ฉบับที่ 171 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหว เดือนพฤษภาคม 2558 ห้ามแล้วเด็ดขาด!!! “เมโทมิล” ในยาฉีดแมลง อย. ปรับระดับการควบคุมวัตถุอันตราย “เมโทมิล” (methomyl) จากเดิมเป็นวัตถุอันตราย ชนิดที่ 3 ไปเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ห้ามใช้ในผลิตภัณฑ์ป้องกันกําจัดแมลงที่ใช้ในบ้านเรือนหรือทางสาธารณสุข ซึ่งผลจากการปรับระดับครั้งนี้ทำให้เมโทมิล เป็นสารที่ห้ามผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครอง องค์การอนามัยโลกได้จัดให้สารเมโทมิลอยู่ในกลุ่ม สารกําจัดแมลงที่มีความเป็นพิษสูง เนื่องจากเป็นสารที่สามารถเข้าสู่ร่างกายได้โดยการดูดซึมผ่านทางผิวหนัง ทางเดินหายใจ และทางเดินอาหาร โดยเมโทมิลเป็นสารที่มีพิษเฉียบพลัน ลักษณะของผู้ที่ได้รับพิษจะมีอาการเหงื่อออก ปวดศีรษะ เพลีย วิงเวียน คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง ตาพร่ามัว กล้ามเนื้อเกร็งและกระตุก ชัก โคม่า สูญเสียการควบคุมของกล้ามเนื้อหูรูด ความดันโลหิตต่ำ หัวใจทำงานผิดปกติ และอาจเสียชีวิตได้จากภาวะอัมพาตของกล้ามเนื้อในระบบทางเดินหายใจและการหดเกร็งของปอด   แม้ อย.จะปรับเมโทมิลในผลิตภัณฑ์ที่ใช้สำหรับกำจัดแมลงในบ้านเป็นสารอันตรายห้ามใช้เด็ดขาด แต่ในทางการเกษตร เมโทมิล ยังจัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ซึ่งควบคุมโดยกรมวิชาการเกษตร ดังนั้นจึงยังอาจพบเห็นเมโทมิลวางขายตามร้านจำหน่ายสินค้าการเกษตรได้ แต่ก็ไม่ควรซื้อมาใช้สำหรับกำจัดแมลงในบ้านเด็ดขาด --------------------------------------------------------------   รีบลงทะเบียนซิม ก่อน 31 ก.ค. 58 ใครที่ใช้โทรศัพท์มือถือแบบเติมเงินแล้วยังไม่ได้ลงทะเบียนซิม รีบไปทำลงทะเบียนซิมโดยด่วนภายในวันที่ 31 ก.ค. 2558 นี้ เพราะถ้าปล่อยให้พ้นกำหนดจะไม่สามารถใช้โทรออก ไม่สามารถใช้งานอินเทอร์เน็ต และไม่สามารถส่งข้อความได้ ทำได้แค่รับสายโทรเข้าอย่างเดียวเท่านั้น การลงทะเบียนซิมเป็นการระบุตัวตนของผู้ใช้งานซิมนั้นๆ เพื่อจะช่วยป้องกันการนำซิมไปใช้ในการกระทำผิดกฎหมาย นอกจากนี้ยังช่วยในการรักษาสิทธิประโยชน์ ในการรักษาเบอร์ให้เป็นของเรา เมื่อเลิกใช้บริการก็สามารถขอเงินคงเหลือคืนได้ และสามารถเรียกร้องสิทธิต่างๆ เมื่อเกิดปัญหาในการใช้งาน สำหรับวิธีการตรวจสอบว่าซิมที่ใช้อยู่ลงทะเบียนแล้วหรือยัง ทำได้โดย กด *151# และโทรออก ฟรีทุกเครือข่าย ส่วนการลงทะเบียนเพียงแค่นำบัตรประชาชน หรือพาสปอร์ต หรือบัตรรายงานต่างด้าว ตัวจริง และโทรศัพท์มือถือพร้อมซิมไปลงทะเบียนได้ที่ศูนย์บริการเครือข่ายที่ท่านใช้งานอยู่ หรือจุดที่มีสัญลักษณ์ “2 แชะ แวะลงทะเบียนซิม” ---------------------------------------------   นั่งทำงานนานระวัง “หมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม” หนุ่ม – สาววัยทำงานที่ต้องนั่งเก้าอี้ติดหน้าจอคอมพิวเตอร์ติดต่อกันเป็นเวลานานๆ ระวังเสี่ยงเป็นโรค “หมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม” โดยกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ออกมาเตือนว่า การทำกิจกรรมซ้ำๆ เป็นเวลานานโดยไม่มีการเปลี่ยนอิริยาบถ รวมถึงการยกของหนัก หรือแม้แต่การสูบบุหรี่ ส่งผลทำให้เลือดไปเลี้ยงบริเวณหมอนรองกระดูกน้อยลง การเสื่อมของหมอนรองกระดูกสันหลังทำให้เกิดการทรุดตัวของโครงสร้างกระดูกสันหลัง ร่างกายจะตอบสนองโดยการสร้างกระดูกงอกหรือหินปูนขึ้นมา เพื่อต้านการทรุดตัว ซึ่งอาจทำกระดูกสันหลังไปกดทับเส้นประสาท จะทำให้เกิดอาการปวดร้าวไปตามเส้นประสาท ปวดขา ชาขา นอกจากนี้ หากกระดูกสันหลังมีการทรุดตัวมากขึ้นจะทำให้เกิดกระดูกสันหลังคดหรือเคลื่อน สำหรับแนวทางป้องกันหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมหรือเกิดอาการกดทับเส้นประสาท ทำได้โดยหมั่นเปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ อย่านั่งอยู่กับที่นานติดต่อกันเกิน 1 ชั่วโมง โดยเฉพาะวัยทำงานที่มักนั่งทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ตลอดเวลา ควรเปลี่ยนอิริยาบถ ด้วยการลุก ยืน เดิน มีการออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อรอบๆ หลัง และหน้าท้องให้แข็งแรงสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการยกของหนัก รวมทั้งงดการสูบบุรี่ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งทำให้กระดูกพรุน และหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมเร็วขึ้น ------------------------------------------------------------------     จี้ สตง. ตรวจสอบ ปตท. ให้บุคคลที่สามใช้ท่อส่งก๊าซ นางสาวรสนา โตสิตระกูล สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านพลังงาน นางสาวสารี อ๋องสมหวัง ประธานกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค สภาปฏิรูปแห่งชาติ และ นางสาวบุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค และอดีตสมาชิกวุฒิสภา เข้าพบ นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เพื่อให้ตรวจสอบ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กรณีเปิดให้ใช้หรือเชื่อมต่อระบบส่งก๊าซธรรมชาติบนบกแก่บุคคลที่สาม ในระหว่างตรวจสอบการแบ่งแยกทรัพย์สินส่วนที่ปตท.ยังคืนให้แก่รัฐไม่ครบถ้วน ถือเป็นการนำท่อส่งก๊าซธรรมชาติที่อยู่ในคำร้องไปทำสัญญากับบุคคลภายนอก ซึ่งอาจสร้างความเสียหายให้กับประเทศ เพราะอาจก่อให้เกิดภาระผูกพันแก่ท่อส่งก๊าซธรรมชาติที่เป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ หรือเสียประโยชน์ที่มีอยู่ในปัจจุบันและอาจเสียเปรียบในทางธุรกิจในอนาคตอีกหลายประการ บริษัท ปตท. ไม่ดำเนินการตามมติ ครม. วันที่ 18 ธันวาคม 2550 ในการแยกทรัพย์สินและโอนทรัพย์สินท่อก๊าซของปตท. จากปัญหาการตีมูลค่าทางบัญชี ณ วันที่ 30 กันยายน 2544 มูลค่า 46,000 ล้านบาท แต่เมื่อปตท.จ้างบริษัทเอกชนประเมินมูลค่าใหม่อีกครั้งปี 2551 จากการขยายอายุใช้งานของท่อส่งก๊าซ โดยเพิ่มอายุใช้งานขึ้นจากเดิมที่เคยประเมินไว้ที่ 25 ปีเป็น 40 ปี พบว่ามีมูลค่าท่อก๊าซสูงถึง 150,000 - 120,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ปตท.ยังขออนุมัติขึ้นค่าผ่านท่อ ซึ่งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) อนุมัติให้ปตท.ขึ้นได้ 2 บาทต่อหน่วย ทำให้ปตท.มีรายได้เพิ่มขึ้นทันทีปีละ 2,000 ล้านบาททุกๆ ปี ส่งผลให้ประชาชนต้องซื้อก๊าซแพงขึ้น --------------------------------------------------   ถึงเวลาควบคุมราคาค่ารักษาโรงพยาบาลเอกชน หลังจากที่เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ นำโดย นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายฯ นำรายชื่อประชาชน 33,000 ชื่อ เข้ายื่นต่อประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.คุ้มครองผู้บริโภค) เสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการควบคุมราคาโรงพยาบาลเอกชน เพื่อให้ทำหน้าที่แก้ไขปัญหาโรงพยาบาลเอกชนคิดค่ารักษาพยาบาลสูงเกินจริง ปัญหากลไกราคายาที่ไม่มาตรฐานราคากลาง ปัญหาผู้ป่วยฉุกเฉินที่โดนเรียกเก็บค่าบริการก่อนการรักษา ทั้งนี้มีงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่าราคายาและเวชภัณฑ์ตามโรงพยาบาลเอกชนสูงกว่าของโรงพยาบาลศูนย์ สังกัดสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุขถึง 60-400 เท่า ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จึงได้เรียกประชุมเพื่อหาทางออกในเรื่องนี้เป็นการเร่งด่วน โดยในการประชุมหารือมีหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กรมการค้าภายใน, กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.), อย., แพทยสภา, สปสช., สภาเภสัชกรรม และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เบื้องต้นผลจากการหารือได้ข้อสรุปแนวทางแก้ปัญหาเป็น 3 ระยะ คือ 1. ระยะสั้น ให้รพ.เอกชน แสดงอัตราค่ารักษาพยาบาล รวมถึงค่าบริการต่างๆ เช่น ค่าห้อง ค่าเครื่องมือ ค่าเตียง ฯลฯ ขึ้นเว็บไซต์ของโรงพยาบาลเอง รวมถึงส่งให้แก่ สบส. ด้วย เพื่อรวบรวมแล้วขึ้นเว็บไซต์ของ สธ. เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลประกอบการตัดสินใจเลือกรับบริการ ทั้งนี้สถานพยาบาลเอกชนที่ไม่ดำเนินการประกาศอัตราค่ารักษาพยาบาลมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท หากแจ้งอัตราเป็นเท็จ เช่น ระบุรายการค่าใช้จ่ายที่ผู้ป่วยไม่ได้ใช้ ถือเป็นคดีอาญา มีโทษปรับ 40,000 บาท จำคุกไม่เกิน 2 ปี 2. ระยะกลาง จะตั้งคณะกรรมการแก้ปัญหาราคา รพ.เอกชนแพง ซึ่งจะมาจากทุกภาคส่วน ยาถือเป็นสินค้าควบคุม ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ของกระทรวงพาณิชย์ โดยจะมีการกำหนดให้ชัดเจนว่า ยาแต่ละหมวด แต่ละกลุ่ม ควรมีราคากลางเท่าไร โดยคำนวณจากต้นทุน และกำไรสูงสุดที่จะบวกเพิ่มต้องไม่เกินเท่าไร และ 3.ระยะยาว คณะกรรมการที่จะตั้งขึ้นดังกล่าวจะพิจารณาค่ารักษาพยาบาลด้านอื่นๆ เช่น ค่าหัตถการ และจะประสานความร่วมมือกับ รพ.เอกชน ในการใช้ทรัพยากรบุคคลร่วมกับ รพ.รัฐ ในการดูแลสุขภาพประชาชนอย่างเหมาะสม ทั้งนี้ ยืนยันว่ามาตรการทุกระยะจะต้องมีการหารือกับ รพ.เอกชนก่อน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 170 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนเมษายน 2558 พบกล่องทีวีดิจิตอลตกมาตรฐาน น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ด้านคุ้มครองผู้บริโภค เปิดเผยว่า สำนักงาน กสทช.ได้แจ้งมายังบอร์ด กสท.ว่าจากการสุ่มตรวจมาตรฐานทางเทคนิคของกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอลในตลาดจำนวน 20 รุ่น พบว่ามีกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอลจำนวน 6 รุ่น จาก 4 ยี่ห้อ มีการใช้ระบบเสียงไม่ถูกต้องตามตามที่แจ้งไว้ต่อ กสทช. ซึ่งจากนี้จะมีคำสั่งให้ผู้ประกอบการทั้ง 4 ยี่ห้อที่มีการจำหน่ายสินค้าที่ไม่ผ่านมาตรฐานเดินทางมาชี้แจงยัง กสทช.โดยด่วน กล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอลที่ไม่ผ่านมาตรฐานทางเทคนิค ได้แก่ ยี่ห้อเอเจ รุ่น SVB-93 และ รุ่น DVB-92, ยี่ห้อครีเอเทค รุ่น CT-1 และ CT4, ยี่ห้อฟินิกซ์ รุ่น T2color และ ยี่ห้อโซเคน รุ่น DB233 สำหรับผู้บริโภคที่ได้นำคูปองไปแลกซื้อกล่องที่การตรวจพบว่าไม่ได้มาตรฐานไปแล้ว หากเกิดปัญหาจากการใช้สินค้า ทาง กสทช.จะหารือกับผู้ประกอบการเพื่อทางแก้ปัญหาให้กับผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบ ----------------------------------------------------------------------------------------   ห้ามใช้แล้ว!!! สาร “บีพีเอ” ในขวดนม จากนี้ไปคุณแม่ที่จะซื้อขวดนมให้ลูกน้อยต้องดูให้ดีว่าขวดนมพลาสติกที่ซื้อทำมาจากพลาสติกชนิดที่ชื่อว่า “พอลิคาร์บอเนต” หรือเปล่า เพราะอาจเสี่ยงต่อการปนเปื้อนของสาร “บีพีเอ” หรือ สารบิสฟีนอลเอ ซึ่งเป็นสารที่ อย.ยืนยันแล้วว่าอาจเป็นสารที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง โดยได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 369) พ.ศ. 2558 เรื่อง ขวดนม และภาชนะบรรจุนมสำหรับทารกและเด็กเล็ก เพื่อควบคุมการใช้สารพีบีเอในขวดนมและภาชนะสำหรับทารกอีกหลายประเภท กฎหมายฉบับนี้ควบคุบผลิตภัณฑ์สำหรับทารก ทั้งผลิตภัณฑ์ประเภทขวดนมและภาชนะบรรจุนมสำหรับทารกและเด็กเล็กแบบใช้ซ้ำ เช่น ถ้วยหัดดื่ม ห้ามใช้พอลิคาร์บอเนตโดยเด็ดขาด โดยวัสดุอื่นทดแทน ได้แก่ แก้วชนิดบอโรซิลิเคต และพลาสติกชนิดพอลิพรอพิลีน พอลิอีเทอร์ซัลโฟน ส่วนภาชนะบรรจุนมสำหรับทารกและเด็กเล็กแบบใช้ครั้งเดียว เช่น ถุงพลาสติกที่ใช้เก็บน้ำนมมารดา ถุงพลาสติกบรรจุนมแบบใช้ครั้งเดียวที่ต้องใช้ร่วมกับขวดนม ให้ใช้วัสดุที่อนุญาต ได้แก่ พอลิพรอพิลีน และ พอลิเอทิลีน สำหรับหัวนมยาง ให้ใช้วัสดุที่อนุญาตได้แก่ ยางธรรมชาติ ยางสังเคราะห์ ปัจจุบันแม้องค์การอนามัยโลกยังไม่ได้จัดสารบีพีเอเป็นสารก่อมะเร็ง แต่ก็มีข้อมูลการศึกษาในสัตว์ทดลอง ว่าสารพีบีเออาจมีผลไปขัดขวาง การทำงานของฮอร์โมนเอสโทรเจนในร่างกาย ส่งผลกระทบต่อระบบการสืบพันธุ์และระบบการผลิตฮอร์โมน นอกจากนี้หลายๆ ประเทศมีการห้ามผลิตหรือจำหน่ายขวดนมพอลิคาร์บอเนตแล้ว เช่น สหภาพยุโรป แคนาดา เป็นต้น -------------------------------------------------------------------------------- “คะน้า - ถั่วฝักยาว” เจอสารเคมีตกค้างเกินมาตรฐาน เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือ Thai-PAN ได้แถลงผลการสุ่มทดสอบการปนเปื้อนของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช พบว่ามีผักที่มีสารเคมีตกค้างเกินมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุขสูงถึง 22.5% โดยพบสารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐานในกะเพรามากที่สุด 62.5% ถั่วฝักยาวและคะน้าพบ 32.5% ผักบุ้งจีน กวางตุ้ง และมะเขือเปราะพบตกค้าง 25% แตงกวาและพริก12.5% ส่วนผักกาดขาวปลีและกะหล่ำปลีไม่พบการตกค้าง จากผลที่ออกมาทำให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต้องออกสุ่มทดสอบผักในท้องตลาดด้วยเช่นกัน เพราะถือเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบโดยตรง ซึ่งผลที่ได้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็ยอมรับว่ามีผักที่พบสารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐานอยู่ในท้องตลาดจริง แม้จะคิดเป็นเปอร์เซ็นต์แล้วไม่เท่ากับผลของทาง Thai-PAN แต่นั้นก็เป็นการยืนยันชัดเจนว่าคนไทยอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อสุขภาพจากกินผัก โดยผัก 2 ชนิดที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พบว่าที่การตกต้างของสารเคมีค่อนข้างสูงคือ คะน้าและถั่วฝักยาว โดยหลังจากนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะส่งเจ้าหน้าที่ไปสุ่มตรวจผักตามตลาดต่างๆ เพื่อเป็นการเฝ้าระวัง ผู้บริโภคก็ต้องเพิ่มความระมัดระวังในการซื้อผัก เลือกซื้อผักตามฤดูกาล และล้างผักให้สะอาดก่อนรับประทาน ------------------------------------------------------------------------------------ “ผักเม็ด-ส้มเม็ด” หลอกลวงสรรพคุณ คนป่วยกินอาการยิ่งทรุด คนไทยยังคงตกเป็นเหยื่อของผลิตภัณฑ์อาหารเสริมหลอกลวงสรรพคุณ ล่าสุดพบอาหารเสริม “ผักเม็ด” และ “ส้มเม็ด” โฆษณาอวดอ้างว่าสามารถรักษาโรคเบาหวานได้ เมื่อมีผู้ป่วยหลงเชื่อคำโฆษณาหาซื้อมารับประทานกลับพบว่าอาการทรุดลง อาการแผลที่เท้าซ้ายบวมแดงและปวดมากกว่าปกติ อีกทั้งยังพบระดับน้ำตาลในเลือดสูงถึง 552 mg (ซึ่งค่าปกติควรอยู่ที่ 82 - 110 mg) ผักเม็ดมีลักษณะภายในเป็นของเหลวคล้ายน้ำมันตับปลา ส่วนส้มเม็ดมีลักษณะเป็นผงบรรจุในแคปซูล โดยผู้ขายแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารดังกล่าวชนิดละ 4 เม็ด เช้า - เย็น และให้ใช้ทาแผลด้วย อย.ฝากเตือนถึงที่คิดจะกินอาหารเสริมเพื่อหวังผลในการรักษาโรคนั้น ขอให้คิดไว้เสมอว่าเป็นเรื่องที่โอ้อวดหลอกลวง เพราะอาหารไม่ใช่ยา ไม่มีผลในการรักษาโรค ยิ่งผู้ที่มีโรคประจำตัว ต้องรับประทานอาหารเสริมอย่างระมัดระวังเพราะอาจส่งผลต่อการเจ็บป่วยหนักได้ -----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------   เคลือบฟันเทียม “วีเนียร์” ระวังได้ไม่คุ้มเสีย การเคลือบสีฟันเทียม หรือ วีเนียร์ (veneers) ซึ่งเป็นวิธีการที่ช่วยทำให้สีฟันขาวขึ้นและปรับรูปฟันให้สวยงาม กำลังเป็นที่นิยมอย่างมากโดยเฉพาะกับกลุ่มสาวๆ ที่อยากมีฟันขาวสว่างใส พร้อมกับการที่มีสถานเสริมความงามด้านทันตกรรมเปิดให้บริการเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก แต่การทำเคลือบสีฟันมีผลโดยตรงต่อสุขภาพของฟันและเหงือกทั้งในระยะสั้นและระยะยาว การทำเคลือบผิวฟันเทียม คือการแปะวัสดุลงบนผิวฟันเพื่อเปลี่ยนสีผิวฟัน ซึ่งเดิมทีมีไว้ใช้แก้ปัญหาผู้ที่มีผิวฟันสีผิดปกติ เช่น ฟันตกกระ ฟันเป็นแถบสีน้ำตาลหรือดำ จากการกินยาแก้อักเสบกลุ่มเตตราไซคลิน ซึ่งไม่สามารถแก้ไขด้วยวิธีการฟอกสีฟันได้ ซึ่งวิธีดังกล่าวจะต้องกรอผิวฟันออกไปเล็กน้อยเพื่อแปะวัสดุใหม่ลงไปให้เท่ากับผิวฟันเดิมไม่ให้นูนขึ้นมามากเกินไป ทพ.สุธา เจียรมณีโชติชัย รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่าการกรอฟันเป็นการทำลายผิวเคลือบฟันที่ดีออกไปและจะไม่มีวันขึ้นมาใหม่ นอกจากนี้การปิดวัสดุนั้นต้องทำด้วยเทคนิคที่ดี วัสดุที่ปิดฟันต้องพอดีกับตัวเนื้อฟันไม่มีส่วนเกินเข้าไปในเหงือก หรือ มีรูรั่ว เพราะอาจทำให้เกิดเหงือกอักเสบ เกิดหินปูน เหงือกร่น ทำให้เกิดพื้นที่ให้เชื้อโรคไปเกาะและเกิดปัญหากลิ่นปากได้ เพราะฉะนั้นก่อนที่จะทำเคลือบฟันเทียมต้องศึกษาให้ดี เคลือบฟันเทียบย่อมไม่มีแข็งแรงเท่าเคลือบฟันแท้ และการทำให้สีฟันขาวขึ้นยังมีวิธีอย่างการฟอกสีฟันซึ่งไม่ส่งผลเสียต่อเคลือบฟัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 169 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหว เดือนมีนาคม 2558 ฟ้องไทยพาณิชย์-ธปท. ทวงค่าปรับโดยมิชอบ-ละเว้นปฏิบัติหน้าที่ อดีตอัยการอาวุโสยื่นฟ้องแพ่งผู้บริหารธนาคารไทยพาณิชย์ เหตุเรียกค่าปรับทวงถามโดยมิชอบ แถมฟ้องอาญาผู้บริหาร ธปท.ฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ชี้แม้เป็นเรื่องเล็กๆ แต่ต้องการให้เป็นคดีตัวอย่างป้องกันประชาชนถูกเอาเปรียบ นายประวิทย์ สิทธิถาวร อดีตอัยการอาวุโส สำนักงานอัยการสูงสุด ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ "มติชน" ว่าได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องธนาคารไทยพาณิชย์ต่อศาลแพ่ง และฟ้องผู้บริหารของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต่อศาลอาญา สำหรับสาเหตุที่ยื่นฟ้องว่า สืบเนื่องจากธนาคารได้เปลี่ยนแปลงวงเงินเครดิตและการเบิกถอนเงินสดจากบัตรเครดิตโดยไม่ได้แจ้งให้ทราบล่วงหน้า และยังเรียกค่าปรับหรือค่าทวงถามโดยมิชอบไม่เป็นไปตามระเบียบของธปท. จึงฟ้องต่อศาลแพ่งดำเนินคดี บริษัท ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด เพื่อให้เพิกถอนประกาศค่าปรับ, ละเมิด, ผิดสัญญา เรียกค่าเสียหาย พร้อมทั้งได้เรียกค่าชดเชยเป็นเงิน 100,000 บาท ส่วนที่ฟ้อง ธปท. เพราะ ธปท.มีอำนาจหน้าที่กำกับและตรวจสอบธนาคารพาณิชย์ แต่กลับละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เพราะหลังโดนธนาคารไทยพาณิชย์กระทำอย่างไม่ชอบ ได้เข้าร้องเรียนต่อ ธปท.ในฐานะองค์กรกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ขอให้ดำเนินการให้ถูกต้องตามประกาศ ของ ธปท. ตั้งแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน 2557 กระทั่งล่วงเลยมาจนครบ 60 วัน แต่ไม่มีความคืบหน้า จึงได้ทวงถามถึงเรื่องดังกล่าวอีกครั้งต่อ ธปท. ซึ่งได้รับชี้แจงว่าได้ตรวจสอบเรื่องดังกล่าวแล้วและได้กำชับไปถึงสถาบันการ เงินให้ปฏิบัติต่อลูกค้าตามแนวนโยบายและประกาศที่เกี่ยวข้องส่วนการเรียกค่า ธรรมเนียมติดตามทวงถามหนี้ของธนาคารไทยพาณิชย์ธปท.จะตรวจสอบต่อไปและจะพิจารณาดำเนินการตามความเหมาะสมต่อไป ซึ่งตนเห็นว่าการดำเนินการของ ธปท.ไม่ได้เป็นไปตามหน้าที่ที่ควรกำกับและตรวจสอบธนาคารพาณิชย์ให้ดำเนินการ ถูกต้องตามประกาศของ ธปท. เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย "ผมถูกเรียกเก็บค่าทวงถามเพียงหลักร้อยบาทเท่านั้น หลายคนอาจยอมจ่ายให้เรื่องจบเพราะเงินเล็กน้อยมาก ถ้าจะดำเนินการฟ้องร้องต้องเสียค่าดำเนินการเป็นหลักหมื่นบาท ต้องเสียเวลา แต่ที่ตัดสินใจฟ้องเพราะอยากให้เป็นคดีตัวอย่าง ไม่อยากให้ธนาคารเอาเปรียบผู้บริโภค คิดง่ายๆ ต่อรอบบัญชี หากมีลูกหนี้บัตรเครดิตถูกเรียกปรับอย่างผมสัก 10,000 คน ธนาคารจะได้รับเงินกินเปล่าถึง 2.5 ล้านบาททีเดียว ส่วนที่ฟ้องผู้บริหาร ธปท.ด้วยเพราะอยากให้ ธปท.คำนึงถึงหน้าที่กำกับดูแลธนาคารให้ดีอย่าให้มาเอาเปรียบประชาชน" นายประวิทย์กล่าว     คนไทยป่วย ไบโพลาร์ เพิ่ม ในงานเสวนาหัวข้อ ‘เปลี่ยนโรค “ทุกข์”เป็น “สุข สมหวัง”ด้วยใจเหนือคน’ นพ.จิตริน ใจดี จิตแพทย์แห่งศูนย์จิตรักษ์กรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวถึงโรคไบโพลาร์ ว่า ไม่ใช่อาการโรคจิตหรือโรคจิตเภท แต่เป็นความผิดปกติทางอารมณ์ สาเหตุหลักเกิดจากกรรมพันธุ์-สารเคมีในสมองไม่สมดุล ซึ่งปัจจุบันมีคนไทยป่วยเป็นโรคไบโพลาร์ 1-2 % ของประชากรทั้งประเทศ หรือประมาณ 700,000-1,500,000 คน ในทางจิตเวช สามารถแบ่งโรคต่างๆ ออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ได้แก่  กลุ่มที่ 1 มีความผิดปกติทางความคิดเช่น หลงผิด หวาดระแวง หูแว่ว ประสาทหลอน กลุ่มนี้จัดว่าเป็นโรคจิตเภท (Schizophre-nia) หรือที่เรียกว่า “โรคจิต” ซึ่งไม่เกี่ยวข้องอะไรกับไบโพลาร์ กลุ่มที่ 2 มีความผิดปกติทางอารมณ์ จะมี 2 โรค คือซึมเศร้า กับไบโพลาร์ กลุ่มที่ 3 โรคเกี่ยวกับความวิตกกังวล เช่น ตื่นตระหนก (โรคแพนิก,Panic) กลัวที่สูง กลัวที่แคบ ย้ำคิด ย้ำทำ กลุ่มที่ 4 โรคที่เกิดจากสารเสพติด ส่วนสาเหตุของโรค นพ.จิตริน กล่าวว่า ในปัจจุบันยังไม่มีผลการวิจัยที่ระบุชัดร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่สาเหตุหลักๆ มี 2 ปัจจัยคือ 1.กรรมพันธุ์ หากพบว่าพ่อแม่ รวมถึงปู่ย่าตายายเป็นโรคนี้ ลูกหลานก็มีความเสี่ยงสูงตามไปด้วย และ 2.สารเคมีในสมองไม่สมดุล คือสิ่งที่มีติดตัวมาตั้งแต่เกิด เปลี่ยนแปลงไม่ได้ คือ สมองของคนที่เป็นไบโพลาร์จะโปรแกรมไว้ตั้งแต่ต้นหรือตั้งแต่เกิด โดยปัจจุบันมีคนไทยป่วยเป็นโรคไบโพลาร์ 1-2 % ของประชากรทั้งประเทศ หรือประมาณ 700,000-1,500,000 คน ขณะที่ 5% ของประชากรทั่วโลกกำลังป่วยเป็นโรคดังกล่าว   เราอ่านและซื้อหนังสือกันน้อยลงทุกปี ระยะเวลาของคนไทย(ที่มีอายุ 15 -69 ปี) ใช้เวลาในการอ่านหนังสือเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 28 นาที  ลดลงจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติเมื่อปี 2556 ที่พบผู้อ่านหนังสือเฉลี่ย 37 นาทีต่อวัน เหตุเวลาว่างของคนไทย ถูกใช้ไปกับอินเตอร์เน็ตมากกว่าการอ่านหนังสือมาก สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จัดจำหน่าย หนังสือฯ จับมือคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ เผยผลสำรวจพฤติกรรมการอ่าน และซื้อหนังสือของคนไทย(ที่มีอายุ 15 -69 ปี) พบมีกลุ่มที่อ่านหนังสือเป็นประจำเพียง 40%  ที่เหลือ 20% อ่านบ้าง อีก 39.7% ไม่อ่านหนังสือเลย วัยรุ่นหรือคนอายุต่ำกว่า 20 ปี  ใช้เวลากับอินเตอร์เน็ตมากที่สุดเกือบ 4 ชั่วโมง    โดยผู้ตอบแบบสอบถาม 2 ใน 5 ยอมรับการใช้อินเตอร์เน็ตมีผลให้อ่านหนังสือเล่มน้อยลง ระบุอ่านหนังสือที่เป็นกระดาษน้อยเพราะส่วนใหญ่หันไปอ่านเว็บข่าวและเว็บรวบรวมข่าวแทน สำหรับการซื้อหนังสือ ดร.มิ่งมานัส ศิวรักษ์ กรรมการสมาคมผู้จัดพิมพ์ กล่าวว่า คนไทยจะซื้อหนังสือเฉลี่ยปีละ 4 เล่ม โดยคนกลุ่มที่ซื้อหนังสือมากที่สุด คือคนที่อายุน้อยกว่า 20 ปี ซื้อเฉลี่ยปีละ 9 เล่ม รองลงมาคือ คนที่อายุ 21-30 ปี ซื้อเฉลี่ยปีละ6 เล่ม และค่อยๆลดจำนวนลงในคนที่มีอายุมากขึ้น  จนกระทั่งคนที่มีอายุมากกว่า 61 ปี ขึ้นไปจะกลับมาซื้อเพิ่มเป็นเฉลี่ย 4 เล่มต่อปี “หากหนังสือที่เกิดการซื้อได้รับการอ่านครบทุกเล่มก็ยังถือได้ว่า การอ่านของคนไทยเมื่อนับเป็นจำนวนเล่มอยู่ในระดับที่ต่ำมาก และเป็นที่น่าสนใจว่าเด็กไทยอ่านหนังสือปีละ 9 เล่มนั้น จำนวน 4 เล่มเป็นการ์ตูน นิยายภาพ และอีก 3 เล่มเป็นคู่มือเตรียมสอบ”   โปรดเกล้าฯ แล้ว พ.ร.บ.ทวงหนี้ ฉบับใหม่ "ใช้ความรุนแรง- ข่มขู่- กระทำการให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกายชื่อเสียงทรัพย์สิน ลูกหนี้หรือผู้อื่น" แอบอ้างคำสั่ง "ศาล" โทษหนัก จำคุกไม่เกิน5 ปี ปรับห้าแสน เจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปยุ่งเกี่ยวประกอบธุรกิจโดนด้วย ในการทวงถามหนี้ กฎหมายระบุว่า บุคคลใดจะประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ ต้องจดทะเบียนการประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ต่อนายทะเบียน ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวงบุคคลซึ่งจดทะเบียนการประกอบธุรกิจทวงถาม หนี้ตามวรรคหนึ่งแล้ว ต้องประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการประกาศกำหนด ลักษณะต้องห้ามสำหรับผู้ทวงถามหนี้กระทำการทวงถามหนี้ มีดังต่อไปนี้ (1) การข่มขู่ การใช้ความรุนแรง หรือการกระทำอื่นใดที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกายชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของลูกหนี้หรือผู้อื่น (2) การใช้วาจาหรือภาษาที่เป็นการดูหมิ่นลูกหนี้หรือผู้อื่น (3) การแจ้งหรือเปิดเผยเกี่ยวกับความเป็นหนี้ของลูกหนี้ให้แก่ผู้อื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทวงถามหนี้ (4) การติดต่อลูกหนี้โดยไปรษณียบัตร เอกสารเปิดผนึก โทรสาร หรือสิ่งอื่นใดที่สื่อให้ทราบว่าเป็นการทวงถามหนี้อย่างชัดเจน เว้นแต่กรณีการบอกกล่าวบังคับจำนองด้วยวิธีการประกาศหนังสือพิมพ์ซึ่งเจ้า หนี้ไม่สามารถติดต่อลูกหนี้โดยวิธีการอื่น หรือกรณีอื่นใดตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด (5) การใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้บนซองจดหมายในการติดต่อลูกหนี้ที่ทำให้ เข้าใจได้ว่าเป็นการติดต่อเพื่อการทวงถามหนี้ เว้นแต่ชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้ไม่ได้สื่อให้ทราบได้ว่าเป็นผู้ประกอบ ธุรกิจทวงถามหนี้ (6) การทวงถามหนี้ที่ไม่เหมาะสมในลักษณะอื่นตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนดความใน (5) มิให้นำมาใช้บังคับกับการทวงถามหนี้เป็นหนังสือเพื่อจะใช้สิทธิฟ้องคดีต่อ ศาล และในกฎหมายยังห้ามผู้ทวงถามหนี้กระทำการทวงถามหนี้ในลักษณะที่เป็นเท็จ หรือทำให้เกิดความเข้าใจผิดดังต่อไปนี้ (1) การแสดงหรือการใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือเครื่องแบบที่ทำให้เข้าใจว่าเป็นการกระทำของศาล เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือหน่วยงานของรัฐ (2) การแสดงหรือมีข้อความที่ทำให้เชื่อว่าการทวงถามหนี้เป็นการกระทำโดยทนายความสำนักงานทนายความ หรือสำนักงานกฎหมาย (3) การแสดงหรือมีข้อความที่ทำให้เชื่อว่าจะถูกดำเนินคดี หรือจะถูกยึดหรืออายัดทรัพย์หรือเงินเดือน (4) การติดต่อหรือการแสดงตนให้เชื่อว่าผู้ทวงถามหนี้ดำเนินการให้แก่บริษัทข้อมูลเครดิตหรือรับจ้างบริษัทข้อมูลเครดิต หรือกระทำการทวงถามหนี้ในลักษณะที่ไม่เป็นธรรม คือ (1) การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายใด ๆ เกินกว่าอัตราที่คณะกรรมการประกาศกำหนด (2) การเสนอหรือจูงใจให้ลูกหนี้ออกเช็คทั้งที่รู้อยู่ว่าลูกหนี้อยู่ในฐานะที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ทั้งนี้ ระวางโทษ จำคุกสูงถึงห้าปี หรือ ปรับสูงสุดห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 168 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนกุมภาพันธ์ 2558 ดีเอสไอ เชือด!!! อาหารเสริม “เมโซ” (Mezo) อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง ถูกเช็คบิลไปอีกหนึ่งยี่ห้อ สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารเสริมอวดอ้างสรรพคุณเกินจริงอย่าง อาหารเสริมยี่ห้อ “เมโซ” (Mezo) ที่ถูกทาง กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ทำการตรวจยึดของกลางได้กว่า 1 ล้านแคปซูล มูลค่ากว่า 100 ล้านบาท จาก 2 แหล่ง คือที่ บริษัท เมโซ เอนเทอร์ไพรซ์ จำกัด ซึ่งเป็นสถานที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารตราเมโซ (Mezo) และที่โรงงานผลิตอาหารเสริม บริษัท สุกฤษ 55 จำกัด ซึ่งพบผลิตภัณฑ์ที่เข้าข่ายความผิดหลายรายการ เช่น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดน้ำหนักตราเมโซ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดน้ำหนัก ตรา FOMO V Shape Body ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดน้ำหนัก ตราดับเบิลยูพีพลัส และผลิตภัณฑ์เอฟบีแอลพลัส มูลค่าประมาณ 100 ล้านบาท โดยโรงงาน-บริษัท ข้างต้นจดทะเบียนถูกต้อง มีรูปแบบการทำธุรกิจโดยเป็นเจ้าของสูตรยา แล้วโฆษณาให้คนที่มีต้นทุน และสนใจที่จะเข้ามาลงทุน โดยระบุข้อความขอเพียงมีเงินลงทุนเท่านั้น บริษัทจะเป็นผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์ ทำการตลาด กำหนดยี่ห้อสินค้าให้ แต่ใช้สูตรตัวยาเดียวกัน สำหรับความผิดที่นำไปสู่การตรวจยึดสินค้าครั้งนี้มาจากการที่ผลิตภัณฑ์แสดงชื่อไม่ตรงกับที่จดแจ้งไว้ และแสดงฉลากข้อความอวดอ้างสรรพคุณฝ่าฝืนประกาศกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยอาหารและยา มาตรา 6 (10) และมีความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 อาหารเสริมดังกล่าวมียอดการจำหน่ายต่อปีกว่า 600 ล้านบาท ซึ่งต้องตรวจสอบการยื่นเสียภาษีด้วย ส่วนการดำเนินการตามกฎหมายกับผู้กระทำความผิดนั้น ดีเอสไออยู่ระหว่างรวบรวมหลักฐาน โดยในส่วนของโรงงานยังไม่สั่งปิด เนื่องจากผลิตยาหรือผลิตภัณฑ์ให้กับหลายบริษัท แต่หากพบว่าผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ผลิตจากโรงงานมีความผิด ก็จะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป อย.เตรียมปรับฉลากอาหารใช้สัญลักษณ์แสดงโภชนาการ บ้านเรามีความพยายามอย่างมากในการปรับปรุงฉลากอาหารให้มีความเป็นมิตรกับผู้บริโภคมากที่สุด โดยเฉพาะในส่วนของฉลากโภชนาการที่เป็นข้อมูลสำคัญที่แจ้งให้ผู้บริโภคได้ทราบถึงส่วนประกอบต่างๆ ในอาหารที่เรารับประทาน ซึ่งล่าสุดผู้อำนวยการสำนักอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) น.ส.ทิพย์วรรณ ปริญญาศิริ ออกมายืนยันว่าทาง อย. มีแผนที่จะปรับปรุงฉลากอาหารโดยจะมีการกำหนดเกณฑ์ของสารอาหารที่เหมาะสมต่อการบริโภคที่จะทำให้ผู้บริโภคเข้าใจข้อมูลต่างๆ ได้ง่ายขึ้น โดยใช้วิธีการมอบตราสัญลักษณ์ให้แก่ผู้ประกอบการที่ผลิตอาหารได้ตามเกณฑ์ที่ อย. กำหนดไว้ ที่ผ่านมามีข้อเสนอจากภาคประชาชนที่เสนอให้ใช้ฉลากอาหารแบบสัญญาณไฟจราจร ที่เป็นแบบแจ้งปริมาณสารอาหารว่าอยู่ในเกณฑ์หรือไม่แบบตรงไปตรงมา ซึ่งผู้อำนวยการสำนักอาหารก็ยอมรับว่าเป็นไปได้ยาก เพราะเป็นรูปแบบฉลากที่ผู้ประกอบการไม่ยอมรับ ส่วนฉลาก GDA ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นการให้ข้อมูลที่อ่านง่ายแต่ไม่ได้ตัดสินว่าผลิตภัณพ์อาหารนั้นดีหรือไม่ดี โดยภายในปีนี้ เครื่องหมายตราสัญลักษณ์แบบใหม่จะเริ่มนำมาใช้ได้ในกลุ่มอาหารแช่แข็งเป็นกลุ่มแรกและค่อยๆ ทยอยออกเพิ่มเติมต่อไป สปสช. เพิ่มยา 6 รายการในสิทธิบัตรทอง คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้อนุมัติสิทธิประโยชน์ด้านยาเพิ่มเติม 6 รายการ เพื่อให้ผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ บัตรทอง เข้าถึงการรักษาพยาบาลและได้รับยาที่จำเป็นเพิ่มขึ้น โดยยา 6 รายการที่มีการอนุมัติเพิ่มเติมได้แก่ 1. ยาลอราซีแพม อินเจกชัน ใช้ฟื้นฟูลดภาวะที่สมองจะถูกทำลายและเสียชีวิตจากการชัก มีผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับยา 3,000 - 5,000 คนต่อปี 2. ยาทริแพน บูล ใช้ย้อมสีถุงหุ้มเลนส์ตาระหว่างผ่าตัดต้อกระจก และย้อม Internal Limiting membrane กรณีผ่าจอตา มีผู้ป่วยต้องการใช้ประมาณ 10,000 รายต่อปี 3. ยาอินดอคยาไนน์ กรีน ใช้วินิจฉัยโรคจุดภาพเสื่อม (PCV ) มีผู้ป่วยที่ต้องการใช้ประมาณ 20,000 ราย 4. ยาดาคาบาซีน ใช้ในการรักษาโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดฮอดกินส์ ซึ่งผู้ป่วยที่ได้รับยานี้มีโอกาสหาย มีผู้ที่ต้องรับยานี้ประมาณ 100 คนต่อปี 5. ยารักษาผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาว APL ใช้สำหรับกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่ไม่ตอบสนองต่อการใช้ยา All-trans-retinoic acid มีผู้ป่วยที่ต้องได้รับยานี้ประมาณ 1,000 คน และ 6. Factor Vlll และ Factor IX สำหรับผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลีย A และ B มีผู้ป่วยที่ต้องใช้รับยานี้ประมาณ 1,483 ราย การส่งเสริมเรื่องการเข้าถึงยาเพิ่มมากขึ้นในครั้งนี้ นอกจากช่วยให้ผู้ป่วยบัตรทองได้สิทธิในการรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นแล้ว ยังเป็นการช่วยกองทุนบัตรทองถึงปีละเกือบหมื่นล้านบาท ช่วยลดภาระค่ายาที่มีราคาแพงให้กับโรงพยาบาลที่ต้องดูแลผู้ป่วยที่ต้องใช้ยาเหล่านี้ สั่ง “วิตามิน-อาหารเสริม” จากต่างประเทศ ระวังเสียเงินฟรี!!! อย.เตือนใครที่คิดจะสั่งซื้อ “วิตามิน” และ “อาหารเสริม” จากต่างประเทศผ่านทางเว็บไซต์ในอินเตอร์เน็ต ระวังจะสูญเงินเปล่า เพราะวิตามินและอาหารเสริมที่สั่งซื้ออาจเข้าข่ายเป็นยาตามกฎหมาย อย. หากไม่มีการขึ้นทะเบียนนำเข้าก็จะถูกสกัดที่ด่านอาหารและยาตั้งแต่ต้นทาง ปัจจุบันพบว่ามีคนที่สั่งซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากต่างประเทศ เช่น วิตามิน เกลือแร่ โสมสมุนไพร หรือสารสกัดต่างๆ เป็นจำนวนมาก ทั้งนำมาใช้เองและนำมาเพื่อจำหน่ายต่อ ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่มีการโฆษณาขายตามเว็บไซต์ต่างๆ นั้น แม้ในประเทศต้นทางแม้จะบอกว่าเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร แต่เมื่อพิจารณาจากขนาดของวิตามิน เกลือแร่ หรือสารสกัดต่างๆ ที่เป็นส่วนผสมแล้ว หากพบว่าเกินกว่าเกณฑ์ที่กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ถือว่าเข้าข่ายเป็นผลิตภัณฑ์ยา ซึ่งวิตามิน หรือสารสกัดแต่ละตัวจะมีขนาดกำหนดไว้ไม่เท่ากัน และหากมีการโฆษณาว่าสามารถรักษาโรคได้ก็ถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์ยา ซึ่งหากไม่ได้มีการขึ้นทะเบียนนำเข้ามาในราชอาณาจักรกับ อย. ก็ถือเป็นผลิตภัณฑ์ผิดกฎหมาย หากใครมีข้อสงสัยเรื่องการสั่งซื้อนำเข้ายาจากต่างประเทศ ควรสอบถามให้แน่ใจกับทาง อย. เสียก่อน เพื่อป้องกันการสูญเงินไปแบบฟรีๆ โฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายเกลื่อนจอทีวี มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร่วมกับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค 10 จังหวัด ได้ทำการจับตาเฝ้าระวังสถาการณ์ของบรรดาผลิตภัณฑ์สุขภาพโอ้อวดสรรพคุณเกินจริงทั้งหลาย ที่ยังคงโฆษณาออกอากาศอยู่ตามช่องเคเบิ้ลทีวี ทีวีดาวเทียม ระหว่างเดือน ตุลาคม ถึง ธันวาคม 2557 ที่ผ่านมา พบว่าโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ออกอากาศอยู่ ณ ปัจจุบัน เกือบ 100% เป็นการโฆษณาอย่างผิดกฎหมาย เนื้อหาส่วนใหญ่โอ้อวดเรื่องสรรพคุณด้านความสวยความงาม การลดน้ำหนัก ลดความอ้วน ขาว-สวย-ใส และเรื่องการรักษาโรคแบบครอบจักรวาล ข้อมูลที่ได้จากการเฝ้าระวังพบว่า โทรทัศน์ดาวเทียม-เคเบิ้ลจำนวน 18 ช่อง พบแล้ว 17 ช่อง ที่โฆษณาผิดกฎหมายและเป็นช่องที่กสทช. เคยสั่งปรับไปแล้ว 5 ช่อง ได้แก่ สถานีโทรทัศน์ไทยมุสลิม (TMTV) , ทีวีมุสลิมไทยแลนด์ , มีคุณทีวี , เอชพลัส (H+) และช่อง 8 (8 Channel : ดิจิตอลทีวี) โดยมีผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายที่โฆษณาอยู่จำนวน 95 ผลิตภัณฑ์ วิธีป้องกันที่ดีที่สุดสำหรับผู้บริโภคเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ผู้บริโภคต้องรู้เท่าทันและมีข้อมูลก่อนเลือกซื้อเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งเทคนิคง่ายๆ สำหรับใช้เป็นคนสังเกตผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย มีดังนี้ 1.สังเกตเลขอนุญาต เช่น ด้านอาหาร คือ ฆอ. .../... , กรณีด้านยา คือ ฆท. .../... , เครื่องมือแพทย์ คือ ฆท. ..../... ,ส่วนเครื่องสำอางไม่ต้องมีเลขอนุญาตโฆษณา แต่ต้องไม่โฆษณาเกินจริง เป็นเท็จ ซึ่งจะมีความผิดตา พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค 2.พิจารณาเนื้อหา ว่าโฆษณาตรงกับผลิตภัณฑ์หรือไม่ 3.เนื้อหาโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณเกินจริงหรือไม่ สำหรับข้อเสนอที่ภาคประชาชนอยากให้หน่วยงานภาครัฐจัดการกับปัญหานี้ คือให้มีการปรับปรุงบทลงโทษผู้ที่ทำผิดให้มีความรุนแรงมากขึ้น และต้องเร่งรัดการจัดทำระบบฐานข้อมูลการอนุญาตโฆษณาอาหาร และเปิดให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงเรื่องการตรวจสอบข้อมูลต่างๆ ได้ ที่สำคัญหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลปัญหานี้โดยตรงอย่าง อย. กสทช. ต้องจริงจังเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมาย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 167 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนมกราคม 2558 ศาลสั่ง “BTS” ทำลิฟท์ทุกสถานีให้ผู้พิการ ศาลปกครองสูงสุดมีมติ ให้กลุ่มผู้พิการ โดยมูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ เป็นฝ่ายชนะคดีที่ฟ้องร้องต่อ กทม. และบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กรณีร่วมกันก่อสร้างระบบรถไฟฟ้าบีทีเอส (BTS) โดยไม่มีการก่อสร้างลิฟต์และสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการ หลังจากที่ต่อสู้เรียกร้องสิทธิมายาวนาน ตั้งแต่เริ่มมีการสร้างรถไฟฟ้าก่อนเปิดให้ใช้งาน นับเวลารวมแล้วเกือบ 20 ปี โดยมติของศาลมีว่า กทม. และบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ต้องจัดทำลิฟต์ที่สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสทั้ง 23 สถานี (ปัจจุบันมีเพียง 5 สถานี ได้แก่ สยาม หมอชิต ช่องนนทรีย์ สนามกีฬาแห่งชาติ และอ่อนนุช โดยแต่ละสถานีมีลิฟต์เพียง 1 ตัวเท่านั้น) และให้จัดทำอุปกรณ์สิ่งอำนวยความสะดวก ทั้ง 23 สถานี รวมทั้งจัดทำอุปกรณ์สิ่งอำนวยความสะดวกบนรถไฟฟ้า โดยให้จัดที่ว่างสำหรับเก้าอี้เข็นคนพิการ ให้มีความกว้างไม่น้อยกว่า 120 ซม. และให้ราวจับสูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 80 ซม. บริเวณทางขึ้นลงและติดสัญลักษณ์คนพิการไว้ทั้งในและนอกตัวรถที่จัดให้สำหรับคนพิการ ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ.2542) ออกตามความใน พ.ร.บ.การฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ.2534 และตามระเบียบคณะกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการว่าด้วยมาตรฐานอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกโดยตรงแก่คนพิการ พ.ศ.2544 ทั้งนี้ให้ดำเนินการตามคำสั่งศาลให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี หลังจากมีคำพิพากษา   ไม่อยาก “ซิมดับ” รีบไปลงทะเบียน ใครที่เป็นผู้โทรศัพท์เคลื่อนที่แบบเติมเงิน แล้วยังไม่เคยลงทะเบียนซิม ต้องอ่านข่าวนี้ให้ดี เพราะ กทสช. ออกประกาศชัดเจนแล้ว หากใครยังไม่ยอมนำซิมไปลงทะเบียนก่อนวันที่ 31 ก.ค. 2558 ซิมจะถูกระงับการใช้งานโทรเข้า-โทรออกไม่ได้ เรื่องการบังคับให้ผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบเติมเงิน หรือ prepaid ต้องลงทะเบียนซิมนั้น เป็นไปตามประกาศตั้งแต่สมัย กทช. เพื่อผลในเรื่องของความปลอดภัย ทำให้ทราบถึงข้อมูลของผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่แต่ละหมายเลข รวมทั้งเป็นผลดีในเรื่องของการคุ้มครองผู้บริโภคด้วย ช่วยในความสะดวกเวลาใช้สิทธิหรือร้องเรียนปัญหาต่างๆ อย่างเช่น การย้ายค่ายเบอร์เดิม ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือแบบเติมเงินที่ยังไม่เคยลงทะเบียนซิม สามารถลงได้โดยนำซิมการ์ดที่ต้องการลงทะเบียนและบัตรประชาชนนำไปติดต่อขอลงทะเบียนได้ที่ศูนย์บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เครือข่ายที่เราใช้บริการอยู่   “ไอโอดีน” ในวิตามินรวมสำหรับคนท้องตกมาตรฐานเพียบ มี “ทั้งขาด – ทั้งเกิน” กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เผยผลตรวจวิตามินรวมผสมเกลือแร่สำหรับหญิงตั้งครรภ์ จำนวน 13 ตัวอย่าง ทั้งที่ผลิตในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ พบผิดมาตรฐาน 9 ตัวอย่าง (ร้อยละ 69) โดยพบว่าแต่ละตัวอย่างมีปริมาณไอโอดีนในแต่ละเม็ดแตกต่างอย่างมาก บางเม็ดยาตรวจไม่พบไอโอดีนเลย ขณะที่บางเม็ดพบปริมาณไอโอดีนสูง 40 เท่าของปริมาณที่แจ้งไว้ ไอโอดีนถือว่า 1 ในสารอาหารสำคัญสำหรับหญิงตั้งครรภ์ เพราะช่วงตั้งครรภ์หากมารดาขาดสารไอโอดีนจะส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทางสมองและระบบประสาทของเด็กทารกได้ จึงกลายเป็นช่องทางให้มีผู้ผลิตอาหารเสริมผสมไอโอดีนออกมาขาย แต่จากผลทดสอบที่ได้จะเห็นว่าผลิตภัณฑ์ที่วางจำหน่ายอยู่ส่วนใหญ่ไม่ได้มาตรฐาน อาจส่งผลร้ายต่อสุขภาพของผู้ที่กินได้ ซึ่งหลังจากนี้ทาง อย.จะต้องมีการควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ยาและอาหารเสริมที่มีสารไอโอดีนเป็นองค์ประกอบ และต้องมีการกำหนดข้อบ่งใช้กับสตรีมีครรภ์เพื่อความปลอดภัยต่อผู้ใช้   “สปาหอยทาก” เจอ “อีโคไล” วิวัฒนาการเรื่องความสวยความงามมีมาได้ไม่สิ้นสุดจริงๆ ที่มาสร้างความฮือฮาแบบสุดๆ ก็คือ “สปาหอยทาก” ที่จับเอาหอยทากมาไต่บนใบหน้า เพราะเชื่อว่าที่ตัวหอยทากมีสารช่วยบำรุงผิวหน้าเป็นสูตรลับจากฝรั่งเศส แต่งานนี้ดูไม่ชอบมาพากล เพราะหลายคนตั้งคำถามถึงเรื่องความสะอาดและความปลอดภัย ร้อนถึงกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ต้องรุดเข้าไปตรวจสอบ สปาหอยทากนี้ตั้งอยู่ที่ จ.เชียงใหม่ มีเจ้าของเป็นชาวฝรั่งเศส โดยนอกจากจะเปิดให้บริการในลักษณะเป็นร้านเสริมสวยที่ใช้หอยทากมาไต่ที่ผิวหน้าแล้วนั้น ยังมีฟาร์มหอยทากจำนวนกว่า 3 หมื่นตัว โดยเจ้าของระบุว่า เดิมนำเข้าแม่พันธุ์มาจากฝรั่งเศสประมาณ 100 ตัว แล้วค่อยมาขยายพันธุ์ที่เมืองไทย ซึ่งหลังจากการตรวจสอบโดยกรมประมง พบว่ามีเชื้ออีโคไลปนเปื้อนในตัวอย่างหอยทากที่นำไปตรวจ นอกจากนี้ยังอาจมีความผิดฐานนำเข้าสัตว์โดยผิดกฎหมาย ส่วนเรื่องของของเปิดบริการสถานเสริมความงาม พบเรื่องการใช้เครื่องมือแพทย์โดยผู้ที่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญหรือไม่ได้รับใบอนุญาต และสถานบริการดังกล่าวยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับ สบส. แค่จดทะเบียนการค้ากับกระทรวงพาณิชย์เท่านั้น ใครที่จะไปใช้บริการก็ขอให้ระวังเรื่องของเชื้ออีโคไลให้ดี เพราะเป็นเชื้อที่ผลต่อระบบทางเดินอาหาร อาจทำให้ท้องร่วงรุนแรงได้   จับตากฎหมาย “จีเอ็มโอ” หวั่นเอื้อประโยชน์บรรษัทเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติ มูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน นักวิชาการ กลุ่มธุรกิจอาหาร และกลุ่มเกษตรอินทรีย์ ร่วมกันจัดเวทีเสวนา จับตาการผลักดัน “ร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ พ.ศ....” หวั่นเอื้อประโยชน์บรรษัทเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติ ซึ่งหลังจากที่คณะทำงานศึกษาแนวทางการนำสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม (GMO) และผลิตภัณฑ์มาใช้ใน ประเทศไทย ได้มีมติร่วมกันว่า การทดลองเรื่องจีเอ็มโอนั้นให้กลับไปใช้มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2550 ที่มีเงื่อนไขควบคุมการทดลองจีเอ็มโอในภาคสนามที่เข้มงวด เช่น ต้องทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ต้องทดลองในสถานที่ของราชการเท่านั้น ต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ และนักวิชาการ และคณะรัฐมนตรีต้องเป็นผู้อนุมัติให้มีการทดลองเป็นรายกรณี ซึ่งจากข้อกำหนดนี้ จะส่งผลลบกับกลุ่มบรรษัทเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติ ที่หวังจะนำเมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอเข้ามาขายในประเทศไทย ทำให้การพลักดัน “ร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ พ.ศ....” นี้จึงเป็นเครื่องมือของเหล่าบรรษัทข้ามชาติ ที่ลดทอนความเข้มงวดในการควบคุมการใช้เมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอในประเทศ ทั้งนี้เมล็ดดัดแปลงพันธุกรรมหรือ จีเอ็มโอนั้น ถูกทำให้เชื่อว่าจะเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ให้ผลผลิตที่ดีกว่าเมล็ดพันธุ์ทางธรรมชาติปกติ แต่นั่นเป็นเพียงการสร้างมายาคติของบรรษัทผู้ถือสิทธิเมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอเท่านั้น การใช้เมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอเกษตรกรจะต้องซื้อจากบรรษัทเจ้าของสิทธิ ไม่สามารถเพาะได้เองเหมือนเมล็ดพันธุ์ตามธรรมชาติ ซึ่งในอนาคตจีเอ็มโออาจจะกลายเป็นเครื่องมือที่ถูกนำมาใช้ในการกีดกันทางการค้า เมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอจะทำลายเมล็ดพันธุ์ทางธรรมชาติอื่นๆ ที่สำคัญคือเมืองไทยเราเป็นเมืองเกษตร มีความอุดมสมบูรณ์ในการเพาะปลูกพืชพรรณต่างๆ อยู่แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องพึ่งพาเมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอจากต่างชาติ โดยหลังจากนี้จะมีการทำหนังสือถึงคณะรัฐมนตรี และสภานิติบัญญัติแห่งชาติให้ชะลอการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้เอาไว้ก่อน โดยจะขอให้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณะ และปรับปรุงเนื้อหาที่จะไม่เป็นการทำร้ายเกษตรกร ภาคธุรกิจ และผู้บริโภคในประเทศ  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 166 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนธันวาคม 2557 ชาวซอยร่วมฤดีเฮ!!! ศาลสั่งรื้ออาคารสูง หลังจากที่ใช้เวลาพิจารณาต่อสู้ในศาลนานถึง 6 ปี ในที่สุด คดีที่ นายแพทย์สงคราม ทรัพย์เจริญ อาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประชาชนที่อยู่อาศัยในซอยร่วมฤดีรวมทั้งหมด 24 ราย ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้องผู้อำนวยการเขตปทุมวัน และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ต่อศาลปกครอง ในฐานะเป็นผู้บริหารราชการมีอำนาจหรือออกคำสั่งทางปกครอง และในฐานะเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 เหตุออกเอกสารรับรองความกว้างของถนนซอยร่วมฤดีเกินกว่าความเป็นจริง และปล่อยให้เอกชนก่อสร้างอาคารสูงเกินกว่ากฎหมายกำหนด ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของชุมชนที่พักอาศัยในซอยร่วมฤดี รวมถึงปัญหาอัคคีภัย และการจราจรที่แออัดจนทำให้ประชาชนเกิดความไม่ปลอดภัยแก่ชีวิต และทรัพย์สิน ก็ได้มีคำตัดสินออกมาแล้วเรียบร้อย โดยศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้สำนักงานเขตปทุมวัน (ผู้ถูกฟ้องที่ 1 ) และ กรุงเทพมหานคร (ผู้ถูกฟ้องที่ 2) ให้เร่งรื้อถอนหรือลดความสูงอาคารไม่ให้เกิน 10,000 เมตร ภายใน 60 วันนับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด นายเฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความอาสาเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า "คำพิพากษานี้ถือเป็นบทเรียนชี้ถึงปัญหาการก่อสร้างอาคารสูงในซอยแคบ ซึ่งซอยร่วมฤดีที่มีถนนความกว้างไม่ถึง 10 เมตรตลอดแนว และครั้งนี้ถือเป็นการต่อสู้ของประชาชนที่หากจะได้รับความเป็นธรรมต้องต่อสู้กันอย่างถึงที่สุด และต้องตระหนักถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นหากไม่ได้รับการแก้ไขจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งอยากเรียกร้องให้มีระบบการตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานที่รับผิดชอบให้ชัดเจนมากขึ้น"     อย. จับอาหารเสริม "โอ้โห บาย ปูนิ่ม" ใส่ “ไซบูทรามีน” โดนปิดบัญชีไปอีกราย สำหรับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหลอกลวงผู้บริโภค กับอาหารเสริมลดความอ้วนยี่ห้อ “โอ้โห บาย ปูนิ่ม” ที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่จาก อย. ดำเนินการจับผู้ผลิตและยึดสินค้าของกลาง ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 50 ล้านบาท!!! สาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลกได้เก็บตัวอย่างและทดสอบผลิตภัณฑ์อาหาร "โอ้โห บาย ปูนิ่ม" ที่โฆษณาขายอย่างคึกโครมอยู่ในเฟซบุ๊ค  สร้างเครือข่ายที่เป็นตัวแทนจำหน่ายกว่า 3 – 4 พันคนทั่วประเทศ ซึ่งจากผลทดสอบที่ได้พบว่าตัวผลิตภัณฑ์ที่อวดอ้างว่าช่วยลดน้ำหนักมีการใส่สาน “ไซบูทรามีน” ซึ่งเป็นสารต้องห้าม เพราะมีอันตรายร้างแรงต่อผู้ที่รับประทาน ทำให้หัวใจขาดเลือด เป็นเหตุให้เสียชีวิตเฉียบพลันได้ โดยความผิดตามกฎหมายที่เจ้าของและผู้บริหาร บริษัท โอ้โห สลิมพลัส จำกัด เจ้าของสินค้า มีดังนี้ พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 ฐานจำหน่ายอาหารปลอม มีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 10 ปี และปรับ ตั้งแต่ 5,000 บาท ถึง 100,000 บาท ฐานจำหน่ายอาหารที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง มีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท ฐานจำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ฐานโฆษณาคุณประโยชน์และคุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท พระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ.2535 ฐานขายเครื่องสำอางแสดงฉลากไม่ถูกต้อง มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ   “อูเบอร์ แท็กซี่” (Uber Taxi) ผิดกฎหมาย ห้ามให้บริการ กรมขนส่งทางบกออกคำสั่งห้าม “อูเบอร์ แท็กซี่” (Uber Taxi) วิ่งให้บริการในประเทศ หากไม่มีการปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้องตามกฎระเบียบ หลังมีการตรวจสอบพบว่า อูเบอร์ แท็กซี่ ทำความผิดตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522  ฐานใช้รถยนต์ผิดประเภทจากที่จดทะเบียนไว้ นอกจากนี้ยังมีความผิดฐานไม่ใช้มาตรค่าโดยสารตามที่ทางราชการกำหนด ผู้ขับรถไม่มีใบขับขี่สาธารณะ และไม่เข้าสู่ระบบทะเบียนของศูนย์ประวัติผู้ขับรถสาธารณะ นอกจากนี้ยังใช้วิธีการชำระค่าโดยสารผ่านบัตรเครดิตซึ่งอาจส่งผลต่อความปลอดภัยด้านธุรกรรมของผู้ใช้บริการในอนาคต อูเบอร์ แท็กซี่ (Uber Taxi) เป็นบริการแท็กซี่โดยสารการเรียกโดยใช้แอพพลิเคชั่นในสมาร์ทโฟน ซึ่งเป็นบริการที่มีมาแล้วในหลายประเทศ ในประเทศไทยของจาก อูเบอร์ แท็กซี่ แล้ว ยังมีบริษัทผู้ให้บริการเรียกแท็กซี่ผ่านแอพพลิเคชั่นผ่านมือถืออีก 2 บริษัท คือ บริษัท อีซีแท็กซี่ (ไทยแลนด์) จำกัด และ บริษัท แกรบแท็กซี่ (ประเทศไทย) จำกัด ถือเป็นทางเลือกในการเดินทาง แต่ผู้ใช้บริการก็ต้องรู้จักเลือกใช้อย่างมีข้อมูลเพื่อความปลอดภัยและคุ้มค่าในการเดินทาง     เตือน!!! กินอาหารเสริม “คลอโรฟิลล์” ระวังเจอผลข้างเคียง ไม่รู้ว่ารอบที่เท่าไหร่แล้วที่ อย. ต้องออกมานั่งยันนอนยันว่าการรับประทานอาหารเสริมหรือเครื่องดื่มที่ผสม “คลอโรฟิลล์” ไม่มีผลวิจัยทางการแพทย์ใดๆ ที่รับรองว่ารับประทานเข้าไปแล้วจะช่วยบำรุงร่างกาย ขับสารพิษ ช่วยให้ผิวพรรณสดใส หรือบรรเทาอาการเจ็บไข้ใดๆ แต่ที่ยืนยันได้จริงก็คือการรับประทานคลอโรฟิลล์อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงในผู้ที่มีอาการแพ้ เช่นทำให้เกิดผื่นคัน ท้องเสีย ล่าสุดเกิดกรณีที่มีหญิงสาวคนหนึ่งโพสภาพพร้อมข้อความเยินยออาหารเสริมที่ผสมคลอฟิลล์ยี่ห้อหนึ่งว่ากินแล้วดีต่อสุขภาพ ขนาดให้เด็กทารกแรกเกิด 7 วัน กินแล้วแข็งแรง น้ำหนักตัวเยอะ ซึ่งสร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์ถึงความเหมาะสมในการกระทำดังกล่าว ทาง อย.จึงได้ตรวจสอบกลับไปยังผลิตภัณฑ์ที่ปรากฏในภาพ พบว่ามีการใช้ข้อความอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง เข้าข่ายมีความผิดตามกฎหมาย ขอยืนยันอีกทีว่าการทานอาหารเสริมผสมคลอโรฟิลล์ที่อวดอ้างสรรพคุณต่างๆ นานานั้น ไม่มีความจำเป็น เราสามารถได้รับคลอโรฟิลล์จากการกินผักใบเขียว ซึ่งนอกจากจะเสียเงินโดยใช้เหตุแล้ว อาจเสี่ยงผลเสียต่อสุขภาพด้วย     “รถโดยสารไทย” ถึงเวลายกเครื่องเรื่องประกันภัยและการจ่ายชดเชยเยียวยา เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคจากทั่วประเทศร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ตัวแทนจากศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) จัดเวทีเสวนาวิชาการ “ยกเครื่องรถโดยสารสาธารณะไทย ด้วยระบบประกันภัยและการชดเชยเยียวยา” ซึ่งในเวทีก็มีตัวแทนผู้ประกอบการรถโดยสารสาธารณะและบริษัทประกันภัยร่วมแลกเปลี่ยนด้วย โดยภาพรวมของเวทีวิชาการครั้งนี้ ได้นำเสนอถึงปัญหาเรื่องการชดเชยเยียวยาให้กับผู้ประสบอุบัตเหตุรถโดยสารสาธารณะที่ยังไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม จากกระบวนการพิสูจน์ถูกผิดที่ล่าช้า ปัญหาจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และการบังคับใช้กฎหมายที่ยังขาดความเข้มงวดและไม่เป็นธรรม นอกจากนี้ในเวทียังได้มีตัวแทนเครือข่ายคนทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคเรื่องรถโดยสารปลอดภัย มาถ่ายทอดประสบการณ์การทำงาน และปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในแต่ละพื้นที่ ซึ่งมีทั้งปัญหาเรื่องรถโดยสารที่ด้อยคุณภาพไม่เหมาะสมที่จะนำมาใช้งาน เมื่อเกิดอุบัติเหตุการเรียกร้องค่าชดเชยเยียวยาเป็นไปด้วยความยากลำบาก ใช้เวลานาน ผู้เสียหายบางรายใช้เวลาร่วม 10 ปีในการต่อสู้ในชั้นศาลกว่าจะได้รับเงินชดเชยเยียวยา ทั้งๆ ที่ความเสียหายได้เกิดขึ้นแล้ว ทั้งบาดเจ็บพิการและเสียชีวิต รวมถึงวงเงินชดเชยเยียวยาวคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถที่มองว่ายังน้อยเกินไปควรมีการปรับให้สูงขึ้น จากเดิมค่ารักษาพยาบาลกรณีบาดเจ็บจะได้ไม่เกิน 50,000 บาท เสนอให้ปรับเป็นไม่เกิน 150,000 บาท ส่วนค่าชดเชยกรณีเสียชีวิต ทุพพลภาพ หรือสูญเสียอวัยวะ เดิมจะได้ไม่เกิน 200,000 บาท เสนอให้ปรับขึ้นเป็น 400,000 บาท

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 165 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์พฤศจิกายน 2557 ห้ามจำหน่าย “ภาชนะปนเปื้อนสารยูเรียฟอร์มาลดีไฮด์” คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (คคบ.) ได้มีคำสั่ง ห้ามจำหน่าย "ภาชนะหรือเครื่องใช้สำหรับบรรจุหรือสัมผัสอาหารที่ผลิตจากสารยูเรียฟอร์มาลดีไฮด์" หลังจากพบข้อมูลยืนยันชัดเจนแล้วว่า สารดังกล่าวเป็นสารก่อมะเร็งซึ่งสามารถละลายออกมาปะปนในอาหาร เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ก่อนหน้านี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ก็เคยทดสอบการแพร่กระจายออกมาของฟอร์มาลดีไฮด์ จากกลุ่มตัวอย่างเมลามีนปลอม ที่อุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส 30 นาที ตามมาตรฐานการทดสอบผลิตภัณฑ์เมลามีนแท้ พบสารยูเรียฟอร์มาลดีไฮด์แพร่กระจายออกมาในน้ำที่ใช้ทดสอบ เกินค่ามาตรฐาน 37 ตัวอย่าง เมื่อทดสอบตามอุณหภูมิใช้งานที่ 80 องศาเซลเซียส หรือ 100 องศาเซลเซียส ซึ่งแจ้งไว้ในฉลากของผลิตภัณฑ์ พบฟอร์มาลดีไฮด์แพร่กระจายออกมาในน้ำที่ใช้ทดสอบ เกินค่ามาตรฐาน 38 ตัวอย่าง และเมื่อทำการทดสอบ โดยใช้ตัวแทนอาหารที่เป็นสารละลายกรดอะซิติก (acetic acid) หรือกรดน้ำส้ม ความเข้มข้นร้อยละ 4 โดยปริมาตร อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส เพื่อเลียนแบบการใส่อาหารประเภทต้มยำหรือแกงส้มร้อนๆ พบฟอร์มาลดีไฮด์ออกมาเกินค่ามาตรฐาน 64 ตัวอย่าง และพบปริมาณที่สูงเกินกว่า 100 มิลลิกรัมต่อลิตร 38 ตัวอย่าง ภาชนะที่ผลิตจากสารยูเรียฟอร์มาลดีไฮด์ส่วนใหญ่จะเป็นภาชนะที่นำเข้าจากต่างประเทศ วางขายตามตลาดนัดมีสีมันฉูดฉาด ไม่มีการแจ้งผู้ผลิตหรือชนิดของพลาสติกที่ใช้ผลิต “น้ำมะนาวผสมเบกกิงโซดา” ฟอกฟันขาวได้จริงหรือ? อะไรที่ถูกแชร์ส่งต่อกันทางโลกออนไลน์ ต้องฟังหูไว้หู อย่าได้เชื่อตามทันที อย่างกรณีล่าสุด ที่มีการส่งต่อกันในสังคมออนไลน์ว่า “น้ำมะนาวผสมเบกกิงโซดา” นำมาฟอกฟันให้ขาวขึ้นได้ งานนี้ ทพ.สุธา เจียรมณีโชติชัย รองอธิบดีกรมอนามัย จึงต้องออกมาไขข้อข้องใจ ว่าเรื่องนี้จริงเท็จประการใด การทำฟันขาวด้วยมะนาวผสมเบกกิงโซดา หรือโซเดียมไบคาร์บอเนต ถือเป็นคำแนะนำที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากน้ำมะนาวมีความเป็นกรดสูงจะละลายแคลเซียมออกจากผิวฟัน ทำให้ฟันกร่อน และกรดจากมะนาวยังระคายเคืองเหงือกอาจทำให้เหงือกอักเสบได้ เมื่อเคลือบฟันกร่อนทำให้มีอาการเสียวฟันตามมา และการที่เคลือบฟันถูกทำลายจะเพิ่มโอกาสเกิดฟันผุได้ง่ายอีกด้วย ส่วนเบคกิงโซดาเป็นสารที่มีความสามารถในการทำความสะอาด จึงสามารถกำจัดคราบต่างๆ ที่ติดบนผิวฟัน รวมถึงคราบสีจากการดื่มน้ำชา กาแฟ จึงทำให้ฟันขาวสะอาดขึ้น แต่ไม่สามารถทำให้ฟันขาวจากเนื้อฟันข้างในได้ ผู้ที่มีเหงือกอักเสบและเสียวฟันอยู่แล้วไม่ควรนำวิธีนี้มาใช้เพราะอาจเป็นอันตรายได้ นอกจากนี้ ผู้ที่จัดฟันไม่ควรใช้เบคกิงโซดาขัดฟัน เพราะจะทำให้กาวยึดเครื่องมือจัดฟันอ่อนตัวและหลุดได้   อย.เชือด!!! “ครีมมหัศจรรย์” Firmax 3 อย.เตือนผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อหลงใช้ผลิตภัณฑ์ Firmax 3 ที่มีการอวดอ้างสรรพคุณว่าเป็นครีมมหัศจรรย์ ใช้ทาตรงจุดชีพจร สามารถรักษาโรคต่าง ๆ ได้ เช่น โรคไซนัสอักเสบ ไทรอยด์ เบาหวาน ความดัน ริดสีดวงทวารหนัก อัมพฤต-อัมพาต ฯลฯ หลังทำการตรวจสอบแล้วว่าไม่ได้มีการขึ้นทะเบียนกับทาง อย. หลักจากการตรวจสอบพบว่าผลิตภัณฑ์ Firmax 3 เป็นสินค้าที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ พบมีแหล่งกระจายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแห่งใหญ่อยู่ที่โคราชและหาดใหญ่ มีการจำหน่ายในลักษณะขายตรง ตัวสินค้าเองมีลักษณะเป็นเครื่องสำอางแต่กลับอวดอ้างสรรพคุณเป็นยารักษาโรค อย.จึงได้ดำเนินการทางกฎหมายกับร้านค้าที่จำหน่ายและผู้ที่นำเข้า หากผู้บริโภคคนไหนพบเห็นผลิตภัณฑ์ Firmax 3 หรือผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางหรืออาหารเสริมที่โฆษณาอวดอ้างเกินจริงหรือแจ้งสรรพคุณว่ามีผลต่อการรักษาโรค สามารถแจ้งไปยัง อย.ให้ทำการตรวจสอบและเอาผิดได้ทันทีที่ สายด่วย อย. 1556   ส้มจีนมีใบ คือส้มผิดกฎหมาย? รู้หรือมั้ยว่า? ส้มจีนที่วางจำหน่ายตามท้องตลาด หากมีใบติดมาที่ผลส้มด้วยอาจเป็นส้มที่นำเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย ที่สำคัญอาจปนเปื้อนเชื้อโรค เพราะล่าสุด กรมวิชาการเกษตร ได้ออกมาประกาศชัดเจนว่า ส้มจีนที่มีใบติดมาห้ามนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย เพราะเสี่ยงโรคและแมลงศัตรูพืช หากพบมีโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ขณะนี้พบว่ามีการนำส้มจีนที่มีใบติดเข้ามาจำหน่ายในไทยแบบผิดกฎหมาย เพราะขายได้ราคาดีกว่าส้มไม่มีใบ ซึ่งส้มจากจีนจะสามารถนำเข้ามาประเทศไทยได้อย่างถูกกฎหมายต้องมาจากสวนหรือโรงคัดบรรจุที่ผ่านการรับรอง มีใบรับรองสุขอนามัย และต้องไม่มีกิ่ง ก้านใบ ดิน ติดเข้ามาด้วย เพื่อป้องกันโรคและแมลงศัตรูพืช ที่สร้างความเสียหายต่อระบบการเกษตร แต่เพราะคนไทยเข้าใจผิด นิยมซื้อส้มที่มีใบติดเพราะเห็นว่าสวยงามกว่า คิดว่าเป็นส้มใหม่ เลยทำให้เกิดการลักลอบนำเข้ามาจำหน่ายแบบผิดกฎหมายเป็นจำนวนมาก     ค้านกฎหมาย จดสิทธิบัตร “กลิ่น-เสียง” สมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน และภาคประชาชน ค้านกระทรวงพาณิชย์ที่มีการเสนอ ร่าง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า (ฉบับที่...) พ.ศ.... ที่ขยายความคุ้มครองไปยังเครื่องหมายการค้าที่เป็น “กลิ่นและเสียง” เหตุเพราะจะทำให้ประเทศไทยเสียประโยชน์และยังเป็นการทำร่างกฎหมายที่ขาดการรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนอื่นๆ หากมีการประกาศใช้ พ.ร.บ. ฉบับนี้ ผลเสียที่จะเกิดขึ้นก็คือ เครื่องหมายการค้าในเรื่องกลิ่นจะมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์สุขภาพของประเทศ ซึ่งต้องใช้กลิ่นช่วยกลบและช่วยแต่งรสชาติของผลิตภัณฑ์ หากมีการแก้ไขคำจำกัดความให้มีการจดสิทธิบัตรเรื่องกลิ่น ซึ่งไม่ได้บ่งชี้ถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้านั้นโดยตรง หรือกลิ่นที่ไม่เป็นกลิ่นโดยธรรมชาติของสินค้านั้น จะนำไปสู่การละเมิดเครื่องหมายการค้าของผู้ถือสิทธิ์ได้ นำไปสู่ปัญหาเรื่องความไม่มั่นใจในการพัฒนาสูตรตำรับยาของบริษัทผู้ผลิตยาในประเทศ ส่งผลต่อการพัฒนาการผลิตยาชื่อสามัญออกสู่ตลาด ทำให้บริษัทยาข้ามชาติสามารถขายยาผูกขาดยาวนานยิ่งขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องลดราคาเลยเพราะไม่มีคู่แข่ง ที่สำคัญการให้กลิ่นและเสียงจดเครื่องหมายการค้าได้ ถือว่าเกินไปกว่าข้อตกลงระหว่างประเทศ TRIPS + อีกทั้ง ไม่ใช่หลักสากล จากข้อมูลพบว่า ประเทศที่อนุญาตให้จดเครื่องหมายการค้าทั้งกลิ่นและเสียงได้นั้น มีอยู่เพียง 3 ประเทศคือ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ส่วนประเทศที่ให้จดได้เฉพาะเสียงมี 5 ประเทศคือ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี สิงคโปร์ และไต้หวัน โดยใน 5 ประเทศนี้ 4 ประเทศแรก ยังไม่มีความชัดเจนในการจดเครื่องหมายการค้าที่เป็นกลิ่น ส่วนไต้หวันไม่มีการอนุญาต ซึ่งหลังจากกระทรวงพาณิชย์ได้นำเสนอร่าง พ.ร.บ.เครื่องหมายการ พ.ศ.... ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบเมื่อวันที่ 12 พ.ย.ที่ผ่านมา แต่มีการท้วงติงจากกระทรวงสาธารณสุข ครม.จึงมีมติให้กระทรวงพาณิชย์กลับไปพิจารณาอีกครั้ง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 164 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนตุลาคม 2557 ใช้ “พ.ร.บ.ทวงหนี้” จัดการเจ้าหนี้โหด คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน นักกฎหมาย ตัวแทนลูกหนี้  มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และชมรมหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล  ได้เข้ายื่นหนังสือต่อ นายมนตรี ศรีเอี่ยมสะอาด ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณา “ร่างพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ...” เพื่อเสนอความเห็นและข้อเสนอต่อ คณะกรรมาธิการฯ ให้พิจารณาแก้ไขบทบัญญัติในกฎหมายเพื่อให้เกิดการคุ้มครองลูกหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบให้ได้รับความเป็นธรรมจากการทวงถามหนี้  พร้อมเสนอให้เพิ่มเติมมาตรการเยียวยาความเสียหายแก่ลูกหนี้ ที่ได้รับผลกระทบจากการทวงหนี้  และขอให้เร่งการออกกฎหมายฉบับนี้โดยเร็วเพื่อเป็นมาตรการคุ้มครองลูกหนี้และลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตกับลูกหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ ปัจจุบันปัญหาเรื่องการทวงหนี้ที่ไม่เป็นธรรม กลายเป็นปัญหาใหญ่ปัญหาหนึ่งในสังคม โดยวิธีการที่เจ้าหนี้ใช้มีทั้ง การข่มขู่ การใช้วาจาหยาบคาย ยึดทรัพย์โดยพลการ หรือการทำร้ายร่างกาย ซึ่งผลจากการคุกคามของเจ้าหนี้ทำให้ลูกหนี้ต้องกู้เงินนอกระบบมาชำระหนี้ในระบบเพิ่มอีก บ้างก็ตัดสินใจออกจากงานเพราะทนแรงกดดันไม่ไหว, ครอบครัวมีปัญหา รวมไปถึงการฆ่าตัวตายดังที่เป็นข่าว ซึ่งการมายื่นหนังสือต่อประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณา พ.ร.บ.ฯ ครั้งนี้ เพื่อต้องการให้มีการเร่งรัดการประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้โดยเร็วที่สุด พร้อมกับมีข้อเสนอเพิ่มเติม ทั้งการควบคุมให้สถาบันการเงินที่ปล่อยบัตรสินเชื่อเงินสดหรือสินเชื่อให้กับลูกหนี้ ห้ามยึดเงินเดือนจากบัญชีธนาคารของลูกหนี้เนื่องจากขัดต่อกฎหมาย การยึดเงินเดือนของลูกหนี้ตามกฎหมายต้องฟ้องศาลก่อน เมื่อศาลมีคำสั่งจึงเข้าสู่กระบวนการอายัดเงินเดือนได้สูงสุด 30% ของเงินเดือนเท่านั้น หรือการคิดดอกเบี้ยเกินที่กฎหมายระบุ ซึ่งนายมนตรีรับปากว่า จะผลักดันกฎหมายฉบับนี้ให้ประกาศใช้ได้ก่อนสิ้นปี 2557 นี้   เครือข่ายผู้บริโภคขอ “พ.ร.บ. ยา” ที่เป็นธรรมกับประชาชน แนะตัดภาคธุรกิจออกจากคณะกรรมการฯ ผศ.ภญ.สำลี ใจดี ประธานมูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา  และตัวแทนคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชนร่วมกับภาคประชาสังคม 15 องค์กร เข้าพบเลขาธิการอย. เพื่อยื่นหนังสือโดยขอให้นำความเห็นและข้อเสนอแนะที่มีต่อร่าง “พระราชบัญญัติยา พ.ศ.....” ฉบับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.)  เพื่อให้แก้ไขและบรรจุในพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งมีรายละเอียดตามมติดังนี้ 1. สนับสนุนร่างพระราชบัญญัติยา พ.ศ...... ฉบับประชาชน  เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคและพัฒนาระบบยาของประเทศ 2. เสนอให้ตัดผู้แทนจากภาคธุรกิจออกจากคณะกรรมการยาทั้ง 4 ชุด เพราะเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไม่สมควรเข้ามากำกับดูแลนโยบาย 3. เสนอให้คงไว้และห้ามตัดออกสาระที่ดีมากใน พ.ร.บ. ยาฉบับกฤษฎีกา คือ ข้อมูลการขึ้นทะเบียนยา โดยเฉพาะ โครงสร้างราคายาและข้อมูลสิทธิบัตร เพราะมีส่วนในการกำหนดราคายาที่เหมาะสมและเป็นการเข้าถึงยาของประชาชนเมื่อยานั้นหมดสิทธิบัตรลง 4. เสนอให้เพิ่มหมวดการควบคุมราคายา เพื่อป้องกันการกำหนดราคายาที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค โดยให้นำสาระจากร่าง พ.ร.บ. ยา ฉบับประชาชน 5. การจัดการกับการโฆษณาและการส่งเสริมการขายยาจะต้องเข้มงวดมากขึ้น โดยยกระเบียบต่างๆ ขึ้นมาอยู่ในระดับกฎหมาย 6. ต้องไม่ขยายคำจำกัดความของ “ยาปลอม” ไปครอบคลุมเรื่องการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งเป็นกลวิธีของอุตสาหกรรมยาข้ามชาติที่ต้องการขัดขวางการเข้าถึงยาของประชาชนและทำลายอุตสาหกรรมยาชื่อสามัญ   สปสช., สคบ., มพบ. จับมือทำงาน “ผู้บริโภค มาด้วยใจ ก้าวไกลด้วยกัน” เมื่อวันที่ 24-25 กันยายน 2557 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ร่วมกันจัดงานประชุมวิชาการด้านการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค “Consumer Convergence: ผู้บริโภค มาด้วยใจ ก้าวไกลด้วยกัน” ซึ่งการเสวนาและระดมความคิดเพื่อยกระดับการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศไทย สร้างความร่วมมือกันในการทำงานของหน่วยงานต่างๆ ภายในงานมีกิจกรรมที่น่าสนใจทั้งการเสวนาวิชาการเกี่ยวกับผู้บริโภค การแลกเปลี่ยนเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคในต่างประเทศจากประสบการณ์ของคนทำงานคุ้มครองผู้บริโภคจากเวียดนามและอินเดีย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการร้องเรียนปัญหา แนวทางการพัฒนาให้ผู้บริโภคเข้มแข็ง การนำเสนองานวิจัยที่เกียวกับการคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศไทย มีการจัดการประชุมกลุ่มย่อยในหัวข้อ “What’s next? ความร่วมมือในการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคระดับจังหวัดและระดับประเทศในอนาคต” เพื่อช่วยกันระดมความคิดในการพัฒนาระบบการคุ้มครองผู้บริโภคในเรื่องของการมีหน่วยรับเรื่องร้องเรียนภาคประชาชน เรื่องขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับการมีส่วนร่วมในการคุมครองผู้บริโภค และเรื่องของนวัตกรรมด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและการเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่ประชาคมอาเซียน นอกจากนี้ภายในงานยังมีการมอบรางวัลศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพในหน่วยบริการดีเด่นระดับประเทศปี 2556 โดยผู้ได้รับรางวัลประเภทโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปอันดับที่ 1 ได้แก่ โรงพยาบาลร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด อันดับที่ 2  โรงพยาบาลนครพนม จังหวัดนครพนม และอันดับที่ 3  โรงพยาบาลพะเยา จังหวัดพะเยา ส่วนรางวัลชมเชยได้แก่ โรงพยาบาลสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ ในส่วนของประเภทโรงพยาบาลชุมชน อันดับที่ 1 ได้แก่ โรงพยาบาลกันตัง จังหวัดตรัง อันดับที่ 2 โรงพยาบาลสนม จังหวัดสุรินทร์ และอันดับที่ 3 โรงพยาบาลด่านมะขามเตี้ย จังหวัดกาญจนบุรี ส่วนรางวัลชมเชยได้แก่โรงพยาบาลมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่น และโรงพยาบาลบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี นอกจากนี้ยังมีการมอบรางวัลศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพในหน่วยบริการดีเด่นระดับเขต ประจำปี 2556 ประเภทโรงพยาบาลชุมชนได้แก่ โรงพยาบาลบ้านค่าย จังหวัดระยอง และโรงพยาบาลเรณูนคร จังหวัดนครพนม   ยกเลิกสัญญาอินเตอร์เน็ตไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม ปัญหาเรื่องการถูกเรียกเก็บเงินจากการขอยกเลิกบริการอินเตอร์เน็ตภายในบ้าน เป็นปัญหาที่มีการร้องเรียนมายัง กสทช. เป็นจำนวนมาก จากข้อมูลตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปัจจุบัน มีการร้องเรียนจากผู้บริโภคว่าถูกผู้ประกอบการโทรคมนาคมคิดค่าปรับ ค่าธรรมเนียม หรือค่าใช้จ่ายอื่นใด เมื่อผู้ใช้บริการต้องการยกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนด โดยมีจำนวนเรื่องร้องเรียนทั้งหมด  757 กรณี ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตมักอ้างเหตุผลว่า ฟรีค่าติดตั้งและค่าธรรมเนียมแรกเข้า แต่หากผู้ใช้บริการบอกเลิกการใช้บริการก่อนกำหนดจะต้องจ่ายค่าบริการที่เป็นโปรโมชั่นดังกล่าว เหมือนเป็นการผู้มัดผู้ใช้บริการว่าต้องใช้สินค้าของตนแม้จะใช้แล้วรู้สึกไม่พอใจในสินค้าแต่ก็ห้ามยกเลิก หากยกเลิกต้องเสียเงิน ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อข้อ 15 ของประกาศ กทช. เรื่อง “มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549” ซึ่งห้ามบริษัทผู้ให้บริการคิดค่าปรับ หรือค่าเสียหายจากการที่ผู้ใช้บริการยกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนด ผู้บริโภคจึงมีสิทธิยกเลิกสัญญาใช้บริการอินเตอร์เน็ตกับผู้ให้บริการได้ โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมใดๆ หากผู้บริโภคพบเจอปัญหาดังกล่าวสามารถร้องเรียนไปได้ที่ สายด่วน กสทช. 1200   นักวิชาการชี้ “ยาอมแก้เจ็บคอ” ไม่ช่วยรักษาอาการ นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ยาอมแก้เจ็บคอที่วางขายในท้องตลาดเป็นจำนวนมากนั้น พบว่า มีการผสมยาปฏิชีวนะ 2 ประเภท คือ นีโอมัยซิน (Neomycin) และเบซิทราซิน (Bacitracin) ในปริมาณที่ไม่เพียงพอต่อการฆ่าเชื้อแบคทีเรียในลำคอให้ตาย แต่กลับเข้าไปรบกวนแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ ทำให้เกิดการต่อต้านและกลายพันธุ์เป็นเชื้อแบคทีเรียดื้อยา ซึ่งเป็นปัญหาทั่วโลก ส่วนที่กินแล้วรู้สึกอาการเจ็บคอดีขึ้น เป็นเพราะมียาชา จึงอยากให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เร่งทบทวน และยกเลิกตำรับยาประเภทนี้ เพราะถือเป็นการใช้ยาที่ไม่จำเป็น การเจ็บคอเนื่องจากหวัดนั้นกว่า 70-90% ไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นยาปฏิชีวนะสูตรเดี่ยว หรือยาที่มียาปฏิชีวนะเป็นส่วนผสมมาใช้ในการรักษา เพราะสามารถรักษาให้หายได้ด้วยตัวเอง เช่น 1. ดื่มน้ำมะนาวผสมน้ำผึ้ง 2. ยาอมสมุนไพรฟ้าทลายโจร 3. อมน้ำเกลือกลั้วคอ 4. พักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อสร้างเสริมภูมิต้านทานของร่างกาย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 163 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนกันยายน 2557 บังคับใช้ “ค่าแท็กซี่มิเตอร์” 3 จังหวัดใหญ่ ภูเก็ตเรียกในสนามบินเพิ่ม 100 บ. กระทรวงคมนาคมประกาศอัตราแท็กซี่มิเตอร์ 3 จังหวัดใหญ่ เชียงใหม่-ขอนแก่น-ภูเก็ต 2 จังหวัดแรกเริ่มต้นที่ 2 กม.แรก 40 บาท ส่วนภูเก็ตเรียกในสนามบินบวกเพิ่ม 100 บาท เริ่ม 17 ก.ย. 57 จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดขอนแก่น จังหวัดภูเก็ต อัตราค่าจ้างบรรทุกคนโดยสาร ระยะทาง 2 กิโลเมตรแรก 40 บาทระยะทางกิโลเมตรที่ 2 ขึ้นไปถึงกิโลเมตรที่ 10 กิโลเมตรละ 6 บาท ระยะทางกิโลเมตรที่ 10 ขึ้นไป กิโลเมตรละ 10 บาท กรณีรถไม่สามารถเคลื่อนที่หรือเดินรถต่อ ไปได้เกินกว่า 6 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อัตรานาทีละ 1 บาท ค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นจากค่าจ้างบรรทุกคนโดยสาร ให้กำหนด ดังนี้ (1) กรณีการจ้างผ่านศูนย์บริการสื่อสารเรียกรถยนต์รับจ้าง ให้เรียกเก็บค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารเพิ่มขึ้นจากที่แสดงไว้ในมาตรค่าโดยสารอีก 20 บาท (2) กรณีการจ้างจากภายในท่าอากาศยานเชียงใหม่ ณ จุดที่ได้จัดไว้เป็นการเฉพาะให้เรียกเก็บค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารเพิ่มขึ้นจากที่แสดงไว้ในมาตรค่าโดยสารอีก 50 บาท อัตราค่าจ้างบรรทุกคนโดยสาร ระยะทาง 2 กิโลเมตรแรก 40 บาท ระยะทางกิโลเมตรที่ 2 ขึ้นไปถึงกิโลเมตรที่ 10 กิโลเมตรละ 6 บาท ระยะทางกิโลเมตรที่ 10 ขึ้นไป กิโลเมตรละ 10 บาท กรณีรถไม่สามารถเคลื่อนที่หรือเดินรถต่อ ไปได้เกินกว่า 6 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อัตรานาทีละ 1 บาทค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นจากค่าจ้างบรรทุกคนโดยสาร ในกรณีการจ้างผ่านศูนย์บริการสื่อสาร เรียกรถยนต์รับจ้าง ให้เรียกเก็บค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารเพิ่มขึ้นจากที่แสดงไว้ในมาตรค่าโดยสารอีก 20 บาท อัตราค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารระยะทาง 2 กิโลเมตรแรก 50 บาท ระยะทางกิโลเมตรที่ 2 ขึ้นไปถึงกิโลเมตรที่ 15 กิโลเมตรละ 12 บาท ระยะทางกิโลเมตรที่ 15 ขึ้นไป กิโลเมตรละ 10 บาท กรณีรถไม่สามารถเคลื่อนที่หรือเดินรถต่อไปได้เกินกว่า 6 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อัตรานาทีละ 1 บาท ค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นจากค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารให้กำหนด ดังนี้ (1) กรณีการจ้างผ่านศูนย์บริการสื่อสารเรียกรถยนต์รับจ้าง ให้เรียกเก็บค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารเพิ่มขึ้นจากที่แสดงไว้ในมาตรค่าโดยสาร อีก 50 บาท (2) กรณีการจ้างจากภายในท่าอากาศยานภูเก็ต ณ จุดที่ได้จัดไว้เป็นการเฉพาะให้เรียกเก็บค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารเพิ่มขึ้นจาก ที่แสดงไว้ในมาตรค่าโดยสารอีก 100 บาท ที่มา  http://www.ratchakitcha.soc.go.th   "เครดิตบูโร" เตือน! อย่าหลงเชื่อ เรื่องลบข้อมูลแบล็กลิสต์ได้ นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) เปิดเผยว่า จากข่าวที่มีการจับกุมผู้โฆษณาชวนเชื่อประกาศทางอินเทอร์เน็ตว่าสามารถรับทำบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด สินเชื่อส่วนบุคคล บ้าน รถยนต์ ให้กับผู้ที่ถูกขึ้นบัญชีดำติดแบล็กลิสต์หรือปลดล็อกหนี้จากเครดิตบูโรนั้น เครดิตบูโรอยากจะสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจว่า ข้อมูลในฐานข้อมูลมิใช่ข้อมูลแบล็กลิสต์ หรือเป็นข้อมูลที่แสดงความไม่น่าเชื่อถือของบุคคลใดบุคคลหนึ่งแต่อย่างใด สิ่งที่จัดเก็บตามที่กฎหมายกำหนด คือประวัติการก่อหนี้และประวัติการชำระหนี้ของบัญชีสินเชื่อที่บุคคลนั้นมีอยู่กับสมาชิกของเครดิตบูโร โดยปัจจุบันเครดิตบูโรมีสมาชิกทั้งสิ้น 80 สมาชิก ทั้งนี้ข้อมูลของการก่อหนี้ประเภทต่างๆ รวมทั้งประวัติการชำระเงินที่ไม่มีค้างชำระหรือประวัติการค้างชำระ ถ้ามีตามที่เกิดขึ้นจริงจะมีการจัดเก็บตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด เครดิตบูโรไม่สามารถเปลี่ยนแปลง ลบทิ้งให้ต่างไปจากความเป็นจริงได้ และไม่มีใครไปปลดล็อกอะไรได้ตามที่มีการโฆษณาหลอกลวง อีกทั้งเครดิตบูโรไม่มีการจัดเก็บข้อมูลการชำระ หรือค้างชำระเกี่ยวกับสาธารณูปโภคทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็น เบอร์โทรศัพท์ รายการบัญชีเงินฝาก ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า หรือข้อมูลทรัพย์สิน เงินฝากแต่อย่างใด เพราะกฎหมายไม่อนุญาตให้ดำเนินการจัดเก็บ หากใครฝ่าฝืนจะมีโทษในทางอาญา “การจะแก้ไขข้อมูลในเครดิตบูโรสามารถทำได้ในกรณีที่ข้อมูลนั้นไม่ถูกต้องตามข้อเท็จจริงเท่านั้น โดยต้องมีหลักฐานชัดเจนที่พิสูจน์ได้ว่าข้อมูลไม่ถูกต้องเช่น เจ้าหนี้-ลูกหนี้ยืนยันว่าไม่ถูกต้อง ศาลมีคำพิพากษา ฯลฯ จึงขอให้ประชาชนระมัดระวัง และอย่าหลงเชื่อโดยเด็ดขาด การทำธุรกรรมทางการเงินหรือการขอสินเชื่อนั้น ควรติดต่อสถาบันการเงินที่ได้รับอนุญาตโดยตรงจะปลอดภัยที่สุด” นายสุรพล กล่าว   ห้ามช่อง 3 ออริจินอล ออนเเอร์ผ่านโครงข่ายเคเบิล ดาวเทียม ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์(กสท.) มีมติเมื่อวันที่ 1 ก.ย.ให้สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ในระบบอนาล็อกของบริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด สิ้นสุดสถานะการเป็นฟรีทีวี ตามประกาศหลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป (Must Carry) โดยไม่ขยายเวลาให้อีก จากที่ก่อนหน้านี้เคยขยายเวลาการเป็นฟรีทีวีให้ช่อง 3 อนาล็อกมาแล้วเป็นเวลา 100 วัน นับแต่วันที่ 26 พ.ค. โดยครบกำหนดเมื่อวันที่ 1 ก.ย. ซึ่งส่งผลให้ช่อง 3 อนาล็อก จะไม่สามารถออกอากาศในโครงข่ายทีวีดาวเทียมและเคเบิลได้อีกต่อไป แต่การรับชมผ่านเสาอากาศหนวดกุ้งและก้างปลายังเป็นไปตามปกติ จากกรณีดังกล่าว ทางช่อง 3 ได้ยื่นฟ้องศาลปกครองให้เพิกถอนมติของ กสท. พร้อมขอให้ศาลทุเลาการบังคับใช้มติของ กสท.ดังกล่าว เพื่อให้ช่อง 3 ยังคงออกอากาศผ่านเคเบิลและทีวีดาวเทียมได้ต่อไป จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา แต่ศาลยกคำร้อง ช่อง 3 จึงได้อ้างประกาศ คสช.ฉบับที่ 27 ว่า คุ้มครองให้โทรทัศน์ทุกช่องออกอากาศได้ทุกช่องทาง ทั้งภาคพื้นดิน ดาวเทียมและเคเบิล แต่ทาง คสช. ยืนยันว่า ไม่มีประกาศฉบับใดของ คสช.ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องระบบอนาล็อกหรือทีวีดิจิตอล ช่อง 3 จึงหันมาอ้างจำนวนคนดูช่อง 3 ผ่านระบบเคเบิลและดาวเทียมว่ามีมากถึง 70% ดังนั้นช่อง 3 จึงไม่ควรจอดำจากเคเบิลและดาวเทียม ซึ่งการอ้างดังกล่าวส่งผลให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า ช่อง 3 กำลังจับคนดูเป็นตัวประกัน หลังจากนั้น ได้มีการประชุม กสท.เมื่อ วันที่ 5 ก.ย. แต่ไม่ครบองค์ประชุม ทำให้การประชุมล่ม และนัดประชุมใหม่ในวันที่ 8 ก.ย. อย่างไรก็ตาม กสท. 3 คน ที่เข้าประชุมในวันที่ 5 ก.ย. ประกอบด้วย น.ส. สุภิญญา กลางณรงค์ ,พล.ท. พีระพงษ์ มานะกิจ และ ผศ. ดร. ธวัชชัย จิตภาษ์นันท์ ได้เปิดแถลงจุดยืนส่วนตัวต่อปัญหาช่อง 3 ว่า กสท.ต้องปฏิบัติตามมติเมื่อ วันที่ 1 ก.ย.ด้วยการออกคำสั่งทางปกครองแจ้งให้โครงข่ายเคเบิลและดาวเทียมห้ามออก อากาศช่อง 3 อนาล็อก เนื่องจากไม่มีสถานะเป็นฟรีทีวีแล้ว และให้เคเบิลและดาวเทียมแจ้งผู้ชมทราบเป็นเวลา 15 วันว่าจะไม่สามารถรับชมช่อง 3 อนาล็อกได้อีก หลังการแถลงดังกล่าว ปรากฏว่า ช่อง 3 ไม่พอใจ จึงได้ส่งทนายไปฟ้องต่อศาลอาญาเมื่อวันที่ 8 ก.ย.กล่าวหาว่า กสท. ทั้งสามคนปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดย น.ส. สุภิญญาถูกกล่าวหามากสุด 3 ข้อหา คือ ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หมิ่นประมาท และฝ่าฝืน พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ ซึ่งศาลได้นัดฟังคำสั่งว่าจะรับไว้ไต่สวนมูลฟ้องหรือไม่ ในวันที่ 18 ก.ย. 57 ด้าน น.ส.สุภิญญา กล่าวถึงกรณีที่ถูกช่อง 3 ฟ้องว่า อาจพิจารณา ฟ้องกลับ เนื่องจากเห็นว่าช่อง 3 มีเจตนาไม่บริสุทธิ์ เพราะส่งทนายไปฟ้องก่อนที่จะมีการประชุมบอร์ด กสท. จึงเห็นว่าการกระทำของช่อง 3 อาจเข้าข่ายขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐได้ ภาคประชาสังคมจี้รัฐบาลบรรจุระบบประกันสุขภาพมาตรฐานเดียวในรัฐธรรมนูญ 7 กันยายน 2557 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ร่วมกับกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ จัดเสวนา ‘ระบบหลักประกันสุขภาพยุค คสช. ปฏิรูปอย่างไรเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ’ ณ มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม กรุงเทพฯ น.ส.สุภัทรา นาคะผิว ผู้แทนกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า จากกรณีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พูดผ่านรายการคืนความสุขให้คนในชาติเกี่ยวกับประเด็นหลักประกันสุขภาพอยาก ให้มีการใช้จ่ายเฉพาะคนยากจน นั่นแสดงถึงความไม่เข้าใจในเรื่องดังกล่าวอย่างเพียงพอ ท่านยังมองครอบคลุมเฉพาะกรณีสงเคราะห์ผู้ยากไร้เท่านั้น ทั้งที่ความจริงสิ่งเหล่านี้คือสิทธิของประชาชนทุกคน จึงทำให้เราต้องลุกขึ้นมาเฝ้าจับตา เพราะหวั่นว่าจะมีบุคคลบางกลุ่มพยายามล้มหลักการสำคัญนี้ “เราอยากเห็นระบบหลักประกันสุขภาพมี มาตรฐานเดียว แต่จะรวมกองทุนต่าง ๆ หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจ อย่างไรก็ตาม หากรวมเป็นกองทุนเดียวกันได้ก็จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ” ผู้แทนกลุ่มคนรักหลักประกันฯ กล่าว และว่าในฐานะที่ถูกเสนอชื่อเข้าเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จะทำทุกช่องทางให้เกิดขึ้น เพราะเราอยากเห็นทุกคนที่อยู่บนแผ่นดินไทย ไม่เว้นแม้กระทั่งแรงงานข้ามชาติ ได้รับการดูแล น.ส.สุภัทรา กล่าวต่อว่า แนวทางการปฏิรูปจึงควรบรรจุหลักการให้ระบบหลักประกันสุขภาพมีมาตรฐานเดียว ไว้ในรัฐธรรมนูญ สร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และจัดการกับนโยบายที่อาจเป็นอุปสรรคในการขับเคลื่อนรอบด้าน ด้าน นพ.วชิระ บถพิบูลย์ ผู้แทนชมรมแพทย์ชนบท ระบุถึงความเป็นห่วงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมช.สธ.) ที่เข้ามาบริหารงานด้วยระยะเวลาเพียง 1 ปี ต้องพบกับข้อจำกัดบางประการ กล่าวคือ ระบบหลักประกันสุขภาพยังมีข้อจำกัดด้านงบประมาณ ทำให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ต้องเตรียมทางออกไว้ โดยการปรับลดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการงบประมาณ ส่วนหน่วยบริการต้องปรับเพิ่มประสิทธิภาพการบริการมากขึ้น ขณะที่ความขัดแย้งระหว่าง สธ.กับ สปสช. นั้น เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่น่ากังวล เนื่องจาก สธ.ยังมีแผนเดินหน้าดำเนินการรวบอำนาจกลับคืน ยกตัวอย่าง การจัดตั้งเขตบริการสุขภาพ แต่ความจริงแล้วอยากให้หันกลับมาทบทวนภารกิจเดิมของตัวเองมีความเหมาะสมหรือ ไม่ เพราะปัจจุบัน สธ.มีงบประมาณอยู่ในหน่วยงานต่าง ๆ แต่กลับไม่ได้รับการบริหารจัดการอย่างเหมาะสม เช่น กรมสุขภาพจิตไม่นำผู้ป่วยทางจิตมารับการบำบัดอย่างเต็มที่ กรมควบคุมโรคยังไม่มีวิธีควบคุมโรคท้องถิ่นที่ดีพอ อาทิ โรคไข้เลือดออก โรคฉี่หนู โรคอุจจาระร่วง ขณะที่ น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวถึงข้อเสนอให้มีการปฏิรูประบบบริการฉุกเฉิน ซึ่งที่ผ่านมามีการดำเนินโยบายที่ดี แต่เกิดปัญหาในเชิงบริการจัดการมาก จึงเรียกร้องให้ สธ.ออกประกาศบังคับให้โรงพยาบาลเอกชนยอมรับอัตราร่วมจ่ายกรณีฉุกเฉิน และต้องมีระบบสำรองเตียงนอนขั้นต่ำ 10% ให้กับผู้ป่วยทุกคนและเพิ่มตามสัดส่วนกำไรของโรงพยาบาล “เราได้รับจดหมายจากสภาผู้แทนราษฎรแจ้งกรณีประชาชนขอเข้าชื่อ 1 หมื่นชื่อ เพื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองผู้ได้รับความเสียหายด้านการบริการสาธารณสุขไม่สามารถดำเนินการได้ แล้ว เนื่องจากรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ถูกยกเลิก และยังไม่ได้เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จึงขอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และคสช.นำเรื่องนี้ขึ้นมาวินิจฉัยด้วย โดยทำอย่างไรให้เกิดกลไกการมีส่วนร่วม”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 162 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนสิงหาคม 2557 คนไทยติดมือถือ โฮเทลส์ ดอทคอม เผยคนไทยติดมือถืออันดับ 1 จากกลุ่มตัวอย่างนักท่องเที่ยวจาก 28 ประเทศ ที่พกมือถือตลอดเวลาแม้แต่ไปพักร้อน โดยคนไทย โดย 6 ใน 10 ใช้เวลาไปกับการเช็กอีเมล์บนมือถือ และ 100% ใช้เพื่อเชื่อมต่อกับโลกโซเชียล         คลีนฟู้ด กู้ดเทสต์ ไม่ผ่านมาตรฐาน กรมอนามัย เผยร้านค้าที่เคยผ่านมาตรฐานโครงการคลีนฟู้ด กู้ดเทสต์ พลัส ล่าสุดไม่ผ่านเกณฑ์ถึงร้อยละ 27 เล็งยกระดับมาตรฐานร้านจำหน่ายอาหาร มอบป้าย Clean Food Good Taste Plus ให้ร้านอาหารไทยปลอดภัย สุขภาพดี ที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน 7 ข้อ สร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค เกณฑ์มาตรฐานร้านอาหาร Clean Food Good Taste Plus มีดังนี้ 1. ต้องผ่านเกณฑ์มาตรฐานอาหารสะอาด รสชาติอร่อย 2. มีช้อนกลางสำหรับผู้บริโภค 3. มีอ่างล้างมือสำหรับผู้บริโภค 4.ส้วมในร้านอาหารผ่านเกณฑ์มาตรฐาน HAS (Healthy Accessibility Safety) และมีส้วมสำหรับผู้พิการ ที่รถเข็นสามารถเข้าถึงได้ 5. ผักสดปลอดสารพิษฆ่าแมลง 6. ผู้สัมผัสอาหารต้องผ่านการอบรมและมีบัตรประจำตัวผู้สัมผัสอาหาร และ 7. ใช้ถุงมือสัมผัสอาหาร   ยอดโรงเรียนกวดวิชาพุ่ง สะท้อนระบบการศึกษาที่มีต้นทุนสูง รายงานจากกระทรวงศึกษาธิการ พบผู้ประกอบการธุรกิจกวดวิชาโรงเรียนกวดวิชาและติวเตอร์อิสระรายใหม่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปีเฉพาะปี 2555 ประเทศไทยมีโรงเรียนกวดวิชา 2,005 แห่ง อยู่ในกรุงเทพฯ 460 แห่ง และภูมิภาค 1,545 แห่ง มีนักเรียนเรียนกวดวิชา 453,881 คน หรือ12% ของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาทั้งหมด โดยมูลค่าการตลาดของธุรกิจกวดวิชา ปี 2556 ประมาณ 7,160 ล้านบาท เพิ่มจากปี 2555 ที่มีมูลค่า 7,000 ล้านบาท และคาดว่าปี 2558 จะเติบโตไปสู่ 8,189 ล้านบาท เพิ่ม 5.4% ซึ่งการเติบโตนี้มีปัจจัยหนุนมาจากการเพิ่มราคาค่าเรียน และจำนวนนักเรียนที่เรียนกวดวิชาเพิ่มขึ้น นักเรียนส่วนใหญ่ต่างต้องการผลการเรียนที่ดีขึ้น ช่วยเพิ่มโอกาสในการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย ส่งผลให้ต้นทุนการศึกษาสูง ผู้ปกครองเดือดร้อน นักเรียนเองก็แบกรับความทุกข์จากการเรียนทั้งในและนอกเวลา นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า “หลังจากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ขอให้ ศธ.ลดเวลาเรียนลงจึงได้มอบหมายให้สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา ไปวิเคราะห์แล้วและคาดว่าการปรับลดเวลาเรียนคงไม่ได้ปรับใหญ่เพราะชั่วโมงเรียนไปสัมพันธ์กับหน่วยกิตการเรียนการสอน ดังนั้นเบื้องต้นอาจปรับลดชั่วโมงเรียนในบางวิชาลง เช่น วิชาสังคมศึกษาที่มีการเรียนเรื่องประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมืองให้จัดการเรียนการสอนในรูปแบบของกิจกรรมแทน เป็นต้น     พบผู้ประกันตนเมินสิทธิฉุกเฉิน เหตุกลัว รพ.เก็บเงิน นพ.ถาวร สกุลพาณิชย์ ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ในฐานะที่ปรึกษาโครงการวิจัยเรื่อง "การบริหารจัดระบบบริการทางการแพทย์กรณีฉุกเฉินตามนโยบายบริหารจัดการร่วม สามกองทุน" ระบุ นโยบายการรักษาดังกล่าวมีการให้บริการที่รวดเร็ว รักษาทุกที่ ทั่วถึงทุกคน รวมทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชนไม่มีการปฏิเสธการรักษาคนไข้ตามมาตรฐานสากล ทำให้ผู้ประกันตนเข้าถึงบริการรักษาพยาบาลเจ็บป่วยฉุกเฉินได้มากขึ้น แต่ปัญหาที่พบคือ ผู้ประกันตนส่วนใหญ่ยังไม่รู้ว่าจะใช้สิทธิได้ที่ใด และยังกังวลว่าโรงพยาบาลเอกชนจะไม่รับรักษา เนื่องจากเรื่องของค่ารักษาพยาบาล ซึ่งยังไม่มีการกำหนดในกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างชัดเจนว่า ให้โรงพยาบาลที่ให้การรักษาเก็บเงินค่ารักษาพยาบาลจากหน่วยงานใด ทำให้เกิดความสับสนในการจัดการค่าใช้จ่าย แม้โรงพยาบาลเอกชนส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือไม่เก็บค่ารักษาพยาบาลจากผู้ป่วย โดยไปเบิกจากกองทุนประกันสังคมผ่านหน่วยงานกลางของสำนักงานหลักประกันสุขภาพ แห่งชาติ (สปสช.) และมีโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งยังคงเรียกเก็บเงินค่ารักษาจากคนไข้ บางรายต้องกู้เงินมาจ่ายค่ารักษาจนเป็นหนี้สิน เสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขกฎหมายนโยบายการรักษาเจ็บป่วยฉุกเฉิน เพื่อกำหนดการจัดการค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลให้ชัดเจน โดยห้ามโรงพยาบาลรัฐและเอกชนที่ให้การรักษาเรียกเก็บเงินจากคนไข้โดยเด็ดขาด "ส่วนการจ่ายค่ารักษาให้แก่โรงพยาบาลเอกชนนั้น ควรใช้อัตราเดียวกับที่กรมบัญชีกลางจ่ายให้แก่โรงเรียนแพทย์ และจ่ายเพิ่มเติมในส่วนของค่าตอบแทนแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ โดยอัตราที่จ่ายนั้นพิจารณาตามความเหมาะสม ส่วน สปส.ควรจัดให้มีสายด่วนกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน แยกจากสายด่วนปกติและจัดให้พยาบาลซึ่งมีความรู้ด้านโรคต่างๆ มาเป็น Call Center" นพ.ถาวรกล่าว   คนพิการทวงคืนพื้นที่ ที่จอดรถห้างชื่อดัง ต้นเดือนที่ผ่านมามีการแชร์คลิปหนึ่งที่สร้างความฮือฮามากเรื่อง การทวงสิทธิที่จอดรถคนพิการในห้างดัง ในคลิปเป็นภาพชายหนุ่มพิการนั่งรถวีลแชร์ไปทวงถามพื้นที่จอดรถสำหรับคนพิการ ซึ่งกลายเป็นที่จอดรถพิเศษของลูกค้าวีไอพีของห้างไป ทั้งที่มีการระบุสัญลักษณ์คนพิการอย่างชัดเจน ชายหนุ่มพิการอธิบายว่า ลานจอดรถชั้นนี้ยังมีช่องจอดรถว่างอยู่พอสมควร แต่ทุกครั้งที่มาห้างแห่งนี้ พื้นที่จอดรถของคนพิการ มักมีรถเก๋งคันหรูจอดเต็มอยู่เสมอ ขณะที่ในคลิปวิดีโอยังเผยให้เห็นเจ้าหน้าที่หญิงคนหนึ่ง ซึ่งประจำลานจอดรถได้เข้ามาชี้แจง พร้อมกับอธิบายและขอโทษเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้น ชายหนุ่มพิการก็ระบุว่าไม่ได้กล่าวโทษใดๆ เนื่องจากสิ่งที่เกิดขึ้น หากไม่ได้รับคำสั่งคงไม่เปิดให้รถเก๋งคันหรูเหล่านี้มาจอดในพื้นที่สำหรับคนพิการ พร้อมกับกล่าวว่าเจ้าของรถเหล่านี้ไม่มีจิตสำนึกและถ่ายภาพป้ายทะเบียนรถเอาไว้เป็นหลักฐาน หลังจากแชร์กันสนั่นและวิจารณ์กันไปจนทั่วโลกโซเชียล ท้ายที่สุด ห้างดังก็ต้องออกมาขอโทษและรับปากจะไม่ละเมิดสิทธิผู้พิการอีก     สารพิษตกค้างเพียบในผัก ผลไม้ แม้มีตรา Q การันตี ไทยแพน(เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช) และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผยผลการสุ่มเก็บตัวอย่างผัก-ผลไม้ เพื่อหาสารเคมีตกค้างปี 2557 พบ ผัก-ผลไม้ที่ได้รับตรารับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร มีสารตกค้างสูงถึงร้อยละ 87.5 ซึ่งมากกว่าผัก-ผลไม้ ที่วางขายในตลาดทั่วไป นายพชร แกล้วกล้า ผู้ประสานงานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผยสุ่มเก็บตัวอย่างผัก-ผลไม้ จาก 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ สงขลา ขอนแก่น และยโสธร รวม 118 ตัวอย่าง พบว่าผักผลไม้เกือบครึ่งหนึ่ง คือร้อยละ 46.6 ของตัวอย่างที่สุ่มตรวจ มีสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างที่เกินมาตรฐาน MRL หรือปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดที่กำหนดไว้ใน มกอช. ด้านนางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานจากไทยแพน ระบุ หากจำแนกตามประเภทแหล่งจำหน่าย พบว่า ผักผลไม้ที่พบการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมากที่สุด คือผักผลไม้ที่ได้ตรารับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร หรือ ตรารับรองมาตรฐาน "Q" พบการตกค้างมากถึงร้อยละ 87.5 และไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน MRL มากถึงร้อยละ 62.5 รองลงมาคือผักผลไม้ที่จำหน่ายในห้างค้าปลีก ส่วนแหล่งที่พบผักผลไม้เกินมาตรฐาน MRL น้อยที่สุดกลับเป็นตลาดทั่วไป โดยผลไม้ที่มีสารเคมีตกค้างมากที่สุด ได้แก่ ส้มสายน้ำผึ้ง รองลงมาคือ ฝรั่ง ส่วนที่พบสารตกค้างน้อยสุดคือ แตงโม ข้อสังเกตจากการทดสอบ พบว่า สารเคมีที่ตกค้างในผักผลไม้ทุกชนิด คือ คลอร์ไพริฟอสและไซเปอร์เมทริน รวมทั้งสารคาร์เบนดาซิม ที่พบตกค้างในส้ม แอปเปิ้ลและสตรอว์เบอร์รี่ นั้นสูงกว่าค่า MRL หลายเท่าตัว เพราะคาร์เบนดาซิม เป็นสารดูดซึมการตกค้างจะเข้าไปในเนื้อผลไม้และไม่สามารถกำจัดได้ด้วยการล้างน้ำ องค์กรผู้บริโภคและเครือข่ายเตือนภัยจึงมีข้อเสนอดังนี้  1.ให้ มกอช. ร่วมกับกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรฯ ปฏิรูปการออกเครื่องหมายรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร หรือ Q ให้เป็นที่พึ่งของผู้บริโภคได้จริง 2.ให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายเร่งจัดการปัญหาเรื่องการควบคุมการนำเข้าและจำหน่ายสารเคมีทางการเกษตรกลุ่มที่มีอันตรายร้ายแรง และดูดซึมอย่างเข้มงวด โดยเปิดให้ทุกภาคส่วนเข้าไปมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ  และ 3.เร่งสร้างระบบเตือนภัยความปลอดภัยด้านอาหาร(Rapid Alert System for Food) ภายในปี 2558

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 161 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนกรกฎาคม 2557 เด็กไทย...เหยื่อโฆษณาอาหาร มีเดียมอนิเตอร์ร่วมกับแผนงานวิจัยนโยบายอาหารและโภชนาการเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ ได้ศึกษาการโฆษณาอาหารและเครื่องดื่มในรายการสำหรับเด็ก ทางฟรีทีวี 4 ช่อง ได้แก่ ช่อง 3 5 7 และ 9 ช่วงปิดเทอมใหญ่ ระหว่างวันที่ 24 มี.ค. ถึง 4 เม.ย. 2557 พบว่า ร้อยละ 94 ของอาหารและเครื่องดื่มที่โฆษณาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าทางโภชนาการไม่เหมาะสม ส่วนใหญ่เป็นเครื่องดื่ม นม และขนมขบเคี้ยว ซึ่งโฆษณาที่เป็นปัญหามักใช้กลยุทธ์ต่างๆ ดึงดูดความสนใจของเด็กๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้พรีเซนเตอร์ที่เป็นดาราดัง ใช้การ์ตูน ทำให้อาหารมีขนาดใหญ่เกินความเป็นจริง กระตุ้นให้กินเกินความจำเป็น บ้างก็อ้างถึงขนาดว่ากินแทนอาหารมื้อหลักได้ ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ผู้อำนวยการโครงการมีเดียมอนิเตอร์ กล่าวว่า ปัจจุบันกฎหมายควบคุมการโฆษณาไม่ครอบคลุมการโฆษณาที่มีรูปแบบและเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมกับเด็ก อย., กสทช. และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ควรเร่งออกข้อกำหนดในการควบคุมโฆษณาอาหารและเครื่องดื่มที่มีคุณค่าทางโภชนาการไม่เหมาะสม เพราะขณะนี้พบว่ามีเด็กไทยจำนวนไม่น้อยที่มีภาวะโภชนาการไม่เหมาะสมกับวัย เกิดภาวะอ้วน ขาดสารอาหาร และรุนแรงถึงขั้นเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังอย่าง เบาหวาน หัวใจ ไต ความดัน   ใช้ “ทิชชู” ซับน้ำมัน เสี่ยงอันตราย!!! จริงหรือ ใครที่ชอบใช้กระดาษทิชชูซับน้ำมันจากอาหาร ต้องระวังให้ดี เพราะกรมอนามัยได้ออกมาเตือนว่า ในกระดาษทิชชูมีสารโซเดียมไฮดรอกไซด์ซึ่งทำปฏิกิริยากับโปรตีนและไขมัน ทำให้มีฤทธิ์กัดกร่อน หากหายใจเข้าไปจะทำให้ระคายเคืองทางเดินหายใจ หากสัมผัสถูกผิวหนังจะระคายเคืองรุนแรง นอกจากนี้ยังมีสารก่อมะเร็ง หากกินเข้าไปก็อาจเป็นอันตรายกับกระเพาะอาหาร กระบวนการผลิตกระดาษทิชชู นิยมใช้กระดาษมาหมุนเวียนใหม่เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เช่น นำกระดาษ A4 ที่ใช้แล้วมาผลิตกระดาษทิชชู ซึ่งการตีวัตถุดิบให้เป็นเนื้อเยื่อต้องใช้สารโซเดียมไฮดรอกไซด์ หรือ โซดาไฟ และเพื่อความขาวน่าใช้ จึงมีการใช้สารคลอรีนฟอกขาว ซึ่งมีสารไดออกซินเป็นส่วนประกอบ การใช้ทิชชูซับน้ำมันจากอาหาร กระดาษจะสัมผัสกับอาหารโดยตรง จึงควรเลือกใช้กระดาษที่ผลิตมาเพื่อใช้กับอาหารโดยเฉพาะ และต้องผ่านการรับรองตามมาตรฐานระดับสากล เช่น HACCP ซึ่งเป็นมาตรฐานการผลิตที่มีมาตรการป้องกันอันตรายที่ผู้บริโภคอาจได้รับจากการบริโภคอาหาร แต่หลังจากที่มีข่าวดังกล่าวเผยแพร่ออกไป ก็ได้มีนักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่ง ได้ออกมาโต้แย้งในข้อมูลดังกล่าว ว่า กระดาษ อนามัยหรือกระดาษทิชชูนั้น ไม่ได้มีความน่ากลัวตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด และแทบจะไม่มีโซดาไฟ และสารไดออกซินอยู่เลย ดร.ภูวดี ตู้จินดา อธิบายผ่านเฟสบุ๊กส่วนตัว ว่า สารพิษที่เป็นข่าวอยู่นั้น ไม่ว่าจะเป็นไดออกซินหรือโซเดียมไฮดร็อกไซด์ ไม่ได้เกิดขึ้น ใน "กระบวนการผลิตกระดาษ" แต่ถูกใช้ใน "กระบวนการฟอกเยื่อ" ดังนั้นการจะมีโซดาไฟปริมาณมากพอ ที่ก่อให้เกิดปัญหาทางสุขภาพปนเปื้อนอยู่ในเยื่อกระดาษธรรมดาๆ นั้นว่าน้อยแล้ว สำหรับกระดาษทิชชูนั้นยิ่งน้อยกว่า อีกทั้งโรงงานฟอกเยื่อเกือบทั้งหมดในประเทศไทยใช้สาร "คลอรีนไดออกไซด์" ซึ่งอาจทำให้เกิดสารพิษที่เรียกสั้นๆ ว่า AOX แต่ไม่เกิด "ไดออกซิน" เมื่อ "เยื่อกระดาษ" ไม่มีโซดาไฟ และ(แทบ)ไม่มีไดออกซิน กระดาษทิชชูจึงแทบไม่มีไดออกซินด้วย   ปรากฏการณ์ “คุกกี้ รัน” ดูดเงินแสน ถือเป็นเรื่องระดับ Talk of the Town เมื่อจู่ๆ มีผู้บริโภคนับ 10 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กๆ และผู้ปกครอง พร้อมใจกันออกมาโวยว่าตัวเองถูกเรียกเก็บค่าบริการโทรศัพท์แพงจนน่าตกใจ บางรายถูกเรียกเก็บหลักแสนบาท ซึ่งเมื่อตรวจสอบดูก็พบว่าเป็นผลมาจากการเล่นเกมชื่อดังบนมือถือ อย่าง “คุกกี้ รัน” ซึ่งเงินจำนวนมหาศาลที่ถูกเรียกเก็บเกิดจากการซื้อของต่างๆ ที่อยู่ในเกม เด็กที่เล่นเกมไม่รู้ว่าเมื่อกดซื้อแล้วจะต้องเสียเงิน ทำให้ถูกเรียกเก็นเงินเป็นจำนวนมากรวมไปกับค่าบริการปกติ การแก้ปัญหา ทาง สคบ.ได้เชิญผู้เสียหายมาเจรจากับผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ เพื่อร่วมกันเพื่อหาทางออก แม้เบื้องต้นทางผู้ให้บริการจะยอมยกเลิกการเรียกเก็บเงิน เพราะเห็นว่าเป็นความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของผู้ใช้โทรศัพท์ แต่ดูแล้วมีโอกาสที่ปัญหาในลักษณะนี้อาจเกิดขึ้นซ้ำ ทาง สคบ.จึงร่วมกับ กสทช. เตรียมปรับปรุงแก้ไขประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่องให้ธุรกิจการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นธุรกิจควบคุมสัญญาโดยเพิ่มข้อกำหนดของสัญญาการให้บริการให้ชัดเจน เพื่อป้องกันปัญหาผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือถูกเรียกเก็บค่าใช้บริการเป็นจำนวนมาก พร้อมทั้งจะมีการจัดการปัญหาข้อความเอสเอ็มเอส ต่างๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการดูดวง ทายหวย หรือการโฆษณาต่างๆ ที่ส่งมาให้ผู้บริโภคโดยใช้กลยุทธ์บริการฟรี 7 วัน พอถึงวันที่ 8 ก็ต่ออายุอัตโนมัติและคิดเงินทันทีโดยที่ผู้ใช้มือถือไม่รู้ ซึ่งตามกฏหมาย สคบ.ก็มีการคุ้มครองผู้บริโภคในเรื่องของโฆษณาที่สร้างความรำคาญ มีโทษจำคุก ไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ   สคบ. เตรียมตั้ง “ศูนย์คุ้มครองผู้บริโภคแห่งชาติ” สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เตรียมจัดตั้งศูนย์คุ้มครองผู้บริโภคแห่งชาติ ซึ่งถือเป็นการปรับโครงสร้างการทำงานของ สคบ.ครั้งใหญ่ เพราะจะเป็นการรวบรวมงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคของ 10 กระทรวงและ 20 กรม เข้ามารวมกันเพื่อแก้ไขปัญหาให้รวดเร็วมากขึ้น ตั้งกองทุนเยียวยาผู้บริโภค คอยทำหน้าที่จ่ายเงินชดเชยค่าเสียหายให้ผู้บริโภคในช่วงที่คดีกำลังอยู่ในขั้นตอนการฟ้องร้อง โดยศูนย์ดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งตามแผนแม่บทการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งจากการที่ สคบ. ได้ประชุมร่วมกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เห็นชอบให้แก้ไขกฎหมายของ สคบ.ฉบับเดิมให้ครอบคลุมกับแผนดังกล่าว คาดว่าศูนย์นี้จะดำเนินงานได้ภายใน 3 - 6 เดือน โดยจะให้นายกรัฐมนตรี หรือรองนายกที่นายกฯ มอบหมายมาเป็นประธานศูนย์ฯ หน้าที่ของหลักศูนย์ฯ จะรวบรวมงานที่ซ้ำซ้อนของแต่ละหน่วยงาน ที่มีข้อกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค มาเร่งแก้ไขในจุดเดียวลดขั้นตอนการดำเนินงานที่ล่าช้า พร้อมทั้งมีหน่วยงาน สคบ.ระดับภูมิภาครับเรื่องร้องเรียน และไกล่เกลี่ยให้จบภายในระดับภูมิภาค รวมถึงสร้างองค์ความรู้ และสร้างเครือข่ายระดับท้องถิ่น โดยเชื่อว่าหากมีศูนย์ดังกล่าวจะช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าใจ เข้าถึง สคบ.มากขึ้น ปริมาณเรื่องร้องเรียนที่มีเข้ามาก็น่าจะเพิ่มขึ้นจากปีละแค่ 8,000-10,000 เรื่อง เป็น 100,000 เรื่อง   8 เครือข่ายองค์กรสุขภาพ ร้อง คสช.- ดีเอสไอ เอาผิดบอร์ดและ ผอ.องค์การเภสัช 8 เครือข่ายองค์กรสุขภาพ ประกอบด้วย ชมรมแพทย์ชนบท, ชมรมเภสัชชนบท, กลุ่มศึกษาปัญหายา, กลุ่มคนรักหลักประกัน, เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ, สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค, มูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา และมูลนิธิเภสัชชนบท ได้ยื่นหนังสือต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และสำนักงานกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ เพื่อให้พิจารณาปลดและตรวจสอบการทำงานของคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ชุดที่มี นายแพทย์พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เป็นประธาน และนายแพทย์สุวัช เซียศิริวัฒนา ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม มีพฤติกรรมส่อทุจริต และทำให้เกิดความเสียหายต่อรัฐเป็นคดีพิเศษ โดยมี 2 ประเด็นที่ให้ดีเอสไอพิจารณารับเป็นคดีพิเศษ คือ ปัญหาการก่อสร้างโรงงานผลิตยาที่รังสิต ขององค์การเภสัชกรรมที่ ผอ. และบอร์ดยกเลิกการจัดซื้อจัดจ้าง และมีการเอื้อแก่บริษัทที่เคยทิ้งงานและไม่ขึ้นบัญชีดำบริษัทที่ทิ้งงาน ทั้งที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเคยได้ทักท้วงมา นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งประเด็น คือเรื่องการก่อสร้างโรงงานวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ซึ่งหลังจากบอร์ดปลด นายแพทย์วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการ องค์การเภสัชกรรมในขณะนั้นไปแล้ว กลับไม่มีการเร่งรัดเพื่อให้การก่อสร้างให้แล้วเสร็จโดยเร็วตรงกันข้ามกลับมีการดำเนินการล่าช้า ที่สำคัญขณะนี้โรงพยาบาลในต่างจังหวัดจำนวนมากเผชิญภาวะยาขาด สาเหตุจากการที่ ผอ.อภ. และบอร์ด อภ. แก้ไขปัญหาภาวะขาดทุนด้วยการสั่งงดผลิตยาจำเป็น เช่น ยาเบาหวาน ซึ่ง อภ. เป็นผู้ผลิตส่งให้โรงพยาบาลต่างๆ ของรัฐราว 80% ของที่ใช้กับคนไข้ในประเทศ นอกจากนี้ อภ. ยังขาดส่งยาไปยังกองทุนยาต้านไวรัสกว่า 400 ล้านบาท และมีแนวโน้มว่า หากไม่มีการแก้ปัญหาวัตถุดิบยา ต่อไปคนไข้อาจขาดยา นอกจากนี้ นพ.สุวัช ยังเสนอตัดงบเรื่องการทำงานวิจัย 45 ล้าน เพื่อแก้ปัญหาขาดทุน ถือเป็นการแก้ปัญหาโดยไม่คำนึงถึงอนาคตของ อภ.ที่ต้องให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 160 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนมิถุนายน 2557 ไม่อยากมีปัญหา อย่ากิน “ยาสลายมโน” ปราบยังไงก็ไม่หมดจริงๆ สำหรับบรรดาผลิตภัณฑ์อาหารเสริมอวดอ้างสรรพคุณที่โฆษณาขายกันอย่างโจ๋งครึ่ม ทำผู้บริโภคตกเป็นเหยื่อแล้วเป็นจำนวนมาก ล่าสุดมีผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ที่ใช้ชื่อว่า “ยาเม็ดสลายมโน” (แค่ชื่อก็ดูไม่น่าเชื่อถือแล้ว) ที่กำลังระบาดหนักทางโซเชียลมีเดีย โดยยาสลายมโนอวดอ้างสรรพคุณด้วยประโยคเด็ดว่า “กินแล้วมโนภาพ จินตนาการ หรือความเพ้อเจ้อ เพ้อฝันว่าจะมีหน้าอกสวยงาม กระชับ เต่งตึงได้รูปจะเป็นจริง” สาวๆ หลายคนอ่านแล้วก็หลงเชื่อ เผลอนโมไปว่ากินยานี้แล้วเราของจะสวยขึ้นแน่นอน ซึ่งราคาขายอยู่ที่กระปุกละ 590 – 700 บาท อย.เห็นแบบนี้เข้าจึงอยู่เฉยไม่ไหว ต้องออกโรงเตือนอย่าหลงเชื่อซื้อยาสลายนโนมากินเด็ดขาด เพราะเข้าข่ายโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง กินแล้วไม่ได้อย่างคำโฆษณาแถมอาจเสี่ยงจากโรคอื่นเป็นของแถม ก่อนตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์อาหารใดๆ ขอให้พิจารณา อ่านฉลาก และตรวจสอบข้อมูลให้ถ้วนถี่ หรือนำเลขที่สารบบในกรอบเครื่องหมาย อย. ไปตรวจสอบกับทาง อย. หากผู้บริโภคพบการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่โอ้อวดเกินจริง หรือได้รับอันตรายจากการใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ขอให้ร้องเรียนไปที่ สายด่วน อย. โทร. 1556   “แอลกอฮอล์อุ่นอาหาร” สารพิษสูง ใครที่ทานอาหารตามร้านอาหารบ่อยๆ คงจะคุ้นตากับ “แอลกอฮอล์อุ่นอาหาร” ที่หลายๆ ร้านใช้อุ่นอาหารพวกต้มยำหม้อไฟที่นำมาวางเสิร์ฟบนโต๊ะให้ร้อนอยู่เสมอ ซึ่งจากนี้ไปมื้อไหนที่มีแอลกอฮอล์อุ่นอาหารอยู่บนโต๊ะ ก็อย่ามัวแต่เพลินกับความอร่อย ต้องสังเกตแอลกอฮอล์อุ่นอาหารเพราะมันอาจมาพร้อมกับสารเคมี อย. ได้ตรวจจับแอลกอฮอล์อุ่นอาหาร ยี่ห้อ “กรีนพาวเวอร์” จำนวน 50 ลัง น้ำหนักรวม 2,266 กิโลกรัม และแอลกอฮอล์แข็ง-เจล จำนวน 122 ถัง น้ำหนักรวม 1,586 ลิตร มาเผาทำลาย เนื่องจากมีการตรวจวิเคราะห์พบปริมาณเมทานอลเกินกว่ากำหนด คือ 86.7% ทั้งที่มาตรฐานต้องไม่เกิน 1% เข้าข่ายเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ซึ่งห้ามผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครอง สำหรับผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์อุ่นอาหารเป็นผลิตภัณฑ์ที่พบว่ามีใช้กันอย่างแพร่หลาย ใช้อุ่นอาหารประเภทหม้อไฟ ซึ่งผลิตภัณฑ์นี้จัดเป็นวัตถุอันตรายถูกกำกับควบคุมโดย อย. สำหรับอันตรายของแอลกอฮอล์อุ่นอาหาร หากสูดดมเข้าไปจะทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ ตาพร่า และถ้าสูดดมในปริมาณมากอาจทำให้เสียชีวิตได้ เพราะฉะนั้น ผู้ประกอบการร้านอาหารหรือใครที่จะเลือกซื้อผลิตภัณฑ์นี้ ต้องเลือกที่มีเครื่องหมายมาตรฐาน สมอ. กำกับเพื่อความปลอดภัย   “ซิมดับ” มาแน่ กันยายนนี้ กสทช. เตือนคนที่ใช้โทรศัพท์มือถือในคลื่นความถี่ 1800 MHz (เมกกะเฮิร์ตช) รีบทำการโอนย้ายเปลี่ยนแปลงระบบ ก่อนจะเจอกับอาการซิมดับของจริงในเดือนกันยายน 2557 นี้ โดยตัวเลขผู้ใช้โทรศัพท์ที่ยังคงค้างอยู่ในคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ของ 2 บริษัท ประกอบด้วย ทรูมูฟ ซึ่งมีจำนวนลูกค้าเหลืออยู่ทั้งสิ้นราว 5 ล้านกว่าราย ส่วนดีซีพีเหลือประมาณ 6,000 ราย ผู้ใช้เลขหมายคลื่นความถี่ 1800 ส่วนใหญ่เป็นลักษณะการใช้งานโทรออก-รับสาย และส่ง SMS เป็นหลัก การใช้งานไม่สลับซับซ้อน ไม่ใช่การส่งภาพหรือใช้อินเตอร์เน็ต ปัญหาคือ ผู้ใช้เลขหมายบางคนไม่ได้เป็นคนซื้อโทรศัพท์หรือดำเนินการเอง เช่น ลูกซื้อให้พ่อ-แม่ คนใช้งานอาจไม่ได้ใส่ใจหรือติดตามข่าวสารว่า เลขหมายของตัวเองอยู่ในข่ายที่ต้องโอน ผู้ที่ยังใช้โทรศัพท์ในเครือข่าย 1800 MHz หรือไม่แน่ใจว่าตัวเองอยู่ในระบบใด ให้รีบติดต่อกับผู้ให้บริการเครือข่ายและทำการย้ายโอนเครือข่าย เพื่อป้องกันปัญหาซิมดับที่ส่งผลต่อการใช้งานโทรศัพท์มือถือ   ไขปริศนา สารก่อมะเร็งในขวดน้ำพลาสติก จากกระแสข่าวลือที่สะพัดบนโลกออนไลน์ว่า น้ำดื่มบรรจุขวดพลาสติกที่ถูกทิ้งตากแดดไว้ในกระโปรงท้ายรถยนต์ เป็นตัวการที่ก่อให้เกิดมะเร็ง เพราะจะมีสารไดออกซิน สร้างความสับสนและกังวลของผู้คนในสังคม ว่าข่าวดังกล่าวจริงเท็จประการใด เพื่อไขข้อข้องใจทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จึงได้ออกมาชี้แจงในเรื่องนี้ว่า เรื่องสารก่อมะเร็งในขวดน้ำพลาสติกนั้น เป็นเรื่องไม่จริง โดยสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร ได้ซื้อตัวอย่างน้ำดื่มที่บรรจุในขวดพลาสติกชนิดโพลิเอทิลีน โพลิเอทิลีนเทเรฟทาเลต โพลิพรอพิลีน โพลิคาร์บอเนต และโพลิไวนิลคลอไรด์ที่จำหน่ายในตลาดสดและซูเปอร์มาร์เก็ต จำนวน 18 ยี่ห้อ และนำไปวางในรถที่จอดกลางแดดเป็นเวลา 1 วัน และ 7 วัน จากนั้นตรวจวิเคราะห์สารประกอบกลุ่มไดออกซิน จำนวน 17 ตัว และพีซีบี จำนวน 18 ตัว พบว่า ตรวจไม่พบสารประกอบกลุ่มไดออกซินและพีซีบีในทุกตัวอย่าง สารไดออกซินเป็นสารที่เกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของเคมีภัณฑ์ที่มีสารคลอรีนเป็นองค์ประกอบ เช่น อุตสาหกรรมผลิตเยื่อกระดาษ อุตสาหกรรมผลิตยาฆ่าแมลง เป็นต้น หรือกระบวนการเผาไหม้อุณหภูมิสูงทุกชนิด เช่น เตาเผาขยะทั่วไป เตาเผาขยะจากโรงพยาบาล เตาเผาศพ การเผาไหม้ของเชื้อเพลิง และการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง เป็นต้น กรณีที่สารไดออกซินจะละลายออกมาจากขวดบรรจุน้ำที่วางไว้ในที่ร้อนๆ อย่าง หลังรถยนต์ ยังไม่เคยมีรายงานทางวิทยาศาสตร์ที่ยืนยันการตรวจพบมาก่อน   เด็กไทยยังเสี่ยงสารตะกั่วจากตู้น้ำดื่ม กระทรวงสาธารณสุขเผยผลสำรวจที่น่าตกใจ เด็กไทยทั่วประเทศยังคงเสี่ยงกับสารตะกั่วจากตู้น้ำดื่ม เหตุเพราะตู้น้ำไม่ได้มาตรฐาน แถมยังสกปรกส่งผลให้เด็กป่วยเป็นเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร จากข้อมูลสำรวจการปนเปื้อนตะกั่วในน้ำดื่มจากตู้ทำเย็นของโรงเรียนในจังหวัดต่างๆ พบว่าส่วนหนึ่งยังมีค่าสูงเกินมาตรฐานคุณภาพน้ำบริโภคกรมอนามัย พ.ศ. 2553 คือ 0.01 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งจากการเก็บตัวอย่างเครื่องทำน้ำเย็นที่ใช้ตะกั่วเป็นตัวเชื่อมตะเข็บรอยต่อทั้งตู้ใหม่ และตู้เก่าที่ผ่านการซ่อม พบว่า มีการเชื่อมทั้งบริเวณมุมของภายในช่องท่อต่อน้ำเข้าเครื่องบริเวณลูกลอยกับก้าน และช่องท่อส่งน้ำออกบริเวณพื้นตัวถังไปสู่ก๊อกน้ำ ทำให้น้ำที่ไหลผ่านตู้น้ำมีตะกั่วปนเปื้อน นอกจากนี้ยังพบว่าที่เก็บน้ำมีความสกปรก ขาดการดูแลอย่างสม่ำเสมอ หากเด็กนักเรียน ดื่มเข้าไปเสี่ยงต่อการเกิดโรคระบบทางเดินอาหาร ทั้งอุจจาระร่วง บิด ไทฟอยด์ อหิวาต์ ซึ่งสถานการณ์โรคอุจจาระร่วงในกลุ่มเด็กปี 2557 จากรายงานการเฝ้าระวังโรคของสำนักระบาดวิทยา พบผู้ป่วยในกลุ่มอายุ 7 - 9 ปี จำนวน 22,798 ราย และในกลุ่มอายุ 10 - 14 ปี จำนวน 24,631 ราย กรมอนามัย จึงได้แนะนำการป้องกันอันตรายสารตะกั่วจากตู้น้ำดื่ม ต้องเริ่มตั้งแต่การเลือกซื้อตู้ทำน้ำเย็นที่ประกอบด้วยเหล็กกล้าไร้สนิมเกรดดี ชนิดหนา ซึ่งสารตะกั่วที่ปนเปื้อนแม้เพียงเล็กน้อยก็ส่งผลกระทบต่อเด็กได้ง่าย เนื่องจากเด็กมีความไวต่อการสัมผัส หากร่างกายได้รับสารตะกั่วในปริมาณสูงก็จะเกิดอาการเป็นพิษได้ นอกจากนี้ถังเก็บน้ำต้องทำด้วยวัสดุเหล็กกล้าไร้สนิมที่ใช้กับอาหาร ไม่มีตะกั่วเป็นส่วนผสม เชื่อมตะเข็บรอยต่อด้วยก๊าซอาร์กอน หรือก๊าซสำหรับเชื่อมอื่นที่ไม่มีสารพิษปนเปื้อน และไม่มีผลตกค้างในถังน้ำ ที่สำคัญโรงเรียนต้องหมั่นดูแลทำความสะอาดตู้น้ำดื่มโดยการล้างที่เก็บน้ำภายในตู้เป็นประจำ ทำความสะอาดก๊อกน้ำและบริเวณผิวภายนอกตู้ให้สะอาดป้องกับเชื้อโรคและสิ่งสกปรก   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 159 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2557 ประกันสังคมเพิ่มสิทธิผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ประกาศเพิ่มความคุ้มครองกรณีปลูกถ่ายอวัยวะ 5 รายการ ประกอบด้วย 1.การผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจ 2.การผ่าตัดปลูกถ่ายปอด 3.การผ่าตัดปลูกถ่ายตับ 4.การผ่าตัดปลูกถ่ายตับอ่อน และ 5.การผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะมากกว่าหนึ่งอวัยวะพร้อมกัน ได้แก่ หัวใจและปอด หัวใจและไต ตับและไต ตับอ่อนและไต โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 พ.ค.57 เป็นต้นไป ก่อนหน้านี้สำนักงานประกันสังคมก็ได้ให้สิทธิผู้ประกันตนในการ ผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตา ปลูกถ่ายไขกระดูก และปลูกถ่ายไต ครั้งนี้ได้มีการขยายความคุ้มครองแก่ผู้ป่วยที่เป็นโรคร้ายแรง เช่น โรคหัวใจล้มเหลวชนิดรุนแรง โรคปอดที่มีอันตรายถึงชีวิต โรคตับเรื้อรังระยะสุดท้าย เป็นต้น ซึ่งโรคดังกล่าวไม่สามารถรักษาด้วยวิธีอื่นได้ จึงต้องได้รับการรักษาโดยการปลูกถ่ายเปลี่ยนอวัยวะ โดยหลักเกณฑ์ เงื่อนไขและอัตราบริการทางการแพทย์ ทั้งผู้บริจาคอวัยวะและผู้รับบริจาค จะได้รับสิทธิครอบคลุมค่าใช้จ่าย ดังนี้  1. ค่าเตรียมก่อนการผ่าตัด 2. ค่าใช้จ่ายเมื่อเข้ารับการผ่าตัดของผู้รับบริจาค กรณีมีภาวะแทรกซ้อน และกรณีไม่มีภาวะแทรกซ้อน 3. ค่าใช้จ่ายหลังการผ่าตัด ซึ่งขณะนี้มีโรงพยาบาลที่เข้าร่วมกับสำนักงานประกันสังคมที่สามารถทำการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะได้ 5 แห่งขณะนี้ คือ โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลราชวิถี และโรงพยาบาลศรีนครินทร์     ขนส่งฯ เข้มเรื่อง “เข็มขัดนิรภัย” ระวังโทษปรับทั้งคนนั่ง-คนขับ 11 เม.ย.ที่ผ่านมา ถือเป็นวันดีเดย์ที่กรมขนส่งทางบกประกาศให้รถโดยสารสาธารณะทุกคันต้องมีการคาดเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง พร้อมเดินหน้าบังคับใช้เข้มงวดจริงจัง (สักที) เป้าหมายเพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุจากรถโดยสารที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) ได้ทำข้อมูลอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะทุกประเภทพบว่ามีเกิดขึ้นเฉลี่ยถึง 2,000 ครั้งต่อปี ซึ่งมีผลการวิจัยถึงประโยชน์ของการใช้เข็มขัดนิรภัยในประเทศไทยระบุว่า ผู้ที่ไม่คาดเข็มขัดนิรภัยมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตเนื่องจากอุบัติเหตุทางรถยนต์มากกว่าผู้ที่คาดเข็มขัดนิรภัยถึง 1.52 เท่าและพบว่าการคาดเข็มขัดนิรภัยสามารถช่วยลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ได้ถึงร้อยละ 34 สำหรับประเภทของรถโดยสารสาธารณะที่ต้องปฎิบัติตามคำสั่งนี้ได้แก่ รถตู้โดยสารสาธารณะ ทั้งประจำทางและไม่ประจำทาง รถโดยสารประจำทางที่วิ่งระหว่างจังหวัด และรถโดยสารไม่ประจำทาง หากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามต้องโดนโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท นอกจากนี้กระทรวงคมนาคมนังได้มีการออกกฎกระทรวง เรื่องกำหนดความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยที่ผู้โดยสารต้องปฏิบัติในระหว่างการโดยสาร พ.ศ. 2557 ที่มีข้อบังคับให้ผู้โดยสารต้องคาดเข็มขัดนิรภัยเป็น 1 ใน 10 บังคับเรื่องความปลอดภัยที่ผู้โดยสารรถโดยสารสาธารณะต้องปฏิบัติ   ยาจุดกันยุงอันตราย ตายทั้งยุง ตายทั้งคน บ้านไหนที่ใช้ยาจุดกันยุงต้องระวัง เพราะเดี๋ยวนี้มียาจุดกันยุงไม่ได้มาตรฐาน เสี่ยงสารอันตรายทำร้ายสุขภาพถูกลักลอบนำเข้ามาขายหลอกลวงผู้บริโภค โดยล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาร่วมมือกับกองปราบปรามเกี่ยวกับการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ได้ทำการจับกุมผู้กระทำผิดที่ลักลอบผลิต-จำหน่ายยาจุดกันยุงที่ไม่ได้มาตรฐานและไม่ได้รับการขึ้นทะเบียน ได้แก่ ยาจุดกันยุงยี่ห้อ LaoJun และ ยี่ห้อgoldeer จากการตรวจสอบพบว่ายาจุดกันยุงทั้ง 2 ยี่ห้อ มีการใช้ “สารเมเพอร์ฟลูทริน” ( Meperfluthrin ) ซึ่งเป็นสารที่อยู่ในกลุ่มของสารไล่แมลง ไพรีทริน หรือ ไพรีทรอยด์ ที่ อย. ยังไม่รับขึ้นทะเบียนเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 ไม่มีการยืนยันเรื่องความปลอดภัยและผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ที่ใช้ เพราะฉะนั้นก่อนจะซื้อยาจุดกันยุงหรือผลิตภัณฑ์สารเคมีกำจัดแมลงต่างๆ ต้องดูให้แน่ใจว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองถูกต้อง และอย่าลืมดูวิธีใช้ที่เหมาะสม เพื่อความปลอดภัยของตัวเราเอง   เศร้าเพราะ “ผักสด” สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา เตือนคนชอบทานผัก ระวังผักสดที่ถูกใส่มาพร้อมในกล่องข้าวที่ปิดสนิท เพราะเสี่ยงต่อการปนเปื้อนเชื้อโรคสูง เหตุเพราะผักสดส่วนใหญ่จะมีการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งผักสดที่ไม่ได้ผ่านการล้างทำความสะอาดที่ดีพอ ก็อาจมีเชื้อแบคทีเรียตกค้าง ซึ่งมาจากดินที่ปลูก ขั้นตอนการเก็บ การขนส่ง หรือแม้แต่จากขั้นตอนการปรุง พอนำมาวางบนอาหารที่ปรุงสุกแล้วภายในกล่องซึ่งมีอุณหภูมิอยู่ที่ประมาณ 35-50 องศาเซลเซียส ผักสดที่ได้รับความร้อนจากอาหารเป็นเวลานานๆ ทำให้ผนังเซลล์ของผักถูกทำลาย เชื้อแบคทีเรียจึงเจริญเติบโตได้ง่ายขึ้น ผักจะเน่าเร็วกว่าปกติ ทำให้เชื้อแบคทีเรียอาจปนเปื้อนลงในอาหาร เสี่ยงต่ออาการอาหารเป็นพิษ วิธีป้องกันก็ต้องวอนต่อไปยังพ่อครัว-แม่ครัวว่าควรแยกผักสดออกจากกล่องข้าวกับข้าวที่ทำใหม่ๆ แยกใส่ถุงพลาสติกต่างหาก ส่วนคนกินอย่างเราก็ควรเลือกกินอาหารที่ผลิตสดใหม่ ลดความเสี่ยงจากการอาหารไม่ปลอดภัย   ยกระดับเรื่องสิทธิการรักษาพยาบาลในประกันสังคม กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน และกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก แถลงข่าว “ร่วมสร้างระบบหลักประกันสุขภาพมาตรฐานเดียว ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม ระบบหลักประกันสุขภาพมาตรฐานเดียว” เรียกร้องให้มีการปฏิรูประบบสุขภาพของผู้ประกันตนในสิทธิประกันสังคม ปัญหาที่ต้องมีการแก้ไขอย่างเร่งด่วนคือ เรื่องของการเข้าถึงสิทธิ ที่ต้องสมทบเข้ากองทุนไม่น้อยกว่า 3 เดือน จึงจะได้รับสิทธิการรักษา และกรณีคลอดบุตรต้องสมทบไม่น้อยกว่า 7 เดือน จึงจะได้รับสิทธิค่าคลอดเหมาจ่าย ทำให้คนที่ยังจ่ายสมทบไม่ครบไม่สามารถใช้สิทธิใดได้เลย สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าก็ใช้ไม่ได้ สิทธิประกันสังคมก็ยังไม่ได้สิทธิ ต้องให้สิทธิการรักษาพยาบาลเกิดขึ้นทันทีที่ส่งเงินสมทบเข้ากองทุน นอกจากนี้ยังมีปัญหาอื่นๆ อีกจำนวนมากที่รอการแก้ไข ไม่ว่าจะเป็น ให้การคลอดเป็นการรักษาพยาบาล โดยไม่ต้องสำรองจ่าย ยกเลิกการจำกัดการคลอดได้ 2 ครั้ง ยกเลิกการจำกัดสิทธิไม่รักษากรณีการทำร้ายตนเองหรือฆ่าตัวตาย ไม่ว่าจะทำสำเร็จหรือไม่ ต้องรักษาทุกกรณี และต้องได้รับการชดเชยตามสิทธิกรณีตายที่ระบุไว้ในประกันสังคม ไม่กำหนดเพดานวงเงินและเงื่อนไขจำนวนครั้งต่อปี  ในการรักษาเกี่ยวกับฟัน ต้องเป็นไปตามความจำเป็น ให้สิทธิการรักษากรณีการบำบัดสารเสพติดต่างๆ รวมทั้งพัฒนาสิทธิประโยชน์การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลีย ให้ได้รับการบำบัดทดแทนปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการแข็งตัวของเลือดอย่างโปรตีนแฟคเตอร์ที่เท่าเทียมเช่นสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า อีกเรื่องที่มีความสำคัญมาก คือผู้ประกันตนที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากการรักษาพยาบาล จะไม่ได้รับสิทธิการคุ้มครองเช่นเดียวกับ พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 มาตรา 41ทำให้ผู้ประกันตนต้องไปฟ้องศาลเพียงอย่างเดียว ซึ่งใช้เวลานานไม่ทันต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น จึงควรมีการดูแลคุ้มครองสิทธิด้านนี้ให้ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมด้วย   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 158 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนเมษายน 2557 ระวัง!!! “สบู่-แชมพู” ลักไก่แอบลดปริมาณ กรมการค้าภายใน เตรียมนัดคุยสมาคมผู้ผลิตสบู่ไทยและผลิตภัณฑ์ชำระล้าง กำหนดขนาดมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน มีข้อมูลระบุว่าปัจจุบันนี้ในท้องตลาด ผลิตภัณฑ์อุปโภคในกลุ่มชำระล้าง มีอยู่มากมายหลายขนาด เช่น แชมพู มีทั้งหมด 38 ขนาด ผงซักฟอก 36 ขนาด สบู่ก้อน 11 ขนาด สบู่เหลว 9 ขนาด และน้ำยาซักฟอก 8 ขนาด ซึ่งการมีขนาดให้เลือกหลากหลายรูปแบบ มีข้อดีคือทำให้เกิดการแข่งขันในตลาด แต่ก็มีข้อเสียเรื่องมาตรฐานการตั้งราคา เป็นหน้าที่ของผู้บริโภคต้องเลือกให้ดีและรู้จักเปรียบเทียบสินค้า เพื่อให้ได้ของที่มีคุณภาพคุ้มราคามากที่สุด ทั้งนี้สิ่งที่กรมการค้าภายในเป็นห่วงก็คือ เรื่องที่ผู้ผลิตแอบลดปริมาณสินค้า แต่ยังจำหน่ายในราคาเดิม ซึ่งที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค ด้านผู้ผลิตเองก็ออกมาแสดงความเห็นถึงเรื่องนี้ว่า การขึ้นราคาของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ต้องดูเรื่องของต้นทุนวัตถุดิบประกอบด้วย โดยเฉพาะน้ำมันปาล์ม ซึ่งหากผู้บริโภคพบเห็นสินค้าต่างๆ มีการขึ้นราคาอย่างไม่เป็นธรรมเข้าข่ายเอาเปรียบผู้บริโภคสามารถร้องเรียนไปได้ที่สายด่วนกรมการค้าภายใน 1569     เปิด “ศูนย์ตรวจสอบเนื้อหาวิทยุและโทรทัศน์ที่ผิดกฎหมาย” กสทช. เปิด “ศูนย์ตรวจสอบเนื้อหาวิทยุและโทรทัศน์ที่ผิดกฎหมาย” เพื่อทำหน้าที่ในการตรวจสอบเนื้อหาที่เผยแพร่ผ่านวิทยุกระจายเสีย งและวิทยุโทรทัศน์ พร้อมบันทึกเก็บเป็นหลักฐานในการดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำผิดกฎหมาย ซึ่งในปีแรกของการดำเนินการครอบคลุมจำนวน 80 สถานี  แบ่งเป็นสถานีโทรทัศน์ ช่องรายการทีวีเคเบิ้ล รายการทีวีดาวเทียม รวม 40 สถานี  และสถานีวิทยุกระจายเสียงหลักและวิทยุกระจายเสียงชุมชนในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑลอีก 40 สถานี โดยศูนย์ฯ นี้จะทำงานโดยใช้ระบบการตรวจสอบข้อความ เนื้อหาที่ผิดกฎหมาย ซึ่งจะใช้ทั้งระบบซอฟต์แวร์  และการตรวจสอบโดยเจ้าหน้าที่ ซึ่งจะทำหน้าที่ติดตาม (มอนิเตอร์) สปอตโฆษณา และเนื้อหารายการต่างๆ ทั้ง 80 สถานีตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งทางศูนย์ฯ จะมีการจัดเก็บเนื้อหาโฆษณา เนื้อหารายการ และไฟล์เสียงออกอากาศย้อนหลังเพื่อใช้ในการอ้างอิงเนื้อหาการออกอากาศ โดยมีการแสดงผลการทำงานแบบ Real-time ทั้งนี้ระบบจะเก็บฐานข้อมูลโฆษณาไว้ที่เซิร์ฟเวอร์  เป็นเวลา 60 วัน ศูนย์ตรวจสอบเนื้อหาวิทยุและโทรทัศน์ที่ผิดกฎหมายนี้ จัดตั้งขึ้นเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคไม่ให้ตกเป็นเหยื่อสินค้าหรือบริการที่ไม่มีคุณภาพ ตลอดจนป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคถูกชักจูงให้ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อประโยชน์ของผู้เผยแพร่โฆษณา เนื่องจากที่ผ่านมาการตรวจสอบข้อมูลที่ผิดกฎหมาย ไม่สามารถดำเนินการได้ทันท่วงที และขาดหลักฐานอย่างเพียงพอที่จะใช้ในการดำเนินการลงโทษตามกฎหมาย   เตรียมออกกฎลดความสูงรถโดยสาร 2 ชั้น กรมการขนส่งทางบกเตรียมยกร่างประกาศแก้ไขปรับปรุงกฎกระทรวง เรื่องความสูงรถโดยสาร 2 ชั้น โดยจะลดความสูงจากปัจจุบัน 4.30 เมตร เหลือ 4 เมตร ตามมาตรฐานสากล หวังช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุ คาดมีผลบังคับใช้ได้ในอีก 3-6 เดือนข้างหน้า นอกจากนี้ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้รถโดยสาร 2 ชั้น กรมการขนส่งทางบกจะกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตขับรถโดยสารสาธารณะ ที่จะขับรถ 2 ชั้น จะต้องผ่านการอบรมหลักสูตรการขับรถโดยสาร 2 ชั้น จากกรมการขนส่งทางบกก่อน จึงจะสามารถประกอบอาชีพเป็นพนักงานขับรถโดยสาร 2 ชั้นได้ คาดว่ามาตรการนี้จะเริ่มใน 3 เดือนข้างหน้า ด้าน น.ส.สวนีย์ ฉ่ำเฉลียว ผู้ประสานงานโครงการรถโดยสารสาธารณะปลอดภัย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ยื่นหนังสือข้อเสนอต่ออธิบดีกรมการขนส่งทางบก ให้ไม่ใช้รถโดยสาร 2 ชั้นในเส้นทางเสี่ยงที่มีผลการศึกษาว่าเกิดอุบัติเหตุบ่อยและรุนแรง เพราะความไม่ปลอดภัยไม่ได้มาจากมาตรฐานของตัวรถเพียงอย่างเดียว ยังมีปัจจัยอื่นเกี่ยวข้องด้วย เช่น ถนน พื้นที่ ความชำนาญเส้นทางของผู้ขับขี่ ฯลฯ     คูปองกล่องดิจิตัลส่อทุจริต จากการที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์(กสท.) มีข้อสรุปเรื่องราคาคูปองเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ทีวีดิจิตัล ที่จะแจกให้กับประชาชน 22 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ ที่ราคาคูปองใบละ 1,000 บาท โดย กสท. อ้างว่าราคานี้เป็นราคากล่องที่ได้คุณภาพมาตรฐาน หากราคาต่ำกว่านี้จะส่งผลให้ได้กล่องและเสาที่มีคุณภาพต่ำเกินไป แต่ทั้งนี้เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคเชื่อว่าราคาคูปอง 1,000 บาทที่ทาง กสท.จะแจกให้กับทุกครัวเรือนนั้น เป็นการตั้งราคาที่สูงเกินไป คาดว่าราคาต้นทุนจริงของกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตัลน่าจะถูกกว่าราคาคูปองที่ทาง กสท. แจก นอกจากนี้การเคาะราคาคูปองที่ 1,000 บาทของ กสท. ส่งผลให้ผู้ประกอบการที่จำหน่ายกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตัลหลายรายตั้งราคาขายสูงกว่าราคาคูปอง กลับกลายเป็นการผลักภาระให้ประชาชนที่ต้องการจะซื้อกล่องรับสัญญาณ ที่สำคัญการแจกคูปอง 1,000 บาท ให้กับ 22 ล้านครัวเรือน เท่ากับว่า กสท. ต้องใช้งบประมาณสูงถึง 22,000 ล้านบาท ซึ่งหาก กสท. เลือกใช้วิธีแจกกล่องรับสัญญาแก่ประชาชนโดยตรง น่าจะลดการใช้งบประมาณของประเทศได้น้อยลงกว่านี้ อีกประเด็นที่เป็นข้อสังเกตในการตั้งราคาคูปอง 1,000 บาท ของ กสท. คือการตั้งราคาที่เอื้อต่อผู้ประกอบการเคเบิ้ลทีวี ทีวีดาวเทียม ที่มีบริการช่องรายการที่ต้องจ่ายเงินเพื่อการรับชม ซึ่งแม้ราคากล่องรับสัญญาณจะสูงกว่าราคาคูปองที่แจก แต่ช่องรายการที่เป็นที่ต้องการรับชมของผู้บริโภคมากกว่า จึงมีความเป็นไปได้สูงที่ผู้ที่ได้รับคูปองจะนำไปใช้เป็นส่วนลดแลกซื้อกล่องของบรรดาผู้ให้บริการเคเบิ้ลทีวี ทีวีดาวเทียม มากกว่า ซึ่งหากเป็นแบบนั้นเป้าหมายของ กสท. ที่ต้องการให้เกิดช่องรายการคุณภาพ ช่องรายการเพื่อสังคม สาธารณะประโยชน์ และช่องรายการสำหรับเด็กและเยาวชน อาจไม่เกิดขึ้นจริง เพราะผู้บริโภคเลือกที่จะไปรับชมรายการจากต่างประเทศในเคเบิ้ลทีวี ทีวีดาวเทียม   “ประชุมสมัชชาผู้บริโภค 57” เดินหน้ายกระดับการคุ้มครองผู้บริโภค วันที่ 28 -29 เมษายน 2557  คณะกรรมการองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน ได้จัดประชุมสมัชชาผู้บริโภค ประจำปี 2557 โดยมีการหารือในหลายประเด็น และได้มีข้อเสนอเชิงนโยบายใน 7 ประเด็นในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับงานคุ้มครองผู้บริโภค คือ สินค้าและบริการทั่วไป, อาหารและยา, รถโดยสารสาธารณะ, พลังงาน, การเงินการธนาคาร, โทรคมนาคม, การบริการสุขภาพ โดยในแต่ละประเด็นนั้น ได้มีการสรุปข้อเสนอ เพื่อใช้เป็นแนวทางให้กับหน่วยงานรัฐและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติ เพื่อสร้างระบบการคุ้มครองผู้บริโภคที่ดีขึ้นในบ้านเรา เริ่มด้วยข้อเสนอด้านการเงินการธนาคาร ผู้บริโภคต้องมีข้อมูลที่ชัดเจน ไม่ว่าสถิติ เอกสาร เพื่อที่ผู้บริโภคจะได้รู้เท่าทันผู้ประกอบการ และใช้ข้อมูลต่างๆ เพื่อเลือกใช้บริการที่คุ้มค่าและเป็นประโยชน์กับตัวเองมากที่สุด ในส่วนของประเด็นพลังงานนั้น สมัชชาฯ มีข้อเสนอให้ยกเลิกกองทุนน้ำมัน, ยกเลิกการขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม, ให้รัฐมีมาตรการยุติการผูกขาดของ ปตท., จัดตั้งบริษัทน้ำมันแห่งชาติ ภายใต้การกำกับของสภาพลังงานแห่งชาติ, ปรับแก้ระบบสัมปทานปิโตรเลียมจากระบบสัมปทานเป็นระบบแบ่งปัน, แก้ปัญหาประโยชน์ทับซ้อนของข้าราชการในกระทรวงพลังงาน ประเด็นสินค้าและบริการทั่วไปว่า สมัชชาฯ มีมติให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) จัดตั้งคณะทำงานยกร่างกฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคกรณีสินค้ามือหนึ่งชำรุดบกพร่อง เหมือน Lemon Law ของต่างประเทศ ปรับปรุงการชดเชยเยียวยาที่เป็นธรรม รวมทั้งให้จัดทำระบบข้อมูลการเตือนสินค้าให้มีภาษาไทยด้วย     ประเด็นที่เกี่ยวพันกับโทรคมนาคม มีข้อเสนอให้ กสทช.เอาจริงเอาจังกับการบังคับใช้กฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคอย่างจริงจัง เช่น ค่าบริการระบบ 2G ต้องไม่เกิน 99 สตางค์ นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้แก้กฎหมายเพิ่มสัดส่วนของภาคประชาชนในคณะกรรมการ กสทช.ให้มากขึ้น รวมถึงทบทวนการแจกคูปองกล่องทีวีดิจิตัลให้ทั่วถึง ในส่วนของรถสาธารณะ ที่ประชุมสมัชชาฯ มีมติให้ดูแลรถโดยสารสองชั้น โดยเบื้องต้นให้กำหนดเขตห้ามวิ่งในเส้นทางที่อันตราย เช่น ไหล่เขา ส่วนในระยะยาวไม่อนุญาตให้มีการจดทะเบียนเพิ่มอีก, กำหนดมาตรฐานของรถสาธารณะทุกประเภท เช่น ระยะเวลาใช้งาน มาตรฐานการผลิต รวมถึงการออกมาตรการดูแลมาตรฐานคนขับรถโดยสารทุกประเภท ประเด็นอาหารและยา สมัชชาฯ มีข้อเสนอเกี่ยวกับฉลากอาหารให้ดูแลเข้มงวดหลายประการ เช่น การแสดงวันหมดอายุ วันผลิต, ฉลากต้องเป็นภาษาไทย, รวมถึงประกาศมาตรการฉลากโภชนาการแบบสีสัญญาณไฟจราจร นอกจากนี้ยังระบุให้รัฐต้องเปิดเผยเนื้อหาการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรีต่างๆ ซึ่งมักมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับมาตรการด้านอาหารและยาเพื่อไม่ให้กระทบต่อการเข้าถึงของประชาชน ด้านประเด็นบริการสุขภาพว่า มีข้อเสนอสำหรับการปรับระบบประกันสุขภาพที่เท่าเทียม โดยให้ปรับความเหลื่อมล้ำของ 3 กองทุนสวัสดิการ โดยให้ยกเลิกการจ่ายเงินสมทบส่วนการรักษาพยาบาลและให้ผู้ประกันไปใช้สิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพ ยกเลิกการร่วมจ่ายในระบบหลักประกันสุขภาพ หรือหากไม่ยกเลิกการจ่ายสมทบก็อาจนำเงินไปใช้กับสิทธิประโยชน์อื่นๆ ของผู้ประกันตน เช่น บำเหน็จชราภาพ  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 157 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนมีนาคม 2557 อย.วอนพ่อค้าแม่ค้า อย่าใส่ฟอร์มาลินในอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ต้องออกโรงเตือนกับบรรดาพ่อค้าแม่ค้าว่า สารฟอร์มาลิน หรือ ฟอร์มาลดีไฮด์ เป็นวัตถุห้ามใช้ในอาหาร ใครนำไปใช้มีความผิด มีโทษทั้งจำทั้งปรับ พร้อมกันนี้ อย. ได้ทำหนังสือขอความร่วมมือไปยังร้านขายยาทั่วประเทศให้ระมัดระวังในการขายฟอร์มาลิน เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ซื้อนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ หลังมีการตรวจพบฟอร์มาลินปนเปื้อนในปริมาณค่อนข้างสูงในอาหารสด เช่น อาหารทะเล ผัก ผลไม้ และเนื้อสัตว์ โดยที่จังหวัดขอนแก่น พบว่าตัวอย่าง ปลาหมึกกรอบ และสไบนาง (ส่วนหนึ่งของเครื่องในวัว) มีฟอร์มาลินปนเปื้อนถึงร้อยละ 90 จากตัวอย่างที่เก็บได้ตามตลาดสด ฟอร์มาลินเป็นวัตถุห้ามใช้ในอาหาร ตามพระราชบัญญัติอาหาร ซึ่งหากฝ่าฝืน จัดเป็นการผลิต จำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ     สารเคมีกำจัดศัตรูพืช “ระเบิดเวลา” ฆ่าชีวิตเกษตรกรไทย โครงการเฝ้าระวังสารเคมีกำจัดศัตรูพืชและพัฒนากลไก เพื่อยกเลิกการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีอันตรายร้ายแรง เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช(Thailand Pesticide Alert Network : Thai-PAN) ได้จัดประชุมวิชาการเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช "สร้างสังคมไทยให้ปลอดภัยจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช" โดยในเวทีได้มีการนำเสนอข้อมูล จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) พบว่าผลการตรวจเลือดเกษตรไทย ระหว่างปี 2554-2556 มีจำนวนผู้ที่เสี่ยงอันตรายจากสารเคมีทางการเกษตรถึง 32%  นอกจากนี้ยังมีข้อมูลทางวิชาการที่ชี้ให้เห็นว่า การตกค้างของสารเคมีทางการเกษตรในร่างกายของคนเรานั้น ส่งผลให้เกิดโรครุนแรงจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น มะเร็งสมอง มะเร็งเต้านม มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง สมองเสื่อม หอบหืด ทารกในครรภ์ไม่เติบโต แท้งลูก และเบาหวาน ด้านกรมวิชาการเกษตร ได้นำเสนอข้อมูลปริมาณการนำเข้าสารเคมีทางการเกษตร พบว่าปี 2556 ประเทศไทยนำเข้าสารกำจัดศัตรูพืช 8.7 หมื่นตัน มากกว่าปี 2550 ประมาณ 28% ซึ่งหนึ่งในแนวทางการแก้ปัญหาสารเคมีทางการเกษตรในบ้านเรา ก็คือการยกเลิกการนำเข้า จำหน่าย และใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีพิษร้ายแรง ซึ่งจากการศึกษาข้อมูลพบว่าในประเทศไทยเรามีสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ควรยกเลิกการใช้กว่า 155 ชนิด โดยในจำนวนนั้นมีสารที่ควรยกเลิกโดยเร็ว เช่น คาร์โบฟูราน เมททิลโบรโมด์  เมธิลดาไธออน เมโทมิล พาราควอท  ฯลฯ ซึ่งเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชพยายามอย่างยิ่งเพื่อให้การยกเลิกเกิดขึ้นจริงในบ้านเราโดยเร็วที่สุด ซึ่งก็ต้องอาศัยความร่วมมือกับทุกภาคส่วนของประเทศ     เทรนด์ใหม่ผู้บริโภค “แฉออนไลน์” ช่วง 2- 3 เดือนที่ผ่านมา ใครที่ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับผู้บริโภคทางสังคมออนไลน์ คงจะได้เห็นปรากฏการณ์ "แฉ" จากเหล่าผู้บริโภคที่เจอปัญหาเรื่องอาหารไม่ปลอดภัยและการปนเปื้อนในอาหาร ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่ป๊อปคอร์นยี่ห้อดังเจอตั๋วรถเมล์ปนมากับเมล็ดป๊อปคอร์น นมพร้อมดื่มบรรจุกล่องที่พบว่าในกล่องมีการเติมโตของเชื้อราที่ดูแล้วน่าตกใจและไม่น่าปลอดภัยกับผู้บริโภค และที่น่าจะได้รับการพูดถึงในสังคมมากที่สุดคงหนีไม่พ้นกรณีที่มีผู้บริโภคท่านหนึ่งพบแมลงสาบอยู่ในไอศกรีมที่ซื้อจากร้านฟาสต์ฟู้ดชื่อดัง ซึ่งการที่ผู้บริโภคนำปัญหาที่ตัวเองพบเจอมาเปิดเผยต่อสาธารณะผ่านสังคมออนไลน์ ถือเป็นอีกวิธีหนึ่งในการพยายามเรียกร้องสิทธิของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน ซึ่งถือว่าเป็นว่าได้รับผลตอบรับที่ดี เพราะทั้งได้รับความสนใจจากบริษัทผู้ผลิตที่เป็นต้นเหตุของปัญหา ปัญหาของผู้บริโภคได้รับการแก้ไขอย่างรวดเร็ว สื่อมวลชนได้เห็นปัญหาแล้วนำเรื่องไปขยายต่อในวงกว้าง ผู้บริโภคคนอื่นๆ เองก็ได้รับรู้ปัญหา และนำไปเป็นบทเรียนเพื่อป้องกันและแก้ไขได้เวลาที่ตัวเองเจอปัญหาแบบเดียวกัน แม้ว่าในท้ายที่สุดทุกปัญหาอาจจะไม่ได้รับการแก้ไขในทันที เช่น กรณีที่ผู้บริโภคเจอแมลงสาปในไอศกรีม ผู้ประกอบการปฏิเสธที่จะยอมรับผิด โดยอ้างว่าผู้บริโภคซื้อไอศกรีมถ้วยดังกล่าวออกไปจากร้าน แล้วทิ้งเวลานานกว่าจะกลับมาแจ้งว่าเจอปัญหา แต่รูปแบบการแก้ปัญหาในลักษณะนี้ของผู้บริโภคก็น่าจะจุดประกายเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคและการมีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคของบริษัทต่างๆ ในบ้านเราให้มีเพิ่มมากขึ้นได้ในอนาคต     ผู้บริโภคลงนามความร่วมมือกับทรูแก้ปัญหาโรมมิ่ง คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน ได้จัดงาน “วันสิทธิผู้บริโภคสากล” (World Consumer Rights Day) โดยปีนี้ได้ชูประเด็นปัญหาเรื่องการใช้งานบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระหว่างประเทศ (International Roaming)หลังจากที่มีผู้บริโภคร้องเรียนผ่านมาทางศูนย์พิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ว่าถูกเรียกเก็บค่าบริการโรมมิ่งเป็นเงินสูงถึง 1.3 ล้านบาท หลังจากผู้เสียหายได้เปิดใช้บริการที่ประเทศซาอุดิอาระเบียในระยะเวลาแค่ 14 วัน หรืออีกหนึ่งกรณีที่ผู้บริโภคได้เปิดแพ็กเกจโรมมิ่งในประเทศฝรั่งเศส แล้วเจอเรียกเก็บค่าบริการถึง 1.6 แสนบาท ทั้งที่มีการกำหนดวงเงินค่าบริการ (credit limit) แต่การจำกัดวงเงินดังกล่าวไม่รวมถึงบริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ ซึ่งตัวอย่างปัญหาเหล่านี้ เกิดจากการที่บริษัทผู้ให้บริการไม่แจ้งข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนกับผู้ใช้ ไม่ว่าจะเป็นวิธีการคิดค่าบริการ อัตราค่าบริการ และวิธีการปิดระบบการใช้งานโรมมิ่ง ซึ่งล้วนเป็นข้อมูลสำคัญและจำเป็นต่อผู้บริโภคทั้งสิ้น นอกจากนี้ภายในงาน คณะกรรมการองค์การฯ ได้มีการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ร่วมกับ บริษัท เรียล ฟิวเจอร์ จำกัด ในเครือบริษัททรู เพื่อเป็นข้อตกลงว่าทางบริษัทจะให้การดูแลผู้บริโภคมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดให้มีวงเงิน (credit limit)  เพื่อใช้บริการทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ โดยผู้บริโภคสามารถร้องขอไปยังผู้ประกอบการเพื่อปรับลด หรือเพิ่มวงเงินได้ และให้มีช่องทางการแจ้งเตือนเมื่อค่าใช้จ่ายใกล้ครบวงเงินที่กำหนด ซึ่งบริษัทต้องมีระบบระงับการให้บริการ และให้มีหมายเลขโทรศัพท์ฟรีให้ผู้บริโภคได้โทรเข้ามาแจ้งได้ว่า จะขอระงับการใช้ทันทีหรือต่ออายุการใช้งาน และให้แยกงานใช้งานบริการเสียงและข้อมูล (Voice and Data) ออกจากกัน ซึ่งทางคณะกรรมการฯได้แจ้งว่าได้มีการเชิญผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือในประเทศไทยทั้ง 3 ค่ายคือ ทรู ดีแทค และ เอไอเอส แต่มีเพียง ทรู เจ้าเดียวเท่านั้นที่ตอบตกลงร่วมลงนามความร่วมมือในครั้งนี้     ถึงเวลาเดินหน้าปฏิรูประบบการคุ้มครองผู้บริโภคไทย คณะกรรมการองค์การอิสระผู้บริโภคภาคประชาชน ร่วมกับเครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป จัดเวทีเสวนาสาธารณะเรื่อง "การปฏิรูประบบการคุ้มครองผู้บริโภค" เพื่อนำเสนอข้อเรียกร้องต่อหน่วยงานภาครัฐ ให้เกิดการพัฒนาเรื่องการคุ้มครองดูแลผู้บริโภคในประเทศไทย ไปพร้อมกับการผลักดันให้เกิดกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศไทยเสียที หลักจากที่องค์กรผู้บริโภคลงมือลงแรงเพื่อให้เกิดกฎหมายสำหรับผู้บริโภคฉบับนี้มาแล้วกว่า 16 ปี โดยในงานได้มีการพูดคุยและแสดงข้อคิดเห็นของสถานการณ์ผู้บริโภคในบ้านเรา จากทั้งนักวิชาการ ตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ รวมถึงตัวแทนจากภาคประชาชน ซึ่งในเวทีเสวนาก็ได้มีข้อสรุปเบื้องต้นเป็นข้อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา 5 มาตรการสำคัญในการปฏิรูประบบคุ้มครองผู้บริโภค 1.เร่งรัดการออกกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค 2.พัฒนากลไกยกเลิกสินค้าอันตรายอัตโนมัติ เช่น ยาอันตราย สารเคมีอันตราย หรือสินค้าอันตรายที่พบว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยยึดหลัก one ban all ban 3. การเยียวยาเชิงลงโทษ ที่ทันท่วงทีและอัตโนมัติ 4. มีหน่วยงานเดียวรับผิดชอบงานคุ้มครองผู้บริโภค ทำหน้าที่ให้ข้อมูล รับเรื่องร้องเรียน และคุ้มครองผู้บริโภค แบบ one stop service 5. สนับสนุนองค์กรผู้บริโภค เพื่อให้มีส่วนร่วมในการคุ้มครองผู้บริโภค การเผยแพร่ข้อมูล การเข้าถึงห้องทดลอง การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งตรวจสอบหน่วยงานรัฐในการคุ้มครองผู้บริโภคได้มากขึ้น //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 156 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือน มกราคม 2557 “บ้านและที่อยู่อาศัย” กับปัญหายอดฮิตปี 56 สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ได้สรุปเรื่องร้องเรียนของผู้บริโภคตลอดปี 2556 ที่ผ่านมา พบว่า ปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยกลายเป็นปัญหากวนใจผู้บริโภคมากที่สุด แซงหน้าแชมป์เก่าอย่างปัญหาจากการใช้รถยนต์ เนื่องจากโครงการรถยนต์คันแรกที่เริ่มหมดลง ประกอบกับคนหันมาซื้อคอนโดมากขึ้น และเมื่อเกิดปัญหาเพียง 1 ยูนิต ผู้บริโภคที่อยู่ในโครงการเดียวกันก็มักจะตามกันมาร้องเรียนด้วย สำหรับเรื่องร้องเรียนในปี 2556 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 20 ธันวาคม มีผู้บริโภคร้องเรียนทั้งสิ้น 3,150 ราย โดยเรื่องร้องเรียนที่มากที่สุดคือเรื่อง อสังหาริมทรัพย์ 1,324 ราย แบ่งเป็น 3 ประเภทปัญหา คือ 1.อาคารชุด 629 ราย 1,390 เรื่อง เช่น ไม่เป็นไปตามที่ระบุไว้ในสัญญาหรือโฆษณา ก่อสร้างไม่แล้วเสร็จยกเลิกสัญญา  2.บ้านจัดสรร 392 ราย 1,019 เรื่อง เช่น ไม่ดำเนินการตามที่โฆษณา มีการชำรุดหลังก่อสร้าง กู้ได้ไม่เต็มจำนวนตามที่ประกาศ ขอยกเลิกสัญญา และ 3.เช่าพื้นที่ เช่าช่วง 303 ราย 608 เรื่อง   สคบ.ดำเนินการไกล่เกลี่ยตามที่ผู้ร้องต้องการและเรื่องยุติแล้ว 60% เหลืออีก 40% โดยหลังจากนี้ทาง สคบ. จะส่งเจ้าหน้าที่จะลงสุ่มตรวจโครงการที่อยู่อาศัยที่พบปัญหาร้องเรียกซ้ำซาก แล้วจะมีการแจ้งชื่อโครงการที่มีปัญหาให้กับประชาชนทั่วไปได้รับทราบ     ผิวขาวออร่า แต่หน้าพัง กระแสความนิยมอยากจะมีผิวขาวของวัยรุ่นไทย กำลังเป็นเรื่องน่าห่วง หลังจากที่มีวัยรุ่นจำนวนมากตกเป็นเหยื่อของโฆษณาหลอกลวงชวนเชื่อ ผลิตภัณฑ์ผิวขาว ที่โอ้อวดว่าใช้แล้วผิวขาวสว่าง “ออร่า” แต่กลับต้องเจอผลข้างเคียง นอกจากผิวจะไม่ขาวแล้ว ยังต้องเสียโฉม หน้าพัง ผิวที่หวังว่าจะขาวก็ยิ่งคล้ำดำลงกว่าเดิม ล่าสุดมีกรณีที่วัยรุ่นอายุ 16-18 ปีที่ จ.เพชรบุรี ให้ครีมที่อ้างสรรพคุณช่วยให้ผิวขาวแล้วเกิดอาการแพ้ ผิวลายแตกงา เมื่อเก็บตัวอย่างครีมผิวขาวที่น่าจะเป็นปัญหาไปตรวจสอบยังศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 5 สมุทรสงคราม พบว่า ตัวอย่าง ครีมและโลชั่นทาผิวที่อ้างว่าช่วยให้ผิวขาว จำนวน 11 ตัวอย่างที่วางขายในจังหวัดเพชรบุรี ประกอบด้วยครีม 4 ประเภท ได้แก่ 1.ครีมผสมเองแบ่งขายใส่กระปุกที่ไม่มีฉลาก 2.ครีมที่ผสมเองแบ่งขายใส่กระปุกที่มีฉลากแต่ไม่ได้จดแจ้ง  3.ครีมที่มีฉลากภาษาจีน และ 4.ครีมที่มีฉลากภาษาจีนที่เป็นยาใช้ภายนอก มีการใช้สารสเตียรอยด์ชนิดโคลเบทาซอล โพรพิโอเนต (Clobetasol propionate) ในครีมทั้ง 11 ตัวอย่าง ในปริมาณตั้งแต่ 8.0-449.8  มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นส่วนผสมที่สูงมาก นอกจากนี้ยังตรวจพบสารคีโตโคนาโซล (Ketoconazole) ซึ่งจัดเป็นยาในทุกตัวอย่าง และบางตัวอย่างตรวจพบว่ามีการใส่วัตถุกันเสีย 2 ชนิดคือ เมทิลพาราเบน (Methylparaben) และโพรพิลพราราเบน (Propylparaben) ด้วย สำหรับ สารโคลเบทาซอล โพรพิโอเนตเป็นสารห้ามใช้ในเครื่องสำอาง ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องกำหนดวัตถุที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง สารดังกล่าวเป็นยาสเตียรอยด์ ใช้ทาภายนอกที่มีความแรงสูงสุด ที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน โรคผื่นผิวหนังที่ดื้อยาสเตียรอยด์ชนิดรุนแรงปานกลาง หรือใช้ในบริเวณผิวหนังที่หนา เช่นที่ขาหรือส้นเท้า สารชนิดนี้เมื่อใช้ไปนานๆ จะทำให้ผิวหนังบางลง เกิดจ้ำเลือดง่าย หรือมีรอยแตกที่ผิวหนัง     ระวัง!!!ใช้สมุนไพรขัดหน้า การใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ขัดหน้า ขัดตัว หลายคนอาจจะคาดไม่ถึงว่า ตรวจพบการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ในระดับสูงจนน่าตกใจ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) หรือ สทน. โดยนักวิจัยของศูนย์ฉายรังสี ได้ทำการศึกษาข้อมูลเบื้องต้นทางจุลชีววิทยาในวัตถุดิบสมุนไพรและส่วนผสม ชนิดอื่น ๆ ที่มักใช้ผลิตเป็นเครื่องสำอางสมุนไพรไทยจำนวน 10 ชนิด ได้แก่ ไพล ขมิ้นอ้อย ขมิ้นชัน ว่านนางคำ ทานาคา กวาวเครือ จันทน์หอม เปลือกมังคุด ดินสอพอง และจันทน์เทศแดง โดยพบว่าในวัตถุดิบทั้ง 10 ชนิด มีจำนวนแบคทีเรียทั้งหมดในระดับที่สูงมาก คือ 1,000-1,000,000 โคโลนีต่อกรัม ทั้ง ๆ ที่ค่ามาตรฐานของไทยที่กำหนดคือ ต้องมีไม่เกิน 1,000 โคโลนีต่อกรัม  และพบการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ Clostridium spp. ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคบาดทะยัก ในวัตถุดิบ 4 ชนิด คือ ไพล  ทานาคา กวาวเครือ และ ดินสอพอง นอกจากนี้ยังได้สุ่มตรวจเครื่องสำอางสมุนไพรไทยที่สามารถหาซื้อตามตลาดทั่วไป ได้แก่ ครีมโคลนสมุนไพรพอกตัว จำนวน 12 ตัวอย่าง พบว่ามีจำนวนเชื้อจุลินทรีย์ทั้งหมดเกินมาตรฐานที่กำหนดไว้ 5 ตัวอย่าง (ร้อยละ 41.67) แป้งสมุนไพรพอกหน้าและขัดตัวจำนวน 40 ตัวอย่าง พบว่ามีจำนวนเชื้อจุลินทรีย์ทั้งหมดเกินมาตรฐานที่กำหนดไว้ 27 ตัวอย่าง (ร้อยละ 67.5)  และพบการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ Clostridium spp. ถึง 22 ตัวอย่าง (ร้อยละ 55) ของผลิตภัณฑ์ทั้งหมด     ทุกข์ของผู้ป่วย การรักษาไม่ได้มาตรฐาน ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้เปิดเผยข้อมูลร้องเรียนด้านสุขภาพปี 2555 – 2556 พบว่ามีเรื่องร้องเรียนจากทุกสิทธิการรักษาคือ สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สิทธิประกันสังคม สิทธิสวัสดิการข้าราชการ และกลุ่มที่จ่ายเงินเอง ทั้งจากโรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลเอกชน และคลินิก รวมทั้งหมด 38 เรื่อง ปัญหาที่พบมากที่สุด คือเรื่องมาตรฐานการรักษา 18 เรื่อง เช่น ผิดพลาดในการรักษา การผ่าตัด ทำให้แผลติดเชื้อ แพทย์จ่ายยาผิด เข้ารักษาโรงพยาบาลตามสิทธิแต่แพทย์ตรวจไม่ละเอียดให้แต่ยาแก้ปวด จ่ายยาให้ยาไม่ตรงชื่อหน้าซอง ทำให้คนไข้เกิดอาการการแพ้ยา ซึ่งมีอยู่กรณีหนึ่งแพทย์ถึงขั้นลืมผ้าก๊อตไว้ในช่องคลอดหลังทำคลอดให้กับคนไข้ ตามมาด้วยปัญหามาตรฐานการบริการ 9 เรื่อง เช่น เจ้าหน้าที่ไม่บริการ พูดจาไม่สุภาพ ไม่เอาใจใส่ผู้ป่วย  นอกจากนี้ยังพบปัญหาเรื่องระบบส่งต่อผู้ป่วย ระบบการใช้สิทธิ และปัญหาอื่นๆ เช่น เรื่องค่ารักษาพยาบาลแพง กรณีการให้การช่วยเหลือที่ล่าช้า พบว่าเกิดจาก การขาดแคลนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการอ่านเวชระเบียน ร่วมทั้งหน่วยงานภาครัฐล่าช้ากรณีส่งต่อเรื่องร้องเรียน แล้วไม่ได้รับการตอบรับ ทำให้การดำเนินการช่วยเหลือผู้เสียหายบางรายทำได้ลำบาก ล่าช้า และผู้เสียหายยังติดปัญหาเรื่องการขอเวชระเบียน ที่สำคัญคือผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่ได้รับความเสียหายยังไม่รู้ช่องทางการร้องเรียน     7 วิธีปิ้งย่างลดเสี่ยงมะเร็ง พญ.ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล นักวิชาการโครงการ “รวมพลัง ขยับกาย สร้างสังคมไทย ไร้พุง” เครือข่ายคนไทยไร้พุง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แนะนำ 7 ข้อควรทำสำหรับคนที่ชอบกินอาหารปิ้งย่าง 1.เลือกสถานที่ปิ้งย่างที่มีอากาศถ่ายเทดี เพราะควันจากอาหารก็ส่งผลต่อร่างกายได้ 2. เน้นเนื้อสัตว์ประเภทปลา หรือไก่ไม่ติดหนัง ซึ่งมีปริมาณไขมันน้อยกว่า 3. เลี่ยงการรับประทานเนื้อแปรรูป เช่น ไส้กรอก เบคอน ไส้กรอกอีสาน เพราะมีไขมันและโซเดียมสูง 4. อย่าใช้ไฟแรงเกิน หรือปิ้งจนเกรียม หมั่นทำความสะอาดคราบเขม่าและรอยไหม้ต่างๆ ที่ติดอยู่บริเวณตะแกรง 5. หมักเนื้อด้วยน้ำมะนาว สะระแหน่ มินต์ โรสแมรี จะช่วยลดการเกิดของสารก่อมะเร็งในกลุ่มเอมีนส์ 6. ตัดเนื้อส่วนที่มีมันออกก่อนนำไปปิ้งย่าง หรืออบให้สุกนิดหน่อยก่อนเพื่อลดเวลาปิ้ง และ 7. เน้นกินผักสดๆ ควบคู่ด้วยเสมอ และเลือกดื่มน้ำเปล่า แทนน้ำอัดลมหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะจะยิ่งเพิ่มปริมาณแคลอรีที่เกินความต้องการของร่างกาย อนึ่ง การรับประทานอาหารปิ้งย่างประจำจะมีผลกระตุ้น เซลล์มะเร็ง คือ สารในกลุ่มไฮโดรคาร์บอน (Polycyclic aromatic hydrocarbons หรือ PAH) ซึ่งพบในควันที่เกิดจากไขมันสัตว์ที่โดนความร้อนสูง โดยพบว่ามีความสามารถในการก่อมะเร็งได้ไม่แพ้ควันบุหรี่ และสารในกลุ่มเอมีนส์ (Heteocyclic amines) ที่พบมากในเนื้อแดงที่ถูกความร้อนสูง มีงานวิจัยหลายแหล่งระบุว่าเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคมะเร็ง //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 155 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนธันวาคม 2556 ภาชนะอะลูมิเนียม อันตรายแฝงเพียบ กรมวิทยาศาสตร์บริการ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ทำการสุ่มทดสอบภาชนะประเภทอะลูมิเนียม เพื่อตรวจสอบดูคุณภาพความเหมาะสม และความปลอดภัยในการใช้บรรจุอาหาร โดยได้ทำการสุ่มเก็บตัวอย่างภาชนะอะลูมิเนียม จำนวน 21 ตัวอย่าง ประกอบด้วย หม้อ กระทะ ถาดใส่อาหาร ฯลฯ ในพื้นที่จังหวัดต่างๆ เช่น กรุงเทพฯ เชียงราย นครพนม การทดสอบแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ การหาองค์ประกอบทางเคมี และการทดสอบการละลายของโลหะหนักจากภาชนะตัวอย่าง ซึ่งจากการทดสอบองค์ประกอบทางเคมีพบว่าตัวอย่างที่ไม่ผ่านเกณฑ์กำหนดเกือบทั้งหมดเป็นภาชนะประเภทอะลูมิเนียมโลหะผสม ซึ่งพบปริมาณตะกั่ว สังกะสี และทองแดง สูงเกินเกณฑ์กำหนด สำหรับการทดสอบการละลายของโลหะหนักจากภาชนะตัวอย่าง ซึ่งเลียนแบบการใช้งานเวลาหุงต้มหรือปรุงอาหารประเภทกรด พบว่ามีปริมาณอะลูมิเนียม ตะกั่ว เหล็ก และสังกะสี ละลายออกมาในสารละลายตัวแทนอาหาร โดยเฉพาะภาชนะอะลูมิเนียมโลหะผสม มีโลหะเหล่านี้ละลายออกมาสูงกว่าภาชนะอะลูมิเนียม ดังนั้นคำแนะนำในการปรุงอาหารประเภทกรด การใช้ภาชนะอะลูมิเนียมน่าจะปลอดภัยจากโลหะปนเปื้อนมากกว่าการใช้ภาชนะอะลูมิเนียมโลหะผสม   สำหรับข้อสังเกตในการเลือกซื้อระหว่างภาชนะประเภทอะลูมิเนียม และอะลูมิเนียมโลหะผสมคือภาชนะอะลูมิเนียมโลหะผสมผิวไม่ค่อยเรียบอาจมีรูพรุน มีความมันวาวน้อยกว่า และมีสีเข้มกว่า อย่างไรก็ตาม การปนเปื้อนของโลหะจากภาชนะขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นด้วย เช่น ประเภทอาหารที่ปรุง ระยะเวลา อุณหภูมิ------------------------------------------------------------------------------   “น้ำหมัก” ขายดี แถมมีงบ กสทช. ช่วย!? ปัญหาเรื่องการหลอกลวงขายสินค้าพวกผลิตภัณฑ์สุขภาพอาหารเสริม ยังคงเป็นมหาวายร้ายทำลายสุขภาพและหลอกปล้นเงินผู้บริโภค ที่ยิ่งนับวันก็มีแต่จะสร้างปัญหารุนแรงมากขึ้นทุกที ไม่รู้ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดการปัญหาหลงลืมหน้าที่ตัวเองหรืออ่อนด้อยฝีมือ ปัญหาเหล่านี้ถึงยังไม่ถูกกวาดล้างจัดการสักที แถมล่าสุดมีการออกมาแฉโดยเครือข่ายผู้บริโภคจังหวัดร้อยเอ็ด ว่างบประมาณที่ทาง กสทช. จัดสรรลงพื้นที่เพื่อจัดให้มีการอบรบผู้ประกาศระดับภูมิภาคเป้าหมายเพื่อให้ความรู้ที่ทุกต้องเรื่องการรับฟังสื่อโฆษณาต่างๆ จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของสินค้าโอ้อวดหลอกลวงสรรพคุณ แต่ลับหลังกลับมีการแอบขายน้ำหมักกันเป็นล่ำเป็นสัน ถึงขนาดที่มีการสร้างเครือข่ายให้ผู้อบรมเอาไปขายต่อยังสถานีวิทยุของตัวเอง นายประวิทย์ หันวิสัย เจ้าหน้าที่ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดร้อยเอ็ด ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้ในพื้นที่มีปัญหาการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพเกินจริงเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะตามคลื่นวิทยุชุมชน มีการเปิดสปอตโฆษณาผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไม่ต่ำกว่า 30 รอบ ใน 1 วัน ทั้งยังใช้เทคนิคนำผู้มีชื่อเสียงอ้างว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญ หรือผู้ประกอบวิชาชีพมาอวดอ้างสรรพคุณของผลิตภัณฑ์ มีการใช้ของรางวัลล่อใจ เช่น ซื้อผลิตภัณฑ์แล้วส่งมาชิงโชคมอเตอร์ไซค์ และทองคำ รวมถึงมีการสัมภาษณ์ผู้ใช้ที่เป็นหน้าม้าว่าผลิตภัณฑ์ดี แต่ในความเป็นจริงแล้วเป็นการเปิดเสียงของเก่า ทั้งที่คนที่สัมภาษณ์ว่าใช้ดี ตายเพราะการใช้ผลิตภัณฑ์ไปแล้วก็มี ซึ่งพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ดเท่าที่ทราบมีผู้เสียชีวิตแล้ว 3 ราย โดยรายแรกเกิดจากการใช้ยาแผนโบราณ แต่พบว่ามีส่วนประกอบของยาแผนปัจจุบัน และมีจุลินทรีย์ในอัตราที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย อีก 2 รายเสียชีวิตจากการดื่มน้ำหมัก เพราะมีโรคประจำตัวอยู่คือ มะเร็วกระดูกและพาร์กินสัน ปัญหาหนึ่งที่ทำให้หน่วยงานภาครัฐจับไม่ได้ไล่ไม่ทันสถานีวิทยุเหล่านี้ เพราะสินค้าที่เป็นปัญหามักจะคอยเปลี่ยนชื่อสินค้าไปเรื่อยๆ เวลาที่เกิดปัญหามีเรื่องร้องเรียน เมื่อสินค้าถูกนำไปตรวจสอบก็จะรีบเปลี่ยนชื่อผลิตภัณฑ์ทันทีทั้งที่เป็นตัวเดิม ทำให้ อย. ต้องนำผลิตภัณฑ์เดิมในชื่อใหม่ไปตรวจสอบอีกครั้ง กว่าจะส่งต่อให้ กสทช.ดำเนินการสั่งปิดสถานี ซึ่งกว่าจะทราบผลก็ใช้เวลานาน 2-3 เดือน เจ้าของผลิตภัณฑ์ก็เปลี่ยนชื่อใหม่แล้ว สินค้าก็ถูกโฆษณาขายใหม่ไปแล้วเรียบร้อย     สธ.ตัวการ ทำเมืองไทยเป็นเมือง “แร่ใยหิน” รศ.วิทยา กุลสมบูรณ์ ผู้จัดการแผนงานพัฒนาวิชาการและกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) เปิดเผยว่า จากการประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่มี นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รักษาการ รมว.สาธารณสุข เป็นประธาน ได้มีมติตามการนำเสนอของ นพ.ชาญวิทย์ ทระเทพ รองปลัด สธ.เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้คงการใช้แร่ใยหินไครโซไทล์ ซึ่งมติดังกล่าวเป็นการสวนทางกับการยกเลิกการใช้แร่ใยหินทั่วโลก เครือข่ายรณรงค์ยกเลิกแร่ใยหินแห่งประเทศไทย (T-BAN) เปิดเผยว่ามีความพยายามที่จะให้ข้อมูลลดทอนความเป็นอันตรายของแร่ใยหินไครโซไทล์ ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การว่าจ้างทำวิจัย จัดประชุมนำเสนอข้อมูล เพื่อทำให้สังคมสับสน ซึ่งมติของทาง สธ.ที่ยังคงให้ใช้แร่ใยหินไครโซไทล์ได้ในประเทศไทยนั้น น่าจะเป็นเหตุผลทางการเมือง เป็นเรื่องของผลประโยชน์ทางการค้ากับทางรัสเซียที่เป็นประเทศส่งออกแร่ใยหินให้กับไทย ซึ่งทั้งๆ ที่ผ่านมา สธ.เองเป็นจุดเริ่มต้นของการนำเสนอข้อมูลในเรื่องนี้ว่าแร่ใยหินเป็นอันตรายและต้องยกเลิก ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกและองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ แต่ในยุค นพ.ประดิษฐ พบว่า มีขบวนการสนับสนุนให้มีการขายสินค้าอันตราย เครือข่าย T-BAN จึงมีมติเดินหน้าตรวจสอบการทำงานของผู้ที่เกี่ยวข้องในการออกมติรับให้สินค้าแร่ใยหินไม่เป็นอันตราย พร้อมเรียกร้องให้เปิดเผยผลการประชุมของคณะทำงานศึกษาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพจากแร่ใยหินต่อสังคมด้วย   คาราบาวแดงทำแสบ หลอกชิงทอง 100 บาท พอถูกรางวัลจ่ายเงินแค่ 100 เดียว เหตุการณ์เกิดขึ้นกับแม่ค้าชาว จ.สุโขทัย ท่านหนึ่ง ที่ได้ร่วมชิงโชคกับเครื่องดื่มชูกำลัง “คาราบาวแดง” โดยได้ขูดสติกเกอร์ "ขูดปั๊บรับโชคร้อยถึงล้านกับแพคบาวแดง" แล้วพบข้อความระบุว่า "คุณคือผู้โชคดี ได้รับทองคำมูลค่า 100 บาท" แม่ค้าท่านนี้ดีใจสุดขีดเพราะโชคดีจะได้เป็นเศรษฐี แต่ฝันก็มีอันต้องสลายเมื่อโทรศัพท์ติดต่อไปยังบริษัทเครื่องดื่มคาราบาวแดงเพื่อขอรับรางวัล กลับได้รับคำตอบว่า ข้อความที่ระบุในสติกเกอร์นั้น หมายถึงได้รับเงินสด 100 บาท ไม่ใช่ทองคำหนัก 100 บาท ทางคาราบาวแดงได้ชี้แจงถึงเรื่องนี้ว่า การทำโปรโมชั่นขูดปั๊บรับโชคจะแจกเป็นทองคำตามมูลค่าที่แจ้งไว้นั้น หมายถึงมูลค่าราคา ไม่ได้หมายถึงน้ำหนัก เป็นเรื่องน่าเจ็บใจที่ผู้บริโภคต้องตกเป็นเหยื่อของการโฆษณาที่จงใจเอาเปรียบผู้บริโภคอย่างชัดเจนแบบนี้ แม้ผู้บริโภคที่หลงเชื่อคำโฆษณาท่านนี้จะไม่ได้ฟ้องเอาผิดกับทางบริษัท แต่ในทางกฎหมายสามารถนำเรื่องฟ้องร้องต่อศาลได้ โดยให้ศาลตีความ ว่าการใช้ถ้อยคำที่หวังสร้างให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดนั้นมีความเหมาะสมหรือไม่อย่างไร ทั้งนี้ฝากเตือนเรื่องการชิงโชคชิงรางวัลจากการซื้อสินค้าต่างๆ ซึ่งพบว่ามีมากในปัจจุบัน ซึ่งนั้นเป็นเพียงกลยุทธ์หวังกระตุ้นยอดขายของผู้ผลิตสินค้าเท่านั้น มีผู้โชคดีเพียงไม่กี่รายที่ได้รับรางวัล และแทบไม่มีการตรวจสอบว่ารางวัลที่แจกนั้นมีการแจกจริงอย่างที่โฆษณาหรือไม่     ปัญหาอาหารปี 56 ปนเปื้อนเรื่องน่าห่วง ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค 10 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรสงคราม กาญจนบุรี ขอนแก่น ร้อยเอ็ด พะเยา ลำปาง สุราษฎร์ธานี สงขลา และสตูล ได้ทำการสรุปเรื่องร้องเรียนปัญหาอาหารไม่ปลอดภัยระหว่างช่วง ก.ย. 55 - ธ.ค. 56 มีรวมกันทั้งสิ้น 152 กรณี แบ่งปัญหาได้เป็นประเด็นต่างๆ เช่น ปัญหาอาหารปนเปื้อน ปัญหาคุณภาพสินค้าไม่ได้มาตรฐาน การแสดงฉลากอาหารไม่ถูกต้อง การโฆษณาอาหาร/ผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย ปัญหาอาหารเสียก่อนวันหมดอายุ การผลิต/แหล่งผลิตไม่ถูกสุขลักษณะ ฯลฯ สำหรับปัญหาอาหารปนเปื้อนนั้น ที่พบจากกรณีร้องเรียนเช่น พบการปนเปื้อนของ เส้นผม ขน เล็บ แมลงสาบ หรือเกิดความผิดปกติขออาหาร เช่น มีตะกอน ขึ้นรา และเน่าเสีย รวมถึงการใช้สารเคมีที่ไม่ควรใช้ในอาหาร เช่น ฟอร์มาลิน บอแรกซ์ โดยมีตัวอย่างปัญหาที่พบบ่อยและต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ เชื้อราในขนมปัง ก้อนขาวในนมกล่อง และสิ่งแปลกปลอมในนมผงสำหรับเด็ก สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาด้านอาหาร เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคได้นำเรื่องเข้าหารือกับทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดยประเด็นที่จะทำการหารือร่วมกันประกอบด้วย 1.การพัฒนากลไกการคุ้มครองผู้บริโภคด้านอาหารที่เป็นรูปธรรมร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคประชาสังคม 2.ปรับปรุงนโยบายฉลากโภชนาการให้เป็นแบบสีสัญญาณไฟจราจรเขียว เหลือง แดง แทนที่การใช้ฉลากโภชนาการแบบสีเดียว (GDA) 3.ให้บังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 อย่างเคร่งครัด และ 4.ในการแก้ไข พ.ร.บ.อาหาร ฉบับใหม่ ให้เพิ่มบทลงโทษให้มีความรุนแรงมากขึ้น   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 154 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนพฤศจิกายน 2556 กสทช.เปิดศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท จากนี้ไปปัญหาของคนที่ใช้บริการโทรศัพท์มือถือน่าจะบรรเทาเบาบางลง เมื่อคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เปิด “ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทกิจการโทรคมนาคม” ขึ้นเพื่อเป็นช่องทางแก้ไขปัญหาข้อพิพาททางจากการใช้บริการโทรคมนาคมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยศูนย์ฯ จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางตกลงหาข้อยุติของปัญหาให้กับฝ่ายผู้บริโภคและผู้ให้บริการ แต่การเข้าสู่ระบบการไกล่เกลี่ยนั้นเป็นไปตามความสมัครใจของทั้ง 2 ฝ่าย หรือหากดำเนินการไกล่เกลี่ยแล้ว ไม่เป็นที่พอใจ ผู้บริโภคที่ได้รับปัญหาก็สามารถนำเรื่องเข้าสู่การฟ้องร้องต่อไปได้ ส่วนผู้ที่จะมาเป็นคนกลางทำหน้าที่ไกล่เกลี่ย จะเป็นบุคคลที่ได้รับการอบรมหลักสูตรเทคนิคหรือวิธีการไกล่เกลี่ยจากทาง กสทช.   ใครพบปัญหาจากบริการโทรคมนาคมสามารถติดต่อขอรับบริการที่ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทกิจการโทรคมนาคม ที่สำนักงาน กสทช.   ตู้เอทีเอ็มเปลี่ยนไปใช้ระบบไมโครชิพ ธนาคารแห่งประเทศไทยเตรียมสั่งให้ธนาคารพาณิชย์ทั่วประเทศปรับเปลี่ยนรูปแบบบัตรทั้ง บัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิต รวมถึงตู้เอทีเอ็ม จากระบบแถมแม่เหล็กเป็นระบบไมโครชิพ เพื่อป้องกันปัญหาการโจรกรรมข้อมูลบัตร หรือการ Skimming ซึ่งที่ผ่านมามีผู้เสียหายจากการโจรกรรมเงินผ่านตู้เอทีเอ็มเป็นจำนวนมาก ปัจจุบันมีตู้เอทีเอ็มให้บริการอยู่ราว 50,000 เครื่อง มีตู้ที่ได้รับการเปลี่ยนระบบเป็นไมโครชิพแล้ว 30,000 ตู้ ซึ่งที่เหลือทางธนาคารแห่งประเทศไทยเร่งให้ธนาคารพาณิชย์ดำเนินการเปลี่ยนตู้ของตัวเองให้เรียบร้อยทั้งหมดภายในสิ้นปี 2557 ที่สำคัญคือทางธนาคารแห่งประเทศไทย กำชับกับทางธนาคารพาณิชย์ว่าห้ามคิดค่าธรรมเนียมใดๆ ที่เกิดจากการเปลี่ยนบัตรเดบิตและบัตรเอทีเอ็มจากระบบเก่าเป็นระบบไมโครชิพ เพราะถือเป็นหน้าที่ของธนาคารพาณิชย์ที่ต้องทำเพื่อยกระดับความปลอดภัยในบริการให้กับลูกค้า ส่วนผู้ใช้เองก็ต้องพยายามระมัดระวังในการใช้บัตร เช่น หมั่นเปลี่ยนรหัสบ่อยๆ และอย่าให้ข้อมูลส่วนตัวที่สำคัญลงในอินเทอร์เน็ตหากไม่มั่นใจในความปลอดภัย   คลอด รพ.ไหน ประกันสังคมก็จ่าย จากนี้ไปคุณแม่ที่ใช้สิทธิประกันสังคม สามารถใช้บริการคลอดบุตรได้กับทุกโรงพยาบาล โดยที่ยังคงได้รับเงินค่ารักษาพยาบาล 13,000 บาท ต่อการคลอดบุตร 1 คน นอกจากนี้ยังได้รับกรณีสงเคราะห์บุตร 400 บาทต่อเดือน คราวละไม่เกิน 2 คน รับสิทธิได้ในช่วงแรกเกิดถึงอายุ 6 ปี สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน แจงสิทธิประกันสังคมกรณีคลอดบุตร ผู้ประกันตนชาย หญิง มีสิทธิได้รับค่าคลอดบุตร คนละ 2 ครั้ง โดยผู้ประกันตนหญิง สามารถคลอดบุตรที่สถานพยาบาลใดก็ได้ แล้วนำสูติบัตรของบุตร สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน มาเบิกเงินที่สำนักงานประกันสังคม จะได้รับค่าคลอดบุตรเหมาจ่ายจากสำนักงานประกันสังคม จำนวน 13,000 บาท นอกจากนี้คุณแม่หมาดๆ ยังได้รับเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตร ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ยเป็นเวลา 90 วัน ส่วนกรณีถ้าเป็นผู้ประกันตนชาย สามารถเบิกค่าคลอดบุตรได้ โดยนำสำเนาสูติบัตรบุตร สำเนาทะเบียนสมรสหรือหนังสือรับรองกรณีมีทะเบียนสมรส มาเบิกเงินที่สำนักงานประกันสังคม จะได้รับเฉพาะเงินค่าคลอดบุตรเหมาจ่าย จำนวน 13,000 บาท นอกจากนี้ผู้ประกันตนยังสามารถยื่นขอรับเงินทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตรเหมาจ่ายเดือนละ 400 บาทต่อบุตรหนึ่งคน สำหรับบุตรชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งมีอายุไม่เกิน 6 ปี บริบูรณ์ แต่ผู้ประกันตนจะต้องมีการนำส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน ภายในระยะเวลา 36 เดือน โดยผู้ประกันตนสามารถใช้สิทธิเบิกเงินสงเคราะห์บุตรได้คราวละไม่เกิน 2 คน   อย. เผยชื่อ 5 ยาสมุนไพร อันตราย สำนักคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ดำเนินการตรวจสอบยาสมุนไพรแผนโบราณหลังจากที่ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนที่ถูกต้องตามกฎหมาย แถมยังโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง โดยมี 5 ผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพรที่ อย. ฝากเตือนผู้บริโภคให้หลีกไกลอย่าเผลอไปใช้เด็ดขาด ได้แก่ 1.ยาสมุนไพร ZIA TU WAN (เซีย ทู หวัน) 2.ผลิตภัณฑ์ พญาดงชุดชะลอความแก่ 3.ผลิตภัณฑ์ตายสิบปี ดีเหมือนเดิม 4.ผลิตภัณฑ์ฮับบาตุส เซาดาห์ “786” เนื่องจากฉลากแสดงข้อความโอ้อวดสรรพคุณรักษาสารพัดโรค อาทิ แก้หัด อีสุกอีใส ป้องกันและรักษานิ่วในไต นิ่วในถุงน้ำดี ต่อมลูกหมากโต มะเร็ง บํารุงกําหนัด บํารุงหัวใจ รักษาโรคเก๊าต์ อัมพฤกษ์ อัมพาต เบาหวาน ฯลฯ และ 5.ยาสมุนไพร JIE DU DAN ชนิดแคปซูล สรรพคุณไม่ระบุข้อความภาษาไทย อย. ได้ดําเนินการตรวจสอบข้อมูลพบว่า ผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพรทั้ง 5 รายการดังกล่าวยังไม่ได้ ขึ้นทะเบียนตํารับยา และยังพบว่ายาสมุนไพร JIE DU DAN ได้นําเลขทะเบียนยาผลิตภัณฑ์อื่นมาใส่บนฉลาก เพราะฉะนั้นผู้บริโภคอย่าได้หลงเชื่อและซื้อมาใช้โดยเด็ดขาด เนื่องจากพบว่าผลิตภัณฑ์ที่แสดงสรรพคุณโอ้อวด เกินจริงมักลักลอบใส่ยาหรือสารที่เป็นอันตรายลงไป และการผลิตผลิตภัณฑ์มักไม่ได้คุณภาพมาตรฐาน จึงอาจทําให้ได้รับอันตรายจากการปนเปื้อน   ฉลาก Smart Fabric รับรองสิ่งทอคุณภาพ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ได้ออกฉลาก Smart Fabric เพื่อเป็นตรารับรองมาตรฐานสินค้าสิ่งทอ โดยแบ่งระดับฉลากเป็น 4 ระดับ คือ 1.ฉลากคุณภาพสิ่งทอเป็นการรับรองคุณภาพสิ่งทอ เช่น การซัก การยืดหด 2.ฉลากคุณภาพสิ่งทอที่มีคุณสมบัติพิเศษ เช่น กันแบคทีเรีย ทนไฟ กันน้ำ 3.ฉลากคุณภาพสิ่งทอที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น การประหยัดพลังงานในกระบวนการผลิต 4.ฉลากคุณภาพสิ่งทอที่มีคุณสมบัติพิเศษร่วมกับการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นการส่งเสริมผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่มีคุณภาพ รวมทั้งยังสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค ได้มีโอกาสเลือกซื้อเลือกใช้ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพและปลอดภัย โดยขณะนี้มีบริษัทที่ได้รับเครื่องหมายคุณภาพสิ่งทอไทยเป็นรายแรกแล้ว คือ บริษัท ธนูลักษณ์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้รับรองผลิตภัณฑ์ เสื้อเชิ้ตแบรนด์ กี ลาโรช (Guy Laroche) โดยได้รับมาตรฐานฉลากคุณภาพสิ่งทอที่มีคุณสมบัติพิเศษ ประเภทระบายความชื้นและเหงื่อได้ดีและเพิ่มความสบายเวลาสวมใส่ (Dry)   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 153 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนตุลาคม 2556 จับผิดพ่อค้า – แม้ค้าโกงตาชั่ง กรมการค้าภายใน ฝากคำแนะนำถึงคนที่ต้องซื้อสินค้าข้าวของกับร้านค้าที่มีการใช้ตาชั่ง ชั่งตวงสินค้า ป้องกันการถูกโกงน้ำหนัก หลังจากที่กรมการค้าภายในได้รับการร้องเรียนจากผู้บริโภคถูกพ่อค้า – แม้ค้าใช้กลโกงตาชั่งเอารัดเอาเปรียบ สำหรับข้อสังเกตในการดูตาชั่งสินค้าที่ได้มาตรฐาน มีอย่างเช่น ต้องตรวจสอบเครื่องหมายรับรองจากกรมฯ ซึ่งเป็นตราครุฑติดไว้, ไม่มีการหักเข็มชี้น้ำหนักเพราะทำให้เครื่องอ่านน้ำหนักไม่ถูกต้อง, ตัวเลขถาดกับตัวเลขเครื่องที่ระบุต้องตรงกัน, ต้องไม่มีวัสดุอื่นหรือนำสีมาพ่นหน้าปัดด้านใดด้านหนึ่งหรือการนำกระดาษมาปิดอีกหน้าหนึ่งของเครื่องชั่ง, การใช้เครื่องที่ทำด้วยพลาสติกหรือเครื่องชั่งที่อยู่ในสภาพชำรุด เป็นต้น เทคนิคที่พ่อค้า-แม้ค้านิยมใช้ในการโกงตาชั่งหลักๆ จะมีอยู่ 3 รูปแบบ คือ การแกะเครื่องและเปลี่ยนสปริง, การเปลี่ยนหน้าปัดและสปริง, การเปลี่ยนถาดที่มีน้ำหนักสูง ซึ่งจะทำให้ผู้ซื้อได้สินค้าไม่เต็มน้ำหนัก จะได้ของเฉลี่ยที่ 8-9 ขีดต่อน้ำหนักที่ซื้อไป 1 กก. เท่านั้น     ใช้ตู้เอทีเอ็มอย่างปลอดภัยเงินไม่ถูกขโมย ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน(ศคง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ออกมาให้คำแนะนำกับผู้ใช้บริการธุรกรรมทางการเงินผ่านตู้เอทีเอ็ม ป้องกันการถูกลักลอบขโมยข้อมูลบนแถบแม่เหล็กด้านหลังบัตรและรหัสประจำบัตร หลังจากเกิดกรณีที่มีกลุ่มมิจฉาชีพแอบดูดเงินจากบัญชีของผู้ใช้เอทีเอ็มกว่า 10 ราย รวมยอดเงินที่ถูกลอบขโมยไปหลายแสนบาท สำหรับคำแนะนำของ ศคง. ในการใช้ตู้เอทีเอ็มอย่างปลอดภัย มีดังนี้ ทุกครั้งที่ใช้ตู้เอทีเอ็ม ควรสังเกตช่องสอดบัตรและแป้นกดตัวเลขอย่าให้มีสิ่งผิดปกติ หากรู้สึกสงสัยก็ไม่ควรใช้เครื่องนั้นและรีบแจ้งให้ธนาคารทราบทันที จุดที่ควรสังเกตก่อนใช้ตู้เอทีเอ็ม คือ กล่องใส่โบชัวร์ ซึ่งไม่ได้เป็นของธนาคาร เพราะอาจเป็นที่ซ่อนกล้องรูเข็มเพื่อแอบดูการกดเลขรหัส ควรใช้มือบังแป้นกดตัวเลขขณะทำรายการ เพื่อไม่ให้กล้องที่มิจฉาชีพแอบติดตั้งไว้หรือคนที่อยู่ด้านหลังเห็นรหัสบัตร ถ้าเป็นไปได้ควรเปลี่ยนรหัสบัตรอยู่เสมอ และควรรีบเปลี่ยนรหัสทันทีเมื่อสงสัยว่าบุคคลอื่นทราบรหัสของเรา   อย.ประกาศลดราคายาผู้ป่วยมะเร็ง -  สมาธิสั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ปรับลดราคายากลุ่มจำเป็นต่อคุณภาพชีวิตตามต้นทุนการจัดหาที่ลดลง จำนวน 7 รายการ เช่น ยาเฟนทานิล ชนิดแผ่นแปะสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง ยาเมทิลเฟนิเดต ที่ใช้รักษาโรคสมาธิสั้น และยาโซลพิเดม ทาร์เทรต ซึ่งเป็นยานอนหลับ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของสถานพยาบาลและผู้ป่วยที่ต้องใช้ยา ซึ่งยา 7 รายการที่ประกาศลดราคาประกอบด้วย 1.เฟนทานิล ชนิดฉีด (0.1 มิลลิกรัม/2 มิลลิลิตร/หลอด) 10 หลอด/กล่อง ราคาเดิมกล่องละ 220 บาท ราคาใหม่ กล่องละ 180 บาท ลดลง 18 % 2.เฟนทานิล ชนิดแผ่นแปะผิวหนัง (12 ไมโครกรัม/ชั่วโมง) 5 แผ่น/กล่อง ราคาเดิมกล่องละ 500 บาท ราคาใหม่ กล่องละ 400 บาท ลดลง 20 % 3.เฟนทานิล ชนิดแผ่นแปะผิวหนัง (25 ไมโครกรัม/ชั่วโมง) 5 แผ่น/กล่อง ราคาเดิมกล่องละ 900 บาท ราคาใหม่ กล่องละ 600 บาท ลดลง 33 % 4.เฟนทานิล ชนิดแผ่นแปะผิวหนัง (50 ไมโครกรัม/ชั่วโมง) 5 แผ่น/กล่อง ราคาเดิมกล่องละ 1,500 บาท ราคาใหม่ กล่องละ 900 บาท ลดลง 40 % 5.ยาเมทิลเฟนิเดต ชนิดเม็ด (10 มิลลิกรัม/เม็ด) 100 เม็ด/กล่อง ราคาเดิมกล่องละ 350 บาท ราคาใหม่ กล่องละ 300 บาท ลดลง 14 % 6.ยาเมทิลเฟนิเดต ชนิดเม็ด (10 มิลลิกรัม/เม็ด) 200 เม็ด/กล่อง ราคาเดิมกล่องละ 700 บาท ราคาใหม่ กล่องละ 600 บาท ลดลง 14 % 7.โซลพิเดม ทาร์เทรต ชนิดเม็ด (10 มิลลิกรัม/เม็ด) 20 เม็ด/กล่อง ราคาเดิมกล่องละ 180 บาท ราคาใหม่ กล่องละ 160 บาท ลดลง 11 % โดยยาทั้ง 7 รายการจะเริ่มปรับลดราคาใหม่ในเดือนตุลาคม 2556 นี้เป็นต้นไป   คณะกรรมการองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค โวย กสทช. เอาจริงแก้ปัญหา “ซิมดับ” หลังจากที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ได้ออกประกาศ “มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. 2556” หรือกรณีปัญหาสัญญาโทรศัพท์มือถือคลื่น 1,800 MHz ซึ่งเป็นของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น ที่สิ้นสุดสัญญาณไม่สามารถใช้งานได้ หรือที่มีคนให้คำจำกัดความว่า “ซิมดับ” โดยหลังจาก กสทช. มีคำสั่งตั้งแต่เมื่อวันที่16 ส.ค.56 ที่ผ่านมา พบว่าประกาศดังกล่าวยังไม่สามารถช่วยเหลือผู้บริโภคได้จริง เพราะยังคงมีเรื่องร้องเรียนเข้ามายัง กสทช. เป็นจำนวนมาก ซึ่งเรื่องที่ร้องเรียนมีทั้ง ปัญหาเรื่องการโอนย้ายเลขหมาย ที่ไม่สะดวกอย่างที่ควรจะเป็น แถมมีผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้รับการแจ้งเรื่องการโอนย้ายเครือข่าย การถูกย้ายเครือข่ายโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า บางคนถูกปรับสิทธิประโยชน์ลดลงจากการโอนย้ายเครือข่าย รวมถึงปัญหาที่บริษัทไม่ยอมคืนเงินที่ยังคงเหลือในระบบเดิม ไปจนถึงไม่สามารถใช้งานโทรศัพท์ได้ จากปัญหาที่เกิดขึ้น คณะกรรมการองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค โดย ผศ.รุจน์ โกมลบุตร ในฐานะกรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อและโทรคมนาคม ร่วมกับสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค และ สมาคมพิทักษ์สิทธิผู้บริโภคจังหวัดสระบุรี ออกแถลงการณ์เป็นข้อเสมอต่อ กสทช. ให้เร่งจัดการแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคหลังการประกาศใช้มาตรการเยียวยากรณีซิมดับไปแล้วแต่ปัญหายังไม่ถูกแก้ไข โดยข้อเสนอของภาคประชาชนมีดังนี้ 1.ขอให้ กสทช. ติดตามการบังคับใช้ประกาศอย่างเคร่งครัด เพราะยังพบปัญหาเกิดขึ้นกับผู้บริโภค เช่น ผู้ประกอบการยังมีการขยายฐานผู้ใช้บริการคลื่น 1800 MHz ต้องควบคุมคุณภาพการให้บริการ และคืนเงินคงเหลือเมื่อผู้บริโภคยุติการใช้บริการ 2.กสทช. ต้องกำกับดูแลการจัดการคลื่นเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซิมดับซ้ำอีก โดยต้องเร่งให้มีจัดให้มีการประมูลก่อน ถึงวันหมดอายุสัญญาสัมปทานในปี 2558 3.ให้ กสทช. ถอนฟ้องนักวิชาการและสื่อมวล ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ปัญหากรณีคลื่นสัญญา 1800 MHz เพราะเป็นการวิพากษ์วิจารณ์โดยใช้หลักสุจริต เพื่อประโยชน์ของสังคม   “มาตรา 61 ยิ่งใกล้ ยิ่งต้องเชียร์” ฉายหนังสั้นผู้บริโภคที่รัฐสภา แม้สถานการณ์ทางการเมืองยังคงสับสนวุ่นวาย แต่องค์กรผู้บริโภคภาคประชาชนก็ยังมีความมุ่งมั่นแน่วแน่ที่จะผลักดันกฎหมาย “องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค” ให้เกิดขึ้นจริงในประเทศไทยเราเสียที ล่าสุดสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคกลาง ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมรณรงค์ฉายภาพยนตร์สั้นและเสวนาเรื่อง “มาตรา 61 ยิ่งใกล้ ยิ่งต้องเชียร์” ณ สโมสรรัฐสภา เพื่อปลุกจิตสำนึกและสร้างความเข้าใจกับบรรดานักการเมือง สส. สว. ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับการออกกฎหมายฉบับนี้ โดยหลังการฉายภาพยนตร์ ก็ได้มีการผู้คุยกับเหล่าผู้กำกับภาพยนตร์ ได้แก่ นายไพจิตร ศุภวารี, นายชาญ รุ่งเรืองเดชวัฒนา และ นายพัฒนะ จิรวงศ์ โดยมี ศ.ดร.ปาริชาต สถาปิตานนท์ ในฐานนะนักวิชาการที่ทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภค และ นพ. ชลน่าน ศรีแก้ว สส. พรรคเพื่อไทย ร่วมพูดคุยกันถึงปัญหาการคุ้มครองผู้บริโภคในบ้านเรา และการเดินทางของกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคว่าตอนนี้อยู่ในระเบียบวาระการประชุมของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว รอเพียงยกขึ้นมาพิจารณาลงคะแนนเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบเท่านั้น ผู้บริโภคยังคงต้องคอยติดตาม เป็นกำลังใจ และลุ้นกันต่อไป ว่ากฎหมายเพื่อผู้บริโภคฉบับนี้ว่าจะถึงฝั่งฝันได้เมื่อไหร่ //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 152 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนกันยายน 2556 ผักดองต้องระวัง ใครที่ชอบผักดองอ่านข่าวนี้แล้วคงต้องคิดหนัก เพราะทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ทำการสุ่มตรวจสอบตัวอย่างผักดองในช่วงเทศกาลกินเจที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น ผักกาดดอง กาน่าไฉ่ หัวไชโป้ว รวมจำนวน 30 ตัวอย่าง โดยนำตัวอย่างมาตัวหาวัตถุกันเสีย ชนิดกรดเบนโซอิค พบว่า มีตัวอย่างผักดองที่เกินมาตรฐานถึง 22 ตัวอย่าง ปริมาณของกรดเบนโซอิคที่พบอยู่ระหว่าง 1,034 - 5,995 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 281 (พ.ศ. 2547) กำหนดให้มีได้ไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมเท่านั้น โดยชนิดของผักดองที่พบการใช้วัตถุกันเสีย กรดเบนโซอิคมากที่สุด คือ ผักกาดดองและหัวไชโป้ว ซึ่งวัตถุกันเสียไม่ได้มีปนเปื้อนเฉพาะในตัวผักเท่านั้น แต่ยังมีอยู่ในน้ำที่ใช้ดองผักด้วยเช่นกัน วัตถุกันเสีย เมื่อเข้าสู่ร่างกายในปริมาณที่มากเกินไปจะทำลายเซลล์ในร่างกาย ทำลายเยื่อบุกระเพาะอาหารและลำไส้ ทำให้เกิดแผล นอกจากนี้ยังมีผลทำให้ความดันโลหิตต่ำ จนเกิดอาการช็อกได้ หรือในบางรายที่กินเข้าไปไม่มากแต่แพ้ จะทำให้เป็นผื่นคันขึ้นตามตัว อาเจียน มีไข้     คุมเข้มคลินิกเสริมความงาม ความนิยมที่มีเพิ่มขึ้นของสถานเสริมความงาม สิ่งที่เพิ่มตามไม่ใช่แค่ความสวยเท่านั้น แต่ปัญหาหลายอย่างก็ตามมาด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะเรื่องการหลอกลวง สถานพยาบาลที่ไม่ได้มาตรฐาน หมอเถื่อน คลินิกเถื่อน ยาปลอม จนเป็นเหตุให้ผู้ที่ใช้บริการต้องเสียทั้งทรัพย์ เสียสุขภาพ เสียโฉม ไปจนถึงเสียชีวิต กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) ได้เตรียมจัดอบรมพร้อมกำหนดมาตรฐานคลินิกเสริมความงามทั่วประเทศ เพื่อจัดการกับปัญหาคลินิกเถื่อน หมอเถื่อน รวมไปถึงเรื่องการโฆษณาที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์และบริการเสริมความงามที่เข้าข่ายโฆษณาเกินจริง โดย สบส.จะจัดโครงการอบรมผู้ประกอบกิจการคลินิกเวชกรรมทุกประเภทซึ่งมีประมาณ 14,000 แห่ง และ รพ.เอกชน 326 แห่งทั่วประเทศ ในเดือน ต.ค. นี้ เพื่อชี้แจงแนวทางปฏิบัติให้เป็นแนวทางเดียวกันทั่วประเทศ โดยได้กำหนดมาตรฐานของคลินิกเวชกรรมทุกประเภทจะต้องแสดงหลักฐาน 5 ประการ คือ 1.ชื่อสถานพยาบาล รวมทั้งเลขที่ใบอนุญาต 11 หลักติดที่หน้าสถานพยาบาล 2.แสดงใบอนุญาตประกอบกิจการและใบอนุญาตให้ดำเนินการสถานพยาบาลในที่ตั้งชัดเจนและเปิดเผย 3.แสดงหลักฐานการชำระค่าธรรมเนียมประจำปีของปีปัจจุบัน 4.มีแพทย์อยู่ประจำจริง โดยต้องแสดงชื่อ รูปถ่าย รวมทั้งเลขที่ใบประกอบวิชาชีพ และ 5.แสดงราคาค่ารักษาที่ชัดเจน ติดที่หน้าห้องตรวจ เพื่อให้ประชาชนแยกแยะได้ง่ายยิ่งขึ้น หลังจากการอบรม สบส. จะตั้งคณะกรรมการเพื่อทำการตรวจประเมินมาตรฐานของคลินิกความงาม โดยคณะกรรมการจะประกอบด้วย ผู้แทนจากสาธารณสุข ผู้แทนภาคเอกชน และสภาวิชาชีพที่เกี่ยวข้องทุกสาขา ซึ่งในหลักเกณฑ์การประเมินอาจจะมีการกำหนดรายละเอียดอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น มาตรฐานของผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในคลินิกต้องผ่าน อย. สถานที่มีความสะอาดปลอดภัย มีเครื่องมือและอุปกรณ์ช่วยชีวิตกรณีฉุกเฉิน ซึ่งจะช่วยแก้ไขในกรณีที่เกิดปัญหา เช่น การแพ้ยาในเบื้องต้นได้ หากสุ่มตรวจแล้วพบว่าไม่เป็นไปตามเงื่อนไข จะมีการยึดใบอนุญาต พร้อมทั้งดำเนินคดีตามกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541   บ้านนี้อยู่แล้วดี สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ร่วมกับ การเคหะแห่งชาติ กรมที่ดิน ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย สมาคมอาคารชุดไทย และสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร ได้ร่วมกันคัดเลือกธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ดี โดยพิจารณาจากหลักเกณฑ์ 5 ข้อสำคัญ คือ 1.การประกอบการและทีมงาน 2.ความถูกต้องเหมาะสมของทำเลที่ตั้ง คุณภาพด้านคมนาคม สาธารณูปโภค 3.มาตรฐานการออกแบบและการก่อสร้าง 4.ความรับผิดชอบของผู้ประกอบธุรกิจต่อผู้บริโภคและสังคม ก่อนและหลังการขาย และ 5.ความพึงพอใจของผู้บริโภคทั้งในเรื่องของคุณภาพบ้าน การดูแลสาธารณูปโภคและการบริการสาธารณะ การตอบสนองต่อการแจ้งปัญหาของผู้อยู่อาศัย โดยผลการคัดเลือกได้ผู้ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ดี ที่ผ่านหลักเกณฑ์ฯ ทั้งหมดจำนวน 22 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการพฤกษาวิลเลจ Scenery (รังสิต คลอง 2) โดย บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท 2.โครงการพฤกษาวิลล์ 31 (สายไหม) โดย บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท 3.โครงการบ้านพฤกษา 52/1 (พหลโยธิน – นวนคร) โดย บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท 4.โครงการทรี คอนโด สุขุมวิท 42 โดย บจก. บิ๊ก ทรี แอสเสท 5.โครงการทรี คอนโด ลาดพร้าว 27 โดย บจก.บิ๊ก ทรี แอสเสท 6.โครงการเลอนครินทร์ นีโอ โดย บจก.น้อมบุญ 7.โครงการศุภาลัย สุวรรณภูมิ โดย บมจ.ศุภาลัย 8.โครงการศุภาลัย ปาร์ค ศรีนครินทร์ โดย บมจ.ศุภาลัย 9.โครงการศุภาลัย ปาร์ค แยกติวานนท์ โดย บมจ. ศุภาลัย 10.โครงการศุภาลัย ริเวอร์เพลส โดย บมจ. ศุภาลัย 11.โครงการเลอริช พระราม 3 โดย บจก.ริชี่เพลซ 2002 12.โครงการไอริส พาร์ค (สุขุมวิท 76) โดย บจก. ไอริส กรุ๊ป 13.โครงการอิสรเพลส โดย บจก. อิสรพร็อพเพอร์ตี้ 14.โครงการยู ดีไลท์ แอท ห้วยขวาง สเตชั่น โดย บจก. แกรนด์ ยู ลิฟวิ่ง 15.โครงการAqua Divina by Sammakorn โดย บมจ.สัมมากร 16.โครงการบ้านฟ้าปิยรมย์ เลค แอนด์ พาร์ค 2 โดย บมจ.เอ็น ซี เฮ้าส์ซิ่ง 17.โครงการบ้านฟ้ากรีนพาร์ค รอยัล ธนบุรีรมย์ โดย บมจ. เอ็น ซี เฮ้าส์ซิ่ง 18.โครงการ The First Home รังสิต–ลำลูกกา คลอง 2 โดย บจก. กานดา เดคคอร์ 19.โครงการนิรันดร์ วิลล์ 8 โดย บจก.นิรันดร์วิลล์ 20.โครงการนิรันดร์ วิลล์ 10 โดย บจก. นิรันดร์วิลล์ 21.โครงการนิรันดร์ วิลล์ 10 โดย บจก.อีลิท แลนด์ 22.โครงการซิมโฟนี สุขุมวิท โดย บจก.อีลิท แลนด์   "สเต็มเซลล์" รักษาได้แค่ 5 โรค องค์กรด้านการรักษาพยาบาล ไม่ว่าจะเป็น ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศไทย สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย และสมาคมประสาทวิทยา ร่วมกันแถลงยืนยันและออกโรงเตือนประชาชน เรื่องการรักษาโรคด้วย "สเต็มเซลล์" ว่าในปัจจุบันนี้เทคโนโลยีทางการแพทย์สามารถใช้สเต็มเซลล์หรือเซลล์ต้นกำเนิดในการรักษาโรคที่เป็นที่ยอมรับเพียง 5 โรคเท่านั้น คือ 1. โรคมะเร็งเม็ดโลหิตขาว 2. โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง 3. โรคไขกระดูกฝ่อ 4. โรคมะเร็งมัลติเพิล มัยอิโรมา และ 5. โรคโลหิตจางพันธุกรรมธาลัตซีเมีย เพราะฉะนั้นอย่าหลงเชื่อหากมีใครมีอวดอ้างว่าสามารถใช้สเต็มเซลล์รักษาโรคอื่นๆ นอกเหนือจาก 5 โรคที่กล่าวมา และหากมีผู้ใดชักชวนให้รักษาด้วยสเต็มเซลล์นอกจาก 5 โรคนั้น ให้แจ้งไปที่แพทยสภาเพื่อตรวจสอบได้ว่า การรักษาดังกล่าวเป็นโครงการวิจัยหรือไม่อย่างไร ซึ่งหากเป็นโครงการวิจัย ผู้ป่วยจะต้องไม่เสียเงินและไม่มีการเรียกเก็บเงินหรือค่าใช้จ่ายอื่นใด สำหรับโทษต่อผู้ป่วยที่ได้รับสเต็มเซลล์โดยไม่ถูกต้องหรือไม่ตรงกับโรค อาจเกิดอาการแพ้ เกิดการอุดตันของหลอดเลือด และอาจเป็นมะเร็งชนิดร้ายแรง     สคบ.ฟ้องแทนคดีรถโดยสาร สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ.เตรียมให้ความช่วยเหลือผู้บริโภค ด้วยการฟ้องร้องดำเนินคดีแทนผู้บริโภค ในเรื่องของการฟ้องร้องขอชดเชยค่าเสียหายเพิ่มเติมจากกรณีเกิดอุบัติเหตุจากการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ ทั้งรถประจำทาง รถตู้โดยสาร และรถแท็กซี่  ซึ่งที่ผ่านมามีเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคที่ประสบอุบัติเหตุจากการเดินทางโดยสารรถสาธารณะเป็นจำนวนมาก ที่พบปัญหากรณีเกิดอุบัติเหตุและได้รับบาดเจ็บแล้วได้รับการชดเชยค่าเสียหาย แค่ในวงเงินที่ผู้ให้บริการทำประกันไว้เท่านั้น ซึ่งถือว่ามีจำนวนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง แถมหลายรายยังถูกประวิงเวลาไม่ได้รับการเยียวยาทั้งที่ความเสียหายได้เกิดขึ้นไปแล้ว การดำเนินการฟ้องแทนผู้บริโภคของ สคบ. จะเป็นการช่วยการดำเนินการรวดเร็วขึ้น จากเดิมที่ผู้บริโภคร้องเรียนมายัง สคบ. ต้องผ่านขั้นตอนการพิจารณาหลายขั้นตอน กว่าจะถึงการส่งฟ้องคดีได้ แต่ทั้งนี้ สคบ. จะต้องประสานงานกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้ง สำนักงานศาลยุติธรรม และ กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เพื่อการทำงานช่วยเหลือผู้บริโภคมีประสิทธิภาพมากที่สุด   //

อ่านเพิ่มเติม >