ฉบับที่ 277 ความเคลื่อนไหวเดือนมีนาคม 2567

เตือน อินฟลูฯ ดาราไทย อย่ารับรีวิวอาหารเสริมเกินจริง        สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)  เปิดเผยว่า ได้มีการตรวจพบการรีวิวสินค้า ประเภทอาหารเสริมโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง มีการอ้างรักษาโรค ลดความอ้วน ซึ่งมีการใช้ดารา นักแสดง พิธีกร ผู้ประกาศข่าว อินฟลูเอนเซอร์ แพทย์ รวมถึงเภสัชกรจำนวนมากมารีวิว         อย. ได้เตือนว่าการกระทำดังกล่าว มีความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 ดังนี้        ·     มาตรา 40 ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหาร อันเป็นเท็จหรือเป็นการหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท ทั้งจำทั้งปรับตามมาตรา 70         ·     มาตรา 41 ผู้ใดประสงค์จะโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณ ของอาหารทางวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ ทางฉายภาพ ภาพยนตร์ หรือทางหนังสือพิมพ์ หรือสิ่งพิมพ์อื่น หรือด้วยวิธีอื่นใดเพื่อประโยชน์ในทางการค้า ต้องนำเสียง ภาพ ภาพยนตร์ หรือข้อความที่จะโฆษณาดังกล่าวนั้นให้ผู้อนุญาตตรวจพิจารณาก่อน เมื่อได้รับอนุญาตแล้วจึงจะโฆษณาได้ ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท ตามมาตรา 71         หากตรวจพบจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายทันที  บขส. แจ้งกรณีปิดพื้นที่ขาเข้าหมอชิต แต่ “ถูกแท็กซี่เรียกค่าบริการเพิ่ม”         มีนาคม 2567 ทางบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ประกาศชี้แจงกรณีที่ทาง บขส. ปิดพื้นที่ทางขาเข้าสถานีหมอชิต 2 ตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2567 เป็นต้นไป ซึ่งได้ให้รถโดยสารทุกคันเข้าจอดส่งผู้โดยสารที่บริเวณชานชาลาขาออก ช่องที่ 112-130 นั้น พบว่ามีแท็กซี่บางรายฉวยโอกาสเรียกเก็บค่าบริการเพิ่ม 50 บาทกับผู้โดยสาร ดังนั้น ทาง บขส. ขอแจ้งว่าไม่มีนโยบายดังกล่าวสำหรับการให้รถแท็กซี่เรียกเก็บค่าบริการเพิ่ม อย่างไรก็ตาม หากพบเห็นจะมีการดำเนินการขั้นเด็ดขาด สามารถแจ้งเรื่องเรียนได้ที่สายด่วน 1584 ลูกหลานใส่ใจ ระวังมิจฉาชีพพุ่งเป้าผู้สูงอายุ         เพจเฟซบุ๊ก ตำรวจสอบสวนกลาง ออกมาเตือนกรณีพบว่ามีผู้สูงอายุและข้าราชการเกษียณจำนวนมากมักตกเป็นเป้าหมายในกลุ่มมิจฉาชีพ (แก๊งคอลเซ็นเตอร์) ซึ่งใช้กลลวงหลอกเอาเงิน เช่น การแอบอ้างเป็นประกันสังคม หลอกเอาเงินบำเหน็จ-บำนาญ รวมถึงแอบอ้างเป็นสรรพากร ทางตำรวจสอบสวนกลางจึงได้แนะนำวิธีป้องกันผู้สูงอายุตกเป็นเหยื่อจากมิจฉาชีพ ดังนี้          1. อย่ารีบเชื่อทันที หาเหตุและผลให้ดีก่อนว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่         2. เปรียบเทียบข้อมูลจากหลายๆ แหล่ง หาข้อมูลให้ได้มากที่สุด นำมาชั่งน้ำหนักดูว่าเป็นเรื่องเท็จจริงหรือไม่         3. เช็กข้อมูลให้ชัวร์ก่อนแชร์ ว่าเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง การแชร์ในสิ่งที่ผิดเป็นผลเสียตามเสมอ        4. เลือกดูสื่อที่น่าเชื่อถือเท่านั้น โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ พิจารณาให้ถี่ถ้วนก่อนเข้าไปอ่าน        5. หากมิจฉาชีพอ้างถึงหน่วยงานต่างๆ ให้โทรไปสอบถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงด้วยตัวเองว่าจริงหรือไม่        6. ควรปรึกษาคนใกล้ตัว ลูก-หลาน ก่อนที่จะเชื่อกลอุบายต่างๆ ที่มิจฉาชีพนำมาหลอก เพื่อจะได้ให้ช่วยกันหาข้อมูลว่าจริงหรือไม่         ทั้งนี้ ตำรวจสอบสวนกลางจึงอยากให้ลูกหลานคอยระวังผู้สูงอายุและผู้ใหญ่อย่างสม่ำเสมออีกด้วย จับแล้วทุจริต “โครงการสามล้อเอื้ออาทร”         จากกรณีกลุ่มผู้เสียหาย 200 ราย ได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อตำรวจสอบสวนกลาง ให้ดำเนินคดีกับสหกรณ์ชื่อดังแห่งหนึ่ง สืบเนื่องจากสหกรณ์ดังกล่าว ได้เป็นผู้ประสานการขอสินเชื่อระหว่างสมาชิกและธนาคาร เพื่อทำโครงการสินเชื่อพัฒนาองค์กรชุมชน แต่ภายหลังพบว่าทางสหกรณ์กลับนำเงินฝากของสมาชิกไปชำระสินเชื่อกับธนาคาร ทำให้ธนาคารขาดสภาพคล่อง จนเป็นเหตุให้สมาชิกถูกธนาคารฟ้องร้องเนื่องจากผิดชำระหนี้และผิดสัญญาค้ำประกันสินเชื่อ รวมถึงที่ทางสหกรณ์ไม่สามารถจัดซื้อรถสามล้อได้ตรงตามคุณภาพที่กำหนดไว้ และติดต่อจ้างอู่หลายแห่งให้ประกอบสามล้อแล้วนำมาจำหน่ายให้สมาชิก และเพิ่มค่าส่วนต่างถึง 75,000-180,000 บาท สุดท้ายแล้วมีการนำเงินส่วนต่างดังกล่าวไปเป็นของตนเอง มูลค่าความเสียหายกว่า 8 ล้านบาทนั้น         ล่าสุดตำรวจสอบสวนกลาง ได้นำกำลังเข้าจับกุม นายสุรชัย อายุ 43 ปี ตามหมายจับศาลอาญาที่ 487/2567  ฐานความผิด “ร่วมกันฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามที่นายทะเบียนสหกรณ์สั่งการตาม มาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2562” เพื่อนำตัวไปดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป ผู้บริโภค เฮ! คดีหลอกขายเครื่องนอนยางพารา ชนะศาลฎีกา         จากกรณีผู้เสียหายหลายราย ฟ้องร้องเพจเฟซบุ๊กออนไลน์ที่อ้างว่าขายที่นอนยางพารา แต่เมื่อสั่งของมากลับพบว่าได้รับของที่ไม่ได้คุณภาพ หรือ ไม่ได้สินค้าเลย กว่า 10 เพจนั้น และได้มาร้องเรียนทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค         ล่าสุดวันที่ 15 มีนาคม 2567 ณัฐวดี เต็งพาณิชกุล ทนายความมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้กล่าวว่า คดีนี้ต่อสู้กันมาตั้งแต่ปี 2563 ตั้งแต่ศาลชั้นต้นถึงศาลอุทธรณ์ จนกระทั่งมกราคม 2567 ศาลฎีกาได้พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคแรก และ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง (1) ลงโทษจำคุก 3 ปี ซึ่งการนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์อยู่บ้าง เห็นควรลดโทษ 1 ใน 3 คงจำคุก 2 ปี ศาลให้จำเลยชำระเงิน 6,400 บาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 กันยายน 2562 นับจากวันที่จำเลยกระทำละเมิดเป็นต้นไปจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วม         อย่างไรก็ตาม อีกคดีศาลฎีกาได้พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ภาค 1 โดยให้จำเลยมีความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน โดยเป็นชัยชนะของผู้บริโภค 2 ราย ในจำนวน 120 ราย ที่ได้มาร้องต่อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เมื่อปี 2563 ในส่วนของการได้เงินคืนทางโจทก์ต้องไปทำการสืบทรัพย์จำเลยตามกระบวนการบังคับคดีตามเงื่อนไขของคดีแพ่งต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 276 ไซบูทรามีน คืนชีพ

        ข่าวการเสียชีวิตของผู้ป่วยหญิงรายหนึ่งที่จังหวัดอ่างทอง เมื่อกลางปี 2562 ผลชันสูตรพบว่าสาเหตุการเสียชีวิตเกิดจากภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ผลการตรวจเลือดพบว่ามียา 4 ชนิด (ที่มีการผสมในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อ้างสรรพคุณลดน้ำหนักที่ผู้เสียชีวิตรับประทาน) ได้แก่ ฟูลออกซิทีน (Fluoxetine) บิซาโคดิล (bisacodyl) ไฮโดรคลอโรไทอะไซด์ (hydrochlorothaiazide) และ ไซบูทรามีน (cybutramine) ยาทั้ง 4 ชนิด ออกฤทธิ์ร่วมและเสริมกันทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะจนเสียชีวิต นำไปสู่การปราบปรามการแอบลักลอบปลอมปน “ไซบูทรามีน” ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยมีเป้าหมายสำคัญคืออำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เพราะมีข้อมูลว่าเป็นต้นทางการลักลอบนำเข้าสารไซบูทรามีนจากประเทศเพื่อนบ้าน มีการตรวจค้นและพบวัตถุดิบสารไซบูทรามีนและการปลอมปนในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อวดอ้างสรรพคุณลดน้ำหนักจำนวนมากหลายยี่ห้อ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้ดำเนินคดีและแจ้งเตือนไปแล้ว         ล่าสุดในเดือนธันวาคม 2566 เครือข่ายเฝ้าระวังในจังหวัดเชียงราย รายงานว่าพบการกลับมาจำหน่ายและพบการบริโภคผลิตภัณฑ์ยี่ห้อ “Lishou” และ “Bashi”ในหลายพื้นที่ โดยผลิตภัณฑ์ที่พบใครั้งล่าสุดนี้ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่มีเลขสารบบอาหาร (เลข อย.) ผลิตภัณฑ์ทั้ง 2 ยี่ห้อนี้เคยตรวจพบการปลอมปนสารไซบูทรามีน และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้เคยดำเนินคดีและแจ้งเตือนไปแล้ว แสดงให้เห็นว่าเครือข่ายธุรกิจการลักลอบผลิตยาลดความอ้วนไม่ได้หมดไป ยังคงคืนชีพดำเนินการอย่างต่อเนื่อง การกลับมาระบาดครั้งนี้ยังพบว่ามีการโฆษณาขายในตลาดออนไลน์อย่างเปิดเผย        ขอเตือนภัยมายังผู้บริโภคให้สังเกตผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่กำลังรับประทานอยู่ว่าได้ขออนุญาตถูกต้องหรือไม่ หรือแม้จะมีเลข อย. หากรับประทานไปแล้วน้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็วหรือผอมเร็ว ให้ระวังว่าอาจมีสารไซบูทรามีนปลอมปนควรหยุดรับประทาน แล้วให้ส่งผลิตภัณฑ์ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้านตรวจสอบและดำเนินการต่อไปเพื่อความปลอดภัย         ไซบูทรามีนคืออะไร : ไซบูทรามีนคือสารเคมีที่ส่งผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง (สมอง) ที่ทำให้ไม่รู้สึกหิว อิ่มเร็วและกระตุ้นการเผาผลาญพลังงานในร่างกาย จึงมีการนำไปใช้ในทางที่ผิดโดยนำมาลักลอบปลอมปนในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อ้างสรรพคุณลดน้ำหนัก แต่เนื่องจากสารนี้มีผลข้างเคียงต่อร่างกายทำให้ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะ ปากแห้ง ปวดศีรษะ นอนไม่หลับและท้องผูก ที่สำคัญมีรายงานผลกระทบต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดทำให้เกิดผลเสียร้ายแรงจนถึงแก่ชีวิต ประเทศไทยจึงจัดไซบูทรามีนเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด และยกเลิกทะเบียนตำรับยาที่มีสารนี้ไปแล้วตั้งแต่ ปี 2553

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 272 รู้ก่อนตัดสินใจ “สักคิ้ว”

        “การสักคิ้ว” เป็นที่นิยมอย่างมากในวงการความสวยความงามของไทย ก็อย่างว่าคิ้วคือมงกุฎของหน้า สาเหตุที่คนนิยมกัน ก็เนื่องจากต้องการแก้ปัญหาบริเวณส่วนคิ้ว เช่น บางคนต้องการสักคิ้วเพื่อแก้ปัญหาคิ้วบางจนเกินไป ไม่มีความมั่นใจหรือบางคนแค่ต้องการเปลี่ยนทรงคิ้วให้ดูสวยขึ้น เป๊ะปังอยู่ตลอดเวลานั้นเอง การสักคิ้วสมัยนี้ก็มีอยู่หลายรูปแบบ ทั้ง 3 มิติ 6 มิติ แบบการฝังสีคิ้วสไตล์เกาหลี เพิ่มโหงวเฮ้งของใบหน้าก็มีหาได้ทั่วไป          อย่างไรก็ตาม หากต้องการสักคิ้วจริงๆ อยากให้ผู้บริโภคศึกษาให้ดีก่อนตัดสินใจสักหน่อย เพราะหากสักพลาดไปแล้วแน่นอนแก้ยากกว่าที่คิด หลายคนคงจะเห็นได้จากข่าวที่มีคนพลาดไปสักคิ้วแล้วได้คิ้วทรงแปลกๆ ให้เห็นกันอยู่บ่อย ฉลาดซื้อ จึงอยากแนะนำ ดังนี้          1. ตรวจสอบร้านสักคิ้วที่เราต้องการใช้บริการ ช่างมีใบรับรองวิชาชีพหรือไม่ ก่อนลงมือสักมีการใส่ถุงมือ หน้ากากอนามัย         2. สถานที่ใช้บริการต้องมีใบอนุญาตประกอบกิจการ (ใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ) ซึ่งใบประกอบดังกล่าวจะมีอายุ 1 ปี นอกจากนี้ ภายในร้านต้องสะอาด ถูกอนามัย อยู่ในพื้นที่เปิดเผยเป็นหลักแหล่ง อุปกรณ์ที่ใช้ไม่ควรใช้ซ้ำ         3. อ่านรีวิวก่อนเข้าใช้บริการทุกครั้ง เพื่อศึกษาความน่าเชื่อถือของร้าน และให้แน่ใจว่าการใช้บริการจะปลอดภัย ตรงนี้แนะนำให้เช็กดีๆ         4. สำหรับคนที่แพ้ยาชาไม่ควรสักคิ้ว เนื่องจากการสักคิ้วก่อนลงเข็มจะต้องมีการลงยาชาเพื่อลดอาการเจ็บก่อน         5. ก่อนลงมือสักคิ้ว ควรแจ้งรายละเอียดทรงคิ้วที่อยากได้ให้ชัดเจน ให้ช่างร่างทรงคิ้วให้ดูก่อนยิ่งดีอย่าตามใจช่างเพราะอาจได้ทรงคิ้วที่ไม่ถูกใจ เมื่อสักไปแล้วการแก้ไขภายหลังก็ยากมากขึ้น         6. สำหรับคนที่ชอบเปลี่ยนทรงคิ้วตามกระแสบ่อยๆ อาจจะไม่ตอบโจทย์     ความเสี่ยงในการสักคิ้ว         -  ไม่ได้ทรงคิ้วตามที่ต้องการอาจจะหนาเกินไป เหมือนที่คนทั่วไปเรียกว่า “คิ้วปลิง” นั้นเอง         -  การแก้ไขในภายหลังกรณีที่ทำการสักคิ้วไปแล้ว เช่น การสักคิ้วแบบถาวร ซึ่งอาจจะต้องแก้ด้วยการเลเซอร์ลบรอยสักเท่านั้น มีค่าใช้จ่ายสูง และต้องทำอีกหลายครั้งจนกว่าสีจะจางเป็นปกติ แถมยังอาจมีแผลเป็นตามมาอีกด้วย         -  การเลือกร้านสักที่ไม่ถูกสุขอนามัย ไม่มีมาตรฐาน ทำให้อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากอุปกรณ์ที่ไม่สะอาด         -  มีอาการแพ้สีที่ใช้สัก หรือยาชาโดยที่เราไม่ทราบมาก่อน ทำให้เกิดการอักเสบ คัน หรืออื่นๆ แนะนำว่าอย่าปล่อยทิ้งไว้ให้รีบไปพบแพทย์ทันที         -  ค่าใช้จ่ายในการสักคิ้ว ราคาสูงไม่ได้แปลว่าจะไม่เกิดความผิดพลาด                    นอกจากนี้  การสักคิ้วไม่ได้มีแต่ข้อเสีย ข้อดีก็มี เช่น ช่วยเสริมโหวงเฮ้ง ลดเวลาการเขียนคิ้วแต่งหน้า แก้ปัญหาสำหรับสาวคิ้วบางได้ตามที่กล่าวไปข้างบน แต่สำหรับใครที่ขี้เบื่อหรือชอบเปลี่ยนทรงคิ้ว แต่ยังอยากสักคิ้วจริงๆ  อาจเลือกการสักคิ้วแบบฝังสีฝุ่น ซึ่งเป็นการฝั่งสีคิ้วไปบริเวณบนหนังกำพร้า อยู่ได้ 3-6 เดือนหรือมากกว่านั้นและจะเริ่มจางหายไปเองตามธรรมชาติ เหมาะกับคนที่ต้องการเปลี่ยนทรงคิ้วอยู่เรื่อย แต่อาจจะเหมาะสำหรับคนที่ชอบคิ้วสไตล์เกาหลีเท่านั้น          ทั้งนี้ “สำหรับคนที่ได้ไปสักคิ้วมาแล้ว ก็อยากให้ดูแลโดยการหลีกเลี่ยงไม่ให้โดนน้ำ ทำตามคำแนะนำของช่าง เพื่อลดโอกาสเกิดการติดเชื้อและอักเสบด้วยนะคะ”           ข้อมูลจาก : สักคิ้ว ศึกษาให้ดีก่อนตัดสินใจ - พบแพทย์ (pobpad.com)สักคิ้ว ข้อควรรู้ ขั้นตอน และแนวทางการดูแลตัวเองหลังสัก - พบแพทย์ (pobpad.com)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 271 ทำหน้ากระชับ แต่กลับได้หน้าเบี้ยว

        Ulthera (อัลเทอร่า) หรือ Ultherapy คือ เทคโนโลยียกกระชับแบบ Original มีหลักการทำงานโดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูง และมีความเฉพาะเจาะจง (Focused Ultrasound) ยิงลงไปใต้ชั้นผิวเพื่อให้ผิวเกิดการยกกระชับขึ้น         นี่คือคำโฆษณา ที่สถานเสริมความงาม คลินิกต่างๆ ให้คำจำกัดความนวัตกรรมอัลเทอร่าไว้ แต่เรื่องราวของคุณจอย ผู้ที่ได้รับบริการอัลเทอร่ากับคลินิกเสริมความงามแห่งหนึ่งกลับเป็นตรงกันข้าม เพราะไม่ได้หน้ากระชับแต่กลับได้หน้าเบี้ยว เธอจึงเข้ามาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค         คุณจอยได้เข้ารับบริการกระชับหน้าด้วยการทำอัลเทอร่าที่ โนรา คลินิก (นามสมมุต) เมื่อปี 2565 แต่ใบหน้าที่ต้องการให้กระชับนั้น กลับกลายเป็นว่าทำให้มีปัญหาหน้าเบี้ยวหลังการทำอัลเทอร่า คุณจอยจึงกลับมาหาแพทย์ที่คลินิกอีกครั้งเพื่อให้ช่วยรักษาอาการผิดปกติ แต่แพทย์ของทางคลินิกปฏิเสธการรักษาเพื่อแก้ไขอาการเพียงแนะนำให้คุณจอยไปซื้อยารักษาอาการเอาเอง โดยคลินิกจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายให้ คุณจอยจึงต้องไปหาแพทย์เพื่อรักษาอาการผิดปกติที่โรงพยาบาลอื่น         ระหว่างการรักษาอาการหน้าเบี้ยวคุณจอยจึงได้รู้เพิ่มเติมว่า คลินิกดังกล่าวไม่ได้ใช้แพทย์ที่เชี่ยวชาญอัลเทอร่า ( Ulthera ) โดยเฉพาะเป็นเพียงแพทย์ผิวหนังทั่วไปเท่านั้น จึงได้รับการบริการและการดูแลที่ไม่ดีและยังต้องหาทางรักษาอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นตามมาภายหลัง คุณจอยเสียเงินรักษาอาการไปแล้วกว่า 32,500 บาท (ก่อนร้องเรียนกับทางมูลนิธิฯ) แต่ทางคลินิกจ่ายเพียงแค่ 7,664 บาท ยังคงเหลือจำนวนที่ทางคลินิกต้องชดใช้คืนให้แก่คุณจอยอีกจำนวน 24,836 บาท ซึ่งคุณจอยยังไม่ได้รับเงินคืนจากคลินิกอีกเลย ทั้งที่คลินิกแจ้งว่าจะรับผิดชอบค่ารักษาทั้งหมดแต่แรก จึงร้องเรียนมายังมูลนิธิฯ เพื่อขอความช่วยเหลือ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 269 ซื้ออาหารเสริม แต่สินค้ามีสภาพหมดอายุทำอย่างไรดี

        คุณศรีนวล ซื้ออาหารเสริมมากินเพราะเห็นคำโฆษณาและรีวิวต่างๆ แล้วสนใจ ตอนที่หยิบซื้อมาก็คิดว่า ตรวจสอบข้างกล่องอย่างดีแล้วนะ ยังไม่หมดอายุ เมื่อวางใจ จึงกินต่อเนื่องวันละเม็ด รวม 4 วัน เท่ากับ 4 เม็ด คือแกะจากแผง ก็เอาเข้าปากกลืนลงคอเลย ทว่าวันที่ 4 ได้ทดลองตรวจสอบสภาพสิ่งของที่กินเข้าไป เลยพบว่ามีอะไรขาวๆ ติดอยู่บนอาหารเสริมที่เป็นสีเทา คราวนี้จึงรู้สึกวิตกว่ามันจะเป็น “ เชื้อรา “ หรือเปล่าพอแกะเปลือกแคปซูล ปรากฏว่า ผงขาวๆ ข้างในมันแข็งตัวเป็นแท่ง โดย 10 แคปซูล ใน 1 แผง มีสภาพเหมือนกันหมด ปัญหาคือ อีก 3 กล่อง ที่ซื้อมาพอแกะดูทั้งหมด มีสภาพไม่ต่างกัน จึงอยากจะคืนสินค้าและขอเงินคืน จึงปรึกษามูลนิธิฯ ว่าต้องทำอย่างไร แนวทางการแก้ไขปัญหา        1.แนะผู้ร้องซึ่งบริโภคอาหารเสริมเข้าไปแล้ว 4 วัน ควรไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลก่อน เพราะสภาพสินค้าตามที่ผู้ร้องแจ้งมามีลักษณะเหมือนกับสินค้าหมดอายุ และหากพบความผิดปกติควรขอใบรับรองแพทย์ด้วย เพื่อใช้เจรจาหรือฟ้องร้องในกรณีที่เจรจากันไม่ได้       2.แจ้งความเพื่อลงบันทึกประจำวันกับทางสถานีตำรวจ อย่างน้อยเพื่อแสดงว่าตนเองไม่ได้มีเจตนากลั่นแกล้งผู้ขายหรือผู้ผลิต             3.ตัวสินค้าแนะนำให้ผู้ร้องแจ้งกับทาง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อขอให้ตรวจสอบว่าเป็นสินค้าหมดอายุ สินค้าอันตรายหรือไม่        4.ติดต่อบริษัทผู้ขาย (ตัวแทนขายตรง) เพื่อขอให้แก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภค        อาหารที่เสื่อมสภาพก่อนหมดอายุ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแนะนำว่าผู้บริโภคอย่าปล่อยผ่าน เมื่อมีเหตุเสียหายจากผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าต้องรับผิดชอบ อย่าปล่อยให้คนทำผิดได้ใจ “ร้องทุกข์หนึ่งครั้ง ดีกว่าบ่นพันครั้ง” 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 269 ถูกหลอกเสียเงินหลักแสนว่าจะให้ของฟรีที่ไม่มีจริง!!

        การถูกล่อลวงให้ซื้อเครื่องสำอางหรือคอร์สเสริมความงามจนประชาชนต้องสูญเสียเงินมหาศาลนั้น ยังเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาแม้กับคนที่ไม่ชอบใช้เครื่องสำอางเลย เช่น คุณดาว ที่แค่เพียงเดินผ่านหน้าร้าน ก็ถูกชักจูงให้รับของฟรีให้เอาไปทดลองใช้ พอคุณดาวเผลอหลวมตัวเข้าไปนั่งภายในร้าน จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นให้ถูกหลอกซื้อเครื่องสำอางเสียเงินไปกว่าแสนบาท          เรื่องราวนี้เริ่มเพียงแค่ตอนแรกคุณดาวถูกใจและตกลงซื้อเครื่องสำอางที่จัดโปรโมชั่นลดราคาเหลือ  1,900 บาท จึงยื่นบัตรเครดิตให้พนักงานไปรูดเป็นค่าสินค้า แต่ในระหว่างที่พนักงานร้านถือบัตรเครดิตไว้แล้ว พนักงานอีก 2 คน ก็เข้ามาเสนอคอร์สทรีตเมนท์หน้าฟรีให้อีก ‘พี่รู้มั้ย มาสก์ครั้งเดียวก็ 60,000 บาทแล้ว’ คุณดาวปฏิเสธไปหลายครั้งเพราะจะรีบไปรับลูกที่โรงเรียนแต่พนักงานงานกลับช่วยกันประคองพาคุณดาวเข้าในห้องเล็กๆ เพื่อทำทรีตเม้นท์หน้าต่อ และเพียงล้มตัวนอน ฝรั่งเจ้าของบริษัทก็ปรากฏตัวขึ้นและบอกว่า ถูกใจคุณดาวมากจนอยากให้เป็นพรีเซนเตอร์ และให้พนักงานนำผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางของบริษัทมาวางให้คุณดาวที่ข้างเตียงมากมาย จนถึงตอนนี้ คุณดาวก็รู้สึกว่าคุ้มมากๆ เพียงเข้ามาซื้อเครื่องสำอางราคา 1,900 บาทกลับได้ทรีตเมนท์หน้าฟรี ยังจะได้เป็นพรีเซ็นเตอร์และยังได้เครื่องสำอางกลับไปใช้อีกเป็นจำนวนมากด้วย         จนเมื่อพนักงานเสนอกับคุณดาวว่า “ค่าคอร์สทำหน้า ราคา 96,000 บาท ทำหน้าได้ 12 ครั้งซึ่งตอนนี้บอสถูกใจให้ทำคอด้วยอีก 12 ครั้ง  แล้วเครื่องสำอางที่นำมาวางให้กว่า 9 รอบทั้งหมดคือให้ฟรี ใช้แล้วจะเต่งตึงอยู่ได้ 5 ปี ไม่ต้องไปใช้ตัวอื่นอีกเลย” คุณดาวจึงเริ่มรู้สึกกระอักกระอ่วนใจมากแล้วเพราะราคาสูงลิ่ว และอยากออกจากร้านแล้ว แต่เพราะพนักงานยังไม่ล้างทรีตเม้นท์บนหน้าให้ ในระหว่างนี้ยังนำเครื่องสำอางมาวางให้ฟรีเรื่อยๆ ไม่หยุด จนคุณดาวต้องปฏิเสธบอกว่า เธอเป็นป่วยโรคมะเร็งและไม่อยากเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ที่ใช้อยู่ พนักงานก็รับประกันว่า ‘ไม่ต้องห่วง ปลอดภัยต่อผู้ป่วยมะเร็งแน่นอน และทั้งหมดนี้มีมูลค่าสูงเกือบล้านบาทแต่วันนี้ลดราคาเหลือ 96,000 บาท’ เท่านั้น  ด้วยเพราะเป็นห่วงลูกที่รอให้ไปรับที่โรงเรียนและด้วยความรำคาญจึงตอบตกลงซื้อคอร์สทรีตเมนท์ใบหน้า เพราะคิดว่าอย่างน้อยระยะเวลาให้เข้ามาใช้บริการก็ยาวนานถึง 5 ปี และยังรับประกันว่าปลอดภัย มีประสิทธิภาพไม่ต้องใช้ผลิตภัณฑ์อื่นอีก         จนเมื่อกลับถึงบ้านและเห็นใบเสร็จอย่างชัดเจนว่ายอดบัตรเครดิตทั้งหมดที่พนักงานบอกว่า เป็นค่าเครื่องสำอางที่บอกว่าให้ฟรีทั้งหมดนั้นไม่ฟรีจริง ส่วนคอร์สทรีตเมนท์หน้าไม่มีรายละเอียดใดๆ ให้กลับไปใช้บริการได้เลยอีกด้วย (สัญญา 5 ปีคืออะไร)  ในท้ายใบเสร็จยังระบุว่า ‘ไม่สามารถเปลี่ยนสินค้าคืนได้’  วันรุ่งขึ้นคุณดาวจึงกลับไปที่ร้านอีกแต่ไม่พบพนักงานที่ขายของให้เลยและยังไม่สามารถติดต่อพนักงานคนใดให้รับผิดชอบได้เลยด้วย คุณดาวและสามีจึงช่วยกันสืบหาข้อมูลของบริษัทและพบว่ามีผู้เสียหายที่ถูกทำให้เข้าใจผิด ถูกยัดเยียดขายให้แบบคุณดาวจำนวนกว่า 10 ราย บางคนเป็นแพทย์ มีรายได้สูงก็ถูกหลอกขายและกดบัตรเครดิตเสียเงินไปถึงกว่า 4 แสนบาท จึงมาปรึกษาว่าตนเองและผู้ร้องรายอื่นจะสามารถทำอะไรเพื่อแก้ไขเรื่องนี้ได้บ้าง แนวทางการแก้ไขปัญหา         เรื่องนี้คุณดาวเองได้เดินเรื่องร้องเรียนไว้กับทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ด้วย เธอฝากบอกถึงผู้เสียหายรายอื่นๆ ว่า เมื่อเกิดเรื่องขึ้นให้เก็บหลักฐานการซื้อขายทุกอย่าง เก็บรักษาผลิตภัณฑ์ของบริษัทให้อยู่ในสภาพคงเดิมและเข้าร้องเรียนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ  สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยกับบริษัท ณ ปัจจุบันคุณดาวได้ไกล่เกลี่ยกับบริษัทแล้ว แต่ยังหาข้อยุติไม่ได้ เพราะบริษัทไม่รับผิดชอบตามข้อเรียกร้องคุณดาวจึงร่วมกับผู้เสียหายรายอื่นๆ แต่งตั้งทนายความเพื่อสู้คดีแล้ว         “หากเดินผ่านร้านแบบนี้  ไม่อยากให้แวะเลย แม้ว่าเขาจะสร้างภาพหรูหราหรือตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้าที่ใหญ่โตแล้วเราคิดว่าจะปลอดภัยไม่ใช่ มีทุกรูปแบบ  ไม่อยากให้รับของฟรี หรือ  gift voucher ฟรีใดๆ ปฏิเสธแล้วรีบเดินออกมาเลยดีที่สุด”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 269 ภาพลวงตาธุรกิจอาหารเสริม ลวงให้กินอาหารเสริมเหมือนเป็นยา

ผู้บริโภคที่ซื้ออาหารเสริมมากิน อาจแบ่งคร่าวๆได้เป็น 2 กลุ่มหลัก  กลุ่มแรกกินเพราะต้องการเสริมอาหารเพราะคิดว่าตัวเองกินไม่พอ ขาดสารอาหาร เช่น คนที่ทำงานหนัก พักผ่อนน้อย ไม่มีเวลากินข้าว หรือผู้ป่วยที่กินอาหารได้น้อย และอีกกลุ่มคือกลุ่มที่คาดหวังสรรพคุณบางอย่างจากอาหารเสริม โดยเฉพาะสรรพคุณในการรักษาโรคเหมือนการกินยา กลุ่มหลังเป็นกลุ่มที่มักจะตกเป็นเหยื่อของการโฆษณาหลอกลวงได้ง่ายมาก “ประสบการณ์ในพื้นที่ ผมเคยเจอการที่ผู้ขายพยายามทำให้อาหารเสริมมีสรรพคุณเป็นยารักษาโรค กรณีแรกเป็นข้าวสารธรรมดาๆ แต่กลับอ้างสรรพคุณช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดและรักษาโรคเบาหวานได้ คนขายพยายามนำผู้ป่วยเบาหวานที่กินข้าวนี้มาเป็นตัวอย่างและแอบอ้างเกินจริงว่ากินแล้วน้ำตาลลดลง จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า มันคือข้าวที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ คือกินแล้วน้ำตาลจะขึ้นช้ากว่าข้าวทั่วไป จึงอาจเหมาะกับผู้ป่วยเบาหวาน (แต่ไม่ได้ช่วยรักษาเบาหวาน) การกินข้าวแบบนี้โดยไม่ควบคุมนอกจากจะไม่ช่วยรักษาเบาหวานแล้วอาจจะทำให้น้ำตาลในเลือดสูงจนเบาหวานขึ้นได้ อีกกรณีเป็นการหลอกลวงให้ตรวจสุขภาพด้วยอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่อ้างว่าสามารถวิเคราะห์สุขภาพผู้ตรวจได้ทุกระบบ (โดยไม่ต้องเจาะเลือด ตรวจปัสสาวะ เพียงแต่ถืออุปกรณ์ที่นำมาแอบอ้าง แค่นั้นเอง) พอผลตรวจ (ที่ถูกอุปโลกน์) ออกมาก็หลอกขายอาหารเสริมให้กับชาวบ้านที่มาตรวจ” ที่ผ่านมาเราก็เคยพบว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบางอย่างจงใจปลอมปนยาแผนปัจจุบันเข้าไป เพื่อหวังสรรพคุณทางยา ที่ผู้ใช้บอกต่อกันปากต่อปาก ในชุมชนเรามักจะตรวจพบน้ำผลไม้สกัดเข้มข้นบางยี่ห้อที่แอบขายให้ชาวบ้านปลอมปนสเตียรอยด์ หรือ ข่าวใหญ่โตคือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ปลอมปนยาลดความอ้วน (ไซบูทรามีน) ที่กินแล้วผอมจริง ตายจริง ตามที่ปรากฏในข่าว จนต้องปราบปรามกันในระดับประเทศ  ภาพลวงตาเหล่านี้คืออุปสงค์ (demand) ของผู้บริโภคที่มาตรงกับอุปทาน (supply) ของธุรกิจอาหารเสริมพอดิบพอดี ธุรกิจอาหารเสริมเข้าใจตรงนี้ดี จึงมีความพยายามที่จะโฆษณา เพื่อเบี่ยงเบนหรือแม้กระทั่งชี้นำให้ผู้บริโภคคิดเอาเองว่า อาหารเสริมนั้นมีสรรพคุณเหมือนการกินยา  ข้อเท็จจริงคือ อาหารเสริมตามกฎหมายต้องขึ้นทะเบียนเป็นอาหารที่ต้องมีเลขสารบบอาหาร (เลข อย.) และห้ามโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณว่าเป็นยา และต้องมีคำเตือนว่าไม่ให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าสามารถกินแทนอาหารปกติได้ การไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย โดยเฉพาะการโฆษณาอ้างสรรพคุณทางยา มีความผิดตามกฎหมายหลายมาตราที่มีโทษทั้งจำคุกและปรับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 268 ไซบูทรามีนเกลื่อนเมือง.....ปัญหาเรื้อรังที่รอจุดสิ้นสุด

        เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา จังหวัดขอนแก่นได้ประกาศแจ้งเตือนผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร “คอร์เซ่” ตรวจพบไซบูทรามีนซึ่งทำให้ผู้บริโภคได้รับอันตรายจนต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล1 และในวันเดียวกันนี้ สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้เผยแพร่ข่าวพบไซบูทรามีนในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร NQ S Cross ซึ่งตำรวจ ปคบ.กับ อย.ได้ทลายเครือข่ายผู้ผลิต และผู้จัดจำหน่าย ในพื้นที่ 4 จุดของจังหวัดตาก สุโขทัย  และพิษณุโลก 2          “ไซบูทรามีน” เป็นสารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท  ทำให้ลดความอยากอาหารอิ่มเร็วขึ้นและช่วยกระตุ้นกระบวนการเผาผลาญของร่างกายส่งผลให้ร่างกายมีน้ำหนักลดลง  เดิมมีการนำมาใช้เป็นยาลดความอ้วน แต่เนื่องจากไซบูทรามีนทำให้เสี่ยงต่อการมีเลือดไปเลี้ยงอวัยวะสำคัญลดลง เช่น หัวใจ สมอง จนอาจเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายจากการขาดเลือดและสมองขาดเลือดฉับพลัน ผู้ที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคหัวใจล้มเหลว โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคหลอดเลือดสมองตีบ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคความดันโลหิตสูงที่ควบคุมไม่ได้ อาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้   ซึ่งผู้ผลิตได้สมัครใจถอนทะเบียนจากท้องตลาดแล้วทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยเมื่อ 11 ตุลาคม 2553  แม้จะไม่มีไซบูทรามีนที่ถูกต้องตามกฎหมายแต่ยังคงมีการลักลอบนำไปใส่ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารกลุ่มที่อวดอ้างสรรพคุณลดน้ำหนัก ทำให้พบอาการไม่พึงประสงค์ ได้แก่ ปากแห้ง คอแห้ง ท้องผูก ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ ใจสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น นอกจากนี้หากใช้ร่วมกับยาอื่นที่มีผลเสียต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเสียชีวิต         ปัจจุบัน “ไซบูทรามีน” ถูกยกระดับให้เป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด โดยผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย มีไว้ในครอบครองผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ผสมไซบูทรามีนเพื่อการค้า จะต้องรับโทษจำคุกตั้งแต่ 1-15 ปี  และปรับตั้งแต่ 100,000-1,500,000 บาท แม้“ไซบูทรามีน”ถูกปรับเปลี่ยนประเภทตามกฎหมายทำให้มีบทลงโทษหนักขึ้น  แม้จะมีการตรวจจับดำเนินคดีอย่างต่อเนื่อง แต่สถานการณ์ปัญหาก็ยังคงอยู่ ดังนั้นผู้บริโภคจะต้องดูแลตนเองมิให้ตกเป็นเหยื่อกับผลิตภัณฑ์ดังกล่าว โดยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ลดหวาน มัน เค็ม และออกกำลังกายสม่ำเสมอ  หากพบอาการไม่พึงประสงค์ดังกล่าวภายหลังรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผู้เสียหายจะต้องกล้าลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิของตนเอง  โดยการร้องเรียนหรือให้ข้อมูลผู้จำหน่ายแก่หน่วยงานหรือเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค ขณะเดียวกันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับด่านนำเข้า เช่น กรมศุลกากรและสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจะต้องร่วมกันสกัดการนำเข้าสารไซบูทรามีนหรืผลิตภัณฑ์ที่ปลอมปนไซบูทรามีนมิให้เข้ามาทำอันตรายต่อประชาชน  และหากพบผลิตภัณฑ์ที่ปลอมปนไซบูทรามีน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดจะต้องประกาศผลวิเคราะห์ให้ประชาชนทราบ  เพื่อจะมิให้มีผู้บริโภคที่ตกเป็นเหยื่อรายต่อไป   ที่มา        1. ศูนย์ประสานงานอาหารปลอดภัยจังหวัดขอนแก่น สืบค้นเมื่อ 26 เมษายน 2566 https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=pfbid02LQYqAggoAUUcEWnBaBJ1Xumxg49hLDhhRH1kiqZqVS7wJRWGdfsHkS8fHBrNcXLEl&id=100054673890265        2. สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข สืบค้นเมื่อ 26 เมษายน 2566   https://pr.moph.go.th/?url=pr/detail/2/02/190296/

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 264 คลินิกเสริมความงามแอบรูดบัตรเครดิตเกินราคา

        คลินิกเสริมความงามหลายแห่งมักจัดโปรโมชันพิเศษราคาถูก เพื่อดึงดูดให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการในร้านให้ได้ก่อน หลังจากนั้นพนักงานขายจะพยายามโน้มน้าวชักชวนให้ลูกค้าซื้อคอร์สต่อเนื่องในราคาที่แพงกว่าหลายเท่า ผู้บริโภคจึงต้องดูเงื่อนไขและราคาให้รอบคอบจะได้ไม่เจอปัญหาเหมือนอย่างคุณนารี         วันหนึ่งขณะที่คุณนารีนั่งเล่นเฟซบุ๊กอยู่ ก็มีโฆษณาของคลินิกเสริมความงามแห่งหนึ่ง เด้งขึ้นมานำเสนอคอร์สกำจัดขนใต้รักแร้ในราคาโปรโมชั่นพิเศษ เธอจึงสนใจและตัดสินใจเดินทางไปที่คลินิกที่อยู่ในห้างสรรพสินค้าใหญ่แถวลาดพร้าว หลังจากโอนเงิน 1,990 บาท ชำระตามเงื่อนไขโปรโมชั่นแล้วก็นั่งรอคิวรับบริการ ระหว่างนั้นมีพนักงานขาย 2 คนเข้ามาแนะนำว่าโปรโมชั่นนี้ไม่มีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหา และเสนอขายคอร์สที่ราคาสูงกว่าคือ 23,000 บาท ลดเหลือ 15,000 บาท (ทั้งหมด 12 ครั้ง ไม่มีวันหมดอายุ แถมคอร์ส Cooling Cell ฟรี 1 ครั้ง) แต่เธอปฏิเสธไป         หลังจากนั้น ขณะที่พนักงานกำลังเลเซอร์ขนใต้รักแร้ให้คุณนารีอยู่ พนักงานขายคนเดิมก็เข้ามาขายคอร์สอีกรอบ และจงใจให้พนักงานหยุดให้บริการจนกว่าเธอจะตอบตกลง โดยเสนอคอร์สเดิมในราคาใหม่ที่ 10,000 บาท เธอคำนวณดูแล้วก็คิดว่าคุ้ม จึงตอบตกลง แล้วหยิบบัตรเครดิตส่งให้พนักงานขายไป เพื่อชำระเงินส่วนที่ต้องจ่ายเพิ่มอีก 8,010 บาท (ก็ตอนนั้นกำลังทำเลเซอร์อยู่) เมื่อรับบริการเสร็จแล้ว วันนั้นเธอก็กลับบ้านพร้อมกับใบเสร็จรับเงิน 10,000 บาท โดยไม่ได้เอะใจอะไร         ผ่านไป 2 วัน คุณนารีเพิ่งมาเช็คยอดเงินที่จ่ายไป ถึงได้รู้ว่าพนักงานรูดเงินไป 10,000 บาท ซึ่งเกินราคาที่ตกลงซื้อไว้ เธอจึงได้ติดต่อขอเงินส่วนที่จ่ายเกินไป 1,990 บาทคืน แต่ทางคลินิกปฏิเสธในครั้งแรก และแจ้งภายหลังว่าขอพิจารณาโดยไม่ได้กำหนดวันที่แน่ชัด ทำให้เธอไม่อยากจะใช้บริการคลินิกนี้อีกแล้ว จึงยืนยันขอยกเลิกสัญญาและขอเงินคืน 10,000 บาท แต่ทางบริษัทไม่ยอมคืนเงินให้ โดยอ้างว่าได้ไลน์ไปแล้ว แต่เธอไม่ได้ทักท้วงในตอนนั้นจึงถือว่ายอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น คุณนารีเห็นว่าข้ออ้างของทางคลินิกไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค จึงโทรศัพท์มาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอคำปรึกษา แนวทางการแก้ไขปัญหา         ในกรณีนี้ คุณนารีสามารถขอยกเลิกบริการได้ภายในระยะเวลา 45 วัน นับแต่วันที่ได้รับบริการ โดยดำเนินการตามขั้นตอน ดังนี้         1.นำเรื่องไปบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานที่สถานทีตำรวจในท้องที่         2.ทำหนังสือบอกยกเลิกสัญญาและขอคืนเงิน (ส่งภายใน 45 วันนับตั้งแต่ทำสัญญา) โดยทำเป็นไปรษณีย์ตอบรับ สำเนาถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค         3.ทำจดหมายถึงธนาคารเจ้าของบัตรเครดิตเพื่อปฏิเสธการจ่ายเงิน โดยให้ทำเป็นแบบไปรษณีย์ตอบรับเช่นเดียวกัน และสำเนาถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค         4.ถ้ามีข้อความกำหนดไว้ว่า ไม่สามารถยกเลิกได้ ถือว่าข้อความในสัญญานั้นไม่เป็นธรรม        5. ถ้าทางคลินิกไม่ยกเลิกให้ตามที่ผู้ร้องทำหนังสือไป ผู้ร้องสามารถฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคได้ โดยไม่ต้องเสียเงินค่าธรรมเนียมศาลหรือค่าขึ้นศาลแต่อย่างใด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 264 ความเคลื่อนไหวเดือนกุมภาพันธ์ 2566

แค่ต้นปี 2566 พบผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษกว่า 6,185 คน         รายงานสถานการณ์โรคอาหารเป็นพิษจากกรมควบคุมโรค พบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 3 กุมภาพันธ์ 2566 มีผู้ป่วยจากโรคดังกล่าว จำนวน 6,185 คน ซึ่งกลุ่มที่พบมากที่สุด มี 3 อันดับ ได้แก่ อายุ 5-9 ปี  0-4 ปี  15-24 ปี ตามลำดับ โดยการระบาดจากทั้ง 19 เหตุการณ์ มีจำนวนผู้ป่วยตั้งแต่ 3-348 คน พบว่าในทั้งหมดจากเหตุการณ์ มีการระบาดในสถานศึกษา 11 เหตุการณ์ รองลงมา คือ เรือนจำ/ค่ายลูกเสือ 4 เหตุการณ์ อื่นๆอีก 3 เหตุการณ์ และบ้านพัก 1 เหตุการณ์  จึงคาดว่าจะพบผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษสูงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากทุกปีมักพบว่ามีจำนวนผู้ป่วยสูงช่วงต้นปี มกราคม – มีนาคม ลักษณะคล้ายคลึงกัน กรมฯ จึงให้คำแนะนำว่า ประชาชนควรเลือกซื้ออาหารที่สด สะอาด รูป รส กลิ่น สี ไม่ปกติ และล้างทำความสะอาดก่อนนำมาปรุงด้วยความร้อนให้สุกอย่างทั่วถึง ยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” สั่งปรับ “ลาซาด้า-ช้อปปี้” กรณีโฆษณาผิดกฎหมาย         เภสัชวีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้มีการแถลงการตรวจพบโฆษณาอาหาร ยาและเครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ผิดกฎหมายในแพลตฟอร์มออนไลน์ ลาซาด้าและช้อปปี้ เป็นจำนวนมากซึ่งอาจทำให้ผู้บริโภคถูกเอาเปรียบ จึงให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปราบปรามและฝ่ายกฎหมายเร่งรวบรวมหลักฐานเพื่อดำเนินคดี โดยทาง อย.ได้ปรับลาซาด้าไปแล้วกว่า 45 คดี เป็นเงินค่าปรับกว่า 4.9 ล้านบาท ปรับช้อปปี้ 22 คดี เป็นเงินค่าปรับกว่า 1.9 ล้านบาท รวมถึงคดีที่มีโทษจำคุกอีกจำนวนมากที่ส่งให้ตำรวจดำเนินคดีต่อ นอกจากนี้ ทาง อย.ยังได้เข้าพบผู้กำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อหารือในการกวาดล้างโฆษณาเถื่อนในตลาดออนไลน์ พบเว็บหน่วยงานรัฐโดนฝังโฆษณาเว็บพนันกว่า 30 URL         นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ปีที่ผ่านมามีปัญหาภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่เกิดขึ้นกับหน่วยงานในประเทศไทยกว่า 500 รายการ ส่วนมากเป็นการโจมตีในรูปแบบการแฮกเว็บไซต์  2 หรือ 3 ของการโจมตีทั้งหมดเป็นหน่วยงานรัฐ และหน่วยงานที่ตกเป็นเป้าหมายโจมตีมากที่สุด คือ หน่วยงานการศึกษา  รองลงมาหน่วยงานสาธารณสุขและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามลำดับ โดยหน่วยงานราชการ  20 กระทรวง โดนแฮ็กเว็บไซต์และถูกโจมตีข้อมูลด้วยการฝังสคริปต์โฆษณาเว็บไซต์การพนันออนไลน์มากถึง 30 ล้าน URL ทั้งนี้ ซึ่งทาง สกมช. ได้เสนอมาตรการทั้งระยะสั้น ระยะยาวต่อคณะรัฐมนตรี หากประชาชนที่พบเห็นการหลอกลวง เว็บไซต์ปลอม หรือผู้ที่มีข้อมูลเว็บพนันออนไลน์ สามารถแจ้งได้กับกระทรวงดิจิทัล  ได้ที่ 1212 หรือ https://facebook.com/DESMonitor เพจอาสาจับตาออนไลน์ หรือแจ้งได้ที่ ncert@ncsa.or.th หลังปรับมิเตอร์แท็กซี่ใหม่พบเรื่องร้องเรียนกว่า 2000 เรื่อง         19 กุมภาพันธ์ 2566 กรมขนส่งทางบกให้ข้อมูลว่า ตั้งแต่มีการปรับราคาของแท็กซี่มิเตอร์ใหม่ (16 มกราคม) มีผู้โดยสารร้องเรียนปัญหารถแท็กซี่เป็นจำนวนกว่า 2,120 เรื่องแล้ว โดยความผิดที่มีการร้องเรียนมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ 1.ปฏิเสธไม่รับผู้โดยสาร จำนวน 720 เรื่อง 2.แสดงกิริยาวาจาไม่สุภาพ จำนวน 455 เรื่อง 3.ขับรถประมาทหวาดเสียว จำนวน 358 เรื่อง 4.ไม่ใช้มาตรค่าโดยสาร จำนวน 237 เรื่อง 5.มาตรค่าโดยสารผิดปกติ จำนวน 221 เรื่อง ทั้งนี้มีการดำเนินการแล้วเสร็จไปแล้วจำนวน 1,650 เรื่อง และจดแจ้งการกระทำผิด จำนวน 470 เรื่อง ทั้งนี้หากพบปัญหาเรื่องเกี่ยวกับรถโดยสารสาธารณะ แท็กซี่ มอเตอร์ไซต์รับจ้าง สามารถแจ้งร้องเรียนกับกรมการขนส่งทางบก โทรสายด่วน 1584 ตลอด 24 ชั่วโมง อย. ชี้แจง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารผิดกฎหมายวิตามินซีและกาแฟปรุงสำเร็จ         จากกรณีมีผู้เสียหายร้องเรียนต่อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ถึงผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 2 รายการ “ยี่ห้อ Boom VIT C 1,000 มิลลิกรัม และกาแฟปรุงสำเร็จรูปผง ยี่ห้อ Room COFFEE” โดยสั่งซื้อจากทาง บริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด แต่เมื่อได้ลองรับประทานไปพร้อมกับมารดา พบว่า มีอาการข้างเคียง เช่น แขน ขา อ่อนเพลีย ไม่มีแรง ลุกไม่ขึ้น จนไม่สามารถถือของได้ จึงได้เข้ามาร้องเรียนที่มูลนิธิฯ หลังจากทางมูลนิธิฯ ได้รับเรื่องร้องเรียน จึงได้ส่งจดหมายถึง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ขอให้ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ว่า มีส่วนผสมอันตรายหรือได้รับอนุญาตตามถูกกฎหมายหรือไม่เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค         วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา ทางอย.ได้ส่งหนังสือ ชี้แจ้งถึงมูลนิธิฯ ว่า กรณีให้ตรวจสอบ บริษัท ดิไอคอน กรุ๊ป จำกัด และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารทั้ง 2 รายการ ทาง อย. ได้ดำเนินการตรวจสอบ จากสถานที่จำหน่าย เพื่อตรวจหาผลวิเคราะห์ยาแผนโบราณในผลิตภัณฑ์ พบว่า ไม่พบยาแผนปัจจุบันในทั้ง 2 รายการ แต่จากผลการตรวจสอบฉลากอาหาร พบว่า ผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูปสำเร็จชนิดผงยี่ห้อ ROOM COFFEE แสดงฉลากไม่ถูกต้อง เข้าข่ายฝ่าฝืนประกาศซึ่งออกตามมาตรา 6(10) มีโทษตามมาตรา 51 แห่งราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 ซึ่งทาง อย. จะพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 263 อาการป่วยกำเริบ จากอาหารเสริมในโลกออนไลน์

        ปัจจุบันในโลกออนไลน์มีสินค้าหรือผลิตภัณฑ์อาหารเสริมขายอย่างมากมาย พร้อมทั้งมีคำโฆษณาแบบเกินจริงของสรรพคุณที่นำมาหลอกล่อและกระตุ้นให้ผู้บริโภคอย่างเราซื้อสินค้า  โดยที่ผู้ซื้อหลายคนก็คงไม่ทราบเลยว่า “ผลิตภัณฑ์ที่โฆษณาสรรพคุณเกินจริงเหล่านั้น จะสามารถช่วยได้จริงอย่างที่โฆษณาไหม และมีผลอันตรายอะไรไหมหากเรากินเข้าไป” และยิ่งไปกว่านั้น ผู้บริโภคหลายคนมักเลือกที่จะกินอาหารเสริมมากกว่าที่จะไปพบแพทย์เพื่อหาวิธีรักษาที่ถูกต้อง         เหมือนเรื่องราวของคุณเอก ที่มาร้องเรียนกับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยเรื่องราวมีอยู่ว่าคุณเอกซึ่งมีอายุมากแล้ว มีอาการปวดข้อเข่ามาก วันหนึ่งเผอิญไปเห็นโฆษณาในเฟซบุ๊ก เป็นอาหารเสริม “เม็ดฟู่” มีชื่อขึ้นต้นด้วยตัว “B” มีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการปวดข้อเข่า พร้อมทั้งในเฟซบุ๊กที่ขายผลิตภัณฑ์อาหารเสริมตัวนี้นั้น มีรูปนายแพทย์ท่านหนึ่งโปรโมทอยู่เลยทำให้คุณเอกนั้น รู้สึกมั่นใจและเชื่อที่จะซื้ออาหารเสริมตัวนั้นเป็นจำนวน 3 หลอด แถมอีก 1 หลอด เป็นเงิน 3,490 บาท เมื่อเขาได้อาหารเสริมมารับประทานได้ 2 วัน ก็มีคุณพลอยซึ่งอ้างว่าเป็นพยาบาลโทรมาสอบถามถึงผลลัพธ์ของยา         ต่อมาอีก 3-4 วัน ปรากฏว่าอาการของคุณเอกนั้นไม่ดีขึ้นเลยกลับมีผลข้างเคียง คือ ปัสสาวะบ่อยขึ้น 5-6 ครั้ง/คืน ซึ่งทางคุณเอกก็ได้บอกว่าเขารู้สึกว่ามันรบกวนเวลานอนพักผ่อนของเขาเป็นอย่างมาก  เขาจึงพยายามที่จะติดต่อนายแพทย์ท่านนั้น ก็ไม่สามารถติดต่อได้ ซึ่งเมื่อเขาติดต่อนายแพทย์ท่านนั้นไม่ได้ก็เลยติดต่อคุณพลอยที่อ้างว่าเป็นพยาบาลและได้บอกกล่าวถึงอาการปัสสาวะบ่อยของเขา ทางพยาบาลคุณพลอยก็บอกว่ายอมรับว่าผลข้างเคียงคืออาการปัสสาวะบ่อย...อ้าวตอนขายไม่เห็นบอก และเธอบอกว่าจะแจ้งให้นายแพทย์ท่านนั้นทราบอีกครั้ง         คุณเอกนึกสงสัยเลยถามถึงที่อยู่ของนายแพทย์ท่านนั้นและนำไปเช็กกับทางนิติบุคคลสถานที่ที่ได้ข้อมูลจากคุณพลอย แต่พบว่าไม่มีชื่อดังกล่าวอยู่ที่ตึกแห่งนั้นประกอบกับข้อมูลเดิมที่ทางคุณเอกไปเช็กว่าไม่ได้มีบุคคลดังกล่าวอยู่ในทำเนียบแพทย์สภาอีกด้วย ทำให้คุณเอกคิดได้ว่าเขาคงถูกหลอกลวงแน่ๆ พร้อมทั้งเมื่อลองดูทั้งผลิตภัณฑ์ก็พบว่าไม่มีเครื่องหมาย อย. และไม่มีเอกสารกำกับอะไรเลย ทางคุณเอกแน่ใจล่ะว่าโดนหลอกแน่นอน จึงได้ร้องเรียนมาทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคควรจะทำอะไรอย่างไรดี แนวทางการแก้ไขปัญหา         เบื้องต้นทางคุณเอกได้ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจแล้ว พร้อมทั้งทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยังออกหนังสือไปถึงสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) และกองบังคับการปราบปรามการ กระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ให้ตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายต่อไป         ทั้งนี้ ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคอยากให้ผู้บริโภคหลายๆ คน ลองศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์อาหารเสริมต่างๆ ทางออนไลน์ สังเกตว่าผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่กำลังจะซื้อ หรือมาแล้วนั้นมีเครื่องหมาย อย. หรือไม่ หากไม่มีก็ควรหลีกเลี่ยงที่จะรับประทาน นอกจากนี้ ถ้ามีการอ้างถึงบุคลากรทางการแพทย์ก็ควรตรวจสอบก่อนที่จะซื้อว่าในแพทย์สภา มีบุคคลดังกล่าวจริงหรือไม่ โดยส่วนมากอาหารเสริมหลอกลวงต่างๆ มักจะมีโฆษณาที่เกินจริงหายได้ภายในไม่กี่วันหรือในระยะเวลาสั้นๆ หากใครที่เห็นแบบนี้ก็ควรจะระมัดระวังและไม่หลงเชื่อโดยง่ายเพื่อความปลอดภัย

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 260 อาหารเสริมเกลือบิวทิเรต

        การศึกษาทางวิทยาศาสตร์สุขภาพนั้นทำให้มนุษย์สามารถดัดแปลงและปรุงแต่งการบริโภคอาหารให้เหมาะสมเพื่อลดโอกาสเกิดโรคได้ ตัวอย่างที่ชัดเจนเรื่องหนึ่งคือ การเพิ่มปริมาณผักและผลไม้ในมื้ออาหารให้อยู่ประมาณครึ่งหนึ่งของอาหารที่กินช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ให้ต่ำลง พร้อมกับลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคต่างๆ ที่มีสารอนุมูลอิสระเป็นปัจจัยก่อโรค เป็นต้น         ผลจากการศึกษาดังกล่าวข้างต้นนั้นทำให้ผู้ที่มีอาชีพในการค้นหาผลิตภัณฑ์ต่างๆ มาตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคมองเห็นว่า น่าจะมีรายได้งามจากการขายผลิตภัณฑ์บางชนิดแก่ผู้บริโภคที่ไม่ชอบกินผักและ/หรือผลไม้ ซึ่งมีลักษณะที่เห็นได้ชัดว่าเป็นผู้ที่สั่งก๋วยเตี๋ยวไม่ผักไม่งอก จนนำไปสู่การโฆษณาขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่เป็น “เกลือบิวทิเรต” (butyrate salt) ในแพลตฟอร์มขายของออนไลน์ใหญ่หลายแห่ง         บทความทางวิชาการที่เกี่ยวกับสุขภาพมากมายได้กล่าวถึงเกลือชนิดนี้ว่า เป็นผลที่เกิดจากการที่ผู้บริโภคกินใยอาหารชนิด soluble fiber (ซึ่งสามารถอุ้มน้ำได้ดี) แล้วเมื่อลงไปถึงลำไส้ใหญ่ แบคทีเรียที่ดีในลำไส้ใหญ่ได้กิน soluble fiber แล้วถ่ายเกลือชนิดนี้ออกมาซึ่งมีงานวิจัยพบว่า เกลือบิวทิเรตมีส่วนสำคัญในการลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่และทำให้สมองเสื่อมช้าด้วย ดังนั้นการหลายคนไม่ชอบกินอาหารที่มีใยอาหารชนิดที่อุ้มน้ำได้ดี (soluble fiber) จึงอาจมีเกลือบิวทิเรตในลำไส้ใหญ่ต่ำ การกินเกลือบิวทิเรตในรูปเม็ดผลิตภัณฑ์เสริมอาหารน่าจะดีเป็นแน่แท้...จริงหรือ         ก่อนอื่นเราควรทราบว่า ในธรรมชาติแล้วเกลือบิวทิเรตในลำไส้ใหญ่มนุษย์มาจากไหน ข้อมูลนี้หาได้ไม่ยาก เช่น ในบทความเรื่อง Intestinal Short Chain Fatty Acids and their Link with Diet and Human Health ในวารสารออนไลน์ Frontiers in Microbiology ของเดือนกุมภาพันธ์ 2016 ให้ข้อมูลว่า ใยอาหารชนิดที่อุ้มน้ำได้ดีมีบทบาทเป็นอาหารของแบคทีเรียในลำไส้ แล้วแบคทีเรียก็ถ่ายออกเป็นกรดไขมันสายสั้นคือ กรดบิวทิริคร้อยละ 15 (butyric acid มีคาร์บอน 4 อะตอม) กรดโปรปิโอนิคร้อยละ 25 (propionic acid มีคาร์บอน 3 อะตอม) และกรดอะซิติคร้อยละ 65 (acetic acid มีคาร์บอน 2 อะตอม) (ข้อสังเกตุคือ ในร่างกายมนุษย์นั้นสารที่มีความเป็นกรดมักถูกเปลี่ยนเป็น เกลือ เช่น กรดบิวทิริคไปเป็น เกลือบิวทิเรต เนื่องจาก pH ของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายส่วนใหญ่เป็นกลางเช่น ประมาณ 7.4)         เซลล์ของผนังลำไส้ใหญ่ดูดซึมเกลือบิวทิเรตไปใช้เป็นพลังงานราวร้อยละ 70 เพื่อการดำรงชีวิต โดยมีสมมุติฐานว่า ในคนที่กินอาหารที่มีใยอาหารต่ำเซลล์ลำไส้ใหญ่อาจได้พลังงานจากบิวทิเรตเพื่อการดำรงชีวิตของเซลล์ไม่พอจนต้องทำการย่อยสลายตัวเอง (apoptosis) ซึ่งทำให้การทำงานของลำไส้ใหญ่ลดลงไปจากสภาวะปรกติ ส่งผลต่อสุขภาพของคนๆ นั้นไม่ดีตามควร ซึ่งเว็บ Wikipedia ได้ให้ข้อมูลประมาณว่า งานวิจัยหลายเรื่องกล่าวถึงศักยภาพของเกลือบิวทิเรตในการป้องกันและบำบัดอาการอักเสบของลำไส้ใหญ่และยับยั้งเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยมีสมมุติฐานว่ แม้บิวทิเรตเป็นแหล่งพลังงานสำหรับเซลล์ปรกติของลำไส้ใหญ่แต่กลับทำให้เซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่กลับต้องตายตามหลักการของ Warburg effect         Warburg effect กล่าวว่า เซลล์มะเร็งนั้นอยู่ดำรงได้ด้วยพลังงานจากน้ำตาลกลูโคสที่ถูกเปลี่ยนเป็นพลังงานผ่านกระบวนการ glycolysis เพียงอย่างเดียว โดยไม่สามารถใช้เกลือบิวทิเรตเป็นแหล่งพลังงานได้ ทั้งนี้เพราะการเปลี่ยนแปลงเกลือบิวทิเรตไปเป็นพลังงานในเซลล์ปรกตินั้นจำต้องผ่านกระบวนการที่อยู่ใน “ไมโตคอนเดรีย”  แต่เซลล์มะเร็งนั้นเป็นเซลล์ที่ไม่มีการใช้ไมโตคอนเดรียในการสร้างพลังงานแต่อย่างใด จนนำไปสู่การสะสมของบิวทิเรตในนิวเคลียสส่งผลให้เกิดการยับยั้งเอ็นซัม histone deacetylase ซึ่งเป็นการยับยั้งการเพิ่มเซลล์มะเร็ง ดังกล่าวไว้ในบทความเรื่อง Histone deacetylase inhibitors: molecular mechanisms of action and clinical trials as anti-cancer drugs ในวารสาร American Journal of Translational Research ของปี 2011 ข้อมูลดังกล่าวนี้จึงเป็นเหตุผลที่ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเกลือบิวทิเรตนำมาใช้เชิญชวนผู้บริโภคว่า ควรกินเกลือบิวทิเรต ?         งานวิจัยในสัตว์ทดลองพบว่า การกินใยอาหารชนิดอุ้มน้ำได้ดีนั้นมีผลต่ออวัยวะอื่นนอกเหนือไปจากลำไส้ใหญ่ด้วย โดยงานวิจัยของ Department of Animal Sciences ของ University of Illinois ตีพิมพ์ในวารสาร Frontiers in Immunology ในปี 2018 เรื่อง Butyrate and Dietary Soluble Fiber Improve Neuroinflammation Associated With Aging in Mice กล่าวว่า ใยอาหารน่าจะชะลอภาวะการอักเสบของสมอง (ที่เพิ่มขึ้นตามอายุ) ซึ่งส่งผลให้สมองทำงานได้ยาวนานขึ้น ในบทความนี้เล่าถึงผลการทดลองว่า เกลือบิวทิเรตในลำไส้ใหญ่ของหนูแก่ที่ได้กินอินูลิน (inulin) ได้ลดการทำงานของไซโตไคน์ (cytokine) ที่ออกฤทธิ์ที่เกี่ยวกับการชักนำให้เซลล์ไมโครเกลีย (microglia) ก่อการอักเสบในสมองของหนู ส่งผลให้สมองของหนูกลุ่มนี้มีสภาพดีกว่ากลุ่มหนูสูงวัยที่กินเซลลูโลสที่เป็นใยอาหารที่อุ้มน้ำไม่ดีซึ่งแบคทีเรียกินไม่ได้         ไมโครเกลียนั้นเป็นเซลล์ชนิดหนึ่งในระบบภูมิคุ้มกันที่สำคัญของสมองสัตว์ทั่วไป เซลล์นี้ทำหน้าที่กำจัดสิ่งที่ก่อปัญหาในสมองเช่น เซลล์ที่แก่หมดหน้าที่แล้วและเชื้อโรคต่างๆ เข้าใจกันว่าในผู้สูงอายุนั้นไมโครเกลียมีแนวโน้มในการก่อให้เกิดอาการสมาธิสั้น ส่วนการอักเสบเรื้อรังในสมองถ้ามีมากเกินไปก็น่าจะเป็นสาเหตุหลักของอาการความจำเสื่อมและการลดลงของความสามารถในการเข้าใจสิ่งต่างๆ ในวัยชรา ซึ่งมีงานวิจัยที่ดูว่าสนับสนุนสมมุติฐานนี้คือ บทความเรื่อง Posttraining systemic administration of the histone deacetylase inhibitor sodium butyrate ameliorates aging-related memory decline in rats ในวารสาร Behavioural Brain Research ของปี 2011 ซึ่งกล่าวในบทสรุปว่า เกลือบิวทิเรตที่เป็นผลพลอยได้จากการกินใยอาหารชนิดอุ้มน้ำได้ดีของแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่สามารถปรับปรุงความจำและลดการอักเสบในสมองหนูได้         จากข้อมูลข้างต้นอาจทำให้หลายคนสรุปว่า การกินผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีเกลือบิวทิวเรตน่าจะดีต่อสมอง แต่ในความเป็นจริงแล้วสารอาหารเกือบทุกชนิดที่กินทางปากนั้นเมื่อผ่านลงสู่ลำไส้เล็กแล้วจะถูกดูดซึมผ่านผนังลำไส้เล็กไปสู่ตับด้วยระบบเส้นเลือดกลุ่มที่เรียกว่า hepatic portal vein ทั้งสิ้น ซึ่งในกรณีของเกลือบิวทิเรตที่ถูกนำเข้าสู่เซลล์ตับแล้วโอกาสที่จะหลุดรอดออกไปถึงเซลล์ลำไส้ใหญ่ย่อมเป็นไปได้ยาก เพราะตับมีระบบเอ็นซัมที่สามารถเปลี่ยนเกลือบิวทิเรตเป็นอะเซ็ตติลโคเอ็นซัมเอ (acetyl coenzyme A) ซึ่งถูกนำไปดำเนินการต่อกลายเป็นสารพลังงานสูงคือ เอทีพี (ATP) เพื่อใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ ของเซลล์ ข้อมูลนี้ปรากฏในบทความชื่อ From the gut to the peripheral tissues: the multiple effects of butyrate ในวารสาร Nutrition Research Review ปี 2010         นอกจากนี้ในบทความเรื่อง Butyrate: A Double-Edged Sword for Health? ในวารสาร Advance Nutrition ของปี 2018 ให้ข้อมูลว่า การกินเกลือบิวทิเลตมากเกินไปจะส่งผลให้ตับมีการเปลี่ยนสารนี้ไปเป็น acetyl CoA ซึ่งเซลล์ตับสามารถนำไปสร้างเป็นกรดไขมันตลอดถึงคอเลสเตรอลได้เป็นอย่างดี จนผู้บริโภคนั้นสุ่มเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วนและภาวะคอเลสเตอรอลในเลือดสูง         ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าโอกาสที่เกลือบิวทิเรตที่ถูกกินเข้าไปทางปากจะไปถึงลำไส้ใหญ่และ/หรือไปต่อถึงสมองนั้นดูน่าจะเป็นไปได้ยาก ต่างจากบิวทิเรตที่สร้างโดยแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ ซึ่งเมื่อถูกดูดซึมด้วยเซลล์ของลำไส้ใหญ่แล้วโอกาสที่ส่วนเกินจากการถูกใช้เป็นพลังงานโดยเซลล์จะหลุดรอดไปตามกระแสเลือดสู่สมองได้บ้างย่อมเป็นไปได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 259 เภสัชกรสาวตาใสกับคุณยายตามัว

        เสียงเคาะประตูห้องยาดังขึ้น เภสัชกรสาวตาใสวางมือจากกองยาหน้าเคาน์เตอร์ เมื่อเงยหน้าขึ้นภาพตรงหน้าคือคุณยายท่านหนึ่ง แกมาพร้อมอาการบวมที่ใบหน้า ในมือของแกถือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสารสกัดโกจิเบอรี่ยี่ห้อหนึ่ง จากการพูดคุยสอบถามพร้อมทั้งซักประวัติเพิ่มเติมทำให้ทราบว่าคุณยายมีโรคประจำตัวคือความดันโลหิตสูง อาการตอนนี้ นอกจากตัวบวมแล้ว ตายังพร่ามัวอีกด้วย         “ยายซื้อไอ้นี่จากรถเร่หมู่บ้านต่างอำเภอที่มาเร่ขายในหมู่บ้านของยายน่ะ คนขายเขาโฆษณาว่ากินแล้วจะช่วยให้ตามองเห็นชัดขึ้น ทีแรกยายก็ยังไม่ค่อยเชื่อนะ แต่เขาเอาเอกสารมาให้ดูเพิ่มเติม เห็นบอกว่าช่วยบำรุงดูแลดวงตาและรักษาโรคตาต้อต่างๆได้ แถมยังเน้นว่า ตามัวสั่งด่วน ตามองชัดแจ๋ว ต้อต่างๆ หาย ตาใสปิ้ง ดูแล้วก็น่าเชื่อถือดี”         “ยายอยากมองเห็นชัด เลยซื้อมากินหนึ่งกระปุก กระปุกละ 800 บาทยายก็ยอมนะ แต่พอยายกินไปได้ 7 วันเท่านั้นเอง ตัวยายก็เหมือนจะบวม หน้านี่บวมชัดเลย แถมยังผื่นขึ้นเต็มตัวอีก ตาก็ไม่ใสแต่กลับมัวมากขึ้น” คุณยายเล่าด้วยเสียงวิตก “ทำยังไงดี”         เภสัชกรสาวจึงรีบประเมินอาการพบว่า น่าจะเกิดจากการแพ้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จึงแนะนำคุณยายให้หยุดใช้ผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ทันทีและรีบแจ้งข้อมูลเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เพื่อช่วยกันเตือนภัยและเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้อนี้ จากนั้นขอผลิตภัณฑ์ของคุณยายส่งตรวจวิเคราะห์ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อหาสารอันตรายที่อาจปลอมปนเข้ามาในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารดังกล่าว ซึ่งกำลังรอผลวิคราะห์อยู่         “ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไม่ใช่ยานะคะคุณยาย มันจึงไม่มีผลในการบำบัด บรรเทา หรือรักษาโรค และจากที่หนูตรวจสอบฉลากของผลิตภัณฑ์นี้ มันยังแสดงข้อมูลในฉลากไม่ครบถ้วนอีกด้วยค่ะ เพราะถ้าเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร กฎหมายกำหนดให้ต้องมีข้อความเตือนว่าไม่มีผลในการรักษาโรคด้วย นี่ถ้ามีผู้ป่วยหลงเชื่อซื้อมารับประทาน โดยหวังว่าจะรักษาโรคต่างๆ ของดวงตา นอกจากจะเสียเงินโดยเปล่าประโยชน์แล้ว ยังจะเสียโอกาสในการรักษาที่ถูกต้องด้วยนะคะ  หนูคิดว่าหากใครมีอาการทางดวงตา ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย และรับการรักษาที่ถูกต้อง ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าวนะคะ”         “การโฆษณาสรรพคุณของอาหารเป็นยารักษาโรค ถือว่าเป็นการโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพหรือสรรพคุณของอาหารอันเป็นเท็จหรือเป็นการหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาหารพ.ศ.2510 ผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ... ยังไงฝากคุณยายช่วยกันเตือนคนอื่นๆ ในหมู่บ้านด้วยนะคะ”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 255 ตรวจสารมารดำ กลับเจอสารมารขาว

        การทำงานคุ้มครองผู้บริโภค บางครั้งก็เจออะไรแปลกๆ คาหนังคาเขาโดยไม่ตั้งใจ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อเจ้าหน้าที่ทีมปกครองอำเภอ เทศบาล ผู้นำชุมชนและทีมรพ.สต กำลังทำหน้าที่ตรวจปัสสาวะเพื่อเฝ้าระวังหาสารเสพติดในร่างกายของประชาชน ปรากฎว่าผลตรวจปัสสาวะของพนักงานเทศบาลชายอายุ 28 ปีพบว่าเป็นสีม่วง ซึ่งหมายถึงอาจจะมีการใช้สารเสพติด แต่เมื่อแจ้งสอบสวนเพิ่มเติมพนักงานท่านนี้ตกใจ เนื่องจากตนเองไม่เคยยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด         เจ้าหน้าที่จึงสวมวิญญาณนักสืบ สอบถามข้อมูลมากขึ้นจึงทราบว่าพนักงานรายนี้ใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้อหนึ่ง ที่สั่งซื้อจากทางออนไลน์ ราคาก็ไม่ธรรมดาซะด้วย เพราะแพงถึงเม็ดละ 100 บาท เมื่อใช้แล้วเกิดความรู้สึกไม่อยากอาหาร ตนใช้วันละ 1 เม็ด ก่อนอาหาร จนหมด 2 กล่อง ปรากฎว่าน้ำหนักลดลงถึง 10 กิโลกรัม         พนักงานเจ้าหน้าที่จึงประสานมายังกลุ่มงานเภสัชกรรมฯ เพื่อส่งตรวจหารสารในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้อนี้ ซึ่งผลตรวจจากศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์พบว่ามีสารไซบูทรามีนผสมอยู่ จึงแจ้งกลับมาเพื่อติดตามสอบถามแหล่งที่มาและส่งต่อข้อมูลไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดที่เป็นแหล่งผลิตเพื่อทำการดำเนินการต่อไป         ไซบูทรามีนเป็นสารที่มีโครงสร้างคล้ายกับแอมเฟตามีน จึงทำให้ผลตรวจปัสสาวะของคนที่ได้รับสารไซบูทรามีนมีสีม่วงเหมือนกับคนที่ใช้สารแอมเฟตามีน สารไซบูทรามีน (Sibutramine) จะออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลางทำให้รู้สึกไม่อยากอาหารและส่งผลข้างเคียงกับคนที่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดต่างๆ ทำให้เกิดผลข้างเคียงรุนแรงต่อผู้บริโภคบางรายถึงขั้นเสียชีวิต กระทรวงสาธารณสุขประกาศให้ไซบูทรามีนจัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภทที่ 1 ผู้ใดผลิต นำเข้าหรือส่งออกผลิตภัณฑ์ที่มีไซบูทรามีนเป็นส่วนผสมจะมีความผิดตามกฎหมาย มีทั้งโทษถึงจำคุก         มีวิธีเบื้องต้นในการสังเกตผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนักที่สงสัยว่าจะผสม Sibutramine ดังนี้        1. มีคำโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง เช่น ลดน้ำหนักได้ภายใน 7 วัน        2. ไม่มีฉลากภาษาไทย หรือแสดงฉลากไม่ครบถ้วน เช่น ไม่ระบุสถานที่ผลิต        3. ไม่มีเลขที่ขึ้นทะเบียนอย. เป็นต้น         อย่าลืมว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไม่สามารถลดความอ้วนได้ หากมีการโฆษณาว่าสามารถช่วยรักษาโรค ลดความอ้วน ขอให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจมีส่วนผสมของสารอันตราย จะได้ไม่เอาชีวิตไปเสี่ยง         หากผู้บริโภคพบเห็นเบาะแสการโฆษณา การผลิต/จำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมาย ขอให้แจ้งมาได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือกลุ่มงานเภสัชกรรม ของโรงพยาบาล หรือกลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดอย่างเข้มงวดต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 252 อาหารเสริมรักษาดวงตา......จนตาเสีย

        ดวงตาเป็นอวัยวะหนึ่งที่สำคัญในร่างกาย  ด้วยความสำคัญของดวงตา และผลกระทบจากการที่ต้องถูกใช้งานอย่างหนัก  ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีการโฆษณาสรรพคุณในการบำรุงรักษาดวงตาจึงผุดขึ้นมาราวดอกเห็ด ทั้งในสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อโทรทัศน์ วิทยุ หรือสื่อออนไลน์  และยังมีการใช้กลยุทธในการตลาดที่มีความซับซ้อนมากขึ้น  เช่น  ได้รับอนุญาตเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแต่ใช้ขวดบรรจุที่มีลักษณะคล้ายกับขวดยาหยอดตาทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดว่าสามารถหยอดตาได้  การตัดต่อภาพข่าวมาโฆษณาเพื่อหวังผลประโยชน์ทางการตลาด ใช้บุคลากรทางการแพทย์ ผู้มีชื่อเสียง นักร้อง นักแสดงมาเป็นพรีเซนเตอร์โฆษณา หรือแม้แต่การนำผลิตภัณฑ์หยอดตาที่ผลิตขึ้นเองโดยไม่ได้รับอนุญาตไปบริจาคตามโรงทาน เป็นต้น         เครือข่ายชมรมเภสัชชนบท  พบกรณีผู้บริโภคที่สูญเสียดวงตาข้างขวาไปตลอดชีวิต จากการนำผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมาใช้หยอดตา  โดยผู้ขายโฆษณาขาย  โดยอ้างว่าสามารถดื่มเพื่อรักษาอาการปวดขาและสามารถนำไปใช้หยอดตาเพื่อรักษาอาการต้อกระจกได้ ซึ่งเดือนแรกที่ผู้บริโภคดื่มรู้สึกว่าอาการปวดขาลดลง  เดือนต่อมาจึงนำมาหยอดตาตนเอง  เนื่องจากเห็นว่าผลิตภัณฑ์นี้ช่วยทำให้อาการปวดขาดีขึ้น น่าจะช่วยรักษาตาต้อกระจกให้หายได้เช่นกัน  จึงนำมาหยอดตาแบบวันเว้นวัน ซึ่งทุกครั้งที่หยอดตาจะมีอาการแสบร้อนที่ดวงตา แต่ผู้ขายกลับบอกว่า ยิ่งแสบแสดงว่ายานี้ได้ผลไปฆ่าเชื้อจะได้หายไวๆ         ผู้บริโภครายนี้ได้หยอดตาไปถึง 6 ครั้งและเริ่มมีอาการแสบตามากขึ้น  จึงไปโรงพยาบาลและตรวจพบว่าดวงตาติดเชื้อและเยื่อตาทะลุ ต้องผ่าตัดดวงตาข้างขวาออก มิฉะนั้นจะเกิดการติดเชื้อลามไปที่สมองและเสียชีวิตได้  กรณีนี้เป็นเพียงหนึ่งในหลายกรณีของผู้บริโภคที่ถูกหลอกลวงให้หลงเชื่อจากคำโฆษณา  เกินจริง แล้วพวกเราจะติดอาวุธมิให้ตกเป็นเหยื่อได้อย่างไร         พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2510 การโฆษณาสรรพคุณของอาหารเป็นยารักษาโรค ถือว่าเป็นการโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารอันเป็นเท็จ หรือเป็นการหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร  ผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ          วิธีการที่ดีที่สุดในการดูแลรักษาสุขภาพ  คือ  การปฏิบัติตามกลยุทธ์สุขภาพดีด้วย 4 อ  ได้แก่ อากาศ  อาหาร  ออกกําลัง และอารมณ์  โดยจัดสถานที่ให้มีอากาศบริสุทธิ์หายใจ  รับประทานอาหารที่ดีมีคุณค่าให้ร่างกายได้สารอาหารครบตามที่ร่างกายต้องการ  ออกกำลังกายให้ร่างกายได้เคลื่อนไหว  ให้อวัยวะต่างๆ ได้ทำงานอย่างสมดุล  และควบคุมอารมณ์ให้อยู่ในภาวะปกติอยู่เสมอ   หากสามารถปฏิบัติได้ดังนี้แล้ว  สุขภาพกาย  สุขภาพจิต จะปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างสมดุลส่งผลให้ร่างกายแข็งแรง  สดชื่น แจ่มใส  ช่วยป้องกันตัวเรามิให้ตกเป็นเหยื่อ หลงเชื่อโฆษณาเกินจริงได้อีกทางหนึ่ง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 248 สาวหลงซื้อคอร์สความงาม เกือบสูญเงินแสน

        หลายปีมานี้ มีคำเตือนสำหรับคุณผู้หญิงที่ใจอ่อนและขี้เกรงใจว่า อย่าเดินห้างสรรพสินค้าเพียงลำพัง ระวังอาจหลงคารมโน้มน้าวของพนักงานจากสถานเสริมความงามต่างๆ ที่มักแข่งกันงัดกลเม็ดเด็ดพรายมาละลายใจให้คุณๆ ยอมเซ็นสัญญาจ่ายซื้อคอร์สเสริมความงามราคาแพงลิ่ว         เช่นเดียวกับคุณเอมมี่ ที่วันหนึ่งขณะเดินเที่ยวในห้างสรรพสินค้าย่านบางกะปิเพลินๆ ก็มีหญิงสาวหน้าใสในชุดยูนิฟอร์มของคลินิกเสริมความงามมีชื่อแห่งหนึ่งเดินมาดักหน้า พร้อมเผยยิ้มกว้างและเอ่ยเสียงหวานไพเราะ          “ขอโทษนะคะ ขอรวบกวนเวลาแป๊บนึง วันนี้คลินิกเรามีบริการคอร์สทดลอง เชิญเลยนะคะ” คุณเอมมี่เคยได้ยินชื่อเสียงของคลินิกแห่งนี้ก็เลยเผลอคิดว่า ทดลองใช้ดูก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรจึงตามพนักงานไปทดลองคอร์สดังกล่าว         หลังจากคุณเอมมี่ใช้บริการทดลองในร้านแล้ว พนักงานก็กุลีกุจอเข้ามาแนะนำให้เธอซื้อคอร์ส VIP ในราคา 100,000 บาท ซึ่งมีข้อเสนอเด็ดคือสามารถแบ่งจ่ายได้ เริ่มต้นเป็นเงินสด 35,000 บาท และจ่ายผ่านบัตรเครดิต 65,000 บาท ยังไม่ทันได้คิดละเอียดอะไรเพราะพนักงานพูดเก่งมาก และมีการขอดูบัตรเครดิตของเธอเพื่อจะดูว่าเธอจะได้สิทธิพิเศษอะไรอีกบ้างเพราะทางคลินิกทำโปรโมชั่นไว้กับหลายธนาคาร จนเมื่อเธอหยิบบัตรเครดิตส่งให้ พนักงานก็คว้าหมับไป และหน่วงเหนี่ยวไม่ยอมคืนบัตรเครดิตให้เธอ         พอถูกรุกหนักเข้า คุณเอมมี่เริ่มรู้สึกถึงความไม่ชอบมาพากล ในระหว่างนั้นก็มีพนักงานชายพยายามมาทำให้เธอรู้สึกถูกคุกคามทางเพศด้วย จึงยิ่งไม่พอใจอย่างมาก  ต่อมาภายหลังเมื่ออ่านรายละเอียดในสัญญาก็พบว่าเงื่อนไขในนั้นไม่เป็นไปตามที่เสนอขายไว้เลย เธอจึงอยากจะยกเลิกสัญญา  เพราะยังไม่ได้ใช้บริการ  จึงร้องเรียนมาทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอให้ช่วยเหลือ แนวทางการแก้ไขปัญหา         เมื่อทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคขอทราบรายละเอียดทราบว่า คุณเอมมี่เองกำลังเจรจาไกล่เกลี่ยเพื่อยกเลิกสัญญาและขอเงินคืนจากคลินิกเสริมความงามคู่กรณีอยู่ ซึ่งภายหลังคุณเอมมี่แจ้งว่าทางคลินิกยอมยกเลิกสัญญาและจ่ายเงินค่าสมัครคืนให้ทั้งหมดแล้ว เรื่องนี้ก็จบแบบไม่เสียแรงเกินไป         อย่างไรก็ตาม มีหลายเคสในลักษณะคล้ายกันนี้ที่ไม่ได้จบง่าย บางรายต้องเสียเงินฟรี บางรายเสียเวลาไปฟ้องร้อง แต่ที่แน่ๆ คือทุกคนต่างเสียความรู้สึก ดังนั้นการป้องกันตนเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อในเหตุการณ์เช่นนี้ คือ หากพบการเสนอขายแบบคะยั้นคะยอให้คล้อยตาม ผู้บริโภคต้องใจแข็ง พิจารณาให้ถ้วนถี่ก่อนการตัดสินใจทำสัญญา และอย่ายื่นบัตรเครดิตให้พนักงานไปง่ายๆ จนกว่าจะตัดสินใจดีแล้ว สอบถามรายละเอียดพร้อมอ่านสัญญาให้รอบคอบ พิจารณาว่าสัญญาครอบคลุมทั้งเรื่องการขอยกเลิกหากไม่พอใจหรือไม่ เหตุแห่งการยกเลิกมีอะไรบ้าง ตลอดจนแนวทางปฏิบัติหากเกิดความเสียหายจากการเข้ารับบริการ  ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า การทำสัญญานี้จะไม่ผิดพลาดจนต้องมายุ่งยากในภายหลัง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 247 เด็กยุคนี้สูงได้เต็มศักยภาพ...จริงหรือ

        คนที่มีร่างกายสูงมักดูได้เปรียบคนตัวเตี้ย มองดูดีและมีความมั่นใจ และอาจส่งผลไปถึงบางอาชีพที่เลือกเฉพาะคนตัวสูงและแข็งแรง ซึ่งรวมถึงกีฬาอาชีพหลายประเภท ดังนั้นจึงมีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบางชนิดพยายามสร้างข้อเสนอให้พ่อแม่เตรียมพร้อมเรื่องความสูงให้กับลูกของตนตั้งแต่เยาว์วัย         คำโฆษณาสินค้าประเภทนี้มักระบุว่า ความสูงของคนนั้นขึ้นกับพันธุกรรม การกินอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ในปริมาณที่เพียงพอ การนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และเพื่อเป็นการประกันให้เด็กในวัยเจริญเติบโตสามารถสูงเต็มศักยภาพซึ่งอาจสูงกว่าพ่อแม่นั้น จำต้องกินผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่เหล่าคุณแม่ที่เป็นเซเล็บต่าง (ออกมา call out ในโฆษณาว่า) เลือกเสริมเพิ่มความสูงให้ลูกน้อย ซึ่งสินค้าเหล่านี้มักเป็นนวัตกรรมจากต่างชาติที่อ้างว่า เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ช่วยสร้างหรือกระตุ้นมวลกระดูกและกล้ามเนื้อให้แข็งแรง โดยกินคู่ไปกับอาหารหลัก 5 หมู่ (ความจริงแค่กินอาหารได้ครบ 5 หมู่ด้วยปริมาณที่เหมาะสมตามหลักการทางโภชนาการก็น่าจะพอแล้ว...ผู้เขียน)         มีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับวิธีเพิ่มความสูงแบบรวดเร็วสำหรับเด็กที่กำลังเข้าสู่วัยรุ่น โดยอ้างว่ามาจากแหล่งความรู้ที่เชื่อถือได้ (ซึ่งดูจริงบ้าง มั่วบ้าง) คือ  1.) กระโดดเชือกวันละ 30 นาที โดยแบ่งเป็นครั้งละ 5 นาที หรือเล่นบาสเก็ตบอลวันละ 1 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย  2.) ดื่มนมจืดวันละ 2 แก้ว หลังอาหารเช้าและก่อนนอน  3.) งดดื่มน้ำอัดลมเพราะเสี่ยงกระดูกพรุนและเบาหวาน  4.) ฉีด Growth hormone เพิ่มความสูง แต่ต้องระวังว่าหากได้ฮอร์โมนเกินขนาดที่ร่างกายรับได้ อาจทำให้น้ำตาลในเลือดสูง  5.) ไม่เล่นมือถือก่อนนอนเพราะทำให้ลดการหลั่ง Growth hormone และควรนอนติดต่อกัน 7-8 ชั่วโมง  6.) กินนมน้ำเหลือง (Colostrum) จากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม  7.) ผ่าตัดยืดกระดูกเฉลี่ย 1 เซนติเมตร/เดือน โดยต้องยอมรับความเจ็บและราคาแพง  8.) ควรนอนช่วง 3-4 ทุ่ม เพื่อให้ได้หลับลึกที่เที่ยงคืนซึ่งเป็นช่วงที่ Growth hormone หลั่งออกมามากที่สุด  9.) กินอาหารที่มีแคลเซียมสูงเช่น ปลาเล็กปลาน้อย กุ้งแห้ง เต้าหู้แข็ง ผักสีเขียวเข้ม เช่น คะน้า ตำลึง ผักกาดเขียว พร้อมการออกกำลังกาย แต่ถ้าเห็นว่ามันยากนัก (เพราะเด็กในปัจจุบันชอบเล่นแต่โทรศัพท์มือถือ) ทางออกที่ง่ายกว่าคือ การกินผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิด CBP หรือ Concentrated Bioactive Protein ที่มีในนมวัว         กล่าวกัน (ในโฆษณา) ว่า ในนมวัว 1 ลิตรมี CBP เพียง 1.5 มิลลิกรัมเท่านั้น ดังนั้นในสายตาของผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจึงคิดว่า การดื่มนมเพียงอย่างเดียวดูจะได้ CBP ไม่พอต่อการเจริญเติบโตของเด็ก ต้องมีตัวช่วยมาเสริมให้เด็กมีโอกาสสูงได้เต็มศักยภาพที่ควร โดยการกิน CBP ที่ถูกอัดไว้ในแคปซูลที่วางขายในตลาดเมืองไทยและระบุว่า ใน 1 แคปซูล มี CBP สูงถึงเกือบ 100  มิลลิกรัม ซึ่งถ้าคำนวณด้วยบัญญัติไตรยางศ์แล้วการกินสินค้า 1 แคปซูล ดูเสมือนได้กินนมกว่า 50 ลิตร พร้อมด้วยวิตามินบางชนิดที่จำเป็นต่อความสูง (ในปริมาณที่น่าจะเกินพอต่อความต้องการของร่างกายในหนึ่งวัน) เพื่อช่วยเสริมสร้างมวลกระดูกและกล้ามเนื้อของผู้กิน ซึ่งจริงแล้วต้องมีปัจจัยอื่นเสริมด้วย คือ พันธุกรรมที่อาจเป็นอุปสรรคได้ เพราะถ้าเถือกเถาเหล่ากอตัวเตี้ยมาตลอดลูกหลานคงไม่สูงเกินศักยภาพทางพันธุกรรม ยกเว้นมีการกลายพันธุ์         สรุปแล้วมีการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อ้างถึง CBP ซึ่งมีคุณสมบัติในการเพิ่มส่วนสูงของผู้บริโภคตั้งแต่วัย 3-18 ปี โดยช่วยให้มีสัดส่วนความสูงที่สมบูรณ์แบบ กระดูกแข็งแรง เสริมสร้างกล้ามเนื้อ จนดูหุ่นดี และสินค้านี้ยังช่วยป้องกันโรคกระดูกเปราะ กระดูกพรุน ในผู้บริโภคผู้ใหญ่ใกล้วัยชรา อย่างไรก็ตาม prerequisite (แปลเป็นไทยว่า ข้อกำหนดเบื้องต้น) คือ ผู้บริโภคต้องมีสตางค์พอ เพราะราคาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนี้ตกแคปซูลละ 17 บาท ถึง 50 บาท ขึ้นกับว่าขายบนแพลทฟอร์มออนไลน์ใด (หรืออาจขึ้นอีกว่าเป็นของแท้ด้วยหรือไม่)         ประเด็นที่น่าสนใจคือ CBP นั้นมีแนวโน้มในการช่วยเด็กให้เติบโตเพิ่มขึ้นจริงหรือ แนวคำตอบคือ ถ้าเด็กชายที่เข้าสู่วัยรุ่นคนหนึ่งมีศักยภาพที่จะสูงได้ 180 เซนติเมตร ตามพันธุกรรมของตระกูล (คือมีคนในตระกูลที่เป็นผู้ชายสูงได้เฉลี่ยประมาณนี้) แต่มีพฤติกรรมชีวิตที่ไม่เหมาะสมเช่น กินอาหารไม่ครบห้าหมู่ นอนดึก ไม่ออกกำลังกาย เอาแต่เล่นเกมส์ในมือถือ ฯลฯ โอกาสสูงถึง 180 เซนติเมตรย่อมน้อยลง ถึงจะกิน CBP ตามที่ฉลากบอกไว้ก็คงหวังยาก แต่ถ้ากินแล้วปรับพฤติกรรมให้เหมาะสมแบบที่วัยรุ่นที่ดีควรทำ ความสูงก็ควรขึ้นได้ถึงจุดที่ควรเป็น         ต้นแบบของ CBP นั้นคือ เวย์โปรตีน         ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่เป็นต้นแบบของ CBP นั้นคือ เวย์โปรตีน ซึ่งน่าจะช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อและลดน้ำหนักจากการออกกำลังกายได้ เพราะมีบทความวิชาการที่อ้างว่า โปรตีนในนมมีผลต่อมวลกล้ามเนื้อของผู้บริโภค บทความนั้นชื่อ Dietary protein recommendations and the prevention of sarcopenia (sarcopenia หมายถึง ภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อย) ในวารสาร Current Opinion in Clinical Nutrition & Metabolic Care ของปี 2009 ซึ่งให้ข้อมูลประมาณว่า มวลกล้ามเนื้อของมนุษย์ลดลงตามธรรมชาติเมื่ออายุเพิ่มขึ้นโดยมีไขมันเข้ามาแทนและเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังต่างๆ อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงที่ไม่พึงประสงค์ในองค์ประกอบของร่างกายนั้นสามารถชะลอ ป้องกัน หรือย้อนกลับได้บ้างเป็นบางส่วน ด้วยการฝึกความแข็งแรงควบคู่ไปกับการบริโภคอาหารที่มีโปรตีนสูงหรืออาหารเสริมที่มีโปรตีน         สิ่งที่ผู้อ่านบางท่านอาจไม่เคยสนใจรู้คือ สมัยก่อนถือว่าเวย์โปรตีนเป็นของเหลือจากการผลิตเนยเหลวหรือ butter และเนยแข็งคือ cheese ทั้งนี้เพราะนมสดที่ได้มาสดๆ และยังไม่ได้ดำเนินการใดนั้น เมื่อทิ้งไว้สักพักจะเกิดการแยกส่วนและตกตะกอน โดยส่วนที่มีไขมันสูงซึ่งมีความหนาแน่นต่ำกว่าน้ำจะแยกตัวลอยขึ้นมาอยู่ชั้นบนเป็นครีม (cream) ที่ถูกแยกนำไปใช้ทำเนย butter ในขณะที่เนยแข็งหรือ cheese นั้นทำมาจากส่วนที่ตกตะกอนอยู่ชั้นล่างซึ่งอุดมไปด้วยโปรตีนเป็นส่วนใหญ่ ส่วนสุดท้ายที่เหลือคือ ของเหลวซึ่งมีองค์ประกอบหลักเป็นโปรตีนที่ละลายน้ำได้ดี กรดอะมิโนอิสระบางชนิดรวมถึงวิตามินและเกลือแร่ต่าง ๆ ซึ่งแต่เดิมนั้นนิยมนำของเหลวนี้ไปใช้ทำอาหารสัตว์ แล้วพบว่าสัตว์เจริญเติบโตได้ดี จึงมีการศึกษาของเหลวส่วนนี้อย่างจริงจังแล้วก็พบว่า มีโปรตีนสำคัญที่มีองค์ประกอบเป็นกรดอะมิโนชนิด branched-chain amino acid  ได้แก่ ลิวซีน (leucine), ไอโซลิวซีน (isoleucine), และ เวลีน (valine) ในสัดส่วนที่สูง กรดอะมิโนทั้งสามมีความสำคัญต่อการสร้างโปรตีนของกล้ามเนื้อทดแทนส่วนที่สูญเสียระหว่างการออกกำลังกายหนักและใช้แป้งเป็นพลังงานหมดไปแล้ว จนต้องสลายโปรตีนของกล้ามเนื้อระหว่างการออกกำลังกายหนัก เพราะกรดอะมิโนทั้งลิวซีน ไอโซลิวซีนและเวลีนนั้นถูกนำไปใช้เป็นพลังงานได้ ดังนั้นเมื่อใดที่ออกกำลังกายจนได้กลิ่นแอมโมเนีย ซึ่งเปลี่ยนมาจากกลุ่มอะมิโนของกรดอะมิโนทั้งสามที่ถูกตัดออกเพื่อเอาส่วนที่เหลือไปผลิตเป็นสารเข้าสู่กระบวนการสร้างพลังงาน         ทุกวันนี้ในท้องตลาดมีเวย์โปรตีนขายอยู่ 3 ชนิดด้วยกัน โดยชนิดที่มีราคาถูกสุดคือ เวย์โปรตีนคอนเซนเทรท (whey protein concentrate) ซึ่งมีความเข้มข้นโปรตีนอยู่ประมาณ 70-80% มีลักษณะเป็นผงสีครีมอ่อน กลิ่นรสตามธรรมชาติเหมือนนม ส่วนเวย์โปรตีนไอโซเลต (whey protein isolate) ซึ่งได้จากการนำเวย์โปรตีนคอนเซนเทรทมาผ่านกระบวนการผลิตเพิ่มความเข้มข้นของโปรตีนสูงถึงกว่า 90% พร้อมทั้งราคาเพิ่มขึ้น ชนิดที่สามคือ เวย์โปรตีนไฮโดรไลเซต (whey protein hydrolysate) นั้นเป็นการนำเวย์โปรตีนมาย่อยด้วยเอ็นซัมเฉพาะเพื่อเปลี่ยนโมเลกุลของโปรตีนให้เล็กลงเป็นเปปไทด์ที่มีความบริสุทธิ์สูงถึงเกือบ 100% ซึ่งตามหลักการทางวิทยาศาสตร์แล้วเปปไทด์ถูกร่างกายดูดซึมได้ดีกว่าโปรตีน และมีงานวิจัยทางคลินิกแสดงให้เห็นว่า เวย์โปรตีนช่วยส่งเสริมภาวะโภชนาการที่ดีและอื่นๆ         บทความชื่อ Consumption of fat-free fluid milk after resistance exercise promotes greater lean mass accretion than does consumption of soy or carbohydrate in young, novice, male weightlifters ในวารสาร American Journal of Clinical Nutrition ของปี 2007 ให้ข้อมูลว่า การดื่มนมที่เอาไขมันออกไปแล้วเหลือแต่โปรตีน คาร์โบไฮเดรต วิตามินและเกลือแร่นั้นช่วยในการซ่อมแซมกล้ามเนื้อของนักยกน้ำหนักวัยเยาว์ดีกว่าการดื่มนมถั่วเหลืองหรือผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มที่มีแป้ง         ในการโฆษณาขายสินค้านั้นมักระบุว่า เวย์โปรตีนมีกรดอะมิโนจำเป็นคือ ลิวซีน ซึ่งมีบทความเรื่อง Signaling pathways and molecular mechanisms through which branched-chain amino acids mediate translational control of protein synthesis ในวารสาร Journal of Nutrition ของปี 2006 ได้กล่าวว่า ลิวซีนเป็นกรดอะมิโนจำเป็นสูงที่ส่งเสริมการเจริญเติบโต ซึ่งรวมถึงการซ่อมแซมกล้ามเนื้อที่สูญเสียเมื่อเทียบกับกรดอะมิโนอื่นทำให้สรุปได้ว่า เวย์โปรตีนจึงมีประสิทธิภาพในการป้องกันการสูญเสียกล้ามเนื้อทั้งในเด็กวัยออกกำลังกายและผู้สูงวัยซึ่งกินโปรตีนต่ำกว่าที่ควร ข้อมูลในเรื่องนี้เป็นสิ่งที่เมื่อเชื่อและมีสตางค์พอซื้อสินค้าเหล่านี้กินได้น้นถือว่าเป็นบุญของผู้บริโภคที่มีกำลังทรัพย์พอซื้อของแพงกิน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉลาดซื้อตรวจเวย์โปรตีน พบบางยี่ห้อมีโปรตีนไม่ตรงตามที่แจ้งบนฉลาก

        ฉลาดซื้อ เผยผลทดสอบผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเวย์โปรตีน ไม่พบสเตียรอยด์ แต่ทดสอบพบ 2 ตัวอย่างมีปริมาณโปรตีนไม่ตรงตามที่แจ้งบนฉลาก แนะผู้บริโภคควรหลีกเลี่ยงการทานเวย์โปรตีนที่มีส่วนผสมสเตียรอยด์มากเกินไปเพราะอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพ          นิตยสารฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ดำเนินการทดสอบนี้ เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคให้ได้รับข้อมูลที่ครบถ้วน เพียงพอ และได้รับความปลอดภัยจากสินค้าหรือบริการ ตาม พรบ.คุ้มครองผู้บริโภค โดยได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเวย์โปรตีน จำนวน 9 ตัวอย่าง จากร้านค้าทั่วไปและร้านค้าออนไลน์ ในช่วงเดือนมกราคม 2564 เพื่อทดสอบสารอนาบอลิกสเตียรอยด์ (Anabolic-Androgenic Steroids) ซึ่งเป็นยาที่นิยมกันในหมู่นักกีฬาเพาะกาย และทดสอบหาปริมาณโปรตีน (ร้อยละของน้ำหนัก) ว่าเป็นไปตามการกล่าวอ้างบนฉลากหรือไม่          ผลสำรวจพบว่า ไม่พบสารอนาบอลิกสเตียรอยด์ (Anabolic-Androgenic Steroids) แต่พบโปรตีน (ร้อยละของน้ำหนัก) ไม่ตรงตามฉลาก คือ น้อยกว่าร้อยละ 30 ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเวย์โปรตีนไอโซเลท กลิ่นมอคค่า ยูไทม์ ทดสอบพบโปรตีนที่ 38.8 จากการกล่าวอ้างบนฉลากที่ 83.33 และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ตราไดเอโดะ รสช็อกโกแลต ทดสอบพบโปรตีนที่ 26 จากการกล่าวอ้างบนฉลากที่ 62.5         จากผลสำรวจอาหารเสริมเวย์โปรตีนไม่ตรงตามการกล่าวอ้างบนฉลาก เข้าลักษณะอาหารปลอม กล่าวคือ อาหารที่มีฉลากเพื่อลวงหรือพยายามลวงผู้ซื้อให้เข้าใจผิดในเรื่องคุณภาพ ปริมาณ ประโยชน์หรือลักษณะพิเศษอย่างอื่น หรือในเรื่องสถานที่และประเทศที่ผลิต ตามมาตรา 27 (4) และอาหารที่ผลิตขึ้นไม่ถูกต้องตามคุณภาพหรือมาตรฐานที่รัฐมนตรีประกาศ กําหนดตามมาตรา 6 (2) หรือ (3) ถึงขนาดจากผลวิเคราะห์ปรากฏว่า ส่วนประกอบที่เป็นคุณค่าทางอาหาร ขาดหรือเกินร้อยละ 30 จากเกณฑ์ต่ำสุดหรือสูงสุด หรือแตกต่างจากคุณภาพหรือมาตรฐานที่ระบุไว้จนทําให้เกิดโทษหรืออันตราย ตามมาตรา 27 (5) ซึ่งมีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 – 100,000 บาท ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 อ่านผลการทดสอบเพิ่มเติมได้ที่ https://www.chaladsue.com/article/3716 

อ่านเพิ่มเติม >