ฉบับที่ 147 Delivery Traffic รู้ทันตำรวจจราจร

รถชน!!! ความวุ่นวายในชีวิตก็จะเกิดขึ้น เริ่มตั้งแต่สำรวจว่าตนเองบาดเจ็บหรือไม่ ตรวจสภาพรถว่าเสียหายมากน้อยแค่ไหน แจ้งความกับตำรวจ เรียกประกันมาประเมินราคา และอะไรอีกน้า??? คุณผู้อ่านเคยเป็นไหม พอเกิดเหตุการณ์รถชน ความตื่นเต้น สับสน ทำอะไรไม่ถูก ไม่รู้ว่าต้องทำอะไรก่อนหลัง จะหันไปหาเพื่อนร่วมเดินทาง ก็ไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไรเหมือนกัน วันนี้ผู้เขียนจึงนำแอพพลิเคชั่นที่จะช่วยให้ประโยชน์ได้ทั้งคนขับและคนโดยสาร แอพพลิเคชั่นนี้มีชื่อว่า Delivery Traffic หรือเรียกว่า กฎหมายจราจรเดลิเวอรี่ เป็นแอพพลิเคชั่นที่ให้ความรู้ผู้ที่ขับรถ หรือแม้แต่คนที่ขับรถไม่จำเป็นก็สามารถเรียนรู้แอพพลิเคชั่นนี้ไว้ได้เช่นกัน ข้อมูลใน Delivery Traffic จะให้ความรู้และความเข้าใจ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ และเหตุการณ์ต่างๆ ขึ้นบนท้องถนนได้อย่างดี   Delivery Traffic  เป็นของกองบังคับการตำรวจจราจร  โดยภายในแอพพลิเคชั่นจะแบ่งเป็น 6 ส่วน ในส่วนแรกจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับเกร็ดความรู้ที่จะช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อมีการกระทำผิดกฎจราจร อย่างเช่น มีคำถามว่าตำรวจจราจรเรียกเก็บใบอนุญาตขับขี่ได้หรือไม่ เมื่อคลิกเข้าไปก็จะมีคำอธิบายเพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าว ในส่วนที่สอง จะเป็นการบอกความหมายของเครื่องหมายจราจรบนท้องถนน ส่วนที่สามเป็นเรื่องคำถามและคำตอบเกี่ยวกับอัตราค่าปรับเมื่อกระทำความผิด ซึ่งจะบอกว่าผู้อ่านรู้ว่าถ้าทำความผิดเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ จะต้องมีโทษอย่างใด หรือปรับเป็นเงินเท่าไร ส่วนที่สี่เป็นแผนผังรูปภาพเพื่ออธิบายการปฏิบัติตนเมื่อได้รับใบสั่ง ส่วนที่ห้า เป็นเรื่องของสิ่งที่ควรรู้ น่ารู้และต้องรู้เกี่ยวกับการจราจร ในส่วนนี้จะอธิบายเป็นวิดีโอแอนนิเมชั่น เพื่อเพิ่มความน่าสนใจและให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น ส่วนสุดท้าย เป็นเรื่องเกี่ยวกับการรู้ทันแอลกอฮอล์ สำหรับนักดื่มที่ต้องใช้รถ โดยมีการอธิบายถึงปริมาณในการดื่มแต่ละครั้งว่าควรดื่มปริมาณเท่าไรที่จะขับรถได้ ซึ่งไม่ให้มีปริมาณแอลกอฮอล์เกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ สำหรับผู้อ่านที่ต้องการติดตามวิดีโอแอนนิเมชั่นที่แนะนำวิธีต่างๆ สามารถคลิกเข้า youtube และ facebook ภายในแอพพลิเคชั่น Delivery Traffic ได้ทันที สามารถที่จะดาวน์โหลดแอพลิเคชั่น Delivery Traffic ได้ที่  https://itunes.apple.com/th/app/delivery-traffic/id409994187?mt=8 สำหรับ iPhone, iPod touch และ iPad  และที่ https://play.google.com/store/apps/details?id=com.smileapp.deliverytraffic สำหรับ android ลองดาวน์โหลดมาอ่านดู เพื่อให้มีความรู้ ความเข้าใจ และรู้ทันกับการทำงานของตำรวจจราจร

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 146 โหลดฟรีกับแอพพลิเคชั่น App of the Day

  ผู้อ่านเคยยอมเสียเงินเพื่อดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนบ้างหรือเปล่า   ต้องยอมรับกันว่าหลายคนคงยอมเสียเงินเพื่อแลกกับการได้เล่นแอพพลิเคชั่นที่ตนสนใจ และน่าสนใจ  ไม่ว่าจะเป็นแอพพลิเคชั่นความสวยความงาม  แอพพลิเคชั่นอาหารการกิน แอพพลิเคชั่นด้านการเงินการบริหาร แอพพลิเคชั่นตกแต่งภาพ แอพพลิเคชั่นเกมส์ต่างๆ และแอพพลิเคชั่นอื่นๆ อีกมากมาย ล้วนเป็นที่น่าสนใจในสายตาของผู้มีสมาร์ทโฟนทั้งสิ้น แต่การเสียเงินเพื่อให้แอพพลิเคชั่นนั้นลงมาอยู่บนสมาร์ทโฟนของตน ก็ทำให้ผู้บริโภคฉลาดซื้ออย่างพวกเรารู้สึกไม่คุ้มค่าและสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ   ด้วยเหตุนี้ แอพพลิเคชั่น  App of the Day จึงน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด   แอพพลิเคชั่น  App of the Day เป็นแอพพลิเคชั่นที่คอยแจ้งให้เจ้าของสมาร์ทโฟนได้ทราบว่าในแต่ละวันมีแอพพลิเคชั่นตัวไหนที่เปิดให้ดาวน์โหลดฟรี โดยสามารถดาวน์โหลดได้ภายใน 24 ชั่วโมง เมื่อคลิกเข้าไปในแอพพลิเคชั่น App of the Day โปรแกรมจะดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นที่เปิดให้ดาวน์โหลดฟรีขึ้นมาให้เห็น ซึ่งในแต่ละวันจะมีเพียงแอพพลิเคชั่นเดียวที่จะเปิดฟรี ให้ดาวน์โหลดหมุนเวียนกันไป  และบริเวณรายละเอียดภายในแอพพลิเคชั่น จะมีเวลานับถอยหลังสำหรับการดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นนั้นๆ ปรากฏอยู่  ตรงนี้จะช่วยให้รู้เวลาที่เหลือ แล้วผู้อ่านก็รีบไปบอกต่อเพื่อนๆ เลยค่า...   นอกจากนี้ด้านบนหน้าจอของแอพพลิเคชั่น ยังบอกราคาของแอพพลิเคชั่นนั้นๆ ไว้ด้วย เผื่อใครดาวน์โหลดฟรีไม่ทัน จะได้รู้ว่าราคาที่แท้จริงอยู่ที่เท่าไร  ส่วนบริเวณด้านล่างหน้าจอของแอพพลิเคชั่น จะมีรายละเอียดที่แจ้งให้ว่าแอพพลิเคชั่นตัวไหนบ้างที่เคยเปิดให้ดาวน์โหลดฟรี พร้อมราคาให้เสร็จสรรพ   ถ้าเปิดแอพพลิเคชั่น App of the Day แล้ว รู้สึกพึงพอใจกับแอพพลิเคชั่นที่ปรากฏอยู่ ก็คลิกเลย  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 142 YellowPages Live ติดตามตัว

ผู้อ่านจำหนังสือเล่มหนาๆ ปกเหลืองๆ ที่ถูกแจกจ่ายไว้ตามบ้านทุกหลังคาเรือนได้ไหมค่ะ คุณสมบัติของเล่มนี้จะช่วยค้นหาเบอร์ติดต่อร้านค้า สำนักงาน โรงพยาบาล สถานีตำรวจ หรือแม้แต่เบอร์โทรศัพท์บ้านของเราก็มีระบุไว้ สมุดเล่มนี้มีชื่อว่า “สมุดหน้าเหลือง” หรือเรียกว่า เยลโล่เพจเจส (YellowPages) เป็นชื่อที่ผู้เขียนและผู้อ่านรู้จักเป็นอย่างดี  ซึ่งเป็นหนังสือขนาดเล่มหนา มีปกสีเหลือง โดยได้รวบรวมรายชื่อธุรกิจ สินค้า และบริการ มาเรียบเรียงไว้เป็นหมวดหมู่ เพื่อแจกจ่ายไปตามบ้านเรือน บริษัท ห้างร้าน และแหล่งธุรกิจ  ภายหลังสมุดหน้าเหลืองได้ถูกพัฒนาเป็นรูปแบบออนไลน์ บน  http://www.yellowpages.co.th แต่ด้วยความทันสมัยของเทคโนโลยีบนสมาร์ทโฟนในโลกปัจจุบัน  สมุดหน้าเหลือง จึงถูกพัฒนามาเป็น YellowPages Live Application และสามารถรองรับทุกระบบปฏิบัติการของโทรศัพท์มือถือ ไม่ว่าจะเป็น iOS (iPhone หรือ iPad), Android OS, BlackBerry OS, Windows Phone, Windows Mobile และ สมาร์ทโฟน หรือฟีเจอร์โฟน ที่รองรับ J2ME  จะสามารถดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นนี้จาก http://www.typlive.com/mobile  มาติดตั้งใช้งานได้ทันที แอพพลิเคชั่น YellowPages Live มีอยู่ 5 ส่วน คือ ส่วนแรก Highlight เป็นส่วนที่อัพเดทข้อมูลข่าวสารที่น่าสนใจ ส่วนที่สอง Search จะเป็นส่วนค้นหาหมายเลขสำคัญ เบอร์ฉุกเฉิน คำค้นยอดนิยม ส่วนลดร้านอาหาร และโปรโมชั่นต่างๆ โดยสามารถคลิกรับโปรโมชั่นที่ต้องการได้ทันที ส่วนที่สาม Map สามารถค้นข้อมูลและให้แสดงผลในรูปแบบแผนที่ได้ เพิ่มความสะดวกให้กับผู้ที่ต้องการทราบเส้นทางการเดินทาง ส่วนที่สี่ Content อัพเดทราคาน้ำมัน ราคาทอง อัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงิน เลขหมายน่าสนใจ 4 หลัก รวมถึงสลากกินแบ่งรัฐบาล ส่วนที่ห้า Member เป็นส่วนของการ log in สำหรับสมาชิก ผู้อ่านสามารถสมัครเป็นสมาชิกกับแอพพลิเคชั่น YellowPages Live ได้ทันที ผู้อ่านลองดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นนี้มาใช้กันนะคะ เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายสำหรับการค้นหาเบอร์ติดต่อในกรณีเหตุสุดวิสัยและสามารถพกพาไปได้ทุกสถานที่ แถมแอพพลิเคชั่น YellowPages Live ยังสามารถรองรับได้ทุกระบบปฏิบัติการได้ขนาดนี้ มีแอพฯ นี้ไว้ในมือถือก็ดีไม่น้อยนะคะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 140 ใกล้ชิดผู้พิทักษ์สันติราษฎร์กับแอพฯ Thai Police Phonebook

“เหตุด่วน เหตุร้าย แจ้งศูนย์รับบริการแจ้งเหตุฉุกเฉิน 191” ประโยคเด็ดที่ใครหลายคนจำได้ขึ้นใจ เวลามีเหตุการณ์คับขัน ดูไม่ปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน หมายเลข 191 ต้องผุดอยู่ในความคิดเป็นอันดับแรก  เพราะน้อยคนนักที่จะทราบเบอร์สถานีตำรวจในพื้นที่นั้นๆ เพื่อที่จะโทรแจ้งเหตุการณ์ต่างๆ ในเวลาอันสั้นและทันท่วงทีได้ วันนี้ผู้เขียนจึงขอแนะนำแอพพลิเคชั่นเกี่ยวกับผู้พิทักษ์สันติราษฎร์กันสักหน่อย แอพพลิเคชั่นนี้มีชื่อว่า “Thai Police Phonebook” ผลิตขึ้นโดย กองสารนิเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นแอพฯ ที่เก็บข้อมูลเบอร์โทรศัพท์ติดต่อข้าราชการตำรวจ ตั้งแต่ระดับผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จนถึง สารวัตร จากทุกกองบัญชาการทั่วประเทศ   ขั้นตอนแรกผู้อ่านต้องดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น “Thai Police Phonebook” โดยคลิกที่ App Store หรือ Android Market บนโทรศัพท์มือถือ หรือคลิกโหลดได้ที่ play.google.com สำหรับระบบแอนดรอยด์ หรือคลิกโหลดที่  http://itunes.apple.com/th/app/thai-police-phonebook/id544328261?mt=8  สำหรับระบบ iOS  แบบไม่ต้องเสียค้าใช้จ่ายใดๆ ภายในแอพพลิเคชั่น จะมี 2 เมนู คือ เมนูสมุดโทรศัพท์ตำรวจ (Police Phonebook) ซึ่งจะมีข้อมูลรายละเอียดของข้าราชการตำรวจแต่ละท่าน ทั้งตำแหน่ง สังกัด เบอร์โทรศัพท์สำนักงาน เบอร์โทรศัพท์มือถือ เพียงพิมพ์ชื่อหรือนามสกุลบุคคลที่ต้องการในช่องค้นหา หรือถ้าต้องการค้นหาแบบละเอียดก็สามารถคลิกแถบด้านบนขวามือ เท่านี้ก็จะทราบรายละเอียดของข้าราชการตำรวจคนนั้น อีกเมนู คือ เมนูเกี่ยวกับกองสารนิเทศ (About us) เป็นเมนูบอกสถานที่ตั้งของกองสารนิเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เบอร์ติดต่อ เมล พร้อมเมนูลิ้งไปยังเว็บไซต์ facebook  twitter และ Google Map เพื่อแสดงแผนที่ที่ตั้งของหน่วยงาน แม้ว่าเหตุการณ์คับขันไม่ได้เกิดขึ้นตลอดเวลา แต่อย่างน้อยการมีเบอร์โทรหรือเบอร์สำนักงานตำรวจของพื้นที่ที่อยู่อาศัย และบริเวณสถานที่ทำงาน ก็ถือว่าช่วยเพิ่มความอุ่นใจขึ้นมาระดับหนึ่ง อ้อ เอาไว้ตรวจสอบพวกชอบแต่งตัวเป็นตำรวจมาหลอกชาวบ้านได้ด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 139 Price Grab เปรียบเทียบความคุ้มค่าสินค้า ใน App Box

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ผู้เขียนตั้งใจไปช้อปปิ้งสินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวันด้วยความเพลิดเพลิน แต่พอดูราคากับปริมาณสุทธิของสินค้าทำให้ความเพลิดเพลินนั้นหายไปเลยทีเดียว ผู้อ่านสังเกตไหมคะ ว่าสินค้าชนิดเดียวกัน แต่มีขนาดแตกต่างกัน โดยที่ราคาก็ไม่แตกต่างกันเท่าไรนัก หรือบางทีดูภายนอกสินค้ากล่องใหญ่น่าจะคุ้ม แต่พอคำนวณจริงๆแล้วกล่องเล็กคุ้มกว่า ด้วยจิตวิญญาณของผู้บริโภคแบบฉลาดซื้อจึงรู้สึกเพลียกับการคำนวณของตัวเอง ด้วยเหตุนี้ผู้เขียนจึงค้นพบแอพพลิเคชั่นที่ช่วยคำนวณปริมาณสุทธิของสินค้ากับราคา ของสินค้า 2 ประเภท เพียงแค่กรอกตัวเลข แอพพลิเคชั่นนี้จะคำนวณความคุ้มค่าของสินค้ามาให้อย่างรวดเร็ว แค่นี้ผู้เขียนก็ยิ้มออก ^_^ แอพพลิเคชั่นนี้มีชื่อว่า App Box ซึ่งภายในแอพฯ นี้ จะมีแอพฯ ย่อยอีกมากมาย ผู้อ่านสังเกตไอคอนที่เขียนว่า Price Grab ที่จะช่วยผู้อ่านเปรียบเทียบราคาสินค้าระหว่างสินค้า 2 ชนิด โดยหน้าจอจะแบ่งเป็น 2 ส่วนซ้ายขวา คือ สินค้า A และสินค้า B ซึ่งในสินค้าแต่ละชนิด ผู้อ่านต้องกรอกราคาและปริมาณสุทธิของสินค้า หลังจากกรอกรายละเอียดครบถ้วนแล้ว โปรแกรมจะคำนวณความคุ้มค่าของสินค้าระหว่าง 2 ชนิด ถ้าสินค้า B มีความคุ้มค่ามากกว่าสินค้า A จะปรากฏภาพดังนี้  A < B นอกจาก Price Grab ใน App Box แล้ว ยังมี Currency โปรแกรมคำนวณเรื่องสกุลเงินของแต่ละประเทศ Date Calc โปรแกรมคำนวณระยะเวลา  Day Until เป็นสมุดบันทึกรายการนัดหมายที่สามารถใส่รูปได้  Holidays รายละเอียดของรายการวันหยุดประจำปีของแต่ละประเทศที่รวบรวมไว้ Loan โปรแกรมสำหรับคำนวณดอกเบี้ย สำหรับเงินกู้ยืมหรือผ่อนทั้งหลาย  pCalendar โปรแกรมคำนวณสำหรับสาวๆ (คำนวณการมีประจำเดือน) Tip Calc โปรแกรมคำนวณการจ่ายทิป ภาษี คำนวณได้ทั้งสินเครื่องอุปโภคบริโภค Unit โปรแกรมแปลหน่วยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยของพื้นที่ ความยาว ความดัน อุณหภูมิ ปริมาตร น้ำหนัก เช่น กิโลเมตรเป็นเซนติเมตร ลองหาแอพพลิเคชั่น App Box มาเล่นกันดูนะคะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 137 DoctorMe คู่มือดูแลสุขภาพฉบับกระเป๋า

“อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยระวังสุขภาพให้ดีนะคะ” เป็นประโยคฮิตเหมาะสำหรับคนไทยเป็นอย่างยิ่ง ไม่ใช่เพียงแต่อากาศเปลี่ยนแปลงเท่านั้น ปัจจุบันเหตุการณ์ต่างๆ ก็ทำให้เป็นบ่อเกิดของโรคภัยไข้เจ็บได้เช่นกัน อย่างโรคที่มากับน้ำในวิกฤติน้ำท่วม โรคที่มากับอาหารในวิกฤติโรคระบาด เป็นต้น ซึ่งทุกโรคที่เกิดขึ้น ถ้าเรารู้จักเข้าใจถึงสาเหตุการเกิดของโรคเหล่านั้นแล้ว จะทำให้การแก้ไขและการป้องกันโรคเหล่านั้นเป็นเรื่องที่ง่ายและเข้าใจในการรักษาถึงสาเหตุที่แท้จริงมากขึ้น การปฐมพยาบาลในเบื้องต้นเมื่อเกิดการเจ็บป่วยขึ้นอย่างกะทันหันจึงถือว่าสำคัญ ซึ่งผู้อ่านสามารถเข้าไปศึกษาวิธีการปฏิบัติต่างๆ ได้ในเว็บไซต์หมอชาวบ้านที่ www.doctor.or.th ได้ทุกเวลา แต่ถ้าผู้อ่านไม่สะดวกที่จะใช้คอมพิวเตอร์ในเวลาเร่งด่วน  แอพพลิเคชั่น  DoctorMe ถือว่าเป็นแอพพลิเคชั่นที่น่าสนใจมากทีเดียว   แอพพลิเคชั่น  DoctorMe เป็นแอพพลิเคชั่นที่ย่อคู่มือการดูแลสุขภาพด้วยตนเองลงมาไว้บนมือถือแบบฉบับพกพา ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นช่วยบอกวิธีปฏิบัติตัวเมื่อเกิดอาการเจ็บป่วยในเบื้องต้น กว่า 200 รายการ โดยมีคำแนะนำเกี่ยวกับการปฐมพยาบาล  อาการเจ็บป่วย และโรคต่างๆ รวมถึงการใช้ยาแผนปัจจุบันและยาสมุนไพรอีกด้วย ภายในแอพพลิเคชั่นจะแบ่งอาการบริเวณที่คุณเจ็บป่วย หรือสามารถป้อนคำเพื่อค้นหาโรคที่เกิดขึ้นได้เลย เมื่อค้นหาเจอแล้ว แอพพลิเคชั่นจะบอกถึงอาการ สาเหตุ การรักษา การดูแลตนเอง และคำอธิบายที่เกี่ยวข้องของโรคดังกล่าวไว้  แต่ถ้าอาการเจ็บป่วยเกินเยียวยา แอพพลิเคชั่นนี้ยังมีปุ่มสำหรับคลิกเพื่อโทรไปยังสายด่วนการแพทย์ฉุกเฉินหมายเลข 1669 ในกรณีเร่งด่วนได้อีกด้วย ล่าสุดแอพพลิเคชั่นนี้ได้ออก Version 1.6 ซึ่งพัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือระหว่าง สถาบัน ChangeFusion สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิหมอชาวบ้าน และ บริษัท โอเพ่นดรีม จำกัด โดยเพิ่มเติมข้อมูลพิกัดและหมายเลขโทรศัพท์ของโรงพยาบาลทั่วประเทศ  และสามารถดูโรงพยาบาลใกล้เคียงจากจุดที่ค้นหา พร้อมคำนวณระยะทาง เปิดดูแผนที่ และเดินทางตามเส้นทางที่แผนที่ได้ลากเส้นไว้ให้ รวมถึงมีที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ของโรงพยาบาล เพื่อสะดวกในการติดต่อกับโรงพยาบาลได้ทันที ปัจจุบันแอพพลิเคชั่น DoctorMe สามารถรองรับได้ทั้งผู้ใช้ iOS และ Android ซึ่งสามารถดาวน์โหลด ได้ที่ www.doctorme.in.th แอพพลิเคชั่น DoctorMe ถือว่ามีประโยชน์อย่างมาก แม้ว่าในชีวิตประจำวันบางท่านอาจจะไม่ต้องใช้ในกรณีฉุกเฉิน แต่ถ้าได้ลองศึกษาข้อมูลและทำความเข้าใจกับอาการเจ็บป่วยต่างๆ สาเหตุของการเกิดโรค ขั้นตอนการรักษา รวมถึงขั้นตอนการปฐมพยาบาลที่ถูกวิธีแล้ว ถือได้ว่าแอพพลิเคชั่นนี้เป็นหมอชาวบ้านที่ให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ลองดาวน์โหลดมาศึกษากันดูนะคะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 136 Taxi Reporter รายงานพฤติกรรมที่ไม่พึงพอใจ

หลังจากที่แนะนำให้ผู้อ่านตรวจจับความเร็วกับแอพพลิเคชั่น Traffy bSafe เพื่อร้องเรียนความไม่พึงพอใจกับการบริการของรถบริการสาธารณะและพนักงานขับรถบริการสาธารณะบนท้องถนนไปฉบับก่อนหน้านี้ ฉบับนี้ผู้เขียนจึงขอแนะนำแอพพลิเคชั่นสำหรับร้องเรียนรถบริการสาธารณะประเภทแท็กซี่กันบ้าง พอพูดถึงรถแท็กซี่ ผู้อ่านหลายคนคงส่ายหน้ากับการเลือกรับผู้โดยสาร โดยมีเหตุผลรองรับต่างๆ นานา อย่างเช่น “ไปส่งรถไม่ทัน” “จะไปเติมแก๊ส” “แถวนั้นรถติด” เป็นต้น แค่นี้ก็ทำให้เอือมระอากับการเรียกใช้บริการรถแท็กซี่ไปแล้ว ส่วนผู้โดยสารที่โชคดีได้รถแท็กซี่ตกลงไปส่งจุดหมายปลายทางที่ต้องการ แต่ก็อาจเจอกับความโมโห ฉุนเฉียว พูดจาไม่สุภาพของคนขับรถแท็กซี่ เสมือนไม่พอใจที่จะไปจุดหมายปลายทางนั้น หรือไม่ก็ขับขี่ด้วยความไม่ระมัดระวัง จนทำให้รู้สึกเสี่ยงในเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนน ทั้งที่ไม่ใช่ความผิดอะไรของผู้โดยสารเลย แอพพลิเคชั่น Taxi Reporter ถูกพัฒนาขึ้นโดย บริษัท Siam Squared Technologies เป็นแอพพลิเคชั่นที่ช่วยให้การร้องเรียนถึงพฤติกรรมของคนขับรถแท็กซี่ที่ผู้โดยสารไม่พึงพอใจและเห็นว่าไม่เป็นธรรมกับการใช้บริการ ซึ่งข้อมูลที่ร้องเรียนจะถูกส่งไปยังบริษัทเพื่อรวบรวมและส่งข้อมูลต่อไปยังกรมขนส่งทางบกอีกครั้ง   ขั้นตอนในการส่งเรื่องร้องเรียน ขั้นตอนแรกจะให้กรอกหมายเลขทะเบียนรถแท็กซี่เจ้าปัญหา โดยผู้โดยสารจะสังเกตหมายเลขทะเบียนรถได้จากบริเวณประตูด้านหลังทั้งสองข้าง ขั้นตอนที่สองจะให้เลือกเรื่องที่ต้องการร้องเรียน โดยในแอพพลิเคชั่นจะมีให้เลือก ดังนี้ ไม่รับผู้โดยสาร ฝ่าฝืนกฎจราจร มีพฤติกรรมหยาบคาย และโกงค่าโดยสาร ในขั้นตอนนี้ผู้อ่านสามารถเลือกได้หลายตัวเลือก ขั้นตอนที่สาม ผู้อ่านสามารถพิมพ์ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมที่ต้องการร้องเรียนได้ พร้อมทั้งทางแอพพลิเคชั่นจะปักหมุดบนแผนที่ตรงบริเวณที่ผู้อ่านร้องเรียน เพื่อให้รู้ว่ารถแท็กซี่คันนั้นวิ่งในบริเวณใด เมื่อเติมข้อมูลทุกอย่างเสร็จสิ้น ให้คลิกเมื่อส่งข้อมูล สำหรับผู้อ่านที่เล่นเฟสบุ๊กสามารถโพสต์ข้อความการร้องเรียนได้ทันที โดยในหน้าต่างถัดไป แอพพลิเคชั่นจะสอบถามการแชร์ข้อมูลเรื่องร้องเรียนผ่านเฟสบุ๊ก เพียงคลิกตามขั้นตอน ข้อความเหล่านั้นก็จะไปปรากฏบนเฟสบุ๊กให้ทันที แต่ข้อจำกัดของแอพพลิเคชั่นนี้ก็มีเช่นกัน เพราะยังไม่สามารถรองรับอุปกรณ์ไปทั้งหมด ซึ่งจะรองรับเฉพาะอุปกรณ์ตระกูล iOS เท่านั้น อาทิ iPhone, iPad เป็นต้น โดยดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น Taxi Reporter ฟรีได้ที่ http://itunes.apple.com/th/app/taxi-reporter/id501278589?mt=8 เอาเป็นว่าช่วยกันรายงานพฤติกรรมที่เกิดขึ้นผ่านทางแอพพลิเคชั่น Taxi Reporter ซึ่งอย่างน้อยก็เป็นช่องทางหนึ่งที่อาจช่วยกระตุ้นให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเพิ่มความใส่ใจในเรื่องการบริการ และความปลอดภัยบนท้องถนนให้กับผู้โดยสารมากขึ้นกว่าเดิม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 134 ตรวจจับความเร็วกับ Traffy bSafe

ความประมาทที่ก่อให้เกิดอันตรายต่างๆ จากผู้ขับรถบริการสาธารณะ ถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรมกับผู้โดยสารที่ต้องฝากชีวิตไว้โดยที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ พอเกิดข่าวอุบัติเหตุครั้งหนึ่งผู้โดยสารก็จะพยายามหลีกเลี่ยงเส้นทางนั้น โดยการเปลี่ยนชนิดรถบริการสาธารณะในรูปแบบใหม่ แต่สำหรับผู้โดยสารที่ไม่สามารถเลือกใช้รถบริการสาธารณะรูปแบบอื่นได้ ก็คงต้องหวาดหวั่นกับการขับรถด้วยความประมาทของรถบริการสาธารณะต่อไป การร้องเรียนพนักงานขับรถบริการสาธารณะผ่าน Call Center 1584 เพื่อร้องเรียนความไม่พึงพอใจกับการบริการของรถบริการสาธารณะก็เป็นวิธีการหนึ่งที่ประชาชนธรรมดาคนหนึ่งในฐานะผู้บริโภคจะสามารถร้องเรียนได้ แต่การร้องเรียนในช่องทางนี้อาจทำให้เกิดความไม่สะดวกสบายเท่าไร รวมทั้งไม่มีหลักฐานความประมาทในการขับรถที่เป็นรูปธรรม จึงอาจทำให้การร้องเรียนที่ต้องการให้ปรับปรุงการบริการไม่เป็นผลมากนัก   เทคโนโลยีจึงถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อตอบสนองผู้บริโภคที่ต้องการร้องเรียนอย่างทันท่วงที โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (National Electronics and Computer Technology Center : NECTEC หรือเนคเทค) ได้พัฒนาแอพพลิเคชั่นที่มีชื่อว่า Traffy  bSafe ขึ้น เพื่อให้สามารถใช้ได้กับเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำบนมือถือในสังคมปัจจุบัน ทั้ง iPhone และ Android สามารถดาวน์โหลด Traffy bSafe mobile app ได้ฟรีที่ http://info.traffy.in.th/2011/09/02/traffy-bsafe Traffy  bSafe หรือเครือข่ายเฝ้าระวังด้านความปลอดภัยรถสาธารณะเป็นแอพพลิเคชั่นสำหรับตรวจจับความเร็วในขณะที่รถบริการสาธารณะวิ่งอยู่บนท้องถนนแบบ real-time และสามารถแจ้งร้องเรียนเรื่องความปลอดภัยของการเดินทางโดยรถสาธารณะได้ทันที  ก่อนเข้าแอพพลิเคชั่นเพื่อวัดความเร็ว โปรแกรมจะให้กรอกหมายเลขทะเบียนรถหรือสายรถเมล์ก่อนเป็นอันดับแรก โดยการวัดความเร็วของแอพพลิเคชั่นนี้จะไล่ตามความเร็วของรถบริการสาธารณะ ซึ่งใช้แถบสีในการแบ่งระดับ 3 ระดับ ดังนี้ แถบสีเขียวหมายถึงระดับ Speed Safe อยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย แถบสีเหลืองหมายถึงระดับ Speed Caution อยู่ในเกณฑ์ควรระมัดระวัง แถบสีแดงหมายถึงระดับ Speed Danger อยู่ในเกณฑ์อันตราย เมื่ออยู่ในระดับอันตรายโปรแกรมจะสอบถามเพื่อส่งเรื่องร้องเรียน โดยสามารถอัพโหลดรูปภาพเป็นหลักฐานในการร้องเรียน เพียงกดส่งข้อมูลต่างๆ ก็จะส่งไปยัง NECTEC เพื่อส่งต่อข้อมูลไปยังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และศูนย์ 1584 กรมการขนส่งทางบก ไม่ว่าการร้องเรียนเพื่อพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคจะอยู่ในรูปแบบใด อย่างน้อย Traffy  bSafe ก็เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยให้ความสะดวกในการร้องเรียนเพิ่มขึ้น และใช้ข้อมูลในแอพพลิเคชั่นเป็นหลักฐานได้ทางหนึ่ง เพียงแค่ผู้บริโภคอย่างเราๆ ช่วยกันสอดส่องและรักษาสิทธิที่ผู้บริโภคควรได้รับในเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนนคนละไม้คนละมือ สถิติการเกิดอุบัติเหตุอาจลดน้อยลงได้บ้าง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 185 กระแสต่างแดน

    ของ่ายๆ ได้ใจความคุณคิดว่าเราต้องใช้เวลาเท่าไรเพื่ออ่านข้อตกลงและเงื่อนไขของแอปพลิเคชั่นต่างๆ ในสมาร์ทโฟนให้ครบถ้วน หน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคของนอร์เวย์ทดลองให้ผู้ใช้อ่านข้อตกลงและเงื่อนไขการใช้งานของแอปยอดนิยม (เช่น Facebook Gmail Instagram Twitter YouTube และ Skype) ทั้งหมด 33 แอป แล้วจับเวลา …Forbrukerradet พบว่าเวลาที่ใช้ในการอ่านข้อความ 260,000 คำ หรือ 900 หน้า(ซึ่งยาวกว่าเนื้อหาใน The New Testament หรือ พระคริสตธรรมใหม่) คือ 31 ชั่วโมง 49 นาทีการทดลองนี้นำไปสู่คำถามว่าทำไมเนื้อหาที่มีความสำคัญกับผู้บริโภคจึงถูกนำเสนอในรูปแบบที่ยืดยาวและเข้าใจยาก จะมีกี่คนที่ใช้เวลาถึง 4 วันทำงานอ่านเงื่อนไขการใช้งานของแอปพวกนี้จนจบ แต่คนส่วนใหญ่มักกด “ตกลง” โดยไม่รู้ตัวว่าได้อนุญาตให้บริษัททำอะไรกับข้อมูลของตัวเองบ้าง รวมถึงการยอมให้บริษัทมีสิทธิ์ในการใช้เนื้อหาการสนทนา หรือรูปภาพต่างๆ ในโทรศัพท์ได้โดยไม่มีกำหนดForbrukerradet ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รณรงค์เรื่องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้มาโดยตลอดบอกว่าเรื่องนี้ยอมรับไม่ได้และยังเป็นการละเมิดกฎหมายทั้งของนอร์เวย์และยุโรปด้วย โลกต้องรู้?ใกล้ๆ กันที่สวีเดน ที่ผู้คนจริงจังกับการออกกำลังกายไม่แพ้ชาติใดในโลก ก็มีเรื่องแอปในสมาร์ทโฟนให้กังวลเช่นกันสมาคมผู้บริโภค Sveriges Konsumenter อดเป็นห่วงเรื่องการแชร์ข้อมูลส่วนตัวผ่านแอปของคนกลุ่มนี้ไม่ได้  โดยเฉพาะอย่างยิ่งแอปช่วยออกกำลังกายอย่าง Endomondo Lifesim MyFitnessPal Runkeeper Strava แจน เบอร์ทอฟ เลขาธิการสมาคมฯ บอกว่า ปัจจุบันผู้บริโภคยังไม่สามารถควบคุมการใช้หรือแชร์ข้อมูลด้านสุขภาพของตนเองได้เท่าที่ควร หลายคนไม่สามารถอ่านทะลุข้อความที่ซับซ้อนไปถึงเรื่องสำคัญๆ ได้ มีเพียงแอป Strava เท่านั้นที่แจ้งผู้ใช้อย่างตรงไปตรงมาว่าจะนำข้อมูลไปใช้ร่วมกับบุคคลที่ 3 ในขณะที่ MyFitnessPal สามารถนำชื่อและรูปโปรไฟล์ของผู้ใช้ไปหาประโยชน์ได้ ส่วน Runkeeper และ Endomondo นั้นสามารถแชร์ตำแหน่งของผู้ใช้ แม้ในขณะที่พวกเขาไม่ได้ออกกำลังกาย      นี่ก็ไม่ว๊าว!หลังจากเป็นหนี้อยู่หลายล้านเหรียญ ผู้ประกอบการแคลิฟอร์เนีย ฟิตเนส ในฮ่องกง ซึ่งดำเนินการมา 20 ปีก็ปิดตัวลง ทิ้งลูกค้าประมาณ 64,000 ราย และลูกจ้างอีก 700 คนไปดื้อๆแคลิฟอร์เนีย ฟิตเนส ฮ่องกงดำเนินการโดย เจวี ฟิตเนส ซึ่งเป็นผู้ประกอบการสถานออกกำลังกายรายใหญ่อันดับสองของฮ่องกง ข่าวระบุว่าเจวีขาดทุน 117 ล้านเหรียญ (528 ล้านบาท) ในช่วง 30 เดือนที่ผ่านมาและเหลือเงินในบัญชีเพียง 16 ล้านเหรียญ (72 ล้านบาท) แต่มีหนี้ (ค่าเช่า ค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าแรงพนักงาน) ประมาณ 130 ล้านเหรียญฮ่องกงหรือประมาณ 586 ล้านบาทบริษัทเริ่มปิดสาขาแรกจากทั้งหมด 12 สาขา เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคมที่ผ่านมาโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า บางคนเพิ่งจ่ายค่าสมาชิกไปประมาณ 50,000 บาท ก่อนสถานประกอบการจะปิดไม่กี่วันอีกด้วย ขณะนี้สคบ. ของฮ่องกงมีเรื่องร้องเรียนเข้ามาแล้วไม่ต่ำกว่า 100 กรณี  ก่อนหน้านี้ก็เป็นที่รู้กันว่าบริษัทใช้เทคนิคการขายแบบเข้มข้นดุดันมาตลอด และเทรนเนอร์ที่นี่ก็มีรายได้งามจากค่าคอมมิสชั่นที่เกินจริงถึงเดือนละ 100,000 เหรียญ (450,000 บาท)ล่าสุดแคลิฟอร์เนีย ฟิตเนส ในสิงคโปร์ก็ปิดกิจการลงแล้วเช่นกัน เรื่องทั้งหมดนี้ฟังดูคุ้นๆ เหมือนเคยเกิดที่บ้านเราใช่ไหมหนอ  จริงหรือมั่วนิตยสารคอนซูมาตริซิ ของอิตาลีรายงานว่าจากการสำรวจน้ำมันมะกอกแบบบริสุทธิ์พิเศษ (Extra Virgin) ที่ขายดี 20 อันดับต้นของประเทศ มีน้ำมันมะกอกที่คุณสมบัติไม่ถึงแต่แอบอ้างติดฉลากดังกล่าวด้วยถึง 9 รายการ   ถ้าถามว่าดูอย่างไรว่าเป็นชนิดบริสุทธิ์พิเศษ ผู้รู้จะตอบว่าให้ดูที่ราคา เพราะกรรมวิธีที่ใช้นั้นสิ้นเปลืองทั้งเวลาและแรงงาน เช่น ต้องเป็นผลมะกอกที่เก็บจากต้นในช่วงเวลาที่เหมาะสม(ไม่เก็บจากโคน) และนำมาคั้นทันที โดยไม่มีการใช้สารเคมีหรือความร้อน ฯลฯ น้ำมันมะกอกที่แจ้งว่าตัวเองเป็นชนิดบริสุทธิ์พิเศษจึงสามารถขายได้ในราคามากกว่าแบบธรรมดาถึงร้อยละ 40 จึงเป็นแรงจูงใจให้เกิดการแอบอ้างตามที่เป็นข่าวล่าสุดคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าลงดาบปรับ 2 บริษัทยักษ์ใหญ่ที่ขายหรือผลิตน้ำมันมะกอกที่ติดฉลากไม่ถูกต้อง ลิเดิลผู้ประกอบการซูเปอร์มาร์เก็ตในยุโรปถูกสั่งปรับ 550,000 ยูโร (ประมาณ 21 ล้านบาท) ลิโอดิโอ ผู้ผลิตน้ำมันมะกอกยี่ห้อแบโตลี่ ก็ถูกปรับไป 300,000 ยูโร(ประมาณ 11.6 ล้านบาท) เช่นกันเขาให้เหตุผลว่าที่ค่าปรับแพงขนาดนี้ เพราะนอกจากการกระทำดังกล่าวจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคที่ต้องจ่ายราคาเกินจริงแล้ว ยังทำให้น้ำมันมะกอกของอิตาลีต้องเสื่อมเสียชื่อเสียงไปด้วย  อารมณ์เสียสิ่งหนึ่งที่ผู้ให้บริการรถไฟในญี่ปุ่นทุกเจ้าเห็นตรงกันว่ายังไม่สามารถจัดการได้ คือพฤติกรรมของผู้โดยสารที่ “อารมณ์เสีย”สมาคมผู้ประกอบการรถไฟเอกชน รายงานว่าปีที่ผ่านมามีเหตุผู้โดยสารใช้อารมณ์(และกำลัง) กับพนักงานถึง 225 ครั้ง ในขณะที่สถิติลูกจ้างของบริษัทผู้ประกอบการของรัฐและบริษัทในเครือ JR ถูกทำร้ายโดยผู้โดยสารก็สูงถึง 574 ครั้งในปีก่อนหน้าความไม่ปลอดภัยดังกล่าวมักเกิดกับพนักงานในเวลาระหว่าง 4 ทุ่ม ถึงเวลาออกของรถไฟเที่ยวสุดท้าย และมักเกิดขึ้นบริเวณชานชาลา บางครั้งถูกทำร้ายเพราะผู้โดยสารมีอาการมึนเมา บางครั้งโดนลูกหลง เมื่อเข้าไปห้ามการทะเลาะวิวาท หรือเข้าไปให้ความช่วยเหลือแต่ผู้โดยสารรู้สึกไม่ได้อย่างใจผู้ประกอบการทุกเจ้าลงความเห็นตรงกันว่ามันเป็นเรื่องที่คาดการณ์และรับมือได้ยากจริงๆ เพราะคนปัจจุบันนี้หงุดหงิดง่ายและต้องการระบายทันทีตอนนี้ทำได้เพียงติดโปสเตอร์เตือนสติผู้คนว่าการใช้ความรุนแรงกับผู้อื่นเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ส่งพนักงานไปอบรมศิลปะป้องกันตัวปีละครั้ง และออกแบบเครื่องแต่งกายพนักงานให้ยากต่อการถูกทำร้าย เช่น เนคไทแบบที่หลุดออกทันทีเมื่อถูกดึง เป็นต้น นักวิชาการด้านจิตวิทยาให้ความเห็นว่าปัญหานี้เรื้อรังเพราะว่า บริษัทไม่เคยดำเนินคดีขั้นเด็ดขาดกับผู้โดยสารอันธพาล ... เพราะเขาถือว่าลูกค้าคือพระเจ้า โอ้ ญี่ปุ่นแท้ๆ

อ่านเพิ่มเติม >