ฉบับที่ 221 รู้เท่าทันการอยู่กับธรรมชาติ

ฉบับนี้ขอนำเรื่องเบาๆ แต่มีประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างมากมาเล่าสู่กันฟัง คนส่วนใหญ่เชื่อว่า การกินสมุนไพร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และยาบำรุงต่างๆ จะช่วยให้สุขภาพแข็งแรง ดังนั้นตลาดธุรกิจด้านนี้จึงเติบโตอย่างรวดเร็วและมีมูลค่ามหาศาล ความจริงแล้วยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยให้สุขภาพดีขึ้นอย่างมากมายโดยที่ไม่ต้องเสียเงินทองไปซื้อหา นั่นคือ การอยู่กับธรรมชาติวันละ 20 นาที เรามารู้เท่าทันกันเถอะ จะใช้เวลาเท่าไหร่ในการอยู่กับธรรมชาติจึงจะเกิดผลดีต่อสุขภาพ        จริงๆ แล้วทุกคนรู้ว่าธรรมชาติดีต่อร่างกาย แต่ที่สำคัญคือ จะใช้เวลามากน้อยแค่ไหนที่จะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อสุขภาพ งานวิจัยชิ้นหนึ่งตีพิมพ์ในวารสารแนวหน้าทางจิตวิทยา นักวิจัยพยายามศึกษาว่า เวลาที่ใช้อยู่กับธรรมชาติที่เกิดประโยชน์สูงสุดในชีวิตประจำวันนั้นควรเป็นเท่าไหร่         แพทย์แผนปัจจุบันจำนวนมากหันมาสั่งให้ผู้ป่วยใช้ธรรมชาติบำบัดอาการเครียดและเสริมสร้างสุขภาพ และเรียกชื่อว่า “ธรรมชาติโอสถ” ศาสตราจารย์แมรี่แครอล ฮันเตอร์ จากคณะสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน มหาวิทยาลัยมิชิแกน กล่าวว่า “การศึกษาพบว่า เราควรใช้เวลาอยู่กับธรรมชาติ ไม่ว่าจะนั่งหรือเดินในสถานที่ที่ให้ความรู้สึกเป็นธรรมชาติ ประมาณ 20-30 นาที จะเกิดประโยชน์สูงสุด ช่วยลดระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลที่ก่อให้เกิดความเครียด”         ธรรมชาติโอสถมีราคาถูก และมีความเสี่ยงต่อสุขภาพน้อย ศาสตราจารย์ฮันเตอร์และทีมงานทำการศึกษาผู้อยู่อาศัยใน 36 เมือง โดยให้สัมผัสกับธรรมชาติอย่างน้อยวันละ 10 นาที 3 ครั้งต่อสัปดาห์ เป็นเวลา 8 สัปดาห์ ทำการเก็บน้ำลายผู้เข้าร่วมการวิจัยทุก 2 สัปดาห์ เพื่อวัดระดับฮอร์โมนคอร์ติซอล ก่อนและหลังสัมผัสธรรมชาติโอสถ พบว่า เพียงแค่ 20 นาทีที่สัมผัสกับธรรมชาติจะลดระดับฮอร์โมนคอร์ติซอล ช่วงระยะเวลาที่เหมาะที่สุด จะอยู่ระหว่าง 20-30 นาที การอยู่กับธรรมชาติสัปดาห์ละ 2 ชั่วโมงในสวนและป่าจะเสริมสร้างสุขภาพเป็นอย่างดี         งานวิจัยในวารสารนานาชาติ  International Journal of Environmental Health Research พบว่า การอยู่กับธรรมชาติ 20 นาทีในสวนสาธารณะทำให้เกิดความสุข โดยไม่จำเป็นต้องออกกำลังกายร่วมด้วย ในญี่ปุ่นมีการอาบป่าเพื่อสุขภาพ         ในญี่ปุ่นนั้นมีกิจกรรมการอาบป่าหรือป่าบำบัด  โดยเริ่มตั้งแต่ทศวรรษ ค.ศ.1980  เรียกว่า ชินริน โยขุ (Shinrin yoku) ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมาก  ป่าบำบัดหรือการอาบป่า(Forest Bathing) เป็นวิถีทางที่ทรงพลังในการเสริมสร้างสุขภาวะทั้งทางร่างกายและจิตใจ ความเรียบง่ายของป่าบำบัดคือ การใช้ช่วงเวลาและห้วงคำนึงในป่า จมดิ่งอยู่กับผัสสะต่างๆ ที่เกิดขึ้น        ป่าบำบัดมีประโยชน์ต่อสุขภาพ การได้สัมผัสธรรมชาติ การเจริญสติ ในการอาบป่าหลอมรวมให้เกิดคุณค่าและประโยชน์ต่อร่างกายและจิตใจ การเดินในป่าทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรง กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย  ฟื้นตัวจากการเจ็บป่วยเร็วขึ้น และลดความดันเลือด  ลดความเครียด เพิ่มสมาธิ และปลดปล่อยความคิดสร้างสรรค์ ช่วยลดอาการซึมเศร้าและวิตกกังวล         การอาบป่าถูกนำไปใช้ในประเทศต่างๆ ในยุโรปและอเมริกา เพื่อลดความเครียดจากวิถีชีวิตสมัยใหม่ กิจกรรมที่เป็นที่นิยมคือ การเดินป่าในวันหยุดสุดสัปดาห์           สรุป  ธรรมชาติโอสถวันละ 20-30 นาทีจะเป็นยาที่ดีที่สุด ถูกที่สุดในการลดความเครียดและเสริมสร้างสุขภาวะของทุกคน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 221 แก้วขนเหล็ก : รักและทุนที่ไม่มีวันตาย

               วาทกรรมที่ว่า “ความรักย่อมไม่มีวันตาย” “เราจะรักกันชั่วนิจนิรันดร” หรือ “ไม่มีวันที่ใครจะพรากความรักไปจากกัน” จะถูกต้องเป็นจริงหรือไม่ ก็คงจะมีเพียงบุคคลที่สิ้นลมหายใจและดำรงชีวิตอยู่ได้หลังความตายแล้วเท่านั้น ที่จะตอบคำถามข้อนี้ได้อย่างประจักษ์จริง         กับการพิสูจน์ความรักแท้ดังกล่าวนี้เอง ได้กลายเป็นโครงหลักของละครโทรทัศน์แนวแฟนตาซีอย่าง “แก้วขนเหล็ก” ที่ผูกเรื่องให้ตัวละคร “เมฆินทร์” ประมุขแห่งผีแวมไพร์ เฝ้ารอคอยความรักข้ามภพชาติก่อนที่จะได้พานพบกับ “บุญปลื้ม” หญิงคนรักที่กลับมาเกิดอีกครั้ง เพื่อยืนยันให้เห็นว่า “รักแท้ย่อมไม่มีวันตาย” จริงๆ         เรื่องราวความรักอมตะข้ามเวลาถูกโยงไปตั้งแต่อดีต เมื่อครั้งเมฆินทร์เป็นตำรวจมือปราบผู้เปี่ยมด้วยคุณธรรมความสามารถ เขามีความรู้ด้านไสยเวทและคาถาอาคมซึ่งใช้ปราบปรามได้ทั้งเหล่าคนร้ายและบรรดาวิญญาณร้ายต่างๆ จนได้สมญานามว่าเป็นมือปราบผู้แข็งกร้าวและไม่เคยยอมใคร         ในอีกด้านหนึ่ง เมฆินทร์เองก็คือบุตรชายของ “เจ้าคุณเทวรักษ์” คหบดีเจ้าของปราสาทพยับเมฆ และเนื่องด้วยเจ้าคุณต้องการเลือกคู่ครองที่คู่ควรให้กับเมฆินทร์ ท่านจึงหมั้นหมายบุตรชายเพื่อให้แต่งงานกับสตรีที่สมฐานะศักดิ์ชั้นอย่าง “รำพึง” แม้ว่านั่นจะเป็นการคลุมถุงชนที่เมฆินทร์เองก็ไม่ได้สมยอมแต่อย่างใด         จนกระทั่งเมฆินทร์ได้มาพบและเกิดผูกจิตปฏิพัทธ์กับบุญปลื้ม แม้ความรักที่มีหญิงสาวชาวบ้านจะทำให้เมฆินทร์เปลี่ยนจากบุรุษผู้หยาบกระด้างกลายเป็นผู้ชายที่อ่อนโยน แต่ทว่าความรักที่ต่างชั้นชนเช่นนี้ก็ได้สร้างความไม่พอใจให้กับเจ้าคุณเทวรักษ์ ซึ่งต่อมาได้วางแผนให้ชายหนุ่มอย่าง “เที่ยง” ซึ่งแอบรักบุญปลื้มอยู่ลึกๆ พาหล่อนหลบหนีไปจากปราสาทพยับเมฆ และสาบสูญไปจากชีวิตของเมฆินทร์         เมื่อต้องถูกบิดาพรากนางอันเป็นที่รักไปจากชีวิตของเขา ทั้งความรักและความแค้นที่รุมเร้ารอบด้านเยี่ยงนี้ ทำให้มือปราบอย่างเมฆินทร์เลิกยึดมั่นในคุณธรรมความดี และหันมาปวารณาตัวเข้ากับด้านมืดที่ซ่อนเร้นอยู่ จนกลายเป็นปีศาจแวมไพร์ผู้มีชีวิตอยู่ได้ด้วยการดื่มเลือดของมนุษย์ด้วยกัน และถูกเจ้าคุณเทวรักษ์จองจำไว้ในปราสาทพยับเมฆที่ปิดตาย วิญญาณของเมฆินทร์จึงเฝ้าแต่รอคอยวันกลับมาแก้แค้นและทวงคืนคนรักข้ามภพชาติ         ด้วยพล็อตแฟนตาซีเหนือจริงที่ผูกเรื่องราวให้มนุษย์คนหนึ่งได้กลายเป็นผีดิบแวมไพร์ และรอคอยวันฟื้นคืนชีพเพื่อกลับมาครองคู่อยู่กับหญิงคนรักเช่นนี้ ด้านหนึ่งผู้สร้างก็น่าจะได้แรงบันดาลใจจากวรรณกรรมตะวันตกฉบับคลาสสิกอย่าง Bram Stoker’s Dracula อะไรทำนองนั้น แต่ในอีกด้านหนึ่งเช่นกัน ละครแฟนตาซีแนวนี้ ก็เป็นประหนึ่งจินตกรรมที่ลึกๆ แล้วฉายภาพด้วยว่า ผู้คนในโลกความจริงกำลังสะท้อนย้อนคิดถึงชีวิตตนเองและสังคมรอบตัวกันอย่างไร         เพราะเมฆินทร์เป็นตัวละครที่ถือกำเนิดมาตั้งแต่สังคมยุคจารีตดั้งเดิม โดยในยุคศักดินานั้น ผู้คนต่างผูกพันกันภายใต้ระบบอุปถัมภ์ เฉกเช่นที่เจ้าคุณเทวรักษ์ก็คือตัวแทนของระบบมูลนายและไพร่ ซึ่งมีอำนาจกำหนดความเป็นความตายของทุกชีวิตในปราสาทพยับเมฆ รวมไปถึงการกำกับแม้แต่ชะตากรรมการครองคู่ของบุตรชายกับหญิงคนรักด้วยเช่นกัน         แต่เมื่อระบอบจารีตเดิมได้เปลี่ยนผ่านเข้าสู่วิถีการผลิตแบบทุนนิยมใหม่ ในระบอบแห่งทุนซึ่งเชื่อกันว่าตั้งอยู่บนฐานคิดแบบปัจเจกชนนิยมนั้น มนุษย์ต่างล้วนถูกตัดสายสัมพันธ์ทางสังคมที่เคยยึดเหนี่ยวผู้คนเอาไว้เป็นหนึ่งเดียวกัน         จากผู้คนที่เคยถูกยึดโยงเข้าไว้ในสังกัดหรือในกลุ่มมูลนายเดียวกัน ก็เริ่มถูกริดสายสัมพันธ์และตกอยู่ในสภาวะที่แปลกแยกต่างคนต่างอยู่ แบบเดียวกับที่เมฆินทร์พยายามสลัดตัวให้หลุดออกจากกรงขังของบิดา สถาบันครอบครัว และระบบจารีตที่ดำรงอยู่มาแต่เดิม ซึ่งผลที่ตามมาก็ทำให้เขากลายเป็นปีศาจที่ถูกจองจำเอาไว้อย่างโดดเดี่ยวอ้างว้าง และความรักที่ถูกพรากไปก็คือสิ่งที่เขาเฝ้าตามหากันแบบข้ามภาพข้ามชาติ         จนเมื่อระบอบทุนเติบโตมาถึงยุคปัจจุบัน ตัวละครเมื่อครั้งอดีตอย่างบุญปลื้มก็ได้กลับมาเกิดใหม่เป็น “รมณีย์” ในขณะที่เที่ยงเองก็กลับมาเกิดเป็น “วิทวัส” ชายหนุ่มคู่ปรับที่พยายามใช้คุณธรรมความดีกำจัดปีศาจเมฆินทร์ และยังกลายมาเป็นศัตรูหัวใจของเขาอีกครั้งในชาตินี้         ขณะเดียวกัน เมื่อถูกปลุกวิญญาณให้คืนชีพขึ้นมาอีกครา เมฆินทร์ในโฉมใหม่หาได้เพียงแต่แปลกแยกและโหยหาหญิงคนรักที่พลัดพรากกันมาแต่อดีตเท่านั้น หากแต่เขายังเริ่มออกอาละวาดสูบเลือดมนุษย์เพื่อต่อชีวิตอันเป็นอมตะของตน ไม่แตกต่างจากบรรดานายทุนที่เฝ้าสูบเลือดขูดรีดเพื่อพรากปัจจัยการผลิตของแรงงานมาต่อลมหายใจแห่งระบอบทุนนิยมออกไป         ภาพฉากที่เมฆินทร์ออกล่าสูบเลือดของโสเภณีและตัวละครหลายคนตั้งแต่ต้นเรื่อง ก็คงไม่ต่างจากคำยืนยันว่า ในวิถีการผลิตแบบนี้ นายทุนเองก็อาจไม่เคยเห็นโสเภณีหรือมนุษย์เป็นมนุษย์แบบเดียวกับตน หากแต่เป็นเพียงแรงงานในระบบที่สามารถขูดรีดเลือดเนื้อได้อย่างชอบธรรมและไม่ต้องรู้สึกผูกพันแต่อย่างใด         และเพื่อสืบทอดให้ระบอบทุนดำเนินต่อไปได้เช่นนี้ เมฆินทร์ก็ได้สร้างสมาชิกใหม่ขึ้นมาช่วยค้ำจุนรักษาระบบในฐานะบริวารของเขา ไม่ว่าจะเป็น “นฤดม” ทายาทผู้สืบมรดกปราสาทพยับเมฆ รวมไปถึงผีดิบหญิงสาวอีกสามคนคือ “โชติรส” “ลำเจียก” และ “ผู้หมวดตอง” ที่หลังจากได้ลิ้มรสดื่มเลือดมนุษย์คนอื่นแล้ว ก็รู้สึกอิ่มเอมจนสมยอมขายวิญญาณของตนเป็นอมนุษย์เช่นเดียวกับปีศาจเมฆินทร์ไปในที่สุด         เพราะฉะนั้น ในโลกแฟนตาซีเหนือจริงเช่นนี้ ไม่เพียงแต่สภาวะแปลกแยกที่ทำให้ผู้คนยึดมั่นความรักเป็นสรณะ และโหยหา “ความรักที่ไม่วันตาย” เท่านั้น หากแต่วิถีแห่งระบอบทุนเองก็ดูเหมือนจะดำเนินไปแบบ “ไม่มีวันตาย” ดุจเดียวกับความรักที่เป็นอมตะด้วยเช่นกันเมื่อ “รักและทุนที่ไม่มีวันตาย” ต้องแลกมาด้วยเลือดและวิญญาณของมนุษย์ผู้อื่น คงไม่แปลกที่ตลอดทั้งเรื่องละคร เราจะได้เห็นภาพมนุษย์บางคนอย่างวิทวัสและผองเพื่อนที่ยังไม่สมาทานให้กับระบอบแห่งทุน ต่างร่วมมือกันเสาะแสวงหา “แก้วขนเหล็ก” หินศักดิ์สิทธิ์ที่มีพลังแห่งคุณธรรมซึ่งใช้ปราบปีศาจเมฆินทร์ได้        ด้วยความมุ่งมั่นแห่งตัวละครที่จะกำจัดจอมปีศาจ และด้วยความศักดิ์สิทธิ์แห่งสัญลักษณ์ของ “แก้วขนเหล็ก” เช่นนี้ คงบอกกับเราผู้ใช้ชีวิตแหวกว่ายในระบอบแห่งทุนได้ว่า ถึงเวลาแล้วกระมังที่ความศักดิ์สิทธิ์และคุณธรรมความดีจะกลายเป็นความหวังเล็กๆ ที่ช่วยมนุษย์ให้สลัดหลุดออกจากชีวิตที่แปลกแยกและการขูดรีดยังคงดำรงอยู่แบบ “ไม่มีวันตาย”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 221 ทำไมต้องลดหวาน กับทันตแพทย์หญิงมัณฑนา ฉวรรณกุล

        เมื่อนิตยสารฉลาดซื้อวิเคราะห์ปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่มยอดฮิตอย่างชานมไข่มุก ผลการทดสอบทำให้เกิดความตื่นตระหนกในหมู่ผู้บริโภคเครื่องดื่มสายหวานเป็นอย่างมาก ทันตแพทย์หญิงมัณฑนา ฉวรรณกุล รองผู้จัดการโครงการเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน ที่ทำงานรณรงค์เรื่องการลดการบริโภคน้ำตาลมายาวนาน เราลองมาติดตามคุณหมอดูว่าเห็นผลทดสอบชานมไข่มุกแล้วคิดอย่างไร เด็กไทยไม่กินหวานต้องทำงานหนักขึ้นอีกหรือไม่ โครงการเด็กไทยไม่กินหวาน ตอนนี้มีกิจกรรมอะไรบ้างคะ        ตอนนี้เป้าหมายจะไปอยู่ในกลุ่มของศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนที่ทำอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2548 ที่เริ่มมีเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน ทีนี้ก็จะมีเป้าหมายให้จังหวัดพื้นที่ในแต่ละพื้นที่ของจังหวัดในส่วนภูมิภาคที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งในแต่ละจังหวัดเราตั้งเป้าไว้ในแต่ละปีว่าจะทำในพื้นที่ไหน ศูนย์เด็กเล็กอะไร โรงเรียนอะไร ประเด็นหลักเน้นก็คือ จะเน้นเรื่องการบริโภคน้ำตาล ในส่วนนี้เองตอนนี้ก็จะเพิ่มเป็นประเด็นรณรงค์ในส่วนไม่ดื่มน้ำอัดลมเสร็จแล้ว คือทุกโรงเรียนไม่ดื่มน้ำอัดลมไม่มีจำหน่าย แล้วก็นมเป็นนมจืด         ในส่วนประเด็นต่อมาคือเรื่องการจัดการสภาพแวดล้อม มีประเด็นให้เน้นในเรื่องของโรงเรียน โรงอาหารอ่อนหวาน มีการบูรณาการร่วมกับทางอาหาร ในเรื่องของโรงอาหารอ่อนหวานโรงอาหารปลอดภัย ให้โรงเรียนหาผักปลอดภัย สารเคมีก็อาจจะยังมีอยู่บ้างแต่อยู่ในปริมาณที่ยอมรับได้ แล้วก็ถ้าที่ไหนสามารถมีการปลูกผักโดยไม่ใช้สารเคมีในโรงเรียนก็นำสิ่งเหล่านั้นมาปรุงอาหาร แล้วในส่วนนี้เองก็บูรณาการกับโรงอาหารที่จะไม่มีการจำหน่ายของว่างที่เป็นพิษเป็นภัย คือกินของว่างแบบไหนที่จะปลอดภัย ก็ไปกินตามฉลากเขียว เหลือง แดง ที่ทาง อย.น้อยกำหนดว่าเป็นพลังงาน เกลือ ไขมัน น้ำตาล ว่าควรมีเท่าไหร่ต่อวันต่อคน ซึ่งก็จะเน้นว่าในโรงอาหารต้องมีความรู้ตรงนี้เพื่อให้มันติดตา ทั้งเด็กที่จะได้ดูรับรู้ว่าของที่เราชอบกินนั้นมันไม่ควรกิน ซึ่งตอนนี้เป็นเรื่องที่พยายามเชิญชวนโรงเรียนให้เข้าโครงการนี้อยู่         เครือข่ายของเราที่ร่วมทำงานด้วยกันจะไปดำเนินการในโรงเรียนที่ยินดี มีความพร้อม เรายังทำได้ไม่ทุกโรง ในส่วนของบางจังหวัดที่เขาสนใจก็จะเอาตัวนี้ไปทำด้วย จริงๆ แล้วพยายามจะสื่อสารว่า มันควรทำทุกแห่งทั่วประเทศ ทุกโรงเรียนควรจะได้รับโอกาสนี้เป็นสิ่งที่ทุกคนควรรู้ การรู้แล้วถ้าไม่เอื้อให้ทำได้ เขาก็จะมีพฤติกรรมเดิมๆ อย่างเช่นเครื่องดื่มมีอยู่ช่วงหนึ่งที่เราเน้นว่าให้ดื่มน้ำสมุนไพรแทน คือถ้าไม่ดื่มน้ำอัดลมแล้วจะดื่มอะไร ดื่มน้ำหวานน้ำสมุนไพรแทน ส่วนใหญ่เด็กก็จะพยายามทานน้ำสมุนไพร เราพบว่าน้ำสมุนไพรหวานเราเลยต้องมีเงื่อนไขว่าการจะให้ดื่มน้ำอื่นๆ ก็จะต้องมีน้ำตาลไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งน้ำตาลไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์มันก็ใช้วิธีคำนวณได้ถ้าเราทำเอง        มันก็มีที่บางโรงเรียนอาจจะไม่ทำเอง โรงเรียนก็ต้องควบคุมต้องบอกให้เขาพยายามทำรสชาติที่อ่อนหวาน ใช้ปริมาณน้ำตาลน้อยก็จะต้องมีเครื่องมือไปจับวัดและให้เขาปรับปรุงลดปริมาณน้ำตาลลง ในส่วนของโรงเรียนขนาดใหญ่ในพื้นที่ขนาดใหญ่ที่ยังทำไม่ได้ก็ให้มีทางเลือก แทนที่จะบอกว่าไม่มีเลย ก็จะมีเครื่องดื่มประเภทอ่อนหวานกับเครื่องดื่มที่หวานปกติ ในตรงนี้ก็ต้องมีการสร้างแรงจูงใจสร้างความตระหนักให้กับนักเรียนหรือกลุ่มคนในนั้นว่าให้เลือกซื้อในส่วนนี้ด้วย เพราะมันจะมีปัญหาว่าถ้าเราไปเน้นให้เขาอ่อนหวานแต่คนบริโภคไม่นิยม ไม่นิยมอ่อนหวานเขาก็จำหน่ายไม่ได้สุดท้ายก็จะทำไม่สำเร็จ  ในเรื่องของการปรับพฤติกรรมปรับนิสัยมันต้องใช้เวลา เช่น อาหารในโรงเรียนที่ไม่วางน้ำตาลเอาไว้ นักเรียนก็จะมีปัญหาว่ารสชาติไม่อร่อยเพราะเคยชินกับรสหวาน แต่เมื่อทำไปเรื่อยๆ เด็กก็จะเคยชินตอนหลังก็คือสามารถทำได้สำเร็จ การปรับพฤติกรรมต้องใช้ความร่วมมือในส่วนไหน ทำงานตรงนี้กับพวกกลุ่มอย่างไรบ้าง        เราทำงานทั้งกลุ่มของครอบครัว กลุ่มของครอบครัว หมายความว่าบางทีเราก็จะมีกิจกรรมในกลุ่มของผู้ปกครองเด็กเล็กก่อนที่จะมาเข้าโรงเรียน มีการทำกิจกรรมฐานความรู้ อย่างของจังหวัดราชบุรีมีชมรมคนรักฟัน เรามีการทำกิจกรรมให้ความรู้ในเรื่องของการเลือกบริโภคทั้งเด็กทั้งผู้ปกครอง ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้มีการนำผู้ปกครองเด็กอนุบาลมาเข้าร่วมกิจกรรมแล้วก็สอนในเรื่องของการแปรงฟัน การใช้ไหมขัดฟัน สอนในเรื่องของสุขภาพช่องปาก ส่วนเรื่องการบริโภคนี่สำคัญมาก เพราะว่าหลายปีที่ผ่านมาฟันผุไม่ลดลงเลยและเด็กอ้วนมากขึ้น พบว่าการบริโภคน้ำตาลมากเกินบริโภคหวานทำให้เด็กฟันผุแล้วเด็กก็อ้วนด้วย การที่เราจะรณรงค์ให้สำเร็จก็ต้องร่วมด้วยช่วยกัน หากมัวแต่รณรงค์เรื่องแปรงฟันอย่างเดียว แต่เด็กยังมีพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่ถูก กินขนมหวาน ดื่มเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลมากฟันเขาก็ผุอยู่ดี ให้รณรงค์อย่างไรฟันเขาก็ผุอยู่ดี ถ้าอย่างนี้แล้วก็ต้องดูแลเรื่องการบริโภคให้ถูกต้องเพื่อให้ฟันแข็งแรง แต่เรื่องกิจกรรมการแปรงฟันก็ต้องคงอยู่ เพราะในข้อเท็จจริงแล้วเราไม่สามารถห้ามให้เด็กบริโภคหลายๆ อย่างได้แต่เราสามารถบอกให้เขาเลือก อย่างน้อยค่อยๆ แทรกซึมในสิ่งที่เขาเลือกอาหารที่ปลอดภัยของว่างที่ควรกินได้ อันไหนที่ควรหลีกเลี่ยงแล้วก็แปรงฟัน เมื่อสร้างสุขนิสัยอันนี้เด็กก็จะเคยชินพอโตขึ้นเขาก็รู้แล้วว่าควรกินอาหารประเภทไหน กินน้ำตาลให้น้อยลงแล้วลิ้นก็จะปรับได้ เหมือนสมัยก่อนตัวเองกินกาแฟต้องใส่ครีมเทียม ซึ่งพบว่าครีมเทียมเป็นไขมันทรานส์ที่ไม่ควรกิน ปัจจุบันก็กินกาแฟเปล่าๆ ที่ไม่ต้องใส่แล้วก็กินกาแฟที่ไม่ต้องใส่น้ำตาลก็อร่อยได้เช่นกัน ซึ่งถ้าเป็นแต่ก่อนก็จะบอกว่าไม่ได้ไม่อร่อย ในส่วนของผู้ใหญ่เองต้องทำให้เป็นตัวอย่างไหมคะ         อย่างยิ่งเลยค่ะ ถ้าเราจะบอกเด็กว่าไม่ควร แต่ผู้ใหญ่ยังบอกว่าขอกินหน่อยค่ะอันนี้มันก็ไม่ได้ ก่อนอื่นเลยผู้ปกครองต้องลองฝึกที่ตัวเองก่อนไม่พยายามหาของที่เป็นอันตรายเข้าบ้าน อีกอันหนึ่งที่เราจะใช้ก็คือวิธีสำรวจตู้เย็น สำรวจตู้เย็นที่บ้านว่ามีของพวกนี้อยู่ไหมเรายังไปซื้อน้ำอัดลมประเภทไซค์บิ๊กที่บอกว่ามันประหยัด แต่ก่อนเราเชื่อว่ามีโปรโมชันเราก็จะซื้อในฐานะแม่บ้านว่ามันถูก แต่ลืมไปว่าการที่เราซื้อของถูกเหล่านี้ไว้ในบ้านมันก็หยิบกินง่าย แต่ถ้าเราไม่มีเด็กก็ไม่มีโอกาสที่จะกิน มันเป็นกลไกการตลาดที่จะทำให้พ่อบ้านแม่บ้านอยากจะซื้อเข้าบ้าน สมัยก่อนตัวหมอเองก็เป็น แต่พอเรารู้ว่ามันไม่ควรกินให้มันราคาถูกอย่างไรเราก็ไม่ซื้อ อันนี้จะลดความเสี่ยง  คือถ้าไม่ซื้อเข้าบ้านเด็กๆ ก็จะไม่มีโอกาสกินและก็ให้ซื้อของที่มีประโยชน์ผักผลไม้ให้ติดเป็นนิสัย แล้วเด็กๆ เขากินแต่ของพวกนี้เขาก็จะอิ่มท้อง คือลดโอกาสที่จะไปกินของที่ไม่มีประโยชน์ มันมีอีกวิธีคือการที่ทำให้เขาอิ่มด้วยของที่มีประโยชน์ก่อน เพราะถ้าให้กินของที่ไม่มีประโยชน์เขาก็จะกินได้อีก กลายเป็นว่าเขาจะอิ่มของที่ไม่มีประโยชน์ไปก่อนทำให้เขาสุขภาพไม่ดีจะเป็นเด็กอ้วนที่แบบไม่แข็งแรง กับเรื่องผลการทดสอบชานมไข่มุกที่ทางฉลาดซื้อเพิ่งแถลงข่าวไป         ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคที่ได้ทำการศึกษาและเผยแพร่ในนิตยสารฉลาดซื้อ ซึ่งเป็นตัวช่วยที่ดีมากที่ได้เผยแพร่เรื่องนี้ออกไป เพราะจริงๆ แล้วทางเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวานพยายามรณรงค์เรื่องของการลดการบริโภคน้ำตาลมาโดยตลอด เราเริ่มทำงานกันมาตั้งแต่ปี 2548 แล้วก็ชวนเครือข่ายในระดับภูมิภาค เริ่มต้นมีแค่ 10 จังหวัด แล้วตอนนี้ก็มีรณรงค์เพิ่มเติมขึ้นมาเป็น 25 จังหวัด มีจังหวัดที่สนใจเข้าร่วมโดยที่ไม่ได้ขอทุนไปดำเนินการอีกประมาณ 30 กว่าจังหวัด ในส่วนที่เรารณรงค์กันเบื้องต้นเราเน้นเรื่องของน้ำอัดลม ลดปริมาณการบริโภคน้ำอัดลมเพราะว่า เท่าที่ศึกษากันมาก็มีปริมาณน้ำตาลที่สูงเกินในการบริโภค กลายเป็นว่าเราเน้นเรื่องน้ำอัดลม แต่มีน้ำอื่นมาแทน โดยเฉพาะพฤติกรรมการบริโภคปัจจุบันชานมไข่มุกเป็นเครื่องดื่มยอดฮิตที่คนทุกวัยทานได้         ก่อนหน้านี้อาจจะมีชาเขียวที่น้ำตาลเยอะ กลายเป็นว่าพอชานมไข่มุกเป็นเครื่องดื่มยอดฮิต ซึ่งเห็นข้อมูลตรงนี้แล้วถ้าเราดื่มน้ำอัดลมสักกระป๋องเราก็กินอย่างอื่นดื่มอย่างอื่นไม่ได้แล้ว เพราะน้ำตาลเกิน กลายเป็นว่าตอนนี้ชานมไข่มุกแค่แก้วเดียวก็เกินไปถึงไหนๆ จะมีอยู่ก็แค่สองยี่ห้อที่อยู่ในปริมาณที่ไม่เกิน แต่ว่าตามองค์การอนามัยโลกกำหนดว่าคนเราจะสามารถบริโภคน้ำตาลต่อวันต่อคนแค่ 6 ช้อนชา จะสังเกตว่าขนาดชานมไข่มุกยี่ห้อที่มีปริมาณน้ำตาล 4 ช้อนชา แค่วันนั้นก็แทบจะเติมอย่างอื่นไม่ได้แล้ว โดยนิสัยคนไทยแล้วถ้าไปดู ก็ยังดื่มน้ำอัดลมกันอยู่ ยังหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งน้ำอัดลมก็ยังครองแชมป์น้ำตาลสูง ยิ่งมาผสมกับการกินชานมด้วยก็ยิ่งไปกันใหญ่         ทุกวันนี้จะสังเกตว่าโรงพยาบาลทุกแห่งจะคนแน่นด้วยเป็นโรคทางระบบเลือด โรคเบาหวาน ความดัน หัวใจและหลอดเลือดโดยเฉพาะที่ทางเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวานสนใจมาก คือปริมาณน้ำตาลที่มันไปเชื่อมโยงกับโรคฟันพุแล้วมันก็ไปถึงโรคอ้วน ทำไมส่วนใหญ่ทางเครือข่ายกลุ่มคนที่เข้ามารณรงค์จะเป็นหมอฟันที่ไปจับมือกับนักโภชนาการ งานส่งเสริมสุขภาพ ประเด็นนี้เราต้องช่วยกันเพราะว่าสุขภาพฟันก็เป็นส่วนหนึ่งของสุขภาพร่างกายเพราะถ้ามีปัญหาเรื่องฟันก็จะมีปัญหาเรื่องการบดเคี้ยว ทำให้ได้รับสารอาหารได้ไม่เต็มที่  ในเรื่องของประเด็นน้ำตาลนั้นส่งผลทั้งในเรื่องของฟันผุ แล้วก็ที่ห่วงใยไปถึงสุขภาพร่างกายด้วยคือโรคทางระบบ โรคเรื้อรัง โรคติดต่อที่มาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต จากตรงนี้เราจะทำอย่างไร ให้คนได้รับรู้ ต้องขอบคุณนิตยสารฉลาดซื้อ แค่นี้คงไม่พอต้องอาศัยสื่อมวลชนช่วยเผยแพร่และกระตุ้น        สิ่งที่ทางเครือข่ายเริ่มพยายามจะรุกคืบก็คือ พยายามที่จะเชิญชวนร้านกาแฟ เราจะไปห้ามไม่ได้เพราะมันคือธุรกิจ จะบอกไม่ให้เขาขายคงเป็นไปไม่ได้ บอกไม่ให้คนกินก็คงยากเหมือนกัน เพราะฉะนั้นเราก็จะใช้วิธีการลดปริมาณขนาดที่จะให้ได้บริโภคต่อวัน คือในคนที่เลิกได้หันมาดื่มน้ำเปล่าแทนก็คือสุดยอดแล้ว ห่วงใยสุขภาพตัวเอง แต่ในเด็กกับกลุ่มคนที่อยากดื่ม เหมือนเราห้ามคนสูบบุหรี่เราก็ห้ามไม่ได้ ต้องอยู่ที่เขาตระหนักเอง คงต้องร่วมด้วยช่วยกันว่าทำอย่างไรจะสร้างความตระหนักให้สังคมรับรู้ว่าเราจะต้องไม่เอาสารพิษเหล่านี้เข้าสู่ร่างกาย มันเปรียบเหมือนสารพิษนะคะ แต่ว่ามันเป็นสารให้ความหวานทำให้เรารู้สึกมีความสุขกินแล้วก็อิ่มอร่อย แต่ทำอย่างไรจะให้รู้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นพิษภัยต่อร่างกาย แล้วแค่ต่อมื้อก็มากแล้ว ต่อวันเข้าไปอีกแล้วสะสมหลายๆ วัน ซึ่งอีกทางที่จะช่วยป้องกันก็คือเรากินเข้าไปเผาผลาญมันออกมันก็จะช่วยลดตรงนี้ได้ แต่จะมีสักกี่คนที่สามารถจัดการเอาออกได้จากสิ่งที่เอาเข้าสู่ร่างกาย         ดังนั้นวิธีที่ไม่ให้ฝืนธรรมชาติคือ คิดว่าหลายๆ คนก็ยังรู้สึกว่ายังอยากจะกิน ยังอยากมีรสชาติของชีวิตอันนั้นคงอาจจะต้องเลือกไซด์ของการบริโภคให้เล็กลง ค่อยๆ ลดลงมาหรือเป็นไปได้ก็ไม่ไปบริโภคมัน อย่างที่บอกว่าเราพยายามที่จะไปเชิญชวนหรือหาแนวร่วมของร้านกาแฟ ร้านที่ขายเครื่องดื่มให้หันมาเป็นร้านกาแฟอ่อนหวาน ซึ่งก็จะมีเกณฑ์ให้เป็นไซต์เล็กขายเป็นแก้วเล็ก ซึ่งอาจจะขัดแย้งเพราะว่าส่วนใหญ่ร้านค้าก็อยากขายแก้วใหญ่ ในเรื่องของกำไร แต่ส่วนนี้ถ้าเราสามารถเชิญชวนร้านค้าที่เขาอยากมีกำไรแล้วก็รู้สึกว่าอยากช่วยสังคมต้องร่วมด้วยช่วยกันเผยแพร่ว่า ปริมาณตัวนี้ที่เขาใส่เข้าไปมันส่งผลต่อสุขภาพอย่างไรบ้าง         อีกอันที่อยากเชิญชวนและให้เขารู้สึกว่าอยากเป็นแนวร่วมกับเราว่า การลดปริมาณน้ำตาลลง ลดเศรษฐกิจของเขา ลดต้นทุนของเขาถ้าเขาสามารถใส่น้ำตาลได้น้อยลงต้นทุนต่อแก้วก็น้อยลง แต่ปัญหาประเด็นที่เขาห่วงคือกลัวว่ารสชาติของเขาไม่เป็นที่ยอมรับ คือถ้าเขาลดปริมาณน้ำตาลหวานน้อยลง บางคนติดหวานก็จะไม่ซื้อเขา ซึ่งตรงนี้ต้องร่วมด้วยช่วยกันในหลายส่วนคือในเรื่องของพฤติกรรมของแต่ละคนก็สร้างนิสัยที่ให้บริโภคหวานน้อยลง ถ้าเราลดความหวานลง ผู้บริโภคก็เลือกที่จะบริโภคหวานน้อยเทรนด์นี้ก็จะมาแรง เป็นประเด็นที่อยากให้ร่วมด้วยช่วยกัน       ในส่วนของทางเครือข่ายเองก็ออกไปรณรงค์ในโรงเรียน เข้าไปเชิญชวนโรงเรียน ให้มีโรงเรียนมีโรงอาหารอ่อนหวาน ซึ่งจะคุมในเรื่องปริมาณสัญญาณไฟจราจรเขียวเหลืองแดง ปริมาณแคลอรี่ ปริมาณพลังงานน้ำตาล ไขมัน ให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม พอควบคุมตัวนี้ได้สำคัญที่ตัวผู้บริโภคก็ต้องมีการหาแกนนำนักเรียน มีการให้ความรู้มีการบริโภคตามข้อแนะนำ สิ่งสำคัญคือต้องให้เขารับรู้ว่าควรที่จะบริโภคเท่าไหร่ การที่มาเผยแพร่ตรงนี้ให้กว้างขวางและให้รับรู้อยู่บ่อยๆ ก็จะช่วยได้เพราะบางทีเราก็จะจำไม่ได้ว่าควรเป็นเท่าไหร่กันแน่ ซึ่งในฉลากเราก็มีการรณรงค์เรื่องฉลากบริโภค ซึ่งพยายามสอนให้ความรู้ประชาชนและนักเรียน สิ่งสำคัญที่สุดเลยคือผู้ปกครอง ผู้ปกครองต้องมามีส่วนร่วมอย่างยิ่ง เพราะตอนนี้ที่เราทำสำเร็จคือทำกับโรงเรียน โรงเรียนก็บอกว่าน้ำอัดลมโรงเรียนไม่จำหน่ายแล้ว แต่รอบรั้วโรงเรียนยังมีอยู่ แล้วรอบรั้วโรงเรียนก็จำหน่ายน้ำเหล่านี้ ซึ่งชานมไข่มุกที่นำมาเผยแพร่ข้อมูลในวันนี้น่าตกใจมากเป็นที่นิยมมากด้วย แต่เราจะทำอย่างไร คือถ้าเขาขาย เราไม่บริโภคเขาก็ขายไม่ได้ เขาก็จะต้องปรับกลยุทธ์ที่จะปรับให้มีน้ำตาลน้อยลง ฝากสื่อมวลชนช่วยกันเผยแพร่ข้อมูลตรงนี้ออกไป แล้วก็ช่วยกันเป็นต้นแบบในการบริโภคหวานให้น้อยลง ทั้งหวานมันเค็ม โรคทางระบบรักษาหายยากเป็นแล้วเป็นเลยมันไม่สามารถรักษาให้หายได้ แต่ว่าลดความรุนแรงได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 221 เครื่องทอดลมร้อน (Hot air fryer)

ปัจจุบันกระแสการดูแลรักษาสุขภาพก่อนป่วย เป็นกระแสที่กำลังมาแรงในทุกสังคม โดยเฉพาะในเรื่องการกินการอยู่ ที่ต้องถูกลักษณะหลักการอนามัย เนื่องจากการเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดเรื้อรัง (Non communicable dieseases: NCD) พบมากขึ้นในสังคมผู้สูงอายุ และบริโภคแบบไม่ยั้งคิด การนิยมรับประทานอาหารทอด ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงอีกปัจจัยหนึ่งที่สามารถก่อให้เกิดโรค NCD นี้ได้ เครื่องทอดแบบไร้น้ำมัน จึงได้ถูกผลิตออกมาวางจำหน่าย เพื่อตอบโจทย์ให้กับเรื่องการชอบรับประทานของทอด เมื่อเร็วๆนี้ ผมก็ได้ลองตัดสินใจซื้ออุปกรณ์ในการทำครัวแบบนี้ มาลองใช้ดู ก็พบว่า สะดวกดีและช่วยให้มีชีวิตรอดจากการอดอาหารได้ โดยเฉพาะในวันที่ฝนตกและไม่อยากออกไปรับประทานอาหารนอกบ้าน เมื่อเดินทางไปมาเลเซีย ก็พบมีการโฆษณา ขายอุปกรณ์ทำครัวแบบนี้ ตลอดเส้นทางด่วนไปเมืองกัวลาลัมเปอร์ และเมื่อลองจอดรถแวะพักรับประทานอาหาร ตามที่จอดรถ ก็พบว่า อาหารที่ขายให้กับผู้เดินทาง ก็มีของทอดวางขายอยู่เป็นจำนวนมาก ผมเข้าใจว่าคนเดินทางก็น่าจะชอบรับประทานอาหารทอดเช่นเดียวกับผมเหมือนกัน อย่างไรก็ตาม การใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าประเภทนี้ในการทำให้อาหารสุกแบบไม่ใช้น้ำมัน แต่ใช้ความร้อนจากอากาศ ซึ่งจะมีลักษณะเหมือนกับการใช้เตาอบนั้น ก็มีทั้งจุดเด่น จุดด้อย ซึ่งผมขออนุญาต นำเสนอข้อมูลเปรียบเทียบ ในการทำให้อาหารสุก ด้วยอุปกรณ์ที่จะนำมาเปรียบเทียบกันดังนี้ เครื่องทอดไร้น้ำมัน(Hot air fryer)เป็นหลักการที่ใช้ความร้อนของอากาศไหลผ่านอาหาร เหมือนกับการ ปิ้ง ย่าง (Grill)จุดเด่นสามารถใช้งานได้หลากหลาย และมีกลิ่นรบกวนจากการทำอาหารน้อย และสามารถใช้น้ำมันในการพรมหรือทาอาหาร เพียงเล็กน้อย เพื่อให้มีสภาพเหมือนกับการทอดจุดด้อยใช้เวลาในการทอดนานกว่าการทอดด้วยน้ำมัน และรสชาติของอาหาร คือ เฟรนช์ฟราย จะแห้งและแข็งกว่าการทอดด้วยน้ำมัน เครื่องทอดใช้น้ำมัน (Fat fryer)เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ทอดอาหารที่คุ้นเคยและใช้กันทั่วๆ ไป ใช้ความร้อนจากน้ำมันในการทำให้อาหารสุก กรอบจุดเด่นรสชาติอาหารจากการทอดจะฉ่ำ กว่า และกรอบกว่า ใช้เวลาน้อยกว่า และสามารถทำอาหารจำนวนมากๆ ได้สะดวกรวดเร็วกว่าจุดด้อยใช้น้ำมันมากกว่า มีกลิ่นอาหารออกมารบกวน ทำความสะอาดยากกว่า และอาจเกิดอุบัติเหตุ น้ำมันลวกได้ ในการเปลี่ยนน้ำมัน ถ้าไม่ระมัดระวัง และทำอาหารได้แบบเดียว เนื่องจากกลิ่นอาหารที่ตกค้างในน้ำมัน จะไปรบกวน การทอดอาหารประเภทอื่น เตาอบ (Oven)ใช้ความร้อนอากาศในการทำให้อาหารสุก เหมือนกับการ ปิ้ง ย่าง(Grill) ความร้อนจะมาจาก ด้านล่าง และด้านบน หรือ ทั้งสองด้าน ซึ่งขึ้นอยู่กับพลังงานที่ใช้ ไม่ว่าจะเป็น เตาแก๊ส ไฟฟ้า หรือ ถ่าน จุดเด่นสามารถทำอาหารที่มีปริมาณมาก และมีความหลากหลายในมื้อเดียวกัน ได้ดี สามารถใช้ ในการอบทำขนมเค้ก ขนมปัง และเบเกอรี่ ได้อย่างดีจุดด้อยเปลืองพื้นที่ และมีราคาสูงกว่าอุปกรณ์ อื่นๆ ที่กล่าวมาแล้ว เตาไมโครเวฟแบบผสม (Combi- Microwave)เป็นอุปกรณ์การทำครัว ที่สามารถทำอาหารได้หลากหลาย ไม่ว่าจะ อุ่นอาหาร ละลายอาหารแช่แข็ง ปิ้ง ย่างจุดเด่นใช้เวลาน้อยในการทำอาหารให้พร้อมรับประทาน เมื่อเปรียบเทียบกับเตาอบ เหมาะสำหรับ คนโสดที่ยังไม่มีครอบครัว และอาศัยอยู่ในคอนโดหรือห้องพักขนาดเล็กจุดด้อยเตาไมโครเวฟบางรุ่น หรือบางยี่ห้อ ไม่สามารถทำอาหารได้หลากหลาย ข้อพึงระวังในการรับประทานอาหารทอดบางประเภท คือ เรื่องสารที่อาจก่อให้เกิดมะเร็ง คือ สาร Acrylamide ได้มีการตรวจพบสารประเภทนี้ ในอาหารทอดบางชนิด เช่น เฟรนช์ฟราย คุกกี้ มันฝรั่งทอด และกาแฟสำเร็จรูป สารเคมีอันตรายนี้ เกิดขึ้นเมื่ออาหารบางประเภทได้รับความร้อนมากกว่า 120 องศาเซลเซียส ซึ่งอัตราการเกิดของสารอันตรายนี้ ขึ้นอยู่กับ ความร้อนและเวลาที่ใช้ในการทำอาหาร และสารเหล่านี้ยังไม่มีมาตรฐานมากำหนดปริมาณสารนี้ว่าจะอนุญาตให้มีอยู่ในอาหารเท่าใด สำหรับคำแนะนำของ อียู คือ ไม่ควรเกิน 500 ppm ต่อ กิโลกรัม(แหล่งข้อมูล วารสาร Test 1/2019)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 221 ความเคลื่อนไหวเดือนกรกฎาคม 2562

สมอวสาน'รถตู้'!เปิดตัวรถโดยสารขนาดเล็ก วิ่งบริการแทนทั่วประเทศดีเดย์ 1 ตุลาคมนายพีระพล ถาวรสุภเจริญ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป กำหนดให้ใช้รถโดยสารขนาดเล็กที่ได้มาตรฐานมาให้บริการทดแทนรถตู้ครบกำหนดอายุ 10 ปี ครอบคลุมรถตู้หมวด 1 และหมวด 4 ที่ให้บริการภายในกรุงเทพมหานครและเส้นทางต่อเนื่องภายในจังหวัด และส่วนภูมิภาคหมวด 2 กรุงเทพมหานครไปยังต่างจังหวัด รวมถึงเส้นทางรถหมวด 3 ที่วิ่งระหว่างจังหวัดกับจังหวัด โดยตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 นั้น ได้มีการกำหนดเปลี่ยนรถตู้โดยสารที่ครบอายุการใช้งานก่อนครบ 10 ปี เฉพาะในเส้นทางหมวด 2 กรุงเทพฯ-ต่างจังหวัดทุกเส้นทางจำนวน 937 คัน  สมอ. ลุยเชือดร้านค้าออนไลน์ยึดอายัดสินค้าไม่ได้มาตรฐาน        นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.) เปิดเผยว่า สมอ.ส่งทีม เฉพาะกิจเข้าตรวจสอบแหล่งกระจายสินค้าของร้านค้าออนไลน์ 2 แห่ง ในพื้นที่ถนนพระรามที่ 2 บางขุนเทียน กทม. และลาดหลุมแก้ว ปทุมธานี หลังสืบทราบเบาะแสว่ามีการจำหน่ายสินค้าผิดกฎหมาย พบว่ามีสินค้าที่รอการจัดส่งให้ลูกค้าจำนวนมาก และหลายรายการเป็นมาตรฐานบังคับต้องแสดงเครื่องหมายมาตรฐาน แต่ไม่แสดงเครื่องหมายมาตรฐานหรือแสดงไม่ถูกต้องครบถ้วนตามกฎหมาย ได้แก่ ของเล่น สีเทียน ฝักบัวอาบน้ำ ผงซักฟอก และเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น เตาปิ้งย่าง ไดร์เป่าผม เครื่องม้วนผม เครื่องหนีบผม ปลั๊กพ่วง โคมไฟดักยุง พัดลม หลอดไฟแอลอีดี เป็นต้น         “จากการตรวจสอบพบว่าเครื่องใช้ไฟฟ้ากว่า 14,000 ชิ้น มูลค่าประมาณ 16,300,000 บาท ของเล่นกว่า 10,000 ชิ้น มูลค่าประมาณ 2,500,000 บาท สีเทียน 6,400 ชิ้น มูลค่าประมาณ 1,280,000 ผงซักฟอก 3,000 ชิ้น มูลค่าประมาณ 300,000 บาท ฝักบัวอาบน้ำกว่า 700 ชิ้น มูลค่าประมาณ 70,000 บาท รวมจำนวนสินค้าทั้งหมดกว่า 34,000 ชิ้น มูลค่าร่วม 20 ล้านบาท จึงดำเนินการยึดอายัดไว้ทั้งหมดเพื่อดำเนินการทางกฎหมายต่อไป พร้อมกับแจ้งผู้ครอบครองสินค้าดังกล่าว ห้ามเคลื่อนย้ายสินค้าโดยเด็ดขาด”         ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่จะจำหน่ายสินค้าดังกล่าวจะต้องจำหน่ายเฉพาะสินค้าที่มีเครื่องหมายมาตรฐานบังคับเท่านั้น หากฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 5,000-50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และเมื่อ พ.ร.บ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ.2511 ฉบับที่ 8 (พ.ศ.2562) มีผลบังคับใช้ในวันที่ 15 ก.ค. 2562 โทษสำหรับผู้จำหน่ายจะเพิ่มสูงขึ้นเป็นจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ฟันบริษัทบัตรพลังงาน ธุรกิจขายตรง-จำหน่ายผิดประเภท         นายเดชาวัต แจ้งชื่น ผอ.กองคุ้มครองผู้บริโภคด้านธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง เปิดเผยถึงความคืบหน้าการตรวจสอบบัตรพลังงานที่อวดอ้างว่าสามารถรักษาสารพัดโรคได้ว่า ได้เรียก นายธนัช สุรินทร์ กรรมการผู้จัดการบริษัท เอ็กซ์เพิร์ทโปรเน็ตเวิร์ด เจ้าของบัตรพลังงาน เข้าให้ถ้อยคำที่สำนักงาน สคบ.แล้ว ซึ่งเจ้าของบริษัทอ้างว่าบริษัทขายผลิตภัณฑ์อาหารเสริมแอลคาร์นิทีน และได้แถมบัตรพลังงาน โดยไม่ทราบว่าเครือข่ายนำบัตรพลังงานไปขาย ซึ่งบัตรพลังงานดังกล่าวมีบริษัทที่รู้จักนำมาฝากไว้นานแล้วไม่มารับคืน จึงนำไปแถมให้กับลูกค้าที่ซื้อผลิตภัณฑ์         แต่จากการตรวจสอบเบื้องต้น ทางบริษัทจดทะเบียนประเภทธุรกิจขายตรงเมื่อปี 2556 ต่อมามีผู้ซื้อบริษัทและเจ้าของคนปัจจุบันได้เข้ามาบริหารงานเมื่อปี 2558 แต่บริษัทถูกเพิกถอนไปเมื่อวันที่ 17 ก.พ.ที่ผ่านมา และไม่สามารถจะดำเนินธุรกิจได้จนกว่าจะครบกำหนด 5 ปี เนื่องจากกฎหมายระบุว่าบริษัทที่ดำเนินธุรกิจขายตรงจะต้องวางหลักประกัน ซึ่งบริษัทดังกล่าวไม่ได้วางเงินหลักประกันและยังคงจำหน่ายสินค้าอยู่ ทำให้ มีความผิดฐานทำธุรกิจขายตรงโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามพ.ร.บ.ขายตรงและตลาดขายตรงฯ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี และปรับนิติบุคคล กรรมการบริษัท และผู้จำหน่ายรายละ 1 แสนบาท รวมทั้งอาจเข้าข่ายความผิดขายสินค้าผิดประเภท เนื่องจากไม่ได้แจ้งขายสินค้าประเภทอื่นเพิ่มเติม         ขณะนี้ สคบ.ได้ประสานตำรวจท้องที่ให้เรียกคืนผลิตภัณฑ์และดำเนินคดีฐานหลอกลวงผู้บริโภค7 พรรคฝ่ายค้านเดินเกม หนุนภาคประชาสังคมแบนสารเคมี         พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง และตัวแทนสมาชิกรัฐสภาและสมาชิกจากพรรคการเมืองฝ่ายค้าน 7 พรรค เดินทางเข้ามารับฟังการบรรยายปัญหาและข้อเสนอทางนโยบายในการจัดการเรื่องสารเคมีกำจัดศัตรูพืชและความไม่ปลอดภัยทางอาหาร ที่มูลนิธิชีววิถี(BioThai)        นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิ BioThai ได้เสนอแนวทางการแก้ปัญหา 3 เรื่อง คือ 1)ให้มีการแบนสารพิษร้ายแรงทั้ง 3 ชนิดโดยทันที 2) ผลักดันให้มีการสร้างระบบการเตือนภัยสารพิษตกค้างในผักผลไม้ซึ่งปัจจุบันพบการตกค้างสูงถึง 41%         และ3) ขอให้ 7 พรรคการเมืองสนับสนุนร่างกฎหมายความปลอดภัยจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ซึ่งจะแยกอำนาจการแบนสารพิษให้ปราศจากผลประโยชน์ทับซ้อน และให้การสนับสนุน พ.ร.บ.เกษตรกรรมยั่งยืน ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีชุดที่แล้ว ให้เข้าสู่กระบวนการตามรัฐสภาต่อไปด้วย         ทั้งนี้โดยภายหลังรับฟังการบรายาย ตัวแทนพรรคฝ่ายค้านทั้ง 7 พรรค ได้ประกาศพร้อมขับเคลื่อนให้มีการแบนสารพิษร้ายแรงให้เป็นวาระเร่งด่วน และเสนอต่อรัฐสภาให้มีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญในประเด็นสารเคมีและความปลอดภัยทางอาหาร โดยขณะนี้ได้ถูกบรรจุในระเบียบวาระการพิจารณาของสภาแล้ว         ทั้งนี้ มูลนิธิชีววิถี และเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) เตรียมการติดต่อเข้าพบ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขคนใหม่ เพื่อสนับสนุนให้มีการเดินหน้าแบนพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และสารพิษร้ายแรงอื่น รวมทั้งเสนอให้วาระเรื่องอาหารปลอดภัยให้เป็นวาระหลักของรัฐบาลชุดนี้ ศาลปกครองสูงสุด อนุญาตให้ มพบ. ร้องสอด กรณีค่ารักษาพยาบาลแพง         จากการที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ยื่นร้องสอดร่วมเป็นผู้ถูกฟ้องในคดี สมาคมโรงพยาบาลเอกชน และผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชน 41 แห่ง ยื่นฟ้องคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.), รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์, ปลัดกระทรวงพาณิชย์ และอธิบดีกรมการค้าภายใน กรณีการออกประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ เรื่อง การกำหนดสินค้าและบริการควบคุม โดยเฉพาะการควบคุมราคายา เวชภัณฑ์ บริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์ และบริการอื่นๆ ของสถานพยาบาลนั้น                วันที่ 28 มิถุนายน 2562 ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งอนุญาตให้ มพบ. ร่วมเป็นผู้ถูกฟ้อง โดยให้เป็นผู้ร้องสอด เนื่องจากพิจารณาแล้วเห็นว่า มพบ. เป็นตัวแทนของผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากปัญหาค่ารักษาพยาบาลแพง จึงถือเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงหากมีการยกเลิกประกาศดังกล่าว 

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 221 เยาวชนอาสาเพื่อรถโดยสารสาธารณะปลอดภัย

                เด็กและเยาวชนจำเป็นต้องเดินทางจากที่พักเพื่อไปโรงเรียน ทั้งการเดินเท้า ขี่จักรยาน ขับขี่จักรยานยนต์ ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ หรือไปด้วยรถรับส่งนักเรียน ซึ่งทุกรูปแบบของการเดินทาง มีความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุทั้งสิ้น         โดยอุบัติเหตุของเด็กและเยาวชนส่วนใหญ่จะเกิดกับกลุ่มผู้ใช้รถจักรยานยนต์ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงเป็นอันดับต้น ตามด้วยกลุ่มที่ใช้บริการรถรับส่งนักเรียนและรถโดยสารสาธารณะ รวมถึงความรุนแรงที่เกิดจากการเดินข้ามถนนและความเสี่ยงจากยานยนต์บริเวณหน้าสถานศึกษา  หลายกรณีเกิดจากการไม่ตระหนักถึงความไม่ปลอดภัยและประมาทเลินเล่อ ซึ่งถือเป็นพฤติกรรมเสี่ยงสำคัญในการเกิดความรุนแรงต่อเด็กและเยาวชนที่กำลังอยู่ในวัยศึกษาที่เป็นอนาคตของประเทศ         จากรายงานสถานการณ์การเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนจาก 3 ฐานข้อมูล(กระทรวงสาธารณสุข, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และบริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด) ตั้งแต่ปี 2556-2560 พบว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เด็กและเยาวชนตั้งแต่แรกเกิด -19 ปี เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน รวม 17,634 ราย หรือเฉลี่ยปีละ 2,500 คน เทียบได้กับจำนวนนักเรียนในโรงเรียนขนาดใหญ่ 1 โรงเรียนที่หายไปจากประเทศไทยทุกปี (คิดจาก เกณฑ์ สพฐ. 1 โรงเรียนขนาดใหญ่ = 2,500 คน)         ซึ่งการแก้ปัญหาส่วนใหญ่ของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนก็ยังคงมุ่งแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ คือการทำอย่างไรให้สถิติอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเป็นศูนย์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมากที่จะทำให้สถิติอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเป็นศูนย์ เพราะปัจจัยที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนไม่ใช่เพียงแค่โครงสร้างรถและสภาพแวดล้อมเท่านั้น แต่รวมถึงพฤติกรรมของบุคคลเองที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดความรุนแรงจากอุบัติทางถนน        ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนในอนาคต   ควรหันมามุ่งเน้นเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจที่เป็นระบบให้กับเยาวชนในสถานศึกษา เพื่อเป็นพลังความรู้นำสู่การพัฒนาความคิดในการสรรสร้างแผนงานความปลอดภัยให้เกิดกับเด็กและเยาวชนในสถานศึกษา         มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร่วมกับเครือข่ายผู้บริโภค 6 ภาค โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จึงได้จัดกิจกรรมโครงการเยาวชนอาสาเพื่อรถโดยสารสาธารณะปลอดภัย (Volunteer Safe Thai Bus) ขึ้น ในวันที่ 21 - 23 มิถุนายนที่ผ่านมา         มีนักเรียนจากโรงเรียนนำร่อง 12 โรงเรียนในพื้นที่ 6 ภาคและกรุงเทพมหานคร เข้าร่วมโครงการ โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อสร้างเครือข่ายเยาวชนภาคีความร่วมมือที่เข้มแข็ง และร่วมกันสร้างพื้นที่ปฏิบัติการการเคลื่อนไหวโดยพลังคนรุ่นใหม่ในการเปลี่ยนแปลงสังคมเพื่อการพัฒนาความปลอดภัยในการเดินทางของเยาวชนโดยเยาวชนอย่างแท้จริง         ตั้งแต่การเรียนรู้เรื่องรถโดยสารสารธารณะและรถรับส่งนักเรียนที่ปลอดภัย สิทธิผู้บริโภค สิทธิรถโดยสารสาธารณะ เทคนิคการผลิตสื่อสารสาธารณะเพื่อสังคม และแนวทางการจัดทำแผนงานความปลอดภัยในสถานศึกษา ที่จะช่วยเสริมสร้างความรู้ให้กับอาสาสมัครทุกคน ได้ตระหนักกับความปลอดภัยบนถนน และนำเทคนิคที่ได้รับสื่อสารให้กับบุคคลอื่นได้สามารถเรียนรู้ต่อไปได้         รวมถึงการสร้างความตระหนักของเพื่อนๆ ในโรงเรียนให้เห็นความสำคัญของความปลอดภัยในการเดินทางมาโรงเรียน ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าเยาวชนยังให้ความสำคัญในการสร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างความตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมของคนในสังคมเพื่อระบบขนส่งสาธารณะที่ปลอดภัย         แม้ว่ากิจกรรมในครั้งนี้ จะเป็นเพียงการรวมกลุ่มเยาวชนกลุ่มเล็กๆ ที่มีใจเดียวกันที่จะมุ่งสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ แต่เมื่อเยาวชน คือ วัยที่เปี่ยมไปด้วยความคิดสร้างสรรค์และพลังที่ต้องการศักยภาพในการริเริ่มเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม การส่งเสริมเพื่อให้พวกเขาได้มีโอกาสเรียนรู้ จัดทำกิจกรรม จึงเป็นการปลุกพลังที่อยู่ในตัวเและสร้างการรับรู้ว่าพวกเขาคือส่วนสำคัญของสังคมไทย ที่พวกเขาจะต้องมีหน้าที่ในการดูแล พัฒนา และสร้างประโยชน์สุขให้เกิดขึ้นกับคนในสังคมข้างหน้าอย่างยั่งยืน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 220 บทเรียนจากหนึ่งของการใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.

        การเดินทางของทุกคนในปัจจุบัน ล้วนมีปัจจัยความเสี่ยงที่อาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนได้อยู่ตลอดเวลา หลายครั้งเกิดจากจุดเล็กๆ น้อยๆ ไม่ว่าจะเป็นความประมาท หรือเกิดจากการที่พวกเราไม่ตระหนักถึงความปลอดภัยเวลาเราใช้รถใช้ถนน จากจุดเล็กๆ นำพาไปสู่ความสูญเสียทั้งของครอบครัว ญาติพี่น้องมิตรสหาย ตลอดจนความเสียหายของเศรษฐกิจและความน่าเชื่อถือของประเทศเลยทีเดียว         หลายครั้งพวกเราอาจจะมองภาพรวมว่าอุบัติเหตุทางถนนมักจะต้องเกิดกับรถขนาดใหญ่ที่ชนกันตามภาพข่าวสารที่ให้เราเสพอยู่ทุกวัน แต่หากมองลึกลงไปกว่านั้นจะพบว่าอุบัติเหตุทางถนนส่วนใหญ่เกิดกับถนนสายรอง เช่น ถนนในหมู่บ้านชุมชน ที่ส่วนใหญ่มักละเลยกฎระเบียบจราจรเป็นนิสัย ไม่ว่าจะขับรถเร็ว ไม่สวมหมวกกันน็อค ที่เห็นกันจนชินตาอยู่ทุกวัน         และไม่น่าแปลกใจเลยที่ทำไมถนนสายรองตามชุมชนหมู่บ้านจะเป็นจุดที่มีอุบัติเหตุทางถนนเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก และส่วนใหญ่เป็นรถจักรยานยนต์ เพราะทุกวันนี้สิ่งที่เราเห็น คือ ภาพวัยรุ่นแว้นจักรยานยนต์กันไปมาด้วยความเร็ว ขี่จักรยานยนต์ซ้อนสามโดยไม่สนใจใคร และที่สำคัญไม่มีใครใส่หมวกกันน็อคเลยซักคน         หากวันไหนดวงตกรถล้มพลิกคว่ำแล้วพาคนอื่นล้มเจ็บไปด้วย ก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ทันที เหมือนเรื่องที่จะบอกต่อไปนี้ ที่ผู้เขียนคิดน่าจะเป็นบทเรียนให้กับทุกคนได้ หากวันหนึ่งเรื่องแบบนี้จะเกิดขึ้นกับตัวเรา         เรื่องมีอยู่ว่า เช้าวันที่ 7 มิถุนายน ที่ผ่านมา ในเวลาเช้าของทุกวัน คุณแม่ของผู้เขียนจะขี่จักรยานไปตลาดตามประสาแม่บ้าน เมื่อซื้อของเสร็จแล้วและกำลังขี่จักรยานกลับ โดยขี่อยู่ในช่องทางด้านซ้ายของตนเอง อยู่ดีๆ ก็ถูกรถจักรยานยนต์ของวัยรุ่นสาวที่ซ้อนสามพุ่งเข้าชนที่ด้านท้ายรถจักรยานอย่างจัง จนทำให้คุณแม่ของผู้เขียนกระเด็นล้มลงกลางถนนศีรษะฟาดพื้น         หลังเกิดเหตุมีพลเมืองดีได้เข้ามาช่วยเหลือและรีบโทรแจ้งสายด่วนฉุกเฉินทันที แต่เนื่องจากเป็นช่วงเวลาเช้าประมาณ 7.45 น. ขณะนั้นได้รับแจ้งจากปลายทางว่าตอนนี้ไม่มีรถฉุกเฉินรองรับ หากรีบให้พาผู้บาดเจ็บมาเองได้เลย แต่ด้วยเรายังไม่แน่ใจในอาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้น จึงตัดสินใจไม่เคลื่อนย้ายคุณแม่ตามที่ปลายสายแนะนำ เพราะหากมีการเคลื่อนย้ายโดยผู้ไม่มีความรู้ อาจจะทำให้อาการที่บาดเจ็บเดิมมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นได้         แต่โชคดียังมีพลเมืองดีช่วยเรียกรถฉุกเฉินที่รู้จักมารับ แม้จะรอนานเกือบยี่สิบนาทีก็ตาม เมื่อรถฉุกเฉินมารับแล้วและพาไปถึงโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ผู้เขียนแจ้งความประสงค์จะขอใช้สิทธิ พ.ร.บ.หรือประกันภัยภาคบังคับของรถคู่กรณี เพราะเตรียมเอกสารไปด้วยแล้ว แต่พยาบาลบอกจะใช้ได้ต้องให้คู่กรณีไปลงบันทึกประจำวันให้ตำรวจชี้ก่อนว่าเป็นฝ่ายผิด เพื่อที่เราจะสามารถนำบันทึกประจำวันนั้นมาเบิกค่ารักษาพยาบาลตามสิทธิของ พ.ร.บ. หรือประกันภาคบังคับรถจักรยานยนต์คู่กรณีได้         หลังจากนั้นผู้เขียนจึงรีบติดต่อตามคู่กรณีมาลงบันทึกประจำวัน เมื่อถึงสถานีตำรวจท้องที่เกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ตำรวจบอกยังชี้ผิดถูกไม่ได้ เพราะคุณแม่ยังบาดเจ็บรักษาตัวอยู่ ต้องรอให้หายดีก่อน แล้วให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสอบข้อเท็จจริง ถึงจะชี้ได้ว่าใครผิดใครถูก…         จากอุปสรรคที่เกิดขึ้น ทำให้ผู้เขียนนึกในใจเพราะเป็นแบบนี้ คนที่มีความจำเป็นถึงเข้าใช้สิทธิ พ.ร.บ.ได้ยาก คนส่วนใหญ่เขาถึงรอไม่ไหว ต้องสำรองเงินส่วนตัว หรือประกันภัยอื่นๆ (ถ้ามี) จ่ายไปก่อน เช่น ผู้เขียนเป็นต้น ที่ตัดสินใจไม่รอแล้ว พ.ร.บ. ใช้ประกันอุบัติเหตุจ่ายค่ารักษาพยาบาลของคุณแม่ไปก่อนแทน         แม้ว่าแนวทางที่รัฐกำหนดเรื่องสิทธิตามพระราชบัญญัติผู้ประสบภัยจากรถให้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนต้องเข้าถึงได้จะดีในระดับหนึ่ง แต่หากพิจารณาถึงขั้นตอนกระบวนการในแต่ละส่วนแล้วพบว่า ยังมีปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงสิทธิของผู้บริโภคที่เดือดร้อนเสียหายอยู่         ในกรณีนี้จริงๆ แล้ว โรงพยาบาลทุกแห่งควรมีระบบตรวจสอบข้อมูลและทำเรื่องโดยตรงกับบริษัทประกันภัยของรถคู่กรณีได้เลย ตามสิทธิค่าเสียหายเบื้องต้นที่กำหนดให้ความคุ้มครองแก่ผู้ประสบภัยจากรถ ทุกคนที่ประสบภัยจากรถคันที่ขับขี่หรือนั่งซ้อนท้ายมา กรณีรถจักรยานยนต์หรือนั่งโดยสารมาในรถกรณีรถยนต์  รวมถึงคนเดินถนน ที่ไม่ได้ขับขี่หรือซ้อนท้ายหรือโดยสารในรถคันอื่นๆ โดยไม่ต้องรอสรุปผลทางคดี         แต่ในทางปฏิบัติของการเคลมค่ารักษาพยาบาลของผู้ประสบภัยทางถนนในหลายกรณี ยังพบปัญหาในลักษณะเดียวกันกับที่คุณแม่ผู้เขียนพบเจออยู่ ประเด็นหลัก คือ การไม่สามารถเชื่อมต่อหรือถ่ายโอนข้อมูลผู้บาดเจ็บ ข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุ ของโรงพยาบาล บริษัทประกัน และเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าด้วยกันได้         ทั้งที่ผู้ประสบภัยที่บาดเจ็บสมควรที่จะต้องได้รับการรักษาตามสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนพึงมี แต่กลับกลายเป็นว่าคนเหล่านั้นกลับเข้าไม่ถึงสิทธิ บางรายต้องสำรองเงินส่วนตัวหรือกู้หนี้ยืมสินบุคคลภายนอกหาเงินมาเป็นค่ารักษาพยาบาล         ที่ผ่านมาเราได้แต่แนะนำให้คนที่ประสบอุบัติเหตุทางถนนไปใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถก่อนทุกครั้ง แต่พอเจอกับตัวถึงรู้ว่ามันไม่ง่ายเลยที่จะขอใช้สิทธิค่ารักษาพยาบาลเบื้องต้นตาม พ.ร.บ.นี้  จะทำยังไงให้ พ.ร.บ. ใช้ง่ายสำหรับทุกคน โดยเฉพาะเวลาที่มีคนต้องการใช้จริงๆ จะได้ไม่ยุ่งยากแบบนี้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 221 อาหารจากการแก้ไขจีโนม ตอนที่ 1

        คนไทยหลายคนคงลืมแล้วว่า เมื่อไม่กี่ปีมานี้เรามีข่าวความกังวลของสังคมเกี่ยวกับ อาหารจีเอ็มโอ หรือที่มีคำเต็มว่า อาหารซึ่งได้จากสิ่งมีชีวิตที่ดัดแปรพันธุกรรม อย่างไรก็ดีในอนาคตอันใกล้คนไทยอาจได้เลิกกังวลเรื่องเกี่ยวกับอาหารจีเอ็มโอแล้ว เพราะกำลังจะมีอาหารในรูปแบบใหม่เข้ามาสร้างความกังวลในชีวิตเรา คือ gene edited food ซึ่งน่าจะแปลเป็นไทยว่า อาหารที่ถูกแก้ไขจีโนม (จีโนมเป็นคำเดียวกับคำว่า ยีน)         เว็บ www.businessinsider.com ได้ลงข่าวที่น่าสนใจเรื่อง We'll be eating the first Crispr'd foods within 5 years, according to a geneticist who helped invent the blockbuster gene-editing tool ในวันที่ 20 เมษายน 2019 ซึ่งเนื้อข่าวโดยสรุปคือ Jennifer Doudna แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย แห่งเมืองเบิร์กลีย์ ผู้เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้พัฒนาระบบการแก้ไขจีโนมกล่าวว่า ภายในห้าปีข้างหน้าผลกระทบที่ชัดเจนของเท็คนิคการแก้ไขจีโนมต่อชีวิตประจำวันคนบนโลกนี้จะปรากฏในพืชผลของภาคเกษตรกรรม          ความเป็นจริงแล้วสิ่งที่ Jennifer Doudna พูดนั้นได้เกิดขึ้นก่อนหน้าแล้ว โดยในวันที่ 20 มีนาคม 2019 เว็บ www.wired.com ได้ตีพิมพ์บทความเรื่อง The First Gene-Edited Food Is Now Being Served ซึ่งมีใจความว่า แม้ผู้บริโภคยังไม่สามารถหาซื้อน้ำมันจากถั่วเหลืองที่ได้รับการแก้ไขจีโนมเพื่อให้ถั่วนั้น ผลิตไขมันอิ่มตัวน้อยลงกว่าเดิมและมีไขมันทรานส์เป็นศูนย์ก็ตาม แต่ซีอีโอของบริษัท Calyxt ได้กล่าวว่า ผู้บริโภคชาวอเมริกันกำลังกินน้ำมันดังกล่าวอยู่แล้ว(โดยไม่รู้ตัว) จากร้านอาหารที่เป็นลูกค้าสั่งซื้อน้ำมันถั่วเหลืองจาก Calyxt โดยร้านอาหารเหล่านี้อยู่ในตะวันตกกลางของสหรัฐ (ได้แก่ นอร์ทดาโกตา เซาท์ดาโกตา เนบราสกา มินเนสโซตา ไอโอวา มิสซูรี วิสคอนซิน อิลลินอยส์ แคนซัส มิชิแกน อินเดียนา และโอไฮโอ) ซึ่งได้เริ่มใช้น้ำมันดังกล่าวแล้วในการทอดอาหาร ทำซอสปรุงรสและน้ำมันสลัดต่างๆ เพื่อบริการแก่ลูกค้า ประเด็นที่น่าสนใจคือ ผู้บริหารของ Calyxt นั้นกล่าวอย่างมั่นใจว่า ถั่วเหลืองที่ใช้ผลิตน้ำมันนั้น “ไม่ใช่จีเอ็มโอ” อาหารแก้ไขจีโนมคืออะไร         อาหารในลักษณะนี้ใช้หลักการการเปลี่ยนชนิดขององค์ประกอบ ส่วนใดส่วนหนึ่งของดีเอ็นเอ ซึ่งเป็นหน่วยพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตให้เป็นไปตามความต้องการของผู้ผลิต ซึ่งเมื่อทำสำเร็จแล้วการแสดงออกของสิ่งมีชีวิตซึ่งเป็นลักษณะที่เห็นได้ด้วยตา คือ ฟีโนไทป์ (phenotype) นั้นจะเปลี่ยนแปรไปตามที่หน่วยพันธุกรรมที่เปลี่ยนไป ตัวอย่างเช่น สีของสิ่งมีชีวิตนั้นอาจเปลี่ยนไปจากปรกติที่เคย แดงเป็นดำ ขาวเป็นเขียว โดยที่การเปลี่ยนแปรนั้นถ่ายทอดไปถึงลูกหลานด้วย         การแก้ไขจีโนมนั้นเป็นการใช้เทคนิคที่เรียกว่า Crispr/cas9(อ่านออกเสียงว่า คริสเปอร์/คาสไนน์) หรือเรียกสั้นๆ ว่า Crispr ซึ่งเป็นวิธีที่ดูแล้วน่าศรัทธามาก เพราะค่าใช้จ่ายถูกกว่าและสะดวกกว่าวิธีการผสมพันธุ์แบบดั้งเดิมซึ่งรวมถึงการผลิตพืชดัดแปรพันธุกรรม อีกทั้งกล่าวกันว่ามีความแม่นยำสูงในการทำให้สิ่งมีชีวิตกลายไปตามต้องการโดย(อาจ) ไม่ทิ้งร่องรอยอะไรไว้ให้ตรวจจับได้         สิ่งที่สำคัญของเทคนิคนี้ประการแรกคือ ต้องรู้ตำแหน่งของจีโนมหรือยีนที่ต้องการแก้ไข จากนั้นต้องมีกระบวนการทำให้โปรตีนต่างๆ ที่ห่อหุ้ม DNA ของเซลล์สิ่งมีชีวิตเป้าหมาย ตรงตำแหน่งที่ต้องการแก้ไขหน่วยพันธุกรรมหลุดออกก่อน แล้วจึงทำให้ DNA คลายตัวจากการพันกันเป็นเกลียวเพื่อแยกเป็นอิสระจากกัน ซึ่งเป็นการเปิดทางให้องค์ประกอบของระบบเข้าไปดำเนินงานต่อ         ส่วนสำคัญที่เป็นหลักคือ ตัว Crispr (clusters of regularly interspaced short palindromic repeats.) ซึ่งเป็นกรดนิวคลิอิกชนิดที่เรียกว่า RNA ที่บางส่วนของสายมีการเรียงตัวของเบสหรือนิวคลิโอไทด์ที่สามารถประกบกับส่วนของ DNA ซึ่งเป็นจีโนม(ยีน) ที่ต้องการแก้ไข สำหรับองค์ประกอบส่วนที่สองของระบบนี้คือ cas9 ซึ่งเป็นโปรตีนที่มีฤทธิ์เป็นเอ็นซัมที่สามารถตัดสาย DNA ออกได้เสมือนเป็นกรรไกรตรงตำแหน่งที่ RNA ได้ประกบไว้ ซึ่งเมื่อตัดเสร็จแล้วจะมีการนำชิ้นส่วนของ DNA (ซึ่งเป็นยีนที่สามารถแสดงออกซึ่งลักษณะที่ต้องการเปลี่ยน) ที่เตรียมขึ้นในห้องปฏิบัติการส่งเข้าไปแทนที่ DNA ส่วนที่ถูกตัดออกไป จากนั้นจึงใช้เอ็นซัม (ที่เรียกว่า DNA ligase) เชื่อมต่อให้ชิ้น DNA ใหม่ต่อเข้าได้กับส่วนของ DNA เดิมทั้งสาย และถ้าทุกขั้นตอนสำเร็จเซลล์นั้นจะมีหน่วยพันธุกรรมที่เปลี่ยนไป ซึ่งเมื่อถูกพัฒนาต่อก็จะเจริญเติบโตไปเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีการแสดงออกของฟีโนไทป์ใหม่ที่สามารถสืบต่อลักษณะใหม่นั้นในลูกหลานต่อไป         มีการนำเทคนิคของการแก้ไขจีโนมนี้มาใช้ในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวที่ปลูกในสหรัฐอเมริกา โดยหวังว่าจะได้พันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพดีและได้ข้าวปริมาณสูง ซึ่งสามารถทนต่อผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่เพิ่มความเลวร้ายขึ้นเรื่อยๆ และได้รายงานผลการวิจัยในบทความเรื่อง CRISPR mediated genome engineering to develop climate smart rice: Challenges and opportunities ที่ปรากฏในวารสาร Seminars in Cell and Developmental Biology ในปี 2019 โดยการวิจัยนี้ได้วิเคราะห์ฟีโนไทป์ ซึ่งเป็นที่ต้องการและปัจจัยทางพันธุกรรมของข้าว แล้วนำมาใช้ในการพัฒนาความทนทานต่อความวิกฤตดังกล่าวที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งเกิดขึ้นทั่วโลก         โดยปรกติแล้วพืชหลายชนิดที่ปลูกขึ้นเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจนั้น มักอ่อนแอต่อการรุกรานจากไวรัส เห็นได้จากเมื่อปลูกไปไม่นานเท่าไรมักเกิดโรค เพราะไวรัสสามารถแทรกจีโนมของมันเข้าไปซ่อนในจีโนมของพืชนั้น แล้ววันหนึ่งเมื่อสภาวะภูมิอากาศแห้งแล้งได้ที่ ไวรัสที่ซ่อนอยู่ก็แสดงตัวออกฤทธิ์ได้ มีตัวอย่างงานวิจัยที่นักวิจัยของ International Institute of Tropical Agriculture ในเคนยาได้ใช้วิธีการแก้ไขจีโนมเพื่อตัด DNA ของไวรัสภายในจีโนมของกล้วยสายพันธุ์ Gonja Manjaya ออก  จนได้กล้วยที่ปลอดไวรัสแล้วแจกจ่ายพันธุ์ที่ปลอดโรคแก่เกษตรกรของประเทศ ข่าวนี้ได้ปรากฏในเว็บ www.newscientist.com เรื่อง Virus lurking inside banana genome has been destroyed with Crispr เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2019         ผู้ที่เลี้ยงสัตว์เนื้อส่งสู่ตลาดมักมีปัญหารำคาญใจที่สัตว์มีเขามักทำร้ายกันเอง จนต้องมีการตัดเขาให้สั้นหรือใช้วิธีเอาไฟฟ้าจี้บริเวณที่เขาจะงอกตั้งแต่สัตว์ยังเล็ก ซึ่งทำให้สัตว์ทรมาน จนผู้เลี้ยงสัตว์ถูกโจมตีเกี่ยวกับสิทธิของสัตว์ ดังนั้นถ้าวัวไม่มีเขาจะส่งผลให้การดูแลง่ายขึ้น แล้วความฝันของคาวบอยก็เป็นจริงเมื่อมีบทความเรื่อง Production of hornless dairy cattle from genome-edited cell lines. เผยแพร่ในวารสาร Nature Biotechnology ชุดที่ 34(5) หน้า 479-481 ของปี 2016 โดยผลงานนี้เป็นความร่วมมือของนักวิจัยจากสองมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาคือ University of Minnesota และ Texas A&M University         เทคนิค Crispr ได้ถูกพัฒนาต่อยอดไปอีก เช่น นักวิทยาศาสตร์ของบริษัท Syngenta ในเมือง Durham รัฐ North Carolina ได้คิดค้นกระบวนการใหม่ชื่อ haploid induction-edit หรือ HI-edit เพื่อทำให้เทคนิคการปรับแก้จีโนมของพืชง่ายขึ้นโดยรวมสองวิธีการคือ การเหนี่ยวนำให้เซลล์มีโครโมโซมชุดเดียว(haploid induction technology) และการแก้ไขจีโนม(gene edited technology) เพื่อทำให้พืชมีเกสรตัวผู้(pollen) พิเศษที่มีชุด Crispr ในเซลล์ จึงเรียกว่า Crispr pollen technique ซึ่งอ้างว่าจะไม่มีการแพร่กระจายไปดัดแปลงพืชอื่นในธรรมชาติที่ไม่ใช่เป้าหมาย เพราะระบบ Crispr ที่ใส่ไว้ในเกสรตัวผู้จะหายไปเอง หลังการปฏิสนธิระหว่างเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมีย ทำให้พืชที่เป็นผลผลิตไม่ควรถูกควบคุมในลักษณะของจีเอ็มโอ ผลงานนี้ได้เผยแพร่ในรูปบทความวิจัยชื่อ One-step genome editing of elite crop germplasm during haploid induction ในวารสาร Nature Biotechnology ชุดที่ 37 หน้าที่ 287–292 ของเดือนมีนาคม 2019         นอกจากการปรับปรุงพันธุ์พืชและสัตว์แล้ว เทคโนโลยี Crispr สามารถถูกใช้แก้ไขข้อบกพร่อง ซึ่งก่อโรคทางพันธุกรรมในมนุษย์ ตลอดจนการบำบัดและป้องกันการแพร่กระจายของโรค ฯลฯ แต่ก็มีนักวิทยาศาสตร์อีกหลายคนที่มีความกังวลในการปรับแต่งจีโนมว่า มันแม่นยำมากดังที่กล่าวอ้างนั้นจริงหรือ คำตอบนั้นสามารถติดตามได้ในฉลาดซื้อฉบับหน้า

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 221 กระแสต่างแดน

ไม่มีเซอร์ไพรซ์        ลูกค้าเว็บจองโรงแรม แอร์บีเอ็นบี ในยุโรป สามารถจองห้องได้อย่างสบายใจ เพราะต่อไปนี้เขาจะแจ้งค่าธรรมเนียมทุกอย่าง (รวมถึงค่าทำความสะอาดและภาษีท้องถิ่น) ไว้ในหน้าแรก         ผู้บริโภคยังจะได้ทราบด้วยว่าเจ้าของห้องพักดังกล่าว เป็นชาวบ้านทั่วไปที่แบ่งห้องให้เช่าหรือผู้ประกอบการด้านที่พักโดยตรง ในกรณีที่เกิดปัญหาก็มีลิงก์ไปยังแพลทฟอร์มที่ผู้บริโภคสามารถส่งเรื่องร้องเรียนได้ทันที         นอกจากนี้ผู้ใช้สามารถฟ้องร้องต่อศาลในประเทศที่ตนเองอยู่อาศัย และไม่เสียสิทธิในการฟ้องร้อง “เจ้าบ้าน” ในกรณีที่เกิดอันตรายหรือความเสียหายอื่นๆ กับตนเอง             บริษัทบอกว่าจะไม่เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขใดๆ โดยไม่แจ้งให้ผู้ใช้ทราบอย่างชัดเจน และไม่ปิดโอกาสผู้ใช้ในการปฏิเสธสัญญา         เหตุที่บริษัทสัญชาติอเมริกันยอมทำตามข้อกำหนดของคณะกรรมาธิการยุโรป ก็เพื่อหลีกเลี่ยงค่าปรับหลายล้านยูโรนั่นเองเค็มแถวหน้า        จีนเป็นประเทศที่มีอัตราการบริโภคเกลือสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก งานวิจัยโดยมหาวิทยาลัยควีนแมรี่แห่งลอนดอนพบว่าในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา ผู้ใหญ่ชาวจีนบริโภคเกลือเฉลี่ยวันละมากกว่า 10 กรัม ในขณะที่เด็กวัย 6 ปีขึ้นไป ก็บริโภคเกลือวันละเกือบ 9 กรัม         มีเพียงเด็กเล็กวัย 3 ถึง 6 ปีที่บริโภคเกลือวันละ 5 กรัม (ซึ่งเป็นปริมาณการบริโภคเกลือที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ)         นักวิจัยพบว่าอัตราการบริโภคเกลือในหมู่ประชากรทางเหนือของประเทศมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีผักสดให้รับประทานตลอดทั้งปีจึงไม่ต้องพึ่งพาผักดอง         แต่กลับพบการบริโภคเกลือที่สูงขึ้นทางตอนใต้ของประเทศ เพราะผู้คนนิยมรับประทานอาหารแปรรูปและซื้ออาหารนอกบ้านทานมากขึ้น         นักวิจัยตั้งข้อสังเกตว่าเด็กที่ชอบทานเค็มจะโตเป็นผู้ใหญ่ที่ชอบเค็มด้วย สถิติยังระบุว่าร้อยละ 40 ของสาเหตุการตายในหมู่ประชากรจีนเกี่ยวข้องกับโรคหัวใจและความดันสูงที่เกิดจากการบริโภคเกลือมากเกินไปด้วย  “เมดอินเวียดนาม”        บริษัทผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน Asanzo ของเวียดนาม มีเรื่องต้องอธิบายผู้บริโภค เมื่อถูกเปิดโปงว่าเครื่องรับโทรทัศน์ที่ “ผลิตในเวียดนาม” ของบริษัท มีส่วนประกอบถึงร้อยละ 80 ที่ผลิตมาจากจีนก่อนหน้านี้ผู้ผลิตกุญแจยี่ห้อ “มินไค” ซึ่งเป็นที่รู้จักของคนเวียดนามมานานกว่า 30 ปี ได้เริ่มนำเข้ากุญแจจากประเทศจีนมาติดฉลากเป็นยี่ห้อตนเอง ประทับตรา “ISO 9000-2000” และ “สินค้าคุณภาพสูงจากเวียดนาม”         ปลายปี 2017 “ไคซิลค์” ก็ออกมายอมรับว่านำเข้าผ้าไหมจากจีนเข้ามาตีตราขายเป็นสินค้าแบรนด์ตัวเองในเวียดนามมาเป็นสิบปีแล้ว ความแตกเพราะลูกค้าที่ซื้อผ้าพันคอไป 60 ชิ้น (ในราคาชิ้นละประมาณ 850 บาท) พบว่าผ้าผืนหนึ่งมีทั้งฉลาก “ผลิตในประเทศจีน” และฉลาก “ผลิตในเวียดนาม”         ทั้งหมดนี้สร้างความขุ่นเคืองให้ผู้บริโภคที่เวียดนามอย่างมาก ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าบอกว่าเรื่องนี้ทำกันทั้งผู้ผลิตรายใหญ่และรายย่อย เพราะปัจจุบันไม่มีเกณฑ์ว่าอย่างไรถึงจะเข้าข่ายเป็น “ผลิตภัณฑ์คุณภาพสูง” และ “ผลิตในเวียดนาม”“ไม่เอาหลอด”        กฎหมายว่าด้วยการจัดการขยะในครัวเรือนทำให้ชาวเซี่ยงไฮ้ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการสั่งอาหาร/เครื่องดื่มออนไลน์ เพื่อลดภาระในการคัดแยกขยะ เอเลมี ผู้ให้บริการส่งอาหารบอกว่าตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา มีถึง 4,100 คำสั่งซื้อที่มีข้อความกำกับมาด้วย หนี่งในสี่ของคำสั่งซื้อระบุว่า “ขอซุปน้อยลง” ที่เหลือก็เป็นทำนอง “ขอข้าวน้อย” “ไม่เอาพริกไทยซอง” “แกะย่างไม่เอาไม้เสียบ” เป็นต้น         เหม่ยถวน ผู้ให้บริการอีกเจ้าหนึ่งระบุว่ามีคำสั่งซื้อที่ระบุว่า “ไม่เอาช้อน/ซ้อม/ตะเกียบ” เพิ่มขึ้นจากเดิมถึงสี่เท่า และ “หลอด” ทั้งที่เป็นกระดาษและพลาสติกก็เป็นที่รังเกียจเช่นกันยกตัวอย่างกรณีชานมไข่มุก หากกินไม่หมดก็ต้องเทน้ำชาลงซิงค์ ทิ้งเม็ดไข่มุกลงในถังขยะเปียก และนำแก้วไปทิ้งในถังรีไซเคิล         เว็บไซต์ Caijing.com พบว่ากว่าครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถาม 50,000 คน จะเลิกกินชานมเพราะขั้นตอนการแยกขยะที่ยุ่งยากซับซ้อนรอได้ก็เขียวได้         ในทางทฤษฏี อีคอมเมิร์ซเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะการขับรถบรรทุกออกมารอบเดียวแต่ส่งของให้กับผู้คนได้มากมายมันย่อมดีกว่าให้แต่ละคนขับรถไปห้างกันเอง  งานวิจัยของมหาวิทยาลัยวอชิงตันในปี 2012 ก็ยืนยันว่าการสั่งซื้อแบบนี้สามารถลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80         แต่ขณะเดียวกันก็มีงานวิจัยที่พบว่าถ้ารถส่งของนำสินค้าไปส่งให้ผู้สั่งซื้อน้อยกว่า 6 รายต่อเที่ยว มันจะไม่ช่วยอะไร ยิ่งถ้าต้องนำส่งแบบทันทีโดยไม่รอรวมกับใครก็ยิ่งแล้วใหญ่ เฉลี่ยแล้วถ้ารถต้องออกไปโดยมีของส่งเพียงหนึ่งชิ้น ปริมาณคาร์บอนที่เกิดขึ้นจะมากกว่ากรณีที่มีของเต็มรถถึง 35 เท่า         นอกจากนี้ผู้บริโภคยังไม่รู้ถึงค่าใช้จ่ายที่แท้จริงในการเลือกรับสินค้า “ภายในวันเดียว” เนื่องจากเห็นว่าเป็นบริการฟรี (เพราะบริษัทแบกรับต้นทุนไว้) ทั้งที่อาจจะไม่ได้รีบใช้        ผู้เชี่ยวชาญเสนอทางออกเป็นปุ่ม “จัดส่งแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” ให้ผู้บริโภคเลือกคลิก เพราะมีงานวิจัยที่พบว่าผู้บริโภคกว่าร้อยละ 50 ยินดีที่จะรอ หากช่วยลดภาระต่อสิ่งแวดล้อมได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 221 ผลทดสอบสารกันบูดในน้ำพริกหนุ่ม (ภาค 2)

หากใครได้เดินทางไปท่องเที่ยวในจังหวัดภาคเหนือบ่อยๆ อย่างเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ คงได้มีโอกาสลิ้มลองอาหารเอกลักษณ์ตำรับเหนืออย่าง ข้าวซอย แกงฮังเล แกงขนุน น้ำพริกอ่อง น้ำพริกหนุ่ม ไส้อั่ว เป็นต้น โดยเฉพาะน้ำพริกหนุ่มที่ยังไงๆ ก็ต้องกินคู่กับแคบหมู ถึงจะอู้กำเมืองได้เต็มปากว่า “ลำแต๊ๆ ลำขนาด เจ้า...”        น้ำพริกหนุ่ม อาหารพื้นบ้านล้านนา ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นน้ำพริกที่ทำมาจากพริกหนุ่ม (พริกชนิดหนึ่ง ที่มีลักษณะคล้ายพริกชี้ฟ้า แต่มีสีเขียวอ่อนๆ คล้ายพริกหยวก) โดยนำพริกหนุ่มไปย่างไฟพร้อมกับหอมแดง และกระเทียม จากนั้นจึงลอกเปลือกออก นำไปโขลกให้ผสมกลมเกลียวกันในครก ปรุงรสด้วยเกลือเล็กน้อย เสิร์ฟคู่กับผักสดหรือผักลวก พร้อมแคบหมู(บางสูตรอาจใส่ปลาร้าหรือปลาแห้งลงไปด้วย) แต่ผู้บริโภคอย่างเรา คงไม่อยากติดเตาย่างพริกหนุ่มกันให้ยุ่งยาก ในเมื่อการเดินเข้ากาด(ตลาด) หาซื้อน้ำพริกหนุ่มและแคบหมู หิ้วกลับไปเป็นของฝากนั้นดูจะง่ายกว่ากันเยอะ         น้ำพริกหนุ่มที่วางจำหน่ายตามร้านต่างๆ นั้น มีทั้งสูตรเผ็ดมาก เผ็ดน้อย ในรูปแบบมัดใส่ถุง แบบกระปุกหรือตักขายตามน้ำหนัก ซึ่งน้ำพริกหนุ่มเป็นอาหารที่บูดเสียง่าย เก็บได้ไม่นาน โดยเฉพาะหากเก็บไว้ในที่อุณหภูมิเปลี่ยนบ่อยๆ หากชิมแล้วพบว่ามีรสเปรี้ยว แปลว่าบูดเสียแล้ว ไม่ควรกิน ดังนั้นการถนอมน้ำพริกหนุ่มให้อยู่ได้นาน ผู้ผลิตอาจใช้วัตถุกันเสียในการยืดอายุการเก็บรักษา ซึ่งหากใช้สารกันบูดในปริมาณที่ถูกต้องเหมาะสมก็จะปลอดภัย แต่ถ้าหากใช้เกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ก็อาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคได้         ฉลาดซื้อ ในโครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ เห็นความสำคัญในการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารให้กับผู้บริโภค จึงเลือกสุ่มเก็บตัวอย่างน้ำพริกหนุ่มที่วางจำหน่ายตามท้องตลาดในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือ จำนวนทั้งสิ้น 17 ตัวอย่าง ในเดือนมิถุนายน 2562 โดยเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคเหนือ ส่งตรวจวิเคราะห์ปริมาณวัตถุกันเสียประเภทกรดเบนโซอิก (Benzoic Acid) และกรดซอร์บิก (Sorbic Acid) ซ้ำเป็นครั้งที่ 2 จากที่เคยสุ่มตรวจครั้งแรก เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ - มีนาคม 2561 (ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 205 มี.ค.2561) ซึ่งปรากฏผลทดสอบ ดังตารางต่อไปนี้ตารางที่ 1 แสดงผลทดสอบปริมาณกรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิก ในตัวอย่างน้ำพริกหนุ่ม 17 ยี่ห้อ                                                                  ผลวิเคราะห์เฉพาะตัวอย่างที่ส่งตรวจเท่านั้น                                                                 เก็บตัวอย่างน้ำพริกหนุ่ม เดือน มิถุนายน 2562สรุปผลการทดสอบตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 389 พ.ศ. 2561 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 5) ได้อนุญาตให้ตรวจพบปริมาณสูงสุดของวัตถุกันเสียประเภท กรดเบนโซอิก (Benzoic Acid) ไว้ไม่เกิน 500 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักอาหาร 1 กิโลกรัม และวัตถุกันเสียประเภท กรดซอร์บิก (Sorbic Acid) ไว้ไม่เกิน 1000 มก./กก. ในหมวดอาหารประเภทเครื่องปรุงรส เช่น น้ำพริกพร้อมบริโภค น้ำพริกสำหรับคลุกข้าว น้ำพริกกะปิ จากตารางแสดงผลทดสอบปริมาณสารกันบูดข้างต้น สามารถแบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มที่ไม่พบสารกันบูดประเภทกรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิก 2. กลุ่มที่พบสารกันบูดแต่ไม่เกินมาตรฐาน และ 3. กลุ่มที่พบสารกันบูดเกินมาตรฐาน         โดยน้ำพริกหนุ่ม กลุ่มที่ตรวจไม่พบสารกันบูด ประเภทกรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิก มีจำนวน 2 ตัวอย่าง ได้แก่ 1) น้ำพริกหนุ่ม อุ้ยคำ (ตราขันโตก) จากตลาดวโรรส จ.เชียงใหม่ และ 2) น้ำพริกหนุ่ม วรรณภา จากร้านวรรณภา จ.เชียงราย ส่วนกลุ่มที่ตรวจพบปริมาณสารกันบูด แต่ไม่เกินมาตรฐาน มีจำนวน 8 ตัวอย่าง ได้แก่            1) น้ำพริกหนุ่ม แม่ศรีนวล จาก ร้านขายของฝากสามแยกเด่นชัย จ.แพร่                   พบปริมาณ กรดเบนโซอิก เท่ากับ 30.67 มก./กก.            2) น้ำพริกหนุ่ม มารศรี สูตรดั้งเดิม จาก ตลาดสดแม่ต๋ำ จ.พะเยา                   พบปริมาณ กรดเบนโซอิก เท่ากับ 36.92 มก./กก.            3) น้ำพริกหนุ่ม แม่มารศรี (น้ำพริกหนุ่ม - ปลาร้า) จาก ร้านปะเลอะเยอะแยะของฝาก จ.เชียงราย                   พบปริมาณ กรดเบนโซอิก เท่ากับ 41.73 มก./กก.            4) น้ำพริกหนุ่ม ป้าแอ็ด ของฝากจากเดอะโคโค่ นครลำปาง จาก ร้านป้าแอ็ดของฝากเมืองลำปาง                   พบปริมาณ กรดเบนโซอิก เท่ากับ 387.38 มก./กก.            5) น้ำพริกหนุ่ม ศุภลักษณ์ รสเผ็ดมาก จาก ตลาดสดแม่ต๋ำ จ.พะเยา                   พบปริมาณ กรดเบนโซอิก เท่ากับ 51.92 มก./กก. และ กรดซอร์บิก เท่ากับ 338.17 มก./กก.             6) น้ำพริกหนุ่ม อำพัน จาก ร้านข้าวแต๋นของฝากลำปาง                       พบปริมาณ กรดเบนโซอิก เท่ากับ 435.29 มก./กก.                          7) น้ำพริกหนุ่ม อุ้ยแก้ว จาก ตลาดสดแม่ต๋ำ จ.พะเยา                   พบปริมาณ กรดเบนโซอิก เท่ากับ 437.27 มก./กก.และ      8) น้ำพริกหนุ่ม นันทวัน เจียงฮาย สูตรดั้งเดิม จาก ร้านนันทวัน จ.เชียงราย                   พบปริมาณ กรดเบนโซอิก เท่ากับ 455.80 มก./กก.                 สำหรับกลุ่มที่ตรวจพบสารกันบูดเกินมาตรฐาน มีจำนวน 7 ตัวอย่าง ได้แก่          1) น้ำพริกหนุ่ม ร้านดำรงค์ จาก ตลาดวโรรส จ.เชียงใหม่                   พบปริมาณ กรดเบนโซอิก เท่ากับ 890.32 มก./กก.          2) น้ำพริกหนุ่ม ล้านนา จาก ตลาดของฝากเด่นชัย จ.แพร่                   พบปริมาณ กรดเบนโซอิก เท่ากับ 1026.91 มก./กก.          3) น้ำพริกหนุ่ม นิชา (เจ๊หงษ์ น้ำพริกหนุ่ม) จาก ตลาดวโรรส จ.เชียงใหม่                   พบปริมาณ กรดเบนโซอิก เท่ากับ 1634.20 มก./กก.          4) น้ำพริกหนุ่ม เจ๊หงษ์ จาก ตลาดวโรรส จ.เชียงใหม่                   พบปริมาณ กรดเบนโซอิก เท่ากับ 1968.85 มก./กก.          5) น้ำพริกหนุ่ม แม่ชไมพร จาก ตลาดสดอัศวิน ร้านสิริกรของฝาก จ.ลำปาง                   พบปริมาณ กรดเบนโซอิก เท่ากับ 2231.82 มก./กก.          6) น้ำพริกหนุ่ม ยาใจ (รสเผ็ด) จาก ร้านขายของฝากสามแยกเด่นชัย จ.แพร่                   พบปริมาณ กรดเบนโซอิก เท่ากับ 3549.75 มก./กก.และ    7) น้ำพริกหนุ่ม อุมา จาก ตลาดสดแม่ต๋ำ จ.พะเยา                   พบปริมาณ กรดเบนโซอิก เท่ากับ 5649.43 มก./กก.         ทั้งนี้ หากเทียบปริมาณสารกันบูดจากน้ำพริกหนุ่ม จำนวน 7 ยี่ห้อ ที่ได้สุ่มตรวจในครั้งแรกเมื่อเดือน มี.ค.2561 จะปรากฏผลดังตารางต่อไปนี้ตารางที่ 2 แสดงผลการเปรียบเทียบปริมาณสารกันบูดประเภทกรดเบนโซอิก และกรดซอร์บิก ทั้ง 2ครั้งจากตารางข้างต้นสรุปได้ว่า มีน้ำพริกหนุ่ม 2 ยี่ห้อ ที่พบปริมาณสารกันบูดน้อยลงกว่าเดิม จากเดิมที่เคยตรวจพบสารกันบูดเกินมาตรฐาน ได้แก่ ยี่ห้อ ศุภลักษณ์ และ ยี่ห้อ มารศรี สูตรดั้งเดิม และมี 2 ยี่ห้อ ที่พบว่ามีสารกันบูดเกินมาตรฐาน ได้แก่ ยี่ห้อ เจ๊หงษ์ และ ร้านดำรงค์

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 220 ผลทดสอบพาวเวอร์แบงค์

        หลายๆ คนเริ่มมีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในชีวิตมากขึ้น ทั้งสมาร์ตโฟน แท็บเล็ต โน๊ตบุ้ค หรืออาจจะเกมคอนโซลด้วย และถ้าต้องออกนอกบ้านไปทั้งวันก็อาจพบปัญหาแบตเตอรี่ในอุปกรณ์ไม่พอใช้ จึงต้องมี “แหล่งไฟฟ้าสำรอง” ติดตัวไปด้วย        ฉลาดซื้อฉบับนี้จึงขอเสนอผลการทดสอบพาวเวอร์แบงค์ที่ Choice องค์กรผู้บริโภคของออสเตรเลียได้ทำไว้ แบตเตอรี่สำรองเหล่านี้เป็นรุ่นที่สามารถรองรับการชาร์จอุปกรณ์มากกว่าหนึ่งเครื่องในเวลาเดียวกัน มีความจุอยู่ระหว่าง 10000mAh ถึง 20000mAh และราคาตั้งแต่ 635 ถึง 4,000 กว่าบาท (เป็นการแปลงจากราคาในหน่วยเงินดอลล่าร์ออสเตรเลียเป็นเงินไทย)        ในภาพรวมเราพบว่าราคาแพงไม่สามารถการันตีคุณภาพได้ และความจุที่ผู้ผลิตแจ้งบนฉลากสินค้ามักจะต่ำกว่าที่วัดได้จริง         คะแนนรวม 100 คะแนนคิดจาก        คะแนนประสิทธิภาพ ร้อยละ 70         ความสะดวกในการใช้งาน ร้อยละ 15        การแสดงผล ร้อยละ 15

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 220 ผลทดสอบปริมาณพลังงาน น้ำตาล และข้อมูลโภชนาการอื่นๆ ในเครื่องดื่ม “ ชานมไข่มุก ”

        ต้นกำเนิดของ  “ชานมไข่มุก” บับเบิลมิลค์ที หรือ ปัวป้ามิลค์ที (Bubble Tea / Boba Tea) มีที่มาจากร้านชา “ชุนฉุ่ยถัง” ในเมืองไทจง ประเทศไต้หวัน เมื่อปี 1980 ด้วยการนำไข่มุก (Bubble) หรือ เฟิ่นเหยิน (Fen Yuan) ซึ่งเป็นขนมดั้งเดิมของไต้หวัน ดัดแปลงใส่ลงไปในชานม จึงเกิดผลิตภัณฑ์ชนิดใหม่ขึ้นมา จนปัจจุบันกลายมาเป็นเครื่องดื่มประจำชาติของคนไต้หวัน และโด่งดังไปทั่วเอเชีย เช่น จีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น เกาหลี ไทย และ แผ่ขยายไปยังภูมิภาคอื่นๆ เช่น อเมริกาเหนือ และยุโรป อีกด้วย         เม็ดไข่มุก (Tapioca Pearls) ทำจากแป้งมันสำปะหลัง (Tapioca Flour) ซึ่งอาจมีหลากสี เช่น สีดำ สีทอง สีเขียว ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับส่วนผสมที่ใส่ลงไป โดยส่วนใหญ่ที่พบทั่วไปจะเป็นไข่มุกสีดำที่มาจากสีผสมอาหารสังเคราะห์ หรือ น้ำตาลทรายแดงและผงโกโก้        ปัจจุบันเราจะเห็นร้านชานมไข่มุกอยู่เกือบทุกที่ เนื่องจากรสชาติหวานหอมของชานม ที่ผสานกับเนื้อสัมผัสที่เหนียว นุ่ม หนึบ ของไข่มุกอย่างลงตัว ทำเอาคนไทยติดใจ จนร้านชานมไข่มุกหน้าใหม่ แข่งขันกันเปิดให้บริการเป็นจำนวนมาก ทั้งแบบแบรนด์ต่างชาติ แฟรนไชส์ และร้านท้องถิ่น ซึ่งราคาก็มีตั้งแต่ ระดับแมส แก้วละ 20 - 30 บาท ระดับพรีเมียมแมส แก้วละ 35 - 50 บาท ไปจนถึงระดับพรีเมียมแก้วละ 80 – 100 กว่าบาทเลยทีเดียว         จากรายงานการวิจัยตลาดของบริษัท Allied Analytics ในปี 2017 มูลค่าตลาดชานมไข่มุกทั่วโลกอยู่ที่ 1,954 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราวๆ 65,000 ล้านบาท) คาดว่าภายในปี 2023 จะมีมูลค่าแตะ 3,214 ล้านเหรียญ (ราว 100,000 ล้านบาท) ส่วนตลาดชานมไข่มุกในไทย จากการสำรวจของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจกสิกรไทย พบว่ามีมูลค่าราว 2,000 ล้านบาท โดยบริษัทที่มีส่วนแบ่งตลาดมากที่สุดคือ โอชายะ Ochaya ที่มีสาขามากกว่า 360 สาขา มีรายได้ปี 2560 ที่ 148,202,491 บาท เมื่อเทียบจากปี 2558 แล้วถือว่าเติบโตมากกว่า 1 เท่าตัว (ที่มาข้อมูล: https://voicetv.co.th/read/B1eivkqFm)         ด้วยความนิยมดื่มชานมไข่มุกของคนไทย ฉลาดซื้อจึงหยิบเอาข้อมูลปริมาณพลังงานและน้ำตาลที่ได้จากการบริโภคชานมไข่มุกมาให้ผู้บริโภคได้ทราบกัน ซึ่งชานมไข่มุกหนึ่งแก้ว ประกอบด้วย ชานม (ซึ่งอาจมีส่วนประกอบของนมผง ครีมเทียม หรือนมสด) แป้งมันสำปะหลัง น้ำตาล และวัตถุเจือปนอาหารชนิดต่างๆ         ฉลาดซื้อในโครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างชานมไข่มุกแบบสูตรปกติ จำนวน 25 ยี่ห้อ ตั้งแต่ระดับแมส พรีเมียมแมส และพรีเมียม ที่มีจำหน่ายในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ส่งตรวจวิเคราะห์คุณค่าทางโภชนาการ เช่น ปริมาณพลังงาน และน้ำตาลต่อแก้ว และ ตรวจวิเคราะห์ปริมาณสารกันบูดและโลหะหนักในเม็ดไข่มุก โดยผลการตรวจวิเคราะห์แสดงดังตารางต่อไปนี้ตารางที่ 1 แสดงข้อมูลผลทดสอบข้อมูลโภชนาการ ชานมไข่มุก (สูตรปกติ) 25 ยี่ห้อหมายเหตุ: * ปริมาณน้ำหนักต่อแก้ว (กรัม) ของชานมไข่มุก เป็นขนาดแก้วปกติของแต่ละยี่ห้อ (ไม่รวมน้ำแข็ง) ผลวิเคราะห์เฉพาะตัวอย่างที่ส่งตรวจเท่านั้นเก็บตัวอย่างเดือน พฤษภาคม 2562หมายเหตุ: * ปริมาณน้ำหนักต่อแก้ว (กรัม) ของชานมไข่มุก เป็นขนาดแก้วปกติของแต่ละยี่ห้อ (ไม่รวมน้ำแข็ง) ผลวิเคราะห์เฉพาะตัวอย่างที่ส่งตรวจเท่านั้นเก็บตัวอย่างเดือน พฤษภาคม 2562 ตารางที่ 2 เปรียบเทียบปริมาณพลังงานกับปริมาณข้าวสวย(ทัพพี) และ ปริมาณน้ำตาลเป็นช้อนชาหมายเหตุ: * ปริมาณน้ำหนักต่อแก้ว (กรัม) ของชานมไข่มุก เป็นขนาดแก้วปกติของแต่ละยี่ห้อ (ไม่รวมน้ำแข็ง) ** ** ข้าวสวย (ข้าวขาว) 1 ทัพพี ให้พลังงานเท่ากับ 80 กิโลแคลอรี (kcal) *** น้ำตาล 4 กรัม เท่ากับ 1 ช้อนชา *** น้ำตาล 4 กรัม เท่ากับ 1 ช้อนชาสรุปผลการทดสอบคุณค่าทางโภชนาการ (ปริมาณพลังงาน และ น้ำตาล) ของชานมไข่มุก     จากผลการทดสอบปริมาณพลังงานทั้งหมด พบว่า        ตัวอย่างชานมไข่มุกที่ให้พลังงานทั้งหมดต่อแก้ว น้อยที่สุด ได้แก่             - ชานมไข่มุก ยี่ห้อ KOI The’ (น้ำหนัก 173 กรัม / ไม่รวมน้ำแข็ง)             ให้ปริมาณพลังงานทั้งหมด 157 กิโลแคลอรี (kcal)             เทียบได้กับข้าวสวย ปริมาณ 1.96 ทัพพีและ     ตัวอย่างชานมไข่มุกที่ให้พลังงานทั้งหมดต่อแก้ว มากที่สุด ได้แก่            - ชานมไข่มุก ยี่ห้อ CoCo Fresh Tea & Juice (น้ำหนัก 699 กรัม / ไม่รวมน้ำแข็ง)              ให้ปริมาณพลังงานทั้งหมด 769 กิโลแคลอรี (kcal)             เทียบได้กับข้าวสวย ปริมาณ 9.61 ทัพพี จากผลการทดสอบปริมาณน้ำตาล พบว่า         ตัวอย่างชานมไข่มุกที่มีปริมาณน้ำตาล น้อยที่สุด ได้แก่             - ชานมไข่มุก ยี่ห้อ KOI The’ มีปริมาณน้ำตาล 16 กรัม            เทียบได้กับน้ำตาล จำนวน 4 ช้อนชาและ     ตัวอย่างชานมไข่มุกที่มีปริมาณน้ำตาล มากที่สุด ได้แก่            - ชานมไข่มุก ยี่ห้อ CoCo Fresh Tea & Juice มีปริมาณน้ำตาล 74 กรัม            เทียบได้กับน้ำตาล จำนวน 18.5 ช้อนชาโดยข้อสังเกตอื่นๆ มีดังนี้        - ปริมาณชานมไข่มุกเฉลี่ยต่อแก้ว จากทุกยี่ห้อ เท่ากับ 371 กรัม        - ชานมไข่มุก ที่มีราคาถูกที่สุด ได้แก่ ยี่ห้อ Cha…Ma  ราคาแก้วละ 23 บาท        และ ราคาแพงที่สุด ได้แก่ ยี่ห้อ Fire Tiger by Seoulcial Club ราคาแก้วละ 140 บาท                  ในแต่ละวัน เราควรได้รับพลังงานจากการบริโภคอาหาร ตั้งแต่ 1,600 – 2,400 กิโลแคลอรี (kcal) ในกลุ่มคนไทยที่มีอายุ 6 ปีขึ้นไป สำหรับในกลุ่มข้าวและแป้ง (เช่น ข้าว ก๋วยเตี๋ยว บะหมี่ ขนมจีน ขนมปัง) ควรได้รับวันละ 8 – 12 ทัพพี หญิงวัยทำงาน วัยทอง หรือผู้สูงอายุ กินวันละ 8 ทัพพี ชายวัยทำงาน 10 ทัพพี หรือหากต้องใช้พลังงานมากก็ 12 ทัพพี ซึ่งหากคิดพลังงานที่ควรได้รับ เท่ากับ 2,000 กิโลแคลอรี/วัน แบ่งเป็น 3 มื้ออาหาร เท่ากับมื้อละ 666 กิโลแคลอรี การดื่มชานมไข่มุก 1 แก้ว ก็อาจเท่ากับพลังงานที่ได้รับจากอาหาร 1 มื้อ ผลทดสอบปริมาณสารกันบูดและโลหะหนักในเม็ดไข่มุก         นอกจากการทดสอบคุณค่าทางโภชนาการในชานมไข่มุกแล้ว ฉลาดซื้อยังทดสอบวัตถุกันเสียและโลหะหนักในเม็ดไข่มุก ทั้ง 25 ตัวอย่างอีกด้วย โดยประเภทของวัตถุกันเสียที่ตรวจวิเคราะห์ ได้แก่ กรดเบนโซอิก (Benzoic Acid) และ กรดซอร์บิก (Sorbic Acid) ส่วนโลหะหนักที่ตรวจวิเคราะห์ คือ ตะกั่ว (Lead)         ซึ่งผลการตรวจวิเคราะห์ พบว่า ไม่พบโลหะหนักประเภทตะกั่ว (Lead) ในเม็ดไข่มุกทุกตัวอย่างส่วนผลการทดสอบสารกันบูดแสดงดังตารางต่อไปนี้ตารางที่ 3 ผลทดสอบสารกันบูดและโลหะหนักในเม็ดไข่มุก 25 ยี่ห้อ (เรียงลำดับตามปริมาณรวมของสารกันบูดจากน้อยไปมาก) สรุปผลการทดสอบสารกันบูดในเม็ดไข่มุก        จากผลการตรวจวิเคราะห์ พบว่า เม็ดไข่มุกทุกตัวอย่างตรวจพบสารกันบูดประเภทกรดซอร์บิก (Sorbic Acid) ในปริมาณที่แตกต่างกัน ส่วนกรดเบนโซอิก (Benzoic Acid) พบว่า ตรวจพบเกือบทุกตัวอย่าง ยกเว้น 3 ตัวอย่าง ได้แก่ 1) ยี่ห้อ The ALLEY  2) ยี่ห้อ CoCo Fresh Tea & Juice และ 3) KOI Thé  ที่ตรวจไม่พบกรดเบนโซอิก        ซึ่งหากรวมปริมาณสารกันบูดทั้งสองชนิดดังกล่าวแล้ว พบว่า         - ตัวอย่างเม็ดไข่มุกที่มีปริมาณสารกันบูดทั้งสองชนิด น้อยที่สุด ได้แก่                 ยี่ห้อ The ALLEY  มีปริมาณสารกันบูดรวม 58.39 มิลลิกรัม/กิโลกรัม        และ ตัวอย่างเม็ดไข่มุกที่มีปริมาณสารกันบูดทั้งสองชนิด มากที่สุด ได้แก่                 ยี่ห้อ BRIX Desert Bar  มีปริมาณสารกันบูดรวม 551.09 มิลลิกรัม/กิโลกรัม                  ทั้งนี้ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 389 พ.ศ. 2561 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 5) อนุญาตให้พบปริมาณสารกันบูดประเภทกรดเบนโซอิก และ กรดซอร์บิก ในกลุ่มขนมหวานที่มีธัญชาติและสตาร์ชเป็นส่วนประกอบหลัก สูงสุดได้ไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม (โดยมีสัดส่วนของผลรวมไม่เกินหนึ่ง)         ซึ่งจากผลตรวจวิเคราะห์ พบว่า ไม่มีเม็ดไข่มุกยี่ห้อใดพบสารกันบูดในปริมาณที่เกินมาตรฐาน คำแนะนำในการบริโภค         รศ.ดร.วันทนีย์ เกรียงสินยศ  อาจารย์และประธานหลักสูตรปริญญาโท สาขาโภชนาการและการกำหนดอาหาร สถาบันโภชนาการ ม.มหิดล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้คำแนะนำในการบริโภคว่า ไม่ควรบริโภคชานมไข่มุก หรือ เครื่องดื่มประเภทเดียวกัน เช่น กาแฟเย็นมากกว่า 1 แก้วต่อวัน หากบริโภคชานมไข่มุกแล้ว เครื่องดื่มในมื้ออื่นๆ ควรเลือกเป็นน้ำเปล่า ที่สำคัญควรเลือกบริโภคชานมไข่มุกแก้วที่มีขนาดเล็กหน่อย เพราะจะให้ผลเสียต่อสุขภาพน้อยกว่า         การบริโภคชานมไข่มุกอาจทำให้เกิดพลังงานส่วนเกินมากกว่าที่ร่างกายเราใช้ไป หากสะสมจะทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้น กรณีชานมไข่มุก เราจะได้น้ำตาล และแป้งจากเม็ดไข่มุก รวมถึงไขมันจากส่วนผสมที่เป็นนมหรือครีมเทียม ถ้าดูจากสัดส่วนจะเห็นว่าหนักในเรื่องน้ำตาล แป้ง และไขมัน ซึ่งถ้ากินชานมไข่มุกแทนมื้ออาหาร ก็จะทำให้ได้สารอาหารไม่ครบ แม้ว่าน้ำตาลจะให้พลังงาน แต่ไม่ได้ให้สารอาหารอื่นๆ ในขณะที่ถ้าเรากินข้าว ก็จะได้แร่ธาตุและวิตามิน หากเราบริโภคชานมไข่มุก อาจต้องไปลดปริมาณข้าวหรือแป้งในอาหารปกติลง เช่น เคยกินข้าว 3-4 ทัพพี ก็อาจลดเหลือแค่ 2 ทัพพี เพื่อไม่ได้เกิดพลังงานส่วนเกิน” แหล่งข้อมูลอ้างอิง:- สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล - wikipedia.org - คลิปวิดีโอ ThaiPBS “พิสูจน์ชานมไข่มุกร้านต้นตำรับที่ไต้หวัน : ดูให้รู้” - คลิปวิดีโอ ThaiPBS “ความยิ่งใหญ่อุตสาหกรรมชานมไข่มุก : ลงทุนทำกิน (3 มิ.ย. 62)” - ชาไข่มุก : ทำไมถึงกลับมาฮิต เกี่ยวโยงเศรษฐกิจ-การเมืองไต้หวันอย่างไร?     (https://voicetv.co.th/read/B1eivkqFm)  (https://voicetv.co.th/read/B1eivkqFm)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 219 สิทธิในการใช้รถสาธารณะในราคาที่ไม่แพง

เป็นข่าวใหญ่ของคนกรุงเทพในเดือนเมษายน เมื่อรัฐประกาศขึ้นราคาค่ารถโดยสารเกือบทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นรถเมล์ ขสมก.และรถเมล์ร่วมบริการในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ที่สำคัญการขึ้นราคารถเมล์ครั้งนี้ส่งผลต่อการขึ้นราคาขนส่งมวลชนในรูปแบบอื่นๆ ที่จะตามมา เช่น รถตู้ รถทัวร์ อีกด้วย         จริงๆ แล้ว เรื่องนี้น่าจะวุ่นวายกันตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา เพราะตามแผนเดิมของการปรับราคาค่าโดยสารจะปรับหลังปีใหม่ในวันที่ 21 มกราคม 2562 แต่เหมือนจะยังเป็นโชคดีของคนกรุงเทพอยู่นิดหน่อย ที่ช่วงนั้นเกิดวิกฤตปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ในกรุงเทพพอดี รัฐบาลเลยหยิบมาอ้างได้ว่าเพื่อเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนใช้รถโดยสารสาธารณะ ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลที่เป็นสาเหตุของมลพิษและทำให้เกิดฝุ่นละออง เลยให้เลื่อนการปรับราคาค่าโดยสารออกไปอีกสามเดือน           แต่ทุกคนก็รู้ดีว่า การเลื่อนขึ้นราคาค่าโดยสารครั้งนั้นเป็นการหวังผลทางการเมืองที่จะมีการเลือกตั้งในเดือนมีนาคมมากกว่า และรัฐบาลต้องเสียคะแนนแน่ๆ หากปล่อยให้ขึ้นราคาในช่วงนั้น เผาหลอกขู่กันไปแล้ว ถึงเวลาเผาจริง 22 เมษายน 2562 ครบกำหนดสามเดือนที่จะต้องขึ้นราคาค่าโดยสารกันแล้ว สำหรับอัตราค่าโดยสารใหม่นั้น ในส่วนรถ ขสมก. ปรับเพิ่มอีก 2-7 บาท หากขึ้นทางด่วนคิดเพิ่มอีก 2 บาท แต่หากเป็นรถ ขสมก.รุ่นใหม่สีฟ้า ขึ้นหนักหน่อยคิดตามระยะแบบขั้นบันได 15-20-25 บาท ส่วนรถร่วมเอกชนปรับเพิ่มขึ้น 1 บาท เช่น         นาย ก. ปกติ ขึ้นรถเมล์ปรับอากาศรุ่นเก่าสีขาวสาย 522 จากอนุสาวรีย์ชัยฯ ทางด่วนไปลงงามวงศ์วาน จากเดิมเสียค่าโดยสาร 15 บาท ราคาใหม่ต้องเสียค่าโดยสาร 19 บาท เพิ่มจากเดิม 4 บาท แต่หากนาย ก. ต้องขึ้นรถเมล์ปรับอากาศรุ่นใหม่สีฟ้าในเส้นทางเดิมต้องจ่ายค่าโดยสารถึง 22 บาท เพิ่มจากเดิม 7 บาท หรือ เกือบ 50% ของราคาเดิมที่เคยจ่าย ซึ่งถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมากต่อการเดินทางหนึ่งครั้ง         ข้อมูลของ ขสมก. ระบุว่า ปัจจุบันรถเมล์ของ ขสมก.มีอยู่ประมาณ 3,000 คัน แบ่งเป็นรถร้อนประมาณ 1,500 คันและรถปรับอากาศอีกประมาณ 1,500 คัน มีผู้ใช้บริการต่อวันประมาณ 1.3 ล้านคน ซึ่งถือว่ามีจำนวนมากกว่าในปีก่อนๆ         ข้อมูลจากรายงานประจำปี 2559 ระบุว่า มีผู้ใช้บริการรถเมล์ ขสมก. ต่อวัน จำนวน 582,463 คน แบ่งเป็นรถปรับอากาศ 195,389 คน รถเมล์ร้อน 154,574 คน และรถเมล์ฟรี 232,500 คนขณะที่ข้อมูลจากรายงานประจำปี 2560 ระบุว่ามีผู้ใช้บริการรถเมล์ ขสมก. ต่อวัน จำนวน 584,997 คน แบ่งเป็นรถปรับอากาศ 192,923 คน รถเมล์ร้อน 124,667 คน และรถเมล์ฟรี 267,407 คน          จะเห็นได้ว่าอัตราการเติบโตของจำนวนผู้ใช้บริการมีสูงขึ้นโดยมีนัยยะสำคัญ หากเปรียบเทียบกับปัจจุบันที่ไม่มีรถเมล์ฟรีแล้ว แม้จะมีผู้บริโภคจำนวนหนึ่งที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แต่อย่างไรก็ดีจำนวนผู้ใช้บริการรถเมล์ก็คงมีจำนวนสูงขึ้น ปรากฎตามข้อมูลของ ขสมก. ณ วันที่ 7 พฤษภาคม 2562 ที่ระบุว่าปัจจุบันมีผู้ใช้รถเมล์อยู่ที่ 1.3 ล้านคน แบ่งเป็นรถปรับอากาศประมาณ 9 แสนคน และรถร้อนประมาณ 3-5 แสนคนต่อวัน มีรายได้เฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้น 20% หลังจากปรับค่าโดยสารขึ้นแล้ว         เห็นข้อมูลแบบนี้ ขสมก.คงดีใจ เลยมีแผนใหญ่ที่จะล้างหนี้แสนล้าน และจัดหารถปรับอากาศใหม่เพิ่มอีกกว่า 2,000 คันในสามปีต่อจากนี้ ถ้าทำได้ก็ต้องถือว่าเป็นการยกระดับระบบขนส่งมวลชนสู่รูปแบบ smart city ที่มองไปทางไหนก็จะเจอแต่รถปรับอากาศเหมือนเช่นต่างประเทศแต่ ขสมก.อาจจะลืมหรือรู้แต่ไม่สนใจว่า การขาดทุนสะสมต่อเนื่องของ ขสมก. ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าส่วนหนึ่งเป็นผลจากการบริหารงานที่ผิดพลาดขององค์กรในอดีต ไม่ว่าจะเป็นการซื้อรถเมล์ใหม่ที่สิบปีที่ผ่านมาซื้อไม่ได้เลย ทั้งที่ควรจะได้มาใช้นานแล้ว หรือที่ตรวจรับมา 489 คันก็ผิดสเปค หรือแม้กระทั่งการพยายามจะนำเครื่องอ่านบัตรโดยสารแบบ E-ticket มาใช้แต่ก็ล้มไม่เป็นท่า ยังไม่รวมถึงปัจจัยอื่นๆ เช่น โครงสร้างองค์กร การจัดสรรเส้นทางเดินรถ จำนวนพนักงานฯ ที่เป็นเหตุของการขาดทุนสะสมด้วย        ที่สำคัญการขึ้นค่าโดยสารรถทุกประเภทครั้งนี้ เป็นการตัดสินใจที่ขาดการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นองค์กรผู้บริโภค ตัวแทนผู้ใช้บริการรถเมล์ รถโดยสาร ฯลฯ โดยที่หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเลือกฟังเฉพาะเสียงจากผู้ประกอบการฝ่ายเดียวเท่านั้น โดยลืมไปว่าระบบบริการขนส่งมวลชนของรัฐในลักษณะนี้เป็นบริการขั้นพื้นฐานที่รัฐต้องจัดสรรให้กับประชาชน         อีกทั้งยังไม่มีนโยบายการคิดค่าบริการขนส่งมวลชนแบบเทียบสัดส่วนรายได้ขั้นต่ำของประชาชน หรือค่าบริการขนส่งมวลชนสูงสุดต่อวัน ทำให้ประชาชน ผู้บริโภค ต้องคัดค้านการดำเนินการเรื่องนี้เป็นระยะๆ ทั้งที่บริการขนส่งมวลชนเป็นบริการที่รัฐต้องอุดหนุนให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการอย่างเป็นธรรมและมีคุณภาพ         อย่างไรก็ดีการขึ้นค่าโดยสารครั้งนี้ ชัดเจนว่าเกิดผลกระทบเป็นวงกว้างกับคนทุกกลุ่มที่ใช้บริการ เป็นการบังคับให้ต้องจ่ายโดยไม่มีทางเลือก แม้จะมีเสียงสนับสนุนให้ปรับขึ้นราคา         แต่เสียงส่วนใหญ่ที่ ขสมก.ไม่เคยรับฟังเลย คือ เสียงสะท้อนที่บอกว่าการขึ้นราคาครั้งนี้สร้างภาระเกินสมควรให้กับผู้บริโภคที่มีความจำเป็นต้องใช้บริการรถเมล์และรถโดยสารประเภทอื่นอยู่แล้วอะไรคือหลักประกันเรื่องคุณภาพประสิทธิภาพการให้บริการขนส่งมวลชนในอนาคตจากการขึ้นราคาหรือนี่คือการส่งเสริมให้ผู้บริโภคใช้รถขนส่งสาธารณะ ใครตอบได้ช่วยตอบที

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 220 จดหมายถึงบอกอ

จดหมายถึงบก.        ผมมีความสงสัยเรื่องวันหมดอายุของหมายเลขโทรศัพท์แบบเติมเงินว่าตอนนี้มีเกณฑ์เป็นอย่างไร แล้วถ้าไม่มีกำหนดวันเลยได้ไหมครับ  บ.จะต้องแบกรับต้นทุนอะไรบ้างช่วยอธิบายหน่อยครับ                                                                                                                                                                          สมพรตอบ        ขอบคุณสำหรับคำถามของท่านสมาชิก เรื่องการเติมเงินโทรศัพท์ ทุกครั้งที่เติมเงิน ไม่ว่ามูลค่าเท่าใด จะได้วันใช้งาน 30 วัน กฎหมายมีหลักว่า ห้ามกำหนดวันหมดอายุ เว้นแต่ ค่ายมือถือจะได้รับอนุญาตจาก กสทช. ซึ่งเมื่อประมาณปี 2557  ทั้ง 3 ค่ายมือถือได้ยื่นขอกำหนดวันหมดอายุ และ กสทช. ได้มีมติอนุญาตให้กำหนดวันได้ที่ 30 วัน ทุกมูลค่าที่เติมเงิน  ในส่วนที่ว่า ถ้าไม่มีกำหนดวันเลยได้ไหมครับ  ต้องตอบว่า บางคนเปิดเบอร์ไว้ มีเงินในระบบ แต่ทิ้งไว้ ไม่ใช้งาน บริษัทมีค่ารักษาเลขหมาย เลขหมายที่เราซื้อมา ควรได้นำไปจัดสรรให้คนได้ใช้อย่างมีประสิทธิภาพ คนที่มีหลายเบอร์ แต่ไม่ได้ใช้ เปิดเบอร์เพราะอยากได้โปรโมชัน แล้วเลขหมายนั้นๆ ก็ถูกทิ้ง ไม่ได้ใช้ เบอร์แบบนี้มีไม่น้อยเลย บางคนอาจเติมไว้รับสายอย่างเดียวก็มี การกำหนดวันจึงช่วยให้เบอร์ยังเกิดการใช้งาน

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 220 ฉลาดซื้อเผยปริมาณโลหะหนัก - สารกันบูดในผลิตภัณฑ์น้ำปลาร้าปรุงสำเร็จปลอดภัย แนะผู้บริโภคเลือกยี่ห้อที่ผ่าน อย.

ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อเผยปริมาณแคดเมียม, ตะกั่วและสารกันบูดในผลิตภัณฑ์น้ำปลาร้าปรุงสำเร็จปลอดภัย สารกันบูดไม่เกินเกณฑ์ที่กำหนด แนะให้ผู้บริโภคอ่านฉลากให้รอบคอบและเลือกรับผลิตภัณฑ์ที่มี อย.ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ โดยโครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมมือกับเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคภาคตะวันออกเฉียงเหนือดำเนินการทดสอบซ้ำ ในปีนี้ เพื่อเป็นการเฝ้าระวังด้านอาหารและสร้างความมั่นใจในการบริโภค โดยในครั้งนี้(  2562 ) เก็บตัวอย่างน้ำปลาร้าปรุงสำเร็จ จำนวน 15 ตัวอย่าง เป็นตัวอย่างในชื่อผลิตภัณฑ์เดิม 9 ตัวอย่าง และผลิตภัณฑ์ใหม่อีก 6 ตัวอย่าง ส่งวิเคราะห์หาสารโลหะหนักตะกั่วและแคดเมียม และเพิ่มการทดสอบปริมาณสารกันบูดกรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิกด้วย ผลทดสอบตะกั่ว น้ำปลาร้าทุกตัวอย่างผ่านเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 พ.ศ. 2529 คือไม่เกิน 1 มิลลิกรัม/อาหาร 1 กิโลกรัม            ส่วนผลทดสอบแคดเมียม เนื่องจากไม่มีเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศ ฉบับที่ 98 จึงใช้เกณฑ์เทียบเคียงจากของมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน น้ำปลาร้า ของสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม คือ แคดเมียม ต้องน้อยกว่า 2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม พบว่า ทุกตัวอย่างผ่านเกณฑ์มาตรฐาน มผช. เช่นกัน           ผลทดสอบหาปริมาณสารกันบูด พบว่า น้ำปลาร้าปรุงรสตราไทยอีสาน (ฉลากระบุ ไม่ใช้วัตถุกันเสีย) พบปริมาณกรดเบนโซอิก 831.83 มก./กก. และ น้ำปลาร้าส้มตำปรุงสำเร็จ ตะวันทอง ๑  (ฉลากระบุ ไม่ใช้วัตถุกันเสีย) พบปริมาณกรดเบนโซอิก 404.84 มก./กก.   ซึ่งปริมาณการใช้สารกันบูดใกล้เคียงกับผลิตภัณฑ์ น้ำปลาร้าต้มสุกเข้มข้น ตราน้องพร คือ พบปริมาณ 641.81 มก./กก. แต่แสดงข้อมูลบนฉลากชัดเจนว่า มีการใช้วัตถุกันเสีย ซึ่งทั้งหมดไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนดคือ ไม่เกิน 1,000 มก./กก.              อย่างไรก็ตามหลายผลิตภัณฑ์พบว่ามีปริมาณกรดเบนโซอิกในปริมาณไม่มาก(ไม่ถึง 100 มก./กก.) คือ ไม่มากพอที่จะเป็นการตั้งใจใส่เพื่อให้มีฤทธิ์ในการต่อต้านจุลินทรีย์(ปริมาณที่เหมาะต่อการเก็บหรือยืดอายุอาหารคือ 500-2,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม) ดังนั้นเป็นไปได้ว่ามาจากวัตถุดิบที่นำมาผลิต ซึ่งกรดเบนโซอิกสามารถพบได้จากพืชพรรณหลายชนิดตามธรรมชาติ               โดยก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม พ.ศ.2561  โครงการฯ เก็บตัวอย่างน้ำปลาร้าปรุงสำเร็จ จำนวน 12 ตัวอย่าง เพื่อทดสอบหาปริมาณตะกั่วและแคดเมียม ซึ่งพบว่า ผลทดสอบตะกั่ว ในน้ำปลาร้าทุกตัวอย่างผ่านเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 พ.ศ. 2529 คือไม่เกิน 1 มิลลิกรัม/อาหาร 1 กิโลกรัม ส่วนผลทดสอบแคดเมียม เนื่องจากไม่มีเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศ ฉบับที่ 98 จึงใช้เกณฑ์เทียบเคียงจากของมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน น้ำปลาร้าของสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม คือ แคดเมียมต้องน้อยกว่า 2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม พบว่า ทุกตัวอย่างผ่านเกณฑ์มาตรฐาน มผช. อ่านบทความ  - ฉบับที่ 220 ปริมาณแคดเมียมและตะกั่วและสารกันบูดในผลิตภัณฑ์น้ำปลาร้าปรุงสำเร็จ    ได้ที่ลิงก์ https://www.chaladsue.com/article/3166 - ฉบับที่ 205 ผลิตภัณฑ์ของฝาก-ของดี จาก 4 ภาค "น้ำพริกหนุ่ม น้ำปลาร้า แกงไตปลาแห้ง และโรตีสายไหม "    ได้ที่ลิงก์ https://chaladsue.com/article/2806/

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 220 ปริมาณแคดเมียมและตะกั่วและสารกันบูดในผลิตภัณฑ์น้ำปลาร้าปรุงสำเร็จ

        ฉลาดซื้อ โดยโครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพร่วมมือกับเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เก็บตัวอย่างน้ำปลาร้าปรุงสำเร็จ จำนวน 12 ตัวอย่าง ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม 2561 เพื่อทดสอบหาปริมาณตะกั่วและแคดเมียม ซึ่งพบว่า ผลทดสอบตะกั่ว ในน้ำปลาร้าทุกตัวอย่างผ่านเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 พ.ศ. 2529 คือไม่เกิน 1 มิลลิกรัม/อาหาร 1 กิโลกรัม ส่วนผลทดสอบแคดเมียม เนื่องจากไม่มีเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศ ฉบับที่ 98 จึงใช้เกณฑ์เทียบเคียงจากของมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน น้ำปลาร้าของสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม คือ แคดเมียมต้องน้อยกว่า 2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม พบว่า ทุกตัวอย่างผ่านเกณฑ์มาตรฐาน มผช. เช่นกัน         อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการเฝ้าระวังด้านอาหารและสร้างความมั่นใจในการบริโภค ทางฉลาดซื้อจึงดำเนินการทดสอบซ้ำในปีนี้ เช่นเคยทางเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้เก็บตัวอย่างน้ำปลาร้าปรุงสำเร็จ จำนวน 15 ตัวอย่าง เป็นตัวอย่างในชื่อผลิตภัณฑ์เดิม 9 ตัวอย่าง และผลิตภัณฑ์ใหม่อีก 6 ตัวอย่าง ส่งวิเคราะห์หาสารโลหะหนักตะกั่วและแคดเมียม และเพิ่มการทดสอบปริมาณสารกันบูดกรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิกด้วยผลทดสอบ·        ผลทดสอบการหาปริมาณโลหะหนัก  พบว่า        ผลทดสอบตะกั่ว น้ำปลาร้าทุกตัวอย่างผ่านเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 พ.ศ. 2529 คือไม่เกิน 1 มิลลิกรัม/อาหาร 1 กิโลกรัม        ส่วนผลทดสอบแคดเมียม เนื่องจากไม่มีเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศ ฉบับที่ 98 จึงใช้เกณฑ์เทียบเคียงจากของมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน น้ำปลาร้า ของสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม คือ แคดเมียม ต้องน้อยกว่า 2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม พบว่า ทุกตัวอย่างผ่านเกณฑ์มาตรฐาน มผช. เช่นกัน        ·        ผลทดสอบหาปริมาณสารกันบูด พบว่า        น้ำปลาร้าปรุงรสตราไทยอีสาน (ฉลากระบุ ไม่ใช้วัตถุกันเสีย) พบปริมาณกรดเบนโซอิก 831.83 มก./กก. และ น้ำปลาร้าส้มตำปรุงสำเร็จ ตะวันทอง ๑  (ฉลากระบุ ไม่ใช้วัตถุกันเสีย) พบปริมาณกรดเบนโซอิก 404.84 มก./กก.   ซึ่งปริมาณการใช้สารกันบูดใกล้เคียงกับผลิตภัณฑ์ น้ำปลาร้าต้มสุกเข้มข้น ตราน้องพร คือ พบปริมาณ 641.81 มก./กก. แต่แสดงข้อมูลบนฉลากชัดเจนว่า มีการใช้วัตถุกันเสีย ซึ่งทั้งหมดไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนดคือ ไม่เกิน 1,000 มก./กก.           อย่างไรก็ตามหลายผลิตภัณฑ์พบว่ามีปริมาณกรดเบนโซอิกในปริมาณไม่มาก(ไม่ถึง 100 มก./กก.) คือ ไม่มากพอที่จะเป็นการตั้งใจใส่เพื่อให้มีฤทธิ์ในการต่อต้านจุลินทรีย์(ปริมาณที่เหมาะต่อการเก็บหรือยืดอายุอาหารคือ 500-2,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม) ดังนั้นเป็นไปได้ว่ามาจากวัตถุดิบที่นำมาผลิต ซึ่งกรดเบนโซอิกสามารถพบได้จากพืชพรรณหลายชนิดตามธรรมชาติ    

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 220 สิวเสี้ยนกับการดูแลรักษา

            สิวเสี้ยนที่เรารู้จัก คือจุดดำๆ เล็กๆ บนใบหน้า พบมากตามจมูก ข้างแก้ม หน้าผาก และปลายคาง จริงๆ สิวเสี้ยนมีสองลักษณะ คือ        1.สิวเสี้ยนแบบไขมันอุดตัน เนื่องจากต่อมไขมันใต้ผิวหนังผลิตไขมันมากเกินไป (ไขมันนี้มีเพื่อช่วยให้ผิวไม่แห้งกร้าน) จนอุดตันบริเวณรูขุมขนเกิดเป็นเม็ดสิวฝังอยู่ในผิวหนัง บางครั้งก็กลายเป็นสิวอักเสบเนื่องจากเชื้อโรคบริเวณผิวหนังใช้ไขมันเป็นอาหารและปล่อยกรดที่มีฤทธิ์ระคายเคืองออกมา         2.สิวเสี้ยนแบบที่เป็นกระจุกของเส้นขนเล็กๆ หลายสิบเส้นอุดตันในรูขุมขน คือแทนที่รูขุมขนหนึ่งจะมีเส้นขนหนึ่งเส้น แต่กลับมีเส้นขนรวมเป็นกระจุกเดียว สิวเสี้ยนลักษณะนี้มักพบตามปลายจมูก ข้างแก้ม        สิวเสี้ยนนั้นโดยทั่วไป ไม่จำเป็นต้องรักษาเพราะไม่ก่อให้เกิดปัญหาอะไร แต่สำหรับคนที่รักสวยรักงามอยากมีใบหน้าเกลี้ยงเกลาอาจรำคาญตา ที่มีจุดดำๆ อยู่บนใบหน้า จึงพยายามสรรหาวิธีรักษาหรือกำจัดสิวเสี้ยน ซึ่งการกำจัดแบบถาวรนั้นยังไม่มี แต่สามารถทำให้น้อยลงหรือดีขึ้นได้วิธีลดสิวเสี้ยน        1.จัดการหรือลดปัญหาไขมันที่ผลิตออกมามากเกินไป            ·  ใช้ยากลุ่มที่สลายก้อนไขมันอุดตัน(comedone) เช่น เบนซอยล์ เพอร์ออกไซด์(benzoyl peroxide) กรดอะเซเลอิก(azelaic acid) กรดซาลิไซลิก(salicylic acid) หรือ กรดผลไม้ ที่รู้จักกันทั่วไปคือ กรดไกลคอลิก(glycolic acid) ทาบริเวณใบหน้า ซึ่งควรใช้อย่างระมัดระวัง                 ·  การใช้ยา เบนซอยล์ เพอร์ออกไซด์ ควรเริ่มต้นด้วยความเข้มข้นต่ำๆ ที่ 2.5% ก่อน ทาให้ทั่วใบหน้าประมาณ 5 นาทีแล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด ช่วยลดปริมาณไขมันที่ผิวหนังและละลายสิ่งสกปรกที่อุดตันในรูขุมขนออกมา ใช้วันละสองครั้ง เช้า เย็น            ·   กรดซาลิไซลิก หรือ(ยาละลายสิวเสี้ยน) กรดจะช่วยทำให้ไขมันอ่อนตัวลง ทำให้สามารถเอาสิวเสี้ยนออกมาได้โดยง่าย เมื่อเรานำเอาสิวเสี้ยนออกจากรูขุมขนของเราได้แล้ว ควรกระชับรูขุมขนด้วยโทนเนอร์ทันที        2.การลอกสิวเสี้ยน มีหลายวิธีส่วนใหญ่ราคาไม่แพงและวิธีทำง่าย แต่มักกำจัดได้ไม่หมด และไม่สามารถกำจัดสิวเสี้ยนได้ทุกที่            ·  การใช้ไข่ขาว วิธีนี้รู้จักกันมานาน คือทาใบหน้าหรือบริเวณที่ต้องการลอกสิวเสี้ยนใช้ทิชชู่ซับแล้วทาไข่ขาวซ้ำ ทิ้งไว้ให้แห้งจะรู้สึกตึงๆ ผิว จากนั้นลอกแผ่นทิชชู่ออก สิวเสี้ยนบางส่วนจะหลุดออกมา            · แผ่นลอกสิวเสี้ยน ครีมลอกสิวเสี้ยนหรือมาร์คลอกสิวเสี้ยน ที่มีจำหน่ายทั่วไป ควรปฏิบัติตามคำแนะนำบนฉลากและไม่ควรทำเกินสัปดาห์ละครั้ง        3.การใช้เครื่องมือกดสิว เป็นการดึงสิวเสี้ยนดำๆ ออกจากผิว วิธีนี้ต้องทำอย่างระมัดระวัง เพราะหากทำไม่ดี กดไม่ถูกวิธี อาจยิ่งทำให้กลายเป็นสิวอักเสบได้ กรณีสิวเสี้ยนที่เป็นแบบเส้นขนอุดตันเป็นกระจุกนั้น การใช้เลเซอร์ขจัดขนสามารถช่วยได้        อย่างที่ได้กล่าวไป สิวเสี้ยนไม่จำเป็นต้องไปทำอะไรกับมันก็ได้ เว้นแต่จะรำคาญใจ แต่เราสามารถทำให้มันน้อยลงได้ ด้วยการดูแลความสะอาดผิวหน้า ไม่ปล่อยให้หน้ามันเกินไป และไม่ล้างหน้าบ่อยเกินไปเพราะจะไปสร้างความระคายเคืองให้ผิว ส่วนคนที่ชอบกดหรือบีบสิวเสี้ยนเอง ต้องบอกว่าเลิกทำดีกว่าเพราะจะยิ่งทำให้เกิดสิวอักเสบไม่สวยงามยิ่งไปกว่าเดิม   

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 220 ค่ารักษาพยาบาลโรงพยาบาลเอกชน ยิ่งแพง ยิ่งเหลื่อมล้ำ

                ว่ากันตามหลักการ คนไทยทุกคนมีสิทธิเข้าถึงการรักษาพยาบาลตามแต่ว่าตนสังกัดสิทธิไหน และเป็นที่รู้กันว่าการไปใช้สิทธิของตน โดยเฉพาะสิทธิประกันสังคมและหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าค่อนข้างใช้เวลานานในการรอคอย มันอาจหมายถึงการสิ้นเปลืองเวลาทั้งวันเพื่อพบแพทย์ไม่เกิน 10 นาที คนไข้จำนวนหนึ่งจึงเลือกใช้เงินซื้อเวลาและความสะดวกสบายด้วยการไปโรงพยาบาลเอกชนแทน เพราะเชื่อว่ามีเงินเพียงพอที่จะรับมือกับค่ารักษาพยาบาล         แต่บ่อยครั้งก็คาดการณ์ผิด ที่ว่าเอาอยู่ กลับเอาไม่อยู่ โรงพยาบาลเอกชนบวกกำไรค่ายา 16,000 เปอร์เซ็นต์         งานวิจัยเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชน ของ ศ.นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล จากศูนย์เวชศาสตร์ชุมชน โรงพยาบาลรามาธิบดี พบว่า ในการให้บริการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต โรงพยาบาลเอกชนจำนวนไม่น้อยเรียกเก็บค่าบริการแพงเกินจริง เมื่อเปรียบเทียบรายการยากับโรงพยาบาลศูนย์ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ความแพงดังกล่าวมีช่วงห่างตั้งแต่ 60-400 เท่า เช่น วิตามินบีคอมเพล็กฉีดหลอดละ 1.50 บาท เพิ่มเป็น 600 บาท ยาฉีดแก้ปวดขนาด 50 มิลลิกรัม ราคา 6.50 บาท เพิ่มเป็น 450 บาท         ขณะที่รายการเวชภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยามีราคาต่างกันตั้งแต่ 16-44 เท่า เช่น ท่อดูดเสมหะชิ้นละ 10 บาท กลายเป็น 440 บาท ไหมเย็บแผลสีดำ ชุดละ 28.5 บาท เพิ่มเป็น 460 บาท         นอกจากนี้ ยังพบว่าโรงพยาบาลเอกชนมีการตรวจวินิจฉัยเกินความจำเป็น เช่น การให้เลือดในคนไข้ที่ไม่จำเป็นต้องได้รับเลือด คนไข้เป็นปอดบวมจำเป็นต้องได้รับการรักษาด่วน แต่กลับส่งตรวจหามะเร็งต่อมลูกหมาก เป็นต้น         ผลการตรวจสอบเบื้องต้นของกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ พบว่า โรงพยาบาลเอกชนบางแห่งมีส่วนต่างระหว่างราคาซื้อกับราคาขายตั้งแต่ร้อยละ 29.33 ถึงร้อยละ 8,766.79 หรือตั้งแต่ 10.83 บาทถึง 28,862 บาท คิดเป็นอัตรากำไรตั้งแต่ร้อยละ 47.73 ถึงร้อยละ 16,566.67 เช่น ยา S-DOPROCT ราคายาอยู่ที่ 17 บาท แต่โรงพยาบาลเอกชนขายเฉลี่ยที่ 148 บาท ราคาขายสูงสุดอยู่ที่ 303 บาท หรือยา AMPHOTERICIN-B ราคายาคือ 452 บาท ขายเฉลี่ยที่ 937 บาท ราคาที่ขายสูงสุดอยู่ที่ 2,200 บาท เป็นต้น         สอบถามไปยัง ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยาว่ามีเหตุผลที่ฟังขึ้นหรือไม่ว่าเหตุใดราคายาของโรงพยาบาลเอกชนจึงแพงขนาดนี้             “ถ้ามองในภาพรวมก็ไม่น่าจะมีความต่างอย่างมีนัยสำคัญ เช่น ราคายาอาจต้องบวกต้นทุนการเก็บรักษา การดูแลคงคลัง ค่าบุคลากรที่ดูแลยา อันนี้คือตัวเม็ดยา ซึ่งในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขภายใต้ พ.ร.บ.สถานพยาบาล มีประกาศแนบท้ายออกมาฉบับหนึ่งว่า ถ้าโรงพยาบาลจะคิดค่ายาให้บวกค่าอะไรได้บ้าง ตรงนี้จะเป็นเหตุให้ราคาต่างจากร้านขายยามากหรือไม่ ก็น่าจะไม่มาก เพียงแต่ว่าเวลาเขาบวกเข้าไป มันรวมค่าบริการด้วยหรือเปล่า ไม่รู้ ที่ทำให้เขาเพิ่มราคายาขึ้นมา เพราะถ้าเภสัชกรให้บริการ เวลาจะจ่ายตัวเม็ดยาที่บวกต้นทุนไปแล้ว กับค่า Professional Fee หรือค่าวิชาชีพของเภสัชกร ในร้านยาที่มีเภสัชกรก็ต้องให้บริการเหมือนกัน ก็ยังหาเหตุผลอธิบายไม่ได้ว่าทำไมมันจึงต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ คือถ้าต่างกัน 50 เปอร์เซ็นต์ยังพอเข้าใจ แต่ถ้าต่างกันไปถึงหลักร้อย หลักพัน หรือหลักหมื่นเปอร์เซ็นต์ อันนี้ก็คงรับไม่ได้         ผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนเคยพูดว่า บางบริการเขาไม่สามารถเรียกเก็บได้จากผู้ป่วยโดยตรง ซึ่งก็ไม่รู้ว่าคืออะไร เขาจึงมาบวกที่ค่ายา ต่อไปก็คุยกันว่าบริการต่างๆ ต้องเอามาตีแผ่ว่าคือค่าอะไร แล้วก็คิดกันตรงไปตรงมา ไม่บวกพ่วงไปกับค่ายา อนาคตต้องทำให้ราคามันโปร่งใสขึ้น อย่างที่กระทรวงพาณิชย์ให้มาบางตัวสูงถึง 15,000-16,000 เปอร์เซ็นต์ ก็ต้องกลับมาดูว่าเป็นค่าอะไรบ้าง และทำให้เห็นว่าแต่ละบรรทัดเป็นค่ายาจริงหรือเปล่า ถ้าไม่ใช่ก็ต้องไปตั้งหมวดใหม่” การรักษาพยาบาลเกินความจำเป็น         นอกจากค่ายาที่แพงเกินเหตุแล้ว อีกวิธีการหนึ่งที่โรงพยาบาลเอกชนมักนำมาใช้กับผู้ป่วยคือการรักษาพยาบาลเกินความจำเป็นหรือ Over Treatment เช่น กรณีถูกมีดบาดมือ 1 เซนติเมตร แต่ถูกนำตัวเข้าห้องผ่าตัดหมดเงินไป 6 หมื่นกว่าบาท         เฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เล่าว่า เคยมีคนไข้รายหนึ่งมีอาการท้องเสียและเห็นว่าตนทำประกันสุขภาพไว้จึงไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ปรากฏว่าทางโรงพยาบาลนำคนไข้รายนี้ตรวจสารพัดตรวจ ทั้งที่คนไข้บอกว่าเพิ่งตรวจร่างกายมา ซึ่งการตรวจบางรายการก็ไม่เกี่ยวกับอาการท้องเสีย ซ้ำยังให้คนไข้รายนี้นอนห้องไอซียูอีกหลายวัน สุดท้ายประกันสุขภาพที่ทำไว้ไม่พอจ่าย ค่ารักษาพยาบาลเกินไปอีก 3 แสน         “ผ่านไปเกือบ 2 ปี เพราะอายุความค่าจ้างทำของมัน 2 ปี ทางโรงพยาบาลก็ฟ้องที่ศาลจังหวัดมีนบุรีเรียกค่ารักษาพยาบาล ทางมูลนิธิก็ให้ผมหาทนายต่อสู้คดี เอาบิลต่างๆ ให้ผู้รู้เช็คว่าทำอะไรไปบ้าง ก็พบว่าไม่เกี่ยวกับอาการท้องเสีย เป็นการตรวจซ้ำซ้อน มีค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ ค่าห้องพักในไอซียูที่ไม่จำเป็นหลายรายการ เราเขียนคำให้การต่อสู้คดีว่าไม่มีความจำเป็น แต่ไปตรวจเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวกับท้องเสีย แล้วอาการก็ไม่ถึงกับต้องอยู่ไอซียู ศาลก็ไกล่เกลี่ย ในที่สุดทางโรงพยาบาลก็ลดราคาลงมา ฝ่ายจำเลยก็ยอมจ่ายให้จบไป” เครือข่ายผู้บริโภคผลักดันคุมโรงพยาบาลเอกชน         เครือข่ายผู้บริโภคพยายามผลักดันให้มีการควบคุมราคาค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนมานาน อย่างน้อยในรอบนี้ก็มีมาตั้งแต่ 2561 จนกระทั่ง 22 มกราคม 2562 คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นให้มีการประกาศค่ายา เวชภัณฑ์ ค่ารักษาพยาบาล ค่าบริการทางการแพทย์ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นสินค้าที่ต้องมีการควบคุม ทว่า         “ประกาศนั้นก็ไม่มีผลอะไร เพราะยังไม่มีการประกาศมาตรการว่าจะควบคุมกำกับยังไง กกร. ก็เลยตั้งอนุกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง คณะอนุกรรมการกำหนดมาตรการยา เวชภัณฑ์ ค่ารักษาพยาบาล ค่าบริการทางการแพทย์ ซึ่งอนุฯ นี้คุยกันครั้งแรกบอกว่าจะเริ่มต้นที่ยาและเวชภัณฑ์ก่อน ตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ ให้เวลา 60 วันในการศึกษา พบว่ามีการทำรายการยาและเวชภัณฑ์ของ UCEP กรณีฉุกเฉิน ซึ่งราคากลางนี้มาจากการพูดคุยกันระหว่าง 3 กองทุน ปรากฏว่ามีราคากลางของยาอยู่ประมาณ 3 หมื่นกว่ารายการ แล้วก็มีรายการเวชภัณฑ์ 5 พันกว่ารายการ ซึ่งน่าจะถือได้ว่าเป็นราคากลางที่ผ่านการตกลงของทั้ง 3 กองทุนเวลาไปตามจ่ายให้กับการเจ็บป่วยฉุกเฉินให้กับหน่วยบริการ” สุภัทรา นาคะผิว กรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ผู้เชี่ยวชาญด้านบริการสุขภาพ กล่าว         นอกจากนี้ กรมการค้าภายในยังได้ขอความร่วมมือไปยังโรงพยาบาลเอกชน 353 แห่ง ให้ส่งราคายาที่ซื้อและขายเพื่อเอามาเปรียบเทียบว่ามีการคิดกำไรกี่เปอร์เซ็นต์ ซึ่งตอนแรกไม่ได้รับความร่วมมือ จึงต้องออกเป็นหนังสือโดยใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 ทางโรงพยาบาลเอกชนจึงส่งข้อมูลให้ ทำให้เห็นว่ามีการบวกกำไรเข้าไปสูงมากดังที่ปรากฏข้างต้น กกร. เดินหน้ามาตรการ         ล่าสุด ทางคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ได้ออกประกาศฉบับที่ 52 พ.ศ.2562 เรื่องการแจ้งราคา การกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไขเกี่ยวกับการจำหน่ายยารักษาโรค เวชภัณฑ์ ค่าบริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์ และบริการอื่นๆ ของสถานพยาบาล ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อให้ผู้บริโภคได้รู้ราคาและใช้ประกอบการตัดสินใจ         ประกาศดังกล่าวยังกำหนดให้โรงพยาบาลเอกชนต้องประเมินค่ารักษาพยาบาลเบื้องต้น ค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ และค่าบริการทางการแพทย์ให้ผู้ป่วยทราบเมื่อผู้ป่วยร้องขอ และในกรณีจำหน่ายยาสำหรับผู้ป่วยนอก ทางโรงพยาบาลต้องออกใบสั่งยามาตรฐานการประกอบวิชาชีพเวชกรรมและใบแจ้งราคายาให้ผู้ป่วยทราบล่วงหน้า โดยต้องประกอบด้วยชื่อสามัญทางยา ชื่อทางการค้า รูปแบบยา ขนาดหรือปริมาณ จำนวน วิธีใช้ ระยะเวลาในการใช้ และใบแจ้งราคายาต้องประกอบด้วยชื่อยาตามใบสั่งยาและราคาต่อหน่วย             อีกทั้งยังมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการในส่วนกลางและส่วนจังหวัดเพื่อพิจารณาวินิจฉัยกรณีร้องเรียนเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลเกินความจำเป็น สมาคมโรงพยาบาลเอกชนฟ้องศาลปกครอง         คงพอคาดการณ์ได้ว่าทางฟากโรงพยาบาลเอกชนย่อมไม่พอใจประกาศค่ายา เวชภัณฑ์ ค่ารักษาพยาบาล ค่าบริการทางการแพทย์ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นสินค้าที่ต้องมีการควบคุม สิ่งที่ตามมาคือสมาคมโรงพยาบาลเอกชนกับโรงพยาบาลเอกชนอีก 41 แห่งร่วมกันฟ้องศาลปกครองสูงสุดให้ยกเลิกประกาศ กกร. ฉบับนี้ ไม่ให้มีการกำกับค่ารักษาพยาบาล ด้วยข้ออ้างว่าการออกประกาศนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมายทางโรงพยาบาลเอกชนไม่มีส่วนร่วม ประการต่อมาอ้างว่าการออกประกาศบังคับเฉพาะโรงพยาบาลเอกชนเป็นการเลือกปฏิบัติ ไม่เป็นธรรม เพราะไม่บังคับโรงพยาบาลของรัฐหรือโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัย เช่น โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์ที่เก็บค่ารักษาพยาบาลสูงเช่นกัน โดยผู้ถูกฟ้องที่ 1 คือ กกร. ตามมาด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ในฐานะประธาน กกร. ปลัดกระทรวงพาณิชย์ และอธิบดีกรมการค้าภายใน         “ชัดเจนว่าในฐานะองค์กรผู้บริโภคมีส่วนได้เสียในเรื่องนี้ แล้วเราก็ผลักดันเรื่องนี้มาตลอด ถ้าศาลมีคำสั่งให้ยกเลิกคำสั่ง กกร. ฉบับนี้ ผู้บริโภคย่อมได้รับผลกระทบ เราจึงตัดสินใจร้องสอดเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของคดี คือเราไม่ได้เป็นคู่ความตั้งแต่ต้น แต่เรามีสิทธิที่จะร้องสอดด้วยความสมัครใจและอยู่ฝ่ายเดียวกับผู้ถูกฟ้องทั้งหมด เพื่อจะได้ช่วยกันต่อสู้คดี ยืนยันถึงความจำเป็น และการออกประกาศนี้ชอบแล้ว” สุภัทรา กล่าว         ประเด็นนี้มีองค์กรเครือข่ายผู้บริโภคทั่วประเทศสนใจเข้ามาร้องสอดร่วมกันจำนวนมาก และได้ไปยื่นร้องสอดเมื่อวันที่ 11 มิถุนายนที่ผ่านมา การปล่อยเสรียิ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ         อย่างไรก็ตาม หากมองอีกด้านหนึ่ง การที่ประชาชนเลือกไปใช้บริการโรงพยาบาลเอกชน นอกจากความจำเป็นเฉพาะหน้า เช่นการเจ็บป่วยฉุกเฉินแล้ว ต้องยอมรับว่าการบริการของโรงพยาบาลรัฐหรือโรงพยาบาลที่ตนมีสิทธิประกันสังคมต้องใช้เวลารอคิวนาน ตรงนี้อาจถือเป็นอีกหนึ่งจุดอ่อนของระบบ สุภัทรากล่าวว่า                “เราปฏิเสธไม่ได้ว่าระบบก็ยังมีข้อจำกัดอยู่หลายประการ เช่น ความเพียงพอของบุคลากร เครื่องมือที่เพียบพร้อม มันยังมีความไม่เพียงพออยู่ เราจึงเปิดโอกาสให้มีโรงพยาบาลเอกชนเกิดขึ้น แต่ในบางประเทศที่ทำระบบประกันสุขภาพ เขาจะจำกัดการเติบโตของโรงพยาบาลเอกชนมากๆ เช่น ไต้หวัน สวีเดน จะให้มีโรงพยาบาลเอกชนไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ หรือค่าตอบแทนของแพทย์ในโรงพยาบาลเอกชนต้องไม่มากกว่ารัฐเกิน 10 เปอร์เซ็นต์ การมีอยู่ของโรงพยาบาลเอกชนก็เป็นส่วนหนึ่งของการตอบปัญหาเชิงระบบที่ยังไม่ดีนัก         แต่ขณะเดียวกันธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนมันต่างจากธุรกิจอื่น แล้วโรงพยาบาลเอกชนเองก็ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย เพราะความเจ็บป่วย การบริการสาธารณสุข เป็นงานบริการเชิงคุณธรรมที่ไม่ใช่จะเอากำไรเท่าไหร่ก็ได้ เพราะในสถานการณ์ปัจจุบันถ้ามันแพงไปเรื่อยๆ ไม่มีการจำกัดควบคุม มันยิ่งจะสร้างความเหลื่อมล้ำให้เกิดขึ้น คนที่มีเงินก็มีโอกาสรอด คนไม่มีเงินก็ตายก่อน จึงจำเป็นต้องทำให้โรงพยาบาลเอกชนเป็นส่วนหนึ่งของระบบบริการสุขภาพและต้องมีการกำกับควบคุมดูแล เราคงต้องดูว่าจะกำกับควบคุมอย่างไร ไม่ใช่ปล่อยเสรีแบบนี้ เพราะจะทำให้ราคาต่างๆ ในระบบสุขภาพสูงขึ้นได้ ขณะเดียวกัน การดึงแพทย์ พยาบาล ก็อาจมีผลต่อการคิดค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นจากที่เคยเป็นอยู่” มาตรการต่อไป         มาตรการต่างๆ ของ กกร. เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น ยังมีอีกหลายสิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไป ภญ.ยุพดี ให้ข้อมูลว่าขั้นต่อไปต้องมาดูราคาที่เหมาะสมของยาแต่ละกลุ่ม แต่ละตัว ต้องมีวิธีการในการบอกว่าราคาที่เหมาะสมอยู่ตรงไหน ซึ่งกำลังให้ทางคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ข้อมูลอยู่         “วันนี้ประเทศไทยมีรหัสยาซึ่งบอกถึงลักษณะของยา ขนาดกี่มิลลิกรัม ของแบรนด์ไหน ซึ่งเป็นจุดแข็งของเราที่ทำให้สามารถเทียบราคายาได้รหัสต่อรหัส แต่อันอื่นๆ ยังไม่มีรหัสเลย เช่น วัสดุการแพทย์ บริการการแพทย์ นี่คือสิ่งที่กระทรวงพาณิชย์กับกระทรวงสาธารณสุขและหลายองค์กรกำลังให้ สวรส. (สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข) ทำรหัสวัสดุการแพทย์ และในอนาคตอาจต้องทำรหัสบริการการแพทย์อีก”         ทั้งหมดนี้คือความเคลื่อนไหวต่างๆ ที่เกิดขึ้นต่อกรณีค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนที่บวกกำไรเพิ่มสูงเกินกว่าที่ควรจะเป็น         ในฐานะผู้บริโภคสิ่งที่ต้องทำคือการยืนยันสิทธิของตนเมื่อต้องเผชิญการเอาเปรียบ เพราะการร้องเรียน 1 ครั้งย่อมดีกว่าการบ่น 1000 ครั้ง

อ่านเพิ่มเติม >