ฉบับที่ 218 แอปพลิเคชันจองเที่ยวบินพลาด

        ทุกวันนี้ต้องยกให้เทคโนโลยีเป็นเสมือนหัวใจของทุกสิ่ง โดยเฉพาะเรื่องการติดต่อสื่อสาร การทำธุรกรรมต่างๆ ซึ่งเทคโนโลยีได้เข้ามารองรับไว้เกือบจะทั้งหมดแล้ว ยิ่งการจองตั๋วเครื่องบิน เราแทบไม่ต้องพูดคุยกับมนุษย์ คุณทำได้เพียงแค่ปลายนิ้วสัมผัส  อย่างไรก็ตามเรื่องความผิดพลาดจากเทคโนโลยีนั้นหลายครั้งก็เกิดขึ้นได้ จึงต้องให้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ         คุณแมงมุม ซึ่งรักการเดินทางเป็นชีวิตจิตใจ มีแผนการเดินทางไปญี่ปุ่น ณ เมืองโอซาก้า ในเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ตอนนั้นจึงเข้าแอปพลิเคชั่นของสายการบินนกสกู๊ต โดยกรอกข้อมูลต่างๆ ไปตามปกติ โดยระบุต้นทางกรุงเทพฯ ปลายทางโอซาก้า  พร้อมชำระเงินจนเรียบร้อย แต่เมื่อได้ทบทวนรายการอีกครั้งกลับพบว่า เส้นทางขาไปแทนที่จะเป็น กรุงเทพ-โอซาก้า ได้สลับเป็น โอซาก้า-กรุงเทพ แทน ซึ่งแน่นอนว่าความผิดพลาดนี้คุณแมงมุมมั่นใจว่าเกิดจากแอปพลิเคชันมิได้เกิดจากตนเอง จึงโทรศัพท์ติดต่อกับคอลเซนเตอร์ของสายการบินนกสกู๊ตเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว         เมื่อติดต่อไปคอลเซนเตอร์กลับระบุว่า ไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ เพราะแอปพลิเคชันไม่มีทางพลาด น่าจะเป็นคุณแมงมุมเองที่กรอกข้อมูลผิด         เจอคำตอบแบบนี้เข้าไป คุณแมงมุมก็ไม่ยอมจำนนโดยง่ายเพราะเธอมั่นใจว่า เธอทำทุกอย่างถูกต้อง จึงทดลองจองตั๋วผ่านแอปพลิเคชันอีกครั้ง ก็พบว่าเมื่อเมื่อกดเลือกต้นทางปลายทางในตอนแรกแล้ว ระหว่างที่ทำการเลือกวันเดินทางในขั้นตอนถัดมา ระบบได้สลับต้นทางปลายทางเองโดยอัตโนมัติ ความผิดพลาดนี้จึงควรเป็นสิ่งที่สายการบินต้องรับผิดชอบต่อผู้บริโภค คุณแมงมุมจึงร้องเรียนมาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิเพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางการแก้ไขปัญหา        เมื่อรับเรื่องจากคุณแมงมุม ทางศูนย์ฯ ได้ติดต่อประสานงานกับบริษัทนกสกู๊ต เพื่อขอให้ช่วยแก้ไขปัญหาให้กับผู้ร้อง ซึ่งได้รับแจ้งในเวลาถัดมาจากคุณแมงมุมว่า ทางสายการบินได้ปรับแก้ตั๋วเดินทางให้ถูกต้องเป็นกรุงเทพ-โอซาก้า เรียบร้อยแล้ว จึงขอขอบคุณทุกฝ่ายที่ช่วยเหลือให้ได้รับการคุ้มครองสิทธิอย่างที่ควรเป็น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 218 เช็คสภาวะจิตใจกับแอปพลิเคชัน “สบายใจ”

               ช่วงนี้เดินทางไปทำงานหรือไปทำธุระต่างๆ ที่ต้องอยู่บนท้องถนนต้องยอมรับเลยว่าอากาศร้อนมากถึงมากที่สุด และด้วยสภาพอากาศที่ร้อนจัดขนาดนี้ อีกทั้งสภาวะการเมืองในประเทศไทยที่ร้อนแรงอย่างต่อเนื่อง ย่อมส่งผลกระทบต่อสภาพร่างกายและจิตใจ ทำให้เกิดความหงุดหงิดได้ง่าย หรืออาจเกิดสภาวะการหมกหมุ่นในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ทำให้เกิดความเครียด ความวิตกกังวล จนอาจนำไปสู่ความเสี่ยงต่างๆ ที่สามารถทำให้เกิดการทำร้ายตนเองได้         จากข้อมูลของกรมสุขภาพจิต (ที่มา https://news.thaipbs.or.th/content/279048) แจ้งว่ารายงานสถิติการให้บริการปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตทางโทรศัพท์ทางสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ในรอบเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม 2562 พบว่ามีการให้บริการปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตที่มากที่สุด 5 อันดับแรก เป็นเรื่องปัญหาทางจิตเวช ความเครียดวิตกกังวล และปัญหาซึมเศร้า รวมอยู่ด้วย         ด้วยเหตุนี้ผู้อ่านควรรู้เท่าทันสภาวะจิตใจของตนเองว่าอยู่ในระดับใด เพื่อให้สามารถรับมือได้อย่างถูกต้อง ซึ่งทางภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ร่วมมือกับโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต พัฒนาแอปพลิเคชันที่มีชื่อว่า SabaiJai (สบายใจ) ขึ้นเพื่อป้องกันและช่วยเหลือผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะทำร้ายตนเอง         ภายในแอปพลิเคชันจะมีแบบคัดกรองผู้ที่เสี่ยงต่อการพยายามทำร้ายตนเอง โดยลักษณะคำถามจะแบ่งแยกเพศและช่วงวัยเพื่อง่ายต่อการวิเคราะห์ผลความเสี่ยงที่เกิดขึ้น เมื่อตอบคำถามครบ 9 ข้อแล้วแอปพลิเคชั่นจะแสดงผลการทำแบบคัดกรองว่ามีความเสี่ยงต่อการทำร้ายตนเองหรือไม่ ซึ่งถ้ามีความเสี่ยงต่อการทำร้ายตนเองจะมีคำแนะนำในการปฏิบัติตัวให้ถูกต้องสำหรับตนเองและบุคคลใกล้ชิด         หรือต้องการหาข้อมูลที่เกี่ยวกับแนวโน้มการฆ่าตัวตาย ความทุกข์ใจ พฤติกรรม สัญญาณเตือนที่เกิดขึ้น การป้องกัน การแก้ไขปัญหาต่างๆ ก็สามารถศึกษาข้อมูลได้ภายในแอปพลิเคชันนี้ได้เลย นอกจากนี้ยังมีหมวดการเติมกำลังใจเป็นการให้คำสอน แง่คิด และสามารถเพิ่มรายชื่อ เบอร์โทรศัพท์ของบุคคลสำคัญที่ต้องการพูดคุยหรืออาจขอคำปรึกษาผ่ายสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ได้ทันที         ช่วยกันสังเกตตนเองและบุคคลใกล้ชิดว่ามีความเสี่ยงหรือมีความเครียดความวิตกกังวลอะไรบ้างมากน้อยเพียงใด ถ้าเห็นว่ามีความเสี่ยงเกิดขึ้นแนะนำให้ลองโหลดแอปพลิเคชั่น SabaiJai (สบายใจ) นี้มาทดสอบตนเองกันเลย เพราะแอปพลิเคชันนี้ถือว่าเป็นช่องทางเลือกที่จะช่วยแก้ไขและป้องกันความเสี่ยงที่จะพยายามทำร้ายตนเองได้ในระดับหนึ่ง

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 217 M Help Me ช่วยเหลือคนทั้งมวล

                สังคมโซเชียลในปัจจุบันมีให้เห็นข่าวภัยอันตรายที่เกิดขึ้นมากมาย จนทำให้หลายคนเริ่มกังวลว่าสังคมไทยมีแต่เรื่องน่ากลัวไปหมด ผู้ใหญ่เริ่มเป็นห่วงความปลอดภัยของลูกหลานกันมากขึ้น จนอาจถึงขั้นวิตกกังวล หลายคนพยายามหาวิธีป้องกันในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการให้เรียนวิชาป้องกันตัว การลงทุนซื้อรถยนต์ส่วนตัวให้ เป็นต้น         ด้วยภัยอันตรายที่เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวในปัจจุบัน จนทำให้ต้องคอยเฝ้าระวังภัยที่อาจเกิดขึ้นรอบตัวในทุกย่างก้าวของการใช้ชีวิต เครื่องมือหนึ่งที่สามารถเข้ามาช่วยได้ส่วนหนึ่งก็คือการดาวน์โหลดแอปพลิเคชันที่มีชื่อว่า “M Help Me” หรือชื่อภาษาไทยว่า “ช่วยเหลือคนทั้งมวล” มาบนสมาร์ทโฟนที่ผู้อ่านใช้อยู่เป็นประจำ ซึ่งสามารถใช้งานได้ทั้งในระบบปฏิบัติการ Android และระบบปฏิบัติการ iOS         แอปพลิเคชัน “M Help Me” ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อสร้างประโยชน์ในการเข้าป้องกัน ให้ความช่วยเหลือ และแจ้งข่าวสารในด้านต่างๆ เมื่อเข้าแอปพลิเคชันครั้งแรกจะต้องเลือกภาษาที่ต้องการ (ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน) และเริ่มต้นการใช้งานโดยกรอกชื่อนามสกุลและเบอร์โทรศัพท์มือถือ เพื่อทำการยืนยันตัวตนในการเข้าใช้งานระบบแอปพลิเคชัน         ภายในแอปพลิเคชันจะเห็นเมนูด้านบนสุด จะเป็นการให้ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับหน่วยงานภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นตำรวจจราจร กรมเจ้าท่า สำนักงานสถิติ กรมทรัพยากร กระทรวงพัฒนาการสังคม สถาบันสิ่งแวดล้อม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กรมควบคุมโรค สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เป็นต้น หรือสามารถเข้าได้ในเมนูถัดไปที่เขียนว่าแจ้งข่าวสารก็ได้         ถัดลงมาจะเป็นการแสดงตำแหน่งปัจจุบันของผู้ใช้แอปพลิเคชัน เพื่อแจ้งให้ทราบว่าอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยหรือไม่ ต่อจากนั้นจะเป็นหัวข้อการช่วยเหลือ ซึ่งจะรวบรวมแบบฟอร์มการร้องทุกข์ของแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการให้ความช่วยเหลือด้านต่างๆ และยังมีข้อมูลการช่วยเหลือที่แบ่งออกเป็น 4 หมวด ได้แก่ สายด่วน แผนที่ เตือนภัย และประกาศ        สามารถค้นหาสถานที่สาธารณะในบริเวณใกล้เคียง เช่น สถานีตำรวจ สถานพยาบาล หน่วยงานราชการ ศูนย์การค้า สถานที่ท่องเที่ยว สถานีรถไฟ สถานีบริการน้ำมัน เป็นต้น โดยจะปรากฎเป็นแผนที่เส้นทางให้อัตโนมัติ        ที่สำคัญของแอปพลิเคชันนี้คือ ปุ่มแจ้งเหตุ โดยผู้ใช้ต้องเลือกหน่วยงานที่จะแจ้งเหตุระหว่างกองบังคับการตำรวจจราจรกับศูนย์ความช่วยเหลือ และกรอกข้อมูลที่เกิดขึ้นทั้งเป็นข้อความหรือภาพถ่าย ภาพวิดีโอ เพื่อส่งรายงานข้อมูลดังกล่าวไปยังปลายทาง         ส่วนบริเวณด้านล่างสุดของหน้าแอปพลิเคชันยังมีส่วนของการรายงานความช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่แสดงให้ทราบว่ามีผู้ที่รอความช่วยเหลือและช่วยเหลือสำเร็จแล้วกี่คนบ้าง        ต่อไปเป็นปุ่มที่สามารถใช้ได้เมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินและต้องการได้รับความช่วยเหลือทันที เป็นปุ่มสีแดงที่เขียนว่า SOS เมื่อกดเข้าไปจะเป็นการส่งสัญญาณเพื่อเริ่มขอความช่วยเหลือฉุกเฉินภายใน 3 วินาที ซึ่งปุ่ม SOS นี้มีความสำคัญอย่างมาก         ผู้ใช้สมาร์ทโฟนจึงควรที่จะดาวน์โหลดแอปพลิเคชันนี้มาเก็บไว้ใช้งานกรณีที่เกิดสถานการณ์ไม่คาดคิด เพราะแอปพลิเคชัน “M Help Me” หรือชื่อภาษาไทยว่า “ช่วยเหลือคนทั้งมวล” สามารถช่วยเหลือคนทั้งมวลเหมือนตามชื่อแอปพลิเคชันจริงๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 216 ตรวจสอบจราจร ปริมาณน้ำฝนและเส้นทางลัด กับ TVIS

                                  ฉบับนี้ผู้เขียนมาอัพเดทแอปพลิเคชันเกี่ยวกับการรายงานสภาพการจราจร เป็นแอปพลิเคชันที่พัฒนาขึ้นโดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ เนคเทค แอปพลิเคชันนี้มีชื่อว่า TVIS ซึ่งย่อมาจากคำว่า Traffic Voice Information Service สามารถดาวน์โหลดได้ทั้งระบบปฏิบัติการ iOS และระบบปฏิบัติการ Android          แอปพลิเคชัน TVIS เป็นแอปพลิเคชันที่แสดงถึงสภาพการจราจร มีกล้องวงจรปิด มีเรดาร์ตรวจอากาศ และเรดาร์น้ำฝน โดยจะแบ่งหมวดบนหน้าแอปพลิเคชัน 5 หมวด ได้แก่ หมวดรายการ หมวดรอบตัว หมวดรายการโปรด หมวดค้นหาด้วยเสียง และหมวดอื่นๆ          หมวดรายการ จะแบ่งการแสดงผลบนหน้าจอออกเป็น 8 หัวข้อ หัวข้อเรดาร์น้ำฝน จะแสดงสภาพปริมาณน้ำฝนที่เกิดขึ้นซึ่งใช้สีเป็นตัวแบ่งปริมาณน้ำฝนตั้งแต่ปริมาณเล็กน้อย ปานกลาง แรง แรงมาก และเกิดลูกเห็บ หัวข้อสภาพการจราจรจะให้เลือกบริเวณเส้นทางที่ต้องการทราบความคล่องตัวของสภาพการจราจร หัวข้อกล้องจราจร CCTV จะแสดงกล้องวงจรปิดตามจุดต่างๆ หัวข้อเส้นทางลัดจะแสดงเส้นทางลัดทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดหัวข้อข่าวสังคมออนไลน์เป็นการรายงานข่าวสารจากสังคมออนไลน์ หัวข้อข่าวจากภาครัฐเป็นการรายงานข่าวสารจากภาครัฐ หัวข้อหมายเลขสายด่วนเพื่อกดดูรายการหมายเลขสายด่วนที่มีอยู่ทั้งหมด และหัวข้อ Smart IVR ที่มีไว้สำหรับติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่ออำนวยความสะดวกในการติดต่อสอบถามผ่านแอปพลิเคชันโดยจะต้องกรอกหมายเลขโทรศัพท์ที่สะดวกหลังจากนั้นจะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับมา          หมวดรอบตัว จะเป็นการแสดงสภาพการจราจรแบบเรียลไทม์ โดยมีหัวข้อที่จะเลือกตรวจสอบสภาพการจราจร 4 หัวข้อ ได้แก่ หัวข้อเส้นสีจราจรจะปรากฏเส้นสีตามสภาพการจราจรในขณะนั้นเป็นสีแดง สีส้ม สีเหลืองและสีเขียว หัวข้อกล้องจราจรจะมีกล้องภาพเคลื่อนไหวจากแฟ้มภาพที่ผ่านไปเมื่อ 30 นาทีที่ผ่านมาและภาพเคลื่อนไหวแบบถ่ายทอดสด หัวข้อสังคมออนไลน์จะปรากฏข่าวและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ณ จุดนั้น และหัวข้อดาวเทียมจะเป็นการเปลี่ยนรูปแบบมุมมองบนแอปพลิเคชันเป็นดาวเทียม          หมวดรายการโปรดเป็นหมวดที่เพิ่มขึ้นมาให้ผู้ใช้แอปพลิเคชันได้รับความสะดวกสบายและสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างรวดเร็วกับเส้นทางและสภาพการจราจรที่ต้องการใช้บ่อย สำหรับหมวดค้นหาด้วยเสียงเป็นการสั่งงานในการค้นหาสภาพการจราจรด้วยเสียง ซึ่งหมวดนี้จะรองรับผู้ที่ไม่สะดวกในการค้นหาในรูปแบบปกติ และหมวดอื่นๆ จะเป็นการตั้งค่าและวิธีการใช้งานภายในแอปพลิเคชัน        แอปพลิเคชัน TVIS นี้มีประโยชน์ในเรื่องการรายงานสภาพการจราจรตามเส้นทางที่ต้องการเดินทางว่ามีความคล่องตัวมากน้อยแค่ไหน  การรายงานสภาพการจราจรผ่านกล้องวงจรปิด การรายงานปริมาณน้ำฝนในแต่ละพื้นที่ การรายงานข่าวสารสภาพการจราจรผ่านสังคมออนไลน์ซึ่งมาจากการรายงานสภาพการจราจรจากผู้ใช้เส้นทางบนถนนโดยตรง        ถ้าผู้ใช้แอปพลิเคชันอยากจะหลีกเลี่ยงเส้นทางการจราจรที่ติดขัดบริเวณใด หรือต้องการหาเส้นทางลัด ก็สามารถเข้ามาตรวจสอบภายในแอปพลิเคชันนี้ได้เลย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 215 ตรวจสภาพอากาศกับ windy

                จากปรากฏการณ์พายุโซนร้อนปาบึกที่เข้าถล่มจังหวัดนครศรีธรรมราชและภาคใต้ของประเทศไทยนั้น ทำให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นอย่างมาก ช่วงเวลาที่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวประชาชนทั่วประเทศจึงให้ความสนใจเป็นอย่างมากและคอยติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นของพายุโซนร้อนปาบึกนี้อย่างใกล้ชิด        การติดตามความเคลื่อนไหนของพายุอย่างเรียลไทม์นั้น สามารถติดตามผ่านแอปพลิเคชันที่มีชื่อว่า windy ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่ผู้ใช้สมาร์ทโฟนสามารถดาวน์โหลดได้ฟรี ทั้งในระบบปฏิบัติการ Android และระบบปฏิบัติการ iOS         แอปพลิเคชัน windy จะแสดงข้อมูลของสภาพอากาศ ไม่ว่าจะเป็นแรงลมที่พัด พื้นที่ที่มีฝนตก ปริมาณเมฆ อุณหภูมิความร้อน นอกจากนี้ยังสามารถเช็คความสูงของคลื่นทะเลได้ด้วย โดยให้กดสัญลักษณ์สีเหลืองด้านขวาล่างของแอปพลิเคชัน ซึ่งในเครื่องมือนี้จะสามารถเลือกรูปแบบการดูได้ตามที่ต้องการ                ภาพที่ปรากฏบนแอปพลิเคชันจะเปลี่ยนสีไปตามสภาพอากาศที่ผู้ใช้แอปพลิเคชันต้องการทราบ เช่น เมื่อต้องการทราบอุณหภูมิในแต่ละพื้นที่ จะปรากฏภาพสีเหลือง สีส้ม และสีแดง ไล่ไปตามอุณหภูมิที่เกิดขึ้น หรือเมื่อต้องทราบความเร็วลมในแต่ละพื้นที่ จะปรากฏภาพสีเขียว และสีน้ำเงิน ไล่ไปตามความเร็วของลมที่เกิดขึ้น และจะมีเส้นการเคลื่อนไหวที่แสดงทิศทางลมที่เกิดขึ้นให้เห็นได้ชัดเจน เป็นต้น        เมื่อต้องการทราบข้อมูลสภาพอากาศในรูปแบบใดก็แล้วแต่ ณ บริเวณที่ผู้ใช้แอปพลิเคชันอยู่ในตำแหน่งนั้น ให้เลือกรูปแบบสภาพอากาศที่ต้องการ และกดปุ่มเลือก Find my location หลังจากนั้นบนหน้าแอปพลิเคชันจะปรากฏจุดบริเวณที่ผู้ใช้แอปพลิเคชันอยู่ และขึ้นข้อมูลที่ต้องการทราบ ให้กดไปที่จุดนั้น จะทำให้ข้อมูลทั้งหมดขึ้นมาโดยแบ่งสภาพอากาศที่เกิดขึ้นเป็นรายชั่วโมง ทั้งสภาพอากาศแบบย้อนหลังและสภาพอากาศในอนาคต                หรือต้องการทราบสภาพอากาศในบริเวณใด ก็สามารถเลื่อนแผนที่ให้จุดที่เลือกเคลื่อนไปอยู่ตรงที่ต้องการได้  และไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังสามารถทราบสภาพอากาศได้ทั่วโลกเลย เพียงแค่มีแอปพลิเคชันนี้ก็สามารถทราบสภาพอากาศทั้งอุณหภูมิ ปริมาณฝนตก ความเร็วลม ความสูงของคลื่นได้อย่างง่ายดาย        ลองดาวน์โหลดแอปพลิเคชันมาศึกษากันดูนะคะ รับรองว่าดูง่ายและไม่ยากจนเกินไป เพราะการใช้สีและการใช้สัญลักษณ์ ทำให้เข้าใจได้ง่ายจริงๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 214 ไม่หลงทาง เมื่อพกแอปพลิเคชัน ViaBus

            ฉบับนี้ขออำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่ต้องเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ แต่ไม่รู้เส้นทางการเดินรถโดยสารสาธารณะ รวมทั้งแอปพลิเคชันนี้ยังเหมาะสำหรับประชาชนที่เดินทางมาจากต่างจังหวัดเพื่อมาทำภารกิจในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลได้อีกด้วย            แอปพลิเคชันนี้ถูกพัฒนาขึ้นโดยองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อต้องการอำนวยความสะดวกการใช้รถโดยสาธารณะให้กับประชาชนผู้ใช้เส้นทาง มีชื่อว่า “ViaBus”  ผู้ใช้สมาร์ทโฟนสามารถดาวน์โหลดได้ทั้งระบบปฏิบัติการ iOS และระบบปฏิบัติการ Android            ภายในแอปพลิเคชันมีการใช้งานที่ไม่ซับซ้อนมากนัก เมื่อเข้าหน้าหลักจะปรากฏภาพแผนที่ โดยการค้นหาเส้นทางจะมีอยู่ 2 รูปแบบ ดังนี้           1. ต้องการค้นหาเส้นทางจากจุดที่ผู้ใช้สมาร์ทโฟนอยู่ปัจจุบัน ให้กดรูปสัญลักษณ์แว่นขยายบริเวณด้านบนขวาของแอปพลิเคชัน และให้ระบุสถานที่ที่ต้องการเดินทางไป           2.ต้องการค้นหาเส้นทางจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่บริเวณที่ผู้ใช้สมาร์ทโฟนอยู่ปัจจุบัน ให้กดรูปสัญลักษณ์สี่เหลี่ยมสีแดง จากนั้นให้ระบุสถานที่เริ่มต้นในการเดินทางและสถานที่ที่เป็นจุดเป้าหมายปลายทาง            เมื่อแอปพลิเคชันได้ค้นหาเส้นทางให้แล้ว จะปรากฏเป็นภาพเส้นทางบนแผนที่ และปรากฏข้อมูลต่างๆ ไว้ด้านล่าง ผู้ใช้งานสามารถเข้าไปดูรายละเอียดต่างๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นสายรถเมล์ที่สามารถเดินทางไปได้ ป้ายรถเมล์ใกล้บริเวณนั้น บอกจำนวนป้ายรถเมล์ที่ต้องผ่าน หรือบางเส้นทางจะมีข้อมูลการใช้เส้นทางโดยใช้รถไฟฟ้า นอกจากนี้ยังค้นหาเพิ่มให้เห็นเส้นทางสภาพการจราจรว่า ติดขัดมากน้อยเพียงใด โดยให้กดไปที่สัญลักษณ์ไฟจราจรบริเวณหน้าแอปพลิเคชันจะปรากฏเส้นทางสภาพการจราจรเป็นเส้นสีแดง สีเขียวและสีเหลือง             สิ่งที่ช่วยอำนวยความสะดวกเพิ่มเติมคือ สัญลักษณ์การค้นหาตำแหน่งของผู้ใช้สมาร์ทโฟนปัจจุบันได้ทันที โดยกดสัญลักษณ์ค้นหาตำแหน่งที่อยู่ถัดจากสัญลักษณ์ไฟจราจร เพื่อช่วยให้ไม่ต้องเสียเวลาหาจุดเริ่มต้นของการเดินทาง            ถ้าได้ใช้แอปพลิเคชันอย่างต่อเนื่อง และเห็นข้อผิดพลาดของข้อมูล หรือต้องการร้องเรียนการขับรถไม่สุภาพของรถโดยสารสาธารณะ หรือปัญหาอื่นๆ ที่ต้องการแจ้งเพื่อให้แก้ไขปรับปรุง สามารถแจ้งผ่านแอปพลิเคชันได้ทันที โดยกดปุ่มด้านบนซ้าย และเข้า Report             รีบดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน ViaBus มาไว้เลย เพียงเท่านี้ก็จะไม่ต้องกังวลว่าจะหลงทางอีกต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 212 ตรวจเลข อย.

              ฉบับนี้ขอแนะนำการตรวจสอบผลิตภัณฑ์และสินค้าด้วยการสังเกตสัญลักษณ์ อย. อย. คือ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีหน้าที่กำกับและตรวจสอบผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐาน โดยจะคุ้มครองดูแล 6 ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ได้แก่ อาหาร ยา เครื่องสำอาง วัตถุอันตราย เครื่องมือแพทย์ และวัตถุเสพติดทางการแพทย์ผลิตภัณฑ์เหล่านี้แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ต้องมีเครื่องหมาย อย. ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ต้องมี อย. กำกับอยู่ และผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่มีเครื่องหมาย อย. แต่ต้องมีเลขที่จดแจ้งหรือทะเบียนกำกับยาบนผลิตภัณฑ์การตรวจสอบเครื่องหมาย อย. หรือเลขที่จดแจ้งหรือทะเบียนกำกับยาบนผลิตภัณฑ์ทำให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าผลิตภัณฑ์มีมาตรฐานและมีการตรวจสอบอยู่สม่ำเสมอ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข จึงได้ทำแอปพลิเคชันที่มีชื่อว่า “อย. ตรวจเลข” โดยหน้าแรกของแอปพลิเคชันจะปรากฏช่องสำหรับพิมพ์หมายเลขค้นหา เพื่อตรวจสอบเลขผลิตภัณฑ์สุขภาพ หรือถ่ายรูปบริเวณสัญลักษณ์ อย. หรือใช้ระบบเสียงในการตรวจสอบหมายเลขได้ด้วย เมื่อใส่หมายเลขที่ต้องการตรวจสอบ ข้อมูลและรายละเอียดของผลิตภัณฑ์นั้นจะปรากฏขึ้น ได้แก่ สถานะปัจจุบันของผลิตภัณฑ์  ประเภทของผลิตภัณฑ์  เลขที่อนุญาต  ชื่อผลิตภัณฑ์  ชื่อผู้รับอนุญาต  สถานที่ผลิต  และที่อยู่สถานที่ผลิตภายในแอปพลิเคชันยังมีหมวดแจ้งเรื่องร้องเรียน กรณีที่ต้องการร้องเรียนผลิตภัณฑ์ต่างๆ ไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุขนอกจากแอปพลิเคชัน “อย. ตรวจเลข” แล้ว ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบเลขผ่านหน้าเว็บไซต์ http://porta.fda.moph.go.th/FDA_SEARCH_ALL/MAIN/SEARCH_CENTER_MAIN.aspx  หรือค้นหาด้วยคำว่า ตรวจสอบ อย. ซึ่งทั้งรูปแบบแอปพลิเคชันและหน้าเว็บไซต์ถือว่ามีประโยชน์กับผู้บริโภคมากถ้าอยากทราบว่าผลิตภัณฑ์ที่ใช้อยู่มีมาตรฐานหรือผ่านการตรวจสอบหรือไม่ ลองเข้าไปตรวจสอบเลขผลิตภัณฑ์ได้เลยนะคะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 211 หาเส้นทางแบบไม่ออนไลน์กับ maps.me

ฉบับนี้พามารู้จักกับแอปพลิเคชันสำหรับผู้ที่ใช้สมาร์ทโฟนแบบไม่ใช้อินเทอร์เน็ตตลอดเวลากัน และแอปพลิเคชันยังจะเหมาะสำหรับผู้ที่ชอบการเดินทางท่องเที่ยวหรือต้องเดินทางเพื่อไปทำงานในสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย   แอปพลิเคชันนี้มีชื่อว่า maps.me เป็นแอปพลิเคชั่นบอกเส้นทางการเดินทาง เหมือน Google Maps เพียงแต่มีข้อแตกต่างกันก็คือ แอปพลิเคชัน maps.me  สามารถใช้งานได้ในขณะที่ไม่ได้เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต  โดยในขั้นตอนแรกหลังจากดาวน์โหลดแอปพลิเคชันมาแล้ว แอปพลิเคชั่นจะให้ดาวน์โหลดข้อมูลเส้นทางทั้งหมดลงในเครื่องสมาร์ทโฟน ซึ่งจะทำให้ต้องใช้พื้นที่ในสมาร์ทโฟนมากสักหน่อย สิ่งนี้ก็อาจเป็นข้อเสียสำหรับผู้ที่ใช้สมาร์ทโฟนที่มีพื้นที่ความจุในเครื่องน้อย  ภายในแอปพลิเคชันจะสามารถค้นหาเส้นทางได้อย่างอิสระ หรือจะเลือกตามหมวดที่มีอยู่ภายในแอปพลิเคชัน ได้แก่ ค้นหาร้านอาหาร ค้นหาโรงแรม ค้นหาไวไฟ ค้นหาการขนส่ง ค้นหาร้านค้า ค้นหาปั๊มน้ำมัน ค้นหาแหล่งท่องเที่ยว ค้นหาธนาคาร ค้นหาโรงพยาบาล ค้นหาสถานีตำรวจ ค้นหาไปรษณีย์ ค้นหาตู้เอทีเอ็ม ค้นหาร้านขายยา หรือแม้กระทั่งค้นหาห้องน้ำ เป็นต้น    ลักษณะการใช้งานแอปพลิเคชัน เมื่อค้นหาสถานที่ที่ต้องการได้แล้ว แอปพลิเคชันจะแจ้งระยะทางและระยะเวลาที่จะไปถึงจุดหมายปลายทาง และให้กดปุ่มเริ่มต้นเส้นทางจะปรากฏเส้นทางการเดินทางขึ้น ซึ่งสามารถเลือกเส้นทางการเดินทางโดยใช้รถยนต์ การเดินเท้า ได้ตามต้องการ ทั้งนี้ถ้าต้องการที่จะเก็บข้อมูลเส้นทางการเดินทางในแต่ละครั้ง สามารถกดปุ่มบันทึกข้อมูลได้ แอปพลิเคชันจะจัดเก็บข้อมูลไว้เพื่อให้ผู้ใช้สามารถเรียกดูได้ และยังสามารถแชร์ข้อมูลไปยังเฟซบุ๊ค ไลน์ ทวิตเตอร์ เมล หรือแม้กระทั้งข้อความทางสมาร์ทโฟนอีกด้วย        นอกจากนี้เมื่อได้เจอโรงแรมที่ต้องการและทราบเส้นทางการเดินทางที่สะดวกแล้ว แอปพลิเคชันยังเพิ่มความสะดวกในการเข้าจองที่พักในโรงแรมนั้นได้ทันที โดยจะจองผ่านเว็บไซต์ booking.com หรือถ้าต้องการที่จะจองรถเพื่อเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางก็สามารถกดเรียกรถแท็กซี่ที่แอปพลิเคชันได้มีบริการไว้ได้เลย  ลองดาวน์โหลดมาใช้กันดูนะคะ แอปพลิเคชันนี้น่าจะมีประโยชน์สำหรับผู้ที่ไม่ค่อยได้เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต เพียงแค่มีแอปพลิเคชั่นนี้ก็สามารถเพิ่มความสะดวกให้กับการเดินทางได้แล้วค่ะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 210 กระแสในประเทศ

ความเคลื่อนไหวเดือนสิงหาคม 2561แนะใช้แอป  EMS 1669 ช่วยผู้ป่วยฉุกเฉิน         สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) พัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อตอบโจทย์การให้บริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินกับประชาชน ภายใต้ชื่อแอปพลิเคชัน EMS 1669 ซึ่งประชาชนสามารถเรียกรถพยาบาลได้ทันที สามารถระบุพิกัดตำแหน่งที่อยู่ของผู้ป่วยฉุกเฉินได้อย่างแม่นยำ ทำให้ทีมแพทย์ฉุกเฉินเข้าช่วยเหลือผู้ป่วยได้เร็วขึ้น เพียงแค่กดปุ่มสีแดงในแอป เรียกรถพยาบาล นอกจากนี้ยังสามารถแนบไฟล์ภาพเหตุการณ์เพื่อแจ้งสถานการณ์เพิ่มเติม และมีคำแนะนำในการปฏิบัติตัวเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินอีกด้วยปี 2574 ไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอดอธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์กล่าวว่า ไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมาตั้งแต่ปี 2548 โดยอาศัยข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งคาดว่าปี 2564 ไทยจะก้าวสู่สังคมสูงอายุระดับสมบูรณ์ และจะเข้าสู่สังคมสูงอายุระดับสุดยอด ในปี 2574 ซึ่งมีคนอายุ 65 ปีขึ้นไป เป็นสัดส่วนเท่ากับหรือมากกว่า 14% ประชากรทั้งหมด                ปัจจุบันไทยมีประชากรสูงอายุประมาณ 11 ล้านคน แบ่งเป็นกลุ่ม ติดสังคม 79.5 % ติดบ้าน 19 % และติดเตียง 1.5 % โดยมีสัดส่วนผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ลำพังมากถึง 10 % กรมกิจการผู้สูงอายุ ระบุแนวทางผลักดันและส่งเสริมให้ สังคมสูงอายุเป็นวาระแห่งชาติ โดยเร่งขับเคลื่อน 10 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1. การสร้างระบบคุ้มครองและสวัสดิการผู้สูงอายุ 2. การทำงานและการสร้างรายได้ 3. ระบบสุขภาพเพื่อรองรับสังคมสูงวัย 4. ปรับสภาพแวดล้อมชุมชนและบ้านให้ปลอดภัยกับผู้สูงอายุ  5. ธนาคารเวลา(สังคมไม่ทอดทิ้งกัน) โดยที่ผู้สูงอายุในชุมชนต้องได้รับการดูแล  6. การสร้างความรอบรู้ให้คนรุ่นใหม่ 7. กำหนดให้สังคมสูงอายุเป็นระเบียบวาระแห่งชาติ  8. การปรับเปลี่ยนกฎหมาย ระเบียบปฏิบัติข้อบังคับให้เอื้อต่อการทำงานด้าน ผู้สูงอายุ 9. ปฏิรูประบบข้อมูลเพื่อขับเคลื่อนงาน โดยมีฐานข้อมูลรายบุคคลของผู้สูงอายุ และ 10. พลิกโฉมนวัตกรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมสูงอายุงดเหล้าเข้าพรรษา ลดเสี่ยงตับอักเสบกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า คนไทยเสี่ยงต่อภาวะตับอักเสบโดยไม่รู้ตัว เพราะระยะแรกมักไม่มีอาการ จนละเลยการรักษา แต่เซลล์ตับจะถูกทำลายไปเรื่อยๆ จนเกิดตับแข็ง หรืออาจเป็นมะเร็งตับในที่สุด โดยตับอักเสบเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การติดเชื้อ ยา สารเคมี สารพิษต่างๆ ซึ่งเเอลกอฮอล์ ถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญที่ทำให้เกิดโรคตับอักเสบได้ โดยการดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ อาจทำให้เกิดอาการพิษต่อตับได้ทั้งระยะเฉียบพลัน และเรื้อรัง ทั้งนี้ นายแพทย์มานัส โพธาภรณ์ ผู้อำนวยการ รพ.ราชวิถี กล่าวเพิ่มเติมว่า ในผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากเป็นประจำ การหยุดดื่มทันทีอาจทำให้เกิดอาการกระสับกระส่าย ใจสั่น นอนไม่หลับ คลื่นไส้ อาเจียน และในบางคนอาจได้ยินเสียงแว่ว ประสาทหลอน สับสน และชักได้ ดังนั้นสำหรับผู้ที่ติดเหล้าเป็นเวลานาน อาจจำเป็นต้องพบแพทย์เพื่อขอคำแนะนำที่ถูกต้อง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 เป็นต้นมา โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการ เสียชีวิตอันดับ 1 ของประชากรไทย แซงหน้าการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตและหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคปอด กระทรวงสาธารณสุขได้เผยแพร่รายงานว่าในปี พ.ศ. 2559 ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตด้วย โรคมะเร็งประมาณ 77,566 คน เป็นเพศชาย 44,490 คน เป็นเพศหญิง 33,076 คน ซึ่งนอกจากจะเป็นสาเหตุ การตายอันดับหนึ่งของคนไทยแล้ว ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อีกด้วย โดยโรคมะเร็งที่คร่าชีวิตผู้ชายไทย 3 อันดับแรก ได้แก่ มะเร็งตับและท่อน้ำดี มะเร็งปอด มะเร็งลําไส้ใหญ่ ส่วนผู้หญิงไทยโรคมะเร็ง 3 อันดับแรก ได้แก่ มะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งเต้านมโฆษณาว่า ไขมันทรานส์ 0 % ระวังเข้าข่ายโอ้อวดเกินจริงน.ส.สุภัทรา บุญเสริม ผอ.สำนักอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แถลงข่าว ความจริงไขมันทรานส์ ว่า หลังจาก อย.ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนและอาหารที่มีน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน ทำให้เกิดไขมันทรานส์ขึ้น โดยมีผลวันที่ 9 ม.ค. 2562 นั้น ไม่อยากให้ประชาชนเกิดความตระหนก ยืนยันว่าน้ำมันที่ใช้ตามบ้าน ทั้งน้ำมันปาล์ม และน้ำมันพืช ยังสามารถใช้ได้ตามปกติ "ที่น่ากังวล คือ ขณะนี้มีผู้ประกอบการบางรายใช้โอกาสนี้โฆษณาว่า ผลิตภัณฑ์ปลอดไขมันทรานส์ หรือไขมันทรานส์ 0 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคเกิดความสับสน จึงขอให้ใช้ข้อความว่า ปราศจาก/ไม่ใช้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน ซึ่งเป็นแหล่งหลักของไขมันทรานส์ และแสดงปริมาณไขมันทรานส์ได้เฉพาะในกรอบโภชนาการแบบเต็มร่วมกับการแสดงส่วนประกอบอื่นๆ เท่านั้น โดยให้แสดงไว้ที่ตำแหน่งใต้ไขมันอิ่มตัว และใช้หลักเกณฑ์เดียวกับไขมันอิ่มตัว และเพื่อให้เป็นธรรม อย.จะมีการตรวจสอบว่าข้อความดังกล่าวเป็นจริง โดยการส่งตัวอย่างตรวจวิเคราะห์ ซึ่งต้องไม่เจอจริงๆ ถึงจะไม่เป็นการโอ้อวด ในกรณีฝ่าฝืน ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 2 ปี และปรับตั้งแต่ 5 พันบาท ถึง 2 หมื่นบาท" น.ส.สุภัทรา กล่าวผู้บริโภคยังร้องเรียน วินมอเตอร์ไซค์ขับขี่หวาดเสียว – เก็บค่าโดยสารเกินราคามูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และเครือข่ายผู้บริโภค 7 ภาคเผยข้อมูลเรื่องร้องเรียน ตั้งแต่ต้นปี 60 - ก.ค.61 พบผู้บริโภคร้องเรียนเกี่ยวกับรถโดยสารสาธารณะทั้งสิ้น 729 ราย โดยพบตั้งแต่ ถูกเรียกเก็บค่าโดยสารเกินอัตรา หรือแพงเกินกว่าที่ระบุบนป้ายแสดงค่าบริการ, ขับขี่เร็ว หวาดเสียว เกิดอุบัติเหตุ และใช้วาจาไม่สุภาพกับผู้โดยสาร โดยพบปัญหาการใช้บริการรถจักรยานยนต์รับจ้างเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งเกิดจากการที่ผู้บริโภคไม่รู้สิทธิตนเองโดยจากการประสานงานไปยังสำนักงานเขต และกรมการขนส่งเพื่อตรวจสอบข้อมูล ยังพบปัญหาว่าผู้ร้องเรียนไม่ได้จดจำเลขทะเบียน หรือเบอร์เสื้อวินรับจ้าง ทำให้ปัญหาเกิดความล่าช้า ดังนั้นหากผู้บริโภคพบวินรับจ้างที่ไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบ ให้จดจำวัน-เวลา และสถานที่เกิดเหตุ, ชื่อ-สกุล หรือเลขเสื้อวิน, เลขทะเบียน และร้องเรียนไปยัง กรมการขนส่งทางบก ผ่านสายด่วน 1584 หรือ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02-248-3737

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 210 เข้าถึงข้อมูลสิทธิประกันสังคม

เมื่อช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ผู้เขียนได้รับเอกสารฉบับหนึ่งจากสำนักงานประกันสังคม เป็นเอกสารแจ้งรายละเอียดเงินสมทบกรณีชราภาพ ตั้งแต่ปีที่เริ่มทำงานจนถึงปัจจุบัน ซึ่งทำให้เกิดกระแสในสังคมเกี่ยวกับการตรวจสอบเงินสมทบว่า สามารถตรวจสอบข้อมูลได้ที่ใดบ้าง  ฉบับนี้จึงขอมานำเสนอข้อมูลการเข้าตรวจสอบดังกล่าวให้ได้ทราบกันขอให้ความรู้สักนิดเกี่ยวกับสิทธิประกันสังคม โดยปกติการมีสิทธิประกันสังคมได้นั้น ต้องเป็นผู้ที่ทำงานและเป็นผู้ประกันตน ตามมาตรา 33 (ยังทำงานในสถานประกอบการ) หรือเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 (ออกจากงานและยังส่งเงินประกันสังคมต่อ) แต่ปัจจุบันมีมาตรา 40 ขึ้นมาเพื่อรองรับประชาชนที่ต้องการมีสิทธิประกันสังคมในเรื่องการทดแทนการขาดรายได้ ทุพพลภาพ เงินชราภาพและกรณีเสียชีวิต แต่ใช้สิทธิการรักษาพยาบาลบัตรทอง 30 บาท         กลับมาที่เรื่องการเข้าถึงข้อมูลสิทธิประกันสังคมให้เข้าไปที่เว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม                    ได้ทั้งทางคอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟน เริ่มต้นจากการคลิกสมัครสมาชิก โดยเว็บไซต์จะให้กรอกเลขบัตรประจำตัวประชาชน รหัสผ่านที่ตั้งขึ้น ชื่อนามสกุล เบอร์มือถือ วันเกิดและเมล จากนั้นระบบจะส่งรหัส OTP เข้าเบอร์มือถือที่ให้ไว้ และนำไปกรอกบนหน้าเว็บไซต์ คลิกยืนยัน  หลังจากนั้นให้กรอกเลขบัตรประจำตัวประชาชน และรหัสผ่านที่ตั้งขึ้น เพื่อเข้าสู่ระบบ ต่อจากนั้นผู้อ่านสามารถคลิกเข้าไปที่คำว่าผู้ประกันตน ซึ่งภายในจะมีข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิประกันสังคม ดังนี้ ข้อมูลผู้ประกันตน ข้อมูลการส่งเงินสมทบ ยื่นแบบขอเปลี่ยนสถานพยาบาล ประวัติการเปลี่ยนแปลงสถานพยาบาล การใช้สิทธิประโยชน์ทดแทน การคำนวณเงินสงเคราะห์ชราภาพ และตรวจสอบข้อมูลใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ในข้อมูลผู้ประกันตน จะแจ้งข้อมูลชื่อนามสกุล เลขบัตรประจำตัวประชาชน สถานพยาบาลที่เลือกไว้ ในส่วนข้อมูลการส่งเงินสมทบ จะแสดงรายละเอียดงวดเงินสมทบ วันที่ชำระเงิน จำนวนเงินสมทบที่นำส่ง โดยจะมีข้อมูลแยกเป็นรายเดือน สำหรับการใช้สิทธิประโยชน์ทดแทน เป็นการแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับสิทธิที่ผู้ประกันตนเคยขอรับ อย่างเช่น กรณีการทำฟันที่จะเบิกได้ปีละ 900 บาท เป็นต้น ต่อไปเป็นการคำนวณเงินสงเคราะห์ชราภาพ จะเป็นรายละเอียดเงินสมทบของผู้ประกันตนและนายจ้างเป็นยอดรวมจำนวนเงินในแต่ละปี ซึ่งเป็นหัวข้อที่ทำให้ผู้ประกันตนรู้ว่าเงินออมที่จะได้รับเมื่อสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตนมีจำนวนเท่าไร เรื่องการยื่นแบบขอเปลี่ยนสถานพยาบาล ก็จะใช้เมื่อต้องการเปลี่ยนแปลงสถานพยาบาล ซึ่งจะสอดคล้องกันกับเรื่องประวัติการเปลี่ยนแปลงสถานพยาบาล อันสุดท้ายคือเรื่องตรวจสอบข้อมูลใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ จะใช้สำหรับผู้ที่ต้องการใบเสร็จรับเงินโดยต้องสมัครขอรายละเอียดในเรื่องนี้ตามขั้นตอนต่อไป หลายคนอาจไม่เคยรู้รายละเอียดเกี่ยวกับการจ่ายเงินประกันสังคมของตนเองเลย หรืออาจไม่เคยเข้าใจว่าเมื่อสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตนแล้วจะมีเงินจำนวนหนึ่งที่เป็นเงินสงเคราะห์ชราภาพหรือเงินออม ดังนั้นการได้รู้และเข้าถึงข้อมูลของตนเองถือว่าเป็นสิทธิและเป็นข้อดีสำหรับเราแม้ว่าคนไหนจะเคยทำงานเมื่อนานมาแล้ว และไม่ได้ทำงานมาหลายปี แต่มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ ซึ่งถือว่าสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตน ก็สามารถติดต่อขอรับสิทธิเงินสงเคราะห์ชราภาพหรือเงินออมได้ที่สำนักงานประกันสังคมได้เช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 209 ปรึกษาคุณหมอกับแอปพลิเคชัน Raksa

ช่วงนี้ฝนตกบ่อย ดูแลสุขภาพตัวเองด้วยนะคะอากาศร้อนสลับกับเย็นด้วยสายฝนที่โปรยปรายลงมา ทำให้หลายคนต้องเข้าสู่สภาวะเจ็บป่วย ไม่ว่าจะจาม ไอ มึนหัว ไข้หวัดธรรมดาไปจนถึงไข้หวัดใหญ่ หรือแม้กระทั่งโรคภัยไข้เจ็บที่ตามมาหลังจากสุขภาพร่างกายอ่อนแอจนไม่สามารถต้านทานเชื้อโรคต่างๆ ได้สิ่งที่ทำได้เบื้องต้นนั่นคือพยายามรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการดูแลการกิน การพักผ่อนให้เพียงพอ การใช้ยารักษาโรค เป็นต้น แต่ถ้าโรคภัยไข้เจ็บถามหาแล้ว ก็คงต้องปรึกษาคุณหมอโดยด่วน  ฉบับนี้ขอแนะนำแอปพลิเคชันที่มีชื่อว่า Raksa ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่รวมคุณหมอที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ รวมไว้ ได้แก่ อายุรแพทย์  กุมารแพทย์  สูตินรีแพทย์  แพทย์ระบบประสาทและสมอง  แพทย์ทางเดินปัสสาวะ แพทย์เวชศาสตร์ทั่วไป แอปพลิเคชัน Raksa เป็นช่องทางหนึ่งที่ช่วยให้ผู้ที่ไม่มีเวลาว่างและไม่สะดวกไปพบคุณหมอที่โรงพยาบาล โดยต้องไม่เป็นโรคเฉียบพลัน ควรเป็นเพียงการขอคำปรึกษาและวินิจฉัยในเบื้องต้น ซึ่งทำให้รู้วิธีการปฏิบัติตัวให้ถูกต้องตามคำแนะนำจากคุณหมอผ่านการส่งข้อความ การคุยผ่านโทร และการคุยผ่านวิดีโอ แต่ละวิธีที่เลือกขึ้นอยู่กับความเหมาะสมเมื่อดาวน์โหลดแอปพลิเคชันแล้ว จะเริ่มจากการลงทะเบียนโดยใช้เบอร์มือถือ หลังจากเข้ามาในแอปพลิเคชัน จะมีหมวดหน้าหลัก หมวดคุณหมอ หมวดแจ้งเตือน หมวดรู้โรค และหมวดส่วนตัว โดยหมวดหน้าหลักจะแสดงว่าคุณหมอท่านใดออนไลน์อยู่หรือกำลังให้คำปรึกษาอยู่บ้าง และรายละเอียดตารางเวลาที่สามารถปรึกษาแพทย์ที่เชี่ยวชาญในแต่ละด้านได้ฟรีหมวดคุณหมอ จะบอกรายละเอียดคุณหมอทั้งหมดที่แอปพลิเคชันนี้มีอยู่ โดยจะมีประวัติ สถานที่ทำงาน ความเชี่ยวชาญของคุณหมอ นอกจากนี้ถ้าต้องการคุยกับคุณหมอที่ยังไม่ออนไลน์ สามารถกดสัญลักษณ์แจ้งเตือนเมื่อคุณหมอท่านนั้นออนไลน์ ซึ่งจะไปปรากฏอยู่ในหมวดแจ้งเตือนนั่นเอง  ส่วนหมวดรู้โรค จะบอกข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรักษา และโรคภัยไข้เจ็บ สุดท้ายหมวดส่วนตัว จะเป็นข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้แอปพลิเคชันแต่...คุณหมอบางท่านอาจมีการเก็บค่าให้คำปรึกษากับผู้ใช้แอปพลิเคชันนี้ โดยราคาจะแจ้งไว้ตรงสัญลักษณ์ที่จะเลือก ได้แก่ การส่งข้อความ การคุยผ่านโทร และการคุยผ่านวิดีโอ เพื่อเป็นการให้ตัดสินใจก่อนว่าจะจ่ายเงินหรือไม่ ส่วนขั้นตอนการเติมเงินมีบริการภายในแอปพลิเคชันเรียบร้อย ถ้าอยากปรึกษาคุณหมอในแอปพลิเคชันนี้ แนะนำว่าให้ดูตารางเวลาคุณหมอที่จะใช้คำปรึกษาฟรีน่าจะดีที่สุด 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 205 แอปพลิเคชันสำหรับผู้สอบใบขับขี่

แม้ว่าการเดินทางโดยใช้รถโดยสารสาธารณะ ซึ่งมีทั้งรถเมล์ รถแท็กซี่ รถไฟฟ้า จะช่วยให้มีความสะดวกสบายในการเดินทางระดับหนึ่ง แต่การมีรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์เป็นของตนเองนั้นก็ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมาก เนื่องจากการใช้รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ส่วนตัวช่วยทำให้การเดินทางมีความสะดวกสบายมากกว่าการใช้รถโดยสารสาธารณะ จึงทำให้มีผู้ที่ต้องการสอบใบขับขี่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน เมื่อมีการซื้อรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ใหม่ ผู้สอบใบขับขี่มือใหม่จึงต้องศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการสอบใบขับขี่เพื่อให้เกิดความเข้าใจและสร้างความมั่นใจในการสอบใบขับขี่ โดยเฉพาะแอปพลิเคชันที่จะคอยให้ข้อมูลและรายละเอียดเกี่ยวกับการสอบใบขับขี่รถยนต์และรถจักรยานยนต์ได้อย่างรวดเร็ว อย่างแอปพลิเคชั่น “สอบใบขับขี่”  ในหน้าแรกของแอปพลิเคชั่น “สอบใบขับขี่” จะมีหมวดต่างๆ ดังนี้ หมวดการขับขี่รถยนต์ หมวดการขับขี่รถจักรยานยนต์ หมวดแนวข้อสอบพร้อมเฉลย หมวดคลิปสอบปฏิบัติ หมวดตะลุยข้อสอบ หมวดรอบรู้เรื่องขับขี่ หมวดข่าวสารรถยนต์ และหมวดผู้ฝึกขับขี่ หมวดการขับขี่รถยนต์และหมวดการขับขี่รถจักรยานยนต์ ภายในสองหมวดนี้จะมีข้อมูลแบ่งเป็น 8 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นที่ 1 การฝึกพื้นฐานการขับขี่ ซึ่งกล่าวถึงบรรยากาศการสอบใบขับขี่ทั่วไป ขั้นที่ 2 เรื่องคุณสมบัติและเอกสารของผู้ขอรับใบขับขี่ ขั้นตอนการดำเนินการ ขั้นที่ 3 เลือกสถานที่สอบ ซึ่งสามารถค้นหาสถานที่สอบตามจังหวัดว่าอยู่ที่ใด พร้อมมีเบอร์ติดต่อ ขั้นที่ 4 ระเบียบการสอบ โดยแบ่งเป็นการสอบสมรรถภาพ การสอบข้อเขียน การสอบภาคปฏิบัติและคลิปสอบปฏิบัติ ซึ่งจะแจ้งข้อมูลว่าต้องสอบในลักษณะใด ขั้นที่ 5 ทบทวนข้อสอบที่ใช้ในการสอบใบขับขี่  ขั้นที่ 6 เรื่องเทคนิคการสอบภาคปฏิบัติ ซึ่งเป็นตัวอย่างขณะที่สอบว่าควรทำอย่างไรบ้าง ขั้นที่ 7 เป็นการเรียนรู้ความผิดพลาดที่ผู้ที่เคยสอบใบขับขี่เคยผิดพลาด และขั้นที่ 8 การจองคิวออนไลน์เฉพาะในกรุงเทพฯ ซึ่งจะลิ้งไปยังเว็บไซต์กรมการขนส่งทางบกหมวดแนวข้อสอบพร้อมเฉลย เป็นหมวดที่รวบรวมแนวข้อสอบที่มีคำเฉลยโดยแบ่งเป็น 5 เรื่อง คือ กฎหมายว่าด้วยรถยนต์และรถจักรยานยนต์ กฎหมายจราจรทางบก เครื่องหมายจราจร มารยาทและจิตสำนึก และหมวดการบำรุงรักษารถ ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกันกับหมวดตะลุยข้อสอบ แต่ในหมวดตะลุยข้อสอบจะให้ฝึกตอบคำถามสำหรับผู้ที่จะสอบใบขับขี่ด้วยตนเองส่วนหมวดรอบรู้เรื่องขับขี่ จะรวบรวมคำถามที่พบบ่อย อย่างเช่น การขับรถเกียร์ออโต้ ชนิดของใบขับขี่ การต่ออายุใบขับขี่ อัตราภาษีรถตาม พ.ร.บ. กฎหมายเมาแล้วขับ มาตรการบันทึกคะแนน วิธีการเปลี่ยนใบขับขี่แบบใหม่ เป็นต้นสำหรับหมวดคลิปสอบปฏิบัติ จะแบ่งเป็นคลิปสอบรถยนต์และรถจักรยานยนต์ หมวดข่าวสารรถยนต์ ซึ่งรวบรวมข่าวสารที่เกี่ยวข้อง และหมวดผู้ฝึกขับขี่จะเป็นเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ สำหรับผู้ฝึกขับขี่มือใหม่ผู้ที่สนใจจะสอบใบขับขี่ลองดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน “สอบใบขับขี่” มาลองศึกษาข้อมูลและลองฝึกตอบคำถามเพื่อเตรียมตัวในการสอบใบขับขี่ ซึ่งมีประโยชน์อย่างมากสำหรับผู้สอบใบขับขี่ครั้งแรก รวมถึงผู้ที่ต้องการต่อใบขับขี่ เพื่อเป็นการรื้อฟื้นข้อมูลเมื่อต้องไปต่อใบขับขี่อีกครั้ง 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 204 ดูหนังออนไลน์แบบถูกลิขสิทธิ์ เจ้าไหนน่าใช้บริการที่สุด

พฤติกรรมการดูภาพยนตร์ของคนยุคปัจจุบันเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างมาก การรับชมภาพยนตร์เฉพาะแค่ในโรงภาพยนตร์หรือหน้าจอโทรทัศน์อาจจะไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป คนที่ชื่นชอบการชมภาพยนตร์หลายคนเริ่มหันมารับชมผ่านทางสื่อออนไลน์ โซเชียลมีเดีย ในอุปกรณ์อย่าง สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต และคอมพิวเตอร์กันมากขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และแม้ว่า ณ เวลานี้ในสื่อออนไลน์จะเต็มไปด้วยการเผยแพร่ภาพยนตร์ละเมิดลิขสิทธิ์ แต่สำหรับคนที่อยากสนับสนุนของถูกลิขสิทธิ์ก็ยังมีบริการให้รับชมภาพยนตร์ออนไลน์แบบถูกกฎหมายไว้คอยบริการอยู่จำนวนไม่น้อย ซึ่งปัจจุบันเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ บวกกับในต่างประเทศเริ่มมีการผลิตภาพยนตร์และซีรี่ส์เพื่อฉายทางเว็บไซต์และแอปพลิเคชันสำหรับรับชมทางออนไลน์โดยเฉพาะฉลาดซื้อฉบับนี้ขอเอาใจคนชอบดูหนังที่อยากรับชมหนังและซีรี่ส์เรื่องดังผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ มือถือ หรือ แท็บแล็ต ด้วยผลทดสอบเปรียบเทียบ เว็บไซต์และแอปพลิเคชันที่ให้บริการวิดีโอสตรีมมิ่ง (Streaming Video) ฉายภาพยนตร์ผ่านระบบออนไลน์แบบถูกลิขสิทธิ์ตารางเปรียบเทียบบริการของเว็บไซต์และแอปพลิเคชันดูภาพยนตร์ออนไลน์แบบถูกลิขสิทธิ์ฉลาดซื้อแนะนำ-Netflix, iflix และ Hooq ถือเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจที่สุดสำหรับคนที่อยากรับชมภาพยนตร์และซีรี่ส์ออนไลน์เพื่อบอกเลิกการเป็นสมาชิก เพราะมีปริมาณให้เลือกชมเยอะ มีความหลากหลาย มีการอัพเดทคอนเทนต์ใหม่ๆ ตลอดเวลา ที่สำคัญคือภาพยนตร์และซีรี่ส์ที่มีให้ชม ส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่มีชื่อเสียงและเป็นที่นิยมในปัจจุบัน-Netflix, iflix และ Hooq ถือเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจที่สุดสำหรับคนที่อยากรับชมภาพยนตร์และซีรี่ส์ออนไลน์เพื่อบอกเลิกการเป็นสมาชิก เพราะมีปริมาณให้เลือกชมเยอะ มีความหลากหลาย มีการอัพเดทคอนเทนต์ใหม่ๆ ตลอดเวลา ที่สำคัญคือภาพยนตร์และซีรี่ส์ที่มีให้ชม ส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่มีชื่อเสียงและเป็นที่นิยมในปัจจุบัน-ส่วนจะเลือกใช้บริการเจ้าไหนก็ขึ้นอยู่กับ เนื้อหาของภาพยนตร์และซีรี่ส์ที่ต้องการรับชม ดังนั้นควรเข้าไปสำรวจดูเนื้อหาที่มีให้ชมของแต่ละเจ้า ก่อนตัดสินใจสมัครใช้บริการ-การจ่ายค่าบริการแบบตัดเงินผ่านบัตรเครดิต ผู้ให้บริการจะทำการตัดเงินต่ออายุสมาชิกแบบอัตโนมัติ ดังนั้นหากต้องการยุติการใช้บริการต้องทำให้การติดต่อกับทางผู้บริการ เพื่อบอกเลิกการเป็นสมาชิก-นอกจากการดูภาพยนตร์แบบถูกลิขสิทธิ์ผ่านเว็บไซต์สตรีมมิ่งและแอปพลิเคชันที่เปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบัน เรายังสามารถรับชมภาพยนตร์แบบถูกลิขสิทธ์ผ่านทางมือถือผ่านแอปพลิเคชันอย่าง Google Play Store ในมือถือระบบแอนดรอยด์ และ Itunes ในมือถือระบบ IOS ซึ่งมีภาพยนตร์จำนวนมากจำหน่ายให้กับใครที่อยากรับชมแบบถูกลิขสิทธิ์บนมือถือและแท็บเล็ต โดยมีให้เลือกทั้งแบบเช่า คือเปิดดูได้ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต กับแบบขายขาด สามารถโหลดเก็บไว้ดูภายหลังได้ โดยราคาแบบเช่าจะเริ่มที่ 60 บาท ส่วนราคาแบบขายขาดเริ่มที่ 280 บาท

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า500 Point

ฉบับที่ 202 อุ่นใจกับแอปพลิเคชัน “Fast Track”

เมื่อไม่นานมานี้ผู้เขียนได้รับรู้เรื่องราวของรุ่นน้องคนหนึ่งที่ต้องเสียชีวิตอย่างกะทันหันด้วยอายุเพียงสามสิบปี ซึ่งเป็นช่วงวัยทำงานในสายงานที่กำลังเจริญก้าวหน้าอย่างมาก และเป็นบุคคลที่มีแต่คนรัก รุ่นน้องได้เข้ารักษาตัวด้วยอาการรู้สึกเหนื่อยหอบผิดปกติ การเข้าโรงพยาบาลครั้งนี้ใช้เวลาเพียง 9 วันเท่านั้น รุ่นน้องก็จากพวกเราไปอย่างสงบด้วยโรคมะเร็ง แม้ว่ารุ่นน้องจะตรวจสุขภาพเป็นประจำ แต่ไม่เคยพบความผิดปกติแต่อย่างใด เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผู้เขียนอยากแบ่งปันให้ผู้อ่านได้ฟังเพื่อเป็นข้อคิดเตือนใจไว้ ว่าโรคภัยไข้เจ็บเป็นสิ่งใกล้ตัว ต้องคอยหมั่นดูแลสุขภาพตนเองตลอดเวลา และควรใส่ใจความผิดปกติของร่างกายอย่างสม่ำเสมอ แต่ไม่ต้องถึงขนาดวิตกกังวลจนเกินไปฉบับนี้ผู้เขียนอยากแนะนำแอปพลิเคชันที่คอยให้ความรู้ความเข้าใจและช่วยเหลือกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินต่างๆ เมื่อเกิดสิ่งผิดปกติกับร่างกาย แอปพลิเคชันนี้มีชื่อว่า “Fast Track” เป็นแอปพลิเคชันที่ร่วมมือกันระหว่างกรมการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และกลุ่มวิจัยโรคหลอดเลือดสมองภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่นภายในแอปพลิเคชันจะแบ่งเป็น 7 หมวด ได้แก่ หมวดที่ 1 เป็นสัญลักษณ์เรียกรถพยาบาล เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินต้องการเรียกรถพยาบาลสามารถคลิกที่สัญลักษณ์นี้ได้ทันที โดยรถพยาบาลจะมาถึงภายใน 15 นาที หมวดที่ 2 เป็นเรื่องการให้ความรู้โรคหลอดเลือดสมอง  หมวดที่ 3 เป็นเรื่องการให้ความรู้โรคหัวใจ  หมวดที่ 4 เป็นเรื่องการให้ความรู้เกี่ยวกับอุบัติเหตุและฉุกเฉิน โดยภายในหมวดที่ 2 - 4 จะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มบทความ ซึ่งเป็นบทความความรู้ที่อธิบายถึงโรคหลอดเลือดสมอง  โรคหัวใจ และอุบัติเหตุและฉุกเฉินโดยผู้เชี่ยวชาญของแต่ละหมวด กลุ่มวิดีโอ ซึ่งเป็นวิดีโอที่เกี่ยวข้องในแต่ละหมวด และกลุ่มแบบประเมินความเสี่ยง โดยในแต่ละหมวดจะมีแบบทดสอบสำหรับประเมินความเสี่ยงเพื่อประมวลผลความเสี่ยงที่จะเกิดโรคเหล่านั้นหมวดที่ 5 เป็นรายชื่อโรงพยาบาลที่แอปพลิเคชันจะคำนวณหาโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดในขณะนั้น หรือค้นหาโรงพยาบาลที่ต้องการ โดยมีระยะทาง เบอร์โทรศัพท์สำหรับติดต่อ และแผนที่เพื่อบอกทางไปโรงพยาบาล ต่อไปเป็นหมวดที่ 6 เป็นหมวดหนังสือ เพื่อให้ความรู้โรคต่างๆ และหมวดสุดท้ายคือ หมวดภาพความรู้ เป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับโรคผ่านภาพอินโฟกราฟฟิก เพื่อให้เข้าใจมากยิ่งขึ้นนอกจากนี้แอปพลิเคชันยังสามารถกรอกข้อมูลของตนไว้ ตั้งแต่ชื่อนามสกุล เบอร์ติดต่อ ที่อยู่ น้ำหนัก ส่วนสูง อายุ เพศ เบอร์ติดต่อญาติ ประวัติการแพ้ยา โรคประจำตัว ข้อมูลโรงพยาบาลที่เคยรักษา เพื่อเป็นข้อมูลให้กับโรงพยาบาลเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินได้ด้วยอย่างน้อยการมีแอปพลิเคชัน “Fast Track” นี้ไว้บนสมาร์ทโฟนก็ช่วยให้รู้สึกอุ่นใจ ทำให้รู้สึกว่าอยู่ใกล้หมอ เพราะไม่มีใครรู้ว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นกับตัวเราและคนใกล้ชิดบ้าง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 199 ให้แอปนำทาง

ฉลาดซื้อฉบับนี้มีผลทดสอบความสามารถของ แอปพลิเคชั่นนำทาง ที่โหลดมาใช้ได้ในสมาร์ทโฟนทั้งระบบ Android และ iOS การทดสอบนี้ สมาชิกองค์กรทดสอบระหว่างประเทศในยุโรปร่วมกันทำไว้ ระหว่างครึ่งหลังของปี 2550 และครึ่งแรกของปี 2560 คะแนนที่ให้แบ่งออกเป็นด้านต่างๆ ดังนี้ประสิทธิภาพในการนำทาง ร้อยละ 45ความสะดวกในการใช้งาน ร้อยละ 35การแสดงข้อมูลการจราจร ร้อยละ 10ความหลากหลายของฟังก์ชั่น ร้อยละ 5ความสามารถเฉพาะของระบบ ร้อยละ 5ในภาพรวมยังไม่มีแอปที่ได้คะแนนประสิทธิภาพการทำงานหรือความสะดวกในการใช้งานในระดับ 5 ดาว แต่ก็ถือว่าเรามาถูกทางกันแล้วเพราะส่วนใหญ่ได้คะแนนไปถึง 4 ดาว 

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า500 Point

ฉบับที่ 194 ฟังเพลงผ่านแอปพลิเคชันแบบ Music streaming

การฟังเพลง เป็นส่วนหนึ่งของความบันเทิงในชีวิตประจำวันสำหรับใครหลายคน ซึ่งสามารถช่วยผ่อนคลายความเครียดหรือทำให้อารมณ์ดีขึ้นได้ อย่างไรก็ตามช่องทางการฟังเพลงได้มีการเปลี่ยนรูปแบบไปเรื่อยๆ ตามยุคสมัย โดยปัจจุบันเราจะพบว่าคนมักฟังเพลงผ่านแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือกันมากขึ้น ซึ่งหากใครที่ชื่นชอบการฟังเพลงด้วยวิธีดังกล่าว อาจคุ้นหูหรือเคยได้ลองใช้แอปพลิเคชันฟังเพลงแบบ Music streaming กันมาบ้างแล้ว แต่หากใครที่ยังไม่แน่ใจว่า Music streaming คืออะไร เราลองไปดูกันเลยMusic streaming เป็นทางเลือกใหม่สำหรับการฟังเพลงที่ถูกกฎหมาย โดยอนุญาตให้ผู้ใช้งานสามารถซื้อเพลงได้ไม่จำกัดจำนวนเพลง ซึ่งสามารถดาวน์โหลดเพลงเหล่านั้นไว้ในแอป เพื่อเก็บไว้ฟังเมื่อไม่ได้เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต หรือกำลังออฟไลน์ได้อีกด้วย ในราคาเหมาจ่ายเดือนต่อเดือน นั่นหมายความว่าหากเดือนไหนที่ผู้ใช้งานไม่เสียค่าบริการก็จะไม่สามารถฟังเพลงที่เคยซื้อหรือดาวน์โหลดไว้ได้ (ต่างจากการซื้อเพลงแบบเดิมที่ฟังได้ตลอดไป เพราะเป็นการซื้อเพลงต่อเพลง) ส่วนคุณภาพของเสียงเพลงก็มีความคมชัดคล้ายกับการฟังผ่านซีดีเลยทีเดียว อย่างไรก็ตามการฟังเพลงด้วยวิธีการดังกล่าวในบ้านเรา ยังถือว่าอยู่ในช่วงระยะทดลอง ทำให้แอปพลิเคชันฟังเพลงหลายเจ้ามีบริการทดลองใช้งานฟรี เพื่อให้ผู้บริโภคได้ตัดสินใจว่า การฟังเพลงด้วยวิธีดังกล่าวตอบโจทย์ความต้องการหรือไม่ ฉลาดซื้อฉบับนี้จึงขอเอาใจคนชอบฟังเพลง ด้วยการรวบรวมแอปพลิเคชันฟังเพลงแบบ Music streaming ที่ได้เปิดบริการในประเทศไทยและสามารถใช้งานได้จริง รวมทั้งกำลังเป็นที่นิยมในขณะนี้ จำนวน 6 แอปพลิเคชันมาทดสอบ เพื่อดูว่าเจ้าไหนราคาคุ้มค่าและใช้งานได้เสถียรดีไม่มีปัญหามากที่สุด ซึ่งผลการทดสอบจะเป็นอย่างไร ลองไปดูกัน  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า500 Point