีต่อไป 50 สต. นาทีละ 1.25 สต. โทร 3 เบอร์คนสนิท นาทีแรก 1 บ. นาทีต่อไป 25 สต. ได้สิทธิ์โทรฟรีเมื่อใช้ตามจำนวนที่กำหนด โปรห่วงใย 39 สต. นาทีแรก 1.80 บ. นาทีต่อไป 39 สต.   - โปรเบิ้ลเบิ้ล นาทีละ 99 สตางค์ เพิ่มค่าโทรให้ตามจำนวนเงินที่เติม   -โปรโมชั่นค่าโทรที่นำมาเปรียบเทียบเป็นรูปแบบเติมเงินและเป็นโปรโมชั่นที่เน้นการโทรเป็นหลัก   -สำรวจล่าสุดเดือนมีนาคม 2556   การห้ามกำหนดค่าบริการโทรศัพท์มือด้วยระบบเสียงเกินนาทีละ 99 สตางค์ มีผลบังคับใช้กับ เอไอเอส และ ดีแทค เท่านั้น ไม่มีผลกับ ทรูมูฟ ตามเงื่อนไขในประกาศที่จะควบคุมเฉพาะผู้ให้บริการที่มีลักษณะเป็น “ผู้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสำคัญ” ซึ่งวัดจากส่วนแบ่งทางการตลาด ถ้าเจ้าไหนมีส่วนแบ่งมากกว่า 25% จึงจะถือว่ามีแนวโน้มเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสำคัญ ตามประกาศเรื่อง “หลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณากำหนดผู้มีอำนาจเหนือตลาดในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2552” ซึ่ง ทรูมูฟ มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ประมาณ 23% ส่วน เอไอเอส อยู่ที่ประมาณ 43% และ ดีแทค อยู่ที่ 30%   แพ็คเก็จรายเดือนค่าโทรส่วนเกินยังเกิน 99 สตางค์ จากการสำรวจค่าโทรศัพท์มือถือแบบเหมาจ่ายรายเดือนจะมีค่าโทรเฉลี่ยอยู่ที่ 74 สตางค์ – 1 บาทต่อนาที แต่ยังมีการคิดค่าโทรส่วนเกินอยู่ที่ 1บาท – 1.50 บาทต่อนาที ซึ่งเกิน 99 สตางค์ตามประกาศของ กสทช. ซึ่งเมื่อยังมีการละเมิดคำสั่งอยู่แบบนี้ ทาง กสทช. จะมีการตั้งคณะกรรมการพิจารณาค่าปรับทางปกครอง โดยมีการกำหนดอัตราค่าปรับวันละ 100,000 บาท   สำหรับใครที่พบว่าตัวเองยังใช้โปรโมชั่นมือถือที่คิดค่าบริการเกิน 99 สตางค์ สามารถแจ้งเปลี่ยนแพ็คเก็จหรือย้ายค่ายผู้ให้บริการ ซึ่งหากผู้ให้บริการรายใดปฏิเสธการให้บริการ หรือแม้แต่เห็นว่า กสทช. ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประกาศ สามารถร้องเรียนไปได้ที่ สายด่วน กสทช. โทร. 1200, ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคภาคประชาชนในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ   สำรวจพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์ของตัวเองก่อนเลือกโปรโมชั่น 1.ปริมาณการโทร – จำนวนเวลาที่ใช้โทรในแต่ละครั้งมากน้อยแค่ไหน เพราะถึงแม้จะเลือกใช้โปรฯ ที่มีค่าโทรนาทีละ 99 สตางค์ แต่ถ้าหากต้องโทรคุยครั้งละ 10 – 20 นาที ค่าโทรที่ต้องเสียก็จะแพงกว่าโปรฯ ค่าโทรที่เริ่มต้นนาทีแรก 2 บาท แต่นาทีต่อไปคิดนาทีละ 50 สตางค์ เพราะฉะนั้นต้องดูให้แน่ใจว่าเรามีพฤติกรรมการใช้งานโทรศัพท์แบบไหน ถ้าเป็นประเภทคุยสั้นคุยไม่นาน ก็ควรเลือกที่คิดค่าโทรถูกตั้งแต่นาทีแรก คือไม่เกิน 99 สตางค์ แต่หากเป็นคนที่คุยนานก็ต้องดูเรื่องค่าโทรเฉลี่ย   นอกจากนี้ยังมีโปรฯ ที่ออกแบบเพื่อการโทรหาเบอร์ที่เราเลือกให้เป็นเบอร์พิเศษ เช่น “ซิมปาท่องโก๋” และ “ซิมเปิ้ล” ของดีแทค หรือ “โปรโทรฟรียกก๊วน 24 ชั่วโมง” ของทรูมูฟ ที่ให้สิทธิโทรหาราคาถูกกับเบอร์พิเศษที่เรากำหนดได้เอง 1 เบอร์สำหรับ“ซิมปาท่องโก๋” และ “ซิมเปิ้ล” หรือถึง 3 เบอร์สำหรับ “โปรโทรฟรียกก๊วน 24 ชั่วโมง” แต่แน่นอนว่าเฉพาะเบอร์โทรที่อยู่ในเครือข่ายเดียวกันเท่านั้น ซึ่งโปรฯ แบบนี้ก็ยิ่งทำให้คนที่มีเบอร์ที่ต้องโทรหาประจำใช้งานได้ถูกลงไปอีก   2.ช่วงเวลาที่ใช้งาน – มีหลายโปรฯ ที่มีการใช้เงื่อนของเวลามาเป็นตัวกำหนดการใช้งาน ซึ่งถ้าโทรตามช่วงเวลาที่โปรฯ กำหนดค่าโทรก็จะถูกมาก เช่น “ซิม 15 หยกๆ 16 หย่อนๆ” ของดีแทค คิดค่าโทรนาทีละ 15 สต. ช่วง 4 ทุ่ม - 10 โมงเช้า, “ซิมสามก๊ก” ของดีแทค คิดค่าโทรนาทีละ 49 สตางค์ ช่วงตี 5 – 5 โมงเย็น หรือ โปรฯ  One-2-Call! Grammy Music SIM ของเอไอเอส คิดค่าโทรชั่วโมงละ 1 บ. ช่วงเวลา 23.00 น.-17.00 น. เป็นต้น แต่การใช้โปรฯ เหล่านี้ต้องไม่ลืมดูเรื่องของค่าโทรนอกเวลาโปรฯ และเบอร์ที่โทรหาจำกัดเฉพาะเบอร์ในเครือข่ายเดียวกันเท่านั้นหรือไม่   3.ลักษณะการใช้งาน - เพราะเดี๋ยวนี้โทรศัพท์มือถือถูกยกระดับกลายเป็น “สมาร์ทโฟน” ไม่ใช่แค่ไว้โทรอย่างเดียว แต่ยังใช้ต่ออินเทอร์เน็ตเพื่อติดต่อหากันได้ เพราะฉะนั้นถ้าใครใช้มือถือเพื่อเล่นอินเทอร์เน็ตเป็นหลัก ก็ต้องเลือกแพ็คเก็จที่เน้นบริการอินเทอร์เน็ต ส่วนค่าโทรก็ต้องดูตามความเหมาะสม ถ้าให้ดีก็อย่าให้เกินนาทีละ 99 สตางค์

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 181 กระแสต่างแดน

โทรทัศน์จีนแฉธุรกิจยอดแย่ทุกๆ ปีในวันสิทธิผู้บริโภคสากล 15 มีนาคม สถานีโทรทัศน์แห่งชาติของจีน Central China Television หรือ CCTV จะถ่ายทอดรายการ “315 Gala” ซึ่งเป็นที่รอคอยของผู้ประกอบการทั้งหลายที่ ลุ้นตัวโก่งว่าจะติดบัญชีดำของรัฐบาลจีนหรือไม่315 Gala นำเสนอผลสำรวจปัญหายอดฮิตจากผู้บริโภค รวมถึงคลิป “ซ่อนกล้อง” เข้าไปแอบถ่ายการทำธุรกิจของผู้ประกอบการหลายๆ เจ้าด้วย ร้อยละ 25 ของปัญหาที่ผู้บริโภคพบในปีที่ผ่านมาได้แก่ การได้รับ “ของปลอม” ทั้งๆ ที่สั่งซื้อสินค้าจากเว็บไซต์ที่น่าเชื่อถือ (แต่ไม่ได้บอกว่าเจ้าไหนบ้าง)ปัญหาที่ผู้บริโภคร้องเข้ามามากเป็นอันดับสองคือปัญหาการซื้อขายรถ ที่ผู้ขายบังคับให้ผู้ซื้อจ่ายค่าประกันและค่าป้ายทะเบียน หรือนำรถรุ่นที่ถูกประกาศเรียกคืนแล้วมาขาย เป็นต้น  อันดับสามได้แก่ โทรศัพท์มือถือที่ชำรุดบกพร่อง หรือไม่มีบริการหลังการขายที่ดี ที่ผ่านมารายการนี้สร้างความสั่นสะเทือนให้กับบริษัทใหญ่ๆ ของจีนเอง อย่าง ไชน่าโมไบล์ เจเอซีมอเตอร์ส หรือแม้แต่ ไป่ตู้อิงค์ และบริษัทต่างชาติอย่าง แลนด์โรเวอร์ และแอปเปิ้ล มาแล้วเจมส์ เฟลด์แคมป์ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์จัดอันดับสินค้าและบริการ www.Mingjian.com ให้ความเห็นว่าผู้ประกอบการในจีนเริ่มตระหนักแล้วว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าตัวเองตกเป็นดาราจำเป็นในรายการนี้ จึงหันมาเพิ่มความโปร่งใสเป็นธรรมในการทำธุรกิจ เพื่อจะได้ไม่ถูกประจานออกทีวีเบน คาเวนเดอร์ นักวิเคราะห์จากบริษัทวิจัยการตลาดในเซี่ยงไฮ้บอกว่ารายการนี้ช่วยยกระดับการรับรู้เรื่องสิทธิผู้บริโภคของผู้บริโภค และเมื่อพวกเขารู้สึกว่าตนเองได้รับการดูแลคุ้มครอง พวกเขาก็จะเกิดความมั่นใจในการเลือกซื้อสินค้าและบริการมากขึ้น  เคเบิลทีวี ... บริการนี้ต้องเลือกได้กสทช.ไต้หวันเสนอให้บริษัทเคเบิลทีวีเพิ่มทางเลือกให้สมาชิกสามารถจ่ายเงินเฉพาะช่องที่อยากดู ปัจจุบันสมาชิกเคเบิลทีวีจ่ายค่าบริการรายเดือนในอัตราเดียว (ระหว่าง 500 ถึง 600 เหรียญไต้หวัน) แลกกับช่องรายการกว่า 100 ช่อง (รวมช่อง must-carry ที่ผู้ประกอบการต้องจัดให้เป็นพื้นฐานแล้ว)ปีหน้าผู้ประกอบการถึงคิวต้องมีระบบคิดค่าบริการที่หลากหลายขึ้น กสทช. เขาเสนอให้มีแพ็คเกจที่สมาชิกสามารถเลือกเฉพาะช่องที่ต้องการดู แล้วจ่ายเงินตามนั้น เขาไม่ได้กำหนดเพดานของค่าบริการรายเดือน เนื่องจากไต้หวันมีผู้ประกอบการหลายเจ้า แล้วยังมีบริการทีวีอินเตอร์เน็ทโดยผู้ประกอบการจากต่างประเทศเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดอีก กลไกตลาดจะทำงานของมันเอง ที่สำคัญคือผู้บริโภคจะมีเวลา 1 สัปดาห์ในการ “ทดลองดู” ถ้าไม่พอใจก็สามารถยกเลิกได้โดยไม่ต้องจ่ายเงินทางสิงคโปร์ก็ไม่น้อยหน้า ตามข้อกำหนดใหม่ ถ้าผู้ประกอบการขึ้นค่าบริการหรือยกเลิกรายการหลักๆ ผู้บริโภคสามารถยกเลิกบริการก่อนกำหนดที่ระบุไว้ในสัญญาได้เลยโดยไม่เสียค่าปรับ แต่ต้องไปรับดำเนินการภายใน 30 วันนับจากรับทราบความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว  รถไฟเยอรมันเตรียมยกเครื่องปีที่ผ่านมา ดอยทช์บาห์น หรือการรถไฟเยอรมนี มีรายรับมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ถึง 40,000 ล้านยูโร (1.5 ล้านล้านบาท) แต่ในขณะเดียวกันก็ประสบการขาดทุนสูงที่สุดในรอบ 12 ปี สาเหตุมาจากการลดมูลค่าของสินทรัพย์ในธุรกิจรับส่งสินค้า การรวมตัวนัดหยุดงานของเจ้าหน้าที่ และการที่ผู้โดยสารหันไปใช้บริการรถบัสกันมากขึ้นแผนเพิ่มผลกำไรของดอยทช์บาห์น ซึ่งรัฐบาลเป็นเจ้าของ ณ จุดนี้ได้แก่การวางมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพ ลดค่าใช้จ่าย และขายกิจการบางอย่างให้กับเอกชน ที่ฮือฮามากที่สุดคือแผนเลิกธุรกิจรับส่งสินค้า ที่อาจทำให้พนักงานกว่า 3,500 คนทั่วประเทศถูกเลิกจ้าง  บริษัทประกาศว่าจะปรับปรุงคุณภาพบริการ โครงสร้างพื้นฐาน ตัวรถ ระบบราง ฯลฯ ให้ทันสมัย ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องใช้เงินถึง 55 ล้านยูโร (ไม่ต่ำกว่า 2 ล้านล้านบาท) งบประมาณที่ใช้บางส่วนจะมาจากบริษัทเอง แต่อีกส่วนที่ใหญ่กว่าจะมาจากงบประมาณกลาง สื่อเยอรมันบอกว่ารัฐบาลเลยไม่ปลื้มกับแผนนี้สักเท่าไร  กิน เที่ยว ต้องเรื่องเดียวกันผู้ว่าฯ เมืองฟลอเรนซ์บอกว่าเมืองเก่าระดับ “มรดกโลก” ของอิตาลีนี้กำลังจะสูญเสียภาพลักษณ์เพราะบรรดาร้านที่ขายแต่อาหารต่างถิ่นและร้านขายของคุณภาพต่ำที่นำเข้ามาจากต่างประเทศสมาชิกสภาเมืองเชื่อว่านักท่องเที่ยวที่มาเยือนควรได้ลองลิ้มชิมรสอาหารที่มีชื่อเสียงประจำเมืองนี้ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ จึงออกข้อบังคับให้ร้านอาหารที่กำลังจะเปิดใหม่ขายเฉพาะอาหารท้องถิ่นดั้งเดิมที่ใช้วัตถุดิบจากแคว้นทัสกานีเท่านั้น ส่วนร้านที่เปิดมาก่อนแล้ว ก็ยังมีเวลา 3 ปีในการปรับเปลี่ยนไปใช้วัตถุดิบจากท้องถิ่นให้ได้ถึงร้อยละ 70 เรื่องนี้ ออสกา ฟาริเน็ตติ เจ้าของ Eataly เครือข่ายซูเปอร์มาร์เก็ตระดับโลกเห็นต่าง เขาบอกว่าตัวเลข ร้อยละ 70 นั้นสูงเกินไปและจะสร้างภาระให้กับร้านอาหารมากเกินไปอย่างไรก็ตาม มีข่าวออกมาแล้วว่าเมืองท่องเที่ยวอื่นๆ ก็อาจนำเอาข้อบังคับนี้ไปใช้เช่นเดียวกัน   เรื่องนี้เข้าทางนักท่องเที่ยว แต่ถ้ามีการควบคุมราคาด้วยจะดียิ่งขึ้นไปอีกนะนี่  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 158 กระแสต่างแดน

กระแสต่างแดนฉบับนี้ขอนำเสนอบางส่วนจากการประชุมนานาชาติเรื่อง “การคุ้มครองผู้บริโภคในยุคดิจิตอล” เมื่อช่วงต้นเดือนเมษายน ณ โรงแรมดิเอ็มเพรส เชียงใหม่ ประเทศไทยเรานี่เอง งานนี้มีผู้เข้าร่วมประชุมจากองค์กรที่ทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคกว่า 200 คน จาก 32 ประเทศ (ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฟิจิ อินเดีย บังคลาเทศ ปากีสถาน อัฟกานิสถาน เนปาล โอมาน อียิปต์ เยเมน ลิเบีย เลบานอน ซาอุดิอาระเบีย ซูดาน ซิมบับเว อัฟริกาใต้ อาร์เจนตินา ชิลี สโลเวเนีย อังกฤษ สวิตเซอร์แลนด์ และสหรัฐอเมริกา)   นาทีนี้ถ้าไม่พูดเรื่องการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคทีวีดิจิตอลก็กลัวจะเชย เราจึงนำประเด็นที่วิทยากรจากต่างประเทศนำเสนอมาฝากกัน ... เริ่มจากเพื่อนบ้านใกล้เคียงในอาเซียนอย่างสิงคโปร์กันก่อนเลย     สิงคโปร์ ประเทศในภูมิภาคอาเซียนตกลงกันว่าจะเปลี่ยนไปสู่ระบบดิจิตอลให้หมดภายในปี 2020  สิงคโปร์ก็เริ่มเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ทีวีดิจิตอลตั้งแต่ปี 2013 แล้ว เขาใช้กล่องรับสัญญาณดิจิตอล มาตรฐาน DVB-T2 เหมือนบ้านเรา สนนราคาที่ขายกันอยู่ก็สูงตามค่าครองชีพ อยู่ที่ประมาณ 3,000 กว่าบาท ประเด็นที่น่าสนใจคือการให้ความช่วยเหลือกับครัวเรือนรายได้น้อย (ได้แก่ ครัวเรือนที่เป็นผู้เช่าอาศัยแฟลตขนาดไม่เกิน 2 ห้องนอน ครัวเรือนที่มีรายได้ต่อเดือนต่ำกว่า 1,900 เหรียญ ที่สำคัญต้องไม่เป็นสมาชิกเคเบิลทีวีหรือทีวีดาวเทียมอยู่ก่อน และคนที่อยู่ภายใต้โครงการความช่วยเหลืออื่นๆ จากรัฐ) รวมๆ แล้วมีผู้ที่เข้าข่ายได้รับความช่วยเหลืออยู่ประมาณ 170,000 ครอบครัว สมาคมผู้บริโภคแห่งสิงคโปร์เล่าถึงประสบการณ์การเปลี่ยนผ่านฯ ว่ารัฐบาลได้ขอความเห็นจากสมาคมฯ รวมถึงข้อห่วงใยเรื่องผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับครัวเรือนรายได้น้อย รวมถึงทำงานร่วมกับภาคธุรกิจโดยเรียกร้องให้ผู้ประกอบการคำนึงถึงสิทธิผู้บริโภคด้วย สิงคโปร์เขามีการกำหนดหลักประกันว่าประชาชนต้องสามารถเข้าถึงเนื้อหาที่มีลิขสิทธิ์ได้ โดยอาจมีการเรียกเก็บค่าบริการบ้างเล็กน้อย จึงไม่ต้องรับมือกับปัญหา “จอดำ” และตามสไตล์สิงคโปร์การโฆษณาในทีวีจะถูกกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด โฆษณาอกฟูรูฟิตคงจะหาดูได้ยากหน่อย   เกาหลีใต้ ขยับออกไปไกลอีกนิด ไปที่เกาหลีใต้กันบ้าง การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระบบดิจิตอลของเกาหลีใต้เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2540 และเขามีการหยุดระบบอนาล็อคไปในเดือนธันวาคมปี 2555  โดยแผนการดำเนินงาน 4 ขั้นตอน เริ่มจากการรณรงค์ระดับชาติให้ผู้บริโภคได้รับรู้และเข้าใจเรื่องทีวีดิจิตอล  จากนั้นเริ่มทดลองปิดระบบอนาล็อค ในระหว่างปี 2553 - 2554  จากนั้นทำการตรวจสอบประเมินการปิดระบบอนาล็อค และขั้นตอนสุดท้ายคือการ ติดตามการดำเนินงานเรื่องการจัดสรรช่องใหม่ ตามความเห็นของผู้บริหารองค์กรผู้บริโภคแห่งเกาหลี การปิดระบบอนาล็อคนั้นถือว่าได้ผลดี และทุกฝ่ายที่มีส่วนได้ส่วนเสียได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการเปลี่ยนผ่าน ตั้งแต่องค์กรผู้บริโภค บริษัทผู้ผลิตเครื่องรับโทรทัศน์ (ซัมซุงและแอลจี) และผู้ประกอบการโทรทัศน์ เป็นต้น บทเรียนจากการทำงานของเกาหลีฝากไว้ให้กับประเทศที่กำลังจะทำการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบดิจิตอลคือ 1. ในการเปลี่ยนผ่านนั้น จะต้องมีการให้ข้อมูลที่เพียงพอและให้การสนับสนุนช่วยเหลือผู้บริโภคในการใช้เทคโนโลยีใหม่(ผู้บริโภคเกาหลีสามารถรับกล่องสัญญาณโดยไม่มีค่าใช้จ่าย .. อิจฉาล่ะสิ) 2. ควรมีศูนย์ข้อมูลสำหรับผู้บริโภคที่มีความพร้อมในการรับเรื่องร้องเรียนที่จะเกิดขึ้น   อินเดีย ไปที่ประเทศที่ผู้คนจำนวนมากมองว่าโทรทัศน์เป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิต (ชนิดไม่มีหลังคาบ้านยังพออยู่ได้ แต่ไม่มีเคเบิลดูละครฉันไม่ยอมเด็ดขาด) ที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบดิจิตอลให้เสร็จสิ้นภายในเดือนมิถุนายนปีนี้  ตัวแทนจากฟอรั่มผู้บริโภคมุมไบเล่าให้เราฟังว่าปัจจุบัน อินเดียมีช่องโทรทัศน์ไม่ต่ำกว่า 900 ช่องและรายได้ของธุรกิจโทรทัศน์ในปี 2013 ก็สูงถึง 8,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้ในช่วงปี 2523 – 2532 อินเดียมีผู้ประกอบการโทรทัศน์เพียง 1 รายเท่านั้น องค์กรผู้บริโภคให้ความเห็นว่าการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิตอลนี้เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย ผู้บริโภคได้ประสบการณ์การรับชมรับฟังที่ดีขึ้น มีทางเลือกมากขึ้น และมีบริการเพิ่มมูลค่ามากขึ้นด้วย ในขณะที่ภาครัฐก็ได้ประโยชน์จากการเรียกเก็บค่าบริการอย่างโปร่งใสและมีรายได้เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาประเทศ และผู้ประกอบการก็ได้รับผลกำไรจากการบริหารจัดการคลื่นความถี่ด้วยเช่นกัน แต่เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดจากการเปลี่ยนผ่าน สิ่งที่อินเดียต้องทำเป็นอย่างแรกคือการหลอมรวมกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ทั้งหมด (ซึ่งขณะนี้ยังมีความลักลั่นกันอยู่) เพื่อรองรับปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น ลืมบอกไปว่างานประชุมนานาชาติครั้งนี้ร่วมจัดโดย สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากล (Consumers International)   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 142 กระแสต่างแดน

Chonky Awards 2012 แม่ช้อยส์เจ้าเก่าเขากลับอีกครั้ง ไม่ได้มารำโชว์แต่มาประกาศผลรางวัลผลิตภัณฑ์/บริการ ยอดแย่ประจำปี 2012 CHOICE เป็นชื่อขององค์กรเพื่อผู้บริโภคและนิตยสารเพื่อผู้บริโภคเช่นเดียวกับ ฉลาดซื้อ (ต่างกันตรงที่เขามีทุนในการทดสอบสินค้าและบริการสูงกว่ามาก เพราะเขาก่อตั้งมากว่า 50 ปี และมีสมาชิกในออสเตรเลียไม่ต่ำกว่า 200,000 คน)     เครื่องนี้ต้องซักฟอก จากการทดสอบเครื่องซักผ้าไปแล้ว 170 เครื่อง ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา CHOICE พบว่ามีเครื่องซักผ้ารุ่นหนึ่งใช้น้ำถึง 224 ลิตร ในการซักผ้า 3.5 กิโลกรัม ด้วยโปรแกรมซักอัตโนมัติ เครื่องรุ่นที่ควรค่าแก่การถูกซักฟอกครั้งนี้ได้แก่ เครื่องซักผ้าซัมซุงฝาบน ขนาด 7 กิโลกรัม รุ่น SW70SP ใช้น้ำ มากแล้วจะซักได้สะอาดขึ้น? ... เครื่องซักผ้าดังกล่าวได้คะแนนการล้างผงซักฟอกออกถึงร้อยละ 99 แต่ได้คะแนนการกำจัดคราบสกปรกไปเพียงร้อยละ  62 ในขณะที่เครื่องที่ได้คะแนนกำจัดคราบสูงสุด ใช้น้ำเพียง 1 ใน 4 ของ ปริมาณนี้  ความจริงเครื่องรุ่นนี้จัดอยู่ในกลุ่มที่ได้ 4 ดาวในเรื่องการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ แต่การคำนวณนี้คิดจากการทดสอบที่ทำโดยห้องปฏิบัติการที่มีนักวิจัยคอยตั้งโปรแกรมการซักให้เหมาะสม  แต่แม่ช้อยส์เชื่อว่า ผู้บริโภคทั่วไปจะเลือกใช้โปรแกรมซักอัตโนมัติมากกว่า   เรื่องนี้สอนให้รู้ว่าอย่าไว้ใจทาง อย่าวางใจโปรแกรมออโต้ กันน้ำ (ออก) ยอดเยี่ยม อ้างอิงจากข้อมูลบนเว็บไซต์ของเขาเอง ลิควิเพล คือเทคโนโลยีนาโน ที่ใช้เคลือบอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ให้ปลอดภัยจากอุบัติเหตุทางน้ำ คนออสซี่ส่วนหนึ่งยินดีควักกระเป๋า 99 เหรียญ (ประมาณ 3,000 กว่าบาท) เพื่อสร้างความมั่นใจว่าอุปกรณ์อันเป็นที่รักจะมีอายุการใช้งานนานขึ้น เว็บไซต์ของลิควิเพล สาธิตประสิทธิภาพของลิควิเพลด้วยการทำให้เห็นว่า ไอโฟนที่ผ่านการเคลือบแล้วยังอยู่ดีมีสุขหลังจากลงไปนอนแช่น้ำเป็นระยะเวลาหนึ่ง แต่เขามีคำเตือนว่าไม่ควรทำการทดลองดังกล่าวนี้เองที่บ้าน บังเอิญว่าทีมงานแม่ช้อยส์ไม่เชื่อคำเตือน เลยไปซื้อไอโฟนและไอแพด ส่งไปเคลือบลิควิเพล แล้วนำมาทดลองแช่น้ำดูบ้าง ปรากฏว่าอุปกรณ์เหล่านั้นแทบจะเสียชีวิตในทันที เมื่อทำการทดลองซ้ำอีก (งบเยอะจริง... ชักจะอิจฉาแล้วนะ) ก็พบว่าโทรศัพท์เครื่องที่เคลือบแล้วนั้น มีอาการ “น้ำเข้า” ไม่ต่างอะไรกับเครื่องที่ไม่ได้เคลือบ แถมยังมีรายงานจากหน่วยกู้ภัยว่า ในกลุ่มผู้รอดชีวิตนั้น มีเครื่องที่ไม่ได้ผ่านการเคลือบอยู่ด้วย     ผลิตภัณฑ์ที่ไม่อาจ “เลิกรา” จากการทดสอบผลิตภัณฑ์กำจัดราทั้งหลายในปีนี้ แม่ช้อยส์เขาพบว่าไม่มีผลิตภัณฑ์ใดเลยที่สามารถ “ฆ่า” เชื้อราได้จริงๆ ผู้เชี่ยวชาญสาขาราวิทยาบอกว่า สาเหตุหลักเป็นเพราะผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อรา เหล่านี้ไม่สามารถเจาะผ่านพื้นผิวที่เป็นรูพรุนอย่างปูนยาแนว ลงไปจัดการกับราต่างๆ ซึ่งมั่วสุมกันอยู่ภายใต้มันได้ ที่เราเห็นว่าขาวขึ้นนั้นเป็นเพียงอิทธิฤทธิ์ของสารฟอกขาว ซึ่งถ้าใช้ไปเรื่อยๆ กระเบื้องและปูนยาแนวก็จะสึกมากขึ้น เปิดโอกาสให้ราทั้งหลายขยายขอบเขตการปกครองออกไปได้อีก แม้จะมีราบางตัวที่อยู่ด้านบนถูกกำจัดออกไปได้ แต่ตัวแม่ยังคงฝังแน่นอยู่ในปูนยาแนว และพร้อมที่จะออกมาเฮฮาปาร์ตี้ได้อีก CHOICE เลยบอกว่าขอเถอะ อย่าได้เที่ยวโฆษณาว่าผลิตภัณฑ์นั้น “สามารถขจัดราฝังลึก” หรือ “ซึมผ่านพื้นผิวเข้าไปกำจัดราที่ต้นตอ” อีกเลย   ธรรมชาติบำบัดไม่ได้ ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ว่าที่ออสเตรเลียก็มีผลิตภัณฑ์แนว “น้ำป้าเช็ง” ขายเหมือนกัน แม่ช้อยส์ลงความเห็นว่า การขายน้ำ (ที่อ้างว่าสามารถรักษาได้สารพัดโรค) ในราคาลิตรละ 1,000 เหรียญ มันก็แย่พออยู่แล้ว แต่การหลอกลวงพ่อแม่ที่อยากให้ลูกหายป่วยโดยเร็วนี่มันออกจะใจร้ายไปหน่อย ยาสมุนไพร เนเจอร์ส์ เวย์ คิดส์มาร์ท (ซึ่งเคยโดนตักเตือนมาแล้วเรื่องการโฆษณาเกินจริง) อ้างว่าสามารถรักษาอาการไข้ ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ แพ้อากาศ น้ำมูกไหล และทำให้เด็กรู้สึกสบายขึ้น ด้วยส่วนผสม “จากธรรมชาติ” หนึ่งในส่วนผสมที่ว่าของ “น้ำรสผลไม้” นี้ประกอบด้วย สตริกนิน 1 ส่วนในล้านส่วน (ถูกต้องแล้ว .. สตริกนิน .. ยาพิษ แบบในหนังที่เคยดูนั่นแหละ) ซึ่งปริมาณดังกล่าวไม่มากพอที่จะเป็นอันตรายต่อเด็ก แต่ ... ความเสี่ยงคือการเสียเวลาไปเปล่าๆ เพื่อรอผลการรักษาโดยไม่ได้หาวิธีการอื่นๆ เพราะอาการหงุดหงิด ร้องไห้โยเย ไม่หลับไม่นอนของเด็กนั้นอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงโรคร้ายแรงที่เกินกว่าการรักษาแบบธรรมชาติจะรับมือไหว   ขนมสร้างความแตกแยก ขนมรวยเพื่อนก็รู้จักกันมานานแล้ว เรามาดูขนมที่อาจทำให้เสียเพื่อนกันบ้าง เนื่องจากแม่ช้อยส์แกเป็นคนละเอียดถี่ถ้วน แม้แต่จะซื้อขนมมาแจกเพื่อน แกก็ไม่ลืมเช็คก่อนว่าจะพอรับประทานกันโดยเท่าเทียมหรือเปล่า บ่อยเข้าแกเลยพบว่าขนมหวานรสช็อกโกแลตยี่ห้อทอปเบอโรน มันมีฉลากที่ไม่ชอบมาพากล ฉลากขนมทอปเบอโรน ขนาด 400 กรัม ระบุว่าทานได้ 16 ที่ แต่ว่าที่เขาแบ่งมาเป็นยอดปิระมิดเล็กๆ ในกล่องนั้นมีเพียงแค่ 15 ชิ้นเท่านั้น ขนาด 200 กรัมก็เช่นกัน ฉลากระบุว่า ทานได้ 8 ที่ (แต่มี 15 ชิ้น) ส่วนขนาด 50 กรัมนั้นระบุว่าทานได้ 2 ที่ (มี 11 ชิ้น)  มีเพียงขนาด 100 กรัมเท่านั้น พอจะแบ่งกันได้ไม่เกิดความแตกแยก   อย่ามาตั๋ว ค่าธรรมเนียม ตามประสาคนชอบดูมหรสพ แม่ช้อยส์แกหงุดหงิดกับภาวะไม่มีทางเลือก เพราะบัตรคอนเสิร์ต/การแสดงจากต่างประเทศ ทั้งหมดในประเทศออสเตรเลีย จัดจำหน่ายโดย ทิคเก็ตเทค และทิคเก็ตมาสเตอร์ ซึ่งคิด “ค่าธรรมเนียมพิเศษ” แพงเหลือเกิน คอนเสิร์ตของเอลตัน จอห์น ที่จัดขึ้นซิดนี่ย์ เอนเตอร์เทนเมนท์เซ็นเตอร์ เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ราคาที่นั่งที่ถูกที่สุดคือ 119.90 เหรียญ (ประมาณ 3,800 บาท) ถ้าจ่ายด้วยบัตรเครดิตทิคเก็ตมาสเตอร์คิดค่าธรรมเนียมอีก 2.64 เหรียญ (85 บาท) และ “ค่าดำเนินการ” อีก 9.50 เหรียญ (300 บาท) รวมๆ แล้วก็เกือบๆ 4,200 บาท ด้าน ทิคเก็ตเทค ก็ใช่ย่อย รายนี้มีค่าจัดส่งด้วย คอนเสิร์ตของเจนนิเฟอร์ โลเปซ ที่รอดลาเวอร์ อารีน่า ตั๋วราคาต่ำสุดคือ 101.60 เหรียญ (ประมาน 3,200 บาท) รวมค่าจัดส่งอีก 5.20 ถึง 11.10 เหรียญ (160 -  350 บาท) ขึ้นอยู่กับวิธีการจัดส่ง บวกค่าธรรมเนียมการจ่ายด้วยบัตรเครดิตอีกร้อยละ 1.75 บริษัทที่คิดค่าธรรมเนียมเป็นธรรมกว่านี้ก็เคยมี แต่ถูกเบียดตกเวทีไปแล้วโดยดูโอยักษ์ใหญ่ทั้งสอง ปีกลายทิคเก็ตเทค โดนปรับ 2,500,000 เหรียญ ข้อหามีพฤติกรรมผูกขาดทางธุรกิจ ซึ่งนับว่าเป็นเงินจิ๊บๆ สำหรับกำไร 50 ล้านเหรียญในปีดังกล่าว   ค่าแท็กซี่ติดเทอร์โบ แม่ช้อยส์คิดไปคิดมาแล้วงงว่า ทำไมการจ่ายค่าแท็กซี่ด้วยบัตรเครดิตเพื่อความสะดวกมันถึงได้แพงเลยเถิดขนาดนี้ ลองนึกภาพ... คุณมาถึงที่หมายและกำลังจะจ่ายเงินค่าแท็กซี่ มองไปเห็นค่าโดยสารขึ้นที่มิเตอร์ 42.10 เหรียญ (ราคานี้รวมค่าโดยสารเริ่มต้น ค่าจอง ค่าทางด่วน/ทางพิเศษ ค่าธรรมเนียมกลางคืนและภาษี) แต่บังเอิญคนขับไม่มีเงินทอนพอสำหรับแบงค์ 50 ของคุณ คุณเลยจ่ายด้วยบัตรเครดิต เลยโดนเรียกเก็บค่า “เซอร์ชาร์จ” อีกร้อยละ 10 (ซึ่งโดยทั่วไปเขาคิดกันไม่เกินร้อยละ 3 เท่านั้น) บริษัทแค็บชาร์จ ซึ่งเป็นผู้ดูแลการจ่ายเงินค่าแท็กซี่ผ่านบัตรเครดิต อธิบายว่านั่นไม่ใช่ “เซอร์ชาร์จ” มันเป็น “ค่าธรรมเนียมการให้บริการทางการเงิน” ต่างหาก นอกจากนี้ยังมีภาษีอีก 1% สำหรับบัตรเครดิตอื่น ที่ไม่ใช่บัตรของแค็บชาร์จเองด้วย     บริษัททัวร์เจ้าเล่ห์ คุณเลือกจ่ายค่าทริปในฝันของคุณผ่านบัตรเครดิต เพราะถ้าบริษัททัวร์ไม่สามารถจัดทัวร์ให้คุณได้หรือมีเหตุให้เลิกกิจการไปกะทันหัน คุณจะได้รับเงินคืน ซึ่งเป็นเงื่อนไขตามบริการ “chargeback” ที่คุณสมัครไว้กับบริษัทบัตรเครดิตในกรณีที่คุณไม่ได้รับสินค้าหรือบริการที่จ่ายผ่านบัตรเครดิต (โดยบริษัทบัตรเครดิตจะเป็นฝ่ายไปเรียกเก็บเงินกับผู้ขายเอง) บริการนี้สำคัญมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการซื้อทัวร์ต่างประเทศ เพราะมันไม่อยู่ภายใต้เงื่อนไขของ “ประกันภัยการเดินทาง” แต่บริษัทเจ็ทเซท ทราเวลเวิร์ลด กรุ๊ป และบริษัทในเครือ (ซึ่งคุม 1 ใน 3 ของธุรกิจนี้ในออสเตรเลีย) มีข้อความใน “ข้อตกลงและเงื่อนไข” ที่ระบุว่าลูกทัวร์จะยินยอมงดเว้นการใช้สิทธิ “chargeback” กับบริษัท แม้สิ่งที่เจ็ทเซททำจะไม่ผิดกฎหมาย แต่แม่ช้อยส์เขาขอประณามการกระทำดังกล่าว ซึ่งเข้าข่ายเจ้าเล่ห์และไร้จริยธรรมไปหน่อย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 108 กระแสต่างแดน

เรื่องเท้าของสาวอังกฤษ ไม่ใช่มีแต่สาวจีนเท่านั้นที่นิยมการมีเท้าเล็ก ข้อมูลงานวิจัยของสมาคมแพทย์โรคเท้าแห่งอังกฤษระบุว่าในช่วงมหกรรมลดราคารองเท้าประจำหน้าร้อนเมื่อปีก่อน มีสาวเมืองผู้ดีร้อยละ 37 ซื้อรองเท้าที่เล็กกว่าขนาดเท้าจริงของพวกเธอ (ข่าวบอกว่าปัจจุบันขนาดเท้าโดยเฉลี่ยของสาวอังกฤษเท่ากับ เบอร์ 6)งานวิจัยครั้งนี้สำรวจผู้หญิงอังกฤษจำนวน 2,000 คน โดยสมาคมดังกล่าวยังพบอีกว่าร้อยละ 80 ของผู้หญิงกลุ่มนี้มีปัญหาเกี่ยวกับเท้า เช่น นิ้วเท้าผิดรูป เล็บขบ เป็นต้น แต่มีเพียงร้อยละ 40 เท่านั้นที่ไปพบแพทย์ ร้อยละ 73 ของสาวๆ เหล่านี้ ใส่รองเท้าที่มีส้นสูงเกินห้านิ้วอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง โดยแต่ละครั้งจะสวมเป็นเวลาประมาณ 6 ชั่วโมง มีเพียงร้อยละ 4 เท่านั้นที่สวมรองเท้าที่มีส้นสูงไม่เกินสองนิ้วที่น่าเป็นห่วงคือแม้บรรดาผู้เชี่ยวชาญจะออกมาแนะนำว่าไม่ควรใส่รองเท้าส้นสูงเกินอาทิตย์ละหนึ่งครั้ง แต่ก็ยังมีจำนวนไม่น้อยที่ใส่ส้นสูงกันห้าวันต่อสัปดาห์ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าความจริงแล้วปัญหาเท้านั้นแก้ไขได้ง่ายๆ ด้วยการใส่รองเท้าที่เป็นมิตรต่อเท้า แต่ที่ยากคือจะทำอย่างไรให้สาวๆ ยอมเลิกใส่รองเท้าส้นสูงซึ่งใครๆ ก็บอกว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่จะเสริมลุคให้ดูดีนั่นเอง ก็ไม่แน่นักเพราะแม้แต่วิคตอเรีย เบคแฮม ที่เคยให้สัมภาษณ์ว่าถ้าเธอไม่ได้ใส่ส้นสูงแล้วจะคิดอะไรไม่ออก ก็ยังเปลี่ยนมาใส่รองเท้าส้นแบนสลับกับรองเท้ากีฬาเวลาที่เธอไปไหนมาไหน เหตุผลน่ะหรือ ก็เพราะเธอคือหนึ่งในสาวอังกฤษที่เป็นโรคนิ้วเท้าผิดรูปนั่นเอง +++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++ ต้องการอาสาสมัครเปิดเผยข้อมูลการใช้โทรศัพท์ถ้าเราใช้โทรศัพท์มือถือบ่อยๆ เราจะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคระบบประสาท เนื้องอก โรคซึมเศร้า หรือโรคนอนไม่หลับ มากกว่าคนที่ไม่ค่อยใช้หรือไม่ งานวิจัยชิ้นล่าสุดโดยองค์กรที่ดูแลเรื่องความปลอดภัยของนิวเคลียร์และรังสีของประเทศฟินแลนด์ (STUK) กำลังจะหาคำตอบนี้ให้ได้ ด้วยงานวิจัยแบบที่ยังไม่มีใครกล้าทำมาก่อน การสำรวจที่เกิดจากการผลักดันขององค์การอนามัยโลกครั้งนี้จะเป็นการขอข้อมูลการใช้โทรศัพท์ของผู้ใช้โทรศัทพ์มือถือโดยตรงจากผู้ให้บริการ เหตุที่เลือกทำงานสำรวจดังกล่าวที่ฟินแลนด์ก็เพราะที่นั่นมีการใช้โทรศัพท์มือถือกันมานานกว่าที่ใดๆ ในโลก (คนที่นั่นเขาใช้มือถือมาตั้งแต่ช่วงปี 80 แล้ว) ในปีที่ผ่านมาผู้วิจัยได้สุ่มหมายเลขโทรศัพท์ขึ้นมา 30,000 เลขหมาย และส่งเอกสารไปยังเจ้าของเบอร์เหล่านั้น เพื่อให้ลงชื่อแสดงความยินยอมให้ผู้ให้บริการมือถือของตนเปิดเผยข้อมูลการใช้โทรศัพท์ (หมายเลข และเวลา) กับองค์กร STUKใครที่ยินดีเข้าร่วมงานวิจัยก็ให้ลงชื่อและส่งกลับมา จากนั้นพวกเขาก็จะได้รับแบบสอบถามเกี่ยวกับสุขภาพและพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์ของตนเอง ข่าวไม่ได้บอกว่าเขาต้องการผู้เข้าร่วมกี่คน แต่บอกว่าการสุ่มหมายเลขหาอาสาสมัครนี้จะยังดำเนินการต่อไปในปีนี้และปีหน้าด้วย ก็ได้แต่หวังว่าคนประเทศนี้เค้าจะไม่มีกิ๊กกันมากนัก ไม่เช่นนั้นคงต้องรอกันนานกว่าจะได้อาสาสมัครที่ยอมเปิดเผยข้อมูลการใช้โทรศัพท์มือถือตามจำนวนที่นักวิจัยเขากำหนด และอาจจะไม่เสร็จภายในเวลาห้าปีตามแผน +++++++++++++++++++++++++++++++++++++++ อวตาร VS ขงจื้อ รัฐบาลจีนเขาใช้มาตรการเด็ดขาดในการลดคู่แข่งให้กับภาพยนตร์ชีวประวัติของขงจื้อซึ่งจะเข้าฉายในช่วงวันหยุดตรุษจีนที่เพิ่งผ่านไป เรื่องนี้ทำได้ไม่ยากแค่ประกาศยกเลิกการฉายภาพยนตร์แอนิเมชั่นอวตาร ในแบบสองมิติในโรงหนังทั่วประเทศจีนเท่านั้นเอง ถ้าใครอยากดูจริงๆ ก็ต้องไปดูในแบบสามมิติที่ยังมีฉายอยู่ตลอดเดือนกุมภาพันธ์ ทางผู้ประกอบการโรงภาพยนตร์ UME ของจีนเขาบอกว่าไม่น่าจะมีผลกระทบใดๆ (ก็คงจะไม่มีจริงๆ นั่นแหละเพราะร้อยละ 90 ของโรงหนังค่ายนี้เป็นโรงหนังสามมิติหรือไม่ก็โรงหนังไอแม็กซ์) และการถอนโปรแกรมเรื่องอวตารซึ่งทำยอดขายตั๋วได้สูงที่สุดในประเทศจีน (ได้ไปแล้วไม่ต่ำกว่า 300 ล้านหยวน หรือ 1,500 ล้านบาท) ออกไปจะทำให้มีโรงสำหรับฉายภาพยนตร์เรื่องขงจื้อมากขึ้น แต่ผู้บริโภคนี่สิ ถ้าอยากดูก็ต้องจ่ายค่าตั๋วหนังแพงขึ้น ในขณะที่ตั๋วหนังธรรมดาใบละไม่เกิน 40 หยวน (200 บาท) ถ้าเป็นตั๋วหนังสามมิติก็ไม่ต่ำกว่า 60 หยวน (300 บาท) โรงไอแม็กซ์ก็ไม่ต่ำกว่า 130 หยวน (650 บาท) ที่ประเทศจีนมีโรงภาพยนตร์ธรรมดาทั้งหมด 4,500 โรง โรงหนังสามมิติ 800 โรง และโรงหนังไอแม็กซ์อีก 10 กว่าโรง ++++++++++++++++++++++++++++++++++++ อินเดียหยุดแผนปลูกมะเขือดัดแปรพันธุกรรมเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้วรัฐบาลอินเดียประกาศอนุญาตให้มีการปลูกมะเขือม่วงดัดแปรพันธุกรรมพันธุ์ BT bringal เพื่อการค้าได้ หลังจากที่การปลูกในแปลงทดลองเป็นผลสำเร็จในปีก่อนหน้านั้น แต่วันนี้นายใจราม ราเมช รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมของอินเดีย ออกมาประกาศว่าอินเดียจะระงับการปลูกพืชดังกล่าวไว้ก่อน จนกว่าจะมีผลการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมอีกว่ามันปลอดภัยต่อผู้คนและสิ่งแวดล้อม เรื่องนี้กำลังเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอย่างรุนแรงในอินเดีย ข่าวระบุว่าคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการปลูกพืชดัดแปรพันธุกรรมชนิดนี้มีอยู่อย่างละเท่าๆ กัน เกษตรกรส่วนหนึ่งมองว่านี่คือทางรอดของพวกเขาเพราะทุกวันนี้ต้องใช้สารเคมีปริมาณมากในการควบคุมวัชพืชให้กับมะเขือม่วง พวกเขาหวังว่าเจ้า BT bringal ที่คิดขึ้นมาโดย บริษัท Mahyco ซึ่งเป็นหุ้นส่วนของมอนซานโต ในอินเดียนั้นจะเป็นคำตอบ ในขณะที่อีกฝ่ายยังไม่เชื่อว่ามะเขือม่วงแบบดัดแปรพันธุกรรมนั้นจะสามารถช่วยเกษตรกรประหยัดค่าใช้จ่ายสำหรับสารเคมีได้จริง เพราะพวกเขาเห็นมาแล้วว่าฝ้ายดัดแปรพันธุกรรม BT cotton ที่ปลูกกันมาได้ระยะหนึ่งแล้วนั้นไม่ได้ช่วยลดการใช้สารเคมีหรือเพิ่มผลผลิตต่อไร่แต่อย่างใด อินเดียคือผู้ผลิตมะเขือม่วงรายใหญ่ที่สุดในโลก และมีมะเขือชนิดนี้มากกว่า 4,000 พันธุ์ ++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++ เลิกสะสมแต้มกันเถอะบัตรสะสมแต้มของห้างค้าปลีกไม่ได้ช่วยให้คุณจับจ่ายได้อย่างคุ้มค่าขึ้นแต่อย่างใด งานวิจัยโดยนิตยสารเพื่อผู้บริโภค Choice ของออสเตรเลียเขายืนยันว่าอย่างนั้น Choice พบว่าในปีที่ผ่านมาคนออสซี่ใช้จ่ายเงินในห้างค้าปลีกสัปดาห์ละ 156 เหรียญ (ประมาณ 4,600 บาท) ถ้าคิดจากอัตรานี้ ผู้บริโภคที่เป็นเจ้าของบัตรสมาชิกห้างค้าปลีกจะต้องใช้เวลา 7 ปีถึงจะสะสมแต้มได้เพียงพอสำหรับแลกตั๋วเครื่องบินไปกลับซิดนีย์ – เมลเบิร์น (ไม่รวมภาษีและค่าธรรมเนียม) แต่ปัญหาคือเจ้าคะแนนสะสมที่ว่านั้นมีอายุแค่ 3 ปีเท่านั้น นอกจากนี้เขายังพบอีกว่าสมาชิกห้างโคลหรือวูลเวิร์ธ ต้องใช้จ่ายไม่ต่ำกว่า 15,000 หรือ 11,000 เหรียญ (442,000 หรือ 324,000 บาท) ตามลำดับ ถึงจะแลกคูปองราคา 50 เหรียญ (1,400 บาท) ซึ่งคิดแล้วก็เท่ากับการได้ส่วนลดไม่เกิน 70 เซ็นต์ (20 บาท) ต่อการซื้อของในหนึ่งสัปดาห์ ซึ่งเราสามารถประหยัดเงินจำนวนเท่านั้นได้ทันทีด้วยด้วยการซื้อของให้น้อยลงหนึ่งชิ้น หรือเลือกยี่ห้อที่ราคาถูกกว่า หรือถ้าจะให้ดีก็ไปซื้อจากร้านที่เขาขายถูกกว่านั้นเสียเลย ไม่จำเป็นต้องรักเดียวใจเดียว คนที่ได้ประโยชน์ไปเต็มๆ จากบัตรสมาชิกเหล่านี้ก็มีแต่ทางห้างที่ออกบัตรนั่นเอง เพราะนอกจากยอดขายจะเพิ่มขึ้นเห็นๆ (มีสถิติที่ระบุว่าลูกค้าทั่วไปของห้างแห่งหนึ่งใช้จ่ายเฉลี่ยปีละประมาณ 23,500 บาท ในขณะที่ลูกค้าที่มีบัตรสมาชิกของห้างจะใช้จ่ายเฉลี่ยมากกว่านั้นอีกประมาณ 800 บาท) ทางห้างยังได้ข้อมูลส่วนตัวพร้อมพฤติกรรมการจับจ่ายของลูกค้าไปวางแผนการตลาดได้อีก ร้านวอลมาร์ทในอเมริกาก็เคยพบว่า ในช่วงบ่ายวันศุกร์กลุ่มลูกค้าผู้ชายที่อายุระหว่าง 25–35 ปี จะซื้อผ้าอ้อมสำเร็จรูปพร้อมๆ กับเบียร์ ก็เลยย้ายเบียร์มาวางไว้ที่ชั้นใกล้ๆ กับชั้นผ้าอ้อมสำเร็จรูปเสียเลย ผลคือยอดขายเพิ่มขึ้นถล่มทลาย นอกจากนี้บัตรสมาชิกที่ให้สะสมแต้มพวกนี้ยังดึงดูดให้ลูกค้ากลับมาจับจ่ายที่ร้านนั้นๆ อีกด้วย เพราะว่ากันว่าโดยธรรมชาติแล้วผู้บริโภคมักจะหลายใจ(งานวิจัยเรื่องพฤติกรรมผู้บริโภคพบว่ามีลูกค้าเพียงแค่ร้อยละ 10 เท่านั้นที่จะซื้อของจากร้านเดียว) Choice บอกว่าถ้าผู้บริโภคต้องการจะประหยัดก็อย่าไปหวังพึ่งโปรโมชั่นสะสมแต้มพวกนี้ แค่เปลี่ยนไปจับจ่ายในห้างค้าปลีกที่ใกล้บ้านเดือนละครั้ง(อย่างน้อยๆ ก็ประหยัดค่าน้ำมันรถได้ทันที) และเลือกสินค้าแบบเปรียบเทียบราคาต่อหน่วย และถ้าต้องการซื้อของเพียงไม่กี่ชิ้นก็อุดหนุนร้านโชว์ห่วยแถวบ้านดีกว่า

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 97 กระแสต่างแดน

กระแสต่างแดน 97 ศศิวรรณ ปริญญาตร บทต้องห้ามเมื่อเร็วๆ นี้รัฐบาลจีนออกประกาศห้ามไม่ให้นักแสดงหรือบุคคลอื่นที่ไม่มีคุณวุฒิ มารับบทเป็นแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญในภาพยนตร์โฆษณายาทางโทรทัศน์อย่างเด็ดขาด ที่ประเทศจีนนั้นโทรทัศน์ทุกช่องต่างก็อุดมไปด้วยโฆษณายาหรือผลิตภัณฑ์สุขภาพ และผู้ผลิตสินค้าเหล่านั้น จะนิยมใช้ “แพทย์” หรือ “นักวิชาการ” เป็นผู้นำเสนอสินค้าของตน เพื่อทำให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อถือแต่ความมาแตกเอาเมื่อมีคนพบว่าบรรดา “ผู้รู้” ที่ว่านี้ ทั้งที่เป็นคนๆ เดียวกันกลับมีหลายชื่อแซ่ และมีความเชี่ยวชาญแตกต่างกันไป เรื่องนี้จุดประกายโดยผู้ชมโทรทัศน์รายหนึ่งที่บังเอิญจำได้ว่า คุณหมอกูโปฉิน ที่อยู่ในโฆษณายารักษาโรคเบาหวานนั้นเป็นคนเดียวกันกับนายซุนยุน “ผู้เชี่ยวชาญ” ด้านธนบัตรหายากในโฆษณาอีกชิ้นหนึ่ง และแถมยังเป็น “อาจารย์มหาวิทยาลัย” นามว่าลูซิง ในโฆษณาอีกชิ้นด้วย ว่าแล้วเขาก็นำภาพจากโฆษณาสามชิ้นนั้นไปโพสต์ไว้ในอินเตอร์เน็ต จึงทำให้เกิดกระแสการติดตามสืบเสาะหา “ผู้เชี่ยวชาญในการแสดงเป็นผู้รู้” เหล่านี้ขึ้น และพบว่ามีผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ตัวปลอมปรากฏตัวอยู่บนจอโทรทัศน์อย่างน้อย 12 คน บรรดามหาวิทยาลัยและโรงพยาบาลต่างๆ ก็ต้องคอยจับตาดูโฆษณาว่ามีใครมาแอบอ้างว่าเป็น “ผู้เชี่ยวชาญ” ที่ประจำการอยู่ในหน่วยงานของตนบ้าง เพื่อจะได้รีบออกมาปฏิเสธความเกี่ยวข้องกับบุคคลดังกล่าว และช่วยหยุดยั้งกระบวนการหลอกลวงผู้บริโภคได้ทันการ ลืมบอกไปว่าโทษจากการฝ่าฝืนประกาศดังกล่าวจะทำให้บริษัทถูกเพิกถอนใบอนุญาตโฆษณา และถูกระงับการขายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นระยะเวลาหนึ่งด้วย เมื่อความจนกลายเป็นจุดขายรีอาลิตี้ โชว์ก็ดูกันมาแล้ว ลองไปเที่ยวรีอาลิตี้ทัวร์กันดูบ้าง กระแสการตอบสนองความอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์ ในเรื่องต่างๆ ในแบบที่มันเกิดขึ้นจริง โดยปราศจากการตระเตรียมหรือแต่งเติม ได้ทำให้เกิดการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่กันไปเป็นที่เรียบร้อย รูปแบบการท่องเที่ยวที่กำลังมาแรงแข่งกับทัวร์แนวหรูที่พาคุณไปดูแต่ของสวยๆงามๆ ได้แก่ ทัวร์ที่พานักเดินทางไปสัมผัสกับชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนแออัดตามเมืองใหญ่ๆ หรือที่หลายคนเรียกว่าพัวริซึ่ม (poorism) แหล่งท่องเที่ยวยอดฮิตขณะนี้ได้แก่ ย่านชุมชนแออัดในเมืองริโอ เดอจาเนโร ของบราซิล ย่านทาราวีในเมืองมุมไบของอินเดีย และเขตมูคูรูในกรุงไนโรบี เมืองหลวงของเคนยา ว่ากันว่านักท่องเที่ยวสนใจทัวร์ประเภทดังกล่าว เพราะมันทำให้พวกเขาได้มีโอกาสพูดคุยกับคนในชุมชน ได้เห็นสภาพความเป็นอยู่ที่แท้จริงของคนแถวนั้น แต่คนในท้องถิ่นก็มีทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการท่องเที่ยวแบบนี้เพราะถึงแม้มันจะเป็นโอกาสในการสร้างเศรษฐกิจชุมชน แต่มันก็หมายถึงการถูกรุกล้ำความเป็นส่วนตัวไปพร้อมๆ กันด้วย ถ้ารักจะเที่ยวทัวร์แบบนี้กันจริงๆ เขาก็มีคำแนะนำว่าให้นักท่องเที่ยวเลือกสนับสนุนเฉพาะทัวร์ที่จัดอย่างรับผิดชอบต่อสังคมด้วย อย่าไปกับทัวร์แชะ ประเภทเอารถตู้ไปจอดประชิดบ้านเขาแล้วให้นักท่องเที่ยวถ่ายรูปตามใจชอบเด็ดขาด ทัวร์ที่น่าสนใจก็เป็นประเภทเดินเท้า หรือทัวร์จักรยานที่จะให้โอกาสคุณได้สัมผัสชีวิตผู้คนพูดคุยกับชาวบ้าน ซื้อสินค้าจากงานฝีมือเขาบ้าง ที่ใช้นโยบายห้ามใช้กล้องโดยเด็ดขาด ก็มีให้เลือกไม่น้อย ข่าวบอกมาด้วยว่า ภาพยนตร์เรื่อง Slumdog Millionaire ที่เพิ่งจะได้รับรางวัลไปเป็นหอบ ก็มีส่วนทำให้กระแสความนิยมในการท่องเที่ยวแบบนี้เป็นที่นิยมกันมากขึ้นด้วย ผู้ดียืนยันไม่เอาโฆษณาแฝงในรายการโทรทัศน์ บรรดาผู้ผลิตสินค้าทั้งหลายต่างก็ผิดหวังคอตกกันไปตามๆ กันเมื่อในที่สุดรัฐบาลอังกฤษก็ยังคงไม่อนุญาตให้มีการโฆษณาแฝงในรายการโทรทัศน์ เราอาจจะเห็นโฆษณาแฝงกันจนชิน ทั้งในบ้านเราเองและในรายการโทรทัศน์จากฝั่งอเมริกา แต่ที่ประเทศอังกฤษนั้น เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ ที่เป็นประเด็นขึ้นมาเพราะช่วงหลังๆ นี้รายได้ของบรรดาสถานีโทรทัศน์ในอังกฤษนั้นตกลงอย่างฮวบฮาบ เพราะทั้งคนดู ทั้งโฆษณาต่างก็พากันไปนัดพบกันในที่แห่งใหม่ซึ่งได้แก่ อินเตอร์เน็ตอย่างที่เรารู้กัน ทางสมาคมบริษัทโฆษณาก็เลยเสนอว่า ทำไมไม่ลองผ่อนปรนกฎเกณฑ์เรื่องการห้ามโฆษณาแฝงดู เพราะมันจะช่วยกระตุ้นให้เกิดรายได้กับสถานีโทรทัศน์ถึง 72 ล้านปอนด์ (3,600 ล้านบาท) ทีเดียว แต่รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมเขาก็ยืนยันว่า ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนจากที่ไหนเลยว่าการอนุญาตให้มีโฆษณาแฝงจะส่งผลดีต่อภาวะการเงินของทางสถานี ในขณะที่เรื่องของการผ่อนผันกฎเกณฑ์เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ที่ส่งผลกระทบกับคนเป็นจำนวนมาก ผู้บริหารสูงสุดของสถานีโทรทัศน์ช่อง 4 ของอังกฤษบอกว่า “เขาก็เห็นด้วยกับการตัดสินใจของรัฐบาล เพราะการปล่อยให้มีโฆษณาแฝงนั้นจะทำให้สถานีขาดความน่าเชื่อถือ ในขณะที่จะได้ผลตอบแทนเป็นตัวเงินเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งคิดแล้วไม่คุ้มกันเลย” ยินดีกับผู้บริโภคในประเทศอังกฤษด้วย แต่ไม่แน่ใจว่าจะดีใจกันไปได้อีกนานแค่ไหนเพราะข่าวบอกว่าเขาจะมีการทบทวนเรื่องนี้กันอีกครั้งในอีกสองปีข้างหน้า อยากดำเสี่ยงก็ยอม ในขณะที่สาวๆ บ้านเรานิยมฉีดกลูตาไธโอนให้ผิวขาวผ่อง คนที่ขาวผ่องอยู่แล้วกลับพยายามทำให้ตัวเองดูผิวคล้ำขึ้นด้วยวิธีการฉีดสารเมลาโนแทนเข้าผิวหนังบริเวณท้อง (ช่างกล้ากันจริงๆ) ว่ากันว่าที่ประเทศอังกฤษนั้น เทรนด์นี้มาแรงมากๆ แม้ว่าทางการจะออกมาเตือนแล้วเตือนอีกว่าสารดังกล่าวเป็นอันตรายต่อระบบภูมิคุ้มกันและการทำงานของหัวใจ ตามด้วยความเสี่ยงจากการใช้เข็มฉีดยาร่วมกันอีก แต่กลับมีรายงานจากหน่วยงานที่ให้บริการเข็มฉีดยา ว่ามีคนโทรมาขอเข็มฉีดยาไปใช้ฉีดสารนี้กันมากขึ้น หน่วยงานที่ดูแลเรื่องนี้ พยายามรณรงค์ให้ร้านต่างๆ หยุดขายสารเมลาโนแทนให้กับผู้บริโภค ซึ่งการขายสารดังกล่าวถือเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย เพราะยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน (และยังไม่ผ่านการตรวจสอบยืนยันเรื่องความปลอดภัย) แต่อุปกรณ์ชุดทำผิวแทนด้วยตนเองนี้กลับมีขายกันทั่วไปตามร้านเสริมสวย สถานออกกำลังกาย และในอินเตอร์เน็ต ที่สนนราคา 25 ปอนด์ (1,300 บาท) ประกอบด้วยเข็มฉีดยา ผงเมลาโนแทน และน้ำบริสุทธิ์อีกหนึ่งขวด ให้หนุ่มสาวเดนตายทั้งหลายซื้อไปใช้กัน สารเมลาโนแทนนี้คิดค้นขึ้นมาโดยบริษัทแห่งหนึ่งในออสเตรเลียเพื่อใช้รักษาความผิดปกติของผิวหนัง ชื่ออย่างเป็นทางการของมันคือ CUV 1647 ที่ยังไม่อนุญาตให้ใช้ได้ในคน แต่ใช้ในการวิจัยได้ แต่แล้ววันหนึ่งมีมือดีมาขโมยสารดังกล่าวไป แล้วมันก็มาโผล่ในตลาดมืดอย่างที่บอก บาร์โค้ดในซูเปอร์มาเก็ตก็โกงได้ คุณไว้ใจเครื่องสแกนบาร์โค้ดในซูเปอร์มาเก็ตแค่ไหน ที่อื่นยังไม่ทราบแต่ที่นิวซีแลนด์นั้นเขาทำวิจัยออกมาแล้วว่าอัตราความผิดพลาดนั้นสูงถึงร้อยละ 4 ทีเดียว ความผิดพลาดที่ว่านั้น ได้แก่ การลืมเปลี่ยนราคาจากราคาเต็มเป็นราคาโปรโมชั่น หรือการใส่ราคาผิดจากขนาดของผลิตภัณฑ์ เป็นต้น จึงมีบ่อยครั้งที่ผู้บริโภคเข้าใจว่าตนเองกำลังซื้อสินค้าราคาพิเศษ โดยไม่รู้ตัวเลยว่าตนเองก็จ่ายราคาเต็มอยู่ หรือซื้อเครื่องดื่มขนาดเล็กแต่จ่ายราคาของขวดขนาดใหญ่นั่นเอง พอล พิคเคอริง อาจารย์ภาควิชาธุรกิจ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีโอ้คแลนด์ตั้งสมมุติฐานไว้ว่าอัตราความผิดพลาดนั้นอย่างต่ำก็ร้อยละ 4 (หรือจากสินค้าที่สแกนทุกๆ 25 ชิ้นนั้นจะมี 1 ชิ้นที่ตั้งราคาผิด) และความผิดพลาดมักเกิดขึ้นกับกรณีห้างใหญ่ๆ เพราะผู้คนนิยมจับจ่ายซื้อของเป็นจำนวนมากชิ้น พอลบอกอีกว่า มีผู้บริโภคชาวกีวี่ไม่ถึงร้อยละ 50 ที่ตรวจสอบใบเสร็จของตนเอง ว่าแต่เมื่อเกิดความผิดพลาดขึ้นแล้วผู้บริโภคเรียกร้องให้แก้ไข แล้วทางร้านแก้ตัวทันทีหรือเปล่า ผลการสำรวจระบุว่า นักช้อปมักเจอกับพนักงานที่ทำท่าเบื่อหน่ายเวลาที่เข้าไปติดต่อขอเงินคืน บ้างก็ต้องกรอกแบบฟอร์มยืดยาวกว่าจะได้เงินคืนมา 2 เหรียญ และมีบ้างที่เจอเงื่อนไขว่าจะได้คืนเป็นเงินสดต่อเมื่อจ่ายเงินไปด้วยบัตรเครดิตเท่านั้น อย่างไรก็ตามกฎหมายที่นี่ก็เข้มงวด เพราะเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้วห้างทาร์เก็ต ถูกปรับเป็นเงินถึง 1.7 ล้านเหรียญสหรัฐ (60 ล้านบาท) โทษฐานที่แสดงราคาสินค้าที่ไม่อัพเดทและถูกกว่าราคาจริงที่ลูกค้าต้องจ่าย เมืองไทยจะมีโอกาสได้ปรับใครเป็นชิ้นเป็นอันแบบนี้บ้างไหมหนอ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 163 โทรทัศน์ความคมชัดสูง (UHD TV) ยังล้ำหน้าสำหรับเกินไปสำหรับผู้บริโภคของไทย

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการตอนนี้การประมูลทีวีดิจิตอลเสร็จเรียบร้อยแล้ว กำลังอยู่ระหว่างทดลองออกอากาศในบางพื้นที่ นโยบายแจกกล่อง set top box และราคาคูปองที่จะแจกให้ผู้บริโภค สรุปว่าอยู่ที่ 690 บาท ตามที่องค์กรผู้บริโภคเสนอ สำหรับท่านที่กำลังเลือกซื้อโทรทัศน์เครื่องใหม่ จะเห็นว่าเริ่มมีโทรทัศน์ความคมชัดสูงมาก ที่เรียกว่า Ultra High Definition Television (UHD TV) ดังนั้น ขอเสนอบทความเกี่ยวกับเรื่อง UHD TV ซึ่งทางองค์กรผู้บริโภคของเยอรมนีได้ทำการสำรวจและมีข้อมูลบางประเด็นสำหรับความเหมาะสมทางด้านเทคนิคมานำเสนอ เพื่อประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อโทรทัศน์เครื่องใหม่ในยุคดิจิตัลทีวี โทรทัศน์ความคมชัดสูงมาก แบบ UHD นี้ เป็นเทคนิคการรับสัญญาณภาพที่พัฒนาต่อมาจาก โทรทัศน์แบบความคมชัดธรรมดา (Standard Definition: SD) ซึ่งมีความละเอียดของจุดการรับภาพ (Resolution) 0.4 ล้านจุด (pixel) โทรทัศน์แบบความคมชัดสูง (High Definition: HD) มีจุดในการรับภาพ (Resolution) 2 ล้านจุด (pixel)  และโทรทัศน์แบบความคมชัดสูงมากจะมีจุดในการรับภาพ 8 ล้านจุด (3840 x 2160 pixel) ปัจจุบัน สถานีที่ประมูลช่องทีวีดิจิตอลในระบบความคมชัดสูง (Full HD) จะส่งสัญญาณภาพที่ระดับความชัด 2 ล้านจุดเท่านั้น (1920 x 1080 pixel) ในกรณีที่โทรทัศน์แบบ HD Ready จะมีระดับความชัดอยู่ที่ (1280 x 720 pixel) ซึ่งต่ำกว่าแบบ Full HD ในกรณีที่ทางสถานีโทรทัศน์ส่งสัญญาณ แบบ SD หรือ HD ผ่านโทรทัศน์แบบ UHD การแปลงสัญญาณภาพจะทำให้สังเกตถึงความเพี้ยนของภาพได้ เพราะฉะนั้นการรับสัญญาณโทรทัศน์ในขณะนี้ ด้วยโทรทัศน์แบบ HD จึงจะมีความสอดคล้องกับการรับสัญญาณจากสถานีโทรทัศน์มากกว่า คำแนะนำของขององค์กรผู้บริโภคเยอรมันในขณะนี้ คือ คุณภาพของ UHD และ HD แทบไม่ต่างกัน ในขณะที่ ราคาต่างกันมาก เนื่องจากสายตาของคนยังไม่สามารถจับความแตกต่างความคมชัดของภาพระหว่าง UHD และ HD ได้ หากระยะห่างระหว่างจอภาพและผู้ชมรายการไม่ได้ไกลมาก และจอภาพมีขนาดเล็ก   อย่างไรก็ตามโทรทัศน์แบบความคมชัดสูงมากนี้ เหมาะกับรายการโทรทัศน์ที่บันทึกด้วยกล้องความคมชัดพิเศษ ภายใต้เทคโนโลยี 4K โดยในอนาคตอันใกล้นี้ ผู้ให้บริการหนังและวิดีโอออนไลน์อย่าง Amazon Instant Video, Maxdome และ Netfix จะเปิดให้บริการดูหนังและซีรีส์ ผ่าน Video Streaming ภายใต้ความคมชัดสูงมาก ซึ่งเงื่อนไขที่สำคัญในการรับชมผ่านอินเตอร์เนต คือ ความเร็วของอินเตอร์เนตในระบบ 4G โดยจะต้องมีความเร็วอินเตอร์เนตไม่ต่ำกว่า 25 Mbits ต่อวินาที นอกจากช่องทางในการรับชมหนังและภาพยนตร์ผ่านรายการโทรทัศน์ หรือผ่านระบบอินเตอร์เนตแล้ว ก็สามารถรับชมผ่านแผ่น ที่เป็นระบบ UHD ได้เช่นกัน แต่ผู้ชมรายการก็ต้องซื้อเครื่องเล่นที่สามารถเล่นแผ่นได้ในระบบ UHD ด้วยจึงจะได้ภาพที่มีความคมชัดสูงมาก หากมีโทรทัศน์ที่เป็นระบบ UHD แต่เครื่องเล่นแผ่นไม่ได้เป็นระบบ UHD ก็จะไม่เกิดประโยชน์ในการรับชมภาพที่ทีความคมชัดสูง เพราะฉะนั้นผู้บริโภคในเมืองไทยที่ต้องการรับชมรายการที่มีความคมชัดสูง ขณะนี้เครื่องรับสัญญาณโทรทัศน์ ระดับความคมชัดแบบ HD ก็เพียงพอ และในอนาคตเมื่ออินเตอร์เนตความเร็วสูง หรือ ระบบ 4G เกิดขึ้นในเมืองไทยเมื่อใด เมื่อนั้น โทรทัศน์ แบบ UHD ก็ เป็นทางเลือกในการรับชมภาพความคมชัดสูงมากที่น่าสนใจครับ (ที่มา : วารสาร Test ฉบับ 7/2014)

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 158 ข้อควรรู้ก่อนทำประกันภัยทางโทรศัพท์

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการผู้บริโภคหลายๆ ท่านคงได้รับประสบการณ์ ถูกเชิญชวนให้ทำประกันภัยผ่านทางโทรศัพท์มือถือ ซึ่งจริงๆ แล้ว เป็นการโฆษณาเชิญชวนที่ละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภคอย่างมาก และหากผู้บริโภคท่านใดรู้สึกเดือดร้อนรำคาญก็สามารถร้องเรียนไปยัง กสทช. เบอร์ 1200 ได้ทันที แต่กรณีที่ผู้บริโภค เกรงใจ หลงเสน่ห์เสียงนางของพนักงานที่โทรมาเชิญชวนให้ทำประกันภัยประเภทต่างๆ จนกระทั่งตกปากรับคำ ยอมทำสัญญาประกันนั้นแล้ว มารู้ตัวอีกทีว่า ไม่ได้ต้องการและไม่มีความจำเป็นใดๆ กับบริการนี้แล้ว เราสามารถจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร ผมมีคำตอบให้ครับ จาการเติบโตของธุรกิจประกันภัย ที่มีมากขึ้นโดยเปิดโอกาสให้มีการขายกรมธรรม์ประกันภัยผ่านธนาคารพาณิชย์ หรือการขายประกันผ่านทางโทรศัพท์ โดยเฉพาะผู้บริโภคที่ใช้บริการบัตรเครดิต มักจะได้รับการติดต่อจากตัวแทนขายประกันทางโทรศัพท์อยู่เรื่อยๆ  มีการเสนอขายประกันด้วยวิธีต่างๆ จนผู้บริโภคบางรายตอบรับการทำประกันโดยมิได้ตั้งใจ เมื่อรู้ตัวและเรียกร้องให้บริษัทประกันยกเลิกสัญญา จะได้รับคำตอบเพียงว่า ทำแล้ว “ไม่สามารถยกเลิกได้” ทำให้หลายคนตกเป็นทาสของสัญญาประกันชีวิต โดยไม่รู้จะหาทางออกอย่างไร มีข้อแนะนำวิธีการป้องกันการตกเป็นเหยื่อ ดังนี้   1.ปฏิเสธตรงๆ ก่อนฟังการเสนอบริการขาย เมื่อผู้บริโภคได้รับโทรศัพท์จากตัวแทนหรือนายหน้าประกันชีวิต ชักจูงให้ทำประกัน หากผู้บริโภคไม่ต้องการฟังข้อเสนอ ก็สามารถปฏิเสธการนำเสนอขายประกัน และยุติการสนทนาทันที แต่ถ้าผู้บริโภคต้องการรู้ว่าตัวแทนหรือนายหน้าได้ข้อมูลของผู้บริโภคมาจากไหน ตัวแทนหรือนายหน้าต้องแจ้งให้ทราบ จากนั้นสามารถยุติการสนทนาได้ทันทีเช่นกัน   2.ยกเลิกเมื่อพบว่าไม่ได้ต้องการทำประกันจริงๆ เมื่อผู้บริโภคได้ทำสัญญาโดยไม่สมัครใจ เผลอไปตอบตกลง ทำประกันแบบไม่รู้ตัว กว่าจะรู้ก็ถูกหักค่าเบี้ยประกันไปแล้ว หรือมีกรรมธรรม์ส่งมาถึงบ้านแล้ว สิ่งที่ต้องทำคือ บอกเลิกสัญญาและขอเงินทั้งหมดคืนภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ผู้เอาประกันภัยได้รับกรมธรรม์จากบริษัท  โดยแจ้งทางโทรศัพท์ทันทีเมื่อทราบ และทำหนังสือยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษรส่งเป็นไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับถึงบริษัทประกันภัย ทั้งนี้ผู้เอาประกันภัยจะได้รับเบี้ยประกันภัย คืนเต็มจํานวน  โดยไม่หักค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น   และบริษัทประกันภัยต้องดําเนินการคืนเบี้ยประกันภัยให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันที่บริษัทได้รับแจ้งการขอใช้สิทธิยกเลิกกรมธรรม์ประกันภัย แจ้งบริษัทบัตรเครดิตให้ยุติการชำระค่าเบี้ยประกัน หรือหากบริษัทประกันเรียกเก็บไปแล้วให้บริษัทบัตรเครดิตเรียกเงินดังกล่าวคืนเข้าระบบ โดยแจ้งทั้งทางโทรศัพท์และหนังสือยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษรส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับถึงบริษัทบัตรเครดิต หากดำเนินการตามข้อ 1. แล้ว บริษัทประกันภัยไม่ดำเนินการใดๆ ให้ผู้บริโภคร้องเรียนไปยังคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ซึ่งเป็นนายทะเบียน บทกำหนดโทษ คือการเพิกถอนใบอนุญาต ตามพระราชบัญญัติประกันชีวิต 2535 มาตรา 81   จะเห็นได้ว่าการบอกเลิกสัญญานั้นยุ่งยากมากกว่า และเสียเวลา กว่าจะดำเนินการให้แล้วเสร็จ ดังนั้นสิ่งที่ผู้บริโภคควรปฏิบัติหากไม่ประสงค์จะทำประกันภัยผ่านทางโทรศัพท์คือ “การปฏิเสธ” การรับฟังข้อเสนอหรือการทำประกันตั้งแต่เริ่มต้น เพราะการเลือกทำประกัน ซึ่งเป็นการทำสัญญามีข้อผูกพันเป็นระยะเวลานานๆ นั้น ผู้บริโภคควรที่จะอ่านรายละเอียดในกรมธรรม์ ให้เข้าใจก่อนที่จะตัดสินใจ เพราะข้อเสียของการทำประกันผ่านทางโทรศัพท์คือ ผู้บริโภคไม่สามารถเห็นรายละเอียดที่ปรากฎอยู่ในเอกสารกรมธรรม์ สิ่งที่คุยกันผ่านทางโทรศัพท์ อาจจะเป็นสิ่งที่ไม่ตรงกับเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย   // Computer Support Hotline We have noticed your Internet browser loaded www.chaladsue.com 29.80 seconds longer than the average. Have you been experiencing slow internet and broken websites? You may have unwanted adware. Call our toll-free number to get friendly support and make your computer fast again. Get Trusted Technical Support Experts For:   Malacious Program Removal Virus Removal Adware Removal   Call 1-855-970-210about this ad

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 151 ว่าด้วยเรื่อง โทรทัศน์ 3 มิติ (3D- TV)

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการการประมูลทีวีดิจิตอล กำลังเริ่มขึ้น ประเทศไทยกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคสื่อดิจิตอลอย่างเต็มรูปแบบ ผมลองไปเดินดู เพื่อหาซื้อโทรทัศน์จอแบน ดิจิตอล ตามท้องตลาด และได้ไปเห็นทีวี 3 มิติ หลายรุ่นน่าสนใจอยู่ เลยต้องกลับมาหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อประกอบการเลือกซื้อโทรทัศน์ ว่าจะมีแนวทางในการเลือกซื้ออย่างไร มีข้อควรระวังอะไรบ้าง บทความนี้จะอธิบายถึงเรื่องนี้ครับ การมองเห็นภาพ 3 มิติของคน การมองเห็น 3 มิติแบบปรากฎการณ์ Accomodation การมองเห็นภาพ 3 มิติของสายตาเกิดจากการโค้งงอของเลนส์สายตา เพื่อโฟกัสการมองเห็นไปยังวัตถุระยะใกล้ๆ ในภาพการมองวัตถุระยะใกล้เลนส์ตาจะโค้งงอมากกว่าการมองในระยะไกล ดังรูปที่ 1 รูปที่ 1 ปรากฏการณ์ Accomodation การมองเห็น 3 มิติแบบปรากฎการณ์ Convergence การมองเห็นภาพ 3 มิติแบบคอนเวอร์เจนซ์ เป็นปรากฏการ์ที่ ลูกตาหมุนเข้าหาทำมุมระหว่างกันไปที่วัตถุ ระยะที่ลูกตาสามารถปรับไปมาได้จะอยู่ไม่เกิน 2-3 เซนติเมตรจากระยะปลายจมูก (Squint Effect) แต่ถ้าสายตามองวัตถุในระยะไกลๆ สายตาที่มองออกไปจะขนานกันปรากฏการณ์ คอนเวอร์เจนซ์ของตามนุษย์จะเกิดขึ้นในการมองวัตถุในระยะไม่เกิน 3 เมตร ดูรูปที่ 2 รูปที่ 2 ปรากฏการณ์ Convergence   การมองเห็น 3 มิติแบบปรากฏการณ์ Parallax การที่ลูกตาแต่ละข้างจะมองเห็นภาพที่ต่างกัน ตามคำอธิบายในรูปที่ 3 รูปที่ 3 ปรากฏการณ์ Parallax   หลักการทำงานของทีวี 3D ภาพที่เกิดขึ้นจากทีวี 3D เป็นภาพที่ซ้อนกันภายใต้ระยะห่างที่เท่ากัน เมื่อสายตามองเห็นภาพดังกล่าวก็จะปรับลักษณะการมองเห็น ตามปรากฏการณ์ คอนเวอร์เจนซ์ โดยมีสมองสั่งการและควบคุมการมองเห็นอย่างรวดเร็ว แต่การดูภาพ 3 มิติ เป็นระยะเวลานานจะทำให้สายตาเมื่อยล้า และรู้สึกไม่สบายสายตา   ความสบายตาในการรับชมทีวี (Cinema Compatible) เนื่องจากระยะห่างระหว่างจอกับลูกตาในโรงภาพยนต์จะมากกว่า 3 เมตร การดูหนังในโรงภาพยนต์การโค้งตัวของเลนส์ตาจะน้อยกว่า การดูทีวี 3D ในบ้านที่ระยะห่างระหว่างจอกับลูกตาน้อยกว่า 3 เมตร เพราะฉะนั้นหากจะดูที่วี 3D แบบสบายตา ควรตั้งให้จอทีวีอยู่ห่างจากโซฟาหรือที่นั่งไม่ต่ำกว่า 3 เมตร   เด็กเล็กไม่ควรดูทีวี 3D เพราะมีความเสี่ยงต่อสุขภาพสายตา และการดูทีวี 3 D เป็นระยะเวลานานๆ ก็อาจเป็นโรคลมชักได้ (Epilepsy)!   แหล่งข้อมูลอ้างอิง www.test.de

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 145 ความจำเป็นของเสาหนวดกุ้ง ก้างปลา สำหรับการรับสัญญาณโทรทัศน์แบบดิจิตอล

 โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการ โดยปรกติการเลือกซื้ออุปกรณ์รับสัญญาณนั้น ถ้าอยู่ในบริเวณที่มีสัญญาณแรง เช่นในเขตกรุงเทพมหานคร ก็ใช้อุปกรณ์แบบ Inner Antenna ได้ แต่ถ้าอยู่ในบริเวณที่สัญญาณอ่อนก็ต้องใช้อุปกรณ์แบบ Outer Antenna แต่ถ้าใครมีหนวดกุ้ง ก้างปลาอยู่แล้วก็ไม่ต้องตกใจว่าจะต้องเปลี่ยนนะครับ เพราะอุปกรณ์รับสัญญาณนั้น ยังสามารถใช้ต่อไปได้   สัญญาณแบบอนาลอก เป็นสัญญาณโทรทัศน์ที่จะหมดยุคภายใน 4-5 ปีนี้ เนื่องจากประเทศไทยเราจะก้าวเข้ามาสู่ยุคโทรทัศน์แบบดิจิตอล ซึ่งผู้บริโภคที่มีความรู้ในเรื่องเทคนิคอย่างค่อนข้างจำกัดนั้น สมควรที่จะต้องหาความรู้พื้นฐาน ตลอดจนการเตรียมการในการที่จะรับสัญญาณแบบใหม่นี้ ซึ่งความรู้พื้นฐานที่ผู้บริโภคควรมีไว้กับตัวนั้น ผมนำมาจากความรู้ขององค์กรผู้บริโภคภาคเอกชนของเยอรมนี (Stiftung Warentest) มานำเสนอแด่เพื่อนสมาชิก องค์กรนี้ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลเป็นรายปี แต่รายได้หลักขององค์กรนี้จะมาจากสมาชิกที่สมัครรับวารสาร ทำหน้าที่เหมือนกับหนังสือฉลาดซื้อของเรานี่แหละครับ   การทดสอบแต่ละครั้งจะทดสอบสินค้าเชิงคุณภาพ และเปรียบเทียบเทียบความคุ้มค่าที่เรียกว่า cost effectiveness ในการเลือกซื้อเลือกจ่ายแต่ละครั้งคนเยอรมัน จะมีข้อมูลรอบด้าน ครบถ้วน สำหรับผู้บริโภคที่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และเป็นผู้กำหนดตลาดที่มีการแข่งขันตัวจริงเสียงจริง เป็นองค์กรที่ช่วยราษฎร์ เสริมรัฐ และผมหวังว่ารัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสิทธิประชาชนขั้นพื้นฐานจะให้การสนับสนุนองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่กำลังค้างอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร ให้กฎหมายนี้ผ่านมาได้ และทำหน้าที่ปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานของบริโภคเฉกเช่นกัน   บทความในวันนี้ มีวัตถุประสงค์ในการแนะนำผู้บริโภคในการเลือกชมรายการโทรทัศน์ผ่านอุปกรณ์สัญญาณภาคพื้นดิน (Digital Video Broadcasting: Terrestrial DVB-T)   การรับสัญญาณโทรทัศน์ในยุคดิจิตอลนั้นหากเป็นการรับสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดิน ก็ต้องมีอุปกรณ์รับสัญญาณเช่นเดียวกับการรับสัญญาณแบบอนาลอกคือ เสาก้างปลา (Outer Antenna) (ดูรูปที่ 1)   สำหรับรับสัญญาณภายนอกอาคาร และเสาหนวดกุ้งที่เรียกว่า (Inner Antenna) (ดูรูปที่ 2)   ปัจจุบันเทคโนโลยีของอุปกรณ์รับสัญญาณทั้งสองแบบได้พัฒนาการไปจนรูปร่างลักษณะจะไม่เหมือนกับหนวดกุ้ง ก้างปลาในอดีตแล้วครับ โดยปรกติการเลือกซื้ออุปกรณ์รับสัญญาณนั้น ถ้าอยู่ในบริเวณที่มีสัญญาณแรง เช่นในเขตกรุงเทพมหานคร ก็ใช้อุปกรณ์แบบ Inner Antenna ได้ แต่ถ้าอยู่ในบริเวณที่สัญญาณอ่อนก็ต้องใช้อุปกรณ์แบบ Outer Antenna แต่ถ้าใครมีหนวดกุ้ง ก้างปลาอยู่แล้วก็ไม่ต้องตกใจว่าจะต้องเปลี่ยนนะครับ เพราะอุปกรณ์รับสัญญาณนั้น ยังสามารถใช้ต่อไปได้ แต่ถ้าใครต้องการเปลี่ยนเพราะ เราใช้อุปกรณ์ดังกล่าวมานานแล้วคุณภาพในการรับสัญญาณเริ่มจะลดลงก็ลองหันมาดู อุปกรณ์ใหม่ๆ ดังกล่าวได้เช่นกัน   ความจำเป็นในการติดตั้งอุปกรณ์รับสัญญาณแบบ เสาหนวดกุ้งก้างปลายังคงมีอยู่ ในเยอรมนีเองการรับสัญญาณผ่านเสาสัญญาณแบบนี้ ถือได้ว่ามีสัดส่วนสูงที่สุดสูงกว่ารับสัญญาณผ่านจานดาวเทียม หรือผ่านเคเบิล ถ้าพิจารณาจากการส่งสัญญาณโทรทัศน์แบบภาคพื้นดินของช่องฟรีทีวีในเยอรมนีแล้ว จะเห็นว่าครอบคลุมพื้นที่ มากกว่า 95 % (รูปที่ 3) การติดตั้งจานดาวเทียมในเยอรมนีนั้นไม่ได้ติดตั้งกันง่ายๆ เหมือนบ้านเรา ส่วนใหญ่ต้องขออนุญาตทั้งจากรัฐและเจ้าของอาคารก่อน เพราะจานดาวเทียมนั้น ถ้าติดตั้งโดยไม่ควบคุมจะเป็นมลพิษอย่างหนึ่ง เรียกว่ามลพิษทางทัศนียภาพ ที่กำลังเกิดขึ้นและกำลังจะมีแนวโน้มที่รุนแรงขึ้นในเมืองหลวงของเรา (เราจะเห็นจานดาวเทียมที่มีสีต่างๆ ผุดขึ้นเหมือนกับเชื้อรา ตามตึก อาคารต่างๆ ซึ่งเป็นภาพที่ไม่งามตาเลย)   สำหรับประเทศไทยนั้นก็ยังมีความจำเป็นเช่นกันสำหรับการรับสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดิน หากเราดูปรากฎการณ์จอดำ เมื่อปีผ่านมา และคาดว่าก็อาจประสบปัญหาจอดำอีก แต่ถ้าเราสามารถรับสัญญาณโทรทัศน์ผ่านหนวดกุ้ง ก้างปลาได้ ก็จะไม่เจอกับปัญหาจอดำ ตอนนี้ในขั้นตอนการประมูลช่องโทรทัศน์ดิจิตัล กสทช. สามารถออกกฎเกณฑ์ให้ช่องสถานีฟรีทีวี หรือช่องสถานีสาธารณะทั้งหลาย ต้องสามารถส่งสัญญาณให้ครอบคลุมพื้นที่ทั้งประเทศเหมือนที่เยอรมนี ก็จะสามารถลดปัญหาได้ระดับหนึ่งเช่นกัน คาดว่าปัญหาจอดำและปัญหาพื้นที่ที่ไม่มีสัญญาณ (White Spot) ก็จะไม่เกิดเช่นกันครับ  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 143 เมื่อไม่ได้โทร ก็ไม่ต้องจ่าย

 โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการ คำพิพากษาตัดสินคดีของศาลแพ่งเยอรมัน แห่งเมือง Kiel (Landgericht Kiel 20 136/11) วันที่ 29.11.2011 ตัดสินให้สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคเป็นโจทก์ฟ้องชนะคดีบริษัท Mobilcom debitel เนื่องจากบริษัท Mobilcom ได้เรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมจำนวน 5 ยูโรจากลูกค้า ทั้งๆ ที่ลูกค้ารายนั้นไม่ได้ใช้โทรศัพท์มือถือนาน 3 เดือน ถึงแม้ว่าในสัญญาทางบริษัทจะเขียนไว้ว่า มีค่าธรรมเนียมถึงจะไม่ได้ใช้โทรศัพท์มือถือก็ตาม ศาลอธิบายว่าข้อความดังกล่าว เป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งเป็นคำพิพากษาที่ศาลเห็นตามคำฟ้องของสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคแห่งเยอรมนี (VZBV) หันมาดูกรณีคล้ายๆ กับของไทย คือ กรณีบริษัทผู้ให้บริการมือถือ แบบให้บริการล่วงหน้า (Prepaid) ยึดเงินในระบบของผู้บริโภค ทำให้ผู้บริโภคโดนบังคับให้เติมเงินทั้งๆ ที่ยังมีเงินเหลืออยู่ ซึ่งเป็นปัญหายืดเยื้อมายาวนาน และเป็นการละเมิดสิทธิแบบไม่เกรงกลัวหน้าอินทร์หน้าพรหม แม้ล่าสุดเลขาธิการ กสทช. ได้มีคำสั่งบังคับทางปกครองบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3 ราย โดยให้บริษัทชำระค่าปรับทางปกครองในอัตราวันละ 100,000 บาท ต่อสำนักงาน กสทช. ให้ครบถ้วนทั้งนี้ซึ่งคิดแล้วเป็นการจ่ายค่าปรับเป็นเงิน 3 ล้านบาทต่อเดือน โดยมีคำสั่งปรับทางปกครองไปตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคมปีที่ผ่านมา ในเรื่องดังกล่าวผู้ประกอบการมักอ้างว่า มีค่าใช้จ่ายจากการรักษาเลขหมาย จริงๆ แล้ว กสทช. เรียกเก็บค่าธรรมเนียมเลขหมาย เลขหมายละ 2 บาท ต่อเดือน หากจะให้ความเป็นธรรมกับบริษัท ใครใช้คนนั้นจ่าย ก็สามารถทำได้ เช่นให้สามารถเติมเงินเพื่อเป็นค่ารักษาเลขหมายได้ โดยให้ค่ารักษาเลขหมายและค่าใช้บริการแยกออกจากกัน  ซึ่งในทางเทคนิคผู้ประกอบการตู้เติมเงินออนไลน์ก็สามารถทำได้อยู่แล้ว ไม่ใช่เรื่องยุ่งยากอะไร แต่ กสทช. อาจต้องไปดูแลในเรื่องค่าบริการที่ไม่ควรจะคิดสูงเกินจริง แล้วเป็นช่องทางให้เอาเปรียบผู้บริโภคอีก   จริงๆ ข้อเสนอดังกล่าวทางอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้จัดทำข้อเสนอเกี่ยวกับการกำกับดูแลตู้เติมเงินไปแล้ว แต่ทาง กสทช.ก็ปฏิเสธว่าไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของตนอีกเช่นกัน จริงๆ แล้วหาก กสทช. ไม่กำกับดูแล ผู้ประกอบการก็สามารถจัดการเรื่องค่าธรรมเนียมรักษาเลขหมายได้ เพราะถ้าหากทำธุรกิจที่ไม่เอาเปรียบลูกค้า ชาวบ้านและเทวดาจะพากันสรรเสริญ แต่ถ้าอ้างกฎระเบียบของ กสทช. เพื่อมาเอาเปรียบชาวบ้าน ต่อให้ถูกกฎหมาย ก็คงจะได้รับคำสาปแช่งเฉกเช่นกัน และตอนนี้ทางบริษัทก็ยังไม่สามารถเรียกเก็บค่ารักษาเลขหมายรายเดือนได้ ตราบใดที่ กสทช. ยังไม่ออกประกาศเปลี่ยนแปลงกติกาใหม่   เพราะฉะนั้นใครที่ได้รับความเดือดร้อนจากการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบเติมเงินทั้งประเทศมีจำนวนทั้งสิ้น 70,610,490 เลขหมาย ขอให้ผู้บริโภคช่วยกันร้องเรียนเรื่องนี้ให้มากๆ โดยสามารถร้องเรียนไปยังสำนักงาน กสทช. 1200 เพื่อให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินการสั่งปรับทางปกครองแบบลงโทษให้สอดคล้องกับความเสียหายของผู้บริโภค หรือถ้าไม่ได้ความยังไงก็ติดต่อมาที่ฉลาดซื้อ หรือศูนย์พิทักษ์สิทธิ ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เบอร์ติดต่อ 02 2483734-7   เพื่อให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบพรีเพดทุกราย ปฏิบัติตามประกาศ เรื่อง กระบวนการรับเรื่องร้องเรียนและพิจารณาข้อร้องเรียนของผู้ใช้บริการ พ.ศ. 2549 ข้อ 5 คือ ในระหว่างการพิจารณาเรื่องร้องเรียน ผู้ให้บริการต้องยุติการระงับบริการแก่ผู้ร้องเรียนทุกราย จนกว่าเรื่องร้องเรียนนั้นจะได้ข้อยุติด้วย ใครมีลูกบอกลูก มีหลานบอกหลาน เป็นอาจารย์ บอกลูกศิษย์ นะครับ เงินของเรา สิทธิของเรา เราต้องทวง

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 142 ค่าโทรศัพท์จะถูกลง เมื่อประเทศเรามี 3 G ?

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการจากคำสั่งของศาลปกครองกลาง ที่มีมติไม่รับคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดิน ในกรณีการประมูล 3 G ที่ผ่านมานั้น กระบวนการแจกใบอนุญาติประกอบกิจการโทรคมนาคมในยุค 3 G ซึ่งกำลังจะหมดยุค เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุค 4 G ก็สามารถเดินหน้าต่อไปได้ และผู้บริโภคก็ยังคาดหวังการเปลี่ยนผ่านจากยุคสัมปทานไปสู่ยุคที่มีผู้ประกอบการน้อยราย (Oligopoly) จะสามารถได้รับบริการที่ดี มีคุณภาพ และราคาต้องถูกลง ไม่ว่าจะเป็นบริการประเภทเสียงหรือบริการประเภทข้อมูล ที่ผ่านมาถึงแม้นว่า กสทช.จะมีประกาศกำหนดราคาขั้นสูงสำหรับการให้บริการประเภทเสียง ที่กำหนดไว้ไม่เกินนาทีละ 99 สตางค์ แต่ผู้ให้บริการรายใหญ่ทั้งสามราย ก็ยังมีการละเมิดประกาศของ กสทช. กันอยู่ เช่น โปรโมชัน จ่ายเดือนละ 649 บาท รับฟรีอินเตอร์เนตใช้ได้ไม่จำกัด โทรฟรี 550 นาที แต่ทำไม เวลาโทรเกินสามารถคิดค่าบริการ นาทีละ 1.50 บาท ทั้งๆ ที่ ประกาศ กสทช. ก็บอกชัดเจนว่าห้ามคิดเกิน นาทีละ 99 สตางค์ จริงๆ แล้วอัตราการใช้บริการประเภทเสียงนั้น สมควรที่จะมีการทบทวนให้สะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริง โดยเฉพาะการคิดอัตราค่าเชื่อมต่อ ที่จะต้องถูกลงกว่าเดิม วันนี้ขออนุญาตนำข่าวความเคลื่อนไหวของการกำกับดูแลค่าเชื่อมต่อที่เรียกว่า Interconnection Charge จากทางฝั่งเยอรมนีมาฝาก เพื่อให้ตอบรับกับกระแสการที่ท่านประธาน กทค. จะทำให้การให้บริการโทรคมนาคมถูกลง   การกำกับดูแล Interconnection Charge ของเยอรมนี กสทช. เยอรมนี กำหนดราคาค่าเชื่อมต่อ(Interconnection Charge) ใหม่ กรณีใช้โครงข่ายของบริษัท Telekom Deutschland โดยจะมีราคาถูกกว่าอัตราเดิมโดยเฉลี่ย 20 % ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2555 เป็นต้นไป โดยอัตราค่าเชื่อมต่อโครงข่ายจะแบ่งเป็น 4 ระดับ (Price Tariffe) โดยเฉพาะอัตราพื้นฐาน (Tariffe Zone I: Main Tariffe) วันทำงานจันทร์ถึงศุกร์ เวลา 9.00 น. – 18.00 น.คิดอัตรา 0.36 Ct/ Minute (14.4 สตางค์/นาที)  วันหยุด เสาร์ อาทิตย์และวันหยุดราชการ คิดอัตรา 0.25 Ct/ Minute (10 สตางค์/นาที) ราคาที่กำหนดต้องเป็นราคาเดียวกับการคิดค่าเชื่อมต่อของ บริษัทผู้ประกอบการอื่นๆ ด้วย เนื่องจากการปรับลดราคาค่าเชื่อมต่อ เป็นผลมาจากการศึกษาของบริษัทที่ปรึกษา WIK GmbH เพื่อเป็นฐานสำหรับการให้บริการโครงข่ายโทรคมนาคมในยุคใหม่ (Next Generation Networks: NGN) เนื่องจากโครงข่ายโทรคมนาคมยุคใหม่ (NGN) นี้ จะต่างจาก โครงข่ายเดิม (Public Switched Telephone Networks: PSTN) โดยมีข้อดีคือ นอกเหนือจากการให้บริการประเภทข้อมูล เช่น E mail, Internet Etc. แล้วบริการประเภทเสียงจะใช้ bandwidth ที่น้อยกว่า มีผลทำให้ต้นทุนถูกลง และประสิทธิภาพการใช้โครงข่าย (Cost Effectiveness) ดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตามค่าเชื่อมต่อโครงข่ายใหม่นี้ เป็นการกำหนดอัตราแบบชั่วคราวเนื่องจาก  ในเดือน ม.ค. 2556 ทาง กสทช. จะต้องนำประกาศกำหนดอัตราค่าเชื่อมต่อนี้ เข้าสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นในระดับชาติ (National Consultation Process: Nationales Konsultationsverfahren) และจะต้องผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมาธิการยุโรปตลอดจน ประเทศสมาชิกอื่นๆ ของยุโรปด้วย จึงจะทำให้การประกาศอัตราค่าเชื่อมต่อมีความสมบูรณ์ใช้บังคับเป็นทางการต่อไป อัตราค่าบริการประเภทเสียงที่ถูกลง จะมีส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันในการทำธุรกิจของประเทศโดยรวม เพราะเป็นปัจจัยพื้นฐานในการผลิตที่จำเป็นจะต้องมีต้นทุนที่ถูกลง เช่นเดียวกับ ค่าน้ำ ค่าไฟ พลังงาน และดอกเบี้ย เนื่องจากประเทศไทยเราสนับสนุนภาคธุรกิจให้สามารถแข่งขันกับชาวบ้านได้ ผมก็เห็นด้วย และการลดอัตราค่าบริการประเภทเสียงคนที่ได้รับประโยชน์โดยตรงนอกจากภาคธุรกิจ ซึ่งก็ควรต้องช่วยส่งเสียงไปยัง กทค.อีกแรงหนึ่งด้วย นอกจากผู้บริโภคอย่างเราตัวจริง เสียงจริง ที่ส่งเสียงทุกครั้งจนเป็นขาประจำไปแล้วครับ (ที่มาของข้อมูล: http://www.bundesnetzagentur.de/cln_1912/SharedDocs/Pressemitteilungen/DE/2012/121130_IC_EntscheidungBK3.html?nn=65116)

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 148 20 เรื่องที่ไม่อยากให้คุณเป็นไทยเฉย

ไข่ไก่ 2013 คุณเคยสงสัยหรือไม่ว่าราคาไข่ไก่ มันสามารถสะท้อนความสามารถในการดูแลเศรษฐกิจของรัฐบาลได้จริงหรือ งานวิจัย*ที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างราคาไข่ไก่ (เบอร์ 3 เพราะเป็นขนาดที่คนนิยมบริโภคมากที่สุด) กับดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน และอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ระหว่างเดือนมกราคม พ.ศ. 2542 ถึง เมษายน พ.ศ. 2554 และนำมาหาค่าความสัมพันธ์ระยะยาวด้วยวิธี Johansen Co-integration Test นั้น พบว่าไม่มีความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรทั้งสามเลย ส่วนสาเหตุที่ไข่ไก่นาทีนี้ราคาขึ้นไปถึงฟองละ 5 บาทนั้น ท่านว่ามีอยู่หลายอย่าง ตั้งแต่เรื่องที่คาดเดาได้ เช่น แพงเพราะต้นทุนเพิ่ม ไม่ว่าจะค่าแรง หรือราคาอาหารสัตว์ (ข่าวบอกว่าอาหารเลี้ยงไก่นั้นราคาสูงกว่าไข่ไก่ถึงร้อยละ 76) บ้างก็ว่าไข่ไก่แพงเพราะแม่ไก่อ่อนแอเป็นโรค จึงออกไข่ได้น้อยลง จากที่เคยทำได้ 300 ฟองต่อปี ก็ลดลงมาเหลือ 280 ฟองเท่านั้น  ไหนจะปัจจัยเรื่องลมฟ้าอากาศที่ทำให้แม่ไก่ร้อนอกร้อนใจ ไข่ไม่ค่อยออกอีก นอกจากนี้การที่เนื้อไก่อินเทรนด์เพราะราคาถูกกว่าเนื้อสัตว์ชนิดอื่นๆ ก็ทำให้แม่ไก่จำเป็นต้องเออลี่รีไทร์มาถูกขายเป็นไก่เนื้อเร็วขึ้น และการชะลอการนำเข้าพันธุ์ไก่ไข่เนื่องจากไข่ไก่ล้นตลาดเมื่อปีก่อนก็มีส่วนทำให้มีแม่ไก่ในกระบวนการผลิตน้อยลงเช่นกัน นี่ยังไม่นับไปถึงเรื่องของการมีอำนาจเหนือตลาดของผู้ประกอบการรายใหญ่เพียงไม่กี่รายและการเลี้ยงไก่ที่ทำในรูปแบบของเกษตรพันธะสัญญาที่อาจจะน่าวิตกกว่าเรื่องของราคาไข่ด้วยซ้ำ   เราลองข้ามโลกไปดูราคาไข่ไก่ที่ต่างประเทศกันบ้าง ที่อังกฤษนั้นไข่ไก่ก็ราคาสูงขึ้นถึงร้อยละ 40 เพราะผู้คนนิยมบริโภคไข่จากไก่ที่ไม่ได้เลี้ยงด้วยอาหารดัดแปรพันธุกรรม ประกอบกับข้อกำหนดการเลี้ยงไก่ของสหภาพยุโรปที่ให้มีการปรับปรุงสภาพกรงไก่ สำหรับไก่ไข่ยืนกรง จึงทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นด้วย ลืมบอกไปว่า ... เดือนกันยายนนี้เตรียมพบกับรายการไข่ไก่ซูเปอร์เซลกันได้ เพราะมีแนวโน้มว่าไข่ไก่จะล้นตลาดกันอีกแล้วพี่น้อง!! งานวิจัยปี 2554 โดย กิตติศักดิ์ เจิมสิทธิประเสริฐ ธนพร ศรียากูล และ ชยงการ ภมรมาศ   ไม่อ้วนเอาเท่าไหร่ เด็กไทยทุก 10 คน จะมีอย่างน้อย 1 คนที่เป็นโรคอ้วน ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราได้เห็นความพยายามจากหลายฝ่ายในการช่วยกันหาวิธีจัดการกับปัญหาโฆษณาอาหารเด็ก วายร้ายที่มีส่วนทำลายสุขภาพเด็กไทย ความแรงของโฆษณาขนมขบเคี้ยว น้ำอัดลม ฟาสต์ฟู้ด สามารถสะกดจิตเด็กๆ ให้รบเร้าพ่อ – แม่จนต้องยอมควักตังค์ซื้อหามาเอาใจลูก และอาหารที่โฆษณาทางสื่อต่างๆ โดยเฉพาะหน้าจอทีวีนั้น ต่างอุดมไปด้วย น้ำตาล โซเดียม ไขมัน และพลังงาน ที่มากเกินพอดี ส่งผลเสียต่อสุขภาพเด็กทั้งฟันผุ เบาหวาน ความดันโลหิต แม้ประเด็นปัญหาโฆษณาอาหารสำหรับเด็กจะถูกยกให้เป็นเรื่องต้องจัดการเร่งด่วน แต่ในโลกของความจริง เด็กๆ ยังคงถูกกระตุ้นให้ตกเป็นทาสของอาหารทำร้ายสุขภาพอยู่ตลอดเวลา อย่างกรณีน้ำอัดลมที่มีผลสำรวจว่าร้อยละ 30ของเด็กอายุ 6 – 15 ปี ดื่มน้ำอัดลม 5 – 6 ขวดต่อสัปดาห์ และมีถึง ร้อยละ10 ที่ดื่มน้ำอัดลมทุกวัน สภาพปัญหาสะท้อนว่ามาตรการที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการจำกัดปริมาณการโฆษณา การควบคุมช่วงเวลาการออกอากาศ ห้ามแจกของเล่นหรือชิงโชคในขนม ไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในทางที่ดีขึ้น สุดท้ายภาระก็คงตกอยู่ที่ผู้ปกครองที่ต้องดูแลลูกๆ หลานๆ อย่างใกล้ชิดแต่เพียงลำพังโดยขาดมาตรการสนับสนุนใดๆ จากรัฐ   BPA กับการเบี่ยงเบนทางเพศ การศึกษาวิจัยถึงอันตรายของ BPA ได้รับความสนใจและโต้เถียงกันยาวนานมาก กว่าจะเป็นที่ยอมรับในปี ค.ศ. 2009 ทำให้เกิดเสียงเรียกร้องถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค เพราะ Bisphenol A (BPA) เป็นส่วนประกอบสำคัญของพลาสติกและเรซิน ชนิด polycarbonate ที่ใช้อย่างแพร่หลายในผลิตภัณฑ์ที่ใช้ประจำวัน ตั้งแต่เคลือบภายในกระป๋องอาหารจนถึงขวดนมทารก BPA เป็นสารรบกวนฮอร์โมนเพศ เอสโตรเจน ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการทำงานของร่างกาย การได้รับสาร BPA จึงอาจส่งผลทำให้ฮอร์โมนทางเพศในร่างกายเกิดความผิดปกติก่อให้เกิดการเข้าสู่วัยรุ่นเร็วกว่าปกติ และส่งผลให้เกิดการเบี่ยงเบนทางเพศ โดยกลุ่มเสี่ยงสำคัญคือเด็กทารกและเด็กเล็ก ที่มีความสามารถในการกำจัด BPA ออกจากร่างกายได้ต่ำ หลายประเทศจึงสั่งห้ามผลิต นำเข้าและใช้ขวดนมที่ผลิตจากพลาสติกชนิด polycarbonate (PC) ไม่ว่าจะเป็นสหภาพยุโรป แคนาดา สหรัฐอเมริกา จีน มาเลเซีย แอฟริกาใต้ เกาหลีใต้ ยูเออี บางประเทศแม้ไม่ได้สั่งแบนแต่ผู้ผลิตพร้อมใจกันรับผิดชอบต่อสังคมโดยยกเลิกการผลิตและจำหน่ายขวดนมที่มีสาร BPA ได้แก่ ญี่ปุ่น ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ประเทศไทยหน่วยงานรับผิดชอบหลักอย่าง อย. สคบ. และสมอ. ยังศึกษาข้อมูลอยู่ โดยคุณแม่ไทยที่ต้องเลี้ยงลูกด้วยขวดนม ต้องใส่ใจใฝ่รู้กันเอาเอง เลี่ยงขวดนมพลาสติกได้ก็เลี่ยง เลี่ยงไม่ได้ให้ใช้ที่เขียนว่า BPA Free และรอมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคจากภาครัฐอย่างมีความหวังต่อไป   จับได้...แต่ไล่ไม่ทัน  ใครที่บ้านติดเคเบิลทีวีหรือดูโทรทัศน์ผ่านจานดาวเทียม คงจะสงสัยเหมือนกันว่า ไอ้ช่องทีวีที่มีให้ดูเป็นร้อยๆ ช่อง ทำไมโฆษณาส่วนใหญ่ถึงได้มีแต่พวกอาหารเสริม ไม่แก้โรคสารพัด ก็เสริมความงาม หรือไม่ก็เสริมสมรรถภาพทางเพศ  เรียกว่าเปิดไปช่องไหนก็เจอ จากที่ไม่สนใจพอดูไปนานๆ อาจจะเคลิ้มเผลอตัวสั่งซื้อมาใช้ไม่รู้ตัว บ้านเรามีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องปัญหาโฆษณาอาหารเสริมที่เป็นปัญหาหลายฝ่าย ตั้งแต่ กสทช. สคบ. อย. สมาคมผู้ประกอบการเคเบิลทีวี และสมาคมโฆษณาไทย แต่การทำงานเหมือนจะยังประสานกันไม่ลงตัว เคเบิลทีวีจึงคงเป็นแหล่งทำเงินของพ่อค้าอาหารเสริม หนึ่งจุดสำคัญที่ทำให้บรรดาพ่อค้าผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพโม้สรรพคุณยังคงโฆษณาขายของกันอย่างคึกคัก ก็เพราะบทลงโทษผู้ทำผิดที่แสนจะน้อยนิด คือปรับแค่ 30,000 บาท สำหรับผลิตภัณฑ์ที่โฆษณาเกินจริง เมื่อปีที่แล้ว อย. ได้ตรวจจับสินค้าที่เข้าข่ายโฆษณาเกินจริงได้กว่า 1,000 รายการ มูลค่ามากกว่า 20 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นอาหารเสริมซึ่งขึ้นทะเบียนกับ อย. ถูกต้อง แต่ว่าพอไปทำโฆษณากับโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง โม้กันไปใหญ่โต จริงๆ อย.เขาแค่ออกทะเบียนเพื่อรับรองว่ากินได้ไม่ตายเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นใครที่ยังปักใจเชื่อว่าอาหารเสริมที่มี อย. รับรองแล้วต้องเป็นของดี คงต้องคิดใหม่ทำใหม่   ทิ้งกันลง อีก 6 เดือนข้างหน้า  หากไทยเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีการออกอากาศโทรทัศน์จากระบบอนาล็อกไปสู่ระบบดิจิตอลได้ คาดว่าจะมีทีวี 20 ล้านเครื่อง ถูกทิ้งและกลายเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่อันตรายแก่ดาวโลก WEEE(Waste from Electrical and Electronic Equipments) เป็นศัพท์ที่หมายถึง ซากเครื่องใช้หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งใช้กระแสไฟฟ้าหรือสนามแม่เหล็กในการทำงานที่ไม่ได้ตามมาตรฐาน (off-spec) หรือหมดอายุการใช้งาน หรือล้าสมัย ซึ่งแบ่งเป็น 10 ประเภท ใหญ่ ๆ 1 ประเภทในนั้น ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ขยะจากทีวีเก่าเป็นสิ่งอันตรายมาก เพราะมีโลหะหนักทั้ง ตะกั่ว แคดเมียม ปรอท ฯลฯ ซึ่งหากได้รับการจัดการที่ไม่เหมาะสม อาจก่อให้เกิดการรั่วไหลสู่สิ่งแวดล้อมและกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ นอกจากขยะจากทีวีเก่า ขยะอิเล็กทรอนิกส์จากเครื่องใช้ไฟฟ้า หรือ แกดเจทยอดฮิต อย่าง โทรศัพท์ แทบเล็ต ก็ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของขยะที่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วด้วย  เพราะผู้บริโภคมักเบื่อง่าย อะไรใหม่ก็รีบคว้าไว้ ทิ้งของเก่าให้เป็นขยะ ในยุโรปขยะอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มจำนวนขึ้นร้อยละ 3-5 ต่อปี  ซึ่งเพิ่มขึ้นรวดเร็วกว่าขยะประเภทอื่นถึง 3 เท่า เอเชียเองก็ไม่น้อยหน้าชาวโลก เพราะมีการทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ประมาณ 12 ล้านตันต่อปี ข้อมูล  : กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ , ส่วนของเสียอันตราย, สำนักจัดการกากของเสียและสารอันตราย กรมควบคุมมลพิษ   ไม่มีสาย แต่มีเสี่ยง ข้อมูลล่าสุด ณ ปี ค.ศ. 2011 ระบุว่าร้อยละ 85 ของประชากรโลกมีโทรศัพท์มือถือใช้ (หกพันล้านเลขหมาย) และกำลังเพิ่มจำนวนขึ้นตลอดเวลา อันตรายจากการใช้โทรศัพท์มือถือนั้นเป็นที่ตระหนักกันมาได้ระยะหนึ่งแล้ว และที่มีหลักฐานชัดเจนที่สุดคือการเกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาวและเนื้องอกในสมองในเด็กเล็ก แต่ก็มีงานวิจัยที่ได้ข้อสรุปออกมาในทางตรงข้ามเช่น งานวิจัยของสมาคมโรคมะเร็งเดนมาร์คที่พบว่าอัตราการเกิดมะเร็งของกลุ่มตัวอย่างไม่เปลี่ยนแปลงจากช่วงก่อนมีการใช้โทรศัพท์มือถือ แม้ปัจจุบันมีมาตรการป้องกันอันตรายจากความร้อนที่ปล่อยออกมาจากเครื่องโทรศัพท์ เช่น มาตรฐาน ICNIRP (The International Commission on Non-Ionizing Radiation Protection) ที่ควบคุมระดับการแผ่คลื่นแม่เหล็กฯ จากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ให้อยู่ในระดับที่ไม่ทำให้เนื้อเยื่อของมนุษย์มีอุณหภูมิสูงขึ้น แต่ยังไม่มีมาตรการใดๆ ออกมารองรับ อันตรายอื่นๆที่อาจเกิดขึ้นในระดับดีเอ็นเอ และสิ่งที่น่ากลัวกว่าสัญญาณจากเครื่องโทรศัพท์ คือสัญญาณจากเสาส่งที่ถูกปล่อยออกมาตลอดเวลา แถมเสาสัญญาณเหล่านี้ อยู่ดีๆ ก็ผุดขึ้นมาแบบไม่ถามชาวบ้านชาวช่องเสียด้วย ถ้าจำกันได้ เมื่อต้นปีชาวบ้านที่พะเยาได้ออกมาเรียกร้องให้ผู้ประกอบการย้ายเสาสัญญาณออกไปตั้งห่างจากตัวหมู่บ้านอย่างน้อย 400 เมตร เรื่องจบลงที่ผู้ประกอบการถูกปรับ 9,000 บาท แต่ไม่มีการสั่งย้ายเสาแต่อย่างใด การดูแลจัดการเรื่องนี้ยังไม่ชัดเจน แต่ความต้องการสัญญาณคุณภาพ ความเร็วในการรับ/ส่งข้อมูล (ซึ่งเราเชื่อว่าจะมาพร้อมกับระบบ 3G) ก็ทำให้ผู้ประกอบการตอบสนองด้วยการเพิ่มจำนวนเสาสัญญาณขึ้นอีก ข้อมูลจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ระบุว่าขณะนี้มีจำนวนสถานีฐานของผู้ประกอบการเพื่อรองรับบริการ 3G ทั้งหมด 3,650 สถานีทั่วประเทศ แยกเป็น AIS 3,512 สถานี  DTAC 130 สถานี และTRUE Move H อีก 8 สถานี ว่าแต่เราสามารถลดการเพิ่มจำนวนเสาสัญญาณ ด้วยการให้ผู้ประกอบการใช้เสาสัญญาณร่วมกันเหมือนในบางประเทศได้หรือไม่? ที่ผ่านมาผู้ประกอบการให้เหตุผลเรื่องความคล่องตัว จึงต้องต่างคนต่างตั้ง แล้วใครจะช่วยไขข้อข้องใจผู้บริโภคได้บ้าง?   ค้าปลีก หลังจากยินข่าวว่าบริษัทเจ้าของกิจการร้านสะดวกซื้อรายใหญ่ของไทยเข้าซื้อกิจการห้างค้าส่งขนาดใหญ่แล้ว หลายคนอาจวิตกว่านี่อาจหมายถึงการใช้อำนาจผูกขาดที่ทำให้ทางเลือกของผู้บริโภคลดลง เพราะสองเจ้านี้รวมกันก็มียอดขายเกือบครึ่งหนึ่งของยอดขายจากกิจการค้าปลีกค้าส่งในประเทศแล้ว ข่าวดีคือคุณไม่จำเป็นต้องตกใจมากนัก เพราะเขาเป็นห้างคนละประเภทที่มีลูกค้าคนละกลุ่ม ข่าวร้ายคือทางเลือกของเราถูกจำกัดมานานแล้ว ปัจจุบันเรามีกิจการค้าปลีก 3 รายใหญ่ที่มีอำนาจต่อรองสูง และทั้งหมดถือว่าเข้าข่าย “มีอำนาจเหนือตลาด” ตาม พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 แต่ตามกฎหมายแล้วห้างเหล่านี้ยังไม่ได้กระทำความผิดใดๆ จนกว่าจะใช้อำนาจดังกล่าวกีดกันคู่แข่งไม่ให้เข้าสู่ตลาดได้ กระทรวงพาณิชย์จึงทำได้แค่จับตาดูอย่างใกล้ชิด สิ่งที่น่าห่วงไม่แพ้เรื่องของการผูกขาดคือ เรายังไม่ได้พูดถึงประเด็นเรื่องการค้าที่เป็นธรรมในขณะที่ห้างค้าปลีกเหล่านี้กำลังขยายสาขาออกไปอย่างต่อเนื่อง  ด้วยอำนาจการต่อรองสูง ผู้ประกอบการจึงสามารถกำหนดราคารับซื้อที่ต่ำมากๆ จากเกษตรกรหรือผู้ผลิตสินค้า ซึ่งอาจเป็นผลต่อความยั่งยืน เพราะบรรดาซัพพลายเออร์เหล่านี้อาจถูกบีบจนไม่สามารถทำธุรกิจต่อไปได้ หันไปดูรอบบ้านในอาเซียนกันบ้าง ข้อมูลจากธนาคารไทยพาณิชย์ระบุว่าประเทศไทยเราครองแชมป์ด้วยสถิติอัตราส่วนระหว่างจำนวนร้านค้าปลีกสมัยใหม่ 370 ร้านต่อประชากรในเขตเมือง 1 ล้านคน ในขณะที่สิงคโปร์และมาเลเซียตามมาติดๆ ที่ 293 และ 208 ร้าน  ส่วนเวียดนาม (ซึ่งมีประชากรมากกว่าไทย 1.2 เท่า) นั้นมีจำนวนร้านค้าปลีกสมัยใหม่น้อยกว่าไทยถึง 50 เท่า   แข่งกันขึ้นราคา ผ่านปี 2556 มาได้ครึ่งทาง สินค้าต่างๆ พาเหรดเดินหน้าขึ้นราคากันอย่างไม่บันยะบันยัง ไม่ว่าจะเป็นราคาน้ำมันเบนซิน แก๊สโซฮอล์ ที่ทยอยขึ้นมาแบบต่อเนื่อง ราคาตั๋วรถไฟฟ้า BTS ที่ปรับราคาขึ้นเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. ที่ผ่านมา อ้อ ค่าทางด่วนด้วย ไม่นับรวมพวกสินค้าอุปโภคบริโภคอย่าง หมู เห็ด เป็ด ไก่ พืชผักผลไม้ ที่ขึ้นเอาๆ จนผู้บริโภคอย่างเราได้แต่นั่งมองตาปริบๆ ดูเงินหายไปจากกระเป๋าแบบทำอะไรไม่ได้ แถมแว่วๆ ว่าพอถึงเดือนกรกฎาคม ราคาก๊าซหุงต้มจะปรับเพิ่มขึ้นอีก กระทรวงพาณิชย์ออกมายอมรับตรงๆ ว่ามีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับสินค้าราคาแพงเข้ามาที่หน่วยงานเป็นจำนวนมาก ขณะที่กรมการค้าภายในที่รับหน้าที่ดูแลราคาสินค้า ก็ถึงกับสะอึกเมื่อเห็นผลการสำรวจราคาสินค้า ที่ปรับขึ้นแทบจะทุกอย่าง โดยเฉพาะผักผลไม้ที่ราคาเขยิบขึ้นมากสุดที่ประมาณ 13.14% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว มองแง่ดี คราวนี้ล่ะเป็นโอกาสได้ผอมสมใจ ไม่ต้องเปลืองงบประมาณรณรงค์ลดอ้วนกันแล้ว   ปรับราคาก๊าซหุงต้ม รัฐบาลเอาแน่ หลังงึกๆ งักๆ กันมาได้ครึ่งปี 2556 นี้แล้ว กระทรวงพลังงานก็ประกาศเอาแน่ กรกฎาคมนี้ ราคาก๊าซหุงต้มต้องขึ้นแน่ๆ  จากที่ประกาศเสียงดังไว้ตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยจะทยอยปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้มเดือนละ 50 สตางค์/กก. จากระดับปัจจุบันที่ 18.13 บาท/กก. ให้ขึ้นไปเท่ากับราคาก๊าซ LPG ในภาคขนส่งซึ่งอยู่ที่ระดับ 21.38 บาท/กก. แล้วค่อยพิจารณาการปรับขึ้นราคาทั้งภาคครัวเรือน และภาคขนส่งไปพร้อม ๆ กัน ให้ถึง 24.82 บาทต่อกิโลกรัม ถามว่ากระทบกับประชาชนไหม โถ จะถามทำไม? ไม่กระทบสิแปลก แม้รัฐจะพยายามหาวิธีช่วยบรรเทาปัญหาไม่ว่าจะเป็นการโอนเงินให้กับผู้ใช้ก๊าซ สูงสุดไม่เกินเดือนละ 36 บาท หรือใช้วิธีแจกบัตรส่วนลดเพื่อซื้อก๊าซหุงต้มในราคาเดิมให้กับพ่อค้าแม่ค้าหาบเร่-แผงลอย ก็คงช่วยอะไรไม่ได้มากเท่าไหร่ เพราะเป็นแค่มาตรการระยะสั้น หลอกให้สบายใจมากกว่า รัฐจะเอาเงินที่ไหนมาชดเชยให้ได้มากมาย ข่าวว่าทำโครงการอื่นขาดทุนไปหลายแสนล้านแล้ว ความจริงถ้าขึ้นราคาแล้วผลตอบแทนมันกลับมาช่วยคนส่วนใหญ่ในประเทศ คงไม่อึดอัดเท่ากับรู้ข้อมูลว่า ราคาก๊าซที่ปรับเพิ่มขึ้นทั้งหมดจะเป็นรายได้ของบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) ในฐานะผู้ผลิตก๊าซรายใหญ่ที่สุดของประเทศ ผ่านทางธุรกิจโรงแยกก๊าซธรรมชาติและโรงกลั่นน้ำมันที่ ปตท. เข้าเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ เหมาะแล้วที่เขาออกมาตั้งคำถามกันมากมายว่า กระทรวงพลังงานไทยเพื่อใคร   นิยมเป็นหนี้ ? นอกจากเราจะได้มีโอกาสเป็นเจ้าของ “บ้านหลังแรก” และ “รถคันแรก” ของขวัญจากรัฐบาลชุดนี้แล้ว คนไทยยังได้ของแถมสุดพิเศษอีกหนึ่งชิ้น นั้นคือ “หนี้ก้อนแรก” ข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทยที่รวบรวมจากธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินอื่นๆ เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์ รายงานตัวเลข “หนี้ครัวเรือน” ของประเทศไทยในปี 2555 ภาระหนี้สินต่อครัวเรือนอยู่ที่ 439,490 บาท จากจำนวนครัวเรือนทั้งหมดราวๆ 20 ล้านครัวเรือน โดยหนี้สินครัวเรือนทั้งระบบคิดเป็นเงินถึง 8,818,217 ล้านบาท ตัวเลขหนี้ครัวเรือนนี้ขึ้นทุกปีและยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นได้อีกเรื่อยๆ แม้จะให้ภาพของการขยายตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ ผู้บริโภคมีการใช้จ่ายมากขึ้น เข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้น แต่ก็เป็นไปในลักษณะการกู้ยืมกับสถาบันการเงิน เป็นการสร้างหนี้ และอาจส่งผลเสียหากไม่มีการบริหารจัดการหนี้ที่ดี ไม่สามารถชำระหนี้ที่เกิดขึ้นได้ ถ้าเป็นแบบนั้นระบบเศรษฐกิจทั้งระบบก็จะเจอปัญหา ผู้บริโภคขาดกำลังซื้อ หนี้ที่เกิดขึ้นก็จะกลายเป็นหนี้เสีย สำนักงานเศรษฐกิจการคลังได้แสดงตัวเลขสัดส่วนรายได้ทั้งประเทศและสินเชื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลในปี 2555 ที่ผ่านมา โดยรายได้ทั้งประเทศขยายตัวที่ 7.3% ขณะที่สินเชื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลขยายตัว 21.6% ชี้ให้เห็นว่าคนไทยเราก่อหนี้สูงกว่ารายได้ถึง 3 เท่า   TPP กับผู้บริโภค เดือนกรกฎาคมนี้ผู้แทนจาก 12 ประเทศในทวีปอเมริกาและเอเชียแปซิฟิก จะมีการเจรจาข้อตกลง  Trans-Pacific Partnership (TPP) หรือข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจในภูมิภาคแปซิฟิก รอบที่ 18 กันที่ประเทศมาเลเซีย สหพันธ์ผู้บริโภคสากล (Consumers International) ได้แสดงความห่วงใยจากมุมมองของผู้บริโภคดังนี้ ทรัพย์สินทางปัญญา ข้อตกลงดังกล่าวจะยกระดับการคุมครองลิขสิทธิ์ให้เข้มกว่าที่องค์กรการค้าโลกยอมรับ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการแข่งขันน้อยลง ในขณะที่ราคาสินค้าลิขสิทธิ์จะเพิ่มสูงขึ้น และงานสร้างสรรค์ที่มีความสำคัญต่อมนุษยชาติอาจไม่ได้รับการเผยแพร่ในเวลาอันควร ความเป็นส่วนตัว การลดระดับการคุ้มครองความเป็นส่วนตัวในการทำธุรกรรมทางอินเตอร์เน็ท หมายถึงผู้บริโภคมีสิทธิ์ที่จะถูกละเมิดความเป็นส่วนตัวมากขึ้น เพราะข้อมูลเหล่านี้อาจถูกนำไปเก็บไว้ในประเทศที่ไม่เข้มงวดเรื่องนี้ เช่นสหรัฐอเมริกา (ที่เพิ่งจะเป็นข่าวไปว่า แอบเก็บข้อมูลโทรศัพท์และการใช้อินเทอร์เน็ตของชาวบ้าน) เป็นต้น อาหารปลอดภัย ความตกลงนี้อาจมีผลต่อการควบคุมสารเคมีกำจัดศัตรูพืช อาหารดัดแปรพันธุกรรม ในประเทศต่างๆ เพราะมีตัวอย่างแล้วว่าข้อตกลงระหว่างประเทศเป็นอุปสรรคในการห้ามนำเข้าสินค้าที่ตนเองรู้สึกว่าไม่ปลอดภัย เช่นกรณีสหภาพยุโรปถูกองค์กรการค้าโลกลงโทษ เพราะห้ามนำเข้าเนื้อวัวปนเปื้อนฮอร์โมน เพราะยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชี้ชัดถึงอันตรายจากการใช้ฮอร์โมนดังกล่าว นอกจากนี้บริษัทยังสามารถฟ้องร้องรัฐบาลได้ในศาลระหว่างประเทศ เช่นที่บริษัทฟิลลิป มอริส กำลังฟ้องรัฐบาลออสเตรเลีย ภายใต้ข้อตกลงการค้าระหว่างออสเตรเลียกับฮ่องกง กรณีที่ออสเตรเลียออกกฎหมายให้ซองบุหรี่ต้องเป็นซองที่ไม่มีสีสันดึงดูดใจ   หลัก(ไม่)ประกันสุขภาพ สุขภาพของคนไทยกว่า 50 ล้านคน ฝากไว้กับระบบหลักประสุขภาพถ้วนหน้า จากเดิมที่เป็นความหวังให้คนไทยที่ส่วนใหญ่เป็นคนที่มีรายได้น้อยให้มีโอกาสได้รับการรักษาพยาบาลอย่างมีมาตรฐานและเท่าเทียม แต่วันนี้ระบบหลักประสุขภาพถ้วนหน้ากำลังส่งสัญญาณที่ชวนให้ต้องเป็นห่วง กว่า 10 ปีที่ผ่านมา ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าต้องดำเนินงานโดยถูกปัญหาหลายอย่างรุมเร้า ที่ชัดที่สุดคือเรื่องเงิน ที่โรงพยาบาลของรัฐที่อยู่ในระบบหลักประกันถ้วนหน้าต่างต้องเจอกับภาวะขาดทุน เนื่องจากเงินกองทุนที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นคนจ่าย ไม่เพียงพอกับภาระที่โรงพยาบาลต้องรับผิดชอบ แม้จะมีการให้ผู้เข้ารับการรักษากลับมาร่วมจ่าย 30 บาทอีกครั้งเมื่อปีที่แล้ว แต่ก็คงไม่ช่วยแก้ปัญหาได้มากนักเพราะเป็นการเรียกเก็บแบบสมัครใจ นอกจากนี้ยังมีปัญหาด้านคนทำงานที่ยังมีน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนผู้เข้ารับบริการ รวมทั้งระบบข้อมูลสุขภาพที่ยังไม่ครอบคลุมทั่วถึง อีกปัญหาที่สำคัญคือความไม่โปร่งใสของผู้บริหารหลักประกันสุขภาพที่ส่งผลต่อการบริหารงานทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพของคนไทยยังคงเต็มไปด้วยคำถามถึงความจริงใจจริงจังในการดูแลสุขภาพของคนไทย งานหนัก คนไข้มาก ยังเป็นอีกปัจจัยที่เร่งให้บุคลากรด้านสาธารณสุขในภาครัฐ หนีไปซบอกเอกชนที่จ่ายค่าตอบแทนสูง และงานหนักน้อยกว่า   การแพทย์เชิงท่องเที่ยว ช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมการแพทย์เชิงท่องเที่ยวของไทยเจริญเติบโตแบบก้าวกระโดดสุดๆ ถึงร้อยละ 13 ต่อปี จนอาจกล่าวได้ว่าไทยคือหนึ่งในผู้นำของธุรกิจนี้ จากข้อมูลประมาณการของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ระบุ จำนวนผู้ป่วยต่างชาติที่เข้ารับบริการการรักษาพยาบาลในประเทศไทย คือ 1.98 ล้านคน ปี 2553 และ 2.24 ล้านคน ปี 2554 ซึ่งเมื่อเทียบกับปี  2547 ที่มีประมาณ 1.1 ล้านคน นับว่าเพิ่มเป็นเท่าตัวในเวลาเพียงไม่นาน โดยร้อยละ 60 เป็นคนต่างชาติที่เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศ และร้อยละ 30 เป็นกลุ่มที่ตั้งใจเดินทางมารับบริการทางการแพทย์โดยเฉพาะ การเติบโตนี้ส่วนหนึ่งเพราะรัฐบาลอำนวยความสะดวกเต็มที่  ล่าสุดคือการยกเว้นวีซ่าให้กับคนไข้และญาติที่จะเข้ามารักษาตัวในเมืองไทย สำหรับ 6 ประเทศในตะวันออกกลาง ได้แก่ คูเวต บาห์เรน โอมาน กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ด้วยเป็นลูกค้ากระเป๋าหนักและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถ้าทำแล้วสำเร็จ รัฐยังเล็งเป้าเรื่องการยกเว้นวีซ่าให้กับประเทศที่มองว่าน่าจะเป็นกลุ่มลูกค้าชั้นดีอื่นๆ ด้วย จากการแพทย์เชิงท่องเที่ยวที่นำรายได้เข้าประเทศอย่างมากมายนี้ รัฐบาลจึงเร่งดำเนินโครงการเมดิคัลฮับอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มดึงเอาโรงเรียนแพทย์เข้ามาเปิดแข่งขันกับโรงพยาบาลเอกชนด้วย หลายฝ่ายเลยเกิดความกังวลขึ้นว่า ต่อไปประเทศไทยจะเกิดการรักษาสองมาตรฐานขึ้นหรือไม่ ระหว่างคนไทยที่ใช้ระบบประกันสุขภาพที่ยังมีปัญหา กับคนต่างชาติที่ได้รับการดูแลอย่างดีจากทรัพยากรทางการแพทย์ที่รัฐไทยและคนไทยเป็นผู้ลงทุน   “แคลิฟอร์เนีย ฟิตเนส” บทเรียนราคาแพง ผ่านมา 1 ปีกว่า การจัดการแก้ปัญหาเรื่องแคลิฟอร์เนีย ว้าว ฟิตเนส มาถึงตรงที่คณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ตรวจสอบแล้วว่าแคลิฟอร์เนีย ว้าว ฟิตเนส มีการกระทำที่เข้าข่ายกระทำความผิด ฐานฉ้อโกงประชาชน เพราะในช่วงเวลาที่กิจการมีปัญหาถูกประกาศล้มละลายจนต้องปิดให้บริการในหลายสาขา แต่ก็ยังพบว่าบริษัทได้โอนเงินออกไปต่างประเทศ โดยระหว่างที่ปิดให้บริการ แคลิฟอร์เนีย ว้าว ฟิตเนส ก็ไม่เคยออกมาแสดงความรับผิดชอบใดๆ ซ้ำยังมีการหักเงินค่าบริการผ่านบัตรเครดิตของลูกค้าอย่างต่อเนื่อง จากนี้ ป.ป.ง. ก็จะร่วมมือกับ สคบ. และกรมบังคับคดีเพื่อติดตามยึดทรัพย์นำมาเฉลี่ยชดเชยให้กับผู้เสียหายที่มีมากกว่า 1,700 ราย รวมความเสียหายแล้วสูงถึง 50 ล้านบาท กรณีแคลิฟอร์เนีย ว้าว ฟิตเนส ถือเป็นอุทาหรณ์ที่ดี สำหรับคนที่กำลังคิดจะทำสัญญาใช้บริการต่างๆ ที่ต้องมีการจ่ายเงินด้วยวงเงินสูงๆ และผูกพันสัญญากันระยะยาว เพราะเงินที่จ่ายไป ไม่ว่าจะด้วยความเชื่อมั่นในชื่อเสียงของเจ้าของบริการ หรือถูกชักจูงหว่านล้อมจนยอมจ่าย เงินของเราอาจหายไปในพริบตาหากเจอผู้ประกอบการที่ไร้จริยธรรม   แบนสารเคมีการเกษตร ความพยายามอยู่ที่ไหน ไทยเรานำเข้าสารเคมีการเกษตรสูงเท่ากับตึกใบหยก 2 หรือประมาณ 520,000 ตัน คิดเป็นเงินมากกว่า 2 หมื่นล้านบาท โดยสารเคมี 4 ชนิด คาร์โบฟูราน เมโทมิล ไดโครโตฟอส และ อีพีเอ็น ซึ่งจัดเป็นกลุ่มที่อันตรายร้ายแรงรวมอยู่ในนั้นด้วย จากความพยายามของกลุ่มนักวิชาการและเกษตรกรที่รวมตัวกันเพื่อเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยกเลิกการขึ้นทะเบียนสารเคมีเกษตรอันตราย 4 ชนิดข้างต้น ที่ผ่านมาเกือบใกล้จะเป็นความจริงแล้ว หากไม่ถูกคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่มีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธานบอก “ไม่รับรองการขอยกเลิกการขึ้นทะเบียน” ไปเสียก่อน ท่านคณะกรรมการฯ ผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหลายท่านไม่เชื่อข้อมูลที่กรมวิชาการเกษตรจัดทำมาประกอบการเสนอให้ยกเลิก แถมยังให้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นใหม่เพื่อให้ภาคเอกชนบริษัทนำเข้าสารเคมีนำข้อมูลมาแย้งกับข้อมูลของกรมวิชาการเกษตร แล้วมีหรือที่บริษัทนำเข้าสารเคมีจะทำข้อมูลเพื่อให้สินค้าของตัวเองถูกแบน เป็นเสมือนการเปิดช่องให้บริษัทสารเคมียังขายสินค้าได้ต่อไปในระหว่างที่ยังรอการนำเสนอข้อมูล เอาน่า ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น กลุ่มรณรงค์ยังคงต้องทำงานกันต่อไปเพื่อผลักดันให้เกิดการยกเลิกการขึ้นทะเบียนสารเคมีอันตราย ซึ่งถ้าการยกเลิกการขึ้นทะเบียนเป็นผลเมื่อไหร่ ก็หมายถึงผู้บริโภคจะได้รับประทานอาหารที่ปลอดภัยจากการปนเปื้อนสารเคมีมากขึ้นไปด้วย   แร่ใยหิน แม้ปัจจุบันไทยได้ยกเลิกการใช้แร่ใยหินชนิดต่างๆ ไปหมดแล้ว แต่ตัวที่ร้ายที่สุด คือแร่ใยหินชนิดไครโซไทล์ หรือ ไวท์ แอสเบสตอส ยังมีวางจำหน่ายอยู่ ซึ่งอาจจะมีคนไทยป่วยเป็นมะเร็งเยื่อหุ้มปอดอย่างน้อย 1,295 คนต่อปี จากแร่ใยหิน หากยังฝืนใช้กันต่อไป มีหลักฐานทางการแพทย์ชิ้นใหม่ๆ ออกมาสนับสนุนอยู่ตลอดเวลาว่า แร่ใยหิน ชนิดไครโซไทล์ (Chrysotile)  เป็นส

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point