ฉบับที่ 164 รับมือสารตะกั่วในบ้านกับอาจารย์ ชาญณรงค์ ไวยพจน์

นอกจากเดือนตุลาคมจะเป็นเดือนที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของเราในหลายๆ เหตุการณ์ให้ได้ระลึกถึงแล้ว  เดือนนี้ยังเป็นเดือนที่มีการรณรงค์เกี่ยวกับความปลอดภัยจากสารตะกั่ว ชื่องานงานสัปดาห์ป้องกันภัยจากพิษตะกั่ว ปี 2557 ซึ่งในปีนี้จะจัดขึ้นในวันที่ 22 ตุลาคม 2557 นิตยสารฉลาดซื้อจึงขออินเทรนกับสารตะกั่ว หลังจากได้ลงข้อมูลเกี่ยวกับสารตะกั่วในสีอัพเดทไปเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ถ้าจะกล่าวถึงเรื่องความปลอดภัยจากสารตะกั่ว รายชื่ออันดับต้นๆ ของนักวิชาการที่เคลื่อนไหวในเรื่องนี้คงนี้ไม่พ้น ชื่อ อ.ชาญณรงค์ ไวยพจน์ ประธานอนุกรรมการวิศวกรรมความปลอดภัย สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมความปลอดภัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่นอกจากท่านจะเฝ้าระวังเรื่องสารตะกั่วในสีแล้ว  อาจารย์ยังทำงานด้านที่เกี่ยวกับวิศวกรรมความปลอดภัย “ก็มีเรื่องสวนสนุก ตอนนี้ก็มีเรื่อง มอก. ความปลอดภัยในมาตรฐานเครื่องเล่นของเด็ก แล้วก็ที่ วสท. ก็เป็นประธานคณะอนุกรรมการวิชาการวิศวกรรมความปลอดภัย ก็ทำเรื่องมาตรฐานด้วยส่งให้ทาง สมอ. เรื่องสนามเด็กเล่นปลอดภัย ล่าสุดก็เครื่องเล่นปลอดภัยด้วย พวกเครื่องเล่นในสวนสนุก” แต่ถ้าเป็นงานในส่วนของการเลือกสีทาบ้านให้ปลอดภัยจากสารตะกั่ว อ.ชาญณรงค์  มีคำแนะนำสำหรับผู้บริโภคดังนี้ค่ะ ในบ้านของเรามีส่วนที่ต้องใช้สีทำไมถึงต้องใช้ตะกั่วเป็นส่วนผสม จำเป็นต้องใช้ไหมและเรามีวิธีป้องกันอย่างไร มันมี 2 แบบ แบบที่ตั้งใจกับแบบที่ปนเปื้อนมาในส่วนต่างๆ ข้อดีของมัน(สีผสมสารตะกั่ว) คือ ปกปิดผิวได้เรียบร้อยและทำให้สีอยู่ทนนาน รวมทั้งสะท้อนสีออกมาได้สว่างขึ้น สดใสขึ้น นี่คือข้อดีของเขา ถ้าเป็นลักษณะจงใจก็จะมีแค่นี้ คงทน สีสดใส ปกปิดผิวได้ดี แต่ข้อเสียคือมันมีผลต่อร่างกายของคนเรา ผู้ทาที่ได้รับโดยตรง จากไอที่ระเหยออกมา และที่ปนเปื้อนอยู่ที่มือถ้าไม่ใส่อุปกรณ์ป้องกัน และผู้ใช้ที่อยู่บ้าน สีที่ผนังถ้าวันหนึ่งสีมันหลุดออกมาแล้วลูกหลานเผลอกินเข้าไปก็เป็นอันตรายต่อร่างกาย สาเหตุอีกข้อหนึ่งที่ว่าทำไมต้องใช้สารตะกั่ว จริงๆ มีมานานแล้วโดยเฉพาะสีน้ำมัน ช่วยให้มีความคงทนในเรื่องการทำสี ทำให้สีนั้นอยู่ได้นาน ทำให้สีสะท้อนออกมาได้ดี ช่วยในเรื่องการเกาะแน่น สีน้ำมันที่ทาในบ้านเราเจอจากพวกอะไรบ้าง เจอในพวกโลหะ รั้วกันตก ประตูหน้าต่าง และขอบวงกบที่ยังใช้สีน้ำมัน ซึ่งความจริงทาแค่นี้มันก็ไม่เยอะแต่ที่เยอะๆ คือเขาเอาไปทาภายใน แบบนี้ถึงจะอันตราย ซึ่งเกิดจากความเข้าใจผิด ที่ถูกคือการทาผิวปูนก็ควรเป็นสีน้ำ แต่ถ้าทาพวกพื้นไม้ หรือโลหะก็ยังนิยมใช้เป็นสีน้ำมันอยู่ ความเข้าใจที่ว่าถ้าทาสีน้ำมันจะทำให้ลบรอยเปื้อนได้ง่าย อย่างกรณีโรงเรียนหรือศูนย์เด็กเล็ก นั้นคือเขามองด้านเดียว มองด้านที่ว่าทาแล้วมันลื่น แล้วก็ลบได้ ขีดเขียนแล้วลบง่าย ถ้าอยู่กลางแจ้งสีน้ำมันที่ทากับคอนกรีตนั้นเวลาโดนน้ำจะพองตัวออกมา ควรมีคำแนะนำในการใช้ไหม เรื่องสีทาภายนอก ภายใน เห็นควรว่าที่กระป๋องสีนั้นควรจะเขียนให้ชัดเจน ว่าเป็นสีที่ทาภายนอก บางยี่ห้อเขามีนะแต่ตัวมันเล็กไปหน่อย ควรเน้นสีให้ชัดเจนว่าใช้ทาภายนอก( แต่สีน้ำมันแพงกว่าสีน้ำ ) แพงกว่า สีน้ำที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับสีน้ำมันก็จะแพงกว่าอีก แกลลอนหนึ่งประมาณสองพันกว่าบาท แต่ถ้า 18 ลิตรก็พันกว่าบาท ถ้าเป็นสีเกรดพีเมียมนั้นก็สองพันขึ้นไป ถ้าเราจ้างผู้รับเหมาแล้วกำหนดยี่ห้อไปเลยแต่สีมันก็มีหลายเกรดอีก ต้องระบุไปเลยว่าขอสีเกรด A มันถึงจะมีความคงทน เกรด B นี่ทนทานประมาณ 5 ปี ถ้าเกรด A ก็อยู่ได้ 10 ปีขึ้นไป เวลาสีมันหมดอายุก็จะเป็นผงแป้ง ในโลกนี้มีไหมบริษัทสีที่ไม่ใช้สารตะกั่ว มีบ้างแต่น้อย ในทางปฏิบัติมันก็มีสอดแทรกไปบ้าง คือเราต้องทำให้คนมีความรู้ว่าสีที่มีสารตะกั่วนั้นมันมีประโยชน์และมีโทษอย่างไร เขาจะได้มีสิทธิเลือก  เวลาคนเลือกซื้อจะไม่ได้คำนึงถึงเรื่องสารตะกั่วแต่จะคิดถึงความสวยงามของสี คนซื้อขั้นแรกต้องนึกถึงสีก่อน สีอะไรสวย หลังจากนั้นก็มาดูยี่ห้อโดยไม่ได้ดูเกรด ไม่ดูคุณภาพเลย เราต้องดูควบคู่กันไปแต่บางทีมันก็ติดเรื่องราคาอีก มันต้องช่วยๆ กันในหลายๆ ฝ่าย แม้กระทั่งราชการก็ควรกำหนดให้ใช้สีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และไม่มีสารตะกั่ว ซึ่ง ณ ตอนนี้ก็เริ่มตื่นตัวกันแล้ว เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมนี่ต้องอย่างไรบ้างถึงจะเรียกว่าเป็นมิตร 1.ต้องไม่ทำลาย 2. ต้องไม่เป็นอันตรายต่อสภาพทั่วๆ ไป ถ้าพูดให้ชัดคืออยากให้ปลอดสารตะกั่ว  ซึ่งก็มีบางบริษัทมาบอกว่าสีคุณภาพนี้รุ่นนี้ยังไม่มีขอเปลี่ยนในรุ่นใหม่ เพราะว่าทั้งนี้ทั้งนั้นมีเฉพาะสีน้ำมันเท่านั้นที่มีสารตะกั่ว แต่ถ้าหากเราจะเลือกซื้อสีเบื้องต้นนั้น โดยทั่วไปก็ดูสีสันก่อน ต่อมาก็เลือกยี่ห้อ ยี่ห้อที่หลักๆ จากนั้นก็ดูที่คุณภาพแล้วก็เรื่องปลอดสาร เพราะฉะนั้นเรื่องที่เราอยากรณรงค์คือ ให้บริษัทสีทำให้ปลอดสารตะกั่ว และกำหนดให้ไม่เกิน 90 ppm แล้วติดฉลากให้ชัดเจนไปเลยว่ามีค่าสารตะกั่วเท่านี้ ผู้ซื้อจะได้เลือกได้ว่าค่าเท่านี้ควรจะใช้กับอะไร รวมทั้งประเภทของสีนั้นต้องทำให้ตัวใหญ่ขึ้น พวกของเล่นในสนามเด็กเล่นเป็นสีน้ำมันใช่ไหม สีน้ำมันทั้งนั้นเลย แล้วเวลาเด็กเล่นก็จะอม แทะ ต้องรณรงค์บริษัทผลิตเครื่องเล่นขายให้เขาไม่ใช้สีน้ำมัน ให้ใช้สีปลอดสาร ส่วนที่ยังวางอยู่ต้องทำให้หมดไปภายใน 2 ปี แล้วต่อไปก็ไม่ผลิตเครื่องเล่นที่ใช้สีน้ำมันออกมาขาย ต่อไปมันก็จะไม่มี อย่างนี้เวลาคนสร้างบ้านแล้วใช้สีน้ำมันมาทาภายในจะทำอย่างไร ด้วยความที่เข้าใจว่าสีน้ำมันลบง่าย มันลบง่ายก็จริง และไม่โดนน้ำก็อยู่ได้นาน แต่อีกด้านหนึ่งมันมีสารตะกั่ว ต้องลอกออกแล้วทาสีที่ปลอดสารเข้าไปใหม่ แต่ไม่ควรทำเองนะ ควรให้ช่างทำเพราะมันมีขั้นตอน และต้องรวบรวมเอาไปให้ กทม.ทิ้ง แต่คนส่วนใหญ่ไม่รู้ก็เอาไปทิ้งตามกองขยะเลย ขยะพิษก็ไม่แยกกันให้ชัดเจน บางที่แยกไปแล้วก็โดนเอาไปทิ้งรวมกัน ทางที่ดีก็ใส่ถุงแยกไว้แล้วติดป้ายเลยว่าขยะเป็นพิษ ถ้าพูดเป็นทฤษฎีก็พูดได้นะแต่ส่วนใหญ่คนก็ไม่ค่อยทำ นี่คือวิธีการลอกด้วยการใช้น้ำฉีดแล้วปล่อยให้มันพองออกมา อีกวิธีคือใช้ความร้อนเป่า แต่วิธีนี้มันทำให้ผนังไม่ดี ต้องใช้กับพวกโลหะ แต่สีมันก็จะโดนเผาไปในตัว กลิ่นก็ออกมาด้วย ไม่ดีๆ หลังจากลอกแล้วก็ทำความสะอาด และตามด้วยการขัด ขัดเพื่อให้พื้นผิวมันเนียน แล้วจึงปรับสภาพปูนนิดหนึ่ง ความชื้นต้องไม่มาก ไม่เกิน 11 – 12 %  การใช้สารเคมีทาไปให้ร่อนก็เป็นการใช้ความร้อนอีกวิธีเหมือนกัน ทาไปแล้วมันจะร้อนแล้วก็ค่อยๆ ร่อนออกมา หลังจากปรับสภาพปูนแล้วค่อยทาสีใหม่ ทั้งนี้เจ้าของบ้านก็ควรมีความรู้เรื่องสีด้วย สีไม่ควรมีค่าเกิน 90 ppm ถึงจะดี ตอนนี้บริษัทผู้ผลิตรู้ คนใช้ก็รู้บ้างไม่รู้บ้าง อย่างนี้คนที่อาศัยอาคารเช่า แฟลต คอนโดจะทำอย่างไร อันนี้คือของเก่า ต้องของใหม่ที่เรารณรงค์ให้ใช้สีที่ปลอดสาร แต่วิธีแก้บางที่เขาไม่ใช้เลยก็มี ใช้วอลเปเปอร์แทน อาจารย์เคยรณรงค์กับบริษัทก่อสร้างใหญ่ๆ ไหม เคยแนะนำ แล้วมันต้องช่วยกันหลายทาง คุยกับสมาคมสีด้วยให้ช่วยกำหนดไม่ให้มีสารตะกั่ว อยากให้ช่วยแนะนำคนที่อาศัยอยู่ในอาคารเก่าที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรืออาจจะไม่รู้ว่ามันมีอันตรายว่าเขาควรทำอย่างไร ก็เหมือนตัวเรา ถ้าเราเพิ่งรู้ว่าสีที่ทามันมีสารตะกั่ว ก็ให้ใช้ชีวิตไปแบบปกติอย่าไปยุ่งกับผนัง อย่าไปลอกมัน แต่ตรวจสอบหน่อยว่าสีมันลอกออกมาไหม แล้วอย่าลืมใส่ถุงมือก่อนสัมผัส ถ้าสีลอกให้ทำการเปลี่ยนทันทีตามขั้นตอน เพราะถ้าสีลอกร่อนออกมานั่นคือสีหมดอายุแล้ว ต้องแจ้งผู้ดูแลอาคารให้ดำเนินการเลย ก็คือใช้ชีวิตไปตามปกติอย่าไปกังวลกับมัน แต่ต้องแจ้งคนในบ้านว่าอย่าไปลอกสี อย่าเอามือไปถูสี หรือลอกเอามาตรวจคุณภาพสีเลยก็ได้ แกะมาแค่ประมาณ 1 นิ้วก็พอ ถ้าหลีกเลี่ยงมาทาผนังด้วยสีขาส สีขาวมีสารตะกั่วน้อยกว่าสีอื่นๆ ไหม ก็น้อยกว่าสีอื่นแต่ก็เกินมาตรฐานเหมือนกัน และส่วนใหญ่คนที่ใช้สีน้ำมันจะชอบใช้สีสดๆ ยิ่งเจอ 2 อย่างเลยทั้งสารตะกั่วและปรอท ถ้าใช้สีอ่อนสารก็น้อยกว่าแต่ก็ยังเกินเกณฑ์ที่กำหนดอยู่ดี สีที่ผสมมาแล้วในปูนมอร์ต้าร์ ( ปูนซีเมนต์ผสมสำเร็จ สำหรับฉาบผนัง )ใช้ได้ไหม ได้ แบบนั้นไม่มีสารตะกั่ว เป็นสีฝุ่นผสมลงไปเลย ฉาบแล้วเป็นสีสันสวย แต่ราคามันค่อนข้างแพง อยากให้แนะนำว่าทำผนังบ้านอย่างไรให้ปลอดภัยจากสารตะกั่ว อย่างแรกเลย ใช้สีที่ปลอดสาร ข้อ 2 ถ้าทำไม่ได้ก็ต้องเปลี่ยนไปใช้วอลเปเปอร์แทนหรือไม่ใช้สี ใช้ปูนขัดมันแทน ข้อ 3 ใช้ปูนเปลือยหรืออิฐเปลือย พวกปูนสีก็มี แล้วก่อผนังอิฐโชว์ลายเสีย นี่ก็เป็นทางออกได้ชัดเจนเลย ถ้าเป็นไม้ก็ทาแค่พวกน้ำยารักษาเนื้อไม้ที่ปลอดสารก็พอ อยากให้ อ.พูดถึงการที่จะหลุดจากกรอบเดิมๆ ที่ว่าบ้านต้องทาสีสดๆ ถึงจะสวย ไม่ต้องไปคำนึงถึงความนิยมให้นึกถึงความปลอดภัยเป็นหลักๆ ง่ายๆ เราจะฉลาดอยู่อย่างไร มันพูดยากนะ คนเรามันมีความเป็นศิลปะ มีความสุนทรีย์ แต่ทั้งนี้ก็ต้องไม่ไปเอาอย่างคนอื่นเขา เราต้องนึกถึงความปลอดภัยเป็นหลัก เพราะเราสามารถเลือกอย่างอื่นแทนได้ ไม่จำเป็นต้องใช้สีก็ได้ ในระหว่างที่เรายังไม่มีสีที่ปลอดสารทั้งหมดก็ใช้ทางเลือกอื่นไป

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 116 ซื้อบ้าน...ใครก็อยากได้ในสิ่งที่สัญญาว่าจะมี

  “ถามว่าพอใจไหม ก็ไม่ค่อยพอใจ เพราะจริงๆ เราไม่ได้อยากได้เงิน เราซื้อบ้านเราก็อยากได้ในสิ่งที่เราอยากได้ อยากได้ที่เขาสัญญาว่าจะมีคลับเฮาส์ มีลู่วิ่ง มีสวน อยากได้พวกนี้ อยากได้สระว่ายน้ำ เราไม่อยากได้เงิน…” อภิภพ พึ่งชาญชัยกุล หนึ่งในลูกบ้าน ที่ฟ้องโครงการหมู่บ้านจัดสรรชื่อดัง ให้สัมภาษณ์กับฉลาดซื้อ หลังมีคำพิพากษาว่าให้ทางโครงการบ้านจัดสรรสร้างคลับเฮ้าส์ สระว่ายน้ำและรั้วด้านหน้าโครงการ รวมถึงให้จ่ายค่าเสียหายให้เขาและลูกบ้านที่ร่วมกันฟ้องอีกเดือนละ 30,000 บาท นับตั้งแต่วันที่เขายื่นฟ้อง จนกว่าทางโครงการจะสร้างคลับเฮ้าส์เสร็จ ฉลาดซื้อขอยกย่องให้เป็นสุดยอดคนพิทักษ์สิทธิอีกหนึ่งคนค่ะ เราจะพาคุณไปคุยกับ อภิภพ  พึ่งชาญชัยกุล กันค่ะ  ไปดูว่าเขาและลูกบ้านมีวิธีการพิทักษ์สิทธิตัวเองจากการไม่สร้างคลับเฮ้าส์ของโครงการหมู่บ้านจัดสรรอย่างไร   บ้านหลังแรกในชีวิต“บ้านหลังนี้คุณแม่ซื้อให้หวังให้เป็นเรือนหอครับ ก่อนซื้อเราก็ดูหมดทุกอย่างแล้วตามข้อแนะนำการซื้อบ้าน ทั้งโครงการที่น่าเชื่อถือ ดูทำเล ไป-มาสะดวก เพราะผมทำงานอยู่สมุทรสงครามและบ้านก็อยู่ไม่ไกลเกินไป สุขุมวิท 77 (อ่อนนุช) – กับบางประกง ขนาดเอาเพื่อนที่เป็นสถาปนิกมาช่วยดูโครงสร้างบ้านดีไหม ทุกอย่างดีหมด บ้านก็สร้างเสร็จแล้วนะตอนที่เราซื้อ เหลือแค่ตกแต่งเหลือแต่คลับเฮาส์ยังสร้างไม่เสร็จ เขาก็พาไปดูนะว่าที่เขากันไว้แล้ว มีแบบแล้ว กำลังจะลงมือ ก็ดูหมดทุกอย่าง แต่ก็โดนเข้าจนได้”อภิภพ หวังที่จะซื้อบ้าน เพื่อครอบครัว เมื่อมีลูกก็อยากให้ลูกได้วิ่งเล่น แทนที่จะอยู่บนคอนโดเหมือนตอนที่เขายังไม่ซื้อบ้าน เขาจึงตัดสินใจซื้อบ้านกับโครงการบ้านจัดสรรชื่อดังแถวอ่อนนุชในปี 2549 ในราคา 15 ล้านบาท โดยทางโครงการโฆษณาไว้ว่าจะมีคลับเฮาส์ สระว่ายน้ำ และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ อีก รวมทั้งมีการรักษาความปลอดภัยที่ดี ซึ่งสิ่งเหล่านี้เองที่ทำให้คุณอภิภพ และครอบครัวตัดสินใจซื้อบ้านที่นี่ ทั้งที่เขาก็ตระเวนดูมาหลายโครงการแล้ว แต่ที่โครงการนี้ตรงใจเขาที่สุด หลังจากอยู่ไปสักระยะ เขาและครอบครัวก็เฝ้ารอคลับเฮาส์ที่ทางโครงการโฆษณาไว้ แต่เฝ้ารอ รอ และรอ ก็ไม่มีวี่แววว่าจะสร้างแต่อย่างใด เขาจึงรวมตัวกับลูกบ้านเรียกร้องสิทธิของตัวเอง เพราะส่วนตัวแล้วเขาก็เป็นผู้ที่รักษาสิทธิตัวเองอยู่ก่อนหน้านั้นแล้ว อีกทั้งยังเรียนกฎหมายมาเป็นทุน  หลักฐานต่างๆ ผมเก็บไว้หมดเลยนะ ทั้งโบรชัวร์แนะนำโครงการ ใบเสร็จทุกอย่าง ป้ายโฆษณาโครงการ ตอนที่เขาย้ายสำนักงานออกไป ผมก็ไปยืนที่หน้าสำนักงานบอกกับคนขนของว่า ‘น้องอะไรที่ไม่เอาพี่ขอนะ’ ฟ้องอย่างไรให้ได้ผล แรกๆ เราก็ปรึกษากัน แล้วก็คุยกับทนายว่าจะฟ้อง แล้วพอทนายเขาดู ก็บอกว่าค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงนะถ้าจะยื่นฟ้อง คือในหมู่บ้านผมมีโครงการโปรเจ็คหน้า 48 หลัง แต่ว่าเขาขายได้ประมาณ 20 หลัง แล้วเขาหยุดขาย พอหยุดขายปุ๊บ อะไรก็ไม่ทำทุกอย่างเลย  ขนาดฝาท่อยังไม่ปิดเลย เขาหยุดแล้วย้ายสำนักงานขายออกไปเลย(ทั้งที่จริงๆ เป็นธุรกิจขนาดใหญ่มากด้วย) เรากับเพื่อนบ้านก็เลยเริ่มคุยกัน เราเริ่มคุยกับทางโครงการมา 2 ปี ก่อนยื่นฟ้องคดีนี้ พอเข้าไปคุยกับทางโครงการ เขาก็จะผัดวันประกันพรุ่ง  เดี๋ยวส่งคนโน้นมาคุย พอไปคุยใหม่ก็ส่งอีกคนมาคุย เปลี่ยนคนมาตลอดระยะ 2 ปี จึงไม่ความคืบหน้าอะไร ก็ทำเรื่องร้องเรียนไปที่ สคบ. (สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค) แต่พอถึงเวลาไกล่เกลี่ยก็ไม่สามารถจัดการทางโครงการได้ เพราะตัวแทนโครงการ เขาไม่มา สคบ.เขาก็ทำอะไรให้ไม่ได้ สคบ.จะทำเรื่องเสนอกรรมการดูว่าจะฟ้องคดีให้เราได้ไหม เราก็ถามว่าต้องรอนานแค่ไหน เขาก็ตอบไม่ได้ แล้วตอนนั้น มีกฎหมายผู้บริโภคใช้แล้ว(พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค 2551 ประกาศใช้เมื่อ 23 ส.ค.2551)  ผมกับเพื่อนบ้านอีก 5 หลัง ก็เลยยื่นฟ้องไปเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2552 จริงๆ ตอนฟ้องไปเราก็คิดว่าคงใช้เวลานาน แต่มันก็ไม่รู้จะทำยังไงแล้ว เพราะเขาไม่คุย เราก็เลยฟ้อง ทีนี้เราฟ้องเราก็ฟ้องทั้งบริษัทที่เป็นเจ้าของโครงการ เขาก็มีพูดนะว่าเขาจะฟ้องกลับ ฟ้องหมิ่นประมาทเรา ฟ้องว่าเราฟ้องเท็จ เขาก็มีพูดเหมือนกัน แต่สุดท้ายเขาก็ไม่ได้ทำ แล้วเรื่องของเราก็เป็นข่าวนะ เขาไปยื่นฟ้องนักข่าวที่เขียนข่าวของเราแทนก่อนยื่นฟ้องเราก็หาข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับโครงการเองด้วยนะครับ ว่าถ้าทางโครงการจะสร้างคลับเฮาส์จะต้องใช้เงินเท่าไร ก็ให้สถาปนิกช่วยตรวจประเมินราคาคลับเฮ้าส์ กับโครงการบ้านจัดสรรชื่อเดียวกันนี่ละที่เขาสร้างเสร็จแล้ว ว่าเขาใช้งบสร้างไปเท่าไร ซึ่งประเมินออกมาแล้วก็ไม่เท่าไรนะครับ ค่าก่อสร้างประมาณ 13,800,000 บาท ค่าติดดวงไฟและค่าสร้างรั้วอีก 500,000 บาท แต่เขาไม่สร้างให้เรา เราก็เลยยื่นฟ้องโครงการว่าผิดสัญญา เรายื่นฟ้องไป 25 เปอร์เซ็นต์จากราคาบ้านและที่ดิน รวมดอกเบี้ยอีก 7 เปอร์เซ็นต์ พอเรายื่นฟ้องคดีเขาบอกกับเราว่า ‘เพื่อเป็นการแสดงความจริงใจให้เราถอนฟ้อง แล้วค่อยมาคุยกัน เราก็บอกว่าทำไมไม่กลับกันล่ะ คุณทำอะไรก่อนสิแล้วเราจะถอนฟ้องให้‘ แต่เราไม่ถอนฟ้อง เพราะดูสิทธิแล้ว ถอนฟ้องแล้วเราฟ้องอีกไม่ได้ มันจะกลายเป็นฟ้องซ้ำฟ้องซ้อน มันทำไม่ได้ เราก็ต้องรักษาสิทธิเอาไว้ก่อน เดี๋ยวถ้าเราถอนฟ้องแล้วคุณไม่ทำ ไม่สร้าง จะทำยังไง ก็จบล่ะสิทีนี้ หลักฐานต่างๆ ผมเก็บไว้หมดเลยนะ ทั้งโบรชัวร์แนะนำโครงการ ใบเสร็จทุกอย่าง ป้ายโฆษณาโครงการ ตอนที่เขาย้ายสำนักงานออกไป ผมก็ไปยืนที่หน้าสำนักงานบอกกับคนขนของว่า ‘น้องอะไรที่ไม่เอาพี่ขอนะ’ ผมก็เก็บไว้ทุกอย่าง ทำไมที่ต้องเก็บนะเหรอครับ เพราะว่ามันมีผลทางกฎหมายเราสามารถใช้อ้างอิงได้ เมื่อมันมีปัญหาเกิดขึ้น เพราะว่าพวกนี้ถ้าตีความตามกฎหมายก็คือถือเป็นส่วนหนึ่งของคำเสนอขาย เพราะฉะนั้นมันเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา ถึงแม้ตอนที่เราทำสัญญา เขาอ้างในสัญญาซื้อ – ขาย นะว่าเขาไม่ได้ระบุเรื่องพวกสาธารณูปโภคพวกนี้ไว้เลย แต่เราก็อ้างว่าคุณมีในโบรชัวร์ไว้แบบนี้ก็ถือเป็นสัญญาเสนอขาย คนทั่วไปบางทีไม่เก็บนะ แต่ผมเก็บ อยากบอกคนอื่นๆ ว่าเก็บไว้เถอะครับ สักวันหนึ่งจะมีประโยชน์ คดีของผมกับลูกบ้านอีก 5 คนถือว่าเร็วนะครับคือพอไต่สวนมูลฟ้อง ศาลท่านก็ถามว่าพอจะตกลงกันได้ไหม ทางโน้นเขาก็รีบบอกว่าตกลงได้ มันก็ไปเข้ากระบวนการไกล่เกลี่ย ซึ่งก็เหมือนเดิม มันก็เหมือนตอนที่เราไปคุยกับบริษัทเขาเมื่อสองปีที่ผ่านมา เสียเวลาไกล่เกลี่ยไปประมาณ 6-7 เดือน เพราะนัดทีหนึ่งก็นัดห่างกันสองเดือนหรือเดือนครึ่งบ้างประมาณนี้ สุดท้ายพอกลับมาเข้ากระบวนการน่าจะใช้เวลาไม่นาน แค่นัดหรือสองนัดก็จบ ไม่นานก็มีคำพิพากษาออกมา ซึ่งพิพากษาออกมาว่าให้สร้างคลับเฮาส์ให้เรา  พร้อมจ่ายค่าเสียหายให้เราเดือนละ 30,000 ต่อบ้าน จนกว่าจะสร้างเสร็จคลับเฮาส์เสร็จ หรือจนกว่าจะครบ 25% ของราคาบ้านของแต่ละหลัง ซึ่งผมมองว่าท่านตัดสินให้ดีมากเลย   เงิน ไม่ใช่ประเด็น ถามว่าพอใจไหม ก็ไม่ค่อยพอใจ เพราะจริงๆ เราไม่ได้อยากได้เงิน เราซื้อบ้านเราก็อยากได้ในสิ่งที่เราอยากได้ อยากได้ที่เขาสัญญาว่าจะมีคลับเฮาส์ มีลู่วิ่ง มีสวน อยากได้พวกนี้ อยากได้สระว่ายน้ำ เราไม่อยากได้เงิน เพียงแต่ศาลท่านก็บอกว่าคุณฟ้อง คุณก็ต้องให้ในสิ่งที่ศาลให้ได้ ซึ่งที่เราเรียกไปคือมูลค่าบ้าน 25% ของราคาบ้าน เพื่อนบ้านอีก 9 หลังก็เตรียมจะยื่นฟ้อง ซึ่งถ้าผลการพิพากษาออกมาแบบเดียวกัน รวมแล้วก็เกือบ 60-70 ล้าน กับการที่โครงการสร้างคลับเฮาส์ให้พวกเรา มันน่าจะง่ายกว่าการต้องมาเสียเงินก้อนนี้ให้พวกเรานะ ผมว่า คือถ้าโครงการไม่โฆษณาว่ามีคลับเฮ้าส์ เราไปดูโครงการอื่นที่มันถูกกว่านี้ หรือแม้กระทั่งโครงการอื่นที่เขามี เขาก็อาจจะถูกกว่านี้ แต่ที่เราเลือกโครงการนี้มันเพราะหลายๆอย่าง เราซื้อของอย่างหนึ่งไม่ใช่เป็นเพราะคุณสมบัติข้อเดียว มันต้องดูคุณสมบัติหลายอย่างร่วมกัน ทั้งทำเล ตรงนี้ทำเลดี บ้านแพงแต่ถือว่าทำเลดี ถ้าในอนาคตเราขายมันก็คงได้ราคาดี ในตอนนี้มีคนในหมู่บ้านเขาบอกขายนะ ไม่มีคนซื้อ เพราะมาถึงมาดูสภาพแล้วจะซื้อลงได้ยังไง ราคาก็ตก ขายถูกยังไม่มีคนเอาเพราะมันไม่น่าอยู่แล้ว ตอนนี้อยู่ในช่วงที่รออยู่ครับ รอว่าหลังหนึ่งเดือนหลังจากคำพิพากษา ทางโครงการ จะอุทธรณ์หรือเปล่า ถ้าอุทธรณ์ก็จะต้องสู้กันต่อ ที่ลุกขึ้นมาสู้ก็เพราะว่าดีกว่าอยู่เปล่าๆ อย่างที่เห็นป้ายติดข้างนอกว่า ร้องทุกข์หนึ่งครั้ง ดีกว่าบ่นพันครั้ง ไม่อย่างนั้นก็บ่นกันไปแบบนี้ ตอนนี้เพื่อนบ้านรู้จักกันหมดทุกคนดีไปอย่างครับ   กฎหมายผู้บริโภคช่วยได้เยอะ ถ้าหากไม่มีความรู้ด้านกฎหมาย ส่วนตัวผมยอมรับครับว่าก็ต้องคงยากนะ  แต่กฎหมายตัวนี้อ่านง่ายนะครับ คือกฎหมายเขาเขียนไว้ให้อ่านง่ายพอสมควร และดีอีกอย่างก็คือว่าเจ้าพนักงานคดีที่ศาลเขาช่วยเราเยอะ อะไรที่เราเข้าใจผิดเขาก็อธิบายให้ฟังว่าเราทำได้ อะไรไม่ได้ ในตอนนี้ในแง่ของผู้บริโภค ผมว่าอาจจะเป็นคุณูปการไม่กี่อย่างของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่มีออกกฎหมายตัวนี้ออกมามองว่ามันทำให้คุณภาพชีวิตเราสูงขึ้น  ผู้ประกอบการจะทำอะไรออกมาขายก็ต้องคิดดีๆ นะ แม้กระทั่งประเด็นหลักๆ ผมมองว่าในส่วนของผู้จัดจำหน่าย จริงๆ ผู้ผลิตทุกคนอยากทำสินค้ามีคุณภาพ แต่เราก็ถูกบีบจากผู้จัดจำหน่าย ห้างอยากซื้อของถูก เพราะตอนนี้ พ.ร.บ.ความรับผิดกับสินค้าไม่ปลอดภัย เอาผิดทั้งหมด ผู้จัดจำหน่ายก็ต้องรับผิดชอบ ผู้ผลิต ผู้โฆษณา ทุกคนต้องร่วมรับผิดชอบกันหมด ผมว่าถ้ามันทำให้มีของที่มีคุณภาพอยู่ในตลาดมากขึ้น คดีพวกนี้มันก็จะน้อยลง มันก็จะฟ้องในเรื่องใหญ่ๆ จริงๆ เรื่องจิ๊บๆจ้อยๆ มันก็ไม่ควรจะมาขึ้นศาล

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 110 เกือบตายเพราะถุงลมนิรภัยไม่ทำงาน

จะเป็นอย่างไรหากคุณตัดสินใจซื้อรถยนต์คันหนึ่งด้วยเล็งเห็นถึงความปลอดภัย แต่เมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นถึงได้รู้ว่ารถยนต์ที่คิดว่าปลอดภัย มีถุงลมนิรภัย จะช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ ก็หาเป็นดังที่หวัง อย่างกรณีของ จิรพงษ์ ชูชาติวงศ์ และพรศรี ชูชาติวงศ์ 2 สามีภรรยา ที่เกิดอุบัติเหตุรถที่ขับมาพุ่งชนเข้ากับรถยนต์คันที่สวนมาระหว่างทาง แต่ปรากฏว่าถุงลมนิรภัยไม่ทำงาน ทางบริษัทให้เหตุผลว่า ชนไม่ถูกจุด ถุงลมจึงไม่ทำงาน เรื่องนี้จะเป็นอย่างไร ฉลาดซื้อจะพาคุณผู้อ่านไปคุยกับคู่ชีวิตที่รอดจากมัจจุราชได้อย่างหวุดหวิด ชนไม่ถูกจุด ถุงลมไม่ทำงาน“ช่างเทคนิค เขาบอกเจ๊ว่าชนครั้งแรกเข็มขัดมันรัดไว้แล้ว ชนซ้ำอีกถุงลมนิรภัยจะออก เจ๊ก็บอกว่าน้องอย่าพูดอย่างนี้ ถ้าชนซ้ำเจ๊ไม่ตายซะก่อนเหรอ” พรศรี บอกเล่าถึงคำพูดของช่างเทคนิคของบริษัทที่อธิบายกับเธอและสามีถึงเหตุที่ถุงลมนิรภัยไม่ทำงาน เมื่อเธอมาทวงถามว่าเหตุใดหนอถุงลมนิรภัยในรถคันที่เธอซื้อมาไม่โผล่ออกมาช่วยลดแรงปะทะไม่ให้ได้รับบาดเจ็บมากกว่าที่เป็นอยู่นี้เมื่อครั้งเธอและสามีเกิดอุบัติเหตุเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2552 เช้าตรู่ของวันนั้นเธอและสามีเดินทางไปทำธุระต่างจังหวัด โดยใช้เส้นทางถนนดอยสะเก็ด-เชียงราย ผ่านทางโค้งหลายโค้ง แล้วรถยนต์ของเธอและสามี(คนขับ) ขณะกำลังวิ่งขึ้นเขาด้วยความเร็ว 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงก็พุ่งชนกับรถยนต์อีกคันที่วิ่งสวนลงมาเข้าอย่างจัง ส่งผลให้รถยนต์โตโยต้า คัมรี่ สีขาวไข่มุก ที่ซื้อมาราคา 1,528,000 บาท เมื่อปี 2545 ของเธอและสามีถึงกับกันชนส่วนหน้า คานหน้า หน้ากระจัง หม้อน้ำ บังโคลนซ้าย-ขวา และฝากระโปรงรถยนต์ เสียหายอย่างหนัก เธอและสามีเป็นอย่างไรบ้างนะหรือ เดชะบุญที่เธอและสามีคาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้งที่นั่งรถ แต่แรงปะทะก็ทำให้เธอบาดเจ็บสาหัสบริเวณหน้าอก กลางหลังและต้นคอ กระดูกสันหลังส่วนอกชิ้นที่ 11 หักและแตกละเอียด สามีเธอก็บาดเจ็บไม่แพ้กันเขาได้รับบาดเจ็บสาหัสบริเวณหน้าอกและกลางหลัง กระดูกสันหลังยุบ 1 ข้อ อีกทั้งซี่โครงร้าว ทั้งสองต้องรักษาตัวอยู่นานถึง 6 เดือน จนปัจจุบันถึงแม้จะผ่านไปปีกว่าแล้วแต่อาการเสียวๆ ที่กระดูกของเธอ และความหวาดระแวงที่ขึ้นรถก็ยังมีอยู่ การงานที่เคยทำได้ก็แทบไม่ได้ทำทั้งสวนลำไย งานรับจ้างทำรองเท้าผ้าฝ้ายส่งประเทศญี่ปุ่น ขายผ้าฝ้ายและผ้าชาวเขาที่ทำให้เธอมีรายได้เดือนละ 150,000 บาท ก็มีอันต้องเลิกรา “น้องคนนั้นก็บอกว่าจะให้ความช่วยเหลืออะไรบ้าง เจ๊ก็บอกว่าเสนอให้ซ่อมรถให้เจ๊ถูกหน่อยหรือซ่อมรถให้เจ๊ฟรีก็ได้ เจ๊จะไม่เอาเรื่องที่ถุงลมไม่ทำงาน แค่นี้ก็พอใจแล้ว เขาก็ไม่ยอม เขาให้รอไปก่อน แล้วเขาจะติดต่อที่กรุงเทพฯให้ทางบริษัทติดต่อเราโดยตรงเลย จากนั้นประมาณ 1 เดือนเจ๊ก็โทรไปตามตลอด เกือบ 2 เดือน ช่างเทคนิคที่ กทม.ก็มาบอกให้เจ๊ไปฟัง” ก่อนจะได้พูดคุยกับตัวแทนจากบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด “เจ๊ได้ยินช่างเทคนิคเขาบอกกับพนักงานข้างๆ ว่าถุงลมนิรภัยไม่ออกดีแล้ว ถ้าออกค่าซ่อมเป็นแสนนะ คล้ายๆ ให้เจ๊ดีใจว่าถุงลมนิรภัยเจ๊ไม่ออกนี่ประหยัดค่าซ่อม เจ๊ก็เลยเอ๊ะขนาดค่าซ่อมยังเป็นแสน แล้วซื้อใหม่นี่บวกเข้าไปกี่แสนก็ไม่รู้ แต่ถึงเวลาฉุกเฉิน เกือบจะเอาชีวิตแลก ถุงลมนิรภัยมันไม่ออกมาป้องกันเราแล้วเอามาทำไม มันไม่เป็นไปตามที่โฆษณาเลย เจ๊ก็เลยยิ่งรู้สึกว่าช้ำใจ แล้วยิ่งได้คำตอบว่ารถไม่บกพร่องสักอย่าง เพราะมันชนแรงไม่พอ และชนไม่ถูกที่ เจ๊ก็เลยว่าอย่างนี้ไม่ได้ ขนาดแรงสั่นสะเทือน กระดูกข้อที่สิบเอ็ดที่เจ๊เอกซเรย์ออกมานี่มันจะแตกสลาย หมอบอกว่าเจ๊กล้ามเนื้อแข็งแรง กระดูกเลยไม่ยุบลงไป ถ้ายุบลงไป ต้องมาผ่าตัด มาจัดกระดูกใหม่ ถ้าโดนเส้นเอ็นต้องนั่งรถเข็นตลอดชีวิต ถ้าผ่าตัดสำเร็จก็โชคดีไป แต่ยังดีกล้ามเนื้อเจ๊แข็งแรงมันก็เลยประคองไว้ไม่ยุบลงไป เจ๊ก็เลยไม่ยอมที่ช่างเทคนิคพูดอย่างนี้ เขาก็เลยมีเอกสารมาจากกรุงเทพฯ ฝ่ายเทคนิคบอกว่าถ้าไม่พอใจให้โทร.ไปทางโน้น เขาว่าชนแรงไม่พอ ชนไม่ตรงจุด ก็เหมือนเดิมนั่นล่ะ เจ๊ก็เลยโทร.ไปคุยกับกับบริษัทฯ ที่กรุงเทพ ทางบริษัทบอกว่าไม่สามารถช่วยเหลือตรงนี้ได้ ไม่เกี่ยวกับบริษัท เจ๊บอกว่าทำไมไม่เกี่ยว เจ๊ก็ว่าถ้าเธอไม่รับผิดชอบนะเจ๊จะฟ้อง เขาก็บอกว่าเชิญตามสบาย” นั่นคือคำตอบที่เธอและสามีได้จากบริษัท ซื้อรถใหม่ เพราะอยากได้ถุงลมนิรภัย“ตอนเจ๊ตัดสินใจซื้อรถคันนี้ เพราะรถคันเก่าเจ๊มันไม่มีถุงลมนิรภัยไง เขาก็แนะนำว่ารถนี้รุ่นพิเศษมีถุงลมนิรภัย 4 ใบ ปกป้องชีวิตได้ แต่ถ้าซื้อแล้วนะ ข้างในห้ามไปติดสติกเกอร์ ห้ามไปตกแต่ง ถ้าตกแต่งแล้วมันไม่ออกจะเข้าบริษัทไม่ได้ ถ้าเราไม่ทำอะไร เวลาเกิดเรื่องแล้วมันจะออกมาอัตโนมัติ ป้องกันชีวิตเราเนอะ ถ่ายรูปไว้ด้วยนะวันที่เราไปรับรถคันนี้มา ไม่ใช่ว่าร่ำรวยอะไรมากมายและซื้อรถใหม่ๆ มาโชว์ แต่ว่าเพื่อปกป้องชีวิต เพราะเราเดินทางบ่อย ซื้อด้วยเงินสดเลยนะ แล้วเวลาเกิดเรื่องขึ้นมา ชนปุ๊บมันไม่ออกเลย ชนแรงจนหัวยุบไปหมดเลยที่เห็น ค่าซ่อมที่เขาประเมินตั้งเจ็ดแสนกว่าบาท” เธอว่าพลางนำภาพเมื่อครั้งได้รถมาใหม่ๆ ให้ทีมงานฉลาดซื้อดู ไล่เรียงมาตั้งแต่ใหม่เอี่ยม จนถึงสภาพรถบุบบู้บี้ไม่เหลือสภาพรถรุ่นพิเศษให้เห็นแม้แต่น้อย “หลังจากเรายื่นคำขาดกับบริษัทไปว่าเราจะฟ้องเขาก็ทำให้กินไม่ได้นอนไม่หลับนะ ไปหาทนาย ไปหาทุกที่เลย ทนายเชียงใหม่ก็ไม่มีใครกล้าต่อสู้กับบริษัทเลย แต่เขาก็แนะนำให้ไปขอความช่วยเหลือจากมูลนิธิฯ ที่กรุงเทพ เจ๊ก็เลยให้ลูกชายช่วยติดต่อให้ ระหว่างนั้นก็มีคนบอกว่าอย่าไปสู้เลย ดีไม่ดีถูกฟ้องกลับเพราะทำชื่อเสียงบริษัทเขาเสียหาย ตอนแรกเจ๊ก็รู้สึกกังวลอยู่ครึ่งนึง แต่พอเจ๊ติดต่อกับคุณอิฐบูรณ์ว่าช่วยดูรูปถ่ายและเอกสารต่างๆ ว่าพอจะฟ้องเขาได้ไหม ถ้ามั่นใจก็ฟ้อง แต่ถ้าไม่มั่นใจเจ๊ก็ยอมทิ้งแล้ว เพราะส่วนตัวเจ๊ก็ล้าแล้วเหมือนกัน เพราะสู้กับเขามาเกือบครึ่งปีกว่าแล้ว” มูลนิธิที่พรศรี พูดถึงคือศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หลังจากอิฐบูรณ์ อ้นวงศา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ผู้บริโภค ดูเอกสารต่างๆ แล้ว จึงส่งเรื่องต่อให้ ศูนย์ทนายความอาสาเพื่อผู้บริโภค ยื่นฟ้องแพ่งบริษัทโตโยต้าเชียงใหม่ จำกัด ในข้อหา ละเมิด เรียกค่าเสียหาย เป็นเงิน 5,620,208 บาท ซึ่งขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล แต่บริษัทบ้านเรานี่ไม่ต้องบอกเรื่องเปลี่ยนรถคันใหม่อะไรหรอก แค่ยกกระเช้ามาเยี่ยม มาถามทุกข์สุขว่าเจ็บยังไงบ้าง ยังไม่มีเลย เจ๊ดูข่าวมากก็เลยรู้สึกว่า ที่อื่นเขาได้ดูแล ทำไมเราเป็นอย่างนี้ ก็ไม่ยอม ยิ่งมีรู้ว่ามีการคุ้มครองผู้บริโภค เราต้องใช้สิทธิ ถ้าไม่ฟ้อง จะให้ทำอย่างไร“ทุกวันนี้รู้สึกว่าถ้าทางบริษัทถ้าเขาเห็นใจเราสักนิด ทางเราก็ไม่ฟ้อง ขอแค่เขามาถามทุกข์สุขนิดนึง ก็พอใจ เจ๊ไม่ใช่งกเงินตรงนี้ ถ้าเขามีน้ำใจนิดนึง ให้ผู้มีอำนาจมาเยี่ยมหน่อย มาพูดดีๆหน่อย อย่าใจดำเกินไป รถคันนี้ราคาประเมินค่าซ่อมเจ็ดแสนกว่าบาท แล้วยังจะขอค่าจอดรถเจ๊ด้วย ตอนเอารถไปจอด พอเจ๊ไม่ซ่อมรถกับเขา เจ๊จะเอาออกรถไปขายไงเพราะซ่อมไปก็ไม่คุ้ม เจ๊เลยไม่จ่ายค่าจอดเขาก็ทำอะไรไม่ได้ สุดท้ายเขาเรียกเก็บค่าประเมินรถเจ็ดพันบาท เฮีย(สามี) ก็เลยจ่ายไปหกพันกว่า คือของเราเสีย ไม่ช่วยเหลือเราไม่ว่า เราไม่ซ่อมยังขอค่าจอดอีก ใบเสร็จตรงนี้ก็ยังเก็บไว้ เจ๊รู้สึกว่ามันไม่เป็นธรรม มันเยอะเกินไป แล้วเจ๊ก็ขายรถคันนี้เป็นเศษเหล็กไปแล้ว คิดแล้วเจ็บใจตอนที่เจ๊ไปซื้อนะขับรถมาเสนอขายถึงที่บ้านเลย เอาใจสารพัดเลย พอซื้อมาบริการก็เปลี่ยนแปลงแล้ว” คนทั้งประเทศไม่มีใครรู้ อยากให้คนอื่นรู้ “มีคนบอกว่าเจ๊มีทางก็ต่อสู้ ก็สู้เพื่อเป็นอุทาหรณ์ให้คนทั้งประเทศ ไม่มีใครรู้เลยว่าถุงลมนิรภัยต้องออกตามโฆษณา ในความหมายของเขามันแค่ไหน ชนแบบนี้ออก แต่หากชนตรงนี้ไม่ออก ในคู่มือบอกว่าวิ่ง 25 กิโลเมตรต่อชั่วโมงขึ้นไปชนอย่างไรถุงลมนิรภัยก็จะออกมา อะไรมันก็จะมีลูกศรชี้ไว้ว่า หน้าไฟสองอัน กลางๆ ชนตรงไหนก็ออก แต่พอเกิดเรื่องขึ้นมา ชนจนหัวยุบหมดแล้วมาบอกอย่างนี้อย่างโน้นแล้ว ใครไม่เจอกับตัวจะไม่รู้เลยว่า ความยุติธรรมมันเป็นยังไง แถวภาคเหนือเราอาจจะคิดว่าใครใหญ่ใครอยู่ บริษัทมันใหญ่ เราเป็นคนตัวเล็กๆ ต่อสู้เขาไม่ได้หรอก ก็เลยไม่กล้าไปต่อสู้กัน ช่างรถยนต์ก็พูดว่าอย่าไปสู้เลย สู้กับเขาไม่ไหวหรอก แต่เจ๊ก็จะสู้แรกๆ ก็กลัวเขาฟ้องกลับติดคุกนะ แต่พอเรารู้ว่าฟ้องแพ่งไม่ติดคุกเราก็ไม่กลัวละ เราต้องลุกขึ้นมาสู้ เจ๊ดูรายการทีวีต่างประเทศชอบดูเรื่องกฎหมายของเมืองนอก อย่างไต้หวัน พอดีเจ๊เห็นของเมืองนอก มีถุงลมนิรภัยไม่ออกแหละ ฝรั่งเขาเรียกสิบล้านเลย สุดท้ายบริษัทเขาชดใช้ไปเจ็ดหรือแปดล้าน แล้วก็ยังมีเพื่อนคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า BMW คันหนึ่ง เมียเขาขับไปแล้วถุงลมนิรภัยไม่ออกแล้วคอหักเลย พอไปบอกบริษัทแต่ยังไม่ได้ฟ้องนะ แค่ไปบอก บริษัทก็เสียค่ารักษาพยาบาลให้แล้วก็เปลี่ยนรถคันใหม่ให้ทันทีเลย แต่บริษัทบ้านเรานี่ไม่ต้องบอกเรื่องเปลี่ยนรถคันใหม่อะไรหรอก แค่ยกกระเช้ามาเยี่ยม มาถามทุกข์สุขว่าเจ็บยังไงบ้าง ยังไม่มีเลย เจ๊ดูข่าวมากก็เลยรู้สึกว่า ที่อื่นเขาได้ดูแล ทำไมเราเป็นอย่างนี้ ก็ไม่ยอม ยิ่งมีรู้ว่ามีการคุ้มครองผู้บริโภค เราต้องใช้สิทธิ จริงๆ แล้วคนไทยเราเป็นคนที่ใจอ่อน นิสัยดีกว่าต่างประเทศมากเลย ขอให้เขายอมมีน้ำใจ การชดใช้ตรงนี้มันไม่ใช่ปัญหา เราคุยกันได้ ถ้าจะให้เหมือนบริษัทเมืองนอกนี่ กฎหมายเมืองไทยก็ยังไปไม่ถึงขนาดนั้น เมืองนอกเขาจะเอาเท่าไหร่เขาจะเรียกเยอะๆ เลย รถคันนี้ราคาเท่าไหร่ ไม่เกี่ยวเขาจะดูว่าชีวิตเขามีค่าแค่ไหนมาเปรียบเทียบเอา แต่เมืองไทยเราจะดูว่ารถคันนี้ราคาแค่นี้เอง แล้วจะเรียกร้องได้แค่นั้น เขาจะคิดอย่างนั้น ถ้าต่างประเทศเขาจะไม่คิดแบบนี้ เขาจะคิดว่าชีวิตคนมีค่ามหาศาลเท่าไหร่ก็ประเมินค่าไม่ได้ เรื่องกฎหมายบ้านเรากับต่างประเทศอาจจะเทียบกันไม่ได้ แต่อย่างน้อยๆ ในบ้านเรา เราก็ยังมีสิทธิในการเรียกร้อง เราต้องใช้สิทธิเมื่อเกิดความเสียหาย ให้บริษัทยอมรับผิดชอบบ้าง ปกติเขาจะไม่รับผิดชอบทิ้งไปอย่างนี้ตลอด ที่เจ๊ต่อสู้มาทุกวันนี้นะ ไปศาล ทำอะไรทุกครั้ง เจ๊รู้สึกว่าเจ๊ก็เสียรายได้เยอะเหมือนกันจะไปไหนก็ไปไม่ได้ ต้องรอขึ้นศาล เสียเวลา เจ๊ไม่ได้ว่าไม่มีทางหากินแล้วจะมาตื้อเอาเงินกับบริษัทนะ เจ๊ก็ทำมาหากิน แต่ที่เจ๊ทำเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมเท่านั้นเอง” ทุกวันนี้ พรศรี ชูชาติวงศ์ และสามี เหลือเพียงกิจการเล็กๆ ขายเสื้อผ้าและกระเป๋าอยู่ที่ ตลาดสันป่าข่อย จังหวัดเชียงใหม่ กิจการอื่นๆ ที่เคยทำต้องงดไปโดยปริยายด้วยข้อจำกัดทางร่างกายที่ไม่แข็งแรงเหมือนแต่ก่อน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 130 เซอร์วิส ชาร์จ ในร้านอาหาร ไม่จ่ายได้หรือเปล่า

เรื่องร้องเรียนหลายเรื่องที่เข้ามาหาเรา มีเนื้อหาเรื่องราวเพียงสั้น ๆ แต่ก็เป็นประเด็นที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกๆ คนคุณรุ่งทิพย์จึงได้ถามมาสั้นๆ ว่า...“ไปกินอาหารร้านดัง แถวสีลมคอมเพล็กซ์ ในบิลบวกค่าบริการประมาณ 10% ของค่าอาหาร จากค่าอาหาร 160 บาท คิดเป็นค่าบริการ 16 บาทบวกภาษีมูลค่าเพิ่ม ตอนแรกว่าจะให้ทิปแล้ว เลยไม่ให้ดีกว่า ปกติไม่ค่อยได้ไปย่านนั้น ถ้ารู้ก็จะไม่กินร้านนี้หรอก ตอนนี้สงสัยว่าร้านอาหารพวกนี้สามารถบวกค่าโน้นนี้ได้ตามอำเภอใจเลยหรือ แล้วใช้หลักอะไรคิดกัน บริการก็ไม่เห็นแปลกพิเศษอะไรเลยคงด้วยความรู้สึกเหมือนถูกบีบบังคับให้ต้องจ่ายค่าทิปอาหาร จึงได้ถามมาสั้นๆ ว่า ค่าทิปหรือเซอร์วิส ชาร์จ แบบนี้จะไม่จ่ายได้ไหม แนวทางแก้ไขปัญหา ผู้รู้ท่านหนึ่งได้กรุณาเขียนให้ความรู้เกี่ยวกับ ทิป และ เซอร์วิส ชาร์จไว้ว่าทิป คือ เงินจำนวนหนึ่งที่ผู้รับบริการมอบให้แก่ผู้ที่ทำหน้าที่ให้บริการแก่ตนเอง โดยจ่ายเพิ่มให้เป็นพิเศษนอกเหนือการจ่ายค่าสินค้า หรือบริการที่ได้รับไปแล้ว การทิปของแต่ละประเทศนั้นจะไม่เหมือนกัน บางประเทศจะรวมค่าทิปไปในบิลเรียกเก็บเงินหลังเช็คบิล หรือใช้บริการเสร็จ โดยในบิลจะระบุว่า “Service Charge” หรือ “ค่าบริการ” ไว้แล้ว ซึ่งจะกำหนดเป็นค่าร้อยละของยอดจำนวนเงินทั้งหมดที่ต้องจ่ายให้แก่บริการ นั้นๆ โดยทั่วไปจะอยู่ที่ 5-15 เปอร์เซ็นต์แต่ละประเทศมีการคิดค่าธรรมเนียมในการทิปที่แตกต่างกัน เช่น ประเทศฝรั่งเศส มีกฎหมายให้ภัตตาคารสามารถบวกค่าบริการได้ ทำให้พนักงานเสิร์ฟที่ประเทศฝรั่งเศสมีเงินเดือนและสวัสดิการที่ดี แต่สำหรับประเทศสหรัฐอเมริกาไม่บังคับ ทำให้รายได้ของพนักงานส่วนใหญ่ได้มาจากการทิป สำหรับเงินเดือนได้น้อยมากดังนั้นเมื่อไปกินอาหารที่ภัตตาคารที่ฝรั่งเศสที่ได้บอกค่าบริการไปแล้วใน บิลจึงไม่ต้องให้ทิปเพิ่มอีก แต่ถ้าหากได้รับบริการที่ดีอาจจะให้เพิ่มตามความสมัครใจก็ได้ โดยปกติจะอยู่ประมาน 1-5 ยูโรต่อจำนวนสมาชิกในโต๊ะสำหรับ ประเทศไทย ไม่ได้มีกฎหมายการเก็บค่าเซอร์วิสชาร์จเป็นการเฉพาะ มีเพียงแต่กฎหมาย พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 ที่กรมการค้าภายในดูแลเฉพาะเรื่องการแสดงราคาสินค้าให้ผู้บริโภคทราบก่อนที่จะซื้อสินค้าหรือใช้บริการ คือ หากสินค้าหรือบริการใดไม่ได้อยู่ในการรายการควบคุมราคาสินค้าก็สามารถที่จะจำหน่ายหรือเก็บค่าบริการในราคาเท่าไรก็ได้ เพียงแต่ขอให้มีการแจ้งราคาให้ผู้บริโภคทราบในป้ายสินค้าหรือบริการก่อน เพื่อให้ผู้บริโภคใช้สมองของตัวเองพินิจพิจารณาว่าจะซื้อหรือจะใช้บริการนั้นหรือไม่ดังนั้น หากในร้านอาหารใหญ่ๆ หรือการสั่งอาหารตามโรงแรมบางแห่งได้มีการเขียนบอกไว้ในเมนูอาหารอยู่แล้วว่ามีค่าบริการ เพิ่มกี่เปอร์เซ็นต์ ซึ่งอาศัยกติกาสากลมาเทียบเคียง ก็สามารถที่จะทำได้ และเดี๋ยวนี้ก็ทำกันหลายที่เพราะคนไทยไม่ค่อยมีวัฒนธรรมการจ่ายค่าทิปให้เด็กร้าน  และหากผู้บริโภคมีความพอใจในบริการมากๆ อยากจะจ่ายค่าทิปเพิ่มให้อีกก็ทำได้ส่วนการปฏิเสธไม่จ่ายค่าเซอร์วิสชาร์จนั้น ผู้บริโภคควรมีเหตุผลที่เหมาะสมว่าไม่พึงพอใจบริการเพราะเหตุใด เช่น สั่งอาหารอย่างหนึ่งได้มาอีกอย่างหนึ่ง เสียเวลารอนานเกินเหตุ เข้าร้านไปไม่มีใครสนใจมาถามไถ่ให้บริการเลย ทำเหมือนเราเป็นแมลงวันหลงบินเข้าร้านอะไรทำนองนี้ และเมื่อเทียบกับอัตราค่าเซอร์วิสชาร์จที่ถูกเรียกเก็บเห็นว่าไม่คุ้มค่า ตรงนี้ก็พอที่จะเรียกผู้จัดการร้านมาเจรจาชี้แจงที่จะปฏิเสธค่าเซอร์วิสชาร์จได้ แต่ถ้าไม่มีเหตุเลย ไม่อยากจ่ายซะงั้นก็ดูจะใจจืดใจดำกับลูกจ้างชั่วคราวที่เขาได้ค่าแรงต่ำอยู่แล้ว เรื่องนี้ต้องนึกถึงใจเขาใจเรากันบ้าง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 118 ชาวบ้านร้องขี้ไก่เหม็น

แต่โดนนายทุนฟาร์มไก่ฟ้อง เรียกเงิน 2.3 ล้านฟาร์มไก่ขนาดยักษ์ ฟ้องเรียกค่าเสียหาย 2.3 ล้านบาทกับชาวบ้าน อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา รวม 27 รายฐานแจ้งเท็จและหมิ่นประมาท กล่าวหาฟาร์มมีขี้ไก่เหม็นสร้างเดือดร้อนรำคาญไม่หยุดหย่อนเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2553 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนจากตัวแทนชาวบ้านอำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา ว่ามีชาวบ้านในเขตตำบลลาดกระทิงจำนวน 27 รายถูกบริษัท บุญแปด จำกัด ของ นายบุญยง ศรีไตรราศรี หนึ่งในกรรมการบริหารสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ ดำเนินคดีฟ้องร้องต่อศาลจังหวัดฉะเชิงเทราเป็นคดีอาญาเกี่ยวเนื่องคดีแพ่ง ฐานความผิดคือแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานและหมิ่นประมาท เรียกร้องค่าเสียหายรวมเป็นเงิน 2,300,000 บาท โดยมีชาวบ้านจำนวน 26 รายถูกเรียกค่าเสียหายรายละ 50,000 บาท และอีกหนึ่งรายซึ่งเป็นแกนนำถูกเรียกค่าเสียหาย 1,000,000 บาท ขอให้มูลนิธิฯ ได้จัดทนายความอาสาเข้าช่วยเหลือในกระบวนการพิจารณาคดีด้วยจุดเริ่มต้นของปัญหา เกิดขึ้นเมื่อปี 2549 เมื่อบริษัท บุญแปด จำกัด ได้เข้ามาประกอบกิจการเลี้ยงไก่ไข่ในพื้นที่ตำบลลาดกระทิง อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยได้รับใบอนุญาตจากองค์การบริหารส่วนตำบลลาดกระทิง(อบต.ลาดกระทิง) ให้ประกอบกิจการเลี้ยงไก่ จำนวน 2 โรงเรือน สามารถเลี้ยงไก่ไข่ได้ 100,000 ตัวกิจการเลี้ยงไก่นั้น ถือเป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพที่ต้องควบคุมตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 แต่ปรากฏว่า อบต.ลาดกระทิงในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายฉบับนี้ กลับปล่อยปละละเลยให้บริษัท บุญแปดฯ เลี้ยงไก่ไข่เพิ่มขึ้นอีก 7 โรงรวมเป็นไก่ไข่ที่เลี้ยงโดยไม่ได้รับอนุญาตมากถึง 350,000 ตัว และยังละเมิดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับสถานที่ตั้งที่จะต้องตั้งอยู่ห่างจากชุมชน วัด ศาสนสถาน โบราณสถาน สถาบันการศึกษา โรงพยาบาล หรือสถานที่อื่นๆ ในระยะที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและไม่ก่อเหตุรำคาญต่อชุมชน แต่ปรากฏว่าฟาร์มไก่แห่งนี้ตั้งอยู่ติดกับสถานีอนามัยลาดกระทิง วัดลาดกระทิง รวมถึงโรงเรียนบ้านลาดกระทิงซึ่งสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงมัธยม 3 อันเป็นศูนย์กลางของชุมชนเพียงแค่รั้วกั้นชาวบ้านได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การประกอบกิจการฟาร์มไก่ของบริษัท บุญแปดฯ ทำให้ชาวบ้านไม่น้อยกว่า 250 หลังคาเรือนที่อยู่อาศัยโดยรอบฟาร์มไก่ภายในรัศมมี 1-2 กิโลเมตร ต่างได้รับความเดือดร้อนรำคาญจากกลิ่นขี้ไก่มาโดยตลอดมากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่ทิศทางลมจะพาไป ช่วงเวลาที่ผ่านมาชาวบ้านพยายามช่วยเหลือตัวเอง โดยในเดือนกรกฎาคม 2549 ชาวบ้านมีหนังสือร้องเรียนไปที่ อบต.ลาดกระทิงพร้อมทั้งได้ร้องเรียนไปยังกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งกรมอนามัยโดยศูนย์อนามัยที่ 3 ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและแจ้งผลให้ชาวบ้านทราบว่า การประกอบกิจการฟาร์มไก่แห่งนี้ มีฝุ่นและมลพิษที่อาจเกิดอันตรายต่อสุขภาพ อีกทั้งสถานประกอบกิจการยังตั้งอยู่ติดกับสถานีอนามัย อยู่ใกล้ชุมชน วัดและโรงเรียน ก่อให้เกิดเหตุรำคาญส่งผลกระทบต่อสุขภาพจริง จึงให้ อบต.ลาดกระทิง ดำเนินการแก้ไขเหตุรำคาญและควบคุมการประกอบกิจการฟาร์มไก่ดังกล่าวตามที่กฎหมายกำหนดแต่อบต.ลาดกระทิง ไม่สามารถบังคับให้บริษัท บุญแปดฯ แก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ยุติได้ อีกทั้งยังฝ่าฝืนคำสั่งของ อบต.ลาดกระทิง โดยนำไก่มาเลี้ยงเพิ่มในโรงเรือนอีก จนกระทั่งวันที่ 3 ธันวาคม 2551 อบต.ลาดกระทิง จึงมีคำสั่งไม่ต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการให้ แต่ฟาร์มไก่ยังคงประกอบกิจการต่อไป ขณะที่ชาวบ้านต้องคอยรับลมที่มีกลิ่นขี้ไก่ผสมอยู่แทบทุกวันต่อมาในเดือนมิถุนายน 2552 ชาวบ้านจึงได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองระยอง เพื่อขอให้มีคำสั่งให้ อบต.ลาดกระทิงปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายเพื่อระงับเหตุเดือดร้อนรำคาญ วันที่ 4 พฤศจิกายน 2552ศาลปกครองระยองได้มีคำพิพากษาคดีให้ อบต.ลาดกระทิง ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 ระงับเหตุรำคาญจากการเลี้ยงไก่ของบริษัทบุญแปดฯให้หมดสิ้นภายในกำหนด 30 วันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา พร้อมทั้งให้ อบต.ลาดกระทิง พิจารณาดำเนินคดีกับบริษัท บุญแปดฯกรณีมีการฝ่าฝืนคำสั่งที่ให้ปรับปรุงแก้ไขเหตุรำคาญโดยให้พิจารณาดำเนินคดีภายใน 15 วันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา กับให้ใช้อำนาจตามพ.ร.บ.การสาธารณสุขฯ เข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีมีการนำไก่ไปเลี้ยงเพิ่มในโรงเรือนเลี้ยงไก่ภายในกำหนด 20 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา หากมีการฝ่าฝืนให้พิจารณาดำเนินคดีตามบทลงโทษที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.การสาธารณสุขพ.ศ.2535หลังคำพิพากษาฯ อบต.ลาดกระทิงได้แจ้งให้บริษัท บุญแปดฯ แก้ไขปรับปรุงและระงับปัญหากลิ่นขี้ไก่เหม็นให้หมดสิ้นโดยลำดับ ต่อมาเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2553 ชาวบ้านได้รับหนังสือขอความร่วมมือให้ความเห็นจากอบต. โดยหนังสือดังกล่าวแจ้งว่า ผู้ประกอบได้มีการแก้ไขปรับปรุงและระงับเหตุรำคาญให้หมดสิ้นไปแล้ว จึงขอความเห็นจากชาวบ้านเพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นจริงในปัจจุบันโดยมีชาวบ้านยินยอมให้ความเห็นกับ อบต.ลาดกระทิงจำนวน 27 ราย ซึ่งชาวบ้านทั้งหมดให้ความเห็นว่า ยังได้รับกลิ่นเหม็นอยู่ โดยมีอาการแสบจมูก เวียนศีรษะ คลื่นไส้อยากอาเจียน และหงุดหงิด รำคาญ อบต.ลาดกระทิงได้นำรายชื่อ ที่อยู่และความเห็นของชาวบ้านทั้งหมดแจ้งให้บริษัท บุญแปดรับทราบแทนที่บริษัท บุญแปดฯ จะนำข้อมูลที่ได้รับจากชาวบ้านไปพิจารณาปรับปรุงแก้ไขการประกอบกิจการของตัวเองให้ดีขึ้น กลับใช้เหตุดังกล่าวมาฟ้องร้องเอาผิดกับชาวบ้านทั้งคดีอาญาและแพ่งเรียกร้องค่าเสียหายรวมเป็นเงินกว่า 2.3 ล้านบาทและล่าสุดทราบว่า อบต.ลาดกระทิงถูกฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 5 แสนบาทด้วยเช่นกัน แนวทางแก้ไขปัญหามูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้มอบหมายให้ศูนย์ทนายความอาสาเพื่อผู้บริโภคเข้าดำเนินการช่วยเหลือชาวบ้านในกระบวนการพิจารณาคดี และได้มีการเจรจาไกล่เกลี่ยเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 พฤษจิกายน 2553 ที่ผ่านมา โดยมีชาวบ้านไปรวมฟังการพิจารณาคดีนับ 100 ราย ซึ่งในการเจรจาไกล่เกลี่ยนั้น ศาลได้สอบถามถึงสาเหตุที่บริษัทฯ ฟ้องร้องชาวบ้าน เมื่อได้ข้อเท็จจริงแล้วได้ให้ความเห็นว่า ชาวบ้านเดือดร้อนก็ต้องใช้สิทธิร้องเรียนไปที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแจ้งให้บริษัทฯ แก้ไขและบริษัทฯ รับทราบแล้วก็ควรจะมีการปรับปรุงแก้ไข ชาวบ้านได้ทำตามสิทธิที่ตัวเองมีไม่ได้แจ้งเท็จ อีกทั้งยังเป็นการดีที่จะทำให้บริษัทฯ มีการพัฒนาคุณภาพจึงควรมีการพูดคุยกับชาวบ้านมากกว่าฟ้องร้อง และศาลได้แจ้งให้บริษัทฯ ปรับปรุงการประกอบการของตนโดยมีระยะเวลาที่จะพิสูจน์ต่อจากนี้ และนัดเจรจาไกล่เกลี่ยกันใหม่โดยให้รวมทุกคดีในวันที่ 24 ธันวาคม 2553 เวลา 13.00 น.โดยผู้พิพากษาได้ฝากให้ทนายโจทก์และผู้รับมอบอำนาจฯ แจ้งแก่โจทก์ว่า หวังว่าโจทก์จะถอนฟ้องชาวบ้าน และนัดหน้าขอให้โจทก์เข้ามาด้วยตนเอง โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเป็นกลางมาพูดคุยกันจะดีกว่า

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 109 ท่าน ส.ส. เมื่อไหร่จะทำงานคะ?

เราท่านทั้งหลายคงต้องยอมรับว่าวันนี้ “สื่อ” เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการสื่อสารให้เราท่านได้ทราบความเคลื่อนไหวของสังคมรอบข้างเราได้ดีมากๆ อย่างเรื่องลูกชิ้นเรืองแสงไง (เท่ชะมัดของกินเรืองแสงได้ด้วย) ซึ่งเป็นเรื่องคุ้นชินของสังคมไทยคือ เรื่องอะไรที่สื่อเล่นด้วยเรื่องนั้นก็จะดังเป็นที่สนใจของสังคม ทีนี้พอเรื่องลูกชิ้นมามันก็เลยช่วยกระตุ้น ให้คนไทยเริ่มรู้สึกว่า จริงๆ แล้วทุกวันนี้สิ่งที่เราบริโภคเข้าไปมีอะไรบ้างที่ปลอดภัยและอะไรบ้างที่ไม่ปลอดภัย ซึ่งสถานการณ์ของผู้บริโภคในปัจจุบัน มันก็ไม่ต่างอะไรกับการทดลองใช้เครื่องมือ จีที 200 ที่ผลมันออกมาว่าการใช้งานเท่ากับการเดาสุ่มเอา เพราะวันนี้ผู้บริโภคที่ซื้อสินค้า ก็ประสบชะตากรรมว่าตาดีได้ตาร้ายเสียเช่นกันว่าไปแล้วไม่อยากจะพูดว่าเราเหมือนไม่มีหน่วยงานดูแล แต่สถานการณ์มันบ่งชี้ว่าเป็นเช่นนั้นจริงๆ เพราะวันนี้เราไม่รู้ว่าจะพึ่งใคร มีหน่วยงานไหนบ้างที่จะทำให้ผู้บริโภคอย่างเราๆ ท่านๆ อุ่นใจได้ว่าสินค้าที่เราซื้อมันปลอดภัยจริง เช่นผู้เขียนซึ่งมีชีวิตส่วนใหญ่อยู่บนรถ(ส่วนตัว)เพราะมีภารกิจที่ต้องทำให้เดินทางอย่างต่อเนื่อง และเพื่อนของคนเดินทางคือวิทยุ ส่วนใหญ่ในต่างจังหวัดก็จะเป็นวิทยุชุมชน(สื่อชาวบ้าน) ซึ่งผู้เขียนก็สนับสนุนเพราะเชื่อว่าการสื่อสารเป็นเรื่องสำคัญ และประชาชนควรมีสื่อเป็นของเขาเองเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและประชาสัมพันธ์เรื่องดีๆ ของชุมชนแต่ที่น่าเศร้าใจคือวิทยุชุมชนของเรามากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ กลายเป็นฐานโฆษณาสินค้าไปเสียหมด ไม่มีใครกำกับดูแลว่า คุณสมบัติของคนที่จะมาเป็นผู้ให้ข้อมูลกับชาวบ้านต้องเป็นอย่างไร ที่เห็นอยู่ทุกวันนี้ก็คือ ให้ใครก็ได้ที่พูดได้มาเป็นดีเจ เนื้อหาของวิทยุชุมชนส่วนใหญ่จึงไม่ค่อยมีสาระมีแต่โฆษณาเต็มไปหมด อย่างการโฆษณาน้ำผลไม้แสนวิเศษ ราคาแพงลิบ โรคอะไรกินแล้วหายหมด ทั้งโฆษณาเป็นชิ้นเป็นอันและที่ท่านดีเจพร่ำพรรณนาสรรพคุณของสินค้านั้น จนคนฟังเคลิ้มว่ามันน่าจะรักษาโรคได้จริง แหม…ท่ารักษาโรคได้จริงเขาคงขึ้นทะเบียนยาไม่ดีกว่าหรือ(รับรองได้ว่ารวยไม่รู้เรื่อง) ชาวบ้านเราส่วนใหญ่ก็มีความเชื่อ(ผิดๆ) ว่าอะไรที่โฆษณาทางวิทยุเขาคงไม่หลอก(แต่จริงๆ เขาหลอกเราก็ไม่รู้หรอก) ชาวบ้านจึงตกเป็นหยื่อได้โดยง่าย โดยไม่มีหน่วยงานไหนแอ่นอกเข้ามาตรวจสอบ ผู้บริโภคอย่างเราท่านเหมือนขาดที่พึ่งจริงๆ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราควรจะมีหน่วยงานที่มีภารกิจเฉพาะ อย่างเช่น องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มาช่วยดูแลผู้บริโภคอย่างจริงจัง เรื่องนี้เครือข่ายผู้บริโภคทั่วประเทศพยายามผลักดันอย่างเต็มกำลัง และปัจจุบันร่างกฎหมายที่ได้เข้าวาระเร่งด่วนวาระที่ 2 ของสภาผู้แทนราษฏรแล้ว แต่เร่งด่วนยังไง ก็ยังไม่ได้รับการพิจารณาเพราะท่าน ส.ส. มัวทะเลาะกันไม่เลิก จึงอยากขอท่าน ส.ส.ทั้งหลายว่าช่วยทำหน้าที่เพื่อพี่น้องเสียที ไม่ใช่ทะเลาะกันแค่เรื่องไม่เป็นเรื่อง อายคนที่เลือกคุณเข้าไปบ้าง สนใจบ้างว่าพี่น้องที่เลือกคุณมา เขาต้องเผชิญปัญหาอะไรอยู่ย้ำอีกครั้งว่าเรารอผลงานของท่าน ส.ส. ผู้ทรงเกียรติอยู่นะคะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 149 ชั้นในชายสีดำ

ฉลาดซื้อเคยเก็บตัวอย่างเสื้อชั้นในสตรีสีดำมาตรวจหาสารตกค้างจากสีย้อมไปแล้ว คราวนี้ถึงคราวกางเกงชั้นในของผู้ชายกันบ้าง เราทดสอบกางเกงชั้นในชายสีดำที่ทำจากเส้นใยฝ้าย จำนวน 11 ตัวอย่าง สนนราคาตั้งแต่ 25 ถึง 890 บาท มีทั้งที่ผลิตในประเทศไทย และนำเข้าจากต่างประเทศ (จีน ฮ่องกง และบังคลาเทศ) เราส่งตัวอย่างไปทดสอบในห้องปฏิบัติการของศูนย์วิเคราะห์ทดสอบสิ่งทอ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ  เพื่อตรวจหา สารเคมีในสีย้อมที่อาจก่อให้เกิดมะเร็ง ฟอร์มาลดีไฮด์ (สารป้องกันผ้ายับ/ย่น) ค่าความเป็นกรด-ด่าง ในการทดสอบคราวนี้เราไม่พบสารเคมีก่อมะเร็งที่มากับสีย้อมในกางเกงชั้นในชาย 11 ตัวอย่าง  แต่มีอยู่ 2 ตัวอย่างได้แก่ Body Basic และ ZEG ที่ตรวจพบฟอร์มัลดีไฮด์แต่ไม่เกินปริมาณที่มาตรฐานกำหนดไว้ที่ 75 มิลลิกรัม/กิโลกรัม นอกจากนี้ใน 4 ตัวอย่าง (Body Basic / ZEG / H&M และ F&F) ยังพบค่า pH สูงเกินเกณฑ์ด้วย ----------------------------------------------------------------------------------------------- ตลาดชุดชั้นในชายบ้านเรามีมูลค่าประมาณ 2,500 ล้านบาท เป็นตลาดบนร้อยละ 25 และตลาดล่างร้อยละ 75 ผู้ชายซื้อชั้นในปีละไม่เกิน 2 ครั้ง แต่ซื้อครั้งละ 3 – 4 ตัวหรือซื้อยกโหล (กัลยา กมลรัตน์ 2553 ปัจจัยด้านผลิตภัณฑ์ที่มีผลต่อพฤติกรรมการซื้อชุดชั้นในชายในกรุงเทพมหานคร ) -----------------------------------------------------------------------------------------------   กางเกงใน Rosso รุ่น TC-701 ราคา 129 บาท   ชนิดเส้นใยที่ระบุบนฉลาก ฝ้าย สารก่อมะเร็งในสีย้อม ไม่พบ ฟอร์มัลดีไฮด์ ไม่เกินมาตรฐาน ค่าความเป็นกรดด่าง 7.02     กางเกงใน Body Basic รุ่น Half brief ราคา 159 บาท (แพค 3)   ชนิดเส้นใยที่ระบุบนฉลาก ฝ้าย สารก่อมะเร็งในสีย้อม ไม่พบ ฟอร์มัลดีไฮด์ < 15 มก/กก. ค่าความเป็นกรดด่าง 7.76     กางเกงใน ZEG รุ่น บิกินี ราคา 270 บาท (แพค 3)   ชนิดเส้นใยที่ระบุบนฉลาก ฝ้าย สารก่อมะเร็งในสีย้อม ไม่พบ ฟอร์มัลดีไฮด์ < 15 มก/กก. ค่าความเป็นกรดด่าง 8.12     กางเกงใน GUNMAN ราคา 25 บาท   ชนิดเส้นใยที่ระบุบนฉลาก ไม่ระบุ สารก่อมะเร็งในสีย้อม ไม่พบ ฟอร์มัลดีไฮด์ ไม่พบ ค่าความเป็นกรดด่าง 7.23     กางเกงใน APPLE รุ่น 704 ราคา 49 บาท   ชนิดเส้นใยที่ระบุบนฉลาก ฝ้าย สารก่อมะเร็งในสีย้อม ไม่พบ ฟอร์มัลดีไฮด์ ไม่พบ ค่าความเป็นกรดด่าง 7.26     กางเกงใน ADDER ราคา 129 บาท (แพค 3)   ชนิดเส้นใยที่ระบุบนฉลาก ไม่ระบุ สารก่อมะเร็งในสีย้อม ไม่พบ ฟอร์มัลดีไฮด์ ไม่พบ ค่าความเป็นกรดด่าง 7.29     กางเกงใน H&M รุ่น Trunks Cotton Stretch ราคา 699 บาท (แพค 3)   ชนิดเส้นใยที่ระบุบนฉลาก ฝ้าย สารก่อมะเร็งในสีย้อม ไม่พบ ฟอร์มัลดีไฮด์ ไม่พบ ค่าความเป็นกรดด่าง 8.07   กางเกงใน J. PRESS รุ่น 9127A ราคา 179 บาท (แพค 3)   ชนิดเส้นใยที่ระบุบนฉลาก ฝ้าย สารก่อมะเร็งในสีย้อม ไม่พบ ฟอร์มัลดีไฮด์ ไม่พบ ค่าความเป็นกรดด่าง 7.41     กางเกงใน UNIQLO รุ่น Knit Boxer Trunks ราคา บาท   ชนิดเส้นใยที่ระบุบนฉลาก ฝ้าย สารก่อมะเร็งในสีย้อม ไม่พบ ฟอร์มัลดีไฮด์ ไม่พบ ค่าความเป็นกรดด่าง 6.70     กางเกงใน Calvin Klein รุ่น Hip Brief ราคา 890 บาท   ชนิดเส้นใยที่ระบุบนฉลาก ฝ้าย สารก่อมะเร็งในสีย้อม ไม่พบ ฟอร์มัลดีไฮด์ ไม่พบ ค่าความเป็นกรดด่าง 7.45     กางเกงใน F&F รุ่น FF-ES09MD ราคา บาท   ชนิดเส้นใยที่ระบุบนฉลาก ฝ้ายผสม สารก่อมะเร็งในสีย้อม ไม่พบ ฟอร์มัลดีไฮด์ ไม่พบ ค่าความเป็นกรดด่าง 7.56 ----------------------------------------------------------------------------------------------- โดยทั่วไปผิวหนังคนเรามีความเป็นกรดเล็กน้อย (ค่า ph 5.5) ค่าความเป็นกรด-ด่างที่เป็นมิตรต่อผู้บริโภคสำหรับเสื้อผ้าที่สวมใส่ติดผิวหนัง ควรอยู่ระหว่าง 4 ถึง 7.5  ถ้าสูงกว่านั้นอาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองหรือเป็นผื่นได้ ตามมาตรฐานกางเกงชั้นในชาย ปริมาณฟอร์มัลดีไฮด์ซึ่งเป็นหนึ่งในสารก่อมะเร็งจะต้องไม่เกิน 75 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม --------------------------------------------------------------------------------------------------- พฤติกรรมการซื้อกางเกงชั้นในของผู้ชายสามารถชี้วัดความมั่นคงทางเศรษฐกิจได้ หลายปีก่อน อลัน กรีนสแปน อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐ เคยกล่าวไว้ว่าถ้ายอดขายกางเกงในชายเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 -3 นั่นหมายความว่า เศรษฐกิจกำลังอยู่ในขาขึ้น นอกจากนี้บรรดาผู้สังเกตการณ์ด้านแฟชั่นของเว็บขายชั้นในชายแห่งหนึ่งในอังกฤษ ที่ทำสถิติยอดขายระหว่างในช่วงปี 2007 – 2011 ยังพบว่าในเวลาที่เศรษฐกิจดีผู้ชายจะซื้อกางเกงชั้นในที่มีสีสันมากขึ้น และในเวลาที่เศรษฐกิจตกต่ำพวกเขาจะกลับไปซื้อชั้นในสีขาว สีเทา และสีดำเหมือนเดิม ----------------------------------------------------------------------------------------------- ชั้นในมือสอง? ปี 2012 รัฐบาลประเทศซิมบับเว สั่งห้ามการขายหรือนำเข้าชั้นในในมือสอง เพื่อเป็นการปกป้องตลาดชุดชั้นในภายในประเทศและลดปัญหาด้านสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นกับประชากร ก่อนหน้านั้น ในปี 1994 ประเทศกานาก็ประกาศแบนชั้นในมือสองไปแล้วเช่นเดียวกัน ----------------------------------------------------------------------------------------------- จากผ้าเตี่ยวสู่กางเกงชั้นใน แฟชั่นไอเท็มชิ้นแรกของบรรพบุรุษมนุษย์ถ้ำคือผ้าเตี่ยว ซึ่งได้รับความนิยมต่อมาในอารยธรรมอิยิปต์และโรมันด้วย รายละเอียดเรื่องนี้ไม่ชัดเจน แต่จากการขุดค้นสุสานของกษัตริย์ตุตันคาเมน นักโบราณคดีเขาพบผ้าเตี่ยวหรือกางเกงชั้นในของตุตันคาเมนถึง 145 ตัวเลยทีเดียว กางเกงชั้นในแบบสวมเริ่มมีในศตวรรษที่ 13 และ “ชั้นใน” เริ่มมีพัฒนาการในหลายรูปแบบมากขึ้นในหมู่ชายไฮโซ (เช่น คอร์เซท ถุงน่อง) จนกระทั่งในศตวรรษที่ 18 เมื่อมีคนเรารู้จักนำลินินมาใช้ ชั้นในก็เริ่มมีบทบาททำให้ชาวบ้านทั่วไปที่ฐานะยากจนได้มีอายุขัยยืนยาวขึ้นด้วย เพราะการสวมชั้นในช่วยป้องกันไม่ให้ร่างกายต้องสัมผัสกับแบคทีเรียและเกิดการติดเชื้อง่ายเหมือนเมื่อก่อน พอถึงศตวรรษที่ 19 กางเกงชั้นในก็กลายเป็นไอเท็มจำเป็นของผู้คนทุกฐานะอาชีพไปในที่สุด ----------------------------------------------------------------------------------------------- ทำไมต้องสวมกางเกงในออกไปกู้โลก? การตูนเรื่องซูเปอร์แมนเล่มแรกออกวางขายในปี 1938 (หลังจากจ็อคกี้เปิดตัวกางเกงชั้นในรุ่นแรกได้ 3 ปี) คาแรคเตอร์นี้จะต้องสวมเสื้อผ้าเต็มตัว ในขณะเดียวกันก็ต้องโชว์กล้ามเนื้อของซูเปอร์ฮีโร่ตามแบบรูปปั้นคลาสสิก จะให้ฮีโร่ของเด็กๆ ดูโป้เปลือยมันก็กระไรอยู่ ผู้วาดจึงต้องสวมกางเกงให้เขาหนึ่งตัว แฟชั่นกูรูให้ความเห็นว่าสิ่งที่เขาสวมอยู่นั่นไม่ใช่กางเกงชั้นในอย่างที่เราคิดกัน ... ชั้นในที่ไหนจะมีเข็มขัดกันล่ะ ... มันเป็นกางเกงกีฬาว่ายน้ำต่างหาก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 88 โรงเรียนกวดวิชา

กลับมาอีกครั้งกับผลสำรวจของฉลาดซื้อร่วมกับเครือข่ายที่ทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในจังหวัดต่างๆ (ลำปาง เพชร์บูรณ์ ลพบุรี สระบุรี กาญจณบุรี ตราด สมุทรสงคราม สตูล ยะลา มหาสารคาม และอำนาจเจริญ) คราวนี้เราเลิกไปป้วนเปี้ยนแถวโรงเรียน แต่ไปสอบถามจากผู้ปกครอง จำนวน 498 คน ในฐานะที่เป็นแหล่งทุนสำหรับการเรียนพิเศษของเด็กๆ ทั้งในช่วงเปิดและปิดเทอม กว่าครึ่งหนึ่งของผู้ปกครอง อายุระหว่าง 41-50 ปี และร้อยละ 60 เป็นผู้หญิงร้อยละ 32 จบการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย ร้อยละ 26 มีการศึกษาระดับประถมศึกษา ตามด้วยอีกร้อยละ 24 ที่มีการศึกษาระดับมัธยม ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 28) รับราชการ ตามด้วย ร้อยละ 24 ที่ทำธุรกิจส่วนตัว รายได้ของครอบครัวของกลุ่มตัวอย่าง ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 35) อยู่ที่ 10,000 ถึง 15,000 บาท อีกร้อยละ 26 มีรายได้น้อยกว่า 10,000 บาท อีกร้อยละ 28 มีรายได้มากกว่า 20,000 บาทลูกหลานของกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ (ร้อยละ 43) กำลังศึกษาอยู่ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ร้อยละ 64 ของนักเรียน เลือกเรียนสายวิทย์ เกือบร้อยละ 40 มีเกรดเฉลี่ยระหว่าง 2.5 ถึง 3 อีกร้อยละ 32 มีเกรดเฉลี่ยระหว่าง 3 ถึง 3.5 จากกลุ่มตัวอย่างที่เครือข่ายของเราไปสัมภาษณ์ พบว่ามีถึงร้อยละ 34 ที่เรียนกวดวิชาและในกลุ่มนี้  มีถึงร้อยละ 79 ที่ใช้บริการโรงเรียนกวดวิชา ที่เหลือเรียนตัวต่อตัวกับครูสอนพิเศษ จำนวนวิชาที่เรียนต่อเทอมหนึ่งวิชา 40.5สองวิชา 36.1สามวิชา 19มากกว่าสามวิชา 4.4วิชาที่เด็กๆนิยมเรียนเรียงตามลำดับความนิยมในกรณีที่เรียนเพียงหนึ่งวิชานั้น วิชาที่เด็กๆ เลือกเรียนคือ คณิตศาสตร์ (ร้อยละ 62.6) รองลงมาได้แก่ อังกฤษ (ร้อยละ 38) ฟิสิกส์ (ร้อยละ 28) และเคมี (26)  ว่าแต่ทำไมเด็กกลุ่มนี้ถึงต้องเรียนกวดวิชา สิ่งที่ผู้ปกครองกลุ่มนี้เห็นว่าเป็นเหตุผลหลักที่เด็กๆไปเรียนพิเศษ คือ เรียนเพื่อต้องการทำคะแนนให้ดีขึ้น (ร้อยละ 77.5) รองลงมาได้แก่เพื่อการเตรียมตัวเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัย (ร้อยละ 49.2) ตามด้วยการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ (ร้อยละ 45.2) มี ร้อยละ 26.3 ที่ให้เหตุผลว่าลูกหลานไปเรียนพิเศษ เพราะเรียนตามเพื่อนในห้องไม่ทัน (ร้อยละ 26.3) มีเพียงร้อยละ 8.6 เท่านั้นที่ตอบว่าเด็กไปเรียนเพราะต้องการมีกิจกรรมนอกบ้าน และไปสังสรรค์กับเพื่อนหลังเรียน เกณฑ์ในการพิจารณาเลือกโรงเรียน / ผู้สอนพิเศษให้กับบุตรหลาน คุณวุฒิของผู้สอน                 64.6ชื่อเสียงของผู้สอน            41.5เลือกตามคำแนะนำจากผู้ปกครองอื่นๆ     30.5แผ่นพับ/โฆษณา                14.8มาดูเรื่องเงินกันบ้างค่าใช้จ่ายในการเรียนพิเศษ โดยประมาณส่วนใหญ่ (ร้อยละ 31.2) มีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 1,000 – 2,000 บาท ต่อภาคเรียน แต่ที่น่าสนใจคือมีอีกร้อยละ 25 ที่เสียค่าใช้จ่ายเทอมละมากกว่า 4,000 บาท กลุ่มที่ใช้จ่ายเรื่องเรียนพิเศษเทอมละ 2,001 – 3,000 บาท และ 3,001 – 4,000 บาท มีประมาณร้อยละ 18 และมีไม่ถึงร้อยละ 8 ที่จ่ายน้อยกว่า 1,000 บาท    ในกลุ่มที่เรียนเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยนั้น มีมากกว่าร้อยละ 30 ที่ใช้จ่ายมากกว่า 4,000 บาทค่าใช้จ่ายในเดินทางค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปเรียนพิเศษแต่ละครั้งของเด็กส่วนใหญ่อยู่ที่ประมาณ 50 ถึง 100 บาท หนึ่งในสี่ใช้น้อยกว่า 50 บาท และมีถึงร้อยละ 16 ที่มีค่าเดินทางมากกว่า 200 บาทบทสรุปความคุ้มค่าของการลงทุนหนึ่งในสี่ของผู้ปกครองเหล่านี้เชื่อว่าบุตรของตนมีผลการเรียนดีอยู่แล้วก่อนเรียนพิเศษ     ประมาณร้อยละ57 เชื่อว่าบุตรมีผลการเรียนดีขึ้นหลังเรียนพิเศษ แลประมาณร้อยละ 42 ใส่ใจการเรียนมากขึ้นหลังจากไปเรียนพิเศษแต่ทั้งนี้ทั้งนั้นมีอยู่บ้าง (ร้อยละ 9) ที่ตอบว่าไม่มีความแตกต่างของผลการเรียนก่อนและหลังการเรียนพิเศษแล้วที่ไม่เรียนเพราะอะไรสาเหตุหลักคือเรื่องของความไม่พร้อมทางการเงิน (ร้อยละ 23.3) มีประมาณร้อยละ 20 ที่เห็นว่าบุตรหลานของตนเองมีผลการเรียนที่ดีอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องมีการกวดวิชาก็ได้ ร้อยละ 10 เห็นว่ายังไม่ถึงเวลาที่จะต้องเรียน และที่ไม่เห็นด้วยกับการเรียนกวดวิชาจริงๆ มีเพียงร้อยละ 3     เท่านั้น ______________________________________________________

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 176 ชามตราไก่

เป็นชามที่นิยมในหมู่ชาวจีนโพ้นทะเลและชาวไทยสมัยหนึ่ง ชามปากบานกว้าง ใบหนา ขาสูง พร้อมลวดลายไก่ ดอกโบตั๋นและใบกล้วย สีสันสวยงามนี้ มีต้นแบบมาจากเมืองจีน     ชามที่ใช้กินข้าวแบบจีน คือพุ้ยข้าวด้วยตะเกียบเข้าปากนั้น ไม่มีอะไรจะเหมาะไปกว่า ชามตราไก่ อีกแล้ว เพราะมีลักษณะปากกว้าง จึงใส่อาหารได้มาก รอบชามจะไม่เรียบแต่จะมีรอยบุ๋มหน่อยๆ ทำให้จับกระชับมือ อีกทั้งเนื้อชามหนาและมีขาสูง ขาสูงนี้ทำให้แม้ใส่อาหารร้อนๆ ก็ยังพอยกถือไหว เนื้อที่หนาแกร่ง ทำให้ทนใช้งานได้นานปี ดังนั้นไม่เพียงเหมาะแก่การใส่ข้าว ข้าวต้ม หรือน้ำแกงร้อนๆ สำหรับครัวเรือนและร้านอาหารทั่วไปแล้ว ยังนิยมมากในหมู่ร้านก๋วยเตี๋ยวยุคแรกๆ ด้วย     เมื่อเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 ชามตราไก่ที่นำเข้าจากจีนเริ่มขาดแคลน จึงมีการผลิตในเมืองไทยแต่คุณภาพยังไม่ดี จนมีชาวจีนกลุ่มหนึ่งค้นพบว่า มีดินขาวเนื้อดีที่จังหวัดลำปางสามารถผลิตชามไก่ได้ใกล้เคียงกับของจีน จึงตั้งโรงงานผลิตชามไก่ขึ้นที่ลำปางได้รับความนิยมมาก เกิดโรงผลิตชามไก่และเครื่องเซรามิกอื่นๆ ขึ้นมากมาย กลายเป็นสัญลักษณ์ของเมืองลำปางในที่สุด  ต่อมาเมื่อชามไก่หมดความนิยมลงพร้อมกับคุณภาพการผลิตที่ไม่เหมือนเดิม ชามไก่ยุคแรกของลำปางจึงกลายเป็นของหายากและนิยมในหมู่นักสะสม บางใบมีราคาสูงถึงหลักพัน ปัจจุบันลวดลายไก่ ดอกไม้ ใบกล้วย ต้นหญ้ายังคงมีการออกแบบบนจาน ชาม เซรามิกแต่จะไม่มีเอกลักษณ์อย่างสมัยก่อนที่ต้องวาดด้วยฝีมือช่างทีละใบ ชามไก่ยุคแรกๆ จึงไม่เพียงเป็นของที่มีคุณค่าในแง่ของภาชนะเก่าเท่านั้น แต่ยังเป็นสิ่งของแทนใจสำหรับคนที่เติบโตมาพร้อมกับการกินข้าวในชามตราไก่นี้ด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 151 ชาอูหลง

ชา เครื่องดื่มที่คนทั่วโลกนิยมเป็นอันดับหนึ่งนั้น มีรูปแบบการผลิต 3 อย่าง คือ ชาเขียว(Green Tea) ชาอูหลง(Oolong Tea) และชาดำ(Black Tea) ชาอูหลง       เด่นตรงมีกลิ่นหอมละมุนชุ่มติดคอ รสชาติเข้มกว่าชาเขียวแต่ฝาดน้อยกว่าชาดำ กระบวนการผลิตชาอูหลงที่ผ่านกระบวนการกึ่งหมัก ทำให้เกิดสารที่เรียกว่า Oolong Tea Polymerized-polyphenols หรือ OTPPs (ไม่มีในชาเขียวและชาดำ) สารกลุ่มนี้มีรายงานการวิจัยบางชิ้นระบุว่า มีผลต่อการลดและควบคุมปริมาณไขมันในร่างกาย ทำให้ชาอูหลงกลายเป็นชาที่น่าสนใจขึ้นมาทันใดชาอูหลง เอาใบชาสายพันธุ์อะไรมาทำก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นพันธุ์อัสสัม ที่มีถิ่นกำเนิดในอินเดียหรือชาสายพันธุ์จีน แต่เพราะชาอูหลงไปชื่อพ้องกับ ชาสายพันธุ์อูหลง ซึ่งเป็นสายพันธุ์ชาจากจีนที่มาแรง ซึ่งภาคเหนือเรานิยมปลูกกันมากเพราะได้ราคาดี โดยเฉพาะชาสายพันธุ์อูหลงเบอร์ 17 หรืออูหลงก้านอ่อน อันนี้ถือเป็นตัวท็อปสร้างชื่อระดับประเทศ ความที่ชื่อพ้องกันจึงอาจทำให้ผู้ที่ห่างไกลแวดวงชาสับสนได้ว่า “อูหลง” เป็นชื่อสายพันธุ์หรือกรรมวิธีการผลิตกันแน่  บางคนจึงดื่มชาเขียวที่ทำจากใบชาสายพันธุ์อูหลง แล้วมะโนว่าตัวเองดื่มชาอูหลงอยู่  ความจริงคือ ชาสายพันธุ์อูหลงนำมาทำได้ทั้งชาเขียว ชาอูหลงและชาดำ ดังนั้นก็ควรเลือกให้ถูกว่าท่านต้องการดื่มชาชนิดใดกันแน่ เพราะชาแต่ละชนิดจะให้สีสัน รส และกลิ่น ที่แตกต่างกัน รวมทั้งคุณสมบัติพิเศษๆ ทั้งหลาย(ลดไขมัน ป้องกันมะเร็ง ฯลฯ)  ล้วนขึ้นอยู่กับกระบวนการผลิตและใบชาที่นำมาใช้ว่าเป็นสายพันธุ์อะไร ปลูกที่ไหน ปลูกอย่างไร รวมทั้งวิธีการชงดื่มด้วย การดื่มชา จึงนับเป็นศิลปะแขนงหนึ่งเลยทีเดียว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 182 เชื้อจุลินทรีย์ในโยเกิร์ต

โยเกิร์ต เป็นผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนมเปรี้ยว(fermented milk) หรือผลิตภัณฑ์นมชนิดที่ได้จากการหมักด้วยแบคทีเรียกลุ่มที่ผลิตกรดแล็กทิก (lactic acid bacteria, LAB) แบคทีเรียชนิดที่นิยมใช้หมักโยเกิร์ต คือ สเตรพโตค็อกคัส เทอร์โมฟิลัส (Streptococcus thermophilus) และแล็กโทบาซิลลัส บัลการิคัส (Lactoobacillus delbrueckii subsp. bulgaricus) โดยผู้ผลิตมักใช้เชื้อแบคทีเรีย 2 ชนิดนี้ร่วมกันเพื่อให้สามารถผลิตโยเกิร์ตได้เร็วขึ้น มีกลิ่นและรสชาติดีกว่าใช้เชื้อชนิดใดชนิดหนึ่งเพียงชนิดเดียว อย่างไรก็ตามอัตราส่วนของเชื้อแบคทีเรียทั้ง 2 ชนิดและสายพันธุ์ที่คัดเลือกมาเป็นหัวเชื้อจะมีผลต่อรสชาติและกลิ่นรวมทั้งเนื้อสัมผัสของโยเกิร์ต ซึ่งจะแตกต่างกันในแต่ละยี่ห้อที่ผลิตออกมาขาย และอาจมีการเติมแบคทีเรีย LAB ชนิดอื่นลงไปด้วย เช่น แบคทีเรียกลุ่มโพรไบโอติก อย่าง บิฟีโดแบคทีเรียม(Bifidobacterium) โยเกิร์ตนั้นโดยทั่วไปจะใช้น้ำนมวัวเป็นวัตถุดิบ แต่ก็สามารถใช้น้ำนมจากสัตว์ชนิดอื่น เช่น น้ำนมแพะ หรือผลิตภัณฑ์จากพืช เช่น น้ำนมถั่วเหลืองหรือกะทิแทนน้ำนมวัวได้ ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) จะเรียกโยเกิร์ตที่ผ่านการปรุงแต่งกลิ่น รส สี หรือเติมผลไม้ลงไปว่า โยเกิร์ตปรุงแต่ง (flavoured yogurt) ทั้งโยเกิร์ตและโยเกิร์ตปรุงแต่งจะต้องมีจุลินทรีย์ที่ใช้ในการหมักที่มีชีวิตคงเหลืออยู่ ในประเทศไทยโยเกิร์ตจะมีอยู่ 2 ลักษณะคือ โยเกิร์ตชนิดแข็งตัว(set yoghurt) ซึ่งจะมีเนื้อแน่น และโยเกิร์ตชนิดคน(stirred yoghurt) ซึ่งเนื้อโยเกิร์ตค่อนข้างเหลวไม่จับเป็นก้อน   การเลือกซื้อโยเกิร์ต จุดเด่นที่เราต้องการจากโยเกิร์ตคือ จุลินทรีย์กลุ่มแลกทิก(LAB) ซึ่งช่วยเรื่องสมดุลในระบบทางเดินอาหารและยังทำให้คนที่ไม่สามารถดื่มนมได้เนื่องจากขาดเอนไซม์ที่จะย่อยแลกโทสในน้ำนมนั้น สามารถกินโยเกิร์ตทดแทนได้ หลักการซื้อจึงควรดูเรื่องอุณหภูมิในการเก็บรักษาโยเกิร์ต เชื้อจุลินทรีย์ที่ใช้หมักและรุ่นการผลิต   1.เลือกที่มีวันผลิตใกล้เคียงกับวันที่ซื้อ เพื่อให้ได้โยเกิร์ตที่สดใหม่ ซึ่งจะยังมีเชื้อจุลินทรีย์ LAB ที่มีชีวิตจำนวนมาก(เชื้อจุลินทรีย์จะลดจำนวนลงเรื่อยๆ เมื่อผ่านไปหลายวัน) 2.ตู้แช่บริเวณชั้นวางผลิตภัณฑ์ควรมีอุณหภูมิในการเก็บรักษาระหว่าง 2 – 5 องศาเซลเซียส คือต้องเย็นพอๆ กับตู้เย็นบ้านหรือเย็นกว่า เนื่องจากจุลินทรีย์ LAB ชอบอากาศเย็น และจะคงสภาพมีจำนวนเชื้อที่มีชีวิตมากกว่าในที่อากาศร้อน 3.พลิกดูฉลากอ่านชื่อเชื้อจุลินทรีย์ที่มีอยู่ในถ้วยถ้าเป็น สเตร็ปโตค็อคคัส เทอร์โมฟิลัสและแล็คโตแบซิลลัส บัลการิคัส เพียงสองชนิดจัดว่าเป็นโยเกิร์ตธรรมดา แต่หากต้องการโยเกิร์ตที่เป็นโพรไบโอติก ต้องเลือกที่มีเชื้ออื่นที่ข้างถ้วย โดยโพรไบโอติกที่มีอยู่ในโยเกิร์ตในท้องตลาดบ้านเราคือ ไบฟิโดแบคทีเรียม ไบฟิดุม (Bifidobacterium bifidum) ไบฟิโดแบคทีเรียม แอนิมาลิส (Bifidobacterium animalis DN173010) แล็คโตแบซิลลัส คาเซอิ (Lactobacillus casei) แล็คโตแบซิลลัส แอซิโดฟิลลัส (Lactobacillus acidophilus) เป็นต้น (ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ที่ผลิตในประเทศไทยมักใส่โพรไบโอติกเพียง 1 ชนิด ส่วนที่มาจากต่างประเทศจะเติมโพรไบโอติกลงไป 1-3 ชนิด) 4.โยเกิร์ตแบบโพรไบโอติก จะมีคุณสมบัติในเรื่องของการช่วยให้ระบบขับถ่ายดีขึ้น ถ้าคุณเป็นคนท้องผูกควรลองรับประทานโยเกิร์ตประเภทนี้ แต่ถ้ามีระบบขับถ่ายไว ควรเลือกรับประทานโยเกิร์ตแบบธรรมดา โยเกิร์ตพร้อมดื่มเหมือนหรือแตกต่างจากโยเกิร์ตอย่างไร โยเกิร์ตพร้อมดื่มหรือนมเปรี้ยวพร้อมดื่ม มีกระบวนการหมักเหมือนกับโยเกิร์ต คือใช้วัตถุดิบเป็นนมวัวและเติมเชื้อแบคทีเรียกลุ่มแลกทิกลงไป เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการหมักแล้วจะมีการเจือจางและปรุงแต่งกลิ่น รส สี หรือมีการเติมน้ำผลไม้หรือน้ำเชื่อมเพิ่มลงไป จะได้ผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะเหลว นมเปรี้ยวที่วางขายซึ่งผลิตตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม แบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ นมเปรี้ยวพร้อมดื่ม นมเปรี้ยวพร้อมดื่มพาสเจอไรซ์ และนมเปรี้ยวพร้อมดื่มยูเอชที โพรไบโอติก(Probiotic) หมายถึง แบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในลำไส้ใหญ่ของมนุษย์ ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ได้แก่ แบคทีเรียที่สร้างกรดแล็กทิก(lactic acid bacteria, LAB) เช่น Lactobacillus และ Bifidobacterium แบคทีเรียกลุ่มนี้ พบในผลิตภัณฑ์อาหารหมัก(fermentation) เช่น นมเปรี้ยว แหนม กิมจิ จะช่วยยับยั้งการเจริญของแบคทีเรียก่อโรค(pathogen) ช่วยย่อยอาหารที่มนุษย์ย่อยไม่ได้หรือย่อยได้ไม่หมด ช่วยการดูดซึมของสารอาหาร โคเรสเตอรอล และสร้างวิตามินที่เป็นประโยชน์กับร่างกาย อาหารที่แบคทีเรีย กลุ่มโพรไบโอติกนำไปใช้ได้ เรียกว่า พรีไบโอติก(prebiotic) เช่น ใยอาหาร(dietary fiber) ข้อมูล1. ดร.สุนัดดา โยมญาติ นักวิชาการสาขาชีววิทยา http://biology.ipst.ac.th/?p=9872. รองศาสตราจารย์ วิมล ศรีศุข ภาควิชาอาหารเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล http://www.pharmacy.mahidol.ac.th          

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 170 สีใน “กะปิ”

“กะปิ” ถือเป็นอีกหนึ่งวัตถุดิบหลักในการปรุงอาหารทีแทบทุกบ้านจะต้องมีติดครัวเอาไว้ เพราะหลากหลายเมนูอาหารไทย ล้วนแล้วแต่ต้องเพิ่งพาความอร่อยจากรสชาติอันเป็นเอกลักษณ์ของกะปิ ด้วยว่าประเทศไทยเรามีพื้นที่หลายส่วนที่ติดกับทะเล เมื่อบวกเข้ากับภูมิปัญญาแบบชาวบ้านของคนรุ่นปู่รุ่นย่า ที่นำเอาสัตว์ทะเลตัวเล็กๆ อย่าง “เคย” นำมาหมักรวมเข้ากับเกลือ ตากแดดทิ้งไว้จนเนื้อเคยและเกลือทำปฏิกิริยาเข้าด้วยกัน ได้เป็นกะปิของดีของอร่อย เป็นเครื่องปรุงหลักทั้งในน้ำพริกและเครื่องแกงต่างๆ แม้ขั้นตอนการทำกะปิดูเหมือนจะไม่ซับซ้อนและใช้เพียงแสงแดดจากดวงอาทิตย์บวกกับกำลังคนคอยหมั่นพลิกเนื้อกะปิให้สัมผัสแดดโดยทั่วถึงกัน แต่ที่ผ่านมาเราก็ยังได้ยินข่าวเรื่องการปนเปื้อนของสารเคมีหรือสิ่งแปลกปลอมในกะปิที่วางขายตามท้องตลาดอยู่เสมอ โดยเฉพาะเรื่องการใส่ “สี” ซึ่งกฎหมายควบคุมชัดเจนว่า “ห้ามใส่สี” ในกะปิ ซึ่งสีสังเคราะห์ที่ใช้อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพของคนกิน ฉลาดซื้อฉบับนี้จึงของอาสาสุ่มตรวจตัวอย่างกะปิจากตลาดและซูเปอร์มาร์เก็ตในกทม. เพื่อดูว่ากะปิที่เรากินกันอยู่นั้น ปลอดภัยจากสีผสมอาหารมากน้อยแค่ไหน       **** Update (17 ธันวาคม 2558) กะปิระยอง  มีข้อชี้แจงมาด้านล่างครับ          ผลทดสอบ -พบตัวอย่างกะปิที่ใส่สีสังเคราะห์จำนวน 5 ตัวอย่าง ประกอบด้วย 1.กะปิดี ร้านเจ๊ติ่ง ตลาดสี่มุมเมือง พบสี Erythrosine E127 ปริมาณ 47.84 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (มก./ กก.), 2.กะปิตัวอย่างจากตลาดคลองเตย พบสี Erythrosine E127 ปริมาณ 18.84 มก./ กก., 3.กะปิระยอง ตราเรือใบ จาก ท๊อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต สาขาฟิวเจอร์ปาร์ค รังสิต พบสี Erythrosine E127 ปริมาณ 6.04 มก./ กก., 4.กะปิร้านน้อยกุ้งแห้ง ตลาดโชคชัย 4 พบสี Erythrosine E127 ปริมาณ 4.55 มก./ กก. และ 5.กะปิกุ้งใหญ่ชุมพร ตลาดห้วยขวาง พบสี Erythrosine E127 ปริมาณน้อยกว่า 1 มก./กก. -สี Erythrosine E127 หรือ เออร์โธรซีน เป็นสีสังเคราะห์กลุ่มสีแดง เป็นชนิดของสีที่พบในทุกตัวอย่างกะปิที่มีการพบการใส่สี -กะปิ ถือเป็นอาหารที่ห้ามมีการใส่สีทุกชนิด ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 281) พ.ศ. 2547 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร ซึงกำหนดเกณฑ์ตามมาตรฐานของโคเด็กซ์ หรือมาตรฐานอาหารสากล หรือตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งเคยประกาศไว้ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 66 (พ.ศ.2525) เรื่องการใช้สีผสมอาหาร -การใส่สีลงไปในกะปิก็เพื่อให้กะปิมีสีที่ดูน่ารับประทานมากยิ่งขึ้น แต่สีสังเคราะห์ที่ใส่ลงไปอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ แม้จะมีปริมาณไม่มากแต่ก็อาจสะสมส่งผลเสียในระยะยาว ทางที่ดีควรเลือกรับประทานกะปิที่ไม่ใส่สีใดๆ จะดีที่สุด   คำแนะนำในการเลือกซื้อกะปิ -สีของกะปิต้องเป็นที่ดูเป็นธรรมชาติ เช่น สีชมพู สีแดงออกม่วง ไม่ออกคล่ำและดูสีสดเกินไป -เนื้อของกะปิต้องละเอียดเป็นเนื้อเดียวกัน มีความสม่ำเสมอ เหนียว ไม่แห้งหรือเปียกเกินไป -มีกลิ่นหอมตามธรรมชาติของกะปิ ไม่มีกลิ่นคาวปลา หรือกลิ่นฉุนคล้ายสารเคมี ไม่เหม็นอับ -รสชาติเค็มพอดี ไม่มีรสขม -ไม่มีสิ่งแปลกปลอม เช่น แป้ง กรวด ทราย ฯลฯ ไม่มีเม็ดเกลือเป็นก้อนๆ -บรรจุในภาชนะที่สะอาด แห้ง และปิดไว้สนิท   สีในกะปิ...ก่อนหน้านี้ก็เคยมีมาแล้ว เมื่อปี 2555 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข โดยศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 1 ตรัง ได้ทำการสุ่มตรวจตัวอย่างกะปิที่ผลิตใน 6 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ กระบี่ ตรัง พังงา ภูเก็ต ระนอง และสตูล  จำนวน 86 ตัวอย่าง เพื่อตรวจวิเคราะห์หาการปนเปื้อนของสี ผลที่ได้พบว่า 52.3% ของตัวอย่างกะปิมีการใส่สีสังเคราะห์ โดยชนิดของสีที่พบมีดังนี้ สีโรดามีน 50%, สีซันเซ็ต เย็ลโลว์ เอ็ฟซีเอ็ฟ 9.3%,  สีเอโซรูบีน 9.3%,  และสีปองโซ 4 อาร์  1.1% นอกจากนี้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระนอง ก็เคยตรวจวิเคราะห์หาเชื้อจุลินทรีย์ในตัวอย่างกะปิ พบว่ามีเชื้อจุลินทรีย์สาเหตุโรคอาหารเป็นพิษหลายชนิด โดยเฉพาะกะปิที่เก็บเอาไว้นาน เพราะฉะนั้นเพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพ กะปิควรทำให้สุกทุกครั้งก่อนรับประทาน       ....ผู้ผลิตและจำหน่ายกะปิระยอง ตราเรือใบ ขอเรียนชี้แจงและยืนยันว่า บริษัทฯ มีกรรมวิธีการผลิตกะปิที่ได้มาตรฐาน GMP ไม่มีการใส่สีและไม่มีสารกันบูด แต่เมื่อทางฉลาดซื้อพบว่ามีการปนเปื้อนของสีในรุ่นการผลิตที่เก็บตัวอย่าง เดือนเมษายน ทางบริษัทจึงได้ทดสอบผลิตภัณฑ์ในรุ่นการผลิตอื่นๆ และปัจจุบันไม่พบว่า มีการปนเปื้อนของสีในผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค จึงเรียนมาเพื่อทราบ...ฉลาดซื้อขอขอบคุณที่บริษัทฯ ใส่ใจและเข้มงวดในเรื่องการควบคุมคุณภาพสินค้าให้มีมาตรฐาน เนื่องจากปริมาณสีที่พบในรุ่นการผลิตที่ฉลาดซื้อทดสอบมีปริมาณน้อย จึงอาจเป็นไปได้ว่า มีการปนเปื้อนมาในส่วนของวัตถุดิบ ซึ่งทางบริษัทคงได้เข้มงวดในจุดนี้มากขึ้นจึงไม่พบการปนเปื้อนของสีซ้ำ จึงขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้ ที่บริษัทฯ เห็นความสำคัญของงานคุ้มครองผุ้บริโภค   

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 159 “เครื่องดื่มแมนๆ” ไว้ดูแลผู้ชายแน่หรือ??

กระแสเครื่องดื่มฟังก์ชันนัล ดริงค์ (functional drink) หรือเครื่องดื่มที่มีการเติมวิตามินและสารอาหารต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพลงไป กำลังมาแรงสุดๆ หวังเรียกเรตติ้งจากกลุ่มคนรักสุขภาพ กลุ่มคนรุ่นใหม่ คนวัยทำงาน โดยเฉพาะคนในเมืองที่อยากมีสุขภาพที่ดีแต่ไม่มีเวลาดูแลตัวเอง เครื่องดื่มประเภทนี้เริ่มต้นเจาะกลุ่มของผู้หญิงเป็นหลัก เน้นเสริมด้านสุขภาพและความงาม ก่อนจะขยายต่อมายังกลุ่มของผู้ชาย ตามกระแสรักสุขภาพและการดูแลตัวเองที่มีเพิ่มมากขึ้นของหนุ่มๆ แบบไม่น้อยหน้าสาวๆ ขนาดที่ว่าเครื่องดื่มแมนๆ ที่เคยมีภาพลักษณ์เป็นเครื่องดื่มให้พลังงานอย่าง “เครื่องดื่มชูกำลัง” ที่เจาะกลุ่มคนใช้แรงงาน และ “เครื่องดื่มเกลือแร่” ที่เน้นคนเล่นกีฬาเป็นหลัก ยังต้องปรับตัวเองด้วยการเติมวิตามินและสารอาหารต่างๆ เพิ่มลงไป เพื่อหวังปรับภาพลักษณ์ตัวเองให้เป็นเครื่องดื่มฟังก์ชันนัล ดริงค์กับเขาด้วย   ดื่มแล้ว “แมน” จริงหรือ? เพราะเดี๋ยวนี้ไม่ใช่แค่สาวๆ เท่านั้นที่ห่วงใยดูแลตัวเอง หนุ่มๆ หลายคนก็เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการเอาใจใส่ดูแลตัวเองกันมากขึ้น ไม่ใช่แค่เรื่องสุขภาพ แต่ยังรวมไปถึงผิวพรรณ หน้าตา ความหล่อ เครื่องดื่มที่อ้างว่าดีต่อสุขภาพสำหรับคุณผู้ชาย จึงกลายเป็นอีกหนึ่งสินค้ามาแรง ที่ถูกผลิตออกมาวางขายมากมายหลายรูปแบบหลายยี่ห้อ หวังเกาะกระแสคนรักสุขภาพแต่ไม่ค่อยมีเวลาดูแลตัวเอง โดยมาพร้อมกับสโลแกนแมนๆ อย่าง “เครื่องดื่มแมนๆ ที่มีไว้ดูแลผู้ชาย” หรือ “ปลุกความเป็นชายในตัวคุณ” ฟังแล้วรู้สึกหึกเหิมขึ้นมาทันที คล้ายว่าดื่มแล้วกล้ามจะโตขึ้นมาสักเซ็น 2 เซ็น เครื่องดื่มแมนๆ ทั้งหลายที่วางขายในท้องตลาดส่วนใหญ่ มีส่วนผสมหลักๆ 3 อย่าง คือ น้ำผลไม้ วิตามินหรือแร่ธาตุสารอาหารต่างๆ และสุดท้ายขาดไม่ได้คือ น้ำตาล เราลองมาช่วยกันหาคำตอบดูสิว่า เครื่องดื่มที่ผลิตขึ้นมาเพื่อเอาใจหนุ่มๆ ผู้รักสุขภาพนั้น ดีจริงหรือแค่ราคาคุย   แกะรอยน้ำตาลตัวร้าย เครื่องดื่มที่เจาะตลาดหนุ่มๆ ทั้ง 3 ประเภทที่ฉลาดซื้อสำรวจ ประกอบด้วย เครื่องดื่มฟังก์ชันนัล ดริงค์ เครื่องดื่มชูกำลัง และเครื่องดื่มเกลือแร่ ถ้าสังเกตจากข้อมูลบนฉลากที่เรานำมาเปรียบเทียบให้ดูนั้น จะเห็นว่าส่วนใหญ่จะมีการเติมน้ำตาลลงไปในปริมาณที่ค่อนข้างสูง ที่พบปริมาณสูงที่สุดคือผลิตภัณฑ์ “แมนซั่ม” ซึ่งเป็นเครื่องดื่มฟังก์ชันนัล ดริงค์ ที่เจาะกลุ่มผู้ชายชัดเจน และมีการโฆษณาว่าเป็นเครื่องดื่มสำหรับผู้ชายที่อยากดูแลตัวเอง ข้อมูลฉลากโภชนาการแจ้งว่าใน 1 ขวด มีน้ำตาลสูงถึง 44 กรัม ทั้งๆ ที่ปริมาณน้ำตาลที่เหมาะสมต่อร่างกายใน 1 วัน คือไม่เกิน 24 กรัม ซึ่งถ้าดื่มเครื่องดื่ม “แมนซั่ม” หมด 1 ขวด ร่างกายของเราจะได้รับน้ำตาลเกินกว่าที่ต้องการถึง 20 กรัม และอย่างที่หลายๆ คนรู้กันดีอยู่แล้วว่า น้ำตาลที่สะสมในร่างกายเป็นตัวการก่อเกิดโรคอันตรายเรื้อรังต่างๆ ทั้ง โรคอ้วน เบาหวาน ความดัน หัวใจ ความหวังของหนุ่มๆ ที่หวังว่าจะดื่มแล้วดูดี ได้วิตามิน แร่ธาตุ ก็เป็นเพียงแค่ฝันกลางวันเท่านั้น เพราะความจริงสิ่งที่หนุ่มๆ จะได้จากการดื่มเครื่องดื่มขวดนี้ คือ น้ำตาลล้วนๆ เพราะน้ำตาลมีส่วนช่วยในการเสริมสร้างพลังงานแก่ร่างกาย กระตุ้นการทำงานของสมอง ทำให้รู้สึกสดชื่น เครื่องดื่มส่วนใหญ่จึงมีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบหลัก โดยเฉพาะเครื่องดื่มชูกำลัง และเครื่องดื่มเกลือแร่ ซึ่งเป็นเครื่องดื่มที่ช่วยเพิ่มความสดชื่น สร้างความตื่นตัวของสมองและระบบประสาท ซึ่งทำให้เครื่องดื่มเหล่านี้มีการเติมน้ำตาลลงไปในปริมาณที่ค่อนข้างสูง โดยเครื่องดื่มชูกำลังจะมีปริมาณนำตาลต่อ 1 ขวด อยู่ที่ 17 – 28 กรัม ขณะที่เครื่องดื่มเกลือแร่จะมีน้ำตาลอยู่ประมาณ 30 – 36 กรัม ส่วนเรื่องของวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ ที่มีการผสมลงไปนั้น เป็นการเติมลงไปเพื่อผลทางการตลาดเป็นสำคัญ แม้บางตัวอย่างบางยี่ห้อมีการเติมวิตามินและแร่ธาตุลงไปในปริมาณที่ค่อนข้างสูง  แต่ก็ไม่คุ้มกันกับที่ร่างกายของเราต้องรับปริมาณน้ำตาลจำนวนมากเข้าไปด้วย               “วิตามิน” ใน “ฟังก์ชันนัล ดริงค์” ดีจริงหรือแค่โฆษณา   วิตามินบี12 วิตามินบี 12 ถือเป็นวิตามินยอดฮิตที่เครื่องดื่มในกลุ่มเครื่องดื่มชูกำลังนิยมนำมาเติมลงไป พร้อมกับชูเป็นจุดขายว่าเครื่องดื่มชูกำลังขวดนี้ไม่ใช่แค่เครื่องดื่มชูกำลังธรรมดา แต่ว่าดื่มแล้วดีมีประโยชน์ เพราะมีวิตามินบี 12 ช่วยบำรุงสมอง โฆษณากันขนาดนี้ จนทาง อย. ต้องรีบออกมาควบคุม เพราะเครื่องดื่มชูกำลังอย่างที่รู้กันว่าเป็นเครื่องดื่มควบคุมจำกัดปริมาณการปริโภค “ห้ามดื่มเกินวันละ 2 ขวด” นั่นเป็นเพราะการที่ร่างกายได้รับปริมาณคาเฟอีมมากเกินไปอาจทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกาย เพราะนอกจากจะไปกระตุ้นการทำงานของระบบประสาท ยังมีผลต่อหัวใจ ทำให้ใจสั่น หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ ทำให้ความดันโลหิตสูง ซึ่งถือว่าไม่ปลอดภัย ถ้าหากจะถามว่าร่างกายของเรามีความจำเป็นที่จะต้องได้รับวิตามินบี 12 จากเครื่องดื่มชูกำลังหรือเครื่องดื่มอื่นๆ ที่มีการเติมวิตามินบี 12 เพิ่มลงไปหรือไม่ ตอบได้ทันทีเลยว่าไม่จำเป็น เพราะวิตามินบี 12 นั้นหาทานได้ง่าย ร่างกายเราสามารถได้รับวิตามินมี 12 อยู่แล้วจากจากกินอาหารประเภทเนื้อสัตว์ต่างๆ โดยอาหารที่ถือเป็นแหล่งที่มีวิตามินบี 12 สูง มีอย่างเช่น เครื่องในสัตว์ โดยเฉพาะตับ ไข่แดง นม อาหารทะเลอย่าง หอย และ ปู ที่สำคัญปริมาณวิตามินบี 12 ที่ร่างกายของเราต้องการต่อวันอยู่ที่แค่ 600 ไมโครกรัม (0.06 มิลลิกรัม) เท่านั้น เราจึงไม่มีความจำเป็นต้องรับวิตามินเข้าสูงร่างกายในปริมาณมากๆ ซึ่งวิตามินบี 12 (และรวมถึงวิตามินบีอื่นๆ) เป็นวิตามินที่มีคุณสมบัติละลายน้ำ เมื่อร่างกายได้รับเกินความต้องการ สุดท้ายก็จะถูกขับทิ้งทางปัสสาวะ   วิตามินซี อีกหนึ่งวิตามินยอดนิยมที่ถูกนำมาเป็นจุดขายในเครื่องดื่มกลุ่มฟังก์ชันนัลดริงค์ ด้วยความที่วิตามินซีถูกสร้างภาพทางการตลาดว่าเป็นวิตามินวิเศษครอบจักรวาล ป้องกันได้ทั้งโรคหวัด ช่วยให้ร่างกายแข็งแรง ต้านอนุมูลอิสระ ทำให้ผิวหน้าเต่งตึง ขาวกระจางใส ฯลฯ ซึ่งเป็นเรื่องจริงที่วิตามินซีดีต่อร่างกายของเรา แต่ถึงอย่างไรร่างกายของเราก็ต้องการวิตามินซีในปริมาณที่พอเหมาะพอดี และใครที่กินอาหารครบ 5 หมู่ กินผักกินผลไม้เป็นประจำอยู่แล้ว โอกาสที่ร่างกายจะขาดวิตามินซีนั้นแทบจะเป็น 0 ในหนึ่งวันร่างกายของคนเราต้องวิตามินซีที่ปริมาณ 60 มิลลิกรัม (ที่มา: สารอาหารที่แนะนำให้บริโภคประจำวันสำหรับคนไทยอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป thai RDI) ซึ่งวิตามินซีมีอยู่มากมายในผัก – ผลไม้ โดยเฉพาะ ฝรั่ง ยอดคะน้า มะรุม มะละกอ ส้มโอ ฯลฯ สำหรับเรื่องของวิตามินซีเสริมที่มีวางจำหน่ายมากมายในปัจจุบัน ซึ่งเกิดจากคำแนะที่ว่าใน 1 วัน เราควรกินวิตามินซีเฉลี่ยที่ 1,000 มิลลิกรัม (ซึ่งตรงกับปริมาณของวิตามินชนิดเม็ดที่วางขายอยู่ในปัจจุบันแบบพอดิบพอดี) ก็ถือเป็นทางเลือกสำหรับคนที่พอจะมีทุนทรัพย์หาซื้อมารับประทานเพิ่มเติม หรือใครที่มีภาวะขาดวิตามินซีและแพทย์แนะนำว่าต้องทานวิตามินเสริม คนที่ทานผัก-ผลไม้เป็นประจำ ร่างกายก็น่าจะได้รับวิตามินซีในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการแล้ว   คอลลาเจน คอลลาเจน ถือเป็นโปรตีนชนิดหนึ่ง มีส่วนสำคัญที่ช่วยให้ผิวหนังของเรามีความยืดหยุ่น เต่งตึง ทำงานประสานกับเซลล์อื่นๆ ในชั้นผิวหนัง ซึ่งคอลลาเจนใต้ชั้นผิวหนังก็จะค่อยๆ เสื่อมสภาพไปตามวัย เป็นเหตุให้เมื่ออายุมากเข้าผิวหนังจะเริ่มหย่อนคล้อยลงเรื่อยๆ  ด้วยความที่หน้าที่ของคอลลาเจนดันไปเกี่ยวโยงเข้ากับเรื่องผิวพรรณความงาม ทำให้คอลลาเจนถูกดึงไปเป็นจุดขายของบรรดาผลิตภัณฑ์อาหารเสริมทั้งหลายๆ ที่ขายเรื่องความงาม ขนาดเครื่องดื่มแมนๆ บางยี่ห้อยังต้องใช้คอลลาเจนมาเป็นจุดขาย บรรดาคุณหมอและนักวิชาการด้านสุขภาพส่วนใหญ่ต่างก็ยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า การทานคอลลาเจนที่มาในรูปแบบของเครื่องดื่ม ทั้งแบบฟังก์ชันนัล ดริงค์ และแบบผงที่เอามาชงน้ำดื่ม ร่างกายไม่สามารถดูดซึมคอลลาเจนนำไปใช้งานเสริมสร้างคอลลาเจนในร่างกายได้ เพราะคอลลาเจนที่เรากินเข้าไปนั้นก็จะต้องถูกนำไปย่อยเช่นเดียวกับโปรตีนทั่วไป ก่อนจะกลายเป็นกรดอะมิโนเพื่อให้ร่างกายดูดซึมไปใช้งาน ความจริงแล้วร่างกายของเราสามารถผลิตคอลลาเจนได้เอง แต่ว่าปริมาณจะลดน้อยลงตามอายุที่มากขึ้น และปัจจัยภายนอกอื่นๆ เช่น อันตรายจากรังสีอุลตร้าไวโอเลต รวมถึงปัจจัยจากการรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม อย่างอาหารปิ้งย่างที่มีส่วนที่ไหม้เกรียม อาหารมันๆ อาหารปนเปื้อนสารเคมี เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น   ซิงค์ หรือ สังกะสี สังกะสีถือเป็นแร่ธาตุสำคัญที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย มีส่วนในการเจริญเติบโตของร่างกาย ช่วยในการสร้างเซลล์ใหม่ๆ สร้างอินซูลิน เป็นส่วนประกอบของเอนไซม์ ช่วยให้กระดูกและผนังหลอดเลือดแข็งแรง โดยปกติร่างกายเรามีความต้องการแร่ธาตุสังกะสีอยู่ที่ประมาณ 15 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งเราสามารถได้รับสังกะสีจากการกินอาหารจำพวก เนื้อสัตว์ อาหารทะเล (โดยเฉพาะหอยนางรม) ไข่แดง นม ตับ จมูกข้าวสาลี ถั่วและธัญพืชต่างๆ    ไนอะซิน ไนอะซิน หรือ วิตามินบี 3 ประโยชน์ใกล้เคียงกับวิตามินบี 12 ที่ช่วยในการทำงานของระบบประสาท ทำให้เครื่องดื่มชูกำลังก็มักมีการเติมไนอะซินลงไปด้วยเช่นเดียวกับวิตามินบี 12 เหตุผลหนึ่งที่ทำให้วิตามินบีทั้งหลาย ถูกเลือกนำมาผสมในเครื่องดื่มต่างๆ เป็นเพราะ วิตามินบีมีคุณสมบัติละลายน้ำ เหมาะแก่การนำมาผสมลงในเครื่องดื่ม ร่างกายไม่ได้ต้องการไนอะซินเยอะ กินเนื้อสัตว์ ไข่ นม และธัญพืชต่างๆ ก็เป๊ะแล้ว   ฉลาดซื้อแนะ -เครื่องดื่มฟังก์ชันนัล ดริงค์ ที่วางขายอยู่ตามท้องตลาด ไม่ว่าจะเจาะกลุ่มผู้ชายหรือผู้หญิง ส่วนใหญ่เป็นเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบหลัก เพราะช่วยเพิ่มเรื่องรสชาติ ดื่มง่าย อร่อย ดื่มแล้วรู้สึกสดชื่น ส่วนความคิดที่ว่าดื่มแล้วจะได้รับวิตามิน แร่ธาตุต่างๆ ดื่มแล้วสุขภาพดี ผิวขาวสวย หน้าใส คงเป็นเพียงแค่คำโฆษณาเพื่อผลทางการตลาดเท่านั้น ดีที่สุดก็คงได้แค่ดื่มแก้กระหาย แต่ระวังให้ดีดื่มมากๆ น้ำตาลจะไปทำร้ายสุขภาพ   -เครื่องดื่มชูกำลัง เป็นเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนเป็นส่วนผสมหลัก ซึ่งดื่มมากๆ คาเฟอีนจะส่งผลเสียต่อระบบประสาทและการทำงานของหัวใจ เพราะฉะนั้นที่โฆษณาว่า ดื่มเครื่องดื่มชูกำลังแล้วดีเพราะมีวิตามินบี 12 จึงเป็นแค่คำโฆษณาหวังกระตุ้นให้มีการดื่มเครื่องดื่มชูกำลังเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิด และทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่าง อย. ก็พยายามจัดการกับผู้ผลิตที่มีการโฆษณาในลักษณะนี้ เพราะกฎหมายบอกไว้ชัดเจนว่าห้ามมีการส่งเสริมการขายเครื่องดื่มชูกำลัง ซึ่งเป็นเครื่องดื่มที่ต้องมีการควบคุมการบริโภค ใครที่หวังจะฉลาดเพราะได้วิตามินบี 12 จากเครื่องดื่มชูกำลัง ให้ทิ้งความคิดนี้ไปได้เลย เพราะไม่เป็นผลดีกับสุขภาพแน่นอน   -เครื่องดื่มเกลือแร่ ส่วนประกอบหลักๆ คือ น้ำตาล และสารให้ความหวานอื่นๆ เช่น กลูโคส ฟรุคโตส รวมถึงโซเดียมคลอไรด์ กับ โพแทสเซียมคลอไรด์ ซึ่งสารเหล่านี้มีส่วนช่วยให้ร่างกายของเราดูดซึมน้ำในร่างกายไปใช้ได้เร็วขึ้น ซึ่งเครื่องดื่มเกลือแร่ก็มีข้อเสียถ้าดื่มในปริมาณมากเกินไป เพราะเป็นเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลและโซเดียมสูง อาจส่งผลเสียต่อสมดุลการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย เช่น ไต หัวใจ ระบบไหลเวียนของเลือด เครื่องดื่มเกลือแร่จึงเหมาะกับคนที่เสียเหงื่อมากๆ จากการเล่นกีฬา เพราะเครื่องดื่มชนิดนี้ช่วยกระตุ้นการดูดซึมน้ำในร่างกาย ชดเชยน้ำที่เสียไป แต่ในความเป็นจริงการดื่มน้ำเปล่าธรรมดาก็สามารถช่วยลดอาการเหนื่อยและอาการขาดน้ำได้เช่นกัน    

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 158 รสหวานในน้ำจิ้มไก่

น้ำจิ้ม จัดเป็นของคู่สำรับอาหาร อย่างน้อยๆ ก็ต้องมีพริกน้ำปลาสักถ้วย น้ำจิ้มช่วยเพิ่มอรรถรสในการกิน เรียกได้ว่าเป็นตัวชูรสอาหารให้โดดเด่นขึ้น ปัจจุบันน้ำจิ้มถ้าไม่ทำเอง ก็มีผู้ผลิต บรรจุขวดไว้ให้เราซื้อหากันได้สะดวก น้ำจิ้มมีหลายชนิด แต่ที่นิยมกันมากถึงกับเคยมีการจัดอันดับน้ำจิ้มที่คนไทยชื่นชอบ ปรากฏว่า น้ำจิ้มไก่มาเป็นอันดับหนึ่ง  “เหตุเพราะน้ำจิ้มไก่สามารถทานได้กับอาหาราแทบทุกชนิดไม่ใช่แค่ไก่อย่างเดียว แถมทานกับข้าวสวยเปล่าๆยังอร่อยอย่าบอกใคร” (ที่มา toptenthailand) และเพราะว่ากินคู่กับอาหารมาเป็นเวลานาน ทำให้คนส่วนใหญ่ติดในรสชาติที่จัดจ้าน ทั้งเปรี้ยว หวานและเผ็ดนิดๆ อีกทั้งยังกินกันมาตั้งแต่เด็ก ซึ่งพอไปรวมกับอาหารอื่นๆ เข้า ก็อาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมาได้เช่นกัน เพราะน้ำจิ้มไม่เพียงแต่หวานจากน้ำตาล ยังมีการตัดรสด้วยเกลือ ซึ่งก็คือโซเดียม ที่กำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ในปัจจุบัน เพื่อช่วยให้มองภาพรวมของน้ำจิ้มไก่ได้ว่า อาจมีปัญหาถ้าติดรสชาติของน้ำจิ้มมากเกินไป และจิ้มกินจนเพลิน เราลองมาดูฉลากของน้ำจิ้มไก่กันดีกว่า ซึ่งน่าสนใจว่า หลายยี่ห้อได้ทำฉลากโภชนาการไว้ด้วย   อย่ามองข้ามน้ำจิ้ม แค่สองช้อนโต๊ะ ก็หวานพุ่ง ค่าเฉลี่ยของโซเดียมในน้ำจิ้มไก่ ในหน่วยบริโภคขนาด 36 กรัมหรือราวๆ 2 ช้อนโต๊ะ คือ 460 มก. ส่วนน้ำตาลประมาณ 14.3 กรัม เรียกว่า แค่จิ้มนิดๆ ก็หวานจัดกันทีเดียว สำคัญอีกอย่างที่ต้องระวังคือ โซเดียม ซึ่งมีปริมาณไม่เบาเลย ดังนั้นแล้ว อย่าเห็นว่าหวานเลยจิ้มเพลินจนลืมโซเดียมที่แฝงอยู่ในน้ำจิ้มอันแสนอร่อย แม้น้ำจิ้มจะเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของอาหารที่หลายคนขาดไม่ได้ แต่ควรกินแต่เพียงพอดี อย่าเยอะนะคะ ด้วยความปรารถนาดีจากฉลาดซื้อ(มารคอหอยตัวสำคัญ)   ปริมาณโซเดียมในเครื่องปรุงและอาหารสำเร็จรูป   •        เกลือ 1 ช.ช                                             =โซเดียม 2,000 มก. •        น้ำปลาหรือซีอิ๊ว 1 ช. ช.                        =โซเดียม  400  มก. •        ซอสมะเขือเทศ  1 ช.ช                           = โซเดียม 55 มก. •        ซอสหอยนางรม 1ช.ช                            = โซเดียม140 – 160มก. •        น้ำจิ้มไก่ 1 ช.ช                                        = โซเดียม 67 - 76 มก. •        บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 60 กรัม                   = โซเดียม 1,500 มก. •        โจ๊กกึ่งสำเร็จรูป    42 กรัม                    = โซเดียม 1,000 มก. http://www.raktai.org/Home/KnowledgeContent.aspx?id=4         คำแนะนำสิบข้อที่เตือนให้เราทบทวน “นิสัยการกิน” 1. กรุณาชิมทุกครั้งก่อนที่จะเติมเครื่องปรุงลงไป โดยเฉพาะก๋วยเตี๋ยว2. กรุณากวาดเอาขวดน้ำปลา ซอส ซีอิ๊วและเกลือออกจากโต๊ะอาหารให้เกลี้ยงภายในวันนี้3. ลดการกินอาหารหมัก-ดอง, อาหารแปรรูปเช่นผัก, ผลไม้ดอง, ไส้กรอก, หมูยอ, แหนม, เบคอน4. ลด การกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป (เพราะมีโซเดียมในอาหารประเภทนี้มหาศาล ซึ่งอาจจะมาจากผงชูรส ดังนั้น สัปดาห์หนึ่งอย่ากินเกินสามซอง และเวลากินอย่าไปซดน้ำจนหมดเกลี้ยง เพราะถ้าซดจนหมด ก็จะได้ทั้งความเค็มจากเกลือ, น้ำปลาและผงชูรสไปเต็มๆ ) 5. ลดการกิน อาหารที่มีน้ำจิ้ม (เวลากินสุกียากี้หรือหมูกระทะ น้ำจิ้มมีเหลือล้น บางคนขอเพิ่มสองสามรอบด้วยซ้ำไป นั่นคือความเต็มอย่างยิ่งและมีโซเดียมสูงอย่างยิ่ง)6. ลดการกินอาหารที่ปรุงจากปลาเค็ม ไข่เค็ม เนื้อเค็ม ปลาร้า กะปิ เต้าหู้ยี้ (ไม่ควรกินบ่อย, ขอย้ำว่ากินได้แต่อย่าบ่อย)7. กินผลไม้สดโดยไม่ต้องจิ้มพริก, เกลือหรือน้ำตาล 8. ลดการกินอาหารจานด่วนตะวันตกและขนมกรุบกรอบ เพราะอาหารประเภทนี้ผงชูรสและโซเดียมมากเกินความจำเป็น9. ลดการใช้ผงชูรส (ไม่ถึงกับต้องงด หากกินปริมาณพอเหมาะก็ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย แต่หากกินมากก็จะเจอปัญหาโซเดียมสูง)10. อ่านฉลากก่อนซื้อ (ฉลากไหนที่บอกว่ามีโซเดียมไม่เกิน 200 มิลลิกรัม ก็ถือว่าใช้ได้)   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 140 กาเฟอีนในชาพร้อมดื่ม

เราทราบกันดีว่าเครื่องดื่มผสมกาเฟอีน (เครื่องดื่มชูกำลัง) เป็นเครื่องดื่มที่มีคำเตือน “ห้ามดื่มเกินวันละ 2 ขวด เพราะหัวใจจะสั่น นอนไม่หลับ เด็กและสตรีมีครรภ์ไม่ควรดื่ม ผู้ป่วยปรึกษาแพทย์ก่อน” อยู่บนฉลาก อีกทั้ง ด้วยเป็นเครื่องดื่มที่ผสมสารเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จึงได้ควบคุมปริมาณกาเฟอีนที่เป็นส่วนผสมไว้ว่าห้ามเกิน 50 มิลลิกรัม ต่อขวดหรือกระป๋อง (หน่วยบรรจุ) นอกจากนี้ ยังมีการควบคุมเรื่องการโฆษณาอีกต่างหากเพื่อให้ผู้บริโภคไม่เกิดความเข้าใจที่ขาดเคลื่อนเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ เช่น ต้องมีการระบุคำเตือนในสปอตโฆษณาทุกครั้ง และต้องไม่โฆษณาในลักษณะการแถมพก หรือให้รางวัลด้วยการเสี่ยงโชคหรือมีการให้ของแถม เป็นต้น อย่างไรก็ดี เรื่องที่ฉลาดซื้อจะนำข้อมูลมาให้ท่านผู้อ่านได้ทราบกันไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวข้างต้นหากแต่เป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีกาเฟอีนเหมือนกันแต่เป็นกาเฟอีน (Caffeine) ตามธรรมชาติ ซึ่งก็คือ ชาเขียว และกาแฟพร้อมดื่ม ด้วยเหตุผลที่ว่า มันไม่มีคำเตือน! และไม่ได้รับการควบคุมครับพี่น้อง   ด้วยกระแสความนิยมชาที่มีมาอย่างต่อเนื่อง (โดยเฉพาะชาเขียว) กับ กระแสกาแฟที่อ้างว่ากินแล้วหุ่นดี ไม่อ้วน ทำให้ผู้บริโภคหลายคนลืมไปว่าสิ่งที่ตนจะดื่มมีสารเสพติดเป็นส่วนผสมอยู่ด้วย (ถึงแม้จะมีการบังคับให้แสดงปริมาณกาเฟอีนบนฉลาก ชา – กาแฟ ก็ตาม) ผู้บริโภคบางคนถึงขนาดเคยพูดให้ผู้เขียนฟังว่า “ดื่มน้ำอัดลมไม่ดี ดื่มชา (เขียว) ดีกว่า ดีกับสุขภาพด้วย” ฉลาดซื้อฉบับนี้จึงขออาสาเอาฉลากชา แต่ละยี่ห้อ จำนวน 23 ตัวอย่าง (13 ยี่ห้อ) ทั้งชาเขียว ชาขาว ชาดำ ฯลฯ และปิดท้ายด้วยกาแฟกระป๋อง โดยนำฉลากกาแฟจำนวน 3 ตัวอย่างบวกกับฉลากเครื่องดื่มชูกำลังจำนวน 4 ตัวอย่าง มากางเห็นกันอย่างชัดเจนว่า ผลิตภัณฑ์ของเจ้าใด มีกาเฟอีน มากน้อยต่างกันเพียงใด นอกจากนี้ เรามีสมนาคุณพิเศษแถมข้อมูลน้ำตาลบนฉลาก กับการแสดงฉลากโภชนาการ มาให้ท่านผู้อ่านได้ยลกันอีกด้วย     ภาพรวมจากการเปรียบเทียบฉลาก ชาสำเร็จรูปพร้อมบริโภคทั้งหมดที่สุ่มมาจะมีส่วนประกอบหลัก 2 ประการคือ น้ำชาและน้ำตาล (หรือสารอื่นที่ให้ความหวานแทนน้ำตาล) โดยในน้ำชานั้นจะมีกาเฟอีนอยู่ระหว่าง เกือบ 7 ถึง 20 มิลลิกรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร ขณะที่กาแฟกระป๋องมีกาเฟอีนอยู่ที่ 40 – 80 มล.ต่อ 100 มิลลิกรัม หากคำนวณเป็นปริมาณกาเฟอีนต่อภาชนะบรรจุแล้วจะพบว่าอยู่ในช่วง ประมาณ 23 ถึง 101 มิลลิกรัมต่อภาชนะบรรจุ ส่วนกาแฟกระป๋องจะมีกาเฟอีนอยู่ที่ 98 – 144 มิลลิกรัมต่อกระป๋อง และเครื่องดื่มผสมกาเฟอีนทั้งหมดจะมีกาเฟอีนอยู่ที่ 50 มิลลิกรัม/ขวด สำหรับการแสดงฉลากโภชนาการ สัดส่วนอยู่ที่ 1 ต่อ 3 โดยมีการแสดง 1 ส่วน ขณะที่ อีก 2 ส่วนไม่มีการแสดงซึ่งทำให้ผู้บริโภคที่ใช้ฉลากเพื่อการตัดสินใจจะพบความลำบากเมื่อต้องการทราบปริมาณน้ำตาลว่ามีอยู่เท่าไร บทวิเคราะห์ ชาพร้อมดื่ม(ทุกประเภท) เป็นเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีนตามธรรมชาติในปริมาณต่อหน่วยบรรจุภัณฑ์ที่ไม่ต่างกันกับเครื่องดื่มผสมกาเฟอีน นอกจากนี้ยังมีน้ำตาลสูง ยิ่งไปกว่านั้นด้วยมีการบังคับแสดงคำเตือน ว่า “ห้ามดื่มเกินวันละ 2 ขวด เพราะหัวใจจะสั่น นอนไม่หลับ เด็กและสตรีมีครรภ์ไม่ควรดื่ม ผู้ป่วยปรึกษาแพทย์ก่อน” สำหรับเครื่องดื่มผสมกาเฟอีน ดังนั้นชาพร้อมดื่มจึงไม่ใช่เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพตามที่ผู้ประกอบการทำให้เราเข้าใจแต่อย่างใด การบริโภคชาพร้อมดื่มเกินกว่าวันละ 2 ขวดคู่กับการดื่มกาแฟวันละ 1 – 2 แก้ว หรืออาหารอื่นที่มีกาเฟอีนเป็นส่วนประกอบ อาจจะนำมาซึ่งอาการติดกาเฟอีน (Caffeinism) ได้ (การได้รับกาเฟอีนเกินกว่า 250 มก./วันนำมาซึ่งอาการติดกาเฟอีน : อาการหงุดหงิด ทำงานไม่ได้ จนกว่าจะเพิ่มปริมาณคาเฟอีนในกระแสเลือดก่อน) อีกทั้งยังอาจนำมาซึ่งโรคอ้วนและโรคเบาหวาน (จากการได้รับน้ำตาลมากเกินไป – เกณฑ์น้ำตาลต่อวันที่นักโภชนาการแนะนำคือ 6 ช้อนชา หรือ 24 กรัมต่อวัน) หน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการแสดงฉลากอาหาร หรือ อย. จึงควรมีการบังคับให้มีฉลากคำเตือนแบบเดียวกันกับที่มีในเครื่องดื่มผสมกาเฟอีนอื่นๆ ด้วยเช่นกัน ฉลาดซื้อแนะนำ 1. ถ้าต้องการดื่มชาเพื่อสุขภาพ ขอแนะนำให้ชงชาดื่มเองเพราะไม่ได้ยุ่งยากอะไรแค่ใส่ใบชาลงในน้ำร้อน ทิ้งไว้ไม่เกิน 3 นาที (เกินกว่านี้ สารแทนนินจะออกมามากทำให้มีรสขม) 2. อย่าเข้าใจว่า ชาเขียวพร้อมดื่มดีต่อสุขภาพ เพราะในระหว่างกระบวนการผลิตชาพร้อมดื่มที่ต้องใช้ความร้อนสูงในการฆ่าเชื้อโรค ทำให้สารที่เป็นประโยชน์ในชาหายไปจนเกือบหมดแล้ว 3. สำหรับผู้ชื่นชอบชาพร้อมดื่ม เราขอแนะนำให้ดื่มไม่เกินวันละ 2 ขวด (แบบไม่มีน้ำตาล) โดยเด็กและสตรีมีครรภ์ไม่ควรรับประทาน และผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ก่อน 4. สำหรับท่านที่ชอบดื่มชาปกติ (มีน้ำตาล) ฉลาดซื้อแนะว่า ขวดเดียวต่อวันก็เกินพอครับ (หวานเกิ๊น )

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 138 ตรวจแถวคุณภาพข้าวหอมมะลิ

ฉลาดซื้อฉบับนี้ขอชวนผู้อ่านมารับประทานข้าวด้วยกัน กับผลทดสอบพร้อมเสิร์ฟ “เปรียบเทียบคุณภาพข้าวหอมมะลิบรรจุถุง” ข้าวหอมมะลิ ถือเป็นข้าวขวัญใจมหาชน ได้รับการยกย่องในเรื่องของรสชาติความอร่อย แต่จะสักกี่คนที่จะรู้ว่าข้าวหอมมะลิที่ดีนั้นควรมีลักษณะอย่างไร ฉลาดซื้ออยากให้ทุกคนได้กินข้าวหอมมะลิที่มีคุณภาพ อร่อยคุ้มค่ากับราคาที่จ่ายไป เราจึงได้สุ่มเก็บตัวอย่างข้าวหอมมะลิบรรจุถุงที่จำหน่ายอยู่ในท้องตลาด จำนวน 18 ยี่ห้อ และข้าวหอมชนิดอื่นอีก 2 ตัวอย่าง เพื่อนำมาตรวจวิเคราะห์เรื่องคุณภาพในส่วนของคุณสมบัติทางเคมี ซึ่งประกอบด้วย 3 คุณสมบัติ ได้แก่ 1.ปริมาณอมิโลส 2.ปริมาณ % เมล็ดที่มีอุณหภูมิแป้งสุก และ 3.เรื่องความหอม มาทำความรู้จักคุณสมบัติทางเคมีในข้าวหอมละมิทั้ง 3 ประเภทกันก่อน   ปริมาณอมิโลส ส่วนประกอบหลักของข้าวก็คือ แป้ง ซึ่งในแป้งข้าวจะมีองค์ประกอบสำคัญคือ อมิโลเปคติน และ อมิโลส อัตราส่วนของอมิโลสและอมิโลเปคติน เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ข้าวสุกมีคุณสมบัติแตกต่างกัน ถ้าหากข้าวมีปริมาณอมิโลสสูงเวลาที่หุงข้าวจะดูดน้ำมากกว่าข้าวที่มีอมิโลสต่ำ ทำให้ข้าวที่มีอมิโลสสูงเมื่อหุงสุกแล้วจะมีความร่วน แข็ง ตรงข้ามกับข้าวที่มีอมิโลสต่ำจะทำให้ข้าวมีความเหนียว อย่างในข้าวเหนียวจะมีปริมาณอมิโลสอยู่ที่ประมาณ 0 – 2% เท่านั้น สำหรับปริมาณอมิโลสที่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานข้าวหอมมะลิไทย คือ 13 – 18% ซึ่งเป็นปริมาณอมิโลสจะที่จะทำให้ข้าวหอมมะลิที่หุงมีความเหนียวนุ่มกำลังดี ทั้งนี้ก็ต้องหุงโดยใช้น้ำให้เหมาะสม ปริมาณอมิโลสในข้าวหอมมะลิถือว่าอยู่ในระดับปานกลางค่อนไปทางต่ำ น้ำที่ใช้หุงก็ไม่ควรใช้มากเกินไป ปริมาณที่แนะนำคือ ถ้าใช้ข้าวสารหอมมะลิ 1 ถ้วยตวง ให้ใช้น้ำ 1 ถ้วยครึ่ง หรือไม่เกิน 1 ถ้วยกับอีก 3 ใน 4 ส่วนของถ้วยตวง อุณหภูมิแป้งสุก ข้าวที่มีคุณภาพดีควรมีอุณหภูมิแป้งสุกต่ำ หากมีอุณหภูมิแป้งสุกสูงจะทำให้ข้าวเมื่อหุงสุกมีความแข็งกระด้าง อุณหภูมิแป้งสุกมีความสัมพันธ์กับระยะเวลาการหุงต้ม โดยทั่วไป การหุงต้มข้าวจะใช้เวลา 13 - 24 นาที ข้าวที่มีอุณหภูมิแป้งสุกสูงจะใช้เวลาในการหุงต้มนานกว่าข้าวที่มีอุณหภูมิแป้งสุกต่ำ ข้าวหอมมะลิต้องมีอุณหภูมิข้าวสุกต่ำเมื่อหุงสุกแล้วความจะไม่แฉะ โดยอุณหภูมิแป้งสุกที่ถือว่าอยู่ในระดับต่ำ คือไม่เกิน 65 องศาเซลเซียส การตรวจหาคุณภาพของข้าวหอมมะลิในส่วนของอุณหภูมิแป้งสุก จะใช้วิธีดูจากปริมาณของเมล็ดข้าวที่มีอุณหภูมิแป้งสุกจากการหุง คือเมื่อทำการหุงตามระยะเวลาที่กำหนด ข้าวที่หุงได้สุกทั่วทั้งเมล็ด ไม่มีส่วนที่แข็งคล้ายข้าวสาร ซึ่งข้าวหอมมะลิที่ดีควรมีปริมาณเมล็ดที่มีอุณหภูมิแป้งสุกต่ำเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 92% กลิ่นหอม ความหอมที่เป็นเอกลักษณ์ของข้าวหอมมะลิ เกิดจากสารระเหยที่ชื่อว่า 2 – acetyl – 1 – pyrroline ความหอมของข้าวหอมมะลิแต่เดิมนั้นว่ากันว่ากินหอมนั้นหอมคล้ายกับดอกมะลิ ซึ่งกลายเป็นที่มาของชื่อ แต่หลายคนเปรียบกลิ่นหอมของข้าวหอมมะลิว่าเหมือนกับกลิ่นหอมของใบเตย แต่ว่ากลิ่นหอมนี้จะระเหยไปตามเวลา อายุของข้าว ข้าวใหม่ – ข้าวเก่าจึงมีผลกับความหอมของข้าวหอมมะลิ โดยธรรมชาติแล้ว ข้าวใหม่จะมีความหอมมากกว่าข้าวเก่าหรือข้าวที่เก็บไว้นานก่อนจะนำมาบรรจุใส่ถุงขาย   ตารางเปรียบเทียบผลวิเคราะห์ข้าวขาวหอมมะลิบรรจุถุง ยี่ห้อ ชนิดของข้าว มีตรารับรอง ของกระทรวงพานิชย์ (ตรามือพนม) ผู้ผลิต แจ้งว่าเป็น ข้าวใหม่ หรือ ข้าวเก่า ที่ถุง วันเดือนปีที่ผลิต ราคา ผลวิเคราะห์ กลิ่นหอมตามธรรมชาติ % อมิโลส % เมล็ดที่มีอุณหภูมิแป้งสุก มาตรฐานข้าวหอมมะลิไทย 13 – 18 ต่ำ >= 92 ปานกลาง – สูง

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 110 ชาโบราณยี่ห้อไหนใส่สีมากเกินไป

เสน่ห์ของ ชาโบราณ ที่มัดใจใครหลายๆ คนให้หลงใหล คงหนีไม่พ้นเรื่องของรสชาติที่สะดุดลิ้นกับกลิ่นหอมที่ดึงดูดใจ และคงรวมไปถึงสีสันที่เป็นเอกลักษณ์ ฉูดฉาดบาดใจ แต่นักดื่มชาโบราณทั้งหลายเคยสงสัยกันหรือไม่ว่า สีของชาเย็น ชาดำเย็นที่เราดื่มนั้นมันเป็นสีจากธรรมชาติหรือมาจากการเติมแต่งเข้าไป “ฉลาดซื้อ” ฉบับนี้มีความจริงเรื่อง “สีในชา” ที่น่าตกใจมาเปิดเผยให้ทุกคนได้รู้กัน ชาโบราณ จัดเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทชาปรุงสำเร็จพร้อมดื่ม ที่ทางการอนุญาตให้ใส่สีได้ โดยต้องมาจดแจ้งขออนุญาตกันก่อน เพื่อจำกัดปริมาณสีที่ผสมเข้าไปไม่ให้มากจนอาจเกิดอันตรายแก่ผู้บริโภค ดังนั้น “ฉลาดซื้อ” ได้ตระเวนเก็บตัวอย่างชาผงสำเร็จรูป แบบที่นำมาชงเป็นชาดำเย็นหรือชาเย็นใส่นมที่หลายๆ คนชอบซื้อดื่มจากร้านหรือรถเข็นขายชา-กาแฟทั่วๆ ไป ซึ่งชาชนิดนี้มีชื่อเรียกหลายๆ แบบ ไม่ว่าจะเป็น ชาโบราณ ชาแดง ชาซีลอน ชาดำ ---------------------------------------------------------------------------------------------------- ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 196) พ.ศ. 2543 ระบุเอาไว้ว่า ชาผงสำเร็จรูป ต้องมีคุณภาพและมาตรฐานดังนี้ คือ (1) มีความชื้นไม่เกินร้อยละ 6 ของน้ำหนัก (2) มีเถ้าทั้งหมดไม่เกินร้อยละ 20 ของน้ำหนักชาผงสำเร็จรูปแห้ง (3) มีกาเฟอีน (caffeine) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 4.0 ของน้ำหนัก เว้นแต่ชาผงสำเร็จรูปที่สกัดเอากาเฟอีนออกแล้ว ให้มีกาเฟอีนได้ในปริมาณที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และข้อที่ (4) ที่สำคัญมากๆ คือ เรื่อง สี ซึ่งในประกาศระบุไว้ว่า “ไม่ให้ใส่สี” แม้จะแต่งกลิ่นและรสได้ แต่ห้ามใส่สีเด็ดขาดทั้งในชาผงสำเร็จรูปและใบชา จะยกเว้นก็เฉพาะชาปรุงสำเร็จพร้อมดื่มที่ไม่ได้ระบุเรื่องการห้ามใส่สีเอาไว้ ---------------------------------------------------------------------------------------------------- ผลทดสอบ “สี” ในชาผงปรุงสำเร็จ- ในการทดสอบครั้งนี้ “ฉลาดซื้อ” ได้เก็บตัวอย่างชาผงปรุงสำเร็จทั้งหมด 13 ยี่ห้อ ซึ่งเลือกจากการบอกเล่าของแม่ค้า พ่อค้า ที่ขายชาโบราณว่า นิยมใช้ยี่ห้อใดในการขาย โดยฉลาดซื้อได้เก็บตัวอย่างของชาเขียว 1 ตัวอย่าง คือ ตรามือ สำหรับชงชาเขียวนม เพิ่มเติม นอกนั้นเป็นชาดำ ทั้งหมด - การทดสอบตัวอย่างชาผงปรุงสำเร็จทั้ง 13 ยี่ห้อ พบว่ามีเพียงแค่ 1 ตัวอย่างเท่านั้นที่ไม่พบการใส่สีสังเคราะห์เพิ่มเติม คือ Yoku ซึ่งที่ข้างซองไม่ได้แจ้งรายละเอียดใดๆ ไว้เลย แจ้งเพียงแค่ ใบอนุญาตนำหรือสั่งอาหารเข้ามาในราชอาณาจักรเลขที่ 10-3-13-13446 - สีผสมอาหารที่พบในการทดสอบครั้งนี้คือ ซันเซ็ต เย็ลโลว์ (Sunset yellow) และ ตาร์ตราซีน (Tartrazine) ซึ่งเป็นกลุ่มสีที่ให้สีเหลือง, ปองโซ 4 อาร์ (Ponceau 4R) และ คาร์โมอีซีน (Carmoisine) กลุ่มสีที่ให้สีแดง และ บริลเลียนท์ บลู (Brilliant blue) กลุ่มสีที่ให้สีน้ำเงิน ซึ่งทั้งหมดเป็นสีผสมอาหารที่เป็นสีสังเคราะห์ - ซันเซ็ต เย็ลโลว์ เป็นสีที่พบในทุกตัวอย่าง (ยกเว้น Yoku ที่ไม่พบสีผสมอยู่เลย) ตัวอย่างที่พบมากที่สุดคือ ยี่ห้อ ตราแพะ (ชาซีลอน) ซึ่งมีถึง 7356.70 มิลลิกรัมต่อ 1 กิโลกรัม ซึ่งในการชงชาดื่ม 1 แก้ว ปริมาณชาผงปรุงสำเร็จที่ใช้ชงจะอยู่ที่ 2 ช้อนชา หรือประมาณ 10 กรัม เมื่อคำนวณดูแล้ว ปริมาณสีสังเคราะห์ต่อการดื่มชาตราแพะ (ชาซีลอน) 1 แก้ว จะอยู่ที่ประมาณ 73.56 มิลลิกรัม ซึ่งถือเป็นปริมาณที่สูง เพราะโดยทั่วไปแล้วปริมาณที่ให้ใช้โดยปลอดภัยกำหนดไว้ไม่เกิน 1 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักร่างกาย 1 กิโลกรัม ต่อ 1 วัน (จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก. ภัยมืดจากสารพิษ. เชษฐ สตูดิโอ แอน กราฟิคดีไซน์ จำกัด : กรุงเทพฯ. 2537) - ตัวอย่างอื่นๆ ที่ตรวจพบสีในปริมาณที่สูงรองลงมา คือ ตรามังกรบิน (5091.60 มิลลิกรัม/ 1 กิโลกรัม), Racehorse (ตราม้าแข่ง) (4338.03 มล./ 1 กก.), ตรางูเห่า สูตรเข้มข้น (4012.31 มล./ 1 กก.) และ ตราเทพพนม (3191.35 มล./ 1 กก.) - Racehorse (ตราม้าแข่ง), ตราเทพพนม, ตรามือ สำหรับชงชาเขียวนม, ตราสามแพะ และ Kapak (ใบชาตราขวาน) ตรวจพบสีสังเคราะห์ปนเปื้อนมากกว่า 1 ชนิด คือ พบทั้ง ซันเซ็ต เย็ลโลว์ กับ ตาร์ตราซีน ซึ่งเป็นสีในกล่มสีเหลือง และ ปองโซ 4 อาร์ กับ คาร์โมอีซีน ซึ่งเป็นสีในกลุ่มสีแดง ยกเว้น ตรามือ สำหรับชงชาเขียวนม ที่ไม่ใส่สีสังเคราะห์ในกลุ่มสีแดง แต่พบสีในกลุ่มสีน้ำเงินคือ บริลเลียนท์ บลู - ชาโบราณ Finest Ceylontea Dust 999, ชาโบราณ Finest Ceylon Tea Dust 666 และ Racehorse (ตราม้าแข่ง) เป็นผลิตภัณฑ์ชาผงปรุงสำเร็จที่นำเข้ามาจากประเทศมาเลเซีย ซึ่งเมื่อหลายปีก่อนเคยมีข่าวว่า อย. เก็บตัวอย่างของทั้ง 3 ยี่ห้อมาทดสอบแล้วก็พบการเติมสีสังเคราะห์ในปริมาณสูงเช่นกัน ซึ่งแม้ อย. จะออกมาตรการคุมเข้มการนำเข้าสินค้าไม่มีคุณภาพ แต่ก็ยังมีสินค้าเหล่านี้เล็ดรอดเข้ามาได้อยู่ดี - ชาผงปรุงสำเร็จ ตรามือ สำหรับชงชาเขียวนม และ ตรามือ ฉลากแดง (ชนิดเติม) มีการระบุไว้ที่ฉลากว่า เจือสี ซึ่งทั้ง 2 ตัวอย่างมาจากผู้ผลิตเดียวกัน - นอกจากเรื่องสีผสมอาหารแล้ว ในการทดสอบชาผงปรุงสำเร็จครั้งนี้ “ฉลาดซื้อ”  ได้เลือกวิเคราะห์หาสารอะฟลาท็อกซิน (Aflatoxin) ด้วย ซึ่งผลที่ออกมาน่าจะทำให้ผู้บริโภคสบายใจขึ้นบ้าง เพราะไม่พบการปนเปื้อนสารอะฟลาท็อกซินในทุกตัวอย่างที่ทำการทดสอบ ฉลาดซื้อแนะ1.ตัวอย่างชาผงปรุงสำเร็จที่เรานำมาทดสอบในครั้งนี้ ส่วนใหญ่เป็นชนิดที่ร้านขายชา – กาแฟโบราณ ซื้อจากตลาดหรือร้านค้าส่งขนาดใหญ่ เพื่อไปต้มชงขายอีกที ซึ่งปกติเราก็ไม่ค่อยได้ทราบกันอยู่แล้วว่าร้านที่เราซื้อเขาใช้ชาแบบไหนมาชงให้เรา แบบนี้การหลีกเลี่ยงสีสังเคราะห์ที่อยู่ในชาก็เป็นเรื่องยาก นอกจากจะลดการดื่มชา ทั้งชาดำเย็นและชานมเย็น เพราะตอนนี้เรารู้แล้วว่าสีส้มสวยๆ ของชา มาจากสีสังเคราะห์ซึ่งถ้าเราได้รับเข้าสู่ร่างกายมากๆ ก็อาจเป็นอันตราย2.แต่ถ้าหากอยากดื่มชา แนะนำว่าให้ซื้อมาชงกินเอง โดยเลือกซื้อชาผงสำเร็จรูปที่มีบรรจุภัณฑ์สะอาดเรียบร้อย มีเลขที่อย.ถูกต้อง มีการแจ้งชื่อ-ที่อยู่ผู้ผลิต วันที่ผลิต วันหมดอายุ และส่วนประกอบต่างๆ ซึ่งนอกจากจะลดความเสี่ยงในการได้รับสีสังเคราะห์มากเกินไปแล้ว เรายังสามารถควบคุมเรื่องความหวานจากน้ำตาลและนมได้ด้วย---------------------------------------------------------------------------------------------------- สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้มีการกำหนดปริมาณสีที่อนุญาตให้ใช้ผสมในอาหารประเภท เครื่องดื่ม ไอศกรีม ลูกกวาด และขนมหวาน ดังนี้สีที่ใช้ได้ปริมาณไม่เกิน 70 มิลลิกรัมต่ออาหารในลักษณะที่ใช้บริโภค 1 กิโลกรัม * สีแดง ได้แก่ - เอโซรูบีน , เออริโทรซิน * สีเหลือง ได้แก่ - ตาร์ตราซีน , ซันเซ็ตเย็ลโลว์ เอ็ฟ ซี เอ็ฟ * สีเขียว ได้แก่ - ฟาสต์ กรีน เอ็ฟ ซี เอ็ฟ * สีน้ำเงิน ได้แก่ - อินดิโกคาร์มีน หรือ อินดิโกตินสีที่ใช้ได้ปริมาณไม่เกิน 50 มิลลิกรัมต่ออาหารในลักษณะที่ใช้ บริโภค 1 กิโลกรัม * สีแดง ได้แก่ - ปองโซ 4 อาร์ * สีน้ำเงิน ได้แก่ - บริลเลียนห์บลู เอ็ฟ ซี เอ็ฟ www.fda.moph.go.th/fda-net/html/product/.../candy.htm - ---------------------------------------------------------------------------------------------------- อันตรายของสีผสมอาหาร1.การรับประทานสีสังเคราะห์ในปริมาณมากร่างกายอาจได้รับอันตราย สีสังเคราะห์เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะไปเคลือบเยื่อบุกระเพาะอาหารและลำไส้ ทำให้น้ำย่อยอาหารทำงานไม่ปกติ ทำให้เกิดอาการท้องอืด ท้องผูก และยังมีผลทำให้การดูดซึมอาหารถูกขัดขวาง ซึ่งทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารไม่เต็มที่ ทำให้ร่างกายอ่อนแอ น้ำหนักลด อ่อนเพลีย และอาจส่งผลต่อการทำงานของไตและตับ 2.ในสีสังเคราะห์มักจะมีสารตกค้างอื่นๆ ปะปนมา ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสารประเภทโลหะหนัก เช่น แคดเมียม  ตะกั่ว สารหนู ปรอท พลวง  โครเมียม เป็นต้น ซึ่งสารเหล่านี้แม้จะได้รับในปริมาณเล็กน้อยแต่ก็จะสะสมอยู่ในร่างกาย ปล่อยไว้นานเข้าก็จะเป็นอันตรายต่อร่างกาย ---------------------------------------------------------------------------------------------------- ตารางแสดงผลทดสอบสีผสมอาหารในชาผงปรุงสำเร็จ     ผลวิเคราะห์เฉพาะตัวอย่างที่ส่งตรวจเท่านั้น วิเคราะห์ผลโดย สถาบันโภชนาการ ม.มหิดล

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่101 ชากับอะฟลาท็อกซิน

ทดสอบกองบรรณาธิการต้นชามีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Camellia Sinensis ชาวจีนโบราณกล่าวไว้ว่าชาเป็น 1 ใน 7 สิ่งสำคัญของชีวิต ตำนานที่คลาสสิกที่สุดของการกำเนิดชาคือเรื่องราวหม้อต้มน้ำของจักรพรรดิ เสินหนง (Shen Nung) ที่บังเอิญมีใบไม้หล่นลงไปทำให้น้ำในหม้อกลายเป็นสีน้ำตาลและมีกลิ่นหอมละมุน   ชาชิง (Cha Ching) หรือ ตำราชา ของ ลู่อวี่ ในสมัยราชวงศ์ถังทำให้เขากลายเป็นเทพแห่งชาของคนจีน และทำให้ชากลายเป็นเครื่องดื่มที่อุดมไปด้วยความซับซ้อนในการเสพ ซึ่งเราอาจพบความพิถีพิถันและซับซ้อนนี้ได้ดีที่สุดในพิธีชงชาของชาวญี่ปุ่น อังกฤษคือผู้ที่ทำให้ชาแพร่หลายไปทั่วโลก และชนชั้นสูงของอังกฤษยังใช้การดื่มชาเป็นเครื่องหมายแห่งรสนิยมอันเลอเลิศ ชากลายเป็นความจำเป็นของคนอังกฤษและอาณานิคม โดยเฉพาะในอเมริกา ชากลายเป็นต้นเหตุของสงครามประกาศอิสรภาพ เชื่อกันว่าชาเข้ามาในไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัย แต่การปลูกชาเป็นอุตสาหกรรมเริ่มต้นขึ้นในปี 2480 ที่จังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย โดยบริษัท ใบชาตราภูเขา จำกัด ชานอกจากเป็นเครื่องดื่มระดับตำนาน เมื่อไม่นานมานี้ นักวิทยาศาสตร์ยังพบว่าชา ทั้งชาดำและชาเขียวมีฤทธิ์ต้านมะเร็ง การดื่มชาเป็นประจำช่วยลดการเป็นมะเร็งที่อวัยวะต่างๆ ได้ เช่น มะเร็งในกระเพาะอาหาร หลอดอาหาร ลำไส้เล็ก ปอด ผิวหนัง ลำไส้ใหญ่ ตับอ่อน และมะเร็งเต้านม ใบชาที่ได้มาตรฐาน สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม ได้กำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน ชา (มาตรฐานเลขที่ มผช. 120/2549) โดยสรุปคือ - ลักษณะต้องเป็นชิ้นหรือเป็นผงแห้ง ไม่จับตัวเป็นก้อน- สี ต้องเป็นสีธรรมชาติของชา (ไม่มีการเจือสี)- กลิ่นต้องมีกลิ่นที่ดีตามธรรมชาติ ไม่มีกลิ่นอันไม่พึงประสงค์- ไม่มีสิ่งปลอมปน อย่างเส้นผม กรวด ดิน ทราย ฯลฯ - ความชื้นไม่เกินร้อยละ 8 โดยน้ำหนัก- ต้องไม่มีจุลินทรีย์เกินมาตรฐาน (ต้องน้อยกว่า 1x104 โคโลนีต่อตัวอย่าง 1 ลูกบาศก์เซนติเมตร) - ยีสต์ รา ต้องไม่พบในตัวอย่าง ใบชาที่ชื้นและมียีสต์ รา จะก่อให้เกิดสารพิษ อะฟลาท็อกซิน ซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ในขณะที่เชื้อจุลินทรีย์ทั่วไปอาจจะถูกทำลายโดยน้ำร้อนที่ใช้ชงได้ แต่ถ้าราหรือยีสต์เหล่านี้สร้างสารพิษอะฟลาท็อกซินขึ้น น้ำร้อนที่ใช้ชงก็ไม่สามารถทำลายสารพิษได้ “ฉลาดซื้อ” สุ่มเก็บตัวอย่างใบชายี่ห้อดังที่มีวางจำหน่ายทั่วไป หาซื้อได้ง่ายมาทดสอบหาปริมาณของอะฟลาท็อกซิน ซึ่งพบว่า ไม่มีชายี่ห้อใดที่พบการปนเปื้อนของสารอะฟลาท็อกซิน นับว่าเป็นเรื่องดีที่ผลิตภัณฑ์เหล่านี้มีการผลิตที่ได้มาตรฐาน อย่างไรก็ตามเมื่อซื้อมาบริโภคควรเก็บในภาชนะที่ปิดสนิทเพื่อกันไม่ให้เกิดความชื้น เพราะความชื้นอาจทำให้เชื้อยีสต์รา สร้างสารพิษอะฟลาท็อกซินขึ้นมาได้ในภายหลัง

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 98 รับร้อนกับชานมเย็นๆ สักแก้ว??

ชานมพร้อมเสิร์ฟชานม ไม่ว่าจะแบบร้อนหรือแบบเย็น จะรสต้นตำรับไทยแบบโบราณหรือแบบฝรั่งตะวันตก ต่างก็ให้รสชาติหวานหอม กลมกล่อมและชวนดื่มยิ่งนัก ยิ่งอากาศร้อนๆ อย่างนี้ หากเป็นชานมเย็นๆ สักแก้วก็จะยิ่งทำให้ชื่นใจกันไปใหญ่โดยเฉพาะคอชา แต่ยังไงก็ตามเพื่อให้ดื่มได้อย่างรู้จริงและมั่นใจว่าปลอดภัย ฉลาดซื้อจึงนำชานมสำเร็จรูปทั้งชนิดผงพร้อมชงและแบบบรรจุกล่อง/ขวดสำเร็จรูปพร้อมดื่ม ส่งเข้าห้องทดสอบเพื่อลองดูว่า ชานมประเภทนี้มีความเสี่ยงเรื่องไขมันสูงหรือไม่ โดยเฉพาะไขมันชนิดทรานส์ ที่ว่ากันว่า เป็นผู้ร้ายตัวฉกาจไม่แพ้ไขมันอิ่มตัว ผลการทดสอบพบว่า มีอยู่ 4 ผลิตภัณฑ์ที่มีกรดไขมันทรานส์ คือ ชานมลิปตันมิลค์ที รสวานิลลา ชานมลิปตันมิลค์ที รสต้นตำรับไทย ซุปเปอร์ ชานมสำเร็จรูปและมะลิ ชาไทยผสมนม โดยลิปตันมิลค์ที รสวานิลลามีปริมาณกรดไขมันชนิดทรานส์ 0.36 กรัมต่อ 100 กรัม รองมาคือ ลิปตันรสต้นตำรับไทย 0.28 กรัมต่อ 100 กรัม ซึ่งน่าจะมาจากส่วนประกอบที่มีครีมเทียมผสมลงไปด้วย (ดูในตารางผลทดสอบ) ส่วนผลิตภัณฑ์ที่พบว่า มีปริมาณไขมันอิ่มตัวสูงได้แก่ ซุปเปอร์ ชานมปรุงสำเร็จ คือ 6.1 กรัม/ 100 กรัม   แต่เดี๋ยว…ช้าก่อน อย่าเพิ่งตกอกตกใจไป เนื่องจากเวลาที่เราดื่มจริงๆ เราก็คงดื่มไม่ถึง 100 กรัม(นอกจากจะชอบเอามากจริงๆ) ฉลาดซื้อจึงลองคำนวณโดยใช้น้ำหนักจากขนาด 1 ซองเป็นตัวตั้ง ได้ข้อมูล ดังนี้ ปริมาณกรดไขมันอิ่มตัวเมื่อเทียบหนึ่งหน่วยบริโภค ผลิตภัณฑ์ หน่วยบริโภค กรดไขมันอิ่มตัว (กรัม) 1. ซุปเปอร์ ชานมปรุงสำเร็จ 1 ซอง 17 กรัม 1 2. ลิปตัน มิลค์ที รสวานิลลา 1 ซอง 20 กรัม 0.9 ปริมาณกรดไขมันชนิดทรานส์เมื่อเทียบหนึ่งหน่วยบริโภค ผลิตภัณฑ์ หน่วยบริโภค กรดไขมันอิ่มตัว (กรัม) 1. ลิปตัน มิลค์ที รสวานิลลา 1 ซอง 20 กรัม 0.07 2. ลิปตัน มิลค์ที รสต้นตำรับไทย 1 ซอง 15 กรัม 0.04 สรุปว่าการดื่มชานม 1 แก้ว ไม่มีความเสี่ยงมากในเรื่องของไขมัน เพราะมีปริมาณไขมันทรานส์และไขมันอิ่มตัวน้อย แต่ที่ต้องระวังคือ เรื่องน้ำตาลหรือความหวาน ซึ่งมีปริมาณสูงพอสมควร ยิ่งประกอบกับคำแนะนำที่ข้างฉลากของผลิตภัณฑ์ชนิดผงที่ระบุว่า ชงเพิ่มเป็น 2 ซอง เมื่อต้องการดื่มกับน้ำแข็ง ก็จะเสี่ยงได้รับน้ำตาลมากเกินไป ส่วนชนิดพร้อมดื่ม ดูจากปริมาณ 1 หน่วยบริโภคคือขวดหรือกล่องแล้ว ก็พบว่า ยังไม่เข้าข่ายเสี่ยงมากในเรื่องปริมาณของไขมันเช่นกัน หลายยี่ห้อก็ไม่พบกรดไขมันชนิดทรานส์ แต่เรื่องน้ำตาลถือว่าแรงอยู่ บางยี่ห้อก็หวานเกินไป เช่น ไอวี่ ชาเย็นสูตรโบราณที่มีน้ำตาล 13.9 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร ถ้าดื่ม 1 กล่อง 180 มิลลิลิตรก็จะได้น้ำตาลไปถึง 25 กรัม หรือคิดเป็นน้ำตาลประมาณ 6 ช้อนชาทีเดียว (พอๆ กับดื่มน้ำอัดลมหนึ่งกระป๋อง)ปริมาณน้ำตาลเมื่อเทียบหนึ่งหน่วยบริโภค ผลิตภัณฑ์ หน่วยบริโภค กรดไขมันอิ่มตัว (กรัม) ไอวี่ 1 กล่อง 180 มิลลิลิตร 25 กรัม ลิปตัน มิลค์ที รสวานิลลา 1 ซอง 20 กรัม 10 กรัม (20 กรัมเมื่อทำเป็นชาเย็น) ลิปตัน มิลค์ที รสต้นตำรับไทย 1 ซอง 15 กรัม 9 กรัม (18 กรัมเมื่อทำเป็นชาเย็น) ผลทดสอบชานมสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์ น้ำหนัก ราคาต่อหน่วย (บาท) วันผลิต-วันหมดอายุ ผลทดสอบ น้ำตาล (กรัม/100 กรัม) กรดไขมันอิ่มตัว (กรัมต่อ 100 กรัม) กรดไขมันชนิดทรานส์ (กรัมต่อ 100 กรัม) ซุปเปอร์ ชานมปรุงสำเร็จ 510 กรัม (30 ซอง ซองละ 17 กรัม) 79 หมดอายุ 18-05-2010 51.20 6.10 0.08 ลิปตัน มิลค์ที รสต้นตำรับไทย 150 กรัม (10 ซอง ซองละ 15 กรัม) 46 07-08-2008 07-02-2010 57.60 4.00 0.28 ลิปตัน มิลค์ที รสวานิลลา 100 กรัม (5 ซอง ซองละ 20 กรัม) 27 20-10-2008 20-04-2010 52.40 4.70 0.36 ไอวี่ ชาเย็น สูตรโบราณ 180 มล. 13 ผลิต 27-11-2009 13.90 0.40 0 ยูนิฟ บาเล่ ชานมและข้าวบาร์เลย์ 350 มล. 17.50 18-12-2008 18-10-2009 7.40 0.20 0 มะลิ ชาไทยเย็นยูเอชทีผสมนมปรุงสำเร็จ 180 มล. 11 หมดอายุ 22-09-2009 8.80 0.70 0.02 นะมาชะ กรีนลาเต้น้ำชาเขียวญี่ปุ่น ผสมนม 280 มล. 18 03-09-08 03-07-09 8.0 0.2 0   ดื่มชาเพียวๆ ดีกว่าชานมจริงหรือมีงานวิจัยที่ระบุว่า ชาที่เติมนมจะมีดีที่รสชาติอร่อยเท่านั้น แต่คุณประโยชน์ที่ควรจะได้รับจากชาจะหายไป เพราะนมจะไปหยุดสารที่ให้ประโยชน์แก่ร่างกายทันทีที่ผสมกับน้ำชา นักวิจัยได้ทดลองจนพบว่า โปรตีนในนมจะเข้าไปจับกับสารประกอบในน้ำชาที่ช่วยป้องกันการเกิดโรคหัวใจ (รวมทั้งบรรดาสารต้านอนุมูลอิสระต่างๆ ในน้ำชา) ทำให้สารประกอบนั้นไม่สามารถออกฤทธิ์ได้อีกต่อไป ผลการทดลองดังกล่าวช่วยให้ข้อสรุปได้ว่า หากจะรับประโยชน์จากการดื่มชา ให้ดื่มชาแท้ๆ ไม่ผสมนม แต่หากใจมันชอบจะเติมนมหรือครีมผสมกับน้ำชา ก็ให้รู้ไว้ว่า มันไม่ค่อยมีประโยชน์อะไร ท่านจะได้แค่ความอร่อยหวานมันเท่านั้น อย่างไรก็ตามเรื่องอย่างนี้มันก็แล้วแต่ความชอบของแต่ละคน ห้ามกันไม่ได้อยู่แล้ว   กรดไขมันชนิดทรานส์กรดไขมันชนิดทรานส์ (Trans Fatty acid ) เป็นกรดไขมันที่เกิดจากกระบวนการเติมไฮโดรเจน (Partial hydrogenation) ลงในน้ำมันที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง ทำให้น้ำมันที่อยู่ในสภาพของเหลวเปลี่ยนเป็นไขมันที่มีสภาพแข็งขึ้นหรือเป็นของกึ่งเหลว พบในอุตสาหกรรมเนยเทียม (margarine) หรือเนยขาว (shortening) ครีมเทียม เป็นต้น   จากการศึกษาวิจัยพบว่ากรดไขมันชนิดทรานส์ให้ผลร้ายเช่นเดียวกับกรดไขมันอิ่มตัว คือทำให้ไขมันไม่ดีชนิดอื่นเพิ่มปริมาณมากขึ้นในร่างกาย ขณะเดียวกันก็ไปลดไขมันชนิดดี ส่งผลให้หลอดเลือดในร่างกายอักเสบ เสื่อม จนตีบตัน เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด ประเทศที่นิยมรับประทานอาหารที่ต้องใช้กรดไขมันชนิดทรานส์เข้าไปอยู่ในกระบวนการผลิต จึงต้องออกประกาศ ให้ผลิตภัณฑ์อาหารที่จำหน่ายในประเทศทั้งหมดระบุปริมาณไขมันทรานส์บนฉลากโภชนาการ เช่น แคนาดาและสหรัฐอเมริกา สำหรับอาหารที่มีความเสี่ยงมาก ต้องระวังในการรับประทานคือ อาหารที่มีปริมาณกรดไขมันชนิดทรานส์มากกว่า 0.7 กรัมต่อมื้อ และมีกรดไขมันชนิดทรานส์บวกกับกรดไขมันอิ่มตัว มากกว่า 4 กรัมต่อมื้อ อาหารที่เป็นที่นิยมของคนไทยก็พบว่ามี กรดไขมันชนิดทรานส์ด้วยเช่นกัน ได้แก่พวก ขนมอบหรือเบเกอรีที่มีมาการีนเป็นส่วนประกอบ อย่างคุกกี้ พาย หรืออาหารที่ใช้มาการีนในการทอด อย่าง โรตี โดนัท แฮมเบอร์เกอร์ เป็นต้น  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 185 เพียงชายคนนี้ไม่ใช่ผู้วิเศษ : สามีดีๆ ไม่มีขาย อยากได้ต้องสร้างเอง

ในระบอบทุนนิยมนั้น วัตถุที่เรียกว่า “เงิน” เป็นสิ่งที่มนุษย์เราสร้างขึ้นมาให้กลายเป็นข้อตกลงร่วมกันในการแลกเปลี่ยนมูลค่าของสิ่งของต่างๆ     ประโยคในบทเพลงที่บอกว่า “มีเงินเดินซื้อสินค้าได้...” หรือ “คนเราเคารพคบกันที่เงิน...” เป็นภาพสะท้อนให้เห็นว่า แม้มนุษย์จะสร้างเงินขึ้นมา แต่ท้ายที่สุด มนุษย์เราก็กลับก้มหัวยอมสยบให้กับอำนาจของ “พระเจ้าเงินตรา” ได้ด้วยเช่นกัน    ไม่เพียงแต่เงินจะใช้เพื่อจับจ่ายซื้อวัตถุหรือสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ ได้เท่านั้น ทุกวันนี้เงินยังมีอำนาจซื้อได้แม้แต่กับจิตใจ จิตวิญญาณ ไปจนกระทั่งชีวิตของมนุษย์ด้วยกัน ดุจเดียวกับที่ “อนุศนิยา” ลูกสาวทายาทมหาเศรษฐีรายใหญ่ ได้ใช้เงิน 60 ล้านบาทซื้อ “คุณหมอศตวรรษ” มาเป็น “สามีเงินผ่อน” ครอบครองเป็นคู่ชีวิตของเธอ    เพราะเกิดมาบนกองเงินกองทอง หรือถือกำเนิดในครอบครัวของมหาเศรษฐีรายใหญ่ อนุศนิยาจึงเป็นผู้หญิงที่เหมือนจะเลิศเลอเพอร์เฟ็คในทุกทาง รูปสวย รวยทรัพย์ การศึกษาดี ฐานะทางสังคมไม่ด้อยกว่าใคร แต่ทว่าลึกๆ แล้ว แม้ว่าฉากหน้าจะมีความสุขจากการเสพวัตถุต่างๆ แต่ฉากหลังของอนุศนิยากลับถูกทดสอบด้วยคำถามว่า วัตถุและเงินทองเป็นเพียง “ของมายา” หรือเป็นความสุขที่แท้จริงในชีวิตของเธอกันแน่?    กับบททดสอบแรก อนุศนิยาต้องเรียนรู้ว่า แม้จะ “คาบช้อนเงินช้อนทอง” ติดตัวมาเกิดเป็นทายาทมหาเศรษฐี แต่เรื่องบางเรื่องก็ไม่สามารถซื้อหาได้ด้วยเงินทอง เหมือนกับที่ “นันทพล” บิดาของเธอซึ่งป่วยเป็นโรคไต ก็เป็นโรคสมัยใหม่ที่มักจะเกิดในบรรดาหมู่ผู้มีอันจะกินทั้งหลาย และก็มักต้องมีรายจ่ายให้กับค่าซ่อมบำรุงร่างกายแบบแพงแสนแพงเช่นกัน     แต่ที่เหนือสิ่งอื่นใด เพราะเงินทองไม่เข้าใครออกใคร อนุศนิยาจึงยังต้องวุ่นวายกับปัญหาการช่วงชิงทรัพย์สินในกองมรดกจากบรรดาคุณอาผู้หญิงทั้งสี่ ที่ทุกคนต่างคอยตอดเงินกงสีของตระกูลอยู่เป็นประจำ จนไปถึงปัญหาระหว่างเธอกับอาแท้ๆ อย่าง “ชยากร” ที่คิดกับเธอมากไปกว่าความสัมพันธ์แบบอากับหลาน    ส่วนบททดสอบที่สองนั้นก็คือ “โสมมิกา” คาสโนวี่สาวประจำแวดวงไฮโซ ที่แม้ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมรุ่นกับอนุศนิยามาตั้งแต่สมัยเรียนอนุบาลจนถึงระดับมหาวิทยาลัย แต่เพราะทั้งคู่ต่างก็มั่งคั่งร่ำรวยและโดดเด่นในวงสังคมไม่แพ้กัน ต่างคนจึงหมั่นไส้และอิจฉาตาร้อนจนไม่เคยมีมิตรภาพที่แท้จริงให้แก่กันแต่อย่างใด     แต่ทว่า บททดสอบเรื่องสายสัมพันธ์ที่เปราะบางในครอบครัว หรือความขัดแย้งแบบ “เพื่อนที่ไม่รัก แถมหักเหลี่ยมโหด” ก็ยังไม่เทียบเคียงกับบททดสอบสุดท้าย ที่ไม่เพียงสำคัญยิ่ง แต่ถือเป็นจุดเปลี่ยนหลักในชีวิตของอนุศนิยา    บทเรียนดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อ “เสาวรส” มารดาของหมอศตวรรษ ได้เล่นการพนันเกินตัว จนติดหนี้ครอบครัวของอนุศนิยาถึง 60 ล้านบาท และได้ยื่นข้อเสนอให้บุตรชายของเธอมาแต่งงานเป็นสามีในนามกับอนุศนิยา เพียงเพื่อขัดดอกผ่อนชำระหนี้ก้อนโตดังกล่าว    ในแง่หนึ่งหมอศตวรรษเองก็อาจ “ไม่ใช่ผู้วิเศษที่จะเสกปราสาทงามให้เธอ” และ “ไม่ใช่คนยิ่งใหญ่ร่ำรวยจ่ายเงินเร็วร้อนแรง” เพราะเขาก็เป็น “เพียงผู้ชายคนนี้ที่มีใจมั่นรักเธอ” ดังนั้น จากจุดเริ่มต้นที่อนุศนิยาเห็นว่าหนี้สิน 60 ล้านบาทเป็นตัวกั้นกลางความสัมพันธ์แบบสามีภรรยา เธอจึงตั้งแง่ดูถูกและรังเกียจเขาที่ยินยอมเสียศักดิ์ศรีมาแต่งงานเป็นสามีขัดดอกแลกเปลี่ยนกับหนี้ที่มารดาของเขาได้ก่อเอาไว้    จนเมื่อภายหลัง เพราะคุณงามความดีของหมอศตวรรษ ผู้เป็นลูกที่ดีของมารดา เป็นชายหนุ่มที่รักษาสัญญาและมุ่งมั่นทำงานเพื่อปลดหนี้ให้แม่ เป็น “สามีแห่งชาติ” ในสายตาของผู้หญิงทั้งหลายทั้งในจอและนอกจอ และอาจเป็นชายที่ “ไม่ใช่ผู้วิเศษ” แต่ความดีที่เขาแสดงให้ประจักษ์จริง ก็สามารถพิชิตหัวใจของอนุศนิยาได้ในที่สุด    แต่แน่นอน บททดสอบเรื่องอำนาจของเงินกับคุณงามความดีของมนุษย์ย่อมต้องมีคลื่นมากระทบแบบระลอกแล้วระลอกเล่า เมื่อในอีกฟากความคิดของอนุศนิยาก็ยังเชื่ออยู่ลึกๆ ว่า “แข็งดังเหล็กเงินก็มักจะง้างได้เสมอ” เธอจึงถูกทั้งชยากรและโสมมิการ่วมกันวางแผนปั่นหัวทำลายความรักและสร้างความร้าวฉาน จนทำให้ความไว้เนื้อเชื่อใจที่เสมือนแก้วอันเปราะบางอยู่แล้วนั้น แทบจะล่มสลายภินท์พังลงไป    มีคำอธิบายที่น่าสนใจข้อหนึ่งว่า ในอดีตนั้น มนุษย์เราสร้างวัตถุสิ่งของขึ้นมา และมักใช้วัตถุนั้นเป็นสะพานเชื่อมโยงสายสัมพันธ์ระหว่างคนกับคนให้พันผูกกันในทางความรู้สึก เช่น เวลาผู้ใหญ่ให้วัตถุสิ่งของแก่เด็กหรือลูกหลาน หรือเวลาคนเราให้ของขวัญที่ระลึกแก่กันและกัน เป้าหมายของการใช้วัตถุสิ่งของแบบนี้ก็เพื่อผูกสัมพันธ์ให้ผู้คนได้รู้สึกใกล้ชิดแนบแน่นเข้าไว้ด้วยกัน    แต่ดังที่กล่าวมาแล้วในตอนต้น ทุกวันนี้ระบอบทุนนิยมได้ทำให้วัตถุไม่ได้ทำหน้าที่ถักทอความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคนอีกต่อไป หากแต่กลายเป็นคนเราที่ทำหน้าที่เป็นเพียงทางผ่านให้วัตถุชนิดหนึ่ง (หรือเงิน) เชื่อมโยงความสัมพันธ์กับวัตถุชนิดอื่นเป็นการทดแทน แบบที่ทั้งอนุศนิยาและโสมมิกาต่างก็คิดว่า การมีเงินในมือเป็นสิบๆ ล้านนั้น สามารถใช้ซื้อวัตถุหรือแม้แต่คนมาครอบครองได้นั่นเอง    บนสายสัมพันธ์ที่คนไม่ได้เชื่อมโยงคนผ่านวัตถุสิ่งของ แต่กลับเป็นสิ่งของที่ใช้คนเป็นทางผ่านเชื่อมโยงไปสู่วัตถุหรือเป้าหมายใดๆ เช่นนี้ ความสัมพันธ์และความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างมนุษย์จึงเกิดขึ้นได้ยาก หรือแม้จะมีอยู่บ้าง ก็พร้อมจะล่มสลายไปได้ไม่ยากนัก เพียงเพราะเงินได้กลายเป็นวัตถุที่มีอำนาจเข้ามาครอบงำความคิด ความรู้สึก และความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์เรา    ต้องผ่านบททดสอบหลายข้อกว่าถึงฉากจบที่อนุศนิยาจะเข้าใจว่า เฉพาะคนที่เชื่อมั่นว่า “เงินคือพระเจ้า” เท่านั้นจึงยอมก้มหัวสยบให้กับอำนาจของพระเจ้าเงินตรา     จนเมื่ออนุศนิยาตระหนักได้ว่า “ผู้ชายดีๆ เขาไม่ได้มีไว้ขาย อยากได้เธอต้องสร้างเอง” หรือเริ่มเรียนรู้ว่า เงิน 60 ล้านก็เป็นเพียงวัตถุที่ถูกอุปโลกน์ขึ้นมาเป็นมูลค่าแลกเปลี่ยนให้กับคนเรา ความรักของเธอที่มีต่อผู้ชายธรรมดาและ “ไม่ใช่ผู้วิเศษ” อย่างหมอศตวรรษ ก็สามารถทำให้เธอใช้ชีวิตอยู่ใน “ปราสาทงามเลิศเลอ” ได้ไม่แพ้กัน                                    

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point