ฉบับที่ 211 รู้จักกฎหมายดำเนินคดีแบบกลุ่ม (Class Action) ตอนที่ 1

การดำเนินคดีแบบกลุ่ม หรือ Class Action คืออะไร        การดำเนินคดีแบบกลุ่ม หรือ Class Action เป็นหนึ่งในวิธีพิจารณาความ เพื่อเยียวยาความเสียหายให้แก่กลุ่มผู้เสียหายที่มีจำนวนหลายคน  ให้ทั่วถึง รวดเร็ว เป็นธรรม  สร้างภาระและค่าใช้จ่ายแก่ภาครัฐน้อยที่สุด  โดยมีรูปแบบการดำเนินคดีที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ในการอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชน เนื่องจากเป็นวิธีการที่สามารถคุ้มครองผู้เสียหายจำนวนมากได้ในการทำคดีเพียงครั้งเดียว และสามารถอำนวยความยุติธรรมให้แก่ผู้เสียหายที่ไม่มีความสามารถฟ้องคดีเพื่อตนเองได้ หรือผู้เสียหายที่ได้รับความเสียหายจำนวนเพียงเล็กน้อย หลีกเลี่ยงความซ้ำซ้อนในการฟ้องคดี และป้องกันความขัดแย้งกันของคำพิพากษา ตลอดจนเป็นมาตรการในการลดปริมาณคดีที่จะขึ้นสู่ศาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยประเทศไทย ได้ออกพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 26) พ.ศ. 2558 ว่าด้วยการดำเนินคดีแบบกลุ่ม มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2558 เป็นต้นมา[1]คดีอะไรบ้างที่ฟ้องคดีแบบกลุ่มได้   การดำเนินคดีแบบกลุ่มจะใช้ในกรณีที่มีผู้ถูกโต้แย้งสิทธิเป็นจำนวนมาก เช่น ในคดีคุ้มครองผู้บริโภคที่มีผู้เสียหายจำนวนมากจากการใช้สินค้าและบริการ ซึ่งเกิดจากผู้ประกอบการรายเดียวกัน หรือในคดีละเมิดที่มี ผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำเป็นบุคคลจำนวนมาก   ซึ่งบ่อยครั้งความเสียหาย อาจเกิดจากอุบัติเหตุต่างๆ ไม่ว่าจะทางบก ทางน้ำหรือทางอากาศ ซึ่งแต่ละครั้ง ที่มีเหตุละเมิดดังกล่าวจะมีผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำนั้นเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคดีที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ที่พบปัญหามากขึ้นในปัจจุบัน เพราะการกระทำอันก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมในแต่ละครั้งนั้น จะมีผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำดังกล่าวเป็นจำนวนมากเช่นเดียวกันนอกจากนี้ ยังรวมถึง คดีอื่นๆ เช่น คดีแรงงาน คดีเกี่ยวกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์   การแข่งขันทางการค้า  เป็นต้น[i] ศาลที่มีอำนาจรับฟ้องและพิจารณาพิพากษาคดีแบบกลุ่มได้   ศาลที่มีอำนาจรับฟ้องและพิจารณาพิพากษาคดีแบบกลุ่มได้  คือ ศาลยุติธรรมทุกศาล(ยกเว้น ศาลแขวง) ทั้งศาลแพ่ง  ศาลจังหวัด  ศาลภาษีอากร  ศาลแรงงาน  ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการ ค้าระหว่างประเทศ  เป็นต้น(แต่ไม่รวมไปถึงศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญ) หลักการสำคัญของการฟ้องคดีแบบกลุ่ม·ผู้ที่ได้รับความเสียหายอันเนื่องมาจากข้อเท็จจริงและหลักกฎหมายเดียวกันจะอยู่ในฐานะเป็นสมาชิกกลุ่ม และเฉพาะสมาชิกกลุ่มที่เป็นโจทก์  เท่านั้นที่จะมีฐานะเป็นคู่ความในคดี·โจทก์และทนายความโจทก์ในการดำเนินคดีแบบกลุ่มจะต้องเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติที่จะทำหน้าที่เพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ให้กับสมาชิกกลุ่มได้อย่างเพียงพอและเป็นธรรม โดยศาลจะต้องคัดเลือกผู้ที่จะเป็นโจทก์และทนายความฝ่ายโจทก์อย่างละเอียดรอบคอบ·การเริ่มดำเนินคดีแบบกลุ่มจะต้องได้รับอนุญาตจากศาลเสียก่อน  เมื่อเข้าหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามกฎหมายและตามข้อกำหนดที่จะออกตามมาที่จะสามารถดำเนินคดีแบบกลุ่มได้ทุกประการแล้ว  การดำเนินคดีนั้นๆ ในศาลจะไม่เป็นการดำเนินคดีแบบกลุ่มโดยอัตโนมัติ  แต่โจทก์จะต้องยื่นคำร้องขออนุญาตดำเนินคดีแบบกลุ่มต่อศาลเสียก่อน  และเมื่อศาลอนุญาตแล้ว  จึงจะให้ถือว่าการดำเนินคดีในคดีนั้นเป็นการดำเนินคดีแบบกลุ่ม การยื่นคำร้องฝ่ายโจทก์จะต้องเป็นฝ่ายยื่นคำร้องไปพร้อมกับการยื่นคำฟ้อง·การออกจากลุ่ม โดยสมาชิกกลุ่มมีสิทธิแสดงเจตนาต่อศาลในการขอออกจากการเป็นสมาชิก และไม่ประสงค์จะผูกพันในคำพิพากษาคดีแบบกลุ่ม เพื่อไปฟ้องคดีของตนเองได้·ผลของคำพิพากษาสมควรผูกพันบุคคลอื่นที่ไม่ได้เข้ามาในคดีโดยวิธีการแจ้งหรือประกาศเพื่อให้สมาชิกกลุ่มทราบถึงความเคลื่อนไหวของคดีและทราบถึงสิทธิของตน·โจทก์ ต้องมีความสามารถทำแทนคนอื่นได้ กล่าวคือ โจทก์จะต้องทำหน้าที่แทนสมาชิกกลุ่มทั้งหมดซึ่งอาจมีจำนวนมากโดยที่ไม่เคยพบปะกันมาก่อน และการทำหน้าที่ของโจทก์จะส่งผลกระทบต่อสมาชิกกลุ่มคนอื่นๆ โจทก์จึงเป็นตัวละครที่มีความสำคัญมาก จึงมีความจำเป็นที่ศาลจะต้องควบคุมตรวจสอบผู้ที่เป็นผู้แทนกลุ่มโดยเคร่งครัด ·กลุ่มบุคคล แม้ความเสียหายต่างกันก็ดำเนินคดีแบบกลุ่มได้  หมายถึง บุคคลที่มีสิทธิอย่างเดียวกัน เนื่องจากข้อเท็จจริงและกฎหมายอย่างเดียวกัน และมีลักษณะเฉพาะของกลุ่มเหมือนกัน แม้ว่าลักษณะของความเสียหายจะแตกต่างกันก็ตาม เช่น นางสาวแดง ฟ้า และส้ม ซื้อเครื่องสำอางยี่ห้อหนึ่ง จากห้างสรรพสินค้าคนละที่ คนละจังหวัดกันไม่ได้รู้จักกันมาก่อน แต่ปรากฎว่าพอทุกคนใช้เครื่องสำอางเกิดอาการเป็นผื่นแดง ผิวลอกลาย ต้องไปหาหมอเสียค่ารักษาพยาบาล กรณีเช่นนี้ทั้งสามคนถือว่าเป็นกลุ่มบุคคล เมื่อมาร้องเรียนและรวมกลุ่มกัน ก็สามารถตกลงกันให้ใครคนหนึ่งเป็นตัวแทน ฟ้องร้องและดำเนินคดีแบบกลุ่มกับบริษัทเครื่องสำอางได้ โดยคนที่เหลือก็เป็นสมาชิกกลุ่ม แม้แต่ละคนจะมีความเสียหายต่างกันก็ตาม ·ทนายความฝ่ายโจทก์ ต้องรับผิดชอบสูงจึงมีสิทธิได้รับเงินรางวัล หลังจากที่ศาลอนุญาตให้มีการดำเนินคดีแบบกลุ่มแล้ว ทนายความของโจทก์จะทำหน้าที่เป็นทนายความของกลุ่มด้วย ซึ่งบทบาทของทนายความฝ่ายโจทก์นี้ก็มีความสำคัญไม่แพ้ตัวโจทก์ เพราะทนายความจะเป็นผู้รวบรวมผู้ที่ได้รับความเสียหาย รวบรวมพยานหลักฐาน รวมทั้งจ่ายเงินทดรองในการดำเนินคดีทั้งหมดไปก่อน เช่น ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการแสวงหาพยานหลักฐานและค่าใช้จ่ายในการติดต่อประสานงานสมาชิกกลุ่ม เป็นต้น ซึ่งกฎหมายได้กำหนดความสามารถของทนายความฝ่ายโจทก์ไว้ว่า ต้องสามารถดำเนินคดีคุ้มครองสิทธิของกลุ่มได้อย่างเพียงพอและเป็นธรรม และต้องไม่มีผลประโยชน์ขัดหรือแย้งกับสมาชิกกลุ่ม หากปรากฏว่าทนายความไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเหมาะสม หรือเมื่อทนายความถอนตัว สมาชิกกลุ่มสามารถร้องขอต่อศาลให้มีการเปลี่ยนตัวทนายความฝ่ายโจทก์ได้  ทนายความของกลุ่มจึงมีภาระหน้าที่สูงกว่าทนายความคดีทั่วไป เนื่องจากต้องดูแลรักษาผลประโยชน์ให้คนเป็นจำนวนมากและต้องเป็นผู้รับความเสี่ยงในการออกค่าใช้จ่ายต่างๆ ไปก่อน ดังนั้น เพื่อเป็นค่าตอบแทนและแรงจูงใจ กฎหมายจึงกำหนดให้ทนายความกลุ่มมีสิทธิได้รับเงินรางวัลทนายความ ศาลจะเป็นผู้กำหนดเงินรางวัลทนายความให้เมื่อการดำเนินคดีสิ้นสุดแล้ว โดยพิจารณาจากความยากง่ายของคดี และระยะเวลาการทำงาน รวมทั้งค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการดำเนินแบบกลุ่ม  แต่ไม่เกินจำนวนร้อยละ 30 ของจำนวนค่าเสียหายที่สมาชิกกลุ่มมีสิทธิได้รับ โดยจำเลยเป็นผู้มีหน้าที่จ่ายเงินรางวัลให้ทนายความ·ศาล ต้องแสวงหาข้อเท็จจริงแบบเชิงรุก ในระบบวิธีพิจารณาปกติ ศาลจะดำเนินกระบวนการพิจารณาด้วยระบบกล่าวหา คือ โจทก์และจำเลยนำเสนอพยานหลักฐานของตนต่อศาล ศาลมีหน้าที่ชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานและตัดสินไปตามที่ปรากฏ แต่ในการพิจารณาคดีแบบกลุ่มนั้น ศาลจะมีบทบาทในเชิงรุกโดยใช้ระบบไต่สวนในการพิจารณา กล่าวคือ ศาลมีอำนาจในการแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมได้เอง ไม่ผูกพันอยู่เฉพาะแต่พยานหลักฐานที่คู่ความนำเสนอเท่านั้น  โดยมีเจ้าพนักงานคดีแบบกลุ่มทำหน้าที่ช่วยเหลือศาล·เมื่อมีการพิจารณาคดีแบบกลุ่มแล้ว หากศาลเห็นว่าสมาชิกในกลุ่มได้รับความเสียหายต่างกัน ศาลก็สามารถแบ่งสมาชิกในกลุ่มออกเป็นกลุ่มย่อยๆ ได้ เพื่อความสะดวกในการพิสูจน์เรื่องจำนวนค่าเสียหาย[2] สิทธิของสมาชิกกลุ่ม (ที่ไม่ได้เป็นโจทก์ผู้เริ่มคดี)       มีสิทธิดังนี้ 1. เข้าฟังการพิจารณาคดี2. ร้องขอต่อศาลถ้าเห็นว่าโจทก์ไม่มีคุณสมบัติหรือส่วนได้เสียในคดี3. ขอตรวจเอกสารหรือขอคัดสำเนาเอกสารในสำนวนความ4. จัดหาทนายคนใหม่แทนทนายที่ขอถอนตัวหรือที่ศาลสั่งเปลี่ยนทนาย5. ร้องขอเข้าแทนที่โจทก์6. คัดค้านสมาชิกอื่นในกลุ่มที่ร้องขอเข้าแทนที่โจทก์7. คัดค้านการที่โจทก์ขอถอนฟ้อง8. คัดค้านการตกลงหรือการประนีประนอมยอมความ9. คัดค้านการตกลงเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการเป็นผู้ชี้ขาด10.ตรวจและโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของสมาชิกอื่น11. แต่งตั้งทนายความให้เป็นผู้ดำเนินการแทนตนตาม 1 ถึง 10 ข้างต้นได้ประโยชน์ของการฟ้องคดีแบบกลุ่ม·ลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี·เป็นมาตรการที่เพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการยุติธรรมให้มากขึ้น·ทำให้การดำเนินคดีในปัญหาอย่างเดียวกันได้รับผลเป็นอย่างเดียวกันโดยจำเลยจะไม่ได้รับผลกระทบจากคำพิพากษาที่แตกต่างกัน·ทำให้ผู้ที่จะฝ่าฝืนกฎหมายเกิดความยับยั้งชั่งใจในการที่จะก่อให้เกิดความเสียหาย·เป็นมาตรการที่ได้รับความคุ้มครองผู้ด้อยโอกาสทางสังคม และผู้ที่ได้รับความเสียหายเพียงเล็กน้อยให้ได้รับการเยียวยาแก้ไขตัวอย่างคดีผู้บริโภคที่มูลนิธิฟ้องเป็นคดีแบบกลุ่มนับตั้งแต่มีกฎหมายฟ้องคดีแบบกลุ่มประกาศใช้ในประเทศไทยในปี 2558  มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคเห็นความสำคัญของการดำเนินคดีแบบกลุ่ม จึงมีการสนับสนุนผู้บริโภคให้เกิดการรวมกลุ่ม และฟ้องคดีผู้บริโภคแบบกลุ่มในหลายกรณี ที่สำคัญ ดังนี้ 1.ฟ้องคดีสินค้าไม่ปลอดภัย กรณีเครื่องสำอางเมื่อวันที่   18  กันยายน  2560   กลุ่มผู้เสียหายได้ยื่นฟ้องผู้ประกอบธุรกิจเป็นคดีผู้บริโภค และขอให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม เรียกค่าเสียหายตามพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ.2551  คดีนี้สืบเนื่องจากจำเลย เป็นผู้จำหน่ายเครื่องสำอางใช้ชื่อการค้าว่า “เมย์โรว”  โดยผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง คือ เพิร์ลลี่ อินแทนซีพ ไวท์ โลชั่น เป็นเครื่องสำอางประเภทผลิตภัณฑ์บำรุงผิวกาย เพื่อจำหน่ายให้ประชาชนทั่วไป ด้วยการโฆษณา และจำหน่ายสินค้าทางสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อสังคมออนไลน์ เฟซบุ๊ค ตัวแทนจำหน่าย และอื่นๆ โดยได้โฆษณาชวนเชื่อในลักษณะเชิญชวนให้ประชาชนทั่วไปเกิดความเชื่อถือเมื่อใช้ผลิตภัณฑ์ของจำเลยว่า “ผิวขาวสวย ปัง ปัง ปัง”  “ขาวสุดพลัง ขาวได้มง อยากขาว ต้องลอง” และอื่นๆจากการโฆษณาชวนเชื่อของจำเลยดังกล่าว เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสี่ และผู้บริโภครายอื่นอีกหลายรายเชื่อว่าสินค้าของจำเลยเป็นจริงตามที่โฆษณา ปลอดภัยต่อสุขภาพ และร่างกาย จึงซื้อสินค้าของจำเลยมาใช้กับตนตามที่จำเลยโฆษณา แต่เมื่อมีการใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางประเภทบำรุงผิวกายของจำเลยเป็นประจำทุกวัน ปรากฏว่ามีอาการปวดแสบ ปวดร้อน มีรอยแตกลาย เป็นแผลเป็นบริเวณแขน และขา อันเกิดจากการแพ้สารเคมีที่ผสมอยู่ในเครื่องสำอางของจำเลย เมื่อไปพบแพทย์เพื่อรักษาอาการเจ็บป่วย แพทย์วินิจฉัยว่าสาเหตุที่ผิวหนังแตกลายเกิดจากการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสม สารสเตียรอยด์ และไม่สามารถรักษาผิวหนังให้กลับมาเป็นปกติได้  ผลการดำเนินการ  ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้โจทก์ทั้งสี่ดำเนินคดีแบบกลุ่ม ให้ยกคำร้อง ต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 9 อนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม และมีการประกาศแจ้งการดำเนินคดีแบบกลุ่มลงหนังสือพิมพ์ ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่าง นัดพร้อมและนัดไต่สวนคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราว2.ฟ้องคดีสินค้าโฆษณาเกินความเป็นจริงเมื่อวันที่   30  มิถุนายน 2560   กลุ่มผู้เสียหายได้ยื่นฟ้องบริษัท เป็นคดีผู้บริโภคและขอให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม โดยมีสมาชิกกลุ่มจำนวน 72 คน  ต่อศาลแพ่ง เรียกเงินคืน และเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน  1,650  ล้านบาท จากการโฆษณาสินค้าเกินความเป็นจริงและสินค้าดังกล่าวไม่เป็นไปตามโฆษณา   คดีนี้สืบเนื่องจากจำเลย เป็นผู้จำหน่าย “กระทะโคเรียคิง (KOREA KING)” โดยจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภคทั่วไป ด้วยการโฆษณา และจำหน่ายสินค้าของจำเลยทางสื่อโฆษณาทางช่องโทรทัศน์ สื่อสังคมออนไลน์ เฟสบุ๊ค และอื่นๆ โดยได้โฆษณาชวนเชื่อในลักษณะเชิญชวนให้ผู้บริโภคทั่วไปเกิดความเชื่อถือว่าผลิตภัณฑ์ของจำเลยเป็นกระทะไม่ใช้น้ำมัน ทำอาหารไม่ติดกระทะ ราคาถูก เหมาะสำหรับทำอาหารคลีน หรืออาหารเพื่อสุขภาพ เป็นกระทะที่ขายดีที่สุดในประเทศไทย  จากการโฆษณาชวนเชื่อของจำเลยดังกล่าว เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสอง และผู้บริโภครายอื่นๆ อีกจำนวนมากหลงเชื่อว่าสินค้าของจำเลยมีราคาแพง แต่จำเลยจัดรายการส่งเสริมการขาย(PROMOTION) จำหน่ายในราคาพิเศษ และสินค้ามีคุณสมบัติเป็นจริงตามที่โฆษณา รวมทั้งปลอดภัยต่อสุขภาพ และร่างกาย จึงสำคัญผิดในสาระสำคัญของราคา และคุณสมบัติของสินค้าจำเลย จึงซื้อสินค้าจำเลยมาใช้กับตนและครอบครัวตามที่จำเลยโฆษณา  เมื่อโจทก์ทั้งสองและผู้บริโภครายอื่นๆ ได้ใช้สินค้าของจำเลยตามวิธีการที่จำเลยโฆษณาไว้ ผลปรากฏว่าไม่เป็นไปตามที่จำเลยโฆษณาไว้ เช่น กระทะดำไหม้  อาหารติดกระทะ ไม่ทนความร้อน ฯลฯ           ผลการดำเนินการ  ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างไต่สวนคำร้องขอให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม3.ฟ้องคดีบริษัทคิดค่าโทรศัพท์เกินจริง   เมื่อวันที่   15 พฤษภาคม  2561   ผู้เสียหายได้ยื่นฟ้องบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ จากการที่ผู้เสียหายถูกคิดค่าโทรศัพท์ปัดเศษวินาทีเป็นนาที ทำให้ผู้บริโภคถูกเอาเปรียบจากการคิดค่าบริการเกินจริงเป็นวงกว้าง  มีการแยกฟ้องเป็นสามคดี ตามค่ายมือถือ คือ เอไอเอส ดีแทคและทรู  เรียกค่าเสียหายรวมไม่น้อยกว่า 2.2 หมื่นล้านบาท เพื่อให้จ่ายให้ชดเชยและเยียวยาแก่ผู้ใช้มือถือทุกคนกว่า 90 ล้านเลขหมายในประเทศไทย กำหนดโจทก์ผู้ฟ้องคดี  เป็นแกนนำคดีละ 2 คน  แบ่งตามผู้ใช้บริการแบบรายเดือนกับเติมเงิน  โดยแบ่งเป็นสองศาล คือ คดีดีแทค ยื่นฟ้องที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เป็นคดีหมายเลขดำที่ ผบ.527/2561 ซึ่งศาลได้นัดไต่สวนคำร้องดำเนินคดีแบบกลุ่ม ในวันที่  18  มิถุนายน  2561 เวลา 9.00 น. ส่วนเอไอเอสและทรู  ยื่นฟ้องที่ศาลแพ่ง (รัชดา) โดยเอไอเอสเป็นคดีหมายเลขดำที่ ผบ. 2023/2561  และทรู เป็นคดีหมายเลขดำที่ ผบ. 2031/2561  และมีการแถลงข่าวต่อสาธารณะ เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2561  ณ สำนักงานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคผลการดำเนินการ   โดยทั้งสามคดีอยู่ระหว่างศาลนัดไต่สวนคำร้องดำเนินคดีแบบกลุ่ม[3] 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 210 แฟบเล็ต 2018

แล้วก็ถึงวันที่โทรศัพท์มือถือถูกพัฒนาให้มีขนาดใหญ่ขึ้นอีกครั้งเพื่อสนองการใช้งานใหม่ๆ ว่ากันว่าโทรศัพท์มือถือที่ ขนาดหน้าจอระหว่าง 5.5 ถึง 7 นิ้ว จะเป็นสมาร์ตโฟนรุ่นที่มาแรงที่สุดในปี 2019ฉลาดซื้อฉบับนี้จึงขอนำเสนอผลทดสอบเปรียบเทียบ “แฟบเล็ต” ที่องค์กรทดสอบระหว่างประเทศได้ดำเนินการทดสอบมาตลอดตั้งแต่ต้นปี ด้วยข้อจำกัดด้านเนื้อที่เราจึงขอเลือกมาเฉพาะรุ่นที่คะแนนรวมสูงกว่าร้อยละ 60 ทั้งนี้คะแนนรวม 100 คิดจากคะแนนที่แบ่งออกเป็น 8 ด้านคือ- ตัวเครื่อง (ความหลากหลายในการใช้งาน ความสวยงาม ทนทาน ฯลฯ)      20 คะแนน - ความสะดวกในการใช้งาน         20 คะแนน- ประสิทธิภาพกล้อง                   20 คะแนน- ประสิทธิภาพการใช้งาน                         โทรศัพท์            10 คะแนน                        อินเทอร์เน็ต       10 คะแนน                        ฟังเพลง             10 คะแนน                         ส่งข้อความ        5 คะแนน                        นำทาง              5 คะแนน    สมาร์ตโฟนหน้าจอใหญ่กลุ่มนี้มีความจุแบตเตอรี่ระหว่าง 3,000 ถึง 4,000 mAh ทุกรุ่นมีระบบสแกนลายนิ้วมือ สนนราคาโดยประมาณระหว่าง 5,000 ถึง 30,000 บาท (จากข้อมูลในอินเทอร์เน็ตช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2561)   จากการทดสอบเราพบว่าโทรศัพท์รุ่นที่ได้คะแนนสูงสุด (80 คะแนน) คือ Samsung Galaxy S9 ที่ราคา 27,900 บาท หากยังไม่ต้องการทุ่มทุนขนาดนั้น ลองดูรุ่นอื่นๆ ที่มีคะแนนใกล้เคียงกันในราคาต่ำกว่าเว็บไซต์ข่าวธุรกิจ Business Insider ระบุว่าร้อยละ 40 ของสมาร์ตโฟนที่ผลิตออกขายในปีที่ผ่านมาเป็นสมาร์ตโฟนชนิด “แฟบเล็ต” และในอีกสามปีข้างหน้าจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 59 ทั้งนี้มีข้อมูลการใช้ที่ระบุว่า โทรศัพท์หน้าจอใหญ่จะทำให้ผู้บริโภคเปิดใช้แอปพลิเคชันมากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงเราได้ง่ายกว่าเดิม นอกจากนี้ยังพบว่าโดยเฉลี่ยแล้วผู้ใช้ “แฟบเล็ต” ใช้เวลากับแอปพลิเคชั่นต่างๆ นานกว่าผู้ใช้โทรศัพท์หน้าจอ 4 นิ้วประมาณร้อยละ 3.5

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 210 เมื่อชุมชนปฏิเสธเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ใกล้ชุมชน-โรงเรียน

ท่ามกลางความสับสนเรื่องอันตรายจากเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ หลายประเด็นยังถกกันไม่จบ อย่างไรก็ตามเมื่อมีความเสี่ยงต่อสุขภาพเข้ามาเกี่ยวข้อง คนที่น่าจะได้มีส่วนตัดสินใจว่าจะยินยอมให้มีการเข้ามาตั้งเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ใกล้บ้านใกล้ชุมชนหรือไม่นั้นก็ควรเป็นคนในพื้นที่เอง เรามีกรณีน่าสนใจเกี่ยวกับการใช้สิทธิชุมชนในการตัดสินใจต่อเรื่องดังกล่าวมาฝาก เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับชุมชนอื่น โดยศูนย์ข่าวผู้บริโภคภาคอีสาน เป็นผู้นำเรื่องราวมาถ่ายทอดดังนี้  เมื่อวันอังคารที่  19  มิถุนายน  2561 ที่ผ่านมา ที่ศาลาชุมชนหมู่ที่ 4 บ้านคำบอน ต.โคกสูง อ.อุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น  ได้จัดให้มีการประชุมเพื่อชี้แจงการจัดตั้งเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ในชุมชน  โดยมีประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมเป็นจำนวนกว่า 100 คน  ในการประชุมมีการตั้งโต๊ะลงทะเบียนจำนวน 2 ชุด หนึ่งชุด  ไม่มีรายการว่าลงเพื่อทำอะไร  อีกหนึ่งชุดเป็นของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) เขียนว่าเป็นการเข้าร่วมประชุมชี้แจงกับทางบริษัททรูฯ พร้อมทั้งแจกแผ่นพับจาก กสทช. เรื่อง “ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเสาส่งสัญญาณมือถือและสุขภาพ ” และมีการถ่ายรูประหว่างคนรับแผ่นพับกับตัวแทนของบริษัทฯ    เริ่มต้นมีกำนันตำบลโคกสูงได้ชี้แจงว่า วันนี้ไม่ใช่การทำประชาคม  แต่เป็นการชี้แจงของทางบริษัทฯ ที่จะมาตั้งเสาในชุมชนเท่านั้น  เมื่อเริ่มต้นการประชุม   มีผู้หญิงคนหนึ่งแนะนำตัวว่า เป็นตัวแทนจากบริษัทฯ ได้นำเสนอสไลด์เรื่อง คลื่นจากเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ไม่ก่อให้เกิดอันตรายกับคน  และอ้างว่าองค์กรอนามัยโลกประกาศว่าคลื่นจากเสาไม่เป็นอันตราย  จากนั้นได้เปิดวีดิทัศน์ที่ไปถ่ายทำสัมภาษณ์คนที่อยู่ใกล้เสาจากสถานที่ต่างๆ ว่าไม่เป็นอันตราย โดยมีพิธีกรของงานกล่าวย้ำว่า คลื่นจากเสาไม่เป็นอันตรายต่อมาเมื่อเปิดให้ชาวบ้านได้ซักถาม มีตัวแทนชาวบ้านได้พูดโดยกล่าวอ้างอิง ข้อมูลจากงานเขียนของนักวิชาการท่านหนึ่งว่า คลื่นจากเสานั้นก่อให้เกิดอันตรายกับคนที่อยู่ใกล้ในรัศมี  300 เมตร ก่อให้เกิดอาการปวดหัว  นอนไม่หลับ  ความจำเสื่อม  สายตาพร่ามัว  อารมณ์ฉุนเฉียวง่าย   ซึมเศร้า  วิงเวียน  ขาดสมาธิ  มีผลต่อสมอง  เชลล์สืบพันธุ์  หัวใจวาย  มะเร็ง  เป็นหมัน  หน้ามืด   สับสน  อ่อนเพลีย  ความจำเสื่อม  ชักกระตุก  มะเร็งเต้านม  มะเร็งต่อมลูกหมาก  มะเร็งเม็ดเลือดขาว  ล้วนแล้วแต่เป็นบ่อเกิดสารพัดโรค  เพื่อค้านข้อมูลจากฟังของบริษัทฯ และตัวแทนชาวบ้านคนถัดมา ซึ่งเป็นลูกหลานชาวบ้านท่านหนึ่งที่เรียนจบจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้พูดว่า “ข้อมูลที่ทางบริษัทนำเสนอมีแต่สิ่งดีๆ  จึงอยากให้พี่น้องชาวบ้าน ได้ฟังเรื่องราวข้อมูลอีกด้านไว้เพื่อชั่งน้ำหนัก   และชาวบ้านก็ไม่ได้มาคัดค้านการตั้งเสาส่งสัญญาณด้วยว่าเห็นประโยชน์ในเรื่องการสื่อสาร  แต่ต้องการให้ตั้งออกห่างจากชุมชนและโรงเรียน ตามประกาศ กสทช. ที่ให้หลีกเลี่ยงตั้งใกล้ชุมชน  โรงเรียน”  พร้อมนำคลิปข่าวมาเปิดให้ชาวบ้านชม ซึ่งเป็นข่าวที่ทางช่อง 7 ไปสัมภาษณ์ชาวบ้านที่อยู่ใกล้เสาว่า ได้รับผลกระทบจากคลื่นอย่างไรบ้าง เช่น ปวดหัว  อ่อนเพลีย  จนท้ายที่สุด เมื่อบริษัทฯ ได้สอบถามชาวบ้านที่มาประชุมวันนั้น ว่าท่านใดต้องการให้มีการตั้งเสาใกล้ชุมชน-โรงเรียน ผลปรากฏว่าไม่มีใครยกมือสนับสนุน  พอสอบถามว่ามีท่านใดไม่ต้องการให้ตั้งเสาใกล้ชุมชน-โรงเรียน  กลับปรากฏว่า เกือบทุกคนในที่ประชุมยกมือไม่เห็นด้วยกับการตั้งเสา  จึงเป็นข้อยุติว่า  การที่บริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) จะมาตั้งเสาในพื้นที่ใกล้ชุมชนและโรงเรียนในหมู่ที่ 4 บ้านคำบอนนั้น คนในชุมชน  “ ไม่เห็นด้วย ” บริษัทฯ จึงต้องยุติเรื่องดังกล่าวไป 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 204 ต้นตอ ปัญหาบริการ sms ขี้โกง แอบคิดเงินโดยไม่รู้ตัว

ปัญหาถูกคิดเงินจากบริการเสริม sms ข้อมูล ข่าวสาร ที่ไม่ได้สมัครใช้บริการ เป็นหนึ่งในปัญหาที่มีมานาน และนับวันดูจะรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ลองถามคนใกล้ๆ ตัวคุณดู ผมว่า ต้องมีอย่างน้อยสักคนสองคนที่เคยโดนคิดเงินจากบริการเสริม sms สมัครเล่นเกมส์  โหลดคลิป ดูดวง ทายผลบอล โดยที่เจ้าตัวก็ไม่รู้ว่าเคยไปสมัครใช้บริการพวกนี้ไว้ตั้งแต่เมื่อไร ประเด็นที่น่าสนใจ คือ เมื่อเทียบกับการร้องเรียนบริการโทรคมนาคมอื่น ๆ อย่างบริการอินเทอร์เน็ต และบริการโทรศัพท์ เราจะพบการร้องเรียนที่หลากหลาย เช่น บริการที่ได้รับไม่ตรงตามสัญญาหรือโฆษณา  หรืออาจจะมีบ้างที่ร้องเรียนว่าไม่ได้สมัครใช้แต่ถูกคิดเงิน แต่กับการร้องเรียนบริการเสริม sms มันชัดเจนมากว่า ผู้ร้องเรียนแทบจะทุกคนยืนยันว่าไม่เคยสมัครใช้บริการเสริม sms พวกนี้ และไม่ปรากฏว่ามีการร้องเรียนในว่าสมัครไปแล้วได้บริการไม่ครบ หรือบริการเสริม sms ที่ได้รับไม่ตรงตามที่โฆษณา  ตรงนี้ผมว่า มันสะท้อนให้เห็นว่า ระบบการสมัครใช้บริการของบริการเสริม sms ต้องมีปัญหาอย่างแน่นอน เพราะจะเป็นไปได้อย่างไรที่ผู้ร้องเรียนนับพันคน จะจำไม่ได้ว่าเคย แสดงเจตนาสมัครใช้บริการเสริม sms เหล่านี้   “สัญญา จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อคู่สัญญาได้แสดงเจตนาเสนอสนองถูกต้องตรงกัน” หลักกฎหมายว่าไว้อย่างนี้ คือ ต้องมี 3 องค์ประกอบ ทั้ง คำเสนอ คำสนอง และ “การแสดงเจตนาที่ต้องชัดเจน ถูกต้องตรงกัน” คำถามก็คือ แล้วการสมัครใช้บริการเสริม sms ที่ผ่านมาและในปัจจุบัน มันมีระบบที่ให้ผู้ใช้บริการแสดงเจตนา หรือยืนยันว่าต้องการสมัครใช้บริการจริงๆ หรือไม่ และเป็นระบบที่มีความปลอดภัยทางอิเล็กทรอนิกส์เพียงพอหรือไม่   ที่ผ่านมา ก็คงมีผู้บริโภคบางคนเผลอไปกดปุ่มสมัครใช้บริการโดยไม่เจตนา แต่ก็มีไม่น้อยที่ถูกกลโกงเขียนโปรแกรมดักไว้ให้สมัครใช้บริการเพียงแค่มือไปโดนป้ายข้อความโฆษณา แม้กระทั่งผู้เชี่ยวชาญด้าน cyber security ก็ยังเคยถูกเรียกเก็บค่าบริการเสริม sms ทั้งที่เจ้าตัวไม่เคยสมัครใช้บริการมาก่อน ซึ่งเป็นกลโกงของผู้ประกอบการ content partner บางรายที่ใช้วิธีเขียนโปรแกรมดักผู้ใช้บริการ เพียงแค่ลากมือผ่านป้าย banner ของบริการเสริมเหล่านี้ ก็จะมีผลเป็นการสมัครใช้บริการแล้ว ดังนั้น ยิ่งผู้คนใช้สมาร์ทโฟน หน้าจอทัชสกรีนมากขึ้น ปัญหาถูก sms คิดเงินโดยไม่ได้สมัครใช้บริการก็พุ่งสูงขึ้นสอดคล้องกัน อย่างมีนัยสำคัญ ถ้าเทียบกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ ในปัจจุบัน ก่อนที่เงินจะออกจากกระเป๋า จะต้องมีการกรอกรหัส แสดงตัวตน ยืนยันความเป็นเจ้าของก่อนทุกครั้งที่จะทำธุรกรรมไม่ว่าจะเป็นการโอนเงิน หรือการซื้อสินค้า ผ่าน mobile payment ผ่าน QR Code ในขณะที่การสมัครบริการเสริม sms ไม่มีขั้นตอนนี้ ให้ผู้ใช้บริการต้องกรอกรหัสแสดงตัวตนและยืนยันเจตนาสมัครใช้บริการ จึงเปิดโอกาส ให้มีการเขียนโปรแกรมเข้ามาโกงผู้ใช้บริการได้ง่าย ดังนั้น ถ้าจะแก้ปัญหาบริการเสริม sms คิดค่าบริการโดยไม่ได้สมัครให้ตรงจุดที่สุด ก็ต้องแก้กันที่ต้นเหตุ ทำให้ระบบการสมัครบริการมีความชัดเจน ทั้งในแง่เนื้อหาที่โฆษณา ที่ต้องไม่กำกวม เพราะหลายบริการอ่านแล้วก็งง เช่น กด *xxxx ใช้ฟรี 7 วัน” บางคนอาจจะแค่อยากทดลองใช้ฟรี แต่เมื่อกดไปแล้วกลับกลายเป็นการสมัครใช้ และหลังจากนั้นจะได้ใช้ฟรี 7 วัน ถ้าจะพูดให้ชัดเจนจริงๆ ก็คือ สมัครใช้บริการแล้วจะได้แถมฟรี 7 วัน และที่สำคัญ จะต้องมีระบบที่มีความปลอดภัย ให้ผู้บริโภคต้องกรอกรหัสยืนยันตัวตน และแสดงเจตนาสมัครใช้บริการอย่างชัดแจ้ง ไม่ใช่แค่การคลิกเลือกช่องสมัครใช้บริการ ซึ่งแม้จะต้องคลิกหลายครั้ง แต่ก็ยังไม่สามารถป้องกัน bot (โปรแกรมอัตโนมัติ) ได้  ในขณะที่ภาครัฐและภาคธุรกิจ พยายามกระตุ้นและสนับสนุนให้ ประชาชนทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ อยากจะให้สังคมไทยเป็นสังคมไร้เงินสด แต่ถ้าระบบความปลอดภัย ยังไม่น่าเชื่อถือ ประชาชนก็คงไม่กล้าใช้บริการ  ก่อนจะเดินหน้าประเทศไทยยุค 4.0 แก้ปัญหาซ้ำซากอย่างเรื่อง  sms โกงเงิน กันก่อนดีไหม ครับ - CPA มีการเขียนโปรแกรมดัก ให้ mouse over มีผลเป็นการสมัครใช้บริการ- ขั้นตอนการสมัครใช้บริการ sms ข้อมูลข่าวสารในปัจจุบัน ไม่มีความปลอดภัย และรัดกุม เพียงพอ เปิดโอกาสให้มีการ เขียนโปรแกรม โกงผู้ใช้บริการได้ แม้จะมีการต้อง คลิกเลือกในหลายขั้นตอนก็ตามข้อเสนอเพื่อการแก้ปัญหา  ทำให้การสมัครใช้บริการ sms ข้อมูล ข่าวสาร ต้องมีกระบวนการขั้นตอน ให้ผู้ใช้บริการแสดงเจตนาสมัครใช้บริการที่ชัดเจน และมีความรัดกุม ปลอดภัย ในทางอิเล็กทรอนิกส์  เทียบกับธุรกรรมทางการเงินต่าง ๆ ในปัจจุบัน ก่อนที่เงินจะออกจากกระเป๋า จะต้องมีการกรอกรหัส แสดงตัวตน ยืนยันความเป็นเจ้าของก่อน ทุกครั้งที่จะทำธุรกรรม ในขณะที่การสมัคร บริการ sms ไม่มีกระบวนการในขั้นตอนนี้ ทำให้เปิดโอกาส ให้มีการเขียนโปรแกรมเข้ามาโกงผู้ใช้บริการได้ง่าย รูปธรรมในการแก้ไขปัญหา sms คิดเงินโดยไม่ได้สมัครใช้บริการ ใช้อำนาจ กสทช. ตามประกาศ กสทช. เรื่องการกระทำที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม ข้อ 5 (6) กำหนดให้บริการโทรคมนาคม ที่ไม่มีระบบสมัครใช้บริการ ที่ให้ผู้ใช้บริการแสดงตัวตนและเจตนาที่ชัดแจ้งในการสมัครใช้บริการ ถือว่าเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย ประกาศ กสทช. เรื่องการกระทำที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม ฯ ต่อกรณีปัญหา sms คิดเงินโดยไม่ได้สมัครใช้บริการ  ประกาศ กสทช. เรื่องการกระทำที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม ฯ ประกาศใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 มีสาระสำคัญ ที่กำหนดลักษณะการกระทำของผู้ให้บริการและตัวแทนที่เข้าข่ายเป็นการกระทำที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค อาทิ ข้อ 5 (3 )การโฆษณาเกินความจริง ที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับบริการ , ข้อ 5 (1)การไม่แจ้งรายละเอียดของบริการให้ครบถ้วน ถูกต้อง ,ข้อ 5 (5) การละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวส่งข้อความโฆษณา sms โดยมิได้รับอนุญาตหรือความยินยอมจากผู้บริโภค จนก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ เป็นต้น  เมื่อมีการร้องเรียนว่า ผู้ให้บริการโทรคมนาคม มีพฤติการณ์ที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค หากคณะกรรมการพิจารณาแล้ว เห็นว่าเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคจริงและมีคำสั่งให้ระงับการกระทำดังกล่าว บริษัทฯ ผู้ให้บริการจะต้องห้ามกระทำการในลักษณะนั้นกับผู้ใช้บริการทุกราย และถ้ายังไม่หยุดการกระทำเอาเปรียบผู้บริโภคก็จะมีโทษปรับทางปกครองไม่เกิน 5 ล้านบาท และจะปรับต่อไปเรื่อย ๆ อีกวันละไม่เกิน 1 แสนบาท จนกว่าจะปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการ  มาตรการนี้ จะเป็นผลดีต่อการคุ้มครองผู้บริโภคในภาพรวม เพราะการร้องเรียนของผู้บริโภค 1 คน จะส่งผลช่วยให้ผู้ใช้บริการคนอื่น ๆ ได้รับความเป็นธรรมจากการใช้บริการด้วยโดยอัตโนมัติ และมีผลห้ามมิให้เกิดการกระทำผิดซ้ำในลักษณะเดียวกันอีก  การเสนอเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหา sms คิดเงินโดยไม่ได้สมัครใช้ ให้ กสทช. พิจารณา หลายกรณี เข้าข่ายเป็นการกระทำที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค ซึ่ง กสทช. ควรที่จะพิจารณาใช้อำนาจตามประกาศข้างต้น สอบสวนข้อเท็จจริง และสั่งห้ามกระทำการในลักษณะดังกล่าวอีกเป็นการทั่วไป เพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ แต่การพิจารณาเรื่องร้องเรียนของ กสทช. ก็จะหยุดอยู่แค่การแก้ปัญหา case by case ให้แก้ผู้ร้องเรียน  แม้ว่า อนุกรรมการ คุ้มครองผู้บริโภค ด้านกิจการโทรคมนาคม และกสทช. สายคุ้มครองผู้บริโภค จะได้พยายามเสนอให้มีการพิจารณาเรื่องร้องเรียน ปัญหา sms คิดเงินโดยไม่ได้สมัครใช้ ในแง่มุมของการบังคับใช้ ประกาศ กสทช. เรื่อง การกระทำที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค ในกิจการโทรคมนาคมแล้วก็ตาม แต่ก็มีการขัดขวาง ตัดตอนเรื่องร้องเรียน ให้หยุดอยู่แค่การแก้ปัญหาในระดับบุคคล 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 203 มีปัญหา ค่าเน็ต ค่าโทร อย่าลืมให้บริษัท โชว์หลักฐาน พิสูจน์ความจริง

ในโลกยุค 4.0 อย่างทุกวันนี้ บริการโทรคมนาคม ถือเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในชีวิตประจำวัน บางคนตื่นขึ้นมาก็ต้องควานหาโทรศัพท์มือถือก่อนเลย เช็คข้อความในไลน์ ตลอดวันจะทำธุรกิจ ติดต่อค้าขาย คุยกับเพื่อนฝูง ครอบครัวก็ต้องใช้โทรศัพท์  อินเทอร์เน็ต ก่อนนอนก็ยังต้อง อัพเดท สเตสัส ราตรีสวัสดิ์ ในเฟซบุ๊ค  บริการเหล่านี้ ไม่ใช่ของฟรี ยิ่งใช้มาก ก็ยิ่งต้องจ่ายค่าบริการมาก อย่างน้อยก็หลักร้อยต่อเดือน หรือบางคนถ้าเลือกใช้แพคเก็จแบบจัดเต็มทั้งเน็ต ทั้งโทร ก็อาจจะต้องจ่ายถึงหลักพันบาทยิ่งใช้มาก ก็ยิ่งมีปัญหามาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาเกี่ยวกับค่าบริการที่ถูกเรียกเก็บ  “ไม่เคยสมัครใช้บริการ แต่มีรายการเรียกเก็บค่า sms ดูดวง / ข่าวซุปซิปดารา” “ใช้ WiFi ที่บ้าน แต่ทำไมถูกเก็บค่าเน็ตมือถือ”  “ถูกคิดค่าบริการส่วนเกินแพคเก็จ ทั้งที่ใช้งานนิดเดียว”ฯลฯ เมื่อบริษัทมีบิลเรียกเก็บค่าบริการมา แต่ผู้บริโภคยืนยันว่า “ฉันไม่ได้ใช้” ทั้ง 2 ฝ่ายเห็นไม่ตรงกัน ปัญหาจึงเกิดขึ้น จริงๆ แล้วปัญหานี้พิสูจน์ได้ไม่ยาก เพราะการกระทำทุกอย่างในระบบโทรคมนาคม จะมีการเก็บข้อมูลไว้ในระบบทั้งหมด สามารถตรวจสอบได้ว่า มีการสมัครใช้บริการ เมื่อวันที่เท่าไร เวลาอะไร ใช้บริการกี่นาที เริ่มกี่โมง จบกี่โมง ใช้บริการจากบริเวณไหน ฯลฯ ซึ่งข้อมูล รายละเอียดเหล่านี้จะอยู่ในมือบริษัทผู้ให้บริการ  ถ้าบริษัทผู้ประกอบการ ยอมเอาข้อมูลออกมายืนยัน พิสูจน์ข้อโต้แย้งของผู้ใช้บริการมันก็จบ แต่ส่วนใหญ่ผู้ประกอบการมักจะพูดลอยๆ ว่าคิดค่าบริการถูกต้องแล้ว โดยไม่ได้แสดงหลักฐานอะไรประกอบ แล้วอย่างนี้จะให้ผู้ใช้บริการเชื่อได้อย่างไรล่ะ ครับ  เมื่อฝ่ายที่กุมข้อมูลไว้ในมือ ไม่ยอมคายหลักฐานออกมา กฎหมายจึงต้องกำหนดเรื่อง “ภาระการพิสูจน์ (Burden of Proof)” ไว้ให้เป็นหน้าที่ของผู้ให้บริการโทรคมนาคม ที่จะต้องพิสูจน์ข้อเท็จจริงเพื่อยืนยันความถูกต้องในการคิดค่าบริการโทรคมนาคม เมื่อมีการโต้แย้งว่า คิดค่าบริการผิดพลาด ไม่เป็นไปตามสัญญา หรือ ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย  โดยพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 มาตรา 47 มาตรา 48 และ ประกาศ กทช. เรื่อง กระบวนการรับเรื่องร้องเรียนและพิจารณาเรื่องร้องเรียนของผู้ใช้บริการ ข้อ 13 และ ประกาศ กทช. เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ข้อ 22 นั้น บัญญัติไว้สอดคล้องกัน ว่า เมื่อมีการร้องเรียนเกี่ยวกับการเรียกเก็บค่าบริการโดยไม่ถูกต้อง ผู้ให้บริการมีหน้าที่ต้องพิสูจน์ข้อเท็จจริงเพื่อยืนยันความถูกต้องในการเรียกเก็บค่าบริการ เพราะผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมเป็นฝ่ายที่ครอบครองข้อมูลการใช้บริการโทรคมนาคม  ดังนั้นหากผู้ให้บริการสามารถนำพยาน หลักฐานมาแสดง เพื่อพิสูจน์ได้ว่าผู้ร้องเรียนมีการใช้บริการจริง และผู้ให้บริการเรียกเก็บค่าบริการเป็นไปตามเงื่อนไขของสัญญา และเรียกเก็บตามอัตราค่าบริการที่ตกลงกันแล้ว ผู้ให้บริการก็ย่อมมีสิทธิเรียกเก็บค่าบริการจากผู้ใช้บริการได้ แต่หากผู้ให้บริการไม่สามารถพิสูจน์ยืนยันได้ว่า ผู้ร้องเรียนได้ใช้บริการจริง หรือผู้ให้บริการได้เรียกเก็บค่าบริการตรงตามเงื่อนไขของสัญญา ผู้ให้บริการก็ย่อมไม่มีสิทธิที่จะเรียกเก็บค่าบริการจากผู้ใช้บริการ อันเป็นหลักการพื้นฐานของกฎหมายทั่วไป ประกาศ กทช. เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ข้อ 22 กำหนดให้ ผู้ให้บริการมีหน้าที่ต้องพิสูจน์ข้อเท็จจริงเพื่อยืนยันความถูกต้องในการเรียกเก็บค่าบริการ และต้องแจ้งให้ผู้ใช้บริการทราบภายในระยะเวลา 60 วันนับแต่วันที่ผู้ใช้บริการมีคำขอ หากไม่ดำเนินการภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้ถือว่าผู้ให้บริการนั้นสิ้นสิทธิในการเรียกเก็บค่าบริการในจำนวนที่ผู้ใช้บริการได้โต้แย้งนั้น    การกำหนดระยะเวลา 60 วันนั้น เป็นไปเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค ผู้ใช้บริการ ซึ่งอยู่ในฐานะที่ด้อยกว่าผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม เมื่อผู้ให้บริการไม่สามารถหาพยาน หลักฐาน ซึ่งอยู่ในความครอบครองของตน มาพิสูจน์ข้อเท็จจริงเพื่อยืนยันความถูกต้องในการเรียกเก็บค่าบริการที่ผู้ใช้บริการโต้แย้งได้ภายใน 60 วัน ผู้ใช้บริการจึงย่อมมีสิทธิที่จะปฏิเสธการชำระหนี้ค่าบริการที่โต้แย้งนั้นได้  หลักฐานที่จะพิสูจน์ยืนยันว่าผู้ร้องเรียนมีการใช้บริการโทรคมนาคม หรือไม่ อย่างไรนั้น  จะต้องเป็นหลักฐานที่ไม่อาจแก้ไขดัดแปลงได้ อาทิ ข้อมูลจราจรคอมพิวเตอร์(log file) ซึ่งเป็นข้อมูลเกี่ยวกับการติดต่อสื่อสารของระบบคอมพิวเตอร์ แสดงถึงแหล่งกำเนิด ต้นทาง ปลายทาง เส้นทาง เวลา วันที่ ปริมาณ ระยะเวลาชนิดของบริการ หรืออื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการติดต่อสื่อสารของระบบคอมพิวเตอร์ หลักฐาน เช่น ข้อมูลจราจรคอมพิวเตอร์ (log file) นี้ จึงจะเป็นสิ่งที่จะพิสูจน์ว่า ผู้ร้องเรียนมีการใช้บริการ GPRS Roaming ของบริษัท ฯ จริง หรือไม่  ส่วนใบแจ้งหนี้ค่าใช้บริการ ที่ถึงแม้จะแสดงข้อมูลว่า มีการใช้บริการอะไรบ้าง เมื่อวันที่เท่าไร แต่ใบแจ้งค่าใช้บริการนั้น ไม่สามารถใช้เป็นเครื่องพิสูจน์ยืนยันถึงความถูกต้องในการเรียกเก็บค่าบริการได้ เพราะเป็นเอกสารที่บริษัท ทำขึ้นเองฝ่ายเดียว สามารถแก้ไข ดัดแปลงได้  ดังนั้น ถ้ามีปัญหาเกี่ยวกับค่าบริการโทรคมนาคม ไม่ว่าจะค่าโทร ค่าเน็ต อย่าลังเลใจที่จะใช้สิทธิตรวจสอบกับผู้ให้บริการ ให้ชี้แจง แสดงพยานหลักฐาน พิสูจน์ว่ารายการที่เรียกเก็บมานั้นถูกต้องหรือไม่ ถ้าร้องเรียนแล้ว ผู้ให้บริการนิ่งเฉย ไม่สามารถแสดงหลักฐานที่ยืนยันถึงความถูกต้องในการเรียกเก็บค่าบริการนั้นได้ภายในระยะเวลา 60 วัน ผู้บริโภคก็ไม่ต้องจ่ายค่าบริการส่วนที่โต้แย้งนั้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 202 กระแสต่างประเทศ

เร็วทันใจคุณภาพของบริการโทรคมนาคมในฟิลิปปินส์นั้นถือว่าแย่มาก คนของเขาเป็นกลุ่มผู้ใช้โซเชียลมีเดียมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก แต่ความเร็วอินเทอร์เน็ตที่นี่กลับต่ำที่สุดในโซนเอเชียแปซิฟิก(ประมาณ 5.5 Mbps) ว่ากันว่าสาเหตุที่ช้า ค่าบริการแพง และการบริการไม่ได้คุณภาพนั้นก็เพราะมีผู้ประกอบการเพียง 2 รายได้แก่ PLDT และ Globe Telecom ซึ่งมีเสาสัญญาณรวมกัน 15,000 แห่ง คนฟิลิปปินส์จึงมีเฮ เมื่อได้ข่าวว่า China Telecom จากประเทศจีนจะเข้ามาเป็นทางเลือกใหม่ ข่าวบอกว่าประธานาธิบดีดูเตอร์เต้ ออกปากเชิญบริษัทนี้ด้วยตัวเองเมื่อตอนที่ไปเยือนประเทศจีนในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา และเขายังออกคำสั่งให้หน่วยงานทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการออกใบอนุญาต  ดำเนินการ ให้เสร็จสิ้นภายใน 7 วันเอาเป็นว่า China Telecom จะเริ่มให้บริการได้เลยในไตรมาสแรกของปี 2018 ... เร็วดีไหมล่ะ อย่างนี้ก็ได้เหรออินเดียประกาศห้ามใช้ยาเส้นหรือยาสูบแบบเคี้ยวมาตั้งแต่ปี 2013 เพราะถือเป็นความผิดตามกฎหมายความปลอดภัยและมาตรฐานอาหารที่ระบุว่า อาหารจะต้องไม่มีส่วนผสมที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย(เช่น ยาสูบ และนิโคติน)แต่ละปีอินเดียมีผู้ชาย 85,000 คน ผู้หญิง 34,000 คนเสียชีวิตจากมะเร็งช่องปากและคอหอย ร้อยละ 90 ของกรณีเหล่านั้นเกี่ยวข้องกับการใช้ยาสูบแต่ดูเหมือนจะไม่มีใครใส่ใจ เพราะยาเส้นที่ว่านี้ยังคงหาซื้อได้ง่ายในขนาดพอคำตามแผงข้างถนนในราคาซองละ 2 ถึง 5 บาท แถมยังมีให้เลือกหลายสูตร หลายรสชาติ ทั้งๆ ที่มีการห้ามผลิตและห้ามขาย ธุรกิจนี้กลับทำรายได้มหาศาล ค่าย Manikchand ที่ผู้ก่อตั้งเพิ่งจะเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งช่องปาก มีรายได้ปีละประมาณ 80,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และนี่ไม่ใช่ผู้เล่นรายเดียวเสียด้วย รวมกันเราแย่ศาลสูงสุดของนิวซีแลนด์ยืนยันไม่อนุญาตให้สองยักษ์ใหญ่วงการสื่อควบรวมกิจการกัน เพราะสัดส่วนการถือครองสื่อขนาดนั้นจะมีผลต่อคุณภาพความเป็นประชาธิปไตยของประเทศNZME(เจ้าของหนังสือพิมพ์ New Zealand Herald สถานีวิทยุและหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นสองฉบับ) อ้างว่าต้องการควบรวมกิจการกับ Fairfax Media(เจ้าของ Stuff เว็บไซต์ที่มีคนอ่านมากที่สุด และหนังสือพิมพ์รายวันอีกสามฉบับ) เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันกับ facebook และ Google News รวมถึงบรรดา “ข่าวหลอกให้คลิก” ที่มีอยู่ทั่วไปในหน้าเว็บรวมๆ แล้วสองค่ายนี้เป็นเจ้าของสื่อประมาณร้อยละ 90 ศาลท่านยืนยันว่าอนุญาตไม่ได้จริงๆ เพราะมันจะทำให้การถ่วงดุลระหว่างสื่อใหญ่สองเจ้าหายไป NZME และ Fairfax มีผู้อ่านรวมกัน 3.7 ล้านคน ในขณะที่นิวซีแลนด์มีประชากร 4.7 ล้านคน  มาเฟียไส้กรอกบริษัทผู้ผลิตไส้กรอก 4 รายในเยอรมนีรวมตัวกันฟ้องต่อศาลขอไม่จ่ายค่าปรับที่สำนักงานกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าเรียกเก็บ 22.6 ล้านยูโร (ประมาณ 870 ล้านบาท)สำนักงานฯ ได้ข่าวว่ามีการฮั้วราคาผลิตภัณฑ์ไส้กรอกในระหว่างผู้ผลิตเพื่อที่จะขายให้กับบรรดาร้านค้าปลีกในราคาที่สูงเกินจริง และพบว่า “กลุ่มแอตแลนติก” (เรียกตามชื่อโรงแรมที่นัดคุยกัน) ร่วมกันโก่งราคาผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์มาตั้งแต่ช่วงปี 80  ปี 2014 สำนักงานฯ สั่งปรับบริษัท 22 แห่ง และบุคคล 33 คน รวมเป็นเงิน 338 ล้านยูโร  (ประมาณ 13,000  ล้านบาท) ในจำนวนนี้มีเพียง 11 บริษัทที่ยอมจ่ายค่าปรับแต่โดยดี อีกเจ็ดบริษัทรอดไปได้โดยอาศัยช่องโหว่ของกฎหมาย(บริษัทแม่ไม่ต้องรับผิดชอบค่าปรับของ บริษัทลูก หากบริษัทลูกเลิกกิจการไปแล้ว) รัฐจึงขาดรายได้ไป 240 ล้านยูโร อีกสี่บริษัทยังยื้ออยู่จนถึงวันนี้ หากศาลตัดสินว่าผิดจริงกลุ่มนี้จะโดนค่าปรับหนักกว่าเดิม   ไม่รับคนนอกปีนี้ตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นร้อยละ 34  สอดคล้องกับเป้าหมายของรัฐบาลที่  ต้องการให้มีผู้มาเยือนไม่ต่ำกว่าปีละ 40 ล้านคนภายใน 2020 ที่ญี่ปุ่นจะเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก  เมื่อมีคนมาเยอะขึ้น ธุรกิจการให้เช่าห้อง/บ้านผ่านแอปพลิเคชันจึงเข้ามาตอบโจทย์ การให้เช่าแบบนี้เป็นสิ่งที่ทำได้หากแจ้งต่อหน่วยงานรัฐ มันสร้างรายได้ให้กับคนท้องถิ่นมากกว่าการให้เช่าแบบเดิมๆ เกือบห้าเท่า ดูแล้วน่าจะพอใจกันทุกฝ่ายแต่ผู้อยู่อาศัยในคอนโดมิเนียมหลายแห่งในย่านฮิต เช่น บริเวณรอบอ่าวโตเกียว ได้เรียกร้องให้ทางอาคารออกกฎห้ามผู้อยู่อาศัยปล่อยเช่าห้องให้กับนักท่องเที่ยว ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยและความเป็นระเบียบ หน่วยงานท้องถิ่นระบุว่ามีคอนโดฯ จำนวนมากมาแจ้งขอเปลี่ยนกฎ จนต้องตั้งโต๊ะรับเรื่องนี้โดยเฉพาะ  นิติบุคคลอาคารก็ต้องเข้าไปดูเว็บไซต์จองที่พักเป็นระยะเพื่อให้แน่ใจว่า ห้องที่อยู่ภายใต้การดูแลของตัวเองไม่ถูกนำไปเสนอขาย 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 192 กระแสต่างแดน

เป็นขยะแล้วไงระหว่างปี 2553 ถึงปี 2558 ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้มีขยะอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 63 เพราะผู้คนมีรายได้มากขึ้นและมีความ “จำเป็น” ต้องใช้เพิ่มขึ้นด้วยปริมาณขยะใน 12 ประเทศที่สำรวจ รวมกันแล้วมีถึง 12.3 ล้านตัน (หนักกว่ามหาพีระมิดกีซา 2.4 เท่า)การสำรวจของกระทรวงสิ่งแวดล้อมญี่ปุ่นพบว่า ขยะอิเล็กทรอนิกส์ในภูมิภาคนี้เพิ่มเร็วกว่าจำนวนประชากร ตัวเลขในปี 2558 ระบุว่าฮ่องกงมีปริมาณขยะต่อประชากร 21.7 กิโลกรัมต่อปีซึ่งสูงที่สุดในกลุ่ม ในขณะที่ฟิลิปปินส์มีปริมาณขยะเฉลี่ยต่อหัวต่ำสุดในกลุ่มที่ 1.35 กิโลกรัมญี่ปุ่น เกาหลี และไต้หวัน มีความก้าวหน้าในการจัดการและรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์มากที่สุด ในขณะที่ฮ่องกงและสิงคโปร์ก็มีข้อตกลงความร่วมมือระหว่างเอกชนและรัฐบาล ส่วนจีน มาเลเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ก็มีกฎหมายสำหรับขยะอิเล็กทรอนิกส์แล้วเหลือแต่ กัมพูชา อินโดนีเซีย และไทย ที่ยังไม่มีมาตรการใดๆ เพื่อรับมือกับขยะในยุคดิจิทัลเลยที่นี่ไม่มีวินDego Ride บริการเรียกพี่วินผ่านแอปที่เปิดให้บริการในมาเลเซียมาแล้ว 3 เดือน ต้องหยุดดำเนินการทันทีตามคำสั่งของกระทรวงคมนาคม เพราะกำลังฝ่าฝืน พ.ร.บ.ขนส่งทางบกมาตรา 23 ที่ห้ามใช้มอเตอร์ไซค์รับส่งผู้โดยสาร และบริษัทก็ประกอบกิจการขนส่งโดยไม่มีใบอนุญาตแม้จะทันสมัย รวดเร็ว และสะดวกสบาย แต่กระทรวงฯ ก็ยืนยันว่าจะไม่มีการปรับแก้กฎหมายมารองรับ(เหมือนอย่างในกรณีแท็กซี่ของ UBER หรือ Grab) เพราะบริการพี่วินนั้นเพิ่มความเสี่ยงให้กับตัวผู้โดยสารและผู้ใช้รถใช้ถนนคนอื่นแม้ Dego Ride จะอ้างว่ายังไม่มีอุบัติเหตุเลยตั้แต่ให้บริการมา แต่สถิติในภาพรวมยืนยันว่าอุบัติเหตุส่วนใหญ่บนท้องถนนมาเลเซียเกิดขึ้นกับรถจักรยานยนต์ ช่วงตรุษจีนที่ผ่านมาก็มีมากกว่าร้อยละ 60ลมหายใจลูกค้าที่ซื้อเครื่องวัดระดับแอลกอฮอล์ในกระแสเลือดของบรีโธมิเตอร์ (Breathometer) ในระหว่างปี 2556 – 2558 เตรียมไปขอรับเงินคืนได้เลยอุปกรณ์ที่ใช้เชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนเพื่อวัดระดับความมึนเมา “ด้วยมาตรฐานเดียวกับที่ตำรวจใช้” และสามารถเรียกแท็กซี่มารับได้ด้วยนี้มีกระแสตอบรับดีมาก สตาร์ทอัปเจ้านี้ทำยอดขายได้ไม่ต่ำกว่า 5 ล้านเหรียญ (175 ล้านบาท) จากอุปกรณ์รุ่น Original (1,700 บาท) และรุ่น Breeze (3,500 บาท)แต่คณะกรรมการกำกับดูแลธุรกิจได้ตรวจสอบประสิทธิภาพแล้วพบว่า อุปกรณ์นี้วัดค่าออกมาต่ำเกินจริง แถมความชื้นและอุณหภูมิยังมีผลต่อการทำงานของเครื่องด้วยบริษัทจึงถูกสั่งให้เก็บสินค้าและถอนแอปออกจากร้าน เขาบอกว่าจะเลิกเอาดีทางด้านนี้แล้วไปทุ่มให้บริการด้านสุขภาพแทน ... เอ่อ คราวหน้าต้องไม่พลาดนะ คิดผิดคิดใหม่ EE ผู้ให้บริการโทรคมนาคมที่ใหญ่ที่สุดในอังกฤษถูกสั่งปรับเป็นเงิน 2.7 ล้านปอนด์ (117.2 ล้านบาท) เพราะคิดค่าโทรศัพท์แพงเกินจริงลูกค้าของ EE ที่ใช้บริการโรมมิ่งขณะเดินทางในยุโรป ถูกเรียกเก็บค่าบริการนาทีละ 49 บาท (ซึ่งเป็นอัตราสำหรับการโทรจากอเมริกา) แทนที่จะเป็น 8 บาทตามจริง เมื่อพวกเขาโทรเข้าคอลเซ็นเตอร์คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม (Ofcom) มีคำสั่งให้บริษัทคืนเงินส่วนต่างให้กับลูกค้า แต่จนถึงตอนนี้บริษัทสามารถระบุตัวและคืนเงินให้ลูกค้าได้เพียง 6,905 ราย จากผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด 32,145 รายว่าแล้วก็บริจาคเงินส่วนที่หาเจ้าของไม่ได้ 62,000 ล้านปอนด์ (ประมาณ 2.7 ล้านบาท) ให้กับองค์กรการกุศลไป แต่ Ofcom ยังยืนยันว่าบริษัทต้องตามหาลูกค้ากลุ่มนี้มารับเงินคืนต่อไป ยังปิดจ๊อบไม่ได้นะจ๊ะขอทวนคำถามการเดินทางเข้าเมืองซิดนีย์จะต้องรวดเร็ว ราบรื่นและสะดวกสบายกว่าเดิมด้วยรถไฟไต้ดินสายใหม่ช่วงซิดแนมและแบงคส์ทาวน์ นี่คือโปรเจค 20,000 ล้านเหรียญ(ประมาณ 536,000 ล้านบาท) จากรัฐนิวเซาท์เวลส์ซิดนีย์เมโทรจะเพิ่มจำนวนรถไฟเข้าเมืองจาก 120 เป็น 200 ขบวนในชั่วโมงเร่งด่วน มีการดูแลความปลอดภัย 24 ชั่วโมง และมีพื้นที่จอดรถมากขึ้น ระหว่างการก่อสร้างที่ต้องปิดสถานีตามเส้นทางรถไฟสายเก่าเพื่อปรับปรุงให้เป็นสถานีใต้ดิน เขาจะจัดรถรับส่งให้ได้รับความสะดวกโดยทั่วกันผลการสำรวจความคิดเห็นของผู้อยู่อาศัยตามแนวเส้นทาง 66 กิโลเมตร (กลุ่มตัวอย่าง 2,800 คน) ได้ข้อสรุปว่า “ใครๆ ก็ชอบ” กลุ่มผู้คัดค้านจึงสงสัยว่าผู้สำรวจให้ข้อมูลเพียงด้านเดียวหรือไม่ไม่มีใครบอกพวกเขาเลยว่าจำนวนที่นั่งบนรถแต่ละขบวนจะลดลงจาก 896 เหลือเพียง 378 ทางออกไปยังสถานที่หรือถนนสำคัญในตัวเมืองจะหายไป ยังไม่นับเรื่องการรื้อถอนอาคารบ้านเรือน แต่สำคัญที่สุดคือการทำรถใต้ดิน “ทับ” เส้นทางรถไฟเดิมด้วยเงินมหาศาลจากภาษีของทุกคนมันเหมาะสมแล้วหรือ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 191 ไม่ปัดเศษเป็นนาทีมีแต่ได้

ตัวแทนผู้บริโภคของบริษัทมีความพยายามทำให้เกิดความเข้าใจผิดมากว่า หากทำวินาทีจะทำให้คนใช้โทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตจ่ายแพงขึ้น บริษัทมือถือจะมีรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมอย่างน้อย 26 จะทำให้ตัดทางเลือกของผู้บริโภค เพราะจะเหลือเพียงโปรโมชั่นเดียว หรือแม้แต่บอกว่า การออกโปรโมชั่นเดิมแบบวินาทีของบริษัททำให้ผู้บริโภค จ่ายแพงกว่า เช่น เดิม 99 สตางค์ต่อนาที หากเป็นวินาทีจะตกอยู่ที่ 1.6 สตางค์ แต่โปรแบบนาทีก็ยังถูกกว่า หรือยกตัวอย่างเบอร์เติมเงิน นาทีแรก 99 สตางค์ นาทีต่อไปนาทีละ 25 สตางค์ ถ้าถามประชาชนว่าจะเลือกแบบไหน ประชาชนก็ต้องเลือกแบบนาทีเพราะถูกกว่าเรื่องผู้บริโภคจ่ายแพงขึ้น ไม่เป็นจริงแน่นอน เพราะเรื่องนี้เป็นการนับเวลาการใช้โทรศัพท์ หากเราได้ใช้เต็มจำนวนไม่ปัดเศษวินาทีเป็นนาที เราสามารถลดแพ็คเกจให้ราคาถูกลง ประหยัดค่าใช้จ่ายทั้งระบบรายเดือนและระบบเติมเงินในการใช้โทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตส่วนเรื่องโปรวินาทีทำให้ราคาที่เราจ่ายแพงขึ้น เป็นเพราะผู้ประกอบการได้นำ “โปรวินาที” มาเสนอเป็น “ทางเลือก” แก่ผู้บริโภคเพียงแค่ 1 โปร เท่านั้น ในที่สุดโปรวินาทีที่ออกมาก็กลายเป็น “โปรสับขาหลอก” ที่ออกแบบมาให้ไม่มีใครเลือกใช้อีก ขณะที่โปรทั่วไปก็ยังมีลูกค้าหนาแน่นเหมือนเดิม บริษัทมือถือจะมีรายได้เพิ่มขึ้น ก็ไม่เป็นจริง เพราะเรื่องนี้บริษัทคัดค้านเต็มที่ ถึงขนาดลงขันกันมากกว่าร้อยล้าน หากบริษัทได้ประโยชน์ย่อมเห็นด้วยหรือสนับสนุนอย่างแน่นอน ที่สำคัญบริษัทคงไม่ยินดีลดกำไรของตนเองหาก กสทช.ไม่มีการกำกับดูแลใดๆเรื่องตัดทางเลือก ก็ขออธิบายว่า ไม่เกี่ยวกันเลย เพราะสิ่งที่เสนอเป็นเพียงการนับจำนวนที่ใช้โดยไม่ปัดเศษ ไม่ได้จำกัดการทำโปรโมชั่นของบริษัท เหมือนเราได้รับส้มเต็มกิโล แต่เป็นนาทีโทรศัพท์เต็มตามจำนวนของโปรโมชั่น และบริษัทยังสามารถมีโปรโมชั่นได้ตามเดิม เพียงแต่การคิดค่าโทรศัพท์ หรืออินเทอร์เน็ตให้คิดตามจริงไม่ปัดเศษ เพื่อให้ได้สิทธิเต็มจำนวนตามแพ็คเกจ จึงเป็นที่มาของมติ กสทช. 17 พฤษภาคม 2559 ว่า “ให้คิดอัตราค่าบริการตามการใช้งานจริงเป็นวินาทีทุกรายการส่งเสริมการขาย” แต่ไม่มีการบังคับให้บริษัททำจริงใน 8 เดือนที่ผ่านมา แถมยังได้แก้ไขให้บริษัททำเพียง 50% ของการส่งเสริมการขายเมื่อวันที่ 11 มกราคม ที่ผ่านมา ส่วนข้ออ้างของนักวิชาการ ว่า กสทช. ไม่ควรกำกับเรื่องนี้ แต่ควรทำให้การใช้โทรศัพท์(เสียง)ฟรี เพราะปัจจุบันเราสามารถโทรศัพท์โดยผ่านระบบไลน์โดยไม่ต้องเสียเงิน ก็ต้องบอกว่า “ไม่คัดค้าน” ผู้บริโภคก็ยินดีหาก กสทช.จะสามารถกำกับให้โทรศัพท์โดยไม่ต้องเสียเงิน แต่ขณะที่บริษัทยังคิดเงินอยู่ทุกเดือนเช่นปัจจุบัน ก็ต้องกำกับให้คิดเงินอย่างเป็นธรรม และต้องเป็นธรรมกับทุกคน ไม่ใช่ให้เลือกความเป็นธรรมเพียง 50%เรื่องนี้ คงไม่ง่าย เพราะถ้าง่าย คงสำเร็จไปเมื่อสองปีที่แล้ว แต่เพราะความยากนี่แหละ ทำให้ผู้บริโภคอย่างเราได้มีโอกาสร่วมมือกัน ทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 191 รวมพลังผู้บริโภค ยกเลิกปัดเศษค่าโทรมือถือ คิดค่าบริการตามจริงเป็นวินาที (2)

หลักการสำคัญของข้อเสนอให้คิดค่าบริการโทรศัพท์เป็นวินาทีตามที่มีการใช้งานจริง ก็คือ “หลักความเป็นธรรม ใช้เท่าไร ก็ควรจ่ายเท่านั้น”  ในอดีต การปัดเศษการใช้งานโทรศัพท์จากวินาทีเป็นนาทีนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะข้อจำกัดด้านเทคนิคของระบบนับเวลาและคิดคำนวณค่าบริการที่ยังไม่ทันสมัย เป็นระบบอนาล็อก ที่ไม่สามารถคำนวณนับแบบละเอียดได้ จึงต้องมีการปัดเศษการโทรเป็นนาที แต่ทุกวันนี้ ระบบโทรคมนาคมพัฒนาไปมาก เป็นระบบดิจิตอลหมดแล้ว การบันทึกข้อมูลการใช้งานทำได้ละเอียดมาก ๆ  แม้กระทั่งหน่วยที่เล็กกว่าวินาทีก็สามารถคำนวณนับได้ และถ้าดูข้อมูลในใบแจ้งค่าใช้บริการดี ๆ จะเห็นว่า ข้อมูลระยะเวลาการใช้งานโทรศัพท์ที่บริษัทบันทึกไว้นั้น มีหน่วยเป็นวินาทีด้วยซ้ำไป แล้วจึงค่อยมาปัดเศษการใช้งานเป็นนาทีอีกครั้งหนึ่ง ดังนั้น ถ้าจะว่าไปแล้ว การคำนวณนับค่าบริการเป็นวินาทีนั้น ตรงไปตรงมาและยุ่งยากน้อยกว่าการต้องไปปัดเศษเสียอีก  คิดค่าบริการโทรศัพท์เป็นวินาทีตามที่มีการใช้งานจริง จึงเป็นเรื่องที่เหมาะสมกับยุคดิจิตอล การคิดแบบปัดเศษวินาทีเป็นนาทีต่างหากที่เป็นเรื่องล้าสมัย และไม่เป็นธรรม  ในหลายประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ฝรั่งเศส สเปน โปรตุเกส จึงเลิกใช้ระบบปัดเศษกันแล้ว และมีกฎหมายห้ามปัดเศษ เพราะถือว่าเป็นการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค  แพ็คเกจค่าบริการโทรศัพท์ในบ้านเราทุกวันนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นแบบเหมาจ่าย เช่น “จ่าย 190 บาท รับสิทธิโทรออกทุกเครือข่าย 250 นาที ค่าบริการส่วนเกินคิดค่าบริการนาทีละ 0.99 บาท” แต่พอใช้งานจริง เมื่อถูกปัดเศษการใช้งานทุกครั้งที่โทร ผู้ใช้บริการก็จะไม่สามารถใช้งานได้เต็มตามสิทธิ แถมบางรายอาจจะต้องจ่ายเงินเพิ่ม เพราะ ด้วยวิธีการคำนวณนับระยะเวลาการใช้งานแบบปัดเศษ ทั้งที่ถ้านับระยะเวลากันจริง ๆ ใช้งานไม่เกินสิทธิตามแพ็คเกจด้วยซ้ำ เรียกว่า โดนเอาเปรียบถึง 2 ต่อเลยทีเดียว  ที่สำคัญ เงื่อนไขการปัดเศษการโทรจากวินาทีเป็นนาทีนี้ หลายกรณีก็มิได้มีการเขียนเอาไว้ในสัญญาการใช้บริการ หรือแจ้งไว้ในรายการส่งเสริมการขายด้วยซ้ำ จึงเท่ากับว่า ค่ายมือถือกำลังทำผิดสัญญา ทำให้ผู้ใช้บริการได้รับความเสียหาย ซึ่งผู้ใช้บริการก็มีสิทธิฟ้องร้อง ให้ศาลสั่งให้บริษัทปฏิบัติให้เป็นไปตามสัญญา คือ คิดค่าบริการตามที่มีการใช้งานจริง และให้คืนเงินส่วนที่บริษัทได้เรียกเก็บไปโดยมิได้มีการใช้งานจริง  แต่เมื่อพูดถึงเรื่องการฟ้องร้อง หลายคนก็จะรู้สึกว่าเป็นเรื่องยุ่งยาก วุ่นวาย เสียเงิน เสียเวลา แถมไม่รู้ว่าฟ้องไปแล้วจะชนะหรือไม่ คิดแล้วยังไง ก็ไม่คุ้มกับเงินที่เสียไปไม่กี่บาท ยอมทนก้มหน้า ถูกเอาเปรียบต่อไปดีกว่า  ระบบศาลยุติธรรมเองก็เห็นถึงข้อจำกัดนี้ จึงมีการพัฒนาปรับปรุง กระบวนฟ้องคดีแบบกลุ่ม (Class Action) ขึ้น โดยเป็นวิธีการที่สามารถคุ้มครองผู้เสียหายจำนวนมากได้ ด้วยการดำเนินคดีเพียงคดีเดียว ซึ่งเหมาะสำหรับคดีที่มีผู้เสียหายจำนวนเยอะ ๆ แต่ความเสียหายของแต่ละคนไม่มาก และความเสียหายเกิดขึ้นจากการกระทำที่มีข้อเท็จจริงเดียวกัน และข้อกฎหมายเหมือนกัน เช่น คดีผู้บริโภค คดีผิดสัญญา คดีสิ่งแวดล้อม เป็นต้น โดยจะมีโจทก์ผู้ริเริ่มคดี ดำเนินการแทนผู้เสียหายคนอื่น ๆ และไม่จำเป็นต้องเข้ามาเป็นคู่ความในคดีหรือมอบอำนาจให้ดำเนินคดีแทน เพียงแต่เข้ามาเป็นสมาชิกกลุ่ม ซึ่งเมื่อศาลมีคำพิพากษาก็จะมีผลผูกพันกับสมาชิกในกลุ่มไปด้วย  การดำเนินคดีแบบกลุ่มนี้ในต่างประเทศมีมานานแล้ว แต่ในประเทศไทยเพิ่งมีการแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 26) พ.ศ. 2558 ให้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการฟ้องและดำเนินคดีแบบกลุ่ม ซึ่งปัจจุบันกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้แล้ว  ล่าสุด(12 มกราคม 2560) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่าย เตรียมรวบรวมผู้เสียหายจากการถูกคิดค่าบริการเกินกว่าที่ใช้งานจริงเนื่องจากถูกปัดเศษการใช้งานโทรศัพท์ ฟ้องคดีแบบกลุ่ม เพื่อเรียกเงินคืนจากบริษัทมือถือต่าง ๆ และขอให้บริษัทปฏิบัติตามสัญญาคิดค่าบริการตามที่มีการใช้งานจริงเป็นวินาที โดยไม่ปัดเศษ  สำหรับผู้บริโภคท่านใดที่สนใจ สามารถมีส่วนร่วมพิสูจน์ปัญหาค่าโทรปัดเศษด้วยตัวท่านเอง โดยขอบันทึกการโทรย้อนหลังเพื่อนับวินาทีและเงินที่หายไป (Call Detail Record ) ผ่านคอลเซ็นเตอร์ในเครือข่ายที่ท่านใช้งาน  ครับ ช่วยกันไปขอบันทึกการใช้โทรศัพท์ ที่ให้บริการมือถือที่เราใช้อยู่ ย้อนหลังได้กี่เดือนเอามาให้หมด มาดูกับประวัติการโทรของว่า เราถูกเอารัดเอาเปรียบไปเท่าไร หากเห็นว่าตัวท่านเสียหายจากการปัดเศษค่าโทร และอยากร่วมฟ้องคดี สามารถติดต่อมาได้ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ทั้งทางเฟสบุ๊ค และเว็บไซต์ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หรือร่วมลงชื่อกับ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคฟ้องคดี แบบกลุ่ม class action >>> https://goo.gl/PgmPDM 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 191 ระวังเสาสัญญาณโทรศัพท์ในชุมชน

แม้เสาสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่จะเป็นอุปกรณ์สำคัญ ที่ช่วยนำพาสัญญาณไปสู่โทรศัพท์เคลื่อนที่และอุปกรณ์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตแบบไร้สาย แต่ในปี 2555 องค์การอนามัยโลกได้ประกาศว่า มีความเป็นไปได้ที่คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากเสาสัญญาณดังกล่าว อาจเกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งสมอนอกจากนี้ยังมีงานวิจัยถึงผลกระทบต่อผู้อาศัยในบริเวณใกล้เสาสัญญาณการสื่อสารว่า ภายในรัศมี 400 เมตร ผู้อาศัยส่วนใหญ่มีอาการคล้ายกัน ได้แก่ ปัญหาทางสุขภาวะ เช่น มีอาการ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ ความจำเสื่อม ขาดสมาธิ วิงเวียน สั่นกระตุก เศร้าสลด สายตาพร่ามัว รวมทั้งพบอัตราความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งเพิ่มสูงกว่า 3 - 4 เท่าตัว ทำให้หลายประเทศรวมทั้งในประเทศไทยมีนโยบายต่างๆ เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น อย่างไรก็ตามเรากลับพบว่าในบางพื้นที่ได้มีการติดตั้งเสาสัญญาณ โดยไม่คำนึงถึงอันตรายของผู้อยู่อาศัย ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับชุมชนของผู้ร้องรายนี้ คุณสุชัยร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิว่า ในชุมชนของเขามีการติดตั้งเสาสัญญาณโทรศัพท์ โดยขัดกับนโยบายป้องกันการเกิดอันตราย เพราะเสาดังกล่าวอยู่ห่างจากบ้านของเขาที่อยู่ติดกับโรงพยาบาลชุมชนเพียง 20 เมตร ซึ่งตามหลักการติดตั้งเสาสัญญาณ ต้องอยู่ห่างจากชุมชนเกิน 2 กิโลเมตรและควรอยู่บนเนินสูง รวมทั้งขอบของลำคลื่นหลัก (main beam) ที่ระดับพื้นดินต้องอยู่ห่างจากสถานที่กลุ่มผู้อ่อนแอ เช่น สถานศึกษา โรงพยาบาล สถานเลี้ยงเด็ก บ้านพักฟื้นคนชรา ไม่น้อยกว่า 100 เมตร เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายในระยะยาวได้ ดังนั้นคุณสุชัยจึงขอคำปรึกษาถึงแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยต้องการให้มีการย้ายเสาสัญญาณดังกล่าวออกจากชุมชนแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ แนะนำให้ผู้ร้องตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมที่ อบต. ว่า ก่อนหน้านี้ได้มีการขออนุญาตจากผู้ประกอบการหรือทำประชาพิจารณ์ ในการติดตั้งเสาสัญญาณดังกล่าวหรือไม่ โดยหากพบว่าไม่มีการดำเนินการเหล่านั้น สามารถล่ารายชื่อของคนในชุมชนที่ไม่ต้องการให้มีการติดตั้งเสาสัญญาณโทรศัพท์ในพื้นที่ดังกล่าว และทำหนังสือส่งถึง กสทช. เพื่อให้เข้ามาตรวจสอบปัญหา หรือโทรศัพท์ร้องเรียนโดยตรงต่อ กสทช. ได้ที่สายด่วน 1300 นอกจากนี้สามารถทำหนังสือถึงผู้ประกอบการให้ชี้แจงข้อสงสัยได้ด้วย ทั้งนี้ภายหลังการดำเนินการ พบว่า กสทช. ได้เข้ามาเจรจากับผู้ประกอบการ และขอให้ถอนการติดตั้งเสาสัญญาณโทรศัพท์ดังกล่าวออกจากชุมชนไป ตามหลักการติดตั้งเสาส่งสัญญาณในประเทศไทย ซึ่งผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ดังนี้ 1. การขออนุญาตตั้งสถานีวิทยุคมนาคม และใบอนุญาตให้ใช้เครื่องวิทยุคมนาคม ตรวจสอบจาก กสทช. ตามมาตรา 11 แห่ง พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม พ.ศ.2498 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ.25352. การขออนุญาตก่อสร้างหรือต่อเติมอาคารในจุดติดตั้งเสาส่งสัญญาณ ตรวจสอบจากหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 (กฎกระทรวงกำหนดสิ่งที่สร้างขึ้นอย่างอื่นเป็นอาคารตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร พ.ศ.2544 ข้อ 4)3. ขั้นตอนการชี้แจงทำความเข้าใจต่อประชาชน ตรวจสอบจาก กสทช. ประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และมาตรการกำกับดูแลความปลอดภัยต่อสุขภาพของมนุษย์จากการใช้เครื่องวิทยุคมนาคม ข้อ 12.54. ตรวจสอบการดำเนินการเรื่อง การแผ่คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากเสาส่งสัญญาณ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์มาตรฐานความปลอดภัยต่อสุขภาพของมนุษย์ จากการใช้เครื่องวิทยุคมนาคม เนื่องจากผู้ได้รับใบอนุญาตจะต้องส่งรายงานประเมินระดับความแรงของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า และต้องมีระดับความแรงของคลื่นที่ได้มาตรฐานตาม ประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรฐานความปลอดภัยต่อสุขภาพของมนุษย์จากการใช้เครื่องวิทยุคมนาคม และประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และมาตรการกำกับดูแลความปลอดภัยต่อสุขภาพของมนุษย์จากการใช้เครื่องวิทยุคมนาคม ข้อ 10 และ 11

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 190 รวมพลังผู้บริโภค ยกเลิกปัดเศษค่าโทรมือถือ คิดค่าบริการตามจริงเป็นวินาที

ถ้า “ซื้อส้ม 1 กิโลกรัม กับ 4 ขีด แล้วแม่ค้าบอกว่าจะขอปัดเศษ 4 ขีด เป็น 2 กิโลกรัม” หรือ “เติมน้ำมัน 30.2 ลิตร แต่ต้องจ่ายเงินเต็ม 31 ลิตร” ผมคิดว่า คนส่วนใหญ่คงไม่มีใครยอมแน่ ๆ แต่กับค่าโทรศัพท์ ซึ่งกลายเป็นปัจจัยที่ 5 ในวิถีชีวิตปัจจุบัน เรากลับต้องยอมจ่ายค่าโทรหรือค่าเน็ตในส่วนที่เราไม่ได้ใช้งานจริง เพราะถูกปัดเศษการใช้งาน แพคเก็จการใช้งานโทรศัพท์มือถือทุกวันนี้ มักจะกำหนดสิทธิโทรฟรีไว้จำนวนหนึ่ง ถ้าโทรเกินจากนั้นก็จะต้องจ่ายค่าโทรเพิ่มจากแพคเก็จ ดังนั้น การปัดเศษการใช้งานจากวินาที เป็นหนึ่งนาที ในทุก ๆ ครั้งที่มีการใช้งาน จะทำให้ผู้บริโภคใช้สิทธิได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย และต้องจ่ายค่าบริการแพงขึ้น ตัวอย่างเช่น โทรครั้งที่ นับระยะเวลาตามการใช้งานจริง ปัดเศษวินาทีเป็นนาที1.    2 นาที 30 วินาที 3 นาที2.    1 นาที 10 วินาที 2 นาที3.    4 นาที 5 วินาที 5 นาที4.   20 วินาที 1 นาที5.    1 นาที 15 วินาที 2 นาทีรวม 9 นาที 20 วินาที 13 นาทีจากข้างต้น ถ้ากำหนดให้สิทธิโทรฟรี ได้ 10 นาที ส่วนเกินคิดนาทีละ 1.50 บาท ถ้านับระยะเวลาตามที่ใช้งานจริง ผู้บริโภคใช้ไม่ถึง 10 นาที จึงไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม แต่ถ้านับแบบปัดเศษวินาทีเป็น 1 นาทีทุกครั้งที่ใช้งาน จะถือว่าใช้ครบ 10 นาทีตั้งแต่การโทรครั้งที่ 3 ดังนั้น โทรเกินไป 3 นาที ต้องจ่ายเงินเพิ่ม 4.50 บาท คำถามคือ ผู้บริโภคใช้งานจริงแค่ 9 นาที 20 วินาที แต่ต้องจ่ายเงินส่วนเกินจากแพ็คเกจ การนับระยะเวลาแบบนี้เป็นธรรมกับผู้บริโภค หรือไม่ ในขณะที่ ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมคิดค่าบริการจากผู้บริโภคในแต่ละครั้งเป็นนาทีโดยปัดเศษวินาทีเป็นหนึ่งนาที แต่ในสัญญาการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมที่ผู้ประกอบการทำขึ้นระหว่างกัน กลับกำหนดการเรียกเก็บค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายประเภทเสียง โดยให้เรียกเก็บเป็นนาที การนับจำนวนนาทีให้คิดจากจำนวนวินาทีของทราฟฟิคที่สมบูรณ์ทั้งหมดที่ต้องเรียกเก็บเงินระหว่างกันตามที่เกิดขึ้นในเดือนนั้น ๆ โดยเศษของนาทีให้คิดตามจริงโดยไม่มีการปัดเศษ หมายความว่า “ต้นทุนการให้บริการประเภทเสียงที่บริษัทผู้ให้บริการต้องจ่ายนั้น คิดตามการใช้งานจริงเป็นวินาทีโดยไม่ปัดเศษวินาทีขึ้นเป็นหนึ่งนาที แต่ผู้ประกอบการกลับคิดค่าบริการกับผู้บริโภค โดยปัดเศษของวินาทีขึ้นเป็นหนึ่งนาที ในทุก ๆ ครั้งที่มีการใช้โทรศัพท์”การปัดเศษการใช้งานโทรศัพท์จากวินาทีเป็นนาที อาจฟังดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กน้อย ที่มีมูลค่าไม่กี่บาทกี่สตางค์สำหรับผู้ใช้บริการ แต่ในมุมของผู้ให้บริการโทรศัพท์ การนับเวลาแบบปัดเศษแบบนี้ สร้างรายได้จำนวนมหาศาล ลองคิดคำนวณแบบคร่าว ๆ ว่า ใน 1 วัน ปัดเศษวินาที เป็นนาที แค่ 1 ครั้ง ค่าโทรนาทีละ 1 บาท บริษัท ก็ได้ส่วนเกินนี้ไป อย่างน้อยเดือนละ 30 บาท ปัจจุบัน ประเทศไทยมีผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือ ประมาณ 90 ล้านราย คิดแล้วก็ประมาณ 2,700 ล้านบาท/เดือน หรือปีละ 32,400 ล้านบาท เรื่องการปัดเศษ ค่าโทรศัพท์จากวินาที เป็นหนึ่งนาที จึงเป็นเรื่องเล็กที่มีมูลค่ามหาศาล และมีผลกระทบกับสังคมในวงกว้าง ดังนั้น เมื่อ ต้นปี 2558 คณะกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จึงได้ผลักดันเรื่องดังกล่าวเป็นวาระปฏิรูป เสนอให้ กสทช. ใช้อำนาจตามกฎหมายกำหนดให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคม คิดค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทเสียงตามระยะเวลาการใช้งานที่เป็นจริง โดยคิดเป็นวินาที ในตอนนั้นหลายคนหวังว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น เพราะหน่วยงานต่าง ๆ พากันออกมารับลูกอย่างคึกคัก เห็นด้วยว่าสมควรที่จะเปลี่ยนแปลงให้เกิดความเป็นธรรม แต่ดูเหมือนระยะเวลา เกือบ 2 ปีที่ผ่านมา เรื่องนี้ยังคงไปไม่ถึงไหน ค่ายมือถือ ยังคงคิดค่าบริการโดยปัดเศษการใช้งาน มีเพียงโปรโมชั่นไม่กี่แพคเก็จที่มีการคิดค่าบริการตามจริงเป็นวินาที ทั้งที่ กสทช. ได้กำหนดไว้ในเงื่อนไขการประมูล 4G (คลื่น 1800 MHz. และ 900 MHz.) ว่า ผู้ที่ให้บริการ 4G จะต้องคิดค่าบริการตามจริงเป็นวินาทีงานนี้กลายเป็นเรื่องยืดเยื้อเรื้อรัง ไม่จบง่าย ๆ ดังนั้น มาต่อกันฉบับหน้าว่า พลังผู้บริโภคจะมีส่วนร่วมช่วยกันผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้ได้อย่างไรบ้าง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 188 เรียกเก็บเงินเกินโปรโมชั่น

โปรโมชั่นส่วนใหญ่ มักมีเงื่อนไขยิบย่อยที่อาจทำให้เราลืมสังเกตได้ ซึ่งเรามักจะมารู้ทีหลังก็เมื่อตอนที่จะต้องจ่ายเงินค่าบริการ เหมือนดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณชูชัยแจ้งว่าได้เปิดใช้บริการของ ทรูอินเทอร์เน็ต โดยเลือกใช้โปรโมชั่นซุปเปอร์สปีด ไฟเบอร์ (Super Speed Fiber) เหมาจ่ายราคา 799 บาท/เดือน (ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%) ซึ่งสามารถโทรฟรี 50 นาทีและเล่นอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 30 เม็กกะไบต์ อย่างไรก็ตามเขาพบว่ามีการเรียกเก็บค่าบริการเพิ่ม เดือนละ 100 – 120 บาททุกเดือน ทั้งที่ไม่ได้ใช้บริการเกินโปรโมชั่นที่กำหนดไว้ จึงส่งเรื่องมาร้องเรียนยังศูนย์พิทักษ์สิทธิเพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ แนะนำให้ผู้ร้องนำเอกสารสำคัญ เช่น ใบเรียกเก็บเงิน ใบเสร็จรับเงิน ใบโฆษณาต่างๆ มาเป็นหลักฐานประกอบการร้องเรียน จากนั้นจึงแจ้งเรื่องไปยังบริษัทดังกล่าว ซึ่งภายหลังการตรวจสอบ เจ้าหน้าที่ของบริษัทได้แจ้งกลับว่า กรณีที่มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเกินราคาโปรโมชั่น เนื่องจากผู้ร้องได้ใช้เบอร์โทรศัพท์บ้าน โทรออกไปยังหมายเลขพิเศษ เช่น เบอร์โทรที่มี 4 หลัก ซึ่งการโทรไปยังเลขหมายดังกล่าว ไม่อยู่ในเงื่อนไขการโทรฟรี ทำให้ต้องจ่ายครั้งละ 3 บาท รวมทั้งมีการโทรเข้าบ้านด้วยกันเอง ทำให้ผู้ร้องต้องเสียค่าบริการเพิ่ม เพราะตามโปรโมชั่นการโทรฟรี 50 นาที สามารถใช้โทรเข้าเบอร์มือถือ (ทุกเครือข่าย) ได้เท่านั้น ด้านผู้ร้องเมื่อได้รับคำอธิบายดังกล่าวก็เข้าใจและยินดียุติเรื่องร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 187 บอกเลิก (บริการโทรคมนาคม) อย่างไรให้ได้ผล (ตอนที่ 1)

“บอกเลิก” อย่างไรให้ได้ผล เห็นจั่วหัวอย่างนี้ อย่าเพิ่งคิดว่านี่เป็นคอลัมน์ปรึกษาปัญหาความรักนะครับ เพราะ “วิธีการบอกเลิก” ที่ผมจะแนะนำนี้ เอาไว้ใช้ยกเลิกบริการโทรคมนาคม โทรศัพท์มือถือ โทรศัพท์บ้าน หรือบริการอินเทอร์เน็ต อย่าเอาไปใช้กับคนข้าง ๆ นะครับ ไม่รับประกันความปลอดภัยเวลาที่เราต้องการยกเลิกบริการโทรศัพท์หรืออินเทอร์เน็ตที่สมัครไว้ บรรดาบริษัทผู้ให้บริการทั้งหลายก็จะพยายามทุกวิถีทางเพื่อเหนี่ยวรั้งลูกค้าเอาไว้ อาจจะด้วยการเสนอโปรโมชั่นพิเศษ ลดราคาค่าบริการให้ หรือบางทีก็จะยกเงื่อนไขต่าง ๆ ในสัญญามาอ้าง ไม่ให้เรายกเลิกบริการ เช่น รับเครื่องฟรีไปแล้วต้องใช้บริการให้ครบตามสัญญา , ยกเลิกบริการที่นี่ไม่ได้ ต้องไปทำเรื่องที่สำนักงานใหญ่ , ถ้าจะยกเลิกบริการต้องเสียค่าปรับ ค่าติดตั้ง ค่าธรรมเนียม ฯลฯ ผู้บริโภคหลายคนเจอบริษัทใช้ลูกไม้นี้ ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ต้องทนใช้บริการต่อไปก็มี หนักกว่านั้นคือ บางคนยอมจ่ายค่าบริการไปเรื่อยๆ ให้ครบตามสัญญา เพราะกลัวถูกปรับ ทั้งที่ไม่ได้ใช้บริการแล้วประกาศ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549ข้อ 72  ผู้ใช้บริการมีสิทธิบอกเลิกสัญญาในเวลาใดก็ได้ด้วยการบอกกล่าวเป็นหนังสือให้แก่ผู้ให้บริการทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าห้าวันทำการ ทั้งนี้ ผู้ใช้บริการจะต้องชำระค่าบริการครบถ้วนแล้วจนถึงวันที่การยกเลิกสัญญามีผลบังคับในกรณีที่มีเหตุดังต่อไปนี้ ผู้ใช้บริการอาจใช้สิทธิเลิกสัญญาได้ทันที            (1)  ผู้ใช้บริการไม่สามารถรับบริการจากผู้ให้บริการ ได้ด้วยเหตุที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและอยู่นอกเหนือการควบคุมของผู้ใช้บริการ            (2) ผู้ให้บริการได้ละเมิดข้อตกลงอันเป็นสาระสำคัญของสัญญา            (3) ผู้ให้บริการตกเป็นบุคคลล้มละลาย            (4) ผู้ให้บริการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงในสัญญาหรือเงื่อนไขในการให้บริการ ซึ่งมีผลเป็นการลดสิทธิหรือประโยชน์อันพึงได้รับของผู้ใช้บริการลง เว้นแต่เกิดจากเหตุตามที่กฎหมายบัญญัติถ้าคุณต้องการจะยกเลิกสัญญาบริการโทรคมนาคม ลองทำตามนี้ครับสิทธิในการยกเลิกบริการเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้บริโภค ไม่มีใครสามารถบังคับให้คุณต้องใช้บริการที่คุณไม่ต้องการ ซึ่งกฎหมายก็รับรองสิทธิข้อนี้ของผู้บริโภคไว้กรณีศูนย์บริการจังหวัด ซึ่งทำได้ทุกอย่าง เปิดเบอร์ เปลี่ยนโปรโมชั่น รับชำระค่าบริการ แต่พอจะเลิกใช้บริการกลับบอกให้ไปทำเรื่องที่สำนักงานใหญ่ ในกรุงเทพฯ โอ้ว...แม่เจ้า ฟังแล้วของขึ้นถ้าเจอแบบนี้ไม่ต้องลำบากเดินทางไปสำนักงานใหญ่นะครับ แค่เขียนจดหมายน้อยฉบับเดียวเขียนถึง กรรมการผู้จัดการบริษัท แจ้งชื่อ นามสกุล หมายเลขโทรศัพท์ หรืออินเทอร์เน็ตที่ต้องการจะเลิกใช้บริการ อาจจะให้เหตุผลประกอบไปด้วยก็ได้ว่าทำไมเราถึงต้องการยกเลิกบริการ เช่น คุณภาพบริการไม่ดี มีความจำเป็นต้องย้ายที่อยู่ ฯลฯ และแนบสำเนาใบเสร็จการชำระค่าบริการเดือนสุดท้ายไปเป็นหลักฐาน แล้วก็ส่งไปถึงบริษัทจะทางไปรษณีย์ โทรสารหรืออีเมล์ ก็ได้ แค่นี้การบอกเลิกสัญญาใช้บริการของคุณก็มีผลตามกฎหมายแล้วส่วนเรื่องนโยบายการปฏิเสธไม่รับยกเลิกบริการที่ศูนย์บริการนั้น ข่าวแว่ว ๆ มาว่า กสทช. เตรียมจะพิจารณาว่าการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายน่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค เพราะ ถ้าศูนย์บริการไหน เปิดบริการให้ลูกค้าได้ ลูกค้าก็ควรจะไปยกเลิกบริการที่ศูนย์นั้นได้เช่นกัน มิใช่สร้างภาระ กีดกันมิให้ผู้บริโภคยกเลิกบริการแหม จะยกเลิกบริการแต่ละที ทำไมยากเย็นแท้ เดี๋ยวฉบับหน้ามาดูกันว่า จะมีวิธีรับมืออย่างไร ถ้าผู้ให้บริการอ้างว่าใช้บริการยังไม่ครบตามสัญญา ถ้ายกเลิกก่อนครบกำหนดจะต้องถูกคิดค่าปรับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 125 Call center ปฏิบัติการ โทรหาเธอวันละ 3 เวลา

  ฉลาดซื้อลงเรื่องทดสอบประสิทธิภาพของโทรศัพท์มือถือมาแล้วหลายครั้ง คราวนี้ขอลองทดสอบดูการให้บริการลูกค้าผ่านทางโทรศัพท์หรือคอลเซ็นเตอร์ ของแต่ละเครือข่ายดูบ้าง หลายคนคงอยากรู้ว่าคนอื่นๆ ที่เป็นลูกค้าของเครือข่ายอื่นๆ เขาต้องรอนานเหมือนเราหรือเปล่า  อาสาสมัครช่างโทรของเรา รับหน้าที่โทรเข้า Call center ของผู้ประกอบการโทรคมนาคม 3 บริษัท ได้แก่ AIS DTAC และTRUE MOVE วันละ 3 เวลา (09:00 น. 12:30 น. และ 20:00 น.) ในวันจันทร์ พุธ ศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ ในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มิใช่เพื่อการเม้าท์มอยด้วยความคิดถึง แต่เพื่อจับเวลาในการรอสาย   โดยเริ่มนับจากเวลาที่โทรติด จากนั้นฟังขั้นตอนต่างๆ จากระบบให้ข้อมูลอัตโนมัติของเครือข่าย จนกระทั่งได้ข้อมูลว่าต้องกดหมายเลขอะไรเพื่อติดต่อโอเปอเรเตอร์ และหยุดนับเวลาเมื่อโอเปอเรเตอร์รับสาย แต่ทั้งนี้อาสาสมัครจะวางสายเองถ้าต้องรอมากกว่า 5 นาที   จากการโทรเข้าคอลเซ็นเตอร์ของแต่ละบริษัท บริษัทละ 45 ครั้ง ทำให้เราได้ข้อมูลเรื่องระยะเวลาในการรอสายมาเล่าสู่กันฟังดังนี้   เวลาเฉลี่ยในการรอสายของแต่ละเครือข่าย1 นาที 15 วินาที  DTAC  1 นาที 59 วินาที  TRUE MOVE 2 นาที 39 วินาที  AIS   เวลาเฉลี่ยในการรอสายเมื่อโทรเข้าคอลเซ็นเตอร์ ในช่วงเวลาต่างๆ ของแต่ละเครือข่าย เวลา / เครือข่าย AIS DTAC TRUE MOVE 9:00 น. 3 นาที 03 วินาที 1 นาที 12 วินาที 1 นาที 46 วินาที 12:30 น. 1นาที 52 วินาที 1 นาที 49 วินาที 1 นาที 58 วินาที 20:00 น. 3 นาที 04 วินาที 1 นาที 56 วินาที 3 นาที 02 วินาที   • ถ้าคุณเป็นลูกค้า AIS เวลาที่เหมาะจะโทรปรึกษาคอลเซ็นเตอร์ คือช่วงเที่ยงๆ เพราะตอนเช้าและหัวค่ำนั้นคุณอาจจะต้องรอไม่ต่ำกว่า 3 นาที• ลูกค้า DTAC นั้นจะโทรเช้า เที่ยง หรือเย็นก็ไม่ต่างกันมากนัก แต่ข่าวดีคือรอไม่เกิน 2 นาที• ลูกค้า TRUE MOVE กรุณาอย่าโทรช่วงหัวค่ำเพราะต้องรอมากกว่า 3 นาที เปลี่ยนมาโทรช่วงเช้าหรือเที่ยงจะดีกว่า___  อาสาสมัครของเราทดลองโทรเข้าไปขอข้อมูลเรื่องการเปลี่ยนไปใช้บริการของเครือข่ายอื่น พบว่าแต่ละเครือข่ายยินดีให้ข้อมูลด้วยความเต็มใจ พูดจาสุภาพ และไม่พยายามจะตื้อให้เราใช้เครือข่ายเดิมต่อแต่อย่างใด ___ โพลล์ “ครอบครัวฉลาดซื้อ” รอสายกันนานไหมคราวนี้เราได้รับความร่วมมือจาก “ครอบครัวฉลาดซื้อ” สมาชิกฉลาดซื้อ และผู้เข้าร่วมการสัมมนาเรื่ององค์การอิสระผู้บริโภคที่โรงแรมเอเชีย ในวันคุ้มครองผู้บริโภค 30 เมษายน 2554 ทั้งหมด 275 คน ในการช่วยให้ข้อมูลเรื่องการรอสายรับบริการจากศูนย์บริการลูกค้าทางโทรศัพท์   ___  ผู้ให้ข้อมูลทั้งหมด 275 คน• ร้อยละ 37 เป็นลูกค้าของดีแทค DTAC • ร้อยละ 35.8 เป็นลูกค้าของเอไอเอส AIS• ร้อยละ 24.2 เป็นลูกค้าของทรูมูฟ TRUE MOVE• ร้อยละ 3 เป็นลูกค้าของฮัทช์ HUTCHผู้ให้ข้อมูลส่วนใหญ่ (ร้อยละ 87.5) ใช้บริการมาแล้วกว่าสองปี ___ • ร้อยละ 76.8 ของผู้ให้ข้อมูล เคยประสบปัญหาจากการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ปัญหาเรื่องระบบสัญญาณ   ร้อยละ 59.5  ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับบริการเสริมต่างๆ  ร้อยละ 20 ปัญหาค่าบริการ    ร้อยละ 13.6 และปัญหาอื่นๆ     ร้อยละ 6.8   • การสำรวจครั้งนี้พบว่า  ทรูมูฟ มีลูกค้าที่เคยประสบปัญหา  ร้อยละ 82.8เอไอเอส มีลูกค้าที่เคยประสบปัญหา ร้อยละ 75.3ฮัทช์ มีลูกค้าที่เคยประสบปัญหา  ร้อยละ 75ดีแทค มีลูกค้าที่เคยประสบปัญหา  ร้อยละ 74.7  • สามอันดับปัญหายอดฮิตปัญหาเรื่องสัญญาณ  ร้อยละ 59.7ปัญหาเรื่องบริการเสริม  ร้อยละ 19.9ปัญหาเรื่องค่าใช้บริการ  ร้อยละ 13.4   • ร้อยละ 75.8 ของผู้ให้ข้อมูล เคยใช้บริการคอลเซ็นเตอร์ ของผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ ร้อยละ 34.2  รอสายประมาณ 3 ถึง 5 นาที ร้อยละ 32.9  รอสายน้อยกว่า 3 นาที ร้อยละ 21  รอสาย 5 ถึง 10 นาที ร้อยละ 11.9  รอสายเป็นเวลามากกว่า 10 นาที  ----ร้อยละ 12 ของผู้ตอบแบบสอบถามเคยรอสายมากกว่า 10 นาทีร้อยละ 38.5 ของคนที่เคยรอสายนานกว่า 10 นาทีเป็นลูกค้าของ TRUE MOVE ----

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 122 “ฮัลโหล ฮัลโหล ...ใช้โปรฯ ไหนอยู่ค่ะ”

มาเลือกซิมและโปรโมชั่มมือถือให้เหมาะกับการใช้งานกันดีกว่า   “โทรศัพท์มือถือ” กลายเป็นอุปกรณ์สำคัญสำหรับการดำเนินชีวิตประจำวัน เพราะมันมีประโยชน์อย่างมากในการติดต่อสื่อสาร การทำงาน เรียกว่าโทรศัพท์มือถือช่วยทำให้ชีวิตเราสะดวกสบายมากขึ้น บางคนถึงขั้นยอมรับว่าถ้าขาดโทรศัพท์มือถือไปก็เหมือนกับขาดใจ ทำอะไรไม่ถูกกันเลยทีเดียว   ยิ่งทุกวันนี้โทรศัพท์มือถือถูกพัฒนาออกมาให้มีระบบการทำงานและลูกเล่นต่างๆ ที่หลากหลายมากขึ้น ทั้ง ถ่ายรูป ฟังเพลง เล่นอินเตอร์เน็ต (ฉลาดซื้อเราก็นำเสนอผลทดสอบประสิทธิภาพต่างๆ ของโทรศัพท์มือถืออยู่บ่อยๆ) แต่ไม่ว่าโทรศัพท์มือถือจะถูกพัฒนาไปไกลแค่ไหน หน้าที่ที่สำคัญที่สุดของโทรศัพท์มือถือก็คือ “การเป็นอุปกรณ์สำหรับติดต่อสื่อสาร” ซึ่งแน่นอนว่าเราต้องพึ่งสัญญาณโทรศัพท์มือถือจากผู้ให้บริการ ซึ่งในบ้านเราก็มีอยู่ไม่กี่เจ้า แต่ว่ามีรูปแบบการใช้งานออกมาให้เลือกมากมายจนทำเอาผู้บริโภคอย่างเรามึนแล้วมึนอีกกว่าจะเลือกได้ ฉลาดซื้อขออาสาคัดเลือกซิมและโปรโมชั่น โดยเราจะขอเลือกมาเฉพาะที่เป็นโปรโมชั่น ”แบบเติมเงิน” เพราะในบ้านเรามีผู้ใช้ระบบนี้ถึง 90%1 ของคนที่ใช้โทรศัพท์มือถือทั้งหมด มาลองดูกันสิว่าซิมแบบไหน โปรโมชั่นอะไร ที่คุ้มค่าคุ้มราคาและเหมาะกับการใช้งานของแต่ละคนมากที่สุด   (1รายงานโครงการวิจัยระบบวิเคราะห์รายการส่งเสริมการขายในกิจการโทรคมนาคม โดยมูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง)++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++   มาเลือกซิมและโปรโมชั่นมือถือที่เหมาะสมกับการใช้งานกันดีกว่า   คุยสั้น เมาท์ขำๆ พูดไม่กี่คำก็รู้เรื่อง   ซิมที่อยากแนะนำ เครือข่าย ค่าโทรนาทีแรก นาทีต่อไป ราคา ค่าโทรที่ได้รับเมื่อเปิดใช้ซิม เงื่อนไขที่ควรรู้ ซิมฮักกัน ทรูมูฟ 75 สตางค์ 75 สตางค์ 49 15 บาท -ได้สิทธิ์สมัครโปรโทรไม่อั้น 3 วัน 9 บาท ในเครือข่ายทรูมูฟ ช่วงเวลา 23.00 น.- 16.59 น -ฟรี SMS 10 ครั้ง และ EDGE/GPRS 30 นาที แต่ต้องใช้ภายใน 30 วันหลังจากเปิดใช้บริการ ซิมถูกใจ ทรูมูฟ 99 สตางค์ 99 สตางค์ 49 บาท 75 บาท -ได้รับโบนัสโทรฟรีเท่ากับมูลค่าของเงินที่เติม -ได้รับวันใช้งานเพิ่มเป็น 2 เท่าจากการเติมเงิน -ฟรี (SMS) จำนวน 10 ข้อความ และบริการ EDGE/GPRS 100 นาที แต่ต้องใช้ภายในระยะเวลา 60 วัน นับจากวันที่เปิดใช้บริการ ซิมสะตอ ดีแทค 30 วินาทีแรก 30 สตางค์ ต่อไปคิดนาทีละ 1 บาท 1 บาท 49 บาท 15 บาท   ฉลาดซื้อแนะนำ สำหรับคนที่ใช้โทรศัพท์มือถือติดสื่อสารพูดคุยเรื่องสั้นๆ ครั้งหนึ่งไม่ถึงนาทีหรือแค่ไม่กี่นาที เวลาเลือกโปรโมชั่นซิมแบบเติมเงิน ควรดูที่ค่าโทรนาทีแรกเป็นหลัก เพราะเราคุยสั้น ถ้าคุยไม่ถึงนาทีจะยิ่งคุ้มค่าและประหยัดมาก แต่การศึกษาข้อมูลค่าโทรนาทีถัดไปเอาไว้ด้วยเป็นสิ่งจำเป็น เพราะแม้จะเป็นคนคุยสั้นแต่บางครั้งก็อาจเผลอคุยยาวโดยไม่รู้ตัว คุยนาน เมาท์กระจาย โทรได้ทั้งวัน(ทุกเครือข่าย) ซิมที่อยากแนะนำ เครือข่าย ค่าโทรนาทีแรก นาทีต่อไป ราคา ค่าโทรที่ได้รับเมื่อเปิดใช้ซิม เงื่อนไขที่ควรรู้ ซิมแฮปปี้ ดีแทค 2 บาท 25 สตางค์ 99 บาท และ 199 บาท -ราคา 99 บาท ได้ 35 บาท -ราคา 199 บาท ได้ 50 บาท + SMS/MMS ในเครือข่ายดีแทค 250 บาท ค่าโทรเฉพาะช่วง 4 ทุ่ม – 6 โมงเย็น นอกช่วงเวลา คิดค่าโทรนาทีแรก 2 บาท ต่อไปคิดนาทีละ 1 บาท   ซิมวัน-ทู-คอล เอไอเอส 2 บาท 50 สตางค์ 99 35 บาท ทันทีเมื่อเปิดใช้บริการ และรับเพิ่มเติมอีกเดือนละ 30 บาท ในเดือนที่ 2 และ 3   ซิมสุดคุ้ม ทรูมูฟ 1 บาท 77 สตางค์ 1 บาท เมื่อซื้อของใน 7-11 ครบ 40 บาท หรือชำระค่าบริการเคาเตอร์เซอร์วิส 1 บิล 30 บาท -ได้รับโบนัสโทรเพิ่มเท่ากับมูลค่าของเงินที่เติม สำหรับใช้โทรไปยังเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในเครือข่ายทรูมูฟ ช่วงเวลา 23.00 – 16.59 น. เท่านั้น -ได้รับวันใช้งานพิเศษเพิ่มเป็น 2 เท่าจากการเติมเงินตามปกติ     (เฉพาะเครือข่ายเดียวกัน) ซิมที่อยากแนะนำ เครือข่าย ค่าโทร ราคา ค่าโทรที่ได้รับเมื่อเปิดใช้ซิม เงื่อนไขที่ควรรู้ ซิมไชโย ทรูมูฟ นาทีละ 50 สตางค์ ตลอด 24 ชม. 49 บาท และ 99 บาท -ราคา 49 บาท ได้ 15 บาท -ราคา 99 บาท ได้ 35บาท   ซิมสุดคุ้ม ทรูมูฟ นาทีละ 77 สตางค์ ตลอด 24 ชม. 1 บาท เมื่อซื้อของใน เซเว่น อีเลเว่น ครบ 40 บาท หรือชำระค่าบริการเคาเตอร์เซอร์วิส 1 บิล 30 บาท -ได้รับโบนัสโทรเพิ่มเท่ากับมูลค่าของเงินที่เติม สำหรับใช้โทรไปยังเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในเครือข่ายทรูมูฟ ช่วงเวลา 23.00 – 16.59 น. เท่านั้น -ได้รับวันใช้งานพิเศษเพิ่มเป็น 2 เท่าจากการเติมเงินตามปกติ ซิมรีโมท ทรูมูฟ ครั้งละ 1 บาท โดยเลือกช่วงเวลาระหว่าง 05.00 – 16.59 น. หรือ17.00 – 04.59 น.  ช่วงใดช่วงหนึ่ง โดยโทรได้นานสูงสุดครั้งละ 30 นาที และตั้งแต่นาทีที่ 31 เป็นต้นไป คิดค่าใช้บริการนาทีละ 1.25 บาท 49 บาท 15 บาท ผู้ใช้บริการสามารถเลือกเปลี่ยนช่วงเวลาได้ตลอด โดยไม่เสียค่าบริการเฉพาะการเปลี่ยนแพ็กเกจครั้งแรกของแต่ละวัน หลังจากนั้นคิดค่าบริการในการเปลี่ยนแพ็กเกจครั้งละ 5 บาท     ฉลาดซื้อแนะนำ คนที่ชอบคุยโทรศัพท์นานๆ ต้องดูที่ค่าโทรเฉลี่ยแต่ละนาที และต้องดูเรื่องข้อจำกัดต่างๆ ที่ผู้ให้บริการกำหนดเอาไว้ให้ดี เช่น การจำกัดช่วงเวลา การกำหนดค่าโทรที่แตกต่างกันของเบอร์ในเครือข่ายกับนอกเครือข่าย คนที่ชอบคุยนานๆ ถือเป็นกลุ่มที่มีค่าใช้จ่ายในการโทรศัพท์มากที่สุดตามปริมาณการโทร ดังนั้นจึงควรศึกษาเรื่องโปรโมชั่นต่างๆ ให้มากที่สุด เพราะนอกจากโปรโมชั่นหลักจากซิมที่ใช้อยู่แล้ว เดี๋ยวยังมีโปรโมชั่นเสริมอื่นๆ สำหรับคนโทรนานให้เลือกใช้ เช่น โทรถูก 1 เบอร์พิเศษ หรือคิดค่าโทรแบบเหมาจ่ายเป็นช่วงเวลา   โทรน้อย ชอบให้คนอื่นโทรหา แบบว่ามีโทรศัพท์ไว้รับอย่างเดียว ชื่อซิม เครือข่าย จำนวนวันที่ได้ ค่าโทรนาทีแรก ราคา ค่าโทรที่ได้รับเมื่อเปิดใช้ซิม เงื่อนไขที่ควรรู้ ซิมเปิ้ล ดีแทค 365 วัน แต่ต้องเติมเงินอย่างน้อย 1 ครั้ง ช่วง 90 วันแรกตั้งแต่เปิดใช้ โทรนาทีละ 1 บาท ทุกเครือข่าย 24 ชม. หลังจาก 90 วันแรก คิดค่าโทรนาทีละ 2 บาท   49 บาท 15 บาท   ซิมสวัสดี น้าน นาน เอไอเอส 365 วัน แต่ต้องเติมเงินอย่างน้อย 1 ครั้ง ทุกเครือข่าย นาทีละ 2.50 บาท 24 ชั่วโมง 50 บาท 15 บาท ระงับการให้บริการ ในกรณีที่ไม่มีการโทรออก รับสาย หรือ เติมเงิน เป็นเวลานาน 90 วัน   ซิมไชโย ทรูมูฟ 365 วัน แต่ต้องเติมเงินอย่างน้อย 1 ครั้ง โทรในเครือข่ายทรูมูฟ คิดค่าใช้บริการนาทีละ 50 สตางค์ ตลอด 24 ชม. โทรนอกเครือข่าย คิดค่าใช้บริการนาทีละ 1 บาท 50 สตางค์ ตลอด 24 ชม 49 บาท 15 บาท ระงับการให้บริการ ในกรณีที่ไม่มีการโทรออก รับสาย หรือ เติมเงิน เป็นเวลานาน 90 วัน และยกเลิกบริการทันทีหากระงับให้บริการติดต่อกันเกิน 18 วัน ฉลาดซื้อแนะนำ สำหรับคนที่ตั้งใจจะมีโทรศัพท์ไว้สำหรับให้คนอื่นโทรหามากว่าโทรหาคนอื่น เรื่องจำนวนวันใช้งานจึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุด แต่สิ่งสำคัญที่ต้องรู้ไว้ก็คือ ไม่ว่าโปรโมชั่นนั้นจะบอกว่าแจกวันหรือเติมเงินแล้วอยู่นานขนาดไหน เต็มที่ก็ไม่มีทางมากกว่า 1 ปี  โชว์เบอร์แต่ไม่โชว์ใจ...10 เรื่องที่ควรรู้ไว้ก่อนเติมเงิน 1.การเติมเงินสามารถทำได้หลายช่องทาง ตั้งแต่ บัตรเติมเงิน เคาน์เตอร์เซอร์วิส ตู้ ATM ผ่านบัญชีธนาคารออนไลน์  หรือแม้แต่ที่ตู้โทรศัพท์สาธารณะ (เฉพาะของทรูมูฟ)  2.ถ้าเติมเงินมือถือเรียบร้อยแล้วต้องมี sms แจ้งเตือนยอดเงินคงเหลือและวันหมดอายุ  3.ถ้าเผอิญเป็นคนมือหนักขูดรหัสบัตรเติมเงินแล้วตัวเลขหาย ไม่ต้องตกใจ สามารถนำไปเปลี่ยนบัตรใหม่ได้ที่สำนักงานของผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือที่เราใช้บริการ  4.เวลาซื้อบัตรเติมเงินมือถือต้องดูเรื่องวันหมดอายุให้ดี เพราะถ้าซื้อมาแล้วหมดอายุ ไม่สามารถเอาไปเปลี่ยนหรือแลกคืนได้  5.ขั้นต่ำสุดในการเติมเงินคือ 10 บาท   6.ไม่ว่าจะเติมเงินมากแค่ไหน (สูงสุดของเอไอเอส คือ 1,500 บาท, ทรูมูฟอยู่ที่ 1,000 บาท และดีแทคอยู่ที่ 800 บาท) ยังไงเราก็ได้วันใช้งานไม่เกิน 1 ปี   7.คนที่อยากเปลี่ยนโปรโมชั่นต้องจ่าย 30 บาท   8.ทุกอัตราค่าบริการไม่ว่าจะเป็นค่าโทร sms mms อินเตอร์เน็ต อย่าลืมบวกค่าภาษีอีก 7%   9.Call center ของทุกเครือข่ายไม่ได้โทรฟรี   10.ถ้ากดรหัสเติมเงินผิดเกิน 4 ครั้ง ติดต่อกัน หมายเลขโทรศัพท์ของเราถูกระงับการให้บริการ2 (2ที่มา ถาม-ตอบ ทุกปัญหา ทุกบริการ ทุกการใช้งาน ของ วัน-ทู-คอล!)     ---------------------------------------------------------------------- ซิม (sim) คือแผ่นวงจรขนาดเล็กที่เก็บหน่วยความจำข้อมูลเอาไว้เป็นจำนวนมาก เปรียบเสมือนกับสมองของคนที่มีหน้าที่จดจำสิ่งต่างๆ รวมทั้งคอยสั่งการการทำงานของโทรศัพท์มือถือ ---------------------------------------------------------------------- การให้บริการโทรศัพท์มือถือมีอยู่ 2 ระบบ คือ   แบบจดทะเบียน (postpaid) เป็นแบบที่ต้องมีการทำสัญญาระหว่างผู้ใช้กับผู้ให้บริการ จ่ายค่าบริการเป็นรายเดือน   แบบเติมเงิน (prepaid) เป็นระบบที่ผู้ใช้ควบคุมการจ่ายเอง แค่ซื้อบัตรเติมเงินก็ใช้โทรศัพท์ได้เลย ง่ายและสะดวก แต่ผู้ใช้ระบบเติมเงินต้องคอยตรวจสอบค่าบริการเป็นระยะ รวมทั้งตรวจสอบยอดเงินคงเหลือ เพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่วางไว้ ----------------------------------------------------------------------   โทรเท่าทัน...ศึกษาการเลือกโปรโมชั่น   @ ต้องศึกษาและทำความเข้าใจเงื่อนไขอย่างละเอียด เพราะโปรโมชั่นเดี๋ยวนี้มีเงื่อนไขให้อ่านกันเล่นๆ 10 – 20 ข้อ ถ้าไม่อ่านและทำความเข้าใจให้ดี อาจมีปัญหาตามมาที่หลัง   @ ต้องดูข้อยกเว้นของแต่ละโปรโมชั่น เช่น โปรโมชั่นนี้มีเงื่อนไขสำหรับใครบ้าง อาจเฉพาะแค่ลูกค้าใหม่เท่านั้น   @ ดูระยะเวลาของโปรโมชั่น เริ่มใช้เมื่อไหร่ หมดอายุวันไหน บางโปรโมชั่นให้ค่าโทรถูกแต่ใช้ได้แค่ 3 เดือน หลังจากนั้นก็ปรับให้แพงขึ้น ซึ่งผู้บริโภคบางคนไม่ทราบก็ยังใช้โปรโมชั่นนั้นต่อไปเพราะคิดว่ายังคิดค่าโทรถูกเหมือนตอนแรก   @ การคิดค่าโทร ว่าเป็นการคิดในอัตรานาทีละเท่าไหร่ และมีการแบ่งช่วงเวลาการใช้ด้วยหรือเปล่า ถ้ามีแล้วแบ่งเป็นช่วงเวลาใดบ้าง เพราะแน่นอนว่าเมื่อมีการแบ่งช่วงเวลาอัตราค่าโทรก็ย่อมแตกต่างกัน ยิ่งบางโปรโมชั่นคิดในอัตราที่แตกต่างกันมากๆ เช่น โทรช่วง 6 โมงเช้า – 6 โมงเย็น คิดนาทีละ 25 สตางค์ ถ้าช่วงเวลาอื่น คิดนาทีละ 2 บาท เป็นต้น   @ การคิดค่าโทรจริง ว่าค่าโทรที่แจ้งในโปรโมชั่น รวมภาษีแล้วหรือยัง หากโทรเกินเป็นเศษของนาที คิดค่าบริการเป็นนาทีหรือวินาที รวมทั้งค่าบริการส่วนเกินอื่นๆ ทั้ง sms mms อินเตอร์เน็ต การขอเปลี่ยนโปรโมชั่น   @ สิทธิของโปรโมชั่น เช่น ให้ค่าโทรฟรีเท่าไหร่ ให้ได้เฉพาะช่วงไหน มีวันหมดอายุหรือเปล่า เป็นค่าโทรเฉพาะในประเทศ ฯลฯ     ---------------------------------------------------------------------- ประเทศไทยมีคนใช้โทรศัพท์มือถืออยู่ที่ประมาณ 34.8 ล้านคน โดยในจำนวนนี้มีถึง 31.5 ล้านคน ที่ใช้โทรศัพท์มือถือระบบเติมเงิน   (ที่มา : สำรวจการมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในครัวเรือน พ.ศ. 2552 สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร)   AIS มีส่วนแบ่งตลาดมากที่สุดอยู่ที่ร้อยละ 43.61 รองลงมาคือ DTAC มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ร้อยละ 29.80 TrueMove มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ร้อยละ 23.76 (ที่มา: สำนักพัฒนานโยบายและกฎกติกา สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) ----------------------------------------------------------------------

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 117 โทรศัพท์มือถือ 2010

  ทุกวันนี้โทรศัพท์รุ่นใหม่ๆที่มีขายอยู่ก็ล้วนแล้วแต่แข่งกันทำออกมาเพื่อรองรับการใช้งานให้มากไว้ก่อน เรียกว่าคุณสามารถทำธุระทั้งเรื่องงานและเรื่องบันเทิงได้ด้วยเจ้าอุปกรณ์ขนาดไม่เกินฝ่ามือของคุณได้เลยถ้าคุณต้องการ และนาทีนี้ในวงการโทรศัพท์บ้านเราก็คงจะไม่มีอะไรแรงไปกว่าเจ้าสมาร์ทโฟนที่หลายๆคนก็ยังสงสัยในความฉลาดของมัน ว่ามันฉลาดอะไรนักหนา บางเครื่องถึงได้มีราคาแซงหน้าโน้ตบุ๊กด้วยซ้ำ  ฉลาดซื้อ ฉบับนี้มีผลการทดสอบโทรศัพท์มือถือรุ่นที่องค์กรทดสอบระหว่างประเทศ (ICRT) ได้ทำการทดสอบเปรียบเทียบไว้ในระหว่างเดือนมกราคมถึงกันยายนปี 2553 โดยคัดมาเฉพาะรุ่นที่ได้คะแนนมากที่สุด 20 อันดับแรก ที่มีขายในเมืองไทย ทั้งหมดได้คะแนนรวมในระดับ 4 ดาวเท่ากัน เราจึงเรียงไว้ให้จากรุ่นที่ราคาต่ำสุด (LG GW520 ที่ราคา 4,500 บาท) ไปจนถึงรุ่นที่แพงที่สุด (Apple iPhone 4 16GB ที่ราคา 22,250 บาท) เพราะฉะนั้นอย่าตกใจถ้าไอโฟนที่คุณแอบหมายปองจะเข้ามาในอันดับท้ายสุด ทั้งนี้แต่ละรุ่นอาจมีจุดอ่อนจุดแข็งแตกต่างกันไป ดูรายละเอียดได้จากผลทดสอบในหน้าถัดไป _____________________________________________________________________________ นอกเหนือจากการต่อสู้กันในเรื่องประสิทธิภาพของโทรศัพท์มือถือชนิดฉลาดสุดๆพวกนี้แล้ว อีกปัจจัยที่เราต้องคำนึงในการเลือกซื้อก็คือระบบปฏิบัติการหรือ Operating System (OS) ที่มาพร้อมกับตัวเครื่องนั่นเอง ระบบปฏิบัติการมีหน้าที่หลัก ๆ คือจัดสรรทรัพยากรในเครื่องเพื่อรองรับซอฟต์แวร์ประยุกต์ หรือที่เราเรียกกันว่าแอพพลิเคชั่น ในเรื่องการรับ/ส่งและจัดเก็บข้อมูลกับฮาร์ดแวร์ เช่นส่งข้อมูลภาพไปแสดงผลที่จอภาพ ส่งข้อมูลไปเก็บหรืออ่านจากฮาร์ดดิสก์ รับ/ส่งข้อมูลในระบบเครือข่าย ส่งสัญญาณเสียงไปออกลำโพง หรือจัดสรรพื้นที่ในหน่วยความจำ รวมทั้งจัดสรรเวลาการใช้หน่วยประมวลผลกลางด้วย ถ้าเราต้องการใช้แอพพลิเคชั่นที่หลากหลาย ก็อย่าลืมเลือกโทรศัพท์ที่มี OS ที่รองรับการดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นแบบฟรี ๆ เช่น แอนดรอยด์ เพราะจะได้ช่วยให้คุณประหยัดไปได้บ้าง หลายๆคนชื่นชมระบบปฏิบัติการ iOS ของ iPhone ซึ่งมีข้อดีตรงที่มีแอพพลิเคชั่นให้เลือกใช้มากมาย แต่อย่าโหลดกันเพลินก็แล้วกันเพราะการดาวน์โหลดซอฟท์แวร์เหล่านี้มีค่าใช้จ่าย เดี๋ยวจะหาว่า ฉลาดซื้อ ไม่เตือน _______________________________________________________________________________        

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 91 มือถือยี่ห้อไหน ใส่ใจสังคมมากที่สุด

ฉลาดซื้อเคยนำเสนอผลทดสอบโทรศัพท์มือถือกันไปแล้วในฉบับก่อนๆ คราวนี้ขอนำสมาชิกไปรู้จักเบื้องหลังการถ่ายทำของอุปกรณ์เหล่านั้นกันบ้างว่าบริษัทผู้ผลิตโทรศัพท์ดังกล่าวที่มีสาขาไปทั่วโลกนั้นได้แสดงความรับผิดชอบต่อสังคมในเรื่องของการให้ลูกจ้างได้มีสภาพการทำงานที่ดี การพยายามลดผลกระทบของการผลิตและตัวผลิตภัณฑ์ต่อสิ่งแวดล้อม และการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะกันอย่างไรบ้างสิ่งที่เรานำมาฝากผู้อ่านในฉบับนี้คือผลการสำรวจความรับผิดชอบต่อสังคม (หรือที่เรียกกันทั่วไปตอนนี้ว่า CSR ซึ่งย่อมาจาก Corporate Social Responsibility) ของผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ที่สุดของโลก 5 บริษัท ได้แก่ แอลจี โมโตโรลา โนเกีย ซัมซุง และโซนี อิริคสัน ที่ครอบครองส่วนแบ่งตลาดโลกถึงร้อยละ 75 และ 4 ใน 5 ของแบรนด์เหล่านี้ (โมโตโรลา โนเกีย ซัมซุง และโซนี อิริคสัน) มีส่วนแบ่งถึงร้อยละ 75 ของตลาดโทรศัพท์มือถือในยุโรป เจ้าภาพที่ทำการสำรวจครั้งนี้ได้แก่องค์กรยูโรคอนซูเมอร์ (Euroconsumers) ใช้วิธีการส่งแบบสอบถามไปยังบริษัทเหล่านั้น สัมภาษณ์ผู้รับผิดชอบด้าน CSR พร้อมกับศึกษารวบรวมข้อมูลจากสื่อและงานวิจัยต่างๆ ในระหว่างเดือนตุลาคม พ.ศ. 2549 – มกราคม พ.ศ. 2550 คะแนนความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัทผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือรายใหญ่

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า150 Point

ฉบับที่ 87 โทรศัพท์มือถือ

ถึงวันนี้ผู้อ่านฉลาดซื้อส่วนใหญ่คงมีโทรศัพท์มือถือกันหมดแล้ว แต่เนื่องจากเรามีผลทดสอบโทรศัพท์มือถือครั้งล่าสุดจากองค์กรทดสอบระหว่างประเทศ (ICRT) อยู่ จึงคิดว่าน่าจะนำมาบอกต่อกัน เพราะหลายคนอาจสงสัยว่าโทรศัพท์ที่ทุกวันนี้เป็นอุปกรณ์สารพัดนึกที่ทำได้ทุกอย่าง ตั้งแต่โทรออก รับสายเข้า ถ่ายรูป และฟังเพลง มันทำทุกอย่างได้ดีมากน้อยต่างกันอย่างไร เผื่อจะนำมาเปรียบเทียบกับราคาขาย เอาไว้เป็นทางเลือกสำหรับการซื้อโทรศัพท์เครื่องต่อไป รุ่นที่นำมาทดสอบทั้งหมดส่งเข้าทำการทดสอบโดยองค์กรผู้บริโภคจากประเทศในยุโรปตั้งแต่ต้นปี 2551 ทุกรุ่นมีจอสี มีเสียงเรียกเข้าแบบโพลีโฟนิค สามารถเป็นเครื่องเล่น MP3 และมีระบบการเชื่อมโยงข้อมูลแบบไร้สาย (บลูทูธ) ส่วนท่านที่สนใจสมาร์ทโฟนก็อดใจรออีกนิด ICRT ส่งผลทดสอบให้เมื่อไร รับรองว่าฉลาดซื้อจะรีบนำมาบอกต่อทันที ผลการทดสอบในภาพรวมปรากฏว่าโทรศัพท์ส่วนใหญ่ไม่แตกต่างกันมากนักในเรื่องของฟังก์ชั่นการใช้เพื่อโทรศัพท์ แต่จะไปแตกต่างกันที่ฟังก์ชั่นการถ่ายภาพ ฟังเพลง หรือ ส่งข้อความ และโดยส่วนใหญ่จะได้คะแนนในระดับพอใช้ขึ้นไปในทุกๆด้าน จะมีต่ำกว่าขั้น “พอใช้” อยู่บ้างไม่กี่รุ่น เช่น อัลคาเทล OT_C701 ที่ใช้ถ่ายภาพได้ไม่ดีนัก หรือ ลีวายส์ The Original, โนเกีย 5610 Xpress Music, โนเกีย 8600 Luna ที่ยังได้คะแนนจากฟังก์ชั่นการใช้ฟังเพลงที่น้อยกว่ารุ่นอื่นๆ  และโมโตโรล่า Motorazr Z8 และ Motorazr (ยกกำลังสอง) V8 ที่ไม่เข้าตากรรมการเรื่องการออกแบบให้เหมาะกับมือซักเท่าไร  แต่ถ้าพูดเรื่องความทนทาน ที่หลายๆคนให้ความสนใจเป็นอันดับต้นๆนั้นก็ต้องยกให้กับห้ารุ่นต่อไปนี้ ที่สามารถผ่านการทดสอบทั้งน้ำฝน ความสั่นสะเทือน การขีดข่วน ด้วยคะแนนเต็ม ได้แก่ อัลคาเทล OT_C701, โนเกีย 8600 Luna, โมโตโรล่า Motorazr (ยกกำลังสอง) V8, โซนี่ อิริคสัน T650i และ ซัมซุง SGH-E210    

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า150 Point

ฉบับที่ 157 ง่ายๆ กับ “แอพสายด่วน”

2 ปีที่ผ่านมา ผู้เขียนเคยเขียนแนะนำแอพพลิเคชั่น YellowPages Live ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นที่รวบรวมข้อมูลรายละเอียดเบอร์โทรศัพท์ ที่อยู่ จากสมุดหน้าเหลืองเล่มหนาๆ มาย่อรวมไว้ที่สมาร์ทโฟนบนมือของเรา  ในฉบับนี้ผู้เขียนได้ไปเจอแอพพลิเคชั่นในลักษณะคล้ายคลึงกัน แต่แค่ย่นย่อข้อมูลไว้เป็นหมวดๆ แอพพลิเคชั่นนี้มีชื่อว่า “แอพสายด่วน” เป็นแอพพลิเคชั่นที่ถูกพัฒนาขึ้นจากกระปุกดอทคอม แอพพลิเคชั่นนี้จะรวบรวมเบอร์โทรศัพท์ที่ใช้ติดต่อเมื่อถึงคราวจำเป็น โดยแบ่งออกเป็น 8 หมวด ได้แก่ หมวด Delivery  หมวดโรงภาพยนตร์  หมวดธนาคาร  หมวดแท็กซี่  หมวดสอบถามข้อมูล  หมวดการติดต่อสื่อสาร  หมวดแจ้งเหตุด่วน  และหมวดอุทกภัย หมวด Delivery เป็นหมวดที่รวบรวมเบอร์โทรศัพท์ร้านอาหารที่วิ่งส่งอาหารไปถึงบ้าน อย่างเช่น  แมคโดนัลด์ เคเอฟซี พิซซ่าฮัท เอ็มเค เอสแอนด์พี เป็นต้น ทั้งยังมีแจ้งรายละเอียดช่วงเวลาในการโทรสั่ง ราคาค่าจัดส่ง หมวดโรงภาพยนตร์  เป็นหมวดที่รวบรวมเบอร์โทรศัพท์ของเครือโรงภาพยนตร์ที่มีทั้งหมด อย่างเช่น เมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ เอสเอฟซีนีม่า อีจีวี เป็นต้น โดยแบ่งย่อยเป็นเบอร์โทรศัพท์ของสาขาต่างๆ ที่มีอยู่ทั่วประเทศ หมวดธนาคาร  จะรวบรวมเบอร์ธนาคารทุกธนาคารไว้  หมวดแท็กซี่ จะรวบรวมเบอร์ธุรกิจบริษัทแท็กซี่ทั้งหมดที่มี  และหมวดการติดต่อสื่อสาร  จะรวบรวมศูนย์บริการของเครือข่ายโทรศัพท์ทั้งหมดทั่วประเทศไว้ ไม่เพียงแต่เครือข่ายของมือถือ อย่างเช่น เอไอเอส  ดีแทค  ทรูมูฟ เท่านั้น ยังมีของ ทีโอที กสท. ด้วย หมวดสอบถามข้อมูล จะแบ่งย่อยเป็นหมวดย่อยบริการภาครัฐและบริการทางสังคม จะมีสายด่วนผู้บริโภค อย. สายด่วนประกันสังคม ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับการบริการทางสังคม ซึ่งในหมวดนี้มีมูลนิธิเพื่อผู้บริโภครวมอยู่ด้วย  นอกจากนี้ยังมีหมวดย่อยการเดินทาง การจราจร หมวดย่อยภูมิอากาศ ภัยธรรมชาติ หมวดย่อยสุขภาพ และหมวดย่อยอื่นๆ ที่รวบรวมเบอร์ติดต่อของศูนย์ที่เกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ ไว้ หมวดแจ้งเหตุด่วน  จะแยกย่อยเป็นเรื่องอุบัติเหตุ จราจร เพลิงไหม้ สาธารณูปโภค กู้ชีพ และรถพยาบาล ส่วนหมวดอุทกภัย จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับไฟฟ้า การประปา เป็นต้น ในแอพพลิเคชั่น “แอพสายด่วน” นี้ ยังสามารถจัดเก็บเบอร์โทรที่ผู้ใช้ต้องใช้เป็นประจำไว้ได้ภายในเมนู Favarite เพื่อสะดวกกับการหาในครั้งต่อไป และผู้ใช้สามารถเพิ่มข้อมูลด้วยตัวเองภายในเมนูเพิ่มเบอร์โทรได้อีกด้วย สามารถดาวน์โหลดได้ฟรี ทั้งในระบบสำหรับมือถือระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ทาง App Store  และสำหรับมือถือระบบปฏิบัติการ iOS โดยพิมพ์คำว่า “แอพสายด่วน” หรือในเว็บไซต์ http://m.kapook.com/hotline    

อ่านเพิ่มเติม >