ฉบับที่ 277 กระแสต่างแดน

เมืองอยู่ยาก        นายกเทศมนตรีเมืองฟลอเรนซ์ยอมรับว่าเมืองของเขาได้รับผลกระทบจากการท่องเที่ยวที่ขยายตัวแบบไร้การควบคุม         ขณะนี้อัตราค่าเช่าบ้านในเมืองดังกล่าวอยู่ที่ร้อยละ 84 ของเงินเดือน เมื่อมองย้อนกลับไปจะพบว่าระหว่างปี 2016 – 2023 ค่าเช่าบ้านในเมืองฟลอเรนซ์เพิ่มขึ้นร้อยละ 42 ในขณะที่จำนวนที่พักในแอป Airbnb ก็เพิ่มจาก 6,000 เป็น 15,000 ห้อง/หลัง         ล่าสุดเรื่องนี้ส่งผลกระทบให้บรรดาช่างฝีมือจำนวนมากถูก “ไล่ที่” ออกจากบริเวณทำเลทอง เพราะเจ้าของพื้นที่ต้องการเปลี่ยนจาก “โรงงาน” เป็นโรงแรมสำหรับนักท่องเที่ยว         รัฐบาลอิตาลีได้ร่างระเบียบห้ามเปิดที่พักเพิ่มตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว แต่ยังไม่สามารถประกาศใช้เพราะเสียงค้านจากผู้ที่จะได้ประโยชน์ ในขณะที่แผนส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองก็ยังไม่เป็นมรรคผล เพราะนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มีเวลาไม่เกินสามวัน จึงต้องการไปเยี่ยมชมเฉพาะสถานที่ยอดนิยมเท่านั้น  เยียวยาจิตใจ         คณะกรรมการแก้ไขข้อพิพาทผู้บริโภคแห่งเมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย มีคำสั่งให้ Flipkart แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอันดับหนึ่งของอินเดีย จ่ายเงินชดเชยให้กับผู้บริโภค 10,000 รูปี (4,400 บาท) ฐานบกพร่องในการให้บริการและทำธุรกิจอย่างไม่เป็นธรรม         เดือนกรกฎาคม ปี 2022 ผู้บริโภคสั่งซื้อไอโฟนจากร้านค้าแห่งหนึ่งบนแพลตฟอร์มดังกล่าว และชำระเงินด้วยบัตรเครดิตในราคา 39,628 รูปี (17,300 บาท) หกวันต่อมาเขาได้รับข้อความสั้นจาก Flipkart ว่าคำสั่งซื้อถูกยกเลิก เนื่องจากผู้ให้บริการขนส่งติดต่อผู้รับไม่ได้         เมื่อติดต่อไปยังแพลตฟอร์มก็ได้รับคำอธิบายว่าบริษัทจะคืนเงินให้เต็มจำนวนและขอให้เขาทำการสั่งซื้อเข้ามาใหม่ แต่คราวนี้ไอโฟนรุ่นที่เขาอยากได้มีราคาแพงขึ้นกว่าเดิม 7,000 รูปี         คณะกรรมการฯ มองว่าบริษัทจงใจหากำไรเพิ่มด้วยการยกเลิกออเดอร์ของลูกค้า และสร้างความทุกข์ทรมานทางจิตใจให้กับผู้บริโภคด้วยการยกเลิกโดยไม่ถามความยินยอมของเขาก่อน  ต้องจ้างเด็ก         เยอรมนีกำลังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก ผู้ประกอบการขนส่งออกมาเตือนว่าอาจต้องลดจำนวนรถที่ให้บริการลงเพราะหาคนทำงานไม่ได้ หลายรายบอกว่าตำแหน่งที่ประกาศรับยังเหลือว่างถึงร้อยละ 30         เมื่อไม่มีพนักงานเพิ่ม คนที่ทำงานอยู่ก็หยุดงานประท้วงบ่อยเพราะต้องแบกภาระหนักเกินไป         บริษัทขนส่งมวลชน VAG ของเทศบาลเมืองนูเร็มเบิร์ก (ซึ่งต้องการพนักงานขับรถสาธารณะอย่างรถไฟ รถรางและรถเมล์ รวมกันปีละ 160 อัตรา) จึงใช้วิธีติดประกาศจ้างงานตามมหาวิทยาลัย ชักชวนให้นักศึกษาใช้เวลาว่างเป็นพนักงานพาร์ทไทม์ขับรถราง สัปดาห์ละ 20 ชั่วโมง        คุณสมบัติได้แก่เป็นผู้มีใบขับขี่ อายุเกิน 21 ปี มีความรับผิดชอบ รักงานขับรถ และทำงานเป็นกะได้ ผู้ผ่านการคัดเลือกก็จะได้รับการอบรมภาคทฤษฎี ฝึกปฏิบัติกับเครื่องจำลองการขับ จากนั้นจึงฝึกกับรถรางจริง เนื่องจากอยู่ในภาวะเร่งด่วน การฝึกจึงใช้เวลาน้อยกว่าปกติเท่าตัว ขอก่อนรื้อ         กระทรวงแรงงานเดนมาร์กประกาศห้ามการรื้อถอนอาคารที่มีแร่ใยหินโดยไม่ได้รับอนุญาต และกำหนดโทษปรับไว้ไม่ต่ำกว่า 30,000 โครน (ประมาณ 160,000 บาท)         รายงานข่าวระบุว่ากฎหมายดังกล่าวน่าจะสามารถเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 1 กรกฎาคมปีนี้ โดยมีระยะเวลาผ่อนผัน 6 เดือน         พูดง่ายๆ คือ “เจ้าของบ้าน” จะรื้อถอนเองไม่ได้ เพราะการรื้อถอนต้องดำเนินการโดยบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตเท่านั้น บริษัทเหล่านี้จะมีระบบควบคุมคุณภาพ และมีเจ้าหน้าที่ที่ผ่านการฝึกอบรมมาสำหรับการนี้โดยเฉพาะ เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่เกิดการฟุ้งกระจายของฝุ่นแร่ใยหินซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ        แร่ใยหินถือเป็นสิ่งผิดกฎหมายในเดนมาร์กมา 35 ปีแล้ว แต่ปัญหานี้ยังไม่หมดไปเนื่องจากยังมีการใช้ในงานก่อสร้างต่อเติมอาคาร และยังมีอาคารจำนวนไม่น้อยที่สร้างก่อนปี 1989 (พ.ศ. 2532) ส่วนกรณีของประเทศไทย เรายังไม่อยู่ในกลุ่ม 56 ประเทศที่ประกาศแบนแร่ใยหินแล้ว รีบใช้เงิน         คนเกาหลีไต้มีแนวโน้มจะขอรับเงินเกษียณก่อนกำหนดกันมากขึ้น เพราะต้องการเงินไว้ใช้ในวันที่ค่าครองชีพแพงเหลือใจ         ข้อมูลทางการระบุว่าปีที่แล้วมีคนเกษียณก่อนกำหนด 849,744 คน นับเป็นสถิติสูงสุดตั้งแต่ปี 1999 ซึ่งเป็นปีแรกที่อนุญาตให้มี “early retirement” และคาดว่าปี 2024 นี้จะมีถึง 960,000 คน        ก่อนหน้านี้รัฐบาลเกาหลีได้ประกาศขยับอายุเกษียณจาก 62 เป็น 63 ปี เพื่อให้มีเงินเหลืออยู่ในระบบนานขึ้น แต่คนจำนวนมากไม่อยากรอจนตัวเองอายุ 63 พวกเขารู้สึกอุ่นใจกว่าถ้าได้ถือเงินก้อนไว้เลย หลายคนก็ต้องการเงินมาลดความฝืดเคืองในชีวิตประจำวัน         การขอรับเงินก่อนเวลาเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ แต่มีเงื่อนไขว่าผู้รับจะถูกหักเงินบางส่วน เช่นถ้ารับก่อนกำหนดหนึ่งปี จะถูกหักร้อยละ 6 หรือถ้าขอรับก่อนเวลาห้าปีจะถูกหักร้อยละ 30 เป็นต้น          สหภาพแรงงานเกาหลีกำลังผลักดันให้การขยายเวลาการจ้างงาน เพื่อให้โอกาสผู้สูงอายุมีรายได้เพิ่มก่อนจะต้องออกไปหางานใหม่ เพราะเงินที่ได้จากการเกษียณมันน้อยเกินไป 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 274 กรแสต่างแดน

เงินขวัญถุง         คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคแห่งเมืองเดลลี สั่งปรับห้างจำหน่ายเสื้อผ้าสำเร็จรูป lifestyle เป็นเงิน 3,000 รูปี (ประมาณ 1,300 บาท) และขอให้ห้างคืนเงิน 7 รูปีที่เรียกเก็บเป็นค่าถุงกระดาษ ให้กับลูกค้าด้วย         คณะกรรมการได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภครายหนึ่ง ว่าด้วยความบกพร่องในการให้บริการของห้าง ซึ่งอ้างว่าถุงกระดาษมีต้นทุนแพงกว่าถุงพลาสติก (ที่รัฐบาลประกาศห้ามใช้ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2565) จึงขอเรียกเก็บค่าถุงจากลูกค้า         คำถามคือห้างควรผลักภาระค่าใช้จ่ายไปให้ลูกค้าที่จ่ายเงินค่าสินค้าแล้วหรือเปล่า สำคัญกว่านั้นคือลูกค้าได้รับการบอกกล่าวล่วงหน้าหรือไม่         จากหลักฐานภาพถ่ายที่ยืนยันว่าห้างไม่ได้แจ้งให้ลูกค้านำถุงมาเอง รวมถึงไม่ได้บอกราคาและประเภทของถุงกระดาษ บริษัทจึงไม่สามารถเก็บค่าถุงที่ใช้ใส่สินค้าที่ซื้อจากทางร้านได้ และต้องจ่ายค่า “ทำขวัญ” ลูกค้าเป็นจำนวนดังกล่าว   ชื่อไฮเอนด์         เทศบาลกรุงโซลขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ให้ลดความยาวและความซับซ้อนของโครงการอพาร์ตเมนท์ หลังผลสำรวจพบว่าชาวเมืองส่วนใหญ่ไม่ถูกใจสิ่งนี้         หลายปีที่ผ่านมาเกิดเทรนด์การตั้งชื่ออพาร์ตเมนท์เป็นภาษาเกาหลีผสมกับภาษาต่างประเทศ ยำรวมกันทั้งชื่อย่าน ชื่อบริษัทที่ก่อสร้างรวมถึงชื่อแบรนด์เพื่อแสดงถึงความ “ไฮเอนด์” ทั้งที่ชื่อเหล่านี้ไม่ได้การันตีคุณภาพของที่อยู่อาศัย         เทศบาลฯ ได้สำรวจความเห็นประชากรกว่า 1,000 คน และพบว่าร้อยละ 77.3 ไม่ชอบชื่อยืดยาวแบบนี้ บางหมู่บ้านถึงกับร้องขอให้เอาชื่อของตัวเองออกจากชื่ออพาร์ตเมนท์ที่ไม่มีอะไรเกี่ยวกันด้วย         หลังการพูดคุยมีผู้ประกอบการ 9 ราย (Samsung Hyundai และ Posco ก็อยู่ในกลุ่มนี้) ให้คำมั่นว่าจะตั้งชื่อโครงการให้สั้นและง่ายกว่าเดิม รวมถึงใช้คำภาษาเกาหลีให้มากขึ้น         เทศบาลโซลมีกำหนดจะประกาศ “แนวทางการตั้งชื่ออพาร์ตเมนท์” ภายในครึ่งปีแรกของปี 2024  ซ่อมกันก่อน         เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ผู้คนไม่ทิ้งขว้างอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เสียหายเพียงเล็กน้อย รัฐบาลฝรั่งเศสจึงให้ “โบนัสช่วยซ่อม” แบบเหมาจ่ายมาตั้งแต่ปี 2022  โดยเงินช่วยเหลือดังกล่าวอยู่ภายใต้กฎหมายว่าด้วยการลดขยะและสร้างเศรษฐกิจแบบหมุนเวียนที่ประกาศใช้เมื่อปี 2020         สิ่งที่จะเพิ่มมาในปี 2024 คือค่าซ่อมหน้าจอโทรศัพท์ 25 ยูโร (ประมาณ 950 บาท) และค่าซ่อมโน๊ตบุ๊ค 50 ยูโร         รวมแล้วจึงมีเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เข้าข่ายได้รับเงินช่วยเหลือ 73 รายการ เช่น เครื่องซักผ้า เครื่องล้างจาน กาต้มน้ำ เครื่องทำกาแฟ โทรทัศน์และเครื่องเล่นดีวีดี         เงินช่วยเหลือนี้จะปรากฎเป็นส่วนลดในบิลค่าซ่อมโดยอัตโนมัติ ลูกค้าไม่ต้องลงทะเบียน เพียงแต่ต้องไปใช้บริการกับร้านซ่อมที่เข้าร่วมโครงการ         ฝรั่งเศสตั้งเป้าเพิ่มจำนวนอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่เข้ารับการซ่อมจากปีละ 10 ล้านชิ้น เป็น 12 ล้านชิ้นให้ได้ภายในปี 2027   ไม่ใช่ที่สูบ         อุตสาหกรรมท่องเที่ยวญี่ปุ่นออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลให้ข้อมูลนักท่องเที่ยวต่างชาติเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยการห้ามสูบบุหรี่ให้มากขึ้น โดยอาจระบุ “พื้นที่สูบบุหรี่” ผ่านแอปพลิเคชันที่ให้ข้อมูลเรื่องสถานที่ท่องเที่ยวในภาษาต่างๆ เป็นต้น         ญี่ปุ่นห้ามการสูบบุหรี่ทั้งในอาคารและกลางแจ้ง (ยกเว้นในพื้นที่สำหรับสูบบุหรี่) มาตั้งแต่เดือนเมษายน ปี 2020 ซึ่งขณะนั้นเป็นช่วงการระบาดของโควิด 19 จึงไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามามากนัก แต่เมื่อการท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัว จำนวนชาวต่างชาติที่ถูกปรับเพราะ “เดินไปสูบไป” ก็เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ในบางเมืองเช่น โกเบ มีถึงร้อยละ 40 ของผู้ฝ่าฝืนที่เป็นนักสูบจากต่างแดน         นอกจากกฎหมายที่ใช้ทั่วประเทศแล้ว สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมบางแห่งมีค่าปรับสำหรับการสูบบุหรี่ในพื้นที่ด้วย เช่น การสูบบุหรี่ในสวนนารา มีค่าปรับ 1,000 เยน (ประมาณ 240 บาท) โดยเจ้าหน้าที่สามารถแสดงตนและปรับผู้ฝ่าฝืนได้ทันที   ลดเวลาหน้าจอ         กระทรวงเด็กและโรงเรียนของเดนมาร์กเล็งออกกฎหมายห้ามศูนย์รับดูแลเด็กเล็กใช้โทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ตเป็นอุปกรณ์ช่วยเลี้ยงเด็ก         ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าผู้ดูแลจะให้เด็กดูหน้าจอแท็บเล็ตหรือโทรทัศน์ไม่ได้ เพียงแต่ต้องจำกัดเวลา เช่น สำหรับเด็กอายุไม่เกินสองปี จะอนุญาตให้ดูหน้าจอมือถือหรือแท็บเล็ตได้ในกรณีที่ “จำเป็นอย่างยิ่ง” เท่านั้น เพราะเด็กเล็กไม่ควรมี “เวลาหน้าจอ” มากเกินไป         ขณะที่เด็กอายุระหว่างสามถึงห้าปีจะอนุญาตให้ใช้หน้าจออย่างเหมาะสม โดยเด็กจะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของผู้รับผิดชอบ         สรุปว่าสถานรับเลี้ยงเด็กจะอ้างว่าจำเป็นต้องปล่อยให้เด็กดูจอเพราะ “วันนี้ยุ่งมาก” หรือ “ใกล้เวลาพ่อแม่มารับแล้ว” ไม่ได้ รัฐมนตรีฯ เขามองว่ามันเป็นความบกพร่องในการดูแลเยาวชนของชาติ กระทรวงฯ คาดว่าร่างกฎหมายดังกล่าวจะผ่านเป็นกฎหมายได้ในเดือนกรกฎาคมปี 2024   

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 272 การทดสอบประสิทธิภาพทางเทคนิคของพัดลม

        พัดลมเป็นอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีใช้ประจำบ้านในเกือบทุกครัวเรือน จากรายงานสรุปผลที่สำคัญ การใช้จ่ายพลังงานของครัวเรือน พ.ศ. 2564 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า ครัวเรือนไทยมีพัดลมไว้ประจำบ้านในอัตราส่วนสูงถึงร้อยละ 98.60 ของครัวเรือนทั้งหมด[1] จัดเป็นอัตราสูงสุดเมื่อเทียบกับเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ เป็นอุปกรณ์ไว้ใช้งานในครัวเรือน  พัดลมไฟฟ้านั้นมีหลายแบบ ซึ่งแบบที่นิยมกันในปัจจุบันทั้งชนิดตั้งโต๊ะ ตั้งพื้น ติดผนัง ระบายอากาศ แขวนเพดาน และส่ายรอบตัว แต่ละแบบก็เหมาะสมกับการใช้งานในพื้นที่ที่แตกต่างกัน เนื่องจากเป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย จึงมีมาตรฐานอุตสาหกรรมกำหนดเฉพาะคุณลักษณะด้านความปลอดภัย โดยเป็นไปตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม 934-2558 (มอก. 934-2558)         สำหรับการทดสอบประสิทธิภาพในการใช้พลังงานของพัดลมครั้งนี้ เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ได้ออกแบบและกำหนดการทดสอบ 3 ประเด็น ประกอบด้วย 1) การทดสอบประสิทธิภาพการใช้พลังงาน 2) ระดับความดังเสียงของพัดลมระหว่างการทดสอบ และ 3) ค่ามุมส่ายสูงสุด  ซึ่งกำหนดขอบเขตคุณสมบัติทางด้านเทคนิคสำหรับการสุ่มซื้อสินค้าที่จะนำทดสอบดังนี้         1 สินค้าต้องมีเครื่องหมายมาตรฐานอุตสาหกรรม         2 เป็นพัดลมที่ใช้ในครัวเรือนขนาดใบพัดไม่เกิน 16 นิ้ว และ         3 กำลังไฟฟ้าที่ระบุไม่เกิน 70 วัตต์ ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่สุ่มซื้อมาทดสอบมีสมบัติเบื้องต้นตามที่ระบุไว้ในฉลากและคู่มือการใช้งาน ตามตารางที่ 1         การให้คะแนนเพื่อจัดลำดับแต่ละประเด็นของการทดสอบ ขึ้นอยู่กับอันดับของผลการทดสอบแต่ละประเด็นโดย ผลิตภัณฑ์ที่ได้อันดับดีที่สุดจะได้คะแนน 15 คะแนน และผลิตภัณฑ์ที่ได้คะแนนลำดับสุดท้ายจะได้ 1 คะแนน สำหรับการจัดลำดับขั้นตอนสุดท้านคือการนำคะแนนที่ได้ของการทดสอบแต่ละประเด็นมารวมกัน  สรุปผลการทดสอบ         จากผลการทดสอบทางด้านประสิทธิภาพและทางเทคนิคของพัดลมจำนวน 15 ผลิตภัณฑ์ ทั้งสามประเด็น ผลิตภัณฑ์ของ Mi รุ่น JLLDS01XY ได้คะแนนสูงสุด คือ 39 คะแนน ผลิตภัณฑ์ Misumaru รุ่น AP-SF1602AT ได้คะแนนรวม 32 คะแนน และผลิตภัณฑ์ที่ได้อันดับ 3 ซึ่งได้คะแนนรวมเท่ากันทั้งสามผลิตภัณฑ์ คือ 31 คะแนน ได้แก่ Toshiba รุ่น F-ASY50TH (W) Mitsubishi รุ่น LV16-GA SF-GY และ Mamaru รุ่น DFS-9136[1] (พัดลม (ร้อยละ 98.6) โทรศัพท์มือถือ (ร้อยละ 96.4) หม้อหุงข้าวไฟฟ้า (ร้อยละ 93.1) ตู้เย็น (ร้อยละ 92.2) โทรทัศน์ (ร้อยละ 91.7))  และหลอดไฟนีออน (ร้อยละ 90.7)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 267 เพราะความอยาก “เลิก” ของเราไม่เท่ากัน

        คราวนี้ยังขอว่าด้วยเรื่อง “การเลิก” ต่ออีกสักหน่อยนะคะ โดยจะเน้นในมุมเมื่อการเลิกเกิดขึ้นแบบมีเพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเต็มใจ หรือลงมือกระทำการเพียงฝ่ายเดียว ทั้งสองฝ่ายไม่ได้ตกลงกันให้ดีจนเข้าใจตรงกันหรือเห็นพ้องต้องกัน         แม้ทั้งหมดยังคงเป็นเรื่องเกี่ยวกับการใช้บริการโทรคมนาคม แต่ปมประเด็นของเรื่องนี้ก็ไม่ได้แตกต่างจากหลักพื้นฐานในความสัมพันธ์ทั่วไป นั่นคือ เมื่อการเลิกเกิดขึ้นโดยไม่ได้มาจากความยินยอมสองฝ่าย ร้อยทั้งร้อยย่อมต้องมีปัญหายุ่งยากตามมา        คราวที่แล้วได้พูดไปแล้วถึงเหตุการณ์และที่มาซึ่งทำให้ฝ่ายผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมหรือผู้ให้บริการ สามารถที่จะ “ตัดสัญญาณ” และสะบั้นสัญญาที่ทำไว้กับผู้บริโภค ซึ่งช่องทางใหญ่ที่เปิดให้เหตุดังกล่าวเกิดขึ้นก็คือเรื่องของการค้างชำระค่าบริการเกินกว่า 2 รอบบิล ซึ่งกฎหมาย (ของ กสทช.) เปิดช่องไว้ให้เป็นสิทธิของผู้ให้บริการ         ช่องเปิดที่ว่านี้ตั้งอยู่บนหลักคิดปกติที่เข้าใจได้ นั่นคือ เพื่อให้ผู้ให้บริการที่ประสบพบกับลูกค้าที่อาจจะออกอาการ “เบี้ยวหนี้”  ไม่จำเป็นต้องฝืนทนให้บริการต่อไปและเสี่ยงกับการถูกชักดาบ แต่ในทางกลับกัน ก็ใช่ว่าผู้ค้างชำระหนี้ทุกรายจะเป็น “ลูกค้าเลว” อีกทั้งขึ้นชื่อว่าเป็นลูกค้า ผู้ให้บริการน่าจะมุ่งรักษาไว้มากกว่าจะผลักไส ดังนั้นข้อกำหนดจึงเป็นไปในลักษณะเปิดกว้าง โดยยกให้เป็นสิทธิของผู้ให้บริการที่จะพิจารณา “ยกเลิกการให้บริการโทรคมนาคมตามสัญญา” หรือไม่ก็ได้         อย่างไรก็ตาม ไม่น่าเชื่อว่าช่องที่เปิดกว้างนี้เองกลับกลายเป็นช่องโหว่ที่ก่อให้เกิดปัญหาขึ้นมาในหลายกรณี         ในส่วนของบริการมือถือ มีเรื่องร้องเรียนจากผู้ใช้บริการหรือผู้บริโภคเกี่ยวกับประเด็นปัญหาการถูกระงับ/ยกเลิกเลขหมาย เข้ามายังสำนักงาน กสทช. เป็นจำนวนไม่น้อยในแต่ละปี สะท้อนถึงความไม่เต็มใจของฝ่ายผู้บริโภคหรือลูกค้าต่อ “การเลิก” ที่เกิดขึ้นจากการตัดสินใจของบริษัท ข้อร้องเรียนของบางรายคือไม่ทราบด้วยซ้ำว่าถูกระงับหรือยกเลิกบริการเพราะเหตุใด         จากสถิติทั้งปีของ พ.ศ. 2564 และ 2565 เรื่องร้องเรียนในประเด็นดังกล่าวมีมากกว่า 250 กรณีต่อปี และในระยะ 3 เดือนแรกของปี 2566 นี้ มีเรื่องร้องเรียนเข้ามาแล้วประมาณ 100 เรื่อง ซึ่งถือว่าเป็นประเด็นที่มีเรื่องร้องเรียนสูงที่สุดในส่วนของบริการมือถือ         ที่จริงแล้วเรื่องเหล่านี้ โดยเฉพาะเรื่องการไม่รู้ตัว ไม่ควรที่จะต้องเกิดขึ้น เพราะในประกาศ กสทช. ที่ให้สิทธิบริษัทยกเลิกการให้บริการได้ในกรณีมีการค้างชำระค่าบริการเกินกว่าสองรอบบิลติดต่อกัน มีรายละเอียดกำกับไว้ด้วยว่า “โดยผู้ให้บริการได้แจ้งให้ผู้ใช้บริการทราบถึงวันครบกำหนดที่แน่นอนเป็นการล่วงหน้าในใบแจ้งเรียกเก็บค่าธรรมเนียมและค่าบริการ และได้ทำการเตือนตามวิธีการที่ได้กำหนดไว้ในสัญญาแล้ว” จะเห็นได้ว่า ในรายละเอียดและในทางปฏิบัติ สาระสำคัญจึงเป็นเรื่องของการสื่อสาร ถ้ามีเจตนาต้องการรักษาความสัมพันธ์ แม้อีกฝ่ายจะผิดพลาด แต่หากพูดจาจนเข้าใจกันได้ก็ไม่จำเป็นต้องตัดขาด ถ้าบริษัทยังอยากรักษาลูกค้าก็ต้องละเอียดอ่อนเพิ่มขึ้นในเรื่องการสื่อสาร แต่ถ้าไม่แคร์แล้วและอยากนำทรัพยากรที่มี (เลขหมายหรือเบอร์มือถือ) ไปหา (ลูกค้า) รายใหม่ที่อาจสร้างรายได้ไฉไลกว่า นั่นย่อมเป็นอีกเรื่องหนึ่ง สำหรับผู้บริโภคคนใดที่ใช้เบอร์สวย (ไม่ว่าจะสวยจริงหรือสวยเฉพาะกับตัวเอง หรือเป็นเบอร์สำคัญที่หวงแหน ฯลฯ) จึงพึงต้องระวังให้ดี ห้ามกระทำการที่ทำให้เกิดเงื่อนไขที่จะเปิดช่องนี้ขึ้นมา เพราะถ้าเข้าเงื่อนไข คือค้างชำระค่าบริการครบ  2 รอบบิลทั้งๆ ที่บริษัทมีการเตือนแล้ว  การตัดสัญญาณหรือยกเลิกบริการจากฝ่ายบริษัทก็มีความชอบด้วยกฎหมาย และเมื่อเบอร์หลุดมือไปแล้ว การเรียกร้องเบอร์เดิมกลับคืนมานับเป็นเรื่องยาก แม้เปิดบริการใหม่ก็เลือกได้เฉพาะเบอร์เท่าที่มีการเสนอขายให้เท่านั้น         ในอีกด้านหนึ่ง การร้องเรียนของผู้บริโภคในประเด็นปัญหาลักษณะ “ไม่อาจยกเลิกบริการได้” ก็มีจำนวนไม่น้อยเช่นกัน แต่ปัญหานี้พบในบริการอินเทอร์เน็ตประจำที่หรือเน็ตบ้านมากกว่าในบริการมือถือ โดยมีปริมาณเรื่องร้องเรียนสูงเป็นอันดับหนึ่งในทั้งสามปีที่ผ่านมา         แท้ที่จริง ในปัญหาด้านนี้ ข้อโต้แย้งมักไม่ได้อยู่ที่ประเด็น “การเลิก” โดยตรง แต่ปมประเด็นสำคัญมักอยู่ที่การมี “ค่าใช้จ่าย” สำหรับการเลิกก่อนเวลา ซึ่งในวิถีปกติของบริการเน็ตบ้าน เนื่องจากต้องมีการติดตั้งและมีเรื่องของการให้อุปกรณ์ด้วย โดยที่ค่าใช้จ่ายเหล่านั้นถูกกระจายเฉลี่ยไปอยู่ในค่าบริการรายเดือน ดังนั้นระยะเวลาการใช้บริการที่นานพอจึงถือเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ไม่อาจมองข้าม หากจะให้สิ้นสุดเร็วกว่ากำหนดก็ต้องมีการเรียกร้องค่าใช้จ่ายส่วนที่ลงทุนไปตอนต้นกลับคืนมาบ้าง         ในทำนองเดียวกัน กรณีบริการมือถือที่ “เลิกยาก” และผู้ให้บริการมักยื้อก็คือกรณีที่เป็นการเปิดบริการภายใต้เงื่อนไขพิเศษบางประการ เช่น การซื้อเครื่องราคาถูก กรณีเช่นนี้มักมีการผูกกับโปรฯ แบบใดแบบหนึ่ง พร้อมทั้งกำหนดระยะเวลาขั้นต่ำที่ต้องใช้บริการ (ห้ามเลิก-ห้ามย้ายค่าย)         ในมิติทางกฎหมายและการกำกับดูแล  กสทช. มีการกำหนดว่า แบบสัญญาให้บริการโทรคมนาคมจะต้องได้รับการพิจารณาให้ความเห็นชอบจาก กสทช. รวมถึงการแก้ไขแบบสัญญาด้วย ดังนั้น สัญญาใดที่ไม่เคยได้ผ่านความเห็นชอบ แม้คู่สัญญาต่างลงนามโดยสมัครใจ ก็ไม่เป็นสัญญาที่ชอบด้วยกฎหมาย ที่ผ่านมา บรรดาสัญญาที่พ่วงการขายเครื่องทั้งหลายมักไม่มีการเสนอขอความเห็นชอบจาก กสทช. ดังนั้น เมื่อเกิดเรื่องร้องเรียนขึ้น พิจารณาตามหลักของกฎหมายกำกับดูแลแล้ว สัญญาเหล่านั้นจึงไม่มีสภาพบังคับ สรุปง่ายๆ คือ บริษัทจะผูกผู้บริโภคไว้ด้วยสัญญาดังกล่าวไม่ได้         เมื่อผู้บริโภคอยากเลิกก็ย่อมเลิกได้ตามเจตนา อย่างไรก็ตาม กฎหมายได้วางหลักไว้เช่นกันว่า ในกรณีที่มีการรับมอบเครื่องอุปกรณ์หรือสิ่งอื่นที่เกี่ยวข้อง เมื่อสัญญาสิ้นสุดก็ต้องส่งคืน หรือหากอุปกรณ์เสียหายก็ต้องชดใช้ตามจริงในราคาตลาด ซึ่งในกรณีค่าเครื่องที่ซื้อมาราคาลดพิเศษ ก็ต้องคิดคำนวณสัดส่วนใช้คืนให้บริษัทด้วย         สรุปได้ว่า การเลิกนั้นเป็นสิทธิของทั้งสองฝ่ายที่จะทำได้ ไม่ว่าความอยากของอีกฝ่ายจะเป็นอย่างไร ความอยากและความเต็มใจอาจไม่เท่ากัน แต่ความแฟร์ควรจะมีให้กันอย่างเสมอภาค ไม่มีการเอาเปรียบกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 242 รถยนต์ชำรุดซ่อมไม่หาย ฟ้องให้ชดใช้เป็นเงินได้

        ในเล่มนี้ก็มีความรู้ดีๆ มาแบ่งปันอีกเช่นเคย สำหรับช่วงนี้เราก็ยังอยู่กับสภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นใจ ทั้งโรคโควิด 19 ที่ยังระบาดและฝุ่น PM 2.5 ที่ยังแก้ไม่ได้  และหลายท่านอาจมีปัญหาด้านสุขภาพ ผู้เขียนก็มีความห่วงใย ขอให้ผู้อ่านทุกท่านดูแลรักษาสุขภาพกันให้ดีๆ นะครับ         ปัญหาคลาสสิคที่เกิดอยู่บ่อยๆ คือ เวลาซื้อรถยนต์ ใช้ได้ไม่นานก็ต้องซ่อมบ่อยๆ ทั้งที่เพิ่งซื้อมา หลายคนคงปวดหัวเพราะการซื้อรถยนต์คันหนึ่งต้องใช้เงินไม่น้อย บางคนซื้อมาเพื่อเอาไว้เป็นเครื่องมือในการทำมาหากิน พอเจอรถเสียต้องซ่อมก็ทำให้กระทบกับการหารายได้ แน่นอนว่าเมื่อซ่อมหลายครั้งไม่หายคงต้องอยากขอเรียกเงินคืนซึ่งผู้ขายก็มักไม่ยอมจนเกิดคดีฟ้องร้องต่อศาล          เราในฐานะผู้บริโภคเองมีกฎหมายช่วยฟ้องคือ พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 สามารถฟ้องเป็น “คดีผู้บริโภค” เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจรับผิดชอบในความชำรุดบกพร่องของรถยนต์ได้ อีกทั้งยังมีสิทธิเรียกค่าเสียหายได้ หากผู้ผลิตและผู้ขายรถยนต์นั้นไม่สามารถจัดการปัญหาความชำรุดบกพร่องของรถยนต์ที่เราซื้อมาได้ ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4567/2561         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4567/2561         แม้โจทก์จะเป็นเพียงลูกค้าที่ติดต่อซื้อรถยนต์จากจำเลยที่ 1 ด้วยวิธีการเช่าซื้อ และโจทก์ไม่ใช่เจ้าของรถยนต์คันพิพาทขณะฟ้องคดีเพราะเป็นผู้เช่าซื้อจากธนาคาร ท. แต่พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์พิพาทแก่โจทก์ก่อนโจทก์ทำสัญญาเช่าซื้อกับผู้ให้เช่าซื้อพร้อมกับส่งมอบสมุดคู่มือการรับบริการให้แก่โจทก์ระบุการรับประกันรถยนต์พิพาทตามเงื่อนไขและระยะเวลา โดยระบุชื่อโจทก์เป็นลูกค้าผู้ซื้อซึ่งมีสิทธิเข้ารับบริการเกี่ยวกับรถยนต์พิพาทจากจำเลยที่ 1 ข้อตกลงเช่นนี้ย่อมถือเป็นสัญญาให้บริการ แม้ไม่ได้ทำสัญญาให้บริการขึ้นก็มีผลผูกพันและใช้บังคับแก่จำเลยที่ 1 ได้ เพราะเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และผู้ให้เช่าซื้อตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 11 สำหรับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจผลิต ประกอบ และจำหน่ายรถยนต์พิพาท แม้เป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากจำเลยที่ 1 และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับลูกค้าผู้ซื้อรถก็ตาม แต่เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ควบคุมและกำกับดูแลมาตรฐานการซ่อมของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายโดยใกล้ชิด พฤติการณ์การประกอบธุรกิจของจำเลยที่ 2 ดังกล่าว ย่อมชี้ชัดว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการให้สัญญารับประกันการซ่อมบำรุงรักษารถยนต์อันเป็นบริการที่ให้แก่โจทก์ด้วย จำเลยทั้งสองจึงอยู่ในฐานะเป็นคู่สัญญาฝ่ายผู้ให้บริการซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจ ส่วนโจทก์เป็นคู่สัญญาฝ่ายผู้รับบริการย่อมเป็นผู้บริโภคตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 3 และ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 3 เมื่อโจทก์กล่าวอ้างว่ารถยนต์พิพาทชำรุดบกพร่องจากเหตุเครื่องยนต์ทำงานผิดปกติและอยู่ภายใต้เงื่อนไขและระยะเวลารับประกัน อันเป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งสองผิดสัญญาให้บริการซึ่งเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง        ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองได้ซ่อมแซมข้อชำรุดบกพร่องของรถยนต์พิพาทเรียบร้อยแล้วหรือไม่ เป็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการให้บริการที่อยู่ในความรู้เห็นโดยเฉพาะของจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจ ภาระการพิสูจน์จึงตกอยู่แก่จำเลยทั้งสองตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 29 เมื่อจำเลยทั้งสองมีภาระการพิสูจน์แต่ไม่อาจนำสืบพิสูจน์ข้อเท็จจริงตามที่กล่าวอ้างได้ คดีจึงรับฟังไม่ได้ว่าข้อชำรุดบกพร่องของเครื่องยนต์ได้รับการแก้ไขแล้ว จำเลยทั้งสองจึงยังคงต้องร่วมกันรับผิดในความชำรุดบกพร่องของรถยนต์พิพาท        ศาลในคดีผู้บริโภคย่อมมีอำนาจบังคับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายเป็นเงินแก่โจทก์ได้ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 39 และ 41 ในกรณีที่จำเลยทั้งสองไม่อาจแก้ไขเหตุชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้นแก่โจทก์ผู้บริโภคได้         เมื่อพิจารณาจากคำพิพากษาของศาลฏีกาข้างต้นคงจะสังเกตเห็น ว่าการที่เราเป็นผู้บริโภคแล้วใช้สิทธิฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคต่อศาลมีกฎหมายช่วยเราในหลายประการ เช่น แม้เราจะไม่ใช่เจ้าของรถยนต์ เพราะเรายังผ่อนกับธนาคารก็ตาม แต่เมื่อเราได้สมุดคู่มือการรับบริการ ทำให้เรามีสิทธิรับบริการเกี่ยวกับรถยนต์ก็ถือว่าเรามีสัญญากับบริษัทแล้ว จึงฟ้องทั้งผู้ขายและผู้ผลิตได้  เมื่อรถยนต์ที่ซื้อมาใช้งานไม่ได้ตามที่ตกลงสัญญาไว้ เราก็มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาล         อีกอย่างคือ ภาระการพิสูจน์ว่ารถยนต์ได้รับการซ่อมจนหายเป็นปกติหรือไม่ กฎหมายกำหนดให้เป็นภาระของจำเลยซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจ เมื่อสืบไม่ได้จึงต้องฟังว่า คดีนี้รถยนต์พิพาทมีปัญหาความชำรุดบกพร่องตามฟ้องและต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้บริโภค

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 231โควิด-19 เราต้องรอด

      ไวรัสโควิด-19 ทำเอาเศรษฐกิจไทยติดเชื้อและเจ็บป่วยค่อนข้างหนัก ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินว่าจีดีพีของไทยในปี 2563 จะติดลบถึงร้อยละ 4.9 จากเดิมที่คาดว่าจะโตร้อยละ 1.1         ไม่ต้องดูภาพใหญ่ให้ปวดใจ คนหาเช้ากินค่ำ พ่อค้าแม่ค้าตามตลาด ธุรกิจร้านอาหารได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า มีให้เห็นตามหน้าสื่อทุกวัน ขณะที่การช่วยเหลือเยียวยาของรัฐบาล...พูดตรงๆ คือไร้ประสิทธิภาพ ยุ่งยาก วุ่นวาย และผิดพลาด ก็ไม่รู้ทำไมไม่ใช่ฐานข้อมูลที่มีอยู่แล้ว เช่น บ้านสวัสดิการแห่งรัฐ ลูกหนี้ของธนาคารของรัฐ เป็นต้น แล้วส่งความช่วยเหลือให้ตรงกลุ่มไปเลย        รู้เต็มอกว่าเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากสำหรับคนจำนวนมาก ประชาชนไม่น้อยต้องรอรับอาหารจากวัดหรือที่มีคนใจบุญมาแจก เพราะไม่มีรายได้เลย เผลอๆ จะอดตายก่อนติดเชื้อโควิด-19 เสียอีก การบอกให้ประหยัดในช่วงความเป็นความตายออกจะดูน่ารังเกียจ แต่ก็คิดว่าในรายที่ยังพอมีรายได้ ยังพอทำมาหากินได้ น่าจะเป็นประโยชน์         1.หยุดการออมเงินชั่วคราว ฟังดูเป็นเรื่องแสลงหู แสลงใจเหลือเกินที่การจัดการการเงินส่วนบุคคลต้องพูดแบบนี้ หรือลดจำนวนการออมเงินให้น้อยลงเพื่อรักษาสภาพคล่องในการใช้จ่ายต่อเดือนให้ได้ก่อน อย่าลืมว่าสภาพคล่องมีความสำคัญต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ไม่มีเงินก็ไม่มีข้าวกิน        2.พักหนี้ หลายคนทำงานเพื่อเลี้ยงชีพและใช้หนี้ ไม่ว่าจะหนี้การค้า หนี้บ้าน หนี้รถ หรือหนี้บัตรเครดิต (ซึ่งไม่ควรมีตั้งแต่ต้น) ช่วงเวลานี้คงน่าจะเหลือเจ้าหนี้ใจไม้ไส้ระกำไม่มากและเข้าใจดีว่าเศรษฐกิจย่ำแย่ขนาดไหน ซึ่งสถาบันการเงินหลายแห่งก็มีมาตรการช่วยเหลือส่วนนี้ออกมาแล้ว ในกรณีหนี้นอกระบบจากการยืมเพื่อน คนรู้จัก ที่ไม่เจ้าหน้าเงินกู้หน้าเลือด ต้องเจรจาขอผ่อนผันออกไปก่อนหรือถ้ายังพอมีกำลังอาจจะลดเงินส่งหนี้ลง         3.ลดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ตรงนี้สำคัญ คุณต้องเริ่มพิจารณาอย่างรอบคอบและเคร่งครัดว่าอะไรสำคัญกับชีวิตของตนจริงๆ ในห้วงเวลาแห่งความยากลำบากนี้ ตัดสิ่งฟุ่มเฟือยออกให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ การจ่ายค่ามือถือและอินเทอร์เน็ตที่ใช้ไปเพื่อความบันเทิงลดลงได้หรือไม่ ถ้าการกักตัวอยู่บ้านทำให้ช้อปปิ้งออนไลน์เยอะขึ้น คุณต้องถามตัวเองว่าใช่เวลาหรือเปล่า          4.วางแผนและจัดลำดับความสำคัญการใช้จ่าย ค่าใช้จ่ายรายวัน รายเดือนที่เป็นค่าใช้จ่ายประจำอย่างค่าอาหาร ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเช่าห้อง หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่บางอย่างสามารถประหยัดลงได้ ประเมินสถานการณ์ว่าในอีก 1 สัปดาห์ข้างหน้า 1 เดือนข้างหน้า คุณมีรายจ่ายก้อนใหญ่อะไรที่จำเป็นต้องจ่าย เช่น ค่าเทอมลูก ค่ารักษาพยาบาล เบี้ยประกันออมทรัพย์ จัดเรียงความสำคัญ วางแผนหลัก และแผนสำรอง        จะให้ดีก็ลดการเสพสื่อโซเชียลมีเดียลง การส่องเฟสหรือไอจีพวกคนมีฐานะกักตัวแบบหรูๆ กับบ้านไม่ใช่สิ่งประเทืองอารมณ์ แต่เป็นการตอกย้ำความไม่เท่าเทียมและความเหลื่อมล้ำของประเทศนี้       พวกไลฟ์โค้ชที่บอกว่าคุณกระจอกที่ไม่ยอมใช้วิกฤตเป็นโอกาสและให้ตำหนิตัวเอง อย่าเอาแต่โทษรัฐบาล ให้เลิกดู เลิกติดตามซะ ไม่จรรโลงอารมณ์และสติปัญญา        และจงออกมาตำหนิ เรียกร้อง กดดันรัฐบาลให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ เยียวยาอย่างทั่วถึง ตรงกลุ่มเป้าหมาย เพราะรัฐสมัยใหม่มีหน้าที่ปกป้องดูแลประชาชน เมื่อทำหน้าที่นี้ไม่ได้ เราจะมีรัฐและรัฐบาลไปเพื่ออะไรเอาใจช่วยทุกคนให้ผ่านมันไปได้ครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 230 ชีวิตหลัง โควิด 19

        วิกฤติ โคโรน่าไวรัส โรคระบาดที่ล็อคดาวน์ ชีวิตผู้คน ส่งผลต่อการใช้ชีวิตของทุกคนถ้วนหน้า คนกลุ่มหนึ่งตกงานทันทีในวันรุ่งขึ้น เพราะเป็นลูกจ้างรายวัน หรือบริษัทปิดตัวลงเพราะไม่สามารถให้บริการได้ หรือบางกิจการไม่อนุญาตให้เปิดบริการเพราะมีปัญหาการควบคุมโรค หรือบางกิจการได้รับผลกระทบโดยตรง เช่น การท่องเที่ยว มีการคาดการณ์ว่า มีคนตกงานไม่น้อยกว่า 10 ล้านคนในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา        การใช้ชีวิตผู้คนผูกติดกับเทคโนโลยีมากขึ้น ทั้งการสั่งของ สั่งอาหาร หรือการทำงานจากบ้าน WFH ที่ต้องพึ่งพิงระบบดิจิทัลมากขึ้น ทั้งที่ในอดีตมักปฏิเสธและอาจจะทำไม่ได้ง่ายนัก        หลายชุมชนหรือกลุ่ม ที่ผ่านมา ได้มีการสนับสนุนกันและกัน มีบทเรียนของการเตรียมพร้อมรับมือเพื่อลดผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเครือข่ายชุมชนแออัด มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย ที่ร่วมมือกับเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก สวนผักคนเมือง มูลนิธิสุขภาพไทย สนับสนุนให้เกิดการพึ่งพาตนเองด้านอาหาร เกิดความมั่นคงด้านอาหารหากเกิดวิกฤติในครั้งต่อไป        หรือกลุ่มชาวเล หาดราไวย์ ภูเก็ต ส่งปลาแลกข้าวกับชาวนา จังหวัดยโสธรร “ชาวเลมีปลา ชาวนามีข้าว สนับสนุนโดยมูลนิธิชุมชนไทยและสมาคมชาวยโสธร        หลายคนที่อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ คงเห็นตรงกันว่า ชีวิตที่เรียบง่ายเมื่อ WFH  เราใช้เสื้อผ้าอยู่ 2 ชุด ชุดนอน กับชุดอยู่บ้านสบายๆ  ตามสไตล์ของแต่ละคน หรือใส่เสื้อผ้าอยู่ไม่กี่ตัว ตัวที่ชอบก็ไม่ได้มีมากมาย        แล้วเราจะอยู่อย่างไร หลังโควิด 19 ที่ดูจะอยู่กับเรานาน และไม่ได้ไปง่าย ๆ เป็นคำถามสำคัญที่เราเหล่าผู้บริโภคต้องช่วยกันหาคำตอบ        ถึงแม้การคาดการณ์โรคยังคงต้องอาศัยวิชาการ แต่การควบคุมโรคต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของประชาชนเป็นสำคัญ การอยู่ร่วมกันต้องไม่รังเกียจกลัวซึ่งกันและกัน จนเกิดความรุนแรง เราต่างต้องคิดว่า เราอาจจะติดเชื้อ ถ้ายังไม่เคยตรวจ หรือแม้แต่ตรวจแล้วผลเป็นลบ อาจจะไม่ได้ลบจริง อยู่ในช่วงฟักตัว  ต้องป้องกัน ไม่ให้ระบาดมากขึ้น เราจะอยู่อย่างไรที่เป็นมิตรกับคนติดเชื้อ ซึ่งก่อนหน้านี้เราได้ยินข่าว ลูกไม่ยอมส่งพ่อแม่ไปโรงพยาบาล พี่น้อง คนในชุมชน คนในคอนโดมิเนียมเดียวกัน ฟ้องคดีกัน เพราะกลัวคนที่ติดเชื้อ        สิ่งดีที่เกิดขึ้นในทุกจังหวัดที่ผ่านมา คือการกระจายอำนาจในการจัดการป้องกันโรค ทำให้เกิดความตื่นตัวของประชาชนในทุกจังหวัด ร่วมมือกันในการควบคุมโรค สนับสนุนกันและกันในทุกจังหวัด ซึ่งน่าเป็นโอกาสให้จังหวัดได้ตัดสินใจเพิ่มกิจกรรมเศรษฐกิจหรือกิจกรรมพึ่งตนเองของชุมชน จังหวัด รวมทั้งกิจกรรมเศรษฐกิจของกลุ่มต่างๆ เพราะการค้าขายต่างๆ ไม่น่าจะเป็นเหมือนเดิมอีกต่อไป        ความสำคัญในชีวิต คงไม่พ้นความจำเป็นพื้นฐาน อาหาร แต่ละชุมชน จังหวัดจะให้ความสำคัญกับความมั่นคงด้านอาหารอย่างไรในจังหวัดของตนเอง ชุมชนของตนเอง        ปัญหาความยากจน ระบบสวัสดิการทางสังคม จะถูกพัฒนาอย่างรวดเร็วอย่างไร เพื่อแก้จุดอ่อนของระบบตรวจสอบความยากจน ตรวจสอบการทำงาน ตรวจสอบอาชีพ แต่เป็นระบบสวัสดิการถ้วนหน้า เพื่อให้ทันการเยียวยาในช่วงที่ทุกข์ยากได้อย่างแท้จริง สิ่งเหล่านี้ไม่น่าจะเกินกำลังความสามารถของผู้บริโภคเช่นเรา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 226 ผลการสำรวจฉลากปลั๊กพ่วง

        ปลั๊กพ่วงเป็นอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่จำเป็นสำหรับบ้านทุกหลัง เพราะเพียงแค่ช่องเสียบปลั๊กไฟบนผนังบ้าน อาจไม่เพียงพอต่อจำนวนเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มี ไม่ว่าจะเป็น โทรทัศน์, พัดลม, เครื่องเป่าผม, ที่ชาร์จมือถือ เป็นต้น ซึ่งการเคลื่อนย้ายอุปกรณ์ไฟฟ้าเพื่อใช้งานในจุดต่างๆ ที่มีระยะห่างจากผนังบ้าน ยังต้องพึ่งพาปลั๊กพ่วงอีกด้วย นอกจากนี้ ปลั๊กพ่วงยังมีคุณสมบัติเสริมความปลอดภัยช่วยตัดกระแสไฟฟ้าฉุกเฉินในกรณีที่เกิดการลัดวงจร         ดังนั้นการเลือกซื้อปลั๊กพ่วงที่มีคุณภาพมาตรฐานและตรงกับวัตถุประสงค์การใช้งาน จึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งก่อนหน้านี้ ปลั๊กพ่วงที่วางจำหน่ายในประเทศไทย มีคุณภาพที่หลากหลาย ปลั๊กพ่วงจำนวนไม่น้อยถูกผลิตด้วยวัสดุที่ด้อยคุณภาพ ไม่ได้มาตรฐาน และวางขายในราคาถูก ซึ่งหากผู้บริโภคซื้อไปใช้ก็อาจทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินได้  ดังนั้น สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) จึงได้ออกประกาศ มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเต้าเสียบและเต้ารับสำหรับใช้ในที่อยู่อาศัยและงานทั่วไปที่มีจุดประสงค์คล้ายกัน : ชุดสายพ่วง (มอก. 2432-2555) ซึ่งเป็นมาตรฐานบังคับให้กับผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้จัดจำหน่ายปลั๊กพ่วง โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2561 ดังนั้น ผลิตภัณฑ์ปลั๊กพ่วงที่มีวางจำหน่ายตามร้านขายอุปกรณ์ไฟฟ้าหรือห้างสรรพสินค้าทั่วไป จะต้องมีการติดแสดงเครื่องหมายสัญลักษณ์ มอก. 2432-2555 เอาไว้ที่ผลิตภัณฑ์ ซึ่งปลั๊กไฟแบบเก่าที่ไม่มีมาตรฐาน มอก. 2432-2555 กำกับ จะสามารถขายได้ต่อจนกว่าสินค้าจะหมดสต๊อก ซึ่งปลั๊กพ่วงที่เหลือค้างต้องรายงานจำนวนไว้กับสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ด้วย         ฉลาดซื้อ ในโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงสุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ปลั๊กพ่วง จำนวน 21 ตัวอย่าง ที่มีจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าและร้านขายอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานครและเขตปริมณฑล เพื่อสำรวจข้อมูลบนฉลากผลิตภัณฑ์ เช่น เครื่องหมายสัญลักษณ์ มอก.2432-2555, วันผลิตหรือนำเข้าผลิตภัณฑ์ และราคาที่วางจำหน่ายมาเปรียบเทียบให้ผู้บริโภคได้ทราบกัน โดยมีรายละเอียด ดังนี้สรุปผลการสำรวจข้อมูลผลิตภัณฑ์        จากการสำรวจข้อมูลผลิตภัณฑ์ปลั๊กพ่วง จำนวน 21 ตัวอย่าง พบว่า        การแสดงเครื่องหมายสัญลักษณ์ มอก. 2432-2555        มีผลิตภัณฑ์ปลั๊กพ่วง 19 ตัวอย่าง ที่มีการแสดงเครื่องหมายสัญลักษณ์ มอก. 2432-2555และ มี 2 ตัวอย่าง ที่ไม่มีสัญลักษณ์ มอก.                 ซึ่งปลั๊กพ่วง 2 ตัวอย่าง ที่ไม่มีสัญลักษณ์ มอก. 2432-2555 ได้แก่        1) ยี่ห้อ D-VER รุ่น DV-88k4U  (ไม่ระบุวันผลิตหรือวันที่นำเข้า) ราคา 380 บาท              ที่สุ่มซื้อจาก ร้านเจ้เล้ง (ในห้างเซียร์ รังสิต)และ  2) ยี่ห้อ ELECTON รุ่น TE-2163 (วันผลิตหรือนำเข้า 1 ม.ค.61) ราคา 450 บาท            ที่สุ่มซื้อจาก ร้านนัตตี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (ในห้างฯ ฟอร์จูน พระรามเก้า)        (ซึ่งวันผลิตหรือนำเข้าที่ระบุไว้ คือ 1 ม.ค.61 ซึ่งเป็นวันที่ก่อนประกาศมีผลบังคับใช้ (24 ก.พ.61)                  โดยหากรายงานไว้กับ สมอ. แล้ว ก็สามารถจำหน่ายได้ตามข้อยกเว้น)        การแสดงวันที่ผลิตหรือนำเข้า        พบว่า มีปลั๊กพ่วงจำนวน 4 ตัวอย่าง ที่ไม่แสดงวันที่ผลิตหรือนำเข้า ได้แก่        1) ยี่ห้อ Randy  ราคา 289 บาท ที่สุ่มซื้อจาก เทสโก้ โลตัส สาขาบางปะกอก        2) ยี่ห้อ D-VER รุ่น DV-88k4U  ราคา 380 บาท ที่สุ่มซื้อจาก ร้านเจ้เล้ง ในห้างเซียร์ รังสิต        3) ยี่ห้อ Elektra รุ่น 814U  ราคา 459 บาท ที่สุ่มซื้อจาก โฮมโปร สาขาพระรามสองและ  4) ยี่ห้อ ELECTON รุ่น EP9-4303  ราคา 550 บาท ที่สุ่มซื้อจาก ร้าน IKANO ในห้าง IKEA สาขาบางใหญ่ คำแนะนำในการเลือกซื้อปลั๊กพ่วง        1. เลือกปลั๊กพ่วงที่ได้คุณภาพตามมาตรฐาน มอก. 2432-2555        2. หากมีวัตถุประสงค์ใช้เฉพาะจุด ให้ดูกำลังไฟตามปริมาณเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้งาน เช่น 10A, 16A        3. เลือกปลั๊กพ่วง ที่มีจำนวนช่องเสียบที่เหมาะสมกับจำนวนเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ต้องการใช้ การซื้อปลั๊กพ่วงที่มีช่องเสียบจำนวนมากแล้วไม่ได้ใช้ทุกช่อง อาจสิ้นเปลืองงบประมาณโดยไม่จำเป็น        4. เลือกปลั๊กพ่วงที่มีความยาวของสายไฟให้เหมาะสมกับการใช้งาน หากเลือกสายไฟที่สั้นเกินไป อาจทำให้ใช้งานลำบาก หรือ ถ้าหากเลือกสายไฟที่ยาวเกินไป ก็จะทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณ และจัดเก็บสายไฟส่วนเกินยาก และอาจเป็นที่แหล่งกักเก็บฝุ่น        5. ปลั๊กไฟบางรุ่น มีช่องจ่ายไฟแบบ USB ให้ด้วย เป็นตัวเลือกการใช้งานข้อมูลอ้างอิง        - มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเต้าเสียบและเต้ารับสำหรับใช้ในที่อยู่อาศัยและงานทั่วไปที่มีจุดประสงค์คล้ายกัน (มอก.2432-2555) โดย สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม        - รู้ก่อนซื้อ! มอก.ใหม่ ควบคุมปลั๊กพ่วง หมดห่วงเรื่องไฟฟ้าลัดวงจร (www.officemate.co.th/blog/มาตรฐาน-มอก-ปลั๊กพ่วง)        - ผู้บริโภคต้องรู้! มาตรฐาน “มอก. ปลั๊กพ่วง” เพื่อความปลอดภัย บังคับใช้แล้วทั่วประเทศ  (www.https://www.thepower.co.th/knowledge/extension-cord-standard-ปลั๊กพ่วง)

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 221 กระแสต่างแดน

ไม่มีเซอร์ไพรซ์        ลูกค้าเว็บจองโรงแรม แอร์บีเอ็นบี ในยุโรป สามารถจองห้องได้อย่างสบายใจ เพราะต่อไปนี้เขาจะแจ้งค่าธรรมเนียมทุกอย่าง (รวมถึงค่าทำความสะอาดและภาษีท้องถิ่น) ไว้ในหน้าแรก         ผู้บริโภคยังจะได้ทราบด้วยว่าเจ้าของห้องพักดังกล่าว เป็นชาวบ้านทั่วไปที่แบ่งห้องให้เช่าหรือผู้ประกอบการด้านที่พักโดยตรง ในกรณีที่เกิดปัญหาก็มีลิงก์ไปยังแพลทฟอร์มที่ผู้บริโภคสามารถส่งเรื่องร้องเรียนได้ทันที         นอกจากนี้ผู้ใช้สามารถฟ้องร้องต่อศาลในประเทศที่ตนเองอยู่อาศัย และไม่เสียสิทธิในการฟ้องร้อง “เจ้าบ้าน” ในกรณีที่เกิดอันตรายหรือความเสียหายอื่นๆ กับตนเอง             บริษัทบอกว่าจะไม่เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขใดๆ โดยไม่แจ้งให้ผู้ใช้ทราบอย่างชัดเจน และไม่ปิดโอกาสผู้ใช้ในการปฏิเสธสัญญา         เหตุที่บริษัทสัญชาติอเมริกันยอมทำตามข้อกำหนดของคณะกรรมาธิการยุโรป ก็เพื่อหลีกเลี่ยงค่าปรับหลายล้านยูโรนั่นเองเค็มแถวหน้า        จีนเป็นประเทศที่มีอัตราการบริโภคเกลือสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก งานวิจัยโดยมหาวิทยาลัยควีนแมรี่แห่งลอนดอนพบว่าในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา ผู้ใหญ่ชาวจีนบริโภคเกลือเฉลี่ยวันละมากกว่า 10 กรัม ในขณะที่เด็กวัย 6 ปีขึ้นไป ก็บริโภคเกลือวันละเกือบ 9 กรัม         มีเพียงเด็กเล็กวัย 3 ถึง 6 ปีที่บริโภคเกลือวันละ 5 กรัม (ซึ่งเป็นปริมาณการบริโภคเกลือที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ)         นักวิจัยพบว่าอัตราการบริโภคเกลือในหมู่ประชากรทางเหนือของประเทศมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีผักสดให้รับประทานตลอดทั้งปีจึงไม่ต้องพึ่งพาผักดอง         แต่กลับพบการบริโภคเกลือที่สูงขึ้นทางตอนใต้ของประเทศ เพราะผู้คนนิยมรับประทานอาหารแปรรูปและซื้ออาหารนอกบ้านทานมากขึ้น         นักวิจัยตั้งข้อสังเกตว่าเด็กที่ชอบทานเค็มจะโตเป็นผู้ใหญ่ที่ชอบเค็มด้วย สถิติยังระบุว่าร้อยละ 40 ของสาเหตุการตายในหมู่ประชากรจีนเกี่ยวข้องกับโรคหัวใจและความดันสูงที่เกิดจากการบริโภคเกลือมากเกินไปด้วย  “เมดอินเวียดนาม”        บริษัทผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน Asanzo ของเวียดนาม มีเรื่องต้องอธิบายผู้บริโภค เมื่อถูกเปิดโปงว่าเครื่องรับโทรทัศน์ที่ “ผลิตในเวียดนาม” ของบริษัท มีส่วนประกอบถึงร้อยละ 80 ที่ผลิตมาจากจีนก่อนหน้านี้ผู้ผลิตกุญแจยี่ห้อ “มินไค” ซึ่งเป็นที่รู้จักของคนเวียดนามมานานกว่า 30 ปี ได้เริ่มนำเข้ากุญแจจากประเทศจีนมาติดฉลากเป็นยี่ห้อตนเอง ประทับตรา “ISO 9000-2000” และ “สินค้าคุณภาพสูงจากเวียดนาม”         ปลายปี 2017 “ไคซิลค์” ก็ออกมายอมรับว่านำเข้าผ้าไหมจากจีนเข้ามาตีตราขายเป็นสินค้าแบรนด์ตัวเองในเวียดนามมาเป็นสิบปีแล้ว ความแตกเพราะลูกค้าที่ซื้อผ้าพันคอไป 60 ชิ้น (ในราคาชิ้นละประมาณ 850 บาท) พบว่าผ้าผืนหนึ่งมีทั้งฉลาก “ผลิตในประเทศจีน” และฉลาก “ผลิตในเวียดนาม”         ทั้งหมดนี้สร้างความขุ่นเคืองให้ผู้บริโภคที่เวียดนามอย่างมาก ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าบอกว่าเรื่องนี้ทำกันทั้งผู้ผลิตรายใหญ่และรายย่อย เพราะปัจจุบันไม่มีเกณฑ์ว่าอย่างไรถึงจะเข้าข่ายเป็น “ผลิตภัณฑ์คุณภาพสูง” และ “ผลิตในเวียดนาม”“ไม่เอาหลอด”        กฎหมายว่าด้วยการจัดการขยะในครัวเรือนทำให้ชาวเซี่ยงไฮ้ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการสั่งอาหาร/เครื่องดื่มออนไลน์ เพื่อลดภาระในการคัดแยกขยะ เอเลมี ผู้ให้บริการส่งอาหารบอกว่าตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา มีถึง 4,100 คำสั่งซื้อที่มีข้อความกำกับมาด้วย หนี่งในสี่ของคำสั่งซื้อระบุว่า “ขอซุปน้อยลง” ที่เหลือก็เป็นทำนอง “ขอข้าวน้อย” “ไม่เอาพริกไทยซอง” “แกะย่างไม่เอาไม้เสียบ” เป็นต้น         เหม่ยถวน ผู้ให้บริการอีกเจ้าหนึ่งระบุว่ามีคำสั่งซื้อที่ระบุว่า “ไม่เอาช้อน/ซ้อม/ตะเกียบ” เพิ่มขึ้นจากเดิมถึงสี่เท่า และ “หลอด” ทั้งที่เป็นกระดาษและพลาสติกก็เป็นที่รังเกียจเช่นกันยกตัวอย่างกรณีชานมไข่มุก หากกินไม่หมดก็ต้องเทน้ำชาลงซิงค์ ทิ้งเม็ดไข่มุกลงในถังขยะเปียก และนำแก้วไปทิ้งในถังรีไซเคิล         เว็บไซต์ Caijing.com พบว่ากว่าครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถาม 50,000 คน จะเลิกกินชานมเพราะขั้นตอนการแยกขยะที่ยุ่งยากซับซ้อนรอได้ก็เขียวได้         ในทางทฤษฏี อีคอมเมิร์ซเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะการขับรถบรรทุกออกมารอบเดียวแต่ส่งของให้กับผู้คนได้มากมายมันย่อมดีกว่าให้แต่ละคนขับรถไปห้างกันเอง  งานวิจัยของมหาวิทยาลัยวอชิงตันในปี 2012 ก็ยืนยันว่าการสั่งซื้อแบบนี้สามารถลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80         แต่ขณะเดียวกันก็มีงานวิจัยที่พบว่าถ้ารถส่งของนำสินค้าไปส่งให้ผู้สั่งซื้อน้อยกว่า 6 รายต่อเที่ยว มันจะไม่ช่วยอะไร ยิ่งถ้าต้องนำส่งแบบทันทีโดยไม่รอรวมกับใครก็ยิ่งแล้วใหญ่ เฉลี่ยแล้วถ้ารถต้องออกไปโดยมีของส่งเพียงหนึ่งชิ้น ปริมาณคาร์บอนที่เกิดขึ้นจะมากกว่ากรณีที่มีของเต็มรถถึง 35 เท่า         นอกจากนี้ผู้บริโภคยังไม่รู้ถึงค่าใช้จ่ายที่แท้จริงในการเลือกรับสินค้า “ภายในวันเดียว” เนื่องจากเห็นว่าเป็นบริการฟรี (เพราะบริษัทแบกรับต้นทุนไว้) ทั้งที่อาจจะไม่ได้รีบใช้        ผู้เชี่ยวชาญเสนอทางออกเป็นปุ่ม “จัดส่งแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” ให้ผู้บริโภคเลือกคลิก เพราะมีงานวิจัยที่พบว่าผู้บริโภคกว่าร้อยละ 50 ยินดีที่จะรอ หากช่วยลดภาระต่อสิ่งแวดล้อมได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 219 ส่งของไปซ่อมรอจนอ่อนใจต้องทำอย่างไร

        สินค้าประเภทไอที เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นสินค้าที่สร้างความสะดวกสบายให้ชีวิต แต่หากเกิดปัญหาใช้งานไม่ได้ขึ้นมาน้อยคนที่จะซ่อมแซมเองได้ ศูนย์ซ่อมจึงเป็นคำตอบเดียว แล้วถ้าศูนย์ซ่อมไม่ให้บริการที่ดี รวดเร็ว เราควรทำอย่างไร        คุณตุ๊กตา ปรึกษากับศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคว่า เธอนั้นนำหุ่นยนต์ดูดฝุ่นที่มีอาการเสียงดังผิดปกติเข้าไปที่ศูนย์ซ่อม P ในห้างสรรพสินค้าใหญ่แห่งหนึ่งเมื่อเดือนมกราคม 2561 พนักงานแจ้งว่าใช้เวลาซ่อมแซมไม่เกินหนึ่งเดือน ผ่านไปหนึ่งเดือน คุณตุ๊กตาได้โทรไปสอบถามเพราะเห็นว่าน่าจะได้สินค้ามาใช้งานเสียที แต่พนักงานกลับแจ้งว่า “ไม่พบอาการเสียงดัง จึงยังไม่ได้ทำอะไร” อ้าว คุณตุ๊กตาหัวร้อนขึ้นมาทันใด แล้วทำไมไม่บอกกับลูกค้า เอาไปเก็บไว้ทำไมเป็นเดือน         เมื่อคุณตุ๊กตาเริ่มติดตามเรื่องจากฝ่ายที่มีหน้าที่รับผิดชอบศูนย์ซ่อมแซม ทั้งทางโทรศัพท์และหน้าเพจเฟซบุ๊ค ตอนแรกก็ให้ข้อมูลที่มีประโยชน์อยู่บ้าง เช่น ติดตามเรื่องให้แล้ว ช่างพบปัญหาตามที่ลูกค้าแจ้งแล้ว กำลังทำเรื่องอนุมัติซ่อมและเบิกอะไหล่ คุณตุ๊กตาจึงขอว่า “ช่วยทำให้เสร็จโดยเร็วได้ไหม เพราะอายุประกันจะหมดตอนสิ้นเดือนมีนาคม และตนเองก็จะต้องเดินทางไปต่างประเทศ” พนักงานที่เป็นคนประสานงานก็รับปากว่าจะรีบจัดการให้         หลังจากนั้นหนึ่งสัปดาห์เมื่อติดตามเรื่อง กลับได้คำตอบว่า ยังรออนุมัติซ่อม ไม่รู้จะได้ซ่อมหรือเปล่า แล้วยังต้องรอสั่งอะไหล่อีกอย่างน้อยสองสัปดาห์ นอกจากนี้ยังมีคำตอบประเภทเลี่ยงความรับผิดชอบเช่น ลูกค้านำของมาซ่อมเยอะ คิวยาว แต่ทุกครั้งที่ได้คำตอบคือ คุณตุ๊กตาต้องโทรศัพท์ไปติดตามเรื่องเอง ไม่เคยได้รับการติดต่อกลับจากศูนย์ซ่อมเลยสักครั้ง “ดิฉันรู้สึกเสียเวลามาก”  เพราะเรื่องการซ่อมหุ่นยนต์ดูดฝุ่นตัวนี้ไม่ใช่ครั้งแรกแต่เป็นครั้งที่สองแล้ว และพฤติกรรมการให้บริการไม่ต่างกัน ผู้บริโภคต้องมีภาระติดต่อสอบถามด้วยตัวเองตลอด แนวทางการแก้ไขปัญหา        ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ สอบถามคุณตุ๊กตาว่าต้องการให้ทางศูนย์ซ่อมทำอะไรบ้าง เพื่อดูว่าสามารถนำไปเรียกร้องสิทธิได้หรือไม่ ซึ่งคุณตุ๊กตานอกจากต้องการให้ซ่อมเสร็จโดยไวแล้ว ยังต้องการให้ต่ออายุประกันด้วย เพราะทางศูนย์ซ่อมนำหุ่นยนต์ดูดฝุ่นไปค้างไว้เป็นเดือน ทำให้เสียโอกาสในการใช้งาน จึงแนะนำให้คุณตุ๊กตาทำหนังสือร้องเรียนอย่างเป็นทางการถึงผู้บริหารของศูนย์ซ่อม โดยทางศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ จะช่วยประสานงานให้เกิดการแก้ไขปัญหาต่อไป         จากการติดตามเรื่องทราบว่า คุณตุ๊กตาได้รับแจ้งจากทางศูนย์ซ่อมว่า กำลังพิจารณาว่าอะไหล่ตัวไหนอยู่ในการรับประกัน และตัวไหนที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพราะไม่ได้อยู่ในประกัน อีกทั้งเรื่องการขอต่ออายุประกันกำลังอยู่ในระหว่างพิจารณา  และบทสรุปคือ คุณตุ๊กตาต้องจ่ายเพิ่มในส่วนของแปรงปัด ซึ่งไม่อยู่ในการรับประกันสินค้า แต่ทางศูนย์ซ่อมจะลดค่าอะไหล่ให้ 10% พร้อมขยายการต่ออายุประกันให้อีก 2 เดือน

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 188 บอกเลิก (บริการโทรคมนาคม) อย่างไรให้ได้ผล (ตอนที่ 2)

ตอนที่แล้ว ผมได้แนะนำวิธียกเลิกบริการโทรคมนาคมแบบง่าย ๆ แต่ได้ผล นั่นก็คือ การบอกเลิกสัญญาโดยทำเป็นหนังสือส่งถึงบริษัท ซึ่งจะส่งทางจดหมายไปรษณีย์ อีเมล์ หรือ แฟกซ์ ไปก็มีผลตามกฎหมายเหมือนกัน วิธีนี้สะดวกและประหยัดสุดเพราะทำการยกเลิกจากที่บ้านได้เลย ไม่ต้องเดินทางไปที่ศูนย์บริการและไม่ต้องเสียอารมณ์กับลูกตื้อกวนใจของพนักงานที่สำคัญ จำไว้นะครับ การโทรศัพท์ไปแจ้งยกเลิกบริการกับ call center ไม่มีผลในทางกฎหมาย ต้องแจ้งยกเลิกเป็นลายลักษณ์อักษรนะครับ ปัจจุบัน บริการมือถือและอินเทอร์เน็ต มักจะมีรายการส่งเสริมการขายที่ผูกสัญญาให้ลูกค้าต้องใช้บริการอย่างน้อยกี่เดือน กี่ปีก็ว่ากันไป เช่น ซื้อโทรศัพท์รุ่นยอดฮิตได้ในราคาพิเศษ แต่ต้องใช้บริการนาน 2 ปี หรือสมัครใช้บริการอินเทอร์เน็ต ฟรีค่าธรรมเนียม ค่าติดตั้ง ถ้าใช้บริการครบ 1 ปี เป็นต้นเมื่อสมัครใช้บริการแล้ว แต่มีเหตุจำเป็น ต้องยกเลิกบริการ เช่น ต้องย้ายบ้าน ย้ายที่ทำงาน หรือใช้บริการแล้วคุณภาพสัญญาณไม่ดี ฯลฯ กรณีแบบนี้ หลายคนสงสัยว่า จะยกเลิกบริการก่อนครบกำหนดได้ไหม และจะต้องเสียค่าปรับ หรือไม่1. เรื่องนี้ โดยหลักการแล้ว “ผู้ใช้บริการ มีสิทธิบอกเลิกสัญญาใช้บริการโทรคมนาคมเมื่อใดก็ได้” (รายละเอียดหาอ่านได้ในตอนที่แล้ว) และกรณีจัดโปรโมชั่นลด แลก แจก แถมอุปกรณ์โทรคมนาคมในราคาพิเศษ ผู้ให้บริการไม่มีสิทธิคิดค่าปรับ ถ้าผู้ใช้บริการยกเลิกสัญญาก่อนกำหนดประกาศ กทช. เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ.2549ข้อ 15 ในกรณีที่ผู้ให้บริการได้ส่งมอบเครื่องอุปกรณ์หรือสิ่งอื่นที่เกี่ยวข้องให้แก่ผู้ใช้บริการโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายหรือคิดค่าใช้จ่ายในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดของค่าอุปกรณ์ ในขณะที่ส่งมอบเพื่อประโยชน์ในการใช้บริการโทรคมนาคมนั้น ผู้ให้บริการจะถือเอาเหตุดังกล่าวมากำหนดเป็นเงื่อนไขอันก่อให้เกิดภาระแก่ผู้ใช้บริการหรือเรียกเก็บค่าปรับหรือค่าเสียหายจากการที่ผู้ใช้บริการยกเลิกสัญญาก่อนกำหนดมิได้ผู้ใช้บริการที่ได้รับมอบเครื่องอุปกรณ์หรือสิ่งอื่นที่เกี่ยวข้องตามวรรคหนึ่งมีหน้าที่ต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้เครื่องอุปกรณ์ดังกล่าว และต้องส่งคืนให้แก่ผู้ให้บริการเมื่อสัญญาสิ้นสุดลง หากผู้ใช้บริการก่อให้เกิดความเสียหายแก่เครื่องอุปกรณ์นั้น ผู้ให้บริการมีสิทธิเรียกให้ผู้ใช้บริการรับผิดชดใช้ค่าเสียหายตามความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงแก่เครื่องอุปกรณ์ดังกล่าวได้ ทั้งนี้ จะต้องไม่เกินกว่าราคาตลาดของค่าอุปกรณ์ดังกล่าวในขณะนั้น ในกรณีที่ผู้ให้บริการประสงค์จะคิดค่าใช้จ่ายจากการส่งมอบเครื่องอุปกรณ์หรือสิ่งอื่นที่เกี่ยวข้องตามวรรคหนึ่งจากผู้ใช้บริการ ค่าใช้จ่ายดังกล่าวจะต้องไม่เกินอัตราที่คณะกรรมการประกาศกำหนด2. แม้ผู้ใช้บริการจะมีสิทธิบอกเลิกสัญญาก่อนกำหนด แต่เพื่อความเป็นธรรมสำหรับทั้ง 2 ฝ่าย สิทธิประโยชน์ที่บริษัทเขาให้มาอาทิ ส่วนลดค่าเครื่องต่าง ๆ ตามโปรโมชั่น ถ้าใช้บริการไม่ครบตามสัญญา ก็ต้องคืนเขาไป เช่น แพ็กเกจรายเดือน 599 บาท รับส่วนลดค่าเครื่องโทรศัพท์ 3,000 บาท เมื่อใช้บริการครบ 6 เดือน ถ้าเกิดใช้บริการไปได้ 3 เดือน แล้วเกิดเหตุต้องยกเลิกบริการ ก็สามารถยกเลิกบริการได้ แต่ผู้ใช้บริการก็ต้องคืนส่วนลดค่าเครื่องตามสัดส่วนที่ใช้งานไป ถ้าตามตัวอย่างนี้ แทนที่จะได้ส่วนลดค่าเครื่องเต็ม 3,000 บาท ก็เหลือแค่ 1,500 บาท แต่ก็ไม่ต้องจ่ายค่าบริการรายเดือนส่วนที่เหลือ3. ในส่วนของบริการอินเทอร์เน็ต ปัญหาที่พบบ่อยเมื่อต้องยกเลิกบริการก่อนครบกำหนดก็คือ บริษัทผู้ให้บริการจะคิดค่าปรับ และเรียกเก็บค่าธรรมเนียม ค่าติดตั้งที่ได้ยกเว้นให้คืน กรณีนี้ นอกจากบริษัทจะคิดค่าปรับไม่ได้เพราะขัดกับข้อ 15 แล้ว ก็ยังไม่สามารถเก็บค่าธรรมเนียม ค่าติดตั้งย้อนหลังได้ด้วย แม้สัญญาใช้บริการจะระบุเอาไว้อย่างนั้น ก็ไม่มีผลบังคับใช้เพราะตามกฎหมาย สัญญาบริการโทรคมนาคมไม่ว่ามือถือ หรืออินเทอร์เน็ต จะมีผลบังคับใช้ได้ต้องได้รับความเห็นชอบจาก กสทช.ก่อน และที่ผ่านมา กสทช. ไม่เคยอนุญาตให้บริษัทคิดค่าธรรมเนียม หรือค่าบริการอื่นใด หากผู้ใช้บริการยกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนด ดังนั้น ข้อสัญญาดังกล่าวจึงไม่มีผลเรื่องของการยกเลิกบริการ ยังไม่จบนะครับ เพราะจะเลิกกันโดยสมบูรณ์ก็ต้องจ่ายค่าบริการให้ครบถ้วนก่อน ดังนั้น ตอนหน้าเราจะมาดูกันว่า ค่าบริการรอบสุดท้ายจะต้องจ่ายเท่าไร ถึงจะเป็นธรรม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 149 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนมิถุนายน 2556 นมโรงเรียนไม่ปลอดภัย พบผลการตรวจที่น่าตกใจ เมื่อนมโรงเรียนที่แจกให้เด็กนักเรียนดื่มตามโรงเรียน ยังมีความเสี่ยงของเชื้อแบคทีเรียที่เกินค่ามาตรฐาน โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ทำการตรวจสอบตัวอย่างนมโรงเรียนทั้งชนิดพาสเจอร์ไรส์ และยูเอชที ที่ผลิตจากโรงนมขนาดใหญ่ ขนาดเล็ก และกลุ่มสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนม ระหว่างปี พ.ศ.2553 - 2555 จำนวน 450 ตัวอย่าง พบว่ามีตัวอย่างที่ไม่ได้มาตรฐาน จำนวน 42 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 9.3 เมื่อจำแนกตามรายการตรวจวิเคราะห์พบตัวอย่างไม่ได้มาตรฐานด้านจุลินทรีย์ พบปริมาณแบคทีเรียเกินมาตรฐานมากที่สุด นอกจากนี้ยังพบ เชื้อบาซีรัส ซีเรียส เชื้ออีโคไล และเชื้อโคลิฟอร์ม โดยพบนมพาสเจอร์ไรส์ไม่ได้มาตรฐานมากกว่านมยูเอชที นอกจากนี้ยังพบปัญหาเรื่องคุณค่าทางโภชนาการไม่ได้มาตรฐาน คือมีโปรตีนต่ำกว่ามาตรฐานอยู่ที่ร้อยละ 3.8 ของตัวอย่างที่สุ่มตรวจ โดยทางกระทรวงสาธารณสุขคาดว่าสาเหตุที่นมโรงเรียนพบการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์นั้นมาจาก ความไม่ได้มาตรฐานในการผลิต ไปจนถึงขั้นตอนการขนส่งและเก็บรักษาที่ไม่มีคุณภาพในการควบคุมอุณหภูมิที่เหมาะสม     หลอกลวง 100% ยาลดสัดส่วนเฉพาะจุด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ออกโรงเตือนสาวๆ ที่คิดจะทานยาที่โฆษณาสรรพคุณว่าช่วยลดสัดส่วนเฉพาะจุด ว่ายาดังกล่าวอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง อย.ไม่เคยมีการรับรอง และไม่มีทางเป็นไปได้ที่จะมียาลดสัดส่วนเฉพาะจุด อย.ได้ออกตรวจและดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ที่ขายยาในลักษณะดังกล่าว ซึ่งพบว่ามีการโฆษณาขายผ่านทางอินเทอร์เน็ต โดยเบื้องต้นเข้าข่ายความผิดหลายประการ ทั้งการผลิตยา หรือ นำเข้ายา โดยไม่ได้รับอนุญาต ไม่ขออนุญาตในการขึ้นทะเบียนยา ขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต โฆษณาเกินจริง และโฆษณาโอ้อวด โดยจะรวบรวมหลักฐานเพื่อเอาผิดทั้งผู้ขาย และแหล่งที่ผลิต ตาม พ.ร.บ.ยา 2522 ยาดังกล่าวนอกจากจะไม่มีผลตามที่โฆษณาอวดอ้างแล้ว ยังอาจก่อผลเสียต่อร่างกาย เพราะจากการตรวจสอบของ อย. เชื่อว่าน่าจะเป็นยาประเภทอาหารเสริม ประเภทแอลคานิทีน ที่เพิ่มการเผาผลาญ และมักพบว่ามีการแอบเติมยาที่ อย.ถอนทะเบียน โดยเฉพาะสารไซบูทรามีน ซึ่งมีผลข้างเคียงทั้งทำให้ความดันโลหิตสูง และหัวใจเต้นเร็ว ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต   ขยะเครื่องใช้ไฟฟ้า (กำลังจะ) ล้นประเทศ!!! มีข้อมูลที่น่าสนใจจาก โครงการพัฒนาแนวทางการประเมินปริมาณซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและ อิเล็กทรอนิกส์ ของกรมควบคุมมลพิษ ซึ่งได้มีการคาดการณ์ว่าในช่วงปี พ.ศ.2555-2559 หากไม่มีการดำเนินการกำจัดขยะอันตรายอย่างถูกต้อง ประเทศไทยเราจะมีซากขยะเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ล้นประเทศ โดยสัดส่วนของขยะเครื่องใช้ไฟฟ้าแต่ละประเภทที่คาดการไว้มีดังนี้  โทรทัศน์ 12 ล้านเครื่อง กล้องถ่ายภาพ/วิดีโอ 4 ล้านเครื่อง อุปกรณ์เล่นภาพ/เสียงขนาดพกพา 17 ล้านเครื่อง เครื่องพิมพ์/โทรสาร 7 ล้านเครื่อง โทรศัพท์มือถือ/โทรศัพท์บ้าน 48 ล้านเครื่อง คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล 11 ล้านเครื่อง เครื่องปรับอากาศ 3 ล้านเครื่อง และตู้เย็น 4 ล้านเครื่อง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นขยะที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี อย่างที่จะเกิดขึ้นเร็วนี้คือเรื่องของ ทีวีดิจิตอล ที่อาจทำให้หลายครอบครัวต้องเปลี่ยนทีวีเครื่องใหม่เพื่อรองรับการส่งสัญญาณทีวีแบบใหม่ ขยะเครื่องใช้ไฟฟ้าเหล่านี้ถ้าหากไม่ได้รับการจัดการที่ดีจะก่อให้เกิดอันตรายกับทั้งคนและสิ่งแวดล้อม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องเร่งหาวิธีจัดการขยะอันตรายเหล่านี้อย่างถูกวิธี ด้านผู้บริโภคเองก็ต้องมีส่วนร่วมในการจัดการกับปัญหานี้ด้วยเช่นกัน เริ่มตั้งการลดปริมาณการใช้ แยกขยะ และไม่นำขยะอันตรายไปทิ้งในที่ที่ไม่ได้ถูกจัดเตรียมไว้อย่างเหมาะสม   เดินหน้ายกเลิกการใช้แร่ใยหิน ทั้งๆ ที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ เรื่องให้สังคมไทยเป็นสังคมไร้แร่ใยหิน ตั้งแต่เมื่อวันที่ 12 เม.ย. 2554 ตาม มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 3 ปี 2553 แต่จนถึงขณะนี้บ้านเราก็ยังไม่มีกฎหมายที่ออกมาบังคับใช้การใช้แร่ใยหินอย่างจริงจังสักที ล่าสุดในงานแถลงข่าวเรื่อง “สังคมไทยต้องไร้แร่ใยหิน” นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้แจ้งว่า กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมยกเลิกการนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบ 5 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ 1.กระเบื้องแผ่นเรียบ 2.กระเบื้องยางปูพื้น 3.ผ้าเบรกและคลัตช์ 4.ท่อซีเมนต์ใยหิน และ 5.กระเบื้องมุงหลังคา หลังจากได้ไปดำเนินการจัดทำแผนและกรอบเวลายกเลิกการนำเข้าผลิตและจำหน่ายแร่ใยหินและผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบเพื่อสรุปเสนอเป็นแผนขอความเห็นชอบจาก ครม. โดยจะมีการนำเสนอเข้า ครม. พิจารณา ให้ไทยยกเลิก 5 ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวที่ทำจากแร่ใยหินภายใน 5 ปี โดยผลิตภัณฑ์ที่ทำจากแร่ใยหินอย่างผ้าเบรกและคลัตช์ที่มีกรอบระยะเวลาในการยกเลิก 5 ปี จะดำเนินการเฉพาะส่วนของรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลขนาดเล็กก่อน เนื่องจากในรถบรรทุกยังเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัย ส่วนท่อซีเมนต์ใยหินจะให้ยกเลิกเฉพาะท่อที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 400 มม.เพราะท่อขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 400 มม.ขึ้นไป กรมชลประทานมีหนังสือถึง ก.อุตสาหกรรม ว่าขอให้มีการขยายเวลาในการยกเลิก เนื่องจากติดขัดเรื่องความพร้อมในการผลิต ส่วนอีก 3 ผลิตภัณฑ์ที่เหลือจะเสนอให้ยกเลิกภายใน 5 ปี   องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน กระตุ้น กสทช. ทำงาน ก่อนเกิดปัญหา “ซิมดับ” คนที่ใช้โทรศัพท์มือถือเครือข่ายทรูมูฟ รู้กันหรือยังว่า วันที่ 15 กันยายนที่จะถึงนี้ สัญญาสัมปทานการใช้คลื่นความถี่ที่ทางผู้ให้บริการทำไว้กับทาง กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) จะหมดลง ซึ่งหมายความว่าต้องเกิดการเปลี่ยนเรื่องการใช้งานของผู้ใช้บริการ อาจจะต้องมีการโอนย้ายผู้ให้บริการ หรือที่เลวร้ายที่สุดคือ อาจไม่สามารถใช้งานหมายเลขโทรศัพท์ของเครือข่ายดังกล่าวได้ หรือพูดง่ายๆ คือเกิดปัญหา “ซิมดับ” คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน เป็นห่วงปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้บริโภค ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบในเรื่องนี้อย่าง คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ก็ดูเหมือนจะยังหาทางออกให้ผู้บริโภคไม่ได้ คณะกรรมการองค์การอิสระฯ จึงได้ทำหนังสือเรียกร้องให้ทาง กสทช. เร่งดำเนินการแก้ปัญหาโดยด่วน โดยข้อเรียกร้องในการแก้ปัญหาประกอบด้วย 1.ตั้งคณะทำงานประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz และกำหนดวันในการจัดการประมูลคลื่นใหม่โดยเร่งด่วน 2.ควบคุมกำกับ ไม่ให้บริษัทผู้ให้บริการทั้งสองรายคือ บริษัท ทรูมูฟ จำกัด และบริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด (มหาชน) ซึ่งขณะนี้ยังคงทำสัญญาให้บริการอยู่ ต้องไม่ทำสัญญาให้บริการเกินวันที่ 15 กันยายน 2556 3.เร่งรัดให้บริษัทผู้ให้บริการทั้งสองราย แจ้งให้เจ้าของเลขหมายทุกรายทราบถึงการสิ้นสุดสัญญาสัมปทานโดยทันที และมีบริการให้ผู้บริโภคติดต่อสอบถามฟรี รวมทั้งเร่งรัดการดำเนินการโอนย้ายเครือข่ายให้เต็มตามศักยภาพ คือ 3 แสน เลขหมายต่อวัน พร้อมทั้งคืนเงินคงเหลือในระบบให้กับผู้ใช้บริการ ทั้งนี้ทาง กสทช. เองทราบเรื่องการหมดสัมปทานมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่กลับไม่ยอมจัดการปัญหา คือการจัดประมูลสัมปทานใหม่ กลับนิ่งเฉยจนใกล้วันหมดอายุ จนกำลังจะกลายเป็นปัญหาของผู้บริโภคซึ่งแทบจะยังไม่รู้ข้อมูลใดๆ เลยว่าสัญญาณมือถือที่ใช้อยู่กำลังจะหยุดลง ซึ่งความจริงผู้บริโภคมีสิทธิ์ที่จะรับทราบข้อมูลดังกล่าว เพื่อผู้บริโภคจะได้มีโอกาสเลือกที่จะยังคงอยู่ในระบบ ย้ายค่าย หรือทวงถามค่าชดเชยที่ผู้บริโภคควรได้รับ //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 182 รองเท้าใหม่ใช้ได้แค่วันเดียว

ของใช้ต่างๆ ย่อมเสื่อมสภาพตามวันเวลา แต่หากเราซื้อของมาแล้วใช้ได้แค่วันเดียว ถึงแม้จะมีราคาไม่สูงมากนัก แต่ก็ไม่ใช่เรื่องปกติที่น่ายินดีสักเท่าไร  ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณมัลลิษาซื้อรองเท้าคู่ใหม่มือหนึ่งยี่ห้อ Kito ราคาเกือบ 400 บาท จากการออกบูทขายสินค้าที่ห้างสรรพสินค้าย่านอนุสาวรีย์ชัย แต่วันแรกที่สวมใส่ก็พบว่ารองเท้าดังกล่าวชำรุด โดยพื้นรองเท้ากับรองเท้าได้แยกออกจากกัน ซึ่งเธอคิดว่าปัญหาดังกล่าวน่าจะมาจากล็อต (Lot) การผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน เพราะมั่นใจในตราสินค้าว่ามีคุณภาพและเชื่อว่าอย่างน้อยก็ต้องใช้งานได้เป็นปี จึงส่งอีเมล์ร้องเรียนปัญหาดังกล่าว พร้อมแนบรูปถ่ายสินค้าที่ชำรุดไปยังบริษัท เพื่อให้มีการตรวจสอบและชดเชยความเสียหาย เพราะถือว่าเป็นการจำหน่ายสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพ อย่างไรก็ตามภายหลังส่งเรื่องร้องเรียนไปก็ไม่มีการตอบรับจากบริษัท เธอจึงมาร้องเรียนที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ โทรศัพท์ไปสอบถามความคืบหน้ากับทางบริษัทฯ ซึ่งแจ้งว่ายังไม่พบการร้องเรียนดังกล่าว จึงขอให้ส่งรายละเอียดปัญหาไปอีกครั้งทางแฟกซ์ โดยภายหลังได้รับทราบปัญหาก็ขอโทษพร้อมชดเชยผู้ร้องด้วยการส่งรองเท้าคู่ใหม่มาให้ พร้อมชี้แจงว่าปัญหาดังกล่าวอาจเกิดจากการข้อผิดพลาดทางการผลิต ซึ่งพนักงานฝ่ายการผลิตอาจลืมขัดพื้นรองเท้าที่สำหรับทากาวให้ยึดเกาะ ด้านผู้ร้องเมื่อได้รับรองเท้าคู่ใหม่ก็ยินดียุติการร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 176 “หนี้จากบัตรเครดิตที่ไม่ได้ใช้”

อิทธิพลของยุคซื้อก่อนแล้วค่อยจ่าย ทำให้คนส่วนใหญ่นิยมใช้บัตรเครดิต เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระเงินในกระเป๋า จนบางครั้งเปิดกระเป๋ามาเจอบัตรเครดิตเยอะกว่าเงินก็มี อย่างไรก็ตามบัตรเครดิตเหล่านี้ก็อาจสร้างภาระให้เราแทนได้ หากเราใช้จ่ายมากเกินไปจนกลายเป็นหนี้ หรืออย่างในกรณีนี้ที่ไม่ได้ใช้จ่ายแต่ดันเป็นหนี้โดยไม่รู้ตัวเมื่อ 3 ปีก่อน ผู้ร้องเคยสมัครบัตรเครดิตกับธนาคาร UOB แต่ไม่เคยใช้ซื้อสินค้าใดๆ เพราะมีบัตรเครดิตอื่นที่ใช้บริการเป็นประจำอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามแม้ไม่มีการเปิดใช้บริการ แต่ค่าธรรมเนียมรายปีก็ไม่ได้ยกเว้น เธอจึงตัดปัญหาภาระที่ไม่จำเป็น ด้วยการโทรศัพท์ไปที่ Call center ของธนาคารเพื่อยกเลิกบัตรใบนี้ ซึ่งพนักงานก็ได้ดำเนินการยกเลิกให้เธอเรียบร้อย แต่หลังจากนั้นเหตุการณ์กลับไม่ได้ดำเนินไปได้ด้วยดีอย่างที่คิดต้นปี 2557 เธอได้รับโทรศัพท์จากเจ้าหน้าที่ฝ่ายเร่งรัดหนี้สินของธนาคารดังกล่าวว่า ขอให้ชำระหนี้จากการนำบัตรเครดิตไปกดเงินสดจากตู้ ATM รวมแล้วจำนวนกว่า 2 แสนบาท ซึ่งเธอก็ได้ชี้แจงกลับไปว่า ไม่เคยเปิดใช้บริการหรือทำธุรกรรมทางการเงินใดๆ กับบัตรเครดิตใบนี้ เจ้าหน้าที่จึงให้เธอหาทางดำเนินการแก้ต่างให้ตัวเอง ด้วยการแนะนำให้โทรศัพท์ไปที่ Call center หรือฝ่ายตรวจสอบการทุจริตของธนาคาร ซึ่งใช้เวลาไม่น้อยเลยกว่าจะได้รับการติดต่อประสานงานกลับมา พร้อมกับคำตอบว่าให้ไปแจ้งความเพื่อพิสูจน์หาข้อเท็จจริง เพราะความเสียหายที่เกิดขึ้นเจ้าของบัตรต้องรับผิดชอบเอง เมื่อได้รับคำตอบเช่นนั้นเธอจึงต้องทำตามคำแนะนำ โดยการไปแจ้งความขอภาพจากกล้องวงจรปิดตามตู้ ATM ต่างๆ ที่มีการกดเงินจำนวนนั้นไป และโทรศัพท์ไปยังธนาคารต่างๆ ให้เก็บภาพวงจรปิดไว้ ซึ่งในที่สุดก็เห็นว่าคนที่มากดเงิน เป็นชายใส่หมวกนิรภัยปิดหน้าที่เธอไม่รู้จัก ต่อมาจึงประสานกลับไปยังเจ้าหน้าที่ของธนาคารดังกล่าว เพื่อขอร้องให้ตรวจสอบข้อมูลของบัตรและพบว่า มีไฟล์เสียงของเธอที่ยืนยันการเปิดและยกเลิกบัตรเครดิตทางโทรศัพท์ โดยภายหลังได้ตกลงกับเจ้าหน้าที่ว่าจะถือบัตรเครดิตใบนี้ต่อ แต่ให้มีการยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียม ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ได้ดำเนินการให้เรียบร้อยจากข้อมูลที่เจ้าหน้าที่แจ้งมา เธอยืนยันกลับไปว่าไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะไม่เคยตกลงเจรจากับธนาคารเช่นนั้น จึงขอไฟล์บันทึกเสียงที่อ้างข้อมูลดังกล่าวมาพิสูจน์ข้อเท็จจริง แต่ธนาคารกลับไม่ยอมทำตามข้อเรียกร้องของเธอง่ายๆ คลิปเสียงที่จะเป็นพยานสำคัญในการเอาผิดผู้ร้องกลายเป็นปัญหาใหญ่ เพราะธนาคารไม่ยอมส่งคลิปเสียงทั้งหมดมาให้ โดยอ้างว่าบางส่วนได้ทำลายทิ้งไปแล้ว และที่มีอยู่ก็เป็นไฟล์เสียงที่ไม่สมบูรณ์อีก มากไปกว่านั้น เมื่อผู้ร้องตรวจสอบวันเวลาของไฟล์ดังกล่าว ก็พบว่าไม่ตรงกับที่เจ้าหน้าที่อ้างไว้ตอนแรก นอกจากนี้การติดต่อกับเจ้าหน้าที่ดูแลเรื่องก็ยากขึ้นเรื่อยๆในที่สุดธนาคารจึงปล่อยไม้เด็ดคือ ไม่ตอบข้อร้องเรียนหรือหลักฐานไฟล์เสียงที่ผู้ร้องขอ เพียงส่งหนังสือระบุว่า ตามเงื่อนไขสัญญาการทำบัตรเครดิต เจ้าของบัตรต้องรับผิดชอบในสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งตอนนี้สถานะของผู้ร้องคือ เป็นหนี้แล้วไม่ยอมจ่าย และการที่ผู้ร้องทำหนังสือไปที่ธนาคารแห่งประเทศไทยให้มีการตรวจสอบข้อมูลนั้น ไม่สามารถทำได้ เพราะแม้จะเป็นธนาคารแห่งชาติก็ไม่มีสิทธิที่จะมาตรวจสอบระบบเชิงลึกรายบุคคล เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ผู้ร้องจึงมาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิแนะนำให้ผู้ร้อง ทำหนังสือปฏิเสธการชำระหนี้ตามที่ธนาคารได้กล่าวอ้าง เพราะไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่าผู้ร้องเป็นผู้กดเงินสดจำนวนนั้นไป นอกจากนี้ข้อสังเกตต่างๆ ที่ผู้ร้องได้ทำหนังสือร้องเรียนก็ไม่ได้รับการอธิบาย โดยในระหว่างนี้เรื่องอยู่ระหว่างการเจราจาที่อัยการ ซึ่งผู้ร้องได้เรียกร้องให้ยุติการเรียกเก็บหนี้ทั้งหมดที่ธนาคารกล่าวอ้าง เพราะส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือในการทำธุรกรรมทางการเงินกับธนาคารอื่นๆ ทั้งนี้ทางศูนย์ฯ ก็จะติดตามความคืบหน้าของกรณีนี้ต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 164 เครื่องใช้ไฟฟ้า เกรด B ดีจริงๆ หรือ?

สินค้า เกรด B  เป็นสินค้าที่ผู้ขายมักบอกกับผู้ซื้อว่า  เป็นสินค้าเกรด A  นั่นแหละ  มีตำหนิ นิดหน่อย ซึ่งมักจะสังเกตพบได้ง่าย  เช่น ตู้เย็นที่มีรอยตำหนิบริเวณประตู สีไม่เรียบ  แต่อุปกรณ์ภายใน ไม่ว่าจะเป็นคอมเพรสเซอร์หรืออะไหล่ส่วนอื่นเหมือนสินค้าเกรด  A ทุกอย่าง  หากลูกค้าไม่ซีเรียสเรื่องรูปลักษณ์ภายนอก  มักจะตัดสินใจซื้อ  เพราะได้สินค้าที่ราคาถูกกว่ามากคุณนิรภา ก็ใช้เหตุผลเดียวกันที่ยอมซื้อตู้เย็น 6.6  คิวและเครื่องซักผ้าขนาด 7.2  กก. ยี่ห้อโตชิบา มาใช้   ยอมควักเงินจำนวน 9,982  บาท   เพราะมั่นใจว่าจะได้รับสินค้าดีใช้งานได้ตามที่โทรศัพท์คุยกับพนักงานและติดต่อสั่งซื้อที่บริษัทโดยตรง    แต่เมื่อรับสินค้ามาใช้งาน ก็เริ่มพบปัญหา  ตู้เย็น บานประตูช่องแช่แข็งปิดไม่แน่น ตรวจพบว่าเขี้ยวที่เป็นตัวล็อคหัก   ขอบบนประตูตู้เย็นไม่แน่น  ช่องแช่แข็งไม่สามารถแช่แข็งที่อุณหภูมิต่ำกว่า 3 องศาเซลเซียส   ส่วนเครื่องซักผ้า  มีปัญหาว่าตอนล้างผ้าและปั่น เสียงดังมาก     อ้าว?  ไหนว่าเกรด B มีตำหนิเฉพาะภายนอกไงคุณนิรภาจึงโทรไปแจ้งที่ศูนย์บริการลูกค้า  แต่บริษัทฯ กลับบอกว่า  สินค้าเกรด B ไม่สามารถเปลี่ยนเครื่องใหม่ได้  แต่จะซ่อมและเปลี่ยนอะไหล่ให้ คุณนิรภาคิดว่าคงเปลี่ยนไม่ได้จริงๆ อย่างที่บริษัทแจ้ง  เลยยอมให้ช่างมาซ่อม ช่างเปลี่ยนคอยด์เย็นตัวใหม่ให้ ส่วนประตูช่างบอกเปลี่ยนอะไหล่ไม่ได้ ต้องซื้อเปลี่ยนทั้งบานราคาประมาณ 2 พันบาท ผู้ซื้อต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง ส่วนเครื่องซักผ้า เปลี่ยนอะไหล่แล้วยังดังเหมือนเดิม   ทำยังไงดีล่ะ จะต้องซ่อมกันตลอดเวลาไหม  ซ่อมแล้วยังใช้ไม่ได้นี่แหละปัญหาใหญ่ อยากได้ของถูกสินค้าเกรด B จ่ายเงินเหมือนกันกลับบอกว่าเปลี่ยนไม่ได้  และเป็นที่คับข้องใจว่า สินค้าเกรด B  เปลี่ยนไม่ได้จริงหรือ คุณนิรภาจึงต้องหาตัวช่วย แนวทางการแก้ไขปัญหา เมื่อศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ  ได้รับเรื่องร้องเรียนของคุณนิรภา สอบถามวัตถุประสงค์ก็รับทราบว่าต้องการเปลี่ยนสินค้าใหม่เท่านั้น  เจ้าหน้าที่ศูนย์จึงต้องถามกับคุณนิรภาว่า หากเกิดปัญหาอีกคุณนิรภายอมรับได้หรือไม่  เพราะสินค้าเกรด B  นั้นต้องยอมรับว่า เป็นสินค้าที่มีปัญหาคล้ายกับรถยนต์มือสอง ที่ต้องมีการซ่อมแซมอยู่ตลอดเวลา  ผู้ซื้อต้องยอมรับได้ตรงจุดนั้น แต่ถ้ารับไม่ได้ก็จะเป็นปัญหากวนใจไปตลอด   ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ จึงได้ให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมว่า  ปัจจุบันสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้า เกรด A ราคาไม่ต่างจากเกรด B  มากนัก อีกทั้งยังมีการประกันสินค้าหรือหากมีปัญหาในระยะ 7  วัน  ผู้ขายจะเปลี่ยนสินค้าให้ใหม่ทันทีสุดท้ายคุณนิรภาจึงตัดสินใจขอเงินคืนเพื่อเอาไปซื้อสินค้าใหม่เกรด A ดีกว่าศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ จึงแนะนำให้คุณนิรภา ทำหนังสือถึงบริษัทฯ แจ้งปัญหาที่เกิดขึ้น  และขอให้บริษัทฯ คืนเงินทั้งหมด  ด้วยเหตุที่ว่าไม่สามารถใช้สินค้าได้  ต้องซ่อมแซมมาตลอด และเมื่อซ่อมแล้วอาการเสียยังเหมือนเดิม  เมื่อบริษัททราบเรื่องร้องเรียนกลับบอกว่า คุณนิรภารู้อยู่แล้วว่าสินค้าเกรด B เป็นสินค้ามีปัญหาและผู้ซื้อยอมรับได้ บริษัทฯ คืนเงินให้ได้แต่ขอหักค่าเสื่อมราคาและค่าอะไหล่ที่ต้องเปลี่ยน จากการใช้งานรวมแล้วเป็นประมาณเกือบ 5,000 บาทเรื่องจึงมาถึงเจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ  โดยสอบถามกลับไปที่บริษัทฯ เพื่อขอทราบเหตุผลการหักค่าเสื่อมและค่าอะไหล่ เพราะกรณีสินค้าที่ชำรุดบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใด ผู้ขายต้องรับผิดชอบอยู่แล้ว  ส่วนข้อเท็จจริงที่ว่าเป็นสินค้าเกรด B  ผู้ซื้อทราบอยู่แล้วนั้น  ผู้ขายแจ้งข้อมูลเพียงว่า เป็นสินค้ามีตำหนิเฉพาะภายนอกเท่านั้น อีกทั้งเมื่อซื้อมาแล้วไม่สามารถใช้งานได้จนได้รับความเสียหาย  เสียทั้งเงินและเวลา จะมาหักค่าเสื่อมได้อย่างไรเมื่อบริษัทฯ ไม่สามารถชี้แจงเรื่องดังกล่าวได้ จึงยอมคืนเงินให้กับคุณนิรภาทั้งหมด  คุณนิรภาสะท้อนความรู้สึกให้เราฟังว่า ตนเองมีสตางค์พอที่จะซื้อสินค้าเกรด A แต่ชอบของถูก  เข็ดแล้วกับสินค้าเกรด B   เพราะเหนื่อยกับการสู้รบกับบริษัทฯ ถ้าไม่มีตัวช่วยอย่างมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค คงไม่ได้เงินคืน  ต่อไปจะซื้ออะไรคงต้องตรวจสอบและตัดสินใจให้ดีกว่านี้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 127 แสนสิริแพ้คดีบ้านไม่ได้มาตรฐาน ชดใช้ค่าเสียหายกว่า 2 แสนบาท

 ที่มาที่ไปของเรื่องนี้เริ่มต้นเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2548ในวันนั้น ด้วยความชื่นชมหลงใหลในแบบบ้านและคำโฆษณาของโครงการบ้านเศรษฐศิริ-รามอินทรา ซึ่งรับประกันคุณภาพด้วยชื่อเสียงของบริษัท แสนสิริ จำกัด(มหาชน) คุณสุริยุ  และครอบครัวได้ตัดสินใจทำสัญญาซื้อบ้านหนึ่งหลังจากโครงการฯ ราคา 6,690,000 บาท พร้อมรับประกันการซ่อมแซม 1 ปีเมื่อรับโอนกรรมสิทธิบ้านกันเรียบร้อย คุณสุริยุก็ฮัมเพลง “บ้านคือวิมานของเรา” ขนข้าวของและพาสมาชิกครอบครัวเข้าพักอาศัยด้วยหัวใจอิ่มเอิบสมหวังแต่อยู่มาไม่นานสมาชิกของบ้านหลังนี้ก็ค่อยๆ พบว่า บ้านมีจุดชำรุดบกพร่องหลายแห่งผู้เสียหายได้พบว่า บ้านราคาเหยียบ 6.7 ล้านบาทหลังนี้มีความชำรุดบกพร่องหลายแห่งเวลาฝนตกหนักๆ น้ำรั่วเข้าห้องแม่บ้านทุกครั้ง ทำให้วอลเปเปอร์และเฟอร์นิเจอร์ในห้องได้รับความเสียหายเมื่อช่วยดูกันดีๆ พบว่าน้ำฝนรั่วเข้าทางวงกบประตูและหน้าต่าง ส่วนหลังคาด้านระเบียงบ้านชั้นล่างก็มีน้ำฝนรั่วซึม นอกจากนี้ยังมีการแตกร้าวของปูนตามผนังรอบตัวบ้าน ผนังบันไดและรั้วบ้าน มีการแตกร้าวของประตูห้องนอนและห้องน้ำ และยังพบว่าขนาดของประตูไม่มาตรฐานตามที่ใช้ในท้องตลาดต้องสั่งทำพิเศษ ส่วนชานบันไดชั้นสองช่างติดตั้งไม่ได้มาตรฐานเวลาเดินมีเสียงดังออดแอด พอขึ้นไปดูชั้นสอง พื้นชั้นสองปูด้วยไม้วีเนียร์ ปูไม่แน่นทำให้เวลาเดินพื้นจะยุบตัวลงและมีเสียงดัง ขณะที่ตามรายการวัสดุมาตรฐานท้ายสัญญาจะซื้อจะขายระบุว่าต้องเป็นพื้นไม้ปาร์เก้ แต่ที่เป็นเรื่องใหญ่ที่สุดซึ่งมาพบในภายหลัง คือ มีการก่อสร้างบ้านผิดแบบแปลนจากที่ได้ทำสัญญาตกลงกัน จึงทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ที่ว่ามา เนื่องจากแบบแปลนบ้านไม่ตรงนั่นเอง คุณสุริยุ จึงได้แจ้งให้บริษัทฯ เข้ามาซ่อมแซมและแก้ไข ซึ่งบางแห่งก็สามารถซ่อมแซมได้  แต่บางแห่งซ่อมแซมแล้วอาการยังเป็นเหมือนเดิม คุณสุริยุได้แจ้งบริษัทฯ มาตลอดเพื่อให้ซ่อมแซมอาการชำรุดให้แล้วเสร็จ แต่บริษัทฯไม่ดำเนินการแก้ไข  และพยายามผัดวันประกันพรุ่งมาตลอดท้ายสุด จึงตัดสินใจนำเรื่องยื่นฟ้องบริษัท แสนสิริฯ เป็นคดีผู้บริโภคที่ศาลแขวงมีนบุรีด้วยตนเอง เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน  2552   ฐานผิดสัญญา เรียกค่าเสียหายเป็นเงิน  258,448  บาท  และขอให้ศาลมีคำสั่งให้บริษัทฯ ต้องส่งมอบแปลนบ้านที่ถูกต้องให้ด้วย หรือหากส่งมอบไม่ได้ให้ชดใช้ราคาเป็นเงิน  20,000 บาทแทนฝ่ายบริษัทแสนสิริที่ตกเป็นจำเลย ได้ยื่นคำให้การต่อสู้คดีปฏิเสธความรับผิด โดยอ้างว่าการก่อสร้างเป็นไปตามแบบแปลนและยกเรื่องอายุรับประกันบ้านขึ้นต่อสู้ว่าการรับประกันการซ่อมเนื่องจากการก่อสร้างนั้นมีกำหนดระยะเวลาถึงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2549  เท่านั้น และยังอ้างว่าบ้านชำรุดบกพร่องเกิดจากการใช้งาน หรือการเสื่อมสภาพตามธรรมชาติของวัสดุซึ่งเจ้าของบ้านมีหน้าที่ต้องดูแลระมัดระวังและบำรุงรักษาในระหว่างการใช้งาน จึงขอปฏิเสธค่าเสียหายที่เรียกมา ขอชดใช้ค่าเสียหายเพียง 30,000 บาทศาลแขวงมีนบุรีได้นัดไกล่เกลี่ย 3 ครั้ง ในช่วงเดือน มกราคม , มีนาคม และ พฤษภาคม 2553  ทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงกันได้ ศาลจึงนัดสืบพยานจำเลยและสืบพยานโจทก์ในวันที่ 24-25 กุมภาพันธ์ 2554แม้การฟ้องคดีผู้บริโภค ผู้บริโภคจะสามารถฟ้องคดีด้วยตนเองได้โดยไม่ต้องใช้ทนายความ แต่เมื่อถึงขั้นที่ต้องพิจารณาคดีมีการสืบพยานกัน ผู้บริโภคส่วนใหญ่ก็ไปไม่เป็นเหมือนกัน คุณสุริยุจึงร้องมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องมาถึงขั้นนี้ จำเป็นต้องส่งผู้บริโภคให้ถึงฝั่ง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงต้องจัดหนักทนายความจากศูนย์ทนายความอาสาเพื่อผู้บริโภคของมูลนิธิฯ ได้เข้าช่วยเหลือผู้บริโภครายนี้ในการพิจารณาคดี  และมีการสืบพยานเสร็จสิ้นในวันที่ 1 เมษายน 2554 วันที่ 26 พฤษภาคม 2554 คือวันประกาศชัยของผู้บริโภคศาลนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาตัดสินให้บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้บริโภคเป็นเงิน 196,674.18 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันที่ฟ้องเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2552 จนกว่าจะชำระเสร็จ และให้ส่งมอบแบบแปลนที่ถูกต้องให้แก่ผู้บริโภค  หรือถ้าไม่ส่งมอบก็ให้ใช้ราคาค่าจ้างเขียนแบบแปลนใหม่แทนจำนวน  20,000  บาท  พร้อมให้บริษัทจ่ายค่าทนายความจำนวน 5,000 บาท แทนผู้บริโภคด้วย ถือเป็นคำพิพากษาที่ค่อนข้างจัดหนักเช่นกัน บริษัท แสนสิริ ในฐานะจำเลยไม่อุทธรณ์  ยอมชดใช้ค่าเสียหายให้ผู้บริโภคทั้งหมดที่ศาลมีนบุรีในวันที่ 7 กันยายน 2554“รู้สึกพอใจคำพิพากษาอย่างมากที่ทำให้ผู้ประกอบการรู้ว่า  ไม่ควรเอาเปรียบผู้บริโภค  และคิดว่ากระบวนการทางกฎหมายเอื้อประโยชน์ให้กับผู้บริโภคใช้สิทธิได้อย่างเต็มที่  และขอบคุณมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคที่ให้ความช่วยเหลือด้านคดีโดยจัดหาทนายความให้  และสนับสนุนให้มีองค์กรที่เป็นประโยชน์ให้อยู่คู่กับผู้บริโภคต่อไป” คุณสุริยุกล่าวด้วยความซาบซึ้ง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 157 เครื่องโกนหนวดไฟฟ้า

เพื่อสยบข่าวลือในหมู่หนุ่มน้อยหนุ่มใหญ่ๆ ว่า ฉลาดซื้อเป็นหนังสือสำหรับแม่บ้าน ฉบับนี้เราเลยนำผลการทดสอบเครื่องโกนหนวดไฟฟ้าที่องค์กรทดสอบระหว่างประเทศ International Consumer Research & Testing (ซึ่งเราร่วมลงขันเพื่อใช้ข้อมูลร่วมกับเขาปีละ 3,000 ยูโร) ทำไว้มาฝากสมาชิก คราวนี้มีทั้งหมด 19 รุ่นจาก 4 ยี่ห้อ สนนราคาตั้งแต่ 2,790 ถึง 19,000 บาท รุ่นที่ได้คะแนน 5 ดาวเพียงรุ่นเดียวในการทดสอบครั้งนี้ได้แก่ Braun Series 7 790cc-7 Wet&Dry ที่สนนราคา 15,990 บาท เขาให้คะแนนกับ ประสิทธิภาพการโกน (ร้อยละ 40) ความเป็นมิตรต่อผิว (ร้อยละ 40) และความสะดวกในการใช้งาน (ร้อยละ 20) ถ้าคุณไม่อยากลงทุนมากขนาดนั้น ก็ลองดูผลทดสอบของรุ่นอื่นๆ ได้ในหน้าถัดไป                                           //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 134 ไม่เก็บได้ไหม 30 บาท

  เหตุผลที่รัฐบาลไม่ควรกลับมาใช้นโยบาย “30บาท รักษาทุกโรค” จากกระแสข่าวที่มีมาอย่างต่อเนื่อง เกี่ยวกับปัญหาของสถานพยาบาลที่อยู่ในโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มักประสบกับภาวะขาดทุนเป็นประจำ เพราะมีคนมาใช้บริการมากขึ้น จึงเป็นข้ออ้างที่ทำให้รัฐบาลชุดปัจจุบัน ภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย ต้องนำนโยบาย “30 บาทรักษาทุกโรค” กลับมาทบทวนอีกครั้ง เพื่อลดปัญหาการขาดทุนของสถานพยาบาล และต้องการให้ประชาชนใช้บริการสุขภาพเท่าที่จำเป็น แต่ในมุมของกลุ่มที่เห็นต่างมองว่า การให้ประชาชนต้องร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาล เป็นการสร้างความเหลื่อมล้ำให้กับระบบสาธารณสุขไทย รัฐบาลจึงไม่ควรกลับมาใช้นโยบาย30 บาทรักษาทุกโรค ด้วยเหตุผลดังนี้… เป็นการผลักภาระให้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ต้องรับผิดชอบเพียงระบบเดียว รายได้หลักของสถานพยาบาลของรัฐ มาจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกับกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ซึ่งทั้ง 2 กองทุนนี้เป็นรายได้ที่เพิ่มขึ้นทุกปี และกองทุนที่ได้จากประกันสังคมอีกเล็กน้อย เพื่อนำไปใช้จ่ายในส่วนของค่ายา วัสดุทางการแพทย์ เงินเดือนให้กับบุคลากรทางการแพทย์ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ   หากวิเคราะห์ค่าใช้จ่ายในส่วนของค่ายา ค่าวัสดุทางการแพทย์ และเงินเดือนที่จ่ายประจำเดือนให้กับบุคลากรทางการแพทย์ จะเติบโตในระดับคงที่ ในขณะที่ค่าตอบแทน ซึ่งหมายถึงค่าล่วงเวลา ค่าธรรมเนียมแพทย์ ค่าตอบแทนอื่นๆที่ไม่ใช่เงินเดือน เพิ่มสูงขึ้นมากอย่างต่อเนื่อง เช่น ในปีงบประมาณ 2552 และ 2553 โรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลทั่วไป มีต้นทุนที่เป็นค่าตอบแทน เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 30 – 40 ส่วนต้นทุนที่เป็นเงินเดือน และค่ายา เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 1 – 2 เท่านั้น โดยต้นทุนค่าตอบแทนนั้นเกิดจากการให้บริการแก่ผู้ป่วยในทุกระบบประกันสุขภาพ หากกระทรวงสาธารณสุขต้องการเพิ่มรายได้ให้กับสถานพยาบาล ก็ต้องพิจารณาดูว่าสถานพยาบาลแต่ละแห่ง ไม่ได้รักษาเฉพาะผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเท่านั้น แต่รวมถึงสิทธิประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการด้วย “ดังนั้น การผลักภาระให้ผู้ป่วยเฉพาะระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ต้องร่วมจ่ายค่าบริการ 30 บาท เพียงระบบเดียว ดูจะไม่เป็นธรรมกับผู้รับบริการในระบบดังกล่าวเลย”   จำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น ไม่ใช่แค่เพราะรักษาฟรี การเพิ่มจำนวนของผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ต้องนำปัจจัยอื่นๆ มาประเมินร่วมด้วย ทั้งการขยายชุดสิทธิประโยชน์ในการรักษาพยาบาลในโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง เช่น การจ่ายยาต้านไวรัสเอชไอวี ทั้งในสูตรพื้นฐานและสูตรดื้อยา รวมถึงการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวข้อง การรักษาผู้ป่วยวัณโรค ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย การผ่าตัดต้อกระจก การรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจ การผ่าตัดลิ้นหัวใจ การรักษาโรคมะเร็ง เป็นต้น จึงทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นเพิ่มมากขึ้น ซึ่งถ้าเป็นเมื่อก่อนประชาชนแทบจะไม่มีโอกาสเข้ารับการรักษาในกลุ่มโรคดังกล่าวเลย รวมถึงจากการศึกษาตัวเลขในเชิงระบาดวิทยา ที่อัตราการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังและโรคไม่ติดต่อ เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน หัวใจ มะเร็ง ในระดับภาพรวมของประเทศ ตั้งแต่ปี 2544 – 2552 มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะสภาพแวดล้อม วิถีชีวิต และอาหารการกินที่เปลี่ยนไป จึงทำให้ประชาชนป่วยมากขึ้น ซึ่งไม่ใช่แค่ผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเท่านั้น แต่ผู้ป่วยที่เป็นข้าราชการ และผู้ประกันตนก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นเช่นกัน   จะไปสถานพยาบาลต้องคิดให้ดี ถึงรักษาฟรีแต่ก็มีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ต้องออกเอง ประชาชนที่ใช้สิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ส่วนใหญ่จะไม่มีหลักประกันสุขภาพใดๆ รองรับเป็นกลุ่มที่ไม่มีรายได้ประจำ ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพอิสระ เป็นแรงงานนอกระบบ รับจ้างรายวัน ไม่มีรายได้ที่แน่นอน ซึ่งแตกต่างจากการรับราชการหรือการเป็นพนักงานในสถานประกอบการต่างๆ หากประชาชนที่มีรายได้แบบรายวัน จะเข้ารับบริการในสถานพยาบาลแต่ละครั้ง ก็ต้องไตร่ตรองอย่างรอบคอบ เพราะกลุ่มคนเหล่านี้ไม่มีสวัสดิการในการลาป่วย ไม่มีหลักประกันชดเชยเมื่อขาดรายได้ หากต้องหยุดงาน นั่นหมายถึงการสูญเสียรายได้ไปในทันที ในขณะที่รายจ่ายยังมีเหมือนเดิม หรืออาจจะมากขึ้นกว่าเดิม เช่น ค่าเดินทางไปโรงพยาบาล ค่าอาหาร ค่าที่พัก ฯลฯ ดังนั้น ในยุคที่คนต้องทำมาหากินหาเงินมาเลี้ยงปากท้อง การหยุดงานบ่อยๆ เพื่อเข้ารับการรักษาที่เกินความจำเป็น ดูจะไม่มีความสมเหตุสมผล อีกทั้งการให้ประชาชนร่วมจ่ายครั้งละ 30 บาท ก็ยังสร้างความไม่เป็นธรรมและสร้างภาระให้กับประชาชนอยู่ไม่น้อย เพราะข้าราชการก็มีระบบสวัสดิการจากรัฐดูแลค่ารักษาพยาบาลอย่างเต็มที่ ระบบประกันสังคม ก็มีนายจ้าง ผู้ประกัน และรัฐร่วมกันจ่าย แต่ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประชาชนที่ต้องจ่ายเงินครั้งละ 30 บาท เป็นเงินส่วนตัวที่ต้องควักออกจากกระเป๋าร้อยละ 100 ดังนั้น ผลกระทบที่มาจากการร่วมจ่ายก็จะตกอยู่กับประชาชนผู้ที่มีรายได้น้อย แม้รัฐบาลจะมองว่า การจ่ายเงิน 30 บาท เน้นในกลุ่มที่มีกำลังจ่าย ส่วนคนที่ไม่มีเงินก็ให้รักษาฟรี เพียงแต่ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าจนจริงๆ ซึ่งเป็นวิธีคิดที่ดูถูกดูแคลนในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างยิ่ง   รายได้จากการเก็บ 30 บาท เป็นสัดส่วนที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายรายหัวที่รัฐต้องจัดสรร เมื่อปี 2546 รัฐบาลมีรายได้จากการเก็บค่ารักษาพยาบาลครั้งละ 30 บาท รวมทั้งหมด 1,073 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 1.9 ซึ่งเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับอัตราค่าเหมาจ่ายรายหัวทั้งหมดที่รัฐต้องจัดสรรเข้าระบบ การยกเลิกเก็บ 30 บาท จึงไม่ส่งผลให้สถานพยาบาลได้รับผลกระทบมากนัก และยังลดภาระงานให้กับโรงพยาบาลในการจัดเก็บข้อมูลลงบัญชีอีกด้วย และหากใช้ข้อมูลปี 2552 ซึ่งมีผู้มารับบริการในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ารวมทั้งสิ้นประมาณ 163 ล้านครั้ง คิดเป็นจำนวนครั้งที่คาดว่าจะต้องเสียค่าธรรมเนียม 30 บาททั้งสิ้นประมาณ 65 ล้านครั้ง คาดว่าจะเก็บค่าธรรมเนียมได้ประมาณ 1,900 ล้านบาท จะพบว่ารายได้จากการจ่ายร่วมเป็นมูลค่าที่น้อยนิดเพียงร้อยละ 1.75 ของงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวที่ต้องการทั้งหมดในปีงบประมาณ 2552 ดังนั้นการร่วมจ่ายจึงไม่ใช่แหล่งทุนหลักที่จะใช้ในการแก้ปัญหาการเงินของโรงพยาบาลเลย   ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ไม่ใช่จำเลยที่ทำให้ระบบสาธารณสุขต้องล้มละลาย ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีการตั้งงบเหมาจ่ายให้กับโรงพยาบาล เป็นระบบปลายปิด โดยค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ป่วยนอก จะเป็นงบเหมาจ่ายรายหัว โอนตรงให้กับโรงพยาบาลเต็มจำนวน ตามการดูแลประชากรในความรับผิดชอบ ส่วนงบผู้ป่วยใน จะจ่ายตามน้ำหนักสัมพัทธ์กลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม หรือระบบดีอาร์จี (DRG) ซึ่งเป็นการจ่ายเงินให้กับสถานพยาบาลในราคาที่ตกลงล่วงหน้า โดยประเมินราคาบนต้นทุนของการรักษาที่มีคุณภาพและเป็นไปตามมาตรฐาน ซึ่งจะจ่ายให้โรงพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยในต่อครั้ง ทำให้โรงพยาบาลสามารถบริหารจัดการในการใช้ทรัพยากรอย่างประหยัด ขณะเดียวกันรัฐก็สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้ และยังทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึงมากขึ้น ส่วนระบบสวัสดิการข้าราชการ เป็นระบบปลายเปิด ที่รัฐต้องจ่ายค่าบริการตามรายการและอัตราที่สถานพยาบาลเรียกเก็บ และรัฐเองยังไม่มีกลไกในการตรวจสอบการจ่ายเงินที่ให้แต่ละสถานพยาบาล ทำให้สถานพยาบาลไม่ประหยัดค่าใช้จ่าย และยังเป็นช่องว่างในการแสวงหาผลกำไรเกินจำเป็น เช่น การจ่ายยา หรือเลือกใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่แพงเกินจำเป็น แต่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพ จึงเป็นสถานการณ์ที่เสี่ยงต่อการล้มละลายสูง เพราะรัฐไม่สามารถควบคุมการเบิกจ่ายงบประมาณในการรักษาพยาบาลได้ หากรัฐบาลจะหันมาใช้นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคอีกครั้ง นับเป็นการสร้างอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ประชาชนไม่มีโอกาสเข้าถึงการรักษาอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ทั้งที่เป็นบทบาทของรัฐในการจัดระบบสวัสดิการขั้นพื้นฐานให้กับประชาชน เพราะคนที่มีกำลังในการจ่ายค่ารักษาพยาบาลได้มาก ย่อมเข้าถึงการรักษาได้มากกว่าคนที่มีรายได้น้อย นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค จึงเป็นนโยบายที่...   “สร้างความเหลื่อมล้ำ ลดความเป็นธรรม ให้กับระบบสาธารณสุขของไทยอย่างชัดเจน”   อ้างอิงข้อมูลจาก “การพิจารณาความเหมาะสมในการใช้นโยบายเรียกเก็บเงิน 30 บาทต่อครั้ง ในการใช้บริการด้านสุขภาพของผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” สำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย(สวปก.) และสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ผลการสำรวจค่าใช้จ่ายในการไปโรงพยาบาลของประชาชนภายใต้ระบบ UC กลุ่มตัวอย่างที่สำรวจ: ผู้ป่วยที่เคยไปรับบริการโดยใช้สิทธิบัตรทอง ระยะเวลาที่ทำการสำรวจ: 10-15 กุมภาพันธ์ 2555 จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 589 คน พบว่าเป็นเพศหญิง 390 คน (66.2%) เพศชาย 199 คน (33.8%) ตามลำดับ เป็นผู้ป่วยที่มีอายุอยู่ระหว่าง 1 – 90 ปี มีอายุเฉลี่ย 51 ปี ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป ร้อยละ 40.4 และพบว่ามีถึงร้อยละ 8.3 เป็นผู้ว่างงาน อาชีพหลัก จำนวน ร้อยละ รับจ้างทั่วไป 238 40.4 ค้าขาย 160 27.2 ทำสวน 4 0.7 แม่บ้าน/พ่อบ้าน 53 9.0 ธุรกิจส่วนตัว 13 2.2 นักเรียน นักศึกษา 20 3.4 อสม. 3 0.5 พนักงานบริษัท 5 0.8 สูงอายุ 35 5.9 เด็ก 0-6 ปี 9 1.5 ว่างงาน 49 8.3   รายได้เฉลี่ยต่อวันอยู่ระหว่าง 0-2,000 บาท (ประกอบธุรกิจส่วนตัว) โดยมีรายได้เฉลี่ย 210 บาทต่อวัน ในการรับบริการสุขภาพครั้งล่าสุด ส่วนใหญ่ไปรับบริการที่โรงพยาบาล ร้อยละ 49.2   Frequency Percent ศูนย์บริการสาธารณสุข 170 28.9 คลินิก 129 21.9 โรงพยาบาล 290 49.2 Total 589 100.0 ในการรับบริการครั้งล่าสุดเป็นบริการแบบผู้ป่วยนอกถึง 538 ราย (ร้อยละ 91.3)   Frequency Percent ผู้ป่วยนอก 538 91.3 ผู้ป่วยใน 51 8.7 Total 589 100.0 การเจ็บป่วยในกรณีผู้ป่วยนอกนั้นกว่าครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 55) เป็นผู้ป่วยในกลุ่มโรคเรื้อรังไปรับการรักษาต่อเนื่อง โดยส่วนใหญ่พบว่าเป็นผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงร้อยละ 28.3  (81 ราย)ผู้ป่วยเบาหวาน ร้อยละ 18.9 (54 ราย) และเป็นทั้งเบาหวานและความดันร้อยละ 17.1 (49 ราย) นอกจากนี้ยังมีผู้ติดเชื้อ HIV อีก 3 รายที่เข้ารับยาต้านไวรัส ความเจ็บป่วย จำนวน ร้อยละ โรคเรื้อรัง 286 55.0 มีไข้ ไอ 62 11.9 ท้องเสีย อาหารเป็นพิษ 43 8.3 ปวดศีรษะ 20 3.8 โรคแผลในกระเพาะอาหาร 18 3.5 อุบัติเหตุ 15 2.9 โรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ 12 2.3 ปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อ 11 2.1 ตรวจสุขภาพ 11 2.1 ทันตกรรม 9 1.7 ทำแผล 5 1.0 อื่นๆ 28 5.4 รวม 520 100.0   สำหรับความเจ็บป่วยในกรณีที่ต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล พบว่าส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยโรคเบาหวาน 7 ราย (ร้อยละ 13.7) ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง 5 ราย (ร้อยละ 9.8) ผู้ป่วยที่มาคลอดบุตร 4 ราย (ร้อยละ 7.8) ผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุ 3 ราย ผู้ป่วยมีอาการท้องเสียอย่างรุนแรง 3 ราย ผู้ป่วยโรคหัวใจ 3 ราย โรคมะเร็ง 2 ราย ตามลำดับ ความเจ็บป่วย จำนวน ร้อยละ เบาหวาน 9 17.6 ความดันโลหิตสูง 6 11.8 คลอดบุตร 4 7.8 ท้องเสีย 3 5.9 อุบัติเหตุ 3 5.9 หัวใจ 3 5.9 แผลในกระเพาะอาหาร 3 5.9 มะเร็ง 2 3.9 เข้ารับการผ่าตัด 2 3.9 อื่นๆ 16 31.4 Total 51 100   การเจ็บป่วยในครั้งล่าสุดนั้นต้องมีญาติหรือบุคคลอื่นพาไป 224 คน คิดเป็นร้อยละ 38.0   ในการเดินทางไปใช้บริการครั้งล่าสุด ผู้ป่วยเดินทางด้วยรถ Taxi เป็นหลัก   Frequency Percent เดิน 27 4.6 รถเมล์ 80 13.6 รถมอเตอร์ไซค์ 128 21.7 เหมารถ 22 3.7 รถยนต์ส่วนตัว 36 6.1 Taxi 280 47.6 รถประจำทางในหมู่บ้าน 16 2.7 Total 589 100.0   ค่าใช้จ่ายในการเข้ารับบริการในแต่ละครั้ง แบ่งตามลักษณะการเข้ารับการรักษา พบว่า ตารางที่  ต้นทุนทางตรงที่ไม่ใช่การรักษาพยาบาลและต้นทุนทางอ้อมในการเข้ารับบริการด้านสุขภาพของผู้ป่วย ค่าใช้จ่าย ผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน ค่าเดินทาง 113 157 ค่าอาหาร เครื่องดื่ม ของใช้ 59 101 ค่าใช้จ่ายในการให้ผู้อื่นดูแลบ้านแทนตนเอง 2 5 ค่าขาดรายได้ในระยะเวลาที่เข้ารับบริการ 181 461   ในการรับบริการแบบผู้ป่วยนอกนั้น ผู้ป่วยร้อยละ 13.5 ต้องใช้เวลาในการเดินทางนับตั้งแต่ออกจากบ้านจนถึงกลับบ้าน เป็นเวลาทั้งวัน ซึ่งทำให้ผู้ป่วยสูญเสียรายได้จากการขาดงานในวันนั้น   Frequency Percent ไม่เกิน 3 ชั่วโมง 270 50.2 ไม่เกิน 6  ชั่วโมง 196 36.3 1 วัน 73 13.5   ในการรับบริการแบบผู้ป่วยในนั้น ผู้ป่วยส่วนใหญ่ร้อยละ 56.9 ต้องใช้เวลาในการเดินทางนับตั้งแต่ออกจากบ้านจนถึงกลับบ้าน มากกว่า 1 วัน โดยเฉลี่ยเวลาที่เสียไปจากการเข้าพักรักษาตัวแบบผู้ป่วยในอยู่ที่ 2.4 วัน ซึ่งทำให้ผู้ป่วยสูญเสียรายได้จากการขาดงานดังกล่าว   Frequency Percent 1 วัน 22 43.1 มากกว่า 1 วัน 29 56.9 Total 51 100.0   ความคิดเห็นต่อการร่วมจ่าย 30 บาทนั้น ผู้ป่วยร้อยละ 67.8 ไม่เห็นด้วยเนื่องจากเห็นว่าเป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายแก่ผู้ป่วยและจะทำให้ผู้ที่ไม่มีเงินร่วมจ่ายเข้าไม่ถึงการรักษาพยาบาล   Frequency Percent เห็นด้วยเพราะโรงพยาบาลจะบริการดีขึ้น 142 24.1 เห็นด้วยเพราะจะได้ใช้บริการอย่างมีศักดิ์ศรี 47 8.0 ไม่เห็นด้วยเพราะเพิ่มภาระค่าใช้จ่าย 362 61.5 ไม่เห็นด้วยเพราะจะทำให้ผู้ที่ไม่มีเงินร่วมจ่ายไม่ได้รับการรักษา 37 6.3 แบบใดก็ได้ 1 0.2 Total 589 100   ในกลุ่มผู้ป่วยที่เห็นด้วยกับการร่วมจ่าย 30 บาทนั้นส่วนใหญ่คิดว่าควรยกเว้นบางกลุ่ม เช่น ผู้ด้อยโอกาส เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ที่ไม่ต้องร่วมจ่าย   Frequency Percent ทุกคน 54 28.6 ยกเว้นบางกลุ่ม เช่นผู้ด้อยโอกาส เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ 135 71.4   189 100 ในกลุ่มผู้ป่วยที่เห็นด้วยกับการร่วมจ่าย 30 บาทส่วนใหญ่ (ร้อยละ 70.9) คาดหวังว่าจะได้รับการรักษาที่มีคุณภาพ และมีการบริการที่ดีขึ้น   Frequency Percent คุณภาพ 134 70.9 ศักดิ์ศรี 51 27.0 มีส่วนร่วม 2 1.1 ไม่คาดหวังอะไร 2 1.1 Total 189 91.2    

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 131 พักหรูที่ไหน ได้ร่วมดูแลสังคม

ฉลาดซื้อ ฉบับนี้รีบชิงพาคุณเข้าโรงแรมก่อนใคร ... อย่าเพิ่งเข้าใจผิด ... เราจะพาคุณไปสำรวจระดับความรับผิดชอบต่อสังคมของเครือโรงแรมระดับโลก ในการสำรวจครั้งนี้องค์กรทดสอบระหว่างประเทศ International Consumer Research & Testing (ICRT) ได้ส่งแบบสอบถามไปยังเครือโรงแรมทั้งหมด 10 แห่ง ได้แก่ เครือ ACCOR   BARCELO   CARLSON Worldwide    HILTON   IBEROSTAR   INTERCONTINENTAL   MARRIOTT   RIU    SOL MELÍA และ STARWOOD จากนั้นนำข้อมูลมาประมวลผลร่วมกับข้อมูลจากการสัมภาษณ์และการลงพื้นที่ของทีมสำรวจ และให้คะแนนตามหัวข้อต่อไปนี้   1. นโยบายการกำกับดูแลกิจการ ซึ่งรวมถึงระบบการจัดการเพื่อแสดงความรับผิดชอบของผู้ประกอบการ  การปฏิบัติตามข้อตกลงระหว่างประเทศ การได้รับการรับรองจากองค์กรอิสระในเรื่องความยั่งยืน และการฝึกอบรมพนักงานในเรื่องดังกล่าวด้วย 2. การดูแลพนักงาน เช่น สภาพการทำงาน สิทธิแรงงาน เงินเดือน ชั่วโมงทำงาน นโยบายที่เป็นมิตรต่อพนักงานที่มีครอบครัวแล้ว โอกาสในการพัฒนาตนเอง ความมั่นคงในการจ้างงาน 3. ด้านเศรษฐกิจสังคม ได้แก่ นโยบายการจัดซื้อจัดจ้างอย่างมีจริยธรรม เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ สนับสนุนเศรษฐกิจชุมชน นโยบายด้านผลกระทบต่อสังคม 4. การดูแลสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้น้ำอย่างประหยัดและคุ้มค่า รวมถึงการดูแลสระว่ายน้ำ การประหยัดพลังงาน การใช้พลังงานหมุนเวียน การลดปริมาณขยะ ลดสารเคมีที่ใช้ในการซักผ้าเช็ดตัว ผ้าปูที่นอนฯลฯ รวมถึงการก่อสร้างที่ไม่ทำให้เกิดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม การควบคุมการปล่อยคาร์บอน 5. ความเอาใจใส่ต่อลูกค้า เช่น มีทางลาดสำหรับผู้พิการ อุปกรณ์นำทางสำหรับผู้พิการทางสายตาและผู้พิการทางการได้ยิน เป็นต้น จัดอาหารเพื่อตอบสนองข้อจำกัดทางศาสนาหรือสุขภาพของลูกค้า  และการให้ความรู้กับแขกที่มาพักเรื่องความยั่งยืน 6. การให้ข้อมูลเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งวัดจากการให้ความร่วมมือในการสำรวจครั้งนี้ด้วยการตอบแบบสอบถาม ให้ผู้สำรวจได้เข้าไปสัมภาษณ์ที่สำนักงานใหญ่และที่โรงแรมในคาริบเบียน ยุโรปใต้ และประเทศไทย รวมถึงการเผยแพร่รายงานเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม --------------------------------------------------------------------------------- น้ำหนักในการให้คะแนน การดูแลสิ่งแวดล้อม     ร้อยละ 25การดูแลพนักงาน    ร้อยละ 20ด้านเศรษฐกิจสังคม    ร้อยละ 20ความเอาใจใส่ต่อลูกค้า    ร้อยละ 15นโยบายการกำกับดูแลกิจการ   ร้อยละ 10ข้อมูลเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม  ร้อยละ 10 --------------------------------------------------------------------------------- เครือโรงแรมเหล่านี้อย่างน้อย 5 แห่ง มีโรงแรมที่ตั้งอยู่ในบ้านเราแล้ว เช่น โรงแรม Novotel   Pullman   Mercure  Sofitel  ibis และ all seasons ในเครือ ACCOR โรงแรม Sheraton   Le Meridien   Westin   St.Regis และ Aloft ในเครือ STARWOODโรงแรม InterContinental   Holiday Inn และ Crowne Plaza ในเครือ INTERCONTINENTAL โรงแรม Radisson และ Park Plaza ในเครือ CARLSON Worldwideโรงแรม Conrad และ Hilton ในเครือ HILTON เป็นต้น --------------------------------------------------------------------------------- อันดับ 1  โรงแรมในเครือ Accor     คะแนนรวม 4จำนวนโรงแรม/ที่พักทั้งหมด 3,800 แห่ง ใน 90 ประเทศนโยบายการกำกับดูแลกิจการ    4การดูแลพนักงาน     4ด้านเศรษฐกิจสังคม    4การดูแลสิ่งแวดล้อม     5ความเอาใจใส่ต่อลูกค้า    4 ข้อมูลเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม   5   อันดับ 2  โรงแรมในเครือ Sol Melia     คะแนนรวม 4จำนวนโรงแรม/ที่พักทั้งหมด 350 แห่ง ใน 35 ประเทศนโยบายการกำกับดูแลกิจการ    3การดูแลพนักงาน     4ด้านเศรษฐกิจสังคม    4การดูแลสิ่งแวดล้อม     4ความเอาใจใส่ต่อลูกค้า    3ข้อมูลเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม   5     อันดับ 3  โรงแรมในเครือ Marriott     คะแนนรวม 4จำนวนโรงแรม/ที่พักทั้งหมด 3,600 แห่ง ใน 71 ประเทศนโยบายการกำกับดูแลกิจการ    3การดูแลพนักงาน     4ด้านเศรษฐกิจสังคม    4การดูแลสิ่งแวดล้อม     4ความเอาใจใส่ต่อลูกค้า    3 ข้อมูลเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม   5     อันดับ 4  โรงแรมในเครือ Carlson Worldwide    คะแนนรวม 4จำนวนโรงแรม/ที่พักทั้งหมด 1,070 แห่ง ใน 80 ประเทศนโยบายการกำกับดูแลกิจการ    3การดูแลพนักงาน     4ด้านเศรษฐกิจสังคม    4การดูแลสิ่งแวดล้อม     4ความเอาใจใส่ต่อลูกค้า    3ข้อมูลเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม   4     อันดับ 5  โรงแรมในเครือ InterContinental    คะแนนรวม 4จำนวนโรงแรม/ที่พักทั้งหมด 4,150 แห่ง ใน 100 ประเทศนโยบายการกำกับดูแลกิจการ    3การดูแลพนักงาน     5ด้านเศรษฐกิจสังคม    4การดูแลสิ่งแวดล้อม     3ความเอาใจใส่ต่อลูกค้า    2ข้อมูลเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม   5     อันดับ 6  โรงแรมในเครือ Starwood     คะแนนรวม 4จำนวนโรงแรม/ที่พักทั้งหมด 1,041 แห่ง ใน 100 ประเทศนโยบายการกำกับดูแลกิจการ    3การดูแลพนักงาน     4ด้านเศรษฐกิจสังคม    3การดูแลสิ่งแวดล้อม     5ความเอาใจใส่ต่อลูกค้า    2ข้อมูลเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม   4     อันดับ 7  โรงแรมในเครือ Barcelo     คะแนนรวม 3จำนวนโรงแรม/ที่พักทั้งหมด 186 แห่ง ใน 17 ประเทศนโยบายการกำกับดูแลกิจการ    3การดูแลพนักงาน     3ด้านเศรษฐกิจสังคม    3การดูแลสิ่งแวดล้อม     3ความเอาใจใส่ต่อลูกค้า    3ข้อมูลเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม   5   อันดับ 8  โรงแรมในเครือ Hilton     คะแนนรวม 3จำนวนโรงแรม/ที่พักทั้งหมด 540 แห่ง ใน 78 ประเทศนโยบายการกำกับดูแลกิจการ    3การดูแลพนักงาน     2ด้านเศรษฐกิจสังคม    2การดูแลสิ่งแวดล้อม     3ความเอาใจใส่ต่อลูกค้า    2ข้อมูลเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม   4     อันดับ 9  โรงแรมในเครือ Iberostar     คะแนนรวม 2จำนวนโรงแรม/ที่พักทั้งหมด 100 แห่ง ใน 16 ประเทศนโยบายการกำกับดูแลกิจการ    1การดูแลพนักงาน     1ด้านเศรษฐกิจสังคม    2การดูแลสิ่งแวดล้อม     2ความเอาใจใส่ต่อลูกค้า    2ข้อมูลเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม   4     อันดับ 10  โรงแรมในเครือ Riu     คะแนนรวม 1จำนวนโรงแรม/ที่พักทั้งหมด 100 แห่ง ใน 15 ประเทศนโยบายการกำกับดูแลกิจการ    1การดูแลพนักงาน     1ด้านเศรษฐกิจสังคม    1การดูแลสิ่งแวดล้อม     1ความเอาใจใส่ต่อลูกค้า    1ข้อมูลเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม   1

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point