ฉบับที่ 160 กระแสต่างแดน

บราซูก้า!! ในการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งก่อนหน้านี้ อาดิดาสได้เปิดตัวลูกฟุตบอล “จาบูลานี” ที่ว่ากันว่ากลมที่สุด ตั้งแต่มีการผลิตลูกฟุตบอลมา เพราะมีชิ้นส่วนเพียง 8 ชิ้นและไม่มีรอยเย็บ แต่เมื่อเหนือฟ้ายังมีฟ้า เทพกว่า “จาบูลานี” ก็ยังมี “บราซูก้า” ลูกฟุตบอลที่ประกอบด้วยชิ้นส่วนเพียง 6 ชิ้น ที่อาดิดาสผลิตขึ้นเพื่อการแข่งขันฟุตบอลโลกในปี 2014 นี้ กระแสต่างแดนฉบับนี้จึงขอพาคุณเยี่ยมชมโรงงานผลิตลูกฟุตบอลบราซูก้า ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองเซินเจิ้น ประเทศจีน เรามาดูกระบวนการผลิตและการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมของแบรนด์อาดิดาสไปพร้อมๆ กัน บราซูก้ามีส่วนประกอบหลัก 2 ส่วนคือ ลูกบอลชั้นใน ทำจากยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติ และชั้นนอกที่ทำจากหนังเทียม ลูกบอลชั้นในที่ทำจากยางจะถูกสูบลมเข้า ทากาว แล้วปิดทับด้วยชิ้นผ้า หลังจากผ่านการตรวจเช็คขนาด ลูกบอลจะถูกทากาวทับอีกรอบก่อนนำไปอบ ลูกบอลที่สูบลมแล้วจะถูกปล่อยทิ้งไว้ 24 ชั่วโมง ลูกที่รั่วจะถูกนำไปทำลาย ชั้นนอกของลูกบอลประกอบด้วยพื้นผิว 2 ชั้น ชั้นในซึ่งทำด้วยโฟมจะนุ่มและหนากว่า ขั้นตอนนี้มีเสียงดังมาก จากการสังเกตพบว่าพนักงานไม่ได้สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันเสียงใดๆ อาดิดาสให้ข้อมูลว่าระดับเสียงในโรงงานไม่เกินมาตรฐาน(ทั้งของจีนและของนานาชาติ) แต่โรงงานก็กำลังพยายามลดเสียงลงด้วยการปรับแต่งเครื่องจักรและการติดตั้งอุปกรณ์ตัดเสียง   พื้นผิวลูกบอลชั้นนอกจะมีการพิมพ์ลวดลายเฉพาะของบราซูก้า โดยใช้เครื่องพิมพ์ทั้งหมด 10 เครื่อง (1 เครื่องต่อ 1 สี) จากนั้นเคลือบด้วยฟิล์มเพื่อป้องกันการขูดขีด ขั้นตอนนี้มีกลิ่นของสารเคมีค่อนข้างมาก พนักงานทุกคนต้องใส่หน้ากาก โรงงานจึงมีกฎให้พนักงานอยู่ในพื้นที่พิมพ์งานต่อครั้งได้ไม่เกิน 20 นาที อาดิดาสแจ้งว่าโรงงานใช้เฉพาะสารเคมีที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์ และมีการจัดตรวจสุขภาพให้พนักงานเป็นประจำ ลูกบอลด้านนอกทั้งสองชั้นจะถูกประกบเข้าหากันด้วยกาวและแรงอัดจากเครื่องจักร จากนั้นโลโก้ของอาดิดาสและฟีฟ่าจะถูกพิมพ์ลงไป และเคลือบด้วยแผ่นฟิล์มอีกครั้ง จากนั้นชิ้นส่วนทั้ง 4 ชิ้นจะถูกนำมาทากาวให้ติดกันก่อนนำมาครอบทับลูกบอลชั้นใน จากนั้นอีก 2 ชิ้นที่เหลือจะถูกติดลงไป ขั้นตอนนี้จะทำโดยผู้หญิงเท่านั้น ทางโรงงานบอกว่านิ้วของผู้หญิงมีความยืดหยุ่นมากกว่า ขั้นตอนสุดท้ายคือการอบด้วยความร้อน (thermal bonding) เพื่อให้ทุกชิ้นส่วนติดกันโดยไม่ต้องเย็บ ลูกฟุตบอลที่ทำเสร็จแล้วจะต้องถูกสังเกตอาการเป็นเวลา 24 ชั่วโมง ถ้าพบว่ามีการรั่วไหลของอากาศมันจะไม่ได้ไปต่อ ส่วนลูกที่สอบผ่านก็จะถูกนำไปจัดลงกล่องเพื่อส่งขายต่อไป   รักษาสิทธิเป็นที่สุด ถ้าเขาไม่ได้ตำแหน่งโจรตัวอย่างไปครองแล้ว เราคงจะยกตำแหน่งผู้บริโภคที่ใช้สิทธิยอดเยี่ยมให้เขาไป หัวขโมยชาวโปแลนด์นายนี้รอบคอบมาก เขาจะสำรวจราคาสินค้าในซูเปอร์มาเก็ตก่อนลงมือเสมอ เนื่องจากกฎหมายของโปแลนด์ระบุว่าการขโมยสินค้าที่มีมูลค่าสูงกว่า 420 ซวอตี(ประมาณ 4,500 บาท) นั้นมีโทษจำคุกสูงสุดถึง 5 ปี แต่คราวนี้ร้านค้าเจ้ากรรมดันติดป้ายราคาผิด ทำให้ขโมยรายนี้ฉกข้าวของไปในราคาที่เกินความตั้งใจไปประมาณ 20 บาท เมื่อถูกจับได้เขาจึงต้องรับโทษหนัก แม้ตัวจะอยู่ในคุก แต่เขาก็ประกาศกร้าวว่าจะฟ้องซูเปอร์มาเก็ตเจ้านี้ โทษฐานติดราคาหลอกลวงผู้บริโภค …   ได้โปรดอย่ามาตั๋ว เมืองท่องเที่ยวหลักของเวียดนามอย่างฮานอยและฮอยอัน สูญเสียรายได้ประมาณร้อยละ 40 ให้กับมือดีที่มาตัดหน้าขายตั๋วปลอมเพื่อเข้าชมสถานที่ท่องเที่ยวอันงดงามระดับมรดกโลกของเขา ทั้งๆ ที่ราคาตั๋วจริงก็ไม่ได้แพงเว่อร์เสียหน่อย ตั๋วสำหรับชาวต่างชาติราคา 120,000 ดอง (ประมาณ 185 บาท) สำหรับคนท้องถิ่น 80,000 ดอง(ประมาณ 120 บาท) และยังสามารถใช้เข้าชมสถานที่ท่องเที่ยวได้ถึง 5 แห่ง แต่เชื่อหรือไม่ว่าร้อยละ 90 ของนักท่องเที่ยวไม่รู้ด้วยซ้ำว่า พวกเขาต้องซื้อบัตรผ่านประตูเพื่อเข้าชมเมืองเก่าเหล่านี้ เพราะบริษัททัวร์บางเจ้าลดต้นทุนด้วยการพานักท่องเที่ยวเข้าชมหลังเวลา 6 โมงเย็น (ซึ่งเป็นเวลาที่ให้เข้าฟรี) หรือไกด์บางคนก็พานักท่องเที่ยวซอกแซกหลบจุดที่จะต้องจ่ายค่าผ่านประตูไปเสียดื้อๆ มีผู้คนทั้งในท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่ทราบว่าเงินค่าตั๋วนั้นจะถูกนำไปใช้เพื่อการซ่อมแซมตึกรามบ้านเรือนเก่าและโบราณสถานอื่นๆ ในพื้นที่มรดกโลกนั่นเอง ข่าวบอกว่าเวียดนามจะคิดระบบตั๋วเข้าชมที่จะทำให้รัฐมีรายได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยออกมาภายในปี 2558 นี้ หาดนี้ไม่มีคู่แข่ง อิตาลีมีระบบการบริหารจัดการชายหาดที่ไม่ซ้ำใคร ชายหาดความยาว 7,500 กิโลเมตรนี้มีใบอนุญาตประกอบกิจการอยู่ 28,000 ใบ และมันแทบไม่เคยถูกเปลี่ยนมือ เพราะผู้ที่ประกอบธุรกิจร้านอาหาร เครื่องดื่ม หรือให้เช่าร่ม ในปัจจุบันก็คือลูกหลานตัวเป็นๆ ของผู้ที่เคยได้สัมปทานจากรัฐในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ข่าวบอกว่ารัฐเก็บค่าเช่าจาก “ธุรกิจครอบครัว” เหล่านี้ปีละ 3,570 ยูโร แต่ใครที่ไปเช่าช่วงต่ออาจต้องจ่ายค่าเช่าสูงถึงปีละ 250,000 ยูโร แน่นอน ... ชายหาดที่สามารถสร้างรายได้ถึง 10,000 ล้านยูโรต่อปีนั้นย่อมดึงดูดใจนักลงทุนจากทุกแห่งหน แต่ปัญหามันอยู่ที่ผู้ประกอบการหน้าใหม่หรือทุนใหญ่จากต่างประเทศยังหาโอกาสเข้าแทรกแซงกิจการครอบครัวไม่ได้เสียที เมื่อ 8 ปีก่อน สหภาพยุโรปประกาศให้ประเทศสมาชิกเปิดให้มีการแข่งขันอย่างเสรีในธุรกิจหลายๆประเภท และบอกให้อิตาลีนำใบอนุญาต 28,000 นี้ออกมาประมูลด้วย ตอนนั้นอิตาลีเตะถ่วงด้วยการขอเวลาไปจนถึงปี 2015 แต่เมือถึงปี 2012 รัฐบาลอิตาลีซึ่งถูกกดดันโดย “ครอบครัว” เหล่านี้ก็ออกกฎหมายที่กำหนดเวลาการประมูลไว้ที่ปี 2020 เสียเลย อีก 6 ปี เรามาดูกันว่าจะเกิดอะไรขึ้น ...   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 129 ระวังปัญหาแอบใช้บัตรประชาชน…ช่วงน้ำท่วม

  มีโอกาสไปประชุมกับศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดลพบุรีเลยได้มีโอกาสฟังปัญหาที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านในจังหวัด ซึ่งเป็นปัญหาเก่าแก่ที่เกิดขึ้นมานานคือ การแอบนำสำเนาบัตรประชาชนไปใช้ทำกิจการอย่างอื่นๆ เรื่องมีอยู่ว่าชาวบ้านจำนวนสามสิบกว่าคนได้นำสำเนาบัตรประชาชนไปให้ผู้ใหญ่บ้านเพื่อขอขึ้นทะเบียนเกษตรกร แต่วันดีคืนดีก็พบว่า สมาชิกในกลุ่มทั้งสามสิบกว่าคนเป็นหนี้กันถ้วนหน้าคนละหลายแสนบาท เรื่องแดงขึ้นเพราะถูกโทรศัพท์ทวงเงินว่าไปกู้เงินกับเขาไว้แล้วทำไมไม่จ่ายคืน แถมถูกแจ้งความดำเนินคดีกับตำรวจ ตำรวจพาซื่อนัดผู้เสียหายไปข่มขู่ให้เสร็จว่า เป็นหนี้เขาแล้วก็ต้องจ่าย จะทำบันทึกจ่ายกันยังไงก็ว่ามา เจอเรื่องแบบนี้กับเรา หากไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนหรือไม่มีความรู้คงปวดหัวและวุ่นวายมากพอควร แต่เผอิญสามสิบกว่าคนนี้โชคดี จังหวัดลพบุรีมีศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค เลยมีคนนำเรื่องมาเล่าให้ผู้ประสานงานศูนย์คุ้มครองสิทธิฯ ฟังก็ได้สืบสาวเรื่องราวจนทำให้ได้ข้อเท็จจริงว่า ลูกสะใภ้ผู้ใหญ่บ้านได้นำสำเนาบัตรประชาชนของคนที่ไปขึ้นทะเบียนไปทำสำเนาเพิ่มเติมแล้วปลอมลายเซ็นต์ไปกู้เงิน และน่าจะรับรู้ร่วมกันระหว่างคนแอบไปกู้กับคนให้กู้ โดยอาจจะเคยดำเนินการแบบนี้มาก่อนหรือไม่ ในอดีตเราอาจจะมีปัญหาเรื่องนี้เพราะนำบัตรประชาชนไปขอใช้โทรศัพท์มือถือเรียกว่านอนอยู่บ้านเฉยๆ ก็เป็นหนี้ หรือบางคนก็กลายเป็นสมาชิกพรรคการเมืองกันไป กรณีนี้เมื่อศูนย์ฯ เข้าไปให้การช่วยเหลือนอกจากไม่ต้องจ่ายเงินเพราะไม่ได้กู้แล้ว ยังได้แจ้งความดำเนินคดีกับลูกสะใภ้ผู้ใหญ่บ้านว่า ใช้เอกสารทางราชการโดยไม่ได้รับอนุญาต และฉ้อโกงประชาชน ช่วงนี้หลายพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วมและรัฐบาลได้มีมติให้เยียวยาความเสียหาย ซึ่งในคอลัมน์นี้เราคงไม่ถกเถียงเรื่องจำนวนที่จ่ายว่ามากน้อยเพียงพอหรือไม่เพียงใด แต่ทุกครั้งในการดำเนินการก็ต้องใช้บัตรประชาชนเป็นหลักฐาน อย่าลืมคิดถึงเรื่องนี้ไว้เป็นบทเรียน การใช้สำเนาบัตรประชาชนต้องระบุให้ชัดเจนว่าเพื่อวัตถุประสงค์อะไร และกรุณาเขียนให้ชัดเจนในการใช้งานและเขียนระบุบนรูปของตนเองไม่ต้องกลัวว่ารูปจะไม่สวยหรือมองไม่เห็นเพราะมิเช่นนั้น อาจจะมีผู้ไม่หวังดีนำสำเนาไปใช้ประโยชน์เพื่อการอื่นและอาจจะลำบากและเจ็บตัวภายหลังได้ ให้กำลังใจกับผู้ประสบภัยน้ำท่วมทุกคน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 183 สมัชชาผู้บริโภคไทยปี 2559 “ร่วมผลักดันระบบการคุ้มครองผู้สูงวัย”

ทุกวันที่ 30 เมษายนของทุกปี ถือเป็นวันคุ้มครองผู้บริโภคไทย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคประชาชนจากทั่วประเทศ จะร่วมกันจัดงานสมัชชาผู้บริโภคไทย เพื่อติดตามการเคลื่อนไหวในประเด็นการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค และเรื่องที่ยังอยู่ในกระแสการรณรงค์ของภาคประชาชนในประเทศต่างๆ สำหรับงานสมัชชาผู้บริโภคไทยประจำปี 2559 ครั้งนี้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ร่วมกับ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) แผนงานพัฒนาวิชาการและกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) และ สสส. จัดงานขึ้นเมื่อวันที่ 29 – 30 เมษายนที่ผ่านมา ณ โรงแรมเบสท์เวสเทิร์นพลัสแวนด้าแกรนด์ นนทบุรี โดยมีประเด็นหลักคือ ระบบคุ้มครองผู้บริโภคกับสังคมผู้สูงวัย และปัญหารถโดยสารสาธารณะกรณีรถสองชั้นฉลาดซื้อฉบับนี้จึงขอพาผู้อ่านไปเยี่ยมชมกิจกรรมต่างๆ ภายในงานทั้งสองวันสมัชชาผู้บริโภคไทยปี 2559 วันที่ 29 เมษายน 2559ระบบคุ้มครองผู้บริโภคกับสังคมผู้สูงวัย เหตุผลที่ระบบคุ้มครองผู้บริโภคกับสังคมผู้สูงวัย กลายเป็นธีมหลักของงานมาจากการที่ประเทศเรา ก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมของผู้สูงอายุ(ประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป) มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2543 หรือเมื่อ 16 ปีที่แล้ว โดยจำนวนประชากรผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นถึงร้อยละ 15 ของประชากรทั้งหมด หรือราว 10 ล้านคน และจะกลายเป็นสังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์ในปี พ.ศ.2564 หรืออีก 5 ปีข้างหน้า (เมื่อสัดส่วนดังกล่าวเพิ่มเป็นร้อยละ 20) แต่เราจะพบว่าปัญหาของผู้สูงวัยในฐานะผู้บริโภคนั้น ยังคงมีอยู่และเพิ่มมากขึ้น จึงจำเป็นที่เราต้องร่วมกันผลักดันให้เกิดระบบการคุ้มครองผู้สูงวัยที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิมปาฐกถาพิเศษจาก นพ. วิชัย โชควิวัฒน กรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ถึงแนวทางในการสร้างระบบคุ้มครองผู้บริโภคในสังคมสูงวัยว่า “แม้ผู้สูงอายุจะผ่านโลกมามาก แต่เมื่อสูงวัยก็จะมีความเปราะบางตามธรรมชาติ เช่น เมื่อเกษียณจากการทำงาน โอกาสรับรู้ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ก็จะลดลง จึงมีโอกาสมากที่จะถูกชักจูงจากผู้ที่ต้องการแสวงหาผลประโยชน์ หรือในกรณีที่ต้องการสินค้าและบริการมาช่วยสร้างเสริมสุขภาพให้แข็งแรง ก็อาจตกเป็นเหยื่อของการโฆษณาชวนเชื่อต่างๆ ได้ง่าย ดังนั้นจึงควรมีมาตรการการดูแลที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้ผู้สูงอายุถูกเอารัดเอาเปรียบหรือตกเป็นเหยื่อจนกลายเป็นปัญหาสังคม ทั้งนี้หากเราพิจารณาจากการศึกษาเรื่อง การเข้าถึงและความพึงพอใจต่อบริการตามสิทธิผู้สูงอายุ เมื่อปี 2558 จะพบว่าผู้สูงอายุไทยส่วนใหญ่ร้อยละ 85 ยังสามารถทำกิจวัตรประจำวันของตนเองได้ทั้งหมด ที่เหลือร้อยละ 13 ช่วยเหลือตัวเองได้บางส่วน และมีเพียงร้อยละ 2 ที่ช่วยเหลือตัวเองในชีวิตประจำวันไม่ได้เลย ดังนั้นประเทศไทยควรมีวิสัยทัศน์ในการส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้สูงวัยในกลุ่มใหญ่ สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ยาวนานที่สุด ส่วนกลุ่มที่ช่วยเหลือตัวเองได้บางส่วน ควรสนับสนุนให้ช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้นเรื่อยๆ และช่วยฟื้นฟูผู้สูงวัยที่เหลืออีกร้อยละ 2 ให้ช่วยเหลือตัวเองได้บ้างโดยเราสามารถสร้างผู้สูงวัยให้เป็นพลังสังคมได้ ด้วยการส่งเสริมความเข้มแข็งของผู้สูงวัยอย่างครบวงจร ซึ่งมีหลักการสำคัญคือ 1. ต้องพัฒนาให้ผู้สูงวัยมีความเข้มแข็ง โดยพัฒนาผู้สูงวัยในฐานะปัจเจกบุคคล โดยต้องทำให้อยู่ในภาวะพึ่งพิงน้อยที่สุด ซึ่งสามารถทำได้ด้วยการส่งเสริมผู้สูงวัยทำงาน ทั้งงานอาชีพและงานสังคม เพราะจะทำให้ผู้สูงวัยรู้สึกได้ว่า ตนเองมีคุณค่า นอกจากนี้จะทำให้ได้รับข้อมูลข่าวสาร และสามารถพึ่งพาซึ่งกันและกันได้ด้วย 2. ต่อมาต้องพัฒนาองค์กรต่างๆ ทั้งของผู้สูงวัยเอง และองค์กรที่ทำงานด้านผู้สูงวัย 3. รวมทั้งพัฒนาเครือข่ายของบุคคลและองค์กรผู้สูงวัย และ 4. พัฒนาสภาพแวดล้อม ทั้งกฎหมาย สิ่งแวดล้อม สื่อ ระบบงาน กลไกต่างๆ ที่เอื้อต่อการสร้างความเข้มแข็งของผู้สูงวัย” นอกจากนี้ นพ. วิชัย ยังได้เปรียบเปรียบสังคมผู้สูงวัยระหว่างประเทศไทยและประเทศสิงคโปร์ไว้ว่า บ้านเขารวยก่อนแล้วจึงแก่ แต่บ้านเราแก่ก่อนแล้วจึงรวย เพราะติดกับดักรายได้ปานกลาง และแม้รัฐบาลจะช่วยจ่ายเงินค่ายังชีพให้กับผู้สูงอายุเดือนละ 600 ถึง 1,000 บาท แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะใช้ชีวิตอยู่ในประจำวันได้ ดังนั้นสังคมไทยจึงควรเร่งพัฒนาการคุ้มครองผู้สูงวัยให้เป็นระบบ เพื่อเตรียมตัวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ต่อจากปาฐกถา คือการเสวนาถึงทุกข์ของผู้สูงวัย ซึ่งเป็นการสะท้อนปัญหาต่างๆ ของผู้บริโภคสูงวัย ที่มีสาเหตุมาจากสินค้าหรือบริการ ตลอดจนปัญหาความมั่นคงในชีวิตและสุขภาพ มีตัวแทนจากหลายฝ่ายเข้าร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นในประเด็นดังกล่าว นายเชษฐา แสนสุข ตัวแทนเครือข่ายผู้สูงอายุในชุมชนแออัด กล่าวว่า “ทุกข์ของผู้สูงอายุในเมืองส่วนใหญ่คือปัญหาเรื่องสุขภาพ และเรื่องค่าใช้จ่าย การหวังพึ่งลูกหลานอย่างเดียวไม่สามารถทำได้ จึงอยากให้รัฐจัดบำนาญแห่งชาติ เพื่อเป็นหลักประกันในชีวิตให้กับทุกคน หรือนางทองม้วน นกแก้ว ตัวแทนผู้สูงอายุจากจังหวัดสมุทรสงคราม ที่มีประสบการณ์เป็นเหยื่อโฆษณายามาหลายครั้ง โดยสั่งซื้อยาตามโฆษณาทางวิทยุ เพราะอยากหายจากอาการป่วยที่เป็นอยู่และหลงเชื่อดาราดังทั้งหลายที่มาโฆษณา ซึ่งมาพบภายหลังว่ายาต่างๆ เหล่านั้นไม่มีความปลอดภัย”ก่อนจบการเสวนาจึงได้มีการร่วมกันสรุปข้อเสนอสำหรับ แนวทางการแก้ปัญหาทุกข์ของผู้บริโภคสูงวัยให้มีความยั่งยืน 6 ข้อ ดังนี้ 1. รัฐควรพิจารณาให้ผู้สูงอายุมีหลักประกันในช่วงสุดท้ายของชีวิต 2. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการโฆษณาผ่านสื่อวิทยุ-โทรทัศน์ ควรควบคุมการโฆษณายาอย่างจริงจัง เพื่อไม่ให้มีผู้หลงเชื่อจนตกเป็นเหยื่อโฆษณายาเกินจริง โดยเฉพาะผู้สูงวัย ผู้ป่วย และคนต่างจังหวัด 3. รัฐบาลควรให้การดูแลผู้สูงอายุมากกว่านี้ โดยเฉพาะการออกกฎหมายดูแลผู้สูงอายุ เพราะส่วนใหญ่ มีความกังวลว่าบั้นปลายจะลำบาก โดยเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ไม่ควรต่ำกว่า 2,600 บาทต่อเดือน เพื่อให้ผู้สูงอายุพออยู่ได้ 4. รัฐต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนผู้ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากนโยบายที่รัฐคิด เข้าไปมีส่วนร่วมและนำเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายนั้นๆ เพราะส่วนใหญ่แล้ว ผู้คิดนโยบายไม่ได้เข้าถึงปัญหาอย่างแท้จริง มักทำตามกระแสการเรียกร้อง แต่ไม่ได้คิดทั้งระบบ เช่น ปัญหาการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ รัฐควรกำหนดนโยบายและแนวทาง ที่สามารถสร้างหลักประกันรายได้พื้นฐานให้กับผู้สูงอายุได้ เพราะหากมีหลักประกันรายได้เพียงพอต่อการยังชีพในระดับหนึ่ง คนกลุ่มนี้ก็จะไม่เป็นภาระอีกต่อไป 5. ผู้มีอำนาจในสังคม ควรมองว่า ผู้สูงอายุไม่ใช่ภาระ แต่เป็นคลังสมองของสังคม สามารถสร้างคุณูปการต่อประเทศได้ และสุดท้าย 6. ประกันสังคม ควรปรับเปลี่ยนอัตราการจ่ายบำนาญที่ปัจจุบันกำหนดตายตัวไว้ไม่เกิน 3,000 บาทต่อเดือน เพื่อให้สอดคล้องกับค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้นแต่ละปีทั้งนี้ภายหลังกิจกรรมในห้องประชุมใหญ่เสร็จสิ้น ก็มีการแบ่งการเสวนาเป็นห้องย่อยทั้งหมด 3 ห้องในประเด็นคือ 1. ประกันภัยผู้สูงวัย 2. ผู้สูงอายุกับการบริโภคยา อาหารและเครื่องมือแพทย์ที่เป็นปัญหา และ 3. ความเป็นไปได้ทางการเงินการคลังในการมีบำนาญพื้นฐานทั่วหน้าของประชาชน ซึ่งแต่ละห้องนั้นก็มีเรื่องราวที่น่าสนใจที่ต่างกัน ดังนี้สรุปประเด็นห้องย่อยที่หนึ่ง เรื่องประกันภัยผู้สูงวัย ประเด็นหลักของการเสวนาคือ ปัญหาของประกันภัยชนิดนี้ ที่มักนำดาราหรือพิธีกรสูงวัยมาดึงดูดใจลูกค้าด้วยการใช้คำโฆษณาว่า “ไม่ต้องตรวจสุขภาพ ไม่ต้องตอบคำถามใดๆ” ซึ่งทำให้ผู้สูงอายุส่วนใหญ่หลงเชื่อทำประกัน เพราะถูกโฆษณาเกินจริงและขาดข้อมูลที่ครบถ้วนถูกต้อง เพราะโฆษณาดังกล่าวไม่ได้บอกรายละเอียดทั้งหมดว่า กรมธรรม์ประกันภัยชนิดนี้ให้ผลคุ้มครองอะไรบ้าง ซึ่งทำให้เกิดปัญหาตามมาเมื่อ ผู้ทำประกันภัยเกิดเจ็บป่วยหรือเสียชีวิต  แนวทางแก้ไขปัญหานี้จึงเป็นหน้าที่หลักของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ซึ่งนางสาวราตรี เนตรพระฤทธิ์  ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนและพัฒนาการคุ้มครองสิทธิ คปภ. กล่าวว่า ทาง คปภ. ได้ออกกฎเกณฑ์และระเบียบเรื่องการโฆษณาหรือเสนอขายว่า ต้องมีถ้อยคำที่ชัดเจน ทำให้ประชาชนไม่สับสน และจะต้องบอกให้ชัดเจนว่า ถ้าหากเจ็บป่วยตายภายใน 2 ปี จะมีสิทธิ์ได้รับเฉพาะเบี้ยประกันภัยคืนบวกกับเงินเพิ่มเท่านั้นอย่างไรก็ตามหากผู้สูงวัยต้องการซื้อประกัน ควรศึกษาข้อมูลจากหลายๆ แห่งก่อนตัดสินใจ เช่น www.oic.or.th ที่รวบรวมข้อมูลเรื่องบริษัทประกันภัย กรมธรรม์ประกันภัยแต่ละชนิดแต่ละประเภทพร้อมทั้งคำอธิบาย มีข้อมูลสถิติเรื่องการร้องเรียน ข้อมูลสถิติเรื่องการลงโทษบริษัทประกันภัย และหากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมก็สามารถโทรศัพท์ไปที่สายด่วนประกันภัย 1186 ซึ่งจะแนะนำได้ว่าควรเข้าไปคลิกตรงไหนในเว็บไซต์ นอกจากนี้ควรเก็บหลักฐานการโฆษณาต่างๆ ไว้ด้วย เช่น ใบปลิวโฆษณา เพราะถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาเช่นกัน และเมื่อได้กรมธรรม์มาแล้ว ควรอ่านหรือศึกษาคู่มือ เพื่อให้ทราบว่าสิทธิประโยชน์ในข้อสัญญาเป็นอย่างไร นอกจากนี้นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ยังได้ฝากข้อเสนอเพิ่มเติมอีก 5 ข้อดังนี้ 1.ในกรณีประกันแบบสูงวัย มีเงื่อนไขการจ่ายเบี้ยประกันก็คือต้องตายหลังเวลา 2 ปีจึงจะได้ทุนประกัน มีความเห็นว่าเป็นระยะเวลาที่ยาวเกินไป จึงขอให้พิจารณาทบทวนเรื่องนี้ใหม่ 2.ขอให้มีการลงโทษผู้กระทำผิดกฎหมายเรื่องการโฆษณาซึ่งปัจจุบันสามารถตรวจสอบได้ และขอให้ประกาศให้ทราบโดยทั่วกันว่าบริษัทไหนได้ดำเนินการทางกฎหมายไปแล้ว เพื่อให้มีการปรับเปลี่ยนโฆษณา 3.เพิ่มบทกำหนดโทษของตัวแทนในกรณีที่ขายประกันแบบผิดจรรยาบรรณ ไม่ใช่แค่เพิกถอนใบอนุญาต 4.ขอให้มีมาตรการบังคับให้บริษัทประกันภัยมีระบบ Call Center ที่ลูกค้าติดต่อง่าย เพราะขณะนี้มีบริษัทประกันภัยที่เสนอขายประกันทางโทรศัพท์ แต่เมื่อมีการติดต่อกลับเพื่อขอยกเลิกสัญญา ติดต่อไม่ได้ หรือติดต่อยากมาก และ 5.การยกเลิกประกันขอให้ทำได้ในกรณีเดียวคือ ขอให้ยกเลิกภายใน 30 วันไม่มีความจำเป็นที่จะต้องกำหนดว่า ถ้าผ่านตัวแทนต้องดำเนินการภายใน 15 วัน ขอให้มีการปรับให้เท่ากัน เพราะอย่างน้อยจะได้มีเวลาศึกษา สรุปประเด็นห้องย่อยที่สอง ผู้สูงอายุกับการบริโภคยา อาหารและเครื่องมือแพทย์ที่เป็นปัญหา พบว่าปัญหาหลักคือ การหลงเชื่อในสรรพคุณของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ยาแผนโบราณต่างๆ โดยจะมีกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ผู้สูงอายุนิยมใช้ประจำ เช่น น้ำมันปลา สาหร่ายสไปรูไลน่า แคลเซียม โปรตีนผง จมูกข้าว ซึ่งมักได้รับการชักชวนให้ซื้อจากผู้ใกล้ชิด  หรือจากผู้ประกอบวิชาชีพ แต่เราจะพบว่าผลิตภัณฑ์เหล่านั้นไม่ได้ปลอดภัยและมีประโยชน์เสมอไป เช่น ผลิตภัณฑ์บางชนิดโฆษณาว่ามาจากปลาน้ำลึก ซึ่งถ้าไปคนเป็นหอบหืดกินเข้าไปก็จะอันตาย หรือแม้แต่คลอโรฟิลล์ก็พบว่า มีตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่ใส่สารบางอย่างเข้าไป จนทำให้คนที่กินแล้วก็ใจสั่น หรือการกินยาแผนโบราณบางชนิด ก็สามารถทำให้เกิดอาการแพ้ยา ตัวบวมจากสเตียรอยด์ที่ใส่ลงไป หรือมีจ้ำเลือดออกใต้ผิวหนังได้ ดังนั้นจึงต้องมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน เช่น ให้ผู้สูงอายุควรมีผู้ดูแลหรือสร้างความรู้เชิงวิชาการ ที่ทำให้เข้าใจเรื่องข้อมูลผลิตภัณฑ์สุขภาพอย่างถูกต้อง ซึ่งไม่ใช่เฉพาะเรื่องของความปลอดภัย แต่ต้องมีประโยชน์ด้วย รวมทั้งควบคุมคุณภาพและราคา นอกจากนี้สภาวิชาชีพต้องควบคุมให้คนของตัวเองดูแลและทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคด้วย เพราะทุกวันนี้คนในวิชาชีพกลุ่มหนึ่งเป็นคนขายผลิตภัณฑ์นี้ ซึ่งช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือและทำให้ของขายดีขึ้น และควรปรับปรุงฉลากโภชนาการ ให้อ่านเข้าใจง่าย ส่วนกรณีที่เครื่องมือแพทย์มีปัญหา มีสาเหตุจากการนำไปสาธิต โฆษณา โอ้อวด เกินความจริง เช่น ใช้รักษาโรคโน้นโรคนี้ได้ ทั้งที่ไม่ได้งานวิจัยมาสนับสนุน แต่ใช้เทคนิคคือให้ไปใช้ฟรี มีการเล่นเกม แจกรางวัล ของขวัญ โปรโมชั่นเยอะแยะ ซึ่งผู้บริโภคไม่ควรหลงเชื่อ เพราะไม่มีผลิตภัณฑ์สุขภาพตัวไหนที่สามารถรักษาได้ครอบจักรวาล สรุปประเด็นห้องย่อยที่สาม ความเป็นไปได้ทางการเงินการคลังในการมีบำนาญพื้นฐานทั่วหน้าของประชาชน ห้องนี้มีคนเข้าร่วมหนาแน่นมากที่สุด เพราะผู้สูงวัยส่วนใหญ่ต่างก็มีความทุกข์ในเรื่องของรายได้ หรือมีรายได้ต่ำทำให้ไม่สามารถเก็บออมได้มากพอเมื่อสูงวัย และต่างต้องการให้รัฐจัดสวัสดิการบำนาญให้ผู้สูงวัยทุกคน ซึ่งควรอยู่ในอัตราใกล้เคียงกับเส้นความยากจน ตามที่สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระบุไว้ในปี 2557 คือ 2,600 บาทต่อเดือน แต่ประเด็นคือรัฐจะสามารถจัดสรรงบให้ผู้สูงอายุได้เพียงพอหรือไม่อย่างไรก็ตามในการเสวนาครั้งนี้ ก็มีการร่วมกันเสนอแนวทางการแก้ปัญหา หรือความเป็นไปได้ในการมีบำนาญพื้นฐานถ้วนหน้าของประชาชนคือ 1.รัฐต้องส่งเสริมให้ประชาชนโดยเฉพาะ กลุ่มที่เป็นแรงงานนอกระบบมีส่วนร่วมออมเพื่อการเกษียณ หรือผลักดันโครงการให้ความรู้ทางการเงิน และปรับนโยบายการลงทุนของกองทุนการออมเพื่อการเกษียณ เพื่อเพิ่มผลตอบแทน 2.เตรียมความพร้อมสำหรับรับคนสูงวัยซึ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น การสนับสนุนการลงทุนร่วมภาครัฐและเอกชน ลดแรงกดดันที่รัฐต้องใช้พลังในการลงทุนด้านต่างๆ ให้เอกชนมาร่วมด้วย ปรับปรุงการจัดเก็บรายได้ภาครัฐ หาแหล่งเงินอื่นที่นอกเหนือจากงบประมาณแผ่นดิน นอกจากนี้จากงานวิจัยของนักวิชาการในและต่างประเทศก็ได้ยืนยันว่า ประเทศไทยมีงบเพียงพอในการจัดสรรสวัสดิการบำนาญดังกล่าว เพียงแต่ต้องบริหารงบให้กระจายอย่างเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ และปฏิรูประบบภาษี รวมทั้งการจัดเก็บภาษีทรัพย์สิน สิ่งแวดล้อม กำไรในตลาดหุ้น และควรปรับขึ้นภาษีอย่างเป็นธรรม ซึ่งท้ายที่สุดแล้วทุกคนต่างก็หวังว่าข้อเสนอต่างๆ จะเป็นจริง เพราะบำนาญชราภาพถือว่าเป็นสวัสดิการหรือสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐควรจัดสรรให้ประชาชนในประเทศ    เป็นอย่างไรกันบ้างคะกับเนื้อหากิจกรรมของวันแรก เรียกได้ว่าเสวนากันในประเด็นที่เกี่ยวกับกับผู้สูงอายุในทุกแง่มุมที่เป็นปัญหากันเลยทีเดียว สมัชชาผู้บริโภคไทยปี 2559 วันที่ 30 เมษายน 2559การเสวนาปัญหารถโดยสารสองชั้นจากข้อมูลของศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย ที่ได้นำเสนอข้อมูลอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ เมื่อปี 2558 พบว่า อัตราการเกิดอุบัติเหตุของรถโดยสารสองชั้น สูงกว่าอัตราการเกิดอุบัติเหตุของรถบัสชั้นเดียวถึง 6 เท่า ซึ่งส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของผู้บริโภคที่ต้องเดินทางด้วยรถโดยสารดังกล่าว จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องรณรงค์ให้รถโดยสารสองชั้นทุกคัน ต้องผ่านทดสอบการลาดเอียง ทั้งนี้หากวิเคราะห์สาเหตุหลักของอุบัติเหตุดังกล่าว พบว่าไม่ได้มาจากผู้ขับขี่เพียงอย่างเดียว แต่รถมีปัญหาเรื่องโครงสร้าง และการออกแบบที่ไม่เหมาะสมกับเส้นทางและถนนในประเทศ หรือไม่เป็นไปตามมาตรฐานข้อกำหนดสากล เช่น UNECE R66 ที่เกี่ยวข้องกับความแข็งแรงของโครงสร้างและการทดสอบตัวถังรถโดยสารหลายประการ ดังนี้ 1.ตำแหน่งของจุดศูนย์ถ่วงที่อยู่สูงกว่ารถชั้นเดียว เนื่องจากมิติรถสองชั้นที่สูง 4.20 ม. ยาวกว่า 12.00 ม. หนักกว่า 18  ตัน ยังไม่รวมน้ำหนักของผู้โดยสารและสัมภาระด้านบน เพราะฉะนั้นด้วยรถที่มีความสูงขนาดนี้ เมื่อวิ่งด้วยความเร็วบนถนนจึงมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุรุนแรงได้โดยเฉพาะทางโค้ง ทางลาด 2.ปัญหาโครงสร้างความแข็งแรง ที่ส่วนใหญ่ประกอบขึ้นจากการนำคัสซีเก่ามาซ่อมแซม และดัดแปลงเป็นตัวถังรถใหม่ เพื่อลดต้นทุนนำเข้ารถใหม่จากต่างประเทศที่มีราคาสูงกว่าเท่าตัว ซึ่งผู้บริโภคไม่มีทางรู้ได้ว่ารถคันไหนต่อเติมดัดแปลงมาอย่างไร  และ 3. ปัญหาระบบเบรก ที่มักจะขัดข้องหรือหยุดทำงานขณะวิ่งลงเนินเขาระยะทางยาว การคุมเข้มความแข็งแรงของโครงสร้างรถ และโครงสร้างเบาะผู้โดยสาร ที่ยังขาดความแข็งแรงและไม่มีจุดยึดเกาะกับรถตามมาตรฐานสากล ซึ่งยังไม่มีการกำหนดข้อบังคับและบทลงโทษชัดเจน  อย่างไรก็ตามมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ก็ได้จัดทำข้อเสนอระยะสั้น เพื่อเป็นมาตรการเร่งด่วนแก่กรมการขนส่งทางบกเพื่อพิจารณา 4 ข้อ ดังนี้ 1.ขอให้กรมฯ ออกประกาศใหม่ให้รถโดยสารสองชั้นทุกคันต้องเข้ารับการทดสอบการลาดเอียง 2.ขอให้รถโดยสารสองชั้นที่ผ่านการทดสอบการลาดเอียงต้องแสดงสัญลักษณ์หรือติดสติ๊กเกอร์ว่าผ่านการทดสอบอย่างชัดเจนบริเวณด้านหน้าและด้านข้างรถเพื่อเป็นตัวเลือกในการใช้บริการให้กับผู้บริโภค 3. ขอให้กรมกำหนดเส้นทางเสี่ยงสำหรับรถโดยสารสองชั้น โดยพิจารณาจากสภาพถนน และจำนวนอุบัติเหตุของรถขนาดใหญ่ ต้องห้ามใช้เส้นทางโดยเด็ดขาดพร้อมกำหนดโทษหากฝ่าฝืน 4. ขอให้กรมพัฒนาระบบ GPS ในรูปแบบเชิงป้องกันอุบัติเหตุแบบ Real time ที่สามารถแจ้งเตือนและสกัดจับได้ทันที โดยเชื่อมโยงหรือส่งต่อกับระบบฐานข้อมูลหน่วยงานอื่นๆ ในระดับพื้นที่ เช่น ตำรวจทางหลวง สำนักงานขนส่งแต่ละจังหวัด เป็นต้นซึ่งข้อเสนอทั้ง 4 จะได้มีการติดตามเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคต่อไป ----------------------------------------------------------------------------------------------------รางวัลยกย่องสื่อมวลชลที่มีส่วนร่วมต่อการสร้างความรู้และนำเสนอข่าวสารด้านการคุ้มครองผู้บริโภคโดย คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชนจัดขึ้นเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้สื่อมวลชนทำข่าว สารคดีเชิงข่าวการคุ้มครองผู้บริโภค ที่มีคุณภาพและมีคุณค่าต่อการสร้างสรรค์และเปลี่ยนแปลงสังคมไทยให้ดีขึ้น รวมทั้งเพื่อส่งเสริมกำลังใจให้สื่อมวลชนไทย โดยแบ่งออกเป็นประเภทสื่อโทรทัศน์ และสื่อออนไลน์ ดังนี้ ประเภทสื่อโทรทัศน์ ประกอบด้วยรางวัลข่าวยอดเยี่ยม ได้แก่ ข่าวลิฟท์บีทีเอส โดย นายอาธิต พันธุ์ปิยะศิริ จากสำนักข่าวไทย อสมท. และสารคดีเชิงข่าวยอดเยี่ยม  ได้แก่ ผลงานเรื่องศัลยกรรมปรับโครงสร้างจมูก สวยหรือเสี่ยง โดย นางสาวศิริพร กิจประกอบ ผู้สื่อข่าวกองข่าวเฉพาะกิจ ช่อง 9 MCOT HDประเภทสื่อออนไลน์ ประกอบด้วยรางวัลสารคดีเชิงข่าวยอดเยี่ยม ได้แก่ ผลงานเรื่องร้าวทรุดบ้านหรูรัชวิภา โดย นางสาวธิดารัตน์ เมืองจันทร์ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ และรางวัลชมเชยสารคดีเชิงข่าวเรื่อง มหากาพย์ 2 ปีสะพานถล่ม ร้องเรียนสารพัดหน่วยงาน – ไร้ความคืบหน้า โดย นายณัฐพร วีระนันท์ สำนักข่าวอิศรา

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 169 สมัชชาผู้บริโภคไทย ปี 2558 องค์การอิสระเพื่อผู้บริโภคจะได้ในรัฐบาลนี้หรือไม่ หลังรอมา 17 ปี

ในทุกวันที่ 15 มีนาคม ซึ่งเป็นวันสิทธิผู้บริโภคสากล มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคประชาชนจากทั่วประเทศ จะร่วมกันจัดงานสมัชชาผู้บริโภคไทย เพื่อติดตามการเคลื่อนไหวในประเด็นการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ทั้งประเด็นที่องค์กรสิทธิผู้บริโภคสากลกำหนดเป็นเรื่องเด่นประจำปี และเรื่องที่ยังอยู่ในกระแสรณรงค์ของภาคประชาชนในประเทศต่างๆ ซึ่งในปี 2558 นี้ เครือข่ายผู้บริโภคไทย ก็ยังคงติดตามและพยายามเคลื่อนไหวผลักดันให้เกิดองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค 15 มีนาคม ปี พ.ศ. 2558 นี้ องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน ได้ร่วมกับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปช.) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน และ สสส. จัดงานวัน “สมัชชาผู้บริโภค” ขึ้นเมื่อวันที่ 15-16 มีนาคมที่ผ่านมา ณ โรงแรมเซนจูรี่ พาร์ค กรุงเทพฯ โดยมีประเด็นหลักในการจัดงานคือ สิทธิผู้บริโภคในการได้รับอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ซึ่งเป็นเรื่องเด่นประจำปี ขององค์กรผู้บริโภคสากล โดยมีจุดประสงค์เพื่อสนับสนุนให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมปฏิรูปการคุ้มครองตัวเองในเรื่องอาหารที่ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพ รวมทั้งการจัดทำข้อเสนอในเชิงนโยบาย และกำหนดทิศทางในการพัฒนางานคุ้มครองผู้บริโภค สิทธิผู้บริโภคในการได้รับอาหารที่ดีต่อสุขภาพ หมายถึง ความปลอดภัยจากการค้าที่ไม่เป็นธรรมที่มีผลต่อชีวิตและทรัพย์สินในการบริโภคสินค้าและบริการ เช่น  การควบคุมสินค้าจำพวกอาหารเจือปนสารพิษ ยารักษาโรคที่หมดอายุและมีสารพิษ ตลอดจนของเล่นหรือเครื่องใช้ที่ก่อให้เกิดอันตราย เป็นต้น ซึ่งภายในงานได้ชวนให้ผู้บริโภคร่วมกันผลักดันในเรื่องของอาหารปลอดภัย ควรมีฉลากอาหารที่ดี ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค และการควบคุมคุณภาพอาหารในโรงเรียน โรงพยาบาล รวมถึงส่งเสริมและติดตามการกำหนดมาตรการอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค ภายในงานมีการนำตัวอย่างอาหารปลอดภัยมาตั้งร้านได้แก่ ผักปลอดสารพิษ ที่ไม่น่าเชื่อว่าจะมีราคาเพียงแค่ถุงละ 10 บาท หรือ กุ้งแห้งตัวใหญ่ๆ เนื้อแน่นถุงละ 100 บาท ที่ทำให้ผู้เข้าร่วมงานพากันจับจ่ายใช้สอยซื้ออาหารที่ทั้งถูกและปลอดภัยกันอย่างสบายๆ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องการปนเปื้อนสารเคมี ทั้งยังมีการนำตัวอย่างของอาหารที่ไม่ปลอดภัยมาเปิดเผยด้วยเช่นกัน โดยแสดงจำนวนปริมาณน้ำตาลและโซเดียมที่เกิดกำหนดอย่างไม่ปิดบังตรายี่ห้อ ซึ่งก็เป็นที่น่าตกใจว่าอาหารที่ไม่ปลอดภัยเหล่านั้น เป็นอาหารที่พวกเราต่างก็บริโภคกันทั่วไปในชีวิตประจำวัน เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ซึ่งมีปริมาณโซเดียมสูงลิบ มากกว่าปริมาณสูงสุดที่องค์การอนามัยโลกกำหนดปริมาณโซเดียมที่เราควรได้รับต่อวัน คือ วันละ 6 กรัม หรือ 2,400 มิลลิกรัม หรือน้ำตาลปริมาณมากในชาเขียวสำเร็จรูป ที่ไม่โฆษณากันด้วยเรื่องคุณค่าแล้วแต่ใช้วิธีการชิงโชครถยนต์แทน   ความคืบหน้าขององค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค นอกจากนี้ประเด็นสำคัญที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ เรื่องความคืบหน้าขององค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน ที่หลังจากได้มีการรณรงค์องค์การอิสระมาอย่างยาวนานถึง 17 ปี จนเรื่องเข้าสู่ สส. และ สว. ไปแล้ว แต่ก็ยังโดนเคราะห์ถูกยกกลับมาพิจารณาใหม่อีกครั้ง เพราะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง แต่นั่นก็ไม่ได้ลดพลังของผู้บริโภคในการผลักดันกฎหมายนี้ต่อแต่อย่างใด เพราะ หากกฎหมายนี้สำเร็จก็จะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคทุกคน ขณะนี้สถานะปัจจุบันของกฎหมายองค์การอิสระ คือ อยู่ระหว่างการพิจารณาของ สปช. ซึ่งหากผ่านแล้วขั้นตอนต่อไปคือเข้าสู่ ครม. โดยการทำงานขององค์การอิสระ จะร่วมมือกับ สปช. ในการปฏิรูปโดยการใช้พิมพ์เขียว (blueprint) เพื่อการปฏิรูประบบการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างรับฟังความคิดเห็นขององค์กรทั่วประเทศ หากเราจะพูดถึงความสำคัญของกฎหมายนี้ ก็สามารถสรุปเป็นประเด็นสั้นๆ ได้ 6 ประการดังนี้ ประการแรก กฎหมายฉบับนี้จะทำให้สามารถเปิดเผยชื่อสินค้าที่เอาเปรียบผู้บริโภคได้ ประการที่สอง เป็นปากเสียงของผู้บริโภคในการถูกเอารัดเอาเปรียบ ประการที่สาม เผยแพร่ข้อมูลเฉพาะด้านที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค ประการที่สี่ รับเรื่องร้องทุกข์และแก้ไขปัญหาผู้บริโภคแบบครบวงจร (one stop service) ประการที่ห้า ตรวจสอบงานคุ้มครองผู้บริโภคทั้งรัฐและเอกชน และประการสุดท้าย ดำเนินงานเชิงรุก ผลักดันกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค เรียกได้ว่ากฎหมายฉบับนี้จะทำให้ผู้บริโภคได้ใช้สิทธิได้เต็มที่ในฐานะพลเมือง เป็นการสร้างความเข็มแข็งให้องค์กรผู้บริโภคนั่นเอง อย่างไรก็ตามหากมีองค์การอิสระเกิดขึ้นแล้วสิ่งที่ตามมาคือ ต้องทำความเข้าใจกับผู้บริโภค ภาคีเครือข่ายภาคประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เข้าใจถึงบทบาทหน้าที่ทั้งในส่วนของหน่วยงานรัฐที่ทำหน้าที่กำกับดูแลการคุ้มครองผู้บริโภคด้านต่างๆ ให้สามารถใช้อำนาจได้อย่างมีประสิทธิภาพในการจับปรับลงโทษผู้กระทำผิด และในส่วนขององค์การอิสระทำหน้าที่พัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับ องค์กรผู้บริโภค ตรวจสอบและให้ความเห็นต่อหน่วยงานของรัฐ สำหรับใครที่พลาดอดไปก็ไม่เป็นไร รอพบกันใหม่อีกครั้งในปีหน้า เพราะ กิจกรรมดีๆ แบบนี้ยังคงจัดขึ้นเพื่อรณรงค์ให้ผู้บริโภคได้ตระหนักถึงสิทธิในการคุ้มครองตนเองและพัฒนาให้ผู้บริโภคเข้าใจสิทธิผู้บริโภคสากล โดยเฉพาะสิทธิที่จะได้รับข้อมูลความรู้อันจำเป็นต่อการบริโภคอย่างเท่าทันในยุคบริโภคนิยมเช่นนี้ต่อไป

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 141 เที่ยวด้วยหัวใจสีเขียว

ถ้าให้นึกถึงความรู้สึกของการได้ออกเดินทางท่องเที่ยวไปยังสถานที่ต่างๆ ได้พบกับประสบการณ์แปลกใหม่ เชื่อว่าทุกคนต้องคิดถึงภาพช่วงเวลาแห่งความสุข การได้พักผ่อนท่ามกลางบรรยากาศของธรรมชาติซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ ในชีวิตประจำวัน แค่คิดภาพตามก็ชักอยากจัดแจงแพ็คกระเป๋าเดินทางแล้วออกไปหาที่เที่ยวแบบธรรมชาติๆ บรรยากาศสบายๆ สักที่ แต่อย่างที่เคยมีใครบางคนบอกไว้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกนี้มักมีสองด้านเสมอ เพราะแม้การได้ออกเดินทางท่องเที่ยวจะสร้างความสนุกสุขใจให้กับเรา แต่ในทางตรงกันข้ามเราในฐานะนักท่องเที่ยวกลับกำลังทำลายธรรมชาติและโลกใบนี้ผ่านการทำกิจกรรมที่ทั้งทำร้ายและรบกวนทรัพยากรธรรมชาติไปอย่างน่าเสียดาย ยิ่งทุกวันนี้การท่องเที่ยวถูกผูกรวมเข้ากันกับเรื่องของธุรกิจ เศรษฐกิจ เลยไปถึงระบบอุตสาหกรรม การส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อสร้างรายได้ให้กับประเทศกลายเป็นดาบสองคม เพราะถึงแม้ประเทศเราจะร่ำรวยขึ้นแต่ทรัพยากรธรรมชาติก็เสื่อมถอยลงเรื่อยๆ “แล้วแบบนี้สถานที่ท่องเที่ยวอันสวยงามจะอยู่กับเราไปได้นานอีกสักแค่ไหน” ถึงเวลาต้องคิดใหม่ทำใหม่ ท่องเที่ยวอย่างใส่ใจ ไม่ทำร้ายธรรมชาติ เพื่อความยั่งยืนของแหล่งท่องเที่ยวในบ้านเรา   ท่องเที่ยวเทรนด์ใหม่ – รักษา สร้างสรรค์ และยั่งยืน “การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” (sustainable tourism) ถ้าอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ก็คงต้องให้นึกถึงการท่องเที่ยวในเชิงของการอนุรักษ์ ซึ่งคงไม่มีใครปฏิเสธว่าสถานที่ท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อของประเทศไทยเราล้วนแล้วแต่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็น ทะเล ภูเขา ป่าไม้ และยังรวมไปถึงชุมชนต่างๆ ที่ยังคงมีวิถีชีวิตเชื่อมโยงเข้ากับธรรมชาติ เหล่านี้คือเสน่ห์ที่ดึงดูดใจนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเดินทางมาสัมผัสของงดงาม แต่ธรรมชาติก็มีวันเสื่อมสลายไปตามเวลายิ่งเมื่อต้องรองรับการมาถึงของภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม การจัดการดูแลเพื่อให้ทั้งการสร้างรายได้และความสมบูรณ์ของธรรมชาติสามารถจับมือเดินคู่กันไปได้อย่างสมดุล ประเทศไทยเราเริ่มจริงจังกับการส่งเสริมธุรกิจการท่องเที่ยวในประเทศครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2530 ซึ่งเป็นปีแรกที่มีการประกาศให้เป็นปีแห่งการท่องเที่ยว แม้ภาคการท่องเที่ยวในประเทศจะประสบความสำเร็จสามารถทำรายได้เข้าประเทศอย่างมหาศาล แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าธุรกิจการท่องเที่ยวนั้นมีต้นทุนหลักก็คือ ทรัพยากรทางธรรมชาติ ซึ่งหากนักท่องเที่ยว ผู้ประกอบการ และประชาชนเจ้าของพื้นที่ ขาดจิตสำนึกที่จะดูแลรักษาธรรมชาติ สถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติทั้งหลายจะอยู่กับเราไปได้นานสักแค่ไหน? องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เป็นหน่วยที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2546 เพื่อดำเนินงานด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโดยเฉพาะ มีหน้าที่ประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ทั้งรัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กับชาวบ้านในชุมชน เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ชุมชนท้องถิ่นของตนเอง ทั้งการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ บำรุงรักษาศิลปวัฒนธรรม ประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งขณะนี้ อพท. ก็ได้ให้การสนับสนุนดูแล 5 แหล่งท่องเที่ยวสำคัญในประเทศ ให้เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ประกอบด้วย -หมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง -เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี -เมืองพัทยาและพื้นที่เชื่อมโยง -อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร -จังหวัดเลย โดย อพท. จะเข้าไปทำงานร่วมกับผู้ประกอบการ ชาวบ้านในพื้นที่ และขอความร่วมมือจากนักท่องเที่ยว เพื่อช่วยกันทำให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ยั่งยืน อย่างในหมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง ซึ่งมีปัญหาเรื่องของปริมาณขยะที่มีเป็นจำนวนมากยากต่อการจัดการ ซึ่งเกิดจากทั้งปริมาณนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นทุกปีและชาวบ้านในพื้นที่ที่ขาดความรู้ที่ถูกต้องในการจัดการ ที่สำคัญคือจิตสำนึกร่วมกันในดูแลรักษาสภาพแวดล้อม อพท. จึงได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสร้างโรงงานคัดแยกขยะขึ้นบนเกาะช้างเมื่อปี 2549 ซึ่งไม่เพียงแต่ทำให้เกิดการจัดเก็บขยะอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นเท่านั้น ขยะมูลฝอยอินทรีย์ที่ได้ยังถูกแปรรูปไปเป็นพลังงานก๊าซชีวภาพเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าได้อีกด้วย แม้จะเป็นปริมาณไม่มากแต่ก็ถือเป็นการบริหารการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่ามากที่สุด ขณะที่เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี อพท. ได้นำพันธุ์สัตว์ป่าจากเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีนำไปเพราะพันธุ์ที่ห้วยทรายขาว จ.ลำพูน เพื่อเป็นการคืนธรรมชาติที่เหมาะสมให้กับพื้นป่าชุมชนห้วยทรายขาวซึ่งมีโอกาสพัฒนาเพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ได้ในอนาคต ขณะที่เมืองพัทยาและพื้นที่เชื่อมโยงก็จะถูกปรับภาพลักษณ์ให้เป็นเมืองที่น่าท่องเที่ยวมากขึ้น พัฒนาการท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรม ส่วนอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร ถือเป็นสถานที่ต้นแบบในการจัดทำพื้นที่ท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนด้านประวัติศาสตร์ ขณะที่ จ.เลย ถือเป็นพื้นที่สำคัญมีแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติจำนวนมากและเริ่มมีนักท่องมาเที่ยวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อพท. จึงเห็นเหมาะสมที่จะเริ่มวางแนวทางการท่องเที่ยวยั่งยืนตั้งแต่เนินๆ นอกจากทั้ง 5 แห่งที่กล่าวมาแล้วในอนาคตข้างหน้าก็จะมีอีกหลายพื้นที่หลายชุมชนที่พร้อมจะปรับเปลี่ยนการรูปแบบท่องเที่ยวสู่แนวทางการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (ศึกษาข้อมูลของพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนทั้ง 5 แห่งเพิ่มเติมได้ที่ www.dasta.or.th/th/Sustain/sub_sustain_area.php)   “การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์” (Creative Tourism) การท่องเที่ยวสร้างสรรค์จะเน้นให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้ในเรื่องศิลปะ วัฒนธรรม และเอกลักษณ์ของแต่ละสถานที่ ผ่านประสบการณ์ตรง ซึ่งแน่นอนว่าเจ้าบ้านอย่างผู้คนในท้องถิ่นเองก็ต้องทำหน้าที่เป็นผู้ถ่ายทอดสิ่งต่างๆ แก่นักท่องเที่ยว อย่างการทดลองทำอาหารขึ้นชื่อประจำท้องถิ่น การทดลองทำหัตถกรรม OTOP ทดลองทำเกษตรอินทรีย์ พักแบบ Home Stay ตลอดจนการทดลองใช้ชีวิตตามแบบอย่างผู้คนในชุมชน เพื่อให้เข้าใจถึงวัฒนธรรมอันมีเอกลักษณ์ของผู้คนและสถานที่นั้นๆ ผ่านประสบการณ์ตรง เรียกว่าเป็นเวทีการเรียนรู้แบบมีชีวิต การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ นอกจากจะดีกับนักท่องเที่ยวแล้ว ยังเป็นการท่องเที่ยวที่ช่วยสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นอย่างแท้จริง เพราะเป็นการช่วยให้ชุมชนสำนึกรักในบ้านเกิดของตัวเอง รู้จักและเข้าใจในเอกลักษณ์หรืออัตลักษณ์ของตัวเองอย่างถ่องแท้ เพื่อจะได้นำมาใช้ถ่ายทอดต่อให้กับนักท่องเที่ยว เป็นการสร้างธุรกิจการท่องเที่ยวที่ทั้งสร้างสรรค์และยั่งยืน   “นักท่องเที่ยวสีเขียว” ใครๆ ก็เป็นได้ เตรียมตัวก่อนออกเที่ยว -ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งท่องเที่ยว ทั้งทรัพยากรในพื้นที่ ประเพณีวัฒนธรรม กิจกรรม รวมถึงปัญหาในพื้นที่ เพื่อเราในฐานะนักท่องเที่ยวจะได้ปฏิบัติตัวได้อย่างเหมาะสมและไม่ทำอะไรที่เป็นรบกวนสถานที่ที่เราไปเที่ยว -เวลาจัดกระเป๋าสัมภาระต้องจัดอย่างสร้างสรรค์ รับรองว่าช่วยลดโลกร้อนได้เหมือนกัน ง่ายๆ ด้วยการขนของที่จะใช้ไปเท่าที่จำเป็น ยิ่งกระเป๋าใบใหญ่ใส่ของแยะน้ำหนักเยอะก็ยิ่งสิ้นเปลืองพลังงานในการขนย้าย ยิ่งขนของไปเที่ยวมากๆ ก็มีสิทธิไปสร้างขยะทิ้งไว้ในสถานที่ที่เราไปเที่ยว -แต่ของใช้จำเป็นหลายๆ อย่างถ้านำไปเองได้ก็น่าจะช่วยลดการสร้างขยะ เช่นพวก สบู่ ยาสีฟัน ยาสระผม เพราะถ้าไปใช้ของที่โรงแรมที่พักเขาเตรียมไว้มักจะต้องเปลี่ยนให้ใหม่ทุกวัน แต่ของจะที่เอาไปขอให้เป็นแบบที่ชนิดเติมจะได้ไม่ต้องเพิ่มขยะขวดพลาสติก แถมการที่เรานำผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไปเองก็ช่วยให้มั่นใจว่าเราจะเกิดอาการแพ้   เลือกการเดินทาง -ศึกษาเส้นทางให้ดีก่อนการเดินทาง ใช้เส้นทางที่มีระยะสั้น ประหยัดเวลา ใช้พลังงานน้อย -เลือกวิธีการเดินทางให้เหมาะสม หากเป็นการท่องเที่ยวในประเทศและพอมีเวลา แนะนำให้ลองใช้บริการสาธารณะอย่างรถไฟเพราะประหยัดพลังงาน มากกว่ารถทัวร์ เครื่องบิน หรือแม้แต่รถยนต์ส่วนตัว -เครื่องบิน เป็นวิธีการเดินทางที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศมากที่สุด -ถ้ารถส่วนตัวก็ควรเดินไปด้วยกันหลายๆ คน ไปกันเยอะๆ สนุกกว่า ประหยัดพลังงานกว่า -ถ้าไปกับบริษัทนำเที่ยวก็ควรเลือกโปรแกรมนำเที่ยวที่รบกวนต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด -การตรวจให้สภาพรถยนต์ให้สมบูรณ์พร้อมสำหรับการเดินทาง จะสามารถช่วยให้เรื่องของการประหยัดการใช้พลังงาน และที่สำคัญยังสามารถช่วยในเรื่องของความปลอดภัย -ไม่บรรทุกน้ำหนักมากเกินไป เพราะพาหนะที่ใช้เดินจะยิ่งต้องใช้พลังงานมากขึ้น   เลือกที่พักสไตล์คนรักษ์โลก -ลองพักแบบ โฮมสเตย์ (Home Stay) หรือรีสอร์ทชุมชน ทั้งใกล้ชิดธรรมชาติ ได้เรียนรู้วัฒนธรรม และเป็นการสร้างร้ายได้ให้กับชุมชนอย่างแท้จริง แถมที่พักแบบนี้มักเป็นที่พักขนาดเล็กๆ ไม่ใช้พลังงานเกินความจำเป็น -ทิ้งความคิดเดิมๆ ที่ว่า เวลาไปพักตามห้องพักหรือโรงแรม เมื่อเสียความเช่าไปแล้วต้องใช้ให้คุ้มค่า ด้วยการเปิดน้ำเปิดไฟเปิดเครื่องปรับอากาศแบบเต็มที่ 24 ชั่วโมง ซึ่งถือเป็นการใช้พลังงานอย่างสิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็น หากเวลาที่ไม่ได้อยู่ในห้องก็ขอให้ปิดดีกว่า ใครที่รู้ตัวว่ามีพฤติกรรมแบบนี้รีบปรับเปลี่ยนโดยด่วน Green Leaf โรงแรมใบไม้เขียว เราสามารถเลือกพักในโรงแรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้ง่ายๆ ด้วยการเลือกที่พักที่มีตราสัญลักษณ์ “โรงแรมใบไม้เขียว” ซึ่งผ่านการคัดเลือกจากมูลนิธิใบไม้เขียว โดยเราสามารถหาข้อมูลโรงแรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อติดต่อจองห้องพักก่อนการไปเที่ยวได้ที่ www.greenleafthai.org/th/green_hotel/ กิจกรรมไม่ทำร้ายธรรมชาติ -เลือกซื้อสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น ผลิตภัณฑ์ที่สามารถย่อยสลายได้ธรรมชาติ สามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่ สินค้าประหยัดพลังงาน รวมทั้งเลือกสินค้าของฝากต่างๆ ที่ผลิตในท้องถิ่น สินค้าตามฤดูกาล ซึ่งช่วยลดพลังงานในการขนส่งและจัดเก็บ -อยากมักง่ายทิ้งขยะไม่เป็นที่เป็นทาง -ซื้อและบริโภคอาหารที่ผลิตในท้องถิ่น และพยายามทานแต่พอดี เพราะถ้าทานเหลือไม่ใช่แค่น่าเสียดายเท่านั้น สุดท้ายก็ต้องกลายเป็นขยะ -การท่องเที่ยวโดยการเดินหรือขี่จักรยาน สามารถช่วยรถการใช้พลังงานและการสร้างก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมาก -ถ้าต้องการไกด์ควรเลือกไกด์ที่อยู่ในท้องถิ่น เพราะทั้งมีความรู้ความเชี่ยวชาญเรื่องราวในพื้นที่อย่างแท้จริง สนับสนุนการสร้างรายได้ให้กับชุมชน และประหยัดพลังงานเพราะเป็นไกด์ในท้องถิ่นไม่ต้องเดินทางไกล -หากไปเที่ยวในสถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติ ต้องไม่ทำอะไรที่เป็นการรบกวนสภาพแวดล้อม เช่น ไม่เก็บพวกต้นไม้ ซากพืชซากสัตว์ หรือแม้แต่เปลือกหอย กลับมาเป็นที่ระลึก เพราะสิ่งเหล่ามี่ผลต่อธรรมชาติทั้งสิ้น ต้นไม้เล็กๆ วันข้างหน้าก็อาจเติบโตเป็นไม้ใหญ่เป็นส่วนสำคัญของระบบนิเวศ ส่วนซากเปลือกหอยก็สามารถเป็นบ้านใหม่ของสัตว์เล็กสัตว์น้อย เช่น ปูเสฉวน -ถ้าไปเจอปลาในสถานที่ท่องเที่ยวตามธรรมชาติ เราไม่ควรให้อาหารปลาเหล่านั้น เพราะปลาในธรรมชาติหาอาหารเองได้ แถมอาหารที่เราให้จะไปทำให้น้ำเน่าเสียเปล่าๆ   องค์การท่องเที่ยวโลก (UNWTO) ได้ประมาณการการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมประเภทต่างๆ ของภาคการท่องเที่ยว ดังนี้ การคมนาคมทางอากาศ 40% การคมนาคมทางบก 32% การคมนาคมขนส่งอื่นๆ 3% ที่พัก 21% กิจกรรมท่องเที่ยว 4% ที่มา : องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) อยากเที่ยวหัวใจสีเขียว แต่ไม่รู้จะไปไหน ฉลาดซื้อมีมาแนะนำ รวบรวมจากแหล่งท่องเที่ยวรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ครั้งที่ 8 ประจำปี 2553 แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ อุทยานแห่งชาติดอยฟ้าห่มปก ต.โป่งน้ำร้อน อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ดอยฟ้าห่มปกเป็นยอดดอยที่มีความสูงเป็นอันดับสองของประเทศ มีพันธุ์ไม้หลากหลายสายพันธุ์ ทำให้มีนกนานาชนิดอาศัยเป็นจำนวนมาก แถมยังมีการแสดงทางวัฒนธรรมจากชุมชนชาวเขามาเอาใจนักท่องเที่ยว น้ำตกคลองลาน อุทยานแห่งชาติคลองลาน ต.คลองลานพัฒนา อ.คลองลาน จ.กำแพงเพชรอุทยานแห่งชาติคลองลาน เป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำของลำน้ำหลายสาย มีการจัดกิจกรรมร่วมกับชุมชนในเรื่องของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และกิจกรรมที่น่าสนใจอย่างการสำรวจแมลงและผีเสื้อ รวมถึงพันธุ์ไม้แห้งต่างๆ เพื่อนำมาศึกษาเป็นความรู้   แหล่งท่องเที่ยวประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ปราสาทสัจธรรม ต.นาเกลือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ปราสาทไม้ที่รวบรวม ความรู้ ปรัชญา และงานสถาปัตยกรรมงานไม้ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดขนอน ต.สร้อยฟ้า อ.โพธาราม จ.ราชบุรี พิพิธภัณฑสถานแสดงตัวหนังใหญ่ที่มีอายุกว่า 100  ปี เป็นทั้งสถานที่แสดง ศูนย์ฝึกหัดเยาวชนในท้องถิ่น แหล่งผลิตแกะสลักหนังใหญ่   แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ วิสาหกิจชุมชนเพลินไพรศรีนาคา ต.นาคา อ.สุขสำราญ จ.ระนอง ที่นี่มี “ดอกพลับพลึงธาร” ไม้น้ำหายาก ซึ่งพบได้แห่งเดียวในประเทศไทยที่คลองนาคา ซึ่งชาวชุมชนในพื้นที่ตั้งใจในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินี ต.ปากน้ำปราณ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ แหล่งเรียนรู้ด้านการฟื้นฟูป่าชายเลน ที่จากเดิมเมื่อ 10 ปีก่อนเคยเป็นนากุ้งร้าง จากนั้นจึงถูกพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นแหล่งนิเวศที่สมบูรณ์เหมาะกับการศึกษาและท่องเที่ยว แหล่งท่องเที่ยวชุมชน กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านริมคลองโฮมสเตย์ ต.บ้านปรก อ.เมืองฯ จ.สมุทรสงคราม กลุ่มชาวบ้านที่เห็นคุณค่าของธรรมชาติวิถีชีวิตริมน้ำ รวบรวมและรื้อฟื้นเอกลักษณ์ท้องถิ่น นักท่องเที่ยวสามารถร่วมกิจกรรมชุมชน ในรูปแบบฐานการเรียนรู้จากภูมิปัญญาชุมชน ได้แก่ กลุ่มอนุรักษ์น้ำตาลมะพร้าว กลุ่มอนุรักษ์เรือพาย กลุ่มผลิตภัณฑ์เกษตรปลอดสารแบบพอเพียง กลุ่มอนุรักษ์ดนตรีไทย ชุมชนพอเพียง บ้านบางพลับ หมู่ 4 ต.บางพรม อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม ด้วยกิจกรรมที่คงความเป็นเอกลักษณ์และวิถีชีวิตชุมชนที่พร้อมเปิดต้อนรับนักท่องเที่ยว อาทิ ตักบาตรขนมครก การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งทุกกิจกรรมล้วนสอดคล้องไปกับธรรมชาติ แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรบ้านนาหมอม้า ต.นาหมอม้า อ.เมืองฯ จ.อำนาจเจริญ แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรผสมผสานและพอเพียง ให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเรียนรู้หลักการทำการเกษตรรูปแบบต่างๆ และชมการผลิตงานฝีมือจากกลุ่มแม่บ้าน ซึ่งมีสินค้าขึ้นชื่ออย่างเสื่อกกลายมัดหมี่ ไร่องุ่นไวน์ งามล้ำยุค กราน-มอนเต้ ต.พญาเย็น อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา สวนเกษตรที่ผสมผสานระหว่างสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตรและการปฏิบัติงานด้านองุ่นและไวน์ ไปชมกรรมวิธีการผลิตไวน์ที่มากพร้อมเทคโนโลยีอันทันสมัย   ------------------------------------------------------------------------------------- ท่องเที่ยวโดยไม่ดูแลธรรมชาติ...สักวันอาจไม่มีธรรมชาติให้ไปท่องเที่ยว เมื่อเราเดินทางท่องเที่ยว หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิดกระบวนการการบริโภคทั้งที่จำเป็นและฟุ่มเฟือย (ส่วนใหญ่มักจะเป็นอย่างหลัง) ซึ่งเป็นตัวการสำคัญในการสร้างขยะซึ่งมีผลต่อสภาพสิ่งแวดล้อม และยังปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่ชั้นบรรยากาศ ต้นเหตุสำคัญของการเกิดภาวะโลกร้อน สุดท้ายแล้วปัญหาทั้งหมดก็จะย้อนกลับมาทำลายอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสภาพอากาศที่แปรปรวนจนเป็นอุปสรรคต่อการท่องเที่ยว ทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญๆ ของแหล่งท่องเที่ยวถูกทำลาย ทำให้ขาดเสน่ห์ดึงดูดใจนักท่องเที่ยว ที่เห็นได้ชัดคือเรื่องของภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งและรุนแรงมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดเป็นสัญญาณเตือนที่โลกบอกให้รู้ว่า ถึงเวลาที่ผู้ที่รักการท่องเที่ยว รักธรรมชาติ และรักโลกใบนี้ทุกคน ต้องใส่ใจดูแลโลกของเราใบนี้อย่างจริงจังสักที จากการประเมินของคณะกรรมการของรัฐบาลนานาชาติว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change – IPCC) ประเมินว่าภาคการท่องเที่ยวมีส่วนในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์คิดเป็น 5% ของก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด แม้เป็นตัวเลขที่ไม่มาก แต่แนวโน้มของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่มีแต่จะขยายตัวเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แถมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวยังมีเอี่ยวกับกิจกรรมอื่นๆ ที่เป็นตัวสร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยเฉพาะภาคการขนส่ง ที่มา : องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)   เที่ยวไหนก็ได้ถ้าหัวใจสีเขียว 7 Greens “ท่องเที่ยวสดใส ใส่ใจสิ่งแวดล้อม” การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้นำเสนอมุมมองใหม่ในการท่องเที่ยวที่ทั้งเป็นมิตรกับธรรมชาติ ลดการทำลายสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งซึมซับประสบการณ์ความสุขจากการท่องเที่ยวได้อย่างเต็มที่ ด้วยแนวคิด 7 Greens  ซึ่งประกอบด้วย 7 แนวคิดท่องเที่ยวสีเขียว Green Heart หัวใจสีเขียว : เที่ยวด้วยหัวใจ คือใส่ใจลงไปในการท่องเที่ยว ใส่ใจดูแลรักษาธรรมชาติที่ไปเที่ยวชม คิดเสมอว่าจะไม่ทำอะไรที่จะเป็นการทำร้ายธรรมชาติ Green Logistics การขนส่งสีเขียว : เลือกรูปแบบการเดินทางที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ ประหยัดพลังงาน ใช้พลังงานทดแทน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เลือกเดินทางโดยรถสาธารณะก่อนรถส่วนตัว Green Attraction เยือนแหล่งท่องเที่ยวสีเขียว : ท่องเที่ยวธรรมชาติ ด้วยใจที่รู้คุณค่า ดูแลรักษาเพื่อความยั่งยืน Green Activity กิจกรรมสีเขียว : เลือกทำกิจกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่รบกวนธรรมชาติ ลดการสร้างก๊าซเรือนกระจก Green Community ท่องเที่ยวชุมชนสีเขียว : เข้าใจในวัฒนธรรมประจำท้องถิ่น ในฐานะผู้เยือนที่ดีต้องเคารพรักษาเพื่อให้ความงดงามอันเอกลักษณ์ของแต่ละท้องที่ยังคงดำรงอยู่ต่อไปชั่วลูกชั่วหลาน Green Service บริการสีเขียว : เลือกใช้บริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สนับสนุนผู้ประกอบการสีเขียว Green Plus เพิ่มสีเขียว : คืนชีวิตให้ธรรมชาติ เริ่มง่ายๆ แค่ลงมือทำ ร่วมกิจกรรมท่องเที่ยวรักษ์สิ่งแวดล้อม อย่าง เก็บขยะตามริมชายหาด ปลูกป่า พร้อมบอกต่อสิ่งดีๆ เพื่อการท่องเที่ยวสีเขียวให้กับคนอื่นๆ ใครที่สนใจหลากหลายกิจกรรม หลากหลายแหล่งท่องเที่ยว “7 Greens ท่องเที่ยวสดใส ใส่ใจสิ่งแวดล้อม” ของ ททท.สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://7greens.tourismthailand.org

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point