ฉบับ 203 อะฟลาทอกซินเอ็มวัน ในนมรสธรรมชาติและนมโรงเรียน

โครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพอะฟลาทอกซินเอ็มวันในนมรสธรรมชาติและนมโรงเรียน นมโคเป็นอาหารที่มีสารอาหารเกือบครบถ้วนสมบูรณ์ โดยเฉพาะโปรตีนและแคลเซียมในนมนั้นมีส่วนช่วยในการเจริญเติบโตและซ่อมแซมส่วนที่ร่างกายเสื่อมไป จึงเหมาะเป็นอาหารสำหรับคนทุกวัย การบริโภคนมของไทยค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 18 ลิตร/คน/ปี โดยในปี 2559 มีมูลค่าการตลาดประมาณ 60,000 ล้านบาท เนื่องจากนมเป็นแหล่งอาหารที่ดีจึงมีการส่งเสริมให้เด็กไทยได้ดื่มนมฟรีหรือที่เรียกว่า นมโรงเรียนด้วย ดังนั้นเพื่อเป็นการเฝ้าระวังในเรื่องความปลอดภัยในอาหารที่มีคนเป็นจำนวนมากเข้ามาเกี่ยวข้อง ฉลาดซื้อและโครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค จึงอาสาสอดส่องเรื่องของนม โดยลำดับแรกเป็นเรื่องของการทดสอบหาปริมาณสารพิษจากเชื้อรา อะฟลาทอกซิน เอ็ม 1 (อะฟลาทอกซิน ชนิด บี 1 ถ้าอยู่ในน้ำนมจะเรียกว่า อะฟลาทอกซิน เอ็ม 1) ซึ่งเป็นสารพิษธรรมชาติชนิดร้ายแรงต่อมนุษย์ ซึ่งแม้ได้รับในปริมาณน้อยก็ทำให้เกิดพิษต่อร่างกายได้ การเก็บตัวอย่างครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคจาก 6 ภูมิภาครวมทั้งอาสาสมัครผู้บริโภคในเขตกรุงเทพฯ ช่วยเก็บตัวอย่างนมโรงเรียนจำนวนรวมทั้งสิ้น 14 ตัวอย่าง และทีมฉลาดซื้อได้สุ่มเก็บตัวอย่างนมรสธรรมชาติทุกประเภทจากห้างค้าปลีกและร้านสะดวกซื้ออีกจำนวน 13 ตัวอย่าง รวมเป็นจำนวนตัวอย่างทั้งสิ้น 27 ตัวอย่าง เพื่อทดสอบหาปริมาณอะฟลาทอกซินเอ็ม 1 การทดสอบใช้ห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน โดยค่าต่ำสุดที่สามารถระบุได้คือ 0.03 ไมโครกรัม/กิโลกรัม ผลทดสอบทุกตัวอย่างผ่านเกณฑ์มาตรฐานผลทดสอบพบว่า ทุกตัวอย่างผ่านเกณฑ์มาตรฐานทั้งของไทย และโคเด็กซ์(CODEX) โดยเกณฑ์มาตรฐานของไทยนั้นยังไม่มีการระบุเฉพาะเจาะจงของค่าปริมาณอะฟลาทอกซินเอ็ม 1 ในน้ำนม จึงใช้อิงตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 พ.ศ.2529 ที่กำหนดให้มีการปนเปื้อนของอะฟลาท็อกซินได้ไม่เกิน 20 พีพีบี (20  ส่วนในพันล้านส่วน) หรือ 20 ไมโครกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม ส่วนมาตรฐานของ USFDA และ CODEX กำหนดไว้อย่างชัดเจนเรื่อง ปริมาณอะฟลาทอกซิน เอ็ม 1 ในน้ำนม ต้องไม่เกิน 0.5 ไมโครกรัม/กิโลกรัม จากตัวอย่างจำนวน 27 ตัวอย่างนั้น ตรวจพบอะฟลาทอกซินเอ็ม 1 ในช่วง น้อยกว่า 0.03-0.08 ไมโครกรัม/กิโลกรัม การตรวจพบในปริมาณที่น้อยนี้นับว่าเป็นผลดีต่อสุขภาพของผู้บริโภค 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 202 ความร่วมมือกับความปลอดภัยรถรับส่งนักเรียน

วันที่ 6 – 7 ธันวาคมที่ผ่านมา มีงานใหญ่ที่รัฐบาลโดยศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจัดขึ้นทุกสองปี นั่นคือ งานสัมมนาระดับชาติ เรื่อง ความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 13 ที่ครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้แนวความคิด “ลงทุนเพื่อความปลอดภัยทางถนนที่ยั่งยืน” ภายในงานมีหัวข้อเสวนาที่น่าสนใจหลายอย่าง แต่ที่อยากจะมาบอกกล่าวกันในวันนี้ คือ ห้องย่อยที่ 3 ยานพาหนะปลอดภัย ในหัวข้อหลัก “ทิศทางและบทเรียนการจัดการปัญหารถรับส่งนักเรียนในระดับพื้นที่” การเสวนาในวันนั้นเป็นการนำเสนอรูปแบบและวิธีการจัดการปัญหารถรับส่งนักเรียนจากหลายภาคส่วน เพื่อหาข้อสรุปที่นำไปสู่การสนับสนุนให้เกิดความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม ทั้งเรื่องการจัดการความปลอดภัยและมาตรฐานรถที่จะนำมารับส่งนักเรียน เพราะที่ผ่านมาทุกคนต่างรับรู้และเห็นถึงปัญหารถรับส่งนักเรียนกันอย่างดีแล้วว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยหน่วยงานใดเพียงหน่วยงานเดียว เหตุเพราะปัญหารถรับส่งนักเรียนนั้นมีความซับซ้อนมากกว่าแค่เรื่องสภาพรถ ที่ส่วนใหญ่เป็นรถที่ไม่ปลอดภัย และไม่เหมาะในการนำมาวิ่งให้บริการรถรับส่งนักเรียน ซึ่งพอจะสรุปได้เป็นสี่ประเด็นหลัก ดังนี้ ประการที่หนึ่ง ระบบขนส่งสาธารณะที่ล้มเหลว ซึ่งรองรับได้แค่กรุงเทพมหานครและตัวเมืองชั้นในของจังหวัดใหญ่เท่านั้น ทำให้การเดินทางไปโรงเรียนของเด็กมีความยากลำบากเพิ่มขึ้น ประการที่สอง นโยบายการศึกษาที่ยุบโรงเรียนเล็กไปรวมกันหรือการให้โรงเรียนระดับท้องถิ่นเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนดังส่งผลเกิดค่านิยมในการเรียนโรงเรียนใหญ่ที่จะทำให้เด็กมีการศึกษาที่ดีขึ้น ทำให้เด็กต้องเดินทางไกลขึ้นจากเดิมเพื่อไปเรียนให้ได้ ประการที่สาม ทัศนคติของครูอาจารย์ที่ยังไม่เห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นที่จะต้องมีระบบจัดการรถรับส่งนักเรียนและคิดว่าเป็นภาระที่เพิ่มเติมนอกเหนือจากงานที่มีอยู่ และประการที่สี่ ความไม่ใส่ใจในความเสี่ยงที่ไม่ปลอดภัยของเด็กนักเรียน การไม่มีทางเลือกที่เพียงพอในการนำพาเด็กไปสู่โรงเรียนด้วยความปลอดภัย และความไม่พร้อมทางฐานะการเงินที่จะจัดหารถที่ปลอดภัยสำหรับบุตรหลานเพื่อไปโรงเรียนได้ ขณะที่เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคกำลังพยายามช่วยเหลือและจัดการรถรับส่งนักเรียนให้ปลอดภัย ด้วยการทำข้อมูลในระดับพื้นที่และสร้างระบบการจัดการ โดยการขับเคลื่อนให้โรงเรียนหรือสถานศึกษาเป็นจุดจัดการ ด้วยการมีส่วนร่วมของครู นักเรียน ผู้ปกครอง คนขับรถรับส่งนักเรียน องค์กรผู้บริโภค และหน่วยงานท้องถิ่นในการร่วมกันสนับสนุนและจัดการระบบรถรับส่งนักเรียนที่ปลอดภัยขึ้น ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการในระยะแรกไปแล้วในพื้นที่ 32 จังหวัด จังหวัดละ 1 โรงเรียน แต่หน่วยงานหลักด้านนโยบายอย่างกรมการขนส่งทางบกและกระทรวงศึกษาธิการ กลับยังไม่มีบทบาทที่ชัดเจนในการแสดงออกว่าจะร่วมมือกันจัดการปัญหารถรับส่งนักเรียนที่มีอยู่อย่างไร ที่ผ่านมามีเพียงกรมการขนส่งทางบกที่ได้ออกมาตรการกำกับดูแลรถรับส่งนักเรียน โดยกำหนดให้ประเภทรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 ที่นั่ง(รย.2) หรือรถที่มีป้ายทะเบียนพื้นสีขาวตัวหนังสือสีฟ้า นำมาจดทะเบียนเป็นรถรับส่งนักเรียนได้ แต่ในทางปฏิบัติกลับพบว่า ยังมีรถรับส่งนักเรียนที่วิ่งรับส่งทั่วประเทศอีกจำนวนมากที่ไม่ใช่รถตามที่กฎหมายอนุญาตให้นำมาจดทะเบียนเป็นรถรับส่งนักเรียน ยังไม่รวมถึงมาตรการบังคับข้ออื่นๆ ที่ผู้ประกอบการรถรับส่งนักเรียนไม่สนใจทำตาม ส่งผลให้กฎหมายไม่สามารถบังคับใช้ได้ ซ้ำยังเป็นการสร้างความยากลำบากให้กับเจ้าหน้าที่ ที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย เพราะหากเจ้าหน้าที่เข้มงวดกวดขันบังคับตามกฎหมาย รถรับส่งนักเรียนที่ผิดกฎหมายหลายคันจะต้องหยุดวิ่ง ผลคือเด็กจำนวนมากจะไม่สามารถเดินทางไปโรงเรียนได้ มันก็จะคล้ายๆ จับเด็กเป็นตัวประกัน เจ้าหน้าที่ก็ไม่กล้าทำอะไร… ส่วนกระทรวงศึกษาและสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีหน้าที่ดูแลโรงเรียนและเด็กนักเรียนทั่วประเทศ ยังคงนิ่งสงบและไม่มีบทบาทที่ชัดเจนในการออกมาตรการดูแลในส่วนนี้ ทั้งที่บางโรงเรียนในสังกัดต้องการคำสั่งในการจัดการรถรับส่งนักเรียน เพราะเห็นว่าการจะทำภารกิจใดๆ ที่นอกเหนือจากงานที่มีอยู่ต้องมีคำสั่ง หากไม่มีคำสั่งก็จะไม่ทำ เพราะไม่มีการบังคับจะทำก็ได้ไม่ทำก็ได้ แต่จากบทสรุปของ ห้องย่อยยานพาหนะประเด็นรถรับส่งนักเรียน ในเวทีงานสัมมนาระดับชาตินั้น แม้จะยังไม่ได้คำตอบที่ชัดว่า การจัดการที่ถูกต้องเหมาะสมจะต้องทำกันแบบไหน แต่อย่างน้อยประเด็นการให้โรงเรียนเป็นจุดจัดการที่ทุกฝ่ายร่วมสนับสนุนเพื่อให้เกิดระบบรถรับส่งนักเรียนที่ปลอดภัยก็เป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่ายที่เห็นชอบร่วมกัน รวมถึงประเด็นสำคัญที่ถือว่าเป็นก้าวแรกของการมีส่วนร่วมที่ดีและเป็นสัญญาประชาคมจาก คุณโรจนะ กฤตเจริญ ที่ปรึกษาเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในการรับข้อเสนอแนวทางการมีส่วนร่วมไปเสนอผู้บริหาร เพื่อเป็นเจ้าภาพตั้งคณะทำงานจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ นักวิชาการและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค เพื่อกำหนดแนวทางและมาตรฐานการจัดการรถรับส่งนักเรียนให้มีความปลอดภัย ถึงแม้ว่าจะเหมือนเห็นแสงสว่างเล็กๆ ที่ปลายอุโมงค์ แต่เราต้องมีความหวัง และพร้อมที่จะติดตามผลการจัดตั้งคณะทำงานนี้ และร่วมกันผลักดันมาตรการอื่นๆ เพิ่มเติมเพื่อให้รถรับส่งนักเรียนมีมาตรฐานความปลอดภัย ไม่ใช่เพื่อใคร แต่เพื่อลูกหลานของเราทุกคน… 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 198 นักเรียนเขาคิดอย่างไรกับเรื่องรถโรงเรียน

ปี 2558 รถรับส่งนักเรียนเกิดอุบัติเหตุ 17 ครั้ง บาดเจ็บ 212 คน เสียชีวิต 24 รายปี 2559 รถรับส่งนักเรียนเกิดอุบัติเหตุ 27 ครั้ง บาดเจ็บ 231 คน เสียชีวิต 4 รายการเดินทางไปร่ำเรียนหนังสือของเด็กไทยในทุกวันนี้ มีเด็กนักเรียนจำนวนมากที่ผู้ปกครองเลือกวิธีการให้ลูกโดยสารไปกับ “รถรับส่งนักเรียน” โดยเชื่อว่าจะช่วยทำให้เด็กทั้งเดินทางสะดวกสบายและประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนที่พ่อแม่จะต้องไปส่งเด็กที่โรงเรียนเอง ทั้งนี้ส่วนหนึ่งก็เชื่อมั่นด้วยว่า มีความปลอดภัยกว่าที่จะให้ลูกหลานไปกับรถโดยสารประจำทางหรือขับขี่รถไปเอง แต่จะมีพ่อแม่ผู้ปกครองคนไหนบ้าง ที่จะตระหนักว่า รถรับส่งนักเรียนที่มารับลูกของเรานั้น ก็มีความเสี่ยงอันตรายมากเช่นกัน   จากการติดตามสถานการณ์ปัญหาเรื่องอุบัติเหตุที่เกิดกับรถรับส่งนักเรียนในหลายปีที่ผ่านมา ของโครงการ Safe Thai Bus ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค พอที่จะสรุปปัญหาได้ว่า อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นและสร้างความเสียหายจนถึงแก่ชีวิตของลูกหลานเรา มาจากสาเหตุหลักคือการนำรถยนต์ที่ไม่ได้จดทะเบียนเพื่อเป็นรถรับส่งนักเรียนโดยเฉพาะไปทำเป็นรถรับส่งนักเรียน หรือการใช้รถยนต์ผิดประเภทนั่นเอง  จากข้อมูลของกรมการขนส่งทางบก มีรถจดทะเบียนรถรับส่งนักเรียน จนถึงเดือนกรกฎาคม 2559 จำนวน 22,861 คัน แบ่งเป็น รถตู้ จำนวน 15,781 คัน, รถสองแถว จำนวน 3,175 คัน และรถกระบะปิคอัพ จำนวน 2,667 คัน และมีการนำรถมาใช้ผิดประเภทจำนวน 2,788 คัน (อ้างอิงจาก ข่าวไทยพีบีเอส เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2560) ซึ่งจากการทำงานของโครงการฯ แล้วจำนวนรถที่มีการใช้ผิดประเภทน่าจะมีจำนวนมากกว่านี้อีกมาก อย่างไรก็ตาม เพื่อสร้างความเข้าใจต่อสถานการณ์ในปัจจุบันของเรื่องรถรับส่งนักเรียนให้ดียิ่งขึ้น ทางโครงการฯ จึงได้ ทำการสำรวจจากผู้ใช้บริการโดยตรงคือ น้องๆ นักเรียน ว่าสภาพการใช้งานจริงๆ นั้น เป็นอย่างไร  โดยมีอาสาสมัครจากเครือข่ายผู้บริโภคทั้ง 6 ภาคทั่วประเทศเป็นผู้รวบรวมข้อมูล   การสำรวจสภาพการให้บริการของรถรับส่งนักเรียน  ในการสำรวจสภาพการให้บริการของรถรับส่งนักเรียน ซึ่งรวบรวมข้อมูลโดยอาสาสมัครเครือข่ายผู้บริโภค 6 ภาค พบว่า ปัจจุบันมีการนำรถยนต์ส่วนบุคคล ประเภท รถตู้ และรถกระบะดัดแปลงเพิ่มเติมที่นั่งสองแถว มาใช้รับจ้างรับส่งนักเรียนทั้งในและนอกเขตจังหวัดเป็นจำนวนมาก แต่เนื่องจากเป็นรถที่มีขนาดเล็ก เมื่อนำไปรับส่งนักเรียน อาจก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยกับนักเรียน นอกจากนี้ยังไม่มีกฎระเบียบควบคุมในเรื่องความปลอดภัย รถรับส่งนักเรียนลักษณะนี้เป็นรถไม่มีมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด ไม่มีการปรับปรุงสภาพตัวรถให้มีความปลอดภัยสำหรับใช้รับส่งนักเรียน  และเพราะไม่ได้มีที่มาที่ถูกต้องตามกฎหมาย คือเป็นรถที่ไม่ได้รับอนุญาต  จึงมากมายไปด้วยปัญหา ทั้งพนักงานขับรถไม่มีคุณภาพ การขับรถเร็วไม่เคารพกฎจราจร บรรทุกเด็กนักเรียนเกินกว่าที่นั่งของรถที่กฎหมายกำหนด ไม่มีคาดเข็มขัดนิรภัย การปรับเบาะที่นั่งเป็นเบาะยาวในรถตู้ ดัดแปลงสภาพส่งผลกระทบต่อความมั่นคงแข็งแรง รถมีสภาพเก่าไม่เหมาะกับการให้บริการ รวมถึงการไม่จัดทำประกันภัยทั้งภาคบังคับและภาคสมัครใจ ด้วยลักษณะดังกล่าว ทำให้สถานการณ์ของการรับส่งนักเรียนอยู่ในภาวะน่าเป็นห่วง   ลักษณะการเดินทางไป-กลับโรงเรียนและค่าใช้จ่ายต่อเดือน นักเรียนที่ตอบแบบสอบถามของโครงการฯ พบว่า กลุ่มใหญ่ที่สุด คือ 894 คน จากจำนวนผู้ตอบทั้งหมด 2,996 คน ต้องเดินทางไปโรงเรียนในระยะทางที่มากกว่า 20 กิโลเมตร รองลงมาคือ เดินทางในระยะ 16-20 กิโลเมตร 837 คน หรือ ร้อยละ 30 และ ร้อยละ 28 ตามลำดับ โดยมีนักเรียนที่ใช้ระยะเดินทางไม่เกิน 5 กิโลเมตรอยู่เพียงร้อยละ 7 หรือ 224 คน  โดยเวลาที่เสียไปกับการเดินทางปรากฏว่า น้องนักเรียนส่วนใหญ่ไปถึงโรงเรียนในเวลาไม่เกิน 30 นาที ถึง 1,401 คน จากผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด 3,265 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 43 รองลงมาตอบว่า ราว 30 นาที – 1 ชั่วโมง จำนวน 1,200 คน หรือร้อยละ 37 (ถึงไวจริงๆ ) สำหรับค่ารถที่จ่ายให้กับบริการรถรับส่ง มีผู้ตอบว่า อยู่ในช่วงราคา 300-600 บาท มากที่สุด (1,252 คน) และอยู่ในช่วงราคา 600-900 บาทต่อเดือนรองลงมา (1,029 คน) หรือคิดเป็นร้อยละ 41 และร้อยละ 34 จากผู้ตอบแบบสอบถามในส่วนนี้ทั้งหมด 3,043 คน  รถตู้ คือรถยอดนิยมนำมาทำรถรับส่งนักเรียน จากการรวบรวมข้อมูลทั้งหมดภาพรวม พบว่า รถตู้ ถูกนำมาทำเป็นรถรับส่งนักเรียนมากสุด โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 1,869 คน รองลงมา คือ รถกระบะ รถสองแถว รถบัส และ รถสี่ล้อใหญ่ หรือ คิดเป็นรถตู้ ร้อยละ 46 รถกระบะ ร้อยละ 25 รถสองแถว ร้อยละ 11 รถบัส ร้อยละ 9 และรถสี่ล้อใหญ่ ร้อยละ 4จากจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมดจำนวน 4,081 คน    แต่เมื่อแยกรายภาค พบว่า ภาคอีสานจะนิยมรถกระบะมากเป็นอันดับหนึ่ง คิดเป็นร้อยละ 42 รถสองแถว และรถบัสกลายเป็นอันดับรองๆ ลงมา มากกว่ารถตู้ ซึ่งตอบแบบสอบถามเพียง ร้อยละ 8 เท่านั้น เหตุผลที่ต้องใช้บริการรถรับส่งนักเรียน                เรื่องความสะดวกติดโผมาอันดับหนึ่ง ความปลอดภัยมาเป็นอันดับสอง และตอบว่า ไม่มีทางเลือกเป็นอันดับ สาม (ร้อยละ 44 ร้อยละ 19 และไม่มีทางเลือก ร้อยละ 13) สภาพขณะโดยสารตอกย้ำเรื่องความไม่ได้มาตรฐานของรถรับส่งนักเรียน              จากการรวบรวมข้อมูล เราพบว่า เด็กนักเรียนส่วนใหญ่ในการใช้บริการครั้งล่าสุดยังพบว่า มีคนที่ไม่มีที่นั่ง หรือต้องยืนไปโรงเรียน อยู่ที่ร้อยละ 15 และอีกร้อยละ 86 ไม่มีการคาดเข็มขัดนิรภัยเพื่อความปลอดภัย นอกจากนี้ ยังพบว่า ภายในรถไม่มีอุปปกรณ์ความปลอดภัย เช่น ถังดับเพลิง ค้อนทุบกระจก ถึงร้อยละ 31 และร้อยละ 29 ตอบว่าไม่ได้สังเกตหรือไม่ทราบว่ามีไม่มี(อาจเพราะไม่ได้อยู่ในตำแหน่งที่สังเกตได้ง่าย) จากข้อมูลที่ได้ออกไปรวบรวมมาในครั้งนี้ จึงไม่น่าแปลกใจหากจะพบว่า รถรับส่งนักเรียนส่วนใหญ่ที่ให้บริการในปัจจุบัน ยังไม่สามารถปฏิบัติให้เป็นไปตามระเบียบหรือกฎหมายที่กำหนดไว้ได้  ประกอบกับการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ยังไม่ได้ทำอย่างจริงจัง มีการปล่อยปละละเลยหรืออนุโลมมาอย่างต่อเนื่อง เสมือนเป็นการสนับสนุนและเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการนำรถยนต์ส่วนบุคคลที่ไม่ได้รับอนุญาตมาวิ่งรับส่งนักเรียนแบบผิดกฎหมายอย่างทั่วถึงเช่นในปัจจุบัน 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 196 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหวเดือนมิถุนายน 2560ทรูฟิตเนส-ทรูสปา ปิดบริการทำผู้บริโภคเดือดร้อน“ทรูฟิตเนส” ปิดให้บริการทุกสาขาในประเทศ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยที่ไม่มีการแจ้งล่วงหน้าให้สมาชิกทราบ ซึ่งยังรวมถึงกิจการอื่นๆ ในเครือเดียวกัน ทั้ง ทรูสปา และ ทรูอีสต์ โดยในเว็บไซต์ของบริษัทได้แจ้งเหตุผลในการปิดให้บริการเอาไว้ว่า ทางบริษัทประสบปัญหาเรื่องผลประกอบการอยู่ในภาวะขาดทุนจนไปสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้การปิดบริการโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้าของทรูฟิตเนสนั้น ถือว่ามีความผิดตามประกาศของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(คคบ.) เรื่องให้ธุรกิจการให้บริการออกกำลังกายเป็นธุรกิจควบคุมสัญญา และขณะนี้ทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) เปิดให้ผู้เสียหายนำหลักฐานการทำสัญญาหรืออื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเข้ามาลงชื่อร้องเรียน ซึ่งในขั้นแรก สคบ. จะเชิญทางทรูฟิตเนสเข้ามาเจรจาเรื่องแนวทางการชดเชยเยียวยาให้กับผู้เสียหาย แต่หากหาข้อตกลงกันไม่ได้ สคบ. จะดำเนินการยื่นฟ้องแทนผู้เสียหายต่อไป ซึ่งมีผู้เสียหายทยอยกันเข้ามายื่นเรื่องฟ้องร้องแล้ว เป็นจำนวนมากกว่าร้อยราย โดยผู้เสียหายบางรายสมัครบริการแบบตลอดชีพเอาไว้ซึ่งมูลค่าความเสียหายมากกว่า 3 แสนบาททุเรียนเผา กินได้ไม่อันตราย แค่วิตามินน้อยลงกรมอนามัย ออกมายืนยันแล้วว่า “ทุเรียนเผา” ไม่ทำให้เกิดกำมะถันเพิ่มจนเป็นอันตราย หรือกินแล้วถึงตาย หลังมีกระแสข่าวว่า มีคนกินทุเรียนเผาแล้วเสียชีวิตเนื่องจากสารซัลเฟอร์หรือกำมะถัน นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีงานวิจัยใดยืนยันว่า การเผาทุเรียนจะทำให้กำมะถันในทุเรียนเพิ่มปริมาณมากขึ้น จนเป็นเหตุให้ผู้บริโภคเสียชีวิต แต่การเผาทุเรียนจะทำให้วิตามิน เช่น โฟเลต วิตามินบี วิตามินซี ลดลง รวมทั้งทำให้น้ำในทุเรียนระเหยออกไป ทุเรียนเผาจึงมีรสชาติหวานขึ้น แต่ก็มีข้อควรระวังคือ ไม่ควรเผาทุเรียนจนไหม้ เพราะหากกินสะสมไปนานๆ ไม่ต่างจากกินอาหารปิ้งย่างจนไหม้เกรียม ซึ่งเสี่ยงมะเร็งพร้อมกันนี้ได้ฝากเตือนที่ผู้ที่ชอบรับประทานทุเรียน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และหลอดเลือดหัวใจตีบควรระวังเป็นพิเศษ หากกินทุเรียนในปริมาณที่มากเกินไปอาจทำให้อาการป่วยทรุดได้ เพราะในทุเรียนมีแป้งและไขมันสูง นอกจากนี้ทุเรียนเป็นผลไม้ที่มีโพแทสเซียมสูง ผู้ป่วยโรคไตไม่สามารถขับโพแทสเซียมส่วนเกินได้เท่าคนปกติจึงควรเลี่ยง  “ดีท็อกซ์เท้า” อย. ยันไม่เคยรับขึ้นทะเบียนอย. เตือนผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อผลิตภัณฑ์ที่กล่าวอ้างว่า สามารถดีท็อกซ์เท้าเพียงแค่ใช้การปิดผลิตภัณฑ์ที่ฝ่าเท้า หลังพบการโฆษณาขายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวทางเว็บไซต์และสื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ โดยมีการอวดอ้างสรรพคุณว่า “ช่วยซับเหงื่อออกจากเท้า ช่วยกระตุ้นการหมุนเวียนของโลหิต ช่วยกระตุ้นการทำงานของอวัยวะภายในให้เป็นปกติ ช่วยกระตุ้นภูมิต้านทาน ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้ดีขึ้น ช่วยลดอาการเจ็บปวด เมื่อยล้า ลดอาการบวม ช่วยให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่ามากขึ้น และช่วยให้หลับสนิทมากขึ้นช่วงกลางคืน เพียงปิดผลิตภัณฑ์ดังกล่าวที่บริเวณฝ่าเท้าก่อนนอน” โดยทาง อย. ยืนยันว่าไม่เคยอนุญาตให้มีการจำหน่ายและโฆษณาผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอย. กำลังเร่งเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ส่งตรวจวิเคราะห์ว่า มีการใส่สารต้องห้ามที่เป็นอันตรายหรือไม่ พร้อมทำการระงับการโฆษณา และดำเนินการกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ผลิต ผู้จำหน่าย และเจ้าของสื่อตามกฎหมายต่อไป หากเป็นการโฆษณาเครื่องมือแพทย์โดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากพิสูจน์ได้ว่าเป็นการแสดงคุณประโยชน์หรือคุณภาพอันเป็นเท็จหรือเกินความจริง หรือเป็นการแสดงข้อความที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับเครื่องมือแพทย์ ผู้กระทำผิดมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับอย่าซื้อ “ยุงจุดกันยุง-ธูปหอมไล่ยุง” ไม่ผ่านการรับรอง หลังมีข่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) พบผลิตภัณฑ์ ยาจุดกันยุงและธูปหอมไล่ยุงผิดกฎหมาย วางจำหน่ายในหลายจังหวัดทางภาคอีสาน โดย อย. ตรวจสอบแล้วพบว่า มีสารอันตราย เมเพอร์ฟลูทริน (Meperfluthrin) เป็นสารสำคัญในผลิตภัณฑ์ ซึ่งสารชนิดนี้ อย. ไม่เคยรับขึ้นทะเบียนมาก่อน เพราะไม่ผ่านการประเมินด้านความปลอดภัยและประสิทธิภาพ รวมถึงความเหมาะสมของอัตราการใช้ ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้ ยาจุดกันยุงและธูปหอมไล่ยุง ที่พบว่าผิดกฎหมาย มีจำนวนทั้งสิ้น 5 ตัวอย่าง ได้แก่ 1. ผลิตภัณฑ์ธูป หอมไล่ยุงฉลากภาษาจีน บรรจุกล่องกระดาษสีเหลือง-สีฟ้า 2. ผลิตภัณฑ์ธูปหอมไล่ยุงฉลากเป็นภาษาเขมร บรรจุ กล่องกระดาษสีเขียว-สีเหลือง 3. ผลิตภัณฑ์ธูปหอมไล่ยุง Ranger Scout บรรจุกล่องกระดาษสีน้ำเงิน-สีเขียว 4. ผลิตภัณฑ์ยาจุดกันยุงชนิดขดตราหัวเสือฉลากเป็นภาษาจีน บรรจุกล่องกระดาษสีแดง-สีขาว ห่อด้วยพลาสติก ใสไม่มีสี และ 5. ยาจุดกันยุงชนิดขดตรา Laojun ปิดด้วยแผ่นกระดาษ สีฟ้า-สีเหลือง-สีดำ มีรูปเด็กบนฉลาก โดยมีข้อความบนฉลากเป็นภาษาต่างประเทศ การเลือกซื้อยาจุดกันยุงและธูปหอมไล่ยุงทุกครั้ง จึงควรเลือกซื้อเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการตรวจสอบและขึ้นทะเบียนกับทาง อย. แล้วเท่านั้น เหตุขาดการมีส่วนร่วม-แก้ปัญหาไม่ตรงจุด ภาคประชาชนยืนหยัดค้านแก้กฎหมายบัตรทองตัวแทนภาคประชาชน นำโดยกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ แสดงความห่วงใยต่อการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือกฎหมายบัตรทอง เพราะมีหลายประเด็นที่ขัดต่อหลักการสำคัญของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยเฉพาะเรื่องของการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน หากปรับปรุงแก้ไขแล้วประชาชนไม่ได้รับประโยชน์ ซ้ำยังอาจส่งผลให้ประสิทธิภาพในการบริหารระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติลดลง โดยประเด็นที่ฝั่งภาคประชาชนมีความกังวลได้แก่  ประเด็นเรื่องการเปิดให้มีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมระหว่างภาครัฐและภาคประชาชน ซึ่งการแก้ไขกฎหมายมีแนวโน้มในการเอื้อประโยชน์แก่ผู้ให้บริการ เช่น การเพิ่มสัดส่วนของกรรมการหลักประกันสุขภาพในสัดส่วนของผู้ประกอบวิชาชีพ รวมทั้งในขั้นตอนการแก้กฎหมาย ก็จำกัดจำนวนกรรมการตัวแทนภาคประชาชนเพียง 2 คน จากสัดส่วนคณะอนุกรรมการ 27 คน ขณะที่ตัวแทนจากฝั่งผู้ให้บริการมีถึง 7 คน ที่เหลือเป็นตัวแทนจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องส่วนในประเด็นปัญหาสำคัญของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในปัจจุบัน ที่ควรแก้ไข กลับไม่ได้ถูกหยิบขึ้นมาพิจารณา  เช่น ปัญหาการจัดซื้อยา ที่ปัจจุบันสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทำหน้าที่จัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ที่จำเป็นหรือมีราคาแพงได้ค่อนข้างดี ซึ่งช่วยลดอุปสรรคในการเข้าถึงยาของประชาชนที่ป่วยด้วยโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง หรือกลุ่มโรคเฉพาะเช่น ไตวาย หรือผู้ติดเชื้อเอชไอวีฯ เป็นต้น นั้นกฎหมายที่ควรแก้ไข คือการเพิ่มอำนาจในการจัดซื้อยาให้กับ สปสช. แต่กลายเป็นว่า มีการแก้ไขให้โอนอำนาจการจัดซื้อยากลับไปอยู่ที่กระทรวงสาธารณสุขแทน ซึ่งข้อมูลในอดีตพบว่า การจัดหายาของกระทรวงสาธารณสุขนั้น เน้นนำเข้ารายการยา Top 10 ที่แต่ละรพ. ใช้ ซึ่งราคายาที่ซื้อมีราคาสูงกว่าการบริหารจัดการของ สปสช. มากนอกจากนี้ยังมีอีกหลายประเด็นที่กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพมีความกังวลในการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ ครั้งนี้ ท่านสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติม รวมทั้งติดตามความเคลื่อนไหวของกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้ที่ เฟซบุ๊ค กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ https://www.facebook.com/PeopleHealthSystemsMovement/

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 194 รถรับส่งนักเรียนปลอดภัย

เข้าเดือนพฤษภาคมของทุกปี เป็นสัญญาณให้รู้กันว่าโรงเรียนทั่วประเทศกำลังจะเปิดเทอมกันแล้ว ความคึกคักยามเช้าและเย็นของเด็กนักเรียนจะกลับมาให้เห็นกันอีกครั้ง ทุกๆ วันจะมีเด็กหลายคนที่เลือกเดินทางไปโรงเรียนด้วยตัวเอง บางคนเลือกใช้บริการรถโดยสารประจำทาง ขณะที่มีเด็กอีกกลุ่มหนึ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองเลือกวิธีการให้ลูกโดยสารรถรับส่งนักเรียนไปโรงเรียนแทน มีทั้งวิ่งรับส่งในเขตอำเภอ บ้างก็วิ่งรับส่งจากนอกอำเภอเข้าจังหวัด ซึ่งการให้ลูกเดินทางไปกับรถรับส่งนักเรียนจะช่วยทำให้เด็กเดินทางสะดวกสบายขึ้น และทำให้พ่อแม่ประหยัดค่าใช้จ่ายในการไปส่งเด็กที่โรงเรียนอีกด้วย แต่จะมีพ่อแม่ผู้ปกครองคนไหนรู้หรือไม่ว่า รถรับส่งนักเรียนที่มารับลูกของเราไปโรงเรียนนั้นมีความปลอดภัยแค่ไหน และเราจะเชื่อใจได้อย่างไร จากข้อมูลของกรมการขนส่งทางบกผ่านสื่อออนไลน์ระบุว่าในปี 2558 มีรถรับส่งนักเรียนประเภทรถตู้ที่จดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกประมาณ 1,204 คัน และมีรถโรงเรียนสีเหลืองคาดดำที่จดทะเบียนอยู่ประมาณ 807 คัน รวมเป็นรถรับส่งนักเรียนและรถโรงเรียนจดทะเบียนถูกต้องทั่วประเทศประมาณ 2,000 คันเท่านั้น ซึ่งนับว่าน้อยมากกับปริมาณนักเรียนที่มีอยู่ทั่วประเทศ ขณะที่ไม่มีข้อมูลเปิดเผยให้ประชาชนรับทราบว่าแล้วรถรับส่งนักเรียนที่ไม่ได้ขออนุญาตที่วิ่งให้บริการอยู่ทุกวันนี้มีจำนวนกี่คัน   อย่างไรก็ตาม ในการสำรวจสภาพการให้บริการของรถรับส่งนักเรียน ซึ่งรวบรวมข้อมูลโดยอาสาสมัครเครือข่ายผู้บริโภค 6 ภาค พบว่า ปัจจุบันมีการนำรถยนต์ส่วนบุคคล ประเภท รถตู้ และรถกระบะดัดแปลงเพิ่มเติมที่นั่งสองแถว มาใช้รับจ้างรับส่งนักเรียนทั้งในและนอกเขตจังหวัดเป็นจำนวนมาก แต่เนื่องจากเป็นรถที่มีขนาดเล็ก เมื่อนำไปรับส่งนักเรียนอาจเกิดความไม่ปลอดภัยกับนักเรียน และไม่มีกฎระเบียบควบคุมในเรื่องความปลอดภัย รถรับส่งนักเรียนส่วนใหญ่ลักษณะนี้เป็นรถไม่มีคุณภาพมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด และไม่ได้มีการปรับปรุงสภาพตัวรถให้มีความปลอดภัยสำหรับใช้รับส่งนักเรียน รวมถึงเป็นรถที่ไม่ได้รับอนุญาต  ส่งผลให้เกิดปัญหา อาทิ พนักงานขับรถไม่มีคุณภาพ การขับรถเร็ว ไม่เคารพกฎจราจร บรรทุกเด็กนักเรียนเกินกว่าที่นั่งของรถที่กฎหมายกำหนด ไม่มีคาดเข็มขัดนิรภัย การปรับเบาะที่นั่งเป็นเบาะยาวในรถตู้ ดัดแปลงสภาพส่งผลกระทบต่อความมั่นคงแข็งแรง รถมีสภาพเก่าไม่เหมาะกับการให้บริการ รวมถึงการไม่จัดทำประกันภัยทั้งภาคบังคับและภาคสมัครใจ ด้วยลักษณะดังกล่าว ทำให้สถานการณ์ของการรับส่งนักเรียนอยู่ในภาวะน่าเป็นห่วง  เฉพาะปี 2559 พบว่า มีอุบัติเหตุทางถนนที่เกิดกับรถรับส่งนักเรียนที่มีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของเด็กนักเรียนที่ใช้บริการทั่วประเทศมากถึง 27 ครั้ง มีเด็กได้รับบาดเจ็บ 231 คน และเสียชีวิตถึง 4 คน  เมื่อเราหันมามองดูกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จะพบว่ามีกฎหมายหรือระเบียบที่สำคัญในการกำกับดูแลรถรับส่งนักเรียนอยู่สองฉบับ คือ กฎกระทรวงกำหนดความปลอดภัยในการรับจ้างบรรทุกคนโดยสาร พ.ศ. 2555 ตาม พ.ร.บ.รถยนต์ 2522 และ กฎกระทรวง ฉบับที่ 22 (พ.ศ. 2526) ตาม พ.ร.บ.การขนส่งทางบก 2522 โดยกฎหมายทั้งสองฉบับมีเนื้อหาสาระไปในทางเดียวกัน โดยเป็นแนวทางปฏิบัติที่สอดคล้องกับสภาพวิถีชีวิตการใช้รถรับส่งนักเรียนของชุมชน ด้วยการอนุญาตให้ผู้ประกอบการนำรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน แต่ไม่เกิน 12 คน หรือ รย.2  (รถกระบะที่มีที่นั่งสองแถว หรือ รถตู้) มาจดทะเบียนใช้เป็นรถรับส่งนักเรียนได้  แต่ต้องมีการรับรองการใช้รถดังกล่าวจากโรงเรียนหรือสถานศึกษา ซึ่งต้องได้มาตรฐานตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด  ห้ามติดฟิล์มกรองแสงที่กระจกรอบคัน ที่นั่งผู้โดยสารต้องยึดแน่นมั่นคงแข็งแรง ไม่มีพื้นที่ให้นักเรียนยืนในห้องโดยสารเด็ดขาด กรณีเป็นรถสองแถวต้องมีประตูและที่กั้นป้องกันนักเรียนตก ส่วนรถตู้ต้องจัดวางที่นั่งเป็นแถวตอนตามความกว้างของตัวรถเท่านั้น และต้องนำรถเข้าตรวจสอบ ณ สำนักงานขนส่งจังหวัดที่โรงเรียนหรือสถานศึกษาตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ ซึ่งจะได้รับอนุญาตเป็นครั้งคราว คือ ครั้งละ 1 ภาคการศึกษาเท่านั้น นอกจากนี้รถรับส่งนักเรียนทุกคันที่ได้รับอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบกต้องติดแผ่นป้ายพื้นสีส้ม มีข้อความตัวอักษรสีดำว่า “รถรับส่งนักเรียน” และไฟสัญญาณสีเหลืองอำพันหรือสีแดงติดอยู่ด้านหน้าและด้านท้ายของรถให้เห็นชัดเจน  พร้อมมีอุปกรณ์ส่วนควบเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นกรณีฉุกเฉิน เช่น เครื่องดับเพลิง ค้อนทุบกระจก วัสดุภายในรถส่วนของผู้โดยสารต้องไม่มีส่วนแหลมคม ทางประตูทางขึ้นลงหรือเป็นช่องเปิดต้องมีความปลอดภัย โครงสร้างหลังคามั่นคงแข็งแรง และที่สำคัญผู้ขับรถโรงเรียนต้องได้รับใบอนุญาตขับรถยนต์ส่วนบุคคลมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี หรือได้รับใบอนุญาตขับรถยนต์สาธารณะ หรือเป็นผู้ขับรถตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก ซึ่งต้องไม่เคยมีประวัติเสียหายอันเกิดจากการขับรถมาก่อน รวมถึงต้องมีผู้ควบคุมดูแลนักเรียน ซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี ประจำอยู่ในรถตลอดเวลาที่ใช้รับส่งนักเรียน เพื่อดูแลความปลอดภัยให้นักเรียนตลอดการรับส่ง หากพบการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดสั่งเพิกถอนหนังสืออนุญาตให้ใช้รถทันที และไม่สามารถขออนุญาตได้อีกจนกว่าจะพ้น 1 ปีไปแล้ว แต่ด้วยกฎหมายของประเทศไทยที่กำหนดระเบียบและมาตรฐานการให้บริการของรถรับส่งนักเรียนไว้ในระดับสูง เพื่อให้มีมาตรฐานความปลอดภัยในการรับส่งนักเรียน จึงไม่น่าแปลกใจหากจะพบว่า รถรับส่งนักเรียนส่วนใหญ่ที่ให้บริการในปัจจุบัน ยังไม่สามารถปฏิบัติให้เป็นไปตามระเบียบหรือกฎหมายที่กำหนดไว้ได้  ประกอบกับการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ยังไม่ได้ทำอย่างจริงจัง มีการปล่อยปละละเลยหรืออนุโลมมาอย่างต่อเนื่อง เสมือนเป็นการสนับสนุนและเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการนำรถยนต์ส่วนบุคคลที่ไม่ได้รับอนุญาตมาวิ่งรับส่งนักเรียนแบบผิดกฎหมายอย่างทั่วถึงเช่นในปัจจุบัน จนทุกฝ่ายเฉยชากับปัญหาและคิดว่าเป็นเรื่องปกติที่ทุกคนยอมรับกันไปแล้ว แล้วความปลอดภัยของลูกหลานเราจะเป็นยังไง หากทุกคนเป็นแบบนี้….

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 194 บทเรียน ‘เพย์ทีวี’ กสทช. ต้องปรับ ผู้บริโภคต้องรู้

ในอดีตกาล ทางเลือกในการชมรายการโทรทัศน์ของผู้บริโภคไทยจำกัดอยู่เพียงไม่กี่ช่อง การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีไม่ได้เกิดการพลิกโฉมเช่นในปัจจุบัน คนรุ่นอายุ 30 ขึ้นไปคงนึกออกเมื่อเปิดทีวีตอนกลางวันของวันธรรมดาจะเจอแต่จอเปล่ากับแท่งสีหลากสี ดีขึ้นหน่อยก็มีเพลงประกอบ สำหรับคนยุค 2017 ไม่อาจจินตนาการถึงทางเลือกที่น้อยนิดเป็นโอกาสให้ธุรกิจเพย์ทีวีหรือช่องโทรทัศน์ที่ต้องจ่ายเงินถึงจะมีสิทธิ์ชมเกิดขึ้นในสังคมไทย แต่ในยุคเริ่มต้น ราคาของทางเลือกชนิดนี้ค่อนข้างสูงสำหรับประชาชนทั่วไปกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น คอนเท้นต์ที่มีหลากหลาย ทั้งในและต่างประเทศ ทำให้การซื้อหาเพย์ทีวีของผู้บริโภคง่ายขึ้นกว่าเดิมมาก ซึ่งก็มาพร้อมกับโจทย์ใหม่ๆ ในการคุ้มครองผู้บริโภคด้วยเช่นกันยกตัวอย่างในปี 2559 เมื่อบริษัท จีเอ็มเอ็มบี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของซีทีเอช แจ้งผู้ใช้บริการว่า 17 มกราคม ไม่สามารถเติมเงินเพื่อซื้อแพ็คเกจช่องรายการต่างๆ ของ Z Pay TV ในกล่อง GMMz ได้ ทำให้ผู้ใช้บริการไม่สามารถรับชมช่องรายการของ CTH ทางกล่อง GMMz  ได้ตั้งแต่ วันที่ 6 กุมภาพันธ์เป็นต้นไป ทางบริษัทเสนอมาตรการเยียวยาในลักษณะของการให้กล่องรับสัญญาณดาวเทียม CTH  พร้อมรับชมแพ็กเกจ Beyond CTH Package ฟรี นาน 4 เดือน 8  เดือน และ 12 เดือน และหากลูกค้าไม่ยอมรับการชดเชยต้องคืนเงินให้กับลูกค้าโดยหลักการคืนในจำนวนเงินตามวันที่ไม่ได้รับ ทว่า ในทางปฏิบัติกลับไม่ง่ายดายเช่นที่ว่า โสภณ หนูรัตน์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายสนับสนุนนโยบายและพัฒนาองค์กรผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า“เนื่องจากกล่องแกรมมี่เดิมดูช่องพิเศษของซีทีเอชไม่ได้ เขาก็เสนอว่าให้มีการยืนยันตนเพื่อรับกล่องซีทีเอชไปดู แล้วก็มีแพ็กเกจบียอนด์ ซีทีเอช ให้ดูฟรี 4 เดือน 8 เดือน 12 เดือน ตามระยะเวลาที่ลูกค้าเหลืออยู่ คือถ้าผมสมัครไป 6 เดือน เหลืออีก 3 เดือน แสดงว่าผมต้องดูฟรีอีก 3 เดือน แต่ผมต้องเปลี่ยนกล่องเป็นกล่องซีทีเอช มันก็จะมีปัญหาว่าไม่ใช่ทุกคนจะดูได้ คือบางบ้านใช้ระบบเคยูแบนด์ เป็นจานเล็ก สีดำๆ จานพวกนี้เวลาฝนตกจะดูไม่ค่อยได้ อีกระบบคือซีแบนด์ เป็นจานใหญ่ๆ แต่กล่องนี้รองรับแค่ระบบเคยูแบนด์ เนื่องจากกล่องจีเอ็มเอ็มแซดแต่เดิมใช้ได้ทั้งสองระบบ ลูกค้าที่ใช้เคยูแบนด์เขาก็เกิดคำถามว่าเขาต้องเสียเงินติดตั้งจานใหม่หรือเปล่า ได้กล่องมาจริง แต่ต้องเสียค่าติดตั้งจานอีกเป็นพัน ทำไมเขาต้องมีภาระตรงนี้ ทำไมบริษัทไม่กำหนดเรื่องนี้ในมาตรการเยียวยาด้วยว่าต้องชดเชยค่าใช้จ่ายตรงนี้ให้ผู้บริโภค”ต่อมาซีทีเอชยกเลิกกิจการทั้งหมดในวันที่ 1 กันยายน จนทุกวันนี้ก็ยังมีผู้บริโภคที่ยังไม่ได้รับการเยียวยาหลงเหลืออยู่อีกไม่น้อยคราวนี้ลองมาดูกรณีตัวอย่างคลาสสิกและร้อนแรงอย่างทรูวิชั่นส์กันช่วงคาบเกี่ยวปีเก่าปีใหม่ที่ผ่านมาสดๆ ร้อนๆ เกิดกรณีใหญ่โตเมื่อทรูวิชั่นส์ยกเลิกช่อง HBO ทั้งหมดออกจากผังรายการ ได้แก่ HBO, Cinemax, HBO Signature, HBO Family, HBO Hits และ RED by HBO ทรูวิชั่นส์ไม่ใช่กรณีแรกที่ผู้ให้บริการเพย์ทีวียกเลิกช่องรายการจนส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคที่จ่ายเงินซื้อบริการ บางกรณีก็เยียวยาผู้บริโภคตามเกณฑ์ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กำหนดไว้ แต่บางกรณีก็ไม่เสียงจากผู้บริโภคกรณีทรูวิชั่นส์ศิวาณัติ ไชยภัฎ หนึ่งในผู้ใช้บริการรายหนึ่งของทรูวิชั่นส์ที่ต้องเสียค่าสมาชิกประมาณ 2,000 บาทต่อเดือน ซึ่งได้รับผลกระทบจากการยกเลิกรายการโดยไม่แจ้งล่วงหน้า กล่าวกับฉลาดซื้อว่า“นอกจากยกเลิกรายการโดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้าแล้ว ยังลดระดับเนื้อหาลงมาเป็นระดับที่หาดูได้ทั่วไป เดิมผมเป็นแบบเอ็กคลูซีฟ ต่อมาผมสามารถหาดูได้ในราคาที่ต่ำลง หรือบางคอนเทนต์ที่เป็นของบีบีซีก็ถูกตัดทิ้งไปเลย ทั้งที่ตอนแรกก็มีโฆษณาให้ใช้ พอเราตื่นมาตอนเช้า รายการนี้ก็หายไป โดยไม่ได้บอกอะไรเลย ทั้งที่เขามีช่องทางแม็กกาซีนที่ใช้สื่อสารกับสมาชิกอย่างเป็นทางการทุกเดือน ก็ไม่มีการแจ้งข่าว อ้างแต่ว่ามีตัววิ่งผ่านหน้าจอให้ดูแล้ว“ผมเป็นสมาชิกแบบเอ็กคลูซีฟ เป็นแพลตตินัม ได้ดูช่องพิเศษ ถ้าเป็นบีบีซีจะเป็นช่องพิเศษที่ต้องซื้อเพิ่ม แต่ก็ถอดออกแล้วลดค่าบริการผมลง แต่ผมยินดีจ่ายๆ มาลดผมได้ยังไง ผมมีสิทธิดูช่องเอชบีโอ เขาก็ถอด แล้วเอาช่องทั่วไปที่มีในเคเบิ้ลท้องถิ่นมาให้ดู ถ้าเป็นช่องพวกนี้ ผมไม่ต้องจ่ายเงินแพงขนาดนี้ให้ทรูวิชั่นก็ได้“พอเกิดเหตุขึ้น ผมโทรไปที่คอลล์เซ็นเตอร์ แจ้งว่ามันเป็นมายังไง ผมไม่พอใจอะไร เขาก็จะตอบเป็นสูตรว่าให้ลองชมรายการนี้ จัดหารายการใหม่ที่คุณภาพดีกว่ามาให้ดู ผมบอกว่ารายการพวกนี้ผมหาดูได้ทั่วไปอยู่แล้ว”ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรฐานของสัญญาการให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก พ.ศ.2556 หมวด 2 สิทธิและหน้าที่ของผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการ ข้อ 15 ระบุไว้ชัดเจนว่า กรณีที่ผู้ให้บริการประสงค์จะเปลี่ยนแปลงลักษณะ ประเภท เงื่อนไข มาตรฐาน และคุณภาพในการให้บริการที่ตกลงในสัญญา หรือที่ได้โฆษณาหรือแจ้งให้ผู้ใช้บริการทราบ หรือการปรับปรุงรูปแบบการให้บริการอื่นๆ อันมีลักษณะเป็นสาระสำคัญของการให้บริการ ผู้ให้บริการมีหน้าที่แจ้งให้ผู้ใช้บริการทราบเป็นลายลักษณ์อักษรไม่น้อยกว่าสามสิบวันก่อนมีการเปลี่ยนแปลงในกรณีของทรูวิชั่นส์ถือว่าแจ้งน้อยกว่า 30 วัน อีกทั้งการแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรที่ว่าของทรูวิชั่นส์คือการทำตัววิ่งขึ้นบนหน้าจอดังที่ศิวาณัติเล่า ซึ่งผู้บริโภคไม่ได้รับข่าวสารนี้อย่างชัดเจนการเยียวยาที่ไม่ตอบโจทย์ผู้บริโภคมาตรการเยียวยาที่ทางทรูวิชั่นส์เสนอ มี 6 ข้อ คือมีช่องใหม่  7 ช่อง, อัพเกรดแพคเกจ 1 ระดับ ระยะเวลา 30 วัน, สิทธิพิเศษสำหรับลูกค้าแพลตตินั่ม เพิ่มแต้ม, สิทธิขอลดแพคเกจ, สิทธิลูกค้ารายปีหรือราย 6เดือนที่จะยกเลิกบริการ และสิทธิลูกค้าสมาชิกไม่ครบ 6 เดือนกับลูกค้าที่ควบบริการเป็นสมาชิกไม่ถึง 12 เดือน ได้รับยกเว้นค่าติดตั้งและค่าสมาชิกประเด็นก็คือมาตรการเยียวยาของทรูวิชั่นส์ไม่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค เช่น ช่องรายการที่นำมาชดเชยไม่สามารถทดแทนช่องรายการเดิมได้ ผู้บริโภคควรมีสิทธิยกเลิกได้ทันทีโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ได้รับเงินคืน และบริษัทไม่มีสิทธิเรียกเก็บค่าใช้จ่ายใดๆ เพราะเป็นกรณีที่บริษัทผิดสัญญาและไม่ควรมีการกำหนดระยะเวลาเพื่อทำให้ผู้บริโภคเสียสิทธิ เป็นต้น“ทรูวิชั่นส์เสนอแต้มให้ผม 1,000 แต้ม เขาบอกว่ามันสิทธิประโยชน์ต่างๆ เยอะมาก แต้มนี้ไปแลกเป็นเงินได้ 100 บาท พอ กสทช. รุกหนักขึ้น เขาก็ให้แต้มอีก 1,000 แต้ม ผมบอกว่าแพ็กเกจที่ต่ำกว่าผม ได้อัพเกรดฟรีขึ้นมาร่วม 400 บาท ผมเป็นระดับเอ็กคลูซีฟ ได้เท่ากัน แต่ทำไมจ่ายแพงกว่า” ศิวาณัติ เล่าถึงมาตรการเยียวยาที่ไม่ตอบโจทย์และทำให้เขารู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งท้ายสุดแล้วเขาก็ตัดสินใจบอกเลิกสัญญากับทรูวิชั่นส์ พร้อมกับติติงการทำงานของ กสทช. ว่าไม่สามารถดูแลผู้บริโภคและกำกับดูแลผู้ประกอบการให้อยู่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ได้เปิดข้อสงวนความเห็นสุภิญญา จากการประชุม กสท. ครั้งที่ 6/2560 วันจันทร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ 2560 ในการพิจารณาวาระ 4.26 แผนการชดเชยเยียวยาผู้ใช้บริการ กรณี บริษัท ทรู วิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด ขอยกเลิกใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ เพื่อให้บริการโทรทัศน์ สำหรับกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ จำนวน 6 ช่องรายการ สุภิญญา กลางณรงค์ หนึ่งใน กสทช. (ซึ่งปัจจุบันได้ขอยุติการปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราวเพื่อรอการตีความทางกฎหมาย เพราะถูกพิพากษาว่ามีความผิดจากกรณีปีนสภา) ได้ขอสงวนความเห็น สรุปความได้ว่า1.ไม่เห็นชอบแผนการชดเชยเยียวยาผู้ใช้บริการเพิ่มเติม เพราะเห็นว่ามาตรการข้างต้นยังไม่ครอบคลุมหลักการชดเชยเยียวยาผู้บริโภคที่ครอบคลุมและเป็นธรรมเพียงพอกับสมาชิกทุกกลุ่ม2.การออกคำสั่งเตือนทางปกครองแก่บริษัท ทรู วิชั่นส์ จำกัด ในกรณีที่มีพฤติกรรมการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงฯ นั้น เป็นบทลงโทษที่ไม่ได้สัดส่วนกับการกระทำของผู้รับใบอนุญาต3.หากพิจารณาการกำกับดูแลของ กสท. (คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์) ต่อกรณีการยกเลิกกลุ่มช่องรายการ HBO 6 ช่องรายการ นับตั้งแต่การพิจารณากรณีดังกล่าวครั้งแรกในที่ประชุม กสท.ครั้งที่ 43/2559 เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2559 ซึ่งถือเป็นครั้งแรก จนกระทั่งถึงการประชุม กสท.ครั้งที่ 6/2560 วันจันทร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ 2560 ตลอดระยะเวลาดังกล่าวมีหลายขั้นตอนที่สุภิญญาเห็นว่า กสท. มิได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่ประกาศ กสทช. กำหนด และมีความล่าช้าในการพิจารณาดำเนินการออกคำสั่งทางปกครองซึ่งส่งผลให้ผู้บริโภคสับสนและไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิอย่างทันท่วงที รวมทั้งอาจมีแนวทางการพิจารณาที่ข่ายเลือกปฏิบัติต่อผู้รับใบอนุญาตแต่ละรายแตกต่างกัน การดำเนินการขั้นตอนต่างๆ ของ กสท.ข้างต้น แสดงถึงการกำกับดูแลที่ล่าช้า ขาดประสิทธิภาพ และอาจเข้าข่ายเอื้อประโยชน์แก่ผู้รับใบอนุญาตบางรายรวมทั้งละเลยการปฏิบัติหน้าที่ในการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเป็นธรรม(สามารถอ่านข้อสงวนความเห็นของสุภิญญา กลางณรงค์ โดยละเอียดได้ที่ http://www.supinya.com/2017/01/5656/)กสทช. ต้องปรับนโยบาย-ผู้บริโภคต้องถี่ถ้วนจากปัญหาที่เกิดขึ้น โสภณสรุปบทเรียนจากฝั่ง กสทช. และฝั่งผู้บริโภคได้ว่า“ในระดับนโยบาย กสทช. มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนในการยกเลิกรายการ ดังนั้น ผมเห็นว่า กสทช. ควรพิจารณาอนุมัติแผนเยียวยาที่คุ้มครองผู้บริโภคจริงหรืออาจจะสนับสนุนในการทำมาตรการเยียวยาผู้บริโภค เพราะที่ผ่านมาเห็นแล้วว่าถ้าปล่อยให้ผู้ประกอบการออกมาตรการเองไม่เป็นธรรม อย่างการบอกกล่าวล่วงหน้า 30 วันเพียงพอหรือไม่ การแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรควรกำหนดให้ชัดเลยว่าต้องทำเป็นหนังสือแจ้งผู้บริโภคหรือทางเอสเอ็มเอส ไม่ใช่แค่ตัววิ่งบนจอ เรื่องพวกนี้ต้องชัดเจน“เรื่องแผนมาตรการเยียวยา เมื่อ กสทช. มีอำนาจ ก็ควรกำหนดเกณฑ์ว่าการทำแผนเยียวยาต้องมีเรื่องอะไรบ้าง เช่น การคืนเงิน ผู้บริโภคมีช่องทางอะไรบ้าง ระยะเวลาการใช้สิทธิ กำหนดแค่ 30 วัน ซึ่งผู้บริโภครู้สึกว่ามันสั้นไป แล้วคุณก็ไม่ได้แจ้งเป็นทางการด้วย หรือการให้ดูฟรี 30 วันจะให้ทำไม ถ้าผู้บริโภคเป็นสมาชิก 6 เดือนก็ต้องให้เขาดู 6 เดือน ถึงจะเรียกว่าตั้งใจเยียวยาจริงๆ เมื่อ กสทช. ไม่มีเกณฑ์ ผู้ประกอบการกำหนดเองก็กำหนดแบบไม่สนใจผู้บริโภค แล้วผู้บริโภคก็ต่อรองกับผู้ประกอบการไม่ได้ คนที่ต้องออกหน้าแทนคือ กสทช. จึงควรต้องมีหลักประกันให้แผนเยียวยาที่ผู้ประกอบการทำมาไม่ผ่านความเห็นชอบเพราะไม่ผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำ”ในส่วนของผู้บริโภค โสภณมีคำแนะนำว่า ก่อนจะบอกรับเป็นสมาชิกเพย์ทีวีช่องต้องศึกษาและอ่านข้อสัญญาอย่างถี่ถ้วนก่อนจะลงนาม หากพบว่าข้อสัญญาใดเป็นการเอาเปรียบ สามารถร้องเรียนกับ กสทช. เพื่อให้ตรวจสอบว่าใช้สัญญาตามที่ขออนุญาตจาก กสทช. หรือไม่ เพราะสัญญาเหล่านี้ต้องผ่าน กสทช. ก่อนจึงจะใช้ทำสัญญากับผู้บริโภคได้“กรณีเปลี่ยนแพ็กเกจ ผู้บริโภคคุณต้องดูตัวเองว่านิยมดูช่องไหน เหมาะสมกับความต้องการของตนเองหรือไม่เมื่อเทียบกับราคา บางคนซื้อกล่องไม่ได้คิดอะไร ดูแต่ราคา ดูแต่ว่ามีช่องเยอะ โดยไม่สนว่าตัวเองจะดูอะไรบ้าง แล้วเวลาทำสัญญา เอกสาร ใบเสร็จ ใบประกัน ถ้ามีก็ต้องเก็บไว้ทั้งหมด โบรชัวร์ก็สำคัญมาก เพราะเป็นสิ่งที่คุณอ่านแล้วตัดสินใจซื้อ ควรเก็บไว้ เพราะถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา เขาโฆษณาแบบนี้ ถ้าไม่เป็นตามโฆษณาก็ร้องเรียนได้”ที่สำคัญ โสภณบอกว่า เวลาเกิดปัญหา อย่านิ่งนอนใจ ต้องร้องเรียนเพื่อรักษาสิทธิ..........แม้ธุรกิจเพย์ทีวีจะขยายตัวกว่าอดีตขึ้นมาก บริษัทใหญ่ๆ จำนวนหนึ่งเข้ามาเป็นผู้เล่นเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาด แต่ก็ยังถือว่ามีผู้เล่นน้อยรายในตลาด ทำให้ไม่เกิดการแข่งขันอย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม  เพย์ทีวีก็กำลังเผชิญความท้าทายขั้นชี้เป็นชี้ตายจากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วยิ่งกว่าในอดีต ที่กำลังเข้ามา Disrupt ธุรกิจดั้งเดิมหลายประเภท (แอร์บีเอ็นบีกำลังเขย่าธุรกิจโรงแรมหรืออูเบอร์และแกร็บกำลังสั่นสะเทือนวงการรถแท็กซี่)เพย์ทีวีถูก Disrupt จากอินเตอร์เน็ต จากเฟสบุ๊คไลฟ์ จากยูทูบ ยังไม่นับเว็บไซต์ภาพยนตร์และซีรีส์ละเมิดลิขสิทธิ์อีกมาก ที่ทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงคอนเท้นต์ที่ตนเองต้องการ โดยไม่จำเป็นต้องจ่ายเงิน มองในแง่นี้ก็น่าสนใจว่าธุรกิจเพย์ทีวีในอนาคตจะเป็นอย่างไร จะมีที่อยู่ที่ยืนในตลาดอย่างไร และรูปแบบปฏิสัมพันธ์กับผู้บริโภคจะเป็นอย่างไร------------------------------------------------------------------------------------------------------------------ขั้นตอนยกเลิกการให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกของผู้ให้บริการหลักการ 1.ห้ามมิให้ผู้ให้บริการยกเลิกการให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกตามสัญญาเว้นแต่กรณี ดังต่อไปนี้   (4) ผู้ให้บริการ ไม่สามารถให้บริการได้ด้วยเหตุสุดวิสัย  ( ตาม ข้อ 34 (4) แห่งประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติเรื่อง มาตรฐานของสัญญาการให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก พ.ศ. 2556 )2.ผู้รับใบอนุญาตจะพักหรือหยุดการให้บริการไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนไม่ได้เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ กสท. ( ตามข้อ 14 แห่งประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้บริการโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ พ.ศ. 2555 )3.ผู้รับใบอนุญาตสามารถให้บริการโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ได้ตามระยะเวลาที่คณะกรรมการอนุญาต หากประสงค์จะเลิกการให้บริการดังกล่าวก่อนวันที่ใบอนุญาตสิ้นอายุ จะต้องแจ้งเหตุแห่งการยกเลิกประกอบกิจการพร้อมทั้งมาตรการเยียวยาผู้ใช้บริการให้คณะกรรมการเห็นชอบล่วงหน้าก่อนเลิกกิจการ โดยจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดก่อนเลิกกิจการนอกจากนี้ผู้รับใบอนุญาตจะพักหรือหยุดการให้บริการไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนไม่ได้เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ กสทช. ( ตามเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ เพื่อให้บริการโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ สำหรับกิจการที่ไม่ใช่คลื่นความถี่ )4.กรณีที่ผู้ให้บริการประสงค์จะเปลี่ยนแปลงลักษณะ ประเภท เงื่อนไข มาตรฐานและคุณภาพในการให้บริการที่ตกลงในสัญญา หรือที่ได้โฆษณาหรือแจ้งให้ผู้ใช้บริการทราบ หรือการปรับปรุงรูปแบบการให้บริการอื่น ๆ อันมีลักษณะเป็นสาระสำคัญของการให้บริการ ผู้ให้บริการมีหน้าที่แจ้งให้ผู้ใช้บริการทราบเป็นลายลักษณ์อักษรไม่น้อยกว่าสามสิบวันก่อนมีการเปลี่ยนแปลงกรณีการเปลี่ยนแปลงตามวรรคหนึ่งมีลักษณะ ประเภท เงื่อนไข มาตรฐานและคุณภาพในการให้บริการต่ำกว่าที่กำหนดไว้ในสัญญาเดิม ผู้ให้บริการต้องดำเนินการเยียวยา หรือลดค่าบริการหรือยกเว้นค่าบริการแก่ผู้ใช้บริการอย่างเป็นธรรม หรือให้โอกาสผู้ใช้บริการบอกเลิกสัญญานั้นก็ได้ ( ตามข้อ 15 แห่งประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติเรื่อง มาตรฐานของสัญญาการให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก พ.ศ. 2556 )สรุป หากผู้ให้บริการประสงค์จะเลิกกิจการ ให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก ต้องปฏิบัติ ดังนี้ 1. แจ้งเหตุแห่งการยกเลิก ไปยัง สำนักงาน กสทช. ล่วงหน้าก่อนเลิกกิจการ 2. แจ้งให้ผู้ใช้บริการทราบเป็นลายลักษณ์อักษรไม่น้อยกว่าสามสิบวันก่อนมีการเปลี่ยนแปลง 3. ในการแจ้งยกเลิก ต้องส่งแผนมาตรการเยียวยาผู้ใช้บริการมาประกอบด้วย เพื่อให้ คณะกรรมการ กสท.พิจารณาและเห็นชอบแผน 4. เมื่อคณะกรรมการ กสท.มีมติเห็นชอบแผนมาตรการเยียวยา และเห็นชอบการยกเลิกกิจการว่าเป็นไปตามกฎหมาย ผู้ให้บริการจึงสามารถเลิกกิจการได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 192 ถูกคิดค่าไฟย้อนหลัง

คุณปาริชาตร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิว่า ได้รับหนังสือจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคแจ้งเรื่องการปรับปรุงค่ากระแสไฟฟ้าให้ตรงกับความเป็นจริง ซึ่งได้มีการคิดค่าบริการย้อนหลัง 6 เดือนเป็นจำนวนเงิน 2,733 บาท แต่เมื่อเธออ่านรายละเอียดของเอกสารดังกล่าวแล้วเห็นว่า อาจเกิดจากการตั้งค่าอ่านมาตรวัดไฟฟ้าผิดพลาด หรือการเปลี่ยนมาตรวัดใหม่ของทางการไฟฟ้าเอง ซึ่งคุณสมใจสงสัยว่าทำไม เธอจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายดังกล่าว ทำไมไม่เป็นเรื่องที่เกิดจากความบกพร่องของการไฟฟ้าเอง จึงส่งเรื่องมายังศูนย์ฯ เพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ ขอรายละเอียดเพิ่มเติมในส่วนของบิลค่าไฟย้อนหลัง 6 เดือนที่ผู้ร้องชำระไปแล้ว และช่วยประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมชี้แจงเพิ่มเติมไปว่าที่อยู่อาศัยของผู้ร้องจัดอยู่ในประเภท 1115 หรือ บ้านที่อยู่อาศัยขนาดเล็ก โดยมีการใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วย/เดือน เพราะเหตุใดจึงต้องมีการเก็บค่าไฟฟ้าย้อนหลัง ภายหลังทางการไฟฟ้าฯ ได้ทำหนังสือตอบกลับมาว่า ก่อนหน้านี้ได้มีการเปลี่ยนมิเตอร์ไฟใหม่ให้ที่บ้านของผู้ร้องจริง เนื่องจากมิเตอร์เดิมเกิดการเสื่อม จากอายุการใช้งานเกิน 10 ปี ซึ่งทำให้มีการชำรุดและหมุนผิดปกติ โดยหลังการเปลี่ยนมิเตอร์ก็ได้แจ้งให้ทางบ้านของผู้ร้องรับทราบไปแล้ว อย่างไรก็ตามทางการไฟฟ้าฯ อนุญาตให้มีการชำระเงินโดยการแบ่งจ่ายเป็นงวดได้ เมื่อผู้ร้องได้รับคำชี้แจงดังกล่าว ทางผู้ร้องยินดีชำระค่าบริการย้อนหลัง และขอยุติการร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 191 นางอาย : โรงเรียนของเราน่าอยู่ คุณครูใจดีทุกคน

ในวัยเด็ก ไม่ใครก็ใครหลายคนคงจะเคยได้ยินหรือร้องเพลงประสานเสียงในโรงเรียนของตนว่า “โรงเรียนของเราน่าอยู่ คุณครูใจดีทุกคน เด็กๆ ก็ไม่ซุกซน พวกเราทุกคนชอบไปโรงเรียน (ชอบไป...ชอบไปโรงเรียน” หากพินิจพิจารณาเนื้อเพลงประสานข้างต้นจริงๆ แล้ว แม้แต่เด็กๆ ที่ไร้เดียงสาเอง ก็คงตระหนักกันโดยไม่ยากว่า เป็นเพลงที่เขียนขึ้นจากจุดยืนของ “คุณครูใจดีทุกคน” มากกว่าจะเป็นมุมมองจาก “เด็กๆ ที่แสนซุกซน” ที่ไม่รู้ว่าลึกๆ แล้ว “ชอบไป...ชอบไปโรงเรียน” กันจริงหรือไม่ แล้วเหตุใดโรงเรียนจึงกลายเป็นสถาบันที่ต้องจับเอา “เด็กๆ ที่แสนซุกซน” มาใช้ชีวิตช่วงหนึ่งอยู่ใน “โรงเรียนของเราน่าอยู่” แถมยังติดตั้งโลกทัศน์ให้ด้วยว่า “คุณครูก็ใจดีทุกคน” คำตอบต่อข้อคำถามนี้อยู่ในละครโทรทัศน์เรื่อง “นางอาย” โครงเรื่องเริ่มต้นเมื่อ “อภิรดี” หรือ “นาง” เด็กสาวแสนสวยแสนซนผู้เป็นบุตรีคนเดียวของรัฐมนตรี “เด่นชาติ” มีเหตุให้บังเอิญไปร่วมงานปาร์ตี้บ้านเพื่อนที่กำลังมั่วสุมเสพยาอยู่ จนเธอถูกตำรวจจับโดนหางเลขไปด้วย และกลายเป็นข่าวดังพาดหัวใหญ่ลงหน้าหนังสือพิมพ์ นี่จึงเป็นสาเหตุให้นางถูกบิดาส่งตัวไปเรียนต่อที่โรงเรียนคอนแวนต์หญิงล้วนที่ปีนัง ซึ่งไม่เพียงจะทำให้นางได้มารู้จักกับเพื่อนใหม่ๆ อย่าง “สินีนาฏ” “สายสุดา” “มีนา” “จอยคำ” และอีกหลายๆ คนเท่านั้น แต่อีกด้านหนึ่ง นางก็ได้เรียนรู้ประสบการณ์มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการกิน การอยู่ร่วมกับคนอื่น และการประพฤติตนให้อยู่ในกฎเกณฑ์ข้อบังคับของโรงเรียนอีกด้วย  ภาพของโรงเรียนคอนแวนต์แห่งนี้ ที่เต็มไปด้วยเด็กนักเรียนและคุณครูซิสเตอร์(ใจดี!!!)มากหน้าหลายตา ได้สะท้อนให้เราเห็นบทบาทหลายด้านของโรงเรียน ในฐานะสถาบันสำคัญที่เด็กและเยาวชนต้องมาใช้ชีวิตอยู่เป็นเวลานานหลายปี โดยในลำดับแรกนั้น สถาบันโรงเรียนมีสถานะไม่ต่างจาก “ตะแกรง” ที่ใช้ร่อนชนชั้นทางสังคม นั่นหมายความว่า หากใครสักคนจะมีสิทธิ์เข้าไปร่ำเรียนศึกษาถึงปีนังได้แล้ว ก็ต้องมีฐานะทางเศรษฐกิจสังคมสูงในระดับหนึ่ง เหมือนกับจอยคามที่พยายามปกปิดฐานะจริงๆ ของทางบ้าน เพราะกลัวเพื่อนในกลุ่มสังคมจะรับไม่ได้ หรือสินีนาฏที่เมื่อมารดาถูกศาลฟ้องล้มละลาย เธอก็แทบจะถูกปิดกั้นโอกาสที่จะเรียนต่อไปได้เลย และแม้ต่อมาในภายหลัง ละครจะได้ให้ข้อสรุปเป็นคำอธิบายว่า มิตรภาพของเด็กๆ ที่มีให้แก่กันนั้น สำคัญเสียยิ่งกว่าการตัดสินคุณค่าจากสถานภาพทางชนชั้นของปัจเจกบุคคล แต่ข้อเท็จจริงที่ว่า โรงเรียนเป็นสถาบันที่คอยคัดกรองเด็กจากชนชั้นที่ต่างกัน ก็มิอาจปฏิเสธไปได้โดยง่ายนัก นอกจากบทบาทของโรงเรียนที่ทำหน้าที่ร่อนกรองสถานะชนชั้นทางสังคมแล้ว หากสังคมหนึ่งๆ มี “ความต้องการ” บางชุดที่อยากให้ “เด็กในวันนี้” เป็น “ผู้ใหญ่ที่ดี” และเชื่อฟังในกฎกติกามารยาทของระบบ “ในวันหน้า” ก็เป็นโรงเรียนอีกนั่นแหละที่ถูกมอบหมายบทบาทหน้าที่ของการ “ขัดเกลา” และเปลี่ยนแปลงความรู้สึกนึกคิดให้เด็กๆ ยอมรับว่า โรงเรียนที่มีกฎเกณฑ์ร้อยแปดช่างเป็น “โรงเรียนของเราน่าอยู่” เสียนี่กระไร เฉกเช่นที่นางเองก็ถูกบททดสอบของการขัดเกลาตั้งแต่วินาทีแรกที่ก้าวเท้าเข้ามาในขอบขัณฑสีมาของโรงเรียนคอนแวนต์ ตั้งแต่การที่เธอต้องละทิ้งความฝันที่อยากเป็นนักแข่งรถมืออาชีพ ไปจนถึงการที่ชีวิตถูกพรากออกไปจากโลกโซเชียลที่เธอชื่นชมกับการโพสต์ภาพถ่ายอัพสเตตัสอยู่เป็นอาจิณ  จากบททดสอบแรกดังกล่าว นางกับเพื่อนๆ ก็ยังถูกฝึกให้ยอมรับในกฎระเบียบของโรงเรียน และพูดวลีที่ว่า “Yes, Madam” จนติดเป็นพฤตินิสัย เพราะหากไม่ยอมรับในข้อตกลงที่ว่านี้ บทลงโทษหลากหลายก็จะถูกบริหารโดยบรรดา “คุณครูใจดีทุกคน” ตั้งแต่การนั่งสก็อตจัมพ์ ยืนคาบไม้บรรทัด สั่งอดอาหาร ล้างจานในโรงครัว ทำความสะอาดห้อง และอื่นๆ อีกมากมาย ที่แน่ๆ บททดสอบกับบทลงโทษเหล่านี้ ก็มีการสืบต่อจากรุ่นสู่รุ่น และยังถูกอ้างความชอบธรรมว่ามีประสิทธิภาพในการขัดเกลาบุคลิกนิสัยของเด็กผู้หญิง เหมือนกับประโยคที่ “เอมอร” มารดาของนางที่เคยเรียนในคอนแวนต์เดียวกันมาก่อน ได้กล่าวกับลูกสาวในวันมอบตัวเข้าโรงเรียนว่า “แม่เชื่อว่า ถ้าลูกรู้จักตัวลูกอย่างที่แม่รู้จัก ได้เห็นโลกกว้างกว่านี้ ลูกจะเปลี่ยนใจ”  เพราะฉะนั้น จากบุคลิกนิสัยที่เคยกระโดกกระเดก จากเด็กผู้หญิงที่เคยทำตัวขัดขืนอำนาจของผู้ใหญ่ หรือจากนางผู้แก่นแก้วที่เคยทำตัวแตกแถวไปจากระเบียบบรรทัดฐานของสังคม ยี่สิบสี่ชั่วโมงในโรงเรียนที่ดำเนินสืบเนื่องมาวันต่อวันก็ได้กลายเป็นช่วงเวลาที่เด็กหญิงค่อยๆ ได้รับการ “ขัด” และ “เกลา” จนกลายเป็นปัจเจกบุคคลที่ดำเนินชีวิตไปตาม “ความต้องการ” ของสังคมในที่สุด ด้วยข้อเท็จจริงที่ตัวตนของเด็กนักเรียนค่อยๆ ถูกแยกออกจากความปรารถนาที่มีมาแต่เดิมก่อนจะเข้าสู่สถาบันโรงเรียนเช่นนี้เอง ประโยคที่สะท้อนความรู้สึกนึกคิดของนักเรียนหญิงเหล่านี้ผ่านปากตัวละครสายสุดาที่พูดว่า “ไม่มีใครเข้าใจการคิดถึงบ้านได้มากเท่ากับเด็กนักเรียนประจำหรอก” จึงกลายเป็นวาทะที่สะเทือนจิตใจของใครก็ตามที่เข้ามาได้ยินยิ่งนัก เมื่อมาถึงฉากจบ หลังจากที่ตัวละครทั้งหลายผ่านการกล่อมเกลาจนสำเร็จการศึกษาและแยกย้ายกันไปตามครรลองชีวิตของตน ผู้ชมจึงได้เห็นภาพการครองคู่ระหว่างนางกับ “ธนาธิป” ท่านกงสุลพระเอกที่เลี้ยงต้อยนางเอกมาตลอดเรื่อง หรือคู่ของสินีนาฏกับ “ชัยพล” และสายสุดากับ “คัมพล” ที่ฝ่าฟันอุปสรรคร่วมกันมาจนถึงบทสรุปอย่างเป็นสุข และในขณะเดียวกัน ละครก็ยังยืนยันให้เห็นด้วยว่า สถาบันโรงเรียนก็ได้ “ขัดเกลา” ให้เด็กหญิงนางผู้ที่เคยเป็น “นางม้าดีดกะโหลก” ไม่อยู่ในรีตในรอยของสังคม กลับกลายเป็น “นางอาย” ที่รู้จักเขินอายเพราะผ่านการขัดสีฉวีวรรณมาจนเป็นกุลสตรีที่ดีของสังคมไปแล้ว  ดังนั้น จึงยังคงเป็นความจำเป็นและไม่ผิดอันใด ที่เด็กๆ ทั้งหลายต้องสืบทอดร้องเพลงกันต่อไปว่า “โรงเรียนของเราน่าอยู่” ควบคู่ไปกับ “คุณครูที่แสนใจดีทุกคน” และที่สำคัญ เด็กๆ ทุกคนก็ยัง “ชอบไป...ชอบไปโรงเรียน”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 190 ผู้บริโภคร้อง ถอดแผ่นป้ายโฆษณาปิดบังบริเวณกระจกหน้าต่างรถไฟโดยสาร ได้ไหม?

สวัสดีครับท่านผู้อ่าน วันนี้ เราจะมาคุยกันถึงเรื่องแผ่นป้ายโฆษณาที่ติดบนรถไฟโดยสาร บางท่านอาจเคยสังเกต เวลาเรามองรถไฟจากภายนอกรถก็เห็นภาพป้ายโฆษณาสวยงามประดับอยู่ที่ตัวรถไฟโดยสาร แต่สำหรับผู้โดยสารที่อยู่ในรถไฟ อาจไม่รู้สึกดีด้วยเท่าไหร่ เนื่องจากแผ่นป้ายดังกล่าว เมื่อมองจากข้างในรถไฟจะมีลักษณะเป็นรูพรุนเพื่อให้แสงผ่านได้ ซึ่งบางครั้งเกิดอาการตาลาย เวียนหัวได้ หรือ จะมองหาป้ายบอกทาง ทิวทัศน์ต่างๆ ก็เห็นไม่ชัด ซึ่งเชื่อว่าหลายคนก็คงเจอกันนะครับ แล้วมันเป็นคดีสู่ศาลได้ยังไง เรามาดูกันครับเรื่องเกิดขึ้น เมื่อมีผู้บริโภคท่านหนึ่งซึ่งเป็นผู้โดยสารรถไฟขบวนด่วนพิเศษเป็นประจำ ขึ้นรถไฟโดยสารขบวนด่วนพิเศษกรุงเทพ – เชียงใหม่ เขาเดินไปนั่งริมหน้าต่างของรถไฟที่มีแผ่นป้ายโฆษณาดังกล่าวแปะอยู่ และมองออกไปข้างนอก ก็ไม่สามารถเห็นทิวทัศน์ข้างทางได้ชัดเจน แถมยังเกิดอาการตาพร่ามัว และคลื่นไส้ ระหว่างการเดินทาง หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว ผู้บริโภครายนี้ก็ทำหนังสือร้องทุกข์ไปถึงการรถไฟแห่งประเทศไทยเพื่อขอให้ขูดลอกแผ่นป้ายโฆษณาดังกล่าวออกจากหน้าต่างผู้โดยสาร แต่ปรากฎว่าไม่ได้รับการแก้ไข จึงนำเรื่องไปฟ้องคดีต่อศาลปกครอง โดยฟ้องว่าการที่การรถไฟแห่งประเทศไทยไม่ดำเนินการตามข้อเรียกร้องเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด จึงนำคดีมาฟ้องศาลเพื่อขอให้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้การรถไฟแห่งประเทศไทยผู้ถูกฟ้องคดีดำเนินการลอกแผ่นป้ายโฆษณาออกจากกระจกหน้าต่างของตู้รถโดยสารทุกสายทั่วประเทศและทำความสะอาดกระจกหน้าต่างรถตู้โดยสารของขบวนรถไฟทุกขบวนให้สะอาดต่อมา ศาลปกครองสูงสุด ได้ตัดสินว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยละเลยต่อหน้าที่ในการจัดทำกิจการรับขนส่งผู้โดยสาร ซึ่งเป็นบริการสาธารณะตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ เนื่องจาก ตามมาตรา 9 แห่ง พระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 กำหนดหน้าที่ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยต้องดูแลรักษาส่วนต่างๆ ของตู้รถไฟโดยสารของขบวนรถไฟ ซึ่งเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่ใช้ในการทำบริการสาธารณะดังกล่าว เช่น ที่นั่ง ที่นอนของผู้โดยสาร รวมทั้งประตู หน้าต่างของรถโดยสารให้อยู่ในสภาพใช้การได้ดี และสามารถอำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสารได้ตามสมควร และหน้าต่างรถโดยสารมิได้มีไว้เพียงเพื่อให้แสงสว่างจากภายนอกรถเข้าไปภายในรถเท่านั้น แต่ยังมีไว้เพื่อให้ผู้โดยสารสามารถมองเห็นสรรพสิ่งที่อยู่นอกรถเพื่อให้เกิดความเพลิดเพลินในระหว่างที่อยู่ในรถและระแวดระวังภยันตรายที่อาจจะมีจากภายนอกรถอีกด้วย รถโดยสารที่ไม่มีหน้าต่างไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นรถโดยสาร ดังนั้น การรถไฟแห่งประเทศไทยจึงมีหน้าที่ที่จะต้องจัดให้ตู้รถโดยสารของขบวนรถไฟทุกขบวนมีหน้าต่างและดูแลรักษาหน้าต่างรถตู้โดยสารทุกคันให้อยู่ในสภาพที่สามารถใช้การได้สมวัตถุประสงค์ของการจัดให้มีหน้าต่าง การที่การรถไฟแห่งประเทศไทยผู้ถูกฟ้องคดีทำสัญญาเช่าติดตั้งป้ายโฆษณาภายนอกรถโดยสารโดยยินยอมให้ติดตั้งป้ายโฆษณาที่กระจกหน้าต่างรถโดยสารได้ด้วย จึงเป็นการใช้หน้าต่างรถโดยสารแสวงหารายได้จนทำให้ผู้โดยสารไม่อาจใช้ประโยชน์จากหน้าต่างรถโดยสารได้ตามวัตถุประสงค์ของการจัดให้มีหน้าต่างได้ตามที่ควรจะเป็น ถือเป็นการละเลยต่อหน้าที่ในการจัดทำกิจการรับขนส่งผู้โดยสารซึ่งเป็นบริการสาธารณะตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ จึงพิพากษาให้การรถไฟแห่งประเทศไทยดำเนินการขูดลอกแผ่นป้ายโฆษณาออกจากบริเวณกระจกหน้าต่างตู้รถโดยสารและทำความสะอาดกระจกหน้าต่างตู้รถโดยสารรถไฟทุกคันให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา ( คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.231/2550)จากคดีตัวอย่างนี้ เราจะเห็นว่า เรื่องใกล้ตัวเราบางครั้ง เราอาจมองข้ามไปทั้งที่มันก็เป็นปัญหากับเรา หลายท่านอาจเคยเกิดความเดือดร้อนรำคาญจากแผ่นป้ายโฆษณาลักษณะนี้ แต่ยังไม่ได้ใช้สิทธิของตนเองเหมือนผู้ฟ้องคดีรายนี้ ที่ทำหนังสือถึงหน่วยงานให้ดำเนินการตามหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด จัดการแก้ไข จนไปถึงขั้นฟ้องเป็นคดีต่อศาลปกครอง ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นในสังคม ผลคดีเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทุกคนที่ใช้บริการรถไฟโดยสารของไทย ผมเชื่อว่าทุกคนมองเห็นปัญหาจากบริการสาธารณะ ไม่ใช่แค่รถไฟโดยสาร แต่รวมถึงรถตู้โดยสาร รถไฟฟ้า รถแท็กซี่ ฯลฯ แต่ปัญหานั้นจะลดลงหรือหายไปก็ต่อเมื่อมีคนลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิ เราต้องช่วยกันครับเพื่อให้สังคมของเราน่าอยู่มากขึ้น 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 190 อาหารหมดอายุ

แม้เราจะเคยเสนอประเด็นเรื่องอาหารหมดอายุมาแล้วหลายครั้ง แต่ปัญหาดังกล่าวก็ยังคงมีอยู่เรื่อยๆ ดังเหตุการณ์ล่าสุดที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภคทั้ง 2 รายนี้กรณีที่หนึ่ง โยเกิร์ตหมดอายุเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับคุณปาริชาติ เธอได้ซื้อโยเกิร์ตยี่ห้อหนึ่งจำนวน 2 แพ็ค จากห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี ในราคาที่ลดกระหน่ำเหลือเพียงแพ็คละ 7.50 บาท แต่ด้วยความเร่งรีบจึงทำให้เธอลืมตรวจสอบ ว/ด/ป หมดอายุของสินค้าดังกล่าว ซึ่งภายหลังนำมารับประทานจึงพบว่าสินค้าทั้ง 2 แพ็ค หมดอายุไปแล้ว ทำให้เธอส่งเรื่องมาร้องเรียนที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ โดยต้องการให้ห้างสรรพสินค้าดังกล่าวรับผิดชอบที่นำอาหารหมดอายุมาวางจำหน่ายแนวทางการแก้ไขปัญหากรณีนี้สามารถอ้างอิงตาม พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522 เรื่อง การจำหน่ายอาหารหมดอายุได้ว่า เป็นการกระทำความผิดตามมาตรา 25 (4) ประกอบมาตรา 29 ซึ่งถือได้ว่าการจำหน่ายอาหารหมดอายุ เป็นอาหารที่ไม่ปลอดภัยในการบริโภค และบทลงโทษอยู่ในมาตรา 61 ระบุว่ามีโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับศูนย์ฯ จึงแนะนำให้ผู้ร้องเตรียมเอกสารประกอบการร้องเรียน ได้แก่ ใบเสร็จรับเงิน รูปถ่ายผลิตภัณฑ์ – ตัวผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้หากมีอาการผิดปกติกับร่างกาย เช่น ท้องเสีย อาเจียน สามารถไปพบแพทย์และขอใบรับรองแพทย์มาเป็นหลักฐานเพิ่มเติมได้ และศูนย์ฯ จะช่วยทำหนังสือร้องเรียนไปยังห้างสรรพสินค้าดังกล่าว เพื่อให้มีการเจรจาไกล่เกลี่ยตามข้อเสนอของผู้ร้อง ซึ่งภายหลังการเจรจาได้มีเสนอชดเชยผู้ร้องเป็นจำนวนเงิน 4,000 บาท ซึ่งผู้ร้องยินดีและขอยุติการร้องเรียนกรณีที่สอง เบียร์หมดอายุเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับคุณสมชาย เขาซื้อเบียร์ต่างประเทศ จากห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง ซึ่งระบุวันที่ผลิตว่าปี 2015 อย่างไรก็ตามภายหลังซื้อมาดื่ม เขาพบว่ามีอาการปวดท้องและท้องเสีย และเมื่อมาค้นหาข้อมูลเรื่องวันหมดอายุของเบียร์ก็พบว่า โดยปกติเบียร์ต่างประเทศจะมีอายุได้เพียง 1 ปีเท่านั้น ทำให้เขาคาดว่าเบียร์ดังกล่าวน่าจะหมดอายุไปแล้ว และเป็นสาเหตุของอาการท้องเสียที่เกิดขึ้น จึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาในเบื้องต้นศูนย์ฯ แนะนำให้ผู้ร้องโทรศัพท์ไปสอบถามยังบริษัทผู้ผลิตสินค้าดังกล่าวก่อนว่า ผลิตภัณฑ์ที่ผู้ร้องซื้อมามีอายุการบริโภคเท่าไร และหมดอายุไปแล้วจริงหรือไม่ ซึ่งหากพบว่าหมดอายุแล้วจริง แต่มีการนำสินค้ามาจำหน่ายจะเข้าข่ายผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 กรณีจำหน่ายอาหารที่ไม่ปลอดภัยในการบริโภค หรือหากพบว่าอาหารยังไม่หมดอายุแต่เสื่อมสภาพแล้วก็สามารถฟ้องร้องได้เช่นกัน โดยมีโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งผู้ร้องสามารถส่งหลักฐานประกอบการร้องเรียน เช่น ข้อมูลเอกสารผลิตภัณฑ์ ใบรับรองแพทย์ บันทึกประจำวัน มาให้ทางศูนย์ฯ ช่วยเหลือได้ อย่างไรก็ตามสำหรับกรณีนี้ผู้ร้องไม่ต้องการฟ้องร้องต่อ จึงขอยุติการร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 189 ถูกทวงหนี้ผิดกฎหมาย

แม้ปัจจุบันกฎหมายกำหนดให้การทวงหนี้มีความเป็นธรรมต่อลูกหนี้มากขึ้น โดยมีการกำหนดข้อห้ามและข้อควรปฏิบัติต่างๆ แต่เราก็ยังพบว่าการทวงหนี้ที่ไม่เป็นธรรมยังคงมีอยู่ ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณยุพาเป็นหนี้บัตรเครดิต อิออน เนื่องจากการเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ โดยมียอดค้างชำระจำนวน 5,000 บาท ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ทำเรื่องตกลงกับทางบริษัทว่าจะแบ่งผ่อนชำระ 2 งวด อย่างไรก็ตามภายหลังเธอไม่สามารถผ่อนชำระได้ตามวันและเวลาที่ตกลงกันไว้ได้ จึงโทรศัพท์ไปยังบริษัทเพื่อขอยืดระยะเวลาการชำระหนี้ ซึ่งทางบริษัทรับทราบและขยายเวลาให้เรียบร้อย แต่ไม่นานพนักงานของบริษัทก็มาทวงหนี้ถึงสถานที่ทำงาน ในขณะที่เธอกำลังทำงาน รวมทั้งโทรศัพท์เข้ามาทวงหนี้ในเวลางานอีกด้วย ทำให้เธอรู้สึกอับอายและส่งเรื่องมาร้องเรียนยังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ เพื่อขอคำปรึกษาว่าการทวงหนี้ด้วยวิธีดังกล่าว ถือว่าผิดกฎหมายหรือไม่แนวทางการแก้ไขปัญหาจากเหตุการณ์ทวงหนี้ที่เกิดขึ้น อาจเข้าข่ายว่าไม่เป็นไปตามข้อกำหนดของ พระราชบัญญัติการทวงหนี้ พ.ศ.2558 ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2558 ที่ผ่านมา โดยผู้ร้องสามารถร้องเรียนต่อคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำจังหวัดได้ ทั้งนี้ตาม พรบ. ดังกล่าวได้มีการกำหนดข้อห้ามหรือข้อควรปฏิบัติสำหรับเจ้าหนี้ไว้ ดังนี้1.ข้อห้ามปฏิบัติของผู้ทวงหนี้- ข่มขู่ ใช้ความรุนแรง ทำให้เกิดความเสียหายต่อร่างกายหรือทรัพย์สิน ผู้ฝ่าฝืนจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ- พูดจาไม่สุภาพ ดูหมิ่น ผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท- เปิดเผยความเป็นลูกหนี้ของลูกหนี้ให้คนอื่นได้รู้ ผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท - ห้ามระบุข้อความ เครื่องหมาย หรือชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้บนซองจดหมาย ผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท2. ห้ามทวงหนี้แบบหลอกให้เข้าใจผิด- ส่งเอกสารทำให้ลูกหนี้เข้าใจผิดว่าเป็นการกระทำของศาล เช่น ส่งเอกสารที่มีตราครุฑมาให้ลูกหนี้ ผู้ฝ่าฝืนจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 500,000 บาท- ทำให้เชื่อว่ามีการส่งหนังสือบอกกล่าวทวงถาม (Notice) จากทนายความ ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท- ใช้เอกสารที่ทำให้ลูกหนี้เข้าใจผิดว่าจะถูกดำเนินคดี หรือถูกยึดทรัพย์ ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีหรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ- แอบอ้างว่าเป็นการทวงถามหนี้จากบริษัทข้อมูลเครดิตใดๆ ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีหรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ3. การทวงถามหนี้ไม่เป็นธรรม ห้ามปฏิบัติดังนี้- เรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายในการทวงถามหนี้ในอัตราเกินกว่าที่กำหนด- เสนอให้ลูกหนี้สั่งจ่ายเช็คชำระหนี้ทั้งๆ ที่รู้ว่าลูกหนี้ไม่มีเงินชำระหนี้ตามเช็ค ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท 4. คณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลการทวงนี้ของผู้ทวงถามหนี้ โดยหากลูกหนี้หรือคนอื่นๆ ได้รับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม หรือไม่เป็นไปตามกฎหมายจากผู้ทวงถามหนี้ สามารถร้องเรียนต่อคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำจังหวัด5. ให้ที่ทำการปกครอง หรือกองบัญชาการตำรวจนครบาล มีอำนาจรับเรื่องร้องเรียนการทวงหนี้ผิดกฎหมาย ติดตามพฤติกรรมของผู้ทวงถามหนี้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 189 รถใหม่ขึ้นสนิม

รถขึ้นสนิมเป็นสิ่งที่ผู้ขับขี่ทุกคนไม่ปรารถนา ยิ่งถ้าเป็นรถใหม่ด้วยแล้ว ปัญหาดังกล่าวไม่ควรเกิดขึ้น อย่างไรก็ตามหากเราพบว่าหลังซื้อรถมาได้ไม่กี่ปี แต่มีสนิมเกาะเสียแล้ว เราควรจัดการอย่างไรคุณสุชาติซื้อรถยนต์ใหม่มือหนึ่งยี่ห้อฮอนด้า อย่างไรก็ตามหลังใช้งานตามปกติไป 1 ปี เขาก็พบว่าเกิดคราบสนิมขึ้นบริเวณภายในห้องเครื่องยนต์ ขอบประตูทั้ง 4 บานและรูระบายน้ำ จึงนำรถยนต์เข้าตรวจสอบที่ศูนย์บริการของยี่ห้อดังกล่าว เนื่องจากไม่ทราบว่าเกิดจากสาเหตุใด ภายหลังการซ่อมแซมและแก้ไข คุณสุชาติพบว่ารถยังคงเป็นสนิมทั้งในบริเวณเดิมและบริเวณใหม่ จึงนำรถเข้าศูนย์บริการอีกรอบ โดยครั้งนี้ทางศูนย์ได้เปลี่ยนประตูหน้าซ้าย-ขวา ทำสีและเคาะพ่นสี ในบริเวณที่เป็นสนิมให้หลายครั้ง แต่เมื่อเขานำรถกลับมาใช้งานก็ยังพบปัญหาสนิมเช่นเดิม เขาจึงส่งเรื่องมาร้องเรียนยังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ โดยมีข้อเสนอต่อบริษัทดังนี้1. ขอให้รับผิดชอบคืนเงินดาวน์และค่างวดการเช่าซื้อที่ชำระไปแล้วทั้งหมด 2. ขอให้บริษัทรับผิดชอบค่าใช้สอยรถยนต์ต่อผู้ให้เช่าซื้อเต็มจำนวนแทนผู้บริโภค เนื่องจากสาเหตุที่ต้องบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อและเรียกเงินคืนนั้น เพราะสินค้าชำรุดบกพร่องจากการผลิต ไม่ใช่จากการใช้สอยโดยปกติของผู้บริโภค 3. ขอให้ศาลห้ามบริษัทจำหน่ายรถยนต์รุ่นพิพาท และให้เรียกเก็บสินค้าดังกล่าวจนกว่าจะได้เปลี่ยนแปลงให้มีความปลอดภัย แต่หากแก้ไขไม่ได้ห้ามผลิตหรือนำเข้ามาจำหน่าย 4. ขอเรียกค่าเสียหายต่อจิตใจที่ต้องหวาดกลัว วิตกกังวล ตลอดเวลาในการใช้รถยนต์พิพาทแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำให้ผู้ร้องส่งหลักฐานประกอบการดำเนินการ เช่น รูปถ่ายบริเวณที่เกิดสนิม เอกสารการซื้อรถ และเตรียมออกหนังสือถึงบริษัทรถยนต์ยี่ห้อดังกล่าว อย่างไรก็ตามภายหลังผู้ร้องแจ้งว่า ได้นำรถยนต์เข้าซ่อมที่ศูนย์บริการแล้ว และไม่เกิดปัญหาสนิมขึ้นอีก นอกจากนี้ทางบริษัทได้เพิ่มการรับประกันคุณภาพเฉพาะสีและตัวถัง(กรณีเกิดสนิม) โดยนับจากวันส่งมอบรถใหม่ จากเดิม 3 ปี หรือ 100,000 กิโลเมตร เป็น 5 ปีแล้ว จึงไม่ติดใจร้องเรียนต่อ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 188 รักษาไม่หาย

หลายคนเมื่อไม่สบายมักไปพบแพทย์เพื่อให้มีการวินิจฉัยอาการที่แน่ชัด และรับทราบแนวทางการรักษาที่ถูกต้อง แต่อาจไม่ใช่ทุกคนที่โชคดีหายจากโรคภัย ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้ลูกชายของคุณสมใจเพิ่งอายุได้เพียง 1 เดือน มีอาการไอตลอดเวลา เธอจึงพาไปตรวจที่อนามัยแถวบ้าน ภายหลังตรวจเรียบร้อยหมอก็ได้ให้ยาแก้ไอมารับประทาน อย่างไรก็ตามผ่านไปหลายวันอาการก็ยังไม่ดีขึ้น อีกทั้งยังหนักขึ้นเรื่อยๆ และมีผื่นขึ้นเต็มตัว ทำให้เธอตัดสินใจพาลูกเข้ารักษาที่โรงพยาบาลใน จ.หนองคาย โดยหมอได้รักษาด้วยการพ่นยา แต่อาการยังคงเหมือนเดิม ภายหลังจึงนำไปเอ็กซเรย์ และพบว่าเด็กมีอาการปอดติดเชื้อ จึงรักษาด้วยการให้น้ำเกลือ แต่ลูกชายของคุณสมใจก็ยังคงมีไข้สูง และต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ไม่นานอาการก็แย่ลงถึงขั้นหมดสติเหตุการณ์ยังคงเลวร้ายลงเรื่อยๆ เมื่อวันถัดมาลูกชายของเธอเริ่มมีอาการตาบวมและชัก จนในที่สุดก็มีอาการปอดติดเชื้อ ความดันต่ำและหัวใจวายเฉียบพลัน ภายหลังลูกชายเสียชีวิต คุณสมใจจึงร้องเรียนไปยังศูนย์ดำรงธรรมและขอความช่วยเหลือมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ แนะนำให้ผู้ร้องไปขอประวัติการรักษาจากโรงพยาบาลดังกล่าว และไปติดต่อที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช. ) หนองคาย พร้อมส่งสำเนาประวัติการรักษาและใบมรณะบัตรมาที่มูลนิธิด้วย อย่างไรก็ตามภายหลังผู้ร้องไปติดต่อ ทางโรงพยาบาลแจ้งว่าต้องรอผู้อำนวยการอนุมัติก่อน ศูนย์ฯ จึงแจ้งผู้ร้องว่า สามารถดำเนินการยื่นเรื่องได้ภายใน 1 วันตั้งแต่ทราบความเสียหาย และควรรีบไปดำเนินการเพื่อที่จะได้เยียวยาความเสียหายเบื้องต้น โดยไม่ต้องรอการพิสูจน์ถูกผิดหรือผลทางการแพทย์ ทั้งนี้ศูนย์ฯ จะช่วยส่งเรื่องผู้ร้องต่อเครือข่ายหนองคายให้ช่วยดำเนินการ ล่าสุดผู้ร้องจึงแจ้งกลับมาว่าได้รับการดำเนินการยื่นเรื่อง ม.41 ชดเชยเยียวยา เป็นเงิน 360,000 บาท ซึ่งเธอยินดีรับเงินจำนวนดังกล่าวและขอยุติเรื่องร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 187 นมเสื่อมคุณภาพก่อนวันหมดอายุ

วันเดือนปีที่ผลิตและหมดอายุ เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้ผู้บริโภคทราบว่าสินค้าดังกล่าวยังคงมีคุณภาพหรือไม่ และจะเสื่อมสภาพเมื่อใด อย่างไรก็ตามใช่ว่าเราจะมั่นใจเช่นนั้นได้เสมอไป ดังเหตุการณ์ของผู้ร้องรายนี้ที่พบปัญหาสินค้าเสื่อมสภาพก่อนวันหมดอายุคุณพรพรรณซื้อนมจืดยี่ห้อไทยเดนมาร์ค จากห้างท๊อป ซุปเปอร์มาร์เก็ต ขนาด 200 มล. จำนวน 1 ลัง ราคา 315 บาท มาให้หลานชายรับประทาน ซึ่งเธอได้ตรวจสอบ ว/ด/ป ที่หมดอายุข้างกล่องแล้วว่าอีกหลายเดือนกว่าจะครบกำหนด อย่างไรก็ตามหลังนำมาเทใส่ขวดนมให้หลานรับประทาน กลับพบว่านมดังกล่าวมีลักษณะจับตัวเป็นก้อนคล้ายนมบูด เมื่อตรวจสอบกล่องอื่นๆ ก็พบว่ามีลักษณะคล้ายกัน เธอจึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิเพื่อขอคำปรึกษา โดยต้องการให้บริษัทเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ แนะนำให้ผู้ร้องส่งหลักฐานประกอบการร้องเรียนมาเพิ่มเติม คือ สำเนาใบเสร็จรับเงิน รวมทั้งรูปถ่ายลักษณะผิดปกติของนมดังกล่าว พร้อมส่งตัวอย่างของสินค้าให้ผู้ผลิตนำไปตรวจวิเคราะห์คุณภาพ ซึ่งภายหลังการตรวจสอบโดยองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ภาคกลางพบว่า ผลการวิเคราะห์อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน โดยสำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นอาจเกิดจากการเสื่อมคุณภาพเฉพาะกล่อง ซึ่งมีสาเหตุจากกระบวนการผลิต การเก็บรักษาหรือการขนส่งทั้งนี้ทางบริษัทจึงแจ้งว่าจะเพิ่มความเข้มงวดในกระบวนการผลิต ตรวจสอบคุณภาพการขนส่งโดยปฏิบัติตามระบบคุณภาพ มาตรฐาน GMP HACCP ISO และ HALAL อย่างเคร่งครัด เพื่อปรังปรุงพัฒนาให้ลูกค้ามีความเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์มากยิ่งขึ้น และหากผู้บริโภคพบผลิตภัณฑ์ที่กล่องบุบหรือชำรุดสามารถส่งคืนที่ อ.ส.ค. ให้ดำเนินการเปลี่ยนใหม่ได้ นอกจากนี้ก็ได้ชดเชยให้ผู้ร้องเป็นผลิตภัณฑ์นมจำนวน 5 ลัง ด้านผู้ร้องยินดีรับข้อเสนอและไม่ติดใจปัญหาแล้วจึงยุติการร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 170 มาช่วยร้องเรียนแท็กซี่กันเถอะ

ช่วงนี้ข่าวคราวเรื่องการใช้บริการแท็กซี่เป็นที่พูดกันบ่อยมาก เมื่อช่วงเดือนมกราคมประเทศไทยได้มีข่าวฮิตในโลกออนไลน์ในเรื่องการให้บริการแท็กซี่  ที่มีนักธุรกิจชาวญี่ปุ่น ได้เดินทางมาประเทศไทยเป็นประจำ เพื่อแจกขนมและของเล่นให้กับเด็กๆ ผู้ด้อยโอกาสภายในประเทศไทย  และได้ใช้บริการแท็กซี่ของสนามบินสุวรรณภูมิ โดยรู้สึกไม่พึงพอใจกับการได้รับบริการนั้น จนทำให้เกิดการโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กของตนเองว่า “สนามบินสุวรรณภูมิคือความอับอายของประเทศไทย ทั้งการบริการที่แย่ เจ้าหน้าที่ไม่เต็มใจให้บริการ และยังถูกแท็กซี่โกงค่าโดยสาร”  ซึ่งเรื่องนี้ได้ถูกส่งต่อไปทั่วโลกออนไลน์  จนนำไปสู่การจัดระเบียบแท็กซี่สุวรรณภูมิ แต่เมื่อไม่นานมานี้นักธุรกิจชาวญี่ปุ่นคนดังกล่าวยังได้มีการโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กอีกครั้ง ในเรื่องการบริการของแท็กซี่สนามบินสุวรรณภูมิที่เก็บค่าโดยสารเกินจริง และยังกล่าวด้วยว่าเป็นเรื่องที่น่าอายของประเทศไทย หลังจากได้อ่านข่าวนี้ หลายคนคงคิดอยู่ในใจว่า ไม่ใช่แต่นักท่องเที่ยวต่างชาติเท่านั้นที่โดนรู้สึกแย่กับการใช้บริการแท็กซี่หรอก คนไทยอย่างเราก็โดนเช่นกัน แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามหามาตรการในการควบคุมการให้บริการของแท็กซี่มากแค่ไหน แต่ดูจะไม่ได้ผลมากนัก ทั้งเรื่องสนับสนุนให้มีการร้องเรียน จนทำให้เกิดสายด่วน แอพพลิเคชั่นต่างๆ ที่อำนวยความสะดวกให้กับประชาชนผู้ใช้บริการ ล่าสุดกรมการขนส่งทางบก ได้ออกแอพพลิเคชั่น “DLT Check-In” เป็นแอพพลิเคชั่นสำหรับให้ประชาชนผู้ใช้บริการได้เข้ามาร้องเรียน โดยได้ปรับรูปแบบการใช้งานให้มีความสะดวกมากขึ้น  ซึ่งหวังว่าจะมีผู้ใช้บริการแท็กซี่ทั้งที่มีปัญหาในการใช้บริการและมีความพึงพอใจในการใช้บริการ แจ้งร้องเรียนต่างๆ และรายงานเรื่องที่เกิดขึ้น เข้ามายังกรมการขนส่งทางบก ภายในแอพพลิเคชั่น จะให้กรอกหมายเลขโทรศัพท์ของเจ้าของเครื่อง เพื่อนำเป็นข้อมูลเผื่อมีการติดต่อสอบถามกลับถึงรายละเอียดที่เกิดขึ้น และเพิ่มความสะดวกในการร้องเรียนได้รวดเร็วขึ้น  เมื่อมีการกรอกหมายเลขโทรศัพท์เรียบร้อยแล้ว ให้คลิกลงทะเบียนการใช้แท็กซี่ จากนั้นแอพพลิเคชั่นจะมีวิธีการให้เลือก  2 รูปแบบ คือ ให้กรอกทะเบียนรถแท็กซี่ หรือ ให้ถ่ายรูปทะเบียนแท็กซี่ ต่อจากนั้นแอพพลิเคชั่นจะมีแบบสอบถามให้กรอกรายละเอียดต่างๆ ถึงความพึงพอใจในการใช้แท็กซี่ และมีช่องข้อเสนอแนะเพิ่มเติม เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถกรอกรายละเอียดนอกเหนือจากแบบสอบถามนั้นได้ จากข่าวที่สร้างความเสียหายให้กับประเทศไทยในเรื่องการให้บริการของแท็กซี่นั้น คิดว่าคงทำให้คนไทยอย่างเรารู้สึกเสียหน้ากันพอสมควร แม้ว่าเหตุการณ์การให้บริการของแท็กซี่ที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมก็เกิดขึ้นกับคนไทยเองเช่นกัน แต่ถ้าทุกคนพยายามที่จะร่วมมือกันเพื่อปรับปรุงพฤติกรรมไม่เหมาะสมนั้น โดยใช้วิธีการร้องเรียนผ่านแอพพลิเคชั่น หรือผ่านสายด่วนของศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารรถสาธารณะ ก็อาจจะทำให้การปรับเปลี่ยนให้การให้บริการของแท็กซี่ได้ผลในระดับหนึ่งก็เป็นได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 149 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนมิถุนายน 2556 นมโรงเรียนไม่ปลอดภัย พบผลการตรวจที่น่าตกใจ เมื่อนมโรงเรียนที่แจกให้เด็กนักเรียนดื่มตามโรงเรียน ยังมีความเสี่ยงของเชื้อแบคทีเรียที่เกินค่ามาตรฐาน โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ทำการตรวจสอบตัวอย่างนมโรงเรียนทั้งชนิดพาสเจอร์ไรส์ และยูเอชที ที่ผลิตจากโรงนมขนาดใหญ่ ขนาดเล็ก และกลุ่มสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนม ระหว่างปี พ.ศ.2553 - 2555 จำนวน 450 ตัวอย่าง พบว่ามีตัวอย่างที่ไม่ได้มาตรฐาน จำนวน 42 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 9.3 เมื่อจำแนกตามรายการตรวจวิเคราะห์พบตัวอย่างไม่ได้มาตรฐานด้านจุลินทรีย์ พบปริมาณแบคทีเรียเกินมาตรฐานมากที่สุด นอกจากนี้ยังพบ เชื้อบาซีรัส ซีเรียส เชื้ออีโคไล และเชื้อโคลิฟอร์ม โดยพบนมพาสเจอร์ไรส์ไม่ได้มาตรฐานมากกว่านมยูเอชที นอกจากนี้ยังพบปัญหาเรื่องคุณค่าทางโภชนาการไม่ได้มาตรฐาน คือมีโปรตีนต่ำกว่ามาตรฐานอยู่ที่ร้อยละ 3.8 ของตัวอย่างที่สุ่มตรวจ โดยทางกระทรวงสาธารณสุขคาดว่าสาเหตุที่นมโรงเรียนพบการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์นั้นมาจาก ความไม่ได้มาตรฐานในการผลิต ไปจนถึงขั้นตอนการขนส่งและเก็บรักษาที่ไม่มีคุณภาพในการควบคุมอุณหภูมิที่เหมาะสม     หลอกลวง 100% ยาลดสัดส่วนเฉพาะจุด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ออกโรงเตือนสาวๆ ที่คิดจะทานยาที่โฆษณาสรรพคุณว่าช่วยลดสัดส่วนเฉพาะจุด ว่ายาดังกล่าวอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง อย.ไม่เคยมีการรับรอง และไม่มีทางเป็นไปได้ที่จะมียาลดสัดส่วนเฉพาะจุด อย.ได้ออกตรวจและดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ที่ขายยาในลักษณะดังกล่าว ซึ่งพบว่ามีการโฆษณาขายผ่านทางอินเทอร์เน็ต โดยเบื้องต้นเข้าข่ายความผิดหลายประการ ทั้งการผลิตยา หรือ นำเข้ายา โดยไม่ได้รับอนุญาต ไม่ขออนุญาตในการขึ้นทะเบียนยา ขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต โฆษณาเกินจริง และโฆษณาโอ้อวด โดยจะรวบรวมหลักฐานเพื่อเอาผิดทั้งผู้ขาย และแหล่งที่ผลิต ตาม พ.ร.บ.ยา 2522 ยาดังกล่าวนอกจากจะไม่มีผลตามที่โฆษณาอวดอ้างแล้ว ยังอาจก่อผลเสียต่อร่างกาย เพราะจากการตรวจสอบของ อย. เชื่อว่าน่าจะเป็นยาประเภทอาหารเสริม ประเภทแอลคานิทีน ที่เพิ่มการเผาผลาญ และมักพบว่ามีการแอบเติมยาที่ อย.ถอนทะเบียน โดยเฉพาะสารไซบูทรามีน ซึ่งมีผลข้างเคียงทั้งทำให้ความดันโลหิตสูง และหัวใจเต้นเร็ว ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต   ขยะเครื่องใช้ไฟฟ้า (กำลังจะ) ล้นประเทศ!!! มีข้อมูลที่น่าสนใจจาก โครงการพัฒนาแนวทางการประเมินปริมาณซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและ อิเล็กทรอนิกส์ ของกรมควบคุมมลพิษ ซึ่งได้มีการคาดการณ์ว่าในช่วงปี พ.ศ.2555-2559 หากไม่มีการดำเนินการกำจัดขยะอันตรายอย่างถูกต้อง ประเทศไทยเราจะมีซากขยะเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ล้นประเทศ โดยสัดส่วนของขยะเครื่องใช้ไฟฟ้าแต่ละประเภทที่คาดการไว้มีดังนี้  โทรทัศน์ 12 ล้านเครื่อง กล้องถ่ายภาพ/วิดีโอ 4 ล้านเครื่อง อุปกรณ์เล่นภาพ/เสียงขนาดพกพา 17 ล้านเครื่อง เครื่องพิมพ์/โทรสาร 7 ล้านเครื่อง โทรศัพท์มือถือ/โทรศัพท์บ้าน 48 ล้านเครื่อง คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล 11 ล้านเครื่อง เครื่องปรับอากาศ 3 ล้านเครื่อง และตู้เย็น 4 ล้านเครื่อง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นขยะที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี อย่างที่จะเกิดขึ้นเร็วนี้คือเรื่องของ ทีวีดิจิตอล ที่อาจทำให้หลายครอบครัวต้องเปลี่ยนทีวีเครื่องใหม่เพื่อรองรับการส่งสัญญาณทีวีแบบใหม่ ขยะเครื่องใช้ไฟฟ้าเหล่านี้ถ้าหากไม่ได้รับการจัดการที่ดีจะก่อให้เกิดอันตรายกับทั้งคนและสิ่งแวดล้อม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องเร่งหาวิธีจัดการขยะอันตรายเหล่านี้อย่างถูกวิธี ด้านผู้บริโภคเองก็ต้องมีส่วนร่วมในการจัดการกับปัญหานี้ด้วยเช่นกัน เริ่มตั้งการลดปริมาณการใช้ แยกขยะ และไม่นำขยะอันตรายไปทิ้งในที่ที่ไม่ได้ถูกจัดเตรียมไว้อย่างเหมาะสม   เดินหน้ายกเลิกการใช้แร่ใยหิน ทั้งๆ ที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ เรื่องให้สังคมไทยเป็นสังคมไร้แร่ใยหิน ตั้งแต่เมื่อวันที่ 12 เม.ย. 2554 ตาม มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 3 ปี 2553 แต่จนถึงขณะนี้บ้านเราก็ยังไม่มีกฎหมายที่ออกมาบังคับใช้การใช้แร่ใยหินอย่างจริงจังสักที ล่าสุดในงานแถลงข่าวเรื่อง “สังคมไทยต้องไร้แร่ใยหิน” นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้แจ้งว่า กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมยกเลิกการนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบ 5 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ 1.กระเบื้องแผ่นเรียบ 2.กระเบื้องยางปูพื้น 3.ผ้าเบรกและคลัตช์ 4.ท่อซีเมนต์ใยหิน และ 5.กระเบื้องมุงหลังคา หลังจากได้ไปดำเนินการจัดทำแผนและกรอบเวลายกเลิกการนำเข้าผลิตและจำหน่ายแร่ใยหินและผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบเพื่อสรุปเสนอเป็นแผนขอความเห็นชอบจาก ครม. โดยจะมีการนำเสนอเข้า ครม. พิจารณา ให้ไทยยกเลิก 5 ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวที่ทำจากแร่ใยหินภายใน 5 ปี โดยผลิตภัณฑ์ที่ทำจากแร่ใยหินอย่างผ้าเบรกและคลัตช์ที่มีกรอบระยะเวลาในการยกเลิก 5 ปี จะดำเนินการเฉพาะส่วนของรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลขนาดเล็กก่อน เนื่องจากในรถบรรทุกยังเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัย ส่วนท่อซีเมนต์ใยหินจะให้ยกเลิกเฉพาะท่อที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 400 มม.เพราะท่อขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 400 มม.ขึ้นไป กรมชลประทานมีหนังสือถึง ก.อุตสาหกรรม ว่าขอให้มีการขยายเวลาในการยกเลิก เนื่องจากติดขัดเรื่องความพร้อมในการผลิต ส่วนอีก 3 ผลิตภัณฑ์ที่เหลือจะเสนอให้ยกเลิกภายใน 5 ปี   องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน กระตุ้น กสทช. ทำงาน ก่อนเกิดปัญหา “ซิมดับ” คนที่ใช้โทรศัพท์มือถือเครือข่ายทรูมูฟ รู้กันหรือยังว่า วันที่ 15 กันยายนที่จะถึงนี้ สัญญาสัมปทานการใช้คลื่นความถี่ที่ทางผู้ให้บริการทำไว้กับทาง กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) จะหมดลง ซึ่งหมายความว่าต้องเกิดการเปลี่ยนเรื่องการใช้งานของผู้ใช้บริการ อาจจะต้องมีการโอนย้ายผู้ให้บริการ หรือที่เลวร้ายที่สุดคือ อาจไม่สามารถใช้งานหมายเลขโทรศัพท์ของเครือข่ายดังกล่าวได้ หรือพูดง่ายๆ คือเกิดปัญหา “ซิมดับ” คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน เป็นห่วงปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้บริโภค ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบในเรื่องนี้อย่าง คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ก็ดูเหมือนจะยังหาทางออกให้ผู้บริโภคไม่ได้ คณะกรรมการองค์การอิสระฯ จึงได้ทำหนังสือเรียกร้องให้ทาง กสทช. เร่งดำเนินการแก้ปัญหาโดยด่วน โดยข้อเรียกร้องในการแก้ปัญหาประกอบด้วย 1.ตั้งคณะทำงานประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz และกำหนดวันในการจัดการประมูลคลื่นใหม่โดยเร่งด่วน 2.ควบคุมกำกับ ไม่ให้บริษัทผู้ให้บริการทั้งสองรายคือ บริษัท ทรูมูฟ จำกัด และบริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด (มหาชน) ซึ่งขณะนี้ยังคงทำสัญญาให้บริการอยู่ ต้องไม่ทำสัญญาให้บริการเกินวันที่ 15 กันยายน 2556 3.เร่งรัดให้บริษัทผู้ให้บริการทั้งสองราย แจ้งให้เจ้าของเลขหมายทุกรายทราบถึงการสิ้นสุดสัญญาสัมปทานโดยทันที และมีบริการให้ผู้บริโภคติดต่อสอบถามฟรี รวมทั้งเร่งรัดการดำเนินการโอนย้ายเครือข่ายให้เต็มตามศักยภาพ คือ 3 แสน เลขหมายต่อวัน พร้อมทั้งคืนเงินคงเหลือในระบบให้กับผู้ใช้บริการ ทั้งนี้ทาง กสทช. เองทราบเรื่องการหมดสัมปทานมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่กลับไม่ยอมจัดการปัญหา คือการจัดประมูลสัมปทานใหม่ กลับนิ่งเฉยจนใกล้วันหมดอายุ จนกำลังจะกลายเป็นปัญหาของผู้บริโภคซึ่งแทบจะยังไม่รู้ข้อมูลใดๆ เลยว่าสัญญาณมือถือที่ใช้อยู่กำลังจะหยุดลง ซึ่งความจริงผู้บริโภคมีสิทธิ์ที่จะรับทราบข้อมูลดังกล่าว เพื่อผู้บริโภคจะได้มีโอกาสเลือกที่จะยังคงอยู่ในระบบ ย้ายค่าย หรือทวงถามค่าชดเชยที่ผู้บริโภคควรได้รับ //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 171 มายา ฮือฮา ทุเรียนเทศ

ทุเรียนเทศรักษามะเร็ง ได้ถึง 12 ชนิด ต่างประเทศยอมรับแล้ว ฯลฯ” ข้อความโฆษณาสรรพคุณมหัศจรรย์ของผลิตภัณฑ์ทุเรียนเทศทำนองเหล่านี้  เรามักพบเจออยู่เสมอๆ ในงานแสดงสินค้าต่างๆ ยิ่งเป็นงานใหญ่ ที่มีผลิตภัณฑ์มากมายหลายชนิดมาแสดง นอกจากจะสร้างความตื่นตาแล้ว มันยังเพิ่มความน่าเชื่อถือให้ผลิตภัณฑ์อีกทางหนึ่งด้วย หันไปทางไหนก็มีผลิตภัณฑ์สุขภาพ ที่หน่วยงานคัดสรรมาออกร้านด้วยนี่นา ทุเรียนเทศ เป็นผลิตภัณฑ์ที่กำลังฮือฮาอย่างมาก มีการเผยแพร่สรรพคุณทางยาผ่านช่องทางต่างๆมากมาย สรรพคุณที่นำมากล่าวอ้างมีมากมาย ทั้งบำรุงหัวใจ ป้องกันความดันสูง และเป็นที่กล่าวถึงอย่างมากคือกำจัดเซลล์มะเร็ง โดยมีการอ้างอิงผลงานวิจัยจากต่างประเทศ ซึ่งบางสถาบันก็เป็นชื่อแปลกๆ ด้วยซ้ำ ล่าสุด ผมไปเดินในงานแสดงสินค้างานหนึ่ง พบว่ามีการเผยแพร่สรรพคุณของใบทุเรียนเทศว่า สามารถทำลายเซลล์มะเร็งได้ดีกว่ายาเคมีบำบัด และมีผลิตภัณฑ์จากใบทุเรียนเทศวางจำหน่ายรูปแบบต่างๆ เช่น แคปซูล ชาชง รวมถึงแนะนำให้ใช้ชาชงใบทุเรียนเทศร่วมกับการรักษาด้วยเคมีบำบัด แต่ก่อนจะตัดสินใจเชื่อข้อมูลดังกล่าว สถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ออกมาเตือนผู้บริโภคให้ตั้งสติก่อนนำมาบริโภคว่า มีงานวิจัยของต่างประเทศพบว่า ในใบของทุเรียนเทศมีสารแอนโนนาซิน ซึ่งเป็นสารที่มีพิษต่อเซลล์ประสาท และหากบริโภคปริมาณมากจะมีผลกระทบต่อการทำงานของไตได้ ขณะนี้สถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กำลังรวบรวมใบทุเรียนเทศ มาศึกษาความเป็นพิษเบื้องต้นทางห้องปฏิบัติการ  เพราะการจะนำสมุนไพรทุเรียนเทศมาใช้บำบัดโรคมะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย ต้องผ่านกระบวนการศึกษาวิจัยให้ปลอดภัยเสียก่อน ไม่เช่นนั้นจะยิ่งเป็นผลเสียต่อผู้ป่วย การศึกษาวิจัยมีหลายขั้นตอน เช่น ศึกษากลไกออกฤทธิ์ต่อเซลล์ต้นกำเนิดมะเร็ง การแยกสาระสำคัญที่ออกฤทธิ์ชนิดต่างๆ ในใบทุเรียนเทศ ตลอดจนการศึกษาด้านพิษวิทยาและความปลอดภัย อันที่จริงทุเรียนเทศ ไม่ใช่ผลไม้ที่น่ารังเกียจ มันเป็นผลไม้ที่สามารถรับประทานได้  มีการนำมาแปรรูปเป็นผลไม้กวน เยลลี ไอศกรีม ในบางประเทศ เช่น มาเลเซีย เวียดนามมีการนำไปทำเป็นน้ำผลไม้ ในเม็กซิโกและโคลัมเบีย ก็เป็นผลไม้ที่นิยมรับประทานและใช้ทำขนมเช่นกัน  ในแง่สารอาหาร ทุเรียนเทศมีสารคาร์โบไฮเดรตมาก โดยเฉพาะน้ำตาลฟรุกโทส วิตามินซี และวิตามินบี   ในผล ใบและเมล็ด พบว่ามันมีฤทธิ์ทางยา มีการใช้เป็นยาสมุนไพร  เช่น มาเลเซียใช้ผลใช้รักษาโรคกระเพาะอาหาร   และยังพบว่ามีสารต้านอนุมูลอิสระ ดังนั้น หากเราจะบริโภคทุเรียนเทศเป็นอาหารทั่วๆ ไป ก็ไม่ใช่สิ่งที่น่ากังวล แต่การนำมาใช้โดยคาดหวังผลในการรักษาโรคมะเร็ง ยังไม่มีข้อมูลยืนยันและหากไม่ระมัดระวังอาจเกิดอันตรายเพิ่มขึ้นอีกด้วย  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 184 ร้องเรียนเรื่องนมถั่วเหลืองบูดก่อนวันหมดอายุ

กลับมาแล้วจ้ะ  หลังจากหายหน้าไปนาน เล่มนี้เราจะมาเรียนรู้วิธีการพิทักษ์สิทธิของเราเอง  เมื่อเจอสินค้าเสื่อมคุณภาพ(สินค้าเน่าเสียก่อนวันหมดอายุ)   โดยต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สมาคมพิทักษ์สิทธิผู้บริโภคจังหวัดสมุทรสงคราม  ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับ กรณีนมถั่วเหลืองชนิดยูเอชที เน่าเสียก่อนวันหมดอายุ(ตามที่ระบุไว้ที่กล่อง)   เอาล่ะเราก็ต้องตรวจสอบไล่เรียงเรื่องราวกันก่อน ได้ความว่าผู้ร้องได้ซื้อนมถั่วเหลืองยี่ห้อหนึ่งจากร้านสะดวกซื้อใกล้บ้าน  เพื่อนำไปแจกในงานศพญาติ  ก่อนซื้อได้ตรวจดูวันผลิตและวันหมดอายุแล้ว(ผลิตวันที่ 25 กุมภาพันธ์.59 หมดอายุ 25 ธันวาคม 59) ผู้ร้องซื้อสินค้าตอนต้นเดือนมีนาคม ห่างจากวันผลิตไม่ถึง 10 วัน จริงๆ ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่หลังจากแจกจ่ายนมไปแล้ว   ปรากฏว่าแขกในงานที่ได้รับแจกนมกล่องไป ได้โทรมาต่อว่าผู้ร้อง ว่าแจกนมบูดไปให้เขากิน  ผู้ร้องจึงได้ไปตรวจสอบนม ที่เหลืออยู่ปรากฏว่าบูดเสียจริงทั้งแพ็กที่ซื้อมาจึงได้มาร้องเรียนที่สมาคมฯ   จากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นพบว่า เรื่องนี้ไม่สามารถไปเอาผิดกับร้านสะดวกซื้อได้ เพราะไม่ได้จำหน่ายสินค้าหมดอายุ  จึงต้องนำเรื่องไปร้องเรียนที่บริษัทผู้ผลิต ซึ่งเหตุการณ์นี้สันนิษฐานได้ว่าน่าจะเกิดจากความบกพร่องในกระบวนการผลิต    ทางสมาคมฯ จึงได้แนะนำกับผู้ร้องให้ปฏิบัติตามขั้นตอนดังนี้  1. ผู้ร้องต้องกลับไปซื้อนมร้านเดิม วันเดือนปี ผลิตเดียวกัน(ซึ่งพบว่ายังมีจำหน่ายอยู่) มาเปิดพิสูจน์อีกครั้งว่าเน่าเสียเหมือนกันหมดหรือไม่ 2. ถ้าพบว่านมนั้นเน่าเสีย  ให้นำนมนั้นไปเป็นหลักฐานในการแจ้งความลงบันทึกประจำวันกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อเป็นหลักฐาน ซึ่งผลคือพบนมเน่าเสียทั้งหมด (อันที่จริงถ้าไม่พบที่ร้านอีกก็สามารถนำนมที่เหลืออยู่กับผู้ร้องไปแจ้งความได้) ผู้ร้องจึงได้ไปแจ้งความลงบันทึกตามคำแนะนำของสมาคมฯ จากนั้นสมาคมฯ ได้รวบรวมเอกสารหลักฐาน พร้อมส่งหนังสือร้องเรียนไปที่บริษัทผู้ผลิตนมยี่ห้อนั้น  ซึ่งทางบริษัทผู้ผลิตแสดงความรับผิดชอบต่อสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานของตน และได้ทำหนังสือมาขอโทษและแจ้งว่าบริษัทฯ ได้ตรวจสอบนมล็อตที่ถูกร้องเรียน ซึ่งพบว่า มีปัญหาเน่าเสียจริง อันเป็นผลจากกระบวนการขนส่งบริษัท และทางบริษัทฯ ได้เรียกเก็บนมล็อตนั้นออกจากตลาดแล้วทั้งหมด   จากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการเจราจาความเสียหายของผู้ร้องเรียน  บริษัทเสนอชดเชยด้วยนมจำนวน 4 ลัง และขอให้เรื่องจบ   สมาคมฯ เห็นว่าไม่ค่อยเป็นธรรมกับผู้บริโภค และแจ้งบริษัทว่ากรณีร้องเรียนนี้ ผู้ร้องมิได้เสียหายแค่ซื้อสินค้ามาบริโภคเอง แต่มีการแจกจ่ายไปให้ผู้ร่วมงานศพ ทำให้เพื่อนบ้านในวงกว้าง เข้าใจผิด ทำให้ผู้ร้องเสียหายจากการถูกกล่าวหาว่าซื้อของเน่าเสียมาแจก  ทำให้เกิดความเสียหายทางด้านจิตใจ สมาคมฯในฐานะคนกลางในการไกล่เกลี่ย ได้เสนอการเยียวยาความเสียหายของผู้ร้อง 2 ข้อดังนี้ คือหนึ่งให้บริษัทเยียวยาความเสียหายของผู้ร้องเป็นจำนวนเงิน  20,000  บาท  สองให้บริษัททำหนังสือขอโทษ และสัญญาว่าจะระมัดระวังผลิตสินค้าให้มีคุณภาพมาตรฐานทุกชิ้นก่อนถึงมือผู้บริโภค  จากนั้นมีการลงนาม 3 ฝ่าย (บริษัทผู้ผลิต สมาคมฯ ผู้รับเรื่องร้องทุกข์ ผู้ร้องเรียนในฐานะผู้เสียหาย) ในข้อตกลง และแต่ละฝ่ายเก็บข้อตกลงไว้คนละฉบับ ซึ่งทางบริษัทยินดีปฏิบัติตามข้อเสนอ      

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 184 แพ้ครีม ร้องเรียนได้หรือไม่

“อยากบอกว่าครีมนี้ใช้แล้วหน้าขาวใสขึ้นจริง ปลอดภัยแน่นอน” นี่เป็นตัวอย่างคำโฆษณาที่แสนจะคุ้นหู ตามช่องเคเบิลทีวีและสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งไม่น่าเชื่อว่ามีผู้บริโภคหลายคนที่หลงเชื่อซื้อครีมดังกล่าวมาใช้ แล้วมาค้นพบความจริงภายหลังว่าครีมไม่ปลอดภัยอย่างที่คิด ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณสุนีย์ตัดสินใจซื้อครีมยี่ห้อหนึ่ง ที่โฆษณาผ่านทางเคเบิลทีวีมาบำรุงให้ผิวหน้าขาวใส เพราะเห็นว่าคนที่มาแนะนำครีมดังกล่าวมีผิวหน้าดีจริง เธอจึงเชื่อว่าหากใช้บ้างหน้าจะเด้งและดูดีขึ้นเหมือนกัน อย่างไรก็ตามเมื่อเธอใช้ครีมดังกล่าวกลับว่า มีอาการแพ้ บวมแดงและแสบคัน เธอจึงติดต่อไปยังผู้จัดจำหน่าย ซึ่งรับผิดชอบด้วยการคืนเงินค่าครีมให้ แต่ไม่เยียวยาค่ารักษาอื่นๆ ที่เรียกร้องไป ทำให้เธอร้องเรียนมาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางการแก้ไขปัญหาแม้ผู้ร้องต้องการให้ศูนย์ฯ ช่วยเหลือ โดยให้ตรวจสอบว่าครีมดังกล่าวผสมสารที่อันตรายต่อใบหน้าหรือไม่ แต่เมื่อศูนย์ฯ แนะนำให้ผู้ร้องส่งหลักฐานมาให้เพิ่มเติมคือ ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวพร้อมรายละเอียดการโฆษณาต่างๆ หลักฐานการซื้อขาย และใบรับรองแพทย์ ที่สามารถยืนยันได้ว่าอาการแพ้ที่เกิดขึ้น เกิดจากการใช้ครีมดังกล่าวจริง ผู้ร้องก็แจ้งว่าเธอส่งครีมดังกล่าวคืนไปให้บริษัทแล้ว นอกจากนี้ไม่ได้ไปพบแพทย์ เพื่อรักษาอาการแพ้ แต่ซื้อยามาทาเอง ดังนั้นเมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ ทางศูนย์ฯ จึงไม่สามารถช่วยผู้ร้องต่อได้ เนื่องจากขาดหลักฐานที่มากพอ ศูนย์ฯ จึงขอฝากเตือนผู้ที่ซื้อครีมไม่ว่ายี่ห้อใดมาใช้ว่า ควรเก็บหลักฐานสำคัญดังที่กล่าวไว้ข้างต้นไว้ก่อน และหากพบว่าใช้แล้วมีอาการแพ้ ควรไปพบแพทย์ เพื่อให้วินิจฉัยอาการ และขอใบรับรองแพทย์มาเป็นหลักฐานยืนยัน นอกจากนี้ควรทดสอบการแพ้เบื้องต้นด้วยตัวเองทุกครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้หน้าเสียโฉม ด้วยการทาครีมทิ้งไว้ในส่วนที่บอบบางของร่างกายอย่าง ใต้ท้องแขน หรือหลังใบหู ประมาณ 24 ชม. ซึ่งหากพบว่ามีผื่นแดงขึ้นหรือคัน แสดงว่าเราแพ้ และไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์นั้นต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 155 ร้องเรียนกรณี ถูกฉ้อโกงค่าใช้บริการ

30 หมู่ที่ 8 ตำบล บางแก้วอำเภอ เมือง จังหวัดสมุทรสงคราม วันที่   28   พฤศจิกายน  2556 เรื่อง  ร้องเรียนกรณี ถูกฉ้อโกงค่าใช้บริการ เรียน   กสทชด้วยดิฉัน  นางสาวบุญยืน  ศิริธรรม  หมายเลขบัตรประชาชน 37501-00253-723    เป็นผู้ใช้โทรศัพท์ หมายเลข 081- 3089020   ใช้แบบชำระค่าบริการรายเดือนของบริษัท DTAC  ได้รับความเสียหาย ถูกฉ้อโกงค่าใช้บริการ หลายเดือนโดยที่ไม่ได้ใช้บริการวันที่ 28 พฤศจิกายน  2556  ดิฉันได้ไปจ่ายค่าบริการโทรศัพท์ ที่ศูนย์ DTAC จังหวัดสมุทรสงคราม ด้วยตัวเอง(ซึ่งเดือนก่อนๆ ให้ลูกน้องไปจ่ายแทน) ซึ่งมียอดต้องชำระ 2 เดือน มียอดรวม 1,622  บาท  จึงได้ถามว่าดิฉัน ใช้บริการโปรฯ 599 ต่อเดือน(รวมอินเตอร์เน็ต) ทำไมค่าบริการจึงสูงกว่า 599  บาท  ได้คำตอบว่า  ส่วนที่เกินมาจากค่าใช้บริการบันเทิงดารา  และการสมัครข่าวฮอตนิวส์  ซึ่งดิฉันไม่เคยสมัครใช้บริการดังกล่าว และไม่เคยได้รับบริการใดๆ (นอกจากสมัครรับข่าวของสำนักข่าวอิศรา) มีเพียงได้รับข้อความทาง SMS เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน  2556  ว่า “ระบบจะต่ออายุบริการHotNews-FT 15D&Normal 29.00 บาท 30 วัน ในวันที่ 2013 -11-14 สอบถามโทร 02-9412815”  ซึ่งดิฉันไม่สนใจและไม่คิดจะรับบริการ  จากนั้นวันที่  14 พฤศจิกายน  2556  ดิฉันก็ได้รับข้อความว่า ระบบได้ต่ออายุบริการแล้ว(ดิฉันได้นำข้อมูลนี้ให้คุณฐากร  ตันฑสิทธิ  เลขา กสทช ดูแล้ว) ส่วนค่าบริการบันเทิงดาราดิฉันมาทราบภายหลังว่า มีการให้บริการมาตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2556  ทั้งที่ดิฉันไม่เคยสมัครและไม่เคยรับบริการข่าวบันเทิงใดๆ พฤติกรรมการให้บริการของ  DTAC   เข้าข่ายฉ้อโกงผู้บริโภค อย่างชัดเจน  จึงขอร้องเรียน ให้ DTAC ชดเชยค่าเสียหายดังนี้ เรียกร้องค่าบริการที่เรียกเก็บเกิน  ตามที่เก็บเกินไปจริง เรียกร้องค่าเสียหายกรณีเสียเวลา เสียค่าโทรศัพท์ เสียค่าเดินทางและอื่นๆในกระบวนการร้องเรียน   กรณีถูกฉ้อโกง  จำนวน 5,000  บาท (เพราะผู้บริโภคไม่ได้มีหน้าที่ร้องเรียน  แต่ผู้ให้บริการมีหน้าที่ให้บริการอย่างตรงไปตรงมา มิใช่ช่อโกงผู้บริโภคได้ตามที่ต้องการ) ห้ามมิให้ DTAC ส่งบริการเสริมใดๆโดยไม่ได้มีการส่งคำร้องขอ   ลงชื่อ  นางสาวบุญยืน  ศิริธรรม ผู้ร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม >