ฉบับที่ 185 คอเลสเตอรอล..อาจไม่เลวอย่างที่คิด

ทุกครั้งก่อนกินข้าวผู้เขียนมักสำรวจอาหารในจานว่า ครบห้าหมู่หรือไม่ ถ้าเป็นการกินที่บ้านส่วนใหญ่มักครบ แต่ถ้าต้องกินนอกบ้านแล้วส่วนใหญ่ต้องกำหนดว่า เมื่อกลับถึงบ้านควรไปกินอะไรเพิ่มบ้าง นอกจากจำแนกอาหารว่าครบห้าหมู่หรือไม่แล้ว สิ่งหนึ่งที่พยายามสังเกตคือ อาหารจานนั้นน่าจะมีคอเลสเตอรอลมากหรือน้อย โดยดูจากองค์ประกอบส่วนที่เป็นไขมันและส่วนที่เป็นหนังเช่น หนังหมู ทั้งนี้เพราะเราถูกสอนมาให้เลี่ยงไขมันชนิดนี้เพื่อลดความเสี่ยงของโรคที่เกิดเกี่ยวกับเส้นเลือดที่เลี้ยงหัวใจและสมองอย่างไรก็ดีในระยะหลังนี้ข่าวคราวเกี่ยวกับปัญหาของคอเลสเตอรอลต่อสุขภาพของผู้บริโภคเริ่มเปลี่ยนไป ทั้งนี้เพราะข้อมูลจากการทำวิจัยด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพของนักวิทยาศาสตร์ในประเทศที่มีความก้าวหน้าทางวิทยาการนั้นต่างไปจากเดิมคือ มีมุมมองในการทำวิจัยเกี่ยวกับคอเลสเตอรอลที่กว้างไกลกว่าเดิม ผู้เขียนจึงขอนำมาเล่าต่อดังนี้ข้อมูลจากอินเตอร์กล่าวว่า ทุกๆ 5 ปี หน่วยงานรัฐการของสหรัฐอเมริกาคือ กระทรวงเกษตร (US. Department of Agriculture หรือ USDA )และกระทรวงสาธารณสุข (US. Department of Health and Human Services หรือ USHHS ) มีความร่วมมือในการสร้าง ข้อแนะนำในการกินอาหารของคนในชาติ หรือ Nation's dietary guidelines ซึ่งเป็นการระบุชนิดของอาหารและวิธีการบริโภคที่ทำให้ประชาชนมีสุขภาพดี ทั้งในด้านน้ำหนักตัวและการป้องกันโรค ข้อแนะนำนี้มีการนำไปใช้ประยุกต์กับโครงการต่างๆของรัฐที่เกี่ยวกับอาหารและสุขภาพของประชาชน เช่น โครงการอาหารกลางวันในโรงเรียน โครงการอาหารสำหรับผู้สูงอายุ เป็นต้น สำหรับข้อแนะนำของปี 2015 เพื่อใช้ในช่วงปี 2016-2020 นั้นเป็นการแนะนำในกรอบกว้างๆ ที่หวังลดการได้รับสารอาหารบางชนิดที่มากเกินพอดีของคนอเมริกัน โดยรายงานของกรรมการที่สร้างข้อแนะนำนี้ยังยึดโยงกับข้อแนะนำในปี 2010 เป็นหลัก ซึ่งกล่าวถึงความมั่นคงทางอาหาร ความปลอดภัยของอาหารต่างๆ เช่น ความปลอดภัยของกาแฟ คาเฟอีนและน้ำตาลเทียมชนิดแอสปาเตม แต่มีสิ่งซึ่งค่อนข้างสำคัญเกิดขึ้นในคำแนะนำใหม่นี้คือ การไม่กล่าวถึงการจำกัดปริมาณคอเลสเตอรอลในอาหารที่คนอเมริกันกินในแต่ละวัน จากเอกสาร Scientific Report of the 2015 Dietary Guidelines Advisory Committee ของสหรัฐอเมริกานั้นกล่าวว่า ข้อแนะนำในการกินอาหารของคนอเมริกันแต่เดิมนั้น ได้เคยแนะนำให้กินคอเลสเตอรอล ซึ่งอยู่ในอาหารต่างๆ รวมกันไม่เกิน 300 มิลลิกรัมต่อวัน(ซึ่งเท่ากับกินไข่ได้สองฟองต่อวันเท่านั้น) เพราะระดับความเข้มข้นของคอเลสเตอรอลที่สูงขึ้นในระบบไหลเวียนโลหิต เป็นหนึ่งในหลายปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการตีบตันของเส้นเลือด ถ้าเกิดขึ้นที่หัวใจอาจทำให้คุณหัวใจวายตาย (heart attack) หรือถ้าเกิดที่หลอดเลือดสมอง(stroke ) อาจนำสู่การเป็นอัมพาตบางส่วนของร่างกาย ดังนั้นข้อแนะนำในการบริโภคอาหารของคนอเมริกันเก่าในปี 2010-–2015 จึงมุ่งเน้นให้ประชาชนมองเห็นถึงอันตรายที่เกิดจากการมีคอเลสเตอรอลสูงในระบบเลือดกว่าคนปรกติทั่วไป ทว่าในข้อแนะนำใหม่ที่จะใช้ต่อไปอีก 5 ปีนั้น ไม่จัดคอเลสเตอรอลเป็นสารอาหารที่ต้องกังวลในการกินเกินแล้ว เพราะคณะกรรมการผู้สร้างข้อแนะนำกล่าวว่า ข้อมูลทางวิชาการใหม่ๆ ไม่ได้แสดงว่าปริมาณคอเลสเตอรอลในอาหารนั้นมีความสัมพันธ์กับคอเลสเตอรอลในเลือด จริงๆ แล้วร่างกายเราเองสร้างคอเลสเตอรอลขึ้นเพื่อใช้เองทุกวัน ซึ่งอาจมากกว่าปริมาณที่กินจากอาหาร ทั้งนี้ขึ้นกับข้อกำหนดทางพันธุกรรมว่า ร่างกายของแต่ละคนต้องการใช้คอเรสเตอรอลเท่าไรและกำจัดได้ดีเพียงใด ทั้งนี้เพราะอนุพันธ์ของคอเลสเตอรอลนั้น เป็นสารที่ร่างกายใช้เปลี่ยนเป็นวิตามินดี เมื่อผิวหนังได้รับแสงแดดช่วงเช้าและเย็น นอกจากนี้คอเลสเตอรอลยังถูกเปลี่ยนเป็นฮอร์โมนบางชนิดและเปลี่ยนเป็นเกลือน้ำดีเพื่อช่วยในการย่อยไขมันจากอาหารที่เรากินเข้าไป อีกประการหนึ่ง ซึ่งสำคัญมากๆ คือ คอเลสเตอรอลนั้น เป็นองค์ประกอบที่จำเป็นที่ต้องมีสอดแทรกในชั้นไขมันที่ทำหน้าที่เป็นผนังเซลล์ หรือผนังออร์กาเนล (คือเอ็นโดพลาสมิคเร็ทติคิวลัม) ของเซลล์ซึ่งเป็นบริเวณสร้างโปรตีนในเซลล์และทำหน้าที่เปลี่ยนแปลงสารพิษก่อนถูกกำจัดออกจากร่างกายอาหารที่สามารถเพิ่มปริมาณคอเลสเตอรอลในร่างกาย ได้แก่ ไข่แดง หนังสัตว์ต่างๆ(โดยเฉพาะหนังของขาหมูพะโล้) เนื้อติดมัน หอยนางรม กุ้ง นม เนย เป็นต้น ส่วนการสร้างขึ้นเองในร่างกายนั้น ร่างกายเราสร้างได้จากไขมันธรรมดาที่กินเข้าสู่ร่างกาย โดยเซลล์ตับนั้น เป็นเซลล์ที่รับผิดชอบงานนี้ราวร้อยละ 20-25 ดังนั้นการกินอาหารไขมันสูงจึงเป็นการเพิ่มความสามารถในการสร้างคอเลสเตอรอลของร่างกายสู่ระดับสูงสุดได้ประเด็นที่น่าสนใจคือ บางขณะที่เราต้องการอาหารไขมันสูง เพื่อให้ได้พลังงานเนื่องจากต้องอยู่ในภูมิประเทศที่มีอากาศหนาวเย็น อาจมีไขมันส่วนที่กินเกินไปเพิ่มการสร้างคอเลสเตอรอลได้ ดังนั้นประชาชนจึงควรทราบวิธีการลดปริมาณคอเลสเตอรอล   วิธีการลดปริมาณคอเลสเตอรอลโดยหลักการแล้วทำได้โดยการเพิ่มอาหารที่มีใยอาหารกลุ่มเพคตินเข้าไปในมื้ออาหาร เพื่อเร่งให้มีการเปลี่ยนคอเลสเตอรอลไปเป็นสารอื่น อาหารที่มีใยอาหารกลุ่มเพคตินสูง ได้แก่ แตงต่างๆ มะม่วง แอปเปิ้ล ถั่วหลายชนิดมีเพคตินสูง สำหรับผลไม้นั้นเป็นที่รู้กันว่า ส้มต่างๆ เป็นแหล่งสำคัญของเพคติน ที่น่าสนใจมากคือ ขนมเปลือกส้มโอซึ่งเป็นการสกัดเอาเพคตินจากส่วนสีขาวของเปลือกมาผสมน้ำตาลแล้วทิ้งให้แข็งตัว ดังนั้นถ้าทำให้ขนมนี้มีปริมาณน้ำตาลต่ำ ขนมเปลือกส้มโอก็จะเป็นแหล่งที่ดีของเพคตินในราคาไม่แพงนัก บทบาทของเพคตินในการลดคอเลสเตอรอลคือ เพคตินสามารถจับเกลือน้ำดีในลำไส้ใหญ่แล้วพาเกลือน้ำดีออกจากร่างกายไปกับอุจจาระ ซึ่งเป็นการลดการดูดซึมเกลือน้ำดีกลับไปยังถุงน้ำดี(เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่) การลดปริมาณเกลือน้ำดีนี้เป็นการบังคับให้ตับต้องนำเอาคอเลสเตอรอลในเลือดที่ไหลผ่านตับไปสร้างเป็นเกลือน้ำดีใหม่ จึงทำให้คอเลสเตอรอลในเลือดลดลง ประเด็นสำคัญของคอเลสเตอรอลที่เกี่ยวกับสุขภาพของท่านประเด็นสำคัญคือ คอเลสเตอรอลเป็นองค์ประกอบของไลโปโปรตีนสำคัญในเลือด ซึ่งเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า low density lipoprotein (LDL มีองค์ประกอบเป็นโปรตีนร้อยละ 25 คอเลสเตอรอลร้อยละ 50 และฟอสโฟไลปิดร้อยละ 21) ซึ่งควรมีในเลือดไม่เกิน 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร (หรือ 10 มิลลิลิตร) และ high density lipoprotein (HDL มีองค์ประกอบเป็นโปรตีนร้อยละ 33 คอเลสเตอรอลร้อยละ 30 และฟอสโฟไลปิดร้อยละ 29) ซึ่งควรมีในเลือดไม่ต่ำกว่า 60 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ไขมันทั้งสองนี้ได้ถูกแปลให้เข้าใจง่ายว่าเป็น คอเลสเตอรอลเลวและคอเลสเตอรอลดี ตามลำดับ เพราะว่าไลโปโปรตีนชนิดแรกนั้น ถ้ามีมากในเลือดแล้วจะเป็นดัชนีว่า หัวใจมีความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสูง ส่วนไลโปโปรตีนชนิดหลัง ถ้ามีมากในเลือด ก็หมายความว่า หัวใจมีความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาต่ำ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นยังขึ้นกับปัจจัยทาง พันธุกรรมและการใช้พลังงานในแต่ละวันด้วยอย่างไรก็ดีแม้ว่านักวิทยาศาสตร์สุขภาพชาวอเมริกันจะเห็นพ้องต้องกันในปัจจุบันว่า ความเข้มข้นของคอเลสเตอรอลในเลือดนั้น ไม่ใช่เรื่องสำคัญเท่าไรแล้ว ท่านผู้บริโภคอย่าละเลยหลักการสำคัญทางโภชนาการที่ว่า ไม่พึงกินอะไรให้อิ่มมากเกินจำเป็นโดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาหารมันๆ นั้นควรกลัวเข้าไว้ มิเช่นนั้นเวลาไปตรวจสุขภาพแล้วผลเลือดออกมาว่า คอเลสเตอรอลสูงกว่าค่าเฉลี่ยของคนทั่วไป คุณหมอที่ดูแลสุขภาพท่านอาจมีเคืองได้ในฐานที่ท่านไม่ใส่ใจในคำแนะนำ  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 184 อารมณ์บูดกับสารกันบูด

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้แถลงข่าวในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ว่า ขนมจีนที่ขายในท้องตลาดมีการใส่สารกันบูดชื่อเกลือเบนโซเอตทุกตัวอย่าง งานนี้ทำให้ผู้เขียนเดาว่า การแถลงข่าวแก่สาธารณะชนของมูลนิธินั้นอาจหวังให้มีการทำอะไรสักทีโดยหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านความปลอดภัยของอาหาร เพื่อให้คุณภาพชีวิตของผู้บริโภคอาหารดีขึ้นความจริงข้อมูลเกี่ยวกับขนมจีนในลักษณะที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแถลงนี้ สถาบันอาหารก็ได้แถลงไว้ก่อนแล้วในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐฉบับพิมพ์เมื่อ 24 กรกฎาคม 2558 ซึ่งสามารถค้นข้อมูลได้ในไทยรัฐออนไลน์ภายใต้หัวข้อ สารกันบูดในขนมจีน โดยที่เนื้อหานั้นก็เป็นไปในทำนองเดียวกับที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแถลงข่าวทุกประการ จะเห็นได้ว่าเพียงช่วงเวลาไม่ถึงปี ข่าวเกี่ยวกับขนมจีนมีสารกันบูดนั้นปรากฏขึ้นถึงสองครั้ง (เป็นอย่างน้อย) และถ้าท่านผู้อ่านสนใจอยากทราบว่า มีข่าวลักษณะนี้มากน้อยเท่าใดในสังคมไทย ท่านสามารถอาศัย google โดยใช้คำช่วยในการค้นว่า “สถิติ การตรวจพบ สารกันบูด อาหารไทย” ท่านก็จะได้ข้อมูลที่ดูไม่จืดสำหรับชีวิตการบริโภคอาหารประจำวันข้างถนนหรือศูนย์การค้าของท่านทำไมผู้ผลิตจึงต้องใส่สารกันบูดในอาหาร คำตอบหล่อๆ ง่ายๆ คือ เพื่อลดความเสี่ยงอันตรายเนื่องจากเชื้อโรคที่ปนเปื้อนได้ระหว่างการผลิต เก็บ และขนส่งอาหาร ทั้งนี้เพราะเป็นที่รู้กันว่า สภาพภูมิอากาศของไทยนั้นเป็นสวรรค์ของเชื้อโรคที่ก่อให้เกิดโรคเกี่ยวกับทางเดินอาหาร ดังนั้นการป้องกันการเจริญของเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุนั้นจึงเป็นขั้นตอนสำคัญ ซึ่งไม่บังควรแก้ปัญหาโง่ๆ ง่ายๆ ด้วยสารกันบูด เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตในการเก็บรักษาและขนส่งเมื่อผู้เขียนยังเด็ก สิ่งที่พบเห็นทั่วไปในการขนส่งอาหารที่บูดเสียง่ายเช่น ลูกชิ้นและผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ต่างๆ คือ การบรรจุสินค้าในภาชนะที่มีน้ำแข็งหล่อเย็น แต่ในระยะหลังที่เรียนจบกลับมาเมืองไทย(พ.ศ. 2525)ได้พบว่า รถกระบะที่ใช้ขนอาหารที่บูดเสียง่ายรวมทั้งลูกชิ้นต่างๆ นั้น ไม่ได้มีการใช้น้ำแข็งในการป้องกันการบูดเสีย แถมยังสามารถปล่อยให้อาหารตากแดดอยู่ในกระบะของรถได้โดยไม่ต้องมีการปกคลุมด้วยผ้าใบกันแสงแดด โดยที่อาหารนั้นยังคงสภาพดีได้ทั้งวัน อีกทั้งยังสังเกตได้จากการที่ร้านขายก๋วยเตี๋ยวปัจจุบันว่า แม้ไม่มีระบบแช่เย็นสำหรับเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ต่างๆ เขาก็สามารถขายสินค้าได้ตั้งแต่เช้าจรดเย็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหน้าร้อนที่อุณหภูมิบนท้องถนนเกิน 37 องศาเซลเซียส ปัญหาอาหารที่ขายตามถนนได้เช้าจรดเย็นโดยไม่เสียนั้น ได้รวมไปถึงอาหารตระกูลเส้นซึ่งมีความชื้นสูง เช่น ก๋วยเตี๋ยวและขนมจีน ดังนั้นข้อมูลเกี่ยวกับสารกันบูดในผลิตภัณฑ์เหล่านี้จึงได้ทยอยเปิดเผยสู่สาธารณะชนเป็นระยะๆ ไม่มีที่สิ้นสุดสารกันบูดจำเป็นไหมสำหรับคำถามว่า สารกันเสียหรือสารกันบูดนั้นจำเป็นแก่ผู้บริโภคหรือไม่นั้น คำตอบง่าย ๆ คือ จำเป็น ตราบใดที่ระบบการบริโภคอาหารของคนไทยหลายส่วนยังอยู่ในลักษณะไม่เป็นที่เป็นทางเช่นปัจจุบัน กล่าวคือหาอาหารกินได้ทุกที่ ที่เป็นแหล่งชุมชน เสมือนหนึ่งเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นไม่สนใจ หรือไร้ความรู้ในการบังคับให้มีการจัดการสถานที่จำหน่ายอาหารให้เป็นที่เป็นทางแบบถูกสุขลักษณะ ครั้งหนึ่งเมื่อปี 2543 ผู้เขียนเคยได้ยินผู้สมัครเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนหนึ่ง ให้ข่าวทางโทรทัศน์ว่า มีนโยบายที่จะจัดบริเวณสำหรับขายอาหารข้างถนนให้เป็นที่เป็นทาง มีระบบอำนวยความสะดวกเช่น เต้นท์ ระบบน้ำประปาเพื่อล้างภาชนะ ไฟฟ้าเพื่อตู้เย็นเก็บอาหารสด และอื่นๆ(ทำนองเดียวกับสิงค์โปร์) โดยใช้พื้นที่ในส่วนของสถานที่ราชการที่ไม่ได้ทำประโยชน์อะไรเช่น สนามหญ้าหน้าหน่วยงานราชการซึ่งมีแต่เสาธงโด่เด่ โดยหวังว่าเป็นการยกระดับสุขอนามัยของอาหารข้างถนน แต่น่าเสียดายที่นโยบายนี้ไม่ได้นำมากระทำให้เป็นจริง เหตุผลนั้นท่านผู้อ่านต้องหาคำตอบเองจากข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์เก่าๆ ผู้เขียนได้แต่บอกว่า เขาผู้หาเสียงได้ตายไปแล้วพร้อมกับอาหารที่ขายข้างถนน ก็ยังมีคุณสมบัติในการทนอากาศร้อนของเมืองไทยได้โดยไม่บูดเสีย ดังนั้นท่านผู้อ่านคงพอเข้าใจได้ไม่ยากว่า สารกันบูดน่าจะเป็นทางเลือกทางรอดเพื่อลดความเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อโรคที่ผู้ประกอบการมักแถมให้ฟรี ด้วยเหตุนี้ท่านผู้อ่านที่ต้องกินอาหารข้างถนนจึงต้องทำใจยอมรับการกินสารกันบูด ในเมื่อท่านอยู่ในสถานการณ์ที่มีสตางค์ไม่มากนักและต้องหาอะไรใส่ท้อง สำหรับผู้เขียนนั้นมิได้มีความเห็นด้วยต่อการปฏิบัติแก้ปัญหาของผู้ประกอบการดังกล่าว จึงพยายามเลี่ยงการต้องใช้บริการอาหารข้างถนน โดยยอมหิ้วท้องกลับบ้าน(ถ้าทำได้)การใช้สารกันบูดนั้น ผู้ประกอบการสามารถใช้ได้ตามกฎหมายในอาหารเกือบทุกชนิด ไม่ว่าเป็นอาหารที่ผลิตทางอุตสาหกรรม หรือชนิดที่แม่ค้าทำที่บ้านแล้วขายตรงสู่ผู้บริโภค แต่ในความเหมือนนั้นก็มีความต่างกัน อาหารที่ผลิตทางอุตสาหกรรมนั้นต้องทำการขึ้นทะเบียนก่อน จึงต้องใช้สารกันบูดได้ในปริมาณที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาอนุญาตกำหนด ในขณะที่สินค้าชนิดเดียวกันแต่ขายตรงสู่ผู้บริโภคนั้นหน่วยงานที่มีหน้าที่คงไม่ค่อยได้ดูแล ด้วยเหตุผลที่อ้างประจำว่า คนน้อย งานเยอะ ฯลฯในกรณีการใช้สารกันบูด(ซึ่งหมายรวมถึงสารเจือปนในอาหารอื่นๆ ด้วย)นั้น หน่วยงานทางการของทุกประเทศมักกำหนดให้ใช้ได้ในปริมาณที่ไม่(ควร)ก่อปัญหาต่อสุขภาพผู้บริโภค โดยขึ้นกับข้อมูลว่า อาหารชนิดนั้นว่า ถูกกินด้วยปริมาณมากหรือน้อยในหนึ่งครั้งของการกิน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วอาหารชนิดใดถูกกินในปริมาณมากต่อครั้ง ปริมาณที่อนุญาตให้ใช้ก็จะน้อย ในทางกลับกันถ้าอาหารใดถูกกินในปริมาณน้อยต่อครั้งก็อาจได้รับอนุญาตให้ใส่ได้มากขึ้นได้จนถึง 1000 ส่วนในล้านส่วน ตัวเลขที่ใช้ในอาหารแต่ละประเภทนั้นหน่วยงานทางการมักใช้น้อยกว่าหรือเท่ากับที่ Codex(หน่วยงานขององค์การสหประชาชาติที่ผู้ผลิตอาหารจำต้องเชื่อฟัง)เป็นผู้กำหนดปริมาณของสารเจือปนที่ถูกผู้บริโภคกินจากอาหารชนิดต่างๆในหนึ่งวันนั้น ในทางทฤษฎีแล้วต้องไม่เกินค่าซึ่งทางวิชาการเรียกว่า ADI หรือ acceptable daily intake ซึ่งเป็นตัวเลข (จากการคำนวณเมื่อได้ผลการศึกษาในสัตว์ทดลอง) ที่หมายถึง ปริมาณสารเจือปนต่อน้ำหนักตัวผู้บริโภคกินทุกวันจนวันตายก็ไม่เกิดอาการผิดปรกติเอาล่ะ กลับมาพิจารณาถึงเหตุที่ผู้ผลิตมักใส่สารกันบูดในขนมจีน คำตอบนี้ที่ผู้เขียนได้หลังจากการเข้าไปศึกษากระบวนการผลิตขนมจีน ซึ่งมีการอธิบายในอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะใน YouTube นั้นมีการแสดงให้เห็นว่า ถ้าไม่ใส่สารนี้โอกาสที่จะมีคนเป็นโรคทางเดินอาหารเพิ่มนั้นสูงมาก เพราะขั้นต้อนการผลิตนั้นค่อนข้างยุ่งยากเสียเวลาและเอื้ออำนวยต่อการเจริญของเชื้อแบคทีเรียการทำขนมจีน (www.pschsupply.com) โดยสรุปนั้น เริ่มจากการนำข้าวเจ้าไปแช่น้ำข้ามวันข้ามคืน ซึ่งเป็นกระบวนการหมักข้าว ด้วยแลคติคแอซิดแบคทีเรียที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ข้าวหมักที่ได้นั้นถูกนำไปบดให้ละเอียดแล้วนำไปกรองแป้งด้วยผ้าขาวบาง 1 คืน ให้ตกตะกอนจึงนำไป นอนนํ้าแป้ง ในถุงผ้าทิ้งอีก 1 คืน โดยมีวัตถุที่มีน้ำหนักกดทับแป้งเพื่อกำจัดน้ำส่วนเกินออก ก่อนนำไปนึ่งให้สุกบางส่วนแล้วจึงตีแป้งให้แป้งดิบและแป้งสุกผสมกันดี ก่อนนำไปผ่านกระบวนการ ครูดแป้ง โดยเทแป้งใส่ในผ้าขาวบางแล้วหมุนผ้าบิดบีบเพื่อให้แป้งไหลผ่านออกมา แป้งที่ได้มีเนื้อละเอียดพร้อมนำไปโรยเส้นด้วยภาชนะเจาะให้มีรูขนาดเหมาะสมลงในหม้อที่มีน้ำเดือดอยู่ ได้เส้นสุกลอยขึ้นมาจึงใช้กระชอนช้อนขึ้นไปแช่น้ำเย็นก่อน จับเส้น ตามต้องการ ขนมจีนแบบนี้เรียกว่า ขนมจีนแป้งหมัก ซึ่งหากินได้ยากแล้วสำหรับขนมจีนประเภทที่ทำได้เร็วกว่าคือ ขนมจีนแป้งสดซึ่ง Arthit ได้โพสต์ในเว็บhttp://farmfriend.blogspot.com อธิบายขั้นตอนการผลิตพร้อมรูปประกอบว่า ให้นำแป้งข้าวเจ้ามานวดกับน้ำให้เหนียวนุ่มแล้วปั้นเป็นก้อน ก่อนนำไปต้มหรือนึ่งให้สุกเพียงด้านนอก จากนั้นจึงนำไปบี้แล้วตำทั้งร้อนๆ ในครกจนเหนียวหนืด แล้วนำไปบีบโดยเครื่องบีบเส้น(ซึ่งอาจเป็นกระป๋องเจาะรูง่ายๆ) ลงไปในหม้อที่มีน้ำเดือด จนได้เส้นลอยขึ้นมาให้ตักไปแช่น้ำเย็นทันที แล้วจับเป็นหัวให้สวยงามน่ากิน โดย Arthit ไม่ได้ระบุว่าทำแล้วก็ต้องกินให้หมดในวันนั้นเลยหรือไม่ ดังนั้นในโลกแห่งความเป็นจริงของการผลิตเพื่อขายให้ลูกค้า ขนมจีนแป้งสดต้องการใช้เบนโซเอทในการผลิตเพื่อป้องกันการบูดเสียขณะเก็บไว้ขายในวันอื่น ถ้าจำไม่ผิด นานมาแล้วเมื่อสถานีโทรทัศน์ที่ดำเนินงานด้วยภาษีบาปในช่วงเพิ่งตั้งสถานีใหม่ๆ ได้เคยเสนอสารคดีวิธีทำขนมจีนแป้งสดระดับโรงงานแถวฉะเชิงเทรา ซึ่งประกอบด้วยขั้นตอนดังอธิบายข้างบน แต่ขั้นตอนที่ผู้เขียนสนใจมากคือ การใช้น้ำจากแม่น้ำบางประกง ซึ่งผ่านการแกว่งสารส้มให้ใสมาเป็นน้ำสำหรับทำให้เส้นขนมจีนเย็นลง โดยมีผู้ให้เหตุผลในอินเทอร์เน็ตว่า ในการทำขนมจีนนั้นใช้น้ำประปา ซึ่งมีคลอรีนไม่ได้เพราะคลอรีนทำให้ได้เส้นขนมจีนที่ไม่ดี (จึงมักใช้น้ำบ่อหรือน้ำท่าที่ดูสะอาด)  ดังนั้นถ้าปัจจุบันการทำขนมจีนยังใช้น้ำบ่อหรือน้ำท่าเป็นขั้นตอนในการผลิตเหมือนเดิม การใช้สารกันบูดจึงไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 183 ข้อมูลไม่มั่ว เรื่องน้ำมันหมู

ผู้เขียนได้มีโอกาสไปบรรยายให้สมาชิกของชมรมหนึ่งซึ่งทำกิจกรรมด้านโภชนาการ ของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งเมื่อต้นเดือนเมษายน ในหัวข้อเกี่ยวกับ ผลของน้ำมันปรุงอาหารต่อการเกิดโรคที่ไม่ติดต่อ ซึ่งทางผู้จัดประชุมได้กำหนดให้มีผู้บรรยาย 3 คน รับผิดชอบคนละหัวข้อ โดยบรรยายคนละ 1 ชั่วโมง ซึ่งว่าไปแล้วช่วงเวลาน่าจะพอในการให้ความรู้แก่ผู้เข้าฟัง แต่หลังจากผู้เขียนเตรียมการบรรยายเสร็จปรากฏว่า มีข้อมูลหลายประการซึ่งไม่สามารถนำเสนอได้ ทั้งที่เป็นเรื่องน่าจะสำคัญเพราะเป็นข้อมูลที่ผู้เขียนพบจากอินเตอร์เน็ทเกี่ยวกับน้ำมันที่ใช้ในการปรุงอาหาร ซึ่งดูเพี้ยนไปจากความจริง ดังนั้นจึงขอให้ท่านผู้อ่านลองพิจารณาว่า คิดอย่างไรกับข้อมูลดังกล่าว เหมือนที่ผู้เขียนคิดหรือไม่ ผู้เขียนขอไม่ระบุถึงแหล่งที่มาของประเด็นปัญหาเพื่อตัดความรำคาญใจที่อาจเกิดแก่บรรณาธิการของฉลาดซื้อประเด็นหนึ่ง ซึ่งได้มีการเผยแพร่ในเว็บออนไลน์ของหนังสือพิมพ์บางฉบับประมาณว่า “น้ำมันหมูนั้นกินดีกว่าน้ำมันพืชจริงหรือ?” จากนั้นก็มีเนื้อความที่อ่านแล้วผู้เขียนกังวลใจว่า ถ้าผู้อ่านไม่ได้เรียนด้านวิทยาศาสตร์อาจติดใจสงสัยคือ ข้อความที่ว่า “....น้ำมันพืชที่เราบริโภคอยู่ทุกวันนี้ไม่ใช่น้ำมันพืชที่ได้จากการสกัดแบบธรรมชาติ….” คำพูดนี้ถูกต้องไม่ผิด เพราะการสกัดน้ำมันพืชมักใช้ตัวทำละลายไขมันคือ เฮ็กเซน ซึ่งสามารถระเหยออกได้หมด กรรมวิธีการสกัดน้ำมันพืชทางเคมีนี้ นักเคมีทุกคนต้องเคยเรียนผ่านมาและรู้ว่าวิธีนี้ดีกว่าการบีบอัดธรรมดา ส่วนการที่ต้องระเหยเฮ็กเซนออกให้หมดเพราะตัวทำละลายนี้ ถ้าเป็นระดับที่มีคุณภาพใช้กับอาหารได้เป็นสารอันตรายถ้าตกค้าง อีกทั้งราคาค่อนข้างแพง ทางโรงงานจึงต้องทำการเก็บคืนมาเพื่อใช้ใหม่จากนั้นก็ตามด้วย “…..แต่เป็นน้ำมันพืชที่ผ่านกรรมวิธีทางเคมี โดยการเติมไฮโดรเจนเข้าไป ฟอกสีให้ดูสะอาด สดใส แวววาว....” ประเด็นนี้เป็นข้อมูลที่ผิดพลาด ซึ่งถ้าไม่ใช่ความเข้าใจผิดของคนให้ข้อมูลก็คงเป็นของนักข่าว เพราะการฟอกสีน้ำมันพืชให้ใสนั้นไม่มีการใช้ไฮโดรเจน(แต่ใช้วิธีการอื่น) การเติมไฮโดรเจน (Hydrogenation) นั้นมีจริง แต่เป็นการทำให้น้ำมันพืชที่มีความไม่อิ่มตัว เช่น น้ำมันถั่วเหลืองกลายเป็นไขมันอิ่มตัวที่เรียกว่า Shortening ซึ่งคนไทยมักเรียกว่า เนยขาว เพื่อใช้ในการทำผลิตภัณฑ์ขนมอบ เนยขาวนั้นเป็นไขมันชนิดที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายของหัวใจผู้บริโภค เพราะในกระบวนการเติมไฮโดรเจนนั้นมักเกิดข้อเสียที่ทำให้ได้ไขมันทรานส์ และข้อความ“.....พร้อมกับแต่งกลิ่นจึงเป็นโทษ ซึ่งเมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะกลายเป็นกาวเหนียวๆ เข้าไปเกาะเคลือบผนังลำคอ ลำไส้ กระเพาะ ทำให้ผนังลำไส้เล็กไม่สามารถดูดซึมสารอาหารต่างๆ ไปหล่อเลี้ยงร่างกายได้....” ข้อมูลส่วนนี้เจ้าของข้อความมโนเอาเอง เพราะไม่ถูกต้องทางวิชาการ เนื่องจากไขมันนั้นไม่ว่าจะดีหรือเลวอย่างไรก็เท่าเทียมกันในการที่จะถูกน้ำดีจากตับ ซึ่งหลั่งออกมาในลำไส้เล็ก ทำให้ไขมันที่เรากินเข้าไปเกิดการแตกออกเป็นกลุ่มของโมเลกุลเล็กๆ ที่เรียกว่า ไมเซลล์(micelles) เพื่ออำนวยความสะดวกให้ให้น้ำย่อยชนิดไลเปส(lipase) ได้เข้าไปย่อยก่อนการดูดซึม ดังนั้นโอกาสที่ไขมันจะไปเกาะหรือเคลือบผนังลำไส้น่าจะไม่เกิด ยกเว้นกับผู้บริโภคที่มีผนังลำไส้ผิดปรกติ ซึ่งผู้เขียนไม่เคยพบข้อมูลลักษณะนี้ในตำราสรีรวิทยาเล่มใดแล้ว“.....อีกทั้งไขมันไม่อิ่มตัวในน้ำมันพืช หากใช้ทอดหรือผัดในอุณหภูมิที่สูงมากเกินไป เป็นระยะเวลานานหรือใช้ซ้ำก็เป็นอันตราย เพราะไปเพิ่มสารอนุมูลอิสระทำร้ายเซลล์ในร่างกาย นำไปสู่โรคร้ายสารพัดในปัจจุบัน ตรงข้ามกับน้ำมันหมูที่เป็นไขมันอิ่มตัว แต่เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะไม่เป็นไข และละลายกับน้ำได้…….” ข้อมูลส่วนนี้มีส่วนถูกผสมผิด ดังที่ผู้เขียนเคยกล่าวไว้ในบทความที่เกี่ยวกับไขมันที่ตีพิมพ์ในฉลาดซื้อก่อนหน้าแล้วว่า การเกิดอนุมูลอิสระนั้น เกิดได้กับกรดไขมันที่ไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่งในน้ำมันพืช เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันรำข้าว น้ำมันข้าวโพด เป็นต้น แต่อนุมูลอิสระที่เกิดตามธรรมชาติในกระทะนั้นมักมีอายุสั้นมากแล้วเปลี่ยนไปเป็นสารอื่น ซึ่งมักเป็นสาเหตุของกลิ่นหืน กรณีอนุมูลอิสระที่เกิดจากกรดไขมันในน้ำมันพืชแล้วทำอันตรายต่อหน่วยพันธุกรรมของเซลล์ได้นั้น ต้องเกิดเมื่อกรดไขมันนั้นอยู่ในเซลล์ เพราะเมื่อเกิดแล้วจะอยู่ใกล้กับเป้าหมายการทำลายคือ ดีเอ็นเอ นอกจากนี้ในส่วนที่เกี่ยวกับน้ำมันหมูนั้น จริงอยู่ที่เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วไม่เป็นไข(น้ำมันพืชก็ไม่เป็นไขในร่างกาย) แต่ก็ไม่มีน้ำมันชนิดใดละลายน้ำได้เพราะมันเป็นคุณสมบัติทั่วไปของน้ำมันที่ไม่ละลายน้ำและประโยคที่ส่อถึงความไม่รู้ของผู้เขียนข้อความนี้คือ “....เดือดร้อนถึงคนหัวใสที่ไม่ประสงค์ดี จัดการแปลงน้ำมันถั่วเหลืองเพื่อไม่ให้เหม็นหืนด้วยการเปลี่ยนโครงสร้างโมเลกุลหรือที่เรียกว่า “โฮโมจีไนซ์” คือ การใส่ไฮโดรเจน ลงไปทำปฏิกิริยากับน้ำมันพืช เพราะเมื่อน้ำมันถั่วเหลือง ทำปฏิกิริยากับไฮโดรเจนเรียบร้อยแล้ว ก็จะไม่ทำปฏิกิริยากับออกซิเจนอีกต่อไป ….” ข้อความดังกล่าวอาจดูไม่ผิดในภาพรวม แต่ศัพท์วิชาการนั้นผิดแน่ๆ เพราะการทำให้น้ำมัน(ซึ่งมีสถานะของเหลว) กลายเป็นไขมัน(ซึ่งมีสถานะของแข็ง) นั้นเป็นกระบวนการที่เรียกว่า ไฮโดรจีเนชั่น (hydrogenation) ซึ่งเป็นการเติมอะตอมไฮโดรเจนเพื่อเปลี่ยนพันธะคู่ของกรดไขมันให้เป็นพันธะเดี่ยว โดยมีสารที่เรียกว่า catalyst ช่วยให้ปฏิกิริยาเกิดได้ ดังนั้นประเด็นที่ผู้อ่านควรสนใจคือ ผู้ให้ข่าวหรือสิ่งพิมพ์ที่เสนอข่าวนี้ไม่ใส่ใจในความถูกต้องทางวิชาการนัก (ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยมากในอินเตอร์เน็ท)ผู้(ไม่)รู้ที่ชอบเขียนเรื่องไขมันนั้น บางครั้งก็ไม่ใส่ใจในการอ่านตำราชีวเคมีหรือสรีรวิทยา ที่กล่าวเช่นนี้เพราะมีบางคนเขียนข้อความในเน็ทว่า “....นอกจากน้ำมันหมูจะอร่อยกว่าโดยธรรมชาติแล้ว ร่างกายมนุษย์ก็มีวิธีการกำจัดออกได้โดยอัตโนมัติ เพราะว่าเป็นน้ำมันหมูจากธรรมชาติซึ่งร่างกายรู้จักดี เนื่องจากได้พัฒนาระบบย่อยมานานกว่าล้านปี แต่กับน้ำมันพืชที่ผ่านกรรมวิธีนั้น ร่างกายมนุษย์ไม่เคยรู้จัก จึงไม่มีวิธีการนำไปใช้หรือแม้แต่กระทั่งวิธีการขจัดน้ำมันพืชเหล่านั้น ให้ออกจากร่างกายไปได้....” ข้อความนี้ดูไม่เกรงใจอิสลามิกชนเลยประการหนึ่ง แต่ที่สำคัญกว่าคือ ไม่ว่าน้ำมันพืชหรือน้ำมันสัตว์นั้น ตำราชีวเคมีทุกเล่มที่ใช้ในมหาวิทยาลัยที่ได้มาตรฐานทางวิชาการนั้นต่างก็บรรยายว่า เซลล์ของร่างกายสามารถใช้กระบวนการที่เรียกว่า เบต้าออกซิเดชั่น (beta-oxidation) เดียวกันในการย่อยทั้งน้ำมันจากพืชหรือสัตว์อีกประเด็น ซึ่งดูจะมั่วไปหน่อยคือ การบอกว่าเมื่อกินน้ำมันพืชแล้ว “…..ร่างกายจึงรักษาตัวเองด้วยวิธีรักษาตามอาการไปก่อน โดยการนำไปทิ้งไว้ในหลอดเลือด เพราะพื้นที่ทั้งหมดของเส้นเลือดในร่างกายมนุษย์ที่โตเต็มวัย สามารถนำมาแผ่เพื่อคลุมสนามบาสได้ทั้งสนาม ถือว่าเป็นอวัยวะที่มีพื้นที่มากที่สุดในร่างกายมนุษย์ เมื่อกำจัดไม่ได้ ร่างกายก็เลยเอาไปใว้ในเส้นเลือด เพราะไม่รู้จะเอาไปไว้ที่ไหน พอกินเติมเข้าไปอยู่เรื่อยๆ สักวัน เส้นเลือดซึ่งมีพื้นที่ขนาดนั้นก็เอาไม่อยู่ ในที่สุดเกิดเป็นไขมันอุดตันในเส้นเลือดจากน้ำมันพืช เป็นโรคอันเกิดจากสิ่งที่ร่างกายไม่สามารถขจัดออกไปได้….” ข้อความดังกล่าวคงพยายามสื่อว่า การกินน้ำมันพืชแล้วทำให้มีไขมันเกาะผนังหลอดเลือด ซึ่งอ่านดูแล้วเป็น ตลกทางวิชาการ ทั้งนี้เพราะสาเหตุการสะสมไขมันที่ผนังหลอดเลือดในปัจจุบันนั้นสรุปว่า การที่ไขมันจะพอกส่วนใดของผนังหลอดเลือดนั้นมักต้องมีปรากฏการณ์ที่เกิดความเสียหายของบริเวณเซลล์เยื่อบุ(epithelial cell) ในลักษณะของการอักเสบ (inflammation) จนเกิดรอยขรุขระที่เรียกว่า plaque ก่อน ดังนั้นเราจึงสามารถลดความเสี่ยงได้โดยการกินสารต้านออกซิเดชั่นที่อยู่ในผักและผลไม้สีเข้มในแต่ละมื้ออาหารให้มากพอ ไม่ใช่ว่ากินน้ำมันพืชแล้วจะเกิดการเกาะผนังเส้นเลือดได้โดยอัตโนมัติ สำหรับประเด็นที่มีการกล่าวว่า “น้ำมันหมูสามารถเก็บได้นานเพราะไม่เหม็นหืน เนื่องจากเป็นไขมันที่อิ่มตัวอยู่แต่แรกแล้ว จึงไม่ทำปฏิกิริยากับออกซิเจนให้เกิดกลิ่นหืนได้อีก” ดูเหมือนไม่มีอะไรผิด ถ้าคำกล่าวนี้เป็นเมื่อ 40-50 ปีก่อน ซึ่งเป็นสมัยที่หมูไทยยังกินหยวกกล้วยหรือผักตบชวาสับผสมรำข้าว อาหารสัตว์ลักษณะนี้ทำให้มันหมูมีไขมันอิ่มตัวสูง แต่ปัจจุบันหมูฟาร์มนั้นกินอาหารที่มีกากถั่วเหลืองหรือข้าวโพดผสมในอาหารสัตว์ ดังนั้นโอกาสที่ไขมันไม่อิ่มตัวจากอาหารจะไปสะสมในมันหมูจึงสูงขึ้น ซึ่งกล่าวโดยทั่วไปแล้วไขมันไม่อิ่มตัวในน้ำมันหมูหรือ Lard นั้นมักไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 แต่ถ้ามีการจัดการอาหารสัตว์ให้มีถั่วหรือข้าวโพดสูงขึ้น ไขมันไม่อิ่มตัวก็จะเพิ่มได้อย่างไม่น่าเชื่อกว่าร้อยละ 50 ดังนั้นน้ำมันหมูที่สกัดใช้เอง ถ้ามีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง เมื่อเวลาผ่านไปจึงมีโอกาสเหม็นหืนได้เร็วกว่าสมัยโบราณจึงเรียนมาถึงผู้อ่านเพื่อโปรดพิจารณาทราบข้อมูลที่ผู้เขียนเชื่อว่า ไม่มั่ว มา ณ ที่นี้ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 182 กิน อยู่ คือ อย่างอเมริกัน

ในประเทศที่มีความก้าวหน้าด้านวิชาการที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์สุขภาพนั้น รัฐบาลมักสร้างข้อแนะนำในการบริโภคอาหาร (Dietary Guidelines) เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานด้านโภชนาการและสุขภาพซึ่งรวมถึงผู้วางนโยบายตลอดจนบุคลากรในวงการการศึกษานำไปเผยแพร่ (แบบที่เข้าใจง่าย ๆ) สู่ประชาชน โดยหวังว่าเมื่อคำแนะนำเหล่านี้ถูกถ่ายทอดถึงประชาชน แล้วประชาชนเชื่อจนทำตามจริง ๆ ประโยชน์จะกลับสู่รัฐโดยตรงเป็นมูลค่ามหาศาล ในการที่ไม่ต้องจ่ายเงินสนับสนุนการรักษาพยาบาลประชาชนที่ป่วยเป็นโรคที่ป้องกันได้   จากเว็บ www.hhs.gov/about/budget/fy2015/budget-in-brief ซึ่งให้ข้อมูลเกี่ยวกับงบประมาณประจำปีของสหรัฐอเมริกานั้นพบว่า จากงบประมาณทั้งหมดในปี 2015 ที่ผ่านไปแล้วซึ่งมีตัวเลขเท่ากับ $1,010 Billion dollars (1,010,000,000,000 ดอลลาร์อเมริกัน) นั้น ร้อยละ 33 ถูกใช้เป็นค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ (Medicaid) ที่ให้แก่กระทรวงด้านสาธารณสุขคือ Department of Health and Human Services ซึ่งทำงานทั้งด้านการบริการ วิจัย และอื่น ๆ ปัจจุบันคนอเมริกันมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคที่ไม่ติดต่อค่อนข้างสูง โดยปรากฏการนี้เป็นแบบต่อเนื่องทุกปี (www.cdc.gov/nchs/hus/healthrisk.htm) โรคที่ว่าคือ ติดเหล้า ติดบุหรี่ มีโคเลสเตอรอลในเลือดสูง (เนื่องจากกินอาหารมันมาก) ความดันโลหิตสูง ติดยาเสพติด สุขภาวะเลวเนื่องจากขาดการออกกำลังกาย และน้ำหนักเกิน ด้วยข้อมูลลักษณะนี้จึงทำให้รัฐบาลจำต้องสร้างข้อเสนอแนะในการกินเพื่อสุขภาพที่ดีแก่ประชาชนทุก 5 ปี โดยแอบตั้งความหวังว่าคนอเมริกันจะเชื่อ เหมือนอย่างที่กรมอนามัยบ้านเราหวังว่าคนไทยจะขยับตัววันละเยอะๆ เพื่อลดพุง เมื่อราวปลายปี 2015 คณะกรรมการของผู้สร้างข้อแนะนำการบริโภคอาหารสำหรับคนอเมริกันซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญหลายคนได้ส่งรายงานให้กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกา ซึ่งต่อมาในวันที่ 7 มกราคม 2016 ข้อแนะนำดังกล่าวก็ได้ถูกพิมพ์ขึ้นเพื่อเผยแพร่แก่บุคลากรของรัฐและเป้าหมายที่เหมาะสม พร้อมทั้งจำหน่ายแก่ผู้สนใจ ส่วนผู้ที่ไม่ประสงค์จะซื้อแต่ประสงค์จะอ่าน สามารถอ่านฟรีได้ที่ http://health.gov/dietaryguidelines/2015/guidelines/full/   ในข้อแนะนำใหม่(ซึ่งปรับปรุงจากของเก่า) นี้ คณะกรรมการผู้สร้างยังคงแนะนำให้คนอเมริกันเลี่ยงการกินอาหารที่ผ่านการปรุงแบบสลับซับซ้อนทางอุตสาหกรรม (ซึ่งใช้สารเคมีสังเคราะห์ในการผลิตหลากหลายชนิด) รวมทั้งลดการดื่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูงและบริโภคแป้งที่ถูกป่นเป็นผง (ซึ่งคงไม่พ้นขนมปัง) แต่ให้หันไปกินอาหารที่มีพืชผักเป็นหลัก ซึ่งคณะกรรมการใช้ศัพท์ว่า plant-based foods (เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืชทั้งเมล็ด ถั่วเปลือกอ่อน ถั่วเปลือกแข็ง และเมล็ดพืชต่าง ๆ) อีกทั้งคนอเมริกันควรกินอาหารมีพลังงานรวมต่ำ และกินเนื้อสัตว์ที่เลี้ยงในลักษณะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเช่น ไม่ปล่อยก๊าซที่ทำให้โลกร้อน ใช้น้ำ ดินและพลังงานต่ำ (กรณีเนื้อสัตว์นี้คงลำบากมากสำหรับคนอเมริกัน เพราะระบบผลิตของฟาร์มใหญ่ในสหรัฐฯนั้นล้วนแต่ไม่เป็นไปตามที่กำหนดแทบทั้งสิ้น) นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยว่า ในกรณีเนื้อสัตว์ที่กินควรเป็นเนื้อที่ไม่แดงนัก(ซึ่งส่วนใหญ่ได้จากสัตว์ปีกและปลา ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนว่าเป็นเนื้อขาวคือ อกไก่ ในขณะที่ส่วนน่องและสะโพกไก่น่าจะจัดว่าเป็นเนื้อแดง ซึ่งสังเกตได้หลังการต้มเนื้อเหล่านี้จะเห็นสีแดง) เพราะมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ระบุว่า เนื้อแดงนั้นเพิ่มความเสี่ยงในภาพรวมของการเป็นมะเร็ง เนื้อจากอวัยวะของสัตว์ที่มีสีออกแดงนั้น เป็นเพราะอวัยวะนั้นมีการใช้กล้ามเนื้อทำงานสูง จึงมีสารชีวเคมีที่เรียกว่า มัยโอกลอบิน (myoglobin) ในความเข้มข้นสูง สารชีวเคมีนี้ช่วยในการนำออกซิเจนมาใช้ในการสันดาปสร้างพลังงานให้กล้ามเนื้อนั้น แต่ข้อเสียที่เกิดจากการมีมัยโอกลอบินสูงคือ สารชีวเคมีนี้มีเหล็กเป็นองค์ประกอบ(ทำนองเดียวกับฮีโมกลอบินในเลือด) จึงทำให้ผู้ที่กินเนื้อแดงได้เหล็กสูง เหล็กนั้นเป็นธาตุโลหะที่มีคุณสมบัติทางเคมีที่เพิ่มความเสี่ยงในการก่อให้เกิดอนุมูลอิสระในร่างกาย ตามหลักการทางเคมีที่เรียกว่า Fenton reaction(ซึ่งหาความรู้เพิ่มเติมได้จาก Wikipedia) ประเด็นซึ่งเป็นที่ฮือฮาในข้อแนะนำใหม่นี้คือ ยกเลิกคำแนะนำให้จำกัดปริมาณโคเลสเตอรอลในอาหาร ทั้งนี้เพราะมีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่สรุปว่า ไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่าการกินโคเลสเตอรอลจากอาหารทำให้โคเลสเตอรอลในเลือดสูงขึ้น ทั้งนี้เพราะร่างกายของแต่ละคนต้องการโคเลสเตอรอลในระดับหนึ่ง ซึ่งตามปรกติต้องสร้างขึ้นมาเองเพื่อใช้งานในชีวิตประจำวัน ดังนั้นการได้โคเลสเตอรอลจากอาหารในประมาณที่ปรกติคนทั่วไปที่กินเพื่ออยู่นั้นจึงไม่น่ากังวลอะไร โคเลสเตอรอลนั้นเป็นองค์ประกอบของผนังเซลล์ในอวัยวะต่าง ๆ เป็นสารตั้งต้นในการสร้างวิตามินดี สร้างเกลือน้ำดีเพื่อช่วยในการย่อยไขมันในลำไส้เล็ก เป็นต้น ดังนั้นถ้ากินอาหารที่ไม่ได้มีไขมันสูงเกินปรกติแล้ว ประมาณโคเลสเตอรอลในอาหารจะไปช่วยลดการสร้างเองของร่างกาย ยกเว้นกรณีผู้ที่มีทัศนคติ อยู่เพื่อกิน ที่ไขว่คว้าหาอาหารไขมันสูงมาก (เช่น ขาหมูพะโล้ ขาหมูเยอรมัน หรืออาหารอื่นที่มันมากๆ) มากินจนโคเลสเตอรอลสูงเกินความต้องการของร่างกาย พฤติกรรมลักษณะนี้จะทำให้ผู้บริโภคมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอันตรายที่เกี่ยวกับหัวใจเพิ่มขึ้น และอันตรายจะมากขึ้นถ้าเป็นคนที่ไม่ค่อยได้ออกกำลังกายหรือใช้แรงงานประจำวัน คำแนะนำในการกินเพื่อสุขภาพดีของคนอเมริกันที่คณะกรรมการย้ำแล้วย้ำอีกทุกครั้งที่มีการเสนอทุก 5 ปีคือ ไม่กินเค็ม ซึ่งเป็นลดการได้รับธาตุโซเดียมซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายต่อไตและทำให้เสี่ยงต่อความดันโลหิตสูง ที่สำคัญนอกจากความเค็มแล้วยังก็ต้องเลี่ยงหวาน(มากเกินไป) ด้วย ข้อแนะนำที่ต้องขอให้ลดการกินเค็มคงเป็นเพราะ คนอเมริกันนั้นเสพติดมันฝรั่งทอดอย่างหนัก เนื่องจากเป็นอาหารที่ยิ่งกินยิ่งมัน และถ้าได้กินแกล้มเบียร์ในวันที่ได้ดูอเมริกันฟุตบอลทางโทรทัศน์แล้ว ไม่หมดถุงยักษ์เป็นไม่หยุด ส่วนความหวานนั้นเป็นที่รู้กันว่า ขนมและเครื่องดื่มที่ทำในสหรัฐฯนั้นออกหวานนำ ซึ่งต่างจากขนมที่ทำในฝั่งยุโรปที่มีความมันนำและไม่หวานนัก(แต่ก็ทำให้ลงพุงได้เช่นกัน) สำหรับประเด็นของการดื่มกาแฟซึ่งเป็นเครื่องดื่มหลักในมื้ออาหารของคนอเมริกันนั้น ข้อแนะนำกล่าวว่า การดื่มเพียง 3 ถึง 5 ถ้วย ต่อวันซึ่งทำให้ได้แคฟฟีอีนไม่เกิน 400 มิลลิกรัมต่อวันนั้น ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของผู้ดื่ม แต่มีประเด็นหนึ่งที่คณะกรรมการเตือนไว้คือ ไม่พึงเติมสารอาหารที่ทำให้กาแฟนั้นมีแคลอรีสูง เช่น ครีม นม หรือน้ำตาล ดังนั้นข้อแนะนำนี้จึงใช้ยากยกกำลังสองกับคนไทยเพราะหนุ่มสาวชาวไทยปัจจุบันได้กลายเป็นผู้เสพติดกาแฟเข้มข้นทั้งหวานทั้งมันไปแล้ว สังเกตจากการสั่งกาแฟแต่ละครั้งมักเป็นแก้วใหญ่ขนาดเกือบครึ่งลิตรเสียทุกคราว คณะกรรมการผู้ทำข้อแนะนำได้เอ่ยถึงน้ำตาลเทียมชนิดหนึ่งซึ่งขายมากที่สุดในโลกของผู้จำเป็นต้องใช้ว่า น่าจะปลอดภัยในการบริโภค แต่ก็ขอกั๊กไว้ว่า ใดๆ ในโลกล้วนอนิจจัง ดังนั้นขอให้ผู้บริโภคเผื่อใจไว้บ้าง เผื่อวันหนึ่งในอนาคตอาจมีข้อมูลด้านร้ายเกี่ยวกับน้ำตาลเทียมชนิดนี้ออกมา ก็จะได้ไม่ตกใจมากนัก สำหรับกรณีความหวานที่มาจากน้ำตาลนั้น ข้อแนะนำกล่าวว่า ควรลดลงและไม่ควรแทนที่ด้วยน้ำตาลเทียม และที่แนะนำสุดหัวใจก็คือ ถ้าเป็นไปได้ควรดื่มน้ำเปล่าในมื้ออาหารแทนน้ำหวานต่างๆ เรื่องนี้น่าสนับสนุนมากเมื่อกินอาหารที่บ้าน แต่ในกรณีที่กินอาหารนอกบ้านหลายคนอาจมีความรู้สึก(คล้ายผู้เขียน) ว่า เราขาดทุนเมื่อต้องดื่มน้ำเปล่าตามร้านอาหารซึ่งราคาเกือบหรือเท่าน้ำอัดลม (ซึ่งอร่อยและแก้เลี่ยนอาหารมันบางอย่างที่ขอแอบกินนิดหน่อย) ส่วนที่น่าสนใจที่สุดคือ ข้อแนะนำนี้ได้รวมไปถึงการงด (หรือลด) เครื่องดื่มอัลกอฮอล์ที่ชาวโลกเป็นทาสอยู่ ซึ่งสามารถคาดการได้ว่า ข้อแนะนำสุดท้ายนี้คงไม่ได้ผลแน่ในประเทศไทย…ถ้าไม่ใช้ ม.44  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 181 เรื่องง่วงๆ กับกาแฟ

การดำเนินชีวิตของคนไทยตามเมืองใหญ่ในปัจจุบันต่างไปจากเมื่อ 30-40 ปีก่อนอย่างน้อย 2 ประการ กล่าวคือคนไทยมีสภาพคล้ายหุ่นคอหักเมื่อใช้สมาร์ทโฟนตามที่สาธารณะ นัยว่าเพื่อปลีกวิเวกเข้าสู่โลกส่วนตัว (แบบว่ามากันสามคนเพื่อนฝูงแล้วต่างคนต่างคุยกับคนอื่น ไม่ใยดีกับคนที่มาด้วย) และการที่คนไทยชอบถือถ้วยกาแฟขนาดครึ่งลิตรขึ้นไปเพื่อดื่มมันทุกสถานที่ ในลักษณะที่บรรพบุรุษซึ่งตายไปหมดแล้วระบุว่า เสียมรรยาทมากที่กินดื่มไม่เป็นที่เป็นทาง ผู้เขียนนั้นดื่มกาแฟมาตั้งแต่เล็กซึ่งเป็นพฤติกรรมไม่ดี ที่กล่าวเช่นนี้ไม่ใช่เพราะกาแฟทำให้นอนไม่หลับ(เนื่องจากดื่มเมื่อใดก็หลับได้ถ้าไม่มีเรื่องใดให้กังวล) แต่เป็นเพราะมันทำให้เด็กต้องเสียสตางค์ที่ควรนำไปซื้อของกินที่มีประโยชน์มากกว่าการดื่มกาแฟ สมัยก่อน(ราว 50 ปีมาแล้ว) กาแฟที่ขายมีประมาณ 4 แบบคือ กาแฟร้อนและกาแฟเย็น ทั้งใส่น้ำตาลทรายพร้อมนมข้นหวานและน้ำตาลทรายอย่างเดียว(ชนิดหลังนี้เรียกว่า โอวเลี้ยง เมื่อเติมน้ำแข็งและ โอวยัวะ เมื่อไม่เติมน้ำแข็ง) ซึ่งต่างจากในปัจจุบันที่กาแฟถูกดัดแปลงให้มีหลายแบบมากมายจน (ถ้าคนที่ตายไปแล้วฟื้นกลับมาคง) งงเต็ก และส่วนใหญ่มีจำนวนแคลอรีในขนาดที่สูงจนขนหัวลุกคู่ขนานไปกับราคาที่ถ้วยหนึ่งต้องใช้เงินเท่ากับหรือมากกว่าข้าวราดแกงทีเดียว กาแฟนั้นมีประโยชน์ถ้าดื่มอย่างฉลาด เพราะเป็นเครื่องดื่มที่มี แคฟฟีอีน ซึ่งออกฤทธิ์หลังดื่มแล้วราว 1 ชั่วโมง สารเคมีนี้ช่วยให้ร่างกายสดชื่น กระปรี้กระเปร่า ตาสว่างได้แม้นอนน้อยไปหน่อย ซึ่งคำอธิบายเชิงวิชาการกล่าวว่า แคฟฟีอีนในกาแฟไปขัดขวางการที่สารชีวเคมีในร่างกายคือ อะดีโนซีน ที่ทำให้เราง่วง (adenosine เป็นสารชนิดเดียวกันกับที่พบในดีเอ็นเอ ซึ่งแคฟฟีอีนนั้นมีสูตรโครงสร้างคล้ายกับอะดีโนซีนมาก) แต่เป็นการขัดขวางเพียงชั่วคราวเท่านั้น หลังจากแคฟฟีอีนหมดฤทธิ์ (กินเวลาราว 3-4 ชั่วโมง) ผู้ดื่มกาแฟอาจหลับยาวจนตกงาน หรือถ้าดื่มระหว่างการขับรถตอนกลางคืน ก็อาจได้ไปตื่นอีกทีในโลกหน้าทีเดียว แม้ว่าแคฟฟีอีนได้รับการยอมรับจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาทุกประเทศทั่วโลกว่า ปลอดภัยสุดๆ แต่ก็เป็นการยอมรับแบบมีเงื่อนไขว่า ต้องไม่รับเข้าสู่ร่างกายมากเกินไป โดยมีการประเมินแบบจำง่ายๆ ว่า ไม่ควรดื่มกาแฟมากถึง 50 แก้วขึ้นไป เพราะนั่นเป็นการถามหาความตายทีเดียว แคฟฟีอีนในกาแฟนั้นเป็นสารที่ถูกเปลี่ยนแปลงด้วยเอ็นซัมในตับ เพื่อการขับทิ้งออกจากร่างกาย ดังนั้นจึงส่งผลสืบเนื่องของการดื่มกาแฟต่อสารก่อมะเร็ง(ชนิดที่โดยปรกติแล้วถูกขับออกจากร่างกายด้วยกระบวนการเดียวกันที่ใช้กำจัดแคฟฟีอีนในตับ) กล่าวคือ การดื่มกาแฟทำให้สารก่อมะเร็งอยู่ในร่างกายด้วยเวลาที่สั้นลง เพราะแคฟฟีอีนได้ทำหน้าที่เป็นตัวกระตุ้นให้เอ็นซัมในกระบวนการกำจัดสารพิษนั้นๆ ทำงานดีขึ้น นักวิชาการจึงมักกล่าวว่า กาแฟเป็นอาหารต้านมะเร็ง (ซึ่งเป็นข้อมูลที่ผู้เขียนเคยได้ยินจากการประกาศผ่านลำโพงขณะเดินซื้อสินค้าในห้างขายส่งที่มีคำขวัญว่า คู่คิดสำหรับธุรกิจคุณ) เนื่องจากสามารถกระตุ้นให้กระบวนการทำลายสารก่อมะเร็งทำงานดีขึ้นนั่นเอง ท่านผู้อ่านหลายท่านอาจมีประสบการณ์ที่เลวร้ายในการดื่มกาแฟ ในลักษณะที่ทุกครั้งที่ดื่มจะมีอาการมือสั่น ใจสั่น เครียดจนนอนไม่หลับ (จนอาจนำไปเป็นข้ออ้างว่า เป็นปมด้อยทางร่างกายจึงต้องหันไปดื่มสุราแทนเพราะไม่รู้จะเข้าสังคมอย่างไร) ทำให้มีคำถามว่า ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น สำหรับคำตอบพื้นๆ นั้นมีมานานแล้วว่า มันเป็นกรรมตามพันธุ์หรือพูดให้ถูกทางวิชาการคือ เป็นตามพันธุกรรมของคนที่ต่างกันที่ทำให้บางท่านดื่มได้น้อยหรือไม่ได้เลย แต่บางท่านดื่มอร่อยได้โดย (แทบจะ) ไม่เสพติดเสียด้วยซ้ำ เป็นที่ทราบกันดีว่า กาแฟเป็นแหล่งหลักของแคฟฟีอีนในอาหารมนุษย์ ดังนั้นมันจึงได้รับความสนใจจากนักวิชาการเกี่ยวกับประโยชน์หรือโทษต่อร่างกาย ได้มีกลุ่มนักวิจัยนำทีมโดย Dr.Marilyn Cornelis (ผู้ซึ่งมีข้อมูลในเน็ทว่าไม่ดื่มกาแฟ) จาก Harvard School of Public Health และ Brigham and Women’s Hospital และเพื่อน ๆ ที่สังกัด 116 หน่วยงานในหลายประเทศได้ทำงานวิจัยขึ้นและตีพิมพ์ผลงานชื่อ Genome-wide meta-analysis identifies six novel loci associated with habitual coffee consumption ในวารสาร Molecular Psychiatry ชุดที่ 20 หน้าที่ 647–656 ของปี 2014 Dr.Marilyn Cornelis ได้รายงานถึงความแตกต่างทางพันธุกรรมของคนอเมริกันที่มีบรรพบุรุษมาจากยุโรปและที่มีบรรพบุรุษมาจากอัฟริการวมแล้ว 120,000 คน โดยพิจารณาข้อมูลจำนวนแก้วของการดื่มกาแฟในแต่ละวัน พร้อมรายละเอียดอื่นๆ งานวิจัยของด๊อกเตอร์สาวนี้ เป็นการใช้ข้อมูลของการศึกษาที่ทีมงานของฮาร์วาร์ดได้ทำไว้ก่อนแล้วและเธอได้กล่าวว่า ในมนุษย์นั้นมียีนเกี่ยวกับการดื่มกาแฟที่แตกต่างกันในกลุ่มตัวอย่างถึง 6 ลักษณะ โดยสองยีนทำหน้าที่เกี่ยวกับการจัดการแคฟฟีอีนในร่างกาย อีกสองยีนทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับผลต่อจิตประสาท และอีกสองยีนมีความเกี่ยวในการใช้น้ำตาลกลูโคสและไขมัน ซึ่งเป็นการค้นพบเพิ่มจากเดิมที่พบก่อนแล้ว 2 ลักษณะ(ซึ่งในข่าวไม่ได้บอกว่าเป็นอะไร) จึงรวมเป็น 8 ลักษณะ สิ่งที่ได้จากงานวิจัยนี้คือ ความรู้เกี่ยวกับความแตกต่างของยีนในแต่ละกลุ่มคนต่อการจัดการกับแคฟฟีอีนที่เข้าสู่ร่างกายว่า สามารถกำจัดออกเร็วหรือช้าอย่างไร ซึ่งโดยปรกติแล้วคนที่กำจัดแคฟฟีอีนออกจากร่างกายเร็วมักมีความสุขในการดื่มกาแฟ แถมด้วยพฤติกรรมที่มีแนวโน้มต่อการติดบุหรี่และเป็นโรคอ้วนได้ ผู้เขียนเห็นด้วยกับผลการวิจัยเพราะสังเกตจากภาพยนตร์ต่างประเทศส่วนใหญ่พบว่า ผู้ที่ดื่มกาแฟมักแกล้มด้วยบุหรี่ โดยมีผลรวมว่า สามารถตาค้างและทำงานต่อได้ในสภาวะเครียด จึงอนุมานว่า พฤติกรรมดังกล่าวนำไปสู่การคลายเครียดด้วยการกินทุกอย่างที่อยู่ในตู้เย็น ซึ่งเป็นตามคำสอนที่อาจารย์ด้านสรีระวิทยาสอนผู้เขียน จากความรู้ที่ว่า รูปแบบความแตกต่างของยีนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับกาแฟนั้นเกี่ยวพันกับการเรียนรู้ การควบคุมความดันโลหิตและการเสฟติดกาแฟนั้น อาจทำให้อธิบายได้ว่า ทำไมคนคนหนึ่งเมื่อดื่มกาแฟหนึ่งแก้วต่อวันแล้วสดชื่นได้ทั้งวัน ในขณะที่อีกคนต้องดื่มเป็นระยะๆ รวมสี่แก้วต่อวันจึงจะตาสว่างได้ และในทางตรงกันข้าม คนที่ดื่มเพียงวันละแก้วแล้วทำงานได้ดี ถ้าดื่มถึงสี่แก้วกลับเกิดอาการเครียดขึ้นมาจนทำงานไม่ได้ จากความรู้นี้อาจมีการประยุกต์ใช้ในอนาคต เพื่อนำไปสู่การจัดการด้านสุขภาพของแต่ละคนที่นิยมดื่มกาแฟเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดเช่น การมีสมาธิในการทำงาน ท่องบ่นตำรา และอื่นๆ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะดื่มมากไปจนมือและใจสั่น โดยใช้ข้อมูลจากการพิเคราะห์(พิเคราะห์มีความหมายว่า ใคร่ครวญ ไตร่ตรอง พิจารณาอย่างถี่ถ้วนรอบคอบ) ถึงความแตกต่างของยีนที่ต่างกันว่า ใครสามารถกำจัดแคฟฟีอีนได้ดีหรือไม่ ควรดื่มกาแฟเท่าใดจึงจะเหมาะสม ในบทความนี้ผู้อ่านอาจสังเกตได้ว่า ในการทับศัพท์จากภาษาอังกฤษ 2 คำนั้น ผู้เขียนขออนุญาตไม่ใช้กรรมวิธีของราชบัณฑิต ตัวอย่างเช่น Caffeine นั้น โดยทั่วไปมีการเขียนทับศัพท์ว่า กาเฟอีน ซึ่งอ่านออกเสียงแล้วมันฟังดูไม่ตรงกับสำเนียงจากภาษาอังกฤษซึ่งถ้าทับศัพท์ว่า แคฟฟีอีน น่าจะออกเสียงสบายปากมากกว่า (ดิคชันนารีที่พูดได้ออกเสียงคล้าย แคฟ-ฟีน) จึงขอใช้เพื่อความสบายใจของผู้เขียนเอง ส่วนคำที่สองซึ่งเป็นคำที่ผู้เขียนรำคาญใจมานานแล้วคือคำว่า enzyme ซึ่งมักเขียนทับศัพท์ว่า เอนไซม์ ทั้งที่คำว่า en ควรอ่านว่า เอ็น เหมือน entrance ที่ออกเสียงว่า เอ็น-ทรานซ์ ไม่เคยได้ยินใครออกเสียงว่า เอน-ทรานซ์ ส่วนคำว่า ไซม์ ที่ใช้ทับศัพท์ zyme นั้นเมื่อ ม (ม้า) มีเครื่องหมาย ทัณฑฆาต หรือ การันต์ แล้วต้องไม่ออกเสียง ดังนั้นถ้าอ่านให้ถูกตามการทับศัพท์เดิมนั้นต้องอ่านว่า เอน-ไซ ซึ่งทะแม่งหูมาก (โดยเฉพาะเมื่อได้ยินจากปากพิธีกรและนักข่าวทางโทรทัศน์) ผู้เขียนจึงขอใช้การทับศัพท์เฉพาะในบทความนี้ว่า เอ็น-ซัม ซึ่งทำให้ผู้เขียนสบายใจกว่า ส่วนคำว่า กาแฟ ซึ่งเป็นคำเขียนทับศัพท์มาจากคำว่า Coffee นั้นดูอย่างไร ๆ มันก็ไม่ควรถูกทับศัพท์ว่า กาแฟ แต่น่าจะเป็น ค็อฟฟี มากกว่านั้น แต่ไหนๆ ก็ไหนๆ คำทับศัพท์นี้มีมาแต่โบราณก่อนผู้เขียนเกิดจึงจนด้วยเกล้าที่ต้องจำใจใช้ต่อไป

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 180 อย่าวางใจ “ธรรมชาติ” บนฉลากอาหาร

ท่านผู้อ่านที่มีโอกาสเดินตามห้างสรรพสินค้าใหญ่หน่อยอาจเคยสงสัยว่า สินค้าที่มีวิตามินขนาดสูงๆ หรือเป็นสารสกัดจากผลิตภัณฑ์ธรรมชาตินั้น ถูกนำมาวางขายบนหิ้งในห้างได้อย่างไร มันปลอดภัยแล้วหรือ ผู้เขียนเคยพบคลิปใน YouTube ให้ข้อมูลว่า ครึ่งหนึ่งของชาวอเมริกันปัจจุบันนั้น ซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารซึ่งรวมถึงสารสกัดจากใบแปะก๊วยและรากวาเลอเรี่ยนมากินเอง โดยไม่ได้ปรึกษาผู้รู้เช่น แพทย์ เภสัชกร หรือนักโภชนาการ สารสกัดจากใบแปะก๊วย(Ginkgo Biloba extract) เป็นสารสกัดที่ใช้ลดความเสี่ยงหรือแก้ปัญหาอาการความจำเสื่อม แต่สารสกัดนี้ไม่ได้ช่วยให้ความจำดีขึ้นในคนปรกติ กล่าวคือ ฉลาดหรือโง่เพียงใดก็เป็นได้แค่นั้น การกินสารสกัดนี้เองอาจก่อปัญหาถ้าต้องเข้ารับการผ่าตัด เพราะสารนี้ทำให้เลือดหยุดไหลช้าจนอาจถึงตายได้) ส่วนสารสกัดจากรากวาเลอเรี่ยน (valerian root extract) นั้น การแพทย์ทางเลือกใช้ช่วยแก้ปัญหาหลับยาก แต่อาจมีผลข้างเคียงในการทำลายตับเมื่อกินมากไป ดังนั้นจึงมีข้อแนะนำในการใช้สารสกัดเหล่านี้ว่า ให้ใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์ที่รู้จริง ท่านผู้อ่านจึงควรถามตนเองในเรื่องความจำเป็น และสงสัยเรื่องความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต่างๆ ก่อนซื้อมาบริโภคทุกครั้ง แต่ปัญหาสำคัญที่มักเกิดขึ้นกับบางท่านคือ จะถามใครหรือหาข้อมูลได้จากที่ไหน มีข้อสังเกตว่า ผู้ขายสมุนไพรหรือผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติต่างๆ มักกล่าวอ้างแบบปากต่อปากถึงสรรพคุณของสินค้าว่า มีฤทธิ์ในการบำบัดอาการหรือเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพเพราะเป็นสินค้าจากธรรมชาติ ประเด็นที่น่าสนใจคือ คำว่า ธรรมชาติ นั้นไม่ได้หมายความหรือแปลว่า ปลอดภัย แค่ดูตัวหนังสือที่ใช้เขียนก็เห็นความต่างแล้ว ผู้เขียนขอแนะนำให้ท่านผู้อ่านลองเข้าไปดูคลิปของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์เรื่อง ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ ปลอดภัยกว่าสารเคมีจริงหรือ ใน YouTube ( ลิงค์ยูทูปกดดูได้ )ก็คงเข้าใจได้ดีขึ้น ตัวอย่างที่คนอเมริกันซาบซึ้งใจดีเกี่ยวกับคำว่าธรรมชาติคือ การใช้สมุนไพรจีนชื่อ มาฮวง (Ma Huang ซึ่งรู้จักกันทั่วโลกในชื่อ Ephedra โดยมีชื่อเล่นว่า yellow horse) ในรูปผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อลดน้ำหนัก แต่สุดท้ายปรากฏว่า ก่อให้เกิดอาการข้างเคียงคือ เพิ่มความดันโลหิตให้สูงกว่าปรกติพร้อมกับอัตราการเต้นของหัวใจเร็วขึ้น (ซึ่งทั้งสองอาการนี้นำไปสู่อาการหัวใจวาย) ก่อปัญหาเกี่ยวกับการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง กระตุ้นการบีบตัวของกล้ามเนื้อมดลูกจึงทำให้ถูกห้ามใช้อย่างเด็ดขาดในสตรีมีครรภ์ ข้อมูลจาก Wikipedia กล่าวว่า อย.มะกันได้ห้ามขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีสารอัลคาลอยด์ซึ่งเป็นสารสำคัญในมาฮวงชื่อ อีฟีดรีน (ephedrine alkaloids) ตั้งแต่ปี 2004 แต่ไม่ได้ห้ามการขายมาฮวงหรือสารสกัดจากมาฮวงที่มีอีฟีดรีนไม่มากเกินปริมาณที่ อย.กำหนด ในรัฐยูทาห์มีการชงชาที่ใช้ใบมาฮวงแทนใบชาจีนเพราะไม่มีคาเฟอีน ซึ่งเป็นสารห้ามกินในศาสนานี้ จึงมีผู้เรียกชานี้ว่า Mormon tea จากตัวอย่างความหมายของคำว่า “ธรรมชาติ” ที่ยกให้เห็นเกี่ยวกับมาฮวงในสหรัฐอเมริกานั้น จะเห็นได้ว่าเมื่อคำนี้ปรากฏบนฉลากผลิตภัณฑ์ใดๆ โดยเฉพาะบนฉลากอาหารนั้น มัก เป็นคำที่ดูไร้สาระ ในความนึกคิดของชาวอเมริกันที่มีการศึกษาดี ดังนั้นสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของสหรัฐอเมริกาจึงได้เริ่มขยับที่จะทำให้คำๆ นี้มีความหมายเป็นเรื่องราวเสียที ดังปรากฏในบทความชื่อ FDA Wants You to Define ‘Natural’ on Food Labels ซึ่งปรากฏในเว็บ www.care2.com เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2015 ใจความสำคัญในบทความนั้นกล่าวว่า องค์กรเอกชนในสหรัฐอเมริกาได้พยายามรวบรวมข้อเสนอแนะจากสาธารณะชน เพื่อขอ(กดดัน)ให้ อย.กำหนดความหมายที่ชัดเจนหรือห้ามการใช้คำๆ นี้บนฉลากอาหาร ประจวบกับทางหน่วยงานนี้ได้ถูกศาลของรัฐบาลกลางขอร้องให้ข้อแนะนำเพื่อการตัดสินคดีว่า สินค้าที่มีวัตถุดิบที่เป็นจีเอ็มโอ หรือใช้น้ำเชื่อมฟรัคโตสที่ทำจากข้าวโพดนั้น ใช้คำว่าธรรมชาติได้หรือไม่ โดยทั่วไปแล้วนักการตลาดที่ไร้เดียงสาในความรู้ด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ มักมโนว่า ธรรมชาตินั้นมีความหมายเกี่ยวข้องเพียงสีธรรมชาติหรืออะไรประมาณนั้น ซึ่งบางครั้งการมโนแบบนี้ก็ได้กลายเป็นภาพลวงที่มักเกิดได้กับผู้ซื้อสินค้า(นักช็อป)มืออาชีพ จากรายงานการสำรวจของ Consumer Reports ในบทความเรื่อง Say no to 'natural' on food labels (โดย Deborah Pike Olsen ซึ่งถูกตีพิมพ์เมื่อ 16 มิถุนายน 2014 ใน www.consumerreports.org) กล่าวว่า กว่าร้อยละ 60 ของผู้ตอบแบบสอบถาม 1000 คน พยายามมองหาคำว่าธรรมชาติบนฉลากเมื่อต้องการซื้ออาหารสำเร็จรูป โดยที่สองในสามตีความสินค้าที่มีคำว่าธรรมชาติหมายถึงสินค้านั้นไม่มีองค์ประกอบที่เป็นสิ่งสังเคราะห์ ยาฆ่าแมลง และจีเอ็มโอ ในการสำรวจเดียวกันนั้นยังพบว่า 9 ใน 10 ของผู้ตอบแบบสำรวจเห็นควรให้ติดฉลากอาหารที่มีองค์ประกอบที่เป็นจีเอ็มโอตามมาตรฐานที่รัฐบาลกำหนดไว้ โดยที่กว่า 3 ใน 4 กล่าวว่าเรื่องนี้สำคัญมากสำหรับประชาชนที่ต้องหลีกเลี่ยงองค์ประกอบอาหารที่มาจากจีเอ็มโอ ในขณะที่ประเด็นนี้ทาง อย.มะกันไม่ได้รู้สึกร้อนรู้สึกหนาวในการจะบังคับให้มีการติดฉลากหรือสร้างมาตรฐานความปลอดภัย พฤติกรรมของ อย.มะกันเกี่ยวกับจีเอ็มโอนั้นเป็นที่สงสัยกันมาตั้งแต่ปีมะโว้แล้ว ท่านผู้อ่านที่สนใจสามารถเข้าไปดูบทความเรื่อง Monsanto Controls both the White House and the US Congress ที่ www.globalresearch.ca/monsanto-controls-both-the-white-house-and-the-us-congress/5336422 แล้วใช้วิจารณญานของแต่ละบุคคลคิดเองว่ามันเป็นอย่างไร สำหรับประเด็นความหมายของคำว่า ธรรมชาติ สำหรับ อย.มะกันแล้ว มันมีอะไรมากกว่าที่มนุษย์ธรรมดาคิด กล่าวคือ อย.ได้พิจารณาว่า คำๆ นี้น่าจะหมายถึง การไม่มีของเทียมหรือสารสังเคราะห์(ซึ่งรวมถึงสีที่ใช้ใส่ในอาหาร โดยไม่คำนึงถึงแหล่งที่มาของสี ทำให้น่าจะหมายความว่า แม้แต่แตงโมที่ถูกเอาสีจากกระเจี๊ยบทาให้ดูแดงฉ่ำกว่าเดิม แตงโมนั้นก็ไม่เรียกว่าเป็นอาหารธรรมชาติแล้ว) เป็นองค์ประกอบหรือถูกเติมลงไปในอาหารนั้น อย่างไรก็ดี ความหมายของธรรมชาติที่ อย.มะกันมองนั้น ไม่เกี่ยวกับกระบวนการผลิตว่าใช้หรือไม่ใช้สารกำจัดศัตรูพืช หรือขั้นตอนการผลิตใช้หรือไม่ใช้ความร้อนในการฆ่าเชื้อ หรือการฉายรังสี อีกทั้ง อย.มะกันก็ไม่ได้มองคำว่า ธรรมชาติ นั้นมีอะไรเกี่ยวข้องกับคุณค่าทางโภชนาการหรือสิ่งที่มีผลต่อสุขภาพของผู้บริโภค ดังนั้นในปัจจุบัน อย.มะกันจึงพยายามมองหาผู้ร่วมอุดมการมาช่วยคิดว่า มันถึงเวลาแล้วในการกำหนดความหมายที่แน่นอนของคำว่า ธรรมชาติ และควรกำหนดด้วยวิธีใด อีกทั้งหน่วยงานนี้ก็ยังต้องการความเห็นว่า การใช้คำว่าธรรมชาติบนฉลากอาหารนั้นควรเป็นอย่างไรด้วย ความเห็นของผู้สนใจ(ชาวอเมริกัน)นั้นสามารถส่งให้ อย.มะกันได้ตั้งแต่ 12 พฤศจิกายน 2015 ถึง 10 กุมภาพันธ์ 2016 ซึ่งหลังจากนั้นก็คงรอกันอีกนานพอควรกว่าจะได้ข้อสรุปออกมาเป็นเรื่องเป็นราวให้ อย.ประเทศอื่นได้สำเนาไปใช้กัน  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 179 ฟังหูไว้หู เรื่องไวรัสสู้มะเร็ง

วันหนึ่งไม่นานมานี้เอง ผู้เขียนได้อ่านบทความในวารสารออนไลน์ Nature เกี่ยวกับวิวัฒนาการในการบำบัดมะเร็งด้วยไวรัส ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้เขียนไม่เคยทราบมาก่อน และคิดว่ามันเป็นประเด็นที่เข้ามาใกล้ตัวคนไทยมากขึ้นทุกที น่าจะนำมาคุยให้ท่านผู้อ่านที่ไม่คุ้นชินต่อการหาข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพรู้ไว้พอสังเขป เผื่อจำเป็นต้องตัดสินใจในประเด็นดังกล่าว บทความที่ผู้เขียนอ่านชื่อ Cancer-fighting viruses near market ตีพิมพ์ใน Nature ชุดที่ 526 เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2015 ใจความสำคัญที่น่าสนใจคือ ได้มีการวิจัยปรับปรุงสายพันธุ์ไวรัสชื่อ เฮอร์ปีสซิมเพล็ก (herpes simplex virus) ด้วยกระบวนการทางวิศวพันธุกรรม จนสามารถทำให้ไวรัสทำลายเซลล์มะเร็งและช่วยกระตุ้นระบบภูมิต้านทานของผู้ป่วยให้ทำลายเซลล์มะเร็งได้ด้วย เชื้อไวรัสชนิดเฮอร์ปีสซิมเพล็ก นั้น ข้อมูลจากอินเตอร์ทั่วไประบุว่า มันเป็นสาเหตุสำคัญของการติดเชื้อเริมที่ผิวหนัง ริมฝีปาก และอวัยวะเพศ และอาจก่อการติดเชื้อที่ส่วนอื่นของร่างกาย ซึ่งนำไปสู่อันตรายถึงแก่ชีวิตได้ในผู้ป่วยที่อ่อนแอ ลักษณะผื่นที่เกิดจากการติดเชื้อของเฮอร์ปีสซิมเพล็กจะคล้ายกันไม่ว่าเกิดที่ไหนของร่างกาย โดยเป็นตุ่มน้ำเล็กๆ บนผิวหนังที่อักเสบแดง บทความในวารสาร Nature นั้นระบุว่า ในการปรับปรุงทางพันธุกรรมของ ไวรัสเฮอร์ปีสซิมเพล็ก ชื่อ talimogene laherparepvec (T-VEC) เพื่อใช้บำบัดมะเร็งชนิดเมลาโนมา (ซึ่ง Wikipedia อธิบายว่า เกิดจากเซลล์เมลาโนซัยต์ ซึ่งทำหน้าที่สร้างสารสีเมลานินที่พบใต้ผิวหนัง ตา หู ทางเดินอาหาร เยื่อหุ้มสมอง และเยื่อบุช่องปากและอวัยวะเพศ มะเร็งที่เกิดจากเซลล์นี้ถือว่าเป็นมะเร็งผิวหนังที่พบน้อยราวร้อยละ 4 ของมะเร็วผิวหนังทั้งหมด แต่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตถึงร้อยละ 75 ของมะเร็งผิวหนังทั้งหมด)นั้น ได้รับการยอมรับจากคณะที่ปรึกษาของ European Medicines Agency และที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือ เมื่อเดือนเมษายน 2015 นี้ ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาก็ได้ให้สัญญาณว่า มีแนวโน้มในการยอมรับกระบวนการบำบัดมะเร็งดังกล่าวภายในช่วงเดือนตุลาคมหรือพฤศจิกายนนี้ (ดูจากบทความเรื่อง FDA Panel Gives Thumbs-Up To Amgen's Virus-Based Melanoma Drug เมื่อ 29 เมษายน 2015 ใน www.forbes.com) ซึ่งต่อมาใน Wikipedia มีข้อมูลว่า US.FDA ได้ยอมรับไปแล้วในเดือนตุลาคม 2015 โดยยานี้มีชื่อการค้าว่า “Imlygic” หลักการบำบัดมะเร็งด้วยไวรัสนั้นเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะโดยทั่วไปแล้วคนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่า ไวรัสนั้นเป็นสิ่งไม่มีชีวิตที่ไม่ดี นำโรคต่างๆ (รวมทั้งมะเร็งบางชนิด)มาสู่คน แต่ในทางวิทยาศาสตร์นั้น มีการใช้ไวรัสเป็นพาหะในการนำชิ้นส่วนดีเอ็นเอส่วนที่นักวิจัยสนใจเข้าสู่แบคทีเรีย เพื่อให้แบคทีเรียช่วยเพิ่มปริมาณชิ้นดีเอ็นเอนั้นพร้อมไปกับการเพิ่มปริมาณแบคทีเรีย และยังสามารถใช้ไวรัสบางชนิดควบคุมหรือต้านทานการก่อโรคในพืช เช่น มะละกอ ยาสูบ พริก ตลอดจนนำไวรัสไปศึกษาทดลองในวงการแพทย์เพื่อบำบัดโรคดังที่ยกตัวอย่างในบทความนี้ โดยพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์แล้ว ไวรัสบางชนิดเข้าทำลายเฉพาะเซลล์มะเร็งแบบจำเพาะ โดยหลังจากได้เพิ่มจำนวนไวรัสใหม่ในเซลล์มะเร็งที่เป็นเจ้าบ้านแล้วก็ทำให้เซลล์มะเร็งแตกออก โดยไม่ก่อปัญหากับเซลล์ปรกติอื่น ๆ  จากเว็บ Wikipedia ได้ให้ข้อมูลว่า ความรู้นี้เริ่มมีตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 โดยมีไวรัสบางชนิดลดจำนวนเซลล์มะเร็งปากมดลูก Burkitt lymphoma และ Hodgkin lymphoma ได้ แต่สมัยนั้นยังมีข้อจำกัดว่า บางครั้งร่างกายก็สร้างระบบทำลายไวรัสที่ถูกศึกษา จึงทำให้เทคนิคการบำบัดนี้ยังไม่แพร่หลาย อีกทั้งต้องทำการฉีดไวรัสเข้าสู่บริเวณที่เป็นมะเร็งโดยตรง ไม่สามารถฉีดเข้าสู่กระแสเลือดได้ ข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการบำบัดมะเร็งด้วยไวรัสนี้ เราสามารถค้นหาได้โดยใช้ Google ซึ่งทำให้ผู้เขียนได้ทราบว่า ใน www.pantip.com นั้นเคยมีผู้ตั้งกระทู้ในเรื่องดังกล่าวเช่นกัน กล่าวคือในวันที่ 2 กันยายน 2556 เวลา 17:46 น. มีผู้ตั้งกระทู้ว่า “มีใครเคยไปรักษามะเร็งที่กวางโจว ป. จีน บ้างไหมคะ อยากทราบประสบการณ์ค่ะ” รายละเอียดของกระทู้คือ “กำลังจะตัดสินใจไปรักษาเพราะอ่านในอินเตอร์เนตว่ามีศูนย์รักษามะเร็งแผนใหม่ 2 แห่งที่มีชื่อเสียง และมีเทคนิคใหม่ๆ ที่ได้ผล จขกท.เป็นมะเร็งปอดขั้นสาม หมอที่จังหวัดแนะนำให้ผ่าตัดปอดซ้าย และทำคีโมปอดขวา จากที่เคยเห็นเพื่อนต้องตายไปจากวิธีเดียวกันนี้ ทำให้กลัว เพราะเทคนิคการรักษาและคีโมมีผลข้างเคียงมาก ขณะที่ในกวางโจวใช้เทคนิค ใหม่ๆ และผลข้างเคียงน้อย (ตามที่รพ.โฆษณา) จึงใคร่จะทราบว่า เพื่อนๆ ที่มีญาติพี่น้องเพื่อนฝูงที่ไปรักษามาจากกวางโจว พอจะให้คำแนะนำแก่ดิฉันได้บ้าง  โปรดตอบด้วยนะคะ เพราะวันนี้ไปอัพเดทมะเร็งมา ใน 90 วัน ก้อนเนื้อในปอดโตขึ้นจนเห็นได้ชัดเจนค่ะ คุณหมอแจ้งว่าควรรีบผ่าตัดด่วนค่ะ” ในความเป็นจริงแล้ว เคยมีแพทย์ท่านหนึ่งเข้าไปโพสต์ให้ความรู้ในเรื่องดังกล่าวก่อนหน้าเมื่อ 11 เมษายน 2556 เวลา 19:45 น. ในกระทู้ชื่อ “หมอมะเร็งอยากบอก ตอน การรักษามะเร็งด้วยไวรัส.....ข้อเท็จจริง....บิดเบือน....หรือหลอกลวง” แพทย์ผู้โพสต์ข้อมูลในกระทู้นั้น ได้เกริ่นไว้ตอนหนึ่งว่า ได้รับการปรึกษาจากคนไข้คนหนึ่งถึงเรื่อง การบำบัดมะเร็งด้วยไวรัสของโรงพยาบาลฟูด้า กวางโจว ประเทศจีน จากนั้นแพทย์ท่านนี้ก็ได้ให้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์พื้นฐานของกระบวนการ โดยมีข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพในการใช้ไวรัสในประเทศจีนประมาณว่า ได้มีการศึกษาในคนโดยฉีดไวรัสเข้าตัวก้อนมะเร็งโดยตรง โดยเปรียบเทียบระหว่างการให้การบำบัดด้วยยาอย่างเดียวหรือยาร่วมกับการให้ไวรัส ซึ่งพบว่าในขั้นตอนการศึกษาที่ 1 นั้นคนไข้ทนต่อการรับไวรัสได้ดี แล้วในขั้นตอนที่ 2 แสดงให้เห็นว่าก้อนมะเร็งยุบลง แต่ในขั้นตอนที่ 3 ซึ่งศึกษาในคนไข้มะเร็งชนิด Squamous Cell Carcinoma ที่คอและศีรษะหรือหลอดอาหารนั้นกลับไม่สามารถบำบัดให้หายขาด…..เป็นต้น อย่างไรก็ดี จากข้อมูลในตอนต้นของบทความที่ผู้เขียนได้เอ่ยว่า ดูเหมือนประเทศทางตะวันตกได้เตรียมที่จะรับรองการบำบัดมะเร็งบางชนิดด้วยวิธีดังกล่าวแล้ว ผู้เขียนจึงขอให้ข้อมูลที่ท่านอาจสนใจจากบทความชื่อ Oncolytic viruses for cancer therapy (ปรากฏในวารสาร OncoImmunology ชุดที่ 2 ฉบับที่ 6 ประจำเดือนมิถุนายน 2013 ซึ่งสามารถเข้าไปอ่านได้ที่เว็บ www.landesbioscience.com) ซึ่งกล่าวว่า ปัจจุบันกำลังมีการวิจัยในคนไข้เพื่อบำบัด มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งผิวหนัง เนื้องอกสมอง มะเร็งปอด มะเร็งปอดชนิดเมโสเธลิโอมาซึ่งมักเกิดจากใยหิน มะเร็งเต้านม มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิด มัลติเพิล มัยอิโลมา มะเร็งตับอ่อน มะเร็งต่อมลูกหมาก เป็นต้น โดยใช้ไวรัสเฉพาะชนิดของแต่ละมะเร็ง ข้อมูลดังกล่าวนี้แสดงให้เห็นว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ คนไข้ที่เป็นมะเร็งอาจมีอายุยืนยาวขึ้นหลังจากได้ จ่ายค่าบำบัดมะเร็งในราคาที่เหมาะสม กับเทคโนโลยีการแพทย์ทันสมัย ซึ่งคงเป็นไปได้สำหรับ คนที่มีสตางค์เหมาะสม เท่านั้น ส่วนคนที่ทำงานมีรายได้ชนเดือนบ้างไม่ชนเดือนบ้าง คงต้องใช้วิจารณญาณให้จงหนักว่า จะพยายามทำให้คนที่ท่านรักหรือตัวท่านเองอยู่ได้นานขึ้นสักระยะหนึ่งแล้วเป็นหนี้หัวโต หรือจากโลกนี้ไปเพื่อเกิดใหม่ในที่ที่อาจดีกว่า เพราะอย่างไรๆ ทุกคนก็ต้องตายทั้งนั้นหมายเหตุ: บทความนี้ใช้คำว่า “บำบัด” เมื่อต้องการหมายความว่า ทำให้โรคนั้นหมดไป ยกเว้นข้อความซึ่งคัดลอกมาจากอินเตอร์เน็ทซึ่งใช้คำผิดๆ ว่า “รักษา” ซึ่งคำๆ นี้หมายความว่า คงอยู่ไม่สูญหาย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 178 พ.ร.บ. จัดการบุหรี่

ผู้เขียนชอบอ่านข่าวของสำนักข่าวอิศรา (ผ่านเข้าทางเว็บ kapook) เพราะเป็นข่าวที่ตรงไปตรงมา (น่าจะ) ไม่เอียงข้างใดข้างหนึ่ง ดังนั้นหลายครั้งจึงนำประเด็นด้านสุขภาพที่ถูกรายงานมาขยายความเพื่อเพิ่มความชัดเจนแก่ผู้อ่านในฉลาดซื้อมีหัวข้อข่าวหนึ่งที่ผู้เขียนรู้สึกสนใจคือ เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2558 ณ ห้องประชุมสภามหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่งได้จัดงานแถลงข่าว “ร่างพ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ คุ้มครองสุขภาพหรือลิดรอนสิทธิเสรีภาพ”(ปรากฏในเว็บสำนักข่าวอิศราเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 25 มิถุนายน 2558) โดยหัวหน้าโครงการวิจัย ซึ่งเป็นคณบดีคณะนิติศาสตร์ด้วยกล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบมีประเด็นบกพร่องทางกฎหมายหลายประการ รวมทั้งยังก่อให้เกิดผลกระทบในเชิงพาณิชย์และสิทธิเสรีภาพ จากนั้นอาจารย์คนหนึ่ง ซึ่งร่วมในโครงการได้เพิ่มเติมว่า สิทธิและเสรีภาพของประชาชน (ซึ่งน่าจะหมายถึงผู้ผลิตและขายบุหรี่) ในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้ถูกลิดรอนเกินความจำเป็นเช่น การใช้มาตรการซองเรียบ (Plain Packaging) นั้นจำกัดสิทธิของผู้เป็นเจ้าของอย่างหนึ่งในการประกอบอาชีพ เพราะปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดให้มีคำเตือนและภาพแสดงถึงโทษและคำเตือนไว้ 2 อย่าง คือ พื้นที่ด้านข้างร้อยละ 60 และด้านหน้าด้านหลังร้อยละ 85 จึงเห็นว่าพื้นที่เครื่องหมายการค้าอยู่ในพื้นที่ที่จำกัด ไม่มีความดึงดูดความสนใจต่อผู้บริโภค ไม่เป็นผลต่อการโฆษณา จึงเสนอให้ทบทวนในเรื่องนี้ นอกจากนี้ยังเสนอให้ยกเลิกข้อห้ามการแบ่งขาย (เป็นมวนของ) ผลิตภัณฑ์ยาสูบ เพราะแม้เป็นการสกัดกั้นการซื้อบุหรี่ให้ยากขึ้นของเยาวชน (ซึ่งน่าจะ) มีเงินน้อยจึงต้องใช้วิธีการแบ่งซื้อ แต่ผู้ที่กำลังจะเลิกสูบบุหรี่หรือด้านของผู้ที่มีรายได้น้อยกลับต้องถูกจำกัดให้ซื้อเป็นซองเท่านั้น จากการแถลงข่าวนี้ ทำให้อาจารย์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยท่านหนึ่ง ต้องออกมายืนยันแก่สาธารณชนว่า ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบไม่ได้จำกัดหรือลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพราะเป็นมาตรการที่สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศว่า รัฐสามารถออกมาตรการคุ้มครองสุขภาพของประชาชนได้ ถ้าเป็นการจำกัดสิทธิที่ได้สัดส่วนจำเป็นและไม่เลือกปฏิบัติ (ปรากฏในเว็บสำนักข่าวอิศราเมื่อเสาร์ที่ 27 มิถุนายน 2558) ผู้เชี่ยวชาญกฏหมายเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ฉบับนี้จากจุฬาฯ กล่าวต่ออีกว่า อนุสัญญาควบคุมยาสูบนั้น องค์การอนามัยโลกระบุว่าบุหรี่เป็นสินค้าเสพติด มีสารพิษถึง 250 ชนิด และมีสารก่อมะเร็งถึง 70 ชนิด (ตามคำประกาศของกระทรวงสาธารณสุขสหรัฐอเมริกา ดูรายละเอียดได้จาก Harms of Cigarette Smoking and Health Benefits of Quitting ที่ www.cancer.gov) ซึ่งทำให้ครึ่งหนึ่งของผู้ติดบุหรี่เสียชีวิตก่อนเวลาอันควรปีละ 6 ล้านคน ซึ่งรวมถึงคนไทยปีละ 5 หมื่นกว่าคนที่ตายเร็วกว่าที่ควรเป็นถึง 12 ปี และก่อนตายต้องป่วยหนักเป็นเวลา 2 ปี และผลาญเงินภาษีที่เก็บจากคนไทยทุกคนไปรักษาคนพวกนี้ 52,000 ล้านบาท โดยบริษัทบุหรี่มีกำไรในประเทศไทยเพียงปีละ 10,000 ล้านบาท ในการประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 14 ที่โรงแรมข้างทางรถไฟสายหนึ่ง ในกรุงเทพมหานคร (ข่าวปรากฏในเว็บสำนักข่าวอิศราเมื่อวันอาทิตย์ที่ 2 สิงหาคม 2558) มีอาจารย์จากคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยติดชายทะเลแห่งหนึ่ง ทำการวิจัยแล้วระบุเหตุผลที่ชาวไร่เลือกปลูกยาสูบว่า เพราะมันเป็นพืชเศรษฐกิจที่รัฐบาลประกันราคาและให้โควตา (?????) จึงทำให้ครอบครัวมีรายได้ดีกว่าการปลูกพืชชนิดอื่น ในขณะที่มุมมองการทำวิจัยของอาจารย์ดังกล่าวเห็นว่า ใบยาสูบคือวิถีชีวิตช่วยสร้างรายได้ของครอบครัวเกษตรกร แต่ก็เป็นสิ่งทำร้ายสุขภาพคนอื่นและเป็นต้นกำเนิดอบายมุข ที่จริงผลกระทบต่อชาวไร่ในการทำไร่ยาสูบในทางตรงก็มีคือ การได้รับสารนิโคตินระหว่างเก็บเกี่ยวจนปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน แต่ชาวไร่ยาสูบมักมองอาการเหล่านี้เป็นเรื่องจิ๊บ ๆ และมั่นใจว่าสุขภาพของตนเองยังแข็งแรงอยู่ (ได้ใช้เงินจากการทำบาปทางอ้อม) สำหรับมาตรการในการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบนั้น ปรากฏว่าเกษตรกรร้อยละ 82 ยืนยันจะปลูกใบยาสูบต่อไป เพราะรัฐบาลยังส่งเสริมผ่านคำแนะนำและประกันราคา และเป็นไปได้ยากที่จะปลูกพืชชนิดอื่นทดแทน ยกเว้นว่ามันจะสร้างรายได้เทียบเท่า อย่างไรก็ดียังมีข่าวดีปนเศร้าคือ มีสาเหตุที่ทำให้การปลูกยาสูบลดลง แต่ไม่ใช่มาจากการบังคับใช้กฎหมาย กลับมาจากการไร้ผู้สืบทอดอาชีพเพราะเกษตรกรเริ่มแก่และสุขภาพแย่ลง จึงเป็นแนวทางในการจำกัดพื้นที่เพาะปลูกใบยาสูบได้ตามวิบากกรรม นอกจากนี้ในการประชุมดังกล่าวได้มีข้าราชการจาก สำนักส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร ระบุว่า รัฐกำลังสนใจส่งเสริมการปลูกอ้อยเป็นพืชทดแทนยาสูบ เพราะตลาดในปี 2569 น่าจะมีความต้องการอ้อยถึง 200 ล้านตัน โดยปัจจุบันเราผลิตได้เพียง 100 ตัน อย่างไรก็ดีไม่มีข่าวว่าชาวไร่สนใจหรือไม่ เมื่อเขียนมาถึงตอนนี้ผู้เขียนก็รู้สึกว่า ยาสูบมันค่อนข้างสำคัญต่อชีวิตของคนหลายคน (ที่ไม่ได้มีจริตในการดำรงชีพแบบผู้เขียน) ดังนั้นการสูบยามันน่าจะมีอะไรที่บ่งว่าเป็นประโยชน์บ้าง จากการใช้ Google ผู้เขียนได้พบบทความเรื่อง 5 Health Benefits of Smoking เขียนโดย Christopher Wanjek ใน www.livescience.com ซึ่งพยายามจับแพะชนแกะว่า การสูบบุหรี่นั้นน่าจะมีประโยชน์ดังนี้ การสูบบุหรี่ช่วยประหยัดเงินและลดความเสี่ยงในการต้องเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนหัวเข่า ซึ่งเป็นรายงานผลการวิจัยในวารสาร Arthritis & Rheumatism (ในข่าวไม่ได้ระบุปีที่พิมพ์) โดยนักวิจัยแห่ง University of Adelaide ในออสเตรเลียรายงานว่า อาจเพราะคนที่สูบบุหรี่มักไม่ไปวิ่งออกกำลังกายจึงลดความเสี่ยงต่อการที่เข่าเกิดอันตราย และเพราะคนติดบุหรี่มักมีน้ำหนักต่ำ (จะอธิบายต่อไปว่าทำไม) ปัญหาเข่ารับน้ำหนักร่างกายเกินจำเป็นจึงไม่มี การสูบบุหรี่น่าจะลดความเสี่ยงต่อโรค Parkinson's disease (กลุ่มอาการมือสั่นและเคลื่อนไหวลำบาก อาจเพราะสมองไม่สามารถสร้างสารโดปามีนได้พอ) โดยในปี 2007 นักวิจัยจากฮาร์วาร์ดได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสาร Neurology ว่า คนที่สูบบุหรี่จะมีอาการนี้ต่ำกว่าคนไม่สูบ และผลนี้จะน้อยลงถ้าหยุดสูบบุหรี่ สิ่งที่น่าสนใจคือ ผู้ทำวิจัยได้สารภาพว่า ไม่รู้ว่าทำไมมันถึงเป็นอย่างนี้ เพราะไม่ปรากฏว่านักสูบได้ตายเร็วกว่าคนปรกติ (ทั้งที่มันน่าจะใช่) จนไม่เกิดอาการนี้ นอกจากนี้ในปี 2010 วารสารเล่มเดียวกันก็ได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยที่แสดงว่า คนที่ยิ่งสูบบุหรี่นานเท่าใดและ (ซ้ำร้ายกว่านั้น) จำนวนการสูบต่อวันยิ่งมากมวนเท่าไร โอกาสมีอาการนี้ยิ่งน้อยลงเท่านั้น การสูบบุหรี่ทำให้ไม่อ้วน เพราะนิโคตินในควันบุหรี่ลดความอยากอาหาร ดังนั้นจึงมักพบว่า ใครก็ตามที่อดบุหรี่ได้มักมีน้ำหนักเพิ่ม อาจเพราะกินอาหารอร่อยขึ้น ดังนั้นตั้งแต่ปี 1920 เป็นต้นมาบริษัทค้าบุหรี่จึงมุ่งที่จะจัดการกับสตรีที่ต้องการลดน้ำหนักด้วยหลักการดังกล่าว ซึ่งก็ดูเหมือนว่าประสบความสำเร็จด้วยดี นอกจากนี้นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเยลแห่งสหรัฐอเมริกา เคยกล่าวในบทความที่ลงพิมพ์ในวารสาร Science เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2011 ว่า จากการศึกษาในหนูทดลองพบว่า การสูบบุหรี่ลดความอยากอาหารโดยไปมีผลต่อการทำงานของฮิบโปแคมปัสของสมอง อย่างไรก็ดีผู้เขียนไม่คิดว่าจะมีแพทย์ท่านใดไร้สติพอที่จะใช้หลักการนี้ในการรักษาคนไข้น้ำหนักเกิน การสูบบุหรี่ช่วยลดความเสี่ยงต่อการตายด้วยอาการหัวใจวาย เพราะคนไข้ที่สูบบุหรี่มักตายยาก (เหมือนมัจจุราชไม่ประสงค์) และเมื่อทำบอลลูนถ่างเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจก็ทำง่ายกว่า โดยมีคำอธิบายที่ยังไม่เป็นที่ยอมรับนักคือ คนสูบบุหรี่มักเกิดอาการหัวใจวายในวัยหนุ่มเร็วกว่าคนทั่วไปถึง 10 ปี ระบบต่างๆ จึงยังพอแข็งแรงทำให้ง่ายต่อการช่วยชีวิต การสูบบุหรี่ทำให้ยาลดการอุดตันในเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจชื่อ clopidogrel ทำงานดีขึ้น ข้อสรุปนี้ได้จาการทำวิจัยของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (ตีพิมพ์ในวารสาร Thrombosis Research เมื่อเดือนสิงหาคม 2005) ข่าวนี้ไม่น่าประหลาดใจนักเพราะสารพิษในควันบุหรี่ส่วนใหญ่เป็นสารกระตุ้นการทำงานของระบบเอนไซม์ที่กระตุ้นยาชนิดนี้ (จากโครงสร้างโมเลกุลที่ยังไม่ทำงานให้ทำงาน)ได้ดีขึ้นกว่าในคนไม่สูบบุหรี่ เหมือนสารพิษจากอาหารปิ้งย่างรมควันในปริมาณน้อย ๆ ก็กระตุ้นให้ระบบเอนไซม์ทำลายสารพิษในตับทำงานดีขึ้นได้

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 177 กัญชากับ...อาหารรสเด็ด

การเกษียณจากราชการมาอยู่บ้านขณะที่เมืองไทยมีโทรทัศน์ดิจิตอล นับว่าเป็นโอกาสดีที่ผู้เขียนไม่ต้องจมอยู่กับรายการโทรทัศน์ของ 6 สถานี ซึ่งไม่ค่อยพัฒนา ดังนั้น ณ วันนี้ผู้เขียนได้ดูข่าวคุณภาพดีขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าจากหลายสถานี มีสารคดีให้ดูมากขึ้น แถมด้วยหนังดังจากต่างประเทศ ราวปลายปีที่แล้วได้มีรายการข่าวภาคกลางวันของช่อง 3 SD ซึ่งมีพิธีกรรุ่นใหม่ทำข่าวภาษาไทยปนการสอนภาษาอังกฤษและภาษาจีน ซึ่งเป็นการหลีกหนีความจำเจของรสชาติข่าว แต่สุดท้ายรายการดีในวันธรรมดาก็ต้องยุติลง เข้าใจว่ามีปัญหาเกี่ยวกับผู้สนับสนุนรายการอย่างไรก็ตามผู้เขียนจำได้ว่า เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2557 ได้มีข่าวชิ้นหนึ่งซึ่งเกี่ยวกับ กัญชา (ซึ่งคนไทยบางกลุ่มให้ความสนใจอย่างมากที่จะทำการรณรงค์ให้สถานภาพของกัญชาในสังคมไทยเปลี่ยนไป) สำหรับเนื้อข่าวซึ่งสามารถดูได้ใน www.youtube.com/watch?v=B8KJA1xIhFU นั้น พิธีกรได้คุยถึงข่าวเกี่ยวการผสมกัญชาลงไปในผลิตภัณฑ์อาหารในรัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา โดยสิ่งที่น่าตกใจในเนื้อข่าว คือ มีการผสมกัญชาลงในขนมเด็กเช่น เจลลี อมยิ้ม ยาอม ซึ่งสินค้าเหล่านี้ผลิตและขายได้เฉพาะในโคโลราโดเท่านั้น กัญชาเป็นพืชที่มีใบที่สวยงาม ผู้ใหญ่และครูหลายท่านของผู้เขียนสอนว่า กัญชาเป็นสิ่งที่ไม่ดี เมื่อสูบแล้วจะเมา มีอาการหลอน เหมือนคนบ้า แต่เมื่อเอากัญชาใส่ลงแกงเผ็ดแล้วเขาว่ามันจะอร่อยกว่าเดิม ดังนั้นเมื่อชีวิตประจำวันของเรา ซึ่งอาจต้องกินอาหารตามร้านอาหารในบางมื้อ หลายท่านอาจนึกไม่ถึงว่าท่านอาจได้เสพกัญชาโดยไม่ได้เจตนา เพียงแค่ท่านเลือกร้านอาหารที่ถูกขนานนามว่า อร่อยสุดๆ ในบทความที่มีการเผยแพร่ทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ ทั้งไทยและอังกฤษ ต่างก็จัดให้กัญชาเป็นยาเสพติด ดังนั้นใครก็ตามที่คิดว่ามันไม่ใช่ก็คงต้องเหนื่อยหน่อยที่จะพิสูจน์ ช่วงปี พ.ศ. 2520 ถึง 2525(ซึ่งผู้เขียนไปเรียนทางด้านพิษวิทยาที่สหรัฐอเมริกานั้น) กัญชาก็เป็นแหล่งของสารธรรมชาติกลุ่มแคนนาบินอยด์(cannabinoids) ซึ่งมีฤทธิ์เป็นยาชนิดที่เมื่อใช้นานเกินไปกลับออกฤทธิ์เป็นยาเสพติดระดับไม่รุนแรงนัก มวลชนอเมริกันจึงมีการนำมาใช้ในทางผิดๆ เพื่อผ่อนคลายความเครียด การมีโอกาสได้สัมผัสความเป็นอยู่ของคนอเมริกันวัยหนุ่มสาวนั้น สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนจับกระแสได้คือ คนที่มาจากเมืองใหญ่เพื่อมาเรียนในเมืองเล็กมักถวิลหาถึงกัญชาเป็นประจำ ดังนั้นทุกปลายสัปดาห์ที่มีการตรวจความสะอาดของห้องในหอพักของมหาวิทยาลัย สิ่งที่มักพบคือกัญชาแห้ง และบางครั้งถึงขั้นพบต้นกัญชา ซึ่งเหล่านักศึกษาทำเนียนว่าปลูกเป็นไม้ประดับข้างหน้าต่างรวมๆ ไปกับพืชอื่นๆ เพื่อแสดงความเป็นคนรักธรรมชาติ ดังนั้นจึงไม่ควรประหลาดใจที่ลูกหลานของท่านที่ไปเรียนจบจากสหรัฐอเมริกาแล้วติดกัญชากลับมา ในช่วงที่ผู้เขียนเตรียมตัวกลับมาทำงานที่เมืองไทยนั้น ข่าวทางโทรทัศน์ข่าวหนึ่ง ซึ่งผู้เขียนยังจำได้ก็คือ มีแนวโน้มในการใช้กัญชาเพื่อผ่อนคลายผู้ป่วยที่เป็นโรคร้ายแรงก่อนสิ้นชีวิตในรัฐโคโลราโด อย่างไรก็ดีผู้เขียนก็ไม่ได้ติดตามข่าวนี้นักเพราะไม่ใช้ประเด็นที่สนใจ จนเมื่อในปี 2012 ก็ได้ข่าวว่า ประชาชนในรัฐโคโลราโดและรัฐวอชิงตันของสหรัฐอเมริกา ได้ลงคะแนนเสียงให้กัญชาเป็นสิ่งถูกต้องตามกฎหมายในการมีหรือปลูก จากนั้นในปี 2014 จึงอนุญาตการขายในปริมาณน้อยตามใบสั่งแพทย์แก่ผู้ที่อายุเกิน 21 ปี ในขณะที่อีก 20 รัฐอนุญาตยอมให้ใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ภายใต้การดูแลของแพทย์ แต่สำหรับกฎหมายระดับประเทศ (Federal Law) นั้นยังคงห้ามคนทั่วไปใช้แบบเสรีในเกือบทุกรัฐ ประเด็นการสูบกัญชานั้น ผู้เขียนขอตั้งข้อสังเกตว่า กัญชาเป็นยาเสพติดที่ต้องทำให้เป็นควันก่อนเพื่อสูบเหมือนบุหรี่ ดังนั้นที่ใดมีควันที่นั่นย่อมมีสารก่อมะเร็งกลุ่มโพลีไซคลิกอะโรเมติกไฮโดรคาร์บอน(หรือพีเอเอช) เช่นเดียวกับที่พบในบุหรี่ พร้อมทั้งสารพิษกลุ่มไนโตรซามีนและกลุ่มอัลดีไฮด์ ซึ่งโดยเบ็ดเสร็จแล้วกล่าวกันว่า มีสารก่อมะเร็งอย่างน้อย 50 ชนิดขึ้นไป เป็นของแถมแก่นักสูบ ข่าวคราวการใช้กัญชานั้นพบได้ไม่ยากนัก เช่น จากการชมภาพยนตร์หรือแม้แต่ข่าวทางโทรทัศน์ของต่างประเทศ ดังนั้นผู้เขียนจึงตระหนักว่า กัญชานั้นอยู่ในสังคมของมนุษย์ตลอดมา โดยเฉพาะในสังคมนักเรียนและนักศึกษา ซึ่งอยู่ในวัยที่อยากลองเพื่อสนองความต้องการของฮอร์โมนที่กำลังปั่นป่วน ในอดีตที่ผ่านมา เคยมีข่าวผู้สมัครเป็นตัวแทนพรรคการเมืองเพื่อเข้ารับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีของบางประเทศต้องประกาศถอนตัว เพราะมีหลักฐานว่าเคยถูกจับข้อหาสูบกัญชาสมัยเมื่อยังเป็นนักเรียนหรือนักศึกษา นี่แสดงว่าสังคมของบางประเทศ ซึ่งประชาชนมีหลักยึดของจิตวิญญาณว่า เสรีชนทำชั่วส่วนตัวนั้นไม่เป็นไร แต่ถ้าจะเป็นตัวแทนหรือผู้นำต้อง มีประวัติที่สะอาดโปร่งใสหาความผิดไม่ได้ ซึ่งหลักยึดในกระบวนการเลือกนักการเมืองมาเป็นตัวแทนประชาชนแบบนี้ ไม่ปรากฏในร่างรัฐธรรมนูญที่ตกกระป๋องไปแล้ว ดังนั้นถ้าร่างใหม่จะมีเรื่องนี้ก็จะเป็นพระคุณเป็นอย่างสูงแก่ประเทศเรา ในเว็บของ Wikipedia นั้นได้ให้ข้อมูลเชิงวิชาการเกี่ยวกับกัญชาว่า กัญชานั้นมีผลทั้งทางร่างกายและจิตใจเช่น ทำให้เคลิบเคลิ้มมีความสุข(แบบที่วัยรุ่นเรียกว่า high) เกิดอาการผ่อนคลาย และที่น่าสนใจคือ ทำให้อยากอาหาร โดยมีอาการแถมแก่ผู้เสพคือ ความจำระยะสั้นลดลง ปากแห้ง(กระหายน้ำ จึงมีข้อสังเกตว่า ถ้าไปกินอาหารที่ไหนแล้วหิวน้ำมาก ทั้งที่อาหารไม่ได้เค็มเลย ท่านอาจเจอกัญชาเข้าแล้ว) นอกจากนี้อาจมีอาการงุ่มง่าม สะเปะสะปะ ตาแดง และหวาดระแวงหรือขี้กังวล โดยของแถมที่ได้นี้จะหายไปภายใน 2-6 ชั่วโมง ข้อดีของกัญชาในด้านการแพทย์นั้นคือ ลดอาการคลื่นไส้และอาเจียนในคนไข้ที่ได้รับยาบำบัดมะเร็ง(ไม่ใช่ว่ากัญชาบำบัดมะเร็งนะครับ สามารถดูข้อมูลนี้ต่อได้ที่ American Cancer Society หรือ www.cancer.org ซึ่งเป็นองค์กรหลักเรื่องเกี่ยวกับมะเร็งของสหรัฐอเมริกา) กระตุ้นความอยากอาหารในคนไข้โรคเอดส์ ลดอาการปวดกล้ามเนื้อเรื้อรังและอาการชักกระตุก แต่ถ้าใช้ไปนานๆ อาจเกิดอาการความจำเสื่อมหรือจิตเภทในบางคน แหล่งข้อมูลที่ไม่เป็นวิชาการนักในอินเตอร์เน็ทคือ www.pantip.com ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับกัญชาในอาหาร (ที่เราท่านอาจพบได้ด้วยตนเอง) เช่น “.....ก๋วยเตี๋ยวใส่กัญชานั้นมีแน่นอน เพราะในคลองบางกอกน้อยเมื่อก่อนจะมีก๋วยเตี๋ยวเนื้อเจ้าอร่อยอยู่เจ้านึงขาย ในคลองชื่อนายหลอ ผมเป็นลูกค้าจนสนิทกัน เขาเลยบอกว่าเขา ใช้ต้นกัญชามาทุบๆ ให้แตกแล้วห่อด้วยใบเตยกันคนเห็น แล้วเอาลวดมัดก่อนจะหย่อนลงในหม้อน้ำซุป ที่มีทั้งเนื้อเปื่อย เครื่องใน กระดูกวัว และห่อเครื่องเทศอื่นๆ อีก แต่ก่อนมีแหล่งซื้อกัญชาอยู่แถวๆ วัดชัยพฤกษ์น่ะครับ 30 กว่าปีแล้วนะ เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้วครับ……” “.......ตอนไปเข้าค่ายอาสาฯ เพื่อนๆ แกงป่าเป็ดแบบแห้งห่อไปด้วย ทานกันตอนเย็นๆ ทั้งเหนื่อยและหิว เลยเอาแกงเป็ดมาคลุกข้าวสวยกินอร่อยสุดๆ ผลก็คือ หัวเราะกันตั้งแต่ตอนเย็นถึงตีสามค่ะ หัวเราะจนตกจากเก้าอี้รอบกองไฟ หงายหลังแล้วยังหัวเราะต่ออีก ตื่นมาเจ็บซี่โครงเหมือนโดนซ้อม มารู้ทีหลังว่าเพื่อนมันใส่กัญชาในเครื่องแกง ไม่โกรธมันเลยค่ะ อร่อยดีอีกต่างหาก หัวเราะมันส์ดีเหมือนกัน…..” นอกจากนี้ในเว็บของหลายประเทศนั้นก็อธิบายแบบชัดเจนถึงการทำอาหารและขนมที่มีกัญชาเป็นองค์ประกอบ เพื่อให้ผู้บริโภครู้สึกว่าอาหารและขนมนั้นอร่อยมากกว่าเดิม โดยอาศัยฤทธิ์ของกัญชาไปเพิ่มความรู้สึกอยากอาหาร ในขณะที่อาหารที่กินนั้นรสชาติไม่ได้ดีขึ้นแต่อย่างไร ตัวอย่างที่น่าสนใจในอินเตอร์เน็ท(แต่ไม่ควรเข้าไปลอกเรียนแบบ) เกี่ยวกับอาหารใส่กัญชาคือ การทำ Cannabutter หรือเนยกัญชา เพื่อใช้เป็นองค์ประกอบของอาหาร ทั้งนี้เพราะสารออกฤทธิ์ในกัญชานั้นสกัดได้ดีด้วยไขมัน ดังนั้นขนมจากฝรั่งที่ว่าอร่อยสุดๆ นั้น เราควรใส่เครื่องหมายคำถามแล้วว่าทำไม เห็นได้ว่าโอกาสที่ผู้บริโภคจะได้สัมผัสกับกัญชาโดยไม่เจตนานั้น ไม่ยากนักทั้งในอดีตและปัจจุบัน โดยการสัมผัสจากอาหารที่อาจได้รับการขึ้นชื่อลือชาว่า รสเด็ด โดยขายสินค้าอาจไม่คิดว่าผู้บริโภคอาจได้รับอันตรายจากฤทธิ์ของกัญชา เช่น การเกิดอุบัติเหตุจากการขับรถหรือใช้เครื่องยนต์จากอาการหลอนระหว่างที่กัญชาออกฤทธิ์ หรือความผ่อนคลายของสาวรุ่นที่ได้กัญชาโดยไม่รู้ตัวในสถานที่อโคจร ข้อสังเกตว่าอาหารใส่กัญชาหรือไม่คือ มันอร่อยมาก ถูกปากเป๊ะๆ ไม่ต้องปรุงเพิ่ม แต่เมื่อกินมากหน่อยอาจมีอาการใจสั่น (เพราะกัญชาบีบหัวใจของบางคน) ตามด้วยการกระหายน้ำ แต่ที่ชัด ๆ คือ กินเเล้วรู้สึกรื่นเริงครึกครื้นกว่าปกติ เเบบเห็นอะไรจะขำง่ายไปหมด ดังนั้นข่าวคราวที่จะมีการใช้กัญชาแบบที่หลายคนเข้าใจว่าเสรีนั้น คงต้องผ่านการกลั่นกรองถึงผลได้และผลเสีย ซึ่งรวมไปถึงการควบคุมที่ดีต่างไปจากการใช้สารเสพติดอื่นคือ เหล้าและบุหรี่ ซึ่งประชาชนใช้กันแบบสะเปะสะปะ เกิดคดีความและอุบัติเหตุได้ทุกวัน

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 176 หวานเว่อร์ อัลไซเมอร์ถามหา

ผู้เขียนเป็นสมาชิกของสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว ทันสมัยสุดๆ เพราะเป็นกลุ่มชนที่นำพาชาติเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแบบประเทศร่ำรวยอื่นๆ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี สหรัฐอเมริกา เยอรมนี แต่ก็มีความกังวลอยู่ เพราะเคยได้ยินคำกล่าวต่อๆ กันมาว่า เมื่อแก่ตัวก็จะหลงๆ ลืมๆ ไปตามวัย ดังนั้นผู้เขียนจึงพยายามถามตัวเองว่า ลืมอะไรบ้างไหมในชีวิตนี้ ซึ่งได้คำตอบว่า ลืมไปเยอะ แต่โชคดีที่ยังไม่เคยลืมว่า เมื่อเช้ากินข้าวกับอะไร อาบน้ำหรือยัง บ้านอยู่ที่ไหน ซึ่งเป็นคำถามเพื่อตรวจสอบการเป็น อัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease) ด้วยความสนใจเกี่ยวกับอัลไซเมอร์ วันหนึ่งผู้เขียนก็ได้พบข้อมูลในเว็บ www.mercola.com กล่าวถึงสมมุติฐานว่า สาเหตุหนึ่งของการเกิดอาการอัลไซเมอร์ คือ พฤติกรรมการกินที่ไม่ดี โดยเฉพาะการกินหวาน ดังนั้นจึงคิดว่าสมาชิกวารสารฉลาดซื้อน่าจะทราบเรื่องนี้ไว้บ้าง สาเหตุของอัลไซเมอร์นั้นค่อนข้างสับสน เนื่องจากไม่มีสัญญาณเตือนจากร่างกาย ดูต่างจากเบาหวานประเภทที่ 2 ซึ่งเมื่อรู้หลังตรวจเลือดแล้วมักย้อนคิดกลับไปได้ว่า เกิดเนื่องจากการกินหวานมากไป อย่างไรก็ดีนักวิจัยด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพก็ได้พบสัญญาณที่น่าสนใจว่า พฤติกรรมการกินหวานน่าจะเกี่ยวพันกับอาการอัลไซเมอร์ เพราะอาการของโรคนี้ใช้กระบวนการเดียวกับการเกิดอาการเบาหวานประเภทที่ 2 จนเริ่มมีนักวิชาการบางคนเรียกอาการอัลไซเมอร์ว่าเป็น เบาหวานประเภทที่ 3 ในแวดวงวิชาการเกี่ยวกับสมองกล่าวว่า มีนักวิจัยชื่อ S.M. De La Monte จากมหาวิทยาลัย Brown Universtiy ในเมือง Providence รัฐ Rhode Island ได้ตีพิมพ์ผลงานเรื่อง Metabolic derangements mediate cognitive impairment and Alzheimer's disease: role of peripheral insulin-resistance diseases ในวารสาร Panminerva Medica เมื่อปี 2012 ว่าสามารถทำให้หนูทดลองสายพันธุ์ Long Evans มีอาการทางสมองเหมือนเป็นอัลไซเมอร์ (ได้แก่ การกำหนดทิศทางไม่ถูก สับสน ไม่สามารถเรียนรู้และจำได้) โดยใช้ N-nitrosodiethylamine (ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งกลุ่มไนโตรซามีนที่มีอยู่ในอาหารเนื้อหมัก) ฉีดเข้าไปรบกวนระบบการทำงานของอินซูลินในสมองหนู จนเกิดการต้านอินซูลินของเซลล์ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกันของการเกิดเบาหวานประเภทที่ 2 สิ่งที่เป็นความรู้ใหม่ต่อผู้เขียนคือ นอกจากอินซูลินถูกสร้างได้ในตับอ่อนแล้ว สมองก็ยังสร้างอินซูลินได้เอง(ความรู้นี้พบในปี 2005) ซึ่งถ้าคิดตามหลักการทางชีวเคมีแล้ว มันก็เป็นสิ่งจำเป็นมากที่สมองต้องสร้างอินซูลินไว้ใช้เอง(น่าจะเพื่อใช้ร่วมกับอินซูลินในเลือดที่สร้างจากตับอ่อนและสำรองเผื่อตับอ่อนสร้างได้น้อยลง) ทั้งนี้เพราะสมองเป็นอวัยวะที่กล่าวได้ว่า ขาดน้ำตาลกลูโคสไม่ได้เลย เมื่อใดก็ตามที่สมองขาดน้ำตาลนี้ สมองจะไร้พลังงาน ซึ่งจำเป็นต่อการสื่อประสาทในการคิด การสั่งการของระบบประสาทส่วนกลาง และการขาดน้ำตาลนั้น ก็คงนำไปสู่การตายของเซลล์สมอง ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการความจำเสื่อมนั่นเอง แม้ว่าน้ำตาลจะสำคัญต่อการทำงานของสมอง แต่การกินน้ำตาลมากเกินไปนั้น กลับก่อให้เกิดการเหนี่ยวนำอาการต้านอินซูลินของเซลล์ในร่างกาย ซึ่งไม่ได้มีผลแค่ทำให้เป็นเบาหวานประเภท 2 อย่างเดียวเท่านั้น แต่กลับกลายเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่ออาการอัลไซเมอร์ของท่านด้วย สิ่งที่น่าสนใจคือ มีงานวิจัยของ Z. Arvanitakis แห่งศูนย์วิจัยการแพทย์ของมหาวิทยาลัย Rush University ในเมืองชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกา เรื่อง Diabetes mellitus and risk of Alzheimer disease and decline in cognitive function ตีพิมพ์ใน Archives in Neurology ชุดที่ 61 ปี 2004 งานวิจัยนี้ทำการศึกษานานถึง 9 ปี ในอาสาสมัคร(อายุมากกว่า 55 ปี) ซึ่งเป็นนักบวชนิกายคาทอลิก(ทั้งบาเตอร์และแม่ชี) แล้วพบว่า อาการเบาหวานนั้นมีความเกี่ยวข้องกับการเพิ่มความเสี่ยงต่อโอกาสเป็นอัลไซเมอร์ถึงร้อยละ 65 จึงสันนิษฐานว่า การกินหวานทำให้มีอาการต้านอินซูลินที่เพิ่มการเกิด brain plaque(กลุ่มชิ้นส่วนของโปรตีนที่เกิดขึ้นระหว่างรอยต่อเซลล์ประสาทในสมอง) ซึ่งบ่งชี้การเกิดอัลไซเมอร์ ผู้บริโภคที่ใส่ใจต่อการดูแลสุขภาพบางคน อาจเป็นคนชอบกินหวาน แต่พยายามเลี่ยงน้ำตาลทรายหรือซูโครส ซึ่งถูกย่อยให้เป็น กลูโคส ชนิดที่ต้องใช้อินซูลินในการนำเข้าสู่เซลล์ จึงเลี่ยงไปกินอาหารที่ใช้น้ำตาลฟรัคโตส(รวมทั้งผู้บริโภคที่ไม่ได้ตั้งใจจะกินน้ำตาลฟรัคโตส แต่ไปซื้อสินค้าอาหารที่ผลิตทางอุตสาหกรรม ซึ่งนิยมใช้น้ำตาลฟรัคโตสในการผลิต) ซึ่งน้ำตาลชนิดนี้ไม่ต้องใช้อินซูลินในการนำเข้าสู่เซลล์ โดยหวังว่าจะลดความเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ความเข้าใจนี้ถือว่า ค่อนข้างผิด ท่านผู้อ่านคงพอจำได้ว่า ในฉลาดซื้อฉบับที่ผ่านมา ผู้เขียนได้กระตุ้นเตือนให้ผู้บริโภคระวังอาหารที่มีองค์ประกอบเป็น น้ำเชื่อมฟรัคโตส ซึ่งปัจจุบันนี้มีข้อกังวลกันว่า ใครก็ตามที่กินเกินวันละ 25 กรัม จะเสี่ยงต่อการเป็นอัลไซเมอร์เพิ่มขึ้น เพราะฟรัคโตสเองสามารถทำให้การควบคุมระดับของอินซูลินเพี้ยนไปเช่นเดียวกับน้ำตาลกลูโคส เรื่องนี้จริงๆ มันก็น่าประหลาดใจอยู่เพราะว่า น้ำตาลฟรัคโตสนั้นมีค่า glycemic index ต่ำ แต่ก็ได้มีการทดลองพบว่า น้ำตาลนี้ลดความสามารถในการเข้าจับกับบริเวณรับของอินซูลินบนผนังเซลล์ ส่งผลให้น้ำตาลในเลือดคือ กลูโคส สูงขึ้นช้า ๆ โดยผู้บริโภคมิได้สังเกต นอกเหนือไปกว่านั้น การกินอาหารที่มีสารอาหารชนิดหนึ่งสูงเป็นพิเศษ แต่ชนิดอื่นต่ำมากหรือไม่มีเลยนั้น ก่อให้เกิดอันตรายต่อสมองได้ โดยมีผู้ตั้งสมมุติฐานว่า น้ำตาลฟรัคโตสมีบทบาทในการรวนระบบความอยากกินอาหารที่ควบคุมโดยสมอง(brain's craving mechanism) จนสุดท้ายท่านจะหิวมากขึ้นและกินอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตมากขึ้นเรื่อย ๆ สมมุติฐานข้างต้นนี้ได้ถูกพิสูจน์ในการทดลองที่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐแคลิฟอร์เนียเมืองลอสแอนเจลีส โดยนักวิจัยของภาควิชา Integrative Biology and Physiology ชื่อ R. Agrawal และ F. Gomez-Pinilla  ได้ทำการเลี้ยงหนูด้วยอาหารที่มีน้ำตาลฟรัคโตสสูงแต่ขาดไขมันโอเมกา 3 (ซึ่งสูตรอาหารเลี้ยงหนูนี้เทียบเคียงได้กับอาหารสุดโปรดของชาวอเมริกัน และชาวโลกอื่น ๆ ด้วย) แล้วพบว่า หนูเกิดการต้านอินซูลินและมีการทำงานของสมองเสื่อมลง งานวิจัยนี้ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Physiology ชุดที่ 590 ปี 2012 นอกจากปรากฏการณ์ดังกล่าวแล้ว ขณะที่ตับของท่านกำลังสาละวนต่อการใช้น้ำตาลฟรัคโตสเป็นแหล่งพลังงานนั้น สิ่งที่ตับจะลืมทำก็คือ การผลิตโคเลสเตอรอล ซึ่งแม้ว่าเราจะค่อนข้างกลัวไขมันชนิดนี้มานานแล้วก็ตาม แต่ในความเป็นจริงแล้วโคเลสเตอรอลนั้นเป็นองค์ประกอบสำคัญมากของสมอง(เราจึงเรียกว่า มันสมอง เพราะสมองมีไขมันสูง) จนในข้อแนะนำการกินอาหารปี 2015 หรือ Dietary guideline 2015 ของอเมริกันที่กำลังจะคลอดเร็วๆ นี้ได้ปรับเปลี่ยนคำแนะนำหนึ่งว่า เราไม่จำเป็นต้องกังวลในการกินอาหารที่มีโคเลสเตอรอล เช่น ไข่แดงแล้ว จากข้อมูลที่เล่าให้ฟังนี้ ท่านผู้อ่านคงเลิกสงสัยว่า ทำไมเด็กนักเรียนของเราที่ตื่นแล้วไปโรงเรียนสาย โดยไม่กินข้าวเช้า จึงมีอาการอัลไซเมอร์อ่อนๆ ส่งผลให้ความรู้ที่คุณครูพยายามเคี้ยวและป้อนใส่สมองเด็กนั้น ไร้ประโยชน์ จนเมื่อเด็กเหล่านี้หลุดเข้าไปถึงขั้นมหาวิทยาลัย แล้วจบออกมาเป็นบัณฑิตไร้สาระ จากนั้นเมื่อถึงวันที่พลเมืองอาวุโสต่างๆ ที่ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพได้เกษียณอายุเพื่อให้บัณฑิตไร้สาระเหล่านี้เข้าทำงานแทน แล้วอนาคตของประเทศจะเป็นเช่นไร ผู้เขียนจะพยายามไม่เป็นอัลไซเมอร์เพื่อรอดูความเลวร้ายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 175 น้ำ....ไม่ธรรมดา

ความกังวลเกี่ยวกับการที่หน้าแล้งต่อหน้าฝนปีนี้ คนเมืองกรุงอาจขาดน้ำประปาได้หมดไปแล้ว เพราะผู้ว่าการประปานครหลวงออกมายืนยันว่า คนเมืองหลวงจะมีน้ำใช้แบบสบายต่อไปอีกปี (ส่วนปีหน้าค่อยว่ากันใหม่ แบบว่าคิดถึงอนาคตทีละช็อต) แล้วผู้เขียนก็รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เห็นข่าวเรื่อง “เตือนแชร์ดื่มน้ำรวด 2 ลิตร แพทย์ชี้อันตราย-เสี่ยงสูง !!” ในหนังสือพิมพ์ออนไลน์ของมติชน เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 เวลา 08:40:47 น.เนื้อข่าวรายงานว่า มีการแชร์ข้อมูลแนะนำวิธีดูแลสุขภาพมากมาย ซึ่งบางอย่างมีความแปลกประหลาดเช่น ล่าสุดมีการระบุว่า "ดื่มน้ำอุ่นอย่างน้อยลิตรครึ่ง หรือมากกว่านั้นจะส่งผลดีต่อร่างกาย โดยในช่วงแรกอาจจะเริ่มจากทีละนิดก่อน เช่น ดื่มน้ำอุ่น 1 ลิตรครึ่ง ภายใน 1 ชั่วโมง (ให้ดื่มรวดเดียวหมดภายใน 2-3 อึดใจ) โดยน้ำอุ่นจะส่งผลดีต่อระบบทางเดินหายใจ น้ำจะเข้าไปชำระล้างสิ่งสกปรกต่างๆ ที่มีอยู่ในร่างกายออก เพื่อให้ทำงานได้ตามปกติ ช่วยเรื่องความชุ่มชื้น เนื่องจากน้ำอุ่นช่วยขยายหลอดเลือดและเพิ่มอัตราการไหลเวียนเลือด ส่งผลดีต่อโรคเกาต์ ความดัน คอเลสเตอรอล" จากประเด็นดังกล่าวนักข่าวมติชนได้สัมภาษณ์อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งกล่าวประมาณว่า ผู้บริโภคไม่ควรเชื่อข้อมูลเหล่านี้ เพราะการดื่มน้ำนั้นควรขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัวของแต่ละคน และการดื่มน้ำนั้นไม่น่าเกี่ยวกับการรักษาโรค เพราะคุณสมบัติของน้ำต่อร่างกายคือ หล่อเลี้ยงเซลล์และปรับสมดุลของร่างกาย โดยในคนปรกติหากดื่มน้ำมากๆ ไตก็จะทำงานและขับออกมาในรูปปัสสาวะมาก แต่ผู้ที่เป็นโรคไตต้องระวังอาจทำให้เกิดอาการบวมน้ำ หรือผู้ป่วยโรคหัวใจอาจหัวใจวายได้เช่นกัน นอกจากนี้ในข่าวเดียวกันยังบอกอีกว่า อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขก็ได้กล่าวว่า การดื่มน้ำมากถึง 2 ลิตร ในครั้งเดียวคงทำให้จุกมากกว่าจะช่วยรักษา มะเร็ง วัณโรค เพราะดูเกินจริงกว่าการบอกว่า ดื่มน้ำช่วยให้ระบบขับถ่ายดีซึ่งน่าจะถูกต้องกว่า นอกเหนือจากความกลัวดังกล่าวข้างต้นแล้ว คนทั่วไปยังมีความกลัวกันอีกว่า น้ำดื่มอาจไม่สะอาดพอสำหรับร่างกาย เพราะข่าวการปนเปื้อนของระบบน้ำประปาที่มีการแตกรั่วจนน้ำใต้ดินเข้าปนเปื้อน หรือการปนเปื้อนในแหล่งน้ำดิบเพื่อผลิตน้ำประปาได้เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก จึงทำให้พบว่า หลายๆ บ้านมีเครื่องกรองน้ำ ทั้งที่เป็นเครื่องที่กรองน้ำประปาให้สะอาดขึ้น แต่บางครั้งกลับเป็นเครื่องที่กรองน้ำแล้วได้น้ำที่ปนเปื้อนมากกว่าเดิม เช่น เครื่องกรองน้ำผ่านหินภูเขาไฟจากบางประเทศ ที่กล่าวข้างต้นนั้นเป็นแค่ตัวอย่างความตระหนกในระดับธรรมดา แต่มีความตระหนกในระดับวิลิสมาหราที่บางคนต้องการ น้ำดื่มที่เป็นอะไรมากกว่าน้ำธรรมดา โดยเฉพาะคนมีสตางค์และพอมีความรู้ทางเคมีของน้ำบ้าง กลับต้องการน้ำมหัศจรรย์ระดับโมเลกุล เพื่อให้เกิดสิ่งมหัศจรรย์ในร่างกายตน ความมหัศจรรย์ของน้ำนั้นที่มีการมโน แบบหลากหลายละลานตาบนเน็ทนานพอควรแล้ว ดังนั้นผู้เขียนจึงขอนำท่านผู้อ่านไปหาความรู้เพิ่มเติมจากเว็บที่หลายท่านคงคุ้นเคยดี เพราะเป็นเว็บที่ให้ข้อมูลเพื่อลดความเสี่ยงการถูกหลอกให้เสียเงิน เว็บนั้นคือ www.quackwatch.com เรื่องเกี่ยวกับน้ำ...ไม่ธรรมดานั้น ใน www.quackwatch.com มีบทความซึ่งจะพาท่านทะลุผ่านมิติไปยังเว็บอื่น ๆ เพื่อให้ได้ทราบว่า “จิตมนุษย์นี้ไซร้ ยากแท้หยั่งถึง ที่จะกินเงินจากท่าน” โดยบทความนั้นชื่อ Index of Water-Related Frauds and Quackery บทความนี้สั้นมากๆ เพราะมีแค่ข้อมูลที่จะทำให้ท่านสามารถก้าวต่อไปถึงเว็บไซต์อื่น ที่นำเอาน้ำที่อ้างว่าไม่ธรรมดามาหลอกลวงเอาสตางค์จากผู้บริโภค เว็บที่ผู้เขียนสนใจชื่อ www.chem1.com/CQ/clusqk.html ของศาสตราจารย์ด้านเคมีท่านหนึ่งที่เกษียณอายุแล้วแต่มีความรู้สึกว่า การหลอกหากินเกี่ยวกับน้ำนั้นมันน่าสมเพศ จนต้องออกมาแถลงความจริงที่ประชาชนควรทราบในเว็บดังกล่าวนั้นกล่าวถึงคำ ๆ หนึ่งคือ Cluster water ซึ่งคำว่า cluster นั้น Cambridge Advanced Learner’s Dictionary ให้ความหมายว่า a group of similar things that are close together, sometimes surrounding something ซึ่งถ้าพูดเป็นไทยแบบเข้าใจง่าย ๆ น่าจะหมายถึง การที่โมเลกุลของน้ำมารวมอยู่เป็นกลุ่มที่ค่อนข้างซับซ้อน ในขณะที่อาจารย์สอนเคมีพื้นฐานได้สอนว่า โมเลกุลของน้ำในสภาวะปรกติที่เป็นของเหลวนั้นจะมีพันธะที่เรียกว่า พันธะไฮโดรเจน (hydrogen bonding) ต่อโมเลกุลของน้ำเข้าเป็นสาย ซึ่งมีความหมายต่างจากน้ำที่เรียกว่า cluster water ซึ่งเป็นคำบัญญัติโดย Doctor Masuro Emoto หนึ่งในสุดยอดของผู้คิดค้นวิจัยเกี่ยวกับ วิทยาศาสตร์เทียม (Pseudoscience) ที่ Wikipedia บันทึกประวัติความเป็นมาและผลงานเพื่อเป็นเยี่ยงอย่างให้ผู้สนใจเข้าไปอ่าน การโฆษณาชวนเชื่อเกี่ยวกับ cluster water นั้นน่าทึ่งอึ้งเสียวเพราะบอกว่า น้ำนั้นเสมือนมีจิตวิญญาณ น้ำที่มาจากแหล่งต่างกันสามารถมีผลึกรูปแบบต่างกันเมื่อดูจากกล้องจุลทรรศน์ โดยอาจเป็นผลึกเหมือนหิมะหรือผลึกรูปแบบอื่น ๆ และเมื่อผ่านกรรมวิธีต่าง ๆ เช่น การให้น้ำได้ฟังเพลง การบรรยายที่ดี (น่าจะหมายถึงการฟังเทศน์เพื่อนิพพานที่เป็นอัตตา) หรือแม้แต่ (น้ำได้) เห็นภาพที่กำหนดไว้ ซึ่งพูดแบบตรงไปตรงมาคือ ปรมาจารย์ชาวญี่ปุ่นผู้นี้คิดว่า น้ำนั้นมีจิตวิญญาณรับรู้สิ่งที่ดีเลวจากสิ่งแวดล้อมได้ ดังนั้นถ้าเราได้ดื่มน้ำที่มาจากสิ่งแวดล้อมที่ดี ร่างกายก็จะดีด้วย และน้ำที่ว่านี้สามารถบำบัดโรคเรื้อรังต่างๆ ได้ ซึ่งถ้าเป็นจริงโรงเรียนแพทย์ต่างๆ ก็ควรถูกปิดเพื่อความประหยัด แล้วนำงบประมาณไปใช้เรื่องอื่นที่สำคัญของประเทศ (ความคิดเรื่องน้ำประหลาดนี้อาจเข้ามาในประเทศไทยแล้ว ใครใคร่เชื่อก็เชื่อเถอะ เพราะมันคงไม่ต่างไปจากการกราบไหว้เห็ดรูปพญานาคเพื่อขอหวย) ในเรื่องของ cluster water นั้น มีเรื่องที่เหลือเชื่อเกิดขึ้นคือ มีชายคนหนึ่งได้ทำการจดลิขสิทธิ์เครื่องผลิต cluster water ซึ่งอ้างว่าน้ำที่ได้จากเครื่องมีลักษณะการเรียงโมเลกุลเป็นวงเกาะติดสารอินทรีย์ที่ทำหน้าที่เป็นแกนกลางได้แก่ โปรตีน สายกรดอะมิโน (น่าจะหมายถึงเป็บไตด์) สารสกัดจากว่านหางจระเข้และอื่น ๆ โดยใช้เทคนิคต่าง ๆ ที่ทำให้ดูน่าเชื่อถือว่า เป็นน้ำชนิดที่ร่างกายสามารถนำไปใช้ปรับปรุงอวัยวะภายในต่าง ๆ ท่านผู้สนใจอ่านรายละเอียดได้ในเรื่อง How is Clustered Water™ made? สามารถอ่านได้จากเว็บ www.chem1.com/CQ/clusterpats.html โดยขอให้ยึดกาลามสูตร 10 ของพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งด้วยนอกจากนี้ยังมีการเสนอน้ำที่ดีอย่างสมบูรณ์แบบ (Perfect water) แก่ผู้บริโภคที่ซื้อสินค้ายี่ห้อหนึ่ง ซึ่งเป็นเครื่องปรับสภาพน้ำของบริษัทหนึ่งในสหรัฐอเมริกา บริษัทนี้อ้างว่าสามารถเปลี่ยนโครงสร้างของน้ำเพื่อทำให้พลังงานของน้ำเปลี่ยนไป จนสามารถขจัดความทรงจำที่เป็นพิษ (toxic memory) ได้ อีกทั้งน้ำที่ถูกเปลี่ยนโครงสร้างไปแล้วนั้นสามารถทำให้เซลล์ได้น้ำนิ่ม (soft water) ซึ่งผู้เขียนก็นึกไม่ออกว่าน้ำนี้เป็นอย่างไรเว็บดังกล่าวข้างต้นให้ข้อมูลเกี่ยวกับกรรมวิธีผลิตน้ำชนิดพิเศษซึ่งดูแปลกดี โดยเริ่มต้นจากการเอาน้ำไปต้มจนได้ไอน้ำ แล้วนำไอน้ำไปผ่านสนามแม่เหล็กจนไอนั้นกลั่นตัวเป็นหยดน้ำที่อุณหภูมิมากกว่า 0 องศาเซลเซียสภายใต้แสงอินฟราเรดไปจนถึงแสงอัลตร้าไวโอเล็ท ก็จะได้น้ำวิเศษสมปรารถนาคำโฆษณาสินค้าที่เป็นเครื่องมือปรับโครงสร้างน้ำในลักษณะต่างๆ นั้นมักเหมือนกันคือ น้ำที่ผ่านเครื่องมือจะทำให้สภาพร่างกายกลับคืนสู่สภาพที่ดีเหมือนยังหนุ่มสาวผลเสียเนื่องจากสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (เรื่องนี้น่าสนใจเพราะทุกท่านนั้นต่างก็อยู่ในสนามพลังอะไรต่อมิอะไร ทั้งวิทยุ โทรทัศน์ มือถือ ตลอดจนถึงสนามแม่เหล็กจากสายไฟฟ้าแรงสูงที่ผ่านกลางหมู่บ้าน ดังนั้นอาจมีใครสักคนที่จะนำสิ่งเหล่านี้ไปเป็นข้ออ้างในการชวนให้ท่านผู้อ่านซื้อสินค้าประเภทนี้) เพิ่มระบบภูมิต้านทาน ทำให้ผิวกลับสู่สภาพเต่งตึง (โดยอุปกรณ์มีลักษณะเป็นฝักบัวอาบน้ำ) เป็นต้น ท่านที่สนใจคิดว่าทนอ่านข้อความลักษณะนี้ได้สามารถไปที่ www.thewellnessenterprise.com ซึ่งคงต้องตัดสินเองว่าเชื่อได้หรือไม่ ที่ซ้ำร้ายคือ ยังมีน้ำอีกหลายชนิดเช่น photonic structured water, ultra-hydrating super liquid, MRET water, hexagonal water, Energized Vibrational Healing Water และอื่น ๆ อีกสุดจะพรรณนา กำลังดาหน้าเข้ามาหาท่านในอนาคต  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 174 เหมือนถูกลืม (ปฏิรูป)

เดือนที่เขียนบทความนี้คือ มิถุนายน 2558 ซึ่งเมื่อพลเมืองไทย (ตามความหมายที่กำหนดไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใกล้คลอด) เปิดโทรทัศน์ดูข่าวไม่ว่าช่องไหน จะได้รับการรายงานข่าวซ้ำซากอยู่สามสี่ข่าวคือ การแก้ร่าง(ก่อนได้ใช้)รัฐธรรมนูญ การค้ามนุษย์ชาวโรฮีนจา บ่อนการพนันเสรี และคดียู(ถูก)ฟันสำหรับข่าวประเด็นหลังนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะมันสื่อให้เห็นว่า คนไทยไม่เคยนำเรื่องที่เคยเกิดขึ้นในอดีตมาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันเลย เพราะพื้นฐานของการโกงเงินประชาชนส่วนใหญ่มักเป็นการหลอกลวงในลักษณะแชร์ลูกโซ่ ซึ่งเหล่าอาชญากรทำการชักจูง หว่านล้อม หรือกระตุ้นพลเมืองผู้ที่อยากลงทุนให้เกิดความต้องการด้านรายได้ หรือสร้างจิตวิทยาให้เกิดความคาดหวังหรือมีแรงจูงใจที่ผิดเช่น อยากรวยเร็ว มีรายได้สูงและสวัสดิการดี อยากมีบ้านหลังใหญ่และมีรถหรูขับถ้า (หลงผิดพอที่จะ) ร่วมลงทุนกับเหล่าอาชญากรเหล่านั้นในอดีตเรามีแชร์ค่าโง่อยู่หลายคดีเช่น แชร์แม่ชม้อย แชร์แม่นกแก้ว แชร์ชาร์เตอร์ เป็นต้น ซึ่งแชร์เหล่านี้ไม่เน้นการขายสินค้าหรือบริการ แต่จะมุ่งเน้นการหาสมาชิกใหม่เพื่อสร้างเครือข่ายหรือระดมทุนเพียงอย่างเดียว มีการจ่ายผลตอบแทนมากขึ้นเป็นเงาตามตัวตามจำนวนสมาชิกที่หามาได้ในทุกระดับชั้น ส่วนสินค้าที่อ้างถึงมักไม่มีการซื้อขายจริงหรือซื้อขายกันเพียงกระดาษ คดียูถูกฟันนั้นมีการออกหมายจับมากมายและกว้างขวางนัก ขนาดว่าแค่ไปรับงานเป็นพิธีกร หรือเป็นเซเลบเรียกความสนใจผู้คนในการประชาสัมพันธ์งานหรืออื่น ๆ ที่ปรกติมีการทำกันเป็นประจำ ต้องกลายเป็นข่าวว่า อาจพัวพันกับคดีนี้ ตัวอย่างเช่น www.thairath.co.th/content/500839 รายงานข่าวว่า ผู้ประกาศข่าวและพิธีกรรายการโทรทัศน์คนหนึ่งต้องเข้าให้ปากคำตำรวจในฐานะพยาน หลังพบหลักฐานร่วมเป็นพิธีกรภายในงานของเครือข่ายยูถูกฟัน ซึ่งพิธีกรดังกล่าวได้ให้ข้อมูลว่า มีดารานักแสดงตบเท้าเข้าร่วมงานคับคั่ง โดยตำรวจจะตรวจสอบสคริปต์ของพิธีกรที่ใช้ภายในงานเพื่อขยายผล หากพบหลักฐานว่ากระทำผิดจะขออนุมัติศาลออกหมายจับเพิ่มเติมนอกจากนี้ก็ยังมีนักร้อง นักแสดง และอื่นๆ ที่ต้องถูกเรียกตัวไปให้ปากคำและอาจถูกตั้งข้อหาสนับสนุนการทำธุรกิจของยูถูกฟัน พูดง่าย ๆ คือ ไปช่วยโฆษณาทำให้คนถูกหลอกมากขึ้น ความจริงประเด็นการช่วยเหลือให้ประชาชนถูกหลอกโดยผู้มีชื่อเสียงหรือเซเลบนั้น เกิดมานานแล้ว ตั้งแต่เรามีโทรทัศน์ซึ่งแพร่สัญญาณครอบคลุมทั่วประเทศไทย ทั้งนี้เพราะการใช้โทรทัศน์ในกิจการชักชวนให้คนหันมาใช้สินค้าของผู้ประกอบการนั้น เป็นวิธีการที่ได้ผลมากที่สุดกับคนไทย (ซึ่งไม่รวมผู้เขียนเพราะไม่เคยดูโฆษณาเลย เนื่องจากโทรทัศน์ที่ซื้อมามีรีโมทรวมมาด้วย จึงสามารถหนีการหลอกลวงที่เผยแพร่ทางโทรทัศน์ได้ดี) ดังนั้นกรณีของเซเลบที่เข้าไปพัวพันคดียูถูกฟันนั้น ถ้าเกิดมีความผิด มันน่าจะเป็นกระตุ้นให้มีการเปิดใต้พรมปูพื้นประเทศนี้ออกมาให้เห็นว่า มีการกวาดฝุ่นไปซ่อนมานานแค่ไหนแล้ว เพราะการแนะนำสินค้าต่างๆ ของเซลเลบส่วนใหญ่นั้นมักโอ้อวดคุณภาพของสินค้า ซึ่งสินค้าบางกลุ่มเช่น อาหารและเครื่องสำอางนั้น พิสูจน์ให้เห็นจริงว่าได้ผลนั้น.....ยากมาก สำหรับท่านที่อ่านวารสารฉลาดซื้อเป็นประจำ อาจพอระลึกได้ว่า ในฉบับประจำเดือนพฤศจิกายน 2557 นั้น ผู้เขียนได้เขียนบทความเรื่อง โฆษณากับศีลข้อสี่ ซึ่งมีข้อมูลที่อ้างถึงรายงานของหนังสือพิมพ์ Yangtse Evening News ที่นานจิงว่า ผู้บริหารของจีนแผ่นดินใหญ่ได้มองประเด็นการที่เซเลบต่างๆ ออกมาบอกผู้บริโภคว่า สินค้าของบริษัทที่ตนรับสตางค์ (ผ่านบริษัทครีเอตีฟทั้งหลาย) ดีอย่างนั้นดีอย่างนี้ โดยไม่เคยใช้สินค้านั้นเลยนั้นเป็นพฤติกรรมที่ไม่ดี จึงสมควรทำร่างกฎหมายเพื่อแก้รัฐบัญญัติเกี่ยวกับการโฆษณาเสนอแก่ Standing Committee of the National People's Congress ครั้งที่ 10 เพื่อให้มีการลงโทษเซเลบที่ผิดศีลข้อสี่เมื่อสินค้านั้นก่อปัญหาประเด็นการผิดศีลข้อสี่ของเซเลบนั้น ก่อให้เกิดข้อถกเถียงในลักษณะเดียวกันในประเทศอินเดีย โดยประเด็นนั้นเป็นข่าวเกี่ยวกับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ซึ่งเริ่มจากปัญหาเกี่ยวกับสารปนเปื้อน จากนั้นจึงลามไปถึงเซเลบที่เป็นผู้รับโฆษณาบะหมี่รายนี้ www.scmp.com ได้รายงานหัวข้อข่าว India bans popular XXX instant noodles after finding excessive lead เมื่อวันศุกร์ที่ 5 มิถุนายน 2012 และเว็บ news.sky.com ได้รายงานต่อมาในหัวข้อข่าว XXX Noodles Off Shelves Over Lead Scare โดยมีข้อมูลสรุปว่า หน่วยงานที่ทำหน้าที่เหมือน อย. ของไทยคือ The Food Safety and Standards Authority of India (FSSAI) ได้ตรวจพบว่า บะหมี่ดังกล่าวซึ่งขายดีมากในอินเดียมีตะกั่ว 17.2 พีพีเอ็ม (ในห่อเครื่องปรุง) เกินกำหนดมาตรฐาน (0.1-2.5 พีพีเอ็ม) ที่จำยอมให้มีได้ นอกจากนี้ยังพบว่าในห่อบะหมี่นั้นมีผงชูรสคือ โมโนโซเดียมกลูตาเมทผสมอยู่ ทั้งที่ไม่ได้แจ้งไว้ในฉลากด้วย(ทางผู้ผลิตออกข่าวต่อมาว่า ไม่ได้มีการเติมผงชูรสลงไปในระหว่างการผลิต เหตุที่ตรวจพบคงเป็นผงชูรสตามธรรมชาติ ซึ่งพบได้ในองค์ประกอบของอาหาร) ทางหน่วยงานราชการจึงได้สั่งห้ามจำหน่ายและให้หยุดการผลิตทันที (แต่ผู้ผลิตก็ได้ออกข่าวอีกว่า เราจะกลับมาในไม่ช้าหลังจากได้จัดการปัญหาเสร็จ) ผลร้าย(ที่มีต่อบริษัทผู้ผลิต) นั้นค่อนข้างสำคัญ เพราะบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปดังกล่าวนั้นขายดีมานานกว่า 30 ปีแล้ว มีส่วนแบ่งของตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปถึงร้อยละ 80 และเป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่เป็นที่พึ่งของคนไกลบ้านต่างๆ ทั้งนักเรียน นักศึกษา กรรมกร เป็นต้น เนื่องจากปรุงกินง่ายเสมือนแกะห่อโรตีเข้าปาก ที่สำคัญกว่าคือ หุ้นของบริษัทในตลาดหุ้นเมืองบอมเบย์รูดลงไปถึงร้อยละ 10 ของมูลค่าเดิม ประเด็นหลังนี้น่าจะเจ็บแสบกว่าประเด็นแรกสำหรับผู้บริหารบริษัทและแล้วสิ่งที่ตามมาเนื่องจากผลที่บะหมี่นั้นขายดีเนื่องจากการโฆษณาดีเยี่ยมคือ ในเว็บ www.ft.com/cms ได้มีบทความเรื่อง Bollywood star in hot water over XXX noodle row ซึ่งมีเนื้อข่าวโดยสรุปว่า Ms. Madhuri Dixit ผู้มีอายุ 48 ปี และเป็น Bollywood stars (ในช่วงปี 1990) ที่รับจ๊อบโฆษณาสินค้าดังกล่าว กำลังถูกจับจ้องจากทางการว่า ควรรับผิดชอบกับเรื่องดังกล่าวนี้หรือไม่ เพราะคนอินเดียนั้นก็คงเหมือนคนในหลาย ๆ ประเทศที่ซื้อสินค้าตามคำแนะนำของดาราที่ตนชื่นชอบ (ซึ่งอาจไม่เคยกินหรือใช้สินค้านั้น) โดยแอบหวังว่าเมื่อใช้สินค้านั้นแล้วอาจมีสภาพเหมือนดารา (ทั้งร่างกาย จิตใจซึ่งน่าจะรวมถึงสติปัญญา) ข่าวในเน็ทกล่าวว่า ดาราสาวดังกล่าวคงมีความรู้สึกร้อนรุ่ม เหมือนตกลงไปในน้ำซุบบะหมี่ที่ เธอโฆษณาว่าดีเลิศประเสริฐศรีทางโภชนาการสำหรับเด็กเป็นแน่แท้จากข้อมูลดังกล่าวซึ่งเป็นเพียงส่วนน้อยที่มีในอินเตอร์เน็ทนั้น ผู้เขียนหวังเพียงแต่ว่า ในช่วงเวลาที่ประเทศไทยอยู่ระหว่างการปฏิรูป ซึ่งการคุ้มครองผู้บริโภคนั้นเป็นประเด็นหลักประเด็นหนึ่ง ที่ถูกหยิบขึ้นมาจากใต้พรมเพื่อปัดฝุ่นให้มันถูกต้องเสียทีนั้น เรื่องเกี่ยวกับการโฆษณาสินค้าโดยใช้ผู้ที่ขาดความรู้และประสบการณ์ในสินค้าที่ตนทำการโฆษณาควรได้รับการเหลียวมองเสียที เพราะประเด็นดังกล่าวนี้เป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวผู้บริโภคมากที่สุด(นะสารี) เนื่องจากมันถูกเห็นอยู่ในจอโทรทัศน์ซึ่งมีทั้งเสียงและภาพกล่าวกรอกหูซ้ายทะลุหูขวาอยู่ทุกวัน

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 173 ดื่มน้ำหวานในฤดูร้อน พึงระวัง

ฤดูร้อนนั้นเป็นฤดูที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของคนมากที่สุด เพราะนอกเหนือไปจากความเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อโรคในอาหารที่ตั้งทิ้งไว้ในอุณหภูมิห้องที่สูงเกือบเท่าหรืออาจเกินอุณหภูมิของร่างกาย แล้ว เรายังมักดื่มของเหลวเพื่อลดความกระหาย เนื่องจากความร้อนในกายมากกว่าช่วงเวลาอื่นเช่น ในฤดูฝนหรือฤดูหนาวในการดื่มของเหลวนั้น ถ้าโชคดีเป็นน้ำเปล่าปัญหาก็ไม่เกิด แต่ปัญหาต่อสุขภาพจะเกิดถ้ามันเป็นน้ำที่มีความหวานจากน้ำตาลธรรมชาติ เพราะมันเป็นปัจจัยการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักตัวในช่วงอากาศร้อน และประเด็นที่น่าสนใจเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับความหวานในเครื่องดื่มคือ ถ้าชนิดของสารให้ความหวานตามธรรมชาติต่างกัน ผลที่เกิดขึ้นมันก็ต่างกันท่านผู้อ่านทราบหรือไม่ว่าน้ำตาล(ที่เขียนบนฉลากอาหาร) ที่ใช้ให้ความหวานในอาหารที่ผลิตทางอุตสาหกรรมนั้นคืออะไร คำตอบอาจง่ายสำหรับผู้ที่เรียนมาทางด้านอาหารและโภชนาการ แต่ผู้ที่จบสาขาอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องอาจไม่ทราบว่ามันอาจเป็น น้ำเชื่อมฟรุกโตสเข้มข้น (high fructose corn syrup หรือ HFCS) ซึ่งผลิตจากแป้งข้าวโพดก่อนอื่นท่านผู้อ่านควรเข้าใจความแตกต่างในการใช้น้ำตาลฟรุกโตสกับคนที่มีอาการเบาหวาน และการใช้น้ำเชื่อมฟรุกโตสในอุตสาหกรรมอาหาร ว่ามันเป็นคนละเรื่องเดียวกันฟรุกโตส (Fructose) เป็นน้ำตาลที่พบได้ทั่วไปในอาหารตามธรรมชาติ พบมากในผลไม้และน้ำผึ้ง ฟรุกโตส เป็นน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว ซึ่งนิยมใช้ให้ความหวานของอาหารทางการแพทย์ชนิดที่ใช้กับผู้ป่วยเบาหวาน เพราะฟรุกโตสถูกดูดซึมเข้าเซลล์โดยไม่ต้องอาศัยฮอร์โมนอินซูลิน(ไม่เหมือนน้ำตาลกลูโคส) ทำให้ผู้ป่วยเบาหวานได้รับพลังงานในเวลาอันรวดเร็ว ทำให้รู้สึกสดชื่น หายอ่อนเพลียอย่างรวดเร็ว ส่วนน้ำเชื่อมฟรุกโตสนั้น ก็มีองค์ประกอบเป็นน้ำตาลฟรุกโตสเช่นกัน แต่กรรมวิธีการผลิตนั้นเป็นการนำเอาแป้งข้าวโพด ซึ่งมีองค์ประกอบเป็นโพลีเมอร์ของน้ำตาลกลูโคสต่อเรียงกันยาว จนกลายเป็นแป้งมาย่อยด้วยเอ็นไซม์อัลฟาอะมัยเลส (α-amylase) จนได้แป้งชนิดที่เป็น oligosaccharide ซึ่งมีองค์ประกอบเป็นโพลีเมอร์ของกลูโคสสายสั้น ๆ ซึ่งต้องถูกย่อยต่อด้วยเอ็นไซม์กลูโคอะมัยเลส (Glucoamylase) ได้เป็นน้ำตาลกลูโคส แล้วจึงเปลี่ยนให้เป็นน้ำตาลฟรุกโตส ด้วยเอ็นไซม์กลูโคสไอโซเมอเรส (glucose isomerase) ซึ่งผลที่ได้นั้นจะมีน้ำตาลฟรุกโตสและน้ำตาลกลูโคส ที่ไม่ถูกย่อยผสมกันด้วยอัตราส่วนเกือบ 1 ต่อ 1 น้ำเชื่อมฟรุกโตสเข้มข้นทั่วไปมักมีปริมาณน้ำร้อยละ 24 ส่วนที่เหลือคือน้ำตาลวิธีการผลิตน้ำเชื่อมฟรุกโตสเข้มข้นด้วยตนเอง (DIY หรือ Do It Yourself) นั้นมีคำอธิบายไว้ใน www.bonappetit.com ภายใต้หัวข้อ Make Your Own High-Fructose Corn Syrup with Artist Maya Weinstein ซึ่งเป็นชุดปฏิบัติการที่ประกอบด้วยสารเคมีและเอ็นไซม์ต่าง ๆ ที่สามารถใช้ผลิตในครัวที่บ้าน แต่ราคาก็คงไม่เบานักเพราะต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศ ถ้าท่านผู้บริโภคต้องการน้ำเชื่อมฟรุกโตสเข้มข้นจริงอาจสั่งซื้อจากร้านค้าที่มีโฆษณาในเน็ทดีกว่า เพียงแต่คงต้องซื้อในปริมาณมากหน่อยเท่านั้น ประเด็นที่ควรตั้งเป็นคำถาม เมื่อมีการบริโภคอะไรมากไปจากเดิม เช่นในกรณีของน้ำเชื่อมฟรุกโตส คือ มันปลอดภัยหรือไม่ ทั้งนี้เพราะบนฉลากอาหารในต่างประเทศนั้น ต้องระบุการผสมน้ำเชื่อมฟรุกโตสในน้ำอัดลม น้ำผลไม้ ชาเขียว ขนมอบ ขนมปัง ผลไม้กระป๋อง แยมและเยลลี่ต่างๆ ไม่ใช่แค่บอกว่ามีส่วนผสมเป็นน้ำตาล แล้วก็มโนเอาว่าเป็นน้ำตาลทรายหรือซูโครส (Sucrose) สาเหตุที่น้ำเชื่อมฟรุกโตสได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายและรวดเร็วก็เพราะ ฟรุกโตสให้ให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลทรายถึง 1.3 เท่า หวานนุ่มกว่าน้ำตาลชนิดอื่นๆ เป็นน้ำเชื่อมใสไม่มีสี จึงไม่บดบังสีของอาหาร ดังนั้นเมื่อเทียบกับน้ำตาลทราย ซึ่งเมื่อใช้ในอาหารแล้วมักเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแล้ว ฟรุกโตสจึงคุ้มค่ากว่าในด้านราคาต้นทุนการผลิต และความสะดวกการที่ฟรุกโตสถูกดูดซึมเข้าสู่เซลล์ของร่างกายได้โดยไร้กลไกการควบคุมนั้น อาจดีเฉพาะผู้ป่วยเบาหวานที่ใช้ยารักษาโรคเบาหวานอยู่ และสามารถควบคุมน้ำตาลในเลือดได้ดี แต่การใช้ฟรุกโตสในปริมาณมากเกินไปอาจทำให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและไร้การควบคุม ที่น่าสนใจคือ มีการสำรวจพบว่า ตั้งแต่วงการอุตสาหกรรมเริ่มนำน้ำเชื่อมฟรุกโตสมาใช้แทนน้ำตาลทรายก็พบว่า อัตราการเกิดโรคอ้วนก็เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะผู้ป่วยเบาหวานนั้นน้ำตาลในเลือดไม่สูงผิดปรกติ แต่มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด มีผู้ตั้งสมมุติฐานว่าการดื่มเครื่องดื่มที่มีฟรุกโตสเป็นส่วนผสมติดต่อกันอาจเพิ่มความอยากอาหาร จึงทำให้กินอาหารอื่นได้ในปริมาณมากขึ้น แต่ที่หนักหนาคือ น้ำตาลฟรุกโตสอาจส่งผลให้ไขมันในเลือดสูงขึ้น โดยเฉพาะไขมันชนิดแอลดีแอลคอเลสเตอรอล (LDL-C) แถมพกด้วยภาวะดื้อต่ออินซูลิน ซึ่งไม่เป็นผลดีโดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยเบาหวาน นอกจากนั้นการใช้ฟรุกโตสในระยะยาวยังทำให้เสี่ยงต่อโรคหัวใจ หลอดเลือดหัวใจตีบ และความดันโลหิตสูง และที่น่าหนักใจคือ น้ำตาลฟรุกโตสยังถูกเปลี่ยนไปเป็นกรดไขมันอิสระ ซึ่งถูกสงสัยว่าอาจก่อให้เกิดภาวะไขมันเกาะตับ (Fatty Liver) โดยไม่รู้ตัวประเด็นปัญหาของฟรุกโตสต่อสุขภาพสิ่งมีชีวิตนั้น ล่าสุดได้ถูกตีพิมพ์ในวารสารออนไลน์ของ Nature (วารสารที่ถูกจัดว่ามีอิทธิพลในวงการวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ที่สุดเล่มหนึ่ง) คือ www.nature.com/scientificreports ซึ่งตีพิมพ์งานวิจัยของ Catarina Rendeiro และคณะ เรื่อง Fructose decreases physical activity and increases body fat without affecting hippocampal neurogenesis and learning relative to an isocaloric glucose diet เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2015ดอกเตอร์ Rendeiro และคณะได้ทดลองในหนู mouse โดยแบ่งหนูเป็นสองกลุ่ม ให้ได้อาหารที่มีสัดส่วนทุกอย่างเหมือนกันหมด (ซึ่งหมายความว่าได้พลังงานเท่ากันด้วย) สิ่งที่ต่างกันอย่างเดียวคือ แหล่งให้พลังงานในอาหารกลุ่มหนูทดลองหนึ่งนั้นเป็นฟรุกโตส(ซึ่งคำนวณว่าให้พลังงานร้อยละ 18 ของคาร์โบไฮเดรตซึ่งได้แก่ แป้งข้าวโพดและน้ำตาลทราย) ส่วนของอีกกลุ่มเป็นกลูโคส(ซึ่งให้พลังงานร้อยละ 18 ของแป้งข้าวโพดและน้ำตาลทรายเช่นกัน) จากการเลี้ยงหนูนาน 77 วัน พบว่า หนูที่กินอาหารผสมด้วยน้ำตาลฟรุกโตสนั้น มีน้ำหนักตัวมากกว่ากลุ่มที่กินอาหารผสมน้ำตาลกลูโคสอย่างมีนัยสำคัญ พร้อมตับที่โตกว่า ซึ่งอาจเนื่องจากไขมันที่มาพอกเพิ่มเติม(ในทางวิทยาศาสตร์แล้วการที่ตับมีไขมันสะสมถือว่าตับเริ่มแย่แล้ว เนื่องจากไม่สามารถเผาผลาญไขมันได้หมด)ท่านผู้อ่านที่ไม่เคยเรียนวิชาชีวเคมีมาคงไม่ทราบว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดความแตกต่างนี้ในสัตว์ทดลองคือ โดยทั่วไปแล้วน้ำตาลกลูโคสนั้น อาศัยฮอร์โมนอินซูลินในการนำเข้าสู่เซลล์ต่างๆ ในร่างกายเพื่อสันดาปให้พลังงานแก่เซลล์ ซึ่งต่างกับน้ำตาลฟรุกโตส ซึ่งถูกสันดาปเป็นส่วนใหญ่ที่เซลล์ตับ ดังนั้นพลังงานที่เกิดที่ตับจึงมีความเหลือเฟือจนน่าจะส่งผลทำให้เกิดการสร้างไขมันขึ้นมาได้ เพราะเมื่อใดที่อวัยวะใดของร่างกายมีพลังงานเหลือเฟือเซลล์ของอวัยวะนั้น จะเริ่มการสร้างไขมันขึ้นมาสะสมแทน เนื่องจากไขมันนั้นเป็นแหล่งสะสมพลังงานที่ใช้พื้นที่ในการเก็บน้อยกว่าแป้งกลัยโคเจน อีกประเด็นที่คณะวิจัยได้ค้นพบ และเชื่อว่าอาจเป็นต้นเหตุที่ทำให้หนูกลุ่มที่กินน้ำตาลฟรุกโตสมีปัญหาสุขภาพคือ หนูกลุ่มนี้มีการออกแรงทำกิจกรรมลดลงอย่างเห็นได้ชัด(กล่าวโดยสรุปคือ ขี้เกียจมากขึ้น) ประเด็นนี้ถ้านำมาอุปมาอุปไมยถึงคนที่ออกกำลังกายเหนื่อย ๆ แล้วกลับบ้านกินน้ำอัดลม คงได้คำตอบเสียทีว่า ทำไมออกกำลังกายแทบตายน้ำหนักถึงลดบ้างไม่ลดบ้างดังนั้น....หลังจากเขียนบทความนี้แล้ว สิ่งที่ผู้เขียนจะปฏิบัติเพื่อให้เป็นนิสัยคือ เมื่อรู้สึกเหนื่อยหลังการออกกำลังกายแล้ว ถ้ากระหายอยากดื่มน้ำอัดลม ก็จะดื่มพร้อมกับสร้างภาพลวงว่า สิ่งที่ดื่มเป็นสุราเหมาไถ กล่าวคือ จะรินน้ำอัดลมลงแก้วในปริมาณที่คอเหล้าเขาทำกัน เพื่อดื่มเพียงนิดหน่อยพอรู้รส (เพราะถ้าเป็นเหล้าเหมาไถมันจะแรงและแพง) นั่นเอง  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 172 แก่ยากอ้วนยากคือ ใคร

วันหนึ่งผู้เขียนได้เจอบทความในเว็บชื่อ 10 Reasons Japanese Women Don’t Get Old or Fat ซึ่งว่าไปแล้วมันน่าจะเป็นไปได้ เพราะมีใครบ้างจะต่อสู้กับความเสื่อมถอยของสังขารได้ เนื่องจากมันเป็นสัจธรรมของชีวิตมนุษย์ว่า รูปลักษณ์ภายนอกของมนุษย์นั้นเป็นของไม่เที่ยง ขอให้ทุกท่านที่แต่งงานแล้วอย่างเปิดเผยตระหนักว่า ท่านจะได้สามีหรือภรรยาใหม่ทุกวัน โดยไม่ต้องจดทะเบียนใหม่ เพียงแต่ว่าท่านจะพอใจในความใหม่หรือไม่เท่านั้นมีข้อมูลในอินเตอร์เน็ตเกี่ยวกับนักเขียนญี่ปุ่นท่านหนึ่งชื่อ นาโอมิ มอริยามา ซึ่งเขียนหนังสือชื่อ10 Reasons Japanese Women Don’t Get Old or Fat แม้ชื่อเรื่องดูจะโม้ไปหน่อย แต่เอาเถอะลองมาดูกันว่า สิ่งที่ปรากฏในเน็ต ซึ่งเป็นบทคัดย่อข้อมูลจากหนังสือนั้นจะสมจริงสมจังหรือไม่มอริยามาได้พาผู้อ่านเข้าไปในครัวของแม่เธอในประเทศญี่ปุ่น จากนั้นเธอก็เปิดเผยความลับของการมีชีวิตอยู่ทนแบบเป็นสุข ซึ่งมอริยามาอ้างว่าท่านผู้อ่านคงไม่ได้ยินจากแหล่งใดมาก่อน เพราะความลับนี้เป็นวัฒนธรรมการปฏิบัติตนของชาวญี่ปุ่นในการกินอาหารที่ทำให้อายุยืนพร้อมทั้งยังแข็งแรงและสุขภาพดีประการแรกอาหารต้มเคี่ยวของคนญี่ปุ่นนั้นใช้วัตถุดิบพื้นๆ และเหมือนกันทุกวันคือ ปลาต่างๆ ผักจากทะเล(คงเป็นพวกสาหร่าย) และผักต่างๆ ที่ปลูกบนบก ได้แก่ ถั่วเหลือง ข้าว ผลไม้ ชาเขียว ที่น่าสนใจคือ คนญี่ปุ่น(ประเภทแก่ตายช้าที่ไม่ใช่พวกคอตกเล่นเน็ต) นั้น นิยมปรุงอาหารเองทุกวัน โดยมีปลาย่าง ข้าวหนึ่งชาม ซุปผักต้มเปื่อย ซุปมิโซะ(มิโซะเป็นผลิตภัณฑ์อาหารญี่ปุ่น หมักจากข้าว ข้าวบาร์เลย์หรือถั่วเหลืองกับเกลือแล้วหมักด้วยราชื่อ kojikin มักนำมาประกอบอาหาร ทำซุปโดยละลายมิโซะในน้ำ เติมผัก เต้าหู้ เห็ดหรือสาหร่าย หรือทำเป็นเครื่องจิ้มปรุงรส สำหรับอาหารประเภทเนื้อ ปลา หอยและผัก) โดยมีผลไม้หั่นเป็นของหวาน แล้วจึงล้างคอด้วยชาเขียวมีการคำนวณกันว่า กระเพาะของคนญี่ปุ่นนั้นเป็นสุสานของปลาถึงร้อยละ 10 ที่ถูกจับได้ในโลกนี้ ซึ่งเมื่อคำนวณเป็นน้ำหนักปลาต่อคนต่อปีแล้วคือ 150 ปอนด์หรือเกือบ 70 กิโลกรัม ซึ่งคิดเป็นราว 2 เท่าของอัตราเฉลี่ยการกินปลาของคนทั้งโลก ซึ่งทำให้เห็นได้ประการหนึ่งว่า คนญี่ปุ่นได้รับน้ำมันโอเมกา 3 มากกว่าคนอื่นจึงมีอายุยืนกว่าคนอื่น(ข้อมูลนี้มักใช้ในการโฆษณาขายน้ำมันโอเมกา 3..... กรุณาฟังหูไว้หู!!!!) ที่น่าสนใจและน่าทำตามมากคือ คนญี่ปุ่นที่อายุยืนนั้นกินผักตระกูลกระหล่ำเช่น บร็อคโคลี กระหล่ำปลี คะน้า กระหล่ำดอก และกระหล่ำดาว (Brussels sprouts) มากกว่าคนอเมริกันถึง 5 เท่า ที่น่าประทับใจคือ วัตถุดิบที่ใช้ในการปรุงอาหารของคนญี่ปุ่นนั้น สดและเป็นไปตามฤดูกาล(สำหรับผู้เขียนแล้ว บางครั้งมันสดจนน่ากลัว ดังที่เห็นได้ในหนังสารคดีเกี่ยวกับการกินอาหารของคนที่อยู่เอเชียตะวันออกคือ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลี ที่มีการแล่เนื้อสิ่งมีชีวิตเป็นๆ เพื่อสนองตัณหาความอยากกินของสด) จนเหมือนกับแม่บ้านนั้นซื้อวัตถุดิบที่เพิ่งถูกใส่ในบรรจุภัณฑ์ได้เพียงครึ่งชั่วโมงก็ถูกนำมาใช้เตรียมอาหารที่ใช้เวลาไม่นานก็เสร็จและที่น่าประทับใจมากในวิถีชีวิตของคนญี่ปุ่นที่อายุยืนคือ การกินอาหารแต่น้อย ซึ่งเป็นไปตามหลักวิชาการที่พบว่า ใครที่กินอาหารแค่พอมีชีวิตอยู่ ซึ่งเรียกว่า Dietary restriction นั้นมักอายุยืน โดยกินอย่างช้าๆ ให้ลิ้นสัมผัสกับความอร่อยของอาหารที่กำลังถูกบดในปาก คนกินเร็วมักกินอาหารได้มากเพราะสมองสั่งการให้หยุดกินไม่ทันมือที่พุ้ยอาหารเข้าปาก สิ่งที่น่าทำตามที่สุดสำหรับผู้ที่อายุเริ่มขึ้นเลขสาม(ซึ่งเป็นวัยเริ่มสะสมไขมันที่พุง) คือ อย่าตักอาหารให้เต็มจาน อย่าตักอาหารอย่างใดอย่างหนึ่งมากกว่าอย่างอื่น ตักน้อยๆ ก็พอ(ประเด็นนี้ทำให้เป็นข้อจำกัดมากในการกินอาหารบุฟเฟ่ต์ ซึ่งส่วนใหญ่มักคิดว่า ต้องเอาให้คุ้มกับที่จ่าย) ที่น่ารำคาญใจคือ อาหารคนญี่ปุ่นมีการประดับประดาและปรุงแต่งน้อยมาก(ต่างจากอาหารไทยที่รสชาติต้องเต็มที่ ถูกใจพระเดชพระคุณ รวมทั้งนักท่องเที่ยวญี่ปุ่น ซึ่งมักประจักษ์ความจริงว่า แม้แต่สุกี้ที่จืดชืดในญี่ปุ่น พอมาถึงเมืองไทยแล้วแซ่บได้หลายเด้อ)การปรุงอาหารญี่ปุ่นแท้ ๆ นั้น ว่าไปแล้วแทบจะไม่ได้ปรุงอะไรมากนัก เพราะอาหารส่วนใหญ่ไม่ว่าจะใช้ความร้อนแบบใด มักเป็นแบบที่รวดเร็ว(ซึ่งน่าจะเป็นการรักษาคุณค่าทางโภชนาการและไม่เปิดโอกาสให้เกิดสารพิษ) ดังนั้นรสชาติส่วนใหญ่จะมาจากน้ำสต็อกที่เตรียมอย่างดี การกินข้าวทั้งเมล็ดเป็นแหล่งของอาหารคาร์โบไฮเดรตนั้น เป็นความแตกต่างที่เห็นได้ชัดเจนระหว่างชาติตะวันออกและชาติตะวันตก ซึ่งน่าจะเป็นคำอธิบายว่าทำไมชาวตะวันตกจึงมักกินแป้งเกินกว่าที่ควรกิน เพราะแป้งกินง่ายกว่าและมากกว่าในช่วงเวลาเท่ากัน ดังนั้นคนอเมริกันที่เริ่มตระหนักกับความหมายนี้จึงหันมากินข้าวกล้อง 1-2 มื้อต่อวันแล้วปรัชญาการกินอาหารของคนญี่ปุ่นนั้น มื้อเช้าสำคัญที่สุด มีองค์ประกอบสมบูรณ์ที่สุด โดยอย่างน้อยต้องมีชาเขียว ข้าวสวย ซุบมิโซะที่มีเต้าหู้กับต้นหอม สาหร่ายโนริชิ้นเล็กๆ และไข่เจียวแบบญี่ปุ่นหรือปลาชิ้นหนึ่ง สำหรับของหวานในปัจจุบัน(ซึ่งคนไทยมักพร่ำเพ้ออยากกินนัก) นั้น คนญี่ปุ่นที่มีสุขภาพดีอายุยืนมักมองข้ามไปเพราะมันไร้สาระ(เนื่องจากมีแต่แป้ง และดูเป็นขนมที่ดัดแปลงจากต่างชาติ) และไปรบกวนความอยากอาหารที่เป็นประโยชน์แทนสิ่งที่น่านับถือเป็นอย่างยิ่งสำหรับพฤติกรรมการดำรงชีวิตของชาวญี่ปุ่นคือ การออกกำลังกายทุกโอกาสเท่าที่จะทำได้ โดยในปี 2004 นิตยสาร Time ได้มีบทความเรื่อง How to Live to Be 100 ได้กล่าวถึงการที่ชาวญี่ปุ่นมีสุขภาพที่ดีและรูปร่างที่สมส่วน เพราะมีความตื่นตัวในการเคลื่อนไหวร่างกายระหว่างวันซึ่งรวมถึงการออกกำลังกาย รัฐบาลญี่ปุ่นได้ให้ความสำคัญในการสร้างสิ่งแวดล้อมให้เหมาะแก่การออกกำลังกายเช่น ทางจักรยานรอบเมือง(ซึ่งไม่มีมอเตอร์ไซต์หรือหาบเร่แผงลอยเข้าไปแจม) เส้นทางจ๊อคกิ้ง เส้นทางปีนเขา และการออกกำลังกายอื่นๆ ที่จะคลายความซึมเศร้า ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นกับคนญี่ปุ่น ที่ทำงานหนัก (ซึ่งกำลังเข้ามาสู่ชีวิตของคนไทยบางกลุ่มแล้วและรัฐยังไม่ได้เตรียมทางออกให้สักเท่าไร)โดยสรุปแล้ว ข้ออวดอ้างที่ว่า สาวญี่ปุ่นแก่ยากอ้วนยากนั้น น่าจะจริง เพราะองค์ประกอบของอาหารนั้นเป็นไปในรูปแบบที่นักโภชนาการปัจจุบันพยายามนักหนาที่จะขอให้คนไทยทั่วไปกิน ซึ่งดูจะเป็นเรื่องที่สำเร็จยากหน่อยเพราะ การกินอะไรได้ตามใจคือไทยแท้   

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 171 ดื่มเพื่อตาย

วันหนึ่งของเดือนมีนาคม 2558 ผู้เขียนได้มีโอกาสชมข่าว Midday delivery ของช่อง 3 แฟมิลี ซึ่งมีรูปแบบการเล่าข่าวที่น่าสนใจ เพราะพิธีกรมีความคล่องตัวในการพูดและสอดแทรกความรู้ด้านภาษาอังกฤษและจีนตลอดเวลา ตอนหนึ่งของข่าวได้กล่าวถึงผู้เคราะห์ร้ายในต่างประเทศที่ดื่มเครื่องดื่มให้พลังงาน (Energy drink) ซึ่งมีเหล้าผสมอยู่แล้วมีอาการหัวใจวายจนเกือบตาย ผู้เขียนเคยมีประสบการณ์กับคาเฟอีนในกาแฟโบราณใส่น้ำแข็ง ซึ่งมีผู้หวังดีซื้อให้ดื่มระหว่างการเล่นแบดมินตัน โดยที่ผู้เขียนลืมไปว่ากาแฟโบราณที่ขายส่วนใหญ่นั้น ใช้ผงกาแฟชงน้ำร้อนในลักษณะที่ได้กาแฟที่มีความเข้มข้นสูง คาเฟอีนจึงมีมาก ดังนั้นเมื่อดื่มกาแฟขณะเล่นแบดมินตัน ซึ่งต้องใช้พลังงานสูง หมายความว่าหัวใจต้องสูบฉีดโลหิตอย่างแรง คาเฟอีนที่ได้จากการดื่มกาแฟจึงไปเสริมการเต้นของหัวใจของผู้เขียนให้สูงขึ้นกว่าที่เคยเป็น จนรู้สึกเหมือนหัวใจจะหลุดออกมาจากทรวงอก สิ่งที่ทำได้ตอนนั้นคือ นั่งพักเลิกเล่นแบดในวันนั้นไปเลย เพราะมิเช่นคงไม่ได้มานั่งเขียนบทความนี้แน่นอน เรื่องของเครื่องดื่มให้พลังงานนั้นเป็นประเด็นลำดับต้น ๆ ที่องค์กรเอกชนบางองค์กรสนใจในเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคเมื่อราว 30 ปีก่อน กาลเวลาผ่านไปปัญหาไม่ได้ถูกแก้สักเท่าไร แต่เรื่องราวนั้นค่อนข้างเงียบไป เพราะประเด็นที่องค์กรเอกชนต่อต้านคือ การใช้ฝาจุกชิงโชคมาเป็นการโฆษณานั้นดูจางไป เพราะผู้ประกอบการหันไปหารับประทานจนร่ำรวยจากการขายในต่างประเทศที่ไม่มีการต่อต้านการดื่มสินค้านี้ อย่างไรก็ดีกรรมกรที่ทำงานในบ้านเรานั้น ต่างก็กระดกเครื่องดื่มให้พลังงานทุกเช้าก่อนเริ่มงาน โดยให้เหตุผลว่าทำให้มีแรงและกระชุ่มกระชวยทำงานได้ ซึ่งผู้เขียนก็ไม่รู้จะห้ามปรามอย่างไร จึงลองซื้อมาดื่มดู ก็พบว่ากินโอวเลี้ยงดูจะต้องจริตของผู้เขียนมากกว่า จึงได้แต่คิดว่า กรรมใครกรรมมัน เพราะกรรมกรบางคน ถึงจะดื่มไม่เกินวันละสองขวดตามคำแนะนำก็ตาม แต่ก็ดื่มหลายยี่ห้อในวันเดียวกัน เลยได้เกินสองขวดโดยไม่เจตนา ครั้นมาพบข่าวที่เกิดจากการดื่มเครื่องดื่มให้พลังงานผสมเหล้าในต่างประเทศเข้า จึงลองเข้าไปดูใน YouTube ว่ามีคลิปเรื่องประมาณนี้ด้วยหรือ ปรากฏว่าเพียบเลย โดยส่วนใหญ่เป็นคลิปห้ามปรามการดื่มเครื่องดื่มแบบที่ว่ากับเหล้า หรือดื่มเครื่องดื่มแบบที่มีการผสมเหล้าเข้าไปในกระป๋องเลย เนื่องจากก่ออันตรายต่อหัวใจ   คลิปแรกเป็นข่าวจากสหรัฐอเมริกาชื่อ Dangers of Alcoholic Energy Drinks ซึ่งมีเนื้อข่าวย่อ ๆ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ของ อย. เริ่มกังวลการวางขายเครื่องดื่มให้พลังงาน(energy drink) ชนิดที่มีการผสมเหล้า(ซึ่งบางยี่ห้อเลวร้ายมากเพราะมีแอลกอฮอล์ถึงร้อยละ 12) ปะปนไปกับเครื่องดื่มให้พลังงานแบบเดิม จึงทำให้นักเรียนและนักศึกษามีโอกาสได้จิบแอลกอฮอล์ขณะนั่งเรียนหนังสือ นักข่าวได้เสนอว่าควรแยกการวางขายบนชั้นในร้านสะดวกซื้อให้ชัดเจน คลิปที่น่าสนใจซึ่งขอแนะนำให้เข้าชมเพราะเป็นต้นเรื่องของข่าวใน Midday delivery เผื่อมีใครจะสามารถจะสื่อสารข้อมูลนี้แก่คนไทยที่อาจมีการดื่มในลักษณะนี้แล้วคือ The Hidden Dangers Of Energy Drinks ซึ่งเอาขึ้น YouTube เมื่อ 29 ตุลาคม 2014 มีใจความย่อๆ ว่า ซาร่าและสเตฟานีได้เฉลิมฉลองการสอบเสร็จโดยไม่ได้คิดว่า เครื่องดื่มที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายของ อย. ออสเตรเลีย (ซึ่งในคลิปบอกว่าเป็น premixed alcoholic energy drink) ที่พวกเขากำลังดื่มจะฆ่าพวกเขา เพราะไม่นานหลังจากที่ดื่มไปไม่กี่กระป๋อง (แต่คงเกิน 2 กระป๋องตามที่ฉลากระบุว่าไม่ควรเกิน) ซาร่าก็ตายอย่างน่าอนาถ ในขณะที่สเตฟานีโชคดีไม่เป็นไร นักข่าวของคลิปนี้ได้พาไปดูกระบวนการขายสินค้าชนิดนี้และสำรวจสิ่งที่เป็นส่วนผสม พร้อมการไปสัมภาษณ์นักวิชาการและแพทย์ถึงปัญหาที่เกิดจากการดื่มเครื่องดื่มนี้เกินที่กำหนด ซึ่งมีสมมุติฐานหนึ่งที่น่าสนใจคือ องค์ประกอบของเครื่องดื่มประเภทนี้อาจไปเพิ่มเกล็ดเลือดทำให้เลือดข้นขึ้น จนเกิดการอุดตันในหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ นักข่าวได้ลองทำการศึกษาเล็ก ๆ โดยให้มีการเจาะเลือดอาสาสมัครที่ดื่มเครื่องดื่มนี้แล้ววัดความหนืดของเลือดที่เจาะออกมาก็พบแนวโน้มว่าน่าจะสนับสนุนสมมุติฐาน คลิปต่อไปคือ Energy Drinks and Alcohol ซึ่งเป็นการเตือนผู้บริโภค (โดยเฉพาะวัยรุ่น) จากหน่วยงานราชการของอังกฤษมีใจความว่า การผสมเครื่องดื่มให้พลังงานกับเหล้านั้นอาจทำให้บางคนคิดว่าจะเมาน้อยลง แต่อัลกอฮอล์ยังออกฤทธิ์และก่อให้เกิดอุบัติเหตุในการขับขี่รถยนต์ จึงไม่ควรผสมเครื่องดื่มสองชนิดเข้าด้วยกัน (มีเครื่องดื่มในไทยบางชนิดที่ผสมสารชีวเคมีเช่น กลูตาไทโอน แล้วโฆษณาว่าทำให้ตื่นเช้าไม่เมาค้าง ซึ่งปัจจุบันทราบกันดีว่า กลูตาไทโอนถูกย่อยหมดในทางเดินอาหาร ไม่สามารถไปถึงตับเพื่อช่วยในการทำลายแอลกอฮอล์ได้....ผู้เขียน) คลิปที่น่าสนใจมากเพราะกล่าวตรง ๆ ว่า premixed alcoholic energy drink ควรถูกยกเลิกคือ  Why Mixing Alcohol And Caffeine Is So Bad  ในคลิปนี้กล่าวถึงการขายเครื่องดื่มให้พลังงานในบาร์เหล้า ซึ่งไม่ต้องบอกก็รู้ว่าต้องผสมเหล้าในเครื่องดื่มนี้แน่ แม้ว่ามันจะวางขายแยกกัน โดยผู้ดื่มมักคิดว่า การทำเช่นนี้ทำให้ได้พลังงานพร้อมจะเมาได้จนสุดฤทธิ์สุดเดช ในคลิปยังกล่าวว่า มีรายงานการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการพบว่า การดื่มเครื่องดื่มแบบนี้ทำให้โอกาสเกิดอาการใจสั่นไม่เป็นจังหวะถึง 6 เท่าและมือไม้สั่น หงุดหงิดฉุนเฉียว นอนไม่หลับ ถึง 4 เท่า ของคนปรกติที่ดวดเหล้าอย่างเดียว จากการสัมภาษณ์คนโง่เหล่านี้พบว่า เขาคิดว่าตนเองควรเมาน้อยลงจึงเทน้ำทองแดงลงคอมากขึ้น ที่สำคัญคาเฟอีนนั้นได้ทำให้ผู้ดื่มเมาฟุบช้ากว่าปรกติ จึงหยุดดื่มช้ากว่าเดิม ทำให้สามารถเพิ่มความเข้มข้นแอลกอฮอล์ในเลือดได้สูงขึ้น ส่วนคลิปสุดท้ายที่จะแนะนำให้ดูนั้น เหมาะสำหรับคนที่กินเงินเดือนที่ได้จากภาษีของคนไทยหลายกลุ่มช่วยกันดู เผื่อว่าจะมีอะไรสะกิดสมองให้คิดทำประโยชน์แก่ผู้จ่ายภาษีบ้าง คลิปนั้นชื่อ 16x9 - A Dangerous Mix: Energy drinks and booze ซึ่งเอาขึ้น YouTube เมื่อ 30 เมษายน 2012 และมีความยาวถึง 23.54 นาที คลิปนี้มีลักษณะที่เรียกว่าเป็น all in one คือ ดูคลิปนี้แล้วได้ทุกอย่างที่เป็นปัญหาและแนวทางแก้ปัญหาที่เกิดจากการดื่มเครื่องผสมดังกล่าว ทั้งนี้เพราะมีข้อมูลจากการสัมภาษณ์ เหยื่อผู้รอดตายจากการดื่มเครื่องดื่มผสมนี้ แพทย์และนักวิทยาศาสตร์ที่เชี่ยวชาญในสาขาที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนเจ้าหน้าที่จาก อย. ของแคนาดา สิ่งที่น่ากระทำเป็นอย่างยิ่งคือ น่าจะให้บริษัทรับพากษ์หนังที่เรารู้จักกันดีจากหนังแผ่นต่างๆ ช่วยพากษ์คลิปนี้ (เพราะมี subtitle ซึ่งถึงแม้จะไม่ค่อยตรงนักก็ตามให้ดู) แล้วหน่วยงานที่เอาภาษีบาปไปใช้ในการคงอยู่ของหน่วยงานทำการเผยแพร่ในรูปซีดีแจกฟรีแก่โรงเรียนทั่วประเทศ เพื่อใช้ในการให้ความรู้แก่เด็กนักเรียนในยามที่เรากำลังปฏิรูปการศึกษาใหม่ เพื่อให้เด็กได้รู้ในสิ่งที่ทำให้เขาเอาตัวรอดได้เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ ไม่ใช่ได้แต่... อะไรก็ไม่รู้.....ที่ไร้ประโยชน์จนเด็กบางคนเอาตัวไม่รอดดังเช่นทุกวันนี้

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 170 หน้าร้อนแล้ว ดื่มอะไรดี

ผู้ที่ชอบดื่มน้ำอัดลมสีดำอาจไม่สบายใจนัก เพราะมีนักข่าวชื่อ Rachef Arthur รายงานใน www.beveragedaily.com เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2015 ว่า อาจารย์ของมหาวิทยาลัยจอห์นฮอบกินในสหรัฐอเมริกาชื่อ Keeve Nachman ออกมาให้ข่าวถึงความเสี่ยงต่อการได้รับสารก่อมะเร็งของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นจากการดื่มน้ำอัดลมสีดำ พร้อมตั้งความหวังว่าหน่วยงานรัฐควรลดความเสี่ยงโดยการพิจารณากฎหมายลดการที่ผู้บริโภคได้รับสาร 4-methylimidazole ในน้ำอัดลมที่ใช้สีคาราเมลชนิดที่ 3 และชนิดที่ 4 จากข่าวดังกล่าวทำให้บริษัทขายน้ำดำยี่ห้อหนึ่งรีบออกมาตอบโต้ว่า ข้อมูลดังกล่าวนั้นล้าสมัยแล้ว เป็นเรื่องเก่าที่มีการพูดถึงมานานและก็จบไปแล้ว น้ำอัดลมสีดำนั้นไม่ปาราชิกแน่ ทั้งนี้เพราะสินค้าของบริษัทนั้นได้มาตรฐานระดับโลกตลอดเวลา ในรายงานวิจัยเรื่อง Caramel Color in Soft Drinks and Exposure to 4-Methylimidazole: A Quantitative Risk Assessment ของ Tyler J. S. Smith และคณะ จากมหาวิทยาลัยจอห์นฮอบกิน (มี Keeve Nachman ซึ่งเป็นผู้ให้ข่าวแก่สาธารณะข้างต้นร่วมเป็นผู้นิพนธ์ด้วย) ตีพิมพ์ในวารสารออนไลน์ชื่อ PLOS One  เมื่อวันที่ February 18, 2015  มีข้อมูลที่ได้จากการทำวิจัยว่า ผู้บริโภคในรัฐแคลิฟอร์เนียได้รับสารพิษ 4-methylimidazole นี้จากเครื่องดื่มน้ำดำในปริมาณซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเพราะพบว่า ประชาชนในรัฐดังกล่าวได้รับสารพิษนี้เกิน 29 ไมโครกรัมต่อวัน ซึ่งตามข้อบัญญัติของกฎหมายชื่อ California’s Proposition 65 law นั้น กำหนดว่าเครื่องดื่มที่ทำให้ประชาชนได้รับ 4-methylimidazole เกินกว่า 29 ไมโครกรัมต่อวัน (ซึ่งทำให้ความเสี่ยงของผู้บริโภคต่อการเป็นมะเร็งเกินกว่า 1 คนต่อ 100,000 คน) นั้นต้องติดฉลากเพื่อเตือนอันตราย เว็บของบริษัทขายสีคาราเมลเว็บหนึ่งกล่าวว่า สีคาราเมลนั้นเป็นสีที่ถูกใช้มากที่สุดในโลก เพราะเครื่องดื่มที่มีการดื่มมากที่สุดในโลกนั้นมีสีดำ จึงต้องใช้สีคาลาเมลแต่งสีให้น้ำนั้นดำตามมาตรฐานของสินค้านั้นๆ ตามข้อบัญญัติเกี่ยวกับสารเจือปนในอาหารของสหรัฐอเมริกานั้น สีคาราเมลเป็นของเหลวหรือของแข็งสีน้ำตาลเข้มซึ่งมักได้จากการให้ความร้อน(ที่ควบคุมอุณหภูมิได้)แก่น้ำเชื่อมทำจากน้ำตาลเด็กโตรส (อีกชื่อของกลูโคส)ที่ได้จากข้าวโพด แล้วได้คาราเมลที่อยู่ตัวและไม่เหนียวเกินไป ที่น่าสนใจคือ ในการผลิตนั้นยังมีการใช้ กรด ด่างหรือเกลือบางชนิดช่วยเร่งให้สารตั้งต้นเปลี่ยนเป็นสีคาราเมล สีคาราเมลถูกจัดให้เป็นสารเจือปนในอาหารที่ปลอดภัยมากในระดับ GRAS (generally recognized as safe) ทั้งนี้เพราะเป็นสารเจือปน 1 ใน 700 ชนิดที่ถูกจัดว่ามีความเป็นธรรมชาติ (เหมือนกับ คำแสด(annatto) เบต้าแคโรทีน และน้ำจากหัวบีท เป็นต้น) ที่ใช้กันมานานก่อนที่รัฐบัญญัติ U.S. Food Drug and Cosmetic Act มีผลในวันที่ 1 มกราคม 1958 ซึ่งหมายความว่า สารเหล่านี้ไม่ได้ผ่านกระบวนการตรวจสอบความเป็นพิษด้วยสัตว์ทดลอง เนื่องจากคนที่กินมันตั้งแต่ก่อนปี 1958 นั้นได้เป็นเสมือนเป็นสัตว์ทดลองไปเรียบร้อยแล้ว สีคาราเมลที่มีการขายเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอาหารนั้นแบ่งเป็น 4 ชนิดคือ ชนิดที่ 1 (มีรหัสของอียูว่า E150a บนฉลากอาหาร) ได้จากการให้ความร้อนแก่คาร์โบไฮเดรตโดยอาจมีการใช้กรดหรือด่างที่มีการยอมให้ใช้ได้ในอาหารเป็นตัวช่วย แต่ไม่มีการใช้เกลือแอมโมเนียหรือเกลือซัลไฟต์ในการผลิต สีที่ได้นั้นมีประจุไฟฟ้าเป็นกลางหรือลบนิดหน่อย สีคาราเมลชนิดที่ 2 (มีรหัสเขียน E150b บนฉลากอาหาร) หรือชื่อภาษาอังกฤษว่า caustic sulfite caramel ดูตามชื่อแล้วท่านผู้อ่านคงเดาได้ว่า ได้จากการให้ความร้อนแก่คาร์โบไฮเดรตโดยมีการเติมเกลือซัลไฟต์ลงไป สีที่ได้นั้นมีประจุไฟฟ้าเป็นลบ สีคาราเมลชนิดที่ 3 (มีรหัสเขียน E150c หรือ ammonia caramel colors) ได้จากการให้ความร้อนแก่คาร์โบไฮเดรตโดยผสมหรือไม่ผสมกรดหรือด่างลงไปแต่ที่ผสมแน่ๆ คือ เกลือแอมโมเนีย ได้สีคาราเมลที่มีประจุไฟฟ้าเป็นบวก สีคาราเมลชนิดที่ 4 (มีรหัสเขียนE150d หรือ sulfite ammonia caramel colors) จากชื่อของสีท่านผู้อ่านคงเดาได้ว่า ในการเตรียมนั้นมีการใช้ทั้งเกลือแอมโมเนียและเกลือซัลไฟต์ ทำให้ได้สีที่มีประจุไฟฟ้าเป็นลบ สีคาราเมลชนิดนี้แหละที่มีการผลิตให้ผู้บริโภคกินมากที่สุด เพราะเป็นสีที่มีความเสถียรที่สุดและหนืดน้อยที่สุด สิ่งที่เป็นปัญหาของสีคาราเมล ซึ่งรู้กันมานานพอควรแล้วคือ ในการผลิตสีชนิดที่ 3 และ 4 ซึ่งมีการใช้เกลือแอมโมเนียนั้น ก่อให้เกิดสารปนเปื้อนชนิดหนึ่งคือ 4-methylimidazole หน่วยงาน National Toxicology Program (NTP) ของสหรัฐอเมริกาได้จัดให้สาร 4-methylimidazole เป็น "possibly carcinogenic to humans" ซึ่งหมายความว่า มีข้อมูลการก่อมะเร็งแล้วในสัตว์ทดลอง แต่ยังขาดข้อมูลระบาดวิทยาในคน โดยผลการศึกษาในการประเมินความเป็นพิษของ 4-methylimidazole ในหนู rat ซึ่งใช้เวลา 2 ปีนั้น ยังสรุปไม่ได้ถึงอันตรายในการก่อมะเร็ง แต่ข้อมูลจากศึกษาในหนู mouse ซึ่งใช้เวลา 2 ปีเช่นกันนั้นพบว่า สารนี้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดอย่างชัดเจน อย่างไรก็ดีมีนักวิทยาศาสตร์บางคนได้ตั้งประเด็นว่า ผลการศึกษานั้นไม่น่าเชื่อถือเพราะการประเมินความเสี่ยงของสารเจือปนในอาหารนั้น มักใช้ปริมาณสารมากเกินกว่าที่มนุษย์จะได้รับจริงเช่น เป็นพันเท่าขึ้นไปของปริมาณที่จะมีการใช้ในอาหาร การโต้แย้งในลักษณะนี้กลายเป็นความเคยชินแล้วสำหรับนักพิษวิทยา เพราะผู้โต้แย้ง (ซึ่งมักมีผลประโยชน์ทับซ้อน) มักทำเป็นลืมไปว่า จำนวนประชากรในโลกตอนนี้มีกว่า 7000 ล้านคน ในขณะที่การศึกษาความเป็นพิษของสารเคมีทั่วไปนั้นใช้หนูทดลอง(ซึ่งมีสุขภาพดีและกินดีอยู่ดี)เพียงพันกว่าตัวถึงสองพันตัว  เพื่อรับบทบาทเป็นตัวแทนของมนุษย์กลุ่มที่อ่อนแอที่สุดซึ่งไวต่อการเป็นมะเร็ง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องใช้ปริมาณสารในปริมาณที่สูงมากเพื่อให้ได้เห็นศักยภาพความเป็นพิษของสาร ซึ่งถ้าผลการทดลองไม่พบความเป็นพิษก็จะทำให้สบายใจได้ว่า ประชากรทั้งแข็งแรงและอ่อนแอไม่ต้องเสี่ยงมากนักต่อการเป็นมะเร็งเนื่องจากกินสารที่ถูกทดสอบ สำหรับผลการศึกษาที่ Keeve Nachman แถลงข่าวนั้นเป็นผลจากการวิเคราะห์ความเข้มข้นของ 4-methylimidazole ในน้ำอัดลม และนำไปคำนวณความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งในผู้บริโภค ซึ่งพบว่าความเสี่ยงสูงกว่าที่ยอมรับได้คือ คำนวณได้ว่า ในผู้บริโภคล้านคนมีมากกว่าหนึ่งคนที่จะเป็นมะเร็งเนื่องจากการบริโภคสินค้าดังกล่าว ท่านผู้อ่านสามารถตามไปดูบทความวิจัยชื่อดังกล่าวได้โดยอาศัยอากู๋เกิ้ลช่วยพาไป ข้อมูลบนอินเตอร์เน็ตกล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาได้ออกมาสรุปผลจากงานวิจัยของ Tyler J. S. Smith และคณะว่า ความเสี่ยงที่คำนวณได้ว่าการดื่มน้ำอัดลมที่ถูกศึกษาแล้วจะเป็นมะเร็งนั้น ผู้บริโภคต้องดื่มน้ำอัดลมถึง 1,000 กระป๋องต่อวัน ถึงจะได้ 4-methylimidazole ถึงระดับที่ก่อปัญหาได้ (ซึ่งคงไม่มีคนบ้าคนไหนดื่มได้) ซึ่งการสรุปนี้ว่าไปก็ถูกในแง่การเอาใจผู้ประกอบการแต่ผิดในแง่ที่ อย.มะกันอาจลืมคิดไปว่า แม้ว่าพลโลกส่วนใหญ่จะมีร่างกายแข็งแรงกำจัดสารพิษทิ้งได้ไม่ยาก แต่ก็มีส่วนน้อยที่อาจมีระบบกำจัดสารพิษในร่างกายไม่ดีอยู่บ้าง ที่น่าสนใจคือ ในปี 2011 รัฐบัญญัติ California’s Safe Drinking Water and Toxic Enforcement Act (Proposition 65) ได้เพิ่มสาร 4-methylimidazole เป็นสารก่อมะเร็งในบัญชีสารก่อมะเร็งเรียบร้อยโรงเรียนมะกันไปแล้ว ซึ่งทำให้กลุ่มโรงงานผู้ผลิตน้ำอัดลมน้ำดำจำใจต้องประกาศว่า จะลดความเข้มข้นของ 4-methylimidazole ในผลิตภัณฑ์ของตน (ซึ่งน่าจะหมายความว่าใช้สีน้อยลง) ข้อมูลที่นำเสนอนี้ ไม่ได้หมายความว่าต้องการก่อความกังวลให้แก่ผู้นิยมบริโภคน้ำอัดลมสีดำของบ้านเรา ทั้งนี้เพราะผู้บริโภคคงไม่มีโอกาสทราบว่า สีคาราเมลที่ใช้ในเมืองไทยนั้นเป็นสีคาราเมลชนิดใด เมื่อไม่รู้และไม่มีทางรู้ก็อย่ากังวลไปเลย หาวิธีลดความเสี่ยงเอาเอง แบบว่าเมื่อผู้เขียนกระหายต้องการน้ำตาลหลังออกแรงก็ดื่มเฉพาะน้ำอัดลมชนิดน้ำใสเท่านั้น จึงทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายจากกลิ่นและรสสังเคราะห์เท่านั้น (ความรู้ด้านพิษวิทยาสอนให้รู้ว่า เมื่อมีอะไรเข้าปากเรา ความเสี่ยงย่อมเกิดขึ้นทั้งนั้น เพียงแต่ว่าเราจะยอมรับหรือไม่เท่านั้น)

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 169 อ้วนและกรรมพันธุ์

ห้องสวนลุมพินีของ pantip เป็นห้องที่คุยกันเกี่ยววิทยาศาสตร์การแพทย์รวมถึงอาหารและโภชนาการ วันหนึ่งมีสมาชิกท่านหนึ่งตั้งกระทู้ว่า “ทำไมอาหารแคลอรีเท่ากันจึงอ้วนไม่เท่ากันคะ? อยากทราบเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ค่ะว่าทำไมกินอาหารแคลอรีรวมเท่ากัน สมมุติ 1.) กินแต่ผักผลไม้อย่างเดียว และ 2.) กินแต่เค้ก ขนมหวาน กินน้อยๆ แต่กินทั้งวันไม่กินข้าวเลยทั้งคู่ แม้แบบที่ 2 จะกินแคลอรีรวมน้อยกว่าแต่ก็อ้วนเร็วกว่ามาก ทั้งที่ออกกำลังกายด้วย สัดส่วนก็ไม่ลดมีแต่เพิ่มๆ กล้ามเนื้อก็แข็งแต่พุงก็มาเช่นกัน ในขณะที่คนแบบแรกผอมลงๆ เรื่อยๆ ทั้งที่ไม่ออกกำลังเลย เพราะอะไรหรอคะ? อันนี้เกิดขึ้นกับเราเองค่ะ เลยสงสัย เพราะตอนแรกคิดว่าแค่กินแคลอรีไม่เกินก็เพียงพอแล้ว ปล.เรากินประมาณ 500-800 cal. กินมากกว่านี้ไม่ไหวจริงๆ รู้สึกตัวจะระเบิด เพราะปกติไม่ทานของผัด/ทอดค่ะ” ผู้เขียนคิดว่า เจ้าของกระทู้คนนี้ช่างคิดดี เพียงแต่ฐานความรู้ด้านอาหารและโภชนาการซึ่งต้องรวมถึงความรู้ด้านชีวเคมีที่เกี่ยวพันกับวิชาพันธุกรรมนั้นยังอ่อนอยู่ จึงตั้งกระทู้นี้ขึ้นมาด้วยความใฝ่รู้ สิ่งสำคัญที่ต้องอธิบายก่อนอื่นคือ ตัวอย่างอาหารทั้งสองกรณีที่เจ้าของกระทู้ยกขึ้นมาให้พิจารณานั้น เป็นสิ่งที่ไม่สามารถนำมาเทียบเคียงได้ เพราะผักและผลไม้ให้สารอาหารที่เกี่ยวข้องต่อการดำรงชีวิตต่ำและไม่สมบูรณ์ เนื่องจากมีใยอาหารเป็นองค์ประกอบหลัก ยกเว้นในกรณีเป็น กล้วย หัวมัน หรือถั่ว ซึ่งให้สารอาหารเกือบครบ ดังนั้นตัวอย่างที่เจ้าของกระทู้ยกนั้นจำเป็นต้องระบุชนิดของผักผลไม้ด้วยว่าเป็นอะไรเพื่อให้สามารถเทียบเคียงได้กับกรณีที่ 2 ว่ากินแต่ขนมหวานซึ่งก็ต้องบอกว่า ขนมอะไร จึงจะสามารถนำความรู้ที่เรียกว่า อาหารแลกเปลี่ยน (Food exchange) มาใช้ในการเปรียบเทียบระดับพลังงานที่ได้รับในแต่ละกรณี อีกประเด็นหนึ่ง ที่เป็นข้อติดขัดต่อความคิดคือ การทำให้มื้ออาหารสองมื้อที่ต่างกันของตำรับอาหารมีพลังงานเท่ากันนั้นยากมาก ทั้งนี้เพราะตารางอาหารที่นักวิชาการใช้นั้นในการทำอาหารแลกเปลี่ยนนั้น เป็นเพียงค่าเฉลี่ยที่ระบุว่าองค์ประกอบของอาหารเช่น กล้วยน้ำว้า หมูทอด ผักบุ้งจีน ฯลฯ ให้พลังงานเท่าใด ซึ่งตัวเลขที่ระบุย่อมเปลี่ยนไปตามแหล่งที่มาของตัวอย่างที่ถูกวิเคราะห์ ดังนั้นวิธีเดียวที่จะจัดให้มื้ออาหารสองมื้อมีคุณค่าโดยเฉพาะพลังงานเท่ากันได้นั้น ต้องใช้สารอาหารบริสุทธิ์ ดังที่ผู้เขียนเคยใช้ในการเลี้ยงสัตว์ทดลอง(ซึ่งไม่ต้องคำนึงถึงความอร่อย) มนุษย์ในโลกนี้มีเอกลักษณ์ของพันธุกรรมประจำตัวแต่ละคน แม้แต่ในแฝดเหมือนซึ่งเมื่อออกมาจากท้องแม่แล้วความเปลี่ยนแปลงจะเริ่มเกิดขึ้น เนื่องจากการแสดงออกทางพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตมีปัจจัยภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ในทางวิชาการใช้คำว่า Epigenetic factor ท่านผู้อ่านที่พอจะเข้าใจภาษาอังกฤษได้น่าจะลองเข้าไปดูคลิปต่างๆ ของเรื่องนี้ใน YouTube แล้วจะเห็นว่า เรื่องนี้น่าสนใจมาก ความอ้วนนั้นก็คล้ายสภาวะด้านสุขภาพอื่นๆ ของร่างกาย มันเป็นผลที่เกิดจากการแสดงร่วมกันของพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม ในกรณีของพันธุกรรมนั้นมันเป็นไปในลักษณะที่เรียกว่า Genetic polymorphism ซึ่งคำนี้หลายท่านที่ไม่คุ้นชินกับเรื่องของพันธุกรรมย่อมไม่เข้าใจความหมาย ทั้งที่มันเป็นเรื่องจำเป็นแล้วสำหรับยุคดิจิตอลนี้ คำว่า Genetic(พจนานุกรมมักแปลว่า ที่เกี่ยวกับพันธุกรรม) นั้นเกือบทุกท่านที่จบระดับปริญญาตรีคงเข้าใจแล้วว่า มันมีความเกี่ยวเนื่องกับสารดีเอ็นเอซึ่งอยู่ในนิวเคลียสของเซลล์ ซึ่งมีความเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละบุคคลซึ่งโดยรวมแล้วไม่มีใครมีดีเอ็นเอเหมือนกันเลย(ยกเว้นแฝดเหมือนที่เกิดจากไข่และอสุจิคู่เดียวกัน) ประเด็นนี้เองจึงส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า polymorphism ซึ่งมาจากคำว่า poly (หลาย) สมาสกับคำว่า morph(ในที่นี้น่าจะหมายถึง รูปแบบหรือสันฐาน) และ ism (ระบบ) เมื่อนำสามคำนี้มารวมกันแล้วน่าจะแปลว่า การเป็นไปได้หลายรูปแบบของการแสดงออกเนื่องจากยีนใดยีนหนึ่งในมนุษย์ ตัวอย่างคือ พันธุกรรมที่กำหนดเส้นผมว่าเป็นผมที่มีเส้นตรงหรือหยักศกนั้น เป็นเป็นกลุ่มของยีนที่ควบคุมการสร้างโปรตีนที่รวมตัวกันเป็นเส้นผม เวลาที่ยีนกลุ่มนี้ทำงานจะมีการแปลข้อมูลออกมาเป็นการเรียงตัวของกรดอะมิโน เพื่อให้ได้เป็นโปรตีนที่เป็นองค์ประกอบของเส้นผม ดังนั้นความแตกต่างกันของข้อมูลพันธุกรรมบนยีน จึงทำให้คนที่มีผมหยักศกมีองค์ประกอบเส้นผมเป็นกรดอะมิโน Cysteine ซึ่งมีกำมะถันเป็นองค์ประกอบมากกว่าคนที่มีผมเป็นเส้นตรง ดังนั้นจะเห็นได้ว่าพันธุกรรมนั้นสำคัญมากต่อความเป็นตัวตนของมนุษย์แต่ละคน Wikipedia ได้ให้ข้อมูลว่า พันธุกรรมหรือยีนที่กำหนดความรู้สึกอยากอาหารและ/หรือควบคุมการเผาผลาญใช้งานสารอาหารนั้น เป็นปัจจัยกำหนดที่ทำให้ผลที่เกิดขึ้นในคนมากกว่าหนึ่งคนที่กินอาหารที่เหมือนกันทุกประการ(ถ้าทำได้) แสดงผลเรื่องความอ้วน-ผอมออกมาต่างกัน ขอยกตัวอย่าง การทำงานด้านชีวเคมีและสรีรวิทยาของการย่อยอาหารโดยใช้พื้นฐานที่ว่า ในการย่อยโปรตีนนั้นเกิดเนื่องจากการทำงานของเอนไซม์หลายชนิด ที่หลั่งออกมาจากเซลล์กระเพาะอาหารคือ เป็บซิน (pepsin) และจากตับอ่อนคือ ทริปซิน (trypsin) คัยโมทริปซิน (chymotrypsin) คาร์บอกซีเป็บติเดส (carboxypeptidase) เป็บติเดส (peptidase) เป็นต้น (อย่าซีเครียดถ้าท่านพบว่าคำเหล่านี้ไม่คุ้นหู) เวลาท่านผู้อ่านเห็นคำว่า เอนไซม์ นั้นท่านนึกถึงอะไร สิ่งหนึ่งที่ผู้เรียนผ่านวิชาชีวเคมีบางคนมักเข้าใจผิดคือ เอนไซม์ชนิดหนึ่งของคนๆ หนึ่งย่อมเหมือนกับเอนไซม์นั้นในอีกคนหนึ่งทุกประการโดยเฉพาะโครงสร้าง ที่มีกรดอะมิโนเรียงตัวกันเป็นตัวเอนไซม์ ความเข้าใจนี้ไม่ถูกต้อง ความจริงแล้วเวลาเรากล่าวถึงเอนไซม์แต่ละชนิดนั้น เป็นการกล่าวถึงความสามารถในการทำงานของเอนไซม์นั้น เช่นในกรณีของเป็บซิน เราหมายถึงความสามารถของโปรตีนที่หลั่งออกมาจากเซลล์กระเพาะอาหารที่สามารถทำให้โปรตีน ที่อยู่ในกระเพาะอาหารขาดออกจากกันกลายเป็นสายโพลีเป็บไทด์ (wikipedia นิยามว่า เป็นสายของกรดอะมิโนที่ต่อกันไม่เกิน 50 หน่วย) หลายๆ สายเพื่อส่งต่อให้ไปถูกย่อยในลำไส้เล็กจนได้เป็นกรดอะมิโนอิสระ ซึ่งสามารถถูกดูดซึมเข้าสู่เซลล์ต่างๆ ความสามารถของเอนไซม์ในการย่อยอาหารของมนุษย์แต่ละคนนั้นไม่เท่ากัน เพราะการกำหนดลำดับของกรดอะมิโนที่เรียงเป็นสายของเอนไซม์แต่ละชนิดนั้น ขึ้นกับลำดับของเบสต่างๆ บนดีเอ็นเอ ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่าไม่มีใครซ้ำใครได้(ซึ่งเป็นเรื่องของ genetic polymorphism) โดยบางครั้งอาจต่างกันแค่หนึ่งตำแหน่ง ก็สามารถส่งผลให้การทำงานของเอนไซม์ชื่อเดียวกันมีระดับการทำงานต่างกันไป ทำไมลำดับของเบสบนดีเอ็นเอจึงสามารถกำหนดความสามารถในการทำงานของเอนไซม์ได้ คำอธิบายนั้นเป็นดังนี้คือ ลำดับของเบสที่แปลระหัสออกมาเป็นลำดับของกรดอะมิโนนั้นเป็นตัวกำหนดรูปร่างของโปรตีนที่ทำงานเป็นเอนไซม์ ขอทำความเข้าใจกับผู้อ่านว่า กรดอะมิโนที่เป็นองค์ประกอบของโปรตีนในร่างกายมนุษย์มีราว 20 ชนิดนั้นต่างมีรูปร่างสัณฐานต่างกัน และเมื่อกรดอะมิโนมาต่อกันเป็นสายโปรตีนนั้นมันจะมีการม้วนงอไปมา ด้วยเหตุที่ว่า กรดอะมิโนบางชนิดชอบสัมผัสน้ำ บางชนิดไม่ค่อยชอบ หรือบางชนิดสัมผัสไม่ได้เลย ดังนั้นเมื่อกรดอะมิโนต้องมาเรียงกันตามข้อบังคับของตำแหน่งของเบสบนดีเอ็นเอ จึงเกิดปรากฏการณ์ที่สายโปรตีนม้วนงอไปมาเพื่อให้สายโปรตีนอยู่ในสภาพที่ผ่อนคลายที่สุด โดยกรดอะมิโนที่ชอบน้ำได้สัมผัสน้ำส่วนกรดอะมิโนที่ไม่ชอบน้ำหลบเข้าไปอยู่ด้านในของโครงสร้างของโปรตีน จุดที่สำคัญที่สุดคือ บริเวณของเอนไซม์ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสารชนิดหนึ่งไปเป็นอีกชนิดหนึ่ง (ในกรณีการย่อยโปรตีนนั้นคือ การเปลี่ยนโปรตีนโมเลกุลใหญ่ไปเป็นสายเป็บไตด์สายสั้นๆ หลายสาย) นั้นลำดับของกรดอะมิโนในสายบริเวณนี้เป็นตัวกำหนดรูปร่างสามมิติเฉพาะซึ่งเป็นสิ่งกำหนดความสามารถในการทำงานของเอนไซม์นั้น ๆ สิ่งที่ได้กล่าวมานี้เพื่อแสดงให้ท่านผู้อ่านได้เห็นภาพว่า การที่คนสองคนกินอาหารชนิดเดียวกันเท่าๆ กันกลับมีสุขภาพหรือการเจริญเติบโตซึ่งรวมไปถึงความอ้วนต่างกันนั้น เกิดเพราะความสามารถในการย่อยอาหารที่กินเข้าไปต่างกัน (เพราะเอนไซม์ที่มีชื่อเดียวกันสามารถมีรูปร่างต่างกันซึ่งส่งผลถึงการทำงาน) นั่นเอง นี่เป็นเพียงหนึ่งในหลายปัจจัยที่ทำให้คนที่กินอาหารเหมือนกัน ได้ผลต่อสุขภาพต่างกัน ดังนั้นจึงไม่เกินเลยนักถ้าจะกล่าวว่า เรื่องของความอ้วนความผอมของมนุษย์นั้นเป็นเรื่องของกรรม คือ กรรมตามพันธุ์นั่นเอง

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 168 มัดกล้ามนี้..ท่านได้แต่ใดมา

ทางบรรณาธิการฉลาดซื้อได้เปรยกับผู้เขียนว่า เดี๋ยวนี้มีการขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่โฆษณาว่า เสริมสร้างกล้ามเนื้อให้กับหนุ่มๆ ที่ต้องการเป็นที่ติดใจตรึงตาสาวด้วยมัดกล้าม ซึ่งไม่แน่ใจว่ามันมีประโยชน์และความปลอดภัยเพียงใด ผู้เขียนจึงรับเรื่องมาพิจารณาดูว่ามันมีอะไรเป็นประเด็นที่ผู้บริโภคควรระวังบ้าง แม้ว่าไปมันจะไม่มีประโยชน์ต่อ สว. อย่างผู้เขียนแล้วก็ตาม เมื่อเข้าไปค้นดูข้อมูลในเน็ตโดยอาศัย Google ก็พบบทความหนึ่งในเว็บ Kapook ชื่อ 12 อาหารสร้างกล้าม (Men's Health) เขียนโดย นพ.สมบูรณ์ รุ่งพรชัย เมื่อ 27 มีนาคม 2555 เวลา 18:03:15 ซึ่งใจความก็เป็นการแนะนำให้กินอาหารธรรมชาติบางชนิดที่ควรมีประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของหนุ่มๆ มีส่วนหนึ่งของบทความที่ต้องจริตของผู้เขียนเป็นอย่างยิ่งคือ “อาหารเสริมต่างๆ มากมายอาจไม่ได้ผล แถมยังทำให้คุณเสียเงินไปเปล่าๆ เพราะถ้าคุณยังรับประทานอาหารที่ไม่ถูกต้อง อาหารเสริมราคาแพง ก็ไม่สามารถออกฤทธิ์ หรืออาจไม่ต่างอะไรกับการรับประทานแป้งเปล่าๆ ดังนั้นเพื่อให้ได้กล้ามเนื้อสมใจหล่อเลือกได้ในระยะยาวหรือถาวร คุณจำเป็นต้อง เลือกทานอาหารที่ถูกต้องเหมาะสม....................” จริงแล้วการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เป็นเรื่องธรรมดาสำหรับคนที่ไม่เข้าใจหลักการของอาหารห้าหมู่ หรือถึงเข้าใจแต่เป็นคนรวยไม่รู้เรื่อง ในการหาข้อมูลผ่านฐานข้อมูล ScienceDirect ผู้เขียนได้พบบทความของ Tzu-Cheg Kao และคณะ เรื่อง Health Behaviors Associated With Use of Body Building, Weight Loss, and Performance Enhancing Supplements ตีพิมพ์ใน Annals of Epidemiology ชุดที่ 22 หน้าที่ 331–339 ในปี 2012 ซึ่งให้ข้อมูลว่า ไม่น่าประหลาดใจที่จากการสำรวจในปี 1999 ถึง 2000 พบว่าผู้ใหญ่อเมริกันอย่างน้อยร้อยละ 52 กินผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอย่างน้อยหนึ่งชนิดขึ้นไป นอกจากนี้ยังมีข้อมูลอีกว่า เกินกว่าร้อยละ 50 ของนักกีฬา ทหาร และคนทั่วไป กินผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมากกว่าหนึ่งครั้งต่อสัปดาห์ โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจว่า ในทหารที่ฝึกอย่างหนักมีถึงร้อยละ 13 ที่กินครีเอตีน (creatine) และผลิตภัณฑ์ที่มีเอ็พฟีดรีน (ephedrine) เป็นประจำเพื่อปรับปรุงสมรรถนะทางร่างกาย   ในปี 2008 สถาบันทางการแพทย์(Institute of Medicine หรือ IOM) ได้รายงานถึงการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในทหารซึ่งส่งผลกระทบถึงความพร้อมในการปฏิบัติการทางทหารและสมรรถนะทางกาย สถาบันทางการแพทย์แนะนำว่ากระทรวงกลาโหม (Department of Defense) ควร 1) วางระบบติดตามตรวจสอบผลเสียที่อาจเกิดจากการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารของทหารโดยรวม 2) ติดตามการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมากกว่าหนึ่งชนิดของกำลังพล และ 3) ติดตามการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีองค์ประกอบหลายชนิดที่ไม่ทราบสัดส่วนแน่นอนผสมกัน ตัวอย่างปัญหาทางสุขภาพที่เกิดจาการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในสหรัฐอเมริกาคือ หัวใจเต้นผิดปรกติ ตัวร้อน กล้ามเนื้อสลายตัว(Rhabdomyolysis ซึ่งมีเซลล์กล้ามเนื้อหลุดเข้าสู่กระแสเลือด โดยเฉพาะถ้าเป็นโปรตีนของกล้ามเนื้อเช่น มัยโอกลอบิน(myoglobin) หลุดไปถึงไต อาจทำให้ไตวาย) หมดสติ ชัก สมองหยุดทำงานเนื่องจากขาดเลือด และเสียชีวิต โดยจำนวนผู้เคราะห์ร้ายในลักษณะนี้ไม่แน่ชัด แต่ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาประเมินว่าน่าจะราวร้อยละ 1 ของปัญหาที่เกิดการกินผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ปัญหาทางสุขภาพนี้ค่อนข้างสำคัญเพราะ บุคลากรทางทหารนั้นมักต้องฝึกในสภาวะแวดล้อมที่คับขันสาหัสสากรรจ์ ซึ่งอาจเพิ่มความรุนแรงของปัญหาที่เกิดเนื่องจากการกินผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ดังนั้นการลดความเสี่ยงในประเด็นนี้ จึงสำคัญต่อความพร้อมของกำลังพลของกองทัพ ในปี 1980 กระทรวงกลาโหมสหรัฐได้เริ่มโครงการสำรวจพฤติกรรมของกำลังพลที่ใช้สารต่างๆที่ไม่ใช่อาหารในกองทัพ จากนั้นในปี 2005 ก็มีการสำรวจถามถึงการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารของกำลังพล โดยเฉพาะการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมกล้ามเนื้อ (body building) ลดน้ำหนัก (weight loss) และเสริมสมรรถนะร่างกาย (performance enhancing) ในประเด็นต่อไปนี้คือ สาเหตุการใช้ ระดับที่ใช้ และแหล่งข้อมูลในการใช้ผลิตภัณฑ์ จากการสำรวจได้มีการรายงานว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในสหรัฐอเมริกามีการปนเปื้อนขององค์ประกอบที่ผู้บริโภคไม่รู้จัก ดังนั้นการที่กำลังพลของกองทัพหันมากินผลิตภัณฑ์เหล่านี้อาจมีผลต่อสุขภาพอาจส่งผลต่อความพร้อมในการปฏิบัติหน้าที่ การสำรวจบอกว่า กำลังพล 1 ใน 4 กินผลิตภัณฑ์เสริมสร้างกล้ามเนื้อหรือผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนักเป็นประจำโดยไม่ได้ใช้ข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ช่วยในการตัดสินใจ นอกจากนี้การใช้ผลิตภัณฑ์เสริมสร้างกล้ามเนื้อนั้นยังไปมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงอื่น ๆ ที่กำลังพลมีเป็นประจำอยู่แล้วคือ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การไม่คาดเข็มขัดนิรภัย การไม่สวมหมวกกันน็อค และที่น่าสนใจก็คือ มีข้อมูลว่า คนที่ใช้ผลิตภัณฑ์เสริมสร้างกล้ามเนื้อนั้นมีแนวโน้มต่อการใช้สารกระตุ้นชนิดสเตียรอยด์(anabolic steroid) สูงกว่าคนทั่วไปถึงห้าเท่า โดยสรุปของรายงานกล่าวว่า การปนเปื้อนของสิ่งที่ไม่ต้องการและการปลอมปนในผลิตภัณฑ์นั้น เป็นสิ่งที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการป่วยของผู้ป่วย อีกทั้งการกินผลิตภัณฑ์มากกว่า 2 ชนิดขึ้นไปในกำลังพลร้อยละ 9 ของกองทัพนั้นน่าจะมีผลอย่างใดอย่างหนึ่งต่อสมรรถนะของกองทัพ และที่น่าสนใจคือ มีผู้รายงานว่ากว่าร้อยละ 30 ของนักกีฬามหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกานั้น ใช้ผลิตภัณฑ์เสริมสร้างสมรรถนะของร่างกาย รูปแบบของการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารของกำลังพลในกองทัพนั้นยังมีข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า ในปี 2005 พบว่านาวิกโยธินอาจมีความเสี่ยงในการดื่มแอลกอฮอล์และอื่น ๆ มากเกินไป โดยความเสี่ยงดังกล่าวข้างต้นมีแนวโน้มว่าเกิดในชายอายุ 25 ปี ที่มีการศึกษาระดับมัธยมปลายหรือน้อยกว่า มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าประมาณร้อยละ 25 ของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนั้นปนเปื้อนด้วยสเตียรอยด์ที่ใช้เสริมสร้างกล้ามเนื้อ(anabolic steroid) ซึ่งสารเหล่านี้มักไม่ถูกแจ้งว่าเป็นองค์ประกอบในฉลาก ดังนั้นในการศึกษาถึงผลการที่ผู้บริโภคกินผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต่างๆ จึงมักรายงานว่าผู้บริโภคมีอาการตับเป็นพิษ ภาวะทางจิตผิดปรกติ ความผิดปรกติของทางเดินอาหาร หัวใจเต้นผิดจังหวะ และเสียชีวิต ซึ่งอาการเหล่านี้มักสัมพันธ์กับการใช้ผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนัก แม้ว่ามีบางการศึกษาพบว่าบางผลิตภัณฑ์นั้นมี ไซบูทรามีน (Sibutramine) และซินเนฟฟรีน (Synephrine) ซึ่งใช้ในกิจการลดน้ำหนัก หรือส่วนประกอบอื่นปนอยู่ ก็ยังพบว่าเพียงร้อยละ 36 ของนักกีฬาเยอรมันเท่านั้นที่กังวลในปัญหานี้ และไม่มีใครทราบว่ากำลังพลของทหารอเมริกันเท่าใดที่รู้คิดกังวลต่อการปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หรือมีโครงการอะไรบ้างของผู้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่รับประกันว่า องค์ประกอบของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนั้นเป็นไปตามฉลากที่ติดไว้ โดยสรุปแล้ว มีการประมาณว่า หนึ่งในสี่ของกำลังพลของสหรัฐอเมริกาใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งอาจมีผลต่อความเสี่ยงที่จะเกิดพิษภัยต่อสุขภาพ ผลิตภัณฑ์ที่(คิดว่า)เสริมสร้างกล้ามเนื้อ ผลิตภัณฑ์ที่(คิดว่า)เพิ่มศักยภาพในการปฏิบัติงานและ(คิดว่า)ลดน้ำหนัก เป็นความเสี่ยงของปัจเจกบุคคลที่อาจเกี่ยวข้องต่อความพร้อมของกำลังพลในกองทัพ การปรับปรุงระบบรายงานความเป็นพิษที่เกี่ยวข้องกับการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และปรับปรุงความรู้สำนึกของผู้ผลิตและใช้นั้นเป็นสองขั้นตอนที่สำคัญต่อการสร้างเสริมสุขภาพของสาธารณชนที่ควรขับเคลื่อนเพื่อยังไว้ซึ่งสุขภาพที่สมบูรณ์ของกำลังพล ความคิดดังกล่าวที่เล่ามานี้รับรองว่าอีกนานจึงจะเกิดขึ้นในประเทศไทย

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 167 หญิงท้องดื่มชาเขียว

  ชาเป็นเครื่องดื่มที่ผู้ใหญ่ห้ามผู้เขียนสมัยเป็นเด็กดื่ม นัยว่าเพื่อเลี่ยงอาการท้องผูก นอนไม่หลับ แต่พอมาถึงยุคสมัยนี้การดื่มชาของเด็กไทยดูจะไม่มีปัญหา เพราะเป็นการรับอิทธิพลที่ดูดีจากชาวญี่ปุ่น ซึ่งดื่มชาเขียวเป็นนิสัย สิ่งที่ต่างกันกับอดีตคือ ชาที่ผู้เขียนถูกห้ามดื่มนั้นเป็นชาจีนไม่ใช่ชาเขียว ชาจีนและชาเขียวนั้นมาจากพืชที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Camellia sinensis วิธีการผลิตนั้นต่างกัน ตามความเข้าใจของผู้เขียนนั้น เมื่อใบชาถูกเก็บมาทิ้งไว้จะมีเอนไซม์ในใบชาออกมาย่อยสารธรรมชาติในใบให้เปลี่ยนไปพร้อมกับการหมักจากจุลินทรีย์ธรรมชาติ จนกลายเป็นสารที่ส่งกลิ่นของชาจีน(ซึ่งอาจรวมถึงชาฝรั่งและแขก) แต่ถ้าใบที่ถูกเก็บมาได้รับความร้อนพอประมาณตามวิธี ซึ่งคิดค้นในแต่ละท้องถิ่น ซึ่งเป็นการทำให้เอนไซม์ในใบถูกทำลายไป ชานั้นจะคงสารตั้งต้น ซึ่งมีคาเทชินเป็นกลุ่มหลักไว้ พร้อมทั้งมีสีออกเขียวรวมทั้งกลิ่นที่ผู้เขียนไม่ใคร่ชอบ เพราะมันคาวคล้ายสาหร่าย(ต่างจากชาจีนที่สีออกน้ำตาลคล้ำและกลิ่นหอมชวนดื่ม) ดังนั้นสำหรับผู้เขียนแล้วชาจีนและชาฝรั่งใส่นมข้นหวาน จึงเป็นตัวเลือกแรกโดยทิ้งชาเขียวลงท่อระบายน้ำไป   มาในปัจจุบัน สืบเนื่องจากการศึกษาทางระบาดวิทยาด้านอาหารและมะเร็ง ได้ผลสรุปประการหนึ่งจากหลายประการว่า คนญี่ปุ่นอายุยืนและเป็นมะเร็งน้อยกว่าคนชาติอื่นเพราะกินอาหารดีกว่า โดยมีชาเขียวเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งในหลายปัจจัย อีกทั้งวัฒนธรรมเจป๊อบก็ได้เข้ารุกรานประเทศต่างๆ ทั่วโลก ได้นำวัฒนธรรมดื่มชาเขียวตามเข้าไปด้วย โดยอ้างว่าเป็นวัฒนธรรมเพื่อสุขภาพ   ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า ชาเขียวเป็นหนึ่งในหลายปัจจัยที่น่าจะทำให้คนญี่ปุ่นอายุยืนกว่าคนชาติอื่น แต่การดื่มชาเขียวนั้นไม่ใช่การดื่มน้ำล้างถุงชา(เติมน้ำตาล 12 ช้อน)ในขวดพลาสติก ซึ่งดื่มแล้วอย่าได้หวังเลยว่าอายุจะยืนยาว เนื่องจากในความเป็นจริงแล้วต้องเข้าใจวัฒนธรรมของคนญี่ปุ่นที่ดื่มชา ซึ่งไม่ได้ใสแจ๋วแบบที่คนไทยดื่ม อีกทั้งต้องฝึกการฝึกสมาธิ ความมีระเบียบ ความอดทน และอื่นๆ ตลอดถึงการกินอาหารที่ออกเป็นธรรมชาติมีผักและธัญพืชสูง เป็นต้น   จากความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ที่มีการทำวิจัยที่ลึกซึ้ง ทำให้เราทราบว่าสารเคมีธรรมชาติสำคัญกลุ่ม คาเทชิน (catechin) นั้นมีศักยภาพในการลดความเสี่ยงของการเกิดเซลล์มะเร็ง ทั้งจากการศึกษาในหลอดทดลองและสัตว์ทดลอง ข้อมูลเหล่านี้ทำให้ผู้แสวงหาแนวทางในการขายสินค้าเพื่อสุขภาพจับประเด็นว่า น่าจะรวย ถ้าหันมาขายคาเทชินแก่ผู้รักสุขภาพซึ่งอยากตายช้า โดยมีบางส่วนของโฆษณาใน facebook ดังนี้ “ชาเขียวเป็นสมุนไพรซึ่งมีประโยชน์ต่อร่างกายหลากหลาย จัดเป็นยาอายุวัฒนะในเมืองจีนที่มีประวัติมายาวนานถึง4000ปี และจากการวิจัยโดยแพทย์ยุคนี้ ทำให้เราได้รู้ว่าสารที่ดีที่มีอยู่ในชาเขียวนั้นคือ"คาเทชิน" และร่างกายหากได้รับสารคาเทชิน 700-800 mg เป็นประจำทุกวัน จะช่วยดูแลร่างกายได้หลักๆคือ ลดคอเลสเตอรอลไม่ดีในเลือด ลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดและปรับความดันเลือดให้สมดุล บำรุงตับไต และลดความเสี่ยงในการเกิดโรคร้ายต่างๆเช่น โรคหัวใจ เบาหวาน สโตรค หลอดเลือดตีบ พาร์คินสัน อัลไซเมอร์ มะเร็ง และโรคอ้วน แต่การที่จะได้คาเทชิน700-800 mg นั้นต้องต้มชาเขียวร้อนถึง10 ลิตรเลยทีเดียว และของแถมที่มากับชาก็คือแทนนินที่ทำให้ท้องผูกและคาเฟอีนที่ทำให้นอนไม่หลับ ซึ่งก็จะเกิดผลเสียต่อสุขภาพมากกว่าผลดี เลือกดูแลสุขภาพตัวคุณเองแบบง่ายๆด้วยมูเกน สารสกัด"คาเทชิน"คุณภาพพรีเมี่ยมสั่งตรงจากญี่ปุ่น บรรจุแคปซูล ทานง่ายๆหลังอาหารเช้า-เย็น ครั้งละ 1 แคปซูล เป็นประจำ เหมาะทั้งทานบำรุง ป้องกัน และบรรเทา สินค้าเรานำเข้าจากญี่ปุ่น ราคาจึงอาจจะสูงไปหน่อย แต่คุณภาพสมราคาแน่นอน รับประกันว่าคุณภาพดีที่สุดในไทย สั่งตอนนี้มีโปรโมชั่นดีๆ มาเสนอP”   คาเทซิน คืออะไร  คาเทชินนั้นเป็นสารเคมีที่ใช้ในอาหารคนและอาหารสัตว์ ด้วยคุณสมบัติที่คาเทชินนั้นสามารถยับยั้งการออกซิไดส์ไขมันในอาหารโดยเฉพาะในเนื้อแดง สัตว์ปีกและปลา ปริมาณทั่วไปคือ ราวร้อยละ 0.3 ของเนื้อสัตว์เพื่อให้สามารถยับยั้งการออกซิไดส์ของไขมันที่แทรกในเนื้อสัตว์ได้ นอกจากนี้ในผลิตภัณฑ์น้ำมันพืช เช่น น้ำมันถั่วลิสงและน้ำมันคาโนลา ก็มีการใช้คาเทชินเช่นกัน คาเทชินมีหลายชนิดที่สำคัญได้แก่ คาเทชิน เอปปิคาเทชิน และเอปปิคาเทชินแกลเลท สารเหล่านี้เมื่อถูกจำหน่ายในลักษณะผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนั้น มักถูกอวดอ้างคุณสมบัติในการป้องกันไข้หวัดใหญ่ ป้องกันการเกิดคราบฟัน หรือบำบัดอาการความดันสูง ความจริงการบริโภคชาเขียวเพื่อให้ได้คาเทชินนั้น ไม่ควรมีปัญหาอย่างไรเลยเพราะคนญี่ปุ่นดื่มกันมาจนจำความกันไม่ได้แล้ว แต่มันมามีปัญหาในยุคดิจิตอลนี้แหละที่มีการนำเอาคาเทชินมาทำเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารดังกล่าวแล้วข้างบน ผู้เขียนเลยลองหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ทดูว่าการได้รับคาเทชินเข้าไปในปริมาณสูงๆ นั้นก่อปัญหาทางสุขภาพบ้างหรือไม่ ผลปรากฏว่าโชคร้ายเพราะพบว่า มีบทความวิชาการเรื่องหนึ่งชื่อ Herbs and Supplements to Avoid During Pregnancy and Breastfeeding เขียนโดย Navarro-Peran และคณะเผยแพร่ที่ www.med.nyu.edu/content?ChunkIID=35536 ซึ่งอ้างข้อมูลจากงานวิจัยของตัว Navarro-Peran และทีมงาน ซึ่งประกอบด้วยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยในสเปนและสหราชอาณาจักรเรื่อง The antifolate activity of tea catechins ตีพิมพ์เมื่อปี 2005 ใน วารสาร Cancer Research ชุดที่ 65 หน้า 2059-2064 งานวิจัยนั้นกล่าวว่า สมุนไพรและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ควรหลีกเลี่ยงระหว่างการตั้งครรภ์และให้นมลูกคือ ชาเขียว เพราะการดื่มชาเขียวมากเกินไปก่อให้เกิดความผิดปรกติของทารกในท้อง เนื่องจากสารธรรมชาติในชาเขียวน่าจะไปรบกวนการทำงานของโฟเลตในทารกที่อยู่ในครรภ์ เพราะมีการทดลองในห้องปฏิบัติการที่ใช้สารสกัดจากใบชาแล้วปรับให้มีความเข้มข้นเท่าที่ตรวจพบได้ในน้ำเลือดของคน พบว่าสารสกัดนั้นสามารถยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ dihydrofolate reductase (DHFR) ซึ่งในสภาวะปรกติถ้าไม่มีสารสกัดจากใบชาในเลือดหรือมีไม่มากนัก เอนไซม์นี้ทำหน้าที่เปลี่ยนโฟเลตที่กินเข้าไปให้อยู่ในรูปที่ร่างกายใช้ได้ ดังนั้นเมื่อกินคาเทชินแล้วการเปลี่ยนโฟเลตให้ใช้ได้ก็จะลดลง ผลที่ตามมาคือ เกิดปัญหาในการสร้างหน่วยพันธุกรรมใหม่ของร่างกาย ซึ่งเกี่ยวข้องต่อการเจริญเติบโตของตัวอ่อนในท้องแม่ ความจริงผลของสารสกัดจากใบชา ซึ่งมีคาเทชินเป็นหลักต่อการเปลี่ยนแปลงโฟเลตนั้น ถ้าเกิดต่อเซลล์มะเร็งก็จะทำให้เซลล์มะเร็งชะลอการเจริญเติบโตได้ ซึ่งเป็นข้อดีที่ส่งผลให้การดื่มชานั้นได้รับการยอมรับว่าลดความเสี่ยงต่อมะเร็งได้ แต่ในกรณีที่ผู้ดื่มตั้งครรภ์ ซึ่งทารกในครรภ์มารดานั้นมีอุปมาว่ามีความคล้ายกับก้อนมะเร็งขนาดใหญ่ เนื่องจากมีการกระตุ้นให้มีการแบ่งเซลล์อย่างรวดเร็ว(แต่ควบคุมได้) ประเด็นที่เซลล์เนื้อเยื่อทารกต่างจากเซลล์มะเร็งก็คือ เมื่อเซลล์แบ่งพอแล้ว จะมีการพัฒนาไปเป็นอวัยวะตามความเหมาะสมของเนื้อเยื่อนั้น ๆ ซึ่งเข้าใจว่าถูกควบคุมด้วยระบบฮอร์โมนของแม่ ดังนั้นจึงมีการตั้งสมมุติฐานว่าการดื่มชามากเกินไปในหญิงตั้งครรภ์นั้นจึงอาจส่งผลถึงการพัฒนาร่างกายของเด็กในท้อง เพราะโฟเลตที่แม่กินเข้าไปทำงานไม่เติมที่ ซึ่งอาจส่งผลถึงการตายคลอดของเด็กได้ อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจมากคือ การที่คาเทชินเป็นสารต้านออกซิเดชั่น(เหมือนสารอื่นๆ ที่มีการขายเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร) โอกาสที่มันจะแสดงความเป็นสารกระตุ้นออกซิเดชั่น (prooxidation) เมื่อใช้ที่ความเข้มข้นสูงดังที่มีการโฆษณาในการแนะนำผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ที่มีคาเทชินเป็นองค์ประกอบนั้นอาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งปรากฏการณ์นี้มีการแสดงให้เห็นแล้วจากการศึกษาในห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์เฉพาะทางที่ได้รายงานว่า คาเทชิน โดยเฉพาะเอปปิแกลโลคาเทชินนั้นสามารถออกซิเดไซส์หน่วยพันธุกรรมของเซลล์ให้เสียหายได้ มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งทำโดยนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยในฮ่องกงแล้วตีพิมพ์ในวารสาร Free Radical Biology and Medicine ชุดที่ 43 หน้าที่ 519–527 .ในปี 2007 กล่าวว่า ในจำนวนคาเทชินที่อยู่ในใบชาทั้งหมดนั้น มีสารชื่อ เอปปิแกลโลคาเทชิน-3-แกลเลท ที่ถูกระบุว่า เมื่อให้สารนี้แก่แม่หนูที่กำลังท้องในความเข้มสูง ทำให้ตัวอ่อนของหนูทดลองหยุดพัฒนาอวัยวะบางส่วน ซึ่งเป็นข้อมูลที่สนับสนุนสิ่งที่ผู้เขียนกล่าวข้างต้นว่า สารสกัดจากใบชาน่าจะมีผลต่อความสมบูรณ์ของตัวอ่อนมนุษย์ ดังนั้นถ้าท่านผู้บริโภค โดยเฉพาะสตรีตั้งครรภ์มีความประสงค์จะเสพคาเทชินในขนาดสูงๆ เมื่อได้ทราบข้อมูลดังกล่าว ซึ่งแม้ไม่ใช่ผลการทดลองในคนก็ตาม แต่ก็มีความเป็นวิทยาศาสตร์อย่างเต็มที่ ผู้เขียนก็ไม่คิดจะห้ามปรามแต่ประการใด เพราะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในการเสพสิ่งที่หน่วยงานราชการอนุญาตให้มีการขายแล้ว แต่สำหรับนักวิจัยด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพแล้ว ประเด็นที่น่าติดตามคือ อุบัติการณ์ของเด็กที่ออกมาผิดปรกติหรือตายคลอดเนื่องจากแม่นิยมบริโภคสารอะไรๆ ในปริมาณสูงๆ นั้น น่าสนใจติดตามเป็นอย่างยิ่งโดย ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 166 นิวเคลียร์ อาหาร และผีเสื้อ

หลังจากเกษียณราชการแล้วผู้เขียนมีเวลาว่างมากขึ้น จึงนั่งคิดถึงสิ่งที่ผ่านเข้ามาในชีวิตที่ผ่านไป วันหนึ่งก็คิดถึงนโยบายหนึ่งของรัฐบาลที่ลาออกก่อนถูกปฏิวัติว่า ต้องการสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูง ซึ่งได้รับการต้อนรับแบบว่าทั้งโขกทั้งสับจากวิญญูชน เนื่องจากเป็นโครงการใช้ภาษีซึ่งรีดจากประชาชนมหาศาล เพื่อตอบสนองความต้องการของคนขยุ้มมือหนึ่งในการนั่งรถไฟไปไหนเร็วๆ ทั้งที่ค่าเครื่องบินของสายการบินราคาประหยัดก็แพงกว่ารถทัวร์ไม่เท่าไรแล้ว ดังนั้นการปฏิวัติจึงทำให้โครงการนี้หยุดไปก่อน หลายท่านคงภาวนาให้รถไฟฟ้าความเร็วสูงอย่าเพิ่งกลับมาตอนนี้ แบบว่าขอให้กลับมาในยุคพระศรีอาริยเมตไตรยแล้วกัน(เพราะในยุคนั้นอะไรๆ ก็ฟรี) เนื่องจากค่าโดยสารรถไฟฟ้าความเร็วสูงเช่นรถไฟหัวจรวดในญี่ปุ่นนั้นแพงมาก เมื่อราวยี่สิบกว่าปีมาแล้ว ผู้เขียนเคยขึ้นรถสายชินคันเซนจากโตเกียวไปเมืองฮามะมะสึ จังหวัดชิสุโอกะ ระยะทางราว 210 กิโลเมตรนั้น ค่าโดยสารเที่ยวเดียวก็ปาเข้าไปเจ็ดพันกว่าบาทไทย ดังนั้นจึงต้องเป็นการขึ้นฟรีอย่างเดียว(แบบรถเมล์และรถไฟชั้นสาม)เท่านั้นกรรมกรและชาวนาจึงมีสิทธิขึ้นได้ โดยไม่ต้องฆ่าตัวตายเมื่อถึงปลายทาง สาเหตุของความแพงในค่าโดยสารนั้นคงเป็นเพราะต้นทุนการวางรางและตู้รถไฟสูงมาก ไม่ทราบว่าท่านผู้อ่านเคยได้เห็นข้อมูลเกี่ยวกับการจัดการเรื่องรถไฟฟ้าความเร็วสูงแบบจริงจังหรือไม่ ผู้เขียนใช้การค้นหาทางอินเตอร์เน็ทพบเอกสาร (pdf file) 2 ชิ้นชื่อ “มาตรฐานสากลด้านความเข้ากันได้ทางแม่เหล็กไฟฟ้า (EMC) กรณีศึกษา: รถไฟความเร็วสูง ตอนที่ 1 และตอนที่ 2” เขียนโดย ดร.ไกรสร อัญชลีวรพันธุ์ แห่งศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ซึ่งมีรายละเอียดที่น่าสนใจ และรูปแบบเอกสารสวยดี สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนหาข้อมูลไม่พบในเอกสารของ ดร.ไกรสร คือ พลังงานไฟฟ้าที่จะนำมาใช้ขับเคลื่อนรถไฟฟ้าความเร็วสูงนั้นมาจากไหน เพราะโรงไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ที่เรามีอยู่ก็ผลิตไฟฟ้าไม่พอใช้อยู่แล้ว ต้องซื้อไฟจากลาวมาใช้ จนถ้าวันใดลาวไม่ขายไฟให้เรา(เพราะลาวเองก็กำลังพัฒนาบ้านเมืองอย่างก้าวกระโดดโดยไม่กลัวคอหัก) คนไทยที่ชอบเดินห้างสรรพสินค้า ชอบความฟุ้งเฟ้อตอนค่ำคืน คงได้ลงแดงกันบ้าง   ด้วยความใคร่รู้ ผู้เขียนจึงต้องพึ่ง Professor Wikipedia ภาคภาษาไทยว่า รถไฟฟ้าความเร็วสูงได้พลังงานไฟฟ้ามาแหล่งใด ปรากฏข้อมูลสรุปได้ว่า มีน้อยมากที่รถไฟความเร็วสูงใช้เชื้อเพลิงดีเซลหรือเชื้อเพลิงฟอสซิลอื่นๆ โดยในประเทศญี่ปุ่นและฝรั่งเศสที่มีเครือข่ายรถไฟความเร็วสูงที่ครอบคลุมมาก สัดส่วนใหญ่ของกระแสไฟฟ้ามาจากพลังงานนิวเคลียร์ พลังงานนิวเคลียร์นั้นดีร้ายเช่นใดมีคนวิเคราะห์และสรุปไว้มากมายแล้ว ข้อมูลที่ปรากฏนั้นขึ้นกับว่าคนสรุป ชอบหรือกลัวนิวเคลียร์ มีข้อมูลหนึ่งที่น่าสนใจคือ ข้อมูลเกี่ยวกับประเทศเยอรมันซึ่งพบได้ใน wikipedia หัวข้อ Nuclear power in Germany กล่าวว่า Merkel's government announced that it would close all of its nuclear power plants by 2022 ซึ่งหมายความว่า อีกไม่กี่ปีเยอรมันจะเป็นประเทศที่เลิกใช้พลังงานนิวเคลียร์ (โดยหันไปใช้พลังงานทางเลือกเช่น กังหันลม โซลาร์เซลล์ เป็นหลักในการผลิตไฟฟ้า) โดยมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นเพียงอนุสรณ์สถานทำไมคนเยอรมันจึงกลัวนิวเคลียร์ถึงขนาดบีบให้รัฐบาลสร้างแนวทางเลิกใช้นั้น ใน wikipedia ได้อธิบายไว้แล้ว โดยมีประเด็นหนึ่งที่พาดพิงถึงปัญหาของโรงไฟฟ้าปรมาณูของญี่ปุ่นที่โดนสึนามิถล่มแล้วยังแก้ไขไม่จบจนถึงวันนี้ ท่านผู้อ่านคงพอจำได้ว่า ในปี 2011 นั้นโรงไฟฟ้าปรมาณูฟูกูชิมะ ที่เมืองเซ็นได ซึ่งเป็นเมืองเอกของจังหวัดมิยะงิ ประเทศญี่ปุ่นเกิดปัญหาในการควบคุมปฏิกิริยาของแท่งเชื้อเพลิงปฏิกรณ์หลังโดนสึนามิทำให้เกิดการรั่วไหลของสารรังสีออกสู่สิ่งแวดล้อม รัฐบาลท้องถิ่นจำเป็นต้องอพยพประชาชนออกจากพื้นที่โดยรอบวารสารออนไลน์ชื่อ sciencedaily ฉบับวันที่ 23 กันยายนปีนี้มีบทความชื่อ Food affected by Fukushima disaster harms animals, even at low-levels of radiation, study shows ซึ่งมีใจความว่าจริงอยู่แม้ว่าไม่มีความเสียหายถึงชีวิตของประชาชนแต่นักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยริวกิว (Rukyus) จังหวัดโอกินะวะ (Okinawa) ก็ได้ติดตามตรวจสอบอันตรายที่กระทบต่อสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติบริเวณนั้น โดยศึกษาในผีเสื้อสายพันธุ์ pale grass blue butterflies (Zizeeria maha หรือ Pseudozizeeria maha ซึ่งมีชื่อภาษาไทยที่ค้นได้คือ ผีเสื้อเซลจุดป่าสูง) ที่กินใบไม้ที่เก็บจากเมืองรอบๆ โรงไฟฟ้าปฏิกรณ์ปรมาณูฟูกูชิมะ ผลงานนี้ตีพิมพ์ในวารสาร BMC Evolutionary Biology ชุดที่ 14 หน้า 193 ปี 2014ที่จริงแล้วการศึกษาในลักษณะดังกล่าวนี้ได้เคยกระทำหลังการระเบิดไม่นานนัก พบว่าการให้ผีเสื้อกินใบไม้ในบริเวณที่มีการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีระดับสูงนั้นทำให้ผีเสื้อมีปัญหาทางสุขภาพ โดยผีเสื้อที่กินใบไม้ที่เก็บจากต้นที่อยู่ในรัศมี 20 กิโลเมตรของโรงไฟฟ้าซึ่งมีระดับรังสีเป็นพันๆ เบคเคอเรลต่อน้ำหนักใบไม้ 1 กิโลกรัม มีขนาดตัวเล็กและมีสัณฐานร่างกายโดยเฉพาะปีกที่ผิดปรกติ สำหรับการศึกษาครั้งล่าสุดในปี 2013 นั้น ได้ทดลองให้ผีเสื้อกินใบไม้ที่เก็บตั้งแต่ปี 2012 จากบริเวณที่มีการปนเปื้อนต่ำ 6 จุด ซึ่งอยู่ห่างจากตำแหน่งของโรงไฟฟ้า 59-1760 กิโลเมตร และพบว่าช่วงชีวิตของผีเสื้อนั้นต่างกันขึ้นกับว่าใบไม้นั้นมีการปนเปื้อนของธาตุกัมมันตรังสีซีเซียมเป็นเท่าใด (ซึ่งอยู่ระหว่าง 0.2-161bq/kg) ศาสตราจารย์ โจจิ โอตากิ ซึ่งเป็นผู้ทำวิจัยหลักได้กล่าวว่า สิ่งมีชีวิตในธรรมชาตินั้นได้รับอันตรายในระดับต่างๆ กันแม้ว่าอยู่ในบริเวณที่มีการปนเปื้อนรังสีระดับต่ำ ในการศึกษาเดียวกันนั้นมีภาคที่ 2 ซึ่งนักวิจัยได้เฝ้าสังเกตผีเสื้อรุ่นลูกและพบว่า ลูกผีเสื้อ(ได้จากพ่อแม่ ซึ่งกินใบไม้ปนเปื้อนสารรังสีระดับสูง)ที่ถูกเลี้ยงให้กินใบไม้ที่ไม่มีรังสีนั้น มีอวัยวะเกือบทุกอย่างเหมือนผีเสื้อธรรมดายกเว้นปีก ซึ่งเล็กกว่าผีเสื้อที่ได้จากพ่อแม่กลุ่มควบคุม(ที่ไม่ได้กินใบไม้ปนเปื้อนรังสี) ประเด็นที่น่าสนใจคือ ลูกผีเสื้อที่ได้จากพ่อแม่ที่กินใบไม้ปนเปื้อนรังสีและต้องกินใบไม้ปนเปื้อนรังสีด้วยนั้นมีความผิดปรกติในระดับที่สูงมากกว่า ซึ่งแสดงว่าอันตรายของสารรังสีที่ปนเปื้อนในอาหารสิ่งมีชีวิตนั้นสามารถสืบต่อขยายผลไปได้ในรุ่นลูกหลานที่ยังกินอาหารปนเปื้อนต่อไป ดังนั้นวิธีลดอันตรายจากสารรังสีทำได้โดยไม่กินอาหารปนเปื้อนสารรังสี ข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ (ซึ่งเราคงสร้างแน่ถ้ามีรถไฟฟ้าความเร็วสูง) ที่นำเสนอนั้น ก็เพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักว่า การจะได้อะไรที่คิดว่าสุดดีนั้น อาจจำเป็นต้องแลกกับความเสี่ยงซึ่งสุดเลวอยู่เหมือนกัน เมืองไทยมีสึนามิมาแล้ว ดังนั้นถ้าจะสร้างโรงไฟฟ้าปรมาณูอยู่ใกล้ทะเล (ซึ่งนิยมทำกันเพราะสะดวกในเรื่องเกี่ยวกับน้ำที่ต้องใช้และอื่นๆ) ผู้คนที่อยู่บริเวณนั้นคงนอนตาไม่หลับกันแน่ (ยกเว้นจะเอาผู้ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างทั้งหมดไปอาศัยอยู่แถวนั้นสักสิบปี) ที่สำคัญอาหารทั้งที่เป็นพืชหรือสัตว์ก็อาจเกิดปัญหาได้ถ้ามีความบกพร่องเกิดขึ้นดังที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่น ที่น่ากลัวสุดๆ ก็คือ เวลาเกิดปัญหาทางเทคนิคใดๆ ก็ตามในประเทศไทยนั้น เจ้าหน้าที่มักปกปิดจนกว่าปัญหามันเกินเลยถึงขั้น ช้างตายทั้งตัวเอาใบบัวปิดไม่มิด จึงมีการออกมารับผิดแบบมีข้อแก้ตัวต่างๆ นานา จากนั้นเรื่องก็เงียบ ขาดคนซึ่งหน้าบางพอที่จะลาออกจากตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับความผิดพลาด ไม่เหมือนนักบริหารของญี่ปุ่นและเกาหลีที่ อะไรนิดหน่อยก็ลาออกหรือฆ่าตัวตาย ซึ่งหลายคนในเมืองไทยคิดว่ามันโง่หน้าบางเองนี่หว่า

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point