ฉบับที่ 273 ทำไมคุกถึงเต็ม..วิทยาศาสตร์อาจให้คำตอบ

        การได้รับสารตะกั่วอย่างต่อเนื่องส่งผลกระทบเชิงลบต่อสุขภาพหลายประการ เช่น ความบกพร่องของระบบไต ระบบหัวใจและหลอดเลือด ความเป็นพิษต่อระบบสืบพันธุ์ ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันและการเจริญเติบโตช้า แต่ประเด็นที่สำคัญสุดคือ ความเสียหายต่อระบบประสาท เนื่องจากการสัมผัสสารตะกั่วอาจส่งผลให้เกิดผลกระทบทางระบบประสาทหลายอย่าง ซึ่งรวมถึงการทำงานของการรับรู้โดยรวมของสมองลดลง การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเชิงลบ เชาวน์ปัญญา (IQ) ลดลง ความสามารถในการเรียนรู้ลดลง ความจำไม่ดีพร้อมกับความเข้าใจและการอ่านบกพร่อง ตะกั่วในสิ่งแวดล้อมมาจากไหนถึงเข้าไปอยู่ในตัวมนุษย์ได้ คนไทยมีคำตอบนี้ทุกคนหรือไม่         ปัญหาการรับสารตะกั่วเข้าสู่ร่างกายของเด็กและผู้ใหญ่นั้นไม่เท่ากัน ผลกระทบของการสัมผัสสารตะกั่วต่อเด็กมีความรุนแรงเป็นพิเศษ เนื่องจากการดูดซึมสารตะกั่วทางสรีรวิทยาในเด็กสูงกว่าผู้ใหญ่อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เด็กมีแนวโน้มที่จะเกิดผลกระทบทางระบบประสาทที่ไม่สามารถบำบัดให้หายได้ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา (US. Centers for Disease Control and Prevention) ระบุว่า "ไม่มีระดับการสัมผัสสารตะกั่วที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก" และเมื่อเร็วๆ นี้ ได้ลดค่าอ้างอิงสารตะกั่วในเลือดจาก 5 ไมโครกรัม/เดซิลิตร เป็น 3.5 ไมโครกรัม/เดซิลิตร ระดับตะกั่วในเลือดเด็กที่อาจส่งผลให้เมื่อเด็กโตขึ้นแล้วก่ออาชญากรรม         มีงานวิจัยที่น่าสนใจเกี่ยวกับ ระดับตะกั่วในเลือดเด็กที่อาจส่งผลให้เมื่อเด็กโตขึ้นแล้วก่ออาชญากรรมคือ บทความเรื่อง Association of Childhood Blood Lead Levels With Criminal Offending (การเชื่อมโยงผลของระดับสารตะกั่วในเลือดในวัยเด็กในการก่อความผิดทางอาญา) ในวารสาร JAMA Pediatrics ของปี 2017 ซึ่งเป็นการศึกษาซึ่งติดตามกลุ่มประชากรของนิวซีแลนด์ที่เกิดระหว่างวันที่ 1 เมษายน 1972 ถึง 31 มีนาคม 1973 (ประมาณกว่า 50 ปีมาแล้ว) โดยมีผู้เข้าร่วมหญิง 255 คนและชาย 298 คน ตั้งแต่เด็กจนมีอายุ 38 ปี (ธันวาคม 2012) โดยเมื่ออายุ 11 ปีผู้เข้าร่วมได้รับการตรวจเลือดเพื่อหาสารตะกั่วแล้วพบว่า มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 11.01 ไมโครกรัม/เดซิลิตร จากนั้นเมื่อเวลาผ่านไปพบว่า ผู้เข้าร่วมทั้งหมด 154 คน (27.8%) มีความผิดทางอาญา, 86 คน (15.6%) ถูกพิพากษาลงโทษซ้ำ และ 53 คน (9.6%) มีความผิดฐานกระทำความผิดรุนแรง และเมื่อพิจารณาถึงอายุที่ก่อความผิดพบว่า เริ่มเพิ่มขึ้นที่อายุ 15 ปี จนถึงจุดสูงสุดที่อายุ 18 - 21 ปี และจากนั้นลดต่ำลงเท่าที่อายุ 15 ปี เมื่ออายุ 38 ปี อย่างไรก็ดีแม้เมื่อวิเคราะห์ทางสถิติโดยรวมแล้วกลับพบว่า ความสัมพันธ์ระหว่างระดับสารตะกั่วในเลือดและการก่ออาชญากรรมนั้นมีความเชื่อมั่นค่อนข้างต่ำ ซึ่งแสดงถึงความล้มเหลวของงานวิจัยนี้ในการแสดงความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณสารตะกั่วในเลือดและการกระทำผิดทางอาญาที่เป็นผลสืบเนื่อง         ล่าสุดมีงานวิจัยใหม่ในประเด็นเดียวกันซึ่งทำวิจัยแบบ meta-analysis ของนักวิจัยจาก George Washington University เรื่อง The association between lead exposure and crime: A systematic review (การทบทวนอย่างเป็นระบบเพื่อแสดงความสัมพันธ์ระหว่างการสัมผัสสารตะกั่วกับอาชญากรรม) ในวารสาร PLOS Global Public Health ของปี 2023 ซึ่งได้พิจารณาบทความ 17 บทความจาก 617 บทความที่เลือกมาพิจารณาตอนเริ่มต้น โดยผลการศึกษาได้เชื่อมโยงการสัมผัสสารตะกั่วทั้งในขณะอยู่ในครรภ์หรือในช่วงวัยเด็กกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของการมีพฤติกรรมในการก่ออาชญากรรมในวัยผู้ใหญ่ งานวิจัยนี้ระบุในท้ายที่สุดถึงความสัมพันธ์ที่สำคัญระหว่างสารตะกั่วและรูปแบบการก่อความเสียหายต่อพฤติกรรมเมื่อเด็กโต แม้ว่าความเข้มข้นของสารตะกั่วในเลือดจะต่ำมากก็ตาม         เนื้อหาและประเด็นสำคัญในงานวิจัยของนักวิจัยจาก George Washington University ดูน่าสนใจมาก เพราะผู้วิจัยได้ทำการทบทวนการศึกษา 17 เรื่องซึ่งระบุถึงความเชื่อมโยงที่เป็นไปได้ระหว่างการสัมผัสสารตะกั่วต่อพฤติกรรมต่อต้านสังคม ซึ่งรวมถึงการก่ออาชญากรรมไม่ทางใดก็ทางหนึ่งในหลายประเทศแล้วสรุปการพบหลักฐานว่า การสัมผัสสารตะกั่วมีความเกี่ยวข้องต่อผลกระทบทางชีวภาพในเด็กที่มีผลกระทบต่อพฤติกรรมในระยะยาว ผู้ทำวิจัยเน้นว่า ไม่มีระดับที่ปลอดภัยต่อการสัมผัสสารตะกั่วสำหรับเด็ก และประเทศต่างๆ ควรพยายามอย่างเต็มที่เพื่อปกป้องเด็กและสตรีมีครรภ์จากการได้รับสารตะกั่ว เพื่อส่งเสริมสังคมที่ปลอดภัยยิ่งขึ้นสำหรับทุกคนประเทศไทยมีปัญหาขยะอุตสาหกรรมที่นำเข้ามาหรือไม่         เป็นที่รู้กันในวงนักวิชาการว่า การสัมผัสสารตะกั่วอาจมาจากหลายแหล่ง เช่น ขยะอุตสาหกรรม แบตเตอรี่รีไซเคิล สีที่มีสารตะกั่ว แหล่งอาหารต่างๆ และผลิตภัณฑ์ในครัวเรือน เช่น ของเล่นเด็กบางประเภท เครื่องครัว และถ้วยชามเซรามิกหรือกระเบื้องเคลือบ ประเด็นสำคัญคือ หน่วยราชการและองค์กรเกี่ยวกับการออกกฏหมายของไทยมีความตระหนักถึงปัญหาเนื่องจากสารตะกั่วในสิ่งแวดล้อมอย่างไร          เว็บของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (https://www.mnre.go.th) มีบทความเรื่อง ภัยร้ายใกล้ตัวจากพิษของตะกั่ว และเว็บของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (https://ddc.moph.go.th) มีเอกสารอิเล็คทรอนิคเรื่อง แนวทางการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคพิษตะกั่วในกลุ่มวัยแรงงาน ซึ่งทั้งสองบทความได้ให้ข้อมูลถึงอันตรายจากตะกั่วอย่างลึกซึ้ง แสดงว่า หน่วยราชการเข้าใจดีถึงภัยและแหล่งที่มาของสารตะกั่วที่เข้าสู่สิ่งแวดล้อม อีกทั้งผู้ประกอบการต่างๆ นั้นไม่สามารถอ้างถึงความไม่รู้ในกฏเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดการเกี่ยวกับตะกั่ว เพราะมีประกาศสำคัญคือ ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมซึ่งออกตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2535) ตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 เรื่อง หน้าที่ของผู้ประกอบกิจการโรงงานหลอมตะกั่วจากแบตเตอรี่เก่า ซึ่งมีการบังคับเกี่ยวกับการดำเนินการกำจัดขยะสิ่งปฏิกูลและวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว กฏหมายนี้ได้ลงไว้ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2544        สำหรับตัวอย่างงานวิจัยที่ระบุถึงปัญหาสารตะกั่วในสิ่งแวดล้อมของไทยนั้น เช่น รายงานการวิจัยของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณใน พ.ศ. 2542 เรื่อง การปนเปื้อนของตะกั่วและโครเมียมในน้ำทิ้งจากการย้อมสีกระจูดที่ทะเลน้อย ที่พบว่า ปริมาณตะกั่วอยู่ในช่วง 0.050-0.123 พีพีเอ็ม ซึ่งคิดเป็นค่าเฉลี่ยเท่ากับ 0.082 พีพีเอ็ม ตัวเลขดังกล่าวนี้เกินค่ามาตรฐานที่ยิมยอมให้มีได้คือ 0.05 พีพีเอ็ม และปัจจุบันยังไม่มีตัวเลขจากงานวิจัยใดที่บอกว่า ปริมาณตะกั่วและโครเมียมในทะเลน้อยจังหวัดพัทลุงนั้นลดหรือเพิ่มแต่อย่างใด         คำถามสำคัญคือ ประเทศไทยมีปัญหาขยะอุตสาหกรรมที่นำเข้ามา ซึ่งน่าจะเป็นแหล่งของตะกั่วที่ปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อมหรือไม่ ข้อมูลที่อาจให้คำตอบต่อคำถามนี้ได้จากเว็บไซต์ของหอสมุดรัฐสภา (https://library.parliament.go.th/th) ซึ่งมีบทความเรื่อง ปัญหาการนำเข้าขยะจากต่างประเทศ เรียบเรียงโดย วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 1 สำนักวิชาการสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร โดยบทความดังกล่าวออกอากาศเผยแพร่เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2562 ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา          ข้อมูลที่น่าสนใจตอนหนึ่งกล่าวว่า “สำหรับประเทศไทย กรมโรงงานอุตสาหกรรมอนุญาตให้นำเข้าขยะบางประเภทเพื่อนำมาแปรรูปเป็นวัตถุดิบที่เป็นประโยชน์ต่อไปได้ แต่เมื่อมีการตรวจสอบกลับพบว่า มีการนำเข้าขยะมาอย่างผิดเงื่อนไข มีการลักลอบนำเศษซากอิเล็กทรอนิกส์และพลาสติกที่ใช้ไม่ได้ปะปนเข้ามาภายในประเทศด้วย โดยในช่วงสองปีที่ผ่านมา ปริมาณการนำเข้าขยะสูงขึ้นมาก โดยใน พ.ศ. 2558 มีการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกประมาณ 7.7 หมื่นตัน แต่ใน พ.ศ. 2560 มีปริมาณเกือบ 3 แสนตัน และใน พ.ศ. 2561 สูงถึงกว่า 6.2 แสนตัน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่ประเทศจีน ซึ่งเป็นประเทศนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์และพลาสติกรายใหญ่ของโลกได้ห้ามนำเข้าขยะ 24 ประเภทเมื่อปลาย พ.ศ. 2560 จึงทำให้ขยะเป็นจำนวนมากเปลี่ยนทิศทางไปยังประเทศที่มีการควบคุมน้อยกว่า ซึ่งเป้าหมายใหม่คือประเทศในอาเชียน ซึ่งรวมถึงมาเลเซีย เวียดนาม และประเทศไทยด้วย”         ข้อมูลล่าสุด (https://workpointtoday.com, 23 ก.พ. 2566) ที่ดูน่าจะพอทำให้ใจชื้นได้บ้างว่า รัฐบาลที่ผ่านไปแล้วได้ประกาศว่า “ใช้ความพยายามแก้ปัญหานี้มาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้การบูรณาการกันอย่างน้อยจาก 4 กระทรวงหลัก ได้แก่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กระทรวงอุตสาหกรรม, กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงมหาดไทย ในการจัดทำ Roadmap การจัดการขยะพลาสติกอย่างครบวงจรและเป็นขั้นเป็นตอน โดยยึดหลักความจำเป็น เหมาะสม คุ้มค่า ควบคู่กับการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเป็นสำคัญ” ซึ่งประชาชนคงต้องจับตาดูว่า มันจะเป็นจริงหรือไม่ นอกจากนี้ผู้เขียนขอแนะนำให้ไปอ่านเอกสาร ของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (ดาวน์โหลดมาอ่านได้ https://ddc.moph.go.th/uploads/files/1775920210326023304.pdf) เรื่อง สังเขปค่าอ้างอิงทางสุขภาพสำหรับการประเมินความเสี่ยงภัยต่อสุขภาพและผลกระทบต่อสุขภาพจากตะกั่วด้วยตัวอย่างเลือด ซึ่งอาจพอทำให้เห็นภาพว่า อนาคตเกี่ยวกับปริมาณตะกั่วในเลือดคนไทยนั้นเป็นอย่างไร

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 273 จากปมผลกระทบการควบรวมธุรกิจโทรคมนาคม สู่ประสิทธิภาพการทำงานของ กสทช.

        การควบรวมธุรกิจ “ทรู-ดีแทค” เกิดขึ้นมาเกือบ 1 ปีแล้ว แม้ในช่วงก่อนดำเนินการจะมีกระแสเสียงคัดค้านและข้อห่วงใยเรื่องผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมา แต่ดูเหมือนประเด็นจะ “จุดไม่ติด” ในสังคมไทย แม้แต่เมื่อการควบรวมเกิดขึ้นแล้วและมีกระแสข่าว รวมถึงการออกมาเผยข้อมูลเรื่องผลกระทบหรือเบาะแสปัญหาอยู่บ้าง แต่ก็เป็นเพียงประเด็นกระเส็นกระสาย         จนกระทั่งมาถึงช่วงเดือนธันวาคมนี้ กระแสเรื่องนี้จึงเริ่มเด่นชัดขึ้นมา ด้วยเสียงบ่นหนาหูในโลกออนไลน์ ทั้งในเรื่องการประสบปัญหาการใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือ (เน็ตมือถือ) มีความอืดช้าลงกว่าเดิม หรือมีการสะดุดหรือหลุดหายของสัญญาณ การถูกเปลี่ยนรายการส่งเสริมการขายหรือแพ็กเกจการใช้งานโดยไม่รู้ตัว การหายไปของแพ็กเกจเน็ตราคาย่อมเยา         สรุปง่ายๆ ว่า มีปัญหาทั้งในเชิงของคุณภาพที่ลดลง ทางเลือกหดหาย ซึ่งในที่สุดก็เชื่อมโยงมาถึงปัญหาการต้องจ่ายค่าใช้บริการโทรศัพท์มือถือสูงขึ้นนั่นเอง        ยิ่งเมื่อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) พยายามแสวงหาความกระจ่างในเรื่องนี้ด้วยการสำรวจความคิดเห็นผู้ใช้บริการผ่านทางออนไลน์ โดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 9-23 พฤศจิกายน 2556 และเปิดเผยผลออกมาเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม ว่า จากจำนวนผู้ตอบแบบสำรวจกว่า 2,900 ราย ซึ่งไม่ได้จำกัดว่าเป็นผู้ใช้บริการของเครือข่ายใด มีถึงร้อยละ 81 ระบุว่าพบปัญหาการใช้งานในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา โดยปัญหาหลัก 3 อันดับแรกได้แก่ เน็ตช้า (ร้อยละ 29) สัญญาณหลุดบ่อย (ร้อยละ 19) โปรโมชันเดิมหมด ต้องใช้โปรโมชันที่แพงขึ้น (ร้อยละ 14) น้ำหนักของปัญหาก็ยิ่งเด่นชัด         การทวงถามหาประสิทธิผลของสิ่งที่เรียกว่า “มาตรการเฉพาะ” ที่ทาง กสทช. กำหนดไว้ในวันที่มีมติรับทราบการควบรวม จึงเกิดขึ้นตามมา ซึ่ง กสทช. ได้กำหนดไว้หลายประการที่ดูเหมือนจะดีด้านการคุ้มครองผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในข้อที่กำหนดว่า อัตราค่าบริการเฉลี่ยจะต้องลดลงร้อยละ 12 ภายใน 90 วันหลังการควบรวม         ข้อสงสัยยิ่งมีมากขึ้น เมื่อเกิดการเปิดเผยข้อมูลออกมาว่า ทางบริษัทฯ ที่ควบรวมได้รายงานต่อ กสทช. ว่า อัตราค่าบริการของโทรศัพท์มือถือลดลงประมาณ 15% และราคาค่าบริการเน็ตมือถือลดลงประมาณ 80% ซึ่งค้านกับเสียงบ่นในสังคมราวกับอยู่คนละโลก         คำถามและการวิพากษ์วิจารณ์พุ่งเป้าไปยัง กสทช. อีกครั้ง ในฐานะขององค์กรกำกับดูแลที่ควรจะต้องออกมาชี้แจงแถลงข้อเท็จจริงของเรื่องนี้         สื่อและประชาชนอยากทราบความจริงจาก กสทช. และอยากได้หลักฐานว่าผลกระทบเกิดขึ้นหรือไม่ อย่างไร คุณภาพบริการมีความเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ในลักษณะใด ราคาค่าบริการสูงขึ้นหรือลดลง แท้จริงแล้วคุณภาพบริการแย่ลงอย่างที่บางคนบ่นหรือไม่         ถึงแม้ว่าทาง กสทช. จะยังคงเล่นบทเงียบเช่นเดียวกับที่เคยๆ ทำมาในเรื่องอื้อฉาวกรณีต่างๆ แต่ด้วยการมีข้อสงสัยและคำถามเกิดขึ้นอย่างเจาะลึกขึ้นเรื่อยๆ จนสื่อมวลชนให้ความสนใจ รายการเล่าข่าวดังมีการสัมภาษณ์ นพ. ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ซึ่งได้เปิดให้เห็นเงื่อนปมต่างๆ เกี่ยวกับวิธีการทำงานของ กสทช. ที่มีลักษณะยากจะเข้าใจและเต็มไปด้วยกรรมวิธีซับซ้อน         ประเด็นอย่างเช่นการใช้วิธีให้บริษัทเอกชนผู้ประกอบการเป็นฝ่ายรายงานผลการปฏิบัติงานของตน แทนที่ กสทช. จะเป็นฝ่ายตรวจสอบ การยอมให้เอกชนปฏิบัติแบบหลุดกรอบเวลาที่กำหนดโดยไม่มีมาตรการติดตามหรือบังคับที่จริงจัง รวมถึงการกำหนดวิธีควบคุมราคาค่าบริการด้วยค่าเฉลี่ย ล้วนสะท้อนวิธีการทำงานลักษณะ “ไม่ธรรมดา” ของ กสทช.        ยกตัวอย่างเรื่องระบบการควบคุมค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ในเชิงต้นทาง แม้ กสทช. มีการกำหนดอัตราค่าบริการไว้ว่า แต่ละบริการจะต้องไม่เกินเท่าไร โดยกำหนดว่าบริการเสียงต้องไม่เกิน 0.60 บาทต่อนาที บริการข้อความสั้น หรือ SMS ไม่เกิน 0.89 บาทต่อข้อความ บริการเน็ตมือถือไม่เกิน 0.16 บาทต่อเมกะไบต์ แต่ในการกำกับอัตราดังกล่าวกลับใช้วิธีเฉลี่ยรวมทุกรายการส่งเสริมการขาย โดยให้มีการถ่วงน้ำหนักระหว่างรายการส่งเสริมการขายหลักและรายการส่งเสริมการขายเสริมในสัดส่วนร้อยละ 80/20 ตามลำดับ         ข้อดีของวิธีดังกล่าวคือการเปิดให้เอกชนผู้ให้บริการสามารถจัดให้มีรายการส่งเสริมการขายอันหลากหลาย แต่ด้วยวิธีการอันซับซ้อนดังกล่าวทำให้ประชาชนผู้ใช้บริการทั่วไปไม่อาจตรวจสอบได้เลยว่า ค่าบริการในโลกความจริงเป็นไปตามกติกาที่องค์กรกำกับดูแลกำหนดหรือไม่ อย่างไร         ซ้ำร้ายกว่านั้นคือ สำนักงาน กสทช. เองที่มีหน้าที่ต้องคอยตรวจสอบเรื่องนี้เป็นประจำทุกเดือน ทำได้เพียงพิจารณาข้อมูลรายการส่งเสริมการขายตามที่เอกชนผู้ให้บริการรายงานมาให้ โดยไม่ได้มีการตรวจสอบเลยว่า รายการส่งเสริมการขายในโลกของเอกสารหรือไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ที่สำนักงาน กสทช. รับทราบนั้นเป็นสิ่งเดียวกันกับที่อยู่ในตลาดให้บริการจริงและที่ประชาชนคนใช้บริการได้ใช้จริงหรือไม่         ประเด็นเรื่องความไม่ชัดเจนของค่าบริการโทรคมนาคมจึงมีอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนที่จะเกิดปมปัญหาผลกระทบการควบรวมต่อค่าบริการว่าสูงขึ้นหรือลดลงกันแน่ ดังนั้น การจะคาดหวังให้ กสทช. ไขความกระจ่างในปมปัญหาที่เกิดขึ้นนี้จึงดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้ เว้นแต่ กสทช. จะมีการเปลี่ยนวิธีการทำงาน         ในส่วนเรื่องคุณภาพบริการก็ไม่แตกต่างกัน วิธีการหลักที่ กสทช. ใช้ในการกำกับคุณภาพบริการก็คือ การมีข้อกำหนดในสิ่งที่เป็น “มาตรฐาน” ของบริการ เป็นกรอบและแนวทางให้เอกชนผู้ให้บริการปฏิบัติตาม ส่วนในโลกความเป็นจริงจะเป็นอย่างไรนั้น หลักๆ แล้ว สำนักงาน กสทช. รับทราบตามข้อมูลที่เอกชนผู้ให้บริการรายงานเข้ามา เสริมด้วยการออกวิ่งรถตระเวนรถตรวจสัญญาณ        คุณภาพบริการที่เอกชนผู้ให้บริการรายงานมีลักษณะเป็นค่าเฉลี่ยทั้งประเทศ ดังนั้นจึงมีข้อจำกัดในตัวเอง ในแง่ที่ไม่อาจบ่งบอกว่าบริการเฉพาะพื้นที่ต่างๆ เป็นอย่างไร และบริการที่ประชาชนผู้ใช้บริการแต่ละรายได้รับนั้นเป็นอย่างไร        ที่สำคัญคือ ต่อให้คุณภาพบริการตามที่เอกชนผู้ให้บริการรายงานจะตรงตามความเป็นจริงและผ่านค่ามาตรฐาน แต่ผู้ใช้บริการบางรายในบางพื้นที่อาจใช้บริการที่ตกมาตรฐานอยู่ก็เป็นได้         จากปมผลกระทบการควบรวมธุรกิจโทรคมนาคม สะท้อนมาถึงประสิทธิภาพการทำงานของ กสทช. ดูเหมือนว่า ทั้งสองปัญหาดูอึมครึมไม่แตกต่างกัน และต่างมีความซับซ้อนเกินกว่าจะหาทางออกได้ง่ายๆ จึงหวังว่ากระแสความสนใจของสังคมต่อทั้งสองเรื่องนี้จะยังไม่จางไป เพื่อที่ปัญหาจะได้ถูกตรวจสอบและเปิดเผยออกมาสู่การรับรู้และอยู่ในสายตาของสาธารณะ ให้ปมอันซ่อนเงื่อนถูกคลายออกบ้าง ทั้งเรื่องผลกระทบการควบรวม ทั้งเรื่องการทำงานขององค์กรในแดนสนธยาอย่าง กสทช. ซึ่งต่างควรจะอยู่ในแสงสว่างอย่างโปร่งใสเสียที 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 273 เล็บเป็นเชื้อราจากการทำเล็บควรอย่างไรดี

        การทำเล็บเพื่อความสวยมีการพัฒนารูปแบบไปอย่างหลากหลาย ร้านทำเล็บมีกันเกลื่อนเมือง มีทั้งการทำเล็บเจลที่นิยมทำกันมากหรือการต่อเล็บปลอมแล้วตกแต่งให้สวยงาม ซึ่งเป็นเล็บปลอมจากอะคริลิก PVC แต่รู้หรือไม่ อาจเสี่ยงให้เกิดเชื้อราหรือเป็นเล็บเขียวๆ หลังจากถอดเล็บปลอมออกไปได้ ซึ่งส่วนใหญ่มักไม่รู้ตัวเพราะว่ามองไม่เห็น จะมารู้ตัวอีกทีก็หลังจากถอดเล็บออกมาเท่านั้น         อาการเล็บเป็นเชื้อราจากการทำเล็บนั้นเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ ส่วนมากคือเกิดจากความอับชื้น และจากอุปกรณ์ของช่างที่ไม่สะอาด ดังนั้นเพื่อให้รู้จักสังเกตอาการก่อนจะเกิดอาการไม่พึงประสงค์ลุกลาม สามารถสังเกตได้ง่ายๆ คือหลังจากถอดเล็บปลอมออกแล้ว พบว่า เล็บเป็นสีเขียว หรือสีขาวหรือออกเหลืองๆ  และบางคนอาจมีอาการคัน บวม แดง ก็แสดงว่าติดเชื้อราเข้าแล้ว  เกิดอาการเล็บติดเชื้อรา ควรทำอย่างไรดี         ฉลาดซื้อ แนะนำว่าหลังถอดเล็บทุกครั้งให้ดูแลความสะอาดให้ดี พร้อมกับพักระยะเวลาการต่อเล็บปลอมหรือทาสีเจลไปอีกสักพักก่อน เพื่อให้เล็บได้ฟื้นตัว หากมีอาการแบบที่บอกไว้ข้างต้น ควรทายาฆ่าเชื้อราเพื่อรักษาอาการคู่ไปด้วย โดยหากเป็นไม่มากแค่ออกสีเขียวๆ ปรึกษาเภสัชกรให้แนะนำยาที่เหมาะแก่การรักษาให้ แต่หากมีอาการมาก คัน อักเสบ ให้ไปพบแพทย์เพื่อรักษาทันทีเพื่อไม่ให้เชื้อราเกิดลุกลามจนหน้าเล็บพัง เพราะในกรณีที่ลุกลามมากๆ อาจจะต้องให้แพทย์ทำการรักษา เช่น ตัดเล็บหรือถอดเล็บบริเวณเกิดเชื้อราออก ซึ่งแพทย์จะจ่ายยาให้รับประทานโดยเฉพาะ         อีกเรื่องคือ หากใครที่ต่อเล็บแล้วพบว่าเล็บเหมือนจะหลุดแต่ยังไม่หลุด จนมีช่องว่างระหว่างตรงกลางไว้ แนะนำให้รีบไปถอดออกทันที อย่าปล่อยไว้ เพราะอาจมีช่องว่างให้น้ำเข้าไปจนเกิดความอับชื้น ซึ่งอาจเป็นแหล่งก่อเกิดเชื้อราโดยเฉพาะนั้นเอง ร้านทำเล็บต้องสะอาด         การเลือกร้านทำเล็บ ควรเลือกที่น่าเชื่อถือ มีการทำความสะอาดอุปกรณ์และมีอุปกรณ์เพื่อการฆ่าเชื้ออย่างดี ที่สำคัญฉลาดซื้อย้ำเตือนเสมอ คือ มีใบอนุญาตหรือช่างผ่านการอบรมมาอย่างดี รวมถึงเรื่องสุขอนามัยของร้าน เช็กให้ดีก่อนเข้าใช้บริการทุกครั้ง  เพราะการที่เราจะทำอะไรเกี่ยวกับร่างกาย ไม่ว่าจะภายนอกหรือภายใน เราควรที่จะเน้นเรื่องสุขอนามัยและความปลอดภัยเป็นหลักข้อมูลจาก : www.Pobpad.com ข้อควรรู้ก่อนทำเล็บปลอม เพื่อป้องกันเล็บพังwww.Pobpad.com ความหมาย เชื้อราที่เล็บwww.hellokhunmor.com เล็บปลอม กับข้อควรรู้ก่อนต่อเล็บปลอม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 273 ผลทดสอบการใช้งาน call center ของมือถือค่ายต่างๆ

        ใครอยากรู้ว่า call center มือถือค่ายไหนติดต่อได้ไวทันใจ หรือต้องรอนาน ตามมาๆ         นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้ดำเนินโครงการทดสอบการใช้งาน call center ของผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทย ได้แก่  AIS, DTAC, NT และ TRUE โดยเก็บข้อมูลการทดสอบในระหว่างวันที่ 5 - 17 กันยายน 2566   วิธีการทดสอบ         ผู้ทดสอบจะใช้เบอร์โทรศัพท์มือถือของทั้ง 4 เครือข่าย และเบอร์โทรศัพท์พื้นฐาน (02) โทร.ติดต่อ call center ของทุกค่าย (AIS 1175, DTAC 1678, NT 1888 และ TRUE 1242) โดยแบ่งขั้นตอนการติดต่อเป็นการเปลี่ยนโปรโมชั่น การสอบถามค่าใช้จ่ายผิดปกติ การย้ายค่าย และปัญหาสัญญาณหายไม่สามารถใช้งานได้ ซึ่งแต่ละขั้นตอนจะโทร.ในวันจันทร์ถึงวันศุกร์ เวลา 9.00 – 18.00 น.และ 19.00 – 23.00 น. และวันเสาร์-อาทิตย์ ช่วงเวลา 9.00 – 16.00 น. และ 19.00 – 23.00 น. โดยจับเวลาตั้งแต่เริ่มต้นที่ 0.01 จนถึงได้พูดคุยกับโอเปอเรเตอร์ ผลการทดสอบ        เมื่อใช้เครือข่าย AIS โทร.ออก call center แต่ละเครือข่ายมีระยะเวลาเฉลี่ย (นาที) ตามลำดับดังนี้        การเปลี่ยนโปรโมชั่น =>                                        1.TRUE (6.31)          2.AIS (3.10)             3.DTAC (2.37)            4.NT (0.40)        การสอบถามค่าใช้จ่ายผิดปกติ =>                          1.TRUE (5.27)          2.AIS (2.46)             3.DTAC (2.06)            4.NT (0.53)         การย้ายเครือข่าย =>                                             1.TRUE (5.11)          2.DTAC (2.56)           3.AIS (2.24)               4.NT (1.37)        ปัญหาสัญญาณหายไม่สามารถใช้งานได้ =>          1.TRUE (4.33)          2.DTAC (3.02)           3.AIS (2.42)               4.NT (0.58)         ·     ลูกค้า AIS หากต้องการเปลี่ยนโปรโมชั่นและมีปัญหาสัญญาณหายฯ ควรโทร.ในวันทำงานช่วง 9 โมงเช้าถึง 6 โมงเย็น ส่วนใครจะถามเรื่องค่าใช้จ่ายผิดปกติและการย้ายค่าย แนะนำให้โทร.ในวันหยุดตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึง 4 โมงเย็น     เมื่อใช้เครือข่าย DTAC โทร.ออก call center แต่ละเครือข่ายมีระยะเวลาเฉลี่ย (นาที) ตามลำดับดังนี้        การเปลี่ยนโปรโมชั่น =>                                        1.AIS (6.47)            2.DTAC (3.56)            3.TRUE (3.39)              4.NT (1.21)        การสอบถามค่าใช้จ่ายผิดปกติ =>                          1.TRUE (5.02)          2.AIS (2.48)               3.DTAC (2.23)              4.NT (1.18)        การย้ายเครือข่าย =>                                             1.AIS (3.43)             2.TRUE (1.15)            3.DTAC (1.13)              4.NT (1.01)        ปัญหาสัญญาณหายไม่สามารถใช้งานได้ =>           1.DTAC (4.08)         2.AIS (3.05)               3.TRUE (2.58)              4.NT (0.43)         ·     ลูกค้า DTAC แนะนำให้โทร.ในวันทำงานช่วงค่ำ 1 ทุ่มถึง 5 ทุ่ม แต่หากต้องการย้ายค่ายโทร.ช่วง 9 โมงเช้าถึง 6 โมงเย็น จะเร็วกว่า และเลี่ยงติดต่อในวันหยุดเพราะจะต้องรอนานกว่า      เมื่อใช้เครือข่าย NT โทร.ออก call center แต่ละเครือข่ายมีระยะเวลาเฉลี่ย (นาที) ตามลำดับดังนี้        การเปลี่ยนโปรโมชั่น =>                                        1.TRUE (3.52)          2.AIS (3.24)                3.DTAC (1.54)             4.NT (0.47)        การสอบถามค่าใช้จ่ายผิดปกติ =>                          1.TRUE (3.30)          2.AIS (3.18)                3.DTAC (1.39)             4.NT (1.16)         การย้ายเครือข่าย =>                                             1.TRUE (9.45)         2.DTAC (3.35)             3.AIS (2.13)                4.NT (0.38)        ปัญหาสัญญาณหายไม่สามารถใช้งานได้ =>           1.TRUE (4.00)          2.AIS (2.40)                3.DTAC (1.47)             4.NT (0.38)        ·     ลูกค้า NT โทร.ถามทุกเรื่องได้จากโอเปอเรเตอร์โดยตรง ทุกวันตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึง 5 ทุ่ม รอสายนานสุดไม่เกิน 4 นาที แต่ถ้าอยากให้ไวแบบไม่ถึงนาทีก็โทร.ช่วงค่ำวันหยุดได้เลย     เมื่อใช้เครือข่าย TRUE โทร.ออก call center แต่ละเครือข่าย มีระยะเวลาเฉลี่ย (นาที) ตามลำดับดังนี้        การเปลี่ยนโปรโมชั่น =>                                     1.TRUE (4.29)          2.AIS (3.30)                3.DTAC (2.57)             4.NT (0.39)         การสอบถามค่าใช้จ่ายผิดปกติ =>                        1.TRUE (3.01)          2.AIS (2.55)                3.DTAC (2.27)             4.NT (1.06)        การย้ายเครือข่าย =>                                          1.TRUE (5.03)          2.AIS (2.48)                3.DTAC (2.22)             4.NT (0.59)         ปัญหาสัญญาณหายไม่สามารถใช้งานได้ =>        1.TRUE (3.00)         2.AIS (2.53)                 3.DTAC (2.20)             4.NT(1.00)         ·     ลูกค้า TRUE แนะนำให้โทร.ในวันทำงานช่วง 9 โมงเช้าถึง 6 โมงเย็น แต่หากต้องการเปลี่ยนโปรโมชั่น ให้โทร.ช่วงค่ำๆ จะเร็วกว่า  *หมายเหตุ ลูกค้าในที่นี้ คือ ผู้ใช้เบอร์ที่โทร.ออก และเบอร์ติดต่อ call center เป็นของเครือข่ายเดียวกัน     เมื่อใช้โทรศัพท์พื้นฐาน โทร. ออก call center แต่ละเครือข่าย มีระยะเวลาเฉลี่ย (นาที) ตามลำดับดังนี้        การเปลี่ยนโปรโมชั่น =>                                     1.AIS (3.14)            2.DTAC (2.14)                3.TRUE (2.06)            4.NT (1.01)        การสอบถามค่าใช้จ่ายผิดปกติ =>                       1.AIS (2.48)            2.DTAC (2.40)                3.TRUE (2.22)            4.NT (0.57)        การย้ายเครือข่าย =>                                         1.TRUE (3.09)         2.DTAC (1.35)                3.NT (1.02)                4.AIS (0.55)         ปัญหาสัญญาณหายไม่สามารถใช้งานได้ =>       1.AIS (3.17)            2.TRUE (1.52)                3.DTAC (1.48)            4.NT (0.52)         ·     ผู้ใช้โทรศัพท์พื้นฐานโทร.ออก ส่วนใหญ่จะใช้ระยะเวลาเฉลี่ยในอันดับ 1 น้อยกว่าใช้ทุกค่ายโทร.ออก ยกเว้นใช้เครือข่าย TRUE โทร.ออก เรื่องปัญหาสัญญาณฯ  ข้อสังเกต         ·          call center ของ TRUE ใช้ระยะเวลาเฉลี่ยนานสุดทุกขั้นตอน เมื่อโทร.ออกด้วยเบอร์ของ AIS, NT และ TRUE  เอง บางครั้งพนักงานมีการตัดสาย        ·          call center ของ NT ใช้ระยะเวลาเฉลี่ยเร็วสุดทุกขั้นตอน เมื่อโทร.ออกด้วยเบอร์มือถือของทุกค่าย และติดต่อพนักงานได้ทุกครั้ง        ·          call center ของ AIS, DTAC และ TRUE มีบางครั้งที่ติดต่อพนักงานไม่ได้        ·          call center ของ DTAC และ TRUE มีบางครั้งที่พนักงานติดต่อกลับ        ·          ระยะเวลานานสุดที่จับเวลาได้คือ 28.10 นาที เมื่อใช้เบอร์เครือข่าย NT โทร.ไปยัง call center ของ TRUE ในขั้นตอนการย้ายค่าย ช่วงวันและเวลาทำงาน        ·          ระยะเวลาเร็วสุดที่จับเวลาได้คือ 0.30 นาที เมื่อใช้เบอร์โทรศัพท์พื้นฐานโทร.ไปยัง call center ของ NT ในขั้นตอนสอบถามเรื่องค่าใช้จ่ายผิดปกติ ช่วงวันและเวลาทำงาน สรุปผลโพลล์         จากการสำรวจเรื่อง call center ของผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในกรุงเทพมหานคร         จำนวน 1,116 กลุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลเมื่อวันที่ 4 -10 กันยายน 2566         ·        ร้อยละ     46.6            เป็นลูกค้าของ AIS        ·        ร้อยละ     33.4            เป็นลูกค้าของ TRUE        ·        ร้อยละ     18               เป็นลูกค้าของ DTAC        ·        ร้อยละ     2                 เป็นลูกค้าของ NT         ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 88.4) เคยโทร.ติดต่อ Call Center โดยมีผู้ใช้ทั้งเบอร์แบบหมายเลข 4 ตัว (ร้อยละ 50.8)        และแบบหมายเลขที่ขึ้นต้นด้วย 02 (ร้อยละ49.2) พอๆ กัน ในเรื่องต่างๆ ดังนี้        ·        ร้อยละ    44.4        ใช้งานอินเทอร์เนตไม่ได้        ·        ร้อยละ    44           ค่าบริการผิดปกติ        ·        ร้อยละ    43.2        ตรวจสอบการใช้งาน        ·        ร้อยละ    26.6        โทรเข้า/ออกไม่ได้        ·        ร้อยละ    25.4        เปลี่ยนโปรโมชั่น        ·        ร้อยละ    23.1        สอบถามโปรโมชั่น         เหตุผลในการย้ายเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ได้แก่        ·        ร้อยละ     38.9       ได้รับโปรโมชั่นที่ดีกว่าจากกการย้าย           ·        ร้อยละ    24.5        ลดค่าใช้จ่าย                  ·        ร้อยละ    17.4        เปลี่ยนเครื่องมือถือ        ·        ร้อยละ    17.4        ปัญหาสัญญาณมือถือ                  ·        ร้อยละ    1.8         อื่นๆ                                                                                                 เมื่อถามว่าเคยโทร.หา call center แล้วรอนานแค่ไหนกว่าจะได้คุยสายกับเจ้าหน้าที่ คำตอบคือ        ·  11 – 15    นาที          ร้อยละ    31.5        ·  6 – 10      นาที          ร้อยละ    25.3        ·  16 – 20    นาที          ร้อยละ    16        ·  1 – 5        นาที          ร้อยละ    15.5        ·  21 – 25    นาที          ร้อยละ    5.6        ·  26 -30      นาที          ร้อยละ    2.9        ·  น้อยกว่า 1 นาที          ร้อยละ    1.9        ·  มากกว่า 30 นาที        ร้อยละ    1.3 จากการสำรวจครั้งนี้ยังพบว่า ร้อยละ 92.5 คิดว่าภาครัฐควรมีการแจ้งเตือนภัยพิบัติแบบ Cell Broadcasting ด้วยการส่งข้อความแจ้งเตือนไปยังโทรศัพท์มือถือของประชาชนโดยตรง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 273 สำรวจฉลากผลิตภัณฑ์ปรับผ้านุ่ม

        ย้อนไปกว่า 60 ปีแล้วที่มีการใช้ผลิตภัณฑ์ปรับผ้านุ่มหรือน้ำยาปรับผ้านุ่ม (fabric softener) กันในครัวเรือน เหตุผลหนึ่งคือเพื่อลดปัญหาผ้าแข็งหลังซักด้วยผงซักฟอก โดยมีสารเคมีเป็นส่วนประกอบ 2 ส่วนหลักคือ ส่วนที่ทำให้ผ้านุ่ม ได้แก่ กรดไขมันที่ได้จากสัตว์ เมื่อสัมผัสผิวผ้าจะทำให้เกิดความนุ่ม ไม่แข็ง และสารที่ให้กลิ่นหอมติดทนนาน ปัจจุบันน้ำยาปรับผ้านุ่มที่จำหน่ายในประเทศไทยโดยทั่วไปจะเป็นชนิดน้ำที่ใช้ใส่ผสมในน้ำล้างสุดท้ายที่ซักผ้า มีทั้งสูตรมาตรฐานและสูตรเข้มข้น จัดเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ยอดนิยม         แม้ก่อนหน้านี้จะมีข้อมูลส่งต่อกันถึงผลกระทบต่อสุขภาพหลังการใช้ แต่ทาง อย.ก็ได้ออกมายืนยันแล้วว่าถึงน้ำยาปรับผ้านุ่มมีส่วนทำให้เกิดสารตกค้างในผ้า แต่มีปริมาณที่น้อยมาก การสวมใส่เสื้อผ้าบนผิวหนังจึงไม่มีสารที่ซึมเข้าสู่เลือดจนส่งผลต่อฮอร์โมนได้ ยกเว้นคนที่มีอาการแพ้ เกิดผื่น         อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคบางคนยังมีคำถามคาใจว่า เราจำเป็นต้องใช้น้ำยาปรับผ้านุ่มจริงๆ หรือเป็นอิทธิพลของสื่อที่กระตุ้นให้ต้องซื้อใช้กันแน่ ?         นิตยสารฉลาดซื้อ และโครงการสร้างเสิรมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ได้สุ่มเลือกผลิตภัณฑ์ปรับผ้านุ่ม (สูตรมาตรฐาน) จำนวน 10 ตัวอย่าง เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566 มาสำรวจฉลากเพื่อปรียบเทียบความคุ้มค่า และข้อความที่แสดงถึงความรับผิดชอบและความปลอดภัยต่อผู้ใช้ เพื่อให้ผู้บริโภคได้พิจารณาว่าจะเลือกซื้อหรือไม่ซื้อต่อไป ผลสำรวจฉลาก         ·     จากผลิตภัณฑ์ปรับผ้านุ่มทั้งหมด 10 ตัวอย่าง มีปริมาณสุทธิตั้งแต่ 450 – 650 มิลลิลิตร และมีราคาขายปลีกแบบถุงชนิดเติมตั้งแต่ถุงละ 10 – 59 บาท         ·     เมื่อเปรียบเทียบราคาต่อปริมาณ 1 มิลลิลิตร พบว่า แพงสุด = 0.09 บาท คือยี่ห้อแมกซ่า กลิ่นฟลาวเวอรี่ ซอฟท์ ถูกสุด = 0.02 บาท ได้แก่ ยี่ห้อโปร กลิ่นการ์เดน สวีท ยี่ห้อแฮปปี้ ไพรซ์ กลิ่นคิส ออฟ ฟลาวเวอร์ และยี่ห้อเฟรช แอนด์ ซอฟท์ กลิ่นเลิฟลี่ คิส        ·     เมื่อดูวันผลิต-วันหมดอายุของผลิตภัณฑ์             Ø มีอายุเก็บไว้ได้นานตั้งแต่ 1- 3 ปี นับจากวันผลิต            Ø มี 2 ตัวอย่างที่ระบุเฉพาะวันผลิต คือยี่ห้อแมกซ่า กลิ่นฟลาวเวอรี่ ซอฟท์ และยี่ห้อแฮปปี้ ไพรซ์ กลิ่นคิส ออฟ ฟลาวเวอร์         ·     เมื่อพิจารณาข้อความที่แสดงถึงความรับผิดชอบและความปลอดภัยต่อผู้ใช้ผลิตภัณฑ์            Ø มี 2 ตัวอย่าง ไม่ระบุเบอร์โทร.ติดต่อศูนย์บริการลูกค้า ได้แก่ ยี่ห้อไฟน์ไลน์ สูตรพิงค์ บลอสซั่ม และยี่ห้อสมาร์ท กลิ่นเลิฟลี่ พิงค์            Ø มี 2 ตัวอย่าง ไม่ระบุคำเตือนเรื่องความปลอดภัยของผู้ใช้ ได้แก่ ยี่ห้อแมกซ่า กลิ่นฟลาวเวอรี่ ซอฟท์ และยี่ห้อแฮปปี้ ไพรซ์ กลิ่นคิส ออฟ ฟลาวเวอร์ ข้อสังเกต        ·     ทุกตัวอย่างผลิตโดยบริษัทในประเทศไทย เป็นสูตรมาตรฐาน ที่ระบุคุณสมบัติไว้คล้ายๆ กัน คือ เมื่อใช้แล้วจะช่วยให้เสื้อผ้านุ่มฟู หอมนาน ถนอมสีผ้า ใส่สบายไม่ลีบติดตัว รีดเรียบง่าย และลดกลิ่นอับ         ·     ส่วนใหญ่มีคำเตือนหรือคำแนะนำเรื่องความปลอดภัยว่า เก็บให้พ้นมือเด็ก ห้ามรับประทาน ระวังเข้าตา หากเข้าตาให้ล้างตาด้วยน้ำสะอาดทันที สำหรับผู้ที่มีผิวแพ้ง่ายควรสวมถุงมือยางขณะใช้         ·     มี 2 ตัวอย่างที่มีรูปแม่และเด็กอยู่บนบรรจุภัณฑ์ โดยไม่มีข้อความระบุไว้ชัดเจน เช่น ซักเสื้อผ้าเด็กได้ไร้สารตกค้าง เป็นต้น จึงอาจทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดได้ว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสำหรับเสื้อผ้าเด็ก  ฉลาดซื้อแนะ        ·     ก่อนใช้ ควรอ่านคำเตือนต่างๆ วิธีใช้และปริมาณที่เหมาะสมของแต่ละยี่ห้อที่แนะนำไว้บนฉลาก        ·     หากใช้ครั้งแรก ควรซื้อแบบซองเล็กๆ มาทดลองใช้ก่อนว่าเป็นกลิ่นหอมที่ชอบ ใช้แล้วตอบโจทย์ และไม่เกิดอาการแพ้ทั้งทางผิวหนังและทางเดินหายใจ แล้วจึงเลือกซื้อขนาดใหญ่เพื่อให้คุ้มราคากว่า        ·     ไม่ควรใช้น้ำยาปรับผ้านุ่มกับผ้าบางชนิด เพราะอาจทำให้คุณสมบัติของผ้าลดลงหรือเกิดการระคายเคืองจากการสัมผัสสารตกค้างได้ง่าย เช่น ผ้าขนหนู ชุดกีฬา ชุดเด็กอ่อน และชุดชั้นใน เป็นต้น        ·     เสื้อผ้าที่แช่น้ำยาปรับผ้านุ่มแล้ว ไม่ควรนำไปตากแดดจัดนานๆ หรือเข้าเครื่องอบผ้า เพราะความร้อนจะทำให้กลิ่นหอมจางหายไปจนหมดได้ ผลคือใช้ก็เหมือนไม่ได้ใช้นั่นเอง          ·ห้ามทิ้งบรรจุภัณฑ์และน้ำล้างสุดท้ายที่ผสมน้ำยาปรับผ้านุ่มลงในแม่น้ำ คู คลอง แหล่งน้ำสาธารณะ เพราะน้ำยาปรับผ้านุ่มส่วนใหญ่ที่ขายในประเทศไทยไม่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติและเป็นพิษกับสิ่งแวดล้อมนำถุงชนิดเติมมารีไซเคิล เช่น เย็บกระเป๋า แผ่นรองนั่ง หรือส่งไปทำอิฐบล็อก แผ่นหลังคา ตามหน่วยงานที่รับบริจาคได้ที่มาhttps://www.consumerreports.org/appliances/laundry/why-fabric-softener-is-bad-for-your-laundry-a5931009251/https://www.choice.com.au/home-and-living/laundry-and-cleaning/laundry-detergents/buying-guides/fabric-softeners

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 273 ซื้อประกันทางโทรศัพท์แต่คิดได้ว่าไม่สะดวกใจยกเลิกได้นะ

        ใครไม่เคยโดนบอกขายประกันทางโทรศัพท์บ้าง น่าจะน้อยคนนะยิ่งใกล้สิ้นปีนี้จะมากันเรื่อยๆ หวังปิดยอดการขาย ผู้บริโภคหากมีอาการเผอเรอคิดไม่ทันแล้วรับปากทำประกันทางโทรศัพท์ไป มันมีวิธีบอกเลิกอยู่นะ         คุณดวงพร ได้ตกปากซื้อประกันภัยรถยนต์กับนายหน้าไปในข้อตกลงที่ระบุเบี้ยประกัน 5 แสนบาท สามารถซ่อมศูนย์ได้ทั่วประเทศ ตอนที่ตัดสินใจทำประกันก็คิดว่ามันมีประโยชน์นะ ทว่าผ่านมาหลายวันเริ่มพบความจริงว่าเราอาจจะมีปัญหาถ้าทำประกันนี้เลยอยากยกเลิก แต่พอโทรศัพ์ไปที่บริษัทประกันภัยที่เป็นคู่สัญญา พบว่าไม่ง่าย คำตอบที่ได้รับคือ “คุณลูกค้าต้องรอให้ได้รับเล่มกรมธรรม์ก่อน” ก็ไม่อยากรออยากยกเลิก ทำไมต้องรอ ยิ่งพบว่า บัตรเครดิตของตนเองถูกเรียกเก็บเงินประกันงวดแรกไปแล้วด้วย คราวนี้ก็ว้าวุ่นเลย ทำให้ต้องโทรศัพท์มาขอคำปรึกษากับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค “ช่วยทีค่ะ ทำอะไรได้บ้างไหม”  แนวทางการแก้ไขปัญหา         หลังจากซักถามเหตุต่างๆ ที่คุณดวงพรประสบ เนื่องจากทางเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิฯ สงสัยว่าเหตุใดบริษัทประกันถึงเข้าถึงการตัดบัตรเครดิตได้แบบทันที คุณดวงพรแจ้งว่า นายหน้าที่มาขายประกันตนนั้นไม่ได้บอกว่ามาจากบริษัทประกันภัยแต่อ้างว่ามาจากบริษัทรถที่คุณดวงพรเป็นเจ้าของ เลยไม่สงสัยแล้วบอกเลขหน้าบัตรเครดิตและวันหมดอายุไปให้กับนายหน้าคนนั้น รู้ตัวอีกทีก็มีการเรียกเก็บเงินค่าประกันงวดแรกแล้ว “พยายามติดต่อหลายครั้งแล้ว แต่ไม่มีใครรับสายเลยหลังจากที่ได้รับคำตอบครั้งแรกที่ให้รอเล่มกรมธรรม์”         เมื่อได้ฟังที่มาที่ไปแล้ว เจ้าหน้าที่แจ้งว่า ตามกฎหมายนั้น ผู้บริโภคที่อาจเผลอตกลงทำสัญญาซื้อประกันทางโทรศัพท์แต่ต้องการบอกเลิกภายหลัง ผู้บริโภคมีสิทธิบอกเลิกหรือยกเลิกสัญญาได้ “หากยังไม่ได้รับกรมธรรม์หรือไม่พึงพอใจสามารถบอกเลิกได้ตลอดเวลา แต่หากได้รับกรมธรรม์มาแล้ว ก็ยังสามารถขอยกเลิกได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับกรมธรรม์ โดยทำหนังสือบอกเลิกสัญญาพร้อมแนบกรมธรรม์ประกันชีวิตส่งไปรษณีย์แบบลงทะเบียนกลับไปยังบริษัทผู้เอาประกันภัย หรือแม้แต่ในกรณีแบบคุณดวงพรที่ถูกเรียกเก็บเงินจากกรณีชำระผ่านบัตรเครดิต หรือแม้แต่ชำระเป็นเงินสด ก็ให้แนบสำเนาบอกเลิกสัญญาแจ้งไปยังบริษัทบัตรเครดิต ซึ่งบริษัทประกันต้องคืนเงินทั้งหมดภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญา หากบริษัทเพิกเฉย สามารถร้องเรียนได้ที่ คปภ. หรือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย คปภ. หรือ สายด่วน 1186         ต่อมาทราบจากคุณดวงพรหลังจากได้ทำตามคำแนะนำของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า บริษัทฯ ได้คืนเงินให้ครบถ้วนแล้วขอยุติเรื่องร้องเรียน         คำแนะนำสำหรับผู้บริโภคที่อาจจะต้องเผชิญกับการขายประกันทางโทรศัพท์ หากไม่สนใจสามารถปฏิเสธได้ทันทีโดยวางสายได้เลย บริษัทประกันภัยดังกล่าวจะไม่สามารถมาติดต่อขายประกันได้อีกภายในระยะเวลา 6 เดือน นับแต่วันที่ถูกปฏิเสธ ถ้ายังถูกรบกวนสามารถแจ้งร้องเรียนพฤติกรรมของนายหน้าได้ที่ สายด่วน 1186 และอีกประการหนึ่งที่หลายคนอาจไม่รู้ หากถูกตื้อทำประกันทางโทรศัพท์ จงจำไว้ว่า อย่าปัดความรำคาญด้วยคำว่า "ตกลง" หรือ คำว่า “สนใจ” เพราะเสียงของผู้บริโภคที่ถูกบันทึกไว้จะถูกเอาไปเป็นหลักฐานการยืนยัน โดยถือว่า “สัญญาได้เกิดขึ้นแล้ว” ดังนั้นหากไม่อยากเกิดปัญหาขอให้ยืนยันคำเดียวง่ายๆ ว่า “ไม่สนใจ” วางสายไปเลย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 273 ยกเลิกทัวร์และได้เงินมัดจำคืน

        การจองทัวร์ไปท่องเที่ยวเมื่อถึงกำหนดแล้วได้ท่องเที่ยวตามที่ใจหวังนับเป็นโชคดี แต่หากมีปัญหาใดๆ เกิดขึ้นแล้ว การจ่ายเงินซื้อทัวร์ท่องเที่ยวก็ทำให้เงินสูญไปได้เฉยเลยเช่นเดียวกัน   การศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อปกป้องรักษาสิทธิของตนเองก่อนทำการซื้อทัวร์จึงมีความสำคัญอย่างมาก เช่น กรณีของคุณส้มริน         เรื่องราวของคุณส้มรินเริ่มเมื่อวันที่ 26 กันยายนที่ผ่านมา คุณส้มรินได้จองทัวร์ทัศนศึกษาสถานที่สำคัญในพระคัมภีร์ไบเบิล ณ ประเทศอิสราเอล กับสถาบันที่ส่งเสริมศาสนาคริสต์แห่งหนึ่ง  โดยมีกำหนดเดินทางวันที่ 4-10 ม.ค. 2567  จำนวน 3 คน ราคามัดจำคนละ 15,000 บาท รวมทั้งสิ้น  45,000 บาท อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศอิสราเอลตั้งแต่ช่วงกลางเดือนตุลาคมและรัฐบาลอิสราเอลแจ้งว่าสงครามจะยืดเยื้อไปอีกอย่างน้อย 2 เดือน คุณส้มรินและครอบครัวจึงเป็นกังวลต่อความปลอดภัยในการเดินทางจึงได้ติดต่อขอยกเลิกทัวร์และขอคืนค่ามัดจำ ซึ่งผู้จัดทัวร์ได้แจ้งคุณส้มรินว่าได้นำเงินชำระค่ามัดจำกับสายการบินแอล อัลอิสราแอร์ไลน์ (LY) ไปแล้ว ซึ่งสายการบินได้แจ้งว่า กรุ๊ปทัวร์ที่เดินทางตั้งแต่เดือน ต.ค. - พ.ย. สามารถเลื่อนทัวร์ได้ แต่ยกเลิกไม่ได้ ส่วนกรุ๊ปทัวร์ที่เดินทางในปี 2567 ไม่สามารถเลื่อนหรือยกเลิกการเดินทางได้         คุณส้มรินเห็นว่าการจำเป็นต้องยกเลิกทัวร์เป็นเหตุมาจากภัยสงครามไม่ได้เกิดปัญหาจากตัวเธอ จึงร้องเรียนมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอความช่วยเหลือ  แนวทางการแก้ไขปัญหา         ฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ให้คำแนะนำกับคุณส้มรินว่าหากผู้ซื้อทัวร์แจ้งขอยกเลิกให้ผู้จัดทัวร์ทราบล่วงหน้า 30 วัน (หรือเกิน 30 วันไปแล้ว) และยังไม่ได้รับเงินคืนสามารถแจ้งเพิ่มเติมได้ที่กรมการท่องเที่ยว เนื่องจากประกาศคณะกรรมการธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ เรื่อง  หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการกำหนดอัตราการจ่ายเงินค่าบริการคืนให้แก่นักท่องเที่ยว พ.ศ. 2563 ได้กำหนดไว้ในข้อ 4 (1) ว่า ‘ถ้านักท่องเที่ยวแจ้งยกเลิกการเดินทางล่วงหน้าให้ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวทราบไม่น้อยกว่าสามสิบวันก่อนวันที่นำเที่ยวให้คืนในอัตราร้อยละหนึ่งร้อยของเงินค่าบริการ’ และในข้อ 5 ยังระบุว่า ‘ในกรณีมีเหตุให้ต้องยกเลิกการนำเที่ยวตามที่ได้โฆษณาไว้ โดยมิใช่ความผิดของผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว ให้ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวจ่ายเงินค่าบริการคืนแก่นักท่องเที่ยวในอัตราร้อยละหนึ่งร้อยของเงินค่าบริการ’         อย่างไรก็ตามเมื่อมูลนิธิฯ ได้รับเรื่องของคุณส้มรินแล้วจึงติดต่อไปยังสถาบันผู้จัดทัวร์ดังกล่าว ซึ่งทางสถาบันฯ ได้แจ้งว่า “ปัจจุบันผู้จัดทัวร์ได้ติดต่อกลับคุณส้มรินแล้ว และแจ้งว่าถ้าคุณส้มรินต้องการเดินทางต่อสามารถเลื่อนออกไปก่อนได้จนกว่าจะพร้อม แต่ถ้าไม่ประสงค์ที่จะเดินทางต่อผู้จัดทัวร์จะคืนเงินมัดจำให้คุณส้มรินทั้งหมด”         ดังนั้นประกาศคณะกรรมการธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ เรื่อง  หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการกำหนดอัตราการจ่ายเงินค่าบริการคืนให้แก่นักท่องเที่ยว พ.ศ. 2563 เป็นกฎหมายที่สำคัญอย่างยิ่งที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแนะนำให้ประชาชนศึกษาอย่างละเอียดก่อนการซื้อทัวร์ท่องเที่ยวทุกครั้ง  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 273 ระวัง มิจฉาชีพหลอกเหยื่อให้โอนเงินเพื่อทำงานโปรโมตสินค้า

        ปัจจุบันการทำงานโปรโมตสินค้าในตลาดออนไลน์มีหลายรูปแบบ หนึ่งในนั้นคือ Affiliate Marketing ซึ่งทำงานคล้ายเป็นนายหน้าและมีรายได้จากค่าคอมมิชชั่น เมื่อแนะนำสินค้าหรือบริการบนสื่อออนไลน์ต่างๆ พร้อมแปะลิงก์ (URL) สินค้าหรือบริการไว้แล้วมีคนคลิกเข้าไปซื้อผ่านลิงก์นั้นๆ ซึ่งส่วนใหญ่บริษัทที่ทำการตลาดในรูปแบบนี้จะเปิดให้สมัครฟรี ดังนั้นหากเจอบริษัทไหนเก็บเงินค่าสมัครหรืออ้างเหตุผลใดๆ ที่ให้คุณต้องโอนเงินไปให้ก่อน รีบเหยียบเบรกไว้เลย เพราะคุณอาจจะเจอโจรในคราบนักบุญที่ใช้วิธีหมุนเงินแบบแชร์ลูกโซ่มาหลอกเชิดเงินไปเนียนๆ เหมือนอย่างที่คุณเชอร์รี่เพิ่งเจอ        เมื่อกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา คุณเชอรี่สนใจหารายได้ทางออนไลน์ จึงไปสมัครเป็นตัวแทนช่วยโปรโมตสินค้าหรือบริการในรูปแบบ Affiliate กับ บริษัท เอฟฟิลิเอท ประเทศไทย ซึ่งมีเงื่อนไขว่าเธอจะต้องโอนเงินไปให้ตัวแทนบริษัทก่อนเพื่อซื้อสินค้า เมื่อทำงานแล้วเธอจะได้ค่าคอมมิชชั่นคืนพร้อมค่าสินค้าที่จ่ายไป ในตอนนั้นคุณเชอรี่ยอมทำตามข้อตกลงนี้โดยไม่ได้เอะใจอะไร เมื่อเธอโอนเงินไปครั้งแรกแล้ว หลังจากนั้นก็ได้เงินคืนมาพร้อมค่าคอมมิชชั่นจริงๆ ต่อมาเธอจึงไม่อิดออดเมื่อตัวแทนแจ้งให้เธอโอนเงินไปก่อนเหมือนเดิม เธอโอนเงินไปแล้ว 3 รอบ และได้ค่าคอมมิชชั่นพร้อมเงินคืนมาครบทุกรอบ         จนล่าสุด เมื่อตัวแทนบอกให้เธอโอนเงินเข้าบัญชีที่เป็นชื่อบุคคลหลายครั้ง จำนวนรวมแล้ว 50,000 กว่าบาท แต่รอบนี้เธอกลับไม่ได้รับเงินคืน เมื่อทวงถาม ทางตัวแทนอ้างว่าเธอจะต้องทำงานให้ครบตามที่กำหนดก่อนจึงจะโอนเงินให้ได้ ซึ่งเธอแย้งกลับไปว่าตอนสมัครไม่เห็นมีการแจ้งเงื่อนไขนี้ไว้เลยและขอเงินคืนทั้งหมด แต่ทวงแล้วทวงอีกก็ยังไม่ได้เงินคืน เธอเชื่อว่าคงโดนมิจฉาชีพหลอกซะแล้ว จึงโทรศัพท์มาปรึกษากับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่าต้องทำอย่างไรถึงจะได้เงินคืนมา แนวทางการแก้ไขปัญหา         ทางมูลนิธิฯ แนะนำให้คุณเชอรี่รีบโทร.แจ้งธนาคารเพื่ออายัดธุรกรรม(อายัดบัญชีปลายทาง)ทันที และเข้าไปลงทะเบียนและแจ้งความออนไลน์ที่เว็บไซต์ https://thaipoliceonline.com/ ของศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (ศปอส.) หลังจากนั้นจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจติดต่อกลับไปและแนะนำขั้นตอนต่างๆ ที่จะต้องทำต่อไป         ในกรณีนี้ หากคุณเชอรี่เอะใจเร็วกว่านี้ และแจ้งเรื่องไปยัง ศปอส.ภายในระยะเวลาประมาณ 3 ชั่วโมงหลังถูกหลอกถูกโกง ก็อาจทำให้มีโอกาสได้เงินคืนค่อนข้างมาก เพราะยิ่งปล่อยระยะเวลาให้นานออกไป การติดตามเส้นทางทางการเงินก็จะยากขึ้น ซึ่งทำให้โอกาสที่จะได้เงินคืนน้อยลง         อย่างไรก็ตาม การสมัครทำงานหารายได้ทางออนไลน์ในรูปแบบใดก็ตาม ควรเลือกบริษัทที่มีประวัติน่าเชื่อถือ ศึกษาข้อมูล วิธีการทำงาน และเงื่อนไขการจ่ายค่าตอบแทนอย่างรอบคอบทุกครั้ง หลีกเลี่ยงงานที่ต้องให้โอนเงินไปก่อน จะได้ไม่เสี่ยงเจอมิจาฉาชีพมาหลอกแล้วเชิดเงินหนีเข้ากลีบเมฆไป     

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 273 สายการบินทำกระเป๋าเดินทางหาย

        ปัญหาเกี่ยวกับกระเป๋าสัมภาระชำรุดเสียหายระหว่างเดินทางข้ามประเทศ ผ่านสายการบินต่างๆ นั้นมีผู้เสียหายได้ร้องเรียนมามากมายกับฝ่ายพิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค อย่างเช่นกรณีของคุณน้ำตาล         เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา คุณน้ำตาล ได้มาร้องเรียนกับทางมูลนิธิฯ ว่า เธอได้เดินทางกลับจากออสเตรเลียโดยสายการบินแห่งหนึ่ง ซึ่งหลังจากเครื่องแล่นลงสู่ภาคพื้นดิน เธอก็มารอรับกระเป๋าสัมภาระของเธอ แต่ไม่พบกระเป๋าสัมภาระของตัวเองไม่ว่าจะรอนานแค่ไหน จึงได้แจ้งกับเจ้าหน้าที่ให้ช่วยตรวจสอบ หลังการตรวจสอบปรากฏว่าไม่มีกระเป๋าเดินทางของเธอในระบบ เจ้าหน้าที่ได้แนะนำให้เธอกลับบ้านไปก่อน หากพบว่ากระเป๋าของเธออยู่ตรงไหนแล้วทางเจ้าหน้าที่จะติดต่อกลับ คุณน้ำตาลจึงทำตามคำแนะนำที่ทางเจ้าหน้าที่ ซึ่งมีการแจ้งเพิ่มเติมว่า จะดำเนินการติดตามให้ภายใน 21 วัน         ผ่านมาแล้ว 21 วัน คุณน้ำตาลยังไม่ได้รับการติดต่อจากสายการบิน เธอร้อนใจเพราะว่าของที่อยู่ในกระเป๋าก็มีมูลค่าไม่ใช่น้อย กระเป๋าเดินทางก็ราคาไม่เบา 5,000 บาท เสื้อผ้า และของใช้ ประมาณ 20,000 บาท คอมพิวเตอร์+อุปกรณ์ 30,000 บาท และแทบเล็ตอีก 10,000 บาท จึงได้รีบติดต่อสายการบินอีกครั้ง ทางสายการบินได้ส่งอีเมล์แจ้งว่าไม่พบสัมภาระผู้ร้อง อ้าว ! ทำไมทำกันแบบนี้ ทางสายการบินได้ให้คุณน้ำตาลทำเรื่องเคลมกระเป๋าที่สูญหาย เธอเองกังวลว่า สายการบินจะชดเชยความเสียหายตามจำนวนที่เสียหายได้หรือไม่ จึงร้องมายังมูลนิธิฯ เพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางการแก้ไขปัญหา         เบื้องต้นทางเจ้าหน้าที่ฝ่ายพิทักษ์สิทธิ มูลนิธิฯ แนะนำให้ติดต่อสอบถามข้อเท็จจริงกับสายการบินเรื่องการเคลมว่าต้องทำอย่างไรบ้าง และให้ผู้ร้องดำเนินการทำเรื่องเคลมกับสายการบินตามระเบียบดังกล่าวก่อน หากพบปัญหาอย่างไรให้แจ้งมายังมูลนิธิฯ อีกครั้ง โดยทางเจ้าหน้าที่พร้อมให้ความช่วยเหลือ หากพบว่า ทางสายการบินชดเชยให้ไม่เหมาะสม ทั้งนี้ หากกระเป๋าเดินทางสูญหายหรือชำรุดเสียหาย จากการขนส่งโดยสายการบิน มีวิธีการ  ดำเนินการตามนี้         1.  ติดต่อเคาน์เตอร์สายการบินที่ใช้บริการเพื่อขอเอกสารบันทึกความเสียหาย เพื่อเป็นหลักฐาน        2.  ถ่ายภาพความเสียหายของกระเป๋าเดินทาง (กรณีกระเป๋าชำรุดเสียหาย)         3.  รีบติดต่อขอเคลมค่าเสียหายกับสายการบินทันที         4.  กรณีกระเป๋าสูญหาย ให้รีบแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่สนามบินเพื่อลงบันทึกประจำวัน เกี่ยวกับทรัพย์สินที่สูญหายในกระเป๋าเดินทาง สิ่งที่ต้องเตรียมเพื่อป้องกันเบื้องต้น        ·  ชื่อ – นามสกุล ที่อยู่ และเบอร์ติดต่อ ไว้ที่แท็ก (tag) และด้านในของกระเป๋าเดินทางพร้อมกับ ถ่ายรูปกระเป๋าเดินทางเก็บไว้ก่อนทำการเช็กอิน        ·  หลังชั่งน้ำหนัก เช็กอินกระเป๋าเดินทาง แนะนำให้ตรวจสอบว่าได้รับแท็กบาร์โค้ดเท่ากับจำนวนกระเป๋าเดินทางหรือไม่ (กระเป๋า 1 ใบ ต่อ 1 แท็ก)        ·  ทำสัญลักษณ์ไว้บนกระเป๋าเดินทาง เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้อื่นหยิบผิด กรณีกระเป๋ายี่ห้อเดียวกัน

อ่านเพิ่มเติม >