ฉบับที่ 257 ไม่ได้เปิดใช้ซิม แต่ถูกเรียกเก็บเงิน

        ค่ายสัญญาณโทรศัพท์มือถือ กำลังแข่งกันทำโปรโมชันการขาย โดยโปรโมชันที่เป็นที่นิยมโปรโมชันหนึ่งคือ การขายซิมรายเดือนพร้อมพ่วงค่าโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ต แต่ถ้าเปิดใช้งานซิมเรา ก็คงไม่มีปัญหา แต่ถ้าเราไม่เปิดใช้ซิมแต่มีการเรียกเก็บเงินเราจะทำอย่างไร มาดูผู้บริโภครายนี้กันว่าเขาจะมีวิธีแก้ปัญหาอย่างไร         ภูผาซื้อซิมเบอร์โทรศัพท์มือถือ แบบโปรโมชันรายเดือนเดือนละ 299 บาท รวมทั้งค่าโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตของค่ายทรูมูฟเอชจากร้านขายโทรศัพท์ ทางร้านขอสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของเขาไว้เพื่อยืนยันการซื้อซิม หลังจากนั้นเขาเอาเบอร์ที่ซื้อมาไปตรวจดูว่าเบอร์ที่ซื้อมาเข้ากับเขาไหม เพราะมีคนแนะนำเรื่องพลังของตัวเลข เขาพบว่าเบอร์ที่เขาซื้อมาไม่เข้ากับเขาอย่างมาก เขาจึงไม่ได้เปิดใช้บริการซิมนี้ เรื่องก็ล่วงเลยมา จนประมาณ 1 ปี เขาได้รับหนังสือจากสำนักงานกฎหมายแห่งหนึ่ง ขอให้ชำระเงินกว่า 3,000 บาท เนื่องจากค้างค่าบริการโทรศัพท์มือถือ อ้าว...ไปค้างเงินค่ามือถือได้อย่างไร เขางงมากว่าทำไมถึงถูกเรียกเก็บค่าบริการ เพราะว่าเขาไม่ได้เปิดใช้บริการ เขาเห็นว่าเหตุการณ์แบบนี้ไม่เป็นธรรม จึงมาขอคำปรึกษาจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่าจะสามารถแก้ไขอย่างไรได้บ้าง  แนวทางการแก้ไขปัญหา         มูลนิธิฯ แนะนำว่า ผู้ร้องสามารถไปแจ้งความบันทึกประจำวันไว้ว่า ตนไม่ได้เปิดใช้บริการซิมเบอร์โทรศัพท์มือถือ เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจและเพื่อไว้เป็นหลักฐาน จากนั้นก็ให้ทำหนังสือแจ้งผู้ให้บริการว่าไม่ได้เปิดใช้บริการเบอร์โทรศัพท์และปฏิเสธการจ่ายเงินไปยังบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่ พร้อมแนบสำเนาใบบันทึกประจำวันและทำหนังสืออีกฉบับหนึ่งส่งไปที่สำนักงานกฎหมายที่ได้ส่งหนังสือมาให้ผู้ร้องชำระเงินด้วย         ต่อมาทางมูลนิธิฯ ได้ประสานงานไปยังบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เพื่อขอให้ดำเนินการยกเลิกการคิดค่าบริการจากผู้ร้อง ซึ่งทรูมูฟเอชได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาและประสานกับผู้ร้องแจ้งว่า ได้ดำเนินการยกเลิกการเรียกเก็บค่าบริการทั้งหมดแก่ผู้ร้องเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 257 หลอกให้ซื้อโทรศัพท์ ค่าจ้างเป็นเงิน 500 บาท

        ปัจจุบันมิจฉาชีพในโลกออนไลน์ค่อนข้างเยอะ มีทั้งหลอกให้เติมเงินในเกม หลอกให้รักและโอนเงิน หลอกให้ทำงานแล้วไม่จ่ายเงินบ้าง พอๆ กับทางโทรศัพท์ที่มีแก๊งคอลเซ็นเตอร์ แม้จะพยายามหาวิธีเตือนผู้บริโภคด้วยกันเองมากมายแต่ยังคงมีผู้ถูกหลอกอยู่เรื่อยไป ซึ่งเรื่องราวเสียงผู้บริโภคที่จะนำมาเตือนนี้ เป็นเรื่องราวที่อยากให้ผู้บริโภคหลายๆ คน ต้องตั้งสติ! อย่าโลภและเห็นแก่เงินเพียงเล็กน้อยจนตกเป็นเหยื่อให้มิจฉาชีพหลอก        คุณเสือ ซึ่งเป็นนักศึกษาที่กำลังสนใจหางานทำจากทางเฟซบุ๊ก ในขณะเลื่อนหน้าจอมือถือเพื่อหางานเขาเจอโพสต์หางานที่น่าสนใจเข้าโพสต์หนึ่ง จึงได้ทักไปสอบถามว่าลักษณะงานต้องทำอะไร อย่างไรบ้าง ซึ่งผู้จ้างก็ได้บอกรายละเอียดว่า งานคือ “ซื้อโทรศัพท์ เจ๊ผมจะให้เงินไปซื้อตามศูนย์ หากซื้อเสร็จเอาโทรศัพท์ให้ผม ก็จะได้ค่าจ้างทันที 500 – 1,200 บาท เป็นอันถือว่าจบงาน”         เมื่อคุยกันได้สักพักทางผู้จ้างให้คุณเสือถ่ายรูปบัตรประชาชนของตัวคุณเสือส่งไปให้ ซึ่งเขาก็ได้ทำตามที่บอก แล้วทางผู้จ้างถามต่อว่าได้ติดโปรค่ายโทรศัพท์ค่ายหนึ่งไหม คุณเสือก็ตอบว่าไม่   จากนั้นผู้จ้างให้คุณเสือแอดไปคุยกับทางแอดมินทางค่ายผู้ให้บริการสัญญาณมือถือ  แต่เมื่อถามตอบกันไปได้สักพักเหมือนจะไม่ได้หรือไม่สะดวกสักที ผู้จ้างจึงได้นัดคุณเสือไปที่ห้างแห่งหนึ่ง เพื่อซื้อโทรศัพท์โดยใช้บัตรประชาชนของคุณเสือเป็นผู้ซื้อ         ตอนแรกทางผู้จ้างได้บอกว่าจะซื้อแบบสดไม่ใช่แบบผ่อน แต่เมื่อซื้อจริงๆ ดันเป็นซื้อแบบผ่อนคุณเสือก็รู้สึกเอะใจ แต่ยังไม่ทันได้คิดอะไรมาก วันนั้นคุณเสือได้ซื้อไปถึง 2 เครื่อง ในแบบผ่อนและลงทะเบียนเปิดเบอร์ใหม่อีกด้วย หลังจากนั้นเมื่อเขากลับมาเล่าเรื่องนี้ให้เพื่อนฟัง เพื่อนก็บอกว่าโดนหลอกแล้วแน่นอน  คุณเสือเองรู้สึกกังวลมากจึงได้ทักไปถามคนจ้างว่าที่ซื้อแบบผ่อนส่วนที่เหลือผู้จ้างจะเป็นคนชำระต่อใช่ไหม และไม่ได้หลอกเขาใช่ไหม ซึ่งก็ได้คำตอบกลับมาว่า “ใช่ไม่ได้หลอกแน่นอน” แต่...หลังจากนั้นผู้จ้างได้ทำการบล็อกเฟซบุ๊กไป สุดท้ายคุณเสือจึงได้รู้ว่าโดนหลอกแล้ว จึงได้มาปรึกษาทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่าควรจะทำอย่างไร แนวทางการแก้ไขปัญหา         ทางมูลนิธิฯ แนะนำว่าเรื่องราวดังกล่าวไม่ใช่เพิ่งเคยเกิดแต่เมื่อปี 2562 เคยมีเคสลักษณะเดียวกันมาร้องเรียนโดยส่วนมากมิจฉาชีพจะหลอกให้เปิดเบอร์ซื้อโทรศัพท์แบบผูกรายเดือนและจะให้ค่าจ้าง 500-1,200 บาท หลังจากนั้นทางมิจฉาชีพได้โทรศัพท์ไป ก็จะไม่ชำระค่าโทรศัพท์ ใบแจ้งหนี้ก็ส่งไปตามที่อยู่ผู้ร้องเพราะเป็นคนลงทะเบียนและเจ้าของเบอร์         ดังนั้นเบื้องต้นแนะนำให้แก้ไขปัญหาดังนี้         1.ควรรีบแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจทันที เพื่อยืนยันว่าถูกหลอกให้ไปซื้อโทรศัพท์และเปิดซิมใช้บริการ         2.ใช้เอกสารที่ได้ไปดำเนินการแจ้งความ ไปทำคำร้องขอยกเลิกสัญญากับทางผู้ให้บริการและแจ้งกรณีปัญหาที่เกิดขึ้นต่อผู้ให้บริการสัญญาโทรศัพท์มือถือทุกค่าย ทั้งนี้ควรสำเนาเรื่องส่งให้ทาง กสทช.ให้แก้ไขปัญหาประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทั่วไปได้ระมัดระวังกันอีกด้วย         ในส่วนของบุคคลที่ต้องการหางานแล้วเจอลักษณะงานดังกล่าวแล้วเห็นว่าทำแค่เพียงนิดหน่อยก็ได้เงินมาใช้ง่ายๆ แล้วหลงเข้าไปทำ ก็อยากจะเตือนว่าการใช้บัตรประชาชนของตนเองไปเปิดเบอร์ให้ผู้อื่นหากเกิดมีปัญหาใดๆ ตามมาสุดท้ายคนที่เดือดร้อนก็คือตัวเราเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 253 สมาร์ตโฟน

        สำหรับหลายๆ คน ตอนนี้อาจได้เวลาเปลี่ยนสมาร์ตโฟนที่ใช้อยู่กันแล้ว ฉลาดซื้อฉบับนี้จึงขอนำเสนอผลทดสอบโทรศัพท์มือถือแอนดรอยด์ 25 รุ่น ที่องค์กรทดสอบระหว่างประเทศ (ICRT) ได้ทำไว้ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2022 ให้สมาชิกได้เลือกกัน         สมาร์ตโฟนรุ่นที่นำมาทดสอบคราวนี้มีขนาดหน้าจอระหว่าง 6.1 – 6.8 นิ้ว และด้วยหน้าที่หลักในการเป็นกล้องถ่ายรูปหรือวิดีโอ นอกจากกล้องหลัง 1 ตัวตามปกติแล้ว โทรศัพท์เหล่านี้ยังมีกล้องหน้าไว้เอาใจคนชอบเซลฟี่ 2 – 4 กล้องแล้วแต่รุ่นด้วย         ในการทดสอบมีการแบ่งคะแนนหลักๆ ออกเป็น 6 ด้านหลักๆ โดยให้สัดส่วนคะแนนร้อยละ 25  กับการถ่ายภาพ/บันทึกวิดีโอ  ร้อยละ 15 กับแบตเตอรี อีกร้อยละ 15 กับหน้าจอ นอกจากนี้ยังให้สัดส่วนร้อยละ 10 เท่ากันกับความทนทาน คุณภาพเสียง และประสิทธิภาพโดยรวม อีก 15 คะแนนที่เหลือเป็นคะแนนสำหรับความสะดวกในการใช้งาน ฟีเจอร์ต่างๆ ฟังก์ชันโทรศัพท์ และความปลอดภัย         ในภาพรวมเราพบว่าโทรศัพท์รุ่นที่ได้คะแนนสูงมักจะมีราคาแพงตามไปด้วย แต่รุ่นราคากลางๆ ที่ใช้งานได้ดีพอสมควรก็ยังมีอยู่บ้าง ส่วนที่ราคาถูกมากๆ นั้นประสิทธิภาพน่าจะไม่เหมาสำหรับการใช้งานเข้มข้นอย่างที่คนใช้สมาร์ตโฟนส่วนใหญ่ต้องการ         โทรศัพท์ที่เราทดสอบคราวนี้มีสนนราคาระหว่าง 2,000 ถึง 57,000 บาท นอกจากคะแนนรวมแล้ว แต่ละรุ่นยังมีจุดเด่นจุดด้อยต่างกัน เชิญพลิกหน้าถัดไปเพื่อค้นหาสมาร์ตโฟนที่ตรงใจ ในราคาที่พร้อมจ่ายกันได้เลย

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 250 อยากซ่อมต้องทำได้

        ในยุคที่มนุษย์เราต้องพึ่งพาอาศัยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อการสื่อสาร การเรียน การทำงาน ฯลฯยอดขายอุปกรณ์เหล่านี้จึงเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ควบคู่ไปกับปริมาณขยะที่เกิดจากมัน ทั้งนี้เพราะผู้บริโภค(ถูกทำให้) รู้สึกว่าสินค้าเหล่านี้มีความซับซ้อนยุ่งยาก ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญในการซ่อม ซึ่งหมายถึงค่าใช้จ่ายที่แพงลิ่ว สุดท้ายก็ตัดใจ “ทิ้ง” แล้วซื้อใหม่ สถิติในปี 2019 ระบุว่า โดยเฉลี่ยแล้วเราสร้างขยะอิเล็กทรอนิกส์กันคนละ 7.3 กิโลกรัมต่อปี         ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือสมาร์ตโฟน ข้อมูลจากรายงานของ NGI Forward เรื่อง Breaking the two-year cycle: Extending the useful life of smartphones ภายใต้การสนับสนุนของสหภาพยุโรป (ที่ประชากรเปลี่ยนโทรศัพท์มือถือทุก 2 ปี) ระบุว่าหากเรายืดอายุการใช้งานของสมาร์ตโฟนออกไปได้ 3-4 ปี เราจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้ร้อยละ 29 ถึงร้อยละ 44 เลยทีเดียว         ตั้งแต่ 2017 เป็นต้นมา มีโทรศัพท์มือถือถูกขายออกไปไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านเครื่องในแต่ละปี และสมาร์ตโฟนหนึ่งเครื่อง ซึ่งหนักไม่เกิน 200 กรัม สามารถทำให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 40 – 80 กิโลกรัม พูดง่ายๆ มันส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าเครื่องซักผ้าด้วยซ้ำ และร้อยละ 72 ของรอยเท้าคาร์บอนของสมาร์ตโฟนก็เกิดขึ้นก่อนถึงมือผู้บริโภค เพราะวัตถุดิบที่ใช้มีทั้งโลหะ แร่ธาตุหายากที่ได้จากการทำเหมือง และในกระบวนการผลิตยังต้องผ่านกระบวนการใช้สารเคมีอันตรายที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย เราซ่อมสมาร์ตโฟนเองได้จริงหรือ?        ต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ค่าย Apple ซึ่งเข้มงวดเรื่องการส่งซ่อมกับบริษัทมาตลอด ประกาศว่าพร้อมให้ผู้บริโภคใช้ “สิทธิ์ในการซ่อม” แล้ว โดยช่วงแรกจะจำกัดเฉพาะจอ แบตเตอรี และการแสดงผลของ iPhone 12 และ iPhone 13 โดยบริษัทจะวางจำหน่ายอะไหล่กว่า 200 ชิ้น รวมถึงเครื่องมือสำหรับซ่อมไว้ในเว็บไซต์   แต่ Apple ไม่ใช่เจ้าแรกที่ทำเช่นนั้น เมื่อปี 2013 บริษัทธุรกิจเพื่อสังคมรายหนึ่งในเนเธอร์แลนด์ได้เปิดตัว Fairphone สมาร์ตโฟนดีไซน์โมดูลาร์ที่ประกอบด้วยชิ้นส่วน 8 ชิ้น ออกแบบมาเพื่อรองรับการถอดเปลี่ยนอะไหล่ได้โดยใช้ไขควงธรรมดา และมีอะไหล่จำหน่ายแยก         โทรศัพท์ของค่ายนี้ยังออกแบบมาให้ง่ายต่อการรีไซเคิล เช่น รุ่น Fairphone 3 สามารถรีไซเคิลได้ถึงร้อยละ 50  ทำได้ดีขึ้นจาก Fairphone 2 ที่รีไซเคิลได้ร้อยละ 30 (สมาร์ตโฟนทั่วไปทำได้ร้อยละ 20 เท่านั้น)           รุ่นล่าสุด Fairphone 4 ที่เปิดตัวเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาด้วยราคา 579 -649 ยูโร (ประมาณ 22,000 – 25,000 บาท) ยังให้เวลารับประกันถึง 5 ปีด้วย         สมาร์ตโฟนของบริษัทดังกล่าวซึ่งมีพนักงานร้อยกว่าคน มียอดขายในปี 2020 ประมาณ 95,000 เครื่อง จากการทำตลาดเฉพาะในอังกฤษและสหภาพยุโรป ได้ครองที่หนึ่งทุกครั้งในการจัดอันดับสมาร์ตโฟนที่ผู้ใช้ “ซ่อมเองได้”  โดย ifixit.com เว็บไซต์สัญชาติอเมริกันซึ่งเป็นแหล่งรวมข้อมูลเกี่ยวกับการซ่อมโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ไปจนถึงรถยนต์         Fairphone จากเนเธอร์แลนด์ได้คะแนนไป 10 เต็ม 10            ตามมาติดๆ ด้วย Shiftphone จากเยอรมนีที่ได้รางวัล German Sustainability Award 2021 ที่ได้ไป 9 คะแนน           ในอันดับกลางๆ ได้แก่ iPhone 12 และ Google Pixel ที่ได้ 6 คะแนนเท่ากัน         รุ่นที่ได้คะแนนต่ำได้แก่ Microsoft Surface Duo และ Galaxy 2 Flip ที่ได้ไป 2 คะแนน และ Motorola Razor ที่ได้ไปเพียง 1 คะแนนเท่านั้น          นี่เป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้น สมาชิกสามารถเข้าไปดูข้อมูลฉบับเต็มได้ที่เว็บไซต์ ซึ่งเป็นชุมชนของผู้ที่มีความสนใจด้านนี้ คุณสามารถเข้าไปเรียนรู้หรือแบ่งปันวิธีซ่อมโทรศัพท์ ช่วยแปลเนื้อหาบางส่วนเพื่อขยายการเรียนรู้ให้กว้างขวางขึ้น รวมถึงสั่งซื้ออะไหล่หรืออุปกรณ์ที่จำเป็นได้ด้วย        เทรนด์ “ซ่อมได้” สำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์กำลังมาแรง เราน่าจะได้เห็นการออกแบบเพื่อตอบสนองความต้องการในแนวนี้มากขึ้น แม้แต่รถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ๆ ที่ผลิตออกมาก็ลดความซับซ้อนให้ผู้ใช้รถรู้สึกอุ่นใจที่สามารถซ่อมหรือซื้อหาอะไหล่มาเปลี่ยนเองได้ และความเรียบง่ายในการออกแบบยังมีส่วนทำให้ราคาถูกลงอีกด้วย   https://www.dw.com/en/fairphone-shiftphone-cell-phone-smartphone-environment-climate-co2https://research.ngi.eu/reports-white-papers/breaking-the-two-year-cycle-extending-the-useful-life-of-smartphones/https://positioningmag.com/1240029https://www.thestandard.com.hk/breaking-news/section/6/183103/Apple-to-allow-iPhone-users-to-repair-their-own-deviceshttps://www.ifixit.com/

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 249 ฝากไว้ให้คิดการซื้อซิมมือถือจากร้านสะดวกซื้อ

        เมื่อเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา คุณเอนกได้แจ้งข้อความมาที่ฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ที่ consumerthai.org ว่า ตนเองได้สั่งซื้อซิมทรูมูฟเอชจาก  7- 11 Dilivery สาขามวกเหล็ก-เขาใหญ่ ซึ่งซิมมือถือนั้น จะยังไม่สามารถใช้งานได้ หากไม่มีการลงทะเบียน         แต่เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน คุณเอนกนำซิมที่ได้รับ ไปที่ร้านเซเว่นสาขาดังกล่าวเพื่อลงทะเบียน ปรากฏว่า พนักงานแจ้งว่า ซิมนี้ได้มีการลงทะเบียนแล้ว ขณะนั้นผู้ร้องไม่ได้นึกสงสัย เพราะคิดไป (เอง) ว่า คงเนื่องจากทางร้านค้าหรือ 7- 11 Dilivery อาจจะมีข้อมูลของผู้ร้องอยู่แล้วผ่านระบบ All Member จึงอำนวยความสะดวกโดยทำการลงทะเบียนให้เรียบร้อย พอคิดไปเช่นนั้นก็เลยทำให้เผลอประมาทไม่ได้ถามไถ่ให้เรียบร้อยว่าชื่อบุคคลที่ลงทะเบียนนั้นเป็นชื่อของตนเองหรือไม่ เพราะเข้าใจว่าเป็นชื่อตัวเองแล้วและทางพนักงานเซเว่นก็ไม่ได้ช่วยบอกอะไรนอกจากบอกว่า ซิมลงทะเบียนแล้ว ผู้ร้องจึงใช้ซิมดังกล่าวมาโดยตลอดกว่า 5 เดือน         จนเข้าตุลาคม 2564 ผู้ร้องซื้อโทรศัพท์เครื่องใหม่จึงโหลดแอพพลิเคชัน TRUE 4 U มาโดยแอพดังกล่าวเป็นแอพเฉพะสำหรับผูกกับเบอร์โทรศัพท์ ซึ่งจะสามารถสะสมแต้มเพื่อแลกและลุ้นรางวัลต่างๆได้ คราวนี้เมื่อผู้ร้องเช็ครายละเอียดเจ้าของบัญชีปรากฏว่า อ้าว ! ไม่ใช่ชื่อเรานะที่เป็นผู้ลงทะเบียนซิมนี้ โดยชื่อผู้ลงทะเบียนกลายเป็นชื่อใครก็ไม่รู้ ที่คุณเอนกไม่รู้จัก เป็นเรื่องแล้วงานนี้        คุณเอนกจึงรีบไปที่เซเว่นสาขาที่ซื้อซิม  แต่ทางพนักงานบ่ายเบี่ยงไม่ตอบปัญหา ไม่แก้ปัญหา แจ้งให้ผู้ร้องไปติดต่อที่ศูนย์ทรูช้อปเอง ผู้ร้องจึงไปศูนย์ทรูสาขาเซนทรัล ปิ่นเกล้า เพื่อขอข้อมูลและเล่าเหตุการณ์ที่เกิดให้พนักงานทราบ แต่ทางพนักงานไม่สามารถให้ข้อมูลแก่ผู้ร้องได้เนื่องจากชื่อที่ใช้ลงทะเบียนไม่ได้เป็นชื่อผู้ร้อง โชคดีที่ผู้ร้องยังเก็บซองซิมไว้  จึงนำซองไปติดต่อเซเว่นอีกรอบเพื่อยืนยันว่าได้มีการซื้อซิมหมายเลขดังกล่าวจริง         คราวนี้พนักงานได้โทรศัพท์มาขอโทษและแจ้งว่าจะทำการติดต่อไปที่ศูนย์ทรูเพื่อระงับหมายเลขดังกล่าว แต่จนถึงปัจจุบันซิมดังกล่าวก็ยังไม่ถูกระงับ ผู้ร้องจึงตัดสินใจจะไปลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานเพื่อดำเนินการให้ทางร้านสะดวกซื้อรับผิดชอบต่อปัญหาที่เกิดขึ้น แนวทางการแก้ไขปัญหา         ทางผู้ร้องแจ้งว่าขณะนี้กำลังเจรจากับทางร้านสะดวกซื้ออยู่ ที่ส่งเรื่องเข้ามาเพื่อให้ทางมูลนิธิฯ ได้นำเรื่องของตนมาเป็นข้อเตือนใจสำหรับผู้บริโภคท่านอื่น ให้รอบคอบอย่าเผลอคิดไปเองอย่างที่เกิดขึ้นกับตน  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 249 ทีวีดิจิทัล ทำเลทองของโฆษณาในยุคโควิด-19

        คุณเคยรู้สึกไหมว่าทุกวันนี้โฆษณาทางโทรทัศน์มีจำนวน “มาก” และกินเวลา “นาน” เสียเหลือเกิน ชนิดที่ว่าลองกดรีโมทไปกี่ช่องก็ต้องเจอโฆษณา         บางกรณีแทบจะแยกไม่ออกด้วยซ้ำว่าสิ่งที่กำลังรับชมอยู่นั้นคือ “โฆษณา” หรือ “รายการโทรทัศน์” เนื่องจากการปรับตัวของผู้ผลิต ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของสินค้า/บริการ เจ้าของรายการโทรทัศน์หรือเจ้าของสถานีโทรทัศน์ ที่สร้างสรรค์โฆษณาให้มีความแตกต่างออกไปจากเดิม และหลีกเลี่ยงได้ยากกว่าเดิม         ถ้ามองในแง่การตลาดอาจเป็นผลเชิงบวก แต่หากมองในแง่ของผู้บริโภค ก็อดตั้งคำถามไม่ได้ว่า         เรากำลังเสียเวลาไปกับเนื้อหาที่ไม่ต้องการรับชมอยู่หรือไม่ ?ทีวีดิจิทัลในช่วงโควิด-19         แม้ว่าสื่อออนไลน์จะได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในยุคสมัยนี้ มีการเปิดรับข่าวสาร สาระความรู้ และความบันเทิงผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ที่มีอย่างแพร่หลาย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าโทรทัศน์ระบบดิจิทัล หรือทีวีดิจิทัล ยังคงเป็นอีกหนึ่งช่องทางสำคัญในการรับชมเนื้อหาต่างๆ ของประชาชน โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งมาตรการของภาครัฐส่งผลให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลง เช่น การรณรงค์ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” การทำงานที่บ้าน (work from home) การปิดพื้นที่เสี่ยงต่างๆ ทั้งห้างสรรพสินค้า ร้านค้า โรงภาพยนตร์ เป็นต้น ทำให้ผู้คนมีการใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านและเลือกซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์และโฮมชอปปิ้งมากขึ้น         ฐานเศรษฐกิจรายงานตัวเลขการเติบโตของธุรกิจโฮมชอปปิ้งในปี 2563 สูงขึ้นกว่าร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 โดยสินค้าที่ได้รับความนิยมสูงสุด ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร บำรุงสุขภาพ บำรุงสมอง ปอด เพิ่มภูมิคุ้มกันร่างกาย         ขณะที่ณิชาปวีณ์ กกกำแหง และเบญญาทิพย์ ลออโรจน์วงศ์ สำรวจสถานการณ์ภาพรวมของสื่อโทรทัศน์ในเดือนมกราคม-ธันวาคม 2563 พบว่า สื่อโทรทัศน์ยังคงเป็นสื่อหลักที่มีการใช้งานต่อวันสูงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับสื่อวิทยุและสื่อดิจิทัล ผู้ชมนิยมรับชมโทรทัศน์ในช่วงไพรม์ไทม์ เวลา 18.00-22.30 น. โดยเฉพาะผู้ชมที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป ซึ่งรายการที่มีค่าความนิยมโดยเฉลี่ยหรือเรตติ้งรายการสูงขึ้น ได้แก่ รายการประเภทภาพยนตร์เรื่องยาว (Feature Film) รายการประเภทบันเทิงแบบเบ็ดเตล็ด (Light Entertainment) และรายการข่าว         แรกเริ่มนั้นทีวีดิจิทัลมีจำนวน 28 ช่อง แต่ในปัจจุบันเหลือเพียง 19 ช่อง เมื่อสถานีโทรทัศน์ที่เป็นพื้นที่สำหรับลงโฆษณาสินค้า/บริการมีจำนวนน้อยลง นั่นย่อมหมายความว่าโฆษณาสินค้า/บริการมีโอกาสกระจายตัวไปตามสถานีโทรทัศน์ต่างๆ ได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น จากเดิมที่กระจุกตัวอยู่เพียงไม่กี่ช่อง และอาจเป็นเพราะเหตุนี้ที่ทำให้เราพบโฆษณาทีวีในปริมาณที่มากขึ้น         กรุงเทพธุรกิจรายงานว่า เมื่อเดือนกันยายน 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ส่งสารแสดงความห่วงใยผ่านรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กรณีของรายการขายสินค้าที่เผยแพร่ผ่านช่องทางการสื่อสารต่างๆ จำนวนมาก โดยเฉพาะทางทีวีดิจิทัล ทั้งเครื่องใช้ในบ้าน เครื่องสำอาง อาหารเสริม แม้จะเป็นทางเลือกในการซื้อสินค้าของประชาชน ในช่วงที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านมากขึ้น เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 แต่การนำเสนอสินค้าบางรายการมีลักษณะแจ้งสรรพคุณที่อาจเกินความจริง จึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) องค์การอาหารและยา (อย.) ฯลฯ ทำงานในเชิงรุก เพื่อตรวจสอบว่าสินค้าที่นำเสนอผ่านรายการส่งเสริมการขายต่างๆ นั้นได้มาตรฐาน ผ่านการรับรองตรวจสอบแล้วหรือไม่ เพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชนเป็นสำคัญ แนวทางการกำกับโฆษณาในไทย        พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 23 ระบุว่า การประกอบกิจการทางธุรกิจ ให้ดำเนินการหารายได้โดยการโฆษณา การบริการธุรกิจ การจัดเก็บค่าสมาชิก หรือโดยวิธีอื่นใดได้ แต่ทั้งนี้จะกำหนดการโฆษณาและการบริการธุรกิจได้ไม่เกินชั่วโมงละสิบสองนาทีครึ่ง โดยเมื่อรวมเวลาโฆษณาตลอดทั้งวัน เฉลี่ยแล้วต้องไม่เกินชั่วโมงละสิบนาที         ในส่วนของประกาศ กสทช. เรื่อง การกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2555 ข้อ 2 และข้อ 5 ระบุลักษณะของการเอาเปรียบผู้บริโภค ได้แก่ การออกอากาศรายการหรือการโฆษณาที่มีเนื้อหาสาระในลักษณะเป็นการจูงใจให้ผู้บริโภคเลือกใช้บริการหรือสินค้า โดยหลอกลวงหรือกระทําให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสําคัญเกี่ยวกับบริการหรือสินค้านั้น หรือโดยการใช้หรืออ้างอิงรายงานทางวิชาการ สถิติ หรือข้อมูลอันไม่เป็นความจริงหรือเกินความจริง รวมทั้งการออกอากาศรายการโดยมีการโฆษณาบริการหรือสินค้าเกินกว่าระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด หรือบ่อยครั้งที่เป็นผลให้ผู้บริโภครับชมรายการอย่างไม่ต่อเนื่อง สำรวจโฆษณาทีวี         เมื่อทำการศึกษาโฆษณาที่ปรากฏทางช่องรายการโทรทัศน์ระบบดิจิทัลที่ออกอากาศตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม – 30 เมษายน 2564 โดยพิจารณาจากปัจจัยด้านประเภทสถานีโทรทัศน์ ได้แก่ ช่องบริการทางสาธารณะและช่องบริการทางธุรกิจ ปัจจัยด้านประเภทรายการโทรทัศน์ ได้แก่ รายการที่นำเสนอข้อเท็จจริง (Non-Fiction) รายการที่นำเสนอเรื่องแต่ง (Fiction) และรายการที่นำเสนอความบันเทิง (Light Entertainment) และปัจจัยด้านช่วงเวลาในการออกอากาศ         จากเกณฑ์ข้างต้น สามารถคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างจำนวน 34 กลุ่มตัวอย่าง โดยการนับเวลารายการ 1 ชั่วโมง หรือ 60 นาที จะเริ่มนับตั้งแต่ต้นชั่วโมง เช่น 00.01-01.00 น. ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวอาจมี 1 รายการหรือมากกว่า 1 รายการก็ได้ แต่จะนับเป็น 1 กลุ่มตัวอย่างเท่านั้น รายละเอียดของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด ประกอบด้วย        1. รายการประเภทข้อเท็จจริง (Non-Fiction) 20 กลุ่มตัวอย่าง        2. รายการประเภทเรื่องแต่ง (Fiction) 8 กลุ่มตัวอย่าง        3. รายการประเภทความบันเทิง (Light Entertainment) 6 กลุ่มตัวอย่าง          โฆษณาเกินเวลาที่กำหนด ?         ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่า ค่าเฉลี่ยโดยรวมของเนื้อหารายการในกรณีหักลบโฆษณา 52 นาที 36 วินาที ซึ่งไม่เกินเกณฑ์ที่ กสทช. กำหนด แต่เมื่อพิจารณารายกลุ่มตัวอย่างพบว่า กลุ่มตัวอย่างที่มีเนื้อหารายการน้อยกว่า 47 นาที 30 วินาที มีจำนวน 4 กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ กลุ่มตัวอย่างที่ 22 (วันทอง) 38 นาที 35 วินาที รองลงมาคือ กลุ่มตัวอย่างที่ 28 (ทุบโต๊ะข่าว + ซุปตาร์พาตะลุย) 44 นาที 14 วินาที, กลุ่มตัวอย่างที่ 31 (ฟ้าหินดินทราย + ข่าวภาคค่ำ) 46 นาที 45 วินาที และกลุ่มตัวอย่างที่ 15 (แฉ) 47 นาที ตามลำดับ         ค่าเฉลี่ยโดยรวมของเนื้อหารายการในกรณีหักลบโฆษณาและโฆษณาแฝง 50 นาที 16 วินาที ค่าเฉลี่ยโดยรวมของเนื้อหารายการในกรณีหักลบโฆษณา โฆษณาแฝง และรายการแนะนำสินค้า 46 นาที 27 วินาที ค่าเฉลี่ยโดยรวมของเนื้อหารายการในกรณีหักลบโฆษณา โฆษณาแฝง รายการแนะนำสินค้า และสปอตโปรโมตรายการ 43 นาที 55 วินาที ซึ่ง 2 กรณีหลังถือว่ามีเนื้อหารายการน้อยกว่าเกณฑ์ที่กำหนด         เมื่อหาค่าเฉลี่ยของเนื้อรายการโดยจำแนกตามประเภทรายการโทรทัศน์ ซึ่งแบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ รายการที่นำเสนอข้อเท็จจริง (Non-Fiction) รายการที่นำเสนอเรื่องแต่ง (Fiction) และรายการที่นำเสนอความบันเทิง (Light Entertainment) พบว่า รายการที่นำเสนอข้อเท็จจริง (Non-Fiction) เช่น รายการข่าว รายการกีฬา รายการสารคดี ฯลฯ มีค่าเฉลี่ยเนื้อหารายการ 44 นาที 58 วินาที (กรณีหักลบโฆษณา โฆษณาแฝง และรายการแนะนำสินค้า) และค่าเฉลี่ยเนื้อหารายการ 42 นาที 33 วินาที (กรณีหักลบโฆษณา โฆษณาแฝง รายการแนะนำสินค้า และสปอตโปรโมตรายการ)         เมื่อหาค่าเฉลี่ยของเนื้อรายการโดยจำแนกตามประเภทสถานีโทรทัศน์ ซึ่งแบ่งเป็น 4 ประเภท ได้แก่        1) ช่องบริการทางสาธารณะ        2) ช่องบริการทางธุรกิจ หมวดหมู่ข่าวสารและสาระ        3) ช่องบริการทางธุรกิจ หมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดปกติ (SD) และ        4) ช่องบริการทางธุรกิจ หมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดสูง (HD)          พบว่า กรณีที่หักลบโฆษณา โฆษณาแฝง และรายการแนะนำสินค้า ค่าเฉลี่ยของช่องบริการทางธุรกิจ หมวดหมู่ข่าวสารและสาระ 46 นาที 57 วินาที ช่องบริการทางธุรกิจ หมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดปกติ (SD) 44 นาที 6 วินาที และช่องบริการทางธุรกิจ หมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดสูง (HD) 46 นาที 15 วินาที ส่วนกรณีหักลบโฆษณา โฆษณาแฝง รายการแนะนำสินค้า และสปอตโปรโมตรายการ ค่าเฉลี่ยของช่องบริการทางธุรกิจ หมวดหมู่ข่าวสารและสาระ 43 นาที 36 วินาที ช่องบริการทางธุรกิจ หมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดปกติ (SD) 42 นาที 4 วินาที และช่องบริการทางธุรกิจ หมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดสูง (HD) 43 นาที 37 วินาที มุมมองผู้บริโภค         ขณะที่การสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคด้วยแบบสอบถามออนไลน์ จำนวน 350 ชุด เก็บข้อมูลตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม – 15 กรกฎาคม 2564 กับผู้ที่เปิดรับรายการโทรทัศน์ระบบดิจิทัล พบว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการมี “โฆษณา” ทางโทรทัศน์ ในแง่ของการเป็นช่องทางหารายได้ที่เหมาะสมสำหรับผู้ผลิตรายการหรือเจ้าของสถานีโทรทัศน์ (2.55) และเป็นประโยชน์ต่อผู้ชมในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าหรือบริการ (2.53)         อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคส่วนใหญ่กลับไม่เห็นด้วยต่อการมี “โฆษณาแฝง” และ “รายการแนะนำสินค้า” ในรายการโทรทัศน์ เนื่องจากเป็นการรบกวนการรับชมรายการโทรทัศน์ (3.13, 3.19 ตามลำดับ) โดยมองว่ารายการที่นำเสนอข้อเท็จจริง เช่น รายการข่าว สาระความรู้ สารคดี ไม่ควรมีโฆษณาแฝงหรือรายการแนะนำสินค้า (3.25)         และมีความเห็นด้วยน้อยกับการที่นักแสดงหรือคนดังบอกเล่าและเชิญชวนให้ผู้ชมซื้อสินค้าหรือบริการ ในรายการสัมภาษณ์ต่างๆ (1.94)        หากพบว่า “โฆษณา” และ “โฆษณาแฝง” ของสินค้าหรือบริการใดที่รบกวนการรับชม ผู้บริโภคจะไม่ซื้อหรือสนับสนุนสินค้าเหล่านั้นโดยเด็ดขาด (3.03, 3.07 ตามลำดับ) ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ         จากผลการศึกษาสะท้อนให้เห็นว่า สถานีโทรทัศน์มีการหารายได้จากโฆษณาและโฆษณาแฝงอย่างมากจนทำให้เวลาของเนื้อหารายการในกลุ่มตัวอย่างบางส่วนน้อยกว่าเกณฑ์ที่ กสทช. กำหนดไว้ เนื่องมาจากสถานการณ์การแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการที่สูงขึ้นและช่องว่างทางกฎระเบียบของ กสทช. ที่มุ่งเน้นการกำกับดูแลเฉพาะโฆษณา (TV Commercial - TVC) เป็นหลัก ทำให้เกิดช่องว่างที่ผู้ประกอบการสามารถหารายได้เพิ่มเติมโดยหลีกเลี่ยงการทำผิดกฎได้ ซึ่งล้วนแต่เป็นการเบียดบังเวลาในการรับชมรายการโทรทัศน์ของผู้บริโภค         อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคมีทัศนคติที่ยอมรับได้กับ “โฆษณา” แต่รับไม่ได้กับ “โฆษณาแฝง” และหากรู้สึกว่าถูกรบกวนก็จะนำไปสู่พฤติกรรมการเปลี่ยนช่อง การไม่สนับสนุนสินค้าหรือบริการนั้นๆ ตลอดจนการแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบทันที         ข้อเสนอแนะจากการวิจัยในครั้งนี้คือ ควรมีแนวทางการกำกับโฆษณาที่ชัดเจนและครอบคลุม เช่น กำหนดขอบเขตของโฆษณาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน หากจะอนุโลมให้มีโฆษณาแฝงอาจต้องจำกัดช่วงเวลาในการเผยแพร่ หรือจำกัดประเภทสถานีโทรทัศน์และประเภทรายการ โดยพิจารณาจากกลุ่มเป้าหมายที่รับชม ซึ่งอาจเป็นเยาวชนหรือคนสูงอายุที่ถูกโน้มน้าวใจได้ง่ายกว่าคนวัยอื่นๆ         รวมทั้งควรมีหน่วยงานสอดส่องเฝ้าระวังโฆษณาในเชิงรุก โดยมีการทำงานอย่างต่อเนื่อง มีระบบการจัดการข้อมูลที่เป็นรูปธรรม ที่สำคัญคือสามารถเข้าถึงภาคประชาชนและภาครัฐ สร้างการรับรู้ในฐานะของศูนย์กลางการเฝ้าระวังโฆษณา         ขณะเดียวกันอาจสร้างแรงจูงใจให้แก่ผู้บริโภคด้วยการให้ค่าตอบแทนหรือค่าเสียเวลา สำหรับผู้บริโภคที่ช่วยสอดส่องโฆษณาที่ผิดกฎหมายหรือเอาเปรียบผู้บริโภค แล้วร้องเรียนไปยัง กสทช.        หากสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ย่อมส่งผลดีทั้งต่อผู้บริโภคและผู้ผลิต รวมทั้งสร้างบรรทัดฐานที่สำคัญของการโฆษณาในทีวีดิจิทัลอีกด้วย        (เนื้อหาข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยเรื่อง “งานศึกษาโฆษณาแฝงและการโฆษณาเกินเวลาทางช่องรายการโทรทัศน์ระบบดิจิทัล” (2564) โดย น.ส.บุณยาพร กิตติสุนทโรภาศ นักวิจัยอิสระ)อ้างอิงhttp://bcp.nbtc.go.th/th/detail/2020-06-16-11-48-20 www.nbtc.go.th/law/พระราชบัญญัติ/พระราชบัญญัติ/พรบ-การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์-พ.aspxwww.nbtc.go.th/Business/กจการวทย/เอกสารที่เกี่ยวข้อง-(1)/กฎหมาย-(1)/ประกาศ-กสทช-เรื่อง-การกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บ.aspxhttp://www.supinya.com/2016/06/7578https://www.thansettakij.com/content/428726https://broadcast.nbtc.go.th/data/bcj/2564/doc/2564_02_2.pdf

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 246 วุ่นวายมากไปไหมกับการจ่ายค่าโทรศัพท์แบบไร้ใบแจ้งหนี้

        คุณนิดดูแลบ้านพัก 3 หลัง จึงใช้บริการอินเทอร์เน็ตบ้านหลายเลขหมาย โดยทุกเลขหมายมีชื่อผู้ใช้บริการเป็นชื่อเธอคนเดียว  ซึ่งแต่ละเลขหมายจะแยกจ่ายตามคนที่อยู่อาศัยหลักๆ ของบ้านนั้นๆ  ตัวเธอเองรับจ่ายค่าบริการของบ้านที่ดินแดง น้องสาวจ่ายค่าบริการของบ้านที่ราชเทวี ส่วนน้องชายจ่ายของบ้านที่บางเขน เวลาไปจ่ายเงินก็ใช้เพียงการบอกบ้านเลขที่บ้าน ไม่เคยต้องถือใบแจ้งหนี้ค่าใช้บริการไปให้ยุ่งยาก เพราะเธอรักษ์โลกช่วยลดการใช้กระดาษจึงระบุต่อผู้ให้บริการว่า ขอไม่รับใบแจ้งค่าใช้บริการแบบกระดาษ  ให้ทางบริษัทฯ ส่ง SMS แจ้งค่าบริการมาแทน         วันหนึ่งของเดือนที่อากาศร้อนมากๆ แต่วันนั้นอากาศค่อนข้างเย็นสบาย คุณนิดจึงเดินออกจากบ้านตอนบ่ายแก่เพื่อไปจ่ายเงินค่าใช้บริการอินเทอร์เน็ตบ้านหลังที่เธอรับผิดชอบที่ร้านรับจ่ายค่าบริการโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งย่านอนุเสาวรีย์ชัย  เมื่อถึงร้านเธอจดเลขที่บัตรประชาชนเหมือนเคย แล้วบอกว่า จ่ายค่าอินเทอร์เน็ตบ้านเลขที่ 9999 (เลขสมมติ) เขตดินแดง... พร้อมกับส่งบัตรเครดิตให้พนักงาน         คุณพนักงานของร้านก้มหน้าสักพัก พร้อมยื่นใบเสร็จกลับมาให้ คุณนิดอ่านดูรายละเอียดเห็นเป็นบ้านเลขที่น้องสาว จึงบอกว่า “ไม่ใช่ค่ะน้อง ทำอย่างไรดีคะ อันนี้มันเป็นค่าใช้จ่ายที่บ้านน้องสาวที่ราชเทวี ไม่ใช่บ้านเลขที่ของพี่”  พนักงานตอบว่า “ระบบของเราดูรายละเอียดค่าใช้จ่ายแยกตามบ้านเลขที่ที่ใช้งานไม่ได้ ถ้าจะดูรายละเอียดได้ คุณลูกค้าต้องไปที่สำนักงานของบริษัทที่ตั้งอยู่ในห้างต่างๆ ร้านเรามีแต่ยอดที่เป็นยอดรวมตามชื่อลูกค้า เนื่องจากเป็นร้านดีลเลอร์ ไม่ใช่ร้านที่เป็นสาขาของบริษัทโดยตรง”           คุณนิดจึงแย้งว่าตนเองแจ้งเลขที่บัตรปรระชาชนพร้อมกับเลขที่บ้านให้แล้วนะ ทำไมคุณพนักงานไม่บอกหรือแจ้งข้อจำกัดนี้ให้ทราบก่อน พนักงานกล่าวขอโทษพร้อมกับทำเรื่องคืนเงินให้คุณนิด พร้อมกับแจ้งว่าหากคุณนิดมีรหัสลูกค้าจะทดลองจ่ายอีกรอบก็ได้ ทางเจ้าหน้าที่จะทำคืนเงินให้หากไม่ใช่บ้านเลขที่ของคุณนิด         คุณนิดค้นเลขรหัสลูกค้าที่มี SMS มาที่เธอ  2 หมายเลขให้กับทางเจ้าหน้าที่ไป เมื่อเจ้าหน้าที่ส่งใบเสร็จให้เธออีกครั้ง คราวนี้ทั้ง 2 บิล แจ้งรายละเอียดว่า บ้านที่ใช้บริการเป็นเลขที่บ้านน้องสาวที่ราชเทวีเหมือนเดิมแม้ว่าตัวเลขบนบิลจะไม่ใช่ยอดเงินเดียวกันก็ตาม  อย่างไรก็ตามพนักงานได้รีบทำเงินคืนให้คุณนิดตามที่เขารับปากไว้  คุณนิดนั้นรับบัตรเครดิตคืนมาแบบหงุดหงิดเพราะแค่จ่ายบิลก็ไม่สำเร็จ หลังตรวจสอบวงเงินในบัตรเรียบร้อยว่าครบถ้วน เธอก็เก็บของเตรียมกลับบ้าน แต่ก็ฝากเรื่องกับพนักงานไว้ว่า เดี๋ยววันนี้ขอกลับไปโทรคุยกับคอลเซ็นเตอร์ก่อน           คุณนิดถึงบ้านอีกครึ่งชั่วโมงถัดมา เธอโทรปรึกษาคอลเซ็นเตอร์บอกเรื่องราวที่เกิดขึ้น  น้องน้ำหวานพนักงานรับสายแจ้งว่า  “ระบบของเรา สามารถบอกรายละเอียดได้นะคะ หน่วยงานที่เป็นสถานที่รับชำระเงินทั้งที่เป็นสาขาของเราและดีลเลอร์ต่างๆ สามารถแจ้งรายละเอียดกับลูกค้าได้ค่ะ  และคุณลูกค้าสามารถจ่ายค่าบริการผ่านแอปของเราได้นะคะ กดเลือกบ้านเลขที่ที่ต้องการได้เลยนะคะ คุณลูกค้ามีเรื่องสอบถามเพิ่มเติมไหมคะ” คุณนิดไม่มีเรื่องแจ้งเพิ่ม เพียงแต่ย้ำกับน้องน้ำหวานไปถึงเรื่องการให้บริการของบริษัทที่ควรจะมีมาตรฐานเดียวกัน ไม่ต้องให้ผู้บริโภคเสียเวลาแบบที่คุณนิดเจอมา           หลังจากดำเนินการด้วยตนเองไปแล้ว คุณนิดก็คิดได้ว่าน่าจะมาเล่าประสบการณ์ให้ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภครับทราบไว้ด้วย เพื่อจะได้ช่วยดำเนินการย้ำกับผู้ประกอบการบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์ว่า ไหนๆ ก็มีทางเลือกในการจ่ายหนี้แบบไม่ใช่ใบแจ้งหนี้ (กระดาษ) ก็ช่วยทำให้ทุกช่องทางได้มาตรฐานเดียวกันด้วย        แนวทางแก้ไขปัญหา        ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค รับเรื่องราวของคุณนิดไว้และพร้อมจะดำเนินการนำข้อเสนอของคุณนิดสู่ผู้ประกอบการต่อไป 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 245 หลงกลลวงให้ซื้อประกันทางโทรศัพท์

        หากมีใครโทรศัพท์มาชวนคุยเรื่องทำประกัน ถ้าคุณไม่ได้มีแผนจะทำประกันแล้วล่ะก็...ขอแนะนำให้บอกปัดไปเลย ไม่ต้องฟัง เพราะไม่อย่างนั้นอาจโดนคารมนายหน้าขายประกันใช้เทคนิคทำทีเป็นโทรมาสอบถามข้อมูลแล้วให้พูดตาม หรือพูดหว่านล้อมให้คุณตอบ “ตกลง”  โดยกว่าจะรู้ตัวอีกที เงินก็ถูกหักจากบัตรเครดิตไปซื้อประกันนั้นซะแล้ว         คุณทิพวรรณก็เป็นอีกหนึ่งคนที่ถูกมัดมือชกให้ซื้อประกันทางโทรศัพท์แบบเนียนๆ เธอเล่าว่าเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2564 ตัวแทนขายประกันได้โทรศัพท์มาเสนอสิทธิพิเศษบัตร X ของบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่ง โดยสอบถามข้อมูลส่วนตัวของเธอหลายอย่าง ซึ่งเธอเองก็ตอบยืนยันเฉพาะข้อมูลส่วนตัวของตนไปเท่านั้น ไม่ได้ตอบตกลงทำประกันตามที่ตัวแทนเสนอมาแต่อย่างใด         จู่ๆ วันหนึ่ง คุณทิพวรรณพบว่า อ้าว...เงินในบัญชีถูกหักไป 397 บาท เพื่อชำระเป็นค่าเบี้ยประกันภัยดังกล่าว เธอจึงเพิ่งมารู้ว่าที่พูดคุยทางโทรศัพท์กับตัวแทนประกันวันนั้น กลายเป็นว่าเธอตอบตกลงซื้อประกันไปโดยไม่รู้ตัวเลย เธอรู้สึกว่าเรื่องนี้ไม่ชอบมาพากลเสียแล้ว  และน่าจะเข้าข่ายการกระทำที่หลอกลวงผู้บริโภค เธอต้องการจะยกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนั้นและทวงเงินค่าเบี้ยประกันคืนมาด้วย จึงได้ส่งอีเมลเล่าเรื่องราวกลลวงขายประกันทางโทรศัพท์นี้มาร้องเรียนทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา         มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแนะนำให้คุณทิพวรรณทำจดหมายยกเลิกสัญญาและขอคืนเงิน ส่งเป็นแบบไปรษณีย์ตอบรับไปยังบริษัทประกันภัยคู่กรณี และทำจดหมายปฎิเสธการชำระหนี้ไปยังธนาคารเพื่อแจ้งเรื่องการยกเลิก พร้อมสำเนาจดหมายยกเลิกไปด้วย และเมื่อบริษัทประกันยกเลิกกรรมธรรม์แล้ว ก็จะต้องคืนเงินให้แก่คุณทิพวรรณคืน         อย่างไรก็ตาม วิธีการนี้เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ วิธีการป้องกันเพื่อตัดไฟแต่ต้นลม คือเมื่อมีสายโทรศัพท์เข้ามาชักชวนให้ซื้อประกัน หากคุณไม่ได้สนใจจริงๆ ก็ไม่ต้องฟัง ให้บอกไปว่าอาจบอกไปเลยว่าไม่มีเงินทำ เป็นหนี้เยอะมาก หรือตกงานอยู่ แล้วขอวางสายไปเลย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 244 วันทอง : (ไม่)อยากเก็บเธอไว้ทั้งสองคน

                คุณผู้อ่านเคยเป็นหรือไม่ เมื่อเราหยิบงานวรรณกรรมที่เคยอ่านเอามา “อ่านใหม่” อีกครั้ง การตีความและทำความเข้าใจเนื้อหาสารเหล่านั้น บ่อยครั้งก็จะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม         ทุกครั้งที่เราอ่านเนื้อหาสารใดอีกคราหนึ่ง หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า “re-reading” การรับรู้ความหมายมักจะไม่เหมือนเดิม ไม่ใช่แค่เพราะประสบการณ์ชีวิตของผู้อ่านที่เติบโตขึ้นเท่านั้น แต่ยังเป็นเพราะจิตสำนึกของคนเราที่แปรเปลี่ยนไป จึงทำให้การมองโลกและรับรู้เรื่องเดิมผิดแผกแตกต่างออกไปด้วยเช่นกัน         หนึ่งในตัวอย่างของ “เรื่องเก่าที่เอามาอ่านตีความใหม่” เช่นนี้ ก็คือการปรับแปลงนิทานพื้นบ้านอย่าง “ขุนช้างขุนแผน” มาเป็นละครโทรทัศน์เรื่อง “วันทอง” ที่แค่ชื่อเรื่องก็บอกเป็นนัยๆ ว่า ตัวเอกอย่าง “ขุนช้าง” หรือ “ขุนแผน” ได้เวลาถอยไป เพราะถึงคราวตัวแม่อย่าง “วันทอง” จะ “องค์ลง” มาขอสิทธิ์เสียงเป็นตัวละครเดินเรื่องหลักกันบ้างแล้ว         สมัยเด็กๆ จำได้ว่า ตอนเรียนหนังสือ เคยต้องท่องจำบท “เสภาขุนช้างขุนแผน” ฉากเปิดตัว “พลายแก้ว” หรือต่อมาก็คือขุนแผนแสนสะท้านพระเอกของเรื่อง บทอาขยานท่อนนั้นท่องว่า “จะกล่าวถึงพลายแก้วแววไว เมื่อบิดาบรรลัยแม่พาหนี ไปอาศัยอยู่ในกาญจน์บุรี กับนางทองประศรีผู้มารดา…” อันเป็นจุดเริ่มต้นของอภิตำนานชีวิตพระเอกหนุ่มเนื้อหอม รูปงาม มีความรู้ความสามารถและสรรพคาถาวิชา         ครั้นพอดัดแปลงตีความใหม่เป็นละครโทรทัศน์ออกมานั้น ไหนๆ ผู้ผลิตก็ผูกเล่ามหากาพย์ชีวิตของนางวันทองให้เป็นตัวเอกของเรื่องราวขึ้นมาบ้าง ละครก็ได้ให้น้ำหนักกับการปูที่มาที่ไปของนาง “พิมพิลาไลย” ผู้เป็นต้นธารแห่งมายาภาพ “นางวันทองหญิงสองใจ” โดยมิพักต้องเล่าสาธยายรายละเอียดภูมิหลังชีวิตของพลายแก้วแววไวแบบที่เราคุ้นเคยกันมาอีกเลย         หากดำเนินความตามท้องเรื่องแบบ “ขุนช้างขุนแผน” ฉบับเดิม เส้นเรื่องหลักจะเดินไปตามพัฒนาการชีวิตของขุนแผนจากวัยเยาว์ ไปจนท้ายเรื่องที่ “สมเด็จพระพันวษา” ได้ปูนบำเหน็จเลื่อนบรรดาศักดิ์ให้เป็นเจ้าเมืองกาญจนบุรี โดยมีเสี้ยวหนึ่งในชีวิตที่คู่ขนานไปกับ “ศึกรบ” ก็คือ “ศึกรัก” ระหว่างขุนแผนชายหนุ่มรูปงาม กับขุนช้างชายรูปชั่วหัวล้าน จนเกิดเป็นตำนาน “วันทองหญิงสองใจ”         แต่ในละครโทรทัศน์นั้น ผู้ผลิตได้ปรับโฟกัสการรับรู้จากทัศนะคนทั่วไปที่มักตีตราวันทองว่า เป็น “หญิงสองใจ” จนนำไปสู่คำพิพากษาของสมเด็จพระพันวษาให้ประหารชีวิต เพียงเพราะนางไม่สามารถ “เลือก” ชายคนใดได้ระหว่างขุนแผนหรือขุนช้าง มาสู่มุมมองใหม่จากความในใจและสายตาของตัวนางวันทองเอง         และเพื่อรื้อถอนภาพจำแห่งเรื่องราว “ขุนช้างขุนแผน” ที่มีมาก่อน ละครจึงเลือกตัดภาพมาขึ้นต้นด้วยฉากชะตากรรมท้ายเรื่องที่วันทองกำลังจะขึ้นศาลฟังการไต่สวนพิพากษา         ฉากเปิดเรื่องที่ฉายภาพบรรดาตัวละครแม่ค้าประชาชีมารุมด่าประณามสาปแช่งด้วยถ้อยคำหยาบคายว่า “อีหญิงสองใจ” บ้าง “อีตัวต้นเหตุ” บ้าง หรือแม้แต่ “อีหญิงสองผัวชั่วชาติ เป็นเสนียดแก่แผ่นดิน” โดยที่วันทองก็ได้แค่กล่าวโต้กลับแต่เพียงว่า “เอ็งยังไม่รู้จักข้า แล้วเอ็งมาด่าข้าได้ยังไง” ช่างเป็นประโยคที่เสียดแทงอยู่ในทีว่า มติสาธารณะที่ทั้งแม่ค้ารวมถึงคนดูแบบเราๆ เคยรับรู้และตัดสินคนอื่นด้วยบรรทัดฐานบางชุดเยี่ยงนี้ เป็นความถูกต้องชอบธรรมแท้จริงหรือไม่         จากนั้น คู่ขนานไปกับการไต่สวนความนางเอกของเรื่องนี้ ละครก็ค่อยๆ แฟลชแบ็คภาพกลับไปให้เราได้เห็นชะตากรรมที่วันทองต้องเผชิญมาตลอดชีวิต ตั้งแต่ที่เธอเลือกแต่งงานอยู่กินกับขุนแผน ฮันนีมูนพีเรียดอันแสนสั้นก็ผ่านไปอย่างรวดเร็ว พลันที่ขุนแผนชนะศึกที่เชียงทองและพานาง “ลาวทอง” เข้ามาร่วมหอในชายคาเดียวกัน         ในขณะที่เจตนารมณ์ของบุรุษเพศทั่วไปนั้น “ผู้ชายที่ไม่เจ้าชู้ ก็เปรียบเสมือนกับงูที่ไม่มีพิษ” แต่สำหรับผู้หญิงอย่างวันทองแล้ว “เสียทองเท่าหัว ก็ไม่ปรารถนาจะเสียผัวให้แก่ใคร” เมื่อชายคนรักเลือกที่จะมีเมียมากกว่าหนึ่ง วันทองถึงกับประชดประชันขุนแผนว่า “ข้าไม่อยากเป็นเมียเอก แต่ข้าอยากเป็นเมียเดียวของพี่”         และในอีกทางหนึ่ง วันทองเองก็ยังถูกลากเข้าสู่ใจกลางสมรภูมิหัวใจระหว่างตัวละครชายสองคน เมื่อขุนแผนต้องไปออกศึกรับใช้บ้านเมือง ขุนช้างก็ใช้เล่ห์เพทุบายช่วงชิงตัวนางมาเป็นเมีย โดยสร้างเฟคนิวส์ว่าขุนแผนได้เสียชีวิตแล้วในสงคราม ทำให้ต่อมาในภายหลังนางเองก็ถูกขุนแผนชายคนรักปรามาสดูถูกว่า “ตำแยที่ว่าคัน ก็ยังไม่เท่าเจ้าเลย”         ทั้งถูกประณามหยามหมิ่น และถูกชักเย่อไปมาระหว่างขุนแผนกับขุนช้าง ชายหนึ่งคือ “คนที่นางรัก” กับอีกชายหนึ่งคือ “คนที่รักและดีกับนาง” ในที่สุดเรื่องก็เดินไปถึงจุดสุดขั้นเมื่อวันทองถูกนำตัวเข้าเฝ้าสมเด็จพระพันวษา เพื่อยุติปัญหารักสามเส้าแบบ “หนึ่งหญิงสองชาย” เหมือนกับที่เราเคยได้อ่านมาในวรรณกรรม         แบบที่ผู้ชมก็ทราบกันดีว่า หากวันทองตัดสินใจ “เลือก” ลงเอยกับชายคนใดสักคน นางก็จะรอดจากการถูกตัดสินประหารชีวิต แต่เมื่อนางได้ใคร่ครวญแล้วว่า “ขาดเธอก็คงไม่เหงา ขาดเขาก็คงไม่เสียใจ” การตัดสินใจต้อง “เลือก” ใครสักคนก็ยังคงสืบต่อคำถามแบบที่นางได้ทูลสมเด็จพระพันวษาว่า “แล้วเราจะไม่ต้องเจ็บเพราะผู้ชายอีกต่อไปใช่ไหมเพคะ”         ดังนั้น พอถูกตีความว่าโลเลตัดสินใจไม่ได้ วันทองก็ถูกตีตราลงโทษว่าเป็น “หญิงสองใจ” ที่ “ไม่สามารถเลือก” ชายใดได้สักคน จนนำไปสู่คำพิพากษาประหารชีวิตพร้อมกับตราประทับดังกล่าวของสังคม         อย่างไรก็ตาม หากพินิจพิจารณากันดีๆ แล้ว ขณะที่สังคมกำหนดให้ “เลือก” ระหว่างชายสองคน แต่วันทองเองก็ได้ “เลือก” เหมือนกัน เพียงแต่บนคำตอบที่เธอขอ “เลือก” กำหนดเองว่า จะไม่ขอกากบาทตัวเลือกข้อใดที่สังคมหยิบยื่นให้มา เพราะนั่นเป็นวิธีเดียวที่จะยุติปัญหาทั้งปวงได้ แบบที่นางได้กล่าวก่อนถูกประหารว่า “ข้ายืนยันในสิ่งที่ตัวเองเลือก ไม่ใช่ให้ใครมาเลือกให้เรา”         และเพราะไหนๆ ละครโทรทัศน์ก็เป็นการอ่านใหม่ในเรื่องเล่าที่มีมาแต่เดิม ผู้ผลิตจึงดัดแปลงฉากจบให้วันทองยังคงมีลมหายใจต่อไป ก็คงเพื่อยืนยันว่า ชีวิตของหญิงที่ขอ “เลือก” ในสิ่งที่ตนปรารถนา และ “ไม่อยากจะเก็บเธอไว้ทั้งสองคน” ก็ไม่จำเป็นต้องแลกมาด้วยความตายที่สังคมกระทำต่อเธอแบบอยุติธรรม         บทสรุปของการอ่านเพื่อตีความใหม่เฉกเช่นนี้ ก็คงต้องการสนับสนุนคำพูดของวันทองที่กล่าวในท้ายเรื่องว่า “สิ่งที่อยากให้ผู้คนจดจำก็คือ วันทองไม่ใช่หญิงสองใจ” และที่สำคัญ “ศักดิ์ศรีไม่ใช่ให้ผู้หญิงขึ้นมาเป็นใหญ่เหนือชาย แต่ข้าแค่ต้องการให้คนเห็นคุณค่าของผู้หญิงบ้าง…”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 239 SMS ขอหักเบี้ยประกันพ่วงบัตรเอทีเอ็ม

        บ่ายวันหนึ่งขณะที่คุณมธุรสกำลังนั่งดูละครโทรทัศน์เพลินๆ ก็ได้รับข้อความ SMS จากบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่งว่า จะมีการหักเงินเบี้ยประกันจำนวนหนึ่งจากบัญชีเงินฝากของคุณมธุรส เนื่องจากครบรอบปีที่ได้ทำประกันไว้         คุณมธุรสงงไปสักพักว่าฉันไปทำประกันภัยไว้เมื่อไร  แต่หลังจากนึกอยู่พักหนึ่งก็พอจะจำได้ว่า ช่วงเดียวกันนี้เมื่อปีที่แล้ว ตนเองได้เคยเปิดบัญชีและทำบัตรเอทีเอ็มกับธนาคารแห่งหนึ่งไว้ ซึ่งตอนทำบัตร พนักงานธนาคารได้ขายประกันพ่วงบัตรเอทีเอ็มให้กับตนด้วย ทั้งๆ ที่ก่อนทำบัตรเอทีเอ็มเพื่อความสะดวกในการเบิกถอนเงิน คุณมธุรสได้สอบถามกับพนักงานว่า ขอทำบัตรเอทีเอ็มธรรมดาแบบไม่มีประกันพ่วงได้หรือไม่ ตอนนั้นพนักงานธนาคารได้อ้างว่า เพราะคุณมธุรสทำสัญญาเงินกู้กับธนาคารไว้ จึงมีความจำเป็นต้องทำประกันพ่วงบัตรเอทีเอ็มด้วย โดยพนักงานได้แจ้งหักเบี้ยประกันปีแรกจากเงินในบัญชีของคุณมธุรสเลย แต่ไม่ได้มีการชี้แจงรายละเอียดความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยอะไรมาก บอกเพียงแต่ว่าหากผู้เอาประกันเสียชีวิตก็จะได้เงินประกัน ด้วยความจำเป็นเพราะเป็นลูกหนี้ของธนาคาร คุณมธุรสจึงตกลงทำบัตรเอทีเอ็มแบบพ่วงประกันไป         เมื่อโดนการเตือนว่าจะมีการหักเงินเพื่อเป็นค่าเบี้ยสำหรับปีถัดไป คุณมธุรสรู้สึกว่าไม่เป็นธรรมสักเท่าไรนัก เธอจึงโทรศัพท์มาปรึกษาว่าสามารถทำอะไรได้บ้างไหมเพื่อยกเลิกการทำประกันภัย แนวทางการแก้ไขปัญหา         กรณีนี้ พนักงานธนาคารไม่สามารถบังคับให้ผู้บริโภคทำบัตรเอทีเอ็ม หรือ บัตรเดบิต ที่พ่วงประกันได้ หากผู้บริโภคไม่ได้มีความประสงค์จะทำด้วยความสมัครใจ โดยผู้บริโภคมีสิทธิขอทำบัตรเอทีเอ็ม หรือ บัตรเดบิต แบบธรรมดา ซึ่งธนาคารควรมีบัตรแบบธรรมดาไว้ให้บริการ หากผู้บริโภคพบว่าพนักงานธนาคารบังคับให้ทำบัตรแบบที่พ่วงประกัน สามารถร้องเรียนไปที่ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) สายด่วน 1213 ได้         นอกจากนี้ พนักงานธนาคารที่ขายประกัน จะต้องมีใบอนุญาตนายหน้าประกันชีวิตหรือประกันวินาศภัย รวมถึงต้องชี้แจงรายละเอียดความคุ้มครองตามกรมธรรม์ให้กับผู้บริโภคทราบด้วย         หากผู้บริโภคต้องการขอยกเลิกประกัน หลังจากที่พิจารณาเงื่อนไขความคุ้มครองอย่างละเอียดภายหลังแล้วพบว่าไม่เป็นไปตามที่รับทราบมา ก็สามารถบอกเลิกสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด (15 หรือ 30 วัน กรณีทำผ่านทางโทรศัพท์) หรือตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ หลังจากได้รับกรมธรรม์ ซึ่งผู้บริโภคจะได้รับเงินคืนตามจำนวนเบี้ยที่จ่ายไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 236 แค่เผลอกดลิงก์ SMS ก็โดนหักค่าบริการ

        ผู้บริโภคหลายคนคงเคยได้รับข้อความสั้น หรือ SMS ในโทรศัพท์มือถือ ที่มักส่งข้อมูลโปรโมชันสินค้าหรือนำเสนอเชิญชวนให้สมัครบริการต่างๆ เช่น ข่าว ดูดวง เล่นเกมส์ หรือ การพนันออนไลน์ เช่นเดียวกับคุณสกลที่วันหนึ่งก็ได้รับข้อความ SMS ที่มีลิงก์เชิญชวนเกี่ยวกับบริการเพลงคาราโอเกะเข้ามายังโทรศัพท์มือถือ         ด้วยความที่คุณสกลเป็นคนที่ชอบร้องเพลงคาราโอเกะมาก จึงได้กดลิงก์เข้าไปเพื่อที่จะดูว่าบริการดังกล่าวมีรายละเอียดอย่างไร แต่เพียงกดลิงก์เข้าไป ก็กลายเป็นสมัครบริการโดยอัตโนมัติไปเสียแล้ว หลังจากวันนั้น คุณสกลก็ถูกหักค่าบริการวันละ 10 บาทมาเรื่อย ๆ แม้จะพยายามลองกด *137 เพื่อยุติบริการ แต่ก็ไม่สามารถยกเลิกได้ แนวทางแก้ไขปัญหา         หากผู้บริโภคพบเจอปัญหาเช่นเดียวกับคุณสกล ก็ให้กด *137 เพื่อยกเลิก SMS กวนใจที่เผลอกดสมัครไปโดยไม่ได้ตั้งใจ แต่หากยังไม่สามารถยกเลิกได้ ให้รีบโทรไปที่คอลเซ็นเตอร์เครือข่ายมือถือที่ใช้บริการอยู่ ขอให้พนักงานยกเลิกบริการดังกล่าว และขอเงินที่ถูกหักไปคืนมา เนื่องจากผู้บริโภคไม่ได้มีเจตนาที่จะสมัครใช้บริการโดยสมัครใจแต่แรก แม้ว่าอาจโดนหักค่าบริการไม่กี่สิบบาท แต่หากรวมมูลค่าความเสียหายจากผู้บริโภคหลายรายที่ไม่ได้ตั้งใจสมัครใช้บริการแล้ว อาจเป็นเงินจำนวนไม่น้อย ดังนั้นการใช้สิทธิขอคืนเงินจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้บริโภคควรช่วยกันรักษาสิทธิ         ข้อเตือนใจ เมื่อได้รับข้อความ SMS ที่เป็นลิงก์ใด ๆ ผู้บริโภคอาจหลีกเลี่ยงที่จะไม่กด หากไม่มั่นใจแหล่งที่มาของลิงก์ เพราะนอกจากอาจเป็นการสมัครใช้บริการโดยไม่ตั้งใจแล้ว ยังอาจตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพที่หลอกเอาข้อมูลของเราไปทำธุรกรรมทางการเงินออนไลน์อีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 232 ซื้อมือถือใหม่ แต่ใช้งานไม่ได้

        คุณศิริพร อยากเปลี่ยนมือถือใหม่ จึงตัดสินใจซื้อสมาร์ทโฟน จำนวน 2 เครื่อง ในราคาเครื่องละ 5,000 บาท จากร้านขายโทรศัพท์มือถือในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในจังหวัดภูเก็ต เมื่อคุณศิริพรนำมือถือไปใช้งานก็พบปัญหาการใช้งานทั้ง 2 เครื่อง โดยสมาร์ทโฟนมีการอาการติดๆ ดับๆ ขัดข้องอยู่เป็นประจำ         เมื่อโทรศัพท์เกิดอาการผิดปกติอยู่บ่อยครั้ง คุณศิริพรจึงตัดสินใจนำโทรศัพท์กลับไปที่ร้านค้าเพื่อส่งตรวจสอบที่ศูนย์ซ่อม หลังจากที่ได้รับเครื่องกลับจากศูนย์บริการ คุณศิริพรก็ยังคงพบอาการผิดปกติเช่นเดิมอีก อยู่ประมาณ 4-5 ครั้ง ซึ่งครั้งล่าสุด โทรศัพท์ที่ถูกชาร์จแบตเตอรี่ทิ้งไว้ ก็เกิดเสียงดังจนน่ากลัว คุณศิริพรจึงตระหนักถึงความไม่ปลอดภัย คิดว่าหากยังคงฝืนใช้งานต่อไปอาจเกิดอันตรายได้         เธอจึงนำโทรศัพท์กลับไปที่ร้านอีกครั้ง เพื่อขอให้ทางร้านช่วยเปลี่ยนโทรศัพท์เป็นรุ่นอื่นแทน เนื่องจากไม่มั่นใจในความปลอดภัยของโทรศัพท์รุ่นที่ใช้อยู่แล้ว โดยยินดีจ่ายเงินเพิ่มหากมีราคาส่วนต่าง แต่พนักงานร้านได้แจ้งกับคุณศิริพรว่า ไม่สามารถเปลี่ยนเป็นรุ่นใหม่ให้ได้ ตามนโยบายเปลี่ยนได้ก็เพียงเครื่องใหม่แต่เป็นรุ่นเดิม คุณศิริพรเห็นว่าการกระทำดังกล่าวนั้นไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค จึงได้ติดต่อมาขอคำแนะนำว่าควรทำอย่างไรดีแนวทางการแก้ไขปัญหา         ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 472 ในกรณีที่ทรัพย์สินซึ่งขายนั้นชำรุดบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใดอันเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติก็ดี ประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญาก็ดี ท่านว่าผู้ขายต้องรับผิด          เว้นแต่ผู้ซื้อรู้อยู่แล้วตั้งแต่ต้นว่าสินค้านั้นมีความชำรุดบกพร่อง แต่ยังคงยินดีที่จะซื้อ หรือสินค้านั้นเป็นสินค้าที่ขายทอดตลาด ผู้ขายจึงจะไม่ต้องรับผิดชอบ        กรณีคุณศิริพรซื้อโทรศัพท์ใหม่แล้วไม่สามารถใช้งานได้ทั้งสองเครื่อง โดยอาการผิดปกติดังกล่าวเป็นความชำรุดบกพร่องของสินค้าตั้งแต่ต้น ซึ่งคุณศิริพรได้ทราบถึงความชำรุดก็เมื่อนำมาใช้งาน และความชำรุดนั้นไม่ได้เกิดจากการใช้งานของคุณศิริพรเอง ถือว่าผู้ขายได้ทำการส่งมอบทรัพย์ที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ถูกต้องตรงตามสัญญา ผู้บริโภคมีสิทธิขอบอกเลิกสัญญาได้         คุณศิริพรจึงสามารถบอกเลิกสัญญา โดยนำโทรศัพท์ที่ชำรุดกลับไปขอคืนเงินได้ทั้ง 2 เครื่อง หรือ หากต้องการเปลี่ยนเป็นเครื่องรุ่นใหม่ ก็สามารถเจรจาทำความตกลงกับผู้ขายใหม่ได้ โดยไม่จำเป็นต้องนำโทรศัพท์เข้าศูนย์ซ่อม โดยเฉพาะเมื่อชาร์จแล้วเกิดเสียงดัง ซึ่งอาจนำมาซึ่งความไม่ปลอดภัย หากร้านค้ายังคงไม่ให้เปลี่ยน ก็สามารถฟ้องคดีได้โดยข้อรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่อง สามารถฟ้องคดีได้ภายใน 1 ปี นับตั้งแต่วันที่คุณศิริพรได้พบเห็นถึงความชำรุดบกพร่องนั้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 228 ผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายกับโฆษณาแฝงอีกปัญหาที่ยากจัดการ

        ย้อนกลับเมื่อช่วงเวลาเดียวกันนี้ของปี 2562 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้เปิดเผยข้อมูลการรับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคทั่วประเทศกว่า 4,182 ราย ซึ่งครอบคลุมด้านการเงินการธนาคาร ด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ด้านบริการสาธารณะ ด้านสินค้าและบริการทั่วไป ด้านสื่อและโทรคมนาคม ด้านที่อยู่อาศัย และด้านบริการสุขภาพและสาธารณสุข พบว่า         ปัญหาด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ รั้งแชมป์มีคนร้องเรียนมากที่สุด จำนวน 1,534 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 36.68 รองลงมา คือ ด้านบริการสาธารณะ ร้องเรียน 820 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 19.61 หมวดบริการสุขภาพและสาธารณสุข ร้องเรียน 703 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 16.81          โดยสภาพปัญหายังเป็นเรื่องเดิมๆ คือ “โฆษณา” พบว่ามีทั้งการโฆษณาอันเป็นเท็จหลอกลวง โอ้อวดสรรพคุณเกินจริง ทำให้เข้าใจผิดและหลงเชื่อ ผลิตภัณฑ์ไม่มีฉลากหรือไม่มีฉลากภาษาไทย ไม่มีเครื่องหมาย อย. โดยเฉพาะในผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อสุขภาพ ที่อวดอ้างสรรพคุณสามารถรักษาโรคได้ ซึ่งช่องทางที่พบการโฆษณา คือทางโทรทัศน์และวิทยุชุมชน ซึ่งปัญหาเหล่านี้เมื่อได้ส่งถึงผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบและแก้ไขปัญหาก็ใช้ระยะเวลายาวนานมาก ในขณะที่ผลิตภัณฑ์เจ้าปัญหายังมีขายเกลื่อนท้องตลาดต่อไป            ข้างต้นนั้นคือข้อมูลเมื่อปีที่แล้วและเป็นข้อมูลการเอาเปรียบผู้บริโภคผ่านการโฆษณาแบบชัดเจน ยังไม่นับรวมในเรื่องของการโฆษณาแฝงในสื่อต่างๆ ซึ่งเรายังไม่ต้องไปพูดถึงว่าเป็นของจริงหรือหลอก แต่แค่ปล่อยให้มีการโฆษณาแฝงในรายการทั่วไปก็ทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่าถูกเอารัดเอาเปรียบ เพราะเราตั้งใจเข้ามาดูเนื้อหาในรายการ แต่กลับถูกยัดเยียดการโฆษณาขายสินค้าแบบเนียนบ้าง ไม่เนียนบ้าง ทำให้เสียอรรถรสในการรับชมรายการไปแล้ว         เกี่ยวกับเรื่องนี้ “ดร.ตรี บุญเจือ” ผอ.การส่วนไกล่เกลี่ยข้อพิพาทและเลขานุการคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ระบุว่า ในแง่ของการกำกับเนื้อหาการโฆษณา ตามมาตรา 37 ของ พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 กำหนดว่าการโฆษณาจะต้องไม่โป๊เปลือย ลามกอนาจาร เสื่อมศีลธรรมของประชาชนอย่างร้ายแรง ไม่ทำให้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง         นอกจากนี้ยังมีการกำกับระยะเวลาในการโฆษณาทางสถานีโทรทัศน์ วิทยุ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ประชาชนถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกอัดโฆษณาจนเกิดเดือดร้อนรำคาญ แต่ก็ต้องยอมรับว่าอาจจะยังไม่ครอบคลุมไปถึงขั้นการดูแลโฆษณาแฝง         เหตุผลคือ “รูปแบบของการโฆษณา” ซึ่งขณะนี้ กสทช. ยังไม่ได้มีประกาศนิยามเรื่องของการโฆษณาแฝง แต่ที่ผ่านมามีความพยายามในการพูดถึงการออกประกาศในภาพรวม แต่อาจจะส่งผลกระทบต่อหลายๆ ส่วนเลยยังอยู่ในกระบวนการที่พิจารณาและศึกษาเพิ่มเติม         แต่ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีประกาศชัดเจนเกี่ยวกับข้อห้ามการโฆษณาแฝงที่ชัดเจนออกมา แต่ถามว่ายังคงกำกับดูแลอยู่ไหม ก็ยังทำอยู่ตามที่มีอำนาจ เช่น การกำกับเนื้อหาการออกอากาศจะต้องไม่เอาเปรียบผู้บริโภค ไม่หลอกลวงผู้บริโภค มีหลายครั้งที่เขาส่งผังรายการมาเป็นว่า รายการแต่มีการพูดถึงผลิตภัณฑ์สุขภาพ แล้วบอกสรรพคุณที่เกินจริงไปทำให้เข้าใจผิดในสาระสำคัญ ก็สามารถกำกับดูแลและหาตรงนี้ได้ ถ้าเชิงสังคมอาจเรียกว่าสามารถทำได้ แต่ถ้าในเชิงกฎหมายเรียกว่าก็ยังไม่ได้มีประกาศห้ามไว้         ตอนนี้พยายามตรวจสอบและนำกฎหมายที่มีอยู่มาตรวจจับกันอยู่โดยทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เฝ้าระวังทั้งเนื้อ หารูปแบบ การพูดถึงสินค้า ว่ามีการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคหรือไม่ เกินจริงหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมาก็พบว่าโฆษณาแฝงบางตัวมีการพูดถึงสรรพคุณ คุณประโยชน์ที่เกินจริงไป โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์สุขภาพ จึงมีคำสั่งทางปกครองไปอยู่บ้าง บางรายถูกเรียกให้มาชี้แจง แจ้งเตือน เป็นต้น          ดร.ตรี บอกว่า อย่างไรก็ตาม เรื่องการกำกับดูแลการโฆษณาแฝงที่เคยคุยกันก่อนหน้านี้ ที่มองกันไว้ในเบื้องต้นมี 4 ลักษณะ คือ            1. Product placement หรือการนำผลิตภัณฑ์ไปวางไว้ในรายการเฉยๆ            2. Product movement คือ มีการหยิบ จับ แสดงสินค้า            3. Product experience คือมีการพูดถึงสิ้นค้านั้นๆ ในรายการ และ            4. การเขียนสคริป สร้างเรื่องราวของสินค้าตัวนั้นๆ ในรายการ         ก่อนหน้านี้ได้มีการคุยกับเครือข่ายผู้บริโภคภาคอีสาน พบว่าในรายการวิทยุ จะมีการเผยแพร่นิทานชีวิตตลกขำๆ นิทานสั้นๆ เขียนบทสนทนาของตัวละคร 2 ตัวที่พูดถึงผลิตภัณฑ์เข้าไปว่าจะไปซื้อผลิตภัณฑ์ได้ที่ไหนอย่างไร สรรพคุณเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ จริงๆ แล้ว หลายชิ้นก็แยกไม่ชัด ซึ่งก็ได้ขอให้เครือข่ายผู้บริโภคช่วยดูและศึกษาว่ามีการโฆษณาสรรพคุณเกินจริงหรือไม่ มีการทำให้เดือดร้อนรำคาญหรือไม่ แต่ในกลุ่มเครือข่ายผู้บริโภคก็ค่อนข้างเห็นว่าเป็นการสร้างสรรค์อยู่เช่นเดียวกัน จึงมองว่าเป็นเรื่องที่ต้องทำให้กระบวนการผู้บริโภคให้มีความรู้เท่าทันด้วยว่านี่เป็นโฆษณาแฝงในรายการ          สำหรับวิธีการป้องปรามป้องกันการโฆษณาแฝงใน 4 รูปแบบนั้น ยังไม่ได้มีการคุยกัน เพราะอย่างที่บอกว่า “เป็นเพียงประเด็นเรื่องของการทำให้ผู้บริโภคเดือดร้อนรำคาญใจ” เช่น มีการซูมให้เห็นเด่นชัดและค้างเป็นเวลานาน หรือว่าพูด ตอกย้ำ ซ้ำๆ บ่อยๆ ทำให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญใจหรือไม่         อย่างไรก็ตามถ้าวันหนึ่งวันใดถึงเวลาที่ต้องลุกขึ้นมาควบคุมกันจริงๆ จากการศึกษามาในหลายๆ ประเทศ ก็มีโมเดลที่ต่างกัน เช่น อังกฤษห้ามการโฆษณาแฝงในหลายๆ รูปแบบ ห้าม Tie-in หลายประเทศก็ให้มีการขับเคลื่อนกันเอง สิงคโปร์ก็ไม่ได้มีกฎหมายที่พูดชัดเจน ส่วนมาเลเซียมีการควบคุมที่ไม่เต็มร้อย เป็นต้น         เพราะฉะนั้นตนมองว่า “ทุกอย่างไม่ได้แก้ปัญหาด้วยการออกกฎหมายใหม่ แต่อาจจะมีการกำกับดูแลในมิติกฎหมายเดิมที่มีอยู่แล้ว นำไปปรับใช้ ซึ่งตอนนี้ก็ใช้อยู่ แต่ว่าในเรื่องของเวลายังไม่ได้พิจารณาว่าจะต้องกำกับดูแลเพิ่มเติมหรือไม่ว่าไม่ให้เกินกี่นาที กี่วินาที”        อย่างไรก็ตาม ตรงนี้ประชาชนจะมีส่วนร่วมได้มาก หากรู้สึกว่าถูกคุกคามเอารัดเอาเปรียบสามารถร้องเรียน หรือมีข้อเสนอแนะเข้ามาที่กสทช.ได้ แล้วจะถูกพิจารณาเป็นรายกรณีไป ซึ่งจะมีขั้นตอน ส่วนระยะขึ้นอยู่กับแต่ละกรณี เช่น หลังรับเรื่องร้องเรียน กสทช.จะต้องแจ้งว่าได้รับเรื่องร้องเรียนแล้ว และนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาที่มีคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ก่อนจะนำผลสรุปเข้าบอร์ดกสทช .         แต่ทั้งนี้ ทั้งนั้น ก็ยังตอบไม่ได้ว่าเมื่อเข้าไปแล้ว กสทช. จะพิจารณาแบบไหน หรือว่าคณะอนุกรรมการจะเสนอแบบไหน บางเรื่องที่มีกฎหมายอยู่แล้วอาจพิจารณาความผิดได้เลย แต่ถ้ายังไม่มีกฎหมายที่ออกมาหรือยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องของกระบวนการในการกำกับดูแล กสทช. อาจมาออกประกาศย่อยหรือออกคำนิยามเพิ่มหรือออกแนวทางมติเพิ่มเพื่อทำให้เกิดการกำกับดูแลเรื่องนี้ได้         นอกจากนี้ ตนยังมีข้อเสนอกลับไปยังประชาชน ผู้บริโภคด้วย ส่วนแรกคือ กระบวนการผู้บริโภคจะต้องมีความเข้มแข็ง จะรวมตัวกันแล้วจัดทำเป็นข้อเสนอขึ้นมาก็ได้ ส่วนที่ 2 คือเรื่องนี้ ตนยังไม่รู้ว่าจะออกมาแบบไหน แต่ก็เป็นความรับผิดชอบของทุกคน อย่างนั้นเป็นกระบวนที่เราอาจจะต้องร่วมกันขับเคลื่อนกันไปก่อน ต้องมองที่กระบวนการ วิธีการกำกับดูแลกันเอง          “ดร.ตรี ย้ำในตอนท้ายว่า กสทช. พยายามกำกับดูแลในเชิงกฎหมายและจริยธรรม หากมันไม่เข้าข่ายกฎหมายอาจจะต้องมองไปที่จริยธรรม ซึ่งเป็นมิติที่เชื่อมโยงกับผู้บริโภค ผู้บริโภคต้องรู้เท่าทันเข้าไปมีส่วนร่วมกับกระบวนการสื่อสาร เช่น สะท้อนความคิดเห็นโดยตรงไปยังสื่อนั้นๆ รายการนั้นๆ ขณะที่คนทำสื่อเองก็ต้องตระหนักเรื่องนี้เอาไว้ด้วย นี่เป็นกลไก 3 ก้อน คือ “ผู้บริโภค-คนทำสื่อ หน่วยงานที่กำกับ” ควรขับเคลื่อนไปด้วยกันและมองเห็นกันและกันสถานการณ์โฆษณาแฝงกับบทบาทภาคประชาชน         นายโสภณ หนูรัตน์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนานโยบาย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า องค์กรผู้บริโภคได้มีการพัฒนาความเข้มแข็งในการทำงานด้านการจัดการโฆษณาผิดกฎหมาย โดยมีการสร้างระบบการทำงานเฝ้าระวัง โดยมุ่งเน้นเฝ้าระวังโฆษณาและผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพ เนื่องจากพบว่ามีผู้บริโภคเสียชีวิตจากการบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย มีการใส่สารอันตราย อีกทั้งพบว่ามีการโฆษณาหลอกลวง โอ้อวดเกินจริง โดยฐานการโฆษณามีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้นจากในทีวีไปสู่แพลตฟอร์มออนไลน์         รูปแบบการทำงานเฝ้าระวังมีการพัฒนาให้เป็นระบบ ประกอบด้วยกลไกเฝ้าระวังที่มีทั้งการเฝ้าในสื่อโทรทัศน์ วิทยุและบนออนไลน์ เมื่อได้ข้อมูลจากการเฝ้าระวังจะมีการบันทึกผลในฐานข้อมูลร้องเรียน เพื่อนำไปวิเคราะห์สถานการณ์ปัญหาและผลกระทบต่อผู้บริโภคที่เกิดขึ้น และนำผลเฝ้าระวังส่งให้แก่หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการ  โดยใช้ทั้งช่องทางปกติ คือทำหนังสือส่งไปยังหน่วยงาน และตั้งกลุ่มไลน์ร่วมกับผู้ประกอบการที่ให้ความร่วมมือเพื่อให้นำออกจากระบบทันที โดยมีข้อตกลงหากไม่ดำเนินการจะมีการส่งให้กับหน่วยงานเพื่อใช้มาตรการทางกฎหมายต่อไป โดยปัจจุบันในการทำงานจัดการโฆษณาผิดกฎหมาย มีความร่วมมือกันขององค์กรผู้บริโภค 34 จังหวัดใน 6 ภูมิภาค ดังนี้          นอกจากนี้  เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคแต่ละองค์กร ก็มีการจัดทำเพจองค์กรตนเอง เพื่อสื่อสารผลการเฝ้าระวัง และการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคต่างๆ  แจ้งเตือนภัยผู้บริโภค ทำให้เป็นที่รู้จักของประชาชนมากขึ้น         ในส่วนของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมีการจัดทำเพจเฟสบุ๊ค “ซอกแซกสื่อ” และ “มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค”  และได้มีการนำเสนอข้อมูลต่อสาธารณะ ที่สำคัญ ดังนี้            1.สถานการณ์ปัญหาผู้บริโภคเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ  หยิบยกกรณีร้องเรียนต่างๆ ในสื่อออนไลน์มาบอกเล่ากับผู้บริโภค เพื่อเตือนภัยและสร้างการตระหนักรู้แก่ผู้บริโภคให้มีมากขึ้น เช่น ข่าวนักเรียน ม.4 ที่ลำปาง สั่งซื้ออาหารเสริมทางเน็ต แบบผงมาชงดื่มลดความอ้วน ต่อมาไตวาย ติดเชื้อเข้ากระแสเลือด ตัวบวมเสียชีวิต  ข่าว อย.เปิดฐานข้อมูลโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ ให้ประชาชนตรวจสอบก่อนซื้อ เป็นต้น            2.ติดตามการบังคับใช้กฎหมายของหน่วยงานรัฐ เช่น เผยแพร่ข้อมูล ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ที่อย. ได้ยกเลิกเลขสารบบ หรือมีสารประกอบอันตรายเพื่อเตือนภัยผู้บริโภค             3.แจ้งผลการทำงานเฝ้าระวังของเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค เช่น การจัดเวทีความร่วมมือเพื่อยกระดับการจัดการปัญหาโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย  การแถลงข่าวผลเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพของเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค        สำหรับภาคประชาชนหรือเครือข่ายผู้บริโภคนั้น จำเป็นที่จะต้องพัฒนาทักษะในการตรวจสอบรูปแบบโฆษณาแฝง เพราะแม้เครือข่ายผู้บริโภคจะมีความรู้เกี่ยวกับโฆษณาที่ผิดกฎหมาย หลอกลวง แต่ในเรื่องการโฆษณาแฝงยังถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับคนทำงานผู้บริโภค เนื่องจากการโฆษณาแฝง มีความหลากหลาย โดยเฉพาะปัจจุบันไม่ได้มีสปอตโทรทัศน์เท่านั้น แต่ยังมีรูปแบบอื่น ยกตัวอย่าง การนำสินค้าวางในรายการต่าง ๆ หรือการให้ความรู้สอดแทรกว่าควรใช้สินค้านั้น ๆ หรือไม่  อีกทั้งการโฆษณาแฝง ยังเกี่ยวพันกับเรื่องสถาบันวิชาชีพต่าง ๆ เช่น แพทยสภาเพื่อกำกับกลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพด้านแพทย์ ทั้งแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทยที่กระทำการแฝงโฆษณาและใช้วิชาชีพของตนเองในการเสริมสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ให้ตรวจสอบอย่างเข้มงวดและคอยติดตามเฝ้าระวังไม่ให้เกิดลักษณะเช่นนี้อีก  รวมถึงข้อกฎหมายต่างๆ ที่ยังไม่ชัดเจน ซึ่งเป็นหน้าที่ของ กสทช.ที่ต้องเร่งจัดทำ เช่น ให้คำนิยามหรือขอบเขตของโฆษณาแฝงที่ชัดเจน ทันยุคสมัย และมีความเป็นปัจจุบัน เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานหรือประชาชนทั่วไปเกิดความเข้าใจที่ตรงกันเกี่ยวกับโฆษณาแฝง รวมทั้งจัดทำคลังข้อมูล (data bank) ที่ผู้บริโภคสามารถสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับโฆษณาแฝงได้         “ผมมองว่าการทำงานของ กสทช. นั้น ไม่เพียงพอ เพราะในหลายเรื่องก็ยังไม่มีการดำเนินการ เห็นได้จากการที่คณะอนุกรรมการด้านสื่อและโทรคมนาคม ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ภายใต้คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) ได้มีข้อเสนอต่อการกำกับดูแลเรื่องโฆษณาแฝงในทีวีดิจิทัลหลายประการ แต่ก็ยังไม่มีการดำเนินการ เช่น กสทช.ควรกำหนดกฎเกณฑ์ในการกำกับดูแลโฆษณาแฝงหรือหลักจรรยาบรรณ (code of conduct) ที่ชัดเจน รวมทั้งสานต่อ กฎ กติกา ที่เคยถูกร่างไว้ให้เป็นรูปธรรม”         เนื่องจากการทำโฆษณาแฝงไม่เพียงแต่จะเป็นการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค หากแต่ยังแสดงถึงความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างช่องโทรทัศน์ที่ปฏิบัติตามกฎกับช่องโทรทัศน์ที่ละเมิดกฎเกณฑ์ กสทช.ต้องประสานความร่วมมือในการเฝ้าระวังโฆษณาแฝงในโทรทัศน์ระบบดิจิทัลอย่างมีลำดับขั้นตอน เช่น องค์กรผู้บริโภคหรือสมาคมช่วยกันสอดส่องดูแลแล้วส่งข้อมูลให้ภาครัฐดำเนินการต่อไป เพื่อให้เกิดการกำกับดูแลร่วมกัน ทั้งนี้อาจมีการศึกษารูปแบบการทำงานเพิ่มเติมจากหน่วยงานในต่างประเทศ เช่น อังกฤษ สหรัฐอเมริกา พร้อมประสานความร่วมมือกับสถาบัน เช่น แพทยสภาเพื่อกำกับกลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพด้านแพทย์ ทั้งแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทยที่กระทำการแฝงโฆษณาและใช้วิชาชีพของตนเองในการเสริมสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ให้ตรวจสอบอย่างเข้มงวดและคอยติดตามเฝ้าระวังไม่ให้เกิดลักษณะเช่นนี้อีก รวมทั้งจัดทำคลังข้อมูล (data bank) ที่ผู้บริโภคสามารถสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับโฆษณาแฝงได้         ซึ่งหาก กสทช.ได้พิจารณาและดำเนินการตามข้อเสนอดังกล่าว และบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ก็จะทำให้ปัญหาการโฆษณาเกินจริง หรือเอาเปรียบผู้บริโภคลดลงได้มาก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 225 ผลทดสอบกล้องดิจิทัล

        ในรอบหนึ่งปีที่ผ่านมาองค์กรทดสอบระหว่างประเทศได้ทดสอบกล้องถ่ายรูปรวมถึงโทรศัพท์มือถือที่มีศักยภาพในการถ่ายรูปได้สวยไว้หลายสิบรุ่น (ทั้งรุ่นสำหรับมือสมัครเล่นและมืออาชีพ) ด้วยเนื้อที่อันจำกัด ฉบับนี้เราขอนำเสนอเพียงผลการทดสอบกล้องรุ่นเบสิก 15 รุ่น ที่สนนราคา*ระหว่าง 4,500 ถึง 56,600 บาท กันก่อน ใครที่กำลังคิดจะลงทุนกับกล้องโปรฯ อดใจไว้นิด ฉบับหน้าเรามาแน่          ในการทดสอบของ International Consumer Research and Testing คราวนี้ จากคะแนนเต็ม 100 เขาแบ่งออกเป็น 4 ด้านดังนี้          คุณภาพของภาพนิ่ง                      50 คะแนน        ความสะดวกในการใช้งาน              30 คะแนน        คุณภาพของภาพเคลื่อนไหว         10  คะแนน        จอภาพ/ช่องมองภาพ                   10  คะแนน          ในภาพรวมยังไม่มีกล้องเบสิกรุ่นไหนได้คะแนนรวมเกิน 70 (คะแนนเต็ม 100) ตัวที่ได้คะแนนสูงสุดในกลุ่มเท่ากันสองรุ่น ได้แก่ iPhone Xs และ Samsung Galaxy S9+ ก็ได้ไปเพียง 67 คะแนน ในขณะที่ Nikon COOLPIX W150 รั้งท้ายด้วยคะแนนเพียง 23 เท่านั้น         ราคาที่นำเสนอเป็นราคาที่สืบค้นทางอินเทอร์เน็ตในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2019 โปรดตรวจสอบราคาอีกครั้งก่อนตัดสินใจ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 220 จดหมายถึงบอกอ

จดหมายถึงบก.        ผมมีความสงสัยเรื่องวันหมดอายุของหมายเลขโทรศัพท์แบบเติมเงินว่าตอนนี้มีเกณฑ์เป็นอย่างไร แล้วถ้าไม่มีกำหนดวันเลยได้ไหมครับ  บ.จะต้องแบกรับต้นทุนอะไรบ้างช่วยอธิบายหน่อยครับ                                                                                                                                                                          สมพรตอบ        ขอบคุณสำหรับคำถามของท่านสมาชิก เรื่องการเติมเงินโทรศัพท์ ทุกครั้งที่เติมเงิน ไม่ว่ามูลค่าเท่าใด จะได้วันใช้งาน 30 วัน กฎหมายมีหลักว่า ห้ามกำหนดวันหมดอายุ เว้นแต่ ค่ายมือถือจะได้รับอนุญาตจาก กสทช. ซึ่งเมื่อประมาณปี 2557  ทั้ง 3 ค่ายมือถือได้ยื่นขอกำหนดวันหมดอายุ และ กสทช. ได้มีมติอนุญาตให้กำหนดวันได้ที่ 30 วัน ทุกมูลค่าที่เติมเงิน  ในส่วนที่ว่า ถ้าไม่มีกำหนดวันเลยได้ไหมครับ  ต้องตอบว่า บางคนเปิดเบอร์ไว้ มีเงินในระบบ แต่ทิ้งไว้ ไม่ใช้งาน บริษัทมีค่ารักษาเลขหมาย เลขหมายที่เราซื้อมา ควรได้นำไปจัดสรรให้คนได้ใช้อย่างมีประสิทธิภาพ คนที่มีหลายเบอร์ แต่ไม่ได้ใช้ เปิดเบอร์เพราะอยากได้โปรโมชัน แล้วเลขหมายนั้นๆ ก็ถูกทิ้ง ไม่ได้ใช้ เบอร์แบบนี้มีไม่น้อยเลย บางคนอาจเติมไว้รับสายอย่างเดียวก็มี การกำหนดวันจึงช่วยให้เบอร์ยังเกิดการใช้งาน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 216 โดนหลอกไปซื้อโทรศัพท์ ด้วยเงิน 300 บาทเป็นค่าจ้าง

        เป็นเรื่องราวที่จะฝากไว้เพื่อเตือนผู้บริโภค บางทีการเห็นแก่เงินเล็กๆ น้อยๆ อาจทำให้ต้องเสียเงินจำนวนมากตามมาในภายหลังก็เป็นได้ อย่างเช่นการถูกจ้างให้ซื้อโทรศัพท์มือถือ        ปัจจุบันมือถือกับค่ายผู้ให้บริการสัญญาณโทรศัพท์มีการทำโปรโมชั่นร่วมกัน ด้วยการจำหน่ายมือถือในราคาพิเศษ แต่แลกด้วยการทำสัญญาเปิดใช้บริการอย่างน้อย 1 ปี (ซิมรายเดือน) จุดนี้จะมีช่องให้มีคนหาผลประโยชน์เข้าตนเองได้ คือ การจ้างบุคคลทั่วไป ใครก็ได้ไม่จำเป็นต้องรู้จักกัน เพียงแค่อายุ 18 ปีขึ้นไปและมีบัตรประชาชน ซื้อมือถือและเปิดใช้บริการแทนตน โดยแลกกับการจ่ายเป็นค่าจ้างให้ 300-500 บาท        มองเผินๆ ก็น่าจะดีเพราะไม่ได้ทำอะไรมาก แค่ซื้อเครื่องให้และรับเงินค่าจ้างสบายๆ แต่อาจลืมมองไปว่า “คนที่ลงลายมือชื่อทำสัญญาใช้บริการนั้นคือเจ้าของบัตรประชาชน” ดังนั้นในกรณีที่เกิดการค้างชำระค่าบริการ หรือโทรศัพท์ถูกนำไปใช้ก่ออาชญากรรม คนที่ต้องรับผิดชอบก็คือคนที่ทำสัญญา        คุณนวลเป็นคนหนึ่งที่ถูกหลอกให้ไปซื้อโทรศัพท์มือถือ ด้วยค่าจ้าง 2 เครื่องแรก 300 บาท และอีก 2 เครื่อง 400 บาท โดยเพื่อนเป็นคนแนะนำให้รู้จักกับผู้ว่าจ้าง “ฉันเห็นว่าอยู่บ้านเฉยๆ ได้เงินใช้แบบนี้ก็ดี เพราะคนจ้างก็บอกว่า เขาจะเป็นคนจ่ายเงินค่าเครื่องเองทั้งหมดและถ้ามีเอกสารมาเก็บเงินไม่ต้องสนใจโยนทิ้งไปได้เลย เดี๋ยวเขาจ่ายเอง แต่ที่มาจ้างซื้อนี่เพราะว่าเขาใช้สิทธิซื้อหมดไปแล้ว ซื้อไม่ได้อีก”        หลังจากไปซื้อโทรศัพท์กับผู้ว่าจ้างแล้ว ต่อมาคุณนวลถูกเรียกเก็บเงินจากบริษัททรูมูฟ ระบุว่าเป็นค่าโปรโมชั่นรายเดือน คุณนวลจึงรู้ตัวแล้วว่าถูกหลอก ซ้ำยังไม่รู้ว่าจะติดต่อกับผู้ว่าจ้างอย่างไรด้วย จึงขอคำปรึกษามาว่าควรทำอย่างไรดีแนวทางแก้ไขปัญหา        1.รีบไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจทันที เพื่อเป็นการยืนยันว่า ถูกหลอกให้ไปซื้อโทรศัพท์และเปิดซิมใช้บริการ        2.ใช้เอกสารจากข้อแรก ไปทำคำร้องขอยกเลิกสัญญากับทางผู้ให้บริการ ซึ่งกรณีคุณนวลเปิดใช้บริการซิมกับ ทรูมูฟ 1 และเอไอเอส 3         ทั้งสองข้อนี้คุณนวลได้รีบไปจัดการโดยด่วนแล้ว และทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ได้ดำเนินการเพิ่มเติม คือ แจ้งกรณีปัญหาที่เกิดขึ้นต่อผู้ให้บริการสัญญาณโทรศัพท์มือถือทุกค่าย และสำเนาเรื่องส่งให้ทาง กสทช.เพื่อแก้ไขปัญหาและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทั่วไปได้ระมัดระวัง        จากการทำหนังสือแจ้งกรณีปัญหาและติดตามเรื่องให้คุณนวล พบว่า ซิมที่คุณนวลลงทะเบียนไว้ มีการผิดนัดชำระและมียอดคงค้าง 3 รอบบิล รวมเป็นเงินถึง 3,038.06 บาท จึงยกเลิกการให้บริการไปแล้ว ขณะนี้บริษัทกำลังพิจารณาลดหย่อนให้คุณนวลเหลือ 1 รอบบิล เป็นเงิน 639 บาท ซึ่งคุณนวลยอมรับเงื่อนไขนี้ เพื่อจะได้ไม่เสียประวัติการค้างชำระ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 215 ทีวีใหม่มีแต่เสียงไม่มีภาพ

  กลางเดือนสิงหาคม คุณภูผาซื้อโทรทัศน์ ยี่ห้อชาร์ป ขนาด 40 นิ้ว จากห้างเทสโก้โลตัส สาขาโพนทอง จังหวัดร้อยเอ็ด เพื่อเป็นของขวัญวันแม่ หลังจากซื้อมาก็เปิดดูบ้างไม่ได้เปิดบ้าง จนประมาณกลางเดือนกันยายน เมื่อเปิดโทรทัศน์พบว่า โทรทัศน์มีแต่เสียงไม่มีภาพ โดยที่เพิ่งซื้อมาได้ 1 เดือน จึงแจ้งไปยังบริษัท ชาร์ป เจ้าหน้าที่แจ้งว่าจะให้ศูนย์บริการสาขาร้อยเอ็ด เข้าไปตรวจสอบและแก้ไขปัญหา          หลังจากแจ้งไปแล้ว คุณภูผาก็รอเมื่อไรช่างจะมา ทว่าเงียบหายไร้ช่างเข้ามาตรวจสอบ จนเดือนตุลาคมคุณภูผาติดต่อไปยังศูนย์บริการจังหวัดร้อยเอ็ด ได้ความว่า ทางศูนย์รออะไหล่จากบริษัทอยู่ คุณภูผารู้สึกว่า บริษัทไม่ได้สนใจในการแก้ไขปัญหาเลย ให้รอเป็นเวลานานและไม่แจ้งความคืบหน้า ต้องสอบถามบริษัทอยู่ฝ่ายเดียว จึงแจ้งมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิเพื่อขอให้ช่วยตามกับบริษัทให้แก้ปัญหา หรือบริษัทน่าจะเปลี่ยนเครื่องให้ใหม่ เพราะเพิ่งซื้อมาแค่ 1 เดือนก็เกิดปัญหาแล้ว แนวทางแก้ไขปัญหา          เมื่อรับเรื่องร้องเรียน ศูนย์พิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้มีหนังสือถึงบริษัทให้ดำเนินการเร่งแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ทราบต่อมาว่า ระหว่างออกหนังสือทางศูนย์บริการได้ส่งช่างเข้าซ่อมโทรทัศน์เรียบร้อยแล้ว ผู้ร้องสอบถามพนักงานเกี่ยวกับอาการของโทรทัศน์ พนักงานบริการระบุว่าเกิดจากหลอดไฟเสีย ทำให้ไม่มีภาพมีแต่เสียง จึงเปลี่ยนหลอดไฟให้ใหม่ ปัจจุบันสามารถใช้งานได้ปกติแล้ว ผู้ร้องพยายามขอให้พนักงานเปลี่ยนเครื่องใหม่ให้ แต่ได้รับการปฏิเสธ ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิเองก็แนะนำผู้ร้องด้วยเช่นกันว่า ควรให้บริษัทเปลี่ยนเครื่องให้ใหม่ เพราะว่าเป็นสิทธิของผู้ร้องที่จะได้สินค้าที่มีคุณภาพ แต่ผู้ร้องกังวลใจว่าเรื่องจะยุ่งยาก แค่ขอให้ซ่อมยังใช้เวลานาน ถ้าเปลี่ยนเครื่องต้องใช้เวลานานกว่าเดิม ซึ่งผู้ร้องไม่สะดวก เนื่องจากโทรทัศน์อยู่ต่างจังหวัดส่วนผู้ร้องอยู่กรุงเทพฯ          สำหรับประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายที่ให้ผู้บริโภคสามารถเปลี่ยนสินค้าชิ้นใหม่ได้ในกรณีที่สินค้าชำรุดบกพร่องจากการผลิตที่เรียกว่า กฎหมายความรับผิดต่อความชำรุดบกพร่องในสินค้า(Lemon Law) ปัจจุบันกฎหมายดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนของกฤษฎีกา ถ้ากฎหมายฉบับนี้ประกาศใช้จะช่วยเหลือผู้บริโภคให้ได้รับความเป็นธรรมอย่างมาก เช่นผู้บริโภครายนี้ก็จะได้รับการเปลี่ยนโทรทัศน์เครื่องใหม่ด้วย โดยบริษัทไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 212 มือถือกับเด็ก ภัยจากเทคโนโลยีที่ยากจะควบคุม

มาถึงศตวรรษนี้แล้วคงไม่มีใครปฏิเสธการเข้ามาของเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตให้ง่ายขึ้นด้วยปลายนิ้ว จนปัจจุบันกลายมาเป็นปัจจัยที่ 5 ที่มนุษย์ทุกคนแสวงหา อย่างไรก็ตาม ในแง่มุมตรงกันข้าม ความง่ายของมันทำให้เกิดปัญหาตามมาได้หากใช้โดยไม่รู้เท่าทัน จากผู้ที่กุมโลกทั้งใบเอาไว้ในมืออาจกลายเป็นเหยื่อโดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะ “เด็ก” ที่อยู่ในช่วงการสร้างพัฒนาการทางด้านร่างกาย สมอง สติปัญญา ทักษะชีวิตและการเข้าสังคม เมื่อราวๆ กลางปี 2561 นพ.สมัย ศิริทองถาวร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต ได้ออกมาให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันพบเด็กเล็กเป็น “โรคไฮเปอร์เทียม” มากขึ้น คือมีอาการคล้ายโรคไฮเปอร์แต่ยังไม่ถึงขั้นป่วย เกิดจากการเลี้ยงดูด้วยการ “ปล่อยให้เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 3 ขวบ เล่นแท็ปเล็ต สมาร์ทโฟนเพื่อทำให้เด็กนิ่ง ไม่ซน” ในวงการจิตแพทย์พบว่าความเร็วของภาพในเกม ซึ่งเปลี่ยนทุก 3 วินาทีจะส่งผลโดยตรงต่อสมองทำงานไม่ลงตัว คุมสมาธิไม่ได้ ทำให้ทักษะการอ่าน การเขียน การพูดของเด็กแย่ลง อารมณ์ร้อน รอคอยไม่เป็น มีปัญหาการอยู่ร่วมกับเด็กวัยเดียวกันหรือคนอื่น นอกจากนี้ เมื่อเด็กอยู่กับสมาร์ทโฟน ติดกับความสนุกสนานของภาพเคลื่อนไหว เด็กจะนั่งนิ่ง ไม่มีพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวร่างกายและมวลกล้ามเนื้อต่างๆ รวมถึงการสื่อสารกับคนรอบข้าง นับเป็นจุดเริ่มต้นของผลกระทบด้านลบ ปัญหาแสงสีฟ้ากับสายตาขี้เกียจ นพ.ศักดิ์ชัย วงศ์กิตติรักษ์ หัวหน้าภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่าการใช้สมาร์ทโฟนมีผลทำให้เด็กสายตาสั้นมากขึ้น และแสงสีฟ้าจากจอโทรศัพท์มือถือก็มีผลทำให้คนรุ่นหลังๆ เสี่ยงเป็นโรคต้อกระจกมากขึ้น และเกิดขึ้นเร็วกว่าปกติ ขอเริ่มที่ “ปัญหาแสงสีฟ้า” ก่อน แสงที่อยู่ตามธรรมชาติ เช่นแสงแดด ประกอบด้วยสีหลายสี เช่น คราม น้ำเงิน แสงสีฟ้า เขียว เหลือง แสด แดง เป็นต้น แต่ละสีมีคลื่นความถี่แตกต่างกัน  แสงสีฟ้าที่มีในจอโทรศัพท์มือถือนั้นเป็นแสงความยาวคลื่นที่มีความถี่สูงกว่าแสงสีชนิดอื่นๆ จึงมีพลังงานสูงกว่าแสงสีอื่น ทำให้เกิดอนุมูลอิสระที่บริเวณจอประสาทตามากขึ้น ซึ่งวงการแพทย์มีความเป็นห่วงว่าอาจจะทำให้เกิดจอประสาทตาเสื่อมในผู้สูงอายุ เร็วกว่าเวลาอันควร ซึ่งโรคนี้จะนำมาซึ่งการสูญเสียการมองเห็น “สมัยก่อนเราจะพบโรคนี้ในคนที่ทำงานกลางแจ้ง แต่ก็มักพบเมื่ออายุประมาณ 70-80 ปี ขึ้นไปแล้ว แต่การที่เด็กเล่นโทรศัพท์ โดยเฉพาะการเล่นตอนกลางคืนจากเดิมที่ตอนกลางวันก็โดนแสงธรรมชาติอยู่แล้ว ก็ยังมาโดนแสงโทรศัพท์อีก ยิ่งถ้าปิดไฟเล่นจะทำให้ม่านตาขยายเข้าไปมากกว่าเดิม ดังนั้นจักษุแพทย์จึงเป็นห่วงว่าคนในยุคหน้าจะเป็นจอประสาทตาเสื่อมเร็วกว่าที่ควรจะเป็น” มาที่ผลกระทบของการใช้โทรศัพท์มือถือที่ทำให้เด็กมีปัญหาสายตาสั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องเล่ากันยาวหน่อย คือ เนื่องจากเมื่อมีการใช้สายตามองในระยะใกล้ๆ ทำให้เด็กต้องใช้สายตามากขึ้น และการเพ่งสายตามากขึ้นจะทำให้เกิดปัญหา “สายตาสั้นเทียม” หมายความว่าเด็กมีอาการเพ่งค้างของสายตา มองไกลไม่ชัด เมื่อไปพบจักษุแพทย์แล้วหยอดยาลดการเพ่ง จากนั้นก็วัดค่าสายตาแล้วจะพบว่าไม่มีปัญหาจริงๆอย่างไรก็ตามมีการศึกษาวิจัยทั่วโลก โดยเฉพาะโซนเอเชีย พบว่าการใช้สายตามองใกล้มากๆ ของเด็ก โดยเฉพาะเด็กที่ไม่ค่อยได้ออกไปเล่นกลางแจ้ง หรือมองไกลๆ เลยจะทำให้มีปัญหาสายตาสั้นมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่มีกรรมพันธุ์พ่อแม่สายตาสั้น เด็กที่เล่นสมาร์ทโฟนมากขึ้นก็ยิ่งทำให้สายตาสั้นมากขึ้น เร็วขึ้นกว่าเวลาอันควร ปัจจุบันบางประเทศพบเด็กสายตาสั้นครึ่งหนึ่งของเด็กทั้งหมด ซึ่งประเทศไทยก็มีแนวโน้มเช่นเดียวกัน“ยิ่งอายุน้อยยิ่งมีผลกระทบเยอะ เพราะว่าความสามารถในการเพ่งจะมากที่สุดตั้งแต่ตอนเกิดและค่อยๆ ลดลง รวมทั้งความสามารถในการขยายตัวของลูกตาที่มีผลทำให้สายตาสั้นนั้นจะพบเร็วมากในช่วง 2 ขวบแรก เพราะเป็นช่วงที่ลูกตามีโอกาสที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงได้สูง ดังนั้นถ้าเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ เราไม่แนะนำให้เล่นเลย เพราะว่าลูกตายังมีความบอบบาง ยังไม่แข็งแรงพอ ถ้าทำให้เด็กมีการเพ่งตั้งแต่อายุยังน้อยก็มีโอกาสที่จะเกิดสายตาสั้นเร็วมากขึ้น” รศ.นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวต่อว่า ปัญหาคือเวลาที่เด็กมีปัญหาสายตา ไม่ว่าจะสั้นเทียมหรือสั้นจริง เด็กอาจจะไม่รู้ว่านั่นคือปัญหา จึงไม่ได้บอกผู้ปกครอง แน่นอนว่าเมื่อมีปัญหาการมองเห็นแล้วย่อมมีผลกระทบต่อการเรียนรู้ด้านอื่น ตามมา ที่กังวลคือมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดความพิการถาวรจากโรค “สายตาขี้เกียจ” คือเด็กอายุต่ำกว่า 10 ขวบ เป็นเวลาทองของการพัฒนาจอประสาทตา หากมองไม่ชัด ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุอะไรก็ตาม จะทำให้จอประสาทตาไม่พัฒนา เมื่อจอประสาทตาไม่พัฒนา มารู้ตัวอีกทีหลังจากที่เด็กมีอายุมากกว่า 10 ขวบแล้ว จะแก้ไขให้กลับมามองเห็นปกติไม่ได้ ต่อให้ตัดแว่นให้ใส่ก็ตาม ทั้งนี้ เมื่อตามองไม่ชัด สมองก็ไม่พัฒนา สาเหตุที่พบบ่อยที่สุดคือตาเหล่ คือข้างหนึ่งมองเห็นปกติ ข้างหนึ่งไม่ปกติ หากไม่ได้รับการแก้ไข ข้างนั้นจะพิการไป แต่ปัจจุบันสาเหตุอันดับหนึ่งคือสายตาผิดปกติ ปัจจุบันพ่อแม่ที่พาลูกเข้ามาตรวจกับจักษุแพทย์พบว่า กว่าครึ่งหนึ่งมีปัญหาสายตาสั้น และเกือบทุกรายมีปัญหาติดโทรศัพท์มือถือ แนวทางการป้องกันมีข้อแนะนำว่าไม่ควรให้เกิดการเพ่งอย่างต่อเนื่อง เรามีสูตร 20 : 20 : 20 คือ เมื่อเด็กใช้สายตามองใกล้ทุก 20 นาที ต้องหยุดพักมองไกลๆ อย่างน้อย 20 ฟุต อย่างน้อย 20 วินาที ถึงจะกลับมาใช้มือถือต่อได้  ส่วนระยะห่างจากมือถือกับดวงตาควรห่างกันประมาณ 33-40 เซนติเมตร ไม่ควรปิดไฟเล่น อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างแล้วแต่บริบท แต่ที่ต้องย้ำคือ เด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ ไม่ควรใช้สมาร์ทโฟน  ส่วนวัยที่โตมาหน่อยเข้าใจว่า ทุกวันนี้เราไม่สามารถกันเด็กออกจากมือถือหรือเทคโนโลยีได้ แต่ต้องใช้อย่างเหมาะสม ดังนั้นต้องมีกติกาการใช้ ปัจจุบันมีแอปพลิเคชั่นที่ตั้งเวลาการใช้งานได้ หรืออย่างไต้หวัน ที่มีกฎหมายให้เด็กมีกิจกรรมกลางแจ้งอย่างน้อยวันละ 90 นาที มือถือพาเด็กเข้าสู่โลกของผู้ใหญ่ได้อย่างง่ายดายและน่าเป็นห่วงรศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผอ.สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล บอกว่า จากประสบการณ์ที่ผ่านมา พบเด็กอายุประมาณ 9 เดือน ถูกเลี้ยงดูด้วยสมาร์ทโฟน พ่อแม่จะเปิดการ์ตูนในยูทูปให้ดู ตั้งค่าเอาไว้เลย 4-5 เรื่อง ซึ่งก็พบว่าเด็กอายุแค่นั้นสามารถใช้เองได้ด้วย เด็กอยากดูเรื่องไหนก็เอามือจิ้มๆ เข้าไป รู้จักการไถมือ เราพบว่าตัวเด็กเองนั้นสนใจมาก มองตาม ฟัง อยู่นิ่งๆ ได้นาน จนกระทั่ง 10-12 เดือน ก็ติดมือถือแล้วที่ผ่านมามีเด็ก 3-4 คนที่มาคลินิกผม เด็กพวกนี้พูดภาษาอังกฤษเก่งมาก สำเนียงชัดมากจากการดูยูทูปพวกนี้ ถือว่ามีประโยชน์เหมือนกัน ทั้งๆ ที่ผู้ปกครองพูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลย แต่ในทางกลับกันก็พบว่าเมื่อถึงวัยที่เด็กไปโรงเรียน เด็กก็ไม่ยอมเล่นกับเพื่อน ไม่คุย แยกตัวอยู่คนเดียว พูดภาษาอังกฤษได้ แต่สื่อสารกับเพื่อนไม่รู้เรื่อง “เราจะสังเกตว่าภาษาเป็นการสื่อสารของมนุษย์ มีภาษาพูด จะมองตา มองปาก ขณะคุยกันจะมีการสื่อความรู้สึกไปพร้อมกับภาษาพูด ในเด็กเล็กซึ่งเป็นช่วงที่สมองมีการพัฒนา ถ้าเล่นแต่มือถือ  เรียนรู้การสื่อสารผ่านมือถือซึ่งเป็นการสื่อสารทางเดียว อยู่กับเรื่องเรียนภาษา สำเนียง โดยไม่มีอารมณ์ ความรู้สึก จนก่อพฤติกรรมการแยกตัว เขานึกไม่ออกหรอก ว่าการสื่อสารกับมนุษย์จริงๆ ต้องใช้อารมณ์แบบไหน เขาไม่รู้ โตมาหวังจะแก้ไขให้เขารู้จักสื่อสารด้วยความรู้สึก ความรัก ความเกลียดชังต่างๆ มันสร้างได้ยาก ถามว่าแก้ได้ไหม บอกเลยว่าแก้ยาก และจะเป็นปัญหาทางด้านสุขภาพจิตในอนาคต”รศ.นพ.อดิศักดิ์ บอกว่า ถ้าเป็นการเล่นและติดโทรศัพท์มือถือในกลุ่มเด็กโต ก็จะมีปัญหาคนละแบบ ส่วนใหญ่มักเล่นเกมเพื่อความสนุก  แต่ก็มีรูปแบบที่หลากหลาย ทั้งเพื่อการเรียนรู้  ลึกลับ รุนแรง ยิงกันเลือดสาด เรื่องเพศ เป็นต้น หากล้นมากๆ จนไร้การควบคุมก็จะนำไปสู่การสูญเสียพัฒนาการ ไม่กิน ไม่นอน และเกิดปัญหาเด็กติดเกมตามมา“อาการติดเกม”  เป็นอาการที่คล้ายกับการติดสารเสพติด ติดยา เนื่องจากเกิดการเปลี่ยนแปลงของสารในสมอง ต้องการเกมที่แรงขึ้น เครื่องมือที่ดีขึ้น ใครห้ามจะโกรธ โมโห มีอารมณ์ ต้องใช้การบำบัด ปรับพฤติกรรม “ถอนออกจากเกม” เหมือนรักษาการติดยา แต่ก็เป็นพฤติกรรมที่แก้ไขได้ อย่างไรก็ตาม นอกจากเกมแล้วยังพบการติดโซเชียลมีเดียรูปแบบอื่นที่มากับโทรศัพท์มือถือ เช่น เฟซบุ๊ค อินสตาแกรม ไลน์ ดูนั่นดูนี่ เปิดทั้งวัน ปิดไม่ได้ ถ้าไม่ได้ดูจะมีความกังวล ฯลฯ  ยิ่งปัจจุบันพบว่าเด็กสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้เหมือนกับผู้ใหญ่ เพราะไม่มีการแยกแยะกลุ่มเนื้อหาเฉพาะ แม้จะบอกว่าแยกแล้ว แต่ในความเป็นจริงสามารถเข้าถึงได้ทั้งหมด ทำให้เด็กเข้าถึงเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมได้อย่างง่ายดาย เช่น แค่พิมพ์คำว่า “โป๊” คำเดียว ก็ขึ้นมาเป็นเนื้อหาลามกอนาจารเลย พอเข้าไปแล้วคลิกอีก 2-3 ที ก็ดูได้แล้ว ซึ่งถ้าเทียบกับโลกแห่งความเป็นจริง สื่อประเภทหนังสือโป๊ สื่ออนาจาร ตลอดจนสิ่งผิดกฎหมายต่างๆ ล้วนแต่ถูกควบคุมเอาไว้หมด แต่อินเทอร์เน็ตมีทุกอย่าง เข้าได้อย่างเสรี ดังนั้นถ้าสนับสนุนให้เด็กวันนี้ใช้สื่อโซเชียล โดยพวกผู้ใหญ่บอกว่าต้องส่งเสริมให้เด็กใช้อินเทอร์เน็ต ทำทุกอย่างผ่านอินเทอร์เน็ต ทำการบ้าน ส่งงานผ่านทางอินเทอร์เน็ต ก็ต้องออกแบบให้สามารถดูแลสภาพปัญหาที่ว่านี้ให้ได้ก่อน ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตต่างๆ ก็ต้องรับผิดชอบร่วมกัน ไม่ใช่เก็บเงินเด็กแล้วเปิดไปมีแต่ภาพโป๊ ทั้งๆ ที่เป็นสายของเด็ก ต้องร่วมกันทำ “อินเทอร์เน็ตสีขาว” หรืออินเทอร์เน็ตที่เปิดมาแล้วเจอเนื้อหาที่ปลอดภัย หากจะเข้าเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาเฉพาะสำหรับผู้ใหญ่ถึงจะต้องมีการลงทะเบียนอีกรูปแบบหนึ่ง  “ปัจจุบันเด็กเข้าอินเทอร์เน็ตด้วยโทรศัพท์มือถือส่วนตัว หากไปลงทะเบียนกับบริษัทที่ให้บริการสัญญาณอินเทอร์เน็ตก็ต้องกำหนดรูปแบบอินเทอร์เน็ตที่ปลอดภัยสำหรับเครื่องนั้น ซึ่งปัจจุบันทำได้อยู่แล้ว เช่น ต่ำกว่า 13 ปีห้ามใช้เฟซบุ๊ค เกมประเภทนี้เหมาะสมกับอายุเท่าไหร่ คือพ่อ แม่เป็นคนลงทะเบียนอินเทอร์เน็ตให้ หากมีการเข้าเว็บที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสมกับอายุเด็ก ก็ตัดทันที ปัจจุบันมีบริการนี้อยู่แต่ไม่ค่อยได้ประชาสัมพันธ์ ที่ประเทศอังกฤษทำให้ฟรีเลย” ปัญหาอีกอย่างที่ซ่อนอยู่กับการใช้โทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ตของเด็กๆ คือ เรื่องความรุนแรง การล่วงละเมิดเด็ก ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงในสังคม ผู้ใหญ่หรือมิจฉาชีพบางคนใช้การสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียในการล่อลวงเด็ก หลอกขายสินค้า เสียเงินเสียทอง ที่หนักสุดคือการหลอกล่อพาเด็กไปทำอนาจารทางเพศ แน่นอนว่าเด็กผู้หญิงตกเป็นเหยื่อมากกว่าเด็กผู้ชาย และส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเปราะบาง คือครอบครัวไม่เข้มแข็ง พ่อ แม่แยกทางกัน เป็นต้น “ผมมีคนไข้คนหนึ่งถูกหลอกลวงทางเพศจากแอปสนทนาทางโซเชียลมีเดีย 12 ครั้งเพื่อไปข่มขืน ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางอยู่แล้วจากการที่พ่อ แม่แยกทางกัน ตัวเด็กเองอยู่กับพี่สาวสองคน เรื่องนี้เกิดขึ้นเยอะเหมือนกัน และเกือบทั้งหมดที่เข้ามาปรึกษา เป็นเหยื่อของคนที่เพิ่งรู้จักกันครั้งแรกผ่านทางโซเชียล” สำหรับข้อถกเถียงเรื่องคลื่นความถี่จากโทรศัพท์มือถือกับสมองนั้น ต้องเรียนว่า มีคนศึกษาเยอะว่าคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ามีผลต่อมะเร็งในสมองหรือไม่ มีผลต่อมะเร็งกับเซลล์ชั้นในหรือไม่ แต่เข้าใจว่างานวิจัยยังไม่มีผลยืนยันชัดเจน ดังนั้นจึงไม่รู้ว่าแท้จริงแล้วคลื่นแม่เหล็กนั้นจะมีผลกระทบต่อสุขภาพหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ การใช้โทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ตผิดวิธีนั้นมีอันตราย ตั้งแต่การทำลายพัฒนาการ การเสพเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมซึ่งเป็นการบ่มเพาะพฤติกรรม เช่น พฤติกรรมก้าวร้าว การใช้โดยที่ผู้ใหญ่เข้าถึงหรือป้องกันได้ยาก คนร้ายเข้าถึงตัวเด็กได้ง่าย ถูกล่อลวงทางเพศ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในปัจจุบัน “เด็กที่เสียชีวิต เด็กที่เสียพัฒนาการ เด็กที่ถูกกระทำนั้น เกิดขึ้นจริงแล้วในสังคม แต่ยังไม่ยอมแก้ไข ผู้ใหญ่หากมีการพูดถึงเรื่องนี้มักอ้างเรื่องของอิสรภาพ กระทรวงวัฒนธรรมเองพูดอย่างทำอย่าง ปากพูดถึงอินเทอร์เน็ตสีขาว แต่กลับทำยาก”อย่างไรก็ตาม การใช้โทรศัพท์มือกับเด็กไม่ใช่จะมีแต่เรื่องแย่ๆ ร้ายๆ ประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของเด็กก็มี แต่ต้องมีการสร้างความสมดุลเพื่อให้มีโทรศัพท์มือถือเพื่อการเรียนรู้ของเด็กจริง อย่างกรณีการฝึกภาษา ตอนนี้ที่เราแนะนำเลยคือ เด็กต่ำกว่า 2 ขวบไม่ให้ใช้สื่อหน้าจอเลย หากจะใช้ในกรณีที่ต้องการฝึกภาษา ต้องเอามาเป็นเครื่องมือของพ่อแม่ในการสื่อสารกับลูก โดยเน้นเป็นการสบตาของพ่อ แม่ ลูก แล้วเอาโทรศัพท์มือถือมาสอนควบคู่ เช่น เปิดเสียงสัตว์ชนิดต่างๆ ประกอบ เป็นต้น ไม่ใช่เปิดทิ้งไว้ให้เด็กดูเพียงลำพัง อย่าปล่อยให้อยู่ด้วยกันเพียงลำพัง ลูกต้องติดใจที่ได้เล่นกับแม่หรือพ่อ แล้วยอมพูดตามสำเนียงตามโทรศัพท์มือถือ เพราะแม่เป็นคนถือ แม่เชียร์อยู่ ไม่ใช่เด็กติดใจมือถือ เราจะอยู่กันอย่างนี้ไม่ได้ การใช้อินเทอร์เน็ตต้องมีการควบคุมเนื้อหาที่เหมาะสมสำหรับเด็ก พ่อแม่ต้องควบคุมการใช้งานทั้งเรื่องเนื้อหาและระยะเวลาที่ใช้งาน วันนี้เมืองไทยต้องมีการออกกฎหมาย พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กจากสื่อออนไลน์ ล้อไปกับ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก เป็นไปไม่ได้ที่ภายนอกมี พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก ซึ่งออกมาตั้งแต่ปี 2546 บอกว่ามิให้ผู้อื่นผู้ใดกระทำการดังต่อไปนี้ เช่น เอาเด็กไปอยู่ในจุดอันตราย กระทำร้ายต่อเด็ก ล่วงละเมิดต่อเด็ก เขียนไว้ในกฎหมายเยอะแยะ แต่ในอินเทอร์เน็ตกลับคุมไม่ได้ เอาเด็กเข้าไปอยู่ในจุดอันตราย เอาไปอยู่ในโซเชียลมีเดียเป็นการทำลายพัฒนาการเด็ก ถ้าบอกว่ามี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ดูแลอยู่ บอกเลยว่าไม่จริง ล่าสุดที่เพิ่งมีการแก้ไขกฎหมาย ยังไม่เห็นการพูดถึงเรื่องนี้ พ.ร.บ.คอมพ์ฯ พูดถึงแต่เรื่องคนที่เข้าไปล้วงข้อมูลออนไลน์จะผิดอย่างนั้น ผิดอย่างนี้ ไม่พูดถึงผู้ร้ายที่ขายของผิดกฎหมาย อย่างบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งไม่เข้าใจ เพราะกระทรวงพาณิชย์ออกกฎหมายห้ามนำเข้า กรมสรรพากรบอกว่าห้ามขายในประเทศ ผิดกฎหมาย แต่ในออนไลน์มีหมด ซื้อง่าย มีโฆษณาด้วย สิ่งผิดกฎหมายต่างๆ ที่ห้ามในโลกแห่งความเป็นจริงกลับพบว่ามีหมดเลยบนโลกออนไลน์ อย่างไรก็ตาม พอพูดเรื่องการดูแลเนื้อหาทางอินเทอร์เน็ต ก็มักมีการอ้างเรื่องผลกระทบกับความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจหรือการจำกัดสิทธิเสรีภาพบ้าง แต่เปิดช่องให้ทำในเรื่องที่เป็นการกระทบกับพัฒนาการเด็ก พอพูดเรื่องนี้แล้วก็ขอเอ่ยถึงเรื่อง “อี-สปอร์ต” ส่วนตัวมองว่าไม่ใช่กีฬา ไม่มีการส่งเสริมการออกกำลัง แต่มันคือเรื่องของธุรกิจ ซึ่งกระทบพัฒนาการเด็ก เป็นการเพิ่มจำนวนเด็กติดเกมอย่างเห็นได้ชัด แต่ด้วยความกลัวว่าเศรษฐกิจจะก้าวไม่ทันชาวบ้านเขา มหาวิทยาลัยเปิดสอนกันเยอะมาก เปิดสอนให้คนไปทำธุรกิจอี-สปอร์ตได้ แต่ไม่ได้สอนให้รู้โทษ  ร้านเกมในต่างจังหวัดเปลี่ยนเป็นศูนย์อี-สปอร์ต ทั้งนั้น เด็กเล่นเลอะเทอะไปหมด กฎระเบียบไม่ต้องมี เพราะการกีฬาอนุมัติ เพราะกลัวเศรษฐกิจไม่ทันกิน ก็เลยวางคุณภาพเอาไว้ก่อน  ปัจจุบันเห็นแล้วว่าถ้ามองแต่เศรษฐกิจเบื้องหน้า แต่คนไร้คุณภาพ ประเทศจะพัฒนาไปได้แค่ไหน ตอนนี้ต้องยอมรับว่า 4.0 หากไม่คำนึงถึงเรื่องเหล่านี้ มันไม่สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ อัตราเด็กถูกทำร้ายและอัตราการเสียชีวิตของเด็กอาจเพิ่มมากขึ้น คิดว่าถ้าชั่งน้ำหนักแล้วไม่คุ้ม เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ป้องกันได้ ป้องกันตั้งแต่แรกดีกว่ามาตามแก้ไข  และเป็นเรื่องที่ต้องดูแลกันตั้งแต่ระดับนโยบาย จะให้เป็นเรื่องของครอบครัว หรือเรื่องบุคคลไม่ได้ เพราะความสามารถในการ “คิด วิเคราะห์ แยกแยะ” ของเด็กยังไม่สมบูรณ์เต็มที่ การมีโทรศัพท์มือถือจึงจำเป็นต้องได้รับการดูแล ใส่ใจ จากผู้ปกครอง รวมถึงผู้ที่มีอำนาจในบ้านเมืองที่ต้องทำให้เด็กๆ ได้รับความปลอดภัย   

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 211 รู้จักกฎหมายดำเนินคดีแบบกลุ่ม (Class Action) ตอนที่ 2

บทเรียนการทำคดีผู้บริโภคก่อนมีกฎหมายดำเนินคดีแบบกลุ่มทุกวันนี้ปัญหาของผู้บริโภคที่เกิดมีความซับซ้อนเพิ่มขึ้น จากเดิมที่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นแบบปัจเจกคือ เกิดกับคนๆ เดียว แต่ปัจจุบันมีปัญหาหลายกรณีที่เป็นปัญหาที่เกิดกับผู้บริโภคหลายคนในเวลาเดียวกัน เช่น กรณี สถานออกกำลังกายแคลิฟอร์เนีย ว้าวปิดตัวโดยไม่แจ้งลูกค้า หรือ กรณีอุบัติเหตุรถโดยสาร หรือ กรณีปัญหาสาธารณูปโภคบ้านจัดสรร ซึ่งเมื่อเกิดเหตุขึ้นแล้ว กระบวนการใช้สิทธิเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายของผู้บริโภค จะมีความแตกต่างกันตามสภาพของแต่ละบุคคลคือ ต้องแยกกันฟ้อง บางกรณีฟ้องคนละศาล ซึ่งทำให้เกิดความขัดแย้งของคำพิพากษา หรือการไม่สะดวกต่อกระบวนการใช้สิทธิดังกล่าว ขอยกกรณีศึกษา จากการฟ้องคดีของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่ผ่านมาดังต่อไปนี้ กรณีแคลิฟอร์เนีย ว้าวมีผู้บริโภคมากกว่า 600 ราย มาร้องเรียนต่อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ว่าได้รับความเสียหายจากการปิดกิจการของบริษัท แคลิฟอร์เนีย ว้าว ฯ  โดยไม่แจ้งให้สมาชิกทราบล่วงหน้า เป็นเหตุให้สมาชิกจำนวนมากได้รับความเสียหาย ไม่สามารถใช้บริการได้ตามสัญญา ทั้งที่ยังมีอายุสัญญาใช้บริการอยู่  และได้จ่ายเงินล่วงหน้าไปแล้วอีกทั้งยังพบว่า กรณีนี้มีการกระทำผิดหลายอย่าง เช่น การฝ่าฝืนประกาศ สคบ. เรื่องให้ธุรกิจการให้บริการออกกำลังกายเป็นธุรกิจควบคุมสัญญา โดยกำหนดห้ามทำสัญญาเป็นสมัครสมาชิกเกิน 1 ปี แต่ทางแคลิฟอร์เนียเปิดรับสมัครสมาชิกตลอดชีพ เพื่อระดมเงินค่าสมัครของผู้ใช้บริการ ก่อนที่จะยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินไปต่างประเทศ และทยอยปิดกิจการลงจนหมดสิ้น ส่งผลให้มีผู้ใช้บริการทั่วประเทศกว่า 1 แสนราย ที่ได้รับผลกระทบจากกรณีนี้ กรณีอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะกรณีรถยนต์โดยสารประจำทางบริษัท เปรมประชาขนส่ง จำกัด วิ่งระหว่างเส้นทาง อ.แม่สะเรียง – จ.เชียงใหม่ แล้วรถเกิดอุบัติเหตุพลิกคว่ำระหว่างทาง เป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตรวมกว่า 40 คน  ผู้เสียหายแต่ละรายต้องใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลแยกเป็นรายคดี เพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย  ซึ่งผู้เสียหายที่เจ็บมากและเจ็บน้อย ต่างก็ต้องแยกฟ้องคดีส่วนของตนเอง ในทางปฏิบัติอาจฟ้องหลายๆ คนรวมกันได้ แต่มีความยุ่งยากค่อนข้างสูงกรณีรถยนต์ชำรุดบกพร่อง (เชฟโรเล็ต)  จากกรณีความชำรุดบกพร่องของสินค้ารถยนต์เชฟโรเลต ที่พบปัญหาในระบบส่งกำลัง ระบบเกียร์  ของรถยนต์รุ่นครูซ และแคปติว่า ของรถยนต์เชฟโรเลต โดยปัญหาที่เกิดขึ้นมีมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ซื้อรถจนถึงปัจจุบัน แต่บริษัทก็ไม่สามารถแก้ไขให้รถมีสภาพปกติเหมาะกับการใช้งานได้แต่เมื่อคดีไม่สามารถเจรจาตกลงการเยียวยาได้ ผู้เสียหายทั้ง 7 ราย จึงตัดสินใจฟ้องบริษัท บริษัท เชฟโรเลต เซลส์ ประเทศไทย ,  บริษัทผู้ขายรถยนต์ (ดีลเลอร์) และบริษัทเช่าซื้อ เป็นคดีผู้บริโภค ต่อศาลแพ่ง โดยฟ้องแยกเป็น 7 คดี เรียกค่าเสียหาย ทั้งนี้ผู้เสียหายได้ยื่นฟ้อง 4 ประเด็น คือ1.ขอให้รับผิดชอบคืนเงินดาวน์และค่างวดการเช่าซื้อที่ชำระไปแล้วทั้งหมด2.ขอให้บริษัทฯ รับผิดชอบค่าใช้สอยรถยนต์ต่อผู้ให้เช่าซื้อเต็มจำนวนแทนผู้บริโภค เนื่องจากสาเหตุที่ต้องบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อและเรียกเงินคืนนั้นเพราะสินค้าชำรุดบกพร่องจากการผลิต ไม่ใช่จากการใช้งานปกติของผู้บริโภค3.ขอให้ศาลห้ามบริษัทฯ จำหน่ายรถยนต์รุ่นพิพาท และให้เรียกเก็บสินค้าดังกล่าวจนกว่าจะได้เปลี่ยนแปลงให้มีความปลอดภัย แต่หากแก้ไขไม่ได้นั้นห้ามผลิตหรือนำเข้ามาจำหน่าย4.ขอเรียกค่าเสียหายต่อจิตใจที่ต้องหวาดกลัว วิตกกังวล ตลอดเวลาในการใช้รถยนต์พิพาทวันที่ 9 ตุลาคม 2558  ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ 6 คดี ชนะคดีโดยศาลพิจารณาตามหน้าที่ของบริษัทที่ต้องชำระคืน ทั้งเงินดาวน์และเงินที่ผ่อนชำระค่างวดไปแล้ว นั้นก็คือผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ของบริษัทเชฟโรเล็ต คืนเงินดาวน์ทั้งหมด พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ตั้งแต่วันทำสัญญาจนถึงวันที่ชำระคืนให้ผู้บริโภคจนเสร็จ และให้บริษัทไฟแนนซ์ ผู้ให้เช่าซื้อรถยนต์คืนเงินค่าเช่าซื้อที่ผ่อนไปทั้งหมด พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ตั้งแต่วันรับฟ้องคดีนกว่าจะชำระหมด  และให้โจทก์ชำระเงินค่าใช้รถยนต์ให้กับบริษัทผู้เช่าซื้อรถยนต์วันละ 100 บาท ตั้งแต่วันรับรถจนกว่าจะคืนรถ  แต่อีกคดี ปรากฏว่า แม้ฟ้องคดีต่อศาลชั้นต้นเดียวกัน ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ กลับพิพากษายกฟ้องโจทก์ ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างโจทก์ขออนุญาตฎีกา ดังนั้น จะเห็นได้ว่าจากการฟ้องคดีรถยนต์ดังกล่าวนี้  แม้ข้อเท็จจริงจะเป็นการฟ้องคดีที่ผู้เสียหายมีความเสียหายแบบเดียวกัน มีจำเลยคนเดียวกัน ในปัญหาข้อเท็จจริงแบบเดียวกัน แต่ก็ศาลก็อาจมีผลคำพิพากษาที่แตกต่างกันได้   จากตัวอย่างข้างต้น แสดงให้เห็นว่าปัญหาของผู้บริโภคหลายครั้งเป็นเรื่องที่ไม่ได้เกิดกับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เพราะโดยสภาพของการทำธุรกิจ ย่อมเข้าถึงผู้บริโภคเป็นจำนวนมาก ดังนั้นเมื่อเกิดปัญหาจากการบริโภคสินค้าและบริการ จึงทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้บริโภคจำนวนมาก บางครั้งการร้องเรียนหรือฟ้องคดีเพื่อให้ได้รับการชดเชยเยียวยา อาจไม่ได้รับการดูแลที่เท่าเทียมกัน และผู้บริโภคที่เสียหายแต่ละรายก็ไม่มีกำลังทรัพย์หรือความรู้ที่เท่าทันมากพอที่จะคุ้มครองสิทธิของตนเอง จึงจำเป็นต้องมีการรวมกลุ่มของผู้เสียหายเพื่อให้เกิดอำนาจต่อรอง มีตัวแทนกลุ่มในการเรียกร้องสิทธิ รวมถึงมีกฎหมายที่มีประสิทธิภาพในการคุ้มครองประโยชน์ของคนจำนวนมากจากความเสียหายเดียวกัน[1] จุฬารัตน์  ยะปะนัน. หนังสือจุลนิติ พ.ค. - มิ.ย. 53[2] เกรียงศักดิ์ สวัสดิ์พาณิชย์. สรุปสาระสำคัญการดำเนินคดีแบบกลุ่ม[3] ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค “บทเรียน 10 ปี ศูนย์ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค” 

อ่านเพิ่มเติม >