ฉบับที่ 262 จองห้องพัก ตัดบัตรเครดิตเต็มจำนวน...แต่ไม่ได้เข้าพัก!!

เดี๋ยวนี้ เรามักจะได้ยินข่าว เช่นว่า เด็กเผลอกดโหลดแอพดูดเงินออกจากบัญชี  หรือ สารพัดแอพที่ดูดเงินจากธนาคารออนไลน์ได้ของเราได้ง่ายๆ  แต่จริงๆ แล้ว แม้ศึกษาข้อมูลมาอย่างดี ความผิดพลาดจนเสียเงินก็ยังเกิดขึ้นได้ เช่นเรื่องราว คุณพาณิภัค ทิพย์เที่ยงแท้ ที่เธอได้จองที่พักเพื่อไปพักผ่อนกับครอบครัวในช่วงวันหยุดยาวเอเปคระหว่างวันที่ 16- 18 พฤศจิกายน ที่หัวหินที่ผ่านมา ซึ่งการจองที่พักเธอคิดว่าสามารถผ่อนชำระได้ แต่เมื่อเข้าไปจองระบบกลับตัดยอดค่าที่พักเต็มจำนวนจากบัตรเครดิตในครั้งเดียว เมื่อเธอพยายามติดต่อขอยกเลิกการจอง แต่กลับถูกหักเงินและไม่ให้บ้านพักที่จองไว้อีกด้วย เรื่องนี้ แม้ปัญหาจะได้รับการแก้ไขแล้ว แต่คุณพาณิภัคก็อยากส่งต่อเรื่องราว เพื่อให้ผู้บริโภครู้เท่าทัน รักษาสิทธิไม่ให้ใครมาละเมิดได้         “เราไม่ได้ยอมแพ้ เราเลยได้เงินจำนวนนี้คืนมา  เพราะมันก็เป็นสิทธิที่ไม่ควรเสียไปตรงนี้”  ตอนที่ปัญหาเริ่มเกิดขึ้น  มีที่มาอย่างไร          คือช่วงวันที่ 16 – 18  พฤศจิกายน ที่ผ่านมา รัฐบาลประกาศให้เป็นวันหยุดพิเศษ ที่ทำงานเราก็หยุดด้วยเลยอยากพาครอบครัวไปเที่ยว พักผ่อนที่หัวหิน แล้วเลยต้องจองที่พัก เราจึงเลือกใช้บริการกับ Agoda  เพราะว่าใช้กันมานานแล้ว  แล้วเราสอบถามไปที่โรงแรมที่ต้องการไปพักแล้วแพงกว่าราคาใน  Agoda เชคตอนนั้นราคาใน Agoda คือถูกที่สุดเราก็เลยจอง  ตอนนั้นที่จองเป็นบ้าน 1 หลังเลยเพราะไปพักกับครอบครัว มี  3 ห้องนอน แล้วปัญหาเริ่มเกิดขึ้น ตอนไหน ยังไง          คือปกติ  Agoda จะมีให้ผ่อนชำระด้วยบัตรเครดิต คือผ่อนได้ทั้งทางบัตรเครดิต และผ่านทางแอพพลิเคชันของเขา ผ่อนชำระได้  3- 6 เดือน ซึ่งตอนจองเราคิดว่าตอนเลือกชำระเงินก็ต้องมีให้เลือกว่าจะจ่ายเงินอย่างไร แต่พอกดตกลงไปแล้ว มันไม่ได้มีผ่อน กดไปแล้วชำระเต็มจำนวนเลย  45,000  บาท  คือในเว็บไซต์ราคา 45,000 แต่จะมีส่วนต่างที่จะคืนเป็นแคชแบ็กให้ ที่ตัดไปจากบัตรจะตัดไป 43,000 กว่าบาท ตอนที่จองเวลาประมาณ 22.27 น. พอเห็นยอดตัดเด้งเข้ามาที่มือถือ เราเลยรีบยกเลิก  เขาก็ขึ้นมายกเลิกไม่ได้ การจองนี้เป็นการจองที่ยกเลิกไม่ได้ เราเลยโทรไปที่ Agoda  แจ้งว่าเป็นการกดชำระผิด  Agoda ก็บอกว่าให้เราติดต่อไปที่โรงแรมด้วยตัวเอง ถ้าเกิดโรงแรมยินยอมให้ยกเลิก  Agoda ก็ยินดีที่จะคืนเงินให้เต็มจำนวน  แต่ตอนนั้น 4 ทุ่มครึ่งแล้ว  ฝ่าย reservation ของโรงแรมเลิกทำงานไปแล้ว เราเลยติดต่อในวันรุ่งขึ้น ที่ต้องการจะยกเลิกเพราะไม่พอใจ ที่บริษัทบอกว่า สามารถผ่อนชำระได้ แต่ตัดจ่ายในครั้งเดียว         ไม่พอใจที่ตัดยอดเต็มจำนวน   ตรงที่เลือกตรงที่ให้ผ่อนได้  มันหายไป  เราเข้าใจว่าอีกหน้าหนึ่งหรือเปล่า ตอนที่กด เขาบอกว่าห้องพักนี้ผ่อนชำระได้ แต่เข้าไปแล้ว ไม่มีตัวเลือกนั้น  กลายเป็นตัดเต็มจำนวนไปเลย ตอนหลังเราลองทำในคอมพิวเตอร์ก็มีผ่อนชำระ  แต่ไม่สามารถทำได้ในแอพนะ ยังไงก็ทำไม่ได้  ซึ่งตอนนั้นเราก็ไม่ได้ถามปัญหานี้กับบริษัทนะ  ยอมรับว่า เราก็ห่วงแต่เรื่องเงินของเรา แล้วคิดว่าถ้าจบแล้ว จะไม่ได้ใช้บริการแล้ว ถ้าทำผิดอีก แล้วเงินมันเยอะ เราก็รู้สึกว่า ถ้าเงินเยอะ แล้วมีปัญหา กดดันมากกว่าเงินจำนวนน้อย แล้วการติดต่อโรงแรมในวันรุ่งขึ้นเป็นอย่างไร         ฝ่าย reservation ของโรงแรม เขาก็บอกว่า ยินดียกเลิกให้ คืนเงินให้ แต่เขายังไม่เห็นว่ามีการจองนี้เข้ามาเลย          ตรงนี้เราเลยโทรกลับมาที่ Agoda อีกครั้งว่า โรงแรมแจ้งว่ายังไม่มีการจองนี้เกิดขึ้น  ซึ่งถ้ามีเข้าไป โรงแรมจะยกเลิกให้  เราบอกเขาว่า โรงแรมยินดียกให้     โอเค Agoda ก็ให้รออีก  48 ชม.  ผ่านไป เราก็ร้อนใจ มันขึ้นสถานะว่ายังไม่ได้ยกเลิก เราก็โทรกลับไปใหม่ เขาบอกว่าจะติดต่อกลับ อีกวันหนึ่งเขาก็โทรมา เขาใช้คำว่า ‘Property’ ไม่ให้ยกเลิก ซึ่งก็ต้องหมายถึงโรงแรมใช่ไหม  เขาใช้คำนี้ เราเลยบอกว่า ไม่ใช่นะ เพราะได้คุยกับโรงแรมแล้ว  แต่เราก็เอ๊ะ หรือว่าโรงแรมเขาเปลี่ยนคนหรือเปล่า ไม่ใช่คนที่คุยกับเราแล้วเขาเลยไม่ยกเลิกให้เรา เลยโทรกลับไปที่โรงแรมใหม่ แล้วเลยถามชื่อ ว่าคนที่เราคุยด้วย ชื่ออะไร เขาเลยบอกว่า ชื่อคุณคนนี้ .... แล้วเขาบอกว่า เขายินดีให้เราบอก Agoda ได้เลย เขาชื่อนี้ เขายินดียกเลิกให้         สรุปสุดท้าย Agoda พูดว่า การจองนี้ เป็นการจองที่เขาส่งไปให้บริษัท Supplier  อีกเจ้าหนึ่งเป็นคนจองให้  เราเลยบอกว่า เราไม่รับรู้ เราไม่ได้จองผ่านที่อื่น ถ้ารู้ว่าเขาจะไปส่งต่อให้  Supplier แล้วมันยุ่งยากเราจะไม่จอง เพราะว่าเราก็เชื่อถือใน  Agoda  แล้วทางโรงแรมไม่ได้มีปัญหาเลย แล้วตอนนั้น เริ่มแก้ปัญหาอย่างไร          เราเลย อีเมลไปต้นสังกัด ที่สำนักงานใหญ่ Agoda สิงคโปร์  ต้นสังกัด เขาตอบกลับมาอีกว่าเป็นเพราะ ‘Property’ ไม่อนุญาตให้คุณยกเลิกการจอง แล้วเวลาหยุดก็ใกล้เข้ามาก็ยังไม่มีความคืบหน้าอะไร เราเข้าไปจองวันที่ 22 ตุลาคม จนวันที่ 27 ตุลาคม เขามาแจ้งว่าจะไม่คืนเงินให้ เขาจะยืดเงินไว้ทั้งหมด แล้วจนถึงตอนนั้นเราโทรไปที่โรงแรม  โรงแรมก็ยังไม่ได้รับการจองเลย  คือไม่มีการจองเข้าไป  เราเลยโทรกลับไปที่ Agoda อีกครั้งว่า ก็มันยังไม่มีการจอง แล้วจะมายึดเงินเรื่องอะไร  เสียหายอะไรถึงจะมายึดเงิน คือการจองยังไม่สมบูรณ์อะไร  โรงแรมเขาก็ยืนยันว่ามันไม่มีชื่อนี้จองเข้ามา ถามเขาแล้วว่า แล้วมีชื่ออื่นไหมที่จองเข้ามาระหว่างวันที่ 16 – 17 พ.ย.  โรงแรมบอกว่า ไม่มีเลย ไม่มีชื่อใครจองเข้ามา ทาง  Agoda  ยืนยันอีกว่าเขาจะไม่คืนแต่เขาจะช่วยนั่นนี่ คือเขาจะคืนเงินให้เรา 70 % อีก 30% เขาจะหักไว้คือประมาณ 12,000   เราบอกว่าไม่รับ เพราะว่าเขายังไม่ได้ทำอะไรให้เลยจะหักเงินไป เฉยๆ 12,000 ได้ยังไง  เขาบอกว่าให้รับไปเถอะ เพราะว่าวันนี้ Supplier ยอมแค่นี้  แต่ว่าถ้าเลยวันนี้ไปเขาไม่รับประกันว่าจะคืนเงินให้หรือเปล่า เขาอาจไม่คืนให้เลยก็ได้  เราเลย อ่ะ ไม่เป็นไร  เดี๋ยวเราจะฟ้องเพราะว่าทุกอย่างมันยังไม่เกิดขึ้น  เขายังไม่ได้เสียอะไร   นั่นคือจุดเปลี่ยนที่แบบ ปัญหานี้แก้เองไม่ได้แล้ว  ต้องการความช่วยเหลือ          ถึงตอนนี้ เรายังพยายามนะ สุดท้ายเราก็บอกว่า งั้นเอาแบบนี้ได้ไหม ถ้าคืนเงินให้ไม่ได้จริงๆ   คุณเอาห้องให้เราได้ไหม ให้เราไปพักในราคานี้ก็ได้  เพราะ เราก็เสียเงินไปแล้วจริงไหม  เขาบอกว่า ทำให้ไม่ได้ เขาจะหักเงินเท่านั้น  คือเขาไม่คุย เขาจะหักเงินเท่านั้น  คือห้องก็ไม่ให้  คือเขาไม่ให้อะไรเลย  เราเลยไม่โอเคแล้ว   ตอนนั้น Agoda  สำนักงานที่ไทยหรือ สิงคโปร์ที่บอกว่าจะหักเงินไว้ 30%         ตอนแรกคือ Agoda Thailand  เป็นอีเมลที่เขาตอบโต้มา แต่ก็ Agoda สิงคโปร์ด้วยที่ตอบกลับมา  เราเลยบอกว่า เราไม่รับนะ  เราไม่โอเค แล้วเลยเข้ามาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค   งั้นปัญหาจริงๆ  น่าจะอยู่ที่บริษัท Supplier ไม่ได้เข้าไปจองกับโรงแรม        ใช่   สุดท้าย พอใกล้ถึงเวลาจริงๆ เราต้องไปจองอีกเว็บหนึ่ง  เพราะว่าใกล้วันที่จะเข้าไปพักแล้ว เราจองไปตอนสายๆ  พอจองแล้วโทรไปถามตอนเที่ยง มีชื่อเราแล้ว โรงแรมได้รับจองแล้ว   แต่จาก Agoda   ยังไม่ไปขึ้นอยู่ดี  ก็เหมือนจริงๆ แล้วไม่ได้จองให้เรา   แล้วพอตัดสินใจว่าไม่ยอม คุณพาณิภัค เข้าไปร้องเรียนที่ไหนบ้าง          มาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคทางระบบร้องเรียน และ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคออนไลน์ (สคบ)  แค่ 2 ที่นี้  เข้ามาร้องเรียนช่วง  1 พ.ย.  ก่อนเข้าพักไม่นาน เพราะมูลนิธิยังโทรกลับมาถามว่า ใกล้ถึงช่วงที่เราจะเข้าพักแล้ว มีอะไรคืบหน้าไหม   ระหว่างนั้น มูลนิธิเข้าไปดำเนินอะไรบ้าง        มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้โทรเข้าไปที่บริษัท  Agoda จากที่เราให้เบอร์ไว้ ซึ่ง Agoda เขาไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลในรายละเอียดกับมูลนิธิฯ ได้ เพราะไม่ใช่คนที่จองเข้าพัก  มูลนิธิเลยบอกว่าจะส่งจดหมายไปที่บริษัท Agoda เลย        ส่วนทาง  สคบ.เขาก็มีหนังสือเป็นจดหมายลงทะเบียนจะขอให้เรียกบริษัท Agoda  เข้ามาชี้แจง ท่าทีของบริษัทเปลี่ยนไปไหม  เมื่อมีหลายหน่วยงานเข้าไป         ใช่ๆ  เพราะตอนแรก  เขาไม่ติดต่อกลับมาอีกเลย เราก็โอเค ในเมื่อคุณไม่คืนเงินนะ เราก็จะดำเนินการฟ้องร้อง คือไม่มีติดต่อกลับมาอีกเลย     ไม่มีบอกว่าจะช่วยเหลือหรืออะไรอย่างไร  จนวันเข้าพักผ่านไป เขาก็ไม่ติดต่อกลับมา  จนมีหนังสือกลับมาจาก สคบ. แล้วมูลนิธิโทรมาบอกว่า  Agoda  บอกว่าจะติดต่อกับมูลนิธิ เป็นหนังสือภายใน  10 ม.ค.         สุดท้ายวันที่ 25 ธันวาคม บริษัทโทรมาบอกว่า  เขาเห็นว่าเราเป็นลูกค้าชั้นดี เขาจะคืนเงินให้เต็มจำนวน แล้วไม่นาน อีเมลก็เข้ามา เราเข้าไปดู เขาคืนเงินมาแค่  70%  เราเลยโทรไปถามว่า จากที่โทรมาบอกว่าจะคืนให้เต็ม 100% นะ  เขาบอกว่า ตอนแรกเขายอมแค่  70%  แต่ตอนนี้เขาโอเคแล้ว อีกยอดหนึ่งจะเข้ามา แล้วอีกประมาณ  3-4 วัน ก็ได้อีกยอดหนึ่ง 30% จำนวน  11,999  สุดท้ายคือได้ครบ ภายในเดือน ธ.ค. ตอนนี้ก็ได้เงินคืน ครบหมดแล้ว ตอนนี้ปัญหาได้รับเงินคืนแล้ว แต่เป็นเรื่องที่อยากบอกเล่า เพราะอะไร          เพราะเขาบอกว่า ยกเลิกแล้ว ไม่มีสิทธิ์ดึงห้องกลับมา เราเลยถามว่า เราต้องเสียเงินไปฟรีๆ เลยหรือ  โดยที่เขาไม่ได้ทำอะไร เหมือนเอาเงินเราฟรี เขาไม่ยอมเลย จนมูลนิธิช่วย เขียนจดหมายไปหาเขา  เลยมีฟีดแบ็คกลับมา   เราคิดว่าถ้าตัวเราเอง คงไม่สามารถทำอะไรได้ เขาปฏิเสธการคืนเงินอย่างเดียวเลย  แล้วเราไปที่ สคบ. ออนไลน์ ด้วย เลยได้คืนมา อยากฝากอะไรถึง ผู้บริโภคที่อาจได้ทำธุรกรรมแบบนี้บ้าง         ฝากว่าเรื่องบางอย่างที่ไม่เป็นธรรม  ก็อย่าคิดว่าจะไม่มีที่ไหนช่วยเหลือได้  เราลองหาข้อมูลก่อน เพราะอย่าง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หรือ สคบ. เราก็หาข้อมูลด้วยตัวเอง  ที่ไหนที่จะดูแล คุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคได้  เราก็หาข้อมูลจาก google  แล้วเข้าไปปรึกษาไป แล้วเราไม่ได้ยอมแพ้ เราเลยได้เงินจำนวนนี้คืนมา  เพราะมันก็เป็นสิทธิ์ที่ไม่ควรเสียไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 254 ความเคลื่อนไหวเดือนเมษายน 2565

นายกฯ สั่งปฏิรูปรถเมล์ไทย         5 เมษายน นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญและติดตามความคืบหน้าของโครงการจัดหารถโดยสารพลังงานสะอาดเพื่อมาให้บริการประชาชนในกรุงเทพฯ ซึ่งทางกระทรวงคมนาคมคาดการณ์ว่า “จะสามารถให้บริการได้ภายในเดือนสิงหาคม 2565”  โดยการปฏิรูปรถเมล์ครั้งนี้ ต้องการให้เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะยกระดับมาตรฐานบริการรถโดยสารประจำทาง ซึ่งกรมการขนส่งทางบก จะมีการประเมินผลการประกอบการด้วยดัชนีชี้วัด 12 ข้อ ตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ รถโดยสารใหม่จะต้องมี GPS  CCTV หรือระบบ E-Ticket เก็บข้อมูลผู้โดยสาร ใช้บริการมากน้อยแค่ไหน ช่วงเวลาไหนผู้โดยสารแน่นหรือคนน้อย หรือช่วงไหนรถติด โดยข้อมูลจะถูกนำมาประมวลผลและวิเคราะห์ด้วยระบบ AI ทำให้สามารถปรับปรุงแก้ไขปัญหาการให้บริการได้อย่างรวดเร็ว โฟม-พลาสติกใช้ครั้งเดียว ห้ามนำเข้าอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช         ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เรื่อง ห้ามนำภาชนะที่ทำด้วยโฟมและบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้ง นำเข้าเขตอุทยานแห่งชาติ  ทั้งนี้เพื่อเป็นการสงวน อนุรักษ์ คุ้มครองดูแลรักษา ทรัพยากรธรรมชาติ ป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อปะการัง ระบบนิเวศ และเป็นการควบคุมลดปริมาณขยะในอุทยานแห่งชาติ จึงมีประกาศ ดังนี้         ห้ามนำภาชนะที่ทำด้วยโฟม และบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียว ได้แก่ พลาสติกหูหิ้ว ความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน กล่องบรรจุอาหารพลาสติก แก้วพลาสติก (แบบบางใช้ครั้งเดียว) หลอดพลาสติก และช้อน-ส้อมพลาสติก เข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติ หากผู้ใดฝ่าฝืนมีความผิดตามมาตรา 20 ประกอบมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติ อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท (มีผล 6 เมษายน 2565 เป็นต้นไป)  ตำรวจสอบสวนกลางเตือนภัย “มิจฉาชีพ แอบอ้างเป็นบริษัทเงินกู้”         ตำรวจสอบสอบสวนกลาง ได้โพสต์เตือนภัย โดยมีข้อความระบุว่า ปัจจุบันเราจะพบเห็นกลุ่มมิจฉาชีพหลากหลายกลุ่มใช้กลลวงต่างๆ หลอกลวงประชาชน เพื่อให้ได้ไปซึ่งข้อมูลส่วนตัวต่างๆ รวมไปถึงทรัพย์สินของมีค่าของประชาชน ตำรวจสอบสวนกลางจึงขอประชาสัมพันธ์เตือนภัยให้ทราบถึงรูปแบบหนึ่งของมิจฉาชีพที่จะแอบอ้างเป็นบริษัทให้บริการเงินกู้ หลอกเอาข้อมูลส่วนตัวของท่านไป เพื่อนำไปใช้ในการถอนเงินในบัญชี ซึ่งมิจฉาชีพจะติดต่อผ่านช่องทาง SMS Line Facebook หรืออื่นๆ และแอบอ้างเป็นบริษัทให้บริการเงินกู้ หลอกลวงให้โอนค่าธรรมค้ำประกัน หลอกเอาข้อมูลส่วนตัว เลขหน้า-หลังบัตรประชาชน เลขหน้า-หลังบัตรเครดิต  วันเดือนปีเกิด หลังจากนั้นนำข้อมูลไปใช้เพื่อถอนเงินในบัญชี เพื่อความปลอดภัยเราควรตรวบสอบข้อมูลให้แน่ใจ ว่าบริษัทบริการเงินกู้นั้นได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจอย่างถูกต้องหรือไม่ สามารถตรวจสอบได้ที่ https://bit.ly/3rW26VF   (เว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศ) หากพลาดโอนเงินให้มิจฉาชีพสามารถแจ้งความได้ที่สถานีตำรวจในท้องที่ หรือติดต่อได้ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โทร.1599 กรมอนามัยเผยคนไทยบริโภคน้ำตาลสูงเสี่ยงโรค NCDs          นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากข้อมูลสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย พบว่าปัจจุบันคนไทยกินน้ำตาลมากถึงวันละ 25 ช้อนชา มากกว่าปริมาณที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดไว้ คือไม่เกินวันละ 6 ช้อนชา ซึ่งเพิ่มโอกาสเสี่ยงให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs มากยิ่งขึ้น         สอดคล้องกับข้อมูลการศึกษาเครื่องดื่มที่ไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ต่อพฤติกรรมการบริโภคของประชาชน โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ปี 2562 ที่ระบุว่า โดยเฉลี่ยคนไทยดื่มเครื่องดื่มผสมน้ำตาล 3 แก้วต่อวัน โดยเฉพาะเด็กอายุ 6-14 ปี ซึ่งคือกลุ่มที่ดื่มเครื่องดื่มผสมน้ำตาลเฉลี่ยต่อสัปดาห์มากที่สุด  ทั้งนี้เครื่องดื่มผสมน้ำตาลที่ขายทั่วไปนั้น พบว่ามีปริมาณน้ำตาลสูงถึง 9-19 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร แต่ปริมาณที่เหมาะสมจริงๆ แล้วคือไม่ควรมีน้ำตาลเกินกว่า 6 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร อย่างไรก็ตามการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินน้ำตาลของคนไทย สามารถเปลี่ยนได้ โดยเริ่มจากการลดการดื่มเครื่องดื่มผสมน้ำตาลมาเป็นดื่มน้ำเปล่า 6-8 แก้วต่อวันแทน  และขอความร่วมมือจากภาคเอกชน ร้านเครื่องดื่ม ร้านกาแฟที่มีการจำหน่ายเครื่องดื่มผสมน้ำตาล ขอให้ช่วยกันในการคิดค้นหาเครื่องดื่มสูตรหวานน้อยจำหน่ายในร้าน เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ประชาชนเลือกเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพ ลดเสี่ยงการเกิดโรคเรื้อรัง ผู้บริโภคต้องการยกเลิกจองทัวร์ท่องเที่ยว “สามารถขอเงินคืนได้”          วันที่ 14 เมษายน 2565 นางนฤมล เมฆบรสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิ์ผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้กล่าวว่า ช่วงเทศกาลสงกรานต์อาจมีผู้บริโภคที่จองทัวร์ท่องเที่ยวไว้ แต่ด้วยความที่ช่วงนี้สถานการณ์โควิด-19 มีแนวโน้มติดเชื้อสูงขึ้น ผู้บริโภคที่จองทัวร์สามารถใช้สิทธิของผู้บริโภคในการยกเลิกทัวร์ที่จองไว้ได้ ตามประกาศคณะกรรมการธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ เรื่อง หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการกำหนดอัตราการจ่ายเงินค่าบริการคืนให้แก่นักท่องเที่ยว พ.ศ. 2563 ในกรณีมีเหตุที่ทำให้นักท่องเที่ยวไม่สามารถเดินทางได้เฉพาะตัว ให้นักท่องเที่ยวแจ้งขอรับเงินค่าบริการคืนจากผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวต้องจ่ายเงินคืนในอัตรา ดังนี้  1. หากนักท่องเที่ยวแจ้งยกเลิกการเดินทางล่วงหน้าก่อน 30 วัน ให้คืนในอัตราร้อยละ 100 ของเงินค่าบริการ 2. ถ้านักท่องเที่ยวแจ้งยกเลิกการเดินทางล่วงหน้าก่อน 15 วัน ให้คืนในอัตราร้อยละ 50 ของเงินค่าบริการ 3. ถ้านักท่องเที่ยวแจ้งยกเลิกการเดินทางล่วงหน้าก่อนน้อยกว่า 15 วัน ไม่ต้องคืนเงินค่าบริการ กรณีมีเหตุให้ต้องยกเลิกนำเที่ยวตามที่ได้โฆษณาไว้ โดยไม่ใช่ความผิดผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว ให้ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวจ่ายค่าบริการคืนในอัตรา ร้อยละ 100 ขอเงินค่าบริการ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 252 ผศ.ศุภวัชร์ มาลานนท์: ทำความรู้จักกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลก่อนใช้จริง

พูดถึงข้อมูลส่วนบุคคล ถอยไปก่อนโซเชียลมิเดียและสมาร์ทโฟนถือกำเนิด มันเป็นสิ่งที่ประชาชนไม่ค่อยให้ความใส่ใจเพราะไม่ใช่สิ่งที่จะเข้าถึงได้ง่ายดายและข้อมูลที่จะโยงกับมาสู่ตัวเจ้าของก็ใช่ว่าจะมีมากมาย ตัดกลับมาปัจจุบัน ข้อมูลของเรากระจัดกระจายอยู่ทั่วไปในโลกออนไลน์ บ่อยครั้งที่ตัวเราเองเป็นผู้บอกให้โลกรับรู้         ข้อมูลกลายเป็นสิ่งมีค่าทางเศรษฐกิจ มันถูกซื้อขายได้ประหนึ่งสินค้า วันดีคืนดีเราอาจได้รับโทรศัพท์หรืออีเมล์จากองค์ธุรกิจเสนอขายสินค้าหรือบริการให้โดยที่ตัวเรายังงุนงงว่าเอาช่องทางติดต่อมาจากไหนกัน         เมื่อข้อมูลที่สามารถสืบสาวกลับเพื่อระบุอัตลักษณ์ตัวบุคคลเพิ่มปริมาณขึ้นอย่างมหาศาล ถูกนำไปใช้ประโยชน์โดยที่เจ้าตัวไม่ยินยอม กฎหมายจึงต้องวิวัฒน์ตามเพื่อปกป้องสิทธิของประชาชน พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 ที่ถูกเลื่อนแล้วเลื่อนอีกและกำลังจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 1 มิถุนายนนี้คือกฎหมายดังกล่าว เป็นกฎหมายที่มีขึ้นเพื่อรักษาสมดุลระหว่างสิทธิขั้นพื้นฐานในความเป็นส่วนตัวของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลกับประโยชน์ในทางเศรษฐกิจและสังคมจากการใช้ข้อมูลอย่างโปร่งใส เป็นธรรมและมีความรับผิดชอบ ในฐานะผู้บริโภคนี่จึงเป็นกฎหมายสำคัญที่ควรทำความเข้าใจเพื่อใช้ปกป้องสิทธิ         ‘ฉลาดซื้อ’ ฉบับนี้สนทนากับ ผ.ศ.ศุภวัชร์ มาลานนท์ จากบัณฑิตวิทยาลัยการจัดการและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี FIP, CIPM, CIPP/US, CIPP/E (GDPR), CIPP/A, EXIN/PECB Certified Data Protection Officer ว่าด้วยหลักการ แนวคิดของกฎหมาย และผู้บริโภคจะใช้ประโยชน์จากมันได้อย่างไร อะไรคือข้อมูลส่วนบุคคล ขอบเขตมันกว้างแค่ไหน         ในตัวพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลหรือที่เรามักจะเรียกกันว่า PDPA ในมาตรา 6 บอกไว้ว่า ข้อมูลส่วนบุคคล หมายความว่า ข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลธรรมดาซึ่งทำให้สามารถระบุตัวคนนั้นได้ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม แต่ไม่รวมถึงข้อมูลผู้ถึงแก่กรรมโดยเฉพาะ ที่กฎหมายไทยเขียนไว้แค่นี้คือการเขียนที่สอดคล้องกับ GDPR รวมถึงอีกหลายๆ ประเทศที่เอา GDPR ไปเขียนเป็นกฎหมาย เขียนแบบปลายเปิด นี่คือความยาก มันทำให้บทนิยามคำว่าข้อมูลส่วนบุคคลในทางการบังคับใช้มีต้นทุนสูง เพราะมันเป็นปลายเปิดมาก ๆ ถ้าเราไปดูของฝั่งสหภาพยุโรป ตัว GDPR เขาเขียนแบบนี้เหมือนกัน แต่เขามียกตัวอย่างไว้ด้วย เช่น ชื่อ-นามสกุล หมายเลขประจำตัว ข้อมูลสถานที่ สิ่งต่างๆ ที่ระบุอัตลักษณ์ไม่ว่าจะเป็นอีเมล์ของคุณ Username Password Cookie ID ข้อมูลอะไรก็แล้วแต่ที่ทำให้เชื่อมโยงมาแล้วบอกได้ว่าเป็นตัวคุณ         ยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้าเราดู PDPA มาตรา 26 ซึ่งเป็นเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลอ่อนไหว กฎหมายให้ตัวอย่างของ Identifier บางอย่างที่ใช้เชื่อมโยงหรือระบุตัวบุคคลได้ เช่น เชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ความคิดเห็นทางการเมือง ความเชื่อในลัทธิ ศาสนาหรือปรัชญา พฤติกรรมทางเพศ ประวัติอาชญากรรม ข้อมูลสุขภาพ ข้อมูลความพิการ ข้อมูลสหภาพแรงงาน ข้อมูลพันธุกรรม ข้อมูลชีวภาพ ซึ่งพวกนี้เป็น Sensitive Data ซึ่งกฎหมายคุ้มครองมากขึ้นเป็นพิเศษ ดังนั้นเวลาเราพูดถึงความหมายคำว่าข้อมูลส่วนบุคคล เราจะบอกว่าต้องดูจากบริบทการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล ดังนั้น เอาจริงๆ ข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลแทบทุกอย่างเป็นข้อมูลส่วนบุคคลได้หมดขึ้นอยู่กับบริบทการใช้งานว่าคุณเอามาใช้แล้วมันเชื่อมโยงไปยังบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่ถ้าข้อมูลที่เชื่อมโยงกลับมาไม่ได้ก็ไม่ใช่ข้อมูลส่วนบุคคล แต่ความสามารถในการ Linkable หรือ Identifiable มันเป็นเรื่องที่พูดยากในบริบทของกิจกรรมการประมวลผลที่มีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง อย่าง Cookie ID ออนไลน์แทร็คกิ้ง  Location Data ถามว่าเรารู้ไหมว่าเป็นใคร เราไม่รู้ แต่มี Operator รู้ มีหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย มีบางหน่วยงานที่สามารถ Identify ได้ เพราะฉะนั้นกฎหมายเลยบอกว่าข้อมูลอะไรก็แล้วแต่ที่เชื่อมโยงกลับไปได้ว่าหมายถึงใคร เป็นข้อมูลส่วนบุคคลทั้งสิ้น         ผมต้องบอกด้วยว่ากฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลใช้บังคับกับผู้ควบคุมของข้อมูลส่วนบุคคลและผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลทุก ๆ ประเภท ทุก ๆ ธุรกิจ เว้นแต่บางกิจการหรือกิจกรรมที่กฎหมายอาจจะยกเว้นให้ ดังนั้น บริบทมันกว้างกว่า Operator ความหมายของผมก็คือทุกหน่วยงานทุกองค์กรที่เก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลมีโอกาสเป็นผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลทั้งสิ้น         ในบริบทระหว่างผู้รับบริการหรือผู้บริโภคกับผู้ให้บริการ ผู้ให้บริการคือผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล (Data Controller) ดังนั้น ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลจึงหมายถึงผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ ผู้ให้บริการโทรศัพท์บ้าน ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต  ธนาคารพานิชย์ บริษัทประกันภัย อี-คอมเมิร์ส ทุกผู้ประกอบการมีการใช้ข้อมูลของผู้บริโภค เขาจึงมีหน้าที่ตามกฎหมาย หน่วยงานรัฐถือเป็นผู้ควบคุมด้วยหรือไม่         PDPA ไม่ได้แยกระหว่างหน่วยงานรัฐกับหน่วยงานเอกชน องค์กรใดๆ ก็ตามที่เข้าเงื่อนไขตามที่กฎหมายกำหนดว่าเป็นผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลต้องปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้ แต่มีข้อยกเว้นหลักๆ อยู่ 2 ข้อ หนึ่ง คุณได้รับการยกเว้นโดยกิจการ สอง คุณได้รับยกเว้นโดยองค์กรของคุณ มีหน่วยงานรัฐบางองค์กรหรือหน่วยงานเอกชนบางกิจการที่ได้อาจได้รับการยกเว้น อาทิถ้าเป็น กิจการสื่อสารมวลชน ไม่ว่าจะเป็นรัฐหรือเอกชน คุณได้รับการยกเว้นกฎหมายฉบับนี้เฉพาะในส่วนการทำหน้าที่ของสื่อสารมวลชนภายใต้กรอบจริยธรรมตามวิชาชีพ เพราะนี่คือการรักษาสมดุลระหว่าง 2 เรื่อง ประการแรก คือหน้าที่ของสื่อมวลชนซึ่งมีหน้าที่เปิดเผยความจริง เป็น Freedom of Expression คือหลักการที่รัฐธรรมนูญรับรอง การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนจะทำไม่ได้เลยถ้าไม่ใช้ข้อมูลส่วนบุคคล คุณเอาข้อมูลของคนมาเปิดเผยไม่ได้หรือมีข้อจำกัดในการใช้ข้อมูล ปัญหาจะเกิดทันทีเพราะว่าคุณไม่สามารถนำเสนอข่าวสารเพื่อการตัดสินใจของประชาชนได้ หรือหน่วยงานด้านความมั่นคง สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา กรรมาธิการต่างๆ ก็เป็นเรื่องที่กฎหมายยกเว้นให้แต่ถ้ากฎหมายไม่ได้เขียนยกเว้น ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4 องค์กรใดๆ ก็แล้วแต่ที่เข้าบทนิยามคำว่า ‘ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล’ หรือ ‘ผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล’ คุณมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม PDPA         คราวนี้ในกฎหมายคำว่า ‘ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล’ หมายถึงอะไร มันหมายความว่า บุคคลหรือนิติบุคคลที่มีอำนาจหน้าที่ตัดสินใจเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล คำว่าเก็บรวบรวมใช้ เปิดเผย ในทางปฏิบัติเราใช้คำรวม ๆ ว่า ‘การประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล’ ดังนั้น หน่วยงานรัฐที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล ถ้าไม่ใช่องค์กรที่กฎหมายยกเว้นให้ ก็มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายเช่นเดียวกับองค์กรเอกชน  เพียงแต่เงื่อนไขการประมวลผลและฐานทางกฎหมายที่ใช้อาจมีความแตกต่างกัน ในฐานะผู้ใช้หรือผู้บริโภค มีบทบาทหน้าที่อะไรบ้างที่จะปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของเราเอง?         PDPA เป็นกฎหมายที่ว่าด้วยสิทธิ คุณหรือผมในฐานะเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลเป็นคนที่กฎหมายให้สิทธิ PDPA เป็นกฎหมายที่กำหนดว่าเรามีสิทธิอะไรบ้าง แต่ไม่มีหน้าที่ของเราเลย ตัวกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ไม่ได้ว่าด้วยหน้าที่ของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล กฎหมายกำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบไว้กับคนที่เอาข้อมูลเราไปใช้ ซึ่งก็คือผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลหรือผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล คิดง่าย ๆ ก็คือผู้ให้บริการทั้งหลาย ภาคธุรกิจที่เอาข้อมูลเราไปใช้ประโยชน์ทั้งหมดนั่นแหละที่มีหน้าที่ตามกฎหมาย         หน้าที่ของเขา ผมขอใช้คำหนึ่ง เรียกว่า Responsible Use การใช้ข้อมูลอย่างมีความรับผิดชอบ เขาต้องมีสิ่งที่เรียกว่า Accountability มีหน้าที่ความรับผิดชอบตามกฎหมายที่ต้องปฏิบัติตาม เช่นมีหน้าที่จัดให้มีมาตรการด้านความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลที่เหมาะสม มีหน้าที่ที่ต้องใช้ข้อมูลตามวัตถุประสงค์ที่จำกัด และชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีการใช้ข้อมูลนอกวัตถุประสงค์ที่เขาแจ้งเราไว้ เป็นต้น           ถามว่าในแง่ของผู้บริโภคเราในฐานะผู้ใช้บริการควรจะมีส่วนร่วมยังไงบ้างในการปกป้องดูแลข้อมูลส่วนบุคคล ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศที่เกี่ยวข้องก็อาจมีความจำเป็น ตัวอย่างเช่นการตั้ง Password การปกป้องตัวเองในโลกออนไลน์ ไม่ให้คนมาเอาข้อมูลของเราไปโดยมิชอบ อันนี้เป็นเรื่องที่เราดูแลตัวเราเอง แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้ประกอบการหรือคนที่เอาข้อมูลเราไปใช้ไม่มีหน้าที่         การใช้ข้อมูลต้องถูกต้องตามวัตถุประสงค์ ตัวอย่างเช่นเราใช้บริการโทรศัพท์มือถือ ผู้ให้บริการสามารถใช้ข้อมูลที่เกี่ยวกับตัวเราและสัญญาให้บริการติดต่อเรา ส่งใบแจ้งหนี้ ใช้ที่อยู่เรา โทรหาเรา SMS ถึงเรา เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับสัญญาให้บริการโทรศัพท์มือถือ อันนี้คือสิ่งที่ทำได้ตามกฎหมาย ตามวัตถุประสงค์ของสัญญา แต่สิ่งที่ทำไม่ได้หรือถ้าจะทำคุณต้องมีขั้นตอนเพิ่มเติม สมมติว่าค่ายมือถือเพิ่มธุรกิจให้บริการอินเตอร์เน็ตบ้านความเร็วสูง ถามว่าเขาจะเอาลูกค้ามาจากไหน ง่ายสุดก็ลูกค้าเดิม มีชื่อ มีนามสกุล มีที่อยู่ มีเบอร์โทรทุกอย่างแล้ว การที่จะเอาข้อมูลส่วนบุคคลที่อยู่ในกลุ่มสัญญานี้มาใช้กับตลาดใหม่ของเขา จะทำได้ก็ต่อเมื่อขอความยินยอมจากเราใหม่แยกต่างหากจากสัญญาหลัก เพราะนี่คือการเปลี่ยนจากวัตถุประสงค์เดิม ข้อมูลใช้ได้ แลกเปลี่ยนได้ เพียงแต่คุณมีหน้าที่ต้องโปร่งใส เป็นธรรมกับข้อมูลส่วนบุคคล โปร่งใสคือเอาไปทำอะไรต้องบอก เป็นธรรมแจ้งให้เราทราบด้วย แล้วก็ใช้ภายใต้เงื่อนไขที่เราอนุญาต เวลาผู้บริโภคสมัครใช้แอพลิเคชันของธนาคาร จะมีข้อความยาวๆ ขึ้นมาให้กดยินยอม ซึ่งผู้บริโภคส่วนใหญ่น่าจะไม่ได้อ่าน แต่ถ้าไม่กดยินยอมก็ใช้แอพฯ ไม่ได้ กฎหมายพูดถึงประเด็นนี้อย่างไรบ้าง         อาจมี 2 เรื่อง เวลาที่เรากดรับความยินยอม กรณี Application ต้องแยกให้ออกว่ามันคือความยินยอมในแง่การเข้าทำสัญญา คือ Terms and Conditions หรือเงื่อนไขการเข้าใช้บริการ คือเรายินยอมเพื่อเข้าทำสัญญาการใช้ Application นั้น เราเคยได้ยินเรื่องสัญญาไม่เป็นธรรม หรือสัญญาสำเร็จรูป คือ สัญญาที่ผู้ประกอบการเป็นผู้กำหนดแต่ฝ่ายเดียว ผู้บริโภคทำได้แค่เซ็นหรือไม่เซ็น อันนั้นมาในรูปของ Terms and Conditions ของสัญญาหรือบางกรณีก็พ่วงมากับการขอความยินยอมในการใช้ข้อมูลด้วยซึ่งจะกลายเป็นสัญญาพ่วงแบบ Consent ซึ่งหลักการนี้ค่อนข้างมีปัญหาอยู่ ถ้าเป็นฝั่ง GDPR ‘ความยินยอม’ กับ ‘สัญญา’ คุณต้องแยกออกจากกันให้ชัดเจน ถ้าเป็นการตกลงให้ความยินยอมเพื่อเข้าทำสัญญา มันไม่ใช่เรื่องความยินยอมในการใช้ข้อมูล มันคือเรื่องสัญญา แต่ถ้าคุณจะขอความยินยอมในการใช้ข้อมูลก็เป็นเรื่องความยินยอมตาม PDPA มันคนละวงเล็บกันตามกฎหมายเลย มันคือคนละฐานในการประมวลผล ปัจจุบันข้อมูลส่วนบุคคลถูกองค์กรธุรกิจนำไปใช้ประโยชน์ ซื้อขายต่อ และกลายเป็นปัญหารบกวน ถ้ากฎหมายฉบับนี้บังคับใช้ ผู้บริโภคจะสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อปกป้องสิทธิของตน         ผมเชื่อว่าพอกฎหมายฉบับนี้ใช้บังคับจริง ๆ พวก Direct Marketing จะเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบในแง่ที่ว่า การทำงานจะต้องมีขั้นตอนกระบวนการมากขึ้น อย่างทุกวันนี้เวลาใครโทรมาขายของกับผม ผมจะถามว่าคุณเอาข้อมูลผมมาจากไหน สอง ผมจะบอกว่าผมไม่สนใจสินค้าและบริการนี้ กรุณาถอดรายชื่อผมออกจากบัญชีลูกค้าหรือบัญชีคนที่คุณจะติดต่อ อันนี้คือวิธีการที่ผมตอบไปกับคนที่โทรมาขายของ         แต่ถ้ากฎหมาย PDPA ใช้บังคับ หลักการประมวลผลต้องมีฐานทางกฎหมาย คนที่โทรมาต้องตอบได้ว่าเขามีสิทธิอะไรถึงเอาข้อมูลเรามาใช้ เราตั้งคำถามได้ทันทีเลยว่าเอาข้อมูลของเรามาจากไหน ทุกวันนี้ธนาคารกับค่ายมือถือเขาใส่ใจเรื่องนี้อยู่แล้ว เพราะรู้แล้วว่าการทำ Direct Marketing มีข้อจำกัด เขาจะทำอย่างระมัดระวัง คราวนี้ก็ยังอาจจะมีผู้ประกอบการอีกจำนวนหนึ่งซึ่งอาจจะยังไม่รับรู้หรือตระหนักมากนัก และอาจจะต้องให้เวลาเพื่อสร้างการรับรู้ให้กับภาคธุรกิจบางส่วน         หรือ ณ ขณะนี้ก็อาจมีความเป็นไปได้ว่าภาคธุรกิจบางส่วนเองก็รับรู้แล้ว แต่ด้วยความที่กฎหมายยังไม่ใช้บังคับทั้งฉบับ ขาดผู้กำกับดูแลที่จะบังคับใช้กฎหมายในช่วงที่ผ่านมา ต้องบอกว่าเป็นช่วงเก็บเกี่ยวและโกยข้อมูล แต่ทันทีที่กฎหมายใช้บังคับเต็มรูปแบบ ทุกองค์กรต้องตอบได้ว่าเอาข้อมูลมาจากไหน ผู้บริโภคมีสิทธิตั้งคำถามกับคนที่โทรมาว่าคุณเอาข้อมูลมาจากไหน อย่างไร และถ้าคุณไม่พอใจให้เขาติดต่อมาอีก ก็บอกว่าขอให้ยุติการประมวลผล หรือขอให้ลบข้อมูลของคุณเสีย นี่เป็นสิทธิของผู้บริโภคเช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 214 ความเคลื่อนไหวเดือนธันวาคม 2561

ศาลยกฟ้อง คดีมาสด้าฟ้องลูกค้ากว่า 84 ล้านบาทกรณี บจก.มาสด้า เซลล์ (ประเทศไทย) ฟ้องเรียกค่าเสียหายลูกค้ากว่า 84 ล้านบาท เมื่อต้นปี 2561 เหตุผู้ใช้รถมาสด้า 2 เครื่องยนต์ดีเซลที่พบปัญหาการใช้งานและออกมาเรียกร้องความรับผิดชอบจากบริษัท โดยบริษัทมาสด้าให้เหตุผลการฟ้องคดีว่า ผู้เสียหายใช้สิทธิเกินส่วนที่ผู้บริโภคควรใช้ ส่งผลต่อภาพลักษณ์ ชื่อเสียง และทำให้ยอดขายของบริษัทลดลงนั้น         เมื่อวันที่ 28 พ.ย.61  ศาลได้มีคำพิพากษายกฟ้องคดี  ชี้ว่าการออกมาเรียกร้องความรับผิดชอบของผู้เสียหาย เป็นการปกป้องสิทธิตามสิทธิผู้บริโภคโดยสุจริต เพราะรถมีความบกพร่องจริง และผู้เสียหายได้สอบถามไปยังผู้ผลิตแต่ไม่ได้รับคำตอบ จึงมีสิทธิเรียกร้องทวงถาม ซึ่งไม่ถือเป็นการใช้สิทธิเกินส่วนตามที่บริษัทอ้าง ด้าน นายภัทรกร ทีปบุญรัตน์ ผู้เสียหายที่ถูกฟ้อง ได้กล่าวฝากถึงผู้บริโภคทุกคนให้ตระหนักถึงสิทธิที่ตัวเองมีตามกฎหมาย และเมื่อเกิดความเสียหายก็ต้องได้รับการชดเชยเยียวยา3 โรค 1 ภัยสุขภาพสำคัญที่ต้องเฝ้าระวังในปี 2562นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค  กล่าวว่า ภัยสุขภาพที่สำคัญในปี 2562 แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ การพยากรณ์โรคติดต่อ และการพยากรณ์โรคไม่ติดต่อและภัยสุขภาพ ดังนี้ โรคติดต่อที่สำคัญในปี 2562 มี 3 โรค ได้แก่ ไข้หวัดใหญ่ โรคหัด และไข้เลือดออก ซึ่งไข้หวัดใหญ่คาดว่าจะมีผู้ป่วยสูงเกือบ 1.8 แสนราย ขอให้ประชาชนใช้มาตรการ “ปิด ล้าง เลี่ยง หยุด” ป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ปิด คือ ปิดปาก ปิดจมูก เมื่อไอ จาม ล้าง คือ ล้างมือบ่อยๆ เมื่อสัมผัสสิ่งของ เลี่ยง คือ หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย และ หยุด คือ เมื่อป่วยควรหยุดเรียน หยุดงาน หยุดกิจกรรมในสถานที่แออัดส่วนโรคหัด เป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน ผู้ปกครองควรพาเด็กเล็กไปรับวัคซีนรวมป้องกันโรคหัด-คางทูม-หัดเยอรมัน จำนวน 2 เข็ม เข็มแรกเมื่อเด็กอายุ 9 เดือน และเข็มที่สองเมื่ออายุ 2 ปีครึ่งกรณีโรคไข้เลือดออก ต้องร่วมกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โรคไม่ติดต่อและภัยสุขภาพ มี 1 เรื่อง คือ การบาดเจ็บจากการจราจรทางถนน เนื่องจากทุกปีประเทศไทยจะพบอุบัติเหตุจากการจราจรเกิดขึ้นจำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลต่างๆ จึงขอแนะนำให้ประชาชนปฏิบัติตามกฎจราจร ไม่ขับรถเร็ว ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สวมหมวกนิรภัย ผู้ขับขี่รถยนต์ใช้เข็มขัดนิรภัยทุกครั้ง หากดื่มสุราแล้วไม่ควรขับรถ และง่วงต้องไม่ขับ ‘ออมสิน’ ชะลอฟ้อง - งดบังคับคดี ตุ๊กตุ๊ก โครงการสามล้อเอื้ออาทรเมื่อวันที่ 27 พ.ย.61 นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พร้อมผู้เสียหายจากการกู้สินเชื่อเพื่อซื้อสามล้อ ในโครงการสามล้อเอื้ออาทร กว่า 150 ราย เดินทางไปยังธนาคารออมสินสำนักงานใหญ่ เพื่อเรียกร้องให้ถอนฟ้องคดีผู้เสียหายทุกรายที่ทำสัญญากู้ยืมเงินในลักษณะเดียวกัน และขอให้งดการบังคับคดีเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงของโครงการสินเชื่อดังกล่าวนายประเสริฐ กองจันทร์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการธนาคารออมสิน สายงานบริหารหนี้และกฎหมาย กลุ่มปฏิบัติงาน ได้ตอบรับข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้เสียหาย โดยจะยื่นขอให้ศาลจำหน่ายคดีไว้ชั่วคราว และงดการบังคับคดี และได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนเจ้าหน้าที่ของธนาคารฯ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการสามล้อเอื้ออาทร ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 45 วัน โดยได้นัดให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและกลุ่มผู้เสียหาย มารับฟังคำตอบอีกครั้งในวันที่ 15 ม.ค.6213 เม.ย. 62 รพ.เอกชนยอมกางบัญชี "ราคายา-ค่ารักษา" ขึ้นเว็บไซต์          กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับโรงพยาบาลเอกชนกว่า 100 แห่งเตรียมเผยแพร่ราคายา-ค่ารักษาบนเว็บไซต์ รพ.และเว็บไซต์กลาง ในวันที่ 13 เม.ย. 2562 เพื่อให้ประชาชนได้เปรียบเทียบราคาก่อนตัดสินใจใช้บริการ พร้อมชี้ว่า รพ.เอกชนเผยแพร่ข้อมูลเรื่องราคาได้ แต่คงบังคับให้ลดราคาไม่ได้ เนื่องจากต้นทุนแต่ละแห่งไม่เท่ากัน สำหรับข้อมูลที่นำมาเผยแพร่จะต้องง่ายต่อความเข้าใจของประชาชน ไม่ใช่เป็นข้อความทางเทคนิค ซึ่งยาที่จะประกาศราคานั้น เบื้องต้น จะมีประมาณ 1,000 รายการ จากทั้งหมดกว่า 5,000 รายการ หวังเพื่อให้ประชาชนรับทราบราคายาและค่ารักษาและเกิดการเปรียบเทียบ ทำให้โรงพยาบาลเอกชนไม่กล้าคิดราคายาและค่ารักษาที่แพงเกินความเหมาะสม ยื่นฟ้อง ไทยพาณิชย์ เหตุคนร้ายโจรกรรมเงินฝากผ่านแอพฯ กว่า 2 ล้านบาทเมื่อ 15 พ.ย.61 นายเฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มพบ. และ น.ส.ธนิตา จิราพณิช อาชีพนักแสดงอิสระ ซึ่งเป็นผู้เสียหายสูญเงินกว่า 2 ล้านบาท จากการถูกโจรกรรมข้อมูลและเงินในบัญชีเงินฝาก เดินทางไปยื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง รัชดาฯ โดยผู้เสียหายได้ยื่นฟ้อง ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด มหาชน (จำเลยที่ 1) และ บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด (จำเลยที่ 2)        กรณีนี้ คนร้ายได้หลอกลวงเอาข้อมูลของผู้เสียหาย ได้แก่ หมายเลขบัตรประชาชน เลขบัญชีธนาคาร เพื่อใช้สมัครอินเทอร์เน็ตแบงค์กิ้งบนมือถือของคนร้าย และโจรกรรมเงินฝากในบัญชีออมทรัพย์ กองทุนเปิด SCBFP กองทุนเปิด WINR และกองทุนตราสารหนี้ที่ผู้เสียหายเปิดบัญชีไว้กับธนาคารไทยพาณิชย์ และบริษัท หลักทรัพย์จัดการรองทุน ไทยพาณิชย์ ติดต่อกันเป็นระยะเวลา 8 วัน ตั้งแต่ 27 ธ.ค.60 - 4 ม.ค.61 รวมกว่า 50 ครั้ง นับรวมความเสียหายกว่า 2 ล้านบาท ซึ่งเมื่อผู้เสียหายทราบเรื่องก็ได้ติดตามทวงถามให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหาย แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ จึงตัดสินใจยื่นฟ้องศาล โดย นายเฉลิมพงษ์ ให้ความเห็นว่า จำเลยไม่ได้ปฏิบัติตามที่กฎหมายและประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด ให้เป็นไปอย่างครบถ้วนถูกต้อง ทั้งการตรวจสอบสิทธิในการเข้าถึงระบบสารสนเทศ การติดตามแจ้งเตือน การแจ้งข้อมูลการทำธุรกรรมไม่มีมาตรฐาน จนทำให้คนร้ายสามารถทำการโจรกรรมเงินในบัญชีและกองทุนของผู้เสียหายได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 201 ออกกำลังกายกับแอพพลิเคชั่นนับก้าวเดิน

ข่าวการวิ่งรับบริจาคของ “ตูน บอดี้สแลม” ถูกจับตามองจากประชาชนทั้งประเทศ อีกทั้งการชักชวนให้ออกกำลังกายโดยการวิ่งก็เริ่มเป็นกระแสที่โด่งดังอีกครั้ง และกระแสดังกล่าวได้เป็นแรงกระตุ้นจนทำให้มีผู้คนหลายฝ่ายหันมาให้ความสนใจกับการวิ่งออกกำลังกายกันมากขึ้น  การวิ่งถือว่าเป็นการออกกำลังกายวิธีหนึ่ง ซึ่งส่งผลดีในหลายด้าน ได้แก่ ช่วยเบิร์นไขมันส่วนเกินออกจากร่างกาย เพิ่มกล้ามเนื้อ เพิ่มความแข็งแกร่ง สร้างภูมิคุ้มกัน ลดความเครียด ลดความวิตกกังวล และเป็นวิธีที่ช่วยฝึกฝนสมาธิอีกวิธีหนึ่ง หลายคนที่กำลังอยากจะออกกำลังกายโดยการวิ่ง แต่ร่างกายไม่พร้อมอาจหันมาให้ความสนใจในเรื่องการเดินเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงได้เช่นกัน เพราะการเดินก็เป็นรูปแบบหนึ่งของการออกกำลัง ลองเริ่มต้นจากการใช้แอพพลิเคชั่นที่ช่วยคำนวณการเคลื่อนไหวของร่างกายเป็นจุดเริ่มต้น โดยขอแนะนำแอพพลิเคชั่น “Moves” และแอพพลิเคชั่น “StepsApp” ซึ่งแอพพลิเคชั่นทั้งสองมีความคล้ายคลึงกันในการใช้งาน นั่นคือ ช่วยในการนับก้าวเดินในแต่ละวัน แต่มีรายละเอียดที่ความแตกต่างกันบางส่วน แอพพลิเคชั่น “Moves” นอกจากจะช่วยนับก้าวเดินในแต่ละวันแล้ว ยังสามารถช่วยนับก้าวขณะวิ่งได้ด้วย และเป็นแอพพลิเคชั่นที่สามารถบอกระยะทางเป็นเส้นทางการเดินทางในแต่ละวันได้ว่า เริ่มการใช้แอพพลิชั่นจากสถานที่ใดในช่วงเวลาใด ใช้เส้นทางใด และเดินทั้งหมดกี่ก้าว กี่กิโลเมตร หรือช่วงเวลาใดเดินทางด้วยรถ ซึ่งผู้ใช้แอพพลิเคชั่นสามารถเปิดดูเส้นทางที่มีลักษณะเป็นแผนที่ย้อนหลังได้ และยังสามารถคำนวณการเบิร์นแคลอรี่ สำหรับแอพพลิเคชั่น “StepsApp” มีความแตกต่างกับแอพพลิเคชั่น “Moves” โดย “StepsApp” จะสามารถตั้งเป้าหมายที่ผู้ใช้แอพพลิเคชั่นต้องการให้เป็นไปในแต่ละวัน ตั้งแต่จำนวนก้าวในการเดิน จำนวนปริมาณการเบิร์นแคลอรี่ ระยะทางเป็นกิโลเมตร และการระบุเวลาในการเดินทั้งหมด นอกจากนี้ยังสามารถเก็บเป็นสถิติเป็นสัปดาห์ เป็นเดือน เพื่อนำมาเปรียบเทียบกันได้ ถ้ามีการตั้งเป้าหมายเรียบร้อยแล้ว ภายในหน้าแอพพลิเคชั่น “StepsApp” จะมีสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นว่าครบตามเป้าหมายที่ตั้งไว้หรือไม่ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ผู้ใช้แอพพลิเคชั่นเดินเพื่อออกกำลังกายให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ได้วางไว้ทั้งแอพพลิเคชั่น “Moves” และแอพพลิเคชั่น “StepsApp” มีความแตกต่างกันเล็กน้อย ซึ่งการเลือกดาวน์โหลดลงมาใช้งานบนสมาร์ทโฟน ก็ต้องขึ้นอยู่กับจุดมุ่งหมายของผู้ใช้ว่าต้องการเลือกแบบใด เพราะการเลือกแอพพลิเคชั่นใดนั้นก็ขึ้นอยู่กับความชอบของผู้ใช้เป็นหลักแต่ถ้าชอบทั้งคู่ ก็ดาวน์โหลดเก็บไว้ทั้ง “Moves” และ “StepsApp” เลยล่ะกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 194 ZogZag กินเที่ยวนอนด้วยแอพพลิเคชั่นเดียว

ฉบับนี้ผู้เขียนขอพาเดินทางไปยังสถานีที่ท่องเที่ยวต่างๆ ด้วยแอพพลิเคชั่นทีให้บริการอย่างครบวงจร ซึ่งได้รวบรวมร้านอาหาร โรงแรม และสถานที่ท่องเที่ยวไว้ในแอพพลิเคชั่นเดียวกัน โดยสามารถค้นหาสถานที่ท่องเที่ยวในบริเวณใกล้เคียงจากจุดที่ยืนอยู่ได้ รวมทั้งสามารถค้นหาสิ่งที่รวบรวมไว้ได้ทั้งประเทศ มารู้จักแอพพลิเคชั่นนี้กันดีกว่า แอพพลิเคชั่นนี้มีชื่อว่า ZogZag77 สิ่งแรกแอพพลิเคชั่นนี้จะให้เข้าสู่ระบบ โดยสามารถเลือกเข้าระบบโดยผ่านเฟสบุ๊คได้เลยหรือจะไม่เข้าสู่ระบบก็ได้ ภายในแอพพลิเคชั่นจะมีภาพแบ่งเป็นหมวดหมู่ ดังนี้ สถานที่ท่องเที่ยวใกล้คุณ ร้านอาหาร โรงแรมที่พัก โปรโมชั่นส่วนลด ของฝาก ซอกแซกพาเที่ยว วางแผนประกันภัยการเดินทาง ค้นหาตามภาค และเบอร์โทรฉุกเฉิน ทั้งนี้ขอพูดถึงแค่หมวด สถานที่ท่องเที่ยวใกล้คุณ ร้านอาหาร โรงแรมที่พัก ซอกแซกพาเที่ยว ค้นหาตามภาค และเบอร์โทรฉุกเฉิน นะคะ สถานที่ท่องเที่ยวใกล้คุณ ร้านอาหาร และโรงแรมที่พัก จะเป็นหมวดที่มีความเชื่อมต่อกันระหว่างข้อมูล เพราะเมื่อเข้าไปในหมวดนี้แอพพลิเคชั่นจะค้นหาร้านอาหาร โรงแรม และสถานที่ท่องเที่ยวบริเวณใกล้เคียงให้ทราบ โดยจะบอกระยะทาง รายละเอียดพิกัด เบอร์โทรติดต่อ เวลาเปิดปิดทำการ และสามารถเชื่อมต่อกับแผนที่ของ google map ได้ด้วย แต่ผู้อ่านต้องมีการเปิดแชร์สถานที่บนสมาร์ทโฟนให้เรียบร้อยเสียก่อน แต่ถ้าผู้อ่านต้องการค้นหาสถานที่ท่องเที่ยว ร้านอาหาร และโรงแรมที่พักในจังหวัดอื่นๆ แนะนำให้ไปที่หมวดค้นหาตามภาค ซึ่งแอพพลิเคชั่นจะแบ่งเป็นภาคภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก หลังจากนั้นผู้อ่านสามารถเลือกจังหวัดที่ต้องการค้นหาได้ มาถึงหมวดของซอกแซกพาเที่ยว โดยแบ่งเป็นหมวดย่อย ดังนี้ เส้นทางแนะนำ เที่ยวตามใจ ททท. และแซ่บแซ่บ เริ่มจากเส้นทางแนะนำนั้นเป็นการแนะนำ เส้นทางการเดินทางสถานที่ท่องเที่ยวจากจังหวัดหนึ่งไปยังอีกจังหวัดหนึ่งโดยมีแผนที่และรายละเอียดของสถานที่ท่องเที่ยวเหล่านั้น ในส่วนของเที่ยวตามใจจะเป็นการแบ่งประเภทการท่องเที่ยวออกเป็นทะเล ภูเขา มรดกโลก ร้านอาหารอร่อย และสถานที่ท่องเที่ยวช่วงกลางคืน  หมวด ททท. จะแบ่งสถานที่ท่องเที่ยวตามเดือนว่าในแต่ละเดือนนั้นจะมีประเพณีใดบ้าง สถานที่ใด และจังหวัดใด สุดท้ายแซ่บแซ่บ จะเน้นคนที่ชอบเดินทางค้นหาร้านอาหารที่อร่อยตามเส้นทางท่องเที่ยวในแต่ละจังหวัด  ท้ายสุดเบอร์โทรฉุกเฉินของแอพพลิเคชั่นจะรวมทุกเบอร์โทรตั้งแต่หน่วยงานรัฐบาล เบอร์โรงพยาบาล เบอร์ธนาคาร เบอร์การขนส่งต่างๆ เบอร์น้ำไฟ เบอร์วิทยุเกี่ยวกับการจราจร เบอร์แหล่งสอบถามข้อมูลต่างๆ และเบอร์สายด่วน เหตุด่วน ฉุกเฉิน โดยสามารถเลือกจังหวัดที่ต้องการค้นหาเบอร์ต่างๆ ได้อีกด้วย ใครไม่ได้ค้นหาข้อมูลก่อนออกเดินทางลองดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นนี้มาก็น่าช่วยให้พร้อมที่จะออกเดินทางได้ทันที

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 190 สำรวจเส้นทางก่อนออกเดินทางกับ “iTIC”

เดือนธันวาคมเป็นเดือนแห่งการเดินทางท่องเที่ยว เชื่อว่าหลายคนคงเตรียมวางแผนหาแหล่งท่องเที่ยวในช่วงหยุดปีใหม่นี้เรียบร้อยแล้ว แต่ในช่วงหยุดยาวแบบนี้ สิ่งหนึ่งที่น่าเป็นห่วงคือเรื่องการเดินทาง การวางแผนเส้นทางการเดินทางเพื่อไปแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ จึงมีความสำคัญเช่นกัน ถ้ามีปัญหาในเส้นทางการจราจรก็คงทำให้ทริปการท่องเที่ยวไม่สนุกนัก ผู้เขียนได้เจอแอพพลิเคชั่นหนึ่งที่น่าสนใจในการให้ข้อมูลเส้นทางการเดินทางบนท้องถนนในประเทศไทย จัดทำโดยกรมการขนส่งทางบก และกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน แอพพลิเคชั่นนี้มีชื่อว่า “iTIC” เมื่อเข้าไปในแอพพลิเคชั่นจะปรากฏภาพแผนที่และเส้นทางการจราจร โดยบริเวณมุมบนขวามือจะมีสัญลักษณ์ 4 อัน ได้แก่ สัญลักษณ์รูปคน สัญลักษณ์รูปกล้อง สัญลักษณ์รูปกรวยจราจร และสัญลักษณ์รูปไฟจราจร โดยแต่ละสัญลักษณ์จะมีรูปแบบการบอกรายละเอียดที่แตกต่างกันไปสัญลักษณ์รูปคน จะเป็นปุ่มสำหรับรายงานเหตุการณ์หรือสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนท้องถนน ว่าบริเวณใดมีอุบัติเหตุ มีการก่อสร้าง หรือมีปัญหาใดเกิดขึ้นสัญลักษณ์รูปกล้อง จะเป็นปุ่มที่จะแสดงสัญลักษณ์บนแผนที่ เพื่อบอกว่าจุดใดมีกล้องบ้าง นอกจากนี้ผู้ใช้แอพพลิเคชั่นยังสามารถกดเข้าไปดูภาพของกล้องเพื่อให้ทราบสภาพการจราจรบนถนนบริเวณนั้นในเวลานั้นได้ทันทีสัญลักษณ์รูปกรวยจราจร จะเป็นปุ่มที่แสดงให้เห็นถึงการรายงานอุบัติเหตุ บริเวณสิ่งก่อสร้าง หรือปัญหาต่างๆ โดยสัญลักษณ์จะแตกต่างกันออกไปตามที่มีผู้รายงานเข้ามายังแอพพลิเคชั่นนี้ รวมถึงข้อมูลจากทางผู้จัดทำแอพพลิเคชั่นเอง อย่างเช่น รูปเครื่องอัศเจรีย์(เครื่องหมายตกใจ) รูปคนกำลังก่อสร้าง รูปรถเสีย เป็นต้น ซึ่งผู้ใช้แอพพลิเคชั่นสามารถกดเข้าไปดูรายละเอียดที่เกิดขึ้นได้สัญลักษณ์สุดท้ายคือ สัญลักษณ์รูปไฟจราจร เป็นการแสดงให้เห็นสภาพการจราจรบนท้องถนนตามเส้นทางต่างๆ ว่ามีสภาพการจราจรที่คล่องตัวหรือติดขัดมากเพียงใด โดยแอพพลิเคชั่นจะใช้สีในการแบ่งสภาพการจราจร อย่างเช่น สีเขียว สีส้ม และสีแดงอย่าลืมสำรวจเส้นทางและสภาพการจราจรก่อนออกเดินทางไปท่องเที่ยวกันนะคะ จะได้เที่ยวอย่างมีความสุข และไม่สะดุดกับการเดินทาง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 189 สุขพอที่พ่อสอน

“...การใช้จ่ายอย่างประหยัดนั้น จะเป็นหลักประกันความสมบูรณ์พูนสุขของผู้ประหยัดเองและครอบครัว ช่วยป้องกันความขาดแคลนในวันข้างหน้า การประหยัดดังกล่าวนี้จะมีผลดีไม่เฉพาะผู้ที่ประหยัดเท่านั้น ยังเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติด้วย...”“...ความพอเพียงนี้ ก็แปลว่า ความพอประมาณและความมีเหตุผล พอเพียงนี้อาจจะมีมาก อาจจะมีของหรูหราก็ได้ แต่ว่าต้องไม่ไปเบียดเบียนผู้อื่น ต้องให้พอประมาณตามอัตภาพ...”พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เหล่านี้ เป็นส่วนหนึ่งที่ผู้เขียนตั้งใจจะนำมาบอกต่อผู้อ่านให้รู้และน้อมนำไปปฏิบัติใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อนำมาเป็นคติเตือนใจให้มีความพอดีและเพียงพอนอกจากพระราชดำรัสที่ยกมาบางส่วนนี้แล้ว ผู้อ่านสามารถเข้าถึงพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทที่คัดตัดตอนมาเผยแพร่ลงในแอพพลิเคชั่นที่มีชื่อว่า “สุขพอที่พ่อสอน”แอพพลิเคชั่น “สุขพอที่พ่อสอน” นี้ เกิดขึ้นจากสำนักราชเลขาธิการ ร่วมกับ สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เชิญพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทมาเผยแพร่ โดยพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทจะมีทั้งหมด 9 เรื่อง ได้แก่ การศึกษา การพัฒนา ความพอเพียง รู้จักสามัคคี ความรับผิดชอบต่อหน้าที่ ประโยชน์ส่วนรวม คุณธรรมจริยธรรม ความสุขและความปรารถนาดี และความยุติธรรมภายในแอพพลิเคชั่นจะมีอยู่ 5 หมวด ดังนี้ หมวดพระราชดำรัส หมวดพระบรมฉายาลักษณ์ หมวดเลือกข้อความ หมวดส่งต่อ และหมวดข้อมูล ซึ่งในทั้ง 5 หมวดนี้จะมีความเกี่ยวเนื่องกับ 9 เรื่องตามที่ได้กล่าวไปแล้ว โดยจะมีความแตกต่างกันไป ก็คือ หมวดพระราชดำรัส จะเป็นหมวดที่ผู้ใช้แอพพลิเคชั่นสามารถเลือกพระราชดำรัสที่ต้องการตามเรื่อง 9 เรื่อง หมวดนี้เป็นหมวดที่สำคัญ เนื่องจากผู้ใช้แอพพลิเคชั่นต้องเลือกเรื่องที่อยู่ภายในหมวดนี้ก่อน แล้วจึงไปอ่านพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทในหมวดอื่นที่จะเปลี่ยนแปลงไปตามเรื่องที่ได้เลือกไว้หมวดพระบรมฉายาลักษณ์ จะเป็นภาพพระกรณียกิจในอิริยาบถต่างๆ เพื่อให้ผู้ใช้แอพพลิเคชั่นเลือกโดยอิงจากภาพพระกรณียกิจเหล่านั้น สำหรับหมวดเลือกข้อความ จะแบ่งตามข้อความพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาท เพื่อให้สะดวกในการหาพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทที่ต้องการ หมวดส่งต่อ เป็นหมวดที่ใช้เมื่อผู้ใช้แอพพลิเคชั่นได้เข้าไปดูพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทที่ต้องการภายในหมวดพระราชดำรัส หมวดพระบรมฉายาลักษณ์ และหมวดเลือกข้อความ โดยมีความต้องการที่จะเผยแพร่ผ่านเฟสบุ๊ค หรือส่งต่อไปยังเมล หรือต้องการบันทึกพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทนั้นไว้ ให้กดมาที่หมวดนี้ และหมวดสุดท้ายเป็นหมวดข้อมูล จะบอกรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดทำแอพพลิเคชั่นนี้พระราชดำรัสและพระบรมราโชวาท ภายในแอพพลิเคชั่นนี้ เป็นสิ่งที่ประชาชนชาวไทยควรน้อมนำไปปฏิบัติกันโดยทั่วหน้า เพื่อให้การดำเนินชีวิตประจำวันเป็นไปตามคำว่า “สุขพอที่พ่อสอน”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 188 Running App

วันนี้บริษัทเทคโนโลยีไอทีเข้ามามีบทบาทต่อสุขภาพของเรามากขึ้น หลายคนเลือกใช้อุปกรณ์วัดความฟิตชนิดสวมที่ข้อมือ (ดูผลการทดสอบย้อนหลังได้ในฉลาดซื้อ เล่มที่ 184) หลายคนนิยมใช้ประโยชน์จากสมาร์ทโฟนที่มีอยู่ด้วยการดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นสำหรับวัดและติดตามการออกกำลังกายมาใช้ แอปส่วนใหญ่ไม่มีค่าใช้จ่ายในการดาวน์โหลด แต่อาจมีโฆษณาบนหน้าจอ หรือมีฟังก์ชั่นเพิ่มให้หากเราเลือกที่จะซื้อหรือสมัครเป็นสมาชิก แต่เดี๋ยวก่อน... แม้จะฟรีแต่เราก็ควรเลือกให้ดี เพราะเราจะไม่สามารถโอนข้อมูลที่บันทึกไว้ไปยังแอปใหม่ได้ ฉลาดซื้อ ฉบับนี้ขอนำเสนอผลทดสอบเปรียบเทียบแอปสำหรับการออกกำลังกายด้วยการวิ่ง โดยเน้นเรื่องความแม่นยำในการบันทึกข้อมูลและการไม่ละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้เป็นหลัก เราทดสอบทั้งหมด 6 แอป ซึ่งได้รับความนิยมสูงในร้านApp Store และ Google Play ได้แก่   1. Adidas Train and run(iOS และ Android)2. Endomondo Running & walking(iOS และ Android)3. Nike Nike+ Running(iOS และ Android)4. Runkeeper GPS Track Run Walk(iOS และ Android)5. Runtastic Running & Fitness(iOS และ Android)6. Sports Tracker Running Cycling(iOS และ Android) โทรศัพท์ที่ใช้ในการทดสอบได้แก่iPhone 6S (iOS9.2) และ Google Nexus 5X(Android 6.0) ประเด็นทดสอบและผลการเปรียบเทียบในภาพรวม• ประวัติการวิ่ง– การบันทึกและแสดงข้อมูล / เวลา ความเร็ว ระยะทาง แคลอรี่ การเปลี่ยนระดับความชัน การพยากรณ์อากาศ น้ำหนักตัว ฯลฯ Runtastic/RunkeeperและEndomondoทำได้ดี • ความหลากหลายของฟีเจอร์/ฟังก์ชั่นต่างๆ –Runtastic/Runkeeperและ Nike+ (iOS)มีให้เลือกมากกว่า ทั้งฟีเจอร์ระหว่างการออกกำลังและฟีเจอร์ทั่วไป เช่น ข้อมูลโภชนาการ แผนการวิ่ง และเพลงประกอบ • ความสะดวกในการใช้ดูจากการใช้ประจำวัน การรับสายเข้า การตั้งค่า และความยากง่ายในการใช้ เวลาในการเปิดแอป การจัดวางข้อความบนหน้าจอ ปุ่มกด เมนู ขนาดไอคอน และการออกแบบเมนู เรื่องนี้ต้องยกให้ Endomondo/ SportsTracker/ Nike+และ Adidas (iOS) • ประสิทธิภาพได้แก่ความแม่นยำในการวัดระยะทาง การประหยัดพลังงาน รวมไปถึงโฆษณาและป็อปอัป แอปที่ได้คะแนนนำได้แก่ Runkeeper (Android)/SportsTracker(Android)/ Adidas และNike+(iOS) ในภาพรวมพบว่า ความผิดพลาดสูงสุดในเรื่องการวัดระยะทางของแอปเหล่านี้อยู่ที่ประมาณร้อยละ 3เท่านั้น ส่วนระยะเวลาในการใช้งานแบตเตอรี่อยู่ระหว่าง 258 นาทีถึง 331 นาทีแอปที่มาที่หนึ่งคือEndomondo (Android)และเข้าที่โหล่ได้แก่ Nike+ (Android) • เว็บไซต์ที่ผู้ใช้สามารถเข้าไปตรวจสอบบันทึกการวิ่ง ที่ทำได้เกินหน้าใครได้แก่Endomondo/Runtastic/SportsTrackerและ Runkeeperแต่ที่ไม่เข้าตากรรมการเลยคือAdidas • การมีส่วนร่วมกับสังคมออนไลน์เช่นชวนเพื่อน แชร์ผล หรือส่ง/รับคำท้าวิ่ง เป็นต้น • ความเป็นส่วนตัวเนื่องจากแอปเหล่านี้ต้องใช้คู่กับสมาร์ทโฟนของเราซึ่งมีข้อมูลต่างๆ อยู่มากมาย ทีมทดสอบจึงติดตามการเดินทางของข้อมูลในโทรศัพท์ของผู้ใช้ด้วย เขาพบว่า Endomondo/ Adidas (Android)/RunkeeperและSportsTracker(iOS)แอบส่ง “หมายเลขประจำตัว” ของโทรศัพท์ไปยังบุคคลที่สาม นั่นหมายความว่าบริษัทโฆษณาจะสามารถสร้างโปรไฟล์ผู้ใช้และติดตามพฤติกรรมของเจ้าของโทรศัพท์ได้ นอกจากนี้แอปบางตัว เช่น Endomondo (Android) และ Runkeeperยังแชร์ตำแหน่งที่อยู่ของผู้ใช้กับบริษัทโฆษณา ในขณะที่ Runkeeper(Android) แชร์ที่อยู่อีเมล์กับพาร์ทเนอร์ของบริษัทและพยายามขอเข้าดูข้อมูลการใช้โทรศัพท์ด้วย ถ้าเรื่องความเป็นส่วนตัวเป็นเรื่องใหญ่สำหรับคุณ เราขอแนะนำ Nike+ / Adidas/RuntasticและSportsTracker(Android)-------------------------------------------- ชนิดของข้อมูลที่แอปฯ ต้องการจากคุณ แยกตามระดับความอ่อนไหวข้อมูลทั่วไปข้อมูลเกี่ยวกับตัวเครื่อง: ยี่ห้อ รุ่น ระบบปฏิบัติการ ความละเอียดหน้าจอผู้ให้บริการเครือข่ายชื่อเครือข่าย wifiที่ใช้เชื่อมต่อ ข้อมูลที่มีความอ่อนไหวหมายเลขประจำตัวเครื่อง (UID IFA …)IMEI ข้อมูลที่มีความอ่อนไหวมากที่อยู่อีเมล์ของผู้ใช้โทรศัพท์รหัสผ่านต่างๆหมายเลขโทรศัพท์ประวัติการเข้าชมหน้าเว็บพิกัด GPSรูปถ่ายที่เก็บในโทรศัพท์ประวัติการโทรออก/รับสายเนื้อหาในอีเมล์เนื้อหาในข้อความสั้น (SMS)รายชื่อผู้ติดต่อ (ชื่อ ที่อยู่ อีเมล หมายเลขโทรศัพท์)           

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 187 ไปรษณีย์ไทยในยุคโซเชียลมีเดีย

ยุคสมัยนี้การใช้โซเชียลมีเดียถูกกลมกลืนและผสมผสานเป็นเนื้อเดียวกันกับการใช้ชีวิตประจำวันของคนในสังคมโดยไม่รู้ตัว ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงจากการอ่านข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์มาเป็นเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ออนไลน์ เว็บไซต์รวมข้อมูลข่าวสารต่างๆ หรือต้องการค้นหาข้อมูลใดที่อยากทราบก็สามารถใช้โซเชียลมีเดียบนสมาร์ทโฟนได้ทันที โดยไม่ต้องเข้าห้องสมุดเหมือนสมัยก่อน ต้องยอมรับว่าเทคโนโลยีความทันสมัยทำให้การใช้ชีวิตในสังคมมีความสะดวกสบายรวดเร็วเป็นอย่างมาก หลายบริการที่เกิดขึ้นผ่านแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน ทำให้ลดขั้นตอนและระยะเวลาในการดำเนินชีวิต อย่างองค์กรหนึ่งที่ได้ก่อตั้งมาเมื่อปีพุทธศักราช 2423 นั่นคือ  ไปรษณีย์ไทย ได้พยายามพัฒนาให้เข้ากับยุคสมัยในปัจจุบัน ทำให้ไปรษณีย์ไทย ได้มีบริการสั่งอาหารที่ขึ้นชื่อในแต่ละจังหวัดจากทั่วประเทศ เพื่อจัดส่งผ่านบริการไปรษณีย์ไทย โดยสามารถเข้าไปสั่งผ่านหน้าเว็บไซต์ http://thailandpostmart.com หรือสามารถสั่งผ่านแอพพลิเคชั่น Post e-Mart ได้เช่นกัน นอกจากนี้ยังมีสินค้าของไปรษณีย์ไทยเองด้วย และเมื่อพูดถึงไปรษณีย์ไทย ก็ต้องพูดถึงการบริการส่งจดหมาย และพัสดุต่างๆ  ซึ่งการบริการของไปรษณีย์ไทยมีอยู่หลายรูปแบบ ทั้งการส่งแบบธรรมดา ส่งแบบลงทะเบียน เป็นต้น ผู้อ่านที่เคยใช้บริการและอยู่ในวัย 30 ปีขึ้นไป น่าจะได้สัมผัสกับการบริการไปรษณีย์แบบดั้งเดิม ก็คือ ต้องคาดการณ์เองว่าจดหมายที่ส่งไปหาผู้รับปลายทางนั้นจะเดินทางถึงเมื่อไร แต่ในปัจจุบันไปรษณีย์ไทยได้พัฒนาจนทำให้ผู้ส่งสามารถเช็คจดหมายหรือพัสดุว่าอยู่ที่ไหนและส่งไปถึงผู้รับหรือยัง ช่องทางการตรวจสอบมีทั้งทางเว็บไซต์ http://track.thailandpost.co.th/tracking/default.aspx  และแอพพลิเคชั่น Track & Trace  ซึ่งจะทำให้ทราบว่าอยู่ในขั้นตอนใด   ภายในแอพพลิเคชั่น Track & Trace  จะมีหมวดต่างๆ ได้แก่ หมวดการคำนวณอัตราค่าส่ง ค้นหาสาขาไปรษณีย์ไทย หมวดสถิติการใช้แอพพลิเคชั่น หมวดตรวจสอบเร่งด่วน เพื่อค้นหาหมายเลขพัสดุหมวดรายการสิ่งของ ในหมวดนี้จะเป็นการบันทึกจดหมายหรือพัสดุไว้ เพื่อให้แอพพลิเคชั่นแจ้งเตือนเมื่อจดหมายหรือพัสดุดำเนินการอยู่ในขั้นตอนไหน โดยจะมีการดำเนินงานของไปรษณีย์ 4 ขั้น ซึ่งในแต่ละขั้นจะมีสัญลักษณ์ที่แตกต่างกันออกไป อย่างเช่นการแจ้งว่าอยู่ระหว่างทางนำส่ง กำลังนำจ่าย ถึงผู้รับปลายทาง หรือแม้กระทั่งแจ้งปัญหาที่เกิดขึ้นถ้าจดหมายหรือพัสดุไม่ถึงผู้รับปลายทาง  ทั้งนี้การตรวจสอบในกระบวนการดังกล่าว จะสามารถตรวจสอบได้เฉพาะจดหมายหรือพัสดุที่ลงทะเบียนเท่านั้นนะคะ โดยดูที่ใบเสร็จรับเงินจะมีหมายเลขการลงทะเบียนปรากฏไว้ ลองใช้บริการสักครั้งนะคะ เผื่อจะติดใจ...

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 186 บันทึกเบอร์โทรศัพท์ด้วยการถ่ายรูปนามบัตร

    ผู้เขียนจำได้ว่าในสมัยก่อนที่การใช้โทรศัพท์มือถือยังไม่เป็นที่นิยมแบบในปัจจุบัน สมุดจดเบอร์โทรศัพท์เป็นที่นิยมกันมากในสมัยนั้น ส่วนใหญ่มักจะนิยมซื้อสมุดจดเบอร์โทรศัพท์เล็กๆ พกติดตัวไว้เสมอ เมื่อต้องการติดต่อใครก็จะนำสมุดจดเบอร์โทรศัพท์ออกมาดูและหาตู้โทรศัพท์สาธารณะหยอดเหรียญหรือใช้บัตรโทรศัพท์เพื่อติดต่อกับคนปลายสาย  แต่เมื่อกาลเวลาและยุคสมัยเปลี่ยนไป เทคโนโลยีมีความก้าวหน้ากันมากขึ้น โทรศัพท์มือถือจึงถูกนำมาใช้แทนที่สมุดจดเบอร์โทรศัพท์ที่เคยมีมา และจากวิวัฒนาการที่พัฒนาอย่างต่อเนื่องของเทคโนโลยี ทำให้ปัจจุบันโทรศัพท์มือถือสามารถบันทึกเบอร์โทรศัพท์ได้มากทีเดียว ถ้าการบันทึกเบอร์โทรศัพท์ลงในโทรศัพท์มือถือมีจำนวนไม่มาก ผู้อ่านก็สามารถพิมพ์บันทึกได้อย่างไม่ลำบาก แต่ถ้าต้องการบันทึกเบอร์โทรศัพท์มากกว่า 10 เบอร์ ก็คงต้องใช้เวลาในการบันทึกมากทีเดียว แล้วถ้าไม่มีเวลาขนาดนั้น วันนี้ผู้เขียนขอแนะนำแอพพลิเคชั่นที่จะช่วยให้ง่ายในการบันทึกเบอร์โทรศัพท์ลงในเครื่อง โดยมีข้อแม้ว่าต้องมีนามบัตรที่มีรายละเอียดชื่อ เบอร์โทร เป็นต้นให้ผู้อ่านดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นที่ชื่อว่า CamCard เมื่อเปิดแอพพลิเคชั่นสามารถเริ่มต้นโดยการกดที่สัญลักษณ์กล้องถ่ายรูป จากนั้นให้ถ่ายรูปนามบัตรที่มีอยู่ หลังจากนั้นแอพพลิเคชั่นจะอ่านข้อมูลบนนามบัตรนั้น  ซึ่งจะแบ่งเป็นชื่อนามสกุล เบอร์โทรศัพท์ เบอร์โทรสาร เบอร์โทรศัพท์มือถือ ที่อยู่ เมล์ รวมถึงจะมีภาพแผนที่ของ google ระบุตำแหน่งของที่อยู่ด้วย จากนั้นให้กดบันทึก หรือทำการแก้ไขข้อมูลด้วยตนเองก่อนบันทึกก็ได้ ข้อมูลต่างๆ ภายในนามบัตรก็จะถูกบันทึกไว้ในแอพพลิเคชั่น พร้อมกับรูปถ่ายนามบัตรนั้นทันที นอกจากนี้ข้อมูลต่างๆ นั้นจะไปปรากฏอยู่ใน Contact รายชื่อในสมุดโทรศัพท์ในเครื่องในเวลาเดียวกัน  ในแอพพลิเคชั่นนี้จะสามารถเลือกวิธีการเรียงลำดับของนามบัตรที่ถูกถ่ายรูปไปได้ ทั้งเรียงโดยวันที่ที่ทำการบันทึก เรียงโดยรายชื่อ และเรียงโดยชื่อบริษัท เพื่อความสะดวกในการค้นหาภายหลังทั้งนี้ผู้เขียนขอแนะนำว่าแอพพลิเคชั่น CamCard จะมีประสิทธิภาพในการอ่านนามบัตรภาษาอังกฤษมากกว่าภาษาไทย แต่อย่างไรก็ตามก่อนการกดบันทึก ผู้อ่านก็สามารถแก้ไขรายละเอียดที่ไม่ถูกต้องให้ถูกต้องก่อนได้เช่นกันอย่างน้อยแอพพลิเคชั่น CamCard ก็ช่วยลดเวลาในการบันทึกเบอร์โทรศัพท์ทีละเบอร์ได้ และเหมาะที่สุดสำหรับผู้อ่านที่ต้องติดต่อลูกค้าเป็นจำนวนมาก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 185 เพิ่มพื้นที่ความจำในสมาร์ทโฟน

ผู้อ่านรู้สึกกันบ้างไหมคะ ทำไมสมาร์ทโฟนที่ใช้กันอยู่นั้น เมื่อซื้อมาใช้ในช่วงแรกๆ ความเร็วในการใช้เครื่องสูงมาก ลื่นปื๊ดสมกับเป็นเครื่องสมาร์ทโฟนที่เพิ่งแกะออกมาจากกล่อง สามารถเข้าโปรแกรมแอพพลิเคชั่นได้อย่างรวดเร็ว แต่เมื่อใช้ไปนานๆ ความรวดเร็วเหล่านั้นกลับลดน้อยลง จะเริ่มสัมผัสได้ถึงความรู้สึกช้าๆ หน่วงๆ ของเครื่องสมาร์ทโฟนไม่เหมือนเมื่อก่อน หลายคนอาจจะถามกลับว่า คุณมีรูปในเครื่องมากเกินไปหรือเปล่า มีข้อมูลที่เก็บในเครื่องมากหรือเปล่า ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้ก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่เชื่อได้เลยคะว่าหลายคนก็เคยลบรูปและข้อมูลต่างๆ ภายในเครื่องสมาร์ทโฟนนั้นแล้ว แต่ก็ยังคงมีอาการเช่นเดิม และความจุในเครื่องสมาร์ทโฟนก็ยังไม่ลดลง และเป็นไปตามที่คาดหมายเช่นเดิม เพราะอาการเหล่านั้นก็ยังอยู่ ในระบบปฏิบัติการ Android  ขอแนะนำให้ดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นล้างข้อมูลใน Play Store  อย่างเช่น แอพพลิเคชั่น ใช้เพื่อเคลียร์ข้อมูลบ้าง และลบแอพพลิเคชั่นที่ไม่ได้ใช้งานออก โดยให้เข้าไปลบแอพพลิเคชั่นในเมนูการตั้งค่า เพื่อให้แอพพลิเคชั่นนั้นถูกลบจากเครื่องสมาร์ทโฟนทั้งหมด ซึ่งผู้อ่านสามารถเข้าไปที่การตั้งค่า เลือกแอพพลิเคชั่น จากนั้นเลือกการจัดการแอพพลิเคชั่น และลบการติดตั้งแอพพลิเคชั่นนั้น     ขอเน้นย้ำว่าต้องเข้าไปลบในส่วนของเมนู เพราะการลบแค่หน้าจอ อาจลบไปแค่แอพพลิเคชั่น แต่ข้อมูลที่ฝังอยู่ในความจำเครื่องสมาร์ทโฟน อาจจะไม่ได้ถูกลบออกไปด้วย ส่วนระบบปฏิบัติการ iOS ก็แนะนำให้ลบแอพพลิเคชั่นที่ไม่ได้ใช้งานออกเช่นกัน แต่ที่อยากแนะนำเพิ่มเติมในระบบปฏิบัติการ iOS ก็คือ การลบแอพพลิเคชั่นที่ใช้งานประจำ และดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นนั้นใหม่ เนื่องจากการใช้แอพพลิเคชั่นนั้นเป็นเวลานานๆ ข้อมูลต่างๆ ที่ใช้จะถูกสะสมไว้ ซึ่งมีผลทำให้เพิ่มพื้นที่ความจำในเครื่องสมาร์ทโฟน  ดังนั้นการลบแอพพลิเคชั่นและดาวน์โหลดใหม่จะช่วยทำให้พื้นที่ในความจำเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่อีกครั้ง ขั้นตอนแรกให้ผู้อ่านเข้าไปดูรายละเอียดการใช้พื้นที่ในเครื่องสมาร์ทโฟน โดยเฉพาะในส่วนของการดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น ส่วนใหญ่จะอยู่ในเมนู setting หรือการตั้งค่า เลือก General หรือทั่วไป  จากนั้นเลือกการใช้งานเนื้อที่เก็บข้อมูล และเลือกจัดการเนื้อที่เก็บข้อมูลเมื่อเข้าไปในส่วนจัดการเนื้อที่เก็บข้อมูล จะทำให้เห็นพื้นที่ความจำในเครื่องทั้งหมด เพื่อให้ผู้อ่านรู้ว่าแอพพลิเคชั่นใดที่ใช้พื้นที่ในเครื่องมากที่สุด และสามารถลบแอพพลิเคชั่นในส่วนนี้ได้เลยก่อนที่จะลบแอพพลิเคชั่นและติดตั้งแอพพลิเคชั่นใหม่ ผู้อ่านต้องสำรวจและแน่ใจว่าในแอพพลิเคชั่นที่จะทำการดาวน์โหลดใหม่นั้น ไม่มีข้อมูลที่สำคัญเก็บไว้ เนื่องจากเมื่อทำการลบแอพพลิเคชั่นไปแล้ว ข้อมูลต่างๆ จะถูกลบไปด้วยทันที อย่างเช่น ข้อความใน Line  เป็นต้นขอเน้นย้ำว่าอย่าลืมดูข้อมูลภายในแอพพลิเคชั่นที่ต้องการจะลบให้แน่ใจก่อนที่ข้อมูลจะหายไปอย่างถาวร

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 184 ติดตามแจ้งเบาะแสเด็กหายผ่าน ThaiMissing

    ปัจจุบันมีบุคคลที่สูญหายเป็นจำนวนมาก โดยจะเห็นได้จากข่าวสารบนหน้าหนังสือพิมพ์หรือข่าวสารในโทรทัศน์ช่องต่างๆ ที่ประกาศตามหาบุคคลที่หายไป โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นเด็กและผู้สูงอายุ ทั้งนี้ได้มีองค์กรหนึ่งที่ให้ความช่วยเหลือและพยายามติดตามหาบุคคลที่สูญหายเหล่านั้น ซึ่งมักจะมุ่งติดตามเด็กเป็นส่วนใหญ่ มูลนิธิกระจกเงาเป็นองค์อันดับต้นๆ ที่จะมีคนนึกถึงและแจ้งเบาะแสเรื่องเด็กที่สูญหาย ด้วยสังคมปัจจุบันหันนิยมใช้โซเชียลมีเดียกันเป็นจำนวนมาก การขอความช่วยเหลือและแจ้งเบาะแสจึงนิยมใช้โซเชียลมีเดียเป็นตัวกลางในการติดตามเด็กที่สูญหาย แอพพลิเคชั่น ThaiMissing เป็นแอพพลิเคชั่นของมูลนิธิกระจกเงา ที่คำนึงถึงการใช้สื่อทางโซเชียลมีเดียเป็นตัวกลางและเป็นการเพิ่มช่องทางให้ประชาชนทั่วไปได้แจ้งเบาะแสต่างๆ และติดตามคนที่สูญหายโดยผ่านแอพพลิเคชั่นนี้การเริ่มต้นการใช้แอพพลิเคชั่น ThaiMissing จะสามารถเข้าใช้งานได้ 2 แบบ คือ แบบทั่วไปโดยไม่ทำการ log in และการเข้าใช้ระบบด้วยการ log in ผ่าน facebook การเข้าระบบผ่าน facebook จะช่วยให้สามารถใช้แอพพลิเคชั่นแจ้งเบาะแสได้ดีขึ้นและเป็นการยืนยันตัวตนของผู้แจ้งอีกด้วยภายในแอพพลิเคชั่นจะแบ่งออกเป็นหมวด ได้แก่ หมวดติดตามรายบุคคล จะเป็นข้อมูลต่างๆ ของบุคคลที่สูญหายว่ามีใคร และมีรายละเอียดอย่างไร นอกจากนี้ในหมวดนี้ยังมีปุ่มให้แจ้งเบาะแส สำหรับผู้ที่ทราบข้อมูลหรือพบเห็นบุคคลที่สูญหาย โดยการส่งเป็นข้อความหรือรูปภาพ และการแชร์สถานที่บริเวณที่พบเห็นบุคคลที่สูญหายได้ทันที หมวดข้อมูลเผยแพร่จะเป็นหมวดที่ให้ข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ ข้อควรรู้เกี่ยวกับบุคคลที่สูญหาย ส่วนอีกสองหมวด คือ หมวดติดตาม ซึ่งเป็นหมวดที่ผู้ใช้แอพพลิเคชั่นจะสามารถตั้งค่าแจ้งเตือนตนเองเมื่อมีบุคคลสูญหายภายในพื้นที่ที่ตนเองอาศัยอยู่ โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้สามารถช่วยสังเกตเมื่อได้พบเห็นบุคคลที่สูญหายไปและแจ้งเบาะแสได้ทันถ่วงที และหมวดสมาชิกในครอบครัว ซึ่งจะเป็นหมวดที่มีไว้สำหรับแจ้งบุคคลภายในครอบครัวตนเองหรือคนรู้จักสูญหายไป การมีแอพพลิเคชั่นนี้ในสมาร์ทโฟน จะเป็นการช่วยเหลือสังคมและครอบครัวผู้อื่นโดยไม่ยุ่งยาก  เมื่อพบเห็นบุคคลที่คาดว่าเป็นบุคคลที่ติดตามค้นหาอยู่ก็สามารถแจ้งเบาะแสและแชร์สถานที่ที่พบเห็นได้ทันทีผ่านแอพพลิเคชั่น เพียงแค่ใช้การสังเกต ติดตามข้อมูลผ่านแอพพลิเคชั่นนี้ก็ถือว่าเป็นการช่วยเหลือสังคมได้อีกทางหนึ่ง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 183 เท่าทันแคลอรี่กับ Scannerd Plus

อากาศร้อนอบอ้าวต่อเนื่องแบบนี้ หลายคนคงดับกระหายคลายร้อนด้วยเครื่องดื่มเย็นๆ โดยเฉพาะน้ำอัดลม น่าจะเป็นเครื่องดื่มชนิดหนึ่งที่จะเลือกหยิบมาบริโภค  ไม่ใช่เพียงแต่แค่น้ำอัดลมเท่านั้น แต่เครื่องดื่มจำพวกที่ให้น้ำตาลเป็นหลักหลายประเภทมักจะถูกเลือกหยิบมาช่วยคลายร้อนด้วยเช่นกัน  ผู้เขียนก็ดื่มน้ำบ่อยมาก แต่ไม่ค่อยเน้นดื่มน้ำเปล่า รอบโต๊ะทำงานจะมีแต่น้ำที่มีรสหวานทั้งนั้น  ดื่มน้ำหวานๆ แล้วชื่นใจดีจริงๆ สุดท้ายผลที่ตามมาก็คือร่างกายบริโภคน้ำตาลมากเกินไป แถมมาด้วยแคลอรี่มาพุ่งกระฉูด น้ำหนักมีตัวเลขที่ปรับขึ้นอย่างรวดเร็วจะทำอย่างไรดีล่ะคะ!!   ปรับการบริโภคด่วนค่ะ...แต่การลดการบริโภคน้ำหวานๆ ช่างยากเหลือเกิน ดังนั้นผู้เขียนจึงต้องหาเครื่องมือมาช่วยในการควบคุมปริมาณน้ำตาลและแคลอรี่ที่จะบริโภคในแต่ละวัน นั่นคือ แอพพลิเคชั่น Scannerd Plus ภายในแอพพลิเคชั่น Scannerd Plus จะมีข้อมูลเครื่องดื่มต่างๆ ที่สามารถบอกปริมาณแคลอรี่  ปริมาณน้ำตาล ปริมาณโซเดียม และปริมาณไขมัน โดยเพียงนำสินค้ามาสแกนด้วยแอพพลิเคชั่น ข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับสินค้านั้นจะขึ้นมาปรากฏ ในแต่ละวันจะบริโภคกี่ชนิดก็ได้ เพียงแค่สแกนและเก็บเป็นข้อมูลไว้  แอพพลิเคชั่นจะคำนวณปริมาณแคลอรี่  ปริมาณน้ำตาล ปริมาณโซเดียม และปริมาณไขมันที่ได้บริโภคไปแล้ว พร้อมทั้งบอกปริมาณที่ผู้บริโภคควรได้รับต่อวันไว้ เช่น ปริมาณแคลอรี่ไม่ควรเกิน 2,000 แคลอรี่ต่อวัน ปริมาณน้ำตาลไม่ควรเกิน 6 ช้อนชาต่อวัน  ปริมาณโซเดียมไม่ควรเกิน 1 ช้อนชาต่อวัน และปริมาณไขมันไม่ควรเกิน 13 ช้อนชาต่อวัน ในส่วนของแคลอรี่ ถ้ามีการบริโภคในปริมาณที่มากกว่า 2,000 แคลอรี่ต่อวัน แอพพลิเคชั่นจะแนะนำการเผาผลาญส่วนเกิน โดยคิดปริมาณที่ต้องเผาผลาญเป็นนาที ซึ่งมีวิธีการเผาผลาญ 3 รูปแบบ ได้แก่ การวิ่ง การเดิน และการขี่จักรยาน นอกจากการคำนวณในแต่ละวันแล้ว แอพพลิเคชั่น Scannerd Plus ยังเก็บสถิติโดยรวมได้  ทั้งในเรื่องการบอกสถิติการดื่มในแต่ละวัน แต่ละเดือน แต่ละปี  ดื่มอะไรมากที่สุด   ครั้งล่าสุดดื่มอะไร จากการตรวจวัดโดยใช้แอพพลิเคชั่น  ทำให้ผู้เขียนได้ทราบตัวเลขปริมาณน้ำตาลที่มากเกินไป  จึงต้องขอกลับมาดูแลตัวเองด้วยการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสักนิด อากาศร้อนอบอ้าวแบบนี้ ขอแนะนำว่าบริโภคน้ำเปล่าดีที่สุดค่ะ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 181 สบายใจกับการเดินทางรอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

เคยไหมคะ ยืนอยู่ที่ป้ายรถเมล์ แต่ไม่รู้ต้องขึ้นสายไหน...โดยเฉพาะวงเวียนอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ผู้เขียนเป็นเด็กต่างจังหวัดค่ะ ไม่ได้เติบโตในกรุงเทพมหานคร เมืองฟ้าอมรที่ใครๆ ก็ต้องต่างทยอยเข้ามาอยู่อาศัยและหางานทำ จึงไม่แปลกที่จะมีอาการสับสนกับการใช้รถโดยสารสาธารณะกลางใจเมืองขนาดนี้ แถมวงเวียนอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเป็นจุดศูนย์กลางของถนนสี่สาย ยิ่งถ้าไม่รู้ว่าแต่ละเส้นทางไปที่ใดบ้าง บอกได้คำเดียวคะว่า “งง” ล่าสุดได้มีผู้จัดทำแผนที่การใช้รถโดยสาร ทั้งรถเมล์และรถตู้บริเวณรอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โดยวงเวียนอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิจะแบ่งออกเป็น 4 ฝั่ง หรือ 4 เกาะ ได้แก่ เกาะดินแดง เกาะพญาไท เกาะราชวิถี และเกาะพหลโยธิน ซึ่งเรียกชื่อตามสายถนนนั่นเอง ถ้าต้องมีการอธิบายถึงป้ายรถเมล์หรือรถตู้ที่ต้องรอขึ้น โดยไม่ชี้ฝั่งหรือเกาะให้ชัดเจน ให้กับคนที่เดินทางมาผ่านวงเวียนอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิครั้งแรก (บางคนผ่านบ่อยครั้งยังไม่รู้เลย) กว่าจะเข้าใจตรงกันคงต้องใช้ความพยายามมากหน่อย  แค่พูดชื่อ 4 เกาะ ก็งงกันแล้ว แต่ถ้าอาศัยแผนที่ฉบับนี้จะสามารถช่วยได้อย่างมาก ผู้จัดทำแผนที่การใช้รถโดยสาร ทั้งรถเมล์และรถตู้บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมินี้ มีชื่อว่า “easymap” โดยสามารถดาวน์โหลดภาพแผนที่ได้ที่ www.easymap.in.th มาไว้ที่สมาร์ทโฟนได้ เพื่อความสะดวกในการใช้งาน ต้องบอกก่อนนะคะว่าผู้เขียนไม่ได้แนะนำเพื่อต้องการให้ไปทำธุรกิจหรือซ้อสินค้าใดๆ เพียงแต่ต้องการนำข้อมูลในส่วนที่มีประโยชน์แก่การเดินทางของประชาชนมาให้ทราบกันเท่านั้น ทั้งนี้ผู้เขียนขออธิบายประโยชน์ที่จะได้รับจากภาพแผนที่นี้ คือ ถ้าเป็นภาพแผนที่รถเมล์บริเวณ 4 เกาะรอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ แผนที่จะบอกรายละเอียดถึงป้ายรถเมล์ที่สามารถรอขึ้นรถ โดยบอกสายรถเมล์จากจุดเริ่มต้นไปยังจุดหมายปลายทาง ซึ่งใช้สีต่างๆ เพื่อบอกเส้นทางดังกล่าว  ส่วนภาพแผนที่รถตู้ จะบอกจุดขึ้นรถรอบบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อบอกว่าจุดไหนมีบริการรถตู้ไปที่ใดบ้าง หลังจากที่ผู้เขียนบ่นมาแสนนานที่ต้องสับสนกับการขึ้นรถเมล์บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ภาพแผนที่ที่ถูกจัดทำขึ้นมานี้ช่วยให้ความสับสนของผู้เขียนลดน้อยลงแล้วค่ะ และด้วยภาพแผนที่ที่มีอยู่นี้เลยต้องขอทำตัวเป็นพลเมืองดีกันสักหน่อย เพราะมีโอกาสได้แนะนำเส้นทางบริเวณรอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ให้กับผู้คนที่ต้องผ่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิตลอด บอกตรงๆ ค่ะ เข้าใจความรู้สึกสับสนนั้นได้ดีจริงๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 178 ไม่ตกเทรนด์กับ Line TV

วันหยุดยาวแบบนี้ ใครบ้างคะที่ไม่อยากออกจากบ้านไปไหน ผู้เขียนขอยกมือขึ้นคนแรกเลยค่ะ ไม่ใช่ว่าไม่อยากไปเที่ยวนะคะ แต่ขอเก็บไว้ไปตอนปีใหม่ทีเดียวดีกว่า แต่ เอ๋!! แล้วจะทำไรดีนะ งั้นผู้เขียนขอแนะนำแอพพลิเคชั่นสำหรับผู้อ่านที่ชื่นชอบดูซีรีย์ (series) เบื้องต้นขออธิบายคำว่า ซีรีย์ (series) กันก่อนนะคะ ซีรีย์ (series) หมายถึง ชุด ซึ่งในที่นี้จะพูดถึงละครชุด รายการชุด การ์ตูนชุด นั่นคือละคร รายการ หรือการ์ตูนที่มีจำนวนหลายตอนนั่นเอง อย่างเช่น เรื่องรักนะเป็ดโง่ เรื่องเป็นต่อ การ์ตูนโคนัน เป็นต้น แอพพลิเคชั่นดังกล่าวก็คือ Line TV ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นของ Line โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อตอบสนองผู้ชมที่ต้องการดู ไม่ว่าจะเป็นซีรี่ย์ไทย ซี่รี่ย์เกาหลี หรือชมละครโทรทัศน์ พร้อมรายการวาไรตี้ มิวสิควิดีโอ การ์ตูน และรายการพิเศษ ภายในแอพพลิเคชั่น Line TV ได้รวมเรื่องที่ไม่สามารถดูได้ที่อื่นมาลงไว้ให้ที่นี่ รีบหยิบสมาร์ทโฟนและเตรียมอินเตอร์เน็ตไว้ให้พร้อม ดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น Line TV กันเลยค่ะ หรือผู้อ่านคนใดไม่สะดวกดูในสมาร์ทโฟนก็สามารถดูในรูปแบบเว็บไซต์ในคอมพิวเตอร์ได้เช่นกัน โดยรูปแบบเว็บไซต์ ใช้ชื่อว่า https://tv.line.me ซึ่งทั้งสองรูปแบบจะมีหน้าตาคล้ายคลึงกันที่มีลักษณะใช้งานได้ง่าย ไม่ซับซ้อน จึงทำให้ผู้ใช้ไม่เกิดความสับสน   การใช้บริการ Line TV เพียงมีชื่อบัญชี Line เท่านั้นก็สามารถเชื่อมต่อ log in ได้ทันที ภายในโปรแกรมจะแบ่งเป็นหมวดที่ช่วยแยกประเภทของรายการโทรทัศน์ที่จะดู ผู้อ่านสามารถเลือกดูผลงานที่แบ่งไว้ตามหมวด ทั้งหมวดละคร หมวดบันเทิง และหมวดเพลง หรือสามารถเลือกดูในหมวดแนะนำ ซึ่งจะนำรายการที่น่าสนใจและมีผู้ชมเป็นจำนวนมาก มาแนะนำให้เลือกชม เมื่อผู้อ่านได้เลือกชมรายการใดใน Line TV รายการเหล่านั้นก็จะถูกจัดเก็บเป็นประวัติการชม นอกจากนี้ถ้าผู้อ่านมีหลายรายการที่อยากดู แต่ยังไม่มีเวลาเพียงพอที่จะดูได้ในขณะนั้น ผู้อ่านสามารถจัดเก็บรายการต่างๆ ไว้ในหมวดดูภายหลังได้ Line TV ยังเอาใจแฟนคลับละคร รายการ วาไรตี้ หรือซีรีย์ใดๆ โดยผู้ใช้แอพพลิเคชั่นสามารถสมัครเป็นแฟนคลับแชนแนลที่ชอบ ซึ่งจะทำให้แฟนคลับทราบถึงความเคลื่อนไหวของละคร รายการ วาไรตี้ หรือซีรีย์นั้นๆ ได้ตลอดเวลา หยุดยาวนี้ไม่เหงาแน่นอน

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 175 Periscope ถ่ายทอดสดด้วยตนเอง

ฉบับนี้ขอเอาใจคนรักการถ่ายวิดีโอแบบออนไลน์กันสักหน่อย โดยการถ่ายวิดีโอที่ว่านี้ คือการถ่ายวิดีโอโดยใช้สมาร์ทโฟนที่มีกันอยู่แล้วนั่นเอง แอพพลิเคชั่นนี้ถูกพัฒนาโดยกลุ่มเดียวกับ twitter มีชื่อเรียกว่า Periscope ผู้ที่ใช้สมาร์ทโฟนทั้งระบบปฏิบัติการ Android และ iOS สามารถดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น Periscope มาใช้กันได้แบบไม่เสียค่าใช้จ่าย คุณสมบัติของแอพพลิเคชั่นนี้จะเน้นไว้สำหรับผู้ที่ชอบถ่ายวิดีโอแบบสดๆ และต้องการเผยแพร่ให้กับผู้อื่นได้เห็นภาพเหตุการณ์เหล่านั้นด้วย สำหรับแอพพลิเคชั่น Periscope ผู้ใช้สามารถลงทะเบียนผ่านชื่อ twitter ที่มีอยู่เดิม หรือจะลงทะเบียนใหม่ด้วยเบอร์โทรศัพท์มือถือก็ได้ เมื่อเข้าแอพพลิเคชั่นได้แล้ว เริ่มแรกแอพพลิเคชั่นจะเชื่อมต่อข้อมูลกับ twitter ที่คุณมีอยู่เดิม เพื่อให้คุณเลือกติดตามบุคคลต่างๆ ที่ใช้แอพพลิเคชั่น Periscope ตามที่คุณสนใจ โดยในแอพพลิเคชั่นนี้จะปรากฏบัญชีบุคคลต่างๆ ที่ใช้แอพพลิเคชั่น Periscope นี้ทั่วโลกจากนั้นถึงเวลาที่คุณต้องการถ่ายเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งๆ แบบสดๆ เพื่อออนไลน์ไปยังบุคคลที่ใช้แอพพลิเคชั่น Periscope นี้  เริ่มต้นให้คุณเข้าไปที่รูปสัญลักษณ์กล้อง หลังจากนั้นจะให้คุณพิมพ์ชื่อเรื่องในช่องที่เขียนว่า What are you seeing now? และกดปุ่ม start broadcast เพียงเท่านี้การรายงานสดของคุณก็จะเริ่มต้นทันที ในระหว่างการถ่ายทอดสดนั้น ผู้ติดตามชมจะสามารถส่งข้อความแสดงความคิดเห็นต่างๆ รวมถึงการกดส่งหัวใจ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ให้รู้ว่ามีผู้ที่ชื่นชอบมากแค่ไหน ได้ตลอดเวลาที่มีการถ่ายทอดสดเหตุการณ์นั้นๆ   ซึ่งจะทำให้คุณรู้ว่าผู้ชมของคุณรู้สึกอย่างรับภาพที่คุณกำลังถ่ายทอดออกไป แต่ถ้าคุณไม่ต้องการให้มีการส่งข้อความแสดงความคิดเห็นก็สามารถตั้งค่าก่อนที่จะเริ่มถ่ายเหตุการณ์ได้เช่นกันเมื่อดำเนินการ start broadcast จนกระทั่งเสร็จสิ้นการถ่ายวิดีโอแล้ว คุณก็กดปุ่ม Stop Broadcast เท่านี้ก็ถือว่าสิ้นสุดการถ่ายทอดสดดังกล่าวกรณีที่คุณต้องการส่งภาพเหตุการณ์ให้แค่คนใดคนหนึ่ง คุณก็สามารถเลือกปุ่มตั้งความเป็นส่วนตัวก่อน และเลือกผู้ที่ต้องการแจ้งเตือนให้มาชมภาพของคุณได้ นอกจากนี้ผู้ติดตามสามารถย้อนดูภาพวิดีโอเหตุการณ์เก่าๆ ได้อีกด้วยแอพพลิเคชั่น Periscope ถือว่าเป็นแอพพลิเคชั่นที่ยังใหม่ และยังไม่เป็นที่นิยมในประเทศไทยมากนัก แต่ในต่างประเทศถือว่าได้รับความนิยมกันพอสมควร

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 174 สแกนแผ่นเอกสารเป็นไฟล์ด้วยมือถือ

ตึกตึก ใจเต้นรัวๆ นั่งมองผ่านกระจกเห็นผู้คนเดินขวักไขว่  “บางพลัดขึ้นเลย” ได้ยินเสียงกระเป๋ารถเมล์ตะโกน จึงหันไปดู พร้อมกับถอนหายใจ  คิดในใจ เมื่อไรจะออกสักทีค้า  ฉันรีบบบบบ ผู้อ่านอย่าเพิ่งตกใจนะคะ ไม่ใช่นิยายที่ไหนค่ะ เป็นแค่เหตุการณ์หนึ่งที่ผู้เขียนประสบมาโดยตรง ในขณะที่รีบร้อนต้องการที่จะให้ถึงที่ทำงานอย่างรวดเร็วที่สุด เพราะงานเข้าค่ะ เรื่องมีอยู่ว่าก่อนหน้านั้นมีโทรศัพท์สายด่วนโทรมาให้ส่งเอกสารสำคัญภายในครึ่งชั่วโมงไปยังเมลหนึ่ง จะให้น้องที่อยู่ที่ทำงานส่งให้ก็ไม่ได้ เนื่องจากเอกสารอยู่ที่มือผู้เขียน ที่สำคัญปลายสายบอกว่าให้สแกนเอกสารเป็น pdf ด้วยนี่สิด้วยความตื่นเต้นที่มีอยู่นั้นก็ยังมีสติค่ะ แทนที่จะปล่อยเวลาให้เปล่าประโยชน์ จึงหยิบมือถือมาค้นหากูเกิ้ล เผื่อจะเจอแอพพลิเคชั่นดีๆ  และแล้วก็ได้เจอแอพพลิเคชั่นนี้ “CamScanner” ตอบโจทย์ที่ต้องการในเวลาเร่งด่วนกับการสแกนเอกสารเป็นไฟล์ pdfสิ่งแรกที่ทำคือรีบควานหาเอกสารที่ต้องการสแกนเป็นไฟล์ pdf ขึ้นมา รวม 5 แผ่น เปิดแอพพลิเคชั่นขึ้นมาจะปรากฏสัญลักษณ์กล้องถ่ายรูป หลังจากนั้นก็กดถ่ายรูปเอกสารแผ่นแรก เมื่อได้ภาพแรกแล้ว แอพพลิเคชั่นจะมีให้เลือกความขาวสว่าง ภาพขาวดำ ภาพสีเทา และเลือกเฉพาะส่วนที่ต้องการของภาพได้ นอกจากนี้ถ้าภาพถ่ายของเรากลับด้านอยู่ ก็สามารถหมุนภาพได้ตามต้องการ เมื่อตกแต่งภาพเรียบร้อย ให้กดเครื่องหมายถูกด้านล่างขวา ก็จะได้ภาพไฟล์ pdf หน้าที่ 1 ต่อจากนั้นให้กดสัญลักษณ์กล้องถ่ายรูปด้านล่างซ้าย เพื่อถ่ายเอกสารแผ่นต่อไป ภาพของแผ่นต่อไปก็จะมาต่อภาพแรกที่ได้ทำไว้ในไฟล์ pdf  จากนั้นทำเหมือนเดิมจนครบทั้ง 5 แผ่น และสามารถย้ายรูปแบบการเรียงแผ่นเอกสารได้ตามที่ต้องการนอกจากนี้ยังสามารถนำภาพที่มีอยู่เดิมภายในเครื่องมาทำเป็นไฟล์ pdf ได้เช่นกัน เพียงแค่กดสัญลักษณ์ที่เขียนว่า import แทนสัญลักษณ์กล้องถ่ายรูป  เมื่อทำเอกสารแต่ละไฟล์เรียบร้อยแล้ว ไฟล์ทั้งหมดจะปรากฏอยู่ในหน้าแรกของแอพพลิเคชั่น โดยสามารถจัดการไฟล์ด้วยตนเองว่าต้องการเรียงไฟล์อย่างไร สำหรับขั้นตอนการนำไฟล์ออกจากเครื่องมี 3 วิธีที่แนะนำ อย่างแรกใช้วิธีการอัพโหลดไฟล์ไปยัง Dropbox , Google Drive เป็นต้น  อย่างที่สอง สามารถเลือกปริ๊นเอกสารได้ทันที แต่ต้องใช้ AirPrint หรือเครื่องปริ๊นที่สามารถเชื่อมต่อด้วยระบบ wifi ได้ อย่างที่สาม ง่ายที่สุด คือ ส่งไฟล์ไปยังเมลที่ต้องการขอเพิ่มเติมอีกอย่างค่ะ แอพพลิเคชั่น “CamScanner” ยังสามารถส่งไฟล์ได้หลายสกุล เช่น ไฟล์สกุล doc , ไฟล์สกุล jpg , ไฟล์สกุล pdf  เป็นต้น โดยให้เลือกชนิดของไฟล์ที่ต้องการก่อนที่จะถึงขั้นตอนการส่งออกค่ะเท่านี้เอกสารในมือทั้ง 5 แผ่น ก็สามารถทำเป็นไฟล์ pdf เพื่อส่งต่อไปยังเมลได้ภายในครึ่งชั่วโมงทันเวลา      

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 172 ส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือกับ Police i lert u

เหตุฉุกเฉินมักจะไม่บอกสัญญาณเตือนล่วงหน้า ดังนั้น สติ คือสิ่งที่ควรมีที่สุดในทุกสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อมีสติ สิ่งต่อไปคือต้องมีผู้ช่วยที่จะคอยช่วยเหลือชีวิตและทรัพย์สินของเราด้วย ก่อนหน้านี้เมื่อเกิดเหตุด่วน ทุกคนจะต้องนึกถึงหมายเลขโทรศัพท์ 191 โดยมีความหวังให้ตำรวจเดินทางมาช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็วและทันเหตุการณ์ ล่าสุดได้มีแอพพลิเคชั่นที่ถูกพัฒนาโดยกองบัญชาการตำรวจนครบาลทำออกมาเพื่อตอบสนองกับเทคโนโลยีในปัจจุบัน ซึ่งเป็นการเพิ่มช่องทางการขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเหนือจากหมายเลขโทรศัพท์ 191แอพพลิเคชั่นนี้มีชื่อว่า Police i lert u แอพพลิเคชั่นนี้สามารถดาวน์โหลดมาใช้งานได้ทั้งในระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ และระบบปฏิบัติการ ios หลังจากที่ได้ดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นมาไว้บนสมาร์ทโฟนแล้ว ขั้นตอนแรกคุณจะต้องคลิก sign up เพื่อสมัครและกรอกรายละเอียดสำคัญ อาทิเช่น ชื่อนามสกุล เบอร์โทรศัพท์ สำหรับให้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถติดต่อกลับมายังเจ้าของสมาร์ทโฟนเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน ในแอพพลิเคชั่น Police i lert u คุณสามารถ sign in และ log out ออกจากแอพพลิเคชั่นได้ตลอดภายในแอพพลิเคชั่นจะสามารถส่งข้อความแบบ chat กับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่อยู่บริเวณเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น  อีกส่วนหนึ่งจะเป็นเรื่องของการแก้ไขข้อมูลส่วนตัว ทั้งเรื่องรูปภาพ พาสเวิร์ด หมวดที่สำคัญอีก 2 หมวดสำหรับแอพพลิเคชั่นนี้ อย่างแรก คือ หมวด i lert เป็นหมวดที่มีไว้สำหรับส่งสัญญาณเพื่อแจ้งเหตุด่วนเหตุร้ายที่เกิดขึ้นจากแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน โดยเมื่อเข้าหมวดนี้ แอพพลิเคชั่นจะค้นหาตำแหน่งสมาร์ทโฟนว่าอยู่ตรงไหน จะเห็นว่ามีพิกัดเป็นตัวเลขลองจิจูดและละติจูด ด้านล่างคุณสามารถเขียนข้อความเพื่อแจ้งรายละเอียดของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ พร้อมทั้งสามารถแนบรูปถ่ายสถานที่เกิดเหตุ ต่อจากนั้นให้กดปุ่มสัญลักษณ์สัญญาณบริเวณด้านบนขวา ข้อมูลต่างๆ ก็จะถูกส่งไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจส่วนกลาง เพื่อที่จะส่งข้อมูลไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจที่อยู่ใกล้บริเวณที่เกิดเหตุ และแจ้งให้เดินทางมาถึงสถานที่นั้นๆ ได้อย่างรวดเร็วในกรณีที่คุณไม่สามารถเขียนข้อความหรรือถ่ายรูปได้ ก็สามารถที่จะกดปุ่มส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือได้เลย หมวดสุดท้ายที่สำคัญ คือ หมวด i call เป็นหมวดที่แจ้งเบอร์โทรศัพท์ที่จะสามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจบริเวณที่ใกล้คุณมากที่สุด เพื่อให้สามารถแจ้งขอความช่วยเหลือได้รวดเร็วมากขึ้นแอพพลิเคชั่น Police i lert u ถือว่าเป็นแอพพลิเคชั่นที่มีประโยชน์ และควรดาวน์โหลดไว้บนสมาร์ทโฟน เพื่อไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉินที่เกิดขึ้น และที่สำคัญควรกดปุ่มเพื่อส่งสัญญาณของความช่วยเหลือเมื่อจำเป็นเท่านั้น

อ่านเพิ่มเติม >